ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๐๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย มหาวรรค
____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. มหาปทานสูตร
ว่าด้วยพระประวัติของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์
เรื่องเกี่ยวกับปุพเพนิวาส

[๑] ข้าพเจ้า๑ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กเรริกุฎี๒ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้ว
นั่งประชุมกันที่หอนั่งใกล้กเรริมณฑป๓ สนทนาธรรมอันเกี่ยวกับปุพเพนิวาส๔ว่า
“ปุพเพนิวาสมีได้เพราะเหตุอย่างนี้ ๆ”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้และพระสูตรอื่น ๆ ในเล่มนี้หมายถึงพระอานนท์ (ที.สี.อ.
๑/๒๖)
๒ กเรริกุฎี เป็นชื่อของกุฎีใหญ่หลังหนึ่งในพระเชตวัน ในบรรดากุฎีใหญ่ ๔ หลัง คือ (๑) กเรริกุฎี (๒) โกสัมพ-
กุฎี (๓) คันธกุฎี (๔) สฬลฆรกุฎี ที่ชื่อว่ากเรริกุฎี เพราะตั้งอยู่ใกล้กเรริมณฑป (ที.ม.อ. ๑/๑)
๓ กเรริมณฑป หมายถึงเรือนยอดสี่เหลี่ยมที่สร้างด้วยไม้กุ่มน้ำ ตั้งอยู่ระหว่างพระคันธกุฎีกับหอนั่ง หอนั่ง
แปลจากคำว่า กเรริมณฺฑลมาเฬ ในที่นี้หมายถึงศาลาสำหรับนั่ง (นิสีทนสาลา) เป็นศาลาทรงกลมที่สร้าง
ย่อส่วนจากเรือนยอด ไม่มีฝา บางทีคำว่า มณฺฑลมาฬ ท่านใช้รวมถึงบริเวณพระคันธกุฎี กเรริกุฎีและหอนั่ง
(ที.ม.ฏีกา ๑/๑)
๔ ปุพเพนิวาส หมายถึงชีวิตในชาติก่อน คือการสืบต่อของขันธ์ที่เคยเป็นอยู่ในชาติก่อนอาจ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง (ที.ม.อ.๑/๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

[๒] พระผู้มีพระภาคทรงสดับคำสนทนาของภิกษุเหล่านั้นด้วยทิพพโสตธาตุ
อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปที่หอนั่งใกล้กเรริมณฑป
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า
“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เรื่องอะไร
ที่เธอทั้งหลายสนทนากันค้างไว้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้น จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาต ภายหลัง
ฉันอาหารเสร็จแล้ว นั่งประชุมกันที่หอนั่งใกล้กเรริมณฑป สนทนาธรรมอันเกี่ยวกับ
ปุพเพนิวาสว่า ‘ปุพเพนิวาสมีได้เพราะเหตุอย่างนี้ ๆ’ เรื่องนี้แลที่ข้าพระองค์ทั้งหลาย
สนทนากันค้างไว้ ก็พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”
[๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายต้องการจะฟัง
ธรรมีกถาอันเกี่ยวกับปุพเพนิวาสหรือไม่”
พวกภิกษุทูลตอบว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ถึงกาลอันสมควรที่พระ
ผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมีกถาอันเกี่ยวกับปุพเพนิวาส ภิกษุทั้งหลายได้ฟังจาก
พระผู้มีพระภาคแล้วจะได้ทรงจำไว้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจัก
กล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
[๔] “ภิกษุทั้งหลาย นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๙๑ กัป พระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก นับจากกัปนี้ถอยหลังไป
๓๑ กัป พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ได้เสด็จอุบัติขึ้น
ในโลก ในกัปที่ ๓๑ นั้นเอง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า
เวสสภู ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในภัทรกัป๑นี้เอง พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนาม

เชิงอรรถ :
๑ กัทรกัป คือ กัปที่เจริญหรือดีงาม เนื่องจากเป็นกัปเดียวที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติถึง ๕ พระองค์ ในที่นี้
หมายถึงกัปปัจจุบันนี้ (ที.ม.อ. ๔/๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

ว่าโกนาคมนะ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ได้เสด็จ
อุบัติขึ้นในโลก บัดนี้ เราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้อุบัติขึ้นมาในโลกใน
ภัทรกัปนี้เช่นกัน
[๕] พระวิปัสสีพุทธเจ้า พระสิขีพุทธเจ้า พระเวสสภูพุทธเจ้า มีพระชาติเป็น
กษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมน-
พุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า๑ มีพระชาติเป็นพราหมณ์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูล
พราหมณ์ บัดนี้ เราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีชาติเป็นกษัตริย์ ได้อุบัติขึ้น
ในตระกูลกษัตริย์
[๖] พระวิปัสสีพุทธเจ้า มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ พระสิขีพุทธเจ้า มีพระ
โคตรว่าโกณฑัญญะ พระเวสสภูพุทธเจ้า มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ พระกกุสันธ-
พุทธเจ้า มีพระโคตรว่ากัสสปะ พระโกนาคมนพุทธเจ้า มีพระโคตรว่ากัสสปะ
พระกัสสปพุทธเจ้า มีพระโคตรว่ากัสสปะ บัดนี้ เราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
มีโคตรว่าโคตมะ
[๗] พระวิปัสสีพุทธเจ้า มีพระชนมายุประมาณ ๘๐,๐๐๐ ปี พระสิขีพุทธเจ้า
มีพระชนมายุประมาณ ๗๐,๐๐๐ ปี พระเวสสภูพุทธเจ้า มีพระชนมายุประมาณ
๖๐,๐๐๐ ปี พระกกุสันธพุทธเจ้า มีพระชนมายุประมาณ ๔๐,๐๐๐ ปี พระโกนา-
คมนพุทธเจ้า มีพระชนมายุประมาณ ๓๐,๐๐๐ ปี พระกัสสปพุทธเจ้า มีพระชนมายุ
ประมาณ ๒๐,๐๐๐ ปี บัดนี้ เรามีอายุเพียงเล็กน้อย ผู้ที่มีอายุยืนก็เพียง ๑๐๐ ปี
หรือเกินไปอีกเล็กน้อย
[๘] พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นแคฝอย๒ พระสิขีพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควง
ต้นมะม่วง พระเวสสภูพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นสาละ พระกกุสันธพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นซึก

เชิงอรรถ :
๑ ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปในพระสูตรนี้ จะใช้คำว่า “พระวิปัสสีพุทธเจ้า พระสิขีพุทธเจ้า พระเวสสภูพุทธเจ้า
พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า“ แทนวลีว่า “พระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เป็นต้น
๒ ที่ควงต้นแคฝอย หมายถึงภายใต้บริเวณร่มแคฝอย(ที.ม.อ.๘/๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

พระโกนาคมนพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นมะเดื่อ พระกัสสปพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นไทร
บัดนี้ เราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ควงต้นอัสสัตถะ๑
[๙] พระวิปัสสีพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระอัครสาวก๒เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่ พระขัณฑะ
และพระติสสะ พระสิขีพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่ พระอภิภู
และพระสัมภวะ พระเวสสภูพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่
พระโสณะและพระอุตตระ พระกกุสันธพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ
ได้แก่ พระวิธูระและพระสัญชีวะ พระโกนาคมนพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระอัครสาวก
เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่ พระภิยโยสะและพระอุตตระ พระกัสสปพุทธเจ้า ทรงมีคู่พระ
อัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่ พระติสสะและพระภารทวาชะ บัดนี้ เรามีคู่พระ
อัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ
[๑๐] พระวิปัสสีพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวก๓ ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีภิกษุ
๑๖๘,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ ๘๐,๐๐๐ รูป
พระสาวกที่เข้าประชุมทั้ง ๓ ครั้ง ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ๔
พระสิขีพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป
ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ ๘๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ ๗๐,๐๐๐ รูป พระสาวกที่เข้า
ประชุมทั้ง ๓ ครั้ง ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ
พระเวสสภูพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีภิกษุ
๘๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ ๗๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ ๖๐,๐๐๐ รูป พระสาวก
ที่เข้าประชุมทั้ง ๓ ครั้ง ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ

เชิงอรรถ :
๑ ต้นอัสสัตถะ ในที่นี้หมายถึงต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ กล่าวคือพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ตรัสรู้ ณ ควงต้นไม้
ใด ๆ ต้นนั้น ๆเรียกว่า โพธิ์ (ขุ.อป. ๓๓/๒๓/๕๗๐,ขุ.พุทฺธวํส. ๓๓/๑-๑๘/๔๓๑, ที.ม.อ. ๘/๑๐-๑๑)
๒ พระอัครสาวก คือ พระสาวกชั้นยอด เพราะมีคุณสมบัติพิเศษกว่าพระสาวกอื่นทั้งหมด พระพุทธเจ้า
แต่ละพระองค์มีพระอัครสาวก ๒ องค์ พระอัครสาวกของพระพุทธเจ้าของเรา คือ (๑) พระสารีบุตรเถระ
เลิศทางปัญญา (๒) พระมหาโมคคัลลานเถระ เลิศทางมีฤทธิ์มาก (ที.ม.อ.๙/๑๑-๑๒)
๓ การประชุมพระสาวก ในที่นี้หมายถึงการประชุมสงฆ์ ที่ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ คือ (๑) ภิกษุผู้เข้า
ประชุมทั้งหมดมีพระพุทธเจ้าเป็นอุปัชฌาย์ (๒) ภิกษุผู้เข้าประชุมทั้งหมดมีบาตรและมีจีวรเกิดจากฤทธิ์
(๓) ภิกษุผู้เข้าประชุมทั้งหมดเข้าประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย (๔) วันประชุมตรงกับวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ
พระศาสดาทรงแสดงอุโบสถ (โอวาทปาติโมกข์) ด้วยพระองค์เอง (ที.ม.อ.๑๐/๑๒)
๔ พระขีณาสพ หมายถึงผู้สิ้นอาสวะ ๔ คือ (๑) กามาสวะ (อาสวะคือกาม) (๒) ภวาสวะ (อาสวะคือภพ)
(๓) ทิฏฐาสวะ (อาสวะคือทิฏฐิ) (๔) อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา) (ที.ปา.อ. ๑๑๖/๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

พระกกุสันธพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๔๐,๐๐๐ รูป
พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ
พระโกนาคมนพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๓๐,๐๐๐ รูป
พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ
พระกัสสปพุทธเจ้า มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๒๐,๐๐๐ รูป
พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ
บัดนี้ เรามีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป พระสาวกที่
เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ
[๑๑] พระวิปัสสีพุทธเจ้ามีภิกษุอโสกะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก
พระสิขีพุทธเจ้ามีภิกษุเขมังกรเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก พระเวสสภูพุทธเจ้ามี
ภิกษุอุปสันตะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก พระกกุสันธพุทธเจ้ามีภิกษุวุฑฒิชะ
เป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก พระโกนาคมนพุทธเจ้ามีภิกษุโสตถิชะเป็นอุปัฏฐาก
เป็นอัครอุปัฏฐาก พระกัสสปพุทธเจ้ามีภิกษุสัพพมิตตะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก
บัดนี้ เรามีภิกษุอานนท์เป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก
[๑๒] พระวิปัสสีพุทธเจ้ามีพระเจ้าพันธุมาเป็นพระบิดา พระนางพันธุมดีเทวี
เป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงพันธุมดีเป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา
พระสิขีพุทธเจ้ามีพระเจ้าอรุณะเป็นพระบิดา พระนางปภาวดีเทวีเป็นพระมารดา
ผู้ให้กำเนิด กรุงอรุณวดีเป็นราชธานีของพระเจ้าอรุณะ
พระเวสสภูพุทธเจ้ามีพระเจ้าสุปปติตะเป็นพระบิดา พระนางยสวดีเทวีเป็น
พระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงอโนมะเป็นราชธานีของพระเจ้าสุปปติตะ
พระกกุสันธพุทธเจ้ามีพราหมณ์อัคคิทัตเป็นพระบิดา นางพราหมณีวิสาขา
เป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด สมัยนั้น ได้มีพระราชาทรงพระนามว่าเขมะ กรุงเขมวดี
เป็นราชธานีของพระเจ้าเขมะ
พระโกนาคมนพุทธเจ้ามีพราหมณ์ยัญญทัตเป็นพระบิดา นางพราหมณีอุตตรา
เป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด สมัยนั้น ได้มีพระราชาทรงพระนามว่าโสภะ กรุงโสภวดี
เป็นราชธานีของพระเจ้าโสภะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

พระกัสสปพุทธเจ้ามีพราหมณ์พรหมทัตเป็นพระบิดา นางพราหมณีธนวดีเป็น
พระมารดาผู้ให้กำเนิด สมัยนั้น ได้มีพระราชาทรงพระนามว่ากิงกี กรุงพาราณสี
เป็นราชธานีของพระเจ้ากิงกี
บัดนี้ เรามีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระบิดา พระนางมายาเทวีเป็นพระมารดา
ผู้ให้กำเนิด กรุงกบิลพัสดุ์เป็นราชธานี” พระผู้มีพระภาคผู้สุคตได้ตรัสเรื่องนี้แล้ว
จึงเสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร
[๑๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นได้สนทนาเรื่อง
ที่ค้างไว้ต่อไปดังนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่พระตถาคต
ทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมาก ทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล
ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้า๑ได้แล้ว ผู้ตัดทาง๒ได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะ๓
ได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์๔ทั้งปวงได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ พระนาม พระโคตร พระชนมายุ
คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวกว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระนาม
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตรอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีธรรม๕อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมี
ปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่๖
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น๗
อย่างนี้’

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเครื่องเนิ่นช้า ได้แก่ กิเลส ๓ คือ (๑) ตัณหา (๒) มานะ (๓) ทิฏฐิ หรือกิเลสวัฏฏะ (วงจรกิเลส)
(ที.ม.อ. ๑๓/๒๐)
๒ ทาง คือ ทางแห่งกุศลกรรม (กรรมดี) และ อกุศลกรรม (กรรมชั่ว) หรือ กรรมวัฏฏะ (วงจรกรรม) (ที.ม.อ.
๑๓/๒๐)
๓ วัฏฏะ หมายถึงสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด (ที.ม.อ. ๑๑๖/๑๐๒)
๔ ทุกข์ ในที่นี้หมายถึงวิปากวัฏฏะ (วงจรวิบาก) (ที.ม.อ. ๑๓/๒๐)
๕ ธรรม ในที่นี้หมายถึงสมาธิ ทั้งมรรคสมาธิ ผลสมาธิ โลกิยสมาธิ และโลกุตตรสมาธิ (ที.ม.อ. ๑๓/๒๐)
๖ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ ในที่นี้หมายถึงนิโรธสมาบัติ (ที.ม.อ. ๑๓/๒๐)
๗ ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น ในที่นี้หมายถึงวิมุตติ ๕ ประการ คือ (๑) วิกขัมภนวิมุตติ (๒) ตทังควิมุตติ
(๓) สมุจเฉทวิมุตติ (๔) ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ (๕) นิสสรณวิมุตติ (ที.ม.อ. ๑๓/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

ท่านผู้มีอายุ เป็นอย่างไรหนอ เพราะพระตถาคตทรงมีปัญญาแทงตลอด
ธรรมธาตุนี้ จึงเป็นเหตุให้ทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว
ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทางได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวง
ได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ พระนาม พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการ
ประชุมพระสาวกว่า 'แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตรอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้หรือ'
หรือเพราะเหล่าเทวดาได้กราบทูลความข้อนี้แด่พระตถาคต จึงเป็นเหตุให้ทรง
ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้า
ได้แล้ว ผู้ตัดทางได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ
พระนาม พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวกว่า
'แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงมีพระโคตรอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีศีล
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้' ภิกษุเหล่านั้นสนทนาเรื่องค้างไว้
เท่านี้
[๑๔] ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากการหลีกเร้น๑เข้าไปยังหอ
นั่งใกล้กเรริมณฑป ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ การหลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงผลสมาบัติ (ที.ม.อ. ๑๔/๒๑, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๓๐/๓๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

ดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร
เรื่องอะไรที่เธอทั้งหลายสนทนากันค้างไว้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นจึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ข้าพระองค์
ทั้งหลายได้สนทนาเรื่องที่ค้างไว้ต่อไปดังนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ ที่พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมาก ทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทาง
ได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ พระนาม พระโคตร
พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวกว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตรอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรง
มีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้’
ท่านผู้มีอายุ เป็นอย่างไรหนอ เพราะพระตถาคตทรงมีปัญญาแทงตลอด
ธรรมธาตุนี้ จึงเป็นเหตุให้ทรงระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว
ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทางได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวง
ได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ พระนาม พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการ
ประชุมพระสาวกว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตรอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้หรือ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] เรื่องเกี่ยวกับปุพพเพนิวาส

หรือเพราะเหล่าเทวดาได้กราบทูลความข้อนี้แด่พระตถาคต จึงเป็นเหตุให้ทรง
ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้า
ได้แล้ว ผู้ตัดทางได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ
พระนาม พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวกว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมี
พระโคตรอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้’ เรื่องนี้แลที่พวกข้าพระองค์สนทนาค้างไว้
ก็พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า’
[๑๕] พระผู้มีพระภาคตรัส “เพราะตถาคตมีปัญญาแทงตลอดธรรมธาตุนี้
จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรม
เครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทางได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทั้งโดยพระชาติ พระนาม พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุม
พระสาวกว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตรอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้’
แม้เหล่าเทวดาก็ได้บอกความข้อนี้แก่ตถาคต จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทาง
ได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ พระนาม
พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวกว่า ‘แม้เพราะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
พระประวัติของพระวิปัสสีพุทธเจ้า

เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตร
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมี
ธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรม
เป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายต้องการจะฟังธรรมีกถาอันเกี่ยวกับปุพเพนิวาส
นอกเหนือจากนี้อีกหรือไม่”
พวกภิกษุทูลตอบว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ถึงกาลอันสมควรที่พระ
ผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมีกถาอันเกี่ยวกับปุพเพนิวาสนอกจากนี้อีก ภิกษุทั้งหลาย
ได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคแล้วจะได้ทรงจำไว้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจัก
กล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

พระประวัติของพระวิปัสสีพุทธเจ้า

[๑๖] “ภิกษุทั้งหลาย นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๙๑ กัป พระวิปัสสีพุทธเจ้า
ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติเป็นกษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์
มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ มีพระชนมายุประมาณ ๘๐,๐๐๐ ปี ตรัสรู้ที่ควงต้น
แคฝอย ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่ พระขัณฑะและพระติสสะ
มีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีภิกษุ ๑๖๘,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ
๑๐๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ ๘๐,๐๐๐ รูป พระสาวกที่เข้าประชุมทั้ง ๓ ครั้ง
ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุอโสกะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก มีพระเจ้า
พันธุมาเป็นพระบิดา พระนางพันธุมดีเทวีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงพันธุมดี
เป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ๑๖ ประการ

กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ๑๖ ประการ๑

[๑๗] ๑. ภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีโพธิสัตว์๒ ทรงมีสติสัมปชัญญะตลอด
ตั้งแต่จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตจนถึงเสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา
ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๑๘] ๒. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตเสด็จ
ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา แสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้
ปรากฏขึ้นในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ล่วงเทวานุภาพของ
เหล่าเทพ แม้ในช่องว่างระหว่างโลกซึ่งไม่มีอะไรคั่น มีสภาพมืดมิด
หรือที่ที่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
ส่องแสงไปไม่ถึง ก็มีแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ปรากฏขึ้น
ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ เพราะแสงสว่างนั้น เหล่าสัตว์ที่เกิด
ในที่นั้น ๆ จึงรู้จักกันและกันว่า ‘ยังมีสัตว์อื่นเกิดในที่นี้เหมือนกัน’
และ ๑๐ สหัสสีโลกธาตุ๓ นี้สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่าง
เจิดจ้าหาประมาณมิได้ก็ปรากฏขึ้นในโลก ล่วงเทวานุภาพของ
เหล่าเทพ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๑๙] ๓. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา เทพบุตร ๔ องค์๔เข้าไปอารักขาประจำทั้ง ๔ ทิศด้วย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ม.อุ. ๑๔/๒๐๐-๒๐๗/๑๖๙-๑๗๓
๒ โพธิสัตว์ หมายถึงผู้บำเพ็ญมรรค ๔ เพื่อบรรลุโพธิ (ที.ม.อ. ๑๗/๒๑)
๓ คำว่า “๑๐ สหัสสีโลกธาตุ” บางทีใช้ว่า โลกธาตุ ดังที่ปรากฏในมหาสมยสูตร (บาลี) ข้อ ๓๓๑/๒๑๖ ตอนหนึ่ง
ว่า “ทสหิ จ โลกธาตูหิ เทวตา” หมายถึงเหล่าเทวดาจาก ๑๐ โลกธาตุ อนึ่ง ๑๐ โลกธาตุ ในที่นี้เท่ากับ
หมื่นจักรวาล ซึ่งตรงกับ ๑๐ สหัสสีโลกธาตุ ในพระสูตรนี้ (ที.ม.อ. ๓๓/๒๙๓) และดูรายละเอียดใน องฺ.ติก.
(แปล) ๒๐/๘๑/๓๐๕-๓๐๗
๔ เทพบุตร ๔ องค์ ในที่นี้หมายถึงท้าวมหาราช ๔ องค์ คือ (๑) ท้าวธตรฐ จอมคนธรรพ์ครองทิศตะวันออก
(๒) ท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ครองทิศใต้ (๓) ท้าววิรูปักษ์ จอมนาคครองทิศตะวันตก (๔) ท้าวเวสวัณ
จอมยักษ์ครองทิศเหนือ (ที.ม.อ. ๒๙๔/๒๖๐, ที.ม.ฏีกา ๑๙/๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ๑๖ ประการ

ตั้งใจว่า ‘มนุษย์หรืออมนุษย์ใด ๆ อย่าได้เบียดเบียนพระโพธิสัตว์
หรือพระมารดาของพระโพธิสัตว์เลย’ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๒๐] ๔. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา พระมารดามีปกติทรงศีล คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์
เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นจากการ
ประพฤติผิดในกาม เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการเสพของ
มึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ข้อนี้เป็น
กฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๒๑] ๕. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา พระมารดาของพระองค์ไม่ทรงมีความรู้สึกทาง
กามารมณ์ เป็นผู้ที่บุรุษผู้มีจิตกำหนัดใด ๆ ไม่สามารถล่วงเกินได้
ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๒๒] ๖. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา พระมารดาของพระองค์ทรงได้กามคุณ ๕ เอิบอิ่ม
พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ข้อนี้เป็นกฎ
ธรรมดาในเรื่องนี้
[๒๓] ๗. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของ
พระมารดา พระมารดาของพระองค์ไม่ทรงมีความเจ็บป่วยใด ๆ
ทรงมีความสุข ไม่ลำบากพระวรกาย มองเห็นพระโพธิสัตว์
อยู่ภายในพระครรภ์ มีพระอวัยวะสมบูรณ์ มีพระอินทรีย์ไม่
บกพร่อง ภิกษุทั้งหลาย เหมือนแก้วไพฑูรย์อันงดงามตาม
ธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้
สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาว หรือสีนวล ร้อยอยู่
ข้างใน คนตาถึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณารู้ว่า
‘นี้ คือ แก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไน
ดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง
ขาว หรือสีนวล ร้อยอยู่ข้างใน’ ฉันใด เวลาที่พระโพธิสัตว์เสด็จลงสู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ๑๖ ประการ

พระครรภ์ของพระมารดา พระมารดาของพระองค์ไม่ทรงมีความ
เจ็บป่วยใด ๆ ทรงมีความสุข ไม่ลำบากพระวรกาย มองเห็น
พระโพธิสัตว์อยู่ภายในพระครรภ์ มีพระอวัยวะสมบูรณ์ มีพระอินทรีย์
ไม่บกพร่อง ฉันนั้นเหมือนกัน ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๒๔] ๘. มีกฎธรรมดาดังนี้ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน พระมารดา
ของพระองค์สวรรคตไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ข้อนี้เป็นกฎธรรมดา
ในเรื่องนี้
[๒๕] ๙. มีกฎธรรมดาดังนี้ พระมารดาของพระโพธิสัตว์ไม่ประสูติพระโอรส
เหมือนสตรีทั่วไปที่จะคลอดลูกหลังจากตั้งครรภ์ได้ ๙ เดือนหรือ
๑๐ เดือน ส่วนพระมารดาของพระโพธิสัตว์ประสูติพระโอรสเมื่อ
ทรงพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือนเท่านั้น ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาใน
เรื่องนี้
[๒๖] ๑๐. มีกฎธรรมดาดังนี้ พระมารดาของพระโพธิสัตว์ ไม่ประสูติพระโอรส
เหมือนสตรีทั่วไปซึ่งจะนั่งคลอดหรือนอนคลอดก็ได้ ส่วนพระมารดา
ของพระโพธิสัตว์ประทับยืนประสูติเท่านั้น ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาใน
เรื่องนี้
[๒๗] ๑๑. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของ
พระมารดา ในตอนแรกเหล่าเทพจะทำพิธีต้อนรับ หลังจากนั้น
เป็นหน้าที่ของมนุษย์ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๒๘] ๑๒. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของ
พระมารดา ยังไม่ทันสัมผัสแผ่นดิน เทพบุตร ๔ องค์ช่วยกันประคอง
พระโพธิสัตว์ไปไว้เบื้องพระพักตร์ของพระมารดาแล้วกราบทูลว่า
‘โปรดพอพระทัยเถิด พระเทวี พระราชโอรสของพระองค์ที่เสด็จ
อุบัติขึ้นเป็นผู้มีศักดิ์ใหญ่’ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๒๙] ๑๓. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของ
พระมารดา เสด็จออกโดยง่าย ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ เมือก เลือด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
กฎธรรมดาของพระโพธิสัตว์ ๑๖ ประการ

หรือสิ่งไม่สะอาดใด ๆ เป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ ภิกษุทั้งหลาย เหมือน
แก้วมณีที่บุคคลวางไว้ในผ้ากาสิกพัสตร์ ย่อมไม่ทำให้ผ้ากาสิกพัสตร์
แปดเปื้อน ถึงผ้ากาสิกพัสตร์ก็ไม่ทำให้แก้วมณีแปดเปื้อน ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะสิ่งทั้งสองเป็นของสะอาดบริสุทธิ์ ฉันใด เวลา
ที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา เสด็จออกโดยง่าย
ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำ เมือก เลือด หรือสิ่งไม่สะอาดใด ๆ เป็นผู้
สะอาดบริสุทธิ์ ฉันนั้นเหมือนกัน ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๓๐] ๑๔. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของ
พระมารดา มีธารน้ำปรากฏในอากาศ ๒ สาย คือ ธารน้ำเย็นและ
ธารน้ำอุ่น เพื่อชำระล้างพระโพธิสัตว์และพระมารดา ข้อนี้เป็นกฎ
ธรรมดาในเรื่องนี้
[๓๑] ๑๕. มีกฎธรรมดาดังนี้ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ครู่หนึ่ง ทรงยืนได้
อย่างมั่นคงด้วยพระบาททั้งสองที่เสมอกัน ทรงผินพระพักตร์ไปทาง
ทิศเหนือ ทรงดำเนินไป ๗ ก้าว ขณะที่หมู่เทวดากั้นเศวตฉัตรตาม
เสด็จ ทอดพระเนตรไปยังทิศต่าง ๆ แล้ว ทรงเปล่งพระอาสภิวาจา
(วาจาอย่างองอาจ)ว่า ‘เราคือผู้เลิศของโลก เราคือผู้เจริญที่สุด
ของโลก เราคือผู้ประเสริฐที่สุดของโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย
บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก’ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดาในเรื่องนี้
[๓๒] ๑๖. มีกฎธรรมดาดังนี้ เวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติจากพระครรภ์ของ
พระมารดา แสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ปรากฏขึ้นในโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณ-
พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ แม้ใน
ช่องว่างระหว่างโลกซึ่งไม่มีอะไรคั่น มีสภาพมืดมิด หรือที่ที่ดวงจันทร์
และดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ส่องแสงไปไม่ถึง
ก็มีแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ปรากฏขึ้น ล่วงเทวานุภาพของ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

เหล่าเทพ เพราะแสงสว่างนั้น เหล่าสัตว์ที่เกิดในที่นั้น ๆ จึงรู้จักกัน
และกันว่า ‘ยังมีสัตว์อื่นเกิดในที่นี้เหมือนกัน’ และ ๑๐ สหัสสี-
โลกธาตุนี้สั่นสะเทือน เลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณ
มิได้ ก็ปรากฏขึ้นในโลก ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ ข้อนี้เป็นกฎ
ธรรมดาในเรื่องนี้

ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ๑

[๓๓] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระวิปัสสีราชกุมารประสูติแล้ว พวกอำมาตย์
ได้กราบทูลพระเจ้าพันธุมาว่า ‘ขอเดชะ พระราชโอรสของพระองค์ประสูติแล้ว
โปรดทอดพระเนตรเถิด’ พระเจ้าพันธุมาได้ทอดพระเนตรวิปัสสีราชกุมาร แล้วรับสั่ง
ให้เชิญพราหมณ์โหราจารย์มาตรัสว่า ‘พราหมณ์โหราจารย์ จงทำนายวิปัสสีราช-
กุมาร’
พวกพราหมณ์โหราจารย์เห็นพระวิปัสสีราชกุมารแล้วได้กราบทูลพระเจ้าพันธุมา
ว่า ‘ขอเดชะ โปรดพอพระทัยเถิด พระราชโอรสของพระองค์ที่เสด็จอุบัติขึ้นเป็นผู้มี
ศักดิ์ใหญ่ นับว่าเป็นลาภอันประเสริฐของพระองค์ผู้ได้พระราชโอรสเช่นนี้อยู่ในราชตระกูล
เพราะพระราชกุมารนี้สมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ที่เป็นเหตุให้
มหาบุรุษมีคติ๒ ๒ อย่าง ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต
ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว
๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว
(๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรส
มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๒๕๘/๘๙-๙๐, ที.ปา. ๑๑/๑๙๙-๒๐๐/๑๒๓-๑๒๕, ม.มู. ๑๓/๑๘๖/๓๖๘-๓๗๐
๒ คติ มีความหมายหลายนัย คือ (๑) ที่ที่สัตว์จะไปเกิด (๒) อัธยาศัย (๓) ที่พึ่ง (๔) ความสำเร็จ ในที่นี้
หมายถึงความสำเร็จ คือบรรลุผลตามจุดหมาย (ที.ม.อ. ๓๓/๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

วีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม
ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาคร
เป็นขอบเขต
๒. ถ้าเสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลส๑ในโลก
[๓๔] ขอเดชะ พระราชกุมารนี้ ทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒
ประการ อะไรบ้าง ที่เป็นเหตุให้มหาบุรุษมีคติ ๒ อย่าง ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต
ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว
๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว
(๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรส
มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็น
วีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม
ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาคร
เป็นขอบเขต
๒. ถ้าเสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก
[๓๕] คือ พระราชกุมารนี้
๑. มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน ข้อที่พระราชกุมารมีฝ่าพระบาทราบ
เสมอกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒. พื้นฝ่าพระบาททั้งสองของพระราชกุมารนี้ มีจักรซึ่งมีกำข้างละ
๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง ข้อที่

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสในที่นี้หมายถึงราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ตัณหาที่ปิดกั้นกุศลธรรม (ที.ม.อ. ๓๔/๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

พื้นฝ่าพระบาททั้งสองของพระราชกุมารนี้ มีจักรซึ่งมีกำข้างละ
๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่างนี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๓. มีส้นพระบาทยื่นยาวออกไป ข้อที่พระราชกุมารมีส้นพระบาทยื่น
ยาวออกไปนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๔. มีพระองคุลียาว ข้อที่พระราชกุมารมีพระองคุลียาวนี้ เป็นลักษณะ
มหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๕. มีพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม ข้อที่พระราชกุมารมีพระหัตถ์
และพระบาทอ่อนนุ่มนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๖. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย
ข้อที่พระราชกุมารมีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลี
จดกันเป็นรูปตาข่ายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๗. มีข้อพระบาทสูง ข้อที่พระราชกุมารมีข้อพระบาทสูงนี้ เป็นลักษณะ
มหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๘. มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย ข้อที่พระราชกุมารมีพระชงฆ์เรียว
ดุจแข้งเนื้อทรายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๙. เมื่อประทับยืน ไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุ
ด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้ ข้อที่พระราชกุมารเมื่อประทับยืน
ไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วยฝ่าพระหัตถ์
ทั้งสองได้นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๐. มีพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝักเร้นอยู่ในฝัก ข้อที่พระราชกุมารมีพระคุยหฐาน
เร้นอยู่ในฝักนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๑. มีพระฉวีสีทอง มีพระฉวีเปล่งปลั่งดุจทองคำ ข้อที่พระราชกุมาร
มีพระฉวีสีทอง มีพระฉวีเปล่งปลั่งดุจทองคำนี้ เป็นลักษณะมหา-
บุรุษของมหาบุรุษนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

๑๒. มีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้ ข้อที่พระ
ราชกุมารมีพระฉวีละเอียดจนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้นี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๓. มีพระโลมชาติเดี่ยว คือ ในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียว ข้อที่พระราช
กุมารมีพระโลมชาติเดี่ยว คือ ในแต่ละขุมมีเพียงเส้นเดียวนี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๔. มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น คือ พระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวา
ดังกุณฑลสีครามเข้มดังดอกอัญชัน ข้อที่พระราชกุมารมีพระโลม
ชาติปลายงอนขึ้น คือ พระโลมชาติขอดเป็นวงเวียนขวาดังกุณฑล
สีครามเข้มดังดอกอัญชันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๕. มีพระวรกายตั้งตรงดุจกายพรหม ข้อที่พระราชกุมารมีพระวรกาย
ตั้งตรงดุจกายพรหมนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๖. มีพระมังสะในที่ ๗ แห่ง๑ เต็มบริบูรณ์ ข้อที่พระราชกุมารมี
พระมังสะในที่ ๗ แห่งเต็มบริบูรณ์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของ
มหาบุรุษนั้น
๑๗. มีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์ ข้อที่
พระราชกุมารมีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของ
ราชสีห์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๘. มีร่องพระปฤษฎางค์เต็มเสมอกัน ข้อที่พระราชกุมารมีร่องพระ
ปฤษฎางค์เต็มเสมอกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๑๙. มีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลของต้นไทร พระวรกาย
สูงเท่ากับ ๑ วาของพระองค์ ๑ วาของพระองค์เท่ากับส่วนสูง
พระวรกาย ข้อที่พระราชกุมารมีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจ

เชิงอรรถ :
๑ ที่ ๗ แห่ง ในที่นี้ คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง หลังพระบาททั้ง ๒ ข้าง พระอังสะทั้ง ๒ ข้าง และลำพระศอ
(ที.ม.อ. ๓๕/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

ปริมณฑลของต้นไทร พระวรกายสูงเท่ากับ ๑ วาของพระองค์ ๑
วาของพระองค์เท่ากับส่วนสูงพระวรกายนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ
ของมหาบุรุษนั้น
๒๐. มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด ข้อที่พระราชกุมารมีลำพระศอ
กลมเท่ากันตลอดนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๑. มีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี ข้อที่พระราชกุมารมีเส้น
ประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดีนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของ
มหาบุรุษนั้น
๒๒. มีพระหนุดุจคางราชสีห์ ข้อที่พระราชกุมารมีพระหนุดุจคางราชสีห์นี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๓. มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ ข้อที่พระราชกุมารมีพระทนต์ ๔๐ ซี่นี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๔. มีพระทนต์เรียบเสมอกัน ข้อที่พระราชกุมารมีพระทนต์เรียบ
เสมอกันนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๕. มีพระทนต์ไม่ห่างกัน ข้อที่พระราชกุมารมีพระทนต์ไม่ห่างกันนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๖. มีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม ข้อที่พระราชกุมารมีพระเขี้ยวแก้วขาว
งามนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๗. มีพระชิวหาใหญ่ยาว ข้อที่พระราชกุมารมีพระชิวหาใหญ่ยาวนี้
เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๘. มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวก
ข้อที่พระราชกุมารมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้อง
ของนกการเวกนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๒๙. มีพระเนตรดำสนิท ข้อที่พระราชกุมารมีพระเนตรดำสนิทนี้ เป็น
ลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ

๓๐. มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด ข้อที่พระราชกุมาร
มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอดนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ
ของมหาบุรุษนั้น
๓๑. มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนปุยนุ่น ข้อที่
พระราชกุมารมีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือน
ปุยนุ่นนี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษของมหาบุรุษนั้น
๓๒. มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ ข้อที่พระราชกุมารมี
พระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์นี้ เป็นลักษณะมหาบุรุษ
ของมหาบุรุษนั้น
[๓๖] ขอเดชะ พระราชกุมารนี้ทรงสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะมหาบุรุษ ๓๒
ประการนี้ ที่เป็นเหตุให้มหาบุรุษมีคติ ๒ อย่าง ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
๑. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต
ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว
๗ ประการ คือ (๑) จักรแก้ว (๒) ช้างแก้ว (๓) ม้าแก้ว (๔) มณีแก้ว
(๕) นางแก้ว (๖) คหบดีแก้ว (๗) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรส
มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็น
วีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม
ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาคร
เป็นขอบเขต
๒. ถ้าเสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระ-
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
เหตุที่ทรงได้พระสมญาว่าวิปัสสี

เหตุที่ทรงได้พระสมญาว่าวิปัสสี

[๓๗] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาโปรดให้พวกพราหมณ์โหราจารย์นุ่งห่มผ้าใหม่
ทรงเลี้ยงดูให้อิ่มหนำด้วยสิ่งที่ต้องการทุกอย่าง แล้วรับสั่งให้ตั้งพี่เลี้ยงนางนม
แก่พระวิปัสสีราชกุมาร คือ หญิงพวกหนึ่งให้พระราชกุมารเสวยน้ำนม พวกหนึ่ง
ให้ทรงสนาน พวกหนึ่งคอยอภิบาล พวกหนึ่งคอยอุ้ม
ตั้งแต่ประสูติพระวิปัสสีราชกุมาร พวกราชบุรุษก็คอยกั้นเศวตฉัตรถวายทั้ง
กลางวันและกลางคืนด้วยตั้งใจว่า ‘ความหนาว ความร้อน หญ้า ละออง หรือน้ำค้าง
อย่าได้เบียดเบียนพระราชกุมาร’
ตั้งแต่ประสูติพระวิปัสสีราชกุมาร ก็ทรงกลายเป็นที่รัก เป็นที่เจริญใจของ
ชนเป็นอันมาก เปรียบเหมือนดอกอุบล ดอกปทุม หรือดอกบุณฑริก เป็นที่รัก
เป็นที่เจริญใจของชนเป็นอันมาก ฉันใด พระวิปัสสีราชกุมารทรงเป็นที่รัก เป็นที่
เจริญใจของชนเป็นอันมาก ฉันนั้นเหมือนกัน นัยว่า พระวิปัสสีราชกุมารนั้นได้รับ
การผลัดเปลี่ยนกันอุ้มใส่สะเอวอยู่เสมอ ๆ
[๓๘] ตั้งแต่ประสูติพระวิปัสสีราชกุมาร ทรงเป็นผู้มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม
ไพเราะอ่อนหวานกลมกล่อมจับใจ หมู่นกการเวกที่ภูเขาหิมพานต์ เป็นสัตว์มีสำเนียง
ไพเราะอ่อนหวานกลมกล่อมจับใจ ฉันใด พระวิปัสสีราชกุมาร ก็เป็นผู้มีพระสุรเสียง
ดุจเสียงพรหมไพเราะอ่อนหวานกลมกล่อมจับใจ ฉันนั้นเหมือนกัน
[๓๙] ตั้งแต่ประสูติพระวิปัสสีราชกุมาร ทรงมีทิพยจักษุอันเกิดจากวิบากกรรม
ที่เป็นเหตุให้มองเห็นไกลได้ตลอด ๑ โยชน์โดยรอบ ทั้งกลางวันและกลางคืน
[๔๐] ตั้งแต่ประสูติพระวิปัสสีราชกุมาร ทรงเพ่งดูไม่กะพริบพระเนตร
พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์แลดูไม่กะพริบตา ฉันใด พระวิปัสสีราชกุมาร ทรงเพ่งดูไม่
กะพริบพระเนตร ฉันนั้นเหมือนกัน จึงเกิดมีพระสมญาว่า ‘วิปัสสี วิปัสสี‘’
[๔๑] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาประทับในศาลตัดสินคดี ทรงให้พระวิปัสสีราช-
กุมารประทับบนพระเพลา ขณะทรงพิจารณาคดี นัยว่า พระวิปัสสีราชกุมารประทับ
นั่งบนพระเพลาของพระชนกในศาลตัดสินคดีนั้น ทรงวินิจฉัยให้คดีดำเนินไปด้วยพระญาณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คนชรา

เพราะคำเล่าลือว่า ‘พระราชกุมารวินิจฉัยให้คดีดำเนินไปด้วยพระญาณ’ มีปริมาณ
มากขึ้น จึงเกิดมีพระสมญาว่า ‘วิปัสสี วิปัสสี’
[๔๒] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาโปรดให้สร้างปราสาท ๓ หลัง สำหรับพระ
วิปัสสีราชกุมาร หลังหนึ่งสำหรับประทับในฤดูฝน หลังหนึ่งสำหรับประทับใน
ฤดูหนาว หลังหนึ่งสำหรับประทับในฤดูร้อน โปรดให้บำรุงพระราชกุมารด้วย
กามคุณ ๕ พระวิปัสสีราชกุมารทรงได้รับการบำรุงบำเรอด้วยดนตรีที่ไม่ปะปนด้วย
บุรุษในปราสาทสำหรับประทับในฤดูฝน ไม่ได้เสด็จลงมาชั้นล่างปราสาทตลอด ๔ เดือน

ภาณวารที่ ๑ จบ

เทวทูต ๔
คนชรา

[๔๓] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเวลาล่วงไปหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระ
วิปัสสีราชกุมารรับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘สหายสารถี เธอจงเทียมยานพาหนะ
คันงาม ๆ เราจะไปอุทยานชมภูมิประเทศที่สวยงาม’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้ว เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ กราบทูลว่า
‘ขอเดชะ ข้าพระองค์เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ ไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนด
เวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’
พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานพาหนะคันงามเสด็จประพาสอุทยาน พร้อมด้วย
ยานพาหนะคันงาม ๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน
[๔๔] ขณะที่เสด็จประพาสอุทยาน พระวิปัสสีราชกุมารได้ทอดพระเนตรเห็น
ชายชราผู้มีซี่โครงคดเหมือนกลอนประตู หลังงองุ้ม เดินถือไม้เท้างก ๆ เงิ่น ๆ
กระสับกระส่าย หมดความหนุ่มแน่น จึงตรัสถามนายสารถีว่า ‘สหายสารถี
ชายคนนี้ถูกใครทำอะไรให้ เส้นผมและร่างกายของเขาจึงไม่เหมือนของคนอื่น ๆ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คนชรา

นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนชรา’
‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าคนชรา’
‘ผู้นี้ชื่อว่าคนชรา เพราะเวลานี้เขาจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน พระเจ้าข้า’
‘ถึงเราเองก็จะต้องแก่เฒ่าเป็นธรรมดา หนีไม่พ้นกระนั้นหรือ’
‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องแก่เฒ่าเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า’
‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที
พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี
ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่าความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มี
ความแก่’
[๔๕] ต่อมา พระเจ้าพันธุมารับสั่งให้เรียกนายสารถีมาแล้วตรัสถามว่า
‘พ่อสารถีคนดี ราชกุมารยินดีในอุทยานหรือไม่ พอใจในอุทยานหรือไม่’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ พระราชกุมารไม่ทรงยินดีในพระอุทยาน ไม่ทรง
พอพระทัยในพระอุทยาน’
ท้าวเธอตรัสถามว่า ‘ขณะเที่ยวชมอุทยาน ราชกุมารพบเห็นอะไรหรือ’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขณะที่เสด็จประพาสพระอุทยาน พระราชกุมารได้ทอด
พระเนตรเห็นชายชรา ผู้มีซี่โครงคดเหมือนกลอนประตู หลังงองุ้ม เดินถือไม้เท้า
งก ๆ เงิ่น ๆ กระสับกระส่าย หมดความหนุ่มแน่น จึงตรัสถามข้าพระองค์ว่า
‘สหายสารถี ชายคนนี้ถูกใครทำอะไรให้ เส้นผมและร่างกายของเขาจึงไม่เหมือนของ
คนอื่นๆ’
ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนชรา’
‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าคนชรา’
‘ผู้นี้ชื่อว่าคนชรา เพราะเวลานี้เขาจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน พระเจ้าข้า’
‘ถึงเราเองก็จะต้องแก่เฒ่าเป็นธรรมดา หนีไม่พ้นกระนั้นหรือ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คนเจ็บ

‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องแก่เฒ่าเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า’
‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’
ข้าพระองค์ทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที พระราชกุมาร
เสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่า
ความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มีความแก่’ พระเจ้าข้า

คนเจ็บ

[๔๖] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาทรงพระดำริว่า ‘ขออย่าให้วิปัสสีกุมารไม่ยอม
ครองราชย์เลย อย่าได้ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเลย คำทำนายของพราหมณ์
โหราจารย์อย่าได้เป็นจริงเลย’ จึงรับสั่งให้บำรุงบำเรอพระวิปัสสีราชกุมารด้วย
กามคุณ ๕ มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อว่าพระวิปัสสีราชกุมารจะอยู่ครองราชย์ จะไม่
เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต และคำทำนายของพราหมณ์โหราจารย์
จะผิดพลาด
พระวิปัสสีราชกุมารทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕
ในพระราชฐานนั้น เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระวิปัสสี-
ราชกุมารรับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘สหายสารถี เธอจงเทียมยานพาหนะ
คันงาม ๆ เราจะไปอุทยานชมภูมิประเทศที่สวยงาม’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้ว เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ กราบทูลว่า
‘ขอเดชะ ข้าพระองค์เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ ไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนด
เวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’ พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานพาหนะคันงามเสด็จ
ประพาสอุทยาน พร้อมด้วยยานพาหนะคันงาม ๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน
[๔๗] เมื่อเสด็จประพาสอุทยานอีก พระวิปัสสีราชกุมารได้ทอดพระเนตร
เห็นคนเจ็บทนทุกข์ ป่วยหนัก นอนทุรนทุรายจมกองอุจจาระปัสสาวะของตน
คนอื่นต้องช่วยกันพยุงให้กินอาหาร จึงตรัสถามนายสารถีว่า ‘สหายสารถี ชายคนนี้ถูก
ใครทำอะไรให้ นัยน์ตาทั้งคู่และศีรษะของเขาจึงไม่เหมือนของคนอื่น ๆ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คนเจ็บ

นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนเจ็บ’
‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าคนเจ็บ’
‘ผู้นี้ชื่อว่าคนเจ็บ เพราะเขาหายจากความเจ็บป่วยนั้นได้อย่างยากเย็น พระเจ้าข้า’
‘ถึงเราเองก็จะต้องเจ็บป่วยเป็นธรรมดา หนีไม่พ้นกระนั้นหรือ’
‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องเจ็บป่วยเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า’
‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที
พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี
ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่าความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มีความแก่
ความเจ็บ’
[๔๘] ต่อมา พระเจ้าพันธุมารับสั่งให้เรียกนายสารถีมาแล้ว ตรัสถามว่า
‘พ่อสารถีคนดี ราชกุมารยินดีในอุทยานหรือไม่ พอใจในอุทยานหรือไม่’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ พระราชกุมารไม่ทรงยินดีในพระอุทยาน ไม่ทรง
พอพระทัยในพระอุทยาน’
ท้าวเธอตรัสถามว่า ‘ขณะเที่ยวชมอุทยาน ราชกุมารพบเห็นอะไรหรือ’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขณะที่เสด็จประพาสพระอุทยาน พระราชกุมารได้ทอด
พระเนตรเห็นคนเจ็บทนทุกข์ ป่วยหนัก นอนทุรนทุรายจมกองอุจจาระปัสสาวะ
ของตนคนอื่นต้องช่วยกันพยุงให้กินอาหาร จึงตรัสถามข้าพระองค์ว่า ‘สหายสารถี
ชายคนนี้ถูกใครทำอะไรให้ นัยน์ตาทั้งคู่และศีรษะของเขาจึงไม่เหมือนของคนอื่น ๆ’
ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนเจ็บ’
‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าคนเจ็บ’
‘ผู้นี้ชื่อว่าคนเจ็บ เพราะเขาหายจากความเจ็บป่วยนั้นได้อย่างยากเย็น พระเจ้าข้า’
‘ถึงเราเองก็จะต้องป่วยเป็นธรรมดา หนีไม่พ้นกระนั้นหรือ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คนตาย

‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องเจ็บป่วยเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า’
‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’
ข้าพระองค์ทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที พระราชกุมาร
เสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่า
ความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มีความแก่ ความเจ็บ’ พระเจ้าข้า’

คนตาย

[๔๙] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาทรงพระดำริว่า ‘ขออย่าให้วิปัสสีกุมารไม่ยอม
ครองราชย์เลย อย่าได้ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเลย คำทำนายของพราหมณ์
โหราจารย์อย่าได้เป็นจริงเลย’ จึงรับสั่งให้บำรุงบำเรอพระวิปัสสีราชกุมารด้วย
กามคุณ ๕ มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อว่าพระวิปัสสีราชกุมารจะอยู่ครองราชย์ จะไม่
เสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต และคำทำนายของพราหมณ์โหราจารย์
จะผิดพลาด
พระราชกุมารทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ใน
พระราชฐานนั้น เมื่อเวลาล่วงไปหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระวิปัสสีราชกุมาร
รับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘สหายสารถี เธอจงเทียมยานพาหนะคันงาม ๆ
เราจะไปอุทยานชมภูมิประเทศที่สวยงาม’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้ว เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ กราบทูลว่า
‘ขอเดชะ ข้าพระองค์เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ ไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนด
เวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’ พระราชกุมารทรงยานพาหนะคันงามเสด็จประพาส
อุทยาน พร้อมด้วยยานพาหนะคันงาม ๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน
[๕๐] เมื่อพระวิปัสสีราชกุมารเสด็จประพาสอุทยานอีก ได้ทอดพระเนตรเห็น
หมู่ชนประชุมกันและกำลังประดับคานหามด้วยผ้าหลากสี จึงตรัสถามนายสารถีว่า
‘สหายสารถี หมู่ชนประชุมกันและประดับคานหามด้วยผ้าหลากสีไว้ทำไม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คนตาย

นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนตาย’
พระวิปัสสีราชกุมารรับสั่งว่า ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทาง
คนตายนั้น’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถไปทางคนตายนั้น
พระราชกุมารทอดพระเนตรคนตาย จึงตรัสถามนายสารถีว่า ‘ทำไม เขาจึง
ชื่อว่าคนตาย’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ผู้นี้ชื่อว่าคนตาย เพราะเวลานี้มารดาบิดาหรือ
ญาติสาโลหิตอื่น ๆ จะไม่ได้พบเห็นเขาอีก ตัวเขาก็จะไม่ได้พบเห็นมารดาบิดาหรือ
ญาติสาโลหิตอื่น ๆ อีก พระเจ้าข้า’
‘ถึงเราเองก็จะต้องตายเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระมารดา พระบิดา หรือพระ
ประยูรญาติอื่น ๆ จะไม่ได้พบเห็นเรา แม้เราก็จะไม่ได้พบเห็นพระมารดา พระบิดา
หรือพระประยูรญาติอื่น ๆ กระนั้นหรือ’
‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องตายเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า
พระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือพระประยูรญาติอื่น ๆ จะไม่ทรงพบเห็นพระองค์
แม้พระองค์ก็จะไม่ทรงพบเห็นพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือพระประยูรญาติอื่น ๆ’
‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที
พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี
ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่าความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มี
ความแก่ ความเจ็บ ความตาย’
[๕๑] ต่อมา พระเจ้าพันธุมารับสั่งให้เรียกนายสารถีมาแล้วตรัสถามว่า
‘พ่อสารถีคนดี ราชกุมารยินดีในอุทยานหรือไม่ พอใจในอุทยานหรือไม่’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ พระราชกุมารไม่ทรงยินดีในพระอุทยาน
ไม่ทรงพอพระทัยในพระอุทยานครั้งนี้เลย’
ท้าวเธอตรัสถามว่า ‘ขณะที่เที่ยวชมอุทยาน ราชกุมารพบเห็นอะไรหรือ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คนตาย

นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขณะที่เสด็จประพาสพระอุทยาน พระราชกุมาร ได้ทอด
พระเนตรเห็นหมู่ชนประชุมกันและกำลังประดับคานหามด้วยผ้าหลากสี จึงตรัสถาม
ข้าพระองค์ว่า ‘สหายสารถี หมู่ชนประชุมกันและกำลังประดับคานหามด้วยผ้า
หลากสีไว้ทำไม’
ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าคนตาย’
พระราชกุมารรับสั่งว่า ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทางคนตายนั้น’
ข้าพระองค์ทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถไปทางคนตายนั้น
พระราชกุมารทอดพระเนตรคนตาย จึงตรัสถามข้าพระองค์ว่า ‘ทำไม เขาจึง
ชื่อว่าคนตาย’
ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘ผู้นี้ชื่อว่าคนตาย เพราะเวลานี้มารดาบิดาหรือ
ญาติสาโลหิตอื่น ๆ จะไม่ได้พบเห็นเขาอีก ตัวเขาก็จะไม่ได้พบเห็นมารดาบิดาหรือ
ญาติสาโลหิตอื่น ๆ อีก พระเจ้าข้า’
‘ถึงเราเองก็จะต้องตายเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระมารดา พระบิดา หรือ
พระประยูรญาติอื่น ๆ จะไม่ได้พบเห็นเรา แม้เราก็จะไม่ได้พบเห็นพระมารดา
พระบิดา หรือพระประยูรญาติอื่น ๆ กระนั้นหรือ’
‘ทั้งพระองค์และข้าพระองค์ล้วนแต่ต้องตายเป็นธรรมดา หนีไม่พ้น พระเจ้าข้า
พระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือพระประยูรญาติอื่น ๆ จะไม่ทรงพบเห็นพระองค์
แม้พระองค์ก็จะไม่ทรงพบเห็นพระเจ้าแผ่นดิน พระราชินี หรือพระประยูรญาติอื่น ๆ’
‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น วันนี้ชมอุทยานพอแล้ว เธอจงขับรถกลับเข้าเมืองเถิด’
ข้าพระองค์ทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที พระราชกุมาร
เสด็จถึงพระราชฐานชั้นใน ทรงมีทุกข์ มีพระทัยไม่ยินดี ทรงพระดำริว่า ‘ขึ้นชื่อว่า
ความเกิดช่างน่ารังเกียจนัก เพราะเมื่อมีความเกิดก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย’
พระเจ้าข้า’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] บรรพชิต

บรรพชิต

[๕๒] ต่อมา พระเจ้าพันธุมาทรงพระดำริว่า ‘ขออย่าให้วิปัสสีกุมารไม่ยอม
ครองราชย์เลย อย่าได้ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเลย คำทำนายของพราหมณ์
โหราจารย์อย่าได้เป็นจริงเลย’ จึงรับสั่งให้บำรุงบำเรอพระวิปัสสีราชกุมารด้วย
กามคุณ ๕ มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อว่าพระวิปัสสีราชกุมารจะอยู่ครองราชย์ จะไม่เสด็จ
ออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต และคำทำนายของพราหมณ์โหราจารย์จะ
ผิดพลาด
พระวิปัสสีราชกุมารทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕
ในพระราชฐานนั้น เมื่อเวลาล่วงไปอีกหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระวิปัสสีราช-
กุมารรับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘สหายสารถี เธอจงเทียมยานพาหนะคันงาม ๆ
เราจะไปอุทยานชมภูมิประเทศที่สวยงาม’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้ว เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ กราบทูลว่า
‘ขอเดชะ ข้าพระองค์เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ ไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนด
เวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’ พระวิปัสสีราชกุมารทรงยานพาหนะคันงามเสด็จ
ประพาสอุทยานพร้อมด้วยยานพาหนะคันงาม ๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน
[๕๓] พระวิปัสสีราชกุมารเสด็จประพาสอุทยานอีก ได้ทอดพระเนตรเห็น
บุรุษศีรษะโล้นนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ จึงตรัสถามนายสารถีว่า ‘สหายสารถี ชายคนนี้
ถูกใครทำอะไรให้ ทั้งศีรษะและเครื่องนุ่งห่มของเขาจึงไม่เหมือนของคนอื่น ๆ’
นายสารถีทูลตอบว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ชื่อว่าบรรพชิต’
‘ทำไม เขาจึงชื่อว่าบรรพชิต’
‘ผู้นั้นชื่อว่าบรรพชิต เพราะการประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติ
สม่ำเสมอเป็นความดี การทำกุศลเป็นความดี การทำบุญเป็นความดี การไม่
เบียดเบียนเป็นความดี และการอนุเคราะห์หมู่สัตว์เป็นความดี พระเจ้าข้า’
‘บรรพชิตนี้ดีแท้ เพราะการประพฤติธรรมเป็นความดี การประพฤติสม่ำเสมอ
เป็นความดี การทำกุศลเป็นความดี การทำบุญเป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็น
ความดี และการอนุเคราะห์หมู่สัตว์เป็นความดี ถ้าเช่นนั้น เธอจงขับรถไปทาง
บรรพชิตนั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] มหาชนออกบวชตามเสด็จ

นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถไปทางบรรพชิตนั้น
ครั้นแล้ว พระราชกุมารได้ตรัสถามบรรพชิตว่า ‘สหาย ท่านทำอะไร ศีรษะ
และเครื่องนุ่งห่มของท่านจึงไม่เหมือนของคนอื่น ๆ’
บรรพชิตนั้นทูลตอบว่า ‘ขอถวายพระพร อาตมภาพชื่อว่าบรรพชิต’
‘ท่านชื่อว่าบรรพชิตหรือ’
‘ขอถวายพระพร อาตมภาพชื่อว่าบรรพชิต เพราะการประพฤติธรรมเป็น
ความดี การประพฤติสม่ำเสมอเป็นความดี การทำกุศลเป็นความดี การทำบุญ
เป็นความดี การไม่เบียดเบียนเป็นความดี และการอนุเคราะห์หมู่สัตว์เป็นความดี’

พระโพธิสัตว์เสด็จออกผนวช

[๕๔] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พระวิปัสสีราชกุมารรับสั่งเรียกนายสารถี
มาตรัสว่า ‘สหายสารถี ถ้าเช่นนั้น เธอจงนำรถกลับเข้าเมือง เราจักโกนผมและ
หนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตในอุทยานนี้’
นายสารถีทูลรับพระบัญชาแล้วขับราชรถกลับเข้าเมืองทันที ส่วนพระวิปัสสี
ราชกุมารทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจาก
พระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตที่อุทยานนั้นนั่นเอง

มหาชนออกบวชตามเสด็จ

[๕๕] มหาชนในกรุงพันธุมดีประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้ทราบข่าวว่า
พระวิปัสสีราชกุมารทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จ
ออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต จึงคิดว่า ‘พระธรรมวินัยและการบรรพชาที่
พระวิปัสสีราชกุมารได้ปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จ
ออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตนั้น คงจะไม่ต่ำทราม คนระดับพระวิปัสสี
ราชกุมาร ยังทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออก
จากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตได้ ทำไมพวกเราจักบวชบ้างไม่ได้เล่า’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] พระโพธิสัตว์ตรัสรู้

มหาชนประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้พากันโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตตามเสด็จพระวิปัสสีโพธิสัตว์ พระวิปัสสี-
โพธิสัตว์ ทรงมีบริษัทนั้นแวดล้อม เสด็จจาริกไปในหมู่บ้าน นิคม ชนบท(แคว้น)
และราชธานีทั้งหลาย
[๕๖] ต่อมา พระวิปัสสีโพธิสัตว์ประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด๑ ทรงมี
พระรำพึงอย่างนี้ว่า ‘การที่เราอยู่คลุกคลีด้วยหมู่คณะอย่างนี้หาเป็นการสมควรไม่
ทางที่ดี เราควรหลีกออกจากหมู่อยู่เพียงลำพัง’ ต่อมา พระวิปัสสีโพธิสัตว์เสด็จ
หลีกออกจากหมู่ประทับอยู่ผู้เดียว บรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูป ได้แยกไปทางหนึ่ง
พระวิปัสสีโพธิสัตว์ก็เสด็จไปอีกทางหนึ่ง

พระโพธิสัตว์ตรัสรู้๒

[๕๗] ต่อมา พระวิปัสสีโพธิสัตว์ประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงมีพระรำพึง
อย่างนี้ว่า ‘สัตว์โลกนี้ถึงความคับแค้น จึงเกิด แก่ ตาย จุติและอุบัติ ก็บุคคลผู้ไม่รู้
อุบายสลัดออกจากทุกข์ คือ ชรา(ความแก่)มรณะ(ความตาย)นี้ เมื่อไร จึงจะพ้นจาก
ทุกข์คือชรามรณะนี้ได้’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ชรามรณะจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
ชรามรณะจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อชาติ(ความเกิด)มี ชรามรณะจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ชาติจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’
เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อภพ(ความมี
ความเป็น)มี ชาติจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’

เชิงอรรถ :
๑ ที่สงัด หมายถึงกายวิเวก หลีกเร้น หมายถึงจิตตวิเวก (ที.ม.ฏีกา. ๕๗/๕๘)
๒ ดูเทียบ สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๔/๑๐-๑๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] พระโพธิสัตว์ตรัสรู้

จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ภพจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย ภพจึงมี’
เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่ออุปาทาน
(ความยึดมั่นถือมั่น)มี ภพจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี อุปาทานจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
อุปาทานจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อตัณหา(ความอยาก)มี อุปาทานจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ตัณหาจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
ตัณหาจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อเวทนา(ความรู้สึก)มี ตัณหาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี เวทนาจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
เวทนาจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อผัสสะ(สัมผัส)มี เวทนาจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ผัสสะจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
ผัสสะจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อ
สฬายตนะ (อายตนะ ๖)มี ผัสสะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี สฬายตนะจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
สฬายตนะจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อนามรูป(นามธรรมและรูปธรรม)มี สฬายตนะจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย
สฬายตนะจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี นามรูปจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
นามรูปจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อวิญญาณ(ความรู้แจ้งอารมณ์)มี นามรูปจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป
จึงมี’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] พระโพธิสัตว์ตรัสรู้

จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี วิญญาณจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
วิญญาณจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อนามรูปมี วิญญาณจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี‘๑
[๕๘] จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘วิญญาณนี้ย่อมหมุนกลับมาจากนามรูป
เท่านั้น ไม่เลยไปกว่านั้น เพราะความหมุนกลับเพียงแค่นี้ สัตว์โลกจึงเกิดบ้าง
แก่บ้าง ตายบ้าง จุติบ้าง อุบัติบ้าง ความเป็นไปนั้น คือ

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย___วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย___นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย___สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย___ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย___เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย___ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย___อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย___ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย___ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย___ชรา มรณะ โสกะ(ความโศก) ปริเทวะ
(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย)
โทมนัส(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส
(ความคับแค้นใจ) จึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ ด้วยประการฉะนี้’

[๕๙] ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่พระโพธิสัตว์๒ ในธรรมทั้งหลายที่ไม่เคย
สดับมาก่อนว่า ‘สมุทัย สมุทัย (ความเกิด ความเกิด)’

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความตอนนี้ ใน สํ.นิ. ๑๖/๔/๗ มีเนื้อความบาลีว่า สงฺขาเรสุ โข สติวิญฺญาณํ โหติ สงฺขาราปจฺจยา
วิญฺญาณํ ส่วนในที่นี้มีเนื้อความบาลีว่า นามรูเป โข สติ วิญฺญาณํ โหติ นามรูปปจฺจยา วิญฺญาณํ
อรรถกถาอธิบายข้อความตอนนี้ไว้ว่า ความจริงน่าจะใช้คำว่า เมื่อสังขารมี วิญญาณจึงมี เมื่อ
อวิชชามี สังขารจึงมี แต่การรู้แจ้งนี้ ไม่ต้องอาศัยความสืบต่อแห่งอวิชชาและสังขารซึ่งเป็นอดีตภพ เพราะ
มหาบุรุษ (พระโพธิสัตว์) อยู่กับเหตุการณ์ปัจจุบัน (ที.ม.อ. ๕๗/๕๖, ที.ม.ฏีกา ๕๗/๖๐)
๒ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๕/๒๒, สํ. สฬา. (แปล) ๑๘/๒๗๓/๓๐๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] พระโพธิสัตว์ตรัสรู้

[๖๐] จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี ชรามรณะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ
ชรามรณะจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อชาติไม่มี ชรามรณะจึงไม่มี เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี ชาติจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ชาติจึงดับ’
เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อภพไม่มี
ชาติจึงไม่มี เพราะภพดับ ชาติจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี ภพจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ภพจึงดับ’
เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่ออุปาทานไม่มี
ภพจึงไม่มี เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี อุปาทานจึงไม่มี เพราะอะไรดับ
อุปาทานจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานจึงไม่มี เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี ตัณหาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ตัณหา
จึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อ
เวทนาไม่มี ตัณหาจึงไม่มี เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี เวทนาจึงไม่มี เพราะอะไรดับ เวทนา
จึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อ
ผัสสะไม่มี เวทนาจึงไม่มี เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ ผัสสะ
จึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อ
สฬายตนะไม่มี ผัสสะจึงไม่มี เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี เพราะอะไรดับ
สฬายตนะจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อนามรูปไม่มี สฬายตนะจึงไม่มี เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี นามรูปจึงไม่มี เพราะอะไรดับ นามรูป
จึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อ
วิญญาณไม่มี นามรูปจึงไม่มี เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] พระโพธิสัตว์ตรัสรู้

จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เพราะอะไรดับ
วิญญาณจึงดับ’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อนามรูปไม่มี วิญญาณจึงไม่มี เพราะนามรูปดับ วิญญาณจึงดับ’
[๖๑] จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘ทางเพื่อความตรัสรู้ เราได้บรรลุแล้ว คือ

เพราะนามรูปดับ___วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ___นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ___สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ___ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ___เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ___ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ___อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ___ภพจึงดับ
เพราะภพดับ___ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ___ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาสจึงดับ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ ด้วยประการฉะนี้’

[๖๒] ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วแก่พระวิปัสสีโพธิสัตว์ในธรรมทั้งหลายที่ไม่
เคยสดับมาก่อนว่า ‘นิโรธ นิโรธ (ความดับ ความดับ)’
[๖๓] จากนั้น ทรงพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทาน-
ขันธ์ ๕ อยู่ว่า “รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูป
เป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับแห่ง
เวทนาเป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม

แห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นอย่างนี้
ความดับแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ
เป็นอย่างนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้‘๑
เมื่อทรงพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ อยู่
ไม่นานนัก จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น’

ภาณวารที่ ๒ จบ

ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม๒

[๖๔] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระวิปัสสีพุทธเจ้ามีพระรำพึงดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี
เราควรแสดงธรรม’ แต่ทรงพระดำริว่า ‘ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก
รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่ใช่วิสัยตรรกะ ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ก็แลหมู่
ประชานี้ เป็นผู้รื่นรมย์ในอาลัย๓ ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย สำหรับหมู่ประชา
ผู้รื่นรมย์ในอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะอันนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก
กล่าวคือ หลักอิทัปปัจจยตา๔ หลักปฏิจจสมุปบาท๕ ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็น
ได้ยากนัก กล่าวคือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้น
ตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้ง
ต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบาก
เปล่าแก่เรา’
[๖๕] อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถา(คาถาอันน่าอัศจรรย์)เหล่านี้ที่ไม่ทรงสดับมา
ก่อนได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่พระวิปัสสีพุทธเจ้าว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๔๑/๖๙
๒ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๗/๑๑-๑๒, ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๘๑/๓๐๕
๓ อาลัย คือกามคุณ ๕ ที่สัตว์พัวพันยินดีเพลิดเพลิน (วิ.อ. ๓/๗/๑๓) เป็นชื่อเรียกกิเลส ๒ อย่างคือกามคุณ ๕
และตัณหาวิจริต ๑๐๘ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๗/๑๘๔)
๔ อิทัปปัจจยตา แปลว่า ความที่สิ่งนี้อาศัยสิ่งนี้เกิดขึ้น หมายถึงสภาวธรรมอันเป็นปัจจัยแห่งชราและมรณะ
เป็นต้น เป็นชื่อหนึ่งของปฏิจจสมุปบาท (สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๒๑/๓๘, สํ.นิ.อ. ๒/๒๐/๔๖-๔๗)
๕ ปฏิจจสมุปบาท หมายถึงสภาวธรรมที่เป็นปัจจัย และสภาวธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นอันเป็นกระบวน
การทางปัจยภาพ (causality) ซึ่งเป็นสภาวะที่ดำรงอยู่อย่างนั้น แม้ว่าพระตถาคตจะเสด็จอุบัติขึ้นหรือไม่
ก็ตาม เช่น ชรามรณะมี เพราะชาติเป็นปัจจัย (สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๒๑/๓๘, สํ.นิ.อ. ๒/๒๐/๔๖-๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
อนัจฉริยคาถา

อนัจฉริยคาถา

บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรม
ที่เราได้บรรลุด้วยความลำบาก เพราะธรรมนี้
ไม่ใช่ธรรมที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำจะรู้ได้ง่าย
แต่เป็นธรรมพาทวนกระแส๑ ละเอียด ลึกซึ้ง
รู้เห็นได้ยาก ประณีต ผู้กำหนัดด้วยราคะ
ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้๒
เมื่อทรงพิจารณาดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อจะประทับอยู่เฉย มิได้น้อมไปเพื่อ
จะทรงแสดงธรรม
[๖๖] ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งกำหนดรู้พระรำพึงของพระวิปัสสี
พุทธเจ้าด้วยใจจึงคิดว่า “ท่านผู้เจริญ โลกจะฉิบหายหนอ โลกจะพินาศหนอ
เพราะพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปเพื่อจะประทับอยู่เฉย มิได้น้อมพระทัย
ไปเพื่อจะทรงแสดงธรรม จึงได้หายตัวไปจากพรหมโลกมาปรากฏเฉพาะพระพักตร์
ของพระวิปัสสีพุทธเจ้า เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
แล้วจึงห่มผ้าเฉวียงบ่า คุกเข่าเบื้องขวาลงบนแผ่นดิน ประนมมือไปทางพระวิปัสสี
พุทธเจ้าแล้วได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม
ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมเถิด ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง๓
สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่
พระพุทธเจ้าข้า’
[๖๗] เมื่อท้าวมหาพรหมกราบทูลอาราธนาอย่างนี้ พระวิปัสสีพุทธเจ้าจึงได้
ตรัสกับท้าวมหาพรหมดังนี้ว่า ‘พรหม แม้เราเองก็มีความดำริว่า ‘ทางที่ดีเราควร
แสดงธรรม’ แต่ก็มาคิดว่า ‘ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก

เชิงอรรถ :
๑ พาทวนกระแส ในที่นี้หมายถึงพาเข้าถึงพระนิพพาน (วิ.อ. ๓/๗/๑๔)
๒ วิ.ม. (แปล) ๔/๗/๑๑
๓ ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง หมายถึงผู้มีธุลี คือ ราคะ โทสะ โมหะ เพียงเล็กน้อยในดวงตาคือปัญญา (ที.ม.อ.
๖๖/๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] อนัจฉริยคาถา

สงบ ประณีต ไม่ใช่วิสัยตรรกะ ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ ก็แลหมู่ประชานี้ เป็นผู้
รื่นรมย์ในอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย สำหรับหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ใน
อาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะอันนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือ
หลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก
กล่าวคือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา
วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้น
ก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา’
อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ที่ไม่เคยสดับมาก่อนได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่เราว่า
บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรม
ที่เราได้บรรลุด้วยความลำบาก เพราะธรรมนี้
ไม่ใช่ธรรมที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำจะรู้ได้ง่าย
แต่เป็นธรรมพาทวนกระแส๑ ละเอียด ลึกซึ้ง
รู้เห็นได้ยาก ประณีต ผู้กำหนัดด้วยราคะ
ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้’
เมื่อเราพิจารณาดังนี้ ใจก็น้อมไปเพื่อจะอยู่เฉย มิได้น้อมไปเพื่อจะแสดงธรรม’
[๖๘] แม้ครั้งที่ ๒ ท้าวมหาพรหมได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าดังนี้ว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตโปรดแสดง
ธรรมเถิด ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะ
ไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า’ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ท้าวมหาพรหมได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าดังนี้ว่า ‘ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมเถิด
ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม
เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์โลก

พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์โลก

[๖๙] ครั้งนั้น พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงทราบคำอาราธนาของท้าวมหาพรหม
และทรงอาศัยพระกรุณาในหมู่สัตว์ ได้ทรงตรวจดูโลกด้วยพระพุทธจักษุ๑ เมื่อทรง
ตรวจโลกด้วยพระพุทธจักษุได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง ผู้มีธุลี
ในดวงตามาก ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า๒ ผู้มีอินทรีย์อ่อน ผู้มีอาการดี๓ ผู้มีอาการทราม
สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก ควรสั่งสอน ไม่ควรสั่งสอน บางพวกมักเห็น
ปรโลกและโทษ๔ว่าน่ากลัว บางพวกไม่เห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัว
ในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก
บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำและน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกอุบล
ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่เสมอน้ำ ดอกอุบล
ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่พ้นน้ำ ไม่แตะน้ำ ฉันใด
พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้ทรงตรวจดูโลกด้วยพระพุทธจักษุ ครั้นทรงตรวจโลกด้วย
พระพุทธจักษุได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง ผู้มีธุลีในดวงตามาก
ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย

เชิงอรรถ :
๑ พระพุทธจักษุ หมายถึงอินทริยปโรปริยัติญาณ คือปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์
ทั้งหลาย คือ รู้ว่า สัตว์นั้น ๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย
มีความพร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่ และอาสยานุสยญาณ คือปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัย ความมุ่งหมาย สภาพจิต
ที่นอนอยู่ (ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑๑๑/๑๗๒-๑๗๓, ที.ม.อ. ๖๙/๖๔)
๒ มีอินทรีย์แก่กล้า หมายถึงมีอินทรีย์ ๕ บริบูรณ์ คือ (๑) สัทธา (ความเชื่อ) (๒) วิริยะ (ความเพียร)
(๓) สติ (ความระลึกได้) (๔) สมาธิ (ความตั้งจิตมั่น) (๕) ปัญญา (ความรู้ทั่ว) (ที.ม.อ. ๖๙/๖๔)
๓ มีอาการดี หมายถึงมีความโน้มเอียงไปในทางดี เช่น มีศรัทธา เป็นต้น ส่วนอาการทรามมีลักษณะตรงข้าม
(ที.ม.อ. ๖๙/๖๔)
๔ โทษ ในที่นี้ ได้แก่ กิเลส ทุจริต อภิสังขาร และกรรมนำไปเกิดในภพ (ที.ม.อ. ๖๙/๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงพิจารณาสัตว์โลก

สอนให้รู้ได้ยาก ควรสั่งสอน ไม่ควรสั่งสอน บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัว
บางพวกไม่เห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัว๑ ฉันนั้น
[๗๐] ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมทราบพระรำพึงของพระวิปัสสีพุทธเจ้าด้วยใจ
จึงได้กราบทูลด้วยคาถาทั้งหลายว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาดี มีพระสมันตจักขุ๒
บุรุษผู้ยืนบนยอดภูเขาศิลาล้วน
พึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ แม้ฉันใด
พระองค์ผู้หมดความโศกแล้ว
โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม๓
จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก
และถูกชาติชราครอบงำ ได้ชัดเจน ฉันนั้น๔
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
ผู้ชนะสงคราม๕ ผู้นำหมู่๖ ผู้ไม่มีหนี๗

เชิงอรรถ :
๑ นอกจากบัวจมอยู่ใต้น้ำ บัวอยู่เสมอน้ำ บัวพ้นน้ำ ๓ เหล่านี้ อรรถกถาได้กล่าวถึงบัวเหล่าที่ ๔ คือบัวที่มี
โรคยังไม่พ้นน้ำ เป็นอาหารของปลาและเต่า ซึ่งมิได้ยกขึ้นสู่บาลี แล้วแบ่งบุคคลเป็น ๔ เหล่า (ตามที่ปรากฏใน
องฺ.จตุกฺก. (แปล) (๒๑/๑๓๓/๒๐๒, อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๔๘-๑๕๑/๑๘๖-๑๘๗) คือ (๑) อุคฆฏิตัญญู
(๒) วิปจิตัญญู (๓) เนยยะ (๔) ปทปรมะ แล้วเปรียบอุคฆฏิตัญญู เป็นเหมือนบัวพ้นน้ำ ที่พอต้องแสง
อาทิตย์แล้วก็บานในวันนี้ เปรียบวิปจิตัญญู เป็นเหมือนบัวอยู่เสมอน้ำที่จะบานในวันรุ่งขึ้น เปรียบเนยยะ
เป็นเหมือนบัวจมอยู่ในน้ำที่จะขึ้นมาบานในวันที่ ๓ ส่วนปทปรมะ เปรียบเหมือนบัวที่มีโรค ยังไม่พ้นน้ำ
ไม่มีโอกาสขึ้นมาบาน เป็นอาหารของปลาและเต่า
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุอันเป็นเหมือนกออุบลเป็นต้น ได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงว่า
หมู่ประชาผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง มีประมาณเท่านี้ หมู่ประชาผู้มีธุลีในดวงตามากมีประมาณเท่านี้ และใน
หมู่ประชาทั้ง ๒ นั้น อุคฆฏิตัญญูบุคคลมีประมาณเท่านี้ (ที.ม.อ. ๖๙/๖๕, สารตฺถ. ฏีกา ๓/๙/๑๙๒-๑๙๓)
๒ พระสมันตจักขุ หมายถึงพระสัพพัญญุตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต)
(ที.ม.อ. ๗๐/๖๖)
๓ ปราสาทคือธรรม ในที่นี้หมายถึงปัญญา หรือโลกุตตรธรรม (ที.ม.อ. ๗๐/๖๖, ที.ม.ฏีกา. ๗๐/๘๐)
๔ ดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๓๐
๕ ชนะสงคราม หมายถึงชนะเทวปุตตมาร (มารคือเทพบุตร) มัจจุมาร (มารคือความตาย) และกิเลสมาร
(มารคือกิเลส) ได้แล้ว (ที.ม.อ. ๗๐/๖๗)
๖ ผู้นำหมู่ หมายถึงสามารถนำเวไนยสัตว์ข้ามทางกันดารคือชาติเป็นต้นได้ (ที.ม.อ. ๗๐/๖๗)
๗ หนี้ ในที่นี้หมายถึงกามฉันทะ (ความพอใจในกาม) (ที.ม.อ. ๗๐/๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คู่พระอัครสาวก

ขอพระองค์โปรดลุกขึ้น เสด็จจาริกไปในโลก
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมเถิด
เพราะผู้รู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่๑’
[๗๑] เมื่อท้าวมหาพรหมกราบทูลอย่างนี้ พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้ตรัสกับ
ท้าวมหาพรหมนั้นด้วยพระคาถาว่า
“สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดจะฟัง
จงปล่อยศรัทธามาเถิด
เราได้เปิดประตูแห่งอมตะ๒
แก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว
ท่านพรหม เพราะเราสำคัญว่าจะลำบาก
จึงมิได้แสดงธรรมที่ประณีตคล่องแคล่วในหมู่มนุษย์
ขณะนั้น ท้าวมหาพรหมได้ทราบว่า ‘พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้ทรงประทานโอกาส
เพื่อจะทรงแสดงธรรมแล้ว’ จึงถวายอภิวาทกระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง

คู่พระอัครสาวก

[๗๒] ภิกษุทั้งหลาย ต่อมา พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงพระดำริว่า ‘เราจะพึง
แสดงธรรมแก่ใครก่อน ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’ แล้วทรงพระดำริต่อไปว่า
‘พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ อาศัยอยู่ในกรุงพันธุมดี
ราชธานี เป็นคนเฉลียวฉลาด หลักแหลม มีธุลีในดวงตาเบาบางมานาน ทางที่ดี
เราพึงแสดงธรรมแก่เธอทั้งสองก่อน เธอทั้งสองจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’
[๗๓] พระวิปัสสีพุทธเจ้า ทรงหายไปจากควงต้นโพธิ์มาปรากฏที่เขมมฤคทายวัน
ในกรุงพันธุมดีราชธานี เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ได้รับสั่งเรียกคนเฝ้าสวนมาตรัสว่า ‘มานี่เถิด นายทายบาล เธอจงเข้าไปยังกรุง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๘๒/๓๐๖-๓๐๗, สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๗๒/๒๓๒
๒ ประตูแห่งอมตะ หมายถึงอริยมรรคที่เป็นทางแห่งอมตะคือพระนิพพาน (ที.ม.อ. ๗๑/๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คู่พระอัครสาวก

พันธุมดีราชธานี บอกราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะว่า
‘พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดีราชธานี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวัน
มีพระประสงค์จะพบท่านทั้งสอง’
นายทายบาลทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี กราบทูล
แก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบอกบุตรปุโรหิตชื่อติสสะดังนี้ว่า ‘พระวิปัสสี
พุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดีราชธานี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวัน มีพระประสงค์
จะพบท่านทั้งสอง’
[๗๔] พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ สั่งให้บุรุษ
เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ แล้วขึ้นยานพาหนะคันงามออกจากกรุงพันธุมดีราชธานี
พร้อมกับยานพาหนะคันงาม ๆ ติดตามอีกหลายคัน ขับตรงไปยังเขมมฤคทายวัน
จนสุดทางที่ยานพาหนะจะเข้าไปได้ แล้วลงจากยานเดินตรงเข้าไปเฝ้าพระวิปัสสี
พุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[๗๕] พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสอนุปุพพิกถา๑แก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะ
และบุตรปุโรหิตชื่อติสสะเหล่านั้น คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๒
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)
เมื่อทรงทราบว่า พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะมีจิต
ควรบรรลุธรรม อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิก

เชิงอรรถ :
๑ อนุปุพพิกถา หมายถึงธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟัง
ให้ประณีตขึ้นไปเป็นชั้น ๆ จนพร้อมที่จะทำความเข้าใจในธรรมส่วนปรมัตถ์ (ที.สี.อ. ๒๙๘/๒๕๐)
๒ แปลมาจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สํกิเลสํ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คู่พระอัครสาวก

ธรรมเทศนา๑ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุ
ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตร
ปุโรหิตชื่อติสสะ ณ อาสนะนั้นแลว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา‘เหมือนผ้าขาวสะอาด ปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
[๗๖] พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะเห็นธรรมแล้ว
บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว หมดความสงสัยแล้วปราศจาก
ความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น๒ ในคำสอนของพระศาสดา
ได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มี
พระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ขอถึงพระ
ผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมเป็นสรณะ และพึงได้การบรรพชาพึงได้การอุปสมบท
ในสำนักของพระผู้มีพระภาค’
[๗๗] พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ ได้การบรรพชา
ได้การอุปสมบทในสำนักของพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระองค์ทรงชี้แจงให้ภิกษุเหล่านั้น
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงประกาศโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง
ของสังขารและอานิสงส์ในนิพพาน จิตของพระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตร
ปุโรหิตชื่อติสสะอันพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

เชิงอรรถ :
๑ สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงเห็น
ด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับแนะนำจากผู้อื่น ตรัสรู้ลำพังพระองค์เองก่อนใครในโลก
(วิ.อ. ๓/๒๙๓/๑๘๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๗, ที.สี.อ. ๒๙๘/๒๕๐)
๒ ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น หมายถึงไม่ต้องอาศัยผู้อื่นคอยแนะนำพร่ำสอนในคำสอนของพระศาสนา ไม่ได้หมายถึง
ว่า ไม่ต้องเชื่อใคร (อปรปฺปจฺจโย =ไม่มีใครอื่นอีกเป็นปัจจัย) (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๘/๒๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] มหาชนออกบวช

มหาชนออกบวช

[๗๘] ภิกษุทั้งหลาย มหาชนในกรุงพันธุมดีราชธานีประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน
ได้ทราบข่าวว่า ‘พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวัน
พระราชโอรสพระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ โกนผมและหนวด นุ่งห่ม
ผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากพระราชวังและเรือนบวชเป็นบรรพชิตในสำนักพระวิปัสสี-
พุทธเจ้า’ จึงคิดกันว่า ‘พระธรรมวินัยและการบรรพชาที่พระราชโอรสพระนามว่า
ขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ โกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจาก
พระราชวังและเรือนบวชเป็นบรรพชิตนั้น คงจะไม่ต่ำทราม คนระดับพระราชโอรส
พระนามว่าขัณฑะและบุตรปุโรหิตชื่อติสสะ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ออกจากพระราชวังและเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้ ทำไม พวกเราจักบวชบ้างไม่ได้เล่า’
มหาชนประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน จึงชักชวนกันออกจากกรุงพันธุมดีราชธานี ไปยัง
เขมมฤคทายวันเข้าไปเฝ้าพระวิปัสสีพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร
[๗๙] พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสอนุปุพพิกถาแก่ชนเหล่านั้น คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา
เมื่อทรงทราบว่าชนเหล่านั้น มีจิตควรบรรลุ อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ชน
๘๔,๐๐๐ เหล่านั้น ณ ที่นั่งนั้นแลว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๒๖/๓๒-๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
บรรพชิตรุ่นแรกที่บวชตามเสด็จบรรลุธรรม

[๘๐] ชนเหล่านั้นเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว
หมดความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อ
ผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’
พวกข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
และพึงได้การบรรพชาพึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค’
[๘๑] มหาชนประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน ได้การบรรพชาได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระองค์ทรงชี้แจงให้ภิกษุเหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงประกาศโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของสังขาร
และอานิสงส์ในนิพพาน จิตของภิกษุเหล่านั้นอันพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น

บรรพชิตรุ่นแรกที่บวชตามเสด็จบรรลุธรรม

[๘๒] ภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตประมาณ ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้นได้ทราบข่าวว่า
‘พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงพันธุมดีราชธานี ประทับอยู่ที่เขมมฤคทายวัน กำลัง
ทรงแสดงธรรม’ จึงพากันไปยังเขมมฤคทายวัน กรุงพันธุมดีเข้าไปเฝ้าพระวิปัสสี-
พุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[๘๓] พระวิปัสสีพุทธเจ้าตรัสอนุปุพพิกถาแก่บรรพชิตเหล่านั้น คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา
เมื่อทรงทราบว่า บรรพชิตเหล่านั้นมีจิตควรบรรลุธรรม อ่อน ปราศจาก
นิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา

ทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจาก
มลทิน ได้เกิดขึ้นแก่บรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้น ณ อาสนะนั้นแลว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เหมือนผ้าขาว
สะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
[๘๔] บรรพชิตเหล่านั้นเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว หมดความสงสัยแล้ว ไม่มีความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระวิปัสสีพุทธเจ้าดังนี้ว่า ‘ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรง
ประกาศธรรมแจ่มแจ้ง โดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดี
จักเห็นรูปได้’ พวกข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและ
พระสงฆ์เป็นสรณะ และพึงได้การบรรพชาพึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี
พระภาค’
[๘๕] บรรพชิตประมาณ ๘๔,๐๐๐ รูปเหล่านั้น ได้การบรรพชาได้การ
อุปสมบทในสำนักพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระองค์ทรงชี้แจงให้ภิกษุเหล่านั้นเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงประกาศโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของ
สังขารและอานิสงส์ในนิพพาน จิตของภิกษุเหล่านั้นอันพระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงชี้แจง
ให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลม
ใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ไม่นานนัก ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะ
ไม่ถือมั่น

ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา

[๘๖] ภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น มีภิกษุอยู่ประมาณ ๑๖๘,๐๐๐ รูปในกรุง
พันธุมดีราชธานี ครั้งนั้นแล พระวิปัสสีพุทธเจ้าประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มี
พระรำพึงอย่างนี้ว่า ‘เวลานี้ ในกรุงพันธุมดีมีภิกษุสงฆ์อยู่จำนวนมากถึง ๑๖๘,๐๐๐ รูป
ทางที่ดีเราควรประกาศให้ภิกษุทั้งหลายรู้ทั่วกันว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา

เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าไปทางเดียวกัน
๒ รูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความ
งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบถ้วน ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะ
ไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่ แต่เมื่อเวลาล่วงไป ทุก ๆ
๖ ปี เธอทั้งหลายควรกลับมายังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’
[๘๗] ครั้งนั้น ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่ง ทราบพระรำพึงของพระวิปัสสีพุทธเจ้า
ด้วยใจได้หายตัวไปจากพรหมโลก มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระวิปัสสีพุทธเจ้า
เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น ท้าวมหาพรหมนั้น ห่มผ้า
เฉวียงบ่า ประนมมือน้อมไปทางพระวิปัสสีพุทธเจ้าได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระ
ผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น เวลานี้
ในกรุงพันธุมดีราชธานีมีภิกษุสงฆ์อยู่จำนวนมากถึง ๑๖๘,๐๐๐ รูป พระองค์โปรด
ทรงอนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อเกื้อกูล
แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรม
มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด จงประกาศ
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ในโลกนี้ยังมี
เหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์
ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่’ ข้าพระองค์จักหาวิธีให้ภิกษุทั้งหลายกลับมายัง
กรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์ เมื่อล่วงไปทุก ๆ ๖ ปี พระพุทธเจ้าข้า’
เมื่อท้าวมหาพรหมกราบทูลอย่างนี้แล้ว จึงถวายอภิวาทพระวิปัสสีพุทธเจ้า
กระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง
[๘๘] ครั้นในเวลาเย็น พระวิปัสสีพุทธเจ้าเสด็จออกจากที่หลีกเร้น รับสั่ง
เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เราหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ณ ที่นี้ ได้มี
ความรำพึงอย่างนี้ว่า ‘เวลานี้ ในกรุงพันธุมดีราชธานีมีภิกษุสงฆ์อยู่จำนวนมากถึง
๑๖๘,๐๐๐ รูป ทางที่ดีเราควรประกาศให้ภิกษุทั้งหลายรู้ทั่วกันว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา

เธอทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์
ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่า
ไปทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้น
จะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่ แต่เมื่อเวลา
ล่วงไปทุก ๆ ๖ ปี เธอทั้งหลายควรกลับมายังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดง
ปาติโมกข์’
ต่อมา ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่ง ทราบความรำพึงของเราด้วยใจแล้วได้หายตัว
จากพรหมโลกมาปรากฏเฉพาะหน้าเรา เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือ
คู้แขนเข้า ฉะนั้น ท้าวมหาพรหมนั้นห่มผ้าเฉวียงบ่า ประนมมือน้อมมาทางที่เราอยู่
ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต
เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น เวลานี้ ในกรุงพันธุมดีราชธานีมีภิกษุสงฆ์อยู่จำนวนมากถึง
๑๖๘,๐๐๐ รูป พระองค์โปรดทรงอนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์
ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่า
ไปทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้น
จะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่’ ข้าพระองค์
จักหาวิธีให้ภิกษุทั้งหลายกลับมายังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์ เมื่อเวลา
ล่วงไปทุก ๆ ๖ ปี พระพุทธเจ้าข้า’
เมื่อท้าวมหาพรหมนั้นได้กล่าวอย่างนี้แล้ว จึงถวายอภิวาทเรากระทำประทักษิณ
แล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง
ภิกษุทั้งหลาย เราประกาศให้รู้ทั่วกันว่า ‘เธอทั้งหลาย จงจาริกไปเพื่อเกื้อกูล
แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา

เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แต่อย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูป
จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงาม
ในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
ในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟัง
ธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่อาจจะรู้ทั่วถึงธรรมได้ยังมีอยู่ แต่เมื่อเวลาล่วงไปทุก ๆ ๖ ปี
เธอทั้งหลายควรกลับมายังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’ ภิกษุส่วนมาก
ได้จาริกไปตามชนบท โดยวันเดียวเท่านั้น
[๘๙] สมัยนั้น ในชมพูทวีปมีอาวาสอยู่ ๘๔,๐๐๐ แห่ง เมื่อเวลาล่วงไป ๑ ปี
เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย เวลาล่วงไป ๑ ปีแล้ว บัดนี้ยัง
เหลือเวลา ๕ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๕ ปี พวกท่านพึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี
เพื่อแสดงปาติโมกข์’
เมื่อเวลาล่วงไป ๒ ปี เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
เวลาล่วงไป ๒ ปีแล้ว บัดนี้ยังเหลือเวลา ๔ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๔ ปี พวกท่าน
พึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’
เมื่อเวลาล่วงไป ๓ ปี เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
เวลาล่วงไป ๓ ปีแล้ว บัดนี้ยังเหลือเวลา ๓ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๓ ปี พวกท่าน
พึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’
เมื่อเวลาล่วงไป ๔ ปี เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
เวลาล่วงไป ๔ ปีแล้ว บัดนี้ยังเหลือเวลา ๒ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๒ ปี พวกท่าน
พึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’
เมื่อเวลาล่วงไป ๕ ปี เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
เวลาล่วงไป ๕ ปีแล้ว บัดนี้ยังเหลือเวลา ๑ ปี เมื่อเวลาล่วงไป ๑ ปี พวกท่าน
พึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร]
ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์

เมื่อเวลาล่วงไป ๖ ปี เหล่าเทวดาได้ประกาศว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
เวลาล่วงไป ๖ ปีแล้ว บัดนี้ถึงเวลาแล้ว พวกท่านพึงเข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี
เพื่อแสดงปาติโมกข์’
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น บางพวกเดินทางไปด้วยฤทธิ์ ด้วยอานุภาพของตน
บางพวกเดินทางไปด้วยฤทธิ์ ด้วยอานุภาพของเทวดา เพียงวันเดียวเท่านั้น พากัน
เข้าไปยังกรุงพันธุมดีราชธานี เพื่อแสดงปาติโมกข์

ทรงแสดงพระโอวาทปาติโมกข์

[๙๐] ภิกษุทั้งหลาย พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงแสดงปาติโมกข์๑ ในที่ประชุมสงฆ์
ที่กรุงพันธุมดีราชธานีนั้นดังนี้
‘ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นบรมธรรม
ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
การไม่ทำบาป๒ทั้งปวง
การทำกุศล๓ให้ถึงพร้อม
การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ปาติโมกข์ ในที่นี้มิได้หมายถึงอาณาปาติโมกข์ (ประมวลพุทธบัญญัติที่ทรงตั้งขึ้นเป็นพุทธอาณา ได้แก่
อาทิพรหมจริยกสิกขา ที่มีพระพุทธานุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน) แต่หมายถึงโอวาทปาติโมกข์
ซึ่งประกอบด้วยคาถา ๓ คาถามี ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา เป็นต้น ที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทรงแสดงเอง
(ที.ม.อ. ๙๐/๗๖, วิ.อ. ๑/๑๙/๑๙๐-๑๙๒)
๒ บาป หมายถึงกรรมที่มีโทษซึ่งสหรคตด้วยอกุศลจิต ๑๒ ดวง (ที.ม.ฏีกา ๙๐/๙๒)
๓ กุศล หมายถึงกุศลที่เป็นไปในภูมิ ๔ (ที.ม.อ. ๙๐/๗๖, ที.ม.ฏีกา ๙๐/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คำกราบทูลของเทวดา

การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น
การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ความสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
การประกอบความเพียรในอธิจิต
นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย’๑

คำกราบทูลของเทวดา

[๙๑] ภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ควงต้นราชสาละ ป่าสุภควัน
กรุงอุกกัฏฐะ ขณะที่เรานั้นหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มีความรำพึงอย่างนี้ว่า ‘เทวโลก
ชั้นสุทธาวาสที่เราไม่เคยอยู่มาเลยตลอดกาลนานนี้ ไม่ใช่ใคร ๆ จะเข้าถึงได้โดยง่าย
ยกเว้นเหล่าเทพชั้นสุทธาวาส ทางที่ดี เราควรไปหาเหล่าเทพชั้นสุทธาวาส’ จึงได้
หายไปจากควงต้นราชสาละนั้นไปปรากฏในเหล่าเทพชั้นอวิหาอย่างรวดเร็ว เหมือนบุรุษ
ผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๙๑ กัป พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติ
เป็นกษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ มีพระ
ชนมายุประมาณ ๘๐,๐๐๐ ปี ตรัสรู้ที่ควงต้นแคฝอย ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่
ที่เจริญ ได้แก่พระขัณฑะและพระติสสะ มีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑
มีภิกษุ ๑๖๘,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ
๘๐,๐๐๐ รูป พระสาวกที่เข้าประชุมทั้ง ๓ ครั้ง ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุ
อโสกะเป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก มีพระเจ้าพันธุมาเป็นพระบิดา พระนาง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ธ. ๒๕/๑๘๓-๑๘๕/๔๙-๕๐, ขุ.อุ. ๒๕/๓๖/๑๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คำกราบทูลของเทวดา

พันธุมดีเทวีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงพันธุมดีเป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา
การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบรรพชาของพระองค์
เป็นอย่างนี้ การบำเพ็ญเพียรของพระองค์เป็นอย่างนี้ การตรัสรู้ของพระองค์เป็น
อย่างนี้ การแสดงธรรมจักรของพระองค์เป็นอย่างนี้ พวกข้าพระองค์ประพฤติ
พรหมจรรย์ในพระวิปัสสีพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเราถึง
ที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๓๑ กัป พระสิขีพุทธเจ้า ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ
พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสิขีพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดี
ในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้ ในกัปที่ ๓๑ นั้นเอง พระเวสสภูพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้น
ในโลก ฯลฯ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระเวสสภูพุทธเจ้า คลายความ
กำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้ ในภัทรกัปนี้เอง พระกกุสันธพุทธเจ้า
พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ พวกข้า
พระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า
พระกัสสปพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้
นิรทุกข์ ในภัทรกัปนี้เอง บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จ
อุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติเป็นกษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ มีพระโคตร
ว่าโคตมะ มีพระชนมายุเพียงเล็กน้อย ผู้ที่มีอายุยืนก็เพียง ๑๐๐ ปี หรือเกินไปอีก
เล็กน้อย๑ ตรัสรู้ที่ควงต้นอัสสัตถะ ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่เจริญ ได้แก่
พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ
๑,๒๕๐ รูป พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุอานนท์เป็น

เชิงอรรถ :
๑ เกินไปอีกเล็กน้อย ในที่นี้หมายถึงคนมีอายุยืนเกิน ๑๐๐ ปี สมัยพุทธกาล ได้แก่ พระมหากัสสปะ
พระอานนท์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี นางวิสาขา พราหมณ์โปกขรสาติ พราหมณ์พรหมายุ พราหมณ์เสละ
พราหมณ์พาวรี ทุกท่านมีอายุ ๑๒๐ ปี พระอนุรุทธะมีอายุ ๑๕๐ ปี พระพากุละมีอายุ ๑๖๐ ปี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คำกราบทูลของเทวดา

อุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก๑ มีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระบิดา พระนางมายาเทวี
เป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด มีกรุงกบิลพัสดุ์เป็นราชธานี การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบรรพชาของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบำเพ็ญเพียรของ
พระองค์เป็นอย่างนี้ การตรัสรู้ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การแสดงธรรมจักรของ
พระองค์เป็นอย่างนี้ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค คลายความ
กำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
[๙๒] ครั้งนั้น เราพร้อมกับเหล่าเทพชั้นอวิหา ได้เข้าไปหาเหล่าเทพชั้นอตัปปา
ถึงที่อยู่ ...
เราพร้อมกับเหล่าเทพชั้นอวิหาและชั้นอตัปปา ได้เข้าไปหาเหล่าเทพชั้นสุทัสสา
ถึงที่อยู่ ...
เราพร้อมกับเหล่าเทพชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา และชั้นสุทัสสา ได้เข้าไปหา
เหล่าเทพชั้นสุทัสสีถึงที่อยู่ ...
ครั้งนั้น เราพร้อมกับเหล่าเทพชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา และชั้นสุทัสสี
ได้เข้าไปหาเหล่าเทพชั้นอกนิฏฐาถึงที่อยู่ ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวน
หลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
เทวดาเหล่านั้นได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นับจากกัปนี้
ถอยหลังไป ๙๑ กัป พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติเป็นกษัตริย์
ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ มีพระโคตรว่าโกณฑัญญะ มีพระชนมายุประมาณ
๘๐,๐๐๐ ปี ตรัสรู้ที่ควงต้นแคฝอย ทรงมีคู่พระอัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่
พระขัณฑะและพระติสสะ มีการประชุมพระสาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ มีภิกษุ
๑๖๘,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๒ มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ครั้งที่ ๓ มีภิกษุ ๘๐,๐๐๐ รูป
พระสาวกที่เข้าประชุมทั้ง ๓ ครั้ง ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุอโสกะเป็นอุปัฏฐาก

เชิงอรรถ :
๑ ในปฐมโพธิกาล พระผู้มีพระภาคไม่มีพระอุปัฏฐากประจำ บางคราวพระนาคสมาละ บางคราวพระ-
นาคิตะ บางคราวพระอุปวาณะ บางคราวพระสุนักขัตตะ บางคราวจุนทะ สมณุทเทส บางคราวพระสาคตะ
บางคราว พระเมฆิยะ (วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] คำกราบทูลของเทวดา

เป็นอัครอุปัฏฐาก มีพระเจ้าพันธุมาเป็นพระบิดา พระนางพันธุมดีเทวีเป็น
พระมารดาผู้ให้กำเนิด กรุงพันธุมดีเป็นราชธานีของพระเจ้าพันธุมา การเสด็จออก
มหาภิเนษกรมณ์ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบรรพชาของพระองค์เป็นอย่างนี้
การบำเพ็ญเพียรของพระองค์เป็นอย่างนี้ การตรัสรู้ของพระองค์เป็นอย่างนี้
การแสดงธรรมจักรของพระองค์เป็นอย่างนี้ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์
ในพระวิปัสสีพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้นิรทุกข์ นับจากกัปนี้ถอยหลังไป ๓๑ กัป พระสิขีพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก
ฯลฯ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสิขีพุทธเจ้า คลายความกำหนัด
ยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้นิรทุกข์ ในกัปที่ ๓๑ นั้นเอง พระเวสสภูพุทธเจ้า ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ
พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระเวสสภูพุทธเจ้า คลายความกำหนัดยินดี
ในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามาหาเรา
ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้นิรทุกข์ ในภัทรกัปนี้เอง พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสป-
พุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ฯลฯ พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ ในพระ
กกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า คลายความกำหนัด
ยินดีในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’
[๙๓] ในหมู่เทพนั้น มีเทวดามากมาย จำนวนหลายร้อย หลายพัน เข้ามา
หาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้นิรทุกข์ ในภัทรกัปนี้เอง บัดนี้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ทรงสรุปพระธรรมเทศนา

อุบัติขึ้นในโลก มีพระชาติเป็นกษัตริย์ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในตระกูลกษัตริย์ มีพระโคตร
ว่าโคตมะ มีพระชนมายุเพียงเล็กน้อย ผู้ที่มีอายุยืนก็เพียง ๑๐๐ ปี หรือเกินไปอีก
เล็กน้อย ตรัสรู้ที่ควงต้นอัสสัตถะ ทรงมีคู่อัครสาวก เป็นคู่ที่เจริญ ได้แก่ พระสารีบุตร
และพระโมคคัลลานะ มีการประชุมพระสาวกครั้งเดียว มีภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป พระสาวก
ที่เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ มีภิกษุอานนท์เป็นอุปัฏฐาก เป็นอัครอุปัฏฐาก
มีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระบิดา พระนางมายาเทวีเป็นพระมารดาผู้ให้กำเนิด มีกรุง
กบิลพัสดุ์เป็นราชธานี การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระองค์เป็นอย่างนี้
การบรรพชาของพระองค์เป็นอย่างนี้ การบำเพ็ญเพียรของพระองค์เป็นอย่างนี้
การตรัสรู้ของพระองค์เป็นอย่างนี้ การแสดงธรรมจักรของพระองค์เป็นอย่างนี้
พวกข้าพระองค์ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค คลายความกำหนัดยินดี
ในกาม จึงได้มาเกิดในที่นี้’

ทรงสรุปพระธรรมเทศนา

[๙๔] ภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตมีปัญญาแทงตลอดธรรมธาตุดังกล่าวมานี้
จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรม
เครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทางได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทั้งโดยพระชาติ พระนาม พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุม
พระสาวกว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตรอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑. มหาปทานสูตร] ทรงสรุปพระธรรมเทศนา

แม้เหล่าเทวดาก็บอกเรื่องนั้นให้ทราบ จึงเป็นเหตุให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ทั้งหลายในอดีตกาล ผู้ปรินิพพานแล้ว ผู้ตัดธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้ตัดทาง
ได้แล้ว ผู้ตัดวัฏฏะได้แล้ว ผู้ล่วงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ทั้งโดยพระชาติ พระนาม
พระโคตร พระชนมายุ คู่พระอัครสาวก และการประชุมพระสาวกว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระชาติอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงมีพระนามอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีพระโคตร
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงมีธรรม
เป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็น
เครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

มหาปทานสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

๒. มหานิทานสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นต้นเหตุใหญ่

ปฏิจจสมุปบาท๑

[๙๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุชื่อกัมมาสธัมมะ
แคว้นกุรุ ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง๒ สุดจะ
คาดคะเนได้ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนกับว่าเป็นธรรมง่าย ๆ
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่าพูดอย่างนั้น อานนท์ อย่าพูดอย่างนั้น อานนท์
ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง สุดจะคาดคะเนได้ ก็เพราะไม่รู้ไม่เข้าใจปฏิจจ-
สมุปบาทนี้ หมู่สัตว์จึงยุ่งเหมือนขอดด้ายของช่างหูก เป็นปมนุงนังเหมือนกระจุกด้าย
เหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ข้ามพ้นอบาย๓ ทุคติ วินิบาตและสงสาร
[๙๖] อานนท์ เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมีหรือ’
ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี’ ควรตอบว่า
‘เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ชาติจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า
‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ภพจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า
‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ภพจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๖๐/๑๑๓
๒ ลึกซึ้ง หมายถึงลึกซึ้งโดยอาการ ๔ คือ (๑) อรรถ (ผล) (๒) ธรรม (เหตุ) (๓) เทศนา (วิธีการแสดง)
(๔) ปฏิเวธ (การบรรลุ) (ที.ม.อ. ๙๕/๙๐)
๓ อบาย หมายถึงภาวะหรือที่อันปราศจากความเจริญ ๔ คือ (๑) นรก (๒) กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน (๓) แดน
เปรต (๔) อสุรกาย (ที.ม.อ ๙๕/๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย อุปาทานจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’
ถ้าถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะตัณหาเป็น
ปัจจัย อุปาทานจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ตัณหาจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า
‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย เวทนาจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า
‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ผัสสะจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้าถามว่า
‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย นามรูปจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้า
ถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี’ ควรตอบว่า ‘เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
นามรูปจึงมี’
เมื่อถูกถามว่า ‘เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมีหรือ’ ควรตอบว่า ‘มี’ ถ้า
ถามว่า ‘เพราะอะไรเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี‘ควรตอบว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย
วิญญาณจึงมี’
[๙๗] ด้วยเหตุดังนี้แล

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย___วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย___นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย___ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย___เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย___ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย___อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย___ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย___ชาติจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสจึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ ด้วยประการฉะนี้
[๙๘] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่ชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าชาติ คือ ชาติ
เพื่อความเป็นเทพของพวกเทพ เพื่อความเป็นคนธรรพ์ของพวกคนธรรพ์ เพื่อความ
เป็นยักษ์ของพวกยักษ์ เพื่อความเป็นภูตของพวกภูต เพื่อความเป็นมนุษย์ของพวก
มนุษย์ เพื่อความเป็นสัตว์สี่เท้าของพวกสัตว์สี่เท้า เพื่อความเป็นสัตว์ปีกของพวก
สัตว์ปีก เพื่อความเป็นสัตว์เลื้อยคลานของพวกสัตว์เลื้อยคลาน ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ
ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง ก็ถ้าชาติไม่ได้มีเพื่อความเป็นอย่างนั้นของสรรพสัตว์พวกนั้น ๆ
เมื่อชาติไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะชาติดับไป ชรามรณะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งชราและมรณะ ก็คือชาตินั่นเอง
[๙๙] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่ภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าภพ คือ กามภพ
รูปภพ หรืออรูปภพ ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อภพไม่มีโดยประการ
ทั้งปวง เพราะภพดับไป ชาติจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งชาติ ก็คือภพนั่นเอง
[๑๐๐] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่อุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าอุปาทาน คือ
กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม) ทิฏฐุปาทาน(ความยึดมั่นในทิฏฐิ) สีลัพพตุปาทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

(ความยึดมั่นในศีลพรต) หรืออัตตวาทุปาทาน(ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา) ไม่ได้
มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่ออุปาทานไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ
อุปาทานดับไป ภพจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งภพ ก็คืออุปาทานนั่นเอง
[๑๐๑] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทาน
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่ตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าตัณหา
คือ รูปตัณหา(อยากได้รูป) สัททตัณหา(อยากได้เสียง) คันธตัณหา(อยากได้กลิ่น)
รสตัณหา(อยากได้รส) โผฏฐัพพตัณหา(อยากได้โผฏฐัพพะ) และธัมมตัณหา (อยากได้
ธรรมารมณ์) ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการ
ทั้งปวง เพราะตัณหาดับไป อุปาทานจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งอุปาทาน ก็คือตัณหานั่นเอง
[๑๐๒] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่เวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าเวทนา คือ
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัส เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัส
เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัส เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัส และเวทนาที่เกิดจาก
มโนสัมผัส ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการ
ทั้งปวง เพราะเวทนาดับไป ตัณหาจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งตัณหา ก็คือเวทนานั่นเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

[๑๐๓] อานนท์ ด้วยเหตุดังนี้แล

เพราะอาศัยเวทนา___ตัณหาจึงมี
เพราะอาศัยตัณหา___ปริเยสนา (การแสวงหา) จึงมี
เพราะอาศัยปริเยสนา___ลาภะ (การได้) จึงมี
เพราะอาศัยลาภะ___วินิจฉยะ (การกำหนด) จึงมี
เพราะอาศัยวินิจฉยะ___ฉันทราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความพอใจ) จึงมี
เพราะอาศัยฉันทราคะ___อัชโฌสานะ (ความหมกมุ่นฝังใจ) จึงมี
เพราะอาศัยอัชโฌสานะ___ปริคคหะ (การยึดถือครอบครอง) จึงมี
เพราะอาศัยปริคคหะ___มัจฉริยะ (ความตระหนี่) จึงมี
เพราะอาศัยมัจฉริยะ___อารักขะ (ความหวงกั้น) จึงมี
เพราะอารักขะเป็นเหตุ___บาปอกุศลธรรมเป็นอเนก ย่อมเกิด
ขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา
การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท
การพูดขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูด
ส่อเสียด และการพูดเท็จ

[๑๐๔] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอารักขะเป็นเหตุ บาปอกุศล-
ธรรมเป็นอเนก ย่อมเกิดขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ
การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูดส่อเสียด และการ
พูดเท็จ’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อารักขะเป็นเหตุ บาปอกุศลธรรมเป็นอเนก ย่อมเกิด
ขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การพูด
ขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูดส่อเสียด และการพูดเท็จ ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าอารักขะ
ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่ออารักขะไม่มีโดยประการทั้งปวง
เพราะอารักขะดับไป บาปอกุศลธรรมเป็นอเนก จะเกิดขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือ
ศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูด
ส่อเสียด และการพูดเท็จได้หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “เกิดขึ้นไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ และปัจจัย
แห่งบาปอกุศลธรรมเป็นอเนกที่เกิดขึ้นจากการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ
การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า ‘มึง มึง’ การพูดส่อเสียด และการ
พูดเท็จ ก็คืออารักขะนั่นเอง
[๑๐๕] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยมัจฉริยะ อารักขะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยมัจฉริยะ อารักขะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้ามัจฉริยะไม่ได้
มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อมัจฉริยะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ
มัจฉริยะดับไป อารักขะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งอารักขะ ก็คือมัจฉริยะนั่นเอง
[๑๐๖] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยปริคคหะ มัจฉริยะ
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยปริคคหะ มัจฉริยะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าปริคคหะ
ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อปริคคหะไม่มีโดยประการทั้งปวง
เพราะปริคคหะดับไป มัจฉริยะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งมัจฉริยะ ก็คือปริคคหะนั่นเอง
[๑๐๗] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยอัชโฌสานะ ปริคคหะ
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยอัชโฌสานะ ปริคคหะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าอัชโฌสานะ
ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่ออัชโฌสานะไม่มีโดยประการทั้งปวง
เพราะอัชโฌสานะดับไป ปริคคหะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งปริคคหะ ก็คืออัชโฌสานะนั่นเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

[๑๐๘] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวไว้เช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยฉันทราคะ อัชโฌสานะ
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยฉันทราคะ อัชโฌสานะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้า
ฉันทราคะไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อฉันทราคะไม่มีโดยประการ
ทั้งปวง เพราะฉันทราคะดับไป อัชโฌสานะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งอัชโฌสานะ ก็คือฉันทราคะนั่นเอง
[๑๐๙] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยวินิจฉยะ ฉันทราคะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยวินิจฉยะ ฉันทราคะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าวินิจฉยะไม่ได้
มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อวินิจฉยะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ
วินิจฉยะดับไป ฉันทราคะจะปรากฏได้หรือ''
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งฉันทราคะ ก็คือวินิจฉยะนั่นเอง
[๑๑๐] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยลาภะ วินิจฉยะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยลาภะ วินิจฉยะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าลาภะไม่ได้มีแก่
ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อลาภะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะลาภะ
หมดไป วินิจฉยะจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งวินิจฉยะ ก็คือลาภะนั่นเอง
[๑๑๑] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยปริเยสนา ลาภะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยปริเยสนา ลาภะจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าปริเยสนาไม่ได้
มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อปริเยสนาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะ
ปริเยสนาดับไป ลาภะจะปรากฏได้หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งลาภะ ก็คือปริเยสนานั่นเอง
[๑๑๒] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะอาศัยตัณหา ปริเยสนา
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่อาศัยตัณหา ปริเยสนาจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าตัณหา คือ
กามตัณหา๑ ภวตัณหา๒ และวิภวตัณหา๓ ไม่ได้มีแก่ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง
เมื่อตัณหาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะตัณหาดับไป ปริเยสนาจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งปริเยสนา ก็คือตัณหานั่นเอง
อานนท์ ธรรม ๒ อย่างนี้ ทั้ง ๒ ส่วน๔ รวมลงเป็นอย่างเดียวกับเวทนา
ด้วยประการฉะนี้
[๑๑๓] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่ผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าผัสสะ คือ จักขุ-
สัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส และมโนสัมผัสไม่ได้มีแก่
ใคร ๆ ในภพไหน ๆ ทั่วทุกแห่ง เมื่อผัสสะไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะผัสสะดับไป
เวทนาจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งเวทนา ก็คือผัสสะนั่นเอง

เชิงอรรถ :
๑ กามตัณหา (ความทะยานอยากในกาม) ในที่นี้หมายถึงราคะที่เนื่องด้วยกามคุณ ๕ (ที.ปา.อ.๓๐๕/๑๘๒)
๒ ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ) ในที่นี้หมายถึงราคะในรูปภพและอรูปภพ, ราคะที่ประกอบด้วย
สัสสตทิฏฐิ (ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๘๒)
๓ วิภวตัณหา (ความทะยานอยากในวิภพ) ในที่นี้หมายถึงราคะที่ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ที.ปา.อ. ๓๐๕/๑๘๒)
๔ ธรรม ๒ อย่างนี้ ทั้ง ๒ ส่วน ในที่นี้หมายถึงตัณหา ๒ ประการ ได้แก่ (๑) วัฏฏมูลตัณหา ตัณหาที่เป็นมูล
ในวัฏฏะ หมายถึงตัณหาที่เป็นปัจจัยของอุปาทาน (๒) สมุทาจารตัณหา ตัณหาที่ฟุ้งขึ้น หมายถึงตัณหา
ที่ท่านกล่าวว่า เพราะอาศัยตัณหา ปริเยสนาจึงมี เป็นต้น (ที.ม.อ. ๑๑๒/๙๘, ที.ม.ฏีกา ๑๑๒/๑๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

[๑๑๔] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่นามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ดังต่อไปนี้ การบัญญัตินามกาย๑
ต้องพร้อมด้วยอาการ๒ เพศ๓ นิมิต๔ อุทเทส๕ เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทส
นั้น ๆ ไม่มี การสัมผัสแต่ชื่อในรูปกายจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัติรูปกายต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ
นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้น ๆ ไม่มี การสัมผัสโดยการ
กระทบในนามกายจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัตินามกายและรูปกายต้องพร้อมด้วย
อาการ เพศ นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้น ๆ ไม่มี
การสัมผัสแต่ชื่อจะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “การบัญญัตินามรูปต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ
นิมิต และอุทเทส เมื่ออาการ เพศ นิมิต และอุทเทสนั้น ๆ ไม่มี ผัสสะจะปรากฏ
ได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งผัสสะ ก็คือนามรูปนั่นเอง
[๑๑๕] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี’
เธอพึงทราบเหตุผลที่วิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้าวิญญาณ
จักไม่หยั่งลงในท้องมารดา นามรูปจะก่อตัวขึ้นในท้องมารดาได้หรือ”

เชิงอรรถ :
๑ นามกาย หมายถึงนามขันธ์ ๔ คือ (๑) เวทนาขันธ์ (๒) สัญญาขันธ์ (๓) สังขารขันธ์ (๔) วิญญาณขันธ์
(ที.ม.อ. ๑๑๔/๙๙)
๒ อาการ หมายถึงอากัปกิริยาของนามขันธ์แต่ละอย่างที่สำแดงออกมา (ที.ม.ฏีกา. ๑๑๔/๑๒๓)
๓ เพศ หมายถึงลักษณะที่บ่งบอกหรือใช้เป็นเครื่องอนุมานถึงนามขันธ์แต่ละอย่าง (ที.ม.ฏีกา ๑๑๔/๑๒๓)
๔ นิมิต หมายถึงเครื่องหมายแสดงถึงลักษณะเฉพาะของนามขันธ์แต่ละอย่าง (ที.ม.ฏีกา. ๑๑๔/๑๒๓)
๕ อุทเทส หมายถึงคำอธิบายเกี่ยวกับนามขันธ์แต่ละอย่าง เช่น เป็นสิ่งที่ไม่ใช่รูป เป็นสิ่งที่รับรู้ได้ (ที.ม.ฏีกา.
๑๑๔/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ปฏิจจสมุปบาท

ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ก็ถ้าวิญญาณหยั่งลงในท้องมารดาแล้วล่วงเลยไป
นามรูปจักบังเกิดขึ้นเพื่อความเป็นอย่างนี้ได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ก็ถ้าวิญญาณเด็กชายหรือเด็กหญิงผู้เยาว์วัยจัก
ขาดความสืบต่อ นามรูปจักเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งนามรูป ก็คือวิญญาณนั่นเอง
[๑๑๖] อานนท์ ข้อที่เรากล่าวเช่นนี้ว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณ
จึงมี’ เธอพึงทราบเหตุผลที่นามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ดังต่อไปนี้ ก็ถ้า
วิญญาณจักไม่ได้อาศัยนามรูป ชาติ ชรา มรณะ และความเกิดขึ้นแห่งทุกขสมุทัย
จะปรากฏได้หรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ปรากฏไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เหตุ ต้นเหตุ เหตุเกิด
และปัจจัยแห่งวิญญาณ ก็คือนามรูปนั่นเอง
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล วิญญาณและนามรูปจึงเกิด แก่ ตาย จุติหรืออุบัติ
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำที่เป็นเพียงชื่อ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำที่ใช้ตาม
ความหมาย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำบัญญัติ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีแต่สื่อ
ความเข้าใจ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ วัฏฏะจึงเป็นไป ความเป็นอย่างนี้ย่อมปรากฏ
โดยการบัญญัติ๑ คือ นามรูปย่อมเป็นไปพร้อมกับวิญญาณ เพราะต่างก็เป็นปัจจัย
ของกันและกัน

เชิงอรรถ :
๑ความเป็นอย่างนี้ย่อมปรากฏโดยการบัญญัติ หมายถึงขันธ์ ๕ เป็นเพียงชื่อที่บัญญัติขึ้น (ที.ม.อ. ๑๑๖/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] บัญญัติอัตตา

บัญญัติอัตตา

[๑๑๗] อานนท์ บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตา ย่อมบัญญัติด้วยความเห็น
กี่อย่าง
บุคคล
๑. เมื่อจะบัญญัติอัตตาที่มีขนาดจำกัด มีรูป ย่อมบัญญัติว่า ‘อัตตา
ของเรามีขนาดจำกัด มีรูป’
๒. เมื่อจะบัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมบัญญัติว่า ‘อัตตา
ของเรามีขนาดไม่จำกัด มีรูป’
๓. เมื่อจะบัญญัติอัตตาที่มีขนาดจำกัด ไม่มีรูป ย่อมบัญญัติว่า ‘อัตตา
ของเรามีขนาดจำกัด ไม่มีรูป’
๔. เมื่อจะบัญญัติอัตตาที่มีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมบัญญัติว่า
‘อัตตาของเรามีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป’
[๑๑๘] ในความเห็น ๔ อย่างนั้น บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตามีขนาดจำกัด
มีรูป ย่อมบัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะในชาตินี้ หรือบัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล
หรือมีความเห็นว่า ‘เราจักทำอัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพ
เที่ยง’ อานนท์ การลงความเห็นว่า อัตตาที่มีอยู่ มีขนาดจำกัด มีรูป ย่อมติดตาม
มาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้
บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมบัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือบัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล หรือมีความเห็นว่า ‘เราจักทำ
อัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ อานนท์ การลงความเห็น
ว่าอัตตาที่มีอยู่ มีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น
จึงควรกล่าวไว้
บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตามีขนาดจำกัด ไม่มีรูป ย่อมบัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือบัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล หรือมีความเห็นว่า ‘เราจักทำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ไม่บัญญัตอัตตา

อัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ อานนท์ การลงความเห็น
ว่าอัตตาที่มีอยู่ มีขนาดจำกัด ไม่มีรูป ย่อมติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น
จึงควรกล่าวไว้
บุคคลเมื่อจะบัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมบัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือบัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล หรือมีความเห็นว่า ‘เราจักทำ
อัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ อานนท์ การลงความ
เห็นว่าอัตตา ที่มีอยู่ มีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้
ฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้
อานนท์ บุคคลเมื่อบัญญัติอัตตา ย่อมบัญญัติด้วยความเห็น ๔ อย่างนี้แล”

ไม่บัญญัติอัตตา

[๑๑๙] “อานนท์ บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตา ย่อมไม่บัญญัติด้วยความเห็น
กี่อย่าง
บุคคล
๑. เมื่อไม่บัญญัติอัตตาที่มีขนาดจำกัด มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่า
‘อัตตาของเรามีขนาดจำกัด มีรูป’
๒. เมื่อไม่บัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่า
‘อัตตาของเรามีขนาดไม่จำกัด มีรูป’
๓. เมื่อไม่บัญญัติอัตตาที่มีขนาดจำกัด ไม่มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่า
‘อัตตาของเรามีขนาดจำกัด ไม่มีรูป’
๔. เมื่อไม่บัญญัติอัตตาที่มีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่า
‘อัตตาของเรา มีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป’
[๑๒๐] ในความเห็น ๔ อย่างนั้น บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตามีขนาดจำกัด
มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะในชาตินี้ หรือไม่บัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล
หรือไม่มีความเห็นว่า ‘เราจักทำอัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ความเห็นว่าเป็นอัตตา

สภาพเที่ยง’ การลงความเห็นว่าอัตตาที่มีอยู่มีขนาดจำกัด มีรูป ย่อมไม่ติดตามมา
ด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น จึงควรกล่าวไว้
บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือไม่บัญญัติว่าเป็นสภาพที่มีอยู่ตลอดกาล หรือไม่มีความเห็นว่า ‘เราจัก
ทำอัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ การลงความเห็นว่า
อัตตาที่มีอยู่ มีขนาดไม่จำกัด มีรูป ย่อมไม่ติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น
จึงควรกล่าวไว้
บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตามีขนาดจำกัด ไม่มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือไม่บัญญัติว่าเป็นสภาพที่มีอยู่ตลอดกาล หรือไม่มีความเห็นว่า ‘เราจัก
ทำอัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ การลงความเห็นว่า
อัตตาที่มีอยู่มีขนาดจำกัดไม่มีรูป ย่อมไม่ติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น จึงควร
กล่าวไว้
บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตามีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมไม่บัญญัติว่ามีอยู่เฉพาะ
ในชาตินี้ หรือไม่บัญญัติว่าเป็นสภาพมีอยู่ตลอดกาล หรือไม่มีความเห็นว่า ‘เราจัก
ทำอัตตาที่มีสภาพไม่เที่ยง ที่มีอยู่ ให้สำเร็จเป็นสภาพเที่ยง’ การลงความเห็นว่า
อัตตาที่มีอยู่ มีขนาดไม่จำกัด ไม่มีรูป ย่อมไม่ติดตามมาด้วยอาการอย่างนี้ ฉะนั้น
จึงควรกล่าวไว้
อานนท์ บุคคลเมื่อไม่บัญญัติอัตตา ย่อมไม่บัญญัติด้วยความเห็น ๔ อย่างนี้แล”

ความเห็นว่าเป็นอัตตา

[๑๒๑] “อานนท์ บุคคลเมื่อเห็นว่ามีอัตตา ย่อมเห็นด้วยความเห็น กี่อย่าง
บุคคลเมื่อเห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา ย่อมเห็นว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’
หรือเห็นว่า ‘เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา (เพราะ) อัตตาของเราไม่เสวยอารมณ์’ หรือ
เห็นว่า ‘เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา อัตตาของเราจะไม่เสวยอารมณ์ก็มิใช่ อัตตาของเรา
ยังเสวยอารมณ์อยู่ เพราะอัตตาของเรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๖๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ความเห็นว่าเป็นอัตตา

[๑๒๒] อานนท์ ในความเห็น ๓ อย่างนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาเป็น
อัตตาของเรา’ เขาจะถูกซักถามว่า ‘ผู้มีอายุ เวทนามี ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา
ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา บรรดาเวทนา ๓ อย่างนี้ เธอเห็นเวทนาอย่าง
ไหนว่าเป็นอัตตา’
ในคราวที่อัตตาเสวยสุขเวทนา ก็ย่อมไม่เสวยทุกขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนา
คงเสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น ในคราวที่อัตตาเสวยทุกขเวทนา ก็ย่อมไม่เสวยสุข-
เวทนาและอทุกขมสุขเวทนา คงเสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น ในคราวที่อัตตาเสวย
อทุกขมสุขเวทนา ก็ย่อมไม่เสวยสุขเวทนาและทุกขเวทนา คงเสวยแต่อทุกขมสุข-
เวทนาเท่านั้น
[๑๒๓] อานนท์ แม้สุขเวทนาก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุปัจจัยเกิด
มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา
มีความดับไปเป็นธรรมดา แม้ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยเหตุ
ปัจจัยเกิด มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไป
เป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา แม้อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัย
ปรุงแต่ง อาศัยเหตุปัจจัยเกิด มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา
เมื่อบุคคลเสวยสุขเวทนา ย่อมมีความเห็นว่า ‘นี้เป็นอัตตาของเรา’ เมื่อ
สุขเวทนานั้นดับ จึงมีความเห็นว่า ‘อัตตาของเราดับไปแล้ว’ เมื่อบุคคลเสวยทุกข-
เวทนา ย่อมมีความเห็นว่า ‘นี้เป็นอัตตาของเรา’ เมื่อทุกขเวทนานั้นดับ จึงมีความ
เห็นว่า ‘อัตตาของเราดับไปแล้ว’ เมื่อบุคคลเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมมีความ
เห็นว่า ‘นี้เป็นอัตตาของเรา’ เมื่ออทุกขมสุขเวทนานั้นดับ จึงมีความเห็นว่า ‘อัตตา
ของเราดับไปแล้ว’
ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’ เมื่อเห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา
ย่อมเห็นอัตตา ไม่เที่ยง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และมีความ
เสื่อมไปเป็นธรรมดา ในปัจจุบัน เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
จึงยังไม่ควรที่จะเห็นว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] ความเห็นว่าเป็นอัตตา

[๑๒๔] อานนท์ ในความเห็น ๓ อย่างนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาไม่ใช่
อัตตาของเรา (เพราะ) อัตตาของเราไม่เสวยอารมณ์’ เขาจะถูกซักถามว่า ‘ในรูปขันธ์
ซึ่งไม่มีการเสวยอารมณ์ จะมีความรู้สึกว่า ‘เป็นเรา’ เกิดขึ้นได้หรือไม่”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “เกิดขึ้นไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
จึงยังไม่ควรที่จะเห็นว่า เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา เพราะอัตตาของเราไม่เสวยอารมณ์
[๑๒๕] อานนท์ ในความเห็น ๓ อย่างนั้น ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาไม่ใช่
อัตตาของเรา อัตตาของเราจะไม่เสวยอารมณ์ก็มิใช่ อัตตาของเรายังเสวย
อารมณ์อยู่ เพราะอัตตาของเรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’ เขาจะถูกซักถามว่า ‘ผู้มี
อายุ ก็เพราะเวทนาจะต้องดับไปทั้งหมดทั้งสิ้นไม่มีเหลือ เมื่อไม่มีเวทนา เพราะ
เวทนาดับไป โดยประการทั้งปวงยังจะมีความรู้สึกว่า ‘เป็นเรา’ ได้หรือไม่
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “เพราะเหตุนั้นแล อานนท์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
จึงยังไม่ควรที่จะเห็นว่า ‘เวทนาไม่ใช่อัตตาของเรา อัตตาของเราจะไม่เสวยอารมณ์
ก็มิใช่ อัตตาของเรายังเสวยอารมณ์อยู่ เพราะอัตตาของเรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’
[๑๒๖] อานนท์ ภิกษุใดไม่เห็นเวทนาว่าเป็นอัตตา ไม่เห็นการเสวยอารมณ์
ว่าเป็นอัตตา และไม่เห็นว่า ‘อัตตาของเรายังต้องเสวยอารมณ์ เพราะว่าอัตตาของ
เรามีเวทนาเป็นคุณสมบัติ’ ภิกษุนั้นเมื่อเห็นอย่างนี้ย่อมไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก
และเมื่อไม่ถือมั่นย่อมไม่สะทกสะท้าน เมื่อไม่สะทกสะท้านย่อมดับได้เฉพาะตน๑
ย่อมรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจ
อื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า
‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกหรือ’ การกล่าวของผู้นั้นไม่สมควร ผู้ใดกล่าว

เชิงอรรถ :
๑ ย่อมดับได้เฉพาะตน หมายถึงดับกิเลสได้ด้วยตนเอง (ที.ม.อ. ๑๒๖/๑๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] วิญญาณฐิติ ๗ ประการ

กับภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้น อย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า ‘หลังจากตายแล้ว
ตถาคตไม่เกิดอีกหรือ’ การกล่าวของผู้นั้นก็ไม่สมควร ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้น อย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคต
เกิดอีกและไม่เกิดอีกหรือ’ การกล่าวของผู้นั้นก็ไม่สมควร ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วดังกล่าวนั้น อย่างนี้ว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่า
เกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่หรือ’ การกล่าวของผู้นั้นก็ไม่สมควร
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะชื่อ คำที่เป็นเพียงชื่อ ความหมาย คำที่ใช้ตาม
ความหมาย บัญญัติ คำบัญญัติ ความเข้าใจ สื่อความเข้าใจ วัฏฏะยังเป็นไปอยู่
ตลอดกาลเพียงใด วัฏฏะย่อมหมุนไปตลอดกาลเพียงนั้น
ภิกษุชื่อว่าหลุดพ้นแล้วเพราะรู้ยิ่งวัฏฏะนั้น ผู้ใดกล่าวกับภิกษุผู้หลุดพ้นแล้ว
เพราะรู้ยิ่งวัฏฏะนั้นว่า ‘ท่านมีทิฏฐิว่า ‘พระอรหันต์ย่อมไม่รู้ไม่เห็น’ การกล่าวของ
ผู้นั้นก็ไม่สมควร’

วิญญาณฐิติ ๗ ประการ
(ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ)

[๑๒๗] อานนท์ วิญญาณฐิติ๑ ๗ ประการ และอายตนะ ๒ ประการนี้
วิญญาณฐิติ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน คือ มนุษย์
เทพบางพวก๒ และวินิปาติกะบางพวก๓ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๒/๒๒๒-๒๒๓, ๓๕๗/๒๕๘-๒๕๙, องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๒๔/๔๘๑-๔๘๒
๒ เทพบางพวก หมายถึงพวกเทพในสวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ คือ (๑) ชั้นจาตุมหาราช (๒) ชั้นดาวดึงส์
(๓) ชั้นยามา (๔) ชั้นดุสิต (๕) ชั้นนิมมานรดี (๖) ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี (ที.ม.อ. ๑๒๗/๑๐๙)
๓ วินิปาติกะบางพวก ในที่นี้หมายถึงยักษิณีและเวมานิกเปรตที่พ้นจากอบายภูมิ ๔ (ที.ม.อ. ๑๒๗/๑๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] วิญญาณฐิติ ๗ ประการ

๒. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายต่างกัน แต่มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ
พวกเทพชั้นพรหมกายิกา๑เกิดในปฐมฌานและเหล่าสัตว์ผู้เกิดใน
อบาย ๔ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๒
๓. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน คือ
พวกเทพชั้นอาภัสสระ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๓
๔. มีสัตว์ทั้งหลายผู้มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ
พวกเทพชั้นสุภกิณหะ (เทพที่เต็มไปด้วยความงดงาม) นี้เป็น
วิญญาณฐิติที่ ๔
๕. มีสัตว์ทั้งหลายผู้บรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า
‘อากาศหาที่สุดมิได้’ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนด
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๕
๖. มีสัตว์ทั้งหลายผู้ล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุด
มิได้’ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๖
๗. มีสัตว์ทั้งหลายผู้ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ นี้เป็น
วิญญาณฐิติที่ ๗
อายตนะ ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อสัญญีสัตตายตนะ (อายตนะของสัตว์ผู้ไม่มีสัญญา) นี้เป็นอายตนะ
ที่ ๑
๒. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (อายตนะของสัตว์ผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มี
สัญญาก็มิใช่) นี้เป็นอายตนะที่ ๒

เชิงอรรถ :
๑พวกเทพชั้นพรหมกายิกา หมายถึงพรหมชั้นปฐมฌาน ๓ ชั้น คือ (๑) พรหมปาริสัชชา (พวกบริษัทบริวาร
มหาพรหม) (๒) พรหมปุโรหิตา (พวกปุโรหิตมหาพรหม) (๓) มหาพรหมา (พวกท้าวมหาพรหม) (ที.ม.อ.
๑๒๓/๑๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] วิญญาณฐิติ ๗ ประการ

[๑๒๘] อานนท์ ในวิญญาณฐิติ ๗ ประการนั้น วิญญาณฐิติที่ ๑ ว่า สัตว์
ทั้งหลายผู้มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน คือ มนุษย์บางพวก เทพบางพวกและ
วินิปาติกะบางพวก ผู้ที่รู้วิญญาณฐิตินั้น รู้ความเกิด รู้ความดับ รู้คุณ รู้โทษของ
วิญญาณฐิตินั้น และรู้อุบายสลัดออกจากวิญญาณฐิตินั้น เขาควรจะเพลิดเพลินใน
วิญญาณฐิตินั้นอยู่อีกหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”
ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ วิญญาณฐิติที่ ๗ ว่า สัตว์ทั้งหลายผู้ล่วง
วิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยประการ
ทั้งปวงโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร” ผู้ที่รู้วิญญาณฐิตินั้น รู้ความเกิด รู้ความดับ รู้คุณ
รู้โทษของวิญญาณฐิตินั้น และรู้อุบายสลัดออกจากวิญญาณฐิตินั้น เขาควรจะเพลิดเพลิน
ในวิญญาณฐิตินั้นอยู่อีกหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ ในอายตนะ ๒ ประการนั้น อายตนะที่ ๑
คือ อสัญญีสัตตายตนะ ผู้ที่รู้อสัญญีสัตตายตนะนั้น รู้ความเกิด รู้ความดับ รู้คุณ
รู้โทษของอสัญญีสัตตายตนะนั้น และรู้อุบายสลัดออกจากอสัญญีสัตตายตนะนั้น
เขาควรจะเพลิดเพลินในอสัญญีสัตตายตนะนั้นอยู่อีกหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ อายตนะที่ ๒ คือ เนวสัญญานาสัญญา-
ยตนะ ผู้ที่รู้เนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น รู้ความเกิด รู้ความดับ รู้คุณ รู้โทษของ
เนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น และรู้อุบายสลัดออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้น
เขาควรจะเพลิดเพลินในเนวสัญญานาสัญญายตนะนั้นอยู่อีกหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] วิโมกข์ ๘ ประการ

ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ไม่ควร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุผู้รู้ถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษ
ของวิญญาณฐิติ ๗ และอายตนะ ๒ และอุบายสลัดออกจากวิญญาณฐิติ ๗ และ
อายตนะ ๒ นี้ตามความเป็นจริง ย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น๑ภิกษุนี้เราเรียกว่า
ผู้เป็นปัญญาวิมุต๒

วิโมกข์ ๘ ประการ

[๑๒๙] อานนท์ วิโมกข์๓ ๘ ประการนี้
วิโมกข์ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีรูป เห็นรูปทั้งหลาย๔ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๑
๒. บุคคลผู้มีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอก๕ นี้เป็น
วิโมกข์ประการที่ ๒
๓. บุคคลผู้น้อมใจไปว่า ‘งาม‘๖ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๓
๔. บุคคลบรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘อากาศ
หาที่สุดมิได้’ อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนด
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๔

เชิงอรรถ :
๑ หลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น หมายถึงไม่ถือมั่นในอุปาทาน ๔ คือ (๑) กามุปาทาน (ความถือมั่นในกาม)
(๒) ทิฏฐุปาทาน (ความถือมั่นในทิฏฐิ) (๓) สีลัพพตุปาทาน (ความถือมั่นในศีลพรต) (๔) อัตตวาทุปาทาน
(ความถือมั่นในวาทะว่ามีอัตตา) (ที.ม.อ. ๑๒๘/๑๑๒)
๒ ผู้เป็นปัญญาวิมุต หมายถึงหลุดพ้นด้วยกำลังปัญญา โดยไม่ได้บรรลุสมาธิชั้นสูงคือวิโมกข์ ๘ (ที.ม.ฏีกา
๑๒๘/๑๔๔)
๓ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๙/๒๓๑, ๓๕๘/๒๗๑-๒๗๒, ม.ม. ๑๓/๒๔๘/๒๒๓, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๖๖/๓๖๘-
๓๖๙
๔ มีรูป หมายถึงได้รูปฌานโดยเจริญกสิณที่กำหนดวัตถุในกายของตน เช่น สีผม เห็นรูปทั้งหลาย หมายถึง
เห็นรูปฌาน ๔ (ที.ม.อ. ๑๒๙/๑๑๒-๑๑๓)
๕ เห็นรูปทั้งหลายภายนอก หมายถึงเห็นรูปทั้งหลายมีนีลกสิณเป็นต้นด้วยญาณจักขุ (ที.ม.อ. ๑๒๙/๑๑๒-
๑๑๓)
๖ ผู้น้อมใจไปว่างาม หมายถึงผู้เจริญวัณณกสิณ กำหนดสีที่งาม (ที.ม.อ. ๑๒๙/๑๑๒-๑๑๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๒. มหานิทานสูตร] วิโมกข์ ๘ ประการ

๕. บุคคลล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
วิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่
นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๕
๖. บุคคลล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ นี้เป็นวิโมกข์
ประการที่ ๖
๗. บุคคลล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๗
๘. บุคคลล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
สัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๘
อานนท์ วิโมกข์ ๘ ประการนี้แล
[๑๓๐] อานนท์ ภิกษุผู้เข้าวิโมกข์ ๘ ประการนี้ โดยอนุโลมบ้าง โดยปฏิโลมบ้าง
ทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลมบ้าง เข้าหรือออกได้ตามโอกาสที่ต้องการ ตามชนิด
สมาบัติที่ต้องการ และตามระยะเวลาที่ต้องการ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุนี้
เราเรียกว่า ผู้เป็นอุภโตภาควิมุต๑อานนท์ อุภโตภาควิมุตติอย่างอื่นที่ดีกว่าหรือประณีต
กว่าอุภโตภาควิมุตตินี้ ไม่มี”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

มหานิทานสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ว่าด้วยมหาปรินิพพาน

๓. มหาปรินิพพานสูตร

ว่าด้วยมหาปรินิพพาน

[๑๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น
พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร มีพระประสงค์จะเสด็จไป
ปราบแคว้นวัชชี รับสั่งว่า “เราจะโค่นล้มพวกวัชชีผู้มีฤทธิ์๑มากอย่างนี้ มีอานุภาพ๒
มากอย่างนี้ ให้พินาศย่อยยับ๓”
[๑๓๒] พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร รับสั่ง
เรียกวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธมาตรัสว่า “มาเถิด พราหมณ์ ท่านจง
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า แล้วทูลถาม
ถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์
อยู่สำราญตามคำของเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนาม
ว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ขอกราบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร
ทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัย
สมบูรณ์ อยู่สำราญ’ และจงกราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาแห่งแคว้น
มคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร มีพระประสงค์จะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี
มีรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘เราจะโค่นล้มพวกวัชชีผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้
ให้พินาศย่อยยับ’ พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แก่ท่านอย่างไร ท่านพึงจำคำ
พยากรณ์นั้นให้ดีแล้วมาบอกเรา เพราะว่าพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่ตรัสคำเท็จ๔”

เชิงอรรถ :
๑ ฤทธิ ในที่นี้หมายถึงความพร้อมเพรียงกัน (ที.ม.อ.๑๓๑/๑๑๕)
๒ อานุภาพ ในที่นี้หมายถึงการได้รับการศึกษาฝึกฝนศิลปะต่าง ๆ เช่น ศิลปะเรื่องช้าง (ที.ม.อ.๑๓๑/๑๑๕)
๓ ให้พินาศย่อยยับ ในที่นี้หมายถึงทำให้ไม่มี ให้ถึงความไม่เจริญ และให้ถึงความเสื่อมไปแห่งญาติ เป็นต้น
(ที.ม.อ.๑๓๑/๑๑๕)
๔ ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๒๒/๓๒-๓๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ราชอปริหานิยธรรม

วัสสการพราหมณ์

[๑๓๓] วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธ ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
เทียมยานพาหนะคันงาม ๆ ขึ้นยานพาหนะคันงาม ๆ ออกจากกรุงราชคฤห์พร้อมด้วย
ยานพาหนะคันงาม ๆ ติดตามอีกหลายคันไปยังภูเขาคิชฌกูฏ จนสุดทางที่ยานพาหนะ
จะเข้าไปได้ ลงจากยานพาหนะเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน จึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่า
อชาตศัตรู เวเทหิบุตร ขอกราบพระยุคลบาทของพระโคดมด้วยพระเศียร ทูลถาม
ถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์
อยู่สำราญ พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร มีพระประสงค์
จะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี มีรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘เราจะโค่นล้มพวกวัชชีผู้มีฤทธิ์มาก
อย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ ให้พินาศย่อยยับ”

ราชอปริหานิยธรรม

[๑๓๔] สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ยืนถวายงานพัดพระผู้มีพระภาคอยู่ ณ
เบื้องพระปฤษฎางค์ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า
๑. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุม
กันมากครั้ง”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า
‘พวกเจ้าวัชชีหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันมากครั้ง”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญ
อย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
ประชุมกันมากครั้ง”
๒. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อม
เพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีจะพึงทำ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีพร้อมเพรียงกัน
ประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีจะพึงทำ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ราชอปริหานิยธรรม

“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และ
พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีจะพึงทำ”
๓. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้
ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม๑”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้
บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว
ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม”
๔. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชี สักการะ เคารพ นับถือ บูชา
เจ้าวัชชีผู้มีพระชนมายุมากของชาววัชชี และสำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็น
สิ่งควรรับฟัง”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชี สักการะ เคารพ
นับถือ บูชาเจ้าวัชชีผู้มีพระชนมายุมากของชาววัชชี และสำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้น
ว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจ้าวัชชีผู้มีพระชนมายุมาก
ของชาววัชชี และสำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง”
๕. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่ฉุดคร่าขืนใจกุลสตรี หรือกุลกุมารี
ให้อยู่ร่วมด้วย”

เชิงอรรถ :
๑ วัชชีธรรมที่วางไว้เดิม หมายถึงประเพณีที่สืบต่อกันมานาน เช่น จับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโจร ผู้จับจะไม่
สอบสวนเอง แต่จะส่งให้ฝ่ายสอบสวน ฝ่ายสอบสวนสืบสวนแล้วรู้ว่าไม่ใช่ก็ปล่อย ถ้ายังสงสัยก็ส่งต่อขึ้นไป
ตามลำดับชั้น บางกรณีอาจส่งถึงเสนาบดี บางกรณีอาจส่งถึงพระราชาเพื่อทรงวินิจฉัย (ที.ม.อ. ๑๓๔/๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ราชอปริหานิยธรรม

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีไม่ฉุดคร่าขืนใจ
กุลสตรี หรือกุลกุมารีให้อยู่ร่วมด้วย”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังไม่ฉุดคร่าขืนใจกุลสตรี หรือกุลกุมารีให้อยู่ร่วมด้วย”
๖. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชี สักการะ เคารพ นับถือ บูชา
เจดีย์ในแคว้นวัชชีของชาววัชชีทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลยการบูชาอัน
ชอบธรรมที่เคยให้เคยกระทำต่อเจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชี สักการะ เคารพ
นับถือ บูชาเจดีย์ในแคว้นวัชชีของชาววัชชีทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลย
การบูชาอันชอบธรรมที่เคยให้เคยกระทำต่อเจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเจดีย์ในแคว้นวัชชีของชาววัชชี
ทั้งในเมืองและนอกเมือง และไม่ละเลยการบูชาอันชอบธรรมที่เคยให้เคยกระทำต่อ
เจดีย์เหล่านั้นให้เสื่อมสูญไป”
๗. “อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีจัดการรักษา คุ้มครอง ป้องกัน
พระอรหันต์ทั้งหลายโดยชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่ยังไม่มา
พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา ท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุกในแว่นแคว้น”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีจัดการรักษา
คุ้มครอง ป้องกันพระอรหันต์ทั้งหลายโดยชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร
พระอรหันต์ที่ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา ท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุกใน
แว่นแคว้น”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังจัดการรักษา คุ้มครอง ป้องกันพระอรหันต์ทั้งหลาย
โดยชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้น
ของเรา ท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุกในแว่นแคว้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

[๑๓๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์
แคว้นมคธว่า “พราหมณ์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่สารันทเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ได้แสดง
อปริหานิยธรรม ๗ ประการนี้ แก่พวกเจ้าวัชชี พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญ
อย่างเดียวไม่มีความเสื่อมเลยตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗
ประการนี้อยู่และใส่ใจอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธ
ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พวกเจ้าวัชชีมีอปริหานิยธรรมแม้เพียง
ข้อเดียวก็พึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวไม่มีความเสื่อมเลย ไม่จำต้องกล่าวว่า
มีครบทั้ง ๗ ประการ ข้าแต่ท่านพระโคดม พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่า
อชาตศัตรู เวเทหิบุตร ไม่ควรทำสงครามกับพวกเจ้าวัชชี นอกจากจะใช้วิธี
ปรองดองทางการทูต หรือไม่ก็ทำให้แตกสามัคคีกัน ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าอย่างนั้น
บัดนี้ ข้าพระองค์ขอทูลลากลับ เพราะมีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
จากนั้น วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แคว้นมคธมีใจยินดีชื่นชมพระดำรัส
ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่งจากไป

ภิกขุอปริหานิยธรรม๑

[๑๓๖] เมื่อวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์แคว้นมคธจากไปไม่นาน พระผู้มี
พระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจงไปนิมนต์ภิกษุที่เข้า
มาพักอยู่ในกรุงราชคฤห์ทุกรูปให้มาประชุมกันที่หอฉัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว นิมนต์ภิกษุที่เข้ามาพักอยู่ในกรุง
ราชคฤห์ทุกรูปให้มาประชุมกันที่หอฉันแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๒๓-๒๗/๓๗-๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงกำหนดเวลาที่สมควร
ณ บัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงลุกจากพุทธอาสน์ เสด็จเข้าไปยังหอฉัน
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญ๑อย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันมากครั้ง
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิก
ประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะพึงทำ
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่บัญญัติสิ่งที่เรามิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่ง
ที่เราได้บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นตามสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แล้ว
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุผู้เป็นเถระ
เป็นรัตตัญญู๒ บวชมานาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และ
สำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง

เชิงอรรถ :
๑ ความเจริญ ในที่นี้หมายถึงความเจริญด้วยคุณธรรมมีศีลเป็นต้น (ที.ม.อ. ๑๓๖/๑๒๖)
๒ เป็นเถระ ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้มีความมั่นคง (ถิรภาวะ) ในพระศาสนา ไม่หวนคืนไปสู่เพศคฤหัสถ์อีก ประกอบ
ด้วยคุณธรรมที่ให้เป็นพระเถระคือศีลเป็นต้น รัตตัญญู เป็นตำแหน่งเอตทัคคะที่พระอัญญาโกณฑัญญะ
ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้ามีความหมายว่ารู้ราตรีนาน คือบวชรู้แจ้งธรรม และเป็นพระขีณาสพก่อน
พระสาวกทั้งหลาย (ที.ม.อ. ๑๓๖/๑๒๖, ที.ม.ฏีกา ๑๓๖/๑๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหาก่อให้เกิดภพใหม่
ที่เกิดขึ้นแล้ว
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้มุ่งหวังเสนาสนะป่า
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังตั้งสติไว้ในภายในว่า ‘ทำอย่างไร เพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีลงามที่ยังไม่มา พึงมา ท่านที่มาแล้ว
พึงอยู่อย่างผาสุก’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
[๑๓๗] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการอีกหมวดหนึ่ง
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการงาน๑ ไม่ยินดีการงาน ไม่หมั่น
ประกอบความเป็นผู้ชอบการงาน
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย๒ ไม่ยินดีการพูดคุย
ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการพูดคุย

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ชอบการงาน ในที่นี้หมายถึงไม่เพลิดเพลินอยู่ด้วยการทำงาน เช่น การทำจีวร การทำผ้ากรองน้ำ
จนไม่มีเวลาบำเพ็ญสมณธรรม เช่น ถ้าท่านรู้จักแบ่งเวลา ถึงเวลาเรียนก็เข้าเรียน ถึงเวลาสวดมนต์ก็สวด
ถึงเวลาเจริญภาวนาก็เจริญ ไม่ถือว่า ชอบการงาน (ที.ม.อ. ๑๓๗/๑๒๘)
๒ ไม่ชอบการพูดคุย หมายถึงไม่ชอบพูดคุยเรื่องนอกธรรมนอกวินัยตลอดทั้งวัน เช่น เรื่องผู้หญิง ถ้า
สนทนาธรรมเพื่อแก้ปัญหา ไม่ถือว่า ชอบการพูดคุย (ที.ม.อ. ๑๓๗/๑๒๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ ไม่ยินดีการนอนหลับ
ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดีการ
คลุกคลีด้วยหมู่ ไม่หมั่นประกอบความเป็นผู้ชอบการคลุกคลี
ด้วยหมู่
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่มีความปรารถนาชั่ว ไม่ตกไปสู่อำนาจ
ของความปรารถนาชั่ว
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีเพื่อนชั่ว
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่ถึงความหยุดชะงักในระหว่างเพียงเพราะบรรลุ
คุณวิเศษชั้นต่ำ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
[๑๓๘] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการอีกหมวดหนึ่ง
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีศรัทธา๑

เชิงอรรถ :
๑ ศรัทธา แปลว่าความเชื่อ มี ๔ อย่างคือ (๑) อาคมนียะ (ศรัทธาของพระโพธิสัตว์ ผู้บำเพ็ญเพื่อ
พระสัพพัญญุตญาณ) (๒) อธิคมะ (ศรัทธาของพระอริยบุคคล) (๓) ปสาทะ (ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม
และพระสงฆ์) (๔) โอกัปปนะ (ศรัทธาอย่างมั่นคง) แต่ในที่นี้หมายถึงปสาทะและโอกัปปนะเท่านั้น (ที.ม.อ.
๑๓๘/๑๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีหิริ
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีโอตตัปปะ
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเป็นพหูสูต๑
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังปรารภความเพียร๒
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีสติตั้งมั่น
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
[๑๓๙] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการอีกหมวดหนึ่ง
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญสติสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่ง
การตรัสรู้คือความระลึกได้)
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์
แห่งการตรัสรู้คือการเฟ้นธรรม)

เชิงอรรถ :
๑ พหูสูต แปลว่า ผู้ฟังมามาก มี ๒ อย่าง คือ (๑) ปริยัตติพหูสูต (แตกฉานในพระไตรปิฎก) (๒) ปฏิเวธ-
พหูสูต (บรรลุสัจจะทั้งหลาย) พหูสูตในที่นี้หมายถึงปริยัตติพหูสูต (ที.ม.อ. ๑๓๘/๑๓๐)
๒ ปรารภความเพียร หมายถึงบำเพ็ญเพียรทั้งทางกายทั้งทางจิต ความเพียรทางกาย คือ เว้นการคลุกคลี
ด้วยหมู่คณะ เป็นอยู่โดดเดี่ยว ความเพียรทางจิต คือ บรรเทาความฟุ้งซ่านแห่งจิต (ที.ม.อ. ๑๓๘/๑๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่ง
การตรัสรู้คือความเพียร)
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญปีติสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่ง
การตรัสรู้คือความอิ่มใจ)
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์
แห่งการตรัสรู้คือความสงบกายสงบใจ)
๖. ภิกษุพึงหวังได้ แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่ง
การตรัสรู้คือความตั้งจิตมั่น)
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์
แห่งการตรัสรู้คือความวางใจเป็นกลาง)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
[๑๔๐] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม ๗ ประการอีกหมวดหนึ่ง
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่
เที่ยงแห่งสังขาร)
๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอนัตตสัญญา (กำหนดหมายความเป็น
อนัตตาแห่งธรรมทั้งปวง)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอสุภสัญญา (กำหนดหมายความไม่งาม
แห่งกาย)
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญอาทีนวสัญญา (กำหนดหมายทุกข์โทษ
ของกายอันมีความเจ็บไข้ต่าง ๆ)
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญปหานสัญญา (กำหนดหมายเพื่อละ
อกุศลวิตกและบาปธรรมทั้งหลาย)
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญวิราคสัญญา(กำหนดหมายวิราคะว่าเป็น
ธรรมละเอียดประณีต)
๗. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังเจริญนิโรธสัญญา (กำหนดหมายนิโรธว่าเป็น
ธรรมละเอียดประณีต)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๗ ประการนี้อยู่
[๑๔๑] ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรมอีกหมวดหนึ่งแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังตั้งมั่นเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ๑

เชิงอรรถ :
๑ ในที่แจ้งและในที่ลับ ในที่นี้หมายถึงทั้งต่อหน้าและลับหลัง (ที.ม.อ. ๑๔๑/๑๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

๒. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังตั้งมั่นเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจารี
ทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
๓. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังตั้งเมตตามโนกรรมในเพื่อนพรหมจารี ทั้งใน
ที่แจ้งและในที่ลับ
๔. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีการบริโภคโดยไม่แบ่งแยกลาภทั้งหลายอัน
ประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม โดยที่สุดแม้เพียงบิณฑบาต
(อาหารในบาตร) บริโภคร่วมกับเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้มีศีล
๕. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท๑
ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ
เสมอกันกับเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
๖. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอริยทิฏฐิอันเป็นธรรมเครื่องนำออกเพื่อ
ความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ทำตาม เสมอกันกับเพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายทั้งในที่แจ้งและในที่ลับ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง ๖ ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง ๖ ประการนี้อยู่”

เชิงอรรถ :
๑เป็นไท ในที่นี้หมายถึงไม่เป็นทาสของตัณหา (ที.ม.อ. ๑๔๑/๑๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

[๑๔๒] ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ ทรงแสดงธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะ
อย่างนี้ สมาธิมีลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรม
โดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิ
เป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน
ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
[๑๔๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในกรุง
ราชคฤห์ รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
อัมพลัฏฐิกาวันกัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุ
สงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จไปถึงอัมพลัฏฐิกาวัน ประทับอยู่ที่พระตำหนักหลวงในอัมพลัฏฐิกาวัน
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาค เมื่อประทับอยู่ที่พระตำหนักหลวงในอัมพลัฏฐิกาวัน
ทรงแสดงธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้
สมาธิมีลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีล
เป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้น
โดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
[๑๔๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในอัมพ-
ลัฏฐิกาวัน รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
เมืองนาฬันทากัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่เสด็จไปถึงเมืองนาฬันทา ประทับอยู่ที่ปาวาริกัมพวัน เขตเมืองนาฬันทานั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ท่านพระสารีบุตรบันลือสีหนาท

ท่านพระสารีบุตรบันลือสีหนาท๑

[๑๔๕] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ไม่เคยมี จักไม่มี
และย่อมไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่น ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่า
พระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร เธอกล่าวอาสภิวาจา (วาจาอย่างองอาจ)
อย่างสูง เธอถือเอาด้านเดียว บันลือสีหนาทว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มีสมณะหรือ
พราหมณ์ผู้อื่น ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค’
สารีบุตร เธอกำหนดรู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทุกพระองค์ในอดีตกาลด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
เหล่านั้นจึงทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรม
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจึงทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”
ท่านพระสารีบุตรทูลตอบว่า “หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร เธอกำหนดรู้พระทัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทุกพระองค์ในอนาคตกาลด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคเหล่านั้นจักทรงมีศีลอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้น
จักทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีปัญญา
อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจักทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”

เชิงอรรถ :
๑ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๗๘/๒๓๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ท่านพระสารีบุตรบันลือสีหนาท

“หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร เธอกำหนดรู้ใจเราผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้
ด้วยใจของตนแล้วหรือว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีศีลอย่างนี้
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคทรงมีปัญญาอย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมเป็นเครื่อง
อยู่อย่างนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงมีธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นอย่างนี้”
“หามิได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร ก็ในเรื่องนี้ เธอไม่มีเจโตปริยญาณ๑ในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนั้น บัดนี้ ไฉนเธอกล่าวอาสภิวาจา
เธอถือเอาด้านเดียวบันลือสีหนาทว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใส
พระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ไม่เคยมี จักไม่มี และย่อมไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้อื่น
ซึ่งจะมีปัญญาในทางพระสัมโพธิญาณยิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค”
[๑๔๖] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงแม้ว่า
ข้าพระองค์จะไม่มีเจโตปริยญาณในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต
และปัจจุบัน แต่ข้าพระองค์ก็รู้วิธีการอนุมาน เปรียบเหมือนเมืองชายแดนของ
พระเจ้าแผ่นดินมีรากฐานมั่นคง มีกำแพงแข็งแรง มีป้อมค่ายแข็งแรง มีประตูเดียว
นายประตูของเมืองนั้นเป็นคนเฉลียวฉลาด หลักแหลม ห้ามคนที่ไม่รู้จัก อนุญาตให้
คนที่รู้จักเข้าไปได้ เขาเดินสำรวจดูหนทางตามลำดับรอบเมืองนั้น ไม่เห็นรอยต่อ
หรือช่องกำแพงโดยที่สุดแม้เพียงที่ที่พอแมวลอดออกได้ เขาย่อมรู้ว่า ‘สัตว์ใหญ่
ทุกชนิดเมื่อจะเข้าหรือออกเมืองนี้ ก็จะเข้าหรือออกทางประตูนี้เท่านั้น’ แม้ฉันใด
วิธีการอนุมานก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าพระองค์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตกาล ทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ

เชิงอรรถ :
๑ เจโตปริยญาณ หมายถึงปรีชากำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ คือ รู้ใจผู้อื่น อ่านความคิดของเขาได้ เช่นรู้ว่าเขากำลัง
คิดอะไรอยู่ ใจเขาเศร้าหมองหรือผ่องใส เป็นต้น (ที.สี. (แปล) ๙/๒๔๒/๘๐-๘๑, ๔๗๖/๒๐๘-๒๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
โทษของคนทุศีล ๕ ประการ

ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตาม
ความเป็นจริง ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอนาคตกาล ก็จักทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้า
หมองใจ ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗
ตามความเป็นจริง จักตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้พระผู้มีพระภาค-
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ทรงละนิวรณ์ ๕ ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ
ทอนกำลังปัญญา มีพระทัยมั่นคงดีในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตาม
ความเป็นจริง ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระพุทธเจ้าข้า”
[๑๔๗] ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ในปาวาริกัมพวัน เขตเมือง
นาฬันทา ทรงแสดงธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะ
อย่างนี้ สมาธิมีลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดย
มีศีลเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิ
เป็นฐาน ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน
ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”

โทษของคนทุศีล ๕ ประการ๑

[๑๔๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในเมือง
นาฬันทา รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
ปาฏลิคามกัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุ-
สงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จไปถึงปาฏลิคาม พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามได้ทราบว่า
“พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงปาฏลิคาม” จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๕/๙๗-๙๘, ขุ.อุ. ๒๕/๗๖/๒๐๙-๒๒๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
โทษของคนทุศีล ๕ ประการ

พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคโปรดทรงรับเรือนพักแรมของพวกข้าพระองค์
ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
พวกอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคาม ทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับ
นิมนต์แล้วจึงลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณเข้าไป
ยังเรือนพักแรมแล้ว ปูเครื่องลาดทั่วเรือนพักแรมแล้ว ปูลาดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ
ตามประทีปน้ำมันไว้ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้า
พระองค์ได้ปูเครื่องลาดทั่วเรือนพักแรมแล้ว ปูลาดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีป
น้ำมันไว้แล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังเรือนพักแรม ทรงล้างพระบาทแล้วเสด็จเข้าสู่เรือน
พักแรม ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
ฝ่ายภิกษุสงฆ์ล้างเท้าแล้ว เข้าสู่เรือนพักแรม นั่งพิงฝาด้านทิศตะวันตก
ผินหน้าไปทางทิศตะวันออกอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระผู้มีพระภาค
ส่วนอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามล้างเท้าแล้ว เข้าสู่เรือนพักแรม นั่งพิงฝา
ด้านทิศตะวันออก ผินหน้าไปทางทิศตะวันตกอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค
[๑๔๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคาม
มาตรัสว่า “คหบดีทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล มีโทษ ๕ ประการนี้
โทษ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมถึงความเสื่อมโภคทรัพย์
เป็นอันมาก ซึ่งมีความประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นโทษประการที่ ๑
แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๒. กิตติศัพท์อันชั่วของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติย่อมกระฉ่อนไป นี้เป็น
โทษประการที่ ๒ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
อานิสงส์ของคนมีศีล ๕ ประการ

๓. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติจะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็นขัตติยบริษัท
ก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัท
ก็ตาม ย่อมไม่แกล้วกล้า เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นโทษประการที่ ๓
แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๔. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมหลงลืมสติตาย นี้เป็นโทษประการ
ที่ ๔ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๕. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก นี้เป็นโทษประการที่ ๕ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
“คหบดีทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล มีโทษ ๕ ประการนี้แล

อานิสงส์ของคนมีศีล ๕ ประการ

[๑๕๐] คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มีอานิสงส์ ๕ ประการนี้
อานิสงส์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลในโลกนี้ ย่อมมีโภคทรัพย์เป็นอันมาก
ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่ง
ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๒. กิตติศัพท์อันงามของบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมขจรไป
นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๓. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็น
ขัตติยบริษัทก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม
สมณบริษัทก็ตาม ย่อมแกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป นี้เป็น
อานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๔. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมไม่หลงลืมสติตาย นี้เป็น
อานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] การสร้างเมืองปาฏลีบุตร

๕. บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๕ แห่งศีลสมบัติของ
บุคคลผู้มีศีล
คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มีอานิสงส์ ๕ ประการนี้แล๑
[๑๕๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคาม
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาเกือบตลอดคืน ทรงส่งกลับด้วยพระดำรัสว่า “คหบดี
ทั้งหลาย ราตรีผ่านไปมากแล้ว๒ ขอท่านทั้งหลายจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ
บัดนี้เถิด” อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามทูลรับสนองพระดำรัสแล้วลุกจากที่นั่ง
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป เมื่ออุบาสกอุบาสิกา
ชาวปาฏลิคามเหล่านั้นจากไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังเรือนว่าง

การสร้างเมืองปาฏลีบุตร๓

[๑๕๒] สมัยนั้น มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธ
สร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี เทวดาจำนวนมากจับจองที่เป็นพัน ๆ
แห่ง ในปาฏลิคาม จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ใหญ่ ย่อมน้อมไป
เพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่จับจอง จิตของพระราชาและราช-
มหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ปานกลาง ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์
ปานกลางจับจอง จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์น้อย ย่อมน้อมไป
เพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์น้อยจับจอง๔

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๑๓/๓๕๕-๓๕๖
๒ ราตรีผ่านไปมากแล้ว หมายถึงเกือบจะสว่างนั่นเอง (ที.ม.อ. ๑๕๑/๑๔๐-๑๔๑)
๓ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๖/๑๐๐-๑๐๑
๔ ทราบว่า เทวดาเหล่านี้ เข้าสิงในร่างของคนผู้เชี่ยวชาญวิชาดูพื้นที่ แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น บอกว่า
ควรจะสร้างบ้านเมืองที่นั้นที่นี้ ด้วยประสงค์จะให้พระราชาและราชมหาอำมาตย์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีศักดิ์ปานกลาง
มีศักดิ์น้อยใกล้ชิดกับตน และทำสักการะสมควรแก่ตน (วิ.อ. ๓/๒๘๖/๑๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] การสร้างเมืองปาฏลีบุตร

พระผู้มีพระภาคทรงเห็นเทวดาจำนวนมากเหล่านั้น พากันจับจองที่เป็น
พัน ๆ แห่ง ในปาฏลิคาม ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ครั้นในเวลาเช้า
เมื่อเสด็จลุกขึ้น รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า “อานนท์ ใครจะสร้าง
เมืองในปาฏลิคาม”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะ
ชาวแคว้นมคธกำลังจะสร้างเมืองในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาว
แคว้นมคธ จะสร้างเมืองในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี เหมือนได้ปรึกษา
กับพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว ณ ที่นี้ เราได้เห็นเทวดาจำนวนมากพากันจับจองที่
เป็นพัน ๆ แห่ง ในปาฏลิคาม ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ จิตของ
พระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ใหญ่ ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่
เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่จับจอง จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ปานกลาง
ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์ปานกลางจับจอง จิตของพระราชา
และราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์น้อย ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มี
ศักกดิ์น้อยจับจอง ตราบใดที่ยังเป็นแดนที่อารยชนติดต่อกันอยู่ ตราบใดที่ยังเป็นเส้น
ทางค้าขาย ตราบนั้น เมืองปาฏลีบุตรนี้ยังจะเป็นเมืองชั้นเยี่ยม เป็นย่านการค้าอยู่
ต่อไป แต่เมืองปาฏลีบุตรนั้นจะมีอันตราย ๓ อย่าง คือ อันตรายจากไฟ อันตราย
จากน้ำ หรืออันตรายจากการแตกความสามัคคี”
[๑๕๓] ต่อมา มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธ
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดรับภัตตาหาร
ของพวกข้าพระองค์ในวันนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] การสร้างเมืองปาฏลีบุตร

เมื่อมหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธทราบพระอาการ
ที่พระผู้พระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงเข้าไปยังที่พักของตน สั่งให้จัดเตรียมของขบฉัน
อันประณีตไว้ในที่พักของตนแล้วให้คนไปกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร๑
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังที่พักของมหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์
วัสสการะชาวแคว้นมคธ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว มหาอำมาตย์
ทั้งสองได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน
ให้อิ่มหนำด้วยมือของตน ๆ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จวางพระหัตถ์จากบาตร
มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธเลือกที่นั่ง ณ ที่สมควรที่
ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า
“บัณฑิตอยู่ในที่ใด เลี้ยงดูท่านผู้มีศีล
ผู้สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ ในที่ที่ตนอยู่นั้น
พึงอุทิศทักษิณา๒แก่เหล่าเทวดาผู้สถิตอยู่ในที่นั้น
เทวดาเหล่านั้นอันเขาบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบ
อันเขานับถือแล้ว ย่อมนับถือเขาตอบ
จากนั้นย่อมอนุเคราะห์บัณฑิตนั้นเป็นการตอบแทน
ดุจมารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เกิดแต่อก๓
ดังนั้น ผู้ที่เทวดาอนุเคราะห์แล้ว
ย่อมพบเห็นแต่สิ่งที่เจริญทุกเมื่อ”

เชิงอรรถ :
๑ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เป็นสำนวนแสดงประเพณีในการเข้าบ้าน นี้มิใช่ว่าก่อนหน้านี้ พระผู้มี
พระภาคมิได้ทรงนุ่งสบง ถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยพระวรกายส่วนบน ครองอันตรวาสก หมายถึง
พระผู้มีพระภาคทรงผลัดเปลี่ยนสบงหรือขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ ถือบาตรและจีวร หมายถึงทรงถือ
บาตรด้วยพระหัตถ์ ทรงถือจีวรด้วยพระวรกาย คือ ห่มจีวรอุ้มบาตรนั่นเอง(วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๐, ที.ม.อ.
๑๕๓/๑๔๓, ที.ม.ฏีกา ๑๕๓/๑๗๑)
๒ พึงอุทิศทักษิณา หมายถึงพึงให้ส่วนบุญ (ที.ม.อ. ๒/๑๕๓/๑๔๓)
๓ บุตรผู้เกิดแต่อก หมายถึงบุตรที่มารดาเลี้ยงดูให้เจริญอยู่แนบอก (ที.ม.อ. ๑๔๓/๑๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] การสร้างเมืองปาฏลีบุตร

ครั้นทรงอนุโมทนาแก่มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้น
มคธด้วยพระคาถาเหล่านี้ ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จจากไป
[๑๕๔] ลำดับนั้น มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธ
ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปเบื้องพระปฤษฎางค์ ด้วยคิดว่า “ประตูที่ท่านพระสมณ-
โคดมเสด็จออกไปในวันนี้จะมีชื่อว่าประตูพระโคดม ท่าที่พระองค์เสด็จข้ามแม่น้ำ
คงคาจะมีชื่อว่าท่าพระโคดม”
ต่อมา ประตูที่พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจึงได้มีชื่อว่า ประตูพระโคดม คราวนั้น
พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปใกล้แม่น้ำคงคา เวลานั้น แม่น้ำคงคาเต็มเสมอฝั่ง
นกกา(ก้ม)ดื่มกินได้ คนทั้งหลายผู้ปรารถนาจะข้ามฟาก บางพวกเที่ยวหาเรือ
บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทรง
หายไปจากฝั่งนี้แห่งแม่น้ำคงคาไปปรากฏที่ฝั่งโน้น เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออก
หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรคนเหล่านั้นผู้ปรารถนาจะข้ามฟาก บางพวก
เที่ยวหาเรือ บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ
ความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า
“คนพวกหนึ่งกำลังสร้างสะพาน๑
ข้ามสระ๒ใหญ่ โดยมิให้แปดเปื้อนด้วยโคลนตม
ขณะที่คนอีกพวกหนึ่งกำลังผูกทุ่นอยู่
ชนผู้ฉลาดได้ข้ามพ้นไปแล้ว”

ภาณวารที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องอริยสัจ ๔ ประการ

เรื่องอริยสัจ ๔ ประการ๑

[๑๕๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด
อานนท์ เราจะเข้าไปยังโกฏิคามกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงโกฏิคาม ประทับอยู่ที่โกฏิคามนั้น
รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔ ประการ เราและเธอ
ทั้งหลายจึงเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
อริยสัจ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๒. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขสมุทยอริยสัจ เราและเธอทั้งหลาย
จึงเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๓. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขนิโรธอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายจึง
เที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๔. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราและ
เธอทั้งหลายจึงเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ เราและเธอ
ทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขสมุทยอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอด
ทุกขนิโรธอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
เราและเธอทั้งหลายถอนภวตัณหาได้แล้ว ภวเนตติ๒สิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”๓

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๗/๑๐๓-๑๐๔, สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๐๙๑/๖๐๕
๒ ภวเนตติ หมายถึงตัณหานำไปสู่ภพ ตัณหาประดุจเชือกซึ่งสามารถนำสัตว์ออกจากภพไปสู่ภพ (ที.ม.อ.
๑๕๕/๑๔๔, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑/๒๗๙)
๓ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑/๑-๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
เราและเธอทั้งหลาย จึงท่องเที่ยวไป
ในชาตินั้น ๆ ตลอดกาลยาวนาน
แต่เพราะได้เห็นอริยสัจ ๔
เราและเธอทั้งหลายจึงถอนภวเนตติได้
ตัดรากเหง้าแห่งทุกข์ได้เด็ดขาด
บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ที่โกฏิคาม ทรงแสดงธรรมีกถา
เป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิมีลักษณะ
อย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจาก
อาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”

ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า๑

[๑๕๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในโกฏิคาม
รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังนาทิกคามกัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่เสด็จถึงนาทิกคาม ประทับอยู่ที่พระตำหนักอิฐ ในนาทิกคาม
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๐๐๔-๑๐๐๖/๕๐๕-๕๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ภิกษุสาฬหะที่มรณภาพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
ภิกษุณีนันทาที่มรณภาพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
อุบาสกสุทัตตะที่ดับชีพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
อุบาสิกาสุชาดาที่ดับชีพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
อุบาสกกกุธะที่ดับชีพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
อุบาสกการฬิมภะ ฯลฯ อุบาสกนิกฏะ ฯลฯ อุบาสกกฏิสสหะ ฯลฯ
อุบาสกตุฏฐะ ฯลฯ อุบาสกสันตุฏฐะ ฯลฯ อุบาสกภฏะ ฯลฯ
อุบาสกสุภฏะที่ดับชีพในนาทิกคาม มีคติเป็นอย่างไร มีภพหน้าเป็นอย่างไร
[๑๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุสาฬหะ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุณีนันทาเป็นโอปปาติกะ๑ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกสุทัตตะเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะ
ราคะ โทสะ โมหะเบาบาง มาสู่ภพนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
อุบาสิกาสุชาดาเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๒ในวันข้างหน้า
อุบาสกกกุธะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก

เชิงอรรถ :
๑ โอปปาติกะ หมายถึงสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ (ตาย) ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากศพ เช่น
เทวดาและสัตว์นรก เป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙) แต่ในที่นี้หมายถึงพระอนาคามีที่เกิดในภพชั้นสุทธาวาส
(ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์) ๕ ชั้นมีชั้นอวิหา เป็นต้น แล้วดำรงภาวะอยู่ในชั้นนั้น ๆ ปรินิพพานสิ้นกิเลสใน
ภพชั้นสุทธาวาสนั่นเอง ไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗-๘๘/๒๘๒-๒๘๓)
๒ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๓ เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) (ที.ม.อ.
๑๗๕/๑๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า

อุบาสกการฬิมภะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกนิกฏะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกกฏิสสหะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกตุฏฐะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกสันตุฏฐะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกภฏะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกสุภฏะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกในนาทิกคามอีก ๕๐ คน ดับชีพแล้วเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
อุบาสกในนาทิกคามอีก ๙๖ คน ดับชีพแล้วเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์
๓ ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว
ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
อุบาสกในนาทิกคามอีก ๕๑๐ คน ดับชีพแล้วเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์
๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม

หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม

[๑๕๘] อานนท์ ข้อที่บุคคลเกิดเป็นมนุษย์แล้วดับชีพนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่เมื่อผู้นั้น ๆ ดับชีพแล้ว พวกเธอเข้ามาหาตถาคตถามเรื่องนั้น นั่นเป็นการรบกวน
ตถาคต ฉะนั้น เราจะแสดงหลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม๑เป็นเครื่องมือให้อริยสาวก
มีไว้ เมื่อประสงค์ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิด
ในนรก หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดใน
แดนเปรต หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระ
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
[๑๕๙] หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม เป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้ เมื่อ
ประสงค์ ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในนรก
หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในแดน
เปรต หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระ
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า‘ คือ
อะไร
คือ พระอริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า “แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จ
ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็น
ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ผู้มีพระภาค”
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า “พระธรรม
เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด
ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล๒ ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้า
มาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”

เชิงอรรถ :
๑ แว่นธรรม หมายถึงธรรมเป็นเครื่องส่องดูตนเองจนสามารถพยากรณ์ตนได้ ในที่นี้ ได้แก่ อริยมรรคญาณ
(ที.ม.ฏีกา ๑๕๘/๑๗๕) ดูเทียบ ม.มู. (แปล) ๑๒/๗๔/๖๖, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๕๒/๘๖
๒ ไม่ประกอบด้วยกาล หมายถึงให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลา ทุกโอกาส
บรรลุเมื่อใด ก็ได้รับผลเมื่อนั้น (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๔/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม

๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า “พระสงฆ์
สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติ
ถูกต้อง ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขา
นำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก”
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ๑ ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง
ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิ
ครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ
อานนท์ นี้แล คือหลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรมเป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้
เมื่อประสงค์ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า ‘เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในนรก
หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในแดนเปรต
หมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในอบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ในตำหนักอิฐในนาทิกคามนั้น ทรงแสดง
ธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิมี
ลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้น
โดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”
[๑๖๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในนาทิกคาม รับสั่งเรียกท่าน
พระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังกรุงเวสาลีกัน” ท่านพระ-
อานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
เสด็จถึงกรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่อัมพปาลีวัน๒รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ ศีลที่พระอริยะชอบใจ หมายถึงศีลที่ประกอบด้วยมรรคและผล ในที่นี้หมายถึงความสำรวมทุกชนิด
(ที.ม.อ. ๑๕๙/๑๔๖, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๕๒/๓๔๙)
๒ อัมพปาลีวัน หมายถึงสวนมะม่วงของหญิงคณิกาชื่ออัมพปาลี ซึ่งถวายเป็นที่พักแด่สงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธาน (ที.ม.อ. ๑๖๐/๑๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
หลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงมีสติสัมปชัญญะ นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราสำหรับเธอ
ทั้งหลาย
ภิกษุผู้มีสติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุผู้มีสติ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ
ทำความรู้สึกตัวในการแลดู การเหลียวดู
ทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า การเหยียดออก
ทำความรู้สึกตัวในการครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร
ทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
ทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ
ทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด
การนิ่ง
ภิกษุผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงมีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราสำหรับ
เธอทั้งหลาย”๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๒๑๔/๗๑๓, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๕๕/๒๗๗, สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๖๘/๒๑๑-๒๑๒,
องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๗๔/๓๙๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
นางอัมพปาลีคณิกา

นางอัมพปาลีคณิกา๑

[๑๖๑] นางอัมพปาลีคณิกาทราบว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงกรุงเวสาลี
ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของเรา” ลำดับนั้น นางอัมพปาลีคณิกาให้จัดเตรียมยาน
พาหนะคันงาม ๆ ขึ้นยานพาหนะคันงาม ๆ ออกจากกรุงเวสาลีพร้อมด้วยยานพาหนะ
คันงาม ๆ ติดตามอีกหลายคัน ตรงไปยังสวนของตน จนสุดทางที่ยานพาหนะ
จะเข้าไปได้ ลงจากยานพาหนะเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นางอัมพปาลีคณิกาเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอา
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
จากนั้น นางอัมพปาลีคณิกาผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของหม่อมฉันในวันพรุ่งนี้”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
เมื่อนางทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่ง
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป
พวกเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลีได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงกรุงเวสาลี
ประทับอยู่ที่อัมพปาลีวัน จึงสั่งให้จัดเตรียมยานพาหนะคันงาม ๆ เสด็จขึ้นยานพาหนะ
คันงาม ๆ ออกจากกรุงเวสาลีพร้อมด้วยยานพาหนะคันงาม ๆ ตามเสด็จอีกหลายคัน
ในบรรดาเจ้าลิจฉวีนั้น บางพวกดำล้วน คือ ใช้สีดำ ทรงผ้าสีดำ ทรงเครื่อง
ประดับสีดำ บางพวกเหลืองล้วน คือ ใช้สีเหลือง ทรงผ้าสีเหลือง ทรงเครื่อง
ประดับสีเหลือง บางพวกแดงล้วน คือ ใช้สีแดง ทรงผ้าสีแดง ทรงเครื่องประดับ
สีแดง บางพวกขาวล้วน คือ ใช้สีขาว ทรงผ้าสีขาว ทรงเครื่องประดับสีขาว
นางอัมพปาลีคณิกาใช้เพลากระทบเพลา ล้อกระทบล้อ แอกกระทบแอกรถ
กับพวกเจ้าลิจฉวีหนุ่ม ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๘-๒๘๙/๑๐๕-๑๐๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] นางอัมพปาลีคณิกา

พวกเจ้าลิจฉวีตรัสถามว่า “อัมพปาลี เหตุไร เธอจึงใช้เพลากระทบเพลา
ล้อกระทบล้อ แอกกระทบแอกรถกับพวกเจ้าลิจฉวีหนุ่ม ๆ เล่า”
นางอัมพปาลีทูลตอบว่า “ข้าแต่พระลูกเจ้า เพราะหม่อมฉันทูลนิมนต์พระผู้มี
พระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ให้ทรงรับภัตตาหารในวันพรุ่งนี้”
พวกเจ้าลิจฉวีตรัสว่า “เธอจงให้ภัตตาหารมื้อนี้(แลก)กับเงิน ๑๐๐,๐๐๐ เถิด”
นางอัมพปาลีทูลว่า “แม้พวกท่านจะยกกรุงเวสาลีพร้อมทั้งแว่นแคว้นให้
หม่อมฉัน กระนั้นหม่อมฉันก็ไม่ยอมให้ภัตตาหารมื้อสำคัญ”
ทันใดนั้น พวกเจ้าลิจฉวีทรงดีดพระองคุลีพร้อมตรัสว่า “ท่านทั้งหลาย
นางอัมพปาลีชนะพวกเรา นางลวงพวกเรา” แล้วเสด็จไปยังอัมพปาลีวัน
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นพวกเจ้าลิจฉวีเสด็จมาแต่ไกล จึงรับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ไม่เคยเห็นพวกเทพชั้นดาวดึงส์ จงดู
พวกเจ้าลิจฉวี จงเปรียบพวกเจ้าลิจฉวีกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์”
พวกเจ้าลิจฉวีเสด็จไปด้วยยานพาหนะจนสุดทางที่ยานพาหนะจะเข้าไปได้
จึงเสด็จลงจากยานพาหนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พวกเจ้าลิจฉวีเห็นชัด ชวนใจให้อยาก
รับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
พวกเจ้าลิจฉวีผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
โปรดรับภัตตาหารของพวกข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เรารับนิมนต์เพื่อฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ของนาง
อัมพปาลีไว้แล้ว”
พวกเจ้าลิจฉวีทรงดีดพระองคุลีพร้อมตรัสว่า “นางอัมพปาลีชนะพวกเรา
นางลวงพวกเรา” จากนั้น พวกเจ้าลิจฉวีต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มี
พระภาค เสด็จลุกจากที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณ
แล้วจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] นางอัมพปาลีคณิกา

[๑๖๒] ครั้นคืนนั้นผ่านไป นางอัมพปาลีคณิกา สั่งให้จัดเตรียมของขบฉัน
อันประณีตไว้ในสวนของตน ให้คนไปกราบทูลเวลาแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังที่พักของนางอัมพปาลีคณิกา ประทับบนพุทธอาสน์ที่ปูลาด
ไว้แล้ว
นางอัมพปาลีคณิกาได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธานให้อิ่มหนำด้วยมือตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จวางพระหัตถ์
จากบาตร นางอัมพปาลีคณิกาจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอมอบถวาย
สวนแห่งนี้แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน”
พระผู้มีพระภาคทรงรับสวนแล้ว จึงทรงชี้แจงให้นางอัมพปาลีคณิกาเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จจากไป
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัมพปาลีวัน เขตกรุงเวสาลี ทรงแสดง
ธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิมี
ลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้น
โดยชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม

ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม๑

[๑๖๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัย ในอัมพ-
ปาลีวันแล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะไป
ยังเวฬุวคามกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงเวฬุวคาม ประทับอยู่ในเวฬุวคามนั้น รับสั่ง
เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจำพรรษารอบกรุง
เวสาลีตามที่ที่มีเพื่อน ตามที่ที่มีคนเคยพบเห็นกัน ตามที่ที่มีคนเคยคบกัน ส่วนเรา
จะจำพรรษาในเวฬุวคามนี้”
พวกภิกษุทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจำพรรษารอบกรุงเวสาลีตามที่ที่มีเพื่อน
ตามที่ที่มีคนเคยพบเห็นกัน ตามที่ที่มีคนเคยคบกัน ส่วนพระผู้มีพระภาคทรงจำ
พรรษาในเวฬุวคามนั้น
[๑๖๔] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษา ได้เกิดอาการพระประชวร
อย่างรุนแรงมีทุกขเวทนา๒อย่างแสนสาหัสจวนเจียนจะปรินิพพาน พระองค์ทรงมี
สติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นไม่พรั่นพรึงทรงพระดำริว่า “การที่เราไม่บอกผู้อุปัฏฐาก
ไม่อำลาภิกษุสงฆ์ปรินิพพานนั้น ไม่เหมาะแก่เรา ทางที่ดี เราควรใช้ความเพียร๓
ขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่ต่อไป”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ความเพียรขับไล่อาการพระประชวรนั้น
ทรงดำรงชีวิตสังขารอยู่ อาการพระประชวรจึงสงบ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหายจาก
พระประชวร หายจากพระอาการไข้ไม่นาน ได้เสด็จออกจากพระวิหารไปประทับนั่ง
บนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วในร่มเงาพระวิหาร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๗๕/๒๒๒-๒๒๓
๒ ทุกขเวทนา ในที่นี้หมายถึงความรู้สึกเจ็บปวด เป็นอาการของทุกข์ในไตรลักษณ์ซึ่งเกิดขึ้นได้แม้แก่ผู้ที่เป็น
พระอรหันต์ มิใช่ทุกข์ในปฏิจจสมุปบาทหรือในอริยสัจ พระผู้มีพระภาคทรงข่มทุกขเวทนานี้ด้วยความเพียร
(ที.ม.อ. ๑๖๔/๑๔๘-๑๔๙)
๓ ความเพียร ในที่นี้มี ๒ อย่าง คือ (๑) ความเพียรที่เป็นบุพภาค ได้แก่ การบริกรรมผลสมาบัติ (๒) ความเพียร
ที่ประกอบด้วยผลสมาบัติ (ที.ม.อ. ๑๖๔/๑๔๙, ที.ม.ฏีกา ๑๖๔/๑๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม

ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อ
ข้าพระองค์ได้เห็นพระสุขภาพของพระองค์แล้ว ได้เห็นพระองค์ทรงอดทนต่อทุกข-
เวทนาแล้ว ทำให้ร่างกายของข้าพระองค์อ่อนเปลี้ยประดุจคนเมา ข้าพระองค์รู้สึก
มืดทุกด้าน แม้ธรรม๑ ก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์อีกแล้ว เพราะพระอาการไข้ของ
พระผู้มีพระภาค แต่ข้าพระองค์ก็ยังเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า ‘พระผู้มีพระภาคจะยัง
ไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ปรารภภิกษุสงฆ์แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใด
อย่างหนึ่ง”
[๑๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุสงฆ์ยังจะหวังได้อะไรในเรา
อีกเล่า ธรรมที่เราแสดงแล้วไม่มีในไม่มีนอก๒ ในเรื่องธรรมทั้งหลาย ตถาคตไม่มี
อาจริยมุฏฐิ๓ ผู้ที่คิดว่า เราเท่านั้น จักเป็นผู้บริหารภิกษุสงฆ์ต่อไป หรือว่า ภิกษุสงฆ์
จะต้องยึดเราเท่านั้นเป็นหลัก ผู้นั้นจะต้องปรารภภิกษุสงฆ์แล้วกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นแน่ แต่ตถาคตไม่คิดว่า เราเท่านั้น จักเป็นผู้บริหารภิกษุสงฆ์ต่อไป หรือว่า
ภิกษุสงฆ์จะต้องยึดเราเท่านั้นเป็นหลัก แล้วทำไมตถาคตจะต้องปรารภภิกษุสงฆ์
กล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งอีกเล่า บัดนี้ เราเป็นผู้ชรา แก่ เฒ่า ล่วงกาลมานาน
ผ่านวัยมามาก เรามีวัย ๘๐ ปี ร่างกายของตถาคตประหนึ่งแซมด้วยไม้ไผ่ ยังเป็น
ไปได้ ก็เหมือนกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ฉะนั้น ร่างกายของตถาคตสบาย
ขึ้นก็เพราะในเวลาที่ตถาคตเข้าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทุกอย่าง และ
เพราะดับเวทนาบางอย่างได้เท่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น (ที.ม.อ. ๑๖๔/๑๔๙)
๒ ไม่มีในไม่มีนอก หมายถึงไม่แบ่งเป็น ๒ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นการแบ่งธรรมหรือแบ่งบุคคล(ผู้ฟัง) เช่น ผู้ที่คิดว่า
เราจะไม่แสดงธรรมประมาณเท่านี้แก่บุคคลอื่น ซึ่งว่าทำธรรมให้มีใน แต่จะแสดงธรรมประเภทเท่านี้
แก่บุคคลอื่น ชื่อว่าทำธรรมให้มีนอก ส่วนผู้ที่คิดว่า เราจะแสดงแก่บุคคลนี้ ชื่อว่าทำบุคคลให้มีใน ไม่แสดง
แก่บุคคลอื่น ชื่อว่าทำบุคคลให้มีนอก (ที.ม.อ. ๑๖๕/๑๔๙)
๓ อาจริยมุฏฐิ แปลว่า กำมือของอาจารย์ อธิบายว่า มือที่กำไว้ ใช้เรียกอาการของอาจารย์ภายนอก
พระพุทธศาสนาที่หวงวิชา ไม่ยอมบอกแก่ศิษย์ขณะที่ตนเองยังหนุ่ม แต่จะบอกแก่ศิษย์ที่ตนรัก ขณะที่ตน
ใกล้จะตายเท่านั้น แต่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงถือตามคติเช่นนี้ (ที.ม.อ. ๑๖๕/๑๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม

อานนท์ เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ๑ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มี
สิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอ่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ
มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้๒
ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรม
เป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล
อานนท์ ภิกษุเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่ว่าจะในบัดนี้หรือเมื่อเราล่วงไปแล้ว จะเป็น
ผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง
ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุเหล่านั้นจักอยู่ในความเป็นผู้เลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้ใคร่ต่อ
การศึกษา”๓

คามกัณฑ์ ในมหาปรินิพพานสูตร จบบริบูรณ์
ภาณวารที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ว่าด้วยนิมิตโอภาส

ว่าด้วยนิมิตโอภาส๑

[๑๖๖] ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เมื่อเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเสวย
พระกระยาหารเสร็จแล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจง
ถือผ้านิสีทนะ(ผ้ารองนั่ง) เราจะเข้าไปพักกลางวันที่ปาวาลเจดีย์”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ถือผ้านิสีทนะตามเสด็จพระผู้มี
พระภาคไปทางเบื้องพระปฤษฎางค์
ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ท่าน
พระอานนท์ปูลาดถวาย ท่านพระอานนท์ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร
[๑๖๗] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์
น่ารื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์น่ารื่นรมย์ สารันททเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์
อิทธิบาท ๔ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็น
ที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้
๑ กัป๒ หรือเกินกว่า ๑ กัป อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็น
ดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคต
เมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป” เมื่อพระผู้มีพระภาค
ทรงทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทรงทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้ ท่านพระอานนท์ก็ไม่อาจจะ
รู้ทันจึงไม่กราบทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่
ตลอดกัป เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ทั้งนี้เป็นเพราะ
ท่านพระอานนท์ถูกมารดลใจ
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๘๒๒/๓๘๕-๓๘๖, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๗๐/๓๗๒
๒ กัป ในที่นี้หมายถึงอายุกัป คือช่วงอายุของคนแต่ละยุค ในยุคของพระพุทธเจ้าของเรา อายุกัปของคน =
๑๐๐ ปี (ที.ม.อ. ๑๖๗/๑๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] มารกราบทูลให้ปรินิพพาน

แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์
น่ารื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์น่ารื่นรมย์ สารันททเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์
อิทธิบาท ๔ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็น
ที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้
๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็น
ดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคต
เมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป” เมื่อพระผู้มีพระภาคทรง
ทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทรงทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้ ท่านพระอานนท์ก็ไม่อาจจะรู้ทัน
จึงไม่กราบทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป
เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” เพราะท่านพระอานนท์ถูกมารดลใจ
จากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ไปเถิดอานนท์
เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ลุกจากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้วนั่งที่โคนไม้แห่งหนึ่ง
ในที่ไม่ไกล

มารกราบทูลให้ปรินิพพาน

[๑๖๘] ครั้นเมื่อท่านพระอานนท์จากไปไม่นาน มารผู้มีบาปได้เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับยืน ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคต
โปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค พระผู้มี
พระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่
ภิกษุทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า
ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] มารกราบทูลให้ปรินิพพาน

ตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว แต่ก็ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท๑ ที่เกิดขึ้น
ให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ ภิกษุทั้งหลาย
ผู้สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า เป็นพหูสูต
ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับ
อาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายได้
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่ภิกษุณีทั้งหลายผู้สาวิกาของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ
ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตน แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท
ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ ภิกษุณี
ทั้งหลายผู้สาวิกาของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า
เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม
เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้
ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่อุบาสกทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ

เชิงอรรถ :
๑ ปรัปวาท ในที่นี้หมายถึงวาทะ หรือลัทธิต่าง ๆ ของเจ้าลัทธิอื่นนอกพระพุทธศาสนา (ที.ม.ฏีกา ๓๗๔/๓๗๕,
ขุ.ม.อ.๓๑/๒๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] มารกราบทูลให้ปรินิพพาน

ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วยังบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท
ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ อุบาสก
ทั้งหลายผู้สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า
เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม
เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ได้แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่อุบาสิกาทั้งหลายผู้สาวิกาของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ
ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วยังบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท
ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ อุบาสิกา
ทั้งหลายผู้สาวิกาของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า
เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม
เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้
ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่พรหมจรรย์๑ ของเรายังไม่บริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงศาสนพรหมจรรย์ คือ คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้นที่รวมลงในไตรสิกขา
(ที.ม.อ. ๑๖๘/๑๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงปลงพระชนมายุสังขาร

มั่นคงดี กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ก็เวลานี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคบริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกัน
โดยมาก มั่นคงดี กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด
เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค’
เมื่อมารทูลอาราธนาอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตอบมารผู้มีบาปดังนี้ว่า
“มารผู้มีบาป ท่านจงอย่ากังวล๑เลย อีกไม่นาน การปรินิพพานของตถาคตจะมี
จากนี้ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน”

ทรงปลงพระชนมายุสังขาร

[๑๖๙] เวลานั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงปลงพระ
ชนมายุสังขาร๒แล้ว ณ ปาวาลเจดีย์ เมื่อพระองค์ทรงปลงพระชนมายุสังขารแล้ว
ได้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุงแรงน่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ก็
ดังกึกก้อง ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงทราบความนั้น จึงทรงเปล่งพระอุทานในเวลานั้น
ดังนี้ว่า
“พระมุนีละกรรมทั้งที่ชั่งได้และที่ชั่งไม่ได้
อันเป็นเหตุก่อกำเนิด เป็นเครื่องปรุงแต่งภพได้แล้ว
ยินดีในภายใน มีใจมั่นคง
ทำลายกิเลสที่เกิดในตนได้
เหมือนนักรบทำลายเกราะได้ฉะนั้น”๓

เชิงอรรถ :
๑ คำนี้แปลจากคำว่า “อปฺโปสฺสุกฺโก” ซึ่งตามรูปศัพท์แปลกันว่า ขวนขวายน้อย (ที.ม.อ. ๑๖๘/๑๕๙)
๒ ปลงพระชนมายุสังขาร หมายถึงสลัดปัจจัยเครื่องปรุงแต่งอายุ คือ ตกลงพระทัยว่าจะปรินิพพาน (ที.ม.อ.
๑๖๙/๑๕๙)
๓ ดูเทียบ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๗๐/๓๗๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
เหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ๘ ประการ

เหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ๘ ประการ๑

[๑๗๐] ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้มีความคิดดังนี้ว่า “น่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ แผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงจริง แผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงจริง ๆ
น่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ก็ดังกึกก้อง อะไรหนอแลเป็นเหตุ
อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ แผ่นดินไหวครั้งนี้
รุนแรงจริง แผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงจริง ๆ น่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า
ทั้งกลองทิพย์ก็ดังกึกก้อง อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดแผ่นดิน
ไหวอย่างรุนแรง พระพุทธเจ้าข้า”
[๑๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เหตุปัจจัย ๘ ประการนี้
ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
เหตุปัจจัย ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มหาปฐพีนี้ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่บนลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ
เวลาที่ลมพายุพัดแรงย่อมทำให้น้ำกระเพื่อม น้ำที่กระเพื่อม
ย่อมทำให้แผ่นดินไหวตาม นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๑ ที่ทำ
ให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๒. สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ มีความชำนาญทางจิต หรือเทพ
ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ได้เจริญปฐวีสัญญานิดหน่อย แต่เจริญ
อาโปสัญญาจนหาประมาณมิได้ จึงทำให้แผ่นดินนี้ไหวสั่นสะเทือน
เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๒ ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว
อย่างรุนแรง
๓. คราวที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต
เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่นสะเทือน
เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๓ ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว
อย่างรุนแรง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๗๐/๓๗๖-๓๗๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] บริษัท ๘ จำพวก

๔. คราวที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ ประสูติจากพระครรภ์ของ
พระมารดา แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่นสะเทือน เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุ
ปัจจัยประการที่ ๔ ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๕. คราวที่ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แผ่นดินนี้ก็ไหว
สั่นสะเทือน เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๕ ที่ทำให้เกิด
แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๖. คราวที่ตถาคตประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยมให้เป็นไป แผ่นดินนี้
ก็ไหวสั่นสะเทือน เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๖ ที่ทำให้
เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๗. คราวที่ตถาคตมีสติสัมปชัญญะ ปลงอายุสังขาร แผ่นดินนี้ก็ไหว
สั่นสะเทือน เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๗ ที่ทำให้เกิด
แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
๘. คราวที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ แผ่นดินนี้
ก็ไหวสั่นสะเทือน เลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ ๘ ที่ทำให้
เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง
อานนท์ เหตุปัจจัย ๘ ประการนี้แล ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง

บริษัท ๘ จำพวก๑

[๑๗๒] อานนท์ บริษัท ๘ จำพวกนี้
บริษัท ๘ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. ขัตติยบริษัท (ชุมนุมกษัตริย์)
๒. พราหมณบริษัท (ชุมนุมพราหมณ์)
๓. คหบดีบริษัท (ชุมนุมคหบดี)
๔. สมณบริษัท (ชุมนุมสมณะ)

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๗/๒๒๙, ม.มู. (แปล) ๑๒/๑๕๑/๑๕๐, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๖๙/๓๗๑-๓๗๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] บริษัท ๘ จำพวก

๕. จาตุมหาราชบริษัท (ชุมนุมเทพชั้นจาตุมหาราช)
๖. ดาวดึงสบริษัท (ชุมนุมเทพชั้นดาวดึงส์)
๗. มารบริษัท (ชุมนุมมาร)
๘. พรหมบริษัท (ชุมนุมพรหม)
อานนท์ เราจำได้ว่า เคยเข้าไปหาขัตติยบริษัทหลายร้อยครั้ง ทั้งเคยนั่งพูดคุย
และสนทนาในขัตติยบริษัทนั้น กษัตริย์เหล่านั้นมีวรรณะเช่นใด เราก็มีวรรณะเช่นนั้น
กษัตริย์เหล่านั้นมีเสียงเช่นใด เราก็มีเสียงเช่นนั้น เราชี้แจงให้กษัตริย์เหล่านั้นเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา และเมื่อเรากำลังพูดอยู่ ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้กำลังพูดอยู่นี้เป็นใคร
เป็นเทพหรือเป็นมนุษย์’ ครั้นชี้แจงให้กษัตริย์เหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอา
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
แล้วหายไป และเมื่อเราหายไปแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้ที่หายไปแล้วนี้เป็นใคร เป็นเทพ
หรือเป็นมนุษย์’
อานนท์ เราจำได้ว่า เคยเข้าไปหาพราหมณบริษัทหลายร้อยครั้ง ฯลฯ
คหบดีบริษัท ฯลฯ สมณบริษัท ฯลฯ จาตุมหาราชบริษัท ฯลฯ ดาวดึงสบริษัท ฯลฯ
มารบริษัท ฯลฯ
อานนท์ เราจำได้ว่า เคยเข้าไปหาพรหมบริษัทหลายร้อยครั้ง ทั้งเคยนั่งพูดคุย
และสนทนาในพรหมบริษัทนั้น พรหมเหล่านั้นมีวรรณะเช่นใด เราก็มีวรรณะเช่นนั้น
พรหมเหล่านั้นมีเสียงเช่นใด เราก็มีเสียงเช่นนั้น เราชี้แจงให้พรหมเหล่านั้นเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา และเมื่อเรากำลังพูดอยู่ ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้กำลังพูดอยู่นี้เป็นใคร
เป็นเทพหรือเป็นมนุษย์’ ครั้นชี้แจงให้พรหมเหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอา
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
แล้วก็หายไป และเมื่อเราหายไปแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่า ‘ผู้ที่หายไปแล้วนี้เป็นใคร เป็นเทพ
หรือเป็นมนุษย์’
อานนท์ บริษัท ๘ จำพวกนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] อภิภายตนะ ๘ ประการ

อภิภายตนะ ๘ ประการ

[๑๗๓] อานนท์ อภิภายตนะ ๘ ประการนี้
อภิภายตนะ๑ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลหนึ่งมีรูปสัญญาภายใน๒ เห็นรูปทั้งหลายภายนอกขนาดเล็ก
มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า
‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๑
๒. บุคคลหนึ่งมีรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกขนาดใหญ่
มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า
‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๒
๓. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน๓ เห็นรูปทั้งหลายภายนอกขนาดเล็ก
มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า
‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๓
๔. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกขนาดใหญ่
มีสีสันดีหรือไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า
‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๔
๕. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่เขียว
มีสีเขียว เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม เปรียบเหมือนดอก
ผักตบที่เขียว มีสีเขียว เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม ฉันใด
หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสีอันมีเนื้อละเอียดทั้ง ๒ ด้าน
ที่เขียว มีสีเขียว เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม ฉันใด บุคคล
หนึ่งมีอรูปสัญญาภายในก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นรูปทั้งหลาย
ภายนอกที่เขียว มีสีเขียว เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม

เชิงอรรถ :
๑ อภิภายตนะ หมายถึงเหตุครอบงำเหตุที่มีอิทธิพล ได้แก่ญาณหรือฌานที่เป็นเหตุครอบงำนิวรณ์ ๕ และ
อารมณ์ทั้งหลาย คำนี้มาจาก อภิภู + อายตนะ ที่ชื่อว่า อภิภู เพราะครอบงำอารมณ์ และที่ชื่อว่าอายตนะ
เพราะเป็นที่เกิดความสุขอันวิเศษแก่พระโยคีทั้งหลาย เพราะเป็นมนายตนะ และธัมมายตนะ (ที.ม.อ. ๑๗๓/
๑๖๔, องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๕/๒๗๐, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๖๑-๖๕/๓๐๒) และ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๘/๒๒๙-๒๓๐,
ม.ม. ๑๓/๒๔๙/๒๒๔-๒๒๕, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๖๕/๓๖๗-๓๖๘, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๙/๗๑
๒ มีรูปสัญญาภายใน หมายถึงจำได้หมายรู้รูปภายในโดยการบริกรรมรูปภายใน (ที.ม.อ. ๑๗๓/๑๖๔)
๓ มีอรูปสัญญาภายใน หมายถึงเว้นจากสัญญาในบริกรรมในรูปภายใน (ที.ม.อ. ๑๗๓/๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] อภิภายตนะ ๘ ประการ

ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็น
อภิภายตนะประการที่ ๕
๖. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่เหลือง
มีสีเหลือง เปรียบด้วยของเหลือง มีสีเหลืองเข้ม เปรียบเหมือน
ดอกกรรณิการ์ที่เหลือง มีสีเหลือง เปรียบด้วยของเหลือง มีสี
เหลืองเข้ม ฉันใด หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสีอันมีเนื้อ
ละเอียดทั้ง ๒ ด้านที่เหลือง มีสีเหลือง เปรียบด้วยของเหลือง
มีสีเหลืองเข้ม ฉันใด บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายในก็ฉันนั้น
เหมือนกัน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่เหลือง มีสีเหลือง เปรียบ
ด้วยของเหลือง มีสีเหลืองเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญา
อย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะประการที่ ๖
๗. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่แดง
มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม เปรียบเหมือนดอก
ชบาที่แดง มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม ฉันใด หรือ
เปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสีอันมีเนื้อละเอียดทั้ง ๒ ด้านที่แดง
มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม ฉันใด บุคคลหนึ่งมี
อรูปสัญญาภายในก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นรูปทั้งหลายภายนอก
ที่แดง มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม ครอบงำรูป
เหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะ
ประการที่ ๗
๘. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอกที่ขาว
มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม เปรียบเหมือนดาว
ประกายพรึกที่ขาว มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม ฉันใด
หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสีอันมีเนื้อละเอียดทั้ง ๒ ด้าน
ที่ขาว มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม ฉันใด บุคคลหนึ่ง
มีอรูปสัญญาภายในก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นรูปทั้งหลายภายนอก
ที่ขาว มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม ครอบงำรูป
เหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะ
ประการที่ ๘
อานนท์ อภิภายตนะ ๘ ประการนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] วิโมกข์ ๘ ประการ

วิโมกข์ ๘ ประการ

[๑๗๔] อานนท์ วิโมกข์๑ ๘ ประการนี้
วิโมกข์ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มีรูปเห็นรูปทั้งหลาย นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๑
๒. บุคคลผู้มีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปทั้งหลายภายนอก นี้เป็น
วิโมกข์ประการที่ ๒
๓. บุคคลผู้น้อมใจไปว่า ‘งาม’ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๓
๔. บุคคลบรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘อากาศหา
ที่สุดมิได‘’ อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนด
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๔
๕. บุคคลล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
วิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่
นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๕
๖. บุคคลล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ นี้เป็นวิโมกข์
ประการที่ ๖
๗. บุคคลล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๗
๘. บุคคลล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ นี้เป็นวิโมกข์ประการที่ ๘
อานนท์ วิโมกข์ ๘ ประการนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๑๒๙ หน้า ๗๕ ในเล่มนี้ และดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๙/๒๓๑, ม.ม. ๑๓/๒๔๘/๒๒๓-๒๒๔, องฺ.อฏฺฐก.
(แปล) ๒๓/๖๖/๓๖๘-๓๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ทรงเล่าเรื่องมาร

ทรงเล่าเรื่องมาร๑

[๑๗๕] อานนท์ สมัยหนึ่ง เมื่อแรกตรัสรู้ เราพักอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ที่ตำบลอุรุเวลา มารผู้มีบาปได้เข้ามาหาเรายืน ณ ที่สมควร
ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพาน
ในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มี
พระภาค’
เมื่อมารกล่าวอย่างนี้ เราตอบว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบ
เท่าที่ภิกษุทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า
ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติ
ตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อย
โดยชอบธรรมไม่ได้
มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่ภิกษุณีทั้งหลายผู้สาวิกาของเรา
ยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว
แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรม
มีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้
มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่อุบาสกทั้งหลายผู้สาวกของเรา
ยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม
ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์
ของตนแล้ว แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้
ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้
มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่อุบาสิกาทั้งหลายผู้สาวิกาของ
เรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ข้อ ๑๖๘ หน้า ๑๑๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ทรงเล่าเรื่องมาร

ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์
ของตนแล้ว แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได
ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้
มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่พรหมจรรย์ของเรายังไม่บริบูรณ์
กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก มั่นคงดี กระทั่งเทพและมนุษย์ทั้งหลาย
ประกาศได้ดีแล้ว
[๑๗๖] อานนท์ วันนี้เมื่อกี้นี้เอง มารผู้มีบาปได้เข้ามาหาเราที่ปาวาลเจดีย์
ยืน ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพาน
ของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ
ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท
ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ ภิกษุทั้งหลาย
ผู้สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า เป็นพหูสูต
ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับ
อาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายได้
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่ภิกษุณีทั้งหลายผู้สาวิกาของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๔ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker