ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕-๓ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๗. นิพพานธาตุสูตร
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่
ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว๑ บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภว-
สังโยชน์แล้ว๒ หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ เพราะอินทรีย์ ๕ ที่ยังคงอยู่ ไม่ดับไป ภิกษุ
นั้นจึงประสบอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ เสวยสุขและทุกข์อยู่ ภิกษุทั้งหลาย
ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะของภิกษุนั้น เราเรียกว่า สอุปาทิเสส-
นิพพานธาตุ
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจ
ที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภว-
สังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ ภิกษุทั้งหลาย เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้
นั่นแลของภิกษุนั้น อันตัณหาเป็นต้นให้เพลิดเพลินไม่ได้ต่อไปแล้ว จักระงับดับสนิท
ภิกษุทั้งหลาย สภาวะดังกล่าวนี้ เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ตถาคตผู้มีพระจักษุ๓ ไม่ทรงอิงอาศัยสิ่งใด ๆ
ผู้คงที่ ทรงประกาศนิพพานธาตุไว้ ๒ ประการนี้ คือ

เชิงอรรถ :
๑ ปลงภาระได้แล้ว หมายถึงปลงขันธภาระได้ ปลงกิเลสภาระได้ และปลงอภิสังขารภาระได้ (ขุ.อิติ.อ. ๔๔/
๑๘๙)
๒ สิ้นภวสังโยชน์ หมายถึงสิ้นกิเลสที่เป็นเครื่องผูกสัตว์ คร่าสัตว์มาไว้ในภพทั้งหลาย (ขุ.อิติ.อ. ๔๔/๑๘๙)
๓ หมายถึงจักษุ ๕ ประการ คือ (๑) พุทธจักษุ (ตาพระพุทธเจ้า) (๒) มังสจักษุ (ตาเนื้อ) (๓) ทิพพจักษุ (ตาทิพย์)
(๔) ปัญญาจักษุ (ตาปัญญา) (๕) สมันตจักษุ (ตาเห็นรอบ) (ดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๒๔, ขุ.อิติ.อ.
๔๔/๑๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๘. ปฏิสัลลานสูตร
นิพพานธาตุประการหนึ่ง เป็นสภาวะมีให้เห็นในอัตภาพนี้
ชื่อว่าสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาที่นำไปสู่ภพ
ส่วนนิพพานธาตุอีกประการหนึ่ง เป็นสภาวะมีในภายภาคหน้า
ชื่อว่าอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
เป็นที่ดับสนิทแห่งภพทั้งหลายได้โดยสิ้นเชิง
ชนทั้งหลายผู้รู้ที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่งนี้แล้ว
มีจิตหลุดพ้นเพราะความสิ้นไปแห่งภวเนตติ๑
ยินดียิ่งในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลส เพราะบรรลุธรรมเป็นสาระ
เป็นผู้คงที่ ละภพทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
นิพพานธาตุสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปฏิสัลลานสูตร
ว่าด้วยการหลีกเร้น
[๔๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้พอใจในการหลีกเร้น ยินดีในการ
หลีกเร้น หมั่นประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง๒] เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ภวเนตติ เป็นชื่อของตัณหา หมายถึงเชือกผูกสัตว์ไว้ในภพ(ภวรชฺชุ) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑/๒๗๙)
๒ เพิ่มพูนเรือนว่าง ในที่นี้หมายถึงการเรียนสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วไปยังเรือนว่าง นั่งอยู่
ตลอดวันและคืน เจริญอธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา (องฺ.ทสก.อ. ๓/๗๑/๓๕๗, ม.มู.อ. ๑/๖๕/๑๖๙,
ขุ.อิติ.อ. ๔๕/๑๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๙. สิกขานิสังสสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายพอใจในการหลีกเร้น ยินดีในการหลีกเร้น
หมั่นประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา
เพิ่มพูนเรือนว่างอยู่ พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ชนทั้งหลายมีจิตสงบแล้ว มีปัญญารักษาตน
มีสติ เพ่งพินิจอยู่ ไม่ไยดีในกามทั้งหลาย
ย่อมเห็นแจ้งธรรมโดยชอบ
เป็นผู้ยินดีในความไม่ประมาท
มีปกติเห็นภัยในความประมาท
เป็นผู้ไม่ควรเสื่อม ดำรงอยู่ใกล้นิพพานทีเดียว
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฏิสัลลานสูตรที่ ๘ จบ

๙. สิกขานิสังสสูตร
ว่าด้วยผู้มีสิกขาเป็นอานิสงส์
[๔๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีสิกขา๑ เป็นอานิสงส์ มีปัญญา๒
เป็นเยี่ยม มีวิมุตติ๓เป็นแก่นสาร มีสติเป็นใหญ่๔อยู่เถิด

เชิงอรรถ :
๑ สิกขา ในที่นี้หมายถึงสิกขา ๓ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา (ขุ.อิติ.อ. ๔๖/๑๙๔)
๒ ปัญญา ในที่นี้หมายถึงอธิปัญญาสิกขา (ขุ.อิติ.อ. ๔๖/๙๔)
๓ วิมุตติ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.อิติ.อ. ๔๖/๑๙๔)
๔ สติเป็นใหญ่ หมายถึงมีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ (ขุ.อิติ.อ. ๔๖/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๙. สิกขานิสังสสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเป็นผู้มีสิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นเยี่ยม
มีวิมุตติเป็นแก่นสาร มีสติเป็นใหญ่อยู่ พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ
อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
เราเรียกมุนีผู้มีสิกขาบริบูรณ์ ไม่มีธรรมที่ต้องละ
มีปัญญาเป็นเยี่ยม มีปกติเห็นที่สุดคือภาวะที่สิ้นสุดแห่งชาติ
ทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้ายนั้นแลว่า
เป็นผู้ละมาร เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งชรา๑
เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายจงเป็นผู้ยินดีในฌาน
เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นทุกเมื่อ มีความเพียร
มีปกติเห็นที่สุดคือภาวะที่สิ้นสุดแห่งชาติ
ครอบงำมารพร้อมทั้งเสนามารได้
เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งชาติและมรณะได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สิกขานิสังสสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ อิติวุตตกะข้อ ๓๙ หน้า ๓๘๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๐. ชาคริยสูตร
๑๐. ชาคริยสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ตื่นอยู่
[๔๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้ตื่น๑ อยู่อย่างมีสติ มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น
เบิกบาน ผ่องใส และควรเป็นผู้เห็นแจ้งสมควรแก่กาลในกุศลธรรมทั้งหลาย ในการ
ประกอบเนือง ๆ ซึ่งกัมมัฏฐานนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเป็นผู้ตื่น อยู่อย่างมีสติ มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น
เบิกบาน ผ่องใส และเป็นผู้เห็นแจ้งสมควรแก่กาลในกุศลธรรมทั้งหลาย ในการ
ประกอบกัมมัฏฐานนั้นอยู่ พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผล
ในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
เธอทั้งหลายที่หลับอยู่ จงรีบตื่น
ที่ตื่นอยู่ จงฟังคำของเรานี้
ความเป็นผู้ตื่นจากความหลับเป็นคุณประเสริฐ
เพราะภัย๒ย่อมไม่มีแก่ผู้ตื่นอยู่

เชิงอรรถ :
๑ เป็นผู้ตื่น หมายถึงเป็นผู้มีความเพียรเป็นเครื่องตื่น (ขุ.อิติ.อ. ๔๗/๑๙๖)
๒ ภัย ในที่นี้หมายถึง (๑) อัตตานุวาทภัย (ภัยเกิดจากการติเตียนตนเอง) (๒) ปรานุวาทภัย (ภัยเกิดจาก
การถูกผู้อื่นติเตียน) (๓) ทัณฑภัย (ภัยเกิดจากการถูกลงอาชญา) (๔) ทุคคติภัย (ภัยเกิดจากทุคติ) และ
(๕) วัฏฏภัยมีชาติ เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๔๗/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๑. อาปายิกสูตร
ผู้ที่ตื่นอยู่ มีสติสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น
เบิกบาน ผ่องใส พิจารณาธรรมโดยชอบตามกาลที่เหมาะสม
มีสมาธิเป็นธรรมผุดขึ้น๑ พึงกำจัดความมืดได้
เพราะฉะนั้นแล ภิกษุควรประพฤติธรรมเป็นเหตุให้ตื่น
มีความเพียร มีปัญญารักษาตน มีปกติได้ฌาน
ตัดสังโยชน์ในชาติและชราได้แล้ว
ก็จะบรรลุสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในอัตภาพนี้แน่นอน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ชาคริยสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. อาปายิกสูตร
ว่าด้วยคนผู้จะเกิดในอบาย
[๔๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้ จะเกิดในอบาย จะเกิดในนรก เพราะไม่ละ
ความประพฤติชั่วนี้
คน ๒ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. คนที่ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญญาว่า ประพฤติพรหมจรรย์
๒. คนที่ชอบโจทผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ด้วย
อพรหมจรรย์อันไม่มีมูล

เชิงอรรถ :
๑ สมาธิเป็นธรรมผุดขึ้น หมายถึงสัมมัปปธานที่ให้สำเร็จกิจ ๔ (ขุ.อิติ.อ. ๔๗/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๑. อาปายิกสูตร
ภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้แล จะเกิดในอบาย จะเกิดในนรก เพราะไม่ละ
ความประพฤติชั่วนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
“ฉันไม่ได้ทำ” ต่างก็ตกนรก
คน ๒ จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้ว มีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า๑
ภิกษุชั่วจำนวนมากมีผ้ากาสาวะพันที่คอ
มีธรรมเลวทราม ไม่สำรวม
ย่อมตกนรกเพราะบาปกรรมทั้งหลาย
การกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนดุจเปลวเพลิง
ยังดีกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีลไม่สำรวม
บริโภคอาหารที่ชาวบ้านเขาถวาย๒
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อาปายิกสูตรที่ ๑๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู ธรรมบท ข้อ ๓๐๖ หน้า ๑๒๘, อุทาน ข้อ ๓๘ หน้าที่ ๒๔๘, สุตตนิบาต ข้อ ๖๖๗ หน้า ๖๕๙ ในเล่มนี้
๒ ดูธรรมบทข้อ ๓๐๗-๓๐๘ หน้า ๑๒๙, อิติวุตตกะข้อ ๙๑ หน้า ๔๖๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๒. ทิฏฐิคตสูตร
๑๒. ทิฏฐิคตสูตร
ว่าด้วยทิฏฐิ
[๔๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ต่างก็ถูกทิฏฐิ ๒ อย่างครอบงำ คือ เทวดา
และมนุษย์พวกหนึ่งยึดติดอยู่๑ เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งแล่นเลยไป๒ ส่วนเทวดา
และมนุษย์ผู้มีปัญญาจักษุ ย่อมเห็นตามความเป็นจริง
เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งยึดติดอยู่ เป็นอย่างไร
คือ เทวดาและมนุษย์พอใจ ยินดี เพลิดเพลินอยู่ในภพ เมื่อตถาคตแสดงธรรม
เพื่อความดับแห่งภพ จิตของเทวดาและมนุษย์นั้นย่อมไม่ยอมรับ ไม่เลื่อมใส
ไม่ตั้งมั่น ไม่น้อมใจเชื่อ เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งยึดติดอยู่ เป็นอย่างนี้แล
เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งแล่นเลยไป เป็นอย่างไร
คือ เทวดาและมนุษย์อึดอัด ระอา รังเกียจ ไม่ยินดีภพนั่นแล จึงหลงเพลิดเพลิน
ความขาดสูญโดยทำนองว่า ท่านทั้งหลาย ทราบว่า อัตตาของเรานี้ เมื่อตายไป
ย่อมขาดสูญพินาศไป หลังจากตายแล้วจะไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ชื่อว่าเป็นธรรมชาติ
สงบ ประณีต ถ่องแท้ เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งแล่นเลยไป เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ พวกหนึ่งยึดติดอยู่ หมายถึงพวกสัสสตทิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ. ๔๙/๒๐๒)
๒ พวกหนึ่งแล่นเลยไป หมายถึงพวกอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ. ๔๙/๒๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๒. ทิฏฐิคตสูตร
เทวดาและมนุษย์ผู้มีปัญญาจักษุย่อมเห็นตามความเป็นจริง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ โดยสภาวะแท้จริง
ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้วก็ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับสิ่ง
ที่เป็นจริง โดยความเป็นจริงนั้น เทวดาและมนุษย์ผู้มีปัญญาจักษุย่อมเห็นตาม
ความเป็นจริง เป็นอย่างนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
อริยสาวกพิจารณาเห็นขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้วตามความเป็นจริง
และธรรมเป็นเครื่องก้าวล่วงขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว
ย่อมน้อมจิตไปในนิพพานตามความเป็นจริง
เพราะความสิ้นไปแห่งภวตัณหา
ถ้าอริยสาวกผู้กำหนดรู้ขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว
ปราศจากตัณหาในภพน้อยและใหญ่ไซร้
ชื่อว่าภิกษุ ย่อมไม่กลับมาสู่ภพอีก
เพราะขันธ์ ๕ เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทิฏฐิคตสูตรที่ ๑๒ จบ
ทุติยวรรค จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. วิตักกสูตร ๒. เทสนาสูตร
๓. วิชชาสูตร ๔. ปัญญาปริหีนสูตร
๕. สุกกธัมมสูตร ๖. อชาตสูตร
๗. นิพพานธาตุสูตร ๘. ปฏิสัลลานสูตร
๙. สิกขานิสังสสูตร ๑๐. ชาคริยสูตร
๑๑. อาปายิกสูตร ๑๒. ทิฏฐิคตสูตร

(ในทุกนิบาตแห่งอิติวุตตกะนี้ ท่านพระเถระผู้ทำปฐมสังคายนา ประกาศพระสูตร
ไว้ ๒๒ สูตร คือ ในปฐมวรรค ๑๐ สูตร และในทุติยวรรคนี้ ๑๒ สูตร ดังกล่าวมา
ฉะนี้เแล)
ทุกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑. มูลสูตร
๓. ติกนิบาต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. มูลสูตร
ว่าด้วยอกุศลมูล๑
[๕๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล ๓ ประการนี้
อกุศลมูล ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อกุศลมูลคือโลภะ (ความอยากได้)
๒. อกุศลมูลคือโทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
๓. อกุศลมูลคือโมหะ (ความหลง)
ภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โลภะ โทสะ และโมหะที่เกิดภายในตน
ย่อมทำร้ายบุรุษผู้มีจิตเลวทราม
เหมือนขุยไผ่กำจัดต้นไผ่ ฉะนั้น๒
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มูลสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อกุศลมูล หมายถึงรากเหง้าของอกุศล หรือต้นตอของความชั่ว (ขุ.อิติ.อ. ๕๐/๒๐๖)
๒ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๑๓/๑๓๐, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๒๑, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๘/๔๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๒. ธาตุสูตร
๒. ธาตุสูตร
ว่าด้วยธาตุ
[๕๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธาตุ ๓ ประการนี้
ธาตุ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปธาตุ๑ ๒. อรูปธาตุ๒ ๓. นิโรธธาตุ๓
ภิกษุทั้งหลาย ธาตุ ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สัตว์เหล่าใดกำหนดรู้รูปธาตุได้แล้ว
ไม่ติดอยู่ในอรูปธาตุ น้อมจิตไปในนิโรธธาตุ
สัตว์เหล่านั้นย่อมล่วงพ้นมัจจุราชไปได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสัมผัสอมตธาตุที่ไร้อุปธิด้วยนามกาย
ทรงรู้แจ้งประจักษ์ถึงเหตุแห่งความสลัดคืนอุปธิ
ผู้หาอาสวะมิได้ ทรงแสดงบท๔ที่ไม่มีความโศก ปราศจากธุลีไว้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ธาตุสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ รูปธาตุ ในที่นี้หมายถึงรูปภพ (ขุ.อิติ.อ. ๕๑/๒๐๘)
๒ อรูปธาตุ ในที่นี้หมายถึงอรูปภพ (ขุ.อิติ.อ. ๕๑/๒๐๘)
๓ นิโรธธาตุ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อิติ.อ. ๕๑/๒๐๘, ๗๒/๒๕๑)
๔ บท ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อิติ.อ. ๕๑/๒๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๓. ปฐมเวทนาสูตร
๓. ปฐมเวทนาสูตร๑
ว่าด้วยเวทนา สูตรที่ ๑
[๕๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ ประการนี้
เวทนา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สุขเวทนา (ความรู้สึกสุข)
๒. ทุกขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์)
๓. อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกเฉย ๆ จะสุขก็ไม่ใช่ จะทุกข์ก็ไม่ใช่)
ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีจิตตั้งมั่น
มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ
ย่อมรู้ชัดเวทนา เหตุเกิดเวทนา นิพพานอันเป็นที่ดับเวทนา
และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับเวทนา
เพราะสิ้นเวทนาทั้งหลาย
ภิกษุจึงเป็นผู้หมดความหิว ปรินิพพานแล้ว
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมเวทนาสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๔๙/๒๗๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๔. ทุติยเวทนาสูตร
๔. ทุติยเวทนาสูตร๑
ว่าด้วยเวทนา สูตรที่ ๒
[๕๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ ประการนี้
เวทนา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สุขเวทนา ๒. ทุกขเวทนา ๓. อทุกขมสุขเวทนา
ภิกษุพึงเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์๒ พึงเห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นดุจลูกศร
พึงเห็นอทุกขมสุขเวทนาโดยความไม่เที่ยง
ภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์ เห็นทุกขเวทนาโดย
ความเป็นดุจลูกศร เห็นอทุกขมสุขเวทนาโดยความไม่เที่ยงได้ ภิกษุนี้เราเรียกว่า
‘เป็นอริยะ มีความเห็นชอบ ตัดตัณหาได้ เพิกถอนสังโยชน์ได้แล้ว ได้ทำที่สุด
แห่งทุกข์ เพราะรู้แจ้งมานะได้โดยชอบ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุใดเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์
เห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นดุจลูกศร
เห็นอทุกขมสุขเวทนาที่มีอยู่โดยความไม่เที่ยง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๕๓/๒๗๓
๒ ทุกข์ หมายถึงวิปริณามทุกข์ (ทุกข์คือ ความผันแปรเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป) (ขุ.อิติ.อ.๕๓/๒๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๕. ปฐมเอสนาสูตร
ภิกษุนั้นแล เป็นผู้มีความเห็นชอบ
เพราะเหตุที่หลุดพ้นได้เด็ดขาดในเวทนานั้น
จึงชื่อว่าสำเร็จอภิญญา ๖ ประการ
เป็นผู้สงบ ล่วงพ้นโยคะได้แล้ว เป็นมุนีแท้จริง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยเวทนาสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฐมเอสนาสูตร
ว่าด้วยการแสวงหา สูตรที่ ๑
[๕๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ ประการนี้
การแสวงหา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การแสวงหากาม ๒. การแสวงหาภพ
๓. การแสวงหาพรหมจรรย์๑
ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิพรหมจรรย์ กล่าวคือ ลัทธิที่มีความเชื่อว่า ‘โลกเที่ยง’ ‘โลกไม่เที่ยง’
เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๕๔/๒๒๔) และดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๑๙/๕๗๕ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๖. ทุติยเอสนาสูตร
สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีจิตตั้งมั่น
มีสติสัมปชัญญะ
ย่อมรู้ชัดการแสวงหา เหตุเกิดการแสวงหา
ธรรมเป็นที่ดับการแสวงหา๑
และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความสิ้นสุดการแสวงหา
เพราะสิ้นการแสวงหาทั้งหลาย
ภิกษุจึงเป็นผู้หมดความหิว ปรินิพพานแล้ว๒
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมเอสนาสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทุติยเอสนาสูตร
ว่าด้วยการแสวงหา สูตรที่ ๒
[๕๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ ประการนี้
การแสวงหา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การแสวงหากาม ๒. การแสวงหาภพ
๓. การแสวงหาพรหมจรรย์
ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ ประการนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเป็นที่ดับการแสวงหา แยกเป็น ๓ ระดับ คือ (๑) ปฐมมรรค(โสดาปัตติมรรค) เป็นที่ดับการแสวงหา
พรหมจรรย์ (๒) อนาคามิมรรค เป็นที่ดับการแสวงหากาม (๓) อรหัตตมรรค เป็นที่ดับการแสวงหาภพ
(ขุ.อิติ.อ. ๕๔/๒๒๔) และดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๑๙/๕๗๕ ประกอบ
๒ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๔, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๑๙/๕๗๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๖. ทุติยเอสนาสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
การแสวงหากาม การแสวงหาภพ
และการแสวงหาพรหมจรรย์
คือการยึดถือว่าอย่างนี้จริง
อันเป็นทิฏฐิฏฐาน๑
ภิกษุผู้คลายกำหนัดได้ทั้งหมด
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
ชื่อว่าสละคืนการแสวงหา(กามและภพ)
พร้อมทั้งถอนทิฏฐิฏฐานได้๒
เพราะสิ้นการแสวงหาทั้งหลาย
ภิกษุจึงเป็นผู้ไม่หวัง
และหมดความสงสัยโดยสิ้นเชิง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยเอสนาสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ทิฏฐิฏฐาน” เป็นชื่อของทิฏฐินั่นเอง ทิฏฐิทั้งหลายที่ชื่อว่า ทิฏฐิฏฐาน เพราะเป็นเหตุแห่งความ
พินาศทั้งหลายทั้งปวง (ขุ.อิติ.อ. ๕๕/๒๒๕)
๒ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๓๘/๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๗. ปฐมอาสวสูตร
๗. ปฐมอาสวสูตร
ว่าด้วยอาสวะ สูตรที่ ๑
[๕๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อาสวะ๑ ๓ ประการนี้
อาสวะ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามาสวะ (อาสวะคือกาม) ๒. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ)
๓. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา)
ภิกษุทั้งหลาย อาสวะ ๓ ประการนี้แล
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีจิตตั้งมั่น
มีสติสัมปชัญญะ
ย่อมรู้ชัดอาสวะ เหตุเกิดอาสวะ ธรรมเป็นที่ดับอาสวะ
และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับอาสวะ
เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ภิกษุจึงเป็นผู้หมดความหิว ปรินิพพานแล้ว
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมอาสวสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อาสวะ หมายถึงกิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน (ที.ปา.อ.๓๐๕/๑๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๘. ทุติยอาสวสูตร
๘. ทุติยอาสวสูตร
ว่าด้วยอาสวะ สูตรที่ ๒
[๕๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อาสวะ ๓ ประการนี้
อาสวะ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามาสวะ ๒. ภวาสวะ ๓. อวิชชาสวะ
ภิกษุทั้งหลาย อาสวะ ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้สิ้นกามาสวะ และภวาสวะ
สำรอกอวิชชาได้แล้ว มีจิตหลุดพ้น
เป็นผู้หาอุปธิมิได้ พิชิตมารพร้อมทั้งเสนามารได้แล้ว
ย่อมทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้าย
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยอาสวสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๙. ตัณหาสูตร
๙. ตัณหาสูตร๑
ว่าด้วยตัณหา
[๕๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ตัณหา ๓ ประการนี้
ตัณหา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามตัณหา๒
๒. ภวตัณหา๓
๓. วิภวตัณหา๔
ภิกษุทั้งหลาย ตัณหา ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ชนทั้งหลายผู้เกี่ยวข้องด้วยโยคะคือตัณหา
มีจิตยินดีในภพน้อยและภพใหญ่๕
เป็นผู้ติดข้องด้วยโยคะคือบ่วงมาร
ไม่มีความเกษมจากโยคะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๔, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๓๒๓/๓๔๒, องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๑๐๖/๖๒๗, อภิ.วิ.
(แปล) ๓๕/๙๑๖-๙๑๗, ๙๑๘/๕๗๓-๕๗๔
๒ กามตัณหา หมายถึงความมีจิตกำหนัดนักในกาม (ขุ.อิติ.อ.๕๘/๒๒๗)
๓ ภวตัณหา หมายถึงความมีจิตกำหนัดนักในภวทิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ.๕๘/๒๒๗)
๔ วิภวตัณหา หมายถึงความมีจิตกำหนัดนักในอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ.๕๘/๒๒๗)
๕ ในที่นี้ ภพน้อย หมายถึงสัสสตทิฏฐิ หรือภวตัณหา ภพใหญ่ หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ หรือวิภวตัณหา (ขุ.อิติ.อ.
๕๘/๒๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑๐. มารเธยยสูตร
สัตว์เหล่านั้นย่อมท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ
เข้าถึงชาติและมรณะ
ส่วนชนเหล่าใดละตัณหาได้
ปราศจากตัณหาในภพน้อยและภพใหญ่
บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะแล้ว
ชนเหล่านั้นชื่อว่า ไปถึงฝั่งในโลก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ตัณหาสูตรที่ ๘ จบ

๑๐. มารเธยยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้ล่วงพ้นบ่วงมาร
[๕๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมล่วงพ้นบ่วงมาร รุ่งเรืองดุจ
ดวงอาทิตย์
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมล่วงพ้นบ่วงมาร
รุ่งเรืองดุจดวงอาทิตย์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้เจริญศีล สมาธิ และปัญญาเหล่านี้ไว้ดีแล้ว
จึงล่วงพ้นบ่วงมาร รุ่งเรืองดุจดวงอาทิตย์ ฉะนั้น
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มารเธยยสูตรที่ ๑๐ จบ
ปฐมวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มูลสูตร ๒. ธาตุสูตร
๓. ปฐมเวทนาสูตร ๔. ทุติยเวทนาสูตร
๕. ปฐมเอสนาสูตร ๖. ทุติยเอสนาสูตร
๗. ปฐมอาสวสูตร ๘. ทุติยอาสวสูตร
๙. ตัณหาสูตร ๑๐. มารเธยยสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑. ปุญญกิริยาวัตถุสูตร
๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
๑. ปุญญกิริยาวัตถุสูตร๑
ว่าด้วยบุญกิริยาวัตถุ
[๖๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ๒ ๓ ประการนี้
บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทาน
๒. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีล
๓. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนา
ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้หวังประโยชน์สุข ควรฝึกฝนบำเพ็ญบุญนี้เท่านั้น
ที่ให้ผลเลิศติดต่อกันไป มีสุขเป็นกำไร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๓-๑๙๖, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๓๖/๒๙๔-๒๙๕
๒ บุญกิริยาวัตถุ มาจากบุญกิริยา + วัตถุ แยกอธิบายความหมายได้ดังนี้ (๑) บุญกิริยา หมายถึงการตั้งใจ
บำเพ็ญบุญ (๒) วัตถุ หมายถึงที่ตั้งหรือเหตุให้เกิดอานิสงส์ต่าง ๆ ดังนั้น บุญกิริยาวัตถุ จึงหมายถึงการ
บำเพ็ญบุญอันเป็นที่ตั้งหรือเป็นเหตุให้เกิดอานิสงส์ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๓๖/๒๕๖-๒๕๗, ขุ.อิติ.อ. ๖๐/๒๓๒,
องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๓๖/๒๙๒-๒๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๒. จักขุสูตร
คือควรบำเพ็ญทาน ควรประพฤติธรรมสม่ำเสมอ
และควรเจริญเมตตาภาวนา
บัณฑิต ครั้นเจริญธรรม ๓ ประการ
ที่เป็นเหตุให้เกิดสุขดังกล่าวมานี้แล้ว
ย่อมเข้าถึงโลกที่มีสุข ปราศจากการเบียดเบียนกัน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปุญญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๑ จบ

๒. จักขุสูตร
ว่าด้วยจักษุ
[๖๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ๓ ประการนี้
จักษุ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มังสจักษุ (ตาเนื้อ)
๒. ทิพพจักษุ (ตาทิพย์)
๓. ปัญญาจักษุ (ตาคือปัญญา)
ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นอุดมบุรุษ
ได้ตรัสจักษุ ๓ ประการนี้ คือ มังสจักษุ
ทิพพจักษุ และปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๓. อินทริยสูตร
ความเกิดขึ้นแห่งมังสจักษุ เป็นทางแห่งทิพพจักษุ
เมื่อใด ญาณคือปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยมเกิดขึ้น
เมื่อนั้น บุคคลย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
เพราะได้ปัญญาจักษุ๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
จักขุสูตรที่ ๒ จบ

๓. อินทริยสูตร
ว่าด้วยอินทรีย์
[๖๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๓ ประการนี้
อินทรีย์ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์๒
๒. อัญญินทรีย์๓
๓. อัญญาตาวินทรีย์๔
ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๓ ประการนี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๖, อภิ.ก. ๓๗/๓๗๔/๒๑๔
๒ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ของผู้ปฏิบัติด้วยมุ่งว่า ‘เราจักรู้อมตบท (นิพพาน) หรือ
อริยสัจธรรม ๔ ที่ยังมิได้รู้ ยังมิได้บรรลุ’ คำนี้เป็นชื่อของโสดาปัตติมัคคญาณ (ขุ.อิติ.อ. ๖๒/๒๓๗)
๓ อัญญินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ หรือปัญญาที่รู้โดยข้ามพ้นแดนมิจฉาทิฏฐิแล้วกำหนดรู้อริยสัจ ๔ มีทุกข์
เป็นต้น เช่นเดียวกับโสดาปัตติมัคคญาณ แต่มีลักษณะรู้ชัดกว่ากันตามลำดับ คำนี้เป็นชื่อของญาณ ๖
คือตั้งแต่โสดาปัตติผลญาณ ถึงอรหัตตมัคคญาณ (ขุ.อิติ.อ. ๖๒/๒๓๗-๒๓๘)
๔ อัญญาตาวินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ของท่านผู้รู้ทั่วถึงแล้ว กล่าวคือปัญญาของพระอรหันตขีณาสพ คำนี้
เป็นชื่อของอรหัตตผลญาณ (ขุ.อิติ.อ. ๖๒/๒๓๗-๒๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๔. อัทธาสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ญาณในความสิ้นกิเลสย่อมเกิดขึ้นแก่พระเสขะ
ผู้กำลังศึกษาและปฏิบัติตามทางสายตรงก่อน
ลำดับต่อจากนั้นอัญญินทรีย์จึงเกิดขึ้น
ต่อจากอัญญินทรีย์นั้น
ญาณว่า ‘วิมุตติของเราไม่กำเริบ’ เพราะภวสังโยชน์สิ้นไป
ย่อมเกิดขึ้นแก่ท่านผู้หลุดพ้นด้วยอรหัตตผล ผู้คงที่๑
พระอริยะผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์
ผู้สงบ ยินดีในสันติบท
พิชิตมารพร้อมทั้งเสนามารได้แล้ว
ย่อมทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้าย
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อินทริยสูตรที่ ๓ จบ

๔. อัทธาสูตร๒
ว่าด้วยกาลเวลา
[๖๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย กาล ๓ กาลนี้
กาล ๓ กาล อะไรบ้าง คือ
๑. อดีตกาล ๒. อนาคตกาล ๓. ปัจจุบันกาล
ภิกษุทั้งหลาย กาล ๓ กาลนี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๘๖/๓๑๒ และดู องฺ.ติก.อ. ๒/๘๖/๒๔๐-๒๔๑, ขุ.อิติ.อ. ๖๒/๒๓๗ ประกอบ
๒ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๔. อัทธาสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สัตว์ทั้งหลายผู้สำคัญขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรื่องที่พูดกัน
ยึดมั่นอยู่ในเรื่องที่พูดกัน
ย่อมดิ่งเข้าหากิเลสเครื่องประกอบของมัจจุราช
เพราะไม่กำหนดรู้เรื่องที่พูดกันให้ถ่องแท้
ส่วนพระขีณาสพกำหนดรู้เรื่องที่พูดกันได้อย่างถ่องแท้
จึงไม่สำคัญผู้พูด ท่านมีใจสัมผัสวิโมกข์
และสันติบทอันยอดเยี่ยมแล้วนั่นแล
พระขีณาสพนั้น ชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ
ที่เกิดจากความกำหนดรู้เรื่องที่พูดกัน สงบแล้ว
ยินดีในสันติบท เป็นผู้พิจารณาแล้วจึงใช้สอยปัจจัย ๔ เสมอ
ดำรงอยู่ในธรรม เป็นผู้จบเวท
จึงไม่เข้าถึงการนับ๑อีกต่อไป
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อัทธาสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่เข้าถึงการนับ หมายถึงไม่นับว่าเป็นมนุษย์และเทวดา เพราะไม่มีภพที่จะเกิดอีก (ขุ.อิติ.อ. ๖๓/๒๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๕. ทุจจริตสูตร
๕. ทุจจริตสูตร
ว่าด้วยทุจริต
[๖๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ทุจริต ๓ ประการนี้
ทุจริต ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กายทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยกาย)
๒. วจีทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยวาจา)
๓. มโนทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยใจ)
ภิกษุทั้งหลาย ทุจริต ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลมีปัญญาทราม ทำกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต และอกุศลกรรมอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยโทษไว้ตลอด
ไม่ทำกุศลกรรมไว้เลย ทำแต่อกุศลกรรมไว้มากมาย
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในนรก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุจจริตสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๖. สุจริตสูตร
๖. สุจริตสูตร
ว่าด้วยสุจริต
[๖๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย สุจริต ๓ ประการนี้
สุจริต ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กายสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยกาย)
๒. วจีสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยวาจา)
๓. มโนสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยใจ)
ภิกษุทั้งหลาย สุจริต ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลผู้มีปัญญา ละกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริตและอกุศลกรรมอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยโทษได้แล้ว
ไม่ทำอกุศลกรรมไว้ ทำแต่กุศลกรรมไว้มากมาย
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สุจริตสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๗. โสเจยยสูตร
๗. โสเจยยสูตร
ว่าด้วยความสะอาด
[๖๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ความสะอาด ๓ ประการนี้
ความสะอาด ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความสะอาดกาย ๒. ความสะอาดวาจา
๓. ความสะอาดใจ
ภิกษุทั้งหลาย ความสะอาด ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้มีกายสะอาด มีวาจาสะอาด
มีใจสะอาด ไม่มีอาสวะ
เป็นผู้สะอาด ถึงพร้อมด้วยความสะอาด
บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า เป็นผู้ล้างบาปได้๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โสเจยยสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๒๒/๓๖๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๘. โมเนยยสูตร
๘. โมเนยยสูตร
ว่าด้วยความเป็นมุนี
[๖๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมุนี ๓ ประการนี้
ความเป็นมุนี ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นมุนีทางกาย ๒. ความเป็นมุนีทางวาจา
๓. ความเป็นมุนีทางใจ
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมุนี ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้ที่เป็นมุนีทางกาย เป็นมุนีทางวาจา
เป็นมุนีทางใจ ไม่มีอาสวะ
เป็นมุนี ถึงพร้อมด้วยความเป็นมุนี
บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า เป็นผู้ละได้ทุกอย่าง๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โมเนยยสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา ๑๑/๓๐๕/๑๙๖, องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๒๓/๓๖๙, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๔/๖๙, ๑๔๙/๔๐๐,
ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๙. ปฐมราคสูตร
๙. ปฐมราคสูตร
ว่าด้วยการละราคะ สูตรที่ ๑
[๖๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดยังละราคะ โทสะ โมหะไม่ได้ บุคคลนี้เราเรียกว่า
ถูกมาร๑ผูกไว้ สวมบ่วงมารไว้ และถูกมารผู้มีบาปทำได้ตามความปรารถนา
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว บุคคลนี้เราเรียกว่า
ไม่ถูกมารผูกไว้ ไม่สวมบ่วงมารไว้ และไม่ถูกมารผู้มีบาปทำได้ตามความปรารถนา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
เรียกบุคคลผู้ละราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้วว่า
เป็นคนหนึ่งในบรรดาท่านผู้อบรมตนแล้ว
เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้ไปแล้วอย่างนั้น เป็นผู้ตรัสรู้
เป็นผู้ล่วงเวรและภัย เป็นผู้ละกิเลสทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมราคสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มารในที่นี้หมายถึงกิเลสมาร (ขุ.อิติ.อ. ๖๘/๒๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๐. ทุติยราคสูตร
๑๐. ทุติยราคสูตร
ว่าด้วยการละราคะ สูตรที่ ๒
[๖๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดเป็นภิกษุหรือภิกษุณี ยังละราคะ โทสะ โมหะไม่ได้
บุคคลนี้เราเรียกว่า ยังข้ามทะเล๑ที่มีคลื่น มีระลอก๒ มีน้ำวน๓ มีสัตว์ร้าย๔ มี
ผีเสื้อน้ำไม่ได้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดเป็นภิกษุหรือภิกษุณี ละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว
บุคคลนี้เราเรียกว่า ข้ามทะเลที่มีคลื่น มีระลอก มีน้ำวน มีสัตว์ร้าย มีผีเสื้อน้ำ
ได้แล้ว ข้ามไปถึงฝั่งเป็นผู้ลอยบาปอยู่บนบก๕”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลใดคลายราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้ว
บุคคลนั้นชื่อว่าข้ามสมุทรนี้ซึ่งมีทั้งคลื่น สัตว์ร้าย
(และ)ผีเสื้อน้ำ ที่น่ากลัว ข้ามได้ยาก

เชิงอรรถ :
๑ ทะเล หมายถึงสังสารวัฏ หรืออายตนะ ๖ (ขุ.อิติ.อ.๖๙/๒๔๗)
๒ ระลอก หมายถึงความโกรธ และความคับแค้นใจ (ขุ.อิติ.อ.๖๙/๒๔๗)
๓ น้ำวน หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.อิติ.อ.๖๙/๒๔๗)
๔ สัตว์ร้าย ผีเสื้อน้ำ หมายถึงมาตุคาม (ขุ.อิติ.อ.๖๙/๒๔๗
๕ หมายถึงข้ามโอฆะใหญ่คือสังสารวัฏและกามทั้งหลายเป็นต้น แล้วดำรงอยู่บนบกคือนิพพาน (ขุ.อิติ.อ.
๖๙/๒๔๗) และดู องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๑๕/๒๔ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เรากล่าวว่า ‘บุคคลนั้นล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง ละมัจจุได้
ไม่มีอุปธิ ละทุกข์เพื่อไม่เกิดอีกต่อไป
ถึงความดับ ไม่ถึงการนับ
ลวงมัจจุราชให้หลงได้๑’
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยราคสูตรที่ ๑๐ จบ
ทุติยวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ๒. จักขุสูตร
๓. อินทริยสูตร ๔. อัทธาสูตร
๕. ทุจจริตสูตร ๖. สุจริตสูตร
๗. โสเจยยสูตร ๘. โมเนยยสูตร
๙. ปฐมราคสูตร ๑๐. ทุติยราคสูตร


เชิงอรรถ :
๑ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๒๙/๒๑๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๑. มิจฉาทิฏฐิกสูตร
๓. ตติยวรรค
หมวดที่ ๓
๑. มิจฉาทิฏฐิกสูตร
ว่าด้วยผู้มีความเห็นผิด
[๗๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโน-
ทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นผิด หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
คำที่ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ นั้น เราหาได้กล่าวเพราะ
รับฟังมาจากสมณะหรือพราหมณ์อื่น ๆ ไม่
ภิกษุทั้งหลาย ที่แท้แล้ว เรารู้เอง เห็นเอง ทราบเองทั้งนั้น จึงกล่าว
คำนี้ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้าย
พระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด หลังจาก
ตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๒. สัมมาทิฏฐิกสูตร
บุคคลในโลกนี้ตั้งจิตไว้ผิด กล่าววาจาผิด
ทำการงานทางกายที่ผิด มีความขวนขวายน้อย๑
ทำกรรมอันไม่เป็นบุญไว้ในชีวิตอันน้อยในโลกนี้
เขามีปัญญาทราม หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในนรก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มิจฉาทิฏฐิกสูตรที่ ๑ จบ

๒. สัมมาทิฏฐิกสูตร
ว่าด้วยผู้มีความเห็นชอบ
[๗๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต
ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
คำที่ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต
ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบ หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ นั้น เราหาได้กล่าวเพราะ
รับฟังมาจากสมณะหรือพราหมณ์อื่น ๆ ไม่
ภิกษุทั้งหลาย ที่แท้แล้ว เรารู้เอง เห็นเอง ทราบเองทั้งนั้น จึงกล่าว
คำนี้ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าว

เชิงอรรถ :
๑ มีความขวนขวายน้อย หมายถึงไม่ทำประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น (ขุ.อิติ.อ. ๗๐/๒๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๓. นิสสรณิยสูตร
ร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลในโลกนี้ ตั้งจิตไว้ชอบ กล่าววาจาชอบ
ทำการงานทางกายที่ชอบ มีความขวนขวายมาก
ได้ทำกรรมอันเป็นบุญไว้ในชีวิตอันน้อยในโลกนี้
เขามีปัญญา หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สัมมาทิฏฐิกสูตรที่ ๒ จบ

๓. นิสสรณิยสูตร
ว่าด้วยธาตุที่มีคุณสมบัติสลัดออก
[๗๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธาตุเป็นที่สลัดออก ๓ ประการนี้
ธาตุเป็นที่สลัดออก ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เนกขัมมธาตุ๑เป็นที่สลัดละกามทั้งหลาย
๒. อรูปธาตุ๒เป็นที่สลัดละรูปธรรมทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ เนกขัมมธาตุ หมายถึงรูปฌาน (ขุ.อิติ.อ. ๗๒/๒๕๑)
๒ อรูปธาตุ หมายถึงอรูปฌาน (ขุ.อิติ.อ.๗๒/๒๕๑) และดูเทียบเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๓๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๔. สันตตรสูตร
๓. นิโรธธาตุ๑เป็นที่สลัดละธรรมชาติที่เกิดแล้ว ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัย
กันและกันเกิดขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย ธาตุเป็นที่สลัดออก ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้มีความเพียรรู้ชัดธาตุเป็นที่สลัดกามออก
และธาตุเป็นเหตุล่วงพ้นรูปธรรมแล้ว
สัมผัสภาวะที่สงบระงับสังขารทั้งปวงตลอดกาล
ภิกษุนั้นแล เป็นผู้มีความเห็นชอบ
เพราะเหตุที่น้อมจิตไปในนิพพานธาตุนั้น
จึงชื่อว่าสำเร็จอภิญญา ๖ ประการ
เป็นผู้สงบ ล่วงพ้นโยคะได้แล้ว เป็นมุนีแท้จริง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
นิสสรณิยสูตรที่ ๓ จบ

๔. สันตตรสูตร
ว่าด้วยนิโรธสงบยิ่งกว่าอรูปธรรม
[๗๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อรูปธรรม๒สงบยิ่งกว่ารูปธรรม๓ นิโรธ๔สงบยิ่งกว่าอรูปธรรม”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๓ หน้า ๓๘๘ ในเล่มนี้
๒ อรูปธรรม ในที่นี้หมายถึงอรูปภพ (ขุ.อิติ.อ.๗๓/๒๕๒)
๓ รูปธรรม ในที่นี้หมายถึงรูปภพ (ขุ.อิติ.อ.๗๓/๒๕๒)
๔ นิโรธ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อิติ.อ. ๗๓/๒๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๕. ปุตตสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สัตว์เหล่าใดเข้าถึงรูปภพ
และสัตว์เหล่าใดดำรงอยู่ในอรูปภพ
สัตว์เหล่านั้นเมื่อยังไม่รู้แจ้งนิโรธ จะต้องกลับมาเกิดอีก
ส่วนสัตว์เหล่าใดกำหนดรู้รูปธาตุได้แล้ว
ไม่ติดอยู่ในอรูปธาตุ น้อมจิตอยู่ในนิโรธ
สัตว์เหล่านั้นย่อมล่วงพ้นมัจจุราชไปได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสัมผัสอมตธาตุที่ไร้อุปธิด้วยนามกาย
ทรงรู้แจ้งประจักษ์ถึงเหตุแห่งความสลัดคืนอุปธิ
ผู้หาอาสวะมิได้ ทรงแสดงบทที่ไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากธุลีไว้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สันตตรสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปุตตสูตร
ว่าด้วยบุตร
[๗๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุตร ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุตร ๓ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. อติชาตบุตร (บุตรที่มีคุณสมบัติสูงกว่ามารดาบิดา)
๒. อนุชาตบุตร (บุตรที่มีคุณสมบัติเสมอด้วยมารดาบิดา)
๓. อวชาตบุตร (บุตรที่มีคุณสมบัติต่ำกว่ามารดาบิดา)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๕. ปุตตสูตร
อติชาตบุตร เป็นอย่างไร
คือ มารดาบิดาของบุตรในโลกนี้ไม่ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ไม่ถึงพระธรรม
เป็นสรณะ ไม่ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ไม่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ไม่งดเว้นจากการถือ
เอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ไม่งดเว้นจากการ
พูดเท็จ ไม่งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ส่วนบุตรของมารดาบิดาเหล่านั้น ถึงพระพุทธเจ้า
เป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้น
จากการพูดเท็จ งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม อติชาตบุตรเป็นอย่างนี้
อนุชาตบุตร เป็นอย่างไร
คือ มารดาบิดาของบุตรในโลกนี้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ
ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
มิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการ
ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
แม้บุตรของมารดาบิดาเหล่านั้น ก็ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ
ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
มิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการ
ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
อนุชาตบุตรเป็นอย่างนี้
อวชาตบุตร เป็นอย่างไร
คือ มารดาบิดาของบุตรในโลกนี้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็น
สรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของ
ที่เจ้าของมิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๕. ปุตตสูตร
การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
ส่วนบุตรของมารดาบิดาเหล่านั้น ไม่ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ไม่ถึงพระธรรม
เป็นสรณะ ไม่ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ไม่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ไม่งดเว้นจากการ
ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ไม่งดเว้นจาก
การพูดเท็จ ไม่งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม อวชาตบุตรเป็นอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย บุตร ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บัณฑิตย่อมปรารถนาอติชาตบุตรและอนุชาตบุตร
ไม่ปรารถนาอวชาตบุตร ซึ่งมีแต่ทำลายวงศ์ตระกูล
บุตร ๓ จำพวกนี้เท่านั้น มีอยู่ในโลกนี้
ส่วนบุตรผู้เป็นอุบาสก ถึงพร้อมด้วยศรัทธาและศีล
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ๑ ปราศจากความตระหนี่
ย่อมรุ่งเรืองในหมู่บริษัท เหมือนดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปุตตสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ รู้ความประสงค์ของผู้ขอ หมายถึงคฤหัสถ์เมื่อเห็นภิกษุเที่ยวบิณฑบาตยืนที่ประตูเรือนของตน เป็นผู้นิ่ง
ไม่ออกปากขอ แต่ก็รู้ความหมายได้ว่า ท่านกำลังขอ (องฺ.ปญฺจก.ฏีกา ๓/๓๖-๓๗/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๖. อวุฏฐิกสูตร
๖. อวุฏฐิกสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบด้วยฝน
[๗๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๓ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนไม่ตก
๒. บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่บางส่วน
๓. บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่ทั่วไป
บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนไม่ตก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะ พราหมณ์ คนยากเข็ญ
คนหมดเสบียงทาง คนเร่ร่อน และคนขอทานทุกหมู่เหล่า บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนไม่
ตกเป็นอย่างนี้
บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่บางส่วน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะ พราหมณ์ คนยากเข็ญ
คนหมดเสบียงทาง คนเร่ร่อน และคนขอทานบางพวก แต่ไม่ให้แก่คนบางพวก
บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่บางส่วนเป็นอย่างนี้
บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่ทั่วไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะ พราหมณ์ คนยากเข็ญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๖. อวุฏฐิกสูตร
คนหมดเสบียงทาง คนเร่ร่อน และคนขอทานทั่วทุกหมู่ทุกเหล่า บุคคลผู้เปรียบด้วย
ฝนตกในพื้นที่ทั่วไปเป็นอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลได้พบสมณะ พราหมณ์ คนยากเข็ญ
คนหมดเสบียงทาง คนเร่ร่อน และคนขอทานแล้ว
ไม่ยอมแบ่งข้าว น้ำ และเครื่องใช้สอยอื่น ๆ ให้
ปัญญาชนเรียกคนต่ำทราม ใจแคบเช่นนั้นว่า
‘เป็นผู้เปรียบด้วยฝนไม่ตก’
บุคคลไม่ให้ข้าวน้ำเป็นต้นแก่สมณะ พราหมณ์เป็นต้นบางพวก
แต่ให้แก่บางพวก
ปัญญาชนเรียกผู้นั้นว่า ‘เป็นผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่บางส่วน’
คนที่เขาออกปากขอได้ง่าย ชอบช่วยเหลือคนโดยทั่วหน้า
มีใจเบิกบาน แจกจ่ายสิ่งของ
ปากก็พูดแต่คำว่า ‘จงให้ จงให้’
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนอย่างนั้น
รวบรวมทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม
นำมาเลี้ยงวณิพกผู้มาถึง ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
เหมือนเมฆฝนส่งเสียงร้องคำรามทำให้ฝนตก
จนน้ำไหลนองเต็มทั้งที่ดอนและที่ลุ่ม ฉะนั้น
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อวุฏฐิกสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๗. สุขปัตถนาสูตร
๗. สุขปัตถนาสูตร
ว่าด้วยผู้ปรารถนาความสุข
[๗๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตเมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการนี้ พึงรักษาศีล
ความสุข ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เมื่อปรารถนาความสุขว่า “ขอความสรรเสริญ จงมาถึงเรา” พึงรักษาศีล
๒. เมื่อปรารถนาความสุขว่า “ขอโภคสมบัติทั้งหลาย จงเกิดขึ้นแก่เรา”
พึงรักษาศีล
๓. เมื่อปรารถนาความสุขว่า “หลังจากตายแล้ว เราจักไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์” พึงรักษาศีล
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตเมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการนี้แล พึงรักษาศีล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
นักปราชญ์ เมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการ คือ
ความสรรเสริญ การได้ความปลื้มใจ๑
และการตายไปเกิดในสวรรค์ พึงรักษาศีล๒
บุคคลแม้ไม่ทำบาป แต่ยังคบคนทำบาป
ก็ต้องถูกระแวงสงสัยในบาปเรื่อยไป
และได้รับคำตำหนิติเตียนมากมาย

เชิงอรรถ :
๑ ความปลื้มใจ ในที่นี้หมายถึงทรัพย์สมบัติ (ขุ.อิติ.อ. ๗๖/๒๙๑)
๒ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๐๙/๔๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๗. สุขปัตถนาสูตร
บุคคลทำคนเช่นใดให้เป็นมิตร
และคบสนิทคนเช่นใด เขาก็เป็นเช่นคนนั้น
เพราะการอยู่ด้วยกันเป็นเช่นนั้น
คนชั่วเมื่อมาคบมาเกี่ยวข้องกับคนดีทั่วไป
หรือคนดีหลงไปคบไปเกี่ยวข้องเข้า
ย่อมพลอยทำให้คนดีแปดเปื้อนบาปไปด้วย
เหมือนลูกศรอาบยาพิษ ถูกยาพิษแปดเปื้อนแล้ว
ย่อมทำลายแล่งลูกศรที่สะอาดให้แปดเปื้อนไปด้วย ฉะนั้น
เพราะกลัวการแปดเปื้อนบาป
ผู้มีปัญญา จึงไม่คบคนชั่วเป็นมิตรเลย
ใบหญ้าคาที่คนนำมาใช้ห่อปลาเน่า
ก็พลอยเหม็นเน่าส่งกลิ่นคลุ้งตามไปด้วย ฉันใด
การคบคนพาล ก็ฉันนั้น
ใบไม้ทั้งหลายที่คนนำมาห่อกฤษณา
ก็พลอยมีกลิ่นหอมฟุ้งตามไปด้วย ฉันใด
การคบบัณฑิต ก็ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น บัณฑิตรู้ผลดีผลเสียที่จะเกิดแก่ตน
ดุจใบไม้ที่ใช้ห่อแล้ว ไม่ควรคบอสัตบุรุษ
ควรคบแต่สัตบุรุษเท่านั้น
เพราะว่า อสัตบุรุษย่อมชักนำให้ตกนรก
ส่วนสัตบุรุษย่อมชักนำให้เข้าถึงสุคติ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สุขปัตถนาสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๘. ภิทุรสูตร
๘. ภิทุรสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ต้องแตกสลายไปเป็นธรรมดา
[๗๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ร่างกายนี้ต้องแตกสลายไป วิญญาณ๑ มีความเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา อุปธิทั้งหมด๒ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลรู้ว่าร่างกายนี้ต้องแตกสลายไป
และวิญญาณก็ต้องเสื่อมไป
เห็นภัยในอุปธิทั้งหลายแล้ว
ย่อมล่วงพ้นความเกิด และความตายได้
บรรลุถึงธรรมเป็นที่สงบอย่างยิ่งแล้ว
ชื่อว่าอบรมตนได้แล้ว รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น๓
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ภิทุรสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ วิญญาณ หมายถึงจิต ๓ ระดับ (จิตระดับกามาวจรภูมิ จิตระดับรูปาวจรภูมิ จิตระดับอรูปาวจรภูมิ
(ขุ.อิติ.อ.๗๗/๒๗๗)
๒ อุปธิทั้งหมด หมายถึงขันธ์ ๕ กิเลส อภิสังขาร (กรรม) และกามคุณ ๕ (ขุ.อิติ.อ.๗๗/๒๗๗)
๓ รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น หมายถึงรอคอยเวลาดับขันธปรินิพพาน (ขุ.อิติ.อ.๗๗/๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๙. ธาตุโสสังสันทนสูตร
๙. ธาตุโสสังสันทนสูตร
ว่าด้วยสัตว์ทั้งหลายเสมอกันโดยธาตุ
[๗๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อว่าโดยธาตุ๑ สัตว์ทั้งหลายเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ คือ
สัตว์ที่มีนิสัยเลวเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยเลว สัตว์ที่มีนิสัยดีงามเข้ากันได้
คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยดีงาม
ภิกษุทั้งหลาย แม้ในอดีตกาล เมื่อว่าโดยธาตุ สัตว์ทั้งหลายก็เข้ากันได้ คบกัน
ได้กับสัตว์ คือ สัตว์ที่มีนิสัยเลวเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยเลว สัตว์ที่มี
นิสัยดีงามเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยดีงาม”
ภิกษุทั้งหลาย แม้ในอนาคตกาล เมื่อว่าโดยธาตุ สัตว์ทั้งหลายก็จะเข้ากันได้
คบกันได้กับสัตว์ คือ สัตว์ที่มีนิสัยเลวเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยเลว
สัตว์ที่มีนิสัยดีงามเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยดีงาม
ภิกษุทั้งหลาย แม้ในปัจจุบันกาลนี้ เมื่อว่าโดยธาตุ สัตว์ทั้งหลายก็เข้ากันได้
คบกันได้กับสัตว์ คือ สัตว์ที่มีนิสัยเลวเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยเลว
สัตว์ที่มีนิสัยดีงามเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยดีงาม
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ธาตุ ในที่นี้หมายถึงอัธยาศัย (ขุ.อิติ.อ.๗๘/๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๑๐. ปริหานสูตร
เพราะการคลุกคลีกัน๑ กิเลสจึงเกิดขึ้น
เพราะการไม่คลุกคลีกัน กิเลสจึงขาดไป
บุคคลลงเรือเล็ก หวังจะข้ามมหาสมุทร
ยังไม่ทันถึงฝั่งก็จมลงในมหาสมุทร ฉันใด
บุคคลแม้มีความเป็นอยู่ดี อาศัยคนเกียจคร้าน
ก็จมลงในสังสารวัฏได้ ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น บุคคลควรเว้นคนเกียจคร้าน
ผู้มีความเพียรย่อหย่อนนั้น
ควรคบพระอริยะทั้งหลาย ผู้สงัด มีใจมั่นคง
เพ่งพินิจอยู่ ปรารภความเพียรเป็นนิตย์ เป็นบัณฑิต
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ธาตุโสสังสันทนสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ปริหานสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุแห่งความเสื่อม
[๗๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้
เป็นเสขะ

เชิงอรรถ :
๑ การคลุกคลี มี ๕ ประการ คือ (๑) ทัสสนสังสัคคะ(การคลุกคลีด้วยการเห็น) (๒) สวนสังสัคคะ(การ
คลุกคลีด้วยการฟัง) (๓) สมุลลาปนสังสัคคะ(การคลุกคลีด้วยการเจรจา) (๔) สัมโภคสังสัคคะ(การ
คลุกคลีด้วยการใช้สอยร่วมกัน) (๕) กายสังสัคคะ(การคลุกคลีด้วยกาย) (ขุ.อิติ.อ.๗๘/๒๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๑๐. ปริหานสูตร
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุผู้เป็นเสขะในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ชอบการงาน๑ ยินดีในการงาน หมั่นประกอบความเป็นผู้
ชอบการงาน
๒. เป็นผู้ชอบการพูดคุย ยินดีในการพูดคุย หมั่นประกอบความเป็นผู้
ชอบการพูดคุย
๓. เป็นผู้ชอบการนอนหลับ ยินดีในการนอนหลับ หมั่นประกอบความ
เป็นผู้ชอบการนอนหลับ
ธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ”
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้
เป็นเสขะ
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุผู้เป็นเสขะในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ไม่ชอบการงาน ไม่ยินดีในการงาน ไม่หมั่นประกอบความเป็น
ผู้ชอบการงาน
๒. เป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย ไม่ยินดีในการพูดคุย ไม่หมั่นประกอบความ
เป็นผู้ชอบการพูดคุย
๓. เป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ ไม่ยินดีในการนอนหลับ ไม่หมั่นประกอบ
ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
ธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ”

เชิงอรรถ :
๑ การงาน ในที่นี้หมายถึงงานนวกรรม คือ การก่อสร้างต่าง ๆ เช่น การก่อสร้างวิหาร เป็นต้น ความเป็น
ผู้ยินดีแต่การก่อสร้างจึงถือว่าเป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยนี้ เพราะทำให้ละเลยต่อการบำเพ็ญคันถธุระ
และวิปัสสนาธุระ (องฺ.ฉกฺก. ๓/๑๔/๑๐๕, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา. ๓/๑๔-๑๕/๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุชอบการงาน ยินดีในการพูดคุย
ชอบการนอนหลับ มีจิตฟุ้งซ่าน เช่นนี้
จึงไม่ควรเพื่อจะบรรลุอรหัตตผลอันยอดเยี่ยมได้
เพราะฉะนั้น ภิกษุจึงควรเป็นผู้ทำกิจแต่น้อย
นอนหลับแต่พอสมควร มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน เช่นนี้
จึงควรเพื่อจะบรรลุอรหัตตผลอันยอดเยี่ยมได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปริหานสูตรที่ ๑๐ จบ
ตติยวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มิจฉาทิฏฐิกสูตร ๒. สัมมาทิฏฐิกสูตร
๓. นิสสรณิยสูตร ๔. สันตตรสูตร
๕. ปุตตสูตร ๖. อวุฏฐิกสูตร
๗. สุขปัตถนาสูตร ๘. ภิทุรสูตร
๙. ธาตุโสสังสันทนสูตร ๑๐. ปริหานสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๑. วิตักกสูตร
๔. จตุตถวรรค
หมวดที่ ๔
๑. วิตักกสูตร
ว่าด้วยอกุศลวิตก
[๘๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ ประการนี้
อกุศลวิตก ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. วิตกที่เกี่ยวกับความไม่ต้องการให้ผู้อื่นดูหมิ่นตน
๒. วิตกที่เกี่ยวกับลาภสักการะและการสรรเสริญ
๓. วิตกที่เกี่ยวกับความเอ็นดูในคนอื่น
ภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลผู้ประกอบด้วยวิตกที่ไม่ต้องการให้ผู้อื่นดูหมิ่นตน
เป็นผู้หนักในลาภสักการะและการสรรเสริญ
มีปกติยินดีกับพวกอำมาตย์
ย่อมอยู่ห่างไกลจากธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละทิ้งบุตร สัตว์เลี้ยง
การแต่งงาน และความห่วงใยได้ เช่นนี้
จึงควรเพื่อจะบรรลุอรหัตตผลอันยอดเยี่ยมได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
วิตักกสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๒. สักการสูตร
๒. สักการสูตร
ว่าด้วยผู้ถูกสักการะครอบงำจิต
[๘๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกสักการะครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกความเสื่อมสักการะครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกสักการะและความเสื่อมสักการะทั้งสองครอบงำย่ำยีจิต
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
คำที่ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกสักการะครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกความเสื่อมสักการะ
ครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เราได้
เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกสักการะและความเสื่อมสักการะทั้งสองครอบงำย่ำยีจิต หลังจาก
ตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ นั้น เราหาได้กล่าวเพราะรับ
ฟังมาจากสมณะหรือพราหมณ์อื่น ๆ ไม่
ภิกษุทั้งหลาย แท้จริงแล้ว เรารู้เอง เห็นเอง ทราบเองทั้งนั้น จึงกล่าวคำนี้ว่า
‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกสักการะครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกความเสื่อมสักการะครอบงำย่ำยีจิต
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูก
สักการะและความเสื่อมสักการะทั้งสองครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๓. เทวสัททสูตร
สมาธิของภิกษุใด ผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท
ย่อมหวั่นไหวด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ
(๑) ด้วยมีผู้สักการะ (๒) ด้วยไม่มีผู้สักการะ
ภิกษุนั้นผู้เข้าฌาน มีความเพียรต่อเนื่อง
พิจารณาเห็นด้วยปัญญาที่สุขุม
ยินดีในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปาทาน๑
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า สัตบุรุษ๒
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สักการสูตรที่ ๒ จบ

๓. เทวสัททสูตร
ว่าด้วยการเปล่งเสียงของเทวดา
[๘๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เทวดาอาศัยโอกาส ๓ โอกาส จึงเปล่งเสียงออกไปในหมู่เทวดา
โอกาส ๓ โอกาส อะไรบ้าง คือ
๑. โอกาสที่อริยสาวกปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เทวดาย่อมเปล่งเสียงออกไปในหมู่
เทวดาว่า ‘อริยสาวกนี้ตั้งใจจะทำสงครามกับกิเลสมาร’ นี้เป็นเสียง
ของเทวดาข้อที่ ๑ ที่เปล่งออกไปเพราะอาศัยโอกาส

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปาทาน หมายถึงอรหัตตผลอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปาทาน ๔ ประการ คือ
(๑) กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม) (๒) ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ) (๓) สีลัพพตุปาทาน (ความ
ยึดมั่นในศีลและวัตร) (๔) อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในอัตตวาทะ) (ขุ.อิติ.อ. ๘๑/๒๘๖) และดู ที.ปา.
๑๑/๓๑๒/๒๐๕ ประกอบ
๒ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๐๑๐-๑๐๑๑/๕๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๓. เทวสัททสูตร
๒. โอกาสที่อริยสาวกบำเพ็ญเพียรด้วยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๗ หมวด
เทวดาย่อมเปล่งเสียงออกไปในหมู่เทวดาว่า ‘อริยสาวกนี้ กำลังผจญ
กับกิเลสมาร’ นี้เป็นเสียงของเทวดาข้อที่ ๒ ที่เปล่งออกไปเพราะ
อาศัยโอกาส
๓. โอกาสที่อริยสาวกทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เทวดา
ย่อมเปล่งเสียงออกไปในหมู่เทวดาว่า ‘อริยสาวกนี้ชนะสงครามแล้ว
เอาชนะได้ขาด จึงครอบครองตำแหน่งความเป็นใหญ่ในสงครามนั้น
นั่นแล’ นี้เป็นเสียงของเทวดาข้อที่ ๓ ที่เปล่งออกไปเพราะอาศัย
โอกาส
ภิกษุทั้งหลาย เทวดาอาศัยโอกาส ๓ โอกาสนี้แล จึงเปล่งเสียงออกไปในหมู่
เทวดา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
แม้เทวดาเห็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ชนะสงครามกิเลส ทรงคุณธรรมยิ่งใหญ่
ปราศจากความสะทกสะท้าน
ย่อมนอบน้อมพร้อมกับกล่าวว่า
ท่านบุรุษอาชาไนย ขอนอบน้อมต่อท่าน
ผู้ครอบงำกิเลสที่ชนะได้ยาก
เอาชนะเสนาของมัจจุราชอันไม่มีใครกั้นไว้ได้ ด้วยวิโมกข์
เทวดาย่อมนอบน้อมท่านผู้มีจิตบรรลุอรหัตตผลแล้ว
ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้แล
เพราะท่านไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งมัจจุราช
เทวดาจึงนอบน้อมต่อท่าน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เทวสัททสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๔. ปัญจปุพพนิมิตตสูตร
๔. ปัญจปุพพนิมิตตสูตร
ว่าด้วยบุพพนิมิต ๕ ประการ
[๘๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาที่เทพบุตรจะจุติจากหมู่เทพ ย่อมปรากฏบุพพนิมิต
๕ ประการ คือ
๑. ดอกไม้ที่ประดับเหี่ยวแห้ง
๒. พัสตราภรณ์ที่สวมใส่หมองจางลง
๓. เหงื่อไหลออกจากรักแร้
๔. ผิวพรรณเศร้าหมองปรากฏที่กาย
๕. เทพบุตรนั้นจะหมดความยินดีในทิพยสมบัติของตน
เทวดาทราบว่า เทพบุตรนี้จะจุติ ก็พลอยยินดีอวยพรให้ ๓ ประการ คือ
๑. ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้ว ขอให้ได้ไปเกิดในภูมิที่ดี
๒. ท่านได้ไปเกิดในภูมิที่ดีแล้ว ขอให้ได้ลาภอันดี
๓. ท่านครั้นได้ลาภอันดีแล้ว ขอให้ดำรงตนอยู่ด้วยดี
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การไปเกิดในภูมิที่ดีของเทวดาเป็นอย่างไร การได้ลาภ
อันดีของเทวดาเป็นอย่างไร การดำรงตนอยู่ด้วยดีของเทวดาเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุทั้งหลาย การเกิดเป็นมนุษย์ ชื่อว่าเป็นการ
ไปเกิดในภูมิที่ดีของเทวดา การที่เทพบุตรลงมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วได้ความศรัทธา
ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ นี้ชื่อว่าเป็นการได้ลาภอันดีของเทวดา ก็ความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๔. ปัญจปุพพนิมิตตสูตร
ศรัทธาของเทพบุตรนั้นแล ตั้งมั่น มีเหตุเกิด หยั่งลง มั่นคง อันสมณพราหมณ์
เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกไม่สามารถทำให้คลอนแคลนไปได้ นี้ชื่อว่า
เป็นการดำรงตนอยู่ด้วยดีของเทวดา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้
เมื่อเทพบุตรจะจุติจากเทวโลก เพราะสิ้นอายุ
เทวดาผู้พลอยยินดี ย่อมเปล่งเสียงอวยพร ๓ ประการ คือ
ท่านผู้เจริญ ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้ว
ขอให้ไปเกิดในภูมิที่ดี คืออยู่ร่วมกับมนุษย์เถิด
ท่านเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ขอให้ได้มีศรัทธาอย่างสูงยิ่ง
ในพระสัทธรรมเถิด
ศรัทธาของท่านนั้นขอให้ตั้งมั่น มีเหตุเกิด
หยั่งลง มั่นคงในสัทธรรม
ที่ตถาคตประกาศไว้ดีแล้ว
ใคร ๆ ทำให้คลอนแคลนไม่ได้ตลอดชีวิตเถิด
ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตได้ทั้งหมด
รวมทั้งละกรรมชั่วที่ประกอบด้วยโทษอื่น ๆ
จงทำความดีทางกาย วาจาให้มาก
และทำความดีทางใจที่ประมาณมิได้ ปราศจากอุปธิ
นอกจากนั้น ท่านจงทำบุญ
ที่ให้เกิดสมบัตินั้นให้มาก ด้วยการให้ทาน
ชักชวนผู้อื่นให้ดำรงอยู่ในสัทธรรม
ในพุทธศาสนาเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๕. พหุชนหิตสูตร
เมื่อเทวดารู้แน่ว่า เทพบุตรกำลังจะจุติ
ย่อมพลอยยินดีด้วยการอนุเคราะห์กล่าวชวนดังนี้ว่า
ท่านเทพบุตร ท่านจงหวนกลับมาเกิด
ในเทวโลกนี้บ่อย ๆ เถิด
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปัญจปุพพนิมิตตสูตรที่ ๔ จบ

๕. พหุชนหิตสูตร
ว่าด้วยบุคคลเกื้อกูลชาวโลก
[๘๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ เมื่อเกิดขึ้นในโลก๑ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อ
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อ
ประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
บุคคล ๓ จำพวก คือ
๑. พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี
รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค
ตถาคตพระองค์นั้น ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความ
งามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์

เชิงอรรถ :
๑ โลก มี ๓ คือ (๑) สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ (๒) สังขารโลก โลกคือสังขาร (ขันธ์ ๕) (๓) โอกาสโลก
โลกคือแผ่นดิน ในที่นี้หมายถึงสัตวโลก (ขุ.อิติ.อ. ๘๔/๒๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๕. พหุชนหิตสูตร
พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน นี้คือบุคคล
จำพวกที่ ๑ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๒. สาวกของพระตถาคตศาสดาพระองค์นั้นนั่นเอง เป็นพระอรหันต-
ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระ
ได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว
หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ สาวกนั้นแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น
มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน นี้คือบุคคล
จำพวกที่ ๒ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่คน
หมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อ
ประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๓. สาวกของพระตถาคตศาสดาพระองค์นั้นนั่นเอง ยังเป็นพระเสขะ
กำลังปฏิบัติอยู่ เป็นพหูสูต ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตร แม้สาวกนั้น
ก็แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี
ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน นี้คือบุคคลจำพวกที่ ๓ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น
ในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คน
หมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อ
ความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อ
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อ
ประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๕. พหุชนหิตสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระศาสดาผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
จัดเป็นบุคคลจำพวกที่ ๑ ในโลก
พระสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระศาสดาพระองค์นั้น
ผู้อบรมตนแล้ว จัดเป็นบุคคลจำพวกที่ ๒
พระสาวกอื่น ๆ นอกจากนั้น ผู้ยังเป็นพระเสขะ
กำลังปฏิบัติอยู่ เป็นพหูสูต ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตร
จัดเป็นบุคคลจำพวกที่ ๓
บุคคล ๓ จำพวกนี้เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในเทวดาและมนุษย์
เป็นผู้ส่องแสงสว่าง เผยแผ่สัจธรรมอยู่
ย่อมเปิดประตูเข้าสู่นิพพาน
ท่านเหล่านั้นช่วยปลดเปลื้องชนจำนวนมากออกจากโยคะ
ชนทั้งหลายผู้ปฏิบัติตามอริยมรรค
ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงนำหมู่เวไนยชนออกจากภพ
ผู้ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า ทรงแสดงไว้ดีแล้ว
เป็นผู้ไม่ประมาทในศาสนธรรมของพระสุคต
ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ในอัตภาพนี้ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
พหุชนหิตสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๖. อสุภานุปัสสีสูตร
๖. อสุภานุปัสสีสูตร
ว่าด้วยการพิจารณากายให้เห็นเป็นของไม่งาม
[๘๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพิจารณาเห็นความไม่งามในกายอยู่เสมอเถิด
จงหมั่นเจริญอานาปานสติ มุ่งเฉพาะอารมณ์ที่เป็นภายในของพวกเธอ จงพิจารณา
เห็นสภาวะไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่เสมอเถิด เมื่อเธอทั้งหลายพิจารณาเห็นความ
ไม่งามในกายอยู่เสมอ ย่อมละราคานุสัยในธาตุที่สวยงามได้ เมื่อเธอทั้งหลาย
หมั่นเจริญอานาปานสติ มุ่งเฉพาะอารมณ์ที่เป็นภายในของพวกเธอ มิจฉาวิตกภายนอก
ที่เป็นฝ่ายแห่งความทุกข์ก็จะไม่มี เมื่อเธอทั้งหลายพิจารณาเห็นสภาวะไม่เที่ยงในสังขาร
ทั้งปวงอยู่เสมอ ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้มีความเพียรพิจารณาเห็นความไม่งามในกาย
ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
พิจารณาเห็นภาวะที่สงบระงับสังขารทั้งปวงตลอดกาล
ภิกษุนั้นแล เป็นผู้เห็นโดยชอบ
เพราะเหตุที่น้อมจิตไปในนิพพานธาตุนั้น
จึงชื่อว่าสำเร็จอภิญญา ๖ ประการ
เป็นผู้สงบ ล่วงพ้นโยคะได้แล้ว เป็นมุนีแท้จริง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อสุภานุปัสสีสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๗. ธัมมานุธัมมปฏิปันนสูตร
๗. ธัมมานุธัมมปฏิปันนสูตร
ว่าด้วยผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
[๘๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อกล่าวว่า ‘สภาวะที่สมควรใดเป็นเหตุให้บุคคลเป็นผู้
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมด้วยการพยากรณ์ สภาวะที่สมควรนี้ชื่อว่าเป็นธรรมที่
สมควรแก่ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม’ ชื่อว่ากล่าวแต่เรื่องที่เป็นธรรมเท่านั้น
ไม่กล่าวเรื่องที่ไม่เป็นธรรม เมื่อตรึก ชื่อว่าตรึกถึงแต่วิตกที่เป็นธรรมเท่านั้น ไม่ตรึก
ถึงวิตกที่ไม่เป็นธรรม หรือเว้นกิริยาทั้งสองนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ
มีสัมปชัญญะอยู่”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุมีธรรมเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรม
พิจารณาใคร่ครวญถึงธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่
ย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรม๑
ภิกษุเมื่อยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม
ควบคุมจิตให้สงบอยู่ภายในได้
ย่อมบรรลุความสงบแท้จริง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ธัมมานุธัมมปฏิปันนสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๓๖๔ หน้า ๑๔๗ ในเล่มนี้ และดู ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๐๓๕/๒๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๘. อันธกรณสูตร
๘. อันธกรณสูตร
ว่าด้วยวิตกทั้งที่ทำให้มืดมนและไม่มืดมน
[๘๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ ประการนี้ทำความมืดมน ไม่ทำให้เกิด
ปัญญาจักษุ ทำแต่ความไม่รู้ ดับปัญญา๑ เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
อกุศลวิตก ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามวิตก ทำความมืดมน ไม่ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำแต่ความ
ไม่รู้ ดับปัญญา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
๒. พยาบาทวิตก ทำความมืดมน ไม่ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำแต่
ความไม่รู้ ดับปัญญา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
๓. วิหิงสาวิตก ทำความมืดมน ไม่ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำแต่ความไม่รู้
ดับปัญญา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
อกุศลวิตก ๓ ประการนี้แล ทำความมืดมน ไม่ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำแต่
ความไม่รู้ ดับปัญญา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย กุศลวิตก ๓ ประการนี้ไม่ทำความมืดมน ทำให้เกิดปัญญา-
จักษุ ทำให้เกิดความรู้ ทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพาน
กุศลวิตก ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เนกขัมมวิตก ไม่ทำความมืดมน ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำให้เกิดความรู้
ทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญา หมายถึงปัญญา ๓ ประการ คือ (๑) กัมมัสสกตปัญญา (๒) ฌานปัญญา (๓) วิปัสสนาปัญญา
(ขุ.อิติ.อ. ๘๗/๓๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๘. อันธกรณสูตร
๒. อัพยาบาทวิตก ไม่ทำความมืดมน ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำให้เกิด
ความรู้ ทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นไปเพื่อ
นิพพาน
๓. อวิหิงสาวิตก ไม่ทำความมืดมน ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำให้เกิด
ความรู้ ทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นไปเพื่อ
นิพพาน
กุศลวิตก ๓ ประการนี้แล ไม่ทำความมืดมน ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำให้เกิด
ความรู้ ทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพาน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร ควรตรึกถึงกุศลวิตก ๓ ประการ
และควรขจัดอกุศลวิตก ๓ ประการออก
ภิกษุนั้นย่อมทำมิจฉาวิตกและมิจฉาวิจารให้สงบลงได้พลัน
เหมือนฝนตกทำฝุ่นธุลีที่ฟุ้งขึ้นให้สงบหายได้ ฉะนั้น
ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรนั้น มีใจสงบจากอกุศลวิตกทั้งหมด
ย่อมบรรลุสันติบท๑ได้ในอัตภาพนี้แน่นอน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อันธกรณสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๒๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๙. อันตรามลสูตร
๙. อันตรามลสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นมลทินภายใน
[๘๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน
เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โลภะเป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
๒. โทสะเป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
๓. โมหะเป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน
เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โลภะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โลภะทำให้จิตกำเริบ โลภะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน(ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๙. อันตรามลสูตร
คนโลภไม่รู้จักผล คนโลภไม่รู้จักเหตุ
ความโลภครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น
ส่วนผู้ใดละโลภะได้
ไม่ทะยานอยากในอารมณ์ที่เป็นเหตุแห่งความโลภ
โลภะจะถูกอริยมรรคละได้เด็ดขาดไปจากผู้นั้น
เหมือนหยาดน้ำกลิ้งตกจากใบบัว ฉะนั้น
โทสะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โทสะทำให้จิตกำเริบ โทสะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน(ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนโกรธไม่รู้จักผล คนโกรธไม่รู้จักเหตุ
ความโกรธครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น
ส่วนผู้ใดละโทสะได้
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์ที่เป็นเหตุแห่งความขัดเคือง
โทสะจะถูกอริยมรรคละได้เด็ดขาดไปจากผู้นั้น
เหมือนผลตาลสุกหลุดจากขั้ว ฉะนั้น
โมหะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โมหะทำจิตให้กำเริบ โมหะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน(ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนหลงไม่รู้จักผล คนหลงไม่รู้จักเหตุ
ความหลงครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๑๐. เทวทัตตสูตร
ส่วนผู้ใดละโมหะได้
ไม่ลุ่มหลงในอารมณ์ที่เป็นเหตุแห่งความหลง
ผู้นั้นย่อมกำจัดโมหะทั้งหมดได้เด็ดขาด
เหมือนดวงอาทิตย์กำจัดความมืด ฉะนั้น๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อันตรามลสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. เทวทัตตสูตร
ว่าด้วยพระเทวทัตถูกอสัทธรรมครอบงำ
[๘๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตถูกอสัทธรรม ๓ ประการครอบงำย่ำยีจิต ต้องไป
เกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
อสัทธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เทวทัตถูกความปรารถนาชั่วครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย
ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
๒. เทวทัตถูกความมีมิตรชั่วครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไป
เกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
๓. เมื่อยังมีมรรคผลที่ควรทำให้สูงขึ้นไป เทวทัตกลับมาถึงความเสื่อม
เสียกลางคัน เพราะบรรลุคุณวิเศษขั้นต่ำ
ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตถูกอสัทธรรม ๓ ประการนี้แล ครอบงำย่ำยีจิต ต้อง
ไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๒๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๘/๔๒๗-๔๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๑๐. เทวทัตตสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ใคร ๆ อย่าได้เกิดเป็นคนปรารถนาชั่ว
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ ในโลก
เธอทั้งหลายจงรู้จักเทวทัตว่า
มีคติเหมือนกับคนปรารถนาชั่ว
เทวทัตเป็นที่ยกย่องกันว่า เป็นบัณฑิต
เป็นที่รู้กันว่า ได้อบรมตนแล้ว
เราได้ฟังมาว่า เทวทัตดุจรุ่งเรืองอยู่ด้วยยศ
เทวทัตนั้นสั่งสมความประมาท
เบียดเบียนตถาคตนั้น
จึงต้องไปเกิดในนรกอเวจี มีประตู ๔ ด้าน
น่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก
ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนที่ไม่ประทุษร้าย
ผู้ไม่ทำกรรมชั่ว
บาปย่อมถูกต้องเฉพาะผู้นั้นเท่านั้น
ผู้มีจิตคิดประทุษร้าย ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
ผู้ใดเบียดเบียนตถาคต ผู้เสด็จไปดี
มีพระทัยสงบ ด้วยการกล่าวตำหนิ
การตำหนิพระองค์ ย่อมฟังไม่ขึ้น
เปรียบเหมือนผู้ที่ตั้งใจประทุษร้ายมหาสมุทร
ด้วยยาพิษจำนวนเป็นหม้อ
เขาไม่อาจประทุษร้ายได้ เพราะมหาสมุทรน่ากลัว๑

เชิงอรรถ :
๑ น่ากลัว หมายถึงทั้งกว้างและลึก (ขุ.อิติ.อ. ๘๙/๓๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ภิกษุผู้ดำเนินตามมรรคาของพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก
พึงถึงความสิ้นทุกข์ได้
บัณฑิตทำพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกให้เป็นกัลยาณมิตร
และคบหาท่านเหล่านั้น๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เทวทัตตสูตรที่ ๑๐ จบ
จตุตถวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. วิตักกสูตร ๒. สักการสูตร
๓. เทวสัททสูตร ๔. ปัญจปุพพนิมิตตสูตร
๕. พหุชนหิตสูตร ๖. อสุภานุปัสสีสูตร
๗. ธัมมานุธัมมปฏิปันนสูตร ๘. อันธกรณสูตร
๙. อันตรามลสูตร ๑๐. เทวทัตตสูตร


เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๕๐/๒๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๑. อัคคัปปสาทสูตร
๕. ปัญจมวรรค
หมวดที่ ๕
๑. อัคคัปปสาทสูตร๑
ว่าด้วยความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
[๙๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ๓ ประการนี้
ความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ๓ ประการ คือ
๑. สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้า มีสองเท้า มีสี่เท้า และมีเท้ามากก็ตาม
มีรูป หรือไม่มีรูปก็ตาม มีสัญญา ไม่มีสัญญา หรือมีสัญญาก็ไม่ใช่
ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ก็ตาม มีประมาณเท่าใด ตถาคตอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าสัตว์มีประมาณเท่านั้น บุคคล
ผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศ
ย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
๒. ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งหรือธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งมีประมาณเท่าใด
วิราคะ(ความคลายกำหนัด) คือความสร่างความเมา ความดับความ
กระหาย ความถอนอาลัย ความตัดวัฏฏะ ความสิ้นตัณหา ความ
คลายกำหนัด ความดับทุกข์ นิพพาน บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่า
ธรรมเหล่านั้น บุคคลผู้เลื่อมใสในวิราคธรรม ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่ง
ที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๓๔/๕๓-๕๕, องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๓๒/๔๙-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๑. อัคคัปปสาทสูตร
[ธรรมทั้งหลายที่ปัจจัยปรุงแต่งมีประมาณเท่าใด อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

เรากล่าวว่า เลิศกว่าธรรมเหล่านั้น บุคคลผู้เลื่อมใสในอริยมรรคมีองค์ ๘ ชื่อว่า
เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เสื่อมใสในสิ่งที่เลิศ] ๑
๓. หมู่ก็ดี คณะก็ดี มีประมาณเท่าใด พระสงฆ์สาวกของตถาคต ได้แก่
อริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล๒ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้
เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่
ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าหมู่หรือคณะเหล่านั้น บุคคลผู้เลื่อมใส
ในสงฆ์ ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้
เสื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุญที่เลิศ คือ อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุข และพละ
ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้เลื่อมใส
ผู้รู้ธรรมที่เลิศโดยความเป็นธรรมที่เลิศ

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความนี้ ดู ขุ.อิติ.อ. ๙๐/๓๒๕ ประกอบ
๒ ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๒๐๗/๒๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๒. ชีวกสูตร
ผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ซึ่งเป็นทักขิไณยบุคคลชั้นเยี่ยม
ผู้เลื่อมใสในพระธรรมที่เลิศ อันเป็นที่คลายความกำหนัด
และเป็นที่สงบระงับ นำสุขมาให้
ผู้เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ ซึ่งเป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
ให้ทานแก่ท่านผู้เลิศ
นักปราชญ์ตั้งมั่นในธรรมที่เลิศ ให้ทานแก่ท่านผู้เลิศ
เกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ย่อมถึงความเป็นผู้เลิศ บันเทิงอยู่
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อัคคัปปสาทสูตรที่ ๑ จบ

๒. ชีวกสูตร
ว่าด้วยชีวิตของผู้ทุศีล
[๙๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย การที่ภิกษุทุศีลเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพนี้ เป็นการกระทำ
ที่ต่ำทราม การที่ภิกษุทุศีลประพฤติเช่นนี้ย่อมถูกชาวโลกด่าว่า “เจ้าคนนี้อุ้มบาตร
เที่ยวขอชาวโลกเลี้ยงชีพ”
กุลบุตรต่างเป็นผู้ตระหนักในเหตุ อาศัยความตระหนักในเหตุ จึงเข้ามาใช้ชีวิต
เที่ยวขอก้อนข้าวนี้ มิใช่ถูกพระราชารับสั่งให้นำไปจองจำ มิใช่ถูกพวกโจรนำไปกักขัง
มิใช่เป็นลูกหนี้ มิใช่ตกอยู่ในห้วงอันตราย มิใช่มุ่งจะยึดเป็นอาชีพ แท้จริง กุลบุตร
เหล่านั้นเข้ามาบวชด้วยเหตุผลว่า “พวกเราต่างถูกความเกิด ความแก่ ความตาย
ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความเสียใจ ความตรอมใจ ทับถมครอบงำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๒. ชีวกสูตร
จมอยู่ในทุกข์ สาละวนอยู่กับทุกข์ ทำอย่างไรเล่า การทำที่สุดกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
จะพึงปรากฏได้”
กุลบุตรนี้เป็นผู้บวชแล้วด้วยเหตุผลตามที่กล่าวแล้วนี้ แต่แล้วกุลบุตรนั้นกลับ
มีความละโมบ กำหนัดยินดีอย่างแรงกล้าในกาม มีจิตพยาบาท คิดประทุษร้าย
หลงลืมสติ ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น กระสับกระส่าย ไม่สำรวมอินทรีย์
ภิกษุทั้งหลาย ท่อนฟืนในที่เผาศพ ถูกไฟไหม้ทั้งด้านหัวและท้าย และตรง
กลางยังเปื้อนคูถ จะใช้เป็นฟืนในบ้านหรือในป่าก็ไม่ได้ทั้งนั้น ฉันใด บุคคลผู้นี้ก็
เปรียบเช่นนั้น เราเรียกว่า “เป็นคนเสื่อมจากโภคะของคฤหัสถ์ และไม่สามารถ
บำเพ็ญประโยชน์สำหรับความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
คนผู้มีส่วนชั่ว เสื่อมจากโภคะของคฤหัสถ์
ทั้งยังทำลายประโยชน์ของความเป็นสมณะให้เสื่อมสูญสิ้นไป
เหมือนท่อนฟืนในที่เผาศพมอดไหม้ไป ฉะนั้น
ภิกษุชั่วจำนวนมากมีผ้ากาสาวะพันที่คอ
มีธรรมเลวทราม ไม่สำรวม
ย่อมตกนรกเพราะบาปกรรมทั้งหลาย
การกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนดุจเปลวเพลิง
ยังดีกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีล ไม่สำรวม
บริโภคอาหารที่ชาวบ้านเขาถวาย๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ชีวกสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบท ข้อ ๓๐๗-๓๐๘ หน้า ๑๒๙, อิติวุตตกะ ข้อ ๔๘ หน้า ๓๙๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๓. สังฆาฏิกัณณสูตร
๓. สังฆาฏิกัณณสูตร
ว่าด้วยผู้เกาะชายผ้าสังฆาฏิ
[๙๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย แม้ถ้าภิกษุจับชายผ้าสังฆาฏิแล้วเดินตามรอยเท้าเรา ติดตาม
ไปข้างหลัง แต่ภิกษุนั้นมีความละโมบ กำหนัดยินดีอย่างแรงกล้าในกาม มีจิต
พยาบาท คิดประทุษร้าย หลงลืมสติ ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น กระสับกระส่าย
ไม่สำรวมอินทรีย์ แท้จริงแล้ว ภิกษุนั้นก็ยังชื่อว่าอยู่ห่างไกลเรา เราก็ห่างไกล
ภิกษุนั้น นั่นเป็นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นยังไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม
ชื่อว่าไม่เห็นเรา
ภิกษุทั้งหลาย แม้ถ้าภิกษุอยู่ไกลเราถึง ๑๐๐ โยชน์ แต่ภิกษุนั้นไม่มีความ
ละโมบ ไม่กำหนัดยินดีอย่างแรงกล้าในกาม มีจิตไม่พยาบาท ไม่คิดประทุษร้าย
มีสติตั้งมั่น มีความรู้สึกตัว มีจิตตั้งมั่น แน่วแน่ สำรวมอินทรีย์ แท้จริงแล้ว
ภิกษุนั้นก็ชื่อว่าอยู่ใกล้เรา เราก็อยู่ใกล้ภิกษุนั้น นั่นเป็นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุ
นั้นเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรม ชื่อว่าเห็นเรา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลผู้มักมาก มีความคับแค้น
ตกอยู่ในอำนาจตัณหา ยังดับความเร่าร้อนไม่ได้
ถึงจะติดตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้หมดตัณหาที่ทำให้หวั่นไหว ผู้ทรงดับความเร่าร้อนได้
ผู้นั้นชื่อว่ามีความกำหนัดยินดี
เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ปราศจากความกำหนัดยินดี
เป็นผู้อยู่ห่างไกล๑

เชิงอรรถ :
๑ เป็นผู้อยู่ห่างไกล หมายถึงอยู่ห่างไกลจากสภาวธรรม (ขุ.อิติ.อ. ๙๒/๓๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๔. อัคคิสูตร
ส่วนบุคคลผู้เป็นบัณฑิต
พิจารณารู้ธรรม๑ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว
ต่อมาจึงกำหนดรู้ธรรมนั้น
เป็นผู้หมดกิเลสที่ทำให้หวั่นไหว สงบระงับกิเลสได้เด็ดขาด
ดุจห้วงน้ำสงบเรียบยามสงัดลม ฉะนั้น
ผู้นั้นไม่หวั่นไหว ดับความเร่าร้อนได้แล้ว
ชื่อว่าหมดความกำหนัดยินดี
เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่ทรงมีความหวั่นไหว
ทรงดับความเร่าร้อนได้
ทรงปราศจากความกำหนัดยินดี เป็นผู้อยู่ใกล้ทีเดียว
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สังฆาฏิกัณณสูตรที่ ๓ จบ

๔. อัคคิสูตร
ว่าด้วยไฟกิเลส
[๙๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้
ไฟ ๓ กอง คือ
๑. ไฟคือราคะ ๒. ไฟคือโทสะ ๓. ไฟคือโมหะ
ภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงอริยสัจ ๔ ประการ (ขุ.อิติ.อ. ๙๒/๓๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๔. อัคคิสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ไฟคือราคะ ย่อมเผาผลาญนรชนผู้กำหนัด
หมกมุ่นอยู่ในกามทั้งหลาย
ไฟคือโทสะ ย่อมเผาผลาญนรชนผู้มีจิตพยาบาท ชอบฆ่าสัตว์
ไฟคือโมหะ ย่อมเผาผลาญนรชนผู้ลุ่มหลง
ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
หมู่สัตว์ เมื่อไม่รู้จักไฟทั้ง ๓ กองนี้
จึงยินดียิ่งในสักกายะ๑
ไม่พ้นจากบ่วงแห่งมาร สั่งสมเพื่อเกิดในนรก
กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน อสุรกาย และแดนเปรต
ส่วนชนทั้งหลายผู้หมั่นอบรมตนในศาสนธรรม
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งกลางวันและกลางคืน
หมั่นเจริญอสุภสัญญาเป็นนิตย์
ย่อมทำไฟคือราคะให้ดับลงได้
ชนทั้งหลายที่มีคุณธรรมสูง
ย่อมดับไฟคือโทสะลงได้ด้วยเมตตา
และย่อมดับไฟคือโมหะด้วยปัญญา
อันเป็นเครื่องทำลายกิเลสได้เด็ดขาด
ชนผู้มีปัญญารักษาตนเหล่านั้น
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
ดับไฟทั้ง ๓ กองนั้นได้แล้ว
ชื่อว่าดับกิเลสได้สิ้นเชิง ล่วงพ้นทุกข์ได้ทั้งสิ้น

เชิงอรรถ :
๑ ยินดียิ่งในสักกายะ หมายถึงเพลิดเพลินยินดีในอุปาทานขันธ์ ๕ ด้วยอำนาจตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.อิติ.อ.
๙๓/๓๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๕. อุปปริกขสูตร
บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นแจ้งอริยสัจ
จบเวท รู้สิ่งทั้งปวงโดยชอบ
ย่อมไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก
เพราะรู้ยิ่งถึงภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อัคคิสูตรที่ ๔ จบ

๕. อุปปริกขสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาโดยวิธีที่จิตไม่ฟุ้งซ่าน
[๙๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรพิจารณาโดยประการที่วิญญาณ(จิต)ของตนไม่ฟุ้งซ่าน
ไม่ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก ไม่ติดอยู่ภายใน จึงไม่หวาดสะดุ้งเพราะไม่ยึดติดใน
อารมณ์ต่าง ๆ
ภิกษุทั้งหลาย ครั้นวิญญาณไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก ไม่ติด
อยู่ภายใน เมื่อภิกษุไม่หวาดสะดุ้ง เพราะไม่ยึดมั่นอารมณ์ต่าง ๆ เหตุแห่งทุกข์คือชาติ
และความเกิดทุกข์คือชราและมรณะ ก็จะเกิดมีไม่ได้อีกต่อไป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุละกิเลสเครื่องข้อง ๗ ประการ๑ ได้
ตัดตัณหาที่นำไปสู่ภพได้เด็ดขาด
มีสงสารคือชาติหมดสิ้นแล้ว
ย่อมไม่มีภพใหม่
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อุปปริกขสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องข้อง ๗ ประการ คือ (๑) ตัณหา (๒) ทิฏฐิ (๓) มานะ (๔) โกธะ (๕) อวิชชา (๖) กิเลส
(๗) ทุจริต (ขุ.อิติ.อ. ๙๔/๓๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๖. กามูปปัตติสูตร
๖. กามูปปัตติสูตร
ว่าด้วยผู้ยังเสพกามไม่สามารถล่วงสังสารทุกข์ได้
[๙๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย การเสพกาม ๓ ประการนี้
การเสพกาม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การเสพกามของสัตว์ผู้มีความใคร่ปรากฏอยู่เป็นนิตย์๑
๒. การเสพกามของเทวดาผู้ยินดีในกามสมบัติที่ตนเนรมิต๒
๓. การเสพกามของเทวดาผู้ยินดีในกามสมบัติที่เทวดาอื่นเนรมิตให้๓
ภิกษุทั้งหลาย การเสพกาม ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สัตว์ผู้มีความใคร่ปรากฏอยู่เป็นนิตย์
เทวดาผู้ยินดีในกามสมบัติที่ตนเนรมิต
เทวดาผู้ยินดีในกามสมบัติที่เทวดาอื่นเนรมิตให้
และสัตว์เหล่าอื่นที่เสพกามอยู่เป็นนิตย์
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น
บัณฑิตรู้โทษในการเสพกามทั้งหลายนี้แล้ว
ควรละเว้นกามทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ทั้งหมด

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงมนุษย์ และเทวดาตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา จนถึงชั้นดุสิต (ขุ.อิติ.อ. ๙๕/๓๔๐)
๒ หมายถึงเทวดาชั้นนิมมานรดี (ขุ.อิติ.อ. ๙๕/๓๔๐)
๓ หมายถึงเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี (ขุ.อิติ.อ. ๙๕/๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๗. กามโยคสูตร
บัณฑิตทั้งหลาย ตัดกระแสตัณหาที่กำหนัดยินดี
ในปิยรูปสาตรูป๑ที่คนทั่วไปล่วงพ้นได้ยากขาดสิ้นแล้ว
ชื่อว่าดับกิเลสได้สิ้นเชิง ล่วงพ้นทุกข์ได้ทั้งสิ้น
บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นแจ้งอริยสัจ
จบเวท รู้สิ่งทั้งปวงโดยชอบ
ย่อมไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก
เพราะรู้ยิ่งถึงภาวะสิ้นสุดการเกิด
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
กามูปปัตติสูตรที่ ๖ จบ

๗. กามโยคสูตร
ว่าด้วยผู้ประกอบด้วยกามไปสู่วัฏฏสงสาร
[๙๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบตนด้วยกามโยคะ๒ ประกอบตนด้วยภวโยคะ๓
ชื่อว่าเป็นอาคามี๔ คือยังต้องกลับมาเกิดในกามภูมิอีก
บุคคลผู้พรากตนออกจากกามโยคะ แต่ยังประกอบตนด้วยภวโยคะ ชื่อว่าเป็น
อนาคามี๕คือเป็นผู้ไม่ต้องกลับมาเกิดในกามภูมิอีก

เชิงอรรถ :
๑ ปิยรูปสาตรูป หมายถึงรูปเป็นต้นที่น่ารักและน่าพอใจด้วยอำนาจสุขเวทนา (ขุ.อิติ.อ.๙๕/๓๔๑)
๒ กามโยคะ หมายถึงราคะที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕ (กามราคะ) (ขุ.อิติ.อ.๙๖/๓๔๒)
๓ ภวโยคะ หมายถึงความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในรูปภพและอรูปภพ อีกอย่างหนึ่ง หมายถึงราคะ
ที่ประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ.๙๖/๓๔๒)
๔ อาคามี หมายถึงผู้อยู่ในพรหมโลก สามารถมาเกิดยังมนุษยโลกได้ (ขุ.อิติ.อ.๙๖/๓๔๒)
๕ อนาคามี หมายถึงผู้ไม่กลับมาเกิดในกามโลกอีก (ขุ.อิติ.อ.๙๖/๓๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๘. กัลยาณสีลสูตร
บุคคลผู้พรากตนออกจากกามโยคะและภวโยคะได้ขาดแล้ว ชื่อว่าเป็นอรหันต์
คือเป็นผู้สิ้นอาสวกิเลสแล้ว”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบตน
ด้วยกามโยคะและภวโยคะทั้งสอง
ชื่อว่ายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ
ส่วนผู้ที่ละกามทั้งหลายได้เด็ดขาด
แต่ยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะ
ยังประกอบตนด้วยภวโยคะ
บัณฑิตทั้งหลาย เรียกว่า เป็นอนาคามี
แต่ผู้ที่ตัดความสงสัยได้
สิ้นทั้งมานะและภพที่จะเกิดใหม่
ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
เป็นผู้ชื่อว่า ถึงฝั่งแล้วในโลก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
กามโยคสูตรที่ ๗ จบ

๘. กัลยาณสีลสูตร
ว่าด้วยผู้มีศีลงาม ธรรมงาม และปัญญางาม
[๙๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม และมีปัญญางาม เราจึงเรียกว่า
‘เป็นพระอรหันต์แท้จริง อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นบุรุษผู้สูงสุด’ ในธรรมวินัยนี้
ผู้มีศีลงาม เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อม
ด้วยอาจาระและโคจรอยู่ มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบท
ทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีศีลงามอย่างนี้แล เป็นผู้มีศีลงาม ด้วยอาการดังกล่าวนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๘. กัลยาณสีลสูตร
ผู้มีธรรมงาม เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้หมั่นประกอบความเพียรติดต่อกันด้วยการเจริญโพธิ-
ปักขิยธรรม ๓๗ ประการอยู่เสมอ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีธรรมงามอย่างนี้แล เป็นผู้
มีศีลงาม มีธรรมงาม ด้วยอาการดังกล่าวนี้
ผู้มีปัญญางาม เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะ
อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญางาม
อย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม และมีปัญญางาม ด้วยอาการดังกล่าวนี้ เราจึง
เรียกว่า ‘เป็นพระอรหันต์แท้จริง อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นบุรุษผู้สูงสุด’ ในธรรมวินัยนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
ตรัสเรียกภิกษุผู้ไม่มีความชั่วทางกาย วาจา ใจ
มีหิริครองใจนั้นว่า เป็นผู้มีศีลงาม
ตรัสเรียกภิกษุผู้บำเพ็ญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
มาแล้วเป็นอย่างดี
ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องฟูใจนั้นว่า เป็นผู้มีธรรมงาม
ตรัสเรียกภิกษุผู้รู้แจ้งความสิ้นทุกข์ของตนในอัตภาพนี้เท่านั้น
ผู้หาอาสวะมิได้นั้นว่า เป็นผู้มีปัญญางาม
ตรัสเรียกภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยธรรมมีศีลเป็นต้นนั้น
ผู้ไม่มีทุกข์ ตัดความสงสัยได้แล้ว
ไม่อาศัยโลกทั้งปวง ละกิเลสทุกอย่างในโลกได้หมดสิ้น
(ว่าเป็นผู้มีปัญญางาม)
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
กัลยาณสีลสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๙. ทานสูตร
๙. ทานสูตร
ว่าด้วยการให้ทาน
[๙๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๒ อย่าง คือ อามิสทาน(การให้สิ่งของ)และธรรม-
ทาน(การให้ธรรม) บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ
การจำแนก ๒ อย่าง คือ การจำแนกด้วยอามิส และการจำแนกด้วยธรรม
บรรดาการจำแนก ๒ อย่างนี้ การจำแนกด้วยธรรมเป็นเลิศ
การอนุเคราะห์ ๒ อย่าง คือ การอนุเคราะห์ด้วยอามิส และการอนุเคราะห์
ด้วยธรรม บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ การอนุเคราะห์ด้วยธรรมเป็นเลิศ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
วิญญูชนผู้มีจิตเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และพระอริยสงฆ์ผู้ประเสริฐ เป็นนาบุญอันเลิศของโลก
เมื่อทราบชัดทานและการจำแนก
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญว่า ยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง
ใครเล่าจะไม่ถวายทานในกาลอันสมควร
ประโยชน์อย่างยอดเยี่ยมนั้นย่อมสำเร็จแก่คน ๒ ฝ่าย คือ
ฝ่ายแสดงธรรมและฝ่ายฟังธรรม
ผู้มีจิตเลื่อมใสในคำสอนของพระสุคต
และผู้ไม่ประมาทในคำสอนของพระสุคต
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทานสูตรที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๑๐. เตวิชชสูตร
๑๐. เตวิชชสูตร๑
ว่าด้วยวิชชา ๓
[๙๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราบัญญัติเรียกผู้บรรลุวิชชา ๓ ว่าเป็นพราหมณ์ โดยธรรม
เราหาบัญญัติเรียกบุคคลอื่นว่า เป็นพราหมณ์ โดยเหตุเพียงการกล่าวอ้างตามที่ผู้
อื่นเรียกกันไม่
ก็เราบัญญัติเรียกผู้บรรลุวิชชา ๓ ว่าเป็นพราหมณ์ โดยธรรม เราหาบัญญัติ
เรียกบุคคลอื่นว่า เป็นพราหมณ์ โดยเหตุเพียงการกล่าวอ้างตามที่ผู้อื่นเรียกกันไม่
มีอธิบายอย่างไร คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง
๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง
๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอัน
มากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป๒เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏะและวิวัฏฏกัป
เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิด
ในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิด
ในภพนี้’ ภิกษุนั้นระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป
และชีวประวัติอย่างนี้ เธอชื่อว่าได้บรรลุวิชชาที่ ๑ นี้แล้ว ความ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๕๙/๒๒๕-๒๒๙
๒ สังวัฏฏกัป คือกัปฝ่ายเสื่อม ได้แก่ ช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังพินาศ วิวัฏฏกัป คือกัปฝ่ายเจริญ ได้แก่
ช่วงระยะเวลาเวลาที่โลกกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ (ตามนัย วิ.อ. ๑/๑๒/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๑๐. เตวิชชสูตร
มืดมิดคืออวิชชา เธอกำจัดได้แล้ว แสงสว่าง๑คือวิชชาได้เกิดขึ้น
แก่เธอ เปรียบเหมือนแสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความ
เพียรอุทิศกายและใจ
๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและ
ชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์ รู้ชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบ
กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความ
เห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด หลังจากตาย
แล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบ
กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความ
เห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ หลังจาก
ตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ
กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม
อย่างนี้ เธอชื่อว่าได้บรรลุวิชชาที่ ๒ นี้แล้ว๒ ความมืดมิดคืออวิชชา
เธอกำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เธอ เปรียบเหมือน
แสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรอุทิศกายและใจ
๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ อันไม่
มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน เธอชื่อว่าได้บรรลุวิชชาที่ ๓ นี้แล้ว๓ ความมืดมิดคืออวิชชา

เชิงอรรถ :
๑ ความมืดมิด (ตมะ) ในที่นี้หมายถึงโมหะ ที่เรียกว่า มืดมิด เพราะปิดบังมิให้ระลึกชาติได้ แสงสว่าง
(อาโลกะ) ในที่นี้หมายถึงวิชชา ที่เรียกว่า แสงสว่าง เพราะทำให้เกิดแสงสว่างทำลายความมืดมิดได้
วิชชาขั้นที่ ๑ นี้ได้แก่ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือความรู้เป็นเครื่องระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ใน
กาลก่อน (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๔, ขุ.อิติ.อ. ๙๙/๓๕๗)
๒ วิชชาที่ ๒ นี้ได้แก่ทิพพจักขุญาณ คือ ความรู้ที่สามารถเล็งเห็นหมู่สัตว์ที่เป็นไปต่าง ๆ กัน เพราะอำนาจ
กรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าจุตูปปาตญาณ เป็นญาณคือแสงสว่างที่ทำลายความมืดมิดคืออวิชชาที่ปิดบังการ
จุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๔, ขุ.อิติ.อ. ๙๙/๓๕๙)
๓ วิชชาที่ ๓ นี้ ได้แก่ อรหัตตมัคคญาณ เป็นญาณคือความรู้เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐ ประการ หรือ
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาสวักขยญาณ เป็นญาณคือแสงสว่างที่ทำลายความมืดมิดคืออวิชชาที่ปิดบัง
อริยสัจ ๔ ประการ (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๖, ขุ.อิติ.อ. ๙๙/๓๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เธอกำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เธอ เปรียบเหมือน
แสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรอุทิศกายและใจ
ภิกษุทั้งหลาย เราบัญญัติเรียกผู้บรรลุวิชชา ๓ ว่าเป็นพราหมณ์ โดยธรรม
เราหาบัญญัติเรียกบุคคลอื่นว่า เป็นพราหมณ์ โดยเหตุเพียงการกล่าวอ้างตามที่
ผู้อื่นเรียกกันไม่ อย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลใดรู้ปุพเพนิวาสญาณ เห็นทั้งสวรรค์และอบาย
บรรลุธรรมที่สิ้นความเกิด
เป็นมุนี อยู่จบพรหมจรรย์เพราะรู้ยิ่ง
เป็นพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ โดยวิชชา ๓ นี้
เราเรียกบุคคลนั้นว่า ได้วิชชา ๓
หาเรียกบุคคลอื่นว่า ได้วิชชา ๓ ตามที่ผู้อื่นเรียกกันไม่
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เตวิชชสูตรที่ ๑๐ จบ
ปัญจมวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัคคัปปสาทสูตร ๒. ชีวกสูตร
๓. สังฆาฏิกัณณสูตร ๔. อัคคิสูตร
๕. อุปปริกขสูตร ๖. กามูปปัตติสูตร
๗. กามโยคสูตร ๘. กัลยาณสีลสูตร
๙. ทานสูตร ๑๐. เตวิชชสูตร

ติกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑. พราหมณธัมมยาคสูตร
๔. จตุกกนิบาต
๑. พราหมณธัมมยาคสูตร
ว่าด้วยการบูชายัญด้วยธรรมของผู้เป็นพราหมณ์
[๑๐๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เรานี้แลเป็นพราหมณ์ผู้ควรแก่การขอ ขวนขวายในธรรมทาน
ตลอดเวลา ทรงไว้ซึ่งอัตภาพสุดท้าย เป็นศัลยแพทย์ ผ่าตัดกิเลสผู้เชี่ยวชาญ
เธอทั้งหลายเป็นบุตร ผู้เนื่องในอกของเรา คือ เกิดแต่ปาก เกิดแต่ธรรม ธรรม
สร้างสรรค์ไว้ จงเป็นธรรมทายาทเถิด อย่าเป็นอามิสทายาทเลย
ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๒ อย่างนี้ คือ (๑) อามิสทาน (๒) ธรรมทาน บรรดา
ทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ
การจำแนก ๒ อย่างนี้ คือ (๑) การจำแนกอามิส (๒) การจำแนกธรรม
บรรดาการจำแนก ๒ อย่างนี้ การจำแนกธรรมเป็นเลิศ
การอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ คือ (๑) การอนุเคราะห์ด้วยอามิส (๒) การอนุเคราะห์
ด้วยธรรม บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ การอนุเคราะห์ด้วยธรรมเป็นเลิศ
การบูชายัญ ๒ อย่างนี้ คือ (๑) การบูชายัญด้วยอามิส (๒) การบูชายัญ
ด้วยธรรม บรรดาการบูชายัญ ๒ อย่างนี้ การบูชายัญด้วยธรรมเป็นเลิศ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๒. สุลภสูตร
สัตว์ทั้งหลายย่อมนอบน้อมตถาคต
ผู้บูชาด้วยธรรม ไม่มีความตระหนี่
อนุเคราะห์สรรพสัตว์เสมอ
เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์
ผู้ถึงฝั่งแห่งภพ เช่นนั้น
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
พราหมณธัมมยาคสูตรที่ ๑ จบ

๒. สุลภสูตร๑
ว่าด้วยปัจจัยที่หาได้ง่าย
[๑๐๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ปัจจัย ๔ อย่างนี้ มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ
ปัจจัย ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. บรรดาจีวร บังสุกุลจีวร(ผ้าที่ได้มาจากกองฝุ่น) มีค่าน้อย หาได้ง่าย
และไม่มีโทษ
๒. บรรดาโภชนะ ปิณฑิยาโลปโภชนะ(โภชนะคือคำข้าวที่ได้มาด้วยกำลัง
ปลีแข้ง) มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ
๓. บรรดาเสนาสนะ รุกขมูลเสนาสนะ(เสนาสนะคือโคนไม้) มีค่าน้อย
หาได้ง่าย และไม่มีโทษ
๔. บรรดายารักษาโรค ปูติมุตตเภสัช(ยาดองน้ำมูตรเน่า) มีค่าน้อย
หาได้ง่าย และไม่มีโทษ
ปัจจัย ๔ อย่างนี้แล มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๗/๔๒-๔๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๓. อาสวักขยสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัย ๔ ที่มีค่าน้อย หาได้ง่าย
และไม่มีโทษนี้ เราจึงกล่าวว่า “เป็นองค์ประกอบแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ๑
อย่างหนึ่งของภิกษุนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
จิตของภิกษุผู้สันโดษด้วยปัจจัย
ที่มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ
ย่อมไม่มีความคับแค้น ไม่ติดขัดทั่วทิศ
เพราะปรารภจีวร โภชนะ เสนาสนะ (และยารักษาโรค)
และธรรมที่เหมาะแก่ความเป็นสมณะที่ภิกษุนั้นกล่าวแล้ว
อันภิกษุผู้สันโดษ ไม่ประมาท บรรลุแล้ว
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สุลภสูตรที่ ๒ จบ

๓. อาสวักขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นอาสวะ
[๑๐๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวถึงความสิ้นอาสวะทั้งหลายสำหรับภิกษุผู้รู้อยู่ ผู้เห็น
อยู่ หากล่าวถึงความสิ้นอาสวะทั้งหลายสำหรับภิกษุผู้ไม่รู้อยู่ ไม่เห็นอยู่ไม่

เชิงอรรถ :
๑ คุณเครื่องความเป็นสมณะ หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ ประการ สมถะ วิปัสสนา หรืออริยมรรค เมื่อว่า
โดยย่อมี ๒ ประการ คือ (๑) คุณเครื่องภายนอก ได้แก่ ธรรมเครื่องอาศัยของสัตบุรุษและการฟัง
สัทธรรม (๒) คุณเครื่องภายใน ได้แก่ โยนิโสมนสิการ(การมนสิการโดยแยบคาย) และธัมมานุธัมมปฏิบัติ
(การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม) คุณเครื่องความเป็นสมณะนั้น มีธรรมที่เป็นองค์ประกอบเหล่านี้ คือ
ความมักน้อย ความสันโดษ ความสงัด ความไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ความปรารภความเพียร เป็นต้น
(ขุ.อิติ.อ. ๑๐๑/๓๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๓. อาสวักขยสูตร
ภิกษุรู้อะไร เห็นอะไร จึงชื่อว่ามีความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
คือ ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ว่า ‘นี้ทุกข’ จึงชื่อว่ามีความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ว่า ‘นี้ทุกขสมุทัย(เหตุเกิดทุกข์)’ จึงชื่อว่ามีความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ(ความดับทุกข์)’ จึงชื่อว่ามีความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ว่า ‘นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์)’ จึง
ชื่อว่ามีความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงชื่อว่ามีความสิ้นอาสวะ
ทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ญาณในความสิ้นกิเลสย่อมเกิดขึ้นแก่พระเสขะ
ผู้กำลังศึกษาและปฏิบัติตามทางสายตรงก่อน
ลำดับต่อจากนั้นอัญญินทรีย์จึงเกิดขึ้น๑
ต่อจากอัญญินทรีย์นั้น วิมุตติญาณอันสูงสุด
และญาณในความสิ้นกิเลส
ย่อมเกิดขึ้นแก่ท่านผู้หลุดพ้นด้วยอรหัตตผลว่า
“สังโยชน์ทั้งหลายสิ้นไปแล้ว’
คนพาลผู้เกียจคร้าน ไม่รู้แจ้ง ไม่ควรบรรลุนิพพาน
เป็นที่ปลดเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงนี้เลย
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อาสวักขยสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูอิติวุตตกะ ข้อ ๖๒ หน้า ๔๑๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๔. สมณพราหมณสูตร
๔. สมณพราหมณสูตร
ว่าด้วยสมณะหรือพราหมณ์
[๑๐๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริงว่า
‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้น เราหายกย่องว่า เป็นสมณะในหมู่สมณะไม่ หายกย่องว่าเป็นพราหมณ์ใน
หมู่พราหมณ์ไม่ เพราะว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ไม่ได้ทำให้แจ้งผลคือ
ความเป็นสมณะ และผลคือความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดรู้แจ้งตามความเป็นจริงว่า
‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นแล เรายกย่องว่า เป็นสมณะในหมู่สมณะ ยกย่องว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่
พราหมณ์ เพราะว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นได้ทำให้แจ้งผลคือความเป็นสมณะ
และผลคือความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนั่นแล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดไม่รู้จักทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง
และไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นผู้เสื่อมจากเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๕. สีลสัมปันนสูตร
เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เป็นผู้เข้าถึงชาติและชราแท้
ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดรู้จักทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง
และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
เป็นผู้ควรเพื่อจะทำที่สุดทุกข์ได้
และเป็นผู้ไม่เข้าถึงชาติและชรา๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สมณพราหมณสูตรที่ ๔ จบ

๕. สีลสัมปันนสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
[๑๐๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดสมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยสมาธิ สมบูรณ์
ด้วยปัญญา สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นผู้กล่าวสอน
ให้รู้แจ้ง ชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง เป็นผู้สามารถกล่าวบรรยายสัทธรรมให้เข้าใจง่าย
การได้เห็นภิกษุเหล่านั้น เรากล่าวว่ามีอุปการะมาก การได้ฟัง(ธรรม)ภิกษุ
เหล่านั้น เรากล่าวว่ามีอุปการะมาก การได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น เรากล่าวว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบสุตตนิบาต ข้อ ๗๓๐-๗๓๓ หน้า ๖๗๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๕. สีลสัมปันนสูตร
มีอุปการะมาก การได้เข้าไปนั่งใกล้ภิกษุเหล่านั้น เรากล่าวว่ามีอุปการะมาก การได้
ระลึกถึงภิกษุเหล่านั้น เรากล่าวว่ามีอุปการะมาก และการได้ออกบวชตามภิกษุ
เหล่านั้น เรากล่าวว่ามีอุปการะมาก นั่นเป็นเพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลาย เพราะ
เมื่อภิกษุเสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้๑ภิกษุผู้ทรงคุณดังกล่าวนั้น สีลขันธ์ สมาธิขันธ์
ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ แม้ที่ยังไม่บริบูรณ์ก็จะถึงความ
บริบูรณ์ด้วยภาวนา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ทรงคุณเห็นปานนี้นั้น เราเรียกว่า ‘ศาสดา’ บ้าง
‘สัตถวาหะ(ผู้นำหมู่คณะ)’ บ้าง ‘รณัญชหะ(ผู้ละข้าศึกคือกิเลส)’ บ้าง ‘ตโมนุทะ(ผู้
บรรเทาความมืด)’ บ้าง ‘อาโลกกร(ผู้ทำแสงสว่าง)’ บ้าง ‘โอภาสกร(ผู้ทำโอภาส)’ บ้าง
‘ปัชโชตกร(ผู้ทำความรุ่งเรือง)’ บ้าง ‘ปภังกร(ผู้ทำรัศมี)’ บ้าง ‘อุกการธาร(ผู้ทรง
ประทีปคือปัญญา)’ บ้าง ‘อริยะ(พระอริยะ)’ บ้าง ‘จักขุมันตะ(ผู้มีปัญญาจักษุ)’ บ้าง”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
การได้เห็นพระอริยะทั้งหลายผู้อบรมตนดีแล้ว
ดำรงชีวิตโดยธรรมเสมอ
ย่อมเป็นเหตุให้เกิดปราโมทย์แก่บัณฑิตผู้รู้แจ้ง
พระอริยะทั้งหลายผู้ทำรัศมี ทำแสงสว่าง
เป็นนักปราชญ์ มีปัญญาจักษุ ละข้าศึกคือกิเลส
ประกาศสัทธรรม ทำสัตว์โลกให้เกิดปัญญาสว่างไสว
ซึ่งหากบัณฑิตได้ฟังคำสอนแล้ว รู้สิ่งทั้งปวงโดยชอบ
ย่อมไม่กลับมาเกิดอีกแน่นอน
เพราะรู้ยิ่งภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สีลสัมปันนสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เข้าไปนั่งใกล้ หมายถึงถามปัญหาและปฏิบัติตาม (ขุ.อิติ.อ. ๑๐๔/๓๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๖. ตัณหุปปาทสูตร
๖. ตัณหุปปาทสูตร๑
ว่าด้วยที่เกิดตัณหา
[๑๐๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาเมื่อเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ย่อมเกิดขึ้นในที่เกิดตัณหา ๔ อย่างนี้
ที่เกิดตัณหา ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. ตัณหาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะจีวรเป็นเหตุ
๒. ตัณหาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ
๓. ตัณหาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะเสนาสนะเป็นเหตุ
๔. ตัณหาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะสมบัติและวิบัติเป็นเหตุ
ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาเมื่อเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ย่อมเกิดขึ้นในที่เกิดตัณหา ๔ อย่างนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น
ภิกษุรู้โทษนี้ รู้ตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ตัณหุปปาทสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๙/๑๕, ที.ปา. ๑๑/๓๑๑/๒๐๔, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๐, ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๑๐๗/๓๖๔, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๓๙/๔๕๘/๕๘๙ และดูอิติวุตตกะ ข้อ ๑๕ หน้า ๓๕๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๗. สพรหมกสูตร
๗. สพรหมกสูตร๑
ว่าด้วยมารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร
[๑๐๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่า
มีพรหม บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีบุรพเทพ
บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีบุรพาจารย์ บุตรของ
สกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีอาหุไนยบุคคล
ภิกษุทั้งหลาย คำว่า พรหม นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา คำว่า บุรพเทพ นี้เป็น
ชื่อของมารดาบิดา คำว่า บุรพาจารย์ นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา คำว่า อาหุไนย-
บุคคล นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา๒ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดาเป็นผู้มี
อุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์ประชา
ท่านเรียกว่าพรหม บุรพเทพ บุรพาจารย์
และอาหุไนยบุคคลของบุตรทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๑/๑๘๓, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๖๓/๑๐๗, ขุ.ชา. (แปล) ๒๘/๑๘๑-๑๘๓/๘๔
๒ มารดาบิดา ชื่อว่า พรหม เพราะมีพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ชื่อว่า
บุรพเทพ เพราะเป็นดุจเทพผู้มีพรหมวิหารธรรม ไม่คำนึงความผิดที่บุตรทำไป พร้อมที่จะให้อภัย มุ่งหวัง
แต่ความเจริญแก่บุตร นำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาแก่บุตร ชื่อว่า บุรพาจารย์ เพราะเป็นอาจารย์
คนแรกที่สอนลูกให้เรียนรู้การนั่ง การยืน การเดิน การนอน การเคี้ยว การกิน รวมทั้งสอนให้รู้จักพูดและ
รู้จักอะไรควร อะไรมิควร ชื่อว่า อาหุไนยบุคคล เพราะเป็นผู้ควรแก่ปฏิการคุณที่บุตรพึงทำตอบแทน เช่น
การปรนนิบัติท่านด้วยอาหารเครื่องนุ่งห่ม (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๑๑/๑๑๑-๑๑๒, ขุ.อิติ.อ. ๑๐๖/๓๗๙-๓๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๘. พหุการสูตร
เพราะเหตุนั้นแล บัณฑิตพึงนมัสการ
และสักการะมารดาบิดานั้นด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน
การอบกลิ่น การอาบน้ำ และการล้างเท้า
เพราะการปรนนิบัติมารดาบิดานั้น
บัณฑิตจึงสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง
เขาตายไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สพรหมกสูตรที่ ๗ จบ

๘. พหุการสูตร
ว่าด้วยผู้มีอุปการะมาก
[๑๐๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายผู้บำรุงอุปถัมภ์เธอทั้งหลายด้วย
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ชื่อว่าเป็นผู้มีอุปการะมาก
แก่เธอทั้งหลาย
ข้อที่เธอทั้งหลายแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์
บริบูรณ์ ครบถ้วนแก่พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้น ชื่อว่าเธอทั้งหลายก็มีอุปการะ
มากแก่พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์และบรรพชิตต่างพึ่งพาอาศัยกันและกันอยู่ ประพฤติ
พรหมจรรย์เพื่อต้องการสลัดโอฆะออกให้ได้ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ด้วยประการ
ดังกล่าวนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๘. พหุการสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนและบรรพชิตผู้ไม่อยู่ครองเรือน
ทั้ง ๒ ฝ่าย ต่างอาศัยกันและกัน
จึงบรรลุสัทธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมได้
ฝ่ายบรรพชิตผู้ไม่อยู่ครองเรือนย่อมต้องการปัจจัย ๔ คือ
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัช
อันเป็นเครื่องบรรเทาอันตรายจากฝ่ายคฤหัสถ์
ฝ่ายคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน
อาศัยพระอริยะผู้ปฏิบัติดีแล้ว
เชื่อมั่นคำสั่งสอนและการปฏิบัติดีของพระอรหันต์
เป็นผู้เพ่งพินิจอยู่ด้วยอริยปัญญา
ประพฤติธรรมอันเป็นทางนำไปสู่สุคติโลกสวรรค์ในอัตภาพนี้
มีความเพลิดเพลิน เสวยกามสุข รื่นเริงบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
พหุการสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๙. กุหสูตร
๙. กุหสูตร๑
ว่าด้วยภิกษุผู้หลอกลวง
[๑๐๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดหลอกลวง กระด้าง เป็นคนประจบ ชอบวางท่า
อวดดี และมีจิตไม่ตั้งมั่น ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าไม่ใช่ผู้นับถือเรา อยู่ห่างไกลจาก
ธรรมวินัยนี้ และย่อมไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
ส่วนภิกษุเหล่าใดไม่หลอกลวง ไม่เป็นคนประจบ เป็นนักปราชญ์ ไม่กระด้าง
และมีจิตตั้งมั่นดี ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าผู้นับถือเรา ไม่ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้ และ
ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พวกภิกษุผู้หลอกลวง กระด้าง เป็นคนประจบ
ชอบวางท่า อวดดี และมีจิตไม่ตั้งมั่น
ย่อมไม่งอกงามในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
ส่วนพวกภิกษุผู้ไม่หลอกลวง ไม่ประจบ
เป็นนักปราชญ์ ไม่กระด้าง และมีจิตตั้งมั่นดี
ย่อมงอกงามในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
กุหสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๖/๔๑-๔๒, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๑/๑๕๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๐. นทีโสตสูตร
๑๐. นทีโสตสูตร
ว่าด้วยกิเลสเปรียบด้วยกระแสน้ำ
[๑๐๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมาว่า ชายคนหนึ่งถูกกระแสน้ำคือปิยรูปสาตรูปพัดพาไปอยู่
คนมีตาดียืนอยู่บนฝั่ง เห็นชายคนนั้นแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พ่อหนุ่ม ท่านถูกกระแส
น้ำคือปิยรูปสาตรูปพัดไปอยู่แล้วจริง ๆ แต่ในกระแสน้ำนี้มีห้วงน้ำลึกภายใต้ที่มีคลื่น
มีน้ำวน มีสัตว์ร้าย มีผีเสื้อน้ำ ซึ่งท่านจมไปถึงแล้วต้องถึงความตาย หรือไม่ก็ได้
รับความทุกข์ปางตายแน่นอน’ ครั้นชายคนนั้นได้ยินเสียงของชายที่อยู่บนฝั่งนั้นแล้ว
ก็พยายามใช้ทั้งมือและเท้าแหวกว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นมา
ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตทำข้ออุปมานี้ไว้เพื่อให้เข้าใจความแจ่มแจ้ง ก็ในอุปมานี้
มีความหมายดังนี้
คำว่า ‘กระแสน้ำ’ เป็นชื่อของตัณหา
คำว่า ‘ปิยรูปสาตรูป’ เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖
คำว่า ‘ห้วงน้ำลึกภายใต้’ เป็นชื่อของโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
คำว่า ‘มีคลื่น’ เป็นชื่อของความโกรธและความคับแค้นใจ
คำว่า ‘มีน้ำวน’ เป็นชื่อของกามคุณ ๕
คำว่า ‘มีสัตว์ร้าย มีผีเสื้อน้ำ’ เป็นชื่อของมาตุคาม
คำว่า ‘ทวนกระแสน้ำ’ เป็นชื่อของเนกขัมมะ
คำว่า ‘พยายามใช้ทั้งมือและเท้าแหวกว่าย’ เป็นชื่อการเริ่มทำความเพียร
คำว่า ‘คนมีตาดียืนอยู่บนฝั่ง’ หมายถึงตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๑. จรสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุพึงละกามทั้งหลายให้ได้
แม้จะด้วยความยากลำบาก
เมื่อปรารถนาความเกษมจากโยคะต่อไป
ควรเป็นผู้มีสัมปชัญญะ มีจิตหลุดพ้นจากกิเลสได้
ในเวลาที่บรรลุมรรคผลนั้น ๆ ก็จะสัมผัสวิมุตติได้
ภิกษุนั้นเป็นผู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ถึงที่สุดของโลก๑ เราเรียกว่า เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
นทีโสตสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. จรสูตร๒
ว่าด้วยอิริยาบถเดิน
[๑๑๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากามวิตก(ความตรึกในทางกาม) พยาบาทวิตก(ความตรึก
ในทางพยาบาท) หรือวิหิงสาวิตก(ความตรึกในทางเบียดเบียน) เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้
กำลังเดิน และภิกษุรับวิตกนั้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ให้ถึงความ
ไม่มี ภิกษุแม้กำลังเดิน ผู้เป็นอย่างนี้ ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า
‘ผู้เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อนต่อเนื่องตลอดไป’

เชิงอรรถ :
๑ โลก ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.อิติ.อ.๑๐๙/๓๙๖)
๒ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๑/๒๐-๒๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๑. จรสูตร
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังยืน และภิกษุ
รับวิตกนั้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ให้ถึงความไม่มี ภิกษุแม้กำลังยืน
ผู้เป็นอย่างนี้ ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้เกียจคร้าน มีความเพียร
ย่อหย่อนต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังนั่ง และภิกษุ
รับวิตกนั้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ให้ถึงความไม่มี ภิกษุแม้กำลังนั่ง
ผู้เป็นอย่างนี้ ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้เกียจคร้าน มีความเพียร
ย่อหย่อนต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังนอน ตื่นอยู่
และภิกษุรับวิตกนั้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ให้ถึงความไม่มี ภิกษุ
แม้กำลังนอน ตื่นอยู่ ผู้เป็นอย่างนี้ ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า
‘ผู้เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อนต่อเนื่องตลอดไป’
ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้
กำลังเดิน และภิกษุไม่รับวิตกนั้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ภิกษุ
แม้กำลังเดิน ผู้เป็นอย่างนี้ มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภ
ความเพียร อุทิศกายและใจต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังยืน และ
ภิกษุไม่รับวิตกนั้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ภิกษุแม้กำลังยืน ผู้เป็น
อย่างนี้ มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกาย
และใจต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังนั่ง และภิกษุ
ไม่รับวิตกนั้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ภิกษุแม้นั่งแล้ว ผู้เป็นอย่างนี้
มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจต่อเนื่อง
ตลอดไป’


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๑. จรสูตร
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังนอน ตื่นอยู่
และภิกษุไม่รับวิตกนั้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ภิกษุแม้กำลังนอน
ตื่นอยู่ ผู้เป็นอย่างนี้ มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร
อุทิศกายและใจต่อเนื่องตลอดไป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ถ้าภิกษุใดผู้กำลังเดิน ยืน นั่ง หรือนอน
นึกคิดถึงอกุศลวิตกที่เกี่ยวเนื่องกับการครองเรือน
ภิกษุนั้นชื่อว่าเดินทางผิด
หมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เป็นเหตุแห่งความหลง
ภิกษุเช่นนั้นไม่สามารถบรรลุสัมโพธิญาณ๑อันสูงสุดได้
ส่วนภิกษุใดผู้กำลังเดิน ยืน นั่ง หรือนอนให้วิตกสงบ
ยินดีในธรรมเป็นที่ระงับวิตก
ภิกษุนั้นสามารถบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุดได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
จรสูตรที่ ๑๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สัมโพธิญาณ หมายถึงญาณอันสูงสุด คืออรหัตตผล (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๑/๒๙๐) หรือหมายถึงอริยมัคค-
ญาณ (ขุ.อิติ.อ. ๑๑๐/๓๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๒. สัมปันนสีลสูตร
๑๒. สัมปันนสีลสูตร๑
ว่าด้วยผู้มีศีลสมบูรณ์
[๑๑๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์
สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัย
ในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายเถิด
เมื่อเธอทั้งหลายเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์ สำรวมด้วยการ
สังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย จะมีกิจอะไรที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปอีกเล่า
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้กำลังเดินอยู่ ปราศจากอภิชฌา(เพ่งเล็งอยากได้
ของเขา) พยาบาท(ความคิดร้าย) ถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) อุทธัจจกุกกุจจะ
(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย)ได้ ปรารภความเพียร
ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่
เป็นสมาธิ ภิกษุแม้กำลังเดินอยู่ ผู้เป็นอย่างนี้ มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียก
ว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้าภิกษุผู้กำลังยืนปราศจากอภิชฌา พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉาได้ ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ
ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ ภิกษุแม้กำลังยืน ผู้เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๒/๒๒-๒๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๒. สัมปันนสีลสูตร
มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจต่อเนื่อง
ตลอดไป’
ถ้าภิกษุผู้กำลังนั่ง ปราศจากอภิชฌา พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉาได้ ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ
ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ ภิกษุแม้กำลังนั่ง ผู้เป็นอย่างนี้
มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจ
ต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้าภิกษุผู้กำลังนอน ตื่นอยู่ ปราศจากอภิชฌา พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจ-
กุกกุจจะ ละวิจิกิจฉาได้ ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม
มีกายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ ภิกษุแม้กำลังนอน ตื่นอยู่
ผู้เป็นอย่างนี้ มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกาย
และใจต่อเนื่องตลอดไป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุควรเดินสำรวม ยืนสำรวม นั่งสำรวม นอนสำรวม
คู้เข้าสำรวม เหยียดออกสำรวม
พิจารณาความเกิด และความดับแห่งธรรมขันธ์๑
ทั่วภูมิอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งชั้นบน ชั้นกลาง ชั้นล่าง

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมขันธ์ หมายถึงเบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) (ขุ.อิติ.อ. ๑๑๑/๔๑๐,
องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๒/๒๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๓. โลกสูตร
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกภิกษุเช่นนั้น ผู้มีความเพียร
ละกิเลสอยู่อย่างนี้ ประพฤติตนสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน
ผู้ศึกษาข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ความสงบใจ๑
มีสติทุกเมื่อว่า ‘ผู้อุทิศกายและใจต่อเนื่อง’
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สัมปันนสีลสูตรที่ ๑๒ จบ

๑๓. โลกสูตร๒
ว่าด้วยโลก
[๑๑๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้
พระอรหันต์กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตตรัสรู้โลก๓แล้ว ตถาคตพรากจากโลก ตถาคตตรัสรู้
เหตุเกิดแห่งโลก ตถาคตละเหตุเกิดแห่งโลกแล้ว ตถาคตตรัสรู้ความดับแห่งโลก
ตถาคตทำให้แจ้งความดับแห่งโลก ตถาคตตรัสรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลก
ตถาคตบำเพ็ญข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลกแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ศึกษาข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ความสงบใจ หมายถึงผู้ปฏิบัติบำเพ็ญให้เกิดญาณทัสสนวิสุทธิอันเป็นข้อ
ปฏิบัติสมควรแก่อริยมรรค กล่าวคือ เจโตสมถะ เพราะสงบระงับกิเลสได้สิ้นเชิง (ขุ.อิติ.อ. ๑๑๑/๔๑๐)
๒ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๑๘๘/๑๑๗, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๓/๓๗-๓๙
๓ โลก มีความหมายหลายนัย แต่ในที่นี้หมายถึงทุกขอริยสัจ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/๓๐๑, ขุ.อิติ.อ. ๑๑๒/๔๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๓. โลกสูตร
เพราะตถาคตตรัสรู้รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ๑ ธรรมารมณ์
ที่ได้รู้แจ้ง ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ถึง แสวงหา ตรองตามด้วยใจทั้งหมด ฉะนั้น
ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในราตรีใด และปรินิพพานด้วย
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุในราตรีใด ในระหว่างนี้ ย่อมภาษิต กล่าว แสดงออก
ซึ่งคำใด คำนั้นทั้งหมดเป็นจริงอย่างนั้นแล ไม่เป็นอย่างอื่น ฉะนั้น ชาวโลกจึง
เรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตกล่าวอย่างใด (ยถาวาที) ก็ทำอย่างนั้น (ตถาการี) ทำอย่างใด
(ยถาการี) ก็กล่าวอย่างนั้น (ตถาวาที) ฉะนั้น ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เห็นถ่องแท้ แผ่อำนาจไปในโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา
และมนุษย์ ฉะนั้น ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลใดรู้แจ้งโลกทั้งปวงตามความเป็นจริงทั้งหมด
พรากจากโลกทั้งปวง ไม่มีกิเลสสั่งสมอยู่ในโลกทั้งปวง
บุคคลนั้นแลครอบงำอารมณ์ได้ทั้งหมด

เชิงอรรถ :
๑ รูปที่ได้เห็น หมายถึงรูปายตนะ (อายตนะคือรูป) เสียงที่ได้ฟัง หมายถึงสัททายตนะ (อายตนะคือเสียง)
อารมณ์ที่ได้ทราบ หมายถึงคันธายตนะ (อายตนะคือกลิ่น) รสายตนะ (อายตนะคือรส) โผฏฐัพพายตนะ
(อายตนะคือโผฏฐัพพะ)
อารมณ์ทั้ง ๓ นี้ ชื่อว่าอารมณ์ที่ได้ทราบ เพราะเป็นสภาวะที่เข้ามากระทบจมูก ลิ้นหรือกายแล้วเท่านั้น
จึงกำหนดได้ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/๓๐๑, ขุ.อิติ.อ. ๑๑๒/๔๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๓. โลกสูตร
เป็นนักปราชญ์ ปลดเปลื้องกิเลสที่ร้อยรัดได้ทั้งหมด
บรรลุนิพพานที่มีความสงบอย่างยิ่ง ไม่มีภัยแต่ที่ไหน
บุคคลนี้สิ้นอาสวะ เป็นพุทธะ
ไม่มีทุกข์ ตัดความสงสัยได้
บรรลุความสิ้นกรรมทั้งปวง
หลุดพ้นเพราะสิ้นอุปธิ
บุคคลนั้นเป็นผู้มีโชค ตรัสรู้
เปรียบเหมือนราชสีห์ที่ยอดเยี่ยม
ประกาศพรหมจักรแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก
เพราะเหตุนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ที่ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ
จึงมาประชุมกันนมัสการพระองค์ผู้ยิ่งใหญ่ ทรงแกล้วกล้า
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนมัสการพระพุทธเจ้านั้น
ผู้ยิ่งใหญ่ ทรงแกล้วกล้า ด้วยการสรรเสริญว่า
‘เป็นผู้ฝึกฝนที่ประเสริฐสุดในหมู่ผู้ฝึกตนทั้งหลาย
เป็นฤๅษีผู้สงบกว่าผู้สงบทั้งหลาย
เป็นผู้หลุดพ้นที่ยอดเยี่ยมกว่าผู้หลุดพ้นทั้งหลาย
เป็นผู้ข้ามพ้นที่ประเสริฐกว่าผู้ข้ามพ้นทั้งหลาย
ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ไม่มีบุคคลที่เปรียบเทียบกับพระองค์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โลกสูตรที่ ๑๓ จบ
จตุกกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] รวมพระสูตรที่มีในนิบาต
รวมพระสูตรที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. พราหมณธัมมยาคสูตร ๒. สุลภสูตร
๓. อาสวักขยสูตร ๔. สมณพราหมณสูตร
๕. สีลสัมปันนสูตร ๖. ตัณหุปปาทสูตร
๗. สพรหมกสูตร ๘. พหุการสูตร
๙. กุหสูตร ๑๐. นทีโสตสูตร
๑๑. จรสูตร ๑๒. สัมปันนสีลสูตร
๑๓. โลกสูตร

ในคัมภีร์อิติวุตตกะ มีจำนวนพระสูตรทั้งหมด ๑๑๒ สูตร
อิติวุตตกะ จบ

รวมพระสูตรที่มีในอิติวุตตกะ
เอกกนิบาต มี ๒๗ สูตร ทุกนิบาต มี ๒๒ สูตร
ติกนิบาต มี ๕๐ สูตร จตุกกนิบาต มี ๑๓ สูตร
รวมพระสูตรที่พระอรหันต์ทั้งหลายรวบรวมร้อยกรองไว้ ตั้งชื่อว่าอิติวุตตกะ
เพื่อให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ชั่วกาลนาน จำนวน ๑๑๒ สูตร
อิติวุตตกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑. อุรคสูตร
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย สุตตนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. อุรควรรค
หมวดว่าด้วยการกำจัดกิเลสดุจงูลอกคราบ
๑. อุรคสูตร
ว่าด้วยการกำจัดกิเลสดุจงูลอกคราบ
[๑] ภิกษุผู้กำจัดความโกรธที่เกิดขึ้นได้
เหมือนหมองูกำจัดพิษงูที่แผ่ซ่านไปด้วยยากำจัดพิษ
ชื่อว่าละฝั่งในได้๑ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๒] ภิกษุผู้ตัดราคะ๒พร้อมทั้งอนุสัยกิเลสได้ทั้งหมด
เหมือนคนลงไปตัดดอกปทุมที่งอกขึ้นในสระจนหมดสิ้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ฝั่งใน หมายถึงสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นอัตตาของตน)
(๒) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (๓) สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลและวัตร) (๔) กามราคะ (ความ
กำหนัดในกาม) (๕) ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ) (ขุ.สุ.อ. ๑/๑/๑๒)
๒ ราคะ ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.สุ.อ.๑/๑/๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑. อุรคสูตร
[๓] ภิกษุตัดตัณหาที่ท่วมทับสัตว์โลก เป็นไปรวดเร็ว
ให้เหือดแห้งไปทีละน้อย ๆ จนหมดสิ้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๔] ภิกษุผู้กำจัดมานะได้หมดสิ้น
เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดสะพานไม้อ้อที่อ่อนกำลังให้ทะลายไปหมดสิ้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๕] ภิกษุผู้ใช้ปัญญาค้นคว้าอยู่
ไม่พบแก่นสารในภพทั้งหลาย๑
เหมือนพราหมณ์ค้นหาดอกมะเดื่อบนต้นไม่พบ ฉะนั้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๖] ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสกำเริบภายในจิต
และล่วงพ้นความเจริญและความเสื่อมมีประการต่าง ๆ ได้
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๗] ภิกษุผู้ระงับวิตกทั้งหลายได้
กำหนดวิตกทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในตนได้ด้วยดี
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๘] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
ล่วงพ้นปปัญจธรรม๒ได้ทั้งหมด
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ไม่พบแก่นสารในภพทั้งหลาย หมายถึงไม่พบนิจจภาวะ(ภาวะเที่ยง) หรืออัตตภาวะ(ภาวะที่เป็นอัตตา)
ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญีภพ อสัญญีภพ เนวสัญญีนาสัญญีภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ และ
ปัญจโวการภพ (ขุ.สุ.อ. ๑/๕/๑๘)
๒ ปปัญจธรรม หมายถึงกิเลสเครื่องเนิ่นช้า มี ๓ อย่าง คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ.๑/๘/๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑. อุรคสูตร
[๙] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
รู้สิ่งทั้งหมด๑ในโลกว่า มีภาวะผันแปร
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๐] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
รู้สิ่งทั้งหมดในโลกว่า มีภาวะผันแปร เป็นผู้ปราศจากโลภะ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๑] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
รู้สิ่งทั้งหมดในโลกว่า มีภาวะผันแปร เป็นผู้ปราศจากราคะ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๒] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
รู้สิ่งทั้งหมดในโลกว่า มีภาวะผันแปร เป็นผู้ปราศจากโทสะ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๓] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
รู้สิ่งทั้งหมดในโลกว่า มีภาวะผันแปร เป็นผู้ปราศจากโมหะ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๔] ภิกษุผู้ไม่มีอนุสัยกิเลส๒ใด ๆ
และถอนรากอกุศลธรรม๓ได้หมดสิ้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ สิ่งทั้งหมด ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ธาตุ และอายตนะ (ขุ.สุ.อ. ๑/๙/๒๐)
๒ อนุสัยกิเลส หมายถึงกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน มี ๗ ประการ คือ (๑) กามราคะ (ความกำหนัด
ในกาม) (๒) ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ) (๓) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) (๔) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
(๕) มานะ (ความถือตัว) (๖) ภวราคะ (ความกำหนัดในภพ) (๗) อวิชชา (ความไม่รู้) (ขุ.สุ.อ.๑/๑๔/๒๑)
๓ รากอกุศลธรรม หมายถึงราคะ โทสะ และโมหะ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๔/๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๒. ธนิยสูตร
[๑๕] ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสที่เกิดจากความกระวนกระวายใด ๆ
อันเป็นปัจจัยเพื่อมาสู่ฝั่งใน
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๖] ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสที่เกิดจากตัณหานุสัยดุจป่าใด ๆ
ซึ่งเป็นเหตุกำหนดความผูกพันไว้ในภพ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๗] ภิกษุผู้ละนิวรณ์๑ ๕ ได้
ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ปราศจากกิเลสเพียงดังลูกศร
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
อุรคสูตรที่ ๑ จบ

๒. ธนิยสูตร
ว่าด้วยการโต้ตอบระหว่างนายธนิยะกับพระพุทธเจ้า
[๑๘] (นายธนิยะเจ้าของโคกล่าวดังนี้)
ข้าพเจ้าปรุงอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว รีดน้ำนมโคไว้แล้ว
อยู่ร่วมกับบริวารช่วยเหลือกัน ใกล้ฝั่งแม่น้ำมหี
มุงหลังคากั้นฝาเรือน นำไฟมาติดไว้เรียบร้อย
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๑๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราเป็นผู้ไม่โกรธ ปราศจากกิเลสดุจตะปูตรึงใจ
พักแรม ๑ ราตรี ใกล้ฝั่งแม่น้ำมหี
เพิงที่พักคืออัตภาพ ก็ปราศจากหลังคาเครื่องมุงบัง
กองไฟคือราคะเป็นต้นก็ดับหมดแล้ว
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด

เชิงอรรถ :
๑ นิวรณ์ หมายถึงธรรมเป็นเครื่องกั้นความดี มี ๕ ประการ คือ (๑) กามฉันทะ (ความพอใจในกาม)
(๒) พยาบาท (ความคิดร้าย) (๓) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่าน
และร้อนใจ) (๕) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (ขุ.สุ.อ.๑/๑๗/๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๒. ธนิยสูตร
[๒๐] (นายธนิยะเจ้าของโคกล่าวดังนี้)
ฝูงโคของข้าพเจ้าไม่มีเหลือบและยุงมารบกวน
เที่ยวหากิน ณ ริมฝั่งแม่น้ำที่มีหญ้างอกงาม
จึงสามารถทนฝนที่ตกลงมาได้ดี
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๒๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราผูกแพคืออริยมรรค ตกแต่งคือบำเพ็ญดีแล้ว
กำจัดห้วงน้ำคือกิเลสได้แล้ว ข้ามไปจนถึงฝั่งแล้ว๑
จึงไม่มีความต้องการแพนั้นอีกต่อไป
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๒๒] (นายธนิยะเจ้าของโคกล่าวดังนี้)
ภรรยาของข้าพเจ้าเป็นหญิงเชื่อฟัง ไม่โลเล๒
ครองรักร่วมกันมานานหลายปี เป็นที่ไว้วางใจของข้าพเจ้า
ความชั่ว๓ใด ๆ ของนาง ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินเลย
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๒๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
จิตของเราเชื่อฟังเรา หลุดพ้นกิเลสแล้ว
เราฝึกอบรมมานานจนเป็นจิตที่ฝึกหัดดีแล้ว
ดังนั้น เราจึงไม่มีความชั่ว๔ใด ๆ ต่อไป
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ข้ามไปจนถึงฝั่ง หมายถึงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑/๓๓)
๒ โลเล หมายถึงความลุ่มหลง ความอยากของสตรี มี ๕ อย่าง (๑) โลเลในอาหาร (๒) โลเลในเครื่อง
ประดับ (๓) โลเลในบุรุษอื่น (๔) โลเลในทรัพย์ (๕) โลเลในการเที่ยวเตร่ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒/๓๓)
๓ ความชั่ว (บาป) ที่นายธนิยะกล่าวนั้นหมายถึงความประพฤตินอกใจ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒/๓๓)
๔ ความชั่ว ที่พระผู้มีพระภาคตรัสนั้นหมายถึงกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจาร และอาชีวะที่ไม่บริสุทธิ์
(ขุ.สุ.อ. ๑/๒๓/๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๒. ธนิยสูตร
[๒๔] (นายธนิยะเจ้าของโคกล่าวดังนี้)
ข้าพเจ้าเป็นผู้ทำการงานของตนเองเลี้ยงชีวิต
ทั้งบุตรธิดาของข้าพเจ้าก็พร้อมหน้า ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
ความชั่ว๑ใด ๆ ของบุตรธิดาเหล่านั้น ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินเลย
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๒๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราไม่เป็นลูกจ้างใคร๒
เที่ยวไปด้วยความเป็นสัพพัญญู
ผู้ไม่มีความต้องการในโลกทั้งปวง
เราจึงไม่มีความต้องการด้วยค่าจ้างอีกต่อไป
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๒๖] (นายธนิยะเจ้าของโคกล่าวดังนี้)
ในจำนวนฝูงโคของข้าพเจ้านี้
มีทั้งโครุ่นที่ยังไม่ได้ฝึก
ลูกโคที่ยังดื่มนม แม่โคที่กำลังตั้งครรภ์
แม่โควัยเจริญพันธุ์ และโคสำคัญที่เป็นจ่าฝูง
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๒๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ในจำนวนฝูงโคคือศาสนธรรมของเรานี้
ไม่มีทั้งโครุ่นที่ยังไม่ได้ฝึก๓

เชิงอรรถ :
๑ ความชั่ว ของบุตรธิดาที่นายธนิยะกล่าวนั้น หมายถึงความเป็นโจร เป็นภรรยาของคนอื่น หรือเป็นผู้ทุศีล
(ขุ.สุ.อ. ๑/๒๔/๓๖)
๒ ไม่เป็นลูกจ้างใคร หมายถึงไม่เป็นทาสแห่งตัณหา (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๕/๓๖)
๓ โครุ่นที่ยังไม่ได้ฝึก ในที่นี้หมายถึงปริยุฏฐานกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๗/๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๒. ธนิยสูตร
ลูกโคที่ยังดื่มนม๑ แม่โคที่กำลังตั้งครรภ์๒
แม่โควัยเจริญพันธุ์๓และโคสำคัญที่เป็นจ่าฝูง๔
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๒๘] (นายธนิยะเจ้าของโคกล่าวดังนี้)
ข้าพเจ้าปักเสาสำหรับล่ามโคไว้แน่นหนา ไม่โยกคลอน
เชือกพิเศษสำหรับล่ามโคทั้งหลาย
ก็ฝั้นด้วยหญ้าปล้องใหม่ ๆ มีรูปทรงกะทัดรัดดี
ถึงแม้โคหนุ่ม ๆ จะดิ้นดึง ก็ไม่สามารถทำให้ขาดได้เลย
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๒๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราได้ตัดเครื่องผูกทั้งหลาย
เหมือนโคอุสภะสลัดเชือกที่ล่ามไว้จนขาดสะบั้น
ทำลายเถาหัวด้วนเหมือนช้างทำลายเถาหัวด้วนจนแหลกละเอียด๕
จึงไม่ต้องกลับมาเกิดอีก
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๓๐] (พระสังคีติกาจารย์กล่าวดังนี้)
ทันใดนั่นเอง ฝนห่าใหญ่ได้ตกลงมา
จนน้ำท่วมเต็มทั้งที่ลุ่มและที่ดอน
นายธนิยะเจ้าของโคได้ยินเสียงฝนที่กำลังตกอยู่
ได้กราบทูลเนื้อความดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ลูกโคที่ยังดื่มนม ในที่นี้หมายถึงอนุสัยกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๗/๓๗)
๒ แม่โคที่กำลังตั้งครรภ์ ในที่นี้หมายถึงปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร (ขุ.สุ.อ.
๑/๒๗/๓๗)
๓ แม่โควัยเจริญพันธุ์ ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.สุ.อ.๑/๒๗/๓๗)
๔ โคจ่าฝูง ในที่นี้หมายถึงอภิสังขารวิญญาณ (ขุ.สุ.อ.๑/๒๗/๓๗)
๕ พระองค์ทรงทำลายเถาหัวด้วน คือ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ ด้วยโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค
และอนาคามิมรรค เหมือนช้างทำลายเถาหัวด้วน ทรงตัดเครื่องผูกคืออุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ
ด้วยอรหัตตมรรคเหมือนโคอุสภะสลัดเชือก (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๙/๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๒. ธนิยสูตร
[๓๑] เป็นลาภของพวกข้าพระองค์ไม่น้อยเลย
ที่พวกข้าพระองค์ได้เห็นพระผู้มีพระภาค
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
พวกข้าพระองค์ขอถึงพระองค์เป็นสรณะ
ข้าแต่พระมหามุนี ขอพระองค์ทรงเป็นพระศาสดา
ของพวกข้าพระองค์เถิด
[๓๒] ข้าพระองค์และภรรยามีศรัทธาเชื่อฟังพระองค์
ขอประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระสุคต
ข้าพระองค์ทั้งสองขอเป็นผู้ไปถึงฝั่งแห่งชาติและมรณะ
จะเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
[๓๓] (มารผู้มีบาปกล่าวดังนี้)
คนมีบุตรก็เพลิดเพลินบุตร
เช่นเดียวกับคนมีโคก็เพลิดเพลินโค
เพราะคนมีอุปธิ๑เป็นเหตุเพลิดเพลิน
คนที่ไม่มีอุปธิย่อมไม่เพลิดเพลินเลย
[๓๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนมีบุตรก็เศร้าโศกเพราะบุตร
เช่นเดียวกับคนมีโคก็เศร้าโศกเพราะโค
เพราะคนมีอุปธิเป็นเหตุเศร้าโศก
คนที่ไม่มีอุปธิ ย่อมไม่เศร้าโศกเลย
ธนิยสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อุปธิ หมายถึงกิเลสที่ทำให้ติดอยู่ในวัฏฏสงสารมี ๔ อย่าง คือ (๑) กามูปธิ (อุปธิคือกาม) (๒) ขันธูปธิ
(อุปธิคือขันธ์) (๓) กิเลสูปธิ (อุปธิคือกิเลส) (๔) อภิสังขารูปธิ (อุปธิคืออภิสังขาร) (ขุ.สุ.อ. ๑/๓๓/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
๓. ขัคควิสาณสูตร๑
ว่าด้วยพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้ประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๓๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น
ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด๒
[๓๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ความรักย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง
ทุกข์นี้ย่อมเป็นไปตามความรัก
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๓๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี
มีใจผูกพัน ย่อมทำประโยชน์๓ให้เสื่อมไปได้

เชิงอรรถ :
๑ คาถาที่ ๓๕-๗๕ เป็นคำที่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแต่ละองค์กล่าวไว้ คือ พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าประวัติ
ในอดีตชาติของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์นั้น ๆ ได้กล่าวคาถาว่าอย่างนั้น ๆ
ให้พระอานนท์ฟัง (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๘) และดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๑-๑๖๑/๓๙๓-๔๙๙
๒ ประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด หมายถึงประพฤติตามจริยา ๘ อย่าง คือ (๑) ความประพฤติ
ในอิริยาบถ ๔ (๒) ความประพฤติในอายตนะภายในและภายนอก (๓) ความประพฤติในสติปัฏฐาน ๔
(๔) ความประพฤติในสมาธิคือฌาน ๔ (๕) ความประพฤติในอริยสัจ ๔ (๖) ความประพฤติในอริยมรรค ๔
(๗) ความประพฤติในสามัญญผล ๔ (๘) ความประพฤติเพื่อประโยชน์แก่โลก
และสามารถละตัณหาได้ ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ละกิเลสได้สิ้นเชิง ดำเนินทางสายเอกกล่าวคือ
สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ และตรัสรู้
อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เหมือนแรดมีนอเดียว ไม่มีนอที่สอง (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๑/๓๙๕-๔๐๑, ขุ.สุ.อ.
๑/๓๕/๖๐-๖๑)
๓ ประโยชน์ มี ๓ อย่าง คือ (๑) ทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ในโลกนี้) (๒) สัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์ใน
โลกหน้า) (๓) ปรมัตถะ (ประโยชน์ยอดเยี่ยม) (ขุ.สุ.อ.๑/๓๗/๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยในความเชยชิด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๓๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
กอไผ่กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวกันไว้ ฉันใด
ความห่วงใยในบุตรและทาระ
ก็กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวไว้ ฉันนั้น
บุคคลเมื่อไม่เกี่ยวข้องเหมือนหน่อไผ่
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๓๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
เนื้อในป่า มิได้ถูกผูกมัดไว้
ย่อมเที่ยวหาอาหารได้ตามความพอใจ ฉันใด
วิญญูชนเมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี๑
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากัน
ในเรื่องที่อยู่ เรื่องการดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นการบวชที่ให้ถึงความเสรี
ที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการเล่น มีความยินดี
และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์

เชิงอรรถ :
๑ ความเสรี มี ๒ อย่าง (๑) ธัมมเสรี ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕
โพชฌงค์ ๗ และอริยมรรคมีองค์ ๘ (๒) บุคคลเสรี คือ ผู้ที่มีธัมมเสรี (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๕/๔๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง ๔ ทิศ ไม่ขัดเคือง
ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้๑
ครอบงำอันตรายทั้งหลาย และไม่หวาดเสียว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
แม้บรรพชิตพวกหนึ่ง และคฤหัสถ์ที่กำลังครองเรือน
สงเคราะห์ได้ยาก๒
บุคคลพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยทั้งในผู้อื่นและในบุตร
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้กล้าหาญ
ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว๓
ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ หมายถึงยินดีปัจจัยตามที่ได้(ยถาลาภสันโดษ) ยินดีตามกำลัง(ยถาพลสันโดษ)
ยินดีตามสมควร(ยถาสารุปปสันโดษ) เช่นได้จีวรไม่ว่าจะหยาบ ละเอียด เศร้าหมอง ประณีต คงทน หรือ
เก่าก็ตาม ก็ยินดีด้วยสันโดษทั้ง ๓ นั้น (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๒/๘๒, ขุ.จู.อ. ๑๒๘/๑๑๗)
๒ สงเคราะห์ได้ยาก หมายถึงเป็นผู้ถูกความไม่สันโดษครอบงำ (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๓/๘๔)
๓ เครื่องหมายคฤหัสถ์ คือ ผม หนวด ผ้าขาว เครื่องประดับ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ สตรี บุตร ทาส
เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๔/๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
[๔๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี๑ เป็นนักปราชญ์
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด
[๔๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว
และเหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น๒
[๔๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
เราสรรเสริญสหายสัมปทาโดยแท้
บุคคลควรคบสหายผู้ประเสริฐสุด (หรือ) ผู้เสมอกัน
ถ้าบุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้ พึงเป็นผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลเห็นกำไลทอง ๒ วง อันสุกปลั่ง
ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี กระทบกันอยู่ที่ข้อมือแล้ว๓
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๑๓๕ ในเล่มนี้
๒ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๔๖๔/๓๕๕, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๗-๑๙/๓๐๓ และดูธรรมบทข้อ ๓๒๘-๓๒๙ หน้า
๑๓๕-๑๓๖ ในเล่มนี้
๓ หมายถึงเกิดความเบื่อหน่ายด้วยพิจารณาเห็นว่าคนอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก ย่อมกระทบกระะทั่งกันได้
ด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ ดุจกำไลมือกระทบกัน (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๘/๙๑) และดู ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๔/๔๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
[๔๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้)
ด้วยอาการอย่างนี้ การกล่าววาจา๑
หรือความเกี่ยวข้องกับเพื่อน พึงมีแก่เรา
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัย๒นี้ต่อไป
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
เพราะกามทั้งหลายสวยงาม
มีรสอร่อย น่ารื่นเริงใจ
ยั่วยวนจิตด้วยอารมณ์หลายรูปแบบ
บุคคลเห็นโทษในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
คำว่า ‘กาม’ นี้ เป็นอันตราย เป็นดุจฝี เป็นอุปัทวะ
เป็นโรค เป็นดุจลูกศร และเป็นภัย
บุคคลเห็นภัยนี้ในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลครอบงำภัยทั้งปวงเหล่านี้ คือ
ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
ลม แดด เหลือบ และสัตว์เลื้อยคลานแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ การกล่าววาจา ในที่นี้หมายถึงติรัจฉานกถา ๓๒ ประการ มีเรื่องพระราชา เรื่องโจร เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๑๓๕/๔๓๙)
๒ ภัย หมายถึงชาติภัย ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย ราชภัย โจรภัย เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๕/๔๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
[๕๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละทิ้งหมู่ มีขันธ์๑เกิดดีแล้ว
มีดอกบัว (คือธรรม) เป็นผู้ยิ่งใหญ่
อยู่ในป่าตามความชอบใจได้
เหมือนนาคะ๒ละทิ้งโขลงแล้วอยู่ในป่าได้ตามชอบใจ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลสัมผัสวิมุตติใด ซึ่งเกิดขึ้นตามสมัย
วิมุตตินั้น เป็นไปไม่ได้สำหรับบุคคล
ผู้ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
บุคคลใคร่ครวญถ้อยคำของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า)ประพฤติล่วงทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม๓
ถึงนิยาม๔ ได้เฉพาะมรรค๕แล้ว
เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ ขันธ์ ในที่นี้หมายถึงอเสขสีลขันธ์ (กองแห่งศีลของพระอเสขะ) (ขุ.สุ.อ.๑/๕๓/๙๙)
๒ นาคะ ที่เป็นชื่อของช้าง เพราะช้างไดรับการฝึกให้อยู่ในระเบียบที่มนุษย์ต้องการได้ เพราะช้างไม่กลับมาสู่
ระดับเดิมที่ยังไม่ได้ฝึก หรือเพราะช้างมีสรีระใหญ่ ที่เป็นชื่อของพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะท่านฝึกตนในศีล
ที่พระอริยะใคร่ เพราะท่านไม่กลับมาสู่ภูมิที่ไม่ได้ฝึก เพราะท่านไม่ทำความชั่ว หรือเพราะท่านมีคุณอันยิ่งใหญ่
(ขุ.สุ.อ.๑/๕๓/๙๘)
๓ ทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ เป็นเสี้ยนหนามต่อสัมมาทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ.๑/๕๕/๑๐๒)
๔ ถึงนิยาม ในที่นี้หมายถึงบรรลุมรรค ๔ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๑/๔๕๓)
๕ มรรค ในที่นี้หมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๑/๔๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
[๕๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) เป็นผู้ไม่โลภ
ไม่หลอกลวง ไม่กระหาย ไม่มีความลบหลู่
กำจัดกสาวะ(กิเลสดุจน้ำย้อม) และโมหะได้แล้ว
ไม่มีความหวัง๑ในโลกทั้งปวง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลพึงละเว้นสหายชั่วผู้ไม่เห็นประโยชน์
ผู้ตั้งอยู่ในธรรมที่ผิด
ไม่พึงคบคนผู้ขวนขวาย๒ และผู้ประมาทด้วยตนเอง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม
ผู้ยิ่งใหญ่ มีปฏิภาณ รู้จักประโยชน์แล้ว
พึงกำจัดความสงสัยได้
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ชื่นชมการเล่น
ความยินดี และความสุขในโลก ไม่ใส่ใจ
งดเว้นจากฐานะแห่งการประดับตกแต่ง พูดคำจริง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละทิ้งบุตร ภรรยา บิดา มารดา
ทรัพย์ ธัญชาติ พวกพ้อง และกาม ตามส่วนแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีความหวัง หมายถึงไม่มีตัณหา (ขุ.สุ.อ.๑/๕๖/๑๐๕)
๒ ขวนขวาย หมายถึงเกี่ยวข้องในธรรมผิดด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ ประการ (ขุ.สุ.อ.๑/๕๗/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
[๖๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
กามนี้เป็นเครื่องข้อง มีความสุขน้อย
ในกามนี้มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก
ผู้มีปัญญารู้ว่า กามนี้เป็นดุจขอเหล็กแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ทำลายสังโยชน์แล้ว
เหมือนสัตว์น้ำทำลายข่าย
และเหมือนไฟไหม้เชื้อมอดหมดไปไม่กลับมา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ภิกษุเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
คุ้มครองอินทรีย์ รักษาใจได้แล้ว
ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ไฟกิเลสมิได้เผา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
ครองผ้ากาสาวะ ออกบวช
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด๑
[๖๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ทำความยินดีในรส ไม่โลเล
ผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก
มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่าง ๆ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความคล้ายกันกับสุตตนิบาตข้อ ๔๔ หน้า ๕๐๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
[๖๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละนิวรณ์ ๕ อย่าง
ขจัดอุปกิเลส๑แห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว
ไม่อิงอาศัย ตัดความรัก และความชังได้แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละทิ้งสุขและทุกข์
โสมนัส โทมนัสก่อน ๆ ได้แล้ว
ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ตั้งความเพียร
เพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง๒
มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
มีความบากบั่นมั่นคง เข้าถึงเรี่ยวแรงและกำลังแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ละการหลีกเร้น๓และฌาน
ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิตย์

เชิงอรรถ :
๑ อุปกิเลส หมายถึงอกุศลธรรมที่เข้าไปเบียดเบียนจิต มี ๑๖ คือ (๑) อภิชฌาวิสามโลภะ คิดเพ่งเล็งอยากได้
(๒) พยาบาท คิดร้ายเขา (๓) โกธะ ความโกรธ (๔) อุปนาหะ ความผูกโกรธ (๕) มักขะ ความลบหลู่
คุณท่าน (๖) ปลาสะ ความตีเสมอ (๗) อิสสา ความริษยา (๘) มัจฉริยะ ความตระหนี่ (๙) มายา มารยา
(๑๐) สาเถยยะ ความโอ้อวดหลอกเขา (๑๑) ถัมภะ ความหัวดื้อ (๑๒) สารัมภะ ความแข่งดี (๑๓) มานะ
ความถือตัว (๑๔) อติมานะ ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา (๑๕) มทะ ความมัวเมา (๑๖) ปมาทะ ความประมาท
(ขุ.สุ.อ.๑/๖๖/๑๑๗)
๒ ประโยชน์อย่างยิ่ง หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ.๑/๖๘/๑๒๑)
๓ การหลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก (สงัดกาย) (ขุ.สุ.อ.๑/๖๙/๑๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ปรารถนาความสิ้นตัณหา
ไม่ประมาท ไม่โง่เขลา คงแก่เรียน มีสติ
ผู้มีสังขาตธรรม ผู้แน่นอน มีความมุ่งมั่น
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่สะดุ้งในเพราะเสียง เหมือนราชสีห์
ไม่ติดข่าย๑ เหมือนลม
ไม่เปียกน้ำ๒ เหมือนบัว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
พญาสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง
ข่มขี่ ครอบงำเนื้อทั้งหลายเที่ยวไป ฉันใด
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็มีปัญญาเป็นกำลัง
ครอบงำบุคคลทั้งหลายด้วยปัญญา
ใช้เสนาสนะอันสงัด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) เสพอาศัยเมตตา กรุณา
มุทิตา และอุเบกขา อันเป็นวิมุตติตามกาล

เชิงอรรถ :
๑ ข่าย หมายถึง ตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.จู (แปล) ๓๐/๑๕๗/๔๙๓)
๒ ไม่เปียกน้ำ ในที่นี้หมายถึงไม่ติดด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.จู (แปล) ๓๐/๑๕๗/๔๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๔. กิสภารทวาชสูตร
สัตว์โลกทั้งปวงมิได้เกลียดชัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละราคะ โทสะ และโมหะ
ทำลายสังโยชน์ได้แล้ว
ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ทุกวันนี้ มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ
จึงคบและเสพด้วย
มิตรที่ไม่มุ่งประโยชน์หาได้ยาก
มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่งประโยชน์ตน ไม่สะอาด๑
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
ขัคควิสาณสูตรที่ ๓ จบ

๔. กสิภารทวาชสูตร๒
ว่าด้วยภารทวาชพราหมณ์ผู้เป็นชาวนา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคีรีมหาวิหาร๓ ใกล้หมู่บ้าน
พราหมณ์ ชื่อเอกนาฬา แคว้นมคธ สมัยนั้น ในฤดูหว่านข้าว กสิภารทวาช-
พราหมณ์ได้ประกอบไถจำนวน ๕๐๐ เล่ม เตรียมไถนา

เชิงอรรถ :
๑ ไม่สะอาด หมายถึงกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมไม่สะอาด (ขุ.สุ.อ.๑/๗๕/๑๓๑)
๒ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๙๗/๒๘๓
๓ ทักขิณาคีรีมหาวิหาร นี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ติดเชิงภูเขาที่ล้อมรอบกรุงราชคฤห์ ใกล้หมู่บ้านพราหมณ์
(ขุ.สุ.อ.๑/๔/๑๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๔. กิสภารทวาชสูตร
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปยังที่ทำการงานของกสิภารทวาชพราหมณ์ ขณะนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์
กำลังเลี้ยงอาหารกันอยู่ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังสถานที่เลี้ยงอาหารของเขาแล้ว
ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร
กสิภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับยืนบิณฑบาตอยู่ จึงกราบทูล
ดังนี้ว่า “ท่านพระสมณะ ข้าพเจ้าไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว จึงบริโภค
ท่านพระสมณะ แม้ท่านก็จงไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว จงบริโภค”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและ
หว่านแล้ว จึงบริโภค”
กสิภารทวาชพราหมณ์ทูลถามว่า “ท่านพระสมณะ ข้าพเจ้าไม่เห็นแอก ไถ
ผาล ประตัก หรือโคทั้งหลายของท่านพระโคดมเลย ถึงกระนั้น ท่านพระโคดม
ยังพูดอย่างนี้ว่า ‘พราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว จึงบริโภค”
ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[๗๖] ท่านปฏิญญาว่าเป็นชาวนา
แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นสัมภาระแห่งการไถของท่านเลย
ท่านผู้เป็นชาวนา ข้าพเจ้าถามแล้ว
ขอจงบอก ข้าพเจ้าจะรู้สัมภาระแห่งการไถของท่านได้อย่างไร
[๗๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน
ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริเป็นงอนไถ
ใจเป็นเชือก สติของเราเป็นผาลและประตัก
[๗๘] เราคุ้มครองกาย คุ้มครองวาจาได้แล้ว
สำรวมในการบริโภคอาหาร
เราดายหญ้า (คือวาจาสับปลับ) ด้วยคำสัตย์
โสรัจจะของเราช่วยทำงานให้สำเร็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๔. กิสภารทวาชสูตร
[๗๙] ความเพียรของเราช่วยนำธุระไป
ให้ถึงความเกษมจากโยคะ นำไปไม่ถอยหลัง
นำไปถึงที่ซึ่งบุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก
[๘๐] เราไถนาอย่างนี้
นาที่เราไถนั้นมีผลเป็นอมตะ๑
บุคคลครั้นไถนาอย่างนี้แล้ว
ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์เทข้าวปายาสใส่ถาดสำริดใบใหญ่แล้วน้อมถวาย
พระผู้มีพระภาค พร้อมกับกราบทูลว่า “ขอท่านพระโคดมจงบริโภคข้าวปายาสเถิด
เพราะท่านผู้เจริญทรงเป็นชาวนา ทรงไถนาอันมีผลเป็นอมตะ”
[๘๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราไม่บริโภคโภชนะ
ที่ได้มาเพราะการขับกล่อม
พราหมณ์ ธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมของผู้พิจารณา
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ไม่รับโภชนะที่ได้มาเพราะการขับกล่อม
พราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่
การเลี้ยงชีพแบบนี้ก็ยังมีอยู่
[๘๒] อนึ่ง ท่านจงบำรุงพระขีณาสพ
ผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
มีความคะนองสงบแล้ว ด้วยข้าวและน้ำ
เพราะว่าการบำรุงนั้น
เป็นเขตบุญของผู้แสวงบุญ
กสิภารทวาชพราหมณ์ทูลถามว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้า
จะนำข้าวปายาสนี้ไปถวายใครเล่า”

เชิงอรรถ :
๑ ผลเป็นอมตะ คือ มีนิพพานเป็นอานิสงส์ (ขุ.สุ.อ. ๑/๘๐/๑๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๔. กิสภารทวาชสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เราไม่เห็นใครในโลก พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ที่บริโภค
ข้าวปายาสนั้นแล้ว จะให้ย่อยได้ตามปกติ นอกเสียจากตถาคตหรือสาวกของตถาคต
เท่านั้น พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงนำข้าวปายาสนี้ไปเททิ้งบนพื้นดินที่ปราศจาก
ต้นไม้ใบหญ้า หรือเทลงในน้ำที่ไม่มีสัตว์อาศัยอยู่เถิด”
ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์จึงนำข้าวปายาสนั้นไปเททิ้งลงในน้ำที่ไม่มี
สัตว์อาศัยอยู่ พอข้าวปายาสนั้นถูกเทจมลงในน้ำ ก็เกิดเสียงดังแฉ่ ๆ ปรากฏ
ควันโขมงคลุ้งขึ้นรอบด้าน เหมือนก้อนเหล็กที่ถูกเผาไฟให้ร้อนอยู่ตลอดวันแล้ว
ถูกนำไปหย่อนลงในน้ำ ก็เกิดเสียงดังแฉ่ ๆ ปรากฏควันโขมงคลุ้งขึ้นรอบด้าน ฉะนั้น
เมื่อเห็นดังนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์จึงสลดใจ เกิดอาการขนพองสยองเกล้า
ตรงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ หมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มี
พระภาค พร้อมกับกราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดม
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะ
ยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือน
บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป
ในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม
พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์
ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต ข้าแต่ท่านพระโคดม
ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของท่านพระโคดมด้วยเถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
กสิภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค หลังจาก
อุปสมบทแล้วไม่นาน ท่านพระภารทวาชะจากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์
ที่กุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึง
อยู่ในปัจจุบัน ได้รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
จึงเป็นอันว่า ท่านพระภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดา
พระอรหันต์ทั้งหลาย
กสิภารทวาชสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๕. จุนทสูตร
๕. จุนทสูตร
ว่าด้วยปัญหาของนายจุนทกัมมารบุตร
[๘๓] (นายจุนทกัมมารบุตรทูลถามปัญหาดังนี้)
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระพุทธเจ้าผู้เป็นมุนี
มีพระปัญญามาก ทรงเป็นเจ้าของพระธรรม ปราศจากตัณหา
ทรงเป็นผู้ประเสริฐสุดในบรรดาสรรพสัตว์มีสัตว์ ๒ เท้าเป็นต้น
ทรงเป็นผู้เลิศกว่านายสารถีผู้ฝึกทั้งหลายว่า
ในโลกนี้มีสมณะอยู่กี่จำพวก
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกให้ข้าพระองค์ทราบด้วยเถิด
[๘๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
จุนทะ สมณะมีอยู่ ๔ จำพวก ไม่มีสมณะจำพวกที่ ๕
เราถูกท่านถามต่อหน้าอย่างนี้ ก็จะชี้แจงให้ท่านทราบ
สมณะ ๔ จำพวกนั้น คือ
๑. สมณะผู้ชนะกิเลสทั้งปวงด้วยมรรค
๒. สมณะผู้แสดงมรรคแก่ชนเหล่าอื่น
๓. สมณะผู้ดำรงอยู่ในมรรค
๔. สมณะผู้ประทุษร้ายมรรค
[๘๕] (นายจุนทกัมมารบุตรทูลถามปัญหาดังนี้)
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบัญญัติเรียก
สมณะผู้ชนะกิเลสทั้งปวงด้วยมรรคว่าอย่างไร
ทรงบัญญัติเรียกสมณะผู้มีปกติเพ่งมรรค ไม่มีผู้เปรียบเทียบนั้นว่าอย่างไร
ทรงบัญญัติเรียกสมณะผู้ดำรงอยู่ในมรรคนั้นว่าอย่างไร
ทรงบัญญัติเรียกสมณะผู้ประทุษร้ายมรรคนั้นว่าอย่างไร
ข้าพระองค์ทูลถามแล้วขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์
ขอพระองค์ทรงชี้แจงแก่ข้าพระองค์เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๕. จุนทสูตร
[๘๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบัญญัติเรียก
สมณะผู้ข้ามพ้นความสงสัยได้เด็ดขาด
ปราศจากกิเลสดุจลูกศร ยินดียิ่งในนิพพาน
ไม่ติดอยู่ในตัณหา ผู้แนะนำสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกว่า
เป็นสมณะผู้ชนะกิเลสทั้งปวงด้วยมรรค
[๘๗] ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้ รู้ว่า นิพพานเป็นบรมธรรม
แล้วบอก เปิดเผยนิพพานธรรมในธรรมวินัยนี้
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบัญญัติเรียกภิกษุ
ผู้ตัดความสงสัยได้แล้ว เป็นมุนี
ไม่มีตัณหาทำให้หวั่นไหวนั้นว่า
เป็นสมณะจำพวกที่ ๒ ผู้แสดงมรรค
[๘๘] ภิกษุใดเป็นผู้สำรวมแล้ว มีสติ เสพบทอันไม่มีโทษ๑
ดำรงอยู่ในมรรคคือบทแห่งธรรมที่แสดงไว้ดีแล้ว
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบัญญัติเรียกภิกษุนั้นว่า
เป็นสมณะจำพวกที่ ๓ ผู้ดำรงอยู่ในมรรค
[๘๙] ภิกษุใดทำตนเลียนแบบพระอริยะ ผู้มีวัตรดีงาม
ชอบเอาหน้า ประทุษร้ายตระกูล
คะนองกาย วาจา ใจ มีมายา ไม่สำรวม พูดเพ้อเจ้อ
ภิกษุผู้เที่ยวเลียนแบบ จัดเป็นสมณะจำพวกที่ ๔ ผู้ประทุษร้ายมรรค
[๙๐] อนึ่ง คฤหัสถ์ผู้ได้สดับแล้ว เป็นอริยสาวก มีปัญญา
รู้ซึ้งถึงลักษณะสมณะทั้ง ๔ จำพวกนั้น
แล้วรู้ว่า สมณะทั้งหมดไม่เป็นเช่นนี้
เพราะเห็นเช่นนี้ ศรัทธาของเขาจึงไม่เสื่อมไป

เชิงอรรถ :
๑ เสพบทอันไม่มีโทษ หมายถึงปฏิบัติตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ขุ.สุ.อ.๑/๘๘/๑๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๖. ปราภวสูตร
เพราะเห็นว่า บุคคลจะทำสมณะผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
ให้เสมอกับสมณะผู้ทุศีล
และสมณะผู้บริสุทธิ์ให้เสมอกับสมณะผู้ไม่บริสุทธิ์
ได้อย่างไรเล่า
จุนทสูตรที่ ๕ จบ

๖. ปราภวสูตร
ว่าด้วยทางแห่งความเสื่อม
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๑ เทวดาองค์หนึ่ง
มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วย
คาถาว่า
[๙๑] ข้าพระองค์มาทูลถามถึงคนผู้มีแต่ความเสื่อม
กับพระผู้มีพระภาคผู้โคดมว่า
อะไรเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๙๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ผู้เจริญก็รู้ได้ง่าย๒ ผู้เสื่อมก็รู้ได้ง่าย
ผู้เจริญใคร่ธรรม๓ ผู้เสื่อมชังธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ข้อ ๑ หน้า ๖ ในเล่มนี้
๒ ผู้เจริญก็รู้ได้ง่าย ในที่นี้หมายถึงผู้พัฒนาแล้ว ใคร ๆ ก็รู้ได้ง่ายเพราะได้เห็นหรือได้ยินเกี่ยวกับการ
ประพฤติปฏิบัติของเขา (ขุ.สุ.อ. ๑/๙๒/๑๗๑)
๓ ใคร่ธรรม หมายถึงปรารถนาที่จะฟังและปฏิบัติตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๑/๙๒/๑๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๖. ปราภวสูตร
[๙๓] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๒ ว่าเป็นอย่างไร
[๙๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนที่มีอสัตบุรุษเป็นที่รัก ไม่ทำสัตบุรุษให้เป็นที่รัก
ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๙๕] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๒
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๓ ว่าเป็นอย่างไร
[๙๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้ชอบหลับอยู่เสมอ ชอบสมาคม๑
ไม่ขยันหมั่นเพียร เกียจคร้าน โกรธง่าย
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๙๗] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๓
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๔ ว่าเป็นอย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ ชอบสมาคม หมายถึงชอบคลุกคลีและพูดคุยในเรื่องไร้สาระ (ขุ.สุ.อ. ๑/๙๖/๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๖. ปราภวสูตร
[๙๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้มีความสามารถเลี้ยงตนและผู้อื่นได้
แต่ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่ชรา ผู้ผ่านวัยหนุ่มวัยสาวแล้ว
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๙๙] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๔
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๕ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๐๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้กล่าวมุสาวาท หลอกลวงสมณะหรือพราหมณ์
หรือแม้กระทั่งวณิพกยาจกอื่น ๆ
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๐๑] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๕
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๖ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๐๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้มีทรัพย์มาก มีเงินทองของกินเหลือเฟือ
กินของอร่อยเพียงคนเดียว๑
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

เชิงอรรถ :
๑ กินของอร่อยเพียงคนเดียว ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้ตระหนี่ลาภกินโดยไม่แบ่งให้แม้กระทั่งบุตรและภรรยา (ขุ.สุ.อ.
๑/๑๐๒/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๖. ปราภวสูตร
[๑๐๓] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๖
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๗ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๐๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนกระด้างเพราะชาติ กระด้างเพราะทรัพย์
และกระด้างเพราะโคตร
ชอบดูหมิ่นญาติของตน
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๐๕] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๗
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๘ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๐๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้เป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา และนักเลงการพนัน
ชอบล้างผลาญทรัพย์สมบัติที่ตนหามาได้
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๐๗] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๘
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๙ ว่าเป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๖. ปราภวสูตร
[๑๐๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้ไม่ยินดีภรรยาของตน ชอบเที่ยวหญิงแพศยา
ชอบคบชู้สู่สาวภรรยาคนอื่น
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๐๙] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๙
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๐ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๑๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ชายแก่ได้หญิงสาววัยรุ่น มีถันเท่าผลมะพลับมาเป็นภรรยา
มักจะนอนไม่ค่อยหลับ เพราะความหึงหญิงสาวรุ่นนั้น
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๑๑] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๐
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๑ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๑๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนแต่งตั้งหญิงหรือชายผู้เป็นนักเลง
ใช้จ่ายเงินทองฟุ่มเฟือย ไว้ในความเป็นใหญ่
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๑๓] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๑
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๒ ว่าเป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๗. วสลสูตร
[๑๑๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้เกิดในขัตติยตระกูล มีโภคะน้อย
แต่มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ปรารถนาจะครองราชย์
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๑๕] บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะอันประเสริฐ
พิจารณาเห็นทางแห่งความเสื่อมในโลก ดังกล่าวมานี้แล้ว
ท่านย่อมคบโลกที่เจริญแน่นอน
ปราภวสูตรที่ ๖ จบ

๗. วสลสูตร
ว่าด้วยลักษณะคนเลว
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครอง
อันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ที่บ้าน
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ มีการจุดไฟเตรียมทำพิธีบูชาไฟ พระผู้มีพระภาคเสด็จ
เที่ยวบิณฑบาตมาตามลำดับตรอก ในกรุงสาวัตถี จนเสด็จเข้าไปถึงนิเวศน์ของ
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลทีเดียว จึงได้กล่าว
ดังนี้ว่า “หยุดอยู่แค่นั้นแหละ คนหัวโล้น หยุดอยู่แค่นั้นแหละ สมณะ หยุดอยู่แค่นั้นแหละ
คนเลว”๑
เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ ท่านรู้จัก
คนเลว หรือธรรมที่ทำให้เป็นคนเลวหรือไม่”

เชิงอรรถ :
๑ เหตุที่อัคคิกภารทวาชพราหมณ์พูดคำหยาบเช่นนี้ เพราะมีความเชื่อว่าการเห็นสมณะในเวลาที่มีงานมงคล
ถือว่าเป็นอวมงคล และมีความเชื่อว่า คนที่มีศีรษะโล้น เป็นคนไม่บริสุทธิ์ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๑๖/๑๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๗. วสลสูตร
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าไม่รู้จักคนเลวหรือ
ธรรมที่ทำให้เป็นคนเลว ดีละ ถ้าท่านพระโคดมรู้ ก็จงแสดงธรรมให้ข้าพเจ้ารู้จัก
คนเลวหรือธรรมที่ทำให้เป็นคนเลวบ้าง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจะกล่าว”
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๑๑๖] คนมักโกรธ ชอบผูกอาฆาต ชอบลบหลู่ดูหมิ่น
เห็นผิดเป็นชอบ มีมายา
พึงทราบว่าเป็นคนเลว๑
[๑๑๗] คนผู้ชอบเบียดเบียนสัตว์ทุกจำพวกในโลกนี้
ไม่มีความเอ็นดูในเพื่อนมนุษย์และสัตว์อื่น
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๑๘] คนผู้ชอบทำลายชีวิตผู้อื่น เที่ยวปล้นสะดม
ถูกประณามว่าเป็นโจรปล้นฆ่าชาวบ้านร้านตลาด
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๑๙] คนเที่ยวลักขโมยทรัพย์สินเงินทอง
ที่เจ้าของหวงแหนไม่ได้ให้ ในบ้านหรือในป่าก็ตาม
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๐] คนกู้หนี้ยืมสินเขามาแล้ว
ถูกทวงกลับกล่าวว่า ไม่ได้ยืม หลบหนีไปเสีย
พึงทราบว่าเป็นคนเลว

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑๕๐/๒๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๗. วสลสูตร
[๑๒๑] คนดักฆ่าหรือทำร้ายคนเดินทาง ชิงเอาทรัพย์สมบัติ
เพราะความอยากได้ทรัพย์สมบัติเพียงเล็กน้อยของเขา
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๒] คนถูกเขาอ้างเป็นพยาน แล้วกล่าวคำเท็จ
เพราะตนเป็นเหตุ เพราะผู้อื่นเป็นเหตุ หรือเพราะทรัพย์เป็นเหตุ
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๓] คนที่ประพฤติล่วงเกินภรรยาของญาติ หรือของเพื่อน
จะด้วยการข่มขืนหรือด้วยความยินยอมกันก็ตาม
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๔] คนผู้สามารถเลี้ยงตนเองและผู้อื่นได้
แต่ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาของตน ผู้แก่ชรา
ผ่านวัยหนุ่มวัยสาวแล้ว พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๕] คนผู้ทุบตี ดุด่ามารดาบิดา พี่น้อง
พ่อตา แม่ยาย หรือพ่อผัว แม่ผัว
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๖] คนที่ถูกถามถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์
กลับบอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
หรือพูดกลบเกลื่อนบอกไม่ชัดเจน
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๗] คนทำบาปกรรมไว้แล้ว ปรารถนาว่า
คนอื่นอย่าพึงรู้ว่าเราทำ
ปกปิดการกระทำไว้
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๘] คนไปบ้านผู้อื่น ถูกต้อนรับด้วยโภชนาหารอย่างดี
แต่พอเขามาบ้านตนบ้าง กลับไม่ต้อนรับเขาเช่นนั้น
พึงทราบว่าเป็นคนเลว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๗. วสลสูตร
[๑๒๙] คนผู้กล่าวมุสาวาท หลอกลวงสมณะหรือพราหมณ์
หรือแม้กระทั่งวณิพกยาจกอื่น ๆ
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๐] คนที่เมื่อสมณะหรือพราหมณ์มาบิณฑบาตแต่เช้า
ไม่ถวายอาหารบิณฑบาต กลับด่าว่าขับไล่
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๑] ในโลกนี้คนถูกโมหะครอบงำ
อยากได้สิ่งของเล็กน้อยของผู้อื่น
ก็พูดจาหลอกลวงเขาเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๒] คนผู้ชอบยกตน และดูหมิ่นคนอื่น
ประพฤติเลวทราม เพราะความถือตัวจัดของตน
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๓] คนโหดร้าย มีจิตใจคับแคบ ปรารถนาชั่ว
มีความตระหนี่ โอ้อวด ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๔] คนกล่าวร้ายพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก
ของพระพุทธเจ้าที่เป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๕] คนไม่เป็นพระอรหันต์ แต่ปฏิญญาว่าเป็นพระอรหันต์
ชื่อว่าเป็นดุจโจรในมนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก
พึงทราบว่าเป็นคนเลวทรามต่ำช้าที่สุด
[๑๓๖] คนที่เรากล่าวมาทั้งหมดนี้ เราเรียกว่าเป็นคนเลว
คนจะชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๗. วสลสูตร
แต่ชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะกรรม
ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม
[๑๓๗] ท่านจงรู้ข้อนั้นตามที่เราแสดงนี้ คือ
บุตรคนจัณฑาลผู้ปรากฏชื่อว่ามาตังคะ
ผู้ปิ้งสุนัขรับประทาน
[๑๓๘] ต่อมา นายมาตังคะได้รับยศศักดิ์ใหญ่ซึ่งได้แสนยาก
ทั้งกษัตริย์และพราหมณ์จำนวนมาก ต่างมาสู่ที่บำรุงของเขา
[๑๓๙] เขาขึ้นยานอันประเสริฐ๑ไปตามทางใหญ่๒ที่ไม่มีฝุ่นละออง๓
ละกามราคะได้แล้ว ไปเกิดในพรหมโลก
ชาติกำเนิดห้ามเขาไม่ให้ไปเกิดในพรหมโลกไม่ได้
[๑๔๐] พวกพราหมณ์ที่เกิดในตระกูลสาธยายมนตร์ มีหน้าที่ร่ายมนตร์
แต่ปรากฏว่าพวกเขาทำบาปกรรมอยู่เป็นประจำ
[๑๔๑] พราหมณ์พวกนั้นถูกตำหนิในชาติปัจจุบันตายแล้วก็ต้องไปทุคติ
ชาติกำเนิดห้ามพวกเขาจากทุคติหรือจากการติเตียนไม่ได้
[๑๔๒] คนจะชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
แต่ชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะกรรม
ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัคคิกภารทวาชพรามหณ์ได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่าน

เชิงอรรถ :
๑ ยานอันประเสริฐ ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๓๙/๑๙๒)
๒ ไปตามทางใหญ่ หมายถึงเป็นผู้ปฏิบัติตามทางที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นดำเนินไปแล้ว (ขุ.สุ.อ.๑/๑๓๙/๑๙๒)
๓ ฝุ่นละออง หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ.๑/๑๓๙/๑๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๘. เมตตสูตร
พระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’
ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่าน
พระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
วสลสูตรที่ ๗ จบ

๘. เมตตสูตร๑
ว่าด้วยการแผ่เมตตา
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่าดังนี้)
[๑๔๓] ผู้ฉลาดในประโยชน์ มุ่งหวังบรรลุสันตบท
ควรบำเพ็ญกรณียกิจ ควรเป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง
เคร่งครัด ว่าง่าย อ่อนโยน และไม่เย่อหยิ่ง
[๑๔๔] ควรเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย
มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน
ไม่คะนอง ไม่ยึดติดในตระกูลทั้งหลาย
[๑๔๕] อนึ่ง ไม่ควรประพฤติความเสียหายใด ๆ
ที่จะเป็นเหตุให้วิญญูชนเหล่าอื่นตำหนิเอาได้
(ควรแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์อย่างนี้ว่า)
ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข
มีความเกษม มีตนเป็นสุขเถิด
[๑๔๖] คือเหล่าสัตว์ที่ยังเป็นผู้หวาดสะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๑๔๓-๑๕๒ ดู ขุททกปาฐะ (เมตตสูตร ข้อ ๑-๑๐ หน้า ๒๐-๒๒ ในเล่มนี้)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๘. เมตตสูตร
เหล่าสัตว์ที่มีขนาดกายยาว ขนาดกายใหญ่ ขนาดกายปานกลาง
ขนาดกายเตี้ย ขนาดกายผอม หรือขนาดกายอ้วน
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[๑๔๗] เหล่าสัตว์ที่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่ไม่เคยเห็นก็ดี
เหล่าสัตว์ที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลก็ดี ภูตหรือสัมภเวสีก็ดี
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[๑๔๘] ไม่ควรข่มเหง ไม่ควรดูหมิ่นกันและกันในทุกโอกาส
ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน
เพราะความโกรธและเพราะความแค้น
[๑๔๙] ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณไปยังสรรพสัตว์
ดุจมารดาเฝ้าถนอมบุตรคนเดียวด้วยชีวิต ฉะนั้น
[๑๕๐] อนึ่ง ควรแผ่เมตตาจิตชนิดไม่มีประมาณ
กว้างขวาง ไม่มีเวร ไม่มีศัตรูไปยังสัตว์โลกทั่วทั้งหมด
ทั้งชั้นบน ชั้นล่าง และชั้นกลาง
[๑๕๑] ผู้แผ่เมตตาจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน
ควรตั้งสตินี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วง
นักปราชญ์เรียกการอยู่ด้วยเมตตานี้ว่า พรหมวิหาร
[๑๕๒] อนึ่ง ผู้แผ่เมตตาที่ไม่ยึดถือทิฏฐิ
มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ
กำจัดความยินดีในกามคุณได้แล้ว
ก็จะไม่เกิดในครรภ์อีกต่อไป
เมตตสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
๙. เหมวตสูตร
ว่าด้วยเหมวตยักษ์ทูลถามปัญหา
[๑๕๓] (สาตาคิรยักษ์กล่าวดังนี้)
วันนี้เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ
ราตรีที่เป็นทิพย์ปรากฏแล้ว
เราทั้งสองไปเฝ้าพระโคดมผู้เป็นศาสดา
ทรงพระนามสูงส่งกันดีกว่า
[๑๕๔] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมเป็นผู้คงที่๑ มีพระทัยสม่ำเสมอ
ในสัตว์โลกทุกจำพวกจริงหรือ
ทรงทำความดำริในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ให้อยู่ในอำนาจได้จริงหรือ
[๑๕๕] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมเป็นผู้คงที่ มีพระทัยสม่ำเสมอ
ในสัตว์โลกทุกจำพวกจริง
และทรงทำความดำริในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ให้อยู่ในอำนาจได้จริง
[๑๕๖] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้จริงหรือ
ทรงสำรวมในสัตว์ทั้งหลายจริงหรือ
ทรงประพฤติห่างไกลจากกามคุณจริงหรือ
พระองค์ไม่ทรงละทิ้งฌานจริงหรือ

เชิงอรรถ :
๑ พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มีพระทัยคงที่โดยอาการ ๕ อย่าง คือ (๑) เป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
(๒) เป็นผู้คงที่เพราะสละแล้ว (๓) เป็นผู้คงที่เพราะพ้นแล้ว (๔) เป็นผู้คงที่เพราะข้ามได้แล้ว (๕) เป็นผู้คง
ที่เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้น ๆ ได้ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๕๕/๒๓) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๘/๑๓๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
[๑๕๗] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้จริง
ทรงสำรวมในสัตว์ทั้งหลายจริง
ทรงประพฤติห่างไกลจากกามคุณจริง
พระองค์ตรัสรู้แล้ว ไม่ทรงละทิ้งฌานจริง
[๑๕๘] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมไม่ตรัสคำเท็จจริงหรือ
มีพระวาจาไม่หยาบคายจริงหรือ
ไม่ตรัสคำส่อเสียดจริงหรือ ไม่ตรัสคำเพ้อเจ้อจริงหรือ
[๑๕๙] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมไม่ตรัสคำเท็จจริง
มีพระวาจาไม่หยาบคายจริง
ไม่ตรัสคำส่อเสียดจริง ไม่ตรัสคำเพ้อเจ้อจริง
ตรัสคำที่เป็นประโยชน์อย่างเดียว
เพราะทรงกำหนดด้วยพระปัญญา
[๑๖๐] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลายจริงหรือ
พระทัยของพระองค์ไม่ขุ่นมัวจริงหรือ
พระองค์ทรงล่วงพ้นโมหะได้จริงหรือ
พระองค์ทรงมีปัญญาจักษุในธรรมทั้งหลายจริงหรือ
[๑๖๑] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลายจริง
พระทัยของพระองค์ไม่ขุ่นมัวจริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
พระองค์ทรงล่วงพ้นโมหะทั้งปวงได้จริง
พระองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงมีปัญญาจักษุในธรรมทั้งหลายจริง
[๑๖๒] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาจริงหรือ
พระองค์ทรงมีจรณะบริสุทธิ์จริงหรือ
พระองค์ทรงสิ้นอาสวะทั้งหลายจริงหรือ
พระองค์ไม่ทรงเกิดอีกจริงหรือ
[๑๖๓] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาจริง
พระองค์ทรงมีจรณะบริสุทธิ์จริง
พระองค์ทรงสิ้นอาสวะทั้งหลายจริง
พระองค์ไม่ทรงเกิดอีกจริง
[๑๖๔] (เหมวตยักษ์กล่าวชื่นชมสาตาคิรยักษ์ดังนี้)
ท่านได้สรรเสริญพระทัยของพระมุนีโคดม
ที่ถึงพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
และสรรเสริญพระมุนีโคดมนั้น
ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ โดยธรรม
[๑๖๕] (สาตาคิรยักษ์กล่าวชื่นชมเหมวตยักษ์ดังนี้)
ท่านก็ชื่นชมพระทัยของพระมุนีโคดม
ที่ถึงพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
และชื่นชมพระมุนีโคดมนั้น
ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ โดยธรรม
[๑๖๖] พระทัยของพระมุนีโคดม
ถึงพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
เราไปเฝ้าพระโคดมผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะกันเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
[๑๖๗] (เหมวตยักษ์กล่าวดังนี้)
มาเถิด เราทั้งสองจะไปเฝ้าพระโคดม
ผู้มีพระชงฆ์ดังปลีแข้งเนื้อทราย
มีพระวรกายงามระหง มีลักษณะองอาจ
เสวยพระกระยาหารแต่พอประมาณ
ทรงปราศจากความติดพระทัยในรสพระกระยาหาร
ทรงเป็นมุนีผู้เพ่งพินิจอยู่ในป่า
[๑๖๘] เราทั้งสองไปเฝ้าพระโคดม ผู้สง่าดุจราชสีห์
เสด็จจาริกโดดเด่นพระองค์เดียว๑
ทรงเป็นพระนาคะ๒
ไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลาย
จะทูลถามถึงธรรมเครื่องพ้นจากบ่วงมัจจุราช๓
[๑๖๙] เราทั้งสองจงทูลถามพระโคดมผู้ทรงแนะนำพร่ำสอน
ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง๔
ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ ล่วงพ้นเวรภัยได้ทุกอย่าง

เชิงอรรถ :
๑ เสด็จจาริกโดดเด่นพระองค์เดียว หมายถึงไม่มีตัณหา อีกนัยหนึ่ง หมายถึงในโลกธาตุเดียวกันนี้ มีเพียง
พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๖๘/๒๓๗)
๒ ทรงเป็นพระนาคะ หมายถึงเป็นผู้ไม่เกิดอีกบ้าง เป็นผู้ไม่ทำความชั่วบ้าง หรือหมายถึงทรงมีพลธรรม
บ้าง (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๖๘/๒๓๗)
๓ ธรรมเครื่องพ้นจากบ่วงมัจจุราช ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ.๑/๑๖๘/๒๓๘)
๔ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๖๙/๒๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
[๑๗๐] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้)
เมื่ออะไรเกิด สัตว์โลกจึงเกิด
สัตว์โลกยินดีในอะไร
สัตว์โลกยึดถืออะไร
เพราะอะไรสัตว์โลกจึงเดือดร้อน
[๑๗๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เมื่ออายตนะ ๖๑ เกิด สัตว์โลกจึงเกิด
สัตว์โลกย่อมยินดีในอายตนะ ๖
สัตว์โลกยึดถืออายตนะ ๖ นั่นแล
เพราะอายตนะ ๖ สัตว์โลกจึงเดือดร้อน
[๑๗๒] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้)
ความยึดถือที่ทำให้สัตว์โลกเดือดร้อนนั้นคืออะไร
ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องนำออกจากโลก
สัตว์โลกจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร
[๑๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
กามคุณ ๕ อันมีใจเป็นที่ ๖ ซึ่งมีอยู่ในโลก
เราประกาศไว้ชัดเจนแล้ว
สัตว์โลกคลายความพอใจในกามคุณ ๕ นี้ได้
ย่อมพ้นจากทุกข์ได้ ด้วยวิธีดังกล่าวนี้๒

เชิงอรรถ :
๑ อายตนะ ๖ หมายถึงอายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๗๑/๒๔๐)
๒ ดูเทียบ อภิ.ก. ๓๗/๕๑๐/๓๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
[๑๗๔] นี้คือธรรมเครื่องนำออกจากโลก
เราบอกแก่พวกท่านตามความเป็นจริง
เราก็บอกพวกท่านเช่นนี้แล
เพราะว่าสัตว์โลกย่อมพ้นจากทุกข์ได้ก็ด้วยวิธีดังนี้
[๑๗๕] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้)
ในโลกนี้ใครเล่าข้ามโอฆะ๑ได้
ใครเล่าข้ามห้วงมหรรณพได้๒
ใครเล่าไม่จมลงในห้วงมหรรณพที่ลุ่มลึก
ปราศจากเกาะแก่ง และเครื่องยึดเหนี่ยว
[๑๗๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีปัญญา มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
เพ่งพินิจธรรมภายใน มีสติทุกเมื่อ
ย่อมข้ามพ้นโอฆะที่ข้ามได้ยาก
[๑๗๗] ผู้นั้นเว้นขาดจากกามสัญญา๓ได้แล้ว
เป็นผู้ละสังโยชน์ได้ทุกอย่าง
หมดสิ้นความเพลิดเพลินและภพแล้ว
ย่อมไม่จมลงในห้วงมหรรณพที่ลุ่มลึก

เชิงอรรถ :
๑ โอฆะ หมายถึงกิเลส ๔ ประการ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๗๕/๒๔๓)
๒ ห้วงมหรรณพ ในที่นี้หมายถึงสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๗๕/๒๔๓)
๓ กามสัญญา หมายถึงสัญญาที่เกิดขึ้นปรารภกาม หรือสัญญาที่สหรคตด้วยโลภจิต ๘ ดวง (องฺ.ติก.อ.
๒/๓๓/๑๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
[๑๗๘] (เหมวตยักษ์กล่าวดังนี้)
ท่านทั้งหลายโปรดมาดูพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
มีพระปัญญาลึกซึ้ง ทรงแสดงเนื้อความอย่างละเอียด
ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ทรงข้องในกามภพ
ทรงหลุดพ้นได้เด็ดขาดในอารมณ์ทั้งปวง
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เสด็จดำเนินอยู่ในปฏิปทาอันเป็นทิพย์
[๑๗๙] ท่านทั้งหลายโปรดมาดูพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
มีพระนามเลื่องลือไกล ทรงแสดงเนื้อความอย่างละเอียด
ทรงประทานแสงสว่างคือปัญญา ไม่ทรงติดข้องอาลัย๑ในกาม
ทรงเป็นพระสัพพัญญูรู้ธรรมทั้งปวง
มีพระปัญญาบารมี แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เสด็จดำเนินอยู่ในปฏิปทาของพระอริยะ
[๑๘๐] วันนี้เราทั้งหลายเห็นดีแล้ว
สว่างไสวแล้ว ตั้งมั่นดีแล้ว
เพราะเราทั้งหลายได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ข้ามพ้นโอฆะ ผู้ปราศจากอาสวะ
[๑๘๑] ยักษ์ ๑,๐๐๐ ตนที่อยู่ ณ ที่นั้นทั้งหมด มีฤทธิ์ มียศ
ย่อมถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นสรณะ
โดยเปล่งวาจาว่าพระองค์ทรงเป็นพระศาสดาผู้ยอดเยี่ยม
ไม่มีใครยิ่งกว่าของข้าพระองค์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ อาลัย หมายถึงตัณหา และทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๗๙/๒๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๐. อาฬวกสูตร
[๑๘๒] ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว
เที่ยวประกาศธรรมไปทุกหนทุกแห่ง
ตามหมู่บ้านหรือตามขุนเขาลำเนาไพร
เหมวตสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. อาฬวกสูตร
ว่าด้วยอาฬวกยักษ์ทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ เขตเมืองอาฬวี
ครั้งนั้น อาฬวกยักษ์ได้เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับกล่าวดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำว่า “ได้ท่าน” แล้วเสด็จออกไป อาฬวกยักษ์
กล่าวอีกว่า “จงเข้ามา สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำอีกว่า “ได้ท่าน”
แล้วเสด็จเข้าไป
แม้ครั้งที่ ๒ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำว่า “ได้ท่าน” แล้วเสด็จออกไป อาฬวกยักษ์
กล่าวอีกว่า “จงเข้ามา สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำอีกว่า “ได้ท่าน”
แล้วเสด็จเข้าไป
แม้ครั้งที่ ๓ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำว่า “ได้ท่าน” แล้วเสด็จออกไป อาฬวกยักษ์
กล่าวอีกว่า “จงเข้ามา สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำอีกว่า “ได้ท่าน”
แล้วเสด็จเข้าไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๐. อาฬวกสูตร
แม้ครั้งที่ ๔ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เราจะไม่ออกไปอีกแล้ว ท่านจะทำอะไรก็เชิญเถิด”
อาฬวกยักษ์กล่าวว่า “สมณะ ข้าพเจ้าจะขอตั้งปัญหาถามท่าน ถ้าท่านตอบ
ข้าพเจ้าไม่ได้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจท่านให้แหลก
สลาย หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของท่านเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ยักษ์เอ๋ย เรายังไม่เห็นใครสักคนเลยในโลก พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์ ผู้จะสามารถควักดวงจิตของเราออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจเราให้แหลกสลาย
หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของเราเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้นได้ เอาเถอะ
เชิญท่านถามปัญหาตามที่ท่านสงสัยเถิด”
ลำดับนั้น อาฬวกยักษ์ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[๑๘๓] อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้
อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
อะไรเล่าเป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ
[๑๘๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้
ธรรม๑ที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
สัจจะเท่านั้น เป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา๒
นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ๓

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (สํ.ส.อ. ๑/๗๓/๙๔, ขุ.สุ.อ. ๑/๑๘๔/๒๖๒)
๒ มีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา หมายถึงที่เป็นคฤหัสถ์ ก็ยินดีข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์ คือ ขยันทำการงาน
นับถือพระรัตนตรัย ให้ทาน รักษาศีล ๕ และศีล ๘ และที่เป็นบรรพชิตก็ยินดีข้อปฏิบัติสำหรับบรรพชิต
คือ รักษาศีลไม่ให้ขาด และเจริญภาวนา (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๘๔/๒๖๔)
๓ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๗๓/๘๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๐. อาฬวกสูตร
[๑๘๕] (อาฬวกยักษ์ถามดังนี้)
คนจะข้ามโอฆะได้อย่างไร
จะข้ามห้วงมหรรณพได้อย่างไร
จะล่วงพ้นทุกข์ได้อย่างไร
และจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร
[๑๘๖] (พระผู้พระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนจะข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา
จะข้ามห้วงมหรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท
จะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร
และจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา
[๑๘๗] (อาฬวกยักษ์ถามดังนี้)
คนทำอย่างไรจึงจะได้ปัญญา
ทำอย่างไรจึงจะได้ทรัพย์
ทำอย่างไรจึงจะได้เกียรติ
ทำอย่างไรจึงจะผูกใจหมู่มิตรไว้ได้
และทำอย่างไรเมื่อตายแล้วจะไม่เศร้าโศก
[๑๘๘] (พระผู้พระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนต้องการบรรลุนิพพาน
เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระอรหันต์
ไม่ประมาท รู้จักพินิจพิจารณา
ตั้งใจฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา
[๑๘๙] คนปฏิบัติตนตรงต่อเวลา เอาธุระ
มีความขยันย่อมหาทรัพย์ได้
ย่อมได้เกียรติด้วยความสัตย์จริง
ผู้ให้ย่อมผูกใจหมู่มิตรไว้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๐. อาฬวกสูตร
[๑๙๐] คนผู้อยู่ครองเรือน มีศรัทธา
ประพฤติธรรม ๔ ประการนี้คือ
สัจจะ ธรรมะ ธิติ และจาคะ
ตายแล้วย่อมไม่เศร้าโศก
[๑๙๑] เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นดูเถิดว่า
ในโลกนี้ เหตุให้ได้เกียรติที่ยิ่งไปกว่าสัจจะก็ดี
เหตุให้มีปัญญาที่ยิ่งไปกว่าทมะ๑ก็ดี
เหตุให้ผูกมิตรสหายไว้ได้ที่ยิ่งไปกว่าจาคะก็ดี
เหตุให้หาทรัพย์ได้ที่ยิ่งไปกว่าขันติ๒ก็ดี มีอยู่หรือไม่
[๑๙๒] (อาฬวกยักษ์กราบทูลดังนี้)
วันนี้ ข้าพระองค์ได้ทราบชัดถึงประโยชน์ที่จะพึงได้ในโลกหน้าแล้ว
ยังต้องถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นอีกทำไม
[๑๙๓] พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่เมืองอาฬวี
เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์โดยแท้
ในวันนี้ข้าพระองค์ได้ทราบชัดถึงบุคคล
ที่ใคร ๆ ถวายทานแล้วมีผลมาก
[๑๙๔] ข้าพระองค์นั้นขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว
เที่ยวประกาศธรรมไปทุกหนทุกแห่ง
ตามหมู่บ้านหรือตามหัวเมืองน้อยใหญ่
อาฬวกสูตรที่ ๑๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ธรรม” ในข้อ ๑๙๐ กับคำว่า “ทมะ” ในข้อ ๑๙๑ มีความหมายเดียวกัน คือ หมายถึงปัญญา
ที่ได้จากการฟัง และปัญญานี้เองเป็นเหตุให้ได้ปัญญาที่เป็นทั้งโลกิยะและโลกุตตระ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๙๐-๑๙๑/
๒๖๗-๒๖๘)
๒ คำว่า “ธิติ” ในข้อ ๑๙๐ กับคำว่า “ขันติ” ในข้อ ๑๙๑ มีความหมายเดียวกัน คือ หมายถึงวิริยะ
(ความเพียร) (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๙๑/๒๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๑. วิชยสูตร
๑๑. วิชยสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเอาชนะความสวยงามของร่างกาย
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[๑๙๕] การที่คนเรายืน เดิน นั่ง หรือนอน
คู้เข้าหรือเหยียดออก
นี้จัดเป็นความเคลื่อนไหวของร่างกาย
[๑๙๖] ร่างกายนี้ประกอบด้วยกระดูกและเส้นเอ็น๑
มีหนังและเนื้อฉาบทา ห่อหุ้มด้วยผิวหนัง
ปุถุชนย่อมไม่พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง
[๑๙๗] ร่างกายนี้เต็มไปด้วยลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก
อาหารใหม่ อาหารเก่า
ตับ มูตร หัวใจ ปอด ไต ม้าม
[๑๙๘] น้ำมูก น้ำลาย เหงื่อ มันข้น เลือด ไขข้อ ดี เปลวมัน
[๑๙๙] อนึ่ง ร่างกายนี้มีของไม่สะอาด
ไหลออกทางทวารทั้ง ๙ เสมอ คือ
มีขี้ตาไหลออกทางเบ้าตา มีขี้หูไหลออกทางรูหู
[๒๐๐] มีน้ำมูกไหลออกจากทางช่องจมูก
บางคราวก็อาเจียน สำรอกน้ำดี ขากเสลดออกทางปาก
มีหยาดเหงื่อออกตามขุมขน มีหนองฝีไหลออกตรงที่เป็นแผล

เชิงอรรถ :
๑ ร่างกายนี้ประกอบด้วยกระดูก ๓๐๐ ท่อน และเอ็น ๙๐๐ เส้น (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๙๖/๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๑. วิชยสูตร
[๒๐๑] อนึ่ง ร่างกายนี้มีศีรษะเป็นโพรง เต็มด้วยมันสมอง
ซึ่งคนพาลถูกอวิชชาครอบงำ หลงเข้าใจว่าเป็นของสวยงาม
[๒๐๒] และเมื่อร่างกายนั้นตาย ขึ้นอืด มีสีเขียวคล้ำ
ถูกทิ้งให้นอนอยู่ในป่าช้า หมู่ญาติต่างหมดความอาลัยไยดี
[๒๐๓] ร่างกายที่เปื่อยเน่านั้น สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า
หมู่หนอน ฝูงกา ฝูงแร้งและสัตว์ที่กินซากศพอื่น ๆ
ย่อมรุมยื้อแย่งกันกิน
[๒๐๔] ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ฟังพุทธพจน์แล้วเกิดปัญญา
ย่อมกำหนดรู้และพิจารณาเห็นร่างกายนั้น
ตามความเป็นจริงทีเดียว
[๒๐๕] ร่างกายที่ตายแล้วนั้นได้เคยเป็นเหมือนร่างกายที่มีชีวิตนี้
และร่างกายที่มีชีวิตนี้ก็จะเป็นเหมือนร่างกายที่ตายแล้วนั้น
ภิกษุจึงควรคลายความยินดีพอใจในร่างกาย
ทั้งภายในและภายนอก
[๒๐๖] ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีปัญญา ไม่ยินดีด้วยฉันทราคะ
ได้บรรลุนิพพานที่เป็นอมตะอันสงบ ดับ และไม่จุติ
[๒๐๗] ร่างกายนี้ มี ๒ เท้า ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น
เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ ขับถ่ายของไม่สะอาด
มีน้ำลายน้ำมูกเป็นต้นออกทางทวารทั้ง ๙
ขับเหงื่อไคลให้ไหลออกทางรูขุมขนนั้น ๆ
ต้องบำรุงรักษาอยู่เสมอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑๒. มุนิสูตร
[๒๐๘] ด้วยร่างกายที่มีสภาพเช่นนี้
การที่บุคคลหลงเข้าใจผิดคิดเข้าข้างตนเอง
และดูหมิ่นผู้อื่นนั้น จะมีประโยชน์อะไร
นอกจากการไม่เห็นอริยสัจ
วิชยสูตรที่ ๑๑ จบ

๑๒. มุนิสูตร
ว่าด้วยลักษณะของมุนี
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[๒๐๙] ภัยเกิดจากความเชยชิด๑
ธุลีคือราคะ โทสะ และโมหะ
เกิดจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส
ความไม่มีกิเลส ไม่มีความเชยชิด
นั้นแล เป็นลักษณะของมุนี
[๒๑๐] บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้ที่ตัดกิเลสที่เกิดขึ้นได้
ไม่ปลูกกิเลสให้เกิดขึ้นอีก
เมื่อกิเลสเกิดขึ้นก็ไม่พึงให้ไหลเข้าอีก
ว่า เป็นมุนีผู้เที่ยวไปอยู่
พระมุนีนั้นผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้ทรงเห็นสันติบทแจ้งชัดแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ความเชยชิด หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๐๙/๒๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑๒. มุนิสูตร
[๒๑๑] ผู้กำหนดรู้ที่ตั้งแห่งกิเลส๑ กำจัดพืช๒ได้เด็ดขาด
ไม่ให้ยางพืชไหลเข้าไปได้อีก
ชื่อว่า เป็นมุนีผู้มีปกติเห็นภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
ละอกุศลวิตกได้ จึงไม่ถึงการนับอีกต่อไป
[๒๑๒] ผู้รู้แจ้งภพเป็นที่อาศัยอยู่ทั้งหมด
ไม่ปรารถนาภพเหล่านั้นแม้สักภพเดียว
ชื่อว่า เป็นมุนีผู้ปราศจากความยึดติด๓ ไม่มีความยึดมั่น
ย่อมไม่ก่อกรรมใด ๆ อีก เพราะเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว
[๒๑๓] ผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวง มีปัญญา
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ละธรรมทั้งปวงได้
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๔] ผู้มีกำลังคือปัญญา ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตร๔
มีจิตตั้งมั่น ยินดีในฌาน มีสติ
หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องข้องแล้ว
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ ปราศจากอาสวะ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี

เชิงอรรถ :
๑ ที่ตั้งแห่งกิเลส ในที่นี้หมายถึงขันธ์ อายตนะ และธาตุ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๑/๒๘๙)
๒ พืช ในที่นี้หมายถึงอภิสังขารวิญญาณ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๑/๒๘๙)
๓ ความยึดติด หมายถึงตัณหา (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๒/๒๙๐)
๔ ในที่นี้ ศีล หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ ประการ วัตร หมายถึงธุดงควัตร ๑๓ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๔/๒๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑๒. มุนิสูตร
[๒๑๕] ผู้เที่ยวไปผู้เดียว มีปัญญา ไม่ประมาท
ไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ
ไม่สะดุ้งเพราะเสียง เหมือนราชสีห์
ไม่ติดข่าย๑ เหมือนลม
ไม่เปียกน้ำ เหมือนบัว
เป็นผู้แนะนำผู้อื่น ไม่ใช่ผู้อื่นแนะนำ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๖] ผู้ไม่ยินดียินร้ายคำสรรเสริญหรือนินทาของคนอื่น
ดุจเสาที่เขาฝังปักไว้ที่ท่าน้ำ
ปราศจากราคะ มีอินทรีย์ตั้งมั่นดีแล้ว
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๗] ผู้ตั้งตนไว้ชอบ ซื่อตรงดุจกระสวย๒
รังเกียจบาปกรรมทั้งหลาย
พิจารณาเห็นกรรมที่เสมอและไม่เสมอ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๘] ผู้ยังอยู่ในวัยหนุ่ม วัยสาว หรือวัยกลางคน
สำรวมตนแล้ว ไม่ทำบาป
เป็นมุนี มีจิตห่างจากบาป
ไม่โกรธง่าย ไม่ว่าร้ายใคร ๆ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี

เชิงอรรถ :
๑ ข่าย ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๕/๒๙๕)
๒ กระสวย หมายถึงเครื่องบรรจุด้ายสำหรับทอผ้าหรือเย็บผ้า (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑๒. มุนิสูตร
[๒๑๙] ผู้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ผู้อื่นให้
ได้อาหารดีเลิศ ก็ไม่กล่าวประจบยกย่องผู้ให้
ได้อาหารปานกลางหรือเลวก็ไม่ติเตียนเขาให้เสียน้ำใจ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๒๐] ผู้มีปัญญา เที่ยวไปอยู่ผู้เดียว
มีจิตเว้นขาดจากเมถุนธรรมคือ
ไม่ผูกจิตรักใคร่ในหญิงสาวเลยแม้สักคนเดียว
เว้นขาดจากความมัวเมา ประมาท เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๒๑] ผู้รู้แจ้งโลก๑ เห็นปรมัตถธรรม๒
ข้ามโอฆะ และสมุทร๓ได้
เป็นผู้คงที่ ตัดกิเลสเครื่องร้อยรัดได้เด็ดขาด
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย ปราศจากอาสวะ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๒๒] คฤหัสถ์และบรรพชิต ๒ จำพวกนี้
มีที่อยู่และการดำรงชีวิตห่างไกลกัน คือ
คฤหัสถ์ทำงานเลี้ยงบุตรภรรยา
ส่วนบรรพชิตไม่ยึดถือสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นของตน มีวัตรงาม
คฤหัสถ์ไม่สำรวม เพราะเบียดเบียนสัตว์อื่น

เชิงอรรถ :
๑ โลก ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒๑/๓๐๗)
๒ เห็นปรมัตถธรรม หมายถึงทำให้แจ้งนิโรธสัจ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒๑/๓๐๗)
๓ สมุทร ในที่นี้หมายถึงอายตนะ ๑๒ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒๑/๓๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ส่วนบรรพชิตที่ชื่อว่าเป็นมุนี สำรวมเป็นนิตย์
รักษาสัตว์มีชีวิตไว้
[๒๒๓] ภิกษุเป็นมุนี เป็นผู้สงบ เพ่งพินิจอยู่ในป่า
คฤหัสถ์จะทำตามอย่างท่านไม่ได้
เหมือนนกยูงมีสร้อยคอสีเขียว ถึงจะบินไปในอากาศได้
ก็ยังสู้ความเร็วของหงส์ไม่ได้ตลอดกาล ฉะนั้น
มุนิสูตรที่ ๑๒ จบ
อุรควรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อุรคสูตร ๒. ธนิยสูตร
๓. ขัคควิสาณสูตร ๔. กสิภารทวาชสูตร
๕. จุนทสูตร ๖. ปราภวสูตร
๗. วสลสูตร ๘. เมตตสูตร
๙. เหมวตสูตร ๑๐. อาฬวกสูตร
๑๑. วิชยสูตร ๑๒. มุนิสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑. รตนสูตร
๒. จูฬวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องเล็กน้อย
๑. รตนสูตร๑
ว่าด้วยรัตนะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสรตนสูตรดังนี้)
[๒๒๔] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ขอให้ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจดี และจงฟังภาษิตโดยเคารพเถิด
[๒๒๕] เพราะฉะนั้นแล ภูตทั้งปวง ท่านจงใคร่ครวญ
จงแผ่เมตตาต่อหมู่มนุษย์ด้วยเถิด
มนุษย์เหล่าใดนำเครื่องเซ่นสรวงมาให้
ทั้งกลางวันและกลางคืน
เพราะเหตุนั้น ขอท่านทั้งหลายอย่าประมาท
จงรักษามนุษย์เหล่านั้น
[๒๒๖] ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ หรือรัตนชาติที่ประณีตใด ๆ
ที่มีในโลกนี้ ในโลกอื่น หรือในสวรรค์
ทรัพย์หรือรัตนชาตินั้น ๆ ที่เสมอด้วยตถาคต ไม่มี
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี

เชิงอรรถ :
๑ ดู ขุททกปาฐะ (รตนสูตร ข้อ ๑-๑๘ หน้า ๙-๑๔ ในเล่มนี้)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑. รตนสูตร
[๒๒๗] พระศากยมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น
ทรงบรรลุธรรมใดอันเป็นที่สิ้นกิเลส
ปราศจากราคะ เป็นอมตธรรมอันประณีต
ไม่มีธรรมใด ๆ ที่เสมอด้วยธรรมนั้น
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๒๘] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ตรัสสรรเสริญสมาธิใดว่าเป็นธรรมสะอาด
ตรัสถึงสมาธิใดว่าให้ผลโดยลำดับ
สมาธิอื่นที่เสมอด้วยสมาธินั้น ไม่มี
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๒๙] บุคคล ๑๐๘ จำพวกที่สัตบุรุษสรรเสริญ
ซึ่งจัดเป็นบุคคล ๔ คู่ เป็นสาวกของพระสุคต
เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา
ทานที่เขาถวายในบุคคลเหล่านั้น มีผลมาก
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๐] บุคคลเหล่าใดในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
เป็นผู้ประกอบตนไว้ดี มีใจมั่นคง หมดความห่วงใย
บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าบรรลุอรหัตตผล
หยั่งถึงอมตนิพพาน รับรสความดับสนิทแบบได้เปล่า
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑. รตนสูตร
[๒๓๑] สัตบุรุษใดพิจารณาเห็นแจ้งอริยสัจ
เราเรียกสัตบุรุษนั้นว่ามีอุปมาเหมือนเสาเขื่อนที่ฝังลงดิน
อันไม่หวั่นไหวเพราะลมที่พัดมาจากทิศทั้งสี่
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๒] พระโสดาบันเหล่าใดรู้แจ้งอริยสัจ
ที่พระศาสดาผู้มีปัญญาลึกซึ้งแสดงแล้ว
ถึงแม้ว่าพระโสดาบันเหล่านั้นจะประมาทไปบ้าง
ท่านเหล่านั้นก็จะไม่ถือกำเนิดในภพที่ ๘
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๓] พระโสดาบันนั้นละธรรม ๓ ประการ คือ
สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้อย่างสิ้นเชิง
พร้อมกับการบรรลุโสดาปัตติมรรค
[๒๓๔] พระโสดาบันนั้นพ้นจากอบายทั้งสี่
และจะไม่ทำอภิฐาน ๖๑
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๕] ถึงแม้ว่า พระโสดาบันนั้นจะทำบาปกรรม
ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจไปบ้าง
ท่านก็ไม่ปกปิดบาปกรรมนั้นไว้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ขุททกปาฐะ (รตนสูตร ข้อ ๑๑ หน้า ๑๒ ในเล่มนี้)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑. รตนสูตร
เรากล่าวว่าผู้เห็นบทแล้ว ไม่อาจทำอย่างนั้นได้
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๖] พุ่มไม้งามในป่าซึ่งมียอดออกดอกบานสะพรั่ง
ในต้นเดือนห้าแห่งคิมหันตฤดู งามอย่างยิ่ง ฉันใด
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ
ที่ให้ถึงนิพพาน เพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง ฉันนั้น
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๗] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงรู้ธรรมอันประเสริฐ
ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ ทรงนำทางอันประเสริฐมาให้
ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าใคร ๆ ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐไว้
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๘] พระขีณาสพเหล่าใดสิ้นภพเก่าแล้ว ไม่มีการเกิดใหม่
ทั้งมีจิตเบื่อหน่ายในภพที่จะเกิดต่อไป
ท่านเหล่านั้นชื่อว่า มีพืชสิ้นแล้ว ไม่มีฉันทะงอกขึ้น เป็นนักปราชญ์
ย่อมดับสนิทเหมือนประทีปดวงนี้ดับไป
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
(ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลดังนี้)
[๒๓๙] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระตถาคตพุทธเจ้า
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๒. อามคันธสูตร
[๒๔๐] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระธรรมของพระตถาคต
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
[๒๔๑] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระสงฆ์ของพระตถาคต
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
รตนสูตรที่ ๑ จบ

๒. อามคันธสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีกลิ่นดิบ
[๒๔๒] (ติสสดาบสทูลถามพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าดังนี้)
สัตบุรุษทั้งหลายบริโภคข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วเขียว
ใบไม้ เผือกมัน และผลไม้ที่ได้มาโดยชอบธรรม
ถึงใคร่ในกาม ก็ไม่กล่าวคำเหลาะแหละ
[๒๔๓] ข้าแต่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์เมื่อเสวยเนื้อชนิดใด
ที่ผู้อื่นปรุงเป็นพิเศษเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ตบแต่งอย่างประณีตถวาย
เมื่อเสวยข้าวสาลีที่เขาหุงสุกแล้วก็ชื่อว่า เสวยกลิ่นดิบ๑
[๒๔๔] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระพรหม
พระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า ‘กลิ่นดิบไม่สมควรแก่เรา’
แต่ยังเสวยข้าวสาลีที่เขาหุงสุกแล้วกับเนื้อนกที่เขาปรุงเป็นพิเศษ

เชิงอรรถ :
๑ กลิ่นดิบ ในที่นี้หมายถึงอาหารจำพวกปลาและเนื้อสัตว์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๔๓/๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๒. อามคันธสูตร
ข้าแต่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้าพระองค์ขอทูลถามความข้อนี้กับพระองค์
กลิ่นดิบของพระองค์ มีความหมายอย่างไร
[๒๔๕] (พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบดังนี้)
การฆ่าสัตว์ การทุบตี การตัด การจองจำ
การลักขโมย การพูดเท็จ การเห็นแก่ได้ การหลอกลวง
การศึกษาตำราที่ไร้ประโยชน์ และการเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๔๖] ในโลกนี้ คนผู้ไม่ควบคุมตนในกามทั้งหลาย
ติดอยู่ในรสต่าง ๆ เจือปนด้วยของไม่สะอาด
มีความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล
มีการงานไม่เสมอ ว่ายากสอนยาก
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๔๗] พวกคนผู้เศร้าหมอง มีใจหยาบช้า หน้าไหว้หลังหลอก
ประทุษร้ายมิตร ไร้ความกรุณาผู้อื่น ถือตัวจัด
ไม่ชอบให้ทาน และไม่เคยให้อะไรแก่ใคร ๆ
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๔๘] ความโกรธ ความมัวเมา ความดื้อรั้น การตั้งตนไว้ผิด
ความมีมายา ความริษยา การยกตนข่มผู้อื่น
การถือตัวเหยียดหยามผู้อื่น และการสมาคมกับอสัตบุรุษ
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๔๙] ในโลกนี้ คนผู้ประพฤติชั่วเป็นปกติ
กู้หนี้แล้วไม่ชดใช้ ชอบพูดเสียดสี
เป็นพยานให้การเท็จ ปลอมเป็นนักบวชในศาสนานี้
เป็นคนต่ำทราม ทำความชั่วร้ายแรงไว้
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๒. อามคันธสูตร
[๒๕๐] ในโลกนี้ คนผู้ฆ่าสัตว์ทั้งหลาย
ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น
ประพฤติชั่ว ร้ายกาจ พูดคำหยาบ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๕๑] คนผู้รักใคร่ เกลียดชัง ลุ่มหลง
ประกอบอกุศลกรรมอยู่เสมอ
ตายแล้วต้องตกไปสู่ที่มืด หรือไม่ก็ดิ่งหัวจมลงไปสู่นรก
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๕๒] มิใช่การบริโภคปลาและเนื้อ มิใช่การเป็นคนเปลือย
มิใช่ความเป็นคนโล้น มิใช่การเกล้าชฎา
และการเป็นคนหมักหมมด้วยธุลี
มิใช่การครองหนังเสือที่ยังมีเล็บ มิใช่การบำเรอไฟ
หรือความเศร้าหมองในกาย
ที่เป็นไปด้วยความปรารถนาความเป็นเทพ
ความเป็นผู้ไม่ตาย การทำตนให้ลำบากหลากหลายวิธี
เวทมนตร์ทั้งหลาย การบูชาไฟ การบูชายัญ
และการทรมานตนตามฤดูกาล
ที่ทำคนผู้ยังไม่ล่วงพ้นความสงสัยให้หมดจดได้
[๒๕๓] ผู้ใดคุ้มครองอินทรีย์ทั้ง ๖ นั้นได้
เข้าใจชัดอินทรีย์ ๖ อยู่เสมอ ดำรงตนอยู่ในธรรม
ยินดีในความซื่อตรงและความอ่อนโยน
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องได้ ละทุกข์ทั้งหมดได้เด็ดขาด
ผู้นั้นชื่อว่า เป็นปราชญ์ ไม่ยึดติดในอารมณ์ที่ได้เห็น ได้ฟัง และได้รับรู้
[๒๕๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกความที่กล่าวมานี้เนือง ๆ
จนติสสดาบสผู้เรียนจบมนตร์เข้าใจข้อความนั้นได้แล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมุนี ได้ทรงประกาศด้วยพระคาถาอันไพเราะว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๓. หิริสูตร
บุคคลผู้ไม่มีกิเลสคือกลิ่นดิบ
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ใคร ๆ ก็แนะนำได้ยาก
[๒๕๕] ติสสดาบสฟังบทสุภาษิตว่าด้วยเรื่องสิ่งที่ไม่มีกลิ่นดิบ
ที่เป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวง
ของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
มีใจอ่อนน้อม ถวายอภิวาทพระตถาคต
และกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท ณ ที่นั้นนั่นเอง
อามคันธสูตรที่ ๒ จบ

๓. หิริสูตร
ว่าด้วยความละอาย
[๒๕๖] (พระผู้มีพระภาคทรงตอบปัญหาของดาบสดังนี้)
คนผู้ไม่มีหิริ รังเกียจคนมีหิริ
ชอบพูดว่า ‘เราเป็นเพื่อนท่าน’
แต่ไม่เคยช่วยเหลือการงานของเพื่อนเลย
พึงรู้เถิดว่า ‘คนนั้นไม่ใช่เพื่อนเรา’
[๒๕๗] คนพูดวาจาไพเราะอ่อนหวาน
แต่ไม่ทำประโยชน์แก่มิตร
บัณฑิตเรียกว่า ผู้ดีแต่พูด
[๒๕๘] มิตรใดไม่พลั้งเผลอ มุ่งหวังความแตกแยกกัน
คอยหาแต่ความผิดเท่านั้นทุกเวลา
มิตรนั้นไม่ควรคบ
ส่วนมิตรที่วางใจได้ เหมือนบุตรในไส้
ถึงผู้อื่นกล่าวเหตุตั้งร้อยอย่างพันอย่าง
ก็ไม่แตกแยกจากกัน
มิตรเช่นนั้นควรคบอย่างยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๔. มงคลสูตร
[๒๕๙] ความเพียรที่เป็นเหตุให้เกิดปราโมทย์
ย่อมนำทั้งความสรรเสริญและความสุขมาให้
ผู้หวังผล นำธุระอันสมควรแก่บุรุษ
ย่อมทำความเพียรนั้นให้เจริญได้
[๒๖๐] บุคคลดื่มปวิเวกรส
ลิ้มรสแห่งความสงบ
และได้ลิ้มรสแห่งปีติในธรรมแล้ว
เป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป๑
หิริสูตรที่ ๓ จบ

๔. มงคลสูตร
ว่าด้วยมงคล๒
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๓ เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วย
คาถาว่า
[๒๖๑] เทวดาและมนุษย์จำนวนมาก
ต่างมุ่งหวังความสวัสดี ร่วมกันคิดถึงเรื่องมงคล
ขอพระองค์ตรัสบอกมงคลอันสูงสุดด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๒๐๕ หน้า ๙๖ ในเล่มนี้
๒ ดูขุททกปาฐะ (มงคลสูตร ข้อ ๑-๑๓ หน้า ๖-๘ ในเล่มนี้)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๔. มงคลสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๒๖๒] (๑) การไม่คบคนพาล (๒) การคบแต่บัณฑิต
(๓) การบูชาคนที่ควรบูชา
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๓] (๔) การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
(๕) การได้สร้างบุญไว้ในปางก่อน (๖) การตั้งตนไว้ชอบ
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๔] (๗) ความเป็นพหูสูต (๘) ความเป็นผู้มีศิลปะ
(๙) วินัยที่ศึกษามาดี (๑๐) วาจาสุภาษิต
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๕] (๑๑) การบำรุงมารดาบิดา (๑๒) การสงเคราะห์บุตร
(๑๓) การสงเคราะห์ภรรยา (๑๔) การทำงานไม่อากูล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๖] (๑๕) การให้ทาน (๑๖) การประพฤติธรรม
(๑๗) การสงเคราะห์ญาติ (๑๘) การงานที่ไม่มีโทษ
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๗] (๑๙) การงดเว้นจากบาป (๒๐) การงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา
(๒๑) ความไม่ประมาทในธรรม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๘] (๒๒) ความเคารพ (๒๓) ความถ่อมตน (๒๔) ความสันโดษ
(๒๕) ความกตัญญู (๒๖) การฟังธรรมตามกาล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๙] (๒๗) ความอดทน (๒๘) ความเป็นคนว่าง่าย
(๒๙) การพบเห็นสมณะ (๓๐) การสนทนาธรรมตามกาล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๕. สูจิโลมสูตร
[๒๗๐] (๓๑) การเผาผลาญบาป (๓๒) การประพฤติพรหมจรรย์
(๓๓) การเห็นอริยสัจ (๓๔) การทำนิพพานให้แจ้ง
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๗๑] (๓๕) จิตของผู้ที่ถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว
(๓๖) จิตไม่เศร้าโศก (๓๗) จิตปราศจากธุลี (๓๘) จิตเกษม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๗๒] เทวดาและมนุษย์ทำมงคลดังกล่าวมานี้แล้ว
ไม่พ่ายแพ้ในข้าศึกทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน
ทั้ง ๓๘ ประการนั้น เป็นมงคลอันสูงสุด
ของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
มงคลสูตรที่ ๔ จบ

๕. สูจิโลมสูตร๑
ว่าด้วยสูจิโลมยักษ์ทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนแท่นหิน ในที่อาศัยของสูจิโลมยักษ์
ใกล้หมู่บ้านคยา สมัยนั้น ขรยักษ์และสูจิโลมยักษ์เดินผ่านเข้ามาใกล้ ๆ พระผู้มี
พระภาค ทันใดนั้น ขรยักษ์ได้กล่าวกับสูจิโลมยักษ์ว่า “นั่น สมณะ” สูจิโลมยักษ์
กลับกล่าวว่า “นั่น ไม่ใช่สมณะจริง แต่เป็นสมณะปลอม เดี๋ยวก็รู้ว่าสมณะจริงหรือ
สมณะปลอมกันแน่”
ต่อจากนั้น สูจิโลมยักษ์เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ น้อมกายเข้าไป
จนชิดพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงขยับพระวรกายออกไป สูจิโลมยักษ์
จึงกล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “สมณะ ท่านกลัวข้าพเจ้าหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยักษ์เอ๋ย เราไม่เคยกลัวท่านเลย แต่สัมผัสของท่าน
หยาบกร้านเหลือเกิน”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๒๓๗/๓๓๙, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๑๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๕. สูจิโลมสูตร
สูจิโลมยักษ์กล่าวว่า “สมณะ ข้าพเจ้าจะขอตั้งปัญหาถามท่าน ถ้าท่านตอบ
ข้าพเจ้าไม่ได้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจท่านให้
แหลกสลาย หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของท่านเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ยักษ์เอ๋ย เรายังไม่เห็นใครสักคนเลยในโลก พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์ ผู้จะสามารถควักดวงจิตของเราออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจเราให้แหลกสลาย
หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของเราเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้นได้ เอาเถอะ
เชิญท่านถามปัญหาตามที่ท่านสงสัยเถิด”
ลำดับนั้น สูจิโลมยักษ์ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[๒๗๓] ราคะและโทสะ มีอะไรเป็นเหตุ
ความไม่ยินดี ความยินดี
และความขนพองสยองเกล้าเกิดจากอะไร
ความตรึกในใจเกิดจากอะไร ย่อมผูกจิตไว้ได้
เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น
[๒๗๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาดังนี้)
ราคะและโทสะมีอัตภาพนี้เป็นเหตุ
ความไม่ยินดี ความยินดี
และความขนพองสยองเกล้าเกิดจากอัตภาพนี้
ความตรึกในใจเกิดจากอัตภาพนี้ ย่อมผูกจิตไว้ได้
เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น
[๒๗๕] อกุศลวิตกเป็นอันมากเกิดจากความเยื่อใย๑
เกิดขึ้นในตนแล้วแผ่ซ่านไปในวัตถุกามทั้งหลาย
เหมือนย่านไทรเกิดจากลำต้นไทรแล้วแผ่ขยายไปในป่า ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความเยื่อใย ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๗๕/๑๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๖. ธัมมจริยสูตร
[๒๗๖] สัตว์เหล่าใดรู้ชัดหมู่กิเลสนั้นว่า มีกิเลสใดเป็นเหตุ
สัตว์เหล่านั้นย่อมบรรเทาหมู่กิเลสนั้นเสียได้
ท่านจงฟังเถิดยักษ์ สัตว์เหล่าใดบรรเทาหมู่กิเลสได้
สัตว์เหล่านั้นย่อมข้ามพ้นโอฆะที่ข้ามได้ยาก
อันตนไม่เคยข้าม เพื่อความไม่มีภพใหม่ต่อไป
สูจิโลมสูตรที่ ๕ จบ

๖. ธัมมจริยสูตร
ว่าด้วยการประพฤติธรรม
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายดังนี้)
[๒๗๗] พระอริยะทั้งหลายกล่าวการประพฤติธรรม๑
และการประพฤติพรหมจรรย์๒ทั้ง ๒ นี้ว่า เป็นรัตนะอันสูงสุด
ถ้าบุคคลออกจากเรือนมาบวชเป็นบรรพชิต
[๒๗๘] หากผู้ที่บวชแล้วนั้นเป็นคนปากร้าย
ชอบเบียดเบียนผู้อื่นดุจสัตว์ป่า
ชีวิตของเขาชื่อว่าต่ำทรามที่สุด
เพราะมีแต่จะทำให้ธุลีคือกิเลสพอกพูนในใจของตน
[๒๗๙] ภิกษุผู้ชอบทะเลาะ ถูกโมหะปิดบัง
แม้เพื่อนพรหมจารีผู้มีศีลตักเตือนแล้ว
ก็ไม่ยอมรับรู้ธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
[๒๘๐] ภิกษุผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว
ชอบเบียดเบียนพระอริยะผู้อบรมตนแล้ว
ไม่รู้ว่าเป็นความเศร้าหมองและเป็นหนทางให้ตกนรก

เชิงอรรถ :
๑ การประพฤติธรรม หมายถึงการประพฤติสุจริต มีกายสุจริต เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๗๗/๑๒๑)
๒ พรหมจรรย์ หมายถึงมัคคพรหมจรรย์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๗๗/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๖. ธัมมจริยสูตร
[๒๘๑] ภิกษุเมื่อไม่รู้เช่นนั้น ก็ต้องเกิดในอบาย
ออกจากครรภ์สู่ครรภ์ ออกจากที่มืดสู่ที่มืด
ภิกษุผู้เช่นนั้นเมื่อตายไปย่อมได้รับทุกข์
[๒๘๒] บุคคลใดมีความประพฤติเสียหายเช่นนี้ตลอดกาลนาน
พึงเป็นผู้เต็มด้วยบาป เหมือนหลุมคูถที่เต็มอยู่นานปี
บุคคลนั้นเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนิน ชำระให้หมดจดได้ยาก
[๒๘๓] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงรู้จักบุคคลผู้อาศัยเรือน๑
มีความปรารถนาชั่ว มีความดำริชั่ว
มีอาจาระและโคจรชั่ว เช่นนี้
[๒๘๔] เธอทั้งหลายพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เลิกคบบุคคลนั้น
จงกำจัดผู้ที่ไม่มีคุณธรรมในใจเหมือนแกลบออกเสีย
จงคร่าผู้ทุศีลออกจากหมู่
เหมือนคนกำจัดหยากเยื่อออกจากบ้าน ฉะนั้น
[๒๘๕] ต่อจากนั้น เธอทั้งหลายจงขับไล่ผู้ที่มิใช่สมณะ
แต่แต่งกายเลียนแบบสมณะออกไปจากสงฆ์
เหมือนคนคัดข้าวลีบทิ้ง ฉะนั้น
ครั้นกำจัดพวกปรารถนาชั่ว
มีอาจาระและโคจรชั่วออกได้แล้ว
[๒๘๖] เธอทั้งหลายผู้มีศีลบริสุทธิ์
จงเคารพยำเกรงกันอยู่ร่วมกับท่านผู้บริสุทธิ์
หลังจากนั้น เธอทั้งหลายจงเป็นผู้สามัคคีกัน
มีปัญญารักษาตน จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ธัมมจริยสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อาศัยเรือน ในที่นี้หมายถึงอาศัยกามคุณ ๕ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๘๓/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
๗. พราหมณธัมมิกสูตร
ว่าด้วยธรรมของพราหมณ์ที่แท้จริง
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พรามหณ์มหาศาลชาวโกศลจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่
เป็นผู้แก่เฒ่า สูงอายุ เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับแล้วทั้งนั้น พากัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ปัจจุบันนี้ พราหมณ์๑ทั้งหลายยังนิยมปฏิบัติ
ธรรมเนียมของพราหมณ์สมัยโบราณอยู่หรือไม่”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย ปัจจุบันนี้ พราหมณ์
ทั้งหลายไม่นิยมปฏิบัติธรรมเนียมของพราหมณ์สมัยโบราณเลย”
พราหมณ์ทั้งหลายทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ขอประทานวโรกาส หากไม่
ทรงหนักพระทัย ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเนียมของพราหมณ์สมัยโบราณแก่
ข้าพระองค์ทั้งหลายด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าว”
พราหมณมหาศาลเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๒๘๗] ฤๅษีทั้งหลายสมัยก่อน มีความสำรวมตน
มีตบะ๒ ละกามคุณ ๕ ได้แล้ว
บำเพ็ญประโยชน์ตนให้สำเร็จ

เชิงอรรถ :
๑ พราหมณ์ มี ๕ จำพวก คือ (๑) พรหมสมพราหมณ์ (พราหมณ์ที่มีความประพฤติเสมอพรหม)
(๒) เทวสมพราหมณ์ (พราหมณ์ที่มีความประพฤติเสมอเทวดา) (๓) มริยาทพราหมณ์ (พราหมณ์ที่มีความ
ประพฤติดี) (๔) สัมภินนมริยาทพราหมณ์ (พราหมณ์ที่มีความประพฤติทั้งดีและชั่วปนกัน) (๕) พราหมณ-
จัณฑาลพราหมณ์ (พราหมณ์ที่เป็นพราหมณ์จันฑาล) (องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๙๒/๓๒๓)
๒ มีตบะ ในที่นี้หมายถึงสำรวมอินทรีย์ ๖ ประการ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๘๗/๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
[๒๘๘] พราหมณ์สมัยก่อน ไม่มีสัตว์เลี้ยง
ไม่สะสมเงินทอง ไม่มีสิ่งของต่าง ๆ
พวกเขามีทรัพย์และธัญชาติคือการสาธยายมนตร์
รักษาขุมทรัพย์ที่ประเสริฐ๑ไว้
[๒๘๙] ทายกต่างเต็มใจถวายภัตตาหาร
ที่ตนจัดเตรียมไว้ที่ประตูเรือน
แก่พราหมณ์ที่แสวงหาภัตตาหาร
ที่บุคคลให้ด้วยศรัทธาเป็นนิตย์
[๒๙๐] ทั้งชาวชนบทและชาวเมืองต่างแต่งกาย
ด้วยเสื้อผ้าแพรพรรณหลากสี
มีที่อยู่หลับนอนอาศัยเป็นหลักแหล่งมั่นคง
ได้พากันเคารพนับถือพราหมณ์เหล่านั้น
[๒๙๑] พราหมณ์ทั้งหลาย ชื่อว่ามีธรรมรักษา
จึงไม่มีใคร ๆ คิดฆ่า คิดเอาชนะ
และทุกครัวเรือนไม่มีใคร ๆ ปฏิเสธพราหมณ์เหล่านั้นเลย
[๒๙๒] สมัยก่อน พราหมณ์ได้ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่เด็ก
เที่ยวเสาะแสวงหาวิชชาและจรณะ นับเป็นเวลานานถึง ๔๘ ปี
[๒๙๓] พราหมณ์เหล่านั้นไม่สมสู่กับหญิงวรรณะอื่น
ทั้งไม่ยอมใช้เงินซื้อหญิงมาเป็นภรรยา
แต่จะอภิรมย์อยู่กินกับหญิงที่ผู้ปกครองยกให้
ด้วยความสมัครใจเท่านั้น
[๒๙๔] พราหมณ์ผู้เป็นสามีย่อมไม่ร่วมกับภรรยาผู้เว้นจากระดู๒
นอกจากสมัยที่ควรจะร่วม
พราหมณ์ย่อมไม่ร่วมเมถุนธรรมในระหว่างโดยแท้

เชิงอรรถ :
๑ ขุมทรัพย์ที่ประเสริฐ ในที่นี้หมายถึงวิหารธรรม มีเมตตา เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๘๘/๑๒๖-๑๒๗)
๒ ภรรยาผู้เว้นจากระดู หมายถึงภรรยาที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๙๔/๑๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
[๒๙๕] พราหมณ์สมัยนั้นพากันสรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์๑
ศีล ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ตบะ
ความสงบเสงี่ยม การไม่เบียดเบียนกัน และขันติ
[๒๙๖] พราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหม ผู้มีความบากบั่นมั่นคง
เป็นผู้สูงสุดกว่าพราหมณ์เหล่านั้น
และพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่เสพเมถุนธรรม
แม้แต่จะฝันถึงก็ไม่มี
[๒๙๗] พราหมณ์บางพวกผู้เป็นบัณฑิตในโลกนี้
ศึกษาตามวัตรปฏิบัติของพราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหมนั้นอยู่
จึงสรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์ ศีล และขันติ
[๒๙๘] พราหมณ์ทั้งหลายผู้ขอข้าวสาร ที่นอน ผ้า เนยใส และน้ำมัน
มาเก็บรวบรวมไว้โดยธรรมแล้วบูชายัญด้วยของเหล่านั้น
[๒๙๙] ในยัญที่บูชานั้น พราหมณ์จะไม่ยอมฆ่าแม่โคเลย
เหมือนมารดาบิดา พี่น้อง หรือแม้ญาติอื่น ๆ
ไม่ยอมฆ่าแม่โค เพราะคิดว่าแม่โคเป็นสัตว์มีอุปการะยิ่งใหญ่
ซึ่งผลิตปัญจโครส๒อันเป็นยา
[๓๐๐] อนึ่ง แม่โคนั้นให้ข้าว ให้กำลัง ให้ผิวพรรณ และความสุข
พราหมณ์ทราบถึงประโยชน์ยิ่งใหญ่เช่นนี้จึงไม่ยอมฆ่าแม่โค
[๓๐๑] พราหมณ์เหล่านั้นมีผิวเนื้อละเอียดอ่อน
มีรูปร่างใหญ่ มีผิวพรรณผุดผ่อง มีเกียรติยศ
ปฏิบัติหน้าที่ใหญ่น้อยตามธรรมเนียมของตนอย่างเคร่งครัด

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๙๔/๑๓๐)
๒ ปัญจโครส หมายถึงผลผลิตเกิดจากโค มี ๕ อย่าง คือ นมสด นมเปรี้ยว เปรียง เนยใส และเนยข้น (วิ.ม.
(แปล) ๕/๒๙๙/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
ได้บำเพ็ญจริยาวัตรต่าง ๆ ในโลก
มุ่งให้ประชาชนประสพสุขสวัสดี
[๓๐๒] ต่อมา พราหมณ์เหล่านั้นเกิดความสำคัญผิด
เพราะเห็นความสุขเพียงเล็กน้อยที่เกิดจากกามคุณที่ต่ำทราม
สมบัติอันวิเศษของพระเจ้าแผ่นดิน และสตรีที่แต่งกายงดงาม
[๓๐๓] รถเทียมม้าอาชาไนยที่ตกแต่งไว้ดี
สลักลวดลายอย่างวิจิตร
เรือนใหญ่เรือนน้อยที่แบ่งสัดส่วนไว้เป็นอย่างดี
[๓๐๔] พราหมณ์ผู้สำคัญผิดนั้น
ปรารถนาอยากเป็นเจ้าของโภคทรัพย์
ซึ่งเป็นของมนุษย์อันโอฬาร เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงโค
ประกอบไปด้วยหมู่นารีผู้ประเสริฐ
[๓๐๕] พราหมณ์เหล่านั้นจึงผูกมนตร์มุ่งหวังโภคสมบัตินั้น ๆ
แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระเจ้าโอกกากะ กราบทูลว่า
‘พระองค์ทรงมีทรัพย์และธัญชาติเป็นจำนวนมาก
ขอพระองค์ทรงบูชายัญเถิด
พระองค์จะทรงมีแก้ว แหวน เงิน ทอง
พืชพันธุ์ธัญญาหารเพิ่มมากขึ้น’
[๓๐๖] และเมื่อพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงองอาจยิ่งใหญ่
ทรงยินยอมตามคำของพราหมณ์นั้นแล้ว
จึงทรงบูชายัญ คือ อัสสเมธะ ปุริสเมธะ
สัมมาปาสะ วาชเปยยะ และนิรัคคฬะ๑
ครั้นเสร็จแล้วก็พระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์เหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๓๗๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
[๓๐๗] อีกทั้งโค ที่นอน ผ้า สตรีที่แต่งกายงดงาม
รถเทียมม้าอาชาไนยที่ตกแต่งไว้ดี
สลักลวดลายอย่างวิจิตร
[๓๐๘] ทั้งรับสั่งให้นำเอาธัญชาติต่างๆ
ไปบรรจุไว้ให้เต็มเรือนที่น่ารื่นรมย์ ซึ่งแบ่งสัดส่วนไว้เป็นอย่างดี
แล้วพระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์เหล่านั้น
[๓๐๙] พราหมณ์เหล่านั้นได้ทรัพย์ที่พระราชทานนั้น ๆ แล้ว
ชอบเก็บสะสมไว้ จึงถูกความอยากครอบงำ
เพิ่มพูนความอยากได้มากยิ่งขึ้นไปอีก
พวกเขาจึงผูกมนตร์มุ่งหวังโภคทรัพย์นั้น ๆ ขึ้น
พากันเข้าไปเฝ้าพระเจ้าโอกกากะอีก
[๓๑๐] กราบทูลว่า โคทั้งหลายเกิดขึ้นเพื่อให้ใช้ทำประโยชน์
ในกิจการต่าง ๆ ของมนุษย์
เหมือนแม่น้ำ แผ่นดิน เงินทอง ทรัพย์สินและพืชพันธุ์ธัญญาหาร
เกิดขึ้นเพื่อให้มนุษย์ใช้ประโยชน์
ขอพระองค์ทรงทำพิธีบูชายัญเถิด
พระองค์จะทรงมีแก้ว แหวน เงิน ทอง
พืชพันธุ์ธัญญาหารเพิ่มมากขึ้น
[๓๑๑] และเมื่อพระเจ้าแผ่นดิน ผู้องอาจยิ่งใหญ่
ทรงยินยอมตามคำของพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว
จึงทรงทำพิธีบูชายัญ ในพิธีบูชายัญนั้น
รับสั่งให้ฆ่าแม่โคมากมายหลายแสนตัว
[๓๑๒] แม่โคนมทั้งหลายสงบเสงี่ยมเหมือนแม่แพะ
ถึงจะถูกคนเลี้ยงรีดนมใส่หม้อ
ก็ไม่ใช้เท้าหรือเขาอย่างใดอย่างหนึ่งทำอันตรายเลย
กระนั้น พระราชาก็รับสั่งให้จับที่เขาแล้วฆ่าด้วยศัสตรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
[๓๑๓] เพราะการฆ่าโคบูชายัญนั้น เทวดา พระพรหม
พระอินทร์ อสูร และผีเสื้อสมุทร
ต่างเปล่งวาจาประณามมนุษย์ว่า
ไม่มีคุณธรรม เพราะมีดที่แทงแม่โค
[๓๑๔] แต่ก่อนนั้นมีโรคร้ายอยู่เพียง ๓ ชนิด คือ
โรคความอยาก โรคความหิว และโรคชรา
แต่เพราะการทำร้ายเบียดเบียนปศุสัตว์
จึงทำให้แพร่โรคร้ายเพิ่มขึ้นถึง ๙๘ ชนิด
[๓๑๕] การทำร้ายเบียดเบียนปศุสัตว์นี้
นับเป็นการลงทัณฑ์ชนิดหนึ่งที่ไร้คุณธรรม มีมาแต่เดิมแล้ว
แม่โคนมทั้งหลายที่ไม่ทำร้ายเบียดเบียนใคร ๆ ต่างก็ถูกฆ่า
พวกบูชายัญก็เสื่อมจากธรรม
[๓๑๖] ดังกล่าวมานี้ การฆ่าสัตว์บูชายัญนี้
เป็นธรรมเนียมที่ต่ำทราม
มีมาแต่โบราณ ถูกวิญญูชนติเตียน
คือวิญญูชนจะติเตียนคนที่ทำพิธีบูชายัญ
โดยวิธีนี้ในที่ทุกแห่งที่ตนเห็น
[๓๑๗] เมื่อธรรมเนียมเก่าของพราหมณ์เสื่อมสูญไปอย่างนี้แล้ว
คนวรรณะศูทรและแพศย์ก็แตกแยกกัน
วรรณะกษัตริย์จำนวนมากก็แตกแยกกัน
ภรรยาก็ยังดูหมิ่นสามี
[๓๑๘] กษัตริย์ พราหมณ์ พร้อมทั้งแพศย์และศูทร
ที่เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม
ที่ได้รับความคุ้มครองจากวงศ์ตระกูลของตน
ต่างไม่คำนึงถึงชาติชั้นวรรณะต่อไป
ล้วนตกอยู่ในอำนาจกามคุณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๘. นาวาสูตร
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณมหาศาลเหล่านั้นได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคล
หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด
โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ พวกข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้ง
พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
พราหมณธัมมิกสูตรที่ ๗ จบ

๘. นาวาสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้เป็นดุจเรือข้ามฟาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[๓๑๙] บุรุษควรบูชาสักการะบุคคลที่ตนเรียนรู้ธรรมจนเข้าใจ
เหมือนเทวดาบูชาพระอินทร์ ฉะนั้น
บุคคลผู้เป็นพหูสูต ได้รับการบูชาจากศิษย์แล้ว
มีใจเอื้ออาทรในศิษย์นั้น
ย่อมอธิบายธรรมให้เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง
[๓๒๐] บุรุษผู้มีปัญญา ไม่ประมาท
คบบุคคลผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้น
ทำธรรมนั้นให้มีประโยชน์ ใคร่ครวญแล้ว
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมเป็นผู้รู้แจ้ง
แสดงธรรมแก่ผู้อื่นและเป็นผู้ละเอียด
[๓๒๑] ผู้ที่คบบุคคลผู้มีคุณธรรมน้อย เป็นคนพาล
ยังไม่บรรลุประโยชน์ตน ทั้งยังมีใจริษยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๘.นาวาสูตร
ไม่เข้าใจธรรมในศาสนานี้ได้อย่างแจ่มแจ้ง
ยังไม่ทันหมดความสงสัยก็สิ้นชีวิตไปก่อน
[๓๒๒] เปรียบเหมือนคนข้ามแม่น้ำที่มีน้ำมาก
กำลังหลากมา มีกระแสเชี่ยว
ถูกพัดลอยไปตามกระแสน้ำเสียเอง
จะสามารถช่วยพาผู้อื่นให้ข้ามไปได้อย่างไร ฉันใด
[๓๒๓] บุคคลผู้ยังไม่เข้าใจธรรมอย่างแจ่มแจ้ง ก็ฉันนั้น
ไม่พิจารณาความหมายแห่งธรรมให้ถ่องแท้
ในสำนักอาจารย์ผู้เป็นพหูสูต
ตนเองยังไม่รู้แจ้งจริง ทั้งยังไม่หมดความสงสัย
จะสามารถสอนผู้อื่นให้เพ่งพินิจธรรมได้อย่างไร
[๓๒๔] คนลงเรือที่มั่นคงแข็งแรง มีพายและถ่ออยู่พร้อม
เป็นผู้เฉลียวฉลาด รอบรู้ ชำนาญการเดินเรือนั้น
ย่อมสามารถพาผู้โดยสารจำนวนมากในเรือนั้น
ให้ข้ามไปถึงฝั่งได้โดยปลอดภัย แม้ฉันใด
[๓๒๕] ผู้บรรลุถึงความรู้แจ้ง อบรมตนแล้ว
เป็นพหูสูต มีสภาพจิตไม่หวั่นไหว ก็ฉันนั้น
สามารถสั่งสอนผู้อื่นที่ตั้งใจฟังและสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัยให้เพ่งพินิจได้
[๓๒๖] เพราะฉะนั้น บุคคลจึงควรคบสัตบุรุษ
ผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต
บุคคลผู้คบหาสัตบุรุษนั้น รู้แจ้งชัดเนื้อความนั้นแล้วปฏิบัติอยู่
เป็นผู้เข้าใจธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง พึงได้รับความสุข
นาวาสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๙. กิงสีลสูตร
๙. กิงสีลสูตร
ว่าด้วยการจะบรรลุประโยชน์สูงสุดต้องประพฤติเช่นไร
[๓๒๗] (ท่านพระสารีบุตรทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้)
นรชนมีปกติอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร
เพิ่มพูนการทำอะไรบ้าง
จึงชื่อว่า พึงดำรงตนอยู่อย่างถูกต้อง และบรรลุประโยชน์สูงสุดได้
[๓๒๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
นรชนควรเป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่๑ ไม่ริษยา
และควรรู้จักกาลที่จะเข้าไปหาครูทั้งหลาย
รู้จักขณะที่จะฟังธรรมีกถาที่ท่านกล่าว
และตั้งใจฟังสุภาษิตอื่น ๆ จากท่านโดยเคารพ
[๓๒๙] ควรลดมานะ นบนอบอ่อนน้อม
เข้าไปยังสำนักของครูตามเวลาเหมาะสม
ตั้งใจระลึกถึงอรรถ ธรรม สังยมะ๒ พรหมจรรย์
พร้อมทั้งยึดถือปฏิบัติตามนั้น
[๓๓๐] ควรเป็นผู้พอใจธรรม ยินดีในธรรม
ดำรงอยู่ในธรรม รู้จักพิจารณาธรรม
ไม่ควรกล่าววาจาที่ประทุษร้ายธรรม
ควรให้เวลาสิ้นไปกับสุภาษิตที่แท้๓

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ใหญ่ มี ๔ คือ (๑) ปัญญาวุฒ ผู้ใหญ่โดยปัญญา (๒) คุณวุฒ ผู้ใหญ่โดยคุณความดี (๓) ชาติวุฒ ผู้ใหญ่
โดยชาติ (เกิดในชาติกำเนิดฐานะอันสูง) (๔) วัยวุฒ ผู้ใหญ่โดยวัยคือเกิดก่อน ในที่นี้หมายถึงปัญญาวุฒ
(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๒๘/๑๔๗)
๒ สังยมะ หมายถึงศีล (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๒๙/๑๔๘)
๓ สุภาษิตที่แท้ หมายถึงสุภาษิตที่ประกอบด้วยสมถะและวิปัสสนา (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๐/๑๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๙. กิงสีลสูตร
[๓๓๑] การละความสนุกรื่นเริง การพูดกระซิบ
ความร่ำไรรำพัน ความโกรธง่าย
การหลอกลวงเสแสร้งทำความดี
ความยินดีในปัจจัย ความถือตัว
การชิงดีชิงเด่น ความหยาบคาย
และความหมกมุ่นอยู่ในกิเลสดุจน้ำฝาดย้อมใจ
ควรเป็นผู้ปราศจากความมัวเมา ดำรงสติมั่นคงอยู่
[๓๓๒] นรชนใดเป็นผู้ประพฤติรีบด่วน๑ เป็นผู้ประมาท
เพียงแต่รู้สุภาษิตอันเป็นสาระ
และได้สดับสมาธิอันเป็นสาระในธรรมที่รู้เท่านั้น
ปัญญาและสุตะย่อมไม่เจริญแก่นรชนนั้นเลย๒
[๓๓๓] ส่วนนรชนผู้ยินดีในธรรม๓ที่พระอริยะประกาศแล้ว
เป็นผู้ประเสริฐกว่าคนนอกนี้
ด้วยกาย วาจา และใจ
ดำรงมั่นอยู่ในสันติ โสรัจจะ และสมาธิ๔
จึงได้บรรลุถึงธรรมอันเป็นสาระแห่งสุตะและปัญญา
กิงสีลสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ประพฤติรีบด่วน ในที่นี้หมายถึงไม่พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ ตกไปในอำนาจกิเลสมีราคะเป็นต้น
(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๒/๑๕๐)
๒ ความหมายในคาถานี้ คือ นรชนผู้ถูกราคะเป็นต้นครอบงำ ไม่พิจารณาไตร่ตรอง ประมาท ไม่บำเพ็ญ
เพียรอย่างต่อเนื่อง แม้จะได้รับโอวาท ฟังสุภาษิตมากมายก็ตาม แต่ปัญญาของเขาก็ไม่เจริญ เพราะไม่รู้
ความหมาย และสุตะก็ไม่เจริญเพราะไม่มีการปฏิบัติตาม (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๒/๑๕๐)
๓ ธรรม ในที่นี้หมายถึงสมถวิปัสสนา (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๓/๑๕๑)
๔ สันติ หมายถึงนิพพาน โสรัจจะ หมายถึงมัคคปัญญาอันมีนิพพานเป็นอารมณ์ สมาธิ หมายถึงมัคคสมาธิ
(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๓/๑๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๐. อุฏฐานสูตร
๑๐. อุฏฐานสูตร
ว่าด้วยการลุกขึ้นนั่งสมาธิ
(พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[๓๓๔] เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด๑ จงนั่งเถิด๒
ความหลับจะมีประโยชน์อะไรแก่เธอทั้งหลาย
ผู้เร่าร้อนด้วยโรคคือกิเลสมีประการต่าง ๆ
ถูกลูกศรคือราคะเป็นต้นทิ่มแทงจนย่อยยับอยู่
[๓๓๕] เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงนั่งเถิด
จงบากบั่นขยันศึกษาปฏิบัติเพื่อบรรลุสันติธรรม๓กันเถิด
อย่าให้มัจจุราชรู้ว่า เธอทั้งหลายมัวแต่ประมาทลุ่มหลง
แล้วบังคับให้หลงใหลอยู่ในอำนาจเลย
[๓๓๖] เธอทั้งหลายจงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา
ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์
ผู้ยังมีความต้องการยึดติดอยู่
ขณะอย่าได้ล่วงเลยเธอทั้งหลายไปเสีย๔
เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป
ย่อมแออัดกันในนรก เศร้าโศกอยู่

เชิงอรรถ :
๑ จงลุกขึ้น หมายถึงลุกจากอาสนะ จงเพียรพยายามอย่าเกียจคร้าน (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๔/๑๕๓)
๒ จงนั่ง หมายถึงนั่งคู้บัลลังก์ เพื่อปฏิบัติกัมมัฏฐาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๔/๑๕๓)
๓ สันติธรรม มี ๓ ประการ คือ (๑) อัจจันตสันติ(ความสงบอย่างสิ้นเชิง) (๒) ตทังคสันติ(ความสงบ
ด้วยองค์นั้น ๆ) (๓) สัมมุติสันติ(ความสงบโดยสมมติ) แต่ในที่นี้หมายถึงอัจจันตสันติ กล่าวคือนิพพาน
(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๕/๑๕๔)
๔ ขณะอย่าได้ล่วงเลยเธอทั้งหลายไปเสีย ในที่นี้หมายถึงอย่าปล่อยให้โอกาสหรือเวลาแห่งการบำเพ็ญ
สมณธรรมผ่านไป (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๖/๑๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๑. ราหุลสูตร
[๓๓๗] ความประมาทเป็นดุจธุลี
ความประมาทที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็จัดเป็นดุจธุลี
กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตควรถอนลูกศรคือกิเลสของตน
ด้วยความไม่ประมาทและด้วยวิชชา
อุฏฐานสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. ราหุลสูตร
ว่าด้วยพระพุทโธวาทที่ตรัสโปรดพระราหุล
[๓๓๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระราหุลดังนี้)
เพราะความสนิทสนมกันเกินไป
เธอนึกดูหมิ่นบัณฑิต๑บ้างหรือไม่
การชูคบเพลิงแก่มวลมนุษย์๒
เธอยังใส่ใจนอบน้อมอยู่หรือไม่
[๓๓๙] (ท่านพระราหุลทูลตอบดังนี้)
ถึงจะมีความสนิทสนมกันมากสักเพียงใด
ข้าพระองค์ก็ไม่เคยนึกดูหมิ่นบัณฑิตเลย
การชูคบเพลิงแก่มวลมนุษย์
ข้าพระองค์ก็ยังใส่ใจนอบน้อมอยู่เสมอ
[๓๔๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสโอวาทดังนี้)
เธอละกามคุณ ๕ ซึ่งน่ารัก น่ารื่นรมย์ใจแล้ว
ออกจากเรือนบวชด้วยศรัทธา
จงทำที่สุดแห่งทุกข์เถิด๓

เชิงอรรถ :
๑ บัณฑิต ในที่นี้พระผู้มีพระภาคตรัสหมายเอาพระสารีบุตร (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๘/๑๕๗)
๒ การชูคบเพลิง ในที่นี้หมายถึงการแสดงธรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๘/๑๕๗)
๓ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๙๕/๓๖๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๑. ราหุลสูตร
[๓๔๑] เธอจงคบกัลยาณมิตร ยินดีเสนาสนะอันสงัด
ปราศจากเสียงอึกทึกครึกโครม
จงเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
[๓๔๒] เธอจงอย่าทำความอยากในปัจจัย ๔ เหล่านี้ คือ
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชที่เกิดขึ้น
เธออย่ากลับมายังโลกนี้อีกเลย
[๓๔๓] เธอจงเป็นผู้สำรวมในปาติโมกข์ และอินทรีย์ ๕
จงเจริญกายคตาสติกัมมัฏฐาน
จงเป็นผู้เบื่อหน่ายในสังสารวัฏให้มาก
[๓๔๔] จงเว้นสุภนิมิตอันเป็นเหตุให้เกิดราคะเสีย
จงเจริญสมาธิจิตด้วยอสุภภาวนา
จนจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง และตั้งมั่นด้วยดี๑
[๓๔๕] จงเจริญกัมมัฏฐานที่ไม่มีนิมิต จงละมานานุสัยกิเลส
เพราะละมานะได้นั่นเอง เธอก็จะเป็นผู้สงบระงับ
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสสอนท่านพระราหุลด้วยคาถาเหล่านี้อยู่เนือง ๆ
ด้วยประการฉะนี้
ราหุลสูตรที่ ๑๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง หมายถึงแน่วแน่ด้วยอุปจารสมาธิ ตั้งมั่นด้วยดี หมายถึงตั้งมั่นแนบแน่นด้วยอัปปนาสมาธิ
(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๔๔/๑๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๒. วังคีสสูตร
๑๒. วังคีสสูตร๑
ว่าด้วยพุทธพจน์ตรัสแก้ความสงสัยของพระวังคีสะ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เขตเมืองอาฬวี
สมัยนั้น พระนิโครธกัปปเถระซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านพระวังคีสะเพิ่งจะปรินิพพาน
ที่อัคคาฬวเจดีย์ไม่นาน ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ๒ได้เกิดความ
คิดคำนึงอย่างนี้ว่า “พระอุปัชฌาย์ของเราปรินิพพานแล้วหรือว่ายังไม่ปรินิพพาน”
ครั้นถึงเวลาเย็น ท่านพระวังคีสะจึงออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่ลับได้เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า ‘พระอุปัชฌาย์ของเราปรินิพพานแล้วหรือว่ายังไม่ปรินิพพาน”
ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะก็ลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไป
ทางพระผู้มีพระภาคแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[๓๔๖] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระบรมศาสดา
ผู้มีพระปัญญามากว่า
ภิกษุใดมีชื่อเสียง เรืองยศ๓
ตัดความสงสัย ดับกิเลสเสียได้ในปัจจุบันชาตินี้
ได้ปรินิพพานที่อัคคาฬวเจดีย์วิหาร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๒๗๒-๑๒๘๗/๕๔๖-๕๔๙
๒ หลีกเร้นอยู่ในที่ลับ หมายถึงหลีกออกจากหมู่คณะอยู่สงบกาย และอยู่สงบจิตจากอารมณ์นั้น ๆ (ขุ.สุ.อ.
๒/๓๔๖/๑๖๔)
๓ เรืองยศ ในที่นี้หมายถึงเพียบพร้อมด้วยลาภและบริวาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๔๖/๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๒. วังคีสสูตร
[๓๔๗] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเห็นธรรมอันมั่นคง
ภิกษุนั้นเป็นพราหมณ์มาแต่กำเนิด
มีนามที่พระองค์ทรงประทานให้ว่า ‘นิโครธกัปปะ’
ท่านเที่ยวนอบน้อม มุ่งหวังความหลุดพ้น ปรารภความเพียร
[๓๔๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าศากยะ ผู้มีสมันตจักขุ
ข้าพระองค์ทุกรูปปรารถนาจะทราบถึงพระสาวกรูปนั้น
ข้าพระองค์ทั้งหลายพร้อมที่จะเงี่ยโสตฟัง
พระองค์เป็นศาสดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย พระองค์เป็นผู้ยอดเยี่ยม
[๓๔๙] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
ขอพระองค์โปรดขจัดความเคลือบแคลงสงสัยของข้าพระองค์ทั้งหลาย
โปรดตรัสบอกพระนิโครธกัปปเถระ
ผู้ปรินิพพานแล้วนั้น ให้ข้าพระองค์ทราบด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกท่ามกลางแห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด
เหมือนท้าวสักกะผู้มีพระเนตรตั้งพันตรัสบอกแก่เหล่าเทวดา
[๓๕๐] กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้
เป็นทางก่อให้เกิดความลุ่มหลง เป็นฝ่ายแห่งความไม่รู้
เป็นมูลฐานแห่งความเคลือบแคลงสงสัย
กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่านั้นพอมาถึงพระตถาคตผู้มีพระจักษุ
มีพระคุณยิ่งกว่านรชนทั้งหลายนี้แล ย่อมหมดไป
[๓๕๑] ถ้าพระผู้มีพระภาคจะเป็นเพียงบุรุษธรรมดา
ก็จะไม่ทรงทำลายกิเลสได้
เหมือนลมพัดทำลายก้อนเมฆที่หนาทึบไม่ได้ ฉะนั้น
โลกทั้งมวลที่มืดอยู่แล้วก็ยิ่งจะมืดหนักลง
นรชนทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น
ที่รุ่งเรืองอยู่บ้าง ก็จะไม่รุ่งเรืองนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๒. วังคีสสูตร
[๓๕๒] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยความเพียร
นักปราชญ์ทั้งหลายเป็นผู้ทำแสงสว่าง๑ให้เกิด
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายเข้าใจพระองค์ว่า
ทรงทำแสงสว่างให้เกิดเป็นแม่นมั่น
ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ว่า พระองค์ทรงเห็นธรรมทั้งปวง
ได้อย่างแจ่มแจ้ง จึงได้พากันมาเฝ้า
ขอพระองค์โปรดประกาศพระนิโครธกัปปเถระ
แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในที่ประชุมนี้ด้วยเถิด
[๓๕๓] พระองค์ทรงเปล่งพระวาจาอย่างไพเราะจับใจ
ทั้งทรงเปล่งด้วยพระสุรเสียงกังวาลที่เกิดแต่พระนาสิก
ที่บุญญาธิการตกแต่งมาดีแล้ว ได้อย่างคล่องแคล่วแผ่วเบา
เหมือนพญาหงส์ทองโก่งคอขันเบา ๆ อย่างไพเราะ
ข้าพระองค์ทุกรูปตั้งใจแน่วแน่
ขอฟังพระดำรัสที่ไพเราะของพระองค์
[๓๕๔] ข้าพระองค์จะเปิดเผยความเกิดและความตาย
ที่ละได้อย่างสิ้นเชิง
จะแสดงบอกบาปธรรมซึ่งเป็นตัวกำจัด
เพราะบรรดาปุถุชนทั้งหลาย
บุคคลผู้ที่ทำได้ตามความพอใจตนไม่มี
แต่คนที่ไตร่ตรองพิจารณาตามพระตถาคตเท่านั้น
สามารถที่จะรู้หรือกล่าวธรรมอย่างที่ตนต้องการได้
[๓๕๕] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญามาก
พระองค์ผู้ทรงมีพระปัญญารุ่งเรือง
ได้ตรัสไวยากรณ์ที่สมบูรณ์ไว้อย่างถูกต้องแล้ว
ข้าพระองค์ขอถวายอัญชลีกรรมอย่างนอบน้อม

เชิงอรรถ :
๑ แสงสว่าง ในที่นี้หมายถึงปัญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๕๒/๑๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๒. วังคีสสูตร
พระองค์ทรงทราบคติของพระนิโครธกัปปเถระ
โปรดอย่าให้ข้าพระองค์หลงอยู่เลย
[๓๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
พระองค์ทรงรู้แจ้งอริยธรรม๑ทั้งที่เป็นโลกุตตระและโลกิยะ
ทรงทราบเญยยธรรมทั้งหมด
โปรดอย่าให้ข้าพระองค์หลงอยู่เลย
ข้าพระองค์หวังพระดำรัสของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง
เหมือนคนถูกความร้อนแผดเผาในฤดูร้อนต้องการน้ำเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้น
ขอพระองค์โปรดเปล่งสัททายตนะคือสุตะเถิด
[๓๕๗] พระนิโครธกัปปเถระประพฤติพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นของท่าน ไม่สูญเปล่าหรือ
ท่านนิพพานด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
หรือนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ข้าพระองค์ทั้งหลายขอฟังเรื่องนั้น
[๓๕๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
นิโครธกัปปเถระนั้นได้ตัดขาดตัณหาในนามรูปนี้
ทั้งตัดกระแสแห่งธรรมฝ่ายดำ
ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในสันดานมาช้านาน
ข้ามพ้นชาติและมรณะได้อย่างสิ้นเชิง
พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐด้วยพลธรรม ๕ ประการ๒
ได้ตรัสไว้ดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ อริยธรรม หมายถึงอริยสัจ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๕๖/๑๖๘)
๒ พลธรรม ๕ ประการ คือ (๑) สัทธา(ความเชื่อ) (๒) วิริยะ(ความเพียร) (๓) สติ(ความระลึกได้) (๔) สมาธิ
(ความตั้งจิตมั่น) (๕) ปัญญา(ความรู้ทั่ว) อนึ่ง คำว่า “พระผู้มีพระภาค” ในคาถานี้เป็นคำกล่าวของพระ
สังคีติกาจารย์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๕๘/๑๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[๓๕๙] (ท่านพระวังคีสเถระกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นพุทธะ
ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว ย่อมเลื่อมใส
ทราบว่า เรื่องที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้วไม่ไร้ประโยชน์
พระองค์ทรงเป็นพุทธเจ้า ไม่ทรงลวงข้าพระองค์แน่นอน
[๓๖๐] สาวกของพระพุทธองค์พูดอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น
ได้ตัดข่ายคือตัณหาที่แผ่กว้าง ทั้งมั่นคง
ของมารเจ้าเล่ห์ได้เด็ดขาด
[๓๖๑] พระผู้มีพระภาคสมควรที่จะตรัสว่า
ท่านพระนิโครธกัปปเถระได้เห็นมูลเหตุแห่งอุปาทาน
ล่วงพ้นบ่วงมัจจุราชที่ข้ามได้แสนยากแล้ว
วังคีสสูตรที่ ๑๒ จบ

๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
ว่าด้วยภิกษุควรละเว้นอยู่ในโลกโดยชอบ
[๓๖๒] (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระมุนีผู้มีปัญญามาก
ทรงข้ามโอฆะได้แล้วปรินิพพาน มีพระทัยมั่นคง
ภิกษุนั้นบรรเทากามทั้งหลาย ออกจากเรือน (มาบวช) แล้ว
พึงละเว้นอยู่ในโลกโดยชอบได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[๓๖๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ภิกษุผู้ตัดขาดการเชื่อสิ่งที่เห็นเป็นต้นว่า เป็นมงคล
การยึดถืออุกกาบาตตก ความฝัน และการทำนายลักษณะ
ละสิ่งที่ทำให้เกิดผลเสียต่อมงคลได้เด็ดขาด
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๖๔] ภิกษุพึงกำจัดความกำหนัดในกามทั้งหลาย
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ และที่เป็นทิพย์
ภิกษุนั้นตรัสรู้ธรรมแล้ว ก้าวพ้นภพได้แล้ว
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๖๕] ภิกษุกำจัดความส่อเสียดแล้ว
พึงละความโกรธ ความตระหนี่
ภิกษุนั้นละความยินดีและความยินร้ายได้แล้ว
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๖๖] ภิกษุละสิ่งอันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักแล้ว
ไม่ถือมั่น ผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัยในภพไหน ๆ
หลุดพ้นแล้วจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๖๗] ภิกษุกำจัดฉันทราคะในสิ่งที่พึงยึดถือทั้งหลาย
ไม่เห็นความเป็นสาระในอุปธิทั้งหลาย๑
ภิกษุนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ใคร ๆ พึงชักนำไปไม่ได้
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ

เชิงอรรถ :
๑ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๖๗/๑๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[๓๖๘] ภิกษุผู้ไม่ผิดพลาดทางกาย วาจา และใจ
รู้แจ้งซึ่งธรรมโดยชอบ ปรารถนาบทคือนิพพานอยู่
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๖๙] ภิกษุรู้จักเคารพนบไหว้ ไม่ถือตัว ถึงถูกด่าว่าก็ไม่โกรธ
ได้ภัตตาหารที่ผู้อื่นถวายประจำแล้วก็ไม่ประมาทมัวเมา
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๐] ภิกษุละความโลภและกามภพเป็นต้นได้แล้ว
เว้นขาดจากการฆ่าฟัน และการจองจำผู้อื่น
ตัดความสงสัยได้แล้ว ปราศจากกิเลสดุจลูกศร
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๑] ภิกษุผู้รู้ข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ตน
รู้แจ้งสัจธรรมตามความเป็นจริง
ไม่เบียดเบียนสัตว์โลกทุกชนิด
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๒] ภิกษุไม่มีอนุสัยกิเลสใด ๆ ถอนรากอกุศลธรรมได้หมดสิ้น
ไม่มีความหวัง ปราศจากตัณหาโดยสิ้นเชิง
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๓] ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว ละมานะได้เด็ดขาด
ล่วงพ้นทางแห่งราคะ๑ทั้งหมด
ฝึกตนได้ ดับกิเลสลงได้อย่างสิ้นเชิง ดำรงตนมั่นคง
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ

เชิงอรรถ :
๑ ทางแห่งราคะ หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ) (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๓/๑๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[๓๗๔] ภิกษุมีศรัทธามั่นคง เป็นผู้ได้สดับอย่างดี
เห็นทางปฏิบัติอันถูกต้อง เป็นนักปราชญ์
ผู้ไม่คล้อยตามไปในฝักฝ่ายมิจฉาทิฏฐิ
ขจัดโลภะ โทสะคือความขุ่นเคืองใจได้
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๕] ภิกษุเอาชนะกิเลสได้ด้วยอรหัตตมรรคที่หมดจดดี
ไม่มีกิเลสเครื่องปิดบัง เชี่ยวชาญในธรรมทั้งหลาย๑
เป็นผู้ถึงฝั่ง หมดตัณหาอันทำให้หวั่นไหว
มีความฉลาดในญาณเป็นที่ดับสังขาร
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๖] ภิกษุล่วงพ้นความกำหนดที่ถือว่าเป็นของเรา
ในเบญจขันธ์ทั้งที่เป็นอดีตและอนาคต
มีปัญญาบริสุทธิ์ เป็นผู้หลุดพ้นจากอายตนะทั้งปวงได้เด็ดขาด
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๗] ภิกษุรู้แจ้งสภาวะที่ควรเข้าถึง จนได้บรรลุธรรม
เห็นการละอาสวะทั้งหลายเป็นวิวฏะ๒
ไม่ติดข้องอยู่ในภพไหน ๆ
เพราะอุปธิทั้งปวงหมดสิ้นไปแล้ว
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงอริยสัจ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๕/๑๘๕)
๒ วิวฏะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๗/๑๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
[๓๗๘] (พระพุทธเนรมิตทูลสรุปดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ที่พระองค์ตรัสมาทั้งหมดนั้นถูกต้องทีเดียว
ภิกษุใดมีความประพฤติเช่นนี้อยู่ประจำ
ฝึกฝนตนแล้ว เป็นผู้ข้ามสังโยชน์และโยคะทั้งปวงได้
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
สัมมาปริพพาชนียสูตรที่ ๑๓ จบ

๑๔. ธัมมิกสูตร
ว่าด้วยพระพุทธพจน์ตรัสโปรดธัมมิกอุบาสก
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ธัมมิกอุบาสกพร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ คน เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
ด้วยคาถาว่า
[๓๗๙] ข้าแต่พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ว่า
บรรดาสาวกที่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
กับสาวกที่เป็นอุบาสกอยู่ครองเรือนนั้น
สาวกที่ปฏิบัติตนอย่างไร จึงชื่อว่า เป็นสาวกที่ดี
[๓๘๐] พระองค์เท่านั้นทรงทราบชัดคติ๑
และความข้ามพ้นไปจากคติ

เชิงอรรถ :
๑ คติ หมายถึงการไปหรือภพที่สัตว์ไปเกิด มี ๕ คือ (๑) นรก (๒) กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน (๓) แดนเปรต
(๔) มนุษย์ (๕) เทพ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๘๐/๑๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๘ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker