ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๐๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

พระสุตตันตปิฎก
สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค ๑๐. ปุณณมสูตร

ทำให้รูปขันธ์ปรากฏ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ อะไรเป็น
เหตุเป็นปัจจัยทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สังขารขันธ์
ปรากฏ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ปรากฏ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ มหาภูตรูป ๔ เป็นเหตุเป็นปัจจัย
ทำให้รูปขันธ์ปรากฏ ผัสสะเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ ผัสสะเป็น
เหตุเป็นปัจจัยทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ ผัสสะเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สังขารขันธ์
ปรากฏ นามรูปเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ปรากฏ”

เหตุเกิดสักกายทิฏฐิ

ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า”
แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิมีได้อย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็น
พระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของ
สัตบุรุษ พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป พิจารณา
เห็นรูปในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ...
พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ
พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ
ภิกษุ สักกายทิฏฐิมีได้อย่างนี้”

เหตุไม่มีสักกายทิฏฐิ

ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า”
แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักกายทิฏฐิมีไม่ได้อย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับ ได้
เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ
ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค ๑๐. ปุณณมสูตร

ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป ไม่พิจารณา
เห็นรูปในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในรูป ไม่พิจารณาเห็นเวทนา ... ไม่
พิจารณาเห็นสัญญา ... ไม่พิจารณาเห็นสังขาร ... ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดย
ความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณใน
อัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ
ภิกษุ สักกายทิฏฐิมีไม่ได้อย่างนี้”

คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากอุปาทานขันธ์

ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า”
แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ
อะไรเป็นเครื่องสลัดออกจากรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... อะไรเป็นคุณ
อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออกจากวิญญาณ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยรูปเกิดขึ้น นี้
เป็นคุณของรูป สภาพที่รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้เป็น
โทษของรูป ธรรมเป็นที่กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละฉันทราคะในรูป นี้เป็น
เครื่องสลัดออกจากรูป
สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยเวทนาเกิดขึ้น ... อาศัยสัญญาเกิดขึ้น ... อาศัย
สังขารเกิดขึ้น ... สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณของวิญญาณ
สภาพที่วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษของ
วิญญาณ ธรรมเป็นที่กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละฉันทราคะในวิญญาณ นี้เป็น
เครื่องสลัดออกจากวิญญาณ”

ความไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย

ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า”
แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลรู้ เห็นอย่างไรจึง
จะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัยในกายที่มีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งปวง
ในภายนอก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค ๑๐. ปุณณมสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต
อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต
ไกลหรือใกล้ก็ตาม ภิกษุนั้นพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตาม
ความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ...
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
.หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ภิกษุนั้น
พิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
ภิกษุ เมื่อบุคคลรู้ เห็นอย่างนี้จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย
ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งปวงในภายนอก”

กรรมที่อนัตตากระทำถูกต้องอัตตา

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
ได้ยินว่า รูปเป็นอนัตตา เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเป็นอนัตตา
เพราะเหตุนั้น กรรมที่ถูกอนัตตากระทำจักถูกต้องอัตตาได้อย่างไร”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงของภิกษุนั้นด้วยพระทัยแล้ว
ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่รู้แจ้ง
ตกอยู่ในอำนาจอวิชชา มีใจถูกตัณหาครอบงำ จะพึงเข้าใจสัตถุศาสน์ว่าเป็นคำ
สอนที่ควรคิดให้ตระหนักว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า รูปเป็นอนัตตา เวทนา
... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเป็นอนัตตา เพราะเหตุนั้น กรรมที่ถูกอนัตตา
กระทำจักถูกต้องอัตตาได้อย่างไร’
ภิกษุทั้งหลาย เราได้แนะนำเธอทั้งหลายไว้แล้วด้วยการสอบถามในธรรม
เหล่านั้นในบาลีนั้น ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค ๑๐. ปุณณมสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือ
ไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ...
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
มีภิกษุทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคในเรื่องต่อไปนี้ คือ
๑. เรื่องขันธ์ ๕
๒. เรื่องมูลเหตุแห่งขันธ์ ๕
๓. เรื่องฉันทราคะ
๔. เรื่องชื่อของขันธ์ ๕
๕. เรื่องเหตุปัจจัยแห่งการบัญญัติขันธ์ ๕
๖. เรื่องสักกายทิฏฐิ
๗. เรื่องเหตุไม่มีสักกายทิฏฐิ
๘. เรื่องคุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากขันธ์ ๕
๙. เรื่องไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย
๑๐. เรื่องกรรมที่อนัตตากระทำถูกต้องอัตตา
รวมปัญหาที่ทูลถาม ๑๐ ข้อด้วยกัน

ปุณณมสูตรที่ ๑๐ จบ
ขัชชนียวรรคที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัสสาทสูตร ๒. สมุทยสูตร
๓. ทุติยสมุทยสูตร ๔. อรหันตสูตร
๕. ทุติยอรหันตสูตร ๖. สีหสูตร
๗. ขัชชนียสูตร ๘. ปิณโฑลยสูตร
๙. ปาลิเลยยสูตร ๑๐. ปุณณมสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๑. อนันทสูตร

๔. เถรวรรค
หมวดว่าด้วยพระเถระ
๑. อานันทสูตร
ว่าด้วยพระอานนท์

[๘๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ณ ที่นั้น ท่านพระอานนท์ได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ
ทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านพระปุณณมันตานีบุตรมีอุปการะมากแก่พวกเรา
ผู้เป็นภิกษุใหม่ ท่านกล่าวสอนพวกเราด้วยโอวาทอย่างนี้ว่า ‘ท่านอานนท์ เพราะ
ถือมั่น ตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า ‘เรามี’ จึงมี เพราะไม่ถือมั่น ตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า
‘เรามี’ จึงไม่มี
เพราะถือมั่นอะไร ตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า ‘เรามี’ จึงมี เพราะไม่ถือมั่นอะไร
ตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า ‘เรามี’ จึงไม่มี
คือ เพราะถือมั่นรูป ตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า ‘เรามี’ จึงมี เพราะไม่ถือมั่นรูป
ตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า ‘เรามี’ จึงไม่มี ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ...
เพราะถือมั่นวิญญาณ ตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า ‘เรามี’ จึงมี เพราะไม่ถือมั่นวิญญาณ
ตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า ‘เรามี’ จึงไม่มี
ท่านอานนท์ สตรีหรือบุรุษแรกรุ่น ผู้ชอบแต่งตัว มองดูเงาหน้าของตนใน
กระจกหรือภาชนะน้ำที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ เพราะอาศัย(กระจกหรือภาชนะน้ำนั้น)จึง
เห็น เพราะไม่อาศัยจึงไม่เห็น แม้ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะถือมั่นรูป
ตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า ‘เรามี’ จึงมี เพราะไม่ถือมั่นรูป ตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า
‘เรามี’ จึงไม่มี ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... เพราะถือมั่นวิญญาณ ตัณหา
มานะ ทิฏฐิว่า ‘เรามี’ จึงมี เพราะไม่ถือมั่นวิญญาณ ตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า ‘เรามี’
จึงไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๒. ติสสสูตร

ท่านอานนท์ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง’
‘ไม่เที่ยง ขอรับ’
‘เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง’
‘ไม่เที่ยง ขอรับ’
‘เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ พระอริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า
... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านพระปุณณมันตานีบุตรเป็นผู้มีอุปการะมากแก่พวก
เราผู้เป็นภิกษุใหม่ ท่านสอนพวกเราด้วยโอวาทนี้ เพราะฟังธรรมเทศนานี้ของท่าน
พระปุณณมันตานีบุตร ผมจึงได้บรรลุธรรม”

อานันทสูตรที่ ๑ จบ

๒. ติสสสูตร
ว่าด้วยพระติสสะ

[๘๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น ท่านพระติสสะโอรสพระปิตุจฉาของพระผู้มีพระภาค บอกแก่ภิกษุ
จำนวนมากอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ร่างกายของกระผมอ่อนเปลี้ยประดุจ
คนเมา กระผมรู้สึกมืดทุกด้าน แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่ปรากฏ ถีนมิทธะครอบงำ
จิตของกระผม กระผมไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และยังมีความสงสัยในธรรมทั้ง
หลายอยู่”
ครั้งนั้น ภิกษุจำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ท่านพระติสสะโอรสพระปิตุจฉาของพระผู้มีพระภาค บอกแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า
‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ร่างกายของกระผมอ่อนเปลี้ยประดุจคนเมา กระผมรู้สึกมืด
ทุกด้าน แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่ปรากฏ ถีนมิทธะครอบงำจิตของกระผม กระผมไม่
ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ และยังมีความสงสัยในธรรมทั้งหลายอยู่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๒. ติสสสูตร

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “ภิกษุ เธอ
จงไปเรียกติสสภิกษุมาตามคำของเรา”
ภิกษุนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่านพระติสสะถึงที่อยู่แล้วได้บอกว่า
“ท่านติสสะ พระศาสดารับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้า”
ท่านพระติสสะรับคำแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า “ติสสะ ทราบว่า เธอได้บอกแก่ภิกษุจำนวน
มากว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ร่างกายของกระผมอ่อนเปลี้ยประดุจคนเมา ฯลฯ
และยังมีความสงสัยในธรรมทั้งหลายอยู่’ จริงหรือ”
ท่านพระติสสะทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
“ติสสะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อบุคคลผู้ยังไม่ปราศจากความ
กำหนัด ไม่ปราศจาก ความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย
ไม่ปราศจากความเร่าร้อน ไม่ปราศจากความทะยานอยากในรูป เพราะรูปนั้นแปร
ผันและเป็นอย่างอื่น โสกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์
(ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ) จึงเกิดขึ้น
ใช่ไหม”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ ติสสะ เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น เมื่อบุคคลผู้ยังไม่ปราศจากความ
กำหนัด ... ในรูป ... ในสัญญา ... ในสังขาร เพราะสังขารเหล่านั้นแปรผัน
และเป็นอย่างอื่น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงเกิดขึ้นใช่ไหม”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ ติสสะ เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น เมื่อบุคคลผู้ยังไม่ปราศจากความ
กำหนัด ... ในสังขาร ... เมื่อบุคคลผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจาก
ความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจากความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๒. ติสสสูตร

เร่าร้อน ไม่ปราศจากความทะยานอยากในวิญญาณ เพราะวิญญาณนั้นแปรผัน
และเป็นอย่างอื่น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงเกิดขึ้นใช่ไหม”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ ติสสะ เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น เมื่อบุคคลผู้ยังไม่ปราศจากความ
กำหนัด ... ในวิญญาณ ฯลฯ ติสสะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อ
บุคคลผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศ
จากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากความทะยานอยากในรูป
เพราะรูปนั้นแปรผันและเป็นอย่างอื่น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
จึงเกิดขึ้น ใช่ไหม”
“ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ ติสสะ เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น เมื่อบุคคลผู้ปราศจากความกำหนัด ...
ในรูป ... ในเวทนา ... ในสัญญา ... ในสังขาร ... เมื่อบุคคลผู้ปราศจาก
ความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย
ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากความทะยานอยากในวิญญาณ เพราะวิญญาณ
นั้นแปรผันและเป็นอย่างอื่น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงเกิดขึ้น
ใช่ไหม”
“ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ ติสสะ เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น เมื่อบุคคลผู้ปราศจากความกำหนัด ...
ในวิญญาณ ... ติสสะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ...
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๒. ติสสสูตร

ติสสะ เปรียบเหมือนบุรุษ ๒ คน คนหนึ่งไม่ฉลาดในหนทาง คนหนึ่ง
ฉลาดในหนทาง บุรุษผู้ไม่ฉลาดในหนทางพึงถามทางกับบุรุษผู้ฉลาดในหนทาง
บุรุษผู้ฉลาดในหนทางพึงตอบว่า ‘ผู้เจริญ ท่านไปตามทางนี้อีกสักครู่ก็จักพบทาง
๒ แพร่ง ในทาง ๒ แพร่งนั้น ท่านจงละทางซ้าย ไปทางขวาเถิด ไปตามทาง
นั้นอีกสักครู่ก็จักพบราวป่าหนาทึบ ไปตามทางนั้นอีกสักครู่ก็จักพบที่ลุ่มใหญ่มีเปือกตม
ไปตามทางนั้นอีกสักครู่ก็จักพบบึงที่ลึก ไปตามทางนั้นอีกสักครู่ก็จักพบพื้นที่ราบ
น่ารื่นรมย์’
ติสสะ อุปมานี้เรายกมาเพื่อให้เข้าใจเนื้อความแจ่มชัด ในอุปมานั้นมีอธิบาย
ดังนี้
คำว่า บุรุษผู้ไม่ฉลาดในหนทาง นี้เป็นคำเรียกปุถุชน
คำว่า บุรุษผู้ฉลาดในหนทาง นี้เป็นคำเรียกตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
คำว่า ทาง ๒ แพร่ง นี้เป็นคำเรียกวิจิกิจฉา
คำว่า ทางซ้าย นี้เป็นคำเรียกมิจฉามรรคมีองค์ ๘ คือ (๑) มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ
(๘) มิจฉาสมาธิ
คำว่า ทางขวา นี้เป็นคำเรียกอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ (๑) สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ
(๘) สัมมาสมาธิ
คำว่า ราวป่าหนาทึบ นี้เป็นคำเรียกอวิชชา
คำว่า ที่ลุ่มใหญ่มีเปือกตม นี้เป็นคำเรียกกามทั้งหลาย
คำว่า บึงที่ลึก นี้เป็นคำเรียกความโกรธและความคับแค้นใจ
คำว่า พื้นที่ราบน่ารื่นรมย์ นี้เป็นคำเรียกนิพพาน
ติสสะ เธอจงยินดี ติสสะ เธอจงยินดีตามโอวาทที่เรากล่าวสอน ตามความ
อนุเคราะห์ที่เราอนุเคราะห์ ตามคำพร่ำสอนที่เราพร่ำสอนเถิด”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระติสสะมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค

ติสสสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๓. ยมกสูตร

๓. ยมกสูตร
ว่าด้วยพระยมกะ

[๘๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุยมกะเกิดทิฏฐิชั่วเช่นนี้ว่า “เรารู้
ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อม
ขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก”
ภิกษุจำนวนมากได้ยินว่า “ภิกษุยมกะเกิดทิฏฐิชั่วเช่นนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรม
ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ
ไม่เกิดอีก”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปหาท่านพระยมกะถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอ
เป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระยมกะว่า
“ท่านยมกะ ทราบว่า ท่านเกิดทิฏฐิชั่วเช่นนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก’
จริงหรือ”
ท่านพระยมกะตอบว่า “จริง ขอรับ”
“ท่านยมกะ ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค เพราะ
การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสอย่างนี้ว่า
‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก”
ท่านพระยมกะถูกภิกษุเหล่านั้นว่ากล่าวแม้อย่างนี้ ก็ยังยึดทิฏฐิชั่วนั้นอย่าง
มั่นคงกล่าวว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพ
หลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก”
ภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถจะให้ท่านพระยมกะคลายทิฏฐิชั่วนั้นได้จึงพากันลุก
จากอาสนะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านสารีบุตร
พระยมกะเกิดทิฏฐิชั่วเช่นนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า
‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก’ ขอโอกาส
ขอท่านพระสารีบุตรโปรดอาศัยความอนุเคราะห์เข้าไปหาภิกษุยมกะถึงที่อยู่เถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๓. ยมกสูตร

ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่หลีกเร้นแล้วเข้าไปหาท่านพระ
ยมกะถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ
ที่สมควร ได้ถามท่านพระยมกะดังนี้ว่า “ท่านยมกะ ทราบว่า ท่านเกิดทิฏฐิชั่ว
เช่นนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจาก
ตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก’ จริงหรือ”
ท่านพระยมกะตอบว่า “จริง ขอรับ ผมรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก”
“ท่านยมกะ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง ขอรับ” ฯลฯ
“เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง ขอรับ”
“เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ พระอริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ...
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ท่านยมกะ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ท่านพิจารณาเห็นรูปว่า
‘เป็นตถาคต๑’ หรือ”
“ไม่ใช่ ขอรับ”
“ท่านพิจารณาเห็นเวทนาว่า ‘เป็นตถาคต’ หรือ”
“ไม่ใช่ ขอรับ”
“ท่านพิจารณาเห็นสัญญา ... สังขาร ... วิญญาณว่า ‘เป็นตถาคต’ หรือ”
“ไม่ใช่ ขอรับ”


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๓. ยมกสูตร

“ท่านยมกะ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ท่านพิจารณาเห็นว่า
‘ตถาคตมีในรูป’ หรือ”
“ไม่ใช่ ขอรับ”
“ท่านพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตมีนอกจากรูป’ หรือ”
“ไม่ใช่ ขอรับ”
“ท่านพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตมีในเวทนา’ หรือ”
“ไม่ใช่ ขอรับ”
“... ในเวทนา ฯลฯ นอกจากเวทนา ฯลฯ ในสัญญา ... นอกจากสัญญา
... ในสังขารทั้งหลาย ... นอกจากสังขารทั้งหลาย ...
“ท่านพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตมีในวิญญาณ’ หรือ”
“ไม่ใช่ ขอรับ”
“ท่านพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตมีนอกจากวิญญาณ’ หรือ”
“ไม่ใช่ ขอรับ”
“ท่านยมกะ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ท่านพิจารณาเห็นรูป ...
เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณว่า ‘เป็นตถาคต’ หรือ”
“ไม่ใช่ ขอรับ”
“ท่านยมกะ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ท่านพิจารณาเห็นว่า
‘ตถาคตนี้ไม่มีรูป’ ... ไม่มีเวทนา ... ไม่มีสัญญา ... ไม่มีสังขาร ... ไม่มี
วิญญาณหรือ”
“ไม่ใช่ ขอรับ”
“ท่านยมกะ แท้จริง ท่านจะค้นหาตถาคตในขันธ์ ๕ ประการนี้ในปัจจุบัน
ไม่ได้เลย ควรหรือที่ท่านจะกล่าวว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง
ไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๓. ยมกสูตร

“ท่านสารีบุตร เมื่อก่อนผมไม่รู้จึงได้เกิดทิฏฐิชั่วเช่นนั้น แต่บัดนี้ เพราะฟัง
ธรรมเทศนานี้ของท่านสารีบุตร ผมจึงละทิฏฐิชั่วนั้นได้แล้ว และได้บรรลุธรรม”
“ท่านยมกะ ถ้าชนทั้งหลายพึงถามท่านอย่างนี้ว่า ‘ท่านยมกะ ภิกษุอรหันต-
ขีณาสพ หลังจากตายแล้วเป็นอะไร ท่านถูกถามอย่างนี้จะพึงตอบอย่างไร”
“ท่านผู้มีอายุ ถ้าพวกเขาถามอย่างนี้ว่า ‘ภิกษุอรหันตขีณาสพหลังจากตาย
แล้วเป็นอะไร’ ผมถูกถามอย่างนี้จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง
สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นดับไปแล้ว ตั้งอยู่ไม่ได้ เวทนา ... สัญญา ...
สังขาร ... วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์
สิ่งนั้นดับไปแล้ว ตั้งอยู่ไม่ได้ ท่านผู้มีอายุ ผมถูกถามอย่างนี้พึงตอบอย่างนี้”
“ดีละ ดีละ ท่านยมกะ ถ้าอย่างนั้น ผมจะยกอุปมาให้ท่านฟัง เพื่อเข้าใจ
เนื้อความนั้นชัดเจนขึ้น เปรียบเหมือนคหบดีหรือบุตรคหบดีผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก
มีโภคะมาก และมีการอารักขาอย่างกวดขัน เกิดมีบุรุษคนหนึ่งมุ่งความพินาศ
ความไม่เป็นประโยชน์ และความไม่ปลอดภัย อยากจะปลิดชีวิตเขาเสีย เขาจึง
มีความคิดว่า ‘คหบดีหรือบุตรคหบดีผู้นี้เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
และเขามีการอารักขาอย่างกวดขัน การที่จะอุกอาจปลิดชีวิตเขามิใช่ทำได้ง่าย
ทางที่ดี เราควรใช้อุบายปลิดชีวิตเสีย’
เขาพึงเข้าไปหาคหบดีหรือบุตรคหบดีนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผมจะขอรับใช้ท่าน’
คหบดีหรือบุตรคหบดีพึงรับเขาไว้ เขารับใช้อย่างดี คือ มีปกติตื่นก่อน นอนทีหลัง
คอยฟังคำสั่ง ประพฤติตนให้เป็นที่พอใจ พูดแต่คำไพเราะ คหบดีหรือบุตรคหบดี
นั้นเชื่อว่าเขาเป็นมิตรสหาย และไว้ใจเขา เมื่อใด บุรุษนั้นคิดว่า ‘คหบดีหรือบุตร
คหบดีนี้ไว้ใจเราแล้ว’ เมื่อนั้น เขารู้ว่าคหบดีหรือบุตรคหบดีอยู่ในที่ลับ จึงใช้ศัสตรา
อันคมปลิดชีวิตเสีย
ท่านยมกะ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
ในกาลใด บุรุษนั้นเข้าไปหาคหบดีหรือบุตรคหบดีโน้นแล้วกล่าวว่า ‘ผมจะ
ขอรับใช้ท่าน’ แม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่านั่นเอง แต่คหบดีหรือบุตรคหบดี
นั้นก็ไม่รู้จักบุรุษผู้ฆ่าว่า ‘เป็นผู้ฆ่าตน’ แม้ในกาลใด บุรุษนั้นรับใช้อย่างดี คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๓. ยมกสูตร

มีปกติตื่นก่อน นอนทีหลัง คอยฟังคำสั่ง ประพฤติตนให้เป็นที่พอใจ พูดแต่คำไพเราะ
แม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่านั่นเอง แต่คหบดีหรือบุตรคหบดีนั้นก็ไม่รู้จักบุรุษ
ผู้ฆ่าว่า ‘เป็นผู้ฆ่าตน’ แม้ในกาลใด บุรุษนั้นรู้ว่าคหบดีหรือบุตรคหบดีอยู่ในที่ลับ
จึงใช้ศัสตราอันคมปลิดชีวิตเสีย แม้ในกาลนั้น เขาก็ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่านั่นเอง แต่
คหบดีหรือบุตรคหบดีนั้นก็ไม่รู้จักบุรุษผู้ฆ่าว่า ‘เป็นผู้ฆ่าตน’ หรือ”
“อย่างนั้น ขอรับ”
“ท่านยมกะ อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของ
พระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำใน
ธรรมของสัตบุรุษ พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป
พิจารณาเห็นรูปในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในรูป ... เวทนา ... สัญญา ...
สังขาร ... พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ หรือพิจารณาเห็น
อัตตาในวิญญาณ
เขาไม่รู้ชัดรูปที่ไม่เที่ยงตามความเป็นจริงว่า ‘รูปไม่เที่ยง’ ไม่รู้ชัดเวทนาที่ไม่
เที่ยงตามความเป็นจริงว่า ‘เวทนาไม่เที่ยง’ ไม่รู้ชัดสัญญาที่ไม่เที่ยงตามความเป็น
จริงว่า ‘สัญญาไม่เที่ยง’ ไม่รู้ชัดสังขารที่ไม่เที่ยงตามความเป็นจริงว่า ‘สังขารไม่เที่ยง’
ไม่รู้ชัดวิญญาณที่ไม่เที่ยงตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณไม่เที่ยง’
ไม่รู้ชัดรูปที่เป็นทุกข์ตามความเป็นจริงว่า ‘รูปเป็นทุกข์’ ... เวทนาที่เป็นทุกข์
... สัญญาที่เป็นทุกข์ ... สังขารที่เป็นทุกข์ ... ไม่รู้ชัดวิญญาณที่เป็นทุกข์ตาม
ความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณเป็นทุกข์’
ไม่รู้ชัดรูปที่เป็นอนัตตาตามความเป็นจริงว่า ‘รูปเป็นอนัตตา’ ... เวทนาที่
เป็นอนัตตา ... สัญญาที่เป็นอนัตตา ... สังขารที่เป็นอนัตตา ... ไม่รู้ชัด
วิญญาณที่เป็นอนัตตาตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณเป็นอนัตตา’
ไม่รู้ชัดรูปที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งตามความเป็นจริงว่า ‘รูปถูกปัจจัยปรุงแต่ง’ ...
เวทนาที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ... สัญญาที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ... สังขารที่ถูกปัจจัย
ปรุงแต่ง ... ไม่รู้ชัดวิญญาณที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณถูก
ปัจจัยปรุงแต่ง’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๓. ยมกสูตร

ไม่รู้ชัดรูปที่เป็นผู้ฆ่าตามความเป็นจริงว่า ‘รูปเป็นผู้ฆ่า’ ... เวทนาที่เป็นผู้ฆ่า ...
สัญญาที่เป็นผู้ฆ่า ... สังขารที่เป็นผู้ฆ่า ... ไม่รู้ชัดวิญญาณที่เป็นผู้ฆ่าตามความ
เป็นจริงว่า ‘วิญญาณเป็นผู้ฆ่า’
เขาเข้าไปยึดมั่นรูปว่า ‘เป็นอัตตาของเรา’ ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร
... เข้าไปยึดมั่นวิญญาณว่า ‘เป็นอัตตาของเรา’ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ที่
ปุถุชนนั้นเข้าไปยึดมั่น ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ตลอด
กาลนาน
ท่านผู้มีอายุ ส่วนพระอริยสาวกผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรม
ของพระอริยะ ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ฯลฯ ได้รับการแนะนำใน
ธรรมของสัตบุรุษ ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่า
มีรูป ไม่พิจารณาเห็นรูปในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในรูป ไม่พิจารณา
เห็นเวทนา ... ไม่พิจารณาเห็นสัญญา ... ไม่พิจารณาเห็นสังขาร ...
ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ
ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ
เขารู้ชัดรูปที่ไม่เที่ยงตามความเป็นจริงว่า ‘รูปไม่เที่ยง’ รู้ชัดเวทนาที่ไม่เที่ยง ...
สัญญาที่ไม่เที่ยง ... สังขารที่ไม่เที่ยง ... รู้ชัดวิญญาณที่ไม่เที่ยงตามความเป็นจริงว่า
‘วิญญาณไม่เที่ยง’
รู้ชัดรูปที่เป็นทุกข์ตามความเป็นจริงว่า ‘รูปเป็นทุกข์’ รู้ชัดเวทนาที่เป็นทุกข์
... สัญญาที่เป็นทุกข์ ... สังขารที่เป็นทุกข์ ... รู้ชัดวิญญาณที่เป็นทุกข์ตามความ
เป็นจริงว่า ‘วิญญาณเป็นทุกข์’
รู้ชัดรูปที่เป็นอนัตตาตามความเป็นจริงว่า ‘รูปเป็นอนัตตา’ รู้ชัดเวทนาที่เป็น
อนัตตา ... สัญญาที่เป็นอนัตตา ... สังขารที่เป็นอนัตตา ... รู้ชัดวิญญาณที่
เป็นอนัตตาตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณเป็นอนัตตา’
รู้ชัดรูปที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งตามความเป็นจริงว่า ‘รูปถูกปัจจัยปรุงแต่ง’ รู้ชัด
เวทนาที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ... สัญญาที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ... สังขารที่ถูกปัจจัย
ปรุงแต่ง ... รู้ชัดวิญญาณที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณถูก
ปัจจัยปรุงแต่ง’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๔. อนุราธสูตร

รู้ชัดรูปที่เป็นผู้ฆ่าตามความเป็นจริงว่า ‘รูปเป็นผู้ฆ่า’ รู้ชัดเวทนาที่เป็นผู้ฆ่า ...
สัญญาที่เป็นผู้ฆ่า ... รู้ชัดสังขารที่เป็นผู้ฆ่าตามความเป็นจริงว่า ‘สังขารเป็นผู้ฆ่า’
รู้ชัดวิญญาณที่เป็นผู้ฆ่าตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณเป็นผู้ฆ่า’
เขาไม่เข้าไปยึดมั่นรูปว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา’ ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร
... ไม่เข้าไปยึดมั่นวิญญาณว่า ‘วิญญาณเป็นอัตตาของเรา’ อุปาทานขันธ์ ๕
ประการนี้ที่พระอริยสาวกนั้นไม่เข้าไปยึดมั่น ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ
ความสุขตลอดกาลนาน”
“ข้าแต่ท่านสารีบุตร ข้อที่เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เช่นกับท่านเป็นผู้อนุเคราะห์
มุ่งประโยชน์ ว่ากล่าว พร่ำสอน ย่อมเป็นอย่างนั้น และเพราะได้ฟังธรรมเทศนา
นี้ของท่านสารีบุตร จิตของผมจึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น”

ยมกสูตรที่ ๓ จบ

๔. อนุราธสูตร๑
ว่าด้วยพระอนุราธะ

[๘๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี สมัยนั้น ท่านพระอนุราธะอยู่ที่กุฎีป่า ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้น อัญเดียรถีย์ปริพาชกจำนวนมากเข้าไปหาท่านพระอนุราธะถึงที่อยู่
ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
ได้ถามท่านพระอนุราธะดังนี้ว่า “ท่านอนุราธะ พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็น
บรมบุรุษ ทรงบรรลุธรรมที่ควรบรรลุอย่างยอดเยี่ยม เมื่อจะทรงบัญญัติข้อนั้น
ย่อมทรงบัญญัติในฐานะ ๔ ประการนี้ คือ
๑. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก
๒. หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก
๓. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก
๔. หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่
หรือ”


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๔. อนุราธสูตร

เมื่ออัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นถามอย่างนี้แล้ว ท่านพระอนุราธะได้ตอบว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ ทรงบรรลุธรรมที่ควร
บรรลุอย่างยอดเยี่ยม เมื่อจะทรงบัญญัติข้อนั้น ย่อมทรงบัญญัติเว้นจากฐานะ ๔
ประการนี้ คือ
๑. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก
๒. หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก
๓. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก
๔. หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่”
เมื่อท่านพระอนุราธะตอบอย่างนี้แล้ว อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าว
กับท่านพระอนุราธะดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้คงจักเป็นพระใหม่บวชได้ไม่
นาน หรือเป็นพระเถระแต่โง่ ไม่ฉลาด” ทีนั้น พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกกล่าว
รุกรานท่านพระอนุราธะด้วยวาทะว่าเป็นพระใหม่และวาทะว่าเป็นพระโง่ พากันลุก
จากอาสนะแล้วจากไป
ครั้นเมื่อพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกจากไปไม่นาน ท่านพระอนุราธะได้มีความ
คิดว่า “ถ้าอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นพึงถามปัญหากับเรายิ่งขึ้นไป เราจะ
พยากรณ์แก่อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างไร จึงจะชื่อว่าพูดตรงตามที่พระผู้มี
พระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่าง
สมเหตุสมผล ไม่มีคำกล่าวเช่นนั้นและการคล้อยตามที่จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้”

พระอนุราธะทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาค

ต่อมา ท่านพระอนุราธะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ
ประทานวโรกาส ข้าพระองค์อยู่ที่กุฎีป่า ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น
อัญเดียรถีย์ปริพาชกจำนวนมากเข้าไปหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ ฯลฯ ได้ถาม
ข้าพระองค์ดังนี้ว่า ‘ท่านอนุราธะ พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ ทรง
บรรลุธรรมที่ควรบรรลุอย่างยอดเยี่ยม เมื่อจะทรงบัญญัติข้อนั้น ย่อมทรงบัญญัติ
ในฐานะ ๔ ประการนี้ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๔. อนุราธสูตร

๑. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก
๒. หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก
๓. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก
๔. หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่
หรือ’
เมื่อพวกอัญเดียรดีย์ปริพาชกถามอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้ตอบดังนี้ว่า
‘ผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ ทรงบรรลุธรรมที่
ควรบรรลุอย่างยอดเยี่ยม เมื่อจะทรงบัญญัติข้อนั้น ย่อมทรงบัญญัติเว้นจากฐานะ ๔
ประการนี้ คือ
๑. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก ฯลฯ
๔. หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’
เมื่อข้าพระองค์ตอบอย่างนี้แล้ว อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกับ
ข้าพระองค์ดังนี้ว่า ‘ภิกษุรูปนี้คงจักเป็นพระใหม่บวชได้ไม่นาน หรือเป็นพระเถระ
แต่โง่ไม่ฉลาด’ ทีนั้น อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นกล่าวรุกรานข้าพระองค์ด้วยวาทะ
ว่าเป็นพระใหม่และด้วยวาทะว่าเป็นพระโง่ พากันลุกจากอาสนะแล้วจากไป
เมื่ออัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นจากไปไม่นาน ข้าพระองค์ได้มีความคิดว่า
‘ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นพึงถามปัญหากับเรายิ่งขึ้นไป เราจะพยากรณ์
แก่อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างไร จึงจะชื่อว่าพูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้
ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จ ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล ไม่มี
คำกล่าวเช่นนั้นและการคล้อยตามที่จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อนุราธะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
ท่านพระอนุราธะกราบทูลว่า “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๔. อนุราธสูตร

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ
“เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ...
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
“อนุราธะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เธอพิจารณาเห็นรูปว่า ‘เป็น
ตถาคต’ หรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอพิจารณาเห็นเวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณว่า ‘เป็นตถาคต’
หรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อนุราธะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เธอพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคต
มีในรูป’ หรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตมีนอกจากรูป’ หรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
เธอพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตมีในเวทนา ฯลฯ นอกจากเวทนา ฯลฯ ในสัญญา
... ในสังขาร ... นอกจากสังขาร ... ในวิญญาณ’ หรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคตมีนอกจากวิญญาณ’ หรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๕. วักกลิสูตร

“อนุราธะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เธอพิจารณาเห็นรูป ... เวทนา
... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณว่า ‘เป็นตถาคต’ หรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อนุราธะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เธอพิจารณาเห็นว่า ‘ตถาคต
นี้ไม่มีรูป’ ... ไม่มีเวทนา... ไม่มีสัญญา ... ไม่มีสังขาร พิจารณาเห็นว่า
‘ตถาคตไม่มีวิญญาณ’ หรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อนุราธะ แท้จริง เธอจะค้นหาตถาคตโดยจริงโดยแท้ในขันธ์ ๕ ประการนี้
ในปัจจุบันไม่ได้เลย ควรหรือที่เธอจะตอบว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย พระตถาคตเป็น
อุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ ทรงบรรลุธรรมที่ควรบรรลุอย่างยอดเยี่ยม เมื่อจะทรง
บัญญัติข้อนั้น ย่อมทรงบัญญัติเว้นจากฐานะ ๔ ประการนี้ คือ
๑. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก
๒. หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก
๓. หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก
๔. หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่
หรือ”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ อนุราธะ ทั้งในกาลก่อนและในบัดนี้ เราย่อมบัญญัติทุกข์และ
ความดับทุกข์เท่านั้น”

อนุราธสูตรที่ ๔ จบ

๕. วักกลิสูตร
ว่าด้วยพระวักกลิ

[๘๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้
เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระวักกลิอาพาธ ได้รับทุกข์
เป็นไข้หนัก พักอยู่ที่โรงช่างหม้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๕. วักกลิสูตร

ครั้งนั้น ท่านพระวักกลิเรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมากล่าวว่า “มาเถิด
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้าตามคำของผมว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ภิกษุวักกลิอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของ
พระองค์ด้วยเศียรเกล้า’ และขอพวกท่านจงกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดอาศัยความอนุเคราะห์เสด็จ
ไปเยี่ยมภิกษุวักกลิถึงที่อยู่เถิด”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ภิกษุวักกลิอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของ
พระองค์ด้วยเศียรเกล้า และฝากมากราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดอาศัยความอนุเคราะห์เสด็จไปเยี่ยม
ภิกษุวักกลิถึงที่อยู่เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร ได้เสด็จ
เข้าไปเยี่ยมท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ท่านพระวักกลิได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จ
มาแต่ไกลจึงลุกขึ้นจากเตียง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระวักกลิดังนี้ว่า “อย่าเลย วักกลิ
เธออย่าลุกจากเตียงเลย เราจักนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้นั้น”
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ได้ตรัสถามว่า “วักกลิ
เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ
อาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ”
ท่านพระวักกลิกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สบาย
จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนามีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ
อาการทุเลาไม่ปรากฏ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๕. วักกลิสูตร

“วักกลิ เธอไม่รำคาญ ไม่ทุรนทุรายบ้างหรือ’
“ความจริง ข้าพระองค์รำคาญ ทุรนทุรายมาก พระพุทธเจ้าข้า’
“วักกลิ เธอติเตียนตนเองโดยศีลได้หรือไม่’
“ข้าพระองค์ติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า’
“วักกลิ ถ้าเธอติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะรำคาญ
ทุรนทุรายไปทำไม’
“ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคนานแล้ว แต่ร่างกายของ
ข้าพระองค์ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้ พระพุทธเจ้าข้า’
“อย่าเลย วักกลิ จะมีประโยชน์อะไรด้วยร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นอยู่นี้
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ความจริง
เมื่อเห็นธรรมก็ชื่อว่าเห็นเรา เมื่อเห็นเราก็ชื่อว่าเห็นธรรม
วักกลิ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง’
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า’
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข’
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า’
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนา .... สัญญา .... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง’
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า’ ฯลฯ
“ ... นั่นเป็นอัตตาของเรา’
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๕. วักกลิสูตร

“เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ...
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสสอนท่านพระวักกลิด้วยพระโอวาทนี้แล้วทรงลุกจาก
พุทธอาสน์เสด็จไปทางภูเขาคิชฌกูฏ
ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ท่านพระวักกลิได้เรียก
ภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมากล่าวว่า “มาเถิด ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จงช่วยอุ้มผม
ขึ้นเตียงแล้วหามไปยังวิหารกาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ ทำไมพระอย่างผมจะพึงสำคัญ
ตนว่าควรมรณภาพในละแวกบ้านเล่า’
ภิกษุผู้อุปัฏฐากเหล่านั้นรับคำแล้วอุ้มท่านพระวักกลิขึ้นเตียง หามไปยังวิหาร
กาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏตลอดคืนและวันที่ยังเหลือ
อยู่นั้น เมื่อราตรี๑ผ่านไป เทวดา ๒ องค์ มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมี
ให้สว่างทั่วภูเขาคิชฌกูฏ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ยืนอยู่
ณ ที่สมควร ครั้นแล้วเทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระวักกลิคิดเพื่อหลุดพ้น’
เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระวักกลินั้นหลุดพ้น
ดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่’
เทวดาเหล่านั้นได้กราบทูลดังนี้แล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำ
ประทักษิณแล้ว หายตัวไป ณ ที่นั้นนั่นเอง
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“มาเถิดภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเข้าไปหาภิกษุวักกลิถึงที่อยู่แล้วบอกว่า
‘ท่านวักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคและคำของเทวดา ๒ องค์
เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป เทวดา ๒ องค์ มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้
สว่างทั่วภูเขาคิชฌกูฏ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๕. วักกลิสูตร

ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ครั้นแล้วเทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระวักกลิคิดเพื่อหลุดพ้น’ เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้จริญ พระวักกลินั้นหลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่’ ทั้งพระผู้มี
พระภาคได้ตรัสถึงท่านว่า ‘อย่ากลัวเลยวักกลิ อย่ากลัวเลยวักกลิ ความตายอัน
ไม่ต่ำช้าจักมีแก่เธอ การทำกาละ (ตาย) จะไม่เลวทราม’
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่แล้ว
ได้บอกว่า “ท่านวักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค และคำของเทวดา
๒ องค์เถิด’
ลำดับนั้น ท่านพระวักกลิได้เรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมากล่าวว่า “มาเถิด
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย จงช่วยอุ้มผมลงจากเตียง ทำไมพระอย่างผมจะพึงสำคัญตน
ว่าควรนั่งบนอาสนะสูงแล้วฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเล่า’
ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้วก็ช่วยกันอุ้มท่านพระวักกลิลงจากเตียง ภิกษุทั้งหลาย
กล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป เทวดา ๒ องค์ ฯลฯ ยืนอยู่
ณ ที่สมควร ครั้นแล้วเทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ‘ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระวักกลิคิดเพื่อหลุดพ้น’ เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระวักกลินั้นหลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่’ ทั้งพระผู้มี
พระภาคได้ตรัสถึงท่านว่า ‘อย่ากลัวเลยวักกลิ อย่ากลัวเลยวักกลิ ความตายอัน
ไม่ต่ำช้าจักมีแก่เธอ การทำกาละจะไม่เลวทราม”
ท่านพระวักกลิกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงถวาย
อภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าตามคำของผมว่า ‘ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุวักกลิอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เธอขอถวายอภิวาท
พระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า’ และขอพวกท่านจงกราบทูลอย่างนี้ว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงรูปที่ไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า ‘สิ่งใด
ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์’ ไม่สงสัยว่า ‘สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผัน
เป็นธรรมดา ความพอใจ ความกำหนัด หรือความรักใคร่ในสิ่งนั้นไม่มีแก่เรา’
ไม่เคลือบแคลงเวทนาที่ไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า ‘สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์’
ไม่สงสัยว่า ‘สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ความพอใจ
ความกำหนัด หรือความรักใคร่ในสิ่งนั้นไม่มีแก่เรา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๕. วักกลิสูตร

ไม่เคลือบแคลงสัญญาที่ไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า ‘สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์’
ไม่สงสัยว่า ‘สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ความพอใจ
ความกำหนัด หรือความรักใคร่ในสิ่งนั้นไม่มีแก่เรา’
ไม่เคลือบแคลงสังขารที่ไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า ‘สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์’
ไม่สงสัยว่า ‘สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ความพอใจ
ความกำหนัด หรือความรักใคร่ในสิ่งนั้นไม่มีแก่เรา’
ไม่เคลือบแคลงวิญญาณที่ไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า ‘สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์’
ไม่สงสัยว่า ‘สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ความพอใจ
ความกำหนัด หรือความรักใคร่ในสิ่งนั้นไม่มีแก่เรา”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้วก็จากไป เมื่อภิกษุเหล่านั้นจากไปไม่นาน ท่านพระ
วักกลิก็ได้นำศัสตรามา๑
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ นั่ง ณ ที่สมควร
แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุวักกลิอาพาธ
ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เธอขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า
และฝากมากราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลง
รูปที่ไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า ‘สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์’ ไม่สงสัยว่า ‘สิ่งใดไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ความพอใจ ความกำหนัด หรือความรัก
ใคร่ในสิ่งนั้นไม่มีแก่เรา’
ไม่เคลือบแคลงเวทนาที่ไม่เที่ยง ... สัญญา ... สังขาร ... ไม่เคลือบแคลง
วิญญาณที่ไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า ‘สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์’ ไม่สงสัยว่า ‘สิ่ง
ใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ความพอใจ ความกำหนัด
หรือความรักใคร่ในสิ่งนั้นไม่มีแก่เรา”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “มาเถิด ภิกษุ
ทั้งหลาย เราจะไปยังวิหารกาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ ซึ่งเป็นสถานที่ที่วักกลิกุลบุตร
ได้นำศัสตรามา” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๖. อัสสซิสูตร

ต่อมา พระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังวิหารกาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิพร้อมด้วย
ภิกษุจำนวนมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระวักกลินอนคอบิดอยู่บนเตียงแต่ไกล
เทียว
สมัยนั้น ปรากฏกลุ่มควันกลุ่มหมอกลอยไปทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก
ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง และทิศเฉียง ลำดับนั้นเอง พระผู้มี
พระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมองเห็น
กลุ่มควันกลุ่มหมอกลอยไปทางทิศตะวันออก ฯลฯ และทิศเฉียงหรือไม่”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย นั่นแลคือมารผู้มีบาป ค้นหาวิญญาณของวักกลิกุลบุตรด้วย
คิดว่า ‘วิญญาณของวักกลิกุลบุตรสถิตอยู่ที่ไหน’ ภิกษุทั้งหลาย วักกลิกุลบุตรไม่
มีวิญญาณสถิตอยู่ ปรินิพพานแล้ว”

วักกลิสูตรที่ ๕ จบ

๖. อัสสชิสูตร
ว่าด้วยพระอัสสชิ

[๘๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้
เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระอัสสชิอาพาธ ได้รับทุกข์
เป็นไข้หนัก พักอยู่ที่กัสสปการาม
ครั้งนั้น ท่านพระอัสสชิเรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลายมากล่าวว่า “มาเถิด
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้าตามคำของผมว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ภิกษุอัสสชิอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของ
พระองค์ด้วยเศียรเกล้า’ และขอพวกท่านจงกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดอาศัยความอนุเคราะห์เสด็จ
ไปเยี่ยมภิกษุอัสสชิถึงที่อยู่เถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๖. อัสสซิสูตร

ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ภิกษุอัสสชิอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของ
พระองค์ด้วยเศียรเกล้า และฝากมากราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ
ประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดอาศัยความอนุเคราะห์เสด็จไปเยี่ยม
ภิกษุอัสสชิถึงที่อยู่เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นแล้ว เข้าไปเยี่ยม
ท่านพระอัสสชิถึงที่อยู่ ท่านพระอัสสชิได้เห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล
จึงลุกขึ้นจากเตียง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอัสสชิดังนี้ว่า “อย่าเลย อัสสชิ
เธออย่าลุกจากเตียงเลย เราจักนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้นั้น”
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ได้ตรัสถามว่า “อัสสชิ
เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ฯลฯ อาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบ
ไม่ปรากฏหรือ”
ท่านพระอัสสชิกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่สบาย จะ
เป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนามีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ
อาการทุเลาไม่ปรากฏ พระพุทธเจ้าข้า”
“อัสสชิ เธอไม่รำคาญ ไม่ทุรนทุรายบ้างหรือ”
“ความจริง ข้าพระองค์รำคาญ ทุรนทุรายมาก พระพุทธเจ้าข้า”
“อัสสชิ เธอติเตียนตนเองโดยศีลได้หรือไม่”
“ข้าพระองค์ติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
“อัสสชิ ถ้าเธอติเตียนตนเองโดยศีลไม่ได้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะรำคาญ
ทุรนทุรายไปทำไม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๖. อัสสซิสูตร

“เมื่อก่อน ข้าพระองค์ระงับกายสังขาร (ลมหายใจเข้าออก) บรรเทาความ
ป่วยไข้อยู่จึงไม่ได้สมาธิ เมื่อข้าพระองค์ไม่ได้สมาธิจึงคิดอย่างนี้ว่า ‘เรายังไม่เสื่อม
จากสมาธินั้นหรือ’ พระพุทธเจ้าข้า”
“อัสสชิ สมณพราหมณ์ทั้งหลายที่มีสมาธิเป็นแก่นสาร มีสมาธิเป็นคุณแห่ง
สมณะ เมื่อไม่ได้สมาธินั้นจึงคิดว่า ‘เรายังไม่เสื่อมจากสมาธินั้นหรือ’
อัสสชิ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ
“วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ...
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
ถ้าอริยสาวกนั้นเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง’ รู้ชัดว่า
‘ไม่น่าหมกมุ่น’ รู้ชัดว่า‘ไม่น่าเพลิดเพลิน’ ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า
‘ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าหมกมุ่น’ รู้ชัดว่า ‘ไม่น่าเพลิดเพลิน’ ถ้า
เธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง’ ฯลฯ รู้ชัดว่า
‘ไม่น่าเพลิดเพลิน’
ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจาก (กิเลส) เสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเธอ
เสวยทุกขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจาก (กิเลส) เสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวย
อทุกขมสุขเวทนา ก็เป็นผู้ปราศจาก (กิเลส) เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น
ถ้าอริยสาวกนั้นเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามีกาย
เป็นที่สุด’ ถ้าอริยสาวกเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามี
ชีวิตเป็นที่สุด’ หลังจากตายไปก็รู้ชัดว่า ‘ความเสวยอารมณ์ทั้งปวงไม่น่าเพลิดเพลิน
จักเย็นในโลกนี้ทีเดียว’
อัสสชิ เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ ตะเกียงน้ำมันจึงติดอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมัน
และไส้ ตะเกียงน้ำมันนั้นจึงหมดเชื้อดับไป แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๗. เขมกสูตร

เมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด’ เมื่อเสวย
เวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด’ หลังจากตายไป
ก็รู้ชัดว่า ‘ความเสวยอารมณ์ทั้งปวงไม่น่าเพลิดเพลิน จักเย็นในโลกนี้ทีเดียว”๑

อัสสชิสูตรที่ ๖ จบ

๗. เขมกสูตร
ว่าด้วยพระเขมกะ

[๘๙] สมัยหนึ่ง พระเถระจำนวนมากอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี
สมัยนั้น ท่านพระเขมกะอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก พักอยู่ที่พทริการาม
ครั้นในเวลาเย็น พระเถระทั้งหลายออกจากที่หลีกเร้นแล้ว เรียกท่านพระ
ทาสกะมากล่าวว่า “มาเถิด ท่านทาสกะ ท่านจงเข้าไปหาภิกษุเขมกะถึงที่อยู่แล้ว
บอกว่า ‘ท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายถามถึงท่านว่า ‘เธอยังสบายดีหรือ ยังพอ
เป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ อาการทุเลาปรากฏ อาการ
กำเริบไม่ปรากฏหรือ'’
ท่านพระทาสกะรับคำแล้วเข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่อยู่ได้กล่าวว่า ‘ท่าน
เขมกะ พระเถระทั้งหลายถามถึงท่านว่า ‘เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ
ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ อาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ”
ท่านพระเขมกะตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนา
มีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ”
ครั้งนั้น ท่านพระทาสกะเข้าไปหาพระเถระทั้งหลายถึงที่อยู่แล้วเรียนว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเขมกะกล่าวว่า ‘ผมไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกข-
เวทนามีแต่กำเริบหนักขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่
ปรากฏ”
“มาเถิด ท่านทาสกะ ท่านจงเข้าไปหาภิกษุเขมกะถึงที่อยู่แล้วบอกว่า ‘ท่าน
เขมกะ พระเถระทั้งหลายฝากมาถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์ ๕
ประการนี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว ได้แก่


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๗. เขมกสูตร

๑. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)
๒. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา)
๓. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
๔. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)
ท่านเขมกะพิจารณาเห็นอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาอะไร ๆ ในอุปาทาน-
ขันธ์ ๕ ประการนี้”
ท่านพระทาสกะรับคำแล้วเข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่อยู่ ฯลฯ ท่านเขมกะ
พระเถระทั้งหลายฝากมาถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว ได้แก่
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
ท่านเขมกะพิจารณาเห็นอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาอะไร ๆ ในอุปาทาน-
ขันธ์ ๕ ประการนี้’
“ท่านผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว
ได้แก่
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
ผมไม่พิจารณาเห็นอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาอะไร ๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕
ประการนี้เลย”
ครั้งนั้น ท่านพระทาสกะเข้าไปหาพระเถระทั้งหลายถึงที่อยู่แล้วเรียนว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเขมกะกล่าวว่า ‘อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว ได้แก่
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
ผมไม่พิจารณาเห็นอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาอะไร ๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕
ประการนี้เลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๗. เขมกสูตร

“มาเถิด ท่านทาสกะ ท่านจงเข้าไปหาภิกษุเขมกะถึงที่อยู่แล้วบอกว่า ‘ท่าน
เขมกะ พระเถระทั้งหลายฝากมาถามว่า ‘อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ที่พระผู้มี
พระภาคตรัสไว้แล้ว ได้แก่
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
ทราบว่า หากท่านเขมกะไม่พิจารณาเห็นอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา
อะไร ๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้เลย ถ้าเช่นนั้น ท่านเขมกะก็เป็นพระอรหันต-
ขีณาสพ”
ท่านพระทาสกะรับคำแล้วเข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่อยู่ ฯลฯ ท่านเขมกะ
พระเถระทั้งหลายฝากมาถามว่า ‘อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้แล้ว ได้แก่
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
ทราบว่า หากท่านเขมกะไม่พิจารณาเห็นอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา
อะไร ๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้เลย ถ้าเช่นนั้น ท่านเขมกะก็เป็นพระอรหันต-
ขีณาสพ”
“ท่านผู้มีอายุ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว ได้แก่
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
ผมไม่พิจารณาเห็นอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาอะไร ๆ ในอุปาทานขันธ์
๕ ประการนี้ และผมก็ไม่ได้เป็นพระอรหันตขีณาสพ แต่ผมเข้าใจว่า ‘เรามี’ ใน
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ และผมก็ไม่ได้พิจารณาเห็นว่า ‘เราเป็นอย่างนี้”
ครั้งนั้น ท่านพระทาสกะเข้าไปหาพระเถระทั้งหลายถึงที่อยู่แล้วเรียนว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเขมกะกล่าวว่า ‘อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว ได้แก่
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
ผมไม่พิจารณาเห็นอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาอะไร ๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕
ประการนี้เลย และผมก็ไม่ได้เป็นพระอรหันตขีณาสพ แต่ผมเข้าใจว่า ‘เรามี’ ใน
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ และผมก็ไม่ได้พิจารณาเห็นว่า ‘เราเป็นอย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๗. เขมกสูตร

“มาเถิด ท่านทาสกะ ท่านจงเข้าไปหาภิกษุเขมกะถึงที่อยู่แล้วบอกว่า ‘ท่าน
เขมกะ พระเถระทั้งหลายฝากมาถามว่า ‘คำที่ท่านกล่าวว่า ‘เรามี’ นั้นคืออย่างไร
ท่านกล่าวว่า ‘เรามีรูป’ กล่าวว่า ‘เรามีนอกจากรูป’ ท่านกล่าวว่า ‘เรามีเวทนา ...
สัญญา ... สังขาร ... ท่านกล่าวว่า ‘เรามีวิญญาณ’ กล่าวว่า ‘เรามีนอกจาก
วิญญาณ’ ท่านเขมกะ คำที่ท่านกล่าวว่า ‘เรามี’ นั้นคืออย่างไร”
ท่านพระทาสกะรับคำแล้วเข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่อยู่ได้กล่าวว่า ‘ท่าน
เขมกะ พระเถระทั้งหลายฝากมาถามว่า ‘คำที่ท่านกล่าวว่า ‘เรามี’ นั้นคืออย่างไร
ท่านกล่าวว่า ‘เรามีรูป’ กล่าวว่า ‘เรามีนอกจากรูป’ ท่านกล่าวว่า ‘เรามีเวทนา ...
สัญญา ... สังขาร ... ท่านกล่าวว่า ‘เรามีวิญญาณ’ กล่าวว่า ‘เรามีนอกจาก
วิญญาณ’ ท่านเขมกะ คำที่ท่านกล่าวว่า ‘เรามี’ นั้นคืออย่างไร”
“พอทีเถิด ท่านทาสกะ การเดินไปเดินมาบ่อย ๆ นี้จะมีประโยชน์อะไร
ท่านจงหยิบไม้เท้ามา ผมจักเข้าไปหาพระเถระทั้งหลายเอง”
ลำดับนั้น ท่านพระเขมกะยันไม้เท้าเข้าไปหาพระเถระทั้งหลายถึงที่อยู่ ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
ครั้นแล้ว พระเถระทั้งหลายได้ถามว่า “ท่านเขมกะ คำที่ท่านกล่าวว่า ‘เรามี’
นั้นคืออย่างไร ท่านกล่าวว่า ‘เรามีรูป’ กล่าวว่า ‘เรามีนอกจากรูป’ ท่านกล่าวว่า
‘เรามีเวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... ท่านกล่าวว่า ‘เรามีวิญญาณ’ กล่าวว่า
‘เรามีนอกจากวิญญาณ’ ท่านเขมกะ คำที่ท่านกล่าวว่า ‘เรามี’ นั้นคืออย่างไร”
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผมไม่ได้กล่าวว่า ‘เรามีรูป’ ทั้งไม่ได้กล่าวว่า ‘เรามี
นอกจากรูป’ ผมไม่ได้กล่าวว่า ‘เรามีเวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ’
ทั้งไม่ได้กล่าวว่า ‘เรามีนอกจากวิญญาณ’ แต่ผมเข้าใจว่า ‘เรามี’ ในอุปาทานขันธ์
๕ ประการ และผมก็ไม่ได้พิจารณาเห็นว่า ‘เราเป็นอย่างนี้’
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนกลิ่นดอกอุบลก็ดี ดอกปทุมก็ดี ดอก
บุณฑริกก็ดี ผู้ที่กล่าวว่า ‘กลิ่นของใบ’ ว่า ‘กลิ่นของสี’ หรือว่า ‘กลิ่นของเกสร’
อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือ”
“ไม่ถูกต้อง ท่านผู้มีอายุ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๗. เขมกสูตร

“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อจะตอบให้ถูกต้อง ควรตอบอย่างไร”
“ท่านผู้มีอายุ เมื่อจะตอบให้ถูกต้อง ควรตอบว่า ‘กลิ่นของดอก”
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ผมไม่ได้กล่าวว่า ‘เรามีรูป’ ทั้งไม่ได้กล่าวว่า ‘เรามี
นอกจากรูป’ ผมไม่ได้กล่าวว่า ‘เรามีเวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ’
ทั้งไม่ได้กล่าวว่า ‘เรามีนอกจากวิญญาณ’ แต่ผมเข้าใจว่า ‘เรามี’ ในอุปาทานขันธ์
๕ ประการ และผมก็ไม่ได้พิจารณาเห็นว่า ‘เราเป็นอย่างนี้’
โอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ) ๕ ประการพระอริยสาวกละได้แล้วก็
จริง แต่ท่านก็ยังถอนมานะ ฉันทะ และอนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕
ประการว่า ‘เรามี’ ไม่ได้ ต่อมา ท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความ
เสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการว่า ‘รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็น
อย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ... สัญญาเป็นอย่างนี้ ...
สังขารเป็นอย่างนี้ ... วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้
ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้’ เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความ
เสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้อยู่ ถึงแม้ท่านจะยังถอนมานะ ฉันทะ
และอนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการว่า ‘เรามี’ ไม่ได้ แต่มานะ ฉันทะ
และอนุสัยก็ถูกเพิกถอนขึ้นได้
ผ้าสกปรกเปื้อนมลทิน เจ้าของผ้ามอบผ้านั้นให้แก่ช่างซักผ้า ช่างซักผ้าขยี้
ผ้านั้นในน้ำด่างเกลือ น้ำด่างขี้เถ้า หรือในโคมัยแล้ว ซักในน้ำสะอาด ผ้านั้น
สะอาดก็จริง แต่ผ้านั้นก็ยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างเกลือ กลิ่นน้ำด่างขี้เถ้า หรือกลิ่น
โคมัยที่ติดอยู่ ช่างซักผ้ามอบผ้านั้นคืนให้เจ้าของไป เจ้าของเก็บผ้านั้นใส่ไว้ในหีบ
อบด้วยกลิ่น แม้ผ้านั้นจะยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างเกลือ กลิ่นน้ำด่างขี้เถ้า หรือกลิ่น
โคมัยที่ติดอยู่ แต่กลิ่นนั้นก็หายไป แม้ฉันใด ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ พระอริยสาวกละได้แล้วก็จริง แต่ท่านก็
ยังถอนมานะ ฉันทะ และอนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการว่า ‘เรามี’
ไม่ได้ ต่อมา ท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทาน-
ขันธ์ ๕ ประการว่า ‘รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๘. ฉันนสูตร

แห่งรูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ... สัญญาเป็นอย่างนี้ ... สังขารเป็นอย่างนี้
... วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับแห่ง
วิญญาณเป็นอย่างนี้’ เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปใน
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้อยู่ ถึงแม้ท่านจะยังถอนมานะ ฉันทะ และอนุสัย
อย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการว่า ‘เรามี’ ไม่ได้ แต่มานะ ฉันทะ
และอนุสัยก็ถูกเพิกถอนขึ้นได้”
เมื่อท่านพระเขมกะกล่าวอย่างนี้แล้ว พระเถระทั้งหลายได้กล่าวว่า “พวกผม
ไม่ได้ถามมุ่งเบียดเบียนท่านเลย แต่ท่านเขมกะสามารถบอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ซึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นโดยพิสดาร
ตามที่ท่านบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายแล้วโดยพิสดาร”
ท่านพระเขมกะได้กล่าวอย่างนี้แล้ว พระเถระทั้งหลายมีใจยินดี ต่างชื่นชม
ภาษิตของท่านเขมกะ ก็เมื่อท่านพระเขมกะกล่าวเวยยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของ
พระเถระประมาณ ๖๐ รูปและของท่านพระเขมกะ ก็หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่
ถือมั่น

เขมกสูตรที่ ๗ จบ

๘. ฉันนสูตร
ว่าด้วยพระฉันนะ

[๙๐] สมัยหนึ่ง พระเถระจำนวนมากอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขต
กรุงพาราณสี ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระฉันนะออกจากที่หลีกเร้นแล้ว ถือลูกดาล
เดินเข้าออกวิหารกล่าวว่า “ขอท่านทั้งหลาย จงตักเตือน พร่ำสอน แสดง
ธรรมีกถาแก่ผม พอที่ผมจะเห็นธรรมได้”
เมื่อท่านพระฉันนะกล่าวอย่างนี้แล้ว พระเถระทั้งหลายได้กล่าวกับท่านว่า
“ท่านฉันนะ รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง
รูปเป็นอนัตตา เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเป็นอนัตตา สังขาร
ทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๘. ฉันนสูตร

ลำดับนั้น ท่านพระฉันนะได้มีความคิดว่า “แม้เราก็มีความคิดว่า ‘รูป
ไม่เที่ยง เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตา
เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเป็นอนัตตา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา’ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของเราไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่
ตั้งอยู่ ไม่น้อมไปในธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละอุปธิทั้งปวง เป็นที่
สิ้นตัณหา เป็นที่สำรอกราคะ เป็นที่ดับ(ทุกข์) เป็นที่ดับ(ตัณหา) ความสะดุ้งกลัว
และอุปาทานก็เกิดขึ้น ใจจึงท้อถอย เมื่อเป็นเช่นนี้ อะไรเล่าเป็นอัตตาของเรา
แต่ความคิดอย่างนี้ย่อมไม่มีแก่ผู้เห็นธรรม ใครเล่าจะแสดงธรรมแก่เรา พอที่เรา
จะเห็นธรรมได้”
ลำดับนั้น ท่านพระฉันนะได้มีความคิดต่อไปว่า “ท่านอานนท์นี้อยู่ ณ
โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ซึ่งพระศาสดาทรงสรรเสริญและเพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนก็ยกย่อง จะสามารถแสดงธรรมแก่เรา พอที่เราจะเห็นธรรมได้
อนึ่ง เราก็มีความคุ้นเคยในท่านอานนท์มาก ทางที่ดี เราควรเข้าไปหาท่านอานนท์
ถึงที่อยู่”
ต่อมา ท่านพระฉันนะเก็บงำเสนาสนะแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปหาท่าน
พระอานนท์ถึงโฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวว่า
“ท่านอานนท์ สมัยหนึ่ง ผมอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี
ครั้นในเวลาเย็น ผมออกจากที่หลีกเร้น ถือลูกดาลเดินเข้าออกวิหารได้กล่าวว่า
‘ขอท่านทั้งหลาย จงตักเตือน พร่ำสอน แสดงธรรมีกถาแก่ผม พอที่ผมจะเห็น
ธรรมได้’ เมื่อผมกล่าวอย่างนี้แล้ว พระเถระทั้งหลายได้กล่าวว่า ‘ฉันนะ รูปไม่เที่ยง
เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตา ฯลฯ
วิญญาณเป็นอนัตตา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา’
ท่านผู้มีอายุ ผมได้มีความคิดว่า ‘แม้เราก็มีความคิดว่า ‘รูปไม่เที่ยง ฯลฯ
วิญญาณไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตา เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ
เป็นอนัตตา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา’ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ จิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๘. ฉันนสูตร

ของเราไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไปในธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง
เป็นที่สละอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สำรอกราคะ เป็นที่ดับ(ทุกข์) เป็นที่ดับ
(ตัณหา) ความสะดุ้งกลัวและอุปาทานก็เกิดขึ้น ใจจึงท้อถอย เมื่อเป็นเช่นนี้ อะไรเล่าเป็น
อัตตาของเรา แต่ความคิดอย่างนี้ย่อมไม่มีแก่ผู้เห็นธรรม ใครเล่าจะแสดงธรรม
แก่เรา พอที่เราจะเห็นธรรมได้’
ท่านผู้มีอายุ ผมได้มีความคิดต่อไปว่า ‘ท่านอานนท์นี้อยู่ ณ โฆสิตาราม
เขตกรุงโกสัมพี ซึ่งพระศาสดาทรงสรรเสริญและเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็น
วิญญูชนก็ยกย่อง จะสามารถแสดงธรรมแก่เรา พอที่เราจะเห็นธรรมได้ อนึ่ง เรา
ก็มีความคุ้นเคยในท่านอานนท์มาก ทางที่ดี เราควรเข้าไปหาท่านอานนท์ถึงที่อยู่’
ขอท่านอานนท์จงตักเตือน พร่ำสอน แสดงธรรมีกถาแก่ผม พอที่ผมจะเห็นธรรม
ได้เถิด”
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ผมก็พอใจยินดีกับท่านฉันนะ
ท่านฉันนะได้ทำความเห็นให้ชัดแจ้ง ทำลายความดื้อดึงแล้ว ท่านฉันนะ ท่านจงเงี่ย
โสตลง ท่านสมควรจะรู้ธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง”
ลำดับนั้น ปีติและปราโมทย์อย่างยิ่ง ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระฉันนะด้วยเหตุ
เพียงเท่านั้นว่า “เราสมควรจะรู้ธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง”
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ท่านฉันนะ ผมได้สดับคำนี้มาเฉพาะพระพักตร์
ของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสสอนภิกษุกัจจานโคตรอยู่ว่า ‘กัจจานะ โดยมาก โลกนี้
อาศัยที่สุด ๒ อย่าง คือ (๑) ความมี (๒) ความไม่มี
ก็เมื่อบุคคลเห็นความเกิดขึ้นของโลกด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
ความไม่มีในโลกก็ไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับของโลกด้วยปัญญาอันชอบตาม
ความเป็นจริง ความมีในโลกก็ไม่มี
กัจจานะ โดยมาก โลกนี้พัวพันอยู่ด้วยอุบายและความยึดมั่นอันเป็นเหตุ
ถือมั่น แต่อริยสาวกนี้ไม่เข้าไปยึดมั่นอุบายและความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้ง
มั่นถือมั่นและนอนเนื่องว่า ‘อัตตาของเรา’ ไม่เคลือบแคลง ไม่สงสัยว่า ‘ทุกข์นั่น
แลเมื่อเกิดย่อมเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับย่อมดับไป’ อริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่อง
นี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๙. ราหุลสูตร

กัจจานะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จัดว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ
กัจจานะ ที่สุดอย่างที่ ๑ นี้ คือ สิ่งทั้งปวงมีอยู่ ที่สุดอย่างที่ ๒ นี้ คือ
สิ่งทั้งปวงไม่มี ตถาคตไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้ง ๒ นี้แสดงธรรมโดยสายกลางว่า
‘เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ด้วยประการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั่นแลดับ
ไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความ
ดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ด้วยประการอย่างนี้”
ท่านพระฉันนะกล่าวว่า “ท่านอานนท์ ข้อที่เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เช่น
กับท่านเป็นผู้อนุเคราะห์ มุ่งประโยชน์ ว่ากล่าว พร่ำสอน ย่อมเป็นอย่างนั้น
และเพราะได้ฟังธรรมเทศนานี้ของท่านอานนท์ ผมจึงได้บรรลุธรรม”

ฉันนสูตรที่ ๘ จบ

๙. ราหุลสูตร
ว่าด้วยพระราหุล

[๙๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เมื่อบุคคลรู้ เห็นอย่างไร จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัยในกายที่มี
วิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งปวงในภายนอก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต
อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต
ไกลหรือใกล้ก็ตาม บุคคลเห็นรูปทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
อย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค ๑๐. ทุติยราหุลสูตร

วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก ฯลฯ บุคคลเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความ
เป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
ราหุล เมื่อบุคคลรู้ เห็นอย่างนี้ จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย
ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งปวงในภายนอก”

ราหุลสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุติยราหุลสูตร
ว่าด้วยพระราหุล สูตรที่ ๒

[๙๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ท่านพระราหุลนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อ
บุคคลรู้ เห็นอย่างไร ใจจึงจะปราศจากอหังการ มมังการ และมานานุสัยในกาย
ที่มีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งปวงในภายนอก ก้าวล่วงมานะด้วยดี สงบระงับ
หลุดพ้นดีแล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต
อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด ฯลฯ ไกลหรือ
ใกล้ก็ตาม บุคคลเห็นรูปทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะ
ไม่ถือมั่น
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ...
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม บุคคล
เห็นวิญญาณทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่
ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะไม่ถือมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๔. เถรวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ราหุล เมื่อบุคคลรู้ เห็นอย่างนี้ ใจจึงจะปราศจากอหังการ มมังการ และ
มานานุสัยในกายที่มีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งปวงในภายนอก ก้าวล่วงมานะด้วยดี
สงบระงับ หลุดพ้นดีแล้ว”

ทุติยราหุลสูตรที่ ๑๐ จบ
เถรวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อานันทสูตร ๒. ติสสสูตร
๓. ยมกสูตร ๔. อนุราธสูตร
๕. วักกลิสูตร ๖. อัสสชิสูตร
๗. เขมกสูตร ๘. ฉันนสูตร
๙. ราหุลสูตร ๑๐. ทุติยราหุลสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๑. นทีสูตร

๕. ปุปผวรรค
หมวดว่าด้วยอุปมาด้วยดอกไม้
๑. นทีสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยแม่น้ำ

[๙๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำไหลลงจากภูเขา พัด(หญ้า
ใบไม้ และท่อนไม้เป็นต้น)ไปในภายใต้ ไหลไปไกล มีกระแสเชี่ยว ที่ฝั่งทั้ง ๒
ของแม่น้ำนั้น ถ้าแม้ต้นเลาทั้งหลายพึงเกิด ต้นเลาเหล่านั้นก็จะลู่ไปตามแม่น้ำนั้น
ถ้าแม้หญ้าคาทั้งหลายพึงเกิด หญ้าคาเหล่านั้นก็จะลู่ไปตามแม่น้ำนั้น ถ้าแม้หญ้า
มุงกระต่ายทั้งหลายพึงเกิด หญ้ามุงกระต่ายเหล่านั้นก็จะลู่ไปตามแม่น้ำนั้น ถ้าแม้
หญ้าคมบางทั้งหลายพึงเกิด หญ้าคมบางเหล่านั้นก็จะลู่ไปตามแม่น้ำนั้น ถ้าต้นไม้
ทั้งหลายพึงเกิด ต้นไม้เหล่านั้นก็จะลู่ไปตามแม่น้ำนั้น บุรุษถูกกระแสน้ำพัดไปอยู่
ถ้าพึงจับต้นเลา ต้นเลาก็จะหลุดไป เขาพึงถึงความพินาศ เพราะต้นเลานั้นหลุดไป
ถ้าพึงจับหญ้าคา หญ้ามุงกระต่าย หญ้าคมบาง หรือต้นไม้ หญ้าคาเป็นต้นเหล่านั้น
ก็พึงหลุดไป เขาพึงถึงความพินาศ เพราะหญ้าคาเป็นต้นนั้นหลุดไป แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่
ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็น
สัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ
พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป พิจารณาเห็นรูป
ในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในรูป รูปของเขานั้นย่อยยับไป เขาก็ถึงความพินาศ
เพราะรูปนั้นย่อยยับไป
พิจารณาเห็นเวทนา ... สัญญา ... สังขาร ...
พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ
พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ วิญญาณของ
เขานั้นย่อยยับไป เขาก็ถึงความพินาศ เพราะวิญญาณนั้นย่อยยับไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๒. ปุปผสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่
เที่ยง”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

นทีสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปุปผสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยดอกไม้

[๙๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ณ ที่นั้นแล ฯลฯ “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่ขัดแย้งกับโลก แต่โลกขัดแย้งกับเรา
ผู้กล่าวเป็นธรรมไม่ขัดแย้งกับใคร ๆ ในโลก สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี แม้
เราก็กล่าวสิ่งนั้นว่า ‘ไม่มี’ สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี แม้เราก็กล่าวสิ่งนั้นว่า ‘มี’
ก็อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งที่บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี เราก็กล่าวว่า ‘ไม่มี‘
คือ รูปที่เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร ที่บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี
แม้เราก็กล่าวรูปนั้นว่า ‘ไม่มี’
เวทนา ...
สัญญา ...
สังขาร ...
วิญญาณที่เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร ที่บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี
แม้เราก็กล่าววิญญาณนั้นว่า ‘ไม่มี’
นี้แลชื่อว่าสิ่งที่บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี แม้เราก็กล่าวว่า ‘ไม่มี’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๒. ปุปผสูตร

อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี เราก็กล่าวว่า ‘มี‘
คือ รูปที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ผันแปร ที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี แม้เราก็
กล่าวรูปนั้นว่า ‘มี’
เวทนา ...
สัญญา ...
สังขาร ...
วิญญาณที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ผันแปร ที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี แม้เราก็
กล่าววิญญาณนั้นว่า ‘มี’
นี้แลชื่อว่าสิ่งที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี แม้เราก็กล่าวว่า ‘มี’
โลกธรรม๑มีอยู่ในโลก ตถาคตตรัสรู้ รู้แจ้งโลกธรรมนั้นแล้ว จึงบอก๒ แสดง๓
บัญญัติ๔ กำหนด๕ เปิดเผย๖ จำแนก๗ ทำให้ง่าย๘
ก็อะไรเล่าชื่อว่าโลกธรรมในโลก ที่ตถาคตตรัสรู้ รู้แจ้งแล้ว จึงบอก แสดง
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
คือ รูปจัดเป็นโลกธรรมในโลก ที่ตถาคตตรัสรู้ ฯลฯ ทำให้ง่าย
บุคคลใด เมื่อตถาคตบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่ายอยู่อย่างนี้ ยังไม่รู้ ไม่เห็น เราจะทำอะไรกับบุคคลผู้โง่เขลา เป็นปุถุชน
คนบอด ไม่มีดวงตา ไม่รู้ ไม่เห็นนั้นได้


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๓. เผณปิณฑูปมสูตร

เวทนา ...
สัญญา ...
สังขาร ...
วิญญาณจัดเป็นโลกธรรมในโลกที่ตถาคตตรัสรู้ รู้แจ้งแล้ว จึงบอก แสดง
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
บุคคลใด เมื่อตถาคตบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่ายอยู่อย่างนี้ ยังไม่รู้ ไม่เห็น เราจะทำอะไรกับบุคคลผู้โง่เขลา เป็นปุถุชน
คนบอด ไม่มีดวงตา ไม่รู้ ไม่เห็นนั้นได้
ภิกษุทั้งหลาย ดอกอุบลก็ดี ดอกปทุมก็ดี ดอกบุณฑริกก็ดี เกิดในน้ำ
เจริญในน้ำ โผล่พ้นน้ำแล้วตั้งอยู่ แต่ไม่ติดน้ำ แม้ฉันใด ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เกิดในโลก เจริญในโลก ครอบงำโลกอยู่ แต่ไม่ติดโลก”

ปุปผสูตรที่ ๒ จบ

๓. เผณปิณฑูปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยกลุ่มฟองน้ำ

[๙๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำคงคา เขตเมือง
อยุชฌา ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคานี้พึงพัดฟองน้ำกลุ่มใหญ่มา บุรุษผู้มีตาดีก็จะพึง
เห็น เพ่ง พิจารณาฟองน้ำกลุ่มใหญ่นั้นโดยแยบคายได้ เมื่อเขาเห็น เพ่ง
พิจารณาฟองน้ำกลุ่มใหญ่นั้นโดยแยบคาย ฟองน้ำก็จะพึงปรากฏเป็นของว่าง เปล่า
หาสาระมิได้เลย สาระในฟองน้ำจะมีได้อย่างไร แม้ฉันใด รูปอย่างใดอย่างหนึ่งก็
ฉันนั้นเหมือนกัน ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ไกลหรือใกล้ก็ตาม
ภิกษุเห็น เพ่ง พิจารณารูปนั้นโดยแยบคาย เมื่อเธอเห็น เพ่ง พิจารณารูปนั้น
โดยแยบคาย รูปก็จะปรากฏเป็นของว่าง เปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในรูปจะมี
ได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๓. เผณปิณฑูปมสูตร

เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกในสารทฤดู ฟองน้ำเกิดขึ้นและดับไปบนผิวน้ำ บุรุษผู้มี
ตาดีก็พึงเห็น เพ่ง พิจารณาฟองน้ำนั้นโดยแยบคายได้ เมื่อเขาเห็น เพ่ง พิจารณา
ฟองน้ำนั้นโดยแยบคาย ฟองน้ำก็จะพึงปรากฏเป็นของว่าง เปล่า หาสาระมิได้เลย
สาระในฟองน้ำนั้นจะมีได้อย่างไร แม้ฉันใด เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือน
กัน ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ไกลหรือใกล้ก็ตาม ภิกษุเห็น เพ่ง
พิจารณาเวทนานั้นโดยแยบคาย เมื่อเธอเห็น เพ่ง พิจารณาเวทนานั้นโดยแยบคาย
เวทนาก็จะปรากฏเป็นของว่าง เปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในเวทนาจะมีได้อย่างไร
เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนยังอยู่ พยับแดดระยิบระยับในเวลาเที่ยง บุรุษ
ผู้มีตาดีก็จะพึงเห็น เพ่ง พิจารณาพยับแดดนั้นโดยแยบคายได้ เมื่อเขาเห็น เพ่ง
พิจารณาพยับแดดนั้นโดยแยบคาย พยับแดดก็จะปรากฏเป็นของว่าง เปล่า ฯลฯ
สาระในพยับแดดจะมีได้อย่างไร แม้ฉันใด สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ฉันนั้น
เหมือนกัน ฯลฯ
บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้ ถือขวานที่คมเข้าไปสู่ป่า
เขาเห็นต้นกล้วยใหญ่ ตรง กำลังรุ่น ไม่มีแก่นในป่านั้นจึงตัดโคน ตัดปลาย แล้ว
ปอกกาบออก เขาปอกกาบออกแล้ว ไม่ได้แม้กระพี้ในต้นกล้วยนั้น จะได้แก่นแต่
ที่ไหนเล่า บุรุษผู้มีตาดีก็จะเห็น เพ่ง พิจารณาต้นกล้วยนั้นโดยแยบคายได้ เมื่อ
เขาเห็น เพ่ง พิจารณาต้นกล้วยนั้นโดยแยบคาย ต้นกล้วยก็จะพึงปรากฏเป็นของว่าง
เปล่า หาแก่นมิได้เลย แก่นในต้นกล้วยจะมีได้อย่างไร แม้ฉันใด สังขารเหล่าใด
เหล่าหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ไกลหรือใกล้
ก็ตาม ภิกษุเห็น เพ่ง พิจารณาสังขารนั้นโดยแยบคาย เมื่อเธอเห็น เพ่ง
พิจารณาสังขารนั้นโดยแยบคาย สังขารก็จะปรากฏเป็นของว่าง เปล่า หาสาระ
มิได้เลย สาระในสังขารทั้งหลายจะมีได้อย่างไร
นักมายากลหรือลูกมือนักมายากลแสดงมายากลที่ทางใหญ่ ๔ แพร่ง บุรุษ
ผู้มีตาดีก็จะพึงเห็น เพ่ง พิจารณามายากลนั้นโดยแยบคายได้ เมื่อเขาเห็น เพ่ง
พิจารณามายากลนั้นโดยแยบคาย มายากลก็จะพึงปรากฏเป็นของว่าง เปล่า หา
สาระมิได้เลย สาระในมายากลจะมีได้อย่างไร แม้ฉันใด วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ไกลหรือใกล้ก็ตาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๓. เผณปิณฑูปมสูตร

ภิกษุเห็น เพ่ง พิจารณาวิญญาณนั้นโดยแยบคาย เมื่อเธอเห็น เพ่ง พิจารณา
วิญญาณนั้นโดยแยบคาย วิญญาณก็จะปรากฏเป็นของว่าง เปล่า หาสาระมิได้เลย
สาระในวิญญาณจะมีได้อย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ... แม้ในสัญญา ... แม้ในสังขาร ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อม
หลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ฯลฯ ไม่มีกิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา-
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
ทรงแสดงแล้วว่า ‘รูปอุปมาด้วยกลุ่มฟองน้ำ
เวทนาอุปมาด้วยฟองน้ำ สัญญาอุปมาด้วยพยับแดด
สังขารอุปมาด้วยต้นกล้วย และวิญญาณอุปมาด้วยมายากล
ภิกษุเพ่งพิจารณาเห็นขันธ์ ๕ นั้นโดยแยบคายด้วยประการใด ๆ
ขันธ์ ๕ นั้น ก็ปรากฏเป็นของว่างเปล่าด้วยประการนั้นๆ
การละธรรม ๓ ประการซึ่งพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงมีปัญญาดุจแผ่นดิน ทรงปรารภกายนี้ แสดงไว้แล้ว
ท่านทั้งหลาย จงดูรูปที่บุคคลทิ้งแล้ว
เมื่อใด อายุ ไออุ่น และวิญญาณละกายนี้
เมื่อนั้น กายนี้ก็ถูกทอดทิ้ง นอนเป็นเหยื่อของสัตว์อื่น
ปราศจากเจตนา ความสืบต่อเป็นเช่นนี้
นี้เป็นมายากลสำหรับหลอกลวงคนโง่
ขันธ์ ๕ เปรียบเหมือนเพชฌฆาต
เราบอกแล้ว สาระในขันธ์ ๕ นี้ไม่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๔. โคมยปิณฑสูตร

ภิกษุผู้ปรารภความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ
พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ทั้งกลางวันและกลางคืน
ภิกษุเมื่อปรารถนาบทอันไม่จุติ๑
พึงละสังโยชน์๒ทั้งปวง ทำที่พึ่งแก่ตน
ประพฤติดุจบุคคลถูกไฟไหม้ศีรษะฉะนั้น”

เผณปิณฑูปมสูตรที่ ๓ จบ

๔. โคมยปิณฑสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยก้อนโคมัย

[๙๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง ฯลฯ นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน
ไม่ผันแปร เที่ยงเสมออยู่อย่างนั้น มีอยู่หรือ
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร เที่ยงเสมอ
อยู่อย่างนั้น มีอยู่หรือ
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ
สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร เที่ยงเสมอ
อยู่อย่างนั้น มีอยู่หรือ
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร เที่ยง
เสมออยู่อย่างนั้น มีอยู่หรือ”


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๔. โคมยปิณฑสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน
คงทน ไม่ผันแปร เที่ยงเสมออยู่อย่างนั้น ไม่มีเลย
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ...
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร เที่ยง
เสมออยู่อย่างนั้น ไม่มีเลย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหยิบก้อนโคมัย (มูลโค) เล็ก ๆ ขึ้นมาแล้ว
ตรัสว่า “ภิกษุ การได้อัตภาพแม้ประมาณเท่านี้ที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่
ผันแปร เที่ยงเสมออยู่อย่างนั้น ไม่มี ถ้าแม้การได้อัตภาพประมาณเท่านี้ จักเที่ยงแท้
ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปรแล้วไซร้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้น
ทุกข์โดยชอบนี้ ก็จะไม่พึงปรากฏ แต่เพราะการได้อัตภาพแม้ประมาณเท่านี้ที่จัก
เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร ไม่มี ฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบจึงปรากฏ
ภิกษุ เรื่องเคยมีมาแล้ว เราได้เป็นพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษก
มีเมือง ๘๔,๐๐๐ เมือง ซึ่งมีกุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง
มีปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์ ซึ่งมีธรรมปราสาทเป็นปราสาทหลวง
มีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง ซึ่งมีเรือนยอดมหาพยูหะเป็นเรือนยอดหลวง
มีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ ทำด้วยงา ทำด้วยแก่นจันทน์แดง ประดับ
ด้วยทองและเงิน ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วยผ้ากำพลขาว ลาดด้วยเครื่องลาด
ทำด้วยขนแกะ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีเพดานสีแดง มีหมอน
สีแดงทั้ง ๒ ข้าง
มีช้างต้น ๘๔,๐๐๐ ช้าง ซึ่งมีเครื่องประดับทำด้วยทอง มีธงทำด้วยทอง
คลุมด้วยข่ายทอง มีพญาช้างอุโบสถเป็นหัวหน้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๔. โคมยปิณฑสูตร

มีม้าต้น ๘๔,๐๐๐ ม้า ซึ่งมีเครื่องประดับทำด้วยทอง คลุมด้วยข่ายทอง
มีม้าวลาหกอัศวราชเป็นหัวหน้า
มีรถทรง ๘๔,๐๐๐ คัน มีเครื่องประดับทำด้วยทอง มีธงทำด้วยทอง คลุม
ด้วยข่ายทอง มีเวชยันตราชรถเป็นประธาน
มีแก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง มีแก้วมณีเป็นประธาน
มีพระสนม ๘๔,๐๐๐ นาง มีพระนางสุภัททาเทวีเป็นหัวหน้า
มีกษัตริย์ ๘๔,๐๐๐ พระองค์ตามเสด็จ มีขุนพลแก้วเป็นประมุข
มีแม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว ผูกด้วยเชือกป่าน แขวนกระดิ่งสำริด
มีผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ คือผ้าเปลือกไม้เนื้อละเอียด ผ้าไหมเนื้อละเอียด
ผ้าขนสัตว์เนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายเนื้อละเอียด
มีภาชนะทอง ๘๔,๐๐๐ สำรับ ซึ่งชนทั้งหลายใส่อาหารนำมาทั้งในเวลาเย็น
และในเวลาเช้า
ภิกษุ ก็บรรดาเมือง ๘๔,๐๐๐ เมืองนั้น เมืองที่เราครองในสมัยนั้นมีเมือง
เดียวเท่านั้น คือกุสาวดีราชธานี
บรรดาปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์นั้น ปราสาทที่เราครองในสมัยนั้นมีหลัง
เดียวเท่านั้น คือธรรมปราสาท
บรรดาเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลังนั้น เรือนยอดที่เราครองในสมัยนั้นมีหลัง
เดียวเท่านั้น คือเรือนยอดมหาพยูหะ
บรรดาบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์นั้น บัลลังก์ที่เรานั่งในสมัยนั้นมีบัลลังก์
เดียวเท่านั้น คือบัลลังก์ที่ทำด้วยงา ทำด้วยแก่นจันทน์แดง ทำด้วยทอง ทำด้วยเงิน
บรรดาช้างต้น ๘๔,๐๐๐ ช้างนั้น ช้างที่เราทรงในสมัยนั้นมีช้างเดียวเท่านั้น
คือพญาช้างอุโบสถ
บรรดาม้าต้น ๘๔,๐๐๐ ม้านั้น ม้าที่เราทรงในสมัยนั้นมีม้าเดียวเท่านั้น
คือม้าวลาหกอัศวราช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๕. นขสิขาสูตร

บรรดาราชรถ ๘๔,๐๐๐ คันนั้น ราชรถที่เราทรงในสมัยนั้นมีคันเดียวเท่านั้น
คือเวชยันตราชรถ
บรรดาพระสนม ๘๔,๐๐๐ นางนั้น พระสนมที่เรายกย่องในสมัยนั้นมีนาง
เดียวเท่านั้น คือนางขัตติยานีหรือนางเวลามิกา๑
บรรดาผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏินั้น ผ้าที่เราทรงในสมัยนั้นมีคู่เดียวเท่านั้น คือ
ผ้าเปลือกไม้เนื้อละเอียด ผ้าไหมเนื้อละเอียด ผ้าขนสัตว์เนื้อละเอียด หรือผ้าฝ้าย
เนื้อละเอียด
บรรดาภาชนะทอง ๘๔,๐๐๐ สำรับนั้น ภาชนะทองซึ่งใส่ข้าวสุกที่หุงจาก
ข้าวสาร ๑ ทะนานเป็นอย่างมากและแกงกับอันพอเหมาะแก่ข้าวนั้นที่เราบริโภคมี
สำรับเดียวเท่านั้น
ภิกษุ สังขารทั้งปวงนั้น ล่วงไป ดับไป แปรผันไปแล้ว ด้วยประการดังนี้
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้ สังขารทั้งหลายไม่ยั่งยืนอย่างนี้ สังขารทั้งหลายไม่
น่าเบาใจอย่างนี้ ก็สังขารทั้งปวงมีลักษณะที่ไม่เที่ยงอย่างนี้ ควรทีเดียวที่จะ
เบื่อหน่าย คลายกำหนัด พ้นไปจากสังขารทั้งปวง”

โคมยปิณฑสูตรที่ ๔ จบ

๕. นขสิขาสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยฝุ่นที่ปลายเล็บ

[๙๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร เที่ยงเสมอ
อยู่อย่างนั้น มีอยู่หรือ
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร เที่ยงเสมอ
อยู่อย่างนั้น มีอยู่หรือ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๕. นขสิขาสูตร

สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ
สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร เที่ยงเสมอ
อยู่อย่างนั้น มีอยู่หรือ
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร เที่ยง
เสมออยู่อย่างนั้น มีอยู่หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน
คงทน ไม่ผันแปร เที่ยงเสมออยู่อย่างนั้น ไม่มีเลย
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ...
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร เที่ยง
เสมออยู่อย่างนั้น ไม่มีเลย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงช้อนฝุ่นนิดหน่อยด้วยปลายพระนขาแล้ว ตรัส
กับภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ รูปแม้ประมาณเท่านี้ที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน
ไม่ผันแปร เที่ยงเสมออยู่อย่างนั้น ไม่มี ถ้ารูปแม้ประมาณเท่านี้ จักเที่ยงแท้
ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปรแล้ว การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดย
ชอบนี้ ก็จะไม่พึงปรากฏ แต่เพราะรูปแม้ประมาณเท่านี้ที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน
คงทน ไม่ผันแปร ไม่มี ฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์
โดยชอบจึงปรากฏ
เวทนาแม้ประมาณเท่านี้ที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร เที่ยงเสมอ
อยู่อย่างนั้น ไม่มี ถ้าเวทนาแม้ประมาณเท่านี้ จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่
ผันแปรแล้ว การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบนี้ ก็จะไม่พึง
ปรากฏ แต่เพราะเวทนาแม้ประมาณเท่านี้ที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร
ไม่มี ฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบจึงปรากฏ
สัญญาแม้ประมาณเท่านี้ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๖. สุทธิกสูตร

สังขารแม้ประมาณเท่านี้ที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร เที่ยงเสมอ
อยู่อย่างนั้น ไม่มี ถ้าสังขารแม้ประมาณเท่านี้ จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร
แล้ว การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบนี้ ก็จะไม่พึงปรากฏ
แต่เพราะสังขารแม้ประมาณเท่านี้ที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร ไม่มี ฉะนั้น
การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบจึงปรากฏ
วิญญาณแม้ประมาณเท่านี้ที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร เที่ยง
เสมออยู่อย่างนั้น ไม่มี ถ้าวิญญาณแม้ประมาณเท่านี้ จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน
ไม่ผันแปรแล้ว การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบนี้ ก็จะไม่พึง
ปรากฏ แต่เพราะวิญญาณแม้ประมาณเท่านี้ที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร
ไม่มี ฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบจึงปรากฏ
ภิกษุ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ
“เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ...
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

นขสิขาสูตรที่ ๕ จบ

๖. สุทธิกสูตร
ว่าด้วยขันธ์ล้วนๆ

[๙๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร เที่ยงเสมอ
อยู่อย่างนั้น มีอยู่หรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๗. คัททูลพัทธสูตร

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ...
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร เที่ยง
เสมออยู่อย่างนั้น มีอยู่หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน
คงทน ไม่ผันแปร เที่ยงเสมออยู่อย่างนั้น ไม่มีเลย
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ...
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่จักเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร เที่ยง
เสมออยู่อย่างนั้น ไม่มีเลย”

สุทธิกสูตรที่ ๖ จบ

๗. คัททูลพัทธสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยสุนัขถูกล่าม

[๙๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) นี้
มีเบื้องต้นเบื้องปลายที่ใคร ๆ รู้ไม่ได้ เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย
ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องปิดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไป
มหาสมุทรยังมีเวลาเหือดแห้งไป มีอยู่ไม่ได้ แต่เราก็มิได้กล่าวว่า สัตว์
ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องปิดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปอยู่
จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ขุนเขาสิเนรุยังมีเวลาถูกไฟเผาพินาศไป มีอยู่ไม่ได้ แต่เราก็มิได้กล่าวว่า
สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องปิดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยว
ไปอยู่ จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๗. คัททูลพัทธสูตร

แผ่นดินใหญ่ยังมีเวลาถูกไฟเผาพินาศไป มีอยู่ไม่ได้ แต่เราก็มิได้กล่าวว่า
สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องปิดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยว
ไปอยู่ จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
สุนัขที่เขาผูกไว้ด้วยเชือก ล่ามไว้ที่หลักหรือเสาที่แข็งแรง วิ่งวนเวียนหลัก
หรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ได้เห็นพระอริยะ ...
ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ...
พิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา ... สัญญา ... พิจารณาเห็นสังขารโดยความ
เป็นอัตตา ... พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามี
วิญญาณ พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ
ปุถุชนนั้นแล่นวนเวียนอยู่กับรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร แล่นวนเวียน
อยู่กับวิญญาณ เมื่อเขาแล่นวนเวียนอยู่กับรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร
เมื่อแล่นวนเวียนอยู่กับวิญญาณ เรากล่าวว่า ไม่พ้นจากรูป ไม่พ้นจากเวทนา ไม่
พ้นจากสัญญา ไม่พ้นจากสังขาร ไม่พ้นจากวิญญาณ ไม่พ้นจากชาติ ชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส และชื่อว่าไม่พ้นจากทุกข์’
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยะ ... ได้รับการ
แนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ... ไม่
พิจารณาเห็นเวทนา ... ไม่พิจารณาเห็นสัญญา ... ไม่พิจารณาเห็นสังขาร ...
ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ
ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ อริยสาวก
นั้นไม่แล่นวนเวียนอยู่กับรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ไม่แล่นวนเวียน
อยู่กับวิญญาณ เมื่อเธอไม่แล่นวนเวียนอยู่กับรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร
ไม่แล่นวนเวียนอยู่กับวิญญาณ ย่อมพ้นจากรูป ย่อมพ้นจากเวทนา ย่อมพ้นจาก
สัญญา ย่อมพ้นจากสังขาร ย่อมพ้นจากวิญญาณ เรากล่าวว่า ‘ย่อมพ้นจากชาติ
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส และย่อมพ้นจากทุกข์”

คัททูลพัทธสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๘. ทุติยคัททูลพัทธสูตร

๘. ทุติยคัททูลพัทธสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยสุนัขถูกล่าม สูตรที่ ๒

[๑๐๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้มีเบื้องต้นเบื้องปลายที่ใคร ๆ
รู้ไม่ได้ เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องปิดกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไป
สุนัขที่เขาผูกไว้ด้วยเชือก ล่ามไว้ที่หลักหรือเสาที่แข็งแรง ถ้าแม้สุนัขนั้นเดิน
ก็เดินใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้าแม้สุนัขนั้นยืน ก็ยืนใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้า
แม้สุนัขนั้นหมอบ ก็หมอบใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้าแม้สุนัขนั้นนอน ก็นอนใกล้
หลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็น
รูปว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ ... เวทนา ... สัญญา ...
สังขาร ... พิจารณาเห็นวิญญาณว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’
ปุถุชนนั้น ถ้าแม้เขาเดินก็เดินใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้เอง ถ้าแม้เขายืนก็
ยืนใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้เอง ถ้าแม้เขานั่งก็นั่งใกล้อุปาทานขันธ์ ๕
ประการนี้เอง ถ้าแม้เขานอนก็นอนใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้เอง

ความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วแห่งจิต

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายควรพิจารณาจิตของตนเนือง ๆ
ว่า ‘จิตนี้เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ เป็นเวลานาน’ สัตว์ทั้งหลาย
เศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์เพราะจิตผ่องแผ้ว ภาพ
จิตรกรรมที่เขาเขียนไว้ เธอทั้งหลายเห็นแล้วหรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เห็นแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย แม้ภาพจิตรกรรมที่เขาเขียนไว้นั้น จิตรกรก็คิดด้วยจิตนั่นเอง
จิตนั่นเองวิจิตรกว่าภาพจิตรกรรมที่เขาเขียนไว้นั้น เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลาย
ควรพิจารณาจิตของตนเนือง ๆ ว่า ‘จิตนี้เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๙. วาสิชฏิสูตร

เป็นเวลานาน’ สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์
เพราะจิตผ่องแผ้ว
เราไม่พิจารณาเห็นสัตว์อื่นแม้เพียงหมู่เดียวซึ่งวิจิตรเหมือนอย่างสัตว์ดิรัจฉาน
นี้เลย สัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านั้นจิตรกรก็คิดด้วยจิตนั่นเอง จิตนั่นเองวิจิตรกว่า
สัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายควรพิจารณาจิตของตนเนือง ๆ
ว่า ‘จิตนี้เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ เป็นเวลานาน’ สัตว์ทั้งหลาย
เศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์เพราะจิตผ่องแผ้ว
ภิกษุทั้งหลาย ช่างย้อมหรือจิตรกร เมื่อมีเครื่องย้อมก็ดี ครั่งก็ดี ขมิ้นก็ดี
สีเขียวก็ดี สีแดงก็ดี พึงเขียนรูปสตรีหรือรูปบุรุษมีอวัยวะน้อยใหญ่ครบทุกส่วน
ลงบนแผ่นกระดาน ฝา หรือแผ่นผ้าที่เกลี้ยงเกลา แม้ฉันใด ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อจะให้เกิด ก็ให้รูปนั่นเองเกิด ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร
... เมื่อจะให้เกิด ก็ให้วิญญาณนั่นเองเกิด
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่
เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

ทุติยคัททูลพัทธสูตรที่ ๘ จบ

๙. วาสิชฏสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยด้ามมีด

[๑๐๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะของ
บุคคลผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ มิได้กล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะของบุคคลผู้ไม่รู้ ไม่เห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๙. วาสิชฏิสูตร

เมื่อบุคคลรู้ เห็นอย่างไร ความสิ้นไปแห่งอาสวะจึงมี
คือ เมื่อบุคคลรู้ เห็นอยู่ว่า ‘รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้
ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ... สัญญาเป็นดังนี้ ... สังขารเป็นดังนี้ ...
วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็น
ดังนี้’
เมื่อบุคคลรู้ เห็นอย่างนี้ ความสิ้นไปแห่งอาสวะจึงมี
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่ประกอบภาวนาอยู่เนือง ๆ ถึงจะมีความ
ปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ จิตของเราจึงจะหลุดพ้นจากอาสวะเพราะ
ไม่ถือมั่น’ ก็จริง ถึงอย่างนั้น จิตของเธอก็ไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นได้
เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า ‘เพราะเธอไม่ได้เจริญ’
เพราะเธอไม่ได้เจริญอะไร
คือ เพราะเธอไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ ไม่ได้เจริญสัมมัปปธาน
๔ ประการ ไม่ได้เจริญอิทธิบาท ๔ ประการ ไม่ได้เจริญอินทรีย์ ๕ ประการ
ไม่ได้เจริญพละ ๕ ประการ ไม่ได้เจริญโพชฌงค์ ๗ ประการ ไม่ได้เจริญอริยมรรค
มีองค์ ๘
ไข่ไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ไข่เหล่านั้น แม่ไก่ไม่ทับ ไม่กก
ไม่ฟักให้ดี แม่ไก่นั้นถึงจะมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ ลูกของเรา
จึงจะทำลายกระเปาะไข่ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปากออกมาโดยความ
สวัสดี’ ก็จริง ถึงอย่างนั้น ลูกไก่เหล่านั้นก็ไม่สามารถทำลายกระเปาะไข่ด้วยปลาย
เล็บเท้าหรือด้วยจะงอยปากออกมาโดยความสวัสดีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
ไข่ไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟองนั้น แม่ไก่ไม่ทับ ไม่กก ไม่ฟักให้ดี แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อไม่ประกอบภาวนาอยู่เนือง ๆ ถึงจะมีความปรารถนา
อย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ จิตของเราจึงจะหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น’ ก็จริง
ถึงอย่างนั้น จิตของเธอก็ไม่หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นได้เลย ข้อนั้นเพราะ
เหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า ‘เพราะเธอไม่ได้เจริญ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๙. วาสิชฏิสูตร

เพราะเธอไม่ได้เจริญอะไร
คือ เพราะเธอไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ ไม่ได้เจริญสัมมัปปธาน ๔
ประการ ไม่ได้เจริญอิทธิบาท ๔ ประการ ไม่ได้เจริญอินทรีย์ ๕ ประการ ไม่
ได้เจริญพละ ๕ ประการ ไม่ได้เจริญโพชฌงค์ ๗ ประการ ไม่ได้เจริญอริยมรรค
มีองค์ ๘
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบภาวนาอยู่เนือง ๆ ถึงจะไม่มีความ
ปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ จิตของเราจึงจะหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่
ถือมั่น’ ก็จริง ถึงอย่างนั้น จิตของเธอก็หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นได้ ข้อ
นั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า ‘เพราะเธอได้เจริญ’
เพราะเธอได้เจริญอะไร
คือ เพราะเธอได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ ได้เจริญสัมมัปปธาน
๔ ประการ ได้เจริญอิทธิบาท ๔ ประการ ได้เจริญอินทรีย์ ๕ ประการ ได้เจริญ
พละ ๕ ประการ ได้เจริญโพชฌงค์ ๗ ประการ ได้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘
ไข่ไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ไข่เหล่านั้น แม่ไก่ทับ กก ฟักไว้ดี
แม่ไก่นั้นถึงจะไม่มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ ลูกของเราจึงจะ
ทำลายกระเปาะไข่ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาโดยความสวัสดี’
ก็จริง ถึงอย่างนั้น ลูกไก่เหล่านั้นก็สามารถทำลายกระเปาะไข่ด้วยปลายเล็บเท้า
หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาโดยความสวัสดีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไข่ไก่
๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟองนั้น แม่ไก่ทับ กก ฟักไว้ดีแล้ว แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันเมื่อภิกษุประกอบภาวนาอยู่เนือง ๆ ถึงจะไม่มีความปรารถนา
อย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ จิตของเราจึงจะหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น’ ก็จริง
ถึงอย่างนั้น จิตของเธอก็หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า ‘เพราะเธอได้เจริญ’
เพราะเธอได้เจริญอะไร
คือ เพราะเธอได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ ได้เจริญสัมมัปปธาน ๔
ประการ ได้เจริญอิทธิบาท ๔ ประการ ได้เจริญอินทรีย์ ๕ ประการ ได้เจริญ
พละ ๕ ประการ ได้เจริญโพชฌงค์ ๗ ประการ ได้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๑๐. อนิจจสัญญาสูตร

รอยนิ้วมือ หรือรอยนิ้วหัวแม่มือปรากฏอยู่ที่ด้ามมีดของช่างไม้หรือลูกมือ
ของช่างไม้ แต่ช่างไม้หรือลูกมือของช่างไม้นั้น หารู้ไม่ว่า ‘วันนี้ ด้ามมีดของเรา
สึกไปประมาณเท่านี้ เมื่อวานนี้ สึกไปประมาณเท่านี้ วันก่อน ๆ สึกไปประมาณ
เท่านี้’ ที่แท้เมื่อด้ามมีดสึกไปแล้ว ช่างไม้หรือลูกมือของช่างไม้นั้น ก็รู้ว่า ‘สึกไปแล้ว’
แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกันเมื่อประกอบภาวนาอยู่เนือง ๆ หารู้ไม่ว่า ‘วันนี้
อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปประมาณเท่านี้ เมื่อวานนี้ สิ้นไปประมาณเท่านี้
วันก่อน ๆ สิ้นไปประมาณเท่านี้’ ก็จริง ถึงอย่างนั้น เมื่ออาสวะสิ้นไปแล้ว เธอก็รู้ว่า
‘สิ้นไปแล้ว’
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรือเดินสมุทรที่ผูกด้วยเครื่องผูกคือหวายจอดอยู่ในน้ำ
ตลอดฤดูฝน พอถึงฤดูหนาวเขาก็เข็นขึ้นบก เครื่องผูกเหล่านั้นต้องลมและแดด
ถูกฝนตกรด ย่อมผุเปื่อยไปโดยง่าย แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อ
ประกอบภาวนาอยู่เนือง ๆ สังโยชน์ทั้งหลาย ก็เสื่อมสิ้นไปโดยง่ายเช่นกัน”๑

วาสิชฏสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. อนิจจสัญญาสูตร
ว่าด้วยอนิจจสัญญา

[๑๐๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญา (ความหมายรู้ว่า
ไม่เที่ยง) ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำกามราคะ (ความติดใจใน
กามคุณ) รูปราคะ (ความติดใจในรูปธรรม) ภวราคะ (ความติดใจในภพ) และอวิชชา
(ความไม่รู้จริง) ทั้งปวงได้ ถอนอัสมิมานะ (ความถือตัวว่าเป็นเรา) ทั้งปวงได้
ในสารทฤดู ชาวนาเมื่อไถนาด้วยไถคันใหญ่ ย่อมไถทำลายราก (หญ้า) ที่
เกี่ยวเนื่องทุกชนิด แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน ย่อมครอบงำกามราคะ รูปราคะ ภวราคะ และอวิชชาทั้งปวงได้
ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค ๑๐. อนิจจสัญญาสูตร

คนเกี่ยวหญ้ามุงกระต่าย เกี่ยวเสร็จแล้ว จับปลาย เขย่า ฟาด สลัดออก
แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ
ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้
เมื่อพวงมะม่วงขาดจากขั้ว บรรดามะม่วงเหล่านั้น มะม่วงที่ยังติดอยู่ที่ขั้ว
ทั้งหมดก็หลุดไปตามพวงมะม่วงนั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้
มากแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้
กลอนของเรือนยอดทั้งหมดทอดไปถึงยอด รวมลงที่ยอด ยอดเรือนชาวโลก
กล่าวว่าเลิศกว่ากลอนเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้
กลิ่นหอมที่เกิดจากรากชนิดใดชนิดหนึ่ง กฤษณาชาวโลกกล่าวว่าเลิศกว่า
กลิ่นหอมที่เกิดจากรากเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มาก
แล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้
กลิ่นหอมที่เกิดจากแก่นชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์แดงชาวโลกกล่าวว่าเลิศกว่า
กลิ่นหอมที่เกิดจากแก่นเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มาก
แล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้
กลิ่นหอมที่เกิดจากดอกชนิดใดชนิดหนึ่ง ดอกมะลิชาวโลกกล่าวว่าเลิศกว่า
กลิ่นหอมที่เกิดจากดอกเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มาก
แล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้
พระราชาผู้มีอำนาจน้อยทั้งปวง ย่อมคล้อยตามพระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้า
จักรพรรดิชาวโลกกล่าวว่าเลิศกว่าพระราชาผู้มีอำนาจน้อยเหล่านั้น แม้ฉันใด
อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ ถอนอัสมิ-
มานะทั้งปวงได้
แสงสว่างของดวงดาวทั้งหมด ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งแสงสว่างของดวงจันทร์
แสงสว่างของดวงจันทร์ชาวโลกกล่าวว่าเลิศกว่าแสงสว่างของดวงดาวเหล่านั้น แม้
ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ
ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้
ในสารทฤดู เมื่อฝนขาดหาย ปราศจากเมฆ ดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นสู่ท้องฟ้า
กำจัดความมืดที่มีอยู่ในอากาศทั้งหมด ย่อมส่องแสง แผดแสง และแจ่มกระจ่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ ๕. ปุปผวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

แม้ฉันใด อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อม
ครอบงำกามราคะ รูปราคะ ภวราคะ และอวิชชาทั้งปวงได้ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้
อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงครอบงำกามราคะ
ทั้งปวงได้ ฯลฯ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้
คือ อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นดังนี้
ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ... สัญญาเป็นดังนี้
... สังขารเป็นดังนี้ ... วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้
ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญาที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อม
ครอบงำกามราคะ รูปราคะ ภวราคะ และอวิชชาทั้งปวงได้ ถอนอัสมิมานะทั้งปวงได้”

อนิจจสัญญาสูตรที่ ๑๐ จบ
ปุปผวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. นทีสูตร ๒. ปุปผสูตร
๓. เผณปิณฑูปมสูตร ๔. โคมยปิณฑสูตร
๕. นขสิขาสูตร ๖. สุทธิกสูตร
๗. คัททูลพัทธสูตร ๘. ทุติยคัททูลพัทธสูตร
๙. วาสิชฏสูตร ๑๐. อนิจจสัญญาสูตร

มัชฌิมปัณณาสก์ จบบริบูรณ์

รวมวรรคที่มีในมัชฌิมปัณณาสก์นี้ คือ

๑. อุปยวรรค ๒. อรหันตวรรค
๓. ขัชชนียวรรค ๔. เถรวรรค
๕. ปุปผวรรค

รวม ๕ วรรค เรียกว่า ทุติยปัณณาสก์


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๑. อันตวรรค ๑. อันตสูตร

จูฬปัณณาสก์
๑. อันตวรรค
หมวดว่าด้วยที่สุด
๑. อันตสูตร
ว่าด้วยที่สุด

[๑๐๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๔ อย่าง คือ
๑. ที่สุดคือสักกายะ (กายของตน)
๒. ที่สุดคือเหตุเกิดแห่งสักกายะ
๓. ที่สุดคือความดับแห่งสักกายะ
๔. ที่สุดคือปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสักกายะ
ที่สุดคือสักกายะ เป็นอย่างไร
คือ ควรกล่าวได้ว่า ‘ที่สุดคือสักกายะนั้น ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ’
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)
๒. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา)
๓. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
๔. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)
นี้เรียกว่า ที่สุดคือสักกายะ
ที่สุดคือเหตุเกิดแห่งสักกายะ เป็นอย่างไร
คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และความกำหนัด
มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๑. อันตวรรค ๒. ทุกขสูตร

๑. กามตัณหา (ความทะยานอยากในกาม)
๒. ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ)
๓. วิภวตัณหา (ความทะยานอยากในวิภพ)
นี้เรียกว่า ที่สุดคือเหตุเกิดแห่งสักกายะ
ที่สุดคือความดับแห่งสักกายะ เป็นอย่างไร
คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น
ความไม่อาลัยในตัณหา
นี้เรียกว่า ที่สุดคือความดับแห่งสักกายะ
ที่สุดคือปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสักกายะ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

นี้เรียกว่า ที่สุดคือปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสักกายะ
ภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๔ อย่าง เหล่านี้แล”

อันตสูตรที่ ๑ จบ

๒. ทุกขสูตร
ว่าด้วยทุกข์

[๑๐๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงทุกข์ ทุกขสมุทัย
(เหตุเกิดทุกข์) ทุกขนิโรธ(ความดับทุกข์) และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(ข้อปฏิบัติ
ที่ให้ถึงความดับทุกข์) เธอทั้งหลายจงฟัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๑. อันตวรรค ๒. ทุกขสูตร

ทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ ควรกล่าวได้ว่า ‘ทุกข์นั้น ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ’
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
นี้เรียกว่า ทุกข์
ทุกขสมุทัย เป็นอย่างไร
คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด
มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่
๑. กามตัณหา
๒. ภวตัณหา
๓. วิภวตัณหา
นี้เรียกว่า ทุกขสมุทัย
ทุกขนิโรธ เป็นอย่างไร
คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น
ความไม่อาลัยในตัณหา
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”

ทุกขสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๑. อันตวรรค ๓. สักกายสูตร

๓. สักกายสูตร
ว่าด้วยสักกายะ

[๑๐๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสักกายะ เหตุเกิดแห่ง
สักกายะ ความดับแห่งสักกายะ และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสักกายะ เธอ
ทั้งหลายจงฟัง
สักกายะ เป็นอย่างไร
คือ ควรกล่าวได้ว่า ‘สักกายะนั้น ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ’
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
นี้เรียกว่า สักกายะ
เหตุเกิดแห่งสักกายะ เป็นอย่างไร
คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด
มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ คือ
๑. กามตัณหา
๒. ภวตัณหา
๓. วิภวตัณหา
นี้เรียกว่า เหตุเกิดแห่งสักกายะ
ความดับแห่งสักกายะ เป็นอย่างไร
คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น
ความไม่อาลัยในตัณหา
นี้เรียกว่า ความดับแห่งสักกายะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๑. อันตวรรค ๔. ปริญเญยยสูตร

ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสักกายะ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสักกายะ”

สักกายสูตรที่ ๓ จบ

๔. ปริญเญยยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรกำหนดรู้

[๑๐๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรกำหนดรู้
ความกำหนดรู้ และบุคคลผู้กำหนดรู้ เธอทั้งหลายจงฟัง
ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เป็นอย่างไร
คือ รูปเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้
เวทนา ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้
เหล่านี้เรียกว่า ธรรมที่ควรกำหนดรู้
ความกำหนดรู้ เป็นอย่างไร
คือ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ
นี้เรียกว่า ความกำหนดรู้
บุคคลผู้กำหนดรู้ เป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๑. อันตวรรค ๕. สมณสูตร

คือ ควรกล่าวได้ว่า บุคคลผู้กำหนดรู้นั้น คือพระอรหันต์ ได้แก่ ท่าน
ผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้
นี้เรียกว่า บุคคลผู้กำหนดรู้”

ปริญเญยยสูตรที่ ๔ จบ

๕. สมณสูตร
ว่าด้วยสมณะ

[๑๐๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่รู้ชัดคุณ โทษ และ
เครื่องสลัดออกจากอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ตามความเป็นจริง สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่านั้นไม่จัดว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ และไม่จัดว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่
พราหมณ์ ทั้งท่านเหล่านั้นก็ไม่ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะหรือ
ประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดคุณ โทษ
และเครื่องสลัดออกจากอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ตามความเป็นจริง สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่านั้นจัดว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ และจัดว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่
พราหมณ์ ทั้งท่านเหล่านั้นก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะหรือ
ประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”๑

สมณสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๑. อันตวรรค ๗. โสตาปันนสูตร

๖. ทุติยสมณสูตร
ว่าด้วยสมณะ สูตรที่ ๒

[๑๐๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่รู้ชัดความเกิด
ความดับ คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้
ตามความเป็นจริง ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัด ... ทั้งท่าน
เหล่านั้นก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะหรือประโยชน์แห่งความเป็น
พราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”

ทุติยสมณสูตรที่ ๖ จบ

๗. โสตาปันนสูตร
ว่าด้วยพระโสดาบัน

[๑๐๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดอริยสาวกรู้ชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และ
เครื่องสลัดออกจากอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ตามความเป็นจริง เมื่อนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๑. อันตวรรค ๘. อรหันตสูตร

อริยสาวกนี้เราเรียกว่า เป็นโสดาบัน๑ ไม่มีทางตกต่ำ๒ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จ
สัมโพธิ๓ในวันข้างหน้า”

โสตาปันนสูตรที่ ๗ จบ

๘. อรหันตสูตร
ว่าด้วยพระอรหันต์

[๑๑๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ภิกษุรู้ชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และเครื่อง
สลัดออกจากอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ตามความเป็นจริง เป็นผู้หลุดพ้น
เพราะไม่ถือมั่น เมื่อนั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า ภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตน
โดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว๔ หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ”

อรหันตสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๑. อันตวรรค ๑๐. ทุติยฉันทปหานสูตร

๙. ฉันทปหานสูตร
ว่าด้วยการละความพอใจ

[๑๑๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละความพอใจ
ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากในรูป เมื่อเป็นเช่นนี้ รูปนั้นก็
จักเป็นอันเธอทั้งหลายละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดราก
ถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ... ในเวทนา ฯลฯ
ในสัญญา ... ในสังขาร ... เธอทั้งหลายจงละความพอใจ ความกำหนัด ความ
เพลินเพลิน ความทะยานอยากในวิญญาณ เมื่อเป็นเช่นนี้ วิญญาณนั้นก็จักเป็น
อันเธอทั้งหลายละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน
ไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้”

ฉันทปหานสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุติยฉันทปหานสูตร
ว่าด้วยการละความพอใจ สูตรที่ ๒

[๑๑๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละความพอใจ
ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบายและความยึดมั่นอัน
เป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องในรูป เมื่อเป็นเช่นนี้ รูปนั้นก็จักเป็น
อันเธอทั้งหลายละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน
ไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ... ในเวทนา ... ในสัญญา ...
เธอทั้งหลายจงละความพอใจ ... ในสังขาร ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้สังขารนั้นก็จักเป็น
อันเธอทั้งหลายละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน
ไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ เธอทั้งหลายจงละความพอใจ
ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบายและความยึดมั่นอัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๑. อันตวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

เป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องในวิญญาณ เมื่อเป็นเช่นนี้ วิญญาณ
นั้นก็จักเป็นอันเธอทั้งหลายละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัด
รากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้”

ทุติยฉันทปหานสูตรที่ ๑๐ จบ
อันตวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อันตสูตร ๒. ทุกขสูตร
๓. สักกายสูตร ๔. ปริญเญยยสูตร
๕. สมณสูตร ๖. ทุติยสมณสูตร
๗. โสตาปันนสูตร ๘. อรหันตสูตร
๙. ฉันทปหานสูตร ๑๐. ทุติยฉันทปหานสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๒. ธัมมกถิกวรรค ๓. ธัมมกถิกสูตร

๒. ธัมมกถิกวรรค
หมวดว่าด้วยพระธรรมกถึก
๑. อวิชชาสูตร
ว่าด้วยอวิชชา

[๑๑๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง
ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่
พระองค์ตรัสว่า ‘อวิชชา อวิชชา’ อวิชชาเป็นอย่างไร และด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ
บุคคลจึงเป็นผู้ตกอยู่ในอวิชชา”๑
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่รู้ชัดรูป
ไม่รู้ชัดความเกิดแห่งรูป ไม่รู้ชัดความดับแห่งรูป ไม่รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงความดับ
แห่งรูป ไม่รู้ชัดเวทนา ... ไม่รู้ชัดสัญญา ... ไม่รู้ชัดสังขาร ... ไม่รู้ชัดวิญญาณ
ไม่รู้ชัดความเกิดแห่งวิญญาณ ไม่รู้ชัดความดับแห่งวิญญาณ ไม่รู้ชัดปฏิปทาที่ให้
ถึงความดับแห่งวิญญาณ
ภิกษุ นี้เราเรียกว่า อวิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลจึงเป็นผู้ตกอยู่
ในอวิชชา”

อวิชชาสูตรที่ ๑ จบ

๒. วิชชาสูตร
ว่าด้วยวิชชา

[๑๑๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ภิกษุนั้น นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระ
องค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘วิชชา วิชชา’ วิชชาเป็นอย่างไร และด้วยเหตุ
เพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงเป็นผู้มีวิชชา”๒


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๒. ธัมมกถิกวรรค ๓. ธัมมกถิกสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับ รู้ชัดรูป
รู้ชัดความเกิดแห่งรูป ฯลฯ รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งรูป ... เวทนา ...
สัญญา ... รู้ชัดสังขาร ฯลฯ รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ
ภิกษุ นี้เราเรียกว่า วิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลจึงเป็นผู้มีวิชชา”

วิชชาสูตรที่ ๒ จบ

๓. ธัมมกถิกสูตร
ว่าด้วยพระธรรมกถึก

[๑๑๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ภิกษุนั้น นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระ
องค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘ภิกษุเป็นธรรมกถึก ภิกษุเป็นธรรมกถึก’ ด้วย
เหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุจึงเป็นพระธรรมกถึก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ หากภิกษุแสดงธรรมเพื่อความเบื่อหน่าย
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับรูป ควรเรียกได้ว่า ‘ภิกษุเป็นธรรมกถึก’ หากภิกษุ
เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับรูป ควรเรียกได้ว่า
‘ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม’ หากภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นเพราะความ
เบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ ไม่ถือมั่นรูป ควรเรียกได้ว่า
‘ภิกษุเป็นผู้บรรลุนิพพานในปัจจุบัน’
หากภิกษุ ... เวทนา ฯลฯ
หากภิกษุ ... สัญญา ...
หากภิกษุ ... สังขาร ...
หากภิกษุแสดงธรรมเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับวิญญาณ
ควรเรียกได้ว่า ‘ภิกษุเป็นธรรมกถึก’ หากภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับวิญญาณ ควรเรียกได้ว่า ‘ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติธรรม
สมควรแก่ธรรม’ หากภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นเพราะความเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด
เพราะดับ ไม่ถือมั่นวิญญาณ ควรเรียกได้ว่า ‘ภิกษุเป็นผู้บรรลุนิพพานในปัจจุบัน”

ธัมมกถิกสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๒. ธัมมกถิกวรรค ๔. ทุติยธัมมกถิกสูตร

๔. ทุติยธัมมกถิกสูตร
ว่าด้วยพระธรรมกถึก สูตรที่ ๒

[๑๑๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘ภิกษุเป็นธรรมกถึก ภิกษุเป็นธรรมกถึก’
ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุจึงเป็นพระธรรมกถึก ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุจึง
เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุจึงเป็นผู้บรรลุ
นิพพานในปัจจุบัน’
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ หากภิกษุแสดงธรรมเพื่อความเบื่อหน่าย
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับรูป ควรเรียกได้ว่า ‘ภิกษุเป็นธรรมกถึก’ หากภิกษุ
เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับรูป ควรเรียกได้ว่า
‘ภิกษุ เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม’ หากภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นเพราะความเบื่อหน่าย
เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ ไม่ถือมั่นรูป ควรเรียกได้ว่า ‘ภิกษุเป็นผู้บรรลุ
นิพพานในปัจจุบัน’
หากภิกษุ ... เวทนา ฯลฯ
หากภิกษุ ... สัญญา ...
หากภิกษุ ... สังขาร ...
หากภิกษุแสดงธรรมเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับวิญญาณ
ควรเรียกได้ว่า ‘ภิกษุเป็นธรรมกถึก’ หากภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับวิญญาณ ควรเรียกได้ว่า ‘ภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติธรรม
สมควรแก่ธรรม’ หากภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นเพราะความเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด
เพราะดับ ไม่ถือมั่นวิญญาณ ควรเรียกได้ว่า ‘ภิกษุเป็นผู้บรรลุนิพพานในปัจจุบัน’

ทุติยธัมมกถิกสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๒. ธัมมกถิกวรรค ๕. พันธนสูตร

๕. พันธนสูตร
ว่าด้วยเครื่องพันธนาการ

[๑๑๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้
เห็นพระอริยะ ฯลฯ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ พิจารณาเห็นรูปโดย
ความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป พิจารณาเห็นรูปในอัตตา หรือ
พิจารณาเห็นอัตตาในรูป
นี้เรียกว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ถูกเครื่องพันธนาการคือรูปจองจำไว้ ถูก
เครื่องพันธนาการทั้งภายในและภายนอกจองจำไว้ มองไม่เห็นฝั่งนี้๑ มองไม่เห็น
ฝั่งโน้น๒ ถูกจองจำจนแก่ ถูกจองจำจนตาย ถูกจองจำจากโลกนี้จนถึงโลกหน้า
พิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ อัตตาในเวทนา
นี้เรียกว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ถูกเครื่องพันธนาการคือเวทนาจองจำไว้ ถูก
เครื่องพันธนาการทั้งภายในและภายนอกจองจำไว้ มองไม่เห็นฝั่งนี้ มองไม่เห็นฝั่งโน้น
ถูกจองจำจนแก่ ถูกจองจำจนตาย ถูกจองจำจากโลกนี้จนถึงโลกหน้า
พิจารณาเห็นสัญญา ...
พิจารณาเห็นสังขาร ...
พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ
นี้เรียกว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ถูกเครื่องพันธนาการคือวิญญาณจองจำไว้ ถูก
เครื่องพันธนาการทั้งภายในและภายนอกจองจำไว้ มองไม่เห็นฝั่งนี้ มองไม่เห็นฝั่งโน้น
ถูกจองจำจนแก่ ถูกจองจำจนตาย ถูกจองจำจากโลกนี้จนถึงโลกหน้า
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยะ ฯลฯ ได้รับการ
แนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณา
เห็นอัตตาว่ามีรูป ไม่พิจารณาเห็นรูปในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในรูป


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๒. ธัมมกถิกวรรค ๖. ปริปุจฉิตสูตร

นี้เรียกว่า อริยสาวกผู้ได้สดับ ไม่ถูกเครื่องพันธนาการคือรูปจองจำไว้ ไม่ถูก
เครื่องพันธนาการทั้งภายในและภายนอกจองจำไว้ มองเห็นฝั่งนี้ มองเห็นฝั่งโน้น
เรากล่าวว่า ‘เธอพ้นแล้วจากทุกข์’ ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็นเวทนา ...
ไม่พิจารณาเห็นสัญญา ...
ไม่พิจารณาเห็นสังขาร ...
ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณ โดยความเป็นอัตตา ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อริยสาวกผู้ได้สดับ ไม่ถูกเครื่องพันธนาการคือ
วิญญาณจองจำไว้ ไม่ถูกเครื่องพันธนาการทั้งภายในและภายนอกจองจำไว้ มอง
เห็นฝั่งนี้ มองเห็นฝั่งโน้น เรากล่าวว่า ‘เธอพ้นแล้วจากทุกข์”

พันธนสูตรที่ ๕ จบ

๖. ปริปุจฉิตสูตร
ว่าด้วยการสอบถาม

[๑๑๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อ
นั้นว่าอย่างไร เธอทั้งหลายพิจารณาเห็นรูปว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็น
อัตตาของเรา’ หรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบตาม
ความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ...
เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... เธอทั้งหลายพิจารณาเห็นวิญญาณว่า ‘นั่นของเรา
เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ หรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๒. ธัมมกถิกวรรค ๗. ทุติยปริปุจฉิตสูตร

“ดีละ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเห็นวิญญาณนั้นด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

ปริปุจฉิตสูตรที่ ๖ จบ

๗. ทุติยปริปุจฉิตสูตร
ว่าด้วยการสอบถาม สูตรที่ ๒

[๑๑๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อ
นั้นว่าอย่างไร เธอทั้งหลายพิจารณาเห็นรูปว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น
นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ หรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเห็นรูปนั้นด้วยปัญญาอันชอบตาม
ความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ...
เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... เธอทั้งหลายพิจารณาเห็นวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่
ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ หรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเห็นวิญญาณนั้นด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

ทุติยปริปุจฉิตสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๒. ธัมมกถิกวรรค ๙. อุปาทานิยสูตร

๘. สัญโญชนิยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เกื้อกูลแก่สังโยชน์

[๑๒๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่เกื้อกูลแก่สังโยชน์
และสังโยชน์ เธอทั้งหลายจงฟัง
ธรรมที่เกื้อกูลแก่สังโยชน์ เป็นอย่างไร สังโยชน์ เป็นอย่างไร
คือ รูปเป็นธรรมที่เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ฉันทราคะในรูปนั้นเป็นสังโยชน์
เวทนา ฯลฯ
สัญญา ...
สังขาร ...
วิญญาณเป็นธรรมที่เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ฉันทราคะในวิญญาณนั้นเป็นสังโยชน์
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เราเรียกว่า ธรรมที่เกื้อกูลแก่สังโยชน์
นี้เรียกว่า สังโยชน์”๑

สัญโญชนิยสูตรที่ ๘ จบ

๙. อุปาทานิยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เกื้อกูลแก่อุปาทาน

[๑๒๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่เกื้อกูลแก่อุปาทาน
และอุปาทาน เธอทั้งหลายจงฟัง
ธรรมที่เกื้อกูลแก่อุปาทาน เป็นอย่างไร อุปาทาน เป็นอย่างไร
คือ รูปเป็นธรรมที่เกื้อกูลแก่อุปาทาน ฉันทราคะในรูปนั้นเป็นอุปาทาน


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๒. ธัมมกถิกวรรค ๑๐. สีลวันตสูตร

เวทนา ฯลฯ
สัญญา ...
สังขาร ...
วิญญาณเป็นธรรมที่เกื้อกูลแก่อุปาทาน ฉันทราคะในวิญญาณนั้นเป็นอุปาทาน
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เราเรียกว่า ธรรมที่เกื้อกูลแก่อุปาทาน
นี้เราเรียกว่า อุปาทาน”๑

อุปาทานิยสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. สีลวันตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ภิกษุผู้มีศีลควรมนสิการโดยแยบคาย

[๑๒๒] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิตะ อยู่ ณ ป่า
อิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ครั้งนั้น ท่านพระมหาโกฏฐิตะออกจากที่
หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ฯลฯ ได้ถามดังนี้ว่า
“ท่านสารีบุตร ธรรมเหล่าไหนอันภิกษุผู้มีศีลควรมนสิการโดยแยบคาย
ขอรับ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านโกฏฐิตะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการอัน
ภิกษุผู้มีศีลควรมนสิการโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์
เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น
(บังคับไม่ได้) เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นอนัตตา
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)
๒. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา)
๓. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
๔. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๒. ธัมมกถิกวรรค ๑๐. สีลวันตสูตร

อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้อันภิกษุผู้มีศีลควรมนสิการโดยแยบคาย โดย
ความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก
เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นของสูญ เป็นอนัตตา เป็นไป
ได้ที่อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้อันภิกษุผู้มีศีลมนสิการโดยแยบคาย โดยความ
เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นอนัตตา พึงทำให้แจ้งโสดาปัตติผล”
“ท่านสารีบุตร ธรรมเหล่าไหนอันภิกษุผู้เป็นโสดาบันควรมนสิการโดย
แยบคาย ขอรับ”
“ท่านโกฏฐิตะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้อันภิกษุแม้ผู้เป็นโสดาบัน
ก็ควรมนสิการโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นอนัตตา เป็นไป
ได้ที่ภิกษุผู้เป็นโสดาบันมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้โดยแยบคาย โดย
ความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นอนัตตา พึงทำให้แจ้งสกทาคามิผล”
“ท่านสารีบุตร ธรรมเหล่าไหนอันภิกษุแม้ผู้เป็นสกทาคามีควรมนสิการโดย
แยบคาย ขอรับ”
“ท่านโกฏฐิตะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้อันภิกษุแม้ผู้เป็นสกทาคามี
ก็ควรมนสิการโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นอนัตตา เป็นไป
ได้ที่ภิกษุผู้เป็นสกทาคามีมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้โดยแยบคาย โดย
ความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นอนัตตา พึงทำให้แจ้งอนาคามิผล”
“ท่านสารีบุตร ธรรมเหล่าไหนอันภิกษุผู้เป็นอนาคามีควรมนสิการโดยแยบคาย
ขอรับ”
“ท่านโกฏฐิตะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้อันภิกษุแม้ผู้เป็นอนาคามีก็ควร
มนสิการโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นอนัตตา เป็นไปได้ที่
ภิกษุผู้เป็นอนาคามีมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้โดยแยบคาย โดยความ
เป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นอนัตตา พึงทำให้แจ้งอรหัตตผล”
“ท่านสารีบุตร ธรรมเหล่าไหนอันภิกษุผู้เป็นอรหันต์ควรมนสิการโดย
แยบคาย ขอรับ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๒. ธัมมกถิกวรรค ๑๑. สุตวันตสูตร

“ท่านโกฏฐิตะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้อันภิกษุแม้ผู้เป็นอรหันต์ก็ควร
มนสิการโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี
เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นของทรุดโทรม
เป็นของสูญ เป็นอนัตตา
ท่านโกฏฐิตะ กิจที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไป หรือการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมไม่มี
แก่ภิกษุผู้เป็นอรหันต์ อนึ่ง ธรรมเหล่านี้ที่ภิกษุผู้เป็นอรหันต์เจริญ ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ”

สีลวันตสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. สุตวันตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ภิกษุผู้ได้สดับควรมนสิการโดยแยบคาย

[๑๒๓] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิตะ อยู่ ณ ป่า
อิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ครั้งนั้น ท่านพระมหาโกฏฐิตะออกจากที่
หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ฯลฯ ได้ถามดังนี้ว่า
“ท่านสารีบุตร ธรรมเหล่าไหนอันภิกษุผู้ได้สดับควรมนสิการโดยแยบคาย
ขอรับ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านโกฏฐิตะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการอันภิกษุ
ผู้ได้สดับควรมนสิการโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นอนัตตา
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
ท่านโกฏฐิตะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้อันภิกษุผู้ได้สดับควรมนสิการ
โดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นอนัตตา เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ได้
สดับมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้โดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง
ฯลฯ เป็นอนัตตา พึงทำให้แจ้งโสดาปัตติผล”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๒. ธัมมกถิกวรรค ๑๒. กัปปสูตร

“ท่านสารีบุตร ธรรมเหล่าไหนอันภิกษุผู้เป็นโสดาบันควรมนสิการโดย
แยบคาย ขอรับ”
“ท่านโกฏฐิตะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้อันภิกษุแม้ผู้เป็นโสดาบันก็ควร
มนสิการโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นอนัตตา เป็นไปได้ที่
ภิกษุผู้เป็นโสดาบันมนสิการอุปาทานขันธ์ ๕ ประการโดยแยบคาย โดยความเป็น
ของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นอนัตตา พึงทำให้แจ้งสกทาคามิผล ฯลฯ อนาคามิผล ฯลฯ
อรหัตตผล”
“ท่านสารีบุตร ธรรมเหล่าไหนอันภิกษุผู้เป็นอรหันต์ควรมนสิการโดย
แยบคาย ขอรับ”
“ท่านโกฏฐิตะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้อันภิกษุแม้ผู้เป็นอรหันต์ก็ควร
มนสิการโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี
เป็นดุจลูกศร เป็นความคับแค้น เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นของทรุดโทรม
เป็นของสูญ เป็นอนัตตา
ท่านโกฏฐิตะ กิจที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไป หรือการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมไม่มี
แก่ภิกษุผู้อรหันต์ อนึ่ง ธรรมเหล่านี้ที่ภิกษุผู้เป็นอรหันต์เจริญ ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ”

สุตวันตสูตรที่ ๑๑ จบ

๑๒. กัปปสูตร
ว่าด้วยพระกัปปะ

[๑๒๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระกัปปะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ ที่
สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลรู้
เห็นอย่างไร จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัยในกายที่มีวิญญาณนี้
และในนิมิตทั้งปวงในภายนอก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๒. ธัมมกถิกวรรค ๑๓. ทุติยกัปปสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “กัปปะ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต
อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต
ไกลหรือใกล้ก็ตาม บุคคลเห็นรูปทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
อย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ...
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม บุคคล
เห็นวิญญาณทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา‘๑
กัปปะ เมื่อบุคคลรู้ เห็นอย่างนี้ จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย
ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งปวงในภายนอก”

กัปปสูตรที่ ๑๒ จบ

๑๓. ทุติยกัปปสูตร
ว่าด้วยพระกัปปะ สูตรที่ ๒

[๑๒๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ท่านพระกัปปะ นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลรู้ เห็นอย่างไร ใจจึงจะปราศจากอหังการ มมังการ
และมานานุสัยในกายที่มีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งปวงในภายนอก ก้าวล่วงมานะ
ด้วยดี สงบระงับ หลุดพ้นดีแล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “กัปปะ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต
อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ บุคคลเห็นรูปทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความ
เป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ เป็นผู้
หลุดพ้นแล้ว เพราะไม่ถือมั่น”


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๒. ธัมมกถิกวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ...
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม บุคคล
เห็นวิญญาณทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่
ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะไม่ถือมั่น
กัปปะ เมื่อบุคคลรู้ เห็นอย่างนี้ ใจจึงจะปราศจากอหังการ มมังการ และ
มานานุสัยในกายที่มีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งปวงในภายนอก ก้าวล่วงมานะด้วยดี
สงบระงับ หลุดพ้นดีแล้ว”

ทุติยกัปปสูตรที่ ๑๓ จบ
ธัมมกถิกวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อวิชชาสูตร ๒. วิชชาสูตร
๓. ธัมมกถิกสูตร ๔. ทุติยธัมมกถิกสูตร
๕. พันธนสูตร ๖. ปริปุจฉิตสูตร
๗. ทุติยปริปุจฉิตสูตร ๘. สัญโญชนิยสูตร
๙. อุปาทานิยสูตร ๑๐. สีลวันตสูตร
๑๑. สุตวันตสูตร ๑๒. กัปปสูตร
๑๓. ทุติยกัปปสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๓. อวิชชาวรรค ๑. สมุทยธัมมสูตร

๓. อวิชชาวรรค
หมวดว่าด้วยอวิชชา
๑. สมุทยธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

[๑๒๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ได้ทูลถาม
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘อวิชชา อวิชชา’
อวิชชาเป็นอย่างไร และด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงเป็นผู้ตกอยู่ในอวิชชา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่รู้ชัดรูปที่
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘รูปมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา’
ไม่รู้ชัดรูปที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘รูปมีความเสื่อมไป
เป็นธรรมดา’ ไม่รู้ชัดรูปที่มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตามความเป็น
จริงว่า ‘รูปมีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’
ไม่รู้ชัดเวทนาที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘เวทนามีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา’ ไม่รู้ชัดเวทนาที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า
‘เวทนามีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’ ไม่รู้ชัดเวทนาที่มีความเกิดขึ้นและความเสื่อม
ไปเป็นธรรมดา ฯลฯ
ไม่รู้ชัดสัญญาที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ฯลฯ
ไม่รู้ชัดสังขารที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘สังขารมีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา’ ไม่รู้ชัดสังขารที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า
‘สังขารมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’ ไม่รู้ชัดสังขารที่มีความเกิดขึ้นและความเสื่อม
ไปเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘สังขารมีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา’
ไม่รู้ชัดวิญญาณที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณมี
ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา’ ไม่รู้ชัดวิญญาณที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตามความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๓. อวิชชาวรรค ๑. สมุทยธัมมสูตร

เป็นจริงว่า ‘วิญญาณมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’ ไม่รู้ชัดวิญญาณที่มีความเกิดขึ้น
และความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณมีความเกิดขึ้นและ
ความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’
ภิกษุ นี้เราเรียกว่า อวิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลจึงเป็นผู้ตกอยู่
ในอวิชชา”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปนั้นได้ทูลถามว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘วิชชา วิชชา’ วิชชาเป็นอย่างไร และด้วยเหตุ
เพียงเท่าไร บุคคลจึงเป็นผู้มีวิชชา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ผู้ได้สดับ รู้ชัด
รูปที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘รูปมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา’
รู้ชัดรูปที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘รูปมีความเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา’ รู้ชัดรูปที่มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า
‘รูปมีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’
รู้ชัดเวทนาที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘เวทนามีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา’ รู้ชัดเวทนาที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า
‘เวทนามีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’ รู้ชัดเวทนาที่มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป
เป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘เวทนามีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’
รู้ชัดสัญญาที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ฯลฯ
รู้ชัดสังขารที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘สังขารมีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา’ รู้ชัดสังขารที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า
‘สังขารมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’ รู้ชัดสังขารที่มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป
เป็นธรรมดาว่า ‘สังขารมีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’
รู้ชัดวิญญาณที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณมี
ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา’ รู้ชัดวิญญาณที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตามความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๓. อวิชชาวรรค ๒. ทุติยสมุทยธัมมสูตร

เป็นจริงว่า ‘วิญญาณมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’ รู้ชัดวิญญาณที่มีความเกิดขึ้น
และความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณมีความเกิดขึ้นและ
ความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’
ภิกษุ นี้เราเรียกว่า วิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคลจึงเป็นผู้มีวิชชา”

สมุทยธัมมสูตรที่ ๑ จบ

๒. ทุติยสมุทยธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สูตรที่ ๒

[๑๒๗] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิตะอยู่ ณ ป่า
อิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ครั้งนั้น ท่านพระมหาโกฏฐิตะออกจากที่
หลีกเร้นในเวลาเย็น ฯลฯ นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“ท่านสารีบุตร ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘อวิชชา อวิชชา’ อวิชชาเป็นอย่างไร
และด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงเป็นผู้ตกอยู่ในอวิชชา”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่รู้ชัด
รูปที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘รูปมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา’
ไม่รู้ชัดรูปที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตามความเป็นจริง ฯลฯ ไม่รู้ชัดรูปที่มี
ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘รูปมีความเกิดขึ้น
และความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’
ไม่รู้ชัดเวทนาที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ฯลฯ เวทนาที่มีความเสื่อมไป
เป็นธรรมดา ฯลฯ ไม่รู้ชัด ... ตามความเป็นจริงว่า ‘เวทนามีความเกิดขึ้นและ
ความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’
ไม่รู้ชัดสัญญาที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ฯลฯ
ไม่รู้ชัดสังขารที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ฯลฯ ไม่รู้ชัดสังขารที่มีความ
เสื่อมไปเป็นธรรมดา ฯลฯ ไม่รู้ชัดสังขารที่มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็น
ธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘สังขารทั้งหลายมีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๓. อวิชชาวรรค ๓. ตติยสมุทยธัมมสูตร

ไม่รู้ชัดวิญญาณที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ฯลฯ ไม่รู้ชัดวิญญาณที่มีความ
เสื่อมไปเป็นธรรมดา ฯลฯ ไม่รู้ชัดวิญญาณที่มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็น
ธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณมีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’
ท่านผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อวิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคล
จึงเป็นผู้ตกอยู่ในอวิชชา”

ทุติยสมุทยธัมมสูตรที่ ๒ จบ

๓. ตติยสมุทยธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สูตรที่ ๓

[๑๒๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิตะ อยู่ ณ ป่า
อิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ท่านพระมหาโกฏฐิตะนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า “ท่านสารีบุตร ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘วิชชา
วิชชา’ วิชชาเป็นอย่างไร และด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงเป็นผู้มีวิชชา”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ผู้ได้
สดับ รู้ชัดรูปที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘รูปมีความเกิดขึ้น
เป็นธรรมดา’ รู้ชัดรูปที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ฯลฯ รู้ชัดรูปที่มีความเกิดขึ้น
และความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตามความเป็นจริงว่า ‘รูปมีความเกิดขึ้นและความ
เสื่อมไปเป็นธรรมดา’
รู้ชัดเวทนาที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ฯลฯ เวทนาที่มีความเกิดขึ้นและ
ความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ฯลฯ
รู้ชัดสัญญาที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ฯลฯ
รู้ชัดสังขารที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ฯลฯ สังขารที่มีความเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา ฯลฯ รู้ชัดสังขารที่มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดาตาม
ความเป็นจริงว่า ‘สังขารทั้งหลายมีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๓. อวิชชาวรรค ๕. ทุติยอัสสาทสูตร

รู้ชัดวิญญาณที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ฯลฯ วิญญาณที่มีความเสื่อมไป
เป็นธรรมดา ฯลฯ รู้ชัดวิญญาณที่มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ตามความเป็นจริงว่า ‘วิญญาณมีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา’
ท่านผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า วิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคล
จึงเป็นผู้มีวิชชา”

ตติยสมุทยธัมมสูตรที่ ๓ จบ

๔. อัสสาทสูตร
ว่าด้วยคุณของขันธ์

[๑๒๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงพาราณสีเหมือนกัน
ท่านพระมหาโกฏฐิตะ นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“ท่านสารีบุตร ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘อวิชชา อวิชชา’ อวิชชาเป็นอย่างไร
และด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงเป็นผู้ตกอยู่ในอวิชชา”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่รู้ชัดคุณ
โทษ และเครื่องสลัดออกจากรูปตามความเป็นจริง ... เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ
สังขาร ฯลฯ ไม่รู้ชัดคุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากวิญญาณตามความเป็นจริง
ท่านผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อวิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคล
จึงเป็นผู้ตกอยู่ในอวิชชา”

อัสสาทสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุติยอัสสาทสูตร
ว่าด้วยคุณของขันธ์ สูตรที่ ๒

[๑๓๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงพาราณสีเหมือนกัน
ท่านพระมหาโกฏฐิตะ นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“ท่านสารีบุตร ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘วิชชา วิชชา’ วิชชาเป็นอย่างไร และ
ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงเป็นผู้มีวิชชา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๓. อวิชชาวรรค ๖. สมุทยสูตร

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
ผู้ได้สดับ รู้ชัดคุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากรูปตามความเป็นจริง ... เวทนา
ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... รู้ชัดคุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากวิญญาณ
ตามความเป็นจริง
ท่านผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า วิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคล
จึงเป็นผู้มีวิชชา”

ทุติยอัสสาทสูตรที่ ๕ จบ

๖. สมุทยสูตร
ว่าด้วยความเกิดแห่งขันธ์

[๑๓๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงพาราณสีเหมือนกัน
ท่านพระมหาโกฏฐิตะ นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“ท่านสารีบุตร ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘อวิชชา อวิชชา’ อวิชชาเป็นอย่างไร
และด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงเป็นผู้ตกอยู่ในอวิชชา”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่รู้ชัด
ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากรูปตามความเป็นจริง ...
เวทนา ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... ไม่รู้ชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ
และเครื่องสลัดออกจากวิญญาณตามความเป็นจริง
ท่านผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อวิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคล
จึงเป็นผู้ตกอยู่ในอวิชชา”

สมุทยสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๓. อวิชชาวรรค ๘. โกฏฐิตสูตร

๗. ทุติยสมุทยสูตร
ว่าด้วยความเกิดแห่งขันธ์ สูตรที่ ๒

[๑๓๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงพาราณสีเหมือนกัน
ท่านพระมหาโกฏฐิตะ นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“ท่านสารีบุตร ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘วิชชา วิชชา’ วิชชาเป็นอย่างไร และ
ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงเป็นผู้มีวิชชา”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
ผู้ได้สดับ รู้ชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากรูปตาม
ความเป็นจริง ... เวทนา ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... รู้ชัดความเกิด ความดับ
คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากวิญญาณตามความเป็นจริง
ท่านผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า วิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคล
จึงเป็นผู้มีวิชชา”

ทุติยสมุทยสูตรที่ ๗ จบ

๘. โกฏฐิตสูตร
ว่าด้วยพระโกฏฐิตะ

[๑๓๓] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิตะอยู่ ณ ป่า
อิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรออกจากผลสมาบัติ
ในเวลาเย็น ฯลฯ นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระมหาโกฏฐิตะดังนี้ว่า
“ท่านโกฏฐิตะ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘อวิชชา อวิชชา’ อวิชชาเป็นอย่างไร
และด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงเป็นผู้ตกอยู่ในอวิชชา”
ท่านพระมหาโกฏฐิตะตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่รู้ชัด
คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากรูปตามความเป็นจริง ... เวทนา ฯลฯ สัญญา
... สังขาร ... ไม่รู้ชัดคุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากวิญญาณตามความเป็นจริง
ท่านผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อวิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้
บุคคลจึงเป็นผู้ตกอยู่ในอวิชชา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๓. อวิชชาวรรค ๙. ทุติยโกฏฐิตสูตร

เมื่อท่านพระมหาโกฏฐิตะตอบอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้ถามว่า
“ท่านโกฏฐิตะ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘วิชชา วิชชา’ วิชชาเป็นอย่างไร และ
ด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงเป็นผู้มีวิชชา”
ท่านพระมหาโกฏฐิตะตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
ผู้ได้สดับ รู้ชัดคุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากรูปตามความเป็นจริง ... เวทนา
ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... รู้ชัดคุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากวิญญาณ
ตามความเป็นจริง
ท่านผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า วิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคล
จึงเป็นผู้มีวิชชา”

โกฏฐิตสูตรที่ ๘ จบ

๙. ทุติยโกฏฐิตสูตร
ว่าด้วยพระโกฏฐิตะ สูตรที่ ๒

[๑๓๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงพาราณสีเหมือนกัน
ท่านพระสารีบุตรนั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระมหาโกฏฐิตะดังนี้ว่า
“ท่านโกฏฐิตะ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘อวิชชา อวิชชา’ อวิชชาเป็นอย่างไร
และด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงเป็นผู้ตกอยู่ในอวิชชา”
ท่านพระมหาโกฏฐิตะตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่รู้ชัด
ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากรูปตามความเป็นจริง ...
เวทนา ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... ไม่รู้ชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ
และเครื่องสลัดออกจากวิญญาณตามความเป็นจริง
ท่านผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อวิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้
บุคคลจึงเป็นผู้ตกอยู่ในอวิชชา”
เมื่อท่านพระมหาโกฏฐิตะตอบอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้ถามว่า
“ท่านโกฏฐิตะ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘วิชชา วิชชา’ วิชชาเป็นอย่างไร และ
ด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงเป็นผู้มีวิชชา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๓. อวิชชาวรรค ๑๐. ตติยโกฏฐิตสูตร

ท่านพระมหาโกฏฐิตะตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัย
นี้ผู้ได้สดับ รู้ชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากรูปตาม
ความเป็นจริง ... เวทนา ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... รู้ชัดความเกิด ความดับ
คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากวิญญาณตามความเป็นจริง
ท่านผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า วิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคล
จึงเป็นผู้มีวิชชา”

ทุติยโกฏฐิตสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ตติยโกฏฐิตสูตร
ว่าด้วยพระโกฏฐิตะ สูตรที่ ๓

[๑๓๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงพาราณสีเหมือนกัน
ท่านพระสารีบุตรนั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระมหาโกฏฐิตะดังนี้ว่า
“ท่านโกฏฐิตะ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘อวิชชา อวิชชา’ อวิชชาเป็นอย่างไร
และด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงเป็นผู้ตกอยู่ในอวิชชา”
ท่านพระมหาโกฏฐิตะตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่รู้ชัด
รูป ไม่รู้ชัดความเกิดแห่งรูป ไม่รู้ชัดความดับแห่งรูป ไม่รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงความ
ดับแห่งรูป ไม่รู้ชัดเวทนา ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... ไม่รู้ชัดวิญญาณ ไม่รู้ชัด
ความเกิดแห่งวิญญาณ ไม่รู้ชัดความดับแห่งวิญญาณ ไม่รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงความ
ดับแห่งวิญญาณ
ท่านผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อวิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้
บุคคลจึงเป็นผู้ตกอยู่ในอวิชชา”
เมื่อท่านพระมหาโกฏฐิตะตอบอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้ถามว่า
“ท่านโกฏฐิตะ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘วิชชา วิชชา’ วิชชาเป็นอย่างไร และ
ด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงเป็นผู้มีวิชชา”
ท่านพระมหาโกฏฐิตะตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
ผู้ได้สดับ ย่อมรู้ชัดรูป รู้ชัดความเกิดแห่งรูป รู้ชัดความดับแห่งรูป รู้ชัดปฏิปทาที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๓. อวิชชาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ให้ถึงความดับแห่งรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... รู้ชัดวิญญาณ รู้ชัด
ความเกิดแห่งวิญญาณ รู้ชัดความดับแห่งวิญญาณ รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงความดับ
แห่งวิญญาณ
ท่านผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า วิชชา และด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บุคคล
จึงเป็นผู้มีวิชชา”

ตติยโกฏฐิตสูตรที่ ๑๐ จบ
อวิชชาวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สมุทยธัมมสูตร ๒. ทุติยสมุทยธัมมสูตร
๓. ตติยสมุทยธัมมสูตร ๔. อัสสาทสูตร
๕. ทุติยอัสสาทสูตร ๖. สมุทยสูตร
๗. ทุติยสมุทยสูตร ๘. โกฏฐิตสูตร
๙. ทุติยโกฏฐิตสูตร ๑๐. ตติยโกฏฐิตสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๔. กุกกุฬวรรค ๒. อนิจจสูตร

๔. กุกกุฬวรรค
หมวดว่าด้วยสิ่งที่เป็นของร้อน
๑. กุกกุฬสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นของร้อน

[๑๓๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นของร้อน เวทนาเป็นของร้อน
สัญญาเป็นของร้อน สังขารเป็นของร้อน วิญญาณเป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด
จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
อีกต่อไป”

กุกกุฬสูตรที่ ๑ จบ

๒. อนิจจสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่เที่ยง

[๑๓๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่เที่ยง เธอทั้งหลายพึงละ
ฉันทะในสิ่งนั้น
ก็อะไรเล่าไม่เที่ยง
คือ รูปไม่เที่ยง เธอทั้งหลายพึงละฉันทะในรูปนั้น
เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ
สัญญา ...
สังขาร ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๔. กุกกุฬวรรค ๔. ตติยอนิจจสูตร

วิญญาณไม่เที่ยง เธอทั้งหลายพึงละฉันทะในวิญญาณนั้น
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่เที่ยง เธอทั้งหลายพึงละฉันทะในสิ่งนั้น”

อนิจจสูตรที่ ๒ จบ

๓. ทุติยอนิจจสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่เที่ยง สูตรที่ ๒

[๑๓๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่เที่ยง เธอทั้งหลายพึงละ
ราคะในสิ่งนั้น
ก็อะไรเล่าไม่เที่ยง
คือ รูปไม่เที่ยง เธอทั้งหลายพึงละราคะในรูปนั้น
เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ
สัญญา ...
สังขาร ...
วิญญาณไม่เที่ยง เธอทั้งหลายพึงละราคะในวิญญาณนั้น
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่เที่ยง เธอทั้งหลายพึงละราคะในสิ่งนั้น”

ทุติยอนิจจสูตรที่ ๓ จบ

๔. ตติยอนิจจสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่เที่ยง สูตรที่ ๓

[๑๓๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่เที่ยง เธอทั้งหลายพึงละ
ฉันทราคะในสิ่งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๔. กุกกุฬวรรค ๖. ทุติยทุกขสูตร

ก็อะไรเล่าไม่เที่ยง
คือ รูปไม่เที่ยง เธอทั้งหลายพึงละฉันทราคะในรูปนั้น
เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ
สัญญา ...
สังขาร ...
วิญญาณไม่เที่ยง เธอทั้งหลายพึงละฉันทราคะในวิญญาณนั้น
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่เที่ยง เธอทั้งหลายพึงละฉันทราคะในสิ่งนั้น”

ตติยอนิจจสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุกขสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นทุกข์

[๑๔๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นทุกข์ เธอทั้งหลายพึงละ
ฉันทะในสิ่งนั้น ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นทุกข์ เธอทั้งหลายพึงละฉันทะในสิ่งนั้น”

ทุกขสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทุติยทุกขสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นทุกข์ สูตรที่ ๒

[๑๔๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นทุกข์ เธอทั้งหลายพึงละ
ราคะในสิ่งนั้น ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นทุกข์ เธอทั้งหลายพึงละราคะในสิ่งนั้น”

ทุติยทุกขสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๔. กุกกุฬวรรค ๘. อนัตตสูตร

๗. ตติยทุกขสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นทุกข์ สูตรที่ ๓

[๑๔๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นทุกข์ เธอทั้งหลายพึงละ
ฉันทราคะในสิ่งนั้น ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นทุกข์ เธอทั้งหลายพึงละฉันทราคะในสิ่งนั้น”

ตติยทุกขสูตรที่ ๗ จบ

๘. อนัตตสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นอนัตตา

[๑๔๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละ
ฉันทะในสิ่งนั้น
ก็อะไรเล่าเป็นอนัตตา
คือ รูปเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละฉันทะในรูปนั้น
เวทนาเป็นอนัตตา ฯลฯ
สัญญา ...
สังขาร ...
วิญญาณเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละฉันทะในวิญญาณนั้น
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละฉันทะในสิ่งนั้น”

อนัตตสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๔. กุกกุฬวรรค ๑๐. ตติยอนัตตสูตร

๙. ทุติยอนัตตสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นอนัตตา สูตรที่ ๒

[๑๔๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละ
ราคะในสิ่งนั้น
ก็อะไรเล่าเป็นอนัตตา
คือ รูปเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละราคะในรูปนั้น
เวทนาเป็นอนัตตา ฯลฯ
สัญญา ...
สังขาร ...
วิญญาณเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละราคะในวิญญาณนั้น
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละราคะในสิ่งนั้น”

ทุติยอนัตตสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ตติยอนัตตสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นอนัตตา สูตรที่ ๓

[๑๔๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละ
ฉันทราคะในสิ่งนั้น
ก็อะไรเล่าเป็นอนัตตา
คือ รูปเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละฉันทราคะในรูปนั้น
เวทนาเป็นอนัตตา ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๔. กุกกุฬวรรค ๑๒. อนิจจานุปัสสีสูตร

สัญญา ...
สังขาร ...
วิญญาณเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละฉันทราคะในวิญญาณนั้น
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละฉันทราคะในสิ่งนั้น’

ตติยอนัตตสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. นิพพิทาพหุลสูตร
ว่าด้วยผู้มากด้วยความเบื่อหน่าย

[๑๔๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา มีธรรม
อันเหมาะสม คือ พึงเป็นผู้มากด้วยความเบื่อหน่ายในรูปอยู่ ... ในเวทนา ...
ในสัญญา ... ในสังขาร พึงเป็นผู้มากด้วยความเบื่อหน่ายในวิญญาณอยู่
ผู้ใดมากด้วยความเบื่อหน่ายในรูปอยู่ ... ในเวทนา ... ในสัญญา ... ในสังขาร
มากด้วยความเบื่อหน่ายในวิญญาณอยู่ ก็จะกำหนดรู้รูป ... เวทนา ... สัญญา ...
สังขาร กำหนดรู้วิญญาณ ผู้นั้นเมื่อกำหนดรู้รูป กำหนดรู้เวทนา กำหนดรู้สัญญา
กำหนดรู้สังขาร กำหนดรู้วิญญาณ ย่อมพ้นจากรูป ย่อมพ้นจากเวทนา ย่อมพ้น
จากสัญญา ย่อมพ้นจากสังขาร ย่อมพ้นจากวิญญาณ เรากล่าวว่า ‘ย่อมพ้นจากชาติ
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส และย่อมพ้นจากทุกข์’

นิพพิทาพหุลสูตรที่ ๑๑ จบ

๑๒. อนิจจานุปัสสีสูตร
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง

[๑๔๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา มีธรรม
อันเหมาะสม คือ พึงเป็นผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในรูปอยู่ ฯลฯ ในเวทนา ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๔. กุกกุฬวรรค ๑๔. อนัตตานุปัสสีสูตร

ในสัญญา ... ในสังขาร พึงเป็นผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในวิญญาณอยู่ ฯลฯ
เรากล่าวว่า ‘ ... และย่อมพ้นจากทุกข์’

อนิจจานุปัสสีสูตรที่ ๑๒ จบ

๑๓. ทุกขานุปัสสีสูตร
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นทุกข์

[๑๔๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา มีธรรม
อันเหมาะสม คือ พึงเป็นผู้พิจารณาเห็นทุกข์ในรูปอยู่ ฯลฯ ในเวทนา ... ในสัญญา
... ในสังขาร พึงเป็นผู้พิจารณาเห็นทุกข์ในวิญญาณอยู่ ฯลฯ เรากล่าวว่า ‘ ...
และย่อมพ้นจากทุกข์’

ทุกขานุปัสสีสูตรที่ ๑๓ จบ

๑๔. อนัตตานุปัสสีสูตร
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นอนัตตา

[๑๔๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธา มีธรรม
อันเหมาะสม คือ พึงเป็นผู้พิจารณาเห็นอนัตตาในรูปอยู่ ฯลฯ ในเวทนา ...
ในสัญญา ... ในสังขาร พึงเป็นผู้พิจารณาเห็นอนัตตาในวิญญาณอยู่
ผู้ใดพิจารณาเห็นอนัตตาในรูป ฯลฯ ในเวทนา ... ในสัญญา ... ในสังขาร
พิจารณาเห็นอนัตตาในวิญญาณอยู่ ก็จะกำหนดรู้รูป ฯลฯ เวทนา ... สัญญา ...
สังขาร กำหนดรู้วิญญาณ ผู้นั้นเมื่อกำหนดรู้รูป กำหนดรู้เวทนา กำหนดรู้สัญญา
กำหนดรู้สังขาร กำหนดรู้วิญญาณ ย่อมพ้นจากรูป ย่อมพ้นจากเวทนา ย่อมพ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๔. กุกกุฬวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

จากสัญญา ย่อมพ้นจากสังขาร ย่อมพ้นจากวิญญาณ เรากล่าวว่า ‘ย่อมพ้น
จากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส และย่อมพ้น
จากทุกข์’

อนัตตานุปัสสีสูตรที่ ๑๔ จบ
กุกกุฬวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กุกกุฬสูตร ๒. อนิจจสูตร
๓. ทุติยอนิจจสูตร ๔. ตติยอนิจจสูตร
๕. ทุกขสูตร ๖. ทุติยทุกขสูตร
๗. ตติยทุกขสูตร ๘. อนัตตสูตร
๙. ทุติยอนัตตสูตร ๑๐. ตติยอนัตตสูตร
๑๑. นิพพิทาพหุลสูตร ๑๒. อนิจจานุปัสสีสูตร
๑๓. ทุกขานุปัสสีสูตร ๑๔. อนัตตานุปัสสีสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๕. ทิฏฐิวรรค ๑. อัชฌัตตสูตร

๕. ทิฏฐิวรรค
หมวดว่าด้วยทิฏฐิ
๑. อัชฌัตตสูตร
ว่าด้วยสุขและทุกข์ในภายใน

[๑๕๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีอะไร เพราะอาศัยอะไร
สุขและทุกข์ในภายในจึงเกิดขึ้น”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก ฯลฯ
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีรูป เพราะอาศัยรูป สุขและทุกข์ในภายในจึงเกิดขึ้น
เมื่อมีเวทนา ฯลฯ
เมื่อมีสัญญา ...
เมื่อมีสังขาร ...
เมื่อมีวิญญาณ เพราะอาศัยวิญญาณ สุขและทุกข์ในภายในจึงเกิดขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่
เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า’
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น
สุขและทุกข์ในภายในจะพึงเกิดขึ้นหรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๕. ทิฏฐิวรรค ๒. เอตังมมสูตร

“เวทนา ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น
สุขและทุกข์ในภายในจะพึงเกิดขึ้นหรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มี
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”๑

อัชฌัตตสูตรที่ ๑ จบ

๒. เอตังมมสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเห็นว่านั่นของเรา

[๑๕๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีอะไร เพราะอาศัยอะไร
เพราะยึดมั่นอะไร บุคคลจึงพิจารณาเห็นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตา
ของเรา”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก ฯลฯ
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีรูป เพราะอาศัยรูป เพราะยึดมั่นรูป บุคคลจึง
พิจารณาเห็นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’
เมื่อมีเวทนา ฯลฯ
เมื่อมีสัญญา ...
เมื่อมีสังขาร ...


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๕. ทิฏฐิวรรค ๓. โสอัตตาสูตร

เมื่อมีวิญญาณ เพราะอาศัยวิญญาณ เพราะยึดมั่นวิญญาณ บุคคลจึง
พิจารณาเห็นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่
เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ฯลฯ มีความแปรผันเป็นธรรมดา เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น บุคคลจะพึง
พิจารณาเห็นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ หรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนา ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ฯลฯ มีความแปรผันเป็นธรรมดา เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น บุคคลจะพึง
พิจารณาเห็นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ หรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มี
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

เอตังมมสูตรที่ ๒ จบ

๓. โสอัตตาสูตร
ว่าด้วยทิฏฐิว่าอัตตากับโลกเป็นอย่างเดียวกัน

[๑๕๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีอะไร เพราะอาศัยอะไร
เพราะยึดมั่นอะไร ทิฏฐิอย่างนี้จึงเกิดขึ้นว่า ‘อัตตากับโลกเป็นอย่างเดียวกัน เรา
นั้นละโลกนี้ไปแล้ว จักเป็นผู้เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน มีความไม่แปรผันเป็นธรรมดา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๕. ทิฏฐิวรรค ๓. โสอัตตาสูตร

ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก ฯลฯ
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีรูป เพราะอาศัยรูป เพราะยึดมั่นรูป ทิฏฐิอย่างนี้จึง
เกิดขึ้นว่า ‘อัตตากับโลกเป็นอย่างเดียวกัน เรานั้นละโลกนี้ไปแล้ว จักเป็นผู้เที่ยงแท้
ยั่งยืน คงทน มีความไม่แปรผันเป็นธรรมดา’
เมื่อมีเวทนา ฯลฯ
เมื่อมีสัญญา ...
เมื่อมีสังขาร ...
เมื่อมีวิญญาณ เพราะอาศัยวิญญาณ เพราะยึดมั่นวิญญาณ ทิฏฐิอย่างนี้จึง
เกิดขึ้นว่า ‘อัตตากับโลกเป็นอย่างเดียวกัน เรานั้นละโลกนี้ไปแล้ว จักเป็นผู้เที่ยงแท้
ยั่งยืน คงทน มีความไม่แปรผันเป็นธรรมดา’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่
เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น
ทิฏฐิอย่างนี้จะพึงเกิดขึ้นบ้างหรือว่า ‘อัตตากับโลกเป็นอย่างเดียวกัน เรานั้นละโลก
นี้ไปแล้ว จักเป็นผู้เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน มีความไม่แปรผันเป็นธรรมดา”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนา ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๕. ทิฏฐิวรรค ๔. โนจเมสิยาสูตร

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น
ทิฏฐิอย่างนี้จะพึงเกิดขึ้นบ้างหรือว่า ‘อัตตากับโลกเป็นอย่างเดียวกัน เรานั้นละโลก
นี้ไปแล้ว จักเป็นผู้เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน มีความไม่แปรผันเป็นธรรมดา”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มี
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

โสอัตตาสูตรที่ ๓ จบ

๔. โนจเมสิยาสูตร
ว่าด้วยทิฏฐิว่าเราไม่พึงมี

[๑๕๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีอะไร เพราะอาศัยอะไร
เพราะยึดมั่นอะไร ทิฏฐิอย่างนี้จึงเกิดขึ้นว่า ‘ถ้าเราไม่พึงมี แม้บริขารของเราก็ไม่
พึงมี ถ้าเราจักไม่ได้มีแล้ว แม้บริขารของเราก็จักไม่มี”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก ฯลฯ
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีรูป เพราะอาศัยรูป เพราะยึดมั่นรูป ทิฏฐิอย่างนี้จึง
เกิดขึ้นว่า ‘ถ้าเราไม่พึงมี แม้บริขารของเราก็ไม่พึงมี ถ้าเราจักไม่ได้มีแล้ว
แม้บริขารของเราก็จักไม่มี’
เมื่อมีเวทนา ฯลฯ
เมื่อมีสัญญา ...
เมื่อมีสังขาร ...
เมื่อมีวิญญาณ เพราะอาศัยวิญญาณ เพราะยึดมั่นวิญญาณ ทิฏฐิอย่างนี้
จึงเกิดขึ้นว่า ‘ถ้าเราไม่พึงมี แม้บริขารของเราก็ไม่พึงมี ถ้าเราจักไม่ได้มีแล้ว
แม้บริขารของเราก็จักไม่มี’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๕. ทิฏฐิวรรค ๔. โนจเมสิยาสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่
เที่ยง’
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น
ทิฏฐิอย่างนี้จะพึงเกิดขึ้นบ้างหรือว่า ‘ถ้าเราไม่พึงมี แม้บริขารของเราก็ไม่พึงมี ถ้า
เราจักไม่ได้มีแล้ว แม้บริขารของเราก็จักไม่มี”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนา ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น
ทิฏฐิอย่างนี้จะพึงเกิดขึ้นบ้างหรือว่า ‘ถ้าเราไม่พึงมี แม้บริขารของเราก็ไม่พึงมี ถ้า
เราจักไม่ได้มีแล้ว แม้บริขารของเราก็จักไม่มี”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มี
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

โนจเมสิยาสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๕. ทิฏฐิวรรค ๕. มิจฉาทิฏฐิสูตร

๕. มิจฉาทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยมิจฉาทิฏฐิ

[๑๕๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีอะไร เพราะอาศัยอะไร
เพราะยึดมั่นอะไร มิจฉาทิฏฐิ(เห็นผิด) จึงเกิดขึ้น”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก ฯลฯ
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีรูป เพราะอาศัยรูป เพราะยึดมั่นรูป มิจฉาทิฏฐิจึงเกิดขึ้น
เมื่อมีเวทนา ฯลฯ
เมื่อมีสัญญา ...
เมื่อมีสังขาร ...
เมื่อมีวิญญาณ เพราะอาศัยวิญญาณ เพราะยึดมั่นวิญญาณ มิจฉาทิฏฐิจึง
เกิดขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่
เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง ฯลฯ เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น มิจฉาทิฏฐิจะพึงเกิดขึ้นหรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนา ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๕. ทิฏฐิวรรค ๖. สักกายทิฏฐิสูตร

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น
มิจฉาทิฏฐิจะพึงเกิดขึ้นหรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มี
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

มิจฉาทิฏฐิสูตรที่ ๕ จบ

๖. สักกายทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยสักกายทิฏฐิ

[๑๕๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีอะไร เพราะอาศัยอะไร
เพราะยึดมั่นอะไร สักกายทิฏฐิ(ความเห็นว่าเป็นตัวของตน) จึงเกิดขึ้น”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก ฯลฯ
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีรูป เพราะอาศัยรูป เพราะยึดมั่นรูป สักกายทิฏฐิจึง
เกิดขึ้น
เมื่อมีเวทนา ฯลฯ
เมื่อมีสัญญา ...
เมื่อมีสังขาร ...
เมื่อมีวิญญาณ เพราะอาศัยวิญญาณ เพราะยึดมั่นวิญญาณ สักกายทิฏฐิจึง
เกิดขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่
เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๕. ทิฏฐิวรรค ๗. อัตตานุทิฏฐิสูตร

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง ฯลฯ เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น สักกายทิฏฐิจะพึงเกิดขึ้นหรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนา ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง ฯลฯ เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น สักกายทิฏฐิจะพึงเกิดขึ้นหรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มี
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

สักกายทิฏฐิสูตรที่ ๖ จบ

๗. อัตตานุทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยอัตตานุทิฏฐิ

[๑๕๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีอะไร เพราะอาศัยอะไร
เพราะยึดมั่นอะไร อัตตานุทิฏฐิ(ความเห็นว่าเป็นอัตตา) จึงเกิดขึ้น”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก ฯลฯ
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีรูป เพราะอาศัยรูป เพราะยึดมั่นรูป อัตตานุทิฏฐิจึง
เกิดขึ้น
เมื่อมีเวทนา ฯลฯ
เมื่อมีสัญญา ...
เมื่อมีสังขาร ...
เมื่อมีวิญญาณ เพราะอาศัยวิญญาณ เพราะยึดมั่นวิญญาณ อัตตานุทิฏฐิจึง
เกิดขึ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๕. ทิฏฐิวรรค ๘. อภินิเวสสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่
เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง ฯลฯ เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น อัตตานุทิฏฐิจะพึงเกิดขึ้นหรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนา ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง ฯลฯ เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น อัตตานุทิฏฐิจะพึงเกิดขึ้นหรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มี
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

อัตตานุทิฏฐิสูตรที่ ๗ จบ

๘. อภินิเวสสูตร
ว่าด้วยความยึดมั่น

[๑๕๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีอะไร เพราะอาศัยอะไร
เพราะยึดมั่นอะไร ความพัวพันด้วยสังโยชน์และความยึดมั่นจึงเกิดขึ้น”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก ฯลฯ
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีรูป เพราะอาศัยรูป เพราะยึดมั่นรูป ความพัวพัน
ด้วยสังโยชน์และความยึดมั่นจึงเกิดขึ้น
เมื่อมีเวทนา ฯลฯ
เมื่อมีสัญญา ...
เมื่อมีสังขาร ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๕. ทิฏฐิวรรค ๙. ทุติยอภินิเวสสูตร

เมื่อมีวิญญาณ เพราะอาศัยวิญญาณ เพราะยึดมั่นวิญญาณ ความพัวพัน
ด้วยสังโยชน์และความยึดมั่นจึงเกิดขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่
เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง ฯลฯ เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น ความพัวพันด้วยสังโยชน์และ
ความยึดมั่นจะพึงเกิดขึ้นหรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนา ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง ฯลฯ เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น ความพัวพันด้วยสังโยชน์และ
ความยึดมั่นจะพึงเกิดขึ้นหรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มี
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

อภินิเวสสูตรที่ ๘ จบ

๙. ทุติยอภินิเวสสูตร
ว่าด้วยความยึดมั่น สูตรที่ ๒

[๑๕๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีอะไร เพราะอาศัยอะไร
เพราะยึดมั่นอะไร ความพัวพันและความหมกมุ่นด้วยสังโยชน์และความยึดมั่นจึง
เกิดขึ้น”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๕. ทิฏฐิวรรค ๑๐. อานันทสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีรูป เพราะอาศัยรูป เพราะยึดมั่นรูป ความพัวพัน
และความหมกมุ่นด้วยสังโยชน์และความยึดมั่นจึงเกิดขึ้น
เมื่อมีเวทนา ฯลฯ
เมื่อมีสัญญา ...
เมื่อมีสังขาร ...
เมื่อมีวิญญาณ เพราะอาศัยวิญญาณ เพราะยึดมั่นวิญญาณ ความพัวพัน
และความหมกมุ่นด้วยสังโยชน์และความยึดมั่นจึงเกิดขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่
เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง ฯลฯ เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้น ความพัวพันและความหมกมุ่น
ด้วยสังโยชน์และความยึดมั่นจะพึงเกิดขึ้นหรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มี
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

ทุติยอภินิเวสสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. อานันทสูตร
ว่าด้วยพระอานนท์

[๑๕๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว
จะพึงหลีกออกไปอยู่คนเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่เถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๕. ทิฏฐิวรรค ๑๐. อานันทสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูป
เที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนา ฯลฯ สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ เพราะเหตุนั้น รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และ
ปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้
ก็ตาม รูปทั้งหมดนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ...
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม วิญญาณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ ๕. ทิฏฐิวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ทั้งหมดนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่
ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
อานนท์ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อม
เบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด
จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

อานันทสูตรที่ ๑๐ จบ
ทิฏฐิวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัชฌัตตสูตร ๒. เอตังมมสูตร
๓. โสอัตตาสูตร ๔. โนจเมสิยาสูตร
๕. มิจฉาทิฏฐิสูตร ๖. สักกายทิฏฐิสูตร
๗. อัตตานุทิฏฐิสูตร ๘. อภินิเวสสูตร
๙. ทุติยอภินิเวสสูตร ๑๐. อานันทสูตร

อุปริปัณณาสก์ จบบริบูรณ์

รวมวรรคที่มีในอุปริปัณณาสก์นี้ คือ

๑. อันตวรรค ๒. ธัมมกถิกวรรค
๓. อวิชชาวรรค ๔. กุกกุฬวรรค
๕. ทิฏฐิวรรค

รวม ๕ วรรค เรียกว่า ตติยปัณณาสก์
ขันธสังยุต จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๑. มารสูตร

๒. ราธสังยุต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. มารสูตร
ว่าด้วยมาร

[๑๖๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระราธะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘มาร มาร’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ
พระองค์จึงตรัสว่า ‘มาร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ เมื่อมีรูป จึงมีมาร มีผู้ทำให้ตาย
หรือมีผู้ตาย เพราะฉะนั้น เธอจงเห็นรูปว่า ‘เป็นมาร เป็นผู้ทำให้ตาย เป็นผู้ตาย
เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก เป็นเหตุเกิดแห่งของลำบาก’
บุคคลเหล่าใดเห็นรูปนั้นอย่างนี้ บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าย่อมเห็นชอบ
เมื่อมีเวทนา ฯลฯ
เมื่อมีสัญญา ...
เมื่อมีสังขาร ...
เมื่อมีวิญญาณ จึงมีมาร มีผู้ทำให้ตาย หรือมีผู้ตาย เพราะฉะนั้น เธอจง
เห็นวิญญาณว่า ‘เป็นมาร เป็นผู้ทำให้ตาย เป็นผู้ตาย เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี
เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก เป็นเหตุเกิดแห่งของลำบาก’ บุคคลเหล่าใดเห็น
วิญญาณนั้นอย่างนี้ บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าย่อมเห็นชอบ”
“ก็ความเห็นชอบมีประโยชน์อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
“ราธะ ความเห็นชอบมีประโยชน์ทำให้เบื่อหน่าย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต] ๑. ปฐมวรรค๒. สัตตสูตร

“ก็ความเบื่อหน่ายมีประโยชน์อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
“ความเบื่อหน่ายมีประโยชน์ทำให้คลายกำหนัด”
“ก็ความคลายกำหนัดมีประโยชน์อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
“ความคลายกำหนัดมีประโยชน์ทำให้หลุดพ้น”
“ก็ความหลุดพ้นมีประโยชน์อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
“ความหลุดพ้นมีประโยชน์ทำให้นิพพาน”
“ก็นิพพานเล่ามีประโยชน์อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
“ราธะ เธอถามมากเกินไปแล้ว เธอไม่อาจกำหนดขอบเขตของปัญหาได้
เพราะกุลบุตรย่อมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ที่หยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพานเป็นจุด
มุ่งหมาย มีนิพพานเป็นที่สุด”

มารสูตรที่ ๑ จบ

๒. สัตตสูตร
ว่าด้วยสัตว์

[๑๖๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระราธะเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘สัตว์ สัตว์’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ
พระองค์จึงตรัสว่า ‘สัตว์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ บุคคลผู้ข้องติดอยู่ในความพอใจ ความ
กำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากในรูป เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า
‘สัตว์’ ... ในเวทนา ฯลฯ ในสัญญา ... ในสังขาร ... บุคคลผู้ข้องติดอยู่ในความพอใจ
ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากในวิญญาณ เพราะฉะนั้น
เราจึงกล่าวว่า ‘สัตว์’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๓. ภวเนตติสูตร

ราธะ พวกเด็กชายหรือเด็กหญิงเล่นเรือนฝุ่นอยู่ เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความ
กำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย
ไม่ปราศจากความเร่าร้อน ไม่ปราศจากความทะยานอยากในเรือนฝุ่นเหล่านั้นอยู่เพียงใด
พวกเขาก็อาลัย อยากเล่น หวงแหน ยึดถือเรือนฝุ่นทั้งหลายอยู่เพียงนั้น
แต่เมื่อใด พวกเด็กชายหรือเด็กหญิง เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจาก
ความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน
ปราศจากความทะยานอยากในเรือนฝุ่นเหล่านั้น เมื่อนั้น พวกเขาย่อมรื้อ ยื้อแย่ง
ทำลาย ทำเรือนฝุ่นเหล่านั้นให้เล่นไม่ได้ด้วยมือและเท้า แม้ฉันใด แม้เธอทั้งหลาย
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงรื้อ แยก กระจายออก ทำรูปให้ยินดีไม่ได้ ปฏิบัติเพื่อ
ความสิ้นตัณหา เธอทั้งหลายจงรื้อ แยก กระจายออก ทำเวทนาให้ยินดีไม่ได้
ปฏิบัติเพื่อความสิ้นตัณหา ... สัญญา ... เธอทั้งหลายจงรื้อ แยก กระจายออก
ทำสังขารให้ยินดีไม่ได้ ปฏิบัติเพื่อสิ้นตัณหา เธอทั้งหลายจงรื้อ แยก กระจายออก
ทำวิญญาณให้ยินดีไม่ได้ ปฏิบัติเพื่อความสิ้นตัณหา ราธะ ก็ความสิ้นตัณหา จัด
เป็นนิพพาน”

สัตตสูตรที่ ๒ จบ

๓. ภวเนตติสูตร
ว่าด้วยกิเลสเป็นเหตุนำไปสู่ภพ

[๑๖๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘กิเลสเป็นเหตุนำไปสู่ภพ’ กิเลสเป็นเหตุนำไป
สู่ภพเป็นอย่างไร ความดับกิเลสเป็นเหตุนำไปสู่ภพเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ ความพอใจ ความกำหนัด ความ
เพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบายและความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไป
ตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องในรูป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๔. ปริญเญยยสูตร

นี้เรากล่าวว่า กิเลสเป็นเหตุนำไปสู่ภพ เพราะดับกิเลสเหล่านั้น จึงจัดเป็น
ความดับกิเลสเป็นเหตุนำไปสู่ภพ
ความพอใจ ฯลฯ ในเวทนา ... ในสัญญา ... ในสังขาร ...
ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบาย
และความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องในวิญญาณ
นี้เรากล่าวว่า กิเลสเป็นเหตุนำไปสู่ภพ เพราะดับกิเลสเหล่านั้น จึงจัดเป็น
ความดับกิเลสเป็นเหตุนำไปสู่ภพ”

ภวเนตติสูตรที่ ๓ จบ

๔. ปริญเญยยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรกำหนดรู้

[๑๖๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระราธะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ราธะ เราจักแสดงธรรมที่ควรกำหนดรู้ ความกำหนดรู้ และบุคคลผู้กำหนดรู้
เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ท่านพระราธะรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า
“ราธะ ธรรมที่ควรกำหนดรู้ เป็นอย่างไร
คือ รูปเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ เวทนาเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ สัญญา
เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ สังขารเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ วิญญาณเป็นธรรมที่ควร
กำหนดรู้
เหล่านี้เราเรียกว่า ธรรมที่ควรกำหนดรู้
ความกำหนดรู้ เป็นอย่างไร
คือ ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ
นี้เรียกว่า ความกำหนดรู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๕. สมณสูตร

บุคคลผู้กำหนดรู้ เป็นอย่างไร
คือ ควรกล่าวได้ว่า บุคคลผู้กำหนดรู้นั้น คือพระอรหันต์ ได้แก่ ท่านผู้
มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้
นี้เรียกว่า บุคคลผู้กำหนดรู้”

ปริญเญยยสูตรที่ ๔ จบ

๕. สมณสูตร
ว่าด้วยสมณะ

[๑๖๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระราธะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ดังนี้ว่า “ราธะ
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)
๒. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา)
๓. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
๔. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)
ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่รู้ชัดคุณ โทษ และเครื่องสลัดออก
จากอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นก็
ไม่ได้รับยกย่องว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือไม่ได้รับยกย่องว่าเป็นพราหมณ์ใน
หมู่พราหมณ์ อนึ่ง ท่านเหล่านั้นจะทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะหรือ
ประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันไม่ได้
ราธะ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดคุณ โทษ และเครื่อง
สลัดออกจากอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๗. โสตาปันนสูตร

เหล่านั้นก็ได้รับยกย่องว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือได้รับยกย่องว่าเป็นพราหมณ์
ในหมู่พราหมณ์ ทั้งท่านเหล่านั้นก็จะทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ
หรือประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันได้”

สมณสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทุติยสมณสูตร
ว่าด้วยสมณะ สูตรที่ ๒

[๑๖๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระราธะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ดังนี้ว่า “ราธะ
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ ๒. เวทนูปาทานขันธ์
๓. สัญญูปาทานขันธ์ ๔. สังขารูปาทานขันธ์
๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
ราธะ ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่รู้ชัดความเกิด ความดับ
คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ตามความเป็นจริง
ฯลฯ ก็จะทำให้แจ้ง ... ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันได้”

ทุติยสมณสูตรที่ ๖ จบ

๗. โสตาปันนสูตร
ว่าด้วยพระโสดาบัน

[๑๖๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระราธะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ดังนี้ว่า “ราธะ
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๘. อรหันตสูตร

อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
เพราะเหตุที่อริยสาวกรู้ชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และเครื่องสลัด
ออกจากอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ตามความเป็นจริง
ราธะ นี้เราเรียกว่า อริยสาวกผู้เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความ
แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”

โสตาปันนสูตรที่ ๗ จบ

๘. อรหันตสูตร
ว่าด้วยพระอรหันต์

[๑๖๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระราธะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ดังนี้ว่า “ราธะ
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
เพราะเหตุที่ภิกษุรู้ชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ และเครื่องสลัดออก
จากอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ตามความเป็นจริง จึงเป็นผู้หลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น
ราธะ นี้เราเรียกว่า เป็นภิกษุอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว
สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ”

อรหันตสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๑๐. ทุติยฉันทราคสูตร

๙. ฉันทราคสูตร
ว่าด้วยความพอใจและความกำหนัด

[๑๖๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระราธะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ดังนี้ว่า “ราธะ
เธอจงละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากในรูป
เมื่อเป็นเช่นนี้ รูปนั้นจักเป็นอันเธอละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาล
ที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
เธอจงละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก
ในเวทนา เมื่อเป็นเช่นนี้ เวทนานั้นก็จักเป็นอันเธอละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อ
ไปไม่ได้ ... ในสัญญา ฯลฯ
เธอจงละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก
ในสังขาร เมื่อเป็นเช่นนี้ สังขารเหล่านั้นก็จักเป็นอันเธอละได้เด็ดขาด ตัดรากถอน
โคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้น
ต่อไปไม่ได้
เธอจงละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก
ในวิญญาณ เมื่อเป็นเช่นนี้ วิญญาณนั้นก็จักเป็นอันเธอละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อ
ไปไม่ได้”

ฉันทราคสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุติยฉันทราคสูตร
ว่าด้วยความพอใจและความกำหนัด สูตรที่ ๒

[๑๖๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระราธะผู้นั่ง ณ ที่สมควรดังนี้ว่า “ราธะ
เธอจงละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๑. ปฐมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

และความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องในรูป เมื่อเป็นเช่นนี้
รูปนั้นก็จักเป็นอันเธอละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดราก
ถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
เธอจงละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก
อุบายและความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องในเวทนา
เมื่อเป็นเช่นนี้ เวทนานั้นก็จักเป็นอันเธอละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือน
ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ...
ในสัญญา ฯลฯ
เธอจงละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก
อุบายและความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องในสังขาร
เมื่อเป็นเช่นนี้ สังขารนั้นก็จักเป็นอันเธอละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือน
ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
เธอจงละความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก
อุบายและความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องในวิญญาณ
เมื่อเป็นเช่นนี้ วิญญาณนั้นก็จักเป็นอันเธอละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือน
ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้”

ทุติยฉันทราคสูตรที่ ๑๐ จบ
ปฐมวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มารสูตร ๒. สัตตสูตร
๓. ภวเนตติสูตร ๔. ปริญเญยยสูตร
๕. สมณสูตร ๖. ทุติยสมณสูตร
๗. โสตาปันนสูตร ๘. อรหันตสูตร
๙. ฉันทราคสูตร ๑๐. ทุติยฉันทราคสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๒. มารธัมมสูตร

๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
๑. มารสูตร
ว่าด้วยมาร

[๑๗๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระราธะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ที่พระองค์ตรัสว่า ‘มาร มาร’ มารเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ รูปเป็นมาร เวทนาเป็นมาร สัญญา
เป็นมาร สังขารเป็นมาร วิญญาณเป็นมาร
ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อม
เบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด
จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
อีกต่อไป”

มารสูตรที่ ๑ จบ

๒. มารธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมของมาร

[๑๗๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘ธรรมของมาร ธรรมของมาร’ ธรรมของมาร
เป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๔. อนิจจธัมมสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ รูปเป็นธรรมของมาร เวทนาเป็นธรรม
ของมาร สัญญาเป็นธรรมของมาร สังขารเป็นธรรมของมาร วิญญาณเป็นธรรม
ของมาร
ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

มารธัมมสูตรที่ ๒ จบ

๓. อนิจจสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่เที่ยง

[๑๗๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘สิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งที่ไม่เที่ยง’ สิ่งที่ไม่เที่ยง
เป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง
สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง
ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

อนิจจสูตรที่ ๓ จบ

๔. อนิจจธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา

[๑๗๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘สิ่งที่มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความ
ไม่เที่ยงเป็นธรรมดา’ สิ่งที่มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดาเป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๖. ทุกขธัมมสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ รูปมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เวทนา
มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา สัญญามีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา สังขารมีความไม่
เที่ยงเป็นธรรมดา วิญญาณมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา
ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

อนิจจธัมมสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุกขสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นทุกข์

[๑๗๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘ทุกข์ ทุกข์’ ทุกข์เป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ รูปเป็นทุกข์ เวทนาเป็นทุกข์ สัญญา
เป็นทุกข์ สังขารเป็นทุกข์ วิญญาณเป็นทุกข์
ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

ทุกขสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทุกขธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีทุกข์เป็นธรรมดา

[๑๗๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘สิ่งที่มีทุกข์เป็นธรรมดา สิ่งที่มีทุกข์เป็นธรรมดา’
สิ่งที่มีทุกข์เป็นธรรมดาเป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๘. อนัตตธัมมสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ รูปมีทุกข์เป็นธรรมดา เวทนามีทุกข์
เป็นธรรมดา สัญญามีทุกข์เป็นธรรมดา สังขารมีทุกข์เป็นธรรมดา วิญญาณมี
ทุกข์เป็นธรรมดา
ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

ทุกขธัมมสูตรที่ ๖ จบ

๗. อนัตตสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นอนัตตา

[๑๗๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘อนัตตา อนัตตา’ อนัตตาเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา
สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา
ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

อนัตตสูตรที่ ๗ จบ

๘. อนัตตธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีอนัตตาเป็นธรรมดา

[๑๗๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘สิ่งที่มีอนัตตาเป็นธรรมดา สิ่งที่มีอนัตตาเป็น
ธรรมดา’ สิ่งที่มีอนัตตาเป็นธรรมดาเป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๙. ขยธัมมสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ รูปมีอนัตตาเป็นธรรมดา เวทนามี
อนัตตาเป็นธรรมดา สัญญามีอนัตตาเป็นธรรมดา สังขารมีอนัตตาเป็นธรรมดา
วิญญาณมีอนัตตาเป็นธรรมดา
ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

อนัตตธัมมสูตรที่ ๘ จบ

๙. ขยธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา

[๑๗๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความสิ้น
ไปเป็นธรรมดา’ สิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดาเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ รูปมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เวทนามี
ความสิ้นไปเป็นธรรมดา สัญญามีความสิ้นไปเป็นธรรมดา สังขารมีความสิ้นไป
เป็นธรรมดา วิญญาณมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา
ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

ขยธัมมสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๑๑. สมุทยธัมมสูตร

๑๐. วยธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

[๑๗๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘สิ่งที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความ
เสื่อมไปเป็นธรรมดา’ สิ่งที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ รูปมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เวทนา
มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา สัญญามีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา สังขารมีความ
เสื่อมไปเป็นธรรมดา วิญญาณมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

วยธัมมสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. สมุทยธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

[๑๘๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ท่านพระราธะนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘สิ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา’ สิ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ รูปมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เวทนามี
ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สัญญามีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สังขารมีความเกิดขึ้น
เป็นธรรมดา วิญญาณมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

สมุทยธัมมสูตรที่ ๑๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๒. ทุติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑๒. นิโรธธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีความดับไปเป็นธรรมดา

[๑๘๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระราธะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ที่พระองค์ตรัสว่า ‘สิ่งที่มีความดับไปเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความดับไปเป็นธรรมดา’
สิ่งที่มีความดับไปเป็นธรรมดาเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ราธะ รูปมีความดับไปเป็นธรรมดา เวทนามี
ความดับไปเป็นธรรมดา สัญญามีความดับไปเป็นธรรมดา สังขารมีความดับไป
เป็นธรรมดา วิญญาณมีความดับไปเป็นธรรมดา
ราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

นิโรธธัมมสูตรที่ ๑๒ จบ
ทุติยวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มารสูตร ๒. มารธัมมสูตร
๓. อนิจจสูตร ๔. อนิจจธัมมสูตร
๕. ทุกขสูตร ๖. ทุกขธัมมสูตร
๗. อนัตตสูตร ๘. อนัตตธัมมสูตร
๙. ขยธัมมสูตร ๑๐. วยธัมมสูตร
๑๑. สมุทยธัมมสูตร ๑๒. นิโรธธัมมสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๓. อายาจนวรรค ๑. มารสูตร

๓. อายาจนวรรค
หมวดว่าด้วยการอาราธนา
๑-๑๑. มาราทิสุตตเอกาทสกะ
ว่าด้วยพระสูตร ๑๑ สูตร มีมารสูตรเป็นต้น
๑.มารสูตร
ว่าด้วยมาร

[๑๘๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระราธะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ซึ่ง
ข้าพระองค์ได้ฟังแล้วจะพึงหลีกออกไปอยู่คนเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่เถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราธะ สิ่งใดเป็นมาร เธอพึงละฉันทะ ราคะ ฉันทราคะ
ในสิ่งนั้น
ก็อะไรเล่าเป็นมาร
คือ รูปเป็นมาร เธอพึงละฉันทะ ราคะ ฉันทราคะในรูปนั้น
เวทนาเป็นมาร เธอพึงละฉันทะ ... ในเวทนานั้น
สัญญาเป็นมาร เธอพึงละฉันทะ ... ในสัญญานั้น
สังขารเป็นมาร เธอพึงละฉันทะ ... ในสังขารนั้น
วิญญาณเป็นมาร เธอพึงละฉันทะ ราคะ ฉันทราคะในวิญญาณนั้น
ราธะ สิ่งใดเป็นมาร เธอพึงละฉันทะ ราคะ ฉันทราคะในสิ่งนั้น”

มารสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๓. อายาจนวรรค ๕. ทุกขสูตร

๒. มารธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมของมาร

[๑๘๓] “ราธะ สิ่งใดเป็นธรรมของมาร๑ เธอพึงละฉันทะ ราคะ ฉันทราคะ
ในสิ่งนั้น ฯลฯ

มารธัมมสูตรที่ ๒ จบ

๓. อนิจจสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่เที่ยง

[๑๘๔] “ราธะ สิ่งใดไม่เที่ยง ฯลฯ

อนิจจสูตรที่ ๓ จบ

๔. อนิจจธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา

[๑๘๕] “ราธะ สิ่งใดมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา ฯลฯ

อนิจจธัมมสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุกขสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นทุกข์

[๑๘๖] “ราธะ สิ่งใดเป็นทุกข์ ฯลฯ

ทุกขสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๓. อายาจนวรรค ๑๐. วยธัมมสูตร

๖. ทุกขธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีทุกข์เป็นธรรมดา

[๑๘๗] “ราธะ สิ่งใดมีทุกข์เป็นธรรมดา ฯลฯ

ทุกขธัมมสูตรที่ ๖ จบ

๗. อนัตตสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นอนัตตา

[๑๘๘] “ราธะ สิ่งใดเป็นอนัตตา ฯลฯ

อนัตตสูตรที่ ๗ จบ

๘. อนัตตธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีอนัตตาเป็นธรรมดา

[๑๘๙] “ราธะ สิ่งใดมีอนัตตาเป็นธรรมดา ฯลฯ

อนัตตธัมมสูตรที่ ๘ จบ

๙. ขยธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา

[๑๙๐] “ราธะ สิ่งใดมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา ฯลฯ

ขยธัมมสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. วยธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

[๑๙๑] “ราธะ สิ่งใดมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ฯลฯ

วยธัมมสูตรที่ ๑๐ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๒. ราธสังยุต]
๓. อายาจนวรรค ๑๒. นิโรธธัมมสูตร

๑๑. สมุทยธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

[๑๙๒] “ราธะ สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เธอพึงละฉันทะ ราคะ
ฉันทราคะในสิ่งนั้น ฯลฯ

สมุทยธัมมสูตรที่ ๑๑ จบ

๑๒. นิโรธธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีความดับไปเป็นธรรมดา

[๑๙๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระราธะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ได้กราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้วจะพึงหลีก
ออกไปอยู่คนเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่เถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราธะ สิ่งใดมีความดับไปเป็นธรรมดา เธอพึงละฉันทะ
ราคะ ฉันทราคะในสิ่งนั้น
ก็อะไรเล่ามีความดับไปเป็นธรรมดา
คือ รูปมีความดับไปเป็นธรรมดา เธอพึงละฉันทะ ราคะ ฉันทราคะในรูปนั้น
เวทนามีความดับไปเป็นธรรมดา ฯลฯ
สัญญา ...
สังขาร ...
วิญญาณมีความดับไปเป็นธรรมดา เธอพึงละฉันทะ ราคะ ฉันทราคะใน
วิญญาณนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า :๒๗๒ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker