ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕-๔ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย สุตตนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
ของชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ไม่มีใครที่เล็งเห็นประโยชน์ได้สุขุมลุ่มลึกเท่ากับพระองค์
บัณฑิตทั้งหลายพากันขนานนามพระองค์ว่า
เป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[๓๘๑] พระองค์ผู้ทรงรู้แจ้งเญยยธรรม ทรงอนุเคราะห์เหล่าสัตว์
ได้ทรงประกาศพระญาณและธรรมทั้งปวง
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
พระองค์ไม่มีกิเลสดุจเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว
ทรงปราศจากมลทิน รุ่งเรืองอยู่ในโลกทั้งปวง
[๓๘๒] พญาช้างเอราวัณ๑ทราบว่าพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้ทรงชนะบาปธรรมได้แล้ว
จึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ถึงที่ประทับ
พญาช้างแม้นั้นได้ปรึกษาทูลถามปัญหากับพระองค์
ฟังคำพยากรณ์แล้ว ได้บรรลุธรรม
มีความยินดีเปล่งสาธุการแล้วจากไป
[๓๘๓] ถึงแม้ท้าวเวสวัณ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า ท้าวกุเวร
ก็ยังเสด็จเข้ามาเฝ้ากราบทูลถามปัญหาธรรม
พระองค์แม้ถูกท้าวเวสวัณนั้นทูลถาม
ก็ยังตรัสตอบจนท้าวเธอสดับแล้วมีความชื่นชมยินดีจากไป
[๓๘๔] ชนต่างๆเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นพวกเดียรถีย์อาชีวกหรือนิครนถ์
ผู้ชอบกล่าวยกตนข่มผู้อื่นทั้งหมด
ย่อมไม่เกินเหนือพระองค์ด้วยปัญญา
เหมือนคนที่หยุดอยู่ ไม่ทันคนที่เดินเร็วและไม่หยุด ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ช้างเอราวัณ หมายถึงเทพบุตรชื่อเอราวัณเนรมิตกายเป็นพญาช้าง (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๘/๑๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
[๓๘๕] พวกพราหมณ์ผู้เฒ่า
ที่มีปกติกล่าววาทะเหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ดี
และพราหมณ์เหล่าอื่นที่สำคัญอยู่ว่า
เราทั้งหลายผู้มีปกติทำวาทะก็ดี
ชนเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนแต่ได้รับประโยชน์จากพระองค์
[๓๘๖] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ธรรมนี้๑ที่พระองค์ทรงแสดงอย่างดีละเอียด
และก่อให้เกิดสุขอย่างแท้จริง
ข้าพระองค์ทั้งหมดตั้งใจฟังธรรมนั้น
ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหา
ที่พวกข้าพระองค์ทูลถามแล้วด้วยเถิด
[๓๘๗] ภิกษุพร้อมทั้งอุบาสกนี้ทั้งหมด
ผู้นั่งประชุมกัน ณ ที่นี้ เพื่อต้องการจะฟัง
จะตั้งใจฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงปราศจากมลทินตรัสรู้แล้ว
เหมือนทวยเทพต่างตั้งใจฟังสุภาษิตของท้าววาสวะ ฉะนั้น
[๓๘๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟังเรา
เราจะให้เธอได้สดับธรรมคือข้อปฏิบัติกำจัดกิเลส
และขอพวกเธอทั้งหมดจงประพฤติธรรมนั้น
ภิกษุผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นประโยชน์
ควรปฏิบัติตนอยู่ทุกอิริยาบถที่สมควรแก่บรรพชิต

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๘๖/๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
[๓๘๙] ภิกษุไม่ควรออกเที่ยวไปในเวลาวิกาล
แต่ควรเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านตามเวลา
เพราะว่าภิกษุผู้ออกเที่ยวในเวลาวิกาล
กิเลสเครื่องข้อง๑จะครอบงำ
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้รู้ทั้งหลายจึงไม่ออกเที่ยวในเวลาวิกาล
[๓๙๐] ภิกษุควรกำจัดความพอใจในกามคุณ ๕ เหล่านี้ คือ
รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสที่ทำให้เหล่าสัตว์หลงมัวเมา
เข้าไปยังโอกาสที่จะพึงบริโภคอาหารในเวลาเช้า ตามกาล
[๓๙๑] อนึ่ง ภิกษุได้อาหารบิณฑบาตมาฉันภายในเวลาแล้ว
ควรกลับไปนั่งในที่สงัดตามลำพัง
ควบคุมอัตภาพคือจิตได้อย่างมั่นคงแล้ว
กำหนดจิตพิจารณาอารมณ์ภายใน
ไม่ปล่อยจิตไปในอารมณ์ภายนอก
[๓๙๒] ถ้าแม้ภิกษุนั้นจำเป็นจะต้องสนทนากับสาวกอื่น ๆ
หรือภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ก็ควรสนทนาธรรมที่ประณีต๒นั้น
ไม่ควรกล่าวคำสอนส่อเสียดกระทบว่าร้ายผู้อื่น
[๓๙๓] มีคนพวกหนึ่งชอบกล่าววาทะโต้เถียงกัน
เราไม่สรรเสริญคนพวกนั้นผู้มีปัญญาน้อย
เพราะกิเลสเครื่องข้องที่เกิดจากการกล่าววาจาโตัเถียงกันนั้น
จะครอบงำคนพวกนั้น เพราะพวกเขา (เมื่อโต้เถียงกัน)
ย่อมทำจิตให้ไกลจากการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๔๙ ในเล่มนี้
๒ ธรรมที่ประณีต หมายถึงกถาวัตถุ ๑๐ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๙๒/๑๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
[๓๙๔] สาวกผู้มีปัญญาดี ฟังธรรมที่พระสุคตพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
พิจารณาอาหารบิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ที่นอนที่นั่ง น้ำใช้น้ำฉัน
และการซักผ้าสังฆาฏิที่สกปรกให้สะอาดแล้วจึงใช้สอยปัจจัย
[๓๙๕] เพราะฉะนั้น ภิกษุจึงไม่ควรเป็นผู้ยึดติดในสิ่งเหล่านี้
คือ อาหารบิณฑบาต ที่นอนที่นั่ง น้ำใช้น้ำฉัน
และการซักผ้าสังฆาฏิที่สกปรกให้สะอาดนี้
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว ฉะนั้น
[๓๙๖] ต่อไปนี้ เราจะบอกข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์แก่พวกเธอ
คือสาวกที่เป็นคฤหัสถ์ประพฤติอย่างไร
จึงยังประโยชน์ให้สำเร็จได้
จริงอยู่ สาวกที่ยังมีความหวงแหนในไร่นาเป็นต้น
ไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมของภิกษุล้วน ๆ ได้
[๓๙๗] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง และที่มั่นคงในโลกแล้ว
ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นฆ่า และไม่พึงอนุญาตให้ใคร ๆ ฆ่า
[๓๙๘] จากนั้น สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ รู้อยู่
ควรงดเว้นการถือเอาสิ่งของต่าง ๆ ในทุกหนทุกแห่ง ที่เจ้าของมิได้ให้
คือ ไม่พึงลักเอง ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นลัก และไม่พึงอนุญาตให้ใคร ๆ ลัก
พึงงดเว้นการถือเอาสิ่งของทั้งปวงที่เจ้าของมิได้ให้โดยเด็ดขาด
[๓๙๙] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ ผู้เข้าใจชัดแจ้ง
ควรงดเว้นพฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์
เหมือนคนเดินหลีกหลุมถ่านเพลิงที่มีไฟลุกโชน ฉะนั้น
แต่เมื่อไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้
ก็ไม่ควรล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น
[๔๐๐] สาวกผู้อยู่ในที่ประชุม หรือในที่สาธารณชน
และอยู่กับคนคนเดียว ไม่ควรพูดเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
ไม่ควรใช้ให้ผู้อื่นพูดเท็จ และไม่ควรอนุญาตให้ใคร ๆ พูดเท็จ
ควรงดเว้นคำพูดที่ไม่เป็นจริงทั้งหมด
[๔๐๑] สาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ควรประพฤติการดื่มน้ำเมา
ควรยินดีชอบใจธรรมคือการงดเว้นการดื่มน้ำเมานี้
ไม่ควรชักชวนผู้อื่นให้ดื่ม และไม่ควรอนุญาตให้ใคร ๆ ดื่ม
เพราะรู้ชัดถึงโทษของการดื่มน้ำเมานั้นว่า มีความเป็นบ้าในที่สุด
[๔๐๒] เพราะความเมานั่นเอง คนพาลทั้งหลายจึงทำบาปต่างๆ ได้
ทั้งยังชักชวนคนอื่น ๆ ผู้ประมาทให้ทำอีกด้วย
สาวกที่เป็นคฤหัสถ์จึงควรงดเว้นการดื่มน้ำเมา
ที่ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งความดี มีแต่ทำให้เป็นบ้า หลงลืม
ที่พวกคนปัญญาทรามชอบดื่มกันนี้
[๔๐๓] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์
ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา
ควรงดเว้นจากเมถุนที่เป็นความประพฤติไม่ประเสริฐ
ไม่ควรบริโภคอาหารในเวลาวิกาลในเวลากลางคืน
[๔๐๔] ไม่ควรทัดทรงดอกไม้ ไม่ควรลูบไล้กายด้วยของหอม
ควรนอนบนเตียง บนพื้น หรือบนที่ที่ปูลาดไว้
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า อุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล
พระพุทธเจ้าผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ทรงประกาศไว้๑
[๔๐๕] และต่อไป สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ผู้มีใจเลื่อมใส
ควรเข้าจำอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ให้บริบูรณ์ดี
ทุกวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดปาฏิหาริกปักษ์๒

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๔๐๓-๔ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๗๑/๒๘๙-๒๙๐, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๔๓/๓๐๘
๒ ปาฏิหาริกปักษ์ หมายถึงกำหนดเวลา ๕ เดือน คือ เดือน ๘ ต้นแห่งวันเข้าพรรษา, ๓ เดือนภายในพรรษา,
เดือน ๑๒ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๐๕/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
[๔๐๖] อันดับต่อไป สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ผู้เข้าจำอุโบสถแต่เช้า
มีจิตเลื่อมใส เบิกบานใจอยู่เนือง ๆ มีปัญญาเข้าใจแจ้งชัด
ควรแจกจ่ายถวายข้าวน้ำแด่ภิกษุสงฆ์ตามสมควร
[๔๐๗] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์นั้น
ควรบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาโดยชอบธรรม
ควรประกอบการค้าขายที่ชอบธรรม๑
เป็นผู้ไม่ประมาทประพฤติวัตรแห่งคฤหัสถ์นี้อยู่
ย่อมไปเกิดในหมู่เทพที่ชื่อว่าสยัมปภา๒
ธัมมิกสูตรที่ ๑๔ จบ
จูฬวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. รตนสูตร ๒. อามคันธสูตร
๓. หิริสูตร ๔. มงคลสูตร
๕. สูจิโลมสูตร ๖. ธัมมจริยสูตร
๗. พราหมณธัมมิกสูตร ๘. นาวาสูตร
๙. กิงสีลสูตร ๑๐. อุฏฐานสูตร
๑๑. ราหุลสูตร ๑๒. วังคีสสูตร
๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร ๑๔. ธัมมิกสูตร


เชิงอรรถ :
๑ การค้าขายที่ชอบธรรม หมายถึงการค้าขายที่เว้นจากการค้าที่ไม่ชอบธรรม ๕ อย่าง คือ (๑) สัตถวณิชชา
(ค้าขายอาวุธ) (๒) สัตตวณิชชา (ค้าขายมนุษย์) (๓) มังสวณิชชา (ค้าขายเนื้อสัตว์) (๔) มัชชวณิชชา
(ค้าขายน้ำเมา) (๕) วิสวณิชชา (ค้าขายยาพิษ) (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๐๗/๒๐๐)
๒ สยัมปภา หมายถึงหมู่เทวดาที่มีแสงสว่างในตัว มีอยู่ในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๐๗/๒๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑. ปัพพัชชาสูตร
๓. มหาวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องใหญ่
๑. ปัพพัชชาสูตร
ว่าด้วยการสรรเสริญการบรรพชา
(ท่านพระอานนท์เถระกล่าวสรรเสริญการบรรพชา ณ พระเชตวันดังนี้)
[๔๐๘] ข้าพเจ้าจักสรรเสริญการบรรพชา
อย่างที่พระผู้มีพระภาค
ผู้มีพระจักษุทรงบรรพชา
และอย่างที่พระองค์ทรงพิจารณารอบคอบ
จึงพอพระทัยการบรรพชา
[๔๐๙] พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าการอยู่ครองเรือนนี้
คับแคบ๑ เป็นบ่อเกิดธุลีคือกิเลส
และทรงเห็นว่า การบรรพชาปลอดโปร่ง
จึงเสด็จออกบรรพชา
[๔๑๐] พระพุทธองค์ครั้นบรรพชาแล้ว
ทรงเว้นบาปกรรมทางกายและละวจีทุจริตได้
ทรงชำระอาชีวะให้หมดจด
[๔๑๑] พระพุทธองค์ผู้มีพระลักษณะอันประเสริฐทั่วพระวรกาย
เสด็จไปถึงกรุงราชคฤห์ คิริพพชนคร๒ แคว้นมคธ
ได้เสด็จเที่ยวไปเพื่อทรงบิณฑบาต

เชิงอรรถ :
๑ คับแคบ หมายถึงหมดโอกาสบำเพ็ญกุศล เพราะถูกรบกวนด้วยบุตรภรรยา และถูกรบกวนด้วยกิเลส (ขุ.สุ.อ.
๒/๔๐๙/๒๐๑)
๒ คำว่า “คิริพพชนคร” คือ ชื่อของกรุงราชคฤห์นั่นเอง ที่มีชื่อว่า คิริพพชนคร เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางระหว่างภูเขา
๕ ลูก คือ (๑) ภูเขาปัณฑวะ (๒) ภูเขาคิชฌกูฏ (๓) ภูเขาเวภาระ (๔) ภูเขาอิสิคิลิ (๕) ภูเขาเวปุลละ ภูเขา
ทั้ง ๕ ลูกนี้เป็นเสมือนรั้วหรือกำแพงล้อมรอบ (คิริ = ภูเขา + วช = รั้ว + นคร) (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๑๑/๒๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑. ปัพพัชชาสูตร
[๔๑๒] พระเจ้าพิมพิสารประทับยืนอยู่บนปราสาท
ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ครั้นได้ทรงเห็นพระพุทธองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะ
จึงได้ตรัสดังนี้ว่า
[๔๑๓] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจงพิจารณาดูภิกษุรูปนี้เถิด
ภิกษุรูปนี้มีรูปร่างงาม สมส่วน สะอาด
เยื้องย่างโดยสำรวม และทอดสายตาเพียงชั่วแอก
[๔๑๔] มีจักษุทอดลง มีสติ ภิกษุรูปนี้
หาเหมือนกับผู้ออกบวชจากตระกูลต่ำไม่
ราชทูตทั้งหลายจงรีบไปสืบดูให้รู้ว่า
ภิกษุรูปนี้จะจาริกไปไหน
[๔๑๕] ราชทูตที่พระเจ้าพิมพิสารทรงส่งไปนั้น
ได้เดินตามหลังไปเพื่อสืบดูว่า
ภิกษุรูปนั้นจะจาริกไปไหน และพักอยู่ที่ไหน
[๔๑๖] พระพุทธองค์เสด็จไปตามลำดับบ้าน ทรงคุ้มครองอินทรีย์
ทรงสำรวมดีแล้ว มีสติสัมปชัญญะมั่นคง
ทรงรับบิณฑบาตแต่พอประมาณ
[๔๑๗] พระมุนีเสด็จเที่ยวบิณฑบาต
แล้วเสด็จออกจากพระนคร
เสด็จขึ้นไปยังปัณฑวบรรพตด้วยทรงดำริว่า
จะประทับอยู่ ณ ที่นั้น
[๔๑๘] ราชทูตทั้ง ๓ เห็นพระพุทธองค์เสด็จเข้าไปสู่ที่พัก
จึงพากันเข้าไปเฝ้า ส่วนราชทูตคนหนึ่ง
กลับมากราบทูลพระเจ้าพิมพิสารว่า
[๔๑๙] ขอเดชะ มหาราชเจ้า
ภิกษุรูปนั้นพักอยู่ที่ถ้ำด้านหน้าภูเขาปัณฑวะ
เหมือนเสือโคร่ง โคอุสภราช และราชสีห์ที่ซอกเขา ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑. ปัพพัชชาสูตร
[๔๒๐] พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับคำของราชทูตแล้ว
ทรงรีบเสด็จไปยังภูเขาปัณฑวะ
โดยพระราชพาหนะชั้นเยี่ยม
[๔๒๑] ท้าวเธอได้เสด็จไปจนสุดทางที่พระราชพาหนะจะสามารถไปได้
จึงเสด็จลงจากพระราชพาหนะ
เสด็จพระราชดำเนินต่อไปด้วยพระบาท
เข้าไปถึงปัณฑวบรรพตนั้นแล้วประทับนั่ง
[๔๒๒] ท้าวเธอครั้นประทับนั่งแล้ว
ได้ทรงสนทนาปราศรัยเป็นธรรมเนียมระลึกถึงกัน
ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยแล้วได้ตรัสดังนี้ว่า
[๔๒๓] พระคุณเจ้ายังหนุ่มแน่น เพิ่งผ่านปฐมวัยเมื่อไม่นานนี้
ถึงพร้อมด้วยความผุดผ่องแห่งวรรณะ
เหมือนกษัตริย์สุขุมาลชาติ
[๔๒๔] ข้าพเจ้าจะมอบโภคสมบัติให้
ขอท่านจงเป็นจอมทัพยังหมู่พลกายให้งดงาม
บริโภคสมบัติอยู่เถิด
พระคุณเจ้าจงบอกชาติกำเนิดด้วยเถิด
[๔๒๕] (พระพุทธองค์ตรัสดังนี้)
มหาบพิตร มีชนบทแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในแคว้นโกศล
ตรงด้านข้างหิมวันตประเทศ
เป็นเมืองที่มั่งคั่ง ประชาชนขยันขันแข็ง
[๔๒๖] อาตมภาพมีนามตามโคตรว่าอาทิตย์
มีนามตามชาติกำเนิดว่าศากยะ
ไม่ปรารถนากามสุข
จึงออกจากตระกูลนั้นมาบวชเป็นบรรพชิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๒. ปธานสูตร
[๔๒๗] อาตมภาพเห็นโทษในกามทั้งหลาย
เห็นการออกบวชว่าเป็นทางเกษม
จะจาริกไปเพื่อบำเพ็ญเพียร
ใจของอาตมภาพ ยินดีในการบำเพ็ญเพียรนั้น
ปัพพัชชาสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปธานสูตร
ว่าด้วยความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[๔๒๘] เราตั้งจิตบำเพ็ญเพียร ขะมักเขม้น เพ่งพินิจอยู่
เพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานั้น
[๔๒๙] มารได้เข้ามาหาพร้อมกับกล่าวถ้อยคำแสดงความเอ็นดูว่า
ท่านมีร่างกายผ่ายผอม มีผิวพรรณซูบซีด ใกล้จะตายอยู่แล้ว
[๔๓๐] ท่านมีโอกาสตายถึง ๑,๐๐๐ ส่วน
โอกาสรอดชีวิตมีเพียงส่วนเดียวเท่านั้น
ท่านเอ๋ย การที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้นดีแล้ว
เพราะเมื่อมีชีวิตอยู่ ท่านก็จักบำเพ็ญบุญทั้งหลายได้
[๔๓๑] ท่านประพฤติพรหมจรรย์๑และบูชาไฟอยู่
ก็ชื่อว่าสั่งสมบุญไว้มาก ท่านจักบำเพ็ญเพียรไปทำไม
[๔๓๒] ทางเพื่อความเพียรดำเนินไปถึงยาก ทำได้ยาก
ยากยิ่งนักที่จะก่อผลสำเร็จ
มารได้ยืนกล่าวคาถาเหล่านี้อยู่ใกล้ ๆ เราผู้จะเป็นพุทธะ

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๓๑/๒๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๒. ปธานสูตร
[๔๓๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบมารผู้กล่าวอย่างนั้นว่า
มารผู้มีบาป ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของคนประมาท
ท่านมาที่นี้มีความประสงค์ใด
[๔๓๔] เราไม่มีความต้องการบุญแม้แต่น้อย
ความจริง ท่านผู้เป็นมาร
ควรไปบอกแก่คนผู้ต้องการบุญ
[๔๓๕] เพราะเหตุไร ท่านจึงเฝ้าเพียรถามเรา
ผู้มีทั้งศรัทธา ตบะ วิริยะ และปัญญา
ผู้มีจิตมุ่งมั่น มีความเป็นอยู่อย่างนี้
[๔๓๖] กระแสแม่น้ำทุกสาย ลมนี้สามารถพัดให้เหือดแห้งได้
แต่ว่าเลือดของเราผู้มีจิตมุ่งมั่นไม่เหือดแห้งไปแม้สักหยดเลย
[๔๓๗] เมื่อเลือดกำลังเหือดแห้งไป ดี เสลดก็กำลังเหือดแห้งไปด้วย
และเมื่อเนื้อกำลังจะหมดสิ้นไป แต่จิตของเราก็ยิ่งผ่องใส
สติ และปัญญาก็ผ่องใส สมาธิของเราก็ยิ่งตั้งมั่นขึ้นไปอีก
[๔๓๘] เรานั้นถึงจะได้รับทุกขเวทนาอันแรงกล้าอยู่อย่างนี้
จิตก็หาได้หวนคนึงถึงกามทั้งหลายไม่
ท่านจงคอยดูภาวะที่เราเป็นสัตว์บริสุทธิ์
[๔๓๙] กิเลสกามทั้งหลาย เราเรียกว่าเสนากองที่ ๑ ของท่าน
ความไม่ยินดี เราเรียกว่าเสนากองที่ ๒ ของท่าน
ความหิวกระหาย เราเรียกว่าเสนากองที่ ๓ ของท่าน
ตัณหา(ความทะยานอยาก) เราเรียกว่าเสนากองที่ ๔ ของท่าน
[๔๔๐] ถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)
เราเรียกว่าเสนากองที่ ๕ ของท่าน
ความกลัว เราเรียกว่าเสนากองที่ ๖ ของท่าน
วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) เราเรียกว่าเสนากองที่ ๗ ของท่าน
มักขะ(ความลบหลู่คุณท่าน) และถัมภะ(ความหัวดื้อ)
เราเรียกว่าเสนากองที่ ๘ ของท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๒. ปธานสูตร
[๔๔๑] ลาภ ความสรรเสริญ สักการะ และยศที่ได้มาที่ผิดๆ
เราเรียกว่าเสนากองที่ ๙ ของท่าน
การยกตนและข่มผู้อื่น เราเรียกว่าเสนากองที่ ๑๐ ของท่าน
[๔๔๒] มารเอ๋ย เสนาของท่านผู้มีธรรมดำนี้
มีปกติประหารสมณพราหมณ์
คนขลาดเอาชนะเสนานั้นไม่ได้
แต่คนกล้า เอาชนะเสนามารได้แล้วย่อมได้รับสุข๑
[๔๔๓] แม้เรานี้ก็รักษาหญ้ามุงกระต่ายไว้
น่าติเตียน(ถ้า)ชีวิตของเรา(จะพ่ายแพ้)
เราตายเสียในสงครามประเสริฐกว่า
แพ้แล้วเป็นอยู่จะประเสริฐอะไร
[๔๔๔] สมณพราหมณ์บางพวกตกอยู่ในอำนาจเสนาของท่านแล้ว
ย่อมไม่ปรากฏเกียรติคุณ
และย่อมไม่รู้ทางที่เหล่าท่านผู้มีวัตรดีดำเนินไปอยู่
[๔๔๕] เราได้เห็นมารขี่ช้างเป็นพาหนะ
นำเสนาออกมาโดยรอบทิศ
จึงเตรียมเผชิญหน้าเพื่อจะต่อสู้
โดยมั่นใจว่า มารอย่าหวังที่จะให้เราลุกจากที่
[๔๔๖] ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ไม่สามารถเอาชนะเสนาของท่านนั้นได้
แต่เราจะใช้ปัญญาเป็นอาวุธ
ทำลายเสนาท่านนั้นให้พินาศ
เหมือนคนใช้ก้อนหินทุบภาชนะดิน
ทั้งที่ยังไม่ได้เผาและที่เผาแล้วให้แตกไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๘/๑๑๖, ๑๔๖/๒๗๗, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๗/๑๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๒. ปธานสูตร
[๔๔๗] เราจักเจริญสัมมาสังกัปปะให้เชี่ยวชาญ
และตั้งสติไว้อย่างมั่นคงแล้ว
เที่ยวจาริกแนะนำพร่ำสอนสาวกจำนวนมากไปทุกแว่นแคว้น
[๔๔๘] สาวกผู้ไม่ประมาทเหล่านั้น มีจิตมุ่งมั่น
ปฏิบัติตามคำสอนของเรา เป็นผู้หมดความปรารถนา
ก็จะเข้าถึงสถานที่ซึ่งเหล่าชนผู้ไปแล้ว ไม่เศร้าโศก
[๔๔๙] (มารกล่าวดังนี้)
ข้าพเจ้าได้สะกดรอยตามพระผู้มีพระภาคนานถึง ๗ ปี
ก็ยังหาโอกาสที่จะทำลายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระสิริไม่ได้เลย
[๔๕๐] กาตัวหนึ่งบินอยู่รอบ ๆ แท่นศิลา
ที่มีสีคล้ายมันข้น ด้วยคิดว่า
‘เรากำลังจะได้ของอ่อนนุ่มในสิ่งนี้
ความยินดีพอใจก็จะมีแก่เรา’
(แต่เมื่อไม่ได้ความพอใจ รู้ว่า ‘นี้คือแท่นศิลา’ จึงหลีกไป)๑
[๔๕๑] ข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกัน ตั้งใจว่า
จะมารบกวนก่อความรำคาญพระทัย
ให้พระสมณโคดมเบื่อเสด็จลุกหนีไป
แต่ข้าพเจ้ากลับไม่ได้รับความยินยอมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เกิดความท้อแท้จึงหลีกไป
[๔๕๒] เมื่อมารนั้นกำลังเศร้าโศกมาก
พิณที่หนีบอยู่นั้นจึงตกลงจากรักแร้
ลำดับนั้น มารนั้นผู้เสียใจ
ได้อันตรธานหายไปในที่นั้นเอง
ปธานสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความนี้แปลเติมตามนัยอรรถกถา (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๔๙-๔๕๑/๒๑๔-๒๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๓. สุภาสิตตสูตร
๓. สุภาสิตสูตร๑
ว่าด้วยวาจาสุภาษิต ๔ ประการ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ เป็นสุภาษิต ไม่เป็น
ทุพภาษิต ไม่มีโทษ และวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน
วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. กล่าววาจาสุภาษิตอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาทุพภาษิต
๒. กล่าววาจาที่เป็นธรรมอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม
๓. กล่าววาจาเป็นที่รักอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาไม่เป็นที่รัก
๔. กล่าววาจาสัตย์จริงอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาเหลาะแหละ
ภิกษุทั้งหลาย วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการนี้แล เป็นสุภาษิต ไม่เป็น
ทุพภาษิต ไม่มีโทษ และวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน”
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๔๕๓] สัตบุรุษกล่าวว่าวาจาสุภาษิตเป็นวาจาสูงสุด (นั้นเป็นองค์ที่ ๑)
บุคคลพึงกล่าววาจาที่เป็นธรรม
ไม่พึงกล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม นั้นเป็นองค์ที่ ๒
บุคคลพึงกล่าววาจาเป็นที่รัก

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๒๑๓/๓๐๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๓. สุภาสิตตสูตร
ไม่พึงกล่าววาจาไม่เป็นที่รัก นั้นเป็นองค์ที่ ๓
บุคคลพึงกล่าววาจาสัตย์
ไม่พึงกล่าววาจาเหลาะแหละ นั้นเป็นองค์ที่ ๔
ลำดับนั้น ท่านพระวังคีสะลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ยืนประนมมือไป
ทางพระผู้มีพระภาคประทับ แล้วได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์เข้าใจพระภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์เข้าใจ
พระภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “วังคีสะ เธอจงเข้าใจภาษิตของเราอย่างแจ่มแจ้งเถิด”
ลำดับนั้น ท่านพระวังคีสะได้กล่าวชมเชยพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาอย่างเหมาะสม
เฉพาะพระพักตร์ว่า
[๔๕๔] บุคคลพึงกล่าววาจาที่ไม่เป็นเหตุทำตนให้เดือดร้อน
และไม่เบียดเบียนผู้อื่น วาจานั้นเป็นวาจาสุภาษิตแท้
[๔๕๕] บุคคลพึงกล่าวเฉพาะวาจาเป็นที่รัก เป็นที่ถูกใจผู้ฟัง
พึงเว้นคำลามกทั้งหลายเสีย กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักแก่คนอื่น
[๔๕๖] วาจาสัตย์เป็นวาจาไม่ตาย นี้เป็นของเก่า
สัตบุรุษล้วนดำรงมั่นอยู่ในสัจจะทั้งที่เป็นอรรถและเป็นธรรม
[๔๕๗] พระพุทธเจ้าตรัสพระวาจาใด อันเป็นวาจาเกษม
เพื่อการบรรลุนิพพาน เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์
วาจานั้นแลเป็นวาจายอดเยี่ยมกว่าวาจาทั้งหลาย
สุภาสิตสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
ว่าด้วยสุนทริกภารทวาชพราหมณ์
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสุนทริกา แคว้นโกศล
สมัยนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กำลังประกอบพิธีบูชาไฟ บำเรอการบูชาไฟ
อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสุนทริกา ครั้นเสร็จสิ้นพิธีแล้วก็ลุกจากที่นั่ง เหลียวดูทิศทั้ง ๔
โดยรอบด้วยคิดว่า “ใครกันควรบริโภคเครื่องเซ่นที่เหลือนี้” พลันเหลือบไปเห็น
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งห่มคลุมพระวรกายจนถึงพระเศียรอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง
จึงใช้มือซ้ายถือเครื่องเซ่นที่เหลือ มือขวาถือคนโทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปิดผ้าคลุมพระเศียรออก เพราะได้สดับเสียง
ฝีเท้าของสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ขณะนั้นสุนทริกภารทวาชพราหมณ์กล่าวขึ้นว่า
“นี้คนหัวโล้น นี้คนหัวโล้น” ตั้งใจจะหันหลังกลับจากที่นั้น แต่แล้วได้ฉุกคิดว่า
“อันที่จริง พราหมณ์บางพวกในโลกนี้ก็หัวโล้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราควร
เข้าไปถามชาติตระกูล” ครั้นคิดเช่นนั้นแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้กล่าวว่า “ท่านมีชาติกำเนิดอะไร”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสตอบสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถา
ดังนี้ว่า
[๔๕๘] เราไม่ใช่พราหมณ์ ไม่ใช่ราชโอรส ไม่ใช่แพศย์
หรือคนวรรณะใดวรรณะหนึ่ง
เรากำหนดรู้โคตรของปุถุชนทั้งหลายแล้ว
ไม่มีความกังวล ประพฤติตนอยู่ในโลกด้วยปัญญา
[๔๕๙] เรานุ่งห่มไตรจีวร ไม่มีเรือน ปลงผมแล้ว
ควบคุมตน สงบระงับได้
ไม่คลุกคลีกับหมู่คน เที่ยวจาริกไปในโลก
การที่ท่านถามเราถึงโคตรวงศ์นั้นไม่สมควรเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
[๔๖๐] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้)
พราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลายด้วยกันเท่านั้น
ที่จะถามว่า ท่านเป็นพราหมณ์หรือไม่
[๔๖๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ถ้าท่านเรียกตัวเองว่าพราหมณ์
แต่มาสนทนากับเราผู้มิใช่พราหมณ์
เพราะฉะนั้น เราจะถามท่านถึงเรื่องสาวิตรีฉันท์๑
ที่มี ๓ บาท ๒๔ พยางค์
[๔๖๒] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์เป็นจำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
[๔๖๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราขอชี้แจงว่า บุคคลผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ จบเวท
พึงได้รับเครื่องบูชาในกาลแห่งยัญพิธีของผู้ใด
การประกอบพิธีบูชายัญของผู้นั้น จึงจะสำเร็จผลมาก
[๔๖๔] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้)
การบูชายัญของข้าพเจ้านั้น ชื่อว่าสำเร็จผลแน่แท้
เพราะได้พบเห็นบุคคล ผู้จบเวทเช่นพระองค์
ก็เพราะยังไม่พบบุคคลผู้ทรงคุณเช่นกับพระองค์
คนอื่น ๆ จึงได้กินเครื่องเซ่น

เชิงอรรถ :
๑ สาวิตรีฉันท์ โดยทั่วไปหมายถึงบทสวดในคัมภีร์พระเวท แต่ในที่นี้พระพุทธองค์ทรงหมายเอาอริยสาวิตรี
คือ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๖๑/๒๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
[๔๖๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
พราหมณ์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีความต้องการด้วยประโยชน์นี้
จงเข้ามาถามเถิด ท่านก็จะได้พบบุคคลผู้สงบ
กำจัดความโกรธได้ ไม่มีความทุกข์
ไม่มีความหวัง มีปัญญาดี ในโลกนี้แน่นอน
[๔๖๖] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้)
ข้าพเจ้ายินดีในการบูชายัญ ปรารถนาที่จะบูชายัญ
แต่ข้าพเจ้ายังไม่รู้ ขอพระองค์โปรดตรัสสอนข้าพเจ้า
โปรดตรัสบอกสถานที่ที่การบูชายัญจะสำเร็จผล
ให้ข้าพเจ้าทราบด้วยเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงตั้งใจฟังเถิด เราจะ
แสดงธรรมแก่ท่าน”
[๔๖๗] ท่านอย่าถามถึงชาติตระกูลเลย
จงถามเฉพาะธรรมที่ประพฤติเถิด
ไฟย่อมเกิดจากไม้
แม้ผู้ที่เกิดในสกุลต่ำก็สามารถเป็นมุนี
มีปัญญา กีดกันอกุศลวิตกได้ด้วยหิริ
เป็นบุรุษอาชาไนยได้
[๔๖๘] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่พระทักขิไณยบุคคลผู้ฝึกตนจนบรรลุสัจจะ
สมบูรณ์ด้วยการฝึกอินทรีย์
ผู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[๔๖๙] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละกามทั้งหลายได้แล้ว ไม่ยึดมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
สำรวมตนเคร่งครัด เที่ยวไปอยู่
เหมือนกระสวยที่ไปตรง
[๔๗๐] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ปราศจากราคะ มีอินทรีย์มั่นคงดีแล้ว
หลุดพ้นจากกิเลส เหมือนดวงจันทร์พ้นจากราหูจับ ฉะนั้น
[๔๗๑] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกิเลส มีสติอยู่ทุกเมื่อ
ละนามรูปที่ยึดถือว่าเป็นของเราได้แล้ว เที่ยวไปอยู่ในโลก
[๔๗๒] ตถาคตละกามทั้งหลายได้
มีปกติครอบงำกามทั้งหลาย เที่ยวไป
รู้ที่สุดแห่งชาติและมรณะ
ดับกิเลสเครื่องเร่าร้อนได้เด็ดขาดแล้ว
เป็นผู้เยือกเย็นเหมือนห้วงน้ำ ควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๓] ตถาคตผู้เสมอพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
อยู่ห่างไกลจากบุคคลผู้ไม่เสมอทั้งหลาย มีปัญญาหาที่สุดมิได้
เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่แปดเปื้อน ไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกไหน ๆ
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๔] ตถาคต ไม่มีมายา ไม่มีมานะ ปราศจากโลภะ
ไม่ยึดถือสิ่งว่าเป็นของเรา
ไม่มีความหวัง กำจัดความโกรธ
ดับกิเลสเครื่องเร่าร้อนได้เด็ดขาด
เป็นพราหมณ์ผู้ลอยบาปได้แท้จริง
ละมลทินคือความโศกได้แล้ว ย่อมควรแก่เครื่องบูชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
[๔๗๕] ตถาคตละตัณหาและทิฏฐิ
อันเป็นกิเลสนอนเนื่องประจำใจได้แล้ว
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิเครื่องยึดถือใด ๆ
ชื่อว่าหมดความยึดมั่นในโลกนี้หรือโลกอื่น
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๖] ตถาคตมีจิตเป็นสมาธิ ข้ามพ้นโอฆะได้เด็ดขาด
และรู้ธรรมด้วยปัญญาอันยอดเยี่ยม
หมดสิ้นอาสวะ ทรงไว้ซึ่งร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๗] ภวาสวะ๑และวาจาหยาบคาย
ตถาคตกำจัดให้สิ้นได้ ไม่มีอยู่
เป็นผู้จบเวท หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง๒
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๘] ตถาคตผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง ไม่มีธรรมเครื่องข้อง
เมื่อคนทั่วไปติดข้องเพราะมานะ ตถาคตขจัดมานะได้
กำหนดรู้ทุกข์พร้อมทั้งเขตและที่ตั้ง ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๙] ตถาคตไม่อิงอาศัยความหวัง มีปกติเห็นความสงัด
ล่วงพ้นทิฏฐิที่ผู้อื่นรู้กัน
ไม่มีกิเลสเครื่องยึดเหนี่ยวใด ๆ ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๘๐] ตถาคตรู้แจ้งธรรมทั้งที่ดีและเลว
กำจัดให้สูญสิ้นได้เด็ดขาดแล้ว เป็นผู้สงบ
น้อมจิตไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปาทาน ย่อมควรแก่เครื่องบูชา

เชิงอรรถ :
๑ ภวาสวะ หมายถึงราคะที่ประกอบด้วย (๑) ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ) (๒) ฌานนิกันติ (ความ
ยึดติดในฌาน (๓) สัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๗๗/๒๓๒)
๒ ธรรมทั้งปวง หมายถึงขันธ์และอายตนะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๗๗/๒๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
[๔๘๑] ตถาคตมีปกติเห็นภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
ขจัดสังโยชน์อันเป็นทางแห่งราคะได้หมดสิ้น
เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีโทษ ปราศจากมลทิน
หมดกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๘๒] ตถาคตไม่พิจารณาเห็นตนโดยความเป็นตน๑
มีจิตตั้งมั่น ปฏิบัติตรง ดำรงตนมั่นคง ไม่หวั่นไหว
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ หมดความสงสัย ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๘๓] ตถาคตไม่มีเหตุเกิดโมหะใด ๆ
มีปกติเห็นด้วยญาณในธรรมทั้งปวง
ทรงไว้ซึ่งร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย
และบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณที่ยอดเยี่ยมอันเกษม
ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ตถาคตนับว่ามีความบริสุทธิ์ที่น่าบูชา
จึงควรแก่เครื่องบูชา
[๔๘๔] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้)
การบูชาของข้าพระองค์
จะเป็นการบูชาที่ถูกต้องอย่างแน่แท้
เพราะได้พบบุคคล ผู้จบเวทเช่นพระองค์
ขอพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นพรหมโดยประจักษ์
โปรดทรงรับ ทรงบริโภคเครื่องบูชาของข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๔๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
พราหมณ์ เราไม่บริโภคโภชนะ
ที่ได้มาเพราะการขับกล่อม
ธรรมนั้นมิใช่ธรรมของผู้พิจารณา

เชิงอรรถ :
๑ เห็นตนโดยความเป็นตน หมายถึงเห็นขันธ์ ๕ ด้วยจิตอันสัมปยุตด้วยญาณ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๘๒/๒๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่รับโภชนะ
ที่ได้มาเพราะการขับกล่อม
เมื่อธรรมยังมีอยู่
การเลี้ยงชีพแบบนี้ก็ยังมีอยู่
[๔๘๖] อนึ่ง ท่านจงบำรุงพระขีณาสพ
ผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
มีความคะนองสงบแล้ว ด้วยข้าวและน้ำ
เพราะว่าการบำรุงนั้น
เป็นนาบุญของผู้แสวงบุญ
[๔๘๗] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระผู้พระภาค ขอประทานวโรกาส
ข้าพระองค์เข้าถึงคำสอนของพระองค์
จนรู้ชัดตามที่พระองค์ตรัสบอกแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสแสดงบุคคล
ผู้ควรจะบริโภคทักษิณาทานของข้าพระองค์
ซึ่งเป็นผู้ที่ข้าพระองค์กำลังแสวงหาในเวลาบูชายัญ
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๔๘๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
บุคคลใดปราศจากการแก่งแย่งชิงดีกัน
มีจิตไม่ขุ่นมัว หลุดพ้นแล้วจากกามทั้งหลาย
กำจัดถีนมิทธะได้แล้ว
[๔๘๙] กำจัดกิเลสส่วนสุดออกได้
รู้เท่าทันชาติและมรณะ
เป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา
ถ้าบุคคลเช่นนั้นมาถึงสถานที่บูชายัญของท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
[๔๙๐] ท่านอย่าทำหน้านิ่วคิ้วขมวด จงประคองอัญชลีนอบน้อม
บูชาด้วยข้าวและน้ำเถิด
ทักษิณาของท่านจึงจะสำเร็จได้ด้วยอาการอย่างนี้
[๔๙๑] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้)
พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าผู้ควรบูชาในโลกทั้งปวง
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม ย่อมควรรับเครื่องบูชา
ทานที่ถวายแก่พระองค์ย่อมมีผลมาก
ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระ-
โคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’
ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของท่านพระโคดมเถิด”
สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชา ได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค ฯลฯ
จึงเป็นอันว่า ท่านพระสุนทริกภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดา
พระอรหันต์ทั้งหลาย
สุนทริกภารทวาชสูตรที่ ๔ จบ

๕. มาฆสูตร
ว่าด้วยมาฆมาณพทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์
ครั้งนั้น มาฆมาณพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็น
ที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้พระภาค
ดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ความจริง ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี รู้ความ
ประสงค์ของผู้ขอ ควรแก่การขอ ย่อมแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ครั้นแสวงหา
ได้แล้วก็นำโภคทรัพย์ที่ตนได้มาโดยชอบธรรมแบ่งให้แก่ปฏิคาหกผู้รับทาน ๑ คนบ้าง
๒ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๔ คนบ้าง ๕ คนบ้าง ๖ คนบ้าง ๗ คนบ้าง ๘ คนบ้าง
๙ คนบ้าง ๑๐ คนบ้าง ๒๐ คนบ้าง ๓๐ คนบ้าง ๔๐ คนบ้าง ๕๐ คนบ้าง
๑๐๐ คนบ้าง มากกว่า ๑๐๐ คนบ้าง ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์
ให้ทานอย่างนี้ บูชาอย่างนี้ จะได้รับบุญมากไหม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาณพ แน่นอนทีเดียว เมื่อท่านให้ทานอย่างนี้ บูชา
อย่างนี้ ย่อมได้รับบุญมาก มาณพ บุคคลผู้เป็นทายก เป็นทานบดี รู้ความประสงค์
ของผู้ขอ ควรแก่การขอ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ครั้นแสวงหาได้แล้ว
ก็นำโภคทรัพย์ที่ตนได้มาโดยชอบธรรมแบ่งให้แก่ปฏิคาหกผู้รับทาน ๑ คนบ้าง ฯลฯ
๑๐๐ คนบ้าง มากกว่า ๑๐๐ คนบ้าง ย่อมได้รับบุญมาก”
ลำดับนั้น มาฆมาณพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาดังนี้
[๔๙๒] ข้าพระองค์ขอทูลถามท่านพระโคดม
ผู้ทรงเปรื่องปราชญ์ในถ้อยคำ ผู้ทรงผ้ากาสาวพัสตร์
ไม่ทรงยึดมั่น เสด็จเที่ยวไปอยู่ว่า
ในโลกนี้ คฤหัสถ์ผู้ใดเป็นทานบดี ควรแก่การขอ
เป็นผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ
ให้ข้าว และน้ำ บูชาชนเหล่าอื่น
การบูชาของคฤหัสถ์ผู้นั้นที่ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร
[๔๙๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
มาฆะ ในโลกนี้ คฤหัสถ์ผู้ใดเป็นทานบดี ควรแก่การขอ
เป็นผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ
ให้ข้าว และน้ำ บูชาชนเหล่าอื่น
คฤหัสถ์ผู้เช่นนั้น พึงยังการบูชาให้สำเร็จได้
ด้วยพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
[๔๙๔] (มาฆมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย
แก่ข้าพระองค์ ผู้เป็นคฤหัสถ์ เป็นทานบดี
ควรแก่การขอ ผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ
ให้ข้าว และน้ำ บูชาชนเหล่าอื่นในโลกนี้ด้วยเถิด
[๔๙๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่ข้องด้วยกิเลส
ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ผู้บริสุทธิ์ครบถ้วน
ผู้ควบคุมตนได้ เที่ยวไปในโลก
[๔๙๖] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ตัดเครื่องผูกคือสังโยชน์ได้ทั้งหมด
ฝึกตนแล้ว มีจิตหลุดพ้น ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
[๔๙๗] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้หลุดพ้นจากสังโยชน์ทั้งปวง
ฝึกตนแล้ว มีจิตหลุดพ้น ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
[๔๙๘] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว
สิ้นอาสวะ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[๔๙๙] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
แก่เหล่าชนผู้ไม่มีมายา ไม่มีมานะ
สิ้นอาสวะ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[๕๐๐] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ปราศจากโลภะ
ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา ไม่มีความหวัง
สิ้นอาสวะ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[๕๐๑] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้มีจิตไม่น้อมไปในตัณหาทั้งหลาย
ข้ามโอฆะได้ ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา เที่ยวไป
[๕๐๒] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่มีตัณหา๑เป็นเหตุให้เกิดภพใหม่
ในโลกไหน ๆ คือในโลกนี้หรือโลกอื่น
[๕๐๓] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละกามทั้งหลายได้แล้ว
ไม่มีความยึดถือ สำรวมตนดีแล้ว เที่ยวไป
เหมือนกระสวยที่ไปตรง ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยาก ในที่นี้หมายถึง ตัณหา ๖ อย่างคือ (๑) รูปตัณหา (ความทะยานอยาก
ในรูป) (๒) สัททตัณหา (ความทะยานอยากในเสียง) (๓) คันธตัณหา (ความทะยานอยากในกลิ่น)
(๔) รสตัณหา (ความทะยานอยากในรส) (๕) โผฏฐัพพตัณหา (ความทะยานอยากในสิ่งที่ถูกต้องกาย)
(๖) ธัมมตัณหา (ความทะยานอยากในอารมณ์ที่เกิดกับใจ) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓/๑๐, ขุ.สุ.อ. ๒/๕๐๒/๒๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
[๕๐๔] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ปราศจากราคะ มีอินทรีย์มั่นคงดีแล้ว
หลุดพ้นจากกิเลส เหมือนดวงจันทร์พ้นจากราหูจับ ฉะนั้น
[๕๐๕] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้สงบ ผู้ปราศจากราคะ ไม่มีความโกรธ
ผู้ไม่มีคติ เพราะละขันธ์ ๕ ในโลกนี้ได้แล้ว
[๕๐๖] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละชาติและมรณะได้หมดสิ้นแล้ว
ล่วงพ้นความสงสัยทุกอย่าง
[๕๐๗] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง เที่ยวไปในโลก
[๕๐๘] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้รู้แจ้งในขันธ์และอายตนะเป็นต้น
ตามสภาวะที่เป็นจริงว่า
นี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีภพใหม่อีกต่อไป
[๕๐๙] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่ท่านผู้จบเวท ยินดีในฌาน
มีสติ บรรลุสัมโพธิญาณ
เป็นสรณะของเทวดาและมนุษย์จำนวนมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
[๕๑๐] (มาฆมาณพกราบทูลดังนี้)
คำถามของข้าพระองค์ไม่เปล่าประโยชน์แน่แท้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสบอก
พระทักขิไณยบุคคลทั้งหลายแก่ข้าพระองค์แล้ว
ความจริง พระองค์ทรงทราบเญยยธรรมทั้งหมด
ในโลกนี้อย่างถ่องแท้
ธรรมนี้พระองค์ทรงรู้แจ้งแล้ว
[๕๑๑] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกยัญญสัมปทา๑
แก่ข้าพระองค์ผู้เป็นคฤหัสถ์ เป็นทานบดี ควรแก่การขอ
ผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ ให้ข้าว และน้ำ
บูชาชนเหล่าอื่นในโลกนี้ด้วยเถิด
[๕๑๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
มาฆะ ท่านเมื่อจะบูชาก็จงบูชาเถิด
และจงทำจิตให้ผ่องใสในกาลทั้งปวง
ยัญย่อมเป็นอารมณ์หน่วงจิตของผู้กำลังบูชาบุคคล
ผู้มีจิตตั้งมั่นในยัญนี้แล้ว ย่อมละโทษ๒ได้
[๕๑๓] อนึ่ง บุคคลนั้นปราศจากราคะแล้ว ควรกำจัดโทสะ
เจริญเมตตาจิตทั่วไปแก่สัตว์ทุกจำพวก
ไม่ประมาททั้งกลางวันและกลางคืนเป็นนิตย์
ชื่อว่าย่อมแผ่อัปปมัญญา๓ไปทั่วทิศ

เชิงอรรถ :
๑ ยัญญสัมปทา หมายถึงความสมบูรณ์ของการบูชาครบ ๓ กาล คือ (๑) ก่อนให้ ก็มีใจดี (๒) ขณะให้
ก็ทำจิตให้ผ่องใส (๓) ครั้นให้แล้ว ก็ชื่นใจ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๑๒/๒๔๑)
๒ โทษ มี ๓ อย่าง คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๑๒/๒๔๑)
๓ อัปปมัญญา ในที่นี้หมายถึงเมตตาฌาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๑๓/๒๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
[๕๑๔] (มาฆมาณพทูลถามดังนี้)
ใคร ชื่อว่าบริสุทธิ์ หลุดพ้น และชื่อว่ายังติดอยู่
บุคคลจะไปให้ถึงพรหมโลกด้วยตนได้อย่างไร
ข้าแต่พระมุนี ข้าพระองค์ไม่รู้ จึงทูลถาม
ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ก็พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระพรหม
ข้าพระองค์เห็นโดยประจักษ์ในวันนี้
เพราะพระองค์เป็นผู้เสมอด้วยพรหมของข้าพระองค์จริง ๆ
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความรุ่งเรือง
บุคคลจะเข้าถึงพรหมโลกได้อย่างไร
[๕๑๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
มาฆะ บุคคลผู้บูชายัญญสัมปทาครบทั้ง ๓ กาลเช่นนั้น
พึงยังการบูชาให้บริสุทธิ์ด้วยพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย
เราเรียกบุคคลผู้ควรแก่การขอ
บูชาถวายไทยธรรมอย่างนั้นว่า
เข้าถึงพรหมโลกได้แน่นอน
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มาฆมาณพได้กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่าน
พระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระองค์จงทรงจำ
ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
มาฆสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
๖. สภิยสูตร
ว่าด้วยสภิยปริพาชกทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น เทวดาผู้เคยเป็นสาโลหิต๑ของสภิยปริพาชกได้ตั้งปัญหา
พร้อมกล่าวว่า “สภิยะ สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใด ถูกท่านถามปัญหาเหล่านี้แล้ว
พยากรณ์ได้ ท่านควรประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้นเถิด”
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกเรียนปัญหาเหล่านั้นในสำนักของเทวดานั้น แล้วเข้า
ไปหาสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง
มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ปูรณะ กัสสปะ
มักขลิ โคสาล อชิตะ เกสกัมพล ปกุธะ กัจจานะ สัญชัย เวลัฏฐบุตร นิครนถ์
นาฏบุตร แล้วถามปัญหาเหล่านั้น
ท่านเหล่านั้นถูกถามแล้วไม่สามารถตอบได้ เมื่อตอบไม่ได้ก็แสดงความโกรธ
ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามสภิยปริพาชก
เสียอีก
ต่อมา สภิยปริพาชกมีความคิดดังนี้ว่า “ท่านสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้า
หมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่
คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ท่านปูรณะ กัสสปะ ฯลฯ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร
ถูกเราถามปัญหาแล้วไม่สามารถตอบได้ เมื่อตอบไม่ได้ก็แสดงความโกรธ ความ
ขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามเราในข้อนั้นเสียอีก
ถ้าเป็นอย่างนี้ละก็ เราเปลี่ยนเพศเป็นคฤหัสถ์ไปเสพกามเสียดีกว่า”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “สาโลหิต” ในที่นี้มิใช่เป็นมารดา มิใช่เป็นบิดา แต่เป็นเหมือนมารดา เหมือนบิดา เพราะมี
อัธยาศัยเกื้อกูลต่อกัน (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
ต่อมา สภิยปริพาชกกลับคิดขึ้นได้ว่า “พระสมณโคดมนี้ก็เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ
เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่คนส่วนมากยกย่องว่าดี
เลิศเช่นกัน อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหาเหล่านี้”
แต่แล้ว สภิยปริพาชกกลับคิดเช่นนี้ว่า “ท่านสมณพราหมณ์ทั้งหลายล้วนเป็น
ผู้เจริญทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ เป็นพระเถระ
เป็นรัตตัญญูบุคคล บวชมานาน เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง
มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ท่านปูรณะ กัสสปะ
ฯลฯ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร ท่านเหล่านั้นถูกเราถามปัญหาแล้วก็ยังไม่สามารถ
ตอบได้ เมื่อไม่สามารถตอบได้ ก็ยังแสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความ
ไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามเราในข้อนั้นเสียอีก พระสมณโคดม
ถูกเราถามปัญหาเหล่านี้แล้ว จักพยากรณ์ตอบได้อย่างไร เพราะพระสมณโคดม
ยังหนุ่มนัก และออกบวชก็ยังไม่นาน”
หลังจากนั้น สภิยปริพาชกกลับคิดขึ้นได้ว่า “เราไม่ควรดูหมิ่น ไม่ควร
ดูแคลนพระสมณโคดมว่า ยังหนุ่มนัก ความจริง แม้พระสมณโคดมจะยังหนุ่ม
แต่ก็เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปหาพระสมณ-
โคดมแล้วถามปัญหาเหล่านี้ดีกว่า”
ต่อจากนั้น สภิยปริพาชกได้ออกเดินทางมุ่งหน้าไปทางกรุงราชคฤห์ เที่ยวจาริก
ไปโดยลำดับ จนกระทั่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาป-
สถาน เขตกรุงราชคฤห์ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลด้วยคาถาว่า
[๕๑๖] ข้าพระองค์มีความเคลือบแคลงสงสัย
มุ่งหวังจะทูลถามปัญหา
พระองค์โปรดตรัสตอบปัญหาที่ข้าพระองค์ทูลถามให้สิ้นสงสัย
โปรดพยากรณ์ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมไปตามลำดับ
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[๕๑๗] สภิยะ ท่านเดินทางมาไกล มุ่งหวังเพื่อจะถามปัญหา
เราจะกล่าวเฉลยปัญหาที่ท่านถามให้สิ้นสงสัย
เราจะพยากรณ์ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมไปตามลำดับแก่ท่าน
[๕๑๘] สภิยะ ท่านปรารถนาจะถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่งอยู่ในใจ
ก็จงถามมาเถิด
เราจะตอบปัญหานั้น ๆ ให้หมดแก่ท่าน
ทันใดนั้น สภิยปริพาชกคิดว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ เราไม่เคยได้
โอกาสสักหน่อยในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นเลย แต่พระสมณโคดมได้ทรงให้โอกาสนี้
แก่เราแล้ว” เขาจึงดีใจ เบิกบาน แช่มชื่น เกิดปีติโสมนัส ได้ทูลถามปัญหากับพระ
ผู้มีพระภาคว่า
[๕๑๙] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ภิกษุ
บุคคลปฏิบัติอย่างไรบัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้สงบเสงี่ยม
บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้ฝึกตนแล้ว
บุคคลรู้อย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า พุทธะ
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ด้วยพระคาถาดังนี้)
[๕๒๐] สภิยะ บุคคลใดควรแก่คำชมเชยว่า
เป็นผู้ถึงนิพพานด้วยทางที่ตนทำแล้ว
ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ละความเสื่อมและความเจริญแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์ สิ้นภพใหม่แล้ว
บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ภิกษุ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๘/๘๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
[๕๒๑] บุคคลผู้วางเฉยในอารมณ์ทั้งปวง มีสติ
ไม่เบียดเบียนสัตว์ไร ๆ ในโลกทั้งหมด
เป็นผู้ข้ามโอฆะได้ เป็นผู้สงบ
มีจิตไม่ขุ่นมัว ไม่มีกิเลสฟุ้งซ่าน
บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ผู้สงบเสงี่ยม
[๕๒๒] บุคคลใดอบรมอินทรีย์ทั้งหลายได้แล้วในโลกทั้งปวง
ทั้งภายในและภายนอก รู้ชัดทั้งโลกนี้และโลกหน้า
รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น
บุคคลนั้นผู้อบรมตนแล้วเช่นนี้
บัณฑิตเรียกว่า ผู้ฝึกตนแล้ว๑
[๕๒๓] บุคคลผู้พิจารณากิเลสเครื่องกำหนดจิตทั้งสิ้น
รู้ชัดสังสารวัฏทั้ง ๒ ส่วน คือจุติและอุบัติ
ปราศจากธุลี ไม่มีกิเลสพอกพูน
เป็นผู้หมดจด บรรลุภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
บัณฑิตเรียกว่า พุทธะ
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดีใจ
เบิกบาน แช่มชื่น เกิดปีติโสมนัส ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า
[๕๒๔] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า พราหมณ์
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า สมณะ
บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้ล้างบาปได้
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า นาคะ๒
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๐/๒๘๒, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๘/๑๑๘
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๘๕ ในเล่มนี้ และดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๐/๒๓๘, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๗/๑๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[๕๒๕] สภิยะ บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากมลทิน เป็นผู้ประเสริฐ
มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง
ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์ครบถ้วน
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้คงที่
บุคคลนั้นบัณฑิตเรียกว่า พราหมณ์๑
[๕๒๖] บุคคลผู้สงบ ละบุญและบาปได้
เป็นผู้ปราศจากธุลี รู้โลกนี้และโลกหน้า
ล่วงพ้นชาติและมรณะได้แล้ว
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า สมณะ
[๕๒๗] บุคคลผู้ชำระล้างบาปได้ทั้งหมด
ทั้งภายในและภายนอก ในโลกทั้งปวง๒
ไม่กลับมาสู่กัป ในเทวดาและมนุษย์ผู้ยังท่องเที่ยวอยู่ในกัป๓
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า ผู้ล้างบาปได้
[๕๒๘] บุคคลผู้ไม่ทำบาปแม้เล็กน้อยในโลก
สลัดสังโยชน์และเครื่องผูกพันได้ทั้งหมด
ไม่ติดข้องอยู่ในกิเลสเครื่องข้องทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้น
เป็นผู้คงที่ ผู้ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า นาคะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๕, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๘/๑๔๗
๒ โลกทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอายตนะทั้งหมด (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๒๗/๒๕๓)
๓ กัป ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๒๗/๒๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ
ต่อไปว่า
[๕๒๙] พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกบุคคลเช่นไรว่า ผู้ชนะเขต
ตรัสเรียกบุคคลว่า ผู้ฉลาด ด้วยอาการอย่างไร
อย่างไร จึงตรัสเรียกว่า บัณฑิต
และอย่างไร ตรัสเรียกว่า มุนี
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๕๓๐] สภิยะ บุคคลพิจารณาเขต๑ทั้งสิ้น
คือ เขตเทวดา เขตมนุษย์ และเขตพรหมแล้ว
ผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกที่เป็นมูลเหตุแห่งเขต๒ทั้งมวล
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า ผู้ชนะเขต
[๕๓๑] บุคคลพิจารณากระเปาะฟอง๓ทั้งสิ้น
คือ กระเปาะฟองเทวดา กระเปาะฟองมนุษย์
และกระเปาะฟองพรหมแล้ว
ผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกที่เป็นมูลเหตุแห่งกระเปาะฟองทั้งมวล
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า ผู้ฉลาด
[๕๓๒] บุคคลพิจารณาอายตนะทั้ง ๒ ประการ
คือ อายตนะทั้งภายในและภายนอกแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ เขต ในที่นี้หมายถึงอายตนะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๐/๒๕๓)
๒ เครื่องผูกที่เป็นมูลเหตุแห่งเขต หมายถึงอวิชชา ตัณหา และภพ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๐/๒๕๔)
๓ กระเปาะฟอง หมายถึงกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๑/๒๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
มีปัญญาบริสุทธิ์ ก้าวพ้นธรรมดำและธรรมขาว๑ได้แล้ว
เป็นผู้คงที่ ผู้ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า บัณฑิต
[๕๓๓] บุคคลรู้ธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ
ทั้งภายในและภายนอกในโลกทั้งปวง
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจข่ายได้แล้ว
ควรได้รับความเคารพบูชาจากเทวดาและมนุษย์
บุคคลนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า มุนี๒
ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ
ต่อไปว่า
[๕๓๔] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้จบเวท
บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้รู้ตาม
บุคคลประพฤติตนอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีความเพียร
และบุคคลตัดอะไรได้ บัณฑิตจึงเรียกว่า บุรุษอาชาไนย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๕๓๕] สภิยะ บุคคลเลือกเฟ้นเวท๓ทั้งสิ้น
ของสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่มีอยู่
ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง
ก้าวล่วงเวททั้งปวงได้แล้ว
บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ผู้จบเวท๔

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมดำและธรรมขาว หมายถึงบาปและบุญ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๒/๒๕๕)
๒ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๙
๓ เวท ในที่นี้หมายถึงศาสตร์ความรู้ของสมณพราหมณ์ทั้งหมด (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๕/๒๕๕)
๔ เวท ในที่นี้หมายถึงมัคคญาณ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๕/๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
[๕๓๖] บุคคลพิจารณารู้เท่าทันกิเลสเครื่องเนิ่นช้า
และนามรูปภายในตน
และกิเลสอันเป็นมูลเหตุแห่งโรคในภายนอก
เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นมูลเหตุแห่งโรคทั้งปวง
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า ผู้รู้ตาม
[๕๓๗] ในโลกนี้ บุคคลผู้งดเว้นบาปทั้งหมด
ล่วงพ้นทุกข์ในนรก มีความเพียร
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีความเพียร
มีความมุ่งมั่น เป็นนักปราชญ์
[๕๓๘] บุคคลตัดเครื่องผูก๑อันเป็นมูลเหตุแห่งกิเลสเครื่องข้อง
ทั้งภายในและภายนอกได้แล้ว
เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูก
อันเป็นมูลเหตุแห่งกิเลสเครื่องข้องทั้งปวง
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า บุรุษอาชาไนย
ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ
ต่อไปว่า
[๕๓๙] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีสุตะ
บัณฑิตเรียกบุคคลว่า อริยะ ด้วยอาการอย่างไร
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีจรณะ
และบุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ปริพาชก
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
๑ เครื่องผูก ในที่นี้หมายถึงกิเลสทั้งหลาย มีราคะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๘/๒๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๕๔๐] สภิยะ บุคคลผู้สดับแล้ว รู้ยิ่งธรรมทั้งปวง
ครอบงำธรรมทั้งที่มีโทษและไม่มีโทษต่าง ๆ มีอยู่ในโลกได้
หมดความสงสัย มีจิตหลุดพ้น
ไม่มีความทุกข์ในธรรมทั้งปวง๑
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีสุตะ
[๕๔๑] บุคคลผู้มีปัญญา ตัดอาลัยและอาสวะได้แล้ว
ไม่ถือกำเนิดเกิดในครรภ์อีก
ละสัญญา ๓ อย่าง และละเปือกตมคือกามได้
ไม่กลับมาสู่กัป๒อีก
บัณฑิตเรียกว่า อริยะ
[๕๔๒] ในศาสนานี้ บุคคลผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุเพราะจรณะ๓
เป็นผู้ฉลาด รู้ธรรมได้ในกาลทุกเมื่อ
ไม่ข้องอยู่ในธรรมทั้งปวง
มีจิตหลุดพ้นแล้ว ไม่มีปฏิฆะ
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีจรณะ
[๕๔๓] บุคคลผู้กำจัดธรรมที่มีทุกข์เป็นวิบากซึ่งมีอยู่
ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้แล้ว
ประพฤติตนอยู่ด้วยปัญญาพิจารณา

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงขันธ์ และอายตนะ เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๔๐/๒๕๘)
๒ กัป ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๔๑/๒๕๘)
๓ จรณะ หมายถึงความประพฤติ,ปฏิปทา ในที่นี้หมายถึงจรณะ ๑๕ คือ (๑) สีลสัมปทา (ความถึงพร้อม
ด้วยศีล) (๒) อินทรียสังวร (การสำรวมอินทรีย์) (๓) โภชเนมัตตัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการ
บริโภค (๔) ชาคริยานุโยค (การหมั่นประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น) (๕) ศรัทธา (๖) หิริ
(๗) โอตตัปปะ (๘) ความเป็นพหูสูต (๙) วิริยารัมภะ (ปรารภความเพียร) (๑๐) ความมีสติมั่นคง
(๑๑) ปัญญา (๑๒) ปฐมฌาน (๑๓) ทุติยฌาน (๑๔) ตติยฌาน (๑๕) จตุตถฌาน (ม.ม. (แปล) ๑๓/๒๓-๒๖/
๒๖-๓๐, ขุ.สุ.อ. ๒/๕๔๒/๒๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
และละมายา มานะ โลภะ และโกธะได้หมดสิ้น
ทำนามรูปให้สิ้นสุดลงได้
บัณฑิตเรียกว่า ปริพาชก
ผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุ
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดีใจ
เบิกบาน แช่มชื่น เกิดปีติโสมนัส ลุกจากที่นั่ง ทำผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประคอง
อัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วได้สดุดีพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาที่เหมาะสม
เฉพาะพระพักตร์ว่า
[๕๔๔] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน
พระองค์ทรงกำจัดมิจฉาทิฏฐิ ๓ และมิจฉาทิฏฐิ ๖๐
ที่อาศัยคัมภีร์เป็นหลักการของพวกสมณะลัทธิอื่น
ซึ่งอาศัยอักษรสื่อความหมาย และสัญญาที่วิปริต
ทรงก้าวพ้นความมืดคือโอฆะได้แล้ว
[๕๔๕] พระองค์ทรงเป็นผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เป็นผู้ถึงฝั่ง
ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้าพระองค์ตระหนักในพระองค์ว่า มีอาสวะสิ้นแล้ว
พระองค์ทรงมีความรุ่งเรือง มีความรู้ มีปัญญามาก
ได้ทรงแนะนำข้าพระองค์ผู้ทำที่สุดทุกข์ให้ข้ามได้แล้ว
[๕๔๖] เพราะพระองค์ได้ทรงทราบปัญหาที่ข้าพระองค์สงสัย
ทรงช่วยให้ข้าพระองค์ข้ามพ้นความลังเลใจ
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพระมุนี
ผู้ทรงบรรลุธรรมที่ควรบรรลุในแนวทางของมุนี
ไม่มีกิเลสฝังแน่นพระทัย
ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ผู้ทรงสงบเสงี่ยมอย่างยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
[๕๔๗] พระองค์ผู้มีพระจักษุ ได้ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อสงสัย
ที่เคยมีมาก่อนของข้าพระองค์จนหมดสิ้นแล้ว
พระองค์ไม่มีนิวรณ์ จึงนับว่าเป็นพระมุนี
ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองแน่แท้
[๕๔๘] อนึ่ง ความคับแค้นใจทั้งหมด
พระองค์ทรงกำจัดตัดถอนได้แล้ว
พระองค์จึงมีพระทัยเยือกเย็น
มีการอบรมตนถึงที่สุดแล้ว มีพระปัญญาทรงจำมั่นคง
มีความบากบั่นในสัจจะเป็นนิตย์
[๕๔๙] เทวดาทั้ง ๒ พวกที่อาศัยอยู่ ณ นารทบรรพตทั้งหมด
พากันชื่นชมอนุโมทนาพระองค์ผู้ประเสริฐ
ยิ่งใหญ่ในหมู่คนผู้ประเสริฐ ผู้ทรงมีความเพียรยิ่งใหญ่
ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่
[๕๕๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษสูงสุด
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ไม่มีผู้ใดเลยที่จะทรงคุณเสมอด้วยพระองค์
ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
[๕๕๑] พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า
เป็นพระศาสดา เป็นพระมุนีครอบงำมารได้
ทรงตัดอนุสัยกิเลสได้ ทรงข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสงสารได้แล้ว
ยังทรงช่วยหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามตามไปได้ด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
[๕๕๒] พระองค์ทรงล่วงพ้นอุปธิกิเลสได้
ทำลายอาสวะได้แล้ว ไม่มีอุปาทาน (ความถือมั่น)
ละความหวาดกลัวภัยได้ เหมือนพญาราชสีห์ไม่กลัวต่อหมู่เนื้อ๑
[๕๕๓] พระองค์ไม่ทรงติดอยู่ในบุญและบาปทั้งสอง
เหมือนดอกบัวขาวที่สวยงามไม่ติดอยู่ในน้ำ
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
ขอพระองค์โปรดเหยียดพระบาทออกมาเถิด
สภิยะจะขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระศาสดา
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกหมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย
เศียรเกล้าแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมอย่างแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือน
บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป
ในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค
พร้อมทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้
บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สภิยะ ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์มาก่อน หวังจะบรรพชา
อุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาสเป็นเวลา ๔ เดือน เมื่อครบ ๔ เดือนแล้ว
ภิกษุทั้งหลายพอใจจึงจะบรรพชาอุปสมบทให้เป็นภิกษุ แต่ในเรื่องการอยู่ปริวาสนี้
เราก็ทราบความแตกต่างของแต่ละบุคคล”
สภิยปริพาชกกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์มา
ก่อน หวังจะบรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาสเป็นเวลา ๔ เดือน
เมื่อครบ ๔ เดือนแล้ว ภิกษุทั้งหลายพอใจจึงจะบรรพชาอุปสมบทให้เป็นภิกษุ
ข้าพระองค์ก็จะขออยู่ปริวาสเป็นเวลา ๔ ปี เมื่อครบ ๔ ปี หากภิกษุทั้งหลายพอใจก็
ขอโปรดบรรพชาอุปสมบทให้ข้าพระองค์เป็นภิกษุด้วยเถิด”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๓๙-๘๔๐/๔๗๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกก็ได้รับการบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค
เมื่อท่านพระสภิยะอุปสมบทได้ไม่นาน ก็จากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความ
เพียร อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญา
อันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่
ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
จึงเป็นอันว่า ท่านพระสภิยะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์
ทั้งหลาย
สภิยสูตรที่ ๖ จบ

๗. เสลสูตร๑
ว่าด้วยเสลพราหมณ์
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป
เสด็จเที่ยวจาริกไปในอังคุตตราปชนบท เสด็จถึงอาปณนิคมของชาวอังคุตตราป-
ชนบท
เกณิยชฎิลได้สดับข่าวว่า “ได้ยินว่า พระสมณโคดมศากยบุตร เสด็จออก
ผนวชจากศากยตระกูลกำลังเสด็จจาริกอยู่ในอังคุตตราปชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เสด็จไปตามลำดับจนถึงอาปณนิคมแล้ว ท่านพระ-
โคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชา
และจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น ทรงรู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์

เชิงอรรถ :
๑ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๙๖-๓๙๙/๔๙๐-๕๐๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงประกาศให้ผู้อื่น
รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”

เกณิยชฎิลนิมนต์เสวยภัตตาหาร
หลังจากนั้น เกณิยชฎิลได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา
ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ
ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เกณิยชฎิลเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ครั้งนั้น
เกณิยชฎิลผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหาร
ของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อเกณิยชฎิลกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเขาดังนี้ว่า
“เกณิยะ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป แม้ท่านก็ยังเลื่อมใสในพวกพราหมณ์ยิ่งนัก”
แม้ครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดม
ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป ทั้งข้าพระองค์เป็นผู้เลื่อมใสในพวกพราหมณ์
ก็จริง ถึงอย่างนั้น ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของ
ข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเขาว่า “เกณิยะ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป
แม้ท่านก็ยังเลื่อมใสในพวกพราหมณ์ยิ่งนัก”
แม้ครั้งที่ ๓ เกณิยชฎิลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดม
ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป ทั้งข้าพระองค์เป็นผู้เลื่อมใสในพวกพราหมณ์
ก็จริง ถึงอย่างนั้น ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์
ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี เมื่อเกณิยชฎิลทราบอาการ
ที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่งเข้าไปสู่อาศรมของตนแล้วเรียก
พวกมิตร คนสนิท และญาติสาโลหิตมาบอกว่า “ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอแจ้ง
ให้ทราบว่า ข้าพเจ้าได้นิมนต์พระสมณโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหาร
เช้าวันพรุ่งนี้ จึงขอให้ท่านทั้งหลายสละแรงกายช่วยเหลือข้าพเจ้าด้วยเถิด” ชนเหล่านั้น
รับคำแล้ว บางพวกขุดที่ทำเตา บางพวกฝ่าฟืน บางพวกล้างถ้วยโถโอชาม บางพวก
จัดหาน้ำใช้น้ำฉัน บางพวกปูอาสนะ ส่วนเกณิยชฎิลลงมือตบแต่งโรงประรำพิธีเอง
ทีเดียว

เสลพราหมณ์ได้ฟังคำว่าพุทธะ
สมัยนั้น เสลพราหมณ์อาศัยอยู่ที่ป่าอาปณนิคม เป็นผู้มีความรู้จบไตรเพท
พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบท
และไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์ และการทำนายลักษณะมหาบุรุษ ทั้งยัง
เป็นอาจารย์สอนมนตร์แก่มาณพจำนวน ๓๐๐ คนอีกด้วย
สมัยนั้น เกณิยชฎิลก็เป็นผู้หนึ่งที่มีความเลื่อมใสในเสลพราหมณ์มาก ขณะนั้น
เสลพราหมณ์กำลังเดินพักผ่อนพร้อมกับมาณพ ๓๐๐ คนติดตามไปห่าง ๆ ผ่านไป
ทางอาศรมของเกณิยชฎิล ได้เห็นคนบางพวกกำลังขุดที่ทำเตา ฯลฯ บางพวกปู
อาสนะ ส่วนเกณิยชฎิลกำลังลงมือตบแต่งโรงประรำพิธีเองทีเดียว ครั้นเห็นดังนั้น
จึงกล่าวกับเกณิยชฎิลดังนี้ว่า “ท่านเกณิยะ จะมีพิธีอาวาหมงคล วิวาหมงคลหรือ
พิธีบูชามหายัญจะปรากฏแก่ท่าน หรือท่านได้ทูลเชิญพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
ให้เสด็จมาเสวยพระกระยาหารพร้อมกับข้าราชบริพารในเช้าวันพรุ่งนี้หรือ”
เกณิยชฎิลบอกว่า “ข้าแต่ท่านเสละ อาวาหมงคล วิวาหมงคลไม่มีแก่ข้าพเจ้า
ทั้งพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ข้าพเจ้าก็มิได้ทูลเชิญเสด็จมาเสวยพระกระยาหาร
พร้อมทั้งข้าราชบริพารในเช้าวันพรุ่งนี้เลย แต่พิธีมหายัญได้ปรากฏแก่ข้าพเจ้า
เนื่องจากพระสมณโคดมศากยบุตรผู้เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล กำลังเสด็จจาริก
ไปในอังคุตตราปชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เสด็จมา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
ตามลำดับจนถึงอาปณนิคมแล้ว ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีพระกิตติศัพท์อันงาม
ขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ข้าพเจ้าได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารในเช้าวันพรุ่งนี้”
เสลพราหมณ์ถามว่า “ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวคำว่า พุทธะ หรือ”
เกณิยชฎิลตอบว่า “ท่านเสละ ใช่ ข้าพเจ้ากล่าวคำว่า พุทธะ”
เสลพราหมณ์ถามย้ำอีกว่า “ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวคำว่า พุทธะ หรือ”
เกณิยชฎิลก็ตอบย้ำว่า “ท่านเสละ ใช่ ข้าพเจ้ากล่าวคำว่า พุทธะ”
ลำดับนั้น เสลพราหมณ์ได้คิดว่า “ว่าตามลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
ในคัมภีร์มนตร์ของพวกเราระบุว่า ‘แม้แต่เสียงประกาศ คือคำว่า พุทธะ นี้ก็หา
ได้ยากในโลก’ ซึ่งมหาบุรุษผู้ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ย่อมมี
คติ ๒ ประการเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
ถ้าอยู่ครองเรือนก็จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ปกครองแผ่นดินโดยธรรม
พระราชอำนาจแผ่ไปทั่วปฐพีมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะข้าศึกทั้ง
ภายในและภายนอก มีพระราชอาณาจักรมั่นคง ทรงสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นารีแก้ว คหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว
พระองค์มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ พระองค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีพระรูป
สง่างามสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถจะทำลายกองทัพข้าศึก พระองค์ทรงพิชิตชัยโดย
คุณธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ทรงครอบครองแผ่นดินนี้ ซึ่งมี
สมุทรสาครเป็นขอบเขต
ถ้าเสด็จออกจากเรือนผนวชเป็นบรรพชิต จะสำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก”
เสลพราหมณ์ถามว่า “ท่านเกณิยะ ขณะนี้ท่านพระโคดมผู้เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
เสลพราหมณ์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
เมื่อเสลพราหมณ์ถามอย่างนี้แล้ว เกณิยชฎิลได้ยกแขนขวาขึ้นได้กล่าวกับ
เสลพราหมณ์ดังนี้ว่า “ท่านเสละ ท่านจงเดินไปทางบริเวณทิวไม้สีเขียวนั้นเถิด”
เมื่อได้ฟังดังนั้น เสลพราหมณ์พร้อมทั้งมาณพ ๓๐๐ คน จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ พลางเรียกมาณพเหล่านั้นมาเตือนว่า “ท่านทั้งหลาย จงอย่า
ส่งเสียงดัง ค่อย ๆ เดินตามกันไปให้เป็นระเบียบ เพราะท่านผู้เจริญเหล่านั้นชอบอยู่
ตามลำพังดุจพญาราชสีห์ให้ยินดีได้ยาก อนึ่ง ขณะที่เรากำลังสนทนากับพระสมณ-
โคดม ขอพวกท่านอย่าพูดสอดแทรกขึ้น รอให้เราสนทนาจบเสียก่อน”
เมื่อตักเตือนศิษย์อย่างนี้แล้ว เสลพราหมณ์พาศิษย์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร พลางตรวจดูลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
ในพระวรกายพระผู้มีพระภาค ก็ได้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการในพระวรกาย
ของพระผู้มีพระภาคเป็นส่วนมาก เว้นอยู่เพียง ๒ ประการ จึงยังเคลือบแคลง สงสัย
ไม่มั่นใจ ไม่ยอมรับ ในลักษณะมหาบุรุษอีก ๒ ประการ คือ (๑) พระคุยหฐานที่
เร้นอยู่ในฝัก (๒) พระชิวหาที่ยาวยิ่ง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า “เสลพราหมณ์นี้เห็นลักษณะมหาบุรุษ
๓๒ ประการของเราเป็นส่วนมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ จึงยังเคลือบแคลง สงสัย
ไม่มั่นใจ ไม่ยอมรับในลักษณะมหาบุรุษอีก ๒ ประการ คือ (๑) พระคุยหฐานที่เร้นอยู่
ในฝัก (๒) พระชิวหาที่ยาวยิ่ง”
ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้เสลพราหมณ์ได้เห็น
พระคุยหฐานที่เร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้ง ๒
สลับกันไปมา แล้วทรงย้ายกลับมาสอดเข้าช่องพระนาสิกทั้งสองสลับกัน แล้วจึง
ทรงแผ่พระชิวหาปิดบริเวณพระนลาฏทั้งหมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
เสลพราหมณ์กับศิษย์กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท
เสลพราหมณ์คิดว่า “พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒
ประการบริบูรณ์ ไม่บกพร่อง แต่เรายังไม่ทราบว่าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าจริง
หรือไม่ เราเคยฟังคำของพราหมณ์ทั้งหลายผู้สูงวัย เป็นผู้ใหญ่ เป็นอาจารย์ต่อ ๆ
กันมา กล่าวสอนไว้ว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมแสดง
พระองค์ให้ปรากฏในเมื่อบุคคลกล่าวถึงคุณของพระองค์ อย่ากระนั้นเลย เราควร
ชมเชยพระสมณโคดมเฉพาะพระพักตร์เป็นคาถาที่เหมาะสม”
เมื่อคิดได้ดังนั้น เสลพราหมณ์จึงสดุดีพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาที่เหมาะสม
เฉพาะพระพักตร์ว่า
[๕๕๔] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เสด็จอุบัติมาดีแล้ว
มีพระวิริยภาพ มีพระวรกายสมบูรณ์
มีพระรัศมีเรืองงาม เป็นผู้น่าทัศนายิ่งนัก
มีพระฉวีวรรณเปล่งปลั่งดั่งทอง
มีพระเขี้ยวแก้วขาวสะอาด
[๕๕๕] เพราะพระลักษณะมหาบุรุษ
ที่มีปรากฏแก่มหาบุรุษนั้น
ย่อมมีปรากฏในพระวรกายของพระองค์อย่างครบถ้วน
[๕๕๖] พระองค์มีพระเนตรแจ่มใส มีพระพักตร์ผุดผ่อง
มีพระวรกายสูงใหญ่ตรง
มีพระเดช ทรงรุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางหมู่สมณะ
เหมือนดวงอาทิตย์รุ่งเรืองอยู่ ฉะนั้น
[๕๕๗] พระองค์เป็นภิกษุ มีคุณสมบัติงดงามน่าชม
มีพระฉวีวรรณผุดผ่องดั่งทอง
พระองค์มีพระวรรณะสูงส่งถึงเพียงนี้
จะเป็นสมณะไปทำไม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
[๕๕๘] พระองค์ควรเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ที่องอาจในหมู่พลรถ ทรงปราบปรามชนะไพรี
ทรงเป็นใหญ่ในภาคพื้นชมพูทวีป
ซึ่งมีสมุทรสาครทั้งสี่เป็นขอบเขต
[๕๕๙] ข้าแต่พระโคดม ขอเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมมนุษย์ตามพระราชประเพณี
ที่กษัตราธิราชโดยพระชาติได้เสวยราชย์
มีหมู่เสวกามาตย์เสด็จตามพระองค์เถิด
[๕๖๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
เสลพราหมณ์ เราเป็นพระราชาอยู่แล้ว
คือเป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม
ยังธรรมจักรที่ไม่มีใคร ๆ หมุนไปได้ ให้หมุนไปได้
[๕๖๑] (เสลพราหมณ์กราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงปฏิญญาว่า
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม
ทั้งยังตรัสยืนยันว่ายังธรรมจักรให้หมุนไปได้
[๕๖๒] ใครหนอเป็นเสนาบดีของพระองค์ผู้เจริญ
เป็นสาวกผู้ประพฤติตามเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ผู้เป็นศาสดา
ใครจะช่วยประกาศธรรมจักรที่พระองค์ทรงให้หมุนไปแล้วนี้ได้
[๕๖๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
เสลพราหมณ์ สารีบุตรผู้เกิดตามตถาคต
จะช่วยประกาศธรรมจักรที่ยอดเยี่ยม
ซึ่งเราให้หมุนไปแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
[๕๖๔] พราหมณ์ เราได้รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง
ได้เจริญธรรมที่ควรให้เจริญ
ได้ละธรรมที่ควรละได้แล้ว
เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า
[๕๖๕] พราหมณ์ ท่านจงขจัดความสงสัยในตัวเราเสีย
จงน้อมใจเชื่อเราเสียเถิด
การได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนือง ๆ
เป็นโอกาสที่หาได้ยาก
[๕๖๖] ผู้จะปรากฏเนือง ๆ ในโลก
ย่อมเป็นการหาได้ยาก
พราหมณ์ เรานั้น เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นหมอผ่าตัดลูกศรคือกิเลสชั้นเยี่ยม
[๕๖๗] เราเป็นผู้ประเสริฐสุด ไม่มีผู้เปรียบเทียบ
ย่ำยีมารและเสนามารได้
ควบคุมอมิตร๑ทั้งปวงไว้ในอำนาจ
ไม่มีภัยจากที่ไหน เบิกบานอยู่
[๕๖๘] (เสลพราหมณ์กล่าวดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระองค์
จงทรงใคร่ครวญคำของข้าพระองค์นี้
เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
เป็นหมอผ่าตัดลูกศรคือกิเลส
เป็นมหาวีระได้ตรัสไว้
เหมือนพญาราชสีห์บรรลือสีหนาทอยู่ในป่า

เชิงอรรถ :
๑ อมิตร ในที่นี้หมายถึงมาร ๕ คือ (๑) กิเลสมาร(มารคือกิเลส) (๒) ขันธมาร(มารคือเบญจขันธ์)
(๓) อภิสังขารมาร(มารคืออภิสังขาร) (๔) เทวปุตตมาร(มารคือเทพบุตร) (๕) มัจจุมาร(มารคือความตาย)
(ขุ.สุ.อ. ๒/๕๖๗/๒๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
[๕๖๙] ใครเห็นพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐสุด
ไม่มีผู้เปรียบเทียบ
ย่ำยีมารและเสนามารได้ จะไม่พึงเลื่อมใสเล่า
ถึงคนผู้เกิดในตระกูลต่ำก็ยังเลื่อมใส
[๕๗๐] ผู้ปรารถนาจะตามฉัน ก็เชิญมา
หรือผู้ที่ไม่ปรารถนา ก็เชิญกลับไป
ฉันจะบวชในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาประเสริฐนี้
[๕๗๑] (มาณพเหล่านั้นกล่าวดังนี้)
หากท่านอาจารย์ประทับใจคำสอน
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นนี้
แม้เราทั้งหลายก็จะบวช
ในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาประเสริฐ
[๕๗๒] พราหมณ์ ๓๐๐ คนนี้พากันประนมมือ ทูลขอบรรพชาว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย
จะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระองค์
[๕๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
เสละ พรหมจรรย์ เรากล่าวไว้ดีแล้ว
ผู้บรรลุจะเห็นได้เอง ให้ผลไม่จำกัดกาล
ในศาสนาที่มีการบรรพชาไม่ไร้ผล๑
เมื่อคนที่ไม่ประมาท หมั่นศึกษาอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๕๕๔-๕๗๓ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๑๘-๘๓๗/๔๗๖-๔๗๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
เสลพราหมณ์พร้อมทั้งบริวารได้รับการบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี
พระภาคแล้ว
ฝ่ายเกณิยชฎิล ครั้นคืนนั้นผ่านไป สั่งให้จัดของขบฉันอย่างประณีตไว้ในอาศรม
ของตนแล้วส่งคนไปกราบทูลภัตตกาลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ขณะนั้น เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร เสด็จไปยังอาศรมของเกณิยชฎิลแล้วประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูไว้
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
จากนั้น เกณิยชฎิลได้นำของขบฉันอันประณีต ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระ-
พุทธเจ้าเป็นประธานให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ
แล้วทรงวางพระหัตถ์ เกณิยชฎิลเลือกเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่งแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร

พระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิล
พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถาดังนี้
[๕๗๔] การบูชาไฟเป็นการบูชายัญอันประเสริฐ
ว่าด้วยเรื่องฉันท์ สาวิตรีฉันท์เป็นฉันท์อันดับแรก
พระราชาเป็นประมุขของมนุษย์ทั้งหลาย
สมุทรสาครเป็นศูนย์รวมแห่งแม่น้ำทั้งหลาย
[๕๗๕] ดาวนักษัตรทั้งหลาย มีดวงจันทร์เด่นสกาว
มวลความร้อนมีดวงอาทิตย์เป็นเจ้า
หมู่ชนผู้มุ่งแสวงบุญอยู่มีพระสงฆ์เท่านั้น
เป็นทางเจริญแห่งบุญแท้จริงของผู้บูชา
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้วก็เสด็จ
ลุกจากอาสนะจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
ต่อมา ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารจากไปอยู่เพียงลำพัง ไม่ประมาท
มีความเพียร อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็น
ที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ
ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
จึงเป็นอันว่า ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารได้เป็นพระอรหันต์
จำนวนหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ครั้งนั้น ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลด้วยคาถาว่า
[๕๗๖] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
ข้าพระองค์ทั้งหลายถึงพระองค์เป็นสรณะครบ ๘ วันนับจากวันนี้
จึงเป็นอันว่าข้าพระองค์ทั้งหลายฝึกฝนตนสำเร็จ
ในศาสนาของพระองค์ใช้เวลา ๗ วันเท่านั้น
[๕๗๗] พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า
เป็นพระศาสดา เป็นพระมุนีครอบงำมารได้
ทรงตัดอนุสัยกิเลสได้ ทรงข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสงสารได้แล้ว
ยังทรงช่วยหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามตามไปได้ด้วย
[๕๗๘] พระองค์ทรงล่วงพ้นอุปธิกิเลสได้
ทำลายอาสวะได้แล้ว ไม่มีอุปาทาน
ละความหวาดกลัวภัยได้ เหมือนพญาราชสีห์ไม่กลัวต่อหมู่เนื้อ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูข้อ ๕๕๑-๕๕๒ หน้า ๖๒๘-๖๒๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๘. สัลลสูตร
[๕๗๙] ภิกษุ ๓๐๐ รูปนี้ ยืนประนมมือกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแกล้วกล้า
ขอพระองค์โปรดเหยียดพระยุคลบาทออกมาเถิด
ขอเชิญท่านผู้ประเสริฐทั้งหลาย
ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระศาสดาเถิด
เสลสูตรที่ ๗ จบ

๘. สัลลสูตร
ว่าด้วยลูกศรคือกิเลส
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แก่อุบาสกคนหนึ่งผู้โศกเศร้าเพราะบุตรตาย
ด้วยพระคาถาดังนี้)
[๕๘๐] ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้
ไม่มีนิมิต๑ ใคร ๆ รู้ไม่ได้ ทั้งลำบาก
สั้นนิดเดียว และประกอบด้วยทุกข์
[๕๘๑] วิธีที่สัตว์ผู้เกิดมาแล้วจะไม่ตายย่อมไม่มี
แม้จะอยู่ไปจนถึงชรา ก็จะต้องถึงแก่ความตาย
เพราะสัตว์ทั้งหลายมีความตายอย่างนี้เป็นธรรมดา
[๕๘๒] สัตว์ที่เกิดมาแล้ว มีภัยจากความตายเป็นนิตย์
เหมือนผลไม้สุกแล้วมีภัยจากการหล่นไปในเวลาเช้า ฉะนั้น
[๕๘๓] ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำไว้ทั้งหมด
มีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีนิมิต หมายถึงไม่มีกิริยาอาการบ่งบอกว่าจะตาย (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๘๐/๒๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๘. สัลลสูตร
[๕๘๔] มนุษย์ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โง่ และฉลาด ทั้งหมด
ย่อมไปสู่อำนาจความตาย มีความตายรออยู่ข้างหน้า
[๕๘๕] เมื่อมนุษย์เหล่านั้นถูกความตายครอบงำอยู่
กำลังจะจากโลกนี้ไปสู่ปรโลก
บิดาก็ต้านทานบุตรไว้ไม่ได้
หรือหมู่ญาติก็ต้านทานญาติไว้ไม่ได้
[๕๘๖] เมื่อพวกญาติ กำลังเพ่งมองดูอยู่
รำพันกันเป็นอันมากอยู่นั่นแหละว่า จงดูสัตว์แต่ละตน ๆ
ถูกความตายนำไป เหมือนโคถูกนำไปฆ่า ฉะนั้น
[๕๘๗] สัตว์โลกถูกความแก่และความตายครอบงำอยู่อย่างนี้๑
เพราะฉะนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายทราบชัด
ความเป็นจริงของสัตว์โลกแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก
[๕๘๘] ท่านไม่รู้ทางของผู้มาหรือผู้ไป
เมื่อไม่เห็นที่สุดทั้ง ๒ นี้ ถึงจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์
[๕๘๙] หากผู้ที่หลงคร่ำครวญ เบียดเบียนตนอยู่
จะพึงนำประโยชน์อะไรมาได้บ้าง
บัณฑิตผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ก็จะพึงกระทำเช่นนั้นบ้าง๒
[๕๙๐] บุคคลจะได้รับความสงบใจ เพราะการร้องไห้
เพราะความเศร้าโศกก็หาไม่
ทุกข์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้นยิ่งขึ้น
และร่างกายของเขามีแต่จะซีดเซียวลง

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๕๘๒-๕๘๗ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๙/๑๔๒-๑๔๗, ขุ.ชา (แปล) ๒๘/๑๑๙/๒๐๑
๒ ดู ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๙๐/๓๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๘. สัลลสูตร
[๕๙๑] ผู้ที่เบียดเบียนตนเอง ย่อมจะซูบผอม ไม่ผ่องใส
สัตว์ทั้งหลายผู้ละไปสู่ปรโลก
หาคุ้มครองตนอยู่ด้วยการคร่ำครวญนั้นได้ไม่
ฉะนั้น การคร่ำครวญจึงเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์๑
[๕๙๒] ผู้ทอดถอนใจถึงคนที่ตายไปแล้วอยู่เสมอ
บรรเทาความเศร้าโศกไม่ได้
ตกอยู่ในอำนาจแห่งความเศร้าโศก
ย่อมได้รับทุกข์มากขึ้น
[๕๙๓] ท่านจงดูแม้คนเหล่าอื่นผู้ใกล้จะตายไปตามกรรม
และสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ผู้ตกอยู่ในอำนาจมัจจุราช
ต่างพากันดิ้นรนอยู่ทั้งนั้น
[๕๙๔] อาการใด ๆ ที่สัตว์ทั้งหลายสำคัญหมาย
อาการนั้น ๆ ย่อมแปรผันเป็นอื่นไป๒
การพลัดพรากจากกันและกันเช่นนี้ มีอยู่เป็นประจำ
ท่านจงพิจารณาดูความเป็นจริงของสัตว์โลกเถิด
[๕๙๕] บุคคลแม้จะดำรงชีวิตอยู่ถึง ๑๐๐ ปี
หรือเกินไปบ้างก็ตาม ก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ
และต้องละทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้แน่นอน
[๕๙๖] เพราะฉะนั้น บุคคลฟังธรรมเทศนาของพระอรหันต์แล้ว
เห็นคนล่วงลับดับชีวิตไป กำหนดรู้ว่าผู้ล่วงลับดับชีวิตไปนั้น
ไม่สามารถฟื้นคืนชีวิตอยู่ร่วมกับเราได้อีก
ควรกำจัดความคร่ำครวญ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๙๑/๓๖๙
๒ หมายถึงที่หวังไว้ว่า ‘ขอให้มีอายุยืน’ ก็กลับกลายเป็นสิ่งตรงข้ามคือตายไป และที่หวังไว้ว่า ‘ขอให้ไม่มีโรค’
ก็กลับกลายมีโรค เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๙๔/๒๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๕๙๗] ธีรชนผู้มีปัญญา ฉลาดปราชญ์เปรื่อง
ควรขจัดความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
เหมือนลมพัดนุ่นปลิวไป
เหมือนคนใช้น้ำดับไฟที่กำลังไหม้ลุกลาม ฉะนั้น
[๕๙๘] บุคคลผู้แสวงหาความสุขแก่ตน
ควรกำจัดความคร่ำครวญ ความทะยานอยาก
และโทมนัสของตน
ควรถอนลูกศรคือกิเลสของตน
[๕๙๙] บุคคลผู้ถอนลูกศรคือกิเลสได้แล้ว
เป็นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ถึงความสงบใจ ล่วงพ้นความเศร้าโศกได้ทั้งหมด
ไม่มีความเศร้าโศก ชื่อว่าดับกิเลสได้แล้ว
สัลลสูตรที่ ๘ จบ

๙. วาเสฏฐสูตร
ว่าด้วยวาเสฏฐมาณพทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนื้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้าน
อิจฉานังคละ สมัยนั้น พราหมณ์มหาศาลมีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก คือ จังกีพราหมณ์
ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุสโสณิพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์
และพราหมณมหาศาลมีชื่อเสียงอื่น ๆ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอิจฉานังคละ
ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพกำลังเดินเล่นพักผ่อน ระหว่างนั้น
ได้สนทนาถึงข้อความนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลชื่อว่าพราหมณ์ โดยวิธีอย่างไร”
ภารทวาชมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลที่เกิดมาดีทั้ง ๒ ฝ่าย คือ
ทั้งฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุรษ ไม่มีใคร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
จะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล เพื่อนเอ๋ย เพราะเหตุดังกล่าวมานี้
บุคคลนั้นจึงชื่อว่า พราหมณ์”
วาเสฏฐมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร
เพราะเหตุดังกล่าวมานี้จึงชื่อว่า พราหมณ์”
ภารทวาชมาณพไม่สามารถให้วาเสฏฐมาณพยอมรับเหตุผลของตนได้ ฝ่าย
วาเสฏฐมาณพก็ไม่สามารถให้ภารทวาชมาณพยอมรับเหตุผลของตนได้เช่นกัน
ลำดับนั้น วาเสฏฐมาณพได้กล่าวเชิงปรึกษากับภารทวาชมาณพว่า “ภารทวาชะ
เพื่อนรัก พระสมณโคดมศากยบุตรพระองค์นี้เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล ประทับ
อยู่ที่ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้านอิจฉานังคละ ก็ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์
อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ภารทวาชะเพื่อนรัก เราทั้งสองเข้าไปเฝ้าพระ
สมณโคดม ณ ที่ประทับกันเถิด แล้วเราจะทูลถามถึงเรื่องนี้กับพระองค์ จะได้จดจำ
ข้อความที่พระองค์ทรงพยากรณ์แก่เรา”
ภารทวาชมาณพรับคำวาเสฏฐมาณพว่า “อย่างนั้นก็ได้เพื่อน”
ต่อจากนั้น วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร วาเสฏฐมาณพได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคด้วยคาถาว่า
[๖๐๐] ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ได้รับยกย่อง
และรับรองจากอาจารย์ว่า เป็นผู้ได้ศึกษาจบไตรเพท
ข้าพระองค์เป็นหัวหน้าศิษย์ของโปกขรสาติพราหมณ์
ส่วนภารทวาชมาณพนี้เป็นหัวหน้าศิษย์ของตารุกขพราหมณ์
[๖๐๑] ข้าพระองค์ทั้งสอง ศึกษาจบไตรเพท
ตามที่อาจารย์ผู้แตกฉานอบรมสั่งสอน
เป็นผู้เข้าใจตัวบท ชำนาญไวยากรณ์
ในพระเวทเทียบเท่าอาจารย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๐๒] ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทั้งสองนั้นเกิดโต้เถียงกัน
ในเรื่องเหตุที่ทำให้บุคคลเป็นพราหมณ์
ภารทวาชมาณพกล่าวว่า
บุคคลเป็นพราหมณ์ เพราะชาติกำเนิด
ส่วนข้าพระองค์กล่าวว่า
บุคคลเป็นพราหมณ์ เพราะกรรม
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด
[๖๐๓] ข้าพระองค์ทั้งสองนั้นไม่สามารถตกลงกันได้
จึงพากันมาทูลถามพระองค์ผู้ทรงปรากฏพระนามว่า
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๖๐๔] ข้าพระองค์ทั้งสองประนมมือถวายนมัสการพระองค์
ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลก
เหมือนชนทั้งหลายประนมมือ
น้อมไหว้พระจันทร์วันเพ็ญโดยทั่วถึงกัน
[๖๐๕] ข้าพระองค์ทั้งสองขอทูลถามพระโคดมผู้มีพระจักษุ
ผู้เสด็จอุบัติดีแล้วในโลกว่า
บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด
หรือเพราะกรรมหนอ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกข้าพระองค์ทั้งสอง
ผู้ไม่รู้ให้รู้จักพราหมณ์ที่แท้จริงด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๖๐๖] วาเสฏฐะ เราจะพยากรณ์ถึงความพิสดาร
แห่งชาติกำเนิดของสัตว์ทั้งหลาย
ตามลำดับความเหมาะสมแก่เธอ
เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายมีชาติกำเนิดแตกต่างกันหลายเผ่าพันธุ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๐๗] เธอทั้งหลายย่อมรู้จักหญ้าและต้นไม้
แต่หญ้าและต้นไม้ก็ไม่ยอมรับว่าเป็นหญ้าเป็นต้นไม้
หญ้าและต้นไม้นั้นมีสัณฐานสำเร็จมาแต่กำเนิด
เพราะธรรมชาติของมันต่างกัน
[๖๐๘] ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักแมลง ตั๊กแตน
ตลอดจนถึงมดดำ มดแดง
สัตว์เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๐๙] เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์สี่เท้า ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่
สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๑๐] เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์เลื้อยคลาน
ที่ใช้ท้องแทนเท้า มีสันหลังยาว
สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๑๑] ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักปลา
และสัตว์น้ำประเภทอื่นที่เกิดเที่ยวหากินอยู่ในน้ำ
สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๑๒] ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์ปีกที่บินไปในอากาศ
สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๑๓] ในหมู่มนุษย์ ไม่มีรูปร่างสัณฐานแตกต่างกันไป
ตามกำเนิดมากมาย เหมือนกำเนิดของสัตว์เหล่านี้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๑๔] คือ ไม่มีการกำหนดว่า เป็นพราหมณ์ เป็นกษัตริย์เป็นต้น
ด้วยผม ศีรษะ ใบหู นัยน์ตา ใบหน้า จมูก ริมฝีปาก คิ้ว
[๖๑๕] คอ บ่า ท้อง หลัง สะโพก อก
ซอกอวัยวะ อวัยวะสืบพันธุ์
[๖๑๖] มือ เท้า นิ้วมือ เล็บ แข้ง ขาอ่อน
ผิวพรรณ หรือเสียง
ในหมู่มนุษย์จึงไม่มีรูปร่างสัณฐาน
แตกต่างกันตามกำเนิดมากมาย
เหมือนในกำเนิดอื่น ๆ เลย
[๖๑๗] ในหมู่มนุษย์ไม่มีลักษณะเฉพาะตัวในสรีระของแต่ละคน
และในหมู่มนุษย์ การเรียกชื่อต่างกันว่า พราหมณ์ กษัตริย์ เป็นต้น
ท่านบัญญัติเรียกเพียงโวหาร
[๖๑๘] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า ชาวนา ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๑๙] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพ
ด้วยการช่างฝีมืออันเป็นศิลปะต่าง ๆ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า ช่างศิลป์ ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๐] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า พ่อค้า ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๑] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพด้วยการรับใช้ผู้อื่น
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า คนรับใช้ ไม่เรียกว่า พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๒๒] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยการลักทรัพย์ผู้อื่นเลี้ยงชีพ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า โจร ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๓] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยลูกศรและศัสตราเลี้ยงชีพ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า ทหารอาชีพ ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๔] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพด้วยการเป็นปุโรหิต
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า ผู้เป็นที่เคารพบูชา ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๕] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามปกครองท้องถิ่นและแว่นแคว้น
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า พระราชา ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๖] ผู้ถือกำเนิดจากมารดา (ที่เป็นพราหมณ์)
เราไม่เรียกว่า พราหมณ์
เขาเป็นเพียงผู้ชื่อว่า โภวาที เท่านั้น
เขายังมีกิเลสเครื่องกังวล
แต่เราเรียกผู้ที่ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ไม่ถือมั่นเท่านั้นว่า พราหมณ์๑
[๖๒๗] ผู้ตัดสังโยชน์ได้หมดสิ้น ไม่สะดุ้ง
ผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องได้ ผู้ปราศจากโยคะ
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๘] ผู้ตัดชะเนาะ เชือกหนัง และเงื่อน
พร้อมทั้งสายรัดได้ ถอดลิ่มสลัก เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๓๙๖-๔๒๓ หน้า ๑๕๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๒๙] ผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นคำด่า
การฆ่า และการจองจำได้
มีขันติเป็นพลัง มีขันติเป็นกำลังพล
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๐] ผู้ไม่มักโกรธ มีศีล มีวัตร
ไม่มีตัณหาเครื่องฟูขึ้น ฝึกตนได้แล้ว
มีสรีระเป็นร่างกายสุดท้าย
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๑] ผู้ใดไม่ติดในกามทั้งหลาย
เหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่บนปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๓๒] ผู้ใดในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดความสิ้นทุกข์ของตน
ปลงภาระได้แล้ว ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๓๓] ผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เป็นนักปราชญ์
ฉลาดในทางและมิใช่ทาง
บรรลุประโยชน์สูงสุด
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๔] ผู้ไม่คลุกคลีกับคน ๒ จำพวก
คือ คฤหัสถ์ และบรรพชิต
ไม่มีความอาลัยเที่ยวไป มีความปรารถนาน้อย
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๕] ผู้ใดละวางโทษทัณฑ์ในสัตว์ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง และสัตว์ที่มั่นคง
ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่า
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๓๖] ผู้ไม่มุ่งร้ายในหมู่คนผู้มุ่งร้าย
ผู้สงบในหมู่คนผู้ชอบหาเรื่องใส่ตน
ผู้ไม่ถือมั่นในหมู่คนผู้ถือมั่น
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๗] ผู้ใดทำราคะ โทสะ โมหะ มานะ และมักขะให้ตกไป
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๓๘] ผู้กล่าวคำที่ไม่หยาบคาย สื่อความหมายได้
เป็นคำจริง ไม่เป็นเหตุให้ใคร ๆ ขัดเคือง
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๙] ผู้ใดในโลกนี้ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
ไม่ว่ายาวหรือสั้น เล็กหรือใหญ่ งามหรือไม่งาม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๐] ผู้ใดไม่มีความหวังในโลกนี้และโลกหน้า
ปราศจากความหวัง ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๑] ผู้ใดไม่มีความอาลัย หมดความสงสัยเพราะรู้ชัด
หยั่งลงสู่อมตะ บรรลุแล้ว
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๒] ผู้ใดในโลกนี้ละบุญและบาปทั้งสองได้
พ้นจากกิเลสเครื่องข้องได้ ไม่เศร้าหมอง
ปราศจากกิเลสดุจธุลี เป็นผู้บริสุทธิ์
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๓] ผู้บริสุทธิ์ดุจจันทร์แจ่ม
มีจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัว
เป็นผู้สิ้นความยินดีในภพ
เราเรียกว่า พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๔๔] ผู้ใดก้าวพ้นทางอ้อม๑ทางหล่ม๒
สงสาร และโมหะได้แล้ว
ข้ามไปถึงฝั่งแล้ว เจริญฌาน
ไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย
ดับเย็น เพราะไม่ถือมั่น
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๕] ผู้ใดในโลกนี้ละกามได้แล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นกามและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๖] ผู้ใดในโลกนี้ละตัณหาได้เด็ดขาด
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นตัณหาและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๗] ผู้ละกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของมนุษย์ได้๓
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นทิพย์ได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากโยคะทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๘] ผู้ละทั้งความยินดี๔ และความไม่ยินดี๕
เป็นผู้เยือกเย็น หมดอุปธิกิเลส

เชิงอรรถ :
๑ ทางอ้อม ในที่นี้หมายถึงราคะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๔๔/๒๙๙)
๒ ทางหล่ม ในที่นี้หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๔๔/๒๙๙)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๖๖ ในเล่มนี้
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๓ หน้า ๑๖๖ ในเล่มนี้
๕ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๑๖๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
ครอบงำโลกทั้งหมด เป็นผู้แกล้วกล้า
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๙] ผู้ใดรู้การจุติและการอุบัติ
ของสัตว์ทั้งหลายโดยประการทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ไม่ติดข้อง ไปดีแล้ว
และตรัสรู้แล้วว่า พราหมณ์
[๖๕๐] ผู้ใดมีคติที่เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์ก็รู้ไม่ได้
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นอรหันตขีณาสพว่า พราหมณ์
[๖๕๑] ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
หมดความยึดมั่นถือมั่นว่า พราหมณ์
[๖๕๒] ผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้แกล้วกล้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ชำนะแล้ว
ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ชำระแล้ว และผู้ตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๕๓] ผู้ใดระลึกอดีตชาติได้ เห็นสวรรค์และอบาย
บรรลุภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๕๔] อันที่จริง ชื่อและโคตรที่เขากำหนดให้กันนั้น
เป็นเพียงสมมติบัญญัติในโลก
ชื่อและโคตรปรากฏอยู่ได้เพราะรู้ตามกันมา
ญาติสาโลหิตกำหนดไว้ในการเกิดนั้น ๆ
[๖๕๕] ชื่อและโคตรที่กำหนดเรียกกันนี้
เป็นความเห็นที่ฝังแน่นอยู่ในใจมานานของคนผู้ไม่รู้ความจริง
เมื่อไม่รู้จึงกล่าวว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๕๖] บุคคลจะชื่อว่า เป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
จะชื่อว่ามิใช่พราหมณ์เพราะชาติกำเกิดก็หามิได้
แต่ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม
ชื่อว่ามิใช่พราหมณ์เพราะกรรม
[๖๕๗] บุคคลชื่อว่าเป็นชาวนาเพราะกรรม
ชื่อว่าเป็นช่างศิลป์ เป็นพ่อค้า เป็นคนรับใช้ ก็เพราะกรรม
[๖๕๘] ชื่อว่าเป็นโจร เป็นทหารอาชีพ เป็นปุโรหิต
แม้กระทั่งเป็นพระราชา ก็เพราะกรรมทั้งนั้น
[๖๕๙] บัณฑิตผู้มีปกติเห็นปฏิจจสมุปบาท
ฉลาดในกรรมและวิบาก
ย่อมเห็นกรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้
[๖๖๐] สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
หมู่สัตว์เป็นไปตามกรรม
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน
เปรียบเหมือนรถที่แล่นไปมีหมุดเป็นเครื่องตรึงไว้ ฉะนั้น
[๖๖๑] บุคคลจะเป็นพราหมณ์ ก็เพราะกรรมอันประเสริฐนี้
คือ ตบะ พรหมจรรย์ สัญญมะ ทมะ๑
กรรมอันประเสริฐนี้นำความเป็นพราหมณ์ที่สูงสุดมาให้
[๖๖๒] บุคคลสมบูรณ์ด้วยวิชชา ๓
มีความสงบ สิ้นภพใหม่แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ตบะ หมายถึงการสำรวมอินทรีย์ พรหมจรรย์ หมายถึงการประพฤติธรรมอันประเสริฐ สัญญมะ
หมายถึงมีศีล ทมะ หมายถึงมีปัญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๑/๓๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
บุคคลนั้นเป็นทั้งพรหม และท้าวสักกะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพได้
กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะ
ยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
วาเสฏฐสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. โกกาลิกสูตร๑
ว่าด้วยพระโกกาลิกะ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล โกกาลิกภิกษุเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาชั่ว
ลุอำนาจความปรารถนาชั่ว”
เมื่อโกกาลิกภิกษุกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับโกกาลิก-
ภิกษุดังนี้ว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจง
ทำจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีล
เป็นที่รัก”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๘๑/๒๔๘, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๘๙/๒๐๐-๒๐๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
แม้ครั้งที่ ๒ โกกาลิกภิกษุก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของข้าพระองค์ มีพระพุทธพจน์
ที่ข้าพระองค์เชื่อถือได้ก็จริง แต่ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นผู้มี
ความปรารถนาชั่ว ลุอำนาจความปรารถนาชั่ว”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับโกกาลิกภิกษุดังนี้ว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น
เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจงทำจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด
สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
แม้ครั้งที่ ๓ โกกาลิกภิกษุก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของข้าพระองค์ มีพระพุทธพจน์
ที่ข้าพระองค์เชื่อถือได้ก็จริง แต่ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นผู้มี
ความปรารถนาชั่ว ลุอำนาจความปรารถนาชั่ว”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับโกกาลิกภิกษุดังนี้ว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าว
อย่างนั้น เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจงทำจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะ
เถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
ครั้งนั้น โกกาลิกภิกษุลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำ
ประทักษิณแล้วจากไป
เมื่อโกกาลิกภิกษุจากไปไม่นาน ร่างกายก็มีตุ่มขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเกิด
ขึ้นทั่วร่าง ตุ่มเหล่านั้นโตเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด แล้วก็โตเท่าเมล็ดถั่วเขียว โตเท่า
เมล็ดถั่วดำ โตเท่าเมล็ดพุทรา โตเท่าเมล็ดกระเบา โตเท่าผลมะขามป้อม โตเท่า
ผลมะตูมอ่อน เท่าผลมะตูมแก่ แล้วก็แตกเยิ้ม หนองและเลือดไหลออกมา
โกกาลิกภิกษุเพราะทนพิษตุ่มแตกนั้นไม่ไหวจึงมรณภาพลงในขณะนั้น และเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
มรณภาพลงแล้วได้ไปเกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในท่านพระสารีบุตรและ
ท่านพระโมคคัลลานะ
ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๑ ท้าวสหัมบดีพรหมมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมี
ให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืน
อยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
โกกาลิกภิกษุมรณภาพแล้วไปเกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในท่านพระสารีบุตร
และท่านพระโมคคัลลานะ”
ท้าวสหัมบดีพรหมครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
กระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นแล
ครั้นคืนนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป ท้าวสหัมบดีพรหม ฯลฯ ภิกษุ
ทั้งหลาย ท้าวสหัมบดีพรหมครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็กระทำประทักษิณแล้วหายไป
ณ ที่นั้นแล”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้เแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ประมาณอายุในปทุมนรกนานเท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ ประมาณอายุในปทุมนรกนานมาก ประมาณ
อายุในปทุมนรกนั้น ยากที่จะนับได้ว่า ‘ประมาณเท่านี้ปี ประมาณ ๑๐๐ ปีเท่านี้
ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีเท่านี้ ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปีเท่านี้”
ภิกษุนั้นทูลถามอีกว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์พอจะยกอุปมาได้
หรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ได้ ภิกษุ” แล้วตรัสว่า “ภิกษุ หนึ่งเกวียน
เมล็ดงาของชาวโกศลมีอัตรา ๒๐ ขารี๑ ล่วงไปแล้ว ๑๐๐,๐๐๐ ปี บุรุษจึงนำ
เมล็ดงาออกจากเกวียนนั้น ๑ เมล็ด เมล็ดงาหนึ่งเกวียนของชาวโกศลซึ่งมีอัตรา
๒๐ ขารีนั้น จะพึงหมดไปโดยทำนองนี้เร็วกว่า แต่ว่า ๑ อัพพุทนรก๒หาหมด
ไปไม่ ๒๐ อัพพุทนรก เป็น ๑ นิรัพพุทนรก ๒๐ นิรัพพุทนรก เป็น ๑ อพพนรก
๒๐ อพพนรก เป็น ๑ อหหนรก ๒๐ อหหนรก เป็น ๑ อฏฏนรก ๒๐ อฏฏนรก
เป็น ๑ กุมุทนรก ๒๐ กุมุทนรก เป็น ๑ โสคันธิกนรก ๒๐ โสคันธิกนรก เป็น
๑ อุปปลกนรก ๒๐ อุปปลกนรก เป็น ๑ ปุณฑรีกนรก ๒๐ ปุณฑรีกนรก เป็น
๑ ปทุมนรก
ภิกษุ โกกาลิกภิกษุนี้เกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในสารีบุตรและ
โมคคัลลานะ”

เชิงอรรถ :
๑ ขารี เป็นชื่อมาตราตวงชนิดหนึ่งของอินเดียโบราณ มีลำดับมาตราดังนี้
๔ กุฑุวะ หรือปสตะ(ฟายมือ) เป็น ๑ ปัตถะ (กอบ)
๔ ปัตถะ เป็น ๑ อาฬหกะ
๔ อาฬหกะ เป็น ๑ โทณะ
๔ โทณะ เป็น ๑ มาณิกา
๔ มาณิกา เป็น ๑ ขารี
๒๐ ขารี เป็น ๑ เกวียน
(ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๒/๓๐๗, อภิธา. ฏีกา คาถา ๔๘๐-๔๙๔)
๒ อัพพุทนรก นิรัพพุทนรก อพพนรก อหหนรก อฏฏนรก กุมุทนรก โสคันธิกนรก อุปปลกนรก ปุณฑรีกนรก
ปทุมนรก ทั้งหมดนี้อยู่ในอเวจีมหานรก เป็นนรกเล็กอยู่ในนรกใหญ่ ไม่มีภูมิเป็นของตนเอง แต่เป็นที่ซึ่ง
สัตว์จะต้องรับกรรม เช่น อัพพุทนรก เป็นสถานที่ทรมานสัตว์โดยการนับชิ้นเนื้อเป็นเครื่องบอกระยะ
เวลาในการทรมานสัตว์ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๘๙/๓๖๖, ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๒/๓๐๗)
อนึ่ง นรกเหล่านี้ปรากฏชื่อตามจำนวนสังขยา อรรถกถาให้นัยไว้ว่า นรกเหล่านี้มีวิธีนับระยะเวลาปี
ของอัพพุทนรกเป็นตัวอย่างดังนี้ คือ
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ปี เป็น ๑ โกฏิ-ปี
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ โกฏิ-ปี เป็น ๑ ปโกฏิ-ปี
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ปโกฏิ-ปี เป็น ๑ โกฏิปโกฏิ-ปี
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ โกฏิปโกฏิ-ปี เป็น ๑ นหุต-ปี
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ นหุต-ปี เป็น ๑ นินนหุต-ปี
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ นินนหุต-ปี เป็น ๑ อัพพุทะ-ปี
ต่อจากอัพพุทะไปใช้ ๑ x ๒๐ เช่น ๒๐ อัพพุทะ (๑ อัพพุทะ x ๒๐) ได้เท่ากับ ๑ นิรัพพุทะ เป็นต้น
(ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๒/๓๐๗, กัจ. ๕/๘/๓๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๖๖๓] ผรุสวาจา(คำหยาบ)เป็นเหมือนผึ่ง๑
เครื่องตัดตนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว
ย่อมเกิดที่ปากของคนพาล
[๖๖๔] ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรติเตียน
หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าสั่งสมความผิดไว้ด้วยปาก
ย่อมไม่ประสบความสุข เพราะความผิดนั้น
[๖๖๕] การปราชัยด้วยทรัพย์
ในการเล่นการพนันจนหมดตัวนี้
เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย
แต่การที่บุคคลมีใจประทุษร้าย
ในบุคคลผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้เท่านั้น
เป็นความผิดมากกว่า
[๖๖๖] บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจอันชั่ว
ติเตียนพระอริยะย่อมเข้าถึงนรก
สิ้น ๑๓๖,๐๐๐ นิรัพพุทกัป
กับอีก ๕ อัพพุทกัป
[๖๖๗] คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
‘ฉันไม่ได้ทำ’ ต่างก็ตกนรก๒

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ผึ่ง” หมายถึงชื่อเครื่องมือสำหรับถากไม้ชนิดหนึ่ง รูปคล้ายจอบ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตย-
สถาน พ.ศ.๒๕๒๕)
๒ ดู ธรรมบท ข้อ ๓๐๖ หน้า ๑๒๘, อุทาน ข้อ ๓๘ หน้า ๒๔๘, อิติวุตตกะ ข้อ ๔๘ หน้า ๓๙๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
คน ๒ จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้วมีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า
[๖๖๘] บุคคลใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย
เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้
ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลม ฉะนั้น๑
[๖๖๙] ผู้หมกมุ่นในความโลภต่าง ๆ ไม่มีศรัทธา
มีนิสัยหยาบกระด้าง ไม่รู้พุทธพจน์
มีความตระหนี่ ชอบพูดส่อเสียด
ย่อมใช้วาจากล่าวร้ายผู้อื่น
[๖๗๐] โกกาลิกะผู้มีปากเป็นหล่ม ชอบพูดเท็จ
ไม่ใช่คนดี ชอบกำจัดความเจริญของตน
เป็นคนชั่ว ชอบทำแต่กรรมชั่ว
เป็นคนต่ำช้า เป็นคนอาภัพ เป็นอวชาตบุตร
เธออย่าพูดมากในที่นี้ อย่าต้องเป็นสัตว์นรกเลย
[๖๗๑] เธอย่อมเกลี่ยธุลีคือกิเลสลงใส่ตน
ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองเลย
เธอชอบทำกรรมหยาบช้าแล้ว ยังติเตียนสัตบุรุษ
เธอประพฤติทุจริตมากมาย
ต้องไปเกิดในมหานรกเป็นเวลายาวนานแน่นอน
[๖๗๒] กรรม๒ของใคร ๆ ย่อมไม่สูญหายไปไหน
เขาต้องได้รับผลกรรมนั้น และเป็นเจ้าของกรรมนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบท ข้อ ๑๒๕ หน้า ๗๐ ในเล่มนี้
๒ กรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรม และอกุศลกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๗๒/๓๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
คนโง่เขลาผู้ชอบทำกรรมชั่วหยาบ
จะประสบทุกข์ที่ตนได้รับในปรโลก
[๖๗๓] ผู้ทำกรรมชั่วย่อมเข้าถึงสถานที่ที่นายนิรยบาล
เอาขอเหล็กอันคมกริบมาเกี่ยวไว้
ถูกหลาวเหล็กอันคมกริบเสียบไว้
และมีก้อนเหล็กแดงโชติช่วงเป็นอาหาร
ตามสมควรแก่ความชั่ว ตามสมควรแก่กรรมชั่วที่ตนทำไว้
[๖๗๔] นายนิรยบาลทั้งหลายเมื่อพูดกับสัตว์นรก ก็พูดไม่ไพเราะ
สัตว์นรกเหล่านั้นจะวิ่งหนีไปก็ไม่ได้
จะเข้าไปขอความช่วยเหลือก็ไม่ได้
จึงนอนอยู่บนถ่านเพลิงอันลาดไว้
เข้าไปสู่กองไฟอันลุกโพลง
[๖๗๕] นายนิรยบาลเอาข่ายเหล็กพันสัตว์นรก
แล้วทุบด้วยฆ้อนเหล็กในที่นั้น ๆ
สัตว์นรกทั้งหลายเข้าไปสู่นรกหมอกควันที่มืดทึบ
ซึ่งปกคลุมอบอวลไปทั่วดุจกลุ่มหมอก
[๖๗๖] ต่อจากนั้น สัตว์นรกเหล่านั้น
ก็เข้าไปสู่โลหกุมภีนรกที่มีเปลวไฟลุกโพลง
ลอยวนขึ้นลงพร้อมกับถูกไฟไหม้อยู่
ในหม้อเหล็กที่ติดไฟลุกนั้นเป็นเวลานานแสนนาน
[๖๗๗] สัตว์นรกผู้ทำกรรมชั่วหยาบไว้ประจำ
จะพลิกหนีไปทางทิศใด ๆ
ก็ถูกไฟตามเผาไหม้อยู่
ในหม้อเหล็กร้อนแดงที่ปนด้วยหนองและเลือด
ได้รับทุกข์ระกำลำบาก
ซ้ำยังแปดเปื้อนหนองและเลือดอยู่ในโลหกุมภีนรกนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
[๖๗๘] สัตว์นรกผู้ทำกรรมชั่วหยาบไว้ประจำ
ย่อมหมกไหม้อยู่ในน้ำที่มีหมู่หนอนยั้วเยี้ยในโลหกุมภี
นรกแต่ละขุมนั้น ๆ ไม่มีฝั่งที่จะให้ขึ้นอาศัยเลย
เพราะมีกระทะครอบอยู่อย่างมิดชิดรอบทุกทิศ
[๖๗๙] ยังมีป่าไม้ที่มีใบคม เหมือนดาบขึ้นอยู่ทั่วไป
ซึ่งพวกสัตว์นรกเข้าไปก็จะถูกตัดลำตัวขาดทันที
นายนิรยบาลก็จะเอาเบ็ดเกี่ยวลิ้น
ทรมานด้วยการดึงออกมาเรื่อย ๆ
[๖๘๐] ต่อจากนั้น สัตว์นรกนั้นต้องตกนรกน้ำกรดซึ่งเป็นแอ่ง
ถูกคมมีดโกนคมกริบกรีดตามตัว
สัตว์ที่โง่เขลาชอบทำบาปไว้มาก
จึงต้องตกลงไปบนคมมีดโกนนั้น
[๖๘๑] เพราะได้เคยก่อกรรมทำเข็ญไว้
สัตว์นรกจึงถูกสุนัขดำด่าง
และสุนัขจิ้งจอกรุมทึ้งกัดกิน ร้องคร่ำครวญอยู่ในที่นั้น ๆ
ซ้ำยังถูกฝูงแร้ง กา และนกตะกรุมรุมทึ้งจิกกินอีก
[๖๘๒] คนผู้ชอบทำกรรมชั่วหยาบเป็นประจำ ต้องรู้แก่ใจว่า
การดำรงอยู่ในนรกนี้ทุกข์ยากลำบากจริง ๆ
เพราะฉะนั้น นรชนจึงควรรีบทำกิจที่ควรทำแต่ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่นี้
และไม่ควรประมาท
[๖๘๓] เกวียนบรรทุกงาที่ผู้รู้ทั้งหลายนับคำนวณ
แล้วนำเข้าไปเปรียบกับอายุสัตว์ที่เกิดในปทุมนรก
ก็ได้เท่ากับ ๕๑,๒๐๐ โกฏิ
[๖๘๔] สัตว์นรกทั้งหลาย ต้องอยู่ในนรกซึ่งมีทุกข์มากมาย
ตามที่เรากล่าวไว้ในที่นี้ ตลอดระยะเวลายาวนาน
เพราะฉะนั้น บุคคลควรกำหนดรักษาวาจาใจให้เป็นปกติ
ในท่านผู้บริสุทธิ์ มีศีลเป็นที่รัก และมีคุณงามความดี
โกกาลิกสูตรที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
๑๑. นาลกสูตร
ว่าด้วยนาลกดาบสทูลถามปัญหา
[๖๘๕] อสิตฤๅษีอยู่ในที่พักกลางวัน ได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ
และทวยเทพชั้นดาวดึงส์มีใจชื่นชมโสมนัส
ยกผ้าทิพย์ขึ้นชมเชยอยู่มิได้ขาด
ณ ที่สถิตอันสะอาด
[๖๘๖] ครั้นเห็นแล้วจึงทำความนอบน้อม
พลางถามเทวดาทั้งหลายผู้มีใจเบิกบานในที่นั้นว่า
เพราะเหตุไร ทวยเทพจึงดีใจอย่างล้นเหลือ
เพราะอาศัยอะไร ท่านทั้งหลายจึงยกผ้าทิพย์ขึ้นแล้วรื่นเริงอยู่เช่นนี้
[๖๘๗] แม้คราวที่เกิดสงครามกับพวกอสูร ทวยเทพได้ชัยชนะ
เหล่าอสูรปราชัย อาการดีใจขนลุกขนพองสยองเกล้าเช่นนี้ก็มิได้มี
เทวดาทั้งหลายได้เห็นเหตุอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน
จึงพากันเบิกบานสำราญใจมากมายเช่นนี้
[๖๘๘] ทวยเทพเปล่งเสียงชมเชยขับร้องบรรเลงดนตรี
ปรบมือฟ้อนรำกันอยู่
ข้าพเจ้าขอถามท่านทั้งหลายผู้อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุว่า
ท่านผู้ไร้ทุกข์ทั้งหลาย
ขอพวกท่านจงช่วยกันขจัดความสงสัยของข้าพเจ้า
ให้สิ้นไปโดยเร็วเถิด
(เทวดาทั้งหลายกล่าวตอบดังนี้)
[๖๘๙] พระโพธิสัตว์ผู้เป็นรัตนะอันประเสริฐ ไม่มีผู้เปรียบเทียบ
ได้บังเกิดแล้วในมนุษยโลก ที่ป่าลุมพินีวัน
ในคามชนบทของเจ้าศากยะทั้งหลาย
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข
เพราะเหตุนั้น เราทั้งหลายจึงพากันยินดีเบิกบานใจอย่างล้นเหลือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๖๙๐] พระโพธิสัตว์นั้น เป็นบุคคลผู้เลิศเป็นผู้สูงสุดในสรรพสัตว์
เป็นนรชนผู้องอาจ ประเสริฐสูงสุดในหมู่สัตว์ทั้งปวง
จะทรงประกาศธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนะ
เปรียบเหมือนพญาราชสีห์ มีกำลัง
มีอำนาจเหนือหมู่เนื้อบันลือสีหนาทอยู่
[๖๙๑] อสิตฤๅษีนั้นฟังเสียงของเทวดานั้นแล้ว
จึงรีบลงเข้าไปสู่ที่ประทับของพระเจ้าสุทโธทนะ ณ เวลานั้นทันที
ครั้นนั่งแล้วได้ทูลถามเจ้าศากยะทั้งหลายในที่นั้นว่า
พระกุมารประทับอยู่ที่ไหน อาตมภาพประสงค์จะเฝ้า
[๖๙๒] ลำดับนั้น เจ้าศากยะทั้งหลาย
ได้ทรงนำพระกุมาร ผู้ทรงเปล่งปลั่งดังทอง
ที่ปากเบ้าซึ่งช่างทองผู้ชำนาญหลอมดีแล้ว
ทรงรุ่งเรืองยิ่งด้วยพระสิริ มีพระฉวีวรรณผุดผ่อง
เป็นพระโอรสผู้ประเสริฐ
ออกมาให้อสิตฤๅษีเฝ้าชมพระบารมี
[๖๙๓] อสิตฤๅษีได้เห็นพระกุมารผู้ทรงรุ่งเรืองดังเปลวไฟ
เหมือนดวงจันทร์เพ็ญลอยเด่นในนภากาศ
มีแสงพราวกว่าหมู่ดาว
ดุจดวงอาทิตย์พ้นจากเมฆแผดแสงอยู่ในสารทกาล
จึงเกิดความยินดี ได้รับปีติไพบูลย์
[๖๙๔] ทวยเทพกั้นเศวตฉัตร มีซี่มากมาย
ประกอบด้วยชั้น ๑,๐๐๐ ชั้น ไว้ในนภากาศ
จามรด้ามทองทั้งหลาย โบกไปมาอยู่
แต่ผู้ถือจามรและเศวตฉัตรไม่ปรากฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๖๙๕] ฤๅษีเกล้าชฎา นามว่ากัณหสิริ
ได้เห็นพระกุมารงามดุจแท่งทองบนผ้ากัมพลแดง
และเศวตฉัตรที่กั้นอยู่บนพระเศียร
ก็มีจิตเบิกบาน ดีใจพลางช้อนอุ้มพระกุมารไว้แนบกาย
[๖๙๖] พออุ้มพระกุมารผู้ประเสริฐไว้แล้ว
อสิตฤๅษีผู้เรียนจบลักษณะมนตร์
ก็ตรวจพิจารณาลักษณะ
มีจิตเลื่อมใส ได้เปล่งวาจาว่า
พระกุมารนี้ไม่มีผู้อื่นเยี่ยมกว่า
เป็นผู้สุงสุดในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า
[๖๙๗] ครั้นแล้ว อสิตฤๅษีหวนระลึกถึงการที่ตนต้องไปเกิด
ก็ระทมใจจนน้ำตาไหล
ซึ่งเจ้าศากยะทั้งหลายได้ทอดพระเนตรเห็นฤๅษีร้องไห้เช่นนั้น
จึงตรัสถามว่า พระกุมารจะมีอันตรายหรืออย่างไร
[๖๙๘] อสิตฤๅษีได้ทูลเจ้าศากยะทั้งหลาย
ผู้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว ไม่ทรงสบายพระทัยว่า
ไม่ใช่อาตมภาพระลึกถึงสิ่งที่เป็นอัปปมงคลในพระกุมาร
และก็ไม่ใช่พระกุมารนั้นจะทรงมีอันตราย
พระกุมารนี้ไม่เป็นผู้ต่ำต้อยเลย
ขอมหาบพิตรทั้งหลายจงสบายพระทัยเถิด
[๖๙๙] พระกุมารนี้จะทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
จะทรงเห็นนิพพานที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง
จะทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน
จักประกาศธรรมจักร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
พรหมจรรย์๑ของพระกุมารนี้
จะเผยแผ่ขจรไปอย่างกว้างขวาง
[๗๐๐] แต่อายุของอาตมภาพเหลืออยู่ในโลกนี้ไม่นาน
อาตมภาพจะต้องมรณภาพไปในระหว่างนี้
อาตมภาพนั้นจะไม่ได้สดับธรรมของพระกุมาร
ผู้ทรงมีความเพียรหาผู้เสมอเหมือนมิได้
เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงเร่าร้อนถึงความพินาศ ทุกข์ใจ
[๗๐๑] อสิตฤๅษีนั้นทูลให้เจ้าศากยะทั้งหลาย
เกิดความปีติเป็นล้นพ้นแล้ว
จึงออกจากพระราชวังไปบำเพ็ญพรหมจรรย์ต่อไป
พร้อมกับอนุเคราะห์หลานของตนเอง
ฝึกให้เขาสมาทานในธรรมของพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงมีความเพียรหาผู้เสมอเหมือนมิได้
[๗๐๒] กล่าวสอนว่า ต่อไปภายหน้า
เจ้าได้ยินเสียงระบือไปว่า พระพุทธเจ้า
พระสิทธัตถราชกุมารนี้ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว
กำลังทรงเผยแผ่ทางดำเนินสู่อมตธรรม
เจ้าจงไปทูลสอบถามด้วยตนเองในสำนักของพระองค์
จงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด
[๗๐๓] นาลกดาบสสั่งสมบุญไว้มาก
ได้รับคำพร่ำสอนจากอสิตฤๅษี
ผู้มีใจเกื้อกูล มีจิตมั่นคง
ซึ่งเป็นผู้เห็นนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่งในอนาคต
จึงเฝ้ารักษาโสตินทรีย์ รอคอยพระชินสีห์อยู่

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงศาสนา (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๙๙/๓๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๗๐๔] นาลกดาบสได้ฟังเสียงระบือถึงการที่พระชินสีห์
ทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ
จึงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ องอาจกว่าฤๅษี
แล้วเลื่อมใส ได้ทูลถามปฏิปทาที่ประเสริฐสุดกับพระมุนีผู้ประเสริฐ
ในเมื่อเวลาคำสั่งสอนของอสิตฤๅษีมาถึงเข้า
วัตถุคาถา จบ

(นาลกดาบสทูลถามดังนี้)
[๗๐๕] ข้าแต่พระโคดม คำของอสิตฤๅษีนั้น
ข้าพระองค์ได้รู้ว่า เป็นจริงตามที่กล่าวแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
[๗๐๖] พระองค์ผู้อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอจงตรัสบอกมุนีและปฏิปทาอันสูงสุดของมุนีแห่งบรรพชิต
ผู้แสวงหาการเที่ยวไปเพื่อภิกษา แก่ข้าพระองค์เถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๗๐๗] เราจักพยากรณ์ปฏิปทาของมุนีที่ปฏิบัติได้ยาก
ทั้งให้เกิดความยินดีได้ยากแก่เธอ
เอาเถิด เราจะบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่เธอ
เธอจงช่วยเหลือตนเอง จงเป็นผู้มั่นคงเถิด
[๗๐๘] มุนีพึงทำทั้งคำด่าและการกราบไหว้
ในหมู่บ้านให้มีส่วนเสมอกัน
คือพึงรักษาจิตไม่ให้คิดร้าย เป็นผู้สงบ
ไม่ฟุ้งซ่านเที่ยวไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๗๐๙] อารมณ์สู่งต่ำ๑เปรียบเหมือนเปลวไฟในป่าย่อมปรากฏ
นารีมักประเล้าประโลมมุนี
เธอจงระวังอย่าให้นางประเล้าประโลมได้
[๗๑๐] มุนีพึงงดเว้นจากเมถุนธรรม
ละกามคุณทั้งที่ประณีตและไม่ประณีต
ไม่ยินดียินร้ายในสัตว์ผู้ยังหวาดสะดุ้งและที่มั่นคง
[๗๑๑] มุนีพึงทำตนให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด
สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น
สัตว์เหล่านี้ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว
ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า
[๗๑๒] มุนีละความปรารถนาและความโลภในปัจจัย ๔
ที่ปุถุชนพากันหลงยึดติดได้แล้ว เป็นผู้มีจักษุ
ปฏิบัติปฏิปทาของมุนี
ก็จะข้ามพ้นความทะยานอยากในปัจจัยซึ่งเป็นดุจเหวลึกนี้ได้
[๗๑๓] มุนีควรเป็นผู้มีท้องพร่อง ฉันอาหารแต่พอประมาณ
มีความปรารถนาน้อย ปราศจากความละโมบ
หมดความกระหายหิวด้วยความอยาก ไม่มีความอยากอีกต่อไป
ดับความเร่าร้อนได้ตลอดกาล

เชิงอรรถ :
๑ อารมณ์สูงต่ำ หมายถึงอิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่น่าปรารถนา) และอนิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) (ขุ.สุ.อ.
๒/๗๐๙/๓๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๗๑๔] มุนีนั้นเที่ยวรับบิณฑบาตแล้ว ควรเข้าไปชายป่าทันที
ยืนหรือนั่งที่โคนต้นไม้ชายป่านั้น
[๗๑๕] มุนีนั้นควรจะขวนขวายในฌาน ทรงปัญญา
ยินดีอยู่เฉพาะในชายป่า
ควรเพ่งพินิจ ทำตนให้ยินดียิ่ง ณ โคนต้นไม้นั้น
[๗๑๖] จากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว
มุนีควรเข้าไปสู่บริเวณหมู่บ้าน
ไม่ควรยินดีรับนิมนต์ฉันที่เรือน
และอาหารที่เขานำมาจากบ้านถวายเจาะจง
[๗๑๗] มุนีเข้าไปถึงหมู่บ้านแล้ว
ไม่ควรรีบร้อนเข้าไปเรือนตระกูลอุปัฏฐาก
เป็นผู้ตัดการพูดคุย ไม่ควรกล่าววาจาเกี่ยวกับการแสวงหาของกิน
[๗๑๘] มุนีนั้นคิดว่า สิ่งที่เราได้แล้วล้วนแต่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น
ถึงไม่ได้ก็ดี ดังนี้แล้ว
เป็นผู้คงที่ เพราะการได้เและไม่ได้ทั้ง ๒ อย่างนั้น
กลับเข้าไปยังที่อยู่ของตน
เหมือนคนหาผลไม้เข้าไปยังต้นไม้ ฉะนั้น
[๗๑๙] มุนีนั้นอุ้มบาตรเที่ยวไป
ไม่เป็นใบ้ก็สมมติตนว่าเป็นใบ้
ไม่ควรดูหมิ่นทานว่าน้อย
ไม่ควรดูแคลนทายกผู้ให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๗๒๐] ปฏิปทา๑ที่พระสมณะประกาศแล้ว มีทั้งสูงและต่ำ๒
มุนีผู้ปฏิบัติจะไปถึงฝั่งถึง ๒ ครั้งหามิได้๓
ฝั่งนี้ ผู้ปฏิบัติรู้ได้ครั้งเดียว ก็หามิได้๔
[๗๒๑] อนึ่ง มุนีเป็นภิกษุซึ่งตัดกระแสขาดแล้ว
ไม่มีตัณหาซ่านไป ละกิจน้อยใหญ่ได้แล้ว
ย่อมไม่มีความเร่าร้อน๕
[๗๒๒] เราจะพยากรณ์ปฏิปทาของมุนีให้เธอทราบต่อไปคือ
ภิกษุผู้ปฏิบัติควรเป็นผู้มีคมมีดโกนเป็นเครื่องเปรียบ
กดเพดานไว้ด้วยลิ้น สำรวมท้อง
[๗๒๓] ควรเป็นผู้มีจิตไม่ท้อแท้ และไม่ควรครุ่นคิดกังวลมาก
เป็นผู้หมดกลิ่นสาบ๖ ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
มีพรหมจรรย์เป็นจุดหมาย

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิปทา หมายถึงประเภทของการปฏิบัติ มี ๔ อย่าง คือ (๑) ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก
และรู้ได้ช้า) (๒) ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา(ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว) (๓) สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา
(ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า) (๔) สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา(ปฏิบัติสะดวก และรู้ได้เร็ว) (องฺ.จตุกฺก. (แปล)
๒๑/๑๖๑-๑๖๓/๒๒๖-๒๓๐)
๒ มีทั้งสูงและต่ำ หมายถึงปฏิปทาสูง คือ ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา และสุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
ส่วนปฏิปทาต่ำ คือ ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา และสุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๐/๓๓๐)
๓ หมายถึงมุนีไม่สามารถบรรลุนิพพานถึง ๒ ครั้งได้ ข้อความนี้แสดงถึงภาวะที่ไม่มีความเสื่อม กล่าวคือ
กิเลสเหล่าใดที่ละได้แล้ว ก็ไม่ต้องกลับไปละกิเลสเหล่านั้นซ้ำอีก (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๐/๓๓๐)
๔ ข้อความนี้แสดงภาวะที่ละกิเลสด้วยมรรคนั้น ๆ ตามลำดับถึงอรหัตตมรรค มิใช่ละกิเลสทั้งหมดด้วยมรรค
ใดมรรคหนึ่ง (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๐/๓๓๐) และดู อภิ.ก. ๓๗/๒๖๕/๔๗๔
๕ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๔/๒๗๐
๖ กลิ่นสาบ หมายถึงความโกรธ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๔/๑๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๗๒๔] พึงฝึกฝนเพื่อการนั่งสงบผู้เดียว
และเพื่อบำเพ็ญจิตภาวนาของสมณะ
ความเป็นมุนีที่เราบอกไว้แล้วโดยส่วนเดียว
หากเธอจักยินดีอยู่ผู้เดียว
เธอก็จักปรากฏเกียรติคุณไปทั่ว ๑๐ ทิศ
[๗๒๕] เธอได้ฟังเสียงสรรเสริญของนักปราชญ์ทั้งหลาย
ผู้เพ่งพินิจอยู่ ตัดขาดจากกามแล้ว
ต่อจากนั้น ควรทำหิริและศรัทธาให้ยิ่งขึ้น
จึงนับว่าเป็นสาวกของเราได้
[๗๒๖] เธอจะเข้าใจคำที่เรากล่าวแล้วนั้นได้แจ่มแจ้ง
ด้วยการเปรียบเทียบแม้น้ำกับลำคลอง และหนองบึง คือ
แม่น้ำน้อยไหลดังสนั่น
แม่น้ำสายใหญ่ๆ ไหลเงียบสงบ
[๗๒๗] สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง
สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นเงียบ
คนพาลเปรียบได้กับหม้อน้ำที่มีน้ำเพียงครึ่งเดียว
บัณฑิตเปรียบได้กับห้วงน้ำที่เต็มเปี่ยม
[๗๒๘] พระสมณพุทธเจ้าทรงรู้จักถ้อยคำที่จะตรัสให้มากว่า
มีสาระประกอบด้วยประโยชน์ จึงทรงแสดงธรรม
พระองค์ทรงรู้อยู่จึงตรัสได้มาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๒๙] อนึ่ง สมณะใดรู้แจ้งธรรม
สำรวมจิตของตนได้ ไม่กล่าวมากทั้งที่รู้
สมณะนั้นชื่อว่าเป็นมุนี
ย่อมควรแก่ปฏิปทาของมุนี
สมณะนั้นเป็นมุนีได้บรรลุปฏิปทาของมุนี๑แล้ว
นาลกสูตรที่ ๑๑ จบ

๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเห็นธรรมเป็นคู่
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา-
มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นเป็นคืนวันเพ็ญ เป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งกลางแจ้งมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ทอดพระเนตรเห็นภิกษุ-
สงฆ์สงบนิ่งจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การฟังกุศลธรรมที่เป็นของ
พระอริยะ เป็นเครื่องนำออกจากโลก เป็นเหตุให้ดำเนินไปสู่ความตรัสรู้ จะมี
ประโยชน์อะไรแก่ท่านทั้งหลาย’ เธอทั้งหลายควรตอบเขาอย่างนี้ว่า ‘มีประโยชน์ให้
รู้จักธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่ตามความเป็นจริง’
เธอทั้งหลายควรตอบเขาถึงธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่ คือ
(๑) การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ นี้เป็นคู่
ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ

เชิงอรรถ :
๑ บรรลุปฏิปทาของมุนี หมายถึงบรรลุอรหัตตมัคคญาณ (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๗-๗๒๙/๓๓๒-๓๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
อย่างนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน
๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือความเป็นพระอนาคามี เมื่อยังมีอุปาทานขันธ์
เหลืออยู่”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๓๐] สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดไม่รู้จักทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง
และไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๗๓๑] สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นผู้เสื่อมจากเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เป็นผู้เข้าถึงชาติและชราแท้
[๗๓๒] ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดรู้จักทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง
และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๗๓๓] สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
เป็นผู้ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
และเป็นผู้ไม่เข้าถึงชาติและชรา๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ อิติวุตตกะ ข้อ ๑๐๓ หน้า ๔๘๑-๔๘๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
(๒) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น
๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ ด้วยวิธีอื่นยังมีอีกบ้างไหม’ ควรตอบเขาว่า ‘มี’ หากเขาถาม
ต่อไปอีกว่า ‘มีอย่างไร’ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอุปธิ๑เป็นปัจจัย’ นี้เป็น
คู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะอุปธิทั้งหลายนั้นเองดับลงโดยการ
คายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๓๔] ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ
ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า
มีชาติเป็นแดนเกิด ไม่ควรก่ออุปธิ
(๓) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น
๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ ด้วยวิธีอื่นยังมีอีกบ้างไหม’ ควรตอบเขาว่า ‘มี’ หากเขาถาม
ต่อไปอีกว่า ‘มีอย่างไร’ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ
ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย’
นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะอวิชชานั้นเองดับลงโดยการ
คายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

เชิงอรรถ :
๑ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๓/๓๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๓๕] อวิชชานั่นแลเป็นคติของสัตว์ทั้งหลาย
ผู้เข้าถึงชาติ มรณะ และสังสารวัฏ
ซึ่งมีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น๑อยู่บ่อย ๆ
[๗๓๖] อวิชชาคือความหลงมัวเมาอย่างใหญ่หลวงนี้
เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายจมปลักอยู่สิ้นกาลนาน
สัตว์เหล่าใดทำลายอวิชชาด้วยวิชชาแล้ว
สัตว์เหล่านั้นย่อมไม่เข้าถึงภพใหม่อีก
(๔) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น
๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ ด้วยวิธีอื่นยังมีอีกบ้างไหม’ ควรตอบเขาว่า ‘มี’ หากเขาถาม
ต่อไปอีกว่า ‘มีอย่างไร’ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ
ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะสังขาร๒เป็นปัจจัย’
นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะสังขารทั้งหลายนั้นเองดับลงโดยการ
คายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๓๗] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย
เพราะสังขารทั้งหลายดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๓๘] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะสังขารเป็นปัจจัย
เพราะความสงบสังขารทั้งปวง สัญญาทั้งหลายจึงดับลง

เชิงอรรถ :
๑ สภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น หมายถึงสภาวะแห่งความเป็นมนุษย์และความเป็นสัตว์อื่นที่เหลือ
จากความเป็นมนุษย์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๕/๓๓๘)
๒ สังขาร ในที่นี้หมายถึงปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๖/๓๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ความสิ้นทุกข์ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
เพราะรู้ความสิ้นทุกข์นี้โดยถ่องแท้แล้ว
[๗๓๙] บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นชอบ เป็นผู้จบเวท รู้โดยชอบแล้ว
ครอบงำกิเลสเครื่องประกอบของมารได้แล้ว ย่อมไม่เกิดอีก
(๕) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมด
ย่อมเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย๑’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘เพราะวิญญาณนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’
นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๐] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
เพราะวิญญาณดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๔๑] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
เป็นผู้ปราศจากตัณหา ดับกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว
เพราะวิญญาณระงับลง
(๖) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิด
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย๒’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะผัสสะ
นั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒

เชิงอรรถ :
๑ วิญญาณเป็นปัจจัย หมายถึงอภิสังขารวิญญาณที่เกิดพร้อมกับกรรมเป็นปัจจัย (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๙/๓๓๙)
๒ ผัสสะเป็นปัจจัย หมายถึงผัสสะที่สัมปยุตด้วยอภิสังขารวิญญาณเป็นปัจจัย (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๔๑/๓๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๒] ชนทั้งหลายผู้ถูกผัสสะครอบงำแล้ว
แล่นไปตามกระแส (ตัณหา) ในภพ
ดำเนินไปผิดทาง ย่อมห่างไกลจากความสิ้นสังโยชน์
[๗๔๓] ส่วนชนทั้งหลายผู้กำหนดรู้ผัสสะจนทั่วถึงแล้ว
ยินดีในธรรมเป็นที่สงบระงับได้ด้วยปัญญา
ย่อมเป็นผู้ปราศจากตัณหา ดับกิเลสลงได้สิ้นเชิง
เพราะรู้ยิ่งถึงผัสสะ
(๗) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย๑ ‘ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ‘เพราะ
เวทนานั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ อย่างนี้
ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๔] เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
มีอยู่ทั้งภายในและภายนอก
[๗๔๕] ภิกษุรู้ว่า เวทนานี้เป็นเหตุแห่งทุกข์
ถูกต้องสัมผัสเวทนาที่มีความเสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา
มีปกติทรุดโทรมไป ด้วยอุทยัพพยญาณแล้ว
เห็นความเสื่อมเป็นที่สุด

เชิงอรรถ :
๑ เวทนาเป็นปัจจัย หมายถึงเวทนาที่สัมปยุตด้วยกรรมเป็นปัจจัย (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๔๔/๓๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ชื่อว่ารู้แจ้งเห็นจริงในเวทนานั้นอย่างนี้
เพราะเวทนาทั้งหลายสิ้นไปนั่นเอง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
(๘) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิด
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ‘เพราะตัณหานั้น
เองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๖] บุคคลมีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏ ที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น
[๗๔๗] ภิกษุรู้โทษนี้ รู้ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่๑
(๙) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะ
อุปาทานนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็น
คู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๙/๑๕, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๗/๓๖๔ และดู
อิติวุตตกะ ข้อ ๑๕ หน้า ๓๕๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๔๘] ภพมีได้เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
สัตว์เกิดมาแล้วต้องประสบทุกข์ ต้องตาย
นี้เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์
[๗๔๙] เพราะฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายรู้ด้วยปัญญาโดยชอบ
รู้แจ้งภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
เพราะอุปาทานสิ้นไป จึงไม่เข้าถึงภพใหม่อีก
(๑๐) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะอารัมภะ๑เป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะ
อารัมภะนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็น
คู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๕๐] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอารัมภะเป็นปัจจัย
เพราะอารัมภะทั้งหลายดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๕๑] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอารัมภะเป็นปัจจัย
สละคืนอารัมภะได้ทั้งหมด
น้อมจิตไปในนิพพานที่ปราศจากอารัมภะ

เชิงอรรถ :
๑ อารัมภะ ในที่นี้หมายถึงความเพียรที่สัมปยุตด้วยกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๔๙/๓๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๕๒] ภิกษุผู้ถอนภวตัณหาได้แล้ว มีจิตสงบ
มีชาติและสงสารสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีภพใหม่
(๑๑) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมด
ย่อมเกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย‘๑ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘เพราะอาหารนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’
นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๕๓] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย
เพราะอาหารทั้งหลายดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๕๔] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย
กำหนดรู้อาหารทุกอย่าง
จึงเป็นผู้ไม่มีตัณหาในอาหารทั้งหมด
[๗๕๕] ภิกษุรู้ความไม่มีโรค๒โดยชอบ
พิจารณาแล้วจึงใช้สอยปัจจัย ๔

เชิงอรรถ :
๑ อาหาร หมายถึงอาหารที่สัมปยุตด้วยกรรม ความจริง สัตว์ ๔ จำพวกมีอาหารเป็นปัจจัย คือ
(๑) รูปูปคา (ผู้เข้าถึงรูป) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในกามธาตุ ๑๑ อย่าง เสพกวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว)
(๒) เวทนูปคา(ผู้เข้าถึงเวทนา) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในรูปธาตุ ยกเว้นอสัญญีสัตว์ เสพผัสสาหาร
(๓) สัญญูปคา (ผู้เข้าถึงสัญญา) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในอรูปธาตุ ๓ อย่าง เบื้องต่ำ เสพมโนสัญเจตนาหาร
อันเกิดแต่สัญญา (๔) สังขารูปคา (ผู้เข้าถึงสังขาร) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในภูมิเบื้องสูง เสพวิญญาณาหาร
อันเกิดแต่สังขาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๕๑/๓๔๐)
๒ ความไม่มีโรค ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๕๕/๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ดำรงอยู่ในธรรม จบเวท
ย่อมไม่เข้าถึงการนับ๑อีกต่อไป
เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
(๑๒) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะอิญชิตะ๒(ความหวั่นไหว) เป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็น
เนือง ๆ ว่า ‘เพราะอิญชิตะนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้
อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๕๖] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอิญชิตะเป็นปัจจัย
เพราะดับอิญชิตะ
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๕๗] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอิญชิตะเป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้น จึงควรสละตัณหา ดับสังขารได้
ไม่มีอิญชิตะ ไม่มีความถือมั่น มีสติ สัมปชัญญะอยู่
(๑๓) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ผันทิตะ(ความดิ้นรน) ย่อมมีแก่ผู้ตกอยู่ใต้อำนาจ
ตัณหาทิฏฐิ และมานะ’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ผู้ที่พ้นจาก
อำนาจตัณหาทิฏฐิ และมานะ ย่อมไม่ดิ้นรน’ นี้เป็นคู่ที่ ๒

เชิงอรรถ :
๑ ไม่เข้าถึงการนับ ในที่นี้หมายถึงไม่เข้าถึงการนับว่า ‘เทพ’ หรือ “มนุษย์” เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๕/๓๔๑)
๒ อิญชิตะ(ความหวั่นไหว) ในที่นี้หมายถึงตัณหา มานะ ทิฏฐิ กรรม และกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๕๕/๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๕๘] ผู้พ้นจากอำนาจตัณหา ทิฏฐิ และมานะ ย่อมไม่ดิ้นรน
ส่วนผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจตัณหาเป็นต้น ถือมั่นอยู่
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่นไปได้
[๗๕๙] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ตัณหาเป็นภัยใหญ่
พ้นจากตัณหาเป็นต้นนั้นได้แล้ว
ไม่มีความถือมั่น มีสติ สัมปชัญญะอยู่
(๑๔) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘อรูปภพละเอียดกว่ารูปภพ’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การ
พิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นิโรธละเอียดกว่าอรูปภพ’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๖๐] สัตว์ทั้งหลายทั้งที่เข้าถึงรูปภพและที่ดำรงอยู่ในอรูปภพ
เมื่อยังไม่รู้ชัดถึงความดับกิเลส
ก็ยังต้องกลับมาเกิดใหม่อีก
[๗๖๑] ส่วนผู้ที่กำหนดรู้รูปภพแล้ว ไม่ดำรงอยู่ในอรูปภพ
น้อมจิตไปในนิพพาน ย่อมชนะมัจจุราชได้
(๑๕) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นามรูปที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า นามรูป
นี้เป็นของจริง ซึ่งพระอริยะทั้งหลายพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
อันชอบว่า นามรูปนี้ไม่เป็นของจริง’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ
ว่า ‘นิพพานที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า นิพพานนี้ไม่มีอยู่จริง
ซึ่งพระอริยะทั้งหลายพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า นิพพาน
นี้มีอยู่จริง’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๖๒] ท่านมีความเข้าใจผิดในนามรูปที่มิใช่อัตตาว่าเป็นอัตตา
จงดูชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ซึ่งพากันยึดมั่นในนามรูป โดยเข้าใจว่า
นามรูปนี้เป็นของจริง
[๗๖๓] ความจริง นามรูปนั้นย่อมแปรผันเป็นอย่างอื่น
จากอาการที่คนทั่วไปเข้าใจอยู่เสมอ
นามรูปของผู้เข้าใจเช่นนั้น หาเป็นจริงตามนั้นไม่
เพราะนามรูปนั้นปรากฏชั่วครู่ก็เสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา
[๗๖๔] นิพพานมีความไม่เสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา
ซึ่งพระอริยะทั้งหลายรู้แจ้งตามความเป็นจริง
จึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา ปรินิพพานแล้ว
เพราะรู้แจ้งอริยสัจ
(๑๖) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น
๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ ด้วยวิธีอื่นมีบ้างไหม’ ควรตอบเขาว่า ‘มี’ หากเขาถาม
ต่อไปอีกว่า ‘มีอย่างไร’ ก็ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘อิฏฐารมณ์ที่ชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า อิฏฐารมณ์นี้เป็นความสุข
ซึ่งพระอริยะทั้งหลายพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า อิฏฐารมณ์
นี้เป็นความทุกข์’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นว่า ‘นิพพานที่ชาวโลกพร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
มนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า นิพพานนี้เป็นความทุกข์ ซึ่งพระอริยะทั้งหลาย
พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘นิพพานนี้เป็นความสุข’ นี้เป็น
คู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง
คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือความเป็นพระอนาคามี เมื่อยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๖๕] รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
ล้วนน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ที่กล่าวกันว่ามีอยู่ประมาณเท่าใด
[๗๖๖] รูปเป็นต้นเหล่านั้นแลเป็นสิ่งที่ชาวโลก
พร้อมทั้งเทวโลกสมมติว่า เป็นสุข
ถ้ารูปเป็นต้นเหล่านั้นดับในที่ใด
ที่นั้น เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นก็สมมติกันว่า เป็นทุกข์
[๗๖๗] ส่วนอริยบุคคลทั้งหลายเห็นการดับสักกายะว่า เป็นสุข
การเห็นของอริยบุคคลทั้งหลายผู้เห็นอยู่นี้
ย่อมขัดแย้งกับชาวโลกทั้งปวง
[๗๖๘] บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่า เป็นสุข
อริยบุคคลทั้งหลายกล่าวสิ่งนั้นว่า เป็นทุกข์
บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่า เป็นทุกข์
อริยบุคคลทั้งหลายรู้แจ้งสิ่งนั้นว่า เป็นสุข

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๖๙] เธอจงเห็นธรรมที่รู้ได้ยาก
คนพาลผู้หลง ไม่รู้แจ้งในนิพพานนี้
ความมืดปรากฏแก่บุคคลผู้ถูกนิวรณ์คือกิเลสหุ้มห่อไว้
(เหมือน) ความมืดปรากฏแก่บุคคลผู้ไม่เห็น ฉะนั้น
[๗๗๐] แต่นิพพานย่อมปรากฏแจ่มแจ้งแก่สัตบุรุษ
เหมือนแสงสว่างปรากฏแก่บุคคลผู้เห็นอยู่ ฉะนั้น
ชนทั้งหลายผู้แสวงหาทาง ไม่ฉลาดในธรรม
ย่อมไม่รู้แจ้ง(นิพพาน)ที่อยู่ใกล้
[๗๗๑] บุคคลผู้ถูกความกำหนัดในภพครอบงำ
แล่นไปตามกระแส (ตัณหา)ในภพ
ถูกบ่วงมารคล้องไว้ จะไม่รู้ธรรมนี้ได้ง่าย
[๗๗๒] เว้นอริยบุคคลทั้งหลายแล้ว
ใครเล่าควรจะตรัสรู้บท๑
ที่อริยบุคคลทั้งหลายตรัสรู้ชอบแล้ว
ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน๒
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ขณะที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระภาษิตนี้อยู่ จิตของ
ภิกษุประมาณ ๖๐ รูปหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น
ทวยตานุปัสสนาสูตรที่ ๑๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ บท ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (สํ.สฬา.อ. ๓/๑๓๖/๕๓, ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๒/๓๔๓)
๒ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๑๓๖/๑๗๑-๑๗๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] รวมพระสูตรในวรรค
รวมหัวข้อธรรมประจำเรื่องในพระสูตรนี้ คือ

๑. สัจจะ ๒. อุปธิ
๓. อวิชชา ๔. สังขาร
๕. วิญญาณ ๖. ผัสสะ
๗. เวทนา ๘. ตัณหา
๙. อุปาทาน ๑๐. อารัมภะ
๑๑. อาหาร ๑๒. อิญชิตะ
๑๓. ผันทิตะ ๑๔. รูป
๑๕. นิพพานสัจจะ ๑๖. ทุกข์

มหาวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปัพพัชชาสูตร ๒. ปธานสูตร
๓. สุภาสิตสูตร ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
๕. มาฆสูตร ๖. สภิยสูตร
๗. เสลสูตร ๘. สัลลสูตร
๙. วาเสฏฐสูตร ๑๐. โกกาลิกสูตร
๑๑. นาลกสูตร ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑. กามสูตร
๔. อัฏฐกวรรค
หมวดว่าด้วยการไม่ติดอยู่ในกาม
กามสูตร๑
ว่าด้วยเรื่องกาม
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พราหมณ์ผู้เป็นชาวนา ณ กรุงสาวัตถีดังนี้)
[๗๗๓] ถ้ากาม๒นั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น ผู้อยากได้กามอยู่
สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว
ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่แท้
[๗๗๔] ถ้าเมื่อสัตว์นั้นอยากได้กามอยู่ เกิดความพอใจแล้ว
กามเหล่านั้นเสื่อมไป
สัตว์นั้นย่อมเจ็บปวด เหมือนถูกลูกศรแทง
[๗๗๕] ผู้ใดละกามได้ เหมือนคนเดินเลี่ยงหัวงู
ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา๓นี้ในโลก
[๗๗๖] นรชนใดปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า
ทาส บุรุษ สตรี พวกพ้อง หรือกามเป็นอันมาก
[๗๗๗] กิเลสทั้งหลายอันไม่มีกำลังครอบงำนรชนนั้น
อันตรายทั้งหลาย๔ย่ำยีนรชนนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑-๖/๑-๒๓
๒ กาม ในที่นี้หมายถึงวัตถุกาม (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๓/๓๔๖)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๘๙ ในเล่มนี้
๔ อันตราย มี ๒ อย่าง (๑) อันตรายที่ปรากฏ คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เป็นต้น (๒) อันตรายที่ไม่ปรากฏ คือ
กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต เป็นต้น ในที่นี้หมายถึงอันตรายที่ไม่ปรากฏ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๑๖-๑๗,
ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๗/๓๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสูตร
เพราะอันตรายนั้น ทุกข์จึงติดตามนรชนนั้นไป
เหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว ฉะนั้น
[๗๗๘] เพราะฉะนั้น สัตว์เกิด๑พึงมีสติทุกเมื่อ ละกามทั้งหลายได้
ครั้นละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะได้
เหมือนคนวิดน้ำเรือแล้วไปถึงฝั่งได้ ฉะนั้น
กามสูตรที่ ๑ จบ

๒. คุหัฏฐกสูตร๒
ว่าด้วยผู้ข้องอยู่ในถ้ำ
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ณ กรุงสาวัตถีดังนี้)
[๗๗๙] นรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำ๓ ถูกกิเลสมากหลายปิดบังไว้
เมื่อดำรงตนอยู่(อย่างนี้) ก็จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง๔
ผู้เป็นเช่นนั้นแล ย่อมอยู่ไกลจากวิเวก
เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่เป็นของที่นรชนละได้ง่ายเลย
[๗๘๐] สัตว์เหล่านั้นมีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ
ติดพันอยู่กับความพอใจในภพ มุ่งหวัง(กาม)
ในกาลภายหลัง(อนาคต)หรือในกาลก่อน(อดีต)
ปรารถนากามเหล่านี้และกามที่มีอยู่ก่อน
ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นได้ยาก(และ)ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นไม่ได้เลย

เชิงอรรถ :
๑ สัตว์เกิด หมายถึงนรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เป็นไปตามกรรม (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๖/๒๓)
๒ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗-๑๔/๒๘-๖๗
๓ ถ้ำ ในที่นี้หมายถึงร่างกาย (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๙/๓๕๐)
๔ เหตุให้ลุ่มหลง ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗/๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสูตร
[๗๘๑] สัตว์เหล่านั้นยินดีขวนขวาย ลุ่มหลงในกามทั้งหลาย
เป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่ในกรรมที่ผิด
ประสบทุกข์แล้วจึงคร่ำครวญอยู่ว่า
เราจุติจากภพนี้ จักเป็นอะไรหนอ
[๗๘๒] เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้๑
พึงรู้จักกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกว่า เป็นกรรมที่ผิด
ไม่พึงประพฤติผิดเพราะเหตุแห่งกรรมที่ผิดนั้น
นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย
[๗๘๓] เราเห็นหมู่สัตว์นี้ผู้ตกไปในอำนาจตัณหาในภพทั้งหลาย๒
กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก
นรชนที่เลวผู้ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช
[๗๘๔] พวกเธอจงดูหมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่
เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อยสิ้นกระแสแล้ว
นรชนเห็นโทษนี้แล้วก็อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย
พึงประพฤติไม่ยึดถือว่า เป็นของเรา
[๗๘๕] นักปราชญ์พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน
กำหนดรู้ผัสสะ๓แล้ว ก็ไม่ติดใจ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้ ดูรายละเอียดใน ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๐/๔๘-๔๙
๒ ภพทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงกามภพ รูปภพ และอรูปภพ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๑/๕๗)
๓ ผัสสะ หมายถึงความสัมผัสอารมณ์ที่มากระทบ เช่น ตากระทบกับรูป หรือตาเห็นรูป เรียกจักขุสัมผัส
เป็นต้น (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๓/๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร
ติเตียนกรรมใดด้วยตน ก็ไม่ทำกรรมนั้น
ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินแล้ว
[๗๘๖] มุนีกำหนดรู้สัญญาแล้ว ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย
พึงข้ามโอฆะได้ ถอนลูกศรได้แล้ว ไม่ประมาท
ประพฤติอยู่ ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า
คุหัฏฐกสูตรที่ ๒ จบ

๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร๑
ว่าด้วยเรื่องเดียรถีย์กับมุนี
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พระอานนท์ดังนี้)
[๗๘๗] เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย
บุคคลเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริงก็กล่าวร้ายด้วย
แต่มุนีย่อมไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิตในที่ไหน ๆ
[๗๘๘] ผู้ไปตามความพอใจ ตั้งอยู่ในความชอบใจ
พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า
แต่เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น
[๗๘๙] สัตว์เกิดใดไม่มีใครถาม
ก็บอกศีลและวัตรของตนแก่บุคคลเหล่าอื่น
สัตว์เกิดใดกล่าวถึงตัวเองเท่านั้น
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกสัตว์เกิดนั้นว่า ผู้ไม่มีอริยธรรม
[๗๙๐] ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว
ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็นดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบคำแปลพร้อมทั้งอธิบายใน ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕-๒๒/๗๔-๑๐๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร
อนึ่ง ภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูในที่ไหน ๆ ในโลก
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มีอริยธรรม
[๗๙๑] เจ้าลัทธิใด มีธรรมที่กำหนดไว้ อันปัจจัยปรุงแต่งเชิดชูไว้
(แต่)ไม่ขาวสะอาด เจ้าลัทธินั้นเห็นอานิสงส์ใดในตน
อาศัยอานิสงส์นั้น และสันติ๑ที่กำเริบซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น
[๗๙๒] ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย ๆ
การปลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น
ก็มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย
เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น
นรชนย่อมสลัดทิ้งธรรมบ้าง ยึดถือธรรมไว้บ้าง
[๗๙๓] ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพน้อยภพใหญ่
ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดไม่มีในที่ไหน ๆ ในโลก
เพราะผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้น
ละความหลอกลวงและความถือตัวได้แล้ว
ไม่มีความถือมั่น จะพึงไปด้วยเหตุอะไรเล่า
[๗๙๔] เพราะว่า ผู้มีความถือมั่นย่อมเข้าถึงวาทะในธรรมทั้งหลาย
จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่นด้วยเหตุอะไรเล่า
เพราะทิฏฐิว่ามีอัตตา ทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา๒
ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น
ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัดแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ
ทุฏฐัฏฐกสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สันติ หมายถึงความสงบ มี ๓ อย่าง คือ (๑) อัจจันตสันติ (ความสงบอย่างสิ้นเชิง) หมายถึงอมตนิพพาน
(๒) ตทังคสันติ (ความสงบด้วยองค์นั้น ๆ) หมายถึงผู้บรรลุรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ (๓) สมมุติสันติ
(ความสงบโดยสมมติ) หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ ในที่นี้หมายถึงสันติโดยสมมติ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙/๘๘-๘๙)
๒ ทิฏฐิว่ามีอัตตา หมายถึงสัสสตทิฏฐิ ทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ ดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๒/
๙๘-๑๐๐, ๙๓/๒๘๘-๒๘๙ และดู สุตตนิบาตข้อ ๘๖๕ หน้า ๗๐๗ ในเล่มนี้ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสูตร
๔. สุทธัฏฐกสูตร๑
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นความหมดจด
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[๗๙๕] เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง
ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น
บุคคลเมื่อรู้จริงอย่างนี้ก็รู้ว่า ความเห็นนี้ยอดเยี่ยม
จึงเป็นผู้พิจารณาเห็นความหมดจด
เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณ
[๗๙๖] ถ้าความหมดจดมีแก่นรชนเพราะความเห็น
หรือนรชนนั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ
นรชนผู้ยังมีอุปธินั้นย่อมหมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้)
เพราะว่า ทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้นผู้พูดอย่างนั้น
[๗๙๗] พราหมณ์๒ ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
ศีลและวัตรหรืออารมณ์ที่รับรู้โดยมรรคอื่น
พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป ละอัตตาได้๓
เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมในโลกนี้
[๗๙๘] สมณพราหมณ์เหล่านั้นละสิ่งแรก อาศัยสิ่งหลัง
ไปตามความพลุ่งพล่าน๔
ย่อมข้ามกิเลสเครื่องข้องไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๓-๓๐/๑๐๑-๑๒๓
๒ พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงผู้ลอยบาปธรรม ๗ ประการ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ (๒) วิจิกิจฉา (๓) สีลัพพต-
ปรามาส (๔) ราคะ (๕) โทสะ (๖) โมหะ (๗) มานะ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๔)
๓ ละอัตตาได้ หมายถึงละ สละ และคายความยึดมั่นถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อว่าเป็นอัตตาด้วย
อำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๙)
๔ ความพลุ่งพล่าน ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๖/๑๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสูตร
สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมยึดถือ ย่อมสลัดทิ้ง
เหมือนลิงจับกิ่งไม้แล้วก็ปล่อย ฉะนั้น
[๗๙๙] สัตว์เกิดสมาทานวัตรทั้งหลายเอง
ข้องอยู่ในสัญญา๑ ย่อมดำเนินไปลุ่ม ๆ ดอน ๆ
ส่วนผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลาย๒แล้ว
เป็นผู้มีปัญญาอันไพบูลย์
ย่อมไม่ดำเนินไปลุ่ม ๆ ดอน ๆ
[๘๐๐] ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง คือ
รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนดผู้มีปัญญานั้น
ผู้เห็นผู้ประพฤติเปิดเผยด้วยเหตุอะไรเล่า
[๘๐๑] สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู
สัตบุรุษเหล่านั้นไม่กล่าวว่าเป็นความหมดจดสุดโต่ง
สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว
ไม่ก่อความหวังในที่ไหน ๆ ในโลก
[๘๐๒] พระอรหันต์เป็นผู้ไปพ้นเขตแดน๓แล้ว เป็นพราหมณ์
เพราะรู้และเห็น พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีความถือมั่น
ไม่มีความกำหนัดในกามคุณอันเป็นที่กำหนัด
ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด
พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีความถือมั่นว่า ยอดเยี่ยมในโลกนี้
สุทธัฏฐกสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ข้องอยู่ในสัญญา หมายถึงพัวพันอยู่ในกามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา และทิฏฐิสัญญา
(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๗/๑๑๒)
๒ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลาย หมายถึงรู้อริยสัจ ๔ ด้วยมรรคญาณ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๙๙/๓๖๓)
๓ เขตแดน หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๐๒/๓๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสูตร
๕. ปรมัฏฐกสูตร๑
ว่าด้วยผู้ยึดถือทิฏฐิของตนว่ายอดเยี่ยม
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[๘๐๓] สัตว์เกิดผู้ยึดถือในทิฏฐิทั้งหลายว่า ยอดเยี่ยม
ย่อมทำทิฏฐิใดให้ยิ่งใหญ่ในโลก
กล่าวทิฏฐิอื่นทุกอย่างนอกจากทิฏฐินั้นว่า เลว
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดนั้นจึงไม่ล่วงพ้นการวิวาทไปได้
[๘๐๔] เจ้าลัทธิเห็นอานิสงส์ใดในตน ในรูปที่เห็น
ในเสียงที่ได้ยิน ในศีลและวัตร หรือในอารมณ์ที่รับรู้
เจ้าลัทธินั้นยึดมั่นทิฏฐินั้นในลัทธิของตนนั้น
เห็นทิฏฐิอื่นทั้งปวงโดยความเป็นของเลว
[๘๐๕] บุคคลอาศัยศาสดาใด เห็นศาสดาอื่นว่า เลว
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกศาสดานั้นว่า เป็นเครื่องร้อยรัด
เพราะฉะนั้นแล ภิกษุจึงไม่ควรอาศัยรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้ หรือศีลและวัตร
[๘๐๖] ภิกษุไม่พึงกำหนดทิฏฐิในโลกด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลและวัตร
ไม่พึงเอาตนเข้าไปเทียบว่าเสมอเขา
ไม่พึงสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา หรือเลิศกว่าเขา
[๘๐๗] ภิกษุนั้นละอัตตาแล้ว ไม่ยึดถือ ไม่สร้างนิสัยแม้ด้วยญาณ
เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน
ภิกษุนั้นก็ไม่เข้าเป็นฝักเป็นฝ่าย
ภิกษุนั้นไม่ถือแม้ทิฏฐิอะไร ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๑-๓๘/๑๒๓-๑๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๖. ชราสูตร
[๘๐๘] พระอรหันต์ใดผู้ไม่มีความคะนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน
ในโลกนี้ ในภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือในโลกหน้า
พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีเครื่องอยู่อะไร ๆ
ความตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นก็ไม่มี
[๘๐๙] พระอรหันต์นั้นไม่มีทิฏฐิอันสัญญากำหนดไว้แม้นิดเดียว
ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือในอารมณ์ที่รับรู้ในโลกนี้
ใคร ๆ ในโลกนี้ จะพึงกำหนดพระอรหันต์นั้น
ผู้เป็นพราหมณ์ไม่ยึดถือทิฏฐิอยู่ด้วยเหตุอะไรเล่า
[๘๑๐] พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย
ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู(ตัณหาและทิฏฐิ)ไว้
แม้ธรรมทั้งหลาย๑พระอรหันต์เหล่านั้นก็ไม่ปรารถนา
พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์นั้น ใคร ๆ ก็นำไปด้วยศีลและวัตรไม่ได้
เป็นผู้ถึงฝั่ง๒ ไม่กลับมา เป็นผู้คงที่
ปรมัฏฐกสูตรที่ ๕ จบ

๖. ชราสูตร๓
ว่าด้วยชรา
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พุทธบริษัทชาวเมืองสาเกตดังนี้)
[๘๑๑] ชีวิตนี้น้อยนัก มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี
แม้หากผู้ใดจะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น
ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๑๐/๓๖๗)
๒ ฝั่ง หมายถึงอมตนิพพาน ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวงเป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง เป็นต้น (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๓๘/๑๓๘)
๓ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๙-๔๘/๑๔๒-๑๖๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๖. ชราสูตร
[๘๑๒] ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศก เพราะวัตถุที่ยึดถือว่า เป็นของเรา
เพราะความยึดถือที่เที่ยงแท้ไม่มีอยู่
ความพลัดพรากจากกันนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ไม่พึงครองเรือน
[๘๑๓] บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา
เบญจขันธ์นั้นบุรุษนั้นย่อมละไปเพราะความตาย
บัณฑิตผู้เป็นพุทธมามกะ รู้ชัดโทษนี้แล้ว
ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่า เป็นของเรา
[๘๑๔] บุรุษผู้ตื่นขึ้นแล้ว
ไม่เห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยความฝัน ฉันใด
ใคร ๆ ก็ไม่เห็นชนผู้เป็นที่รัก ซึ่งตายจากไปแล้ว ฉันนั้น
[๘๑๕] ชื่อของชนเหล่าใดที่กล่าวกันอยู่นี้
ชนเหล่านั้นยังเห็นกันอยู่บ้าง ยังได้ยินกันอยู่บ้าง
สัตว์เกิดจากไปแล้ว เหลือไว้แต่ชื่อเท่านั้นเพื่อกล่าวขานกัน
[๘๑๖] ชนทั้งหลายผู้ติดใจในวัตถุที่ยึดถือว่า เป็นของเรา
ย่อมละทิ้งความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ และความตระหนี่ไม่ได้
เพราะฉะนั้น มุนีผู้เห็นแดนเกษม ละความยึดถือได้แล้ว เที่ยวไป
[๘๑๗] บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพ
ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น ใช้ที่นั่งอันสงัดนั้นว่า
เป็นความสามัคคี
[๘๑๘] มุนีไม่อาศัยในสิ่งทั้งปวง๑ ไม่ทำสิ่ง๒ไหนให้เป็นที่รัก
และไม่ทำสิ่งไหนให้ไม่เป็นที่รัก
ความคร่ำครวญและความตระหนี่ไม่ติดอยู่ในมุนีนั้น
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ สิ่งทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอายตนะ ๑๒ คือ ตาและรูป หูและเสียง จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและ
โผฏฐัพพะ ใจและธรรมารมณ์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๐๘/๓๗๑) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๖/๑๖๑
๒ สิ่ง ในที่นี้หมายถึงสัตว์และสังขาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๑๘/๓๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสูตร
[๘๑๙] มุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับรู้
เหมือนหยดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนดอกบัว ฉะนั้น
[๘๒๐] พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด
ย่อมไม่สำคัญหมายรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับรู้
พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการความหมดจดด้วยมรรคอื่น
ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้องคลายกำหนัด
ชราสูตรที่ ๖ จบ

๗. ติสสเมตเตยยสูตร๑
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยะ
(ท่านพระติสสเมตเตยยะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้)
[๘๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ความคับแค้นของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
ข้าพระองค์ฟังคำสอนของพระองค์แล้วจักศึกษาวิเวก
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตเตยยะ)
[๘๒๒] คำสั่งสอนของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
ย่อมเลอะเลือน และบุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด
การปฏิบัตินี้ เป็นธรรมไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๙-๕๘/๑๖๘-๑๙๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสูตร
[๘๒๓] ผู้ใดในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียว๑
(ต่อมา)เข้าไปเสพเมถุนธรรม๒
ผู้รู้ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นปุถุชนเลวในโลก
เหมือนยานที่แล่นไป๓ ฉะนั้น
[๘๒๔] ยศและเกียรติ๔ในเบื้องต้นของภิกษุนั้น เสื่อมไป
ภิกษุเห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม
[๘๒๕] ภิกษุนั้นถูกความดำริครอบงำ
ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้า
ครั้นได้ยินคำตำหนิของคนอื่นแล้ว
ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น
[๘๒๖] ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของผู้อื่นตักตือนแล้ว
ย่อมสร้างศัสตรา๕ย่อมก้าวลงสู่ความเป็นคนพูดเท็จ
นี้แหละเป็นเครื่องทำให้ติดใหญ่ของเธอ
[๘๒๗] ภิกษุ (ในเบื้องต้น) ได้สมญานามว่า เป็นบัณฑิต
อธิษฐานการเที่ยวไปผู้เดียว
ต่อมา เธอประกอบในเมถุนธรรม
ก็จักมัวหมอง เหมือนกับคนโง่ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ เที่ยวไปผู้เดียว หมายถึงบวชเป็นบรรพชิตและการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๑๗๗)
๒ เข้าไปเสพเมถุน หมายถึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์เสพเมถุนธรรม (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๑๗๘)
๓ ยานที่แล่นไป ในที่นี้หมายถึงยานช้าง ยานม้า และยานโค ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกหัด ย่อมแล่นพาออกไป
นอกทาง (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๑๗๘)
๔ ยศและเกียรติ ในที่นี้หมายถึงลาภสักการะและความสรรเสริญ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๒๔/๓๗๓)
๕ ศัสตรา มี ๓ อย่าง คือ (๑) ศัสตราทางกาย (๒) ศัสตราทางวาจา (๓) ศัสตราทางใจ หรือกายทุจริต
๓ อย่าง วจีทุจริต ๔ อย่าง และมโนทุจริต ๓ อย่าง ในที่นี้หมายถึงศัสตราทางวาจา (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๕๔/๑๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๘. ปสูรสูตร
[๘๒๘] มุนีรู้โทษนี้แล้ว ในคราวเป็นคฤหัสถ์
ก่อนบวชในธรรมวินัยนี้
พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง
ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม
[๘๒๙] บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั้นแหละ
เพราะการประพฤติวิเวกนี้ เป็นกิจสูงสุดของพระอริยะทั้งหลาย
ไม่พึงสำคัญตนว่าเราเป็นผู้ประเสริฐสุด ด้วยการประพฤติวิเวกนั้น
ผู้นั้นแล ชื่อว่า อยู่ใกล้นิพพาน
[๘๓๐] หมู่สัตว์ผู้ติดใจในกามทั้งหลาย
ย่อมยินดีมุนีผู้ว่าง ประพฤติอยู่
ไม่มุ่งหวังกามทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว
ติสสเมตเตยยสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปสูรสูตร๑
ว่าด้วยปริพาชกชื่อว่าปสูระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ปสูรปริพาชกในท่ามกลางพุทธบริษัทดังนี้)
[๘๓๑] สมณพราหมณ์เป็นอันมาก
ย่อมกล่าวความหมดจดในธรรมนี้เท่านั้น
ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
บุคคลอาศัยศาสดาใดก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม
ในเพราะทิฏฐิของตนนั้น เป็นผู้ตั้งอยู่ในปัจเจกสัจจะ๒

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๙-๖๙/๑๙๕-๒๑๖
๒ ปัจเจกสัจจะ ในที่นี้หมายถึงสัจจะเฉพาะอย่าง เช่น สัจจะที่ว่า โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๕๙/๑๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๘. ปสูรสูตร
[๘๓๒] สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด
เข้าไปสู่บริษัทแล้ว จับคู่กล่าวหากันและกันว่า เป็นคนพาล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว
ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด
[๘๓๓] คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว) ในท่ามกลางบริษัท
เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ
เป็นผู้เก้อเขินในเมื่อถูกคัดค้านตกไป
ย่อมโกรธเคืองเพราะคำนินทา แสวงหาข้อแก้ตัว
[๘๓๔] บริษัทผู้พิจารณาปัญหากล่าววาทะของเขาว่า เลว
ถูกคัดค้านให้ตกไปแล้ว
เขาเสื่อมวาทะไปแล้ว ย่อมคร่ำครวญเศร้าโศก
ทอดถอนใจว่า เขานำ(หน้า) เราไปแล้ว
[๘๓๕] การวิวาทเหล่านี้เกิดแล้วในหมู่สมณะ
ความยินดีและความยินร้าย มีอยู่ในการวิวาทเหล่านี้
บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว พึงงดเว้นถ้อยคำขัดแย้งกัน
เพราะว่าไม่มีประโยชน์อื่นนอกจากการได้ความสรรเสริญ
[๘๓๖] ก็หรือว่า บุคคลกล่าววาทะในท่ามกลางบริษัท
ได้รับความสรรเสริญเพราะทิฏฐิของตนนั้น
เขาย่อมหัวเราะและฟูใจด้วยประโยชน์แห่งความชนะนั้น
เพราะได้บรรลุถึงประโยชน์ตามที่ใจคิดไว้แล้ว
[๘๓๗] ความลำพองตน ย่อมเป็นภูมิสำหรับย่ำยีของเขา
เขาจึงกล่าวคำถือตัวและคำดูหมิ่นกัน
บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว ไม่ควรวิวาทกัน
เพราะผู้ฉลาดทั้งหลาย ไม่กล่าวความหมดจด
ด้วยความวิวาทกันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสูตร
[๘๓๘] คนกล้าที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยของเสวยของพระราชา
เขาคึกคะนอง อยากพบคนกล้าฝ่ายตรงข้ามย่อมได้พบ ฉันใด
(เจ้าลัทธิย่อมได้พบเจ้าลัทธิ ฉันนั้น)
ผู้กล้าเอ๋ย เจ้าลัทธิอยู่ที่ใด เธอจงไปเสียจากที่นั้นเถิด
เพราะกิเลสที่เคยมีแต่ก่อนของตถาคตมิได้มีเพื่อการรบ
[๘๓๙] ชนเหล่าใดถือทิฏฐิแล้ววิวาทกัน
และกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
เธอจงพูดกับชนเหล่านั้นว่า กิเลสที่เป็นข้าศึกกัน
เมื่อวาทะเกิดไม่มีในธรรมวินัยนี้
[๘๔๐] พระอรหันต์เหล่าใด กำจัดเสนาได้แล้ว
ไม่เอาทิฏฐิไปกระทบทิฏฐิ เที่ยวไป
พระอรหันต์เหล่าใดในธรรมวินัยนี้
ไม่มีความถือมั่นสิ่งนี้ว่า ยอดเยี่ยม
ปสูระเอ๋ย เธอจะพึงได้อะไร ในพระอรหันต์เหล่านั้น
[๘๔๑] อนึ่ง เธอตรึกอยู่มาแล้ว เธอคิดทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ
มาถึงการแข่งคู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว
ย่อมไม่สามารถเทียมทันได้เลย
ปสูรสูตรที่ ๘ จบ

๙. มาคันทิยสูตร๑
ว่าด้วยมาคันทิยพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่มาคันทิยพราหมณ์พร้อมภรรยาดังนี้)
[๘๔๒] เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา
ก็ไม่ได้มีความพอใจในเมถุนธรรมเลย
จักมีความพอใจเพราะเห็นเรือนร่าง

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๐-๘๒/๒๑๗-๒๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสูตร
ที่เต็มไปด้วยปัสสาวะและอุจจาระนี้ได้อย่างไรเล่า
เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องเรือนร่างนางแม้ด้วยเท้า
(มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามดังนี้)
[๘๔๓] หากท่านไม่ปรารถนานารีผู้เป็นอิตถีรัตนะเช่นนี้
ที่พระราชาผู้เป็นจอมคนจำนวนมากพากันปรารถนา
ท่านจะกล่าวทิฏฐิ ศีล วัตร ชีวิต
และการอุบัติขึ้นในภพว่าเป็นเช่นไร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มาคันทิยะ)
[๘๔๔] การตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นว่า
เรากล่าวสิ่งนี้ ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เรา
เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น
เมื่อเลือกเฟ้น จึงได้เห็นความสงบภายใน
(มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามดังนี้)
[๘๔๕] ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว
มุนีไม่ยึดมั่นทิฏฐิเหล่านั้นแล
กล่าวเนื้อความใดว่า ความสงบภายใน
เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาคันทิยะ)
[๘๔๖] นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสูตร
บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ๑
เพราะความไม่มีสุตะ๒ เพราะความไม่มีญาณ๓
เพราะความไม่มีศีล๔ เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็หามิได้๕
นักปราชญ์สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว
ไม่ยึดมั่น เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยแล้ว ไม่พึงหวังภพ
(มาคันทิยพราหมณ์กราบทูลดังนี้)
[๘๔๗] หากนักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงสัมมาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ คือ (๑) ทานที่ให้แล้วมีผล (๒) ยัญที่บูชาแล้วมีผล (๓) การ
เซ่นสรวงมีผล (๔) ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วมีอยู่ (๕) โลกนี้มี (๖) โลกหน้ามี (๗) มารดามีคุณ
(๘) บิดามีคุณ (๙) สัตว์เป็นโอปปาติกะมีอยู่ (๑๐) สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รู้แจ้งโลกนี้และ
โลกหน้า ด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔)
๒ สุตะ ในที่นี้หมายถึงเสียงจากผู้อื่น คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม
และเวทัลละ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔)
๓ ญาณ หมายถึงกัมมัสสกตาญาณ (ญาณที่เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน) หมายถึงสัจจานุโลมิก-
ญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ) และหมายถึงอภิญญาญาณ (ญาณคือความรู้
อย่างยิ่งยวด) มี ๖ คือ (๑) อิทธิวิธิ (๒) ทิพพโสต (๓) เจโตปริยญาณ (๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
(๕) ทิพพจักขุ (๖) อาสวักขยญาณ และสมาปัตติญาณ (ญาณในสมาบัติ ๘) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔)
๔ ศีล ในที่นี้หมายถึงปาติโมกขสังวร (สำรวมในพระปาติโมกข์) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔)
๕ วัตร ในที่นี้หมายถึงธุดงค์ ๘ ข้อ คือ (๑) อารัญญิกังคธุดงค์ (สมาทานการอยู่ในป่าเป็นวัตร) (๒) ปิณฑ-
ปาติกังคธุดงค์ (สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร) (๓) ปังสุกูลิกังคธุดงค์ (สมาทานการนุ่งห่มผ้าบังสุกุล
เป็นวัตร) (๔) เตจีวริกังคธุดงค์ (สมาทานการทรงไตรจีวรเป็นวัตร) (๕) สปทานจาริกังคธุดงค์ (สมาทาน
การเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร) (๖) ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ (สมาทานห้ามภัตที่ถวายภาย
หลังเป็นวัตร) (๗) เนสัชชิกังคธุดงค์ (สมาทานการนั่งเป็นวัตร) (๘) ยถาสันถติกังคธุดงค์ (สมาทานการอยู่
ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔-๒๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสูตร
บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ
เพราะความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ
เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้น ก็หามิได้
ข้าพเจ้าจึงเข้าใจธรรมของท่านว่า เป็นเรื่องงมงายแน่นอน
เพราะสมณพราหมณ์บางพวกถึงความหมดจดได้เพราะทิฏฐิ
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาคันทิยะ)
[๘๔๘] เพราะอาศัยทิฏฐิทั้งหลายท่านจึงถามเนือง ๆ
ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลายที่ท่านถือมั่นไว้แล้ว
และท่านก็มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้
เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบแต่ความงมงาย
[๘๔๙] ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา
ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น
บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว ๓ อย่าง
ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา (หรือด้อยกว่าเขา)
จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น
[๘๕๐] บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้น พึงกล่าวอะไรว่า จริง
หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงโต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร
ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เราเลิศกว่าเขา (หรือด้อยกว่าเขา)
ย่อมไม่มีในพระอรหันต์ใด
พระอรหันต์นั้นพึงตอบโต้วาทะด้วยเหตุอะไรเล่า
[๘๕๑] บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย
มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย
ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
[๘๕๒] บุคคลผู้เป็นนาคะ สงัดจากทิฏฐิเหล่าใด
พึงเที่ยวไปในโลก ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสูตร
ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ
ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม ฉันใด
มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี
ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก ฉันนั้น
[๘๕๓] มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ
ไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้
มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป
มุนีนั้นไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไปในที่อาศัยทั้งหลาย
[๘๕๔] มุนีผู้เว้นจากสัญญาแล้ว ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
มุนีผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีความลุ่มหลง
ชนเหล่าใดยังยึดถือสัญญาและทิฏฐิ
ชนเหล่านั้นย่อมเที่ยวกระทบกระทั่งกันในโลก
มาคันทิยสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ปุราเภทสูตร๑
ว่าด้วยก่อนการดับขันธปรินิพพาน
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๕๕] บุคคลมีทัสสนะ๒อย่างไร มีศีล๓อย่างไร
จึงเรียกว่า เป็นผู้สงบ๔แล้ว
ข้าแต่พระโคตมะ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกนรชนผู้สูงสุดนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๓-๙๖/๒๔๖-๒๙๖
๒ ทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงอธิปัญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๕๕/๓๘๘, ขุ.ม.อ. ๘๓/๓๑๕)
๓ ศีล ในที่นี้หมายถึงอธิศีล (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๕๕/๓๘๘, ขุ.ม.อ. ๘๓/๓๑๕)
๔ สงบ ในที่นี้หมายถึงอธิจิต (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๕๕/๓๘๘, ขุ.ม.อ. ๘๓/๓๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๕๖] ก่อนดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์เป็นผู้คลายตัณหา
ไม่ติดอยู่กับความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น
ใคร ๆ กำหนดไม่ได้ในส่วนท่ามกลาง
พระอรหันต์นั้นมิได้มุ่งหวังถึงตัณหาและทิฏฐิ (ในส่วนเบื้องปลาย)
[๘๕๗] บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง ไม่โอ้อวด
ไม่คะนอง พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
เป็นผู้สำรวมวาจานั้นแล ชื่อว่า เป็นมุนี
[๘๕๘] บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต
ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย
ย่อมไม่ถูกนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย
[๘๕๙] บุคคลนั้นเป็นผู้หลีกเร้น
ไม่หลอกลวง ไม่ทะเยอทะยาน
ไม่ตระหนี่๑ ไม่คะนอง ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ
และไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด
[๘๖๐] บุคคลผู้ไม่ยินดีในสิ่งที่น่ายินดี
ไม่ประกอบในความดูหมิ่น
ละเอียดอ่อน มีปฏิภาณ
ไม่ต้องเชื่อใคร และไม่ต้องคลายกำหนัด
[๘๖๑] บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ
ไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ
ไม่เดือดดาลและไม่ยินดีในรสเพราะตัณหา

เชิงอรรถ :
๑ ตระหนี่ มี ๕ อย่าง (๑) อาวาสมัจฉริยะ(ตระหนี่ที่อยู่) (๒) กุลมัจฉริยะ(ตระหนี่ตระกูล) (๓) ลาภ-
มัจฉริยะ (ตระหนี่ลาภ) (๔) วัณณมัจฉริยะ(ตระหนี่วรรณะ) (๕) ธัมมมัจฉริยะ(ตระหนี่ธรรม) (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๘๗/๒๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสูตร
[๘๖๒] บุคคลเป็นผู้วางเฉย มีสติทุกเมื่อ
ไม่สำคัญว่าเสมอเขา ไม่สำคัญว่าเลิศกว่าเขา
ไม่สำคัญว่าด้อยกว่าเขา ในโลก
กิเลสหนาย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น
[๘๖๓] บุคคลใดไม่มีที่อาศัย
ไม่มีตัณหาในภพหรือในวิภพ๑
บุคคลนั้นรู้ธรรมแล้วไม่ต้องอาศัย
[๘๖๔] เราเรียกบุคคลนั้นผู้ไม่มุ่งหวังในกามทั้งหลายว่า
เป็นผู้เข้าไปสงบ บุคคลนั้นไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
ข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ได้แล้ว
[๘๖๕] บุคคลนั้นไม่มีบุตร สัตว์เลี้ยง นา ไร่ และที่ดิน
ทิฏฐิว่า มีอัตตา หรือทิฏฐิว่า ไม่มีอัตตา หาไม่ได้ในบุคคลนั้น๒
[๘๖๖] เหล่าปุถุชน หรือสมณพราหมณ์
พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยโทษ๓ใด
โทษนั้น ไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย
เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงไม่หวั่นไหวในเพราะวาทะทั้งหลาย
[๘๖๗] บุคคลผู้เป็นมุนี เป็นผู้คลายความยินดี ไม่ตระหนี่
ย่อมไม่กล่าวในเรื่องเลิศกว่าเขา
ไม่กล่าวในเรื่องเสมอเขา ไม่กล่าวในเรื่องด้อยกว่าเขา
เป็นผู้ไม่มีความกำหนด ย่อมไม่ถึงความกำหนด๔

เชิงอรรถ :
๑ ภพ หมายถึงสัสสตทิฏฐิหรือภวทิฏฐิ วิภพ หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ หรือวิภวทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๖๓/๓๙๐)
และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๑/๒๘๕)
๒ ดูสุตตนิบาตข้อ ๗๙๔ หน้า ๖๙๑ ในเล่มนี้ และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๒/๙๘-๑๐๐, ๙๓/๒๘๘-๒๘๙ ประกอบ
๓ โทษ หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๖๖/๓๙๐)
๔ ความกำหนด(กัปปะ) มี ๒ อย่าง คือ (๑) กำหนดด้วยอำนาจตัณหา (๒) กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๙๕/๒๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสูตร
[๘๖๘] บุคคลใดไม่มีความถือว่าเป็นของตนในโลก
เมื่อไม่มีความถือว่าเป็นของตน ย่อมไม่เศร้าโศก
ไม่ถึงความลำเอียงในธรรมทั้งหลาย
บุคคลนั้นแล เรียกว่า ผู้สงบ
ปุราเภทสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. กลหวิวาทสูตร๑
ว่าด้วยการทะเลาะวิวาท
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๖๙] การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว
ความดูหมิ่น และวาจาส่อเสียด มีมาจากไหน
กิเลสเหล่านั้นมีมาจากไหน
ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกเหตุนั้น
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๐] การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว
ความดูหมิ่น และวาจาส่อเสียด มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก๒
การทะเลาะ การวิวาท ประกอบในความตระหนี่
มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก
เมื่อการวิวาทเกิดขึ้นแล้ว ก็มีวาจาส่อเสียดเกิดขึ้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๗-๑๑๒/๒๙๗-๓๓๗
๒ สิ่งเป็นที่รัก มีความหมาย ๒ อย่าง คือ (๑) สัตว์ หมายถึงมารดา บิดา พี่ น้อง บุตร ธิดา เป็นต้น
(๒) สังขาร หมายถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ชอบใจ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๘/๓๐๑-๓๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสูตร
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๗๑] สิ่งเป็นที่รักในโลกมีอะไรเป็นต้นเหตุ
และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ
ความโลภของชนเหล่านั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ
ความหวังและความสำเร็จหวังใด จะมีแก่นรชนในภพหน้า
ความหวังและความสำเร็จหวังนั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๒] สิ่งเป็นที่รักในโลกมีความพอใจเป็นต้นเหตุ
และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ
ความโลภของชนเหล่านั้นมีความพอใจเป็นต้นเหตุ
ความหวังและความสำเร็จหวังใด จะมีแก่นรชนในภพหน้า
ความหวังและความสำเร็จหวังของนรชนนั้น
มีความพอใจนี้เป็นต้นเหตุ
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๗๓] ฉันทะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
และความตัดสินใจมีมาจากไหน
อนึ่ง ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ
และความสงสัย มีมาจากอะไร
และธรรมเหล่าใดพระสมณะตรัสไว้แล้ว
ธรรมเหล่านั้นมีมาจากอะไร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๔] ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใดว่า น่าดีใจ น่าเสียใจ
ฉันทะก็จะมีขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนั้น
ชนในโลกมองเห็นความเสื่อมและความเจริญในรูปทั้งหลายแล้ว
ย่อมทำการตัดสินใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสูตร
[๘๗๕] ธรรมแม้เหล่านี้ คือ ความโกรธ
ความเป็นคนพูดเท็จ และความสงสัย
ย่อมมีในเมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่
บุคคลผู้มีสงสัยพึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ๑
และธรรมเหล่าใดพระสมณะทรงทราบแล้วตรัสไว้
ธรรมเหล่านั้น เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ก็มีมา
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๗๖] ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านั้นจึงไม่มี

เชิงอรรถ :
๑ ญาณ ในที่นี้หมายถึงญาณ ๑๖ (โสฬสญาณ) ความหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ
ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด คือ (๑) นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดรู้นามและรูป) (๒) ปัจจยปริคคหญาณ
(ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป) (๓) สัมมสนญาณ (ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดย
ไตรลักษณ์) (๔) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ) (๕) ภังคานุ-
ปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความสลายเห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปหมด) (๖) ภยตูปัฏ-
ฐานญาณ (ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไปไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น)
(๗) อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ) (๘) นิพพิทานุปัสสนาญาณ
(ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย) (๙) มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย เมื่อ
หน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น) (๑๐) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ
(ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออก) (๑๑) สังขารุเปกขาญาณ (ญาณ
อันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร ไม่ยินดียินร้ายต่อสังขารทั้งหลาย) (๑๒) สัจจานุโลมิกญาณ หรือ
อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลม ได้แก่การหยั่งรู้อริยสัจ) (๑๓) โคตรภูญาณ (ญาณหยั่งรู้ที่เป็น
หัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชน เข้าสู่ภาวะอริยบุคคล) (๑๔) มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค (ความ
หยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น) (๑๕) ผลญาณ ญาณในอริยผล (ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของ
พระอริยบุคคลชั้นนั้น ๆ) (๑๖) ปัจจเวกขณญาณ (ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน สำรวจรู้มรรคผล
กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่และนิพพาน) (ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑-๖๕/๗-๑๐๙, วิสุทฺธิ. ๒/๖๖๒-๘๐๔/
๒๕๐-๓๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสูตร
ขอพระองค์จงตรัสบอกเรื่องความไม่มีและความมีว่า
มีต้นเหตุมาจากสิ่งใดแก่ข้าพระองค์
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๗] ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากผัสสะ
เมื่อผัสสะไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
เราขอบอกเรื่องคือความไม่มีและความมีนี้ว่า
มีต้นเหตุมาจากผัสสะแก่เธอ
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๗๘] ผัสสะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
และความยึดถือมีมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๙] เพราะอาศัยนามและรูป ผัสสะจึงเกิดขึ้น
ความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา
เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๘๐] เมื่อบุคคลดำเนินอย่างไร รูปจึงไม่มี
สุขและทุกข์จะไม่มีได้อย่างไร
สุขและทุกข์ย่อมไม่มีโดยวิธีการใด
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกวิธีการนั้นแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์มีความตั้งใจว่า จะรู้วิธีการนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๘๑] บุคคลไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาปกติ
ไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาผิดปกติ
เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ปราศจากสัญญาก็มิใช่
เมื่อบุคคลดำเนินอย่างนี้ รูปจึงไม่มี
เพราะส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้ามีต้นเหตุมาจากสัญญา
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๘๒] ข้าพระองค์ได้ทูลถามธรรมใดแล้ว
พระองค์ก็ได้ตรัสตอบธรรมนั้นแก่ข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามธรรมอื่นอีก
ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมนั้นด้วยเถิด
สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่าเป็นบัณฑิตในโลกนี้
พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์๑
ด้วยอรูปสมาบัติเท่านั้นหรือหนอว่า เป็นธรรมอันเลิศ
หรือว่าสมณพราหมณ์บางพวก กล่าวถึงความหมดจดอย่างอื่นว่า
เยี่ยมกว่าอรูปสมาบัตินี้
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๘๓] สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้
พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์
ด้วยอรูปสมาบัติเท่านั้นว่า เป็นธรรมอันเลิศ
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็อ้างตนว่า เป็นผู้ฉลาด
พากันกล่าวความสงบในความไม่มีอะไรเหลือ

เชิงอรรถ :
๑ ยักษ์ ในที่นี้หมายถึงสัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์ (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๑๑๐/๓๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
[๘๘๔] มุนีผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น รู้จักสมณพราหมณ์
ผู้เป็นเจ้าลัทธิเหล่านี้ว่า เป็นผู้เข้าไปอาศัยทิฏฐิ
และรู้จักทิฏฐิเป็นที่อาศัย
นักปราชญ์ครั้นรู้จักแล้ว ก็หลุดพ้นไม่ถึงการวิวาท
ไม่กลับมาในภพน้อยภพใหญ่
กลหวิวาทสูตรที่ ๑๑ จบ

๑๒. จูฬวิยูหสูตร๑
ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรเล็ก
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๘๕] สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก
ยึดถือยู่เฉพาะทิฏฐิของตน ๆ
ถือแล้วก็อ้างตัวว่า เป็นคนฉลาด พูดกันไปต่าง ๆ ว่า
บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นชื่อว่า รู้ธรรมแล้ว
บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่า ยังไม่สำเร็จกิจ
[๘๘๖] สมณพราหมณ์เหล่านั้นถืออย่างนี้ แล้วก็พากันวิวาท
และกล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้
วาทะไหนเป็นเรื่องจริงกันหนอ
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมด
ต่างก็อ้างตัวว่า เป็นคนฉลาด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๘๗] คนพาลไม่ยอมรับธรรมของผู้อื่นเลย
เป็นคนต่ำทราม มีปัญญาทราม

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๑๓-๑๒๙/๓๓๘-๓๖๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้นแหละเป็นคนพาล มีปัญญาทราม
สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั้นแหละยึดถือทิฏฐิอยู่
[๘๘๘] ถ้าพวกสมณพราหมณ์ไม่ผ่องแผ้วเพราะทิฏฐิของตน๑
เป็นผู้มีปัญญาหมดจดดี ฉลาด มีความรู้แล้วไซร้
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็ไม่มีใครเสื่อมปัญญา
เพราะทิฏฐิของสมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น ถือกันมาอย่างนั้น
[๘๘๙] คน ๒ จำพวกกล่าวทิฏฐิใดต่อกันว่า เป็นคนพาล
เราไม่กล่าวทิฏฐินั้นว่า จริง
สมณพราหมณ์พากันประกาศทิฏฐิของตน ๆ ว่า จริง
เพราะฉะนั้น จึงพากันใส่ไฟผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๙๐] สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่าจริง ว่าแท้
สมณพราหมณ์พวกอื่นก็พากันกล่าวธรรมนั้นว่าเปล่า ว่าเท็จ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นต่างพากันถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ววิวาทกัน
เพราะหตุไร สมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๙๑] หมู่ชนรู้ชัดสัจจะใดไม่พึงวิวาทกัน
สัจจะนั้นมีอย่างเดียว๒เท่านั้น ไม่มีอย่างที่ ๒
สมณพราหมณ์เหล่านั้น พากันอวดสัจจะต่าง ๆ กันไปเอง
เพราะฉะนั้น สมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความนี้แปลตามบาลีที่ปรากฏว่า “สนฺทิฏฺฐิยา เจว น วีวทาตา” อีกนัยหนึ่งมีบาลีปรากฏว่า “สนฺทิฏฺฐิยา
เจ ปน วีวทาตา” ดังนี้ก็มี แปลว่า “ก็ถ้าพวกสมณพราหมณ์เป็นผู้ผ่องแผ้ว เพราะทิฏฐิของตน” (ขุ.สุ.อ.
๒/๘๘๗-๘๘๘/๓๙๖)
๒ สัจจะมีอย่างเดียว หมายถึงนิโรธสัจจะ หรือมัคคสัจจะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๙๑/๓๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๙๒] เพราะเหตุไรหนอ สมณพราหมณ์จึงพูดสัจจะไปต่าง ๆ
อ้างตนว่า เป็นคนฉลาดพูดพร่ำกันไป
สัจจะที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่าเรียนมา
มีหลายอย่างต่าง ๆ กันหรือ
หรือว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันนึกตรึกเอาเอง
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๙๓] มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย
เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วยสัญญาในโลก
แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
พากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลายไปเอง
แล้วกล่าวธรรมเป็น ๒ อย่างว่า
คำของเราจริง คำของท่านเท็จ
[๘๙๔] เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ
รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร และอารมณ์ที่รับรู้
แล้วแสดงอาการดูหมิ่น และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจ
แล้วก็ร่าเริงกล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
[๘๙๕] เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด
ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น
เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่า เป็นคนฉลาด
ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน
[๘๙๖] เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ๑
เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด อภิเษกตนเองด้วยใจ
เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น

เชิงอรรถ :
๑ อติสารทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ และทิฏฐิ ๖๒ นี้เอง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ทิฏฐิที่ตกลงใจ’ (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๑๒๔/๓๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
[๘๙๗] อนึ่ง หากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจาของผู้อื่นไซร้
เขาก็เป็นผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น
และถ้าผู้เรียนจบพระเวทเอง๑ เป็นนักปราชญ์ได้ไซร้
บรรดาสมณะ ก็ไม่มีใครเป็นคนพาล
[๘๙๘] ชนเหล่าใดกล่าวสรรเสริญธรรมอื่นนอกจากธรรมนี้
ชนเหล่านั้นเป็นผู้พลาดทางแห่งความหมดจด เป็นผู้ไม่บริบูรณ์
เดียรถีย์พากันกล่าวทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
เพราะพวกเขาเป็นผู้ยินดียิ่งด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน
[๘๙๙] พวกเดียรถีย์พากันกล่าวความหมดจดว่ามีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น
ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
พวกเดียรถีย์ตั้งอยู่ในทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
ต่างกล่าวยืนยันในธรรมอันเป็นแนวทางของตนนั้น
[๙๐๐] อนึ่ง เจ้าลัทธิกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
ใส่ไฟใครอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะทิฏฐินี้
เจ้าลัทธินั้น กล่าวถึงผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
มีความไม่หมดจดเป็นธรรมดา
พึงนำความมุ่งร้ายมาเองทีเดียว
[๙๐๑] เจ้าลัทธินั้นตั้งอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจและนับถือเองแล้ว
ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก
คนที่เกิดมาละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้
ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก
จูฬวิยูหสูตรที่ ๑๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ จบพระเวท หมายถึงจบไตรเพท อันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ มี ๓ คือ (๑) ฤคเวท
หรืออิรุเวท ประมวลบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า (๒) ยชุรเวท บทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่าง ๆ
(๓) สามเวท ประมวลบทเพลงขับสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ ต่อมาเพิ่ม (๔) อถรรพเวท
หรืออาถรรพณเวท ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสูตร
๑๓. มหาวิยูหสูตร๑
ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรใหญ่
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๐๒] สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งเหล่านี้
ยึดถือทิฏฐิอยู่ พากันกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกพวกนั่นแหละจะถูกนินทา
หรือว่าจะได้รับความสรรเสริญเพราะทิฏฐินั้น
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๐๓] ผลแห่งวาทะนี้น้อยนัก ไม่พอเพื่อความสงบ
เรากล่าวผลแห่งการวิวาทเป็น ๒ อย่าง๒
บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว
มองเห็นภูมิ(เหตุ)แห่งการไม่วิวาท๓ว่า เกษม
ไม่พึงวิวาทกัน
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๐๔] ทิฏฐิสมมติ๔เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดจากปุถุชน
บุคคลผู้มีความรู้ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง
บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น
ไม่ทำความพอใจในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๓๐-๑๔๙/๓๖๒-๓๙๗
๒ หมายถึงมีนินทา หรือสรรเสริญ อีกนัยหนึ่ง มีชนะ หรือพ่ายแพ้ (ขุ.สุ.อ. ๒/๙๐๓/๔๐๐)
๓ ภูมิแห่งการไม่วิวาท ในที่นี้หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๓๑/๓๖๕)
๔ ทิฏฐิสมมติ หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๓๒/๓๖๖, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๐๔/๔๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๐๕] สมณพราหมณ์ผู้กล่าวอ้างศีลว่า สูงสุด
สมาทานวัตรแล้ว ดำรงอยู่
ได้กล่าวความหมดจดด้วยความสำรวมว่า
พวกเราศึกษาในทิฏฐินี้แหละ และศึกษาความหมดจดแห่งวัตรนั้น
สมณพราหมณ์เหล่านั้นอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด
ย่อมเป็นผู้ถูกนำเข้าสู่ภพ
[๙๐๖] ถ้าบุคคลเคลื่อนจากศีลและวัตร
พลาดกรรมแล้วก็หวั่นไหว
เขาย่อมเฝ้าแต่พร่ำเพ้อและปรารถนาความหมดจด
เหมือนคนออกจากเรือนอยู่ร่วมกับพวกเดินทาง
พลัดพรากจากพวก ฉะนั้น
[๙๐๗] อริยสาวกละศีลและวัตรได้ทั้งหมด
ละกรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษ๑เสียได้
ไม่ปรารถนาความหมดจดและความไม่หมดจด
งดเว้นแล้ว ไม่ยึดมั่นทิฏฐิที่มีอยู่เที่ยวไป
[๙๐๘] สมณพราหมณ์เข้าไปอาศัยตบะที่ตนเกลียดชังนั้น
เข้าไปอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้
เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า
ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
จึงยังพร่ำพูดถึงความหมดจดอยู่

เชิงอรรถ :
๑ กรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษ หมายถึงอกุศลทั้งปวง ได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ และโลกิย-
กุศลได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๒/๙๐๗/๔๐๑, ที.ปา.อ. ๓/๓๑๒/๒๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสูตร
[๙๐๙] ความชอบใจวัตถุ ย่อมมีแก่ผู้กำลังปรารถนา
อนึ่ง ความหวั่นไหว ย่อมมีเพราะวัตถุที่กำหนดแล้ว
ความตายและความเกิดมิได้มีแก่ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้
ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยเหตุอะไรเล่า
หรือจะพึงชอบใจในอะไรเล่า
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๑๐] สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่า เยี่ยม
แต่สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับกล่าวธรรมนั้นนั่นเองว่า เลว
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนจริงกันหนอ
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทุกพวก
ต่างกล่าวอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๑๑] อนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวก
กล่าวธรรมของตนว่า บริบูรณ์ แต่กล่าวธรรมของผู้อื่นว่า เลว
พวกสมณพราหมณ์ถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ว ย่อมวิวาทกัน
เพราะต่างกล่าวทิฏฐิสมมติของตน ๆ ว่า จริง
[๙๑๒] หากบุคคลเป็นคนเลวเพราะเหตุที่ผู้อื่นพูดติเตียนไซร้
ก็จะไม่พึงมีใครวิเศษในธรรมทั้งหลายได้เลย
เพราะคนส่วนมาก ต่างกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
พากันกล่าวถึงธรรมของผู้อื่นว่า เป็นสิ่งเลวทราม
[๙๑๓] การบูชาหลักการของตน เป็นเรื่องแท้จริง
เหมือนสมณพราหมณ์พากันสรรเสริญแนวทางของตน ฉะนั้น
การว่าร้ายทุกอย่างก็พึงมีอยู่แท้จริง
เพราะความหมดจดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นเรื่องเฉพาะตนเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสูตร
[๙๑๔] ญาณที่ผู้อื่นพึงแนะนำไม่มีแก่พราหมณ์
ความตกลงใจแล้วยึดมั่นในธรรมทั้งหลาย ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงล่วงเลยการวิวาททั้งหลายได้แล้ว
แท้จริง พราหมณ์ไม่เห็นธรรมอื่นว่า เป็นของประเสริฐ
[๙๑๕] สมณพราหมณ์บางพวกเชื่อความหมดจดเพราะทิฏฐิว่า
เรารู้ เราเห็นความหมดจดนี้ว่า มีจริง
ถ้าสมณพราหมณ์ผู้หนึ่งได้เห็นแล้ว
จะมีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นนั้นแก่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่า
เพราะพวกสมณพราหมณ์แล่นเลย(ทางแห่งความหมดจด)แล้ว
ย่อมกล่าวความหมดจดด้วยการเห็นอื่น
[๙๑๖] นรชนเมื่อเห็นย่อมเห็นนามรูป
หรือครั้นเห็นแล้วก็รู้จักเฉพาะนามรูปเหล่านั้นเท่านั้น
นรชนเห็นนามรูปมากบ้าง น้อยบ้างโดยแท้
ถึงอย่างนั้น ผู้ฉลาดทั้งหลายก็ไม่กล่าวความหมดจด
เพราะการเห็นนามรูปนั้น
[๙๑๗] นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำได้ง่าย
เป็นผู้เชิดชูทิฏฐิที่กำหนดไว้แล้ว
อาศัยศาสดาใด ก็กล่าวว่าศาสดานั้นดีงามเพราะทิฏฐินั้น
นรชนนั้นผู้กล่าวความหมดจดได้เห็นว่าแท้จริงในทิฏฐินั้น
[๙๑๘] พราหมณ์พิจารณาแล้ว ย่อมไม่เข้าถึงความกำหนด
ไม่แล่นไปด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่ผูกพันด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเพราะญาณ
พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้วก็วางเฉยทิฏฐิสมมติที่เกิดจากปุถุชน
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสูตร
[๙๑๙] มุนีสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดในโลกนี้แล้ว
เมื่อคนทั้งหลายเกิดวิวาทกันแล้ว
ก็ไม่เข้าไปเป็นฝักเป็นฝ่าย
เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ มุนีนั้นเป็นผู้สงบ วางเฉย ไม่ถือมั่น
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น
[๙๒๐] มุนีละอาสวะเก่า๑ไม่ก่ออาสวะใหม่๒
ไม่ดำเนินไปตามความพอใจ
ทั้งไม่มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
มุนีนั้นเป็นนักปราชญ์ พ้นขาดแล้วจากทิฏฐิทั้งหลาย
ติเตียนตนเองไม่ได้ ไม่ติดอยู่ในโลก
[๙๒๑] มุนีนั้น เป็นผู้กำจัดเสนา๓ในธรรมทั้งปวง
คือในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
มุนีนั้นเป็นผู้ปลงภาระ๔ลงแล้ว พ้นขาดแล้ว
ไม่มีความกำหนด ไม่เข้าไปยินดี
ไม่มีความปรารถนา
มหาวิยูหสูตรที่ ๑๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อาสวะเก่า หมายถึงกิเลสเกิดขึ้นเพราะปรารภรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอดีต (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๑๔๘/๓๙๔, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๒๐/๔๐๔)
๒ อาวสวะใหม่ หมายถึงกิเลสที่เกิดขึ้นปรารภรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในปัจจุบัน (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๑๔๘/๓๙๔, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๒๐/๔๐๔)
๓ เสนา ในที่นี้หมายถึงเสนามาร คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒๙/๑๔๙/๒๗๗)
๔ ภาระ หมายถึงสิ่งที่ต้องนำพา มี ๓ คือ (๑) ขันธภาระ ได้แก่ ขันธ์ ๕ (๒) กิเลสภาระ ได้แก่ ราคะ โทสะ
โมหะ เป็นต้น (๓) อภิสังขารภาระ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๑๔๙/๓๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสูตร
๑๔. ตุวฏกสูตร๑
ว่าด้วยภิกษุผู้กำจัดบาปธรรมอย่างเร็วพลัน
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๒๒] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์
ผู้มีวิเวก มีสันติบท ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ว่า
ภิกษุเห็นอย่างไร จึงไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ดับไป
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๒๓] ภิกษุพึงขจัดบาปธรรมทั้งปวง
ที่เป็นรากเหง้าแห่งกิเลสเครื่องเนิ่นช้า๒
และอัสมิมานะ ด้วยมันตา๓
ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดในภายใน
ภิกษุมีสติทุกเมื่อ พึงศึกษาเพื่อกำจัดตัณหาเหล่านั้น
[๙๒๔] ภิกษุพึงรู้คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ในภายในหรือในภายนอก
แต่ไม่ควรทำความดื้อรั้นเพราะคุณธรรมนั้น
เพราะการทำความดื้อรั้นนั้น
ผู้สงบทั้งหลายไม่กล่าวว่า เป็นความดับกิเลส

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบคำแปลและรายละเอียดใน ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๐-๑๖๙/๔๐๕-๔๗๙
๒ รากเหง้าแห่งกิเลสเครื่องเนิ่นช้า ในที่นี้หมายถึงอวิชชา (ความไม่รู้) อโยนิโสมนสิการ (การไม่มนสิการ
โดยแยบคาย) อัสมิมานะ (ความถือตัว) อหิริกะ (ความไม่ละอาย) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัว) อุทธัจจะ
(ความฟุ้งซ่าน) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๑/๔๑๒)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๔๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสูตร
[๙๒๕] ภิกษุไม่พึงสำคัญตนว่า เราเลิศกว่าเขา เราด้อยกว่าเขา
หรือว่าเราเสมอเขา เพราะคุณธรรมนั้น
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมเป็นอเนกแล้ว
ไม่พึงกำหนดตนดำรงอยู่
[๙๒๖] ภิกษุพึงสงบกิเลสภายในนั่นเอง
ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยทางอื่น
เมื่อภิกษุสงบกิเลสภายในได้แล้ว
ทิฏฐิว่ามีอัตตา หรือทิฏฐิว่าไม่มีอัตตาก็ไม่มีแต่ที่ไหน ๆ
[๙๒๗] คลื่นไม่เกิดในส่วนกลางทะเล ทะเลเรียบอยู่ ฉันใด
ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหว ฉันนั้น
ภิกษุไม่พึงก่อกิเลสเครื่องฟูใจ๑ในที่ไหน ๆ
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๒๘] พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ๒แจ่มแจ้ง
ได้ทรงแสดงธรรมที่เป็นพยาน๓
อันเป็นธรรมเครื่องกำจัดอันตราย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงตรัสบอกปฏิปทา
คือปาติโมกข์ หรือแม้สมาธิ

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องฟูใจ มี ๗ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และกรรม (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๕/
๔๒๓-๔๒๔)
๒ จักษุ ในที่นี้หมายถึงจักษุ ๕ ชนิด คือ มังสจักษุ ทิพพจักษุ ปัญญาจักษุ พุทธจักษุ และสมันตจักษุ (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๒๔
๓ ธรรมที่เป็นพยาน หมายถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงทราบเอง ประจักษ์แก่พระองค์เอง มิใช่โดยการ
เชื่อผู้อื่น (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๒๙] ภิกษุไม่พึงเป็นผู้มีตาลอกแลก
พึงป้องกันหูมิให้ได้ยินคามกถา๑
ไม่พึงติดใจในรส และไม่พึงยึดถืออะไร ๆ
ในโลกว่า เป็นของเรา
[๙๓๐] เมื่อใด ภิกษุถูกผัสสะกระทบ
เมื่อนั้น เธอก็ไม่พึงทำความคร่ำครวญในที่ไหน ๆ
ไม่พึงคาดหวังภพ และไม่พึงกระสับกระส่าย
เพราะอารมณ์ที่น่ากลัว
[๙๓๑] ภิกษุได้ข้าวก็ดี น้ำก็ดี ของขบเคี้ยวก็ดี ผ้าก็ดี
ไม่ควรทำการสะสม เมื่อไม่ได้ข้าวเป็นต้น ก็ไม่พึงสะดุ้ง
[๙๓๒] ภิกษุพึงเป็นผู้มีฌาน ไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
พึงเว้นจากความคะนอง ไม่พึงประมาท
และพึงอยู่ในที่นั่งที่นอนที่มีเสียงน้อย
[๙๓๓] ภิกษุไม่พึงหลับมาก มีความเพียรเครื่องเผากิเลส
พึงประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความหลอกลวง
เรื่องชวนหัว การเล่น เมถุนธรรม พร้อมทั้งการประดับตกแต่ง
[๙๓๔] ผู้นับถือพระรัตนตรัยไม่พึงประกอบการทำอาถรรพณ์๒
การทำนายฝัน การทำนายลักษณะ หรือแม้การดูฤกษ์ยาม

เชิงอรรถ :
๑ คามกถา ในที่นี้หมายถึงติรัจฉานกถา คือถ้อยคำอันขวางทางไปสู่สวรรค์หรือนิพพาน ได้แก่เรื่องราวที่ภิกษุ
ไม่ควรนำมาเป็นข้อสนทนากัน เพราะทำให้เกิดความฟุ้งซ่านและหลงเพลินเสียเวลา (ที.สี.อ. ๑/๑๗/๘๔)
และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๗/๔๓๙ ประกอบ
๒ อาถรรรพณ์ หมายถึงคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ หรือเวทมนตร์ที่ใช้เพื่อให้ดีหรือร้าย เป็นคัมภีร์อีกเล่มหนึ่ง
ในคัมภีร์พระเวท (ขุ.ม.อ. ๑๒๖/๔๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสูตร
ไม่พึงเรียนการทำนายเสียงสัตว์ร้อง
การปรุงยาให้ตั้งครรภ์ และการบำบัดรักษาโรค
[๙๓๕] ภิกษุไม่พึงหวั่นไหวเพราะการนินทา
แม้ได้รับการสรรเสริญก็ไม่พึงลำพองตน
พึงบรรเทาความโลภรวมทั้งความตระหนี่
ความโกรธ และวาจาส่อเสียด
[๙๓๖] ภิกษุไม่พึงดำรงชีวิตในการซื้อขาย
ไม่พึงก่อกิเลสเป็นเหตุว่าร้ายในที่ไหน ๆ
ไม่พึงเกี่ยวข้องในบ้าน
และไม่พึงพูดเลียบเคียงกับคน เพราะอยากได้ลาภ
[๙๓๗] ภิกษุไม่พึงเป็นคนมักอวด ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้
ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง
ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง
[๙๓๘] ภิกษุไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ
เมื่อรู้ตัวก็ไม่พึงทำความโอ้อวด
และไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่
ด้วยปัญญา ด้วยศีลและวัตร
[๙๓๙] ภิกษุผู้ถูกคนเหล่าอื่นเบียดเบียน
ได้ยินคำพูดมากของพวกสมณะ หรือพวกคนพูดมาก(เหล่าอื่น)
ไม่พึงโต้ตอบคนเหล่านั้นด้วยคำหยาบ
เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู
[๙๔๐] ภิกษุรู้ธรรมนี้แล้ว เลือกสรรอยู่
พึงเป็นผู้มีสติ ศึกษาทุกเมื่อ
รู้ความดับกิเลสว่า เป็นความสงบแล้ว
ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสูตร
[๙๔๑] ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำ๑ไม่ถูกครอบงำ
ได้เห็นธรรมที่เป็นพยานซึ่งไม่ต้องเชื่อใคร
เพราะฉะนั้น เธอพึงเป็นผู้ไม่ประมาท
ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
นอบน้อมอยู่ พึงหมั่นศึกษาทุกเมื่อ
ตุวฏกสูตรที่ ๑๔ จบ

๑๕. อัตตทัณฑสูตร๒
ว่าด้วยความกลัวเกิดจากโทษของตน
(พระผู้มีพระภาคตรัสท่ามกลางหมู่ทหารของพระญาติทั้งสองฝ่ายดังนี้)
[๙๔๒] ความกลัวเกิดจากโทษของตน
เธอทั้งหลายจงมองดูคนที่มุ่งร้ายกัน
เราจักกล่าวความสังเวชตามที่เราได้เคยสังเวชมาแล้ว
[๙๔๓] เพราะเห็นหมู่สัตว์ผู้ดิ้นรนอยู่
เหมือนฝูงปลาในบ่อที่มีน้ำน้อย
เพราะเห็นสัตว์ทำร้ายกันและกัน ภัยจึงปรากฏแก่เรา
[๙๔๔] โลกทั้งหมด๓ไม่มีแก่นสาร
สังขารทั้งหลายทุกทิศก็หวั่นไหว
เราเมื่อต้องการภพสำหรับตน
ก็มองไม่เห็นฐานะอะไรที่ไม่ถูกครอบงำ

เชิงอรรถ :
๑ ครอบงำ หมายถึงครอบงำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ หรือครอบงำบาปอกุศลธรรม
(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๖๙/๔๗๘)
๒ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๗๐-๑๘๙/๔๘๐-๕๓๔
๓ โลกทั้งหมด หมายถึงโลกนรก โลกกำเนิดดิรัจฉาน โลกเปตวิสัย โลกมนุษย์ โลกเทวดา โลกขันธ์ โลกธาตุ
โลกอายตนะ และโลกพรหม (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๗๒/๔๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสูตร
[๙๔๕] เพราะเห็นสัตว์มีที่สิ้นสุดและถูกสกัดกั้น
ความไม่ยินดี จึงมีแก่เรา
อนึ่ง เราได้เห็นลูกศร๑ที่เห็นได้ยาก
อันอาศัยหทัยในสัตว์เหล่านี้แล้ว
[๙๔๖] สัตว์ถูกลูกศรใดปักติดแล้ว วิ่งพล่านไปทุกทิศทาง
เพราะถอนลูกศรนั้นได้แล้ว
จึงไม่ต้องวิ่งพล่าน ไม่ต้องล่มจม
[๙๔๗] คนทั้งหลายกล่าวถึงการศึกษา
เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
บุคคลไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษาหรือกามคุณเหล่านั้น
รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว
พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน
[๙๔๘] มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง ไม่มีความหลอกลวง
ปราศจากวาจาส่อเสียด ไม่โกรธ
ข้ามพ้นความโลภอันชั่วและความหวงแหนได้แล้ว
[๙๔๙] นรชนพึงควบคุมความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ
ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท
ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น
พึงน้อมใจไปในนิพพาน
[๙๕๐] นรชนไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ
ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป
พึงกำหนดรู้ความถือตัว
และพึงประพฤติละเว้นจากความผลุนผลัน

เชิงอรรถ :
๑ ลูกศร ในที่นี้หมายถึงกิเลส มี ๗ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ โสกะ และความสงสัย (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๑๗๔/๔๙๒-๔๙๓, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๔๕/๔๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสูตร
[๙๕๑] นรชนไม่พึงยินดีสังขารเก่า
ไม่พึงทำความพอใจสังขารใหม่
เมื่อสังขารเสื่อมไปก็ไม่พึงเศร้าโศก
ไม่พึงติดอยู่กับกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง
[๙๕๒] เราเรียกความติดใจว่า ห้วงน้ำใหญ่
เรียกความโลดแล่นว่า ความปรารถนา
เรียกอารมณ์๑ว่า ความหวั่นไหว
เปือกตมคือกาม เป็นสภาวะที่ลุล่วงไปได้ยาก
[๙๕๓] มุนีไม่ก้าวล่วงสัจจะ เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก
มุนีสลัดสิ่งทั้งปวงได้แล้ว มุนีนั้นแล เราเรียกว่า ผู้สงบ
[๙๕๔] มุนีนั้นแลมีความรู้ จบเวท รู้ธรรมแล้ว ก็ไม่อาศัย๒
มุนีนั้นอยู่ในโลกโดยชอบ
ย่อมไม่ใฝ่หาใคร ๆ ในโลกนี้
[๙๕๕] ผู้ใดข้ามกามและกิเลสเครื่องข้องที่ล่วงได้ยากในโลกได้
ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละโมบ
เป็นผู้ตัดกระแสได้ ไม่มีเครื่องผูก
[๙๕๖] เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
กิเลสเครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลัง อย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป

เชิงอรรถ :
๑ ความติดใจ ความโลดแล่น อารมณ์ หมายถึงตัณหา (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๘๐/๕๑๔)
๒ ไม่อาศัย ในที่นี้หมายถึงไม่มีตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๘๒/๕๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสูตร
[๙๕๗] ความยึดถือว่า เป็นของเราในนามรูป
ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง
และผู้ใดไม่เศร้าโศกเพราะไม่มีความยึดถือว่า เป็นของเรา
ผู้นั้นแลชื่อว่า ย่อมไม่เสื่อมในโลก๑
[๙๕๘] กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา
หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ไม่มีแก่ผู้ใด
ผู้นั้น เมื่อไม่ได้ความยึดถือว่า เป็นของเรา
ย่อมไม่เศร้าโศกว่า สิ่งของของเราไม่มี
[๙๕๙] บุคคลเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ติดใจ ไม่หวั่นไหว
สม่ำเสมอในอายตนะทั้งปวง
เราถูกถามถึงบุคคลผู้ไม่หวั่นไหว จึงบอกอานิสงส์นั้น
[๙๖๐] อภิสังขารไร ๆ ไม่มีแก่ผู้ไม่หวั่นไหว รู้แจ่มแจ้ง
เขางดเว้นแล้วจากการปรารภอภิสังขาร
ย่อมมองเห็นความปลอดโปร่งในที่ทั้งปวง
[๙๖๑] มุนีย่อมไม่กล่าวถึงตนในหมู่ชนที่เสมอกัน
ด้อยกว่า (หรือ) เลิศกว่าเลย
มุนีนั้นเป็นผู้สงบ คลายความตระหนี่ ไม่ยึดถือ ไม่สลัดทิ้ง
อัตตทัณฑสูตรที่ ๑๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบธรรมบทข้อ ๓๖๗ หน้า ๑๔๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสูตร
๑๖. สารีปุตตสูตร๑
ว่าด้วยพระสารีบุตรกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ
(ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้)
[๙๖๒] พระศาสดาผู้มีพระสุรเสียงไพเราะอย่างนี้
ได้เสด็จจากภพดุสิตมาเป็นพระคณาจารย์
ก่อนหน้านี้ ข้าพระองค์ไม่เคยเห็น
ทั้งไม่เคยได้ยินจากใคร ๆ มาเลย
[๙๖๓] พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
ย่อมปรากฏแก่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ทรงกำจัดความมืดทั้งปวง
ทรงเป็นเอกบุรุษ บรรลุความยินดีแล้ว
[๙๖๔] ข้าพระองค์มีความต้องการ(ถาม)ปัญหา
จึงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ไม่ทรงถูกกิเลสอาศัย เป็นผู้มั่นคง ไม่หลอกลวง
เสด็จมาเป็นพระคณาจารย์ของคนเป็นอันมาก
ผู้ยังผูกพันอยู่ในศาสนานี้
[๙๖๕] เมื่อภิกษุเบื่อหน่าย ใช้สอยที่นั่งอันว่างเปล่า
ในถ้ำแห่งภูเขา ที่โคนไม้ หรือที่ป่าช้า
[๙๖๖] ภิกษุอยู่บนที่นอนที่นั่งอันไม่มีเสียงอื้ออึง
เห็นอารมณ์ที่น่าหวาดเสียวเหล่าใดแล้ว ไม่พึงหวั่นไหว
ภิกษุ(อื่น) พึงหวั่นไหวร้องไห้อยู่บนที่นอนสูงและใหญ่
ซึ่งเป็นที่มีอารมณ์ที่น่าหวาดเสียว

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๐-๒๑๐/๕๓๕-๖๒๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสูตร
[๙๖๗] ภิกษุเมื่อจะไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป๑
พึงปราบปรามอันตรายที่มีอยู่ในโลก
บนที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด
[๙๖๘] ภิกษุอบรมตนอยู่ พึงมีแนวทางแห่งถ้อยคำอย่างไร
พึงมีโคจรในศาสนานี้อย่างไร พึงมีศีลและวัตรอย่างไร
[๙๖๙] ภิกษุนั้นพึงสมาทานสิกขาอะไร
จึงมีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
มีปัญญารักษาตน มีสติกำจัดมลทินของตนได้
เหมือนช่างทองขจัดมลทินทอง ฉะนั้น
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร)
[๙๗๐] เราจักบอกความผาสุก และธรรมตามสมควรนั้น
ของผู้เบื่อหน่าย ใช้สอยที่นั่งที่นอนอันสงัด
ผู้ปรารถนาสัมโพธิญาณแก่เธอ ตามที่รู้
[๙๗๑] ภิกษุผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ
ประพฤติธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบ
ไม่พึงกลัวภัย ๕ อย่าง คือ
เหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน
สัมผัสจากมนุษย์ และสัตว์ ๔ เท้า
[๙๗๒] ภิกษุไม่พึงหวาดกลัวผู้ถือธรรมอื่น
แม้เห็นอารมณ์น่าหวาดเสียวเป็นอันมาก

เชิงอรรถ :
๑ ทิศที่ไม่เคยไป ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๙๖๗/๔๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสูตร
ของผู้ถือธรรมอื่นเหล่านั้น ก็ไม่พึงหวาดกลัว
อนึ่ง ภิกษุผู้หมั่นแสวงหากุศลธรรม
พึงปราบปรามอันตรายอื่น ๆ
[๙๗๓] ภิกษุถูกผัสสะแห่งความเจ็บป่วยและความหิวกระทบแล้ว
พึงอดกลั้นความหนาว หรือความร้อน
ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้ว
โดยอาการมากอย่าง ก็ไม่ให้โอกาส
พึงทำความเพียรและความบากบั่นให้มั่นคง
[๙๗๔] ภิกษุไม่พึงขโมย ไม่พึงพูดเท็จ
พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งผู้ยังหวาดสะดุ้ง และผู้มั่นคง
เมื่อใด ภิกษุรู้แจ้งความขุ่นมัวแห่งใจ
เมื่อนั้น เธอพึงบรรเทาด้วยมนสิการว่า
นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ
[๙๗๕] ภิกษุไม่พึงลุอำนาจแห่งความโกรธและความดูหมิ่น
ทั้งพึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นเหล่านั้นดำรงอยู่
แต่เมื่อจะกำราบ ก็พึงครอบงำสัตว์หรือสังขาร
ที่เป็นที่รักหรือไม่เป็นที่รักโดยแท้
[๙๗๖] ภิกษุผู้มีปีติในเรื่องดีงาม พึงเชิดชูปัญญา
พึงข่มอันตรายเหล่านั้น พึงปราบความไม่ยินดีในที่นั่งที่นอนอันสงัด
ทั้งปราบธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญ ๔ ประการ
[๙๗๗] เราจักฉันอะไรเล่า หรือจักฉันที่ไหน
คืนนี้เรานอนลำบากแล้วหนอ เราจักนอนที่ไหนเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสูตร
ภิกษุผู้เป็นเสขะพึงกำจัดวิตกอันเป็นที่ตั้ง
แห่งความคร่ำครวญเหล่านี้ เป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป
[๙๗๘] ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้
ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาลแล้ว
พึงรู้จักประมาณเพื่อสันโดษ
ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น
เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน
แม้ถูกด่า ก็ไม่พึงกล่าววาจาหยาบ
[๙๗๙] ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน ตื่นอยู่โดยมาก
ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่น
พึงเข้าไปตัดความตรึกธรรม
ที่อาศัยความตรึกและความคะนอง
[๙๘๐] ภิกษุถูกผู้ตักเตือนด้วยวาจา พึงมีสติชื่นชม
ทำลายความกระด้างในเพื่อนพรหมจารี
พึงเปล่งวาจาเป็นกุศล
ไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต
ไม่พึงคิดหาเรื่องที่จะว่ากล่าวคน
[๙๘๑] ลำดับต่อไป ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ
ศึกษาเพื่อกำจัดธุลี ๕ อย่างในโลก
คือพึงปราบปรามราคะในรูป ราคะในเสียง ราคะในกลิ่น
ราคะในรส และราคะในผัสสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
[๙๘๒] ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว
พึงกำจัดความพอใจในธรรมเหล่านี้
ภิกษุนั้นเมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล
เป็นผู้มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืด
สารีปุตตสูตรที่ ๑๖ จบ
อัฏฐกวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กามสูตร ๒. คุหัฏฐกสูตร
๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร ๔. สุทธัฏฐกสูตร
๕. ปรมัฏฐกสูตร ๖. ชราสูตร
๗. ติสสเมตเตยยสูตร ๘. ปสูรสูตร
๙. มาคันทิยสูตร ๑๐. ปุราเภทสูตร
๑๑. กลหวิวาทสูตร ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
๑๓. มหาวิยูหสูตร ๑๔. ตุวฏกสูตร
๑๕. อัตตทัณฑสูตร ๑๖. สารีปุตตสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
๕. ปารายนวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
วัตถุกถา๑
พราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ไปทูลถามปัญหา
[๙๘๓] เรื่องพราหมณ์พาวรีผู้เรียนจบมนตร์
ปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีกังวล
จึงเดินทางออกจากแคว้นโกศลอันรื่นรมย์
ไปสู่ทักขิณาปถชนบท
[๙๘๔] ท่านอาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี
อันเป็นพรมแดนแคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะต่อกัน
(เลี้ยงชีพ) อยู่ด้วยการเที่ยวภิกษาและผลไม้
[๙๘๕] เพราะอาศัยพราหมณ์นั้นนั่นเอง
หมู่บ้านจึงได้เจริญไพบูลย์
ท่านได้ประกอบพิธีมหายัญขึ้น
ด้วยรายได้ที่เกิดจากหมู่บ้านนั้น
[๙๘๖] ท่านบูชาพิธีมหายัญเสร็จแล้ว ก็กลับเข้าอาศรม
เมื่อท่านกลับเข้าอาศรมแล้ว
พราหมณ์อีกคนหนึ่งก็เดินทางมาถึง
[๙๘๗] พราหมณ์ที่มาพบนั้น มีเท้าเดินเสียดสีกัน
ท่าทางน่ากลัวมีฟันเขลอะ
ศีรษะเกลือกกลั้วด้วยสิ่งสกปรก
เข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้ว
ขอทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑-๕๖/๑-๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
[๙๘๘] พราหมณ์พาวรีเห็นเขานั้นแล้วก็เชิญให้นั่ง
ไต่ถามถึงความสุขความสบาย จึงกล่าวคำนี้ว่า
[๙๘๙] สิ่งของที่ควรให้ซึ่งเป็นของเราทั้งหมด
เราบริจาคไปแล้ว พราหมณ์เอ๋ย
ท่านจงเชื่อเราเถิด เราไม่มีทรัพย์ ๕๐๐ เลย
[๙๙๐] (ปังกทันตพราหมณ์กล่าวว่า)
ถ้าเมื่อเราขอ ท่านไม่ให้สิ่งที่มีอยู่
ในวันที่ ๗ ขอให้ศีรษะท่านแตกเป็น ๗ เสี่ยง
[๙๙๑] พราหมณ์นั้นเป็นคนโกหก
แสดงท่าทาง(หลอกลวง)กล่าวคำทำให้น่ากลัว
พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำพูดของเขาแล้วก็เป็นทุกข์
[๙๙๒] (พราหมณ์พาวรี) ถูกลูกศรคือความโศกเสียบแทงแล้ว
ไม่บริโภคอาหาร ซูบผอม
เมื่อท่านมีความคิดอย่างนั้น ใจก็ไม่ยินดีในฌาน
[๙๙๓] เทวดา๑ผู้ปรารถนาประโยชน์
เห็นพราหมณ์พาวรีหวาดกลัว เป็นทุกข์อยู่
จึงเข้าไปหาท่านแล้วกล่าวคำนี้ว่า
[๙๙๔] พราหมณ์ผู้ต้องการทรัพย์นั้น เป็นคนโกหก
เขาไม่รู้จักศีรษะ ไม่มีความรู้เรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๙๙๕] พราหมณ์พาวรีคิดว่า เทวดาผู้เจริญนี้คงจะรู้
(จึงกล่าวไปว่า) ข้าพเจ้าขอถามเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป

เชิงอรรถ :
๑ เทวดา ผู้สิงสถิตอยู่ในอาศรมของพราหมณ์พาวรี (ขุ.สุ.อ. ๒/๙๙๓/๔๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
ขอท่านจงบอกเรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ข้าพเจ้าขอฟังคำตอบของท่าน
[๙๙๖] (เทวดากล่าวว่า)
แม้ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้
เรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
เป็นวิสัยของพระชินเจ้าเท่านั้น
[๙๙๗] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
เทวดา ก็ใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้
รู้จักเรื่องศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป
ขอท่านจงบอกผู้นั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
[๙๙๘] (เทวดากล่าวว่า)
พระโอรสของเจ้าศากยะ
เป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากะ
เสด็จออกผนวชจากกรุงกบิลพัสดุ์
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เป็นผู้ก่อความสว่างไสว
[๙๙๙] (เทวดากล่าวว่า)
พราหมณ์ เจ้าศากยบุตรพระองค์นั้น
เป็นพระสัมพุทธเจ้า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
บรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งหมดแล้ว
มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง
ทรงถึงธรรมเป็นที่สิ้นกรรมทุกอย่าง
ทรงน้อมพระทัยไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
[๑๐๐๐] พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระพุทธเจ้าในโลก
มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม
ท่านจงไปทูลถามพระองค์เถิด
พระองค์จักตรัสตอบปัญหานั้นแก่ท่านได้
[๑๐๐๑] พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า พระสัมพุทธเจ้า
ก็มีความเบิกบานใจ
มีความโศกเบาบางและได้รับปีติเปี่ยมล้น
[๑๐๐๒] พราหมณ์พาวรีนั้นดีใจ เบิกบานใจ
เกิดความปลาบปลื้มใจ
จึงไต่ถามเทวดาถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
(และประกาศว่า) พระสัมพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ประทับอยู่ ณ ที่ไหน จะเป็นบ้าน นิคม หรือชนบทใดก็ตาม
พวกเราพึงไปนมัสการพระสัมพุทธเจ้า
ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๑๐๐๓] (เทวดากล่าวว่า)
เจ้าศากยบุตรพระองค์นั้น ทรงชนะมาร
มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาล้ำเลิศแผ่ไพศาลยิ่ง
ทรงปราศจากธุระ ไม่มีอาสวะ
ทรงเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ทรงเป็นผู้องอาจกว่านรชน
ประทับอยู่ ณ มณเฑียรสถานของชนชาวโกศล เขตกรุงสาวัตถี
[๑๐๐๔] ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรีได้เรียกพราหมณ์ทั้งหลาย
ผู้เป็นศิษย์ ซึ่งเรียนจบมนตร์มากล่าวว่า
มาณพทั้งหลาย มานี่เถิด เราจักบอก
ขอพวกเธอจงฟังคำของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
[๑๐๐๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ความที่พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดปรากฏเนือง ๆ ในโลก
นั่นหาได้ยาก
วันนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
เสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ปรากฏพระนามว่า พระสัมพุทธเจ้า
เธอทั้งหลายจงรีบไปกรุงสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๑๐๐๖] (มาณพทั้งหลายถามว่า)
ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าข้าพเจ้าทั้งหลายพบแล้ว
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพระพุทธเจ้า
ขอท่านจงบอกวิธีที่จะรู้จักพระองค์
แก่พวกข้าพเจ้าผู้ไม่รู้ด้วยเถิด
[๑๐๐๗] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ก็ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
อันมาแล้วในมนตร์ทั้งหลาย
ท่านกล่าวไว้แจ่มแจ้งครบถ้วนโดยลำดับว่า
[๑๐๐๘] บุคคลใดมีลักษณะมหาบุรุษเหล่านั้นอยู่ในตัว
บุคคลนั้นมีคติเป็น ๒ อย่างเท่านั้น
มิได้มีคติเป็นที่ ๓ เลย
[๑๐๐๙] คือ ถ้าบุคคลนั้นอยู่ครองเรือนจะพึงครอบครองแผ่นดินนี้
ย่อมปกครองโดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
[๑๐๑๐] แต่ถ้าบุคคลนั้นออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม
มีกิเลสดุจเครื่องปิดบัง๑อันเปิดแล้ว
[๑๐๑๑] พวกเธอจงทูลถามด้วยใจเท่านั้น
ถึงชาติ โคตร ลักษณะ
มนตร์ ศิษย์คนอื่น ๆ
ศีรษะ และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๑๐๑๒] ถ้าบุคคลนั้นเป็นพระพุทธเจ้า
ผู้มีปกติเห็นธรรมหาเครื่องกางกั้นมิได้
เมื่อพวกเธอถามปัญหาด้วยใจแล้ว
ก็จักทรงวิสัชนาด้วยพระวาจา
[๑๐๑๓] ครั้นได้ฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้ว
พราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็นศิษย์ คือ (๑) อชิตะ
(๒) ติสสเมตเตยยะ (๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู
[๑๐๑๔] (๕) โธตกะ (๖) อุปสีวะ (๗) นันทะ (๘) เหมกะ
(๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ (๑๑) ชตุกัณณิ ผู้เป็นบัณฑิต
[๑๐๑๕] (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย (๑๔) โปสาละ
(๑๕) โมฆราช ผู้มีปัญญา (๑๖) ปิงคิยะ ผู้เป็นมหาฤๅษี
[๑๐๑๖] พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คนนั้น
แต่ละคนเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ
มีชื่อปรากฏแก่ชาวโลกทั่วไป
เป็นผู้บำเพ็ญฌาน ยินดีในฌาน

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสดุจเครื่องปิดบัง มี ๕ อย่าง คือ ตัณหา ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต และอวิชชา (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๘/๓๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
เป็นผู้ทรงปัญญาปราดเปรื่อง
เคยอบรมวาสนาแต่ชาติปางก่อน๑ทั้งนั้น
[๑๐๑๗] ทุกคนเกล้าชฎาและครองหนังเสือ
อภิวาทพราหมณ์พาวรีและทำประทักษิณแล้ว
ต่างออกเดินทาง มุ่งหน้าไปทางทิศอุดร
[๑๐๑๘] สู่สถานเป็นที่ตั้งแคว้นอุฬกะ เมืองมาหิสสติในกาลนั้น
กรุงอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสา เมืองวนสวหยะ๒
[๑๐๑๙] กรุงโกสัมพี เมืองสาเกต กรุงสาวัตถีอันอุดม
เมืองเสตัพยะ กรุงกบิลพัสดุ์ กรุงกุสินารา
[๑๐๒๐] กรุงปาวา โภคนคร กรุงเวสาลี แคว้นมคธ
และปาสาณกเจดีย์อันรื่นรมย์ น่ารื่นเริงใจ
[๑๐๒๑] พราหมณ์เหล่านั้นรีบขึ้นสู่ภูเขา
เหมือนคนกระหายน้ำ รีบหาน้ำเย็นดื่ม
เหมือนพ่อค้าได้ลาภใหญ่มาครอง
และเหมือนคนถูกความร้อนแผดเผารีบหาร่มเงา ฉะนั้น
[๑๐๒๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม
ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่
ประหนึ่งว่าราชสีห์บันลือสีหนาทอยู่ในป่า

เชิงอรรถ :
๑ มาณพ ๑๖ คนนี้ได้เคยบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ แล้วอบรมจิตเพื่อเป็นบุญ
วาสนาที่จะติดตามตัวไป (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๑๓-๑๘/๔๓๐)
๒ วนสวหยะ มีชื่อ ๒ ชื่อ คือ (๑) ปวนนคร (๒) วนสาวัตถี (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๑๓-๑๘/๔๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
[๑๐๒๓] อชิตมาณพได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นดุจดวงอาทิตย์อันมีรัศมีเจิดจ้า
และดุจดวงจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญ ฉะนั้น
[๑๐๒๔] ลำดับนั้น อชิตมาณพยืนอยู่ ณ ที่สมควร
รื่นเริงใจเพราะได้เห็นอนุพยัญชนะ
บริบูรณ์ในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค
จึงได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่า
[๑๐๒๕] (อชิตมาณพทูลถามปัญหาทางใจว่า)
ขอพระองค์ตรัสระบุให้แน่ชัด
ถึงชาติ โคตรพร้อมด้วยลักษณะ
ขอจงตรัสบอกความสำเร็จในมนตร์ทั้งหลายว่า
พราหมณ์สอนมาณพเท่าไร
[๑๐๒๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์นั้นมีอายุ ๑๒๐ ปี
ชื่อพาวรีโดยโคตร มีลักษณะ ๓ อย่างอยู่ในตัว
เป็นผู้เรียนจบไตรเพท
[๑๐๒๗] พราหมณ์พาวรีนั้นถึงความสำเร็จ
ในลักษณะมนตร์ และประวัติศาสตร์๑
พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์๒ และเกฏุภศาสตร์๓

เชิงอรรถ :
๑ ประวัติศาสตร์ คือ พงศาวดารเล่าเรื่องเก่า ๆ มักจะมีคำว่า สิ่งนี้ได้เป็นมาอย่างนี้
๒ นิฆัณฑุศาสตร์ คัมภีร์ประเภทศัพท์มูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (lexicon) หรือภิธานศัพท์ (Glossary)
ที่รวบรวมคำศัพท์ ในพระเวทซึ่งเป็นคำยาก หรือคำที่เลิกใช้แล้ว นำมาอธิบายความหมายเป็นส่วนหนึ่ง
ของนิรุกติ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ (ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔)
๓ เกฏุภศาสตร์ คัมภีร์ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นส่วน
หนึ่งของกัลปะ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ (ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
ชื่อว่าถึงความสำเร็จในหลักธรรมของตน
กล่าวสอนมนตร์แก่ศิษย์จำนวน ๕๐๐ คน
[๑๐๒๘] (อชิตมาณพทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ผู้ตัดตัณหาเสียได้
ขอพระองค์จงทรงประกาศความเด่นชัด
แห่งลักษณะของพราหมณ์พาวรี
อย่าให้พวกข้าพระองค์มีความสงสัยเลย
[๑๐๒๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์นั้นย่อมใช้ลิ้นปิดหน้าได้
มีอุณาโลมอยู่ระหว่างคิ้ว
มีคุยหฐานซ่อนอยู่ในฝัก
มาณพ เธอจงรู้อย่างนี้เถิด
[๑๐๓๐] ชนทั้งปวงไม่ได้ยินใครถามปัญหาอะไร
ได้ยินแต่ปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงตอบ
ก็ปลาบปลื้มใจประนมอัญชลีแล้วพากันคิดไปต่าง ๆ ว่า
[๑๐๓๑] ใครหนอ เป็นเทพ เป็นพระพรหม
หรือเป็นพระอินทร์ผู้สุชัมบดี เมื่อถามปัญหาด้วยใจ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหานั้นกับใครเล่า
[๑๐๓๒] (อชิตมาณพกราบทูลว่า)
พราหมณ์พาวรีถามเรื่องศีรษะ
และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
ขอพระองค์ตรัสตอบปัญหานั้น
กำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๓๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เธอจงรู้เถิดว่า อวิชชาเป็นศีรษะ
วิชชาที่ประกอบด้วยสัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ
และวิริยะ เป็นธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๑๐๓๔] ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความปลาบปลื้มใจมากล้น สนับสนุนแล้ว
ทำหนังเสือเฉวียงบ่า ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาท
[๑๐๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ
พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยเหล่าศิษย์มีจิตเบิกบาน ดีใจ
ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระองค์
[๑๐๓๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ขอพราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยเหล่าศิษย์
จงมีความสุข และแม้เธอเองก็ขอให้มีความสุข
มีชีวิตอยู่ยืนนานเถิด มาณพ
[๑๐๓๗] เราให้โอกาสแก่พราหมณ์พาวรี
แก่เธอและมาณพทั้งหมดถามข้อสงสัยทั้งปวง
พวกเธอปรารถนาจะถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จงถามเถิด
[๑๐๓๘] อชิตมาณพได้รับโอกาสจากพระสัมพุทธเจ้าแล้ว
นั่งประคองอัญชลี ทูลถามปฐมปัญหากับพระตถาคต
ณ ปาสาณกเจดีย์นั้น
วัตถุกถา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑. อชิตมาณวกปัญหา
๑. อชิตมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของอชิตมาณพ
[๑๐๓๙] (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)
โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้
เพราะอะไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไร เป็นเครื่องฉาบทาโลกนี้ไว้
อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
[๑๐๔๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่๒ และความประมาท
เราเรียกความอยากว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้
ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
[๑๐๔๑] (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)
กระแส๓ทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง๔
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕๗-๖๔/๑๑-๑๒
๒ ความตระหนี่ มี ๕ อย่าง (๑) อาวาสมัจฉริยะ (ความตระหนี่ที่อยู่) (๒) กุลมัจฉริยะ (ความตระหนี่ตระกูล)
(๓) ลาภมัจฉริยะ (ความตระหนี่ลาภ) (๔) วัณณมัจฉริยะ (ความตระหนี่วรรณะ) (๕) ธัมมมัจฉริยะ (ความ
ตระหนี่ธรรม) (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒/๔๙)
๓ กระแส ในที่นี้หมายถึงตัณหา ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต และอวิชชา (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓/๕๓)
๔ ที่ทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอายตนะทั้งปวง (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑. อชิตมาณวกปัญหา
[๑๐๔๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
กระแสเหล่าใดในโลก
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้
[๑๐๔๓] (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ
นาม๑และรูป๒นี้ ดับที่ไหน

เชิงอรรถ :
๑ นาม หมายถึงขันธ์ที่มิใช่รูป ๔ อย่าง (เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕/๕๘)
๒ รูป หมายถึงมหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูปทั้ง ๔
มหาภูตรูป คือ รูปใหญ่ รูปต้นเดิม คือ ธาตุ ๔ ได้แก่ (๑) ปฐวีธาตุ สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่
สภาพอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูป เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็ง หรือธาตุดิน (๒) อาโปธาตุ
สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม ซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว หรือธาตุน้ำ
(๓) เตโชธาตุ สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ (๔) วาโยธาตุ สภาวะที่ทำให้สั่นไหว เคลื่อนที่ ค้ำจุน
เรียกสามัญว่า ธาตุลม (ที.สี.(แปล) ๙/๔๘๗-๔๙๙/๒๑๖-๒๒๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕/๕๘)
รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ หรือที่เรียกว่า อุปาทายรูป มี ๒๔ คือ
ปสาทรูป ๕ (รูปที่เป็นประธานสำหรับรับอารมณ์) (๑) ตา (๒) หู (๓) จมูก (๔) ลิ้น (๕) กาย
โคจรรูป หรือวิสัยรูป ๕ (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์) (๖) รูป (๗) เสียง (๘) กลิ่น
(๙) รส (๑๐) โผฏฐัพพะ (ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกันกับมหาภูตรูป ๓ คือ ปฐวี เตโช วาโย)
ภาวรูป ๒ (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ) (๑๐) อิตถัตตะ อิตถินทรีย์ ความเป็นหญิง (๑๑) ปุริสัตตะ ปุริสินทรีย์
ความเป็นชาย
หทัยรูป ๑ (รูปคือหทัย) (๑๒) หทัยวัตถุ ที่ตั้งแห่งใจ หัวใจ
ชีวิตรูป ๑ (รูปที่เป็นชีวิต) (๑๓) ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต
อาหารรูป ๑ (รูปคืออาหาร) (๑๔) กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว
ปริจเฉทรูป ๑ (รูปที่กำหนดเทศะ) (๑๕) อากาสธาตุ สภาวะคือช่องว่าง
วิญญัติรูป ๒ (รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย) (๑๖) กายวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความ
หมายด้วยกาย (๑๗) วจีวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา
วิการรูป ๔ (รูปคือการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้) (๑๘) (รูปัสส) ลหุตา ความเบา (๑๙) (รูปัสส)
มุทุตา ความอ่อนสลวย (๒๐) (รูปัสส) กัมมัญญตา ความควรแก่การงาน ใช้การได้
ลักขณรูป ๔ (รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด) (๒๑) อุปจยะ ความก่อตัว (๒๒) สันตติ
ความสืบต่อ (๒๓) ชรตา ความทรุดโทรม (๒๔) อนิจจตา ความแปรแตกสลาย (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕/๕๘,
อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๕๘๔-๙๘๔/๑๖๙-๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑. อชิตมาณวกปัญหา
ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์ตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
เธอได้ถามปัญหานั้นใด
เราจะกล่าวแก้ปัญหานั้นแก่เธอ
นามและรูปดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด
นามและรูปนั้นดับไปในที่นั้นเพราะวิญญาณดับ
[๑๐๔๕] (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)
พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด ผู้มีธรรมที่พิจารณาแล้ว
และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์ผู้มีพระปัญญา โปรดตรัสบอกการดำเนินชีวิต
ของพระอรหันตขีณาสพ
และพระเสขะเหล่านั้นด้วยเถิด
[๑๐๔๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ภิกษุไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย
เป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง
มีสติดำรงอยู่
อชิตมาณวกปัญหาที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๓. ปุณณกมาณวกปัญหา
๒. ติสสเมตเตยยมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยมาณพ
[๑๐๔๗] (ติสสเมตเตยยมาณพทูลถามดังนี้)
ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้
ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร
ใครรู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว๒
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
พระองค์ตรัสเรียกใครว่า เป็นมหาบุรุษ
ใครล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้
[๑๐๔๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ)
บุคคลเป็นผู้มีพรหมจรรย์๓(เพราะเห็นโทษ) ในกามทั้งหลาย
ชื่อว่า เป็นผู้สันโดษ ผู้คลายตัณหาแล้ว
มีสติทุกเมื่อ รู้ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้
ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้ไม่หวั่นไหว
[๑๐๔๙] ภิกษุนั้นชื่อว่า รู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
เราเรียกภิกษุนั้นว่า เป็นมหาบุรุษ
ภิกษุนั้นชื่อว่า ล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้
ติสสเมตเตยยมาณวกปัญหาที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๖๕-๖๗/๑๓
๒ ส่วนสุด ๒ ด้าน ได้แก่ ผัสสะเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ผัสสสมุทัยเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ผัสสนิโรธอยู่ท่ามกลาง
เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑/๗๙)
๓ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงมรรคพรหมจรรย์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๔๘/๔๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๓. ปุณณกมาณวกปัญหา
๓. ปุณณกมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของปุณณกมาณพ
[๑๐๕๐] (ปุณณกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญ๒แก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์ตรัสตอบปัญหาแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๕๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ฤๅษี มนุชะ๓กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้๔
อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ
[๑๐๕๒] (ปุณณกมาณพทูลถามดังนี้)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วในการบูชายัญ
ได้ข้ามพ้นชาติและชราบ้างไหม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๖๘-๗๓/๑๔-๑๕
๒ ยัญ ในที่นี้หมายถึงไทยธรรม ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน
พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒/๘๘)
๓ มนุชะ คือผู้ที่เกิดจากพระมนู (ขุ.ม.อ. ๑/๒๖)
๔ หวังความเป็นอย่างนี้ หมายถึงปรารถนาการบังเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๕๑/๔๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๓. ปุณณกมาณวกปัญหา
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๕๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ
เพราะอาศัยลาภจึงมุ่งหวังกาม
เรากล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ
ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้
[๑๐๕๔] (ปุณณกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ถ้าชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลกข้ามชาติและชราได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๕๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ
เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้น๑ในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน๒ ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่า ข้ามชาติและชราได้แล้ว๓
ปุณณกมาณวกปัญหาที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ฝั่งนี้และฝั่งโน้น ในที่นี้หมายถึงอัตภาพของตนและอัตภาพของผู้อื่น (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๒/๑๑๔, ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๑๗/๑๐๔)
๒ ควัน หมายถึงความประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๒/๑๑๔, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๗/๑๐๕)
๓ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๒/๑๘๕, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๔๑/๗๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๗/๑๐๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๔. เมตตคูมาณวกปัญหา
๔. เมตตคูมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของเมตตคูมาณพ
[๑๐๕๖] (เมตตคูมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหา
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า
ทรงเป็นผู้จบเวท๒ ทรงอบรมพระองค์แล้ว
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากที่ไหนหนอ
[๑๐๕๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่รู้
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลกนี้
ล้วนเกิดมาแต่อุปธิ๓เป็นต้นเหตุ
[๑๐๕๘] ผู้ใดแลไม่มีปัญญา ก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่า เป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้ชัดอยู่
เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า มีชาติเป็นแดนเกิด
ไม่ควรก่ออุปธิ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๔-๘๕/๑๕-๑๘
๒ เวท ในที่นี้หมายถึงญาณ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ฯลฯ วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิในมรรคทั้ง ๔ (ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๑๘/๑๑๔)
๓ อุปธิ มี ๑๐ อย่าง (๑) อุปธิคือตัณหา (๒) อุปธิคือทิฏฐิ (๓) อุปธิคือกิเลส (๔) อุปธิคือกรรม (๕) อุปธิคือ
ทุจริต (๖) อุปธิคืออาหาร (๗) อุปธิคือปฏิฆะ (๘) อุปธิคืออุปาทินนธาตุ ๔ (๙) อุปธิคืออายตนะภายใน ๖
(๙) อุปธิคืออายตนะภายนอก ๖ (๑๐) อุปธิคือหมวดวิญญาณ ๖ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๙/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๔. เมตตคูมาณวกปัญหา
[๑๐๕๙] (เมตตคูมาณพทูลถามดังนี้)
พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นด้วยเถิด
นักปราชญ์ทั้งหลายจะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา
โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสตอบปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว
[๑๐๖๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตตคู)
บุคคลรู้ชัดธรรม๑ใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
เราจักกล่าวธรรมที่ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้วแก่เธอ
[๑๐๖๑] (เมตตคูมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุดนั้นที่บุคคลรู้ชัดแล้ว
มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
[๑๐๖๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตตคู)
เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง
เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความถือมั่น

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๖๐/๔๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๔. เมตตคูมาณวกปัญหา
และวิญญาณในธรรมเหล่านั้นเสีย
ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ๑
[๑๐๖๓] ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท รู้แจ้ง
ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้วเที่ยวไปอยู่
พึงละชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะ
อันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน
[๑๐๖๔] (เมตตคูมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระองค์
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่
เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว
[๑๐๖๕] พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่หยุดหย่อน
แม้ชนเหล่านั้นก็พึงละทุกข์ได้เป็นแน่
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์มาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ
ขอนมัสการพระองค์ (โดยหวังว่า) พระผู้มีพระภาค
พึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง
[๑๐๖๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท
ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ
ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง๒
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ หมดความสงสัยแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ภพ มี ๒ คือ (๑) กรรมภพ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร (๒) ภพใหม่
อันมีในปฏิสนธิ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๔/๑๓๘)
๒ ฝั่ง ในที่นี้หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๘/๑๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๕. โธตกมาณวกปัญหา
[๑๐๖๗] นรชนใดในที่นี้เป็นผู้มีปัญญา จบเวท
สลัดกิเลสเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว
นรชนนั้นเป็นผู้ปราศจากตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามพ้นชาติและชราได้แล้ว
เมตตคูมาณวกปัญหาที่ ๔ จบ

๕. โธตกมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโธตกมาณพ
[๑๐๖๘] (โธตกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง
บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
ศึกษาธรรม๒เป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน
[๑๐๖๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน
มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล
บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๖-๙๓/๑๘-๒๐
๒ ศึกษาธรรม หมายถึงศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๑/๑๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๕. โธตกมาณวกปัญหา
[๑๐๗๐] (โธตกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์เห็นพระองค์ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
เป็นพราหมณ์ เสด็จจาริกอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ๑ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้องข้าพระองค์
จากความสงสัยทั้งหลายเถิด
[๑๐๗๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใครๆ
ผู้มีความสงสัยในโลกได้
แต่เธอเมื่อรู้แจ้งธรรมอันประเสริฐ
ก็จะข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้
[๑๐๗๒] (โธตกมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอนวิเวกธรรม
ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ
ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล
เป็นผู้ไม่อาศัย๒ เที่ยวไปอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ผู้สักกะ หมายถึงพระผู้มีพระภาคเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๒/๑๖๓)
๒ ไม่อาศัย หมายถึงไม่อาศัยในอารมณ์ไหน ๆ ด้วยทิฏฐิหรือตัณหา (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๒๑/๓๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๕. โธตกมาณวกปัญหา
[๑๐๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
บุคคลผู้รู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
เราจักกล่าวความสงบนั้นที่เรารู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้วแก่เธอ
[๑๐๗๔] (โธตกมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจความสงบอันสูงสุดนั้น
ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
[๑๐๗๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง
เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่า เป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว
อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย
โธตกมาณวกปัญหาที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๖. อุปสีวมาณวกปัญหา
๖. อุปสีวมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของอุปสีวมาณพ
[๑๐๗๖] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว
ไม่ได้อาศัย(ใคร ๆ หรือสิ่งใด ๆ)
จึงไม่สามารถข้ามห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่๒ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอารมณ์
ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว พึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้
[๑๐๗๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ‘ไม่มีอะไร’ ดังนี้แล้วก็จะข้ามห้วงกิเลสได้
เธอจงละกามทั้งหลาย เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย
พิจารณาดูความสิ้นตัณหาทั้งคืนทั้งวัน
[๑๐๗๘] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้)
บุคคลใดเป็นผู้ปราศจากราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น๓อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง๔

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๙๔-๑๐๑/๒๐-๒๒
๒ ห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ หมายถึงโอฆะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๘/๑๗๗)
๓ ละสมาบัติอื่น ในที่นี้หมายถึงละสมาบัติ ๖ เบื้องต่ำ (รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๒) (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๐/๑๘๔,
ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๗๘/๔๔๒)
๔ สัญญาวิโมกข์ หมายถึงสัญญาสมาบัติ คุณธรรมชั้นสูงที่บุคคลบรรลุ มี ๗ ประการ ได้แก่ รูปฌาน ๔
อรูปฌาน ๓ (ยกเว้นเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ) (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๐/๑๘๔, ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๗๘/๔๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๗. นันทมาณวกปัญหา
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่
ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ
[๑๐๗๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
บุคคลใดเป็นผู้ปราศจากราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว
ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้
[๑๐๘๐] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานนับปีไม่ได้ไซร้
บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
มีความสงบเย็นอยู่ในพรหมโลกนั่นนั้นแลหรือ
หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก
[๑๐๘๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป
ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ ฉันใด
มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมดับไป
กำหนดไม่ได้ ฉันนั้น
[๑๐๘๒] (ท่านอุปสีวะทูลถามดังนี้)
มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี
หรือว่าไม่แตกทำลาย เพราะมีความแน่แท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๗. นันทมาณวกปัญหา
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสตอบปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว
[๑๐๘๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
มุนีผู้ถึงความสลายไปย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ
ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด
กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น
(เพราะ)เมื่อมุนีนั้นถอนธรรม๑ทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว
แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวงท่านก็ถอนได้เด็ดขาดแล้ว
อุปสีวมาณวกปัญหาที่ ๖ จบ

๗. นันทมาณวกปัญหา๒
ว่าด้วยปัญหาของนันทมาณพ
[๑๐๘๔] (นันทมาณพทูลถามดังนี้)
ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก
คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร
ชนทั้งหลายย่อมเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณ๓
หรือว่าย่อมเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่๔ว่า เป็นมุนี

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะ คติ เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๕/๑๙๓)
๒ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๒-๑๐๘/๒๒-๒๔
๓ ผู้เป็นไปด้วยญาณ หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยญาณในสมาบัติ ๘ หรือ ญาณในอภิญญา ๕ (ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๔๖/๑๙๖)
๔ ผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยความเพียรของบุคคลผู้ดำเนินชีวิตเศร้าหมอง ผู้ทำ
กิจที่ทำได้ยากยิ่งหลายอย่าง (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๖/๑๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๗. นันทมาณวกปัญหา
[๑๐๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้
ย่อมไม่เรียกบุคคลว่า เป็นมุนี
เพราะได้เห็น ได้ฟังและได้รู้
เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว
ผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี
[๑๐๘๖] (นันทมาณพทูลถามดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
เพราะศีลและวัตรบ้าง เพราะพิธีหลากหลายบ้าง
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
สมณพราหมณ์พวกนั้นผู้ประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของตนนั้น
ข้ามชาติและชราได้บ้างหรือไม่
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๘๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
สมณพราหมณ์พวกนั้นประพฤติตนเคร่งครัด
ในหลักการของตนนั้นก็จริง
แต่เรากล่าวว่า พวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๗. นันทมาณวกปัญหา
[๑๐๘๘] (นันทมาณพทูลถามดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่า
สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก
ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๘๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
เราย่อมไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมด
ถูกชาติและชราโอบล้อม
นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้ หรือศีลและวัตรได้ทั้งหมด
ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว๑ เป็นผู้หมดอาสวะ
เรากล่าวว่า นรชนเหล่านั้นแลชื่อว่า ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว หมายถึงกำหนดรู้ตัณหาได้ด้วยปริญญา ๓ อย่าง คือ (๑) ญาตปริญญา กำหนด
รู้ขั้นรู้จัก คือรู้ว่า นี้คือรูปตัณหาเป็นต้น (๒) ตีรณปริญญา กำหนดรู้ขั้นพิจารณา คือ พิจารณาตัณหาโดย
ความเป็นของไม่เที่ยง (๓) ปหานปริญญา กำหนดรู้ขั้นละ คือ ละตัณหาให้ได้เด็ดขาด (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕๑/๒๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๘. เหมกมาณวกปัญหา
[๑๐๙๐] (นันทมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าแต่พระโคดม นิพพานที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้ หรือศีลและวัตรได้ทั้งหมด
ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ
แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า นรชนเหล่านั้นชื่อว่า ข้ามห้วงกิเลสได้
นันทมาณวกปัญหาที่ ๗ จบ

๘. เหมกมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของเหมกมาณพ
[๑๐๙๑] (เหมกมาณพทูลถามดังนี้)
ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยตอบแก่ข้าพระองค์ว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำตอบทั้งหมด เป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำตอบทั้งหมดนั้น มีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในคำตอบนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๙-๑๑๒/๒๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๙. โตเทยยมาณวกปัญหา
[๑๐๙๒] ข้าแต่พระมุนี บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม(นั้น)ที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๙๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เหมกะ นิพพานบทอันไม่แปรผัน
เครื่องบรรเทาฉันทราคะ
ในปิยรูปทั้งหลายที่เห็น ที่ได้ยิน และที่ได้รับรู้ในโลกนี้
[๑๐๙๔] ชนเหล่าใดมีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้นเป็นผู้สงบทุกเมื่อ
เป็นผู้ข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้แล้ว
เหมกมาณวกปัญหาที่ ๘ จบ

๙. โตเทยยมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโตเทยยมาณพ
[๑๐๙๕] (โตเทยยมาณพทูลถามดังนี้)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามพ้นจากความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์ของบุคคลนั้นเป็นเช่นไร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๓-๑๑๖/๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๙. โตเทยยมาณวกปัญหา
[๑๐๙๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โตเทยยะ)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามพ้นจากความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์อื่นของบุคคลนั้นไม่มี
[๑๐๙๗] (โตเทยยมาณพทูลถามดังนี้)
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง หรือว่ายังหวังอยู่
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา หรือว่ายังมีความดำริด้วยปัญญา
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์
ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
[๑๐๙๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวังทั้งไม่หวัง
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่ดำริด้วยปัญญา
โตเทยยะ บุคคลจงรู้จักบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ผู้ไม่ข้องในกามและภพว่า เป็นมุนีอย่างนี้
โตเทยยมาณวกปัญหาที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๐. กัปปมาณวกปัญหา
๑๐. กัปปมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของกัปปมาณพ
[๑๐๙๙] (กัปปมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ๒
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย
อนึ่ง ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่ง
โดยวิธีที่ทุกข์นี้จะไม่พึงมีแก่ข้าพระองค์อีก
[๑๑๐๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า กัปปะ)
เราจะบอกที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย
เราจะบอกที่พึ่งแก่เธออีก
[๑๑๐๑] เราเรียกนิพพานซึ่งไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ไม่มีเครื่องยึดมั่นนี้นั้นว่า เป็นที่พึ่งอันไม่มีที่พึ่งอื่นยิ่งกว่า
(เพราะ)นิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมัจจุราช
[๑๑๐๒] ชนเหล่าใดมีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้นก็ไม่ไปตามอำนาจของมาร ไม่ไปบำรุงมาร
กัปปมาณวกปัญหาที่ ๑๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๗-๑๒๐/๒๗
๒ สระ ในที่นี้หมายถึงสังสารวัฏ (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๙๙/๔๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๑. ชตุกัณณิมาณวกปัญหา
๑๑. ชตุกัณณิมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของชตุกัณณิมาณพ
[๑๑๐๓] (ชตุกัณณิมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่า
พระองค์ไม่มีความใคร่กาม ล่วงพ้นห้วงกิเลส
จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม
ข้าแต่พระสหชเนตร๒ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกสันติบท
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม
อันแท้จริงนั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๑๐๔] อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกามทั้งหลายด้วยพระเดช
เคลื่อนไหว(อิริยาบถ)อยู่
เหมือนดวงอาทิตย์มีแสงสว่างส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี
พระองค์ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติ และชราในโลกนี้
ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด
[๑๑๐๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชตุกัณณิ)
เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลายเสีย
เห็นเนกขัมมะ๓โดยความเป็นธรรมเกษมแล้ว
ควรสลัดกิเลสเครื่องกังวลที่ยึดถือ
หรือว่ากิเลสเครื่องกังวลอย่าได้มีแก่เธอ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๑-๑๒๕/๒๘-๒๙
๒ พระสหชเนตร ในที่นี้หมายถึงผู้มีพระเนตร คือ พระสัพพัญญุตญาณ (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๐๓/๔๔๗)
๓ เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๐๕/๔๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๒. ภัทราวุธมาณวกปัญหา
[๑๑๐๖] เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
กิเลสเครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป
[๑๑๐๗] พราหมณ์ อาสวะทั้งหลายอันเป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่งมัจจุ
ไม่มีแก่บุคคลนั้น ผู้คลายความติดใจในนามรูป
โดยประการทั้งปวง
ชตุกัณณิมาณวกปัญหาที่ ๑๑ จบ

๑๒. ภัทราวุธมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของภัทราวุธมาณพ
[๑๑๐๘] (ภัทราวุธมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนาพระองค์
ผู้ละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ตัดตัณหาได้
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ทรงละความเพลิดเพลินได้
ข้ามห้วงกิเลสได้ หลุดพ้นแล้ว
ละการกำหนดได้ มีพระปัญญาดี
ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้ว
จึงกลับไปจากที่นี้
[๑๑๐๙] ข้าแต่พระวีระ ชนต่าง ๆ จากชนบททั้งหลาย
มาชุมนุมกัน(ในที่นี้)

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๖-๑๒๙/๒๙-๓๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๓. อุทยมาณวกปัญหา
หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระดำรัสของพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหา
แก่ชนเหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว
[๑๑๑๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภัทราวุธ)
นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่น๑ทั้งปวง
ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง
เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดถือขันธ์ใด ๆ ในโลก
มารย่อมติดตามสัตว์ เพราะสิ่งที่ยึดถือนั้นนั่นแล
[๑๑๑๑] เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัด
เพ่งพิจารณาหมู่สัตว์นี้ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราช๒
ว่าเป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น
ควรเป็นผู้มีสติ ไม่เข้าไปยึดถือเครื่องกังวลในโลกทั้งปวง
ภัทราวุธมาณวกปัญหาที่ ๑๒ จบ

๑๓. อุทยมาณวกปัญหา๓
ว่าด้วยปัญหาของอุทัยมาณพ
[๑๑๑๒] (อุทัยมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงมีฌาน ปราศจากธุลี
ประทับนั่งอยู่ ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ

เชิงอรรถ :
๑ เครื่องยึดมั่น หมายถึงรูปตัณหา คือ ยึดมั่น ถือมั่นในรูปเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๑๐/๔๔๙)
๒ บ่วงแห่งมัจจุราช หมายถึงกิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๓/๒๖๖)
๓ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๐-๑๓๖/๓๐-๓๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๓. อุทยมาณวกปัญหา
ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์๑
อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด
[๑๑๑๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุทัย)
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์
อันเป็นเครื่องละความพอใจในกาม และโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง
เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ
และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง
[๑๑๑๔] เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ที่บริสุทธิ์
เพราะมีอุเบกขาและสติ
ที่มีธรรมตรรกะเป็นเบื้องต้น
เป็นเครื่องทำลายอวิชชา๒
[๑๑๑๕] (อุทัยมาณพทูลถามอีกดังนี้)
สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้
อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน
[๑๑๑๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
สัตว์โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้
ความตรึก๓เป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละตัณหาได้ เราจึงเรียกว่า นิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ อัญญาวิโมกข์ หมายถึงความหลุดพ้นด้วยอรหัตตผล (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๓/๑๑๕-๑๑๖) และดู ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๗๔-๗๕/๒๖๖-๒๗๕ ประกอบ
๒ ข้อ ๑๑๑๓-๔ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๓/๑๘๖, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๕-๗๖/๒๗๒-๒๗๗
๓ ความตรึก (วิตก) มี ๙ อย่าง (๑) กามวิตก (ความตรึกในกาม) (๒) พยาบาทวิตก (ความตรึกในพยาบาท)
(๓) วิหิงสาวิตก (ความตรึกในความเบียดเบียน) (๔) ญาติวิตก (ความตรึกถึงญาติ) (๕) ชนปทวิตก
(ความตรึกถึงชนบท) (๖) อมราวิตก (ความตรึกถึงเทพเจ้า) (๗) ปรานุทยตาปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึก
ที่ประกอบด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น) (๘) ลาภสักการสิโลกปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึกที่ประกอบด้วย
ลาภสักการะและความสรรเสริญ) (๙) อนวัญญัตติปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึกที่ประกอบด้วยความไม่ถูก
ดูหมิ่น) (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๘/๒๗๘-๒๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๔. โปสาลมาณวกปัญหา
[๑๑๑๗] (อุทัยมาณพทูลถามอีกดังนี้)
ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร วิญญาณจึงดับสนิท
ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์
[๑๑๑๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก
มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ วิญญาณ๑จึงดับสนิท
อุทยมาณวกปัญหาที่ ๑๓ จบ

๑๔.โปสาลมาณวกปัญหา๒
ว่าด้วยปัญหาของโปสาลมาณพ
[๑๑๑๙] (โปสาลมาณพทูลถามดังนี้)
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
ตัดความสงสัยได้แล้ว ทรงแสดงอดีตธรรม
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง

เชิงอรรถ :
๑ วิญญาณ หมายถึงอภิสังขารวิญญาณ (วิญญาณที่เกิดพร้อมกับอภิสังขาร) (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๑๘/๔๕๐)
๒ ดู ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๗-๑๔๐/๓๒-๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๔. โปสาลมาณวกปัญหา
[๑๑๒๐] ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ
ของบุคคลผู้ไม่มีรูปสัญญา๑ ผู้ละรูปกายได้ทั้งหมด
ผู้พิจารณาทั้งภายในและภายนอกเห็นว่าไม่มีอะไร
บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ควรแนะนำอย่างไร
[๑๑๒๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โปสาละ)
ตถาคตรู้ยิ่งซึ่งวิญญาณัฏฐิติ๒ทั้งหมด
รู้จักบุคคลนั้นผู้ดำรงอยู่ ผู้น้อมไปแล้ว
ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย
[๑๑๒๒] บุคคลนั้นรู้กัมมาภิสังขาร๓ว่า เป็นเหตุเกิด
แห่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ
รู้อรูปราคะว่า มีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้
ครั้นรู้กรรมอย่างนี้แล้ว ออกจากสมาบัตินั้น
เห็นแจ้งธรรมที่เกิดในสมาบัตินั้น
ญาณนี้ของพราหมณ์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์
เป็นญาณอันแท้จริง
โปสาลมาณวกปัญหาที่ ๑๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ไม่มีรูปสัญญา หมายถึงผู้ได้อรูปสมาบัติ ๔ (ขู.จู. (แปล) ๓๐/๘๒/๒๘๗)
๒ วิญญาณัฏฐิติ คือ ภูมิอันเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณัฏฐิติ ๔ และวิญญาณัฏฐิติ ๗
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๓/๒๘๙-๒๙๐)
๓ กัมมาภิสังขาร ในที่นี้หมายถึงอาเนญชาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศล-
เจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔ หมายถึง ภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ (ขุ.จู.อ. ๘๔/๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๕. โมฆราชมาณวกปัญหา
๑๕. โมฆราชมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโมฆราชมาณพ
[๑๑๒๓] (โมฆราชมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ ๒ ครั้งแล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ มิได้ตรัสตอบแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์รับทราบมาว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี
(ถ้าผู้ใดถามปัญหา) ถึง ๓ ครั้ง จะตรัสตอบ
[๑๑๒๔] โลกนี้๒ โลกอื่น๓ พรหมโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ย่อมไม่ทราบชัดความเห็นของพระองค์
ผู้โคตมโคตร ผู้มีพระยศ
[๑๑๒๕] ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ทรงมีปกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงไม่เห็น
[๑๑๒๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
โมฆราช เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า๔
มีสติทุกเมื่อ พึงถอนอัตตานุทิฏฐิ๕เสีย
เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น
โมฆราชมาณวกปัญหาที่ ๑๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๑-๑๔๔/๓๓-๓๔
๒ โลกนี้ ในที่นี้หมายถึงมนุษยโลก (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๖/๓๐๗)
๓ โลกอื่น หมายถึงโลกอื่นทั้งหมด เว้นมนุษยโลก (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๖/๓๐๗)
๔ พิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า หมายถึงพิจารณาโลก คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปตวิสัย
มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก และพรหมโลกด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) ด้วยการ
กำหนดเห็นสังขารไม่เป็นไปตามอำนาจ (๒) ด้วยการพิจารณาเห็นสังขารเป็นของว่างเปล่า (ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๘๘/๓๐๙-๓๒๐, ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๒๖/๔๕๓)
๕ อัตตานุทิฏฐิ หมายถึงสักกาทิฏฐิ (ขุ.จู. ๒/๑๑๒๖/๔๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๖. ปิงคิยมาณวกปัญหา
๑๖. ปิงคิยมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของปิงคิยมาณพ
[๑๑๒๗] (ปิงคิยมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์ชราภาพแล้ว ไม่มีกำลัง
ผิวพรรณไม่ผุดผ่อง นัยน์ตาไม่แจ่มใส หูฟังไม่ชัด
ขอข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลงเสียหายในระหว่างนี้เลย
ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่เป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้
ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้เถิด
[๑๑๒๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ)
ชนทั้งหลายเห็นชนอื่นๆ เดือดร้อนอยู่เพราะรูปทั้งหลายแล้ว
ยังประมาทเจ็บปวดเพราะรูปทั้งหลาย
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละรูปเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป
[๑๑๒๙] (ปิงคิยมาณพทูลถามดังนี้)
ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ ทิศเบื้องบน ๑
ทิศเบื้องล่าง ๑ เหล่านี้รวมเป็น ๑๐
สิ่งใด ๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงได้ยิน
ไม่ทรงทราบ หรือไม่ทรงรู้แจ้ง มิได้มีเลย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้
ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๕-๑๔๘/๓๔-๓๕ และดูรายละเอียดใน ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๙-๙๒/๓๒๔-๓๓๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนัตถุติคาถา
[๑๑๓๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ)
เธอจงเพ่งพิจารณาหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต
เกิดความเร่าร้อน ถูกชราครอบงำแล้ว
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป
ปิงคิยมาณวกปัญหาที่ ๑๖ จบ

ปารายนัตถุติคาถา๑
ว่าด้วยการสดุดีธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
พระธรรมสังคาหกาจารย์เมื่อจะสรรเสริญพระธรรมเทศนานี้จึงได้กล่าวไว้ดังนี้
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถานี้แล้ว เมื่อประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์
แคว้นมคธ ได้ทรงรับอาราธนากราบทูลหลายครั้งจากพราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็น
ศิษย์ใกล้ชิด ได้ตรัสตอบปัญหาแล้ว ถ้าแม้บุคคลรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรม
แห่งปัญหาแต่ละปัญหาแล้วปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม ก็จะพึงถึงฝั่งแห่งชรา
และมรณะได้แน่นอน เพราะธรรมเหล่านี้เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง เพราะเหตุดังกล่าวมานี้นั้น
ธรรมบรรยายนี้จึงชื่อว่า ปารายนะ

[๑๑๓๑] (๑) อชิตะ (๒) ติสสเมตเตยยะ
(๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู
(๕) โธตกะ (๖) อุปสีวะ
(๗) นันทะ (๘) เหมกะ


เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๙-๑๕๕/๓๖-๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนัตถุติคาถา
[๑๑๓๒] (๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ
(๑๑) ชตุกัณณิผู้เป็นบัณฑิต (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย
(๑๔) โปสาละ (๑๕) โมฆราชผู้มีปัญญา
(๑๖) ปิงคิยะผู้เป็นมหาฤๅษี
[๑๑๓๓] พราหมณ์ ๑๖ คนนี้พากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยจรณะ ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เมื่อจะทูลถามปัญหาที่ลุ่มลึก
จึงเข้าไปใกล้เฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[๑๑๓๔] พระพุทธเจ้า(อันพราหมณ์เหล่านั้น)ทูลถามปัญหาแล้ว
ตรัสตอบปัญหาแก่พราหมณ์เหล่านั้นตามความเป็นจริง
พระพุทธมุนีทรงทำให้พราหมณ์ทั้งหลายพอใจ
ด้วยการตรัสตอบปัญหาทั้งหลาย
[๑๑๓๕] พราหมณ์เหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ทำให้พอใจแล้ว
ได้ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ
[๑๑๓๖] การตรัสตอบปัญหาแต่ละปัญหา
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วโดยประการใด
ผู้ใดปฏิบัติตามโดยประการนั้น
ผู้นั้นพึงจากที่มิใช่ฝั่ง๑ไปถึงฝั่ง๒ได้

เชิงอรรถ :
๑ ที่มิใช่ฝั่ง หมายถึงกิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๐/๓๔๔)
๒ ฝั่ง หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๐/๓๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนานุคีติคาถา
[๑๑๓๗] บุคคลเมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด
จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งไปถึงฝั่งได้
(เพราะ)มรรคนั้น(เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง
เพราะฉะนั้น มรรคนั้นจึงชื่อว่า ปารายนะ

ปารายนานุคีติคาถา๑
ว่าด้วยเพลงขับตามธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
[๑๑๓๘] (ท่านพระปิงคิยะกล่าวแก่พราหมณ์พาวรีท่ามกลางชุมชนดังนี้)
อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ปราศจากมลทิน
พระปัญญาอันไพบูลย์ ปราศจากกาม
ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ
ทรงเห็นอย่างใดก็ตรัสบอกอย่างนั้น
จะพึงตรัสคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า
[๑๑๓๙] อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำที่ประกอบด้วยคำสรรเสริญ
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว
ผู้ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ ณ บัดนี้
[๑๑๔๐] ท่านพราหมณาจารย์ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ
ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด
ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทรงมีชื่อตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๕๖-๑๗๔/๓๘-๔๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนานุคีติคาถา
[๑๑๔๑] นกพึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่ที่มีผลไม้มาก ฉันใด
อาตมภาพก็ฉันนั้น ละคณาจารย์ผู้มีทัสสนะแคบ๑
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ ฉะนั้น
[๑๑๔๒] ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยตอบแก่อาตมภาพว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำตอบทั้งหมดนั้น เป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำตอบทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
(อาตมภาพจึงไม่ยินดียิ่งในคำตอบนั้น)
[๑๑๔๓] พระโคดมทรงเป็นเอกบุรุษ ประทับนั่ง
ทำลายความมืดอยู่ ทรงรุ่งเรือง ทรงแผ่รัศมี
พระโคดมผู้มีพระญาณอันไพบูลย์
พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
[๑๑๔๔] ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ
[๑๑๔๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวกับท่านพระปิงคิยะดังนี้)
ท่านปิงคิยะ เพราะเหตุไรหนอ
ท่านจึงอยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณอันไพบูลย์ ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ สิ้นกาลชั่วครู่

เชิงอรรถ :
๑ ทัสสนะแคบ ในที่นี้หมายถึงมีปัญญาน้อย (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๔๑/๔๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนานุคีติคาถา
[๑๑๔๖] ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่ท่าน
[๑๑๔๗] (ท่านพระปิงคิยะกล่าวดังนี้)
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพ
มิได้อยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณอันไพบูลย์
ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ สิ้นกาลชั่วครู่
[๑๑๔๘] ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ
[๑๑๔๙] ท่านพราหมณ์ อาตมภาพไม่ประมาททั้งกลางคืนและกลางวัน
เห็นพระโคดมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยใจเหมือนเห็นด้วยตา
อาตมภาพนอบน้อมพระองค์อยู่ตลอดราตรี
อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่ปราศจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
[๑๑๕๐] ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธา ปีติ มนะ และสติ
ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ เสด็จไปสู่ทิศใด ๆ
อาตมภาพเป็นผู้น้อมไปทางทิศนั้น ๆ นั่นแล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนานุคีติคาถา
[๑๑๕๑] อาตมภาพชราแล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อย
เพราะเหตุนั้นแล ร่างกายจึงไปในสถานที่
ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ไม่ได้
แต่อาตมภาพไปเฝ้าพระองค์เป็นนิตย์ โดยการไปด้วยความดำริ
ท่านพราหมณ์ เพราะว่าใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยวอยู่กับสถานที่
ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่นั้น
[๑๑๕๒] อาตมภาพนอนดิ้นรนอยู่ในเปือกตม๑
ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่อีกเกาะหนึ่ง๒
ครั้นต่อมา อาตมภาพได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ
[๑๑๕๓] (พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสดังนี้)
วักกลิ ภัทราวุธ และอาฬวิโคดม
เป็นผู้มีศรัทธาน้อมไปแล้ว ฉันใด
แม้เธอก็จงปล่อยวางศรัทธา ฉันนั้นเหมือนกัน
ปิงคิยะ เธอจักถึงฝั่งโน้น(ฝั่งตรงข้าม)แห่งบ่วงมัจจุราช
[๑๑๕๔] (ท่านพระปิงคิยะกราบทูลดังนี้)
ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้วเลื่อมใสอย่างยิ่ง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีกิเลสเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว
ไม่ทรงมีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ ทรงมีปฏิภาณ

เชิงอรรถ :
๑ เปือกตม ในที่นี้หมายถึงกาม (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๖/๓๘๐)
๒ ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง หมายถึงละจากคำสอนของศาสดาหนึ่งไปหาคำสอนของศาสดาหนึ่ง
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๖/๓๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา สรุปคาถาที่มีในสุตตนิบาต
[๑๑๕๕] พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดอธิเทพ๑
ทรงรู้ธรรมที่ทำความเป็นอธิเทพของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง
ผู้ทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย
เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัยให้กลับรู้ได้
[๑๑๕๖] สภาวะใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ
ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้
ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล
ปารายนวรรคที่ ๕ จบ

สุตตุททานคาถา
สรุปคาถาที่มีในสุตตนิบาต
(๑-๒) ในวรรคที่ ๑ มี

๑. อุรคสูตร ๒. ธนิยสูตร ๓. ขัคควิสาณสูตร
๔. กสิภารทวาชสูตร ๕. จุนทสูตร ๖. ปราภวสูตร
๗. วสลสูตร ๘. เมตตสูตร ๙. เหมวตสูตร
๑๐. อาฬวกสูตร ๑๑. วิชยสูตร ๑๒. มุนิสูตร


เชิงอรรถ :
๑ อธิเทพ หมายถึงเทพ ๓ จำพวก คือ (๑) สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชา พระราชกุมาร
พระราชเทวี (๒) อุปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ เทวดาชั้นจาตุมหาราช เป็นต้น (๓) วิสุทธิเทพ
เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ พระตถาคต สาวกของพระตถาคต พระอรหันตขีณาสพ พระปัจเจกพุทธเจ้า
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๙/๓๘๗-๓๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา
รวมเรื่องพระสูตรในวรรคที่ ๑ นี้ที่มีเนื้อความประเสริฐสุดได้ ๑๒ สูตร พระผู้มี
พระภาคผู้ทรงมีพระจักษุทรงปราศจากมลทิน ทรงจำแนกแสดงไว้ดีแล้ว บัณฑิต
ทั้งหลายต่างสดับกันมาว่า อุรควรรค
(๓-๔) ในวรรคที่ ๒ มี

๑. รตนสูตร ๒. อามคันธสูตร ๓. หิริสูตร
๔. มงคลสูตร ๕. สูจิโลมสูตร ๖. ธัมมจริยสูตร
๗. พราหมณธัมมิกสูตร ๘. นาวาสูตร ๙. กิงสีลสูตร
๑๐. อุฏฐานสูตร ๑๑. ราหุลสูตร ๑๒. วังคีสสูตร
๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร ๑๔. ธัมมิกสูตร

รวมเรื่องพระสูตรในวรรคที่ ๒ นี้ ได้ ๑๔ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้
ดีแล้ว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า จูฬวรรค
(๕-๖) ในวรรคที่ ๓ มี

๑. ปัพพัชชาสูตร ๒. ปธานสูตร ๓. สุภาสิตสูตร
๔. สุนทริกภารทวาชสูตร ๕. มาฆสูตร ๖. สภิยสูตร
๗. เสลสูตร ๘. สัลลสูตร ๙. วาเสฏฐสูตร
๑๐. โกกาลิกสูตร ๑๑. นาลกสูตร ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร

รวมเรื่องพระสูตรที่มีในวรรคที่ ๓ นี้ ได้ ๑๒ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้
ดีแล้ว บัณฑิตทั้งหลายต่างสดับกันมาว่า มหาวรรค
(๗-๘) ในวรรคที่ ๔ มี

๑. กามสูตร ๒. คุหัฏฐกสูตร ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร
๔. สุทธัฏฐกสูตร ๕. ปรมัฏฐกสูตร ๖. ชราสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา

๗. ติสสเมตเตยยสูตร ๘. ปสูรสูตร ๙. มาคันทิยสูตร
๑๐. ปุราเภทสูตร ๑๑. กลหวิวาทสูตร ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
๑๓. มหาวิยูหสูตร ๑๔. ตุวฏกสูตร ๑๕. อัตตทัณฑสูตร
๑๖. สารีปุตตสูตร

รวมเรื่องพระสูตรที่มีในวรรคที่ ๔ นี้ ได้ ๑๖ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนก
ไว้ดีแล้ว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า อัฏฐกวรรค
(๙) พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐสุดในคณะ
ประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์ที่ประเสริฐซึ่งตกแต่งไว้อย่างดี
ในมคธชนบทอันน่ารื่นรมย์ มีภูมิประเทศสวยงาม
เป็นที่อยู่อาศัยของบุคคลที่เคยสร้างบุญไว้
(๑๐) ทราบว่า พระผู้มีพระภาคอันพราหมณ์ผู้เป็นมาณพ ๑๖ คน
กราบทูลถามแล้ว ได้ทรงประกาศประทานธรรม
แก่ชนทั้ง ๒ พวกที่มาประชุมกันแน่นขนัด ณ ปาสาณกเจดีย์
กินเนื้อที่ประมาณ ๑๒ โยชน์ เพราะการถามโสฬสปัญหา
(๑๑) พระผู้มีพระภาคผู้ทรงชนะมาร
ผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงธรรมที่ประกาศอรรถ บริบูรณ์ด้วยพยัญชนะ
เป็นบ่อเกิดแห่งความเกษมอย่างยิ่ง
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก
พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันหลากหลายด้วยธรรมจำนวนมาก
ซึ่งเป็นเหตุให้ปลดเปลื้องกิเลสทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา
(๑๒) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันประกอบด้วยบทแห่งพยัญชนะและอรรถ
มีการเปรียบเทียบที่หมายรู้ด้วยอักขระซึ่งแน่นอน
เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง
(๑๓) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันไม่มีมลทิน
เพราะมลทินคือราคะ โทสะ โมหะ
เป็นส่วนแห่งธรรมที่ปราศจากมลทิน
เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง
(๑๔) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐ อันไม่มีมลทิน
เพราะมลทินคือกิเลส มลทินคือทุจริต
เป็นส่วนแห่งธรรมที่ปราศจากมลทิน
เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง
(๑๕) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐเป็นเหตุปลดเปลื้องอาสวะ
กิเลสเป็นเครื่องผูกพัน และกิเลสเป็นเครื่องประกอบ
เป็นเหตุปลดเปลื้องนิวรณ์และมลทินทั้ง ๓ ของชาวโลกนั้น
(๑๖) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐซึ่งหามลทินไม่ได้
เป็นเครื่องบรรเทาความเศร้าหมองทุกอย่าง
เป็นเครื่องคลายความกำหนัด ไม่มีความหวั่นไหว
หมดความเศร้าโศก เป็นธรรมสงบ ประณีต และรู้เห็นได้ยาก
(๑๗) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐซึ่งหักรานราคะและโทสะให้สงบ
เป็นเครื่องตัด เป็นเครื่องต้านทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา
และเป็นเครื่องพ้นกำเนิด ทุคติ วิญญาณ ๕
และความยินดีที่มีตัณหาเป็นพื้นฐาน
(๑๘) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันลึกซึ้ง
รู้เห็นได้ยาก และละเอียดอ่อน
มีอรรถอันลุ่มลึกซึ่งรู้ได้เฉพาะบัณฑิต
เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง
(๑๙) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐ
ดุจดอกไม้เครื่องประดับที่คงทน ๙ ชนิด
อันจำแนกอินทรีย์ ฌาน และวิโมกข์ อันมรรคมีองค์ ๘
เป็นยานเครื่องนำไปอย่างประเสริฐ
(๒๐) พระผู้มีพระภาค ผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐซึ่งปราศจากมลทิน
บริสุทธิ์เปรียบเหมือนดวงจันทร์
วิจิตรด้วยรัตนะ เปรียบเหมือนห้วงน้ำ
เสมอด้วยดอกไม้ มีเดชเปรียบดังดวงอาทิตย์
(๒๑) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐ ปลอดโปร่ง เกษม
ให้ความสุข ฉ่ำเย็น สงบ
เป็นเครื่องต้านทานมัจจุราชอย่างยิ่ง มีประโยชน์อย่างสูง
เป็นเหตุให้ชาวโลกนั้นรู้แจ้งเห็นจริงซึ่งสภาวธรรมที่ดับกิเลสได้แล้ว
สุตตนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘๔ }


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน จบ





eXTReMe Tracker