ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๗-๑ วินัยปิฎกที่ ๐๗ จุลวรรค ภาค ๒

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ

พระวินัยปิฎก
จูฬวรรค ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๕. ขุททกวัตถุขันธกะ

ขุททกวัตถุ
ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ

เรื่องพระฉัพพัคคีย์สรงน้ำขัดสีกายกับต้นไม้

[๒๔๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถาน
ที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์๑สรงน้ำขัดสีกาย
คือ ขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับต้นไม้
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงสรงน้ำขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับต้นไม้ เหมือน
พวกนักมวยปล้ำ เหมือนพวกลูกหลานชาวบ้านเล่า”๒

เชิงอรรถ :
๑ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ได้แก่ พวกภิกษุผู้ชอบประพฤติผิดมี ๖ รูป คือ พระปัณฑุกะ พระโลหิตกะ อยู่ในกรุง
สาวัตถี พระเมตติยะ พระภุมมชกะ อยู่ในกรุงราชคฤห์ พระอัสสชิ พระปุนัพพสุกะ เป็นคณาจารย์อยู่
ประจำในกีฏาคีรีชนบท แคว้นกาสี (ม.ม.อ. ๒/๑๗๕/๑๓๘)
๒ มลฺลมุฏฺ�ิกาติ มุฏฺ�ิกมลฺลา คำว่า มลฺลมุฏฺ�ิกา ได้แก่ พวกนักมวยปล้ำ คามปูฏวาติ ฉวิราคมณฺฑนา-
นุยุตฺตา นาคริกมนุสฺสา, คามโปตกาติ ปาโ�. คำว่า คามปูฏวา คือ พวกมนุษย์ชาวเมืองผู้หมกมุ่นอยู่กับ
การประดับ ย้อมผิว จะหมายถึงพวกลูกหลานชาวบ้านก็ได้ (วิ.อ.๓/๒๔๓/๓๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย
สันโดษ มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา จึงตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงสรงน้ำ ขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง
อกบ้าง หลังบ้างกับต้นไม้เล่า”๑
ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์สรงน้ำขัดสี
กาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับต้นไม้ จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษ
เหล่านั้นไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควร
ทำเลย ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงสรงน้ำขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง
อกบ้าง หลังบ้างกับต้นไม้เล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่
เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริงกลับ
จะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลาย
เป็นอื่นไป”
พระผู้มีพระภาคครั้นทรงตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วได้
ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษ ความคลุกคลี
ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย สันโดษ

เชิงอรรถ :
๑ บาลีเป็นประโยคเปยยาล แปลเต็มตามนัยแห่งวินัยปิฏกมหาวิภังค์ ๑/๓๙/๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ความขัดเกลา ความกำจัดกิเลส อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ
ความเพียรโดยประการต่าง ๆ ทรงแสดงธรรมีกถาให้เหมาะสม ให้คล้อยตามกับเรื่อง
นั้นแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะสรงน้ำ ไม่พึงขัดสีกาย
กับต้นไม้ รูปใดขัดสี ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์สรงน้ำขัดสีกายกับเสา
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สรงน้ำขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง
หลังบ้างกับเสา คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะ
เชื้อสายศากยบุตรจึงสรงน้ำขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับเสา
เหมือนพวกนักมวยปล้ำ เหมือนพวกลูกหลานชาวบ้านเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ
ครั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์สรงน้ำขัดสี
กาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับเสา จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น
จึงสรงน้ำขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับเสาเล่า ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะสรงน้ำ ไม่พึงขัดสีกายกับเสา รูปใดขัดสี
ต้องอาบัติทุกกฏ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๓ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์สรงน้ำขัดสีกายกับฝา
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สรงน้ำขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง
หลังบ้างกับฝา คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะ
เชื้อสายศากยบุตรจึงสรงน้ำขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับฝา
เหมือนพวกนักมวยปล้ำ เหมือนพวกลูกหลานชาวบ้านเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ
ครั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์สรงน้ำ ขัด
สีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับฝา จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษ
เหล่านั้นจึงสรงน้ำขัดสีกาย คือขาบ้าง แขนบ้าง อกบ้าง หลังบ้างกับฝาเล่า ภิกษุ
ทั้งหลาย การทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใสหรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่
แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะสรงน้ำ ไม่พึงขัดสีกายกับฝา รูปใด
ขัดสี ต้องอาบัติทุกกฏ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๔ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์สรงน้ำในที่ไม่สมควร
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เมื่อสรงน้ำ สรงน้ำในที่ไม่สมควร๑ คนทั้งหลายตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ
ครั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สรงน้ำในที่ที่
ไม่สมควร จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น
จึงสรงน้ำในที่ที่ไม่สมควรเล่า ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะสรงน้ำ ไม่พึงสรงในที่ที่ไม่สมควร
รูปใดสรง ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้มือที่ทำด้วยไม้หอมถูกายสรงน้ำเป็นต้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ใช้มือที่ทำด้วยไม้หอมถูกายสรงน้ำ๒ ฯลฯ คน
ทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”

เชิงอรรถ :
๑ ที่ไม่สมควร ในที่นี้หมายถึงเสาถูตัวคือต้นไม้ที่เขาถากเรียบคล้ายแผ่นกระดาน สกัดเป็นรอยดังกระดาน
หมากรุก ปัก ฝังไว้ที่ท่าอาบน้ำ พวกชาวบ้านนำจุรณมาโรยที่เสาถูตัวนั้นแล้วถูกายที่เสานั้น (วิ.อ. ๓/๒๔๓/
๓๐๒, วิ.สงฺคห. ๒๑/๔๙๕)
๒ คนฺธพฺพหตฺถก คือ มือที่ทำด้วยไม้ ได้แก่ มือที่ทำด้วยไม้ซึ่งเขาวางไว้ที่ท่าอาบน้ำ คนทั้งหลายใช้มือนั้น
ตักจุรณขัดสีกาย (วิ.อ. ๓/๒๔๓/๓๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้มือที่ทำด้วยไม้หอมถู
กายสรงน้ำ รูปใดใช้สรง ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สรงน้ำโดยใช้เชือกชุบจุรณศิลาสีเหมือนพลอย
แดง(ถูตัว) คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์
ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสรงน้ำโดยใช้เชือกชุบจุรณ
ศิลาสีเหมือนพลอยแดง(ถูกาย) รูปใดใช้สรง ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ต่างทำบริกรรมให้แก่กันและกัน๑ คนทั้งหลายจึง
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทำบริกรรมให้แก่กันและกัน
รูปใดถู ตัองอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ไม้บังเวียนจักเป็นฟันมังกรถูกายสรงน้ำ คน
ทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ไม้บังเวียนจักเป็นฟัน
มังกรถูกายสรงน้ำ รูปใดถู ต้องอาบัติทุกกฏ”

เชิงอรรถ :
๑ ทำบริกรรมแก่กันและกันในน้ำ ในที่นี้หมายถึงการขัดถูร่างกายให้กัน (วิ.สงฺคห. ๑๘๓/๒๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องภิกษุเป็นโรคหิด
[๒๔๔] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นโรคหิด ขาดไม้บังเวียนจักเป็นฟันมังกร ย่อม
ไม่มีความสบาย ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้บังเวียนที่ไม่จักเป็นฟัน
มังกรแก่ภิกษุผู้เป็นไข้”

เรื่องภิกษุทุพลภาพเพราะชรา
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งทุพลภาพเพราะชรา เมื่อสรงน้ำ ไม่สามารถจะถูกาย
ตนได้ ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเกลียวผ้า”

ทรงอนุญาตให้ใช้มือถูหลัง
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งยำเกรงที่จะถูหลัง ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้มือถูหลัง”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้เครื่องประดับชนิดต่าง ๆ
[๒๔๕] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้เครื่องประดับหู ... ใช้สร้อยสังวาล ...
ใช้สร้อยคอ ... ใช้เครื่องประดับเอว ... ใช้วลัย ... ใช้สร้อยตาบ ... ใช้เครื่องประดับข้อ
มือ ... ใช้แหวนสวมนิ้วมือ คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ
เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ
ครั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้เครื่องประดับหู ... ใช้สร้อยสังวาล ... ใช้สร้อยคอ ... ใช้เครื่อง
ประดับเอว ... ใช้วลัย ... ใช้สร้อยตาบ .... ใช้เครื่องประดับข้อมือ ... ใช้แหวนสวม
นิ้วมือ จริงหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถา
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้เครื่องประดับหู ... ไม่พึงใช้
สร้อยสังวาล ... ไม่พึงใช้สร้อยคอ ... ไม่พึงใช้เครื่องประดับเอว ... ไม่พึงใช้วลัย ... ไม่
พึงใช้สร้อยตาบ ... ไม่พึงใช้เครื่องประดับข้อมือ ... ไม่พึงใช้แหวนสวมนิ้วมือ รูปใดใช้
ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ไว้ผมยาว
[๒๔๖] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไว้ผมยาว
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภค
กาม” ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไว้ผมยาว รูปใดไว้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ไว้ผมยาวได้ ๒ เดือน หรือยาวได้
๒ นิ้ว”๑

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้แปรงหวีผมเป็นต้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้แปรงหวีผม ... ใช้หวีหวีผม ... ใช้นิ้วมือต่าง
หวีเสยผม ... ใช้น้ำมันผสมกับขี้ผึ้งเสยผม ... ใช้น้ำมันผสมกับน้ำเสยผม

เชิงอรรถ :
๑ ถ้าภายใน ๒ เดือน ผมยาวถึง ๒ นิ้ว พึงตัดภายใน ๒ เดือน ไม่ควรปล่อยให้ยาวเกิน ๒ นิ้ว หรือ
แม้ผมจะยังไม่ยาวก็ไม่ควรปล่อยไว้เกิน ๒ เดือนไปแม้แต่วันเดียว (วิ.อ. ๓/๒๔๖/๓๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภค
กาม” ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้แปรงหวีผม ... ไม่พึงใช้
หวีหวีผม ... ไม่พึงใช้นิ้วมือต่างหวีเสยผม ... ไม่พึงใช้น้ำมันผสมกับขี้ผึ้งเสยผม ... ไม่
พึงใช้น้ำมันผสมกับน้ำเสยผม รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ส่องดูเงาหน้า
[๒๔๗] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ส่องดูเงาหน้าที่คันฉ่องบ้าง ในภาชนะ
ใส่น้ำบ้าง คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้
บริโภคกาม” ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงดูเงาหน้าที่คันฉ่องหรือใน
ภาชนะใส่น้ำ รูปใดดู ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องภิกษุเป็นแผลที่หน้า
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นแผลที่หน้า ถามภิกษุทั้งหลายว่า “แผลของกระผม
เป็นอย่างไรขอรับ” ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “เป็นอย่างนี้ ๆ ขอรับ” ภิกษุนั้นไม่เชื่อ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาพาธเป็นปัจจัย เราอนุญาต
ให้ตรวจดูรอยตำหนิบนใบหน้าที่คันฉ่องหรือที่ภาชนะใส่น้ำได้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๙ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ทาหน้าเป็นต้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทาหน้า ... ถูหน้า ... ผัดหน้า ... เจิมหน้าด้วย
มโนศิลา๑... ย้อมตัว ... ย้อมหน้า ... ย้อมทั้งตัวและหน้า
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภค
กาม” ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทาหน้า ... ไม่พึงถูหน้า
... ไม่พึงผัดหน้า ... ไม่พึงเจิมหน้าด้วยมโนศิลา ... ไม่พึงย้อมตัว ... ไม่พึงย้อมหน้า
... ไม่พึงย้อมทั้งตัวและหน้า รูปใดย้อม ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องภิกษุอาพาธเป็นโรคตา
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคตา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาพาธเป็นปัจจัย เราอนุญาต
ให้ทาหน้าได้ ”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ดูมหรสพ
[๒๔๘] สมัยนั้น มีมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไป
เที่ยวดูมหรสพ
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงไปดูการฟ้อนรำบ้าง การขับร้องบ้าง การบรรเลงดนตรีบ้าง เหมือน
คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า” ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ มโนศิลา คือหินอ่อนที่ย่อยให้ละเอียดประสมเป็นสีทาสิ่งอื่นได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๐ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไปดูการฟ้อนรำ การ
ขับร้อง หรือการบรรเลงดนตรี รูปใดไปดู ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวดธรรมด้วยเสียงขับยาว
[๒๔๙] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สวดธรรมด้วยเสียงขับยาวคล้ายเพลงขับ
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงสวดธรรมด้วยเสียงขับยาว เหมือนพวกเราขับร้องเล่า” ภิกษุทั้งหลายได้ยิน
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงสวดธรรมด้วยเสียงขับยาวเล่า”
ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สวด
ธรรมด้วยเสียงขับยาว จริงหรือ” ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถาแล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สวดธรรมด้วยเสียงขับยาวมีโทษ ๕
ประการนี้ โทษ ๕ ประการคือ
๑. แม้ตนเองก็กำหนัดในเสียงนั้น
๒. แม้ผู้อื่นก็กำหนัดในเสียงนั้น
๓. แม้คหบดีทั้งหลายก็ตำหนิ
๔. เมื่อภิกษุพอใจการทำเสียง ความเสื่อมแห่งสมาธิย่อมมี
๕. ภิกษุรุ่นหลังจะพากันตามอย่าง

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๑ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้สวดธรรมด้วยเสียงขับยาว มีโทษ ๕ ประการนี้แล๑
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกล่าวธรรมด้วยเสียงขับยาว รูปใดสวด ต้องอาบัติ
ทุกกฏ”

เรื่องภิกษุสวดสรภัญญะ
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายยำเกรงในการสวดสรภัญญะ
ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการสวดเป็นทำนอง
สรภัญญะ”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าห่มขนสัตว์
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าห่มขนสัตว์ให้ด้านที่มีขนอยู่ด้านนอก คน
ทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ผ้าห่มขนสัตว์ให้ด้าน
ที่มีขนอยู่ด้านนอก รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ฉันมะม่วง
[๒๕๐] สมัยนั้น มะม่วงที่พระราชอุทยานของพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
กำลังออกผล พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐทรงอนุญาตว่า “ขอนิมนต์พระคุณเจ้า
ทั้งหลายฉันผลมะม่วงตามสบายเถิด”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สอยมะม่วงเลือกเอาเฉพาะผลอ่อน ๆ เท่านั้นมาฉัน

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๐๙/๓๕๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๒ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐมีพระราชประสงค์จะเสวยมะม่วง ลำดับนั้น
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ จึงรับสั่งเจ้าหน้าที่ทั้งหลายว่า “ท่านจงไปสวน
เก็บผลมะม่วงมา”
เจ้าหน้าที่เหล่านั้นรับพระราชดำรัสแล้วไปที่สวน บอกคนเฝ้าสวนว่า “นาย
พระราชามีพระราชประสงค์จะเสวยผลมะม่วง ท่านจงให้ผลมะม่วง”
คนเฝ้าสวนตอบว่า “มะม่วงไม่มี ภิกษุสอยผลอ่อน ๆ ไปฉันหมดแล้ว”
ครั้งนั้น เจ้าหน้าที่เหล่านั้นนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ
รัฐให้ทรงทราบ
ท้าวเธอตรัสว่า “ภิกษุฉันมะม่วงหมดก็ดีแล้ว แต่พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ
การรู้จักประมาณ”
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรไม่รู้จักประมาณ ฉันมะม่วงของพระราชาหมดเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ
ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันมะม่วง รูปใดฉัน ต้อง
อาบัติทุกกฏ”

เรื่องสมาคมถวายชิ้นมะม่วง
สมัยนั้น สมาคมหนึ่งถวายสังฆภัต ใส่ชิ้นผลมะม่วงในกับข้าว ภิกษุทั้งหลาย
ยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรับประเคนฉันเถิด ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตมะม่วงเป็นชิ้น ๆ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๓ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องผลไม้ที่สมควรแก่สมณะ
สมัยนั้น สมาคมหนึ่งถวายสังฆภัต พวกเขาไม่รู้จักทำมะม่วงเป็นชิ้น ๆ จึงนำ
เข้าไปในโรงอาหารทั้งผล ภิกษุทั้งหลาย ยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรับประเคนฉันได้ ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันผลไม้ที่สมควรแก่สมณะ ๕ อย่าง คือ
๑. ผลไม้ที่ลนไฟ ๒. ผลไม้ที่กรีดด้วยศัสตรา
๓. ผลไม้ที่จิกด้วยเล็บ ๔. ผลไม้ที่ไม่มีเมล็ด
๕. ผลไม้ที่ปล้อนเอาเมล็ดออกแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันผลไม้ที่สมควรแก่สมณะ ๕ อย่างนี้แล”

เรื่องภิกษุถูกงูกัด ๑
[๒๕๑] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัดถึงแก่มรณภาพ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นคงจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตให้
ตระกูลพญางู ๔ ตระกูล เพราะถ้าภิกษุนั้นแผ่เมตตาจิตให้ตระกูลพญางู ๔ ตระกูลนี้
ภิกษุนั้นก็จะไม่ถูกงูกัดถึงแก่มรณภาพ

ตระกูลพญางูทั้ง ๔
ตระกูลพญางู ๔ ตระกูล คือ
๑. ตระกูลพญางูชื่อวิรูปักษ์ ๒. ตระกูลพญางูชื่อเอราปถะ
๓. ตระกูลพญางูชื่อฉัพยาบุตร ๔. ตระกูลพญางูชื่อกัณหาโคตมกะ

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๖๗/๑๑๐-๑๑๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๔ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นคงจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตให้ตระกูลพญางู ๔ ตระกูลนี้
เพราะถ้าภิกษุนั้นแผ่เมตตาจิตให้ตระกูลพญางู ๔ ตระกูลนี้ ภิกษุนั้นจะไม่ถูกงูกัด
ถึงแก่มรณภาพ
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแผ่เมตตาจิตให้ตระกูลพญางู ๔ ตระกูลนี้
เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน

วิธีแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงแผ่เมตตาอย่างนี้
เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูวิรูปักษ์
เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูเอราปถะ
เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูฉัพยาบุตร
เราขอมีเมตตาต่อตระกูลพญางูกัณหาโคตมกะ
เราขอมีเมตตาต่อเหล่าสัตว์ที่ไม่มีเท้า
เราขอมีเมตตาต่อเหล่าสัตว์สองเท้า
เราขอมีเมตตาต่อเหล่าสัตว์สี่เท้า
เราขอมีเมตตาต่อเหล่าสัตว์หลายเท้า
สัตว์ไม่มีเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์สองเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์สี่เท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
สัตว์หลายเท้าอย่าได้เบียดเบียนเรา
ขอสรรพสัตว์ที่มีลมหายใจ
ขอสรรพสัตว์ที่ยังมีชีวิตทั้งมวล จงประสบกับความเจริญ
ความเลวร้ายอย่าได้มาแผ้วพานสัตว์ใด ๆ เลย
พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้ พระธรรมมีพระคุณหาประมาณมิได้
พระสงฆ์มีพระคุณหาประมาณมิได้ สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คือ งู แมงป่อง ตะขาบ
แมงมุม ตุ๊กแก หนู มีคุณพอประมาณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๕ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เราทำการรักษาแล้ว ทำการป้องกันแล้ว ขอหมู่สัตว์ผู้มีชีวิตจงหลีกไป เรานั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาค ขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์“๑

เรื่องภิกษุตัดองคชาต
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งถูกความไม่ยินดีบีบคั้น ได้ตัดองคชาตของตน ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษนั้น เมื่อสิ่งอื่นที่ควรตัด
มีอยู่ กลับไปตัดอีกสิ่งหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงตัดองคชาตของตน รูปใดตัด
ต้องอาบัติถุลลัจจัย”

เรื่องบาตรไม้จันทน์
[๒๕๒] สมัยนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์มีปุ่มแก่นจันทน์มีค่ามาก ครั้งนั้นแล
ท่านเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ถ้ากระไร เราจะให้กลึงปุ่มไม้จันทน์
นี้เป็นบาตร ผงไม้จันทน์ที่เหลือจะเก็บไว้ใช้แล้วให้บาตรเป็นทาน”
ลำดับนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ให้กลึงปุ่มไม้จันทน์นั้นเป็นบาตร ใส่สาแหรก
แขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่โดยผูกต่อ ๆ กันขึ้นไปแล้วประกาศอย่างนี้ว่า “สมณะหรือพราหมณ์
รูปใดที่เป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ จงเหาะขึ้นไปปลดบาตรที่เราให้แล้วนำไปเถิด”
ครั้งนั้น เจ้าลัทธิปูรณกัสสปะเข้าไปหาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว
ได้กล่าวกับเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ดังนี้ว่า “คหบดี อาตมานี่แหละเป็นพระอรหันต์
และมีฤทธิ์ ท่านโปรดให้บาตรแก่อาตมาเถิด”
เศรษฐีตอบว่า “ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์มีฤทธิ์ก็จงเหาะขึ้นไปปลดบาตรที่เราให้
แล้วเองเถิด”

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ชา.(แปล) ๒๗/๑๐๕-๑๐๖/๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๖ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ครั้งนั้น เจ้าลัทธิมักขลิโคสาล ... เจ้าลัทธิอชิตเกสกัมพล ... เจ้าลัทธิปกุธ-
กัจจายนะ ... เจ้าลัทธิสัญชัยเวลัฏฐบุตร ... เจ้าลัทธินิครนถ์นาฏบุตรเข้าไปหาเศรษฐี
ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกับเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ดังนี้ว่า “คหบดี อาตมานี่แหละ
เป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ท่านโปรดให้บาตรแก่อาตมาเถิด”
เศรษฐีตอบว่า “ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์มีฤทธิ์ก็จงเหาะขึ้นไปปลดบาตรที่เราให้
แล้วเองเถิด”
ครั้นเช้าวันหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะกับท่านพระปิณโฑลภารทวาชะครอง
อันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์
แม้ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะเป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์ แม้ท่านพระมหา
โมคคัลลานะก็เป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์เช่นกัน
ครั้งนั้น ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะกล่าวกับท่านพระมหาโมคคัลลานะดังนี้ว่า
“ท่านโมคคัลลานะ ท่านเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ท่านจงไปปลดบาตรใบนั้นลงมาเถิด
นั่นคือบาตรของท่าน”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า “ท่านปิณโฑลภารทวาชะ ท่านเป็นพระอรหันต์
และเป็นผู้มีฤทธิ์ ท่านจงไปปลดบาตรใบนั้นลงมาเถิด นั่นบาตรของท่าน”
ลำดับนั้น ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะได้เหาะขึ้นสู่ท้องฟ้าถือบาตรนั้นลอย
เวียนไปรอบกรุงราชคฤห์ ๓ รอบ ขณะนั้น เศรษฐีพร้อมกับบุตรภรรยายืนอยู่ในบ้าน
ของตนประนมมือไหว้พลางนิมนต์ว่า “ท่านภารทวาชะ ท่านโปรดแวะหยุดในบ้านของ
พวกเราเถิด”
ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะแวะหยุดในบ้านของท่านเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์
ลำดับนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์รับบาตรจากมือท่านพระปิณโฑลภารทวาชะแล้ว
บรรจุของเคี้ยวมีค่ามากจนเต็มบาตรแล้วได้ถวายท่าน ครั้งนั้น ท่านพระปิณโฑล-
ภารทวาชะรับบาตรแล้วกลับไปอาราม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๗ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
คนทั้งหลายได้ทราบว่า “พระคุณเจ้าปิณโฑลภารทวาชะปลดบาตรของท่านเศรษฐี
ชาวกรุงราชคฤห์ลงมาแล้ว” จึงพากันส่งเสียงอึกทึกกึกก้องพากันติดตามท่านพระ
ปิณโฑลภารทวาชะไป
พระผู้มีพระภาคทรงสดับเสียงอึกทึกกึกก้องนั้น จึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์
มารับสั่งถามว่า “อานนท์ นั่นเสียงอึกทึกกึกก้องอะไร”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะเหาะขึ้นไปปลด
บาตรของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ คนทั้งหลายได้ทราบข่าวว่า ‘‘พระคุณเจ้าปิณโฑล-
ภารทวาชะปลดบาตรของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ลงมาแล้ว’ จึงพากันส่งเสียงอึกทึก
กึกก้อง พากันติดตามท่านพระปิณโฑลภารทวาชะไป นี่คือเสียงอึกทึกกึกก้องนั้น
พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ตรัส
ถามท่านพระปิณโฑลภารทวาชะว่า “ภารทวาชะ ทราบว่าเธอปลดบาตรของเศรษฐี
ชาวกรุงราชคฤห์ลงมา จริงหรือ”
พระปิณโฑลภารทวาชะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงห้ามใช้บาตรไม้
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภารทวาชะ การกระทำของเธอไม่สมควร
ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ภารทวาชะ
ไฉนเธอจึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นอุตตริมนุสสธรรม๑ แก่คนทั้งหลายเพราะเหตุ
แห่งบาตรไม้ไม่มีค่าเล่า การที่เธอแสดงปาฏิหาริย์เพราะเหตุแห่งบาตรไม้ที่ไม่มีค่า

เชิงอรรถ :
๑ อุตตริมนุสสธรรม ดูรายละเอียดใน วิ.มหา. (แปล) ๑/๑๙๘/๑๘๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๘ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เปรียบเหมือนกับมาตุคามแสดงของที่ควรปกปิดเพราะเห็นแก่เงินตราเล็กน้อยฉะนั้น
ภารทวาชะ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้น
ทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุไม่พึงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นอุตตริมนุสสธรรมแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย รูปใด
แสดง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงทำลายบาตรใบนั้น บดให้ละเอียด
แล้วใช้เป็นยาหยอดตาของภิกษุ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บาตรไม้ รูปใดใช้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้บาตรชนิดต่าง ๆ
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้บาตรชนิดต่าง ๆ คือ บาตรทองคำ บาตรเงิน
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุเหล่านั้นจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บาตรทองคำ ... ไม่พึงใช้
บาตรเงิน ... ไม่พึงใช้บาตรแก้วมณี ... ไม่พึงใช้บาตรแก้วไพฑูรย์ ... ไม่พึงใช้บาตร
แก้วผลึก ... ไม่พึงใช้บาตรสัมฤทธิ์ ... ไม่พึงใช้บาตรกระจก ... ไม่พึงใช้บาตรดีบุก
... ไม่พึงใช้บาตรตะกั่ว ... ไม่พึงใช้บาตรทองแดง รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตบาตร ๒ ชนิด คือ บาตรเหล็ก บาตรดิน”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้เชิงบาตรชนิดต่าง ๆ
[๒๕๓] สมัยนั้น ก้นบาตรสึกหรอ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชิงบาตร”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้เชิงบาตรชนิดต่าง ๆ คือ ทำด้วยทอง ทำด้วย
เงิน คนทั้งหลาย ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภค
กาม”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๙ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้เชิงบาตรชนิดต่าง ๆ
รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชิงบาตร ๒ ชนิด คือ ทำ
ด้วยดีบุก ทำด้วยตะกั่ว”
เชิงบาตรหนาไม่เหมาะกับก้นบาตร ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้กลึงเชิงรองบาตร”
เชิงรองบาตรกลึงแล้วก็ยังไม่เรียบ ฯลฯ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จักเป็นฟันมังกร”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้เชิงรองบาตรสวยงามตระการตา มีลวดลาย
เป็นรูปภาพ เที่ยวเดินอวดไปตามถนน คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้เชิงรองบาตรสวยงาม
ตระการตา มีลวดลายเป็นรูปภาพ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตเชิงรองบาตรชนิดธรรมดา”

เรื่องการเก็บรักษาบาตร
[๒๕๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรไว้ทั้งที่ยังไม่แห้ง บาตรเหม็นอับ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเก็บบาตรไว้ทั้งที่ยังไม่แห้ง
รูปใดเก็บไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เอาบาตรผึ่งแดดก่อน
แล้วจึงค่อยเก็บ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๐ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเอาบาตรผึ่งแดดไว้ทั้งที่ยังมีน้ำ บาตรมีกลิ่นเหม็น
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเอาบาตรผึ่งแดดทั้งที่ยัง
มีน้ำ รูปใดเอาผึ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เช็ดบาตรเสียก่อน
แล้วจึงค่อยผึ่งแดดเก็บไว้”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายวางบาตรไว้ในที่ร้อน ผิวบาตรเสีย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงวางบาตรไว้ในที่ร้อน รูป
ใดวาง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เอาบาตรผึ่งแดดไว้ในที่ร้อน
สักชั่วครู่แล้วจึงค่อยเก็บ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายวางบาตรจำนวนมากที่ไม่มีเชิงรองไว้ในที่แจ้ง บาตรถูก
ลมพายุพัดกลิ้งตกแตก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตที่วางบาตร”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายวางบาตรไว้ที่ริมตั่งไม้๑ บาตรกลิ้งตกแตก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงวางบาตรไว้ที่ริมตั่งไม้ รูปใด
วางไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายวางบาตรไว้ที่ริมตั่งไม้เล็กนอกฝา บาตร กลิ้งตกแตก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงวางบาตรไว้ที่ริมตั่งไม้เล็ก
นอกฝา รูปใดวาง ต้องอาบัติทุกกฏ”

เชิงอรรถ :
๑ มีรูปทรงคล้ายแท่นบูชาทำด้วยไม้หรือดินเหนียวเหมือนเตียง วางไว้อยู่ตามระเบียง (วิ.อ. ๓/๒๕๔/๓๐๖,
วิมติ.ฏีกา ๒/๒๙๖/๓๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๑ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายคว่ำบาตรไว้ที่พื้นดิน ขอบบาตรสึกหรอ ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้หญ้ารอง”
หญ้าที่รองถูกปลวกกัด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ท่อนผ้ารอง”
ท่อนผ้าถูกปลวกกัด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตชั้นวางบาตร”
บาตรกลิ้งตกจากชั้นวางแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้หม้อปากกว้างเก็บ
บาตร”
บาตรครูดสีกับหม้อปากกว้าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ถลกบาตร”
สายโยกไม่มี ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสายโยกเป็นด้ายถัก”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายแขวนบาตรไว้ที่ไม้เดือยข้างฝาบ้าง ที่งาช้างบ้าง บาตร
พลัดตกแตก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงแขวนบาตรไว้ รูปใดแขวนไว้
ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๒ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรไว้บนเตียง เผลอสตินั่งทับบาตรแตก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเก็บบาตรไว้บนเตียง รูปใด
เก็บไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรไว้บนตั่ง เผลอสตินั่งทับบาตรแตก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเก็บบาตรไว้บนตั่ง รูปใด
เก็บไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรไว้บนตัก เผลอสติลุกขึ้น บาตรตกแตก ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงวางบาตรไว้บนตัก รูปใดวางไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเก็บบาตรไว้บนกลด กลดถูกลมพายุพัด บาตรตกแตก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเก็บบาตรไว้บนกลด รูปใดเก็บไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ”
[๒๕๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายถือบาตรอยู่ผลักบานประตูเข้าไป บาตรกระทบ
บานประตูแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ
รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงถือบาตรผลักบานประตูเข้าไป รูปใดผลัก ต้อง
อาบัติทุกกฏ”

เรื่องการใช้วัตถุอื่นแทนบาตร
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้กะโหลกน้ำเต้าเที่ยวบิณฑบาต คนทั้งหลายตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนพวกเดียรถีย์”ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องไป


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๓ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้
กะโหลกน้ำเต้าเที่ยวบิณฑบาต รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้หม้อกระเบื้องเที่ยวบิณฑบาต คนทั้งหลายตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนพวกเดียรถีย์” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้
หม้อกระเบื้องเที่ยวบิณฑบาต รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งถือของทุกอย่างเป็นของบังสุกุล๑ ท่านใช้บาตรกะโหลกผี
สตรีผู้หนึ่งเห็นแล้วกลัวส่งเสียงร้องว่า “ผู้นี้เป็นปีศาจแน่” คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงใช้บาตรกะโหลกผี เหมือน
พวกปีศาจเล่า” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บาตรกะโหลกผี รูปใดใช้
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ควรมีของใช้ทุกอย่างเป็นของบังสุกุล รูปใดมี
ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้บาตรรองรับเศษอาหารบ้าง ก้างบ้าง น้ำบ้วนปากบ้าง
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พวกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้
ฉันในภาชนะที่ตัวเองใช้เป็นกระโถน” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้บาตรรองรับเศษอาหาร
ก้างหรือน้ำบ้วนปาก รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้
กระโถน”

เชิงอรรถ :
๑ ถือของทุกอย่างเป็นของบังสุกุล หมายเอาเฉพาะเครื่องใช้สอย เช่น จีวร เตียง ตั่ง ไม่ได้หมายถึง
ของเคี้ยวของฉัน เพราะของเคี้ยวของฉันต้องเป็นของที่เขาถวายแล้วเท่านั้น จึงควรถือเอา (วิ.อ. ๓/๒๕๕/
๓๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๔ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องภิกษุใช้มือฉีกผ้าเย็บจีวรเป็นต้น
[๒๕๖] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้มือฉีกผ้าเย็บจีวร จีวรมีแนวไม่เสมอกัน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตมีดมีผ้าพัน”
สมัยนั้น มีดมีด้ามเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาค ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้มีดมีด้าม”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ด้ามมีดชนิดต่าง ๆ คือ ทำด้วยทอง ทำด้วยเงิน
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ด้ามมีดชนิดต่าง ๆ รูป
ใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ด้ามมีดทำด้วยกระดูก งา เขา
สัตว์ ไม้อ้อ ไม้ไผ่ ไม้ธรรมดา ครั่ง เมล็ดผลไม้ โลหะ กระดองสังข์”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้ขนไก่บ้าง ไม้กลัดบ้างเย็บจีวร จีวรที่เย็บแล้วไม่
เรียบร้อย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้เข็ม”
เข็มขึ้นสนิม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้กล่องเข็ม”
แม้ในกล่องเข็มก็ยังขึ้นสนิม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เอาแป้งข้าวหมากโรย”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๕ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
แม้ในแป้งข้าวหมากเข็มก็ยังขึ้นสนิม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เอาแป้งเจือขมิ้นผงโรย”
แม้ในแป้งเจือขมิ้นผง เข็มก็ยังขึ้นสนิม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ฝุ่นศิลา”
แม้ในฝุ่นศิลา เข็มก็ยังขึ้นสนิม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทาด้วยขี้ผึ้ง”
ฝุ่นศิลาแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ผ้ามัดขี้ผึ้งพอกฝุ่น
ศิลา”

เรื่องไม้สะดึงเป็นต้น
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายตอกหลักลงในที่นั้น ๆ แล้วผูกขึงเย็บจีวร มุมจีวรเสีย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้สะดึง เชือกผูกไม้สะดึง
ให้ผูกลงในที่นั้น ๆ เย็บจีวร”
ภิกษุทั้งหลายขึงไม้สะดึงในที่ไม่เรียบ ไม้สะดึงหัก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงขึงไม้สะดึงในที่ไม่เรียบ
รูปใดขึง ต้องอาบัติทุกกฏ”
ภิกษุทั้งหลายขึงไม้สะดึงบนพื้นดิน ไม้สะดึงเปื้อนฝุ่น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๖ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้หญ้ารอง”
ขอบไม้สะดึงชำรุด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดามขอบเหมือนผ้า
อนุวาต”
ไม้สะดึงไม่พอ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้สะดึงเล็ก ไม้ประกบ
ซี่ไม้สำหรับสอดเข้าระหว่างจีวร ๒ ชั้น เชือกรัดสะดึงในกับสะดึงนอก ด้ายผูกจีวร
กับสะดึงใน ครั้นขึงแล้วจึงเย็บจีวร”
ระยะแนวด้าย(ที่เย็บ)ไม่เสมอ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำหมายระยะไว้”
แนวด้ายคด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเส้นบรรทัด”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่ได้ล้างเท้าเหยียบไม้สะดึง ไม้สะดึงเสียหาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้เท้าเปื้อนเหยียบไม้สะดึง
รูปใดเหยียบ ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเท้าเปียกเหยียบไม้สะดึง ไม้สะดึงเสียหาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้เท้าเปียกเหยียบไม้สะดึง
รูปใดเหยียบ ต้องอาบัติทุกกฏ”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๗ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายสวมรองเท้าเหยียบไม้สะดึง ไม้สะดึงเสียหาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าเหยียบไม้สะดึง
รูปใดเหยียบ ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเย็บจีวรใช้นิ้วมือรับเข็ม นิ้วมือเจ็บ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ปลอกสวมนิ้วมือ”
[๒๕๗] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ปลอกสวมนิ้วมือชนิดต่าง ๆ คือ ทำ
ด้วยทอง ทำด้วยเงิน คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือน
คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ปลอกสวมนิ้วมือชนิด
ต่าง ๆ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ปลอกสวมนิ้วมือ
ทำด้วย กระดูก ฯลฯ กระดองสังข์”
สมัยนั้น เข็ม มีด ปลอกสวมนิ้วมือเสียหาย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล่องเก็บเครื่องเย็บผ้า”
ภิกษุทั้งหลายมัวพะวงอยู่แต่ในกล่องเก็บเครื่องเย็บผ้า ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถุงเก็บปลอกสวมนิ้วมือ”
สายโยกไม่มี ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสายโยกเป็นด้ายถัก”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๘ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องโรงสะดึงเป็นต้น
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเย็บจีวรอยู่ในที่แจ้ง ลำบากเพราะความหนาวบ้าง เพราะ
ความร้อนบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโรงสะดึง ปะรำสะดึง”
โรงสะดึงมีพื้นต่ำ น้ำท่วม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถมพื้นที่ให้สูง”
ดินที่ถมพังทะลาย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อคันกั้นดินที่ถม ๓
ชนิด คือ คันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่ทำด้วยไม้”
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบันได ๓ ชนิด คือ บันได
อิฐ บันไดศิลา บันไดไม้”
เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”
สมัยนั้น ผงหญ้าตกเกลื่อนในโรงสะดึง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อลงแล้วเอาดินโบก
ฉาบทั้งภายในภายนอก ทำให้มีสีขาว ให้มีสีดำ ให้มีสียางไม้ เขียนลวดลายดอกไม้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๒๙ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร เขียนลวดลายดอกจอก ราวจีวร สาย
ระเดียง”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเย็บจีวรเสร็จแล้ว ทิ้งไม้สะดึงไว้ที่นั้นแล้วจากไป หนูบ้าง
ปลวกบ้างกัดกิน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ม้วนไม้สะดึงเก็บไว้”
ไม้สะดึงหัก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สอดท่อนไม้ม้วนไม้สะดึง
เข้าไป”
ไม้สะดึงคลี่ออกภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชือกผูก”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายยกไม้สะดึงเก็บไว้ที่ฝาบ้าง ที่เสาบ้างแล้วจากไป ไม้
สะดึงพลัดตกเสียหาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แขวนไว้ที่เดือยข้างฝา
หรือที่ไม้ทำเป็นรูปงาช้าง”
[๒๕๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ ตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงเวสาลี ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้บาตรใส่เข็มบ้าง
มีดบ้าง เครื่องยาบ้าง เดินทางไป
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถุงเก็บเครื่องยา”
สายโยกไม่มี ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสายโยกเป็นด้ายถัก”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๓๐ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งผูกรองเท้าไว้กับประคตเอวเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน อุบาสก
คนหนึ่งไหว้ภิกษุนั้น ศีรษะกระทบรองเท้า ภิกษุนั้นเก้อเขิน ครั้นกลับไปวัดจึงเล่า
เรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถุงเก็บรองเท้า”
สายโยกไม่มี ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสายโยกเป็นด้ายถัก”

เรื่องผ้ากรองน้ำ
สมัยนั้น น้ำในระหว่างทางเป็นอกัปปิยะ๑ ผ้ากรองก็ไม่มี
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้ากรองน้ำ”
ท่อนผ้าไม่พอ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้ากรองมีรูปคล้ายทัพพี”
ผ้าไม่พอ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกระบอกกรองน้ำ”
[๒๕๙] สมัยนั้น ภิกษุ ๒ รูปเดินไปแคว้นโกศล รูปหนึ่งประพฤติไม่
สมควร ภิกษุรูปที่ ๒ จึงได้กล่าวกับภิกษุนั้นดังนี้ว่า “ท่านอย่าทำอย่างนั้น นั่นไม่
สมควร” ภิกษุนั้นกลับโกรธ

เชิงอรรถ :
๑ อกัปปิยะ หมายถึงไม่ควร น้ำเป็นอกัปปิยะในที่นี้คือน้ำขุ่นไม่ควรดื่ม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๓๑ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ครั้งนั้น ภิกษุ(รูปที่กล่าวเตือน)นั้นกระหายน้ำ อ้อนวอนรูปที่โกรธดังนี้ว่า “ท่าน
โปรดให้ผ้ากรองน้ำ ผมจักดื่มน้ำ” ภิกษุรูปที่โกรธไม่ยอมให้ ภิกษุรูป(ที่กล่าวเตือน)
นั้นกระหายน้ำจนถึงแก่มรณภาพ ครั้นภิกษุไปถึงวัดได้เล่าเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “เพื่อนอ้อนวอนขอผ้ากรองน้ำ ท่านไม่ให้หรือ”
ภิกษุผู้โกรธนั้นตอบว่า “อย่างนั้น ท่านทั้งหลาย”
ภิกษุผู้มักน้อยสันโดษตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุถูกขอผ้ากรอง
น้ำจึงไม่ให้เล่า” แล้วได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่าเธอถูกอ้อนวอนขอผ้ากรองน้ำก็ไม่ให้ จริงหรือ”
ภิกษุรูปนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่สมควร
ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย โมฆบุรุษ
ไฉนเธอเมื่อถูกอ้อนวอนขอผ้ากรองน้ำจึงไม่ให้เล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้มิได้
ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เดินทางไกลเมื่อถูกเขาอ้อนวอน ขอผ้า
กรองน้ำจะไม่ให้ไม่ได้ รูปใดไม่ให้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่มีผ้า
กรองน้ำ ไม่พึงเดินทางไกล รูปใดเดินทาง ต้องอาบัติทุกกฏ ถ้าไม่มีผ้ากรองน้ำหรือ
กระบอกกรองน้ำ แม้มุมสังฆาฏิก็ควรอธิษฐานใช้กรองดื่มได้”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงเวสาลี ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ในกรุงเวสาลีนั้น
สมัยนั้น ภิกษุทำนวกรรม(การก่อสร้าง) ผ้ากรองน้ำไม่พอ ภิกษุทั้งหลายจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้ากรองน้ำมีขอบ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๓๒ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ผ้านั้นก็ไม่พอ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลาดผ้าลงบนน้ำ”

เรื่องทรงอนุญาตกุฎีกันยุง
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายถูกยุงรบกวน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกุฎีกันยุง”๑

เรื่องทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ
[๒๖๐] สมัยนั้น ทายกทายิกาในกรุงเวลาสีจัดตั้งภัตตาหารประณีตไว้ตาม
ลำดับ ภิกษุฉันภัตตาหารประณีต จนร่างกายอ้วนจึงมีอาพาธมาก
ครั้งนั้น หมอชีวกโกมารภัจมีธุระต้องเดินทางไปกรุงเวสาลี เห็นภิกษุทั้งหลาย
มีร่างกายอ้วน มีอาพาธมาก จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า เวลานี้ภิกษุมีร่างกายอ้วน มีอาพาธมาก ขอประทาน
พระวโรกาส พระองค์โปรดอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ ด้วยวิธีการอย่างนี้ ภิกษุ
ทั้งหลายจักได้มีอาพาธน้อย”
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้หมอชีวกโกมารภัจเห็นชัด ชวนให้อยากรับไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ลำดับนั้น หมอชีวกโกมารภัจผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวน
ให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาแล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว
ทูลลากลับ

เชิงอรรถ :
๑ กุฎีกันยุง คือกุฎีที่ทำด้วยจีวรเพื่อป้องกันยุง (วิ.อ. ๓/๒๕๙/๓๑๐, ปาจิตฺยาทิโยชนา ๒๕๙/๔๕๗ ม.)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๓๓ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายจงกรมในที่ขรุขระ เท้าเจ็บ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำที่จงกรมให้เรียบ”
สมัยนั้น ที่จงกรมมีพื้นที่ต่ำ น้ำท่วม ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถมพื้นที่ให้สูง”
ดินที่ถมพังทะลาย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ก่อคันกั้นดินที่ถม ๓ ชนิด คือ คันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่ทำด้วยไม้”
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตบันได ๓ ชนิด คือ บันไดอิฐ บันไดศิลา บันไดไม้”
เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายจงกรมอยู่ในที่จงกรมพลัดตกลงมา ภิกษุทั้งหลายจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรั้วรอบที่จงกรม”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายจงกรมอยู่กลางแจ้ง ย่อมลำบากเพราะอากาศหนาวบ้าง
อากาศร้อนบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตศาลาจงกรม”
ผงหญ้าตกเกลื่อนในศาลาจงกรม ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้รื้อลงแล้วเอาดินโบกฉาบทั้งภายในภายนอก ทำให้มีสีขาว ให้มีสีดำ
ให้มีสียางไม้ เขียนลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร เขียน
ลวดลายดอกจอก ราวจีวร สายระเดียง”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๓๔ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
สมัยนั้น เรือนไฟมีพื้นที่ต่ำ น้ำท่วม ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถมพื้นให้สูง”
ดินที่ถมพังทะลาย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ก่อคันกั้นดินที่ถม ๓ ชนิด คือ คันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่ทำด้วยไม้”
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตบันได ๓ ชนิด คือ บันไดอิฐ บันไดศิลา บันไดไม้”
เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”
เรือนไฟไม่มีบานประตู ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตบานประตู กรอบเช็ดหน้า รูครกที่รับเดือยประตู ห่วงข้างบน สายยู ไม้หัวลิง
กลอน ลิ่ม ช่องดาล ช่องสำหรับชัก เชือกสำหรับชัก”
เชิงฝาเรือนไฟชำรุด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉาบรอบ ๆ”
เรือนไฟไม่มีช่องระบายควัน ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตช่องระบายควัน”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายทำที่ตั้งเตาไว้กลางเรือนไฟขนาดเล็ก ไม่มีบริเวณ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำที่ตั้งเตาไฟไว้ด้าน
หนึ่งในเรือนไฟขนาดเล็ก ในเรือนไฟขนาดใหญ่ตั้งไว้ตรงกลางได้”
ไฟในเรือนไฟแผดเผาหน้า ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตดินสำหรับทาหน้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๓๕ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ภิกษุใช้มือละเลงดิน ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
รางละลายดิน”
ดินมีกลิ่นเหม็น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้อบกลิ่น”
สมัยนั้น ไฟในเรือนไฟแผดเผากาย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้นำน้ำเข้าไป”
ภิกษุทั้งหลายใช้ถาดบ้าง บาตรบ้างนำน้ำเข้าไป ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตที่ใส่น้ำ ขันน้ำ”
เรือนไฟที่มุงบังด้วยหญ้าไม่อบเหงื่อ ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้รื้อลงแล้วเอาดินโบกฉาบทั้งภายในภายนอก”
เรือนไฟมีพื้นลื่น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้ปูเครื่องลาด ๓ ชนิด คือ เครื่องลาดอิฐ เครื่องลาดศิลา เครื่องลาดไม้”
เรือนไฟก็ยังลื่นอยู่อย่างนั้น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ชำระล้าง”
น้ำขัง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตท่อระบาย
น้ำ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายนั่งบนพื้นดินในเรือนไฟ คันตามเนื้อตัว ฯลฯ พระผู้มี
พระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตั่งในเรือนไฟ”
สมัยนั้น เรือนไฟยังไม่ได้ล้อมรั้ว ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ล้อมรั้ว ๓ ชนิด คือ รั้วอิฐ รั้วศิลา รั้วไม้”
เรือนไฟไม่มีซุ้ม ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตซุ้ม”
ซุ้มมีพื้นที่ต่ำ น้ำท่วม ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้ถมพื้นให้สูง”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๓๖ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ดินที่ถมพังทะลาย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ก่อคันกั้นดินที่ถม ๓ ชนิด คือ คันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่ทำด้วยไม้”
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตบันได ๓ ชนิด คือ บันไดอิฐ บันไดศิลา บันไดไม้”
เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”
ซุ้มยังไม่มีประตู ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
บานประตู กรอบเช็ดหน้า รูครกที่รับเดือยประตู ห่วงข้างบน สายยู ไม้หัวลิง กลอน
ลิ่ม ช่องดาล ช่องสำหรับชัก เชือกสำหรับชัก”
สมัยนั้น ผงหญ้าตกเกลื่อนที่ซุ้ม ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้รื้อลงแล้วเอาดินโบกฉาบทั้งภายในภายนอก ทำให้มีสีขาว ให้มีสีดำ ให้
มีสียางไม้ เขียนลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร เขียนลวด
ลายดอกจอก”
บริเวณลื่น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โรย
กรวดแร่”
กรวดแร่ยังไม่พอ ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้วางศิลาเรียบ”
น้ำขัง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตท่อระบายน้ำ”

เรื่องการเปลือยกาย
[๒๖๑] สมัยนั้น พวกภิกษุเปลือยกายไหว้ภิกษุเปลือยกาย๑ พวกภิกษุเปลือย
กายไหว้ภิกษุไม่เปลือยกาย พวกภิกษุเปลือยกายให้ภิกษุเปลือยกายไหว้ตน พวก

เชิงอรรถ :
๑ นคฺคา : เปลือยกาย ในที่นี้หมายถึงการเปลือยกายอย่างพวกอาชีวก ไม่มีผ้าติดกายเลย (ดู วิ.มหา. (แปล)
๒/๕๑๗/๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๓๗ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ภิกษุเปลือยกายให้ภิกษุไม่เปลือยกายไหว้ตน พวกภิกษุเปลือยกายบีบนวดภิกษุ
เปลือยกาย พวกภิกษุเปลือยกายใช้ภิกษุเปลือยกายบีบนวด พวกภิกษุเปลือยกายให้
ของแก่ภิกษุเปลือยกาย พวกภิกษุเปลือยกายรับประเคน พวกภิกษุเปลือยกายเคี้ยว
พวกภิกษุเปลือยกายฉัน พวกภิกษุเปลือยกายลิ้มรส พวกภิกษุเปลือยกายดื่ม
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ พระผู้มี
พระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเปลือยกายไม่พึงไหว้ภิกษุเปลือยกาย ไม่พึง
เปลือยกายไหว้กัน รูปใดไหว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุเปลือยกาย ไม่พึงให้ภิกษุ
เปลือยกายไหว้ ... ภิกษุเปลือยกายไม่พึงทำบริกรรมให้แก่ภิกษุเปลือยกาย ... ภิกษุ
เปลือยกาย ไม่พึงใช้ภิกษุเปลือยกายทำบริกรรม ... ภิกษุเปลือยกายไม่พึงให้ของแก่
ภิกษุเปลือยกาย ... ภิกษุไม่พึงเปลือยกายรับประเคน ... ภิกษุไม่พึงเปลือยกายเคี้ยว
... ภิกษุไม่พึงเปลือยกายฉัน .... ภิกษุไม่พึงเปลือยกายลิ้มรส ... ภิกษุไม่พึงเปลือย กาย
ดื่ม รูปใดดื่ม ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องศาลาเรือนไฟและบ่อน้ำ
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายวางจีวรไว้บนพื้นดินที่ใกล้เรือนไฟ จีวรเปื้อนฝุ่น
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวจีวร สายระเดียงในที่
ใกล้เรือนไฟ”
ครั้นฝนตกจีวรเปียกฝน ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตศาลาเรือนไฟ”
ศาลาเรือนไฟมีพื้นที่ต่ำ น้ำท่วม ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ถมพื้นให้สูง”
ดินที่ถมพังทะลาย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ก่อคันกั้นดินที่ถม”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๓๘ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ฯลฯ
เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”
สมัยนั้น ผงหญ้าตกเกลื่อนบนศาลาเรือนไฟ ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อลงแล้วเอาดินโบกฉาบทั้งภายในภายนอก” ฯลฯ ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตราวจีวร สายระเดียง”
สมัยนั้น ภิกษุยำเกรงที่จะทำบริกรรมในเรือนไฟบ้าง ในน้ำบ้าง ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องกำบัง ๓ ชนิด คือ
ที่กำบังเรือนไฟ ที่กำบังน้ำ ที่กำบังผ้า”
สมัยนั้น ในเรือนไฟไม่มีน้ำ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบ่อน้ำ”
ขอบบ่อน้ำทรุด ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ก่อคันกั้นดินที่ถม ๓ ชนิด คือ คันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่ทำด้วยไม้”
บ่อน้ำมีพื้นที่ต่ำ น้ำท่วม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถมพื้นที่ให้สูง”
ดินที่ถมพังทะลาย ฯลฯ ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ฯลฯ
เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”
[๒๖๒] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้เถาวัลย์บ้าง ประคดเอวบ้างผูกภาชนะตักน้ำ
ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชือกสำหรับผูกภาชนะ
ตักน้ำ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๓๙ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
มือทั้ง ๒ เจ็บ ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
คันโพงคล้ายคันชั่ง ระหัดมือ ระหัดจักร”
ภาชนะทั้งหลายแตกจำนวนมาก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตถังตักน้ำ ๓ ชนิด คือ ถังโลหะ ถังไม้ ถังหนัง”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายตักน้ำในที่แจ้ง ย่อมลำบากเพราะความหนาวบ้าง เพราะ
ความร้อนบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตศาลาบ่อน้ำ”
ผงหญ้าตกเกลื่อนในศาลาบ่อน้ำ ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้รื้อลงแล้วเอาดินโบกฉาบทั้งภายในภายนอก ทำให้มีสีขาว ให้มีสีดำ ให้
มีสียางไม้ เขียนลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร เขียนลวด
ลายดอกจอก ราวจีวร สายระเดียง”
สมัยนั้น บ่อน้ำที่ไม่ปิดฝา ผงหญ้าบ้าง ฝุ่นบ้างปลิวลงไป ฯลฯ พระผู้มี
พระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด”
สมัยนั้น ไม่มีภาชนะใส่น้ำ ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตรางน้ำ อ่างน้ำ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายสรงน้ำในที่นั้น ๆ ในอาราม อารามลื่น
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำรางระบายน้ำ”
รางระบายน้ำโล่งแจ้งไป ภิกษุทั้งหลายอายไม่กล้าสรงน้ำ ฯลฯ พระผู้มีพระภาค
รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้กั้นกำแพง ๓ ชนิด คือ กำแพงอิฐ กำแพง
ศิลา กำแพงไม้”
บ่อน้ำลื่น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
เครื่องลาด ๓ ชนิด คือ เครื่องลาดอิฐ เครื่องลาดศิลา เครื่องลาดไม้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๔๐ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
น้ำขัง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตท่อระบาย
น้ำ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีเนื้อตัวเปียกชุ่มเย็น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ผ้าเช็ดตัว”

เรื่องสระโบกขรณี
[๒๖๓] สมัยนั้น อุบาสกคนหนึ่งประสงค์จะสร้างสระโบกขรณีถวายสงฆ์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสระโบกขรณี”
ขอบสระโบกขรณีทรุด ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้ก่อคันกั้นขอบสระโบกขรณีได้ ๓ ชนิด คือ คันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วย
ศิลา คันที่ทำด้วยไม้”
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตบันได ๓ อย่าง คือ บันไดอิฐ บันไดศิลา บันไดไม้”
เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า
“ภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”
น้ำในสระโบกขรณีเก่า ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
รางระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งประสงค์จะสร้างเรือนไฟมีปั้นลมถวายสงฆ์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเรือนไฟมีปั้นลม”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์อยู่ปราศจากผ้าปูนั่งถึง ๔ เดือน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๔๑ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงอยู่ปราศจากผ้าปูนั่งถึง ๔
เดือน รูปใดอยู่ปราศจาก ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามนอนบนที่นอนโรยดอกไม้
[๒๖๔] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์นอนบนที่นอนโรยด้วยดอกไม้
คนทั้งหลายเดินเที่ยวชมวิหารเห็นเข้าจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ
เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนอนบนที่นอนโรยด้วยดอกไม้
รูปใดนอน ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงอนุญาตรับของหอม
สมัยนั้น คนทั้งหลายถือของหอมบ้าง ดอกไม้บ้างมาวัด ภิกษุทั้งหลายยำเกรง
อยู่จึงไม่ยอมรับประเคน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับของหอมแล้วเจิม
ไว้ที่บานประตูหน้าต่าง รับดอกไม้แล้ววางไว้ด้านหนึ่งในวิหาร”
สมัยนั้น สันถัตขนเจียม๑ เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสันถัตขนเจียม”

เชิงอรรถ :
๑ นมตกํ : สันถัตขนเจียม ทำด้วยขนแกะ ใช้อย่างแผ่นหนัง (วิ.อ. ๓/๒๖๔/๓๑๑) คล้ายสันถัต ใช้โดยไม่ต้อง
อธิษฐาน (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖๔/๔๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๔๒ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังว่า “สันถัตขนเจียมต้องอธิษฐานหรือ
ต้อง วิกัป” ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “สันถัตขนเจียมไม่ต้องอธิษฐาน ไม่ต้อง
วิกัป”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ฉันอาหารโตก คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุไม่พึงฉันอาหารโตก รูปใดฉัน ต้องอาบัติ
ทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ เมื่อจะฉันอาหารไม่สามารถจะใช้มือประคองบาตรได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชิงบาตร”

เรื่องห้ามฉันในภาชนะเดียวกันเป็นต้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ฉันอาหารในภาชนะเดียวกันบ้าง ... ดื่มน้ำในขัน
เดียวกันบ้าง ... นอนบนเตียงเดียวกันบ้าง ... นอนบนเตียงมีเครื่องลาดเดียวกันบ้าง
... นอนบนเตียงมีผ้าห่มผืนเดียวบ้าง ... นอนบนเตียงมีผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูและ
ผ้าห่มบ้าง
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ฯลฯ เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภค
กาม” ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันอาหารในภาชนะเดียวกัน
... ไม่พึงดื่มน้ำในขันเดียวกัน ... ไม่พึงนอนบนเตียงเดียวกัน ... ไม่พึงนอนบนเตียง
มีเครื่องลาดเดียวกัน ... ไม่พึงนอนบนเตียงมีผ้าห่มผืนเดียวกัน ... ไม่พึงนอนบนเตียง
มีผ้าผืนเดียวเป็นทั้งผ้าปูและผ้าห่ม รูปใดนอน ต้องอาบัติทุกกฏ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๔๓ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องเจ้าวัฑฒลิจฉวี
[๒๖๕] สมัยนั้น เจ้าวัฑฒลิจฉวีเป็นสหายของพระเมตติยะและพระภุมมชกะ๑
ครั้งนั้น เจ้าวัทฒลิจฉวีได้เข้าไปหาพระเมตติยะและพระภุมมชกะถึงที่พัก ครั้นถึงแล้ว
ได้กล่าวกับพระเมตติยะและพระภุมมชกะดังนี้ว่า “พระคุณเจ้า โยมไหว้ขอรับ” เมื่อ
วัฑฒลิจฉวีกล่าวอย่างนี้ พระเมตติยะและพระภุมมชกะก็ไม่ยอมพูดด้วย
แม้ครั้งที่ ๒ เจ้าวัฑฒลิจฉวีก็กล่าวกับพระเมตติยะและพระภุมมชกะดังนี้ว่า “โยม
ไหว้ ขอรับ”
แม้ครั้งที่ ๒ พระเมตติยะและพระภุมมชกะก็ไม่ยอมพูดด้วย
แม้ครั้งที่ ๓ เจ้าวัฑฒลิจฉวีก็กล่าวกับพระเมตติยะและพระภุมมชกะว่า “โยม
ไหว้ ขอรับ”
แม้ครั้งที่ ๓ พระเมตติยะและพระภุมมชกะก็ไม่ยอมพูดด้วย
เจ้าวัฑฒลิจฉวีกล่าวต่อไปว่า “โยมมีความผิดอะไรต่อพระคุณเจ้า ทำไม
พระคุณเจ้า จึงไม่ยอมพูดกับโยม”
ภิกษุทั้งสองตอบว่า “จริงอย่างนั้นแหละ วัฑฒะ พวกเราถูกพระทัพพมัลลบุตร
เบียดเบียน ท่านก็ยังทำเพิกเฉยอยู่ได้”
เจ้าวัฑฒลิจฉวีถามว่า “โยมจะช่วยได้อย่างไร ขอรับ”
ภิกษุทั้งสองตอบว่า “วัฑฒะ ถ้าท่านเต็มใจช่วย วันนี้แหละ พระผู้มีพระภาค
ต้องให้พระทัพพมัลลบุตรสึก”
เจ้าวัฑฒลิจฉวีถามว่า “พระคุณเจ้า โยมจะทำอย่างไร จะช่วยได้ด้วยวิธีไหน”
ภิกษุทั้งสองตอบว่า “มาเถิด วัฑฒะ ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้ว จงกราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ‘พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้ ไม่สมควร
ไม่เหมาะสม ทิศที่เคยปลอดภัยก็กลับมีภัย ทิศที่ไม่เคยมีเสนียดจัญไรก็กลับมีเสนียด

เชิงอรรถ :
๑ พระเมตติยะและพระภุมมชกะ เป็นพระในกลุ่มพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ข้อ ๒๔๓ หน้า ๑ (เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๔๔ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
จัญไร ทิศที่ไม่มีอุปัททวะก็กลับมีอุปัททวะ ในทิศที่ไม่เคยมีลมก็กลับมีลมแรง น้ำก็ดู
เป็นเหมือนน้ำร้อนขึ้นมา ปชาบดีของหม่อมฉันถูกพระทัพพมัลลบุตรทำมิดีมิร้าย”
เจ้าวัฑฒลิจฉวีรับคำของพระเมตติยะและพระภุมมชกะแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลกับพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้ไม่สมควร ไม่
เหมาะสม ทิศที่เคยปลอดภัยก็กลับมีภัย ทิศที่ไม่เคยมีเสนียดจัญไรก็กลับมีเสนียด
จัญไร ทิศที่ไม่มีอุปัททวะก็กลับมีอุปัททวะ ในทิศที่ไม่เคยมีลมก็กลับมีลมแรง น้ำก็ดู
เป็นเหมือนน้ำร้อนขึ้นมา ปชาบดีของหม่อมฉันถูกพระทัพพมัลลบุตรทำมิดีมิร้าย”

ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบ
ถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า “ทัพพะ เธอจำได้ไหมว่าได้ทำตามที่เจ้าวัฑฒะนี้กล่าวหา”
ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคย่อมทรง
ทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระทัพพมัลลบุตร ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า “ทัพพะ เธอ
จำได้ไหมว่าได้ทำตามที่เจ้าวัฑฒะนี้กล่าวหา”
พระทัพพมัลลบุตรก็กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคย่อมทรง
ทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร”
“ทัพพะ บัณฑิตย่อมไม่แก้คำกล่าวหาอย่างนี้ ถ้าเธอทำก็จงบอกว่าทำ ถ้าเธอ
ไม่ได้ทำก็จงบอกว่าไม่ได้ทำ”
“พระองค์ผู้เจริญ ตั้งแต่เกิดมา ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้จักการเสพเมถุนธรรมแม้
ในความฝัน ไม่จำต้องกล่าวถึงเมื่อตอนตื่นอยู่”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๔๕ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น
สงฆ์จงคว่ำบาตร๑เจ้าวัฑฒลิจฉวี คือ ห้ามสมโภคกับสงฆ์”

เหตุแห่งการคว่ำบาตร ๒
สงฆ์พึงคว่ำบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ
๑. ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ลาภของภิกษุทั้งหลาย
๒. ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ประโยชน์ของภิกษุทั้งหลาย
๓. ขวนขวายเพื่อความอยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย
๔. ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย
๕. ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน
๖. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
๗. กล่าวติเตียนพระธรรม
๘. กล่าวติเตียนพระสงฆ์
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คว่ำบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้

วิธีคว่ำบาตรและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงคว่ำบาตรอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้
สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๒๖๖] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒลิจฉวีใส่ความท่านพระทัพพ
มัลลบุตร ด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี
ห้ามสมโภคกับสงฆ์ นี่เป็นญัตติ

เชิงอรรถ :
๑ คว่ำบาตร หมายถึงไม่พึงรับไทยธรรมในเรือนของอุบาสกผู้ถูกคว่ำบาตร และส่งข่าวไปในวัดอื่น ๆ ไม่ให้
ภิกษุทั้งหลายรับภิกษาในเรือนของอุบาสกนั้น (วิ.อ. ๓/๒๖๕/๓๑๑) คว่ำบาตรด้วยกรรมวาจาสวดประกาศ
ไม่ให้รับไทยธรรมที่อุบาสกนั้นถวาย มิใช่หมายความว่าคว่ำปากบาตรลง (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖๕/๔๖๓)
๒ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๘๗/๔๑๕-๔๑๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๔๖ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า เจ้าวัฑฒลิจฉวีใส่ความท่านพระทัพพมัลล
บุตร ด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล สงฆ์คว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ท่าน
รูปใดเห็นด้วยกับการคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง
ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
เจ้าวัฑฒลิจฉวีถูกสงฆ์คว่ำบาตร ห้ามสมโภคกับสงฆ์แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

พระอานนท์ไปแจ้งข่าวเจ้าวัฑฒลิจฉวี
ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์
ของเจ้าวัฑฒลิจฉวี ได้กล่าวกับเจ้าวัฑฒลิจฉวีดังนี้ว่า “วัฑฒะ สงฆ์คว่ำบาตรท่าน
ห้ามสมโภคกับสงฆ์” ครั้นเจ้าวัฑฒลิจฉวีทราบข่าวว่า สงฆ์คว่ำบาตร ห้ามสมโภค
กับสงฆ์ จึงสลบล้มลงที่นั้นเอง
ขณะนั้น มิตรอมาตย์ญาติสาโลหิตของเจ้าวัฑฒลิจฉวี ได้กล่าวกับเจ้าวัฑฒ ลิจฉวี
ดังนี้ว่า “ท่านอย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญเลย พวกเราจะขอให้พระผู้มีพระภาคและ
ภิกษุสงฆ์ยกโทษให้”
ครั้งนั้นแล เจ้าวัฑฒลิจฉวีพร้อมกับโอรสและชายา มิตรอมาตย์ญาติสาโลหิต
มีผ้าเปียกผมเปียก๑ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ซบศีรษะ
ลงแทบพระยุคลบาทแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ หม่อม
ฉันได้กระทำความผิด เพราะความโง่เขลาเบาปัญญาที่ได้ใส่ความพระทัพพมัลลบุตร
ด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล ขอพระผู้มีพระภาคจงให้อภัยโทษแก่หม่อมฉัน เพื่อความสำรวม
ต่อไปเถิด”

เชิงอรรถ :
๑ การสรงน้ำดำเกล้า จนผ้าเปียกผมเปียกนี้ เป็นเครื่องแสดงความเศร้าโศกก่อนเข้าขอขมา เช่น พระเจ้าอุเทน
ไปขอขมานางสามาวดี พระองค์ทรงดำลงในน้ำจนพระพัสตร์และพระเกสาเปียกแล้วไปมอบแทบเท้าขอขมา
(องฺ.อฏฺฐก.อ. ๑/๓๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๔๗ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “เอาเถิด การที่ท่านได้ทำความผิดเพราะความโง่เขลา
เบาปัญญาที่ได้ใส่ความพระทัพพมัลลบุตรด้วยสีลวิบัติที่ไม่มีมูล เพราะเหตุที่เห็นความ
ผิดเป็นความผิดแล้วแก้ไขให้ถูกต้อง ข้อนั้นเรารับ เพราะการที่บุคคลเห็นความผิดเป็น
ความผิดแล้ว แก้ไขให้ถูกต้องและสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น
สงฆ์จงหงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภคกับสงฆ์ได้

เหตุแห่งการหงายบาตร
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงหงายบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ
๑. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ลาภของภิกษุทั้งหลาย
๒. ไม่ขวนขวายเพื่อไม่ใช่ประโยชน์ของภิกษุทั้งหลาย
๓. ไม่ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย
๔. ไม่ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย
๕. ไม่ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน
๖. ไม่กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า
๗. ไม่กล่าวติเตียนพระธรรม
๘. ไม่กล่าวติเตียนพระสงฆ์
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หงายบาตรอุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้

วิธีหงายบาตรและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงหงายบาตรอย่างนี้ เจ้าวัฑฒลิจฉวีนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์
ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย แล้วนั่งกระโหย่ง ประนมมือ
กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ สงฆ์คว่ำบาตรข้าพเจ้า ห้ามสมโภคกับสงฆ์ ข้าพเจ้า
นั้นกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้แล้ว ขอการหงายบาตรกับสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ.


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๔๘ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พึงขอแม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๒๖๗] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์คว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้าม
สมโภคกับสงฆ์ เจ้าวัฑฒลิจฉวีนั้นกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอ
การหงายบาตรต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงหงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภค
กับสงฆ์ได้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์คว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ห้ามสมโภค
กับสงฆ์ เจ้าวัฑฒลิจฉวีนั้นกลับประพฤติชอบ หายเย่อหยิ่ง กลับตัวได้ ขอการหงาย
บาตร สงฆ์หงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภคกับสงฆ์ได้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับ
การหงายบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี ให้สมโภคกับสงฆ์ได้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใด
ไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
เจ้าวัฑฒลิจฉวี สงฆ์หงายบาตร ให้สมโภคกับสงฆ์ได้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
[๒๖๘] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงเวสาลีตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จ
จาริกไปทางภัคคชนบท เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงภัคคชนบท ทราบว่าพระผู้
มีพระภาคประทับอยู่ ณ เภสกฬามฤคทายวัน เมืองสุงสุมารคิระในภัคคชนบทนั้น

เรื่องโพธิราชกุมาร ๑
สมัยนั้น โพธิราชกุมารสร้างปราสาทโกกนุทเสร็จได้ไม่นาน ยังไม่ได้นิมนต์
สมณ พราหมณ์หรือเชิญมนุษย์คนไหนมา ครั้งนั้น โพธิราชกุมารสั่งมาณพสัญชิกา-
บุตรว่า “มาเถิด สหายสัญชิกาบุตร ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
จงถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามถึงการมีพระประชวร
เบาบาง ความมีพระโรคาพาธน้อย ทรงมีความกระปรี้กระเปร่า พระพลานามัย ทรงพระ

เชิงอรรถ :
๑ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๒๔/๓๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๔๙ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เกษมสำราญ แล้วทูลนิมนต์ว่า ‘‘ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงรับ
ภัตตาหารของโพธิราชกุมารเพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
มาณพสัญชิกาบุตรรับคำสั่งโพธิราชกุมารแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ กราบทูลสนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันและกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “โพธิราชกุมารขอถวาย
อภิวาทพระยุคลบาทของพระโคดมผู้เจริญด้วยเศียรเกล้า ทูลถามพระประชวรเบาบาง
มีพระโรคาพาธน้อย ทรงกระปรี้กระเปร่า พระพลานามัย ทรงพระเกษมสำราญและ
กราบทูลนิมนต์อย่างนี้ว่า ‘ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงรับภัตตาหาร
ของโพธิราชกุมาร เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดย
ดุษณีภาพ
ครั้นมาณพสัญชิกาบุตรทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุก
จากอาสนะ เข้าไปเฝ้าโพธิราชกุมาร ณ ที่ประทับ ได้ทูลดังนี้ว่า “เกล้ากระหม่อมได้
กราบทูลพระโคดมนั้นตามรับสั่งของพระองค์แล้วว่า ‘โพธิราชกุมาร ขอถวายอภิวาท
พระยุคลบาทของท่านพระโคดมผู้เจริญด้วยเศียรเกล้า ทูลถามพระประชวรเบาบาง
มีพระโรคาพาธน้อย ทรงกระปรี้กระเปร่า พระพลานามัย ทรงพระเกษมสำราญและ
กราบทูลนิมนต์อย่างนี้ว่า ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงรับภัตตาหาร
ของโพธิราชกุมาร เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้’ ก็พระสมณโคดมทรงรับนิมนต์แล้ว”
ครั้นผ่านราตรีนั้น โพธิราชกุมารรับสั่งให้เตรียมของเคี้ยวของฉันที่ประณีต รับ
สั่งให้ใช้ผ้าขาวปูลาดโกกนุทปราสาท จนถึงบันไดขั้นสุดท้าย รับสั่งมาณพสัญชิกาบุตรว่า
“ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลภัตกาลว่า ‘ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
มาณพสัญชิกาบุตรรับคำสั่งโพธิราชกุมารแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูล
ภัตกาลให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๐ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พอถึงเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จ
ไปนิเวศน์ของโพธิราชกุมาร เวลานั้นโพธิราชกุมารประทับรอพระผู้มีพระภาคอยู่ที่
ซุ้มประตูชั้นนอก ทอดพระเนตรเห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล จึงเสด็จไป
ต้อนรับถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วเชิญพระองค์เสด็จไปข้างหน้า เข้าโกกนุท
ปราสาท พระผู้มีพระภาคประทับยืนใกล้บันไดขั้นต่ำสุด
โพธิราชกุมารได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดทรงเหยียบผ้า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระสุคตโปรดทรงเหยียบผ้าอันจะ
เป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่หม่อมฉันตลอดกาลนานเถิด”
เมื่อพระราชกุมารกราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคทรงดุษณีภาพ
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ โพธิราชกุมารก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธ-
เจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงเหยียบผ้า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระสุคตโปรด
ทรงเหยียบผ้าอันจะเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่หม่อมฉันตลอดกาลนานเถิด”
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเหลือบดูท่านพระอานนท์ ครั้งนั้น ท่านพระ
อานนท์ได้ถวายพระพรโพธิราชกุมารดังนี้ว่า “ราชกุมาร โปรดม้วนผ้าเถิด พระผู้มี
พระภาคจะไม่ทรงเหยียบผ้าขาว พระตถาคตทรงอนุเคราะห์คนรุ่นหลัง”๑

เชิงอรรถ :
๑ ทรงอนุเคราะห์คนรุ่นหลัง อรรถกถาอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงเหยีบผ้าเพราะเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. เพื่อมิให้โพธิราชกุมารถือผิด โพธิราชกุมารได้ฟังมาว่า “ผู้ที่กระทำสักการะแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
แล้วจะได้สิ่งที่ปรารถนาสมใจ” จึงตั้งความปรารถนาว่า “ถ้าเราจะได้บุตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะ
ทรงเหยียบผ้าที่เราปู ถ้าไม่ได้บุตร ก็จะไม่ทรงเหยียบ” แล้วจึงปู พระผู้มีพระภาคดุษณีภาพรำพึงว่า
“พระกุมารต้องการอะไรจึงกระทำสักการะมากมาย” ได้ทรงทราบว่าปรารถนาบุตร แต่โพธิราชกุมาร
จะไม่มีบุตรเพราะผลกรรมที่ตนกับมเหสีกินลูกนกในชาติก่อน จึงไม่ทรงเหยียบผ้า ถ้าพระผู้มีพระภาค
ทรงเหยียบผ้าแล้ว ภายหลังโพธิราชกุมารไม่มีบุตร ท่านก็จะถือผิดว่า “ที่ได้ฟังมาว่า ผู้ที่ กระทำ
สักการะแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วจะได้สิ่งที่ตนปรารถนา เราเองก็ได้ตั้งความปรารถนากระทำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๑ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
โพธิราชกุมารรับสั่งให้ม้วนผ้าแล้วให้ปูอาสนะบนโกกนุทปราสาทชั้นบน พระผู้
มีพระภาคเสด็จขึ้นโกกนุทปราสาท ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูถวาย พร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์ พระราชกุมารทรงนำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระ
พุทธเจ้าเป็นประธานด้วยพระองค์เอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ แล้วทรง
ห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร ได้ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ลำดับนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้โพธิราชกุมารเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จกลับ

เรื่องทรงห้ามเหยียบผืนผ้าขาว
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเหยียบผืนผ้าที่ปูไว้ รูปใดเหยียบ ต้อง
อาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น สตรีผู้หนึ่งไม่มีครรภ์ นิมนต์ภิกษุทั้งหลายแล้วปูผ้ากล่าวว่า “พระ
คุณเจ้าทั้งหลาย นิมนต์เหยียบผ้าเถิด”
ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมเหยียบ นางกล่าวว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย
นิมนต์เหยียบผ้าเพื่อเป็นสิริมงคล” ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมเหยียบ

เชิงอรรถ :
สักการะแล้ว แต่เราไม่ได้บุตร คำที่ฟังมาโมฆะเสียแล้ว เพื่อมิให้โพธิราชกุมารถือผิดอย่างนี้ จึงไม่
ทรงเหยียบผ้า
๒. เพื่อมิให้พวกเดียรถีย์ดูหมิ่นว่า สิ่งที่พวกสมณศากยบุตรทำไม่ได้ไม่มี พวกท่านเที่ยวเดินเหยียบผ้า.
ของชาวบ้าน
๓. เพื่อมิให้มนุษย์ทั้งหลายเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี(วิปฏิสาร)ในหมู่ภิกษุ ในครั้งพุทธกาล ภิกษุทั้งหลายรู้
วาระจิตของผู้อื่น รู้ว่าควรก็จะเหยียบ รู้ว่าไม่ควรก็จะไม่เหยียบ แต่ต่อมา อุปนิสัยจะอ่อนลง ภิกษุ
ทั้งหลายจะไม่รู้ เมื่อเหยียบผ้าไปแล้ว ถ้าความปรารถนาของเขาสำเร็จ ก็ดีไป ถ้าไม่สำเร็จ พวก
มนุษย์ก็จะคิดว่า “ครั้งก่อน ผู้ที่ตั้งความปรารถนาแล้วทำสักการะแก่ภิกษุสงฆ์แล้ว ย่อมได้สิ่งที่ปรารถนา
มาบัดนี้ไม่ได้ ครั้งก่อนภิกษุทั้งหลาย คงจะบำเพ็ญข้อปฏิบัติบริบูรณ์ บัดนี้ภิกษุทั้งหลายคงจะ
บกพร่องในข้อปฏิบัติ”
ที่ทรงอนุเคราะห์คนรุ่นหลัง ก็คืออนุเคราะห์ภิกษุทั้งหลายและพวกมนุษย์ที่จะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีในภิกษุ
สงฆ์นั่นเอง (ดู วิ.อ. ๓/๒๖๘/๓๑๒, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖๘/๔๖๔-๔๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๒ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ลำดับนั้น สตรีนั้นจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้าทั้งหลาย
ถูกขอเพื่อเป็นสิริมงคลก็ไม่ยอมเหยียบผ้าเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินสตรีนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์ต้องการสิริมงคล ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ภิกษุที่ถูกขอเพื่อเป็นสิริมงคลเหยียบผืนผ้าได้”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายยำเกรงที่จะเหยียบผ้าเช็ดเท้าสะอาด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เหยียบผ้าเช็ดเท้าสะอาดได้”

ภาณวารที่ ๒ จบ

เรื่องนางวิสาขามิคารมาตา
[๒๖๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภัคคชนบท ตามพระอัธยาศัย
แล้วเสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงสาวัตถี ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี ในกรุง
สาวัตถีนั้น
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาถือหม้อน้ำ ปุ่มไม้ที่เช็ดเท้าและไม้กวาด เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “พระองค์โปรดรับหม้อน้ำ ปุ่มไม้ที่เช็ดเท้าและไม้กวาด
อันจะเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่หม่อมฉันตลอดกาลนานเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับหม้อน้ำและไม้กวาด แต่ไม่ทรงรับปุ่มไม้ที่เช็ดเท้า
จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นางวิสาขามิคารมาตาเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๓ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ลำดับนั้น นางวิสาขามิคารมาตาซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมี-
กถาแล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้วกลับไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหม้อน้ำและไม้กวาด ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุไม่พึงใช้ปุ่มไม้ที่เช็ดเท้า รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ที่เช็ดเท้า ๓ ชนิด คือ ศิลา กรวด ศิลาฟองน้ำ”

เรื่องพัด
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตา ถือพัดโบกกับพัดใบตาลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงรับ
พัดโบกและพัดใบตาล อันจะเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่หม่อมฉันตลอดกาล
นานเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับพัดโบกและพัดใบตาล ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรง
ชี้แจงให้นางวิสาขามิคารมาตาเห็นชัด ฯลฯ กระทำประทักษิณแล้วจากไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้วรับ
สั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตพัดโบกและพัดใบตาล”
สมัยนั้น แส้ปัดยุงเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตแส้ปัดยุง”
แส้ขนจามรีเกิดขึ้น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้แส้ขนจามรี รูปใดใช้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตแส้ ๓ ชนิด คือ แส้ปอ แส้แฝก แส้ขนนกยูง”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๔ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องร่ม
[๒๗๐] สมัยนั้น ร่มเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตร่ม”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กั้นร่มเดินเที่ยว ครั้งนั้น อุบาสกคนหนึ่งไปเที่ยว
อุทยานกับสาวกของอาชีวกหลายคน พวกสาวกอาชีวกเห็นพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
เดินกั้นร่มมาแต่ไกล จึงได้กล่าวกับอุบาสกนั้นดังนี้ว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญเหล่านี้ของ
ท่าน เดินกั้นร่มมาคล้ายโหราจารย์มหาอมาตย์”
อุบาสกกล่าวว่า “ท่านเหล่านี้ไม่ใช่เป็นภิกษุ แต่เป็นปริพาชกขอรับ”
พวกเขาพนันกันว่า “เป็นภิกษุไม่ใช่ภิกษุ”
ลำดับนั้น อุบาสกจำพวกภิกษุที่เข้ามาใกล้ได้จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนา
ว่า “ไฉนพระคุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลายจึงกั้นร่มเดินเที่ยวเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินอุบาสกตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ จริงหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถา รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกั้นร่ม รูปใดกั้น ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ขาดร่มไม่มีความผาสุก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้เป็นไข้กั้นร่มได้”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตร่มแก่ภิกษุ
ไข้เท่านั้น ไม่ทรงอนุญาตแก่ผู้ไม่เป็นไข้” จึงยำเกรงที่จะกั้นร่มในวัด ในเขตวัด


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๕ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุถึงจะไม่เป็นไข้ก็
กั้นร่มในวัด ในเขตวัดได้”

เรื่องไม้เท้า
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเอาบาตรใส่สาแหรก ใช้ไม้เท้าคอนเดินผ่านไปทางประตู
เข้าหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเวลาวิกาล คนทั้งหลายบอกกันว่า “ดูนั่นโจรกำลังเดินไป ดาบ
ส่องแสงวาววับ” แล้วพากันวิ่งไล่จับ จำได้จึงปล่อยไป ครั้นภิกษุนั้นไปถึงวัดจึงเล่า
เรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่านใช้ไม้เท้ากับสาแหรกหรือ”
ภิกษุนั้นรับว่า “อย่างนั้น ท่านทั้งหลาย”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อยสันโดษ ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุจึงใช้ไม้เท้ากับสาแหรกเล่า”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ
พระผู้มีพระภาคครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถา รับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ไม้เท้ากับสาแหรก รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ขาดไม้เท้า ท่านไม่สามารถจะเดินไปไหนได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์ให้ทัณฑสมมติแก่
ภิกษุผู้เป็นไข้”

คำขอทัณฑสมมติ๑และกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้ทัณฑสมมติอย่างนี้ ภิกษุไข้นั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่ม
อุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษาทั้งหลายแล้วนั่งกระโหย่ง

เชิงอรรถ :
๑ ทัณฑสมมติ คือ สงฆ์ประกาศอนุญาตให้ใช้ไม้เท้าได้เป็นกรณีพิเศษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๖ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ กระผมเป็นไข้ขาดไม้เท้าแล้วไม่สามารถ
จะเดินไปไหนได้ กระผมจึงขอทัณฑสมมติต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
พึงขอแม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้เป็นไข้ ขาดไม้เท้าแล้วไม่สามารถ
จะเดินไปไหนได้ ท่านขอทัณฑสมมติต่อสงฆ์ สงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้ทัณฑสมมติ
แก่ภิกษุนั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้เป็นไข้ ขาดไม้เท้าแล้วไม่
สามารถ จะเดินไปไหนได้ ท่านขอทัณฑสมมติต่อสงฆ์ สงฆ์ให้ทัณฑสมมติ แก่
ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ทัณฑสมมติแก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง
ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
ทัณฑสมมติ สงฆ์ให้แก่ภิกษุชื่อนี้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้า
ขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
[๒๗๑] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ขาดสาแหรกแล้วไม่สามารถนำบาตรไปได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์ให้สิกกาสมมติแก่
ภิกษุไข้”

คำขอสิกกาสมมติ๑และกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้สิกกาสมมติอย่างนี้ ภิกษุเป็นไข้นั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์
ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษาทั้งหลายแล้วนั่งกระโหย่ง

เชิงอรรถ :
๑ สิกกาสมมติ คือ สงฆ์ประกาศอนุญาตให้ใช้สาแหรกได้เป็นกรณีพิเศษ “สาแหรก” คือ ภาชนะที่ทำด้วย
หวายสำหรับหิ้วหรือหาบ ส่วนบนทำเป็นหูหิ้ว ส่วนล่างใช้ไม้ขัดกันเป็นสี่เหลี่ยมสำหรับวางกระจาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๗ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ผมเป็นไข้ ขาดสาแหรกแล้วไม่สามารถ
นำบาตรไปได้ ผมจึงขอสิกกาสมมติต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
พึงขอแม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้เป็นไข้ ขาดสาแหรกแล้วไม่
สามารถนำบาตรไปได้ ท่านขอสิกกาสมมติต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงให้สิกกา
สมมติแก่ภิกษุนั้น นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้เป็นไข้ ขาดสาแหรกแล้วไม่
สามารถจะนำบาตรไปได้ ท่านขอสิกกาสมมติต่อสงฆ์ สงฆ์ให้สิกกาสมมติแก่ภิกษุ
ชื่อนี้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้สิกกาสมมติแก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใด
ไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สิกกาสมมติ สงฆ์ให้แก่ภิกษุชื่อนี้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้า
ขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้
[๒๗๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ขาดไม้เท้าไม่สามารถจะเดินไปไหนได้
ขาดสาแหรกก็ไม่สามารถจะนำบาตรไปได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์ให้ทัณฑสิกกาสมมติ
แก่ภิกษุผู้เป็นไข้”

คำขอทัณฑสิกกาสมมติและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้ทัณฑสิกกาสมมติอย่างนี้ ภิกษุเป็นไข้นั้นพึงเข้าไปหา
สงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษาทั้งหลายแล้วนั่ง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๘ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
กระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ผมเป็นไข้ ขาดไม้เท้าไม่สามารถ
จะไปไหนได้ ขาดสาแหรกไม่สามารถจะนำบาตรไปได้ ผมขอทัณฑสิกกาสมมติต่อสงฆ์”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
พึงขอแม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้เป็นไข้ ขาดไม้เท้าไม่สามารถ
จะเดินไปไหนได้ ขาดสาแหรกไม่สามารถจะนำบาตรไปได้ ท่านขอทัณฑสิกกาสมมติ
ต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วพึงให้ทัณฑสิกกาสมมติแก่ภิกษุชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้รูปนี้เป็นไข้ ขาดไม้เท้าไม่สามารถ
จะเดินไปไหนได้ ขาดสาแหรกไม่สามารถจะนำบาตรไปได้ ท่านขอทัณฑสิกกาสมมติ
ต่อสงฆ์ สงฆ์ให้ทัณฑสิกกาสมมติแก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ทัณฑ
สิกกาสมมติแก่ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึง
ทักท้วง
ทัณฑสิกกาสมมติ สงฆ์ให้แก่ภิกษุชื่อนี้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องภิกษุสำรอกอาหาร
[๒๗๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีนิสัยเคี้ยวเอื้อง ท่านสำรอกอาหารออกมาเคี้ยว
แล้วกลืนเข้าไปอีก ภิกษุทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ภิกษุนี้ฉันอาหาร
ในเวลาวิกาล” แล้วนำเรื่องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เพิ่งจุติมาจากกำเนิดโค ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มีนิสัยเคี้ยวเอื้อง เคี้ยวเอื้องได้ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ
ไม่พึงกลืนอาหารที่ออกมานอกปากแล้วเข้าไปอีก รูปใดกลืน พึงปรับอาบัติตามธรรม”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๕๙ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
สมัยนั้น สมาคมหนึ่งได้จัดสังฆภัต มีเมล็ดข้าวตกกลาดเกลื่อนในโรงอาหาร
มากมาย คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตร เมื่อเขาถวายข้าวสุก จึงไม่รับโดยเอื้อเฟื้อเล่า ข้าวแต่ละเมล็ดกว่าจะ
สำเร็จได้ต้องใช้กรรมวิธีนับร้อย”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หยิบอาหารที่เขาถวาย
ซึ่งตกลงไปขึ้นมาฉันได้เอง อาหารนั้นพวกทายกเขาบริจาคแล้ว”

เรื่องการไว้เล็บและตัดเล็บ
[๒๗๔] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไว้เล็บยาวเที่ยวบิณฑบาต หญิงคนหนึ่งเห็นจึง
กล่าวกับภิกษุนั้นดังนี้ว่า “เชิญท่านมาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ”
ภิกษุตอบว่า “อย่าเลยน้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร”
หญิงนั้นกล่าวว่า “ถ้าท่านไม่เสพ ดิฉันจักใช้เล็บหยิกข่วนเนื้อตัวเองแล้วส่งเสียง
เอะอะเดี๋ยวนี้ว่า “ภิกษุรูปนี้กระทำมิดีมิร้ายดิฉัน”
ภิกษุตอบว่า “จงรู้เองเถิด น้องหญิง”
ลำดับนั้น หญิงนั้นใช้เล็บหยิกข่วนเนื้อตัวเอง ส่งเสียงเอะอะว่า “ภิกษุนี้กระทำ
มิดีมิร้ายดิฉัน”
คนทั้งหลายวิ่งเข้าไปจับกุมภิกษุนั้น ได้เห็นผิวหนังบ้าง เลือดบ้างที่เล็บมือของ
หญิงนั้นจึงกล่าวกันว่า “นี้เป็นการกระทำของหญิงนี้เอง ภิกษุนี้ไม่ได้เป็นตัวการ” แล้ว
ปล่อยภิกษุนั้นไป ครั้นภิกษุนั้นไปถึงวัดได้บอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่านไว้เล็บยาวหรือ”
ภิกษุนั้นตอบว่า “จริงอย่างนั้น ท่านทั้งหลาย”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๐ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
บรรดาภิกษุผู้มักน้อยสันโดษ ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุจึงไว้เล็บยาวเล่า” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไว้เล็บยาว รูปใดไว้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้เล็บมือตัดเล็บมือบ้าง ใช้ปากกัดเล็บบ้าง ใช้เล็บมือ
ครูดที่ฝาผนังบ้าง นิ้วมือเจ็บ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตมีดตัดเล็บ”
ภิกษุทั้งหลายตัดเล็บจนเลือดออก นิ้วมือเจ็บ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตัดเล็บเสมอเนื้อ”

เรื่องขัดเล็บ
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ช่วยกันขัดเล็บทั้ง ๒๐ เล็บ คนทั้งหลายตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “ทำเหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงขัดเล็บทั้ง ๒๐ เล็บ
รูป ใดขัด ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แคะขี้เล็บได้เท่านั้น”

เรื่องมีดโกน
[๒๗๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไว้ผมยาว ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสามารถปลงผมให้แก่กัน
ได้หรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “สามารถ พระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๑ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ฯลฯ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตมีดโกน หินลับมีด ฝักมีด ผ้าพันมีด
เครื่องใช้โกนทุกชนิด”

เรื่องแต่งหนวด
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ช่วยกันแต่งหนวด ... ปล่อยหนวดไว้ยาว ... ไว้
เครายาว(เหมือนหนวดแพะ) ... ช่วยกันแต่งหนวดเป็นรูปสี่เหลี่ยม ... ช่วยกันแต่งขน
หน้าอก ... ช่วยกันแต่งขนหน้าท้อง ... ช่วยกันแต่งหนวดเป็นเขี้ยวโง้ง ... ช่วยกัน
โกนขนในที่แคบ
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงช่วยกันตัดหนวด ... ไม่พึง
ปล่อยหนวดไว้ยาว ... ไม่พึงไว้เครายาว(เหมือนหนวดแพะ) ... ไม่พึงช่วยกันแต่งหนวด
เป็นรูปสี่เหลี่ยม ... ไม่พึงช่วยกันแต่งขนหน้าอก ... ไม่พึงช่วยกันแต่งขนหน้าท้อง ...
ไม่พึงช่วยกันแต่งหนวดเป็นเขี้ยวโง้ง ... ไม่พึงช่วยกันโกนขนในที่แคบ รูปใดช่วยกันโกน
ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงอนุญาตให้โกนขนในที่ลับ
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นแผลในที่แคบ ทายาไม่ติด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โกนขนในที่แคบได้ เพราะ
อาพาธเป็นปัจจัย”

เรื่องกรรไกร
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้กรรไกรตัดผม คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๒ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้กรรไกรตัดผม รูปใดใช้ตัด
ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นแผลที่ศีรษะ ไม่อาจจะใช้มีดโกนปลงผมได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้กรรไกรตัดผมได้
เพราะอาพาธเป็นปัจจัย”

เรื่องไว้ขนจมูก
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลาย ปล่อยขนจมูกไว้ยาว คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “เหมือนปีศาจ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงไว้ขนจมูกยาว รูปใดไว้
ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้ก้อนกรวดบ้าง ขี้ผึ้งบ้างถอนขนจมูก จมูกเจ็บ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้แหนบ”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ผมหงอก
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ช่วยกันถอนผมหงอก พวกคนทั้งหลายพากันตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงช่วยกันถอนผมหงอก
รูปใดช่วยกันถอน ต้องอาบัติทุกกฏ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๓ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องไม้แคะหู
[๒๗๖] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีขี้หูจุกช่องหูทั้ง ๒ ข้าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ไม้แคะขี้หู”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ไม้แคะขี้หูชนิดต่าง ๆ คือทำด้วยทอง ทำด้วยเงิน
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ไม้แคะหูชนิดต่าง ๆ
รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ไม้แคะขี้หูทำด้วยกระดูก
ทำด้วยงา ทำด้วยเขาสัตว์ ทำด้วยไม้อ้อ ทำด้วยไม้ไผ่ ทำด้วยไม้ธรรมดา ทำด้วยครั่ง
ทำด้วยเมล็ดผลไม้ ทำด้วยโลหะ ทำด้วยกระดองสังข์”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์สะสมโลหะและทองสัมฤทธิ์
[๒๗๗] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สะสมโลหะ ทองสัมฤทธิ์ไว้เป็นจำนวนมาก
คนทั้งหลายไปเที่ยวชมวิหารพบเห็นจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระ
สมณะเชื้อสายศากยบุตรจึงสะสมโลหะ ทองสัมฤทธิ์ ไว้เป็นจำนวนมาก เหมือนพ่อ
ค้าขายเครื่องทองสัมฤทธิ์เล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสะสมโลหะทองสัมฤทธิ์
ไว้เป็นจำนวนมาก รูปใดสะสม ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องกล่องยาตา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายรังเกียจกล่องยาตาบ้าง ไม้ป้ายยาตาบ้าง ไม้แคะขี้หูบ้าง
ของที่ใช้ห่อบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๔ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล่องยาตา ไม้ป้ายยาตา
ไม้แคะขี้หู ของที่ใช้ห่อ”

เรื่องผ้ารัดเข่า
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์นั่งใช้สังฆาฏิรัดเข่า แผ่นสังฆาฏิหลุด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนั่งรัดเข่าด้วยสังฆาฏิ รูป
ใดนั่งรัด ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ท่านขาดผ้ารัดเข่าย่อมไม่มีความผาสุก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้ารัดเข่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “จะทำผ้ารัดเข่าอย่างไร” ภิกษุทั้งหลายจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้สะดึง ที่แผ่ด้าย ฟืม
ด้ายพัน ไม้สลักทอ เครื่องหูกทุกอย่าง”

เรื่องประคดเอว
[๒๗๘] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไม่ได้คาดประคดเอวเข้าไปบิณฑบาต อันตรวาสก
(สบง)ของท่านหลุดที่ถนน คนทั้งหลายเห็นแล้วพากันโห่ร้อง ภิกษุนั้นเขินอาย ครั้น
ภิกษุนั้นไปถึงวัดจึงบอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ได้คาดประคดเอวไม่พึงเข้า
หมู่บ้าน รูปใดเข้า ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตประคดเอว”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๕ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ประคดเอวชนิดต่าง ๆ คือ ประคดถักเชือก ถัก
เป็นหัวงูน้ำ กลมคล้ายเกลียวเชือก คล้ายสังวาล คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ประคดเอวชนิดต่าง ๆ
คือ ประคดถักเชือก ถักเป็นหัวงูน้ำ กลมคล้ายเกลียวเชือก คล้ายสังวาล รูปใดใช้
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตประคดเอว ๒ ชนิด คือ ประคดแผ่นผ้า
ประคดไส้สุกร”
ชายประคดเอวลุ่ย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ถักคล้ายเกลียวเชือก หรือคล้ายสังวาล”
ปลายประคดเอวลุ่ย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้เย็บทบเข้ามาแล้วถักเป็นห่วง”
ปลายห่วงประคดเอวลุ่ย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตลูกถวิน”๑

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้ลูกถวิน
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ลูกถวินชนิดต่าง ๆ ทำด้วยทอง ทำด้วยเงิน
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ลูกถวินชนิดต่าง ๆ รูป
ใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลูกถวินทำด้วยกระดูก ทำด้วยงา
ทำด้วยเขาสัตว์ ทำด้วยไม้อ้อ ทำด้วยไม้ไผ่ ฯลฯ ทำด้วยกระดองสังข์ ทำด้วย
เส้นด้าย”

เชิงอรรถ :
๑ ลูกถวิน คือ ห่วงร้อยสายประคตเอว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๖ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องลูกดุม
[๒๗๙] สมัยนั้น ท่านพระอานนท์ห่มสังฆาฏิเนื้อบางเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน
สังฆาฏิถูกลมบ้าหมูพัดเวิกขึ้น ครั้นท่านพระอานนท์กลับไปถึงอารามจึงบอกเรื่องนั้น
ให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลูกดุม รังดุม”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ลูกดุมชนิดต่าง ๆ ทำด้วยทอง ทำด้วยเงิน คน
ทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ลูกดุมชนิดต่าง ๆ รูปใดใช้
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลูกดุมทำด้วยกระดูก ทำด้วยงา ทำด้วย
เขาสัตว์ ทำด้วยไม้อ้อ ทำด้วยไม้ไผ่ ทำด้วยไม้จริง ทำด้วยยางไม้ ทำด้วยผลไม้
ทำด้วยโลหะ ทำด้วยกระดองสังข์ ทำด้วยเส้นด้าย”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเย็บติดลูกดุมบ้าง รังดุมบ้างที่จีวร จีวรขาด ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตแผ่นผ้ารองลูกดุม ผ้า
รองรังดุม”
ภิกษุทั้งหลายเย็บแผ่นผ้ารองลูกดุม ผ้ารองรังดุมที่ชายจีวร มุมผ้าเปิด ภิกษุ
ทั้งหลาย จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ติดแผ่นผ้ารองลูกดุม
ผ้ารองรังดุมที่ชายผ้าลึกเข้าไป ๗-๘ องคุลี”๑

เชิงอรรถ :
๑ มาตราวัดโบราณ องคุลีเท่ากับ ๑ นิ้ว ยาวเท่ากับช่วงข้อปลายของนิ้วกลาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๗ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องการนุ่งห่มอย่างคฤหัสถ์
[๒๘๐] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์นุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์ คือ นุ่งปล่อยชาย
เหมือนงวงช้าง เหมือนหางปลา ปล่อยชายสี่แฉก ปล่อยชายคล้ายก้านตาลยกกลีบ
ตั้งร้อย คนทั้งหลาย ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ทำเหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภค
กาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์ คือ
นุ่งปล่อยชายเหมือนงวงช้าง เหมือนหางปลา ปล่อยชายสี่แฉก ปล่อยชายคล้าย
ก้านตาลยกกลีบตั้งร้อย รูปใดนุ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ห่มอย่างคฤหัสถ์ คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ทำเหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์ รูป
ใดห่ม ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์นุ่งผ้าโจงกระเบน คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ทำเหมือนคนหาบของหลวง”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าโจงกระเบน รูปใดนุ่ง
ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องหาบของ
[๒๘๑] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์หาบของ คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ทำเหมือนคนหาบของหลวง”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๘ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงหาบของ รูปใดหาบ ต้อง
อาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คอน หาม เทิน แบก กระเดียด หิ้ว”

เรื่องไม้ชำระฟัน ๑
[๒๘๒] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่เคี้ยวไม้ชำระฟัน ปากมีกลิ่นเหม็น
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย การไม่เคี้ยวไม้ชำระฟันมีโทษ ๕
ประการนี้ โทษ ๕ ประการคือ

๑. ตาฝ้าฟาง ๒. ปากมีกลิ่นเหม็น
๓. ประสาทลิ้นรับรสได้ไม่ดี ๔. น้ำดีและเสมหะหุ้มห่ออาหาร
๕. เบื่ออาหาร

ภิกษุทั้งหลาย การไม่เคี้ยวไม้ชำระฟันมีโทษ ๕ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย การเคี้ยวไม้ชำระฟันมีประโยชน์ ๕ ประการ คือ

๑. ตาสว่าง ๒. ปากไม่มีกลิ่นเหม็น
๓. ประสาทลิ้นรับรสได้ดี ๔. น้ำดีและเสมหะไม่หุ้มห่ออาหาร
๕. เจริญอาหาร

ภิกษุทั้งหลาย การเคี้ยวไม้ชำระฟันมีประโยชน์ ๕ ประการนี้แล ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตไม้ชำระฟัน
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เคี้ยวไม้ชำระฟันขนาดยาว ใช้ไม้เหล่านั้นแหละ
ตีสามเณร
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๐๘/๓๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๖๙ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเคี้ยวไม้ชำระฟันขนาดยาว
รูปใดเคี้ยว ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้ชำระฟันยาว ๘ นิ้วเป็น
อย่างมาก และภิกษุไม่พึงใช้ไม้ชำระฟันนั้นตีสามเณร รูปใดตี ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเคี้ยวไม้ชำระฟันสั้นเกินไป จึงหลุดเข้าไปติดในลำคอ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเคี้ยวไม้ชำระฟันสั้นเกินไป
รูปใดเคี้ยว ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้ชำระฟันสั้น ๔ องคุลี
เป็นอย่างต่ำ”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์จุดไฟเผากองหญ้า
[๒๘๓] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จุดไฟเผากองหญ้า คนทั้งหลายตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคนเผาป่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงจุดไฟเผากองหญ้า รูปใด
จุดเผา ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น หญ้าขึ้นรกวิหาร เมื่อไฟป่าไหม้ลามมาถึง วิหารจึงถูกไฟไหม้ ภิกษุยำ
เกรงอยู่ที่จะจุดไฟต้านไฟป่าเพื่อป้องกัน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จุดไฟต้านไฟป่าที่กำลัง
ไหม้”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ขึ้นต้นไม้
[๒๘๔] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ขึ้นต้นไม้ ไต่จากต้นหนึ่งไปอีกต้นหนึ่ง
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนลิง”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๐ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงขึ้นต้นไม้ รูปใดขึ้น ต้อง
อาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปกรุงสาวัตถี ในแคว้นโกศล ระหว่างทางถูกช้างไล่ภิกษุ
นั้นวิ่งไปที่โคนไม้ ยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมขึ้น พอดีช้างนั้นเดินไปทางอื่น ครั้นภิกษุนั้น
ไปถึงกรุงสาวัตถีได้บอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีเหตุที่สมควร เราอนุญาตให้ขึ้น
ต้นไม้สูงชั่วบุรุษ แต่ในคราวมีอันตราย ขึ้นได้ตามความประสงค์”

เรื่องทรงห้ามยกพระพุทธพจน์ขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต
[๒๘๕] สมัยนั้นภิกษุ ๒ รูป ชื่อเมฏฐะและโกกุฏฐะ เป็นพี่น้องกัน เกิดใน
ตระกูลพราหมณ์ พูดจาอ่อนหวานมีเสียงไพเราะ ภิกษุทั้ง ๒ รูปนั้นเข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระพุทธเจ้าข้า เวลานี้ภิกษุต่างชื่อ ต่างโคตร ต่าง
เชื้อชาติ ต่างตระกูลพากันออกบวช ภิกษุเหล่านั้นทำพระพุทธพจน์ให้ผิดเพี้ยนด้วยภาษา
ของตน๑ ขอวโรกาส ข้าพระพุทธเจ้าจะขอยกพระพุทธพจน์ขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต”๒
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอ
จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ขอวโรกาส ข้าพระพุทธเจ้าจะขอยกพระพุทธพจน์ขึ้นเป็นภาษา
สันสกฤต’เล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงยกพุทธวจนะขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต รูปใดยกขึ้น ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เล่าเรียนพุทธวจนะด้วยภาษาของตน”

เชิงอรรถ :
๑ ภาษาของตน คือ ภาษามคธซึ่งมีสำนวนโวหารตามแบบที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส (วิ.อ. ๓/๒๘๕/๓๑๗)
๒ ฉนฺทโส คือ สกฺกตภาสาย = ภาษาสันสกฤต (วิ.อ. ๓/๒๘๕/๓๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๑ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์เรียนโลกายัต
[๒๘๖] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เรียนโลกายัต๑ พวกคนทั้งหลายพากันตำหนิ
ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เห็นสาระในโลกายัตพึงถึง
ความเจริญ ความงอกงาม ความไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้หรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่ถึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เห็นสาระในธรรมวินัยนี้ ย่อม
เรียนโลกายัตหรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เรียน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเรียนโลกายัต รูปใดเรียน
ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สอนโลกายัต คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสอนโลกายัต รูปใดสอน ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์เรียนดิรัจฉานวิชา
[๒๘๗] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เรียนดิรัจฉานวิชา ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ โลกายัต หมายถึง ติตถิยศาสตร์ คือ ศาสตร์ของพวกเจ้าลัทธิต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยเหตุไร้ประโยชน์
เช่น เรื่องสรรพสิ่งไม่บริสุทธิ์ เป็นเดน สรรพสิ่งบริสุทธิ์ ไม่เป็นเดน กาขาว นกยางดำ เป็นต้น (วิ.อ.๓/
๒๘๖/๓๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๒ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงเรียนดิรัจฉานวิชา รูปใด
เรียน ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สอนดิรัจฉานวิชา คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม” ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสอนดิรัจฉานวิชา รูปใดสอน ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องให้พรเมื่อมีผู้จาม
[๒๘๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคห้อมล้อมด้วยบริษัทหมู่ใหญ่ ประทับนั่ง
แสดงธรรม ได้ทรงจามขึ้น ภิกษุทั้งหลายได้ถวายพระพรเสียงดังว่า “ขอพระผู้มี
พระภาคจงทรงพระเจริญพระชนมายุเถิด ขอพระสุคตจงทรงพระเจริญพระชนมายุเถิด
พระพุทธเจ้าข้า” การแสดงธรรมต้องหยุดลง เพราะเสียงถวายพระพรนั้น
พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีการจาม ผู้ที่
ได้รับพรว่า ‘ขอจงมีอายุยืน’ จะมีชีวิตหรือต้องตายเพราะสาเหตุนั้นละหรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีการจาม ภิกษุไม่พึงให้พรว่า
‘ขอจงมีอายุยืน’ รูปใดให้ ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ในคราวที่ภิกษุทั้งหลายจาม คนทั้งหลายให้พรว่า “ขอท่านทั้งหลาย
จงมีอายุยืน” ภิกษุยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมให้พรตอบ
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตร
เมื่อเขาให้พรว่า ‘จงมีอายุยืน’ จึงไม่ให้พรตอบเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายต้องการความเป็นสิริมงคล
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกคฤหัสถ์ให้พรว่า ‘จงมีอายุยืน’ เราอนุญาตให้ภิกษุให้พรตอบ
ว่า ‘ท่านก็จงมีอายุยืน”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๓ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เรื่องฉันกระเทียม
[๒๘๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคห้อมล้อมด้วยบริษัทหมู่ใหญ่ ประทับนั่ง
แสดงธรรมอยู่ ภิกษุรูปหนึ่งฉันกระเทียม ท่านคิดว่า “ภิกษุทั้งหลายอย่าได้กลิ่น
กระเทียม” จึงนั่ง ณ ที่สมควรด้านหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้นผู้นั่ง ณ ที่สมควรด้านหนึ่งจึงตรัส
ถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทำไมภิกษุนั้นจึงนั่ง ณ ที่สมควรด้านหนึ่งเล่า”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ภิกษุนั้นฉันกระเทียมแล้วคิดว่า ‘ภิกษุทั้งหลายอย่า
ได้กลิ่นกระเทียม’ จึงนั่ง ณ ที่สมควรด้านหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย อาหารที่ภิกษุฉันแล้วทำให้
เหินห่างจากธรรมกถาเช่นนี้ ควรฉันหรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่ควรฉัน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันกระเทียม รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรอาพาธเป็นลมเสียดท้อง ท่านพระมหาโมคคัลลานะ
เข้าไปหาแล้วถามว่า “ท่านสารีบุตร เมื่อก่อนท่านเป็นลมเสียดท้อง หายจากโรค
เพราะฉันอะไร”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “เพราะฉันกระเทียม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันกระเทียมได้ เพราะ
อาพาธเป็นปัจจัย”

เรื่องหม้อปัสสาวะ
[๒๙๐] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายถ่ายปัสสาวะลงในที่นั้น ๆ ในอาราม อารามสกปรก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถ่ายปัสสาวะในที่สมควร”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๔ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
อารามมีกลิ่นเหม็น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
หม้อปัสสาวะ”
ภิกษุทั้งหลายนั่งปัสสาวะไม่สะดวก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตฐานวางเท้าถ่ายปัสสาวะ”
ฐานวางเท้าถ่ายปัสสาวะอยู่ในที่เปิดเผย ภิกษุทั้งหลายละอายที่จะถ่ายปัสสาวะ
ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ล้อมรั้ว ๓ ชนิด คือ
รั้วอิฐ รั้วศิลา รั้วไม้”
หม้อปัสสาวะไม่มีฝาปิดส่งกลิ่นเหม็น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด”

เรื่องหลุมถ่ายอุจจาระ
[๒๙๑] สมัยนั้น พวกภิกษุถ่ายอุจจาระลงในที่นั้น ๆ ในอาราม อารามสกปรก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถ่ายอุจจาระในที่สมควร”
อารามมีกลิ่นเหม็น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
หลุมถ่ายอุจจาระ”
ขอบปากหลุมถ่ายอุจจาระพัง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ก่อคันกั้นดิน ๓ ชนิด คือ คันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่
ทำด้วยไม้”
หลุมอุจจาระพื้นต่ำ น้ำจึงท่วม ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
ถมพื้นให้สูง”
ดินที่ถมพัง ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ก่อคันกั้นดินที่ถม
ได้ ๓ ชนิด คือ คันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่ทำด้วยไม้”
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบันได
๓ ชนิด คือ บันไดอิฐ บันไดศิลา บันไดไม้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๕ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”
ภิกษุทั้งหลายนั่งถ่ายอุจจาระที่ริมหลุมพลัดตกลงไป ฯลฯ พระผู้มีพระภาค
รับ สั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลาดพื้นแล้วเจาะช่องถ่ายอุจจาระตรงกลาง”
ภิกษุทั้งหลายนั่งถ่ายอุจจาระไม่สะดวก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตฐานวางเท้าถ่ายอุจจาระ”
ภิกษุทั้งหลายถ่ายปัสสาวะออกไปข้างนอก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตรางรองปัสสาวะ”
ไม้ชำระไม่มี ฯลฯ รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้ชำระ”
ตะกร้าใส่ไม้ชำระไม่มี ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ตะกร้าใส่ไม้ชำระ”
หลุมอุจจาระไม่ได้ปิดฝา ส่งกลิ่นเหม็น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด”

เรื่องวัจกุฎี
ภิกษุทั้งหลายถ่ายอุจจาระในที่แจ้งต้องลำบากเพราะความร้อนบ้าง เพราะความ
หนาวบ้าง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตวัจกุฎี”
วัจกุฎีไม่มีบานประตู ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
บานประตู กรอบเช็ดหน้า รูครกที่รับเดือยประตู ห่วงข้างบน สายยู ไม้หัวลิง กลอน
ลิ่ม ช่องดาล ช่องสำหรับชัก เชือกสำหรับชัก”
ผงหญ้าตกเกลื่อนวัจกุฎี ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้รื้อลง แล้วเอาดินโบกฉาบดินทั้งภายในภายนอก ทำให้มีสีขาว ให้มีสีดำ ให้
มีสียางไม้ เขียน ลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร เขียน
ลวดลายดอกจอก ราวจีวร สายระเดียง”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๖ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
[๒๙๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งทุพพลภาพเพราะชรา ถ่ายอุจจาระแล้วลุกขึ้น
ล้มลง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชือกสำหรับเหนี่ยว”
วัจกุฎีไม่ได้ล้อมรั้ว ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ล้อมรั้ว ๓ ชนิด คือ
รั้วอิฐ รั้วศิลา รั้วไม้”
วัจกุฎีไม่มีซุ้ม ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตซุ้ม”
ซุ้มมีพื้นที่ต่ำ ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถม
พื้นให้สูง”
ดินที่ถมพังทะลาย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ก่อคันกั้นดินที่ถม ๓ ชนิด คือ คันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่ทำด้วยไม้”
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตบันได ๓ ชนิด คือ บันไดอิฐ บันไดศิลา บันไดไม้”
เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”
ซุ้มไม่มีประตู ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
บานประตู กรอบเช็ดหน้า รูครกที่รับเดือยประตู ห่วงข้างบน สายยู ไม้หัวลิง กลอน
ลิ่ม ช่องดาล ช่องสำหรับชัก เชือกสำหรับชัก”
ผงหญ้าตกเกลื่อนที่ซุ้ม ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้รื้อลงแล้วเอาดินโบกฉาบทั้งภายในภายนอก ทำให้มีสีขาว ให้มีสีดำ ให้มี


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๗ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
สียางไม้ เขียนลวดลายพวงดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร เขียนลวด
ลายดอกจอก”
บริเวณลื่น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โรย
กรวดแร่”
กรวดแร่ยังไม่เต็ม ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้วางศิลาเรียบ”
น้ำขัง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตท่อระบายน้ำ”
หม้ออุจจาระไม่มี ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
หม้ออุจจาระ”
กระบอกขันตักน้ำล้างอุจจาระไม่มี ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตกระบอกขันตักน้ำล้างอุจจาระ”
ภิกษุทั้งหลายนั่งชำระไม่สะดวก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตฐานวางเท้าชำระ”
ฐานที่นั่งถ่ายอยู่ในที่เปิดเผย ภิกษุทั้งหลายละอายที่จะถ่าย ฯลฯ พระผู้มีพระ
ภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ล้อมรั้ว ๓ ชนิด คือ รั้วอิฐ รั้วศิลา รั้วไม้”
หม้ออุจจาระไม่ได้ปิด ผงหญ้าและขี้ฝุ่นตกลง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ประพฤติไม่เหมาะสม ๑
[๒๙๓] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ประพฤติไม่เหมาะสมเห็นปานนี้ คือ ปลูก
ไม้ดอกเองบ้าง ใช้ผู้อื่นปลูกบ้าง รดน้ำเองบ้าง ใช้ผู้อื่นรดบ้าง เก็บดอกไม้เองบ้าง

เชิงอรรถ :
๑ วิ.มหา. (แปล) ๑/๔๓๑/๔๕๙-๔๖๐, วิ.จู. (แปล) ๖/๒๑/๓๙-๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๘ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] ขุททกวัตถุ
ใช้ผู้อื่นเก็บบ้าง ร้อยดอกไม้เองบ้าง ใช้ผู้อื่นร้อยบ้าง ทำมาลัยต่อก้านเองบ้าง ใช้ผู้
อื่นทำบ้าง ทำมาลัยเรียงก้านเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง จัดดอกไม้ช่อเองบ้าง ใช้ผู้
อื่นจัดบ้าง ทำดอกไม้พุ่มเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้เทริดเองบ้าง ใช้ผู้อื่น
ทำบ้าง ทำดอกไม้พวงเองบ้าง ใช้ผู้อื่นทำบ้าง ทำดอกไม้แผงประดับอกเองบ้าง ใช้
ให้ผู้อื่นทำบ้าง
ภิกษุพวกนั้นนำไปเองบ้าง ใช้ผู้อื่นนำไปบ้างซึ่งมาลัยต่อก้าน มาลัยเรียงก้าน
ดอกไม้ช่อ ดอกไม้พุ่ม ดอกไม้เทริด ดอกไม้พวง ดอกไม้แผงประดับอก เพื่อกุลสตรี
เพื่อกุลธิดา เพื่อกุลกุมารี เพื่อสะใภ้ของตระกูล เพื่อทาสหญิงในตระกูล
ภิกษุพวกนั้นฉันอาหารในภาชนะเดียวกันบ้าง ดื่มน้ำในขันใบเดียวกันบ้าง นั่ง
บนอาสนะเดียวกันบ้าง นอนบนเตียงเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดเดียวกันบ้าง
นอนคลุมผ้าห่มผืนเดียวกันบ้าง นอนร่วมเครื่องลาดและคลุมผ้าห่มร่วมกันบ้าง
กับกุลสตรี กุลธิดา กุลกุมารี สะใภ้ของตระกูล ทาสหญิงในตระกูล
ภิกษุพวกนั้นฉันอาหารในเวลาวิกาลบ้าง ดื่มน้ำเมาบ้าง ทัดทรงดอกไม้ของหอม
และเครื่องลูบไล้บ้าง ฟ้อนรำบ้าง ขับร้องบ้าง ประโคมบ้าง เต้นรำบ้าง ฟ้อนรำ
กับหญิงฟ้อนรำบ้าง ขับร้องกับหญิงฟ้อนรำบ้าง ประโคมกับหญิงฟ้อนรำบ้าง เต้นรำ
กับหญิงฟ้อนรำบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงขับร้องบ้าง ขับร้องกับหญิงขับร้องบ้าง ประโคม
กับหญิงขับร้องบ้าง เต้นรำกับหญิงขับร้องบ้าง ฟ้อนรำกับหญิงประโคมบ้าง ขับร้อง
กับหญิงประโคมบ้าง ประโคมกับหญิงประโคมบ้าง เต้นรำกับหญิงประโคมบ้าง ฟ้อนรำ
กับหญิงเต้นรำบ้าง ขับร้องกับหญิงเต้นรำบ้าง ประโคมกับหญิง เต้นรำบ้าง เต้นรำ
กับหญิงเต้นรำบ้าง เล่นหมากรุกแถวละ ๘ ตาบ้าง แถวละ ๑๐ ตาบ้าง เล่นหมาก
เก็บบ้าง เล่นชิงนางบ้าง เล่นหมากไหวบ้าง เล่นโยนห่วงบ้าง เล่นไม้หึ่งบ้าง เล่น
ฟาดให้เป็นรูปต่าง ๆ บ้าง เล่นสกาบ้าง เล่นเป่าใบไม้บ้าง เล่นไถน้อย ๆ บ้าง เล่น
หกคะเมนบ้าง เล่นไม้กังหันบ้าง เล่นตวงทรายด้วยใบไม้บ้าง เล่นรถน้อย ๆ บ้าง เล่น
ธนูน้อย ๆ บ้าง เล่นเขียนทายบ้าง เล่นทายใจบ้าง เล่นเลียนคนพิการบ้าง หัดขี่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๗๙ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
ช้างบ้าง หัดขี่ม้าบ้าง หัดขี่รถบ้าง หัดยิงธนูบ้าง หัดเพลงอาวุธบ้าง วิ่งผลัดช้างบ้าง
วิ่งผลัดม้าบ้าง วิ่งผลัดรถบ้าง วิ่งขับกันบ้าง วิ่งเปี้ยวบ้าง ผิวปากบ้าง ปรบมือบ้าง
ปล้ำกันบ้าง ชกมวยบ้าง ปูลาดผ้าสังฆาฏิท่ามกลางเวทีเต้นรำแล้วพูดกับหญิงฟ้อนรำ
อย่างนี้ว่า “น้องหญิง เธอจงฟ้อนรำในที่นี้” ดังนี้แล้ว ให้การคำนับบ้าง ประพฤติ
ไม่เหมาะสมต่าง ๆ บ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงประพฤติไม่เหมาะสม รูปใด
ประพฤติ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องโลหะ
สมัยนั้น เมื่อท่านพระอุรุเวลกัสสปะบวชแล้ว เครื่องใช้โลหะ เครื่องใช้ไม้ เครื่องใช้
ดินจำนวนมากเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีปรึกษากันดังนี้ว่า “พระผู้
มีพระภาคทรงอนุญาตเครื่องใช้โลหะหรือไม่ได้ทรงอนุญาต ทรงอนุญาตเครื่องใช้ไม้หรือ
ไม่ได้ทรงอนุญาต ทรงอนุญาตเครื่องใช้ดินหรือไม่ได้ทรงอนุญาต” จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องใช้โลหะทุกชนิด เว้นเครื่อง
ประหาร อนุญาตเครื่องใช้ไม้ทุกชนิดเว้นเก้าอี้นอน บัลลังก์(แท่นนั่ง) บาตรไม้ เขียงเท้า
(รองเท้าไม้) อนุญาตเครื่องใช้ดินทุกชนิด ยกเว้นเครื่องใช้เช็ดเท้า กุฎีดินเผา ”

ขุททกวัตถุขันธกะที่ ๕ จบ

รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
พระฉัพพัคคีย์สรงน้ำขัดสีกายกับต้นไม้
สรงน้ำขัดสีกายกับเสา สรงน้ำขัดสีกายกับฝา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๐ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
สรงน้ำในที่ไม่สมควร ใช้มือทำด้วยไม้หอมถูกายสรงน้ำ
ใช้เชือกชุบจุรณศิลาสีเหมือนพลอยแดงถูกายสรงน้ำ
ทำบริกรรมให้แก่กันและกัน
ใช้ไม้บังเวียนจักเป็นฟันมังกรถูกายสรงน้ำ
ภิกษุเป็นหิด ภิกษุทุพพลภาพเพราะชรา
ทรงอนุญาตให้ใช้ฝ่ามือถูหลัง
พระฉัพพัคคีย์ใช้เครื่องประดับชนิดต่าง ๆ คือ เครื่องประดับหู
สร้อยสังวาล สร้อยคอ เครื่องประดับเอว วลัย สร้อยตาบ
เครื่องประดับข้อมือ แหวนสวมนิ้วมือ
พระฉัพพัคคีย์ไว้ผมยาว ใช้แปรงหวีผม
ใช้หวีหวีผม เสยผม ใช้น้ำมันผสมขี้ผึ้งเสยผม
ใช้น้ำมันผสมน้ำเสยผม ส่องเงาหน้าที่คันฉ่อง ในภาชนะใส่น้ำ
ภิกษุเป็นแผลที่หน้า ทรงอนุญาตให้ตรวจดูรอยแผลที่คันฉ่องหรือ
ที่ภาชนะใส่น้ำได้ พระฉัพพัคคีย์ทาหน้า ถูหน้า ผัดหน้า เจิมหน้า
ย้อมตัว ย้อมหน้า ย้อมทั้งหน้าทั้งตัว ภิกษุอาพาธเป็นโรคตา
ทรงอนุญาตให้ทาหน้าได้ พระฉัพพัคคีย์ดูมหรสพ
สวดธรรมด้วยเสียงขับยาว ทรงอนุยาตให้สวดสรภัญญะ
พระฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าขนสัตว์ พระฉัพพัคคีย์ฉันมะม่วง
สมาคมหนึ่งถวายชิ้นมะม่วง ทรงอนุญาตให้ผลไม้
ที่สมควรแก่สมณะ ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัดเพราะไม่เจริญเมตตา
ภิกษุตัดองคชาตของตน เศรษฐีถวายบาตรไม้จันทน์
พระฉัพพัคคีย์ใช้บาตรชนิดต่าง ๆ ใช้เชิงรองบาตรชนิดต่าง ๆ
เช่นเชิงรองบาตรทอง ใช้เชิงรองบาตรสวยงาม
ภิกษุบางพวกเก็บบาตรไว้ทั้งที่ยังไม่แห้ง ทำให้บาตรเหม็นอับ
เอาบาตรผึ่งแดดทั้งที่ยังมีน้ำ บาตรมีกลิ่นเหม็น
ภิกษุบางพวกวางบาตรไว้ในที่ร้อน ผิวบาตรเสีย
วางบาตรในที่ไม่มีเชิงรอง วางบาตรไว้ที่ตั่งไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๑ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
วางบาตรไว้ที่ริมตั่งไม้ บาตรกลิ้งตกแตก
วางบาตรไว้ที่พื้นดิน ทรงอนุญาตหญ้ารอง ปลวกกัดหญ้า
ทรงอนุญาตท่อนผ้ารอง ทรงอนุญาตชั้นวาง
ทรงอนุญาตหม้อปากกว้างเก็บบาตร
ทรงอนุญาตถลกบาตร ทรงอนุญาตสายโยกด้ายถัก
ทรงห้ามแขวนบาตรไว้ที่เดือยข้างฝา ทรงห้ามเก็บบาตรไว้บนเตียง
บนตั่ง บนตัก บนกลด ภิกษุถือบาตรอยู่ในมือไม่พึงผลักประตู
ไม่พึงใช้กระโหลกน้ำเต้าแทนบาตร ไม่พึงใช้หม้อกระเบื้องแทนบาตร
ไม่พึงใช้กระโหลกผีแทนบาตร ไม่พึงใช้กระโถนแทนบาตร
ภิกษุรูปหนึ่งใช้มือฉีกผ้าเย็บจีวร มีดมีด้ามเกิดขึ้นแก่สงฆ์
ทรงห้ามใช้มีดด้ามทอง ภิกษุทั้งหลายใช้ขนไก่และไม้กลัดเย็บจีวร
ทรงอนุญาตกล่องเข็ม แป้งข้าวหมาก ผงขมิ้น ฝุ่นศิลา ขี้ผึ้ง
ผ้ามัดขี้ผึ้งเพื่อไม่ให้เข็มมีสนิมขึ้น
ภิกษุทั้งหลายเย็บจีวรโดยขึงกับหลักทำให้มุมจีวรเสีย
ทรงอนุญาตให้ผูกไม้สะดึง ทรงห้ามขึงไม้สะดึงในที่ไม่เรียบ
ทรงห้ามขึงไม้สะดึงที่พื้นดิน ขอบไม้สะดึงชำรุด ไม้สะดึงไม่พอ
ทรงอนุญาตให้ทำหมายระยะ ทรงอนุญาตเส้นบรรทัด
ภิกษุทั้งหลายไม่ล้างเท้าเหยียบไม้สะดึง เท้าเปียกเหยียบไม้สะดึง
สวมรองเท้าเหยียบไม้สะดึง ภิกษุทั้งหลายเย็บจีวร
โดยใช้นิ้วมือรับเข็ม ทรงอนุญาตปลอกสวมนิ้วมือ
ทรงอนุญาตกล่องสำหรับเก็บเครื่องเย็บผ้า
ทรงอนุญาตถุงเก็บปลอกสวมนิ้วมือ
ทรงอนุญาตสายโยกด้ายถัก
ภิกษุทั้งหลายเย็บจีวรในที่แจ้ง โรงสะดึงมีพื้นที่ต่ำ
ดินที่ถมพังทะลาย ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก
ผงหญ้าตกเกลื่อนที่โรงสะดึง
ทรงอนุญาตให้ฉาบทั้งภายในภายนอก ทำให้มีสีขาว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๒ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
สีดำ สีเหลือง เขียนลวดลายดอกไม้
เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร
เขียนลวดลายดอกจอก ราวจีวร สายระเดียง
ภิกษุทั้งหลายทิ้งไม้สะดึงหลีกไป ไม้สะดึงหัก ไม้สะดึงคลี่ออก
ภิกษุทั้งหลายเก็บไม้สะดึงไว้ที่ฝากุฎี
ภิกษุทั้งหลายเก็บเข็มมีดไว้ในบาตร
ทรงอนุญาตะถุงเก็บเครื่องยา ทรงอนุญาตสายโยกด้ายถัก
ภิกษุผูกรองเท้าไว้กับประคตเอว ทรงอนุญาตถุงเก็บรองเท้า
สายโยกด้ายถัก น้ำในระหว่างทางเป็นอกัปปิยะ
ทรงอนุญาตผ้ากรองน้ำ กระบอกกรองน้ำ
ภิกษุ ๒ รูปเดินทางไปกรุงเวสาลี
ทรงอนุญาตผ้ากรองน้ำมีขอบ
ทรงอนุญาตให้ลาดผ้าลงบนน้ำ ทรงอนุญาตกุฎีกันยุง
ภิกษุทั้งหลายมีอาพาธมากเพราะฉันอาหารประณีต
หมอชีวกจึงทูลขออนุญาตสร้างที่จงกรมและเรือนไฟ
ภิกษุทั้งหลายจงกรมในที่ขรุขระเท้าเจ็บ
ที่จงกรมมีพื้นที่ต่ำ ทรงอนุญาตก่อคันกั้นดินที่ถม ๓ ชนิด
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก
ทรงอนุญาตบันไดและราวสำหรับยึด
ภิกษุทั้งหลายจงกรมในที่แจ้ง ผงหญ้าตกเกลื่อนที่โรงจงกรม
ทรงอนุญาตให้ฉาบทั้งภายในทั้งภายนอก ทำให้มีสีขาว
สีดำ สีเหลือง เขียนลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์
จักเป็นฟันมังกร เขียนลวดลายดอกจอก ราวจีวร สายระเดียง
ทรงอนุญาตให้ถมพื้นที่เรือนไฟให้สูง ดินที่ถมพังทะลาย
ทรงอนุญาตบันได ราวบันได ทรงอนุญาตบานประตู
กรอบเช็ดหน้า รูครกที่รับเดือยประตู
ห่วงข้างบน สายยู ไม้หัวลิง กลอน ลิ่ม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๓ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
ช่องดาล ช่องสำหรับชัก เชือกสำหรับชัก
ทรงอนุญาตให้ฉาบฝาเรือนไฟรอบ ๆ ทรงอนุญาตช่องระบายควัน
ภิกษุทั้งหลายตั้งเตาไฟไว้กลางเรือนไฟ
ทรงอนุญาตดินทาหน้า รางละลายดิน ดินมีกลิ่นเหม็น
ไฟแผดเผากาย ทรงอนุญาตที่ใส่น้ำ ขันตักน้ำ
เรือนไฟไม่อบเหงื่อ เรือนไฟมีพื้นลื่น
ทรงอนุญาตให้ชำระล้าง ทรงอนุญาตให้ทำท่อระบายน้ำ
ทรงอนุญาตตั่งรองนั่งในเรือนไฟ ทรงอนุญาตให้ทำซุ้ม
ทรงอนุญาตให้โรยกรวดแร่ ทรงอนุญาตให้วางศิลาเรียบ
ทรงอนุญาตท่อระบายน้ำ
ภิกษุทั้งหลายเปลือยกายไหว้กัน
ภิกษุทั้งหลายวางจีวรไว้บนพื้นดิน ฝนตกจีวรเปียก
ทรงอนุญาตเครื่องกำบัง ๓ ชนิด
ทรงอนุญาตบ่อน้ำในเรือนไฟ ขอบบ่อน้ำทรุด บ่อน้ำมีพื้นที่ต่ำ
ภิกษุทั้งหลายใช้ประคดเอวและเถาวัลย์ผูกภาชนะตักน้ำ
ทรงอนุญาตคันโพง ระหัดมือ ระหัดจักร
ภาชนะตักน้ำทั้งหลายแตก
ทรงอนุญาตถังตักน้ำโลหะ ถังไม้และถังหนัง
ทรงอนุญาตศาลาบ่อน้ำ ผงหญ้าตกเกลื่อนในศาลาบ่อน้ำ
ทรงอนุญาตฝาปิดบ่อน้ำ ทรงอนุญาตรางน้ำ
ทรงอนุญาตรางระบายน้ำ ทรงอนุญาตกำแพงกั้น
บ่อน้ำลื่น ทรงอนุญาตท่อระบายน้ำ
ภิกษุทั้งหลายมีเนื้อตัวเปียกชุ่มเย็น ทรงอนุญาตสระโบกขรณี
น้ำในสระโบกขรณีเก่า ทรงอนุญาตเรือนไฟมีปั้นลม
พระฉัพพัคคีย์อยู่ปราศผ้าปูนั่ง ๔ เดือน
พระฉัพพัคคีย์นอนบนที่นอนโรยด้วยดอกไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๔ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
ทรงอนุญาตให้รับประเคนดอกไม้ของหอม
ทรงอนุญาตสันถัตขนเจียมไม่ต้องอธิษฐาน
พระฉัพพัคคีย์ฉันอาหารโตก ทรงอนุญาตเชิงบาตร
พระฉัพพัคคีย์ฉันอาหารในภาชะเดียวกัน นอนเตียงเดียวกัน
เจ้าวัฑฒลิจฉวีสใส่ความพระทัพพะ
โพธิราชกุมารทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคมารับภัตตาหาร
ที่ปราสาทใหม่ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงเหยียบผ้าขาว
นางวิสาขามิคารมาตานำหม้อน้ำปุ่มไม้ที่เช็ดเท้า
และไม้กวาดเข้าไปถวาย ทรงอนุญาตที่เช็ดเท้าศิลา
กรวด ศิลาฟองน้ำ ทรงอนุญาตพัดโบก พัดใบตาล
แส้ปัดยุง แส้จามรี พระฉัพพัคคีย์กั้นร่มเดินเที่ยว
ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ขาดร่มแล้วไม่มีความผาสุก
พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาตให้ใช้ร่มได้
กางร่มในเขตวัดได้ รวมเป็น ๓ เรื่อง
ทรงอนุญาตสิกกาสมมติ
ภิกษุรูปหนึ่งมีนิสัยเคี้ยวเอื้อง สมาคมหนึ่งจัดสังฆภัต
ทำเมล็ดข้าวตกเกลื่อน
ภิกษุรูปหนึ่งไว้เล็บยาว ภิกษุทั้งหลายใช้เล็บตัดเล็บ
นิ้วมือเจ็บ ตัดเล็บจนเลือดออก ทรงอนุญาตให้ตัดเล็บ
เสมอเนื้อ
พระฉัพพัคคีย์ขัดเล็บทั้ง ๒๐ เล็บ ภิกษุทั้งหลายไว้ผมยาว
ทรงอนุญาตมีดโกน หินลับมีด ปลอกมีด ผ้าพันมีด
เครื่องใช้โกน พระฉัพพัคคีย์แต่งหนวด ปล่อยหนวดไว้ยาว
ไว้เครายาว แต่งหนวดเป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่งขนหน้าอก
แต่งขนหน้าท้อง แต่งหนวดเป็นเขี้ยวโง้ง โกนขนในที่แคบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๕ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
ภิกษุอาพาธอนุญาตให้โกนขนในที่แคบได้
ทรงอนุญาตใช้กรรไกรตัดผม ในกรณีที่ศีรษะเป็นแผล
ทรงห้ามไว้ขนจมูกยาว ทรงห้ามใช้ก้อนกรวดถอนขนจมูก
ทรงห้ามใช้กันและกันถอนผมหงอก
ทรงอนุญาตไม้แคะหูในกรณีที่ขี้หูอุดช่องหู
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สะสมโลหะ ทรงอนุญาตยาตา
ทรงห้ามนั่งรัดเข่า ทรงอนุญาตผ้ารัดเข่า
ทรงอนุญาตด้ายพันและไม้สลักทอ ทรงอนุญาตประคดเอว
ทรงห้ามใช้ประคดเอวชนิดต่าง ๆ คือ ประคดถักเชือก
ถักเป็นหัวงูน้ำ กลมคล้ายเกลียวเชือก คล้ายสังวาล
ทรงอนุญาตประคดแผ่นผ้า ประคดไส้สุกร
ชายประคดเอวลุ่ย ทรงอนุญาตให้เย็บทบถักเป็นห่วง
ปลายห่วงประคตลุ่ย ทรงอนุญาตลูกถวิน
ทรงอนุญาตลูกดุม ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ลูกดุมชนิดต่าง ๆ
ภิกษุทั้งหลายติดแผ่นผ้ารองลูกดุมและรังดุมที่ชายจีวร
ทรงอนุญาตให้ติดแผ่นผ้าลึกเข้าไป
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์นุ่งผ้าอย่างคฤหัสถ์
คือ นุ่งปล่อยชายเหมือนงวงช้าง เหมือนหางปลา
ปล่อยชายเป็นสี่แฉก ปล่อยชายคล้ายก้านตาล
นุ่งยกกลีบตั้งร้อย พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ห่มผ้าอย่างคฤหัสถ์
นุ่งผ้าโจงกระเบน พวกภิกษุฉัพพัคคีย์หาบของ
ทรงอนุญาตให้คอนหามเป็นต้นได้
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ไม้ชำระฟันตีสามเณร
ไม้ชำระฟันติดลำคอ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จุดไฟเผากองหญ้า
ทรงอนุญาตให้จุดไฟต้านไฟป่าที่กำลังไหม้
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ขึ้นต้นไม้ ภิกษุรูปหนึ่งถูกช้างไล่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๖ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
ภิกษุเมฏฐะและโกกุฏฐะทูลขอยกพระพุทธพจน์
ขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เรียนสอนโลกายัต
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เรียนดิรัจฉานวิชา
เมื่อมีการจาม ไม่ควรกล่าวคำให้พร
ทรงอนุญาตให้พรตอบเพื่อความเป็นสิริมงคล
ทรงห้ามฉันกระเทียมเมื่อเข้าสมาคม
พระสารีบุตรอาพาธเป็นลมเสียดท้อง
ทรงอนุญาตให้ฉันกระเทียมได้
อารามสกปรกมีกลิ่นเหม็น นั่งปัสสาวะไม่สะดวก
ทรงอนุญาตฐานวางเท้าถ่ายปัสสาวะ
ที่ปัสสาวะเปิดเผยภิกษุทั้งหลายละอาย
ทรงอนุญาติรั้วไม้ หม้อปัสสาวะไม่มีฝาปิดส่งกลิ่นเหม็น
ภิกษุทั้งหลายถ่ายอุจจาระลงที่นั้น ๆ อารามมีกลิ่นเหม็น
ขอบปากหลุมถ่ายอุจจาระพัง
ทรงอนุญาตให้ถมพื้นให้สูง ทรงอนุญาตให้ก่อคันกั้น
ทรงอนุญาตบันได ราวยึด
ภิกษุทั้งหลายนั่งถ่ายอุจจาระที่ริมหลุดพลัดตกลงไป
นั่งถ่ายไม่สะดวก ทรงอนุญาตฐานวางเท้าถ่าย
ถ่ายปัสสาวะออกไปข้างนอก
ทรงอนุญาตรางรองปัสสาวะไม้ชำระ
ตะกร้าที่ใส่ไม้ หลุมอุจจาระไม่ได้ปิดฝา
ทรงอนุญาตฝาปิด
ทรงอนุญาตวัจกุฎี บานประตู กรอบเช็ดหน้า
รูครกที่รับเดือยประตู ห่วงข้างบนสายยู ไม้หัวลิง
กลอน ลิ่ม ช่องดาล ช่องสำหรับชัก เชือกสำหรับชัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๗ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๕. ขุททกวัตถุ ขันธกะ] รวมเรื่องที่มีในขุททกวัตถุขันธกะ
ผงหญ้าตกเกลื่อน ทรงอนุญาตให้ฉาบด้วยดิน
ทั้งภายในทั้งภายนอก ทำให้มีสีขาว สีดำ สีเหลือง
สียางไม้ เขียนลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์
จักเป็นฟันมังกร เขียนลวดลายดอกจอก
ราวจีวร สายระเดียง
ภิกษุรูปหนึ่งทุพพลภาพเพราะชราถ่ายอุจจาระลุกขึ้นแล้วล้มลง
ทรงอนุญาตให้ล้อมรั้ว ทรงอนุญาตซุ้มประตูวัจกุฎี
ทรงอนุญาตให้โรยกรวดแร่ ทรงอนุญาตให้วางศิลาเลียบ
มีน้ำขัง ก็ทรงอนุญาตท่อระบายน้ำ
ทรงอนุญาตหม้ออุจจาระ ขันตักน้ำ
ภิกษุทั้งหลายนั่งถ่ายไม่สะดวก
ฐานที่นั่งถ่ายอุจจาระเปิดเผย ภิกษุทั้งหลายละอาย
ทรงอนุญาตฝาปิด
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ประพฤติไม่เหมาะสม
เรื่องทรงอนุญาตเครื่องใช้โลหะ เว้นเครื่องประหาร
ทรงอนุญาตเครื่องใช้ไม้ เว้นเก้าอี้นอน บัลลังก์
บาตรและเขียงเท้า ทรงอนุญาตเครื่องใช้ดิน
เว้นเครื่องใช้เช็ดเท้าและกุฎีดินเผา
นักวินัยพึงทราบนิเทศแห่งวัตถุที่เหมือนกันข้างต้นว่า ย่อไว้ในอุททาน
เรื่องในขุททกวัตถุขันธกะ ที่แสดงไว้ ๑๑๐ เรื่อง
พระวินัยธรผู้ศึกษาดีแล้ว หวังเกื้อกูล มีศีลเป็นที่รัก
มีปัญญาดุจประทีป เป็นพหูสูต ผู้ควรเคารพกราบไหว้
จะเป็นผู้สืบต่อพระสัทธรรม
และอนุเคราะห์เหล่าสพรหมจารี ผู้มีศีลดีงาม

ขุททกวัตถุขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๘ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
๖. เสนาสนขันธกะ

๑. ปฐมภาณวาร

วิหารานุชานนะ
ว่าด้วยทรงอนุญาตวิหาร

เรื่องเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ขออนุญาตสร้างวิหาร
[๒๙๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่
ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ทรงบัญญัติ(ยัง
ไม่ทรงอนุญาต)เสนาสนะแก่ภิกษุทั้งหลาย และภิกษุเหล่านั้นอยู่ในที่นั้น ๆ คือ ป่า
โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง
เวลาเช้าตรู่ ภิกษุเหล่านั้นเดินออกมาจากที่นั้น ๆ คือ จากป่า โคนไม้ ภูเขา
ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ทอดสายตาลงต่ำ มีการก้าวไป การ
ถอยหลัง การมองดู การเหลียวดู การคู้แขน การเหยียดแขนน่าเลื่อมใส เป็นผู้
สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ
ครั้งนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ไปสวนแต่เช้าตรู่ ได้แลเห็นภิกษุเหล่านั้นเดิน
ออกจากที่นั้น ๆ คือ จากป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง
ลอมฟาง ทอดสายตาลงต่ำ มีการก้าวไป การถอยหลัง การมองดู การเหลียวดู
การคู้แขน การเหยียดแขนน่าเลื่อมใส เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ ครั้นเห็นแล้ว
เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์นั้นก็มีจิตเลื่อมใส
ลำดับนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น ครั้นแล้วจึงได้
กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า “ถ้ากระผมจะ ให้สร้างวิหาร พระคุณเจ้าจะอยู่ในวิหาร
ของกระผมหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๘๙ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “คหบดี พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ทรงอนุญาตวิหาร”
เศรษฐีกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้าจงทูลถามพระผู้มีพระภาคแล้วแจ้งให้
กระผมทราบ”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ต้องการจะให้สร้างวิหารถวาย
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงอนุญาตเสนาสนะ ๕ ชนิด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเสนาสนะ ๕ ชนิด คือ วิหาร เรือน
มุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น ถ้ำ”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปหาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าว
กับเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ดังนี้ว่า “ท่านคหบดี พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตวิหาร๑แล้ว
บัดนี้ ท่านกำหนดกาลอันควรเถิด”
ลำดับนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ให้สร้างวิหาร ๖๐ หลัง โดยใช้เวลาแค่เพียง
วันเดียว ครั้นให้สร้างเสร็จแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ผู้นั่ง ณ ที่สมควร ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคกับภิกษุสงฆ์จงรับนิมนต์ ฉัน
ภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึง
ลุกจากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วทูลลาจากไป

เชิงอรรถ :
๑ วิหาร หมายถึงเสนาสนะที่อยู่อาศัย (ดู วิ.อ. ๓/๒๙๔/๓๑๙,๓๒๑/๓๔๓, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๙๔/๔๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๙๐ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
ครั้งผ่านราตรีนั้นไป เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ให้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉันอัน
ประณีต แล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”

เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ถวายวิหาร
เวลาเช้าตรู่ พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จ
ไปนิเวศน์ของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูถวายพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์ เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรง
ห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึงนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
ดังนี้ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าต้องการบุญ ต้องการสวรรค์จึงให้สร้างวิหาร ๖๐ หลังนี้ไว้
ข้าพระพุทธเจ้าจะปฏิบัติในวิหารเหล่านี้อย่างไรเล่า พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงถวายวิหารเหล่านั้นแก่สงฆ์
ในทิศทั้ง ๔ ผู้มาแล้วและยังไม่มา”
เศรษฐีทูลรับพระพุทธดำรัสแล้วได้จัดถวายวิหาร ๖๐ หลังแก่สงฆ์จากทิศทั้ง
๔ ผู้มาแล้วและยังไม่มา

คาถาอนุโมทนาผู้ถวายวิหาร
[๒๙๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ด้วย
พระคาถาเหล่านี้ว่า
วิหารย่อมป้องกันความหนาวร้อนและสัตว์ร้าย
นอกจากนั้น ยังป้องกันงู ยุงและฝนในคราวหนาวเย็น
นอกจากนั้น ยังป้องกันลมและแดดอันร้อนจัดที่เกิดขึ้น
การถวายวิหารแก่สงฆ์ เพื่อหลีกเร้นอยู่ เพื่อความสุข
เพื่อเพ่งพินิจ และเพื่อเห็นแจ้ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๙๑ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาดเมื่อเห็นประโยชน์ของตน
พึงสร้างวิหารอันรื่นรมย์ถวายภิกษุผู้พหูสูตให้อยู่ในที่นี้เถิด
อีกประการหนึ่ง ผู้เป็นบัณฑิตมีจิตเลื่อมใสในภิกษุพหูสูต
ผู้ปฏิบัติตรง พึงถวายข้าว น้ำ ผ้า
และเสนาสนะอันควรแก่ท่านเหล่านั้น
ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมอันเป็นเหตุบรรเทาสรรพทุกข์แก่เขา
ซึ่งเมื่อเขารู้ทั่วถึงแล้วจะเป็นผู้ไม่มีอาสวะปรินิพพานได้ในชาตินี้
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ด้วยพระคาถาเหล่านี้
เสร็จแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ

เรื่องบานประตู
[๒๙๖] คนทั้งหลายได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตวิหาร” จึง
พากันสร้างวิหารอย่างกระตือรือร้น วิหารเหล่านั้นไม่มีบานประตู งูบ้าง แมงป่องบ้าง
ตะขาบบ้างจึงเข้าไปได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบานประตู”
ภิกษุทั้งหลายเจาะช่องฝา ใช้เถาวัลย์บ้าง เชือกบ้างผูกบานประตู หนูบ้าง
ปลวกบ้าง กัดเชือกที่ผูกไว้ บานประตูที่ถูกกัดตกลงมา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกรอบเช็ดหน้า รูครกที่
รับเดือยประตู ห่วงข้างบน”
บานประตูปิดได้ไม่สนิท ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๙๒ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตช่องสำหรับชัก เชือก
สำหรับชัก”๑
บานประตูปิดไม่อยู่ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสายยู ไม้หัวลิง ลิ่ม
กลอน”

เรื่องลูกดาล
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่สามารถปิดประตูได้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลูกดาล ๓ ชนิด คือ
ลูกดาลโลหะ ลูกดาลไม้ ลูกดาลเขาสัตว์”
ใคร ๆ ก็เปิดเข้าไปได้ วิหารทั้งหลายคุ้มกันไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลิ่มยนต์”
สมัยนั้น วิหารที่มุงหญ้าทั้งหลายพอถึงฤดูหนาวก็หนาว ถึงฤดูร้อนก็ร้อน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อลงแล้วเอาดินโบกฉาบ
ทั้งภายในภายนอก”

เรื่องบานหน้าต่าง
สมัยนั้น วิหารทั้งหลายยังไม่มีหน้าต่าง ทำให้เสียสายตา มีกลิ่นอับ ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ ช่องสำหรับชัก คือช่องที่สอดนิ้วมือเข้าไปแล้วจับบานประตูดึงปิดจนสนิท
เชือกสำหรับชัก คือเชือกที่สอดเข้าทางช่องประตูที่เจาะไว้ผูกสำหรับปิดประตู (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๙๖/๔๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๙๓ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหน้าต่าง ๓ ชนิด คือ
หน้าต่างมีลวดลายทำเป็นกะบัง(ชุกชี) หน้าต่างมีตาข่าย หน้าต่างมีลูกกรง”
กระแตบ้าง ค้างคาวบ้างก็ยังเข้าไปที่ซอกหน้าต่างได้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผืนผ้าเล็กสำหรับกั้น
หน้าต่าง”
กระแตบ้าง ค้างคาวบ้างก็ยังเข้าไปทางช่องหน้าต่าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตม่านหน้าต่าง”
กระแตบ้าง ค้างคาวบ้างเข้าไปทางม่านหน้าต่าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบานหน้าต่าง เครื่องอัด
บานหน้าต่าง”

เรื่องเครื่องลาดตั่งไม้เตียงถักสาน
สมัยนั้น ภิกษุนอนบนพื้นดิน เนื้อตัวบ้าง จีวรบ้างเปื้อนฝุ่น ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้หญ้ารองนั่ง”
หญ้าที่รองถูกหนูบ้าง ปลวกบ้างกัด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตั่งไม้”
เมื่อนอนบนตั่งนั้น เนื้อตัวเจ็บ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเตียงถักหรือเตียงสาน”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๙๔ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
มัญจปีฐาทิอนุชานนะ
ว่าด้วยทรงอนุญาตเตียงและตั่งเป็นต้น

เรื่องเตียงและตั่ง
[๒๙๗] สมัยนั้น เตียงมีแม่แคร่สอดเข้าในเท้าที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เกิดขึ้นแก่
สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเตียงชนิดมีแม่แคร่สอด
เข้าในเท้า”
ตั่งมีแม่แคร่สอดเข้าในเท้าที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตั่งมีแม่แคร่สอดเข้าในเท้า”
สมัยนั้น เตียงมีแม่แคร่ติดกับเท้า ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเตียงชนิดมีแม่แคร่ติดกับ
เท้า”
ตั่งชนิดมีแม่แคร่ติดกับเท้าที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตั่งชนิดมีแม่แคร่ติดกับเท้า”
สมัยนั้น เตียงมีเท้าดังก้ามปู ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเตียงชนิดมีเท้าดังก้ามปู”
ตั่งมีเท้าดังก้ามปูที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้าเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๙๕ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตั่งชนิดมีเท้าดังก้ามปู”
สมัยนั้น เตียงมีเท้าจดแม่แคร่ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเตียงชนิดมีเท้าจดแม่แคร่”
ตั่งมีเท้าจดแม่แคร่ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตั่งชนิดมีเท้าจดแม่แคร่”

เรื่องม้านั่งชนิดต่าง ๆ
สมัยนั้น ม้านั่งสี่เหลี่ยม เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตม้านั่งสี่เหลี่ยม”
ม้านั่งสี่เหลี่ยมสูง เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตม้านั่งสี่เหลี่ยมสูง”
ม้านั่งสี่เหลี่ยมสูงมีพนัก ๓ ด้าน เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตม้านั่งสี่เหลี่ยมสูงมีพนัก
๓ ด้าน”
ม้านั่งสี่เหลี่ยมมีพนัก ๓ ด้านชนิดสูง เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตม้านั่งสี่เหลี่ยมมีพนัก ๓
ด้านชนิดสูง”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๙๖ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
ตั่งหวาย เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตั่งหวาย”
ตั่งหุ้มด้วยผ้า เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตั่งหุ้มด้วยผ้า”
ตั่งขาทราย เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตั่งขาทราย”
ตั่งก้านมะขามป้อม เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตั่งก้านมะขามป้อม”
แผ่นกระดาน เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตแผ่นกระดาน”
เก้าอี้เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเก้าอี้”
ตั่งฟาง เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตตั่งฟาง”

เรื่องห้ามนอนบนเตียงสูง
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์นอนบนเตียงสูง คนทั้งหลายเดินเที่ยวชมวิหาร
เห็นจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๙๗ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนอนบนเตียงสูง รูปใด
นอน ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องไม้หนุนเท้าเตียง
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนอนบนเตียงต่ำ ถูกงูกัด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้หนุนเท้าเตียง”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ไม้หนุนเท้าเตียงสูง สลักติดกับไม้หนุนเท้าเตียง
คนทั้งหลายเดินเที่ยวชมวิหารเห็นจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์
ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุไม่พึงใช้ไม้หนุนเท้าเตียงสูง รูปใดใช้ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้หนุนเท้าเตียงสูง ๘ นิ้วเป็นอย่างมาก”

เรื่องด้าย
สมัยนั้น ด้ายเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ด้ายถักเตียง”
ตัวแม่แคร่เปลืองด้ายมาก พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้เจาะตัวแม่แคร่แล้วถักเป็นตาหมากรุก”
ท่อนผ้าผืนเล็ก ๆ เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้
มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำเป็นผ้าปูพื้น”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๙๘ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
ปุยนุ่นเกิดขึ้น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
สางนุ่นแล้วทำเป็นหมอน ปุยนุ่นมี ๓ ชนิด คือ นุ่นจากต้นไม้ นุ่นจากเถาวัลย์
นุ่นจากหญ้า”

เรื่องหมอน
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้หมอนยาวขนาดกึ่งกาย(ยาวครึ่งลำตัวคน)
คนทั้งหลายเดินเที่ยวชมวิหารเห็น จึงตำหนิ ประณาม โพนทนาว่า “เหมือน
คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หมอนยาวขนาดกึ่งกาย
รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำหมอนพอเหมาะกับศีรษะ”

เรื่องฟูก ๕ ชนิด
สมัยนั้น มีมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ คนทั้งหลายจัดฟูก ๕ ชนิดไว้
สำหรับมหาอมาตย์ คือ ฟูกขนสัตว์ ฟูกผ้า ฟูกเปลือกไม้ ฟูกหญ้า ฟูกใบไม้
ครั้นมหรสพเลิกแล้ว เขาได้ถอดเอาปลอกฟูกไป ภิกษุทั้งหลายเห็นขนสัตว์ ท่อนผ้า
เปลือกไม้ หญ้าและใบไม้เป็นจำนวนมาก ที่เขาทิ้งไว้ในที่เล่นมหรสพ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฟูก ๕ ชนิด คือ ฟูก
ขนสัตว์ ฟูกผ้า ฟูกเปลือกไม้ ฟูกหญ้า ฟูกใบไม้”
สมัยนั้น ท่อนผ้าสำหรับใช้สอยประจำเสนาสนะเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หุ้มฟูก”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๙๙ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
เรื่องเตียงหุ้มด้วยฟูก
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายปูฟูกเตียงลงบนตั่ง ปูฟูกตั่งลงบนเตียง ฟูกขาด ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเตียงหุ้มด้วยฟูก ตั่งหุ้ม
ด้วยฟูก”
ภิกษุปูลงไม่ได้ใช้ผ้ารองข้างล่าง ฟูกย้อยลงข้างล่าง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับ
สั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ผ้ารองปูพื้นแล้วหุ้มฟูก”
โจรเลิกผ้าหุ้มฟูกลักเอาไป ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้ใช้เขียนแต้ม”
โจรก็ยังลักเอาไปอีก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ทำตำหนิไว้”
ถึงอย่างนั้นก็ยังลักเอาไปอีก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ตำหนิด้วยนิ้วมือไว้”

เสตวัณณาทิอนุชานนะ
ว่าด้วยทรงอนุญาตสีขาวเป็นต้น
[๒๙๘] สมัยนั้น ที่อยู่อาศัยของพวกเดียรถีย์ มีสีขาว แต่พื้นทำเป็นสีดำ ทำ
ฝาเป็นสีเหลือง คนทั้งหลายประสงค์จะดูที่อยู่อาศัยจึงเดินทางไป
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสีขาว สีดำ สีเหลืองใน
วิหาร”
สมัยนั้น ฝาเนื้อหยาบ สีขาวจึงไม่เกาะติด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๐๐ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใส่ดินปนแกลบแล้วใช้
เกรียงฉาบให้เรียบ ให้สีขาวเกาะติด”
สีขาวก็ยังไม่ติดสนิท ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใส่ดินละเอียดแล้วใช้
เกรียงฉาบให้สีขาวเกาะติด”
สีขาวก็ยังไม่ติดสนิท ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ใช้ยางไม้ แป้งเปียก”
สมัยนั้น ฝาเนื้อหยาบ สีเหลืองจึงไม่เกาะติด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใส่ดินปนแกลบแล้วใช้
เกรียงฉาบให้สีเหลืองเกาะติด”
สีเหลืองก็ยังไม่เกาะติด ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้ใส่ดินปนรำแล้วใช้เกรียงฉาบให้สีเหลืองเกาะติด”
สีเหลืองก็ยังไม่ติดสนิท ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใส่แป้งเมล็ดพันธุ์ผักกาด
ขี้ผึ้งเหลว”
แป้งหนาเกินไปภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ผ้าเช็ดออก”
สมัยนั้น พื้นหยาบไป สีดำไม่เกาะติด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๐๑ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใส่ดินปนแกลบแล้วใช้
เกรียงฉาบให้สีดำเกาะติด”
สีดำก็ยังไม่ติดสนิท ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใส่ดินขุยใส้เดือนแล้วใช้
เกรียงฉาบให้สีดำเกาะติด”
สีดำก็ยังไม่ติดสนิท ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยางไม้ น้ำฝาด”

ปฏิภาณจิตตปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามภาพจิตรกรรมฝาผนัง

เรื่องทรงอนุญาตภาพดอกไม้
[๒๙๙] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรม คือ ภาพสตรี
ภาพบุรุษไว้ในวิหาร คนทั้งหลายเดินเที่ยวชมเห็นจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรม
คือ ภาพสตรี ภาพบุรุษ รูปใดให้เขียน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ภาพลวดลายดอกไม้ ภาพลวดลายเถาวัลย์ ภาพลวดลายฟันมังกร ภาพลวดลาย
ดอกจอก”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๐๒ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
อิฏฐกาจยาทิอนุชานนะ
ว่าด้วยทรงอนุญาตให้ก่ออิฐเป็นต้น
เรื่องวิหารพื้นต่ำ
[๓๐๐] สมัยนั้น วิหารมีพื้นที่ต่ำ น้ำท่วม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถมพื้นให้สูง”
ดินที่ถมพังทะลาย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ก่อคันกั้นดินที่ถม ๓ ชนิด คือ คันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่ทำด้วย
ไม้”
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตบันได ๓ ชนิด คือ บันไดอิฐ บันไดศิลา บันไดไม้”
เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”

เรื่องวิหารมีพื้นเป็นลานโล่ง
สมัยนั้น วิหารมีพื้นเป็นลานโล่ง๑ ภิกษุทั้งหลายละอายที่จะนอน ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าม่าน”
ภิกษุทั้งหลายเลิกชายผ้าม่านมองดูกัน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกั้นฝาครึ่งหนึ่ง”

เชิงอรรถ :
๑ คือมีพื้นที่มีลานเนื่องเป็นอันเดียวกับสถานที่มิใช่วิหาร มีผู้คนพลุกพล่าน (วิ.อ. ๓/๓๐๐/๓๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๐๓ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
ภิกษุทั้งหลายก็ยังมองผ่านข้างบนฝานั้นได้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตห้องภายใน ๓ ชนิด คือ
ห้องคล้ายเสลี่ยง ห้องคล้ายอุโมงค์ ห้องบนเรือนโล้น”๑

เรื่องวิหารเล็ก
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายกั้นห้องไว้ตรงกลางวิหารเล็ก ไม่มีบริเวณ ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้กั้นห้องไว้ด้านหนึ่งใน
วิหารเล็ก แต่กั้นห้องไว้ตรงกลางในวิหารใหญ่”

เรื่องฝาวิหารชำรุด
สมัยนั้น เชิงฝาวิหารชำรุด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกรอบเชิงฝา”
ฝาผนังวิหารถูกฝนสาด ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตแผงกันสาด ฝาทำด้วยดินปนเถ้ากับมูลโค”

เรื่องทรงอนุญาตเพดาน
สมัยนั้น งูตกจากหลังคามุงหญ้าลงมาที่คอภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุนั้นตกใจกลัว
ร้องเสียงลั่น ภิกษุทั้งหลายวิ่งเข้าไปถามว่า “อาวุโส ท่านร้องทำไม”
ภิกษุนั้นจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพดาน”

เชิงอรรถ :
๑ หมฺมิยคพฺภ : ห้องบนเรือนโล้น ได้แก่ห้องเรือนยอดบนดาดฟ้า หรือห้องที่มุงหลังคาโล้น (วิ.อ. ๓/๓๐๐/
๓๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๐๔ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
เรื่องทรงอนุญาตไม้แขวน
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายแขวนถุงไว้ที่เท้าเตียงบ้าง ที่เท้าตั่งบ้าง หนูบ้าง ปลวก
บ้างกัดกิน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้เดือยติดฝา ไม้รูปงาช้าง”

เรื่องทรงอนุญาตราวจีวร
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเก็บจีวรไว้บนเตียงบ้าง บนตั่งบ้าง จีวรเสียหาย ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวจีวร สายระเดียงใน
วิหาร”
สมัยนั้น วิหารยังไม่มีระเบียง พักอาศัยไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตระเบียง เฉลียง ลับแล
หน้ามุขมีหลังคา”
ระเบียงโล่ง ภิกษุทั้งหลายละอายที่จะนอน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตแผงเลื่อนฝาค้ำ”

อุปัฏฐานสาลาอนุชานนะ
ว่าด้วยทรงอนุญาตหอฉัน
เรื่องภิกษุฉันร่วมกันในกลางแจ้ง
[๓๐๑] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารร่วมกันในกลางแจ้ง ต้องลำบากเพราะ
ความหนาวบ้างเพราะความร้อนบ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๐๕ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหอฉัน”
หอฉันมีพื้นที่ต่ำ น้ำท่วมถึง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ถมพื้นให้สูง”
ดินที่ถมพังทะลาย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ก่อคันกั้นดิน ที่ถม ๓ ชนิด คือคันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่ทำด้วยไม้”
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตบันได ๓ ชนิด คือ บันไดอิฐ บันไดศิลา บันไดไม้”
เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”
ผงหญ้าตกเกลื่อนที่หอฉัน ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้ รื้อลงแล้วเอาดินโบกฉาบทั้งภายในภายนอก ทำให้มีสีขาว ให้มีสีดำ ให้มี
สียางไม้ เขียนลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร เขียนลวด
ลายดอกจอก ราวจีวร สายระเดียง”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายปูจีวรลงบนพื้นดินกลางแจ้ง จีวรเปื้อนฝุ่น ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวจีวร สายระเดียงไว้
กลางแจ้ง ฯลฯ
น้ำดื่มถูกแดดจึงร้อน ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ศาลาน้ำดื่ม ปะรำน้ำดื่ม”
ศาลาน้ำดื่มมีพื้นที่ต่ำ น้ำท่วมถึง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ถมพื้นให้สูง”
ดินที่ถมพังทะลาย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ก่อคันกั้นดินที่ถม ๓ ชนิด คือ คันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่ทำด้วยไม้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๐๖ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตบันได ๓ ชนิด คือ บันไดอิฐ บันไดศิลา บันไดไม้”
เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”
ผงหญ้าตกเกลื่อนที่ศาลาน้ำดื่ม ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ รื้อลงแล้วเอาดินโบกฉาบทั้งภายในภายนอก ทำให้มีสีขาว ให้มีสีดำ
ให้มีสียางไม้เขียนลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร เขียนลวด
ลายดอกจอก ราวจีวร สายระเดียง”
ไม่มีภาชนะสำหรับตักน้ำ ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตสังข์ตักน้ำ ขันน้ำ”

ปาการาทิอนุชานนะ
ว่าด้วยทรงอนุญาตรั้วล้อมเป็นต้น
เรื่องวิหารไม่มีรั้วล้อม
[๓๐๒] สมัยนั้น วิหารยังไม่มีรั้วล้อม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ล้อมรั้ว ๓ ชนิด คือ
รั้วอิฐ รั้วศิลา รั้วไม้”

เรื่องทรงอนุญาตซุ้มประตู
ซุ้มประตูไม่มี ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตซุ้ม
ประตู”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๐๗ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
ซุ้มประตูมีพื้นที่ต่ำ น้ำท่วมถึง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ถมพื้นให้สูง”
ซุ้มประตูไม่มีบานประตู ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตบานประตู กรอบเช็ดหน้า รูครกที่รับเดือยประตู ห่วงข้างบน สายยู ไม้หัวลิง
ลิ่ม กลอน ช่องดาล ช่องสำหรับชัก เชือกสำหรับชัก”
ผงหญ้าตกเกลื่อนที่ซุ้มประตู ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้รื้อลงแล้วเอาดินโบกฉาบทั้งภายในภายนอก ทำให้มีสีขาว ให้มีสีดำ
ให้มีสียางไม้ เขียนลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร เขียน
ลวดลายดอกจอก”

เรื่องทรงอนุญาตท่อระบายน้ำ
สมัยนั้น บริเวณเป็นโคลนตม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้โรยกรวดแร่”
กรวดแร่ไม่เต็ม ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
ปูศิลาเรียบ”
น้ำขัง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตท่อระบาย
น้ำ”

เรื่องทรงอนุญาตศาลาไฟ
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายทำที่ตั้งเตาในที่ต่าง ๆ ทั่วบริเวณจึงสกปรก ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำศาลาไฟไว้ในที่สมควร
ด้านหนึ่ง”
โรงไฟมีพื้นที่ต่ำ น้ำท่วมถึง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้ถมพื้นให้สูง”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๐๘ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
ดินที่ถมพังทะลาย ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ก่อคันกั้นดินที่ถม ๓ ชนิด คือ คันที่ทำด้วยอิฐ คันที่ทำด้วยศิลา คันที่ทำด้วยไม้”
ภิกษุทั้งหลายขึ้นลงลำบาก ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตบันได ๓ ชนิด คือ บันไดอิฐ บันไดศิลา บันไดไม้”
เมื่อภิกษุทั้งหลายขึ้นลงพลัดตกลงมา ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตราวสำหรับยึด”
โรงไฟไม่มีบานประตู ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
บานประตู กรอบเช็ดหน้า รูครกที่รับเดือยประตู ห่วงข้างบน สายยู ไม้หัวลิง ลิ่ม
กลอน ช่องดาล ช่องสำหรับชัก เชือกสำหรับชัก”
ผงหญ้าตกเกลื่อนที่ศาลาไฟ ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้รื้อลงแล้วเอาดินโบกฉาบทั้งภายในภายนอก ทำให้มีสีขาว ให้มีสีดำ
ให้มีสียางไม้ เขียนลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร เขียน
ลวดลายดอกจอก ราวจีวร สายระเดียง”

อารามปริกเขปอนุชานนะ
เรื่องทรงอนุญาตรั้วล้อมอาราม
[๓๐๓] สมัยนั้น อารามไม่มีรั้วล้อม แพะบ้าง ปศุสัตว์บ้างทำสิ่งที่ปลูกไว้เสียหาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรั้ว ๓ ชนิด คือ รั้วไม้ไผ่
รั้วหนาม คู”
ซุ้มประตูไม่มี แพะและปศุสัตว์ก็ยังทำสิ่งที่ปลูกไว้เสียหายเหมือนเดิม ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๐๙ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตซุ้มประตู ไม้คร่าว บาน
ประตูคู่ เสาระเนียด กลอนเหล็ก”
ผงหญ้าตกเกลื่อนที่ซุ้มประตู ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้รื้อลงแล้วเอาดินโบกฉาบทั้งภายในภายนอก ทำให้มีสีขาว ให้มีสีดำ
ให้มีสียางไม้ เขียนลวดลายดอกไม้ เขียนลวดลายเถาวัลย์ จักเป็นฟันมังกร เขียน
ลวดลายดอกจอก”
พื้นอารามลื่น ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
โรยกรวดแร่”
กรวดแร่ไม่เต็ม ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
ปูศิลาเรียบ”
น้ำขัง ฯลฯ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตท่อระบาย
น้ำ”
สมัยนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ มีพระราชประสงค์จะทรงสร้างปราสาท
ฉาบปูนขาวถวายสงฆ์ เวลานั้นภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาค
ทรงอนุญาตเครื่องมุงหรือไม่ได้ทรงอนุญาตไว้”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องมุง ๕ ชนิด คือ
กระเบื้อง ศิลา ปูนขาว หญ้า ใบไม้”
ปฐมภาณวาร จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๑๐ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
๒. ทุติยภาณวาร
อนาถปิณฑิกวัตถุ
ว่าด้วยเรื่องอนาถบิณฑิกคหบดี
[๓๐๔] สมัยนั้น อนาถบิณฑิกคหบดี เป็นน้องเขยของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์
ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกคหบดี ได้เดินทางไปกรุงราชคฤห์ด้วยกรณียกิจบางอย่าง
เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ได้นิมนต์พระสงฆ์มีพระผู้มีพระภาคเป็นประธาน เพื่อเจริญกุศล
ในวันพรุ่งนี้ สั่งทาสและกรรมกรว่า “ท่านทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงตื่นแต่
เช้าตรู่ ต้มข้าว หุงข้าว ต้มแกง ช่วยกันจัดเตรียมแกงอ่อม”
ขณะนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีได้มีความคิดดังนี้ว่า “คราวก่อนเมื่อเรามา คหบดี
ท่านนี้ทำธุระเสร็จก็สนทนาปราศรัยกับเราผู้เดียว เวลานี้เขามีท่าทีวุ่นวายสั่งทาส
และกรรมกรว่า ‘พวกท่านจงตื่นแต่เช้าตรู่ ต้มข้าว หุงข้าว ต้มแกง ช่วยกันจัด
เตรียมแกงอ่อม’ คหบดีนี้น่าจะมีงานอาวาหมงคล วิวาหมงคล มหายัญพิธี หรือ
จะทูลเชิญพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ พร้อมด้วยกองทัพมาเลี้ยงอาหารในวัน
พรุ่งนี้กระมัง”
ครั้นเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์สั่งทาสและกรรมกรแล้ว เข้าไปหาอนาถบิณฑิกคหบดี
ถึงที่ ครั้นถึงแล้วได้สนทนากับอนาถบิณฑิกคหบดี แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
อนาถบิณฑิกคหบดีได้กล่าวกับเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ดังนี้ว่า “เมื่อข้าพเจ้ามา
คราวก่อน ท่านทำธุระเสร็จก็สนทนาปราศรัยกับข้าพเจ้าผู้เดียว เวลานี้ท่านมีท่าที
วุ่นวาย สั่งทาสและกรรมกรว่า ‘พวกท่านจงตื่นแต่เช้าตรู่ ต้มข้าว หุงข้าว ต้มแกง
ช่วยกันจัดเตรียมแกงอ่อม’ ท่านคงจะมีงานอาวาหมงคล วิวาหมงคล มหายัญพิธี
หรือจะทูลเชิญพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ พร้อมด้วยกองทัพมาเลี้ยงอาหารใน
วันพรุ่งนี้กระมัง”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๑๑ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ตอบว่า ข้าพเจ้าไม่มีงานอาวาหมงคลหรือวิวาหมงคล
ทั้งไม่ได้ทูลเชิญเสด็จพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐพร้อมด้วยกองทัพมาเลี้ยงอาหาร
ในวันพรุ่งนี้ ที่จริงข้าพเจ้าจะประกอบมหายัญพิธี คือ นิมนต์พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธาน เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้”
อนาถบิณฑิกคหบดีถามว่า “ท่านกล่าวว่า ‘พระพุทธเจ้า’ หรือ”
เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ตอบว่า “คหบดี ข้าพเจ้ากล่าวว่า ‘พระพุทธเจ้า”
อนาถบิณฑิกคหบดีถามซ้ำว่า “ท่านกล่าวว่า ‘พระพุทธเจ้า’ หรือ”
เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ตอบว่า “คหบดี ข้าพเจ้ากล่าวว่า ‘พระพุทธเจ้า”
อนาถบิณฑิกคหบดีถามซ้ำอีกว่า “ท่านกล่าวว่า ‘พระพุทธเจ้า’ หรือ”
เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ก็คงตอบว่า “คหบดี ข้าพเจ้ากล่าวว่า ‘พระพุทธเจ้า”
อนาถบิณฑิกคหบดีกล่าวว่า “แม้เสียงประกาศว่า ‘พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า’
นี้ก็ยากที่จะได้ยินในโลก ท่านคหบดี ข้าพเจ้าสามารถจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันต
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ในเวลานี้ได้หรือ”
เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ตอบว่า “คหบดี เวลานี้ยังไม่ควรเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
พรุ่งนี้ท่านจะได้เข้าเฝ้า”
หลังจากนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีนอนนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ว่า “พรุ่ง
นี้เราจะได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแต่เช้าตรู่”
เล่ากันว่า คหบดีตื่นกลางดึกถึง ๓ ครั้งเพราะเข้าใจว่าสว่างแล้ว
[๓๐๕] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีเดินไปทางประตูป่าสีตวัน พวกอมนุษย์
เปิดประตูให้ เมื่อท่านอนาถบิณฑิกคหบดีเดินออกจากเมืองไปแล้ว แสงสว่างพลัน
หายไป ปรากฏความมืดแทน ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง อาการขนพองสยอง
เกล้าบังเกิดขึ้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีต้องการจะกลับจากที่นั้น
ขณะนั้น สีวกยักษ์หายตัวอยู่ประกาศให้ได้ยินเสียงว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๑๒ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
“ช้าง ๑ แสนเชือก ม้า ๑ แสนตัว
รถม้าอัสดร ๑ แสนคัน สาวน้อยประดับต่างหูเพชร ๑ แสนคน
ก็ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖๑ แห่งการย่างเท้าไปก้าวหนึ่ง
เชิญก้าวไปเถิดคหบดี ท่านก้าวไปดีกว่า อย่าถอยกลับเลย”
ทันใดนั้นความมืดพลันหายไป แสงสว่างปรากฏขึ้นแก่ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี
ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง อาการขนพองสยองเกล้าพลันหายไป
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ แสงสว่างพลันหายไป ปรากฏความมืดแทน ความกลัว ความ
หวาดสะดุ้ง อาการขนพองสยองเกล้าบังเกิดขึ้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีต้องการ
จะกลับจากที่นั้น
แม้ครั้งที่ ๓ สีวกยักษ์ก็หายตัวอยู่แต่ประกาศให้ได้ยินเสียงว่า
“ช้าง ๑ แสนเชือก ม้า ๑ แสนตัว
รถม้าอัสดร ๑ แสนคัน สาวน้อยประดับต่างหูเพชร ๑ แสนคน
ก็ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งการย่างเท้าไปก้าวหนึ่ง
เชิญก้าวไปเถิดคหบดี ท่านก้าวไปดีกว่า อย่าถอยกลับเลย”
แม้ครั้งที่ ๓ ความมืดพลันหายไป แสงสว่างปรากฏแก่ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี
ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง อาการขนพองสยองเกล้าพลันหายไป
ลำดับนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีเดินเข้าไปยังป่าสีตวัน เช้ามืดวันนั้น พระผู้มี
พระภาคเสด็จลุกขึ้นจงกรมที่กลางแจ้ง ได้ทอดพระเนตรเห็นท่านอนาถบิณฑิก

เชิงอรรถ :
๑ เสี้ยวที่ ๑๖ ในที่นี้หมายความว่า เมื่อแบ่งเป็น ๑๖ ส่วนแล้วเอาส่วนหนึ่งใน ๑๖ ส่วนนั้นมาแบ่งเป็นอีก
๑๖ ส่วน แล้วเอาส่วนหนึ่งที่แบ่งเป็น ๑๖ ส่วนครั้งที่ ๒ นั้นมาแบ่งเป็น ๑๖ ส่วนอีกครั้งหนึ่ง ส่วน ๑
ใน ๑๖ ส่วนที่แบ่งครั้งที่ ๓ นี้จัดเป็นเสี้ยวที่ ๑๖ สัตว์สิ่งของอย่างละ ๑ แสน ยังมีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖
แห่งการก้าวเท้าไปก้าวหนึ่งที่แบ่งแล้ว ๑๖ ครั้ง ๑๖ เที่ยว ๑๖ หน เพราะ ท่านอนาถบิณฑิกะก้าวเท้า
ไปถึงพระพุทธเจ้าแล้วจะสำเร็จโสดาปัตติผล จักเอาของหอมพวงมาลากระทำการบูชา จักไหว้พระเจดีย์
จักฟังธรรม จักนิมนต์พระสงฆ์แล้วถวายทาน จักตั้งมั่นในสรณะและศีล(ตาม แนวคำอธิบายแห่ง สํ.ส.อ.
๑/๒๔๒/๒๙๘, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๐๕/๔๗๔-๔๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๑๓ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
คหบดีเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงเสด็จลงจากที่จงกรมประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ ครั้น
แล้วได้ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกคหบดีดังนี้ว่า “มาเถิดสุทัตตะ”
ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีรื่นเริงบันเทิงใจว่า “พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกชื่อเรา”
จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วซบเศียรลงแทบพระยุคลบาทแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคประทับอยู่เป็นสุขดีหรือ พระ
พุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
พราหมณ์ผู้ดับกิเลสแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุขทุกเมื่อ
ผู้ไม่ติดอยู่ในกาม เป็นคนเยือกเย็น
ไม่มีอุปธิกิเลส ตัดกิเลสเครื่องข้องได้ทุกอย่างแล้ว
กำจัดความกระวนกระวายในใจ
เข้าถึงความสงบ ย่อมอยู่เป็นสุข๑
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (อานิสงส์แห่งการออกจากกาม) แก่อนาถ-
บิณฑิกคหบดี
เมื่อทรงทราบว่าท่านอนาถบิณฑิกคหบดีมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์
เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนา๒ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๕/๑๙๑
๒ สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงเห็น
ด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับการแนะนำจากผู้อื่น ทรงตรัสรู้ลำพังพระองค์เองก่อนใครใน
โลก (วิ.อ. ๓/๒๙๓/๑๘๑, สารตฺถ,ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๗, ที.สี.ฏีกา อภินว. ๒/๒๙๘/๓๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๑๔ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้
เกิดแก่ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น
เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาด
ปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว
หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้
แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์ ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดย
ประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้
หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอ
พระผู้มีพระภาคโปรดจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้น
ไปจนตลอดชีวิต ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงรับภัตตาหาร เพื่อเจริญกุศลใน
วันพรุ่งนี้ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้นท่านอนาถบิณฑิกคหบดีทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึง
ลุกจากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วทำประทักษิณกลับไป
เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ได้ทราบข่าวว่า “ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี นิมนต์พระ
สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้”
[๓๐๖] ครั้งนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ได้กล่าวกับท่านอนาถบิณฑิกคหบดี
ดังนี้ว่า “คหบดี ทราบว่าท่านนิมนต์พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่อเจริญ
กุศลในวันพรุ่งนี้ ก็ท่านเป็นอาคันตุกะ ข้าพเจ้าจะให้ยืมทรัพย์ที่จะจับจ่ายสิ่งของเพื่อจัด
ทำภัตตาหาร ถวายพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๑๕ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีตอบว่า “อย่าเลย คหบดี ทรัพย์ที่จะจับจ่ายใช้สอย
เพื่อจัดทำภัตตาหารเลี้ยงพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานของข้าพเจ้ามีพร้อมแล้ว”
ชาวนิคมในกรุงราชคฤห์ ได้ทราบข่าวว่า “ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีนิมนต์พระ
สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานเพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้” ลำดับนั้น ชาวนิคมในกรุง
ราชคฤห์จึงได้กล่าวกับอนาถบิณฑิกคหบดีดังนี้ว่า “คหบดี ทราบว่า ท่านนิมนต์
พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้ ก็ท่านเป็นอาคันตุกะ
ข้าพเจ้าจะให้ยืมทรัพย์ที่จะจับจ่ายสิ่งของ เพื่อจัดทำภัตตาหารถวายพระสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธาน”
ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีตอบว่า “อย่าเลย พ่อเจ้า ทรัพย์ที่จะจับจ่ายใช้สอย
เพื่อจัดทำภัตตาหารเลี้ยงพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานของข้าพเจ้ามีพร้อมแล้ว”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐพอได้ทราบข่าวว่า “ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี
นิมนต์พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานเพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้” ลำดับนั้น
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้กล่าวกับอนาถบิณฑิกคหบดีดังนี้ว่า “คหบดี
ทราบว่า ท่านนิมนต์พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้
ก็ท่านเป็นอาคันตุกะ ฉันจะให้ยืมทรัพย์ที่จะจับจ่ายสิ่งของ เพื่อจัดทำภัตตาหารถวาย
พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน”
ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีทูลตอบว่า “อย่าเลย พระเจ้าข้า ทรัพย์ที่จะจับจ่าย
ใช้สอย เพื่อจัดทำภัตตาหารเลี้ยงพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานของข้าพระองค์
มีพร้อมแล้ว”
ครั้นล่วงราตรีนั้นไป ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีสั่งให้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉัน
อันประณีตในนิเวศน์ของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ แล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลว่า “ถึง
เวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปนิเวศน์ของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูถวายพร้อม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๑๖ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
กับภิกษุสงฆ์ ลำดับนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีต
ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง จนกระทั่งพระผู้มีพระภาค
เสวยเสร็จแล้ว ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตร จึงนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่
สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคพร้อม
กับภิกษุสงฆ์จงทรงรับนิมนต์ไปอยู่จำพรรษา ณ กรุงสาวัตถีของข้าพระพุทธเจ้าเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี ตถาคตทั้งหลายย่อมยินดีในสุญญาคาร”๑
ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีกราบทูลว่า “ทราบแล้วพระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีเห็นชัด ชวน
ให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา เสด็จลุกจากอาสนะแล้วเสด็จกลับไป

อนาถบิณฑิกะสร้างพระเชตวัน
[๓๐๗] สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีเป็นคนมีมิตรมาก มีสหายมาก
ประชาชนเชื่อถือคำพูด ครั้นท่านอนาถบิณฑิกคหบดีทำธุระในกรุงราชคฤห์เสร็จแล้ว
ก็เดินทางกลับไปกรุงสาวัตถี ระหว่างทางได้ชักชวนคนทั้งหลายว่า “ท่านทั้งหลาย
จงช่วยกันสร้างอาราม สร้างวิหาร เตรียมทาน เวลานี้พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นใน
โลกแล้วและข้าพเจ้าได้ทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล้ว พระองค์จะเสด็จ
มาทางนี้”
ครั้งนั้น คนทั้งหลายที่ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีชักชวนไว้ ได้พากันสร้างอาราม
สร้างวิหารเตรียมทาน
ครั้นท่านอนาถบิณฑิคหบดีถึงกรุงสาวัตถี เที่ยวตรวจดูรอบ ๆ กรุงสาวัตถีคิด
ว่า “พระผู้มีพระภาคควรประทับที่ไหนดีซึ่งไม่ไกลจากหมู่บ้านเกินไป ไม่ใกล้หมู่บ้าน

เชิงอรรถ :
๑ สุญญาคาร คือ สถานที่ว่าง โอกาสที่เงียบสงัด สถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญอานาปานสติกัมมัฏฐาน
(วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๑๗ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
เกินไป การคมนาคมสะดวก ผู้อยากจะเข้าเฝ้าไปมาได้ง่าย กลางวันคนไม่พลุกพล่าน
กลางคืนมีเสียงรบกวนน้อย ไม่มีเสียงอึกทึก ไร้ผู้คน เป็นสถานที่พวก มนุษย์จะทำ
กิจที่ลับได้ เป็นสถานที่เหมาะแก่การหลีกเร้น”
ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีได้เห็นพระอุทยานของเจ้าเชตราชกุมาร เป็นสถานที่
ไม่ไกลจากหมู่บ้านเกินไป ไม่ใกล้หมู่บ้านเกินไป การคมนาคมสะดวก ผู้อยากจะ
เข้าเฝ้าไปมาได้ง่าย กลางวันคนไม่พลุกพล่าน กลางคืนมีเสียงรบกวนน้อย ไม่มีเสียง
อึกทึก ไร้ผู้คน เป็นสถานที่พวกมนุษย์จะทำกิจที่ลับได้ เป็นสถานที่เหมาะแก่การ
หลีกเร้น ครั้นแล้วจึงเข้าเฝ้าเจ้าเชตราชกุมารถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลเจ้าเชต
ราชกุมารดังนี้ว่า “พระลูกเจ้า ขอพระองค์ ทรงโปรดประทานพระอุทยานแก่กระหม่อม
เพื่อจัดสร้างพระอารามเถิด พระเจ้าข้า”
เจ้าเชตราชกุมารรับสั่งว่า “คหบดี ถึงใช้กหาปณะมาเรียงให้ริมจดกัน เราก็ให้
อุทยานไม่ได้”
ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีทูลถามว่า “พระลูกเจ้า พระองค์ขายอุทยานแล้วหรือ
พระเจ้าข้า”
เจ้าเชตราชกุมารรับสั่งว่า “คหบดี เรายังไม่ได้ขายอุทยาน”๑
เชตราชกุมารกับอนาถบิณฑิกคหบดีถามพวกมหาอมาตย์ผู้พิพากษาว่า “อุทยาน
เป็นอันขายแล้ว หรือยังไม่ได้ขาย”
พวกมหาอมาตย์ตอบว่า “พระลูกเจ้า เพราะพระองค์ตีราคาแล้ว อุทยานจึง
เป็นอันขายแล้ว”
จากนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีสั่งให้คนงานนำเกวียนบรรทุกเงินออกมาเรียง
ลาดให้ริมจดกันในเชตวัน เงินที่ขนออกมาครั้งเดียวยังไม่เพียงพอแก่พื้นที่อีกหน่อย
หนึ่งใกล้ซุ้มประตู ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีจึงสั่งพวกคนงานว่า “พวกท่านจงไปขน
เงินมา เราจะเรียงให้เต็มในที่นี้”

เชิงอรรถ :
๑ คหิโต อยฺยปุตฺต อาราโมติ. น คหปติ คหิโต อาราโมติ. แปลตามตัวอักษรว่า “พระลูกเจ้า ข้าพเจ้ารับ
สวนไปได้หรือ” คหบดี ท่านยังรับสวนไปไม่ได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๑๘ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
ขณะนั้น เจ้าเชตราชกุมารได้ทรงมีพระดำริดังนี้ว่า “การกระทำนี้ไม่ใช่ของต่ำต้อย
เพราะคหบดีนี้บริจาคเงินมากมายถึงเพียงนี้” ลำดับนั้น เจ้าเชตราชกุมารได้รับสั่งกับ
ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีดังนี้ว่า “พอเถอะ ท่านคหบดี ที่ว่างตรงนั้น ท่านอย่าลาด
เงินเลย ให้โอกาสแก่เราบ้าง ส่วนนี้ข้าพเจ้าจะขอร่วมถวายด้วย”
ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีดำริว่า “เจ้าเชตราชกุมารพระองค์นี้ ทรงเรือง
พระนาม ประชาชนรู้จัก ความเลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ของผู้ที่ประชาชนรู้จัก
เช่นนี้ มีประโยชน์มาก” จึงได้ถวายที่ว่างนั้นแก่เจ้าเชตราชกุมาร ลำดับนั้น เจ้าเชต
ราชกุมาร รับสั่งให้สร้างซุ้มประตูที่ตรงนั้น
ต่อมา ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีให้สร้างวิหารหลายหลังไว้ในพระเชตวัน สร้าง
บริเวณ สร้างซุ้มประตู สร้างศาลาหอฉัน สร้างโรงไฟ สร้างกัปปิยกุฎี๑ สร้างวัจกุฎี
สร้างสถานที่จงกรม สร้างศาลาจงกรม ขุดบ่อน้ำ สร้างศาลาบ่อน้ำ สร้างเรือนไฟ
สร้างศาลาเรือนไฟ ขุดสระโบกขรณี สร้างมณฑป

นวกัมมทานะ
ว่าด้วยให้นวกรรม(การก่อสร้าง)
เรื่องช่างชุนผ้า
[๓๐๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระอัธยาศัย
แล้วเสด็จจาริกไปทางกรุงเวสาลี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงเวสาลี ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ในกรุงเวสาลีนั้น

เชิงอรรถ :
๑ กัปปิยกุฎี คือสถานที่เก็บอาหาร (ดู วิ.ม. (แปล) ๕/๒๙๕/๑๒๐) พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตเพื่อให้
ภิกษุสงฆ์พ้นจากการเก็บของไว้เองและหุงต้มเอง (วิ.อ. ๓/๒๙๕/๑๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๑๙ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
สมัยนั้น คนทั้งหลายทำนวกรรมอย่างกระตือรือร้น อุปัฏฐากภิกษุทั้งหลายผู้
ดำเนินงานก่อสร้างด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขารโดย
เคารพ
ครั้งนั้น ช่างชุนผ้าเข็ญใจคนหนึ่งได้มีความคิดดังนี้ว่า “การทำนวกรรมนี้ไม่ใช่
ของต่ำต้อย เพราะคนทั้งหลายช่วยกันทำนวกรรม ทางที่ดีเราพึงช่วยทำนวกรรมบ้าง”
ลำดับนั้น ช่างชุนผ้าเข็ญใจนั้นจึงขยำโคลนก่ออิฐตั้งฝาผนังขึ้น แต่ฝาผนังที่ก่อ
ด้วยความไม่ชำนาญคด จึงพังทะลายลงมา
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ช่างชุนผ้าเข็ญใจนั้นก็ขยำโคลนก่ออิฐตั้งฝาผนังขึ้น แต่ฝาผนังที่
ก่อด้วยความไม่ชำนาญคด จึงพังทะลายลงมา
ครั้งนั้น ช่างชุนผ้าเข็ญใจนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พวกพระสมณะ
เชื้อสายศากยบุตรอบรมสั่งสอนแต่พวกที่ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลาน
ปัจจัยเภสัชบริขาร อำนวยการทำนวกรรมแก่คนพวกนั้น ส่วนเราเป็นคนเข็ญใจไม่มี
ใครอบรมสั่งสอน ไม่มีคนอำนวยการทำนวกรรมให้”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินช่างชุนผ้าเข็ญใจนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุให้นวกรรมได้ ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุนักทำนวกรรมต้องขวนขวายว่า ‘ทำอย่างไรหนอวิหารจึงจะสำเร็จได้เร็ว’ ต้อง
ปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ทรุดโทรม

วิธีให้นวกรรมและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้นวกรรมอย่างนี้ เบื้องต้นพึงขออนุญาตภิกษุก่อน ครั้น
แล้วภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๒๐ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
[๓๐๙] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมแล้วสงฆ์พึงใหนวกรรม
วิหาร๑ของคหบดี แก่ภิกษุชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์ให้นวกรรมวิหารของคหบดีชื่อนี้แก่
ภิกษุชื่อนี้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้นวกรรมวิหารของคหบดีชื่อนี้แก่ภิกษุชื่อนี้
ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
นวกรรมวิหารของคหบดี สงฆ์ให้แก่ชื่อภิกษุนี้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือเอาความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

อัคคาสนาทิอนุชานนะ
ว่าด้วยทรงอนุญาตอาสนะเลิศเป็นต้น
เรื่องความเคารพ
[๓๑๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงเวสาลีตามพระอัธยาศัย
แล้วเสด็จจาริกไปยังกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พวกภิกษุอันเตวาสิกของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์
ล่วงหน้าไปก่อนพระสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน จับจองวิหาร จับจองที่นอน
โดยกล่าวว่า “ที่นี้เป็นของพระอุปัชฌาย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็นของพระ
อาจารย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็นของพวกเรา”
ต่อมา ท่านพระสารีบุตรไปภายหลังพระสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อ
วิหารถูกจับจองแล้ว เมื่อที่นอนถูกจับจองแล้ว เมื่อไม่ได้ที่นอน จึงนั่ง ณ ควงไม้
ต้นหนึ่ง
ครั้นเวลาใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นทรงพระกาสะ แม้ท่านพระสารีบุตร
ก็ได้กระแอมรับ

เชิงอรรถ :
๑ นวกรรมวิหาร คือให้วิหารเพื่อก่อสร้าง หรือให้การก่อสร้างในวิหาร (วิมติ.ฏีกา ๒/๓๐๙/๓๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๒๑ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ใครอยู่ที่นั่น”
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้า สารีบุตร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “สารีบุตร ทำไมเธอจึงมานั่งที่นี่เล่า”
ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ

เรื่องผู้ควรได้อาสนะเลิศเป็นต้น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบ
ถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุอันเตวาสิกของพวกภิกษุ
ฉัพพัคคีย์ไปก่อนภิกษุสงฆ์ แล้วจับจองวิหาร จับจองที่นอนโดยกล่าวว่า ‘ที่นี้เป็น
ของพระอุปัชฌาย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็นของพระอาจารย์ทั้งหลายของพวกเรา
ที่นี้เป็นของพวกเรา’ จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษทั้งหลาย
จึงไปก่อนภิกษุสงฆ์ แล้วจับจองวิหาร จับจองที่นอนโดยกล่าวว่า ‘ที่นี้เป็นของพระ
อุปัชฌาย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็นของพระอาจารย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็น
ของพวกเราเล่า’ ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ
ทรงแสดงธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ใครควรได้อาสนะ
อันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้บวชจากตระกูลกษัตริย์
ควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้บวชจากตระกูลพราหมณ์
ควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๒๒ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้บวชจากตระกูลคหบดี
ควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ทรงสุตตันตะควรได้
อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ทรงพระวินัยควรได้
อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้เป็นธรรมกถึกควรได้
อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ได้ปฐมฌานควรได้
อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ได้ทุติยฌานควรได้
อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ได้ตติยฌานควรได้
อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ได้จตุตถฌานควร
ได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้เป็นพระโสดาบัน
ควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้เป็นพระสกทาคามี
ควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้เป็นพระอนาคามี
ควรได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๒๓ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ควร
ได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ได้วิชชา ๓ ควรได้
อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”
ภิกษุบางพวกกราบทูลอย่างนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้ได้อภิญญา ๖ ควร
ได้อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศ”

เรื่องสัตว์ ๓ สหาย
[๓๑๑] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เรื่องเคยมีมาแล้ว ในแถบเชิงเขาหิมพานต์ มีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง สัตว์ ๓ สหาย
คือ นกกระทา ลิง และช้างพลาย อาศัยต้นไทรนั้นอยู่ สัตว์ ๓ สหายนั้นอยู่อย่าง
ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงกันและกัน มีการดำเนินชีวิตไม่เหมือนกัน
ภิกษุทั้งหลาย ต่อมา สัตว์ ๓ สหายปรึกษากันว่า “นี่พวกเรา ทำอย่างไรจึง
จะรู้ได้ว่า ‘ในพวกเรา ๓ สหาย ผู้ใดคือผู้สูงวัยกว่ากัน’ จะได้สักการะ เคารพ นับถือ
บูชาและเชื่อฟังผู้นั้น”
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น นกกระทาและลิงถามช้างพลายว่า “เพื่อนเอ๋ย ท่านจำ
เรื่องราวเก่า ๆ อะไรได้บ้างเล่า” ช้างตอบว่า “เมื่อเรายังเล็ก เราเคยเดินคร่อมต้นไทร
ต้นนี้ ยอดไทรพอระท้องของเรา เราจำเรื่องเก่านี้ได้”
ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น นกกระทาและช้างพลายถามลิงว่า “เพื่อนจำเรื่อง
ราวเก่า ๆ อะไรได้บ้าง”
ลิงตอบว่า “เมื่อเรายังเล็ก เราเคยนั่งบนพื้นดินเคี้ยวกินยอดไทรต้นนี้ เราจำ
เรื่องเก่านี้ได้”
ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ลิงและช้างพลายถามนกกระทาว่า “เพื่อนจำเรื่อง
ราวเก่า ๆ อะไรได้บ้าง”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๒๔ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
นกกระทาตอบว่า “เพื่อนทั้งหลาย ที่โน้นมีต้นไทรใหญ่ เรากินผลของต้นไทร
นั้นแล้วถ่ายมูลไว้ที่นี้ ไทรต้นนี้เกิดจากผลของต้นไทรนั้น ดังนั้นเราจึงเป็นผู้ใหญ่โดย
ชาติกำเนิด”
ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น ลิงกับช้างพลายได้กล่าวกับนกกระทาดังนี้ว่า “เพื่อน
บรรดาเราทั้งหลาย ท่านคือผู้ใหญ่กว่าโดยชาติกำเนิด เราทั้ง ๒ จะสักการะ เคารพ
นับถือ บูชา และเชื่อฟังท่าน”
ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น นกกระทาได้ให้ลิงกับช้างสมาทานศีล ๕ ทั้งตนเอง
ก็รักษาศีล ๕ สหายทั้ง ๓ นั้นต่างเคารพยำเกรง ดำเนินชีวิตอยู่อย่างเสมอภาคกัน
หลังจากสิ้นชีวิตได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัตินี้ เรียกว่า
ติตติริยพรหมจรรย์
นรชนเหล่าใดฉลาดในธรรม
ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อบุคคลผู้เจริญทั้งหลาย
นรชนเหล่านั้นเป็นผู้ได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน
และมีสุคติภพในเบื้องหน้า๑
ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ดิรัจฉานพวกนั้นยังมีความเคารพยำเกรง ดำเนินชีวิตอยู่
อย่างเสมอภาคกัน ภิกษุทั้งหลาย การที่พวกเธอเป็นผู้บวชแล้ว ในธรรมวินัยที่เรา
กล่าวดีแล้ว มีความเคารพมีความยำเกรงกันและกัน ดำเนินชีวิตอย่างเสมอภาคกัน
จะพึงงดงามในธรรมวินัยนี้
ภิกษุทั้งหลาย การทำเช่นนั้นมิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคน
ที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดง
ธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ
อัญชลีกรรม สามีจิกรรม อาสนะอันเลิศ น้ำอันเลิศ บิณฑบาตอันเลิศตามลำดับ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๓๗/๑๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๒๕ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
พรรษา อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกีดกันเสนาสนะของสงฆ์ตามลำดับพรรษา
ภิกษุรูปใดกีดกัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

อวันทิยาทิปุคคละ
ว่าด้วยบุคคลที่ไม่ควรไหว้เป็นต้น
เรื่องบุคคลที่ไม่ควรไหว้ ๑๐ จำพวก
[๓๑๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ภิกษุไม่ควรไหว้ ๑๐ จำพวก เหล่านี้คือ
๑. ผู้อุปสมบทก่อนไม่ควรไหว้ผู้อุปสมบทภายหลัง
๒. ไม่ควรไหว้อนุปสัมบัน
๓. ไม่ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้มีพรรษาแก่กว่า เป็นอธรรมวาที
๔. ไม่ควรไหว้มาตุคาม
๕. ไม่ควรไหว้บัณเฑาะก์
๖. ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้กำลังอยู่ปริวาส
๗. ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม
๘. ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรแก่มานัต
๙. ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้กำลังประพฤติมานัต
๑๐. ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรแก่อัพภาน
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ภิกษุไม่ควรไหว้ ๑๐ จำพวก เหล่านี้แล

เรื่องบุคคลที่ภิกษุควรไหว้ ๓ จำพวก
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ภิกษุควรไหว้ ๓ จำพวก คือ
๑. ผู้อุปสมบทภายหลังควรไหว้ผู้อุปสมบทก่อน
๒. ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้มีพรรษาแก่กว่า เป็นธรรมวาที

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๒๖ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
๓. ควรไหว้พระตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบในโลกพร้อม
ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดา และมนุษย์
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่ภิกษุควรไหว้ ๓ จำพวกเหล่านี้แล

อาสนปฏิพาหนปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามการกีดกันอาสนะ
เรื่องอันเตวาสิกของพระฉัพพัคคีย์
[๓๑๓] สมัยนั้น คนทั้งหลายตกแต่งมณฑป จัดเตรียมเครื่องลาด จัดเตรียม
บริเวณไว้เจาะจงพระสงฆ์ พวกภิกษุอันเตวาสิกของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “เสนาสนะ
เฉพาะที่เป็นของสงฆ์เท่านั้นที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตตามลำดับพรรษา ไม่ได้ทรง
อนุญาตของที่ทำเจาะจง” ล่วงหน้าไปก่อนพระสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน จับ
จองมณฑปบ้าง จับจองเครื่องลาดบ้าง จับจองบริเวณบ้างไว้โดยกล่าวว่า “ที่นี้เป็น ของ
พระอุปัชฌาย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็นของพระอาจารย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้
เป็นของพวกเรา”
ต่อมา ท่านพระสารีบุตรไปภายหลังพระสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อ
มณฑปถูกจับจองแล้ว เมื่อเครื่องลาดถูกจับจองแล้ว เมื่อบริเวณถูกจับจองแล้ว เมื่อ
ไม่ได้ที่นอนจึงนั่ง ณ ควงไม้ต้นหนึ่ง
ครั้นเวลาใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นทรงพระกาสะ แม้ท่านพระสารีบุตร
ก็ได้กระแอมรับ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ใครอยู่ที่นั่น”
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้า สารีบุตร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “สารีบุตร ทำไมเธอจึงมานั่งที่นี่เล่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๒๗ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบ
ถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกภิกษุอันเตวาสิกของพวกภิกษุ
ฉัพพัคคีย์กล่าวว่า ‘เสนาสนะเฉพาะที่เป็นของสงฆ์เท่านั้นที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต
ตามลำดับพรรษา ไม่ได้ทรงอนุญาตของที่ทำเจาะจง’ แล้วล่วงหน้าไปก่อนพระสงฆ์
ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน จับจองมณฑปบ้าง จับจองเครื่องลาดบ้าง จับจอง
บริเวณบ้างไว้โดยกล่าวว่า ‘ที่นี้เป็นของพระอุปัชฌาย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็นของ
พระอาจารย์ทั้งหลายของพวกเรา ที่นี้เป็นของพวกเรา’ จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริงพระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดง
ธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกีดกันแม้ของที่เขาทำ
เจาะจงตามลำดับพรรษา รูปใดกีดกัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

คิหิวิกตอนุชานนะ
ว่าด้วยทรงอนุญาตเครื่องใช้อย่างคฤหัสถ์
[๓๑๔] สมัยนั้น คนทั้งหลายตกแต่งที่นอนสูงและที่นอนใหญ่ไว้ที่โรงอาหารใน
ละแวกบ้าน คือ

๑. เตียงมีเท้าสูงเกินขนาด ๒. เตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย
๓. พรหมขนสัตว์ ๔. เครื่องลาดขนแกะลายวิจิตร
๕. เครื่องลาดขนแกะมีสีขาว ๖. เครื่องลาดมีรูปดอกไม้
๗. เครื่องลาดยัดนุ่น ๘. เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูป
สัตว์ร้ายเช่นราชสีห์และเสือ
๙. เครื่องลาดขนแกะมีขน ๒ ด้าน ๑๐. เครื่องลาดขนแกะมีขนด้านเดียว


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๒๘ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร

๑๑. เครื่องลาดปักด้วยไหมประดับรัตนะ ๑๒. เครื่องลาดผ้าไหมประดับรัตนะ
๑๓. เครื่องลาดขนแกะขนาดใหญ่ ๑๔. เครื่องลาดบนหลังช้าง
ที่นางฟ้อน ๑๖ คนร่ายรำ
๑๕. เครื่องลาดบนหลังม้า ๑๖. เครื่องลาดในรถ
๑๗. เครื่องลาดทำด้วยหนังเสือ ๑๘. เครื่องลาดหนังชะมด
๑๙. เครื่องลาดมีเพดาน ๒๐. เครื่องลาดมีหมอน ๒ ข้าง๑

ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมนั่ง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องใช้อย่างคฤหัสถ์
ยกเว้นเครื่องลาด ๓ ชนิด คือ ม้านั่งสี่เหลี่ยม เตียงใหญ่ เครื่องลาดยัดนุ่น นอก
นั้นนั่งได้ แต่ไม่อนุญาตให้นอน”
สมัยนั้น คนทั้งหลายตกแต่งเตียงบ้าง ตั่งบ้างยัดนุ่นไว้ที่โรงอาหารในละแวกบ้าน
พวกภิกษุยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมนั่ง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งบนเครื่องใช้อย่าง
คฤหัสถ์ได้ แต่ไม่อนุญาตให้นอน”

เชตวนวิหารานุโมทนา
ว่าด้วยทรงอนุโมทนาการถวายเชตวันวิหาร
[๓๑๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงสาวัตถี ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดีในกรุง
สาวัตถีนั้น

เชิงอรรถ :
๑ วิ.ม.(แปล) ๕/๒๕๔/๒๗, ที.สี.(แปล) ๙/๑๕/๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๒๙ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
ครั้งนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านอนาถบิณฑิกคหบดีผู้นั่ง
ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์
ทรงรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าเพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้นอนาถบิณฑิกคหบดีทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุก
จากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป อนาถบิณฑิกคหบดีสั่งให้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีต
ให้คนไปกราบทูลภัตกาลว่า “ถึงเวลาภัตตาหารแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จ
แล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จ
ไปนิเวศน์ของอนาถบิณฑิกคหบดี ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวายพร้อมกับภิกษุสงฆ์
อนาถบิณฑิกคหบดีได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ แล้วทรงห้ามภัตตาหารแล้ว
ละพระหัตถ์จากบาตร จึงนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าพระ
พุทธเจ้าจะปฏิบัติอย่างไรในพระเชตวัน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านจงจัดถวายเชตวันแก่สงฆ์จากทิศทั้ง
๔ ผู้มาแล้วและยังไม่มา”
อนาถบิณฑิกะรับสนองพระพุทธดำรัสแล้วได้ถวายพระเชตวันแก่สงฆ์จากทิศทั้ง
๔ ผู้มาแล้วและยังไม่มา

คาถาอนุโมทนาการถวายวิหาร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาอนาถบิณฑิกคหบดี ด้วยพระคาถา
เหล่านี้ว่า
วิหารย่อมป้องกันความหนาวร้อนและสัตว์ร้าย
นอกจากนั้น ยังป้องกันงู ยุงและฝนในคราวหนาวเย็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๓๐ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
นอกจากนั้น ยังป้องกันลมและแดดอันร้อนจัดที่เกิดขึ้น
การถวายวิหารแก่สงฆ์เพื่อหลีกเร้นอยู่ เพื่อความสุข
เพื่อเพ่งพินิจ และเพื่อเห็นแจ้ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ
เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาดเมื่อเห็นประโยช์ของตน
พึงสร้างวิหารอันรื่นรมย์ถวายภิกษุผู้พหูสูตให้อยู่ในที่นี้เถิด
อีกประการหนึ่ง ผู้เป็นบัณฑิตมีจิตเลื่อมใสในภิกษุพหูสูต
ผู้ปฏิบัติตรงพึงถวายข้าว น้ำ ผ้า
และเสนาสนะอันควร แก่ท่านเหล่านั้น
ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมอันเป็นเหตุบรรเทาสรรพทุกข์แก่เขา
ซึ่งเมื่อเขารู้ทั่วถึงแล้วจะเป็นผู้ไม่มีอาสวะปรินิพพานได้ในชาตินี้
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่อนาถบิณฑิกคหบดีด้วยพระคาถาเหล่านี้
แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ

อาสนปฏิพาหนาทิ
ว่าด้วยการกีดกันอาสนะเป็นต้น
เรื่องบังคับภิกษุผู้นั่งอาสนะถัดไปให้ลุกขึ้นทั้งที่ยังฉัน
[๓๑๖] สมัยนั้น มหาอมาตย์ผู้หนึ่งเป็นสาวกของอาชีวกจัดถวายสังฆภัต ท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรมาภายหลัง บังคับภิกษุผู้นั่งอาสนะถัดไปให้ลุกขึ้นทั้งที่กำลัง
ฉันอยู่ จึงเกิดความวุ่นวายขึ้นในโรงอาหาร
ครั้งนั้น มหาอมาตย์ผู้นั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะ
เชื้อสายศากยบุตรมาภายหลังจึงบังคับภิกษุผู้นั่งอาสนะถัดไปให้ลุกขึ้นทั้งที่กำลังฉัน
อยู่เล่า ทำให้เกิดความวุ่นวายในโรงอาหาร ภิกษุผู้นั่งที่อื่นควรจะได้ฉันจนอิ่มมิใช่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๓๑ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
ภิกษุทั้งหลายได้ยินมหาอมาตย์นั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ บรรดาภิกษุ
ผู้มักน้อยสันโดษ ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตร
มาภายหลัง จึงบังคับภิกษุผู้นั่งอาสนะถัดไปให้ลุกขึ้นทั้งที่กำลังฉันอยู่เล่า ทำให้เกิด
ความวุ่นวายในโรงอาหาร”
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นได้นำเรื่องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า
เธอมาภายหลังบังคับภิกษุผู้นั่งอาสนะถัดไปให้ลุกขึ้นทั้งที่กำลังฉันอยู่ ทำให้เกิดความ
วุ่นวายในโรงอาหารจริงหรือ”
พระอุปนันทะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ไฉนเธอมาภายหลังจึงบังคับ
ภิกษุผู้นั่งอาสนะถัดไปให้ลุกขึ้นทั้งที่กำลังฉันอยู่ ทำให้เกิดความวุ่นวายในโรงอาหารเล่า
โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรง
ตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดงธรรมมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุไม่พึงบังคับให้ภิกษุที่นั่งอาสนะถัดไปให้ลุกขึ้นทั้งที่กำลังฉันอยู่ รูปใดบังคับให้ลุกขึ้น
ต้องอาบัติทุกกฏ ถ้าบังคับให้ลุกขึ้น ภิกษุที่ลุกขึ้นนั้นย่อมเป็นผู้ห้ามภัตด้วย พึงกล่าว
กับภิกษุนั้นว่า ‘ท่านจงไปหาน้ำมา’ ถ้าพึงได้น้ำนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุ
ที่ถูกบังคับให้ลุกขึ้นนั้นพึงกลืนเมล็ดข้าวให้เรียบร้อยแล้วจึงให้อาสนะแก่ภิกษุผู้แก่
พรรษากว่า ภิกษุทั้งหลาย แต่เราไม่ได้กล่าวว่า “ภิกษุพึงกีดกันอาสะสำหรับภิกษุ
ผู้แก่พรรษากว่า โดยปริยายใด ๆ’ รูปใดกีดกัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไล่ภิกษุอาพาธ
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์บังคับพวกภิกษุเป็นไข้ให้ลุกขึ้น
พวกภิกษุเป็นไข้ตอบว่า “พวกเราไม่สามารถลุกขึ้นได้ (เพราะ) พวกเราเป็นไข้”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “พวกเราจะช่วยพยุงพวกท่านให้ลุกขึ้น” แล้วช่วย
ประคองให้ลุกขึ้น แล้วก็ปล่อยให้พวกภิกษุไข้ยืนอยู่ พวกภิกษุไข้สลบล้มลง ฯลฯ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๓๒ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ฯลฯ พระผู้
มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงบังคับภิกษุเป็นไข้ให้ลุกขึ้น รูปใดบังคับ
ให้ลุกขึ้น ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “พวกกระผมเป็นไข้ไม่ควรที่จะถูกไล่ให้
ลุกขึ้น” แล้วยึดเอาที่นอนดี ๆ ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อให้ที่นอนที่เหมาะสม
แก่ภิกษุเป็นไข้”
ต่อมา พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ก็กีดกันอาสนะเอาไว้โดยอ้างเลศ ภิกษุทั้งหลายจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกีดกันเสนาสนะโดยอ้างเลศ
รูปใดกีดกัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องอนุญาตให้ภิกษุถือเสนาสนะ
สมัยนั้น พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์(พวกภิกษุที่อยู่ในกลุ่มภิกษุ ๑๗ รูป)ซ่อม
แซมวิหารหลังใหญ่แห่งหนึ่งอยู่สุดเขตอาราม ด้วยหมายใจว่า “พวกเราจะจำพรรษา
ในที่นี้”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เห็นพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์กำลังซ่อมแซมวิหาร ครั้นเห็น
แล้วจึงกล่าวกันอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์เหล่านี้กำลังซ่อม
แซมวิหาร มาเถิด พวกเราช่วยกันขับไล่พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์นั้นออกไป”
ภิกษุบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย โปรดคอยจนกว่าพวกภิกษุ
สัตตรสวัคคีย์นั้นจะซ่อมวิหารเสร็จแล้วพวกเราค่อยไล่ออกไป”
ต่อมา พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้กล่าวกับพวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ดังนี้ว่า “พวก
ท่านจงย้ายออกไป วิหารเป็นของพวกเรา”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๓๓ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์กล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านควรจะบอกก่อนมิใช่
หรือ พวกเราจะได้ซ่อมแซมวิหารหลังอื่น”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ตอบว่า “ท่านทั้งหลาย วิหารเป็นของสงฆ์มิใช่หรือ”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ตอบว่า “ใช่ ท่านทั้งหลาย วิหารเป็นของสงฆ์”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “พวกท่านจงย้ายออกไป วิหารเป็นของพวกเรา”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์กล่าวว่า “วิหารใหญ่ พวกท่านก็อยู่ได้ พวกเราก็อยู่ได้”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวว่า “พวกท่านจงย้ายออกไป วิหารเป็นของพวกเรา”
แล้วโกรธ ไม่พอใจ จับคอฉุดลากออกไป
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์เมื่อถูกพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ฉุดลากออกไปก็ร้องไห้
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านร้องไห้ทำไม”
พวกภิกษุสัตตรสวัคคีย์ตอบว่า “ท่านทั้งหลาย พวกภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านี้โกรธ
ไม่พอใจฉุดลากพวกกระผมออกจากวิหารของสงฆ์”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อยสันโดษ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุ
ฉัพพัคคีย์จึงโกรธไม่พอใจ ฉุดลากภิกษุทั้งหลายออกจากวิหารของสงฆ์เล่า”
ครั้งนั้นแล ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์โกรธไม่พอใจ ฉุดลากภิกษุทั้งหลายออกจากวิหารของสงฆ์ จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิ ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ ทรงแสดง
ธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุโกรธไม่พอใจ ไม่พึงฉุดลาก
ภิกษุออกจากวิหารของสงฆ์ รูปใดฉุดลาก พึงปรับอาบัติตามธรรม๑ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ภิกษุถือเสนาสนะ”

เชิงอรรถ :
๑ พึงปรับอาบัติตามธรรม หมายถึงพึงปรับอาบัติปาจิตตีย์ตามความแห่งสิกขาบทที่ ๗ แห่งภูตคามวรรค
(วิ.มหา. แปล ๒/๑๒๔-๑๒๕/๓๐๒-๓๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๓๔ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
เสนาสนคาหาปกสมมติ
ว่าด้วยการแต่งตั้งภิกษุเป็นเจ้าหน้าที่จัดแจงเสนาสนะ
[๓๑๗] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ใครจะพึงจัดแจงให้ภิกษุถือ
เสนาสนะ” ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แต่งตั้งภิกษุผู้มีคุณสมบัติ
๕ อย่างเป็นเจ้าหน้าที่จัดแจงให้ถือเสนาสนะ คือ
๑. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ ๒. ไม่ลำเอียงเพราะชัง
๓. ไม่ลำเอียงเพราะหลง ๔. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
๕. รู้จักเสนาสนะที่ให้ภิกษุถือและเสนาสนะที่ยังมิได้ให้ภิกษุถือ

วิธีแต่งตั้งและกรรมวาจา
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ ในเบื้องต้นพึงขอร้องภิกษุ ภิกษุผู้ฉลาด
สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้วสงฆ์พึงแต่งตั้งภิกษุชื่อ
นี้เป็นเจ้าหน้าที่จัดแจงให้ถือเสนาสนะ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้เป็นเจ้าหน้าที่จัดแจงให้
ถือเสนาสนะ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้เป็นเจ้าหน้าที่จัดแจงให้ถือ
เสนาสนะ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
ภิกษุชื่อนี้สงฆ์แต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่จัดแจงให้ถือเสนาสนะแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
ฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องวิธีการให้ถือเสนาสนะเป็นต้น
[๓๑๘] ครั้งนั้น ภิกษุเจ้าหน้าที่จัดแจงให้ถือเสนาสนะทั้งหลายปรึกษากันดังนี้
ว่า “พวกเราจะให้ภิกษุถือเสนาสนะอย่างไรหนอ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๓๕ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๒. ทุติยภาณวาร
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นับภิกษุทั้งหลายก่อน
ครั้นนับภิกษุทั้งหลายแล้วจึงนับที่นอน แล้วจึงให้ถือตามจำนวนที่นอน”
เมื่อภิกษุเจ้าหน้าที่ทั้งหลายให้ถือตามจำนวนที่นอน ที่นอนเหลือมาก ฯลฯพระ
ผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถือตามจำนวนวิหาร”
เมื่อภิกษุเจ้าหน้าที่ทั้งหลายให้ถือตามจำนวนวิหาร วิหารก็ยังเหลือมาก ฯลฯ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ถือตามจำนวนบริเวณ”
เมื่อภิกษุเจ้าหน้าที่ทั้งหลายให้ถือตามจำนวนบริเวณ บริเวณก็ยังเหลือมาก ฯลฯ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เพิ่มให้อีก เมื่อภิกษุรับส่วน
เพิ่มไปแล้ว ภิกษุอื่นมา เมื่อไม่ปรารถนา(จะให้)ก็ไม่ต้องให้”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายให้ภิกษุผู้อยู่นอกสีมาถือเสนาสนะ ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้ภิกษุที่อยู่นอกสีมาถือ
เสนาสนะ รูปใดให้ถือ ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายถือเสนาสนะแล้วหวงไว้ตลอดเวลา ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงถือเสนาสนะแล้วหวงไว้
ตลอดเวลา รูปใดหวงไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หวงไว้ได้
ตลอด ๓ เดือนฤดูฝน แต่จะหวงไว้ตลอดฤดูไม่ได้”

เรื่องให้ถือเสนาสนะ ๓ อย่าง
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “การให้ถือเสนาสนะมีกี่อย่าง” ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย การให้ถือเสนาสนะมี ๓ อย่าง คือ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๓๖ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
๑. ให้ถือในวันเข้าพรรษาต้น ๒. ให้ถือในวันเข้าพรรษาหลัง
๓. ให้ถือในระหว่างพ้นจากระยะนั้น
เสนาสนะที่จะให้ถือในวันเข้าพรรษาต้น พึงให้ถือในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘
เสนาสนะที่จะให้ถือในวันเข้าพรรษาหลัง พึงให้ถือในเมื่อเดือน ๘ ล่วงไป ๑ เดือน
(เดือน ๙) เสนาสนะที่จะให้ถือในระหว่างพ้นจากระยะนั้น พึงให้ถือในวันถัดจากวัน
ปวารณา คือ วันแรม ๑ ค่ำ เพื่ออยู่จำพรรษาต่อไป ภิกษุทั้งหลาย การให้ถือ
เสนาสนะมี ๓ อย่างนี้”
ทุติยภาณวาร จบ

๓. ตติยภาณวาร
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตรจองเสนาสนะ
[๓๑๙] สมัยนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถือเสนาสนะในกรุงสาวัตถี แล้ว
เดินทางไปอาวาสใกล้หมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง ได้ถือเสนาสนะในที่นั้นอีก
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ท่านอุปนันทศากยบุตรนี้เป็นผู้
ก่อความบาดหมาง ก่อความทะเลาะ ก่อความวิวาท ก่อความอื้อฉาว ก่ออธิกรณ์
ในสงฆ์ ถ้าท่านอุปนันทศากยบุตรจะจำพรรษาในอาวาสนี้ พวกเราทั้งหมดจะอยู่
ไม่ผาสุก อย่ากระนั้นเลย พวกเราจะถามท่านอุปนันทศากยบุตร” ลำดับนั้น ภิกษุ
เหล่านั้นจึงถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรดังนี้ว่า “ท่านอุปนันทะ ท่านถือเสนาสนะ
ในกรุงสาวัตถีแล้วมิใช่หรือ”
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรตอบว่า “ใช่แล้ว ท่านทั้งหลาย”
ภิกษุทั้งหลายถามว่า “ท่านรูปเดียว เหตุใดจึงหวงเสนาสนะไว้ถึง ๒ แห่งเล่า”
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรตอบว่า “กระผมจะสละเสนาสนะที่นี่ไปเดี๋ยวนี้แล้ว
จะถือเสนาสนะในกรุงสาวัตถีนั้น”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๓๗ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
บรรดาภิกษุมักน้อยสันโดษ ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
อุปนันทศากยบุตรจึงหวงเสนาสนะไว้ถึง ๒ แห่งเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระอุปนันทะว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอ
เพียงรูปเดียวหวงเสนาสนะไว้ ๒ แห่งจริงหรือ”
พระอุปนันทะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆะบุรุษ ไฉนเธอผู้เดียวจึงหวงเสนาสนะ
ไว้ถึง ๒ แห่งเล่า โมฆบุรุษ เธอถือในที่นั้นแล้วสละในที่นี้ ถือในที่นี้แล้วสละในที่นั้น
โมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนี้เธอก็จะคลาดจากเสนาสนะทั้ง ๒ แห่ง โมฆบุรุษ การ
กระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ฯลฯ
ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปเดียวไม่พึงหวง
เสนาสนะไว้ ๒ แห่ง รูปใดหวงไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องตรัสวันยกถา
[๓๒๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสวินัยกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย ทรงพรรณนา
คุณแห่งพระวินัย ตรัสสรรเสริญการเรียนพระวินัย ทรงพรรณนาคุณของท่านพระ
อุบาลีโดยประการต่าง ๆ
ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคตรัสวินัยกถา ทรงพรรรนา
คุณแห่งพระวินัย ตรัสสรรเสริญการเรียนพระวินัย ทรงพรรณนาคุณของท่านพระ
อุบาลีโดยประการต่าง ๆ ขอให้พวกเรามาเรียนพระวินัยในสำนักของท่านพระอุบาลี
กันเถิด”
ภิกษุเหล่านั้นจำนวนมากเป็นเถระก็มี เป็นนวกะก็มี เป็นมัชฌิมะก็มีพากันเล่า
เรียนพระวินัยในสำนักของท่านพระอุบาลี ท่านพระอุบาลีก็ยืนสอนด้วยความเคารพ
ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ ฝ่ายภิกษุเถระทั้งหลายก็ยืนเรียนด้วยความเคารพธรรม
ด้วยเหตุนี้ ภิกษุเถระทั้งหลายก็เมื่อยล้า และท่านพระอุบาลีก็เมื่อยล้า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๓๘ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุนวกะผู้สอนนั่งบน
อาสนะเสมอกันหรือสูงกว่า(ภิกษุผู้เรียนที่เป็นเถระ)ได้ ด้วยความเคารพธรรม ให้ภิกษุ
ผู้เถระผู้เรียนนั่งบนอาสนะเสมอกันหรือต่ำกว่า(พระผู้สอนที่เป็นนวกะ)ได้ ด้วยความ
เคารพธรรม”
สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากยืนรอคอยจะเรียนพระวินัยในสำนักของท่านพระอุบาลี
จนเมื่อยล้า
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุมีอาสนะ๑ระดับ
เดียวกันนั่งรวมกันได้”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ที่ชื่อว่าภิกษุมีอาสนะระดับเดียวกัน
ด้วยคุณสมบัติเท่าไร”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มีพรรษาแก่กว่า
กันอ่อนกว่ากันระหว่าง ๓ พรรษานั่งรวมกันได้”
สมัยนั้น ภิกษุจำนวนหลายรูปมีอาสนะระดับเดียวกันนั่งบนเตียงเดียวกัน ทำให้
เตียงหัก นั่งบนตั่งเดียวกัน ทำให้ตั่งหัก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเตียงละ ๓ รูป ตั่งละ ๓
รูป”
แม้ภิกษุ ๓ รูปนั่งบนเตียงก็ทำให้เตียงหัก นั่งบนตั่งก็ทำให้ตั่งหัก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ อาสนะ ในที่นี้ มีความหมายใช้แทน พรรษา (ดู วิ.อ. ๓/๓๒๐/๓๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๓๙ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๖. เสนาสน ขันธกะ] ๓. ตติยภาณวาร
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเตียงละ ๒ รูป ตั่งละ
๒ รูป”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายยำเกรงที่จะนั่งบนอาสนะยาวร่วมกับภิกษุผู้มีอาสนะ
ต่างระดับกัน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งบนอาสนะยาวร่วม
กับภิกษุที่มีอาสนะต่างระดับกันได้ ยกเว้นบัณเฑาะก์ มาตุคาม อุภโตพยัญชนก”
ต่อมา ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “อาสนะยาวที่สุดกำหนดไว้เท่าไร ฯลฯ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอาสนะยาวที่สุดนั่งได้ ๓ รูป”
สมัยนั้น นางวิสาขามิคารมาตาประสงค์จะให้สร้างปราสาทมีระเบียงและมีหลังคา
ดังเทริดตั้งอยู่บนกระพองช้างถวายสงฆ์ ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า
“พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการใช้สอยปราสาทหรือยังไม่ได้ทรงอนุญาต”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้สอยปราสาททุกอย่าง”
สมัยนั้น สมเด็จพระอัยยิกาของพระเจ้าปเสนทิโกศลทิวงคต เพราะการทิวงคตนั้น
เครื่องอกัปปิยภัณฑ์จำนวนมากจึงเกิดขึ้นแก่สงฆ์ คือ

๑. เตียงมีเท้าสูงเกินขนาด ๒. เตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย
๓. พรมขนสัตว์ ๔. เครื่องลาดขนแกะลายวิจิตร
๕. เครื่องลาดขนแกะมีสีขาว ๖. เครื่องลาดมีรูปดอกไม้
๗. เครื่องลาดยัดนุ่น ๘. เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูป
สัตว์ร้ายเช่นราชสีห์และเสือ
๙. เครื่องลาดขนแกะมีขน ๒ ด้าน ๑๐. เครื่องลาดขนแกะมีขนด้านเดียว
๑๐. เครื่องลาดปักด้วยไหมประดับรัตนะ ๑๒. เครื่องลาดผ้าไหมประดับรัตนะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๑๔๐ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker