ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๐๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] เรื่องที่ไม่ทรงพยากรณ์

สมณพรามณ์ เทวดาและมนุษย์ บรรลุ แสวงหา ตรองตามด้วยใจทั้งหมด ฉะนั้น ชาว
โลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในราตรีใด ปรินิพพานด้วย
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุในราตรีใด ในระหว่างนี้ ย่อมภาษิต กล่าว แสดงคำใด
คำนั้นทั้งหมดเป็นจริงอย่างนั้นแล ไม่เป็นอย่างอื่น ฉะนั้น ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตกล่าวอย่างใดก็ทำอย่างนั้น ทำอย่างใดก็กล่าวอย่างนั้น ตถาคต
กล่าวอย่างใดก็ทำอย่างนั้น ทำอย่างใดก็กล่าวอย่างนั้น ด้วยประการฉะนี้ ฉะนั้น
ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เผยแผ่อำนาจไปใน
โลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ ฉะนั้น ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’

เรื่องที่ไม่ทรงพยากรณ์

[๑๘๙] จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคต๑เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง กระนั้นหรือ’ เธอทั้งหลาย
พึงกล่าวอย่างนี้กับอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้นว่า ‘พระผู้มีพระภาคมิได้
ทรงพยากรณ์ไว้แม้อย่างนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’
เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว
ตถาคตไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง กระนั้นหรือ’ เธอทั้งหลายพึงกล่าว
อย่างนี้กับอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้นว่า ‘พระผู้มีพระภาคมิได้ทรง

เชิงอรรถ :
๑ ตถาคต เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันมาก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า
อรรถกถาอธิบายว่า สัตตะ (ที.สี.อ. ๖๕/๑๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] เรื่องที่ไม่ทรงพยากรณ์

พยากรณ์ไว้แม้อย่างนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’
เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว
ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง กระนั้นหรือ’ เธอทั้งหลาย
พึงกล่าวอย่างนี้กับอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้นว่า ‘พระผู้มีพระภาคมิได้
ทรงพยากรณ์ไว้แม้อย่างนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก นี้
เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว
ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง กระนั้น
หรือ’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้กับอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้นว่า
‘พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงพยากรณ์ไว้แม้อย่างนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่า
เกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เพราะเหตุไร พระ
สมณโคดมจึงไม่ทรงพยากรณ์เรื่องนั้น’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้กับอัญเดียรถีย์
ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้นว่า ‘เพราะเรื่องนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์๑ ไม่ประกอบ
ด้วยธรรม๒ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของพรหมจรรย์๓ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็น

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ในที่นี้หมายถึงไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๒ อย่าง คือ (๑) ทิฏฐธัมมิกัตถะ
(ประโยชน์ในโลกนี้) (๒) สัมปรายิกัตถะ(ประโยชน์ในโลกหน้า) (ที.ปา.อ. ๑๘๙/๑๐๕)
๒ ไม่ประกอบด้วยธรรม ในที่นี้หมายถึงไม่ประกอบด้วยโลกุตตรธรรม ๙ (ที.ปา.อ. ๑๘๙/๑๐๕)
๓ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของพรหมจรรย์ คือ ไม่ใช่เบื้องต้นแห่งศาสนพรหมจรรย์ทั้งสิ้นที่รวบรวมไตรสิกขา
(ที.ปา.อ. ๑๘๙/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ทิฎฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอดีต

ไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง
ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรง
พยากรณ์เรื่องนั้นไว้

เรื่องที่ทรงพยากรณ์

[๑๙๐] จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ก็พระ
สมณโคดมทรงพยากรณ์เรื่องอะไรเล่า’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้กับอัญเดียรถีย์
ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้นว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ‘นี้ทุกข์’ พระผู้มี
พระภาคทรงพยากรณ์ว่า ‘นี้ทุกขสมุทัย’ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ’
พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ‘นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’
เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เพราะเหตุไร พระ
สมณโคดมจึงทรงพยากรณ์เรื่องนั้นไว้’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้กับพวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้นว่า ‘เพราะเรื่องนั้นประกอบด้วยประโยชน์ ประกอบด้วย
ธรรม เป็นจุดเริ่มต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฉะนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงทรงพยากรณ์เรื่องนั้นไว้’

ทิฏฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอดีต

[๑๙๑] จุนทะ เราได้พยากรณ์ทิฏฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอดีต๑แก่เธอ
ทั้งหลาย ทั้งที่ควรพยากรณ์และไม่ควรพยากรณ์ ในเรื่องนั้นยังมีอะไรอีกเล่าที่เรา
ไม่ได้พยากรณ์แก่เธอทั้งหลาย เราได้พยากรณ์ทิฏฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอนาคต
แก่เธอทั้งหลาย ทั้งที่ควรพยากรณ์และไม่ควรพยากรณ์ ในเรื่องนั้นยังมีอะไรอีกเล่า
ที่เราไม่ได้พยากรณ์แก่เธอทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอดีต ได้แก่ ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑๘ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๒๘-๗๓/
๑๑-๓๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ทิฎฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอดีต

เราได้พยากรณ์ทิฏฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอดีตแก่เธอทั้งหลาย ทั้งที่
ควรพยากรณ์และไม่ควรพยากรณ์ คืออะไร
คือ
๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลก๑เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกทั้งเที่ยงและไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกจะว่าเที่ยงก็มิใช่ จะว่าไม่เที่ยงก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’
๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีตนเองเป็นตัวการ๒ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’

เชิงอรรถ :
๑ อัตตาและโลก แยกอธิบายได้ดังนี้ คำว่า อัตตา และ โลก มีความหมาย ๕ นัย คือ
นัยที่ ๑ ทั้ง อัตตา และโลก หมายถึงขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
นัยที่ ๒ อัตตา หมายถึงอหังการวัตถุ หรือเหตุให้เกิดมานะว่าเป็นเรา โลก หมายถึงมมังการวัตถุ คือเหตุ
ให้เกิดตัณหาว่าเป็นของเรา
นัยที่ ๓ อัตตา หมายถึงตนเอง โลก หมายถึงผู้อื่น
นัยที่ ๔ อัตตา หมายถึงขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง ในอุปาทานขันธ์ ๕ โลก หมายถึงสิ่งอื่นนอกจากขันธ์ ๕
นัยที่ ๕ อัตตา หมายถึงขันธสันดานที่มีวิญญาณ โลก หมายถึงขันธสันดานที่ไม่มีวิญญาณ
คำว่า “อัตตาและโลกเที่ยง” ในที่นี้ทรงมุ่งแสดงสัสสตวาทะ ๔ ประการ ส่วนคำว่า “อัตตาและโลก
ไม่เที่ยง” ทรงมุ่งแสดงอุจเฉทวาทะ ๗ ประการ (ขุ.อุ.อ. ๕๕/๓๖๙)
๒ เป็นตัวการ แปลจากบาลีว่า “สยํกโต” ในที่นี้หมายถึงลัทธิสยังการ (ลัทธิสยังการ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
ลัทธิอัตตการ) หมายถึงลัทธิที่เชื่อว่า ตนเป็นตัวการ คือ เป็นผู้สร้างอัตตาและโลกขึ้นเอง (ขุ.อุ.อ. ๕๖/๓๗๑)
หมายถึงพวกอธิจจสมุปปันนวาทะ คือลัทธิที่เชื่อว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นได้เอง มิได้อาศัยเหตุอะไร เป็น
ลัทธิปฏิเสธทั้งลัทธิสยังการ และลัทธิปรังการ (ผู้อื่นเป็นตัวการ) พวกอธิจจสมุปปันนวาทะนี้ เรียกอีกชื่อ
หนึ่งว่า อเหตุกวาทะ (ขุ.อุ.อ. ๕๕-๕๖/๓๗๐-๓๗๒) และดู สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๑๗/๒๗-๒๘, สํ.นิ.อ. ๒/๑๗/๔๐
ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ทิฎฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอดีต

๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๗. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งตนเองเป็นตัวการและผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’
๘. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกเกิดขึ้นได้เอง จะว่าตนเองเป็นตัวการก็มิใช่ จะว่าผู้อื่นเป็น
ตัวการก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๙. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘สุขและทุกข์เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๑๐. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘สุขและทุกข์ไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๑๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘สุขและทุกข์ทั้งเที่ยงและไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๑๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘สุขและทุกข์จะว่าเที่ยงก็มิใช่ จะว่าไม่เที่ยงก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’
๑๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘สุขและทุกข์มีตนเองเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๑๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘สุขและทุกข์มีผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๑๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘สุขและทุกข์มีทั้งตนเองเป็นตัวการและผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’
๑๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘สุขและทุกข์เกิดขึ้นเอง จะว่าตนเองเป็นตัวการก็มิใช่ จะว่าผู้อื่น
เป็นตัวการก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ทิฎฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอดีต

[๑๙๒] ๑. จุนทะ บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด
ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกเที่ยง นี้เท่านั้น
จริง อย่างอื่นไม่จริง’ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านกล่าวคำว่า ‘อัตตา
และโลกเที่ยง’ ใช่ไหม และสมณพราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวคำใด
อย่างนี้ว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ เราไม่ยอมรับคำนั้น
ของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสัตว์
แต่ละพวก ๆ มีความเข้าใจในเรื่องนี้แตกต่างกัน เราไม่เห็นผู้ที่
เสมอกับเราในเรื่องบัญญัติ๑แม้นี้ ผู้ที่เหนือกว่าเราจะมีแต่ที่ไหน
ความจริง เราเท่านั้นเป็นผู้เหนือกว่าใครในบัญญัติ คือ อธิบัญญัติ
[๑๙๓] ๒. บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง ฯลฯ
๓. บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกทั้งเที่ยงและไม่เที่ยง
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๔. บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกจะว่าเที่ยงก็มิใช่ จะว่า
ไม่เที่ยงก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๕. บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกมีตนเองเป็นตัวการ
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ บัญญัติ มี ๒ อย่าง คือ(๑) บัญญัติ (๒) อธิบัญญัติ บัญญัติ หมายถึงทิฏฐิบัญญัติ อธิบัญญัติ หมายถึง
ขันธบัญญัติ ธาตุบัญญัติ อายตนบัญญัติ อินทริยบัญญัติ สัจจบัญญัติ และบุคคลบัญญัติ ในที่นี้หมายเอา
ทั้งบัญญัติและอธิบัญญัติ (ที.ปา.อ. ๑๙๒/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ทิฎฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอดีต

๖. บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกมีผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้น
จริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๗. บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกมีทั้งตนเองเป็นตัวการและ
ผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๘. บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกเกิดขึ้นได้เอง จะว่าตน
เองเป็นตัวการก็มิใช่ จะว่าผู้อื่นเป็นตัวการก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๙. บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สุขและทุกข์เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’ ฯลฯ
๑๐. บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สุขและทุกข์ไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๑๑. บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สุขและทุกข์ทั้งเที่ยงและไม่เที่ยง นี้เท่านั้น
จริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๑๒. บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สุขและทุกข์จะว่าเที่ยงก็มิใช่ จะว่าไม่
เที่ยงก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๑๓. บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สุขและทุกข์มีตนเองเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๑๔. บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สุขและทุกข์มีผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้น
จริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ทิฎฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอนาคต

๑๕. บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สุขและทุกข์มีทั้งตนเองเป็นตัวการและ
ผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๑๖. บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด ผู้มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สุขและทุกข์เกิดขึ้นได้เอง จะว่าตนเอง
เป็นตัวการก็มิใช่ จะว่าผู้อื่นเป็นตัวการก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านกล่าวคำว่า ‘สุขและทุกข์เกิดขึ้นได้เอง
จะว่าตนเองเป็นตัวการก็มิใช่ จะว่าผู้อื่นเป็นตัวการก็มิใช่’ ใช่ไหม
และสมณพราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวคำใดอย่างนี้ว่า ‘นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’ เราไม่ยอมรับคำนั้นของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสัตว์แต่ละพวก ๆ มีความเข้าใจในเรื่องนี้
แตกต่างกัน เราไม่เห็นผู้ที่เสมอกับเราในเรื่องบัญญัติแม้นี้ ผู้ที่
เหนือกว่าเราจะมีแต่ที่ไหน ความจริง เราเท่านั้นเป็นผู้เหนือกว่า
ใครในบัญญัติ คือ อธิบัญญัติ
จุนทะ เราได้พยากรณ์ทิฏฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอดีตเหล่านี้แลแก่เธอ
ทั้งหลาย ทั้งที่ควรพยากรณ์และไม่ควรพยากรณ์ ในเรื่องนั้น ยังมีอะไรอีกเล่าที่เรา
ไม่พยากรณ์แก่เธอทั้งหลาย

ทิฏฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอนาคต

[๑๙๔] เราได้พยากรณ์ทิฏฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอนาคต๑แก่เธอ
ทั้งหลาย ทั้งที่ควรพยากรณ์และไม่ควรพยากรณ์ คืออะไร ในเรื่องนั้น ยังมีอะไร
อีกเล่า ที่เราไม่ได้พยากรณ์แก่เธอทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอนาคต ได้แก่อปรันตกัปปิกทิฏฐิ ๔๔ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๗๔-๑๐๔/
๓๐-๓๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ทิฎฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอนาคต

คือ
๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
ที่มีรูป ยั่งยืน๑หลังจากตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
ที่ไม่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
ฯลฯ
๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
ทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’ ฯลฯ
๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
จะว่ามีรูปก็มิใช่ จะว่าไม่มีรูปก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
ที่มีสัญญา ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
ฯลฯ
๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
ที่ไม่มีสัญญา ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’ ฯลฯ
๗. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
จะว่ามีสัญญาก็มิใช่ จะว่าไม่มีสัญญาก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๘. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
ย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ยั่งยืน แปลจากคำว่า อโรค อรรถกถาอธิบายว่า นิจฺจ แปลว่า เที่ยง ยั่งยืน คงที่ เพราะไม่แตกดับไป
(ที.สี.อ. ๗๖-๗๗/๑๐๙, ที.สี.ฏีกา ๗๖-๗๗/๒๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ทิฎฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอนาคต

๑. จุนทะ บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด
ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตาที่มีรูป ยั่งยืน หลังจาก
ตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ เราเข้าไปหาสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นแล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่าน
กล่าวคำว่า ‘อัตตาที่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว’ ใช่ไหม และ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวคำใดอย่างนี้ว่า ‘นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’ เราไม่ยอมรับคำนั้นของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสัตว์แต่ละพวก ๆ มีความเข้าใจใน
เรื่องนี้แตกต่างกัน เราไม่เห็นผู้ที่เสมอกับเราในเรื่องบัญญัติ
แม้นี้ ผู้ที่เหนือกว่าเราจะมีแต่ที่ไหน ความจริงเราเท่านั้นเป็นผู้
เหนือกว่าใครในบัญญัติ คือ อธิบัญญัติ
[๑๙๕] ๒. จุนทะ บรรดาสมณพรหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใด
ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตาที่ไม่มีรูป ยั่งยืน
หลังจากตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘อัตตาทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว นี้เท่านั้น
จริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘อัตตาจะว่ามีรูปก็มิใช่ จะว่าไม่มีรูปก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจาก
ตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘อัตตาที่มีสัญญา ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ทิฎฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอนาคต

๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘อัตตาที่ไม่มีสัญญา ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๗. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘อัตตาจะว่ามีสัญญาก็มิใช่ จะว่าไม่มีสัญญาก็มิใช่ ยั่งยืน หลัง
จากตายแล้ว นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ฯลฯ
๘. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘อัตตาย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้ว
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านกล่าวคำว่า
‘อัตตาย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้ว’
ใช่ไหม และสมณพราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวคำใดอย่างนี้ว่า
‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ เราไม่ยอมรับคำนั้นของสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสัตว์แต่ละพวก ๆ
มีความเข้าใจในเรื่องนี้แตกต่างกัน เราไม่เห็นผู้ที่เสมอกับเราในเรื่อง
บัญญัติแม้นี้ ผู้ที่เหนือกว่าเราจะมีแต่ที่ไหน ความจริง เราเท่านั้น
เป็นผู้เหนือกว่าใครในบัญญัติ คือ อธิบัญญัติ
จุนทะ เราได้พยากรณ์ทิฏฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอนาคตเหล่านี้แล แก่เธอ
ทั้งหลาย ทั้งที่ควรพยากรณ์และไม่ควรพยากรณ์ ในเรื่องนั้นยังมีอะไรอีกเล่า ที่เราไม่
ได้พยากรณ์แก่เธอทั้งหลาย
[๑๙๖] จุนทะ เราแสดง บัญญัติสติปัฏฐาน ๔ ประการไว้ อย่างนี้ ก็เพื่อละ
เพื่อก้าวล่วงทิฏฐินิสัยอันสหรคตด้วยขันธ์ส่วนอดีตเหล่านี้ และทิฏฐินิสัยอันสหรคต
ด้วยขันธ์ส่วนอนาคตเหล่านี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ทิฎฐินิสัยที่สหรคตด้วยขันธ์ส่วนอนาคต

สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด
อภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ...
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ...
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
เราแสดง บัญญัติสติปัฏฐาน ๔ ประการไว้ อย่างนี้ ก็เพื่อละ เพื่อก้าวล่วง
ทิฏฐินิสัยอันสหรคตด้วยขันธ์ส่วนอดีตเหล่านี้ และทิฏฐินิสัยอันสหรคตด้วยขันธ์ส่วน
อนาคตเหล่านี้
[๑๙๗] ในเวลานั้น ท่านพระอุปวาณะ ยืนถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์
ของพระผู้มีพระภาค ท่านพระอุปวาณะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “น่าอัศจรรย์
จริง ไม่เคยปรากฏ พระพุทธเจ้าข้า ธรรมบรรยายนี้น่าเลื่อมใสนัก ธรรมบรรยายนี้
น่าเลื่อมใสยิ่งนัก พระพุทธเจ้าข้า ธรรมบรรยายนี้ชื่ออะไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุปวาณะ เธอจงจำธรรมบรรยายนี้ไว้เถิดว่า ‘ชื่อ
ปาสาทิกะ’ ด้วยเหตุดังว่ามานี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอุปวาณะมีใจยินดีชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

ปาสาทิกสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
ว่าด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

๗. ลักขณสูตร
ว่าด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

[๑๙๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุทั้งหลายทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
ดังนี้ว่า
[๑๙๙] “ภิกษุทั้งหลาย มหาบุรุษทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒๑ ประการ
มีคติเพียง ๒ อย่างเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต
ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗
ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว
(๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรส
มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีร-
กษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้อง
ใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็นขอบเขต
๒. ถ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก
[๒๐๐] ภิกษุทั้งหลาย มหาบุรุษทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
อะไรบ้าง จึงมีคติ ๒ อย่างเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ
๒. ถ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๔-๓๕/๑๖-๒๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
ว่าด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

คือ มหาบุรุษในโลกนี้
๑. มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน ข้อที่มหาบุรุษมีฝ่าพระบาทราบเสมอกันนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๒. พื้นฝ่าพระบาททั้งสองของมหาบุรุษ มีจักรซึ่งมีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่
มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง ข้อที่พื้นฝ่าพระบาท
ทั้งสองของมหาบุรุษมีจักรซึ่งมีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และ
มีส่วนประกอบครบทุกอย่างนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๓. มีส้นพระบาทยื่นยาวออกไป ข้อที่มหาบุรุษมีส้นพระบาทยื่นยาวออกไปนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๔. มีพระองคุลียาว ข้อที่มหาบุรุษมีพระองคุลียาวนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ
ของมหาบุรุษ
๕. มีพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม ข้อที่มหาบุรุษมีพระหัตถ์และพระ
บาทอ่อนนุ่มนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๖. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย
ข้อที่มหาบุรุษมีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกัน
เป็นรูปตาข่ายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๗. มีข้อพระบาทสูง ข้อที่มหาบุรุษมีข้อพระบาทสูงนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ
ของมหาบุรุษ
๘. มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย ข้อที่มหาบุรุษมีพระชงฆ์เรียวดุจแข้ง
เนื้อทรายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๙. เมื่อประทับยืน ไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วย
ฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้ ข้อที่มหาบุรุษเมื่อประทับยืนไม่ต้องน้อมพระองค์
ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้นี้ เป็นลักษณะ
มหาบุรุษของมหาบุรุษ
๑๐. มีพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝัก ข้อที่มหาบุรุษมีพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝักนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
ว่าด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

๑๑. มีพระฉวีสีทอง คือคล้ายทองคำ ข้อที่มหาบุรุษมีพระฉวีสีทอง คือ
คล้ายทองคำนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๑๒. มีพระฉวีละเอียด จนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้ ข้อที่มหา-
บุรุษมีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้นี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๑๓. มีพระโลมชาติเดี่ยว คือ ในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียว ข้อที่มหาบุรุษ
มีพระโลมชาติเดี่ยว คือ ในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียวนี้ เป็นลักษณะ
มหาบุรุษของมหาบุรุษ
๑๔. มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น คือ พระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวาดัง
กุณฑลสีครามเข้มดังดอกอัญชัน ข้อที่มหาบุรุษมีพระโลมชาติปลาย
งอนขึ้น คือพระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวาดังกุณฑลสีครามเข้ม
ดังดอกอัญชันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๑๕. มีพระวรกายตั้งตรงดุจกายพรหม ข้อที่มหาบุรุษมีพระวรกายตั้งตรง
ดุจกายพรหมนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๑๖. มีพระมังสะในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์ ข้อที่มหาบุรุษมีพระมังสะใน
ที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๑๗. มีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์ ข้อที่
มหาบุรุษมีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์นี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๑๘. มีร่องพระปฤษฎางค์เต็มเสมอกัน ข้อที่มหาบุรุษมีร่องพระปฤษฎางค์
เต็มเสมอกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๑๙. มีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร พระวรกายสูง
เท่ากับ ๑ วา ของพระองค์ ๑ วาของพระองค์เท่ากับส่วนสูงพระ
วรกาย ข้อที่มหาบุรุษมีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่ง
ต้นไทร พระวรกายสูงเท่ากับ ๑ วาของพระองค์ ๑ วาของพระองค์
เท่ากับส่วนสูงพระวรกายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
ว่าด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด ข้อที่มหาบุรุษมีลำพระศอกลมเท่ากัน
ตลอดนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๒๑. มีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี ข้อที่มหาบุรุษมีเส้นประสาท
รับรสพระกระยาหารได้ดีนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์ ข้อที่มหาบุรุษมีพระหนุดุจคางราชสีห์นี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ ข้อที่มหาบุรุษมีพระทนต์ ๔๐ ซี่นี้ เป็นลักษณะ
มหาบุรุษของมหาบุรุษ
๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน ข้อที่มหาบุรุษมีพระทนต์เรียบเสมอกันนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่างกัน ข้อที่มหาบุรุษมีพระทนต์ไม่ห่างกันนี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๒๖. มีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม ข้อที่มหาบุรุษมีพระเขี้ยวแก้วขาวงามนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๒๗. มีพระชิวหาใหญ่ยาว ข้อที่มหาบุรุษมีพระชิวหาใหญ่ยาวนี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวก ข้อที่
มหาบุรุษมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวกนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๒๙. มีดวงพระเนตรดำสนิท ข้อที่มหาบุรุษมีดวงพระเนตรดำสนิทนี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
๓๐. มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด ข้อที่มหาบุรุษมีดวง
พระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอดนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของ
มหาบุรุษ
๓๑. มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนนุ่น ข้อที่มหาบุรุษ
มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนนุ่นนี้ เป็นลักษณะ
มหาบุรุษของมหาบุรุษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๑. ลักษณะฝ่าพระบาทราบเสมอกัน

๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ ข้อที่มหาบุรุษมีพระเศียร
ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษ
ภิกษุทั้งหลาย มหาบุรุษทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการนี้
จึงมีคติเพียง ๒ อย่างเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ
๒. ถ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ถึงพวกฤๅษีภายนอก ก็อาจจำลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการนี้
ของมหาบุรุษได้ แต่ฤๅษีเหล่านั้นไม่ทราบว่า ‘เพราะมหาบุรุษทรงทำกรรมนี้จึงได้
ลักษณะนี้’

๑. ลักษณะพระบาทราบเสมอกัน

[๒๐๑] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน๑ กำเนิดก่อน๒ ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์สมาทานในกุศลธรรม๓ สมาทานมั่นคงในกายสุจริต(ประพฤติชอบด้วยกาย)
ในวจีสุจริต(ประพฤติชอบด้วยวาจา) ในมโนสุจริต(ประพฤติชอบด้วยใจ) ในการ
จำแนกทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ ในความเกื้อกูลมารดา
ในความเกื้อกูลบิดา ในความเกื้อกูลสมณะ ในความเกื้อกูลพราหมณ์ ในความ
ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล และในกุศลธรรม๔อันยิ่งอื่น ๆ อีก เพราะ
ตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำกรรมนั้นให้ไพบูลย์แล้ว หลังจากตายแล้ว
ตถาคตจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ครอบงำเทพเหล่าอื่นในเทวโลกนั้นด้วยฐานะ ๑๐

เชิงอรรถ :
๑ ชาติก่อน ภพก่อน หมายถึงชาติที่เคยเกิดมาก่อน (ที.ปา.อ. ๒๐๑/๑๐๘)
๒ กำเนิดก่อน หมายถึงที่อยู่อาศัยในชาติก่อน (ที.ปา.อ. ๒๐๑/๑๐๘)
๓ กุศลธรรม หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ที.ปา.อ. ๒๐๑/๑๐๙)
๔ กุศลธรรมอันยิ่ง มีความหมายต่อไปนี้ คือ (๑) กามาวจรกุศล (๒) รูปาวจรกุศล (๓) อรูปาวจรกุศล
(๔) สาวกบารมีญาณ (๕) ปัจเจกโพธิญาณ (๖) สัพพัญญุตญาณ ในที่นี้หมายถึงสัพพัญญุตญาณ (ที.ปา.
อ. ๒๐๑/๑๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๑. ลักษณะฝ่าพระบาทราบเสมอกัน

คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ ความเป็นใหญ่ทิพย์ รูปทิพย์ เสียง
ทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพะทิพย์ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็น
อย่างนี้๑ จึงได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีฝ่าพระบาทราบเสมอกันขณะเหยียบลง
พื้นฝ่าพระบาทราบเสมอกัน ยกฝ่าพระบาทขึ้นก็ยังเสมอกัน ขณะจดฝ่าพระบาทลง
ทุกส่วนก็แตะพื้นพร้อมกัน
[๒๐๒] มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็น
พระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วย
แก้ว ๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว
(๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์
ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ ทรงชนะ
โดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็น
ขอบเขต ไม่มีเสาเขื่อน ไม่มีเขตหมาย ไม่มีรั้วหนาม มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ ปลอดภัย
สงบ ไร้เสี้ยนหนาม เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา ไม่มีมนุษย์
คนใดที่เป็นข้าศึกศัตรูข่มได้ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ อนึ่ง ถ้า
มหาบุรุษออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลส
ในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะไม่มีข้าศึก
ศัตรูภายในหรือภายนอก คือ ราคะ โทสะ หรือโมหะ หรือสมณพราหมณ์ เทพ
มาร พรหม ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงข่มได้ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าว
มานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว
[๒๐๓] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ หมายถึงมาเกิดเป็นมนุษย์ คือ เจ้าชายสิทธัตถะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๑. ลักษณะฝ่าพระบาทราบเสมอกัน

“มหาบุรุษทรงยินดีในสัจจะ๑ ในธรรม๒
ในการฝึก๓ ในความสำรวม๔ ในความสะอาด๕
ในศีลที่เป็นอาลัย ในอุโบสถกรรม
ในความไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ในกรรมอันไม่สาหัส
ทรงสมาทานมั่น ทรงประพฤติอย่างรอบคอบ
เพราะกรรมนั้น มหาบุรุษจึงไปสู่โลกทิพย์
เสวยสุขและสมบัติที่น่าเพลิดเพลินยินดี
จุติจากโลกทิพย์แล้ว เสด็จมาในโลกนี้อีก
ทรงเหยียบปฐพีด้วยพระบาททั้งสองอันราบเสมอกัน
พวกพราหมณ์ผู้ทำนายลักษณะมาประชุมกันทำนายว่า
‘พระกุมารนี้ มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน
เป็นคฤหัสถ์ หรือบรรพชิตก็ไม่มีใครข่มได้
พระลักษณะนั้นเป็นนิมิตส่องความนั้น
พระกุมารนี้ เมื่ออยู่ครองเรือน ไม่มีใครข่มได้
มีแต่ครอบงำพวกปรปักษ์ เหล่าข้าศึกศัตรูข่มมิได้
ใคร ๆ ที่เป็นมนุษย์ในโลกนี้ หาข่มได้ไม่
เพราะผลแห่งกรรมนั้น
ถ้าพระกุมารผู้มีพระลักษณะเช่นนั้น
ทรงออกผนวช ทรงยินดีในเนกขัมมฉันทะ
จะมีพระปรีชาเห็นแจ้ง เป็นอัครบุคคล
ไม่มีใคร ๆ ข่มได้แน่นอน เป็นผู้สูงสุดกว่านรชน’
นี้เป็นธรรมดาของพระกุมารนั้น”

เชิงอรรถ :
๑ สัจจะ ในที่นี้หมายถึงคำสัตย์ (ที.ปา.อ. ๒๐๓/๑๑๒)
๒ ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ที.ปา.อ. ๒๐๓/๑๑๒)
๓ การฝึก ในที่นี้หมายถึงการฝึกอินทรีย์ (ที.ปา.อ. ๒๐๓/๑๑๒)
๔ ความสำรวม ในที่นี้หมายถึงความสำรวมในศีล (ที.ปา.อ. ๒๐๓/๑๑๒)
๕ ความสะอาด ในที่นี้หมายถึงสุจริต ๓ ประการ คือ (๑) กายสุจริต (ประพฤติชอบด้วยกาย) (๒) วจีสุจริต
(ประพฤติชอบด้วยวาจา) (๓) มโนสุจริต (ประพฤติชอบด้วยใจ) (ที.ปา.อ. ๒๐๓/๑๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๒. ลักษณะของจักรบนพื้นฝ่าพระบาท

๒. ลักษณะของจักรบนพื้นพระบาท

[๒๐๔] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ได้นำความสุขมาให้แก่คนหมู่มาก บรรเทาภัยคือความหวาดกลัวและความ
หวาดสะดุ้ง จัดการรักษาป้องกันคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและให้ทานพร้อมทั้งของที่
เป็นบริวาร เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำให้กรรมนั้นไพบูลย์แล้ว
หลังจากตายแล้ว ตถาคตจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ตถาคตครอบงำเทพเหล่าอื่นใน
เทวโลกนั้นด้วยฐานะ ๑๐ ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้
ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ พื้นฝ่าพระบาททั้งสองมีจักรซึ่งมีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่
มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่างและจัดวางไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า
จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา จะทรงมีบริวาร
มาก คือ มีพราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์
แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี กุมารเป็นบริวาร
เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ อนึ่ง ถ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีกิเลสในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะ
ทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงมีบริวารมาก คือ มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์เป็นบริวาร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า
จะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[๒๐๕] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ
นำความสุขมาให้แก่คนหมู่มาก
บรรเทาภัยคือความหวาดกลัวและความหวาดสะดุ้ง
ขวนขวายในการคุ้มครองรักษาป้องกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๓-๕. ลักษณะส้นพระบาทยื่นยาวออกไปเป็นต้น

เพราะกรรมนั้น มหาบุรุษจึงเสด็จเข้าไปสู่โลกทิพย์
เสวยความสุขและสมบัติอันน่าเพลิดเพลินยินดี
ครั้นจุติจากโลกทิพย์แล้วเสด็จมาในโลกนี้อีก
ทรงได้ลายจักรทั้งหลายที่ฝ่าพระบาททั้งสอง
มีกำข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง โดยรอบ
พวกพราหมณ์ผู้ทำนายลักษณะ
มาประชุมกันแล้ว เห็นพระกุมารมีลักษณะ
อันเกิดแต่บุญเป็นร้อย ๆ แล้วทำนายว่า
‘พระกุมารนี้จักมีบริวาร จักย่ำยีศัตรู
เพราะจักรทั้งหลายมีกงโดยรอบอย่างนั้น
ถ้าพระกุมารนั้นไม่ทรงออกผนวช
จะหมุนจักรให้เป็นไปและปกครองแผ่นดิน
จะมีกษัตริย์ผู้มียศมากติดตามห้อมล้อมพระองค์
ถ้าทรงออกผนวชจะ ทรงยินดีในเนกขัมมฉันทะ
จะมีพระปรีชาเห็นแจ้ง
พวกเทพ มนุษย์ อสูร ท้าวสักกะ ยักษ์
คนธรรพ์ นาค นก และสัตว์สี่เท้าจะแวดล้อม
พระองค์ผู้มียศมาก ผู้มีเทพและมนุษย์บูชาไม่มีใครยิ่งกว่า”

๓-๕. ลักษณะส้นพระบาทยื่นยาวออกไปเป็นต้น๑

[๒๐๖] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความละอาย
มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์อยู่ เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูน
กรรมนั้น ทำให้กรรมนั้นไพบูลย์แล้ว ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้
ได้ลักษณะมหาบุรุษ ๓ ประการนี้ คือ (๑) มีส้นพระบาทยื่นยาวออกไป (๒) มีพระ
องคุลียาว (๓) มีพระวรกายตั้งตรงดุจกายพรหม

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๓,๔,๑๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๓-๕. ลักษณะส้นพระบาทยื่นยาวออกไปเป็นต้น

มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๓ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือน จะได้
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมี
พระชนมายุยืน ดำรงอยู่นาน ทรงรักษาพระชนมายุไว้ได้นาน ไม่มีข้าศึกศัตรูที่เป็น
มนุษย์คนใดสามารถปลงพระชนมชีพในระหว่างได้ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดัง
กล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า จะมีพระ
ชนมายุยืน ดำรงอยู่นาน ทรงรักษาพระชนมายุไว้ได้นาน ไม่มีข้าศึกศัตรูที่เป็น
สมณะ พราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกสามารถปลงพระชนมชีพใน
ระหว่าง๑ได้ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัส
เนื้อความนี้ไว้แล้ว
[๒๐๗] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษทรงทราบว่าการฆ่าสัตว์เป็นภัยแก่ตน
ได้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์อื่น
แล้วได้เสด็จไปสู่สวรรค์ เพราะกรรมที่เป็นสุจริตนั้น
เสวยวิบากอันเป็นผลแห่งกรรมที่ทรงทำดีแล้ว
จุติแล้วเสด็จมาในโลกนี้อีก
ได้ลักษณะ ๓ ประการในโลกนี้ คือ
(๑) มีส้นพระบาทสมส่วนยื่นยาวออกไป
(๒) มีพระวรกายเกิดดี งดงามตั้งตรงดุจกายพรหม
มีทรวดทรงดี สมส่วนแลดูหนุ่มเสมอ
(๓) มีพระองคุลีอ่อนนุ่มยาว
พระชนกเป็นต้น ทรงบำรุงพระกุมาร
ให้มีพระชนมายุยืนยาว
เพราะพระองค์สมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓ ประการ

เชิงอรรถ :
๑ ในระหว่าง ในที่นี้หมายถึงช่วงเวลาตั้งแต่ปฏิสนธิ(เกิด) จนถึงจุติ (ดับ) (ที.ปา.อ. ๒๐๖/๑๑๕, ที.ปา.ฏีกา
๒๐๖/๑๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๖. ลักษณะพระมังสะในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์

ถ้าพระกุมารทรงครองเรือน
ก็จะมีพระชนมายุยืนยาว
ถ้าออกผนวชก็จะให้พระชนมายุยืนยาวกว่านั้น
เพื่อให้มีความชำนาญในการเจริญอิทธิบาท
นั้นเป็นนิมิตแห่งความเป็นผู้มีพระชนมายุยืนยาว ด้วยประการฉะนี้”

๖. ลักษณะพระมังสะในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์๑

[๒๐๘] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ให้ของที่ควรเคี้ยว ของที่ควรบริโภค ของที่ควรลิ้ม ของที่ควรชิม น้ำที่ควรดื่ม
อันประณีตและมีรสอร่อย เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำให้กรรม
นั้นไพบูลย์แล้ว หลังจากตายแล้ว ตถาคตจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ฯลฯ จุติจาก
เทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ จึงได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระมังสะ
ในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์ พระมังสะในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์ ได้แก่ ที่หลังพระหัตถ์
ทั้งสองมีพระมังสะพูนเต็ม ที่หลังพระบาททั้งสองมีพระมังสะพูนเต็ม ที่จะงอยบ่า
ทั้งสองมีพระมังสะพูนเต็ม ที่ลำพระศอมีพระมังสะพูนเต็ม
มหาบุรุษทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา จะทรงได้ของที่ควรเคี้ยว
ของที่ควรบริโภค ของที่ควรลิ้ม ของที่ควรชิม น้ำที่ควรดื่ม อันประณีต มีรสอร่อย
เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้ของที่ควรเคี้ยว ของที่ควรบริโภค ของที่ควรลิ้ม ของ
ที่ควรชิม น้ำที่ควรดื่ม อันประณีต มีรสอร่อย เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่ง
ดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[๒๐๙] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อ ๑๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๗-๘. ลักษณะพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม

“มหาบุรุษเป็นผู้ให้ของที่ควรเคี้ยว
ของที่ควรบริโภค ของที่ควรลิ้ม
ของที่ควรชิม และน้ำที่ควรดื่ม มีรสอันเลิศ
เพราะกรรมที่เป็นสุจริตนั้น มหาบุรุษนั้น
จึงบันเทิงยิ่งตลอดกาลนานในสวนนันทวัน
เสด็จมาในโลกนี้อีก
ทรงได้พระมังสะในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์
ได้ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม
บัณฑิตผู้ฉลาดในพยัญชนะและนิมิต
ทำนายมหาบุรุษนั้นว่า
เป็นผู้ได้ของควรเคี้ยว ของควรบริโภคอันมีรส
ลักษณะนี้ใช่ว่าจะบ่งบอกถึงการได้ของควรเคี้ยว
ของควรบริโภค เฉพาะเมื่อมหาบุรุษเป็นคฤหัสถ์เท่านั้น
แม้เมื่อทรงออกผนวช
ก็จะได้ของควรเคี้ยวของควรบริโภคนั้นเหมือนกัน
บัณฑิตทั้งหลายทำนายมหาบุรุษผู้ได้ของควรเคี้ยว
ของควรบริโภคที่มีรสอันเลิศว่า พระองค์
จะเป็นผู้ตัดกิเลสเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์ทั้งปวงได้”

๗-๘. ลักษณะพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม
และมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย๑

[๒๑๐] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์สงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ (๑) ทาน (การให้) (๒) เปยยวัชชะ
(วาจาเป็นที่รัก) (๓) อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์) (๔) สมานัตตตา (การวางตน

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๕,๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๗-๘. ลักษณะพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม

สม่ำเสมอ) เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำให้กรรมนั้นไพบูลย์แล้ว
หลังจากตายแล้ว ตถาคตจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว
มาสู่ความเป็นอย่างนี้ จึงได้ลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการนี้ คือ (๑) มีพระหัตถ์และ
พระบาทอ่อนนุ่ม (๒) มีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็น
รูปตาข่าย
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมี
บริวารชน อันพระองค์สงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี บริวารชน คือ พราหมณ์ คหบดี
ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์
อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี กุมารอันพระองค์สงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี เมื่อเป็น
พระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็น
พระพุทธเจ้าจะทรงมีบริวารชน อันพระองค์สงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี บริวารชน คือ
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ อันพระองค์
สงเคราะห์แล้วเป็นอย่างดี เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มี
พระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[๒๑๑] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษทรงกระทำ
และประพฤติสังคหธรรมอย่างดีแก่คนหมู่มาก
คือ (๑) ทาน (๒) เปยยวัชชะ๑
(๓) อัตถจริยา (๔) สมานัตตตา
ไปสู่สวรรค์ด้วยคุณที่ใคร ๆ ดูหมิ่นไม่ได้
จุติจากสวรรค์แล้วเสด็จมาในโลกนี้อีก
ก็เป็นพระกุมารยังหนุ่มแน่น งดงาม
ทรงได้พระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม

เชิงอรรถ :
๑ บาลีเป็นปิยวาทิตะ แปลว่า การกล่าววาจาเป็นที่รัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๙-๑๐. ลักษณะข้อพระบาทสูงและพระโลมชาติมีปลายงอนขึ้น

ที่ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาท
มีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย
งามอย่างยิ่ง เลอเลิศ และน่าชม
ถ้าพระองค์ครอบครองแผ่นดินนี้
ก็จะมีบริวารอันพระองค์ตรวจตรา และสงเคราะห์ดี
ตรัสวาจาเป็นที่รัก
แสวงหาผลประโยชน์เกื้อกูลและความสุขให้
ทรงประพฤติคุณงามความดีที่พระองค์โปรดยิ่ง
ถ้าพระองค์ทรงละการบริโภคกามทั้งปวง
เป็นพระชินสีห์ ตรัสธรรมกถาแก่ประชุมชน
ชนทั้งหลายก็จะสนองพระดำรัสของพระองค์
เลื่อมใสยิ่งนัก ครั้นฟังธรรมแล้ว
ย่อมจะพากันประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม”

๙-๑๐. ลักษณะข้อพระบาทสูงและพระโลมชาติมีปลายงอนขึ้น๑

[๒๑๒] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์เป็นผู้กล่าววาจาประกอบด้วยประโยชน์ ประกอบด้วยธรรม แนะนำคน
หมู่มาก เป็นผู้นำประโยชน์และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้บูชาธรรมเป็น
ปกติ เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำให้กรรมนั้นไพบูลย์ ฯลฯ
จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ จึงได้ลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการนี้
คือ (๑) มีข้อพระบาทสูง (๒) มีพระโลมชาติมีปลายงอนขึ้น
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา
จะเป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐ เป็นประมุข เป็นผู้สูงสุด เป็นผู้ดีกว่าหมู่ชนผู้บริโภคกาม

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๗,๑๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๙-๑๐. ลักษณะข้อพระบาทสูงและพระโลมชาติมีปลายงอนขึ้น

เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า จะเป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐ เป็นประมุข เป็นผู้สูงสุด เป็นผู้ดี
กว่าสรรพสัตว์ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัส
เนื้อความนี้ไว้แล้ว
[๒๑๓] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“ในชาติก่อน มหาบุรุษ
เมื่อจะกล่าวแสดงวาจาอันประกอบด้วยประโยชน์
และประกอบด้วยธรรม แก่คนหมู่มาก
จึงเป็นผู้นำประโยชน์และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย
เป็นผู้ไม่ตระหนี่ ได้เสียสละบูชาธรรมแล้ว
พระองค์ไปสู่สุคติ บันเทิงอยู่ในสุคตินั้น
เพราะกรรมที่เป็นสุจริตนั้น
เสด็จมาในโลกนี้อีก ได้พระลักษณะ ๒ ประการ
อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นประมุขสูงสุด
มหาบุรุษนั้นมีพระโลมชาติมีปลายงอนขึ้น
และมีข้อพระบาทได้สัดส่วนอย่างดี
มีพระมังสะและพระโลหิตเต็ม
ห่อหุ้มด้วยพระตจะ และมีพระชานุส่วนบนสง่างาม
มหาบุรุษผู้มีลักษณะเช่นนั้น
ถ้าอยู่ครองเรือน จะถึงความเป็นผู้เลิศกว่าพวกที่บริโภคกาม
ไม่มีใคร ๆ ยิ่งกว่า พระองค์จะทรงครอบครองทั่วทั้งชมพูทวีป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๑๑. ลักษณะพระชงฆ์เรียวดุจแข็งเนื้อทราย

อนึ่ง ถ้าพระองค์ทรงออกผนวช
ก็จะทรงมีพระวิริยะไม่ย่อหย่อน
ถึงความเป็นผู้เลิศกว่าสัตว์ทั้งปวง
ไม่มีใคร ๆ ยิ่งกว่าพระองค์
ทรงครอบครองโลกทั้งปวงอยู่”

๑๑. ลักษณะพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย๑

[๒๑๔] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์เป็นผู้ตั้งใจสอนศิลปะ๒ วิชา๓ จรณะ๔ หรือกรรม๕ โดยประสงค์ว่า ทำอย่างไร
ชนทั้งหลายนี้พึงรู้ได้เร็ว พึงปฏิบัติได้เร็ว ไม่พึงลำบากนาน เพราะตถาคตได้ทำ
สั่งสม ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ จึงได้ลักษณะมหาบุรุษนี้
คือ มีพระชงฆ์เรียวดังแข้งเนื้อทราย
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือน จะได้เป็นพระเจ้า
จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้พาหนะ
อันคู่ควรแก่พระราชา ซึ่งเป็นองค์ประกอบแห่งขบวนทัพของพระราชา เครื่อง
ราชูปโภคอันสมควรแก่พระราชาโดยพลัน เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้
ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้ปัจจัยอันควร
แก่สมณะ อันเป็นองค์ของสมณะ และเครื่องสมณูปโภคอันควรแก่สมณะโดยพลัน
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความ
นี้ไว้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๘
๒ ศิลปะ หมายถึงวิชาชีพมี ๒ อย่าง คือ (๑) ศิลปะสามัญมีช่างสาน ช่างหม้อ ช่างหูก เป็นต้น (๒) ศิลปะ
อย่างสูงมีช่างลวดลาย นักคำนวณด้วยวิธีการนับนิ้ว (มุททา) และนักคำนวณด้วยวิธีคิดในใจ (คณนา)
(ที.ปา.อ. ๒๑๔/๑๒๐)
๓ วิชา ในที่นี้หมายถึงวิชาหลายหลากมีวิชาหมองู เป็นต้น (ที.ปา.อ. ๒๑๔/๑๒๐)
๔ จรณะ ในที่นี้หมายถึงศีล ๕ ศีล ๑๐ หรือปาฏิโมกขสังวรศีล (ที.ปา.อ. ๒๑๔/๑๒๐)
๕ กรรม ในที่นี้หมายถึงปัญญาหยั่งรู้ความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน (ที.ปา.ฏีกา ๒๑๔/๑๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๑๑. ลักษณะพระชงฆ์เรียวดุจแข็งเนื้อทราย

[๒๑๕] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษทรงปรารถนาอยู่ว่า
‘ทำอย่างไร ชนทั้งหลายจะพึงรู้
ในเรื่องศิลปะ ในเรื่องวิชา ในเรื่องจรณะ
ในเรื่องกรรมได้อย่างแจ่มชัดโดยพลัน’
ศิลปะเป็นต้นใดที่ไม่เป็นไปเพื่อความเดือดร้อนแก่ใคร ๆ
จะทรงบอกศิลปะเป็นต้นนั้นทันที
ด้วยทรงหวังว่า ‘เขาจะไม่ต้องลำบากนาน’
เพราะทรงทำกุศลธรรม มีความสุขเป็นกำไรนั้นแล้ว
จึงทรงได้พระชงฆ์เป็นที่พึงใจ
กลมได้สัดส่วน งดงามเรียวไปตามลำดับ
มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น
และมีพระตจะอันละเอียดห่อหุ้มแล้ว
บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวถึงมหาบุรุษนั้นว่า
‘มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย’
และกล่าวถึงลักษณะแห่งคุณสมบัติในเรื่องนี้ไว้ทันทีว่า
‘ถ้ามหาบุรุษนี้ไม่ทรงออกผนวช
จะได้สิ่งที่พระองค์ปรารถนา
อันสมควรแก่การครองเรือนทันที
แต่ถ้ามหาบุรุษเช่นนั้นทรงออกผนวช
ทรงยินดีในเนกขัมมฉันทะ มีพระปรีชาเห็นแจ้ง
มีพระวิริยะไม่ย่อหย่อน
จะทรงได้สิ่งที่เหมาะที่ควรทันที”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๑๒. ลักษณะพระฉวีละเอียด

๑๒. ลักษณะพระฉวีละเอียด๑

[๒๑๖] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ได้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ แล้วซักถามว่า ‘ท่านผู้เจริญ อะไรเป็นกุศล
อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเกี่ยวข้อง อะไรไม่ควรเกี่ยวข้อง
อะไรที่ข้าพเจ้าทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่าอะไรที่
ข้าพเจ้าทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน’ เพราะตถาคตได้ทำ
สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำให้กรรมนั้นไพบูลย์แล้ว ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว
มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระฉวีละเอียด จนละอองธุลี
ไม่อาจติดพระวรกายได้
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า
จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมีปัญญามาก
บรรดากามโภคีบุคคล ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งมีปัญญาเสมอ หรือมีปัญญาประเสริฐกว่าพระองค์
เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงมีปัญญามาก ทรงมีปัญญากว้างขวาง ทรงมีปัญญา
ร่าเริง ทรงมีปัญญาแล่นไป ทรงมีปัญญาเฉียบแหลม ทรงมีปัญญาชำแรกกิเลส
บรรดาสรรพสัตว์ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งมีปัญญาเสมอ หรือมีปัญญาประเสริฐกว่าพระองค์
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้
ไว้แล้ว
[๒๑๗] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ
ประสงค์จะรู้ทั่วถึง จึงเข้าไปหาบรรพชิต
สอบถาม ตั้งใจฟังด้วยดี มุ่งประโยชน์
ไตร่ตรองเรื่องที่เป็นประโยชน์

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๑๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๑๓. ลักษณะพระฉวีสีทอง

อุบัติเป็นมนุษย์ มีพระฉวีละเอียด
เพราะกรรมที่เป็นไปเพื่อได้ปัญญา
บัณฑิตผู้ฉลาดในลางและนิมิต
ทำนายว่า “พระกุมารเช่นนี้
จะทรงหยั่งรู้อรรถอันลุ่มลึกแล้ว
ถ้ามหาบุรุษผู้มีลักษณะเช่นนั้น
ไม่ทรงออกผนวชก็จะหมุนจักรให้เป็นไป
ปกครองแผ่นดินในการสั่งสอนสิ่งที่เป็นประโยชน์
และในการกำหนดรู้ ไม่มีใครประเสริฐหรือเสมอเท่าพระองค์
ถ้ามหาบุรุษผู้มีลักษณะเช่นนั้นทรงออกผนวช
ทรงยินดีในเนกขัมมฉันทะ
จะมีพระปรีชาเห็นแจ้ง
ทรงได้พระปัญญาอันพิเศษอันยอดเยี่ยม บรรลุพระโพธิญาณ
มีพระปัญญาประเสริฐกว้างขวางดังแผ่นดิน”

๑๓. ลักษณะพระฉวีสีทอง๑

[๒๑๘] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ ไม่มีความโกรธ๒ ไม่มีความแค้นใจ แม้จะถูกว่ากล่าวอย่างรุนแรงก็ไม่ขัดเคือง
ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่จองล้างจองผลาญ ไม่สำแดงความโกรธ ความคิด
ประทุษร้าย และความเสียใจให้ปรากฏ และเป็นผู้ให้เครื่องลาด มีเนื้อดีอ่อนนุ่ม
และให้ผ้าห่ม ที่เป็นผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพล
เนื้อดี เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว
มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระฉวีสีทอง คือ คล้ายทองคำ

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๑๑
๒ ไม่มีความโกรธ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงละความโกรธได้เด็ดขาดด้วยอนาคามิมรรค แต่หมายถึงสามารถ
บรรเทาความโกรธที่เกิดขึ้นได้เร็วพลัน (ที.ปา.อ. ๒๑๘/๑๒๔, ที.ปา.ฏีกา ๒๑๘/๑๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร] ๑๓. ลักษณะพระฉวีสีทอง

มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า
จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้เครื่องลาด
เนื้อดีอ่อนนุ่ม และได้ผ้าห่ม ที่เป็นผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี
และผ้ากัมพลเนื้อดี เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระ
พุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้เครื่องลาดเนื้อดีอ่อนนุ่ม และ
ได้ผ้าห่มที่เป็นผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อดี เมื่อ
เป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[๒๑๙] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษทรงอธิษฐานความไม่โกรธ
และได้ให้ทาน คือ ผ้าเป็นอันมากล้วนแต่เนื้อดี
มีสีงดงาม ดำรงอยู่ในภพก่อน ๆ
ทรงเสียสละ เหมือนฝนตกทั่วแผ่นดิน
ครั้นทรงทำกุศลกรรมนั้นแล้ว
จุติจากโลกมนุษย์ ไปเกิดในเทวโลก
เสวยวิบากอันเป็นผลกรรมที่ทรงทำไว้ดี
มีพระฉวีคล้ายทอง ปกครองหมู่เทพในเทวโลก
ดุจพระอินทร์ผู้ประเสริฐกว่าเทวดาฉะนั้น
ถ้าทรงครองเรือน ไม่ปรารถนาที่จะทรงออกผนวช
ก็จะทรงครอบครองแผ่นดินกว้างใหญ่
ปกครองประชาชนในแผ่นดินนี้
ทรงได้พระฉวีที่ละเอียด
งดงามและไม่มีมลทินพร้อมทั้งรัตนะ ๗ ประการ
ถ้าทรงออกผนวชก็จะได้ผ้านุ่งและผ้าห่มอย่างดี
และทรงได้รับประโยชน์
เสวยผลกรรมที่ทรงกระทำไว้ในภพก่อน
ไม่มีความหมดสิ้นไปแห่งผลกรรมที่พระองค์ทรงทำไว้เลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๑๔. ลักษณะพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝัก

๑๔. ลักษณะพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝัก๑

[๒๒๐] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ เป็นผู้นำพวกญาติ มิตรสหาย ผู้มีใจดี ที่หายไปนาน จากกันไปนาน ให้กลับ
มาพบกัน คือ นำมารดาให้พบกับบุตร นำบุตรให้พบกับมารดา นำบิดาให้พบ
กับบุตร นำบุตรให้พบกับบิดา นำพี่ชายน้องชายให้พบกับพี่ชายน้องชาย นำพี่ชาย
น้องชายให้พบกับพี่สาวน้องสาว นำพี่สาวน้องสาวให้พบกับพี่ชายน้องชาย นำพี่สาว
น้องสาวให้พบกับพี่สาวน้องสาว ครั้นทำให้พบกันแล้วก็ได้รับความชื่นชม เพราะ
ตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็น
อย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝัก
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า
จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมีพระโอรส
มาก มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็น
วีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงมีพระอริยสาวกมาก
พระอริยสาวกของพระองค์มีจำนวนหลายพัน เป็นผู้แกล้วกล้า มีความเพียรเป็น
คุณสมบัติ กำจัดเสนา(กิเลส)เสียได้ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[๒๒๑] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ
ได้ทรงนำพวกญาติ มิตร
ที่หายไปนาน จากกันไปนานให้มาพบกัน
ครั้นทรงทำให้พบกันแล้วก็ได้รับความชื่นชม

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๑๕-๑๖. ลักษณะพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร

เพราะกุศลกรรมนั้น พระองค์จึงเข้าไปสู่โลกทิพย์
เสวยความสุขและสมบัติเป็นที่เพลิดเพลินและยินดี
จุติจากเทวโลกแล้วเสด็จมาในโลกนี้อีก
ได้องคาพยพ คือ พระคุยหฐาน
ที่ควรปกปิดด้วยผ้า เร้นอยู่ในฝัก
มหาบุรุษเช่นนั้นมีพระโอรสมาก
พระโอรสของพระองค์มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์
เป็นผู้แกล้วกล้า เป็นวีรบุรุษ สามารถให้ศัตรูพ่ายไป
ให้ปีติเกิด และทูลถ้อยคำน่ารัก
แก่มหาบุรุษที่ยังทรงเป็นคฤหัสถ์
เมื่อมหาบุรุษทรงออกผนวชบำเพ็ญพรต
จะมีพระสาวกมากกว่านั้น
ล้วนแต่ดำเนินตามพระพุทธพจน์
ลักษณะนั้นย่อมบ่งบอกถึงพระคุยหฐาน
ที่เร้นอยู่ในฝักของมหาบุรุษ
ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต”

ภาณวารที่ ๑ จบ

๑๕-๑๖. ลักษณะพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร
และเมื่อประทับยืนไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ลูบคลำถึงพระชานุ
ด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้๑

[๒๒๒] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์เมื่อตรวจดูมหาชนที่ควรสงเคราะห์ ย่อมรู้จักชนที่เท่าเทียมกัน รู้จักตนเอง
รู้จักฐานะของบุคคล รู้จักความแตกต่างของบุคคล หยั่งทราบว่าบุคคลนี้ควรกับสิ่งนี้

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๑๙,๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๑๕-๑๖. ลักษณะพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร

บุคคลนี้ควรกับสิ่งนี้ แล้วทำให้เหมาะกับความแตกต่างในฐานะนั้น ๆ ในกาลก่อน
เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่
ความเป็นอย่างนี้ จึงได้ลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการนี้ คือ (๑) มีพระวรกายเป็น
ปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร (๒) เมื่อประทับยืนไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรง
ลูบคลำถึงพระชานุ ด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะ
ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีอุปกรณ์น่าปลื้มใจ
มาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก มีพระคลังเต็มบริบูรณ์ เมื่อเป็นพระราชาจะทรง
ได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะ
ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก พระองค์จะทรงมีทรัพย์เหล่านี้ คือ
สัทธาธนะ (ทรัพย์คือศรัทธา) สีลธนะ (ทรัพย์คือศีล) หิริธนะ (ทรัพย์คือหิริ) โอตตัปปธนะ
(ทรัพย์คือโอตตัปปะ) สุตธนะ (ทรัพย์คือสุตะ) จาคธนะ (ทรัพย์คือจาคะ) ปัญญาธนะ
(ทรัพย์คือปัญญา) เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้
ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[๒๒๓] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษเมื่อตรวจดูมหาชนที่ควรสงเคราะห์
พิจารณาแล้ว สอดส่องแล้ว คิดแล้ว หยั่งทราบว่า
‘บุคคลนี้ ควรกับสิ่งนี้’ แล้วทำให้เหมาะ
กับความแตกต่างของบุคคลในฐานะนั้น ๆ ในกาลก่อน
ก็แล เพราะเศษของผลกรรมที่เป็นสุจริต
พระมหาบุรุษเมื่อประทับยืนไม่ต้องน้อมพระองค์ลง
ก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๑๗-๑๙. ลักษณะมีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์

และมีพระวรกายเป็นปริมณฑล
ดุจต้นไทรที่งอกงามบนแผ่นดิน
มนุษย์ทั้งหลายที่มีปัญญาอันละเอียด
รู้จักนิมิตและลักษณะมากอย่าง ทำนายว่า
‘พระกุมารนี้เมื่อยังทรงพระเยาว์
มีพระรูปพระโฉมงดงาม
จะได้สิ่งอันคู่ควรแก่คฤหัสถ์มากอย่าง
พระกุมารผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินในโลกนี้
จะทรงมีกามโภคะซึ่งควรแก่คฤหัสถ์เป็นอันมาก
ถ้าพระกุมารนี้ทรงละกามโภคะทั้งปวง
จะทรงได้ทรัพย์อันเลิศยอดเยี่ยมสูงสุด”

๑๗-๑๙. ลักษณะมีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์
ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์ เป็นต้น๑

[๒๒๔] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์เป็นผู้หวังประโยชน์ หวังความเกื้อกูล หวังความผาสุก หวังความเกษมจาก
โยคะแก่คนหมู่มาก ด้วยมนสิการว่า ‘ทำไฉน ชนเหล่านี้พึงเจริญด้วยศรัทธา เจริญ
ด้วยศีล เจริญด้วยสุตะ เจริญด้วยพุทธิ เจริญด้วยจาคะ เจริญด้วยธรรม เจริญด้วย
ปัญญา เจริญด้วยทรัพย์และธัญชาติ เจริญด้วยนาและสวน เจริญด้วยสัตว์สองเท้า
และสัตว์สี่เท้า เจริญด้วยบุตรและภรรยา เจริญด้วยทาสกรรมกรและคนรับใช้ เจริญ
ด้วยญาติ เจริญด้วยมิตร เจริญด้วยพวกพ้อง’ เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูน
กรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษ
๓ ประการนี้ คือ (๑) มีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์
(๒) มีร่องพระปฤษฎางค์เต็มเสมอกัน (๓) มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๑๗,๑๘,๒๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๑๗-๑๙. ลักษณะมีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์

มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๓ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะ
ทรงมีความไม่เสื่อมเป็นธรรมดา ได้แก่ ไม่เสื่อมจากทรัพย์และธัญชาติ ไม่เสื่อมจาก
นาและสวน ไม่เสื่อมจากสัตว์สองเท้าและสัตว์สี่เท้า ไม่เสื่อมจากบุตรและภรรยา ไม่
เสื่อมจากทาสกรรมกรและคนรับใช้ ไม่เสื่อมจากญาติ ไม่เสื่อมจากมิตร ไม่เสื่อม
จากพวกพ้อง ไม่เสื่อมจากสมบัติทุกอย่าง เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้
ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะมีความไม่เสื่อม
เป็นธรรมดา ได้แก่ ไม่เสื่อมจากศรัทธา๑ ไม่เสื่อมจากศีล๒ ไม่เสื่อมจากสุตะ๓ ไม่เสื่อม
จากจาคะ ไม่เสื่อมจากปัญญา ไม่เสื่อมจากสมบัติทุกอย่าง เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า
จะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[๒๒๕] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษทรงปรารถนา
และทรงหวังความสำเร็จประโยชน์ว่า
‘ทำไฉน ชนเหล่าอื่นไม่พึงเสื่อมจากศรัทธา
จากศีล จากสุตะ จากพุทธิ จากจาคะ
จากธรรม จากสิ่งที่ทำให้สำเร็จประโยชน์มากอย่าง
จากทรัพย์และธัญชาติ จากนาและสวน
จากบุตรและภรรยา จากสัตว์สองเท้าและสัตว์สี่เท้า

เชิงอรรถ :
๑ ศรัทธา แปลว่าความเชื่อ มี ๒ ระดับ นับจากต่ำไปหาสูง คือ (๑) โอกัปปนสัทธา คือ ความเชื่อที่ปักใจ
เชื่อในสิ่งที่น่าเชื่อ (๒) ปสาทนสัทธา คือ ความเชื่อที่อาศัยความเลื่อมใสอย่างแรงกล้าในสิ่งที่น่าเลื่อมใส
(ที.ปา.อ. ๒๒๕/๑๒๗, องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒๐๕/๘๕, ที.ปา.ฏีกา ๒๒๕/๑๔๙) และดูเทียบ องฺ.ปญฺจก. (แปล)
๒๒/๒๐๕/๓๔๗ ประกอบ
๒ ศีล ในที่นี้หมายถึงศีล ๕ ศีล ๑๐ (ที.ปา.อ. ๒๒๕/๑๒๗)
๓ สุตะ ในที่นี้หมายถึงการศึกษาที่นำประโยชน์สุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย (ที.ปา.ฏีกา ๒๒๕/๑๑๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๒๐. ลักษณะมีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี

จากญาติ จากมิตร จากพวกพ้อง
จากพละ จากวรรณะ และจากสุขทั้ง ๒ ประการ’
มหาบุรุษนั้น มีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์
ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์
มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด
และมีร่องพระปฤษฎางค์เต็มราบเสมอกัน
ลักษณะทั้ง ๓ ประการนั้น เป็นบุพนิมิต
อันไม่เสื่อมของพระองค์
เพราะกรรมที่ทรงสั่งสม กระทำไว้ในกาลก่อน
มหาบุรุษแม้ทรงเป็นคฤหัสถ์
ทรงเจริญด้วยทรัพย์และธัญชาติ บุตรและภรรยา
สัตว์สองเท้าและสัตว์สี่เท้า (ถ้า)ทรงตัดกังวลเสีย ออกผนวช
จะบรรลุพระโพธิญาณอันยอดเยี่ยม
มีความไม่เสื่อมเป็นธรรมดา”

๒๐. ลักษณะมีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี๑

[๒๒๖] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยฝ่ามือ ด้วยก้อนหิน ด้วยท่อนไม้ หรือ
ด้วยศัสตรา เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลก
นั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีเส้นประสาทรับรสพระ
กระยาหารได้ดี มีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารเกิดที่ลำพระศอและมีปลายชูชัน
รับรสพระกระยาหารส่งไปทั่วสรรพางค์
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า
จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมีพระโรคาพาธ
น้อย มีพระโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๒๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๒๐. ลักษณะมีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี

ไม่ร้อนนัก เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะ
ทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะมีพระโรคาพาธน้อย มีพระโรคเบาบาง ประกอบ
ด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก ปานกลาง เหมาะ
แก่การบำเพ็ญเพียร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[๒๒๗] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษเป็นผู้ไม่ทรงเบียดเบียน
ไม่ทรงย่ำยีปวงชนด้วยฝ่ามือ และท่อนไม้
ด้วยก้อนดิน ด้วยศัสตรา ด้วยคำสั่งประหาร
ด้วยการจองจำ หรือด้วยการข่มขู่
เพราะกรรมนั้นนั่นแหละ
มหาบุรุษจึงเข้าถึงสุคติ บันเทิงใจ
และเพราะทำกรรมมีผลเป็นสุข
จึงได้สุขมากเสด็จมาในโลกนี้
ทรงได้เส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี
ตั้งอยู่ในที่เหมาะสม ทำให้โอชะแผ่ไปสม่ำเสมอ
ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์ผู้ฉลาด
มีปัญญาเห็นแจ่มแจ้งทำนายว่า
‘พระกุมารนี้จักมีความสุขมาก’
ลักษณะนั้นย่อมบ่งบอกถึงเส้นประสาท
รับรสพระกระยาหารได้ดีนั้น
ของมหาบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๒๑-๒๒. ลักษณะมีดวงพระเนตรดำสนิทและแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด

๒๑-๒๒. ลักษณะมีดวงพระเนตรดำสนิทและแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด๑

[๒๒๘] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ไม่ถลึงตาดู๒ ไม่ค้อน ไม่เมิน มองตรง มองเต็มตา และแลดูคนหมู่มากด้วย
ดวงตาเปี่ยมด้วยความรัก เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจาก
เทวโลกแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการนี้ คือ (๑) มีดวง
พระเนตรดำสนิท (๒) มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะ
เป็นผู้ที่แลดูน่ารักของคนหมู่มากและเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของพราหมณ์และคหบดี
ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์
อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี กุมาร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้ที่แลดูน่ารักของคน
หมู่มาก และเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา
มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ทั้งหลาย เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[๒๒๙] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษไม่ถลึงตาดู ไม่ค้อน ไม่เมิน
มองตรง มองเต็มตา
แลดูคนหมู่มากด้วยดวงพระเนตรเปี่ยมด้วยความรัก
พระองค์เสวยผลวิบากในสุคติทั้งหลาย
บันเทิงอยู่ในสุคติเหล่านั้น เสด็จมาในโลกนี้
มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๒๙,๓๐
๒ ไม่ถลึงตาดู ในที่นี้หมายถึงไม่จ้องดูด้วยความโกรธจนตาถลนเหมือนตาปู (ที.ปา.อ. ๒๒๘/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๒๓. ลักษณะพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์

และมีดวงพระเนตรดำสนิท
มองเห็นได้ชัดเจน
พวกมนุษย์จำนวนมากเป็นอภิโยคี๑
มีความรอบคอบ ฉลาดในนิมิต
ฉลาดในการทำนายอย่างละเอียดถี่ถ้วน
จะชมเชยพระกุมารนั้นว่า ‘เป็นผู้ที่แลดูน่ารัก’
อนึ่ง แม้ทรงเป็นคฤหัสถ์ ก็แลดูน่ารัก
เป็นที่รักของคนหมู่มาก
ถ้าไม่ทรงเป็นคฤหัสถ์ ทรงเป็นพระสมณะ
จะทรงเป็นที่รักและดับโศกของคนหมู่มาก”

๒๓. ลักษณะพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์๒

[๒๓๐] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์เป็นผู้นำของคนหมู่มากในกุศลธรรม เป็นประมุขของคนหมู่มากในกายสุจริต
ในวจีสุจริต ในมโนสุจริต ในการจำแนกทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถ
ในความเกื้อกูลมารดา ในความเกื้อกูลบิดา ในความเกื้อกูลสมณะ ในความเกื้อกูล
พราหมณ์ ในความประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล และในกุศลธรรมอันยิ่ง
อื่น ๆ อีก เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้น
แล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระเศียรดุจประดับด้วย
กรอบพระพักตร์
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า
จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะเป็นผู้ที่คน
หมู่มาก คือ พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์

เชิงอรรถ :
๑ เป็นอภิโยคี ในที่นี้หมายถึงผู้รู้ในลักษณศาสตร์ (ที.ปา.อ. ๒๒๙/๑๒๘)
๒ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๓๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๒๓. ลักษณะพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์

แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี ราชกุมาร ดำเนินตาม
เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้ที่คนหมู่มาก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ดำเนินตาม เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่ง
ดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[๒๓๑] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษเป็นผู้นำในธรรมทั้งหลายที่เป็นสุจริต
ทรงยินดีในธรรมจริยา เป็นผู้ที่คนหมู่มากดำเนินตาม
เสวยผลบุญในสวรรค์
มหาบุรุษนั้น ครั้นเสวยผลแห่งสุจริต
แล้วเสด็จมาในโลกนี้
ทรงได้ความเป็นผู้มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์
พวกที่ทรงความรู้ในเรื่องพยัญชนะและนิมิตทำนายว่า
‘พระกุมารนี้ จักเป็นผู้นำของคนหมู่มาก
ในหมู่มนุษย์ ในโลกนี้
ผู้ที่ช่วยเหลือพระองค์ในเบื้องต้น จะมีจำนวนมาก
ในกาลนั้น พราหมณ์ทั้งหลายจะทำนายพระองค์ว่า
‘ถ้าทรงเป็นกษัตริย์ จะทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
จะทรงได้รับความช่วยเหลือจากคนหมู่มาก
ถ้ามหาบุรุษนั้นทรงออกผนวช
จะทรงเป็นผู้ปราดเปรื่อง เชี่ยวชาญในธรรม
คนหมู่มากจะเป็นผู้ยินดียิ่ง
ในคุณคือคำสอนของพระองค์และจะเป็นผู้ดำเนินตาม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๒๔-๒๕. ลักษณะพระโลมชาติเดี่ยว

๒๔-๒๕. ลักษณะพระโลมชาติเดี่ยว

และพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนนุ่น๑
[๒๓๒] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือพูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำ
เป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูน
กรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษ
๒ ประการนี้ คือ (๑) มีพระโลมชาติเดี่ยว (๒) มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาว
อ่อนเหมือนนุ่น
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็น
พระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะเป็น
ผู้ที่คนหมู่มาก คือ พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และ
มหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี
กุมาร ประพฤติตาม เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็น
พระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้า จะเป็นผู้ที่คนหมู่มาก คือ ภิกษุ
ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ประพฤติตาม
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[๒๓๓] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๑๓,๓๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๒๔-๒๕. ลักษณะพระโลมชาติเดี่ยว

“ในชาติก่อน ๆ มหาบุรุษมีสัจปฏิญาณ
มีพระวาจาไม่เป็นสอง เว้นคำเหลวไหล
ไม่ตรัสให้คลาดเคลื่อนแก่ใคร ๆ
ตรัสตามความจริงแท้ แน่นอน
มีพระอุณาโลมสีขาวอ่อนเหมือนนุ่น
เกิดในระหว่างพระโขนง
และไม่มีพระโลมชาติเกิดในขุมเดียวกัน ๒ เส้น
ทั่วพระสรีระสะพรั่งด้วยพระโลมชาติเดี่ยว
พวกผู้รู้พระลักษณะ
ฉลาดในลางและนิมิต จำนวนมากมาประชุมกัน
แล้วทำนายมหาบุรุษนั้นว่า
พระอุณาโลมตั้งอยู่ในตำแหน่งที่บ่งชัดว่า
คนหมู่มากจะประพฤติตามพระองค์ผู้มีลักษณะเช่นนี้
มหาบุรุษแม้ทรงเป็นคฤหัสถ์ผู้เช่นนี้
มหาชนก็ประพฤติตาม
เพราะกรรมที่ทรงกระทำไว้มากในชาติก่อน
แม้ทรงเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีความกังวล
เป็นบรรพชิตผู้ยอดเยี่ยม
ประชาชนก็ประพฤติตาม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๒๖-๒๗. ลักษณะพระทนต์ ๔๐ ซี่และไม่ห่างกัน

๒๖-๒๗. ลักษณะพระทนต์ ๔๐ ซี่และไม่ห่างกัน๑

[๒๓๔] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ ละเว้นขาดจากคำส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอกฝ่ายโน้น
เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความจากฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น
สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน
พูดแต่คำที่สร้างสรรค์ความสามัคคีกัน เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น
ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ได้ลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการนี้
คือ (๑) มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (๒) มีพระทนต์ไม่ห่าง
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็น
พระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงมี
บริษัทที่ไม่แตกแยกกัน บริษัทที่ไม่แตกแยกกันของพระองค์ คือ พราหมณ์ คหบดี
ชาวนิคม ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์
อำมาตย์ บริษัท ราชา เศรษฐี ราชกุมาร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าว
มานี้ ฯลฯ เมื่อ เป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงมีบริษัท
ที่ไม่แตกแยกกัน บริษัทที่ไม่แตกแยกกันของพระองค์ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่ง
ดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[๒๓๕] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๒๓,๒๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๒๖-๒๗. ลักษณะพระทนต์ ๔๐ ซี่และไม่ห่างกัน

“มหาบุรุษนั้น ไม่ตรัสวาจา
ที่ทำให้เกิดการแตกแยกกัน
คือ ทำผู้ที่ปรองดองกันให้แตกแยกกัน
ทำให้การวิวาทขยายตัวไปสู่การแตกแยกกัน
ทำเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะกัน
(และ) ที่ก่อให้เกิดการแตกแยกแก่คนที่ปรองดองกัน
ตรัสแต่วาจาอ่อนหวาน
คือ ที่ส่งเสริมการไม่วิวาทกัน
ที่ก่อให้เกิดสมานฉันท์ระหว่างผู้ที่แตกกัน
ขจัดความทะเลาะของชุมชนทำให้สามัคคีกัน
และทรงเพลิดเพลินบันเทิงอยู่กับผู้ที่ปรองดองกัน
มหาบุรุษนั้น เสวยผลวิบากในสุคติ
เสด็จมาในโลกนี้ มีพระทนต์ ๔๐ ซี่
มีพระทนต์ไม่ห่าง เรียบสนิท
ได้สัดส่วน เกิดขึ้นในพระโอษฐ์
ถ้าเป็นกษัตริย์ จะทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
จะทรงมีบริษัทไม่แตกแยกกัน
ถ้าเป็นสมณะจะทรงเป็นผู้ปราศจากกิเลสเพียงดังธุลี
และเป็นผู้ปราศจากกิเลสเพียงดังมลทิน
บริษัทของพระองค์ จะเป็นผู้ดำเนินตามไม่หวั่นไหว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๒๘-๒๙. ลักษณะพระชิวหาใหญ่ยาวและพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม

๒๘-๒๙. ลักษณะพระชิวหาใหญ่ยาวและพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม๑

[๒๓๖] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ ละเว้นขาดจากคำหยาบ คือ พูดแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็น
คำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูน
กรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ ได้ลักษณะ
มหาบุรุษ ๒ ประการนี้ คือ (๑) มีพระชิวหาใหญ่ยาว (๒) มีพระสุรเสียงดุจเสียง
พรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวก
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมี
พระวาจาอันชนทั้งหลายยอมรับ ชนทั้งหลาย คือ พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม
ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์
บริษัท ราชา เศรษฐี ราชกุมาร ยอมรับพระดำรัสของพระองค์ เมื่อเป็นพระราชา
จะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อทรงเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็น
พระพุทธเจ้าจะมีพระวาจาอันชนทั้งหลายยอมรับ ชนทั้งหลาย คือ ภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก อุบาสิกา เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ยอมรับพระดำรัสของ
พระองค์ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความ
นี้ไว้แล้ว
[๒๓๗] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษนั้น ไม่ตรัสคำหยาบรุนแรง
คือ ที่ก่อให้เกิดการด่า การบาดหมาง และการเบียดเบียนกัน
ที่ก่อให้เกิดความเจ็บแค้น ที่ทำลายชนจำนวนมาก
ตรัสแต่คำอ่อนหวาน นุ่มนวล มีประโยชน์

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๒๗,๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๓๐. ลักษณะพระหนุดุจคางราชสีห์

มหาบุรุษนั้น ตรัสแต่คำเป็นที่ถูกใจ
จับใจ เสนาะโสต จึงทรงได้รับผลอันเกิดจากความประพฤติดี
เสวยผลบุญในสวรรค์ทั้งหลาย
ครั้นเสวยผลอันเกิดจากความประพฤติดีแล้ว
เสด็จมาในโลกนี้ ได้ความเป็นผู้มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม
เป็นผู้มีพระชิวหาใหญ่ หนา
เป็นผู้มีพระดำรัสอันชนทั้งหลายยอมรับ
ผลนั้นย่อมสำเร็จแก่มหาบุรุษผู้ตรัสอยู่
แม้เมื่อทรงเป็นคฤหัสถ์ ฉันใด
ถ้ามหาบุรุษนั้นทรงออกผนวช
หมู่ชนจะเชื่อถือพระดำรัสของพระองค์
ผู้ตรัสสุภาษิตหลากหลายแก่คนหมู่มาก ฉันนั้น”

๓๐. ลักษณะพระหนุดุจคางราชสีห์๑

[๒๓๘] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ ละเว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกกาล พูดแต่คำจริง พูดอิงประโยชน์
พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วย
ประโยชน์ เหมาะแก่เวลา ตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทว-
โลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระหนุดุจคางราชสีห์
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า
จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะไม่มีข้าศึกศัตรู
ที่เป็นมนุษย์คนใดกำจัดพระองค์ได้ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะไม่มีข้าศึกศัตรูภายในหรือ

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๒๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๓๐. ลักษณะพระหนุดุจคางราชสีห์

ภายนอก คือ ราคะ โทสะ หรือโมหะ หรือสมณพราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือ
ใคร ๆ ในโลกกำจัดพระองค์ได้ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระ
ผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[๒๓๙] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษนั้น ไม่ตรัสคำเพ้อเจ้อ
ไม่ตรัสคำปราศจากหลักฐาน
มีครรลองแห่งพระดำรัสไม่สับสน
ทรงกำจัดคำที่ไม่เป็นประโยชน์
ตรัสแต่คำที่เป็นประโยชน์
และคำที่เป็นสุขแก่คนหมู่มาก
ครั้นทรงทำกรรมนั้นแล้วจุติจากมนุษยโลก
เข้าสู่เทวโลก เสวยผลวิบากแห่งกรรมที่ทรงทำดีแล้ว
จุติแล้ว เสด็จมาในโลกนี้อีก
ได้ความเป็นผู้มีพระหนุดุจคางราชสีห์
ซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์สี่เท้า
ถ้าเป็นพระราชาจะทรงเป็นจอมมนุษย์
เป็นใหญ่เหนือมนุษย์ เป็นผู้มีอานุภาพมาก
เป็นผู้ที่ใครกำจัดได้ยากยิ่ง
เป็นผู้เสมอกับเทพผู้ประเสริฐในเมืองไตรทิพย์
ดุจพระอินทร์ผู้ประเสริฐกว่าเทพ ฉะนั้น
ผู้มีสภาวะเช่นนั้นเป็นผู้ที่คนธรรพ์ อสูร
ท้าวสักกะ และยักษ์ผู้กล้าหาญ กำจัดไม่ได้ง่าย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๓๑-๓๒. ลักษณะพระทนต์เรียบเสมอกันและพระเขี้ยวแก้วขาวงาม

ผู้มีพระลักษณะเช่นว่านั้น
ย่อมจะเป็นใหญ่ในทิศทั้งหลาย
คือทั้งทิศใหญ่และทิศเฉียง ในโลกนี้”

๓๑-๓๒. ลักษณะพระทนต์เรียบเสมอกันและพระเขี้ยวแก้วขาวงาม๑

[๒๔๐] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ละมิจฉาอาชีวะแล้ว ดำรงชีวิตอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ คือ เว้นขาดจากการโกง
ด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอม การโกงด้วยเครื่องตวงวัด การรับสินบน การ
ล่อลวง การตลบตะแลง การตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว
การปล้น และการขู่กรรโชก เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูน ทำให้กรรมนั้น
ไพบูลย์แล้ว หลังจากตายแล้ว ตถาคตจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ครอบงำเทพ
เหล่าอื่นในเทวโลกนั้น ด้วยฐานะ ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์
ยศทิพย์ ความเป็นใหญ่ทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพะทิพย์
จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการนี้
คือ (๑) มีพระทนต์เรียบเสมอกัน (๒) มีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วย
แก้ว ๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว
(๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว และมีพระราชโอรสมากกว่า
๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้
พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้
มีสาครเป็นขอบเขต ไม่มีเสาเขื่อน ไม่มีเขตหมาย ไม่มีรั้วหนาม มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์
ปลอดภัยสงบ ไร้เสี้ยนหนาม เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชา
จะทรงมีบริวารสะอาด บริวารที่สะอาดของพระองค์ คือ พราหมณ์ คหบดี ชาวนิคม
ชาวชนบท โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ อำมาตย์

เชิงอรรถ :
๑ เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ ๒๔,๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๓๑-๓๒. ลักษณะพระทนต์เรียบเสมอกันและพระเขี้ยวแก้วขาวงาม

บริษัท ราชา เศรษฐี กุมาร เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ อนึ่ง
ถ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มี
กิเลสในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงมี
บริวารสะอาด บริวารที่สะอาดของพระองค์ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
เทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้ไว้แล้ว
[๒๔๑] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษนั้นทรงละมิจฉาอาชีวะ
ดำรงพระชนม์อยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ
อันสะอาดเป็นธรรม ทรงกำจัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
ทรงประพฤติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นสุขแก่คนหมู่มาก
เสวยสิ่งที่มีผลเป็นสุข
ที่สัตบุรุษผู้มีปัญญาละเอียด ผู้ฉลาดสรรเสริญแล้ว
เป็นผู้เสมอกับเทพผู้ประเสริฐในเมืองไตรทิพย์
เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยความยินดีและความเพลิดเพลิน
อภิรมย์อยู่ในสวรรค์
ครั้นจุติจากสวรรค์นั้น ได้ภพที่เป็นมนุษย์
ทรงได้รับผลวิบากแห่งกรรมที่ทรงทำดีแล้ว
คือ มีพระทนต์เรียบ เสมอ สะอาด ขาวผ่อง
ด้วยวิบากแห่งกรรมที่เหลือ
พวกมนุษย์ผู้ทำนายลักษณะ
ที่ยอมรับกันว่าเป็นผู้ละเอียดรอบคอบจำนวนมาก
ประชุมกันแล้วทำนายมหาบุรุษนั้นว่า
‘พระกุมารนี้ จะมีหมู่ชนที่สะอาดเป็นบริวาร
มีพระทนต์ที่เกิดทั้ง ๒ ครั้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๗. ลักขณสูตร]
๓๑-๓๒. ลักษณะพระทนต์เรียบเสมอกันและพระเขี้ยวแก้วขาวงาม

สม่ำเสมอ ขาว สะอาด งดงาม
เมื่อพระองค์ทรงเป็นพระราชาปกครองแผ่นดินใหญ่
จะทรงมีคนหมู่มากเป็นบริวารที่สะอาด
และไม่มีการข่มขี่ให้เดือดร้อนในราชอาณาจักร
คนทั้งหลายต่างประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์
และเป็นความสุขแก่คนหมู่มาก
ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นสมณะ
จะปราศจากบาปธรรม
มีกิเลสเพียงดังธุลีระงับไป เป็นผู้ไม่มีกิเลส
ปราศจากความกระวนกระวายและความลำบาก
จะทรงเห็นโลกนี้และโลกอื่น
คฤหัสถ์จำนวนมากและพวกบรรพชิต
ผู้ที่ทำตามโอวาทของพระองค์
จะกำจัดบาปธรรมที่ไม่สะอาดอันบัณฑิตติเตียนแล้ว
มีบริวารที่สะอาด
กำจัดสนิมตะปู๑ โทษและกิเลสเสียได้แวดล้อมพระองค์”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

ลักขณสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร] ว่าด้วยสิงคาลกมาณพ

๘. สิงคาลกสูตร
ว่าด้วยสิงคาลกมาณพ

[๒๔๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น สิงคาลกะ คหบดีบุตร ลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์
มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลีไหว้ทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า(ทิศ
ตะวันออก) ทิศเบื้องขวา(ทิศใต้) ทิศเบื้องหลัง(ทิศตะวันตก) ทิศเบื้องซ้าย(ทิศเหนือ)
ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบน
[๒๔๓] ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรเสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ได้ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกะ คหบดีบุตร
ผู้ลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลี
ไหว้ทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องหลัง ทิศ
เบื้องล่าง ทิศเบื้องบนแล้ว ได้ตรัสถามสิงคาลกะ คหบดีบุตรดังนี้ว่า “คหบดีบุตร
เธอลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์ มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลี
ไหว้ทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศเบื้องขวา ทิศเบื้องหลัง ทิซเบื้องซ้าย
ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่ เพราะเหตุไร”
สิงคาลกะ คหบดีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บิดาของข้าพระองค์
ก่อนจะตาย ได้กล่าวไว้อย่างนี้ว่า ‘นี่แน่ะลูก เจ้าพึงไหว้ทิศทั้งหลาย’ ข้าพระองค์
สักการะ เคารพ นับถือ บูชาคำของบิดา จึงลุกขึ้นแต่เช้า ออกจากกรุงราชคฤห์
มีผ้าเปียก มีผมเปียก ประคองอัญชลี ไหว้ทิศทั้งหลาย คือ ทิศเบื้องหน้า ทิศ
เบื้องขวา ทิศเบื้องซ้าย ทิศเบื้องหลัง ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องบนอยู่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร] กรรมกิเลส ๔

ทิศ ๖

[๒๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดีบุตร ในอริยวินัย(ธรรมเนียมแบบ
แผนของพระอริยะ) เขาไม่ไหว้ทิศ ๖ กันอย่างนี้”
สิงคาลกะ คหบดีบุตรทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในอริยวินัย เขาไหว้
ทิศ ๖ กันอย่างไร ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงแสดงธรรม
แก่ข้าพระองค์ ตามวิธีการไหว้ทิศ ๖ ในอริยวินัยเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดีบุตร ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว”
สิงคาลกะ คหบดีบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดีบุตร อริยสาวกละกรรมกิเลส(กรรมเครื่อง
เศร้าหมอง) ๔ ประการได้แล้ว ไม่ทำบาปกรรมโดยเหตุ ๔ ประการ และไม่ข้องแวะ
อบายมุข(ทางเสื่อม) ๖ ประการ แห่งโภคะทั้งหลาย อริยสาวกนั้นเป็นผู้ปราศจาก
บาปกรรม ๑๔ ประการนี้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ปิดป้องทิศ๑ ๖ ปฏิบัติเพื่อครองโลก
ทั้งสอง ทำให้เกิดความยินดีทั้งโลกนี้และโลกหน้า หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิด
ในสุคติโลกสวรรค์

กรรมกิเลส ๔

[๒๔๕] กรรมกิเลส ๔ ประการที่อริยสาวกละได้แล้ว อะไรบ้าง คือ
๑. กรรมกิเลสคือปาณาติบาต
๒. กรรมกิเลสคืออทินนาทาน
๓. กรรมกิเลสคือกาเมสุมิจฉาจาร
๔. กรรมกิเลสคือมุสาวาท
กรรมกิเลส ๔ ประการนี้ ที่อริยสาวกนั้นละได้แล้ว”

เชิงอรรถ :
๑ ปิดป้องทิศ ในที่นี้หมายถึงปกปิดช่องว่างระหว่างตนกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรียกว่าทิศ ๖ (ที.ปา.ฏีกา
๒๔๔/๑๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร] เหตุ ๔ ประการ

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์
การล่วงละเมิดภรรยาผู้อื่น และการพูดเท็จ
เรียกว่า เป็นกรรมกิเลส
บัณฑิตทั้งหลายไม่สรรเสริญ”

เหตุ ๔ ประการ

[๒๔๖] อริยสาวกไม่ทำบาปกรรมโดยเหตุ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ปุถุชน
๑. ย่อมถึงฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะรัก) ทำบาปกรรม
๒. ย่อมถึงโทสาคติ (ลำเอียงเพราะชัง) ทำบาปกรรม
๓. ย่อมถึงโมหาคติ (ลำเอียงเพราะเขลา) ทำบาปกรรม
๔. ย่อมถึงภยาคติ (ลำเอียงเพราะกลัว) ทำบาปกรรม
ส่วนอริยสาวก
๑. ย่อมไม่ถึงฉันทาคติ
๒. ย่อมไม่ถึงโทสาคติ
๓. ย่อมไม่ถึงโมหาคติ
๔. ย่อมไม่ถึงภยาคติ
อริยสาวกย่อมไม่ทำบาปกรรม โดยเหตุ ๔ ประการนี้
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“บุคคลใดละเมิดความชอบธรรม
เพราะฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ
ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร] โทษแห่งสุราเมรัย ๖ ประการ

เหมือนดวงจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น
บุคคลใดไม่ละเมิดความชอบธรรม
เพราะฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ
ยศของบุคคลนั้นย่อมเจริญ
เหมือนดวงจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น”๑

อบายมุข ๖ ประการ

[๒๔๗] อริยสาวกไม่ข้องแวะอบายมุข ๖ ประการ แห่งโภคะทั้งหลาย อะไรบ้าง
คือ
๑. การหมกมุ่นในการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่ง
ความประมาท เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย
๒. การหมกมุ่นในการเที่ยวไปตามตรอกซอกซอย ในเวลากลางคืน เป็น
อบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย
๓. การเที่ยวดูมหรสพ เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย
๔. การหมกมุ่นในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็น
อบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย
๕. การหมกมุ่นในการคบคนชั่วเป็นมิตร เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย
๖. การหมกมุ่นในความเกียจคร้าน เป็นอบายมุขแห่งโภคะทั้งหลาย

โทษแห่งสุราเมรัย ๖ ประการ

[๒๔๘] คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอัน
เป็นเหตุแห่งความประมาทมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ
๑. เสียทรัพย์ทันตาเห็น
๒. ก่อการทะเลาะวิวาท

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก.(แปล) ๒๑/๑๗-๑๙/๒๙-๓๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
โทษแห่งการเที่ยวดูมหรสพ ๖ ประการ

๓. เป็นบ่อเกิดแห่งโรค
๔. เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง
๕. เป็นเหตุให้ไม่รู้จักอาย
๖. เป็นเหตุทอนกำลังปัญญา
คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่ง
ความประมาทมีโทษ ๖ ประการนี้แล

โทษแห่งการเที่ยวกลางคืน ๖ ประการ

[๒๔๙] คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเที่ยวไปตามตรอกซอกซอย ในเวลา
กลางคืนมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ
๑. ชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาตน
๒. ชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาบุตรภรรยา
๓. ชื่อว่าไม่คุ้มครอง ไม่รักษาทรัพย์สมบัติ
๔. เป็นที่สงสัย๑ของคนอื่นด้วยเหตุต่าง ๆ
๕. มักถูกใส่ร้ายด้วยเรื่องไม่เป็นจริง
๖. ทำให้เกิดความลำบากมากหลายอย่าง
คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเที่ยวไปตามตรอกซอกซอย ในเวลากลางคืน
มีโทษ ๖ ประการนี้แล

โทษแห่งการเที่ยวดูมหรสพ ๖ ประการ

[๒๕๐] คหบดีบุตร การเที่ยวดูมหรสพมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ
๑. มีการรำที่ไหน (ไปที่นั่น)
๒. มีการขับร้องที่ไหน (ไปที่นั่น)
๓. มีการประโคมที่ไหน (ไปที่นั่น)

เชิงอรรถ :
๑ เป็นที่สงสัยในที่นี้หมายถึงถูกสงสัยว่าเป็นผู้ทำกรรมชั่วทั้งที่ไม่มีส่วนในกรรมชั่วนั้น (ที.ปา.อ. ๒๔๙/๑๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
โทษแห่งการคบคนชั่วเป็นมิตร ๖ ประการ

๔. มีเสภาที่ไหน (ไปที่นั่น)
๕. มีการบรรเลงที่ไหน (ไปที่นั่น)
๖. มีเถิดเทิงที่ไหน (ไปที่นั่น)
คหบดีบุตร การเที่ยวดูมหรสพมีโทษ ๖ ประการนี้แล

โทษแห่งการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ๖ ประการ

[๒๕๑] คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความ
ประมาทมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ
๑. ผู้ชนะย่อมก่อเวร
๒. ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป
๓. เสียทรัพย์ทันตาเห็น
๔. ถ้อยคำที่เป็นพยานในศาล ก็เชื่อถือไม่ได้
๕. ถูกมิตรอำมาตย์๑ดูหมิ่น
๖. ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วย เพราะเห็นว่าชายผู้นี้เป็นนักเลง
การพนันไม่สามารถจะเลี้ยงดูภรรยาได้
คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความประมาทมีโทษ
๖ ประการนี้แล

โทษแห่งการคบคนชั่วเป็นมิตร ๖ ประการ

[๒๕๒] คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการคบคนชั่วเป็นมิตรมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ
๑. เขามีนักเลงการพนันเป็นมิตรสหาย
๒. เขามีนักเลงเจ้าชู้เป็นมิตรสหาย
๓. เขามีนักเลงเหล้าเป็นมิตรสหาย

เชิงอรรถ :
๑ มิตรอำมาตย์ แยกอธิบายได้ดังนี้ มิตร ในที่นี้หมายถึงคนที่สามารถใช้สอยสิ่งของในบ้านเรือนของกัน
และกันได้ อำมาตย์ ในที่นี้หมายถึงเพื่อนร่วมงาน (สํ.ม.อ. ๓/๑๐๑๒/๓๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
โทษแห่งความเกียจคร้าน ๖ ประการ

๔. เขามีคนหลอกลวงเป็นมิตรสหาย
๕. เขามีคนโกงเป็นมิตรสหาย
๖. เขามีโจรเป็นมิตรสหาย
คหบดีบุตร การหมกมุ่นในการคบคนชั่วเป็นมิตรมีโทษ ๖ ประการนี้แล

โทษแห่งความเกียจคร้าน ๖ ประการ

[๒๕๓] คหบดีบุตร การหมกมุ่นในความเกียจคร้านมีโทษ ๖ ประการนี้ คือ
๑. มักอ้างว่า ‘หนาวเกินไป’ แล้วไม่ทำการงาน
๒. มักอ้างว่า ‘ร้อนเกินไป’ แล้วไม่ทำการงาน
๓. มักอ้างว่า ‘เวลาเย็นเกินไป’ แล้วไม่ทำการงาน
๔. มักอ้างว่า ‘เวลายังเช้าเกินไป’ แล้วไม่ทำการงาน
๕. มักอ้างว่า ‘หิวเกินไป’ แล้วไม่ทำการงาน
๖. มักอ้างว่า ‘กระหายเกินไป’ แล้วไม่ทำการงาน
เมื่อเขามากไปด้วยการอ้างเลศ ผัดเพี้ยนการงานอยู่อย่างนี้ โภคะที่ยังไม่เกิด
ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ถึงความเสื่อมสิ้นไป
คหบดีบุตร การหมกมุ่นในความเกียจคร้านมีโทษ ๖ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“เพื่อนในโรงสุราก็มี
เพื่อนดีแต่พูดก็มี
เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้น ผู้ใดเป็นเพื่อนได้
ผู้นั้นจัดว่าเป็นเพื่อนแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร]
โทษแห่งความเกียจคร้าน ๖ ประการ

เหตุ ๖ ประการนี้ คือ
(๑) การนอนตื่นสาย (๒) การเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น
(๓) การผูกเวร (๔) ความเป็นผู้ก่อแต่เรื่องเสียหาย
(๕) การมีมิตรชั่ว (๖) ความตระหนี่จัด
ย่อมทำลายบุรุษให้พินาศ
คนมีมิตรชั่ว มีเพื่อนชั่ว
มีมารยาทและความประพฤติชั่ว
ย่อมเสื่อมจากโลกทั้งสอง คือ
จากโลกนี้และจากโลกหน้า
เหตุ ๖ ประการนี้ คือ
(๑) นักเลงการพนันและนักเลงหญิง
(๒) นักเลงสุรา (๓) ฟ้อนรำขับร้อง
(๔) นอนหลับในกลางวัน เที่ยวกลางคืน
(๕) การมีมิตรชั่ว (๖) ความตระหนี่จัด
ย่อมทำลายบุรุษให้พินาศ
ผู้ใดเล่นการพนัน ดื่มสุรา
ล่วงละเมิดหญิงผู้เป็นที่รักเสมอด้วยชีวิตของผู้อื่น
คบแต่คนเลว และไม่คบหาคนเจริญ
ผู้นั้นย่อมเสื่อมดุจดวงจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น
ผู้ใดดื่มสุรา ไร้ทรัพย์
ไม่ทำงานเลี้ยงชีพ เป็นคนขี้เมาหัวทิ่มบ่อ
ผู้นั้นจักจมลงสู่หนี้เหมือนก้อนหินจมน้ำ
จักทำความมัวหมองให้แก่ตนทันที

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร] มิตรเทียม

คนชอบนอนหลับในกลางวัน
ไม่ลุกขึ้นในกลางคืน เป็นนักเลงขี้เมาประจำ
ไม่สามารถครองเรือนได้
ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลย
หนุ่มสาวที่ละทิ้งการงาน
โดยอ้างว่า ‘เวลานี้หนาวเกินไป
เวลานี้ร้อนเกินไป เวลานี้เย็นเกินไป’ เป็นต้น
ส่วนผู้ใดทำหน้าที่ของบุรุษ
ไม่ใส่ใจความหนาว ความร้อน ยิ่งไปกว่าหญ้า
ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากความสุข

มิตรเทียม

[๒๕๔] คหบดีบุตร คน ๔ จำพวกนี้ เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็น
มิตรเทียม คือ
๑. คนที่ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อื่นฝ่ายเดียว พึงทราบว่า ไม่ใช่
มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม
๒. คนดีแต่พูด พึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม
๓. คนพูดประจบ พึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม
๔. คนที่เป็นเพื่อนชักนำในทางเสื่อม พึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็น
มิตรเทียม
[๒๕๕] คหบดีบุตร คนที่ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อื่นฝ่ายเดียว เธอพึงทราบว่า
ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการ คือ
(๑) เป็นผู้ถือเอาประโยชน์จากผู้อื่นฝ่ายเดียว
(๒) เสียน้อย ปรารถนาจะได้มาก
(๓) เมื่อตัวเองมีภัยจึงทำกิจของเพื่อน
(๔) คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร] มิตรเทียม

คหบดีบุตร คนที่ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อ่านฝ่ายเดียว เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่
มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล
[๒๕๖] คหบดีบุตร คนดีแต่พูด เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม
โดยเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. กล่าวต้อนรับด้วยเรื่องที่เป็นอดีตไปแล้ว
๒. กล่าวต้อนรับด้วยเรื่องที่ยังมาไม่ถึง
๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์มิได้
๔. เมื่อมีกิจเกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็แสดงความขัดข้อง
คหบดีบุตร คนดีแต่พูด เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดย
เหตุ ๔ ประการนี้แล
[๒๕๗] คหบดีบุตร คนพูดประจบ เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็น
มิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. เพื่อนทำชั่ว ก็คล้อยตาม
๒. เพื่อนทำดี ก็คล้อยตาม
๓. สรรเสริญต่อหน้า
๔. นินทาลับหลัง
คหบดีบุตร คนพูดประจบ เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม
โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล
[๒๕๘] คหบดีบุตร คนที่เป็นเพื่อนชักชวนไปในทางเสื่อม พึงทราบว่า ไม่ใช่
มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. เป็นเพื่อนที่ชักชวนให้หมกมุ่นในการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย
อันเป็นเหตุแห่งความประมาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร] มิตรมีใจดี

๒. เป็นเพื่อนที่ชักชวนให้หมกมุ่นในการเที่ยวไปตามตรอกซอกซอยในเวลา
กลางคืน
๓. เป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น
๔. เป็นเพื่อนที่ชักชวนให้หมกมุ่นในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่ง
ความประมาท
คหบดีบุตร คนที่เป็นเพื่อนชักชวนไปในทางเสื่อม พึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็น
มิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล”
[๒๕๙] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึง
ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“บุคคลที่ไม่ใช่มิตรแท้ ๔ จำพวกนี้ คือ
(๑) มิตรที่ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อื่นอย่างเดียว
(๒) มิตรดีแต่พูด (๓) มิตรพูดประจบ
(๔) มิตรชักนำในทางเสื่อม
บัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว พึงเว้นเสียให้ห่างไกล
เหมือนคนเว้นทางมีภัยเฉพาะหน้าเสียฉะนั้น”

มิตรมีใจดี

[๒๖๐] คหบดีบุตร คน ๔ จำพวกนี้ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี(มิตรแท้)
คือ
๑. มิตรมีอุปการะ พึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี
๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ พึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี
๓. มิตรแนะนำประโยชน์ พึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี
๔. มิตรมีความรักใคร่ พึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร] มิตรมีใจดี

[๒๖๑] คหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดย
เหตุ ๔ ประการ คือ
๑. ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๒. ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
๓. เมื่อมีภัยก็เป็นที่พึ่งพำนักได้
๔. เมื่อมีกิจที่จำเป็นเกิดขึ้น ก็ช่วยโภคทรัพย์ให้ ๒ เท่าของทรัพย์ที่
ต้องการในกิจนั้น
คหบดีบุตร มิตรมีอุปการะ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔
ประการนี้แล
[๒๖๒] คหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี
โดยเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. บอกความลับแก่เพื่อน
๒. ปิดความลับของเพื่อน
๓. ไม่ละทิ้งในยามอันตราย
๔. แม้ชีวิตก็อาจจะสละเพื่อประโยชน์ของเพื่อนได้
คหบดีบุตร มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ
๔ ประการนี้แล
[๒๖๓] คหบดีบุตร มิตรแนะนำประโยชน์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี
โดยเหตุ ๔ ประการ คือ
๑. ห้ามมิให้ทำความชั่ว
๒. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๔. บอกทางสวรรค์ให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร] มิตรมีใจดี

คหบดีบุตร มิตรแนะนำประโยชน์ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔
ประการนี้แล
[๒๖๔] คหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดย
เหตุ ๔ ประการ คือ
๑. ไม่พอใจความเสื่อมของเพื่อน
๒. พอใจความเจริญของเพื่อน
๓. ห้ามปรามคนที่นินทาเพื่อน
๔. สนับสนุนคนที่สรรเสริญเพื่อน
คหบดีบุตร มิตรมีความรักใคร่ เธอพึงทราบว่า เป็นมิตรมีใจดี โดยเหตุ ๔
ประการนี้แล”
[๒๖๕] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้
ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“บุคคลที่เป็นมิตรมีใจดี ๔ จำพวกนี้ คือ
(๑) มิตรมีอุปการะ (๒) มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
(๓) มิตรแนะนำประโยชน์ (๔) มิตรมีความรักใคร่
บัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว
พึงเข้าไปคบหาโดยความจริงใจ
เหมือนมารดาคบหาบุตรผู้เกิดแต่อกฉะนั้น
บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
ย่อมสว่างโชติช่วงดังดวงไฟ
เมื่อบุคคลสะสมโภคทรัพย์อยู่ดังตัวผึ้งสร้างรัง
โภคทรัพย์ของเขาก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้น
ดุจจอมปลวกที่ตัวปลวกก่อขึ้นฉะนั้น
คฤหัสถ์ในตระกูล ผู้สามารถ
ครั้นรวบรวมโภคทรัพย์ได้อย่างนี้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร] ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์

พึงแบ่งโภคทรัพย์ออกเป็น ๔ ส่วน
คือส่วนหนึ่งใช้สอย ๒ ส่วนใช้ประกอบการงาน
ส่วนที่ ๔ เก็บไว้ด้วยหมายใจว่าจะใช้ในยามมีอันตราย
จึงผูกมิตรไว้ได้”

ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์
ว่าด้วยการปิดป้องทิศ ๖

[๒๖๖] อริยสาวกเป็นผู้ปิดป้องทิศ ๖ เป็นอย่างไร
คหบดีบุตร เธอพึงทราบทิศ ๖ นี้ คือ พึงทราบว่า มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า
พึงทราบว่า อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา พึงทราบว่า บุตรและภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง
พึงทราบว่า มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย พึงทราบว่า ทาสและกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง
พึงทราบว่า สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน
[๒๖๗] คหบดีบุตร บุตรพึงบำรุงมารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้าโดยหน้าที่
๕ ประการ คือ
๑. ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ
๒. จักทำกิจของท่าน
๓. จักดำรงวงศ์ตระกูล
๔. จักประพฤติตนให้เหมาะสมที่จะเป็นทายาท
๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า บุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อม
อนุเคราะห์บุตรโดยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร] ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์

๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔. หาภรรยา(สามี) ที่สมควรให้
๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันสมควร
คหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า บุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการ
นี้แล ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องหน้านั้นเป็นอันชื่อว่า
กุลบุตรได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้
[๒๖๘] คหบดีบุตร ศิษย์พึงบำรุงอาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา โดยหน้าที่ ๕
ประการ คือ
๑. ลุกขึ้นยืนรับ
๒. เข้าไปคอยรับใช้
๓. เชื่อฟัง
๔. ดูแลปรนนิบัติ
๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ
อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ศิษย์บำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อม
อนุเคราะห์ศิษย์ด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. แนะนำให้เป็นคนดี
๒. ให้เรียนดี
๓. บอกความรู้ในศิลปวิทยาทุกอย่างด้วยดี
๔. ยกย่องให้ปรากฏในมิตรสหาย
๕. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย
คหบดีบุตร อาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ศิษย์บำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล
ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องขวานั้นเป็นอันชื่อว่าศิษย์ได้
ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร] ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์

[๒๖๙] คหบดีบุตร สามีพึงบำรุงภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลังโดยหน้าที่ ๕
ประการ คือ
๑. ให้เกียรติยกย่อง
๒. ไม่ดูหมิ่น
๓. ไม่ประพฤตินอกใจ
๔. มอบความเป็นใหญ่ให้
๕. ให้เครื่องแต่งตัว
ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง สามีบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์
สามีด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. จัดการงานดี
๒. สงเคราะห์คนข้างเคียงดี
๓. ไม่ประพฤตินอกใจ
๔. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้
๕. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจทั้งปวง
คหบดีบุตร ภรรยาผู้เป็นทิศเบื้องหลัง สามีบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล
ย่อมอนุเคราะห์สามีด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องหลังนั้นเป็นอันชื่อว่าสามีได้
ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้
[๒๗๐] คหบดีบุตร กุลบุตรพึงบำรุงมิตรสหายผู้เป็นทิศเบื้องซ้ายโดยหน้าที่
๕ ประการ คือ
๑. การให้ (การแบ่งปันสิ่งของให้)
๒. กล่าววาจาเป็นที่รัก
๓. ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์
๔. วางตนสม่ำเสมอ
๕. ไม่พูดจาหลอกลวงกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร] ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์

มิตรสหายผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย กุลบุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อม
อนุเคราะห์กุลบุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ป้องกันมิตรผู้ประมาทแล้ว
๒. ป้องกันทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว
๓. เมื่อมีภัยก็เป็นที่พึ่งพำนักได้
๔. ไม่ละทิ้งในยามอันตราย
๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ตระกูลของมิตร
คหบดีบุตร มิตรผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย กุลบุตรบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้นเป็นอันชื่อว่ากุลบุตร
ได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้
[๒๗๑] คหบดีบุตร นายพึงบำรุงทาสกรรมกร ผู้เป็นทิศเบื้องต่ำโดยหน้าที่
๕ ประการ คือ
๑. จัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง
๒. ให้อาหารและค่าจ้าง
๓. ดูแลรักษายามเจ็บป่วย
๔. ให้อาหารมีรสแปลก
๕. ให้หยุดงานตามโอกาส
ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ นายบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล ย่อม
อนุเคราะห์นายด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ
๑. ตื่นขึ้นทำงานก่อนนาย
๒. เลิกงานเข้านอนทีหลังนาย
๓. ถือเอาแต่ของที่นายให้
๔. ทำงานให้ดีขึ้น
๕. นำคุณของนายไปสรรเสริญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร] ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์

คหบดีบุตร ทาสกรรมกรผู้เป็นทิศเบื้องต่ำ นายบำรุงด้วยหน้าที่ ๕ ประการ
นี้แล ย่อมอนุเคราะห์นายโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้นเป็นอันชื่อว่า
นายได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้
[๒๗๒] คหบดีบุตร กุลบุตรพึงบำรุงสมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน โดยหน้าที่
๕ ประการ คือ
๑. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา
๒. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
๓. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
๔. เปิดประตูต้อนรับ
๕. ถวายปัจจัยเครื่องยังชีพ
สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน กุลบุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕ ประการนี้แล
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยหน้าที่ ๖ ประการ คือ
๑. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันดีงาม
๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๕. อธิบายสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
๖. บอกทางสวรรค์ให้
คหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน กุลบุตรบำรุงโดยหน้าที่ ๕
ประการนี้แล ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยหน้าที่ ๖ ประการนี้ ทิศเบื้องบนนั้น
เป็นอันชื่อว่ากุลบุตรได้ปิดป้อง ทำให้เกษมปลอดภัยแล้ว ด้วยประการฉะนี้”
[๒๗๓] พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร] ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์

“มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า
อาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา
บุตรภรรยาเป็นทิศเบื้องหลัง
มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย
ทาสกรรมกรเป็นทิศเบื้องล่าง
สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน
คฤหัสถ์ในตระกูลผู้มีความสามารถ๑ พึงไหว้ทิศเหล่านี้
บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
เป็นคนละเอียดและมีไหวพริบ๒
มีความประพฤติเจียมตน
ไม่แข็งกระด้าง เช่นนั้น ย่อมได้ยศ
คนขยัน ไม่เกียจคร้าน
ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย
คนมีความประพฤติไม่ขาดตอน๓
มีปัญญาเช่นนั้น ย่อมได้ยศ
คนชอบสงเคราะห์
ชอบสร้างไมตรี รู้เรื่องที่เขาบอก๔
ปราศจากความตระหนี่ เป็นผู้ชอบแนะนำ
ชี้แจงแสดงเหตุผล เช่นนั้น ย่อมได้ยศ

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีความสามารถ ในที่นี้หมายถึงผู้มีความสามารถที่จะครองเรือน คือเลี้ยงดูบุตรและภรรยาให้เป็นสุขได้
(ที.ปา.อ. ๒๗๓/๑๕๐)
๒ มีไหวพริบ ในที่นี้หมายถึงมีความเฉลียวฉลาดในการไหว้ทิศ คือเข้าใจความหมายของการไหว้อย่างถูกต้อง
(ที.ปา.อ. ๒๗๓/๑๕๐)
๓ ประพฤติไม่ขาดตอน ในที่นี้หมายถึงประพฤติต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย (ที.ปา.อ. ๒๗๓/๑๕๐)
๔ รู้เรื่องที่เขาบอก ในที่นี้หมายถึงรู้เรื่องที่บุพการีสั่งไว้ แล้วปฏิบัติตามนั้น (ที.ปา.อ. ๒๗๓/๑๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๘. สิงคาลกสูตร] ฉทิสาปฏิจฉาทนกัณฑ์

ทาน(การให้) เปยยวัชชะ(วาจาเป็นที่รัก)
อัตถจริยา(การประพฤติประโยชน์) ในโลกนี้
และสมานัตตตา(การวางตนสม่ำเสมอ)
ในธรรมนั้น ๆ ตามสมควร
สังคหธรรมเหล่านี้แลช่วยอุ้มชูโลก
เหมือนลิ่มสลักเพลาคุมรถที่แล่นไปไว้ได้ฉะนั้น
ถ้าไม่มีสังคหธรรมเหล่านี้
มารดาหรือบิดาก็ไม่พึงได้การนับถือ
หรือการบูชาเพราะบุตรเป็นเหตุ
แต่เพราะบัณฑิตเล็งเห็นความสำคัญของสังคหธรรมเหล่านี้
ฉะนั้น บัณฑิตเหล่านี้จึงถึงความเป็นใหญ่และเป็นผู้น่าสรรเสริญ”
[๒๗๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สิงคาลกะ คหบดีบุตร ได้กราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบ
เหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป
ในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค
พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระ
องค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

สิงคาลกสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๑

๙. อาฏานาฏิยสูตร
ว่าด้วยมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะ
ภาณวารที่ ๑

[๒๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์
ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์วางยามรักษาการณ์ไว้ทั้ง ๔ ทิศ วางกองกำลังไว้
ทั้ง ๔ ทิศ วางหน่วยป้องกันไว้ทั้ง ๔ ทิศ ด้วยกองทัพยักษ์หมู่ใหญ่ ด้วยกองทัพ
คนธรรพ์หมู่ใหญ่ ด้วยกองทัพกุมภัณฑ์หมู่ใหญ่ และด้วยกองทัพนาคหมู่ใหญ่
เมื่อราตรีผ่านไป๑ มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไสวทั่วภูเขาคิชฌกูฏ
แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
ฝ่ายยักษ์เหล่านั้น บางพวกถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันกับพระผู้มีพระภาค
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่แล้วนั่ง
ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและตระกูลแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกนั่งนิ่งเฉย
ณ ที่สมควร
[๒๗๖] ท้าวเวสวัณมหาราชประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยักษ์ชั้นสูงที่ไม่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาค
ก็มี ที่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นกลางที่ไม่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี
ที่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นต่ำที่ไม่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี ที่เลื่อมใส
พระผู้มีพระภาคก็มี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โดยมาก ยักษ์ไม่เลื่อมใสพระผู้มี
พระภาคเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้น
จากการฆ่าสัตว์ ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้
ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้น
จากการพูดเท็จ ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย

เชิงอรรถ :
๑ เมื่อราตรีผ่านไป หมายถึงปฐมยาม คือยามที่หนึ่งผ่านไป (ในคืนหนึ่ง แบ่งเป็น ๓ ยาม ยามละ ๔ ชั่วโมง
เรียกปฐมยาม มัชฌิมยามและปัจฉิมยาม ตามลำดับ) (ที.ม.อ. ๒๙๓/๒๕๙, ที.ปา.อ. ๒๗๕/๑๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๑

อันเป็นเหตุแห่งความประมาท แต่โดยมาก พวกยักษ์ไม่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
ไม่งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ ไม่งดเว้นจากการประพฤติผิด
ในกาม ไม่งดเว้นจากการพูดเท็จ ไม่งดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย
อันเป็นเหตุแห่งความประมาท การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อการงดเว้น
นั้นจึงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของยักษ์เหล่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีสาวก
ของพระผู้มีพระภาคที่อาศัยเสนาสนะเป็นป่าละเมาะ และป่าทึบ อันสงัด มีเสียงน้อย
มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับ
ของมนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น พวกยักษ์ชั้นสูงผู้อาศัยอยู่ในป่านั้นที่ไม่เลื่อมใสใน
พระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคนี้ก็มี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค
ทรงเรียนมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะ เพื่อให้ยักษ์เหล่านั้นเลื่อมใส เพื่อคุ้มครอง
เพื่อรักษา เพื่อไม่ถูกเบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
ลำดับนั้น ท้าวเวสวัณมหาราช ทรงทราบพระอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับ
แล้วจึงได้กราบทูลมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะนี้ ในเวลานั้นว่า
[๒๗๗] “ขอนอบน้อมพระวิปัสสีพุทธเจ้า
ผู้มีพระจักษุ มีพระสิริ
ขอนอบน้อมพระสิขีพุทธเจ้า
ผู้ทรงอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั่วหน้า
ขอนอบน้อมพระเวสสภูพุทธเจ้า
ผู้ทรงชำระกิเลส มีความเพียร
ขอนอบน้อมพระกกุสันธพุทธเจ้า
ผู้ทรงย่ำยีมารและกองทัพมาร
ขอนอบน้อมพระโกนาคมนพุทธเจ้า
ผู้มีบาปอันลอยแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๑

ขอนอบน้อมพระกัสสปพุทธเจ้า
ผู้หลุดพ้นในที่ทั้งปวง
ขอนอบน้อมพระอังคีรสพุทธเจ้าผู้ศากยบุตร
ผู้มีพระสิริ ผู้ทรงแสดงธรรมนี้
อันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวง
อนึ่ง พระพุทธเจ้าเหล่าใดเป็นผู้ดับกิเลสแล้วในโลก
ทรงเห็นแจ้งแล้วตามความเป็นจริง
พระพุทธเจ้าเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ส่อเสียด
เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนอบน้อมพระพุทธเจ้า
ผู้โคตมโคตรพระองค์ใด
ทรงเกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ทรงเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม
[๒๗๘] พระสุริยะ คือพระอาทิตย์
มีมณฑลใหญ่ ขึ้นทางทิศใด
เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น กลางคืนก็หายไป
และเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นเรียกกันว่ากลางวัน
ในที่ที่พระอาทิตย์ขึ้นนั้นมีห้วงน้ำลึก
คือ มหาสมุทรที่เต็มด้วยน้ำ
ชนทั้งหลายรู้จักห้วงน้ำนั้นว่าสมุทรที่เต็มด้วยน้ำ
คนเรียกทิศนั้นว่า ทิศนั้นเป็นทิศตะวันออกจากภูเขาสิเนรุนี้ไป
ซึ่งเป็นทิศที่ท้าวมหาราชผู้มียศองค์นั้นอภิบาลอยู่
ท้าวมหาราชนั้นมีพระนามว่าธตรฐ
ทรงเป็นหัวหน้าของพวกคนธรรพ์ มีคนธรรพ์แวดล้อม
ทรงโปรดปรานการร่ายรำและการขับร้อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๑

ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า
‘แม้โอรสของท้าวธตรฐจะมีมากก็มีพระนามเดียวกัน
คือทั้ง ๙๑ องค์ มีพระนามว่าอินทะ ต่างมีพลังมาก’
ท้าวธตรฐและพระโอรสเหล่านั้น
เห็นพระพุทธเจ้าผู้ตื่นแล้ว
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
พากันถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากครามครั่นคร้าม แต่ที่ไกล
ข้าแต่พระผู้ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบุรุษสูงสุด
ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรวจดูด้วยพระญาณอันฉลาดเถิด
แม้อมนุษย์ทั้งหลายก็ถวายอภิวาทพระองค์
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ก็ได้สดับเรื่องนี้มาเนือง ๆ ฉะนั้น จึงกราบทูลเช่นนี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเคยถามพวกอมนุษย์ว่า
‘พวกท่าน ถวายอภิวาทพระชินโคดมหรือ’
พวกอมนุษย์ตอบว่า
‘พวกเราถวายอภิวาทพระชินโคดม’
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขอถวายอภิวาทพระพุทธโคดม
ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๑

[๒๗๙] ชนทั้งหลายผู้ส่อเสียด
ผู้นินทาคนลับหลัง เป็นผู้ฆ่าสัตว์
เป็นนายพราน เป็นโจร เป็นคนตลบตะแลง
ตายแล้ว เขาบอกให้นำออกไปทางที่ใด
คนเรียกทิศนั้นว่า ทิศนั้นเป็นทิศใต้จากภูเขาสิเนรุนี้ไป
ซึ่งเป็นทิศที่ท้าวมหาราชผู้มียศองค์นั้นอภิบาลอยู่
ท้าวมหาราชนั้นมีพระนามว่าวิรุฬหะ
ทรงเป็นหัวหน้าของพวกกุมภัณฑ์ มีกุมภัณฑ์แวดล้อม
ทรงโปรดปรานการร่ายรำและการขับร้อง
ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า
‘แม้โอรสของท้าววิรุฬหะจะมีมากก็มีพระนามเดียวกัน
คือทั้ง ๙๑ องค์ มีพระนามว่าอินทะ ต่างมีพลังมาก’
ท้าววิรุฬหะและพระโอรสเหล่านั้น
เห็นพระพุทธเจ้าผู้ตื่นแล้ว
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
พากันถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ยิ่ง ปราศจากความครั่นคร้าม แต่ที่ไกล
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบุรุษสูงสุด
ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรวจดูด้วยพระญาณอันฉลาดเถิด
แม้อมนุษย์ทั้งหลายก็ถวายอภิวาทพระองค์
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ก็ได้สดับเรื่องนั้นมาเนือง ๆ ฉะนั้น จึงกราบทูลเช่นนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๑

ข้าพระองค์ทั้งหลายถามพวกอมนุษย์ว่า
‘พวกท่านถวายอภิวาทพระชินโคดมหรือ’
พวกอมนุษย์ตอบว่า
‘พวกเราถวายอภิวาทพระชินโคดม’
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขอถวายอภิวาทพระพุทธโคดม
ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
[๒๘๐] พระสุริยะ คือพระอาทิตย์
มีมณฑลใหญ่ ตกทางทิศใด
เมื่อพระอาทิตย์ตก กลางวันก็หายไป
และเมื่อพระอาทิตย์ตกเรียกกันว่ากลางคืน
ในที่ที่พระอาทิตย์ตกนั้น มีห้วงน้ำลึก
คือมหาสมุทรที่เต็มด้วยน้ำ
ชนทั้งหลายรู้จักห้วงน้ำนั้นว่า สมุทรที่เต็มด้วยน้ำ
คนเรียกทิศนั้นว่า ทิศนั้นเป็นทิศตะวันตกจากภูเขาสิเนรุนี้ไป
ซึ่งเป็นทิศที่ท้าวมหาราชผู้มียศองค์นั้นอภิบาลอยู่
ท้าวมหาราชนั้นมีพระนามว่าวิรูปักษ์
ทรงเป็นหัวหน้าของพวกนาค มีนาคแวดล้อม
ทรงโปรดปรานการร่ายรำและการขับร้อง
ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า
‘แม้โอรสของท้าววิรูปักษ์จะมีมาก ก็มีพระนามเดียวกัน
คือทั้ง ๙๑ องค์ มีพระนามว่าอินทะ ต่างมีพลังมาก’
ท้าววิรูปักษ์ และโอรสเหล่านั้น
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ตื่นแล้ว
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๑

พากันถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม แต่ที่ไกล
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบุรุษสูงสุด
ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรวจดูด้วยพระญาณอันฉลาดเถิด
แม้อมนุษย์ทั้งหลายก็ถวายอภิวาทพระองค์
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ก็ได้สดับเรื่องนี้มาเนือง ๆ ฉะนั้น จึงกราบทูลเช่นนี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถามพวกอมนุษย์ว่า
‘พวกท่านถวายอภิวาทพระชินโคดมหรือ’
พวกอมนุษย์ตอบว่า
‘พวกเราถวายอภิวาทพระชินโคดม’
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขอถวายอภิวาทพระพุทธโคดม
ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
[๒๘๑] อุตตรกุรุทวีปเป็นรมณียสถาน
มีภูเขาหลวงชื่อสิเนรุ แลดูงดงาม ตั้งอยู่ทางทิศใด
พวกมนุษย์ซึ่งเกิดในอุตตรกุรุทวีปนั้น
ไม่ยึดถือสิ่งใดว่าเป็นของตน ไม่ถือครอง
มนุษย์เหล่านั้น ไม่ต้องหว่านพืช
ไม่ต้องนำไถออกไถ
หมู่มนุษย์บริโภคข้าวสาลี
อันผลิผลในที่ที่ไม่ต้องไถ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๑

พวกเขาหุงข้าวสาลีอันไม่มีรำ ไม่มีแกลบ
บริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร
บนเตาอันปราศจากควันและถ่าน๑
แล้วบริโภคโภชนะจากที่นั้น
พวกเขาใช้แม่โคแทนม้ากีบเดี่ยว
แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ใช้สัตว์เลี้ยงแทนม้ากีบเดี่ยว แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ใช้หญิงเป็นพาหนะ๒ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ใช้ชายเป็นพาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ใช้เด็กหญิงเป็นพาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ใช้เด็กชายเป็นพาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
พระสนมทั้งหลายของท้าวมหาราชนั้น
ก็ขึ้นสู่ยานเหล่านั้น ตามห้อมล้อมไปทุกทิศ
ยานช้าง ยานม้า ยานทิพย์ ปราสาท และวอ
บังเกิดแก่ท้าวมหาราชผู้มียศ
ท้าวเธอทรงมีเมืองหลายเมืองที่สร้างในอากาศ
คือ เมืองอาฏานาฏา เมืองกุสินาฏา
เมืองปรกุสินาฏา เมืองนาฏปริยา เมืองปรกุสิฏนาฏา

เชิงอรรถ :
๑ เตาอันปราศจากควันและถ่าน ในที่นี้หมายถึงเตาที่ใช้หินซึ่งมีความร้อนในตัวเอง ๓ ก้อนวางเป็นสามเส้า
แล้วนำหม้อข้าวที่บรรจุข้าวสารวางไว้บนก้อนเส้านั้น แล้วข้าวก็จะสุกด้วยความร้อนที่เกิดจากก้อนเส้านั้น
(ที.ปา.อ. ๒๘๑/๑๕๗)
๒ ใช้หญิงเป็นพาหนะในที่นี้หมายถึงจับผู้หญิงท้องมาเทียมยานให้ลากไปเหมือนม้ากีบเดี่ยว(ที.ปา.อ.
๒๘๑/๑๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๑

ทางทิศเหนือ มีเมืองกปีวันตะ
และมีอีกเมืองหนึ่งชื่อชโนฆะ
อีกเมืองหนึ่งชื่อนวนวติยะ
และมีอีกเมืองหนึ่งชื่ออัมพรอัมพรวติยะ
มีราชธานีชื่ออาฬกมันทา
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ท้าวกุเวรมหาราช
มีราชธานีชื่อวิสาณา
ฉะนั้น มหาชนจึงเรียกท้าวกุเวรมหาราชว่า ‘ท้าวเวสวัณ’
ยักษ์ชื่อตโตลา ชื่อตัตตลา
ชื่อตโตตลา ชื่อโอชสี ชื่อเตชสี ชื่อตโตชสี
ชื่อสุระ ชื่อราชา ชื่อสูโรราชา
ชื่ออริฏฐะ ชื่อเนมิ ชื่ออริฏฐเนมิ
ต่างทำหน้าที่หาข่าวและประกาศให้ทราบ๑
ในวิสาณาราชธานีนั้น มีห้วงน้ำชื่อธรณี
ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดเมฆ เกิดฝนตก
ในวิสาณาราชธานีนั้น มีสภาชื่อภคลวดี
เป็นที่ประชุมของพวกยักษ์
มีต้นไม้ทั้งหลาย ผลิผลเป็นนิจ
ดารดาษด้วยหมู่นกชนิดต่าง ๆ
มีเสียงร้องของนกยูง นกกะเรียน
และเสียงขับกล่อมจากนกดุเหว่า เป็นต้น

เชิงอรรถ :
๑ ต่างทำหน้าที่หาข่าวและประกาศให้ทราบ หมายถึงยักษ์ผู้ครองเมืองแต่ละตน แยกกันทำหน้าที่ดูแล
รักษาผลประโยชน์ของเมืองนั้นและแจ้งข่าวแก่ยักษ์ผู้เฝ้าประตูในทิศต่าง ๆ ๑๒ ทิศ ของวิสาณาราชธานี
เพื่อให้นำไปถวายแก่ท้าวเวสวัณ (ที.ปา.อ. ๒๘๑/๑๕๙, ที.ปา.ฏีกา ๒๘๑/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๑

ในวิสาณาราชธานีนั้น มีเสียงร้องของนกชีวัญชีวกะ
และนกโอฏฐวจิตตกะ มีไก่ป่า
ในสระบัวมีปูทอง และนกชื่อโปกขรสาตกะ
ในวิสาณาราชธานีนั้น มีเสียงนกแก้ว
นกสาลิกา และหมู่นกทัณฑมาณวะ๑
สระบัวของท้าวกุเวรนั้น จึงงามตลอดกาลทุกเมื่อ
คนเรียกทิศนั้นว่า ทิศนั้นเป็นทิศเหนือจากภูเขาสิเนรุนี้ไป
ซึ่งเป็นทิศที่ท้าวมหาราชผู้ทรงยศองค์นั้นอภิบาลอยู่
ท้าวมหาราชนั้นมีพระนามว่าท้าวกุเวร
ทรงเป็นหัวหน้าของพวกยักษ์ มียักษ์แวดล้อม
ทรงโปรดปรานการร่ายรำและการขับร้อง
ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า
‘แม้โอรสของท้าวกุเวรจะมีมาก แต่มีพระนามเดียวกัน
คือ ทั้ง ๙๑ องค์ มีพระนามว่าอินทะ ต่างมีพลังมาก’
ท้าวกุเวรและโอรสเหล่านั้น
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ตื่นแล้ว
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
พากันถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม แต่ที่ไกล
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบุรุษสูงสุด

เชิงอรรถ :
๑ นกฑัณฑมาณวะ หมายถึงนกที่มีหน้าเหมือนคนซึ่งชอบนำท่อนไม้สีทองมาวางไว้บนใบบัว (ที.ปา.อ. ๒๘๑/๑๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๑

ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรวจดูด้วยพระญาณอันฉลาดเถิด
แม้อมนุษย์ทั้งหลายก็ถวายอภิวาทพระองค์
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ได้สดับเรื่องนั้นมาเนือง ๆ ฉะนั้น จึงกราบทูลเช่นนี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถามพวกอมนุษย์ว่า
‘พวกท่านถวายอภิวาทพระชินโคดมหรือ’
พวกอมนุษย์ตอบว่า
‘พวกเราถวายอภิวาทพระชินโคดม’
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขอถวายอภิวาทพระพุทธโคดม
ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้แหละ คือ มนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะนั้น
เพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่ถูกเบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย
[๒๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ผู้ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
หรืออุบาสิกา ผู้เรียนมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะนี้จนจบครบบริบูรณ์แล้ว
หากว่าอมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ ยักษิณี บุตรยักษ์ ธิดายักษ์ มหาอำมาตย์
ของยักษ์ บริวารของยักษ์ ผู้รับใช้ของยักษ์ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนธรรพ์ นางคนธรรพ์
บุตรคนธรรพ์ ธิดาคนธรรพ์ มหาอำมาตย์ของคนธรรพ์ บริวารของคนธรรพ์ ผู้รับใช้
ของคนธรรพ์ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นกุมภัณฑ์ นางกุมภัณฑ์ บุตรกุมภัณฑ์ ธิดากุมภัณฑ์
มหาอำมาตย์ของกุมภัณฑ์ บริวารของกุมภัณฑ์ ผู้รับใช้ของกุมภัณฑ์ก็ตาม ไม่ว่า
จะเป็นนาค นางนาค บุตรนาค ธิดานาค มหาอำมาตย์ของนาค บริวารของนาค
ผู้รับใช้ของนาคก็ตาม มีจิตประทุษร้าย เดินตามภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๑

ผู้กำลังเดินไป ยืนใกล้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ผู้ยืนอยู่ นั่งใกล้ภิกษุ
ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ผู้นั่งอยู่ หรือนอนใกล้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรือ
อุบาสิกา ผู้นอนอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อมนุษย์นั้นไม่พึงได้สักการะ หรือความเคารพ ในหมู่
บ้านหรือในนิคมของข้าพระพุทธเจ้า ไม่พึงได้พื้นที่บ้าน หรือที่อยู่ในราชธานีชื่อว่า
อาฬกมันทาของข้าพระพุทธเจ้า ไม่อาจเข้าสมาคมของพวกยักษ์ของข้าพระพุทธเจ้า
อีกประการหนึ่ง อมนุษย์ทั้งหลายไม่พึงทำอาวาหมงคลหรือวิวาหมงคลกับ
อมนุษย์นั้น
อีกประการหนึ่ง อมนุษย์ทั้งหลายด่าอมนุษย์นั้นด้วยคำด่าที่ตรงตัวเต็มปาก
เต็มคำ๑
อีกประการหนึ่ง อมนุษย์ทั้งหลายพึงเอาบาตรเปล่าครอบศีรษะอมนุษย์นั้น
อีกประการหนึ่ง อมนุษย์ทั้งหลายพึงผ่าศีรษะอมนุษย์นั้นออกเป็น ๗ เสี่ยง
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ มีอมนุษย์ทั้งหลาย ที่ดุร้าย โหดเหี้ยม ทำเกินเหตุ
อมนุษย์เหล่านั้นไม่เชื่อฟังท้าวมหาราช ไม่เชื่อฟังเสนาบดีของท้าวมหาราช ไม่เชื่อฟัง
ผู้ช่วยเสนาบดีของท้าวมหาราช ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อมนุษย์เหล่านั้น เรียกว่า
เป็นศัตรูของท้าวมหาราช เหมือนมหาโจรทั้งหลายในแว่นแคว้นของพระราชาผู้ครอง
แคว้นมคธ มหาโจรเหล่านั้นไม่เชื่อฟังพระราชาผู้ครองแคว้นมคธ ไม่เชื่อฟังเสนาบดี
ของพระราชาผู้ครองแคว้นมคธ ไม่เชื่อฟังผู้ช่วยเสนาบดีของพระราชาผู้ครองแคว้น
มคธ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ มหาโจรเหล่านั้น เรียกว่า เป็นศัตรูของพระราชา
ผู้ครองแคว้นมคธ ฉันใด มีอมนุษย์ทั้งหลาย ที่ดุร้าย โหดเหี้ยม ทำเกินเหตุ อมนุษย์
เหล่านั้น ไม่เชื่อฟังท้าวมหาราช ไม่เชื่อฟังเสนาบดีของท้าวมหาราช ไม่เชื่อฟังผู้ช่วย
เสนาบดีของท้าวมหาราช ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อมนุษย์เหล่านั้น เรียกว่า เป็น
ศัตรูของท้าวมหาราช ฉันนั้นเหมือนกัน

เชิงอรรถ :
๑ คำด่าที่ตรงตัวเต็มปากเต็มคำ ในที่นี้หมายถึงคำด่ากระทบถึงอวัยวะส่วนตัวของผู้ถูกด่า ที่ชัดถ้อยชัดคำ
ไม่อ้อมค้อม เช่น ไอ้ตาเข ไอ้ฟันเหยิน (ที.ปา.อ. ๒๘๒/๑๖๐-๑๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๑

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ ยักษิณี บุตรยักษ์
ธิดายักษ์ มหาอำมาตย์ของยักษ์ บริวารของยักษ์ ผู้รับใช้ของยักษ์ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น
คนธรรพ์ นางคนธรรพ์ บุตรคนธรรพ์ ธิดาคนธรรพ์ มหาอำมาตย์ของคนธรรพ์
บริวารของคนธรรพ์ ผู้รับใช้ของคนธรรพ์ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นกุมภัณฑ์ นางกุมภัณฑ์
บุตรกุมภัณฑ์ ธิดากุมภัณฑ์ มหาอำมาตย์ของกุมภัณฑ์ บริวารของกุมภัณฑ์ ผู้รับ
ใช้ของกุมภัณฑ์ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนาค นางนาค บุตรนาค ธิดานาค มหาอำมาตย์
ของนาค บริวารของนาค ผู้รับใช้ของนาคก็ตาม มีจิตประทุษร้าย เดินตามภิกษุ
ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ผู้กำลังเดินอยู่ ยืนใกล้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรือ
อุบาสิกา ผู้ยืนอยู่ นั่งใกล้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ผู้นั่งอยู่ หรือนอนใกล้
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ผู้นอนอยู่ พึงกล่าวโทษ ร้องทุกข์ ร้องเรียน
ต่อยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดียักษ์ มหาเสนาบดียักษ์เหล่านี้ว่า ‘ยักษ์นี้สิง ยักษ์นี้
เข้าสิง ยักษ์นี้ระราน ยักษ์นี้รุกราน ยักษ์นี้เบียดเบียน ยักษ์นี้บีบคั้น ยักษ์นี้ไม่
ยอมปล่อย’
[๒๘๓] ยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดียักษ์ มหาเสนาบดียักษ์ คือใคร
คือ อินทะ ๑ โสมะ ๑ วรุณะ ๑
ภารทวาชะ ๑ ปชาบดี ๑ จันทนะ ๑ กามเสฏฐะ ๑
กินนุฆัณฑุ ๑ นิฆัณฑุ ๑ ปนาทะ ๑
โอปมัญญะ ๑ เทวสูตะ ๑ มาตลิ ๑
จิตตเสนะ ๑ คันธัพพะ ๑ นโฬราชา ๑
ชโนสภะ ๑ สาตาคิระ ๑ เหมวตะ ๑
ปุณณกะ ๑ กรติยะ ๑ คุฬะ ๑
สิวกะ ๑ มุจลินทะ ๑ เวสสามิตตะ ๑
ยุคันธระ ๑ โคปาละ ๑ สุปปเคธะ ๑ หิริ ๑
เนตติ ๑ มันทิยะ ๑ ปัญจาลจันทะ ๑
อาฬวกะ ๑ ปชุนนะ ๑ สุมนะ ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๑

สุมุขะ ๑ ทธิมุขะ ๑ มณิ ๑
มานิจระ ๑ ทีฆะ ๑ รวมทั้งเสรีสกะด้วย
พุทธบริษัท พึงกล่าวโทษ ร้องทุกข์ ร้องเรียนต่อยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดียักษ์
มหาเสนาบดียักษ์เหล่านี้ว่า ‘ยักษ์นี้สิง ยักษ์นี้เข้าสิง ยักษ์นี้ระราน ยักษ์นี้รุกราน
ยักษ์นี้เบียดเบียน ยักษ์นี้บีบคั้น ยักษ์นี้ไม่ยอมปล่อย’
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้แหละ คือ มนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะ เพื่อ
คุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
อุบาสิกาทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอทูลลากลับ เพราะ
มีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำมาก พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาราชทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงกำหนดเวลา
ที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
[๒๘๔] ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ลุกจากที่ประทับถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาค กระทำประทักษิณแล้วอันตรธาน(หายตัว)ไป ณ ที่นั้นเอง แม้พวกยักษ์
เหล่านั้นก็ลุกจากที่นั่ง บางพวกก็ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ
แล้วอันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง บางพวกสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็น
ที่ระลึกถึงกันกับพระผู้มีพระภาคแล้วอันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง บางพวกประนมมือ
ไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่แล้วอันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง บางพวกประกาศ
ชื่อและโคตรแล้วอันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง บางพวกอันตรธานไปเสียเฉย ๆ ณ ที่
นั้นเอง

ภาณวารที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๒

ภาณวารที่ ๒

[๒๘๕] เมื่อราตรีนั้นล่วงไป พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา
ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตลอดราตรีนี้ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์วางยามรักษาการณ์ไว้
ทั้ง ๔ ทิศ วางกองกำลังไว้ทั้ง ๔ ทิศ วางหน่วยป้องกันไว้ทั้ง ๔ ทิศ ด้วยกองทัพ
ยักษ์หมู่ใหญ่ ด้วยกองทัพคนธรรพ์หมู่ใหญ่ ด้วยกองทัพกุมภัณฑ์หมู่ใหญ่ และด้วย
กองทัพนาคหมู่ใหญ่ เมื่อราตรีนั้นผ่านไป มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้
สว่างไสวทั่วภูเขาคิชฌกูฏแล้ว เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ยักษ์เหล่านั้น บางพวกไหว้เราแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกสนทนาปราศรัย
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันกับเราแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก
ประนมมือมาทางที่เราอยู่ นั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและโคตรแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร บางพวกนั่งนิ่งเฉย ณ ที่สมควร
[๒๘๖] ภิกษุทั้งหลาย ท้าวเวสวัณมหาราชประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว
ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยักษ์ชั้นสูงที่ไม่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาค
ก็มี ที่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นกลางที่ไม่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี
ที่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี ยักษ์ชั้นต่ำที่ไม่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคก็มี ที่เลื่อมใส
พระผู้มีพระภาคก็มี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โดยมาก ยักษ์ไม่เลื่อมใสพระผู้มีพระภาค
เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการ
ฆ่าสัตว์ ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ ทรงแสดง
ธรรมเพื่องดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการ
พูดเท็จ ทรงแสดงธรรมเพื่องดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็น
เหตุแห่งความประมาท แต่โดยมาก พวกยักษ์ไม่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ไม่งดเว้น
จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ ไม่งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ไม่งดเว้น
จากการพูดเท็จ ไม่งดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่ง
ความประมาท การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อการงดเว้นนั้นจึงไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่ชอบใจของยักษ์เหล่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีสาวกของพระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๒

ที่อาศัยเสนาสนะอันเป็นป่าละเมาะและป่าทึบ อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึก
น้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์
ควรแก่การหลีกเร้น พวกยักษ์ชั้นสูงผู้อาศัยอยู่ในป่านั้นที่ไม่เลื่อมใสในพระธรรม-
วินัยของพระผู้มีพระภาคนี้ก็มี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคทรงเรียน
มนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะ เพื่อให้ยักษ์เหล่านั้นเลื่อมใส เพื่อคุ้มครอง เพื่อ
รักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า’ ภิกษุทั้งหลาย เรารับนิมนต์ด้วยอาการดุษณี
ลำดับนั้น ท้าวเวสวัณมหาราช ทราบอาการที่เรารับแล้วจึงได้กล่าวมนต์เครื่อง
รักษาชื่ออาฏานาฏิยะนี้ ในเวลานั้นว่า
[๒๘๗] “๑ขอนอบน้อมพระวิปัสสีพุทธเจ้า
ผู้มีพระจักษุ มีพระสิริ
ขอนอบน้อมพระสิขีพุทธเจ้า
ผู้ทรงอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั่วหน้า
ขอนอบน้อมพระเวสสภูพุทธเจ้า
ผู้ทรงชำระกิเลส มีความเพียร
ขอนอบน้อมพระกกุสันธพุทธเจ้า
ผู้ทรงย่ำยีมารและกองทัพมาร
ขอนอบน้อมพระโกนาคมนพุทธเจ้า
ผู้มีบาปอันลอยแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์
ขอนอบน้อมพระกัสสปพุทธเจ้า
ผู้หลุดพ้นในที่ทั้งปวง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ข้อ ๒๗๗-๒๘๒ หน้า ๒๒๐-๒๓๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๒

ขอนอบน้อมพระอังคีรสพุทธเจ้าผู้ศากยบุตร
ผู้มีพระสิริ ผู้ทรงแสดงธรรมนี้
อันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวง
อนึ่ง พระพุทธเจ้าเหล่าใดเป็นผู้ดับกิเลสแล้วในโลก
ทรงเห็นแจ้งแล้วตามความเป็นจริง
พระพุทธเจ้าเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ส่อเสียด
เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนอบน้อมพระพุทธเจ้า
ผู้โคตมโคตรพระองค์ใด
ทรงเกื้อกูลแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ทรงเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม
[๒๘๘] พระสุริยะ คือพระอาทิตย์
มีมณฑลใหญ่ ขึ้นทางทิศใด
เมื่อพระอาทิตย์ขึ้น กลางคืนก็หายไป
และเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นเรียกกันว่ากลางวัน
ในที่ที่พระอาทิตย์ขึ้นนั้นมีห้วงน้ำลึก
คือ มหาสมุทรที่เต็มด้วยน้ำ
ชนทั้งหลายรู้จักห้วงน้ำนั้นว่าสมุทรที่เต็มด้วยน้ำ
คนเรียกทิศนั้นว่า ทิศนั้นเป็นทิศตะวันออกจากภูเขาสิเนรุนี้ไป
ซึ่งเป็นทิศที่ท้าวมหาราชผู้มียศองค์นั้นอภิบาลอยู่
ท้าวมหาราชนั้นมีพระนามว่าธตรฐ
ทรงเป็นหัวหน้าของพวกคนธรรพ์ มีคนธรรพ์แวดล้อม
ทรงโปรดปรานการร่ายรำและการขับร้อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๒

ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า
‘แม้โอรสของท้าวธตรฐจะมีมากก็มีพระนามเดียวกัน
คือ ทั้ง ๙๑ องค์ มีพระนามว่าอินทะ ต่างมีพลังมาก’
ท้าวธตรฐและพระโอรสเหล่านั้น
เห็นพระพุทธเจ้าผู้ตื่นแล้ว
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
พากันถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม แต่ที่ไกล
ข้าแต่พระผู้ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบุรุษสูงสุด
ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรวจดูด้วยพระญาณอันฉลาดเถิด
แม้อมนุษย์ทั้งหลายก็ถวายอภิวาทพระองค์
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ก็ได้สดับเรื่องนี้มาเนือง ๆ ฉะนั้น จึงกราบทูลเช่นนี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเคยถามพวกอมนุษย์ว่า
‘พวกท่านถวายอภิวาทพระชินโคดมหรือ’
พวกอมนุษย์ตอบว่า
‘พวกเราถวายอภิวาทพระชินโคดม’
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขอถวายอภิวาทพระพุทธโคดม
ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๒

[๒๘๙] ชนทั้งหลายผู้ส่อเสียด
ผู้นินทาคนลับหลัง เป็นผู้ฆ่าสัตว์
เป็นนายพราน เป็นโจร เป็นคนตลบตะแลง
ตายแล้ว เขาบอกให้นำออกไปทางทิศใด
คนเรียกทิศนั้นว่า ทิศนั้นเป็นทิศใต้จากภูเขาสิเนรุนี้ไป
ซึ่งเป็นทิศที่ท้าวมหาราชผู้มียศองค์นั้นอภิบาลอยู่
ท้าวมหาราชนั้นมีพระนามว่าวิรุฬหะ
ทรงเป็นหัวหน้าพวกกุมภัณฑ์ มีกุมภัณฑ์แวดล้อม
ทรงโปรดปรานการร่ายรำและการขับร้อง
ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า
‘แม้โอรสของท้าววิรุฬหะจะมีมากก็มีพระนามเดียวกัน
คือ ทั้ง ๙๑ องค์ มีพระนามว่าอินทะ ต่างมีพลังมาก’
ท้าววิรุฬหะและพระโอรสเหล่านั้น
เห็นพระพุทธเจ้าผู้ตื่นแล้ว
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
พากันถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ยิ่ง ปราศจากความครั่นคร้าม แต่ที่ไกล
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบุรุษสูงสุด
ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรวจดูด้วยพระญาณอันฉลาดเถิด
แม้อมนุษย์ทั้งหลายก็ถวายอภิวาทพระองค์
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ก็ได้สดับเรื่องนั้นมาเนือง ๆ ฉะนั้น จึงกราบทูลเช่นนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๒

ข้าพระองค์ทั้งหลายถามพวกอมนุษย์ว่า
‘พวกท่านถวายอภิวาทพระชินโคดมหรือ’
พวกอมนุษย์ตอบว่า
‘พวกเราถวายอภิวาทพระชินโคดม’
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขอถวายอภิวาทพระพุทธโคดม
ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
[๒๙๐] พระสุริยะ คือพระอาทิตย์
มีมณฑลใหญ่ ตกทางทิศใด
เมื่อพระอาทิตย์ตก กลางวันก็หายไป
และเมื่อพระอาทิตย์ตกเรียกกันว่ากลางคืน
ในที่ที่พระอาทิตย์ตกนั้น มีห้วงน้ำลึก
คือมหาสมุทรที่เต็มด้วยน้ำ
ชนทั้งหลายรู้จักห้วงน้ำนั้นว่า สมุทรที่เต็มด้วยน้ำ
คนเรียกทิศนั้นว่า ทิศนั้นเป็นทิศตะวันตกจากภูเขาสิเนรุนี้ไป
ซึ่งเป็นทิศที่ท้าวมหาราชผู้มียศองค์นั้นอภิบาลอยู่
ท้าวมหาราชนั้นมีพระนามว่าวิรูปักษ์
ทรงเป็นหัวหน้าของพวกนาค มีนาคแวดล้อม
ทรงโปรดปรานการร่ายรำและการขับร้อง
ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า
‘แม้โอรสของท้าววิรูปักษ์จะมีมาก ก็มีพระนามเดียวกัน
คือ ทั้ง ๙๑ องค์ มีพระนามว่าอินทะ ต่างมีพลังมาก’
ท้าววิรูปักษ์ และโอรสเหล่านั้น
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ตื่นแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๒

ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
พากันถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม แต่ที่ไกล
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบุรุษสูงสุด
ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรวจดูด้วยพระญาณอันฉลาดเถิด
แม้อมนุษย์ทั้งหลายก็ถวายอภิวาทพระองค์
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ก็ได้สดับเรื่องนี้มาเนือง ๆ ฉะนั้น จึงกราบทูลเช่นนี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถามพวกอมนุษย์ว่า
‘พวกท่านถวายอภิวาทพระชินโคดมหรือ’
พวกอมนุษย์ตอบว่า
‘พวกเราถวายอภิวาทพระชินโคดม’
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขอถวายอภิวาทพระพุทธโคดม
ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
[๒๙๑] อุตตรกุรุทวีปเป็นรมณียสถาน
มีภูเขาหลวงชื่อสิเนรุ แลดูงดงาม ตั้งอยู่ทางทิศใด
พวกมนุษย์ซึ่งเกิดในอุตตรกุรุทวีปนั้น
ไม่ยึดถือสิ่งใดว่าเป็นของตน ไม่ถือครอง
มนุษย์เหล่านั้น ไม่ต้องหว่านพืช
ไม่ต้องนำไถออกไถ
หมู่มนุษย์บริโภคข้าวสาลี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๒

อันผลิผลในที่ที่ไม่ต้องไถ
พวกเขาหุงข้าวสาลีอันไม่มีรำ ไม่มีแกลบ
บริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร
บนเตาอันปราศจากควันและถ่าน
แล้วบริโภคโภชนะจากที่นั้น
พวกเขาใช้แม่โคแทนม้ากีบเดี่ยว
แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ใช้สัตว์เลี้ยงแทนม้ากีบเดี่ยว แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ใช้หญิงเป็นพาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ใช้ชายเป็นพาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ใช้เด็กหญิงเป็นพาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ใช้เด็กชายเป็นพาหนะ แล้วเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
พระสนมทั้งหลายของท้าวมหาราชนั้น
ก็ขึ้นสู่ยานเหล่านั้น ตามห้อมล้อมไปทุกทิศ
ยานช้าง ยานม้า ยานทิพย์ ปราสาท และวอ
บังเกิดแก่ท้าวมหาราชผู้มียศ
ท้าวเธอทรงมีเมืองหลายเมืองที่สร้างในอากาศ
คือ เมืองอาฏานาฏา เมืองกุสินาฏา
เมืองปรกุสินาฏา เมืองนาฏปริยา เมืองปรกุสิฏนาฏา
ทางทิศเหนือ มีเมืองกปีวันตะ
และมีอีกเมืองหนึ่งชื่อชโนฆะ
อีกเมืองหนึ่งชื่อนวนวติยะ
และมีอีกเมืองหนึ่งชื่ออัมพรอัมพรวติยะ
มีราชธานีชื่ออาฬกมันทา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๒

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ท้าวกุเวรมหาราช
มีราชธานีชื่อวิสาณา
ฉะนั้น มหาชนจึงเรียกท้าวกุเวรมหาราชว่า ‘ท้าวเวสวัณ’
ยักษ์ชื่อตโตลา ชื่อตัตตลา
ชื่อตโตตลา ชื่อโอชสี ชื่อเตชสี ชื่อตโตชสี
ชื่อสุระ ชื่อราชา ชื่อสูโรราชา
ชื่ออริฏฐะ ชื่อเนมิ ชื่ออริฏฐเนมิ
ต่างทำหน้าที่หาข่าวและประกาศให้ทราบ
ในวิสาณาราชธานีนั้น มีห้วงน้ำชื่อธรณี
ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดเมฆ เกิดฝนตก
ในวิสาณาราชธานีนั้น มีสภาชื่อภคลวดี
เป็นที่ประชุมของพวกยักษ์
มีต้นไม้ทั้งหลาย ผลิผลเป็นนิจ
ดารดาษด้วยหมู่นกชนิดต่าง ๆ
มีเสียงร้องของนกยูง นกกะเรียน
และเสียงขับกล่อมจากนกดุเหว่า เป็นต้น
ในวิสาณาราชธานีนั้น มีเสียงร้องของนกชีวัญชีวกะ
และนกโอฏฐวจิตตกะ มีไก่ป่า
ในสระบัวมีปูทองและนกชื่อโปกขรสาตกะ
ในวิสาณาราชธานีนั้น มีเสียงนกแก้ว
นกสาลิกาและหมู่นกทัณฑมาณวะ
สระบัวของท้าวกุเวรนั้น จึงงามตลอดกาลทุกเมื่อ
คนเรียกทิศนั้นว่า ทิศนั้นเป็นทิศเหนือจากภูเขาสิเนรุนี้ไป
ซึ่งเป็นทิศที่ท้าวมหาราชผู้ทรงยศองค์นั้นอภิบาลอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๒

ท้าวมหาราชนั้นมีพระนามว่าท้าวกุเวร
เป็นหัวหน้าของพวกยักษ์ มียักษ์แวดล้อม
ทรงโปรดปรานด้วยการร่ายรำและการขับร้อง
ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า
‘แม้โอรสของท้าวกุเวรจะมีมาก แต่มีพระนามเดียวกัน
คือ ทั้ง ๙๑ องค์ มีนามว่าอินทะ ต่างมีพลังมาก’
ท้าวกุเวรและโอรสเหล่านั้น
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ตื่นแล้ว
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
พากันถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม แต่ที่ไกล
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นบุรุษสูงสุด
ข้าพระพุทธเจ้าขอนอบน้อมพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรวจดูด้วยพระญาณอันฉลาดเถิด
แม้อมนุษย์ทั้งหลายก็ถวายอภิวาทพระองค์
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ก็ได้สดับเรื่องนั้นมาเนือง ๆ ฉะนั้น จึงกราบทูลเช่นนี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถามพวกอมนุษย์ว่า
‘พวกท่านถวายอภิวาทพระชินโคดมหรือ’
พวกอมนุษย์ตอบว่า
‘พวกเราถวายอภิวาทพระชินโคดม’
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขอถวายอภิวาทพระพุทธโคดม
ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๒

[๒๙๒] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้แหละ คือ มนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏา-
นาฏิยะนั้น เพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่ถูกเบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ
ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ผู้ใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรือ
อุบาสิกา ผู้เรียนมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะนี้จนจบครบบริบูรณ์แล้ว หากว่า
อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ ยักษิณี บุตรยักษ์ ธิดายักษ์ มหาอำมาตย์ของยักษ์
บริวารของยักษ์ ผู้รับใช้ของยักษ์ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนธรรพ์ นางคนธรรพ์ บุตร
คนธรรพ์ ธิดาคนธรรพ์ มหาอำมาตย์ของคนธรรพ์ บริวารของคนธรรพ์ ผู้รับใช้ของ
คนธรรพ์ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นกุมภัณฑ์ นางกุมภัณฑ์ บุตรกุมภัณฑ์ ธิดากุมภัณฑ์
มหาอำมาตย์ของกุมภัณฑ์ บริวารของกุมภัณฑ์ ผู้รับใช้ของกุมภัณฑ์ก็ตาม ไม่ว่า
จะเป็นนาค นางนาค บุตรนาค ธิดานาค มหาอำมาตย์ของนาค บริวารของนาค
ผู้รับใช้ของนาคก็ตาม มีจิตประทุษร้าย เดินตามภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา
ผู้กำลังเดินไป ยืนใกล้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ผู้ยืนอยู่ นั่งใกล้ภิกษุ
ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ผู้นั่งอยู่ หรือนอนใกล้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรือ
อุบาสิกา ผู้นอนอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อมนุษย์นั้นไม่พึงได้สักการะ หรือความเคารพ ในหมู่
บ้านหรือในนิคมของข้าพระพุทธเจ้า ไม่พึงได้พื้นที่บ้าน หรือที่อยู่ในราชธานีชื่อว่า
อาฬกมันทาของข้าพระพุทธเจ้า ไม่อาจเข้าสมาคมของพวกยักษ์ของข้าพระพุทธเจ้า
อีกประการหนึ่ง อมนุษย์ทั้งหลายไม่พึงทำอาวาหมงคลและวิวาหมงคลกับ
อมนุษย์นั้น
อีกประการหนึ่ง อมนุษย์ทั้งหลายด่าอมนุษย์นั้นด้วยคำด่าที่ตรงตัวเต็มปาก
เต็มคำ
อีกประการหนึ่ง อมนุษย์ทั้งหลายพึงเอาบาตรเปล่าครอบศีรษะอมนุษย์นั้น
อีกประการหนึ่ง อมนุษย์ทั้งหลายพึงผ่าศีรษะอมนุษย์นั้นออกเป็น ๗ เสี่ยง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๒

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ มีอมนุษย์ทั้งหลาย ที่ดุร้าย โหดเหี้ยม ทำเกินเหตุ
อมนุษย์เหล่านั้นไม่เชื่อฟังท้าวมหาราช ไม่เชื่อฟังเสนาบดีของท้าวมหาราช
ไม่เชื่อฟังผู้ช่วยเสนาบดีของท้าวมหาราช ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อมนุษย์เหล่านั้น
เรียกว่า เป็นศัตรูของท้าวมหาราช เหมือนมหาโจรทั้งหลายในแว่นแคว้นของพระราชา
ผู้ครองแคว้นมคธ มหาโจรเหล่านั้นไม่เชื่อฟังพระราชาผู้ครองแคว้นมคธ ไม่เชื่อฟัง
เสนาบดีของพระราชาผู้ครองแคว้นมคธ ไม่เชื่อฟังผู้ช่วยเสนาบดีของพระราชา
ผู้ครองแคว้นมคธ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ มหาโจรเหล่านั้น เรียกว่า เป็นศัตรูของ
พระราชาผู้ครองแคว้นมคธ ฉันใด มีอมนุษย์ทั้งหลาย ที่ดุร้าย โหดเหี้ยม ทำเกินเหตุ
อมนุษย์เหล่านั้น ไม่เชื่อฟังท้าวมหาราช ไม่เชื่อฟังเสนาบดีของท้าวมหาราช ไม่เชื่อฟัง
ผู้ช่วยเสนาบดีของท้าวมหาราช ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อมนุษย์เหล่านั้น เรียกว่า
เป็นศัตรูของท้าวมหาราช ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อมนุษย์ผู้ใดผู้หนึ่งไม่ว่าจะเป็นยักษ์ ยักษิณี บุตรยักษ์
ธิดายักษ์ มหาอำมาตย์ของยักษ์ บริวารของยักษ์ ผู้รับใช้ของยักษ์ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น
คนธรรพ์ นางคนธรรพ์ บุตรคนธรรพ์ ธิดาคนธรรพ์ มหาอำมาตย์ของคนธรรพ์
บริวารของคนธรรพ์ ผู้รับใช้ของคนธรรพ์ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นกุมภัณฑ์ นางกุมภัณฑ์
บุตรกุมภัณฑ์ ธิดากุมภัณฑ์ มหาอำมาตย์ของกุมภัณฑ์ บริวารของกุมภัณฑ์
ผู้รับใช้ของกุมภัณฑ์ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนาค นางนาค บุตรนาค ธิดานาค
มหาอำมาตย์ของนาค บริวารของนาค ผู้รับใช้ของนาคก็ตาม มีจิตประทุษร้าย
เดินตามภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ผู้กำลังเดินอยู่ ยืนใกล้ภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก หรืออุบาสิกา ผู้ยืนอยู่ นั่งใกล้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ผู้นั่งอยู่
หรือนอนใกล้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ผู้นอนอยู่ พึงกล่าวโทษ ร้องทุกข์
ร้องเรียนต่อยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดียักษ์ มหาเสนาบดียักษ์เหล่านี้ว่า ‘ยักษ์นี้สิง
ยักษ์นี้เข้าสิง ยักษ์นี้ระราน ยักษ์นี้รุกราน ยักษ์นี้เบียดเบียน ยักษ์นี้บีบคั้น ยักษ์นี้
ไม่ยอมปล่อย’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๒

[๒๙๓] ยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดียักษ์ มหาเสนาบดียักษ์ คือใคร
คือ อินทะ ๑ โสมะ ๑ วรุณะ ๑
ภารทวาชะ ๑ ปชาบดี ๑ จันทนะ ๑ กามเสฏฐะ ๑
กินนุฆัณฑุ ๑ นิฆัณฑุ ๑ ปนาทะ ๑
โอปมัญญะ ๑ เทวสูตะ ๑ มาตลิ ๑
จิตตเสนะ ๑ คันธัพพะ ๑ นโฬราชา ๑
ชโนสภะ ๑ สาตาคิระ ๑ เหมวตะ ๑
ปุณณกะ ๑ กรติยะ ๑ คุฬะ ๑
สิวกะ ๑ มุจลินทะ ๑ เวสสามิตตะ ๑
ยุคันธระ ๑ โคปาละ ๑ สุปปเคธะ ๑ หิริ ๑
เนตติ ๑ มันทิยะ ๑ ปัญจาลจันทะ ๑
อาฬวกะ ๑ ปชุนนะ ๑ สุมนะ ๑
สุมุขะ ๑ ทธิมุขะ ๑ มณิ ๑
มานิจระ ๑ ทีฆะ ๑ รวมทั้งเสรีสกะด้วย
พุทธบริษัท พึงกล่าวโทษ ร้องทุกข์ ร้องเรียนต่อยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดียักษ์
มหาเสนาบดียักษ์เหล่านี้ว่า ‘ยักษ์นี้สิง ยักษ์นี้เข้าสิง ยักษ์นี้ระราน ยักษ์นี้รุกราน
ยักษ์นี้เบียดเบียน ยักษ์นี้บีบคั้น ยักษ์นี้ไม่ยอมปล่อย’
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้แหละ คือ มนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะ เพื่อ
คุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก
อุบาสิกาทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอทูลลากลับ เพราะ
มีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำมาก พระพุทธเจ้าข้า’ เราได้กล่าวว่า ‘มหาราช
ทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๙. อาฎานาฎิยสูตร] ภาณวารที่ ๒

[๒๙๔] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ลุกจากที่ประทับ ไหว้เรา
กระทำประทักษิณแล้วอันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง แม้พวกยักษ์เหล่านั้นก็ลุกจากที่นั่ง
บางพวกก็ไหว้เรา กระทำประทักษิณแล้วอันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง บางพวกสนทนา
ปราศรัย พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันกับเราแล้วอันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง
บางพวกประนมมือมาทางที่เราอยู่แล้วอันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง บางพวกประกาศ
ชื่อและโคตรแล้วอันตรธานไป ณ ที่นั้นเอง บางพวกอันตรธานไปเสียเฉย ๆ ณ ที่
นั้นเอง
[๒๙๕] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเรียนมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะ
จงเล่าเรียนมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะ จงทรงจำมนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏา-
นาฏิยะไว้ ภิกษุทั้งหลาย มนต์เครื่องรักษาชื่ออาฏานาฏิยะนี้ ประกอบด้วยประโยชน์
เพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

อาฏานาฏิยสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร]
ท้องพระโรงหลังใหม่ชื่ออุพภตกะ

๑๐. สังคีติสูตร
ว่าด้วยการสังคายนา

[๒๙๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมัลละ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ได้เสด็จถึงกรุงปาวาของพวกเจ้ามัลละ ทราบว่า สมัยนั้น
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร๑ เขตกรุงปาวานั้น

ท้องพระโรงหลังใหม่ชื่ออุพภตกะ

[๒๙๗] สมัยนั้น ท้องพระโรงหลังใหม่อันมีนามว่า อุพภตกะ ที่พวกเจ้ามัลละ
กรุงปาวา โปรดให้สร้างสำเร็จแล้วได้ไม่นาน ยังไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ หรือใคร ๆ
ที่เป็นมนุษย์เข้าพักอาศัยเลย พวกเจ้ามัลละกรุงปาวาได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาค
เสด็จจาริกในแคว้นมัลละ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ได้เสด็จ
ถึงกรุงปาวาโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร เขต
กรุงปาวา ต่อมา พวกเจ้ามัลละกรุงปาวาได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ท้องพระโรงหลังใหม่อันมีนามว่า
อุพภตกะ ที่พวกเจ้ามัลละกรุงปาวา โปรดให้สร้างสำเร็จแล้วได้ไม่นาน ยังไม่มีสมณะ
หรือพราหมณ์ หรือใคร ๆ ที่เป็นมนุษย์เข้าพักอาศัยเลย ขอพระผู้มีพระภาคทรงใช้
ท้องพระโรงนั้นเป็นปฐมฤกษ์ด้วยเถิด พวกเจ้ามัลละกรุงปาวา จักใช้ภายหลังที่
พระผู้มีพระภาคทรงใช้เป็นปฐมฤกษ์แล้ว ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่
พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงปาวาตลอดกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
[๒๙๘] ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละกรุงปาวา ทรงทราบพระอาการที่พระผู้มี
พระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ กัมมารบุตร แปลว่าบุตรของนายช่างทอง (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗๖/๓๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร]
ท้องพระโรงหลังใหม่ชื่ออุพภตกะ

กระทำประทักษิณ๑แล้ว เสด็จเข้าไปยังท้องพระโรงหลังใหม่ แล้วจึงรับสั่งให้ปูเครื่องลาด
ทั่วท้องพระโรง ปูลาดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีปน้ำมัน แล้วเข้าเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ปูเครื่องลาด
ทั่วท้องพระโรง ปูลาดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีปน้ำมันแล้ว ขอพระผู้มี
พระภาคจงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
[๒๙๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เสด็จไปยังท้องพระโรงพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ทรงล้างพระบาทแล้วเสด็จเข้าสู่ท้อง
พระโรงประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
ฝ่ายภิกษุสงฆ์ล้างเท้าแล้วเข้าสู่ท้องพระโรงนั่งพิงฝาด้านทิศตะวันตก ผินหน้า
ไปทางทิศตะวันออกอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์พระผู้มีพระภาค
ส่วนพระเจ้ามัลละกรุงปาวาทรงล้างพระบาทแล้วเสด็จเข้าสู่ท้องพระโรงประทับ
นั่งพิงฝาทางด้านทิศตะวันออก ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตกอยู่เบื้องพระพักตร์
พระผู้มีพระภาค๒
จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พวกเจ้ามัลละกรุงปาวาเห็นชัด ชวนใจ
ให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาเกือบตลอดคืน แล้วทรงส่งไปด้วยพระดำรัสว่า “วาเสฏฐะทั้งหลาย
ราตรีผ่านไปมากแล้ว๓ ขอท่านทั้งหลายจงกำหนดเวลาสมควร ณ บัดนี้เถิด” พวกเจ้า
มัลละกรุงปาวาทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ทรงพากันลุกขึ้นจากที่ประทับ ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วเสด็จจากไป

เชิงอรรถ :
๑ กระทำประทักษิณ หมายถึงเดินเวียนขวา คือเดินพนมมือเวียนไปทางขวาตามเข็มนาฬิกา เป็นการแสดง
ความเคารพ ตามธรรมเนียมสมัยนั้น ต้องเดินเวียนขวา ๓ รอบ โดยมีพระผู้มีพระภาคอยู่ทางขวา เสร็จ
แล้วหันหน้าไปทางพระผู้มีพระภาค เดินถอยหลังจนสุดสายตา คือจนมองไม่เห็นพระผู้มีพระภาค คุกเข่า
ลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วเดินจากไป (วิ.อ. ๑/๑๕/๑๗๖-๑๗๗)
๒ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๔๓/๒๔๖
๓ ราตรีผ่านไปมากแล้ว หมายถึงเกือบสว่าง (ที.ม.อ. ๑๕๑/๑๔๐-๑๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] เรื่องนิครนถ์แตกกัน

[๓๐๐] ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาค เมื่อพวกเจ้ามัลละกรุงปาวาเสด็จจากไปแล้ว
ไม่นาน ทรงเหลียวดูหมู่ภิกษุผู้นั่งนิ่งแล้ว รับสั่งเรียกท่านพระสารีบุตรมาตรัสว่า
“สารีบุตร ภิกษุสงฆ์ปราศจากถีนมิทธะ สารีบุตร จงแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย
เราเมื่อยหลัง จักขอพักสักหน่อย” ท่านพระสารีบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
จากนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ปูสังฆาฏิซ้อนกัน ๔ ชั้น ทรงสำเร็จสีหไสยาโดย
พระปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท ทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงกำหนด
พระทัยพร้อมจะเสด็จลุกขึ้น

เรื่องนิครนถ์แตกกัน

[๓๐๑] สมัยนั้น นิครนถ์ นาฏบุตรได้ถึงแก่กรรมแล้วไม่นานที่กรุงปาวา
เพราะการถึงแก่กรรมของนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น พวกนิครนถ์จึงแตกกัน เกิดแยกกัน
เป็น ๒ พวก ต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า
“ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ แต่ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมวินัย ท่านจะรู้ทั่วถึงธรรมวินัย
นี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด แต่ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก คำพูดของข้าพเจ้ามีประโยชน์
แต่คำพูดของท่านไม่มีประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อน ท่านกลับพูดภายหลัง คำที่ควร
พูดภายหลัง ท่านกลับพูดก่อน เรื่องที่ท่านเคยชินได้ผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิด
คำพูดของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ถ้าท่านมีความสามารถ ก็จงหาทาง
แก้คำพูดหรือเปลื้องตนให้พ้นผิดเถิด” เห็นจะมีแต่การฆ่ากันเท่านั้นที่จะเป็นไปใน
พวกนิครนถ์ผู้เป็นสาวกของนิครนถ์ นาฏบุตร แม้พวกสาวกของนิครนถ์ นาฏบุตร
ที่เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ก็มีอาการเบื่อหน่าย คลายความรัก รู้สึกท้อถอยใน
พวกนิครนถ์ผู้เป็นสาวกของนิครนถ์ นาฏบุตร ทั้งนี้เพราะธรรมวินัยที่นิครนถ์ นาฏบุตร
กล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความ
สงบระงับ เป็นธรรมวินัยที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยที่มี
ที่พำนักถูกทำลายแล้ว เป็นธรรมวินัยที่ไม่มีที่พึ่งอาศัย๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๑๖๔ หน้า ๑๒๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๑

[๓๐๒] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า “ท่าน
ผู้มีอายุทั้งหลาย นิครนถ์ นาฏบุตรได้ถึงแก่กรรมแล้วไม่นานที่กรุงปาวา เพราะ
การถึงแก่กรรมของนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น พวกนิครนถ์จึงแตกกัน เกิดแยกกัน
เป็น ๒ พวก ฯลฯ เป็นธรรมวินัยที่มีที่พำนักถูกทำลายแล้ว เป็นธรรมวินัย
ที่ไม่มีที่พึ่งอาศัย ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้ก็เป็นอย่างนั้นแหละ ในธรรมวินัยที่
ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อ
ความสงบระงับ เป็นธรรมวินัยที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ ส่วนธรรมนี้
แลพระผู้มีพระภาคของพวกเราตรัสไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นเครื่องนำออกจาก
ทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้
พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น เพื่อให้พรหมจรรย์นี้
ตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่ได้นาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุข
แก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดา
และมนุษย์ทั้งหลาย
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมอะไรเล่าที่พระผู้มีพระภาคของพวกเราตรัสไว้ดีแล้ว
ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรม
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาท
กันในธรรมนั้น เพื่อให้พรหมจรรย์นี้ตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่ได้นาน ข้อนั้นพึงเป็นไป
เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

สังคีติหมวด ๑

[๓๐๓] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมหมวดละ ๑ ประการ ที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว
มีอยู่ พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น เพื่อให้
พรหมจรรย์นี้ตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่ได้นาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๒

หมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ธรรมหมวดละ ๑ ประการ คืออะไร
คือ
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร
สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ดำรงอยู่ได้ด้วยสังขาร
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย นี้แล คือธรรมหมวดละ ๑ ประการ ที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว
พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น เพื่อให้พรหมจรรย์นี้
ตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่ได้นาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุข
แก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดา
และมนุษย์ทั้งหลาย

สังคีติหมวด ๑ จบ

สังคีติหมวด ๒

[๓๐๔] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมหมวดละ ๒ ประการ ที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว
มีอยู่ พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น เพื่อให้
พรหมจรรย์นี้ตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่ได้นาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คน
หมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๒

ธรรมหมวดละ ๒ ประการ คืออะไร
คือ

๑. นาม๑
๒. รูป๒



๑. อวิชชา๓ (ความไม่รู้แจ้ง)
๒. ภวตัณหา๔ (ความทะยานอยากในภพ)



๑. ภวทิฏฐิ๕ (ความเห็นเนื่องด้วยภพ)
๒. วิภวทิฏฐิ๖ (ความเห็นเนื่องด้วยวิภพ)

เชิงอรรถ :
๑ นาม หมายถึงอรูปขันธ์ ๔ คือ (๑) เวทนาขันธ์ (๒) สัญญาขันธ์ (๓) สังขารขันธ์ (๔) วิญญาณขันธ์ และ
นิพพาน (ที.ปา.อ. ๓๐๔/๑๗๐-๑๗๑) และดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๙๐/๑๐๗, อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๓๑๖-
๑๓๑๗/๓๓๐
๒ รูป หมายถึงมหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ (คืออุปาทายรูป ๒๔)(ที.ปา.อ.๓๐๔/๑๗๑)
และดูเทียบ อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๓๑๖-๑๓๑๗/๓๓๐
๓ อวิชชา หมายถึงความไม่รู้แจ้งในสัจจะ ๔ มีทุกข์ เป็นต้น (ที.ปา.อ. ๓๐๔/๑๗๑)
๔ ภวตัณหา หมายถึงความปรารถนาภพ (ที.ปา.อ. ๓๐๔/๑๗๑) และดูเทียบข้อ ๓๕๒ หน้า ๓๗๐ ในเล่มนี้
๕ ภวทิฏฐิ หมายถึงสัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยง (ที.ปา.อ. ๓๐๔/๑๗๑) และดูเทียบ องฺ.ทุก.
(แปล) ๒๐/๙๒/๑๐๘, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๙๖/๕๖๒
๖ วิภวทิฏฐิ หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ คือเห็นว่าอัตตาและโลกขาดสูญ (ที.ปา.อ. ๓๐๔/๑๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๒



๑. อหิริกะ (ความไม่อายบาป)
๒. อโนตตัปปะ (ความไม่กลัวบาป)๑



๑. หิริ (ความอายบาป)
๒. โอตตัปปะ (ความกลัวบาป)๒



๑. โทวจัสสตา (ความเป็นผู้ว่ายาก)
๒. ปาปมิตตตา (ความมีปาปมิตร)๓



๑. โสวจัสสตา (ความเป็นผู้ว่าง่าย)
๒. กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร)๔



๑. อาปัตติกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในอาบัติ)
๒. อาปัตติวุฏฐานกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากอาบัติ)๕

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๐๐/๕๖๓
๒ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๙๔/๑๐๘
๓ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๙๕/๑๐๘, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๐๑/๕๖๔
๔ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๙๖/๑๐๘
๕ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๙๘/๑๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๒



๑. สมาปัตติกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาบัติ)
๒. สมาปัตติวุฏฐานกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาบัติ)

๑๐

๑. ธาตุกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในธาตุ)
๒. มนสิการกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในมนสิการ)๑

๑๑

๑. อายตนกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในอายตนะ)
๒. ปฏิจจสมุปปาทกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท)

๑๒

๑. ฐานกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในฐานะ)
๒. อัฏฐานกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในอัฏฐานะ)

๑๓

๑. อาชชวะ (ความซื่อตรง)
๒. ลัชชวะ (ความละอาย)๒

๑๔

๑. ขันติ (ความอดทน)
๒. โสรัจจะ (ความเสงี่ยม)๓

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๙๗/๑๐๙
๒ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๖๕/๑๒๖
๓ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๖๖/๑๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๒

๑๕

๑. สาขัลยะ (ความมีวาจาอ่อนหวาน)
๒. ปฏิสันถาร (การต้อนรับ)๑

๑๖

๑. อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน)
๒. โสเจยยะ (ความสะอาด)๒

๑๗

๑. มุฏฐสัจจะ (ความหลงลืมสติ)
๒. อสัมปชัญญะ (ความไม่รู้ตัว)๓

๑๘

๑. สติ (ความระลึกได้)
๒. สัมปชัญญะ (ความรู้ตัว)๔

๑๙

๑. อินทริเยสุ อคุตตทวารตา (ความไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์)
๒. โภชเน อมัตตัญญุตา (ความไม่รู้จักประมาณในการบริโภค)๕

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๖๗/๑๒๖
๒ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๖๘/๑๒๖
๓ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๗๙/๑๒๙
๔ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๘๐/๑๒๙
๕ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๖๙/๑๒๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๒

๒๐

๑. อินทริเยสุ คุตตทวารตา (ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์)
๒. โภชเน มัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณในการบริโภค)๑

๒๑

๑. ปฏิสังขานพละ (กำลังคือการพิจารณา)
๒. ภาวนาพละ (กำลังคือการเจริญ)๒

๒๒

๑. สติพละ (กำลังคือสติ)
๒. สมาธิพละ (กำลังคือสมาธิ)๓

๒๓

๑. สมถะ (การฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ)
๒. วิปัสสนา (ความเห็นแจ้ง)๔

๒๔

๑. สมถนิมิต (นิมิตแห่งสมถะ)
๒. ปัคคหนิมิต (นิมิตแห่งความเพียร)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๗๐/๑๒๗
๒ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๗๑/๑๒๗
๓ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๗๒/๑๒๗
๔ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๗๓/๑๒๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๒

๒๕
๑. ปัคคหะ (ความเพียร)
๒. อวิกเขปะ (ความไม่ฟุ้งซ่าน)

๒๖

๑. สีลวิบัติ (ความวิบัติแห่งศีล)
๒. ทิฏฐิวิบัติ (ความวิบัติแห่งทิฏฐิ)๑

๒๗

๑. สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งศีล)
๒. ทิฏฐิสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งทิฏฐิ)๒

๒๘

๑. สีลวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งศีล)
๒. ทิฏฐิวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งทิฏฐิ)๓

๒๙

๑. ทิฏฐิวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งทิฏฐิ)
๒. ยถาทิฏฐิปธานะ (ความเพียรที่สมควรแก่สัมมาทิฏฐิ)๔

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๗๔/๑๒๘
๒ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๗๕/๑๒๘
๓ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๗๖/๑๒๘
๔ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๑๗๗/๑๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๒

๓๐

๑. สังเวชนีเยสุ ฐาเนสุ สังเวคะ (ความสลดใจในที่ที่ควรสลดใจ)
๒. สังวิคคัสสะ โยนิโส ปธานะ (ความเพียรโดยแยบคายของผู้มีความสลดใจ)

๓๑

๑. กุสเลสุ ธัมเมสุ อสันตุฏฐิตา (ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย)
๒. ปธานัสมิง อัปปฏิวานิตา (ความไม่ท้อถอยในการบำเพ็ญเพียร)๑

๓๒

๑. วิชชา (ความรู้แจ้ง)
๒. วิมุตติ (ความหลุดพ้น)๒

๓๓

๑. ขยญาณ (ความรู้ในการสิ้นกิเลส)
๒. อนุปปาทญาณ (ความรู้ในการไม่เกิดกิเลส)

ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย นี้แล คือธรรมหมวดละ ๒ ประการ ที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว
พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น เพื่อให้พรหมจรรย์นี้
ตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่ได้นาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่
คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดา
และมนุษย์ทั้งหลาย

สังคีติหมวด ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓

สังคีติหมวด ๓

[๓๐๕] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมหมวดละ ๓ ประการ ที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว
มีอยู่ พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น ฯลฯ เพื่อ
ประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ธรรมหมวดละ ๓ ประการ คืออะไร
คือ


อกุศลมูล๑ ๓
๑. อกุศลมูลคือโลภะ (ความอยากได้)
๒. อกุศลมูลคือโทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
๓. อกุศลมูลคือโมหะ (ความหลง)


กุศลมูล๒ ๓
๑. กุศลมูลคืออโลภะ (ความไม่อยากได้)
๒. กุศลมูลคืออโทสะ (ความไม่คิดประทุษร้าย)
๓. กุศลมูลคืออโมหะ (ความไม่หลง)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๗๐/๒๗๕
๒ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๗๐/๒๗๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓


ทุจริต๑ ๓

๑. กายทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยกาย)๒
๒. วจีทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยวาจา)
๓. มโนทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยใจ)


สุจริต๓ ๓

๑. กายสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยกาย)
๒. วจีสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยวาจา)
๓. มโนสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยใจ)


อกุศลวิตก๔ ๓

๑. กามวิตก (ความตรึกในทางกาม)
๒. พยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท)
๓. วิหิงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒/๑๔๐
๒ อีกนัยหนึ่งแปลว่า ความประพฤติชั่วที่เป็นไปทางกาย หรือความประพฤติชั่วทางกายก็ได้ (ที.ปา.อ.
๓๐๕/๑๗๙)
๓ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๒/๑๔๑
๔ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๒๕/๓๗๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓


กุศลวิตก๑ ๓

๑. เนกขัมมวิตก (ความตรึกปลอดจากกาม)
๒. อพยาบาทวิตก (ความตรึกปลอดจากพยาบาท)
๓. อวิหิงสาวิตก (ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน)


อกุศลสังกัปปะ ๓

๑. กามสังกัปปะ (ความดำริในทางกาม)
๒. พยาปาทสังกัปปะ (ความดำริในทางพยาบาท)
๓. วิหิงสาสังกัปปะ (ความดำริในทางเบียดเบียน)


กุศลสังกัปปะ๒ ๓

๑. เนกขัมมสังกัปปะ (ความดำริปลอดจากกาม)
๒. อพยาปาทสังกัปปะ (ความดำริปลอดจากพยาบาท)
๓. อวิหิงสาสังกัปปะ (ความดำริปลอดจากการเบียดเบียน)


อกุศลสัญญา ๓

๑. กามสัญญา (ความกำหนดหมายในทางกาม)
๒. พยาปาทสัญญา (ความกำหนดหมายในทางพยาบาท)
๓. วิหิงสาสัญญา (ความกำหนดหมายในทางเบียดเบียน)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๒๕/๓๗๒
๒ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๔๐๒/๓๓๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓

๑๐
กุศลสัญญา ๓

๑. เนกขัมมสัญญา (ความกำหนดหมายปลอดจากกาม)
๒. อพยาปาทสัญญา (ความกำหนดหมายปลอดจากพยาบาท)
๓. อวิหิงสาสัญญา (ความกำหนดหมายปลอดจากการเบียดเบียน)

๑๑
อกุศลธาตุ ๓

๑. กามธาตุ (ธาตุคือกาม)
๒. พยาปาทธาตุ (ธาตุคือพยาบาท)
๓. วิหิงสาธาตุ (ธาตุคือวิหิงสา)

๑๒
กุศลธาตุ ๓

๑. เนกขัมมธาตุ (ธาตุคือเนกขัมมะ)
๒. อพยาปาทธาตุ (ธาตุคืออพยาบาท)
๓. อวิหิงสาธาตุ (ธาตุคืออวิหิงสา)

๑๓
ธาตุ ๓ อีกนัยหนึ่ง

๑. กามธาตุ (ธาตุคือกามภพ)
๒. รูปธาตุ (ธาตุคือรูปภพ)
๓. อรูปธาตุ (ธาตุคืออรูปภพ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓

๑๔
ธาตุ ๓ อีกนัยหนึ่ง

๑. รูปธาตุ (ธาตุคือรูปภพ)
๒. อรูปธาตุ (ธาตุคืออรูปภพ)
๓. นิโรธธาตุ (ธาตุคือนิโรธ)

๑๕
ธาตุ๑ ๓ อีกนัยหนึ่ง

๑. หีนธาตุ (ธาตุอย่างหยาบ)
๒. มัชฌิมธาตุ (ธาตุอย่างกลาง)
๓. ปณีตธาตุ (ธาตุอย่างประณีต)

๑๖
ตัณหา ๓

๑. กามตัณหา๒ (ความทะยานอยากในกาม)
๒. ภวตัณหา๓ (ความทะยานอยากในภพ)
๓. วิภวตัณหา๔ (ความทะยานอยากในวิภพ)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๗๗/๓๐๐-๓๐๑
๒ กามตัณหา หมายถึงราคะที่มีกามคุณ ๕ เป็นอารมณ์ (ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๘๒, ที.ปา.ฏีกา ๓๐๕/๒๓๕)
๓ ภวตัณหา หมายถึงราคะในรูปภพและอรูปภพ ราคะอันสหรคตด้วยสัสสตทิฏฐิ หรือความปรารถนาภพ
(ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๘๒)
๔ วิภวตัณหา หมายถึงราคะที่สหรคตด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓

๑๗
ตัณหา ๓ อีกนัยหนึ่ง

๑. กามตัณหา (ความทะยานอยากในกามภพ)
๒. รูปตัณหา (ความทะยานอยากในรูปภพ)
๓. อรูปตัณหา (ความทะยานอยากในอรูปภพ)

๑๘
ตัณหา๑ ๓ อีกนัยหนึ่ง

๑. รูปตัณหา (ความทะยานอยากในรูปภพ)
๒. อรูปตัณหา (ความทะยานอยากในอรูปภพ)
๓. นิโรธตัณหา๒ (ความทะยานอยากในความดับสูญ)

๑๙
สังโยชน์๓ ๓

๑. สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน)
๒. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
๓. สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต)

๒๐
อาสวะ๔ ๓

๑. กามาสวะ (อาสวะคือกาม)
๒. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ)
๓. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๑๘/๕๗๔
๒ นิโรธตัณหา หมายถึงราคะที่สหรคตด้วยอุจเฉททิฏฐิ ที่ถือว่าภพ คือ ความเป็นมนุษย์ ความเป็นเทพ
ชั้นกามาวจร ความเป็นเทพชั้นรูปาวจรและชั้นอรูปาวจร ขาดสูญ (ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๘๒, ที.ปา.ฏีกา
๓๐๕/๒๓๖)
๓ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๙๕/๓๒๘
๔ ดูเทียบ อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๑๔/๕๗๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓

๒๑
ภพ ๓

๑. กามภพ (ภพที่เป็นกามาวจร)
๒. รูปภพ (ภพที่เป็นรูปาวจร)
๓. อรูปภพ (ภพที่เป็นอรูปาวจร)

๒๒
เอสนา๑(การแสวงหา) ๓

๑. กาเมสนา (การแสวงหากาม)
๒. ภเวสนา (การแสวงหาภพ)
๓. พรหมจริเยสนา (การแสวงหาพรหมจรรย์)

๒๓
วิธา๒(ความถือตัว) ๓

๑. เสยโยหมัสมีติ วิธา (ถือตัวว่าเราเป็นผู้เลิศกว่าเขา)
๒. สทิโสหมัสมีติ วิธา (ถือตัวว่าเราเป็นผู้เสมอเขา)
๓. หีโนหมัสมีติ วิธา (ถือตัวว่าเราเป็นผู้ด้อยกว่าเขา)

๒๔
อัทธา(กาล) ๓

๑. อตีตอัทธา (อดีตกาล)
๒. อนาคตอัทธา (อนาคตกาล)
๓. ปัจจุปปันนอัทธา (ปัจจุบันกาล)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๑๙/๕๗๕
๒ ดูเทียบ อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๒๐/๕๗๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓

๒๕
อันตะ ๓

๑. สักกายอันตะ (ส่วนสุดคือสักกายะ)
๒. สักกายสมุทยอันตะ (ส่วนสุดคือสักกายสมุทัย)
๓. สักกายนิโรธอันตะ (ส่วนสุดคือสักกายนิโรธ)

๒๖
เวทนา๑ ๓

๑. สุขเวทนา (ความรู้สึกสุข)
๒. ทุกขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์)
๓. อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข)

๒๗
ทุกขตา๒ ๓

๑. ทุกขทุกขตา (สภาวทุกข์คือทุกข์)
๒. สังขารทุกขตา (สภาวทุกข์คือสังขาร)
๓. วิปริณามทุกขตา (สภาวทุกข์คือความแปรผันไป)

๒๘
ราสี(กอง) ๓

๑. มิจฉัตตนิยตราสี (กองแห่งธรรมที่มีสภาวะผิดและให้ผลแน่นอน)
๒. สัมมัตตนิยตราสี (กองแห่งธรรมที่มีสภาวะชอบและให้ผลแน่นอน)
๓. อนิยตราสี (กองแห่งธรรมที่ให้ผลไม่แน่นอน)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๔๙/๒๗๐
๒ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๓๒๗/๓๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓

๒๙
ตมะ(ความมืด) ๓
๑. เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส ปรารภอดีตกาล
๒. เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส ปรารภอนาคตกาล
๓. เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส ปรารภปัจจุบันกาล

๓๐
อรักเขยยะ(ข้อที่พระตถาคตไม่ต้องรักษา) ๓
๑. พระตถาคตทรงมีกายสมาจาร (ความประพฤติทางกาย) บริสุทธิ์ ไม่ทรง
มีกายทุจริตที่พระองค์จะต้องรักษาไว้โดยตั้งพระทัยว่า ‘คนอื่น ๆ อย่าได้
รู้กายทุจริตของเรานี้’
๒. พระตถาคตทรงมีวจีสมาจาร (ความประพฤติทางวาจา) บริสุทธิ์ ไม่ทรง
มีวจีทุจริตที่พระองค์จะต้องรักษาไว้โดยตั้งพระทัยว่า ‘คนอื่น ๆ อย่าได้รู้
วจีทุจริตของเรานี้’
๓. พระตถาคตทรงมีมโนสมาจาร (ความประพฤติทางใจ) บริสุทธิ์ ไม่ทรงมี
มโนทุจริตที่พระองค์จะต้องรักษาไว้โดยตั้งพระทัยว่า ‘คนอื่น ๆ อย่าได้รู้
มโนทุจริตของเรานี้’

๓๑
กิญจนะ๑(เครื่องกังวล) ๓

๑. ราคกิญจนะ (เครื่องกังวลคือราคะ)
๒. โทสกิญจนะ (เครื่องกังวลคือโทสะ)
๓. โมหกิญจนะ (เครื่องกังวลคือโมหะ)

เชิงอรรถ :
๑ อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๒๔/๕๗๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓

๓๒
อัคคิ๑(ไฟ) ๓

๑. ราคัคคิ (ไฟคือราคะ)
๒. โทสัคคิ (ไฟคือโทสะ)
๓. โมหัคคิ (ไฟคือโมหะ)

๓๓
อัคคิ๒ ๓ อีกนัยหนึ่ง

๑. อาหุเนยยัคคิ (ไฟคืออาหุไนยบุคคล)
๒. คหปตัคคิ (ไฟคือคหบดี)
๓. ทักขิเณยยัคคิ (ไฟคือทักขิไณยบุคคล)

๓๔
รูปสังคหะ ๓

๑. สนิทัสสนสัปปฏิฆรูป (รูปที่เห็นได้และสัมผัสได้)
๒. อนิทัสสนสัปปฏิฆรูป (รูปที่เห็นไม่ได้ แต่สัมผัสได้)
๓. อนิทัสสนอัปปฏิฆรูป (รูปที่เห็นไม่ได้และสัมผัสไม่ได้)

๓๕
สังขาร๓ ๓

๑. ปุญญาภิสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี)
๒. อปุญญาภิสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว)
๓. อาเนญชาภิสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคงไม่หวั่นไหว)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๔๗/๗๒
๒ ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๔๗/๗๓
๓ สังขาร ในที่นี้หมายถึงสภาพที่ปรุงแต่งกิจ(หน้าที่)อันเป็นของตน การให้ผลแก่ตน(ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๙๒,
ที.ปา.ฏีกา ๓๐๕/๒๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓

๓๖
บุคคล ๓

๑. เสขบุคคล (บุคคลผู้ยังต้องศึกษา)
๒. อเสขบุคคล (บุคคลผู้ไม่ต้องศึกษา)
๓. เนวเสขานาเสขบุคคล (บุคคลผู้ยังต้องศึกษาก็มิใช่
ผู้ไม่ต้องศึกษาก็มิใช่)

๓๗
เถระ ๓

๑. ชาติเถระ (พระเถระโดยชาติ)
๒. ธัมมเถระ (พระเถระโดยธรรม)
๓. สมมติเถระ (พระเถระโดยสมมติ)

๓๘
บุญกิริยาวัตถุ๑ ๓

๑. ทานมัยบุญกิริยาวัตถุ (บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทาน)
๒. สีลมัยบุญกิริยาวัตถุ (บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีล)
๓. ภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุ (บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนา)

๓๙
โจทนาวัตถุ(เหตุที่ใช้โจท) ๓

๑. ทิฏเฐนะ (โจทด้วยได้เห็น)
๒. สุเตนะ (โจทด้วยได้ยินได้ฟัง)
๓. ปริสังกายะ (โจทด้วยความระแวงสงสัย)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๓๖/๒๙๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓

๔๐
กามุปปัตติ(การเกิดในกามภพ) ๓
๑. สัตว์ที่มีกามปรากฏเฉพาะหน้ามีอยู่ สัตว์เหล่านั้นเป็นไปตามอำนาจของ
กามทั้งหลายที่ปรากฏเฉพาะหน้าแล้ว เช่น มนุษย์ เทพบางพวกและ
วินิปาติกะบางพวก๑ นี้เป็นกามุปปัตติที่ ๑
๒. สัตว์ที่เนรมิตกามคุณได้มีอยู่ สัตว์เหล่านั้นเนรมิตแล้ว เป็นไปตามอำนาจ
ของกามทั้งหลาย เช่น พวกเทพชั้นนิมมานรดี นี้เป็นกามุปปัตติที่ ๒
๓. สัตว์ที่ผู้อื่นเนรมิตกามคุณให้มีอยู่ สัตว์เหล่านั้นเป็นไปตามอำนาจของ
กามคุณที่ผู้อื่นเนรมิตให้แล้ว เช่น พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี นี้เป็น
กามุปปัตติที่ ๓

๔๑
การเข้าถึงความสุข ๓
๑. สัตว์พวกที่ทำความสุขให้เกิดขึ้น ๆ แล้วอยู่เป็นสุขมีอยู่ เช่น พวกเทพ
ชั้นพรหมกายิกา นี้เป็นการเข้าถึงความสุขที่ ๑
๒. สัตว์พวกที่เอิบอิ่ม อิ่มเอม บริบูรณ์ เปี่ยมล้นด้วยความสุขมีอยู่ สัตว์
เหล่านั้นบางครั้งบางคราวก็เปล่งอุทานว่า ‘สุขหนอ ๆ’ เช่น พวกเทพ
ชั้นอาภัสสระ นี้เป็นการเข้าถึงความสุขที่ ๒
๓. สัตว์พวกที่เอิบอิ่ม อิ่มเอม บริบูรณ์ เปี่ยมล้นด้วยความสุขมีอยู่ สัตว์
เหล่านั้นยินดีเสวยความสุขทางจิตอันประณีตเท่านั้น เช่น พวกเทพ
ชั้นสุภกิณหะ นี้เป็นการเข้าถึงความสุขที่ ๓

เชิงอรรถ :
๑ วินิปาติกะบางจำพวก หมายถึงสัตว์จำพวกปลาและเต่า เป็นต้นที่มีที่อยู่ประจำของตน ยกเว้นสัตว์นรก
(ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓

๔๒
ปัญญา ๓

๑. เสขปัญญา (ปัญญาของบุคคลผู้ยังต้องศึกษา)
๒. อเสขปัญญา (ปัญญาของบุคคลผู้ไม่ต้องศึกษา)
๓. เนวเสขานาเสขปัญญา (ปัญญาของบุคคลผู้ยังต้องศึกษาก็มิใช่
ผู้ไม่ต้องศึกษาก็มิใช่)

๔๓
ปัญญา๑ ๓ อีกนัยหนึ่ง

๑. จินตามยปัญญา (ปัญญาที่เกิดจากการคิด)
๒. สุตมยปัญญา (ปัญญาที่เกิดจากการฟัง)
๓. ภาวนามยปัญญา (ปัญญาที่เกิดจากการอบรม)

๔๔
อาวุธ๒ ๓

๑. สุตาวุธ (อาวุธคือสุตะ)
๒. ปวิเวกาวุธ (อาวุธคือปวิเวก)
๓. ปัญญาวุธ (อาวุธคือปัญญา)

๔๕
อินทรีย์๓ ๓

๑. อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ (อินทรีย์ของผู้ปฏิบัติด้วยมุ่งว่าเราจักรู้สัจธรรม
ที่ยังมิได้รู้)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๗๖๘/๕๐๓-๕๐๔
๒ อาวุธ แปลว่าเครื่องมือที่ใช้ป้องกันหรือต่อสู้ ในที่นี้หมายถึงอาวุธในทางธรรม ๓ ประการ คือ (๑) สุตะ
หมายถึงพระพุทธพจน์ (๒) ปวิเวกะ หมายถึงวิเวก(ความสงัด) ๓ ประการ คือ กายวิเวก จิตตวิเวก และ
อุปธิวิเวก (๓) ปัญญา หมายถึงปัญญาทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ
๓ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๔๙๓/๓๐๓, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๒๐/๒๐๑-๒๐๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓

๒. อัญญินทรีย์ (อินทรีย์คือปัญญาที่รู้ทั่วถึงได้แก่ โสดาปัตติ-
ผลญาณ)
๓. อัญญาตาวินทรีย์ (อินทรีย์ของท่านผู้รู้ทั่วถึงแล้ว)

๔๖
จักขุ๑ ๓

๑. มังสจักขุ (ตาเนื้อ)
๒. ทิพพจักขุ (ตาทิพย์)
๓. ปัญญาจักขุ (ตาคือปัญญา)

๔๗
สิกขา๒ ๓

๑. อธิสีลสิกขา (สิกขาคือศีลอันยิ่ง)
๒. อธิจิตตสิกขา (สิกขาคือจิตอันยิ่ง)
๓. อธิปัญญาสิกขา (สิกขาคือปัญญาอันยิ่ง)

๔๘
ภาวนา๓ ๓

๑. กายภาวนา (การอบรมกาย)
๒. จิตตภาวนา (การอบรมจิต)
๓. ปัญญาภาวนา (การอบรมปัญญา)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๑/๕๕
๒ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๘๒/๓๐๙
๓ ดูเทียบ องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๗๙/๑๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓

๔๙
อนุตตริยะ ๓
๑. ทัสสนานุตตริยะ (การเห็นอันยอดเยี่ยม)
๒. ปฏิปทานุตตริยะ (การปฏิบัติอันยอดเยี่ยม)
๓. วิมุตตานุตตริยะ (การหลุดพ้นอันยอดเยี่ยม)

๕๐
สมาธิ๑ ๓

๑. สวิตักกสวิจารสมาธิ (สมาธิที่มีทั้งวิตกและวิจาร)
๒. อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ (สมาธิที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร)
๓. อวิตักกอวิจารสมาธิ (สมาธิที่ไม่มีวิตกและไม่มีวิจาร)

๕๑
สมาธิ๒ ๓ อีกนัยหนึ่ง

๑. สุญญตสมาธิ (สมาธิที่พิจารณาเห็นความว่าง)
๒. อนิมิตตสมาธิ (สมาธิที่พิจารณาธรรมอันไม่มีนิมิต)
๓. อัปปณิหิตสมาธิ (สมาธิที่พิจารณาธรรมไม่มีความตั้งปรารถนา)

๕๒
โสเจยยะ๓(ความสะอาด) ๓

๑. กายโสเจยยะ (ความสะอาดทางกาย)
๒. วจีโสเจยยะ (ความสะอาดทางวาจา)
๓. มโนโสเจยยะ (ความสะอาดทางใจ)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๘๔/๔๐๙
๒ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๘๔/๔๐๙
๓ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๒๑/๓๖๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓

๕๓
โมเนยยะ๑(ธรรมที่ทำให้เป็นมุนี) ๓

๑. กายโมเนยยะ (ธรรมที่ทำให้เป็นมุนีทางกาย)
๒. วจีโมเนยยะ (ธรรมที่ทำให้เป็นมุนีทางวาจา)
๓. มโนโมเนยยะ (ธรรมที่ทำให้เป็นมุนีทางใจ)

๕๔
โกสัลละ๒(ความเป็นผู้ฉลาด) ๓

๑. อายโกสัลละ (ความเป็นผู้ฉลาดในความเจริญ)
๒. อปายโกสัลละ (ความเป็นผู้ฉลาดในความเสื่อม)
๓. อุปายโกสัลละ๓ (ความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย)

๕๕
มทะ(ความมัวเมา) ๓

๑. อาโรคยมทะ (ความมัวเมาในความไม่มีโรค)
๒. โยพพนมทะ (ความมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว)
๓. ชีวิตมทะ (ความมัวเมาในชีวิต)

๕๖
อธิปไตย๔ ๓

๑. อัตตาธิปไตย (ความมีตนเป็นใหญ่)
๒. โลกาธิปไตย (ความมีโลกเป็นใหญ่)
๓. ธัมมาธิปไตย (ความมีธรรมเป็นใหญ่)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๒๓/๓๖๙
๒ ดูเทียบ อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๗๗๑/๕๐๕
๓ อุปายโกสัลละ หมายถึงปัญญาที่รู้จักวิธีทำการงานทั้งฝ่ายเสื่อมและฝ่ายเจริญ (ที.ปา.ฏีกา ๓๐๕/๒๗๐)
๔ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๔๐/๒๐๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๓

๕๗
กถาวัตถุ ๓

๑. กล่าวถ้อยคำว่า กาลที่ล่วงไปแล้ว ได้มีแล้วอย่างนี้ ปรารภกาลส่วนอดีต
๒. กล่าวถ้อยคำว่า กาลที่ยังมาไม่ถึง จักมีอย่างนี้ ปรารภกาลส่วนอนาคต
๓. กล่าวถ้อยคำว่า กาลที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าบัดนี้เป็นอยู่อย่างนี้ ปรารภกาล
ส่วนปัจจุบันนี้

๕๘
วิชชา๑ ๓

๑. วิชชาคือปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ความหยั่งรู้ที่ทำให้ระลึกชาติก่อนได้)
๒. วิชชาคือจุตูปปาตญาณ (ความหยั่งรู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย)
๓. วิชชาคืออาสวักขยญาณ (ความหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ
ทั้งหลาย)

๕๙
วิหารธรรม(ธรรมเป็นเครื่องอยู่) ๓

๑. ทิพพวิหารธรรม (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของเทพ)
๒. พรหมวิหารธรรม (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม)
๓. อริยวิหารธรรม (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพระอริยะ)

๖๐
ปาฏิหาริย์๒ ๓

๑. อิทธิปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์คือฤทธิ์)
๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์คือการทายใจ)
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์คืออนุศาสนี)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๖๐/๒๓๐-๒๓๑
๒ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๖๑/๒๓๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔

ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย นี้แล คือธรรมหมวดละ ๓ ประการ ที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว
พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น ฯลฯ เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

สังคีติหมวด ๓ จบ

สังคีติหมวด ๔

[๓๐๖] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมหมวดละ ๔ ประการ ที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้โดยชอบแล้ว
มีอยู่ พวกเราทั้งหมดนี้แหละพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น ฯลฯ เพื่อ
ประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ธรรมหมวดละ ๔ ประการ คืออะไร
คือ


สติปัฏฐาน๑(ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ) ๔
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ...
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิต ...
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๗๒/๓๐๑, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๗๔/๓๙๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔


สัมมัปปธาน๑(ความเพียรชอบ) ๔
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อ
ป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
๒. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อละบาป
อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อทำ
กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๔. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อความ
ดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งกุศลธรรม
ที่เกิดขึ้นแล้ว


อิทธิบาท๒(คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ) ๔
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจาก
ฉันทะและความเพียรสร้างสรรค์)
๒. เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจาก
วิริยะและความเพียรสร้างสรรค์)
๓. เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจาก
จิตตะและความเพียรสร้างสรรค์)
๔. เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิด
จากวิมังสาและความเพียรสร้างสรรค์)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๗๕/๓๙๐
๒ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๗๖/๓๙๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔


ฌาน๑ ๔
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก
วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน
มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่
๓. เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วย
นามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา
มีสติอยู่เป็นสุข’
๔. เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว
บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่


[๓๐๗] สมาธิภาวนา๒ ๔
๑. สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็น
สุขในปัจจุบัน
๒. สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณ-
ทัสสนะ๓
๓. สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติ-
สัมปชัญญะ
๔. สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้น
อาสวะ
สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขใน
ปัจจุบัน เป็นอย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๒๒๖-๒๓๒/๗๕-๗๗
๒ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๔๑/๖๘-๖๙
๓ ญาณทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงทิพพจักขุญาณ (ที.ปา.อ. ๓๐๗/๒๐๓, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๑/๓๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔

คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุ
ปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ฯลฯ บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์
เพราะอุเบกขาอยู่ สมาธิภาวนานี้ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่
เป็นสุขในปัจจุบัน
สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ
เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้มนสิการถึงอาโลกสัญญา (ความกำหนดหมายใน
แสงสว่าง) อธิษฐานทิวาสัญญา (ความกำหนดว่ากลางวัน) ว่า ‘กลางคืนเหมือน
กลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน มีใจสงัด ไม่มีเครื่องร้อยรัด อบรมจิตให้สว่าง๑อยู่’
สมาธิภาวนานี้ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ
สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ
เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้รู้แจ้งเวทนาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งเวทนาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้ง
เวทนาที่ดับไป รู้แจ้งสัญญาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งสัญญาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งสัญญาที่ดับไป ...
รู้แจ้งวิตกที่เกิดขึ้น รู้แจ้งวิตกที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งวิตกที่ดับไป สมาธิภาวนานี้ที่บุคคล
เจริญทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ
สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ
เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีปกติเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปใน
อุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ว่า ‘รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งรูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ... สัญญาเป็นอย่างนี้ ... สังขารเป็นอย่างนี้ ...
วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณ
เป็นอย่างนี้’ สมาธิภาวนานี้ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ

เชิงอรรถ :
๑ อบรมจิตให้สว่าง ในที่นี้หมายถึงการเข้าสมาบัติโดยมีฌานเป็นฐาน (ที.ปา.อ. ๓๐๗/๒๐๓, องฺ.จตุกฺก.อ.
๒/๔๑/๓๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔


[๓๐๘] อัปปมัญญา๑ ๔
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. มีเมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน๒ ทิศเบื้องล่าง๓ ทิศเฉียง๔ แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า
ในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ๕ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
๒. มีกรุณาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า
ในที่ทุกสถาน ด้วยมุทิตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
๓. มีมุทิตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า
ในที่ทุกสถาน ด้วยกรุณาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
๔. มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า
ในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๒๕/๑๙๐-๑๙๓
๒ ทิศเบื้องบน หมายถึงเทวโลก (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕)
๓ ทิศเบื้องล่าง หมายถึงนรกและนาค (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕)
๔ ทิศเฉียง หมายถึงทิศย่อยของทิศใหญ่หรือทิศรอง (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕)
๕ มหัคคตะ หมายถึงอารมณ์ที่ถึงความเป็นใหญ่ชั้นรูปาวจร และชั้นอรูปาวจร เพราะมีผลที่สามารถข่ม
กิเลสได้ และหมายถึงฉันทะ วิริยะ จิตตะ และปัญญาอันยิ่งใหญ่ (อภิ.สงฺ.อ. ๑๒/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔


อรูป๑ ๔
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. บรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ อยู่
เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดย
ประการทั้งปวง
๒. ล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจายตน-
ฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่
๓. ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตน-
ฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่
๔. ล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌานอยู่


อปัสเสนธรรม๒(ธรรมเป็นดุจพนักพิง) ๔
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาแล้วเสพอย่างหนึ่ง
๒. พิจารณาแล้วอดกลั้นอย่างหนึ่ง
๓. พิจารณาแล้วเว้นอย่างหนึ่ง
๔. พิจารณาแล้วบรรเทาอย่างหนึ่ง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๒๙/๗๕
๒ ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๐/๔๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔


[๓๐๙] อริยวงศ์๑ ๔
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. สันโดษด้วยจีวรตามแต่จะได้ กล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวร
ตามแต่จะได้ ไม่มีการแสวงหาอันไม่สมควรเพราะจีวรเป็นเหตุ ไม่ได้
จีวรก็ไม่กระวนกระวาย ครั้นได้แล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง
มองเห็นโทษ๒ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยอยู่ และไม่ยก
ตนข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยจีวรตามแต่จะได้นั้น ภิกษุใด
ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคงในความสันโดษด้วย
จีวรตามแต่จะได้นั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ ที่รู้กันว่า
ล้ำเลิศ เป็นของเก่า
๒. สันโดษด้วยบิณฑบาตตามแต่จะได้ กล่าวสรรเสริญความสันโดษ
ด้วยบิณฑบาตตามแต่จะได้ ไม่มีการแสวงหาอันไม่สมควรเพราะ
บิณฑบาตเป็นเหตุ ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่กระวนกระวาย ครั้นได้แล้วก็
ไม่ติดใจ ไม่หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง มองเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่อง
สลัดออก ฉันอยู่ และไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วย
บิณฑบาตตามแต่จะได้นั้น ภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ
มีสติมั่นคงในความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามแต่จะได้นั้น ภิกษุนี้
เราเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ ที่รู้กันว่าล้ำเลิศ เป็นของเก่า

เชิงอรรถ :
๑ อริยวงศ์ แปลว่าวงศ์ของพระอริยะ แบบแผนของพระอริยะ และประเพณีของพระอริยะ หมายถึงวงศ์ของ
พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกของพระพุทธเจ้า (ที.ปา.อ. ๓๐๙/๒๐๙, องฺ.จตุกฺก.อ.
๒/๒๘/๓๑๑) ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๘/๔๓-๔๔
๒ มองเห็นโทษ ในที่นี้หมายถึงมองเห็นการต้องอาบัติเพราะการแสวงหาไม่สมควร และการบริโภคลาภ
ที่ติดใจ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๘/๓๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔

๓. สันโดษด้วยเสนาสนะตามแต่จะได้ กล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วย
เสนาสนะตามแต่จะได้นั้น ไม่มีการแสวงหาอันไม่สมควรเพราะเสนาสนะ
เป็นเหตุ ไม่ได้เสนาสนะก็ไม่กระวนกระวาย ครั้นได้แล้วก็ไม่ติดใจ ไม่
หมกมุ่น ไม่ลุ่มหลง มองเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยอยู่
และไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยเสนาสนะตามแต่จะได้นั้น
ภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคงในความสันโดษ
ด้วยเสนาสนะตามแต่จะได้นั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ ที่รู้
กันว่าล้ำเลิศ เป็นของเก่า
๔. มีปหานะ (การละ) เป็นที่ยินดี ยินดีในปหานะ มีภาวนาเป็นที่ยินดี
ยินดีในภาวนาและไม่ยกตนข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้มีปหานะเป็นที่ยินดี
ยินดีในปหานะ เพราะความเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่ยินดี ยินดีในภาวนานั้น
ภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคงในปหานะและ
ภาวนานั้น ภิกษุนี้เราเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ ที่รู้กันว่าล้ำเลิศ
เป็นของเก่า

๑๐
[๓๑๐] ปธาน๑๔

๑. สังวรปธาน (เพียรระวัง)
๒. ปหานปธาน (เพียรละ)
๓. ภาวนาปธาน (เพียรเจริญ)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๔/๒๔-๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔

สังวรปธาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ๑ ไม่แยกถือ๒ ย่อม
ปฏิบัติเพื่อความสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาป
อกุศลธรรม คืออภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของของเขา) และโทมนัส (ความทุกข์
ใจ) ครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู ...
ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้งธรรมารมณ์
ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความสำรวมมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อ
ไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ นี้เรียกว่า สังวรปธาน
ปหานปธาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ไม่ยินดีกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้หมด
สิ้นไป ทำให้ถึงความไม่มี ไม่ยินดีพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่ยินดีวิหิงสาวิตกที่
เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่ยินดีบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้
หมดสิ้นไป ทำให้ถึงความไม่มี นี้เรียกว่า ปหานปธาน
ภาวนาปธาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เจริญสติสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้
คือความระลึกได้) ที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ๓ น้อมไปในโวสสัคคะ
เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความเฟ้นธรรม) ... เจริญ

เชิงอรรถ :
๑ รวบถือ (นิมิตฺตคฺคาหี) คือมองภาพรวม โดยเห็นเป็นหญิงหรือเป็นชาย เห็นว่ารูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่น
หอม รสอร่อย สัมผัสที่อ่อนนุ่ม เป็นอารมณ์ ที่น่าปรารถนาด้วยอำนาจฉันทราคะ (อภิ.สงฺ.อ. ๑๓๕๒/
๔๕๖-๔๕๗)
๒ แยกถือ (อนุพฺยญฺชนคฺคาหี) คือ มองแยกแยะเป็นส่วน ๆ ไป ด้วยอำนาจกิเลส เช่นเห็นมือ เท้า ว่าสวย
หรือไม่สวย เห็นอาการยิ้มแย้ม หัวเราะ การพูด การเหลียวซ้าย แลขวา ว่าน่ารัก หรือไม่น่ารัก ถ้าเห็นว่า
สวยน่ารัก ก็เป็นอิฏฐารมณ์ ถ้าเห็นว่าไม่สวยไม่น่ารัก ก็เป็นอนิฏฐารมณ์ (อภิ.สงฺ.อ. ๑๓๕๒/๔๕๖-๔๕๗)
๓ วิเวก (ความสงัด) วิราคะ (ความคลายกำหนัด) นิโรธ (ความดับ) ทั้ง ๓ คำนี้ เป็นชื่อเรียกนิพพาน
(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๔/๒๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔

วิริยสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความเพียร) ... เจริญปีติสัมโพชฌงค์
(ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความอิ่มใจ) ... เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็น
องค์แห่งการตรัสรู้คือความสงบกายสงบใจ) ... เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็น
องค์แห่งการตรัสรู้คือความตั้งจิตมั่น) ... เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่ง
การตรัสรู้คือความวางใจเป็นกลาง) ที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป
ในโวสสัคคะ นี้เรียกว่า ภาวนาปธาน
อนุรักขนาปธาน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ตามรักษาสมาธินิมิต ที่ชัดดีซึ่งเกิดขึ้นแล้ว คือ
อัฏฐิกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูกหรือกระดูกท่อน)
ปุฬุวกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด) วินีลกสัญญา
(กำหนดหมายซากศพที่มีสีเขียวคล้ำคละด้วยสีต่าง ๆ) วิปุพพกสัญญา (กำหนดหมาย
ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ตามที่ที่แตกปริออก) วิจฉิททกสัญญา (กำหนดหมาย
ซากศพที่ขาดจากกันเป็น ๒ ท่อน) อุทธุมาตกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่เน่า
พองขึ้นอืด) นี้เรียกว่า อนุรักขนาปธาน

๑๑
ญาณ (ความรู้) ๔

๑. ธัมมญาณ (ความรู้ในธรรม)
๒. อันวยญาณ (ความรู้ในการคล้อยตาม)
๓. ปริยญาณ (ความรู้ในการกำหนดจิตของผู้อื่น)
๔. สัมมติญาณ (ความรู้ในสมมติ)

๑๒
ญาณ ๔ อีกนัยหนึ่ง

๑. ทุกขญาณ (ความรู้ในทุกข์)
๒. ทุกขสมุทยญาณ (ความรู้ในเหตุเกิดแห่งทุกข์)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔

๓. ทุกขนิโรธญาณ (ความรู้ในความดับแห่งทุกข์)
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาญาณ (ความรู้ในข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์)

๑๓
[๓๑๑] องค์แห่งการบรรลุโสดาบัน๑ ๔

๑. สัปปุริสสังเสวะ (การคบหาสัตบุรุษ)
๒. สัทธัมมัสสวนะ (การฟังพระสัทธรรม)
๓. โยนิโสมนสิการ (การมนสิการโดยแยบคาย)
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม)

๑๔
องค์แห่งพระโสดาบัน๒ ๔
พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้ง
โลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นพระศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า ‘พระ
ธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วย
ตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อัน
วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๔๘/๓๖๘
๒ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๕๙/๑๐๓, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๕๒/๘๖-๘๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔

๓. เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์
สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง
ปฏิบัติสมควร ได้แก่ พระอริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล พระสงฆ์สาวก
ของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่การ
ต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
ของโลก’
๔. เป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง
ไม่พร้อย เป็นไท อันท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ
เป็นไปเพื่อสมาธิ

๑๕
สามัญญผล (ผลแห่งความเป็นสมณะ) ๔
๑. โสดาปัตติผล ๒. สกทาคามิผล
๓. อนาคามิผล ๔. อรหัตตผล

๑๖
ธาตุ๑ ๔
๑. ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) ๒. อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ)
๓. เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) ๔. วาโยธาตุ (ธาตุลม)

๑๗
อาหาร ๔
๑. กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว) ทั้งหยาบและละเอียด
๒. ผัสสาหาร (อาหารคือผัสสะ)
๓. มโนสัญเจตนาหาร (อาหารคือมโนสัญเจตนา)
(ตกหล่น ๔. วิญญาณาหาร (อาหารคือวิญญาณ) - ธัมมโชติ)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๗๗/๒๔๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔

๑๘
วิญญาณฐิติ ๔

๑. วิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์) ที่เข้าถึงรูป เมื่อดำรงอยู่ ก็มีรูปเป็น
อารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง เข้าไปเสวยความเพลิดเพลินตั้งอยู่ ถึงความเจริญ
งอกงามไพบูลย์ได้
๒. วิญญาณที่เข้าถึงเวทนา ...
๓. วิญญาณที่เข้าถึงสัญญา ...
๔. วิญญาณที่เข้าถึงสังขาร เมื่อดำรงอยู่ ก็มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขาร
เป็นที่ตั้ง เข้าไปเสวยความเพลิดเพลินตั้งอยู่ ถึงความเจริญ งอกงาม
ไพบูลย์ได้

๑๙
การถึงอคติ๑(ความลำเอียง) ๔

๑. ฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะชอบ)
๒. โทสาคติ (ลำเอียงเพราะชัง)
๓. โมหาคติ (ลำเอียงเพราะหลง)
๔. ภยาคติ (ลำเอียงเพราะกลัว)

๒๐
เหตุเกิดขึ้นแห่งตัณหา๒ ๔

๑. ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุย่อมเกิดเพราะจีวรเป็นเหตุ
๒. ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุย่อมเกิดเพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ
๓. ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุย่อมเกิดเพราะเสนาสนะเป็นเหตุ
๔. ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุย่อมเกิดเพราะปัจจัยที่ดีและดีกว่าเป็นเหตุ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๗/๒๙
๒ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๙/๑๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔

๒๑
ปฏิปทา๑ ๔

๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก และรู้ได้ช้า)
๒. ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว)
๓. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า)
๔. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติสะดวก และรู้ได้เร็ว)

๒๒
ปฏิปทา๒ ๔ อีกนัยหนึ่ง

๑. อักขมา ปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ไม่อดทน)
๒. ขมา ปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่อดทน)
๓. ทมา ปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ข่มใจ)
๔. สมา ปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ระงับ)

๒๓
ธรรมบท๓ ๔

๑. ธรรมบทคืออนภิชฌา (ความไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา)
๒. ธรรมบทคืออพยาบาท (ความไม่คิดร้าย)
๓. ธรรมบทคือสัมมาสติ (ความระลึกชอบ)
๔. ธรรมบทคือสัมมาสมาธิ (ความตั้งจิตมั่นชอบ)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๖๑/๒๒๖
๒ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๖๔/๒๓๐
๓ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๙/๔๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔

๒๔
การสมาทานธรรม๑(การถือปฏิบัติธรรม) ๔

๑. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
๒. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต
๓. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
๔. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต

๒๕
ธรรมขันธ์๒ ๔

๑. สีลขันธ์ (กองศีล) ๒. สมาธิขันธ์ (กองสมาธิ)
๓. ปัญญาขันธ์ (กองปัญญา) ๔. วิมุตติขันธ์ (กองวิมุตติ)

๒๖
พละ ๔

๑. วิริยพละ (กำลังคือวิริยะ) ๒. สติพละ (กำลังคือสติ)
๓. สมาธิพละ (กำลังคือสมาธิ) ๔. ปัญญาพละ (กำลังคือปัญญา)

๒๗
อธิษฐาน(ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ) ๔

๑. ปัญญาธิษฐาน (ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจคือปัญญา)
๒. สัจจาธิษฐาน (ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจคือสัจจะ)
๓. จาคาธิษฐาน (ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจคือจาคะ)
๔. อุปสมาธิษฐาน (ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจคืออุปสมะ)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ม.มู. (แปล) ๑๒/๔๗๕/๔๒๓
๒ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๕๘/๒๒๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔

๒๘
[๓๑๒] ปัญหาพยากรณ์๑ ๔

๑. เอกังสพยากรณียปัญหา (ปัญหาที่ควรตอบโดยนัยเดียว)
๒. ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา (ปัญหาที่ควรตอบโดยย้อนถาม)
๓. วิภัชชพยากรณียปัญหา (ปัญหาที่ควรแยกตอบ)
๔. ฐปนียปัญหา (ปัญหาที่ควรงดตอบ)

๒๙
กรรม๒ ๔

๑. กรรมดำ มีวิบากดำ
๒. กรรมขาว มีวิบากขาว
๓. กรรมทั้งดำและขาว มีวิบากทั้งดำและขาว
๔. กรรมทั้งไม่ดำและไม่ขาว มีวิบากทั้งไม่ดำและไม่ขาว เป็นไปเพื่อ
ความสิ้นกรรม

๓๐
สัจฉิกรณียธรรม๓(ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง) ๔

๑. ปุพเพนิวาส ควรทำให้แจ้งด้วยสติ
๒. การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ควรทำให้แจ้งด้วยจักษุ
๓. วิโมกข์ ๘ ควรทำให้แจ้งด้วยกาย
๔. ความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญา

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๔๒/๗๐
๒ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๓๒/๓๔๕
๓ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๘๙/๒๗๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑๐. สังคีติสูตร] สังคีติหมวด ๔

๓๑
โอฆะ๑(ห้วงน้ำ) ๔

๑. กาโมฆะ (โอฆะคือกาม)
๒. ภโวฆะ (โอฆะคือภพ)
๓. ทิฏโฐฆะ (โอฆะคือทิฏฐิ)
๔. อวิชโชฆะ (โอฆะคืออวิชชา)

๓๒
โยคะ๒(สภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพ) ๔

๑. กามโยคะ (โยคะคือกาม)
๒. ภวโยคะ (โยคะคือภพ)
๓. ทิฏฐิโยคะ (โยคะคือทิฏฐิ)
๔. อวิชชาโยคะ (โยคะคืออวิชชา)

๓๓
วิสังโยคะ๓(ความพราก) ๔

๑. กามโยควิสังโยคะ (ความพรากจากกามโยคะ)
๒. ภวโยควิสังโยคะ (ความพรากจากภวโยคะ)
๓. ทิฏฐิโยควิสังโยคะ (ความพรากจากทิฏฐิโยคะ)
๔. อวิชชาโยควิสังโยคะ (ความพรากจากอวิชชาโยคะ)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๓๘/๒๓๙
๒ ดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๓๗/๕๘๘
๓ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๐/๑๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๙๒ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker