ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อุทาน
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๖. คัพภินีสูตร
ครั้งนั้น ปริพาชกนั้นได้ไปยังท้องพระคลังของพระเจ้าปเสนทิโกศล ดื่มน้ำมัน
จนพอแล้วกลับมาเรือน ไม่สามารถนำออกข้างบน (ทางปาก) ได้ ไม่สามารถนำออก
ข้างล่าง(ถ่ายออก)ได้ เขาได้รับทุกขเวทนากล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน จึงกระสับ-
กระส่าย นอนกลิ้งไปมา
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปเพื่อบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นปริพาชกนั้นได้รับ
ทุกขเวทนากล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน กระสับกระส่าย นอนกลิ้งไปมา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
คนทั้งหลายผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ย่อมเป็นผู้มีความสุขแท้จริง
ก็คนทั้งหลาย ที่เป็นผู้จบเวท๑
ชื่อว่าผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ท่านจงดูคนที่มีกิเลสเครื่องกังวลกำลังเดือดร้อนอยู่
เพราะคนที่มีความผูกพันกับคนอื่นย่อมเดือดร้อน
คัพภินีสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ จบเวท ในที่นี้หมายถึงบรรลุอริยมัคคญาณ หรือบรรลุนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๑๖/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๗. เอกปุตตกสูตร
๗. เอกปุตตกสูตร
ว่าด้วยอุบาสกมีบุตรน้อยคนเดียว
[๑๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น บุตรน้อยคนเดียวของอุบาสกคนหนึ่ง
ผู้น่ารัก น่าพอใจ ได้ตายจากไป
ครั้งนั้น อุบาสกจำนวนมากมีผ้าเปียก ผมเปียก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับในเวลาเที่ยงวัน ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับอุบาสกเหล่านั้นดังนี้ว่า “อุบาสกทั้งหลาย มีเรื่อง
อะไรหรือ ท่านทั้งหลายมีผ้าเปียก ผมเปียก เข้ามาที่นี่ในเวลาเที่ยงวัน”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ อุบาสกนั้นจึงกราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มี
พระภาค บุตรน้อยคนเดียวของข้าพระองค์ ผู้น่ารัก น่าพอใจ ได้ตายจากไป
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงมีผ้าเปียก ผมเปียก เข้ามาที่นี่ในเวลาเที่ยงวัน
พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
เทวดาและมนุษย์จำนวนมาก
พากันเพลิดเพลินยึดติดในรูปที่น่ารัก
จึงระทมทุกข์ เสื่อมหมดสิ้น๑
ตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราช

เชิงอรรถ :
๑ เสื่อมหมดสิ้น หมายถึงเสื่อมจากสมบัติ (ขุ.อุ.อ.๑๗/๑๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๘. สุปปาวาสาสูตร
แต่คนเหล่าใด ไม่ประมาท
ทั้งกลางวันและกลางคืน ละรูปที่น่ารักได้
คนเหล่านั้นย่อมขุดขึ้นได้ซึ่งมูลเหตุแห่งทุกข์๑
ที่เป็นเหยื่อของมัจจุราช และที่ล่วงพ้นได้ยาก
เอกปุตตกสูตรที่ ๗ จบ

๘. สุปปวาสาสูตร
ว่าด้วยพระนางสุปปวาสา
[๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่ากุณฑิฏฐานวัน ใกล้หมู่บ้าน
กุณฑิยา สมัยนั้น พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีพระครรภ์
หลง๒อยู่ถึง ๗ วัน พระนางได้รับทุกขเวทนากล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน แต่ทรง
อดกลั้นไว้ด้วยความตรึก ๓ ประการ คือ (๑) พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ทรงแสดงธรรมเพื่อละทุกข์เห็นปานนี้ (๒) พระสงฆ์
สาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติเพื่อละทุกข์เห็นปานนี้
(๓) พระนิพพานซึ่งไม่มีทุกข์เห็นปานนี้ เป็นสุขดีอย่างแท้จริง
ครั้นต่อมา พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ได้ทูลเชิญพระราชสวามีมาตรัสว่า
“ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์เสด็จมานี่เถิด พระองค์จงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า

เชิงอรรถ :
๑ มูลเหตุแห่งทุกข์ ในที่นี้หมายถึงตัณหาพร้อมทั้งอวิชชา (ขุ.อุ.อ. ๑๗/๑๒๖)
๒ ครรภ์หลง หมายถึงอาการที่ทารกขวางช่องคลอด ทำให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในครรภ์ เพราะลมกรรมชวาต
พัดหมุนทำให้ทารกพลิกหมุนกลับไปกลับมา ไม่สามารถคลอดได้ตามปกติ (ขุ.อุ.อ. ๑๘/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๘. สุปปวาสาสูตร
แล้วจงทูลถามถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้ประเปร่า มีพระพลานามัย
สมบูรณ์ อยู่สำราญตามคำของหม่อมฉันว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปป-
วาสา โกลิยธิดา ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
พร้อมกับทูลถามถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้ประเปร่า มีพระพลานามัย
สมบูรณ์ อยู่สำราญ’ อนึ่ง ขอพระองค์จงกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีครรภ์หลงอยู่ถึง ๗ วัน
พระนางได้รับทุกขเวทนากล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน แต่ทรงอดกลั้นไว้ได้ด้วย
ความตรึก ๓ ประการ คือ (๑) พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
โดยชอบ ทรงแสดงธรรมเพื่อละทุกข์เห็นปานนี้ (๒) พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติเพื่อละทุกข์เห็นปานนี้ (๓) พระนิพพานซึ่งไม่มีทุกข์
เห็นปานนี้ เป็นสุขดีอย่างแท้จริง”
พระราชบุตรพระเจ้าโกลิยะนั้นทรงรับคำของพระนาง จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ขอถวาย
อภิวาทพระยุคลบาทพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า พร้อมกับทูลถามถึงสุขภาพ
ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้ประเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ
อนึ่ง พระนางยังรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา
ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีพระครรภ์หลงอยู่ถึง ๗ วัน พระนางได้รับทุกขเวทนากล้าแข็ง
เจ็บปวด เผ็ดร้อน แต่ทรงอดกลั้นไว้ได้ด้วยความตรึก ๓ ประการ คือ (๑) พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ทรงแสดงธรรมเพื่อละทุกข์เห็น
ปานนี้ (๒) พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติเพื่อละ
ทุกข์เห็นปานนี้ (๓) พระนิพพานซึ่งไม่มีทุกข์เห็นปานนี้ เป็นสุขดีอย่างแท้จริง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๘. สุปปวาสาสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ขอพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา จงมีสุข อย่ามี
โรคเลย ขอจงประสูติโอรสผู้ไม่มีโรคด้วยเถิด” ด้วยพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค
นั่นแล พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาก็ทรงพระเกษมสำราญ หายจากพระโรค
ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค
พระราชบุตรพระเจ้าโกลิยะนั้นทูลรับว่า “ขอจงเป็นอย่างนั้นเถิด พระพุทธ-
เจ้าข้า” แล้วทรงยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับพระราชนิเวศน์ของ
พระองค์ ได้ทรงเห็นพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาทรงพระเกษมสำราญ หายจาก
พระโรค ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค ครั้นทรงเห็นแล้ว ได้เกิดความอัศจรรย์พระทัย
ขึ้นมาว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากจริง พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดานี้คงจักทรงพระเกษมสำราญ หายจาก
พระโรค ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค ด้วยพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคนั่นแล
เป็นแน่แท้” จึงทรงดีพระทัย เบิกบาน ทรงเกิดปีติโสมนัสอย่างยิ่ง
ครั้นต่อมา พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ได้ทูลเชิญพระราชสวามีมาตรัสว่า
“ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์เสด็จมาที่นี่เถิด พระองค์จงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
กราบทูลตามคำของหม่อมฉันว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา
โกลิยธิดาขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า’ อนึ่ง
ขอพระองค์จงกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา
โกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีครรภ์หลงอยู่ถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรงพระ
เกษมสำราญ หายจากพระโรค ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค พระนางจึงขอนิมนต์
ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานฉันภัตตาหารเป็นเวลา ๗ วัน ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของพระนาง
สุปปวาสา โกลิยธิดาตลอด ๗ วันเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๘. สุปปวาสาสูตร
พระราชบุตรพระเจ้าโกลิยะนั้นทรงรับคำของพระนาง แล้วเสด็จเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาขอถวาย
อภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า อนึ่ง พระนางยังรับสั่ง
อย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี
มีพระครรภ์หลงอยู่ถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรงพระเกษมสำราญ หายจากพระโรค
ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค พระนางจึงขอนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
ฉันภัตตาหารเป็นเวลา ๗ วัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาตลอด ๗ วันเถิด”
อนึ่ง เวลานั้น อุบาสกคนหนึ่งได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
ฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้นไว้(ก่อน)แล้ว และอุบาสกนั้นเป็นโยมอุปัฏฐากของท่านพระ
มหาโมคคัลลานะ ทีนั้น พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งเรียกท่านพระมหาโมคคัลลานะมา
ตรัสว่า “มาเถิด โมคคัลลานะ เธอจงเข้าไปหาอุบาสกนั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจงพูดกับ
เขาอย่างนี้ว่า ‘พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีพระครรภ์หลง
อยู่ถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรงพระเกษมสำราญ หายจากพระโรค ประสูติพระโอรส
ผู้ไม่มีโรค พระนางจึงนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานฉันภัตตาหารเป็น
เวลา ๗ วัน ขอให้พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา จัดอาหารถวายตลอด ๗ วันเถิด
หลังจากนั้น อุบาสกผู้เป็นโยมอุปัฏฐากของเธอ จึงจัดอาหารถวาย”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จึงเข้าไปหาอุบาสกนั้น
ถึงที่อยู่ ได้กล่าวดังนี้ว่า “พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี
มีพระครรภ์หลงอยู่ถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรงพระเกษมสำราญ หายจากพระโรค
ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค พระนางจึงทรงนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
ฉันภัตตาหารเป็นเวลา ๗ วัน ขอให้พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาจัดอาหารถวาย
ตลอด ๗ วันเถิด หลังจากนั้น ท่านจึงจัดอาหารถวาย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๘. สุปปวาสาสูตร
อุบาสกนั้นกราบเรียนว่า “ท่านขอรับ ถ้าพระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะจะเป็นผู้
ค้ำประกันธรรม ๓ ประการ คือ โภคสมบัติ ชีวิต และศรัทธาของกระผมได้ ก็ขอ
พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาทรงจัดอาหารถวายตลอด ๗ วันเถิด หลังจากนั้น
ผมจึงจัดอาหารถวาย” ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงพูดว่า “อาตมภาพ ขอค้ำ
ประกันธรรม ๒ ประการ คือ โภคสมบัติและชีวิตของท่าน ส่วนศรัทธา ท่านต้อง
ค้ำประกันเอง”
อุบาสกนั้นกราบเรียนว่า “ท่านขอรับ ถ้าพระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะจะเป็น
ผู้ค้ำประกันธรรม ๒ ประการ คือ โภคสมบัติและชีวิตของกระผมได้ พระนาง
สุปปวาสา โกลิยธิดาทรงจัดอาหารถวายตลอด ๗ วันเถิด หลังจากนั้น ผมจึง
จัดอาหารถวาย”
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะให้อุบาสกนั้นยินยอมแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ให้
อุบาสกนั้นยินยอมแล้ว ขอพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาจัดอาหารถวายตลอด
๗ วันเถิด หลังจากนั้น อุบาสกนั้นจึงจัดอาหารถวาย”
ครั้นแล้ว พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ทรงนำของขบฉันอันประณีต ประเคน
ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้อิ่มหนำด้วยตนเองตลอด ๗ วัน และทรงให้
พระโอรสน้อยนั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคและไหว้ภิกษุสงฆ์ทุกรูป
ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวกับพระโอรสน้อยนั้นดังนี้ว่า “พระโอรสน้อย
พระองค์ทรงพระเกษมสำราญดีหรือ ทรงพอดำรงอยู่ได้หรือ ไม่มีทุกข์อะไรหรือ”
พระโอรสน้อยนั้นตรัสตอบว่า “ท่านพระสารีบุตรขอรับ กระผมอยู่ในครรภ์เปื้อน
โลหิตถึง ๗ ปี จะสบายแต่ที่ไหน”
ต่อจากนั้น พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาทรงดีพระทัยชื่นชม เกิดปีติโสมนัสว่า
“บุตรของเรารู้จักสนทนากับท่านพระธรรมเสนาบดี” ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๙. วิสาขาสูตร
พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาทรงดีพระทัยชื่นชม เกิดปีติโสมนัส จึงได้ตรัสกับ
พระนางดังนี้ว่า “สุปปวาสา เธอยังปรารถนาจะมีพระโอรสเช่นนี้อีกหรือไม่”
พระนางกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังปรารถนาจะมี
พระโอรสเช่นนี้อีก ๗ พระองค์ พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๑
สิ่งที่ไม่น่ายินดี ย่อมครอบงำคนผู้ประมาทด้วยอาการที่น่ายินดี
สิ่งที่ไม่น่ารัก ย่อมครอบงำคนผู้ประมาทด้วยอาการที่น่ารัก
สิ่งที่เป็นทุกข์ย่อมครอบงำคนผู้ประมาทด้วยอาการที่เป็นสุข๒
สุปปวาสาสูตรที่ ๘ จบ

๙. วิสาขาสูตร
ว่าด้วยนางวิสาขา
[๑๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา
มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น นางวิสาขา มิคารมาตามีประโยชน์บางอย่าง
เกี่ยวข้องในพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงยังประโยชน์นั้นให้
สำเร็จตามความประสงค์

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงว่าความรักที่ประกอบด้วยตัณหาสามารถทำความฉิบหายใหญ่หลวงแก่
บุคคลผู้ประมาทได้ (ขุ.อุ.อ. ๑๘/๑๖๔)
๒ ดูเทียบ ขุ.เปต. (แปล) ๒๖/๗๙๙/๒๙๘, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๐๐/๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๙. วิสาขาสูตร
ครั้งนั้น ในเวลาเที่ยงวัน นางวิสาขา มิคารมาตาจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
กับนางวิสาขาดังนี้ว่า “วิสาขา เธอมาจากไหน แต่เที่ยงวัน” นางกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์มีประโยชน์บางอย่างที่
เกี่ยวข้องในพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงยังประโยชน์นั้นให้
สำเร็จตามความประสงค์เลย พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ประโยชน์ทั้งปวงอยู่ในอำนาจผู้อื่น ก่อให้เกิดทุกข์
ความเป็นอิสระ๑ทั้งปวง ก่อให้เกิดสุข
สัตว์ทั้งหลายเมื่อยังมีประโยชน์ทั่วไปอยู่ ย่อมเดือดร้อน
เพราะโยคะทั้งหลาย๒เป็นสิ่งที่ก้าวล่วงได้ยาก
วิสาขาสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ความเป็นอิสระ มี ๒ อย่าง คือ (๑) ความอิสระอันเป็นโลกิยะ ได้แก่ ความเป็นพระราชา เป็นต้น และ
ความมีจิตอิสระที่เกิดจากฌานและอภิญญา (๒) ความอิสระอันเป็นโลกุตตระ ได้แก่ ความอิสระที่เกิดจาก
นิโรธซึ่งมีเหตุมาจากการบรรลุมรรคและผล ในที่นี้หมายถึงความอิสระที่เกิดจากนิโรธ เป็นความอิสระที่ก่อ
ให้เกิดสุขอย่างแท้จริง เพราะไม่ต้องหวั่นไหวต่อโลกธรรม และเพราะมีสภาวะที่ไม่ต้องกลับเป็นทุกข์ได้อีก
(ขุ.อุ.อ. ๑๙/๑๖๗)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๖ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๑๐. ภัททิยสูตร
๑๐. ภัททิยสูตร
ว่าด้วยพระภัททิยเถระ
[๒๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อนุปิยอัมพวัน สมัยนั้น ท่าน
พระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตร๑เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี
ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’
ภิกษุจำนวนมากได้ฟังท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรเมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่
ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’
ภิกษุเหล่านั้น ครั้นได้ฟังแล้ว จึงมีความคิดอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตร ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์แน่ ๆ เพราะเคยได้รับ
ความสุขในราชสมบัติเมื่อครั้งเป็นฆราวาสแล้ว ท่านคงหวนระลึกถึงความสุขนั้น
เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า
‘สุขหนอ สุขหนอ”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระภัททิยะ
กาฬิโคธาบุตรเมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทาน
เนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระภัททิยะไม่ยินดี
ประพฤติพรหมจรรย์แน่ ๆ เพราะเคยได้รับความสุขในราชสมบัติ เมื่อครั้งเป็น
ฆราวาสแล้ว ท่านคงหวนระลึกถึงความสุขนั้น เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี
หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “ภิกษุ เธอจง
ไปเรียกภิกษุชื่อภัททิยะมาหาเราว่า ท่านภัททิยะ พระศาสดามีรับสั่งหาท่าน” ภิกษุ

เชิงอรรถ :
๑ พระภัททิยะ เป็นพระโอรสของพระนางกาฬิโคธาซึ่งเป็นเจ้าหญิงสากิยาราชเทวี ท่านบวชได้ไม่นานก็
บำเพ็ญวิปัสสนาจนได้บรรลุอภิญญา ๖ สมาทานธุดงค์ ๑๓ ประการ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเกิด
ในตระกูลสูง (ขุ.อุ.อ.๒๐/๑๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๑๐. ภัททิยสูตร
นั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรถึงที่อยู่
ได้กล่าวกับท่านพระภัททิยะดังนี้ว่า “ท่านภัททิยะ พระศาสดามีรับสั่งหาท่าน”
ท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรรับคำของภิกษุนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านดังนี้ว่า
“ภัททิยะ ทราบว่า เธอเมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี
ก็เปล่งอุทานว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’ จริงหรือ”
ท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภัททิยะ ก็เธอมองเห็นประโยชน์อะไร เมื่ออยู่
ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี จึงเปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ
สุขหนอ”
ท่านพระภัททิยะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยเมื่อข้าพระองค์เป็น
ฆราวาส เสวยความสุขในราชสมบัติ ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายในวัง
ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายนอกวัง ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดี
ทั้งภายในเมือง ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายนอกเมือง ได้รับการ
อารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งในชนบท ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งนอกชนบท
ข้าพระองค์นั้นถึงจะได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีเช่นนี้ ก็ยังกลัว ยังหวาดหวั่น
ระแวง สะดุ้งอยู่ แต่เวลานี้ ข้าพระองค์เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่
ในเรือนว่างก็ดี เพียงผู้เดียวก็ไม่กลัว ไม่หวาดหวั่น ไม่ระแวง ไม่สะดุ้ง มีความ
ปรารถนาน้อย ไม่ขนลุกขนพอง ดำรงชีวิตด้วยปัจจัยที่ผู้อื่นให้ มีจิตอิสระดุจมฤค๑
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นประโยชน์อย่างนี้ เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่
ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี จึงเปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’
พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ มีจิตอิสระดุจมฤค หมายถึงมีความโล่งใจ เหมือนเนื้อทรายที่อยู่ในป่าห่างไกลจากมนุษย์ จะยืน เดิน นั่ง
นอน ก็โล่งใจ (ขุ.อุ.อ. ๒๐/๑๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พุทธอุทาน๑
ผู้ใดไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้กำเริบ๒ภายในจิต
และล่วงพ้นความเป็นภพและอภพ๓ต่าง ๆ ได้แล้ว
ทวยเทพไม่สามารถจะมองเห็นผู้นั้น
ผู้ปราศจากภัย มีความสุข ไม่เศร้าโศก๔
ภัททิยสูตรที่ ๑๐ จบ
มุจจลินทวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มุจจลินทสูตร ๒. ราชสูตร
๓. ทัณฑสูตร ๔. สักการสูตร
๕. อุปาสกสูตร ๖. คัพภินีสูตร
๗. เอกปุตตกสูตร ๘. สุปปวาสาสูตร
๙. วิสาขาสูตร ๑๐. ภัททิยสูตร


เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงอานุภาพวิเวกสุขที่ล่วงวิสัยของปุถุชน ว่าเป็นสุขที่ปราศจากภัยและความ
โศกเศร้า (ขุ.อุ.อ. ๒๐/๑๗๑)
๒ กิเลสเป็นเหตุให้กำเริบ หมายถึงราคะ โทสะ โมหะ (ขุ.อุ.อ. ๒๐/๑๗๒)
๓ ภพ หมายถึงสมบัติ(ความถึงพร้อม) วุฑฒิ(ความเจริญ) สัสสตะ(ความเที่ยงแท้) ปุญญะ(บุญ) สุคติ(ภูมิที่
ไปดี) ขุททกะ(สิ่งเล็กน้อย) อภพหมายถึงวิปัตติ(ความวิบัติ) หานิ(ความเสื่อม) อุจเฉทะ(ความขาดสูญ) บาป(ความชั่ว)
มหันตะ(สิ่งใหญ่ ๆ) (ขุ.อุ.อ. ๒๐/๑๗๒)
๔ ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๓๒/๑๗๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๑. กัมมวิปากชสูตร
๓. นันทวรรค
หมวดว่าด้วยพระนันทเถระ
๑. กัมมวิปากชสูตร
ว่าด้วยการอดกลั้นทุกขเวทนาที่เกิดจากผลกรรม
[๒๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
อดกลั้นทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ที่เกิดจากผลแห่งกรรมเก่า มีสติ
มีสัมปชัญญะ ไม่ร้อนรุ่มใจ อยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุรูปนั้นผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
อดกลั้นทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ที่เกิดจากผลกรรมเก่า มีสติ
มีสัมปชัญญะ ไม่ร้อนรุ่มใจอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ภิกษุผู้ละกรรมทั้งหมด๑ได้
กำจัดกรรมที่เป็นดุจธุลี๒ที่ตนเคยทำไว้ได้
ไม่มีความยึดถือว่าของเรา ดำรงมั่น๓ คงที่
ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะบอกให้คนช่วยเยียวยา
กัมมวิปากชสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ละกรรมทั้งหมด หมายถึงละกุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งหมด (ขุ.อุ.อ. ๒๑/๑๗๔)
๒ กรรมที่เป็นดุจธุลี หมายถึงทุกขเวทนียกรรม(กรรมที่พึงเสวยทุกข์) อันเจือด้วยราคะเป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๒๑/๑๗๕)
๓ ดำรงมั่น หมายถึงข้ามโอฆะ ๔ ประการได้แล้ว ดำรงมั่นอยู่บนบกคือนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๒๑/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๒. นันทสูตร
๒. นันทสูตร
ว่าด้วยพระนันทเถระ
[๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค
พระโอรสของพระมาตุจฉา ได้บอกแก่ภิกษุหลายรูปอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
กระผมไม่ยินดีจะประพฤติพรหมจรรย์๑ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ กระผม
จักบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์”
ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค พระโอรสของพระมาตุจฉาได้บอก
แก่ภิกษุหลายรูปอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กระผมไม่ยินดีประพฤติ
พรหมจรรย์ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ กระผมจักบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “ภิกษุ เธอจงไป
เรียกนันทะมาหาเราว่า ท่านนันทะ พระศาสดารับสั่งหาท่าน” ภิกษุนั้นทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้วเข้าไปหาท่านพระนันทะถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับท่านพระนันทะว่า “ท่านนันทะ
พระศาสดารับสั่งหาท่าน”
ท่านพระนันทะรับคำของภิกษุรูปนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามท่านพระนันทะ
ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๒. นันทสูตร
“นันทะ ทราบว่า เธอได้บอกแก่ภิกษุหลายรูปอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
กระผมไม่ยินดีจะประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ กระผม
จักบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์จริงหรือ”
ท่านพระนันทะทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “นันทะ ก็เพราะเหตุอะไร เธอจึงไม่ยินดี
จะประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ จักบอกคืนสิกขากลับมา
เป็นคฤหัสถ์”
ท่านพระนันทะทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขณะที่ข้าพระองค์กำลัง
ออกจากพระตำหนัก นางชนบทกัลยาณีสากิยานี มีเกสาที่เกล้าไว้เพียงครึ่งเดียว
เหลียวมากล่าวกับข้าพระองค์ว่า ‘ข้าแต่ทูลกระหม่อม ขอพระองค์รีบเสด็จกลับมา’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นั้น เมื่อนึกถึงคำของพระนางทีไร ก็ไม่ยินดี
จะประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ จึงจักบอกคืนสิกขา
กลับมาเป็นคฤหัสถ์”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจับแขนท่านพระนันทะ เสด็จหายไปจากพระเชตวัน
ไปปรากฏในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ขณะนั้น นางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบประมาณ ๕๐๐ นาง กำลัง
มาสู่ที่เฝ้ารับใช้ท้าวสักกะจอมเทพ ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเรียกท่านพระนันทะ
มาตรัสถามว่า “นันทะ เธอเห็นนางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นาง
เหล่านี้หรือไม่”
ท่านพระนันทะทูลตอบว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “นันทะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร (คือ)
ระหว่างนางชนบทกัลยาณีสากิยานี กับนางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบ
๕๐๐ นางเหล่านี้ ใครสวยกว่ากัน น่าดูกว่ากัน หรือน่าชมกว่ากัน”
ท่านพระนันทะทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางชนบทกัลยาณีสากิยานี
เมื่อเปรียบเทียบกับนางอัปสร ๕๐๐ นางเหล่านี้ ก็เหมือนนางลิงรุ่นถูกไฟไหม้อวัยวะ
หูวิ่นจมูกแหว่ง คือ สวยไม่ถึงหนึ่งเสี้ยว สวยไม่ถึงส่วนหนึ่งของเสี้ยว เปรียบเทียบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๒. นันทสูตร
กันไม่ได้เลย โดยที่แท้ นางอัปสร ๕๐๐ นางเหล่านี้แลสวยกว่า น่าดูกว่า และ
น่าชมกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงยินดี เธอจงยินดีเถิด นันทะ เราขอรับรอง
เธอเพื่อได้นางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นางแน่ ๆ”
ท่านพระนันทะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคจะทรง
รับรองข้าพระองค์เพื่อได้นางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นางแน่แท้
ข้าพระองค์จักยินดีประพฤติพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า”
ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจับแขนท่านพระนันทะแล้ว เสด็จหายไปจากหมู่
เทวดาชั้นดาวดึงส์ ไปปรากฏ ณ พระเชตวัน เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออก
หรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ภิกษุทั้งหลายได้ฟังข่าวว่า “ทราบว่า ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มี
พระภาค พระโอรสของพระมาตุจฉา ประพฤติพรหมจรรย์เพราะนางอัปสรเป็นเหตุ
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคก็ทรงรับรองพระนันทะเพื่อให้ได้นางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือน
สีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นาง”
ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุทั้งหลายที่เป็นสหายของท่านพระนันทะ ก็ร้องเรียก
ท่านพระนันทะด้วยวาทะว่าลูกจ้างบ้าง ด้วยวาทะว่าผู้ถูกไถ่มาบ้างว่า “ทราบว่า
ท่านพระนันทะเป็นลูกจ้าง ทราบว่า ท่านพระนันทะเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงไถ่มา
ประพฤติพรหมจรรย์เพราะนางอัปสรเป็นเหตุ ทราบว่า พระผู้มีพระภาคก็ทรงรับรอง
พระนันทะเพื่อให้ได้นางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นาง”
ท่านพระนันทะอึดอัด ระอา รังเกียจวาทะว่าลูกจ้าง และวาทะว่าผู้ถูกไถ่มา
ของภิกษุผู้เป็นสหายเหล่านั้น จึงจากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม๑ อันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญา

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์ยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผลอันเป็นที่สุดแห่งมัคคพรหมจรรย์ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๕/๗, ม.ม.อ.
๒/๘๒/๘๐, ขุ.อุ.อ. ๒๒/๑๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๒. นันทสูตร
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ได้รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจ
ที่ควรทำ๑เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ จึงเป็นอันว่า ท่าน
พระนันทะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมี
ให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของผู้มีพระภาค พระโอรสของพระมาตุจฉา ทำให้
แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงเกิดพระญาณรู้ว่า “นันทะทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา-
วิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
ครั้นคืนนั้นผ่านไป ท่านพระนันทะจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงรับรองข้าพระองค์ เพื่อได้นางอัปสรผู้มีสีเท้า
เหมือนสีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นาง ข้าพระองค์ขอปลดเปลื้องพระผู้มีพระภาคจากการ
รับรองนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นันทะ แม้เราเองก็กำหนดรู้ใจเธอด้วยใจว่า ‘นันทะ
ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญา
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ แม้เทวดาก็ได้บอกเนื้อความนี้แก่เราว่า ‘ข้าแต่พระองค์

เชิงอรรถ :
๑ กิจที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงกิจ ๔ อย่าง คือ ปริญญากิจ หน้าที่กำหนดรู้ทุกข์ ปหานกิจ หน้าที่ละเหตุ
เกิดทุกข์ สัจฉิกิริยากิจ หน้าที่ทำให้แจ้งความดับทุกข์ ภาวนากิจ หน้าที่อบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ
เป็นกิจในอริยสัจ ๔ (ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓, องฺ.นวก.อ. ๓/๓/๒๘๗, ขุ.อุ.อ. ๒๒/๑๘๔, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา
๓/๔๙/๑๔๑)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๓. ยโสชสูตร
ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค พระโอรสของพระมาตุจฉาทำให้
แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ นันทะ เราพ้นจากการรับรองนี้ตั้งแต่จิตของเธอหลุดพ้นจากอาสวะ
ทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นนั้นแล้ว”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ภิกษุใดข้ามเปือกตมคือกามได้๑
ย่ำยีหนามคือกามได้
ภิกษุนั้นบรรลุความสิ้นโมหะ๒
ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะสุขและทุกข์
นันทสูตรที่ ๒ จบ

๓. ยโสชสูตร
ว่าด้วยพระยโสชเถระ
[๒๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปมีพระยโสชะเป็น
หัวหน้าเดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะ
เหล่านั้นแลกำลังทักทายกับภิกษุเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงได้
ส่งเสียงอื้ออึง

เชิงอรรถ :
๑ ดูชื่อของกามใน องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๒๓/๔๕๓, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๕๖/๓๔๙
๒ ความสิ้นโมหะ หมายถึงอรหัตตผลและนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๒๒/๑๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๓. ยโสชสูตร
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเรียกพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุ
พวกไหนส่งเสียงอื้ออึงเหมือนพวกชาวประมงแย่งปลากัน”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป
เหล่านั้น มีพระยโสชะเป็นหัวหน้าเดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับเพื่อจะเฝ้า
พระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นแลกำลังทักทายกับภิกษุเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ
เก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงได้ส่งเสียงอื้ออึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงเรียกภิกษุเหล่านั้นมาหา
เราว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้กล่าว
กับภิกษุเหล่านั้นว่า “พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำของ
ท่านพระอานนท์แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุอะไร เธอทั้งหลายจึงส่งเสียงอื้ออึงเหมือนพวก
ชาวประมงแย่งปลากัน” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้ ท่านพระยโสชะจึง
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป
เหล่านี้เดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะ
เหล่านั้นทักทายกับภิกษุเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงได้ส่งเสียง
อื้ออึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไปเสียเถิด เราขับไล่
เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่ควรอยู่ในสำนักของเรา”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วพากันลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาท
แล้วทำประทักษิณ เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรเที่ยวจาริกไปทางแคว้นวัชชี
เที่ยวจาริกไปโดยลำดับจนถึงแคว้นวัชชีแล้วไปที่แม่น้ำวัคคุมุทา สร้างกุฎีมุงด้วยใบไม้
เข้าอยู่จำพรรษาใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
ครั้งนั้น ท่านพระยโสชะผู้เข้าจำพรรษาอยู่ด้วย ได้เรียกภิกษุทั้งหลายมา
กล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงมุ่งหวังประโยชน์ แสวงหา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๓. ยโสชสูตร
ประโยชน์ ทรงอนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์ จึงทรงขับไล่พวกเรา เอาเถิด
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ขอพวกเราจงอยู่อย่างที่พระผู้มีพระภาคทรงมุ่งหวังประโยชน์
แก่พวกเราเถิด”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระยโสชะ แล้วก็ปลีกตัวไป ไม่ประมาท มีความ
เพียร อุทิศกายและใจอยู่ ภายในพรรษานั้นนั่นแล ทุกรูปก็ได้ทำให้แจ้งวิชชา
๓ ประการ๑
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นประทับอยู่ในกรุงสาวัตถีตามพระอัธยาศัยแล้ว
จึงเสด็จจาริกไปทางกรุงเวสาลี เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงเวสาลี ประทับอยู่
ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลีนั้น
ขณะประทับอยู่ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการกำหนดจิตของภิกษุที่อยู่
ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาด้วยพระทัย แล้วรับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า
“อานนท์ ทิศที่ภิกษุผู้อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาอยู่จำพรรษานี้ เป็นเหมือนเกิด
แสงสว่าง เป็นเหมือนเกิดรัศมี ปรากฏแก่เรา เธอคงไม่รังเกียจที่จะไปเพื่อความ
สนใจของเรา อานนท์ เธอพึงส่งภิกษุผู้เป็นทูตไปสำนักภิกษุผู้อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
พร้อมกับสั่งว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดามีพระประสงค์จะพบ
ท่านทั้งหลาย”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งถึงที่อยู่ ได้กล่าว
กับท่านว่า “ผู้มีอายุ ท่านจงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาถึงที่อยู่
แล้วพูดอย่างนี้ว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดามีพระประสงค์จะพบ
ท่านทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
๑ วิชชา ๓ ประการ คือ (๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (๒) ทิพพจักขุญาณ (๓) อาสวักขยญาณ (ขุ.อุ.อ.
๒๓/๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๓. ยโสชสูตร
ภิกษุรูปนั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้วก็หายไปจากกูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน
ไปปรากฏเบื้องหน้าภิกษุเหล่านั้น ณ ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา เหมือนคนมีกำลัง
เหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น แล้วได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ใกล้ฝั่ง
แม่น้ำวัคคุมุทาว่า “พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดามีพระประสงค์จะพบ
ท่านทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำของภิกษุนั้นแล้วเก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรพร้อมกับ
หายไปจากฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ไปปรากฏเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ณ กูฏาคาร-
ศาลาในป่ามหาวัน เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งเข้าอาเนญชสมาธิ๑ ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น
ได้มีควมคิดอย่างนี้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ด้วยวิหารธรรมไหนหนอ”
ครั้นแล้ว ภิกษุเหล่านั้นก็ได้รู้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ด้วยอาเนญช-
วิหารธรรม” ทุกรูปจึงพากันนั่งเข้าอาเนญชสมาธิ
ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ก็ลุก
จากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว
ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุอาคันตุกะนั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรง
ทักทายกับภิกษุอาคันตุกะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูล
อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคก็ยังประทับนิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๒ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ก็
ลุกจากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ อาเนญชสมาธิ หมายถึงสมาธิอันสัมปยุตด้วยอรหัตตผลมีฌานที่ ๔ เป็นพื้นฐาน อาจารย์บางพวกกล่าวว่า
มีอรูปฌานเป็นพื้นฐาน เหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงเข้าอาเนญชสมาธิ เพราะทรงประสงค์จะแสดงว่าภิกษุ
เหล่านั้นมีสัมโภคะเสมอกับพระองค์ และทรงประสงค์จะแสดงให้ปรากฏว่าภิกษุเหล่านั้นบรรลุพระอรหัตตผล
โดยไม่ต้องทรงเปล่งพระวาจา (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๓. ยโสชสูตร
มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุอาคันตุกะนั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงทักทายกับ
ภิกษุอาคันตุกะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคก็ยังประทับนิ่งอยู่เช่นเดิม
แม้ครั้งที่ ๓ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว เข้ารุ่งอรุณ เริ่มสว่าง
ท่านพระอานนท์ก็ลุกจากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรี
ผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว เข้ารุ่งอรุณ เริ่มสว่าง ภิกษุอาคันตุกะนั่งอยู่นานแล้ว
ขอพระผู้มีพระภาคทรงทักทายกับภิกษุอาคันตุกะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคก็เสด็จออกจากสมาธินั้น รับสั่งเรียกท่านพระ
อานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเธอพึงรู้ไซร้ ความแจ่มแจ้งแม้นี้ก็ยังไม่ปรากฏชัด
แก่เธอ อานนท์ เรากับภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ทั้งหมดได้นั่งเข้าอาเนญชสมาธิ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๑
ภิกษุใดละหนามคือกามได้๒
ชนะการด่าได้๓ ชนะการทำร้ายได้๔ และชนะการจองจำได้
ภิกษุนั้นดำรงมั่น ไม่หวั่นไหวดุจภูเขา
ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะสุขและทุกข์
ยโสชสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงการละกิเลสมีราคะเป็นต้นได้อย่างสิ้นเชิง แสดงความสำเร็จ และความเป็นผู้
คงที่ของภิกษุเหล่านั้น (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๗)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๒๑๔ ในเล่มนี้
๓ ชนะการด่า หมายถึงไม่มีวจีทุจริต (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๗)
๔ ชนะการทำร้าย หมายถึงไม่มีกายทุจริต (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๕. มหาโมคคัลลานสูตร
๔. สารีปุตตสูตร
ว่าด้วยพระสารีบุตรเถระ
[๒๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติ
ไว้เฉพาะหน้าอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย
ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ภูเขาศิลาล้วนตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้น เพราะสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวดุจภูเขา๑
สารีปุตตสูตรที่ ๔ จบ

๕. มหาโมคคัลลานสูตร
ว่าด้วยพระมหาโมคคัลลานเถระ
[๒๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
มีกายคตาสติ๒ที่ตั้งมั่นภายในตนอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๙๙/๕๐๓
๒ กายคตาสติ มีความหมายหลายนัย คือ นัยที่ ๑ หมายถึงสติที่ตั้งมั่นในกายด้วยอุปจารสมาธิ และ
อัปปนาสมาธิ โดยวิธีมนสิการความปฏิกูลในอาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ เป็นต้น นัยที่ ๒ หมายถึงสติที่ตั้ง
มั่นในกายด้วยอุปจารสมาธิและให้มนสิการเป็นไปด้วยสติสัมปชัญญะที่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก กำหนด
รู้อิริยาบถทั้ง ๔ และการพิจารณาอสุภะ นัยที่ ๓ หมายถึงสติที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนาตั้งขึ้นด้วยพิจารณา
เห็นกฎไตรลักษณ์ในธาตุ ๔ แต่ในที่นี้ทรงประสงค์เอานัยที่ ๓ (ขุ.อุ.อ. ๒๕/๒๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๖. ปิลินทวัจฉสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง มีกายคตาสติที่ตั้งมั่นภายในตนอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ภิกษุที่เจริญกายคตาสติแน่วแน่
สำรวมในผัสสายตนะทั้ง ๖ มีจิตตั้งมั่นเสมอ
ก็จะพึงรู้การดับกิเลสของตนได้
มหาโมคคัลลานสูตรที่ ๕ จบ

๖. ปิลินทวัจฉสูตร
ว่าด้วยพระปิลินทวัจฉเถระ
[๒๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน๑
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า
คนถ่อย ครั้งนั้น ภิกษุจำนวนมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระปิลินทวัจฉะร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย
พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “ภิกษุ เธอจงไป
เรียกพระปิลินทวัจฉะมาหาเราว่า ท่านปิลินทวัจฉะ พระศาสดารับสั่งหาท่าน” ภิกษุ
รูปนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าว
กับท่านพระปิลินทวัจฉะว่า “ท่านปิลินทวัจฉะ พระศาสดารับสั่งหาท่าน”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๑๗๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๖. ปิลินทวัจฉสูตร
ท่านพระปิลินทวัจฉะรับคำของภิกษุรูปนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามท่าน
ดังนี้ว่า “ปิลินทวัจฉะ ทราบว่า เธอร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย จริง
หรือ”
ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงระลึกถึงอดีตชาติของท่านพระปิลินทวัจฉะแล้ว
รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าถือโทษวัจฉะเลย
วัจฉะหาได้มุ่งร้ายร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อยไม่ วัจฉะเกิดในตระกูล
พราหมณ์ติดต่อกันไม่มีช่วงคั่นถึง ๕๐๐ ชาติ การใช้วาทะว่าคนถ่อยนั้น เธอก็
ประพฤติมานานแล้ว เพราะฉะนั้น วัจฉะนี้จึงร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้ใดไม่มีมายา ไม่มีมานะ สิ้นโลภะแล้ว
ไม่มีการยึดถือว่าของเรา ไม่มีความหวัง๑
ละความโกรธได้ มีจิตสงบเย็นยิ่งนัก
ผู้นั้นชื่อว่า พราหมณ์ สมณะ ภิกษุ๒
ปิลินทวัจฉสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีความหวัง หมายถึงไม่มีความหวังที่จะเกิดในภพต่อ ๆ ไป (ขุ.อุ.อ. ๒๖/๒๐๕)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๓ หน้า ๗๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๗. สักกุทานสูตร
๗. สักกุทานสูตร
ว่าด้วยการเปล่งอุทานของท้าวสักกะ
[๒๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะนั่งเข้าสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่งโดย
บัลลังก์เดียวอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ณ ถ้ำปิปผลิคูหา ครั้นล่วงไป ๗ วัน ท่านพระ
มหากัสสปะก็ออกจากสมาธินั้น เมื่อท่านพระมหากัสสปะออกจากสมาธินั้นได้มี
ความคิดดังนี้ว่า “ทางที่ดี เราควรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์”
สมัยนั้น เทวดาประมาณ ๕๐๐ องค์ขวนขวายเพื่อให้ท่านพระมหากัสสปะ
ได้รับบิณฑบาต ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะจึงห้ามเทวดาประมาณ ๕๐๐ องค์
เหล่านั้น ในเวลาเช้า ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุง
ราชคฤห์
ขณะนั้น ท้าวสักกะจอมเทพมีพระประสงค์จะถวายบิณฑบาตแก่ท่าน
พระมหากัสสปะ จึงทรงแปลงพระวรกายเป็นนายช่างหูกทอผ้าอยู่ นางสุชาดา
อสุรกัญญากำลังกรอด้ายหลอด ฝ่ายท่านพระมหากัสสปะเที่ยวบิณฑบาตตาม
ลำดับตรอกถึงนิเวศน์ของท้าวสักกะจอมเทพ ท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็นท่าน
พระมหากัสสปะกำลังเดินมาแต่ไกล จึงเสด็จออกจากเรือนทรงต้อนรับ ทรงรับ
บาตรจากมือเสด็จเข้าเรือน ทรงคดข้าวสุกจากหม้อใส่เต็มบาตรถวายท่านพระ
มหากัสสปะ บิณฑบาตนั้นได้มีแกงและกับข้าวหลายอย่าง ท่านพระมหากัสสปะได้มี
ความคิดอย่างนี้ว่า “ท่านผู้นี้เป็นใครหนอ จึงมีฤทธานุภาพถึงปานนี้” ลำดับนั้น
ท่านพระมหากัสสปะได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “คงเป็นท้าวสักกะจอมเทพแน่” จึงได้
กล่าวกับท้าวเธอดังนี้ว่า “ท้าวโกสีย์ ทำไมพระองค์จึงทรงทำอย่างนี้ ต่อไปอย่าได้ทำ
เช่นนี้อีก” ท้าวสักกะจอมเทพตรัสตอบว่า “ขอรับ ท่านกัสสปะ พวกเราทั้งหลายก็
ต้องการบุญ จึงควรทำบุญเหมือนกัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๗. สักกุทานสูตร
ต่อจากนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงอภิวาทท่านพระมหากัสสปะ ทรงทำ
ประทักษิณแล้วเสด็จเหาะขึ้นไปในอากาศ ทรงเปล่งอุทานกลางอากาศ ๓ ครั้งว่า
“โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่านพระมหากัสสปะแล้ว
โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่านพระมหากัสสปะแล้ว
โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่านพระมหากัสสปะแล้ว”
พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับอุทานที่ท้าวสักกะจอมเทพเสด็จเหาะขึ้นไปในอากาศ
ทรงเปล่งกลางอากาศ ๓ ครั้งว่า “โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่าน
พระมหากัสสปะแล้ว โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่านพระมหากัสสปะแล้ว
โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่านพระมหากัสสปะแล้ว” ด้วยหูทิพย์อัน
บริสุทธิ์ เหนือมนุษย์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
เทวดาทั้งหลายย่อมเคารพรักภิกษุ
ผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตน ไม่เลี้ยงคนอื่น
ผู้คงที่ ผู้สงบ มีสติอยู่ทุกเมื่อ
สักกุทานสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๘. ปิณฑปาติกสูตร
๘. ปิณฑปาติกสูตร
ว่าด้วยการสนทนาเรื่องบิณฑบาต
[๒๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากกลับจากบิณฑบาต
หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว มานั่งประชุมพร้อมกันในกเรริมณฑป๑ ได้สนทนา
อันตรากถาขึ้นว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เมื่อกำลัง
บิณฑบาต ย่อมได้เห็นรูปที่น่าพอใจทางตาตามกาลอันควร ย่อมได้ฟังเสียง
ที่น่าพอใจทางหูตามกาลอันควร ย่อมได้ดมกลิ่นที่น่าพอใจทางจมูกตามกาลอันควร
ย่อมได้ลิ้มรสที่น่าพอใจทางลิ้นตามกาลอันควร ย่อมได้ถูกต้องผัสสะที่น่าพอใจ
ทางกายตามกาลอันควร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้บิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้ที่
มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมขณะเที่ยวไปบิณฑบาต ท่านผู้มี
อายุทั้งหลาย ขอพวกเราจงเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรเถิด แม้พวกเราก็จักได้เห็น
รูปที่น่าพอใจทางตาตามกาลอันควร จักได้ฟังเสียงที่น่าพอใจทางหูตามกาลอันควร
จักได้ดมกลิ่นน่าพอใจทางจมูกตามกาลอันควร จักได้ลิ้มรสที่น่าพอใจทางลิ้นตาม
กาลอันควร จักได้ถูกต้องผัสสะที่น่าพอใจทางกายตามกาลอันควร พวกเราจักเป็น
ผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมขณะเที่ยวไปบิณฑบาต
อันตรากถาของภิกษุเหล่านั้นได้ค้างไว้เพียงเท่านี้
ครั้งนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไป
ยังกเรริมณฑป ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ พระผู้มีพระภาคครั้นประทับ
นั่งแล้ว รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ เธอทั้งหลาย
นั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร และพูดเรื่องอะไรค้างไว้”

เชิงอรรถ :
๑ กเรริมณฑป หมายถึงศาลาที่นั่งวงกลมซึ่งสร้างติดกับต้นกเรริ(ต้นกุ่ม) บางอาจารย์กล่าวว่า หมายถึง
ศาลาโรงกลมที่มุงด้วยหญ้าและใบไม้ ฝนตกรั่วรดไม่ได้ (ขุ.อุ.อ. ๒๘/๒๑๔, อภิธา.ฏีกา ๕๕๓/๓๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๘. ปิณฑปาติกสูตร
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว มานั่งประชุม
พร้อมกันในกเรริมณฑป ได้สนทนาอันตรากถาขึ้นว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุ
ผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เมื่อกำลังบิณฑบาต ย่อมได้เห็นรูปที่น่าพอใจทางตาตาม
กาลอันควร ย่อมได้ฟังเสียงที่น่าพอใจทางหูตามกาลอันควร ย่อมได้ดมกลิ่นที่น่า
พอใจทางจมูกตามกาลอันควร ย่อมได้ลิ้มรสที่น่าพอใจทางลิ้นตามกาลอันควร ย่อมได้
ถูกต้องผัสสะที่น่าพอใจทางกายตามกาลอันควร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้บิณฑบาต
เป็นวัตร เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมขณะเที่ยวไปบิณฑบาต
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ขอพวกเราจงเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรเถิด แม้พวกเราก็จัก
ได้เห็นรูปที่น่าพอใจทางตาตามกาลอันควร จักได้ฟังเสียงที่น่าพอใจทางหูตามกาล
อันควร จักได้ดมกลิ่นที่น่าพอใจทางจมูกตามกาลอันควร จักได้ลิ้มรสที่น่าพอใจทาง
ลิ้นตามกาลอันควร จักได้ถูกต้องผัสสะที่น่าพอใจทางกายตามกาลอันควร พวกเรา
เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมขณะเที่ยวไปบิณฑบาต
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันตรากถานี้แลที่ข้าพระองค์ทั้งหลายพูดค้างไว้ พอดีพระผู้มี
พระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายเป็นกุลบุตรมีศรัทธา
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้วพากันสนทนาเรื่องอย่างนี้นั้น ไม่สมควรเลย
เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันแล้วควรทำกิจเพียง ๒ อย่าง คือ การกล่าวธรรม หรือ
ความเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๙. สิปปสูตร
พุทธอุทาน
เทวดาทั้งหลายย่อมเคารพรักภิกษุ
ผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตน ไม่เลี้ยงคนอื่น
ผู้คงที่ หากภิกษุไม่อาศัยเสียงสรรเสริญ๑
ปิณฑปาติกสูตรที่ ๘ จบ

๙. สิปปสูตร
ว่าด้วยการสนทนาเรื่องศิลปะ
[๒๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากกลับจากบิณฑบาตหลังจากฉัน
อาหารเสร็จแล้ว มานั่งประชุมพร้อมกันในมณฑป ได้สนทนาอันตรากถาขึ้นว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ใครรู้จักศิลปะบ้าง ใครศึกษาศิลปะอะไรมาบ้าง ศิลปะชนิด
ไหนเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย”
บรรดาภิกษุเหล่านั้น บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยช้างเลิศกว่าศิลปะ
ทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยม้าเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย” บางพวก
กล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยรถเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะ
ว่าด้วยธนูเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยอาวุธ๒เลิศกว่า
ศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีนับนิ้วเลิศกว่า

เชิงอรรถ :
๑ ไม่อาศัยเสียงสรรเสริญ หมายถึงไม่ต้องการเสียงสรรเสริญ หรือการยกย่องจากคนอื่นว่า พระคุณเจ้ารูปนี้
มีความมักน้อย สันโดษ มีความประพฤติขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง (ขุ.อุ.อ. ๒๘/๒๑๕)
๒ แปลจากคำว่า “ถรุสิปฺปํ” หมายถึงอาวุธอื่น ๆ จากธนู (ขุ.อุ.อ. ๒๙/๒๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๙. สิปปสูตร
ศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีคิดในใจเลิศกว่า
ศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีอนุมานด้วย
สายตาเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยการวาดเขียน
เลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยฉันทลักษณ์เลิศกว่า
ศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยโลกายตศาสตร์๑เลิศกว่าศิลปะ
ทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยวิชากฎหมายเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นได้สนทนาอันตรากถากันค้างไว้เพียงเท่านี้
ครั้งนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไป
ยังมณฑป ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ พระผู้มีพระภาคครั้นประทับนั่งแล้ว
รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ เธอทั้งหลายสนทนากัน
ด้วยเรื่องอะไร และพูดเรื่องอะไรค้างไว้”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ข้าพระองค์ทั้งหลาย กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว มานั่งประชุม
พร้อมกันในมณฑป ได้สนทนาอันตรากถาขึ้นว่า ‘ท่านทั้งหลาย ใครรู้จักศิลปะบ้าง
ใครศึกษาศิลปะอะไรมาบ้าง ศิลปะชนิดไหนเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บรรดาพวก
ข้าพระองค์นั้น บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยช้างเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวก
กล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยม้าเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วย
รถเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยธนูเลิศกว่าศิลปะ
ทั้งหลาย’ บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยอาวุธเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวก
กล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีนับนิ้วเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวก
กล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีคิดในใจเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวก
กล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีอนุมานด้วยสายตาเลิศกว่าศิลปะ
ทั้งหลาย’ บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยการวาดเขียนเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’

เชิงอรรถ :
๑ โลกายตศาสตร์ ในที่นี้หมายถึงวิตัณฑวาทศาสตร์ คือศิลปะแห่งการเอาชนะผู้อื่นในเชิงวาทศิลป์ โดยการ
อ้างทฤษฎีและประเพณีทางสังคมมาหักล้างสัจธรรม มุ่งแสดงให้เห็นว่าตนฉลาดกว่า มิได้มุ่งสัจธรรมแต่
อย่างใด (ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒,ขุ.อุ.อ. ๒๙/๒๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๙. สิปปสูตร
บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยฉันทลักษณ์เลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวก
กล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยโลกายตศาสตร์เลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวกกล่าวว่า
‘ศิลปะว่าด้วยวิชากฎหมายเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันตรากถา
นี้แล ที่ข้าพระองค์ทั้งหลายพูดค้างไว้ พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายเป็นกุลบุตรมี
ศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้วพากันสนทนาเรื่องอย่างนี้ ไม่สมควรเลย
เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันแล้วควรทำกิจเพียง ๒ อย่าง คือ การกล่าวธรรม หรือ
ความเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้ใดไม่อาศัยศิลปะเลี้ยงชีพ เป็นอยู่เรียบง่าย
มุ่งบำเพ็ญประโยชน์ สำรวมอินทรีย์
หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง๑
ไม่ต้องแล่นไปในโอกะ๒ ไม่มีการยึดถือว่าของเรา
ไม่มีความหวัง กำจัดมารได้แล้ว เที่ยวไปผู้เดียว
ผู้นั้นชื่อว่า ภิกษุ
สิปปสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง หมายถึงหลุดพ้นจากภพเป็นต้น เพราะละสังโยชน์ทั้งหลายได้ด้วยอริยมรรค
๔ ประการ (ขุ.อุ.อ. ๒๙/๒๑๗)
๒ ไม่ต้องแล่นไปในโอกะ หมายถึงไม่ต้องแล่นไปในอำนาจของอายตนะทั้ง ๖ ที่เรียกว่า “โอกะ” เพราะไม่
มีธรรมเครื่องแล่นไปคือตัณหา (ขุ.อุ.อ. ๒๙/๒๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๑๐. โลกสูตร
๑๐. โลกสูตร
ว่าด้วยสัตว์โลก
[๓๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน
ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากสมาธินั้นแล้ว ทรงตรวจดู
สัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทอดพระเนตรเห็นหมู่สัตว์กำลังเดือดร้อนด้วยความทุกข์
มากมาย และถูกความเร่าร้อนหลากหลายที่เกิดจากราคะบ้าง เกิดจากโทสะบ้าง
เกิดจากโมหะบ้างรุมแผดเผาอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
สัตว์โลกนี้เกิดความเร่าร้อน ถูกทุกขเวทนากระทบแล้ว
กล่าวทุกขเวทนาว่าเป็นของตน
เพราะสัตว์โลกนี้สำคัญสิ่งใดว่าเที่ยง สิ่งนั้นกลับเป็นอย่างอื่น
สัตว์โลกมีภาวะไม่มั่นคง ติดอยู่ในภพ
หมกมุ่นอยู่ในภพ เพลิดเพลินอยู่ในภพ
ภพที่สัตว์โลกเพลิดเพลินจัดเป็นภัย
ภัยที่สัตว์โลกกลัว จัดเป็นทุกข์
บุคคลต้องบำเพ็ญพรหมจรรย์๑นี้เท่านั้น เพื่อละภพให้ได้
สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งกล่าวถึงความหลุดพ้นจากภพด้วย
ภพ๒เราถือว่าสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดหาได้หลุดพ้นจากภพทั้งปวงไม่

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงมัคคพรหมจรรย์ (ขุ.อุ.อ. ๓๐/๒๒๒,๔๒/๒๙๘)
๒ หมายถึงสมณะหรือพราหมณ์บางพวกถือว่า ความหลุดพ้นจากภพคือความบริสุทธิ์จากสังสารวัฏ จะมีได้ก็
ด้วยกามภพหรือรูปภพ (ขุ.อุ.อ. ๓๐/๒๒๓-๒๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
อนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวถึงการออกจากภพด้วยวิภพ๑
เราถือว่าสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดหาได้ออกจากภพไม่
เพราะอาศัยอุปธิ๒ทั้งปวง ทุกข์นี้จึงเกิดมีขึ้น เพราะอุปาทานทั้งหมดสิ้นไป
ทุกข์จึงไม่เกิด ท่านจงดูสัตว์โลกนี้ สัตว์เป็นจำนวนมากถูกอวิชชาครอบงำ หรือ
มัวหลงติดใจในสัตว์ด้วยกัน จึงหลุดพ้นไปจากภพไม่ได้ ความจริง ภพอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทุกชั้นล้วนแต่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา
บุคคลเมื่อรู้เห็นเบญจขันธ์คือภพนี้
ตามความเป็นจริงอย่างถ่องแท้ ด้วยปัญญาอันชอบ
ย่อมละภวตัณหาได้ ทั้งไม่ยินดีวิภวตัณหา
เพราะตัณหาทั้งหลายสิ้นไปโดยประการทั้งปวง
ความดับกิเลสไม่เหลือด้วยวิราคะ คือนิพพานจึงมี
เพราะไม่มีความยึดมั่น ภิกษุผู้นิพพานแล้ว จึงไม่มีภพใหม่
ภิกษุนั้นได้ชื่อว่าครอบงำมารได้ ชนะสงครามได้
ก้าวล่วงภพทั้งปวงได้ เป็นผู้คงที่ ฉะนี้
โลกสูตรที่ ๑๐ จบ
นันทวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กัมมวิปากชสูตร ๒. นันทสูตร
๓. ยโสชสูตร ๔. สารีปุตตสูตร
๕. มหาโมคคัลลานสูตร ๖. ปิลินทวัจฉสูตร
๗. สักกุทานสูตร ๘. ปิณฑปาติกสูตร
๙. สิปปสูตร ๑๐. โลกสูตร


เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงสมณะหรือพราหมณ์บางพวกถือว่าความหลุดพ้นจากภพจะมีได้ก็ด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. ๓๐/๒๒๔)
๒ อุปธิ หมายถึงขันธ์ กิเลส และอภิสังขาร (ขุ.อุ.อ. ๓๐/๒๒๕-๒๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
๔. เมฆิยวรรค
หมวดว่าด้วยพระเมฆิยเถระ
๑. เมฆิยสูตร๑
ว่าด้วยพระเมฆิยเถระ๒
[๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพต เขตเมืองจาลิกา
สมัยนั้น ท่านพระเมฆิยะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้นแล ท่านพระ
เมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะ
เข้าไปยังชันตุคามเพื่อบิณฑบาต”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เมฆิยะ จงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ท่านพระเมฆิยะครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไป
ยังชันตุคามเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เดินไป
ตามฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ขณะที่เที่ยวเดินพักผ่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬานั้น ได้เห็น
ป่ามะม่วงที่งดงาม น่ารื่นรมย์ จึงมีความคิดดังนี้ว่า “ป่ามะม่วงนี้ช่างงดงาม
น่ารื่นรมย์จริง เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรสำหรับกุลบุตรผู้ต้องการบำเพ็ญเพียร
โดยแท้ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตเรา เราจะกลับมาบำเพ็ญเพียรในป่า
มะม่วงนี้”
ต่อมา ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอประทานวโรกาส เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๓/๔๓๐-๔๓๔
๒ พระเมฆิยเถระ เป็นพระอุปัฏฐากรูปหนึ่งของพระผู้มีพระภาค ในต้นพุทธกาล(๒๐ พรรษาแรก) พระผู้มี
พระภาคไม่มีพระอุปัฏฐากประจำ บางคราวได้พระนาคสมาละ บางคราวได้พระนาคิตะ บางคราวได้พระ-
อุปวาหนะ บางคราวได้พระสุนักขัตตะ บางคราวได้พระสาคตะ บางคราวได้สามเณรจุนทะ (ขุ.อุ.อ. ๓๑/๒๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
เข้าไปยังชันตุคามเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว
เดินไปตามฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ขณะที่เที่ยวเดินพักผ่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬานั้น
ได้เห็นป่ามะม่วงที่งดงาม น่ารื่นรมย์ จึงมีความคิดดังนี้ว่า ‘ป่ามะม่วงนี้ช่างงดงาม
น่ารื่นรมย์จริง เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรสำหรับกุลบุตรผู้ต้องการบำเพ็ญเพียร
โดยแท้ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตเรา เราจะกลับมาบำเพ็ญเพียรในป่ามะม่วงนี้’
ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะกลับไปบำเพ็ญเพียรในป่า
มะม่วงนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อท่านพระเมฆิยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านดังนี้ว่า
“เมฆิยะ เราอยู่คนเดียว เธอจงรอจนกว่าภิกษุรูปอื่นจะมา๑”
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระเมฆิยะกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก๒ ทั้งไม่มีการสั่งสม
กิจที่ทำแล้ว๓ ส่วนข้าพระองค์ยังมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งยังต้องสั่งสมกิจที่
ทำแล้ว ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะกลับไปบำเพ็ญ
เพียรในป่ามะม่วงนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เมฆิยะ เราอยู่คนเดียว เธอจงรอจนกว่าภิกษุรูปอื่นจะมา”
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระเมฆิยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งไม่มีการสั่งสมกิจ
ที่ทำแล้ว ส่วนข้าพระองค์ยังมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งยังต้องสั่งสมกิจ

เชิงอรรถ :
๑ นัยว่า พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ ก็ด้วยพระประสงค์ที่จะประวิงเวลารอให้จิตของท่านพระเมฆิยะอ่อนโยน
เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร (องฺ.นวก.อ. ๓/๓/๒๘๗)
๒ ไม่มีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ในที่นี้หมายถึงไม่มีกิจ ๔ อย่างในอริยสัจ ๔ ประการ ดูเชิงอรรถที่ ๑
หน้า ๒๑๓ ประกอบ
๓ ไม่มีการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ในที่นี้หมายถึงไม่ต้องเพิ่มพูนกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่เคยทำมาก่อน หรือ
อีกนัยหนึ่ง หมายถึงไม่ต้องเจริญมรรคที่เจริญได้แล้ว และไม่ต้องละกิเลสที่ละได้แล้วอีก (ขุ.เถร.อ. ๖๔๔/
๒๖๒, องฺ.นวก.อ. ๓/๓/๒๘๗) และดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๕/๕๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
ที่ทำแล้ว ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะกลับไปบำเพ็ญ
เพียรในป่ามะม่วงนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “เมฆิยะ เมื่อเธอพูดว่า ‘จะไปบำเพ็ญเพียร’ เราจะ
พึงว่าอะไร เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ลำดับนั้น ท่านพระเมฆิยะลุกจากที่นั่งถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ
แล้วเข้าไปยังป่ามะม่วงนั้น อาศัยป่ามะม่วงนั้นนั่งพักกลางวันอยู่ ณ โคนไม้มะม่วง
ต้นหนึ่ง เมื่อท่านพักอยู่ในป่ามะม่วงนั้น บาปอกุศลวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก
(ความตรึกในทางกาม) พยาบาทวิตก(ความตรึกในทางพยาบาท) วิหิงสาวิตก
(ความตรึกในทางเบียดเบียน) เกิดขึ้นโดยมาก
ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะได้มีความคิดดังนี้ว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาแท้ ๆ แต่กระนั้นก็ยังถูกบาป
อกุศลวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกรุมเร้าจิตได้”
ครั้งนั้น ในเวลาเย็น ท่านพระเมฆิยะก็ออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เมื่อข้าพระองค์
พักอยู่ในป่ามะม่วงนั้น บาปอกุศลวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก
วิหิงสาวิตก เกิดขึ้นโดยมาก ข้าพระองค์จึงมีความคิดดังนี้ว่า ‘น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาแท้ ๆ แต่กระนั้น ก็ยังถูก
บาปอกุศลวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกรุมเร้าจิตได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เมฆิยะ ธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความ
แก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๑ ที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์
เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๒
ที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ได้กถาเป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่ง๑ ที่เป็น
สัปปายะแห่งความเป็นไปของจิต เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายอย่างเดียว
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพี่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อ
นิพพาน คือ อัปปิจฉกถา(เรื่องความมักน้อย) สันตุฏฐิกถา(เรื่อง
ความสันโดษ) ปวิเวกกถา(เรื่องความสงัด) อสังสัคคกถา(เรื่อง
ความไม่คลุกคลี) วิริยารัมภกถา(เรื่องการปรารภความเพียร)
สีลกถา(เรื่องศีล) สมาธิกถา(เรื่องสมาธิ) ปัญญากถา(เรื่องปัญญา)
วิมุตติกถา(เรื่องวิมุตติ) วิมุตติญาณทัสสนกถา(เรื่องความรู้ความ
เห็นในวิมุตติ) ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่
ยังไม่แก่กล้า
๔. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อ
ให้กุศลธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระ
ในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ที่เป็นไปเพื่อความ
แก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
๕. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็น
เครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรก
กิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมประการที่ ๕ ที่เป็นไป
เพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๙๐/๑๖๐-๑๖๑, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๖๙/๑๕๒, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๕/๒๕๗-๒๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
เมฆิยะ ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติ
ที่ยังไม่แก่กล้า
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้มีศีล สำรวม
ด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษ
แม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้ได้กถา
เป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่งที่เป็นสัปปายะแห่งความเป็นไปของจิต เป็นไปเพื่อความ
เบื่อหน่ายอย่างเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา
สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ตามความ
ปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้ปรารภความ
เพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง
ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้มีปัญญา
คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ
ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เมฆิยะ ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึงเจริญธรรม ๔ ประการ
ให้ยิ่งขึ้นไปอีก คือ
๑. พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ
๒. พึงเจริญเมตตาเพื่อละพยาบาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
๓. พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก
๔. พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อถอนอัสมิมานะ๑
เมฆิยะ อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ภิกษุผู้ได้อนัตตสัญญา
ย่อมบรรลุนิพพานที่ถอนอัสมิมานะได้ในปัจจุบัน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๒
วิตกที่หยาบ๓และวิตกที่ละเอียด๔
เป็นไปแล้ว ทำใจให้ฟุ้งซ่าน
บุคคลผู้มีจิตสับสน ไม่รู้วิตกแห่งใจเหล่านี้
ย่อมแล่นไปสู่ภพน้อยภพใหญ่
ส่วนผู้ที่เพียรระวัง มีสติอยู่เสมอ
รู้เท่าทันวิตกที่เกิดแก่จิตเหล่านี้ ย่อมสำรวมระวัง
บุคคลผู้ตรัสรู้แล้วเท่านั้น
ย่อมละวิตกที่เป็นไปแล้วทำใจให้ฟุ้งซ่านได้โดยไม่เหลือ
เมฆิยสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อัสมิมานะ หมายถึงมานะ ๙ ประการ (องฺ.นวก.อ. ๓/๑/๒๘๖) และดู องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๑/๔๒๘, ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๑๗๘/๕๐๘, อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๒๓๙/๓๑๔, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๓๒/๕๓๖ ประกอบ
๒ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงโทษแห่งการไม่บรรเทา และอานิสงส์แห่งการบรรเทากามวิตก เป็นต้น (ขุ.อุ.อ.
๓๑/๒๕๒)
๓ วิตกที่หยาบ หมายถึงอกุศลวิตก มี ๓ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก (ขุ.อุ.อ. ๓๑/๒๕๒)
๔ วิตกที่ละเอียด หมายถึงญาติวิตก(ความตรึกถึงญาติ) ชนปทวิตก(ความตรึกถึงชนบท) อมราวิตก(ความ
ตรึกถึงเทพเจ้า) เป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๓๑/๒๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๒. อุทธตสูตร
๒. อุทธตสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
[๓๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าสาลวัน ซึ่งเป็นทางเข้ากรุง
กุสินาราของพวกเจ้ามัลละ สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล
ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง
ไม่สำรวมอินทรีย์อยู่ ณ กระท่อมในป่า ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล
ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง
ไม่สำรวมอินทรีย์อยู่ ณ กระท่อมในป่า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๑
ภิกษุผู้ไม่รักษากาย๒ มีความเห็นผิด
ถูกถีนมิทธะ๓ครอบงำ ย่อมไปสู่อำนาจมาร๔
เพราะฉะนั้น ภิกษุควรรักษาจิต๕
มีความดำริชอบเป็นอารมณ์
มุ่งความเห็นถูกต้องเป็นสำคัญ
รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของเบญจขันธ์
ครอบงำถีนมิทธะได้ ก็สามารถละทุคติได้ทั้งหมด
อุทธตสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงโทษในการอยู่ด้วยความประมาท และอานิสงส์ในการอยู่ด้วยความไม่
ประมาทตามลำดับ (ขุ.อุ.อ. ๓๒/๒๕๔)
๒ ผู้ไม่รักษากาย หมายถึงผู้ไม่ใช้สติคุ้มครองป้องกันกายวิญญาณ ๖ (ขุ.อุ.อ. ๓๒/๒๕๔)
๓ ถีนมิทธะ หมายถึงความที่จิตหดหู่และเซื่องซึม (ขุ.อุ.อ. ๓๒/๒๕๔)
๔ มาร หมายถึงกิเลสมาร เป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๓๒/๒๕๕)
๕ รักษาจิต หมายถึงปิดกั้นอินทรีย์มีมนินทรีย์เป็นที่ ๖ ด้วยสติสังวร (ขุ.อุ.อ. ๓๒/๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๓. โคปาลกสูตร
๓. โคปาลกสูตร
ว่าด้วยนายโคบาล
[๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะลงข้างทาง เข้าไป ณ ควงไม้ต้นหนึ่ง
แล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ลำดับนั้น นายโคบาลคนหนึ่ง ได้เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรง
ชี้แจงให้นายโคบาลนั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
นายโคบาลนั้น ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยาก
รับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ
ผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี นายโคบาลนั้น
ทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่งถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป
ครั้นคืนนั้นผ่านไป นายโคบาลนั้นสั่งให้คนจัดข้าวปายาสมีน้ำน้อยและเนยใสใหม่
อย่างเพียงพอไว้ในนิเวศน์ของตนแล้วส่งคนไปกราบทูลภัตกาลว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า” ขณะนั้น ในเวลาเช้า
พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังบ้านของ
นายโคบาลนั้นพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ นายโคบาล
ได้นำข้าวปายาสมีน้ำน้อยและเนยใสใหม่ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
ให้อิ่มหนำสำราญด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์แล้ว
นายโคบาลจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจง
ให้เขาเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ
ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๔. ยักขปหารสูตร
หลังจากพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ชายคนหนึ่งได้ทำร้ายนายโคบาล
นั้นจนเสียชีวิต ในระหว่างเขตบ้าน
ต่อมา ภิกษุจำนวนมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ทราบว่า นายโคบาลผู้นำข้าวปายาสและเนยใสใหม่ ประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธานให้อิ่มหนำสำราญด้วยตนเอง ในวันนี้นั้น ได้ถูกชายคนหนึ่ง
ทำร้ายจนเสียชีวิตในระหว่างเขตบ้าน พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
จิตที่ตั้งไว้ผิดพึงทำให้ได้รับความเสียหาย
ยิ่งกว่าความเสียหายที่โจรเห็นโจร
หรือผู้จองเวรเห็นผู้จองเวร จะพึงทำให้แก่กัน๑
โคปาลกสูตรที่ ๓ จบ

๔. ยักขปหารสูตร
ว่าด้วยยักษ์ตีศีรษะพระสารีบุตรเถระ
[๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะอยู่ที่
กโปตกันทราวิหาร๒ ในคืนเดือนเพ็ญ ท่านพระสารีบุตรปลงผมใหม่ ๆ นั่งเข้าสมาธิ
อยู่ในที่แจ้ง

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๔๒ หน้า ๓๙ ในเล่มนี้
๒ กโปตกันทราวิหาร หมายถึงวิหารสร้างใกล้ซอกเขาซึ่งเป็นที่อาศัยอยู่ของนกพิราบ (ขุ.อุ.อ. ๓๔/๒๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๔. ยักขปหารสูตร
ขณะนั้นมียักษ์ ๒ ตนเป็นสหายกัน เดินทางจากทิศเหนือไปทางทิศใต้เพื่อ
ทำกิจที่จะต้องทำบางอย่าง ยักษ์ทั้งสองนั้นได้เห็นท่านพระสารีบุตรปลงผมใหม่ ๆ
นั่งเข้าสมาธิอยู่ในที่แจ้ง ยักษ์ตนหนึ่งได้กล่าวกับยักษ์อีกตนหนึ่งว่า “สหาย เราคิด
อยากตีศีรษะสมณะรูปนี้” เมื่อยักษ์ตนนั้นกล่าวอย่างนี้ ยักษ์ตนหนึ่งจึงกล่าวดังนี้ว่า
“อย่าเลยสหาย ท่านอย่าทำร้ายสมณะเลย สมณะรูปนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมาก”
แม้ครั้งที่ ๒ ยักษ์ตนนั้นได้กล่าวกับยักษ์ตนหนึ่งดังนี้ว่า “สหาย เราคิดอยากตี
ศีรษะสมณะรูปนี้”
ยักษ์ตนหนึ่งได้กล่าวกับยักษ์ตนนั้นดังนี้ว่า “อย่าเลยสหาย ท่านอย่าทำร้าย
สมณะเลย สมณะรูปนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก”
แม้ครั้งที่ ๓ ยักษ์ตนนั้นได้กล่าวกับยักษ์ตนหนึ่งดังนี้ว่า “สหาย เราคิดอยากตี
ศีรษะสมณะรูปนี้”
ยักษ์ตนหนึ่งก็ได้กล่าวกับยักษ์ตนนั้นดังนี้ว่า “อย่าเลยสหาย ท่านอย่าทำร้าย
สมณะเลย สมณะรูปนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก”
ครั้งนั้น ยักษ์นั้นไม่เชื่อยักษ์ผู้เป็นสหาย จึงได้ตีศีรษะท่านพระสารีบุตรเถระ
เป็นการตีอย่างรุนแรง การตีเช่นนั้น สามารถทำให้ช้างสูง ๗-๘ ศอกจมดินได้
หรือสามารถทำลายยอดภูเขามหึมาให้ทลายลงได้ และทันใดนั้นเอง ยักษ์ตนนั้นได้
ร้องว่า “โอย ร้อนเหลือเกิน” แล้วล้มตกไปสู่มหานรก ณ ที่นั้นเอง
ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นยักษ์ตนนั้นตีศีรษะท่านพระสารีบุตร ด้วย
ตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ จึงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรแล้วได้กล่าวกับท่าน
พระสารีบุตรดังนี้ว่า “ท่านสารีบุตร ท่านยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ไม่มี
ทุกข์อะไรหรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านโมคคัลลานะ ผมสบายดี พอเป็นอยู่ได้
เพียงแต่เจ็บที่ศีรษะนิดหน่อย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๔. ยักขปหารสูตร
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ท่าน
สารีบุตร ท่านมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง ยักษ์ตนหนึ่งได้ตีศีรษะท่านในที่นี้
เป็นการตีอย่างรุนแรง การตีเช่นนี้สามารถทำให้ช้างสูง ๗-๘ ศอกจมดินได้ หรือ
สามารถทำลายยอดภูเขามหึมาให้ทลายลงได้ แต่กระนั้น ท่านก็ยังกล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านโมคคัลลานะ ผมสบายดี พอเป็นอยู่ได้ เพียงแต่เจ็บที่ศีรษะนิดหน่อย”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ท่านโมคคัลลานะ
ท่านมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง เห็นแม้กระทั่งยักษ์ ส่วนผมขณะนี้ แม้แต่ปีศาจ
คลุกฝุ่นสักตนก็ยังไม่เห็น”
พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับเสียงสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ของพระอัครสาวก
ทั้ง ๒ รูปนั้นด้วยพระโสตทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
จิตของใครตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ดุจภูเขา
ไม่กำหนัดในอารมณ์อันชวนให้กำหนัด
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันชวนให้ขัดเคือง
ผู้ใด อบรมจิตได้อย่างนี้
ทุกข์จะมาถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน๑
ยักขปหารสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๙๑/๓๖๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๕. นาคสูตร
๕. นาคสูตร
ว่าด้วยพญาช้างปรนนิบัติพระพุทธเจ้า
[๓๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี สมัยนั้น
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงดำริอย่างนี้ว่า “เวลานี้
เราอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์
ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ เราอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก ทางที่ดี
เราควรปลีกตัวจากหมู่อยู่ผู้เดียว”
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงโกสัมพี เสด็จกลับจากบิณฑบาต หลังจากเสวยพระ
กระยาหารเสร็จแล้วทรงเก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง ไม่ตรัส
บอกพระอุปัฏฐาก ไม่ตรัสบอกภิกษุสงฆ์ พระองค์เดียว ไม่มีเพื่อน เสด็จจาริกไป
ทางป่าปาลิไลยกะเสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงป่าปาลิไลยกะ ทราบว่า พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ที่ควงไม้รัง ในราวป่ารักขิตวัน เขตป่าปาลิไลยกะนั้น
สมัยนั้น พญาช้างตัวหนึ่งอยู่คลุกคลีกับพวกช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่
ลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน ถูกช้างเหล่านั้นกินกิ่งไม้ที่ตนหักลงมากองไว้ ได้ดื่ม
แต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อพญาช้างนั้นเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป
พญาช้างอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก พญาช้างนั้นจึงมีความคิดดังนี้ว่า “เวลานี้
เราอยู่คลุกคลีกับพวกช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน
ถูกช้างเหล่านั้นกินกิ่งไม้ที่เราหักลงมากองไว้ ได้ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราเดินลงหรือ
ขึ้นจากท่าน้ำ ช่างพังก็เดินเสียดสีกายไป เราอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก ทางที่ดี
เราควรหลีกออกจากโขลงไปอยู่ผู้เดียว”
ครั้นแล้ว พญาช้างนั้นก็ได้หลีกออกจากโขลง เดินไปทางเขตป่าปาลิไลยกะ
ราวป่ารักขิตวัน ณ ควงไม้รัง เข้าไปหาพระผู้มีพระภาค ทราบว่า พญาช้างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๕. นาคสูตร
ปรับพื้นที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ให้ปราศจากของเขียวสด และใช้งวงตักน้ำดื่ม
น้ำใช้เข้าไปตั้งไว้เพื่อพระผู้มีพระภาค ณ ที่นั้น
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงดำริอย่างนี้ว่า
“เมื่อก่อน เราอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ เราอยู่คลุกคลี ลำบาก
ไม่ผาสุก เวลานี้ เรานั้นไม่คลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ เราไม่คลุกคลี
จึงอยู่ผาสุกดี”
พญาช้างนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อน เราอยู่คลุกคลีกับพวกช้างพลาย
ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่เราหักลงมากองไว้
ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพัง
ก็เดินเสียดสีกายไป เราอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก เวลานี้ เรานั้นไม่คลุกคลีอยู่
กับพวกช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก ไม่กินหญ้ายอดด้วน ไม่ถูกช้าง
กินกิ่งไม้ที่เราหักลงมา ไม่ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพัง
ไม่เดินเสียดสีกายไป เราไม่คลุกคลี จึงอยู่ผาสุกดี”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความสงัดพระวรกายของพระองค์ และ
ทรงทราบความคิดของพญาช้างนั้นด้วยพระทัยแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
จิตของพญาช้างผู้มีงางามดุจงอนรถนั้น
ย่อมเสมอกับจิตของพระพุทธเจ้า
เพราะอยู่ผู้เดียวยินดีในป่าเหมือนกัน๑
นาคสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๔๖๗/๓๖๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๖. ปิณโฑลสูตร
๖. ปิณโฑลสูตร
ว่าด้วยพระปิณโฑลภารทวาชเถระ
[๓๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะผู้ถือการ
อยู่ป่าเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
ถือการนุ่งห่มไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลี
ด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร เป็นผู้กำจัดกิเลส และกล่าวถึงแต่เรื่องกำจัดกิเลส
หมั่นประกอบอธิจิต นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระปิณโฑลภารทวาชะผู้ถือการอยู่ป่า
เป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือการ
นุ่งห่มผ้าไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วย
หมู่คณะ ปรารภความเพียร เป็นผู้กำจัดกิเลส และกล่าวถึงแต่เรื่องกำจัดกิเลส
หมั่นประกอบอธิจิต นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ความสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
การประกอบความเพียรในอธิจิต
นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย๑
ปิณโฑลสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๑๘๕ หน้า ๙๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๗. สารีปุตตสูตร
๗. สารีปุตตสูตร
ว่าด้วยพระสารีบุตรเถระ
[๓๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรผู้มีความปรารถนาน้อย สันโดษ
ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร หมั่นประกอบอธิจิต นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง อยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรผู้มีความปรารถนาน้อย
สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร หมั่นประกอบอธิจิต
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้มีจิตมั่นคง๑ ไม่ประมาท เป็นมุนี๒
ศึกษาทางแห่งความเป็นมุนี๓
ผู้คงที่ สงบ มีสติทุกขณะ
ย่อมเป็นผู้ไม่เศร้าโศก๔
สารีปุตตสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มีจิตมั่นคง ในที่นี้หมายถึงประกอบด้วยอรหัตตผลจิตที่ยอดเยี่ยมกว่าจิตทั้งปวง (ขุ.อุ.อ. ๓๗/๒๗๒)
๒ มุนี ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพที่ประกอบด้วยอรหัตตผลญาณที่เรียกว่า โมนะ (ขุ.อุ.อ. ๓๗/๒๗๒)
๓ ทางแห่งความเป็นมุนี หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ขุ.อุ.อ. ๓๗/๒๗๒)
๔ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๘/๓๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๘. สุนทรีสูตร
๘. สุนทรีสูตร
ว่าด้วยนางสุนทรีปริพาชิกา
[๓๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่มหาชนสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย-
เภสัชบริขาร แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนพวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชกเป็นผู้ที่มหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่นอบน้อม
ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ครั้งนั้น พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกทนเห็นสักการะเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค
และภิกษุสงฆ์ไม่ได้ จึงพากันไปหานางสุนทรีปริพาชิกาถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับนางสุนทรี
ปริพาชิกาดังนี้ว่า “น้องหญิง เธอสามารถจะทำประโยชน์แก่พวกญาติได้ไหม”
นางถามว่า “ท่านเจ้าข้า จะให้ดิฉันทำอะไร ดิฉันสามารถทำได้ เพื่อประโยชน์แก่
พวกญาติ แม้ชีวิตดิฉันก็สละให้ได้”
พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกจึงกล่าวว่า “ดีละ น้องหญิง ถ้าอย่างนั้น เธอจง
ไปพระเชตวันเนือง ๆ” นางสุนทรีปริพาชิการับคำของอัญเดียรถีย์ปริพาชกแล้วไป
พระเชตวันเนือง ๆ
เมื่อพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นรู้ว่า คนจำนวนมากเห็นนางสุนทรี
ปริพาชิกาไปพระเชตวันเนือง ๆ จึงได้จ้างนักเลงให้ฆ่านาง แล้วหมกไว้ในคูรอบ
พระเชตวันนั่นเอง จากนั้นได้พากันเข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลถึงที่ประทับ
ได้กราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลดังนี้ว่า “ขอเดชะ มหาบพิตร อาตมภาพทั้งหลาย
ไม่เห็นนางสุนทรีปริพาชิกาเลย”
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลายสงสัยที่ไหนเล่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๘. สุนทรีสูตร
พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกทูลตอบว่า “ที่พระเชตวัน มหาบพิตร”
พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งว่า “ถ้าอย่างนั้น พระคุณเจ้าทั้งหลายจงค้นพระเชตวัน
ดูเถิด”
ลำดับนั้น อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นจึงค้นพระเชตวันแล้วขุดศพนาง
สุนทรีปริพาชิกาตามที่ตนสั่งให้หมกไว้ขึ้นจากคู ยกขึ้นเตียงแล้วให้หามเข้าไปยัง
กรุงสาวัตถี เดินจากถนนนี้ไปถนนโน้น จากตรอกนี้ไปตรอกโน้น พร้อมกับให้
คนทั้งหลายโพนทนาว่า
“ท่านทั้งหลาย เชิญดูการกระทำของพวกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเถิด
พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ไม่มียางอาย ทุศีล มีธรรมเลวทราม กล่าวเท็จ
ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ความจริง พระเหล่านี้ถึงจะปฏิญญาว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม
ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่พระ
เหล่านี้ไม่มีความเป็นสมณะ ไม่มีความเป็นพรหม๑ ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้
เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นสมณะ
ของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน พระ
เหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะ พระเหล่านี้ปราศจากความเป็นพรหมแล้ว ทำไม
เป็นชายจึงข่มขืนผู้หญิงแล้วฆ่าเสียเล่า”
สมัยนั้น คนทั้งหลายในกรุงสาวัตถีเห็นภิกษุทั้งหลายแล้วด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด
เบียดเบียนด้วยวาจาหยาบคายที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร
เหล่านี้ ไม่มียางอาย ทุศีล มีธรรมเลวทราม กล่าวเท็จ ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
ความจริง พระเหล่านี้ถึงจะปฏิญญาว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติ
พรหมจรรย์ กล่าวคำจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่พระเหล่านี้ก็ไม่มีความเป็น
สมณะ ไม่มีความเป็นพรหม ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว
ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้

เชิงอรรถ :
๑ ความเป็นพรหม ในที่นี้หมายถึงความเป็นผู้ประเสริฐ ความเป็นผู้มีบาปอันลอยแล้ว (ขุ.อุ.อ.๓๘/๒๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๘. สุนทรีสูตร
จะมีแต่ที่ไหน ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน พระเหล่านี้ปราศจาก
ความเป็นสมณะ พระเหล่านี้ปราศจากความเป็นพรหมแล้ว ทำไม เป็นชายจึงข่มขืน
ผู้หญิงแล้วฆ่าเสียเล่า”
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขณะนี้ คนทั้งหลายในกรุงสาวัตถี
เห็นภิกษุทั้งหลายแล้วด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจาหยาบคาย
ที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษว่า ‘พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ไม่มียางอาย ทุศีล
มีธรรมเลวทราม กล่าวเท็จ ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ความจริง พระเหล่านี้ถึงจะ
ปฏิญญาว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำจริง
มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่พระเหล่านี้ก็ไม่มีความเป็นสมณะ ไม่มีความเป็นพรหม
ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้เสื่อม
สิ้นไปแล้ว ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน ความเป็นพรหมของพระ
เหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน พระเหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะ พระเหล่านี้ปราศจาก
ความเป็นพรหมแล้ว ทำไม เป็นชายจึงข่มขืนผู้หญิงแล้วฆ่าเสียเล่า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เสียง(โจษ)นั้นจักมีไม่นาน จักมี
เพียง ๗ วันเท่านั้น ครั้นพ้น ๗ วันก็จักหายไป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงกล่าวตอบกับคนทั้งหลายที่เห็นภิกษุแล้วด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียน
ด้วยวาจาหยาบคายที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษ ด้วยคาถานี้ว่า
คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
“ฉันไม่ได้ทำ” ต่างก็ตกนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๘. สุนทรีสูตร
คน ๒ จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้ว มีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า๑
ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายเรียนคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคแล้วกล่าวตอบ
คนทั้งหลายที่เห็นภิกษุแล้วด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจาหยาบคาย
ที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษ ด้วยคาถานี้ว่า
คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
‘ฉันไม่ได้ทำ’ ต่างก็ตกนรก
คน ๒ จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้วมีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า
คนทั้งหลายได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ คงไม่
ได้ทำความผิด พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้คงไม่ได้ทำบาป พระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงกล่าวสบถเช่นนั้น” เสียง(โจษ)นั้นได้มีอยู่ไม่นาน เสียง(โจษ)ได้มีอยู่
เพียง ๗ วันเท่านั้น ครั้นพ้น ๗ วันก็หายไป
ต่อมา ภิกษุจำนวนมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัส
พระดำรัสนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เสียง(โจษ)นั้นจักมีไม่นาน จักมีเพียง ๗ วันเท่านั้น
ครั้นพ้น ๗ วันก็จักหายไป เสียง(โจษ)นั้นก็หายไป พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบท ข้อ ๓๐๖ หน้า ๑๒๘, อิติวุตตกะ ข้อ ๔๘ หน้า ๓๙๙, สุตตนิบาต ข้อ ๖๖๗ หน้า ๖๕๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๙. อุปเสนสูตร
พุทธอุทาน
คนทั้งหลายผู้ไม่สำรวม ชอบกล่าวทิ่มแทงผู้อื่นด้วยวาจา
เหมือนทหารข้าศึกทิ่มแทงช้างที่ออกศึกด้วยลูกศร ฉะนั้น
ภิกษุผู้มีจิตไม่คิดประทุษร้าย ฟังคำหยาบคาย
ที่คนพาลกล่าวแล้ว พึงอดกลั้นไว้ได้
สุนทรีสูตรที่ ๘ จบ

๙. อุปเสนสูตร
ว่าด้วยพระอุปเสนวังคันตบุตร
[๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตร หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด
เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า “เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่เรามีพระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เรามีเพื่อนพรหมจารีล้วนแต่มีศีล
มีกัลยาณธรรม เราบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์แล้ว เรามีจิตตั้งมั่นดีแล้ว มีอารมณ์
เป็นหนึ่ง เป็นพระอรหันตขีณาสพ เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ชีวิตของเรา
ชื่อว่ามีความเจริญ ความตายของเราก็ชื่อว่าเป็นความตายดี”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบความคิดคำนึงของท่านพระอุปเสน-
วังคันตบุตรด้วยพระทัยแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑๐. สารีปุตตอุปสมสูตร
พุทธอุทาน
บุคคลผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่โดยไม่เดือดร้อน
ในเวลาจวนจะตายก็ไม่เศร้าโศก
ชื่อว่าพบนิพพานแล้ว เป็นปราชญ์
แม้จะอยู่ท่ามกลางคนที่เศร้าโศก ก็ไม่เศร้าโศก
ภิกษุผู้ตัดภวตัณหา๑ได้เด็ดขาด
มีจิตสงบ มีชาติสงสาร๒สิ้นแล้ว
เธอย่อมไม่มีภพใหม่
อุปเสนสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. สารีปุตตอุปสมสูตร
ว่าด้วยการระงับกิเลสของพระสารีบุตรเถระ
[๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
พิจารณาถึงการระงับกิเลสลงได้หมดสิ้นของตน อยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง พิจารณาถึงการระงับกิเลสได้หมดสิ้นของตนอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ ภวตัณหา หมายถึงความกำหนัดแห่งจิตที่สหรคตด้วยภวทิฏฐิ (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๑๖/๕๗๓)
๒ ชาติสงสาร ในที่นี้หมายถึงความเกิด (ขุ.อุ.อ. ๓๙/๒๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พุทธอุทาน
ภิกษุผู้มีจิตสงบและระงับกิเลสได้
ตัดตัณหาที่นำไปสู่ภพได้
มีชาติสงสารสิ้นแล้ว
ชื่อว่าเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูกแห่งมาร
สารีปุตตอุปสมสูตรที่ ๑๐ จบ
เมฆิยวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เมฆิยสูตร ๒. อุทธตสูตร
๓. โคปาลกสูตร ๔. ยักขปหารสูตร
๕. นาคสูตร ๖. ปิณโฑลสูตร
๗. สารีปุตตสูตร ๘. สุนทรีสูตร
๙. อุปเสนสูตร ๑๐. สารีปุตตอุปสมสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๑. ปิยตรสูตร
๕. โสณเถรวรรค
หมวดว่าด้วยพระโสณเถระ
๑. ปิยตรสูตร๑
ว่าด้วยการไม่มีผู้อื่นเป็นที่รักยิ่งกว่าตน
[๔๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลกับพระนางมัลลิกาเทวี
ประทับอยู่ที่ปราสาทอันประเสริฐชั้นบน ขณะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสกับพระนาง
มัลลิกาเทวีดังนี้ว่า “มัลลิกา ใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของเธอมีบ้างไหม”
พระนางมัลลิกาเทวีได้ทูลสนองว่า “ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ใครอื่น
ซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของหม่อนฉันไม่มีเลย และใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของ
พระองค์มีอยู่หรือ”
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า “มัลลิกา ใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของเรา
ไม่มีเลย”
ต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลงจากปราสาท เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ ข้าพระองค์กับพระนางมัลลิกาเทวีอยู่ที่ปราสาท
อันประเสริฐชั้นบน ได้พูดกับพระนางมัลลิกาเทวีดังนี้ว่า ‘มัลลิกา ใครอื่นซึ่งเป็น
ที่รักยิ่งกว่าตนของเธอมีบ้างไหม’ เมื่อข้าพระองค์ถามแล้วอย่างนี้ พระนางมัลลิกา-
เทวีได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ใครอื่นซึ่งเป็นที่รัก

เชิงอรรถ :
๑ สํ.สํ. (แปล) ๑๕/๑๑๙/๑๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๒. อัปปายุกสูตร
ยิ่งกว่าตนของหม่อนฉันไม่มี และใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของพระองค์มีอยู่หรือ’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระนางมัลลิกาเทวีกล่าวอย่างนี้ข้าพระองค์ได้พูดกับ
พระนางมัลลิกาเทวี ดังนี้ว่า ‘มัลลิกา ใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของเราไม่มีเลย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
บุคคลตั้งใจค้นหาทั่วทุกทิศ
ก็ไม่พบใครซึ่งเป็นที่รักยิ่งว่าตนในที่ไหน ๆ เลย
สัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่นก็รักตนมากเช่นนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น
ปิยตรสูตรที่ ๑ จบ

๒. อัปปายุกสูตร
ว่าด้วยพระมารดาพระโพธิสัตว์มีอายุน้อย
[๔๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น ท่านพระอานนท์ออกจากที่
หลีกเร้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ พระมารดาของพระผู้มีพระภาคมีพระชนมายุน้อย เมื่อพระผู้มีพระภาค
ประสูติได้ ๗ วัน พระมารดาของพระผู้มีพระภาคก็เสด็จสวรรคตไปเกิดยังหมู่เทพ
ชั้นดุสิต”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จริงอย่างนั้น อานนท์ จริงอย่างนั้น อานนท์ มารดา
พระโพธิสัตว์มีอายุน้อย เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน มารดาก็สวรรคตไปเกิด
ยังหมู่เทพชั้นดุสิต”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เกิดแล้ว
จะเกิดต่อไป หรือกำลังเกิดก็ตาม
สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจักต้องละทิ้งร่างกายไป
คนฉลาดรู้ความเสื่อมไปของสัตว์ทั้งหมดนั้นแล้ว
ควรเป็นผู้ประกอบความเพียร๑ ประพฤติพรหมจรรย์๒
อัปปายุกสูตรที่ ๒ จบ

๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ว่าด้วยชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ
[๔๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ชายคนหนึ่งชื่อสุปปพุทธะ เป็นโรคเรื้อน ยากจน กำพร้า
ยากไร้ วันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคมีบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมประทับนั่งแสดงธรรมอยู่
ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้เห็นหมู่มหาชนนั้นนั่งประชุมกันแต่ที่ไกล ได้มีความคิด
ดังนี้ว่า “ชนทั้งหลายกำลังแจกของเคี้ยวหรือของบริโภค ในที่นี้เป็นแน่ ทางที่ดีเรา
ควรเข้าไปยังหมู่มหาชนนั้น พึงได้ของเคี้ยวหรือของบริโภคในที่นี้บ้าง”

เชิงอรรถ :
๑ ประกอบความเพียร หมายถึงบำเพ็ญวิปัสสนา (ขุ.อุ.อ. ๔๒/๒๙๘)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๒๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ลำดับนั้น ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้เข้าไปยังหมู่มหาชนนั้น ได้เห็นพระผู้มี
พระภาคมีบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ จึงมีความคิดดังนี้ว่า
“ชนทั้งหลายคงไม่แจกของเคี้ยวหรือของบริโภคในที่นี้ พระสมณโคดมนี้แสดงธรรม
ในบริษัท ทางที่ดีเราควรฟังธรรมบ้าง” จึงนั่งลง ณ ที่สมควรในที่นั้น ด้วยตั้งใจว่า
“เราจักฟังธรรม”
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการกำหนดจิตของบริษัททุกหมู่เหล่าด้วย
พระทัยว่า ในบริษัทนี้ ใครหนอแลควรรู้แจ้งธรรม พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตร
เห็นชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะนั่งอยู่ในบริษัทนั้น จึงทรงพระดำริดังนี้ว่า “ในบริษัทนี้
ชายคนนี้แลควรรู้แจ้งธรรม” พระองค์ทรงปรารภชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ จึงตรัส
อนุปุพพีกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๑
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)
เมื่อทรงทราบว่าชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะมีจิตควรบรรลุธรรม สงบ อ่อน
ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา๒ของพระ-
พุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันไร้ธุลี ปราศจากมลทิน
ได้เกิดแก่ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ ณ ที่นั่งนั้นนั่นเองว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือนผ้า
ขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

เชิงอรรถ :
๑ แปลจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สงฺกิเลสํ (ขุ.อุ. ๒๕/๔๓/๑๖๐)
๒ สามุกกังสิกเทศนา หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่มีผู้ทูลอาราธนา
หรือทูลถาม พระธรรมเทศนานั้น คือ อริยสัจ ๔ ประการ (ขุ.อุ.อ. ๔๓/๓๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ครั้งนั้นแล ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้เห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม
หยั่งลงสู่ธรรม ข้ามพ้นความสงสัย๑ ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความ
แกล้วกล้า ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย๒ ในศาสนาของพระศาสดา ลุกจาก
ที่นั่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรม
แจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดี จักเห็น
รูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จนตลอดชีวิต”
เมื่อชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้ฟังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วก็ชื่นชมยินดีพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว
จึงลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทแล้วลุกขึ้นทำประทักษิณจากไป ทันใดนั้นเอง
โคแม่ลูกอ่อนได้ขวิดชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะผู้จากไปไม่นานจนล้มลงเสียชีวิต
ลำดับนั้น ภิกษุจำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะผู้ได้ฟังพระดำรัสที่พระองค์ทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจ

เชิงอรรถ :
๑ ความสงสัย หมายถึงวิจิกิจฉา ๘ ประการ เป็นองค์ธรรมในสังโยชน์ ๑๐ ประการ ดูรายละเอียดใน อภิ.สงฺ.
(แปล) ๓๔/๑๐๐๘/๒๖๑, และวิจิกิจฉา ๑๖ ประการ ดูรายละเอียดใน ม.มู. (แปล) ๑๒/๑๘/๑๙, สํ.นิ.
๑๖/๒๐/๒๗
๒ ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย ในที่นี้หมายถึงไม่ต้องเชื่อผู้อื่นหรือไม่ต้องอาศัยผู้อื่นสนับสนุนให้เชื่อ
เพราะเห็นประจักษ์ชัดด้วยตนเอง (ที.สี.อ. ๑/๒๙๙/๒๕๐, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๖/๑๐๖, ขุ.อุ.อ. ๔๓/๓๐๖,
องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๑๖/๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา เขาเสียชีวิตแล้ว คติของเขาเป็นอย่างไร สัมปรายภพของเขาเป็น
อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะเป็น
บัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และไม่เบียดเบียนเราให้ลำบาก เพราะธรรม
เป็นเหตุ ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ เป็นโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๑ในวันข้างหน้า”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ชายชื่อ
สุปปพุทธะ เป็นโรคเรื้อน ยากจน กำพร้า ยากไร้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ชาติก่อน ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ
เป็นบุตรเศรษฐีในกรุงราชคฤห์นี้เอง เขาออกไปยังสวนสาธารณะ ได้เห็นพระปัจเจก-
พุทธะนามว่าตครสิขี กำลังเดินบิณฑบาตในพระนคร เขาครั้นเห็นแล้ว จึงได้มีความ
คิดอย่างนี้ว่า ‘ใครนี้ เป็นโรคเรื้อนห่มผ้าสกปรกเที่ยวไป’ แล้วถ่มน้ำลายเดินแซงไป
ทางด้านซ้าย เพราะผลแห่งกรรมนั้น เขาไหม้อยู่ในนรกหลาย ๑๐๐ หลาย ๑,๐๐๐
หลาย ๑๐๐,๐๐๐ ปี เพราะเศษแห่งวิบากกรรมนั้นยังเหลืออยู่ เขาจึงเกิดเป็นชาย
โรคเรื้อน ยากจน กำพร้า ยากไร้ในกรุงราชคฤห์นี้เอง เขาอาศัยธรรมวินัยที่ตถาคต
ประกาศไว้แล้ว ยึดมั่น ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เขาครั้นได้อาศัยธรรมวินัยที่
ตถาคตประกาศไว้แล้วยึดมั่นศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา หลังจากตายแล้ว
เขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ และ
รุ่งโรจน์เหนือกว่าเทวดาเหล่าอื่น ในชั้นดาวดึงส์นั้น ด้วยวรรณะและยศ๒”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๓ เบื้องสูง คือ สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค (ที.สี.อ.
๑/๓๗๓/๒๘๑, องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗/๒๔๒, ขุ.อุ.อ. ๔๓/๓๑๐, องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๘๗/๒๓๕)
๒ ในที่นี้ วรรณะ หมายถึงรูปสมบัติ ยศ หมายถึงบริวาร (ขุ.อุ.อ.๔๓/๓๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๔. กุมารกสูตร
พุทธอุทาน
บัณฑิตในโลกนี้ เมื่อยังมีความบากบั่นอยู่
ควรละเว้นบาปทุกอย่าง
เหมือนคนตาดีละเว้นทางขรุขระ ฉะนั้น
สุปปพุทธกุฏฐิสูตรที่ ๓ จบ

๔. กุมารกสูตร
ว่าด้วยเด็กจับปลา
[๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น เด็กจำนวนมากจับปลาอยู่ในระหว่าง
กรุงสาวัตถีกับพระเชตวัน
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กจำนวนมากจับปลาอยู่
ในระหว่างกรุงสาวัตถีกับพระเชตวันนั้น จึงเสด็จเข้าไปหาเด็กเหล่านั้นแล้วได้ตรัส
ถามดังนี้ว่า “พ่อหนูทั้งหลาย เธอทั้งหลายกลัวความทุกข์ ความทุกข์ไม่เป็นที่รัก
ของเธอทั้งหลายมิใช่หรือ”
เด็กทั้งหลายทูลตอบว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายกลัว
ความทุกข์ ความทุกข์ไม่เป็นที่รักของข้าพระองค์ทั้งหลาย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
พุทธอุทาน
ถ้าเธอทั้งหลายกลัวความทุกข์
ถ้าความทุกข์ไม่เป็นที่รักของเธอทั้งหลาย
ก็อย่าได้ทำบาปกรรมในที่แจ้ง๑หรือบาปกรรมในที่ลับ๒
เพราะถ้าเธอทั้งหลายจักทำ หรือกำลังทำบาปกรรมอยู่
ถึงจะเหาะหนีไป เธอย่อมไม่พ้นจากความทุกข์ไปได้
กุมารกสูตรที่ ๔ จบ

๕. อุโปสถสูตร๓
ว่าด้วยอุโบสถกรรม
[๔๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา-
มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับ
นั่งในวันอุโบสถวันหนึ่ง
ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว๔ ปฐมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ลุกจาก
อาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูล
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์
นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ บาปกรรมในที่แจ้ง หมายถึงกรรมชั่วทางกาย และทางวาจา (ขุ.อุ.อ. ๔๔/๓๑๕)
๒ บาปกรรมในที่ลับ หมายถึงกรรมชั่วทางใจ (ขุ.อุ.อ. ๔๔/๓๑๕)
๓ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๘๓-๓๘๕/๒๘๓-๒๘๕, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๒๐/๒๕๒-๒๖๕, อภิ.ก. ๓๗/๓๔๖/๑๘๘
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงนิ่ง๑
แม้ครั้งที่ ๒ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์
ลุกจากอาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูล
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์
นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ทรงนิ่ง
แม้ครั้ง ๓ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ยามรุ่งอรุณเริ่ม
สว่าง ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทาง
พระผู้มีพระภาคได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว
ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ยามรุ่งอรุณเริ่มสว่าง ภิกษุสงฆ์นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มี
พระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ บริษัทไม่บริสุทธิ์”
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาค
ตรัสอย่างนี้ว่า ‘บริษัทไม่บริสุทธิ์’ ทรงหมายถึงใครกัน” จึงกำหนดจิตของภิกษุสงฆ์
ด้วยจิต(ของตน) ได้เห็นบุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติ
ที่น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี
แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ
นั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์นั้น ครั้นเห็นแล้วจึงลุกจากอาสนะเข้าไปหาบุคคลนั้นแล้ว
กล่าวว่า “ท่านจงลุกขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีสังวาส๒กับ
ภิกษุทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
๑ เหตุที่ทรงนิ่ง ก็ด้วยพระประสงค์จะอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทุศีลที่มีอยู่ในบริษัท เพราะหากพระองค์ทรงยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดง ศีรษะของภิกษุผู้ทุศีลนั้นก็จะแตก ๗ เสี่ยง พระองค์จึงทรงนิ่งเสีย (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๒๐/๒๔๕)
๒ สังวาส ในที่นี้หมายถึงกรรมที่ทำร่วมกัน อุทเทสที่สวดรวมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน (วิ.มหา.(แปล)
๑/๕๕/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
เมื่อท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวอย่างนี้แล้ว บุคคลนั้นก็ยังนิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้กล่าวกับบุคคลนั้นว่า “ท่านจง
ลุกขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีสังวาสกับภิกษุทั้งหลาย”
แม้ครั้งที่ ๒ บุคคลนั้นก็ยังนิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้กล่าวกับบุคคลนั้นว่า “ท่านจง
ลุกขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีสังวาสกับภิกษุทั้งหลาย”
แม้ครั้งที่ ๓ บุคคลนั้นก็ยังนิ่งอยู่
ครั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงจับแขนเขาฉุดให้ออกไปนอกซุ้มประตู
ใส่กลอนแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ให้บุคคลนั้นออกไปพ้นแล้ว บริษัท
บริสุทธิ์แล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
โมฆบุรุษนี้ดื้ออยู่ จนต้องฉุดแขนไล่ออกไป”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ตั้งแต่บัดนี้ไป เราจักไม่ทำอุโบสถ จักไม่ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ตั้งแต่บัดนี้ไป
เธอทั้งหลายนั้นแลพึงทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด ภิกษุทั้งหลาย เป็นไป
ไม่ได้ที่ตถาคตจะทำอุโบสถ จะยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในเมื่อบริษัทไม่บริสุทธิ์๑
ภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทรมีสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ
ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
สิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ คือ
๑. มหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ
ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที ภิกษุทั้งหลาย การที่มหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๒๐/๒๕๔ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที นี้เป็นสิ่ง
ที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๑ ในมหาสมุทรที่พวกอสูร
พบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๒. มหาสมุทรมีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง ภิกษุทั้งหลาย การที่มหาสมุทรมี
ปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการ
ที่ ๒ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๓. มหาสมุทรไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่งจนถึงบนบกทันที
ภิกษุทั้งหลาย ที่มหาสมุทรไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพ
ขึ้นฝั่งจนถึงบนบกทันที นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ
ประการที่ ๓ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดี
ในมหาสมุทร
๔. มหานทีทุกสาย คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลลงสู่
มหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า
‘มหาสมุทร’ ทั้งสิ้น ภิกษุทั้งหลาย การที่มหานทีทุกสาย คือ คงคา
ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลลงสู่มหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและ
โคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า ‘มหาสมุทร’ ทั้งสิ้น นี้เป็นสิ่งที่น่า
อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๔ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบ
เห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๕. แม่น้ำสายใดสายหนึ่งในโลก ที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝน
ตกลงจากฟากฟ้าก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้ ภิกษุทั้งหลาย
การที่แม่น้ำสายใดสายหนึ่งในโลกที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และ
สายฝนตกลงจากฟากฟ้า ก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้
นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๕ ในมหาสมุทร
ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๖. มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ภิกษุทั้งหลาย การที่มหาสมุทร
มีรสเดียว คือ รสเค็ม นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ
ประการที่ ๖ ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
๗. มหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ แก้วมุกดา แก้วมณี
แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว
ภิกษุทั้งหลาย การที่มหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ
แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน
ทอง ทับทิม แก้วตาแมว นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ
ประการที่ ๗ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดี
ในมหาสมุทร
๘. มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิ ปลา
ติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ๑ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว
๑๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๒๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี
มีลำตัว ๔๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี ภิกษุทั้งหลาย
การที่มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิ
ปลาติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว
๑๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๒๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี
มีลำตัว ๔๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี นี้เป็นสิ่งที่น่า
อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๘ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบ
เห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
ภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทรมีสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ
นี้แลที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคย
ปรากฏ ๘ ประการที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ คือ
๑. ธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ
มีการปฏิบัติไปตามลำดับ๒ ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อปลาเหล่านี้ปรากฏในเรื่องไตรภูมิว่า ว่ายเวียนอยู่ในมหานทีสีทันดรรอบภูเขาสัตบริภัณฑ์
๒ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๑๙/๒๔๘ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
เหมือนมหาสมุทรที่ต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดย
ลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที ภิกษุทั้งหลาย การที่ธรรมวินัยนี้มีการ
ศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไป
ตามลำดับ ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที นี้เป็นธรรมที่น่า
อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๑ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลาย
พบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๒. สาวกทั้งหลายของเราย่อมไม่ละเมิดสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ แม้
เพราะเหตุแห่งชีวิต เหมือนมหาสมุทรที่มีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง ภิกษุ
ทั้งหลาย การที่สาวกทั้งหลายของเราไม่ละเมิดสิกขาบทที่เรา
บัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคย
ปรากฏ ประการที่ ๒ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้ว
ต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๓. บุคคลใดทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติที่
น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ
ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มด้วย
ราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ สงฆ์ก็ไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ย่อม
ประชุมกันนำเธอออกไปทันที แม้เธอจะนั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์
ก็ยังห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเธอ เหมือนมหาสมุทร
ไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่งจนถึงบนบกทันที ภิกษุ
ทั้งหลาย การที่บุคคลใดทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความ
ประพฤติที่น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่า
เป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน
ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ สงฆ์ไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น
ย่อมประชุมกันนำเธอออกไปทันที แม้เธอจะนั่งอยู่ในท่ามกลาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
ภิกษุสงฆ์ ก็ยังห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเธอ นี้เป็น
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๓ ในธรรมวินัยนี้ที่
ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๔. วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว
ย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า ‘สมณศากยบุตร’
ทั้งสิ้น เหมือนมหานทีทุกสาย คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู
มหี ไหลลงสู่มหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตนรวม
เรียกว่า ‘มหาสมุทร’ ทั้งสิ้น ภิกษุทั้งหลาย การที่วรรณะ ๔
เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละชื่อและ
โคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า ‘สมณศากยบุตร’ ทั้งสิ้น นี้เป็น
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๔ ในธรรมวินัยนี้
ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๕. แม้หากภิกษุจำนวนมากปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ก็ไม่ทำให้นิพพานพร่องหรือเต็มได้ เหมือนแม่น้ำสายใดสายหนึ่ง
ในโลก ที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝนตกลงจากฟากฟ้า
ก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้ ภิกษุทั้งหลาย การที่แม้หาก
ภิกษุจำนวนมากปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก็ไม่ทำให้
นิพพานพร่องหรือเต็มได้ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ
ประการที่ ๕ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้ว ต่างพากัน
ยินดีในธรรมวินัยนี้
๖. ธรรมวินัยนี้มีรสเดียวคือวิมุตติรส เหมือนมหาสมุทรมีรสเดียว คือ
รสเค็ม ภิกษุทั้งหลาย การที่ธรรมวินัยนี้มีรสเดียวคือวิมุตติรส
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๖ ในธรรม
วินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
๗. ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗
อริยมรรคมีองค์ ๘ เหมือนมหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด
คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ
เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว ภิกษุทั้งหลาย การที่ธรรมวินัยนี้
มีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๗ ในธรรมวินัย
นี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๘. ธรรมวินัยนี้เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือ พระโสดาบัน บุคคลผู้ปฏิบัติ
เพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อ
ทำให้แจ้งสกทาคามิผล พระอนาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
อนาคามิผล พระอรหันต์ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล
เหมือนมหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิ
ปลาติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว
๑๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๒๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี
มีลำตัว ๔๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี ภิกษุทั้งหลาย
การที่ธรรมวินัยนี้เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือ พระโสดาบัน บุคคลผู้
ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติ
เพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล พระอนาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อ
ทำให้แจ้งอนาคามิผล พระอรหันต์ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
อรหัตตผล นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๘
ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ
นี้แล ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๖. โสณสูตร
พุทธอุทาน
ยิ่งปิด ยิ่งรั่ว๑ เปิดแล้วไม่รั่ว๒
เพราะฉะนั้น พึงเปิดสิ่งที่ปิด
เมื่อเป็นดังนี้ สิ่งที่เปิดนั้นก็จะไม่รั่ว๓
อุโปสถสูตรที่ ๕ จบ

๖. โสณสูตร๔
ว่าด้วยพระโสณเถระ
[๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระมหากัจจานะพักอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ
เมืองกุรุรฆระ แคว้นอวันตี ครั้งนั้น อุบาสกชื่อโสณะ กุฏิกัณณะเป็นอุปัฏฐาก
ของท่านพระมหากัจจานะ
ครั้งนั้น อุบาสกชื่อโสณะ กุฏิกัณณะหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า “การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ครบถ้วน
ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว อย่างที่พระมหากัจจานะแสดงธรรมไว้ มิใช่กระทำได้ง่าย ทางที่
ดีเราควรปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”

เชิงอรรถ :
๑ ยิ่งปิด ยิ่งรั่ว หมายถึงภิกษุต้องอาบัติแล้วปกปิดไว้ ย่อมต้องอาบัติตัวอื่นใหม่อีก และต้องอาบัติมากขึ้น
เรื่อย ๆ ฝนคืออาบัติหรือฝนคือกิเลส ย่อมรั่วรดจิตมากขึ้น (ขุ.อุ.อ. ๔๕/๓๒๗)
๒ เปิดแล้วไม่รั่ว หมายถึงภิกษุต้องอาบัติแล้ว เปิดเผยอาบัติแก่เพื่อนภิกษุแล้วแสดงออกจากอาบัติตาม
ธรรมตามวินัย จึงไม่ต้องอาบัตินั้น (ขุ.อุ.อ. ๔๕/๓๒๗)
๓ ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๘๕/๒๘๔, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๔๔๗/๔๑๕
๔ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๕๗-๒๕๘/๓๒-๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๖. โสณสูตร
ต่อมา เขาเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้น
อยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติ
พรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว อย่างที่พระมหากัจจานะ
แสดงธรรมไว้ มิใช่กระทำได้ง่าย ทางที่ดีเราควรปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ขอพระคุณเจ้ามหากัจจานะโปรดให้กระผมบวช
ด้วยเถิด ขอรับ”
เมื่อเขากล่าวอย่างนี้ ท่านพระมหากัจจานะจึงกล่าวกับเขาดังนี้ว่า “โสณะ
การประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งต้องบริโภคอาหารมื้อเดียว นอนผู้เดียว๑จนตลอดชีพ
ทำได้ยาก แต่เอาเถอะ โสณะ ท่านเป็นคฤหัสถ์อยู่ที่บ้านนั่นแหละ จงหมั่นประพฤติ
ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นพรหมจรรย์ที่ต้องบริโภคอาหาร
มื้อเดียว นอนผู้เดียว ตามเวลาที่เหมาะสมเถิด๒” ครั้งนั้น ความคิดที่น้อมไปเพื่อ
บรรพชาของอุบาสกโสณะ กุฏิกัณณะ ระงับไป
แม้ครั้งที่ ๒ อุบาสกโสณะ กุฏิกัณณะหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า “การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว อย่างที่พระมหากัจจานะแสดงธรรมไว้ มิใช่กระทำได้ง่าย
ทางที่ดีเราควรปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต” แล้วเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้น
อยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า ‘การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์

เชิงอรรถ :
๑ นอนผู้เดียว มิได้หมายถึงแต่เพียงอิริยาบถนอนอย่างเดียว แต่หมายถึงอิริยาบถอีก ๓ อิริยาบถด้วย คือ
ยืนผู้เดียว เดินผู้เดียว นั่งผู้เดียว ซึ่งจัดเป็นกายวิเวก (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๕๗/๓๖๐)
๒ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่อุบาสกจะพึงหมั่นประพฤติ ในส่วนเบื้องต้น คือ ศีล ๕ ที่จะต้องรักษาประจำ
ศีล ๘ ที่พึงรักษาในวันอุโบสถ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และศีล ๑๐ (ถ้าสามารถ) และเจริญสมาธิปัญญา
ตามความเหมาะสมแก่ศีลที่รักษานั้น ๆ (ขุ.อุ.อ.๔๖/๓๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๖. โสณสูตร
ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว อย่างที่พระมหากัจจานะแสดงธรรมไว้
มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิต ขอพระคุณเจ้ามหากัจจานะโปรดให้กระผมบวชด้วยเถิด ขอรับ”
ท่านพระมหากัจจานะได้กล่าวกับเขาดังนี้ว่า “โสณะ การประพฤติพรหมจรรย์
ซึ่งต้องบริโภคอาหารมื้อเดียว นอนผู้เดียวจนตลอดชีพ ทำได้ยาก แต่เอาเถอะ
โสณะ ท่านเป็นคฤหัสถ์ยู่ที่บ้านนั่นแหละ จงหมั่นประพฤติตามคำสั่งสอนของ
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นพรหมจรรย์ที่ต้องบริโภคอาหารมื้อเดียว นอนผู้เดียว
ตามเวลาที่เหมาะสมเถิด” ครั้งนั้น ความคิดที่น้อมไปเพื่อบรรพชาของอุบาสกโสณะ
กุฏิกัณณะ ระงับไป
แม้ครั้งที่ ๓ อุบาสกโสณะ กุฏิกัณณะหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า “การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว อย่างที่พระมหากัจจานะแสดงธรรมไว้ มิใช่กระทำได้ง่าย ทางที่ดี
เราควรปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”
แล้วเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควรได้กล่าวกับท่าน
พระมหากัจจานะดังนี้ว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว อย่างที่พระมหากัจจานะแสดงธรรมไว้ มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี
เราควรปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ขอพระคุณเจ้ามหากัจจานะโปรดให้กระผมบวชด้วยเถิด ขอรับ”
ลำดับนั้น ท่านพระมหากัจจานะจึงให้อุบาสกโสณะ กุฏิกัณณะบวช ก็สมัยนั้น
อวันตีทักขิณาบถมีภิกษุน้อย คราวนั้น ท่านพระมหากัจจานะจัดหาภิกษุสงฆ์จาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๖. โสณสูตร
ที่นั้น ๆ ให้ครบองค์ประชุมคือ ๑๐ รูปได้ยากลำบาก เวลาล่วงไปถึง ๓ ปี๑ จึงให้
ท่านโสณะอุปสมบทได้
สมัยนั้น ท่านพระโสณะออกพรรษาแล้ว หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิด
คำนึงอย่างนี้ว่า “เราไม่เคยเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเฉพาะพระพักตร์เลย
เพียงแต่ได้ยินว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงมีพระลักษณะเช่นนี้และเช่นนี้’
ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต เราจะไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้น”
ครั้งนั้นในเวลาเย็น ท่านพระโสณะออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปหาท่านพระมหา-
กัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า
เราไม่เคยเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเฉพาะพระพักตร์เลย เพียงแต่ได้ยินว่า
‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงมีพระลักษณะเช่นนี้และเช่นนี้’ ถ้าพระอุปัชฌาย์
อนุญาต กระผมจะไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า “ดีละ ดีละ โสณะ ท่านจงไปเข้าเฝ้าพระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเถิด ท่านจะเห็นพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นผู้น่าเลื่อมใส ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส๒ มีพระอินทรีย์สงบ
มีพระทัยสงบ ทรงบรรลุทมถะและสมถะ๓สูงสุด ทรงฝึกฝนแล้ว คุ้มครองแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงเวลาผ่านไป ๓ พรรษา นับจากวันที่บรรพชาเป็นสามเณร (วิ.อ. ๓/๒๕๗/๑๗๐)
๒ น่าเลื่อมใส หมายถึงมีพระรูปกายถึงพร้อมด้วยพระรัศมีแห่งพระสรีระ เพราะประดับด้วยมหาปุริส-
ลักษณะ ๓๒ ประการ อนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ และพระเกตุมาลามีพระรัศมีแผ่ออกข้างละวา เป็น
ที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส หมายถึงทรงถึงพร้อมด้วยกองธรรม เช่น พลญาณ ๑๐ เวสารัชชญาณ ๔
อสาธารณญาณ ๖ และพุทธธรรมเฉพาะอย่าง ๑๘ ประการ (ดู ที.ปา.อ. ๓/๓๐๕/๑๘๘-๑๘๙) (ขุ.อ.อ.
๑๐/๙๐, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๕๗/๓๖๓)
๓ ทมถะ หมายถึงปัญญาบ้าง ความสงบกายบ้าง สมถะ หมายถึงสมาธิบ้าง ความสงบจิตบ้าง (วิ.อ.
๓/๒๕๗/๑๗๐) อีกนัยหนึ่ง ทมถะ หมายถึงโลกุตตรปัญญาวิมุตติ สมถะ หมายถึงโลกุตตรเจโตวิมุตติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๖. โสณสูตร
ทรงสำรวมอินทรีย์ ทรงเป็นผู้ประเสริฐ ท่านครั้นเห็นแล้วจงถวายอภิวาทพระ-
ยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า จงทูลถามถึงสุขภาพ ความมี
โรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ ตามคำ
ของเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระมหากัจจานะ พระอุปัชฌาย์ของข้า
พระองค์ ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า กราบทูล
ถามถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์
อยู่สำราญ”
ท่านพระโสณะรับคำของท่านพระมหากัจจานะแล้ว ชื่นชม ยินดีคำที่ท่าน
พระมหากัจจานะกล่าวแล้ว ลุกจากอาสนะ ไหว้ท่านพระมหากัจจานะ ทำประทักษิณแล้ว
จึงเก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวร จาริกไปทางกรุงสาวัตถี เที่ยวจาริกไปโดยลำดับ
จนถึงพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี แล้วเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระมหากัจจานะพระอุปัชฌาย์
ของข้าพระองค์ ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
กราบทูลถามถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัย
สมบูรณ์ อยู่สำราญ”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ
เธอเดินทางมาโดยไม่ลำบากหรือ บิณฑบาตไม่ลำบากหรือ”
ท่านพระโสณะทูลตอบว่า “สบายดี พระพุทธเจ้าข้า พอเป็นอยู่ได้
พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เดินทางมาโดยไม่ลำบาก ทั้งบิณฑบาตก็ไม่ลำบาก
พระพุทธเจ้าข้า”
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
เธอจงจัดเสนาสนะต้อนรับภิกษุอาคันตุกะรูปนี้” ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิด
ดังนี้ว่า “การที่พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ‘อานนท์ เธอจงจัดเสนาสนะต้อนรับภิกษุ
อาคันตุกะรูปนี้’ สำหรับภิกษุรูปใด มีนัยให้รู้ว่าพระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์จะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๖. โสณสูตร
ประทับอยู่ในพระวิหารหลังเดียวกับภิกษุรูปนั้น พระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์
จะประทับอยู่ในพระวิหารหลังเดียวกับท่านพระโสณะ” จึงจัดเสนาสนะต้อนรับท่าน
พระโสณะในพระวิหารอันเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในที่แจ้งจนดึก จึงทรงล้างพระบาทแล้ว
เสด็จเข้าพระวิหาร ฝ่ายท่านพระโสณะก็อยู่ในที่แจ้งจนดึก จึงล้างเท้าแล้วเข้าพระ-
วิหาร พอถึงเวลาใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคทรงลุกขึ้นแล้ว ทรงเชื้อเชิญท่านพระ
โสณะว่า “ภิกษุ เธอจงกล่าวธรรมตามถนัดเถิด๑”
ท่านพระโสณะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ได้สวดพระสูตรทั้งหมด ๑๖ สูตร
ในอัฏฐกวรรค๒ โดยทำนองสรภัญญะ
เมื่อท่านพระโสณะสวดทำนองสรภัญญะจบแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงชื่นชม
อย่างยิ่ง จึงได้ประทานสาธุการว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ เธอเล่าเรียนสูตร ๑๖ สูตรใน
อัฏฐกวรรคมาดีแล้ว จำได้แม่นยำดี เปล่งเสียงสวดได้ไพเราะเพราะพริ้ง ไม่มีที่น่า
ตำหนิ บอกความหมายได้ชัดเจน เธอมีพรรษาเท่าไร”
ท่านพระโสณะทูลตอบว่า “ข้าพระองค์บวชได้ ๑ พรรษา พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เพราะเหตุไร เธอจึงช้าอยู่เล่า”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ข้าพระองค์เห็นโทษในกามทั้งหลายนานแล้ว
แต่ผู้อยู่ครองเรือนวุ่นวาย มีกิจมาก มีธุระมาก พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงจงกล่าวธรรมตามที่ได้ฟัง ตามที่เล่าเรียนมา (ขุ.อุ.อ.๔๖/๓๓๔)
๒ ดู สุตตนิบาต ข้อ ๗๗๓-๙๘๒ หน้า ๖๘๗-๗๓๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๗. กังขาเรวตสูตร
พุทธอุทาน
อารยชนเห็นโทษในโลก๑
รู้ธรรมที่ไม่มีอุปธิ๒ จึงไม่ยินดีในบาป
เพราะคนบริสุทธิ์ย่อมไม่ยินดีในบาป๓
โสณสูตรที่ ๖ จบ

๗. กังขาเรวตสูตร
ว่าด้วยพระกังขาเรวตเถระ
[๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระกังขาเรวตะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
พิจารณากังขาวิตรณวิสุทธิ๔ของตนอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระกังขาเรวตะผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรงพิจารณากังขาวิตรณวิสุทธิของตนอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ โลก ในที่นี้หมายถึง สังขารโลก (ขุ.อุ.อ. ๔๖/๓๓๕)
๒ ธรรมที่ไม่มีอุปธิ หมายถึงนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๔๖/๓๓๖)
๓ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๕๘/๓๗
๔ กังขาวิตรณวิสุทธิ หมายถึงความบริสุทธิ์เพราะข้ามพ้นความสงสัยทั้งหมด (ขุ.อุ.อ. ๔๗/๓๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๘. สังฆเภทสูตร
พุทธอุทาน
ความสงสัยเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีในอัตภาพนี้หรือในอัตภาพอื่น
ที่มีในความรู้ของตนหรือในความรู้ของผู้อื่น
บุคคลผู้เพ่งพินิจ มีความเพียร ประพฤติพรหมจรรย์อยู่
ย่อมละความสงสัยเหล่านั้นทั้งหมดได้๑]
กังขาเรวตสูตรที่ ๗ จบ

๘. สังฆเภทสูตร
ว่าด้วยการทำสงฆ์ให้แตกกัน
[๔๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ในเวลาเช้า วันอุโบสถ ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก
ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์
พระเทวทัตพบท่านพระอานนท์กำลังเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ จึงเข้าไป
หาแล้วกล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะ
ทำอุโบสถ จะทำสังฆกรรมแยกจากพระผู้มีพระภาค แยกจากภิกษุสงฆ์”
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์แล้ว กลับจาก
บิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ในเวลาเช้า ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก

เชิงอรรถ :
๑ อภิ.ก.๓๗/๓๒๑/๑๖๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๙. สธายมานสูตร
ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ พระเทวทัตพบข้าพระองค์กำลัง
เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ จึงเข้าไปหาแล้วกล่าวกับข้าพระองค์ดังนี้ว่า ‘ท่าน
อานนท์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะทำอุโบสถ จะทำสังฆกรรมแยกจากพระผู้มี
พระภาค แยกจากภิกษุสงฆ์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ พระเทวทัตจะทำลายสงฆ์
จะทำอุโบสถ จะทำสังฆกรรม พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
กรรมดี คนดีทำได้ง่าย
กรรมดี คนชั่วทำได้ยาก
กรรมชั่ว คนชั่วทำได้ง่าย
กรรมชั่ว พระอริยะทั้งหลายทำได้ยาก๑]
สังฆเภทสูตรที่ ๘ จบ

๙. สธายมานสูตร
ว่าด้วยเด็กหนุ่มกล่าวถากถางผู้อื่น
[๔๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ สมัยนั้น เด็กหนุ่มจำนวนมากเดินคุยถากถางผู้อื่นในที่ไม่ไกลจากพระผู้มี
พระภาค

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๔๓/๒๐๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๑๐. จูฬปันถกสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กหนุ่มเหล่านั้นเดินคุยถากถางผู้อื่นอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
คนฟั่นเฟือน ยกตนว่าเป็นบัณฑิต
เอาแต่พูด ยื่นปากพูดตามที่ตัวปรารถนา
แต่ไม่ยอมรับรู้เรื่องที่ทะเลาะกันอย่างไร้ยางอาย๑
สธายมานสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. จูฬปันถกสูตร
ว่าด้วยพระจูฬปันถกเถระ
[๕๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระจูฬปันถกนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระจูฬปันถกผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรงดำรงสติไว้เฉพาะหน้าอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ ม.อุ.๑๔/๒๓๗/๒๐๓, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๑/๓๐๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พุทธอุทาน
ภิกษุมีกายที่ตั้งมั่น มีจิตที่ตั้งมั่น
กำลังยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม ก็ดำรงสตินี้ไว้มั่น
เธอพึงได้คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย
ครั้นได้คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแล้ว
พึงถึงสถานที่ที่มัจจุราชมองไม่เห็น
จูฬปันถกสูตรที่ ๑๐ จบ
โสณเถรวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปิยตรสูตร ๒. อัปปายุกสูตร
๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร ๔. กุมารกสูตร
๕. อุโปสถสูตร ๖. โสณสูตร
๗. กังขาเรวตสูตร ๘. สังฆเภทสูตร
๙. สธายมานสูตร ๑๐. จูฬปันถกสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๑. อายุสังขาโรสสัชชนสูตร
๖. ชัจจันธวรรค
หมวดว่าด้วยผู้บอดโดยกำเนิด
๑. อายุสังขาโรสสัชชนสูตร๑
ว่าด้วยการปลงพระชนมายุสังขาร
[๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุง
เวสาลี ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวร เสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เสด็จกลับจากบิณฑบาตหลังจากเสวย
พระกระยาหารเสร็จแล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจงถือ
นิสีทนะ๒ เราจะเข้าไปพักกลางวันที่ปาวาลเจดีย์” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระ-
ดำรัสแล้ว ถือนิสีทนะตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปข้างพระปฤษฎางค์
ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่
ปูลาดไว้ ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทน-
เจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์น่ารื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์
น่ารื่นรมย์ สารันทเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์
อิทธิบาท ๔ ผู้ใดเจริญทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว
ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป
หรือเกินกว่า ๑ กัป
อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็น
ที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้
๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๖๖-๑๖๙/๑๑๒-๑๑๖ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๘๒๒/๓๘๕-๓๘๖, องฺ.อฏฺฐก. (แปล)
๒๓/๗๐/๓๗๒, อภิ.ก. ๓๗/๖๒๔/๓๗๙
๒ นิสีทนะ หมายถึงที่รองนั่งที่ทำด้วยแผ่นหนังสัตว์ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๗๐/๓๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๑. อายุสังขาโรสสัชชนสูตร
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทรงทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้
ท่านพระอานนท์ก็ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่กราบทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคต
โปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัปเพื่อเกื้อแก่คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก
เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า” ทั้งนี้ เป็นเพราะท่านถูกมารดลใจ
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์
น่ารื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์น่ารื่นรมย์ สารันทเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์
อิทธิบาท ๔ ผู้ใดเจริญทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่
ตั้งแล้ว สั่งสมดีแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกิน
กว่า ๑ กัป
อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็น
ที่ตั้งแล้ว สั่งสมดีแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป
หรือเกินกว่า ๑ กัป”
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทรงทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้
ท่านพระอานนท์ก็ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่กราบทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคต
โปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก
เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า” ทั้งนี้ เป็นเพราะท่านถูกมารดลใจ
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
ไปเถิด เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาค ทำประทักษิณแล้วนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่งซึ่งไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
ครั้นเมื่อท่านพระอานนท์จากไปไม่นาน มารผู้มีบาปได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๑. อายุสังขาโรสสัชชนสูตร
ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด
เวลานี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า
‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่เหล่าภิกษุผู้เป็นสาวกของเรายังไม่
เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจาก
โยคะ ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบยิ่ง
ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วแต่ก็ยังบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท
ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลานี้ เหล่าภิกษุผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจาก
โยคะ เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติ
ตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานเถิด ขอพระสุคต
โปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่เหล่าภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม
ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบยิ่ง ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับ
อาจารย์ของตนแล้วแต่ก็ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรม
ไม่ได้’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลานี้ เหล่าภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้
เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติตามธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๑. อายุสังขาโรสสัชชนสูตร
เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายได้
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่เหล่าอุบาสกผู้เป็นสาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่
แกล้วกล้า ไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม
ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบยิ่ง ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับ
อาจารย์ของตนแล้วแต่ก็ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลานี้ เหล่าอุบาสกผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติ
ตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดย
ชอบธรรมได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานเถิด
ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่เหล่าอุบาสิกาผู้เป็นสาวิกาของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม
ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบยิ่ง ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับ
อาจารย์ของตนแล้วแต่ก็ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๑. อายุสังขาโรสสัชชนสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลานี้ เหล่าอุบาสิกาผู้เป็นสาวิกาของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจาก
โยคะ เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติ
ตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อย
โดยชอบธรรมได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานเถิด
ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้ เป็นเวลาปรินิพพานพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่พรหมจรรย์๑นี้ของเรายังไม่เจริญ แพร่หลาย กว้างขวาง รู้กันโดยมาก
เป็นปึกแผ่น กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว๒’ ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ เวลานี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคเจริญแพร่หลาย กว้างขวาง รู้กันโดยมาก
เป็นปึกแผ่น กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้
เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค”
เมื่อมารกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีภาคได้ตรัสตอบว่า “มารผู้มีบาป
ท่านจงขวนขวายน้อยเถิด ไม่นานนัก ตถาคตจะปรินิพพาน จากนี้ไปอีก ๓ เดือน
ตถาคตจะปรินิพพาน”
เวลานั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงปลงพระชนมายุสังขาร๓
ณ ปาวาลเจดีย์ ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงปลงพระชนมายุสังขารแล้ว ได้เกิดแผ่นดิน
ไหวครั้งใหญ่ น่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ก็ดังกึกก้อง

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงศาสนพรหมจรรย์คือคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้นที่รวมลงในไตรสิกขา
ได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญา (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๗๐/๒๗๖, ขุ.อุ.อ.๕๑/๓๕๐) ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๘ ประกอบ
๒ คำว่า “กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว” นี้แปลตามนัย ที.ม.อ. ๒/๑๖๘/๑๕๘, ขุ.อุ.อ.
๕๑/๓๕๐
๓ ปลงพระชนมายุสังขาร หมายถึงตกลงพระทัยที่จะทรงสละอายุสังขาร (ขุ.อุ.อ. ๕๑/๓๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๒. สัตตชฏิลสูตร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคนั้นทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
มุนีละกรรมทั้งที่ชั่งได้ และชั่งไม่ได้
อันเป็นเหตุก่อกำเนิดเป็นเครื่องปรุงแต่งภพได้แล้ว
ยินดีในภายใน มีใจมั่นคง
ทำลายกิเลสที่เกิดในตนได้
เหมือนนักรบทำลายเกราะได้ ฉะนั้น
อายุสังขาโรสสัชชนสูตรที่ ๑ จบ

๒. สัตตชฏิลสูตร๑
ว่าด้วยนักบวชพวกละ ๗ คน
[๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทในปุพพารามของนาง
วิสาขามิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออก
จากที่หลีกเร้น ประทับนั่งอยู่ที่ซุ้มประตูภายนอก ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล
เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร
สมัยนั้น ชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน
และปริพาชก ๗ คนผู้มีขนรักแร้ เล็บ และขนยาว ถือเครื่องบริขารต่าง ๆ เดินผ่านไป
ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๒๒/๑๔๑-๑๔๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๒. สัตตชฏิลสูตร
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทอดพระเนตรเห็นชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก
๗ คน เอกสาฎก ๗ คน และปริพาชก ๗ คนผู้มีขนรักแร้ เล็บ และขนยาว
ถือเครื่องบริขารต่าง ๆ เดินผ่านไปไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค จึงเสด็จลุกจากที่
ประทับนั่ง ทรงห่มพระภูษาเฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง ทรงจดพระชานุมณฑลเบื้องขวา
ลงที่พื้นดิน ทรงประคองอัญชลีไปทางนักบวชเหล่านั้น แล้วทรงประกาศพระนาม
๓ ครั้งว่า “ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือพระราชาปเสนทิโกศล ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือ
พระราชาปเสนทิโกศล ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือพระราชาปเสนทิโกศล”
ลำดับนั้น เมื่อนักบวชเหล่านั้นจากไปไม่นาน พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกนักบวชเหล่านั้นคงเป็น
พระอรหันต์หรือท่านผู้บรรลุอรหัตตมรรคเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นแน่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร พระองค์เป็นคฤหัสถ์ เป็นกามโภคี
ครอบครองเรือนบรรทมเบียดพระโอรสและพระชายา ใช้สอยพระภูษาและเครื่อง
สำอางจากแคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ทรงยินดีเงินและทอง
ยากที่จะทรงรู้ได้ว่า ‘คนพวกนี้เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรค’
มหาบพิตร ศีล พึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน
ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้
ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
มหาบพิตร ความสะอาด๑ พึงรู้ได้ด้วยการเจรจา๒ และความสะอาดนั้นแล
พึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่
ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่

เชิงอรรถ :
๑ ความสะอาด หมายถึงวาจาสะอาด (ขุ.อุ.อ. ๕๒/๓๕๖)
๒ การเจรจา แปลจากบาลีว่า “สํโวหาเรน” ซึ่งมีความหมายหลายนัยดังนี้ คือ (๑) หมายถึงพาณิชกรรม
(การค้าขาย) (ดู สุตตนิบาต ข้อ ๖๒๐ หน้า ๖๔๘) (๒) หมายถึงเจตนา (ดู ที.ปา. ๑๑/๓๑๓/๒๐๖) หมายถึง
บัญญัติ (ดู อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๓๑๓/๓๓๐) หมายถึงการเจรจา (ดู สํ.ส. (แปล) ๑๕/๒๕/๒๙) ในที่นี้หมายถึง
การเจรจา (ขุ.อุ.อ. ๕๒/๓๕๖, สํ.ส.อ. ๑/๑๒๒/๑๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๒. สัตตชฏิลสูตร
มหาบพิตร กำลัง๑ พึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย และกำลังนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้
เวลานาน ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มี
ปัญญาจึงรู้ได้ ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
มหาบพิตร ปัญญา พึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้
เวลานาน ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มี
ปัญญาจึงรู้ได้ ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ดียิ่งนักว่า มหาบพิตร พระองค์เป็น
คฤหัสถ์ เป็นกามโภคี ครอบครองเรือนบรรทมเบียดพระโอรสและพระมเหสี ทรงใช้
สอยพระภูษาและเครื่องสำอางจากแคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้
ทรงยินดีเงินและทอง ยากที่จะทรงรู้ได้ว่า ‘คนพวกนี้เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้
บรรลุอรหัตตมรรค’
มหาบพิตร ศีล พึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน
ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้
ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
มหาบพิตร ความสะอาด พึงรู้ได้ด้วยเจรจา และความสะอาดนั้นแลพึงรู้ได้โดย
ใช้เวลานาน ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่
ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
มหาบพิตร กำลัง พึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย และกำลังนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้
เวลานาน ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มี
ปัญญาจึงรู้ได้ ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่

เชิงอรรถ :
๑ กำลัง ในที่นี้หมายถึงกำลังคือญาณ ผู้ที่ไม่มีกำลังคือญาณ เมื่อมีภัยเกิดขึ้น ก็ไม่เห็นสิ่งที่ควรยึดเหนี่ยว
และสิ่งที่จะต้องทำ ได้แต่หนีภัยไปอย่างเดียว (ขุ.อุ.อ.๕๒/๓๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๒. สัตตชฏิลสูตร
มหาบพิตร ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน
ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้
ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นักบวชเหล่านั้น เป็นคนของข้าพระองค์ เป็นบุรุษสอดแนม
เป็นสายลับเที่ยวสอดแนมไปยังชนบทแล้วพากันกลับมา ข้าพระองค์จะรู้เรื่องราว
หลังจากที่คนเหล่านั้นสืบมา บัดนี้ คนเหล่านั้นคงจะชำระล้างละอองธุลีนั้นแล้ว
อาบสะอาดดี ลูบไล้ผิวดีแล้ว ตัดผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้าขาว เอิบอิ่ม เพียบพร้อม
ด้วยกามคุณ ๕ บำเรออินทรีย์ทั้งหลายอยู่”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
บรรพชิตไม่พึงพยายามในบาปกรรมทั้งปวง
ไม่พึงเป็นคนของผู้อื่น
ไม่พึงอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่
และไม่พึงใช้ธรรมเป็นเครื่องค้าขาย๑
สัตตชฏิลสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ความหมายของพุทธอุทานนี้ คือ บรรพชิตไม่พึงพยายามทำตนดุจราชบุรุษ เช่น รับทำงานเดินข่าว เป็น
บุรุษสอดแนม เป็นต้น ไม่พึงเป็นเสวก(ข้าราชการในราชสำนัก)ด้วยรูปแบบของบรรพชิต ไม่พึงมีผู้อื่นเป็น
ที่พึ่ง แต่พึงมีตนเป็นที่พึ่งของตน และไม่พึงแสดงธรรมเพราะต้องการทรัพย์ (ขุ.อุ.อ. ๕๒/๓๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๓. ปัจจเวกขณสูตร
๓. ปัจจเวกขณสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาอกุศลธรรมและกุศลธรรม
[๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งพิจารณาบาป
อุกศลธรรมจำนวนมากที่พระองค์ทรงละได้ขาดแล้ว และกุศลธรรมจำนวนมากที่
พระองค์ให้ถึงความเจริญบริบูรณ์แล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบบาปอกุศลธรรมจำนวนมากที่พระองค์
ทรงละได้ขาดแล้ว และกุศลธรรมจำนวนมากที่พระองค์ให้ถึงความเจริญบริบูรณ์แล้ว
จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ในกาลก่อน หมู่กิเลสได้มีแล้ว
แต่ในกาลนั้น หมู่กิเลสไม่มี
ในกาลก่อน ธรรมอันปราศจากโทษไม่มี
แต่ในกาลนั้น ธรรมอันปราศจากโทษได้มีแล้ว
ในอดีต อริยมรรคไม่มี ในอนาคตก็จักไม่มี และในปัจจุบันก็ไม่มี๑
ปัจจเวกขณสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ความหมายของพุทธอุทานนี้ คือ ก่อนการบรรลุอรหัตตมัคคญาณยังมีกิเลส เช่น ราคะ เป็นต้นเหลืออยู่
และธรรมที่ปราศจากโทษก็ยังไม่เจริญบริบูรณ์ แต่เมื่อบรรลุอรหัตตมัคคญาณแล้ว กิเลสทั้งหลายก็ถูกละ
ได้สิ้นเชิง ธรรมที่ปราศจากโทษก็เจริญบริบูรณ์
อนึ่ง ในอดีตก่อนตรัสรู้ อริยมรรคที่เป็นเหตุละกิเลสยังไม่เกิดแก่พระองค์ แม้ในปัจจุบันและอนาคต
อริยมรรคนั้นก็ไม่เกิดแก่พระองค์เช่นกัน เพราะไม่มีกิเลสที่จะต้องใช้อริยมรรคนั้นเป็นเครื่องละอีกต่อไป (ขุ.อุ.อ.
๕๓/๓๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๔. ปฐมนานาติตถิยสูตร
๔. ปฐมนานาติตถิยสูตร
ว่าด้วยลัทธิแตกต่างกัน สูตรที่ ๑
[๕๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น สมณพราหมณ์และปริพาชกจำนวนมาก
ผู้มีลัทธิแตกต่างกัน มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความชอบใจ
แตกต่างกัน ยึดถือทิฏฐิแตกต่างกัน อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี คือ
๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “โลก๑เที่ยง
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “โลกไม่เที่ยง
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “โลกมี
ที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “โลกไม่มี
ที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “ชีวะ๒
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “ชีวะกับ
สรีระเป็นคนละอย่างกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๗. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคต๓เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”

เชิงอรรถ :
๑ โลก ในที่นี้หมายถึงอัตตา (ขุ.อุ.อ.๕๔/๓๖๓)
๒ ชีวะ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณอมตะ หรืออาตมัน (Soul) (อภิ.ปญฺจ.อ.๑/๑/๑๒๙)
๓ ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา(อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า
อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงสัตตะ (ที.สี.อ. ๑/๖๕/๑๐๘, ขุ.อุ.อ. ๕๔/๓๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๔. ปฐมนานาติตถิยสูตร
๘. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๙. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก และไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๑๐. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่า
นั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือ
ปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า “อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้
ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
ครั้งนั้นแล ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส สมณพราหมณ์
และปริพาชกจำนวนมากผู้มีลัทธิแตกต่างกัน มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความพอใจแตก
ต่างกัน มีความชอบใจแตกต่างกัน ยึดถือทิฏฐิแตกต่างกัน อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี คือ
๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกเที่ยง
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลก
ไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกมี
ที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกไม่มี
ที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๔. ปฐมนานาติตถิยสูตร
๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ชีวะกับ
สรีระเป็นอย่างเดียวกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ชีวะกับ
สรีระเป็นคนละอย่างกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๗. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๘. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๙. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก และไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๑๐. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่า
นั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือ
ปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า ‘อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้
ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นคนบอด
ไม่มีจักษุ๑ จึงไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม
เมื่อไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม ก็เกิดการ
บาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า ‘อย่างนี้เป็นธรรม
อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้ ธรรมต้องเป็นอย่างนี้’

เชิงอรรถ :
๑ จักษุ ในที่นี้หมายถึงปัญญา (ขุ.อุ.อ.๕๔/๓๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๔. ปฐมนานาติตถิยสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ในกรุงสาวัตถีนี้เอง มีพระราชาพระองค์หนึ่ง
รับสั่งเรียกบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘พ่อหนุ่ม เจ้าจงไป จงบอกให้คนตาบอดทั้งหมด
ในกรุงสาวัตถีมาประชุมร่วมกัน’ บุรุษนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พาคนตาบอด
ทั้งหมดในกรุงสาวัตถีเข้าไปเฝ้าพระราชาถึงที่ประทับ ได้กราบทูลพระราชาดังนี้ว่า
‘ขอเดชะ คนตาบอดทั้งหลายในกรุงสาวัตถีมาประชุมกันแล้ว พระเจ้าข้า’ พระราชา
ตรัสว่า ‘พ่อหนุ่ม ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงแสดงช้าง๑แก่คนตาบอดทั้งหลายเถิด’ บุรุษนั้น
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจึงแสดงช้างแก่คนตาบอดทั้งหลาย คือ แสดงหัวช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงหูช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงงาช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงงวงช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงตัวช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงเท้าช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้‘แสดงระหว่างขาอ่อนช้าง
แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงหางช้าง
แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงขนหางช้าง
แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ ภิกษุทั้งหลาย
บุรุษนั้นครั้นแสดงช้างแก่คนตาบอดทั้งหลายแล้ว ได้เข้าเฝ้าพระราชาพระองค์นั้น
ถึงที่ประทับแล้วกราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ คนตาบอดทั้งหลายเห็นช้างแล้ว๒
พระเจ้าข้า ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’
ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พระราชาพระองค์นั้นได้เสด็จไปหาคนตาบอดเหล่านั้น
ได้ตรัสกับคนตาบอดทั้งหลายดังนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย พวกท่านเห็นช้างแล้วหรือ’

เชิงอรรถ :
๑ แสดงช้าง หมายถึงนำช้างมาแล้วให้ช้างนอนลงโดยให้คนตาบอดคลำดูแต่ละส่วน (ขุ.อุ.อ. ๕๔/๓๖๗)
๒ เห็นช้าง ในที่นี้หมายถึงคนตาบอดใช้มือจับต้อง ลูบคลำช้าง เหมือนเห็นด้วยตา (ขุ.อุ.อ. ๕๔/๓๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๔. ปฐมนานาติตถิยสูตร
คนตาบอดเหล่านั้นกราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ข้าพระองค์ทั้งหลายเห็นแล้ว พระเจ้าข้า’
พระราชาตรัสว่า ‘ท่านทั้งหลาย พวกท่านกล่าวว่า ‘ข้าพระองค์ทั้งหลาย
เห็นช้างแล้ว ช้างเป็นอย่างไร’
คนตาบอดพวกที่คลำหัวช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่างเหมือนหม้อ
พระเจ้าข้า’
คนตาบอดพวกที่คลำหูช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่างเหมือนกระด้ง
พระเจ้าข้า’
คนตาบอดพวกที่คลำงาช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่างเหมือนตอไม้
พระเจ้าข้า’
คนตาบอดพวกที่คลำงวงช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่างเหมือนงอนไถ
พระเจ้าข้า’
คนตาบอดพวกที่คลำตัวช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่างเหมือนยุ้งข้าว
พระเจ้าข้า’
คนตาบอดพวกที่คลำเท้าช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่างเหมือนเสา
พระเจ้าข้า’
คนตาบอดพวกที่คลำระหว่างขาอ่อนช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่าง
เหมือนครก พระเจ้าข้า’
คนตาบอดพวกที่คลำหางช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่างเหมือนสากตำข้าว
พระเจ้าข้า’
คนตาบอดพวกที่คลำขนหางช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่างเหมือนไม้กวาด
พระเจ้าข้า’
ภิกษุทั้งหลาย คนตาบอดเหล่านั้นต่างกำหมัดทุ่มเถียงกันว่า ‘อย่างนี้คือช้าง
อย่างนี้มิใช่ช้าง ช้างต้องไม่เป็นอย่างนี้ ช้างต้องเป็นอย่างนี้’ ภิกษุทั้งหลาย พระราชา
พระองค์นั้นจึงทรงพอพระทัย ด้วยเหตุนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๕. ทุติยนานาติตถิยสูตร
ภิกษุทั้งหลาย อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นคนบอด ไม่มีจักษุ จึงไม่รู้ประโยชน์
ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม เมื่อไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่
มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม ก็เกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน
ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า ‘อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่
เป็นอย่างนี้ ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ทราบว่า สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
ยึดติดอยู่ในทิฏฐิหรืออุปาทานขันธ์เหล่านี้
จึงกล่าวโต้แย้งวิวาทกัน
เหมือนคนตาบอดที่คลำช้างแต่ละส่วน ฉะนั้น
ปฐมนานาติตถิยสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุติยนานาติตถิยสูตร
ว่าด้วยลัทธิแตกต่างกัน สูตรที่ ๒
[๕๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น สมณพราหมณ์และปริพาชกจำนวนมาก
ผู้มีลัทธิแตกต่างกัน มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความชอบใจ
แตกต่างกัน ยึดถือทิฏฐิแตกต่างกัน อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๕. ทุติยนานาติตถิยสูตร
๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลก๑เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกไม่เที่ยง๒ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกเที่ยงและไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกจะว่าเที่ยงก็มิใช่ จะว่าไม่เที่ยงก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่าง
อื่นไม่จริง”
๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลก ตนเองเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลก ผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๗. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลก ตนเองเป็นตัวการและผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง”
๘. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกเกิดขึ้นได้เอง ตนเองเป็นตัวการก็มิใช่ ผู้อื่นเป็นตัวการก็มิใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๙. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ยั่งยืน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า อัตตา และ โลก มีนัยดังนี้คือ นัยที่ ๑ ทั้ง อัตตา และ โลก หมายถึงขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ นัยที่ ๒ อัตตา หมายถึงอหังการวัตถุ คือเหตุให้เกิดมานะว่าเป็นเรา โลก หมายถึง
มมังการวัตถุ คือเหตุให้เกิดตัณหาว่าเป็นของเรา นัยที่ ๓ อัตตา หมายถึงตนเอง โลก หมายถึงผู้อื่น
นัยที่ ๔ อัตตา หมายถึงขันธ์ใดขันธ์หนึ่งในอุปาทานขันธ์ ๕ โลก หมายถึงสิ่งนอกจากขันธ์ ๕ นัยที่ ๕
อัตตา หมายถึงขันธสันดานที่มีวิญญาณ โลก หมายถึงขันธสันดานที่ไม่มีวิญญาณ คำว่า “อัตตาและ
โลกเที่ยง” นี้ ทรงมุ่งแสดงสัสสตวาทะ ๔ ประการ (ขุ.อุ.อ. ๕๕/๓๖๙)
๒ คำว่า “อัตตาและโลกไม่เที่ยง” นี้ ทรงมุ่งแสดงอุจเฉทวาทะ ๗ ประการ (ขุ.อุ.อ. ๕๕/๓๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๕. ทุติยนานาติตถิยสูตร
๑๐. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ไม่ยั่งยืน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๑๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ยั่งยืนก็ใช่ ไม่ยั่งยืนก็ใช่ นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง”
๑๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ จะว่ายั่งยืนก็มิใช่ จะว่าไม่ยั่งยืนก็มิใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๑๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ตนเองเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง”
๑๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตาและ
โลกมีทั้งสุขและทุกข์ ผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๑๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ตนเองเป็นตัวการและผู้อื่นเป็นตัวการ
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๑๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ เกิดขึ้นได้เอง ตนเองเป็นตัวการก็มิใช่
ผู้อื่นเป็นตัวการก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือ
ปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า “อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้
ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
ครั้งนั้นแล ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้า
ไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส สมณพราหมณ์
และปริพาชกจำนวนมากผู้มีลัทธิแตกต่างกัน มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน
มีความ ชอบใจแตกต่างกัน ยึดถือทิฏฐิแตกต่างกัน อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๕. ทุติยนานาติตถิยสูตร
๑. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและ
โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
ฯลฯ
๑๖. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ฯลฯ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือ
ปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า ‘อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้
ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นคนบอด
ไม่มีจักษุ จึงไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม
เมื่อไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม ก็เกิดการ
บาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า ‘อย่างนี้เป็นธรรม
อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้ ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ทราบว่า สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
ยึดติดอยู่ในทิฏฐิหรืออุปาทานขันธ์เหล่านี้
จึงไม่บรรลุนิพพานหรืออริยมรรค
มัวจมอยู่ในระหว่างทางนั่นเอง๑
ทุติยนานาติตถิยสูตร ที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ จมอยู่ระหว่างทาง หมายถึงจมอยู่ในโอฆะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.อุ.อ. ๕๕/๓๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๖. ตติยนานาติตถิยสูตร
๖. ตติยนานาติตถิยสูตร
ว่าด้วยลัทธิแตกต่างกัน สูตรที่ ๓
[๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น สมณพราหมณ์และปริพาชกจำนวนมาก
ผู้มีลัทธิแตกต่างกัน มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความชอบใจ
แตกต่างกัน ยึดถือทิฏฐิแตกต่างกัน อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี คือ
๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกเที่ยงและไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกจะว่าเที่ยงก็มิใช่ จะว่าไม่เที่ยงก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่าง
อื่นไม่จริง”
๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลก ตนเองเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลก ผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๗. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลก ตนเองเป็นตัวการและผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง”
๘. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกเกิดขึ้นได้เอง ตนเองเป็นตัวการก็มิใช่ ผู้อื่นเป็นตัวการก็มิใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๖. ตติยนานาติตถิยสูตร
๙. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ยั่งยืน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๑๐. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ไม่ยั่งยืน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๑๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ยั่งยืนก็ใช่ ไม่ยั่งยืนก็ใช่ นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง”
๑๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกจะว่ายั่งยืนก็มิใช่ จะว่าไม่ยั่งยืนก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง”
๑๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ตนเองเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง”
๑๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง”
๑๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ตนเองเป็นตัวการ และผู้อื่นเป็นตัวการนี้
เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๑๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ เกิดขึ้นได้เอง ตนเองเป็นตัวการก็มิใช่ ผู้อื่น
เป็นตัวการก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือ
ปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า “อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้
ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
ครั้งนั้นแล ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๖. ตติยนานาติตถิยสูตร
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส สมณพราหมณ์และ
ปริพาชกจำนวนมากผู้มีลัทธิแตกต่างกัน มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน
มีความชอบใจแตกต่างกัน ยึดถือทิฏฐิแตกต่างกัน อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี คือ
๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกเที่ยงและไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกจะว่าเที่ยงก็มิใช่ จะว่าไม่เที่ยงก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’
๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลก ตนเองเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลก ผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๗. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลก ตนเองเป็นตัวการ และผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’
๘. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกเกิดขึ้นได้เอง ตนเองเป็นตัวการก็มิใช่ ผู้อื่นเป็นตัวการก็มิใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๙. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ยั่งยืน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๑๐. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ไม่ยั่งยืน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๖. ตติยนานาติตถิยสูตร
๑๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ยั่งยืนก็ใช่ ไม่ยั่งยืนก็ใช่ นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’
๑๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ จะว่ายั่งยืนก็มิใช่ จะว่าไม่ยังยืนก็มิใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๑๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ตนเองเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’
๑๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’
๑๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ตนเองเป็นตัวการ และผู้อื่นเป็นตัวการ
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๑๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ เกิดขึ้นได้เอง ตนเองเป็นตัวการก็มิใช่ ผู้อื่น
เป็นตัวการก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือ
ปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า ‘อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้
ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นคนบอด
ไม่มีจักษุ จึงไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม
เมื่อไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม ก็เกิดการ
บาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า ‘อย่างนี้เป็นธรรม
อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้ ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๖. ตติยนานาติตถิยสูตร
พุทธอุทาน
หมู่สัตว์นี้ คือพวกที่ถือทิฏฐิว่า เราเป็นตัวการ๑
พวกที่ถือทิฏฐิว่า ผู้อื่นเป็นตัวการ
และสมณพราหมณ์พวกหนึ่งที่ไม่คล้อยตามทิฏฐิทั้งสองนี้๒
ไม่เห็นทิฏฐินั้นว่า ‘เป็นเหมือนลูกศร’
แต่สำหรับผู้ใช้ปัญญาพิจารณาจนรู้แจ้งว่า
ทิฏฐินั้นเป็นเหมือนลูกศร
ย่อมไม่มีทิฏฐิที่ว่า “เราสร้าง”
ย่อมไม่มีทิฏฐิที่ว่า “ผู้อื่นสร้าง”
หมู่สัตว์นี้มีมานะ ถูกมานะร้อยรัด
ถูกมานะผูกพันไว้ ชอบกล่าวถกเถียงกันในเรื่องทิฏฐิ
จึงไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏไปได้
ตติยนานาติตถิยสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เราเป็นตัวการ แปลจากบาลีว่า ‘อหังการ’ ในที่นี้หมายถึงลัทธิสยังการหรือสยังกตา (ลัทธิสยังการหรือ
สยังกตานี้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ลัทธิอัตตการ) หมายถึงลัทธิที่เชื่อว่าตนเป็นตัวการคือเป็นผู้สร้างอัตตาและ
โลกขึ้นเอง (ขุ.อุ.อ. ๕๖/๓๗๑)
๒ หมายถึงพวกอธิจจสมุปปันนวาท คือลัทธิที่เชื่อว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นได้เอง มิได้อาศัยเหตุอะไร เป็นลัทธิ
ปฏิเสธทั้งลัทธิสยังการ และลัทธิปรังการ(ผู้อื่นเป็นตัวการ) พวกอธิจจสมุปปันนวาทนี้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
อเหตุกวาท (ขุ.อุ.อ. ๕๕/๓๗๐, ๕๖/๓๗๑-๓๗๒) และดู สํ.นิ. ๑๖/๑๗/๑๙, สํ.นิ.อ. ๒/๑๗/๔๐ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๗. สุภูติสูตร
๗. สุภูติสูตร
ว่าด้วยพระสุภูติเถระ
[๕๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสุภูตินั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง เข้าสมาธิ
ที่ไม่มีวิตก๑อยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสุภูติผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
เข้าสมาธิที่ไม่มีวิตกอยู่ในที่ไม่ไกล
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้กำจัดวิตกทั้งหลายได้
กำหนดวิตกทุกอย่างที่เกิดภายในตนได้ด้วยดี
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง๒ได้ เป็นผู้มีอรูปสัญญา๓
ละโยคะ ๔ ประการ๔ ได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว
ไม่ต้องหวนกลับมาเกิดอีกต่อไป
สุภูติสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สมาธิที่ไม่มีวิตก ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผลสมาธิที่มีฌานที่ ๔ เป็นพื้นฐาน (ขุ.อุ.อ. ๕๗/๓๗๓)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๔๙ ในเล่มนี้
๓ เป็นผู้มีอรูปสัญญา หมายถึงยึดเอานิพพานเป็นอารมณ์ (ขุ.อุ.อ. ๕๗/๓๗๔)
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๘. คณิกาสูตร
๘. คณิกาสูตร
ว่าด้วยหญิงโสเภณี
[๕๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีนักเลง ๒ พวกมีจิตปฏิพัทธ์ยินดีใน
หญิงโสเภณีคนหนึ่ง เกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ถึงขั้นชกต่อยกันบ้าง
ใช้ก้อนดินขว้างกันบ้าง ใช้ท่อนไม้ตีกันบ้าง ใช้ศัสตราทำร้ายกันบ้าง นักเลงเหล่านั้น
ถึงแก่ความตายในที่นั้นบ้าง ได้รับทุกข์ปางตายบ้าง
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระ-
ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ในกรุงราชคฤห์
มีนักเลง ๒ พวกมีจิตปฏิพัทธ์ยินดีในหญิงโสเภณีคนหนึ่งเกิดการบาดหมางกัน
ทะเลาะ วิวาทกัน ถึงขั้นชกต่อยกันบ้าง ใช้ก้อนดินขว้างกันบ้าง ใช้ท่อนไม้ตีกันบ้าง
ใช้ศัสตราทำร้ายกันบ้าง นักเลงเหล่านั้นถึงแก่ความตายในที่นั้นบ้าง ได้รับทุกข์
ปางตายบ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว๑ จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว” นี้หมายถึงทรงทราบว่าความกำหนัดติดใจในกามทั้งหลายเป็นมูล
เหตุแห่งความพินาศทั้งหลายทั้งปวง จึงทรงเปล่งอุทานเพื่อแสดงให้เห็นโทษในข้อปฏิบัติที่สุดโต่งทั้ง ๒ ประการ
(คือกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค) และเพื่อแสดงให้เห็นอานิสงส์แห่งข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง
(มัชฌิมาปฏิปทา) (ขุ.อุ.อ. ๕๘/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๘. คณิกาสูตร
พุทธอุทาน
สิ่งที่บุคคลได้รับอยู่และสิ่งที่บุคคลยังหวังที่จะได้รับต่อไป๑
สิ่งทั้งสองนั้นเจือด้วยธุลีคือราคะเป็นต้นแก่ผู้ทุรนทุรายใฝ่ใจอยากได้รับอยู่
สมณพราหมณ์ผู้มีสิกขาอันเป็นสาระ
คือศีล วัตร ชีวิต พรหมจรรย์ และการบำบวงอันเป็นสาระ๒
นี้เป็นส่วนสุดที่ ๑
สมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ว่า
‘โทษในกามไม่มี’ นี้เป็นส่วนสุดที่ ๒
ส่วนสุดทั้งสองนี้ มีแต่จะเพิ่มตัณหาและอวิชชาให้มากขึ้น
ตัณหาและอวิชชาย่อมก่อให้เกิดความเห็นผิดมากขึ้น
สมณพราหมณ์ทั้งหลายไม่รู้ส่วนสุดทั้งสองนั้น
บางพวกก็จมติดอยู่ บางพวกก็แล่นไป๓
ส่วนพระอริยะทั้งหลายได้รู้แจ้งส่วนสุดทั้งสองนั้น
จึงไม่ตกไปในส่วนสุดทั้งสองนั้น
และเพราะละส่วนสุดทั้งสองนั้นได้
จึงไม่สำคัญตนด้วยตัณหา ทิฏฐิ และมานะ
ย่อมไม่มีวัฏฏะปรากฏ๔
คณิกาสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สิ่งที่บุคคลได้รับอยู่ มีความหมาย ๒ นัย คือ (๑) หมายถึงกามคุณ ๕ ประการ ที่บุคคลเสวยด้วยความ
ยึดมั่นว่า โทษในกามคุณ ๕ ไม่มี (กามสุขัลลิกานุโยค) (๒) หมายถึงการทำตนให้เดือดร้อนด้วยการ
ประพฤติวัตรอย่างนักบวชเปลือย(อัตตกิลมถานุโยค) สิ่งที่บุคคลยังหวังที่จะได้รับต่อไป มีความหมาย
๒ นัย เช่นเดียวกัน คือ (๑) หมายถึงกามคุณ ๕ ที่บุคคลมุ่งหวังที่จะได้รับด้วยความเชื่อว่าเมื่อได้รับแล้ว
ถือเป็นบุญอันยิ่งใหญ่(กามสุขัลลิกานุโยค) (๒) หมายถึงผลที่จะพึงได้รับในอบาย เพราะการทำกรรมตาม
ความเห็นผิดเป็นเหตุ(อัตตกิลมถานุโยค) (ขุ.อุ.อ. ๕๘/๓๗๕-๓๗๗)
๒ ในที่นี้ ศีล หมายถึงข้อที่บุคคลงดเว้น ไม่ทำ วัตร หมายถึงการประพฤติอย่างลำบาก ชีวิต หมายถึงการ
ดำเนินชีวิตอย่างฝืดเคือง เช่น การเป็นอยู่ด้วยการบริโภคผักเป็นอาหาร พรหมจรรย์ หมายถึงเมถุนวิรัติ
การบำบวง หมายถึงการบนบานเซ่นสรวงบูชา (ขุ.อุ.อ. ๕๘/๓๗๖)
๓ ข้อความตอนนี้มีความหมาย ๓ นัย คือ นัยที่ ๑ หมายถึงบางพวกจมติดอยู่ในกามสุข(กามสุขัลลิกานุโยค)
บางพวกแล่นไป คือ มุ่งประกอบตนให้ลำบาก(อัตตกิลมถานุโยค) นัยที่ ๒ หมายถึงบางพวกติดอยู่ด้วย
อำนาจตัณหา บางพวกแล่นไปในอำนาจทิฏฐิ นัยที่ ๓ หมายถึงบางพวกติดอยู่ในสัสสตทิฏฐิ บางพวกแล่นไป
ในอำนาจอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. ๕๘/๓๗๘)
๔ วัฏฏะ ในที่นี้หมายถึงกิเลส กรรม วิบาก (ขุ.อุ.อ. ๕๘/๓๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๙. อุปาติธาวันติสูตร
๙. อุปาติธาวันติสูตร
ว่าด้วยแมลงบินเข้าไฟ
[๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ในความมืดมิดแห่งราตรี พระผู้มีพระภาคประทับ
นั่งในที่แจ้ง มีประทีปน้ำมันลุกโพลงอยู่
ขณะนั้น แมลงจำนวนมากตกลงรอบ ๆ ที่ประทีปน้ำมันเหล่านั้นถึงความทุกข์
ความพินาศย่อยยับ
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นแมลงจำนวนมากตกลงรอบ ๆ ที่ประทีป
น้ำมันเหล่านั้นถึงความทุกข์ ความพินาศย่อยยับ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งแล่นเลยไป๑
ไม่บรรลุธรรมที่เป็นสาระ๒
ชื่อว่าพอกพูนเครื่องพันธนาการ๓ใหม่ ๆ ยิ่งขึ้น
ยึดมั่นในสิ่งที่ตนได้เห็นแล้วและฟังแล้วอย่างนี้
จึงตกสู่หลุมถ่านเพลิง๔ตลอดไป
เหมือนแมลงตกลงสู่ประทีปน้ำมันฉะนั้น
อุปาติธาวันติสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ แล่นเลยไป หมายถึงยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเที่ยง งาม เป็นสุข และเป็นอัตตา (ขุ.อุ.อ. ๕๙/๓๘๒)
๒ ธรรมที่เป็นสาระ หมายถึงศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ เป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๕๙/๓๘๒)
๓ เครื่องพันธนาการ หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. ๕๙/๓๘๒)
๔ หลุมถ่านเพลิง ในที่นี้หมายถึงภพ ๓ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ (ขุ.อุ.อ. ๕๙/๓๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๑๐. อุปปัชชันติสูตร
๑๐. อุปปัชชันติสูตร
ว่าด้วยแสงหิ่งห้อยกับแสงอาทิตย์
[๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา นอบน้อม ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตราบเท่า
ที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้นในโลก แต่พอพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว อัญเดียรถีย์ปริพาชกก็เป็นผู้ที่มหาชน
ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่นอบน้อม ไม่ได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร บัดนี้ พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์เป็น
ผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จริงอย่างนั้น อานนท์ อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นผู้ที่
มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตราบเท่าที่ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ
ขึ้นในโลก แต่พอตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกแล้ว อัญเดียรถีย์-
ปริพาชกก็เป็นผู้ที่มหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่นอบน้อม ไม่ได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร บัดนี้ ตถาคตและภิกษุสงฆ์
เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พุทธอุทาน
หิ่งห้อยนั้นส่องสว่างอยู่ได้ชั่วเวลาดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น
เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ก็อับแสงและไม่ส่องสว่างได้เลย
อัญเดียรถีย์ก็เหมือนกัน รุ่งเรืองอยู่ได้
ชั่วเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้นในโลก
แต่เมื่อใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก
เมื่อนั้น อัญเดียรถีย์พร้อมทั้งสานุศิษย์ก็อับเฉา
หมดความรุ่งเรืองอีกต่อไป
พวกเขามีความเห็นผิด จึงไม่พ้นจากทุกข์ไปได้
อุปปัชชันติสูตรที่ ๑๐ จบ
ชัจจันธวรรคที่ ๖ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อายุสังขาโรสสัชชนสูตร ๒. สัตตชฏิลสูตร
๓. ปัจจเวกขณสูตร ๔. ปฐมนานาติตถิยสูตร
๕. ทุติยนานาติตถิยสูตร ๖. ตติยนานาติตถิยสูตร
๗. สุภูติสูตร ๘. คณิกาสูตร
๙. อุปาติธาวันติสูตร ๑๐. อุปปัชชันติสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๑. ปฐมลกุณฏกภัททิยสูตร
๗. จูฬวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องเล็กน้อย
๑. ปฐมลกุณฏกภัททิยสูตร
ว่าด้วยพระลกุณฏกภัททิยเถระ สูตรที่ ๑
[๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรชี้แจงให้ท่านพระ
ลกุณฏกภัททิยะ๑เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาโดยวิธีต่าง ๆ๒ จิตของ
ท่านพระลกุณฏกภัททิยะหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น๓
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรชี้แจงให้ท่านพระลกุณฏก-
ภัททิยะเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ
ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาโดยวิธีต่าง ๆ จิตของท่านพระลกุณฏกภัททิยะ
หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ เดิมชื่อ ภัททิยะ แต่เพราะท่านมีร่างกายเตี้ย คนจึงเรียกท่านว่า “ลกุณฏกภัททิยะ” นัยว่า ก่อนที่ท่านจะ
ได้ฟังธรรมจากท่านพระสารีบุตรนั้น ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว (ขุ.อุ.อ. ๖๑/๓๘๖)
๒ โดยวิธีต่าง ๆ หมายถึงโดยเหตุมากมายอย่างนี้ คือ ให้พิจารณาเห็นว่าขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็น
อนัตตา เป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๖๑/๓๘๗)
๓ หมายถึงทำให้แจ้งอรหัตตผล (ขุ.อุ.อ. ๖๑/๓๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๒. ทุติยลกุณฏกภัททิยสูตร
พุทธอุทาน
บุคคลหลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวงทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ๑
ไม่หลงเข้าใจว่า นี้เป็นของเรา นี้เป็นตัวเรา
มีจิตหลุดพ้นได้เด็ดขาดอย่างนี้
ชื่อว่าข้ามพ้นโอฆะ๒ ที่ตนยังไม่เคยข้ามได้
ไม่ต้องมีภพใหม่อีก
ปฐมลกุณฏกภัททิยสูตรที่ ๑ จบ

๒. ทุติยลกุณฏกภัททิยสูตร
ว่าด้วยพระลกุณฏกภัททิยเถระ สูตรที่ ๒
[๖๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรสำคัญท่านพระ
ลกุณฏกภัททิยะว่าเป็นพระเสขะ จึงชี้แจงให้ท่านพระลกุณฏกภัททิยะเห็นชัด ชวนใจ
ให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมมีกถาโดยวิธีต่าง ๆ ยิ่งกว่าประมาณ
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรผู้สำคัญท่านพระลกุณฏก-
ภัททิยะว่าเป็นพระเสขะ จึงชี้แจงให้ท่านพระลกุณฏกภัททิยะเห็นชัด ชวนใจให้

เชิงอรรถ :
๑ ชั้นสูง หมายถึงรูปธาตุ และอรูปธาตุ นี้ว่าโดยหลุดพ้นเบื้องต้น แต่เมื่อว่าโดยหลุดพ้นเบื้องปลายหมายถึง
ละสังโยชน์เบื้องสูง ๕ ประการได้ ชั้นต่ำ หมายถึงกามธาตุ นี้ว่าโดยหลุดพ้นเบื้องต้น แต่เมื่อว่าโดยหลุดพ้น
เบื้องปลายหมายถึงละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการได้ (ขุ.อุ.อ. ๖๑/๓๘๗)
๒ โอฆะ หมายถึงห้วงน้ำคือสังสารวัฏมี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.อุ.อ. ๖๑/๓๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๓. ปฐมสัตตสูตร
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาโดยวิธีต่าง ๆ ยิ่งกว่าประมาณ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
บุคคลตัดวัฏฏะ๑ได้ จึงบรรลุถึงความไม่หวัง๒
แม่น้ำคือตัณหาที่ถูกอรหัตตมรรคญาณทำให้เหือดแห้งแล้ว
จึงไหลไปอีกไม่ได้
วัฏฏะที่ตัดได้แล้ว ย่อมไม่หมุนวนได้อีก
สภาพนี้แหละคือความสิ้นสุดแห่งทุกข์
ทุติยลกุณฏกภัททิยสูตรที่ ๒ จบ

๓. ปฐมสัตตสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่ติดอยู่ในกาม สูตรที่ ๑
[๖๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายในกรุงสาวัตถีโดยมากเป็นผู้ติดใจใน
กามทั้งหลายเกินขอบเขต เป็นผู้ยินดี รักใคร่ เพลิดเพลิน หลงใหล หมกมุ่น มัวเมา
อยู่ในกามทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ วัฏฏะ ในที่นี้หมายถึงกิเลสวัฏ (ขุ.อุ.อ. ๖๒/๓๘๙)
๒ บรรลุถึงความไม่หวัง หมายถึงบรรลุนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๖๒/๓๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๔. ทุติยสัตตสูตร
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส มนุษย์ทั้งหลาย
ในกรุงสาวัตถีโดยมาก เป็นผู้ติดใจในกามทั้งหลายเกินขอบเขต เป็นผู้ยินดี รักใคร่
เพลิดเพลิน หลงใหล หมกมุ่น มัวเมาอยู่ในกามทั้งหลาย พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
สัตว์ทั้งหลายติดใจในกาม
ข้องด้วยกิเลสเครื่องข้องในกาม
ไม่เห็นโทษในสังโยชน์ ข้องในกิเลสเครื่องข้องคือสังโยชน์
จะพึงข้ามโอฆะอันกว้างใหญ่ไม่ได้เลย
ปฐมสัตตสูตรที่ ๓ จบ

๔. ทุติยสัตตสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่ติดอยู่ในกาม สูตรที่ ๒
[๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายในกรุงสาวัตถีโดยมาก
เป็นผู้ติดใจในกามทั้งหลาย เป็นผู้ยินดี รักใคร่ เพลิดเพลิน หลงใหล หมกมุ่น
มืดมน มัวเมาอยู่ในกามทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๕. อปรลกุณฏกภัททิยสูตร
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นมนุษย์ทั้งหลายในกรุง
สาวัตถีโดยมากเป็นผู้ติดใจในกามทั้งหลาย เป็นผู้ยินดี รักใคร่ เพลิดเพลิน หลงใหล
หมกมุ่น มืดมน มัวเมาอยู่ในกามทั้งหลาย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
สัตว์ทั้งหลายมืดมนเพราะกาม
ถูกข่ายรัดรึงไว้แน่น
ถูกเครื่องมุงบังคือตัณหาปกคลุมไว้
ถูกเครื่องผูกคือความประมาทผูกพันไว้ เหมือนปลาในข้อง๑
สัตว์เหล่านั้น จึงไปสู่ความแก่และความตาย
เหมือนลูกโคที่ยังไม่อดนม วิ่งตามแม่โค ฉะนั้น
ทุติยสัตตสูตรที่ ๔ จบ

๕. อปรลกุณฏกภัททิยสูตร
ว่าด้วยพระลกุณฏกภัททิยเถระ อีกสูตรหนึ่ง
[๖๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระลกุณฏกภัททิยะเดินตามหลัง
ภิกษุทั้งหลาย เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๒๙๗/๓๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๕. อปรลกุณฏกภัททิยสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระลกุณฏกภัททิยะมีผิวพรรณ
หยาบ ไม่น่าดู มีร่างกายค่อมเตี้ย ถูกภิกษุดูหมิ่น กำลังเดินตามหลังภิกษุทั้งหลาย
มาแต่ไกล จึงรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็น
ภิกษุรูปนั้นผู้มีผิวพรรณหยาบ ไม่น่าดู มีร่างกายค่อมเตี้ย ถูกภิกษุดูหมิ่น กำลัง
เดินตามหลังภิกษุทั้งหลายมาแต่ไกลหรือไม่”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
เพราะเธอเคยเข้าสมาบัติมาแล้วแทบทุกชนิด เธอใช้ปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ทำให้
แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม๑ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
เธอจงดูรถ๒ซึ่งมีส่วนประกอบอันไม่มีโทษ๓
มีหลังคาขาว๔ มีเพลาเดียว๕ ไม่มีทุกข์
แล่นไปถึงที่หมาย ตัดกระแส ไม่มีเครื่องผูก๖
อปรลกุณฏกภัททิยสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๒๑๒ ในเล่มนี้
๒ รถ หมายถึงร่างกาย (สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๓๔๗/๓๘๐, ขุ.อุ.อ. ๖๕/๓๙๖)
๓ ส่วนประกอบอันไม่มีโทษ หมายถึงอรหัตตผลศีล (สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๓๔๗/๓๘๐, ขุ.อุ.อ. ๖๕/๓๙๖)
๔ หลังคาขาว หมายถึงอรหัตตผลวิมุตติ (สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๓๔๗/๓๘๐, ขุ.อุ.อ. ๖๕/๓๙๖)
๕ เพลาเดียว หมายถึงสติ (สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๓๔๗/๓๘๐, ขุ.อุ.อ. ๖๕/๓๙๖)
๖ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๓๔๗/๓๘๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๖. ตัณหาสังขยสูตร
๖. ตัณหาสังขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นไปแห่งตัณหา
[๖๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง พิจารณาความหลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหาอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระอัญญาโกณฑัญญะผู้กำลังนั่ง
คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง พิจารณาความหลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหาอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
พระอริยบุคคลใดไม่มีราก๑ไม่มีพื้นดิน๒ไม่มีเถา๓
จะมีใบ๔แต่ที่ไหน
ใครเล่าควรจะติเตียนพระอริยบุคคลนั้น
ที่เป็นปราชญ์ พ้นจากเครื่องผูกแล้ว
พระอริยบุคคลนั้น แม้เทวดาก็ชื่นชม ถึงพรหมก็สรรเสริญ
ตัณหาสังขยสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีราก หมายถึงไม่มีอวิชชา (ความไม่รู้) (ขุ.อุ.อ.๖๖/๓๙๗)
๒ ไม่มีพื้นดิน หมายถึงไม่มีอาสวะ(กิเลสที่หมักดองอยู่ในสันดาน) นิวรณ์ (ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี)
และอโยนิโสมนสิการ (การไม่มนสิการโดยแยบคาย) (ขุ.อุ.อ. ๖๖/๓๙๗)
๓ ไม่มีเถา หมายถึงไม่มีมานะ (ถือตัว) และอติมานะ (ดูหมิ่น) (ขุ.อุ.อ.๖๗/๓๙๗)
๔ ใบ หมายถึงมทะ(ความมัวเมา) ปมาทะ(ความประมาท) มายา(มีมารยา) และสาเฐยยะ(ความโอ้อวดหลอกเขา)
(ขุ.อุ.อ. ๖๖/๓๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๘. กัจจานสูตร
๗. ปปัญจักขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นไปแห่งกิเลสเครื่องเนิ่นช้า
[๖๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งพิจารณาถึง
การละส่วนสัญญาอันประกอบด้วยกิเลสเครื่องเนิ่นช้า๑ของพระองค์อยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบถึงการละส่วนสัญญาอันประกอบด้วย
กิเลสเครื่องเนิ่นช้าของพระองค์แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องเนิ่นช้าและการดำรงอยู่ (ในสังสารวัฏ)
ก้าวพ้นที่ต่อ๒และลิ่มสลัก๓ได้แล้ว
ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ย่อมไม่ดูหมิ่นผู้นั้นซึ่งไม่มีตัณหา เป็นมุนี เที่ยวไป
ปปัญจักขยสูตรที่ ๗ จบ

๘. กัจจานสูตร
ว่าด้วยพระมหากัจจานะ
[๖๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระมหากัจจานะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
มีกายคตาสติที่ตั้งมั่นภายในตนอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องเนิ่นช้า หมายถึงราคะ โทสะ โมหะ ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.อุ.อ. ๖๗/๓๙๙)
๒ ที่ต่อ หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. ๖๗/๔๐๐)
๓ ลิ่มสลัก หมายถึงอวิชชา (ขุ.อุ.อ. ๖๗/๔๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๙. อุทปานสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหากัจจานะผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง มีกายคตาสติที่ตั้งมั่นภายในตนอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้ใดพึงเข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ในกาลทุกเมื่อว่า
“ถ้าในอดีต กรรมกิเลสไม่พึงมีแก่เรา
ในปัจจุบัน อัตภาพนี้ก็ไม่พึงมีแก่เรา
ในอัตภาพนี้ กรรมกิเลสจักไม่มีแก่เรา
ในอนาคต วิปากวัฏก็จักไม่มีแก่เรา”
ผู้นั้นมีปกติอยู่ด้วยอนุปุพพวิหารในกาลทั้ง ๓ นั้น
พึงข้ามพ้นตัณหาที่ชื่อวิสัตติกาได้
โดยเวลาที่อริยมรรคเกิดขึ้นนั่นแล
กัจจานสูตรที่ ๘ จบ

๙. อุทปานสูตร
ว่าด้วยบ่อน้ำ
[๖๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมัลละ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงถูนคามหมู่บ้านพราหมณ์ในแคว้นมัลละ ชาวถูนคามผู้เป็น
พราหมณ์และคหบดีได้ฟังว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ทราบว่าพระสมณโคดม-
ศากยบุตร ผู้เสด็จออกบวชจากศากยตระกูล กำลังเสด็จจาริกไปในแคว้นมัลละ
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงถูนคามโดยลำดับ” พวกเขาจึงใช้หญ้าและ
แกลบถมบ่อน้ำจนเต็มถึงปากบ่อด้วยตั้งใจว่า “สมณะโล้นเหล่านั้นอย่าได้น้ำดื่ม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๙. อุทปานสูตร
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแวะลงข้างทาง เสด็จเข้าไปยังควงไม้ต้นหนึ่ง
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ พระผู้มีพระภาค ครั้นประทับนั่งแล้ว รับสั่งเรียก
ท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจงนำน้ำดื่มจากบ่อน้ำมาเพื่อเรา”
ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ บ่อน้ำนั้นถูกชาวถูนคามผู้เป็น
พราหมณ์และคหบดีใช้หญ้าและแกลบถมจนเต็มปากบ่อ ด้วยตั้งใจว่า ‘สมณะโล้น
เหล่านั้นอย่าได้น้ำดื่ม พระพุทธเจ้าข้า”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ เธอจง
นำน้ำดื่มจากบ่อน้ำนั้นมาเพื่อเรา”
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
บัดนี้ บ่อน้ำนั้นถูกชาวถูนคามผู้เป็นพราหมณ์และคหบดีใช้หญ้าและแกลบถมจน
เต็มปากบ่อ ด้วยตั้งใจว่า ‘สมณะโล้นเหล่านั้นอย่าได้น้ำดื่ม พระพุทธเจ้าข้า”
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ เธอจง
นำน้ำดื่มจากบ่อน้ำนั้นมาเพื่อเรา”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วถือบาตรเดินไปที่บ่อน้ำนั้น ครั้งนั้น
บ่อน้ำนั้นเมื่อท่านพระอานนท์เดินเข้าไปถึง น้ำก็ล้นขึ้นมา พัดเอาหญ้าและแกลบ
ทั้งหมดนั้นออกไปจากปากบ่อ เหลือแต่น้ำที่ใสสะอาด ไม่ขุ่น เต็มเปี่ยมถึงปากบ่อ
ขังอยู่ดุจไหลออกจากปากบ่อได้เอง
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคต
ทรงเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง บ่อน้ำนี้ เมื่อเราเดินเข้าไปถึงน้ำ
ก็ล้นขึ้นมาพัดเอาหญ้าและแกลบทั้งหมดนั้นออกไปจากปากบ่อ เหลือแต่น้ำที่ใสสะอาด
ไม่ขุ่น เต็มเปี่ยมถึงปากบ่อ ขังอยู่ดุจไหลออกมาจากปากบ่อได้เอง” ครั้นแล้ว ท่านก็
ใช้บาตรตักน้ำนำเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงเป็นผู้มี
ฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บ่อน้ำนี้ เมื่อข้าพระองค์เดิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๑๐. อุเทนสูตร
เข้าไปถึง น้ำก็ล้นขึ้นมาพัดเอาหญ้าและแกลบทั้งหมดนั้นออกไปจากปากบ่อ เหลือแต่
น้ำที่ใสสะอาด ไม่ขุ่น เต็มเปี่ยมถึงปากบ่อ ขังอยู่ดุจไหลออกมาจากปากบ่อได้เอง
ขอพระผู้มีพระภาคทรงดื่มน้ำเถิด ขอพระสุคตทรงดื่มน้ำเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ถ้าน้ำมีอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่จำเป็นต้องขุดบ่อน้ำ
พระพุทธเจ้าเช่นเรา ตัดรากตัณหาขาดแล้ว
ก็ไม่จำเป็นต้องเที่ยวแสวงหา(น้ำหรือปัจจัยอย่างอื่น)
อุทปานสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. อุเทนสูตร
ว่าด้วยพระราชวังของพระเจ้าอุเทนถูกเผา
[๗๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี สมัยนั้น
เมื่อพระเจ้าอุเทนเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ภายในพระราชวังถูกไฟไหม้ หญิง
๕๐๐ คน มีพระนางสามาวดีเป็นหัวหน้า ต่างเสียชีวิตทั้งหมด
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้า
ไปบิณฑบาตยังกรุงโกสัมพี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เมื่อพระเจ้า
อุเทนเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ภายในพระราชวังถูกไฟไหม้ หญิง ๕๐๐ คน
มีพระนางสามาวดีเป็นหัวหน้า ต่างเสียชีวิตทั้งหมด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คติของ
อุบาสิกาเหล่านั้นเป็นอย่างไร ภพหน้าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาเหล่านั้นที่เป็นโสดาบันก็มีที่
เป็นสกทาคามินีก็มี ที่เป็นอนาคามินีก็มี ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาเหล่านั้นทั้งหมด
ชื่อว่าไม่ตายเปล่า๑”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
สัตว์โลกมีโมหะเป็นเครื่องผูกพัน
ย่อมปรากฏเหมือนสมบูรณ์ด้วยเหตุ
คนพาลมีอุปธิเป็นเครื่องผูกพัน ถูกความมืดหุ้มห่อไว้
ย่อมปรากฏเหมือนยั่งยืนนิรันดร์
แต่ผู้เห็นอยู่ ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
อุเทนสูตรที่ ๑๐ จบ
จูฬวรรคที่ ๗ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมลกุณฏกภัททิยสูตร ๒. ทุติยลกุณฏกภัททิยสูตร
๓. ปฐมสัตตสูตร ๔. ทุติยสัตตสูตร
๕. อปรลกุณฏกภัททิยสูตร ๖. ตัณหาสังขยสูตร
๗. ปปัญจักขยสูตร ๘. กัจจานสูตร
๙. อุทปานสูตร ๑๐. อุเทนสูตร


เชิงอรรถ :
๑ ไม่ตายเปล่า หมายถึงไม่ไร้ผล คือบรรลุสามัญญผล (ผลแห่งความเป็นสมณะ) (ขุ.อุ.อ. ๗๐/๔๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๑. ปฐมนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
๘. ปาฏลิคามิยวรรค
หมวดว่าด้วยปาฏลิคาม
๑. ปฐมนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เกี่ยวกับนิพพาน สูตรที่ ๑
[๗๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาว่าด้วยเรื่องนิพพาน ฝ่ายภิกษุเหล่านั้นก็ทำให้มั่น มนสิการ
แล้วน้อมนึกธรรมีกถาทั้งปวงด้วยจิต เงี่ยโสตลงฟังธรรม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ภิกษุทั้งหลาย อายตนะ๑มีอยู่
(แต่) ในอายตนะนั้นไม่มีปฐวีธาตุ
ไม่มีอาโปธาตุ ไม่มีเตโชธาตุ ไม่มีวาโยธาตุ
ไม่มีอากาสานัญจายตนะ ไม่มีวิญญาณัญจายตนะ
ไม่มีอากิญจัญญายตนะ ไม่มีเนวสัญญานาสัญญายตนะ
ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ไม่มีดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ทั้งสองนั้น

เชิงอรรถ :
๑ อายตนะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๗๑/๔๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๒. ทุติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกอายตนะนั้นว่า
มีการมา มีการไป มีการตั้งอยู่ มีการจุติ มีการอุบัติ
อายตนะนั้นไม่มีที่ตั้งอาศัย ไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่มีอารมณ์ยึดเหนี่ยว นี้แลคือที่สุดแห่งทุกข์
ปฐมนิพพานปฏิสังยุตตสูตรที่ ๑ จบ

๒. ทุติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เกี่ยวกับนิพพาน สูตรที่ ๒
[๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาว่าด้วยเรื่องนิพพาน ฝ่ายภิกษุเหล่านั้นก็ทำให้มั่น มนสิการ
แล้วน้อมนึกธรรมีกถาทั้งปวงด้วยจิต เงี่ยโสตลงฟังธรรม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยาก
ชื่อว่านิพพานอันไม่มีตัณหา
นิพพานนั้นเป็นธรรมที่มีอยู่จริง ไม่เห็นได้ง่าย
ตัณหาอันบุคคลแทงตลอดแล้ว
กิเลสเครื่องกังวลก็ไม่มีแก่ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่
ทุติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๓. ตติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
๓. ตติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เกี่ยวกับนิพพาน สูตรที่ ๓
[๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาว่าด้วยเรื่องนิพพาน ฝ่ายภิกษุเหล่านั้นก็ทำให้มั่น มนสิการ
แล้วน้อมนึกธรรมีกถาทั้งปวงด้วยจิต เงี่ยโสตลงฟังธรรม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ
ไม่ถูกเหตุสร้าง ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ
ไม่ถูกเหตุสร้าง ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง จักไม่มี
ในโลกนี้ก็จะไม่ปรากฏภาวะสลัดออกจากธรรมชาติที่เกิดแล้ว
ที่ปรากฏแล้ว ที่ถูกเหตุสร้างแล้ว ที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ
ไม่ถูกเหตุสร้าง ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่
ฉะนั้น จึงปรากฏภาวะสลัดออกจากธรรมชาติที่เกิดแล้ว
ที่ปรากฏแล้ว ที่ถูกเหตุสร้างแล้ว ที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
ตติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๔. จตุตถนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
๔. จตุตถนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เกี่ยวกับนิพพาน สูตรที่ ๔
[๗๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาว่าด้วยเรื่องนิพพาน ฝ่ายภิกษุเหล่านั้นก็ทำให้มั่น มนสิการ
แล้วน้อมนึกธรรมีกถาทั้งปวงด้วยจิต เงี่ยโสตลงฟังธรรม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ความหวั่นไหวย่อมมีแก่บุคคลผู้ถูกตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ความหวั่นไหวย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิอาศัย
เมื่อความหวั่นไหว(จิต)ไม่มี ก็ย่อมมีปัสสัทธิ๑
เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ย่อมไม่มีตัณหา
เมื่อไม่มีตัณหา ก็ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด
เมื่อไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ก็ไม่มีการจุติและการอุบัติ
เมื่อไม่มีการจุติและการอุบัติ ก็ไม่มีโลกนี้ โลกอื่น
และระหว่างโลกทั้งสอง นี้คือที่สุดแห่งทุกข์
จตุตถนิพพานปฏิสังยุตตสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ปัสสัทธิ หมายถึงความเข้าไปสงบกายและจิต (ขุ.ขุ.อ. ๗๔/๔๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๕. จุนทสูตร
๕. จุนทสูตร๑
ว่าด้วยนายจุนทกัมมารบุตร๒
[๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมัลละพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ ได้เสด็จไปถึงเมืองปาวา ได้ยินว่า ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ
สวนอัมพวันของนายจุนทกัมมารบุตร
นายจุนทกัมมารบุตรได้ฟังว่า “ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปใน
แคว้นมัลละพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงเมืองปาวาแล้วประทับอยู่ ณ
สวนอัมพวันของเรา” นายจุนทกัมมารบุตรจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นายจุนท-
กัมมารบุตรเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้งนั้น นายจุนทกัมมารบุตรผู้อัน
พระผู้มีพระภาคตรัสชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
ครั้งนั้น นายจุนทกัมมารบุตรทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว
ลุกขึ้นจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป ครั้นคืนนั้น
ผ่านไป นายจุนทกัมมารบุตรสั่งให้คนจัดของขบฉันอย่างประณีต และสูกรมัททวะ๓

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๘๙-๑๙๗/๑๓๗-๑๔๗
๒ บุตรของนายช่างทอง (ขุ.อุ.อ.๗๔/๔๒๖)
๓ สูกรมัททวะ พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ดังนี้ คือ (๑) (สูกรมทฺทวนฺติ สูกรสฺส มุทุสินิทฺธํ ปวตฺตมํสํ)
หมายถึงเนื้อสุกรทั่วไปที่อ่อนนุ่ม (๒) (สูกเรหิ มทฺทิตวํสกฬีโร) หมายถึงหน่อไม้ชนิดหนึ่งที่สุกรแทะดุน
(๓) (สูกเรหิ มทฺทิตปฺปเทเส ชาตํ อหิฉตฺตกํ) หมายถึงเห็ดชนิดหนึ่งที่เกิดในถิ่นที่สุกรแทะดุน (๔) (สูกร-
มทฺทวํ นาม เอกํ รสายตนํ) หมายถึงรสอาหารชนิดหนึ่งชื่อว่า สูกรมัททวะ (ขุ.อุ.อ. ๗๕/๔๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๕. จุนทสูตร
จำนวนเพียงพอไว้ในนิเวศน์ของตน แล้วส่งคนไปให้กราบทูลภัตตกาลว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนายจุนทกัมมารบุตรพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบน
พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้รับสั่งเรียกนายจุนทกัมมารบุตรมาตรัสว่า “จุนทะ ท่านจง
ประเคนเราด้วยสูกรมัททวะที่เตรียมไว้ ประเคนภิกษุสงฆ์ด้วยของขบฉันอย่างอื่นที่เตรียม
ไว้เถิด” นายจุนทกัมมารบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ประเคนพระผู้มีพระภาค
ด้วยสูกรมัททวะที่เตรียมไว้ ประเคนของขบฉันอย่างอื่นที่เตรียมไว้แด่ภิกษุสงฆ์
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกนายจุนทกัมมารบุตรมาตรัสว่า “จุนทะ
ท่านจงฝังสูกรมัททวะที่เหลือในหลุม เรายังไม่เห็นใครในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะบริโภค
สูกรมัททวะนั้นแล้วพึงถึงการย่อยไปด้วยดี ยกเว้นตถาคต” นายจุนทกัมมารบุตร
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว นำสูกรมัททวะที่เหลือนั้นไปฝังไว้ในหลุมเสร็จแล้วเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค
ทรงชี้แจงให้นายจุนทะเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากพุทธอาสน์
เสด็จจากไป
หลังจากที่พระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารของนายจุนทกัมมารบุตรเสร็จแล้ว
ได้เกิดอาการพระประชวรอย่างรุนแรง มีทุกขเวทนาเกิดจากโรคลงพระบังคนหนัก
เป็นโลหิตจวนเจียนจะปรินิพพาน ได้ยินว่า ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีสติ-
สัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นเวทนานั้นไว้มิได้ทรงพรั่นพรึง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด
อานนท์ เราไปยังกรุงกุสินารากันเถิด” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัส
พระผู้มีพระภาคทันที

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๕. จุนทสูตร
ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีพระปรีชา
เสวยพระกระยาหารของนายจุนทะกัมมารบุตรแล้ว
ทรงพระประชวรหนักจวนเจียนจะปรินิพพาน
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยสูกรมัททวะแล้ว
ได้เกิดอาการพระประชวรอย่างรุนแรงลงพระบังคนหนัก
ตรัสว่า เราจะไปยังกรุงกุสินารา

รับสั่งขอน้ำดื่ม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแวะลงข้างทาง เสด็จเข้าไปยังควงไม้ต้นหนึ่งแล้ว
รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจงปูสังฆาฏิ ๔ ชั้นแก่เรา
เราเหน็ดเหนื่อย จะนั่ง” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจึงปูสังฆาฏิ
๔ ชั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์นั้นแล้วตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้
ว่า “อานนท์ เธอจงนำน้ำดื่มมาเพื่อเรา เรากระหายจะดื่มน้ำ”
เมื่อพระผู้มีพระภาครับสั่งอย่างนี้ ท่านพระอานนท์จึงได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่มผ่านไปเมื่อ
สักครู่นี้เอง น้ำนั้นถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม่น้ำ
กุกุฏานี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใส รสจืด เย็นฉ่ำ สะอาด มีท่าขึ้นลงสะดวก น่ารื่นรมย์
พระผู้มีพระภาคจักทรงดื่ม และทรงสนานพระวรกายให้ชุ่มชื่นได้ ณ แม่น้ำนั้น”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ เธอจง
นำน้ำดื่มมาเพื่อเรา เรากระหายจะดื่มน้ำ”
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียนประมาณ
๕๐๐ เล่มผ่านไปเมื่อสักครู่นี้เอง น้ำนั้นถูกล้อเกวียนย่ำ จนขุ่นเป็นตมไหลไป ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ แม่น้ำกุกุฏานี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใส รสจืด เย็นฉ่ำ สะอาด มีท่าขึ้นลง
สะดวก น่ารื่นรมย์ พระผู้มีพระภาคจักทรงดื่ม และทรงสนานพระวรกายให้ชุ่มชื่นได้
ณ แม่น้ำนั้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๕. จุนทสูตร
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ เธอจง
นำน้ำดื่มมาเพื่อเรา เรากระหายจะดื่มน้ำ” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ถือบาตรเดินไปที่แม่น้ำนั้น
ครั้งนั้น แม่น้ำซึ่งถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไปอยู่นั้น เมื่อท่านพระ
อานนท์เดินเข้าไปถึง ก็พลันใสสะอาด ไม่ขุ่น ไหลไปตามปกติ ลำดับนั้น ท่านพระ
อานนท์ได้มีความคิดดังนี้ว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงมี
ฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง แม่น้ำนี้มีน้ำน้อย ถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไป
เมื่อเราเดินมาถึงก็พลันใส สะอาด ไม่ขุ่น ไหลไป” ท่านพระอานนท์จึงใช้บาตรตักน้ำ
แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม่น้ำนี้มีน้ำน้อย ถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไป
เมื่อข้าพระองค์เดินเข้าไปถึง ก็พลันใสสะอาด ไม่ขุ่นไหลไป ขอพระผู้มีพระภาค
ทรงดื่มน้ำเถิด ขอพระสุคตทรงดื่มน้ำเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงดื่มน้ำแล้วเสด็จไปที่แม่น้ำกุกุฏา พร้อมกับ
สงฆ์หมู่ใหญ่ พอเสด็จถึงก็เสด็จลงแม่น้ำนั้น ทรงสรงและทรงดื่มแล้วเสด็จขึ้น เสด็จ
กลับไปยังสวนอัมพวันแล้วรับสั่งเรียกท่านพระจุนทกะมาตรัสว่า “จุนทกะ เธอจงปู
ผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้นแก่เรา เราเหน็ดเหนื่อย จะนอน” ท่านพระจุนทกะทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้วปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยา
โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท ทรงมีสติสัมปชัญญะ
บริบูรณ์ ทรงกำหนดพระทัยว่าจะเสด็จลุกขึ้น ส่วนท่านพระจุนทกะก็นั่งเฝ้าอยู่เบื้อง
พระพักตร์ของพระองค์ ในที่นั้นเอง
ภายหลัง พระธรรมสังคาหกาจารย์ได้รจนาคาถาสรุปดังนี้ว่า
พระพุทธเจ้าผู้ตถาคตศาสดา หาผู้เปรียบมิได้ในโลกนี้
ทรงมีพระวรกายเหน็ดเหนื่อยมาก
เสด็จถึงแม่น้ำกุกุฏาซึ่งมีน้ำใส รสจืด สะอาด
เสด็จลงไปสู่แม่น้ำนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๕. จุนทสูตร
พระศาสดาผู้อันชาวโลกทั้งหมดบูชา
เสด็จอยู่ท่ามกลางภิกษุสงฆ์
ทรงสรงและทรงดื่มน้ำแล้วเสด็จขึ้นจากแม่น้ำ
พระผู้มีพระภาคบรมศาสดา ผู้ทรงแสวงหาคุณยิ่งใหญ่
ทรงประกาศเผยแผ่ธรรมวินัยไว้ในพุทธศาสนานี้
เสด็จเข้าไปยังสวนอัมพวันแล้ว
รับสั่งเรียกพระจุนทกะมาตรัสว่า
เธอจงปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้นให้เป็นที่นอนแก่เรา
ท่านพระจุนทกะนั้น อันพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงฝึกฝนอบรมพระองค์แล้วตรัสเตือน
จึงปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น ทันที
พระบรมศาสดาทรงมีพระวรกายเหน็ดเหนื่อย ทรงบรรทมแล้ว
ฝ่ายพระจุนทกะก็นั่งเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ในที่นั้น

บิณฑบาตทาน ๒ คราว มีผลเสมอกัน
ครั้นต่อมา พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
หากจะมีใครมากล่าวให้นายจุนทกัมมารบุตรเดือดร้อนใจว่า ‘ท่านจุนทะ การที่พระ
ตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้ายแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน ไม่ใช่
ลาภของท่าน ท่านได้ชั่วแล้ว อานนท์ เธอพึงระงับความเดือดร้อนใจของนายจุนท-
กัมมารบุตรอย่างนี้ว่า
ท่านจุนทะ การที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้าย แล้วเสด็จ
ดับขันธปรินิพพาน เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ท่านจุนทะ ความข้อนี้ อาตมภาพ
ได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคว่า บิณฑบาต ๒ คราว
มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอื่น
อย่างมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๕. จุนทสูตร
บิณฑบาต ๒ คราว อะไรบ้าง คือ
๑. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม
๒. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
บิณฑบาต ๒ คราวนี้ มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมี
อานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอื่นอย่างมาก
นายจุนทกัมมารบุตรได้สั่งสมกุศลกรรมที่เป็นเหตุให้มีอายุยืน มีผิวพรรณ
ผ่องใส มีความสุข เกิดในสวรรค์ เจริญด้วยลาภยศ เป็นใหญ่ยิ่งแล้ว อานนท์
เธอพึงระงับความเดือดร้อนใจของนายจุนทกัมมารบุตรอย่างนี้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้ให้ทาน ย่อมเพิ่มพูนบุญ
ผู้สำรวม (ในศีล) ย่อมไม่ก่อเวร
ส่วนผู้ฉลาด ย่อมละบาปได้
เพราะสิ้นราคะ โทสะ และโมหะ
ผู้นั้นจึงชื่อว่าปรินิพพานแล้ว
จุนทสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
๖. ปาฏลิคามิยสูตร๑
ว่าด้วยอุบาสกชาวปาฏลิคาม
[๗๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ ได้เสด็จมาถึงปาฏลิคาม
อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไป
ในแคว้นมคธพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จมาถึงปาฏลิคามแล้ว” จึงพากัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบ
ทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดรับอาคารที่พักของ
ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยพระอาการดุษณี
ลำดับนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรง
รับนิมนต์แล้วจึงพากันลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ
แล้วพากันเดินไปยังอาคารที่พัก ปูลาดอาสนะทั่วอาคาร จัดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ
ตามประทีปน้ำมันไว้แล้วกลับเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ
ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
ทั้งหลายปูลาดอาสนะ ดาดเพดานทั่วอาคารที่พัก จัดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตาม
ประทีปน้ำมันไว้แล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด
พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๕-๒๘๖/๙๗-๑๐๓, ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๔๘-๑๕๔/๙๒-๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จไปที่อาคารที่พัก พร้อมกับภิกษุสงฆ์ ทรงชำระพระบาทแล้วเสด็จเข้าไปยัง
อาคารที่พัก ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แม้ภิกษุสงฆ์
ก็ล้างเท้าแล้วเข้าไปยังอาคารที่พัก นั่งพิงฝาด้านทิศตะวันตก ผินหน้าไปทางทิศ
ตะวันออกห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค แม้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามก็ล้างเท้า
แล้วเข้าไปยังอาคารที่พักนั้น นั่งพิงฝาด้านทิศตะวันออก ผินหน้าไปทางทิศตะวันตก
ห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค

โทษแห่งศีลวิบัติ ๕ ประการ๑
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามว่า “คหบดี
ทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีลมีโทษ ๕ ประการนี้ โทษ ๕ ประการ คือ
๑. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมถึงความเสื่อมโภคทรัพย์เป็น
อันมากซึ่งมีความประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นโทษประการที่ ๑ แห่งศีล
วิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๒. กิตติศัพท์อันชั่วของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมกระฉ่อนไป นี้เป็น
โทษที่ ๒ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๓. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็นขัตติยบริษัท
ก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม
ย่อมไม่แกล้วกล้า เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นโทษประการที่ ๓ แห่งศีลวิบัติ
ของบุคคลผู้ทุศีล
๔. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมหลงลืมสติตาย นี้เป็นโทษประการที่ ๔
แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๕. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ หลังจากตายแล้ว ย่อมไปบังเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก นี้เป็นโทษประการที่ ๕ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
คหบดีทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีลมีโทษ ๕ ประการนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๑๖/๒๐๙-๒๐๑, องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๑๓/๓๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
อานิสงส์แห่งศีลสมบัติ ๕ ประการ
คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มีอานิสงส์ ๕ ประการนี้ อานิสงส์
๕ ประการ คือ
๑. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติในโลกนี้ ย่อมได้โภคทรัพย์เป็นอันมาก
ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่งศีล
สมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๒. กิตติศัพท์อันงามของบุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ ย่อมขจรไป นี้เป็น
อานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๓. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็นขัตติยบริษัท
ก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม หรือสมณบริษัท
ก็ตาม ย่อมแกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓
แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๔. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ ย่อมไม่หลงลืมสติตาย นี้เป็นอานิสงส์ประการ
ที่ ๔ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๕. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๕ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีลมีอานิสงส์ ๕ ประการนี้แล”
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคาม
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาจนดึกดื่นแล้วทรงส่งกลับด้วยรับสั่งว่า “คหบดีทั้งหลาย
ราตรีใกล้จะสว่าง ขอท่านทั้งหลาย จงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ลำดับนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามต่างชื่นชมอนุโมทนาพระธรรมเทศนา
ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แล้วลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
ทำประทักษิณแล้วจากไป เมื่ออุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามจากไปไม่นาน พระผู้มี
พระภาคก็เสด็จเข้าไปยังเรือนว่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
สร้างเมืองปาฏลีบุตร
สมัยนั้น สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ กำลังสร้างเมือง
ปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกวัชชี ครั้งนั้น เทวดาจำนวนมากเป็นเรือนพัน กำลัง
ยึดครองที่ดินในปาฏลิคาม คือ
เทวดาที่มีศักดิ์ใหญ่ยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชา และมหา-
อำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ใหญ่ ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น๑
เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นกลางยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหา-
อำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ชั้นกลาง ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น
เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์
ของพระราชาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำ ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงเล็งทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ได้ทอดพระเนตร
เห็นเทวดาเหล่านั้นเป็นเรือนพัน กำลังยึดครองที่ดินในปาฏลิคาม คือ เทวดาที่มี
ศักดิ์ใหญ่ยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา
ที่มีศักดิ์ใหญ่ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นกลาง
ยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์
ชั้นกลางต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำยึดครองที่
ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำ
ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทมในเวลาใกล้รุ่ง รับสั่งเรียกท่านพระ
อานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ใครกำลังสร้างเมืองในปาฏลิคาม”

เชิงอรรถ :
๑ ทราบว่า เทวดาทั้งหลายเข้าสิงร่างของคนผู้เชี่ยวชาญวิชาดูพื้นที่แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นบอกว่าควรจะ
สร้างบ้านเมืองที่นั้นที่นี้ เพราะเทวดาเหล่านั้นประสงค์จะให้พระราชาและมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ใหญ่ มีศักดิ์
ชั้นกลาง มีศักดิ์ชั้นต่ำอยู่ใกล้ชิดกับตน และทำสักการะสมควรแก่ตน (วิ.อ.๓/๒๘๖/๑๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สุนีธะและวัสสการะ
ผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ กำลังสร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกวัชชี
พระพุทธเจาข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่ง
มคธรัฐกำลังสร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกวัชชี เหมือนได้ปรึกษากับเทวดา
ชั้นดาวดึงส์ อานนท์ ณ ที่นี้ เราเล็งทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ได้เห็นเทวดา
จำนวนมาก เป็นเรือนพัน กำลังยึดครองที่ดินในปาฏลิคาม คือ เทวดาที่มีศักดิ์ใหญ่
ยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ใหญ่
ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นกลางยึดครองที่ดิน
ในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ชั้นกลางต่างก็
น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำยึดครองที่ดินในประเทศใด
จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำต่างก็น้อมไปเพื่อสร้าง
นิเวศน์ในประเทศนั้น
อานนท์ ตลอดพื้นที่อันเป็นย่านชุมชนแห่งอารยชนและเป็นทางค้าขาย นครนี้
จะเป็นนครชั้นเอก เป็นทำเลค้าขาย ชื่อปาฏลีบุตร และนครปาฏลีบุตรจะเกิด
อันตราย ๓ อย่าง คือ อัคคีภัย อุทกภัย หรือการแตกความสามัคคีภายในกลุ่ม”

สองมหาอำมาตย์เลี้ยงพระ
ครั้งนั้น สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วได้ยืน ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ทั้งหลาย
ในวันนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
สุนีธะและวัสสการะมหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ ทราบอาการที่พระผู้มีพระภาค
ทรงรับนิมนต์แล้ว จึงเข้าไปยังที่พักของตน แล้วสั่งให้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
อย่างประณีตไว้ในที่พักของตนแล้วส่งคนไปกราบทูลภัตกาลว่า “ข้าแต่พระโคดม
ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปยังที่พักของสุนีธะและวัสสการะมหาอำมาตย์แห่ง
มคธรัฐ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ลำดับนั้น สุนีธะและวัสสการะ
มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตมาประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธาน ให้อิ่มหนำด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ
ทรงละพระหัตถ์จากบาตรแล้ว ได้นั่งเฝ้า ณ ที่สมควร ที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่สุนีธะและวัสสการะมหาอำมาตย์แห่ง
มคธรัฐ ด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า

อนุโมทนาคาถา
บัณฑิตอยู่ในที่ใด เลี้ยงดูท่านผู้มีศีล
ผู้สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ ในที่ที่ตนอยู่นั้น
พึงอุทิศทักษิณาแก่เหล่าเทวดาผู้สถิตอยู่ในที่นั้น
เทวดาเหล่านั้นอันเขาบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบ
อันเขานับถือแล้ว ย่อมนับถือตอบ
จากนั้นย่อมอนุเคราะห์บัณฑิตนั้นเป็นการตอบแทน
ดุจมารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เกิดแต่อก ฉะนั้น
ดังนั้น ผู้ที่เทวดาอนุเคราะห์แล้ว
ย่อมพบเห็นแต่สิ่งที่เจริญทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
ประตูโคดมและท่าโคดม
พระผู้มีพระภาค ครั้นทรงอนุโมทนามหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะ
แคว้นมคธด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว ทรงลุกขึ้นจากอาสนะเสด็จจากไป สมัยนั้น
มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะแคว้นมคธ ตามส่งเสด็จพระผู้มี
พระภาคไปเบื้องพระปฤษฎางค์ด้วยคิดว่า “วันนี้ ประตูที่ท่านพระสมณโคดมเสด็จ
ออกไป จะได้ชื่อว่า ‘ประตูโคดม’ ท่าที่พระองค์เสด็จข้ามแม่น้ำคงคา จะได้ชื่อว่า
‘ท่าพระโคดม”
ต่อมา ประตูที่พระผู้มีพระภาคเสด็จผ่านไปนั้นได้ปรากฏนามว่า ‘ประตูพระโคดม’
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปทางแม่น้ำคงคา เวลานั้น แม่น้ำคงคามีน้ำเต็ม
เสมอตลิ่ง นกกาพอดื่มกินได้ คนทั้งหลายผู้ปรารถนาจะข้ามฟาก บางพวกเที่ยว
หาเรือ บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
ทรงหายไปจากฝั่งนี้แห่งแม่น้ำคงคา ไปปรากฏพระวรกายที่ฝั่งโน้น เหมือนบุรุษมี
กำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นคนเหล่านั้นผู้ปรารถนาจะข้ามฟาก บางพวก
เที่ยวหาเรือ บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
คนพวกหนึ่งกำลังสร้างสะพาน
ข้ามสระใหญ่ โดยมิให้แปดเปื้อนด้วยโคลนตม
ขณะที่คนอีกพวกหนึ่งกำลังผูกทุ่นอยู่
ชนผู้ฉลาดได้ข้ามพ้นไปแล้ว๑
ปาฏลิคามิยสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๖/๑๐๐-๑๐๑, ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๕๓-๑๕๔/๙๖-๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๗. ทวิธาปถสูตร
๗. ทวิธาปถสูตร
ว่าด้วยทางสองแพร่ง
[๗๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จพุทธดำเนินทางไกลไปในแคว้นโกศล มีท่าน
พระนาคสมาละเป็นปัจฉาสมณะ๑ ท่านพระนาคสมาละได้เห็นทางสองแพร่ง
ในระหว่างทาง จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ
นี้คือทางที่จะไป ไปทางนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” เมื่อท่านพระนาคสมาละกราบทูล
อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระนาคสมาละดังนี้ว่า “นาคสมาละ
นี้คือทางที่จะไป เราจะไปทางนี้”
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระนาคสมาละได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ นี้คือทางที่จะไป ไปทางนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระนาคสมาละดังนี้ว่า “นาคสมาละ นี้คือทาง
ที่จะไป เราจะไปทางนี้”
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระนาคสมาละได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ นี้คือทางที่จะไป ไปทางนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับท่านพระนาคสมาละดังนี้ว่า “นาคสมาละ นี้คือ
ทางที่จะไป เราจะไปทางนี้”
ครั้งนั้น ท่านพระนาคสมาละวางบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคไว้ที่พื้นดิน
ณ ทางนั้นเองแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้บาตรและจีวรของพระผู้มี
พระภาค” แล้วจากไป เมื่อท่านพระนาคสมาละเดินไปตามทางนั้น พวกโจรที่แอบ
ซุ่มอยู่ระหว่างทาง ได้ออกมารุมทำร้ายทั้งเตะทั้งต่อย ทุบบาตรแตก และฉีกผ้า
สังฆาฏิขาด หลังจากนั้น ท่านพระนาคสมาละมีบาตรแตก มีผ้าสังฆาฏิขาด เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระ

เชิงอรรถ :
๑ ปัจฉาสมณะ หมายถึงพระผู้ติดตามรับใช้ (ขุ.อุ.อ. ๗๗/๔๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายอุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๘. วิสาขาสูตร
ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เมื่อข้าพระองค์
เดินไปตามทางนั้น พวกโจรที่แอบซุ่มอยู่ระหว่างทาง ได้ออกมารุมทำร้ายทั้ง
เตะทั้งต่อย ทุบบาตรแตก และฉีกผ้าสังฆาฏิขาด พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
บุคคลผู้จบเวท๑ ถึงจะเที่ยวไปด้วยกัน
อยู่ร่วมกัน ปะปนกับคนอื่น
รู้แจ้ง (คนชั่ว) ย่อมละคนชั่วไปได้
เหมือนนกกระเรียนเว้นน้ำ ดื่มแต่น้ำนม ฉะนั้น
ทวิธาปถสูตรที่ ๗ จบ

๘. วิสาขาสูตร
ว่าด้วยนางวิสาขา
[๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทในบุพพารามของนางวิสาขา
มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น หลานสาวผู้เป็นที่รัก ที่ชอบใจ ของนางวิสาขา
มิคารมาตาเสียชีวิตลง ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตามีผ้าเปียก ผมเปียก เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่เที่ยงวัน ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสถามนางวิสาขามิคารมาตาดังนี้ว่า “วิสาขา เธอมาจากไหน จึงมีผ้าเปียก ผมเปียก
เข้ามาที่นี่แต่เที่ยงวัน”

เชิงอรรถ :
๑ ผู้จบเวท หมายถึงผู้บรรลุสัจจะ ๔ ด้วยอริยมรรค (ขุ.อุ.อ. ๗๗/๔๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๘. วิสาขาสูตร
นางวิสาขาทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หลานสาวผู้เป็นที่รัก ที่ชอบใจ
ของหม่อมฉันเสียชีวิตแล้ว จึงทำให้หม่อมฉันมีผ้าเปียก ผมเปียกเข้ามาที่นี่แต่เที่ยงวัน
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วิสาขา เธอต้องการมีบุตรและหลานจำนวนเท่ากับ
ชาวกรุงสาวัตถีหรือ”
นางวิสาขาทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันต้องการมีบุตรและ
หลานจำนวนเท่ากับชาวกรุงสาวัตถี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วิสาขา ชาวกรุงสาวัตถีเสียชีวิตลง แต่ละวัน
มากเท่าไร”
นางวิสาขาทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชาวกรุงสาวัตถีเสียชีวิตลง
แต่ละวัน ๑๐ คนบ้าง ๙ คนบ้าง ๘ คนบ้าง ๗ คนบ้าง ๖ คนบ้าง ๕ คนบ้าง
๔ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๒ คนบ้าง ๑ คนบ้าง กรุงสาวัตถีจะไม่ว่างเว้นจากคนที่เสีย
ชีวิตเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วิสาขา เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอมิต้องมี
ผ้าเปียก ผมเปียก ทุกครั้งทุกคราวหรือ”
นางวิสาขาทูลตอบว่า “ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า มีลูกและ
หลานมากขนาดนั้น หม่อมฉันก็พอใจแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วิสาขา ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๑๐๐ ก็มีทุกข์ ๑๐๐
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๙๐ ก็มีทุกข์ ๙๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๘๐ ก็มีทุกข์ ๘๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๗๐
ก็มีทุกข์ ๗๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๖๐ ก็มีทุกข์ ๖๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๕๐ ก็มีทุกข์ ๕๐
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๔๐ ก็มีทุกข์ ๔๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๓๐ ก็มีทุกข์ ๓๐ ผู้มีสิ่งเป็น
ที่รัก ๒๐ ก็มีทุกข์ ๒๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๑๐ ก็มีทุกข์ ๑๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๙ ก็มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๙. ปฐมทัพพสูตร
ทุกข์ ๙ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๘ ก็มีทุกข์ ๘ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๗ ก็มีทุกข์ ๗ ผู้มีสิ่งเป็น
ที่รัก ๖ ก็มีทุกข์ ๖ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๕ ก็มีทุกข์ ๕ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๔ ก็มีทุกข์ ๔
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๓ ก็มีทุกข์ ๓ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๒ ก็มีทุกข์ ๒ ผู้มีสิ่งเป็นที่รักเพียง ๑
ก็มีทุกข์เพียง ๑ ผู้ไม่มีสิ่งเป็นที่รัก ก็ไม่มีทุกข์ ซึ่งเราเรียกว่า ผู้หมดความโศก
ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีความคับแค้นใจ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ความโศก ความคร่ำครวญ และความทุกข์หลากหลายมีในโลกนี้
ย่อมเกิดมีได้เพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รัก
เมื่อไม่มีสิ่งเป็นที่รัก ความเศร้าโศกเป็นต้นเหล่านี้ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น คนที่ไม่มีสิ่งเป็นที่รักในโลกไหนๆ
จึงชื่อว่ามีความสุข ปราศจากความเศร้าโศก
ดังนั้น ผู้ปรารถนาความไม่เศร้าโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี
จึงไม่ควรยึดสิ่งเป็นที่รักในโลกไหน ๆ
วิสาขาสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปฐมทัพพสูตร
ว่าด้วยพระทัพพมัลลบุตร สูตรที่ ๑
[๗๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระทัพพมัลลบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระสุคต บัดนี้
ถึงเวลาที่ข้าพระองค์จะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ทัพพะ เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ทันใดนั้นเอง ท่านพระทัพพ-

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๑๐. ทุติยทัพพสูตร
มัลลบุตรก็ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท ทำประทักษิณแล้ว เหาะขึ้นไปในอากาศ
นั่งขัดสมาธิ เข้าเตโชกสิณสมาบัติ๑อยู่กลางอากาศ ออกจากสมาบัติแล้วจึงปรินิพพาน
ขณะที่ท่านพระทัพพมัลลบุตรเหาะขึ้นไปในอากาศ นั่งขัดสมาธิ เข้าเตโชกสิณ-
สมาบัติอยู่กลางอากาศ ออกจากสมาบัติแล้วปรินิพพาน สรีระของท่านถูกไฟเผา
ไหม้อยู่นั้น ไม่ปรากฏว่ามีเถ้าและเขม่าควันเลย มีอุปมาเหมือนเนยใสหรือน้ำมัน
ที่ถูกไฟเผาไหม้ ไม่ปรากฏว่ามีเถ้าและเขม่าควัน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ร่างกายได้แตกดับไปแล้ว
เวทนาทั้งหมดดับสนิทแล้ว
สัญญาก็ดับลง สังขารทั้งหลายก็สงบระงับ
วิญญาณก็ถึงความดับสูญ
ปฐมทัพพสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุติยทัพพสูตร
ว่าด้วยพระทัพพมัลลบุตร สูตรที่ ๒
[๘๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย
มารับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงตรัสดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ เข้าเตโชกสิณสมาบัติ หมายถึงเข้าจตุตถฌานสมาบัติ มีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ (ขุ.อุ.อ. ๗๙/๔๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๑๐. ทุติยทัพพสูตร
“ภิกษุทั้งหลาย ขณะที่พระทัพพมัลลบุตรเหาะขึ้นไปในอากาศ นั่งขัดสมาธิเข้า
เตโชกสิณสมาบัติอยู่กลางอากาศ ออกจากสมาบัติแล้วปรินิพพาน สรีระของเธอถูก
ไฟเผาไหม้อยู่นั้น ไม่ปรากฏว่ามีเถ้าและเขม่าควันเลย มีอุปมาเหมือนเนยใส หรือน้ำ
มันที่ถูกไฟเผาไหม้ไม่ปรากฏว่ามีเถ้าและเขม่าควัน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ไฟที่ลุกโพลง ถูกช่างใช้ค้อนเหล็กตี
ก็ค่อย ๆ มอดดับสนิทลงไป
ใคร ๆ รู้ไม่ได้ว่าไฟนั้นไปอยู่ที่ไหน ฉันใด
พระอรหันต์ทั้งหลายผู้หลุดพ้นโดยชอบ
ข้ามโอฆะเครื่องผูกพันในกามได้หมดแล้ว
บรรลุถึงความสุขที่ไม่หวั่นไหว
ย่อมไม่มีคติที่จะบัญญัติให้รู้กันได้ ฉันนั้น
ทุติยทัพพสูตรที่ ๑๐ จบ
ปาฏลิคามิยวรรคที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] รวมจำนวนวรรคที่มีในอุทาน
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมนิพพานปฏิสังยุตตสูตร ๒. ทุติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
๓. ตติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร ๔. จตุตถนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
๕. จุนทสูตร ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
๗. ทวิธาปถสูตร ๘. วิสาขาสูตร
๙. ปฐมทัพพสูตร ๑๐. ทุติยทัพพสูตร

รวมจำนวนวรรคที่มีในอุทาน คือ

๑. โพธิวรรค ๒. มุจจลินทวรรค
๓. นันทวรรค ๔. เมฆิยวรรค
๕. โสณเถรวรรค ๖. ชัจจันธวรรค
๗. จูฬวรรค ๘. ปาฏลิคามิยวรรค

ทั้ง ๘ วรรคนี้ มีพระสูตรที่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงมีพระจักษุญาณ ปราศจาก
มลทิน ทรงจำแนกแสดงไว้ละเอียดรวม ๘๐ สูตร ซึ่งเหล่าบัณฑิตผู้มีศรัทธา ได้กล่าว
วรรคนั้นว่าอุทาน ฉะนี้แล
อุทาน จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑. โลภสูตร
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. เอกกนิบาต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. โลภสูตร
ว่าด้วยโลภะ
[๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้๑
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือโลภะ(ความอยากได้)ได้ เราขอ
รับรองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
๑ แปลตามนัย ขุ.อิติ.อ. ๑๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๒. โทสสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โลภะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้โลภไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง๑ ย่อมละโลภะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โลภสูตรที่ ๑ จบ

๒. โทสสูตร
ว่าด้วยโทสะ
[๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือโทสะ(ความคิดประทุษร้าย)ได้
เราขอรับรองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
๑ เห็นแจ้ง หมายถึงเห็นอุปาทานขันธ์ ๕ โดยความไม่เที่ยง เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๑/๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๓. โมหสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โทสะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ประทุษร้ายไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโทสะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โทสสูตรที่ ๒ จบ

๓. โมหสูตร
ว่าด้วยโมหะ
[๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือโมหะ(ความหลง)ได้ เราขอรับ
รองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โมหะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้หลงไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโมหะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โมหสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๔. โกธสูตร
๔. โกธสูตร
ว่าด้วยโกธะ
[๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือโกธะ(ความโกรธ)ได้ เราขอ
รับรองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โกธะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้โกรธไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโกธะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โกธสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๕. มักขสูตร
๕. มักขสูตร
ว่าด้วยมักขะ
[๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือมักขะ(ความลบหลู่)ได้ เราขอ
รับรองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
มักขะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ลบหลู่คุณท่านไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละมักขะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มักขสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๖. มานสูตร
๖. มานสูตร
ว่าด้วยมานะ
[๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือมานะ(ความถือตัว)ได้ เราขอ
รับรองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
มานะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ถือตัวไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละมานะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มานสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๗. สัพพปริญญาสูตร
๗. สัพพปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง
[๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงธรรมทั้งปวง๑ ยังกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงไม่ได้๒
ยังไม่คลายความพอใจในธรรมทั้งปวงนั้น ยังละธรรมทั้งปวงไม่ได้๓ ก็ยังไม่อาจ
สิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้ซึ้งถึงธรรมทั้งปวง กำหนดรู้ธรรมทั้งปวงได้ คลาย
ความพอใจในธรรมทั้งปวงนั้นได้ ละธรรมทั้งปวงได้ จึงอาจสิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้ใดรู้ธรรมทั้งปวงโดยอาการทุกอย่าง
ไม่ยินดีในธรรมทั้งปวง
ผู้นั้นแล กำหนดรู้ธรรมทั้งปวงได้
ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สัพพปริญญาสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่รู้ซึ้งถึงธรรมทั้งปวง หมายถึงไม่รู้ธรรมที่ควรรู้ทั้งปวง โดยนัยว่า “เหล่านี้คือขันธ์ ๕ เหล่านี้คืออายตนะ
๑๒ เหล่านี้คือธาตุ ๑๘ นี้คือทุกขอริยสัจ นี้คือทุกขสมุทัยสัจ” เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๗/๕๙)
๒ ยังกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงไม่ได้ หมายถึงยังไม่สามารถกำหนดรู้ธรรมด้วยญาตปริญญา ตีรณปริญญา
และปหานปริญญาได้ (ขุ.อิติ.อ. ๗/๕๙)
๓ ยังละธรรมทั้งปวงไม่ได้ หมายถึงยังละกิเลสวัฏที่ควรละด้วยมัคคปัญญาไม่ได้ (ขุ.อิติ.อ. ๗/๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๘. มานปริญญาสูตร
๘. มานปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้มานะ
[๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงมานะ ยังกำหนดรู้มานะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในมานะนั้น ยังละมานะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้
ซึ้งถึงมานะ กำหนดรู้มานะได้ คลายความพอใจในมานะนั้นได้ ละมานะได้ จึงอาจ
สิ้นทุกข์ได้
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
หมู่สัตว์นี้ประกอบด้วยมานะ
ถูกมานะร้อยรัดไว้ ยินดีแล้วในภพ
ไม่กำหนดรู้มานะ จึงกลับมาเกิดซ้ำอีก
ส่วนหมู่สัตว์ที่ละมานะได้แล้ว
น้อมใจไปในธรรมเป็นที่สิ้นมานะ
ครอบงำมานะที่ร้อยรัดได้แล้ว
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องร้อยรัดได้ทั้งหมด
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มานปริญญาสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๙. โลภปริญญาสูตร
๙. โลภปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้โลภะ
[๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงโลภะ ยังกำหนดรู้โลภะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในโลภะนั้น ยังละโลภะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้ซึ้ง
ถึงโลภะ กำหนดรู้โลภะได้ คลายความพอใจในโลภะนั้นได้ ละโลภะได้แล้ว จึงอาจ
สิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โลภะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้โลภไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโลภะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โลภปริญญาสูตรที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๑๐. โทสปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้โทสะ
[๑๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงโทสะ ยังกำหนดรู้โทสะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในโทสะนั้น ยังละโทสะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้ซึ้ง
ถึงโทสะ กำหนดรู้โทสะได้ คลายความพอใจในโทสะนั้นได้ ละโทสะได้แล้ว จึงอาจ
สิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โทสะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ประทุษร้ายไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโทสะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โทสปริญญาสูตรที่ ๑๐ จบ
ปฐมวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โลภสูตร ๒. โทสสูตร
๓. โมหสูตร ๔. โกธสูตร
๕. มักขสูตร ๖. มานสูตร
๗. สัพพปริญญาสูตร ๘. มานปริญญาสูตร
๙. โลภปริญญาสูตร ๑๐. โทสปริญญาสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑. โมหปริญญาสูตร
๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
๑. โมหปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้โมหะ
[๑๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงโมหะ ยังกำหนดรู้โมหะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในโมหะนั้น ยังละโมหะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้ซึ้ง
ถึงโมหะ กำหนดรู้โมหะได้ คลายความพอใจในโมหะนั้นได้ ละโมหะได้แล้ว จึงอาจ
สิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โมหะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้หลงไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโมหะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โมหปริญญาสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๒. โกธปริญญาสูตร
๒. โกธปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้โกธะ
[๑๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงโกธะ ยังกำหนดรู้โกธะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในโกธะนั้น ยังละโกธะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้
รู้ซึ้งถึงโกธะ กำหนดรู้โกธะได้ คลายความพอใจในโกธะนั้นได้ ละโกธะได้แล้ว จึงอาจ
สิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โกธะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้โกรธไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโกธะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว ก็ไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โกธปริญญาสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๓. มักขปริญญาสูตร
๓. มักขปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้มักขะ
[๑๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงมักขะ ยังกำหนดรู้มักขะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในมักขะนั้น ยังละมักขะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้
ซึ้งถึงมักขะ กำหนดรู้มักขะได้ คลายความพอใจในมักขะนั้นได้ ละมักขะได้แล้ว
จึงอาจสิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
มักขะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ลบหลู่คุณท่านไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละมักขะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มักขปริญญาสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๔. อวิชชานีวรณสูตร
๔. อวิชชานีวรณสูตร
ว่าด้วยธรรมเครื่องกางกั้นคืออวิชชา
[๑๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมเครื่องกางกั้นอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้
หมู่สัตว์ซึ่งถูกธรรมเครื่องกางกั้นปิดบังแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน
เหมือนธรรมเครื่องกางกั้นคืออวิชชานี้เลย ภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ที่ถูกธรรมเครื่อง
กางกั้นคืออวิชชาปิดบังแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ไม่มีธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้หมู่สัตว์
ซึ่งถูกปิดบังแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปตลอดวันและคืน
เหมือนถูกโมหะปิดกั้นเลย
ส่วนอริยสาวกทั้งหลาย ละโมหะได้
ทำลายกองแห่งความมืด๑ได้
ย่อมไม่ท่องเที่ยวไปอีก
เพราะท่านเหล่านั้นไม่มีอวิชชาเป็นเหตุ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อวิชชานีวรณสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ กองแห่งความมืด ในที่นี้หมายถึงโมหะ (ความหลง) (ขุ.อิติ.อ.๑๔/๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๕. ตัณหาสังโยชนสูตร
๕. ตัณหาสังโยชนสูตร
ว่าด้วยสังโยชน์คือตัณหา
[๑๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นสังโยชน์อื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้หมู่สัตว์ซึ่งถูก
สังโยชน์ผูกมัดแล้วต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานเหมือนสังโยชน์คือตัณหานี้เลย
ภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ที่ถูกสังโยชน์คือตัณหาผูกมัดแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไป
สิ้นกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น
ภิกษุรู้โทษนี้ รู้ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ตัณหาสังโยชนสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๙/๑๕, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๗/๓๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๖. ปฐมเสขสูตร
๖. ปฐมเสขสูตร
ว่าด้วยพระเสขะ สูตรที่ ๑
[๑๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้เป็นพระเสขะยังไม่บรรลุ ปรารถนาจะบรรลุธรรม
อันเป็นแดนเกษมจากโยคะ๑อันยอดเยี่ยม เราไม่เห็นเหตุอื่นแม้อย่างหนึ่งที่ทำเหตุซึ่ง
มีอยู่ภายในตนให้มีอุปการะมากอย่างนี้เหมือนโยนิโสมนสิการ(การมนสิการโดยแยบคาย)
นี้เลย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อมนสิการโดยแยบคายย่อมละอกุศลได้ และทำกุศล
ให้เจริญ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ไม่มีธรรมอื่นที่จะมีอุปการะมาก
แก่ภิกษุผู้เป็นพระเสขะเพื่อการบรรลุประโยชน์สูงสุด
เหมือนกับโยนิโสมนสิการ
เพราะภิกษุเมื่อเริ่มตั้งความเพียรด้วยโยนิโสมนสิการไว้
ก็พึงบรรลุความสิ้นทุกข์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมเสขสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ หมายถึงอรหัตตผลและนิพพาน (ขุ.อิติ.อ. ๑๖/๗๐,๑๘/๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๘. สังฆเภทสูตร
๗. ทุติยเสขสูตร
ว่าด้วยพระเสขะ สูตรที่ ๒
[๑๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้เป็นพระเสขะยังไม่บรรลุ ปรารถนาจะบรรลุธรรม
อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เราไม่เห็นเหตุอื่นแม้อย่างหนึ่งที่ทำเหตุซึ่งมี
อยู่ภายนอกตนให้มีอุปการะมากอย่างนี้เหมือนความเป็นผู้มีมิตรดีนี้เลย ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมละอกุศลได้ และทำกุศลให้เจริญ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีความเคารพ ยำเกรง
ปฏิบัติตามคำของมิตรทั้งหลาย
มีสติสัมปชัญญะมั่นคง
ก็พึงถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงได้โดยลำดับ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยเสขสูตรที่ ๗ จบ

๘. สังฆเภทสูตร
ว่าด้วยการทำสงฆ์ให้แตกกัน
[๑๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้น เพื่อไม่ใช่
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ประโยชน์ เพื่อไม่ใช่
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เกิดขึ้นเพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๙. สังฆสามัคคีสูตร
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
คือ สังฆเภท๑
ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อสงฆ์แตกกัน ย่อมมีความบาดหมางกัน มีการบริภาษกัน
มีการดูหมิ่นกัน และมีการขับไล่กัน ในเพราะสังฆเภทนั้น ชนทั้งหลายที่ยังไม่เลื่อมใส
ก็ไม่เลื่อมใส และบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ก็ย่อมเป็นอื่นไป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ยินดีในการแตกกัน
ตั้งอยู่ในอธรรม เป็นผู้เข้าถึงอบาย อยู่ในนรกตลอดกัป
พลาดจากธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ๒
เสวยผลกรรมอยู่ในนรกตลอดกัป
เพราะทำลายสงฆ์ที่สามัคคีกันให้แตกแยกกัน๓
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สังฆเภทสูตรที่ ๘ จบ

๙. สังฆสามัคคีสูตร
ว่าด้วยการทำสงฆ์ให้สามัคคีกัน
[๑๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่
คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เกิดขึ้นเพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ สังฆเภท หมายถึงการทำสงฆ์ให้แตกจากกัน เช่นการไม่ทำอุโบสถ ปวารณา และสังฆกรรมร่วมกัน
(ขุ.อิติ.อ. ๑๘/๗๘)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๓๖๐ ในเล่มนี้
๓ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๕๔/๒๑๖, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๓๙/๙๑, อภิ.ก. ๓๗/๖๕๗/๓๙๕-๓๙๖,๘๖๒/๔๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๐. ปทุฏฐจิตตสูตร
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
คือ สังฆสามัคคี
ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ย่อมไม่มีความบาดหมางกัน ไม่มี
การข่มขู่กัน ไม่มีการด่าว่ากัน และไม่มีการขับไล่กัน ในเพราะความสามัคคีของสงฆ์
นั้น ชนทั้งหลายที่ยังไม่เลื่อมใส ก็เลื่อมใส ส่วนชนทั้งหลายที่เลื่อมใสแล้ว ก็เลื่อมใส
ยิ่ง ๆ ขึ้นไป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ความสามัคคีแห่งสงฆ์ เป็นเหตุให้เกิดสุข
และบุคคลผู้อนุเคราะห์สงฆ์ผู้สามัคคีกันแล้ว
ผู้ยินดีในความสามัคคีกัน ตั้งอยู่ในธรรม
ย่อมไม่พลาดจากธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ย่อมบันเทิงในสวรรค์ตลอดกัป เพราะสมานสงฆ์ให้สามัคคีกัน๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สังฆสามัคคีสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ปทุฏฐจิตตสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีจิตถูกประทุษร้าย๒
[๒๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดวาระจิตของบุคคลผู้มีจิตถูกประทุษร้ายบางคนใน
โลกนี้ด้วยใจ จึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ถ้าบุคคลนี้ตายในขณะนี้ จะถูกไหม้ในนรกเหมือนถูก
นำไปฝังไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะจิตของเขาถูกประทุษร้าย ภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๕๔/๒๑๗, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๔๐/๙๒
๒ จิตถูกประทุษร้าย หมายถึงจิตขุ่นมัวด้วยกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๒๐/๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ก็เพราะเหตุที่มีจิตถูกประทุษร้ายนั่นเอง สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ หลังจาก
ตายแล้วจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ด้วยอาการอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระพุทธเจ้าทรงรู้บุคคลบางคน
ผู้มีจิตถูกประทุษร้ายแล้วในโลกนี้
จึงทรงขยายเนื้อความนี้ให้ชัดแก่ภิกษุในที่ใกล้ว่า
ถ้าบุคคลนี้ตายในขณะนี้ ต้องไปเกิดในนรก
เพราะจิตของเขาถูกประทุษร้าย
เขาเป็นอย่างนั้น เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ก็เพราะเหตุที่มีจิตถูกประทุษร้าย
สัตว์ทั้งหลายจึงไปสู่ทุคติ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปทุฏฐจิตตสูตรที่ ๑๐ จบ
ทุติยวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โมหปริญญาสูตร ๒. โกธปริญญาสูตร
๓. มักขปริญญาสูตร ๔. อวิชชานีวรณสูตร
๕. ตัณหาสังโยชนสูตร ๖. ปฐมเสขสูตร
๗. ทุติยเสขสูตร ๘. สังฆเภทสูตร
๙. สังฆสามัคคีสูตร ๑๐. ปทุฏฐจิตตสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๑. ปสันนจิตตสูตร
๓. ตติยวรรค
หมวดที่ ๓
๑. ปสันนจิตตสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใส
[๒๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดวาระจิตของบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใสบางคนในโลกนี้ด้วยใจ
จึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ถ้าบุคคลนี้ตายในขณะนี้ จะดำรงอยู่ในสวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญ
ไปประดิษฐานไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะจิตของเขาเลื่อมใส ภิกษุทั้งหลาย
ก็เพราะเหตุที่มีจิตเลื่อมใสนั่นเอง สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้ว
จึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ด้วยอาการอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระพุทธเจ้าทรงรู้บุคคลบางคน
ผู้มีจิตเลื่อมใส๑ในโลกนี้
จึงทรงขยายเนื้อความนี้ให้ชัดแก่ภิกษุในที่ใกล้ว่า
ถ้าบุคคลนี้ตายในขณะนี้ ต้องไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
เพราะจิตของเขาเลื่อมใส
เขาเป็นอย่างนั้น เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ก็เพราะเหตุที่มีจิตเลื่อมใส สัตว์ทั้งหลายจึงไปสู่สุคติ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปสันนจิตตสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีจิตเลื่อมใส หมายถึงผู้มีศรัทธาเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย และเชื่อผลแห่งกรรม (ขุ.อิติ.อ. ๒๑/๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๒. เมตตสูตร
๒. เมตตสูตร
ว่าด้วยการเจริญเมตตา
[๒๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวบุญเลย คำว่า ‘บุญ’ นี้ เป็นชื่อของความสุข
ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ เรารู้ชัดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก
น่าพอใจของบุญที่เราทำไว้ตลอดกาลนาน เราเจริญเมตตาพรหมวิหารมาถึง ๗ ปี
จึงไม่มาเกิดในโลกนี้อีกถึง ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป๑ ทราบมาว่า เมื่อกัปพินาศไป เราบังเกิด
อยู่ในพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อกัปเจริญขึ้นใหม่ เราบังเกิดอยู่ในพรหมวิมานที่ว่างเปล่า
ภิกษุทั้งหลาย ณ พรหมวิมานนั้น เราเป็นพรหม เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครเทียบ
ได้ด้วยคุณธรรม เป็นผู้สามารถเห็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้อย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้
บังคับจิตให้เป็นไปในอำนาจของตนได้ ภิกษุทั้งหลาย เราเคยเป็นท้าวสักกะจอมเทพ
ถึง ๓๖ ชาติติดต่อกัน เคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชามีอำนาจ
แผ่ไปทั่วมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นผู้พิชิตชัยได้ทั้งภายในและภายนอก มีแว่นแคว้น
มั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ๒ นับได้หลายร้อยครั้ง
ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดินประเทศราชเลย
เรานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ เราเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากถึง
เพียงนี้ด้วยผลของกรรมและวิบากของกรรมอะไรหนอ’

เชิงอรรถ :
๑ ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป หมายถึง ๗ มหากัป (ขุ.อิติ.อ.๒๒/๘๖)
๒ รัตนะ ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นารีแก้ว คหบดีแก้ว และปริณายกแก้ว (ที.สี.
(แปล) ๙/๒๕๘/๘๙, ที.ม. (แปล) ๑๐/๒๔๓-๒๕๑/๑๘๓-๑๘๗, ที.ปา. ๑๑/๑๙๙/๑๒๓, องฺ.สตฺตก. (แปล)
๒๓/๖๒/๑๒๐, ขุ.อิติ.อ.๒๒/๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๓. อุภยัตถสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เราตอบตนเองได้ว่า ‘บัดนี้ เราเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
ถึงเพียงนี้ด้วยผลของกรรมและวิบากของกรรม ๓ ประการ คือ
๑. ทาน (การให้)๑
๒. ทมะ (การฝึกตน)๒
๓. สัญญมะ (การสำรวม)๓”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บัณฑิตพึงศึกษาบุญที่ดีเลิศ
มีความสุขเป็นกำไรเท่านั้น คือพึงบำเพ็ญทาน
ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ และเจริญเมตตาจิต
บัณฑิตครั้นบำเพ็ญธรรม ๓ ประการ
อันเป็นเหตุเกิดความสุขเหล่านี้แล้ว
ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุข ซึ่งไม่มีการเบียดเบียนกัน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เมตตสูตรที่ ๒ จบ

๓. อุภยัตถสูตร
ว่าด้วยประโยชน์ทั้งสอง
[๒๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมถือเอา
ประโยชน์ทั้งสองได้ คือ ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า

เชิงอรรถ :
๑ การให้ ในที่นี้หมายถึงการบริจาคไทยธรรมมีข้าวเป็นต้น (ขุ.อิติ.อ.๒๒/๘๙)
๒ การฝึกตน ในที่นี้หมายถึงการสำรวมอินทรีย์มีตาเป็นต้น และการข่มกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๒๒/๘๙)
๓ การสำรวม หมายถึงการสำรวมกาย วาจา (ขุ.อิติ.อ.๒๒/๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๔. อัฏฐิปุญชสูตร
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
คือ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล ที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม
ถือเอาประโยชน์ทั้งสองได้ คือ ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท
ในการทำบุญทั้งหลาย
บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมบรรลุประโยชน์ทั้งสอง
ธีรชน เราเรียกว่า บัณฑิต
เพราะยึดประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ คือ
ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในภายหน้า๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อุภยัตถสูตรที่ ๓ จบ

๔. อัฏฐิปุญชสูตร
ว่าด้วยร่างกระดูก
[๒๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลคนหนึ่งพึงแล่นไป ท่องเที่ยวไปตลอดกัป โครงกระดูก
ร่างกระดูก กองกระดูก ถ้ามีคนรวบรวมเก็บไว้ และไม่สูญหายไป ก็จะเป็นกอง
กระดูกใหญ่โตเท่าภูเขาเวปุลละนี้แน่นอน”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๒๘/๑๕๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๕. มุสาวาทสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า
กองกระดูกของคนคนหนึ่ง ตลอดกัปหนึ่ง
จะเป็นกองกระดูกเสมอเท่าภูเขา
ภูเขาเวปุลละนี้นั้น เป็นภูเขากว้างใหญ่
ตั้งอยู่ทางเหนือภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ของชาวมคธ
เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นอริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความพ้นทุกข์ และอริยมรรคมีองค์ ๘
ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ
เมื่อนั้น บุคคลนั้นแล่นไปแล้วอีก ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง
ก็จะทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะสังโยชน์ทั้งปวงสิ้นไป
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อัฏฐิปุญชสูตรที่ ๔ จบ

๕. มุสาวาทสูตร
ว่าด้วยการกล่าวเท็จ
[๒๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลล่วงละเมิดธรรมอย่างหนึ่งแล้ว เราขอบอกว่า
บาปกรรมอะไร ๆ อย่างอื่นที่เขาจะไม่ทำนั้นย่อมไม่มี
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
คือ สัมปชานมุสาวาท (การกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่)”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๖. ทานสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
คนที่ล่วงละเมิดธรรมอย่างหนึ่ง
มักกล่าวเท็จเสมอ ปฏิเสธปรโลก
จะไม่ทำบาปนั้นไม่มี๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มุสาวาทสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทานสูตร
ว่าด้วยการให้
[๒๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งทานเจตนาและการจำแนกทาน
เหมือนอย่างที่เรารู้ สัตว์เหล่านั้นไม่ให้ทานเสียก่อน ก็จะไม่บริโภค และมลทินคือ
ความตระหนี่ก็จะไม่พึงครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้นได้ แม้คำข้าวคือก้อนข้าวของ
สัตว์เหล่านั้นจะพึงเหลืออยู่คำสุดท้ายก็ตาม
ถ้าปฏิคาหกของพวกเขายังมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นยังไม่ได้แบ่งคำข้าวคำสุดท้าย
แม้นั้น(ให้แก่ปฏิคาหก) ก็จะไม่บริโภค ภิกษุทั้งหลาย แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ผล

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๑๗๖ หน้า ๘๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๖. ทานสูตร
แห่งทานเจตนาและการจำแนกทานเหมือนอย่างที่เรารู้ ฉะนั้น สัตว์เหล่านั้นจึงไม่ให้ทาน
เสียก่อนแล้วบริโภค และมลทินคือความตระหนี่ก็ครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้นได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ถ้าสัตว์ทั้งหลายรู้ผลของการจำแนกทาน
ตามที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ตรัสไว้
โดยวิธีที่วิบากนั้นจะมีผลมากอย่างนี้
พึงกำจัดมลทินคือความตระหนี่ มีใจเลื่อมใสยิ่ง
พึงถวายทานตามกาลในพระอริยะทั้งหลาย
ซึ่งเป็นเขตที่ทานอันบุคคลถวายแล้วมีผลมาก
อนึ่ง ทายกจำนวนมากถวายข้าว
ให้เป็นทักษิณาทานในพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย
ตายจากมนุษยโลกนี้แล้ว ย่อมไปเกิดในสวรรค์
ครั้นไปเกิดในสวรรค์นั้นแล้ว
ยังปรารถนากามอยู่ แต่ไม่ตระหนี่
ก็จะบันเทิงในสวรรค์นั้น เสวยผลของการจำแนกทานอยู่
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทานสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๗. เมตตาภาวนาสูตร
๗. เมตตาภาวนาสูตร
ว่าด้วยการเจริญเมตตา
[๒๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ๑ที่มีอุปธิเป็นเหตุทั้งหมด ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่ง
เมตตาเจโตวิมุตติ เมตตาเจโตวิมุตติเท่านั้น แผ่แสงบริสุทธิ์ แผดเผากิเลส รุ่งเรือง
เหนือกว่าบุญกิริยาวัตถุทั้งหมดนั้น
แสงดาวทุกดวงรวมกัน ก็ยังสว่างไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งแสงจันทร์ แสงจันทร์
เท่านั้นกระจ่าง สว่างไสว รุ่งเรืองข่มแสงดาวทั้งหมดนั้น ฉันใด บุญกิริยาวัตถุที่มี
อุปธิเป็นเหตุทั้งหมดนั้นไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งเมตตาเจโตวิมุตติ ฉันนั้นเหมือนกัน
เมตตาเจโตวิมุตติเท่านั้น แผ่แสงบริสุทธิ์ แผดเผากิเลส รุ่งเรืองเหนือกว่าบุญกิริยา-
วัตถุทั้งหมดนั้น
เมื่ออากาศโปร่ง ปราศจากเมฆหมอกในสารทกาลในช่วงเดือนท้ายของฤดูฝน
ดวงอาทิตย์ลอยขึ้นอยู่บนอากาศ แผดแสงเจิดจ้า สว่างไสว ไล่ขจัดความมืดสลัวให้
หมดไป ฉันใด บุญกิริยาวัตถุที่มีอุปธิเป็นเหตุทั้งหมดนั้น ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่ง
เมตตาเจโตวิมุตติก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมตตาเจโตวิมุตติเท่านั้น แผ่แสงบริสุทธิ์
แผดเผากิเลส รุ่งเรืองเหนือกว่าบุญกิริยาวัตถุทั้งหมดนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ดาวประกายพรึกทั้งหลาย ต่างทอแสง
แพรวพราวระยิบระยับ ฉันใด บุญกิริยาวัตถุที่มีอุปธิเป็นเหตุทั้งหมด ไม่ถึงเสี้ยว
ที่ ๑๖ แห่งเมตตาเจโตวิมุตติ ฉันนั้นเหมือนกัน เมตตาเจโตวิมุตติเท่านั้น แผ่แสง
บริสุทธิ์ แผดเผากิเลส รุ่งเรืองเหนือกว่าบุญกิริยาวัตถุทั้งหมดนั้น

เชิงอรรถ :
๑ บุญกิริยาวัตถุ หมายถึงการบำเพ็ญบุญอันเป็นเหตุให้ได้อานิสงส์ มี ๓ อย่าง คือ (๑) ทานมัย (๒) สีลมัย
(๓) ภาวนามัย (ขุ.อิติ.อ. ๒๗/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๗. เมตตาภาวนาสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้มีสติตั้งมั่น เจริญเมตตาแผ่ไปไม่มีประมาณ
พิจารณาเห็นธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ ย่อมมีสังโยชน์เบาบาง
หากบุคคลมีจิตไม่คิดประทุษร้ายสัตว์แม้ชีวิตเดียว
เจริญเมตตาเป็นประจำอยู่
ก็เป็นผู้ชื่อว่าฉลาดเพราะการเจริญเมตตานั้น
แต่พระอริยบุคคลผู้มีใจอนุเคราะห์สัตว์ทุกหมู่เหล่า
ชื่อว่าสั่งสมบุญไว้เป็นอันมาก
พระราชาผู้ทรงธรรมเช่นกับฤๅษี
ทรงชนะใจหมู่สัตว์ทั่วแผ่นดินด้วยราชธรรม
ทรงบูชายัญ คือ (สัสสเมธะ ปุริสเมธะ สัมมาปาสะ
วาชเปยยะ และนิรัคคฬะ)๑ เสด็จเที่ยวไป

เชิงอรรถ :
๑ ยัญ ๕ นี้ เดิมทีเดียว คือราชสังคหวัตถุ(หลักสงเคราะห์ของพระราชา) มีดังนี้ (๑) สัสสเมธะ (ฉลาดในการ
บำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร) (๒) ปุริสเมธะ (ฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ)
(๓) สัมมาปาสะ (ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ) (๔) วาชเปยยะ (ความมี
วาจาอันดูดดื่มน้ำใจ) (๕) นิรัคคฬะ (บ้านเมืองสงบสุข ปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่ต้องระแวงภัย บ้านเรือนไม่
ต้องลงกลอน) ยัญ ๔ ประการแรก เป็นเหตุ ส่วนยัญประการสุดท้ายเป็นผล
ต่อมาพราหมณ์สมัยหนึ่งดัดแปลงเป็นการบูชายัญ เพื่อผลประโยชน์ในทางลาภสักการะแก่ตน และมี
ความหมายแตกต่างออกไปดังนี้ อัสสเมธะ (การฆ่าม้าบูชายัญ) ปุริสเมธะ (การฆ่าคนบูชายัญ) สัมมาปาสะ
(การทำบ่วงแล้วขว้างไม้ลอดบ่วง ไม้ตกที่ไหนก็ทำพิธีบูชายัญที่นั่น) วาชเปยยะ (การดื่มน้ำเมาเพื่อกล่อม
จิตใจให้พร้อมที่จะบูชายัญ) นิรัคคฬะ (ยัญไม่มีลิ่มสลัก คือทั่วไปไม่มีขีดขั้นจำกัด หรือการฆ่าครบทุกอย่าง
บูชายัญ) (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑/๒๑๓, ขุ.อิติ.อ. ๒๗/๑๐๖-๑๐๘, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๓๙/๓๗๑-๓๗๒, องฺ.อฏฺฐก.
ฏีกา ๓/๑/๒๔๙-๒๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ยัญเหล่านั้น ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖
แห่งเมตตาเจโตวิมุตติที่บุคคลเจริญดีแล้ว
(เหมือนแสงหมู่ดวงดาวทุกดวงไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งแสงจันทร์ ฉะนั้น)
ผู้มีเมตตาในสัตว์ทุกหมู่เหล่า
จะไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า
ไม่ชนะเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นชนะ ไม่มีเวรกับใคร ๆ๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เมตตาภาวนาสูตรที่ ๗ จบ
ตติยวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปสันนจิตตสูตร ๒. เมตตสูตร
๓. อุภยัตถสูตร ๔. อัฏฐิปุญชสูตร
๕. มุสาวาทสูตร ๖. ทานสูตร
๗. เมตตาภาวนาสูตร

รวมพระสูตรในนิบาตนี้
ในเอกกนิบาตนี้มีพระสูตรรวมได้ ๒๗ สูตร คือ ในวรรคนี้มี ๗ สูตร ใน ๒
วรรคข้างต้นมี ๒๐ สูตร
เอกกนิบาต จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๑/๑๙๔-๑๙๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑. ทุกขวิหารสูตร
๒. ทุกนิบาต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. ทุกขวิหารสูตร
ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นทุกข์
[๒๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมอยู่เป็นทุกข์
อึดอัด คับแค้น กระวนกระวายในปัจจุบันนี้ หลังจากมรณภาพแล้ว พึงหวังได้ทุคติ
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๒. ความไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมอยู่เป็นทุกข์
อึดอัด คับแค้น กระวนกระวายในปัจจุบันนี้ หลังจากมรณภาพแล้ว พึงหวังได้ทุคติ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุใดไม่คุ้มครองทวารทั้ง ๖ นี้ คือ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ทั้งไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
ไม่สำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย
ภิกษุนั้นย่อมประสบทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ
ภิกษุเช่นนั้นจะมีแต่ความรุ่มร้อนกาย เร่าร้อนใจ
ชื่อว่าอยู่เป็นทุกข์ทั้งกลางวันและกลางคืน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุกขวิหารสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๒. สุขวิหารสูตร
๒. สุขวิหารสูตร
ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข
[๒๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่อึดอัด
ไม่คับแค้น ไม่กระวนกระวายในปัจจุบันนี้ หลังจากมรณภาพแล้วพึงหวังได้สุคติ
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๒. ความรู้จักประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมอยู่เป็นสุข
ไม่อึดอัด ไม่คับแค้น ไม่กระวนกระวายในปัจจุบันนี้ หลังจากมรณภาพแล้วพึง
หวังได้สุคติ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุใดคุ้มครองทวารทั้ง ๖ นี้ คือ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ทั้งรู้จักประมาณในการบริโภค สำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย
ภิกษุนั้นย่อมประสบสุขทั้งทางกายและทางใจ
ภิกษุเช่นนั้นจะไม่มีความรุ่มร้อนกาย เร่าร้อนใจเลย
ชื่อว่าอยู่เป็นสุขทั้งกลางวันและกลางคืน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สุขวิหารสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๓. ตปนียสูตร
๓. ตปนียสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้เดือดร้อน
[๓๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเหตุให้เดือดร้อน ๒ ประการนี้
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำบุญเครื่อง
ต่อต้านความหวาดกลัวทุกข์ไว้ ทำแต่ความชั่ว ทำแต่ความหยาบช้า ทำแต่ความ
ร้ายกาจไว้
๑. เขาคิดว่า “เราไม่ได้ทำความดีไว้” จึงเดือดร้อน
๒. เขาคิดว่า “เราทำแต่ความชั่ว” จึงเดือดร้อน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นเหตุให้เดือดร้อน ๒ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลมีปัญญาทราม ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
และอกุศลกรรมอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยโทษ
ไม่ทำกุศลกรรมไว้ ทำแต่อกุศลกรรมไว้มากมาย
หลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในนรก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ตปนียสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๔. อตปนียสูตร
๔. อตปนียสูตร
ว่าด้วยธรรมไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน
[๓๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน ๒ ประการนี้
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำความดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำบุญเครื่องต่อต้านความ
หวาดกลัวทุกข์ไว้ ไม่ได้ทำความชั่ว ไม่ได้ทำความหยาบช้า ไม่ได้ทำความร้ายกาจไว้
๑. เขาคิดว่า “เราทำความดีไว้” จึงไม่เดือดร้อน
๒. เขาคิดว่า “เราไม่ได้ทำความชั่วไว้” จึงไม่เดือดร้อน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน ๒ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังต่อไปนี้
บุคคลผู้มีปัญญา ละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
และอกุศลกรรมอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยโทษได้แล้ว
ไม่ทำอกุศลกรรมไว้ ทำแต่กุศลกรรมไว้มากมาย
หลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อตปนียสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๕. ปฐมสีลสูตร
๕. ปฐมสีลสูตร
ว่าด้วยศีลและทิฏฐิ สูตรที่ ๑
[๓๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ศีลวิบัติ (ความวิบัติแห่งศีล)
๒. มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
นรชนผู้มีปัญญาทราม ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้
คือ ศีลวิบัติ และมิจฉาทิฏฐิ
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในนรก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมสีลสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๖. ทุติยสีลสูตร
๖. ทุติยสีลสูตร
ว่าด้วยศีลและทิฏฐิ สูตรที่ ๒
[๓๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ศีลสมบัติ (ความสมบูรณ์แห่งศีล)
๒. สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่
ในสวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
นรชนผู้มีปัญญา ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้
คือ ศีลสมบัติ และสัมมาทิฏฐิ
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยสีลสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๗. อาตาปีสูตร
๗. อาตาปีสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ไม่มีความเพียร
[๓๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ จึงไม่ควรเพื่อตรัสรู้
ไม่ควรเพื่อนิพพาน ไม่ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีความเพียร มีโอตตัปปะนั้นแล จึงควรเพื่อตรัสรู้ ควรเพื่อ
นิพพาน ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ
เป็นผู้เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน
มักท้อแท้ ง่วงซึม ไม่มีหิริ
ไม่มีความเอื้อเฟื้อต่อธรรม เช่นนี้
ย่อมไม่ควรเพื่อจะบรรลุสัมโพธิ๑อันยอดเยี่ยมได้
แต่ภิกษุผู้มีสติ มีปัญญารักษาตน
มีฌาน มีความเพียร
มีโอตตัปปะ และไม่ประมาท
ตัดสังโยชน์๒ในชาติ ชราได้แล้ว
พึงบรรลุสัมโพธิอันยอดเยี่ยม ในอัตภาพนี้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อาตาปีสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.อิติ.อ. ๓๔/๑๒๑)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๓๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๘. ปฐมนกุหนสูตร
๘. ปฐมนกุหนสูตร๑
ว่าด้วยการไม่หลอกลวง สูตรที่ ๑
[๓๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้ มิใช่เพื่อจะลวงคน มิใช่เพื่อจะ
เกลี้ยกล่อมคน มิใช่เพื่ออานิสงส์คือลาภสักการะและการสรรเสริญ มิใช่เพื่อให้
คนรู้ว่า ‘คนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้’ แท้จริง ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้ก็เพื่อ
สังวร๒ และเพื่อปหานะ๓เท่านั้น”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์อันเป็นธรรมกำจัดความจัญไร๔
ทำให้สัตว์ถึงนิพพานเพื่อสังวร เพื่อปหานะ
ทางนี้ ท่านผู้ใหญ่ผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่ดำเนินไปแล้ว
อนึ่ง เหล่าชนผู้ปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมนกุหนสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๕/๔๑
๒ สังวร (การสำรวม) มี ๕ อย่าง คือ (๑) ปาติโมกขสังวร (สำรวมในปาติโมกข์) (๒) สติสังวร (สำรวม
ด้วยสติ) (๓) ญาณสังวร (สำรวมด้วยญาณ) (๔) ขันติสังวร (สำรวมด้วยขันติ) (๕) วิริยสังวร (สำรวม
ด้วยความเพียร) (ขุ.อิติ.อ. ๓๕/๑๒๖, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๒๕/๓๒๓-๓๒๔)
๓ ปหานะ (การละ) มี ๕ อย่าง คือ (๑) ตทังคปหานะ (ละกิเลสด้วยองค์นั้น ๆ) (๒) วิกขัมภนปหานะ
(ละกิเลสด้วยการข่มไว้) (๓) สมุจเฉทปหานะ (ละกิเลสด้วยตัดขาด) (๔) ปฏิปัสสัทธิปหานะ (ละกิเลส
ด้วยสงบระงับ) (๕) นิสสรณปหานะ (ละกิเลสด้วยสลัดออกได้) (ขุ.อิติ.อ. ๓๕/๑๒๖, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา
๒/๒๕/๓๒๔-๓๒๕)
๔ความจัญไร มีความหมายหลายนัย คือ นัยที่ ๑ หมายถึงอุปัททวะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต นัยที่ ๒
หมายถึงอุปกิเลสมีตัณหาเป็นต้น นัยที่ ๓ หมายถึงลัทธิเดียรถีย์ นัยที่ ๔ หมายถึงวิจิกิจฉา (ขุ.อิติ.อ.
๓๕/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑๐. โสมนัสสสูตร
๙. ทุติยนกุหนสูตร
ว่าด้วยการไม่หลอกลวง สูตรที่ ๒
[๓๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้ มิใช่เพื่อจะลวงคน มิใช่เพื่อจะ
เกลี้ยกล่อมคน มิใช่เพื่ออานิสงส์คือลาภสักการะและการสรรเสริญ มิใช่เพื่อให้
คนรู้ว่า “คนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้” แท้จริง ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้
ก็เพื่อความรู้ยิ่ง และเพื่อความรอบรู้เท่านั้น”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์อันเป็นธรรมกำจัดความจัญไร
ทำให้สัตว์ถึงนิพพาน ก็เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรอบรู้
ทางนี้ ท่านผู้ใหญ่ผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่ดำเนินไปแล้ว
อนึ่ง เหล่าชนผู้ปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยนกุหนสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. โสมนัสสสูตร
ว่าด้วยโสมนัส
[๓๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมอยู่อย่างมีความสุข
โสมนัสมากในปัจจุบัน และย่อมเริ่มประกอบความเพียรโดยแยบคาย เพื่อความ
สิ้นอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความมีสังเวคธรรม๑ในฐานะที่ควรมีสังเวคธรรม๒
๒. ความเพียรโดยแยบคายแห่งบุคคลผู้มีสังเวคธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมอยู่อย่างมี
ความสุขโสมนัสมากในปัจจุบัน และย่อมเริ่มประกอบความเพียรโดยแยบคาย เพื่อ
ความสิ้นอาสวะ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต มีความเพียร
มีปัญญารักษาตน พิจารณาเห็นชอบด้วยปัญญา
ควรมีสังเวคธรรมในฐานะที่ควรมีสังเวคธรรมทีเดียว
ภิกษุผู้มีความเพียร มีความประพฤติสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน
หมั่นประกอบอุบายเป็นเครื่องสงบใจอยู่อย่างนี้
พึงถึงความสิ้นทุกข์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โสมนัสสสูตรที่ ๑๐ จบ
ปฐมวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ทุกขวิหารสูตร ๒. สุขวิหารสูตร
๓. ตปนียสูตร ๔. อตปนียสูตร
๕. ปฐมสีลสูตร ๖. ทุติยสีลสูตร
๗. อาตาปีสูตร ๘. ปฐมนกุหนสูตร
๙. ทุติยนกุหนสูตร ๑๐. โสมนัสสสูตร


เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๗๖ ในเล่มนี้
๒ ฐานะที่ควรมีสังเวคธรรม หมายถึงชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ในอบาย วัฏฏมูลกทุกข์ อาหารปริเยฏฐิมูลกทุกข์
(ขุ.อิติ.อ. ๓๗/๑๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑. วิตักกสูตร
๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
๑. วิตักกสูตร
ว่าด้วยวิตก
[๓๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย วิตก ๒ ประการ คือ เขมวิตก๑ และวิเวกวิตก๒ ย่อมแผ่ซ่าน
ไปยังตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอันมาก ตถาคตพอใจความไม่เบียดเบียน
ยินดีความไม่เบียดเบียน วิตกนั่นแลแผ่ซ่านไปยังตถาคตผู้พอใจความไม่เบียดเบียน
ยินดีในความไม่เบียดเบียนเป็นอันมากว่า “เราจะไม่เบียดเบียนสัตว์ใด ๆ ทั้งที่ยังมีจิต
หวาดสะดุ้งหรือมีจิตมั่นคงด้วยการทำนี้”
ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตพอใจความสงัด ยินดีความสงัด วิตกนั่นแลแผ่ซ่านไปยัง
ตถาคตผู้พอใจความสงัด ยินดีความสงัดเป็นอันมากว่า ‘สิ่งใดเป็นอกุศล สิ่งนั้นเรา
ละได้แล้ว’ เพราะเหตุดังกล่าวนั้น แม้เธอทั้งหลายก็จงพอใจความไม่เบียดเบียน
ยินดีความไม่เบียดเบียนอยู่เถิด เธอทั้งหลายซึ่งพอใจความไม่เบียดเบียน ยินดีความ
ไม่เบียดเบียนอยู่ วิตกนี้นั้นแลจะแผ่ซ่านไปเป็นอันมากว่า “เราทั้งหลายจะไม่
เบียดเบียนสัตว์ใด ๆ ทั้งที่ยังมีจิตหวาดสะดุ้งหรือมีจิตมั่นคงด้วยการทำนี้”
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพอใจความสงัด ยินดีความสงัดอยู่เถิด เมื่อเธอ
ทั้งหลายซึ่งพอใจความสงัด ยินดีความสงัด วิตกนี้นั้นแลจะแผ่ซ่านไปเป็นอันมากว่า
“อะไรคืออกุศล อกุศลอะไรที่เราทั้งหลายยังละไม่ได้ เราทั้งหลายจะละอกุศลอะไร”

เชิงอรรถ :
๑ เขมวิตก หมายถึงความตรึกที่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา และมุทิตา หรือหมายถึงอพยาบาทวิตก และ
อวิหิงสาวิตก (ขุ.อิติ.อ. ๓๘/๑๖๔-๑๖๘)
๒ วิเวกวิตก หมายถึงความตรึกที่ประกอบด้วยผลสมาบัติ หรือความตรึกที่ประกอบด้วยวิเวก ๓ ประการ คือ
กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก และประกอบด้วยวิเวก ๕ ประการ คือ ตทังควิเวก วิกขัมภนวิเวก สมุจเฉทวิเวก
ปฏิปัสสัทธิวิเวก นิสสรณวิเวก (ขุ.อิติ.อ. ๓๘/๑๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑. วิตักกสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
วิตก ๒ ประการ คือ เขมวิตกที่ทรงยกขึ้นแสดงเป็นข้อที่ ๑
วิเวกวิตกที่ทรงประกาศเป็นข้อที่ ๒
ย่อมแผ่ซ่านไปยังตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพิชิตมาร
มุนีผู้บรรเทาความมืด ผู้ถึงฝั่ง
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ผู้ถึงคุณอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายพึงถึง
ผู้มีความชำนาญ ผู้ไม่มีอาสวะ ผู้ข้ามวัฏฏทุกข์อันเป็นยาพิษ
ผู้น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา
ผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้ายนั้นแล
เรากล่าวว่า เป็นผู้ละมาร เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งชรา
บุรุษ (ผู้มีตาดี) ยืนอยู่บนยอดภูเขาศิลาล้วน
พึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ แม้ฉันใด
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญาดี มีสมันตจักขุ๑
หมดความโศกแล้ว เสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม
ทรงพิจารณาเห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก
และถูกชาติชราครอบงำได้ชัดเจน๒ ฉันนั้น
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
วิตักกสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สมันตจักขุ หมายถึงสัพพัญญุตญาณ (ที.ม.อ. ๒/๗๐/๖๖, ขุ.อิติ.อ. ๓๘/๑๗๓)
๒ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๘/๑๓, ที.ม. (แปล) ๑๐/๗๐/๔๐, ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๘๒/๓๐๖-๓๐๗, ม.ม. (แปล)
๑๓/๓๓๘/๔๐๘, สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๗๒/๒๓๑, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๓๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๕/๓๐๔
และดู ขุ.อิติ.อ. ๓๘/๑๗๓ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๒. เทสนาสูตร
๒. เทสนาสูตร
ว่าด้วยธรรมเทศนา
[๓๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าโดยปริยาย
มี ๒ ประการ
ธรรมเทศนา ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ธรรมเทศนาว่า “ท่านทั้งหลายจงเห็นบาปว่าเป็นบาป” นี้จัดเป็น
ธรรมเทศนาประการที่ ๑
๒. ธรรมเทศนาว่า “ท่านทั้งหลายครั้นเห็นบาปว่าเป็นบาปแล้ว จงเบื่อ
หน่ายคลายกำหนัด ปลดเปลื้องตนให้พ้นจากบาปนั้น” นี้จัดเป็น
ธรรมเทศนาประการที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าโดยปริยาย
มี ๒ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
เธอจงดูธรรมเทศนา ๒ ประการ
ที่ตถาคตพุทธเจ้าผู้ทรงอนุเคราะห์สัตว์ทุกหมู่เหล่า
ได้ทรงประกาศไว้แล้วโดยคำปริยาย
เธอทั้งหลายผู้ฉลาด จงพิจารณาเห็นบาป
จงคลายความยินดีในบาปนั้น
เธอทั้งหลายมีจิตคลายความยินดีในบาปนั้นแล้ว
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เทสนาสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๓. วิชชาสูตร
๓. วิชชาสูตร
ว่าด้วยวิชชา
[๔๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อวิชชา(ความไม่รู้)เป็นหัวหน้าแห่งความถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรม
ทั้งหลาย อหิริกะ(ความไม่อายบาป) และอโนตตัปปะ(ความไม่กลัวบาป)เป็นไปตาม
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชา(ความรู้)เป็นหัวหน้าแห่งความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม
ทั้งหลาย หิริ(ความอายบาป) และโอตตัปปะ(ความกลัวบาป)เป็นไปตาม”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ทุคติ๑อย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้และในโลกอื่น
ทั้งหมดมีอวิชชาเป็นมูลเหตุ
เกิดขึ้นด้วยความปรารถนาและความโลภ
อนึ่ง เพราะมีอวิชชาเป็นมูลเหตุ
คนจึงมีความปรารถนาชั่ว
ไม่มีหิริ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
เขาประสพ๒บาปอยู่เสมอ
เพราะบาปนั้น เขาต้องไปเกิดในอบายแน่นอน
เพราะฉะนั้น ภิกษุ เมื่อละฉันทะ โลภะ และอวิชชาได้
ทำวิชชาให้เกิดขึ้น จึงละทุคติทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
วิชชาสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ทุคติ หมายถึงก่อเกิดทุกข์มีพยาธิ และมรณะ เป็นต้น หรือหมายถึงข้อประพฤติที่ถูกกิเลสมีราคะเป็นต้น
ครอบงำ ได้แก่ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต (ขุ.อิติ.อ. ๔๐/๑๗๖)
๒ ประสพ ในที่นี้หมายถึงสั่งสมบาปมีกายทุจริต เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๔๐/๑๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๔. ปัญญาปริหีนสูตร
๔. ปัญญาปริหีนสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เสื่อมจากปัญญา
[๔๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่เสื่อมจากอริยปัญญา๑ ชื่อว่าเสื่อมถึงที่สุด
สัตว์เหล่านั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ คับแค้น อึดอัด เร่าร้อนในปัจจุบัน หลังจากตายแล้ว
พึงหวังได้ทุคติ
ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่ไม่เสื่อมจากอริยปัญญา ชื่อว่าไม่เสื่อม สัตว์เหล่านั้น
ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่คับแค้น ไม่อึดอัด ไม่เร่าร้อนในปัจจุบัน หลังจากตายแล้ว
พึงหวังได้สุคติ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ท่านจงดูชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกที่ยึดมั่นในนามรูป
เข้าใจว่า “นี้เท่านั้นเป็นจริง” เพราะเสื่อมจากปัญญา
ปัญญาที่เป็นเหตุให้ถึงความทำลายกิเลส
และปัญญาที่รู้ชัดความสิ้นไปแห่งชาติและภพโดยชอบ
เป็นปัญญาที่ประเสริฐในโลก
เทวดาและมนุษย์ ย่อมรักปรารถนาดี
ต่อพระสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
ผู้มีพระสติไพบูลย์ มีพระปัญญาผ่องใส
มีพระสรีระเป็นร่างกายสุดท้าย
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปัญญาปริหีนสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อริยปัญญา หมายถึงวิปัสสนาปัญญาและมัคคปัญญา (ขุ.อิติ.อ. ๔๑/๑๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๕. สุกกธัมมสูตร
๕. สุกกธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมฝ่ายขาว
[๔๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม๑ ๒ ประการนี้ ย่อมคุ้มครองโลก
สุกกธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. หิริ๒ ๒. โอตตัปปะ๓
ถ้าสุกกธรรม ๒ ประการนี้ไม่คุ้มครองโลก ในมนุษยโลกนี้ก็จะไม่ปรากฏ๔ให้รู้ว่า
หญิงนี้เป็นมารดา หญิงนี้เป็นน้า หญิงนี้เป็นป้า หญิงนี้เป็นภรรยาของอาจารย์หรือ
หญิงนี้เป็นภรรยาของครู มนุษยโลกก็จะประพฤติสำส่อนกันไปหมด เหมือนอย่าง
พวกแพะ แกะ ไก่ สุกร สุนัข และสุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุที่สุกกธรรม ๒ ประการนี้ยังคุ้มครองโลกอยู่
ฉะนั้นจึงยังปรากฏให้รู้ว่า หญิงนี้เป็นมารดา หญิงนี้เป็นน้า หญิงนี้เป็นป้า หญิงนี้
เป็นภรรยาของอาจารย์ หรือหญิงนี้เป็นภรรยาของครู”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ สุกกธรรม หมายถึงกุศลธรรม คือธรรมที่เป็นฝ่ายขาว หรือ ธรรมบริสุทธิ์ (ขุ.อิติ.อ. ๔๒/๑๗๙)
๒ หิริ หมายถึงความละอายต่ออกุศลธรรม (ขุ.อิติ.อ. ๔๒/๑๗๙)
๓ โอตตัปปะ หมายถึงความกลัวต่ออกุศลธรรม (ขุ.อิติ.อ. ๔๒/๑๗๙)
๔ ไม่ปรากฏ หมายถึงไม่ปรากฏความเคารพยำเกรงต่อกัน (ขุ.อิติ.อ. ๔๒/๑๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๖. อชาตสูตร
หากสัตว์เหล่าใดไม่มีหิริโอตตัปปะในกาลทุกเมื่อ
สัตว์เหล่านั้นก็ชื่อว่าปราศจากสุกกธรรม
เป็นผู้เข้าถึงชาติและมรณะ
ส่วนสัตว์เหล่าใดเข้าไปตั้งหิริและโอตตัปปะไว้โดยชอบ
สัตว์เหล่านั้นมีพรหมจรรย์งอกงาม สงบ มีภพใหม่สิ้นไปแล้ว๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สุกกธรรมสูตรที่ ๕ จบ

๖. อชาตสูตร
ว่าด้วยธรรมชาติที่ไม่เกิด
[๔๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ อันปัจจัยไม่ทำ อันปัจจัยไม่
ปรุงแต่ง มีอยู่จริง ภิกษุทั้งหลาย หากธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ อันปัจจัยไม่ทำ
อันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง จะไม่มีอยู่จริงไซร้ ในโลกนี้ก็จะไม่ปรากฏภาวะที่สลัดออกจาก
ธรรมชาติที่เกิด ที่ปรากฏ อันปัจจัยทำ อันปัจจัยปรุงแต่งได้เลย ภิกษุทั้งหลาย
ก็เพราะธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ อันปัจจัยไม่ทำ อันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง มีอยู่จริง
ฉะนั้น จึงปรากฏภาวะที่สลัดออกจากธรรมชาติที่เกิด ที่ปรากฏ อันปัจจัยทำ
อันปัจจัยปรุงแต่ง”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๐๘๒/๕๑๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๗. นิพพานธาตุสูตร
ธรรมชาติที่เกิด ที่ปรากฏ ที่เกิดขึ้นพร้อมแล้ว
อันปัจจัยทำ อันปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ยั่งยืน
ระคนด้วยชราและมรณะ เป็นรังแห่งโรค
มีความเสื่อมโทรมเป็นปกติ
มีอาหารและตัณหาเป็นแดนเกิด
บุคคลจึงไม่ควรยินดีธรรมชาติดังกล่าวนั้น
ความสลัดออกจากธรรมชาติดังกล่าวนั้นได้
เป็นความสงบ มิใช่วิสัยแห่งการคาดคะเน
เป็นภาวะที่ยั่งยืน
ธรรมชาติที่ไม่เกิด ที่ไม่เกิดขึ้นพร้อมแล้ว
ไม่มีความโศก ปราศจากธุลีคือกิเลส
เป็นภาวะควรเข้าถึงแท้จริง
ความดับแห่งธรรมชาติที่เป็นทุกข์ทั้งหลาย
คือความสงบระงับแห่งสังขาร เป็นความสุข
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อชาตสูตรที่ ๖ จบ

๗. นิพพานธาตุสูตร
ว่าด้วยนิพพานธาตุ
[๔๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้
นิพพานธาตุ ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
๒. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๒ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker