ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐-๒ สุตตันตปิฎกที่ ๐๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย มหาวรรค
____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ทรงเล่าเรื่องมาร

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่อุบาสกทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่อุบาสิกาทั้งหลายผู้สาวิกาของเรา ยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติ
ชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว แต่ยังบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิด
ขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ อุบาสิกาทั้งหลาย
ผู้สาวิกาของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า เป็น
พหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรม เรียน
กับอาจารย์ของตนแล้วก็บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายได้
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่พรหมจรรย์ของเรายังไม่บริบูรณ์ กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก
มั่นคงดี กระทั่งเทพและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เวลานี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคบริบูรณ์ กว้างขวาง
แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก มั่นคงดี กระทั่งเทพและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในบัดนี้ ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
[๑๗๗] อานนท์ เมื่อมารบอกอย่างนี้ เราได้ตอบมารผู้มีบาปดังนี้ว่า ‘มาร
ผู้มีบาป ท่านจงอย่ากังวลเลย อีกไม่นาน การปรินิพพานของตถาคตจะมี จากนี้
ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน’
อานนท์ วันนี้ เมื่อกี้นี้เอง เรามีสติสัมปชัญญะดี ปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
พระอานนท์กราบทูลอาราธนา

พระอานนท์กราบทูลอาราธนา

[๑๗๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้
มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพ
อยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป เพื่อเกื้อกูลแก่คน
หมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่าเลย อานนท์ อย่ามาวิงวอนตถาคตเลย บัดนี้
ไม่ใช่เวลาที่จะวิงวอนตถาคต’
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคต
โปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก
เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า “อานนท์ เธอเชื่อความตรัสรู้ของตถาคตหรือ”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “เชื่อ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ก็เมื่อเธอเชื่อ ไฉน ยังแค่นไค้ตถาคตถึง ๓ ครั้งเล่า”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาเฉพาะ
พระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า อานนท์ อิทธิบาท ๔ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว
ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดี ผู้นั้น
เมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ
ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว
ปรารภดีแล้ว ตถาคตเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอเชื่อหรือ อานนท์”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “เชื่อ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงแสดงอานุภาพของอิทธิบาท ๔ ประการ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เหตุนั้นแล อานนท์ เรื่องนี้จึงเป็นความบกพร่อง
ของเธอ เรื่องนี้เป็นความผิดของเธอ๑ เมื่อตถาคตทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทำโอภาสที่
ชัดเจนแม้อย่างนี้ เธอก็ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่วิงวอนตถาคตว่า ‘ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป
เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจะ
ห้ามเธอเพียง ๒ ครั้ง พอครั้งที่ ๓ ตถาคตจะรับนิมนต์ เหตุนี้แหละ เรื่องนี้จึงเป็น
ความบกพร่องของเธอ เรื่องนี้เป็นความผิดของเธอ

ทรงแสดงอานุภาพของอิทธิบาท ๔ ประการ

[๑๗๙] อานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล
เรียกเธอมากล่าวว่า ‘อานนท์ กรุงราชคฤห์น่ารื่นรมย์ ภูเขาคิชฌกูฏน่ารื่นรมย์
อิทธิบาท ๔ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่
ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดี ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป
หรือเกินกว่า ๑ กัป อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว
ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตเมื่อมุ่งหวัง
พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป๒’ เมื่อตถาคตทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทำโอภาส
ที่ชัดเจนแม้อย่างนี้ เธอก็ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่วิงวอนตถาคตว่า ‘ขอพระผู้มีพระภาค
โปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป
เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจะ
ห้ามเธอเพียง ๒ ครั้ง พอครั้งที่ ๓ ตถาคตจะรับนิมนต์ เหตุนั้นแหละ อานนท์
เรื่องนี้จึงเป็นความบกพร่องของเธอ เรื่องนี้เป็นความผิดของเธอ

เชิงอรรถ :
๑ ที่ตรัสว่า เรื่องนี้จึงเป็นความบกพร่องของเธอ เรื่องนี้เป็นความผิดของเธอ มิใช่ตรัสเพื่อจะทรงตำหนิ
แต่ตรัสเพื่อเป็นเหตุบรรเทาความเศร้าโศกของพระอานนท์ (ที.ม.อ. ๑๗๙/๑๖๗)
๒ ดูเทียบ อภิ.ก. ๓๗/๖๒๓/๓๗๘-๓๗๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงแสดงอานุภาพของอิทธิบาท ๔ ประการ

[๑๘๐] อานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โคตมนิโครธ เขตกรุงราชคฤห์ ฯลฯ
เราอยู่ที่เหวทิ้งโจร เขตกรุงราชคฤห์ ฯลฯ เราอยู่ที่ถ้ำสัตตบรรณ ข้างภูเขาเวภาระ
เขตกรุงราชคฤห์ ฯลฯ เราอยู่ที่กาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ เขตกรุงราชคฤห์ ฯลฯ
เราอยู่ที่เงื้อมสัปปโสณฑิกะ ในสีตวัน เขตกรุงราชคฤห์ ฯลฯ เราอยู่ที่ตโปทาราม
เขตกรุงราชคฤห์ ฯลฯ เราอยู่ที่เวฬุวันสถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ฯลฯ
เราอยู่ที่ชีวกัมพวัน เขตกรุงราชคฤห์ ฯลฯ เราอยู่ที่มัททกุจฉิมฤคทายวัน เขตกรุง
ราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล เราได้เรียกเธอมากล่าวว่า ‘อานนท์ กรุงราชคฤห์น่ารื่นรมย์
ภูเขาคิชฌกูฏน่ารื่นรมย์ โคตมนิโครธน่ารื่นรมย์ เหวทิ้งโจรน่ารื่นรมย์ ถ้ำสัตตบรรณ
ข้างภูเขาเวภาระน่ารื่นรมย์ กาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิน่ารื่นรมย์ เงื้อมสัปปโสณฑิกะ
ในสีตวันน่ารื่มรมย์ ตโปทารามน่ารื่นรมย์ เวฬุวันสถานที่ให้เหยื่อกระแตน่ารื่นรมย์
ชีวกัมพวันน่ารื่นรมย์ มัททกุจฉิมฤคทายวันน่ารื่นรมย์ อานนท์ อิทธิบาท ๔ ผู้ใด
ผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว
สั่งสมแล้ว ปรารภดี ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป
อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว
ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป
หรือเกินกว่า ๑ กัป’ เมื่อตถาคตทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้
เธอก็ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่วิงวอนตถาคตว่า ‘ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพ
อยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ต่อไปตลอดกัป เพื่อประโยชน์
แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข
แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจะห้ามเธอเพียง
๒ ครั้ง พอครั้งที่ ๓ ตถาคตจะรับนิมนต์ เหตุนั้นแหละ อานนท์ เรื่องนี้จึงเป็น
ความบกพร่องของเธอ เรื่องนี้เป็นความผิดของเธอ
[๑๘๑] อานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่อุเทนเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ณ ที่นั้นแล
เราได้เรียกเธอมากล่าวว่า ‘อานนท์ กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์
อานนท์ อิทธิบาท ๔ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้
เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดี ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้
๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงแสดงอานุภาพของอิทธิบาท ๔ ประการ

ดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตเมื่อ
มุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป เมื่อตถาคตทำนิมิตที่ชัดแจ้ง
ทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้ เธอก็ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่วิงวอนตถาคตว่า ‘ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่
ตลอดกัป เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ ถ้าเธอวิงวอนตถาคต
ตถาคตจะห้ามเธอเพียง ๒ ครั้ง พอครั้งที่ ๓ ตถาคตจะรับนิมนต์ เหตุนั้นแหละ
อานนท์ เรื่องนี้จึงเป็นความบกพร่องของเธอ เรื่องนี้เป็นความผิดของเธอ
[๑๘๒] อานนท์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โคตมกเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ฯลฯ เราอยู่
ที่สัตตัมพเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ฯลฯ เราอยู่ที่พหุปุตตเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ฯลฯ
เราอยู่ที่สารันททเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ฯลฯ เราอยู่ที่ปาวาลเจดีย์ วันนี้เมื่อกี้เอง
ณ ปาวาลเจดีย์ เราได้เรียกเธอมากล่าวว่า ‘อานนท์ กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทน-
เจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์น่ารื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์
น่ารื่นรมย์ สารันททเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์ อานนท์ อิทธิบาท ๔
ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว
สั่งสมแล้ว ปรารภดี ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป
อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว
ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป
หรือเกินกว่า ๑ กัป’ เมื่อตถาคตทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้ เธอก็
ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่วิงวอนตถาคตว่า ‘ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่
ตลอดกัป ขอพระสุคตโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ ถ้าเธอวิงวอนตถาคต ตถาคตจะห้ามเธอเพียง ๒ ครั้ง
พอครั้งที่ ๓ ตถาคตจะรับนิมนต์ เหตุนั้นแหละ อานนท์ เรื่องนี้จึงเป็นความ
บกพร่องของเธอ เรื่องนี้เป็นความผิดของเธอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
ทรงแสดงอานุภาพของอิทธิบาท ๔ ประการ

[๑๘๓] อานนท์ เราเคยบอกเธอไว้ก่อนมิใช่หรือว่า ความพลัดพราก ความ
ทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี ฉะนั้น
จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น มีขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น
มีความแตกสลายเป็นธรรมดา เป็นไปไม่ได้ที่จะปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นจงอย่าแตก
สลายไปเลย ตถาคตสละ คลาย ปล่อย ละ วางสิ่งนั้นได้แล้ว ปลงอายุสังขารแล้ว
วาจาที่ตถาคตกล่าวไว้ว่า ‘อีกไม่นาน การปรินิพพานของตถาคตจะมี จากนี้ไปอีก
๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพานเป็นวาจาที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกแล้ว‘จึงเป็นไปไม่ได้
ที่ตถาคตจะกลับคืนคำเพราะต้องการมีอายุอยู่ต่อไป มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
กูฏาคารศาลา ป่ามหาวันกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยท่านพระอานนท์เสด็จเข้าไปยังกูฏาคาร-
ศาลา ป่ามหาวันแล้ว จึงรับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “ไปเถิด อานนท์
เธอจงไปนิมนต์ให้ภิกษุเท่าที่อาศัยอยู่ในกรุงเวสาลีมาประชุมกัน ณ หอฉัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จึงนิมนต์ภิกษุทุกรูปเท่าที่อาศัยอยู่
ในกรุงเวสาลี มาประชุมกัน ณ หอฉันแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืน ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงกำหนดเวลาที่สมควร
ณ บัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”๑
[๑๘๔] จากนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไป ณ หอฉัน ประทับนั่งบนพุทธอาสน์
ที่ปูลาดไว้แล้ว รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย(เพราะฉะนั้น)
ธรรมที่เราแสดงแล้วเพื่อความรู้ยิ่ง เธอทั้งหลายพึงเรียน เสพ เจริญ ทำให้มาก
ด้วยดีโดยวิธีที่พรหมจรรย์นี้จะพึงตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่ได้นาน ข้อนั้นพึงเป็นไป
เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๐/๑๔๘-๑๔๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] สังเวชนียธรรม

ธรรมที่เราแสดงแล้วเพื่อความรู้ยิ่ง เธอทั้งหลายพึงเรียน เสพ เจริญ
ทำให้มากด้วยดีโดยวิธีที่พรหมจรรย์นี้จะพึงตั้งอยู่ได้นาน ดำรงอยู่ได้นาน ข้อนั้น
พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คืออะไร
คือ

๑. สติปัฏฐาน ๔___๒. สัมมัปปธาน ๔
๓. อิทธิบาท ๔___๔. อินทรีย์ ๕
๕. พละ ๕___๖. โพชฌงค์ ๗
๗. อริยมรรคมีองค์ ๘”

ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้แล คือ ธรรมที่เราแสดงแล้วเพื่อความรู้ยิ่ง เธอทั้งหลาย
พึงเรียน เสพ เจริญ ทำให้มากด้วยดีโดยวิธีที่พรหมจรรย์นี้จะพึงตั้งอยู่ได้นาน ดำรง
อยู่ได้นาน ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อ
อนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

สังเวชนียธรรม
(ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช)

[๑๘๕] จากนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด อีกไม่นาน
การปรินิพพานของตถาคตจะมี จากนี้ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“มนุษย์ทุกคนไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่
โง่ ฉลาด มั่งมี และยากจน ล้วนต้องตาย๑
ชีวิตของสัตว์เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้นแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๘๗/๓๖๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
การทอดพระเนตรกรุงเวสาลีอย่างช้างมอง

เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง สุกบ้าง ดิบบ้าง
ซึ่งล้วนมีความแตกสลายเป็นที่สุด”
พระสุคตศาสดาได้ตรัสพระคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“วัยของเราแก่หง่อม
ชีวิตของเราเหลือน้อย เราจะจากพวกเธอไป
เราทำที่พึ่งแก่ตนแล้ว
พวกเธอจงอย่าประมาท มีสติ มีศีลบริสุทธิ์
มีความดำริมั่นคงดี รักษาจิตของตนไว้
ผู้ที่ไม่ประมาทอยู่ในธรรมวินัยนี้
ละการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”๑

ภาณวารที่ ๓ จบ

การทอดพระเนตรกรุงเวสาลีอย่างช้างมอง

[๑๘๖] ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและ
จีวร เสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เมื่อเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลัง
เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ทอดพระเนตรกรุงเวสาลีอย่างช้างมอง๒ รับสั่งเรียก
ท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ การเห็นกรุงเวสาลีครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายของ
ตถาคต มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังภัณฑุคามกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.สุ. ๒๕/๕๘๔/๔๕
๒ อย่างช้างมอง หมายถึงทรงหันพระองค์กลับหลังอย่างที่พญาช้างมอง คือ พญาช้างไม่อาจจะเอี้ยวคอ
มองข้างหลัง ต้องหันกลับทั้งตัวฉันใด พระผู้มีพระภาคก็ฉันนั้น เพราะพระอัฏฐิก้านพระศอเป็นชิ้นเดียวกัน
ไม่มีข้อต่อจึงไม่อาจจะเอี้ยวพระศอมองข้างหลังได้ แต่จะไม่เหมือนกับช้างมอง เพราะมีพุทธานุภาพ จึงทำ
ให้แผ่นดินนี้หมุนไปเหมือนกับแป้น (กุลาลจกฺกํ) โดยทำพระผู้มีพระภาคให้มีหน้าตรงต่อกรุงเวสาลี (ที.ม.อ.
๑๘๖/๑๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
การทอดพระเนตรกรุงเวสาลีอย่างช้างมอง

พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงภัณฑุคาม ประทับอยู่ที่
ภัณฑุคามนั้น รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดธรรม ๔ ประการ เราและเธอทั้งหลาย
จึงเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๒. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๓. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยปัญญา เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
๔. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล เราและเธอ
ทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดอริย-
ปัญญา เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ เราและเธอทั้งหลายถอน
ภวตัณหาได้แล้ว ภวเนตติสิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก๑”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ อันยอดเยี่ยม
ธรรมเหล่านี้ พระโคดมผู้มียศตรัสรู้แล้ว
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกธรรม
แก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่ง
พระศาสดา ทรงทำที่สุดแห่งทุกข์
มีพระจักษุ ปรินิพพานแล้ว๒”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๑๕๕ หน้า ๙๙ ในเล่มนี้ และดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑/๑-๒
๒ ปรินิพพาน ในที่นี้หมายถึงดับกิเลสได้สิ้นเชิง (ที.ม.อ. ๑๘๖/๑๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] มหาปเทส ๔ ประการ

ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ที่ภัณฑุคาม ทรงแสดงธรรมีกถา
เป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิมีลักษณะ
อย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจาก
อาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”

มหาปเทส ๔ ประการ
(ข้ออ้างที่สำคัญ)

[๑๘๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในภัณฑุคาม
แล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
หัตถีคามกัน” ... “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังอัมพคามกัน” ... “มาเถิด
อานนท์ เราจะเข้าไปยังชัมพุคามกัน” ... “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังโภค-
นครกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงโภคนคร ประทับอยู่ที่อานันทเจดีย์ในโภคนคร รับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจะแสดงมหาปเทส ๔ ประการนี้
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
[๑๘๘] ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าได้สดับ
รับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็น
วินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์’ เธอทั้งหลายยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึง
คัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้น
ให้ดี๑แล้ว พึงสอบดูในสูตร เทียบดูในวินัย ถ้าบทและพยัญชนะ

เชิงอรรถ :
๑ พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี หมายถึงการเรียนที่สามารถรู้ว่า ตรงนี้แสดงบาลีไว้ ตรงนี้แสดง
อรรถาธิบายไว้ ตรงนี้แสดงอนุสนธิไว้ ตรงนี้แสดงเบื้องต้นและเบื้องปลายไว้ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๘๐/๔๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] มหาปเทส ๔ ประการ

เหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้ พึงลง
สันนิษฐานว่า ‘นี้มิใช่พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
แน่นอน และภิกษุนี้รับมาผิด‘เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนั้นเสีย
ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ได้ เทียบเข้า
ในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้เป็นพระดำรัสของพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และภิกษุนี้รับมาด้วยดี’ เธอทั้งหลาย
พึงจำมหาปเทสประการที่ ๑ นี้ไว้
๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในอาวาสชื่อโน้นมีสงฆ์
อยู่พร้อมด้วยพระเถระ พร้อมด้วยปาโมกข์ ข้าพเจ้าได้สดับมา
เฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์’
เธอทั้งหลายยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น
พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในสูตร
เทียบดูในวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็
ไม่ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้มิใช่พระดำรัส
ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และสงฆ์นั้นรับมาผิด’
เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนั้นเสีย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลง
ในสูตรก็ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้เป็น
พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และสงฆ์นั้น
รับมาด้วยดี’ เธอทั้งหลายพึงจำมหาปเทสประการที่ ๒ นี้ไว้
๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในอาวาสชื่อโน้นมีภิกษุผู้
เป็นพระเถระอยู่จำนวนมาก เป็นพหูสูต เรียนคัมภีร์๑ ทรงธรรม๒
ทรงวินัย๓ ทรงมาติกา๔ ข้าพเจ้าได้สดับมาเฉพาะหน้าพระเถระ

เชิงอรรถ :
๑ คัมภีร์ หมายถึงนิกาย ๕ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย
(องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๙๘)
๒ ธรรม หมายถึงพระสุตตันตปิฎกและอภิธัมมปิฎก (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๙๘, องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๒๐/๑๑๓)
๓ วินัย หมายถึงพระวินัยปิฎก (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๙๘)
๔ มาติกา หมายถึงมาติกา ๒ คือ ภิกขุวิภังค์ และภิกขุนีวิภังค์ (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] มหาปเทส ๔ ประการ

เหล่านั้นว่า ‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์’ เธอ
ทั้งหลาย ยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น
พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในสูตร
เทียบดูในวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ไม่ได้
เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้มิใช่พระดำรัสของ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และพระเถระเหล่านั้นรับมา
ผิด’ เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนั้นเสีย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น
สอบลงในสูตรก็ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า
“นี้เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และ
พระเถระเหล่านั้นรับมาด้วยดี’ เธอทั้งหลายพึงจำมหาปเทส
ประการที่ ๓ นี้ไว้
๔. ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ในอาวาสชื่อโน้นมีภิกษุผู้
เป็นเถระอยู่รูปหนึ่งเป็นพหูสูต เรียนคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย
ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้นว่า
‘นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์’ เธอทั้งหลายยังไม่
พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและ
พยัญชนะเหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในสูตร เทียบดูในวินัย
ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าใน
วินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้มิใช่พระดำรัสของพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และพระเถระรูปนั้นรับมาผิด’ เธอ
ทั้งหลายพึงทิ้งเสีย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตร
ก็ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า ‘นี้เป็นพระดำรัส
ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และพระเถระรูปนั้นรับ
มาด้วยดี’ เธอทั้งหลายพึงจำมหาปเทสประการที่ ๔ นี้ไว้
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงจำมหาปเทส ๔ ประการนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
เรื่องนายจุนทกัมมารบุตร(บุตรช่างทอง)

ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ที่อานันทเจดีย์ในโภคนคร ทรงแสดง
ธรรมีกถาเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิ
มีลักษณะอย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้นโดย
ชอบจากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”

เรื่องนายจุนทกัมมารบุตร๑ (บุตรช่างทอง)

[๑๘๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ตามความพอพระทัยใน
โภคนครแล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไป
ยังกรุงปาวากัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ต่อมา พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จไปถึงกรุงปาวา ประทับอยู่ที่อัมพวันของนายจุนทกัมมารบุตร
เขตกรุงปาวา
เมื่อนายจุนทกัมมารบุตรได้ทราบว่า ‘พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงกรุงปาวา
ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของเรา’ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นายจุนทกัมมารบุตรเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น นายจุนทกัมมารบุตรผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจง
ให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลม
ใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์
ในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.อุ. ๒๕/๗๕/๒๑๔-๒๑๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
เรื่องนายจุนทกัมมารบุตร(บุตรช่างทอง)

เมื่อนายจุนทกัมมารบุตร ทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุก
จากที่นั่งถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป นายจุนทกัมมารบุตรได้เตรียมของขบฉันอันประณีตและ
สูกรมัททวะ๑ จำนวนเพียงพอไว้ในนิเวศน์ของตน ให้คนไปกราบทูลเวลาแด่พระผู้มีพระภาค
ว่า “ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนายจุนทกัมมารบุตร ประทับนั่งบนพุทธอาสน์
ที่ปูลาดไว้แล้ว รับสั่งเรียกนายจุนทกัมมารบุตรมาตรัสว่า “จุนทะ ท่านจงประเคน
สูกรมัททวะที่เตรียมไว้แก่เรา ประเคนของขบฉันอย่างอื่นที่เตรียมไว้แก่ภิกษุสงฆ์
เขาทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ประเคนสูกรมัททวะที่เตรียมไว้แด่พระผู้มีพระภาค
ประเคนของขบฉันอย่างอื่นที่เตรียมไว้แด่ภิกษุสงฆ์
ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกนายจุนทกัมมารบุตรมาตรัสว่า “จุนทะ
สูกรมัททวะที่เหลือเธอจงฝังลงในหลุม เรายังไม่เห็นใครในโลก พร้อมเทวโลก มารโลก
พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาหรือมนุษย์ ที่บริโภคสูกร-
มัททวะนั้นแล้วจะย่อยได้ด้วยดี นอกจากตถาคต”
นายจุนทกัมมารบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ฝังสูกรมัททวะที่เหลือลงในหลุม
แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นายจุนทกัมมารบุตรเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับ
เอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
แล้วทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จจากไป

เชิงอรรถ :
๑ สูกรมัททวะ ความหมายตามมติของเกจิอาจารย์ ๓ พวก คือ
๑. หมายถึงปวัตตมังสะ เนื้อสุกรหนุ่ม
๒. หมายถึงข้าวสุกอ่อน ที่ปรุงด้วยนมสด นมส้ม เนยใส เปรียง เนยแข็ง และถั่ว
๓. หมายถึงวิธีปรุงอาหารชนิดหนึ่ง
(ที.ม.อ. ๑๘๙/๑๗๒, ขุ.อุ.อ. ๗๕/๔๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] รับสั่งขอน้ำดื่ม

[๑๙๐] หลังจากพระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารของนายจุนทกัมมารบุตร
ได้เกิดอาการพระประชวรอย่างรุนแรง ลงพระบังคนหนักเป็นโลหิต๑ ทรงมีทุกข-
เวทนาอย่างแสนสาหัส จวนเจียนจะปรินิพพาน พระองค์ทรงมีสติสัมปชัญญะ
ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาเหล่านั้นไว้ไม่พรั่นพรึง รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า
“มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังกรุงกุสินารากัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว
ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีพระปรีชา
เสวยภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว
ทรงพระประชวรอย่างแสนสาหัส
จวนเจียนจะปรินิพพาน
เมื่อพระศาสดาเสวยสูกรมัททวะแล้ว
ได้เกิดอาการพระประชวรอย่างรุนแรง
ลงพระบังคนหนักตรัสว่า
‘เราจะไปยังกรุงกุสินารากัน’

รับสั่งขอน้ำดื่ม

[๑๙๑] ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแวะลงข้างทางเสด็จเข้าไปยังควงไม้ต้นหนึ่ง
รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอช่วยปูสังฆาฏิซ้อนกัน ๔ ชั้น
เราเหน็ดเหนื่อยจะนั่งพัก” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วปูสังฆาฏิซ้อนกัน
๔ ชั้น พระผู้มีพระภาคประทับบนอาสนะที่ท่านพระอานนท์ปูลาดถวายไว้ รับสั่งเรียก
ท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอช่วยไปนำน้ำดื่มมา เรากระหายจะดื่มน้ำ”
เมื่อพระผู้มีพระภาครับสั่งอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม เพิ่งข้ามไป เมื่อกี้นี้
น้ำนั้นมีน้อย ถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม่น้ำ

เชิงอรรถ :
๑ แปลจากคำว่า โลหิตปกฺขนฺทิกา ในอรรถกถาอธิบายว่า เป็นอาการของโรคที่ถ่ายเป็นเลือดตลอดเวลา
(ที.ม.อ. ๑๙๐/๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] รับสั่งขอน้ำดื่ม

กกุธาอยู่ไม่ไกลแค่นี้เอง มีน้ำใส จืดสนิท เย็นสะอาด มีท่าเทียบน่ารื่นรมย์ ขอพระ
ผู้มีพระภาคเสด็จไปทรงดื่มและสรงสนานพระวรกายในแม่น้ำกกุธานี้เถิด”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
เธอช่วยไปนำน้ำดื่มมา เรากระหายจะดื่มน้ำ” แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระอานนท์ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่ม
เพิ่งข้ามไป เมื่อกี้นี้ น้ำนั้นมีน้อย ถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไป ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ แม่น้ำกกุธาอยู่ไม่ไกลแค่นี้เอง มีน้ำใส จืดสนิท เย็นสะอาด
มีท่าเทียบน่ารื่นรมย์ ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จไปทรงดื่มและสรงสนานพระวรกาย
ในแม่น้ำกกุธานี้เถิด”
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
เธอช่วยไปนำน้ำดื่มมา เรากระหายจะดื่มน้ำ” ท่านพระอานนท์จึงทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว ถือบาตรเดินเข้าไปยังลำธารนั้น ขณะนั้น ลำธารนั้น มีน้ำน้อย
ถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไป แต่เมื่อท่านพระอานนท์เข้าไปใกล้ก็กลับใสสะอาด
ไม่ขุ่น ไหลไป ท่านพระอานนท์จึงคิดว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคต
ทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ลำธารนี้มีน้ำน้อย ถูกล้อเกวียนย่ำขุ่นเป็นตมไหลไป
เมื่อเราเข้ามาใกล้ ก็กลับใสสะอาด ไม่ขุ่น ไหลไป จึงใช้บาตรตักน้ำแล้วเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
เดี๋ยวนี้เอง ลำธารนั้นมีน้ำน้อย ถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไป เมื่อข้าพระองค์
เดินเข้าไปใกล้ ก็กลับใสสะอาด ไม่ขุ่น ไหลไป ขอพระผู้มีพระภาคทรงดื่มน้ำเถิด
ขอพระสุคตทรงดื่มน้ำเถิด” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดื่มน้ำแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องปุกกุสะ มัลลบุตร

เรื่องปุกกุสะ มัลลบุตร

[๑๙๒] ก็สมัยนั้น โอรสเจ้ามัลละพระนามว่าปุกกุสะ๑ เป็นสาวกของ
อาฬารดาบส กาลามโคตร เดินทางไกลจากกรุงกุสินาราไปกรุงปาวา เห็นพระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ที่ควงไม้ต้นหนึ่ง ครั้นแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ บรรพชิตทั้งหลายย่อมอยู่ด้วย
ธรรมเป็นเครื่องอยู่อันสงบอย่างยิ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องมีอยู่ว่า อาฬารดาบส
กาลามโคตร เดินทางไกลแวะลงข้างทางที่ควงไม้ต้นหนึ่งในที่ไม่ไกล เวลานั้นเกวียน
ตั้ง ๕๐๐ เล่มได้ผ่านท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร ติด ๆ กันไป
ขณะนั้น บุรุษคนหนึ่งกำลังเดินตามหลังหมู่เกวียนมาเข้าไปหาท่านอาฬารดาบส
กาลามโคตรถึงที่อยู่แล้ว ได้ถามท่านอาฬารดาบสดังนี้ว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
ท่านเห็นเกวียน ๕๐๐ เล่ม ผ่านไปบ้างหรือไม่’
ท่านอาฬารดาบสตอบว่า ‘เราไม่เห็นเลย ผู้มีอายุ’
‘ท่านได้ยินเสียงหรือไม่’
‘เราไม่ได้ยิน ผู้มีอายุ’
‘ท่านคงหลับกระมัง’
‘เราไม่ได้หลับ ผู้มีอายุ‘
‘ท่านยังมีสัญญาอยู่หรือ’
‘เรายังมีอยู่ ผู้มีอายุ’
‘ท่านยังมีสัญญาตื่นอยู่ (แต่) ไม่ได้เห็นเกวียนตั้ง ๕๐๐ เล่ม ที่ผ่านติด ๆ กันไป
ทั้งไม่ได้ยินเสียง ก็ผ้าทาบของท่านเปรอะเปื้อนฝุ่นธุลีบ้างไหม’
‘เป็นอย่างนั้น ผู้มีอายุ’

เชิงอรรถ :
๑ ขณะนั้นเจ้าปุกกุสะประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าเพชรพลอย ซึ่งถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของพวกเจ้ามัลละ
ที่มีการผลัดเปลี่ยนกันครองราชย์ตามวาระ ส่วนผู้ที่ยังไม่ถึงวาระจะประกอบอาชีพทางการค้า (ที.ม.อ.
๑๙๒/๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องปุกกุสะ มัลลบุตร

บุรุษนั้นมีความคิดดังนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ บรรพชิต
ทั้งหลายย่อมอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อันสงบอย่างยิ่ง ดังที่ท่านอาฬารดาบส ผู้ยังมี
สัญญาตื่นอยู่ (แต่) ไม่เห็นเกวียนตั้ง ๕๐๐ เล่ม ที่ผ่านติด ๆ กันไป ทั้งไม่ได้ยินเสียง’
เขาประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่งในท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วจากไป”
[๑๙๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามปุกกุสะว่า “ปุกกุสะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่า
อย่างไร อย่างไหนทำได้ยากกว่ากัน เกิดขึ้นได้ยากกว่ากัน (ระหว่าง) ผู้ยังมีสัญญา
ตื่นอยู่ ไม่เห็นเกวียนตั้ง ๕๐๐ เล่มที่ผ่านติด ๆ กันไป ทั้งไม่ได้ยินเสียง กับผู้ที่
ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าอยู่ ก็ไม่ได้เห็น
และไม่ได้ยินเสียง”
ปุกกุสะทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียน ๕๐๐ เล่ม ๖๐๐ เล่ม
๗๐๐ เล่ม ๘๐๐ เล่ม ๙๐๐ เล่ม ๑,๐๐๐ เล่ม ฯลฯ เกวียน ๑๐๐,๐๐๐ เล่ม
จะเปรียบกันได้อย่างไร แท้จริง ผู้ที่ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก
ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าอยู่ ก็ไม่ได้เห็นและไม่ได้ยินเสียง อย่างนี้แหละทำได้ยากกว่าและ
เกิดขึ้นได้ยากกว่า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ปุกกุสะ คราวหนึ่ง เราพักอยู่ที่โรงกระเดื่อง เขตกรุง
อาตุมา เวลานั้น ฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าอยู่ ชาวนา ๒ คนพี่น้อง
และโคงาน ๔ ตัว ถูกฟ้าผ่าใกล้โรงกระเดื่อง ขณะนั้น หมู่มหาชนในกรุงอาตุมา
ออกไปมุงดูชาวนา ๒ คนพี่น้องและโคงาน ๔ ตัวที่ถูกฟ้าผ่า เราออกจากโรง
กระเดื่อง จงกรมอยู่ที่กลางแจ้งใกล้ประตูโรงกระเดื่อง บุรุษคนหนึ่งออกมาจากหมู่
มหาชนเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ได้ไหว้เรา ยืน ณ ที่สมควร เราได้ถามบุรุษนั้นดังนี้ว่า
‘ผู้มีอายุ หมู่มหาชนนั่นชุมนุมกันทำไม’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เดี๋ยวนี้เอง ขณะที่ฝนกำลังตก
ตกอย่างหนัก ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าอยู่ ชาวนา ๒ คนพี่น้องและโคงาน ๔ ตัวถูกฟ้าผ่า
หมู่มหาชนชุมนุมกันเพราะเหตุนี้ ท่านไปอยู่เสียที่ไหนเล่า’
เราตอบว่า ‘เราก็อยู่ที่นี้แหละ’
บุรุษนั้นถามว่า ‘ท่านเห็นหรือไม่’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องปุกกุสะ มัลลบุตร

เราตอบว่า ‘เราไม่เห็นเลย ผู้มีอายุ’
บุรุษนั้นถามว่า ‘ท่านได้ยินเสียงหรือไม่’
เราตอบว่า ‘เราไม่ได้ยิน ผู้มีอายุ’
บุรุษนั้นถามว่า ‘ท่านคงหลับกระมัง’
เราตอบว่า ‘เราไม่ได้หลับ ผู้มีอายุ’
บุรุษนั้นถามว่า ‘ท่านยังมีสัญญาอยู่หรือ’
เราตอบว่า ‘เรายังมีอยู่ ผู้มีอายุ’
บุรุษนั้นถามว่า ‘ท่านยังมีสัญญาตื่นอยู่ ขณะฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก
ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าอยู่ ไม่ได้เห็นและไม่ได้ยินเสียงเลยหรือ’
เราตอบว่า ‘เป็นอย่างนั้น ผู้มีอายุ’
บุรุษนั้นมีความคิดดังนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
บรรพชิตทั้งหลายย่อมอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อันสงบอย่างยิ่ง ดังที่ท่านสมณะ
ผู้ยังมีสัญญาตื่นอยู่ เมื่อฝนกำลังตก ตกอย่างหนัก ฟ้าแลบ ฟ้าผ่าอยู่ก็ไม่เห็นและ
ไม่ได้ยินเสียงเลย ‘ เขาประกาศความเลื่อมใสอย่างยิ่งในเรา กระทำประทักษิณแล้ว
จากไป”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ปุกกุสะ มัลลบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอโปรยความเลื่อมใสที่มีในอาฬาร-
ดาบส กาลามโคตร ไปตามกระแสลมที่พัดแรง หรือลอยในแม่น้ำกระแสเชี่ยว พระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบ
เหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป
ในที่มืดโดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมกับ
พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็น
อุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ปุกกุสะ มัลลบุตร

[๑๙๔] ลำดับนั้น ปุกกุสะ มัลลบุตร รับสั่งเรียกบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า
“พนาย เธอช่วยนำผ้าเนื้อละเอียดสีทองน่าใช้คู่หนึ่ง (๒ ผืน) ของเรามา” บุรุษนั้น
รับคำแล้ว นำคู่ผ้าเนื้อละเอียดสีทองน่าใช้คู่นั้นมาให้
จากนั้น ปุกกุสะ มัลลบุตร ได้น้อมคู่ผ้าเนื้อละเอียดสีทองน่าใช้คู่นั้นเข้าไป
ถวายพระผู้มีพระภาคพร้อมกับกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดรับคู่ผ้าเนื้อละเอียดสีทองน่าใช้คู่นี้ เพื่ออนุเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ปุกกุสะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้เราครองผืนหนึ่ง
อีกผืนหนึ่งให้อานนท์ครอง”
ปุกกุสะ มัลลบุตร ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ถวายให้พระผู้มีพระภาคทรง
ครองผืนหนึ่ง ถวายให้ท่านพระอานนท์ครองอีกผืนหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ปุกกุสะ มัลลบุตร เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอา
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ลำดับนั้น ปุกกุสะ มัลลบุตร ผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา ลุกจากที่นั่งถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป
[๑๙๕] เมื่อปุกกุสะ มัลลบุตรจากไปไม่นาน ท่านพระอานนท์ได้น้อมคู่ผ้า
เนื้อละเอียดสีทองน่าใช้คู่นั้นเข้าไปคลุมพระวรกายของพระผู้มีพระภาค พอท่านพระ
อานนท์น้อมเข้าไปคลุมพระวรกายของพระผู้มีพระภาค ผ้านั้นปรากฏสีเปล่งปลั่ง
เหมือนถ่านไฟที่ปราศจากเปลว
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระฉวีวรรณของพระตถาคตบริสุทธิ์ผุดผ่อง
ยิ่งนัก๑ คู่ผ้าเนื้อละเอียดสีทองน่าใช้คู่นี้ พอข้าพระองค์น้อมเข้าไปคลุมพระวรกาย
ของพระผู้มีพระภาค ปรากฏสีเปล่งปลั่งเหมือนถ่านไฟที่ปราศจากเปลว”

เชิงอรรถ :
๑ พระฉวีวรรณของพระตถาคตบริสุทธิ์ผุดผ่องยิ่งนัก หมายถึงพระฉวีวรรณผุดผ่องใน ๒ คราวนั้นเกิดจาก
เหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) อาหารพิเศษ (๒) โสมนัสอย่างแรงกล้า (ที.ม.อ. ๑๙๕/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ปุกกุสะ มัลลบุตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น อานนท์ ข้อนี้เป็น
อย่างนั้น กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์ ผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่งอยู่ใน ๒ คราว
กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์ ผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่งอยู่ใน ๒ คราว อะไรบ้าง คือ
๑. ในราตรีที่ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๒. ในราตรีที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
อานนท์ กายของตถาคตย่อมบริสุทธิ์ ผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่งอยู่ใน ๒ คราวนี้แล
ในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ ตถาคตจะปรินิพพานในระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ในสาลวัน
ของมัลละ อันเป็นทางเข้า (ด้านทิศใต้) กรุงกุสินารา มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยัง
แม่น้ำกกุธากัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ปุกกุสะน้อมถวายผ้าสีทองเนื้อละเอียดคู่หนึ่ง
พอพระศาสดาทรงครองผ้าคู่นั้น
มีพระฉวีวรรณดั่งทอง งดงามนัก
[๑๙๖] ต่อมา พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จเข้าไปยัง
แม่น้ำกกุธา เสด็จลงสรงในแม่น้ำกกุธา ทรงดื่มแล้วเสด็จขึ้นไปยังอัมพวัน รับสั่งเรียก
ท่านพระจุนทกะมาตรัสว่า “จุนทกะ เธอช่วยปูสังฆาฏิซ้อนกัน ๔ ชั้น เราเหน็ดเหนื่อย
จะนอนพัก”
ท่านพระจุนทกะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ปูสังฆาฏิซ้อนกัน ๔ ชั้น พระผู้มี
พระภาคทรงสำเร็จสีหไสยา๑ โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อม
พระบาท ทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงกำหนดพระทัยพร้อมจะเสด็จลุกขึ้น ส่วนท่าน
พระจุนทกะนั่งเฝ้าอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคในที่นั้น

เชิงอรรถ :
๑ สีหไสยา หมายถึงนอนอย่างราชสีห์ นอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กำหนดใจถึง
การลุกขึ้น (ที.ม.ฏีกา ๑๙๘/๒๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ปุกกุสะ มัลลบุตร

พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดา
ผู้ทรงเข้าถึงสภาวะตามความเป็นจริง
หาผู้ใดในโลกเสมอเหมือนมิได้
เสด็จถึงแม่น้ำกกุธา ที่มีน้ำใส จืดสนิท สะอาด
ลงสรงแล้วจึงทรงคลายเหน็ดเหนื่อย
พระบรมศาสดาผู้ทรงพร่ำสอนแจกแจงธรรม
ในพระศาสนานี้ เป็นผู้แสวงหาคุณใหญ่
ครั้นสรงสนานและทรงดื่มน้ำแล้ว
ก็เสด็จนำหน้าหมู่ภิกษุไปยังอัมพวัน
รับสั่งภิกษุชื่อจุนทกะมาตรัสว่า
'เธอช่วยปูสังฆาฏิซ้อนกัน ๔ ชั้นให้เป็นที่นอนพักแก่เรา'
ท่านพระจุนทกะรูปนั้น ผู้ได้รับการฝึกมาดีแล้ว
พอได้รับคำสั่งก็รีบปูสังฆาฏิซ้อนกัน ๔ ชั้น
พระศาสดาบรรทมแล้ว ทรงหายเหน็ดเหนื่อย
ฝ่ายท่านพระจุนทกะ ก็นั่งเฝ้าเฉพาะพระพักตร์อยู่ในที่นั้น
[๑๙๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า
"อานนท์ อาจมีใครทำให้นายจุนทกัมมารบุตรร้อนใจว่า 'จุนทะ การที่พระตถาคตเสวย
บิณฑบาตของท่านเป็นมื้อสุดท้ายแล้วปรินิพพาน ท่านจะไม่ได้อานิสงส์ ความดีงาม
ก็จะได้โดยยาก'
อานนท์ เธอพึงช่วยบรรเทาความร้อนใจของนายจุนทกัมมารบุตรอย่างนี้ว่า
'ผู้มีอายุจุนทะ การที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นมื้อสุดท้ายแล้วปรินิพพาน
ท่านจะได้รับอานิสงส์ ความดีงามก็จะได้โดยง่าย เรื่องนี้เราได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์
พระผู้มีพระภาค และจำได้ว่า 'บิณฑบาต ๒ คราว มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน
มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า ยิ่งกว่าบิณฑบาตอื่น ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เสด็จไปยังควงไม้สาละคู่

บิณฑบาต ๒ คราว อะไรบ้าง คือ
๑. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๒. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสส-
นิพพานธาตุ
บิณฑบาต ๒ คราวนี้มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่า มีอานิสงส์
มากกว่า ยิ่งกว่าบิณฑบาตอื่น ๆ’
กรรมที่จุนทกัมมารบุตรสั่งสมไว้เป็นไปเพื่ออายุ เป็นไปเพื่อวรรณะ เป็นไปเพื่อสุขะ
เป็นไปเพื่อยศ เป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ เป็นไปเพื่อความเป็นใหญ่’
อานนท์ เธอพึงช่วยบรรเทาความร้อนใจของจุนทกัมมารบุตรอย่างนี้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า
“ผู้ให้ย่อมเพิ่มพูนบุญ
ผู้สำรวมย่อมไม่ก่อเวร
ส่วนผู้ฉลาดย่อมละกรรมชั่วได้
ผู้นั้นดับได้แล้วเพราะสิ้นราคะ โทสะ และโมหะ”๑

ภาณวารที่ ๔ จบ

เสด็จไปยังควงไม้สาละทั้งคู่

[๑๙๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า
“มาเถิด อานนท์ เราจะข้ามไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญญวดี ตรงสาลวันของพวก
เจ้ามัลละอันเป็นทางเข้ากรุงกุสินารากัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จไปยังฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญญวดี
ตรงสาลวันของพวกเจ้ามัลละ อันเป็นทางเข้ากรุงกุสินารา แล้วรับสั่งเรียกท่าน
พระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอช่วยตั้งเตียง๒ ระหว่างต้นสาละทั้งคู่หันด้าน
ศีรษะไปทางทิศเหนือ เราเหน็ดเหนื่อยจะนอนพัก” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนอง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.อุ. ๒๕/๗๕/๒๑๗-๒๑๙
๒ เตียง ในที่นี้หมายถึงเตียงสำหรับพักผ่อนของพวกเจ้ามัลละ ที่มีอยู่ในสาลวันนั่นเอง (ที.ม.อ. ๑๙๘/๑๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เสด็จไปยังควงไม้สาละคู่

พระดำรัสแล้วตั้งเตียงระหว่างต้นสาละทั้งคู่หันด้านพระเศียรไปทางทิศเหนือ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อน
พระบาทเหลื่อมพระบาท ทรงมีสติสัมปชัญญะ
เวลานั้น ต้นสาละทั้งคู่ผลิดอกนอกฤดูกาลบานสะพรั่งเต็มต้น ดอกสาละ
เหล่านั้นร่วงหล่นโปรยปรายตกต้องพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชาพระตถาคต
ดอกมณฑารพอันเป็นทิพย์ก็ร่วงหล่นจากอากาศโปรยปรายตกต้องพระสรีระของ
พระตถาคตเพื่อบูชาพระตถาคต จุรณแห่งจันทน์อันเป็นทิพย์ก็ร่วงหล่นจากอากาศ
โปรยปรายตกต้องพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชาพระตถาคต ดนตรีทิพย์ก็บรรเลง
ในอากาศเพื่อบูชาพระตถาคต ทั้งสังคีตทิพย์ก็บรรเลงในอากาศเพื่อบูชาพระตถาคต
[๑๙๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
ต้นสาละทั้งคู่ผลิดอกนอกฤดูกาลบานสะพรั่งเต็มต้น ดอกสาละเหล่านั้นร่วงหล่น
โปรยปรายตกต้องสรีระของตถาคตเพื่อบูชาตถาคต ดอกมณฑารพอันเป็นทิพย์ก็
ร่วงหล่นจากอากาศโปรยปรายตกต้องสรีระของตถาคตเพื่อบูชาตถาคต จุรณแห่ง
จันทน์อันเป็นทิพย์ก็ร่วงหล่นจากอากาศโปรยปรายตกต้องสรีระของตถาคตเพื่อบูชา
ตถาคต ดนตรีทิพย์ก็บรรเลงในอากาศเพื่อบูชาตถาคต ทั้งสังคีตทิพย์ก็บรรเลง
ในอากาศเพื่อบูชาตถาคต ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อม ด้วยเครื่องสักการะเพียงเท่านี้ก็หาไม่ ผู้ใดไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก หรืออุบาสิกา เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตาม
ธรรม๑อยู่ ผู้นั้นชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ด้วยการบูชาอย่าง
ยอดเยี่ยม ฉะนั้น อานนท์ เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจะเป็นผู้ปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่’ อานนท์ เธอทั้งหลายพึง
สำเหนียกอย่างนี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายถึงการปฏิบัติหลักเบื้องต้นมีศีลเป็นต้น ให้สอดคล้องกับโลกุตตรธรรม
ปฏิบัติชอบ หมายถึงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้นเอง ปฏิบัติตามธรรม หมายถึงการประพฤติหลัก
เบื้องต้นให้สมบูรณ์ (ที.ม.อ. ๑๙๙/๑๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องพระอุปวาณเถระ

เรื่องพระอุปวาณเถระ

[๒๐๐] เวลานั้น ท่านพระอุปวาณะยืนถวายงานพัดพระผู้มีพระภาคอยู่ตรง
พระพักตร์ ขณะนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งท่านพระอุปวาณะให้ถอยไปด้วยพระดำรัสว่า
“ภิกษุ เธอจงหลบไป อย่ายืนตรงหน้าเรา”
ท่านพระอานนท์มีความดำริดังนี้ว่า “ท่านพระอุปวาณะนี้เคยเป็นอุปัฏฐากเฝ้า
ใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคมานาน ถึงกระนั้น ในปัจฉิมกาลพระผู้มีพระภาคตรัสสั่งให้
ท่านพระอุปวาณะถอยไปด้วยพระดำรัสว่า ‘ภิกษุ เธอจงหลบไป อย่ายืนตรงหน้าเรา’
อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ให้พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ท่านพระอุปวาณะ
ถอยไปด้วยพระดำรัสว่า ‘ภิกษุ เธอจงหลบไป อย่ายืนตรงหน้าเรา”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ท่านพระอุปวาณะนี้เคยเป็นอุปัฏฐากเฝ้าใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคมานาน
ถึงกระนั้น ในปัจฉิมกาลพระผู้มีพระภาครับสั่งให้ท่านพระอุปวาณะถอยไปด้วย
พระดำรัสว่า ‘ภิกษุ เธอจงหลบไป อย่ายืนตรงหน้าเรา’ อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไร
เป็นปัจจัย ให้พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ท่านอุปวาณะถอยไปด้วยพระดำรัสว่า ‘ภิกษุ
เธอจงหลบไป อย่ายืนตรงหน้าเรา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เทพโดยมากใน ๑๐ โลกธาตุ
มาประชุมกันเพื่อจะเยี่ยมตถาคต สวนสาลวันของพวกเจ้ามัลละอันเป็นทางเข้า
กรุงกุสินารานี้ มีเนื้อที่ ๑๒ โยชน์โดยรอบที่ที่พวกเทพผู้มีศักดิ์ใหญ่ ไม่ได้เบียดเสียด
กันอยู่แม้เท่าปลายขนเนื้อทรายจดลงได้ก็ไม่มี พวกเทพจะโทษว่า พวกเรามาไกล
ก็เพื่อจะเห็นพระตถาคต มีเพียงครั้งคราวที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะ
เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ พระตถาคตจะปรินิพพาน ภิกษุ
ผู้มีศักดิ์ใหญ่รูปนี้ยืนบังอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์พระผู้มีพระภาค (ทำให้) พวกเราไม่ได้
เฝ้าพระตถาคตในปัจฉิมกาล”
[๒๐๑] ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “พวกเทวดาเป็นอย่างไร คิดกันอย่างไร
พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ มีเทวดาบางพวกเป็นผู้กำหนดแผ่นดิน
ขึ้นบนอากาศ๑ สยายผมประคองแขนร้องไห้คร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา เหมือนคน
เท้าขาด เพ้อรำพันว่า ‘พระผู้มีพระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคตด่วนปรินิพพานเสีย
จักษุของโลกจักด่วนอันตรธานไปแล้ว’
มีเทวดาบางพวกเป็นผู้กำหนดแผ่นดินขึ้นบนแผ่นดิน๒ สยายผมประคองแขน
ร้องไห้คร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา เหมือนคนเท้าขาด เพ้อรำพันว่า ‘พระผู้มี
พระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคตด่วนปรินิพพานเสีย จักษุของโลกจักด่วนอันตรธาน
ไปแล้ว’
ส่วนพวกเทวดาที่ไม่มีราคะ มีสติสัมปชัญญะก็อดกลั้นได้ว่า สังขารทั้งหลาย
ไม่เที่ยง เหล่าสัตว์จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้”

สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล

[๒๐๒] ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อน
ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาในทิศทั้งหลายมาเฝ้าพระตถาคต ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ย่อมได้พบ ได้ใกล้ชิดภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจ ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จ
ล่วงลับไป ข้าพระองค์ทั้งหลายจะไม่ได้พบ ไม่ได้ใกล้ชิดภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่
เจริญใจ (อีก)”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้เป็นสถานที่ (เป็น
ศูนย์รวม) ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดู
สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง อะไรบ้าง คือ
๑. สังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดู ด้วยระลึกว่า ‘ตถาคต
ประสูติในที่นี้’

เชิงอรรถ :
๑ กำหนดแผ่นดินขึ้นบนอากาศ หมายถึงเนรมิตแผ่นดินขึ้นบนอากาศ (ที.ม.อ. ๒๐๑/๑๘๗)
๒ กำหนดแผ่นดินขึ้นบนแผ่นดิน หมายถึงเนรมิตแผ่นดินขึ้นบนแผ่นดินปกติ เพราะแผ่นดินปกติหยาบไม่
สามารถจะรองรับเทวดาซึ่งมีร่างกายละเอียดได้ (ที.ม.อ. ๒๐๑/๑๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องคำถามพระอานนท์

๒. สังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดู ด้วยระลึกว่า ‘ตถาคต
ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้’
๓. สังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดู ด้วยระลึกว่า ‘ตถาคต
ทรงประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยมในที่นี้’
๔. สังเวชนียสถานที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดู ด้วยระลึกว่า ‘ตถาคต
ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้’
อานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้เป็นสถานที่ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาควรไปดู๑
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีศรัทธาจะมาดู ด้วยระลึกว่า ‘ตถาคต
ประสูติ ในที่นี้’ ... ว่า ‘ตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมสัมโพธิญาณในที่นี้’ ... ว่า ‘ตถาคต
ประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยมในที่นี้’ ... ว่า ‘ตถาคตได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน
ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้’
อานนท์ ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งจาริกไปยังเจดีย์จักมีจิตเลื่อมใสตายไป ชนเหล่านั้น
ทั้งหมดหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

เรื่องคำถามพระอานนท์

[๒๐๓] ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “พวกข้าพระองค์จะปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อย่าดู”
“เมื่อจำต้องดู จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
“อย่าพูดด้วย”
“เมื่อจำต้องพูด จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
“ต้องตั้งสติ๒ ไว้”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๑๘/๑๘๐
๒ ตั้งสติ ในที่นี้หมายถึงการควบคุมจิตให้คิดต่อสตรีในทางที่ดีงาม เช่น รู้สึกว่าเป็นแม่ในสตรีที่อยู่ในวัยแม่
รู้สึกว่าเป็นพี่สาวน้องสาวในสตรีที่อยู่ในวัยพี่สาวน้องสาว รู้สึกว่าเป็นลูกสาวในสตรีที่อยู่ในวัยสาว (ที.ม.อ.
๒๐๓/๑๘๙-๑๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องคำถามพระอานนท์

[๒๐๔] ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “พวกข้าพระองค์จะปฏิบัติต่อพระสรีระ
ของพระตถาคตอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พวกเธออย่ากังวลเพื่อบูชาสรีระของตถาคต
จงพยายาม ขวนขวายทำหน้าที่ของตนเองเถิด อย่าประมาทในหน้าที่ของตน
มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่เถิด กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิต พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต
คหบดีผู้เป็นบัณฑิต ผู้เลื่อมใสในตถาคต จะทำการบูชาสรีระของตถาคตเอง”
[๒๐๕] ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “พวกเขาพึงปฏิบัติต่อพระสรีระของพระ
ตถาคตอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พึงปฏิบัติต่อสรีระของตถาคตเหมือนอย่างที่
พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพของพระเจ้าจักรพรรดินั่นแหละ”
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพของพระเจ้า
จักรพรรดิอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พวกเขาใช้ผ้าใหม่ห่อพระบรมศพของพระเจ้า
จักรพรรดิเสร็จแล้วจึงห่อด้วยสำลีบริสุทธิ์ แล้วจึงห่อด้วยผ้าใหม่อีกชั้นหนึ่ง ทำโดย
วิธีนี้จนห่อพระบรมศพของพระเจ้าจักพรรดิด้วยผ้าและสำลีได้ ๑,๐๐๐ ชั้น แล้วอัญเชิญ
พระบรมศพลงในรางเหล็กเต็มด้วยน้ำมัน ใช้รางเหล็กอีกอันหนึ่งครอบแล้ว ทำ
จิตกาธานด้วยไม้หอมล้วน แล้วถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าจักรพรรดิ สร้าง
สถูปของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ที่ทางใหญ่สี่แพร่ง อานนท์ พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพ
ของพระเจ้าจักรพรรดิ อย่างนี้แล
พวกเขาพึงปฏิบัติต่อสรีระของตถาคตเหมือนอย่างที่พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพ
พระเจ้าจักรพรรดิ พึงสร้างสถูปของตถาคตไว้ที่ทางใหญ่สี่แพร่ง ชนเหล่าใดจักยก
ระเบียบดอกไม้ ของหอม หรือจุรณ จักอภิวาท หรือจักทำจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้น
การกระทำนั้นจักเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่ชนเหล่านั้นตลอดกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ถูปารหบุคคล

ถูปารหบุคคล๑

[๒๐๖] อานนท์ ถูปารหบุคคล (ผู้ควรสร้างสถูปถวาย) ๔ จำพวกนี้
ถูปารหบุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นถูปารหบุคคล
๒. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นถูปารหบุคคล
๓. พระสาวกของพระตถาคตเป็นถูปารหบุคคล
๔. พระเจ้าจักรพรรดิเป็นถูปารหบุคคล
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นถูปารหบุคคล เพราะอาศัยอำนาจ
ประโยชน์ อะไร
คือ ชนเป็นอันมากทำจิตให้เลื่อมใสด้วยคิดว่า ‘นี้เป็นสถูปของพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น’ พวกเขาทำจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้น หลังจาก
ตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น
ถูปารหบุคคล เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นถูปารหบุคคล เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ อะไร
คือ ชนเป็นอันมากทำจิตให้เลื่อมใสด้วยคิดว่า ‘นี้เป็นสถูปของพระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขาทำจิตให้เลื่อมใสในสถูปนั้น หลังจากตายแล้วจะไป
เกิดในสุคติโลกสวรรค์ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นถูปารหบุคคล เพราะอาศัยอำนาจ
ประโยชน์ข้อนี้แล
พระสาวกของพระตถาคตเป็นถูปารหบุคคล เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์
อะไร
คือ ชนเป็นอันมากทำจิตให้เลื่อมใสด้วยคิดว่านี้เป็นสถูปของพระสาวกของ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น พวกเขาทำจิตให้เลื่อมใสใน
สถูปนั้น หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ พระสาวกของพระตถาคตนั้น
เป็นถูปารหบุคคล เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ข้อนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ อง.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๔๗/๓๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
เรื่องความเป็นอัจฉริยะของพระอานนท์

พระเจ้าจักรพรรดิเป็นถูปารหบุคคล เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์ อะไร
คือ ชนเป็นอันมากทำจิตให้เลื่อมใสด้วยคิดว่า นี้เป็นพระสถูปของพระธรรม-
ราชาผู้ทรงธรรมพระองค์นั้น พวกเขาทำจิตให้เลื่อมใสในพระสถูปนั้น หลังจากตาย
แล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ พระเจ้าจักรพรรดิเป็นถูปารหบุคคล เพราะอาศัย
อำนาจประโยชน์ข้อนี้แล
อานนท์ ถูปารหบุคคล ๔ จำพวกนี้แล”

เรื่องความเป็นอัจฉริยะของพระอานนท์

[๒๐๗] เวลานั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปสู่พระวิหาร๑ ยืนเหนี่ยวไม้สลักเพชร
ร้องไห้อยู่ว่า “เรายังเป็นเสขบุคคล มีกิจที่จะต้องทำ แต่พระศาสดาผู้ทรงอนุเคราะห์
เราจะปรินิพพานเสียแล้ว”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า “อานนท์ไปไหน”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระอานนท์เข้าไปยังพระ
วิหาร ยืนเหนี่ยวไม้สลักเพชรร้องไห้อยู่ว่า ‘เรายังเป็นเสขบุคคล มีกิจที่จะต้องทำ
แต่พระศาสดาผู้ทรงอนุเคราะห์เราจะปรินิพพานเสียแล้ว”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “ภิกษุ เธอจงไป
บอกอานนท์ตามคำเราว่า ‘ท่านอานนท์ พระศาสดารับสั่งหาท่าน”
ภิกษุรูปนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่
บอกว่า “ท่านอานนท์ พระศาสดารับสั่งหาท่าน”
ท่านพระอานนท์รับคำแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
๑ วิหาร ในที่นี้หมายถึงพลับพลา (มณฺฑลมาล) (ที.ม.อ. ๒๐๗/๑๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
เรื่องความเป็นอัจฉริยะของพระอานนท์

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระอานนท์ดังนี้ว่า “อย่าเลย อานนท์ เธออย่า
เศร้าโศก อย่าคร่ำครวญเลย เราบอกไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ‘ความพลัดพราก
ความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี
ฉะนั้น จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น มีขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่ง
ล้วนแตกสลายเป็นธรรมดา เป็นไปไม่ได้ที่จะปรารถนาว่า ‘ขอสิ่งนั้นอย่าเสื่อมสลาย
ไปเลย’ เธออุปัฏฐากตถาคตมาช้านาน ด้วยเมตตากายกรรม อันเกื้อกูล ให้เกิดสุข
เสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีประมาณ ด้วยเมตตาวจีกรรม อันเกื้อกูล ให้เกิดสุข
เสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีประมาณ ด้วยเมตตามโนกรรม อันเกื้อกูล ให้เกิดสุข
เสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีประมาณ อานนท์ เธอได้ทำบุญไว้แล้ว จงประกอบ
ความเพียรเข้าเถิด เธอจะเป็นผู้สิ้นอาสวะโดยเร็ว”
[๒๐๘] จากนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุผู้อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายใน
อดีตกาล ที่จัดว่าเป็นผู้อุปัฏฐากผู้ยอดเยี่ยมก็เหมือนอานนท์ของเรานี้เอง
ภิกษุผู้อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายใน
อนาคตกาล ที่จัดว่าเป็นอุปัฏฐากผู้ยอดเยี่ยมก็เหมือนอานนท์ของเรานี้เอง
อานนท์เป็นบัณฑิต อานนท์มีปัญญาหลักแหลม ย่อมรู้ว่า ‘นี้เป็นเวลา
ของภิกษุที่จะเข้าเฝ้าพระตถาคต นี้เป็นเวลาของภิกษุณี นี้เป็นเวลาของอุบาสก
นี้เป็นเวลาของอุบาสิกา นี้เป็นเวลาของพระราชา นี้เป็นเวลาของราชมหาอำมาตย์
นี้เป็นเวลาของเดียรถีย์ นี้เป็นเวลาของสาวกเดียรถีย์’
[๒๐๙] ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะ ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้ มีอยู่
ในอานนท์
ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าภิกษุบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้าอานนท์
แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจยินดี
ภิกษุบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
เรื่องความเป็นอัจฉริยะของพระอานนท์

๒. ถ้าภิกษุณีบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในภิกษุณีบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจ
ยินดี ภิกษุณีบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๓. ถ้าอุบาสกบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้าอานนท์
แสดงธรรมในอุบาสกบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจยินดี
อุบาสกบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๔. ถ้าอุบาสิกาบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี
ถ้าอานนท์แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรม
ก็มีใจยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แล มีอยู่ใน
อานนท์๑
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้มีอยู่ในพระเจ้า
จักรพรรดิ
ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าขัตติยบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็มีใจ
ยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในขัตติยบริษัทนั้น
แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี ขัตติยบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม
เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง
๒. ถ้าพราหมณบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็
มีใจยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในพราหมณ-
บริษัทนั้น แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี พราหมณบริษัท
ยังไม่เต็มอิ่ม เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง
๓. ถ้าคหบดีบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็มี
ใจยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในคหบดีบริษัทนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๒๙/๑๙๗-๑๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
เรื่องความเป็นอัจฉริยะของพระอานนท์

แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี คหบดีบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม
เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง
๔. ถ้าสมณบริษัทเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ แม้เพียงได้เข้าเฝ้าก็มีใจ
ยินดี ถ้าพระเจ้าจักรพรรดิมีพระราชปฏิสันถารในสมณบริษัทนั้น
แม้เพียงมีพระราชปฏิสันถารก็มีใจยินดี สมณบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม
เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงนิ่ง ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แล มีอยู่ในพระเจ้า
จักรพรรดิ
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีอยู่ในอานนท์
ความเป็นอัจฉริยะไม่เคยปรากฏ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าภิกษุบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในภิกษุบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจ
ยินดี ภิกษุบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๒. ถ้าภิกษุณีบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในภิกษุณีบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มีใจ
ยินดี ภิกษุณีบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๓. ถ้าอุบาสกบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในอุบาสกบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มี
ใจยินดี อุบาสกบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
๔. ถ้าอุบาสิกาบริษัทเข้าพบอานนท์ แม้เพียงได้พบก็มีใจยินดี ถ้า
อานนท์แสดงธรรมในอุบาสิกาบริษัทนั้น แม้เพียงแสดงธรรมก็มี
ใจยินดี อุบาสิกาบริษัทยังไม่เต็มอิ่ม เมื่ออานนท์หยุดแสดง
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นอัจฉริยะ ไม่เคยปรากฏ ๔ ประการนี้แล มีอยู่ใน
อานนท์”๑

เชิงอรรถ :
๑ดู องฺ.จตุกฺก (แปล) ๒๑/๑๓๐/๑๙๘-๑๙๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] ทรงแสดงมหาสุทัสสนสูตร

ทรงแสดงมหาสุทัสสนสูตร๑

[๒๑๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคอย่าได้ปรินิพพานใน
เมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่งเช่นนี้ เมืองใหญ่เหล่าอื่นยังมีอยู่ เช่น กรุงจัมปา
กรุงราชคฤห์ กรุงสาวัตถี เมืองสาเกต กรุงโกสัมพี กรุงพาราณสี ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด ขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล
คหบดีมหาศาล๒ผู้เลื่อมใสอย่างยิ่งในพระตถาคต มีอยู่มากในเมืองเหล่านั้น ท่าน
เหล่านั้นจะทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น อย่าพูดอย่างนั้นว่า
‘กุสินาราเป็นเมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่ง’
อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่ามหาสุทัสสนะ
ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็น
ขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
กรุงกุสินารานี้มีนามว่ากรุงกุสาวดี ได้เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ด้านทิศ
ตะวันออกและทิศตะวันตกยาว ๑๒ โยชน์ ด้านทิศเหนือและทิศใต้กว้าง ๗ โยชน์
กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น เศรษฐกิจดี
เหมือนกับกรุงอาฬกมันทา ซึ่งเป็นราชธานีของทวยเทพที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากรมาก
มียักษ์หนาแน่น เศรษฐกิจดี อานนท์ กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่อึกทึกครึกโครม
เพราะเสียง ๑๐ ชนิด ทั้งวันทั้งคืน ได้แก่ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง
เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคมดนตรี และเสียงว่า
‘ท่านทั้งหลายโปรดบริโภค ดื่ม เคี้ยวกิน’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๒๔๑-๒๔๒ หน้า ๑๘๑ ในเล่มนี้
๒ มหาศาล หมายถึงผู้มีทรัพย์มาก ขัตติยมหาศาลมีพระราชทรัพย์ ๑๐๐-๑,๐๐๐ โกฏิ พราหมณมหาศาล
มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ คหบดีมหาศาลมีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ (ที.ม.อ. ๒๑๐/๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
การถวายอภิวาทของเจ้ามัลละ

ไปเถิด อานนท์ เธอจงเข้าไปกรุงกุสินาราแจ้งแก่เจ้ามัลละทั้งหลายผู้ครอง
กรุงกุสินาราว่า ‘วาเสฏฐะทั้งหลาย พระตถาคตจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรี
วันนี้ ท่านทั้งหลายจงรีบออกไป จงรีบออกไป จะได้ไม่เสียใจในภายหลังว่า
‘พระตถาคตปรินิพพานในเขตบ้านเมืองของพวกเรา พวกเรา (กลับ) ไม่ได้เฝ้าพระตถาคต
เป็นครั้งสุดท้าย” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ครองอันตรวาสกถือ
บาตรและจีวรเข้าไปยังกรุงกุสินาราเพียงผู้เดียว

การถวายอภิวาทของเจ้ามัลละ

[๒๑๑] ขณะนั้น พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารา กำลังประชุมกันอยู่ที่
สัณฐาคารด้วยราชกิจบางอย่าง ท่านพระอานนท์เข้าไปที่สัณฐาคารของพวกเจ้ามัลละ
ถวายพระพรว่า “วาเสฏฐะทั้งหลาย พระตถาคตจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่ง
ราตรีวันนี้ ท่านทั้งหลายจงรีบออกไป จงรีบออกไป จะได้ไม่เสียพระทัยในภายหลังว่า
‘พระตถาคตปรินิพพานในเขตบ้านเมืองของพวกเรา พวกเรา(กลับ)ไม่ได้เฝ้าพระ
ตถาคตเป็นครั้งสุดท้าย’
พวกเจ้ามัลละ โอรส๑ สุณิสา และปชาบดีของพวกเจ้ามัลละพอสดับคำของ
ท่านพระอานนท์ ทรงเศร้าเสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยโทมนัส บางพวกสยายพระเกศา
ทรงประคองพระพาหา กันแสงคร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา เหมือนคนเท้าขาด
ทรงเพ้อรำพันว่า “พระผู้มีพระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคตด่วนปรินิพพานเสีย
จักษุของโลกจักด่วนอันตรธานไป’
จากนั้น พวกเจ้ามัลละ โอรส สุณิสา และปชาบดีของพวกเจ้ามัลละ ทรงเศร้า
เสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยโทมนัสต่างพากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์ที่สาลวันซึ่งเป็น
ทางเข้ากรุงกุสินาราของพวกเจ้ามัลละ
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดดังนี้ว่า “ถ้าเราจะให้เจ้ามัลละทั้งหลายผู้ครองกรุง
กุสินาราถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทีละองค์ ๆ จะถวายอภิวาทไม่ทั่วกัน ราตรี
จะสว่างก่อน ทางที่ดี เราควรให้ได้ถวายอภิวาทตามลำดับตระกูล โดยกราบทูลว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละมีชื่อนี้พร้อมโอรส ชายา บริษัท และอำมาตย์

เชิงอรรถ :
๑โอรส หมายถึงบุตรที่มารดาเลี้ยงดูให้เจริญอยู่บนอก (เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด) (ที.ม.อ. ๑๕๓/๑๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องสุภัททปริพาชก

ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร” แล้วจึงจัดให้เจ้า
มัลละทั้งหลายผู้ครองกรุงกุสินาราถวายอภิวาทตามลำดับตระกูล โดยกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละมีชื่อนี้พร้อมโอรส ชายา บริษัท และอำมาตย์
ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร” ด้วยวิธีนี้ ท่าน
พระอานนท์สามารถจัดให้เจ้ามัลละทั้งหลายถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคได้เสร็จชั่ว
เวลาปฐมยามเท่านั้น

เรื่องสุภัททปริพาชก

[๒๑๒] สมัยนั้น สุภัททปริพาชกอาศัยอยู่ในกรุงกุสินารา ได้ทราบว่า
“พระสมณโคดมจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้” เขาคิดดังนี้ว่า “เราได้ฟัง
คำของพวกปริพาชกผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า
‘พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นในโลกเป็นครั้งคราว’ พระสมณ-
โคดมจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ ก็เรายังมีความสงสัยอยู่ เราเลื่อมใส
ท่านพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมจะแสดงธรรมให้เราละความสงสัย
นี้ได้’ จึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ที่สาลวันซึ่งเป็นทางเข้ากรุงกุสินาราของพวกเจ้า
มัลละได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ ข้าพเจ้าได้ฟังคำของพวก
ปริพาชกผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า ‘พระตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นในโลกเป็นครั้งคราว’ พระสมณโคดมจะ
ปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ ข้าพเจ้ายังมีความสงสัยอยู่ ข้าพเจ้าเลื่อมใส
พระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมจะแสดงธรรมให้ข้าพเจ้าละความสงสัยนี้ได้’
ขอโอกาสให้ข้าพเจ้าได้เฝ้าพระสมณโคดมเถิด”
เมื่อสุภัททปริพาชกกล่าวอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ตอบว่า “อย่าเลย สุภัททะ
ผู้มีอายุ ท่านอย่ารบกวนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาคทรงเหน็ดเหนื่อย”
แม้ครั้งที่ ๒ สุภัททปริพาชกก็กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องสุภัททปริพาชก

แม้ครั้งที่ ๓ สุภัททปริพาชกก็กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์
ข้าพเจ้าได้ฟังคำของพวกปริพาชกผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์
พูดกันว่า ‘พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นในโลกเป็นครั้งคราว’
พระสมณโคดมจะปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ ข้าพเจ้ายังมีความสงสัยอยู่
ข้าพเจ้าเลื่อมใสพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมจะแสดงธรรมให้ข้าพเจ้า
ละความสงสัยนี้ได้’ ขอโอกาสให้ข้าพเจ้าได้เฝ้าพระสมณโคดมเถิด”
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอานนท์ก็กล่าวกับสุภัททปริพาชกดังนี้ว่า “อย่าเลย
สุภัททะผู้มีอายุ ท่านอย่ารบกวนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาคทรงเหน็ดเหนื่อย”
[๒๑๓] พระผู้มีพระภาคทรงได้ยินถ้อยคำของท่านพระอานนท์เจรจากับ
สุภัททปริพาชก จึงรับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อย่าห้ามสุภัททะเลย
อานนท์ ให้สุภัททะเข้ามาหาตถาคต เขาจะถามปัญหาบางอย่างกับเรา เขาจะถาม
เพื่อหวังความรู้เท่านั้น ไม่หวังรบกวนเรา อนึ่ง เมื่อเราตอบสิ่งที่ถาม เขาจะรู้ได้ทันที”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกับสุภัททปริพาชกดังนี้ว่า “ไปเถิดสุภัททะ
ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคประทานโอกาสแก่ท่าน”
สุภัททปริพาชกจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัย
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ
เป็นอาจารย์ มีชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ประชาชนยกย่องกันว่าเป็นคนดี
ได้แก่ ปูรณะ กัสสปะ มักขลิ โคศาล อชิตะ เกสกัมพล ปกุธะ กัจจายนะ สัญชัย
เวลัฏฐบุตร นิครนถ์ นาฏบุตร เจ้าลัทธิเหล่านั้นทั้งหมดรู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือ
ไม่ได้รู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือบางพวกรู้ บางพวกไม่รู้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สุภัททะ อย่าเลย เรื่องที่เธอถามว่า ‘เจ้าลัทธิ
เหล่านั้นทั้งหมดรู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือไม่รู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือบางพวกรู้
บางพวกไม่รู้’ อย่าได้สนใจเลย เราจะแสดงธรรมแก่เธอ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจะกล่าว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องสุภัททปริพาชก

สุภัททปริพาชกทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
[๒๑๔] “สุภัททะ ในธรรมวินัยที่ไม่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมไม่มีสมณะที่ ๑
ย่อมไม่มีสมณะที่ ๒ ย่อมไม่มีสมณะที่ ๓ ย่อมไม่มีสมณะที่ ๔๑ ในธรรมวินัยที่มี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมมีสมณะที่ ๑ ย่อมมีสมณะที่ ๒ ย่อมมีสมณะที่ ๓ ย่อมมี
สมณะที่ ๔ สุภัททะ ในธรรมวินัยนี้มีอริยมรรคมีองค์ ๘ สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรม
วินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้
เท่านั้น สมณะที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้งหลายผู้รู้
ทั่วถึง สุภัททะ ถ้าภิกษุเหล่านี้เป็นอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์
ทั้งหลาย
สุภัททะ เราบวชขณะอายุ ๒๙ ปี
แสวงหาว่าอะไร คือกุศล
เราบวชมาได้ ๕๐ ปีกว่า
ยังไม่มีแม้สมณะที่ ๑ ภายนอกธรรมวินัยนี้
ผู้อาจแสดงธรรมเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้
ไม่มีสมณะที่ ๒ ไม่มีสมณะที่ ๓ ไม่มีสมณะที่ ๔ ลัทธิอื่นว่างจากสมณะทั้งหลาย
ผู้รู้ทั่วถึง สุภัททะ ถ้าภิกษุเหล่านี้เป็นอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์
ทั้งหลาย”
[๒๑๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ สุภัททปริพาชกได้กราบทูลว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์

เชิงอรรถ :
๑ สมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ และสมณะที่ ๔ ในที่นี้ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี
และพระอรหันต์ ตามลำดับ (ที.ม.อ. ๒๑๔/๑๙๖) และดูเทียบ อภิ.ก. ๓๗/๘๗๕/๔๙๗-๔๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องสุภัททปริพาชก

ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรง
ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิด
ของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจัก
เห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็น
สรณะ และข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี
พระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สุภัททะ ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ ประสงค์จะบรรพชา
ประสงค์จะอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ ต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือนล่วงไป
เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชา จะให้อุปสมบทเป็นภิกษุได้ อนึ่ง ในเรื่องนี้เราคำนึงถึง
ความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย”
สุภัททปริพาชกกราบทูลว่า “หากผู้ที่เคยเป็นอัญเดียรถีย์ประสงค์จะบรรพชา
ประสงค์จะอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้จะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือน
ล่วงไป เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชา จะให้อุปสมบทเป็นภิกษุได้ ข้าพระองค์จัก
ขออยู่ปริวาส ๔ ปี หลังจาก ๔ ปีล่วงไป เมื่อภิกษุพอใจ ก็จงให้บรรพชา จงให้
อุปสมบทเป็นภิกษุเถิด”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้สุภัททะบวช”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ในขณะนั้น สุภัททปริพาชกจึง
กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านพระอานนท์ เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว
ที่พระศาสดาทรงแต่งตั้งท่านโดยมอบหมายให้บรรพชาอันเตวาสิก๑ ในที่เฉพาะพระ
พักตร์”

เชิงอรรถ :
๑ ความนี้แปลมาจากคำว่า อนฺเตวาสิกาภิเสเกน อภิสิตฺตา หมายถึงการที่อาจารย์แต่งตั้งศิษย์ในสำนักให้
บวชลูกศิษย์แทนตน ซึ่งเป็นจารีตของลัทธิภายนอกพระพุทธศาสนา ถือเป็นเกียรติยศที่ใคร ๆ ก็อยากได้
สุภัททะ ถือตามจารีตนี้กล่าวยกย่องท่านพระอานนท์ (ที.ม.อ. ๒๑๕/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

สุภัททปริพาชก ได้การบรรพชาได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค
แล้วแล เมื่อท่านสุภัททะได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกไปอยู่ผู้เดียว
ไม่ประมาทมีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่๑ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม
อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ
ต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
จึงเป็นอันว่าท่านสุภัททะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ท่านได้เป็นสักขิสาวก๒ องค์สุดท้ายของพระผู้มีพระภาค

ภาณวารที่ ๕ จบ

พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

[๒๑๖] ต่อมา พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
บางทีพวกเธออาจจะคิดว่า ‘ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา’
ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอ
ทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย
อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป ภิกษุไม่ควรเรียกกันและกันด้วยวาทะว่า ‘อาวุโส‘๓
เหมือนดังที่เรียกกันตอนนี้ ภิกษุผู้แก่กว่าพึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า โดยชื่อหรือตระกูล
โดยวาทะว่า ‘อาวุโส’ ก็ได้ ภิกษุผู้อ่อนกว่าพึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า ‘ภันเต’ หรือ

เชิงอรรถ :
๑ อุทิศกายและใจอยู ในที่นี้หมายถึงมุ่งที่จะบรรลุอรหัตตผล โดยไม่ห่วงอาลัยต่อร่างกายและชีวิตของตน
(ที.ม.อ. ๒๐๔/๑๙๐, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๓/๓๕๓)
๒ สักขิสาวก แปลว่า พระสาวกที่ทันเห็นองค์พระพุทธเจ้า มี ๓ พวก คือ (๑) ผู้บรรพชาอุปสมบท เรียน
กัมมัฏฐาน บรรลุอรหัตตผลเมื่อพระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่ (๒) ผู้ได้บรรพชาอุปสมบท เมื่อ
พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ต่อมาได้เรียนกัมมัฏฐานและบรรลุอรหัตตผล (๓) ผู้ได้เรียนกัมมัฏฐาน
เมื่อพระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่ พระสุภัททะจัดอยู่ในพวกที่ ๑ (ที.ม.อ. ๒๑๕/๑๙๘) ดูเทียบ ที.สี.
(แปล) ๙/๔๐๕/๑๗๔, ม.ม. ๑๓/๒๒๒/๑๙๕-๑๙๖, สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๙๖/๒๘๑
๓ อาวุโส แปลว่า ผู้มีอายุ เดิมใช้เป็นคำเรียกกันเป็นสามัญ คือ ภิกษุผู้แก่กว่าใช้เรียกภิกษุผู้อ่อนกว่าหรือ
ภิกษุผู้อ่อนกว่า ใช้เรียกภิกษุผู้แก่กว่าก็ได้ (ที.ม.อ. ๓๑๖/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

‘อายัสมา’ ก็ได้ อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบท
เล็กน้อย๑เสียบ้างก็ถอนได้ อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไป สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่
ภิกษุฉันนะ”
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “พรหมทัณฑ์ เป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ภิกษุฉันนะพึงพูดได้ตามต้องการ
แต่ภิกษุไม่พึงว่ากล่าวตักเตือนพร่ำสอนเธอ”
[๒๑๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ถ้าภิกษุแม้เพียงรูปเดียวพึงมีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ) เธอทั้งหลายจงถามเถิด
จะได้ไม่เสียใจในภายหลังว่า ‘พระศาสดายังอยู่ต่อหน้า เราไม่กล้าทูลถามในที่เฉพาะ
พระพักตร์” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายตรัสว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ถ้าภิกษุแม้เพียงรูปเดียวพึงมีความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา เธอทั้งหลายจงถามเถิด จะได้ไม่เสียใจในภายหลังว่า
พระศาสดายังอยู่ต่อหน้า เราไม่กล้าทูลถามในที่เฉพาะพระพักตร์”

เชิงอรรถ :
๑ สิกขาบทเล็กน้อย พระสังคีติกาจารย์ในที่ประชุมสังคายนาครั้งแรกมีความเห็นต่างกันเป็น ๕ พวก คือ
พวกที่ ๑ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พวกที่ ๒ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พวกที่ ๓ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ สิกขาบท
อื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พวกที่ ๔ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์ ๙๒
สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
พวกที่ ๕ เห็นว่า นอกจากปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตตีย์ ๙๒
ปาฏิเทสนียะ ๔ สิกขาบทอื่นจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
ในบรรดาความเห็นเหล่านี้ ไม่มีความเห็นใดได้รับการยอมรับเป็นเอกฉันท์ ฉะนั้น ที่ประชุมจึงมีมติ
ไม่ให้ถอน (วิ.จู. (แปล) ๗/๔๔๑/๓๘๒, ที.ม.อ. ๒๑๖/๒๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
พระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ถ้าเธอทั้งหลายไม่กล้าถามเพราะความเคารพในศาสดา ก็ขอให้ภิกษุผู้เป็นเพื่อนบอก
(ความสงสัย) แก่ภิกษุผู้เป็นเพื่อนให้(ถาม) ก็ได้๑ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้
ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ ข้าพระองค์เลื่อมใสในภิกษุสงฆ์อย่างนี้ว่า แม้ภิกษุเพียงรูปเดียวก็ไม่มี
ความสงสัยหรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือใน
ปฏิปทา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธอกล่าวเพราะความเลื่อมใส แต่ตถาคตมี
ญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้ดีว่า ในภิกษุสงฆ์นั้น แม้ภิกษุเพียงรูปเดียวก็ไม่มีความสงสัย
หรือความเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา
ในจำนวนภิกษุ ๕๐๐ รูป ภิกษุผู้มีคุณธรรมขั้นต่ำสุด เป็นพระโสดาบัน๒ ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า๓
[๒๑๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด๔” นี้เป็นพระปัจฉิมวาจา
ของพระตถาคต

เชิงอรรถ :
๑ อรรถกถากล่าวเสริมความให้เต็มว่า “เราจะกล่าวกับภิกษุเพียงรูปเดียว ภิกษุทั้งหมดได้ฟังแล้วก็จักหาย
สงสัย” (ที.ม.อ. ๒๑๗/๒๐๑)
๒ พระโสดาบัน ในที่นี้ทรงหมายถึงท่านพระอานนท์ (ที.ม.อ. ๒๑๗/๒๐๑)
๓ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๗๖/๑๒๑-๑๒๒
๔ พระพุทธพจน์บทนี้ แสดงให้เห็นว่า ทรงย่อพระพุทโธวาทที่ทรงประกาศตลอดเวลา ๔๕ ปี ลงในบทว่า
ความไม่ประมาทเพียงบทเดียว (ที.ม.อ. ๒๑๘/๒๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องพุทธปรินิพพาน

เรื่องพุทธปรินิพพาน๑

[๒๑๙] ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาน
ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน ทรงเข้า
จตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌาน ทรงเข้าอากาสานัญจายตนสมาบัติ ออกจาก
อากาสานัญจายตนสมาบัติ ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ออกจากวิญญาณัญ-
จายตนสมาบัติ ทรงเข้าอากิญจัญญายตนสมาบัติ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
ขณะนั้น ท่านพระอานนท์เรียนถามท่านพระอนุรุทธะดังนี้ว่า “ท่านอนุรุทธะ
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วหรือ”
ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า “ท่านอานนท์ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคยังไม่
ปรินิพพาน ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่”
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ทรงเข้า
เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ทรงเข้า
อากิญจัญญายตนสมาบัติ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติ ทรงเข้าวิญญาณัญ-
จายตนสมาบัติ ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ทรงเข้าอากาสานัญจายตน-
สมาบัติ ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติ ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจาก
จตุตถฌาน ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจาก
ทุติยฌาน ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาน ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจาก
ทุติยฌาน ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌาน ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจาก
จตุตถฌานแล้วได้เสด็จดับขันธปรินิพพานในลำดับถัดมา
[๒๒๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหว
อย่างรุนแรงน่ากลัว ขนพองสยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ก็ดังกึกก้องขึ้นพร้อมกับการ
เสด็จดับขันธปรินิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๘๖/๒๕๙-๒๖๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องพุทธปรินิพพาน

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวคาถานี้
ขึ้นพร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า
“สรรพสัตว์จะต้องทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลก
พระศาสดาผู้หาใครเปรียบเทียบไม่ได้ในโลก
ผู้เข้าถึงสภาวะตามความเป็นจริง ผู้บรรลุพลธรรม๑
ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบเช่นนี้ ก็ยังปรินิพพาน”
[๒๒๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท้าวสักกะจอมเทพ
กล่าวคาถานี้ขึ้นพร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า
“สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
ความสงบแห่งสังขารเหล่านั้นเป็นความสุข”๒
[๒๒๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านพระอนุรุทธะ
กล่าวคาถาเหล่านี้ขึ้นพร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า
“ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
ของพระผู้มีพระภาคผู้มีพระทัยมั่นคง ผู้คงที่ ไม่มีแล้ว
พระมุนีผู้ไม่หวั่นไหว ทรงมุ่งใฝ่สันติ ปรินิพพานเสียแล้ว
พระองค์ผู้มีพระทัยไม่หดหู่
ทรงอดกลั้นเวทนาได้ มีพระทัยหลุดพ้นแล้ว
ดุจดวงประทีปที่เคยโชติช่วงดับไปฉะนั้น”

เชิงอรรถ :
๑ บรรลุพลธรรม หมายถึงมีพระกำลังอันเกิดจากฌาน ๑๐ ที่เรียกว่า ทสพลญาณ หรือตถาคตพละ (ที.ม.อ.
๒๒๐/๒๐๒)
๒ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๘๖/๒๖๑, สํ.นิ. ๑๖/๑๔๓/๑๘๕, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๑๖๘/๕๓๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องพุทธปรินิพพาน

[๒๒๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านพระอานนท์
กล่าวคาถานี้ขึ้นพร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า
“เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระอาการอันล้ำเลิศทุกอย่าง๑ปรินิพพานแล้ว
ได้เกิดเหตุอัศจรรย์น่ากลัว ขนพองสยองเกล้า”
[๒๒๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว บรรดาภิกษุเหล่านั้น
พวกที่ยังมีราคะ พากันประคองแขนคร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา เหมือนคน
เท้าขาด เพ้อรำพันว่า “พระผู้มีพระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคตด่วนปรินิพพานเสีย
จักษุของโลกด่วนอันตรธานไปแล้ว” ส่วนภิกษุผู้ไม่มีราคะ มีสติสัมปชัญญะ ก็อดกลั้น
ได้ว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เหล่าสัตว์จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้”
[๒๒๕] ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะเตือนภิกษุทั้งหลายว่า “อย่าเลย ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญเลย เรื่องนี้พระผู้มีพระภาคเคย
ตรัสสอนไว้มิใช่หรือว่า ความพลัดพราก ความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่าง
อื่นจากของรักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี ฉะนั้น จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนใน
สังขารนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น มีขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่งล้วนแตกสลายเป็นธรรมดา เป็นไป
ไม่ได้ที่จะปรารถนาว่า ‘ขอสิ่งนั้นอย่าเสื่อมสลายไปเลย’ ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
พวกเทวดากำลังตำหนิอยู่”
ท่านพระอานนท์ถามว่า “ท่านอนุรุทธะ พวกเทวดาเป็นอย่างไร ทำใจได้หรือ”
ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า “ท่านอานนท์ มีเทวดาบางพวกเป็นผู้กำหนดแผ่นดิน
ขึ้นบนอากาศ สยายผม ประคองแขน ร้องไห้คร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา
เหมือนคนเท้าขาด เพ้อรำพันว่า “พระผู้มีพระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคต
ด่วนปรินิพพานเสีย จักษุของโลกด่วนอันตรธานไปแล้ว”

เชิงอรรถ :
๑ มีพระอาการอันล้ำเลิศทุกอย่าง หมายถึงทรงมีเหตุอันล้ำเลิศทุกอย่างมีศีลเป็นต้น (ที.ม.อ. ๒๒๓/๒๐๓,
ที.ม.ฏีกา ๒๒๓/๒๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] บูชาพระพุทธสรีระ

มีเทวดาบางพวกเป็นผู้กำหนดแผ่นดินขึ้นบนแผ่นดิน สยายผม ประคองแขน
ร้องไห้คร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมาเหมือนคนเท้าขาด ฯลฯ”
ส่วนเทวดาที่ไม่มีราคะ มีสติสัมปชัญญะก็อดกลั้นได้ว่า “สังขารทั้งหลายไม่
เที่ยงหนอ เหล่าสัตว์จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้”
ท่านพระอนุรุทธะกับท่านพระอานนท์ให้เวลาผ่านไปด้วยการแสดงธรรมีกถา
ตลอดคืนยันรุ่ง
[๒๒๖] ต่อมา ท่านพระอนุรุทธะสั่งท่านพระอานนท์ว่า “ไปเถิด อานนท์ผู้มี
อายุ ท่านจงเข้าไปยังกรุงกุสินารา แจ้งแก่เจ้ามัลละทั้งหลายผู้ครองกรุงกุสินาราว่า
‘วาเสฏฐะทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงกำหนดเวลา
ที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ท่านพระอานนท์รับคำแล้ว ตอนเช้าจึงครองอันตรวาสกถือ
บาตรและจีวรเข้าไปยังกรุงกุสินาราเพียงผู้เดียว
ขณะนั้น พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารากำลังประชุมกันอยู่ที่สัณฐาคารเกี่ยว
กับเรื่องปรินิพพาน ท่านพระอานนท์เข้าไปที่สัณฐาคารของพวกเจ้ามัลละแล้วถวาย
พระพรว่า “วาเสฏฐะทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ขอท่านทั้งหลาย
จงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
พวกเจ้ามัลละ โอรส สุณิสา และปชาบดีของพวกเจ้ามัลละ พอได้สดับ
ข่าว(จาก)ท่านพระอานนท์อย่างนี้แล้ว ทรงโศกเสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยโทมนัส
บางพวกสยายพระเกศา ทรงประคองพระพาหา ทรงกันแสงคร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือก
ไปมา เหมือนคนเท้าขาด ทรงเพ้อรำพันว่า “พระผู้มีพระภาคด่วนปรินิพพาน พระสุคต
ด่วนปรินิพพานเสีย จักษุของโลกด่วนอันตรธานไปแล้ว”

บูชาพระพุทธสรีระ

[๒๒๗] ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารารับสั่งข้าราชบริพารว่า
“พนาย ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงเตรียมของหอมระเบียบดอกไม้และเครื่องดนตรี
ทุกอย่างที่มีในกรุงกุสินาราไว้ให้พร้อม” แล้วทรงถือเอาของหอมระเบียบดอกไม้
เครื่องดนตรีทุกอย่างและผ้า ๕๐๐ คู่ เสด็จเข้าไปยังสาลวันของพวกเจ้ามัลละซึ่งเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] บูชาพระพุทธสรีระ

ทางเข้าเมือง ตรงไปยังพระพุทธสรีระแล้ว ทรงสักการะ เคารพ นบนอบ บูชา
พระสรีระของพระผู้มีพระภาคด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอก
ไม้และของหอม ทรงดาดเพดานผ้า ตกแต่งมณฑลมาลาอาสน์ ให้วันนั้นหมด
ไปด้วยกิจกรรมอย่างนี้
ต่อมา พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราทรงดำริว่า “วันนี้เย็นเกินไป ที่จะ
ถวายพระเพลิงพระสรีระของพระผู้มีพระภาค พรุ่งนี้เราจึงค่อยถวายพระเพลิง”
จากนั้นก็ทรงสักการะ เคารพ นบนอบ บูชาพระสรีระของพระผู้มีพระภาคด้วยการ
ฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอกไม้และของหอม ทรงดาดเพดานผ้า
ตกแต่งมณฑลมาลาอาสน์ ให้เวลาวันที่ ๒ วันที่ ๓ วันที่ ๔ วันที่ ๕ วันที่ ๖ หมดไป
พอถึงวันที่ ๗ พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราทรงดำริว่า “เราสักการะ
เคารพ นบนอบ บูชาพระสรีระของพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง
ประโคมดนตรี ระเบียบดอกไม้และของหอม จะอัญเชิญ (พระสรีระ) ไปทางทิศใต้
ของเมือง เสร็จแล้วจึงถวายพระเพลิงพระสรีระของพระผู้มีพระภาคข้างนอกพระนคร
ทางทิศใต้”
[๒๒๘] ในวันนั้น ประมุขเจ้ามัลละ ๘ องค์ สรงสนานพระเศียรแล้วทรง
พระภูษาใหม่ ด้วยตั้งพระทัยว่า “พวกเราจะอัญเชิญพระสรีระของพระผู้มีพระภาคขึ้น”
แต่ไม่อาจจะยกขึ้นได้
พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราจึงตรัสถามท่านพระอนุรุทธะว่า “ท่านพระ
อนุรุทธะ อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้ประมุขเจ้ามัลละ ๘ องค์นี้
ทรงสรงสนานพระเศียรแล้วทรงพระภูษาใหม่ ด้วยตั้งพระทัยว่า ‘พวกเราจะอัญเชิญ
พระสรีระของพระผู้มีพระภาคขึ้น’ แต่ไม่อาจจะยกขึ้นได้”
ท่านพระอนุรุทธะถวายพระพรว่า “วาเสฏฐะทั้งหลาย มหาบพิตรมีพระประสงค์
อย่างหนึ่ง พวกเทวดามีความประสงค์อีกอย่างหนึ่ง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] บูชาพระพุทธสรีระ

พวกเจ้ามัลละตรัสถามว่า “พวกเทวดามีความประสงค์อย่างไร พระคุณเจ้า”
ท่านพระอนุรุทธะถวายพระพรว่า “มหาบพิตรมีพระประสงค์ว่า เราจะสักการะ
เคารพ นบนอบ บูชาพระสรีระของพระผู้มีพระภาคด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคม
ดนตรี ระเบียบดอกไม้และของหอม จะอัญเชิญ (พระสรีระ) ไปทางทิศใต้ของเมือง
เสร็จแล้วจึงถวายพระเพลิงพระสรีระของพระผู้มีพระภาคข้างนอกพระนครทางทิศใต้
แต่พวกเทวดามีความประสงค์ว่า ‘พวกเราจะสักการะ เคารพ นบนอบ บูชาพระ
สรีระของพระผู้มีพระภาคด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอกไม้
และของหอมอันเป็นทิพย์ จะอัญเชิญ(พระสรีระ) ไปทางทิศเหนือของเมือง แล้วอัญเชิญ
เข้าสู่เมืองทางประตูด้านทิศเหนือ อัญเชิญผ่านใจกลางเมืองแล้วออกทางประตูด้าน
ทิศตะวันออก เสร็จแล้วจึงถวายพระเพลิงพระสรีระของพระผู้มีพระภาคที่มกุฏพันธน-
เจดีย์๑ของพวกเจ้ามัลละ ทางทิศตะวันออกของเมือง”
พวกเจ้ามัลละตรัสว่า “ขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของพวกเทวดาเถิด
พระคุณเจ้า”
[๒๒๙] ก็ในเวลานั้น ทั่วกรุงกุสินารากระทั่งซอกเรือน ท่อน้ำทิ้งและกองขยะ
ดารดาษไปด้วยดอกมณฑารพ อย่างต่ำสูงถึงเข่า พวกเทวดาและพวกเจ้ามัลละพา
กันสักการะ เคารพ นบนอบ บูชาพระสรีระของพระผู้มีพระภาค ด้วยการฟ้อนรำ
ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอกไม้และของหอมทั้งที่เป็นของทิพย์และที่เป็นของ
มนุษย์ อัญเชิญ(พระสรีระ)ไปทางทิศเหนือของเมืองแล้วเข้าสู่เมืองทางประตูด้าน
ทิศเหนือ อัญเชิญผ่านใจกลางเมืองไปออกทางประตูด้านทิศตะวันออก เสร็จแล้วจึง
ประดิษฐาน พระสรีระของพระผู้มีพระภาค ณ มกุฏพันธนเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละ
ทางทิศตะวันออกของเมือง
[๒๓๐] จากนั้น พวกเจ้ามัลละได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “พวก
ข้าพเจ้าจะพึงปฏิบัติต่อพระสรีระของพระตถาคต อย่างไร พระคุณเจ้า”

เชิงอรรถ :
๑ มกุฏพันธนเจดีย์ เป็นชื่อเรียกศาลามงคลซึ่งเป็นสถานที่ประดับเครื่องทรงพระวรกายของพวกเจ้ามัลละ
ในพระราชพิธีราชาภิเษก ที่เรียกว่า เจดีย์ เพราะเป็นสถานที่ควรเคารพยำเกรง (ที.ม.อ. ๒๒๘/๒๐๔,
ที.ม.ฏีกา ๒๒๘/๒๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] บูชาพระพุทธสรีระ

ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า “มหาบพิตรพึงปฏิบัติต่อพระสรีระของ
พระตถาคต เหมือนอย่างที่พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพของพระเจ้าจักรพรรดิ
นั่นแหละ”
พวกเจ้ามัลละตรัสถามว่า “พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพของพระเจ้า
จักรพรรดิอย่างไร พระคุณเจ้า”
ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า “พวกเขาใช้ผ้าใหม่ห่อพระบรมศพของ
พระเจ้าจักรพรรดิเสร็จแล้ว จึงห่อด้วยสำลีบริสุทธิ์ แล้วจึงห่อด้วยผ้าใหม่อีกชั้นหนึ่ง
ทำโดยวิธีนี้ จนห่อพระบรมศพของพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าและสำลีได้ ๑,๐๐๐ ชั้น
แล้วอัญเชิญพระบรมศพลงในรางเหล็กเต็มด้วยน้ำมัน ใช้รางเหล็กอีกอันหนึ่ง
ครอบแล้ว ทำจิตกาธานด้วยไม้หอมล้วน แล้วถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้า
จักรพรรดิ สร้างพระสถูปของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ที่ทางใหญ่สี่แพร่ง พวกท่านพึง
ปฏิบัติต่อพระสรีระของพระตถาคต เหมือนอย่างที่พวกเขาปฏิบัติต่อพระบรมศพ
ของพระเจ้าจักรพรรดิ พึงสร้างพระสถูปของพระตถาคตไว้ที่ทางใหญ่สี่แพร่ง
ชนเหล่าใดจักยกระเบียบดอกไม้ ของหอม หรือจุรณ จักถวายอภิวาท หรือจักทำจิต
เลื่อมใสในพระสถูปนั้น การกระทำนั้นจักเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่ชนเหล่านั้น
ตลอดกาลนาน”
ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารารับสั่งข้าราชบริพารว่า “ท่าน
ทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงเตรียมสำลีบริสุทธิ์ไว้ให้พร้อม” จากนั้นทรงใช้ผ้า
ใหม่ห่อพระสรีระของพระผู้มีพระภาค เสร็จแล้วจึงห่อด้วยสำลีบริสุทธิ์ แล้วจึงห่อ
ด้วยผ้าใหม่อีกชั้นหนึ่ง ทำโดยวิธีดังนี้ จนห่อพระสรีระของพระผู้มีพระภาคด้วยผ้า
และสำลีได้ ๑,๐๐๐ ชั้น แล้วอัญเชิญพระสรีระลงในรางเหล็กเต็มด้วยน้ำมัน ใช้ราง
เหล็กอีกอันหนึ่งครอบแล้ว ทำจิตกาธานด้วยไม้หอมล้วน แล้วอัญเชิญพระสรีระ
ของพระผู้มีพระภาคขึ้นสู่จิตกาธาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องพระมหากัสสปเถระ

เรื่องพระมหากัสสปเถระ๑

[๒๓๑] สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ
๕๐๐ รูป เดินทางไกลจากกรุงปาวาไปยังกรุงกุสินารา ขณะที่ท่านพระมหากัสสปะ
แวะลงข้างทางนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่ง พอดีมีอาชีวกคนหนึ่งถือดอกมณฑารพจากกรุง
กุสินารา เดินสวนทางจะไปกรุงปาวา ท่านพระมหากัสสปะเห็นอาชีวกนั้นกำลัง
เดินมาแต่ไกล จึงถามว่า “ท่านผู้มีอายุ ท่านรู้ข่าวพระศาสดาของพวกเราบ้างไหม”
เขาตอบว่า “เรารู้ข่าว ท่านพระสมณโคดมปรินิพพานได้ ๗ วันเข้าวันนี้
เราถือดอกมณฑารพดอกนี้มาจากที่ปรินิพพานนั้น”
บรรดาภิกษุเหล่านั้น ผู้ที่ยังมีราคะ บางพวกประคองแขน คร่ำครวญ
ล้มกลิ้งเกลือกไปมา เหมือนคนเท้าขาด เพ้อรำพันว่า “พระผู้มีพระภาคด่วน
ปรินิพพาน พระสุคตด่วนปรินิพพานเสีย จักษุของโลกด่วนอันตรธานไปแล้ว”
ส่วนภิกษุผู้ไม่มีราคะ มีสติสัมปชัญญะก็อดกลั้นได้ว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
เหล่าสัตว์จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้”
[๒๓๒] สมัยนั้น มีภิกษุผู้บวชตอนแก่ชื่อสุภัททะ นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้น
ได้กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า “อย่าเลย ท่านผู้มีอายุ อย่าเศร้าโศก อย่า
คร่ำครวญเลย พวกเรารอดพ้นแล้วจากมหาสมณะรูปนั้น ที่คอยจ้ำจี้จ้ำไชพวกเรา
อยู่ว่า ‘สิ่งนี้ควรแก่พวกเธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่พวกเธอ’ บัดนี้ เราปรารถนาสิ่งใด
ก็จักทำสิ่งนั้น พวกเราไม่ปรารถนาสิ่งใด ก็จักไม่ทำสิ่งนั้น”
ลำดับนั้น ท่านพระมหากัสสปะเรียกภิกษุทั้งหลายมาตักเตือนว่า “อย่าเลย
ท่านผู้มีอายุ อย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญเลย พระผู้มีพระภาคตรัสสอนไว้ก่อน
อย่างนี้ว่า ‘ความพลัดพราก ความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นจากของ
รักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี ฉะนั้น จะพึงหาได้อะไรจากที่ไหนในสังขารนี้ สิ่งที่
เกิดขึ้น มีขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ล้วนแตกสลายเป็นธรรมดา เป็นไปไม่ได้ที่จะ
ปรารถนาว่า ‘ขอสิ่งนั้นอย่าเสื่อมสลายไปเลย”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) ๗/๔๓๗/๓๗๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

[๒๓๓] สมัยนั้น ประมุขเจ้ามัลละ ๔ องค์ ทรงสนานพระเศียรแล้วทรง
พระภูษาใหม่ ด้วยตั้งพระทัยว่า “พวกเราจะจุดไฟที่จิตกาธานของพระผู้มีพระภาค”
แต่ไม่อาจจะจุดไฟให้ติดได้
ลำดับนั้น พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราตรัสถามท่านพระอนุรุทธะว่า
“ท่านอนุรุทธะ อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้ประมุขเจ้ามัลละ
๔ องค์นี้ ผู้ทรงสนานพระเศียรแล้วทรงพระภูษาใหม่ด้วยตั้งพระทัยว่า ‘พวกเราจะ
จุดไฟที่จิตกาธานของพระผู้มีพระภาค’ แต่ไม่อาจจะจุดไฟให้ติดได้เล่า”
ท่านพระอนุรุทธะถวายพระพรว่า “วาเสฏฐะทั้งหลาย พวกเทวดามีความประสงค์
อีกอย่างหนึ่ง”
พวกเจ้ามัลละตรัสถามว่า “พวกเทวดามีความประสงค์อย่างไร พระคุณเจ้า”
ท่านพระอนุรุทธะถวายพระพรว่า “พวกเทวดามีความประสงค์ว่า ‘ท่านพระ
มหากัสสปะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เดินทางไกลจากกรุง
ปาวามายังกรุงกุสินารา จิตกาธานของพระผู้มีพระภาคจะยังไม่ลุกโพลง ตราบเท่า
ที่ท่านพระมหากัสสปะยังไม่ได้ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย
เศียรเกล้า”
พวกเจ้ามัลละตรัสว่า “ขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของพวกเทวดาเถิด
พระคุณเจ้า”
[๒๓๔] ต่อมา ท่านพระมหากัสสปะเข้าไปยังมกุฏพันธนเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละ
ในกรุงกุสินารา ถึงจิตกาธานของพระผู้มีพระภาค ห่มจีวรเฉวียงบ่าประนมมือกระทำ
ประทักษิณจิตกาธาน ๓ รอบเปิดผ้าคลุมทางพระบาท ถวายอภิวาทพระยุคลบาท
ของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้นก็ห่มจีวรเฉวียงบ่า
ประนมมือทำประทักษิณจิตกาธาน ๓ รอบ ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มี
พระภาคด้วยเศียรเกล้า เมื่อท่านพระมหากัสสปะและภิกษุ ๕๐๐ รูป ถวายอภิวาท
เสร็จ จิตกาธานของพระผู้มีพระภาคได้ติดไฟลุกโพลงขึ้นเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

[๒๓๕] เมื่อพระเพลิงไหม้พระสรีระของพระผู้มีพระภาค พระอวัยวะ คือ
พระฉวี (ผิวนอก) พระจัมมะ(หนัง) พระมังสา(เนื้อ) พระนหารู(เอ็น) หรือพระลสิกา
(ไขข้อหรือ ไขกระดูก) ไม่ปรากฏเถ้า ไม่ปรากฏเขม่าเลย คงเหลืออยู่แต่พระสรีระเท่านั้น
เปรียบเหมือนเมื่อไฟไหม้เนยใสและน้ำมัน ก็ไม่ปรากฏเถ้า ไม่ปรากฏเขม่า ฉันใด
เมื่อพระเพลิงไหม้พระสรีระของพระผู้มีพระภาค พระอวัยวะ คือ พระฉวี พระจัมมะ
พระมังสา พระนหารู หรือพระลสิกา ไม่ปรากฏเถ้า ไม่ปรากฏเขม่า คงเหลืออยู่แต่
พระสรีระ๑เท่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน และบรรดาผ้า ๕๐๐ คู่นั้น มีเพียง ๒ ผืน
เท่านั้นที่ถูกไฟไหม้ คือ ผืนในสุดกับผืนนอกสุด ก็เมื่อพระเพลิงไหม้พระสรีระของ
พระผู้มีพระภาคแล้วแล ท่อน้ำไหลหลั่งมาจากอากาศดับจิตกาธานของพระผู้มีพระภาค
น้ำพุ่งขึ้นจากไม้สาละดับจิตกาธานของพระผู้มีพระภาค พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุง
กุสินาราดับจิตกาธานของพระผู้มีพระภาคด้วยน้ำหอมล้วน ๆ ต่อจากนั้น เจ้ามัลละ
ผู้ครองกรุงกุสินาราได้จัดกำลังพลหอกไว้รอบสัณฐาคารล้อมด้วยกำแพงธนู๒ (ป้องกัน
พระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาค) แล้วสักการะ เคารพ นบนอบ บูชาพระสรีระ
ของพระผู้มีพระภาคด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ระเบียบดอกไม้และ
ของหอมตลอด ๗ วัน

เชิงอรรถ :
๑ พระสรีระ ในที่นี้หมายถึงพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า (ที.ม.อ. ๒๓๕/๒๑๒)
๒ ในการอารักขาพระบรมสารีริกธาตุซึ่งประดิษฐานบนสัณฐาคารนั้น พวกเจ้ามัลละได้ทรงจัดวางกำลัง
อารักขาไว้เป็นชั้น ๆ โดยรอบ ดังนี้
๑. ทรงจัดวางกำลังพลหอกที่เรียกว่า สัตติบัญชร ไว้รอบสัณฐานคารซึ่งจัดเป็นกองกำลังรอบในสุด
๒. ทรงจัดวางกำแพงธนูที่เรียกว่า ธนูปราการ ถัดออกมาจากกำลังพลหอก
ธนูปราการ (กำแพงธนู) ประกอบด้วย
๒.๑ พลช้าง (ให้ยืนแถวชิดกันจนกระพองจดกระพอง)
๒.๒ พลม้า (ให้ยืนแถวชิดกันจนคอจดคอ)
๒.๓ พลรถ (ให้จอดแถวชิดกันจนดุมจดดุม)
๒.๔ พลราบ (ให้ยืนแถวชิดกันจนแขนจดแขน)
๒.๕ พลธนู (ให้ยืนแถวถือธนูขัดกันและกัน) ซึ่งจัดเป็นกองกำลังอารักขารอบนอกสุด
(ที.ม.อ. ๒๓๕/๒๑๔, ที.ม.ฏีกา ๒๓๕/๒๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
แจกพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

แจกพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

[๒๓๖] พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้ทรง
สดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพานในกรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้า
มัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มีพระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้เราก็เป็นกษัตริย์
จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรม
สารีริกธาตุและทำการฉลอง”
พวกเจ้าลิจฉวีผู้ครองกรุงเวสาลี ได้ทรงสดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน
ในกรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้พวกเราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระ
บรมสารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง”
พวกเจ้าศากยะชาวกบิลพัสดุ์ ได้ทรงสดับว่า “พระผู้พระภาคปรินิพพานใน
กรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงเป็นพระญาติผู้ประเสริฐที่สุดของพวกเรา พวกเราควรจะได้รับส่วนแบ่ง
พระบรมสารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง”
พวกเจ้าถูลีผู้ครองกรุงอัลลกัปปะ ได้ทรงสดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน
ในกรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้พวกเราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรม
สารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง”
พวกเจ้าโกลิยะผู้ครองกรุงรามคาม ได้ทรงสดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน
ในกรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้พวกเราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรม
สารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง”
พราหมณ์ผู้ครองกรุงเวฏฐทีปกะ ได้สดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน
ในกรุงกุสินารา” จึงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “แม้พระผู้มี
พระภาคทรงเป็นกษัตริย์ เราเป็นพราหมณ์ เราก็ควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรม
สารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
แจกพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงปาวา ได้ทรงสดับว่า พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน
ในกรุงกุสินารา จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “แม้พระผู้มี
พระภาคเป็นกษัตริย์ แม้พวกเราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรม
สารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง”
เมื่อทูตจากเมืองต่าง ๆ กราบทูลอย่างนี้ พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินารา
ได้ตรัสตอบกับหมู่คณะทูตเหล่านั้นดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพานในเขตบ้าน
เมืองของเรา พวกเราจะไม่ให้ส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ”
[๒๓๗] เมื่อพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราได้ตรัสอย่างนี้ โทณพราหมณ์
ได้กล่าวกับหมู่คณะทูตเหล่านั้นดังนี้ว่า
“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
โปรดฟังคำชี้แจงของข้าพเจ้าหน่อยหนึ่งเถิด
พระพุทธเจ้าของพวกเราทรงถือหลักขันติธรรม
ไม่ควรที่จะประหัตประหารกัน
เพราะส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ
ของพระพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุคคล
ขอให้ทุกฝ่ายพร้อมใจกัน
แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน
พระสถูปจะได้แพร่กระจายไปยังทิศต่าง ๆ
มีประชาชนจำนวนมาก
ผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ”
[๒๓๘] หมู่คณะทูตเหล่านั้นตอบว่า “ท่านพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านนั่นแหละ
จงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเท่า ๆ กันให้เรียบร้อย”
โทณพราหมณ์รับคำแล้ว แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเท่า ๆ กัน
ให้เรียบร้อยแล้ว จึงได้กล่าวกับหมู่คณะทูตเหล่านั้นดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
โปรดให้ทะนานนี้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะสร้างพระสถูปบรรจุทะนาน(ตุมพะ)และทำ
การฉลอง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
บูชาพระบรมธาตุและสร้างพระสถูป

พวกเขาจึงได้มอบทะนานให้โทณพราหมณ์
พวกเจ้าโมริยะผู้ครองกรุงปิปผลิวันได้ทรงสดับว่า “พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน
ในกรุงกุสินารา” จึงทรงส่งทูตไปถึงพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงเป็นกษัตริย์ แม้พวกเราก็เป็นกษัตริย์ จึงควรจะได้รับส่วนแบ่งพระบรม
สารีริกธาตุบ้าง จะได้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลอง”
พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราตอบว่า “(บัดนี้) ไม่มีส่วนแบ่งพระบรม
สารีริกธาตุ พระบรมสารีริกธาตุได้แบ่งกันหมดแล้ว พวกท่านจงนำเอาพระอังคาร
(เถ้า)ไปจากที่นี้เถิด”
พวกทูตเหล่านั้น จึงนำเอาพระอังคารไปจากที่นั้น

บูชาพระบรมธาตุและสร้างพระสถูป

[๒๓๙] เวลานั้น พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร
ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลองในกรุงราชคฤห์ พวก
เจ้าลิจฉวีผู้ครองกรุงเวสาลี ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการ
ฉลองในกรุงเวสาลี พวกเจ้าศากยะชาวกบิลพัสดุ์ ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรม
สารีริกธาตุและทำการฉลองในกรุงกบิลพัสดุ์ พวกเจ้าถูลีผู้ครองกรุงอัลลกัปปะ
ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลองในกรุงอัลลกัปปะ พวกเจ้า
โกลิยะผู้ครองกรุงรามคาม ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการ
ฉลองในกรุงรามคาม พราหมณ์ผู้ครองกรุงเวฏฐทีปกะ สร้างพระสถูปบรรจุพระ
บรมสารีริกธาตุและทำการฉลองในกรุงเวฏฐทีปกะ พวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงปาวา
ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการฉลองในกรุงปาวา พวกเจ้า
มัลละผู้ครองกรุงกุสินารา ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและทำการ
ฉลองในกรุงกุสินารา แม้โทณพราหมณ์ก็สร้างพระสถูปบรรจุทะนานและทำการฉลอง
พวกเจ้าโมริยะผู้ครองกรุงปิปผลิวัน ทรงสร้างพระสถูปบรรจุพระอังคารและทำการฉลอง
ในกรุงปิปผลิวัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๓. มหาปรินิพพานสูตร]
บูชาพระบรมธาตุและสร้างพระสถูป

รวมเป็นพระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๘ แห่ง พระสถูปที่บรรจุทะนาน
เป็นแห่งที่ ๙ และพระสถูปที่บรรจุพระอังคารเป็นแห่งที่ ๑๐ การแบ่งพระบรม
สารีริกธาตุและการสร้างพระสถูปเคยมีมาแล้วอย่างนี้
[๒๔๐] พระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระจักษุ
ซึ่งเป็นบุคคลประเสริฐสุดมี ๘ ทะนาน
ประชาชนบูชากันอยู่ในชมพูทวีป ๗ ทะนาน
พระราชาเผ่านาคบูชาอยู่ในรามคาม ๑ ทะนาน
เทพชั้นดาวดึงส์บูชาพระเขี้ยวแก้วองค์หนึ่ง
ส่วนพระเขี้ยวแก้วอีกองค์หนึ่ง บูชากันอยู่ในคันธารบุรี
อีกองค์หนึ่ง บูชากันอยู่ในแคว้นของพระเจ้ากาลิงคะ
อีกองค์หนึ่ง พระราชาเผ่านาคบูชาอยู่
ด้วยพระเดชแห่งพระบรมสารีริกธาตุนั้น
แผ่นดินใหญ่นี้ประดับด้วยนักพรตผู้ประเสริฐ
พระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระจักษุนี้
ชื่อว่าอันสาธุชนสักการะกันดีแล้ว
พระพุทธเจ้าพระองค์ใด
อันจอมเทพ จอมนาค และจอมคนบูชาแล้ว
อันจอมมนุษย์ผู้ประเสริฐสุดบูชาแล้วเหมือนกัน
ท่านทั้งหลายจงประนมมือไหว้พระบรมสารีริกธาตุองค์นั้นๆ
พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นบุคคลหาได้ยาก
โดยใช้เวลาถึง ๑๐๐ กัป
พระทนต์ ๔๐ องค์ พระเกศา และพระโลมาทั้งหมด
เหล่าเทพนำไปองค์ละองค์(บูชา)สืบๆ กันไปในจักรวาล

มหาปรินิพพานสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] กุสาวดีราชธานี

๔. มหาสุทัสสนสูตร
ว่าด้วยพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่ามหาสุทัสสนะ

[๒๔๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
ในสมัยครั้งหนึ่ง เมื่อใกล้จะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ระหว่าง
ไม้สาละทั้งคู่ ณ สาลวันของพวกเจ้ามัลละผู้ครองกรุงกุสินาราซึ่งเป็นทางเข้ากรุงกุสินารา
ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มี
พระภาคอย่าได้ปรินิพพานในเมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่งนี้ เมืองใหญ่เหล่าอื่น
ยังมีอยู่ เช่น กรุงจัมปา กรุงราชคฤห์ กรุงสาวัตถี เมืองสาเกต กรุงโกสัมพี
กรุงพาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด ขัตติยมหาศาล
พราหมณมหาศาล คหบดีมหาศาล ผู้เลื่อมใสอย่างยิ่งในพระตถาคต มีอยู่มาก
ในเมืองเหล่านั้น ท่านเหล่านี้จะทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต”
[๒๔๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น อย่าพูด
อย่างนั้นว่า ‘กุสินาราเป็นเมืองเล็ก เมืองดอน เมืองกิ่ง’

กุสาวดีราชธานี

อานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ได้มีกษัตราธิราชพระนามว่ามหาสุทัสสนะผู้ได้รับ
มูรธาภิเษกแล้วทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ
มีพระราชอาณาจักรมั่นคง กรุงกุสินารานี้มีนามว่ากุสาวดี ได้เป็นราชธานีของ
พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาว ๑๒ โยชน์
ด้านทิศเหนือและทิศใต้กว้าง ๗ โยชน์ กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่เจริญรุ่งเรือง
มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น เศรษฐกิจดี เหมือนกับกรุงอาฬกมันทาซึ่ง
เป็นราชธานีของทวยเทพที่เจริญรุ่งเรือง มีประชากรมาก มียักษ์หนาแน่น เศรษฐกิจดี
อานนท์ กรุงกุสาวดีเป็นราชธานีที่อึกทึกครึกโครมเพราะเสียง ๑๐ ชนิดทั้งวันทั้งคืน
ได้แก่ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง
เสียงกังสดาล เสียงประโคมดนตรี และเสียงว่า ‘ท่านทั้งหลายโปรดบริโภค ดื่ม
เคี้ยวกิน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] กุสาวดีราชธานี

กรุงกุสาวดีราชธานี มีกำแพงล้อม ๗ ชั้น ได้แก่ (๑) กำแพงทอง (๒) กำแพงเงิน
(๓) กำแพงแก้วไพฑูรย์ (๔) กำแพงแก้วผลึก (๕) กำแพงแก้วโกเมน (๖) กำแพงแก้ว
บุษราคัม (๗) กำแพงทำด้วยรัตนะทุกอย่าง มีประตู ๔ สี ได้แก่ (๑) ประตูทอง
(๒) ประตูเงิน (๓) ประตูแก้วไพฑูรย์ (๔) ประตูแก้วผลึก แต่ละประตูมีเสาระเนียด
ปักไว้ประตูละ ๗ ต้น ได้แก่ (๑) เสาทอง (๒) เสาเงิน (๓) เสาแก้วไพฑูรย์
(๔) เสาแก้วผลึก (๕) เสาแก้วโกเมน (๖) เสาแก้วบุษราคัม (๗) เสาทำด้วยรัตนะ
ทุกอย่าง แต่ละเสาวัดโดยรอบ ๓ ชั่วบุรุษ ฝังลึก ๓ ชั่วบุรุษ สูง ๑๒ ชั่วบุรุษ๑
กรุงกุสาวดีราชธานีมีต้นตาลล้อม ๗ แถว ได้แก่ ต้นตาลทอง ๑ แถว ต้นตาลเงิน
๑ แถว ต้นตาลแก้วไพฑูรย์ ๑ แถว ต้นตาลแก้วผลึก ๑ แถว ต้นตาลแก้วโกเมน
๑ แถว ต้นตาลแก้วบุษราคัม ๑ แถว ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ๑ แถว
ต้นตาลทองมีลำต้นเป็นทอง ใบและผลเป็นเงิน ต้นตาลเงินมีลำต้นเป็นเงิน ใบและ
ผลเป็นทอง ต้นตาลแก้วไพฑูรย์ มีลำต้นเป็นแก้วไพฑูรย์ ใบและผลเป็นแก้วผลึก
ต้นตาลแก้วผลึก มีลำต้นเป็นแก้วผลึก ใบและผลเป็นแก้วไพฑูรย์ ต้นตาลแก้วโกเมน
มีลำต้นเป็นแก้วโกเมน ใบและผลเป็นแก้วบุษราคัม ต้นตาลแก้วบุษราคัม มีลำต้น
เป็นแก้วบุษราคัม ใบและผลเป็นแก้วโกเมน ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง มีลำต้น
ทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ใบและผลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง
แถวต้นตาลเหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้
เคลิบเคลิ้ม อานนท์ ดนตรีเครื่องห้า๒ ที่บุคคลปรับเสียงดี ประโคมดีแล้ว บรรเลง
โดยผู้เชี่ยวชาญ ย่อมมีเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้มฉันใด แถวต้น
ตาลเหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม
ฉันนั้น สมัยนั้น ในกรุงกุสาวดีราชธานี มีนักเลง นักเล่น และนักดื่มร้องรำทำเพลง
ตามเสียงแถวต้นตาลยามต้องลมเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ชั่วบุรุษ ในที่นี้หมายถึงชื่อมาตราวัดโบราณ ๑ ชั่วบุรุษเท่ากับ ๕ ศอก (ที.ม.อ. ๒๔๑-๒๔๒/๒๒๕)
๒ ดนตรีเครื่องห้า คือ (๑) อาตฏะ กลองที่หุ้มหนังหน้าเดียว (เช่น กลองยาว) (๒) วิตฏะ กลองหุ้มทั้ง ๒ หน้า
(เช่น ตะโพน) (๓) อาตฏวิตฏะ กลองหุ้มหนังโดยรอบ(เช่น บัณเฑาะว์) (๔) สุสิระ เครื่องเป่า(เช่น ปี่และสังข์)
(๕)ฆนะเครื่องประโคม (เช่น ฉาบฉิ่ง) (ที.ม.อ. ๒๔๒/๒๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] จักรแก้ว

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ๑
จักรแก้ว

[๒๔๓] อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ
และฤทธิ์(ความสำเร็จ) ๔ ประการ
แก้ว ๗ ประการ อะไรบ้าง
คือ ในเรื่องแก้ว ๗ ประการนี้
๑. เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสนานพระเศียร ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ รักษา
อุโบสถ เสด็จขึ้นสู่ปราสาทหลังงาม ปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์ ซึ่งมีกำ ๑,๐๐๐ ซี่
มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะทอดพระเนตรแล้ว
ทรงดำริว่า ‘เราได้ฟังเรื่องนี้ว่า ‘กษัตราธิราชพระองค์ใด ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
ทรงสนานพระเศียรในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ รักษาอุโบสถ เสด็จขึ้นสู่ปราสาทหลังงาม
จะปรากฏจักรแก้วอันเป็นทิพย์ มีกำ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกง มีดุม และมีส่วนประกอบครบ
ทุกอย่าง กษัตราธิราชพระองค์นั้นย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ’ เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
กระมัง”
[๒๔๔] ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงลุกจากที่ประทับ ทรงพระภูษา
เฉวียงบ่า พระหัตถ์ซ้ายทรงจับพระเต้าทอง พระหัตถ์ขวาทรงชูจักรแก้วขึ้น ตรัสว่า
‘จักรแก้วอันประเสริฐจงหมุนไป จงได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่’ ทันใดนั้น จักรแก้วหมุนไป
ทางทิศตะวันออก ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรม
พร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้วหยุดอยู่ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์
ในทิศตะวันออก พากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า
พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จ ราชสมบัติของหม่อมฉันเป็นของพระองค์
โปรดประทานพระบรมราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๘๕-๘๗/๕๒-๕๔, ม.อุ. ๑๔/๒๕๖-๒๕๙/๒๒๓-๒๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] จักรแก้ว

ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจง
ครอบครองราชสมบัติไปตามเดิมเถิด’
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศตะวันออกเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อ
ท้าวเธอ
จากนั้น จักรแก้วหมุนไปยังมหาสมุทรทิศตะวันออก แล้วกลับเวียนไปทางทิศใต้
ฯลฯ หมุนไปยังมหาสมุทรทิศใต้แล้วกลับเวียนไปทางทิศตะวันตก ฯลฯ หมุนไปยัง
มหาสมุทรทิศตะวันตก แล้วกลับเวียนไปทางทิศเหนือ ท้าวเธอพร้อมด้วยจตุรงคินี-
เสนาได้เสด็จตามไป เสด็จเข้าพักแรมพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาในประเทศที่จักรแก้ว
หยุดอยู่ พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือพากันเสด็จมาเฝ้าแล้วกราบทูล
อย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์โปรดเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จ ราชสมบัติ
ของหม่อมฉันเป็นของพระองค์ โปรดประทานพระบรมราโชวาทเถิด พระเจ้าข้า’
ท้าวเธอตรัสตอบอย่างนี้ว่า “พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา และจง
ครอบครองราชสมบัติไปตามเดิมเถิด”
พระราชาทั้งหลายที่เป็นปฏิปักษ์ในทิศเหนือเหล่านั้นกลับอ่อนน้อมต่อท้าวเธอ
[๒๔๕] ครั้งนั้น จักรแก้วได้ปราบปรามแผ่นดินมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต
อย่างราบคาบ เสร็จแล้วหมุนกลับยังกรุงกุสาวดีราชธานี มาปรากฏแก่พระเจ้ามหา
สุทัสสนะที่พระทวารภายในพระราชวัง ณ หน้ามุขที่ทรงวินิจฉัยราชกิจ ทำภายใน
พระราชวังของท้าวเธอให้สว่างไสว จักรแก้วที่ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่
พระเจ้ามหาสุทัสสนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] ม้าแก้ว

ช้างแก้ว

[๒๔๖] ๒. ช้างแก้วซึ่งเป็นช้างเผือก เป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ มีฤทธิ์ เหาะไป
ในอากาศได้ เป็นพญาช้างตระกูลอุโบสถ๑ ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ท้าวเธอ
ทอดพระเนตรแล้วทรงพอพระทัย ด้วยพระดำริว่า ‘ท่านผู้เจริญ พาหนะคือช้าง
ถ้าได้นำไปฝึก จะเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลแน่แท้’ ทันใดนั้น ช้างแก้วเชือกนั้นได้รับการ
ฝึกหัดเหมือนช้างอาชาไนยพันธุ์ดีตระกูลคันธหัตถี ซึ่งได้รับการฝึกหัดดีแล้วตลอด
กาลนาน อานนท์ เรื่องมีมาว่า ท้าวเธอเคยทรงทดสอบช้างแก้วเชือกนั้น โดยเสด็จ
ขึ้นทรงเวลาเช้าแล้วเสด็จเลียบไปตลอดแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จ
กลับกรุงกุสาวดีราชธานีทันเสวยพระกระยาหารเช้า ช้างแก้วที่ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้
ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ

ม้าแก้ว

[๒๔๗] ๓. ม้าแก้วซึ่งเป็นม้าขาว ศีรษะดำ มีขนปกดุจหญ้าปล้อง มีฤทธิ์
เหาะไปในอากาศได้ ชื่อพญาม้าวลาหก ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ท้าวเธอ
ทอดพระเนตรแล้วทรงพอพระทัย ด้วยพระดำริว่า ‘ท่านผู้เจริญ พาหนะคือม้า
ถ้าได้นำไปฝึก จะเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลแน่แท‘’ ทันใดนั้น ม้าแก้วตัวนั้นได้รับการ
ฝึกหัด เหมือนม้าอาชาไนยพันธุ์ดี ซึ่งได้รับการฝึกหัดดีแล้วตลอดกาลนาน อานนท์
เรื่องมีมาว่า ท้าวเธอเคยทรงทดสอบม้านั้น โดยเสด็จขึ้นทรงเวลาเช้าแล้วเสด็จ
เลียบไปตลอดแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขต เสด็จกลับกรุงกุสาวดีราชธานี
ทันเสวยพระกระยาหารเช้า ม้าแก้วที่ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้า
มหาสุทัสสนะ

เชิงอรรถ :
๑ พญาช้างตระกูลอุโบสถ ในที่นี้หมายถึงช้างมงคลตระกูล ๑ ในบรรดา ๑๐ ตระกูล คือ (๑) กาฬวกหัตถี
(สีดำ) (๒) คังไคยหัตถี (สีเหมือนน้ำไหล) (๓) ปัณฑรหัตถี (สีขาวดังเขาไกรลาส) (๔) ตามพหัตถี (สีทองแดง)
(๕) ปิงคลหัตถี (สีทองอ่อนดังสีตาแมว) (๖) คันธหัตถี (สีไม้กฤษณา มีกลิ่นตัวหอม) (๗) มังคลหัตถี
(สีนิลอัญชัน มีกิริยาท่าทางเดินงดงาม) (๘) เหมหัตถี (สีเหลืองดั่งทอง) (๙) อุโบสถหัตถี (สีทองคำ)
(๑๐) ฉัททันตหัตถี (กายสีขาวบริสุทธิ์ดังสีเงินยวง แต่ปากและเท้าสีแดง) (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.๒๕๒๕) ในช้างมงคล ๑๐ ตระกูลนี้ ช้างอุโบสถประเสริฐที่สุด (ที.ม.อ. ๒๔๖/๒๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] คหบดีแก้ว

มณีแก้ว

[๒๔๘] ๔. มณีแก้วซึ่งเป็นแก้วไพฑูรย์งามบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ มีแปด
เหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกแวววาวได้สัดส่วน แสงสว่างของมณีแก้วดวงนั้น มีรัศมี
แผ่ซ่านออกรอบ ๆ ประมาณ ๑ โยชน์ อานนท์ เรื่องมีมาว่า ท้าวเธอเคยทรง
ทดสอบมณีแก้วดวงนั้น ทรงให้หมู่จตุรงคินีเสนาผูกสอดเกราะแล้วทรงยกมณีแก้ว
นั้นขึ้นเป็นยอดธง เสด็จไปประทับยืนในที่มืดยามราตรี ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ
สำคัญว่าเป็นเวลากลางวัน จึงทำการงานด้วยแสงสว่างแห่งมณีแก้วนี้ มณีแก้วที่
ทรงคุณวิเศษเห็นปานนั้น ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ

นางแก้ว

[๒๔๙] ๕. นางแก้วซึ่งเป็นสตรีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่อง
ยิ่งนัก ไม่สูงนัก ไม่เตี้ยนัก ไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก งดงามเกิน
ผิวพรรณหญิงมนุษย์ แต่ไม่ถึงผิวพรรณทิพย์ กายของนางแก้วนั้นสัมผัสอ่อนนุ่มดุจ
ปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย มีร่างกายอบอุ่นในฤดูหนาว เย็นในฤดูร้อน กลิ่นจันทน์หอมฟุ้ง
ออกจากกาย กลิ่นอุบลหอมฟุ้งออกจากปากของนาง นางตื่นก่อนนอนทีหลัง
คอยฟังว่าจะรับสั่งให้ทำอะไร ประพฤติต้องพระทัย ทูลแต่คำอันชวนให้รัก นางไม่
เคยประพฤตินอกพระทัยของท้าวเธอแม้ทางใจ ไหนเลยจะประพฤตินอกพระทัย
ทางกาย นางแก้วผู้ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ

คหบดีแก้ว

[๒๕๐] ๖. คหบดีแก้วซึ่งเป็นผู้มีตาทิพย์ อันเกิดจากผลกรรม ซึ่งสามารถ
เห็นขุมทรัพย์ทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ เขาเข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะแล้ว
กราบทูลอย่างนี้ว่า “ขอเดชะ พระองค์โปรดอย่ากังวลพระทัยเลย ข้าพระพุทธเจ้า
จะจัดการเรื่อง(ขุม)ทรัพย์ให้สำเร็จเป็นพระราชทรัพย์ของพระองค์” อานนท์ เรื่องมี
มาว่า ท้าวเธอทรงเคยทดสอบคหบดีแก้วมาแล้ว โดยเสด็จลงเรือลัดกระแสน้ำไป
กลางแม่น้ำคงคาตรัสกับคหบดีแก้วดังนี้ว่า ‘คหบดี เราต้องการเงินและทอง’ เขา
กราบทูลว่า ‘มหาราชเจ้า ถ้าเช่นนั้น โปรดเทียบเรือที่ริมตลิ่งด้านหนึ่ง’ ท้าวเธอ
ตรัสว่า ‘คหบดี เราต้องการเงินและทองที่นี่’ ทันใดนั้น คหบดีแก้วจึงเอามือทั้งสอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
ทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ ๔ ประการ

จุ่มลงไปในน้ำแล้วยกหม้อที่เต็มด้วยเงินและทองขึ้นมากราบทูลท้าวเธอดังนี้ว่า
‘มหาราชเจ้า เท่านี้ก็เพียงพอ เท่านี้เป็นอันทำแล้ว เท่านี้เป็นอันบูชาแล้ว’ ท้าวเธอ
ตรัสอย่างนี้ว่า ‘เท่านี้ก็เพียงพอ เท่านี้เป็นอันทำแล้ว เท่านี้เป็นอันบูชาแล้ว’ คหบดี
แก้วผู้ทรงคุณวิเศษเห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ

ปริณายกแก้ว

[๒๕๑] ๗. ปริณายกแก้วซึ่งเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญาสามารถทำให้
พระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จเข้าไป ณ ที่ควรเสด็จไป ให้เสด็จหลีกไปยังสถานที่ที่ควร
เสด็จหลีกไป หรือให้ทรงยับยั้ง ณ สถานที่ที่ควรยับยั้ง ได้ปรากฏแก่ท้าวเธอ
เขาเข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า “ขอเดชะ พระองค์โปรดอย่า
กังวลพระทัยเลย ข้าพระพุทธเจ้าจะถวายคำปรึกษา” ปริณายกแก้ว ผู้ทรงคุณวิเศษ
เห็นปานนี้ ได้ปรากฏแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ
อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการนี้

ทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ ๔ ประการ

[๒๕๒] อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ (ความสำเร็จ)
๔ ประการ
ฤทธิ์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พระเจ้ามหาสุทัสสนะมีพระรูปงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวี
ผุดผ่องยิ่งนักเกินกว่าคนอื่น ท้าวเธอทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ประการ
ที่ ๑ นี้
๒. พระเจ้ามหาสุทัสสนะมีพระชนมายุยืนยาวนานเกินกว่าคนอื่น
ท้าวเธอทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ประการที่ ๒ นี้
๓. พระเจ้ามหาสุทัสสนะมีพระโรคาพาธน้อย มีความทุกข์น้อย
ทรงมีไฟธาตุทำงานสม่ำเสมอยิ่งกว่าคนอื่น คือไม่เย็นนักและไม่
ร้อนนัก ท้าวเธอทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ประการที่ ๓ นี้
๔. พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของพราหมณ์
และคหบดีทั้งหลาย อานนท์ บิดาเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของบุตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
ธรรมปราสาทและสระโบกขรณี

ทั้งหลาย ฉันใด ท้าวเธอทรงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของพราหมณ์
และคหบดีทั้งหลาย ฉันนั้น อนึ่ง พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย
เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของท้าวเธอ อานนท์ บุตรทั้งหลาย เป็นที่รัก
เป็นที่ชอบใจของบิดา ฉันใด พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ก็เป็น
ที่รัก เป็นที่ชอบใจของท้าวเธอ ฉันนั้น อานนท์ เรื่องมีมาว่า
ท้าวเธอเสด็จประพาสพระราชอุทยานพร้อมด้วยหมู่จตุรงคินีเสนา
พวกพราหมณ์และคหบดีเข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะกราบทูลว่า
‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า พระองค์อย่าเพิ่งด่วนเสด็จไป พวกข้า
พระพุทธเจ้าจะได้เฝ้านาน ๆ’ ท้าวเธอตรัสกับสารถีว่า ‘เธอ
อย่ารีบขับรถไป เราจะได้เห็นพวกพราหมณ์และคหบดีนาน ๆ’
ท้าวเธอทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ประการที่ ๔ นี้
อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ ๔ ประการนี้

ธรรมปราสาทและสระโบกขรณี

[๒๕๓] อานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี
เราน่าจะขุดสระโบกขรณี มีระยะห่างกันสระละ ๑๐๐ ชั่วธนู ที่ระหว่างต้นตาลเหล่านี้’
แล้วรับสั่งให้ขุดสระโบกขรณี มีระยะห่างกันสระละ ๑๐๐ ชั่วธนู ที่ระหว่างต้นตาล
เหล่านั้น สระโบกขรณีเหล่านั้นก่อด้วยอิฐ ๔ ชนิด ได้แก่ (๑) อิฐทอง (๒) อิฐเงิน
(๓) อิฐแก้วไพฑูรย์ (๔) อิฐแก้วผลึก
สระโบกขรณีเหล่านั้น แต่ละสระมีบันได ๔ บันได แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ
(๑) บันไดทอง (๒) บันไดเงิน (๓) บันไดแก้วไพฑูรย์ (๔) บันไดแก้วผลึก บันไดทอง
มีลูกกรงทำด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน บันไดเงินมีลูกกรงทำด้วยเงิน
ราวและหัวเสาทำด้วยทอง บันไดแก้วไพฑูรย์มีลูกกรงทำด้วยแก้วไพฑูรย์ ราวและ
หัวเสาทำด้วยแก้วผลึก บันไดแก้วผลึกมีลูกกรงทำด้วยแก้วผลึก ราวและหัวเสา
ทำด้วยแก้วไพฑูรย์ สระโบกขรณีเหล่านั้น มีรั้วล้อม ๒ ชั้น คือ (๑) รั้วทอง (๒) รั้วเงิน
รั้วทองมีเสาทำด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน รั้วเงินมีเสาทำด้วยเงิน ราวและ
หัวเสาทำด้วยทอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
ธรรมปราสาทและสระโบกขรณี

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ในสระโบกขรณีเหล่านี้ ทางที่ดี เราน่า
จะให้ปลูกไม้ดอกเช่นนี้ คือ อุบล ปทุม โกมุท บุณฑริก อันผลิดอกได้ทุกฤดูกาลไว้
เพื่อมอบให้แก่ทุก ๆ คน ไม่ให้ต้องกลับมือเปล่า’ จึงรับสั่งให้ปลูกไม้ดอกเช่นนี้ คือ
อุบล ปทุม โกมุท บุณฑริก อันผลิดอกได้ทุกฤดูกาลไว้ เพื่อมอบให้แก่ทุก ๆ คน
ไม่ให้ต้องกลับมือเปล่า
[๒๕๔] ต่อมา พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ที่ขอบสระโบกขรณี
เหล่านี้ ทางที่ดี เราน่าจะตั้งเจ้าหน้าที่นหาปกะประจำไว้ ให้ทำหน้าที่เชื้อเชิญผู้
มาแล้ว ๆ ให้อาบน้ำ’ จึงทรงตั้งเจ้าหน้าที่นหาปกะประจำไว้ที่ขอบสระโบกขรณีเหล่านั้น
ให้ทำหน้าที่เชื้อเชิญผู้มาแล้ว ๆ ให้อาบน้ำ
จากนั้น ท้าวเธอทรงดำริดังนี้ว่า ‘ที่ขอบสระโบกขรณีเหล่านี้ ทางที่ดี เราน่า
จะจัดสิ่งของให้ทานเช่นนี้ คือ ข้าวสำหรับผู้ต้องการข้าว น้ำสำหรับผู้ต้องการน้ำ
ผ้าสำหรับผู้ต้องการผ้า ยานสำหรับผู้ต้องการยาน ที่นอนสำหรับผู้ต้องการที่นอน
สตรีสำหรับผู้ต้องการสตรี เงินสำหรับผู้ต้องการเงิน ทองสำหรับผู้ต้องการทอง’
จึงทรงจัดสิ่งของให้ทานเช่นนี้คือ ข้าวสำหรับผู้ต้องการข้าว น้ำสำหรับผู้ต้องการน้ำ
ผ้าสำหรับผู้ต้องการผ้า ยานสำหรับผู้ต้องการยาน ที่นอนสำหรับผู้ต้องการที่นอน
สตรีสำหรับผู้ต้องการสตรี เงินสำหรับผู้ต้องการเงิน ทองสำหรับผู้ต้องการทองไว้ที่
ขอบสระโบกขรณีเหล่านั้น
[๒๕๕] อานนท์ ครั้งนั้น พวกพราหมณ์และคหบดีถือเอาทรัพย์สมบัติเป็น
อันมาก เข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า
ทรัพย์สมบัติมากมายนี้ พวกข้าพระพุทธเจ้านำมาถวายเฉพาะใต้ฝ่าละอองธุลีพระ
บาทเท่านั้น ขอพระองค์ทรงรับไว้ด้วยเถิด’
ท้าวเธอตรัสว่า ‘อย่าเลย ท่านทั้งหลายนำทรัพย์สมบัติมากมายนี้มาเพื่อเรา
ด้วยพลีอันชอบธรรม สิ่งนี้จงเป็นของพวกท่าน(ต่อไป)เถิด และจงนำกลับไปให้
มากกว่านี้’
เมืองท้าวเธอทรงปฏิเสธ พวกเขาจึงหลีกไปอยู่ ณ ที่สมควรแล้วปรึกษาหารือ
กันอย่างนี้ว่า ‘การที่พวกเราจะนำทรัพย์สมบัติเหล่านี้กลับคืนไปยังเรือนของตนอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
ธรรมปราสาทและสระโบกขรณี

นั้นไม่สมควร ทางที่ดี พวกเราควรช่วยกันสร้างพระราชนิเวศน์ถวายพระเจ้ามหา
สุทัสสนะ’ จึงพากันเข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ
มหาราชเจ้า พวกข้าพระพุทธเจ้าจะช่วยกันสร้างพระราชนิเวศน์ถวายใต้ฝ่าละอองธุลี
พระบาท’
ท้าวเธอทรงรับด้วยพระอาการดุษณี
[๒๕๖] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระราชดำริของพระเจ้า
มหาสุทัสสนะ จึงมีเทวบัญชาเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมาตรัสว่า ‘มาเถิด สหาย
วิสสุกรรม เธอจงไปสร้างพระนิเวศน์ชื่อธรรมปราสาท ถวายพระเจ้ามหาสุทัสสนะ’
วิสสุกรรมเทพบุตรทูลรับเทวบัญชาแล้ว อันตรธานจากภพดาวดึงส์ไปปรากฏ
ณ เบื้องพระพักตร์ของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออก
หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น กราบทูลพระเจ้ามหาสุทัสสนะดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า
จะเนรมิตพระราชนิเวศน์ชื่อธรรมปราสาทถวายพระองค์’
ท้าวเธอทรงรับด้วยพระอาการดุษณี
วิสสุกรรมเทพบุตรได้เนรมิตพระราชนิเวศน์ชื่อธรรมปราสาทถวายพระเจ้า
มหาสุทัสสนะ ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาว ๑ โยชน์ ด้านทิศเหนือและ
ทิศใต้กว้างกึ่งโยชน์ มีฐานสูงกว่า ๓ ชั่วบุรุษ ก่อด้วยอิฐ ๔ ชนิด คือ (๑) อิฐทอง
(๒) อิฐเงิน (๓) อิฐแก้วไพฑูรย์ (๔) อิฐแก้วผลึก
ธรรมปราสาทมีเสา ๘๔,๐๐๐ ต้น แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) เสาทอง
(๒) เสาเงิน (๓) เสาแก้วไพฑูรย์ (๔) เสาแก้วผลึก ปูด้วยแผ่นกระดาน ๔ ชนิด คือ
(๑) กระดานทอง (๒) กระดานเงิน (๓) กระดานแก้วไพฑูรย์ (๔) กระดานแก้วผลึก
ธรรมปราสาทมีบันได ๒๔ บันได แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) บันไดทอง
(๒) บันไดเงิน (๓) บันไดแก้วไพฑูรย์ (๔) บันไดแก้วผลึก บันไดทองมีลูกกรงทำด้วย
ทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน บันไดเงินมีลูกกรงทำด้วยเงิน ราวและหัวเสาทำด้วย
ทอง บันไดแก้วไพฑูรย์มีลูกกรงทำด้วยแก้วไพฑูรย์ ราวและหัวเสาทำด้วยแก้วผลึก
บันไดแก้วผลึกมีลูกกรงทำด้วยแก้วผลึก ราวและหัวเสาทำด้วยแก้วไพฑูรย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] สวนตาล

ธรรมปราสาทมีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ ยอด แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) เรือน
ยอดทอง (๒) เรือนยอดเงิน (๓) เรือนยอดแก้วไพฑูรย์ (๔) เรือนยอดแก้วผลึก
ในเรือนยอดทองตั้งบัลลังก์เงินไว้ ในเรือนยอดเงินตั้งบัลลังก์ทองไว้ ในเรือนยอดแก้ว
ไพฑูรย์ตั้งบัลลังก์งาไว้ ในเรือนยอดแก้วผลึกตั้งบัลลังก์แก้วบุษราคัมไว้ ที่ใกล้ประตู
เรือนยอดทองตั้งต้นตาลเงิน ซึ่งมีลำต้นเป็นเงิน ใบและผลเป็นทอง ที่ใกล้ประตู
เรือนยอดเงินตั้งต้นตาลทอง ซึ่งมีลำต้นเป็นทอง ใบและผลเป็นเงิน ที่ใกล้ประตู
เรือนยอดแก้วไพฑูรย์ตั้งต้นตาลแก้วผลึก ซึ่งมีลำต้นเป็นแก้วผลึก ใบและผลเป็น
แก้วไพฑูรย์ ที่ประตูเรือนยอดแก้วผลึกตั้งต้นตาลแก้วไพฑูรย์ ซึ่งมีลำต้นเป็นแก้ว
ไพฑูรย์ ใบและผลเป็นแก้วผลึก

สวนตาล

[๒๕๗] อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราน่าจะให้
สร้างสวนตาลทองคำไว้ที่ใกล้ประตูเรือนยอดมหาวิยูหะ๑ สำหรับนั่งพักผ่อนกลางวัน’
จึงรับสั่งให้สร้างสวนตาลทองคำไว้ที่ใกล้ประตูเรือนยอดมหาวิยูหะ สำหรับทรงนั่ง
พักผ่อนกลางวัน
ธรรมปราสาทมีรั้วล้อม ๒ ชั้น คือ (๑) รั้วทอง (๒) รั้วเงิน รั้วทองมีเสาทำ
ด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน รั้วเงินมีเสาทำด้วยเงิน ราวและหัวเสาทำด้วยทอง
[๒๕๘] ธรรมปราสาทมีข่ายกระดิ่งแวดล้อม ๒ ชั้น คือ ข่ายทองชั้นหนึ่ง
ข่ายเงินชั้นหนึ่ง ข่ายทองมีกระดิ่งเงิน ข่ายเงินมีกระดิ่งทอง ข่ายกระดิ่งเหล่านั้นยาม
เมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม อานนท์ ดนตรี
เครื่องห้า ที่บุคคลปรับเสียงดีประโคมดีแล้ว บรรเลงโดยผู้เชี่ยวชาญ ย่อมมีเสียง
ไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันใด ข่ายกระดิ่งเหล่านั้น ยามเมื่อ
ต้องลมเกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ มหาวิยูหะ เป็นชื่อเรือนยอดหลังใหญ่ที่ทำด้วยเงิน (ที.ม.อ. ๒๖๐/๒๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] สระธรรมโบกขรณี

สมัยนั้น ในกรุงกุสาวดีราชธานีมีนักเลง นักเล่น และนักดื่มร้องรำทำเพลง
ตามเสียงกระดิ่งยามที่ต้องลมเหล่านั้น ธรรมปราสาทที่สร้างเสร็จแล้ว มองดูได้ยาก
เพราะมีแสงสะท้อนบาดตา อานนท์ ในสารทกาลคือเดือนท้ายฤดูฝน เมื่ออากาศ
แจ่มใสไร้เมฆหมอก ดวงอาทิตย์ส่องนภากาศ มองดูได้ยากเพราะมีแสงสะท้อนบาดตา
ฉันใด ธรรมปราสาทที่สร้างเสร็จแล้ว ก็มองดูได้ยากเพราะมีแสงสะท้อนบาดตา
ฉันนั้น

สระธรรมโบกขรณี

[๒๕๙] อานนท์ ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี
เราน่าจะให้สร้างสระชื่อธรรมโบกขรณีไว้เบื้องหน้าธรรมปราสาท’ จึงรับสั่งให้สร้าง
สระธรรมโบกขรณีไว้เบื้องหน้าธรรมปราสาท ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยาว
๑ โยชน์ ด้านทิศเหนือและทิศใต้กว้างกึ่งโยชน์ สระธรรมโบกขรณีก่อด้วยอิฐ ๔ ชนิด
คือ (๑) อิฐทอง (๒) อิฐเงิน (๓) อิฐแก้วไพฑูรย์ (๔) อิฐแก้วผลึก
สระธรรมโบกขรณีมีบันได ๒๔ บันได แบ่งเป็น ๔ ชนิด คือ (๑) บันไดทอง
(๒) บันไดเงิน (๓) บันไดแก้วไพฑูรย์ (๔) บันไดแก้วผลึก บันไดทองมีลูกกรงทำ
ด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน บันไดเงินมีลูกกรงทำด้วยเงิน ราวและหัวเสา
ทำด้วยทอง บันไดแก้วไพฑูรย์มีลูกกรงทำด้วยแก้วไพฑูรย์ ราวและหัวเสาทำด้วย
แก้วผลึก บันไดแก้วผลึกมีลูกกรงทำด้วยแก้วผลึก ราวและหัวเสาทำด้วยแก้ว
ไพฑูรย์
สระธรรมโบกขรณีมีรั้วล้อม ๒ ชั้น คือ (๑) รั้วทอง (๒) รั้วเงิน รั้วทองมีเสาทำ
ด้วยทอง ราวและหัวเสาทำด้วยเงิน รั้วเงินมีเสาทำด้วยเงิน ราวและหัวเสาทำด้วยทอง
สระธรรมโบกขรณีมีต้นตาลล้อม ๗ แถว คือ ต้นตาลทอง ๑ แถว ต้นตาลเงิน
๑ แถว ต้นตาลแก้วไพฑูรย์ ๑ แถว ต้นตาลแก้วผลึก ๑ แถว ต้นตาลแก้วโกเมน
๑ แถว ต้นตาลแก้วบุษราคัม ๑ แถว ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ๑ แถว
ต้นตาลทองมีลำต้นเป็นทอง ใบและผลเป็นเงิน ต้นตาลเงินมีลำต้นเป็นเงิน ใบและ
ผลเป็นทอง ต้นตาลแก้วไพฑูรย์มีลำต้นเป็นแก้วไพฑูรย์ ใบและผลเป็นแก้วผลึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] ทรงเจริญฌานสมาบัติ

ต้นตาลแก้วผลึกมีลำต้นเป็นแก้วผลึก ใบและผลเป็นแก้วไพฑูรย์ ต้นตาลแก้ว
โกเมนมีลำต้นเป็นแก้วโกเมน ใบและผลเป็นแก้วบุษราคัม ต้นตาลแก้วบุษราคัมมี
ลำต้นเป็นแก้วบุษราคัม ใบและผลเป็นแก้วโกเมน ต้นตาลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง
มีลำต้นทำด้วยรัตนะทุกอย่าง ใบและผลทำด้วยรัตนะทุกอย่าง
แถวต้นตาลเหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้
เคลิบเคลิ้ม อานนท์ ดนตรีเครื่องห้า ที่บุคคลปรับเสียงดีประโคมดีแล้ว บรรเลงโดย
ผู้เชี่ยวชาญ ย่อมมีเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันใด แถวต้นตาล
เหล่านั้น ยามเมื่อต้องลม เกิดเสียงไพเราะ น่ายินดี ชวนฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม ฉันนั้น
สมัยนั้น ในกรุงกุสาวดีราชธานี มีนักเลง นักเล่น และนักดื่มร้องรำทำเพลง ตามเสียง
แถวต้นตาลยามต้องลมเหล่านั้น
เมื่อธรรมปราสาทและสระธรรมโบกขรณีสร้างสำเร็จแล้ว พระเจ้ามหาสุทัสสนะ
ได้ทรงเลี้ยงสมณพราหมณ์ทั้งหลายให้เอิบอิ่มด้วยสมณบริขารและพราหมณบริขาร
ตามที่ต้องการทุกอย่างแล้ว เสด็จขึ้นสู่ธรรมปราสาท

ภาณวารที่ ๑ จบ

ทรงเจริญฌานสมาบัติ

[๒๖๐] อานนท์ ครั้งนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงดำริดังนี้ว่า ‘เหตุที่เรามี
ฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ในเวลานี้ เป็นผลเป็นวิบากแห่งกรรมอะไรหนอ’
ทรงดำริดังนี้ว่า เหตุที่เรามีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ในเวลานี้
เป็นผลเป็นวิบากแห่งกรรม ๓ อย่าง คือ (๑) การให้ (๒) การข่มใจ (๓) การสำรวม
แล้วจึงเสด็จเข้าไปยังเรือนยอดมหาวิยูหะ ประทับยืนที่พระทวาร ทรงเปล่งพระอุทานว่า
‘กามวิตกเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด
พยาบาทวิตกเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด
วิหิงสาเอ๋ย เจ้าจงหยุด จงกลับเพียงแค่นี้เถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] ทรงเจริญฌานสมาบัติ

[๒๖๑] อานนท์ จากนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จเข้าไปในเรือนยอด
มหาวิยูหะ ประทับนั่งบนบัลลังก์ทอง ทรงสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย
แล้วทรงบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก๑ วิจาร ปีติ และสุขเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกและ
วิจารสงบระงับ ทรงบรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่ง
ผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป
มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย ทรงบรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะ
สรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส
และโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ทรงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์
เพราะอุเบกขาอยู่
[๒๖๒] จากนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงออกจากเรือนยอดมหาวิยูหะเสด็จ
เข้าไปยังเรือนยอดทอง ประทับนั่งบนบัลลังก์เงิน ทรงมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑
... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน๒ ทิศเบื้องล่าง๓ ทิศเฉียง๔ แผ่ไป
ตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ๕
ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ทรงมีกรุณาจิต ฯลฯ
ทรงมีมุทิตาจิต ฯลฯ
ทรงมีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่

เชิงอรรถ :
๑ วิตก ในที่นี้หมายถึงการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือการปักจิตลงสู่อารมณ์ เป็นองค์ ๑ ในองค์ฌาน ๕ มิใช่
วิตกในคำว่า กามวิตก (ความตรึกในทางกาม) พยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท) วิหิงสาวิตก
(ความตรึกในทางเบียดเบียน) (ที.สี.อ. ๙๖/๑๑๒)
๒ ทิศเบื้องบน หมายถึงเทวโลก (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕)
๓ ทิศเบื้องล่าง หมายถึงนรกและนาค (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕)
๔ ทิศเฉียง หมายถึงทิศย่อยของทิศใหญ่หรือทิศรอง (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา ๑/๒๕๔/๔๓๕)
๕ มหัคคตะ หมายถึงอารมณ์ที่ถึงความเป็นใหญ่ชั้นรูปาวจรและอรูปาวจร เพราะมีผลที่สามารถข่มกิเลสได้
และหมายถึง ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และปัญญาอันยิ่งใหญ่ (อภิ.สงฺ.อ. ๑๒/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
ทรงมีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมืองเป็นต้น

ทรงมีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมืองเป็นต้น

[๒๖๓] อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงมีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุง
กุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง ทรงมีปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์ มีธรรมปราสาทเป็น
ที่ประทับ ทรงมีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง มีเรือนยอดมหาวิยูหะเป็นที่ประทับ
ทรงมีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ เป็นบัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน บัลลังก์งา บัลลังก์แก้ว
บุษราคัม ลาดด้วยพรมขนสัตว์ชายยาว ลาดด้วยสักหลาด ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย
ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักสูง หุ้มนวมสีแดงทั้ง ๒ ข้าง ทรงมีช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง
มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาช้างตระกูลอุโบสถ
เป็นช้างทรง ทรงมีม้า ๘๔,๐๐๐ ม้า มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วย
ตาข่ายทอง มีพญาม้าวลาหกเป็นม้าทรง ทรงมีราชรถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนัง
ราชสีห์ หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง
มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีเวชยันต์ราชรถเป็นรถ
พระที่นั่ง ทรงมีแก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง มีมณีแก้วเป็นชั้นยอด ทรงมีสตรี ๘๔,๐๐๐ นาง
มีพระนางสุภัททาเทวีเป็นอัครมเหสี ทรงมีคหบดี ๘๔,๐๐๐ คน มีคหบดีแก้วเป็น
หัวหน้า ทรงมีกษัตริย์ผู้สวามิภักดิ์ ๘๔,๐๐๐ องค์ มีปริณายกแก้วเป็นหัวหน้า
ทรงมีโคนม ๘๔,๐๐๐ ตัวที่พร้อมจะให้น้ำนม จนสามารถเอาภาชนะรองรับได้
ทรงมีผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อดีรวม
๘๔,๐๐๐ โกฏิ ทรงมีสำรับพระกระยาหารที่มีคนนำมาถวายทั้งเช้าและเย็น ๘๔,๐๐๐
สำรับ
[๒๖๔] อานนท์ สมัยนั้น ช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง มาสู่ที่เฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ
ทั้งเช้าและเย็น ท้าวเธอทรงดำริดังนี้ว่า ‘ช้างของเราทั้ง ๘๔,๐๐๐ ช้างนี้มาหาเรา
ทั้งเช้าและเย็น ทางที่ดี ควรให้ช้างของเรา ๔๒,๐๐๐ ช้างมาหาเรา ๑๐๐ ปี ต่อครั้ง’
จึงรับสั่งเรียกปริณายกแก้วมาตรัสว่า “สหายปริณายกแก้ว ช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] พระนางสุภัททาเทวีเข้าเฝ้า

มาหาเราทั้งเช้าและเย็น อย่ากระนั้นเลย ควรให้ช้าง ๔๒,๐๐๐ ช้างมาหาเรา ๑๐๐ ปี
ต่อครั้งเถิด’
ปริณายกแก้วทูลรับสนองพระบรมราชโองการ
ต่อมา ช้าง ๔๒,๐๐๐ ช้าง มาสู่ที่เฝ้าของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ๑๐๐ ปี ต่อครั้ง

พระนางสุภัททาเทวีเข้าเฝ้า

[๒๖๕] อานนท์ ครั้นล่วงไปหลายปีหลายร้อยปีหลายพันปี พระนางสุภัททา-
เทวีทรงดำริดังนี้ว่า ‘นานแล้วที่เราได้เข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทางที่ดี เราควร
เข้าเฝ้าพระองค์อีก‘จึงรับสั่งเรียกพระสนมมาตรัสว่า “มาเถิด เธอทั้งหลาย
จงอาบน้ำสระผม ห่มผ้าสีเหลือง นานแล้วที่เราได้เข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ เราจะ
ไปเข้าเฝ้าพระองค์อีก’
พวกพระสนมทูลรับสนองพระราชเสาวนีย์แล้วอาบน้ำสระผม ห่มผ้าสีเหลือง
เข้าไปเฝ้าพระนางสุภัททาเทวีถึงที่ประทับ
ทีนั้น พระนางสุภัททาเทวีรับสั่งเรียกปริณายกแก้วมาตรัสว่า ‘พ่อปริณายกแก้ว
ท่านจงจัดหมู่จาตุรงคินีเสนาให้พร้อม นานแล้วที่เราได้เข้าเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ
เราจะไปเข้าเฝ้าพระองค์อีก’
ปริณายกแก้วทูลรับสนองพระราชเสาวนีย์แล้ว จัดหมู่จาตุรงคินีเสนาไว้ให้
เรียบร้อย กราบทูลพระนางสุภัททาเทวีดังนี้ว่า “ขอเดชะพระเทวี ข้าพระพุทธเจ้าจัด
หมู่จตุรงคินีเสนาพร้อมแล้ว ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด
พระเจ้าข้า’
จากนั้น พระนางสุภัททาเทวีพร้อมด้วยหมู่จตุรงคินีเสนาและพระสนม ได้เสด็จ
เข้าไปยังธรรมปราสาทขึ้นสู่ธรรมปราสาทเข้าไปยังเรือนยอดมหาวิยูหะ ประทับยืน
เหนี่ยวบานพระทวารเรือนยอดมหาวิยูหะอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๖ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร] พระนางสุภัททาเทวีเข้าเฝ้า

ลำดับนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสดับเสียง จึงทรงดำริดังนี้ว่า ‘เสียง
อะไรหนอ เหมือนเสียงของหมู่มหาชน’ จึงเสด็จออกจากเรือนยอดมหาวิยูหะ
ทอดพระเนตรเห็นพระนางสุภัททาเทวีประทับยืนเหนี่ยวบานพระทวารอยู่ จึงตรัส
กับพระนางสุภัททาเทวีดังนี้ว่า ‘เทวี เธอหยุดอยู่ที่นั่นแหละ อย่าเข้ามาเลย’ รับสั่ง
เรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘พ่อผู้เจริญ มาทางนี้ พ่อจงนำบัลลังก์ทองจาก
เรือนยอดมหาวิยูหะไปตั้งในสวนตาลทอง’
ราชบุรุษนั้นทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว เชิญบัลลังก์ทองจากเรือนยอดมหา-
วิยูหะไปตั้งไว้ในสวนตาลทอง จากนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงสำเร็จสีหไสยาโดย
พระปรัศว์เบื้องขวา ซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท ทรงมีสติสัมปชัญญะ
[๒๖๖] อานนท์ ลำดับนั้น พระนางสุภัททาเทวีทรงดำริดังนี้ว่า ‘พระอินทรีย์
ของพระเจ้ามหาสุทัสสนะผ่องใสยิ่งนัก พระฉวีวรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท้าวเธออย่าได้
สวรรคตเลย’ จึงกราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ พระองค์ทรงมีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมือง
มีกรุงกุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง โปรดทรงพอพระทัยเมืองเหล่านี้ โปรดทรง
เยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์ มีธรรมปราสาท
เป็นที่ประทับ โปรดทรงพอพระทัยปราสาทเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรง
พระชนม์เถิด ทรงทรงมีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง มีเรือนยอดมหาวิยูหะเป็นที่ประทับ
โปรดทรงพอพระทัยเรือนยอดเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด
ทรงมีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ เป็นบัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน บัลลังก์งา บัลลังก์แก้ว
บุษราคัม ลาดด้วยพรมขนสัตว์ชายยาว ลาดด้วยสักหลาด ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย
ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักสูง หุ้มนวมสีแดงทั้ง ๒ ข้าง โปรดทรงพอพระทัย
บัลลังก์เหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง
มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาช้างตระกูลอุโบสถ
เป็นช้างทรง โปรดทรงพอพระทัยช้างเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรง
พระชนม์เถิด ทรงมีม้า ๘๔,๐๐๐ ม้า มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเกิดความสังเวช

ตาข่ายทอง มีพญาม้าวลาหกเป็นม้าทรง โปรดทรงพอพระทัยม้าเหล่านี้ โปรดทรง
เยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีราชรถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์
หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่อง
ประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีเวชยันต์ราชรถเป็นรถพระที่นั่ง
โปรดทรงพอพระทัยราชรถเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมี
แก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง มีมณีแก้วเป็นชั้นยอด โปรดทรงพอพระทัยแก้วเหล่านี้ โปรดทรง
เยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีสตรี ๘๔,๐๐๐ นาง มีนางแก้วเป็นหัวหน้า
โปรดทรงพอพระทัยสตรีเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมี
คหบดี ๘๔,๐๐๐ คน มีคหบดีแก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรงพอพระทัยคหบดีเหล่านี้
โปรดทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีกษัตริย์ผู้สวามิภักดิ์ ๘๔,๐๐๐ องค์
มีปริณายกแก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรงพอพระทัยกษัตริย์เหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยใน
การดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีโคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว ที่พร้อมจะให้น้ำนมจนสามารถ
เอาภาชนะรองรับได้ โปรดทรงพอพระทัยโคนมเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรง
พระชนม์เถิด ทรงมีผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อ
ดีรวม ๘๔,๐๐๐ โกฏิ โปรดทรงพอพระทัยผ้าเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรง
พระชนม์เถิด ทรงมีสำรับพระกระยาหารที่มีคนนำมาถวายทั้งเช้าและเย็น ๘๔,๐๐๐
สำรับ โปรดทรงพอพระทัยสำรับพระกระยาหารเหล่านี้ โปรดทรงเยื่อใยในการดำรง
พระชนม์เถิด’

พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเกิดความสังเวช

[๒๖๗] อานนท์ เมื่อพระนางสุภัททาเทวี กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้ามหา
สุทัสสนะได้ตรัสตอบดังนี้ว่า ‘เทวี เธอพูดทักทายเราด้วยสิ่งอันน่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจมาช้านาน แต่มาครั้งสุดท้าย เธอทักทายเราด้วยสิ่งอันไม่น่าปรารถนา
ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจเลย’ พระนางสุภัททาเทวีทูลถามว่า ‘หม่อมฉันจะกราบทูล
อย่างไรเล่า จึงจะพอพระทัย เพคะ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๘ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเกิดความสังเวช

ท้าวเธอตรัสว่า 'เทวี เธอจงทักทายเราอย่างนี้ว่า 'ขอเดชะ ความพลัดพราก
ความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี
พระองค์อย่าสวรรคตทั้งที่ทรงมีความอาลัยอยู่เลย เพราะการสวรรคตของผู้ยังมีความ
อาลัยเป็นทุกข์ การสวรรคตของผู้ยังมีความอาลัยบัณฑิตติเตียน พระองค์ทรงมี
เมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุงกุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง โปรดทรงละความ
พอพระทัยเมืองเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีปราสาท
๘๔,๐๐๐ องค์ มีธรรมปราสาทเป็นที่ประทับ โปรดทรงละความพอพระทัยปราสาท
เหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง
มีเรือนยอดมหาวิยูหะเป็นที่ประทับ โปรดทรงละความพอพระทัยเรือนยอดเหล่านี้
โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ เป็น
บัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน บัลลังก์งา บัลลังก์แก้วบุษราคัม ลาดด้วยพรมขนสัตว์
ชายยาว ลาดด้วยสักหลาด ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี
มีพนักสูง หุ้มนวมสีแดงทั้ง ๒ ข้าง โปรดทรงละความพอพระทัยในบัลลังก์เหล่านี้
โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ๘๔,๐๐๐ ช้าง มีเครื่อง
ประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาช้างตระกูลอุโบสถเป็นช้างทรง
โปรดทรงละความพอพระทัยช้างเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด
ทรงมีม้า ๘๔,๐๐๐ ม้า มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง
มีพญาม้าวลาหกเป็นม้าทรง โปรดทรงละความพอพระทัยม้าเหล่านี้ โปรดอย่า
ทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีราชรถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนัง
ราชสีห์ หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง
มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีเวชยันต์ราชรถเป็นรถ
พระที่นั่ง โปรดทรงละความพอพระทัยราชรถเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการ
ดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีแก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง มีมณีแก้วเป็นชั้นยอด โปรดทรงละ
ความพอพระทัยแก้วเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมี
สตรี ๘๔,๐๐๐ นาง มีพระนางสุภัททาเทวีเป็นอัครมเหสี โปรดทรงละความพอพระทัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเกิดความสังเวช

สตรีเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีคหบดี ๘๔,๐๐๐ คน
มีคหบดีแก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรงละความพอพระทัยคหบดีเหล่านี้ โปรดอย่าทรง
เยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีกษัตริย์ผู้สวามิภักดิ์ ๘๔,๐๐๐ องค์ มีปริณายก-
แก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรงละความพอพระทัยกษัตริย์เหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย
ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีโคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว ที่พร้อมจะให้น้ำนมจนสามารถ
เอาภาชนะรองรับได้ โปรดทรงละความพอพระทัยโคนมเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย
ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี
และผ้ากัมพลเนื้อดีรวม ๘๔,๐๐๐ โกฏิ โปรดทรงละความพอพระทัยผ้าเหล่านี้
โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีสำรับพระกระยาหารที่มีคนนำมา
ถวายทั้งเช้าและเย็น ๘๔,๐๐๐ สำรับ โปรดทรงละความพอพระทัยสำรับพระกระยาหาร
เหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด’
[๒๖๘] อานนท์ เมื่อพระเจ้ามหาสุทัสสนะตรัสอย่างนี้ พระนางสุภัททา-
เทวีทรงพระกันแสงหลั่งพระอัสสุชล ทรงเช็ดพระอัสสุชลแล้ว ได้กราบทูลพระเจ้า
มหาสุทัสสนะดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ ความพลัดพราก ความทอดทิ้ง ความแปรเปลี่ยน
เป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทุกอย่างจะต้องมี พระองค์อย่าสวรรคตทั้งที่ทรงมี
อาลัยอยู่เลย เพราะการสวรรคตของผู้ยังมีความอาลัยเป็นทุกข์ การสวรรคตของผู้
ยังมีความอาลัยบัณฑิตติเตียน พระองค์ทรงมีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุง
กุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง โปรดทรงละความพอพระทัยเมืองเหล่านี้ โปรดอย่า
ทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์ มีธรรมปราสาท
เป็นที่ประทับ โปรดทรงละความพอพระทัยปราสาทเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย
ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง มีเรือนยอดมหาวิยูหะเป็น
ที่ประทับ โปรดทรงละความพอพระทัยเรือนยอดเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการ
ดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ เป็นบัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน
บัลลังก์งา บัลลังก์แก้วบุษราคัม ลาดด้วยพรมขนสัตว์ชายยาว ลาดด้วยสักหลาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงเกิดความสังเวช

ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักสูง หุ้มนวมสีแดง
ทั้ง ๒ ข้าง โปรดทรงละความพอพระทัยบัลลังก์เหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย
ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง
คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาช้างตระกูลอุโบสถเป็นช้างทรง โปรดทรงละความ
พอพระทัยช้างเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีม้า
๘๔,๐๐๐ ม้า มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาม้า
วลาหกเป็นม้าทรง โปรดทรงละความพอพระทัยม้าเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย
ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีราชรถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หุ้มด้วย
หนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับทอง
มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีเวชยันต์ราชรถเป็นรถพระที่นั่ง โปรดทรงละความ
พอพระทัยราชรถเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีแก้ว
๘๔,๐๐๐ ดวง มีมณีแก้วเป็นชั้นยอด โปรดทรงละความพอพระทัยแก้วเหล่านี้
โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีสตรี ๘๔,๐๐๐ นาง มีนางแก้ว
เป็นหัวหน้า โปรดทรงละความพอพระทัยสตรีเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการ
ดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีคหบดี ๘๔,๐๐๐ คน มีคหบดีแก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรง
ละความพอพระทัยคหบดีเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด
ทรงมีกษัตริย์ผู้สวามิภักดิ์ ๘๔,๐๐๐ องค์ มีปริณายกแก้วเป็นหัวหน้า โปรดทรง
ละความพอพระทัยกษัตริย์เหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด
ทรงมีโคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว ที่พร้อมจะให้น้ำนมจนสามารถเอาภาชนะรองรับได้
โปรดทรงละความพอพระทัยโคนมเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใยในการดำรงพระ
ชนม์เถิด ทรงมีผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อดี
รวม ๘๔,๐๐๐ โกฏิ โปรดทรงละความพอพระทัยผ้าเหล่านี้ โปรดอย่าทรงเยื่อใย
ในการดำรงพระชนม์เถิด ทรงมีสำรับพระกระยาหารที่มีคนนำมาถวายทั้งเช้าและเย็น
๘๔,๐๐๐ สำรับ โปรดทรงละความพอพระทัยสำรับพระกระยาหารเหล่านี้ โปรดอย่า
ทรงเยื่อใยในการดำรงพระชนม์เถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
พระผู้มีพระภาคทรงสรุปพระธรรมเทศนา

พระเจ้ามหาสุทัสสนะเสด็จสู่พรหมโลก

[๒๖๙] อานนท์ ต่อจากนั้นไม่นาน พระเจ้ามหาสุทัสสนะก็ได้สวรรคต ท้าวเธอ
ทรงมีความรู้สึกขณะใกล้จะสวรรคตเหมือนคหบดีหรือบุตรคหบดี ผู้บริโภคโภชนะที่
ชอบใจและก็ย่อมเมาในรสอาหาร ฉะนั้น พระเจ้ามหาสุทัสสนะ เมื่อสวรรคตแล้ว
ได้ไปเกิดในสุคติพรหมโลก
อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทรงเล่นอย่างเด็กอยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงดำรง
ตำแหน่งอุปราช ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงครองราชย์อยู่ ๘๔,๐๐๐ ปี ทรงดำรงเพศคฤหัสถ์
ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในธรรมปราสาท ๘๔,๐๐๐ ปี เพราะทรงเจริญพรหมวิหาร
๔ ประการ หลังจากสวรรคตแล้วจึงไปเกิดในพรหมโลก

พระผู้มีพระภาคทรงสรุปพระธรรมเทศนา

[๒๗๐] อานนท์ เธอคงเห็นอย่างนี้ว่า ‘พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ในสมัยนั้น
คงจะเป็นคนอื่นแน่’ แต่ไม่พึงเห็นอย่างนั้น เราเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะในสมัยนั้น
เรามีเมืองขึ้น ๘๔,๐๐๐ เมือง มีกรุงกุสาวดีราชธานีเป็นเมืองหลวง มีปราสาท
๘๔,๐๐๐ องค์ มีธรรมปราสาทเป็นที่อยู่ มีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง มีเรือนยอด
มหาวิยูหะเป็นที่อยู่ มีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ เป็นบัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน
บัลลังก์งา บัลลังก์แก้วบุษราคัม ลาดด้วยพรมขนสัตว์ชายยาว ลาดด้วยสักหลาด
ลาดด้วยผ้าปักลวดลาย ลาดด้วยหนังกวางอย่างดี มีพนักสูง หุ้มนวมสีแดง
ทั้ง ๒ ข้าง มีช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วย
ตาข่ายทอง มีพญาช้างตระกูลอุโบสถเป็นช้างทรง มีม้า ๘๔,๐๐๐ ม้า มีเครื่อง
ประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง มีพญาม้าวลาหกเป็นม้าทรง มีราชรถ
๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หุ้มด้วยหนังเสือโคร่ง หุ้มด้วยหนังเสือเหลือง
หุ้มด้วยผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับทอง มีธงทอง คลุมด้วยตาข่ายทอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
พระผู้มีพระภาคทรงสรุปพระธรรมเทศนา

มีเวชยันต์ราชรถเป็นรถพระที่นั่ง มีแก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง มีมณีแก้วเป็นชั้นยอด
มีสตรี ๘๔,๐๐๐ นาง มีพระนางสุภัททาเทวีเป็นอัครมเหสี มีคหบดี ๘๔,๐๐๐ คน
มีคหบดีแก้วเป็นหัวหน้า มีกษัตริย์ผู้สวามิภักดิ์ ๘๔,๐๐๐ องค์ มีปริณายกแก้ว
เป็นหัวหน้า มีโคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว ที่พร้อมจะให้น้ำนมจนสามารถเอาภาชนะ
รองรับได้ มีผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพลเนื้อดีรวม
๘๔,๐๐๐ โกฏิ มีสำรับอาหารที่มีคนนำมาถวายทั้งเช้าและเย็น ๘๔,๐๐๐ สำรับ
[๒๗๑] บรรดาเมือง ๘๔,๐๐๐ เมือง ในสมัยนั้น เราอยู่ครอบครองเมือง
เดียวเท่านั้น คือ กรุงกุสาวดีราชธานี ปราสาท ๘๔,๐๐๐ องค์ เราอยู่ในปราสาท
หลังเดียวเท่านั้น คือ ธรรมปราสาท เรือนยอด ๘๔,๐๐๐ หลัง เราอยู่ในเรือนยอด
หลังเดียวเท่านั้น คือ เรือนยอดมหาวิยูหะ บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ บัลลังก์ บัลลังก์ที่เรา
ใช้สอย คือ บัลลังก์ทอง บัลลังก์เงิน บัลลังก์งา หรือบัลลังก์แก้วบุษราคัม บัลลังก์ใด
บัลลังก์หนึ่งเท่านั้น ช้าง ๘๔,๐๐๐ ช้าง ช้างที่เราขี่เชือกเดียวเท่านั้น คือ พญาช้าง
ตระกูลอุโบสถ ม้า ๘๔,๐๐๐ ม้า ม้าที่เราขี่ตัวเดียวเท่านั้น คือ พญาม้าวลาหก
ราชรถ ๘๔,๐๐๐ คัน ราชรถที่เราใช้คันเดียวเท่านั้น คือ เวชยันต์ราชรถ สตรี
๘๔,๐๐๐ นาง นางกษัตริย์หรือนางแพศย์คนเดียวเท่านั้นที่ปรนนิบัติเรา ผ้า
๘๔,๐๐๐ โกฏิ ผ้าที่เรานุ่งมีเพียงคู่เดียวเท่านั้น จะเป็นผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้าย
เนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี หรือผ้ากัมพลเนื้อดีก็ตาม สำรับอาหาร ๘๔,๐๐๐ สำรับ
สำรับอาหารที่เราบริโภคเพียงสำรับเดียวเท่านั้น คือ ข้าวสุกทะนานหนึ่งเป็นอย่างมาก
พร้อมด้วยกับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น
[๒๗๒] ดูเถิด อานนท์ สังขารเหล่านั้นทั้งปวงล่วงลับดับไป ผันแปรไปแล้ว
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้แล สังขารทั้งหลายไม่ยั่งยืนอย่างนี้แล สังขารทั้งหลาย
ไม่น่ายินดีอย่างนี้แล อานนท์ ข้อนี้จึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรจะหลุด
พ้นไปจากสังขารทั้งปวงโดยแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๔. มหาสุทัสสนสูตร]
พระผู้มีพระภาคทรงสรุปพระธรรมเทศนา

อานนท์ เรารู้ว่า การที่เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม
เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต ได้รับชัยชนะ มีราชอาณาจักรมั่นคง
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ ได้ทอดทิ้งสรีระไว้ ณ สถานที่นี้ถึง ๖ ครั้งแล้ว
การทอดทิ้งสรีระครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๗ อานนท์ เราไม่เห็นสถานที่อื่นใด ในโลกพร้อม
ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์ ที่ตถาคตจะทอดทิ้งสรีระเป็นครั้งที่ ๘ เลย”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
พระคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
ความสงบแห่งสังขารเหล่านั้นเป็นความสุข”

มหาสุทัสสนสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร]
ทรงพยากรณ์ชาวบ้านนาทิกคามเป็นต้น

๕. ชนวสภสูตร
ว่าด้วยชนวสภยักษ์
ทรงพยากรณ์ชาวบ้านนาทิกคามเป็นต้น

[๒๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ตำหนักอิฐ ในนาทิกคาม ได้ทรงพยากรณ์
เหล่าชนผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย(อุบาสกอุบาสิกา) ที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว ในแคว้น
รอบ ๆ คือ แคว้นกาสี แคว้นโกศล แคว้นวัชชี แคว้นมัลละ แคว้นเจตี แคว้น
วังสะ แคว้นกุรุ แคว้นปัญจาละ แคว้นมัจฉะ และแคว้นสุรเสนะ ในเรื่องการอุบัติ๑ว่า
“คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๕๐ คน
ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว เป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในโลกนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๙๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพ
ไปแล้วเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ
โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๕๐๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับ
ดับชีพไปแล้วเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ
มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
[๒๗๔] ชาวบ้านนาทิกคามผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยได้ฟังข่าวว่า “พระผู้มี
พระภาคได้ทรงพยากรณ์เหล่าชนผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว
ในแคว้นรอบ ๆ คือ แคว้นกาสี แคว้นโกศล แคว้นวัชชี แคว้นมัลละ แคว้นเจตี
แคว้นวังสะ แคว้นกุรุ แคว้นปัญจาละ แคว้นมัจฉะ และแคว้นสุรเสนะ ในเรื่องการ
อุบัติว่า ‘คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า
๕๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว เป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในโลกนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก

เชิงอรรถ :
๑ อุบัติ ในที่นี้หมายถึงญาณคติ (การเกิดขึ้นแห่งมรรคญาณ) เพราะมีสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป และ
หมายถึงบุญที่ให้เกิดเป็นเทพชั้นใดชั้นหนึ่ง (ที.ม.อ. ๒๗๓-๒๗๕/๒๔๘, ที.ม.ฏีกา ๒๗๓-๒๗๕/๒๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร]
ทรงพยากรณ์ชาวบ้านนาทิกคามเป็นต้น

ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๙๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว
เป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะ
เบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๕๐๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับ
ดับชีพไปแล้วเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ
มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
เพราะเหตุนั้นแล ชาวบ้านนาทิกคามผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยจึงมีใจยินดี
เบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัส เพราะได้ฟังคำพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค
[๒๗๕] ท่านพระอานนท์ได้ฟังข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์
เหล่าชนผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว ในแคว้นรอบ ๆ คือ แคว้น
กาสี แคว้นโกศล แคว้นวัชชี แคว้นมัลละ แคว้นเจตี แคว้นวังสะ แคว้นกุรุ แคว้น
ปัญจาละ แคว้นมัจฉะ และแคว้นสุรเสนะ ในเรื่องการอุบัติว่า ‘คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น
คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๕๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย
ที่ล่วงลับดับชีพไปแล้วเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป
ปรินิพพานในโลกนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๙๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพ
ไปแล้วเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ
โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๕๐๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพ
ไปแล้วเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความ
แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
เพราะเหตุนั้นแล ชาวบ้านนาทิกคามผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยจึงมีใจยินดี เบิกบานใจ
เกิดปีติและโสมนัส เพราะได้ฟังคำพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร]
คำกราบทูลเลียบเคียงของพระอานนท์

คำกราบทูลเลียบเคียงของพระอานนท์

[๒๗๖] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ มีความคิดดังนี้ว่า “มีชาวมคธเหล่านี้
จำนวนมากเป็นผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยและเป็นรัตตัญญูซึ่งล่วงลับดับชีพไปแล้ว แต่
เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ชาวอังคะและชาวมคธผู้เลื่อมใสในพระพุทธ
เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์ ผู้รักษาศีลให้บริบูรณ์ที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว
เหล่านั้น แคว้นอังคะและแคว้นมคธจึงดูประหนึ่งว่าว่างจากชาวอังคะและชาวมคธ ผู้เคย
บำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว การพยากรณ์คนเหล่านั้นพึงให้สำเร็จประโยชน์
ได้(คือ)คนจำนวนมากพึงเลื่อมใส จากนั้นจะไปสู่สุคติภูมิ
อนึ่ง พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพแห่งแคว้นมคธ ผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงเกื้อกูลพวกพราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท ทราบว่า
ชาวบ้านพากันสรรเสริญอยู่ว่า ‘พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงปกครองให้พวกเราอยู่เป็นสุข สวรรคตแล้ว’ พวกเราอยู่อย่างผาสุก
ในแว่นแคว้นของพระองค์ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม อนึ่ง พระเจ้าแผ่นดิน
พระองค์นั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธ เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์
และทรงรักษาศีลให้บริบูรณ์’ และทราบว่าชาวบ้านพูดกันอย่างนี้ว่า ‘แม้จนกระทั่ง
เวลาจะสวรรคต พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพแห่งแคว้นมคธก็ยังทรงสรรเสริญพระผู้มี
พระภาคอยู่จนสวรรคต พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ท้าวเธอ ผู้สวรรคตไปแล้ว
การพยากรณ์ท้าวเธอพึงให้สำเร็จประโยชน์ได้ คือ ชนจำนวนมากพึงเลื่อมใส จากนั้น
จะไปสู่สุคติภูมิ พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ในแคว้นมคธ ทำไมพระองค์จึงไม่ทรงพยากรณ์
ชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว ในเรื่องการอุบัติที่พระองค์
ได้ตรัสรู้ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับ
ดับชีพไปแล้วในการอุบัติ พวกชาวมคธจะพึงน้อยใจว่า ‘ไฉน พระผู้มีพระภาคจึง
ไม่ทรงพยากรณ์ชาวมคธเหล่านั้น”
[๒๗๗] ท่านพระอานนท์ปรารภชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย พิจารณา
ถึงเหตุนี้อยู่ในที่สงัดเพียงลำพัง พอใกล้สว่าง จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร]
คำกราบทูลเลียบเคียงของพระอานนท์

ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า ‘พระผู้มีพระภาค ได้ทรงพยากรณ์เหล่าชนผู้เคย
บำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว ในแคว้นรอบ ๆ คือ แคว้นกาสี แคว้นโกศล
แคว้นวัชชี แคว้นมัลละ แคว้นเจตี แคว้นวังสะ แคว้นกุรุ แคว้นปัญจาละ แคว้นมัจฉะ
และแคว้นสุรเสนะ ในเรื่องการอุบัติว่า ‘คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น คนโน้นเกิด ณ ที่โน้น
ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๕๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้ว
เป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในโลกนั้นไม่หวน
กลับมาจากโลกนั้นอีก
ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๙๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพ
ไปแล้วเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ
โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ชาวบ้านนาทิกคามมากกว่า ๕๐๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพ
ไปแล้วเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความ
แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
เพราะเหตุนั้นแล ชาวบ้านนาทิกคามผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย จึงมีใจยินดี
เบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัส เพราะได้ฟังคำพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีชาวมคธเหล่านี้จำนวนมากเป็นผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย
และเป็นรัตตัญญูซึ่งล่วงลับดับชีพไปแล้ว แต่เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์
ชาวอังคะและชาวมคธผู้เลื่อมใสในพระพุทธ เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์
ผู้รักษาศีลให้บริบูรณ์ ที่ได้ล่วงลับดับชีพไปแล้วเหล่านั้น แคว้นอังคะและแคว้นมคธ
จึงดูประหนึ่งว่าว่างจากชาวอังคะและชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพ
ไปแล้ว การพยากรณ์คนเหล่านั้น พึงให้สำเร็จประโยชน์ได้ (คือ) คนจำนวนมากพึง
เลื่อมใส จากนั้นจะไปสู่สุคติภูมิ
อนึ่ง พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพแห่งแคว้นมคธ ผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงเกื้อกูลพวกพราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท ทราบว่า
ชาวบ้านพากันสรรเสริญอยู่ว่า ‘พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงปกครองให้พวกเราอยู่เป็นสุข สวรรคตแล้ว พวกเราอยู่อย่างผาสุก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร]
คำกราบทูลเลียบเคียงของพระอานนท์

ในแว่นแคว้นของพระองค์ผู้ทรงธรรม ครองราชย์โดยธรรม อนึ่ง พระเจ้าแผ่นดิน
พระองค์นั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธ เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์
และทรงรักษาศีลให้บริบูรณ์’ และทราบว่าชาวบ้านพูดกันอย่างนี้ว่า ‘แม้จนกระทั่ง
เวลาจะสวรรคต พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพแห่งแคว้นมคธก็ยังทรงสรรเสริญพระผู้มี
พระภาคอยู่จนสวรรคต’ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ท้าวเธอ ผู้สวรรคตไปแล้ว
การพยากรณ์ท้าวเธอพึงให้สำเร็จประโยชน์ได้ คือ คนจำนวนมากพึงเลื่อมใส
จากนั้นจะไปสู่สุคติภูมิ พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ในแคว้นมคธ ทำไมพระองค์จึงไม่ทรง
พยากรณ์ชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยที่ล่วงลับดับชีพไปแล้วในเรื่องการอุบัติที่
พระองค์ได้ตรัสรู้ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย
ที่ล่วงลับดับชีพไปแล้วในเรื่องการอุบัติ พวกชาวมคธจะพึงน้อยใจว่า ‘ไฉน พระผู้มี
พระภาคจึงไม่ทรงพยากรณ์ชาวมคธเหล่านั้น”
ท่านพระอานนท์ กราบทูลเลียบเคียงปรารภชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย
ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะถวายอภิวาทแล้ว กระทำ
ประทักษิณจากไป
[๒๗๘] เมื่อท่านพระอานนท์จากไปไม่นาน ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาค
ทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนาทิกคามเพื่อบิณฑบาต
เมื่อเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ทรงล้างพระบาท
เสด็จเข้าไปในตำหนักอิฐ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ทรงตั้งพระทัย
เพ่งพิจารณาเหตุการณ์ทุกอย่าง ปรารภชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย ด้วยพระ
ดำริว่า “เราจะรู้คติและอภิสัมปรายภพของชาวมคธเหล่านั้นว่า ‘ผู้เจริญเหล่านั้น
มีคติเป็นอย่างไร และมีอภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร” แล้วได้ทรงเห็นชาวมคธผู้เคย
บำรุงพระรัตนตรัยว่า “ผู้เจริญเหล่านั้น มีคติเป็นอย่างไร และมีอภิสัมปรายภพเป็น
อย่างไร” ครั้นในเวลาเย็น เสด็จออกจากการหลีกเร้น ออกจากตำหนักอิฐ ประทับ
นั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วในร่มเงาพระวิหาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] ชนวสภยักษ์

[๒๗๙] ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงมีพระอาการอันสงบ สีพระพักตร์ผุดผ่องยิ่งนัก
เพราะพระอินทรีย์ผ่องใส วันนี้พระองค์คงประทับอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อันสงบ
เป็นแน่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เพราะเหตุที่เธอปรารภชาวมคธผู้เคยบำรุง
พระรัตนตรัย พูดเลียบเคียงเฉพาะหน้าเราแล้ว ลุกจากอาสนะจากไป เราเที่ยวไป
ยังนาทิกคามเพื่อบิณฑบาต เมื่อกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว
ล้างเท้าเข้าไปยังตำหนักอิฐ นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ตั้งจิตเพ่งพิจารณาเหตุการณ์
ทุกอย่างปรารภชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยด้วยคิดว่า ‘เราจะรู้คติและอภิ-
สัมปรายภพของชาวมคธเหล่านั้นว่า ‘ผู้เจริญเหล่านั้น มีคติเป็นอย่างไรและมี
อภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร’ อานนท์ ตถาคตได้เห็นชาวมคธผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัย
แล้วว่า ‘ผู้เจริญเหล่านั้นมีคติเป็นอย่างไร และมีอภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร’

ชนวสภยักษ์

[๒๘๐] อานนท์ ทันใดนั้น ยักษ์ที่ไม่ปรากฏตัว เปล่งเสียงให้ได้ยินว่า
‘ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ชื่อชนวสภะ๑ ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์ชื่อ
ชนวสภะ’ อานนท์ ชื่อชนวสภะนี้ เธอรู้จัก (หรือ) เคยได้ยินมาก่อนหรือไม่”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชื่อชนวสภะนี้ ข้าพระองค์
ไม่รู้จัก (และ)ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่พอข้าพระองค์ได้ยินชื่อชนวสภะเท่านั้น ขนก็
ลุกชูชัน จึงคิดว่า ‘ผู้ที่ได้นามว่า ‘ชนวสภะ’ นี้คงไม่ใช่ยักษ์ชั้นต่ำเป็นแน่”

เชิงอรรถ :
๑ชนวสภะ แปลว่าผู้เจริญที่สุดในหมู่ชน เพราะเป็นผู้นำประชาชนฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาค
แล้วบรรลุพระโสดาบัน จำนวน ๑๑๐,๐๐๐ คน ยักษ์นี้ คือ พระเจ้าพิมพิสาร (ที.ม.อ. ๒๘๐/๒๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] ชนวสภยักษ์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ขณะที่มีเสียงดังขึ้น ยักษ์มีผิวพรรณผุดผ่อง
ยิ่งนัก ปรากฏขึ้นต่อหน้าเรา ยักษ์นั้นเปล่งเสียงให้ได้ยินอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ‘ข้าแต่
พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์คือพิมพิสาร ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์คือพิมพิสาร
ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๗ ที่ข้าพระองค์เข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับท้าวเวสวัณมหาราช
จุติจากสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชนี้แล้ว สามารถไปเกิดเป็นพระราชาในโลกมนุษย์
ข้าพระองค์จุติจากเทวโลก ๗ ครั้ง
จากมนุษยโลก ๗ ครั้ง
รวมเวลาท่องเที่ยวอยู่ ๑๔ ครั้ง
รู้จักภพที่เคยอยู่อาศัยในกาลก่อน
[๒๘๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่มีทางตกต่ำ ทราบดีถึงความไม่
ตกต่ำมาช้านาน ข้าพระองค์ตั้งความปรารถนาไว้เพื่อเป็นพระสกทาคามี๑”
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “การที่ชนวสภยักษ์ประกาศว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่มีทางตกต่ำ ทราบดีถึงความไม่ตกต่ำมาช้านาน’ และประกาศว่า
‘ตั้งความปรารถนาไว้เพื่อเป็นพระสกทาคามีเช่นนี้ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
ก็อะไรเล่าที่เป็นเหตุทำให้ชนวสภยักษ์ทราบดีว่า จะบรรลุคุณวิเศษอันยิ่งใหญ่เห็น
ปานนี้ได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ชนวสภยักษ์ประกาศว่า ‘ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์มิได้เว้นจากคำสอนของพระองค์เลย ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์มิได้เว้น
จากคำสอนของพระองค์เลย นับตั้งแต่วันที่ข้าพระองค์เลื่อมใสพระผู้มีพระภาค
อย่างมากเป็นต้นมา ข้าพระองค์ไม่มีทางตกต่ำ ทราบดีถึงความไม่ตกต่ำมาช้านาน
และตั้งความปรารถนาไว้เพื่อเป็นพระสกทาคามี ดังจะกราบทูลให้ทรงทราบ ข้าพระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ตั้งความปรารถนาไว้เพื่อเป็นพระสกทาคามี ในที่นี้หมายถึงเริ่มบำเพ็ญวิปัสสนา อยู่ด้วยความอุตสาหะ
อย่างนี้ว่า ‘เราจักรู้แจ้งในวันนี้ เราจักรู้แจ้งในวันนี้ทีเดียว’ (ที.ม.อ. ๒๘๑/๒๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] เทวสภา

ได้รับบัญชาจากท้าวเวสวัณมหาราช ให้ไปเฝ้าท้าววิรุฬหกมหาราชด้วยธุระอย่างหนึ่ง
ระหว่างทางได้พบพระผู้มีพระภาคซึ่งกำลังเสด็จเข้าไปยังตำหนักอิฐ ประทับอยู่
ทรงตั้งพระทัยเพ่งพิจารณาเหตุการณ์ทุกอย่าง ปรารภชาวมคธผู้เคยบำรุงพระ
รัตนตรัยด้วยทรงพระดำริว่า ‘เราจะรู้คติและอภิสัมปรายภพของชาวมคธเหล่านั้นว่า
‘ผู้เจริญเหล่านั้น มีคติเป็นอย่างไรและมีอภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร’ ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ที่ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ท้าวเวสวัณ
มหาราชผู้กล่าวอยู่ในบริษัทนั้นว่า ‘ชาวมคธผู้เจริญเหล่านั้น มีคติเป็นอย่างไรและ
มีอภิสัมปรายภพเป็นอย่างไร’ ข้าพระองค์จึงมีความคิดดังนี้ว่า ‘เราจักเฝ้าพระผู้มี
พระภาค และจักกราบทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ’ เหตุ ๒ ประการนี้แล ที่ทำให้ข้าพระองค์
ได้มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค

เทวสภา

[๒๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหลายวันมาแล้ว ในคืนเพ็ญวันอุโบสถ
๑๕ ค่ำ อันเป็นวันเข้าพรรษา พวกเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งสิ้นนั่งประชุมกันในสุธัมมา-
เทวสภา มีเทพบริษัทมากมายนั่งอยู่โดยรอบ ท้าวจาตุมหาราชประทับอยู่ในทิศ
ทั้ง ๔ คือ
๑. ทิศตะวันออกมีท้าวธตรฐมหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไป
ทางทิศตะวันตก มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า
๒. ทิศใต้มีท้าววิรุฬหกมหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทางทิศ
เหนือ มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า
๓. ทิศตะวันตกมีท้าววิรูปักษ์มหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไป
ทางทิศตะวันออก มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า
๔. ทิศเหนือมีท้าวเวสวัณมหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทาง
ทิศใต้ มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] เทวสภา

เมื่อครั้งที่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งสิ้นนั่งประชุมกันในสุธัมมาเทวสภา มีเทพบริษัท
มากมายนั่งอยู่โดยรอบ มีท้าวจาตุมหาราชประทับอยู่ในทิศทั้ง ๔ นี้เป็นธรรมเนียม
ในการนั่งของท้าวจาตุมหาราช ข้างหลังถัดออกมาเป็นที่นั่งของข้าพระองค์ทั้งหลาย
เทพเหล่านั้นประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคแล้ว เดี๋ยวนี้เกิดในสวรรค์
ชั้นดาวดึงส์ รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ นัยว่า ด้วยเหตุนั้น พวกเทพ
ชั้นดาวดึงส์จึงมีใจยินดี เบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัส กล่าวว่า ‘ท่านทั้งหลาย
หมู่เทพเจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง๑’
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบความเลื่อมใสของพวกเทพชั้นดาวดึงส์
ทรงอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายพวกเทพชั้นดาวดึงส์
มีพระอินทร์เป็นประธาน
ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม
เมื่อเห็นเทพเหล่าใหม่ ผู้มีวรรณะและยศ
ผู้เคยประพฤติพรหมจรรย์ในพระสุคต ซึ่งมา ณ ที่นี้(ด้วย)
ก็พากันบันเทิงใจนัก
เทพเหล่านั้นเป็นสาวก
ของพระผู้มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน๒
ทั้งหมดเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ
รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นในที่นี้
ด้วยวรรณะ ยศ และอายุ

เชิงอรรถ :
๑ หมู่เทพเจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง หมายความว่าในสมัยที่คนทำความดีมาก เทวโลกทั้ง ๖ ชั้น
จะเต็มบริบูรณ์ อบายจะว่าง แต่ในสมัยที่คนทำความชั่วมาก อบายจะเต็มบริบูรณ์ เทวโลกจะว่าง (ที.ม.อ.
๒๙๔/๒๖๒-๒๖๓)
๒ พระผู้มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน ในที่นี้หมายถึงพระพุทธเจ้า (ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๖/๕๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] เทวสภา

พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นประธาน
ครั้นเห็นเหตุนี้แล้วพากันเพลิดเพลิน
ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นัยว่า เพราะเหตุนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์จึงมีใจยินดี
เบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัส สุดจะประมาณได้ กล่าวว่า ‘ท่านทั้งหลาย หมู่เทพ
เจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล แม้ท้าวจาตุมหาราชได้รับคำบอกเล่าเรื่องที่
เป็นเหตุให้พวกเทพชั้นดาวดึงส์ต้องมานั่งประชุมคิดพิจารณากันในสุธัมมาเทวสภาแล้ว
ก็ยังดำเนินการในเรื่องนั้นอยู่ ทั้งได้รับคำแนะนำที่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ตามพร่ำสอน
เฉพาะแล้ว ก็ทรงดำเนินการในเรื่องนั้นอยู่ และต่างยังคงประทับยืนอยู่ ณ ที่ประทับ
ของตน ๆ ไม่ยอมจากไป
ท้าวจาตุมหาราชเหล่านั้น
ได้รับคำบอกแล้ว ทั้งได้รับคำแนะนำแล้ว
จึงมีพระทัยผ่องใส ประทับยืนสงบอยู่
ณ ที่ประทับของตน ๆ
[๒๘๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล ได้เกิดแสงสว่างเจิดจ้าขึ้นทาง
ทิศเหนือ ปรากฏโอภาส เกินเทวานุภาพของเทพทั้งหลาย ทีนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ
รับสั่งเรียกพวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย มีนิมิตที่สังเกตได้
(คือ) แสงสว่างเกิดขึ้น โอภาสปรากฏขึ้น พระพรหมก็จะปรากฏองค์ขึ้น เพราะ
การที่แสงสว่างเกิดขึ้น โอภาสปรากฏขึ้นนี้ จัดเป็นบุพนิมิตแห่งการปรากฏของ
พระพรหม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] เรื่องสุนังกุมารพรหม

เมื่อมีนิมิตที่สังเกตได้
พระพรหมก็จะปรากฏองค์ขึ้น
เพราะโอภาสอันเจิดจ้ายิ่ง
เป็นนิมิตแห่งพระพรหม

เรื่องสนังกุมารพรหม

[๒๘๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์นั่งบนที่นั่ง
ของตน ๆ กล่าวว่า ‘พวกเราจักรู้โอภาสนั้น เมื่อรู้ชัดผลที่ปรากฏแล้วจึงจะไป’
แม้ท้าวจาตุมหาราชประทับบนที่ประทับของตน ๆ ก็กล่าวว่า ‘พวกเราจักรู้
โอภาสนั้น เมื่อรู้ชัดผลที่ปรากฏแล้วจึงจะไป’ พวกเทพชั้นดาวดึงส์สดับเรื่องนี้แล้ว
นั่งสงบอยู่มีความคิดตรงกันว่า ‘พวกเราจักรู้โอภาสนั้น เมื่อรู้ชัดผลที่ปรากฏ
แล้วจึงจะไป’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์
พระองค์ทรงเนรมิตอัตภาพให้หยาบปรากฏขึ้น เพราะรูปร่างปกติของพรหมไม่อาจ
ปรากฏในคลองจักษุของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวก
เทพชั้นดาวดึงส์ พระองค์ก็รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ ร่างกายที่เป็น
ทองคำ ย่อมงดงามเกินร่างกายมนุษย์ ฉันใด เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวก
เทพชั้นดาวดึงส์ พระองค์ก็รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ ฉันนั้น
เหมือนกัน เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ ในเทพบริษัทนั้น
เทพบางองค์ไม่ไหว้ ไม่ต้อนรับ ไม่เชิญด้วยอาสนะ ทั้งหมดพากันนั่งขัดสมาธิ
ประนมมือนิ่งอยู่ด้วยดำริว่า ‘บัดนี้ สนังกุมารพรหมจะประทับนั่งบนบัลลังก์ของเทพ
ที่พระองค์ปรารถนา’
สนังกุมารพรหมประทับนั่งบนบัลลังค์ของเทพองค์ใด เทพองค์นั้นได้ความยินดี
อย่างยิ่ง ได้โสมนัสอย่างยิ่ง กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วเพิ่งจะครองราชย์
ทรงได้ความยินดีอย่างยิ่ง ได้ความโสมนัสอย่างยิ่ง ฉันใด สนังกุมารพรหมประทับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] เสียงของสนังกุมารพรหม

นั่งบนบัลลังก์ของเทพองค์ใด เทพองค์นั้นก็ได้ความยินดีอย่างยิ่ง ได้ความโสมนัส
อย่างยิ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน จากนั้น สนังกุมารพรหมทรงเนรมิตอัตภาพให้หยาบ
เป็นรูปร่างกุมารเช่นกับปัญจสิขเทพบุตร ปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ แล้วเหาะ
ขึ้นอากาศนั่งขัดสมาธิในอากาศบนที่ว่างกลางอากาศ เหมือนบุรุษมีกำลังนั่งขัดสมาธิ
บนบัลลังก์ที่ปูลาดไว้ดีแล้ว หรือบนพื้นที่ราบเรียบเสมอกันฉะนั้น ทรงทราบความ
เลื่อมใสของพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว จึงทรงอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
‘ท่านผู้เจริญทั้งหลายพวกเทพชั้นดาวดึงส์
มีพระอินทร์เป็นประธาน
ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม
เมื่อเห็นเทพเหล่าใหม่ ผู้มีวรรณะและมียศ
ผู้เคยประพฤติพรหมจรรย์ในพระสุคต ซึ่งมา ณ ที่นี้(ด้วย)
ก็พากันบันเทิงใจนัก
เทพเหล่านั้นเป็นสาวก
ของพระผู้มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน
ทั้งหมดเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ
รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นในที่นี้
ด้วยวรรณะ ยศ และอายุ
พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นประธาน
ครั้นเห็นเหตุนี้แล้ว พากันเพลิดเพลิน
ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม’

เสียงของสนังกุมารพรหม

[๒๘๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้ ขณะที่
สนังกุมารพรหมตรัสเนื้อความนี้มีเสียงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ (๑) แจ่มใส
(๒) ชัดเจน (๓) นุ่มนวล (๔) ชวนฟัง (๕) กลมกล่อม (๖) ไม่พร่า (๗) ลึกซึ้ง (๘) กังวาน
สนังกุมารพรหมเปล่งเสียงให้รู้กันเฉพาะในบริษัทเท่านั้น เสียงของสนังกุมารพรหมนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] เสียงของสนังกุมารพรหม

ไม่ได้ดังออกไปภายนอกบริษัท ผู้มีเสียงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการเช่นนี้เรียกว่า
‘มีเสียงเหมือนเสียงพรหม’
ครั้งนั้น สนังกุมารพรหมเนรมิตอัตภาพเป็นรูปเนรมิต ๓๓ องค์ ประทับนั่ง
บนบัลลังก์ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ทุกบัลลังก์ รับสั่งเรียกพวกเทพชั้นดาวดึงส์มา
ตรัสว่า ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ก็พระผู้มีพระภาค
พระองค์นี้ ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์
ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเพียงไร
เหล่าชนผู้เจริญผู้ถึงพระพุทธเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็น
สรณะ รักษาศีลให้บริบูรณ์ หลังจากตายไป บางพวกถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับ
พวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี บางพวกถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นนิมมานรดี
บางพวกถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดุสิต บางพวกถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับ
พวกเทพชั้นยามา บางพวกถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์ บางพวก
ถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นจาตุมหาราช พวกที่ยังกายให้บริบูรณ์ซึ่งต่ำ
กว่าเขาทั้งหลาย ย่อมไปเพิ่มจำนวนหมู่เทพคนธรรพ์’
[๒๘๖] สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้ ขณะที่สนังกุมารพรหมตรัสเนื้อ
ความนี้มีเสียงดัง พวกเทพเข้าใจเสียงของสนังกุมารพรหมว่า ‘ผู้ที่นั่งบนบัลลังก์ของ
เรากับผู้พูดเป็นคนเดียวกัน
(พระโบราณาจารย์กล่าวว่า)
เมื่อสนังกุมารพรหมผู้เดียวกล่าว
รูปเนรมิตทุกรูปก็กล่าว
เมื่อสนังกุมารพรหมนิ่ง
รูปเนรมิตทุกรูปก็นิ่ง
พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นประธาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] การเจริญอิทธิบาท ๔ ประการ

สำคัญสนังกุมารพรหมว่า
‘ผู้ที่นั่งบนบัลลังก์ของเรากับผู้พูดเป็นคนเดียวกัน’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล สนังกุมารพรหมกลับคืนตนเป็นผู้เดียว
ประทับนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์ของท้าวสักกะจอมเทพ รับสั่งเรียกพวกเทพชั้นดาวดึงส์
มาตรัสว่า

การเจริญอิทธิบาท ๔ ประการ

[๒๘๗] ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงบัญญัติ
อิทธิบาท ๔ ประการนี้ แม้ที่ทรงบัญญัติไว้อย่างดี ก็เพียงเพื่อเพิ่มพูนความสำเร็จ
เพื่อให้ชำนาญในเรื่องความสำเร็จ เพื่อพลิกแพลงให้เกิดความสำเร็จ
อิทธิบาท ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญอิทธิบาท คือฉันทสมาธิปธานสังขาร๑ (สมาธิที่เกิดจากฉันทะ
และความเพียรสร้างสรรค์)
๒. เจริญอิทธิบาท คือวิริยสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจากวิริยะ
และความเพียรสร้างสรรค์)
๓. เจริญอิทธิบาท คือจิตตสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจากจิตตะ
และความเพียรสร้างสรรค์)
๔. เจริญอิทธิบาท คือวิมังสาสมาธิปธานสังขาร (สมาธิที่เกิดจาก
วิมังสาและความเพียรสร้างสรรค์)๒

เชิงอรรถ :
๑ ปธานสังขาร ได้แก่สังขารซึ่งเป็นประธาน เป็นชื่อหนึ่งของสัมมัปปธานที่ให้สำเร็จกิจ ๔ ประการ คือ
(๑) สังวรปธาน (๒) ปหานปธาน (๓) ภาวนาปธาน (๔) อนุรักขนาปธาน (ที.ม.อ. ๒๘๗/๒๕๒-๒๕๓)
๒ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๕๗-๑๖๓/๔๐๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] วิธีการบรรลุโอกาส ๓ ประการ

พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทรงบัญญัติอิทธิบาท ๔ ประการนี้แล เพื่อเพิ่มพูนความสำเร็จ เพื่อให้ชำนาญ
ในเรื่องความสำเร็จ เพื่อพลิกแพลงให้เกิดความสำเร็จ
ท่านผู้เจริญ ในอดีตกาลได้มีสมณะหรือพราหมณ์พวกหนึ่งได้อิทธิวิธญาณ
หลายอย่าง เพราะเจริญ เพราะเพิ่มพูนอิทธิบาท ๔ ประการนี้ ในอนาคตกาลจักมี
สมณะหรือพราหมณ์พวกหนึ่งได้อิทธิวิธญาณหลายอย่าง เพราะเจริญ เพราะเพิ่ม
พูนอิทธิบาท ๔ ประการนี้ ในปัจจุบันก็มีสมณะหรือพราหมณ์พวกหนึ่งได้อิทธิ-
วิธญาณหลายอย่าง เพราะเจริญ เพราะเพิ่มพูนอิทธิบาท ๔ ประการนี้ พวกเทพ
ชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญไม่เห็นฤทธิ์และอานุภาพเช่นนี้ของเราหรือ’
พวกเทพชั้นดาวดึงส์กราบทูลว่า ‘เห็น พระเจ้าข้า’
สนังกุมารพรหมตรัสว่า ‘เรามีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้
ก็เพราะเจริญ เพราะเพิ่มพูนอิทธิบาท ๔ ประการนี้เหมือนกัน’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว จึงรับสั่งเรียก
พวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า

วิธีการบรรลุโอกาส ๓ ประการ

[๒๘๘] ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้วิธีการบรรลุ
โอกาส๑ (ช่องว่าง) ๓ ประการ ก็เพียงเพื่อให้ถึงความสุข

เชิงอรรถ :
๑โอกาส ในที่นี้หมายถึงภาวะที่ปลอดจากกิเลสต่าง ๆ ได้แก่ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ สัญญาเวทยิตนิโรธ ๑
และอรหัตตมรรค แต่ละภาวะก็ปลอดจากกิเลสต่างกัน เช่น ปฐมฌานปลอดจากนิวรณ์ ๕ จตุตถฌาน
ปลอดจากสุขและทุกข์ วิธีการบรรลุโอกาสที่ ๑ หมายถึงการบรรลุปฐมฌาน วิธีการบรรลุโอกาสที่ ๒
หมายถึงการบรรลุจตุตถฌาน วิธีการบรรลุโอกาสที่ ๓ หมายถึงการบรรลุอรหัตตมรรค (ที.ม.อ. ๒๘๘/
๒๕๕, องฺ.นวก.ฏีกา. ๓/๓๗/๓๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] วิธีการบรรลุโอกาส ๓ ประการ

วิธีการบรรลุโอกาส ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้ยังเกี่ยวข้องด้วยกาม เกี่ยวข้องด้วยอกุศล-
ธรรมอยู่ ต่อมาเขาฟังธรรมของพระอริยะ มนสิการโดย
แยบคาย๑ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เขาอาศัยการฟังธรรม
ของพระอริยะ อาศัยการมนสิการโดยแยบคาย อาศัยการปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม ไม่เกี่ยวข้องด้วย
อกุศลธรรม สุขย่อมเกิดขึ้น โสมนัสยิ่งกว่าสุขย่อมเกิดขึ้น
แก่เขาผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม ไม่เกี่ยวข้องด้วยอกุศลธรรม
ท่านผู้เจริญ ความปราโมทย์ เกิดจากความเบิกบานใจ แม้ฉันใด
สุขย่อมเกิดขึ้น โสมนัสยิ่งกว่าสุขย่อมเกิดขึ้น (จากความบันเทิงใจ)
แก่เขาผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม ไม่เกี่ยวข้องด้วยอกุศลธรรมอยู่
ฉันนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้วิธีการบรรลุโอกาสที่ ๑ นี้
เพื่อให้ถึงความสุข
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้มีกายสังขาร๒อย่างหยาบยังไม่สงบระงับ
มีวจีสังขาร๓อย่างหยาบยังไม่สงบระงับ มีจิตตสังขาร๔อย่าง
หยาบยังไม่สงบระงับ ต่อมา เขาฟังธรรมของพระอริยะ
มนสิการโดยแยบคาย ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เขาอาศัย
การฟังธรรมของพระอริยะ อาศัยการมนสิการโดยแยบคาย
อาศัยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม กายสังขารอย่างหยาบ

เชิงอรรถ :
๑ มนสิการโดยแยบคาย หมายถึงการคิดถูกวิธี (อุปายมนสิการ) และการคิดถูกทาง (ปถมนสิการ) (ที.ม.อ.
๒๘๘/๒๕๔)
๒ กายสังขาร แปลว่าสภาพปรุงแต่งกาย คือ ลมหายใจเข้า-ออก (ที.ม.อ. ๒๘๘/๒๕๕, ที.ม.ฏีกา ๒/๒๘๘/
๒๖๔)
๓ วจีสังขาร แปลว่าสภาพปรุงแต่งวาจา คือ วิตก วิจาร (ที.ม.อ. ๒๘๘/๒๕๕, ที.ม.ฏีกา ๒/๒๘๘/๒๖๔)
๔ จิตตสังขาร แปลว่าสภาพปรุงแต่งจิต คือ เวทนา สัญญา (ที.ม.อ. ๒๘๘/๒๕๕, ที.ม.ฏีกา ๒/๒๘๘/๒๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] วิธีการบรรลุโอกาส ๓ ประการ

ย่อมสงบระงับ วจีสังขารอย่างหยาบย่อมสงบระงับ จิตตสังขาร
อย่างหยาบย่อมสงบระงับ เพราะกายสังขารอย่างหยาบสงบ
ระงับ วจีสังขารอย่างหยาบย่อมสงบระงับ จิตตสังขารอย่าง
หยาบย่อมสงบระงับ สุขย่อมเกิดขึ้น โสมนัสยิ่งกว่าสุขย่อม
เกิดขึ้นแก่เขา ท่านผู้เจริญ ความปราโมทย์เกิดจากความ
เบิกบานใจ แม้ฉันใด ท่านผู้เจริญ เพราะกายสังขารอย่างหยาบ
สงบระงับ เพราะวจีสังขารอย่างหยาบสงบระงับ เพราะจิตต-
สังขารอย่างหยาบสงบระงับ สุขย่อมเกิดขึ้น โสมนัสยิ่งกว่าสุข
ย่อมเกิดขึ้น ฉันนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้วิธีการบรรลุโอกาส
ที่ ๒ นี้ เพื่อให้ถึงความสุข
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นกุศล’
ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นอกุศล’ ไม่รู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งมีโทษ’ ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘นี้เป็นสิ่งไม่มีโทษ’ ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่ง
ควรเสพ’ ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งไม่ควรเสพ’
ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งเลว’ ไม่รู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งประณีต’ ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘นี้เป็นสิ่งดำ สิ่งขาว และสิ่งมีส่วนเปรียบ๑’ ต่อมาเขาฟังธรรม
ของพระอริยะ มนสิการโดยแยบคาย ปฏิบัติธรรมสมควรแก่
ธรรม เขาอาศัยการฟังธรรมของพระอริยะ อาศัยการมนสิการ
โดยแยบคาย อาศัยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อม
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นกุศล’ ย่อมรู้ชัดตามความเป็น
จริงว่า ‘นี้เป็นอกุศล’ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่ง
มีโทษ’ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งไม่มีโทษ’ ย่อม

เชิงอรรถ :
๑ สิ่งมีส่วนเปรียบ ในที่นี้หมายถึงสิ่งทั้งหลาย ยกเว้นนิพพานเรียกว่า สิ่งมีส่วนเปรียบ (ที.ม.อ. ๒๘๘/๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] สติปัฏฐาน ๔ ประการ

รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งควรเสพ’ ย่อมรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งไม่ควรเสพ’ ย่อมรู้ชัดตามความเป็น
จริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งเลว’ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่ง
ประณีต’ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้เป็นสิ่งดำ สิ่งขาว
และสิ่งมีส่วนเปรียบ’ เมื่อเขารู้เห็นอย่างนี้ ย่อมละอวิชชาได้
วิชชาย่อมเกิดขึ้น เพราะอวิชชาดับลง เพราะวิชชาเกิดขึ้น สุข
ย่อมเกิดขึ้น โสมนัสยิ่งกว่าสุขย่อมเกิดขึ้น ท่านผู้เจริญ ความ
ปราโมทย์เกิดจากความเบิกบานใจ แม้ฉันใด เพราะอวิชชาดับลง
เพราะวิชชาเกิดขึ้น สุขย่อมเกิดขึ้น โสมนัส ยิ่งกว่าสุขย่อมเกิดขึ้น
ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้วิธีการบรรลุโอกาส
ที่ ๓ นี้ เพื่อให้ถึงความสุข
ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ-
เจ้าพระองค์นั้น ทรงรู้วิธีการบรรลุโอกาส ๓ ประการนี้แล เพื่อให้ถึงความสุข’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว จึงตรัสต่อไปว่า

สติปัฏฐาน ๔ ประการ

[๒๘๙] ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พระผู้มี
พระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงบัญญัติ
สติปัฏฐาน ๔ ประการนี้ แม้ที่ทรงบัญญัติไว้อย่างดี ก็เพียงเพื่อให้บรรลุกุศลธรรม
สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ภิกษุนั้นเมื่อพิจารณา
เห็นกายในกายภายในอยู่ ย่อมตั้งจิตมั่นโดยชอบ ย่อมผ่องใส
โดยชอบในกายานุปัสสนานั้น ภิกษุนั้นตั้งจิตมั่นโดยชอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] สติปัฏฐาน ๔ ประการ

ผ่องใสโดยชอบในกายานุปัสสนานั้นแล้ว ก็ย่อมบังเกิดมีญาณ-
ทัสสนะ๑ในกายอื่นภายนอก
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายภายในอยู่ มีความเพียร
มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ภิกษุ
นั้นเมื่อพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายภายในอยู่ ย่อมตั้ง
จิตมั่นโดยชอบ ย่อมผ่องใสโดยชอบในเวทนานุปัสสนานั้น ภิกษุ
นั้นตั้งจิตมั่นโดยชอบ ผ่องใสโดยชอบในเวทนานุปัสสนานั้นแล้ว
ก็ย่อมบังเกิดมีญาณทัสสนะในเวทนาอื่นภายนอก
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตภายในอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ภิกษุนั้นเมื่อพิจารณา
เห็นจิตในจิตภายในอยู่ ย่อมตั้งจิตมั่นโดยชอบ ย่อมผ่องใสโดย
ชอบในจิตตานุปัสสนานั้น ภิกษุนั้นตั้งจิตมั่นโดยชอบ ผ่องใส
โดยชอบในจิตตานุปัสสนานั้นแล้วก็ย่อมบังเกิดมีญาณทัสสนะ
ในจิตอื่นภายนอก
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ มีความเพียร
มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ภิกษุ
นั้นเมื่อพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ ย่อมตั้ง
จิตมั่นโดยชอบ ย่อมผ่องใสโดยชอบในธัมมานุปัสสนานั้น ภิกษุ
นั้นตั้งจิตมั่นโดยชอบ ผ่องใสโดยชอบในธัมมานุปัสสนานั้นแล้ว
ก็ย่อมบังเกิดมีญาณทัสสนะในธรรมอื่นภายนอก

เชิงอรรถ :
๑ ญาณทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงความรู้และความเห็นตามความเป็นจริง อาจเรียกว่า มรรคญาณ ผลญาณ
สัพพัญญุตญาณ ปัจจเวกขณญาณ หรือวิปัสสนาญาณ ก็ได้ (ที.สี.อ. ๒๓๔/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการ

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงบัญญัติสติปัฏฐาน ๔ ประการนี้แล เพื่อให้บรรลุ
กุศลธรรม’
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว จึงตรัสต่อไปว่า

บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการ๑

[๒๙๐] ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงบัญญัติบริขารแห่ง
สมาธิ๒ ๗ ประการนี้ แม้ที่ทรงบัญญัติอย่างดี ก็เพียงเพื่อความเจริญ เพื่อความ
บริบูรณ์แห่งสัมมาสมาธิ
บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)___๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)___๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)___๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย สภาวะที่จิตมีอารมณ์เดียวซึ่งมีองค์ ๗ ประการนี้แวดล้อม
เรียกว่า ‘อริยสัมมาสมาธิที่มีอุปนิสะ๓’ บ้าง ว่า ‘อริยสัมมาสมาธิที่มีบริขาร’ บ้าง
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้มีสัมมาทิฏฐิ จึงมีสัมมาสังกัปปะ ผู้มีสัมมาสังกัปปะ
จึงมีสัมมาวาจา ผู้มีสัมมาวาจา จึงมีสัมมากัมมันตะ ผู้มีสัมมากัมมันตะ จึงมี
สัมมาอาชีวะ ผู้มีสัมมาอาชีวะ จึงมีสัมมาวายามะ ผู้มีสัมมาวายามะ จึงมีสัมมาสติ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๑, สํ.ม. (แปล) ๑๙/๒๘/๒๘, องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๔๕/๖๘
๒ บริขารแห่งสมาธิ ในที่นี้หมายถึงบริวาร หรือองค์ประกอบของมรรคสมาธิ (ที.ม.อ. ๒๙๐/๒๕๗, องฺ.สตฺตก
อ. ๓/๔๔-๔๕/๑๘๒)
๓ อุปนิสะ หมายถึงอุปนิสัย ในที่นี้ได้แก่หมวดธรรมที่เป็นเหตุทำหน้าที่ร่วมกัน (ที.ม.อ. ๒๙๐/๒๕๗, ที.ม.ฏีกา
๒๙๐/๒๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการ

ผู้มีสัมมาสติ จึงมีสัมมาสมาธิ ผู้มีสัมมาสมาธิ จึงมีสัมมาญาณะ ผู้มีสัมมาญาณะ
จึงมีสัมมาวิมุตติ
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าวถึงองค์ธรรมใดว่า
‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง
ไม่ประกอบด้วยกาล๑ ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้
เฉพาะตน’ ประตูแห่งอมตะจึงจะชื่อว่าเปิดแล้ว บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องพึงกล่าว
ถึงองค์ธรรมที่ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้แลว่า
‘พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง
ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้
เฉพาะตน’ ประตูแห่งอมตะจึงจะชื่อว่าเปิดแล้ว
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชนเหล่าใดประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหว
ในพระพุทธ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ประกอบด้วย
ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ชนเหล่านี้
เป็นโอปปาติกะ เป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำ(ให้ตั้งอยู่)ในธรรมแล้ว เป็นชาว
มคธ มีจำนวนมากกว่า ๒,๔๐๐,๐๐๐ คน ผู้เคยบำรุงพระรัตนตรัยล่วงลับดับชีพ
ไปแล้วเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความ
แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า อนึ่ง ในชนจำนวนนั้น ผู้ที่เป็นพระสกทา-
คามีก็มีอยู่
ข้าพเจ้ากลัวการพูดเท็จจึงไม่อาจคิดคำนวณว่า
‘ในจำนวนนั้น เหล่าชนนอกนี้๒
เป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ๓ (นั้นด้วยหรือไม่)’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๕๘ หน้า ๑๐๓ ในเล่มนี้
๒ เหล่าชนนอกนี หมายถึงพระอนาคามี (ที.ม.อ. ๒๙๐/๒๕๗)
๓ เป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ หมายถึงบังเกิดแล้วด้วยส่วนแห่งบุญ (ที. ม.อ. ๒๙๐/๒๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๕. ชนวนสภสูตร] บริขารแห่งสมาธิ ๗ ประการ

[๒๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว เมื่อสนัง-
กุมารพรหมตรัสเนื้อความนี้อยู่ ท้าวเวสวัณมหาราชทรงดำริอย่างนี้ว่า ‘น่าอัศจรรย์
จริง ไม่เคยปรากฏ จักมีพระศาสดาผู้ยิ่งเช่นนี้ จักมีการแสดงธรรมที่ยิ่งเช่นนี้
จักปรากฏการบรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งเช่นนี้’ ลำดับนั้น สนังกุมารพรหม ทรงทราบ
พระดำริของท้าวเวสวัณมหาราชด้วยพระทัย จึงตรัสกับท้าวเวสวัณมหาราชดังนี้ว่า
‘เวสวัณมหาราชผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ในอดีตกาลก็ได้มีพระศาสดาผู้ยิ่ง
เช่นนี้ ได้มีการแสดงธรรมที่ยิ่งเช่นนี้ ได้ปรากฏการบรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งเช่นนี้ ถึงใน
อนาคตกาลก็จักมีพระศาสดาผู้ยิ่งเช่นนี้ จักมีการแสดงธรรมที่ยิ่งเช่นนี้ จักปรากฏ
การบรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งเช่นนี้’
[๒๙๒] สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้แก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว
ท้าวเวสวัณมหาราชทรงนำเนื้อความนี้ที่ได้ทรงสดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ของ
สนังกุมารพรหมผู้ตรัสแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสบอกแก่บริษัทของพระองค์
ชนวสภยักษ์นำเนื้อความนี้ที่ได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ของท้าวเวสวัณมหาราชที่
ตรัสแก่บริษัทของพระองค์มากราบทูลแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ทรง
สดับรับเนื้อความนี้มาเฉพาะหน้าของชนวสภยักษ์ด้วย ทรงรู้แจ้งด้วยพระองค์เองด้วย
แล้วตรัสบอกแก่ท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์ได้สดับรับเนื้อความนั้นมาเฉพาะ
พระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคแล้วบอกแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย
พรหมจรรย์๑นี้นั้น จึงบริบูรณ์กว้างขวาง แพร่หลาย รู้จักกันโดยมาก มั่นคงดี กระทั่ง
เทพและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้’

ชนวสภสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เทวสภา

๖. มหาโควินทสูตร
ว่าด้วยมหาโควินทพราหมณ์

[๒๙๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์
ครั้งนั้น ปัญจสิขะ คันธรรพบุตร เมื่อราตรีผ่านไป๑มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมี
ให้สว่างไปทั่วภูเขาคิชฌกูฏ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์จะขอกราบทูลข้อความที่ได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพวกเทพชั้นดาวดึงส์
แด่พระผู้มีพระภาค” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เชิญบอกเราเถิด ปัญจสิขะ”

เทวสภา๒

[๒๙๔] ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อ
หลายวันมาแล้ว ในคืนเพ็ญวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันปวารณา พวกเทพชั้น
ดาวดึงส์ทั้งสิ้นนั่งประชุมกันในสุธัมมาเทวสภา มีเทพบริษัทมากมายนั่งอยู่โดยรอบ
ท้าวจาตุมหาราชประทับอยู่ในทิศทั้ง ๔ คือ
๑. ทิศตะวันออกมีท้าวธตรฐมหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไป
ทางทิศตะวันตก มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า
๒. ทิศใต้มีท้าววิรุฬหกมหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทาง
ทิศเหนือ มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า
๓. ทิศตะวันตกมีท้าววิรูปักษ์มหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไป
ทางทิศตะวันออก มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า
๔. ทิศเหนือมีท้าวเวสวัณมหาราช ประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทาง
ทิศใต้ มีพวกเทพอยู่เบื้องหน้า

เชิงอรรถ :
๑ เมื่อราตรีผ่านไป หมายถึงปฐมยาม คือยามที่หนึ่งผ่านไป (ในคืนหนึ่งแบ่งเป็น ๓ ยาม ยามละ ๔ ชั่วโมง
เรียก ปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม ตามลำดับ) (ที.ม.อ. ๒๙๓/๒๕๙)
๒ ดูเทียบข้อ ๒๘๒ หน้า ๒๑๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เทวสภา

เมื่อครั้งที่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งสิ้นนั่งประชุมกันในสุธัมมาเทวสภา มีพวก
เทพบริษัทมากมายนั่งอยู่โดยรอบ มีท้าวจาตุมหาราชประทับอยู่ในทิศทั้ง ๔ นี้เป็น
ธรรมเนียมในการนั่งของท้าวจาตุมหาราช ข้างหลังถัดออกมาเป็นที่นั่งของข้าพระองค์
ทั้งหลาย
เทพเหล่านั้นประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคแล้ว เดี๋ยวนี้เกิดในสวรรค์
ชั้นดาวดึงส์ รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ นัยว่า ด้วยเหตุนั้น พวกเทพ
ชั้นดาวดึงส์จึงมีใจยินดี เบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัสว่า ‘ท่านทั้งหลาย หมู่เทพ
เจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง๑’
[๒๙๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบความ
เลื่อมใสของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ จึงทรงอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกเทพชั้นดาวดึงส์
มีพระอินทร์เป็นประธาน
ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม
เมื่อเห็นเทพเหล่าใหม่ผู้มีวรรณะและยศ
ผู้เคยประพฤติพรหมจรรย์ในพระสุคต ซึ่งมา ณ ที่นี้ (ด้วย)
ก็พากันบันเทิงใจนัก
เทพเหล่านั้นเป็นสาวก
ของพระผู้มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน
ทั้งหมดเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ
รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นในที่นี้
ด้วยวรรณะ ยศ และอายุ
พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นประธาน
ครั้นเห็นเหตุนี้แล้วพากันเพลิดเพลิน
ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นัยว่า เพราะเหตุนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์จึงมีใจยินดี
เบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัส สุดจะประมาณได้ กล่าวว่า ‘ท่านทั้งหลาย หมู่เทพ
เจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๒๘๒ หน้า ๒๑๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

[๒๙๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบ
ความเลื่อมใสของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ จึงรับสั่งเรียกพวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า
‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ท่านปรารถนาจะฟังพระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ
ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นไหม’ พวกเทพชั้นดาวดึงส์กราบทูลว่า ‘พวก
ข้าพระองค์ปรารถนาจะฟังพระคุณตามความเป็นจริงของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
พระเจ้าข้า’ ทีนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงประกาศพระคุณตามความเป็นจริง
๘ ประการ ของพระผู้มีพระภาคแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ว่า
‘เทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
๑. ตราบเท่าที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูล
แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรง
ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อ
อนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น
(ใครอื่น)นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
๒. พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะ
พึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู
ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน เราไม่เคยเห็น
พระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงแสดงธรรมที่ควร
น้อมเข้ามาอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น)
นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
๓. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า ‘นี้เป็นกุศล’
ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า ‘นี้เป็นอกุศล’ ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า
‘นี้เป็นสิ่งมีโทษ’ ‘นี้เป็นสิ่งไม่มีโทษ’ ‘นี้เป็นสิ่งควรเสพ’ ‘นี้เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

สิ่งไม่ควรเสพ’ ‘นี้เป็นสิ่งเลว’ ‘นี้เป็นสิ่งประณีต’ ‘นี้เป็นสิ่งดำ
สิ่งขาวและสิ่งมีส่วนเปรียบ’ เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบ
ด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงบัญญัติธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศล
เป็นสิ่งมีโทษ เป็นสิ่งไม่มีโทษ เป็นสิ่งควรเสพ เป็นสิ่งไม่ควรเสพ
เป็นสิ่งเลว เป็นสิ่งประณีต เป็นสิ่งดำ สิ่งขาว และสิ่งมีส่วน
เปรียบอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น)
นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
๔. ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรง
บัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย พระนิพพานและข้อปฏิบัติ
ย่อมเหมาะสมกัน น้ำจากแม่น้ำคงคากับน้ำจากแม่น้ำยมุนา
ย่อมกลมกลืนกันได้ เข้ากันได้ แม้ฉันใด ข้อปฏิบัติที่ให้ถึง
พระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว
แก่สาวกทั้งหลาย พระนิพพานและข้อปฏิบัติย่อมเหมาะสมกัน
ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วย
องค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงบัญญัติข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพานอย่างนี้
ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจากพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น
๕. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงได้พระเสขะทั้งหลายผู้ยังต้อง
ปฏิบัติและพระขีณาสพทั้งหลายผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้วเป็น
พระสหาย (แต่) ไม่ทรงติดท่านเหล่านั้น ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรม
ที่ยินดีการอยู่ผู้เดียว เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วย
องค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมที่ยินดีการอยู่ผู้เดียว
อย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจาก
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
๖. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงมีลาภเกิดขึ้นมากมาย ทรงมี
คำสรรเสริญเกิดขึ้นแพร่หลาย เห็นจะเทียบกับกษัตริย์ทั้งหลาย
ผู้มีพระสิริโฉมสง่าน่ารัก แต่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสวย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

พระกระยาหารอย่างปราศจากความมัวเมา เราไม่เคยเห็นพระ
ศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ เสวยพระกระยาหาร
อย่างปราศจากความมัวเมาอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้
เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
๗. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงมีปกติตรัสอย่างไรก็ทรงทำ
อย่างนั้น ทรงมีปกติทำอย่างไรก็ตรัสอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น
จึงชื่อว่าเป็นผู้ทรงมีปกติตรัสอย่างไรก็ทรงทำอย่างนั้น ทรงมีปกติ
ทำอย่างไรก็ตรัสอย่างนั้น๑ เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบ
ด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ ผู้ทรงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อย่างนี้
ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจากพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น
๘. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงข้ามความสงสัย ปราศจาก
ความแคลงใจ ผู้จบสิ้นความดำริด้วยอาทิพรหมจรรย์อันเป็นไป
ตามอัชฌาสัย เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณ
แม้เช่นนี้ ผู้ทรงข้ามความสงสัย ปราศจากความแคลงใจ จบสิ้น
ความดำริด้วยอาทิพรหมจรรย์อันเป็นไปตามอัชฌาสัยอย่างนี้
ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น) นอกจากพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น’
[๒๙๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพทรงประกาศพระคุณตาม
ความเป็นจริง ๘ ประการนี้ของพระผู้มีพระภาคแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ นัยว่า
เพราะการประกาศนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์ครั้นสดับพระคุณตามความเป็นจริง ๘
ประการของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงมีใจยินดี เบิกบานใจ เกิดปีติและโสมนัส
สุดจะประมาณได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในจำนวนเทพเหล่านั้น เทพบางเหล่ากล่าวอย่างนี้ว่า
‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๔ พระองค์
และทรงแสดงธรรมเหมือนพระผู้มีพระภาคเถิดหนอ (เพราะ) การเสด็จอุบัติขึ้นและ

เชิงอรรถ :
๑ คำนี้แปลมาจากคำบาลีว่า ยถาวาที ตถาการี ยถาการี ตถาวาที หมายถึงมีปกติตรัสอย่างที่ทรงทำ
และทรงทำอย่างที่ตรัส (ที.ม.อ. ๒๙๖/๒๖๙) และดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๓/๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

การแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข
แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’
เทพบางเหล่ากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๔ พระองค์ จงยกไว้ก่อนเถิด ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก
๓ พระองค์ และทรงแสดงธรรมเหมือนพระผู้มีพระภาคเถิดหนอ(เพราะ)การเสด็จอุบัติขึ้น
และการแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คน
หมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’
เทพบางเหล่ากล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓
พระองค์ จงยกไว้ก่อนเถิด ขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ๒ พระองค์
และทรงแสดงธรรมเหมือนพระผู้มีพระภาคเถิดหนอ (เพราะ) การเสด็จอุบัติขึ้นและ
การแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข
แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’
[๒๙๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพวกเทพชั้นดาวดึงส์กล่าวอย่างนี้แล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพตรัสแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ดังนี้ว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
นั่นไม่ใช่ฐานะ๑ ไม่ใช่โอกาส ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์จะเสด็จ
อุบัติขึ้นในโลกธาตุเดียวกัน๒ ไม่ก่อนไม่หลัง (พร้อมกัน) ฐานะอย่างนี้มีไม่ได้เลย
ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ขอให้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงมีโรคาพาธน้อย
ดำรงอยู่ยิ่งยืนนานเถิดหนอ (เพราะ) การที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงดำรงอยู่
ยิ่งยืนนานจะเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์
ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล แม้ท้าวจาตุมหาราชได้รับคำบอกเล่าเรื่องที่
เป็นเหตุให้พวกเทพชั้นดาวดึงส์ต้องมานั่งประชุมคิดพิจารณากันในสุธัมมาเทวสภาแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ใช่ฐานะ หมายถึงเหตุการณ์ที่มีไม่ได้หรือเป็นไปไม่ได้ (ที.ม.อ. ๒๙๘/๒๗๑)
๒ ดูเทียบ ม.อุ. ๑๔/๑๒๙/๑๑๕, องฺ.เอกก. (แปล) ๒๐/๒๗๗/๓๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เรื่องสนังกุมารพรหม

ก็ยังดำเนินการในเรื่องนั้นอยู่ ทั้งได้รับคำแนะนำที่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ตามพร่ำสอน
เฉพาะแล้ว ก็ทรงดำเนินการในเรื่องนั้นอยู่ และต่างยังคงประทับยืนอยู่ ณ ที่ประทับ
ของตน ๆ ไม่ยอมจากไป
ท้าวจาตุมหาราชเหล่านั้น
ได้รับคำบอกแล้ว ทั้งได้รับคำแนะนำแล้ว
จึงมีพระทัยผ่องใส ประทับยืนสงบอยู่
ณ ที่ประทับของตน ๆ
[๒๙๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้นแล ได้เกิดแสงสว่างเจิดจ้าขึ้นทางทิศเหนือ
ปรากฏโอภาสเกินเทวานุภาพของเทพทั้งหลาย ทีนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งเรียก
พวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย มีนิมิตที่สังเกตได้ (คือ) แสงสว่าง
เกิดขึ้น โอภาสปรากฏขึ้น พระพรหมก็จะปรากฏองค์ขึ้น เพราะการที่แสงสว่างเกิดขึ้น
โอภาสปรากฏขึ้นนี้ จัดเป็นบุพนิมิตแห่งการปรากฏของพระพรหม’
เมื่อมีนิมิตที่สังเกตได้
พระพรหมก็จะปรากฏองค์ขึ้น
เพราะโอภาสอันเจิดจ้ายิ่ง
เป็นนิมิตแห่งพระพรหม

เรื่องสนังกุมารพรหม๑

[๓๐๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์นั่งอยู่บน
อาสนะของตน ๆ กล่าวว่า ‘พวกเราจักรู้โอภาสนั้น เมื่อรู้ชัดผลที่ปรากฏแล้วจึง
จะไป’ แม้ท้าวจาตุมหาราชประทับนั่งอยู่บนที่ประทับของตน ๆ ก็กล่าวว่า ‘พวกเรา
จักรู้โอภาสนั้น เมื่อรู้ชัดผลที่ปรากฏแล้วจึงจะไป’ พวกเทพชั้นดาวดึงส์สดับเรื่องนี้
แล้วเข้าฌานสงบอยู่ด้วยคิดว่า ‘พวกเราจักรู้โอภาสนั้น เมื่อรู้ชัดผลที่ปรากฏแล้วจึง
จะไป’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์
พระองค์ทรงเนรมิตอัตภาพให้หยาบปรากฏขึ้น เพราะรูปร่างปกติของพรหมไม่อาจ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๒๘๔ หน้า ๒๑๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เรื่องสนังกุมารพรหม

ปรากฏในคลองจักษุของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวก
เทพชั้นดาวดึงส์ พระองค์ก็รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ ร่างกายที่เป็น
ทองคำ ย่อมงดงามเกินร่างกายมนุษย์ ฉันใด เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวก
เทพชั้นดาวดึงส์ พระองค์ก็รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ ฉันนั้น
เหมือนกัน เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ ในเทพบริษัทนั้น
เทพบางองค์ไม่ไหว้ ไม่ต้อนรับ ไม่เชิญด้วยอาสนะ ทั้งหมดพากันนั่งขัดสมาธิ
ประนมมือนิ่งอยู่ด้วยคิดว่า ‘บัดนี้ สนังกุมารพรหมจะประทับนั่งบนบัลลังก์ของเทพ
ที่พระองค์ปรารถนา’
สนังกุมารพรหมประทับนั่งบนบัลลังก์ของเทพองค์ใด เทพองค์นั้นได้
ความยินดีอย่างยิ่ง ได้ความโสมนัสอย่างยิ่ง ผู้กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
เพิ่งจะได้ครองราชย์ ทรงได้ความยินดีอย่างยิ่ง ได้ความโสมนัสอย่างยิ่ง ฉันใด
สนังกุมารพรหมประทับนั่งบนบัลลังก์ของเทพองค์ใด เทพองค์นั้นก็ได้ความยินดี
อย่างยิ่ง ได้ความโสมนัสอย่างยิ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน จากนั้น เมื่อสนังกุมารพรหม
ทรงทราบความเลื่อมใสของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ ก็ทรงหายตัวแล้วอนุโมทนาด้วยคาถา
เหล่านี้ว่า
‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกเทพชั้นดาวดึงส์
มีพระอินทร์เป็นประธาน
ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม
เมื่อเห็นเทพเหล่าใหม่ผู้มีวรรณะและยศ
ผู้เคยประพฤติพรหมจรรย์ในพระสุคต ซึ่งมา ณ ที่นี้ (ด้วย)
ก็พากันบันเทิงใจนัก
เทพเหล่านั้นเป็นสาวก
ของพระผู้มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน
ทั้งหมดเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ
รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นในที่นี้
ด้วยวรรณะ ยศ และอายุ
พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นประธาน
ครั้นเห็นเหตุนี้แล้วพากันเพลิดเพลิน
ถวายนมัสการพระตถาคตและความดีของพระธรรม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

เสียงของสนังกุมารพรหม

[๓๐๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สนังกุมารพรหมได้ตรัสเนื้อความนี้ ขณะที่
สนังกุมารพรหมตรัสเนื้อความนี้มีเสียงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ (๑) แจ่มใส
(๒) ชัดเจน (๓) นุ่มนวล (๔) ชวนฟัง (๕) กลมกล่อม (๖) ไม่พร่า (๗) ลึกซึ้ง
(๘) กังวาน สนังกุมารพรหมเปล่งเสียงให้รู้กันเฉพาะในบริษัทเท่านั้น เสียงของ
สนังกุมารพรหมนั้นไม่ได้ดังออกไปภายนอกบริษัท ผู้มีเสียงประกอบด้วยองค์ ๘
ประการอย่างนี้เรียกว่า ‘มีเสียงเหมือนเสียงพรหม’’
ครั้งนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้ทูลสนังกุมารพรหมดังนี้ว่า ‘ขอโอกาสเถิด
ท่านท้าวมหาพรหม พวกเราทราบเนื้อความนี้แล้วจึงเบิกบานใจ อนึ่ง ท้าวสักกะ
จอมเทพได้ตรัสพระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการของพระผู้มีพระภาคไว้ พวก
เราทราบแล้วก็เบิกบานใจ’

พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ๑

[๓๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้น สนังกุมารพรหมได้ตรัสกับท้าวสักกะ
จอมเทพดังนี้ว่า ‘ขอโอกาสเถิด ท่านจอมเทพ เราก็ควรได้ฟังพระคุณตามความ
เป็นจริง ๘ ประการของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นบ้าง’ ท้าวสักกะจอมเทพทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว ทรงประกาศพระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการแก่สนังกุมารพรหมว่า
‘ท้าวมหาพรหมผู้เจริญเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร’’
๑. ตราบเท่าที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูล
แก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรง
ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อ
อนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดา
และมนุษย์ทั้งหลายในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น (ใครอื่น)
นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๒๙๖ หน้า ๒๒๙ ในเล่มนี้
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

๒. พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะ
พึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู
ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน เราไม่เคยเห็น
พระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงแสดงธรรมที่ควร
น้อมเข้ามาอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น)
นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
๓. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า ‘นี้เป็นกุศล’
ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า ‘นี้เป็นอกุศล’ ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วว่า
‘นี้เป็นสิ่งมีโทษ’ ‘นี้เป็นสิ่งไม่มีโทษ’ ‘นี้เป็นสิ่งควรเสพ’ ‘นี้เป็น
สิ่งไม่ควรเสพ’ ‘นี้เป็นสิ่งเลว’ ‘นี้เป็นสิ่งประณีต’ ‘นี้เป็นสิ่งดำ
เป็นสิ่งขาว และเป็นสิ่งไม่มีสิ่งเปรียบ’ เราไม่เคยเห็นพระศาสดา
ผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ ผู้ทรงบัญญัติธรรมเป็นกุศล
เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่มีโทษ เป็นสิ่งไม่มีโทษ เป็นสิ่งควรเสพ
เป็นสิ่งไม่ควรเสพ เป็นสิ่งเลว เป็นสิ่งประณีต เป็นสิ่งดำ
เป็นสิ่งขาว และเป็นสิ่งไม่มีสิ่งเปรียบอย่างนี้ในอดีตกาลเลย
ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น
๔. ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรง
บัญญัติไว้ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย พระนิพพานและข้อปฏิบัติ
ย่อมเหมาะสมกัน เปรียบเหมือนน้ำจากแม่น้ำคงคากับน้ำจาก
แม่น้ำยมุนาย่อมกลมกลืนกันได้ เข้ากันได้ แม้ฉันใด ข้อปฏิบัติ
ที่ให้ถึงพระนิพพานที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงบัญญัติไว้
ดีแล้วแก่สาวกทั้งหลาย พระนิพพานและข้อปฏิบัติย่อมเหมาะ
สมกัน ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบ
ด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงบัญญัติข้อปฏิบัติที่ให้ถึงพระนิพพาน
อย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจาก
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
พระคุณตามความเป็นจริง ๘ ประการ

๕. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงได้พระเสขะทั้งหลายผู้ยังต้อง
ปฏิบัติและพระขีณาสพทั้งหลายผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้วเป็น
พระสหาย (แต่) ไม่ทรงติดท่านเหล่านั้น ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรม
ที่ยินดีการอยู่ผู้เดียว เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วย
องค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมที่ยินดีการอยู่ผู้เดียว
อย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจาก
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
๖. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงมีลาภเกิดขึ้นมากมาย ทรงมี
คำสรรเสริญเกิดขึ้นแพร่หลาย เห็นจะเทียบกับกษัตริย์ทั้งหลาย
ผู้มีพระสิริโฉมสง่าน่ารัก แต่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสวยพระ
กระยาหารอย่างปราศจากความมัวเมา เราไม่เคยเห็นพระศาสดา
ผู้ประกอบด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ เสวยพระกระยาหารอย่าง
ปราศจากความมัวเมาอย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็
ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
๗. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงมีปกติตรัสอย่างไรก็ทรงทำ
อย่างนั้น ทรงมีปกติทำอย่างไรก็ตรัสอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น
จึงชื่อว่าเป็นผู้ทรงมีปกติตรัสอย่างไรก็ทรงทำอย่างนั้น ทรงมี
ปกติทำอย่างไรก็ตรัสอย่างนั้น เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบ
ด้วยองค์คุณแม้เช่นนี้ผู้ทรงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอย่างนี้
ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจากพระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น
๘. พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงข้ามความสงสัย ปราศจาก
ความแคลงใจ ผู้จบสิ้นความดำริด้วยอาทิพรหมจรรย์ อันเป็น
ไปตามอัชฌาสัย เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์
คุณแม้เช่นนี้ ผู้ทรงข้ามความสงสัย ปราศจากความแคลงใจ
จบสิ้นความดำริด้วยอาทิพรหมจรรย์อันเป็นไปตามอัชฌาสัย
อย่างนี้ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้เราก็ไม่เห็น(ใครอื่น) นอกจาก
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เรื่องโควินทพราหมณ์

[๓๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะจอมเทพทรงประกาศพระคุณตาม
ความเป็นจริง ๘ ประการนี้ของพระผู้มีพระภาคแก่สนังกุมารพรหมแล้ว นัยว่า
เพราะการประกาศนั้น สนังกุมารพรหมครั้นทรงสดับพระคุณตามความเป็นจริง ๘
ประการของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงมีพระทัยยินดี เบิกบาน เกิดปีติและโสมนัส
จากนั้น สนังกุมารพรหมทรงเนรมิตอัตภาพให้หยาบเป็นกุมารรูปเช่นกับ
ปัญจสิขะ คันธรรพบุตร ปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ แล้วเหาะขึ้นบนอากาศ
ประทับนั่งขัดสมาธิในอากาศ บนที่ว่างกลางอากาศเหมือนบุรุษมีกำลังนั่งขัดสมาธิ
บนบัลลังก์ที่ปูลาดไว้ดีแล้ว หรือบนพื้นที่ราบเรียบเสมอกันฉะนั้น แล้วรับสั่งเรียก
พวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า

เรื่องโควินทพราหมณ์

[๓๐๔] ‘เทพชั้นดาวดึงส์ผู้เจริญทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นทรงเป็นผู้มีปัญญามากมานานเพียงไร
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพระราชาพระองค์หนึ่งพระนามว่า
ทิสัมบดี พราหมณ์ชื่อว่าโควินทะ๑เป็นปุโรหิตของพระเจ้าทิสัมบดี พระราชกุมาร
พระนามว่าเรณุเป็นราชบุตรของพระเจ้าทิสัมบดี มาณพชื่อว่าโชติปาละเป็นบุตรของ
โควินทพราหมณ์ เพราะเหตุนั้น บุคคลเหล่านี้คือ พระราชบุตรเรณุ โชติปาลมาณพ
และกษัตริย์อีก ๖ พระองค์รวมเป็น ๘ คน ได้เป็นสหายกัน ครั้นเมื่อวันคืนผ่านไป
โควินทพราหมณ์ได้ดับชีพ ครั้นโควินทพราหมณ์ดับชีพแล้ว พระเจ้าทิสัมบดีทรงเพ้อ
รำพันว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โควินทพราหมณ์ได้ดับชีพเสียในเวลาที่เรามอบ
ราชกิจทั้งปวงไว้แล้ว (เรา) เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕’
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีตรัสอย่างนั้น พระราชบุตรเรณุ
กราบทูลพระเจ้าทิสัมบดีดังนี้ว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อโควินทพราหมณ์
ได้ดับชีพ ขอพระองค์อย่าทรงเพ้อรำพันให้มากไปเลย ยังมีโชติปาลมาณพ บุตรของ
โควินทพราหมณ์ เป็นผู้ฉลาดกว่าบิดา และสามารถเล็งเห็นอรรถคดีได้ดีกว่าบิดา

เชิงอรรถ :
๑ โควินทะ ไม่ใช่ชื่อตัว เป็นชื่อตำแหน่ง หรือฐานันดรศักดิ์ของผู้ดำรงตำแหน่งปุโรหิต เช่นเดียวกับชาณุสโสณิ
(ที.ม.อ. ๓๐๔/๒๗๓) ดู ม.มู.อ. ๑/๓๔/๑๙ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เรื่องมหาโควินทะ

ของเขาเสียอีกยัง เขาสามารถถวายคำปรึกษาอรรถคดีอย่างที่บิดาของเขาได้ถวายคำ
ปรึกษา’
พระเจ้าทิสัมบดีตรัสถามว่า ‘อย่างนั้นหรือ ลูก’
พระราชบุตรเรณุทูลตอบว่า ‘อย่างนั้น พระเจ้าข้า’

เรื่องมหาโควินทะ

[๓๐๕] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ลำดับนั้น พระเจ้าทิสัมบดีรับสั่งเรียกราชบุรุษ
คนหนึ่งมาตรัสว่า ‘มานี่พ่อหนุ่ม เธอจงเข้าไปหาโชติปาลมาณพถึงที่อยู่ บอกกับ
โชติปาลมาณพอย่างนี้ว่า ‘ขอให้โชติปาลมาณพมีความสุข ความเจริญ พระเจ้าทิสัมบดี
รับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้า พระเจ้าทิสัมบดีมีพระราชประสงค์จะพบท่าน’
ราชบุรุษนั้นทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว เข้าไปหาโชติปาลมาณพถึงที่อยู่
บอกเขาดังนี้ว่า ‘ขอให้ท่านโชติปาลมาณพมีความสุข ความเจริญ พระเจ้าทิสัมบดี
รับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้า พระเจ้าทิสัมบดีมีพระราชประสงค์จะพบท่าน’
โชติปาลมาณพรับคำแล้ว เข้าไปเฝ้าพระเจ้าทิสัมบดีถึงที่ประทับ ได้กราบทูล
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ให้ทรงระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ ที่
สมควร พระเจ้าทิสัมบดีได้ตรัสกับโชติปาลมาณพดังนี้ว่า ‘ท่านโชติปาลมาณพ
จงให้คำปรึกษาเราเถิด อย่าปฏิเสธการให้คำปรึกษาเราเลย เราจะแต่งตั้งท่านให้
ดำรงตำแหน่งแทนบิดา จะทำพิธีอภิเษกไว้ในตำแหน่งโควินทพราหมณ’ โชติปาลมาณพ
ทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระเจ้าทิสัมบดีทรงประกอบพระราชพิธีอภิเษกโชติปาลมาณพไว้
ในตำแหน่งโควินทะ ทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนบิดา
โชติปาลมาณพผู้ได้รับอภิเษกแต่งตั้งในตำแหน่งแทนบิดา ได้ถวายคำปรึกษา
อรรถคดีที่บิดาเคยถวายคำปรึกษา ถวายคำปรึกษาอรรถคดีที่บิดาไม่เคยถวายคำ
ปรึกษา จัดแจงการงานที่บิดาเคยจัดแจง จัดแจงการงานที่บิดาไม่เคยจัดแจง
ชาวบ้านจึงเรียกโชติปาลมาณพว่า ‘ท่านโควินทพราหมณ์ผู้เจริญ ท่านโควินท-
พราหมณ์ผู้เจริญ’ เพราะเหตุนี้แหละ โชติปาลมาณพจึงเกิดมีสมญาว่า ‘โควินทะ
มหาโควินทะ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] การแบ่งราชสมบัติ

การแบ่งราชสมบัติ

[๓๐๖] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าเฝ้า
กษัตริย์ ๖ พระองค์ถึงที่ประทับแล้ว กราบทูลกษัตริย์ ๖ พระองค์นั้นดังนี้ว่า
‘ขอเดชะฝ่าพระบาท พระเจ้าทิสัมบดีทรงชรา ทรงแก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยไป
โดยลำดับ ใครจะรู้(ชะตา)ชีวิต ข้อที่พวกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการจะพึงอภิเษก
พระราชบุตรเรณุขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้วนั้นเป็นไป
ได้แน่นอน ขอท่านผู้เจริญเสด็จมาเถิด จงพากันไปเข้าเฝ้าพระราชบุตรเรณุถึงที่
ประทับแล้ว กราบทูลอย่างนี้ว่า ‘พวกหม่อมฉันเป็นพระสหายที่รัก ที่ถูกพระทัย
ที่โปรดปรานของท่านเรณุ เมื่อท่านเรณุเป็นสุข พวกหม่อมฉันก็เป็นสุขด้วย เมื่อท่าน
เรณุเป็นทุกข์ พวกหม่อมฉันก็เป็นทุกข์ด้วย พระเจ้าทิสัมบดีทรงชรา ทรงแก่เฒ่า
ล่วงกาลผ่านวัยไปโดยลำดับ ใครจะรู้(ชะตา)ชีวิต ข้อที่พวกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการ
จะพึงอภิเษกท่านเรณุขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้วนั้นเป็น
ไปได้แน่นอน ถ้าท่านเรณุได้ครองราชย์ ขอจงทรงแบ่งราชสมบัติให้พวกหม่อมฉันบ้าง’
กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้นทรงรับคำของมหาโควินทพราหมณ์แล้วเข้าไปเฝ้า
ราชบุตรเรณุถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘พวกหม่อมฉันเป็นสหายที่รัก ที่ถูก
พระทัย ที่โปรดปรานของท่านเรณุ เมื่อท่านเรณุเป็นสุข พวกหม่อมฉันก็เป็นสุขด้วย
เมื่อท่านเรณุเป็นทุกข์ พวกหม่อมฉันก็เป็นทุกข์ด้วย พระเจ้าทิสัมบดีทรงชรา ทรงแก่เฒ่า
ล่วงกาลผ่านวัยไปโดยลำดับ ใครจะรู้(ชะตา)ชีวิต ข้อที่พวกอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการ
จะพึงอภิเษกท่านเรณุขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้วนั้น
เป็นไปได้แน่นอน ถ้าท่านเรณุได้ครองราชย์ ขอจงทรงแบ่งราชสมบัติให้พวกหม่อมฉัน
บ้าง’ พระราชบุตรเรณุตรัสตอบว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ในแว่นแคว้นของเรา
ใครอื่นเล่าจะพึงมีความสุขนอกจากท่านทั้งหลาย ถ้าหม่อมฉันได้ครองราชย์ก็จะ
แบ่งราชสมบัติให้ท่านทั้งหลาย’
[๓๐๗] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมาครั้นวันคืนผ่านไป พระเจ้าทิสัมบดีสวรรคต
เมื่อท้าวเธอสวรรคต อำมาตย์ผู้สำเร็จราชการได้อภิเษกราชบุตรเรณุขึ้นเป็นพระเจ้า
แผ่นดิน ราชบุตรเรณุได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม
ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] การแบ่งราชสมบัติ

ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้ากษัตริย์ ๖ พระองค์นั้นถึงที่ประทับ
ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ พระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้ว พระราชบุตรเรณุได้รับ
อภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วย
กามคุณ ๕ ก็ใครเล่าจะรู้ว่ากามารมณ์เป็นเหตุให้หลงมัวเมา ขอพระองค์เสด็จ
มาเถิด ขอจงไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเรณุถึงที่ประทับแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘พระเจ้า
ทิสัมบดีสวรรคตแล้ว ท่านเรณุได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังทรงระลึกถึง
พระดำรัสนั้นได้อยู่หรือพระเจ้าข้า’
[๓๐๘] กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์นั้นทรงรับคำของท่านมหาโควินทพราหมณ์แล้ว
เข้าไปเฝ้าพระเจ้าเรณุถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘พระเจ้าทิสัมบดีสวรรคตแล้ว
ท่านเรณุได้รับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังทรงระลึกถึงพระดำรัสนั้นได้อยู่หรือ
พระเจ้าข้า’
พระเจ้าเรณุตรัสตอบว่า ‘ท่านผู้เจริญ เรายังระลึกถึงคำนั้นได้อยู่ ใครหนอจะ
สามารถแบ่งมหาปฐพีนี้ซึ่งทางทิศเหนือผายออกและทางทิศใต้สอบเข้าเหมือนส่วนหน้า
ของเกวียน ให้เป็นส่วนแบ่งอย่างดี ๗ ส่วนเท่า ๆ กัน’
กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ กราบทูลว่า ‘จะมีใครอื่นอีกเล่าที่สามารถแบ่งได้
นอกจากมหาโควินทพราหมณ์ พระเจ้าข้า’
ลำดับนั้น พระเจ้าเรณุรับสั่งเรียกราชบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘มาเถิด ท่าน
ผู้เจริญ จงเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ถึงที่อยู่แล้วบอกว่า ‘พระเจ้าเรณุรับสั่ง
เรียกหาท่าน’
ราชบุรุษนั้นทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ถึงที่อยู่
บอกว่า ‘พระเจ้าเรณุรับสั่งหาท่าน ขอรับ’
ท่านมหาโควินทพราหมณ์รับคำแล้ว ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเรณุถึงที่ประทับ ได้ทูล
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ให้ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร
พระเจ้าเรณุตรัสกับท่านมหาโควินทพราหมณ์ดังนี้ว่า ‘มาเถิด ท่านโควินทะ
จงแบ่งมหาปฐพีนี้ซึ่งทางทิศเหนือผายออกและทางทิศใต้สอบเข้าเหมือนส่วนหน้าของ
เกวียน ให้เป็นส่วนแบ่งอย่างดี ๗ ส่วนเท่า ๆ กัน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] การแบ่งราชสมบัติ

ท่านมหาโควินทพราหมณ์ทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว แบ่งมหาปฐพีนี้
ซึ่งทางทิศเหนือผายออกและทางทิศใต้สอบเข้าเหมือนส่วนหน้าของเกวียน ให้เป็น
ส่วนแบ่งอย่างดี ๗ ส่วนเท่า ๆ กัน สถาปนารัฐ(อาณาจักร)ทั้งหมดให้มีลักษณะ
เหมือนส่วนหน้าของเกวียน ทราบว่าในเนื้อที่เหล่านั้น ชนบท(มหาอาณาจักร)ของ
พระเจ้าเรณุอยู่ตรงกลางรัฐทั้งหมดนั้น (คือ)
[๓๐๙] ท่าน(มหา)โควินทะให้สร้างเมืองหลวงเหล่านี้ไว้ (คือ)
ให้สร้างกรุงทันตปุระ เป็นเมืองหลวงของรัฐกาลิงคะ
ให้สร้างกรุงโปตนะ เป็นเมืองหลวงของรัฐอัสสกะ
ให้สร้างกรุงมาหิสสติ เป็นเมืองหลวงของรัฐอวันตี
ให้สร้างกรุงโรรุกะ เป็นเมืองหลวงของรัฐโสวีรานะ
ให้สร้างกรุงมิถิลา เป็นเมืองหลวงของรัฐวิเทหะ
ให้สร้างกรุงจัมปา เป็นเมืองหลวงของรัฐอังคะ
ให้สร้างกรุงพาราณสี เป็นเมืองหลวงของรัฐกาสี
[๓๑๐] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ครั้งนั้น กษัตริย์ ๖ พระองค์ มีพระทัยยินดี
ด้วยลาภส่วนของพระองค์ มีพระดำริสำเร็จบริบูรณ์ว่า ‘สิ่งใดที่เราอยากได้ สิ่งใดที่
เราหวัง สิ่งใดที่เราประสงค์ สิ่งใดที่เราปรารถนาอย่างยิ่ง สิ่งนั้นเราได้แล้ว’
พระเจ้าสัตตภู พระเจ้าพรหมทัต
พระเจ้าเวสสภู พระเจ้าภรตะ
พระเจ้าเรณุ พระเจ้าธตรฐ ๒ พระองค์
รวมพระมหากษัตริย์ผู้ครองราชย์
ในเวลานั้นมี ๗ พระองค์๑

ภาณวารที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
กิตติคุณของมหาโควินทพราหมณ์

กิตติคุณของมหาโควินทพราหมณ์

[๓๑๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์เสด็จเข้าไป
หาท่านโควินทพราหมณ์ถึงที่อยู่ ได้ตรัสดังนี้ว่า ‘ขอท่านโควินทพราหมณ์จงเป็นสหาย
ที่รัก ที่ชอบใจ ที่โปรดปรานของพวกเราดังที่ท่านโควินทะเป็นสหายที่รัก ที่ชอบใจ
ที่โปรดปรานของพระเจ้าเรณุ ขอจงให้คำปรึกษาพวกเรา อย่าปฏิเสธการให้คำปรึกษา
พวกเราเลย’
มหาโควินทพราหมณ์ทูลรับสนองพระราชดำรัสของกษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์
เหล่านั้นผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์ถวายคำปรึกษาเกี่ยวกับราชกิจแด่กษัตราธิราช
ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ๗ พระองค์ ที่ตนต้องถวายคำปรึกษา และบอกมนตร์แก่
พราหมณมหาศาล ๗ คน และพราหมณ์นหาดก๑ ๗๐๐ คน
[๓๑๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ครั้นต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์มี
กิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมองเห็นพระ
พรหมได้ สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’
ครั้งนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์มีความดำริดังนี้ว่า ‘เรามีกิตติศัพท์อันงาม
ขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมองเห็นพระพรหมได้ สามารถ
สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ แต่เราไม่เคยเห็นพระพรหม ทั้งไม่เคย
สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย เราได้สดับคำของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า
ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌาน๒
ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน เขาจะเห็นพระพรหม สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’
ทางที่ดี เราควรหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่สัก ๔ เดือน’

เชิงอรรถ :
๑ พราหมณ์นหาดก ในที่นี้หมายถึงพราหมณ์ที่สำเร็จการศึกษา และได้ผ่านพิธีอาบน้ำเสร็จแล้ว (พ้นจากอา
ศรมที่ ๑ คือพรหมจารีแล้วเข้าสู่อาศรมที่ ๒ คือคฤหัสถ์ ตามคติของพราหมณ์ (ที.ม.อ. ๓๑๑/๒๗๖)
๒ กรุณาฌาน หมายถึงฌานที่ประกอบด้วยวิหารธรรม ๔ ประการ อันบุคคลเจริญโดยมีกรุณาเป็นตัวนำ
(ที.ม.อ. ๓๑๗/๒๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
กิตติคุณของมหาโควินทพราหมณ์

[๓๑๓] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จากนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้า
พระเจ้าเรณุถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ข้าพระองค์มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมอง
เห็นพระพรหมได้ สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ ข้าพระองค์
ไม่เคยเห็นพระพรหม ทั้งไม่เคยสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย แต่
ข้าพระองค์ได้สดับคำนี้ของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์
พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน เขาจะเห็น
พระพรหมได้ สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได‘’ ข้าพระองค์ปรารถนาจะ
หลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่สัก ๔ เดือนในฤดูฝน ใคร ๆ ไม่พึงเข้าไปหาข้าพระองค์
ยกเว้นคนที่นำอาหารไปให้คนเดียวเท่านั้น’
พระเจ้าเรณุรับสั่งว่า ‘โควินทะ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’
[๓๑๔] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จากนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้า
กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ข้าพระองค์มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมอง
เห็นพระพรหมได้ สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ แต่ข้าพระองค์
ไม่เคยเห็นพระพรหม ทั้งไม่เคยสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย แต่
ข้าพระองค์ได้สดับคำนี้ของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์
พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน เขาจะเห็น
พระพรหมได้ สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ ข้าพระองค์ปรารถนาจะ
หลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ใคร ๆ ไม่พึงเข้าไปหา
ข้าพระองค์ ยกเว้นคนที่นำอาหารไปให้คนเดียวเท่านั้น’
กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘โควินทะ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร
ณ บัดนี้เถิด’
[๓๑๕] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จากนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปหา
พราหมณมหาศาล ๗ คน และพราหมณ์นหาดก ๗๐๐ คนแล้วจึงได้กล่าวดังนี้ว่า
‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินท-
พราหมณ์ สามารถมองเห็นพระพรหมได้ สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
กิตติคุณของมหาโควินทพราหมณ์

พระพรหมได้’ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระพรหม ทั้งไม่เคยสนทนาปราศรัยกับ
พระพรหมเลย แต่ข้าพเจ้าได้สดับคำนี้ของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์
และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้นอยู่ เพ่งกรุณาฌานตลอด ๔ เดือนใน
ฤดูฝน เขาจะเห็นพระพรหมได้สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ ถ้าอย่างนั้น
พวกท่านจงสาธยายมนตร์ตามที่ได้สดับมาแล้ว ตามที่ได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร
และจงบอกมนตร์แก่กันและกัน ข้าพเจ้าปรารถนาจะหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่
ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ใคร ๆ ไม่พึงเข้าไปหาข้าพเจ้า ยกเว้นคนที่นำอาหารไปให้
คนเดียวเท่านั้น’
พวกพราหมณมหาศาลและพวกพราหมณ์นหาดกกล่าวว่า ‘ท่านโควินทะ
ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’
[๓๑๖] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จากนั้น ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปหา
ภรรยาผู้มีฐานะเท่ากัน ๔๐ คน ถึงที่อยู่ได้กล่าวดังนี้ว่า ‘นางผู้เจริญ ฉันมีกิตติศัพท์
อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘มหาโควินทพราหมณ์ สามารถมองเห็นพระพรหมได้
สามารถสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้’ ฉันไม่เคยเห็นพระพรหม ทั้งไม่
เคยสนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย แต่ฉันได้สดับคำนี้ของพราหมณ์ผู้แก่
ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้น เพ่งกรุณาฌาน
ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน เขาจะเห็นพระพรหมได้ สนทนาปราศรัยปรึกษากับ
พระพรหมได้’ ฉันปรารถนาจะหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน
ใคร ๆ ไม่พึงเข้าไปหาฉัน ยกเว้นคนที่นำอาหารไปให้คนเดียวเท่านั้น’
ภรรยาเหล่านั้นกล่าวว่า ‘ท่านโควินทะ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร
ณ บัดนี้เถิด’
[๓๑๗] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จากนั้น ท่านโควินทพราหมณ์จึงให้สร้าง
สัณฐาคารหลังใหม่ทางทิศตะวันออกแห่งเมืองแล้วหลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่
ตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน ไม่มีใคร ๆ เข้าไปหา นอกจากคนนำอาหารไปให้
คนเดียวเท่านั้น ครั้นเวลาล่วงไป ๔ เดือนแล้ว ท่านมหาโควินทพราหมณ์เกิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] การสนทนากับพระพรหม

ความระอาท้อแท้ว่า ‘เราได้สดับคำนี้ของพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้เป็นอาจารย์ และ
ผู้เป็นปาจารย์พูดกันว่า ‘บุคคลผู้หลีกเร้น เพ่งกรุณาฌานอยู่ตลอด ๔ เดือนใน
ฤดูฝน เขาจะเห็นพระพรหมได้ สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมได้ แต่เรายัง
ไม่เห็นพระพรหม ทั้งไม่ได้สนทนาปราศรัยปรึกษากับพระพรหมเลย’

การสนทนากับพระพรหม

[๓๑๘] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานั้น สนังกุมารพรหมทราบความคิดคำนึง
ของท่านมหาโควินทพราหมณ์ด้วยใจ ทรงหายไปจากพรหมโลกมาปรากฏเฉพาะหน้า
ท่านมหาโควินทพราหมณ์ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
ท่านมหาโควินทพราหมณ์เกิดความหวาดกลัวขนพองสยองเกล้า เพราะเห็นรูปที่
ไม่เคยเห็น ครั้นมหาโควินทพราหมณ์เกิดความหวาดสะดุ้งขนพองสยองเกล้าแล้ว
ได้กราบทูลสนังกุมารพรหมด้วยคาถาว่า
‘ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใคร
จึงมีวรรณะ ยศ และสิริ
ข้าพเจ้าไม่รู้จักท่านจึงขอถามว่า
ข้าพเจ้าจะรู้จักท่านได้อย่างไร’
สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยคาถาว่า
‘เทพทั้งปวงรู้จักเราดีว่า
เป็นกุมารตลอดกาลอยู่ในพรหมโลก
ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด โควินทะ’
ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลด้วยคาถาว่า
‘ข้าพเจ้าถวายของมีค่าเหล่านี้
คือ อาสนะ น้ำดื่ม น้ำมันทาเท้า
น้ำตาลเคี่ยว แด่พระพรหม
ขอท่านผู้เจริญจงรับของมีค่าของข้าพเจ้าเถิด‘๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๓๒/๔๗๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] การสนทนากับพระพรหม

สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยคาถาว่า
‘ท่านโควินทะ เรายอมรับของมีค่าของท่าน
ที่ท่านพูดถึง เราให้โอกาสท่านแล้ว
จงถามเรื่องใด ๆ ก็ได้ที่ท่านปรารถนาจะถาม
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลในปัจจุบันและเพื่อสุขในอนาคต’
[๓๑๙] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านมหาโควินทพราหมณ์มีความคิดดังนี้ว่า
‘สนังกุมารพรหมให้โอกาสแล้ว เราควรถามประโยชน์ในปัจจุบันหรือประโยชน์ใน
อนาคตกับท่านอย่างไหนหนอ’ คิดต่อไปอีกว่า ‘เราเป็นผู้ฉลาดเรื่องประโยชน์ใน
ปัจจุบัน แม้ชนเหล่าอื่นก็ถามประโยชน์ในปัจจุบันกับเรา ทางที่ดี เราควรถามถึง
ประโยชน์ในอนาคตกับสนังกุมารพรหม’ จึงกราบทูลสนังกุมารพรหมด้วยพระคาถาว่า
‘ข้าพเจ้ามีความสงสัยจะขอถามท่านสนังกุมารพรหม
ผู้ไม่มีความสงสัยในปัญหาที่ผู้อื่นสงสัยว่า
สัตว์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมอะไร ศึกษาอยู่ในธรรมอะไร
จึงจะถึงพรหมโลกอันเป็นอมตะได้’
สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า
‘พราหมณ์ ในหมู่มนุษย์
สัตว์ผู้ละความยึดถือว่าเป็นของเรา
เป็นผู้อยู่ผู้เดียว ผู้น้อมใจไปในกรุณา
ผู้ไม่มีกลิ่นชั่วร้าย เว้นจากเมถุน
สัตว์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมนี้ และศึกษาอยู่ในธรรมนี้
จึงจะถึงพรหมโลกอันเป็นอมตะได้’
[๓๒๐] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย มหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘คำของท่าน
ที่ว่า ‘ละความยึดถือว่าเป็นของเรา’ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ‘บุคคลบางคนในโลกนี้ละทิ้ง
กองโภคสมบัติน้อยใหญ่ และละเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ คำของท่านที่ว่า ‘ละความยึดถือว่า
เป็นของเรา’ ข้าพเจ้าเข้าใจดังว่ามานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] การสนทนากับพระพรหม

คำของท่านที่ว่า ‘เป็นผู้อยู่ผู้เดียว’ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ‘บุคคลบางคนในโลกนี้
อาศัยเสนาสนะอันสงัดคือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง
ลอมฟาง’ คำของท่านที่ว่า ‘เป็นผู้อยู่ผู้เดียว’ ข้าพเจ้าเข้าใจดังว่ามานี้
คำของท่านที่ว่า ‘ผู้น้อมใจไปในกรุณา’ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ‘บุคคลบางคนในโลก
นี้มีกรุณาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยกรุณาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่’ คำของ
ท่านที่ว่า ‘ผู้น้อมใจไปในกรุณา’ ข้าพเจ้าเข้าใจดังว่ามานี้
อนึ่ง เมื่อท่านผู้เจริญ พูดถึงกลิ่นชั่วร้ายอยู่ ข้าพเจ้าไม่รู้จัก(กลิ่นนั้น)’
มหาโควินทพราหมณ์ทูลถามด้วยคาถาว่า
‘ข้าแต่พรหม บรรดามนุษย์
พวกไหนมีกลิ่นชั่วร้าย
ข้าพเจ้าไม่รู้จักพวกนั้น
ขอท่านผู้เป็นปราชญ์ จงบอกมาในที่นี้เถิด
อะไรร้อยรัด หมู่สัตว์จึงเหม็นเน่าคลุ้ง
ต้องไปอบาย ปิดพรหมโลกแล้ว’
สนังกุมารพรหมตรัสตอบด้วยคาถาว่า
‘โกธะ (ความโกรธ) โมสวัชชะ (การพูดเท็จ)
นิกติ (การโกง) โทพภะ (การประทุษร้ายมิตร)
กทริยตา๑(ความตระหนี่) อติมานะ (ความดูหมิ่น)
อุสุยา (ความริษยา) อิจฉา (ความปรารถนา)
วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ปรเหฐนา (การเบียดเบียนผู้อื่น)
โลภะ (ความอยากได้) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)

เชิงอรรถ :
๑ กทริยตา ในที่นี้หมายถึงความตระหนี่จัด (ที.ม.อ. ๓๒๐/๒๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๘ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker