ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๐๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ

พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ปาฏิกสูตร
ว่าด้วยนักบวชเปลือยชื่อปาฏิกบุตร
เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ

[๑] ข้าพเจ้า๑ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นิคมของชาวมัลละชื่ออนุปิยะในแคว้น
มัลละ ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เสด็จ
เข้าไปยังอนุปิยนิคมเพื่อบิณฑบาต ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า “ยังเช้า
เกินไปที่จะเข้าไปยังอนุปิยนิคมเพื่อบิณฑบาต ทางที่ดี เราควรเข้าไปหาภัคควโคตร
ปริพาชกถึงอารามของเขา”
[๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาภัคควโคตรปริพาชกถึงอาราม
ของเขา ภัคควโคตรปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดเสด็จเข้ามาเถิด ขอรับเสด็จพระผู้มีพระภาค นาน ๆ
พระองค์จะมีเวลาเสด็จมา ณ ที่นี้ ขอพระผู้มีพระภาคประทับบนพุทธอาสน์ที่ปูลาด
ไว้แล้วเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้และพระสูตรอื่น ๆ ในเล่มนี้ หมายถึงพระอานนท์ (ที.สี.อ.
๑/๑/๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ

พระผู้มีพระภาคประทับบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว
ฝ่ายภัคควโคตรปริพาชกก็เลือกนั่ง ณ ที่สมควรแห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งต่ำกว่า
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหลายวันมาแล้ว
สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร (โอรสของเจ้าลิจฉวี) ได้มาหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ ได้บอก
ข้าพระองค์ว่า ‘ท่านภัคควะ บัดนี้ ข้าพเจ้าบอกคืนพระผู้มีพระภาคแล้ว ข้าพเจ้า
ไม่อยู่อุทิศพระผู้มีพระภาค’ เรื่องที่สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร กล่าวแล้วนั้นเป็นจริงหรือ
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภัคควะ เรื่องที่สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร กล่าวแล้ว
นั่นเป็นจริง
[๓] เมื่อหลายวันมาแล้ว สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้เข้าไปหาเราถึงที่อยู่
ไหว้เรา แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้
ข้าพระองค์ขอบอกคืนพระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์จักไม่อยู่อุทิศพระผู้มีพระภาค’
เมื่อเขากล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกับสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ว่า ‘สุนักขัตตะ
เราได้กล่าวกับเธอบ้างหรือว่า ‘มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจงอยู่อุทิศเรา’
‘หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า’
‘ก็หรือเธอได้กล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่
อุทิศพระผู้มีพระภาค’
‘หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า’
‘สุนักขัตตะ จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้กล่าวกับเธอเลยว่า ‘มาเถิด สุนักขัตตะ
เธอจงอยู่อุทิศเรา’ ทั้งเธอก็ไม่ได้กล่าวกับเราเลยว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
จักอยู่อุทิศพระผู้มีพระภาค’ โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเป็นใคร จะบอกคืนใคร
โมฆบุรุษ เธอจงดูเถิดว่า ‘การพูดเช่นนี้ เป็นความผิดของเธอมากเพียงไร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ

[๔] ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
อันเหนือธรรมดาของมนุษย์แก่ข้าพระองค์เลย’
‘สุนักขัตตะ เราได้กล่าวกับเธอบ้างหรือว่า ‘มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจงอยู่
อุทิศเรา เราจักแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์แก่เธอ’
‘หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า’
‘หรือว่า เธอได้กล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่
อุทิศพระผู้มีพระภาค (ถ้า)พระผู้มีพระภาคจักแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา
ของมนุษย์แก่ข้าพระองค์’
‘หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า’
‘สุนักขัตตะ จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้กล่าวกับเธอเลยว่า ‘มาเถิด สุนักขัตตะ
เธอจงอยู่อุทิศเรา เราจักแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์แก่เธอ’
ทั้งเธอก็ไม่ได้กล่าวกับเราเลยว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่อุทิศพระ
ผู้มีพระภาค’ (ถ้า)พระผู้มีพระภาคจักแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของ
มนุษย์แก่ข้าพระองค์’ โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเป็นใคร จะบอกคืนใคร สุนักขัตตะ
เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เราจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์
หรือไม่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ก็ตาม ธรรมที่เราแสดงแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตามหรือ(ไม่)’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์จะทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา
ของมนุษย์ หรือไม่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ก็ตาม ธรรมที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม
พระพุทธเจ้าข้า’
‘สุนักขัตตะ จริง ๆ แล้ว เราจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์
หรือไม่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ก็ตาม ธรรมที่เราแสดงแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม สุนักขัตตะ เมื่อเป็นเช่นนั้น
การที่เราแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์จะก่อผลอะไรได้เล่า โมฆ-
บุรุษ เธอจงดูเถิดว่า ‘การพูดเช่นนี้เป็นความผิดของเธอมากเพียงไร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ

[๕] ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคมิได้ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลก๑ แก่ข้าพระองค์เลย’
‘สุนักขัตตะ เราได้กล่าวกับเธอบ้างหรือว่า ‘มาเถิด สุนักขัตตะ เธอจงอยู่
อุทิศเรา เราจักประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกแก่เธอ’
‘หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า’
‘สุนักขัตตะ ก็หรือเธอได้กล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
จักอยู่อุทิศพระผู้มีพระภาค (ถ้า)พระผู้มีพระภาคจักประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกแก่ข้าพระองค์’
‘หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า’
‘สุนักขัตตะ จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้กล่าวกับเธอเลยว่า ‘มาเถิด สุนักขัตตะ
เธอจงอยู่อุทิศเรา เราจักประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกแก่เธอ’ ทั้งเธอก็ไม่
ได้กล่าวกับเราเลยว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่อุทิศพระผู้มีพระภาค
(ถ้า)พระผู้มีพระภาคจักทรงประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกแก่ข้าพระองค์’
โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอเป็นใคร จะบอกคืนใคร สุนักขัตตะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่า
อย่างไร เราจะประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก หรือไม่ประกาศทฤษฎีว่าด้วย
ต้นกำเนิดของโลกก็ตาม ธรรมที่เราแสดงแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ
แก่ผู้กระทำตามหรือ(ไม่)’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์จะทรงประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
หรือไม่ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกก็ตาม ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม พระพุทธเจ้าข้า’

เชิงอรรถ :
๑ ทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ในที่นี้หมายถึงทฤษฎีที่กล่าวถึงการเกิดขึ้นของโลกว่า ‘นี้เป็นดินแดน
เริ่มต้นของโลก’ (ที.ปา.อ. ๕/๓, ที.ปา.ฏีกา ๕/๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ

สุนักขัตตะ จริง ๆ แล้ว เราจะประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
หรือไม่ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกก็ตาม ธรรมที่เราแสดงแล้วย่อม
เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่เราประกาศ
ทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก จักก่อผลอะไรได้เล่า โมฆบุรุษ เธอจงดูเถิดว่า
‘การพูดเช่นนี้เป็นความผิดของเธอมากเพียงไร’
[๖] สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญเราที่วัชชีคาม๑ด้วยเหตุผลหลายอย่างว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควร
ฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค๒’ สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญเราที่วัชชีคามด้วยเหตุผล
หลายอย่าง อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ วัชชีคาม หมายถึงกรุงเวสาลีซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าวัชชี (ที.ปา.อ. ๖/๓)
๒ พุทธคุณทั้ง ๙ บทนี้ แต่ละบทมีอรรถอเนกประการ คือ
๑. ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะห่างไกลจากกิเลส, เพราะกำจัดข้าศึกคือกิเลส, เพราะหักซี่กำแห่ง
สังสาระ คือการเวียนว่ายตายเกิด, เพราะเป็นผู้ควรรับไทยธรรม, เพราะไม่ทำบาปในที่ลับ
๒. ชื่อว่าตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง
๓. ชื่อว่าเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ วิชชา ได้แก่ วิชชา ๓ และวิชชา ๘ ดังนี้ วิชชา ๓ คือ
(๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความหยั่งรู้ที่ทำให้ระลึกชาติได้ (๒) จุตูปปาตญาณ ความหยั่งรู้จุติ(ตาย) และ
อุบัติ(เกิด) ของสัตว์ (๓) อาสวักขยญาณ ความหยั่งรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ วิชชา ๘ คือ (๑) วิปัสสนาญาณ
ญาณที่เป็นตัววิปัสสนา (๒) มโนมยิทธิ มีฤทธิ์ทางใจ (๓) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ (๔) ทิพพโสต
หูทิพย์ (๕) เจโตปริยญาณ ปรีชากำหนดรู้จิตผู้อื่นได้ (๖) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความหยั่งรู้ที่ทำให้ระลึก
ชาติได้ (๗) ทิพพจักขุ ตาทิพย์ หรือเรียกว่าจุตูปปาตญาณ (๘) อาสวักขยญาณ ความหยั่งรู้ที่ทำให้สิ้น
อาสวะ จรณะ ๑๕ คือ (๑) สีลสัมปทา ความถึงพร้อมแห่งศีล (๒) อินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย์
(๓) โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้จักประมาณในการบริโภค (๔) ชาคริยานุโยค การหมั่นประกอบความเพียร
เป็นเครื่องตื่น (๕) มีศรัทธา (๖) มีหิริ (๗) มีโอตตัปปะ (๘) เป็นพหูสูต (๙) วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร
(๑๐) มีสติมั่นคง (๑๑) มีปัญญา (๑๒) ปฐมฌาน (๑๓) ทุติยฌาน (๑๔) ตติยฌาน (๑๕) จตุตถฌาน
๔. ชื่อว่าเสด็จไปดี เพราะทรงดำเนินรุดหน้าไปไม่หวนกลับคืนมาหากิเลสที่ทรงละได้แล้ว และยังมี
อรรถว่า ตรัสไว้ดี เพราะทรงกล่าวคำที่ควรในฐานะที่ควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องเจ้าลิจฉวีนามว่าสุนักขัตตะ

สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญพระธรรมที่วัชชีคามด้วยเหตุผลหลายอย่าง
ว่า ‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วย
ตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล๑ ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน
พึงรู้เฉพาะตน’ สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญพระธรรมที่วัชชีคามด้วยเหตุผล
หลายอย่าง อย่างนี้แล
สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญพระสงฆ์ที่วัชชีคามด้วยเหตุผลหลายอย่าง
ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง
ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล ๔ คู่ ๘ บุคคล พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้
เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การ
ทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก สุนักขัตตะ เธอเคยกล่าวสรรเสริญ
พระสงฆ์ที่วัชชีคามด้วยเหตุผลหลายอย่าง อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๕. ชื่อว่ารู้แจ้งโลก เพราะทรงรู้แจ้งโลก เหตุเกิดโลก ความดับโลก วิธีปฏิบัติให้ลุถึงความดับโลก
(ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) และทรงรู้แจ้งโลกทั้ง ๓ คือ สังขารโลก สัตวโลก โอกาสโลก
๖. ชื่อว่าสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะทรงฝึกฝนคนที่ควรฝึกฝน ทั้งเทวดา มนุษย์
อมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน ด้วยอุบายต่าง ๆ
๗. ชื่อว่าเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะทรงสั่งสอนทั้งเทวดาและมนุษย์ด้วย
ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า ผู้ปฏิบัติตามแล้วสำเร็จมรรคผลในโลกนี้บ้าง จุติไปเกิดในสวรรค์
กลับมาฟังธรรมแล้วสำเร็จมรรคผลบ้าง ทรงช่วยเหลือหมู่สัตว์ให้พ้นความกันดาร คือความเกิด
๘. ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดด้วยพระองค์เอง แล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
๙. ชื่อว่าเป็นพระผู้มีพระภาคเพราะ(๑)ทรงมีโชค(๒)ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส(๓)ทรงประกอบด้วย
ภคธรรม ๖ ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน, โลกุตตรธรรม, ยศ, สิริ, ความสำเร็จประโยชน์
ตามต้องการ และความเพียร) (๔) ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (๕) ทรงเสพอริยธรรม (๖) ทรงคลายตัณหา
ในภพทั้ง ๓ (๗) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (๘) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (๙) ทรงมีส่วนแห่งปัจจัย ๔
เป็นต้น (วิ.อ. ๑/๑/๑๐๓-๑๑๘)
อนึ่ง พระพุทธคุณนี้ ท่านแบ่งเป็น ๑๐ ประการ โดยแยกข้อ ๖ เป็น ๒ ประการ คือ (๑) เป็นผู้
ยอดเยี่ยม (๒) เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ (วิสุทฺธิ. ๑/๒๖๕, วิ.อ. ๑/๑๑๒-๑๑๓)
๑ ไม่ประกอบด้วยกาล หมายถึงให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลาทุกโอกาส
บรรลุเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๔/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อโกรักขัตติยะ

สุนักขัตตะ เราขอบอกเธอ เราขอเตือนเธอ จักมีผู้ด่าว่าเธอได้ว่า ‘สุนักขัตตะ
ลิจฉวีบุตร ไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมได้ เมื่อไม่สามารถ
ประพฤติได้ ได้บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์’ สุนักขัตตะ จักมีผู้ด่าว่าเธอ
อย่างนี้แล ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เมื่อถูกเราว่ากล่าวอย่างนี้ ได้หนีไปจาก
ธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนผู้ควรเกิดในอบายกลับไปตกนรก ฉะนั้น

เรื่องนักบวชเปลือยชื่อโกรักขัตติยะ

[๗] ภัคควะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่นิคมของชาวถูลู ชื่ออุตตรกา ในชุมชนชาวถูลู
ครั้นในเวลาเช้า เราครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร มีสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เป็น
ปัจฉาสมณะ๑ เข้าไปยังอุตตรกานิคมเพื่อบิณฑบาต สมัยนั้น มีนักบวชเปลือย
ชื่อโกรักขัตติยะ ประพฤติอย่างสุนัข คือ คลานไปด้วยข้อศอกและเข่ากินอาหาร
ที่กองบนพื้นดินด้วยปาก สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้เห็นเขาแล้ว จึงได้มีความคิด
ดังนี้ว่า ‘สมณะคลานไปด้วยข้อศอกและเข่า กินอาหารที่กองบนพื้นดินด้วยปาก
เป็นพระอรหันต์ชั้นดี’
ครั้งนั้น เราได้รู้ความรำพึงของสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ด้วยใจ จึงกล่าวกับ
สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ว่า ‘โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอก็ยังปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ
ศากยบุตรอยู่หรือ’
เขาได้กล่าวว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียก
ข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอก็ยังปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะศากย-
บุตรอยู่หรือ’
‘สุนักขัตตะ เธอได้เห็นนักบวชเปลือยโกรักขัตติยะนี้ ผู้ประพฤติอย่างสุนัข
คลานไปด้วยข้อศอกและเข่า กินอาหารที่กองบนพื้นดินด้วยปากแล้ว ได้มีความคิด

เชิงอรรถ :
๑ ปัจฉาสมณะ หมายถึงพระติดตาม คือ คอยติดตามรับใช้ (ขุ.อุ.อ. ๗๗/๔๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อโกรักขัตติยะ

ดังนี้ว่า ‘สมณะที่คลานไปด้วยข้อศอกและเข่า กินอาหารที่กองบนพื้นดินด้วยปาก
เป็นพระอรหันต์ชั้นดี’ มิใช่หรือ’
‘ใช่ พระพุทธเจ้าข้า ก็พระผู้มีพระภาคยังทรงหวงความเป็นพระอรหันต์อยู่หรือ’
‘โมฆบุรุษ เรามิได้หวงความเป็นพระอรหันต์เลย แต่เธอได้เกิดความเห็นชั่ว
นี้ขึ้น เธอจงละความเห็นชั่วนั้นเสีย ความเห็นชั่วนั้นอย่าได้มีเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์
แก่เธอตลอดกาลนานเลย สุนักขัตตะ นักบวชเปลือยโกรักขัตติยะ ที่เธอเข้าใจว่าเป็น
สมณะผู้เป็นพระอรหันต์ชั้นดีนั้น อีก ๗ วัน จักตายด้วยโรคอลสกะ๑ แล้วจักไปเกิด
ในหมู่อสูรชื่อกาลกัญชิกา๒ ซึ่งต่ำต้อยกว่าหมู่อสูรทุกประเภท และคนจักนำศพนั้น
ไปทิ้งที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ ถ้าเธอประสงค์จะรู้ พึงเข้าไปหานักบวชเปลือยโกรัก-
ขัตติยะแล้วถามว่า ‘ท่านโกรักขัตติยะ ท่านทราบคติของตนหรือ’ เป็นไปได้ที่เขาจัก
ตอบว่า ‘ท่านสุนักขัตตะ เราทราบคติของเรา คือจะไปเกิดในหมู่อสูรชื่อกาลกัญชิกา
ซึ่งต่ำต้อยกว่าหมู่อสูรทุกประเภท’
ภัคควะ ครั้งนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้เข้าไปหานักบวชเปลือยโกรักขัตติยะ
ถึงที่อยู่ แล้วได้พูดกับนักบวชเปลือยโกรักขัตติยะดังนี้ว่า ‘ท่านโกรักขัตติยะ พระ
สมณโคดมพยากรณ์ว่า’ อีก ๗ วัน โกรักขัตติยะจักตายด้วยโรคอลสกะ แล้วจักไป
เกิดในหมู่อสูรชื่อกาลกัญชิกา ซึ่งต่ำต้อยกว่าหมู่อสูรทุกประเภท และคนจักนำ
ศพนั้นไปทิ้งที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ’ ท่านโกรักขัตติยะควรกินอาหารแต่พอสมควร
และดื่มน้ำแต่พอสมควร เพื่อทำให้คำพูดของพระสมณโคดมผิดไป’
[๘] ภัคควะ ตอนนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ไม่เชื่อตถาคต จึงนับวันและคืน
ตลอด ๗ วัน โดยเริ่มจากวันที่ล่วงไป ๑ วัน ๒ วัน ต่อมา ถึงวันที่ ๗ นักบวชเปลือย

เชิงอรรถ :
๑ โรคอลสกะ หมายถึงโรคที่เกิดจากอาหารไม่ย่อย ได้แก่ ท้องอืด ท้องเฟ้อ (ที.ปา.ฏีกา ๗/๕)
๒ อสูรชื่อกาลกัญชิกา หมายถึงอสูรที่มีตัวสูง ๓ คาวุต มีเนื้อและโลหิตน้อย มีตาติดบนศีรษะคล้ายตาปู
มีปากเท่ารูเข็มบนศีรษะ ก้มตัวลงกินอาหารด้วยปากเล็ก ๆ นั้น (ที.ปา.อ. ๗/๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อโกรักขัตติยะ

โกรักขัตติยะได้ตายด้วยโรคอลสกะ แล้วไปเกิดในหมู่อสูรชื่อกาลกัญชิกา ซึ่งต่ำต้อย
กว่าหมู่อสูรทุกประเภท และคนนำศพนั้นไปทิ้งที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ
[๙] ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้ฟังข่าวว่า ‘นักบวชเปลือยโกรักขัตติยะ
ตายด้วยโรคอลสกะ ถูกเขานำไปทิ้งไว้ที่ป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะ’ จึงเข้าไปหาศพนัก
บวชเปลือยโกรักขัตติยะถึงป่าช้าชื่อวีรณัตถัมภกะแล้ว ใช้มือตบศพนักบวชเปลือย
โกรักขัตติยะ ๓ ครั้ง ถามว่า ‘ท่านโกรักขัตติยะ ท่านทราบคติของท่านหรือ’
ขณะนั้น ศพนักบวชเปลือยโกรักขัตติยะลุกขึ้นยืน เอามือลูบหลัง(ของเขา)แล้วตอบว่า
‘ท่านสุนักขัตตะ เราทราบคติของเรา เราไปเกิดในหมู่อสูรชื่อกาลกัญชิกา ซึ่งต่ำต้อย
กว่าหมู่อสูรทุกประเภท’ แล้วล้มลงนอนหงายอยู่ ณ ที่นั้นเอง
[๑๐] ภัคควะ ครั้งนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เรา
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร เราได้กล่าวกับสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ดังนี้ว่า ‘สุนักขัตตะ
เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เราปรารภนักบวชเปลือยโกรักขัตติยะแล้วพยากรณ์แก่เธอ
ไว้อย่างไร ผลของการพยากรณ์เป็นอย่างนั้นหรือ หรือว่าเป็นอย่างอื่น’
สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ตอบว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรง
ปรารภนักบวชเปลือยโกรักขัตติยะแล้วพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ไว้อย่างไร ผลของการ
พยากรณ์เป็นอย่างนั้น๑ มิได้เป็นอย่างอื่นเลย’
‘สุนักขัตตะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้น เราได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์
อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ หรือยังไม่ได้แสดง’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อัน
เหนือธรรมดาของมนุษย์แล้วแน่นอน มิใช่ไม่ได้ทรงแสดง’

เชิงอรรถ :
๑ ผลของการพยากรณ์เป็นอย่างนั้น หมายถึงผลการพยากรณ์ที่เป็นอิทธิปาฏิหาริย์ ๕ ประการ ที่พระผู้มี
พระภาคตรัสไว้เป็นจริงทุกอย่าง คือ นักบวชเปลือยโกรักขัตติยะ (๑) ตายในวันที่ ๗ ก็เป็นจริง (๒) ตาย
ด้วยโรคอลสกะ ก็เป็นจริง (๓) ไปเกิดในหมู่อสูรชื่อกาลกัญชิกา ก็เป็นจริง (๔) ถูกเขานำไปทิ้งที่ป่าช้าชื่อ
วีรณัตถัมภกะ ก็เป็นจริง (๕) หลังจากที่ตนเกิดเป็นอสูรแล้วได้พูดกับสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ก็เป็นจริง
(ที.ปา.อ. ๑๐/๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อกฬารมัชฌกะ

‘โมฆบุรุษ ถึงอย่างนี้ เธอยังจะกล่าวกับเราผู้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์ว่า ‘พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา
ของมนุษย์แก่ข้าพระองค์’ อยู่อีกหรือ เธอจงดูเถิดว่า ‘การพูดเช่นนี้เป็นความผิด
ของเธอมากเพียงไร’ ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เมื่อถูกเราว่ากล่าวอย่างนี้
ได้หนีไปจากธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนผู้ควรเกิดในอบายกลับไปตกนรก ฉะนั้น

เรื่องนักบวชเปลือยชื่อกฬารมัชฌกะ

[๑๑] ภัคควะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี
ขณะนั้น นักบวชเปลือยชื่อกฬารมัชฌกะอยู่ที่วัชชีคาม เขตกรุงเวสาลี ถึงความเป็นผู้
เลิศด้วยลาภ๑และถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ๒ เขาถือสมาทานวัตรบท ๗ ประการ คือ
๑. เราพึงเป็นคนเปลือย ไม่นุ่งห่มผ้าตลอดชีวิต
๒. เราพึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เสพเมถุนตลอดชีวิต
๓. เราพึงดำรงชีพด้วยสุราและเนื้อสัตว์ ไม่กินข้าวและขนมกุมมาส
(ขนมสด) ตลอดชีวิต
๔. เราไม่พึงล่วงเกินอุเทนเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งกรุงเวสาลี
๕. เราไม่พึงล่วงเกินโคตมกเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้แห่งกรุงเวสาลี
๖. เราไม่พึงล่วงเกินสัตตัมพเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกแห่งกรุงเวสาลี
๗. เราไม่พึงล่วงเกินพหุปุตตกเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือแห่งกรุงเวสาลี
ดังนี้
เพราะการสมาทานวัตรบทครบ ๗ ประการนี้ เขาจึงถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ
และถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศที่วัชชีคาม

เชิงอรรถ :
๑ ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ หมายถึงได้รับการนับถือว่าเป็นสมณะชั้นดี จึงได้รับของถวายแต่ที่ดี ๆ (ที.ปา.
ฏีกา ๑๑/๗)
๒ ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ หมายถึงมีนักบวชเปลือยจำนวนมากห้อมล้อมและมีคฤหัสถ์ผู้มั่งคั่งมาเยี่ยมเยือน
อยู่เป็นประจำ (ที.ปา.ฏีกา ๑๑/๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อกฬารมัชฌกะ

[๑๒] ภัคควะ ครั้งนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เข้าไปหานักบวชเปลือย
กฬารมัชฌกะถึงที่อยู่แล้วถามปัญหา เขาถูกถามปัญหาแล้วไม่สามารถตอบปัญหา
ของสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตรนั้นให้ถูกต้องได้ จึงแสดงความโกรธ ความขัดเคือง
และความไม่แช่มชื่นให้ปรากฏ ขณะนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้มีความคิด
ดังนี้ว่า ‘เราได้รุกรานสมณะผู้เป็นพระอรหันต์ชั้นดีแล้ว ขอความผิดนั้นอย่าได้มีเพื่อ
ไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เราตลอดกาลนานเลย’
[๑๓] ครั้งนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตรได้เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร
เราได้กล่าวกับสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ดังนี้ว่า ‘โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอ ก็ยัง
ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะศากยบุตรอยู่หรือ’
เขาได้กล่าวว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียก
ข้าพระองค์อย่างนี้ว่า โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอ ก็ยังปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ
ศากยบุตรอยู่หรือ’
‘สุนักขัตตะ เธอเข้าไปหานักบวชเปลือยกฬารมัชฌกะแล้วถามปัญหา เขา
ถูกถามปัญหาแล้วไม่สามารถตอบปัญหาของเธอให้ถูกต้องได้ จึงแสดงความโกรธ
ความขัดเคือง และความไม่แช่มชื่นให้ปรากฏ เธอจึงได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เราได้
รุกรานสมณะผู้เป็นพระอรหันต์ชั้นดีแล้ว ขอความผิดนั้นอย่าได้มีเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อ
ทุกข์แก่เราตลอดกาลนานเลย’ มิใช่หรือ’
‘ใช่ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคก็ยังหวงความเป็นพระอรหันต์อยู่หรือ’
‘โมฆบุรุษ เรามิได้หวงความเป็นพระอรหันต์เลย แต่เธอได้เกิดความเห็นชั่วนี้ขึ้น
เธอจงละความเห็นชั่วนั้นเสีย ความเห็นชั่วนั้นอย่าได้มีเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เธอ
ตลอดกาลนานเลย สุนักขัตตะ นักบวชเปลือยกฬารมัชฌกะที่เธอเข้าใจว่าเป็นสมณะ
ผู้เป็นพระอรหันต์ชั้นดีนั้น อีกไม่นาน เขาก็จะกลับนุ่งห่มผ้า มีภรรยา กินข้าวและ
ขนมกุมมาส ล่วงเกินเจดีย์ที่มีอยู่ในกรุงเวสาลีทั้งหมด กลายเป็นคนเสื่อมยศ
แล้วจักตายไป’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อกฬารมัชฌกะ

ภัคควะ ต่อมาไม่นาน นักบวชเปลือยกฬารมัชฌกะ ก็กลับนุ่งห่มผ้า มีภรรยา
กินข้าวและขนมกุมมาส ล่วงเกินเจดีย์ที่มีอยู่ในกรุงเวสาลีทั้งหมด กลายเป็นคน
เสื่อมยศแล้วตายไป
[๑๔] ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้ฟังข่าวว่า ‘นักบวชเปลือยกฬาร-
มัชฌกะ กลับนุ่งห่มผ้า มีภรรยา กินข้าวและขนมกุมมาส ล่วงเกินเจดีย์ที่มีอยู่ใน
กรุงเวสาลีทั้งหมด เสื่อมจากยศแล้วตายไป’ จึงเข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร เราจึงกล่าวกับสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ว่า ‘สุนักขัตตะ เธอเข้าใจ
เรื่องนั้นว่าอย่างไร เราปรารภนักบวชเปลือยกฬารมัชฌกะแล้วพยากรณ์แก่เธอไว้
อย่างไร ผลของการพยากรณ์เป็นอย่างนั้นหรือ หรือว่าเป็นอย่างอื่น’
สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ตอบว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรง
ปรารภนักบวชเปลือยกฬารมัชฌกะ แล้วพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ไว้อย่างไร ผลของ
การพยากรณ์เป็นอย่างนั้น มิได้เป็นอย่างอื่นเลย’
‘สุนักขัตตะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้น เราได้แสดง
อิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์แล้ว หรือยังไม่ได้แสดง’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์แล้วแน่นอน มิใช่ไม่ได้ทรงแสดง’
‘โมฆบุรุษ ถึงอย่างนี้ เธอยังจะกล่าวกับเราผู้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์ว่า ‘พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์แก่ข้าพระองค์’ อยู่อีกหรือ เธอจงดูเถิดว่า ‘การพูดเช่นนี้เป็น
ความผิดของเธอมากเพียงไร’ ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เมื่อถูกเราว่ากล่าวอย่างนี้
ได้หนีไปจากธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนผู้ควรเกิดในอบายกลับไปตกนรก ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องนักบวชเปลือยชื่อปาฎิกบุตร

เรื่องนักบวชเปลือยชื่อปาฏิกบุตร

[๑๕] ภัคควะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตกรุง
เวสาลีนั้น สมัยนั้น นักบวชเปลือยชื่อปาฏิกบุตรอาศัยอยู่ที่วัชชีคาม เขตกรุง
เวสาลี ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภและถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ เขาชอบพูดอวด
ในบริษัท ในกรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นญาณวาท เราก็เป็น
ญาณวาท๑ด้วย ผู้เป็นญาณวาทควรจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของ
มนุษย์กับผู้เป็นญาณวาทด้วยกัน ขอให้พระสมณโคดมเสด็จมาครึ่งทาง แม้เราก็จะ
ไปครึ่งทาง ณ ที่พบกันนั้น เราทั้งสองพึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา
ของมนุษย์ด้วยกัน ถ้าพระสมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา
ของมนุษย์ ๑ อย่าง เราจักแสดง ๒ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิ-
ปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ๒ อย่าง เราจักแสดง ๔ อย่าง ถ้าพระ
สมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ๔ อย่าง เรา
จักแสดง ๘ อย่าง พระสมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของ
มนุษย์มากเท่าใด ๆ ก็ตาม เราจักแสดงให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณ’
[๑๖] ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วนั่ง ณ
ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
อาศัยอยู่ที่วัชชีคาม เขตกรุงเวสาลี ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภและถึงความเป็นผู้
เลิศด้วยยศ เขาชอบพูดอวดในบริษัท ในกรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็น
ญาณวาท เราก็เป็นญาณวาทด้วย ผู้เป็นญาณวาทควรจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
อันเหนือธรรมดาของมนุษย์กับผู้เป็นญาณวาทด้วยกัน ขอให้พระสมณโคดมเสด็จมา
ครึ่งทาง แม้เราก็จะไปครึ่งทาง ณ ที่พบกันนั้น เราทั้งสองพึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ด้วยกัน ถ้าพระสมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ๑ อย่าง เราจักแสดง ๒ อย่าง ถ้าพระสมณโคดม

เชิงอรรถ :
๑ ญาณวาท ในที่นี้หมายถึงลัทธิที่เข้าใจว่าตนรู้สัพพัญญุตญาณ และกล่าวอ้างเรื่องสัพพัญญุตญาณว่า
“เรารู้ทุกสิ่ง” (ที.ปา.อ. ๑๕/๙, ที.ปา.ฏีกา ๑๕/๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องนักบวชเปลือยชื่อปาฎิกบุตร

จักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ๒ อย่าง เราจักแสดง ๔ อย่าง
ถ้าพระสมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ๔ อย่าง
เราจักแสดง ๘ อย่าง พระสมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา
ของมนุษย์มากเท่าใด ๆ ก็ตาม เราจักแสดงให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณ’
ภัคควะ เมื่อสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร กล่าวอย่างนี้ เราได้กล่าวกับสุนักขัตตะ
ลิจฉวีบุตร ดังนี้ว่า ‘สุนักขัตตะ ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละ
ความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิด
อย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไป
เผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
[๑๗] ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรักษาพระวาจา
นั้นเถิด ขอพระสุคตจงทรงรักษาพระวาจานั้นเถิด’
‘สุนักขัตตะ ก็ไฉนเธอจึงกล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรักษาพระวาจานั้นเถิด ขอพระสุคตจงทรงรักษาพระวาจา
นั้นเถิด’ ดังนี้เล่า’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคตรัสวาจานี้โดยนัยเดียวว่า ‘ถ้านักบวช
เปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจ
ที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด
ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะ
พึงแตกแน่’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรอาจแปลงรูปมาเผชิญ
หน้ากับพระผู้มีพระภาคก็ได้ ในตอนนั้นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคก็จะเป็นเท็จ’
[๑๘] ‘สุนักขัตตะ ตถาคตเคยกล่าววาจาที่เป็น ๒ นัยบ้างไหม’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดรู้ใจของนักบวชเปลือย
ปาฏิกบุตรด้วยพระทัยว่า ‘ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด
ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า
‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องนักบวชเปลือยชื่อปาฎิกบุตร

พระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่หรือ’ หรือว่าเหล่าเทวดาก็ได้
กราบทูลความข้อนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้านักบวชเปลือย
ปาฏิกบุตรยังไม่ละวาจา ฯลฯ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
[๑๙] ‘สุนักขัตตะ เรากำหนดรู้ใจของนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรด้วยใจของเรา
ว่า ‘ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตรยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น
ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้’ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเราจะไม่ละวาจา
ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้
ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’ และเหล่าเทวดาก็ได้บอกความข้อนี้แก่เราว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตรไม่ละวาจา ฯลฯ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
แม้เสนาบดีของเจ้าลิจฉวีชื่ออชิตะ ซึ่งได้ถึงแก่อนิจกรรมไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ไปเกิด
ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ ก็ได้เข้ามาบอกเราอย่างนี้ว่า ‘นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรเป็น
คนไม่ละอาย เป็นคนพูดเท็จ ทั้งได้พยากรณ์ข้าพระองค์ที่วัชชีคามว่า ‘เสนาบดีของ
เจ้าลิจฉวีชื่ออชิตะไปเกิดในมหานรก’ ข้าพระองค์มิได้ไปเกิดในมหานรก แต่ไปเกิด
ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรเป็นคน
ไม่ละอาย เป็นคนพูดเท็จ ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตรยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด
ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับพระผู้มีพระภาคได้ แม้เขาจะคิด
อย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญ
หน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
แม้เพราะเหตุนี้แล เรากำหนดรู้ใจของนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรด้วยใจของเรา
ว่า ‘ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตรยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น
ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้’ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา
ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้
ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่ และเหล่าเทวดาก็ได้บอกความข้อนี้แก่เราว่า ‘ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตรยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัด
ความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับพระผู้มีพระภาคได้ แม้เขาจะคิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์

อย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไป
เผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
สุนักขัตตะ ก็เรานั้นแล จะเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต กลับจาก
บิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว จะเข้าไปยังอารามของนักบวชเปลือย
ปาฏิกบุตร เพื่อพักกลางวัน ถ้าเธออยากจะบอกก็จงไปบอกเขาเดี๋ยวนี้’

เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์

[๒๐] ภัคควะ ครั้นในเวลาเช้า เราครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เข้าไป
ยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว
เข้าไปยังอารามของนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร เพื่อพักกลางวัน ครั้งนั้น สุนักขัตตะ
ลิจฉวีบุตร รีบเข้าไปยังกรุงเวสาลีแล้วเข้าเฝ้าพวกเจ้าลิจฉวีที่มีชื่อเสียงทูลว่า ‘ท่าน
ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต กลับ
จากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เสด็จเข้าไปยังอารามของนักบวช
เปลือยปาฏิกบุตร เพื่อทรงพักกลางวัน ขอพวกท่านจงรีบออกไป จักมีการแสดง
อิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ของพวกสมณะชั้นดี’ ครั้งนั้น พวกเจ้าลิจฉวี
ที่มีชื่อเสียงได้พูดกันว่า ‘ท่านผู้เจริญ ทราบข่าวว่า จักมีการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ของพวกสมณะชั้นดี ฉะนั้น เชิญพวกเราไป(ดู)กันเถิด’
สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เข้าไปหาพวกพราหมณมหาศาล๑ คหบดีผู้มั่งคั่ง และ
สมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียง แล้วบอกอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย พระ
ผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เสด็จเข้าไปยังอารามของนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
เพื่อทรงพักกลางวัน ขอพวกท่านจงรีบออกไป จักมีการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อัน
เหนือธรรมดาของมนุษย์ ของพวกสมณะชั้นดี’ ครั้งนั้น พวกสมณพราหมณ์ลัทธิ

เชิงอรรถ :
๑ มหาศาล ในที่นี้หมายถึงผู้มีทรัพย์มาก ขัตติยมหาศาล มีพระราชทระพย์ ๑๐๐ - ๑,๐๐๐ โกฏิ พราหมณ-
มหาซาลมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ คหบดีมหาศาลมีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ (ที.ม.อ. ๒๑๐/๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์

ต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียง ได้พูดกันว่า ‘ท่านผู้เจริญ ทราบข่าวว่า จักมีการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ของพวกสมณะชั้นดี ฉะนั้น ขอให้พวกเราไป(ดู)กันเถิด’
ภัคควะ ครั้งนั้น พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง พราหมณมหาศาล คหบดีผู้
มั่งคั่ง และสมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียง ต่างพากันไปยังอารามของนักบวช
เปลือยปาฏิกบุตร บริษัทนั้น ๆ เป็นเรือนร้อย เรือนพัน
[๒๑] ภัคควะ นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรได้ฟังข่าวว่า ‘พวกเจ้าลิจฉวีผู้มี
ชื่อเสียง พราหมณมหาศาล คหบดีผู้มั่งคั่ง และสมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ผู้มี
ชื่อเสียง ต่างพากันออกมาแล้ว แม้พระสมณโคดมก็ประทับพักกลางวันอยู่ที่อาราม
ของเรา’ จึงเกิดความกลัว ความสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้า ครั้งนั้น นักบวชเปลือย
ปาฏิกบุตร กลัว ตัวสั่น ขนพองสยองเกล้า หนีไปยังอารามของตินทุกขาณุปริพาชก
บริษัทนั้นได้ฟังข่าวว่า ‘นักบวชเปลือยปาฏิกบุตร กลัว ตัวสั่น ขนพอง
สยองเกล้า หนีเข้าไปยังอารามของตินทุกขาณุปริพาชก’
ทันใดนั้น บริษัทนั้นได้เรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า ‘พ่อคุณ เธอจงเข้าไปหานัก
บวชเปลือยปาฏิกบุตรที่อารามของตินทุกขาณุปริพาชก แล้วจงบอกกับนักบวช
เปลือยปาฏิกบุตรอย่างนี้ว่า ‘ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไปเถิด พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง
พราหมณมหาศาล คหบดีผู้มั่งคั่ง และสมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียง
ต่างพากันออกมาแล้ว แม้พระสมณโคดมก็ประทับพักกลางวันอยู่ที่อารามของท่าน
อนึ่ง ท่านได้พูดอวดไว้ในบริษัท ในกรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็น
ญาณวาท เราก็เป็นญาณวาทด้วย ผู้เป็นญาณวาทควรแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์กับผู้เป็นญาณวาทด้วยกัน ขอให้พระสมณโคดมเสด็จมาครึ่งทาง
แม้เราก็จะไปครึ่งทาง ณ ที่พบกันนั้น เราทั้งสองจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์ด้วยกัน ถ้าพระสมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์ ๑ อย่าง เราจักแสดง ๒ อย่าง ถ้าพระสมณโคดมจักทรงแสดง
อิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ๒ อย่าง เราจักแสดง ๔ อย่าง ถ้าพระ
สมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์ ๔ อย่าง เราจัก
แสดง ๘ อย่าง พระสมณโคดมจักทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์

มนุษย์มากเท่าใด ๆ ก็ตาม เราจักแสดงให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณ’ ท่านปาฏิกบุตร
ท่านจงออกไปครึ่งทาง พระสมณโคดมเสด็จมาก่อนคนทั้งปวงทีเดียว ประทับพัก
กลางวันอยู่ที่อารามของท่าน’
[๒๒] ‘ภัคควะ บุรุษนั้นรับคำสั่งแล้ว จึงเข้าไปหานักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
ที่อารามของตินทุกขาณุปริพาชก แล้วบอกกับนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรดังนี้ว่า
‘ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไปเถิด พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง พราหมณมหาศาล
คหบดีผู้มั่งคั่ง และสมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียง ต่างพากันออกมาแล้ว
แม้พระสมณโคดมก็ประทับพักกลางวันอยู่ที่อารามของท่าน อนึ่ง ท่านได้พูดอวดไว้
ในบริษัท ในกรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นญาณวาท เราก็เป็นญาณวาท
ด้วย อนึ่ง ผู้เป็นญาณวาทควรแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์กับผู้
เป็นญาณวาทด้วยกัน ฯลฯ เราจักแสดงให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณ’ ท่านปาฏิกบุตร
ท่านจงออกไปครึ่งทาง พระสมณโคดมเสด็จมาก่อนคนทั้งปวงทีเดียว ประทับพัก
กลางวันอยู่ที่อารามของท่าน’
ภัคควะ เมื่อบุรุษนั้นกล่าวอย่างนี้ นักบวชเปลือยปาฏิกบุตร จึงกล่าวตอบว่า
‘เราจะไป ๆ’ แล้วซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้ ครั้งนั้น บุรุษนั้น
ได้กล่าวกับนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรดังนี้ว่า ‘ท่านปาฏิกบุตร ท่านเป็นอะไรเล่า
ตะโพกของท่านติดกับตั่งหรือ หรือว่าตั่งติดกับตะโพกของท่าน ท่านกล่าวว่า ‘เรา
จะไป ๆ’ แต่กลับซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’ ภัคควะ นักบวช
เปลือยปาฏิกบุตร แม้ถูกบุรุษต่อว่าอยู่อย่างนี้ ก็ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็
ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้
[๒๓] ภัคควะ เมื่อบุรุษนั้นได้ทราบว่า ‘นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรนี้แพ้แล้ว
ก็ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’
จึงกลับมาหาบริษัทนั้นแล้วบอกอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรนี้
แพ้แล้ว ก็ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจาก
ที่นั่งได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์

ภัคควะ เมื่อบุรุษนั้นกล่าวอย่างนี้ เราจึงได้กล่าวกับบริษัทนั้นดังนี้ว่า ‘ท่าน
ทั้งหลาย ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความ
เห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละ
วาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’
ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’

ภาณวารที่ ๑ จบ

[๒๔] ภัคควะ ครั้งนั้น มหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีคนหนึ่ง ลุกจากที่นั่ง ได้กล่าว
กับบริษัทนั้นดังนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น โปรดคอยสักครู่ได้ไหม บางทีข้าพเจ้า
อาจจะไปนำนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรมายังบริษัทนี้ได้’ ลำดับนั้น มหาอำมาตย์ของ
เจ้าลิจฉวีคนนั้น จึงเข้าไปหานักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ถึงอารามของตินทุกขาณุปริพาชก
แล้วกล่าวกับนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรดังนี้ว่า ‘ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไปเถิด
ท่านกลับไปดีกว่า พวกเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียง พราหมณมหาศาล คหบดีผู้มั่งคั่ง และ
สมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ผู้มีชื่อเสียง ต่างพากันออกมาแล้ว แม้พระสมณโคดมก็
ประทับพักกลางวันอยู่ที่อารามของท่าน อนึ่ง ท่านได้พูดอวดไว้ในบริษัท ในกรุงเวสาลี
อย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นญาณวาท เราก็เป็นญาณวาทด้วย ฯลฯ เราจักแสดง
ให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณ’ ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงออกไปครึ่งทาง พระสมณโคดม
เสด็จมาก่อนคนทั้งปวงทีเดียว ประทับพักกลางวันอยู่ที่อารามของท่านแล้ว อนึ่ง
พระสมณโคดมตรัสวาจาในบริษัทว่า ‘ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา
ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะ
คิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไป
เผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’ ท่านปาฏิกบุตร
ท่านจงกลับไปเถิด ด้วยการกลับไปของท่านนั่นแหละ พวกเราจะทำให้ท่านชนะ
จะทำให้พระสมณโคดมแพ้’
ภัคควะ เมื่อมหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีกล่าวอย่างนี้ นักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
จึงกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์

ครั้งนั้น มหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวี จึงกล่าวกับนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรดังนี้ว่า
‘ท่านปาฏิกบุตร ท่านเป็นอะไรไปเล่า ตะโพกของท่านติดกับตั่งหรือ หรือว่าตั่ง
ติดกับตะโพกของท่าน ท่านกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แต่กลับซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง
ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’ ภัคควะ นักบวชเปลือยปาฏิกบุตร แม้ถูกมหาอำมาตย์ของ
เจ้าลิจฉวีเมื่อต่อว่าอยู่อย่างนี้ ก็ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่
นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้
[๒๕] ภัคควะ เมื่อมหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีนั้นได้ทราบว่า ‘นักบวชเปลือย
ปาฏิกบุตรนี้แพ้แล้ว ก็ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง
ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’ จึงกลับมาหาบริษัทนั้นแล้วบอกอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรนี้แพ้แล้ว ก็ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่
ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’
ภัคควะ เมื่อมหาอำมาตย์ของเจ้าลิจฉวีนั้นกล่าวอย่างนี้ เราจึงได้กล่าวกับ
บริษัทนั้นดังนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละ
ความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิด
อย่างนี้ว่า ‘ถึงเราจะไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไป
เผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’ แม้เจ้าลิจฉวี
ผู้เจริญทั้งหลายจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พวกเราจะเอาเชือกมัดนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
แล้วใช้โคหลาย ๆ คู่ฉุดมา’ เชือกนั้นก็จะขาด หรือไม่กายของนักบวชเปลือยปาฏิก-
บุตรก็จะขาด แต่ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัด
ความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรา
ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณ-
โคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
[๒๖] ภัคควะ ครั้งนั้น ชาลิยปริพาชก ผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะ (นักบวช
ผู้นิยมใช้บาตรไม้) ลุกจากที่นั่งกล่าวกับบริษัทนั้นดังนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น
ขอให้ท่านทั้งหลายรอคอยสักครู่ ข้าพเจ้าอาจจะไปนำนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรมายัง
บริษัทนี้ได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์

ภัคควะ ชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะเข้าไปหานักบวชเปลือย
ปาฏิกบุตร ถึงอารามของตินทุกขาณุปริพาชกแล้วกล่าวกับนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
ดังนี้ว่า ‘ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไปเถิด ท่านกลับไปดีกว่า พวกเจ้าลิจฉวีผู้มี
ชื่อเสียง พราหมณมหาศาล คหบดีผู้มั่งคั่ง และสมณพราหมณ์ลัทธิต่าง ๆ ผู้มี
ชื่อเสียง ต่างพากันออกมาแล้ว แม้พระสมณโคดมก็ประทับพักกลางวันอยู่ที่อาราม
ของท่าน อนึ่ง ท่านได้เคยพูดอวดไว้ในบริษัท ในกรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า ‘พระสมณ-
โคดมเป็นญาณวาท ฯลฯ เราจักแสดงให้มากกว่านั้นเป็นทวีคูณ’ ท่านปาฏิกบุตร
ท่านจงออกไปครึ่งทาง พระสมณโคดมเสด็จมาก่อนคนทั้งปวงทีเดียว ประทับพัก
กลางวันอยู่ที่อารามของท่านแล้ว อนึ่ง พระสมณโคดมได้ตรัสวาจาในบริษัทว่า
‘ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น
ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา
ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้
ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’ แม้เจ้าลิจฉวีผู้เจริญทั้งหลายจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พวกเรา
จะเอาเชือกมัดนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร แล้วใช้โคหลาย ๆ คู่ฉุดมา’ เชือกนั้นก็จะขาด
หรือไม่กายของนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรก็จะขาด แต่ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้า
กับเราได้ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความ
เห็นนั้นก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
ท่านปาฏิกบุตร ท่านจงกลับไปเถิด ด้วยการกลับไปของท่านนั่นแหละ พวกเราจะ
ทำให้ท่านชนะ จะทำให้พระสมณโคดมแพ้’
ภัคควะ เมื่อชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะกล่าวอย่างนี้ นักบวช
เปลือยปาฏิกบุตร จึงกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจ
ลุกจากที่นั่งได้ ครั้งนั้น ชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะ จึงกล่าวกับ
นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรดังนี้ว่า ‘ท่านปาฏิกบุตร ท่านเป็นอะไรไปเล่า ตะโพก
ของท่านติดกับตั่งหรือ หรือว่าตั่งติดกับตะโพกของท่าน ท่านกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’
แต่กลับซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’ ภัคควะ นักบวชเปลือย
ปาฏิกบุตร แม้ถูกชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะต่อว่าอยู่อย่างนี้ ก็ยังกล่าวว่า
‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์

[๒๗] ภัคควะ เมื่อชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะนั้นได้ทราบว่า
‘นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรนี้แพ้แล้ว ก็ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่
นั้นเองไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’ จึงกล่าวกับนักบวชเปลือยปาฏิกบุตรดังนี้ว่า
‘ท่านปาฏิกบุตร เรื่องเคยมีมาแล้ว คือ ราชสีห์๑เจ้าแห่งสัตว์ป่า คิดว่า ‘ทาง
ที่ดี เราพึงอาศัยป่าทึบบางแห่งซ่อนตัวอยู่ ครั้นซ่อนตัวอยู่ในป่าทึบนั้นแล้ว พึงออก
จากที่ซ่อนในเวลาเย็น ครั้นออกจากที่ซ่อนแล้ว พึงบิดกาย ครั้นบิดกายแล้ว
พึงเหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศ ครั้นเหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศแล้ว พึงบันลือ
สีหนาท๒ ๓ ครั้ง ครั้นบันลือสีหนาท ๓ ครั้งแล้ว จึงออกไปหากิน เรานั้นล่าหมู่เนื้อ
ตัวล่ำสัน กินเนื้อนุ่ม ๆ แล้วกลับมาซ่อนตัวอยู่ตามเดิม’
ครั้งนั้น พญาราชสีห์นั้น อาศัยป่าทึบบางแห่งซ่อนตัวอยู่ ครั้นซ่อนตัวอยู่ใน
ป่าทึบนั้นแล้ว ออกจากที่ซ่อนในเวลาเย็น ครั้นออกจากที่ซ่อนแล้ว บิดกาย ครั้น
บิดกายแล้ว เหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศ ครั้นเหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศแล้ว
บันลือสีหนาท ๓ ครั้ง ครั้นบันลือสีหนาท ๓ ครั้งแล้ว จึงออกไปหากิน มันล่า
หมู่เนื้อตัวล่ำสัน กินเนื้อนุ่ม ๆ แล้วกลับมาซ่อนตัวอยู่ตามเดิม
[๒๘] ท่านปาฏิกบุตร มีสุนัขจิ้งจอกแก่ตัวหนึ่ง เจริญเติบโตด้วยการกินเนื้อที่
เป็นเดนของราชสีห์เจ้าแห่งสัตว์ป่านั้นนั่นเอง อ้วนท้วน มีกำลัง ต่อมา สุนัขจิ้งจอก
แก่ตัวนั้น เกิดความคิดดังนี้ว่า ‘เราเป็นใคร ราชสีห์เจ้าแห่งสัตว์ป่าเป็นใคร ทางที่ดี
เราควรอาศัยป่าทึบบางแห่งซ่อนตัวอยู่ ครั้นซ่อนตัวอยู่ในป่าทึบนั้น พึงออกจากที่
ซ่อนในเวลาเย็น ครั้นออกจากที่ซ่อนแล้ว พึงบิดกาย ครั้นบิดกายแล้ว พึงเหลียว
ดูไปรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศ ครั้นเหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศแล้ว พึงบันลือสีหนาท

เชิงอรรถ :
๑ ราชสีห์ ได้แก่ พญาสิงโต มี ๔ ชนิด คือ (๑) ติณราชสีห์ (ราชสีห์ที่มีสีเขียว) (๒) กาฬราชสีห์ (ราชสีห์
ที่มีสีดำ) (๓) ปัณฑุราชสีห์ (ราชสีห์ที่มีสีเหลือง) (๔) ไกรสรราชสีห์ (ราชสีห์ที่มีสีขาวหรือมีสีแดง) ในที่นี้
หมายถึงไกรสรราชสีห์ที่เลิศกว่าราชสีห์ทุกประเภท (ที.ปา.อ. ๒๗/๑๒)
๒ บันลือสีหนาท ในที่นี้หมายถึงการเปล่งเสียงดังของราชสีห์ด้วยความกรุณาต่อสัตว์ที่อ่อนแอเพื่อให้หลีกหนี
ไปเสียก่อน (ที.ปา.อ. ๒๗/๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์

๓ ครั้ง ครั้นบันลือสีหนาท ๓ ครั้งแล้ว จึงออกไปหากิน เรานั้นล่าหมู่เนื้อตัวล่ำสัน
กินเนื้อนุ่ม ๆ แล้วกลับมาซ่อนตัวอยู่ตามเดิม’
ครั้งนั้น สุนัขจิ้งจอกแก่ตัวนั้น อาศัยป่าทึบบางแห่งซ่อนตัวอยู่ ครั้นซ่อนตัว
อยู่ในป่าทึบนั้นแล้ว ออกจากที่ซ่อนในเวลาเย็น ครั้นออกจากที่ซ่อนแล้ว บิดกาย
ครั้นบิดกายแล้ว เหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศ ครั้นเหลียวดูไปรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศแล้ว
จึงคิดว่า ‘เราจักบันลือสีหนาท’ แต่กลับร้องเสียงสุนัขจิ้งจอกออกมา ๓ ครั้ง
ร้องอย่างเสียงสุนัขจิ้งจอกนั่นเอง สุนัขจิ้งจอกผู้ต่ำทรามเป็นใคร และการบันลือ
สีหนาทมีผลเป็นอย่างไร ท่านปาฏิกบุตร ท่านก็เป็นเช่นนั้น ดำรงชีพตามแบบ
พระสุคต๑ บริโภคอาหารที่เป็นเดนพระสุคต ยังสำคัญพระตถาคตผู้เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าว่าควรท้าทายได้ ถามว่า ปาฏิกบุตรผู้ต่ำทรามเป็นใคร และการ
ท้าทายพระตถาคตผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดผลเป็นอย่างไร
[๒๙] ภัคควะ เมื่อชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะ ไม่อาจที่จะให้
นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรลุกจากที่นั่งนั้นได้ แม้ด้วยข้ออุปมานี้ จึงได้กล่าวกับเขา
ดังนี้ว่า
สุนัขจิ้งจอกสำคัญตนว่าเป็นราชสีห์
จึงได้ลำพองตัวว่าเป็นเจ้าแห่งสัตว์ป่า
มันจึงได้ร้องเสียงสุนัขจิ้งจอกเช่นนั้นขึ้น
สุนัขจิ้งจอกผู้ต่ำทรามเป็นใคร
และการบันลืออย่างราชสีห์เกิดผลเป็นอย่างไร
ท่านปาฏิกบุตร ท่านก็เป็นเช่นนั้น ดำรงชีพตามแบบพระสุคต บริโภคอาหาร
ที่เป็นเดนพระสุคต ยังสำคัญพระตถาคตผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าควร
ท้าทายได้ ถามว่า ปาฏิกบุตรผู้ต่ำทรามเป็นใคร และการท้าทายพระตถาคตผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดผลเป็นอย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ แบบพระสุคต ในที่นี้หมายถึงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นคำสอนของพระสุคต(ที.ปา.อ.
๒๘/๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์

[๓๐] ภัคควะ เมื่อชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะ ไม่อาจที่จะให้
นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรลุกจากที่นั่งนั้นได้ แม้ด้วยข้ออุปมานี้ จึงได้กล่าวกับเขา
ดังนี้ว่า
สุนัขจิ้งจอกเห็นเงาของตน
ที่เคลื่อนไหวในน้ำว่าเป็นอย่างอื่น
จึงลำพองตัวว่าเป็นเสือ๑
ตราบเท่าที่ยังไม่เห็นตัวเอง (ตามความเป็นจริง)
มันจึงร้องเสียงสุนัขจิ้งจอกเช่นนั้น
สุนัขจิ้งจอกผู้ต่ำทรามเป็นใคร
และการบันลืออย่างราชสีห์๒เกิดผลเป็นอย่างไร
ท่านปาฏิกบุตร ท่านก็เป็นเช่นนั้น ดำรงชีพตามแบบพระสุคต บริโภคอาหาร
ที่เป็นเดนพระสุคต ยังสำคัญพระตถาคตผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าควร
ท้าทายได้ ถามว่า ปาฏิกบุตรผู้ต่ำทรามเป็นใคร และการท้าทายพระตถาคตผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดผลเป็นอย่างไร
[๓๑] ภัคควะ เมื่อชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะ ไม่อาจที่จะให้
นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรลุกจากที่นั่งนั้นได้ แม้ด้วยข้ออุปมานี้ จึงได้กล่าวกับเขา
ดังนี้ว่า
สุนัขจิ้งจอกกินกบ(ตามบ่อ) กินหนูตามลานข้าว
และกินซากศพที่ทิ้งตามป่าช้า
มีตัวอ้วนพีอยู่ในป่าใหญ่ ป่าโปร่ง

เชิงอรรถ :
๑ ลำพองตัวว่าเป็นเสือ ในที่นี้หมายถึงสำคัญตัวเองว่าเป็นเสือที่มีกำลังเท่ากับราชสีห์ (ที.ปา.อ. ๓๐/๑๔)
๒ การบันลืออย่างราชสีห์ ในที่นี้หมายถึงการเปล่งเสียงร้องของสุนัขจิ้งจอกโดยเข้าใจว่า ตนมีกำลังเท่ากับ
ราชสีห์ (ที.ปา.อ. ๓๐/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์

ลำพองตัวว่าเป็นเจ้าแห่งสัตว์ป่า
มันจึงร้องเสียงสุนัขจิ้งจอกเช่นนั้นขึ้น
สุนัขจิ้งจอกผู้ต่ำทรามเป็นใคร
และการบันลืออย่างราชสีห์เกิดผลเป็นอย่างไร
ท่านปาฏิกบุตร ท่านก็เป็นเช่นนั้น ดำรงชีพตามแบบพระสุคต บริโภคอาหาร
ที่เป็นเดนพระสุคต ยังสำคัญพระตถาคตผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าควร
ท้าทายได้ ถามว่า ปาฏิกบุตรผู้ต่ำทรามเป็นใคร และการท้าทายพระตถาคตผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดผลเป็นอย่างไร
[๓๒] ภัคควะ เมื่อชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะ ไม่อาจที่จะให้
นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรลุกจากที่นั่งนั้นได้ แม้ด้วยข้ออุปมานี้ จึงกลับมาหา
บริษัทนั้น แล้วบอกว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย นักบวชเปลือยปาฏิกบุตรนี้แพ้แล้ว
แต่ยังกล่าวว่า ‘เราจะไป ๆ’ แล้วก็ซบศีรษะอยู่ ณ ที่นั้นเอง ไม่อาจลุกจากที่นั่งได้’
[๓๓] ภัคควะ เมื่อชาลิยปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของทารุปัตติกะกล่าวอย่างนี้
เราจึงได้กล่าวกับบริษัทนั้นดังนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่
ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้
แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น
ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’ ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’ แม้เจ้า
ลิจฉวีผู้เจริญทั้งหลายจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พวกเราจะเอาเชือกมัดนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
แล้วใช้โคหลาย ๆ คู่ฉุดมา’ เชือกนั้นก็จะขาด หรือไม่กายของนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
ก็จะขาด แต่ถ้านักบวชเปลือยปาฏิกบุตร ยังไม่ละวาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความ
เห็นนั้น ก็ไม่อาจที่จะมาเผชิญหน้ากับเราได้ แม้เขาจะคิดอย่างนี้ว่า ‘ถึงเรายังไม่ละ
วาจา ไม่ละความคิด ไม่สลัดความเห็นนั้น ก็อาจไปเผชิญหน้ากับพระสมณโคดมได้’
ดังนี้ ศีรษะของเขาจะพึงแตกแน่’
[๓๔] ภัคควะ ต่อจากนั้น เราจึงชี้แจงให้บริษัทนั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยาก
รับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา ครั้นชี้แจงให้บริษัทนั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร] เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์

อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงเปลื้องให้
พ้นจากเครื่องผูกใหญ่๑ ยกสัตว์ประมาณ ๘๔,๐๐๐ ขึ้นจากห้วงน้ำใหญ่ที่ข้ามได้ยาก๒
เข้าเตโชธาตุ เหาะขึ้นสู่อากาศสูงประมาณ ๗ ชั่วลำตาล เนรมิตไฟอื่นให้ลุกโพลง
ประมาณ ๗ ชั่วลำตาล มีควันตลบสูงแล้ว จึงมายังกูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
[๓๕] ภัคควะ ครั้งนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เรา
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร เราจึงได้กล่าวกับสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ดังนี้ว่า ‘สุนักขัตตะ
เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เราปรารภนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร แล้วพยากรณ์
แก่เธอไว้อย่างไร ผลของการพยากรณ์เป็นอย่างนั้นหรือ หรือว่าเป็นอย่างอื่น’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงปรารภนักบวชเปลือยปาฏิกบุตร
แล้วพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ไว้อย่างไร ผลของการพยากรณ์เป็นอย่างนั้น มิได้เป็น
อย่างอื่นเลย’
‘สุนักขัตตะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้น เราได้แสดงอิทธิ-
ปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดาของมนุษย์แล้ว หรือยังไม่ได้แสดง’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อัน
เหนือธรรมดาของมนุษย์แล้วแน่นอน มิใช่ไม่ได้ทรงแสดง’
‘โมฆบุรุษ ถึงอย่างนี้ เธอยังจะกล่าวกับเราผู้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์ว่า ‘พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา

เชิงอรรถ :
๑ เครื่องผูกใหญ่ ในที่นี้หมายถึงกิเลสตัณหา หรือ สังโยชน์ ๑๐ ประการ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ (ความเห็น
ว่าเป็นตัวของตน) (๒) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (๓) สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต)
(๔) กามราคะ (ความพอใจในกาม) (๕) ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่ง) (๖) รูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่ง
รูปฌาน) (๗) อรูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน) (๘) มานะ (ความถือตัว) (๙) อุทธัจจะ
(ความฟุ้งซ่าน) (๑๐) อวิชชา (ความไม่รู้แจ้ง) (ที.ปา.ฏีกา ๓๔/๑๓)
๒ ห้วงน้ำใหญ่ที่ข้ามได้ยาก ในที่นี้หมายถึงโอฆะ ๔ ประการ คือ (๑) กาโมฆะ (โอฆะคือกาม) (๒) ภโวฆะ
(โอฆะคือภพ) (๓) ทิฏโฐฆะ (โอฆะคือทิฏฐิ) (๔) อวิชโชฆะ (โอฆะคืออวิชชา) (ที.ปา.อ. ๓๔/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

ของมนุษย์แก่ข้าพระองค์’ อยู่อีกหรือ เธอจงดูเถิดว่า ‘การพูดเช่นนี้ เป็นความ
ผิดของเธอมากเพียงไร’ ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เมื่อถูกเราต่อว่าอยู่อย่างนี้
ได้หนีไปจากธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนผู้ควรเกิดในอบายกลับไปตกนรก ฉะนั้น

เรื่องการประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

[๓๖] ภัคควะ ก็เรารู้ชัดทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก๑ เรารู้ชัดความเป็น
มาของทฤษฎีนั้น และรู้ชัดยิ่งกว่านั้น๒ และเมื่อรู้ชัดยิ่งกว่านั้นจึงไม่ยึดมั่น๓ เมื่อไม่
ยึดมั่นจึงรู้ชัดความดับ๔ด้วยตนเอง ที่เมื่อรู้ชัด ตถาคตจึงไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม๕
[๓๗] ภัคควะ มีสมณพราหมณ์บางพวก ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง เราจึง
เข้าไปถามเขาอย่างนี้ว่า ‘ทราบว่า ท่านทั้งหลายบัญญัติทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างจริงหรือ’
สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วยืนยันว่า ‘เป็นเช่นนั้น’ เราจึงถาม
ต่อไปว่า ‘พวกท่านประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่า
พระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง มีความเป็นมาอย่างไร’ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วก็ตอบไม่ได้ กลับย้อนถามเรา เราถูกเขาถามแล้ว
จึงตอบว่า

เชิงอรรถ :
๑ คำนี้แปลจากคำว่า “อคฺคญฺญํ” อรรถกถาแก้ว่า “โลกปญฺญตฺตึ” และอธิบายว่า ที่ชื่อว่าอัคคัญญะ
เพราะเป็นความรู้เกี่ยวกับต้นกำเนิดของโลก หมายถึงวิวัฒนาการการเกิดขึ้นและประวัติความเป็นไปของโลก
(โลกสฺส อคคนฺติ ชานิตพฺพํ ตํ อคฺคญฺญํ, โส ปน โลกสฺส อุปฺปตฺติกฺกโม ปวตฺติปเวณี จาติ) (ที.ปา.อ.
๓๖/๑๔, ที.ปา.ฏีกา ๓๖/๑๓)
๒ รู้ชัดยิ่งกว่านั้น ในที่นี้หมายถึงรู้ชัดตั้งแต่ศีล สมาธิ ปัญญา จนถึงสัพพัญญุตญาณ (ที.ปา.อ. ๓๖/๑๕)
๓ ไม่ยึดมั่น ในที่นี้หมายถึงไม่ยึดมั่นสิ่งที่รู้ชัดด้วยอำนาจตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ที.ปา.อ. ๓๖/๑๕)
๔ ความดับ ในที่นี้หมายถึงกิเลสนิพพาน (ความดับกิเลส) (ที.ปา.อ. ๓๖/๑๕)
๕ ไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม ในที่นี้หมายถึงไม่ประสบความทุกข์ คือ ทุกข์เพราะไม่ได้บรรลุนิพพาน
(ที.ปา.อ. ๓๖/๑๕, ที.ปา.ฏีกา ๓๖/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

[๓๘] ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยหนึ่งเมื่อล่วงไปนาน ๆ โลกนี้พินาศ เมื่อ
โลกกำลังพินาศ เหล่าสัตว์ส่วนมากไปเกิดในพรหมโลกชั้นอาภัสสระ นึกคิดอะไรก็
สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจร
ไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน
สมัยหนึ่ง เมื่อล่วงไปนาน ๆ โลกนี้กลับเจริญขึ้น เมื่อโลกกำลังเจริญขึ้น
วิมานของพรหมปรากฏว่าว่างเปล่า เวลานั้น สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งผู้จุติจากพรหมโลกชั้น
อาภัสสระ เพราะสิ้นอายุหรือสิ้นบุญ มาเกิดที่วิมานพรหมอันว่างเปล่า นึกคิดอะไร
ก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจร
ไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน
เพราะสัตว์ผู้นั้นอยู่ในวิมานแต่ผู้เดียวเป็นเวลานาน จึงรู้สึกเบื่อ เกิดความปรารถนา
ขึ้นว่า ‘โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นพึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง’ ต่อมา สัตว์เหล่าอื่นจุติจาก
พรหมโลกชั้นอาภัสสระ เพราะสิ้นอายุหรือสิ้นบุญ มาเกิดที่วิมานพรหม เป็นผู้อยู่
ร่วมกับสัตว์นั้น แม้สัตว์พวกนั้นนึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็น
อาหาร มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม
สถิตอยู่นานแสนนาน
[๓๙] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บรรดาสัตว์พวกนั้น ผู้เกิดก่อนมีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นพรหม เป็นท้าวมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็น
ถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ
ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดมาแล้วและกำลังจะเกิด เราบันดาลสัตว์เหล่านี้
ขึ้นมา เพราะเหตุไร เพราะว่าเรามีความคิดมาก่อนว่า ‘โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พึง
มาเป็นอย่างนี้บ้าง’ เรามีความตั้งใจอย่างนี้ และสัตว์เหล่านี้ได้มาเป็นอย่างนี้แล้ว’
แม้พวกสัตว์ที่เกิดภายหลังก็มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ท่านพระพรหมผู้เจริญนี้
เป็นท้าวมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็น
อิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

ผู้เกิดมาแล้วและกำลังจะเกิด พระพรหมผู้เจริญองค์นี้บันดาลพวกเราขึ้นมา เพราะ
เหตุไร เพราะว่าพวกเราได้เห็นพระพรหมองค์นี้เกิดในที่นี้ก่อน ส่วนพวกเราเกิดมา
ภายหลัง’
[๔๐] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บรรดาสัตว์พวกนั้น ผู้เกิดก่อนมีอายุยืนกว่า
มีผิวพรรณงดงามกว่า และมีศักดิ์มากกว่า ส่วนผู้เกิดภายหลังมีอายุสั้นกว่า มีผิวพรรณ
ทรามกว่า และมีศักดิ์น้อยกว่า
ข้อที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้น(ชั้นมหาพรหม)แล้วมาเป็นอย่างนี้(มาเกิด
เป็นมนุษย์) เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เมื่อเขามาเป็นอย่างนี้แล้ว ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต เมื่อออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิด
อย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกถึงชาติก่อนนั้นได้
ถัดจากชาตินั้นไประลึกไม่ได้
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘พระพรหมผู้เจริญนั้น เป็นท้าวมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่
ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล
ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด
พระพรหมผู้เจริญบันดาลพวกเราขึ้นมา ท่านเป็นผู้เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร
จักดำรงอยู่เที่ยงแท้ไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวกเราที่พระพรหมผู้เจริญนั้นบันดาลขึ้น
มากลับเป็นผู้ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน อายุสั้นต้องจุติมาเป็นอย่างนี้’
ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่า
พระอิศวรเป็นผู้สร้าง ว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง มีความเป็นมาอย่างนี้ ใช่หรือไม่’
สมณพราหมณ์เหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า ‘ท่านพระโคดม พวกข้าพเจ้าก็ได้ยินมาอย่าง
ที่ท่านพระโคดมตรัสนั่นแหละ’
ภัคควะ อนึ่ง เรารู้ชัดทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก เรารู้ชัดความเป็นมาของ
ทฤษฎีนั้น และรู้ชัดยิ่งกว่านั้น และเมื่อรู้ชัดยิ่งกว่านั้นจึงไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่น
จึงรู้ชัดความดับด้วยตนเอง ที่เมื่อรู้ชัด ตถาคตจึงไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

[๔๑] ภัคควะ มีสมณพราหมณ์บางพวก ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่ามีมูลเหตุมาจากเทพเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ๑ เราจึงเข้าไป
ถามพวกเขาอย่างนี้ว่า ‘ทราบว่า ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของ
โลกตามลัทธิอาจารย์ว่ามีมูลเหตุมาจากเทพเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ จริงหรือ’ สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วยืนยันว่า ‘เป็นเช่นนั้น’ เราจึงถามต่อไปว่า
ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่ามีมูลเหตุ
มาจากเทพเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ มีความเป็นมาอย่างไร’ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูก
เราถามอย่างนี้แล้วก็ตอบไม่ได้ กลับย้อนถามเรา เราถูกเขาถามแล้วจึงตอบว่า
[๔๒] ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มีเทพเหล่าหนึ่งชื่อขิฑฑาปโทสิกะ เทพเหล่านั้น
หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลา เมื่อหมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนาน
สรวลเสเฮฮาเกินเวลาจึงหลงลืมสติ เพราะความหลงลืมสติ จึงพากันจุติจากชั้นนั้น
ข้อที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เมื่อ
เขามาเป็นอย่างนี้แล้ว ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตแล้ว อาศัยความเพียรครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่น
ประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิ
ที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกถึงชาติก่อนนั้นได้ ถัดจากชาตินั้นไประลึกไม่ได้
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘เทพผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ไม่ใช่เทพเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ
ไม่หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลา เมื่อไม่หมกมุ่นอยู่ในความ
สนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลาจึงไม่หลงลืมสติ เพราะไม่หลงลืมสติ จึงไม่จุติจาก
ชั้นนั้น เป็นผู้เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร จักดำรงอยู่เที่ยงแท้ไปเช่นนั้นทีเดียว
ส่วนพวกเราเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ มัวแต่หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮา

เชิงอรรถ :
๑ ขิฑฑาปโทสิกะ หมายถึงเทพผู้เพลิดเพลินในการเล่นจนเป็นเหตุให้ได้รับโทษ คือ ต้องจุติจากพรหมโลก
(ที.ปา.อ. ๔๑/๑๕, ที.ปา.ฏีกา ๔๑/๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

เกินเวลา เมื่อหมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลาย่อมหลงลืมสติ
เพราะความหลงลืมสติ จึงต้องจุติจากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน
มีอายุสั้น ต้องจุติมาเป็นอย่างนี้’
ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่า
มีมูลเหตุมาจากเทพเหล่าขิฑฑาปโทสิกะ มีความเป็นมาอย่างนี้ ใช่หรือไม่’ สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า ‘ท่านพระโคดม พวกข้าพเจ้าก็ได้ยินมาอย่างที่
ท่านพระโคดมตรัสนั่นแหละ’
ภัคควะ ก็เรารู้ชัดทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ฯลฯ ที่เมื่อรู้ชัด ตถาคต
จึงไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม
[๔๓] ภัคควะ มีสมณพราหมณ์บางพวก ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่ามีมูลเหตุมาจากเทพเหล่ามโนปโทสิกะ๑ เราจึงเข้าไปถาม
พวกเขาอย่างนี้ว่า ‘ทราบว่า ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
ตามลัทธิอาจารย์ว่ามีมูลเหตุมาจากเทพเหล่ามโนปโทสิกะ จริงหรือ’ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วยืนยันว่า ‘เป็นเช่นนั้น’ เราจึงถามต่อไปว่า ‘ท่านทั้งหลาย
ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่ามีมูลเหตุมาจากเทพ
เหล่ามโนปโทสิกะ มีความเป็นมาอย่างไร’ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้
แล้วก็ตอบไม่ได้ กลับย้อนถามเรา เราถูกเขาถามแล้วจึงตอบว่า
[๔๔] ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มีเทพเหล่าหนึ่งชื่อมโนปโทสิกะ เทพเหล่านั้น
มัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควร เมื่อมัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควร จึงคิดมุ่งร้าย
ต่อกัน เมื่อคิดมุ่งร้ายต่อกัน จึงเหนื่อยกายเหนื่อยใจ พากันจุติจากชั้นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ มโนปโทสิกะ หมายถึงเทพที่ต้องจุติเพราะคิดร้ายกันและกัน (ที.สี. ๔๗-๔๘/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

ข้อที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เมื่อ
เขามาเป็นอย่างนี้แล้ว ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตแล้ว อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่น
ประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิ
ที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกถึงชาติก่อนนั้นได้ ถัดจากชาตินั้นไประลึกไม่ได้
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘เทพผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ไม่ใช่เทพเหล่ามโนปโทสิกะ ย่อมไม่
มัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควร เมื่อไม่มัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควร ก็ไม่คิด
มุ่งร้ายต่อกัน เมื่อไม่คิดมุ่งร้ายต่อกัน ก็ไม่เหนื่อยกายเหนื่อยใจ จึงไม่จุติจากชั้นนั้น
เป็นผู้เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร จักดำรงอยู่เที่ยงแท้ไปเช่นนั้นทีเดียว
ส่วนเราเหล่ามโนปโทสิกะ มัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควร เมื่อมัวจ้องจับผิดกัน
และกันเกินควร จึงคิดมุ่งร้ายต่อกัน เมื่อคิดมุ่งร้ายต่อกัน จึงเหนื่อยกายเหนื่อยใจ
พากันจุติจากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน มีอายุสั้น ต้องจุติมาเป็น
อย่างนี้’
ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่า
มีมูลเหตุมาจากเทพเหล่ามโนปโทสิกะ มีความเป็นมาอย่างนี้ ใช่หรือไม่’ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า ‘ท่านพระโคดม พวกข้าพเจ้าก็ได้ยินมาอย่างที่ท่านพระ
โคดมตรัสนั่นแหละ’
ภัคควะ ก็เรารู้ชัดทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ฯลฯ ที่เมื่อรู้ชัด ตถาคต
จึงไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม
[๔๕] ภัคควะ มีสมณพราหมณ์บางพวก ประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิด
ของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าเกิดขึ้นเอง เราจึงเข้าไปถามพวกเขาอย่างนี้ว่า ‘ทราบว่า
ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่าเกิดขึ้นเอง
จริงหรือ’ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถามอย่างนี้แล้วยืนยันว่า ‘เป็นเช่นนั้น’
เราจึงถามต่อไปว่า ‘ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

อาจารย์ว่า เกิดขึ้นเอง มีความเป็นมาอย่างไร’ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกเราถาม
อย่างนี้แล้ว ก็ตอบไม่ได้ กลับย้อนถามเรา เราถูกเขาถามแล้วจึงตอบว่า
[๔๖] ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มีเทพชื่ออสัญญีสัตว์๑จุติ(เคลื่อน)จากชั้นนั้น
เพราะเกิดสัญญาขึ้น
ข้อที่สัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งจุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เมื่อ
เขามาเป็นอย่างนี้แล้ว ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตแล้ว อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่น
ประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโต-
สมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกถึงความเกิดแห่งสัญญานั้นได้ ถัดจากนั้นไป
ระลึกไม่ได้
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกเกิดขึ้นเอง เพราะเหตุไร เพราะเมื่อก่อน
เราไม่ได้มี บัดนี้ก็ไม่มี จึงน้อมไปเพื่อความเป็นผู้สงบ’
ท่านทั้งหลายประกาศทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกตามลัทธิอาจารย์ว่า
เกิดขึ้นเอง มีความเป็นมาอย่างนี้ ใช่หรือไม่’ สมณพราหมณ์เหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า
‘ท่านพระโคดม พวกข้าพเจ้าก็ได้ยินมาอย่างที่ท่านพระโคดมตรัสนั่นแหละ’
ภัคควะ ก็เรารู้ชัดทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก เรารู้ชัดความเป็นมาของ
ทฤษฎีนั้น และรู้ชัดยิ่งกว่านั้น และเมื่อรู้ชัดยิ่งกว่านั้นจึงไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่น
จึงรู้ชัดความดับด้วยตนเอง ที่เมื่อรู้ชัด ตถาคตจึงไม่ดำเนินไปสู่ความเสื่อม
[๔๗] ภัคควะ สมณพราหมณ์บางพวก กล่าวตู่เราผู้มีวาทะอย่างนี้ ผู้กล่าว
อยู่อย่างนี้ ด้วยเรื่องที่ไม่มีอยู่จริง ด้วยคำไร้สาระ เป็นเท็จ ไม่เป็นความจริงว่า

เชิงอรรถ :
๑ อสัญญีสัตว์ หมายถึงสัตว์จำพวกไม่มีสัญญา ไม่เสวยเวทนา เมื่อมีสัญญาเกิดขึ้นก็เคลื่อนจากภพนั้นทันที
(ที.ปา. ๑๑/๓๕๙/๒๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๑. ปาฎิกสูตร]
เรื่องการประกาศทฤษฏีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

‘พระสมณโคดมและภิกษุทั้งหลายวิปริตไปแล้ว พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ‘ในเวลา
ที่พระโยคาวจรเข้าสุภวิโมกข์๑อยู่ ย่อมรู้ชัดสิ่งทั้งปวงว่า ‘ไม่งาม’ ภัคควะ แท้จริง
เราไม่ได้กล่าวอย่างนั้นเลยว่า ‘ในเวลาที่พระโยคาวจรเข้าสุภวิโมกข์อยู่ ย่อมรู้ชัดสิ่ง
ทั้งปวงว่า ‘ไม่งาม’ แต่เรากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในเวลาที่พระโยคาวจรเข้าสุภวิโมกข์อยู่
ย่อมรู้ชัดแต่สิ่งที่ดีงามเท่านั้น”
ภัคควโคตรปริพาชกกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกสมณพราหมณ์
ที่กล่าวว่าพระสมณโคดมและภิกษุทั้งหลายวิปริตนั้นนั่นแหละเป็นผู้วิปริต ข้าพระองค์
เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงสามารถแสดงธรรมให้
ข้าพระองค์เข้าถึงสุภวิโมกข์อยู่ได้”
[๔๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภัคควะ การที่เธอซึ่งมีทิฏฐิแตกต่างกัน
มีความถูกใจแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความมุ่งหมายแตกต่างกัน
มีอาจารย์แตกต่างกัน เข้าถึงสุภวิโมกข์อยู่ได้ นี้เป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก ขอให้เธอ
รักษาความเลื่อมใสในเราไว้ให้ดีเถิด”
ภัคควโคตรปริพาชกกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงการที่ข้าพระองค์
ซึ่งมีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความถูกใจแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความ
มุ่งหมายแตกต่างกัน มีอาจารย์แตกต่างกัน เข้าถึงสุภวิโมกข์อยู่ นี้เป็นสิ่งที่กระทำได้
ยากก็จริง แต่ข้าพระองค์จักรักษาความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคไว้ให้ดีให้ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภัคควโคตรปริพาชกมีใจยินดีชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

ปาฏิกสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร] เรื่องปริพาชกชื่อนิโครธ

๒. อุทุมพริกสูตร
ว่าด้วยการบันลือสีหนาทที่อุทุมพริการาม
เรื่องปริพาชกชื่อนิโครธ

[๔๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์
ก็สมัยนั้น ปริพาชกชื่อนิโครธอาศัยอยู่ในปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา
พร้อมกับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ประมาณ ๓,๐๐๐ คน ครั้งนั้น คหบดีชื่อสันธาน
ออกจากกรุงราชคฤห์เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่ยังวัน๑ ขณะนั้น คหบดีชื่อสันธาน
มีความคิดดังนี้ว่า “ยังมิใช่เวลาที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคก่อน พระผู้มีพระภาค
ประทับหลีกเร้นอยู่๒ ยังมิใช่สมัยที่จะเข้าไปพบเหล่าภิกษุผู้เป็นที่เจริญใจ๓ เหล่าภิกษุ
ผู้เป็นที่เจริญใจยังพักอยู่หลีกเร้น ทางที่ดี เราควรเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงปริพาชกา-
รามของพระนางอุทุมพริกา” จากนั้นจึงเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงปริพาชการามของ
พระนางอุทุมพริกา
[๕๐] เวลานั้น นิโครธปริพาชกนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ ผู้กำลัง
สนทนากันด้วยเสียงดังอื้ออึงถึงดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร
เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า
เรื่องที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่อง
นิคม เรื่องเมืองหลวง เรื่องชนบท๔ เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่อง
ตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่อง
ความเจริญและความเสื่อม

เชิงอรรถ :
๑ แต่ยังวัน ในที่นี้หมายถึงเพิ่งจะเลยเที่ยง เพิ่งจะบ่าย (ที.ปา.อ. ๔๙/๑๗)
๒ ประทับหลีกเร้นอยู่ หมายถึงเข้าฌานอยู่ (ที.ปา.อ. ๔๙/๑๗)
๓ เป็นที่เจริญใจ ในที่นี้หมายถึงผู้ทำจิตของคนที่ไปหาให้เจริญขึ้นและให้ปราศจากนิวรณ์ ๕ ประการ คือ
(๑) กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) (๒) พยาบาท (ความคิดร้าย) (๓) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม)
(๔) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) (๕) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (ที.ปา.อ. ๔๙/๑๗)
๔ ชนบท ในที่นี้หมายถึงเขตปกครองที่ประกอบด้วยเมือง(นคร)หลายเมือง ตรงกับคำว่า แคว้นหรือรัฐใน
ปัจจุบัน ตามนัย (ที.สี.อ. ๑๗/๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร] เรื่องปริพาชกชื่อนิโครธ

[๕๑] นิโครธปริพาชกเห็นสันธานคหบดีมาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนว่า
“ท่านทั้งหลายโปรดเงียบเสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอื้ออึง สันธานคหบดีผู้นี้เป็นสาวก
ของพระสมณโคดมกำลังมา อนึ่ง สันธานคหบดีผู้นี้เป็นคนหนึ่ง ในบรรดาสาวก
ของพระสมณโคดมผู้เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาว เท่าที่อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์ ก็ท่าน
เหล่านี้ชอบเสียงเบา ได้รับการอบรมในเรื่องเสียงเบา กล่าวสรรเสริญเสียงเบา
บางทีเมื่อเขาทราบว่าบริษัทมีเสียงเบาอาจจะเข้ามาก็ได้” เมื่อนิโครธปริพาชกกล่าว
อย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นจึงได้เงียบ
[๕๒] ครั้งนั้น สันธานคหบดีเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงที่อยู่ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับ
นิโครธปริพาชกดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ฝ่ายอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านี้มา
พบปะสมาคมกันแล้ว มีเสียงดังอื้ออึงอยู่ มักสนทนาถึงดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ
เรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญ และความเสื่อมแต่ฝ่ายพระผู้มี
พระภาคนั้น ทรงใช้เสนาสนะ เป็นป่าละเมาะ๑ และป่าทึบ๒ อันสงัด มีเสียงน้อย
มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับ
ของมนุษย์๓ ควรแก่การหลีกเร้น”
[๕๓] เมื่อสันธานคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกจึงกล่าวกับสันธาน
คหบดีดังนี้ว่า “คหบดี ท่านพึงทราบเถิด พระสมณโคดมจะเจรจากับใครได้ จะ
สนทนากับใครได้ จะมีปัญญาเฉลียวฉลาดเหนือกว่าใคร พระปัญญาของพระสมณ-
โคดมเหมาะกับเรือนว่างเท่านั้น พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่
จะเจรจาได้ พระองค์ประทับอยู่ ณ ภายในที่สงัดเท่านั้น เหมือนโคตาบอดเดิน
วนเวียนอยู่ ณ ภายในที่สงัดเท่านั้น พระปัญญาของพระสมณโคดมเหมาะกับ
เรือนว่าง พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่จะเจรจาได้ พระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ป่าละเมาะ หมายถึงป่าที่มีคนอาศัยทำมาหากิน สัญจรไปมา (ที.ปา.ฏีกา ๕๒/๑๗)
๒ ป่าทึบ หมายถึงป่าที่ไม่มีคนอาศัยทำมาหากิน มีลักษณะ ๕ อย่าง คือ (๑) อยู่ห่างไกล (๒) อยู่กลางดง
(๓) น่ากลัว (๔) น่าสยอง (๕) ตั้งอยู่ชายแดน (ที.ปา.ฏีกา ๕๒/๑๗)
๓ เป็นสถานที่ควรทำเรื่องลับของมนุษย์ ในที่นี้หมายถึงป่าที่มีสภาพเงียบสงัดจากผู้คน (ที.ปา.ฏีกา ๕๒/๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร] ลัทธิกีดกันบาปด้วยตบะ

ประทับอยู่เฉพาะภายในที่สงัดเท่านั้น คหบดี ขอให้พระสมณโคดมมาสู่บริษัทนี้เถิด
พวกเราจะผูกพระสมณโคดมด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น เหวี่ยงให้หมุนเหมือนหม้อเปล่า
ฉะนั้น”
[๕๔] พระผู้มีพระภาคทรงสดับถ้อยคำสนทนาระหว่างสันธานคหบดีกับนิโครธ-
ปริพาชกนี้ ด้วยทิพพโสตธาตุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จ
ลงจากภูเขาคิชฌกูฏแล้ว เสด็จเข้าไปยังสถานที่ให้เหยื่อนกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณี
สุมาคธา เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่นั้น นิโครธปริพาชกเห็นพระผู้มี
พระภาคเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อนกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณี
สุมาคธา จึงห้ามบริษัทของตนว่า “ท่านทั้งหลายโปรดเงียบเสียงหน่อย อย่าส่งเสียง
อื้ออึง พระสมณโคดมนี้เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อนกยูง ที่ฝั่ง
สระโบกขรณีสุมาคธา พระองค์โปรดเสียงเบา ทรงได้รับการอบรมในเรื่องเสียงเบา
ตรัสสรรเสริญเสียงเบา บางทีเมื่อพระองค์ทรงทราบว่า บริษัทมีเสียงเบาอาจจะเสด็จ
เข้ามาก็ได้ ถ้าว่า พระสมณโคดมจะพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ไซร้ พวกเราจะพึงทูลถาม
ปัญหานี้กับพระองค์ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้
แนะนำเหล่าสาวก ทำให้เหล่าสาวกที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำแล้ว ถึงความ
เบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์๑ อันเป็นที่พึ่งชั้นสูง๒” เมื่อนิโครธปริพาชกกล่าว
อย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นจึงได้เงียบ

ลัทธิกีดกันบาปด้วยตบะ

[๕๕] ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงที่อยู่ นิโครธ
ปริพาชกจึงทูลเชิญดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้ามาเถิด
ขอรับเสด็จพระผู้มีพระภาค นาน ๆ พระองค์จะมีเวลาเสด็จมา ณ ที่นี่ ขอพระผู้มี
พระภาคประทับบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้เถิด” พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธ-
อาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ส่วนนิโครธปริพาชกก็เลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า

เชิงอรรถ :
๑ อาทิพรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรมรรคหรืออริยมรรค (ที.ปา.อ. ๕๔/๑๙-๒๐, ที.ปา.ฏีกา ๕๔/๑๙)
๒ เป็นที่พึ่งชั้นสูง หมายถึงเป็นที่อาศัยชั้นสูงสุด ประเสริฐที่สุด (ที.ปา.อ. ๕๔/๑๙, ที.ปา.ฏีกา ๕๔/๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร] ลัทธิกีดกันบาปด้วยตบะ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า “นิโครธ เวลานี้ ท่านทั้งหลายสนทนากันด้วย
เรื่องอะไร เรื่องอะไรที่ท่านทั้งหลายสนทนากันค้างไว้” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัส
อย่างนี้ นิโครธปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พวกข้าพระองค์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อ
นกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ถ้าพระสมณโคดมจะพึง
เสด็จมาสู่บริษัทนี้ พวกเราจะพึงทูลถามปัญหานี้กับพระองค์ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้แนะนำเหล่าสาวก ทำให้เหล่าสาวกที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงแนะนำแล้ว ถึงความเบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์ อันเป็นที่พึ่ง
ชั้นสูง เรื่องนี้แลที่ข้าพระองค์ทั้งหลายสนทนากันค้างไว้ ก็พอดีพระองค์เสด็จมาถึง”
[๕๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นิโครธ ธรรมที่เราใช้แนะนำเหล่าสาวก
ทำให้เหล่าสาวกที่เราแนะนำแล้ว ถึงความเบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์อันเป็น
ที่พึ่งชั้นสูงนี้ เป็นธรรมที่ท่านผู้มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความถูกใจแตกต่างกัน มีความ
พอใจแตกต่างกัน มีความมุ่งหมายแตกต่างกัน มีอาจารย์แตกต่างกัน รู้ได้ยาก
เชิญเถิด นิโครธ ท่านจงถามปัญหาเรื่องกีดกันบาปอย่างยิ่งในลัทธิอาจารย์ของตน
กับเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลัทธิกีดกันบาปด้วยตบะ ที่บริบูรณ์เป็นอย่างไร
ที่ไม่บริบูรณ์เป็นอย่างไร” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ปริพาชกเหล่านั้นได้ส่ง
เสียงอื้ออึงขึ้นว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระสมณ-
โคดมมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ทรงหยุดลัทธิของพระองค์ไว้ ทรงเปิดโอกาสให้ถาม
ลัทธิคนอื่นได้”
[๕๗] ขณะนั้น นิโครธปริพาชกห้ามปริพาชกเหล่านั้นให้สงบเสียงแล้ว
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ถือลัทธิ
กีดกันบาปด้วยตบะ มีการกีดกันบาปด้วยตบะเป็นแก่นสาร ยึดติดอยู่กับการกีดกัน
บาปด้วยตบะ การกีดกันบาปด้วยตบะ ที่บริบูรณ์เป็นอย่างไร ที่ไม่บริบูรณ์เป็น
อย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร] ลัทธิกีดกันบาปด้วยตบะ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “นิโครธ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ เป็นอเจลก
(ประพฤติเปลือยกาย) ไม่มีมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป เขาเชิญ
ให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับอาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำเจาะจง
ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับอาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ
ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก
ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลังบริโภค ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับ
อาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับอาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับ
อาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวัน
ไต่ตอมเป็นกลุ่ม ๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง
รับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน ๒ หลัง ยังชีพ
ด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ๑ รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗ คำ ยังชีพด้วย
อาหารในถาดน้อย ๑ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๒ ใบ ฯลฯ ยังชีพด้วย
อาหารในถาดน้อย ๗ ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน กินอาหารที่เก็บไว้
ค้างคืน ๒ วัน ฯลฯ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือการบริโภคอาหาร ๑๕ วัน
ต่อมื้อ กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือยเป็นอาหาร
กินกากข้าวเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กินรำเป็นอาหาร กินข้าวตังเป็น
อาหาร กินกำยานเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กินโคมัยเป็นอาหาร กินเหง้า
และผลไม้ป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพ นุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน
นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ นุ่งห่มหนังเสือ
นุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ นุ่งห่มผ้าคากรอง๒ นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรอง นุ่งห่มผ้าผลไม้
กรอง นุ่งห่มผ้ากัมพลผมมนุษย์ นุ่งห่มผ้ากัมพลขนสัตว์ นุ่งห่มผ้าขนปีกนกเค้า
เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือถือการถอนผมและหนวด ยืนอย่างเดียว ไม่ยอมนั่ง
เดินกระโหย่ง คือถือการเดินกระโหย่ง (เหยียบพื้นไม่เต็มเท้า) ถือการนอนบนหนาม

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๙๘/๒๓๐ ประกอบ
๒ ผ้าคากรอง หมายถึงผ้าที่ถักทอด้วยหญ้าคา เป็นผ้าที่พวกฤๅษีใช้นุ่งห่ม (องฺ.ติก.อ. ๒/๙๔/๒๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
ว่าด้วยอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง)

นอนบนที่นอนอันทำด้วยหนาม นอนบนแผ่นกระดาน นอนบนเนินดิน นอนตะแคง
ข้างเดียว เอาฝุ่นคลุกตัว อยู่กลางแจ้ง นั่งบนอาสนะตามที่ปูลาดไว้ บริโภคคูถ คือ
ถือการบริโภคคูถ ไม่ดื่มน้ำเย็น คือถือการไม่ดื่มน้ำเย็น อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง คือ
ถือการลงอาบน้ำ
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วย
ตบะ เป็นลัทธิที่บริบูรณ์หรือไม่บริบูรณ์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิ
ที่บริบูรณ์แน่นอน มิใช่ไม่บริบูรณ์”
“นิโครธ เรากล่าวว่าการกีดกันบาปด้วยตบะแม้ที่บริบูรณ์อย่างนี้ ก็ยังมีอุปกิเลส
อยู่เป็นอันมาก”

ว่าด้วยอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง)

[๕๘] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่าการ
กีดกันบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์อย่างนี้ ก็ยังมีอุปกิเลสอยู่อีกเป็นอันมาก”
“นิโครธ
๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ ยึดมั่นตบะ เขามีใจยินดี มีความดำริ
อันบริบูรณ์ด้วยตบะ๑นั้น ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจน
เป็นเหตุให้เขามีใจยินดี มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น นี้แล
เป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขายกตนข่มผู้อื่นด้วยตบะนั้น
ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจนเป็นเหตุให้เขายกตนข่มผู้อื่น
ด้วยตบะนั้น นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

เชิงอรรถ :
๑ มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยตบะ ในที่นี้หมายถึงพอใจในการบำเพ็ญแต่ตบะเท่านั้น (ที.ปา.อ. ๕๘/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
ว่าด้วยอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง)

๓. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขามัวเมา๑ หลงใหล ถึงความ
ประมาทด้วยตบะนั้น ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจนเป็น
เหตุให้เขามัวเมา หลงใหล ถึงความประมาทด้วยตบะนั้น นี้แล
เป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
[๕๙] ๔. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภ๒สักการะและความ
สรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขามีใจยินดี มีความดำริอัน
บริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่บุคคลผู้
บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจนเป็นเหตุทำลาภสักการะและความ
สรรเสริญให้เกิดขึ้น เขามีใจยินดี มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยลาภ
สักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้
บำเพ็ญตบะ
๕. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภสักการะและความ
สรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขายกตนข่มผู้อื่น ด้วยลาภ
สักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่น
ตบะจนเป็นเหตุทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เขา
ยกตนข่มผู้อื่นด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แลเป็น
อุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
๖. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภสักการะและความ
สรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขามัวเมา หลงใหล ถึงความ
ประมาทด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่บุคคลผู้
บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะจนเป็นเหตุทำลาภสักการะและความ
สรรเสริญให้เกิดขึ้น เขามัวเมา หลงใหล ถึงความประมาทด้วย
ลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคล
ผู้บำเพ็ญตบะ

เชิงอรรถ :
๑ มัวเมา ในที่นี้หมายถึงมัวเมาเกิดจากมานะ (ที.ปา.อ. ๕๘/๒๑)
๒ ลาภ ในที่นี้หมายถึงการได้ปัจจัย ๔ ประการที่เขาเตรียมไว้เพื่อน้อมถวายคือ (๑) ผ้านุ่งห่ม (๒) อาหาร
(๓) ที่อยู่อาศัย (๔) ยารักษาโรค (ที.ปา.อ. ๕๙/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
ว่าด้วยอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง)

[๖๐] ๗. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ ถึงกับแบ่งโภชนะ ๒ ส่วนว่า
‘สิ่งนี้เราชอบ สิ่งนี้เราไม่ชอบ’ สิ่งใดที่เขาไม่ชอบ เขาก็อยากทิ้ง
สิ่งนั้น ส่วนสิ่งใดที่เขาชอบ เขาก็พัวพัน ยินดี หลงใหล ยึดติด
สิ่งนั้น มองไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเครื่องสลัดออก บริโภคอยู่
ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
๘. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เพราะเหตุแห่งความอยากใน
ลาภสักการะและความสรรเสริญ ด้วยคิดว่า ‘พระราชา มหา-
อำมาตย์ของพระราชา กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี เดียรถีย์
จักสักการะเรา’ ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
[๖๑] ๙. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ระรานสมณะหรือพราหมณ์อื่นว่า ‘ก็ไฉน ผู้นี้
เลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุหลายอย่าง กินไปหมดทุกอย่าง คือ พืชเกิด
จากเหง้า พืชเกิดจากลำต้น พืชเกิดจากตา พืชเกิดจากยอด และ
พืชเกิดจากเมล็ดเป็นที่ห้า ปลายฟันของผู้นี้คมกริบประดุจสายฟ้า
คนทั้งหลายยังพากันเรียกว่าเป็นสมณะ’ ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็น
อุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
๑๐. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นผู้กำลังได้รับ
สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ในตระกูลทั้งหลาย เขาดำริ
อย่างนี้ว่า ‘ในตระกูลทั้งหลาย คนทั้งหลายสักการะ เคารพ
นับถือ บูชาสมณะหรือพราหมณ์ชื่อนี้ที่เลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุหลาย
อย่าง แต่ในตระกูลทั้งหลายไม่มีใครสักการะ ไม่มีใครเคารพ ไม่มี
ใครนับถือ ไม่มีใครบูชาเราผู้บำเพ็ญตบะ ซึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุ
เศร้าหมอง’ เขาทำความริษยา๑และความตระหนี่๒ให้เกิดขึ้นในตระกูล
ทั้งหลาย ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ

เชิงอรรถ :
๑ ความริษยา ในที่นี้หมายถึงการทำลายสักการะ เป็นต้น ของคนอื่น (ที.ปา.อ. ๖๑/๒๒)
๒ ความตระหนี่ ในที่นี้หมายถึงความไม่พอใจที่เห็นเขาทำสักการะ เป็นต้น แก่คนอื่น (ที.ปา.อ. ๖๑/๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
ว่าด้วยอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมอง)

[๖๒] ๑๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะเป็นผู้มีปกตินั่งในที่ที่คนเห็นได้ ข้อที่ ฯลฯ นี้แล
เป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
๑๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เที่ยวอวดตนในตระกูลทั้งหลายว่า ‘การ
กระทำแม้นี้ก็มีในตบะของเรา การกระทำแม้นี้ก็มีในตบะของเรา’
ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
๑๓. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ใช้ประโยชน์จากความผิด๑บางอย่างที่ปกปิดไว้
เมื่อถูกผู้อื่นถามว่า ‘สิ่งนี้ควรแก่ท่านหรือ’ จึงกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ควร
ว่า ‘ควร’ กล่าวถึงสิ่งที่ควรว่า ‘ไม่ควร’ เขาพูดเท็จทั้งที่รู้ตัวอยู่
ด้วยประการฉะนี้ ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
๑๔. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เมื่อตถาคตหรือสาวกของตถาคตกำลังแสดง
ธรรมอยู่ ย่อมไม่คล้อยตามธรรมบรรยายที่ควรคล้อยตามอันมีอยู่
นั่นเทียว ข้อที่ ฯลฯ นี้แลเป็นอุปกิเลสของบุคคลผู้มีตบะ
[๖๓] ๑๕. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้ ข้อที่บุคคลผู้
บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้ นี้แลเป็นอุปกิเลสของ
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
๑๖. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ลบหลู่ ตีเสมอ ฯลฯ
๑๗. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ริษยา มีความตระหนี่ ฯลฯ
๑๘. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้โอ้อวด มีมายา ฯลฯ
๑๙. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้กระด้าง ถือตัวจัด ฯลฯ
๒๐. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มีความปรารถนาชั่ว ตกอยู่ในอำนาจ
แห่งความปรารถนาชั่ว ฯลฯ
๒๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้มีความเห็นผิด ประกอบด้วยอันตคาหิก-
ทิฏฐิ ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ความผิด ในที่นี้หมายถึงความผิดทั้งทางกาย วาจา และใจ (ที.ปา.ฏีกา ๖๒/๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์เพียงสะเก็ด

๒๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะเป็นผู้ยึดมั่นทิฏฐิของตน มีความถือรั้น สละ
สิ่งที่ตนยึดมั่นได้ยาก ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะเป็นผู้ยึดมั่นทิฏฐิของตน
มีความถือรั้น สละสิ่งที่ตนยึดมั่นได้ยาก นี้แลเป็นอุปกิเลสของ
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร การกีดกันบาปด้วยตบะเหล่านี้ เป็น
อุปกิเลส หรือไม่เป็นอุปกิเลส”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การกีดกันบาปด้วยตบะเหล่านี้ เป็นอุปกิเลสแน่นอน
ไม่ใช่ไม่เป็นอุปกิเลส ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ประกอบด้วย
อุปกิเลสเหล่านี้ครบทุกอย่าง เป็นฐานะที่จะมีได้ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงบุคคลผู้มี
อุปกิเลสเพียงบางข้อ”

เรื่องการถึงความบริสุทธิ์เพียงสะเก็ด

[๖๔] “นิโครธ
๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ ยึดมั่นตบะ เขามีใจไม่ยินดี ไม่มี
ความดำริอันบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่น
ตบะจนเป็นเหตุให้เขามีใจไม่ยินดี ไม่มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วย
ตบะนั้น เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วย
ตบะนั้น ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
๓. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาไม่มัวเมา ไม่หลงใหล ไม่ถึง
ความประมาทด้วยตบะนั้น ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย
เหตุนั้นอย่างนี้
[๖๕] ๔. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภสักการะและความ
สรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขามีใจไม่ยินดี ไม่มีความดำริ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์เพียงสะเก็ด

อันบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่ ฯลฯ
เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
๕. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภสักการะและความ
สรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยลาภ
สักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
๖. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาทำลาภสักการะและความ
สรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาไม่มัวเมา ไม่หลงใหล ไม่ถึง
ความประมาทด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ข้อที่ ฯลฯ
เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
[๖๖] ๗. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ยึดมั่นตบะ เขาไม่พิจารณาโภชนะทั้งหลาย
เป็น ๒ ส่วน ว่า ‘สิ่งนี้เราชอบ สิ่งนี้เราไม่ชอบ’ สิ่งใดที่เขาไม่ชอบ
เขาก็ไม่อยากทิ้งสิ่งนั้น ส่วนสิ่งที่เขาชอบ เขาก็ไม่พัวพัน ไม่ยินดี
ไม่หลงใหล ไม่ยึดติดสิ่งนั้น เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก
บริโภคอยู่ ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
๘. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ไม่ยึดมั่นตบะ เพราะเหตุแห่งความอยากได้
ลาภสักการะและความสรรเสริญ ด้วยคิดว่า ‘พระราชา มหาอำมาตย์
ของพระราชา กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี เดียรถีย์ จักสักการะ
เรา’ ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
[๖๗] ๙. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ไม่ระรานสมณะหรือพราหมณ์อื่นว่า ‘ก็ไฉน
ผู้นี้เลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุหลายอย่าง กินไปหมดทุกอย่าง คือ พืช
เกิดจากเหง้า พืชเกิดจากลำต้น พืชเกิดจากตา พืชเกิดจากยอด
และพืชเกิดจากเมล็ดเป็นที่ห้า ปลายฟันของผู้นี้คมกริบประดุจสายฟ้า
คนทั้งหลายยังพากันเรียกว่าเป็นสมณะ’ ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็น
ผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์เพียงสะเก็ด

๑๐. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นผู้กำลังได้รับ
สักการะ เคารพ นับถือ บูชาในตระกูลทั้งหลาย เขาไม่ดำริ
อย่างนี้ว่า ‘ในตระกูลทั้งหลาย คนทั้งหลายย่อมสักการะ เคารพ
นับถือ บูชา สมณะหรือพราหมณ์ชื่อนี้ผู้เลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุหลาย
อย่าง แต่ในตระกูลทั้งหลายไม่มีใครสักการะ ไม่มีใครเคารพ
ไม่มีใครนับถือ ไม่มีใครบูชาเราผู้บำเพ็ญตบะซึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุ
เศร้าหมอง’ เขาไม่ทำความริษยาและความตระหนี่ให้เกิดขึ้นในตระกูล
ทั้งหลาย ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
[๖๘] ๑๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่มีปกตินั่งในที่ที่คนเห็นได้ ข้อที่ ฯลฯ
เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
๑๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ย่อมไม่เที่ยวอวดตนในตระกูลทั้งหลายว่า
‘การกระทำแม้นี้ก็มีในตบะของเรา การกระทำแม้นี้ก็มีในตบะของ
เรา’ ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
๑๓. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ ไม่ใช้ประโยชน์จากความผิดบางอย่างที่ปกปิดไว้
เมื่อถูกผู้อื่นถามว่า ‘สิ่งนี้ควรแก่ท่านหรือ’ จึงกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ควร
ว่า ‘ไม่ควร’ กล่าวถึงสิ่งที่ควรว่า ‘ควร’ เขาไม่พูดเท็จทั้งที่รู้ตัวอยู่
ด้วยประการฉะนี้ ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้น
อย่างนี้
๑๔. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เมื่อตถาคตหรือสาวกของตถาคตกำลังแสดง
ธรรมอยู่ ย่อมคล้อยตามธรรมบรรยายที่ควรคล้อยตามอันมีอยู่
นั่นเทียว ข้อที่ ฯลฯ เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
[๖๙] ๑๕. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธไว้ ข้อที่บุคคลผู้
บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธไว้ เขาชื่อว่าเป็นผู้
บริสุทธิ์ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการที่ถึงความบริสุทธิ์เพียงเปลือก

๑๖. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่ลบหลู่ ไม่ตีเสมอ ฯลฯ
๑๗. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ฯลฯ
๑๘. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ฯลฯ
๑๙. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่กระด้าง ไม่ถือตัวจัด ฯลฯ
๒๐. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่มีความปรารถนาชั่ว ไม่ตกอยู่ในอำนาจ
แห่งความปรารถนาชั่ว ฯลฯ
๒๑. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่มีความเห็นผิด ไม่ประกอบด้วย
อันตคาหิกทิฏฐิ ฯลฯ
๒๒. บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้ไม่ยึดมั่นทิฏฐิของตน ไม่ถือรั้น สละ
สิ่งที่ตนยึดมั่นได้ง่าย ข้อที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะเป็นผู้ไม่ยึดมั่นทิฏฐิ
ของตน ไม่ถือรั้น สละสิ่งที่ตนยึดมั่นได้ง่าย เขาชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
ด้วยเหตุนั้นอย่างนี้
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วย
ตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิ
ที่บริสุทธิ์แน่นอน ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์ เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น”
“นิโครธ การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ หาเป็นลัทธิที่ถึงยอด
และถึงแก่นไม่ ที่แท้ เป็นลัทธิที่ถึงเพียงสะเก็ดเท่านั้น”

เรื่องการถึงความบริสุทธิ์เพียงเปลือก

[๗๐] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้
ข้าพระองค์ถึงยอดและถึงแก่นแห่งการกีดกันบาปด้วยตบะเถิด”
“นิโครธ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการที่ถึงความบริสุทธิ์เพียงเปลือก

๑. ไม่ทำชีวิตให้ตกล่วงไป ไม่ใช้ผู้อื่นให้ทำชีวิตให้ตกล่วงไป เมื่อผู้อื่น
ทำชีวิตให้ตกล่วงไป ก็ไม่ดีใจ
๒. ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
มิได้ให้ เมื่อผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ก็ไม่ดีใจ
๓. ไม่พูดเท็จ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นพูดเท็จ เมื่อผู้อื่นพูดเท็จ ก็ไม่ดีใจ
๔. ไม่เสพกามคุณ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเสพกามคุณ เมื่อผู้อื่นเสพกามคุณ
ก็ไม่ดีใจ
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ เป็นอย่างนี้แล
การที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ จะเป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการได้ ก็เพราะ
เขามีสิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ โดยความเป็นผู้บำเพ็ญตบะ เขารักษาศีลให้ยิ่ง
ไม่กลับมาเป็นคฤหัสถ์ เขาพักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา
ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เขากลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉัน
ภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เขาละอภิชฌา
(ความเพ่งเล็งอยากได้ของของเขา) ในโลก๑ มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความมุ่งร้าย คือ พยาบาท(ความคิดร้าย) มีจิตไม่พยาบาท
มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้าย คือ พยาบาท
ละถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติ-
สัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่าน
และร้อนใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้ ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา๒

เชิงอรรถ :
๑ โลก แปลว่าสภาพที่ต้องแตกสลาย ในที่นี้หมายถึงอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ คือ ความยึดติด รูป เวทนา
สัญญา สังขาร และวิญญาณว่ามีตัวตนและเป็นของตน อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (ที.สี.อ. ๒๑๗/๑๙๐)
๒ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๙๘/๓๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการที่ถึงความบริสุทธิ์เพียงเปลือก

[๗๑] เขาละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทอนกำลัง
ปัญญา มีเมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
มีกรุณาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยกรุณาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
มีมุทิตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยมุทิตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วย
ตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิ
ที่บริสุทธิ์แน่นอน ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์ เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่นทีเดียว”
“นิโครธ การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ยังไม่เป็นลัทธิที่ถึงยอด
และถึงแก่น ที่แท้ เป็นลัทธิที่ถึงเพียงเปลือกเท่านั้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการที่ถึงความบริสุทธิ์เพียงกระพี้

เรื่องการถึงความบริสุทธิ์เพียงกระพี้

[๗๒] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้
ข้าพระองค์ถึงยอดและถึงแก่นแห่งการกีดกันบาปด้วยตบะเถิด”
“นิโครธ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ เป็นอย่างไร
คือ ฯลฯ
นิโครธ การที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ จะเป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการได้
ก็เพราะเขามีสิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ โดยความเป็นผู้บำเพ็ญตบะ เขารักษาศีล
ให้ยิ่ง ไม่กลับมาเป็นคฤหัสถ์ พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด ฯลฯ
เขาละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทอนกำลังปัญญา
มีเมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีกรุณาจิต ฯลฯ
มีมุทิตาจิต ฯลฯ
มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง
๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง
๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์ที่ถึงยอดและถึงแก่น

สังวัฏฏกัป๑เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป๒เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น ก็ไปเกิดในภพโน้น
แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์
และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น จึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกชาติก่อนได้
หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วย
ตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิ
ที่บริสุทธิ์แน่นอน ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์ เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น”
“นิโครธ การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นลัทธิที่ยังไม่ถึงยอด
และถึงแก่น ที่แท้ เป็นลัทธิที่ถึงเพียงกระพี้เท่านั้น”

เรื่องการถึงความบริสุทธิ์ที่ถึงยอดและถึงแก่น

[๗๓] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร
เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้
ข้าพระองค์ถึงยอดและถึงแก่นแห่งการกีดกันบาปด้วยตบะเถิด”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า สังวัฏฏะ แปลว่า ความเสื่อม ความพินาศ และคำว่า กัป แปลว่า กาลกำหนด ช่วงระยะเวลายาว
นานเหลือเกินที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาลประลัยครั้งหนึ่ง ดังนั้น คำว่า สังวัฏฏกัป หมายถึงช่วงระยะ
เวลาที่โลกเสื่อม มี ๓ อย่าง คือ (๑) อาโปสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะน้ำ) หมายถึงกัปที่เสื่อมเพราะ
น้ำท่วมนับแต่ชั้นสุภกิณหพรหมลงมา (๒) เตโชสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะไฟ) หมายถึงกัปที่ไฟไหม้
นับแต่ชั้นอาภัสสรพรหมลงมา (๓) วาโยสังวัฏฏกัป (กัปที่เสื่อมเพราะลม) หมายถึงกัปที่ลมพัดทำลาย
นับแต่ชั้นเวหัปผลพรหมลงมา หรือหมายถึงช่วงระยะเวลาที่เปลวไฟดับจนถึงมหาเมฆที่ให้กัปพินาศ
(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕๖/๓๘๔, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๕๖-๑๕๘/๔๒๑, วิสุทฺธิ. ๒/๔๐๖/๕๕)
๒ วิวัฏฏกัป หมายถึงช่วงระยะเวลาที่โลกเจริญหรือหมายถึงช่วงระยะเวลาที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์เกิดจน
ถึงมีมหาเมฆบริบูรณ์ (องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๑๕๖-๑๕๘/๔๒๑, วิสุทฺธิ. ๒/๔๐๖/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์ที่ถึงยอดและถึงแก่น

“นิโครธ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการ เป็นอย่างไร
คือ ฯลฯ
นิโครธ การที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ จะเป็นผู้สำรวมด้วยสังวร ๔ ประการได้
ก็เพราะเขามีสิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ โดยความเป็นผู้บำเพ็ญตบะ เขารักษา
ศีลให้ยิ่ง ไม่กลับมาเป็นคฤหัสถ์ พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด ฯลฯ
เขาละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทอนกำลังปัญญา
มีเมตตาจิต ฯลฯ
มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง
๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ฯลฯ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะ
ทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
เขาเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
เขารู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ผู้เจริญเหล่านี้ที่ประกอบ
กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และ
ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์เหล่านี้ ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต
และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรม
ตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เขาเห็น
หมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม อย่างนี้แล
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วย
ตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
คำสารภาพผิดของนิโครธปริพาชก

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิ
ที่บริสุทธิ์แน่นอน ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์ เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น๑”
[๗๔] “นิโครธ การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นลัทธิที่ถึง
ยอดและถึงแก่น ท่านกล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้
แนะนำเหล่าสาวก ทำให้เหล่าสาวกที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำแล้ว ถึงความ
เบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์อันเป็นที่พึ่งชั้นสูง’ เหตุอันยอดเยี่ยมกว่า และ
ประณีตกว่าที่ว่ามาแล้วนั่นแหละ เป็นธรรมที่เราใช้แนะนำเหล่าสาวก ทำให้เหล่า
สาวกที่เราแนะนำแล้วถึงความเบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์อันเป็นที่พึ่งชั้นสูง”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว ปริพาชกเหล่านั้น ส่งเสียงอื้ออึงว่า
“ในเรื่องนี้พวกเรากับอาจารย์ฉิบหายละ ในเรื่องนี้พวกเรากับอาจารย์วอดวายละ
พวกเราไม่รู้มากยิ่งไปกว่านี้เลย”

คำสารภาพผิดของนิโครธปริพาชก

[๗๕] เมื่อสันธานคหบดีทราบว่า บัดนี้ อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านี้ตั้งใจฟัง
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค เงี่ยโสตลงสดับ ไม่ส่งจิตไปในที่อื่นโดยแท้ จึงได้
กล่าวกับนิโครธปริพาชกว่า “ท่านนิโครธ ท่านได้กล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘คหบดี
ท่านพึงทราบเถิด พระสมณโคดมจะเจรจากับใครได้ จะสนทนากับใครได้ จะมี
ปัญญาเฉลียวฉลาดเหนือกว่าใคร พระปัญญาของพระสมณโคดมเหมาะกับเรือนว่าง
เท่านั้น พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่จะเจรจาได้ พระองค์
ประทับอยู่ ณ ภายในที่สงัดเท่านั้น เหมือนโคตาบอดเดินวนเวียนอยู่ ณ ภายในที่
สงัดเท่านั้น พระปัญญาของพระสมณโคดมเหมาะกับเรือนว่าง พระสมณโคดม
ไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่จะเจรจาได้ พระองค์ประทับอยู่เฉพาะภายใน

เชิงอรรถ :
๑ ถึงยอดและถึงแก่น ในที่นี้หมายความว่าถึงยอดและถึงแก่นตามลัทธิเดียรถีย์ ซึ่งมีอุปมาว่า ลาภสักการะ
เหมือนกิ่งไม้และใบไม้ ศีล ๕ เหมือนสะเก็ดไม้ สมาบัติ ๘ เหมือนเปลือกไม้ ปุพเพนิวาสานุสสติ (ญาณ
ที่ทำให้ระลึกชาติได้) และอภิญญาอันเป็นที่สุดเป็นกระพี้ไม้ ทิพพจักขุ (ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์) เหมือนแก่นไม้
ส่วนความหมายตามพระพุทธศาสนามีอุปมาว่า ลาภสักการะเหมือนกิ่งไม้และใบไม้ ปาริสุทธิศีล ๔
เหมือนสะเก็ดไม้ ฌานสมาบัติเหมือนเปลือกไม้ อภิญญาที่เป็นโลกิยะเหมือนกระพี้ไม้ มรรคผลเหมือนแก่นไม้
(ที.ปา.อ. ๗๔/๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
คำสารภาพผิดของนิโครธปริพาชก

ที่สงัดเท่านั้น คหบดี ขอให้พระสมณโคดมมาสู่บริษัทนี้เถิด พวกเราจะผูกพระสมณ-
โคดมด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น เหวี่ยงให้หมุนเหมือนหม้อเปล่า ฉะนั้น’ ท่านนิโครธ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเสด็จมาถึงที่นี่แล้ว พวกท่าน
จงทำให้พระองค์ไม่กล้าเสด็จเข้ามาสู่บริษัท จงทำให้เป็นเหมือนโคตาบอดเดิน
วนเวียน จงผูกพระองค์ด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น จงเหวี่ยงพระองค์ให้หมุนเหมือน
หม้อเปล่าเถิด”
เมื่อสันธานคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกนั่งนิ่ง เก้อเขิน๑ คอตก
ก้มหน้า ซบเซา ตอบโต้ไม่ได้
[๗๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นิโครธปริพาชกนั่งนิ่ง เก้อเขิน คอ
ตก ก้มหน้า ซบเซา ตอบโต้ไม่ได้ จึงตรัสกับนิโครธปริพาชกดังนี้ว่า “นิโครธ ท่าน
กล่าววาจานี้จริงหรือ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์กล่าววาจานี้จริง เพราะความเป็นคนโง่
เขลา ไม่ฉลาด”
“นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ท่านเคยได้ยินปริพาชกผู้แก่ ผู้เฒ่า
ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์ พูดกันอย่างนี้บ้างไหมว่า ‘พระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าทั้งหลายได้มีแล้วในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นเสด็จมาพบปะ
สมาคมกันแล้ว มีพระสุรเสียงดังอื้ออึงอยู่ มักทรงสนทนาถึงดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ
เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ
เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ
เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมืองหลวง เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ
เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด
เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้น ๆ เหมือน
ท่านกับอาจารย์พูดคุยกันในบัดนี้หรือ หรือว่าท่านเคยได้ยินมาอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นทรงใช้สอยเสนาสนะ เป็นป่าละเมาะ และป่าทึบ อันสงัด มีเสียง
เบา มีเสียงเอ็ดอึงน้อย ปราศจากเสียงพูดของคนที่สัญจร เป็นสถานที่ควรทำ
เรื่องลับของมนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น เหมือนเราผู้ปฏิบัติอยู่ในบัดนี้”

เชิงอรรถ :
๑ เก้อเขิน ในที่นี้หมายถึงหมดอำนาจ หมดฤทธิ์เดช (ที.ปา.อ. ๗๕/๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
การทำให้แจ้งที่สุดซึ่งพรหมจรรย์

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินปริพาชกผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์
และผู้เป็นปาจารย์พูดสืบกันมาว่า ‘พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายได้มีแล้ว
ในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นเสด็จมาพบปะสมาคมกันแล้ว มีพระสุรเสียง
ดังอื้ออึงอยู่ มักทรงสนทนาถึงดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร
ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้น ๆ เหมือนข้าพระองค์กับ
อาจารย์พูดคุยกันในบัดนี้ก็หามิได้ พระผู้มีพระภาคทั้งหลาย ทรงใช้สอยเสนาสนะ
เป็นป่าละเมาะ และป่าทึบ อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการ
สัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น
เหมือนพระผู้มีพระภาคในบัดนี้”
“นิโครธ ท่านเป็นผู้รู้ เป็นคนแก่ ไม่ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคนั้น
เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อความตรัสรู้ พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงฝึกตนแล้ว
ทรงแสดงธรรมเพื่อการฝึกตน พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงสงบแล้ว ทรงแสดงธรรม
เพื่อความสงบ พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงข้ามโอฆะ๑ ๔ ประการ ได้แล้ว ทรงแสดง
ธรรมเพื่อข้ามโอฆะ ๔ ประการ พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงดับกิเลสได้แล้ว ทรงแสดง
ธรรมเพื่อความดับกิเลสได้”

การทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์

[๗๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความผิดได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้โง่ เขลา
ไม่ฉลาด ซึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ ขอพระองค์โปรดทรงรับทราบความ
ผิดของข้าพระองค์ตามความผิดเถิด เพื่อจะได้สำรวมต่อไป”
“นิโครธ เอาเถิด ความผิดได้ครอบงำท่านผู้โง่ เขลา ไม่ฉลาด ซึ่งได้กล่าวกับ
เราอย่างนี้ แต่เธอเห็นความผิดว่าเป็นความผิดแล้วสารภาพตามความเป็นจริง ดังนั้น
เราขอรับทราบความผิดนั้นของท่าน ก็ผู้ที่เห็นความผิดว่าเป็นความผิดแล้วสารภาพ

เชิงอรรถ :
๑ โอฆะ หมายถึงกิเลสดุจน้ำท่วมพาผู้ตกไปให้พินาศ มี ๔ ประการ คือ (๑) กาโมฆะ (โอฆะคือกาม)
(๒) ภโวฆะ (โอฆะคือภพ) (๓) ทิฏโฐฆะ (โอฆะคือทิฏฐิ) (๔) อวิชโชฆะ (โอฆะคืออวิชชา) (ที.ปา.อ. ๓/๑๒/
๒๒๑, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๖/๔๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร]
การทำให้แจ้งที่สุดซึ่งพรหมจรรย์

ออกมาตามความเป็นจริง รับว่าจะสำรวมต่อไป วิธีนี้เป็นความเจริญในอริยวินัย
นิโครธ ก็เรากล่าวอย่างนี้ว่า
‘บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะ
แสดงธรรม เขาปฏิบัติตามธรรมที่สั่งสอน เพียง ๗ ปี ก็จะทำให้แจ้งประโยชน์
ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้
นิโครธ ๗ ปี จงยกไว้
บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะ
แสดงธรรม เขาปฏิบัติตามธรรมที่สั่งสอน เพียง ๖ ปี ก็จะทำให้แจ้งประโยชน์
ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้
นิโครธ ๖ ปีจงยกไว้
... เพียง ๕ ปี ...
... เพียง ๔ ปี ...
... เพียง ๓ ปี ...
... เพียง ๒ ปี ...
... เพียง ๑ ปี ... นิโครธ ๑ ปีจงยกไว้
บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะ
แสดงธรรม เขาปฏิบัติตามธรรมที่สั่งสอน เพียง ๗ เดือน ก็จะทำให้แจ้งประโยชน์
ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้
นิโครธ ๗ เดือนจงยกไว้ ...
... เพียง ๖ เดือน...
... เพียง ๕ เดือน...
... เพียง ๔ เดือน...
... เพียง ๓ เดือน...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร] การสารภาพผิดของปริพาชก

... เพียง ๒ เดือน...
... เพียง ๑ เดือน...
... เพียงครึ่งเดือน นิโครธ ครึ่งเดือนจงยกไว้
บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะ
แสดงธรรม เขาปฏิบัติตามธรรมที่สั่งสอน เพียง ๗ วัน ก็จะทำให้แจ้งประโยชน์
ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้

การสารภาพผิดของปริพาชก

[๗๘] นิโครธ บางทีท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้
เพราะปรารถนาจะให้เราเป็นอันเตวาสิก’ แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ผู้ใดเป็น
อาจารย์ของท่าน ผู้นั้นก็จงเป็นอาจารย์ของท่านต่อไป
บางทีท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจาก
อุทเทส๑ จึงตรัสอย่างนี้’ แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อุทเทสใดเป็นของท่าน
อุทเทสนั้นก็จงเป็นของท่านต่อไป
บางทีท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจาก
อาชีพ๒ จึงตรัสอย่างนี้’ แต่ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อาชีพใดเป็นของท่าน
อาชีพนั้นก็จงเป็นของท่านต่อไป
บางทีท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เรากับอาจารย์
ตั้งอยู่ในอกุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องในอกุศลธรรม จึงตรัสอย่างนี้’ แต่ข้อนั้น
ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อกุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องในอกุศลธรรม ก็จงเป็นของ
ท่านกับอาจารย์ต่อไป
บางทีท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เรากับอาจารย์
ห่างจากกุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องในกุศลธรรม จึงตรัสอย่างนี้’ แต่ข้อนั้นท่าน
ไม่พึงเห็นอย่างนั้น กุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องในกุศลธรรม ก็จงเป็นของท่านกับ
อาจารย์ต่อไป

เชิงอรรถ :
๑ อุทเทส ในที่นี้หมายถึงแบบแผนแห่งธรรม (ที.ปา.อ. ๗๘/๒๗, ที.ปา.ฏีกา ๗๘/๒๖)
๒ อาชีพ ในที่นี้หมายถึงการดำรงชีพ (ที.ปา.อ. ๗๘/๒๗, ที.ปา.ฏีกา ๗๘/๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๒. อุทุมพริกสูตร] การสารภาพผิดของปริพาชก

นิโครธ ด้วยประการอย่างนี้แล เพราะปรารถนาจะให้ท่านเป็นอันเตวาสิก เรา
จึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่ ปรารถนาจะให้ท่านเคลื่อนจากอุทเทสจึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่
ปรารถนาจะให้ท่านเคลื่อนจากอาชีพ จึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่ ปรารถนาจะให้ท่านกับ
อาจารย์ดำรงอยู่ในอกุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องในอกุศลธรรม จึงกล่าวอย่างนี้
ก็หาไม่ ปรารถนาจะให้ท่านกับอาจารย์ห่างจากกุศลธรรมและธรรมที่นับเนื่องใน
กุศลธรรม จึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่
นิโครธ เราแสดงธรรมเพื่อให้ละอกุศลธรรมที่ยังละไม่ได้ ที่เศร้าหมอง ที่สร้าง
ภพใหม่ ที่มีความกระวนกระวาย ที่มีทุกข์เป็นผล ที่เป็นปัจจัยแห่งความเกิด ความแก่
และความตายต่อ ๆ ไป ท่านทั้งหลายปฏิบัติตามธรรมแล้ว จักละธรรมเป็นเหตุให้
เศร้าหมอง๑ ได้ ธรรมเป็นเหตุให้ผ่องแผ้ว๒จักเจริญยิ่งขึ้น ท่านทั้งหลายจักรู้แจ้ง
ความบริบูรณ์แห่งปัญญา๓และความไพบูลย์๔ด้วยตนเองอยู่ในปัจจุบันทีเดียว”
[๗๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นได้นั่งนิ่ง เก้อเขิน
คอตก ก้มหน้า ซบเซา ตอบโต้ไม่ได้ คล้ายกับถูกมารดลใจ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริดังนี้ว่า “โมฆบุรุษเหล่านี้ทั้งหมด ถูกมาร
ใจบาปดลใจแล้ว จนไม่มีใครแม้สักคนหนึ่งที่คิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี พวกเราจัก
ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม เพื่อความรู้ทั่วถึงบ้างว่า ‘๗ วันจักก่อผล
อะไรได้”
พระผู้มีพระภาคทรงบันลือสีหนาท๕ ในอารามของปริพาชกของพระนาง
อุทุมพริกาแล้ว ทรงเหาะขึ้นสู่อากาศ ปรากฏพระองค์อยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ ส่วน
สันธานคหบดีก็กลับเข้าไปกรุงราชคฤห์ในขณะนั้นเหมือนกัน

อุทุมพริกสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
การมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง

๓. จักกวัตติสูตร
ว่าด้วยพระเจ้าจักรพรรดิ
การมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง

[๘๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองมาตุลา แคว้นมคธ ณ ที่นั้น
พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้น
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นเกาะ๑ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็น
ที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด
ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ
มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมป-
ชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด
อภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรม
เป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ มีตนเป็นเกาะ ในที่นี้หมายถึงทำตนให้พ้นจากห้วงน้ำ คือ โอฆะ ๔ เหมือนกับเกาะกลางมหาสมุทรที่น้ำ
ท่วมไม่ถึง (ที.ม.อ. ๑๖๕/๑๕๐, ที.ม.ฏีกา ๑๖๕/๑๘๐) ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๖๕/๑๑๑, สํ.ม. (แปล)
๑๙/๓๗๙/๒๓๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร] เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิ

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงประพฤติธรรมอันเป็นโคจร๑ ซึ่งเป็นวิสัยอัน
สืบเนื่องมาจากบิดาของตน เมื่อเธอทั้งหลายประพฤติธรรมอันเป็นโคจรซึ่งเป็นวิสัย
อันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน มารจะไม่ได้โอกาส จะไม่ได้อารมณ์ ภิกษุทั้งหลาย
บุญนี้ย่อมเจริญขึ้นได้อย่างนี้ เพราะการสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ

เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิ

[๘๑] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า
ทัฬหเนมิ ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่
เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ
ได้แก่ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว
(๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่ง
ล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรง
ชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็น
ขอบเขต
[๘๒] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น เมื่อเวลาล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลาย
พันปี พระเจ้าทัฬหเนมิรับสั่งเรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘บุรุษผู้เจริญ ในขณะที่
ท่านเห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง พึงบอกแก่เราทันที’ ราชบุรุษนั้น
ทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี
ราชบุรุษนั้นได้เห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง จึงเข้าไปเฝ้าท้าวเธอถึง
ที่ประทับ แล้วได้กราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าทัฬหเนมิดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของ
พระองค์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว’

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมอันเป็นโคจร ในที่นี้หมายถึงธรรมที่เป็นอารมณ์กัมมัฏฐานของภิกษุ (ที.ปา.อ. ๘๐/๓๑, ที.ปา.ฏีกา
๘๐/๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร] เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิทัฬหเนมิ

ลำดับนั้น ท้าวเธอรับสั่งเรียกพระกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่มาตรัสว่า
‘ลูกเอ๋ย ทราบว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว ก็พ่อได้ยิน
มาว่า ‘จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใดถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง
ณ บัดนี้ พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น จะทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่นาน’ กามทั้งหลาย
อันเป็นของมนุษย์พ่อก็ได้บริโภคแล้ว บัดนี้เป็นเวลาที่พ่อจะแสวงหากามทั้งหลาย
อันเป็นทิพย์ มาเถิด ลูกเอ๋ย ลูกจงปกครองแผ่นดิน อันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขตนี้
ส่วนพ่อจะโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต๑’
[๘๓] ภิกษุทั้งหลาย ครั้นพระเจ้าทัฬหเนมิทรงสั่งสอนพระกุมารผู้เป็นพระ
ราชโอรสองค์ใหญ่ในเรื่องการครองราชย์เรียบร้อยแล้ว ทรงโกนพระเกศาและพระมัสสุ
ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อพระราชฤๅษี
ผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้วอันเป็นทิพย์ได้อันตรธานไป
ครั้งนั้น ราชบุรุษคนหนึ่งเข้าไปเฝ้ากษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษก๒ แล้ว ถึงที่
ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์
ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว’ ขณะนั้น เมื่อจักรแก้วอัน
เป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ท้าวเธอทรงเสียพระทัย ทรงแสดงความเสียพระทัยให้
ปรากฏ จึงเสด็จเข้าไปหาพระราชฤๅษีถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระองค์ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไป
แล้ว’ เมื่อท้าวเธอกราบทูลอย่างนี้ พระราชฤๅษีจึงตรัสว่า ‘ลูก เมื่อจักรแก้วอัน
เป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว เจ้าอย่าเสียใจและอย่าแสดงความเสียใจให้ปรากฏเลย

เชิงอรรถ :
๑ บวชเป็นบรรพชิต ในที่นี้หมายถึงบวชเป็นดาบส ซึ่งต้องโกนผมและหนวดเป็นพิธีการแรก หลังจากบวช
แล้วเมื่อผมงอกขึ้นมาใหม่ ก็จะใช้วิธีมุ่นผมเป็นชฎา แล้วเที่ยวไป การบวชในสมัยแรกใช้ผ้ากาสาวพัสตร์
(ผ้าที่ย้อมน้ำฝาด) ในสมัยต่อมาใช้ผ้าเปลือกไม้ก็มี (ที.ปา.อ. ๘๒/๓๓)
๒ มูรธาภิเษก หมายถึงพิธีหลั่งน้ำรดพระเศียรในงานราชาภิเษก หรือพระราชพิธีอื่น ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร] จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ

ด้วยว่า จักรแก้วอันเป็นทิพย์ หาใช่เป็นทรัพย์สมบัติที่เป็นมรดกสืบมาจากบิดาของ
เจ้าไม่ ขอให้ลูกประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐเถิด ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล
คือ เมื่อลูกประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ สนานพระเศียร ในวันอุโบสถ
๑๕ ค่ำ รักษาอุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบนปราสาทหลังงาม จักปรากฏจักรแก้วอันเป็น
ทิพย์ ซึ่งมีกำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง’

จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ

[๘๔] ‘จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐนั้น เป็นอย่างไร พระเจ้าข้า’
‘ลูกเอ๋ย ถ้าเช่นนั้น ลูกจงอาศัยธรรม๑เท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม
นับถือธรรม บูชาธรรม นอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรม
เป็นใหญ่ จงจัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองชนภายใน๒ กำลังพล พวกกษัตริย์ผู้
ตามเสด็จ พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท สมณพราหมณ์ สัตว์
จำพวกเนื้อและนกโดยธรรม การกระทำสิ่งที่ผิดแบบแผน อย่าได้เป็นไปในแว่นแคว้น
ของลูก อนึ่ง บุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นของลูก ไม่มีทรัพย์ ลูกพึงให้ทรัพย์แก่บุคคล
เหล่านั้นด้วย อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดในแว่นแคว้นของลูก เว้นขาดจากความ
มัวเมา และความประมาท๓ ตั้งมั่นอยู่ในขันติ(ความอดทน)และโสรัจจะ(ความเสงี่ยม)
ฝึกตน สงบตน ให้ตนดับกิเลสอยู่แต่ผู้เดียว ลูกพึงเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ตามกาลอันควรแล้วไต่ถามสอบถามว่า ‘ท่านขอรับ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล
อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเกี่ยวข้อง อะไรไม่ควรเกี่ยวข้อง อะไรที่ข้าพเจ้า
ทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่าอะไรที่ข้าพเจ้าทำอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ คือ (๑) เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ (๒) เว้นขาดจากการ
ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ (๓) เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม (๔) เว้นขาดจากการพูดเท็จ
(๕) เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด (๖) เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ (๗) เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
(๘) ความไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา (๙) ความมีจิตไม่พยาบาท (๑๐) ความเห็นชอบ (ที.ปา.อ. ๘๔/๓๔)
๒ ชนภายใน ในที่นี้หมายถึงพระมเหสี พระราชโอรส และพระราชธิดา (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔/๘๘)
๓ ความประมาท ในที่นี้หมายถึงความมีจิตหมกมุ่นในกามคุณ ๕ (ที.ปา.อ. ๘๔/๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร] การปรากฏของจักรแก้ว

พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน’ ครั้นลูกได้ฟังจากสมณพราหมณ์เหล่า
นั้นแล้ว สิ่งใดเป็นอกุศล พึงละเว้นสิ่งนั้น สิ่งใดเป็นกุศล พึงยึดถือประพฤติสิ่งนั้น
ให้มั่น ลูกเอ๋ย จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐนั้น เป็นอย่างนี้แล’

การปรากฏของจักรแก้ว

[๘๕] ภิกษุทั้งหลาย กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วรับสนองพระดำรัส
ของพระราชฤๅษีแล้ว ทรงประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ เมื่อท้าวเธอทรง
ประพฤติจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐอยู่ สนานพระเศียร ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ รักษา
อุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบนปราสาทหลังงาม ปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์ ซึ่งมี
กำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง เมื่อกษัตราธิราชผู้ได้รับ
มูรธาภิเษกแล้ว ทอดพระเนตรแล้วทรงดำริว่า ‘เราได้ฟังเรื่องนี้มาว่า ‘กษัตราธิราช
พระองค์ใด ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงสนานพระเศียร ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ
รักษาอุโบสถ ประทับอยู่ชั้นบนปราสาทหลังงาม จักปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์
ซึ่งมีกำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง กษัตราธิราช
พระองค์นั้นย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ’ เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิกระมัง’
ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงลุกจากที่ประทับ ทรงพระภูษาเฉวียงบ่า พระหัตถ์ซ้าย
ทรงจับพระเต้าทอง พระหัตถ์ขวาทรงชูจักรแก้วขึ้นตรัสว่า ‘จักรแก้วอันประเสริฐ
จงหมุนไป จงได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่’ ทันใดนั้น จักรแก้วหมุนไปทางทิศตะวันออก
ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา๑ ได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรมพร้อมด้วย
จตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้วอันเป็นทิพย์หยุดอยู่
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออก พากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูล
อย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จพระองค์
ราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’

เชิงอรรถ :
๑ จตุรงคินีเสนา หมายถึงกองทัพที่มีกำลัง ๔ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า (สํ.ส.อ.
๑/๑๒๕/๑๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร] การปรากฏของจักรแก้ว

ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
เขาไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดคำเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจงครอง
ราชสมบัติไปตามเดิมเถิด’
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออกเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อท้าวเธอ
[๘๖] ภิกษุทั้งหลาย จากนั้น จักรแก้วหมุนไปยังมหาสมุทรทิศตะวันออก
แล้วกลับเวียนไปทางทิศใต้ ฯลฯ หมุนไปยังมหาสมุทรทิศใต้แล้วกลับเวียนไปทาง
ทิศตะวันตก ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรมพร้อม
ด้วยจตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้วอันเป็นทิพย์หยุดอยู่
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันตก พากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูล
อย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จพระองค์
ราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’
ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
เขาไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดคำเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจงครอง
ราชสมบัติไปตามเดิมเถิด’
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันตกเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อท้าวเธอ
[๘๗] จากนั้น จักรแก้วหมุนไปยังมหาสมุทรทิศตะวันตกแล้วกลับหมุนไป
ทางทิศเหนือ ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรม
ในประเทศที่จักรแก้วอันเป็นทิพย์หยุดอยู่ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือ
พากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จ
มาเถิด ขอรับเสด็จพระองค์ ราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทาน
พระราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๒ เป็นต้น

ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
เขามิได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดคำเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจงครอง
ราชสมบัติไปตามเดิมเถิด’
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อท้าวเธอ
ครั้งนั้น จักรแก้วได้ปราบปรามแผ่นดินมีมหาสมุทรเป็นขอบเขตอย่างราบคาบ
เสร็จแล้วหมุนกลับยังราชธานีนั้นมาปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิที่พระทวารภายใน
พระราชวัง ณ หน้ามุขที่ทรงวินิจฉัยราชกิจ ทำภายในพระราชวังของท้าวเธอให้
สว่างไสว

เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๒ เป็นต้น

[๘๘] ภิกษุทั้งหลาย แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๒ ฯลฯ
แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๓ ฯลฯ
แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๔ ฯลฯ
แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๕ ฯลฯ
แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๖ ฯลฯ
แม้พระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๗ เมื่อเวลาล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี
ได้รับสั่งเรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘บุรุษผู้เจริญ ในขณะที่ท่านเห็นจักรแก้ว
อันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง พึงบอกแก่เราทันที’ ราชบุรุษนั้นทูลรับสนองพระ
ราชดำรัสแล้ว เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี ราชบุรุษนั้นได้
เห็นจักรแก้วอันเป็นทิพย์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง จึงเข้าไปเฝ้าท้าวเธอถึงที่ประทับ แล้ว
ได้กราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอพระองค์
ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระองค์ถอยเคลื่อนจากที่ตั้งแล้ว’
[๘๙] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอรับสั่งเรียกพระกุมาร ผู้เป็นพระราช-
โอรสองค์ใหญ่มาตรัสว่า ‘ลูกเอ๋ย ทราบว่าจักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพ่อถอยเคลื่อนจาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องพระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๒ เป็นต้น

ที่ตั้งแล้ว ก็พ่อได้ยินมาว่า ‘จักรแก้วอันเป็นทิพย์ของพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใด
ถอยเคลื่อนจากที่ตั้ง ณ บัดนี้ พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์นั้น จะทรงพระชนม์อยู่ได้ไม่
นาน’ กามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์พ่อก็ได้บริโภคแล้ว บัดนี้เป็นเวลาที่พ่อจะ
แสวงหากามทั้งหลายอันเป็นทิพย์ มาเถิด ลูกเอ๋ย ลูกจงปกครองแผ่นดิน อันมี
มหาสมุทรเป็นขอบเขตนี้ ส่วนพ่อจะโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออก
จากเรือนบวช เป็นบรรพชิต
ครั้นพระเจ้าจักรพรรดิทรงสั่งสอนพระกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในเรื่อง
การครองราชย์เรียบร้อยแล้ว ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์
เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อพระราชฤๅษีผนวชได้ ๗ วัน จักรแก้ว
อันเป็นทิพย์ได้อันตรธานไป
[๙๐] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น ราชบุรุษคนหนึ่งเข้าไปเฝ้ากษัตราธิราชผู้ได้รับ
มูรธาภิเษกแล้วถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ขอพระองค์ทรงทราบเถิด จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว’ ขณะนั้น เมื่อ
จักรแก้วอันเป็นทิพย์อันตรธานไปแล้ว ท้าวเธอทรงเสียพระทัย ทรงแสดงความเสีย
พระทัยให้ปรากฏ แต่ไม่ได้เสด็จเข้าไปหาพระราชฤๅษีทูลถามถึงจักรวรรดิวัตรอัน
ประเสริฐ นัยว่า ท้าวเธอทรงปกครองประชาราษฎร์ตามพระมติของพระองค์เอง
เมื่อท้าวเธอทรงปกครองประชาราษฎร์ตามพระมติของพระองค์เองอยู่ ประชาราษฎร์
ก็ไม่เจริญต่อไปเหมือนเก่าก่อน เหมือนเมื่อกษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ ซึ่งได้ทรงประพฤติ
จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐอยู่
ครั้งนั้น ข้าราชการ ข้าราชบริพาร โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพ นายกอง
ราชองครักษ์ องคมนตรี ได้ประชุมกันกราบทูลท้าวเธอดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ทราบว่า
เมื่อพระองค์ทรงปกครองชนบท๑ ตามพระมติของพระองค์เอง ประชาราษฎร์ก็ไม่

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ข้อ ๕๐ หน้า ๓๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

เจริญต่อไปเหมือนเก่าก่อน เหมือนเมื่อกษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ ซึ่งได้ทรงประพฤติ
จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐอยู่ พระเจ้าข้า ในแว่นแคว้นของพระองค์มีข้าราชการ
ข้าราชบริพาร โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ องคมนตรี
อยู่พร้อมทีเดียว ข้าพระองค์ทั้งหลายและประชาราษฎร์เหล่าอื่น จดจำจักรวรรดิวัตร
อันประเสริฐได้อยู่ ขอพระองค์โปรดตรัสถามถึงจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐเถิด พระองค์
ตรัสถามแล้ว พวกข้าพระพุทธเจ้าก็จักกราบทูลจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐถวาย’

เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

[๙๑] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ท้าวเธอโปรดให้ประชุมข้าราชการ ข้าราช-
บริพาร โหราจารย์และมหาอำมาตย์ แม่ทัพนายกอง ราชองครักษ์ องคมนตรี
ตรัสถามถึงจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ พวกเขาจึงกราบทูลจักรวรรดิวัตรอันประเสริฐ
แก่ท้าวเธอ ท้าวเธอได้ฟังคำทูลตอบของพวกเขาแล้ว จึงทรงจัดการรักษา ป้องกัน
และคุ้มครองโดยชอบธรรม แต่ไม่ได้พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ เมื่อไม่
พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนจึงแพร่หลาย เมื่อความขัดสน
แพร่หลาย บุรุษคนหนึ่งจึงถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย ประชาชน
ช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้วนำไปถวายแก่ท้าวเธอ กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละออง
ธุลีพระบาท บุรุษคนนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย’ เมื่อพวกเขา
กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า ‘ทราบว่า เธอถือเอาสิ่งของที่
ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยจริงหรือ’
‘จริง พระเจ้าข้า’
‘เพราะเหตุไร’
‘เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ’
ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงพระราชทานทรัพย์ให้แก่เขาแล้วรับสั่งว่า ‘พ่อคุณ เธอจง
เลี้ยงชีพ จงเลี้ยงมารดาบิดา เลี้ยงบุตรภรรยา ประกอบการงานทั้งหลาย จงตั้งทักษิณา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

ในสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่ทำให้มีผลสูงขึ้นไป๑ที่เป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดี มีสุขเป็นผล
ให้เกิดในสวรรค์๒ด้วยทรัพย์นี้เถิด’
เขาได้ทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว
แม้บุรุษอีกคนหนึ่ง ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย คนทั้งหลาย
ช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้วจึงนำไปถวายแก่ท้าวเธอ กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละออง
ธุลีพระบาท บุรุษนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย’ เมื่อพวกเขากราบ
ทูลอย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า ‘พ่อคุณ ได้ยินว่า เธอถือเอาสิ่งของ
ที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยจริงหรือ’
‘จริง พระเจ้าข้า’
‘เพราะเหตุไร’
‘เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ’
ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงพระราชทานทรัพย์ให้แก่เขาแล้วรับสั่งว่า ‘พ่อคุณ เธอ
จงเลี้ยงชีพ จงเลี้ยงมารดาบิดา จงเลี้ยงบุตรภรรยา จงประกอบการงานทั้งหลาย
จงตั้งทักษิณาในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ที่ทำให้มีผลสูงขึ้นไป เป็นไปเพื่อไห้ได้อารมณ์ดี
มีสุขเป็นผล ให้เกิดในสวรรค์ด้วยทรัพย์นี้เถิด’
เขาทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว
[๙๒] ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายได้ฟังมาว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ทราบ
ว่า คนถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย พระเจ้าแผ่นดินยังพระราช-
ทานทรัพย์ให้อีก’ จึงพากันคิดเห็นอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี แม้พวกเราก็ควรถือเอาสิ่ง
ของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยบ้าง’

เชิงอรรถ :
๑ มีผลสูงขึ้นไป ในที่นี้หมายถึงส่งผลให้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ คือ (๑) จาตุมหาราช (๒) ดาวดึงส์
(๓) ยามา (๔) ดุสิต (๕) นิมมานรดี (๖) ปรนิมมิตวสวัตดี (ที.ปา.ฏีกา ๙๑/๓๖)
๒ ให้เกิดในสวรรค์ในที่นี้หมายถึงให้ได้คุณวิเศษที่ล้ำเลิศ ๑๐ อย่าง มีผิวพรรณทิพย์ เป็นต้น (ที.ปา.อ. ๙๑/๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย คนทั้งหลาย
ช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้ว จึงนำไปถวายแก่ท้าวเธอ กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละออง
ธุลีพระบาท บุรุษนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย’ เมื่อพวกเขากราบทูล
อย่างนี้แล้ว ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า ‘พ่อคุณ ได้ทราบว่า เธอถือเอาสิ่งของ
ที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยจริงหรือ’
‘จริง พระเจ้าข้า’
‘เพราะเหตุไร’
‘เพราะข้าพระองค์ไม่มีอะไรจะเลี้ยงชีพ’
ลำดับนั้น ท้าวเธอจึงทรงพระดำริอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเราจักให้ทรัพย์แก่คนที่ถือเอา
สิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย อทินนาทาน (การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
ไม่ได้ให้)นี้ จักแพร่หลายขึ้นด้วยประการอย่างนี้ ทางที่ดี เราควรให้คุมตัวบุรุษผู้นี้
อย่างแข็งขัน แล้วตัดต้นคอ ตัดศีรษะของบุรุษนั้นเสีย’ จากนั้น ท้าวเธอทรงสั่งบังคับ
ราชบุรุษทั้งหลายว่า ‘แน่ะพนาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงใช้เชือกเหนียว ๆ มัดบุรุษนี้
ไพล่หลังอย่างแน่นหนาแล้ว โกนผมนำตระเวนไปตามถนนและตรอก พร้อมกับ
แกว่งบัณเฑาะว์๑เสียงดังน่ากลัวนำออกทางประตูด้านทิศใต้ จงคุมตัวอย่างแข็งขัน
ทำการประหารชีวิต ตัดศีรษะบุรุษนั้นเสียทางด้านทิศใต้แห่งพระนคร’ ราชบุรุษทั้งหลาย
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จึงใช้เชือกเหนียวมัดบุรุษนั้นเอาแขนไพล่หลังอย่างแน่น
หนาแล้ว โกนผมนำตระเวนไปตามถนนและตรอกพร้อมกับแกว่งบัณเฑาะว์เสียงดัง
น่ากลัวนำออกทางประตูด้านทิศใต้ คุมตัวอย่างแข็งขัน ทำการประหารชีวิต ตัดศีรษะ
บุรุษนั้นทางด้านทิศใต้แห่งพระนคร
[๙๓] ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายได้ฟังว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ทราบว่า
พระเจ้าแผ่นดินได้คุมตัวคนผู้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมยอย่างแข็งขัน
ตัดต้นคอ ตัดศีรษะพวกเขาเสีย’ ครั้นได้ฟังแล้วจึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี

เชิงอรรถ :
๑ บัณเฑาะว์ ในที่นี้หมายถึงกลองที่ใช้ตีให้สัญญาณเมื่อจะประหารนักโทษ (ที.ปา.อ. ๙๒/๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

แม้พวกเราก็ควรให้ช่างทำศัสตราอย่างคม ๆ แล้วจับคนที่ไม่ให้สิ่งของที่พวกเรา
ถือเอาโดยอาการขโมยคุมตัวไว้อย่างแข็งขัน จักประหารชีวิต ตัดศีรษะของพวกมันเสีย’
พวกเขาจึงให้ช่างทำศัสตราคม แล้วจึงเริ่มทำการปล้นบ้าน นิคม พระนคร ปล้นตาม
ถนนหนทาง จับคนที่ไม่ให้สิ่งของที่พวกตนถือเอาโดยอาการขโมย คุมตัวอย่างแข็งขัน
ประหารชีวิต ตัดศีรษะของบุคคลเหล่านั้นเสีย
[๙๔] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์
ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความ
ขัดสนแพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตรา
ก็แพร่หลาย เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์)ก็แพร่หลาย เมื่อ
ปาณาติบาตแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง
เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย
๘๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๔๐,๐๐๐ ปี
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๔๐,๐๐๐ ปี บุรุษคนหนึ่งถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้
โดยอาการขโมย พวกเขาช่วยกันจับบุรุษนั้นได้แล้ว จึงนำไปถวายแก่กษัตราธิราช
ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วกราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท บุรุษนี้
ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย’ เมื่อพวกเขากราบทูลอย่างนี้แล้ว
ท้าวเธอจึงตรัสถามบุรุษนั้นว่า ‘พ่อคุณ ได้ทราบว่า เธอถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้
โดยอาการขโมย จริงหรือ’ บุรุษนั้นได้กราบทูลคำเท็จทั้งที่รู้อยู่ว่า ‘ไม่จริงเลย
พระเจ้าข้า’
[๙๕] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์
ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความ
ขัดสนแพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตรา
ก็แพร่หลาย เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาตก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาต
แพร่หลาย มุสาวาท(การพูดเท็จ)ก็แพร่หลาย เมื่อมุสาวาทแพร่หลาย คนเหล่านั้น
ก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง
มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๔๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลง
เหลือ ๒๐,๐๐๐ ปี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๒๐,๐๐๐ ปี บุรุษคนหนึ่งถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้
โดยอาการขโมย บุรุษอีกคนหนึ่งจึงกราบทูลกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วว่า
‘ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท บุรุษชื่อนี้ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการ
ขโมย’ ชื่อว่าได้กระทำการส่อเสียด
[๙๖] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่
พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสน
แพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตราก็แพร่หลาย
เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาตก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตแพร่หลาย มุสาวาท
ก็แพร่หลาย เมื่อมุสาวาทแพร่หลาย ปิสุณาวาจา(การพูดส่อเสียด)ก็แพร่หลาย
เมื่อปิสุณาวาจาแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอย
บ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มี
อายุขัย ๒๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๑๐,๐๐๐ ปี
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐,๐๐๐ ปี มนุษย์บางพวกมีวรรณะดี บางพวกมี
วรรณะไม่ดี พวกที่มีวรรณะไม่ดี ก็เพ่งเล็งพวกที่มีวรรณะดี ประพฤติล่วงละเมิดใน
ภรรยาของคนอื่น
[๙๗] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่
พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสน
แพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ฯลฯ กาเมสุมิจฉาจาร
(การประพฤติผิดในกาม)ก็แพร่หลาย เมื่อกาเมสุมิจฉาจารแพร่หลาย คนเหล่านั้น
ก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง
มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๑๐,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลง
เหลือ ๕,๐๐๐ ปี
[๙๘] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๕,๐๐๐ ปี ธรรม ๒ ประการ
คือ ผรุสวาจา(การพูดคำหยาบ) และสัมผัปปลาปะ(การพูดเพ้อเจ้อ)ก็แพร่หลาย
เมื่อธรรม ๒ ประการแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อม
ถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเสื่อมแห่งอายุและวรรณะ เป็นต้น

ที่มีอายุขัย ๕,๐๐๐ ปี บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๒,๕๐๐ ปี บางพวกก็มี
อายุขัยถอยลงเหลือ ๒,๐๐๐ ปี
[๙๙] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๒,๕๐๐ ปี อภิชฌา(ความเพ่งเล็ง
อยากได้ของของเขา) และพยาบาท(ความคิดร้าย) ก็แพร่หลาย เมื่ออภิชฌา และ
พยาบาทแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อ
พวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย
๒,๕๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๑,๐๐๐ ปี
[๑๐๐] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑,๐๐๐ ปี มิจฉาทิฏฐิ(ความ
เห็นผิด) ก็แพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฏฐิแพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง
มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง
บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๑,๐๐๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๕๐๐ ปี
[๑๐๑] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๕๐๐ ปี ธรรม ๓ ประการ
คือ อธัมมราคะ๑ วิสมโลภะ๒ และมิจฉาธรรม๓ ก็แพร่หลาย เมื่อธรรม ๓ ประการ
แพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง เมื่อพวกเขา
มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย ๕๐๐ ปี
บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๒๕๐ ปี บางพวกก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๒๐๐ ปี
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๒๕๐ ปี ธรรมเหล่านี้ คือ ความไม่เกื้อกูลมารดา
ความไม่เกื้อกูลบิดา ความไม่เกื้อกูลสมณะ ความไม่เกื้อกูลพราหมณ์ และการไม่
ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ก็แพร่หลาย

เชิงอรรถ :
๑ อธัมมราคะ แปลว่า ความกำหนัดที่ผิดธรรม หมายถึงความกำหนัดในบุคคลที่ไม่สมควรกำหนัด เช่น
แม่ พ่อ (ที.ปา.อ. ๑๐๑/๓๘)
๒ วิสมโลภะ แปลว่า ความโลภจัด หมายถึงความโลภที่รุนแรงในฐานะแม้ที่ควรจะได้ (ที.ปา.อ. ๑๐๑/๓๘)
๓ มิจฉาธรรม แปลว่า ความกำหนัดผิดธรรมชาติ หมายถึงความกำหนัดที่ชายมีต่อชาย และที่ผู้หญิงมีต่อ
ผู้หญิง (ที.ปา.อ. ๑๐๑/๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร] สมัยที่คนมีอายุขัย ๑๐ ปี

[๑๐๒] ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่
พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสน
แพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตราก็แพร่หลาย
เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาตก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตแพร่หลาย มุสาวาท
ก็แพร่หลาย เมื่อมุสาวาทแพร่หลาย ปิสุณาวาจาก็แพร่หลาย เมื่อปิสุณาวาจาแพร่
หลาย กาเมสุมิจฉาจารก็แพร่หลาย เมื่อกาเมสุมิจฉาจารแพร่หลาย ธรรม ๒
ประการ คือ ผรุสวาจา และสัมผัปปลาปะก็แพร่หลาย เมื่อธรรม ๒ ประการ
แพร่หลาย อภิชฌาและพยาบาทก็แพร่หลาย เมื่ออภิชฌาและพยาบาทแพร่หลาย
มิจฉาทิฏฐิก็แพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฏฐิแพร่หลาย ธรรม ๓ ประการ คือ อธัมมราคะ
วิสมโลภะ และมิจฉาธรรมก็แพร่หลาย เมื่อธรรม ๓ ประการแพร่หลาย ธรรมเหล่านี้
คือ ความไม่เกื้อกูลมารดา ความไม่เกื้อกูลบิดา ความไม่เกื้อกูลสมณะ ความไม่
เกื้อกูลพราหมณ์ และการไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลก็แพร่หลาย เมื่อ
ธรรมเหล่านี้แพร่หลาย คนเหล่านั้นก็มีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง
เมื่อพวกเขามีอายุเสื่อมถอยบ้าง มีวรรณะเสื่อมถอยบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุขัย
๒๕๐ ปี ก็มีอายุขัยถอยลงเหลือ ๑๐๐ ปี

สมัยที่คนมีอายุขัย ๑๐ ปี

[๑๐๓] ภิกษุทั้งหลาย จักมีสมัยที่มีบุตรของมนุษย์เหล่านี้มีอายุขัย ๑๐ ปี
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี เด็กหญิงอายุ ๕ ปี ก็มีสามีได้ ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย
๑๐ ปี รสเหล่านี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และเกลือ จักอันตรธาน
ไปสิ้น ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี หญ้ากับแก้จักเป็นอาหารอย่างดี ภิกษุทั้งหลาย
ข้าวสาลี เนื้อ และข้าวสุก เป็นอาหารอย่างดีในบัดนี้ ฉันใด ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย
๑๐ ปี หญ้ากับแก้ก็จักเป็นอาหารอย่างดี ฉันนั้น
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี กุศลกรรมบถ ๑๐ จักอันตรธานไปหมดสิ้น
อกุศลกรรมบถ ๑๐ จักเจริญรุ่งเรืองเหลือเกิน ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี แม้แต่
ชื่อว่ากุศลก็จักไม่มี และคนที่ทำกุศลจักมีแต่ที่ไหน ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี
มนุษย์ทั้งหลายที่ไม่เกื้อกูลมารดา ไม่เกื้อกูลบิดา ไม่เกื้อกูลสมณะ ไม่เกื้อกูล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร] สมัยที่คนมีอายุขัย ๑๐ ปี

พราหมณ์ และไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ก็จักได้รับการบูชาและได้รับ
การสรรเสริญ ภิกษุทั้งหลาย คนที่เกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูล
พราหมณ์ และประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ได้รับการบูชาและได้รับการ
สรรเสริญในบัดนี้ ฉันใด ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี มนุษย์ทั้งหลายที่ไม่เกื้อกูล
มารดา ไม่เกื้อกูลบิดา ไม่เกื้อกูลสมณะ ไม่เกื้อกูลพราหมณ์ และไม่ประพฤติอ่อนน้อม
ต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ก็จักได้รับการบูชาและได้รับการสรรเสริญ ฉันนั้น
ในเมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุขัย ๑๐ ปี พวกเขาจักไม่มีจิตคิดเคารพยำเกรงว่า
‘แม่’ ว่า ‘ป้า น้า’ ว่า ‘ป้าสะใภ้ น้าสะใภ้’ ว่า ‘ภรรยาของอาจารย์’ หรือว่า
‘ภรรยาของครู’ สัตว์โลกจักถึงความสมสู่ปะปนกันหมด เป็นเสมือน แพะ แกะ ไก่
สุกร สุนัขบ้าน และสุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น
ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี มนุษย์เหล่านั้นก็จักเกิดความอาฆาต๑อย่าง
แรงกล้า ความพยาบาท๒อย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิด
จะฆ่ากันอย่างแรงกล้า มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับบุตรก็ดี บุตร
กับบิดาก็ดี พี่ชายน้องชายกับพี่สาวน้องสาวก็ดี พี่สาวน้องสาวกับพี่ชายน้องชายก็ดี
จักเกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่ง
ใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า ภิกษุทั้งหลาย นายพรานเนื้อ เห็น
เนื้อเข้า เกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้าย
แห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า ฉันใด ในเมื่อมนุษย์ทั้งหลายมี
อายุขัย ๑๐ ปี มนุษย์เหล่านั้นจักเกิดความอาฆาตอย่างแรงกล้า ความพยาบาท
อย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า
มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับบุตรก็ดี บุตรกับบิดาก็ดี พี่ชายน้อง

เชิงอรรถ :
๑ ความอาฆาต หมายถึงความโกรธที่ทำให้ผูกใจเจ็บ (ที.ปา.อ. ๑๐๓/๓๙)
๒ ความพยาบาท หมายถึงความโกรธที่ทำให้ประโยชน์สุขทั้งของตนทั้งของคนอื่นพินาศ (ที.ปา.อ. ๑๐๓/๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น

ชายกับพี่สาวน้องสาวก็ดี พี่สาวน้องสาวกับพี่ชายน้องชายก็ดี จักเกิดความอาฆาต
อย่างแรงกล้า ความพยาบาทอย่างแรงกล้า ความคิดร้ายแห่งใจอย่างแรงกล้า
ความคิดจะฆ่ากันอย่างแรงกล้า ฉันนั้น
[๑๐๔] ภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๑๐ ปี จักมีสัตถันตรกัป๑
ตลอด ๗ วัน มนุษย์เหล่านั้นจักเกิดความเข้าใจในกันและกันว่าเป็นเนื้อ ศัสตรา
ทั้งหลายอันคมกริบจักปรากฏในมือของพวกเขา พวกเขาจักใช้ศัสตราอันคมกริบ
ฆ่ากันเองด้วยเข้าใจว่า ‘นี้เป็นเนื้อ นี้เป็นเนื้อ’
ครั้งนั้น มนุษย์เหล่านั้นบางพวก มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พวกเราอย่าฆ่าใคร ๆ
และใคร ๆ ก็อย่าฆ่าพวกเรา ทางที่ดี เราควรเข้าไปตามป่าหญ้า สุมทุมพุ่มไม้
ป่าไม้ เกาะกลางแม่น้ำ หรือซอกเขา ใช้รากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีพ’
พวกเขาจึงพากันเข้าไปตามป่าหญ้า สุมทุมพุ่มไม้ ป่าไม้ เกาะกลางแม่น้ำหรือ
ซอกเขา ใช้รากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหารเลี้ยงชีพอยู่ตลอด ๗ วัน เมื่อล่วงไป
๗ วัน พวกเขาพากันออกจากป่าหญ้า สุมทุมพุ่มไม้ ป่าไม้ เกาะกลางแม่น้ำ หรือ
ซอกเขา แล้วต่างสวมกอดกันและกัน ขับร้องปลอบใจกันในที่ประชุมว่า ‘ท่านผู้เจริญ
ทั้งหลาย เราพบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่ เราพบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่’

เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น

[๑๐๕] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น มนุษย์เหล่านั้นจักปรึกษากันอย่างนี้ว่า
‘พวกเราสูญสิ้นญาติมากมายเช่นนี้ เพราะยึดถืออกุศลธรรมเป็นเหตุ ทางที่ดี พวกเรา
ควรทำกุศล ควรทำกุศลอย่างไรดี ทางที่ดี พวกเราควรงดเว้นจากปาณาติบาต(การ
ฆ่าสัตว์) ควรสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้’ แล้วจึงพากันงดเว้นจากปาณาติบาต

เชิงอรรถ :
๑ สัตถันตรกัป แปลว่าอันตรกัปพินาศเพราะศัสตรา เป็นชื่ออันตรกัป (กัประหว่าง) ๑ ใน ๓ อันตรกัป ซึ่ง
เป็นกัปย่อยของสังวัฎฎกัป(กัปเสื่อม) มักเรียกกันสั้น ๆ ว่ากัปพินาศ อีก ๒ กัป คือ (๑) ทุพภิกขันตรกัป
(กัปพินาศเพราะข้าวยากหมากแพง) (๒) โรคันขันตรกัป (กัปพินาศเพราะโรค) คำว่า กัป ในที่นี้เป็นคำย่อของ
คำว่า “กัปพินาศ” (กปฺปวินาส) (ที.ปา.อ. ๑๐๔/๓๙, ที.ปา.ฎีกา ๑๐๔/๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น

สมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้ เพราะสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ พวกเขาจักเจริญ
ด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง เมื่อพวกเขาเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วย
วรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ทั้งหลายที่มีอายุขัย ๑๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๒๐ ปี
ลำดับนั้น มนุษย์เหล่านั้นจักปรึกษากันอย่างนี้ว่า ‘พวกเราเจริญด้วยอายุบ้าง
เจริญด้วยวรรณะบ้าง เพราะสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ ทางที่ดี พวกเราควรทำ
กุศลธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป ควรทำกุศลอย่างไรบ้าง พวกเราควรงดเว้นจากอทินนาทาน
(การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้) ควรงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร(การประพฤติ
ผิดในกาม) ควรงดเว้นจากมุสาวาท(การพูดเท็จ) ควรงดเว้นจากปิสุณาวาจา(การพูด
ส่อเสียด) ควรงดเว้นจากผรุสวาจา(การพูดคำหยาบ) ควรงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ
(การพูดเพ้อเจ้อ) ควรละอภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของของเขา) ควรละพยาบาท
(ความคิดร้ายผู้อื่น) ควรละมิจฉาทิฏฐิ(ความเห็นผิด) ควรละธรรม ๓ ประการ คือ
อธัมมราคะ วิสมโลภะ และมิจฉาธรรม ทางที่ดี พวกเราควรเกื้อกูลมารดา ควร
เกื้อกูลบิดา ควรเกื้อกูลสมณะ ควรเกื้อกูลพราหมณ์ และควรประพฤติอ่อนน้อม
ต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ควรสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้ ดังนี้ เขาเหล่านั้น
จักเกื้อกูลมารดา เกื้อกูลบิดา เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูลพราหมณ์ และประพฤติอ่อนน้อม
ต่อผู้ใหญ่ในตระกูล จักสมาทานประพฤติกุศลธรรมนี้
เพราะสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ พวกเขาจักเจริญด้วยอายุบ้าง จักเจริญด้วย
วรรณะบ้าง เมื่อพวกเขาเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์
ที่มีอายุขัย ๒๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๔๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๔๐ ปี
จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๘๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๘๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้น
เป็น ๑๖๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๑๖๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๓๒๐ ปี
บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๓๒๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๖๔๐ ปี บุตรของมนุษย์
ผู้มีอายุขัย ๖๔๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๒,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย
๒,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๔,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๔,๐๐๐ ปี
จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น ๘,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๘,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
ความอุบัติของพระราชาพระนามว่าสังขะ

เพิ่มขึ้นเป็น ๒๐,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๒๐,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้น
เป็น ๔๐,๐๐๐ ปี บุตรของมนุษย์ผู้มีอายุขัย ๔๐,๐๐๐ ปี จักมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น
๘๐,๐๐๐ ปี เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕๐๐ ปี จึงจักสมควร
มีสามีได้

ความอุบัติของพระราชาพระนามว่าสังขะ

[๑๐๖] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี จักมีอาพาธ ๓ อย่าง
คือ (๑) อิจฉา๑ (๒) อนสนะ๒ (๓) ชรา เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี ชมพูทวีปนี้
จักมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ บ้าน นิคมและราชธานีมีทุกระยะชั่วไก่บินตก๓ เมื่อมนุษย์มี
อายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี ชมพูทวีปนี้ จักดูประหนึ่งอเวจีนรกที่แออัดยัดเยียดไปด้วย
ผู้คนทั้งหลาย เหมือนป่าไม้อ้อ หรือป่าไม้แก่น ฉะนั้น เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี
กรุงพาราณสีนี้ จักเป็นราชธานีนามว่ากรุงเกตุมดี เป็นเมืองที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์
มีพลเมืองมาก มีประชากรคับคั่ง และมีภักษาหารสมบูรณ์๔ เมื่อมนุษย์มีอายุ
๘๐,๐๐๐ ปี ในชมพูทวีปนี้ จักมีเมือง ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุงเกตุมดีราชธานีเป็น
เมืองเอก เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี จักมีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสังขะ
ทรงอุบัติขึ้น ณ กรุงเกตุมดีราชธานี เป็นผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็น

เชิงอรรถ :
๑ อิจฉา ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่ทำให้เกิดคำพูดอย่างนี้ว่า ‘ท่านจงให้อาหารแก่เรา’ (ที.ปา.อ. ๑๐๖/๔๐)
๒ อนสนะ ในที่นี้หมายถึงความเฉื่อยชาทางกายของผู้กินอาหารอิ่มแล้วต้องการจะนอนเพราะเมาอาหาร
(ที.ปา.อ. ๑๐๖/๔๐)
๓ มีทุกระยะชั่วไก่บินตก ในที่นี้หมายถึงระยะห่างจากบ้านหนึ่งถึงบ้านหนึ่ง คำนวณจากการบินของไก่ คือ
ในเมืองนี้ ไก่สามารถบินจากหลังคาบ้านหลังหนึ่งไปลงหลังคาบ้านหลังหนึ่งได้ซึ่งแสดงว่ามีบ้านเรือนหนาแน่น
จนไก่บินถึงกันได้ (ที.ปา.อ. ๑๐๖/๔๐)
๔ มีภักษาหารสมบูรณ์ ในที่นี้หมายถึงสมบูรณ์ด้วยอาหารที่ควรเคี้ยวและอาหารที่ควรบริโภค (ที.ม.อ.
๒๑๐/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
การเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าเมตไตรย

ใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักร
มั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ ได้แก่ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว
(๔) มณีแก้ว (๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรส
มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยี
ราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครอง
แผ่นดินนี้มีสาครเป็นขอบเขต

การเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าเมตไตรย

[๑๐๗] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี พระผู้มีพระภาค
พระนามว่าเมตไตรย จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค๑ เหมือนตถาคตอุบัติขึ้นในโลกในบัดนี้ เป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี
รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรยพระองค์นั้น จักทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลกและหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
ด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามเหมือนตถาคตในบัดนี้ รู้แจ้งโลกนี้
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา
และมนุษย์ด้วยตนเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๖ หน้า ๕-๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
การเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าเมตไตรย

พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรยพระองค์นั้น จักทรงแสดงธรรมอัน
มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศ
พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน เหมือนตถาคต
ในบัดนี้ แสดงธรรมอันมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลางและมีความ
งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
พระองค์จักทรงบริหารภิกษุสงฆ์หลายพันรูป เหมือนตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์หลาย
ร้อยรูปในบัดนี้ ฉะนั้น
[๑๐๘] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระเจ้าสังขะ จักรับสั่งให้ยกปราสาทที่
พระเจ้ามหาปนาทะโปรดให้สร้างไว้ แล้วประทับอยู่ ทรงสละบำเพ็ญทานแก่สมณ-
พราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพกและยาจกทั้งหลาย จักทรงปลงพระเกศา
และพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตใน
สำนักของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าเมตไตรย ท้าวเธอ
ผนวชแล้วไม่นานอย่างนี้ ทรงหลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาทมีความเพียร อุทิศ
กายและใจอยู่ ไม่นานนัก ก็ทำให้แจ้งประโยชน์อันยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์
ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยพระปัญญา
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่แท้
[๑๐๙] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่ง
อื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด
ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ
มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะเป็นต้นของภิกษุ

๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัม-
ปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด
อภิชฌาและโทมนัสในโลก
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรม
เป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ เป็นอย่างนี้แล

เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะ เป็นต้น ของภิกษุ

[๑๑๐] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงประพฤติธรรมอันเป็นโคจร ซึ่งเป็น
วิสัยอันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน เมื่อเธอทั้งหลายประพฤติธรรมอันเป็นโคจร ซึ่ง
เป็นวิสัยอันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน จักเจริญด้วยอายุบ้าง จักเจริญด้วยวรรณะ
บ้าง จักเจริญด้วยสุขะบ้าง จักเจริญด้วยโภคะบ้าง จักเจริญด้วยพละบ้าง
ในเรื่องอายุของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่
เกิดจากฉันทะและความเพียรสร้างสรรค์)
๒. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่
เกิดจากวิริยะและความเพียรสร้างสรรค์)
๓. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่
เกิดจากจิตตะและความเพียรสร้างสรรค์)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะเป็นต้นของภิกษุ

๔. เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่
เกิดจากวิมังสาและความเพียรสร้างสรรค์)
เพราะเจริญ ทำอิทธิบาท ๔ ประการนี้ให้มาก เมื่อมุ่งหวัง เธอจะพึงดำรงอยู่
ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องอายุของภิกษุ
ในเรื่องวรรณะของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบ
พร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องวรรณะของภิกษุ
ในเรื่องความสุขของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก
วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน ...
๓. บรรลุตติยฌาน ...
๔. บรรลุจตุตถฌาน ...
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องความสุขของภิกษุ
ในเรื่องโภคะของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า
ในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๓. จักกวัตติสูตร]
เรื่องความเจริญด้วยอายุและวรรณะเป็นต้นของภิกษุ

๒. มีกรุณาจิต ...
๓. มีมุทิตาจิต ...
๔. มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔
... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่
เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มี
ขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องโภคะของภิกษุ
ในเรื่องพละของภิกษุ มีคำอธิบาย อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ๑ ปัญญาวิมุตติ๒ อันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นคำอธิบายในเรื่องพละของภิกษุ
เราไม่เล็งเห็นกำลังอื่นแม้อย่างหนึ่ง ซึ่งข่มได้แสนยาก เหมือนกำลังของมาร๓
นี้เลย บุญนี้จะเจริญขึ้นได้อย่างนี้ก็เพราะสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

จักกวัตติสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เจโตวิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้นแห่งจิต ความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึก หรือด้วยกำลัง
สมาธิ เช่น สมาบัติ ๘ เป็นเจโตวิมุตติอันละเอียดประณีต (ที.สี.อ. ๓๗๓/๒๘๑)
๒ ปัญญาวิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้นด้วยปัญญา ความหลุดพ้นที่บรรลุด้วยการกำจัดอวิชชาได้ ทำให้
สำเร็จอรหัตตผล และทำให้เจโตวิมุตติ เป็นวิมุตติที่ไม่กำเริบ คือ ไม่กลับกลายได้อีกต่อไป (ที.สี.อ. ๓๗๓/
๒๘๑)
๓ กำลังของมาร ในที่นี้หมายถึงกำลังของเทวปุตตมาร มัจจุมาร และกิเลสมาร (ที.ปา.อ. ๑๑๐/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร]
เรื่องสามเณรชื่อวาเสฏฐะและสามเณรชื่อภารทวาชะ

๔. อัคคัญญสูตร
ว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก
เรื่องสามเณรชื่อวาเสฏฐะและสามเณรชื่อภารทวาชะ

[๑๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมาตา
ในบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น สามเณรชื่อวาเสฏฐะและสามเณรชื่อ
ภารทวาชะ หวังความเป็นภิกษุ จึงอยู่อบรมในสำนักของภิกษุทั้งหลาย ครั้นใน
เวลาเย็น พระผู้มีพระภาคทรงออกจากการหลีกเร้นแล้ว ได้เสด็จลงจากปราสาท
ทรงจงกรมอยู่ในที่กลางแจ้งที่ร่มเงาปราสาท
[๑๑๒] สามเณรชื่อวาเสฏฐะได้เห็นพระผู้มีพระภาคทรงออกจากการหลีกเร้น
เสด็จลงจากปราสาทแล้ว ทรงจงกรมอยู่ในที่กลางแจ้งที่ร่มเงาปราสาทในเวลาเย็น
จึงเรียกสามเณรชื่อภารทวาชะมากล่าวว่า “คุณภารทวาชะ พระผู้มีพระภาคนี้ทรง
ออกจากการหลีกเร้น เสด็จลงจากปราสาท ทรงจงกรมอยู่ในที่กลางแจ้งที่ร่มเงา
ของปราสาทในเวลาเย็น มาเถิด เราจักไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ เราควร
จะได้ฟังธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคบ้าง” ภารทวาชสามเณรก็
รับคำแล้ว
[๑๑๓] ครั้งนั้น วาเสฏฐสามเณรและภารทวาชสามเณรพากันเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้เดินจงกรมตาม
เสด็จพระผู้มีพระภาคซึ่งกำลังทรงจงกรมอยู่ พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งเรียกวาเสฏฐ-
สามเณรและภารทวาชสามเณรมาตรัสว่า “วาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสองมี
ชาติเป็นพราหมณ์ มีตระกูลเป็นพราหมณ์ ออกจากตระกูลของพราหมณ์ บวชเป็น
บรรพชิต พวกพราหมณ์ไม่ด่าไม่บริภาษเธอทั้งสองบ้างหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร]
เรื่องสามเณรชื่อวาเสฏฐะและสามเณรชื่อภารทวาชะ

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ด่า๑ บริภาษข้าพระองค์ทั้งสองด้วยคำ
เหยียดหยามอย่างสมใจ เต็มรูปแบบ๒ ไม่ใช่ไม่เต็มรูปแบบ”
“ก็พวกพราหมณ์ด่าบริภาษเธอทั้งสองด้วยคำเหยียดหยามอย่างสมใจ เต็มรูปแบบ
ไม่ใช่ไม่เต็มรูปแบบอย่างไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุด
คือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว วรรณะที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นดำ
พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตร
เป็นโอรส เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม เกิดจากพระพรหม เป็นผู้ที่พระพรหม
สร้างขึ้น เป็นทายาทของพระพรหม เจ้าทั้งสองมาละวรรณะที่ประสริฐที่สุด เข้าไปอยู่
ในวรรณะที่เลวทราม คือ สมณะโล้น เป็นคนรับใช้๓ เป็นคนวรรณะต่ำ (กัณหโคตร)
เป็นเผ่าของมาร เกิดจากพระบาทของพระพรหม๔ เธอทั้งสองมาละวรรณะที่ประเสริฐ
ที่สุด เข้าไปอยู่ในวรรณะที่เลวทราม คือ สมณะโล้น เป็นคนรับใช้ เป็นคนวรรณะต่ำ
เป็นเผ่าของมาร เกิดจากพระบาทของพระพรหมนี้ ไม่เป็นความดี ไม่เป็นการ
สมควรเลย’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ได้พากันด่า บริภาษข้าพระองค์
ทั้งสองด้วยถ้อยคำเหยียดหยามอย่างสมใจ เต็มรูปแบบ ไม่ใช่ไม่เต็มรูปแบบอย่างนี้”
[๑๑๔] “วาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกพราหมณ์ระลึกถึงเรื่องเก่าของตนไม่ได้๕
จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุด คือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว
วรรณะที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่

เชิงอรรถ :
๑ ด่า ในที่นี้หมายถึงด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ อย่าง คือ (๑) เจ้าเป็นโจร (๒) เจ้าเป็นคนพาล (๓) เจ้าเป็น
คนหลง (๔) เจ้าเป็นอูฐ (๕) เจ้าเป็นโค (๖) เจ้าเป็นลา (๗) เจ้าเป็นสัตว์นรก (๘) เจ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน
(๙) เจ้าไม่ได้สุคติ (๑๐) เจ้าหวังได้แต่ทุคติเท่านั้น (ที.ปา.อ. ๑๑๓/๔๖)
๒ เต็มรูปแบบ ในที่นี้หมายถึงยกอักโกสวัตถุทั้ง ๑๐ อย่างมาด่า (ที.ปา.อ. ๑๑๓/๔๖)
๓ เป็นคนรับใช้ ในที่นี้หมายถึงคหบดีซึ่งพวกวรรณะพราหมณ์ถือว่าเป็นคนชั้นต่ำ เพราะยังถูกเครื่องผูกคือ
เรือนผูกไว้ (ที.ปา.อ. ๑๑๓/๔๗, ที.ปา.ฏีกา ๑๑๓/๔๖)
๔ เป็นเผ่าของมาร เกิดจากพระบาทของพระพรหม แปลจากบาลีว่า “พนฺธุปาทาปจฺเจ” ตามนัย ที.ปา.อ.
๑๑๓/๔๗ ส่วน ที.สี.อ. ๒๖๓/๒๒๙ ให้ความหมายว่าเกิดจากพระบาทของพระพรหมเท่านั้น
๕ ระลึกถึงเรื่องเก่าของตนไม่ได้ หมายถึงไม่รู้จักกำเนิดและความเป็นไปของโลก ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่า
ด้วยต้นกำเนิดของโลกอันมีมาแต่โบราณ (ที.ปา.อ. ๑๑๔/๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] ความบริสุทธิ์แห่งวรรณะ ๔

พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตร เป็นโอรส เกิดจากโอษฐ์ของพระ-
พรหม เกิดจากพระพรหม เป็นผู้ที่พระพรหมสร้างขึ้น เป็นทายาทของพระพรหม’
วาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ปรากฏชัดอยู่ว่า นางพราหมณีของพราหมณ์ทั้งหลาย
มีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดอยู่บ้าง ให้ลูกดื่มนมบ้าง ก็พราหมณ์เหล่านั้นเป็น
ผู้เกิดทางช่องคลอดของนางพราหมณีทั้งนั้น ยังกล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐ
ที่สุด คือพราหมณ์เท่านั้น ฯลฯ เป็นทายาทของพระพรหม’ ก็พราหมณ์เหล่านั้น
กล่าวตู่พรหมและพูดเท็จ พวกเขาจะต้องประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก

ความบริสุทธิ์แห่งวรรณะ ๔

[๑๑๕] วาเสฏฐะและภารทวาชะ วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ (๑) กษัตริย์
(๒) พราหมณ์ (๓) แพศย์ (๔) ศูทร
๑. แม้กษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
เขาไม่ได้ให้ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ
พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตพยาบาท เห็นผิด
ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็น
อกุศล มีโทษ นับว่ามีโทษ ไม่ควรประพฤติ นับว่าไม่ควรประพฤติ
ไม่สามารถเป็นอริยธรรม นับว่าไม่สามารถเป็นอริยธรรม เป็น
ธรรมดำ๑ มีวิบากดำ๒ ที่วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านั้นปรากฏ
อย่างชัดเจนในกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้
๒. แม้พราหมณ์ ...
๓. แม้แพศย์ ...
๔. แม้ศูทรบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้
ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตพยาบาท เห็นผิด ด้วยประการ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมดำ ในที่นี้หมายถึงธรรมที่ไม่บริสุทธิ์มาแต่เดิม (ที.ปา.ฏีกา ๑๑๕/๔๗)
๒ มีวิบากดำ ในที่นี้หมายถึงมีผลเป็นทุกข์ (ที.ปา.อ. ๑๑๕/๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] ความบริสุทธิ์แห่งวรรณะ ๔

ดังกล่าวมานี้ ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล มีโทษ นับ
ว่ามีโทษ ไม่ควรประพฤติ นับว่าไม่ควรประพฤติ ไม่สามารถเป็น
อริยธรรม นับว่าไม่สามารถเป็นอริยธรรม เป็นธรรมดำ มีวิบากดำ
ที่วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านั้นปรากฏอย่างชัดเจนในศูทรบาง
คนในโลกนี้
วาเสฏฐะและภารทวาชะ
๑. แม้กษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้น
ขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการ
ประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูด
ส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตไม่พยาบาท เห็นชอบด้วย
ประการดังกล่าวมานี้ ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ไม่มี
โทษ นับว่าไม่มีโทษ ควรประพฤติ นับว่าควรประพฤติ สามารถ
เป็นอริยธรรม นับว่าสามารถเป็นอริยธรรม เป็นธรรมขาว๑ มี
วิบากขาว๒ ที่วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านั้นปรากฏอย่าง
ชัดเจนในกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้
๒. แม้พราหมณ์ ...
๓. แม้แพศย์ ...
๔. แม้ศูทรบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... ไม่เพ่งเล็ง
อยากได้ของของเขา มีจิตไม่พยาบาท เห็นชอบ ด้วยประการ
ดังกล่าวมานี้ ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ไม่มีโทษ
นับว่าไม่มีโทษ ควรประพฤติ นับว่าควรประพฤติ สามารถเป็น
อริยธรรม นับว่าสามารถเป็นอริยธรรม เป็นธรรมขาว มีวิบาก
ขาว ที่วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านั้นปรากฏอย่างชัดเจนใน
ศูทรบางคนในโลกนี้

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมขาว ในที่นี้หมายถึงธรรมที่บริสุทธิ์เพราะปราศจากกิเลส (ที.ปา.อ. ๑๑๕/๔๗)
๒ มีวิบากขาว ในที่นี้หมายถึงมีผลเป็นสุข (ที.ปา.อ. ๑๑๕/๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] ความบริสุทธิ์แห่งวรรณะ ๔

[๑๑๖] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อวรรณะ ๔ เหล่านี้ รวมกันเป็นบุคคล
๒ จำพวก คือ
๑. พวกที่ดำรงอยู่ในธรรมดำที่วิญญูชนติเตียนจำพวกหนึ่ง
๒. พวกที่ดำรงอยู่ในธรรมขาวที่วิญญูชนสรรเสริญจำพวกหนึ่ง
ในเรื่องนี้ พวกพราหมณ์ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุด คือพราหมณ์
เท่านั้น วรรณะอื่นเลว วรรณะที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นดำ พราหมณ์
เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตร เป็นโอรส
เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม เกิดจากพระพรหม เป็นผู้ที่พระพรหมสร้างขึ้น เป็น
ทายาทของพระพรหม’ วิญญูชนทั้งหลายย่อมไม่รับรองถ้อยคำของพราหมณ์เหล่านั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า บรรดาวรรณะ ๔ เหล่านี้ ผู้ใดเป็นภิกษุอรหันตขีณาสพ
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๒ ปลงภาระได้แล้ว๓ บรรลุประโยชน์
ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้นเรียกได้ว่า
เป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายในวรรณะ ๔ เหล่านั้น โดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม
เพราะธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๑๑๗] วาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยเหตุผลนี้ เธอทั้งสองพึงทราบเถิดว่า
‘ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า’
วาเสฏฐะและภารทวาชะ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบว่า ‘พระสมณโคดม
เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูลที่เท่าเทียมกัน๔’ ดังนี้ ก็พวกศากยะยังต้องตามเสด็จ
พระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่ตลอดเวลา และพวกเจ้าศากยะยังต้องกระทำการนอบน้อม

เชิงอรรถ :
๑ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว หมายถึงได้เป็นพระอเสขะ ส่วนพระเสขะ ๗ จำพวก และกัลยาณปุถุชนชื่อว่า
กำลังประพฤติพรหมจรรย์ (ที.ปา.อ. ๑๑๖/๔๘)
๒ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว หมายถึงทำกิจมีความกำหนดรู้ เป็นต้นในอริยสัจ ๔ ด้วยมรรค ๔ (ที.ปา.อ.
๑๑๖/๔๘)
๓ ปลงภาระได้แล้ว หมายถึงปลงกิเลสภาระ(ภาระคือกิเลส) ขันธภาระ(ภาระคือร่างกาย) และอภิสังขารภาระ
(ภาระคืออภิสังขาร) ลงแล้ว (ที.ปา.อ. ๑๑๖/๔๘)
๔ เท่าเทียมกัน เป็นคำเปรียบเทียบที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงใช้เพื่อยกย่องศากยตระกูลว่าเสมอกับ
ราชตระกูลของพระองค์ (ที.ปา.อ. ๑๑๗/๔๙, ที.ปา.ฏีกา ๑๑๗/๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] ความบริสุทธิ์แห่งวรรณะ ๔

การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรม ในพระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่
ด้วยประการดังว่ามานี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระทำการนอบน้อม การอภิวาท
การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมนั้นในเราตถาคต ดังที่พวกเจ้าศากยะ
กระทำการนอบน้อม การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรม
ในพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์มิได้ทรงกระทำการนอบน้อม การอภิวาท การ
ต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมนั้น ด้วยทรงดำริว่า ‘พระสมณโคดมมีพระ
ชาติกำเนิดดี เราเองมีชาติกำเนิดไม่ดี พระสมณโคดมทรงแข็งแรง เราเองไม่แข็งแรง
พระสมณโคดมมีผิวพรรณผ่องใส เราเองมีผิวพรรณเศร้าหมอง พระสมณโคดม
เป็นผู้สูงศักดิ์ เราเองเป็นผู้ต่ำศักดิ์’ โดยที่แท้ พระองค์เมื่อจะทรงสักการะธรรม
เคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม นอบน้อมธรรม จึงทรงกระทำการนอบน้อม
การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมในเราตถาคตอย่างนี้ โดย
เหตุผลนี้ เธอพึงทราบอย่างนี้ว่า ‘ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และ
โลกหน้า’
[๑๑๘] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสองมีชาติกำเนิดต่างกัน มีชื่อ
ต่างกัน มีโคตรต่างกัน มีตระกูลต่างกัน ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อมีผู้
ถามว่า ‘ท่านเป็นพวกไหน’ พึงตอบเขาว่า ‘เราเป็นพวกพระสมณศากยบุตร’ ดังนี้เถิด
ผู้ใดแลมีศรัทธาตั้งมั่นในตถาคต เกิดแต่ราก ประดิษฐานมั่นคงที่สมณพราหมณ์
เทพ มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกให้หวั่นไหวไม่ได้ ควรจะเรียกผู้นั้นว่า ‘เป็นบุตร
เป็นโอรส เกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค เกิดจากพระธรรม อันพระธรรม
เนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพระธรรม’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคำว่า ‘ธรรมกาย’ ก็ดี
‘พรหมกาย’ ก็ดี ‘ธรรมภูต’ ก็ดี ‘พรหมภูต’ ก็ดี ล้วนเป็นชื่อของตถาคต
[๑๑๙] วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยหนึ่ง ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน
โลกนี้เสื่อม เมื่อโลกกำลังเสื่อม เหล่าสัตว์ส่วนมากไปเกิดที่พรหมโลกชั้นอาภัสสระ
นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นภักษา มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย
เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] ความปรากฏแห่งง้วนดิน

สมัยหนึ่ง ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน โลกนี้เจริญขึ้น เมื่อโลกกำลังเจริญขึ้น
เหล่าสัตว์ส่วนมากจุติจากพรหมโลกชั้นอาภัสสระมาเป็นอย่างนี้๑ นึกคิดอะไรก็สำเร็จ
ได้ตามปรารถนา๒ มีปีติเป็นภักษา๓ มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปใน
อากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน

ความปรากฏแห่งง้วนดิน

[๑๒๐] วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยนั้น ทั่วทั้งจักรวาลนี้แหละเป็นน้ำ
ทั้งนั้น มืดมนอนธการ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายยังไม่
ปรากฏ กลางคืน กลางวันยังไม่ปรากฏ เดือนหนึ่ง ครึ่งเดือน ฤดูและปีก็ยังไม่
ปรากฏ หญิงชายก็ยังไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลายปรากฏชื่อแต่เพียงว่า ‘สัตว์’ เท่านั้น
ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำ ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้น
ดุจน้ำนมที่บุคคลเคี่ยวให้แห้งแล้วทำให้เย็นสนิทจับเป็นฝาอยู่ข้างบน ง้วนดินนั้น
สมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส มีสีเหมือนเนยใสหรือเนยข้น
อย่างดี และมีรสอร่อยเหมือนน้ำผึ้งมิ้มซึ่งปราศจากโทษ๔ ต่อมา สัตว์ผู้หนึ่งมีนิสัย
โลภกล่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญสิ่งนี้จะเป็นเช่นไร๕’ แล้วใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดู เมื่อ
เขาใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดูอยู่ รสง้วนดินได้แผ่ซ่านไป เขาจึงเกิดความอยาก
ในรส แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พากันถือแบบอย่างสัตว์นั้น จึงใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดู
เมื่อสัตว์เหล่านั้นใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดูอยู่ รสง้วนดินก็แผ่ซ่านไป และสัตว์เหล่านั้น
ก็เกิดความอยากในรสขึ้นเช่นเดียวกัน

เชิงอรรถ :
๑ มาเป็นอย่างนี้ ในที่นี้หมายถึงมาเกิดเป็นมนุษย์ (ที.ปา.อ. ๑๑๙/๕๐)
๒ นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา หมายความว่าสัตว์เหล่านั้นแม้มาเกิดในมนุษยโลกนี้ ก็ยังเป็น
โอปปาติกะ เกิดขึ้นด้วยใจที่บรรลุอุปจารฌานอย่างเดียวกัน (ที.ปา.อ. ๑๑๙/๕๐,ที.ปา.ฏีกา ๑๑๙/๕๒)
๓ มีปีติเป็นภักษา หมายความว่าแม้อยู่ในมนุษยโลกนี้ก็มีปีติเป็นอาหารเหมือนอยู่ในพรหมโลก(ที.ปา.อ.
๑๑๙/๕๐)
๔ ปราศจากโทษ ในที่นี้หมายถึงไม่มีตัวอ่อนในรัง (ที.ปา.อ. ๑๒๐/๕๑)
๕ สิ่งนี้จะเป็นเช่นไร หมายความว่ารสของง้วนดินนี้จะเป็นเช่นไร (ที.ปา.อ. ๑๒๐/๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร]
ความปรากฏแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เป็นต้น

ความปรากฏแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เป็นต้น

[๑๒๑] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมา สัตว์เหล่านั้นพากันใช้มือปั้นง้วนดิน
ให้เป็นคำ ๆ เพื่อจะบริโภค เมื่อใด สัตว์เหล่านั้นพากันใช้มือปั้นง้วนดินให้เป็นคำ ๆ
เพื่อบริโภค เมื่อนั้น รัศมีที่ซ่านออกจากร่างกายของสัตว์เหล่านั้นก็หายไป เมื่อรัศมี
ที่ซ่านออกจากร่างกายหายไป ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์
ดวงอาทิตย์ปรากฏ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ปรากฏ เมื่อดวงดาวนักษัตรทั้งหลาย
ปรากฏ กลางคืน กลางวันก็ปรากฏ เมื่อกลางคืน กลางวันปรากฏ เดือนหนึ่ง
ครึ่งเดือนก็ปรากฏ เมื่อเดือนหนึ่ง ครึ่งเดือนปรากฏ ฤดูและปีก็ปรากฏ ด้วยเหตุ
เพียงเท่านี้ โลกนี้ จึงได้กลับฟื้นขึ้นอีก
[๑๒๒] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา สัตว์เหล่านั้นเมื่อบริโภคง้วนดิน
มีง้วนดินนั้นเป็นภักษา มีง้วนดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เมื่อ
บริโภคง้วนดิน มีง้วนดินนั้นเป็นภักษา มีง้วนดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นาน
แสนนาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้น ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏแตกต่างกัน
สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม บางพวกมีผิวพรรณทราม สัตว์เหล่าใดมีผิวพรรณงาม
สัตว์เหล่านั้นก็ดูหมิ่นสัตว์ที่มีผิวพรรณทรามว่า ‘พวกเรามีผิวพรรณงามกว่าสัตว์
เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นมีผิวพรรณทรามกว่าพวกเรา’ เมื่อสัตว์เหล่านั้นเกิดมีมานะ
ถือตัว เพราะการดูหมิ่นเรื่องผิวพรรณเป็นปัจจัย ง้วนดินจึงหายไป
เมื่อง้วนดินหายไป สัตว์เหล่านั้นจึงประชุมกัน ครั้นแล้วต่างก็พากันโหยหาว่า
‘รสเอ๋ย รสเอ๋ย๑’ แม้ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน พวกมนุษย์ได้ของมีรสดีบางอย่าง มักกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘รสเอ๋ย รสเอ๋ย’ พวกพราหมณ์พากันนึกได้แต่คำโบราณที่เกี่ยวข้องกับ
ทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกเท่านั้น แต่ไม่รู้เนื้อความแห่งคำนั้นเลย

เชิงอรรถ :
๑ รสเอ๋ย รสเอ๋ย เป็นคำรำพึงรำพันว่า ‘รสอร่อยที่เคยบริโภคหายไปแล้ว’ (ที.ปา.อ. ๑๒๒/๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] ความปรากฏแห่งเครือดิน

ความปรากฏแห่งสะเก็ดดิน

[๑๒๓] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อง้วนดินของสัตว์เหล่านั้นหายไป สะเก็ด
ดินก็ปรากฏ สะเก็ดดินนั้นปรากฏลักษณะเหมือนดอกเห็ด สะเก็ดดินนั้นสมบูรณ์ด้วยสี
สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส มีสีเหมือนเนยใสหรือเนยข้นอย่างดี และมีรส
อร่อยเหมือนน้ำผึ้งมิ้มซึ่งปราศจากโทษ
ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นได้พากันบริโภคสะเก็ดดิน เมื่อบริโภคสะเก็ดดินนั้น มี
สะเก็ดดินนั้นเป็นภักษา มีสะเก็ดดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เมื่อ
บริโภคสะเก็ดดิน มีสะเก็ดดินนั้นเป็นภักษา มีสะเก็ดดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่
นานแสนนาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้น ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏแตกต่างกัน
สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม บางพวกมีผิวพรรณทราม สัตว์เหล่าใดมีผิวพรรณงาม
สัตว์เหล่านั้นก็ดูหมิ่นสัตว์ที่มีผิวพรรณทรามว่า ‘พวกเรามีผิวพรรณงามกว่าสัตว์
เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นมีผิวพรรณทรามกว่าพวกเรา’ เมื่อสัตว์เหล่านั้นเกิดมีมานะ
ถือตัว เพราะการดูหมิ่นเรื่องผิวพรรณเป็นปัจจัย สะเก็ดดินจึงหายไป

ความปรากฏแห่งเครือดิน

[๑๒๔] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อสะเก็ดดินหายไป เครือดินก็ปรากฏ
เครือดินนั้นปรากฏคล้ายเถาผักบุ้ง เครือดินนั้นสมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น
สมบูรณ์ด้วยรส มีสีเหมือนเนยใสหรือเนยข้นอย่างดี และมีรสอร่อยเหมือนน้ำผึ้งมิ้ม
ซึ่งปราศจากโทษ
ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นได้พากันบริโภคเครือดิน เมื่อบริโภคเครือดินนั้น มี
เครือดินนั้นเป็นภักษา มีเครือดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เมื่อ
บริโภคเครือดิน มีเครือดินนั้นเป็นภักษา มีเครือดินนั้นเป็นอาหาร ดำรงอยู่นาน
แสนนาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้น ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏแตกต่างกัน
สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม บางพวกมีผิวพรรณทราม สัตว์เหล่าใดมีผิวพรรณงาม
สัตว์เหล่านั้นก็ดูหมิ่นสัตว์ที่มีผิวพรรณทรามว่า ‘พวกเรามีผิวพรรณงามกว่าสัตว์
เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นมีผิวพรรณทรามกว่าพวกเรา’ เมื่อสัตว์เหล่านั้นเกิดมีมานะ
ถือตัว เพราะการดูหมิ่นเรื่องผิวพรรณเป็นปัจจัย เครือดินจึงหายไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร]
ความปรากฏแห่งเพศหญิงเพศชาย

เมื่อเครือดินหายไป สัตว์เหล่านั้นจึงประชุมกัน ครั้นแล้วต่างพากันโหยหาว่า
‘พวกเราเคยมีเครือดิน บัดนี้เครือดินของพวกเราหายไปแล้ว’ ในสมัยนี้ก็เหมือนกัน
พวกมนุษย์ ถูกทุกข์ระทมบางอย่างกระทบเข้าก็พากันบ่นเพ้อว่า ‘เราเคยมีของสิ่งนี้
แต่เดี๋ยวนี้ของของเราหายไปแล้ว’ พวกพราหมณ์พากันนึกได้แต่คำโบราณที่
เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกเท่านั้น แต่ไม่รู้เนื้อความแห่งคำนั้นเลย

ความปรากฏแห่งข้าวสาลีในที่ที่ไม่ต้องไถ

[๑๒๕] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อเครือดินของสัตว์เหล่านั้นหายไปแล้ว
ข้าวสาลีอันผลิผลในที่ที่ไม่ต้องไถ ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ บริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม มีเมล็ด
เป็นข้าวสารก็ปรากฏ ที่ที่พวกเขาเก็บเกี่ยวข้าวสาลีไปเพื่อเป็นอาหารเย็นในตอนเย็น
ก็กลับมีข้าวสาลีงอกสุกขึ้นได้ในตอนเช้า ที่ที่พวกเขาเก็บเกี่ยวข้าวสาลีไปเพื่อเป็น
อาหารเช้าในตอนเช้า ก็กลับมีข้าวสาลีงอกสุกขึ้นได้ในตอนเย็น ความพร่องไม่
ปรากฏเลย ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายพากันบริโภคข้าวสาลีซึ่งเกิดสุกเองในที่ที่ไม่ต้องไถ
มีข้าวสาลีนั้นเป็นภักษา มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน

ความปรากฏแห่งเพศหญิงและเพศชาย

[๑๒๖] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อสัตว์เหล่านั้นบริโภคข้าวสาลี ซึ่งเกิด
สุกเองในที่ที่ไม่ต้องไถ มีข้าวสาลีนั้นเป็นภักษา มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่
นานแสนนาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้น ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏแตกต่างกัน
และอวัยวะเพศหญิงปรากฏแก่ผู้เป็นหญิง อวัยวะเพศชายปรากฏแก่ผู้เป็นชาย
กล่าวกันว่า หญิงเพ่งดูชาย และชายก็เพ่งดูหญิงนานเกินไป เมื่อชนทั้ง ๒ เพศ
ต่างเพ่งดูกันและกันนานเกินไป ก็เกิดความกำหนัดขึ้น ความเร่าร้อนก็ปรากฏขึ้น
ในกาย เพราะความเร่าร้อนเป็นปัจจัย ชนเหล่านั้นจึงได้เสพเมถุนธรรม
ก็โดยสมัยนั้น สัตว์เหล่าใดเห็นสัตว์เหล่าอื่นกำลังเสพเมถุนกันจึงขว้างฝุ่นใส่บ้าง
ขว้างขี้เถ้าใส่บ้าง ขว้างมูลโคใส่บ้าง ด้วยกล่าวว่า ‘คนถ่อย เจ้าจงฉิบหาย คนถ่อย
เจ้าจงฉิบหาย’ แล้วกล่าวต่อไปว่า ‘ก็ไฉน สัตว์จึงทำกรรมอย่างนี้แก่สัตว์เล่า’ ข้อที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] การประพฤติเมถุนธรรม

ว่ามานั้น แม้ในขณะนี้ ในชนบทบางแห่ง เมื่อเขานำสัตว์ที่จะถูกฆ่าไปสู่ที่ประหาร มนุษย์
เหล่าอื่นก็จะขว้างฝุ่นใส่บ้าง ขว้างขี้เถ้าใส่บ้าง ขว้างมูลโคใส่บ้าง พวกพราหมณ์
พากันนึกได้แต่คำโบราณที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกเท่านั้น แต่ไม่
รู้เนื้อความแห่งคำนั้นเลย

การประพฤติเมถุนธรรม

[๑๒๗] วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยนั้น การเสพเมถุนธรรมอันเป็นเหตุ
ให้ถูกขว้างฝุ่นใส่เป็นต้นนั้น ถือว่าเป็นเรื่องไม่ดี แต่บัดนี้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
สมัยนั้นเหล่าสัตว์ผู้เสพเมถุนธรรม ไม่ได้เข้าไปยังหมู่บ้านหรือนิคมตลอด ๑ เดือน
บ้าง ๒ เดือนบ้าง เนื่องจากสัตว์เหล่านั้นต้องการเสพอสัทธรรมเกินเวลา ต่อมาจึง
พากันสร้างเรือนขึ้น เพื่อปกปิดอสัทธรรมนั้น สัตว์๑บางคนเกิดความเกียจคร้าน
จึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ เรานี้ช่างลำบากเสียจริง ที่ต้องนำข้าวสาลีมา
เพื่อเป็นอาหารเย็นในตอนเย็น และเพื่อเป็นอาหารเช้าในตอนเช้า ทางที่ดี เราควร
นำข้าวสาลีมาครั้งเดียวให้พอเพื่อเป็นอาหารเช้าและอาหารเย็น’
ต่อแต่นั้นมา สัตว์นั้นก็นำข้าวสาลีมาเพียงครั้งเดียว เพื่อเป็นอาหารเย็นและ
อาหารเช้า ครั้งหนึ่ง สัตว์ผู้หนึ่งเข้าไปหาสัตว์นั้นถึงที่อยู่แล้วได้ชักชวนว่า ‘มาเถิด
ท่านผู้เจริญ พวกเราไปเก็บข้าวสาลีกันเถิด’ สัตว์นั้นจึงตอบว่า ‘อย่าเลย ท่านผู้เจริญ
เรานำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารเย็นและอาหารเช้าแล้ว’ ต่อมา สัตว์นั้น
จึงถือแบบอย่างสัตว์คนแรก นำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๒ วัน
ด้วยกล่าวว่า ‘เออ อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันนะท่าน’
ต่อมา สัตว์อีกผู้หนึ่งจึงเข้าไปหาสัตว์คนที่ ๒ ถึงที่อยู่ กล่าวชวนสัตว์คนนั้นว่า
‘มาเถิดท่านผู้เจริญ พวกเราไปเก็บข้าวสาลีกันเถิด’ สัตว์นั้นจึงตอบว่า ‘อย่าเลย
ท่านผู้เจริญ เรานำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๒ วัน’ ต่อมา สัตว์นั้น

เชิงอรรถ :
๑ สัตว์ ในที่นี้หมายถึงมนุษย์ในระยะแรก ๆ ที่เปลี่ยนสภาพมาจากเทพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] การแบ่งข้าวสาลี

จึงถือเอาแบบอย่างสัตว์คนที่ ๒ นำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๔ วัน
ด้วยกล่าวว่า ‘เออ อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันนะท่าน’
ต่อมา สัตว์อีกผู้หนึ่งเข้าไปหาสัตว์คนที่ ๓ ถึงที่อยู่ กล่าวชวนสัตว์คนนั้นว่า
‘มาเถิดท่านผู้เจริญ พวกเราไปเก็บข้าวสาลีกันเถิด’ สัตว์นั้นจึงตอบว่า ‘อย่าเลย
ท่านผู้เจริญ เรานำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๔ วัน’ ต่อมา สัตว์นั้น
จึงถือแบบอย่างสัตว์คนที่ ๓ นำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๘ วัน
ด้วยกล่าวว่า ‘เออ อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันนะท่าน’
เพราะสัตว์ทั้งหลายพากันบริโภคข้าวสาลีที่สั่งสมไว้ ดังนั้น ข้าวสาลีจึงมีรำ
ห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกขึ้นอีก
ความพร่องได้ปรากฏให้เห็น จึงได้มีข้าวสาลีเป็นหย่อม ๆ

การแบ่งข้าวสาลี

[๑๒๘] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นจึงประชุมกัน ครั้นแล้ว
ต่างพากันปรับทุกข์ว่า ‘ท่านผู้เจริญ บาปธรรมก็ปรากฏในสัตว์ทั้งหลายแล้ว ด้วยว่า
ในกาลก่อน พวกเรานึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นภักษา มีรัศมีซ่าน
ออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน
สมัยหนึ่ง เมื่อล่วงไปนาน ๆ เกิดง้วนดินลอยขึ้นบนน้ำปรากฏแก่พวกเรา ง้วนดินนั้น
สมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส พวกเรานั้นได้พากันใช้มือปั้นง้วน
ดินให้เป็นคำ ๆ เพื่อบริโภค เมื่อพวกเราพากันใช้มือปั้นง้วนดินให้เป็นคำ ๆ เพื่อ
บริโภคอยู่ รัศมีที่ซ่านออกจากร่างกายก็หายไป เมื่อรัศมีที่ซ่านออกจากร่างกาย
หายไป ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ปรากฏแล้ว
ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ปรากฏ เมื่อดวงดาวนักษัตรทั้งหลายปรากฏแล้ว กลางคืน
กลางวันก็ปรากฏ เมื่อกลางคืนกลางวันปรากฏแล้ว เดือนหนึ่ง ครึ่งเดือนก็ปรากฏ
เมื่อเดือนหนึ่ง ครึ่งเดือนปรากฏ ฤดูและปีก็ปรากฏ พวกเรานั้นบริโภคง้วนดิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] การแบ่งข้าวสาลี

มีง้วนดินเป็นภักษา มีง้วนดินเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เพราะบาปอกุศล-
ธรรมปรากฏ ง้วนดินของพวกเราจึงหายไป เมื่อง้วนดินหายไป สะเก็ดดินก็ปรากฏ
สะเก็ดดินนั้นสมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส พวกเรานั้นได้พากัน
บริโภคสะเก็ดดิน พวกเรานั้นบริโภคสะเก็ดดินนั้น มีสะเก็ดดินนั้นเป็นภักษา
มีสะเก็ดดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เพราะบาปอกุศลธรรมปรากฏ
สะเก็ดดินของพวกเราจึงหายไป เมื่อสะเก็ดดินหายไป เครือดินก็ปรากฏ เครือดินนั้น
สมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส พวกเรานั้นได้พากันบริโภค
เครือดิน พวกเรานั้นบริโภคเครือดินนั้น มีเครือดินนั้นเป็นภักษา มีเครือดินนั้น
เป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เพราะบาปอกุศลธรรมปรากฏ เครือดินของ
พวกเราจึงหายไป เมื่อเครือดินหายไป ข้าวสาลีอันผลิผลในที่ที่ไม่ต้องไถ ไม่มีรำ
ไม่มีแกลบ บริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสารก็ปรากฏ ที่ที่พวกเราเก็บเกี่ยว
ข้าวสาลีไปเพื่อเป็นอาหารเย็นในตอนเย็น ก็กลับมีข้าวสาลีงอกสุกขึ้นได้ในตอนเช้า
ที่ที่พวกเราเก็บเกี่ยวข้าวสาลีไปเพื่อเป็นอาหารเช้าในตอนเช้า ก็กลับมีข้าวสาลีงอก
สุกขึ้นได้ในตอนเย็น ความพร่องไม่ปรากฏเลย พวกเรานั้นเมื่อพากันบริโภคข้าวสาลี
ซึ่งเกิดสุกเองในที่ที่ไม่ต้องไถ มีข้าวสาลีนั้นเป็นภักษา มีข้าวสาลีเป็นอาหาร ได้ดำรง
อยู่นานแสนนาน เพราะบาปอกุศลธรรมปรากฏ ข้าวสาลีของพวกเราจึงมีรำห่อเมล็ดบ้าง
มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกขึ้นอีก ความพร่องได้ปรากฏ
ให้เห็นจึงได้มีข้าวสาลีเป็นหย่อม ๆ ทางที่ดี เราควรแบ่งข้าวสาลีและปักปันเขตแดน
กันเถิด’ ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงพากันแบ่งข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกัน
[๑๒๙] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่งมีนิสัยโลภ รักษาส่วน
ของตนไว้แล้ว ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ให้มาบริโภค คนทั้งหลายจับเขาได้ จึงกล่าวว่า
‘คุณ คุณทำกรรมชั่วที่รักษาส่วนของตนไว้แล้ว ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ให้มาบริโภค
คุณอย่าทำกรรมชั่วอย่างนี้อีก’ สัตว์นั้นก็รับคำแล้ว
แม้ครั้งที่ ๒ สัตว์นั้น ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] มหาสมมตราช

แม้ครั้งที่ ๓ สัตว์นั้นก็รักษาส่วนของตนไว้แล้ว ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ให้มา
บริโภค คนทั้งหลายได้พากันจับเขาแล้ว กล่าวคำนี้ว่า ‘คุณ คุณทำกรรมชั่ว ที่รักษา
ส่วนของตนไว้แล้ว ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ให้มาบริโภค คุณอย่าได้ทำอย่างนี้อีก’
คนเหล่าอื่น ใช้ฝ่ามือบ้าง ก้อนดินบ้าง ท่อนไม้บ้าง ทำร้าย วาเสฏฐะและภารทวาชะ
ในเพราะเรื่องนั้นเป็นเหตุ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จึงปรากฏ การครหา
จึงปรากฏ การพูดเท็จจึงปรากฏ การถือทัณฑาวุธจึงปรากฏ

มหาสมมตราช

[๑๓๐] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงได้ประชุมกันปรับ
ทุกข์กันว่า ‘ท่านผู้เจริญ บาปธรรมปรากฏในหมู่สัตว์แล้ว คือ การถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของเขาไม่ได้ให้จักปรากฏ การครหาจักปรากฏ การพูดเท็จจักปรากฏ การถือ
ทัณฑาวุธจักปรากฏ ทางที่ดี พวกเราควรสมมต(แต่งตั้ง)สัตว์ผู้หนึ่ง ซึ่งจะว่ากล่าว
ผู้ที่ควรว่ากล่าว ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ พวกเราจัก
แบ่งปันข้าวสาลีให้แก่สัตว์ผู้นั้น
ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงเข้าไปหาท่านที่มีรูปงดงามกว่า น่าดูกว่า น่าเลื่อมใส
กว่า น่าเกรงขามกว่า แล้วจึงได้กล่าวดังนี้ว่า ‘มาเถิด ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงว่า
กล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียน จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบเถิด
และพวกเราจักแบ่งปันข้าวสาลีให้แก่ท่าน’
สัตว์ผู้นั้นรับคำแล้ว ได้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ขับไล่
ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ และสัตว์เหล่านั้นก็ได้แบ่งปันข้าวสาลีให้แก่สัตว์ผู้นั้น
[๑๓๑] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุที่สัตว์นั้นอันมหาชนสมมต(แต่งตั้ง)
ฉะนั้น คำแรกว่า ‘มหาสมมต มหาสมมต’ จึงเกิดขึ้น เพราะเหตุที่สัตว์นั้นเป็นใหญ่
แห่งที่นาทั้งหลาย ฉะนั้น คำที่ ๒ ว่า ‘กษัตริย์ กษัตริย์’ จึงเกิดขึ้น เพราะเหตุ
ที่สัตว์นั้นให้ชนเหล่าอื่นยินดีได้โดยชอบธรรม ฉะนั้น คำที่ ๓ ว่า ‘ราชา ราชา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] แวดวงพราหมณ์

จึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงได้เกิดมีแวดวง๑ กษัตริย์นั้นขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้น
เท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกันเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ที่มิใช่พวก
เดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตามคำโบราณที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่า
ด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

แวดวงพราหมณ์

[๑๓๒] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์บางพวกได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
‘ท่านผู้เจริญ บาปธรรมเกิดขึ้นในหมู่สัตว์แล้ว คือ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขา
ไม่ได้ให้จักปรากฏ การครหาจักปรากฏ การพูดเท็จจักปรากฏ การถือทัณฑาวุธ
จักปรากฏ การขับไล่จักปรากฏ ทางที่ดี พวกเราควรลอยบาปอกุศลธรรมทิ้ง
เสียเถิด สัตว์เหล่านั้นจึงได้พากันลอยบาปอกุศลธรรมนั้นทิ้งไป เพราะสัตว์ทั้งหลาย
พากันลอยบาปอกุศลธรรมทิ้งไป ฉะนั้น คำแรกว่า ‘พราหมณ์ พราหมณ์’ จึงเกิดขึ้น
พราหมณ์เหล่านั้นจึงสร้างกระท่อมมุงด้วยใบไม้ไว้ในราวป่าแล้ว บำเพ็ญฌานอยู่ใน
กระท่อมที่มุงด้วยใบไม้นั้น พราหมณ์เหล่านั้นไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการตำข้าว พากัน
เที่ยวไปยังหมู่บ้านตำบลและเมืองแสวงหาอาหาร เพื่อเป็นอาหารเย็นในตอนเย็น
เพื่อเป็นอาหารเช้าในตอนเช้า พวกเขาได้อาหารแล้วก็บำเพ็ญฌานอยู่ในกระท่อม
มุงด้วยใบไม้ในราวป่านั่นเทียวอีก หมู่มนุษย์พบเขาแล้วจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ
สัตว์เหล่านี้สร้างกระท่อมมุงด้วยใบไม้ในราวป่าแล้ว บำเพ็ญฌานอยู่ในกระท่อมที่
มุงด้วยใบไม้นั้น พวกเขาไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการตำข้าว พากันเที่ยวไปยังหมู่บ้าน
ตำบลและเมืองแสวงหาอาหาร เพื่อเป็นอาหารเย็นในตอนเย็น เพื่อเป็นอาหารเช้า
ในตอนเช้า พวกเขาได้อาหารแล้วมาบำเพ็ญฌานอยู่ในกระท่อมที่มุงด้วยใบไม้ในราว
ป่าอีก เพราะพวกเขาบำเพ็ญฌานอยู่ คำที่ ๒ ว่า ‘ฌายกา ฌายกา’ จึงเกิดขึ้น
ในจำนวนสัตว์เหล่านั้น สัตว์บางพวก เมื่อไม่บรรลุฌานนั้นในกระท่อมที่มุงด้วยใบไม้

เชิงอรรถ :
๑ แวดวง แปลจากคำว่า มณฺฑล ซึ่งอรรถกถาให้ความหมายว่า คณะ(หมู่) เช่น คำว่า พฺราหฺมณคณสฺส
แปลว่าหมู่ของพราหมณ์ (ที.ปา.อ. ๑๓๒/๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] แวดวงแพศย์

ในราวป่า จึงเที่ยวไปยังหมู่บ้านที่ใกล้เคียงกันและนิคมที่ใกล้เคียงกัน พากันทำคัมภีร์อยู่
มนุษย์ทั้งหลายเห็นเขาแล้วจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ สัตว์เหล่านี้ไม่ได้บรรลุ
ฌานนั้นในกระท่อมที่มุงด้วยใบไม้ในราวป่า จึงเที่ยวไปยังหมู่บ้านที่ใกล้เคียงกันและ
นิคมที่ใกล้เคียงกัน พากันทำคัมภีร์อยู่ ชนเหล่านี้ไม่บำเพ็ญฌาน’ เพราะชน
เหล่านี้ ไม่บำเพ็ญฌาน ในบัดนี้ คำที่ ๓ ว่า ‘อัชฌายกา อัชฌายกา’ จึงเกิดขึ้น
สมัยนั้น คำว่า ‘อัชฌายกา’ นั้นถือกันว่าเป็นคำเลว แต่ในสมัยนี้ คำว่า ‘อัชฌายกา’
นั้นถือกันว่าประเสริฐ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงได้เกิดมีแวดวงพราหมณ์นั้นขึ้นแก่
สัตว์เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกันเท่านั้น ไม่มี
แก่สัตว์ที่มิใช่พวกเดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตามคำโบราณ
ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้ง
ในโลกนี้และโลกหน้า

แวดวงแพศย์

[๑๓๓] วาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาสัตว์เหล่านั้น บางพวกยึดมั่นเมถุน-
ธรรม๑แล้วแยกประกอบการงานที่แตกต่างออกไป๒ เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้นยึดมั่น
เมถุนธรรม แล้วแยกประกอบการงานที่แตกต่างออกไป ฉะนั้น คำว่า ‘เวสสา
เวสสา’ จึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงได้เกิดมีแวดวงแพศย์นั้นขึ้นแก่สัตว์
เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกันเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์
ที่มิใช่พวกเดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตามคำโบราณที่เกี่ยวข้อง
กับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้
และโลกหน้า

เชิงอรรถ :
๑ เมถุนธรรม แปลว่า ธรรมแห่งการดำเนินชีวิตของคนคู่ หมายถึงอสัทธรรมซึ่งเป็นประเวณีของชาวบ้าน
มารยาทของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่ต้องทำในที่ลับ ต้องทำกันสองต่อสอง (ดู วิ.
มหา. (แปล) ๑/๕๕/๔๒, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๗๕/๑๖๔)
๒ การงานที่แตกต่างออกไป ในที่นี้หมายถึงการงานที่ทำให้มีชื่อเสียงโดดเด่น เช่น โคปกกรรม (การรักษา
ความปลอดภัย) พาณิชยกรรม (การค้าขาย) (ที.ปา.อ. ๑๓๓/๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] เรื่องการประพฤติทุจริตเป็นต้น

แวดวงศูทร

[๑๓๔] วาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์ที่เหลือประพฤติ
ตนโหดร้าย ทำงานต่ำต้อย เพราะสัตว์เหล่านั้นประพฤติตนโหดร้าย ทำงานที่ต่ำต้อย
ฉะนั้น คำว่า ‘ศูทร ศูทร’ จึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงได้เกิดมีแวดวงศูทรนั้น
ขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกันเท่านั้น ไม่มี
แก่สัตว์ที่มิใช่พวกเดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตามคำโบราณที่
เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชน
ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๑๓๕] วาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยที่กษัตริย์ติเตียนธรรม๑ของตน
จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยประสงค์ว่า ‘เราจักเป็นสมณะ’ พราหมณ์
ติเตียนธรรมของตนจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยประสงค์ว่า ‘เราจักเป็น
สมณะ’ แพศย์ติเตียนธรรมของตนจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยประสงค์
ว่า ‘เราจักเป็นสมณะ’ แม้ศูทรก็ติเตียนธรรมของตนจึงออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตด้วยประสงค์ว่า ‘เราจักเป็นสมณะ’ จึงได้เกิดมีแวดวงสมณะจากแวดวง
ทั้งสี่นี้ขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกัน
เท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ที่มิใช่พวกเดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตาม
คำโบราณที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐ
ที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

เรื่องการประพฤติทุจริต เป็นต้น

[๑๓๖] วาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้กษัตริย์ผู้ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด เพราะ
การชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงอาชีพการงานนั้น ๆ (ที.ปา.อ. ๑๓๕/๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] เรื่องการประพฤติทุจริตเป็นต้น

แม้พราหมณ์ ...
แม้แพศย์ ...
แม้ศูทร ...
แม้สมณะผู้ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต มีความเห็นผิด และชักชวน
ผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็น
ผิดเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
แม้กษัตริย์ผู้ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต มีความเห็นชอบ
และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรม
ตามความเห็นชอบ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
แม้พราหมณ์ ...
แม้แพศย์ ...
แม้ศูทร ...
แม้สมณะผู้ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต มีความเห็นชอบ และชักชวน
ผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
[๑๓๗] วาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้กษัตริย์ผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและ
กายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต ทั้งมโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิด
และมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้
ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและ
การชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวย
ทั้งสุขและทุกข์
แม้พราหมณ์ผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและกายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต
ทั้งมโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิดและมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่น
ให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะ
การชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวยทั้งสุขและทุกข์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] การเจริญโพธิปักขิยธรรม

แม้แพศย์ผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและกายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต ทั้ง
มโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิดและมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่นให้
ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการ
ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวยทั้งสุขและทุกข์
แม้ศูทรผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและกายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต ทั้ง
มโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิดและมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่นให้
ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการ
ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวยทั้งสุขและทุกข์
แม้สมณะผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและกายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต ทั้ง
มโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิดและมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่นให้
ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการ
ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวยทั้งสุขและทุกข์

การเจริญโพธิปักขิยธรรม

[๑๓๘] วาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ
อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๗ หมวดแล้ว จะปรินิพพานในโลกนี้ทีเดียว
แม้พราหมณ์ผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิย-
ธรรม ๗ หมวดแล้ว จะปรินิพพานในโลกนี้ทีเดียว
แม้แพศย์ผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม
๗ หมวดแล้ว จะปรินิพพานในโลกนี้ทีเดียว
แม้ศูทรผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม
๗ หมวดแล้ว จะปรินิพพานในโลกนี้ทีเดียว
แม้สมณะผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม
๗ หมวดแล้ว จะปรินิพพานในโลกนี้ทีเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๔. อัคคัญญสูตร] การเจริญโพธิปักขิยธรรม

[๑๓๙] วาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาวรรณะทั้ง ๔ เหล่านี้ ผู้ใดเป็นภิกษุ
อรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้น
เรียกได้ว่า เป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายในวรรณะ ๔ เหล่านั้น โดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่
โดยอธรรม เพราะธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๑๔๐] วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมดังคาถานี้ที่สนังกุมารพรหมกล่าวไว้ว่า
‘ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่
กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด
ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทพและมนุษย์๑’
วาเสฏฐะและภารทวาชะ สนังกุมารพรหมกล่าวคาถานั้นไว้ชอบ ไม่ใช่ไม่ชอบ
กล่าวไว้ถูกต้อง ไม่ใช่ไม่ถูกต้อง มีประโยชน์ ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ เราเห็นด้วยทีเดียว
แม้เราก็กล่าวอย่างเดียวกันนี้ว่า
‘ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่
กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด
ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทพและมนุษย์’
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว วาเสฏฐสามเณรและภารทวาชสามเณร
มีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

อัคคัญญสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
การบันลือสีหนาทของพระสารีบุตร

๕. สัมปสาทนียสูตร
ว่าด้วยความเลื่อมใสยิ่งในพระผู้มีพระภาค
การบันลือสีหนาทของพระสารีบุตร

[๑๔๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน เขตเมืองนาฬันทา
ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ‘ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มีสมณะ
หรือพราหมณ์ผู้อื่นซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณ๑ยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค’
[๑๔๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร เธอกล่าวอาสภิวาจา(วาจาอย่าง
องอาจ)อย่างสูง เธอถือเอาด้านเดียว๒ บันลือสีหนาท๓ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ‘ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มี
สมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่นซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค’
สารีบุตร เธอกำหนดรู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทุกพระองค์ในอดีตกาลด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรม
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้’
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ สัมโพธิญาณ ในที่นี้หมายถึงสัพพัญญุตญาณ หรืออรหัตตมรรคญาณ (ที.ปา.อ. ๑๔๑/๖๔)
๒ ถือเอาด้านเดียวในที่นี้หมายถึงถือเอาการสันนิษฐานโดยอนุมานของตนเองเท่านั้น (ที.ปา.อ. ๑๔๒/๖๕)
๓ บันลือสีหนาท ในที่นี้หมายถึงบันลืออย่างประเสริฐ องอาจเหมือนพญาราชสีห์ (ที.ปา.อ. ๑๔๒/๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
การบันลือสีหนาทของพระสารีบุตร

“สารีบุตร เธอกำหนดรู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทุกพระองค์ ซึ่งจักเสด็จมาอุบัติขึ้นในอนาคตกาลด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจักทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมี
ปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีธรรมเป็นเครื่อง
อยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น
อย่างนี้”
“หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร เธอกำหนดรู้ใจของเราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ด้วย
ใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมี
ปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”
“หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร ก็ในเรื่องนี้ เธอไม่มีเจโตปริยญาณ๑ในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนั้น บัดนี้ ไฉนเธอจึงกล่าวอาสภิวาจา
อย่างสูง ถือเอาด้านเดียว บันลือสีหนาทว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ‘ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มีสมณะหรือ
พราหมณ์ผู้อื่นซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค”
[๑๔๓] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงแม้ว่า
ข้าพระองค์จะไม่มีเจโตปริยญาณในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต
และปัจจุบัน แต่ข้าพระองค์ก็รู้วิธีการอนุมาน เปรียบเหมือนเมืองชายแดนของ

เชิงอรรถ :
๑ เจโตปริยญาณ หมายถึงปรีชากำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ คือรู้ใจผู้อื่น อ่านความคิดของเขาได้ เช่น รู้ว่าเขากำลัง
คิดอะไรอยู่ ใจของเขาเศร้าหมองหรือผ่องใส (ที.สี. (แปล) ๙/๒๔๒/๘๐-๘๑, ๔๗๖/๒๐๘-๒๐๙, ที.ม. (แปล)
๑๐/๑๔๕/๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
การบันลือสีหนาทของพระสารีบุตร

พระเจ้าแผ่นดินมีรากฐานมั่นคง มีกำแพงแข็งแรง มีป้อมค่ายแข็งแรง มีประตูเดียว
นายประตูของเมืองนั้นเป็นคนเฉลียวฉลาด หลักแหลม ห้ามคนที่ไม่รู้จัก อนุญาตให้
คนที่รู้จักเข้าไปได้ เขาเดินสำรวจดูหนทางตามลำดับรอบเมืองนั้น ไม่เห็นรอยต่อหรือ
ช่องกำแพง โดยที่สุดแม้เพียงที่ที่พอแมวลอดออกได้ เขาย่อมรู้ว่า ‘สัตว์ใหญ่ทุกชนิด
เมื่อจะเข้าหรือออกเมืองนี้ ก็จะเข้าหรือออกทางประตูนี้เท่านั้น แม้ฉันใด วิธีการ
อนุมานก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ทราบว่า ‘พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตกาล ทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ
ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญสัมโพชฌงค์ ๗
ตามความเป็นจริง จึงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอนาคตกาล ก็จักทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่อง
เศร้าหมองใจ ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญสัมโพช-
ฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริง จักตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทอน
กำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญสัมโพชฌงค์ ๗ ตามความ
เป็นจริง ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
[๑๔๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ เพื่อฟังธรรม พระองค์ทรงแสดงธรรมอย่างยอดเยี่ยม ประณีตยิ่งนัก
ทั้งฝ่ายดำ๑ ฝ่ายขาว๒ และฝ่ายที่มีส่วนเปรียบ๓แก่ข้าพระองค์ พระองค์ทรงแสดง
ธรรมอย่างยอดเยี่ยม ประณีตยิ่งนัก ทั้งฝ่ายดำฝ่ายขาว และฝ่ายที่มีส่วนเปรียบด้วย
ประการใด ๆ ข้าพระองค์ก็รู้ยิ่งในธรรมนั้นด้วยประการนั้น ๆ ได้ถึงความสำเร็จธรรม
บางส่วนในธรรมทั้งหลายแล้ว จึงเลื่อมใสในพระองค์ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์
เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’

เชิงอรรถ :
๑ ฝ่ายดำ ในที่นี้หมายถึงสังกิเลสธรรม (ธรรมเครื่องทำใจให้เศร้าหมอง) (ที.ปา.ฏีกา ๑๔๔/๗๘)
๒ ฝ่ายขาว ในที่นี้หมายถึงโวทานธรรม (ธรรมเครื่องทำใจให้ผ่องแผ้ว) (ที.ปา.ฏีกา ๑๔๔/๗๘)
๓ ที่มีส่วนเปรียบ ในที่นี้หมายถึงสังกิเลสธรรมเป็นข้าศึกกับโวทานธรรมตามลำดับ โดยแสดงการเปรียบ
เทียบว่าสังกิเลสธรรมเป็นธรรมที่ควรละ ส่วนโวทานธรรมเป็นธรรมที่ละ (ที.ปา.ฏีกา ๑๔๔/๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
เทศนาเรื่องการบัญญัติอายตนะ

เทศนาเรื่องกุศลธรรม

[๑๔๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องกุศลธรรมทั้งหลายนับว่ายอดเยี่ยม ในเทศนานั้นมีกุศลธรรมดัง
ต่อไปนี้ คือ

๑. สติปัฏฐาน ๔___๒. สัมมัปปธาน ๔
๓. อิทธิบาท ๔___๔. อินทรีย์ ๕
๕. พละ ๕___๖. โพชฌงค์ ๗
๗. อริยมรรคมีองค์ ๘

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา-
วิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องกุศลธรรมทั้งหลาย
พระผู้มีพระภาคทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้น ไม่มีเหลืออยู่ เมื่อทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้น
ไม่มีเหลืออยู่ ก็ไม่มีธรรมข้ออื่นที่จะทรงรู้ยิ่งขึ้นไปอีก จะพึงมีสมณะหรือพราหมณ์อื่น
ผู้รู้ธรรมยิ่ง มีปัญญาเกินไปกว่าพระผู้มีพระภาค ในเรื่องกุศลธรรมทั้งหลายอีกหรือ

เทศนาเรื่องการบัญญัติอายตนะ

[๑๔๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องการบัญญัติอายตนะก็นับว่ายอดเยี่ยม อายตนะภายในและอายตนะ
ภายนอก มีอย่างละ ๖ ประการนี้ คือ

๑. ตากับรูป___๒. หูกับเสียง
๓. จมูกกับกลิ่น___๔. ลิ้นกับรส
๕. กายกับโผฏฐัพพะ___๖. ใจกับธรรมารมณ์

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้ก็คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องการบัญญัติอายตนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องการก้าวสู่ครรภ์

พระผู้มีพระภาคย่อมทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้น ไม่มีเหลืออยู่ เมื่อทรงรู้ยิ่งธรรม
ข้อนั้น ไม่มีเหลืออยู่ ก็ไม่มีธรรมข้ออื่นที่จะทรงรู้ยิ่งขึ้นไปอีก จะพึงมีสมณะหรือ
พราหมณ์อื่นผู้รู้ธรรมยิ่ง มีปัญญาเกินไปกว่าพระผู้มีพระภาค ในเรื่องการบัญญัติ
อายตนะอีกหรือ

เทศนาเรื่องการก้าวลงสู่ครรภ์๑

[๑๔๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงธรรมในเรื่องการก้าวลงสู่ครรภ์ก็นับว่ายอดเยี่ยม การก้าวลงสู่ครรภ์ ๔
ประการนี้ คือ
๑. สัตว์บางชนิดในโลกนี้ ไม่รู้สึกตัวขณะก้าวลงสู่ครรภ์ของมารดา ไม่
รู้สึกตัวขณะอยู่ในครรภ์ของมารดา (และ)ไม่รู้สึกตัวขณะคลอดจาก
ครรภ์ของมารดา นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ประการที่ ๑
๒. สัตว์บางชนิดในโลกนี้ รู้สึกตัวขณะก้าวลงสู่ครรภ์ของมารดา แต่
ไม่รู้สึกตัวขณะอยู่ในครรภ์ของมารดา ไม่รู้สึกตัวขณะคลอดจากครรภ์
ของมารดา นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ประการที่ ๒
๓. สัตว์บางชนิดในโลกนี้ รู้สึกตัวขณะก้าวลงสู่ครรภ์ของมารดา รู้สึกตัว
ขณะอยู่ในครรภ์ของมารดา แต่ไม่รู้สึกตัวขณะคลอดจากครรภ์ของ
มารดา นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ประการที่ ๓
๔. สัตว์บางชนิดในโลกนี้ รู้สึกตัวขณะก้าวลงสู่ครรภ์ของมารดา รู้สึกตัว
ขณะอยู่ในครรภ์ของมารดา (และ)รู้สึกตัวขณะคลอดจากครรภ์ของ
มารดา นี้เป็นการก้าวลงสู่ครรภ์ประการที่ ๔
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องการก้าวลงสู่ครรภ์

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๓๑๑ หน้า ๒๙๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
เทศนาเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์

เทศนาเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์

[๑๔๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์ก็นับว่ายอดเยี่ยม อาเทสนาปาฏิหาริย์ ๔
ประการนี้ คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ ดักใจได้ด้วยนิมิตว่า ‘ใจของท่านเป็นอย่างนี้
ใจของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ ความคิดของท่านเป็นดังนี้’ ถ้าเขา
ดักใจได้มากอย่าง การดักใจนั้นย่อมเป็นเช่นนั้นทีเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น
นี้เป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ประการที่ ๑
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้ มิได้ดักใจได้ด้วยนิมิต แต่ได้ฟังเสียงของ
มนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาทั้งหลายแล้วจึงดักใจได้ว่า ‘ใจของท่าน
เป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ ความคิดของท่าน
เป็นดังนี้’ ถ้าเขาดักใจได้มากอย่าง การดักใจนั้นย่อมเป็นเช่นนั้น
ทีเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น นี้เป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ประการที่ ๒
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ มิได้ดักใจได้ด้วยนิมิต ทั้งมิได้ฟังเสียงของ
มนุษย์ อมนุษย์ หรือเทวดาทั้งหลายแล้วดักใจได้เลย แต่ได้ฟังเสียง
ละเมอของผู้วิตกวิจาร จึงดักใจได้ว่า ‘ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจ
ของท่านเป็นไปโดยอาการอย่างนี้ ความคิดของท่านเป็นดังนี้’ ถ้าเขา
ดักใจได้มากอย่าง การดักใจนั้นย่อมเป็นเช่นนั้นทีเดียว ไม่เป็นอย่างอื่น
นี้เป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ประการที่ ๓
๔. บุคคลบางคนในโลกนี้ มิได้ดักใจได้ด้วยนิมิต มิได้ฟังเสียงของมนุษย์
อมนุษย์ หรือเทวดาทั้งหลายแล้วดักใจ ทั้งมิได้ฟังเสียงละเมอของผู้
วิตกวิจาร แล้วดักใจได้เลย แต่ย่อมกำหนดรู้ใจของผู้ได้สมาธิ ซึ่งยัง
มีวิตกวิจารด้วยใจได้ว่า ‘มโนสังขารของท่านผู้นี้ตั้งอยู่ด้วยประการใด
เขาจะต้องตรึกถึงวิตกชื่อนี้ ในลำดับจิตนี้ ด้วยประการนั้น’ ถ้าเขา
ดักใจได้มากอย่าง การดักใจนั้นย่อมเป็นเช่นนั้นทีเดียว ไม่เป็น
อย่างอื่น นี้เป็นอาเทสนาปาฏิหาริย์ประการที่ ๔
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องทัสสนสมาบัติ

เทศนาเรื่องทัสสนสมาบัติ

[๑๔๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องทัสสนสมาบัติก็นับว่ายอดเยี่ยม ทัสสนสมาบัติ ๔ ประการนี้ คือ
๑. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส๑
ความเพียรที่ตั้งมั่น๒ ความหมั่นประกอบ๓ ความไม่ประมาท๔ และอาศัย
การใช้ความคิดอย่างถูกวิธี๕แล้ว บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้
ตั้งมั่น ย่อมพิจารณากายนี้ ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่ปลายผมลงมา
มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ไต๖ หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่
อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน
น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร๗’ นี้เป็นทัสสนสมาบัติประการที่ ๑

เชิงอรรถ :
๑ ความเพียรเครื่องเผากิเลส หมายถึงความเพียรที่กำจัดความเกียจคร้านที่เป็นสังกิเลส (ที.ปา.อ. ๑๔๙/
๗๕, ที.ปา.ฏีกา ๑๔๙/๘๖)
๒ ความเพียรที่ตั้งมั่น หมายถึงความพยายามที่มุ่งตรงต่อภาวนา (ที.ปา.อ. ๑๔๙/๗๕, ที.ปา.ฏีกา ๑๔๙/๘๖)
๓ ความหมั่นประกอบ หมายถึงการประกอบความเพียรสม่ำเสมอ (ที.ปา.อ. ๑๔๙/๗๕, ที.ปา.ฏีกา ๑๔๙/๘๖)
๔ ความไม่ประมาท หมายถึงความไม่หลงลืมสติขณะปฏิบัติธรรม คือมีสติกำกับอยู่ตลอดเวลา (ที.ปา.อ.
๑๔๙/๗๕, ที.ปา.ฏีกา ๑๔๙/๗๕)
๕ การใช้ความคิดอย่างถูกวิธี หมายถึงการพิจารณาโดยอุบายวิธีที่แยบคาย เช่น พิจารณาว่าไม่เที่ยงในสิ่ง
ที่ไม่เที่ยง พิจารณาว่าเป็นทุกข์ในสิ่งที่เป็นทุกข์ (ที.ปา.อ. ๑๔๙/๗๕, ที.ปา.ฏีกา ๑๔๙/๗๕)
๖ คำว่า วักกะ โบราณแปลว่า “ม้าม” และแปลคำว่า ปิหกะ ว่า “ไต” แต่ในที่นี้แปลคำว่า วักกะ ว่า “ไต”
และแปลคำว่า ปิหกะ ว่า “ม้าม” อธิบายว่า ไต ได้แก่ ก้อนเนื้อ ๒ ก้อนมีขั้วเดียวกัน รูปร่างคล้ายลูกสะบ้า
ของเด็ก ๆ หรือคล้ายผลมะม่วง ๒ ผล ที่ติดอยู่ในขั้วเดียวกันมีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัวใจแล้ว
แยกออกห้อยอยู่ทั้ง ๒ ข้าง (ขุ.ขุ.อ. ๓/๔๓) ; พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ แปล “วักกะ”
ว่า “ไต” และให้บทนิยามของ “ไต” ไว้ว่า “อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูก
สันหลัง ทำหน้าที่ขับของเสียออกมากับน้ำปัสสาวะ” แปล “ปิหกะ” ว่า “ม้าม” และให้บทนิยามไว้ว่า
“อวัยวะภายในร่างกายริมกระเพาะอาหารข้างซ้าย มีหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดแดง สร้างเม็ดน้ำเหลืองและ
สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย”, Buddhadatta Mahathera, A Concise Pali-English Dictionary,
Rhys Davids, T.W.Pali-English Dictionary, ให้ความหมายของคำว่า “วักกะ” ตรงกันว่า หมายถึง
“ไต” (Kidney)
๗ มูตร หมายถึงน้ำปัสสาวะที่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะ (ขุ.ขุ.อ. ๓/๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องทัสสนสมาบัติ

๒. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัย
การใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้
ตั้งมั่น ย่อมพิจารณากายนี้ ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่ปลายผมลงมา
มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่
อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย
น้ำมูก ไขข้อ มูตร’ และก้าวข้ามผิวหนัง เนื้อ และเลือดของบุรุษไป
พิจารณากระดูก นี้เป็นทัสสนสมาบัติประการที่ ๒
๓. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัย
การใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น
ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่ปลายผมลงมา
มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่
อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน
น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร’ และก้าวข้ามผิวหนัง เนื้อ และเลือดของ
บุรุษไปพิจารณากระดูก และรู้กระแสวิญญาณของบุรุษ ซึ่งกำหนด
โดยส่วนสอง คือ ที่ตั้งอยู่ในโลกนี้ และที่ตั้งอยู่ในโลกหน้า นี้เป็น
ทัสสนสมาบัติประการที่ ๓
๔. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัย
การใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้
ตั้งมั่น ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้ ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่ปลายผม
ลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องปุคคลบัญญัติ

ว่า ‘ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่
อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน
น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร’ และก้าวข้ามผิวหนัง เนื้อ และเลือดของ
บุรุษไปพิจารณากระดูกและรู้กระแสวิญญาณของบุรุษ ซึ่งกำหนด
โดยส่วนสอง คือ ที่ไม่ตั้งอยู่ในโลกนี้ และที่ไม่ตั้งอยู่ในโลกหน้า นี้เป็น
ทัสสนสมาบัติประการที่ ๔
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องทัสสนสมาบัติ

เทศนาเรื่องปุคคลบัญญัติ

[๑๕๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องปุคคลบัญญัติก็นับว่ายอดเยี่ยม บุคคล ๗ จำพวกนี้๑ คือ

๑. อุภโตภาควิมุต๒___(ผู้หลุดพ้นทั้ง ๒ ส่วน)
๒. ปัญญาวิมุต๓___(ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา)
๓. กายสักขี๔___(ผู้เป็นพยานในนามกาย)
๔. ทิฏฐิปัตตะ๕___(ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ)
๕. สัทธาวิมุต๖___(ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๑๔/๑๓
๒ อุภโตภาควิมุต หมายถึงผู้บำเพ็ญสมถกัมมัฏฐานจนได้อรูปสมาบัติ และใช้สมถะเป็นฐานในการบำเพ็ญ
วิปัสสนาจนได้บรรลุอรหัตตผล (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๐, องฺ.นวก.อ. ๓/๔๕/๓๑๖)
๓ ปัญญาวิมุต หมายถึงผู้บำเพ็ญวิปัสสนาล้วน ๆ จนบรรลุอรหัตตผล (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๑)
๔ กายสักขี หมายถึงผู้มีศรัทธาแก่กล้า ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกายและอาสวะบางอย่างก็สิ้นไป เพราะ
เห็นด้วยปัญญา และหมายถึงพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลขึ้นไป จนถึงท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล
(องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๑)
๕ ทิฏฐิปัตตะ หมายถึงผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ เข้าใจอริยสัจถูกต้อง กิเลสบางส่วนสิ้นไป เพราะเห็นด้วยปัญญา
มีปัญญาแก่กล้า และหมายถึงผู้บรรลุโสดาปัตติผลจนถึงผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๑)
๖ สัทธาวิมุต หมายถึงผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา เข้าใจอริยสัจถูกต้อง กิเลสบางส่วนก็สิ้นไป เพราะเห็นด้วยปัญญา
มีศรัทธาแก่กล้า และหมายถึงผู้บรรลุโสดาปัตติผลจนถึงผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕,
องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๑-๑๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องปฏิปทา

๖. ธัมมานุสารี๑ (ผู้แล่นไปตามธรรม)
๗. สัทธานุสารี๒ (ผู้แล่นไปตามศรัทธา)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องปุคคลบัญญัติ

เทศนาเรื่องปธาน

[๑๕๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องปธานก็นับว่ายอดเยี่ยม โพชฌงค์ ๗ ประการนี้ คือ

๑. สติสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความระลึกได้)
๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือการเฟ้นธรรม)
๓. วิริยสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความเพียร)
๔. ปีติสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความอิ่มใจ)
๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความสงบกายสงบใจ)
๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความตั้งจิตมั่น)
๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ (ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความวางใจเป็นกลาง)

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องปธาน

เทศนาเรื่องปฏิปทา

[๑๕๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องปฏิปทาก็นับว่ายอดเยี่ยม ปฏิปทา๓ ๔ ประการนี้ คือ
๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก และรู้ได้ช้า)
๒. ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว)

เชิงอรรถ :
๑ ธัมมานุสารี หมายถึงผู้แล่นไปตามธรรม คือ ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล มีปัญญาแก่กล้า บรรลุผล
แล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๒)
๒ สัทธานุสารี หมายถึงผู้แล่นไปตามศรัทธา คือ ผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล มีศรัทธาแก่กล้า บรรลุผล
แล้วกลายเป็นสัทธาวิมุต (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๒)
๓ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๖๖/๒๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
เทศนาเรื่องมารยาทการพูด เป็นต้น

๓. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า)
๔. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติสะดวก และรู้ได้เร็ว)
บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนั้น ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิปทานี้
บัณฑิตกล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติต่ำทั้ง ๒ ส่วน คือ เพราะปฏิบัติลำบาก และเพราะ
รู้ได้ช้า
ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิปทานี้ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติต่ำ
เพราะปฏิบัติลำบาก
สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิปทานี้ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติต่ำ
เพราะรู้ได้ช้า
สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิปทานี้ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นข้อปฏิบัติประณีต
ทั้ง ๒ ส่วน คือ เพราะปฏิบัติสะดวก และเพราะรู้ได้เร็ว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องปฏิปทา

เทศนาเรื่องมารยาทการพูด เป็นต้น

[๑๕๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องมารยาทการพูดก็นับว่ายอดเยี่ยม
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่พูดวาจาเกี่ยวด้วยมุสาวาท ไม่พูดวาจาอันทำ
ความแตกร้าวกัน ไม่พูดวาจาอันส่อเสียด ไม่มุ่งเอาชนะกันกล่าววาจาอันเกิดจาก
ความแข่งดีกัน กล่าวแต่วาจาอันมีหลักฐานด้วยปัญญาชื่อว่ามันตา ตามกาลอันควร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องมารยาทการพูด
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม
ในเรื่องมารยาทคือศีลของบุรุษก็นับว่ายอดเยี่ยม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องวิธีสั่งสอน

คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนมีสัจจะ มีศรัทธา ไม่พูดหลอกลวง๑ ไม่พูด
ป้อยอ๒ ไม่ทำนิมิต๓ ไม่พูดบีบบังคับ๔ ไม่แสวงหาลาภด้วยลาภ๕ คุ้มครองทวาร
ในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในการบริโภค ทำพอเหมาะพอดี ประกอบความ
เพียรเครื่องตื่นอยู่เนือง ๆ ไม่เกียจคร้าน ปรารภความเพียร เพ่งฌาน มีสติ พูดมี
ปฏิภาณดี มีคติ มีปัญญาทรงจำ มีความรู้ ไม่ติดอยู่ในกาม มีสติ มีปัญญาเครื่อง
รักษาตน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องมารยาทคือศีลของบุรุษ

เทศนาเรื่องวิธีสั่งสอน

[๑๕๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องวิธีสั่งสอนก็นับว่ายอดเยี่ยม วิธีสั่งสอน ๔ ประการนี้ คือ
๑. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้ เมื่อปฏิบัติตามที่สั่งสอน จักเป็นพระ
โสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไปไม่มีทางตกต่ำ มีความ
แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า๖’

เชิงอรรถ :
๑ หลอกลวง หมายถึงลวงด้วยอาการ ๓ คือ (๑) พูดเลียบเคียง (๒) แสร้งแสดงอิริยาบถ คือ ยืน เดิน
นั่ง นอน ให้น่าเลื่อมใส (๓) แสร้งปฏิเสธปัจจัย (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๖๑/๕๕๓, องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๘๓/๔๑,
วิสุทฺธิ. ๑/๑๖/๒๔)
๒ พูดป้อยอ หมายถึงพูดยกย่องมุ่งหวังลาภสักการะและชื่อเสียง (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๖๒/๕๕๓,องฺ.ปญฺจก.อ.
๓/๘๓/๔๑, วิสุทฺธิ. ๑/๑๖/๒๔)
๓ ทำนิมิต หมายถึงแสดงอาการทางกาย ทางวาจา เพื่อให้คนอื่นให้ทาน เช่น การพูดเป็นเลศนัย พูดเลียบเคียง
(อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๖๓/๕๕๓, อภิ.วิ.อ. ๘๖๖/๘๒๓, วิสุทฺธิ. ๑/๑๖/๒๔)
๔ พูดบีบบังคับ หมายถึงด่า พูดข่ม พูดนินทา ตำหนิโทษ พูดเหยียดหยาม และการนำเรื่องไปประจาน
ตลอดถึงการพูดสรรเสริญต่อหน้า นินทาลับหลัง (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๖๔/๕๕๔, อภิ.วิ.อ. ๘๖๔/๕๒๔,
วิสุทฺธิ. ๑/๑๖/๒๔-๒๕)
๕ แสวงหาลาภด้วยลาภ หมายถึงได้อะไรเอามาฝากเขา ทำให้เขาเกรงใจ ต้องให้ตอบแทน (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/
๘๖๕/๕๕๔, วิสุทฺธิ. ๑/๑๖/๒๕)
๖ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๓ เบื้องสูง คือ (๑) สกทาคามิมรรค (๒) อนาคามิมรรค (๓) อรหัตตมรรค
(ที.สี.อ. ๓๗๓/๒๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
เทศนาเรื่องความหยั่งรู้การหลุดพ้นของบุคคลอื่น

๒. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้เมื่อปฏิบัติตามที่สั่งสอน จักเป็นพระ
สกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ
โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้’
๓. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้เมื่อปฏิบัติตามที่สั่งสอน จักเป็น
โอปปาติกะ๑ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพาน
ในโลกนั้นไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก’
๔. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้เมื่อปฏิบัติตามที่สั่งสอน จักทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องวิธีสั่งสอน

เทศนาเรื่องความหยั่งรู้การหลุดพ้นของบุคคลอื่น

[๑๕๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องความหยั่งรู้การหลุดพ้น๒ของบุคคลอื่นก็นับว่ายอดเยี่ยม คือ
๑. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้จักเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓
ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ
ในวันข้างหน้า’

เชิงอรรถ :
๑ เป็นโอปปาติกะ ในที่นี้หมายถึงเป็นพระอนาคามีที่เกิดในภพชั้นสุทธาวาส(ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์) ๕ ชั้น
มีชั้นอวิหา เป็นต้น แล้วดำรงภาวะในชั้นนั้น ๆ ปรินิพพานสิ้นกิเลสในภพชั้นสุทธาวาสนั่นเอง ไม่กลับมาเกิด
เป็นมนุษย์อีก (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗-๘๘/๒๘๒-๒๘๓)
๒ ความหยั่งรู้การหลุดพ้น ในที่นี้หมายถึงความรู้ในเรื่องการละกิเลสของผู้อื่น (ที.ปา.อ. ๑๕๔/๘๒, ที.ปา.
ฏีกา ๑๕๕/๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องสัสสตวาทะ

๒. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้จักเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓
ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีก
เพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้’
๓. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้จักเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในโลกนั้น ไม่หวนกลับมา
จากโลกนั้นอีก’
๔. พระผู้มีพระภาคทรงทราบบุคคลอื่น ด้วยทรงมนสิการโดยแยบคาย
เฉพาะพระองค์ว่า ‘บุคคลนี้จักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องความหยั่งรู้การหลุดพ้น
ของบุคคลอื่น

เทศนาเรื่องสัสสตวาทะ

[๑๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงธรรมในเรื่องสัสสตวาทะ(ลัทธิที่ถือว่าอัตตาและโลกเที่ยง)ก็นับว่ายอดเยี่ยม
สัสสตวาทะ ๓ ประการนี้ คือ
๑. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และ
อาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำ
จิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง
๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐
ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง หลายร้อยชาติบ้าง หลายพันชาติ
บ้าง หลายแสนชาติบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องสัสสตวาทะ

มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจาก
ภพนั้น ก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มี
ตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ
จุติจากภพนั้น จึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เขาจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ข้าพเจ้ารู้อดีตกาลได้ว่า โลกเคยเสื่อมมาแล้ว หรือว่าเคยเจริญ
มาแล้ว’ อนึ่ง ข้าพเจ้ารู้อนาคตกาลว่า ‘โลกจักเสื่อม หรือว่าจัก
เจริญ อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขา ดุจเสา
ระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติ และเกิด
แต่มีสิ่งที่เที่ยงอยู่แน่’ นี้เป็นสัสสตวาทะประการที่ ๑
๒. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผา
กิเลส ... บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อน
ได้หลายชาติ คือ ๑ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป๑บ้าง ๒ สังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปบ้าง ๓ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๔ สังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปบ้าง ๕ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๑๐ สังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มี
วรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น
ก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล
มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจาก
ภพนั้น จึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้ง
ลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เขาจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ข้าพเจ้า
รู้อดีตกาลได้ว่า โลกเคยเสื่อมมาแล้ว หรือว่าเคยเจริญมาแล้ว’ อนึ่ง
ข้าพเจ้ารู้อนาคตกาลว่า ‘โลกจักเสื่อม หรือว่าจักเจริญ อัตตาและ
โลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขา ดุจเสาระเนียด ส่วนสัตว์
เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติ และเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยงอยู่แน่’
นี้เป็นสัสสตวาทะประการที่ ๒

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๗๒ หน้า ๕๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
เทศนาเรื่องความหยั่งรู้ที่ทำให้ระลึกชาติได้

๓. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
... บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อนได้
หลายชาติ คือ ๑๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๒๐ สังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปบ้าง ๓๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๔๐ สังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มี
วรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจาก
ภพนั้น ก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มี
ตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ
จุติจากภพนั้น จึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เขาจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ข้าพเจ้ารู้อดีตกาลได้ว่า โลกเคยเสื่อมมาแล้ว หรือเคยเจริญ
มาแล้ว’ อนึ่ง ข้าพเจ้ารู้อนาคตกาลว่า ‘โลกจักเสื่อม หรือว่าจักเจริญ
อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขา ดุจเสาระเนียด
ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติ และเกิด แต่มีสิ่งที่
เที่ยงอยู่แน่’ นี้เป็นสัสสตวาทะประการที่ ๓
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องสัสสตวาทะ

เทศนาเรื่องความหยั่งรู้ที่ทำให้ระลึกชาติได้

[๑๕๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องความหยั่งรู้ที่ทำให้ระลึกชาติได้ก็นับว่ายอดเยี่ยม
คือ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ...
บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง
๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
เทศนาเรื่องความหยั่งรู้การจุติและการอุบัติ

มากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่อ
อย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติ
จากภพนั้น ก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น จึงมาเกิดในภพนี้’
เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์ทั้งหลายที่ไม่อาจจะกำหนดอายุไม่ว่าด้วยการคำนวณ
หรือด้วยการนับมีอยู่ สัตว์ที่เคยอาศัยอยูในอัตภาพใด ๆ ไม่ว่าจะในรูปภพ อรูปภพ
สัญญีภพ อสัญญีภพ หรือเนวสัญญีนาสัญญีภพก็มีอยู่ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องความหยั่งรู้ที่ทำให้
ระลึกชาติได้

เทศนาเรื่องความหยั่งรู้การจุติและการอุบัติ

[๑๕๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องความหยั่งรู้การจุติและการอุบัติของสัตว์ทั้งหลายก็นับว่ายอดเยี่ยม
คือ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ...
บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น เห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำ
และชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และ
มโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์
ที่ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความ
เห็นชอบและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เขาเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] เทศนาเรื่องการแสดงฤทธิ์

งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม อย่างนี้แล
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในเรื่องความหยั่งรู้การจุติและ
การอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย

เทศนาเรื่องการแสดงฤทธิ์

[๑๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง เทศนาที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงธรรมในเรื่องการแสดงฤทธิ์ก็นับว่ายอดเยี่ยม การแสดงฤทธิ์ ๒ ประการนี้ คือ
๑. ฤทธิ์ที่มีอาสวะ มีอุปธิ๑ ไม่เรียกว่า อริยะ
๒. ฤทธิ์ที่ไม่มีอาสวะ ไม่มีอุปธิ เรียกว่า อริยะ
ฤทธิ์ที่มีอาสวะ มีอุปธิ ไม่เรียกว่า อริยะ เป็นอย่างไร
คือ สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิด
อย่างถูกวิธีแล้ว บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ก็แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง
คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏ
หรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง (และ)ภูเขาไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้
ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบน
แผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์
ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือฤทธิ์ที่มีอาสวะ มีอุปธิ ไม่เรียกว่า อริยะ

เชิงอรรถ :
๑ มีอาสวะ มีอุปธิ ในที่นี้หมายถึงมีโทษ มีข้อติเตียน (ที.ปา.อ. ๑๕๙/๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
แสดงคุณพระศาสดาอย่างอื่นอีก

ฤทธิ์ที่ไม่มีอาสวะ ไม่มีอุปธิ เรียกว่า อริยะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ถ้าหวังอยู่ว่า ‘เราพึงมีสัญญาในสิ่งที่ปฏิกูลว่า
ไม่ปฏิกูลอยู่’ ก็ย่อมมีสัญญาในสิ่งที่ปฏิกูลนั้นว่าไม่ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า ‘เราพึง
มีสัญญาในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่’ ก็ย่อมมีสัญญาในสิ่งที่ไม่ปฏิกูลนั้นว่า
เป็นสิ่งปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า ‘เราพึงมีสัญญาในสิ่งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลว่าไม่
ปฏิกูลอยู่’ ก็ย่อมมีสัญญาในสิ่งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลนั้นว่าไม่ปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังอยู่
ว่า ‘เราพึงมีสัญญาในสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูลว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่’ ก็ย่อมมีสัญญาในสิ่ง
ที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลนั้นว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่ ถ้าหวังอยู่ว่า ‘เราพึงละวางสิ่งที่ปฏิกูล
และไม่ปฏิกูลทั้งสองนั้นเสีย มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่’ ก็ย่อมมีอุเบกขา
มีสติสัมปชัญญะในสิ่งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลนั้นอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือฤทธิ์ที่ไม่มีอาสวะ ไม่มีอุปธิ เรียกว่า อริยะ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คือเทศนาอันยอดเยี่ยมในการแสดงฤทธิ์
พระผู้มีพระภาคย่อมทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้นไม่มีเหลืออยู่ เมื่อทรงรู้ยิ่งธรรมข้อนั้น
ไม่มีเหลืออยู่ ก็ไม่มีธรรมข้ออื่นที่จะทรงรู้ยิ่งขึ้นไปอีก จะพึงมีสมณะหรือพราหมณ์
อื่นผู้รู้ธรรมยิ่ง มีปัญญาเกินไปกว่าพระผู้มีพระภาค ในเรื่องการแสดงฤทธิ์อีกหรือ

แสดงคุณพระศาสดาอย่างอื่นอีก

[๑๖๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งใดที่กุลบุตรผู้มีศรัทธา๑ ปรารภความเพียร๒
มีเรี่ยวแรง๓ จะพึงถึงด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความ

เชิงอรรถ :
๑ กุลบุตรผู้มีศรัทธา ในที่นี้หมายถึงพระโพธิสัตว์ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน (ที.ปา.อ. ๑๖๐/๘๔)
๒ ปรารภความเพียร หมายถึงประคองความเพียร มีความเพียรไม่ย่อหย่อน (ที.ปา.อ. ๑๖๐/๘๔,ที.ปา.ฏีกา
๑๖๐/๑๐๐)
๓ มีเรี่ยวแรง หมายถึงมีความพยายามอย่างมั่นคง (ที.ปา.ฏีกา ๑๖๐/๑๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] วิธีตอบคำถาม

บากบั่นของบุรุษ ด้วยความเอาธุระของบุรุษ๑ สิ่งนั้นพระผู้มีพระภาคได้ทรงบรรลุ
เต็มที่แล้ว อนึ่ง พระผู้มีพระภาคไม่ทรงหมกมุ่นกับกามสุขัลลิกานุโยค๒ ซึ่งเป็นธรรม
อันทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และไม่ทรงหมกมุ่นกับอัตตกิลมถานุโยค๓ ซึ่งเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบ
ด้วยประโยชน์ อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง๔ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่
เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก๕ ได้โดยไม่ลำบาก๖

วิธีตอบคำถาม

[๑๖๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าบุคคลถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘ท่าน
สารีบุตร ได้มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่นในอดีตกาล ซึ่งมีปัญญาในทางพระ-
สัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคไหม’ เมื่อเขาถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะพึง
ตอบว่า ‘ไม่มี’ ถ้าเขาถามว่า ‘จักมีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่นในอนาคตกาล ซึ่งจะ
มีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคไหม’ เมื่อเขาถามอย่างนี้
ข้าพระองค์จะพึงตอบว่า ‘ไม่มี’ ถ้าเขาถามว่า ‘มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่นในปัจจุบัน
ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาคไหม’ เมื่อเขาถามอย่างนี้
ข้าพระองค์จะพึงตอบว่า ‘ไม่มี’

เชิงอรรถ :
๑ ความเอาธุระของบุรุษ หมายถึงความมุ่งมั่นที่จะทำธุระให้สำเร็จลุล่วงได้ (ที.ปา.อ. ๑๖๐/๘๔)
๒ กามสุขัลลิกานุโยค ในที่นี้หมายถึงการหมกมุ่นด้วยกามสุขในวัตถุกาม (ที.ปา.อ. ๑๖๐/๘๕)
๓ อัตตกิลมถานุโยค ในที่นี้หมายถึงการหมกมุ่นที่เป็นเหตุให้ตนเดือดร้อน เร่าร้อน เช่น การบำเพ็ญตบะ
แบบทรมานตน (ที.ปา.อ. ๑๖๐/๕๕)
๔ อันมีในจิตยิ่ง หมายถึงอยู่เหนือกามาวจรจิต (ที.ปา.อ. ๑๖๐/๘๕)
๕ ได้โดยไม่ยาก หมายถึงสามารถเข้าฌานตัดปัจจนีกธรรมได้ง่าย (ที.ปา.ฏีกา ๑๖๐/๑๐๑)
๖ ได้โดยไม่ลำบาก หมายถึงสามารถออกจากฌานได้ตามที่กำหนดไว้ (ที.ปา.ฏีกา ๑๖๐/๑๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร] วิธีตอบคำถาม

แต่ถ้าเขาถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘ท่านสารีบุตร ได้มีสมณะหรือพราหมณ์
ผู้อื่นในอดีตกาล ซึ่งมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณเสมอกับพระผู้มีพระภาคไหม’
เมื่อเขาถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘มี’ ถ้าเขาถามว่า ‘จักมีสมณะ
หรือพราหมณ์ผู้อื่นในอนาคตกาล ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณเสมอกับ
พระผู้มีพระภาคไหม’ เมื่อเขาถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะพึงตอบว่า ‘มี’ ถ้าเขาถาม
ว่า ‘จะมีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่นในปัจจุบัน ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณ
เสมอกับพระผู้มีพระภาคไหม’ เมื่อเขาถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะพึงตอบว่า ‘ไม่มี’
แต่ถ้าเขาถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘เหตุไร ท่านสารีบุตรจึงตอบรับเป็น
บางอย่าง ปฏิเสธเป็นบางอย่าง’ เมื่อเขาถามอย่างนี้ ข้าพระองค์จะพึงตอบอย่าง
นี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ข้อนี้ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคว่า
‘ได้มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ซึ่งมีปัญญาในทางพระสัมโพธิ-
ญาณเสมอกับเรา’ ข้อนี้ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า
‘จักมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอนาคตกาล ซึ่งมีปัญญาในทางพระสัมโพธิ-
ญาณเสมอกับเรา’ ข้อนี้ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า
‘ข้อที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ จะเกิดพร้อมกันในโลกธาตุเดียวกัน
นั้น ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสที่จะเป็นไปได้’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ถูกเขาถามอย่างนี้ ตอบอย่างนี้ จะชื่อว่า
พูดตรงตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จหรือ
ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล ไม่มีบ้างหรือที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อ ๆ
กันมาจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้๑ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกแล้ว สารีบุตร เมื่อเธอถูกเขาถามอย่างนี้ ตอบ
อย่างนี้ จะชื่อว่าพูดตรงตามที่เรากล่าวแล้วทีเดียว ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ
ชื่อว่ากล่าวแก้อย่างสมเหตุสมผล ไม่มีเลยที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำที่กล่าวต่อ ๆ กันมา
จะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้”

เชิงอรรถ :
๑ ดู วิ.ม. (แปล) ๕/๒๙๐/๑๐๘, ที.สี. (แปล) ๙/๓๘๒/๑๖, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๘๑/๗๕, องฺ.ติก. (แปล)
๒๐/๕๘/๒๒๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๕. สัมปสาทนียสูตร]
เรื่องน่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ

เรื่องน่าอัศจรรย์ไม่เคยปรากฏ

[๑๖๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายี๑ได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ความ
มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา มีอยู่แก่พระตถาคตผู้ทรงมีฤทธิ์มากอย่างนี้
ทรงมีอานุภาพมากอย่างนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ทรงโอ้อวด ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก
ได้เห็นประจักษ์ธรรมเพียงข้อหนึ่งจากธรรมของพระองค์แล้ว ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พวกเขาจะต้องยกธงเที่ยวประกาศ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ความมักน้อย
ความสันโดษ ความขัดเกลา มีอยู่แก่พระตถาคตผู้ทรงมีฤทธิ์มากอย่างนี้ ทรงมี
อานุภาพมากอย่างนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ทรงโอ้อวด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุทายี เธอจงดูความมักน้อย ความสันโดษ ความ
ขัดเกลาของตถาคตผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่
โอ้อวด ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกได้เห็นประจักษ์ธรรมเพียงข้อหนึ่งจากธรรม
ของเรานี้แล้ว ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พวกเขาจะต้องยกธงเที่ยวประกาศ อุทายี เธอ
จงดู ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลาของตถาคตผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้
มีอานุภาพมากอย่างนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่โอ้อวด”
[๑๖๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระสารีบุตรว่า “เพราะเหตุ
นี้แล สารีบุตร เธอพึงกล่าวธรรมบรรยายนี้แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
เนือง ๆ เถิด พวกโมฆบุรุษที่มีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในตถาคตฟังธรรม
บรรยายนี้แล้ว จักละความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในตถาคตนั้นได้”
เพราะเหตุที่ท่านพระสารีบุตรประกาศความเลื่อมใสนี้เฉพาะพระพักตร์ของพระ
ผู้มีพระภาค ฉะนั้น เวยยากรณภาษิต๒นี้จึงมีชื่อว่า ‘สัมปสาทนียะ’ แล

สัมปสาทนียสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] นิครนถ์ นาฏบุตรถึงแก่กรรม

๖. ปาสาทิกสูตร
ว่าด้วยเหตุให้เกิดความเลื่อมใส

[๑๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทในอัมพวันของพวกเจ้าศากยะ
นามว่า เวธัญญา แคว้นสักกะ

นิครนถ์ นาฏบุตรถึงแก่กรรม

สมัยนั้น นิครนถ์ นาฏบุตร ได้ถึงแก่กรรมไม่นานที่กรุงปาวา เพราะการ
ถึงแก่กรรมของนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น พวกนิครนถ์จึงแตกกัน เกิดแยกเป็น ๒ พวก
ต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า “ท่านไม่รู้
ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ แต่เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัย ท่านจะรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร
ท่านปฏิบัติผิด แต่ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก คำพูดของข้าพเจ้ามีประโยชน์ แต่คำพูดของ
ท่านไม่มีประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อน ท่านกลับพูดภายหลัง คำที่ควรพูดภายหลัง
ท่านกลับพูดก่อน เรื่องที่ท่านเคยชินได้ผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดคำพูดของท่าน
ได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ถ้าท่านมีความสามารถ ก็จงหาทางแก้คำพูดหรือ
เปลื้องตนให้พ้นผิดเถิด” เห็นจะมีการฆ่ากันเท่านั้นที่จะเป็นไปในพวกนิครนถ์ ผู้เป็น
สาวกของนิครนถ์ นาฏบุตร แม้พวกสาวกของนิครนถ์ นาฏบุตรที่เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาว
ห่มขาว ก็มีอาการเบื่อหน่าย คลายความรัก รู้สึกท้อถอยในพวกนิครนถ์ ผู้เป็น
สาวกของนิครนถ์ นาฏบุตร ทั้งนี้เพราะธรรมวินัยที่นิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดี
ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็น
ธรรมวินัยที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยที่มีที่พำนักถูก
ทำลายแล้ว๑ เป็นธรรมวินัยที่ไม่มีที่พึ่งอาศัย๒

เชิงอรรถ :
๑ ที่พำนักถูกทำลายแล้ว หมายความว่านิครนถ์ นาฏบุตรเป็นที่พำนักของเหล่าสาวก เมื่อเขาถึงแก่กรรมแล้ว
เหล่าสาวกจึงหมดที่พึ่งพิง ธรรมของเขาก็เหมือนสูญสิ้นไปด้วย (ที.ปา.อ. ๑๖๔/๙๔)
๒ ดูเทียบ ข้อ ๓๐๑ หน้า ๒๔๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ธรรมวินัยที่บุคคลผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้

[๑๖๕] ครั้งนั้น พระจุนทะ สมณุทเทส๑ จำพรรษาอยู่ในกรุงปาวาได้เข้าไป
หาท่านพระอานนท์ซึ่งอยู่ในสามคาม๒ กราบท่านพระอานนท์แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
แล้ว ได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ นิครนถ์ นาฏบุตร ได้ถึง
แก่กรรมไม่นานที่กรุงปาวา เพราะการถึงแก่กรรมของนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น พวก
นิครนถ์จึงแตกกัน เกิดแยกกันเป็น ๒ พวก ฯลฯ เป็นธรรมวินัยที่มีที่พำนัก
ถูกทำลายแล้ว เป็นธรรมวินัยที่ไม่มีที่พึ่งอาศัย” เมื่อพระจุนทะ สมณุทเทสกล่าว
อย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวว่า “คุณจุนทะ นี้เป็นข้ออ้าง๓ที่จะเข้าเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคได้ มาเถิด คุณจุนทะ เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
แล้วกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค” พระจุนทะ สมณุทเทสรับคำแล้ว
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ และพระจุนทะ สมณุทเทส ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ท่าน
พระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระจุนทะ
สมณุทเทสนี้บอกว่า ‘นิครนถ์ นาฏบุตรได้ถึงแก่กรรมไม่นานที่กรุงปาวา เพราะการ
ถึงแก่กรรมของนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น พวกนิครนถ์จึงแตกกัน ฯลฯ เป็นธรรมวินัย
ที่มีที่พำนักถูกทำลายแล้ว เป็นธรรมวินัยที่ไม่มีที่พึ่งอาศัย”

ธรรมวินัยที่บุคคลผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้

[๑๖๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ข้อนั้นก็เป็นอย่างนี้แหละ จุนทะ ในธรรมวินัย
ที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไป
เพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมวินัยที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ จุนทะ
ในโลกนี้ มีศาสดาผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีธรรมที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศ

เชิงอรรถ :
๑ พระจุนทะ สมณุทเทส หมายถึงพระเถระผู้นี้เป็นน้องชายของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร และเป็นสัทธิ-
วิหาริกของพระอานนท์ คำนี้พวกภิกษุเรียกท่าน ในขณะเป็นสามเณร เมื่อท่านเป็นพระแล้วก็ยังเรียกชื่อนี้อยู่
(ที.ปา.อ. ๑๖๔/๙๕)
๒ สามคาม หมายถึงชื่อหมู่บ้านที่มีข้าวฟ่างมากมาย (ที.ปา.อ. ๑๖๕/๙๖, ที.ปา.ฏีกา ๑๖๕/๙๖)
๓ เป็นข้ออ้าง ในที่นี้หมายถึงเป็นมูลเหตุแห่งการได้รับฟังธรรมกถาจากสำนักของพระผู้มีพระภาค (ที.ปา.
ฏีกา ๑๖๕/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ธรรมวินัยที่บุคคลผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้

ไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมวินัย
ที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ และสาวกก็ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรมในธรรมนั้น ประพฤติหลีกเลี่ยงจากธรรมนั้น๑ สาวก
ของศาสดานั้นจะพึงมีคนกล่าวถึงอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย เป็นลาภของท่าน ท่านได้
ดีแล้ว ศาสดาของท่านผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และธรรมก็เป็นอันศาสดากล่าวไว้
ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ
เป็นธรรมที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ แต่ท่านก็ไม่ปฏิบัติธรรมสมควร
แก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรมในธรรมนั้น ประพฤติหลีกเลี่ยงจาก
ธรรมนั้น’ ด้วยเหตุนี้ จุนทะ แม้ศาสดาในธรรมวินัยนั้นจะพึงถูกติเตียน ธรรมใน
ธรรมวินัยนั้นจะพึงถูกติเตียน แต่สาวกในธรรมวินัยนั้นควรได้รับการสรรเสริญ จุนทะ
ผู้ที่กล่าวกับสาวกเช่นนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านจงปฏิบัติตามธรรมที่ศาสดาของท่านแสดง
ไว้ บัญญัติไว้เถิด’ ผู้ชักชวน๒ ผู้ที่เขาชักชวนและผู้ที่ถูกชักชวนแล้ว๓ปฏิบัติตามนั้น
ทั้งหมดย่อมประสพสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะข้อนั้นก็เป็น
อย่างนี้แหละ จุนทะ ในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่อง
นำออกไปจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมวินัยที่ผู้มิใช่พระสัมมา-
สัมพุทธเจ้าประกาศไว้
[๑๖๗] อนึ่ง จุนทะ ในโลกนี้มีศาสดาที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีธรรม
ที่ศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อ
ความสงบระงับ เป็นธรรมที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ และสาวกก็เป็น
ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมในธรรมนั้น ยึดถือ
ประพฤติธรรมนั้น สาวกของศาสดานั้นจะพึงมีคนกล่าวถึงอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย
ไม่เป็นลาภของท่าน ท่านได้ไม่ดีแล้ว ศาสดาของท่านเป็นผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ธรรมก็เป็นอันศาสดากล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้

เชิงอรรถ :
๑ ประพฤติหลีกเลี่ยงจากธรรมนั้น ในที่นี้หมายถึงไม่บำเพ็ญธรรมต่อไป ทำให้มีช่องว่าง (ที.ปา.อ. ๑๖๖/๙๘)
๒ ผู้ชักชวน ในที่นี้หมายถึงอาจารย์ (ที.ปา.อ. ๑๖๖/๙๘)
๓ ผู้ที่เขาชักชวนและผู้ที่ถูกชักชวนแล้ว ในที่นี้หมายถึงอันเตวาสิก (ที.ปา.อ. ๑๖๖/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ธรรมวินัยที่บุคคลผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้

ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ ท่าน
ก็ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมในธรรมนั้น ยึดถือ
ประพฤติธรรมนั้น’ ด้วยเหตุนี้แล จุนทะ ศาสดาในธรรมวินัยนั้นจะพึงถูกติเตียน
ธรรมในธรรมวินัยนั้นก็พึงถูกติเตียน และสาวกในธรรมวินัยนั้นก็ควรถูกติเตียน จุนทะ
ผู้ที่กล่าวกับสาวกเช่นนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านปฏิบัติถูกต้องแล้ว จักทำสิ่งที่ถูกต้องให้
สำเร็จได้อย่างแน่นอน’ ผู้สรรเสริญ ผู้ที่เขาสรรเสริญ และผู้ที่ได้รับการสรรเสริญ
แล้วปรารภความเพียร๑ให้ยิ่งขึ้นไป ทั้งหมดย่อมประสพสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะข้อนั้นก็เป็นอย่างนี้แหละ จุนทะ ในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้
ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ
เป็นธรรมวินัยที่ผู้มิใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้

ธรรมวินัยที่บุคคลผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้

[๑๖๘] จุนทะ อนึ่ง ในโลกนี้ มีศาสดาผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีธรรม
ที่ศาสดากล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้๒ เป็นไปเพื่อความสงบ
ระงับ เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ แต่สาวกไม่เป็นผู้ปฏิบัติธรรม
สมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรมในธรรมนั้น ประพฤติหลีกเลี่ยง
จากธรรมนั้น สาวกของศาสดานั้นจะพึงมีคนกล่าวถึงอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ไม่ใช่
ลาภของท่าน ท่านได้ไม่ดีแล้ว ศาสดาของท่านเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า และธรรมก็
เป็นอันศาสดานั้นกล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อ
ความสงบระงับ เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ แต่ท่านไม่ปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรมในธรรมนั้น ประพฤติหลีก
เลี่ยงจากธรรมนั้น’ ด้วยเหตุนี้แหละ จุนทะ แม้ศาสดาในธรรมวินัยนั้นก็จะพึงได้รับ
การสรรเสริญ ธรรมในธรรมวินัยนั้นจะพึงได้รับการสรรเสริญ แต่สาวกในธรรมวินัยนั้น
ควรถูกติเตียน จุนทะ ผู้ที่กล่าวกับสาวกเช่นนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านจงปฏิบัติธรรมที่

เชิงอรรถ :
๑ ปรารภความเพียร ในที่นี้หมายถึงบำเพ็ญเพียรที่ทำให้เกิดทุกข์แก่ตน (ที.ปา.อ. ๑๖๗/๙๘)
๒ เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ ในที่นี้หมายถึงนำให้บรรลุมรรคและผล (ที.ปา.อ. ๑๖๘/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ธรรมวินัยที่บุคคลผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้

ศาสดาของท่านแสดงไว้ บัญญัติไว้เถิด’ ผู้ชักชวน ผู้ที่เขาชักชวน และผู้ที่ถูก
ชักชวนแล้ว ปฏิบัติตามนั้น ทั้งหมดจะประสพบุญเป็นอันมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะข้อนั้นก็เป็นอย่างนี้แหละ จุนทะ ในธรรมวินัยที่พระศาสดากล่าวไว้ดี ประกาศ
ไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมวินัยที่ผู้เป็น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้
[๑๖๙] จุนทะ อนึ่ง ในโลกนี้ มีศาสดาผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีธรรมที่
ศาสดานั้นกล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบ
ระงับ เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ และสาวกก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรม
สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมในธรรมนั้น ยืดถือปฏิบัติธรรมนั้น
สาวกของศาสดานั้นจะพึงมีคนผู้กล่าวถึงอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย เป็นลาภของท่าน
ท่านได้ดีแล้ว ศาสดาของท่านเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมก็เป็นอันพระศาสดา
กล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ
เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ และท่านก็ปฏิบัติธรรมสมควร
แก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมในธรรมนั้น ยึดถือประพฤติธรรมนั้น’ ด้วย
เหตุนี้แหละ จุนทะ ศาสดาในธรรมวินัยนั้นจะพึงได้รับการสรรเสริญ ธรรมในธรรม
วินัยนั้นจะพึงได้รับการสรรเสริญ และสาวกในธรรมวินัยนั้นก็ควรได้รับการสรรเสริญ
จุนทะ ผู้ที่กล่าวกับสาวกเช่นนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านปฏิบัติถูกต้องแล้ว จักทำสิ่งที่
ถูกต้องให้สำเร็จได้อย่างแน่นอน’ ผู้สรรเสริญ ผู้ที่เขาสรรเสริญและผู้ที่ได้รับการ
สรรเสริญแล้วปรารภความเพียรให้ยิ่งขึ้นไป ทั้งหมดจะประสพบุญเป็นอันมาก ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะข้อนั้นก็เป็นอย่างนี้แหละ จุนทะ ในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ดี
ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมวินัย
ที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ศาสดาผู้ไม่ทำให้สาวกเดือดร้อนในภายหลัง

ศาสดาผู้ให้สาวกเดือดร้อนในภายหลัง

[๑๗๐] จุนทะ อนึ่ง ศาสดาผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้ว
ในโลกนี้ และธรรมอันศาสดากล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้
เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ แต่ศาสดา
ยังไม่ทรงทำให้สาวกทั้งหลายของพระองค์เข้าใจอรรถในสัทธรรม ทั้งไม่ทำพรหมจรรย์
ที่บริสุทธิ์ครบถ้วนให้แจ่มแจ้ง ให้เข้าใจง่าย ให้มีบทที่รวบรวมไว้พร้อมแล้ว ให้มีผล
อย่างปาฏิหาริย์๑แก่สาวกเหล่านั้น จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย๒
ต่อมา ศาสดาของสาวกเหล่านั้นปรินิพพานไป ศาสดาเห็นปานนี้แล ปรินิพพานแล้ว
ทำให้สาวกทั้งหลายเดือดร้อนในภายหลัง ข้อนั้นเพราะเหตุไร (สาวกเหล่านั้นคิดว่า)
‘เพราะศาสดาผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก และธรรมก็เป็นอัน
ศาสดากล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบ
ระงับ เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ แต่ศาสดายังไม่ทรงทำให้
เราทั้งหลายเข้าใจอรรถในพระสัทธรรม ทั้งไม่ทำพรหมจรรย์ที่บริบูรณ์ครบถ้วน
ให้แจ่มแจ้ง ให้เข้าใจง่าย ให้มีบทที่รวบรวมไว้พร้อมแล้ว ให้มีผลอย่างปาฏิหาริย์
แก่พวกเรา จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ต่อมา ศาสดาของเรา
ทั้งหลาย ปรินิพพานไป’ จุนทะ ศาสดาเห็นปานนี้แลปรินิพพานแล้ว ทำให้สาวก
ทั้งหลายเดือดร้อนในภายหลัง

ศาสดาผู้ไม่ทำให้สาวกเดือดร้อนในภายหลัง

[๑๗๑] จุนทะ อนึ่ง ศาสดาผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดขึ้นแล้ว
ในโลกนี้ ธรรมก็เป็นอันศาสดากล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้
เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ และ

เชิงอรรถ :
๑ ให้มีผลอย่างปาฏิหาริย์ ในที่นี้หมายถึงนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ (ที.ปา.อ. ๑๗๐/๙๙)
๒ คำว่า “ประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” นี้ แปลจากบาลีว่า “ยาว เทวมนุสฺเสหิ สุปฺปกาสิตํ”
ตามนัย ที.ปา.อ. ๑๗๐/๙๙, ที.ปา.ฏีกา ๑๗๐/๑๑๒ แต่ตามนัย ที.ม.อ. ๑๖๘/๑๕๙, ขุ.อุ. ๕๑/๓๕๐
แปลว่า “กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว” (ตามนัย ที.ปา.อ. ๑๗๐/๙๙, ที.ปา.ฏีกา
๑๗๐/๑๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น

พระศาสดาทรงทำให้สาวกทั้งหลายของพระองค์เข้าใจอรรถในสัทธรรม ทั้งทำ
พรหมจรรย์ที่บริบูรณ์ครบถ้วนให้แจ่มแจ้ง ให้เข้าใจง่าย ให้มีบทที่รวบรวมไว้
พร้อมแล้ว ให้มีผลอย่างปาฏิหาริย์แก่สาวกเหล่านั้น จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดา
และมนุษย์ทั้งหลายต่อมา ศาสดาของสาวกเหล่านั้น ปรินิพพานไป ศาสดาเห็น
ปานนี้แลปรินิพพานแล้ว ย่อมไม่ทำให้สาวกเดือดร้อนในภายหลัง ข้อนั้นเพราะ
เหตุไร (สาวกเหล่านั้นคิดว่า) ‘เพราะศาสดาผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้น
แล้วในโลก และธรรมก็เป็นอันศาสดากล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจาก
ทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้
และพระศาสดาทรงทำให้เราทั้งหลายให้เข้าใจอรรถในพระสัทธรรม ทั้งทรงทำ
พรหมจรรย์ที่บริบูรณ์ครบถ้วน ให้แจ่มแจ้ง ให้เข้าใจง่าย ให้มีบทรวบรวมไว้พร้อมแล้ว
ให้มีผลอย่างปาฏิหาริย์แก่พวกเรา จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ต่อมาศาสดาปรินิพพานไป’ จุนทะ ศาสดาเห็นปานนี้แล ปรินิพพานแล้ว ย่อมไม่ทำ
ให้สาวกทั้งหลายเดือดร้อนในภายหลัง

เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น

[๑๗๒] ๑. จุนทะ แม้หากว่าพรหมจรรย์ ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือ
ศาสดาเป็นผู้ไม่มั่นคง ไม่เป็นผู้มีประสบการณ์มาก ไม่เป็นผู้บวช
มานาน ไม่เป็นผู้มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ไม่เป็นผู้ล่วงกาลผ่านวัย
มามาก พรหมจรรย์นั้นย่อมไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น อย่างนี้
เมื่อใด พรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือ ศาสดาเป็นผู้
มั่นคง๑ มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย
ล่วงกาลผ่านวัยมามาก เมื่อนั้น พรหมจรรย์นั้นย่อมบริบูรณ์ด้วย
องค์นั้น อย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มั่นคง หมายถึงผู้ประกอบด้วยธรรมมีศีลขันธ์ เป็นต้นที่ทำให้มีความมั่นคง (ที.ปา.อ. ๑๗๒/๙๙, ที.ปา.
ฏีกา ๑๗๒/๑๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น

[๑๗๓] ๒. จุนทะ แม้หากว่าพรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือ
ศาสดาเป็นผู้มั่นคง มีประสบการณ์มาก๑ บวชมานาน มีชีวิตอยู่
หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก แต่ภิกษุสาวกผู้เป็นเถระ
ของศาสดานั้น เป็นผู้ไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่
แกล้วกล้า ไม่บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ๒ ไม่อาจกล่าวพระ
สัทธรรมได้โดยชอบ ไม่อาจแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท๓
ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ พรหมจรรย์นั้นย่อมไม่
บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น อย่างนี้
เมื่อใด พรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือ ศาสดาเป็นผู้
มั่นคง มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย
ล่วงกาลผ่านวัยมามาก และภิกษุสาวกผู้เป็นเถระของศาสดานั้น
เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า บรรลุธรรมอัน
เกษมจากโยคะ อาจกล่าวพระสัทธรรมได้โดยชอบ อาจแสดง
ธรรมมีปาฏิหาริย์ ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบ
ธรรมได้ เมื่อนั้น พรหมจรรย์นั้นย่อมบริบูรณ์ด้วยองค์นั้น อย่างนี้
[๑๗๔] ๓. จุนทะ แม้หากว่าพรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือ
ศาสดาเป็นผู้มั่นคง มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่
หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก และภิกษุสาวกผู้เป็นเถระ
ของศาสดานั้น เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า
บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ อาจกล่าวสัทธรรมได้โดยชอบ
อาจแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อย
โดยชอบธรรมได้ แต่ภิกษุสาวกผู้เป็นมัชฌิมะของศาสดานั้นเป็น

เชิงอรรถ :
๑ มีประสบการณ์มากในที่นี้หมายถึงบวชมานานประสบพบเห็นเหตุการณ์ต่างๆมามาก (ที.สี.อ. ๑๕๑/๑๓๐)
๒ ธรรมอันเกษมจากโยคะ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (ที.ปา.อ. ๑๗๓/๙๙)
๓ ปรัปวาท ในที่นี้หมายถึงวาทะ หรือลัทธิต่าง ๆ ของเจ้าลัทธิอื่นนอกพระพุทธศาสนา(ที.ม.ฏีกา ๓๗๔/๓๗๕,
ขุ.ม.อ. ๓๑/๒๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น

ผู้ไม่เฉียบแหลม ... พรหมจรรย์นั้นย่อมไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น
อย่างนี้
๔. ... ภิกษุสาวกผู้เป็นมัชฌิมะของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม ...
แต่ภิกษุสาวกผู้เป็นนวกะของศาสดานั้นไม่เป็นผู้เฉียบแหลม ...
๕. ... ภิกษุสาวกผู้เป็นนวกะของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม ...
แต่ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นเถรีของศาสดานั้นเป็นผู้ไม่เฉียบแหลม ...
๖. ... ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นเถรีของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม ...
แต่ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นมัชฌิมาของศาสดานั้นเป็นผู้ไม่เฉียบแหลม ...
๗. ... ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นมัชฌิมาของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม ...
แต่ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นนวกาของศาสดานั้นเป็นผู้ไม่เฉียบแหลม ...
๘. ... ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นนวกาของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม ...
แต่อุบาสกสาวกของศาสดานั้นเป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติ
พรหมจรรย์เป็นผู้ไม่เฉียบแหลม ...
๙. ... อุบาสกสาวกของศาสดานั้นเป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติ
พรหมจรรย์เป็นผู้เฉียบแหลม ... แต่อุบาสกสาวกของศาสดานั้น
เป็นคฤหัสถ์นุ่งขาวห่มขาว บริโภคกาม เป็นผู้ไม่เฉียบแหลม ...
๑๐. ... อุบาสกสาวกของศาสดานั้นเป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว
บริโภคกามเป็นผู้เฉียบแหลม ... แต่อุบาสิกาสาวิกาของศาสดา
นั้นเป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติพรหมจรรย์เป็นผู้ไม่
เฉียบแหลม ...
๑๑. ... อุบาสิกาสาวิกาของศาสดานั้นเป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว
ประพฤติพรหมจรรย์เป็นผู้เฉียบแหลม ... แต่อุบาสิกาสาวิกา
ของศาสดานั้น เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว บริโภคกาม เป็นผู้ไม่
เฉียบแหลม ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น

๑๒. ... อุบาสิกาสาวิกาของศาสดานั้นเป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว
บริโภคกาม เป็นผู้เฉียบแหลม ... แต่พรหมจรรย์ของศาสดานั้น
มิได้๑บริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก มั่นคงดี
จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๑๓. ... พรหมจรรย์๒ของศาสดานั้นบริบูรณ์๓กว้างขวาง๔แพร่หลาย๕
รู้จักกันโดยมาก๖มั่นคงดี จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย แต่พรหมจรรย์นั้น ไม่บรรลุถึงความเลิศด้วยลาภและ
ความเลิศด้วยยศ พรหมจรรย์นั้นย่อมไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น
อย่างนี้ จุนทะ เมื่อใด พรหมจรรย์ประกอบด้วยองค์เหล่านี้ คือ
ศาสดาเป็นผู้มั่นคง มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่
หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก และภิกษุสาวกผู้เป็นเถระ
ของศาสดานั้น เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า
บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ อาจกล่าวพระสัทธรรมได้โดยชอบ
อาจแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดย
ชอบธรรมได้ ภิกษุสาวกผู้เป็นมัชฌิมะของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบ
แหลม ... ภิกษุสาวกผู้เป็นนวกะของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม
... ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นเถรีของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม ...

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า มิได้ แปลจากคำว่า “โน” ซึ่งอยู่ต้นประโยคดังบาลีว่า “โน เจ ขฺวสฺส พฺรหฺมจริยํ โหติ อิทฺธญฺเจว
ผีตญฺจ วิตฺถาริกํ พาหุชญฺญํ ปุถุภูตํ ยาว เทวมนุสฺเสหิ สุปฺปกาสิตํ” ในที่นี้ใช้ปฏิเสธทั้งประโยค
๒ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงศาสนพรหมจรรย์คือคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้นที่รวมลงในไตรสิกขา
(ที.ม.อ. ๑๖๘/๑๕๙)
๓ บริบูรณ์ ในที่นี้หมายถึงเจริญโดยชอบด้วยอำนาจความสุขในฌานอันภิกษุเหล่านี้บรรลุแล้ว (ที.ม.อ. ๑๖๘/
๑๕๙)
๔ กว้างขวาง ในที่นี้หมายถึงเจริญสูงขึ้นจนถึงที่สุดแห่งความเจริญทางศาสนามีความถึงพร้อมด้วยอภิญญา
เป็นต้น (ที.ม. ฏีกา ๑๖๘/๑๘๗)
๕ แพร่หลาย ในที่นี้หมายถึงกระจายออกไปดำรงอยู่ทั่วทุกทิศ (ที.ม.อ. ๑๖๘/๑๕๙)
๖ รู้จักกันโดยมาก ในที่นี้หมายถึงได้รับประโยชน์เกื้อกูลจากการบรรลุธรรมกันโดยทั่วไป(ที.ม.ฏีกา ๑๖๘/๑๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น

ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นมัชฌิมาของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม ...
ภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นนวกาของศาสดานั้นเป็นผู้เฉียบแหลม ...
อุบาสกสาวกของศาสดานั้นเป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติ
พรหมจรรย์เป็นผู้เฉียบแหลม ... อุบาสกสาวกของศาสดานั้นเป็น
คฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว บริโภคกามเป็นผู้เฉียบแหลม ... อุบาสิกา
สาวิกาของศาสดานั้นเป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติพรหม
จรรย์เป็นผู้เฉียบแหลม ... อุบาสิกาสาวิกาของศาสดานั้นเป็นคฤหัสถ์
นุ่งขาวห่มขาว บริโภคกามเป็นผู้เฉียบแหลม ... พรหมจรรย์ของ
ศาสดานั้นบริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมากมั่นคงดี
จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และพรหมจรรย์
ของศาสดานั้น บรรลุถึงความเลิศด้วยลาภและความเลิศด้วยยศ
เมื่อนั้นพรหมจรรย์นั้น ย่อมบริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้
[๑๗๕] จุนทะ ก็บัดนี้ เราเป็นศาสดาผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิด
ขึ้นแล้วในโลก ธรรมอันเรากล่าวไว้ดี ประกาศไว้ดี เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้
เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมที่เราผู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ เราทำ
ให้สาวกทั้งหลายเข้าใจอรรถในสัทธรรม ทั้งทำพรหมจรรย์ที่บริบูรณ์ครบถ้วนให้
แจ่มแจ้ง ให้เข้าใจง่าย ให้มีบทที่รวบรวมไว้พร้อมแล้ว ให้มีผลอย่างปาฏิหาริย์แก่
สาวกเหล่านั้น จนประกาศได้ดีทั่วถึงเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็บัดนี้เราเป็นศาสดา
เป็นผู้มั่นคง มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่าน
วัยมามาก
จุนทะ บัดนี้ มีภิกษุสาวกผู้เป็นเถระของเรา เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการ
แนะนำ แกล้วกล้า บรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ อาจกล่าวพระสัทธรรมได้โดยชอบ
อาจแสดงธรรมให้มีปาฏิหาริย์ ปราบปรับวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้
บัดนี้ มีภิกษุสาวกผู้เป็นมัชฌิมะของเรา เป็นผู้เฉียบแหลม ... บัดนี้ มีภิกษุสาวก
ผู้เป็นนวกะของเรา เป็นผู้เฉียบแหลม ... บัดนี้ มีภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นเถรีของเรา
เป็นผู้เฉียบแหลม ... บัดนี้ มีภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นมัชฌิมาของเรา เป็นผู้เฉียบแหลม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น

... บัดนี้ มีภิกษุณีสาวิกาผู้เป็นนวกาของเรา เป็นผู้เฉียบแหลม ... บัดนี้ มีอุบาสก
สาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติพรหมจรรย์๑ของเรา เป็นผู้เฉียบแหลม ...
บัดนี้ มีอุบาสกสาวก ผู้เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว บริโภคกาม๒ของเราเป็นผู้
เฉียบแหลม ... บัดนี้ มีอุบาสิกาสาวิกา ผู้เป็นคฤหัสถ์ นุ่งขาวห่มขาว ประพฤติ
พรหมจรรย์๓ของเราเป็นผู้เฉียบแหลม ... บัดนี้ มีอุบาสิกาสาวิกา ผู้เป็นคฤหัสถ์
นุ่งขาวห่มขาว บริโภคกาม๔ของเราเป็นผู้เฉียบแหลม จุนทะ บัดนี้ พรหมจรรย์ของ
เราบริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก มั่นคงดี จนประกาศได้ดีทั่วถึง
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๑๗๖] จุนทะ เท่าที่มีศาสดาเกิดขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้ เรายังไม่เห็นศาสดา
อื่นแม้ผู้เดียวที่บรรลุถึงความเลิศด้วยลาภและความเลิศด้วยยศเหมือนเราเลย อนึ่ง
เท่าที่มีสงฆ์หรือคณะเกิดขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้ เรายังไม่เห็นสงฆ์ หรือ คณะอื่นแม้
หมู่เดียว ที่บรรลุถึงความเลิศด้วยลาภและความเลิศด้วยยศ เหมือนภิกษุสงฆ์เลย
บุคคลเมื่อกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงพรหมจรรย์นั้นใดว่า ‘พรหมจรรย์ สมบูรณ์
ด้วยอาการทุกอย่าง บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ไม่หย่อน ไม่ยิ่ง ศาสดากล่าวไว้ดี
บริบูรณ์ครบถ้วน ศาสดาประกาศไว้ดีแล้ว’ บุคคลเมื่อกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึง
พรหมจรรย์นี้นั่นแลว่า ‘พรหมจรรย์ สมบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง บริบูรณ์ด้วย
อาการทุกอย่าง ไม่หย่อน ไม่ยิ่ง ศาสดากล่าวไว้ดี บริบูรณ์ครบถ้วน ศาสดา
ประกาศไว้ดีแล้ว’
จุนทะ ทราบว่า อุทกดาบส รามบุตร กล่าวข้อความอย่างนี้ว่า ‘บุคคลเห็นอยู่
ชื่อว่าไม่เห็น’ ถามว่า ‘บุคคลเห็นอะไรอยู่ ชื่อว่าไม่เห็น๕’ ตอบว่า ‘บุคคลเห็นใบของ

เชิงอรรถ :
๑ เช่น จิตตคหบดี หัตถกอาฬวกะ (ที.ปา.อ. ๑๗๕/๑๐๐)
๒ เช่น จุลลอนาถบิณฑิกะ และมหาอนาถบิณฑิกะ (ที.ปา.อ. ๑๗๕/๑๐๐)
๓ เช่น นันทมารดา (ที.ปา.อ. ๑๗๕/๑๐๐)
๔ เช่น นางขุชชุตตรา (ที.ปา.อ. ๑๗๕/๑๐๐)
๕ คำว่า “บุคคลเห็นอะไรอยู่ ชื่อว่าไม่เห็น” เป็นปัญหาที่อุทกดาบส รามบุตรถามมหาชน เมื่อมหาชนตอบ
ไม่ได้ ท่านจึงตอบเองว่า คนเห็นมีดโกนชื่อว่าไม่เห็นเพราะเห็นแต่ใบมีดโกนเท่านั้น แต่ไม่เห็นความคมของ
มีดโกน (ที.ปา.อ. ๑๗๖/๑๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
เรื่องพรหมจรรย์ที่ไม่บริบูรณ์ เป็นต้น

มีดโกนที่ลับดีแล้ว แต่ไม่เห็นคมของมีดโกนนั้น’ จุนทะ อุทกดาบส รามบุตรจึง
กล่าวข้อความนี้ว่า ‘บุคคลเห็นอยู่ ชื่อว่าไม่เห็น’ ข้อความที่อุทกดาบส รามบุตร
กล่าวนั้น เป็นธรรมอันทราม เป็นของชาวบ้าน๑ เป็นของปุถุชน ไม่เป็นของพระอริยะ
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์๒ เพราะหมายเอาเฉพาะมีดโกนเท่านั้น
จุนทะ ถ้าบุคคลเมื่อกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงคำนั้นใดว่า ‘บุคคลเห็นอยู่
ชื่อว่าไม่เห็น’ บุคคลเมื่อกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงคำนี้นั้นนั่นแลว่า ‘บุคคลเห็นอยู่
ชื่อว่าไม่เห็น’ ถามว่า ‘บุคคลเห็นอะไรอยู่ ชื่อว่าไม่เห็น’ ตอบว่า ‘พรหมจรรย์
สมบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ไม่หย่อน ไม่ยิ่ง ศาสดา
กล่าวไว้ดี บริบูรณ์ครบถ้วน ศาสดาประกาศไว้ดีแล้ว’ ด้วยเหตุดังนี้แล บุคคลจึง
ชื่อว่าเห็นพรหมจรรย์นั้น ในพรหมจรรย์นี้ ถ้าบุคคลถอนสิ่งนี้ออกไปด้วยคิดว่า
‘พรหมจรรย์นั้น จะพึงบริสุทธิ์กว่า ด้วยวิธีการนี้’ ด้วยเหตุดังนี้แล บุคคลจึงชื่อว่า
ไม่เห็นพรหมจรรย์นั้น ในพรหมจรรย์นี้ ถ้าบุคคลเพิ่มสิ่งนี้เข้าไป ด้วยคิดว่า
‘พรหมจรรย์นั้น จะพึงบริบูรณ์ขึ้นด้วยวิธีการนี้’ ด้วยเหตุดังนี้แล บุคคลจึงชื่อว่าไม่
เห็นพรหมจรรย์นั้น นี้เรียกว่า ‘บุคคลเห็นอยู่ ชื่อว่าไม่เห็น’ จุนทะ บุคคลเมื่อกล่าว
ให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงคำนั้นใดว่า ‘พรหมจรรย์ สมบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ฯลฯ
ศาสดาประกาศไว้ดีแล้ว’ บุคคลเมื่อกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงคำนี้นั่นแลว่า
‘พรหมจรรย์ สมบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ไม่หย่อน
ไม่ยิ่ง ศาสดากล่าวไว้ดี บริบูรณ์ครบถ้วน ศาสดาประกาศไว้ดีแล้ว’

เชิงอรรถ :
๑ เป็นของชาวบ้าน ในที่นี้หมายถึงเป็นข้อประพฤติปฏิบัติของคนโง่ (ที.ปา.ฏีกา ๑๖๐/๑๐๐)
๒ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ในที่นี้หมายถึงไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๓ อย่าง คือ (๑) ทิฏฐธัมมิกัตถะ
(ประโยชน์ในโลกนี้) (๒) สัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์ในโลกหน้า) (๓) ปรมัตถะ (ประโยชน์สูงสุดคือพระ
นิพพาน) (ที.ปา.ฏีกา ๑๖๐/๑๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] ธรรมที่ควรสังคายนา

ธรรมที่ควรสังคายนา

[๑๗๗] จุนทะ เพราะเหตุนั้น ธรรมทั้งหลายที่เราแสดงไว้แล้วเพื่อความรู้ยิ่ง
บริษัททั้งหมดนั้นแหละ พึงพร้อมเพรียงกันประชุม สอบทานอรรถกับอรรถ พยัญชนะ
กับพยัญชนะในธรรมนั้น แล้วพึงสังคายนา ไม่พึงวิวาทกัน เพื่อให้พรหมจรรย์นี้
ตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่ได้นาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุข
แก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดา
และมนุษย์ทั้งหลาย
ธรรมทั้งหลายเราแสดงไว้เพื่อความรู้ยิ่ง บริษัททั้งหมดนั่นแหละพึง
พร้อมเพรียงกัน ประชุมสอบทานอรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะแล้ว
พึงสังคายนากัน ไม่พึงวิวาทกัน เพื่อให้พรหมจรรย์นี้ตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่
ได้นาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อ
อนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย คืออะไร
คือ

๑. สติปัฏฐาน ๔___๒. สัมมัปปธาน ๔
๓. อิทธิบาท ๔___๔. อินทรีย์ ๕
๕. พละ ๕___๖. โพชฌงค์ ๗
๗. อริยมรรคมีองค์ ๘

จุนทะ ธรรมทั้งหลายนี้แล เราแสดงไว้แล้วเพื่อความรู้ยิ่ง บริษัททั้งหมด
นั่นแหละพึงพร้อมเพรียงกันประชุม สอบทานอรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ
พึงสังคายนากัน ไม่พึงวิวาทกัน เพื่อให้พรหมจรรย์นี้ตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่ได้นาน
ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] วิธีอธิบายให้เข้าใจ

วิธีอธิบายให้เข้าใจ

[๑๗๘] จุนทะ บรรดาเธอเหล่านั้นซึ่งพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน
ศึกษาอยู่ เพื่อนพรหมจารีรูปหนึ่งพึงกล่าวธรรมในสงฆ์ ในการกล่าวธรรมนั้น หาก
เธอทั้งหลายมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้แล รับอรรถนั้นแหละมาผิด และยก
พยัญชนะมาผิด’ เธอทั้งหลายยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านเพื่อนพรหมจารีนั้น
ครั้นไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านแล้ว พึงกล่าวกับเพื่อนพรหมจารีรูปนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มี
อายุ ระหว่างพยัญชนะเหล่านี้กับพยัญชนะเหล่านั้น พยัญชนะเหล่าไหนสมควรแก่
อรรถนี้มากกว่า ระหว่างอรรถนี้กับอรรถนั้น อรรถไหนสมควรแก่พยัญชนะเหล่านี้
มากกว่า’ ถ้าเพื่อนพรหมจารีรูปนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ พยัญชนะเหล่านี้
ที่ผมพูดแล้วเท่านั้น สมควรแก่อรรถนี้มากกว่า อรรถนี้ที่ผมพูดแล้วเท่านั้น สมควร
แก่พยัญชนะเหล่านี้มากกว่า’ เธอทั้งหลายไม่พึงชมเชย ไม่พึงต่อว่าเพื่อนพรหมจารี
รูปนั้น ครั้นไม่ชมเชย ไม่ต่อว่าแล้ว พึงอธิบายให้เพื่อนพรหมจารีรูปนั้นเข้าใจอย่าง
ถูกต้อง เพื่อใคร่ครวญอรรถนั้นและพยัญชนะเหล่านั้น
[๑๗๙] จุนทะ ถ้าเพื่อนพรหมจารีแม้รูปอื่นพึงกล่าวธรรมในสงฆ์ ในการ
กล่าวธรรมนั้น หากเธอทั้งหลายมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้แล รับอรรถมาผิด
แต่ยกพยัญชนะมาถูก’ เธอทั้งหลายไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้านเพื่อนพรหมจารีรูปนั้น
ครั้นไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านแล้ว พึงกล่าวกับเพื่อนพรหมจารีรูปนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มี
อายุ ระหว่างอรรถนี้กับอรรถนั้น อรรถไหนสมควรแก่พยัญชนะเหล่านี้มากกว่า’ ถ้า
เพื่อนพรหมจารีรูปนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘อรรถนี้ที่ผมพูดแล้วเท่านั้น สมควรแก่
พยัญชนะเหล่านี้มากกว่า’ เธอทั้งหลายไม่พึงชมเชย ไม่พึงต่อว่าเพื่อนพรหมจารี
รูปนั้น ครั้นไม่ชมเชย ไม่ต่อว่าแล้ว พึงอธิบายให้เพื่อนพรหมจารีรูปนั้นเข้าใจอย่าง
ถูกต้อง เพื่อใคร่ครวญอรรถนั้น
[๑๘๐] จุนทะ ถ้าเพื่อนพรหมจารีแม้รูปอื่น พึงกล่าวธรรมในสงฆ์ ในการ
กล่าวธรรมนั้น หากเธอทั้งหลายมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้แล รับอรรถมาดี
แต่ยกพยัญชนะมาผิด’ เธอทั้งหลายไม่พึงชื่นชม ไม่พึงคัดค้านเพื่อนพรหมจารีรูปนั้น
ครั้นไม่ชื่นชม ไม่คัดค้านแล้ว พึงกล่าวกับเพื่อนพรหมจารีรูปนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] เหตุแห่งการอนุญาตปัจจัย

อายุ ระหว่างพยัญชนะเหล่านี้กับพยัญชนะเหล่านั้น พยัญชนะเหล่าไหนสมควรแก่
อรรถนี้มากกว่า’ ถ้าเพื่อนพรหมจารีรูปนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พยัญชนะเหล่านี้ที่ผม
พูดแล้วเท่านั้น สมควรแก่อรรถนี้มากกว่า’ เธอทั้งหลายไม่พึงชมเชย ไม่พึงต่อว่า
เพื่อนพรหมจารีรูปนั้น ครั้นไม่ชมเชย ไม่ต่อว่าแล้ว พึงอธิบายให้เพื่อนพรหมจารี
รูปนั้นเข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อใคร่ครวญพยัญชนะเหล่านั้น
[๑๘๑] จุนทะ ถ้าเพื่อนพรหมจารีแม้รูปอื่น พึงกล่าวธรรมในสงฆ์ ในการ
กล่าวธรรมนั้น หากเธอทั้งหลายมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้แล รับอรรถ
มาถูก และยกพยัญชนะมาถูก’ เธอทั้งหลายพึงชื่นชม พึงอนุโมทนาภาษิตของ
เพื่อนพรหมจารีรูปนั้นว่า ‘ดีแล้ว’ ครั้นชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของเพื่อนพรหมจารี
รูปนั้นว่า ‘ดีแล้ว’ พึงกล่าวกับเพื่อนพรหมจารีรูปนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ เป็น
ลาภของพวกเรา พวกเราได้ดีแล้ว ที่พวกเราพบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน ผู้มีอายุ
ผู้เข้าถึงอรรถ ผู้เข้าถึงพยัญชนะอย่างนี้’

เหตุแห่งการอนุญาตปัจจัย

[๑๘๒] จุนทะ เราแสดงธรรมเพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
เท่านั้นก็หามิได้ และแสดงธรรมเพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต
เท่านั้นก็หามิได้ แต่เราแสดงธรรมเพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
และเพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต เพราะฉะนั้น เราอนุญาตจีวร
แก่เธอทั้งหลาย ก็เพียงเพื่อป้องกันความหนาว ป้องกันความร้อน ป้องกันสัมผัส
แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย และเพียงเพื่อปกปิดอวัยวะ
ที่น่าละอาย เราอนุญาตบิณฑบาตแก่เธอทั้งหลาย ก็เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้แห่ง
กายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์
ด้วยคิดว่า ‘เราจักกำจัดเวทนาเก่า และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำเนินไปแห่งกาย
ความไม่มีโทษและความอยู่ผาสุกจักมีแก่เรา ด้วยประการฉะนี้’ เราอนุญาตเสนาสนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] สุขัลลิกานุโยค

แก่เธอทั้งหลาย ก็เพียงเพื่อป้องกันความหนาว ป้องกันความร้อน ป้องกันสัมผัส
แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย เพื่อบรรเทาอันตรายที่เกิด
จากฤดู และเพื่อยินดีในการหลีกเร้น เราอนุญาตคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารแก่เธอ
ทั้งหลาย ก็เพียงเพื่อบรรเทาเวทนาอันเนื่องมาจากอาพาธต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อ
ความไม่ลำบากเป็นอย่างยิ่ง

สุขัลลิกานุโยค

[๑๘๓] จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘พวกสมณะ ศากยบุตรยึดถือสุขัลลิกานุโยค๑อยู่’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้กับ
อัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สุขัลลิกานุโยค เป็น
อย่างไร เพราะสุขัลลิกานุโยค มีมากมายหลายอย่างต่าง ๆ กัน’
จุนทะ สุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้ เป็นธรรมต่ำทราม เป็นของชาวบ้าน
เป็นของปุถุชน มิใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความ
เบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ
ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
สุขัลลิกานุโยค ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. คนพาลบางคนในโลกนี้ ฆ่าสัตว์ ครั้นฆ่าแล้ว บำรุงตนเองให้เป็นสุข
ให้มีความเอิบอิ่ม๒ นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคประการที่ ๑
๒. คนพาลบางคนในโลกนี้ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ครั้นถือ
เอาแล้วบำรุงตนเองให้เป็นสุข ให้มีความเอิบอิ่ม นี้เป็นสุขัลลิกานุโยค
ประการที่ ๒
๓. คนพาลบางคนในโลกนี้ พูดเท็จ ครั้นพูดเท็จแล้ว บำรุงตนเองให้
เป็นสุข ให้มีความเอิบอิ่ม นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคประการที่ ๓

เชิงอรรถ :
๑ สุขัลลิกานุโยค ในที่นี้หมายถึงการหมกมุ่นในการเสพสุข (เป็นคตินิยมอย่างหนึ่งในปรัชญาอินเดีย
เรียกว่า จารวาก เทียบได้กับคติสุขารมณ์ (hedonism) ของปรัชญาตะวันตก) (ที.ปา.อ. ๑๘๓/๑๐๒)
๒ ให้มีความเอิบอิ่ม ในที่นี้หมายถึงให้มีร่างกายอ้วนท้วน (ที.ปา.อ. ๑๘๓/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] สุขัลลิกานุโยค

๔. คนพาลบางคนในโลกนี้ เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วย
กามคุณ ๕ ประการ นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคประการที่ ๔
จุนทะ สุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้ เป็นธรรมต่ำทราม เป็นของชาวบ้าน
เป็นของปุถุชน มิใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความ
เบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ
ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกสมณะ
ศากยบุตร ยึดถือสุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้อยู่’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวกับอัญเดียรถีย์
ปริพาชกเหล่านั้นว่า ‘พวกท่านอย่ากล่าวอย่างนี้เลย’ อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
เมื่อกล่าวถึงเธอทั้งหลาย ก็ไม่กล่าวให้ถูกต้อง กลับกล่าวตู่ด้วยคำที่ไม่มีจริง ไม่เป็นจริง
[๑๘๔] จุนทะ สุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดย
ส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อ
นิพพาน
สุขัลลิกานุโยค ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดแล้วจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุ
ปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ นี้เป็น
สุขัลลิกานุโยคประการที่ ๑
๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ อยู่ นี้เป็น
สุขัลลิกานุโยคประการที่ ๒
๓. เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุข
ด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ฯลฯ อยู่ นี้เป็นสุขัลลิกานุโยค
ประการที่ ๓
๔. เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุ
บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคประการที่ ๔
สุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลาย
กำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ว่าด้วยอานิสงส์ของสุขัลลิกานุโยค

จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวก
สมณะ ศากยบุตร ยึดถือสุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้อยู่’ เธอทั้งหลายพึงกล่าวกับ
อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นว่า ‘ท่านทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้’ อัญเดียรถีย์ปริพาชก
เหล่านั้น เมื่อกล่าวถึงเธอทั้งหลายก็กล่าวได้ถูกต้อง มิใช่กล่าวตู่เธอทั้งหลาย
ด้วยคำที่ไม่มีจริง ไม่เป็นจริง

ว่าด้วยอานิสงส์ของสุขัลลิกานุโยค

[๑๘๕] จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ก็ท่านทั้งหลายยึดถือสุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้อยู่ พึงหวังผลได้เท่าไหร่ พึงหวัง
อานิสงส์ได้เท่าไหร่’ เธอทั้งหลายควรกล่าวอย่างนี้กับอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะ
อย่างนั้นว่า ‘พวกเรายึดถือสุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้อยู่ พึงหวังได้ผล ๔ ประการ
พึงหวังได้อานิสงส์ ๔ ประการ
ผล ๔ ประการ อานิสงส์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการ
สิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
นี้เป็นผลประการที่ ๑ อานิสงส์ประการที่ ๑
๒. ภิกษุเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะ
ราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว ก็จะทำที่สุด
แห่งทุกข์ได้ นี้เป็นผลประการที่ ๒ อานิสงส์ประการที่ ๒
๓. ภิกษุเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพาน
ในโลกนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก นี้เป็นผลประการที่ ๓ อานิสงส์
ประการที่ ๓
๔. ภิกษุทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เป็นผลประการที่ ๔
อานิสงส์ประการที่ ๔
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกเรายึดถือสุขัลลิกานุโยค ๔ ประการนี้อยู่ พึงหวัง
ได้ผล ๔ ประการ พึงหวังได้อานิสงส์ ๔ ประการนี้แล’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร]
ฐานะที่ไม่อาจเป็นไปได้สำหรับพระขีณาสพ

ฐานะที่ไม่อาจเป็นไปได้สำหรับพระขีณาสพ

[๑๘๖] จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวก
สมณะ ศากยบุตร มีหลักการไม่แน่นอนอยู่’ เธอทั้งหลายควรกล่าวอย่างนี้กับ
อัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้นว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หลักการที่พระผู้มี
พระภาคผู้ทรงรู้๑ทรงเห็น๒ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงแสดงไว้
บัญญัติไว้แก่เหล่าสาวก เป็นหลักการที่เหล่าสาวกต้องไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิตมีอยู่
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เสาเขื่อน หรือเสาเหล็ก มีรากลึก ปักไว้ดีแล้ว ไม่หวั่นไหว
ไม่สั่นสะเทือน แม้ฉันใด หลักการที่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงแสดงไว้ บัญญัติไว้แก่เหล่าสาวก เป็นหลักการที่
เหล่าสาวกต้องไม่ล่วงละเมิดตลอดชีวิต ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุใดเป็นพระอรหันต-
ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว๓ บรรลุ
ประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบได้ ภิกษุนั้น
ไม่อาจประพฤติละเมิดฐานะ ๙ ประการ คือ
๑. ภิกษุขีณาสพไม่อาจจงใจปลงชีวิตสัตว์
๒. ภิกษุขีณาสพไม่อาจถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย
๓. ภิกษุขีณาสพไม่อาจเสพเมถุนธรรม
๔. ภิกษุขีณาสพไม่อาจพูดเท็จทั้งที่รู้
๕. ภิกษุขีณาสพไม่อาจสะสมบริโภคกาม๔เหมือนเมื่อเป็นคฤหัสถ์
๖. ภิกษุขีณาสพไม่อาจลำเอียงเพราะชอบ

เชิงอรรถ :
๑ ทรงรู้ ในที่นี้หมายถึงทรงรู้ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ (ที.ปา.อ. ๑๘๖/๑๐๒)
๒ ทรงเห็น ในที่นี้หมายถึงทรงเห็นด้วยจักษุ ๕ คือ (๑) มังสจักขุ (ตาเนื้อ) (๒) ทิพพจักขุ (ตาทิพย์)
(๓) ปัญญาจักขุ (ตาปัญญา) (๔) พุทธจักขุ (ตาพระพุทธเจ้า) (๕) สมันตจักขุ (ตาเห็นรอบ) (ที.ปา.อ.
๑๘๖/๑๐๒)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๑๑๖ หน้า ๘๗ ในเล่มนี้
๔ กาม ในที่นี้หมายถึงทั้งวัตถุกามและกิเลสกาม (ที.ปา.อ. ๑๘๖/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] ปัญหาพยากรณ์

๗. ภิกษุขีณาสพไม่อาจลำเอียงเพราะชัง
๘. ภิกษุขีณาสพไม่อาจลำเอียงเพราะหลง
๙. ภิกษุขีณาสพไม่อาจลำเอียงเพราะกลัว
ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จ
แล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้น
เพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นไม่อาจประพฤติละเมิดฐานะ ๙ ประการนี้แล๑

ปัญหาพยากรณ์

[๑๘๗] จุนทะ เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก พึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘พระสมณโคดม ปรารภอดีตกาลยาวนานแล้วบัญญัติญาณทัสสนะอันไม่มีขอบเขตไว้
แต่หาได้ปรารภอนาคตกาลยาวนานแล้วบัญญัติญาณทัสสนะอันไม่มีขอบเขตไว้ไม่
ทำไมจึงกล่าวอย่างนั้น กล่าวอย่างนั้นเพราะเหตุไร’ อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
เข้าใจญาณทัสสนะที่มีความหมายอย่างหนึ่งว่า ทรงบัญญัติรวมเข้ากับญาณทัสสนะ
ที่มีความหมายอีกอย่างหนึ่งเหมือนคนโง่ ไม่เฉียบแหลมฉะนั้น ตถาคตมีสตานุสาริ-
ญาณ๒ ปรารภอดีตกาลยาวนานได้ คือ ตถาคตระลึกได้ตลอดขอบเขตเท่าที่ประสงค์
และตถาคตมีญาณ๓ที่เกิดจากการตรัสรู้ ปรารภอนาคตกาลยาวนานได้ว่า ‘ชาตินี้
เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก’ แม้ถ้าเรื่องอดีต เป็นเรื่องไม่จริง ไม่แท้
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตไม่พยากรณ์เรื่องอดีตนั้น ถ้าแม้เรื่องอดีต เป็น
เรื่องจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์เรื่องอดีตนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๗/๔๔๖
๒ สตานุสาริญาณ ในที่นี้หมายถึงปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ความหยั่งรู้เป็นเหตุให้ระลึกชาติได้) (ที.ปา.อ.
๑๘๗/ ๑๐๓)
๓ ญาณ หมายถึงมรรคญาณ ๔ คือ (๑) โสตาปัตติมรรค (๒) สกทาคามิมรรค (๓) อนาคามิมรรค
(๔) อรหัตตมรรค (ที.ปา.อ. ๑๘๗/๑๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [๖. ปาสาทิกสูตร] ปัญหาพยากรณ์

ถ้าแม้เรื่องอดีต เป็นเรื่องจริง แท้ ทั้งประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้นตถาคต
ก็รู้จักกาลที่จะพยากรณ์ปัญหานั้น ถ้าแม้เรื่องอนาคต เป็นเรื่องไม่จริง ไม่แท้ ไม่
ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์เรื่องอนาคตนั้น ถ้าแม้เรื่องอนาคต
เป็นเรื่องจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์เรื่อง
อนาคตนั้น ถ้าแม้เรื่องอนาคต เป็นเรื่องจริง แท้ ทั้งประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่อง
นั้นตถาคตก็รู้จักกาลที่จะพยากรณ์ปัญหานั้น ถ้าแม้เรื่องปัจจุบัน เป็นเรื่องไม่จริง
ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์เรื่องปัจจุบันนั้น ถ้าแม้เรื่อง
ปัจจุบัน เป็นเรื่องจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์เรื่อง
ปัจจุบันนั้น ถ้าแม้เรื่องปัจจุบัน เป็นเรื่องจริง แท้ ทั้งประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น
ตถาคตก็รู้จักกาลที่จะพยากรณ์ปัญหานั้น
[๑๘๘] จุนทะ ด้วยเหตุนี้ เพราะตถาคตเป็นกาลวาที๑ ภูตวาที๒ อัตถวาที๓
ธัมมวาที๔ วินยวาที๕ ในธรรมทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฉะนั้น ชาวโลก
จึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตตรัสรู้รูปที่ได้เห็น๖ เสียงที่ได้ฟัง๗ อารมณ์ที่ได้ทราบ๘ ธรรมารมณ์
ที่รู้แจ้ง๙ ที่ชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง

เชิงอรรถ :
๑ กาลวาที หมายถึงตรัสในเวลาเหมาะสม (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๔)
๒ ภูตวาที หมายถึงตรัสสภาวะที่เป็นจริง (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๔)
๓ อัตถวาที หมายถึงตรัสปรมัตถนิพพาน (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๔)
๔ ธัมมวาที หมายถึงตรัสถึงมรรคธรรมและผลธรรม (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๔)
๕ วินยวาที หมายถึงตรัสถึงวินัยที่มีการสำรวมเป็นต้น (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๔)
๖ รูปที่ได้เห็น หมายถึงรูปายตนะ (อายตนะคือรูป) (ที.ปา.อ. ๑๘๘/๑๐๔, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/๓๐๑)
๗ เสียงที่ได้ฟัง หมายถึงสัททายตนะ (อายตนะคือเสียง) (ที.ปา.อ. ๑๘๘/๑๐๔, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/๓๐๑)
๘ อารมณ์ที่ได้ทราบ หมายถึงคันธายตนะ (อายตนะคือกลิ่น) รสายตนะ (อายตนะคือรส) โผฏฐัพพายตนะ
(อายตนะคือโผฏฐัพพะ) เพราะเป็นสภาวะที่บุคคลถึงแล้วจึงกำหนดได้ (ที.ปา.อ. ๑๘๘/๑๐๔, องฺ.จตุกฺก.อ.
๒/๒๓/ ๓๐๑)
๙ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง หมายถึงธรรมารมณ์มีสุขและทุกข์เป็นต้น (ที.ปา.อ. ๑๘๘/๑๐๔, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/
๓๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๑ หน้า :๑๔๖ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker