ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๕-๒ วินัยปิฎกที่ ๐๕ มหาวรรค ภาค ๒

พระวินัยปิฎก
มหาวรรค ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
ครั้นเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปที่นิเวศน์ของเมณฑกคหบดี ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อมกับภิกษุสงฆ์
ครั้งนั้นภรรยา บุตร สะใภ้ และทาสของคหบดีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
นั่งอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่คนเหล่านั้น
เมื่อทรงทราบว่าคนเหล่านั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่คนเหล่านั้น ณ
อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับ
ไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็น
อย่างดี
ครั้งนั้น ชนเหล่านั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่ง
ลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้ว
กล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ
พระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนคนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักมองเห็นรูป’ พระองค์ผู้เจริญ พวกข้า
พระองค์ ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอ
พระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้เข้าถึงสรณะตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ลำดับนั้น เมณฑกคหบดีได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้วทรงห้าม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๑. ปัญจโครสาทิอนุชานนา
ภัตตาหารแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ตลอดเวลาที่พระองค์ยังประทับอยู่ในเมืองภัททิยะ ข้าพระ
องค์ขอถวายภัตตาหารเป็นประจำแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เมณฑกคหบดีเห็นชัด ชวนให้อยาก
รับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมี
กถาแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ

๑๘๑. ปัญจโครสาทิอนุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตปัญจโครสเป็นต้น
[๒๙๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองภัททิยะตามพระอัธยาศัย
แล้ว ไม่ทรงบอกเมณฑกคหบดี เสด็จจาริกไปทางอังคุตตราปะ พร้อมกับภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป
เมณฑกคหบดีได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จไปที่อังคุตตราปะพร้อม
กับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป” ลำดับนั้น จึงสั่งทาสและกรรมกรไปว่า
“ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง
ของฉันบ้าง ลงในเกวียนให้มาก ๆ พวกคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คน จงต้อนแม่โค
๑,๒๕๐ ตัวมาด้วย เราจะเลี้ยงพระสงฆ์ด้วยน้ำนมสดรีดใหม่ที่ยังอุ่นในที่ที่เราได้
เฝ้าพระผู้มีพระภาค”
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีตามไปพบพระผู้มีพระภาคระหว่างทางกันดาร จึงเข้าไป
เฝ้าถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับ
ภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าเพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๑. ปัญจโครสาทิอนุชานนา
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ได้ลุก
จากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป โดยล่วงไป
แห่งราตรีนั้นเขาให้จัดเตรียมโภชนาหารอันประณีตแล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มี
พระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว” ครั้นเวลาเช้า
พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จไปที่จัดเลี้ยง
ของคหบดี ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
คหบดีสั่งคนเลี้ยงโค ๑,๒๕๐ คนไปว่า “ท่านทั้งหลาย พวกท่านจงช่วยกัน
จับแม่โคนมคนละตัวแล้วยืนใกล้ภิกษุรูปละคน ๆ เราจะเลี้ยงพระด้วยนมสดรีดใหม่
ที่ยังอุ่น” แล้วนำของเคี้ยวของฉันอันประณีตและน้ำนมสดที่เพิ่งรีดด้วยตนเอง
ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยตนเองกระทั่งอิ่มหนำ
ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคนน้ำนมสด พระผู้มีพระภาคตรัส
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด”
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีนำของเคี้ยวของฉันอันประณีตและน้ำนมสดที่เพิ่งรีด
ด้วยมือตนเอง ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่ง
พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ แล้วทรงห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึง
ได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ในหนทางกันดาร
อัตคัดน้ำอัตคัดอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงเดินทางไปต้องลำบาก ขอประทานวโรกาส
เถิด พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงอนุญาตเสบียงเดินทางแก่ภิกษุด้วยเถิด พระพุทธ-
เจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เมณฑกคหบดีเห็นชัด ชวนให้อยากรับ
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว
ทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตโครส ๕ ชนิด คือ นมสด นมเปรี้ยว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
เปรียง เนยข้น และเนยใส ภิกษุทั้งหลาย หนทางกันดาร อัตคัดน้ำ อัดคัต
อาหารมีอยู่ ภิกษุไม่มีเสบียงเดินทางไป ต้องลำบาก เราอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้
คือ ผู้ต้องการข้าวสารพึงแสวงหาข้าวสาร ผู้ต้องการถั่วเขียวพึงแสวงหาถั่วเขียว
ผู้ต้องการถั่วราชมาสพึงแสวงหาถั่วราชมาส ผู้ต้องการเกลือพึงแสวงหาเกลือ ผู้
ต้องการน้ำอ้อยงบพึงแสวงหาน้ำอ้อยงบ ผู้ต้องการน้ำมันพึงแสวงหาน้ำมัน ผู้
ต้องการเนยใสพึงแสวงหาเนยใส ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายที่ศรัทธาเลื่อมใส
มอบเงินและทองไว้แก่กัปปิยการกกล่าวว่า ‘สิ่งใดควรแก่พระคุณเจ้า จงถวายสิ่งนั้น
จากกัปปิยภัณฑ์นี้’ ดังนี้ก็มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดควรจากกัปปิยภัณฑ์นั้น เรา
อนุญาตให้ยินดีสิ่งนั้นได้ แต่เราไม่ได้กล่าวว่า “ภิกษุพึงยินดีและแสวงหาทองและเงิน
ไม่ว่ากรณีใด ๆ”

๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
ว่าด้วยเกณิยชฎิลถวายน้ำอัฏฐบาน๑
[๓๐๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงอาปณนิคม
เกณิยชฎิลได้ทราบข่าวว่า “พระสมณโคดมผู้ศากยบุตร เสด็จออกผนวชจาก
ศากยตระกูล เสด็จถึงอาปณนิคมแล้ว ท่านพระโคดมผู้เจริญนั้น มีกิตติศัพท์
อันงามขจรไป อย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วย พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก
เป็นสารถี ฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค‘๒ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วย
พระองค์เองแล้ว จึงทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น

เชิงอรรถ :
๑ อัฏฐบาน คือ น้ำดื่ม ๘ ชนิด (ดูหน้า ๑๓๑)
๒ ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๑/๑-๒(เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อม
ทั้งอรรถและพยัญชนะบริบูรณ์ บริสุทธิ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลาย
เช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”
ครั้งนั้น เกณิยชฎิลได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราจะนำอะไรหนอไปถวายพระสมณ
โคดม” ได้มีความคิดดังนี้ว่า “พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ คือ
ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตตะ ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส
ฤๅษีภารทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ ฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้แต่งมนต์ สอนมนต์
ที่พวกพราหมณ์ในเวลานี้สวด สอนซึ่งบทมนต์เก่าที่ท่านสวด สอนรวบรวมไว้
สอนได้ถูกต้องตามที่ท่านสอนไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้๑ ฤๅษีเหล่านั้น
เป็นผู้ไม่ฉันอาหารในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล ฤๅษีเหล่านั้นยินดีน้ำดื่มอย่างนี้
แม้พระสมณโคดมก็ไม่ฉันอาหารในราตรี งดฉันในเวลาวิกาล ก็น่าจะยินดีน้ำดื่มอย่าง
นี้บ้าง” แล้วสั่งให้เตรียมน้ำดื่มเป็นอันมากให้คนหาบไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่
ประทับ ครั้นถึงแล้วได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็น
ที่ระลึกถึงกันและกันแล้วได้ยืน ณ ที่สมควร เกณิยชฎิลผู้ยืน ณ ที่สมควรได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระโคดม โปรดรับน้ำดื่มของข้าพระองค์ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกณิยะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย”
ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด”
ครั้งนั้น เกณิยชฎิลได้นำน้ำดื่มมากมายประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น
ประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ห้ามภัตตาหารแล้ว
ทรงละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.สี. (แปล) ๙/๕๒๖/๒๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เกณิยะเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ลำดับนั้น เกณิยชฎิลผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยาก
รับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมกับภิกษุสงฆ์ทรงรับ
ภัตตาหารของข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกณิยะ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป
และท่านเองก็เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์”
แม้ครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลก็กราบทูลนิมนต์ว่า “พระโคดมผู้เจริญ แม้ภิกษุ
สงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป และข้าพระองค์ เลื่อมใสยิ่งนักในหมู่พราหมณ์
ก็จริง ถึงกระนั้น ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมกับภิกษุสงฆ์ทรงรับภัตตาหารของ
ข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น เกณิยชฎิลทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ได้ลุกจาก
อาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป

ทรงอนุญาตน้ำอัฏฐบาน
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอัฏฐบาน คือ

๑. น้ำมะม่วง ๒. น้ำหว้า
๓. น้ำกล้วยมีเมล็ด ๔. น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด
๕. น้ำมะซาง ๖. น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น
๗. น้ำเหง้าบัว ๘. น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๒. เกณิยชฏิลวัตถุ
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
น้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด”
คืนนั้น เกณิยชฎิลให้เตรียมโภชนาหารอันประณีตที่อาศรมของตนแล้วให้คนไป
กราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหาร
เสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตร
และจีวร เสด็จไปที่อาศรมของเกณิยชฎิล ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อม
ด้วยภิกษุสงฆ์ เกณิยชฎิลได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยมือของตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ
ห้ามภัตตาหารแล้ว ทรงละพระหัตถ์จากบาตรแล้ว จึงนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถานี้ว่า
ยัญพิธีมีการบูชาไฟเป็นประธาน
สาวิตตีฉันท์เป็นประธานของพระเวท๑
พระเจ้าแผ่นดินเป็นประธานของประชาราษฎร์
มหาสมุทรเป็นประธานของแม่น้ำ
ดวงจันทร์เป็นประธานแห่งดาวนักษัตร
ดวงอาทิตย์เป็นประธานแห่งสิ่งที่ร้อน ฉันใด
พระสงฆ์ก็เป็นประธานของทายกผู้มุ่งบุญถวายทานอยู่ ฉันนั้น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นทรงอนุโมทนาเกณิยชฎิลเสร็จ จึงทรงลุกจาก
อาสนะแล้วเสด็จกลับ

เชิงอรรถ :
๑ พวกพราหมณ์เมื่อจะสวดสาธยายพระเวท ย่อมสวดสาวิตตีฉันท์ก่อน ฉันท์นี้จึงชื่อว่าเป็นบทนำ เป็นบท
เริ่มต้นแห่งพระเวท (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๐๐/๔๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๓. โรชมัลลวัตถุ
๑๘๓. โรชมัลลวัตถุ
ว่าด้วยเจ้ามัลละชื่อโรชะถวายผักกาดสดและของฉันทำด้วยแป้ง
[๓๐๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อาปณนิคมตามพระอัธยาศัยแล้ว
เสด็จจาริกไปทางเมืองกุสินาราพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป
พวกมัลลกษัตริย์ชาวกรุงกุสินาราได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จมา
กรุงกุสินาราพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป” ได้ทำกติกา
กันว่า “ผู้ไม่ต้อนรับพระผู้มีพระภาคจะถูกปรับสินไหม มีจำนวน ๕๐๐ กหาปณะ”
สมัยนั้น มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะเป็นสหายของท่านพระอานนท์ ครั้งนั้นพระผู้มี
พระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงกุสินารา ลำดับนั้น พวกมัลลกษัตริย์
ชาวกรุงกุสินาราได้ต้อนรับพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะรับเสด็จ
พระผู้มีพระภาคแล้วได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ณ ที่พัก ทรงอภิวาทแล้วประทับยืน
อยู่ ณ ที่สมควร
ท่านพระอานนท์กล่าวกับมัลลกษัตริย์ชื่อโรชะผู้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควรว่า
“โรชะ ท่านรับเสด็จพระผู้มีพระภาคได้สมพระเกียรติจริง ๆ”
มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะตรัสว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้ต้อนรับพระพุทธ พระธรรม พระ
สงฆ์ให้ใหญ่โตเลย แต่พวกญาติได้ทำกติกากันว่า ‘ผู้ไม่ต้อนรับพระผู้มีพระภาคจะ
ถูกปรับสินไหม ๕๐๐ กหาปณะ’ ข้าพเจ้ารับเสด็จพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ก็เพราะ
กลัวพวกญาติจะปรับสินไหม”
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ไม่พอใจว่า “ไฉนมัลลกษัตริย์โรชะจึงตรัสอย่างนี้เล่า”
ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระ
ภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระอานนท์ผู้นั่ง ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “มัลลกษัตริย์โรชะผู้นี้เป็นคนมีชื่อเสียง มีคนรู้จักมาก และความ
เลื่อมใสในพระธรรมวินัยของคนเช่นนี้มีประโยชน์มาก พระองค์โปรดทรงกระทำให้
มัลลกษัตริย์โรชะเลื่อมใสในพระธรรมวินัยนี้ด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๓. โรชมัลลวัตถุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “การที่จะกระทำให้มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะเลื่อมใสใน
พระธรรมวินัย ทำได้ไม่ยาก”
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแผ่พระเมตตาจิตไปยังมัลลกษัตริย์ชื่อโรชะแล้ว
เสด็จลุกจากอาสนะเข้าพระวิหาร มัลลกษัตริย์โรชะพอได้รับกระแสพระเมตตาจิต
ของพระผู้มีพระภาคถูกต้องจึงเที่ยวค้นหาตามพระวิหาร ตามบริเวณทั่วทุกแห่ง
ดุจโคแม่ลูกอ่อน ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “เวลานี้ พระผู้มีพระภาคอรหันต
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน เจ้าข้า ข้าพเจ้าต้องการพบพระองค์”
ภิกษุทั้งหลายถวายพระพรว่า “ท่านโรชะ พระวิหารหลังนั้นเขาปิดประตูเสียแล้ว
โปรดสงบเสียง ท่านจงเสด็จเข้าไปทางพระวิหารหลังนั้นแล้วค่อย ๆ เสด็จดำเนินไป
ที่หน้ามุข กระแอมแล้วเคาะประตูเถิด พระองค์จะทรงเปิดประตูรับท่าน”
ขณะนั้น มัลลกษัตริย์โรชะทรงสงบเสียง เสด็จเข้าไปทางพระวิหารซึ่งปิดอยู่
ค่อย ๆ เสด็จดำเนินไปที่หน้ามุข กระแอมแล้วเคาะประตู พระผู้มีพระภาคทรงเปิด
ประตูรับ๑ มัลลกษัตริย์โรชะจึงเสด็จเข้าพระวิหาร ถวายบังคมแล้วประทับนั่งอยู่ ณ
ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่มัลลกษัตริย์โรชะผู้นั่ง ณ ที่สมควร
เมื่อทรงทราบว่ามัลลกษัตริย์โรชะนั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่มัลล

เชิงอรรถ :
๑ ทรงเปิดประตูรับ ไม่ได้หมายถึงว่า พระผู้มีพระภาคทรงลุกขึ้นมาเปิดประตูด้วยพระองค์เอง แต่ทรงเหยียด
พระหัตถ์ออกพร้อมกับตรัสว่า “จงเปิด” ประตูก็เปิดเอง เป็นการเปิดด้วยพระทัย (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๐๑/
๔๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๓. โรชมัลลวัตถุ
กษัตริย์โรชะ ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาด ปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
ครั้งนั้น มัลลกษัตริย์โรชะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว
หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้
แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอประทานวโรกาส ภิกษุทั้งหลายโปรดรับจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของข้าพระพุทธเจ้าเพียงคนเดียว อย่ารับ
ของคนอื่นเลย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โรชะ แม้อริยบุคคลอื่น ๆ ผู้ได้เห็นธรรมด้วยญาณ
อันเป็นเสขะ ด้วยทัสสนะอันเป็นเสขะเหมือนอย่างท่านก็คงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ภิกษุ
จงรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของเราเท่านั้น
อย่ารับของคนอื่นเลย’ ดังนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงรับทั้งของท่านและของคนอื่น”
[๓๐๒] สมัยนั้น ชาวบ้านจัดเตรียมภัตตาหารอันประณีตไว้ที่กรุงกุสินารา
เมื่อมัลลกษัตริย์โรชะไม่มีโอกาสถวายภัตตาหาร จึงได้ทรงมีพระดำริดังนี้ว่า “อย่า
กระนั้นเลย เราพึงตรวจดูโรงอาหาร จัดเตรียมสิ่งที่ไม่มีในโรงอาหารไว้” แล้วตรวจดู
โรงอาหาร ไม่ทรงเห็นของ ๒ อย่าง คือ ผักสดและของฉันทำด้วยแป้ง จึงเสด็จเข้าไป
หาท่านพระอานนท์ตรัสว่า “เมื่อข้าพเจ้าไม่มีโอกาสจะถวายภัตตาหารในที่นี้จึงคิดว่า
‘เราควรตรวจดูโรงอาหาร จัดเตรียมสิ่งที่ไม่มีในโรงอาหารไว้’ แล้วตรวจดูโรงอาหาร
ไม่เห็นของ ๒ อย่าง คือ ผักสดและของฉันทำด้วยแป้ง ถ้าข้าพเจ้าเตรียมผักสดและ
ของฉันทำด้วยแป้งถวาย พระผู้มีพระภาคจะทรงรับสิ่งนั้นหรือ พระคุณเจ้า”
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “อาตมาจะกราบทูลถามพระผู้มีพระภาค” แล้วได้
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ถ้าอย่างนั้น เขาจงจัดเตรียมเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๔. วุฑฒปัพพชิตวัตถุ
พระอานนท์ถวายพระพรว่า “โรชะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงจัดเตรียมเถิด”
คืนนั้นมัลลกษัตริย์โรชะให้จัดเตรียมผักสดและของฉันทำด้วยแป้งเป็นจำนวนมาก
น้อมถวายพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคโปรด
ทรงรับผักสดและของฉันทำด้วยแป้งของข้าพระองค์เถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โรชะ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย”
พวกภิกษุยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด”
ครั้งนั้น มัลลกษัตริย์โรชะทรงนำผักสดและของฉันทำด้วยแป้งเป็นจำนวนมาก
ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง กระทั่ง
พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว ทรงละพระหัตถ์จากบาตร จึง
ได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มัลลกษัตริย์โรชะเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรง
ลุกจากอาสนะเสด็จกลับ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผักสดทุกชนิดและของฉันทำด้วย
แป้งทุกชนิด”

๑๘๔. วุฑฒปัพพชิตวัตถุ
ว่าด้วยภิกษุเฒ่าเคยเป็นช่างกัลบกในเมืองอาตุมา
[๓๐๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงกุสินาราตามพระอัยธาศัยแล้ว
เสด็จจาริกไปทางเมืองอาตุมา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๔. วุฑฒปัพพชิตวัตถุ
สมัยนั้น มีพระหลวงตารูปหนึ่งเคยเป็นช่างกัลบก๑ อาศัยอยู่ในเมืองอาตุมา
พระหลวงตานั้นมีบุตรชาย ๒ คน๒ เป็นเด็กพูดจาไพเราะอ่อนหวาน มีไหวพริบ
ขยันขันแข็ง ฝีมือเยี่ยมในงานกัลบกของตนเทียบเท่าระดับอาจารย์
พระหลวงตานั้นได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาเมืองอาตุมา
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป” ลำดับนั้น พระหลวงตานั้น
ได้กล่าวกับบุตรทั้งสองดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาเมืองอาตุมาพร้อม
ด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ลูกทั้งสองจงถือเครื่องมือตัดผม
และโกนผมพร้อมกับทะนานและถุงเที่ยวไปตัดและโกนผมตามบ้านเรือน รวบรวม
เกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้างไว้ พ่อจะหุงข้าวต้มถวายพระผู้มี
พระภาคผู้เสด็จมาถึง”
บุตรชายทั้งสองรับคำสั่งของพระหลวงตาผู้เป็นพ่อแล้วถือเครื่องมือตัดผมพร้อม
กับทะนานและถุงเที่ยวไปตัดและโกนผมตามบ้านเรือน รวบรวมแลกเกลือบ้าง
น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้าง คนทั้งหลายเห็นเด็กทั้งสองคนพูดจาไพเราะ
อ่อนหวานมีไหวพริบ แม้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะให้ตัด ก็ให้ตัด ถึงให้ตัดแล้วก็ให้ค่าแรงมาก
ดังนั้น เด็กทั้งสองจึงรวบรวมเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้างได้
เป็นจำนวนมาก
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงเมืองอาตุมา ทราบ
ว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูสาคาร คืนนั้นพระหลวงตารูปนั้นสั่งคนให้จัด
เตรียมข้าวต้มเป็นอันมากแล้วน้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคว่า “พระผู้มี
พระภาคโปรดรับข้าวต้มของข้าพระองค์เถิด พระพุทธเจ้าข้า”

พุทธประเพณี
พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงทราบเรื่องตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบ
กาลอันควรตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ตรัสถามเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ตรัสถาม

เชิงอรรถ :
๑ ช่างกัลบก คือ ช่างตัดผม ช่างโกนผม
๒ บุตรชาย ๒ คนของพระหลวงตานั้น เป็นสามเณร (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๐๓/๔๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๔. วุฑฒปัพพชิตวัตถุ
เรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะพระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงขจัดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์
เสียด้วยอริยมรรคแล้ว
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย สอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยเหตุ ๒ ประการ
คือ จะทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถามพระหลวงตานั้นว่า “ข้าวต้มนี้เธอได้
มาจากไหน”
พระหลวงตานั้นจึงได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่สมควร ไม่
คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ไฉนเธอบวชแล้ว
จึงได้ชักจูงทายกในสิ่งอันไม่ควรเล่า โมฆบุรุษ การทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส
ให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย บรรพชิตไม่พึงชักชวนทายกในสิ่งไม่ควร รูปใดชักชวน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบกไม่พึงเก็บรักษาเครื่องมือตัดผม รูปใด
เก็บรักษาไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องผลไม้ดาษดื่นในกรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองอาตุมาตามพระอัธยาศัยแล้วเสด็จ
จาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงสาวัตถีแล้ว ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในกรุง
สาวัตถีนั้น
เวลานั้น ในกรุงสาวัตถี มีของฉันคือผลไม้ดาษดื่น ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้
สนทนากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตของฉันคือผลไม้หรือหนอแล” จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตของฉันคือผลไม้ทุกชนิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๕. จตุมหาปเทสกถา
เรื่องปลูกพืช
[๓๐๔] สมัยนั้น เขาปลูกพืชของสงฆ์ในที่ของบุคคล ปลูกพืชของบุคคลในที่
ของสงฆ์
ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พืชของสงฆ์ที่ปลูกในที่ของบุคคล
พึงให้ส่วนแบ่งแล้วบริโภคได้ พืชของบุคคลที่ปลูกในที่ของสงฆ์พึงให้ส่วนแบ่งแล้ว
บริโภคได้”

๑๘๕. จตุมหาปเทสกถา
ว่าด้วยมหาปเทส ๔
[๓๐๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเกิดความยำเกรงอยู่ในข้อบัญญัติบางอย่างว่า
“สิ่งใดหนอพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไว้ สิ่งใดหนอไม่ทรงอนุญาตไว้”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคได้ประทานมหาปเทสไว้ ๔ ข้อ คือ
๑. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้ห้ามไว้ว่า “สิ่งนี้ไม่ควร” ถ้าสิ่งนั้น
อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร๑

เชิงอรรถ :
๑ ตัวอย่างเช่น ธัญชาติ ๗ อย่าง คือ ข้าวสาลี ข้าวเจ้า หญ้ากับแก้ ข้าวละมาน ลูกเดือย ข้าวเหนียว
ข้าวฟ่าง (วิ.อ. ๑/๑๐๔/๓๖๘) เป็นสิ่งที่ทรงห้ามฉันในเวลาตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงอรุณขึ้นวันใหม่ ส่วนมหาผล
๙ อย่าง คือ ตาล มะพร้าว ผลขนุน ขนุนสำปะลอ บวบ ฟักเขียว แตงกวา แตงโม ฟักทอง
รวมทั้งอปรัณณชาติทั้งหมด เช่น ถั่วเขียว ถั่วราชมาส งา พืชผักที่กินหลังภัตตาหาร แม้จะไม่ได้ทรงห้ามไว้
แต่อนุโลมเข้ากับธัญชาติ ๗ อย่าง เพราะฉะนั้น จึงทรงห้ามฉันในเวลาตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงอรุณขึ้นวัน
ใหม่เช่นกัน เข้ากับหลักมหาประเทสข้อ ๑ และข้อ ๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๕. จตุมหาปเทสกถา
๒. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้ห้ามไว้ว่า “สิ่งนี้ไม่ควร” ถ้าสิ่งนั้น
อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร๑
๓. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า “สิ่งนี้ควร” ถ้าสิ่งนั้น
อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร
๔. ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเราไม่ได้อนุญาตไว้ว่า “สิ่งนี้ควร” ถ้าสิ่งนั้น
อนุโลมเข้ากับสิ่งที่ควร ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร

เรื่องทรงอนุญาตกาลิกระคนกัน
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันดังนี้ว่า “ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิก
ควรหรือไม่ควรหนอ สัตตาหกาลิกระคนกับยาวกาลิกควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิก
ระคนกับยามกาลิกควรหรือไม่ควรหนอ ยาวชีวิกระคนกับสัตตาหกาลิกควรหรือไม่
ควรหนอ”๒
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ยามกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับ
ประเคนในวันนั้น ควรในกาล ไม่ควรในเวลาวิกาล

เชิงอรรถ :
๑ พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตน้ำอัฏฐบาน (น้ำดื่ม ๘ ชนิด) ส่วนน้ำดื่มที่นับเนื่องในน้ำอัฏฐบาน ๘ ชนิดนั้น
เช่น น้ำหวาย น้ำผลมะงั่ว น้ำต้นเล็บเหยี่ยว และน้ำผลไม้เล็กเป็นต้น แม้จะไม่ได้ทรงอนุญาตไว้แต่อนุโลม
เข้ากับน้ำอัฏฐบาน เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันอนุญาตด้วย (วิ.อ. ๓/๓๐๕/๑๘๘-๑๘๙)
๒ กาลิก แปลว่า เนื่องด้วยกาล ขึ้นกับกาล เป็นชื่อของสิ่งที่จะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติ
ให้ภิกษุรับประเคนเก็บไว้ และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด แบ่งเป็น ๔ อย่าง คือ
๑. ยาวกาลิก ของรับประเคนไว้และฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้
ขนมต่าง ๆ
๒. ยามกาลิก ของรับประเคนไว้และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือ ปานะ (น้ำดื่ม) ๘ ชนิด หรือ
น้ำอัฏฐบาน ได้แก่ (๑) น้ำมะม่วง (๒) น้ำหว้า (๓) น้ำกล้วยมีเมล็ด (๔) น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด (๕) น้ำมะซาง
(๖) น้ำลูกจันทน์ (หรือองุ่น) (๗) น้ำเหง้าอุบล (๘) น้ำมะปราง (หรือลิ้นจี่)
๓. สัตตาหกาลิก ของรับประเคนไว้แล้ว ฉันได้ภายในเวลา ๗ วัน คือ เภสัชทั้ง ๕ ได้แก่ (๑) เนยใส
(๒) เนยข้น (๓) น้ำมัน (๔) น้ำผึ้ง (๕) น้ำอ้อย
๔. ยาวชีวิก ของรับประเคนแล้วฉันได้ตลอด ไม่จำกัดเวลา คือ สิ่งของที่เป็นยารักษาโรค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๖. รวมเรื่องที่มีในเภสัชชขันธกะ
ภิกษุทั้งหลาย สัตตาหกาลิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรใน
กาล ไม่ควรในเวลาวิกาล
ภิกษุทั้งหลาย ยาวชีวิกระคนกับยาวกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรในกาล
ไม่ควรในเวลาวิกาล
ภิกษุทั้งหลาย สัตตาหกาลิกระคนกับยามกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรใน
กาล ไม่ควรในเวลาวิกาล
ภิกษุทั้งหลาย ยาวชีวิกระคนกับยามกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควรชั่วยาม
ล่วงยามแล้วไม่ควร
ภิกษุทั้งหลาย ยาวชีวิกระคนกับสัตตาหกาลิกที่รับประเคนในวันนั้น ควร
ตลอด ๗ วัน ล่วง ๗ วันแล้วไม่ควร
เภสัชชขันธกะที่ ๖ จบ
ในขันธกะนี้มี ๑๐๖ เรื่อง

๑๘๖. รวมเรื่องที่มีในเภสัชชขันธกะ
เรื่องภิกษุอาพาธในฤดูสารท เรื่องเภสัช ๕ ในเวลาวิกาล
เรื่องน้ำมันเหลวที่เป็นยา เรื่องรากไม้ที่เป็นยา
เรื่องรากไม้บดที่เป็นยา เรื่องน้ำฝาดที่เป็นยา เรื่องใบไม้ที่เป็นยา
เรื่องผลไม้ที่เป็นยา เรื่องยางไม้ที่เป็นยา เรื่องเกลือที่เป็นยา
เรื่องมูลโคดับกลิ่นตัว
เรื่องยาผงและเครื่องร่อนยา เรื่องเนื้อดิบและเลือดสด
เรื่องยาหยอดตา เรื่องเครื่องบดยาผสมยาตา
เรื่องกลักยาตา เรื่องกลักยาตาชนิดต่าง ๆ เรื่องกลักยาตา
ไม่มีฝาปิด เรื่องไม้ป้ายยาตา เรื่องที่เก็บไม้ป้ายยาตา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๖. รวมเรื่องที่มีในเภสัชชขันธกะ
เรื่องถุงกลักยาตา เรื่องเชือกผูกเป็นสายสะพาย
เรื่องน้ำมันทาศีรษะ เรื่องนัตถุ์ยา เรื่องกล้องยานัตถุ์
เรื่องสูดควัน กล้องสูดควัน และฝาปิดกล้องสูดควัน
เรื่องถุงกล้องสูดควัน
เรื่องน้ำมันหุง เรื่องน้ำเมาเจือในน้ำมันหุง
เรื่องน้ำมันเจือด้วยน้ำเมามากเกินไป เรื่องทรงอนุญาตน้ำมัน
เจือน้ำเมามากใช้เป็นยาทา เรื่องลักจั่น เรื่องการรมเหงื่อ
เรื่องรมด้วยใบไม้ เรื่องการรมใหญ่ เรื่องการรมด้วยใบไม้ต่าง ๆ
เรื่องอ่างน้ำ เรื่องระบายโลหิตออก เรื่องใช้เขาสัตว์กอก
ระบายโลหิตออก เรื่องยาทาเท้า เรื่องปรุงน้ำมันทาเท้า
เรื่องผ่าฝี เรื่องน้ำฝาด เรื่องงาบด เรื่องยาพอก
เรื่องผ้าพันแผล เรื่องชะแผลด้วยน้ำแป้งเมล็ดผักกาด
เรื่องรมแผลด้วยควัน เรื่องใช้ก้อนเกลือตัดเนื้องอก
เรื่องน้ำมันทาแผล เรื่องผ้าปิดกันน้ำมันไหลเยิ้ม
เรื่องยามหาวิกัฏ ๔ อย่าง เรื่องรับประเคน
เรื่องดื่มน้ำเจือคูถ เรื่องภิกษุโดนยาแฝดดื่มน้ำที่ละลายจาก
ดินติดผาลไถ เรื่องดื่มน้ำด่างดิบ เรื่องดื่มน้ำสมอดองมูตรโค
เรื่องไล้ทาของหอม เรื่องดื่มยาถ่าย เรื่องน้ำข้าวใส
เรื่องน้ำต้มถั่วเขียวไม่ข้น เรื่องน้ำต้มถั่วเขียวข้น
เรื่องน้ำต้มเนื้อ เรื่องพระปิลินทวัจฉะทำความสะอาด
เงื้อมเขาและพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานคนงานวัด
เรื่องฉันเภสัชที่เก็บไว้ ๗ วัน เรื่องน้ำอ้อยงบ เรื่องถั่วเขียว
เรื่องยาดองโลณโสวีรกะ เรื่องอาหารที่หุงต้มเอง
เรื่องอุ่นภัตตาหาร
เรื่องให้เก็บอาหารไว้ภายในและหุงต้มเองเมื่อคราวจำเป็น
เรื่องรับประเคนผลไม้ที่จับต้องแล้ว เรื่องพราหมณ์ถวายงาและน้ำผึ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๖. รวมเรื่องที่มีในเภสัชชขันธกะ
เรื่องของฉันที่รับประเคนไว้ตอนเช้า
เรื่องพระสารีบุตรอาพาธร้อนในกาย
เรื่องฉันผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออก เรื่องริดสีดวงทวาร
เรื่องทรงห้ามทำวัตถิกรรม เรื่องอุบาสิกาสุปปิยาเชือดเนื้อขาอ่อนถวาย
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อมนุษย์ เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อช้าง
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อม้า เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อสุนัข
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้องู เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อราชสีห์
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือโคร่ง เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือเหลือง
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อหมี เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือดาว
เรื่องพราหมณ์คอยโอกาสถวายภัตตาหาร
เรื่องมหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่
เรื่องรับนิมนต์ไว้ที่หนึ่งแล้วไม่พึงไปฉันอีกที่หนึ่ง
เรื่องพราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะถวายน้ำอ้อยงบ
เรื่องทรงรับอาคารพักแรม
เรื่องมหาอมาตย์สุนีธะและวัสสการะ
เรื่องประตูโคดมและท่าโคดมที่แม่น้ำคงคา
เรื่องทรงแสดงอริยสัจที่โกฏิคาม เรื่องหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
เรื่องเจ้าลิจฉวี เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจง
เรื่องกรุงเวสาลีหาอาหารได้ง่าย
เรื่องทรงห้ามอาหารที่หุงต้มภายในเป็นต้น
เรื่องฝนตั้งเค้า เรื่องพระยโสชะเป็นไข้
เรื่องเมณฑกคหบดีถวายปัญจโครสกับเสบียงเดินทาง
เรื่องเกณิยชฎิลถวายน้ำอัฏฐบาน คือ (๑) น้ำมะม่วง
(๒) น้ำหว้า (๓) น้ำกล้วยมีเมล็ด (๔) น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด
(๕) น้ำมะซาง (๖) น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น (๗) น้ำเหง้าบัว
(๘) น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๖. รวมเรื่องที่มีในเภสัชชขันธกะ
เรื่องเจ้ามัลละชื่อโรชะถวายผักกาดสดและของฉันทำด้วยแป้ง
เรื่องภิกษุเฒ่าเคยเป็นช่างกัลบกในเมืองอาตุมา
เรื่องผลไม้ดาษดื่นในกรุงสาวัตถี เรื่องปลูกพืช
เรื่องภิกษุทั้งหลายเกิดความยำเกรงในข้อบัญญัติบางอย่าง
เรื่องทรงอนุญาตกาลิกระคนกัน
เภสัชชขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๗. กฐินานุชานนา
๗. กฐินขันธกะ
๑๘๗. กฐินานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตให้กรานกฐิน

เรื่องภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ ๓๐ รูป
[๓๐๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ๑ จำนวน ๓๐
รูป ทั้งหมดถืออารัญญิกธุดงค์ ถือปิณฑปาติกธุดงค์และถือเตจีวริกธุดงค์ เดินทาง
มากรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อใกล้วันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดิน
ทางไปให้ทันวันเข้าพรรษาในกรุงสาวัตถีได้ จึงเข้าพรรษาในเมืองสาเกตระหว่างทาง
ภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะเหล่านั้นมีใจรัญจวน อยู่จำพรรษาด้วยคิดว่า “พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ใกล้ ๆ พวกเราห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้า
พระองค์”
ครั้นล่วงไตรมาส ภิกษุเหล่านั้นออกพรรษาแล้ว เมื่อปวารณาแล้ว ฝนยัง
ตกชุกอยู่ พื้นแผ่นดินชุ่มชื้นไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน พวกเธอมีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ
เหน็ดเหนื่อย เดินทางเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ อารามของอนาถบิณฑิก
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่สมควร
การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสนทนาปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะ
ทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี

เชิงอรรถ :
๑ เมืองปาเฐยยะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกแคว้นโกศล คำว่า “ปาเฐยยกะ” เป็นชื่อของพระภัททวัคคีย์เถระ
ทั้งหลายซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกับพระเจ้าโกศล ในบรรดาท่านเหล่านั้น ผู้เป็นพี่ใหญ่ เป็นพระอนาคามี
คนที่เป็นน้องสุดท้อง เป็นพระโสดาบัน ไม่มีใครเป็นพระอรหันต์หรือปุถุชน (วิ.อ. ๓/๓๐๖/๑๙๑) ว่า
“ปาเวยยกะ” ก็มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๗. กฐินานุชานนา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน
ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุกหรือ และบิณฑบาตไม่ลำบากหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ยังสบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นอยู่ได้
พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง พวกข้าพระองค์เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ทะเลาะกัน
อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และบิณฑบาตไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า ขอประทาน
วโรกาส พวกข้าพระองค์ มีประมาณ ๓๐ รูป เป็นภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ เดินทาง
มากรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อใกล้ถึงวันเข้าพรรษา ไม่สามารถจะเดิน
ทางมาให้ทันวันเข้าพรรษาในกรุงสาวัตถีได้ จึงจำพรรษาที่เมืองสาเกตระหว่างทาง
พวกข้าพระองค์รัญจวนใจ อยู่จำพรรษาด้วยคิดว่า ‘พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้ ๆ
พวกเราห่างเพียง ๖ โยชน์ แต่พวกเราก็ไม่ได้เฝ้าพระองค์’ ครั้นล่วงไตรมาส
พวกข้าพระองค์ออกพรรษาแล้ว เมื่อปวารณาแล้ว ฝนยังตกชุกอยู่ พื้นแผ่นดิน
เต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน มีจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ เหน็ดเหนื่อย เดินทางไกลมา
พระพุทธเจ้าข้า”

เรื่องอานิสงส์กฐิน ๕ อย่าง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาแล้ว
กรานกฐิน๑ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กรานกฐินแล้วจะได้อานิสงส์ ๕ อย่าง คือ

๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา ๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณโภชนะได้ ๔. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ
๕. พวกเธอจะได้จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้อานิสงส์ ๕ อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ กรานกฐิน เป็นวิธีการตัดเย็บจีวร โดยขึงไม้กฐิน(ไม้สะดึง) แล้วเอาผ้าที่เย็บเป็นจีวรเข้าขึงที่ไม้กฐิน เย็บ
เสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้ร่วมใจกันยกผ้าให้ในนามของสงฆ์ เพื่ออนุโมทนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๗. กฐินานุชานนา
เรื่องวิธีกรานกฐินและญัตติทุติยกรรมวาจาสำหรับกรานกฐิน
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศ
ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
[๓๐๗] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์
พร้อมกันแล้ว พึงให้กรานกฐินแก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผ้ากฐินนี้เกิดแล้วแก่สงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อม
กันแล้ว พึงให้กรานกฐินแก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้
ผ้ากฐินนี้แก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่าน
รูปนั้นพึงทักท้วง
ผ้ากฐินนี้อันสงฆ์ให้แล้วแก่ภิกษุชื่อนี้เพื่อกรานกฐิน สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องกฐินไม่เป็นอันกราน
[๓๐๘] ภิกษุทั้งหลาย กฐินย่อมเป็นอันกรานอย่างนี้ ไม่เป็นอันกรานอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ก็กฐินย่อมไม่เป็นอันกรานอย่างไร กฐินย่อมไม่เป็นอันกราน
อย่างนี้ คือ
๑. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงมีรอยขีด
๒. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงซักผ้า
๓. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงกะผ้า
๔. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงตัดผ้า
๕. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงเนาผ้า
๖. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงเย็บผ้า
๗. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงทำลูกดุม
๘. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงทำรังดุม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๗. กฐินานุชานนา
๙. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาต๑
๑๐. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาตด้านหน้า
๑๑. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงดามผ้า
๑๒. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงย้อมผ้าเป็นสีหม่น
๑๓. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่ทำนิมิตได้มา
๑๔. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา
๑๕. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่ยืมเขามา
๑๖. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน
๑๗. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์
๑๘. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ทำพินทุ๒
๑๙. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากสังฆาฏิ
๒๐. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากอุตตราสงค์
๒๑. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากอันตรวาสก
๒๒. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากจีวรมีขันธ์๓ ๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้ว
ทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น
๒๓. กฐินไม่เป็นอันกรานเพราะเว้นจากบุคคลกราน
๒๔. กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น
ภิกษุทั้งหลาย กฐินชื่อว่าไม่เป็นอันภิกษุกรานอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ อนุวาต คือผ้าขอบจีวรทั้งด้านยาวทั้งด้านกว้าง (วิ.อ. ๓/๓๔๕/๒๑๗)
๒ ทำพินทุ คือการทำจุดเป็นวงกลมอย่างใหญ่เท่าแววตานกยูง อย่างเล็กเท่าหลังตัวเลือด ที่มุมจีวรด้วยสีเขียว
สีตมหรือสีดำคล้ำ เพื่อทำให้จีวรเสียหรือทำตำหนิ (วิ.อ. ๒/๓๖๘-๓๖๙/๔๑๐) ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๓๖๘-
๓๖๙/๔๙๑
๓ จีวรมีขันธ์ ๕ คือจีวรที่ตัดเย็บปรากฏกระทง(ผ้าท่อนหนึ่ง ๆ มีลักษณะเหมือนกระทงนา มีรูปสี่เหลี่ยม)ใหญ่
กระทงเล็ก โดยมีเส้นคั่นดุจคันนา ยืนระหว่างกระทงจีวร แบ่งเป็น ๕ กระทง (ดู วิ.อ. ๓/๓๐๘,๓๔๕/๑๙๗,
๒๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๗. กฐินานุชานนา
เรื่องกฐินเป็นอันกราน
[๓๐๙] ภิกษุทั้งหลาย กฐินย่อมเป็นอันกรานอย่างไร
กฐินย่อมเป็นอันกรานอย่างนี้ คือ
๑. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าใหม่
๒. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าเทียมใหม่
๓. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าเก่า
๔. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าบังสุกุล
๕. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ตกตามร้าน๑
๖. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำนิมิตได้มา
๗. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา
๘. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้ยืมเขามา
๙. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างคืน
๑๐. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่เป็นนิสสัคคีย์
๑๑. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ทำพินทุ
๑๒. กฐินเป็นอันกรานด้วยสังฆาฏิ
๑๓. กฐินเป็นอันกรานด้วยอุตตราสงค์
๑๔. กฐินเป็นอันกรานด้วยอันตรวาสก
๑๕. กฐินเป็นอันกรานด้วยจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ที่ตัดดีแล้ว
ทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น
๑๖. กฐินเป็นอันกรานเพราะมีบุคคลกราน
๑๗. กฐินเป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่ในสีมาอนุโมทนากฐินนั้น
ภิกษุทั้งหลาย กฐินชื่อว่าเป็นอันกรานอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ผ้าที่ตกตามร้าน คือผ้าเก่าที่ตกอยู่ข้างประตูร้านตลาด ซึ่งมีผู้เก็บมาถวาย (วิ.อ. ๓/๓๐๙/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๘. อาทายสัตตกะ
เรื่องกฐินเดาะด้วยมาติกา ๘ ข้อ
[๓๑๐] ภิกษุทั้งหลาย กฐินย่อเป็นอันเดาะได้อย่างไร๑ ภิกษุทั้งหลาย
มาตกาแห่งการเดาะกฐินมี ๘ ข้อ คือ

๑. กำหนดด้วยหลีกไป ๒. กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ
๓. กำหนดด้วยตกลงใจ ๔. กำหนดด้วยผ้าเสียหาย
๕. กำหนดด้วยได้ทราบข่าว ๖. กำหนดด้วยสิ้นหวัง
๗. กำหนดด้วยล่วงเขต ๘. กำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน

๑๘๘. อาทายสัตตกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการถือจีวรหลีกไป ๗ กรณี
[๓๑๑] ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไป คิดว่า ‘จะไม่กลับ’
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยหลีกไป (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไป๒ อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะ
ให้ทำจีวรนี้ที่ภายนอกสีมานี้แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น การเดาะกฐิน ของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่
ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะ
ให้ทำจีวรนี้ภายนอกสีมานี้แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำ
อยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๔)

เชิงอรรถ :
๑ กฐินเดาะ หมายถึงกฐินที่เสียหาย ไม่มีอานิสงส์ ใช้ไม่ได้ ภิกษุหมดโอกาสจะได้ประโยชน์จากกฐิน
๒ ถือเอาจีวรหลีกไป ในหมวดที่ ๒-๗ หมายถึง ผ้าสำหรับทำจีวร คือ จีวรที่ยังทำไม่เสร็จนั่นเอง (วิ.อ.
๓/๓๑๑/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๘๙. สมาทายสัตตกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวร
ผืนนั้น ครั้นทำเสร็จแล้วได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวร
ผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วล่วงคราวกฐินเดาะนอกสีมา
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๖)
ภิกษุกรานกฐินแล้วถือเอาจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวร
ผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๗)
อาทายสัตตกะ ที่ ๑ จบ

๑๘๙. สมาทายสัตตกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการนำจีวรติดตัวหลีกไป ๗ กรณี
[๓๑๒] ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยหลีกไป (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำ
จีวรนี้ที่นอกสีมานี่แหละ ไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้
ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำ
จีวรนี้นอกสีมานี้แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้น
เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๔)

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๐. อาทายฉักกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืน
นั้น ทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืน
นั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ” แล้วล่วงคราวกฐินเดาะที่นอกสีมา การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๖)
ภิกษุกรานกฐินแล้วนำจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรผืน
นั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ” แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๗)
สมาทายสัตตกะ ที่ ๒ จบ

๑๙๐. อาทายฉักกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ๖ กรณี
[๓๑๓] ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้ที่นอกสีมานี้แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่าง
นี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรผืนนั้น จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนด
ด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่าง
นี้ว่า “จะให้ทำจีวรผืนนี้ที่นอกสีมานี้แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่
เธอให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้า
เสียหาย (๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๑. สมาทายฉักกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะ
เสียแล้ว” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วล่วงคราวกฐินเดาะ
นอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมาให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วกลับมาทัน
กฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๖)
อาทายฉักกะ ที่ ๓ จบ

๑๙๑. สมาทายฉักกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการนำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ๖ กรณี
[๓๑๔] ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้ที่นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรผืนนั้น จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้
ว่า “จะให้ทำจีวรผืนนี้ที่นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่
ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้า
เสียหาย (๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๒. อาทายปัณณรสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมาให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะ
เสียแล้ว” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วล่วงคราว
กฐินเดาะนอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้ว คิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วกลับมาทัน
กฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๖)
สมาทายฉักกะ ที่ ๔ จบ

๑๙๒. อาทายปัณณรสกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการถือจีวรหลีกไป ๑๕ กรณี
[๓๑๕] ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้
ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่
ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไป อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้
ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำนั้น
เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ติกะที่ ๑ จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๒. อาทายปัณณรสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำเสียหาย การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๖)
ติกะที่ ๒ จบ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปโดยไม่ตั้งใจ๑ ไม่ได้คิดว่า “จะกลับ”
แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้
นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๗)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้คิดว่า “จะกลับ”
แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้
จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้คิดว่า “จะกลับ”
แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมามีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้
นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำนั้นเกิดเสียหาย
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๙)
ติกะที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ โดยไม่ตั้งใจ คือโดยมิได้กำหนดว่า “จะกลับ จะไม่กลับ” (สารตฺถ. ฏีกา ๓/๓๑๒/๔๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๒. อาทายปัณณรสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมามีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑๐)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมามีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนด
ด้วยตกลงใจ (๑๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมามีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุ
นั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย
(๑๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมาให้ทำจีวร
ผืนนั้น ทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๑๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมาให้ทำจีวรผืนนั้น
ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วล่วงคราวกฐินเดาะนอกสีมา การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๑๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรหลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมาให้ทำจีวรผืนนั้น
ทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๑๕)
ฉักกะ จบ
อาทายปัณณรสกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๔. วิปปกตสมาทายปัณณรสกะ
๑๙๓. สมาทายปัณณรสกาทิ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการนำจีวรติดตัวหลีกไป ๑๕ กรณีเป็นต้น
[๓๑๖] ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรหลีกไป ฯลฯ
(พระวินัยธรพึงขยายความให้พิสดารอย่างนี้ เหมือนวาระที่ว่าด้วยเรื่องการ
เดาะกฐินกำหนดด้วยถือจีวรหลีกไป)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว ถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมา มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรผืนนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ ฯลฯ
(พระวินัยธรพึงขยายความให้พิสดารอย่างนี้ เหมือนวาระที่ว่าด้วยเรื่องการ
เดาะกฐินกำหนดด้วยถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป)

๑๙๔. วิปปกตสมาทายปัณณรสกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการนำจีวรที่ทำค้างไว้ติดตัวหลีกไป ๑๕ กรณี
[๓๑๗] ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมา มีความ
คิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมา มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป อยู่นอกสีมา มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ให้ทำ
อยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ติกะที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๔. วิปปกตสมาทายปัณณรสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยตกลงใจ (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่
ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้า
เสียหาย (๖)
ติกะที่ ๒ จบ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้คิดว่า “จะ
กลับ” แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้
ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๗)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้คิดว่า “จะ
กลับ” แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้
ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปโดยไม่ตั้งใจ คือ เธอไม่ได้คิดว่า
“จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้
ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรผืนนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้น
เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๙)
ติกะที่ ๓ จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๔. วิปปกตสมาทายปัณณรสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑๐)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๑๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนด
ด้วยผ้าเสียหาย (๑๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรนั้น ทำจีวรเสร็จแล้วได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว”
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๑๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรนั้น เธอทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วล่วงคราว
กฐินเดาะนอกสีมา การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๑๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว นำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปคิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
ให้ทำจีวรนั้น เธอทำจีวรเสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” แล้วกลับมาทันกฐินเดาะ
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๑๕)
ฉักกะ จบ
สมาทายปัณณรสกะ จบ
อาทายภาณวาร จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๕. อนาสาโทฬสกะ
๑๙๕. อนาสาโทฬสกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินเพราะความสิ้นหวัง ๑๒ กรณี
[๓๑๘] ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร อยู่นอกสีมา เข้าไป
ยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมี
หวังว่าจะได้จีวร แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่
ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมี
หวังว่าจะได้จีวร แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำ
จีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิด
เสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร อยู่นอกสีมา มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี่แหละ จะไม่กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมี
หวังว่าจะได้จีวรนั้น ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของเธอสิ้นสุดลง การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๕. อนาสาโทฬสกะ
คิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๖)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะไปไม่กลับ” อยู่นอก
สีมาเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่
นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๗)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้ทำจีวรนอกสีมานี่แหละ”
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังจะได้ทำจีวรนั้น ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของเธอสิ้นสุดลง การ
เดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวรโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความคิดว่า
“จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวัง
จะได้ทำจีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำ
จีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๙)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังจะได้จีวรโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความคิดว่า
“จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวัง
จะได้ทำจีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำ
จีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๑๐)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวรโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความคิดว่า
“จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวัง
ว่าจะได้จีวรแต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้
นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิด
เสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๑๑)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๖. อาสาโทฬสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังจะได้จีวรโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความคิดว่า
“จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวัง
ว่าจะได้จีวร ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้นสิ้นสุดลง การเดาะกฐินของภิกษุ
นั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๑๒)
อนาสาโทฬสกะ จบ

๑๙๖. อาสาโทฬสกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินเพราะความสมหวัง ๑๒ กรณี
[๓๑๙] ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ”
อยู่นอกสีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิดอย่าง
นี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะ
ให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้น
เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ จะไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๖. อาสาโทฬสกะ
กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ความหวังที่จะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้นสิ้น
สุดลง การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” มีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะ
ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว จะไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ”
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้ว หลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” มีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะ
ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว จะไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ”
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๖)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” มีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะ
ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว จะไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ”
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้
ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๗)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” มีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะ
ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ จะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๖. อาสาโทฬสกะ
ไม่กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร แต่ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้น
สิ้นสุดลง การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง ให้ทำจีวรนั้น
ทำจีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว” การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว (๙)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะ
ไม่กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร แต่ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้น
สิ้นสุดลง การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๑๐)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอกสีมา
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง ให้ทำจีวรนั้น ทำจีวร
เสร็จแล้ว คิดว่า “จะกลับ จะกลับ” ล่วงคราวกฐินเดาะนอกสีมา การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๑๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยหวังว่าจะได้จีวร คิดว่า “จะกลับ” อยู่นอก
สีมาเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น ได้ตามที่หวัง ไม่ผิดหวัง ให้ทำจีวรนั้น
ทำจีวรเสร็จแล้ว คิดว่า “จะกลับ จะกลับ” กลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้น ชื่อว่าเดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๑๒)

อาสาโทฬสกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๗. กรณียโทฬสกะ
๑๙๗. กรณียโทฬสกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินเพราะมีธุระจำเป็น ๑๒ กรณี
[๓๒๐] ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง อยู่นอกสีมา
เกิดความหวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่
ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำ
จีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น
ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนด
ด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งหวังว่าจะได้จีวรนอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ”
เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวร แต่ความหวังว่าจะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้นสิ้นสุดลง
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่
นอกสีมาเกิดความหวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง
ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ” ให้ทำจีวรนั้น
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๗. กรณียโทฬสกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่
นอกสีมา เกิดความหวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่
สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้” การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๖)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอก
สีมา เกิดความหวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่
สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ”
ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้นชื่อ
ว่ากำหนดด้วยผ้าที่เสียหาย (๗)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่าง คิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่
นอกสีมา เกิดความหวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่
สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี้
นอกสีมานี่แหละ” เข้าไปยังที่ซึ่งหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ความหวังว่าจะได้จีวรนั้น
ของภิกษุนั้นสิ้นสุดลง การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยสิ้นหวัง (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความ
คิดว่า “จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๙)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความ
คิดว่า “จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๘. อปวิลายนนวกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความ
คิดว่า “จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ได้ไม่สมหวัง ไม่ได้ตามหวัง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า กำหนดด้วยผ้า
เสียหาย (๑๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วหลีกไปด้วยธุระจำเป็นบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้มีความ
คิดว่า “จะกลับ” แต่ก็ไม่ได้มีความคิดว่า “จะไม่กลับ” อยู่นอกสีมา เกิดความ
หวังว่าจะได้จีวร มีความคิดอย่างนี้ว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนี้นอก
สีมานี่แหละ จะไม่กลับ” เข้าไปยังที่ซึ่งมีหวังว่าจะได้จีวรนั้น แต่ความหวังว่า
จะได้จีวรนั้นของภิกษุนั้นสิ้นสุดลง การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
สิ้นหวัง (๑๒)
กรณียโทฬสกะ จบ

๑๙๘. อปวิลายนนวกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินเพราะหวังได้ส่วนจีวร ๙ กรณี
[๓๒๑] ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป แต่ยังหวังได้ส่วน
จีวร พวกภิกษุถามภิกษุนั้นผู้ไปสู่ทิศแล้วว่า “ท่านจำพรรษาที่ไหน ส่วนจีวรของ
ท่านอยู่ที่ไหน”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมจำพรรษาในอาวาสโน้น ส่วนจีวรก็อยู่ที่นั้น
เหมือนกัน”
ภิกษุเหล่านั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านไปนำจีวรนั้นมา พวกเราจะทำจีวรให้
ท่านในที่นี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๘. อปวิลายนนวกะ
ภิกษุนั้นกลับไปยังอาวาสนั้นแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า “ท่านทั้งหลาย ส่วน
จีวรของผมอยู่ที่ไหน”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “นี้เป็นส่วนจีวรของท่าน ท่านจะไปไหน”
ภิกษุนั้นจึงตอบอย่างนี้ว่า “ผมจะไปอาวาสโน้น ภิกษุในที่นั้นจะทำจีวรให้ผม”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านอย่าไปเลย พวกเราจะทำจีวรให้ท่านในที่นี้”
ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า “เราจะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ”
ให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป ฯลฯ มีความคิดอย่างนี้ว่า
“เราจะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๒)
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป ฯลฯ มีความคิดอย่างนี้ว่า
“เราจะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำ
อยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๓)
[๓๒๒] ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป แต่ยังหวังได้ส่วนจีวร
พวกภิกษุถามภิกษุนั้นผู้ไปสู่ทิศแล้วว่า “ท่านจำพรรษาที่ไหน ส่วนจีวรของท่าน
อยู่ที่ไหน”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมจำพรรษาในอาวาสโน้น ส่วนจีวรก็อยู่ที่นั้น
เหมือนกัน”
พวกภิกษุกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านไปนำจีวรนั้นมา พวกเราจะทำจีวรให้ท่านใน
ที่นี้”
ภิกษุนั้นกลับไปยังอาวาสนั้นแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า “ท่านทั้งหลาย ส่วน
จีวรของผมอยู่ที่ไหน”
ภิกษุเหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า “นี้เป็นส่วนจีวรของท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๘. อปวิลายนนวกะ
ภิกษุนั้นจึงถือเอาจีวรนั้นไปยังอาวาสนั้น ระหว่างทาง พวกภิกษุถามภิกษุนั้น
ว่า “ท่านจะไปไหน” ภิกษุนั้นจึงตอบว่า “ผมจะไปอาวาสโน้น ภิกษุในที่นั้นจะทำ
จีวรให้ผม”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านอย่าไปเลย พวกเราจะทำจีวรให้ท่านในที่นี้”
ภิกษุนั้นคิดว่า “เราจะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น
การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป แต่ยังหวังได้ส่วนจีวร พวก
ภิกษุถามภิกษุนั้นผู้ไปสู่ทิศแล้วว่า “ท่านจำพรรษาที่ไหน ส่วนจีวรของท่านอยู่ที่ไหน”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมจำพรรษาในอาวาสโน้น ส่วนจีวรก็อยู่ที่โน้น
เหมือนกัน”
พวกภิกษุกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านไปนำจีวรนั้นมา พวกเราจะทำจีวรให้ท่านใน
ที่นี้”
ภิกษุนั้นกลับไปยังอาวาสนั้นแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า “ท่านทั้งหลาย ส่วน
จีวรของผมอยู่ที่ไหน” ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า “นี้เป็นส่วนจีวรของท่าน”
ภิกษุนั้นจึงถือเอาจีวรนั้นไปยังอาวาสนั้น ระหว่างทาง พวกภิกษุถามภิกษุนั้น
ว่า “ท่านจะไปไหน” ภิกษุนั้นจึงตอบอย่างนี้ว่า “ผมจะไปอาวาสโน้น ภิกษุในที่
นั้นจะทำจีวรให้ผม”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านอย่าไปเลย พวกเราจะทำจีวรให้ท่านในที่นี้”
ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า “เราจะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ”
ภิกษุนั้นให้ทำจีวรนั้น การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ (๕)
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป แต่ยังหวังได้ส่วนจีวร พวก
ภิกษุถามภิกษุนั้นผู้ไปสู่ทิศแล้วว่า “ท่านจำพรรษาที่ไหน ส่วนจีวรของท่านอยู่ที่ไหน”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมจำพรรษาในอาวาสโน้น ส่วนจีวรก็อยู่ที่นั้น
เหมือนกัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๘. อปวิลายนนวกะ
พวกภิกษุกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านไปนำจีวรนั้นมา พวกเราจะทำจีวรให้ท่านใน
ที่นี้”
ภิกษุนั้นกลับไปยังอาวาสนั้นแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า “ท่านทั้งหลาย ส่วน
จีวรของผมอยู่ที่ไหน” ภิกษุเหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า “นี้เป็นส่วนจีวรของท่าน”
ภิกษุนั้นจึงถือเอาจีวรนั้นไปยังอาวาสนั้น ระหว่างทาง พวกภิกษุถามภิกษุนั้น
ว่า “ท่านจะไปไหน” ภิกษุนั้นจึงตอบอย่างนี้ว่า “ผมจะไปอาวาสโน้น ภิกษุในที่
นั้นจะทำจีวรให้ผม”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านอย่าไปเลย พวกเราจะทำจีวรให้ท่านใน
ที่นี้” ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า “เราจะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ”
ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
กำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๖)
[๓๒๓] ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป แต่ยังหวังได้ส่วนจีวร
พวกภิกษุถามภิกษุนั้นผู้ไปสู่ทิศแล้วว่า “ท่านจำพรรษาที่ไหน ส่วนจีวรของท่านอยู่
ที่ไหน”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมจำพรรษาในอาวาสโน้น ส่วนจีวรก็อยู่ที่นั้น
เหมือนกัน”
พวกภิกษุกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านไปนำจีวรนั้นมา พวกเราจะทำจีวรให้ท่านใน
ที่นี้”
ภิกษุนั้นกลับไปยังอาวาสนั้นแล้วถามภิกษุทั้งหลายว่า “ท่านทั้งหลาย ส่วน
จีวรของผมอยู่ที่ไหน” ภิกษุเหล่านั้นตอบอย่างนี้ว่า “นี้เป็นส่วนจีวรของท่าน”
ภิกษุนั้นจึงถือเอาจีวรนั้นไปยังอาวาสนั้น ไปยังอาวาสนั้นแล้วมีความคิดอย่าง
นี้ว่า “เราจะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๙. ผาสุวิหารปัญจกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศจึงหลีกไป ฯลฯ มีความคิดอย่างนี้ว่า
“เราจะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๘)
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะไปสู่ทิศ ฯลฯ มีความคิดอย่างนี้ว่า “เราจะ
ให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่นั้น
เกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๙)
อปวิลายนนวกะ จบ

๑๙๙. ผาสุวิหารปัญจกะ
ว่าด้วยการเดาะกฐินเพราะหวังอยู่ผาสุก ๕ กรณี
[๓๒๔] ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะอยู่ผาสุก จึงถือจีวรหลีกไป คิดว่า
“เราจะไปยังอาวาสโน้น ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยัง
อาวาสโน้น ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น
ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะกลับ” อยู่นอกสีมามีความคิด
อย่างนี้ว่า “จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” เธอให้ทำจีวรนั้น การเดาะ
กฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ (๑)
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะอยู่ผาสุก จึงถือจีวรหลีกไป คิดว่า “เราจะไป
ยังอาวาสโน้น ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น
ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น ถ้าในอาวาส
นั้น เราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะกลับ” อยู่นอกสีมา มีคความคิดอย่างนี้ว่า
“จะไม่ให้ทำจีวรนี้ จะไม่กลับ” การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วย
ตกลงใจ (๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๑๙๙. ผาสุวิหารปัญจกะ
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะอยู่ผาสุก จึงถือจีวรหลีกไปคิดว่า “เราจะไปยัง
อาวาสโน้น ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น
ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น ถ้าในอาวาส
นั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะกลับ” อยู่นอกสีมา มีความคิดอย่างนี้ว่า
“จะให้ทำจีวรนี้นอกสีมานี่แหละ จะไม่กลับ” ให้ทำจีวรนั้น จีวรที่ภิกษุนั้นให้ทำอยู่
นั้นเกิดเสียหาย การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย (๓)
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะอยู่อย่างผาสุก จึงถือจีวรหลีกไปคิดว่า “เราจะไปยัง
อาวาสโน้น ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น
ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น ถ้าในอาวาส
นั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะกลับ” อยู่นอกสีมา ให้ทำจีวรนั้น ทำจีวร
เสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ จะกลับ” จนล่วงคราวกฐินเดาะนอกสีมา การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต (๔)
ภิกษุกรานกฐินแล้วต้องการจะอยู่ผาสุก จึงถือจีวรหลีกไปคิดว่า “เราจะไปยัง
อาวาสโน้น ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น
ถ้าในอาวาสนั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะไปยังอาวาสโน้น ถ้าในอาวาส
นั้นเราอยู่ผาสุกก็จะอยู่ ถ้าไม่ผาสุกก็จะกลับ” อยู่นอกสีมาให้ทำจีวรนั้น ทำจีวร
เสร็จแล้วคิดว่า “จะกลับ” กลับมาทันกฐินเดาะ การเดาะกฐินของภิกษุนั้น ชื่อว่า
เดาะพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย (๕)
ผาสุวิหารปัญจกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๒๐๐. ปลิโพธาปลิโพธกถา
๒๐๐. ปลิโพธาปลิโพธกถา
ว่าด้วยปลิโพธและอปลิโพธ

ปลิโพธ ๒ อย่าง๑
[๓๒๕] ภิกษุทั้งหลาย กฐินมีปลิโพธ ๒ อย่าง มีอปลิโพธ ๒ อย่าง
ภิกษุทั้งหลาย ปลิโพธ ๒ อย่าง คือ
๑. อาวาสปลิโพธ (ความกังวลในอาวาสเพราะคิดจะกลับมา)
๒. จีวรปลิโพธ (ความกังวลในจีวรเพราะยังไม่ได้ทำจีวรหรือทำยังไม่เสร็จ)
ภิกษุทั้งหลาย อาวาสปลิโพธ คือ ในกรณีนี้ ภิกษุยังอยู่ในอาวาสนั้น หรือ
หลีกไปแต่ผูกใจว่า “จะกลับ” อย่างนี้ชื่อว่าอาวาสปลิโพธ
ภิกษุทั้งหลาย จีวรปลิโพธ คือ ในกรณีนี้ ภิกษุยังไม่ได้ทำจีวรหรือทำ
จีวรค้างไว้ หรือความหวังว่าจะได้จีวรยังไม่สิ้นสุดลง อย่างนี้ชื่อว่าจีวรปลิโพธ
ภิกษุทั้งหลาย กฐินมีปลิโพธ ๒ อย่างนี้แหละ
ภิกษุทั้งหลาย กฐินมีอปลิโพธ ๒ อย่าง คือ
๑. อาวาสอปลิโพธ (ไม่มีความกังวลในอาวาส)
๒. จีวรอปลิโพธ (ไม่มีความกังวลในจีวร)
ภิกษุทั้งหลาย อาวาสอปลิโพธ คือ ในกรณีนี้ ภิกษุหลีกไปจากอาวาส
นั้น สละ คาย ปล่อยวาง ไม่ผูกใจ คิดว่า “จะไม่กลับมา” อย่างนี้ชื่อว่าอาวาส
อปลิโพธ

เชิงอรรถ :
๑ ปลิโพธ ในทางพระวินัย หมายถึงความกังวลที่เป็นเหตุให้กฐินยังไม่เดาะ คือยังรักษาอานิสงส์กฐินและ
เขตแห่งจีวรกาล ตามกำหนดไว้ได้ ถ้าภิกษุหลีกไปโดยคิดว่า “จะไม่กลับมาอีก” จีวรปลิโพธขาดก่อน
ในขณะที่อยู่ภายในสีมานั่นเอง อาวาสปลิโพธขาดในขณะเมื่อก้าวล่วงสีมาไปแล้ว (วิ.อ. ๓/๓๑๑/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๒๐๑. รวมเรื่องที่มีในกฐินขันธกะ
ภิกษุทั้งหลาย จีวรอปลิโพธ คือ ในกรณีนี้ ภิกษุทำจีวรเสร็จแล้ว จีวร
เสียหาย สูญหาย หรือถูกไฟไหม้ หรือความหวังว่าจะได้จีวรสิ้นสุดลง อย่างนี้ชื่อ
ว่าจีวรอปลิโพธ
ภิกษุทั้งหลาย กฐินอปลิโพธ ๒ อย่างนี้แล
ปลิโพธาปลิโพธกถา จบ
กฐินขันธกะที่ ๗ จบ
เรื่องในขันธกะนี้มี ๑๒ เรื่อง และเปยยาลมุข ๑๑๘ เรื่อง

๒๐๑. รวมเรื่องที่มีในกฐินขันธกะ
เรื่องภิกษุชาวเมืองปาเฐยยะ ๓๐ รูป เข้าจำพรรษา ณ
เมืองสาเกต ออกพรรษาแล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วยทั้ง
จีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ
เรื่องอานิสงส์กฐิน ๕ อย่าง คือ
๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา
๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. ฉันคณโภชนะได้
๔. ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ตามต้องการ
๕. พวกเธอจะได้จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น
เรื่องวิธีกรานกฐินและญัตติทุติยกรรมวาจาสำหรับกรานกฐิน
เรื่องกฐินไม่เป็นอันกราน คือ
๑. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงมีรอยขีด
๒. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงซักผ้า
๓. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงกะผ้า
๔. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงตัดผ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๒๐๑. รวมเรื่องที่มีในกฐินขันธกะ
๕. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงเนาผ้า
๖. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงเย็บผ้า
๗. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงทำลูกดุม
๘. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงทำรังดุม
๙. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาต
๑๐. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาตด้านหน้า
๑๑. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงดามผ้า
๑๒. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยอาการเพียงย้อมผ้าเป็นสีหม่น
๑๓. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่ทำนิมิตได้มา
๑๔. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา
๑๕. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่ยืมเขามา
๑๖. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน
๑๗. กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์
๑๘. กฐินไม่เป็นอันกรานด้ายผ้าที่ไม่ทำพินทุ
๑๙. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากสังฆาฏิ
๒๐. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากอุตตราสงค์
๒๑. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากอันตรวาสก
๒๒. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากจีวรมีขันธ์ ๕ หรือ
เกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้วทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น
๒๓. กฐินไม่เป็นอันกรานเว้นจากบุคคลกราน
๒๔. กฐินไม่เป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าย่อมไม่เป็นอันกราน
เรื่องกฐินเป็นอันกราน คือ
๑. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าใหม่
๒. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าเทียมใหม่
๓. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าเก่า
๔. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าบังสุกุล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๒๐๑. รวมเรื่องที่มีในกฐินขันธกะ
๕. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ตกตามร้าน
๖. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำนิมิตได้มา
๗. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา
๘. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้ยืมเขามา
๙. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างคืน
๑๐. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ไม่เป็นนิสสัคคีย์
๑๑. กฐินเป็นอันกรานด้วยผ้าที่ทำพินทุ
๑๒. กฐินเป็นอันกรานด้วยสังฆาฏิ
๑๓. กฐินเป็นอันกรานด้วยอุตตราสงค์
๑๔. กฐินเป็นอันกรานด้วยอันตรวาสก
๑๕. กฐินเป็นอันกรานด้วยจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ที่ตัดดีแล้ว
ทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น
๑๖. กฐินเป็นอันกรานเพราะมีบุคคลกราน
๑๗. กฐินเป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่ในสีมาอนุโมทนากฐินนั้น
อย่างนี้ชื่อกฐินเป็นอันกราน
เรื่องกฐินเดาะด้วยมาติกา ๘ ข้อ คือ
๑. กำหนดด้วยหลีกไป
๒. กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ
๓. กำหนดด้วยตกลงใจ
๔. กำหนดด้วยผ้าเสียหาย
๕. กำหนดด้วยได้ทราบข่าว
๖. กำหนดด้วยสิ้นหวัง
๗. กำหนดด้วยล่วงเขต
๘. กำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน
อาทายสัตตกะ ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการถือจีวรหลีกไป
๗. กรณี คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๒๐๑. รวมเรื่องที่มีในกฐินขันธกะ
๑. ถือจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไป คิดว่าจะไม่กลับ
การเดาะกฐินของภิกษุนั้นชื่อว่ากำหนดด้วยการหลีกไป
๒. ถือจีวรหลีกไปอยู่นอกสีมา คิดว่าจะทำ ณ ที่นี้ จะไม่กลับ
การเดาะกฐินของภิกษุนั้นชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ
๓. ถือจีวรหลีกไปอยู่นอกสีมา คิดว่าจะไม่ให้ทำ จะไม่กลับ
การเดาะกฐินของภิกษุนั้นชื่อว่ากำหนดด้วยตกลงใจ
๔. ถือจีวรหลีกไปอยู่นอกสีมา คิดว่าจะให้ทำจีวร ณ ที่นี้
จะไม่กลับ กำลังทำจีวรเสียหาย การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้น ชื่อว่ากำหนดด้วยผ้าเสียหาย
๕. ถือจีวรไป คิดว่าจะกลับ ให้ทำจีวรนอกสีมา ครั้นทำ
จีวรเสร็จแล้ว ได้ทราบข่าวว่า ในอาวาสนั้น กฐินเดาะแล้ว
การเดาะกฐินของภิกษุนั้นชื่อว่ากำหนดด้วยได้ทราบข่าว
๖. ถือจีวรไป คิดว่าจะกลับ ให้ทำจีวรนอกสีมา ครั้นทำ
จีวรเสร็จแล้วโอ้เอ้อยู่นอกสีมาจนกฐินเดาะ การเดาะกฐิน
ของภิกษุนั้นชื่อว่ากำหนดด้วยล่วงเขต
๗. ถือจีวรไป คิดว่าจะกลับ ให้ทำจีวร ณ ภายนอกสีมา ครั้นทำ
จีวรเสร็จแล้ว คิดว่าจะกลับ จะกลับ กลับทันกฐินเดาะ
การเดาะกฐินของภิกษุนั้นชื่อว่าพร้อมกันกับภิกษุทั้งหลาย
สมาทายสัตตกะ ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยการนำ
จีวรติดตัวหลีกไป ๗ กรณี
อาทายฉักกะและสมาทายฉักกะ ว่าด้วยการ
เดาะกฐินด้วยการถือจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป ๖ กรณี
และการเดาะกฐินด้วยการนำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไป
๖ กรณี คือ ถือจีวรที่ทำค้างไว้อย่างละ ๖ กรณี
ไม่มีการเดาะกำหนดด้วยหลีกไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๗. กฐินขันธกะ] ๒๐๑. รวมเรื่องที่มีในกฐินขันธกะ
อาทายภาณวาร ว่าด้วยการเดาะกฐินด้วยกรณีถือจีวรหลีกไป
๑๕ กรณี เป็นต้น กล่าวถึงภิกษุถือจีวรไปนอกสีมา คิดว่า
จะให้ทำจีวร มี ๓ มาติกา คือ
๑. กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ
๒. กำหนดด้วยตกลงใจ
๓. กำหนดด้วยผ้าเสียหาย กล่าวถึงภิกษุถือผ้า คิดว่า
จะไม่กลับไปนอกสีมา แล้วคิดว่าจะทำ มี ๓ มาติกา คือ
๑. กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ
๒. กำหนดด้วยตกลงใจ
๓. กำหนดด้วยผ้าเสียหาย กล่าวถึงภิกษุถือจีวรหลีกไป
ด้วยไม่ได้ตั้งใจ ภายหลังคิดว่า จะไม่กลับ มี ๓ นัย
กล่าวถึงภิกษุถือจีวรไป คิดว่า จะกลับ อยู่นอกสีมา คิดว่า
จะทำจีวร จะไม่กลับ ให้ทำจีวรเสร็จ การเดาะกฐินของ
ภิกษุนั้นชื่อว่ากำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ ด้วยตกลงใจ
ด้วยผ้าเสียหาย ด้วยได้ทราบข่าว ด้วยล่วงเขต ด้วยเดาะ
พร้อมกับภิกษุทั้งหลาย รวมเป็น ๑๕ ภิกษุนำจีวรหลีกไป
และนำจีวรที่ทำค้างไว้หลีกไปอีก ๔ วาระก็เหมือนกัน
รวมทั้งหมด ๑๕ วิธี หลีกไปด้วยสิ้นหวัง ด้วยหวังว่าจะได้
หลีกไปด้วยกรณียะบางอย่าง ทั้ง ๓ อย่างนั้น
นักปราชญ์พึงทราบโดยนัยอย่างละ ๑๒ วิธี
ผาสุวิหารปัญจกะ ว่าด้วยการเดาะกฐินเพราะหวังอยู่
สบาย ๕ กรณี
ปลิโพธาปลิโพธกถา ว่าด้วยปลิโพธและอปลิโพธ
พระวินัยธรพึงแต่งหัวข้อตามเค้าความเทอญ
กฐินขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๒. ชีวกวัตถุ
๘. จีวรขันธกะ
๒๐๒. ชีวกวัตถุ
ว่าด้วยหมอชีวกโกมารภัจ

เรื่องคณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์พบหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
[๓๒๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน
สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น กรุงเวสาลีเป็นถิ่นอุดมสมบูรณ์
มีอาณาเขตกว้างขวาง พลเมืองมาก มีคนคับคั่ง หาข้าวปลาอาหารง่าย มีปราสาท
๗,๗๐๗ เรือนยอด ๗,๗๐๗ สวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ สระโบกขรณี ๗,๗๐๗ และ
มีหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี รูปงาม น่าดู น่าชม มีผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง
เธอชำนาญการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่ต้องการจะพา
เธอไปร่วมอภิรมย์ด้วยต้องจ่ายค่าตัวถึงคืนละ ๕๐ กหาปณะ ก็เพราะนางอัมพปาลี
นี่แหละที่ทำให้กรุงเวสาลีมีเสน่ห์และมีความงดงามเป็นพิเศษ
ครั้งนั้น คณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์ เดินทางไปกรุงเวสาลีด้วยธุระจำเป็น
บางอย่าง ได้พบเห็นกรุงเวสาลีที่อุดมสมบูรณ์ มีอาณาเขตกว้างขวาง พลเมืองมาก
มีคนคับคั่ง หาข้าวปลาอาหารง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ เรือนยอด ๗,๗๐๗
สวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ สระโบกขรณี ๗,๗๐๗ และมีหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
มีรูปงาม น่าดู น่าชม มีผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง เธอชำนาญการฟ้อนรำ ขับร้อง
และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่ต้องการจะพาเธอไปร่วมอภิรมย์ด้วย ต้องจ่ายค่า
ตัวถึงคืนละ ๕๐ กหาปณะ ก็เพราะนางอัมพปาลีนี่แหละที่ทำให้กรุงเวสาลีมีเสน่ห์
และมีความงดงามเป็นพิเศษ
[๓๒๗] ครั้นคณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์เสร็จธุระที่จำเป็นในกรุงเวสาลีแล้ว
เดินทางกลับมายังกรุงราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้กราบทูล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๒. ชีวกวัตถุ
ว่า “ขอเดชะ กรุงเวสาลีเป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ มีอาณาเขตกว้างขวาง พลเมืองมาก
มีคนคับคั่ง หาข้าวปลาอาหารง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ เรือนยอด ๗,๗๐๗
สวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ สระโบกขรณี ๗,๗๐๗ และมีหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
มีรูปงาม น่าดู น่าชม มีผิวพรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง เธอชำนาญการฟ้อนรำ ขับร้อง
และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่ต้องการจะพาเธอไปร่วมอภิรมย์ด้วย ต้องจ่ายค่า
ตัวถึงคืนละ ๕๐ กหาปณะ ก็เพราะนางอัมพปาลีนี่แหละที่ทำให้กรุงเวสาลีมีเสน่ห์
และมีความงดงามเป็นพิเศษ ขอเดชะ แม้ชาวเราตั้งตำแหน่งหญิงงามเมืองขึ้นบ้าง
ก็จะเป็นการดี”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐรับสั่งว่า “พนาย ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงหา
เด็กสาวผู้มีความงามอย่างนั้นที่ควรคัดเลือกให้เป็นหญิงงามเมือง”

เรื่องบุตรของหญิงงามเมืองชื่อสาลวดี
ก็สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีเด็กสาวชื่อสาลวดีมีรูปงาม น่าดู น่าชม มีผิว
พรรณผุดผ่องอย่างยิ่ง คณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์จึงคัดเลือกเธอให้เป็นหญิงงามเมือง
เมื่อเธอได้รับเลือกไม่นานนักก็เป็นผู้ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี
คนทั้งหลายที่ต้องการจะพาเธอไปร่วมอภิรมย์ด้วย ต้องจ่ายค่าตัวถึงคืนละ ๑๐๐
กหาปณะ ต่อมาเธอมีครรภ์จึงคิดว่า “ธรรมดาสตรีมีครรภ์ไม่เป็นที่ชอบใจของบุรุษ
ถ้าใครทราบว่าเรามีครรภ์ ลาภผลของเราจะเสื่อมหมด อย่ากระนั้นเลย เราควรแจ้ง
ว่าเราป่วย” แล้วได้สั่งคนเฝ้าประตูไว้ว่า “นายประตู ท่านอย่าอนุญาตให้ชายใดเข้ามา
ถ้ามีคนถามหาดิฉัน ก็จงตอบให้เขาทราบว่าดิฉันเป็นไข้”
คนเฝ้าประตูนั้นรับคำของหญิงงามเมืองชื่อสาลวดีว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งนั้น
ต่อมา เมื่อนางมีครรภ์ครบกำหนดคลอดจึงได้คลอดบุตรชาย ได้กำชับหญิงรับใช้
ว่า “แม่สาวใช้ เธอจงวางทารกคนนี้ในกระด้งเก่า ๆ แล้วนำออกไปทิ้งที่กองขยะ”
หญิงรับใช้รับคำแล้ววางทารกลงในกระด้งเก่า ๆ นำออกไปทิ้งที่กองขยะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๒. ชีวกวัตถุ
[๓๒๘] ก็เวลานั้นเป็นเวลาเช้า เจ้าชายอภัยกำลังเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ได้ทอด
พระเนตรเห็นทารกนั้นถูกฝูงกาแวดล้อม จึงตรัสถามคนทั้งหลายว่า “พนาย ฝูงกา
รุมล้อมอะไร”
คนเหล่านั้นกราบทูลว่า “ทารกพระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยตรัสถามว่า “เขายังมีชีวิตอยู่หรือ”
คนเหล่านั้นกราบทูลว่า “ยังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยตรัสถามว่า “ถ้าเช่นนั้น จงนำทารกไปในพระราชวังของเรามอบให้
แม่นมดูแล”
คนเหล่านั้นรับสนองพระบัญชาแล้ว นำทารกนั้นไปวังเจ้าชายมอบให้แม่นมว่า
“โปรดเลี้ยงไว้ด้วย” แล้วตั้งชื่อทารกนั้นว่า “ชีวก” เพราะบ่งถึงคำว่า “ยังมีชีวิตอยู่”
ตั้งชื่อว่า “โกมารภัจ” เพราะเป็นผู้ที่เจ้าชายรับสั่งให้เลี้ยงไว้
ไม่นานนัก ชีวกโกมารภัจ เจริญวัยรู้เดียงสา เขาเข้าเฝ้าเจ้าชายอภัยกราบ
ทูลถามว่า “ใครคือบิดามารดาของเกล้ากระหม่อม พระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยรับสั่งว่า “พ่อชีวก แม้ตัวเราก็ไม่รู้จักมารดาของเจ้า แต่เราคือ
บิดาของเจ้า เพราะเราให้เลี้ยงเจ้าไว้”
ชีวกโกมารภัจคิดว่า “คนที่ไม่มีศิลปะจะเข้าพึ่งราชสกุลนี้ได้ยาก อย่ากระนั้น
เลย เราควรเรียนศิลปวิทยาไว้”

เรื่องชีวกเดินทางไปกรุงตักกสิลา
[๓๒๙] สมัยนั้น นายแพทย์ทิศาปาโมกข์๑ตั้งสำนักอยู่ ณ กรุงตักกสิลา
ชีวกโกมารภัจไม่กราบทูลลาเจ้าชายอภัย ลอบเดินทางรอนแรมไปจนถึงกรุงตักกสิลา
เข้าไปหานายแพทย์ผู้นั้นแล้วบอกว่า “ท่านอาจารย์ ผมใคร่จะศึกษาศิลปวิทยา”

เชิงอรรถ :
๑ ทิศาปาโมกข์ หมายถึง มีชื่อเสียง ปรากฏเป็นที่รู้จัก หรือเป็นหัวหน้าอยู่ในทิศทั้งปวง (วิ.อ. ๓/๓๒๙/
๒๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๓. เสฏฐิภริยาวัตถุ
นายแพทย์กล่าวว่า “พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้นเธอจงศึกษาเถิด”
ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจเรียนได้มาก เรียนได้รวดเร็ว ทรงจำได้ดี ที่เรียนไว้ก็ไม่
ลืมเลือน พอล่วงมาได้ ๗ ปี จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราเรียนได้มาก เรียนได้
รวดเร็ว ทรงจำได้ดี ที่เรียนไว้ก็ไม่ลืมเลือน และเรียนมาถึง ๗ ปีแล้วก็ยังไม่จบ
ศิลปวิทยานี้ เมื่อไรจะจบศิลปวิทยานี้สักที” ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจ เข้าไปหา
นายแพทย์ ณ ที่อยู่ถามว่า “ท่านอาจารย์ ผมเรียนศิลปวิทยาได้มาก เรียนได้เร็ว
ทรงจำได้ดี ที่เรียนไว้ก็ไม่ลืมเลือน และเรียนมาถึง ๗ ปีแล้วก็ยังไม่จบศิลปวิทยานี้
เมื่อไรจะจบศิลปวิทยานี้สักทีเล่าขอรับ”
นายแพทย์ตอบว่า “พ่อชีวก ถ้าเช่นนั้นเธอจงถือเสียมแล้วเที่ยวไปรอบ ๆ
กรุงตักกสิลาในระยะ ๑ โยชน์ พบสิ่งที่ไม่ใช่ตัวยาก็จงนำมาด้วย”
ชีวกโกมารภัจรับคำของนายแพทย์แล้วถือเสียมเดินไปรอบ ๆ กรุงตักกสิลา
ในระยะ ๑ โยชน์ ไม่พบเห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยาสักอย่างเดียว จึงเดินทางกลับไป
หานายแพทย์ ณ ที่อยู่ กราบเรียนว่า “ท่านอาจารย์ ผมเดินไปรอบ ๆ กรุง
ตักกสิลาในระยะ ๑ โยชน์แล้ว ไม่พบเห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นตัวยาสักอย่างหนึ่ง”
นายแพทย์บอกว่า “พ่อชีวก เธอเรียนได้ดีแล้ว ความรู้เท่านี้พอครองชีพได้”
แล้วได้ให้เสบียงเดินทางเล็กน้อยแก่ชีวกโกมารภัจ
ต่อมา ชีวกโกมารภัจถือเสบียงออกเดินทางมุ่งไปกรุงราชคฤห์ ระหว่างทาง
เสบียงหมดลงที่กรุงสาเกต ได้ตระหนักว่า ทางเหล่านี้กันดาร ขาดแคลนน้ำและ
อาหาร คนไม่มีเสบียงเดินทางไปจะลำบาก ถ้ากระไร เราพึงหาเสบียงทาง”

๒๐๓. เสฏฐิภริยาวัตถุ
ว่าด้วยภรรยาเศรษฐีปวดศีรษะ
[๓๓๐] สมัยนั้น ภรรยาเศรษฐีกรุงสาเกต ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะ เป็นเวลา
๗ ปี นายแพทย์ทิศาปาโมกข์คนสำคัญหลายคนมารักษา ก็ไม่สามารถรักษา
ให้หายได้ ได้เงินไปเป็นจำนวนมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๓. เสฏฐิภริยาวัตถุ
ชีวกโกมารภัจเดินทางเข้ากรุงสาเกต สอบถามคนทั้งหลายว่า “พนาย ใคร
เจ็บไข้บ้าง ผมจะรักษาใคร”
คนเหล่านั้น ตอบว่า “ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐีป่วยเป็นโรคปวดศีรษะอยู่
๗ ปี เชิญท่านไปรักษานางเถิด”
ชีวกโกมารภัจเดินทางไปถึงถิ่นที่อยู่ของเศรษฐีคหบดีสั่งคนเฝ้าประตูว่า “นี่แน่ะ
นายประตู ท่านไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า หมอมาแล้วขอรับ เขาจะเยี่ยมภรรยา
ท่านเศรษฐี”
คนเฝ้าประตูรับคำแล้วเข้าไปหาภรรยาเศรษฐีกราบเรียนว่า “หมอมาแล้วขอรับ
เขาจะเยี่ยมคุณนาย”
ภรรยาเศรษฐีถามว่า “หมอเป็นคนเช่นไร”
คนเฝ้าประตูตอบว่า “เป็นหมอหนุ่ม ขอรับ”
ภรรยาเศรษฐีกล่าวว่า “อย่าเลย หมอหนุ่มจะช่วยอะไรฉันได้ นายแพทย์ทิศา
ปาโมกข์คนสำคัญหลายคน มารักษาก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ได้เงินไปเป็น
จำนวนมาก”
นายประตูออกมาหาชีวกโกมารภัจแล้วบอกว่า “ท่านอาจารย์ ภรรยาเศรษฐี
บอกว่า ‘ไม่ละ หมอหนุ่มจะช่วยอะไรฉันได้ นายแพทย์ทิศาปาโมกข์’ คนสำคัญ
หลายคน มารักษาก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ได้เงินไปเป็นจำนวนมาก”
ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “ท่านไปกราบเรียนภรรยาเศรษฐีว่า คุณนาย หมอสั่ง
มาว่า คุณนายอย่าเพิ่งให้อะไร ๆ ต่อเมื่อโรคหายแล้วจึงค่อยให้สิ่งที่ประสงค์จะให้
ก็ได้”
นายประตูรับคำของชีวกโกมารภัจเข้าไปหาภรรยาเศรษฐีแล้วกราบเรียนตามนั้น
ภรรยาเศรษฐีตอบว่า “ถ้าเช่นนั้น เชิญคุณหมอเข้ามาได้”
นายประตูรับคำของภรรยาเศรษฐีแล้วเข้าไปหาชีวกโกมารภัจบอกว่า “ท่าน
อาจารย์ ภรรยาเศรษฐีขอเชิญท่านเข้าไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๐๓. เสฏฐิภริยาวัตถุ
ลำดับนั้นชีวกโกมารภัจเข้าไปหาภรรยาเศรษฐี ตรวจดูอาการของโรคแล้ว
บอกว่า “คุณนายขอรับ ผมต้องการเนยใส ๑ ซองมือ” เมื่อภรรยาเศรษฐีให้หา
เนยใสมา ๑ ซองมือแล้ว เขาจึงหุงเนยใสนั้นกับยาต่าง ๆ ให้ภรรยาเศรษฐีนอนหงาย
บนเตียงแล้วนัตถุ์ยา ขณะนั้นเนยใสที่นัตถุ์เข้าไปได้พุ่งออกทางปาก
ภรรยาเศรษฐีถ่มเนยใสนั้นลงกระโถนสั่งหญิงรับใช้ว่า “แม่สาวใช้ เธอจงเอา
สำลีซับเนยใสนี้ไว้”
ขณะนั้นชีวกโกมารภัจตระหนักว่า “แปลกจริง ๆ แม่บ้านคนนี้ช่างสกปรกนัก
เนยใสที่ต้องทิ้งก็ยังให้หญิงรับใช้เอาสำลีซับไว้อีก ส่วนยาของเรามีราคาแพงมากกว่า
จะปล่อยให้เสีย เธอจะให้ไทยธรรมอะไรแก่เราบ้างนะ”
ภรรยาเศรษฐีสังเกตอาการของเขาจึงถามว่า “แปลกใจอะไรหรืออาจารย์”
ชีวกโกมารภัจจึงเล่าเรื่องนั้นให้ทราบ
ภรรยาเศรษฐีตอบว่า “อาจารย์ ดิฉันเป็นคนมีครอบครัว จำเป็นจะต้องรู้จัก
สิ่งที่ควรเก็บไว้ใช้ เนยใสนี้ยังดีอยู่จะใช้เป็นยาสำหรับทาเท้าพวกทาสหรือกรรมกร
ก็ได้ ใช้เป็นน้ำมันเติมตะเกียงก็ได้ ท่านอย่าวิตกไปเลย รางวัลของท่านจะไม่ลดลง”
ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจได้รักษาโรคปวดศีรษะของภรรยาเศรษฐี ซึ่งเป็นเรื้อรัง
มาถึง ๗ ปี ให้หายได้โดยวิธีนัตถุ์ยาครั้งเดียวเท่านั้น ครั้นภรรยาเศรษฐีหายโรค
แล้วจึงให้รางวัลแก่เขาเป็นเงิน ๔,๐๐๐ กหาปณะ บุตรเศรษฐีคหบดีพอได้ทราบ
ว่ามารดาของตนหายดีเป็นปกติ จึงให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ กหาปณะ สะใภ้พอ
ได้ทราบว่าแม่ผัวของตนหายดีเป็นปกติ จึงให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐ กหาปณะ
เศรษฐีคหบดีพอได้ทราบว่าภรรยาของตนหายเป็นปกติ จึงให้รางวัลเพิ่มอีก ๔,๐๐๐
กหาปณะ พร้อมกับให้ทาส ทาสี และรถม้า
ชีวกโกมารภัจรับเงิน ๑๖,๐๐๐ กหาปณะ พร้อมกับทาส ทาสี และรถม้า
ออกเดินทางไปกรุงราชคฤห์ ครั้นถึงแล้วได้เข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย กราบทูลว่า “เงิน
๑๖,๐๐๐ กหาปณะ พร้อมกับทาส ทาสี และรถม้านี้เป็นผลตอบแทนครั้งแรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๐๔. พิมพิสารราชวัตถุ
ของเกล้ากระหม่อม ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดรับค่าเลี้ยงดูของเกล้ากระหม่อม
ด้วยเถิด พระเจ้าข้า”
เจ้าชายอภัยรับสั่งว่า “อย่าเลยพ่อชีวก ทรัพย์นี้เป็นของเจ้าคนเดียว เจ้าสร้าง
บ้านอยู่ในวังของเราเถิด”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับพระบัญชาว่า “เป็นพระมหากรุณาอย่างยิ่ง พระเจ้าข้า”
แล้วได้สร้างบ้านอยู่ในวังของเจ้าชายอภัย

๒๐๔. พิมพิสารราชวัตถุ
ว่าด้วยพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ

เรื่องรักษาโรคริดสีดวงทวารของพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
[๓๓๑] สมัยนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ทรงประชวรเป็นริดสีดวง
ทวาร พระภูษาเปื้อนพระโลหิต
พวกนางสนมเห็นจึงพากันหัวเราะเยาะว่า “เวลานี้พระราชาทรงมีระดู ต่อม
พระโลหิตเกิดแก่พระองค์ อีกไม่นานก็จะมีพระประสูติกาล”
ท้าวเธอทรงเก้อเขินเพราะคำหัวเราะเยาะของพวกนางสนม ทรงเล่าเรื่องนั้นให้
เจ้าชายอภัยทราบว่า “อภัย พ่อป่วยเป็นริดสีดวงทวารถึงกับภูษาเปื้อนโลหิต พวก
นางสนมเห็นแล้วพากันหัวเราะเยาะว่า ‘เวลานี้พระราชาทรงมีระดู ต่อมาพระโลหิต
เกิดแก่พระองค์ อีกไม่นานก็จะมีพระประสูติกาล’ เจ้าช่วยหาหมอที่พอจะรักษาพ่อ
ได้ให้ทีเถิด”
เจ้าชายอภัยกราบทูลว่า “ขอเดชะ นายชีวกผู้นี้เป็นหมอประจำข้าพระองค์ยัง
หนุ่ม ทรงคุณวุฒิจะรักษาพระองค์ได้”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงสั่งหมอชีวกให้
รักษาพ่อ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๐๕. ราชคหเสฏฐิวัตถุ
ต่อมาเจ้าชายอภัยสั่งชีวกโกมารภัจว่า “ชีวก เธอจงไปรักษาพระราชา”
ชีวกโกมารภัจรับสนองพระบัญชาแล้วใช้เล็บตักยาเดินไปในราชสำนัก เข้าเฝ้า
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐกราบทูลว่า “ข้าพระองค์จะตรวจโรคของพระองค์
พระพุทธเจ้าข้า” แล้วรักษาริดสีดวงทวารของพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐให้
หายขาดด้วยทายาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

เรื่องพระราชทานตำแหน่งแพทย์หลวง
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐทรงหายประชวรจึงรับสั่งให้สตรี ๕๐๐
นาง แต่งตัวเต็มยศแล้วให้เปลื้องออกรวมเป็นห่อ ตรัสกับชีวกโกมารภัจว่า “ชีวก
เครื่องประดับทั้งหมดของสตรี ๕๐๐ คนนี้เป็นสมบัติของเจ้า”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลว่า “อย่าเลยพระพุทธเจ้าข้า พระองค์โปรดระลึกว่า
เป็นหน้าที่ของข้าพระองค์”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงบำรุงเรากับ
พวกฝ่ายในและภิกษุสงฆ์มีพระผู้มีพระภาคทรงเป็นประธาน”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับสนองพระราชดำรัสว่า “ควรมิควรแล้วแต่จะทรงโปรด
พระพุทธเจ้าข้า”

๒๐๕. ราชคหเสฏฐิวัตถุ
ว่าด้วยเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์

เรื่องรักษาเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ผู้ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะ
[๓๓๒] สมัยนั้น เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะเป็นเวลา ๗ ปี
นายแพทย์ทิศาปาโมกข์คนสำคัญหลายคนมารักษาก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ได้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๐๕. ราชคหเสฏฐิวัตถุ
เงินไปเป็นจำนวนมาก นายแพทย์หลายคนบอกเลิกรักษา นายแพทย์บางพวก
กล่าวว่า “เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕” นายแพทย์บางพวกกล่าวว่า
“เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗”
ต่อมา คณะกุฎุมพีชาวกรุงราชคฤห์มีความคิดดังนี้ว่า “เศรษฐีคหบดีผู้นี้สร้าง
คุณประโยชน์มากมายแก่พระราชาและชาวนิคม แต่กลับถูกพวกแพทย์บอกเลิก
รักษา แพทย์บางพวกกล่าวว่าเศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ แพทย์บาง
พวกกล่าวว่าเศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ ก็ชีวกเป็นแพทย์หลวงหนุ่ม
ทรงคุณวุฒิ อย่ากระนั้นเลย พวกเราพึงกราบทูลขอนายแพทย์ชีวกต่อพระราชา
เพื่อให้รักษาเศรษฐี” พากันไปในราชสำนักเข้าเฝ้ากราบทูลว่า “ขอเดชะ เศรษฐี
คหบดีผู้นี้สร้างคุณประโยชน์มากมายแก่พระราชาและชาวนิคม แต่กลับถูกพวก
แพทย์บอกเลิกรักษา แพทย์บางพวกกล่าวว่า เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่
๕ แพทย์บางพวกกล่าวว่า เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ ขอพระราชทาน
พระบรมราชวโรกาส ขอพระองค์โปรดมีรับสั่งนายแพทย์ชีวกโกมารภัจเพื่อให้รักษา
ท่านเศรษฐีเถิด”
ดังนั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐจึงทรงมีรับสั่งชีวกโกมารภัจว่า “ชีวก เจ้า
จงไปรักษาเศรษฐีคหบดี”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้วเข้าไปหาเศรษฐีคหบดี ตรวจดู
อาการของเศรษฐีคหบดีแล้วถามว่า “ท่านคหบดี ถ้าผมรักษาท่านหาย จะมีอะไร
เป็นรางวัลบ้าง”
เศรษฐีตอบว่า “ท่านอาจารย์ ทรัพย์สมบัติทุกอย่างจะเป็นของท่าน และเรา
ก็ขอยอมเป็นทาสของท่าน”
ชีวกโกมารภัจถามว่า “ท่านจะนอนตะแคงข้างเดียวตลอด ๗ เดือนได้ไหม”
เศรษฐีตอบว่า “ได้”
ชีวกโกมารภัจถามว่า “ท่านจะนอนอีกข้างหนึ่งตลอด ๗ เดือนได้ไหม”
เศรษฐีตอบว่า “ได้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๐๕. ราชคหเสฏฐิวัตถุ
ชีวกโกมารภัจถามว่า “ท่านจะนอนหงายตลอด ๗ เดือนได้ไหม”
เศรษฐีตอบว่า “ได้”
ต่อมา ชีวกโกมารภัจให้เศรษฐีคหบดีนอนบนเตียง มัดไว้กับเตียงแล้วถลก
หนังศีรษะเปิดรอยประสานกระโหลก นำสัตว์มีชีวิตออกมา ๒ ตัว แสดงแก่ชาว
บ้านว่า “พวกท่านจงดูสัตว์มีชีวิต ๒ ตัวนี้ ตัวหนึ่งเล็ก อีกตัวหนึ่งใหญ่ พวก
อาจารย์ที่กล่าวว่า เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๕ คงจะมองเห็นสัตว์ตัวใหญ่
มันจะเจาะกินมันสมองของเศรษฐีคหบดีในวันที่ ๕ เศรษฐีคหบดีถูกมันเจาะกินสมอง
ก็จะถึงอนิจกรรม สัตว์ใหญ่ตัวนี้พวกอาจารย์เห็นถูกต้อง ส่วนพวกอาจารย์ที่กล่าวว่า
เศรษฐีคหบดีจะถึงอนิจกรรมในวันที่ ๗ คงจะมองเห็นสัตว์ตัวเล็ก มันจะเจาะกิน
มันสมองของเศรษฐีคหดบีในวันที่ ๗ เศรษฐีคหบดีถูกมันเจาะกินสมองก็จะถึงอนิจ
กรรม สัตว์เล็กตัวนี้พวกอาจารย์เห็นถูกต้อง” แล้วให้ปิดแนวประสานกระโหลก
เย็บหนังศีรษะแล้วทายาสมานแผล
ครั้นผ่านไป ๑ สัปดาห์ เศรษฐีคหบดีกล่าวกับชีวกโกมารภัจว่า “อาจารย์
เราไม่สามารถนอนตะแคงข้างเดียวได้ตลอด ๗ เดือน”
ชีวกโกมารภัจถามว่า “คหบดีท่านรับคำไว้มิใช่หรือว่า อาจารย์ เราสามารถ
นอนตะแคงข้างเดียวได้ตลอด ๗ เดือน”
เศรษฐีตอบว่า “อาจารย์ เรารับรองไว้ก็จริง แต่เราคงตายแน่ เราไม่
สามารถนอนตะแคงข้างเดียวได้ตลอด ๗ เดือน”
ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “คหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนอีกข้างหนึ่งตลอด ๗
เดือน”
ครั้นผ่านไป ๑ สัปดาห์ เศรษฐีคหบดีกล่าวกับหมอชีวกโกมารภัจว่า “อาจารย์
เราไม่สามารถนอนตะแคงอีกข้างหนึ่งได้ตลอด ๗ เดือน”
ชีวกโกมารภัจถามว่า “คหบดี ท่านรับรองเราไว้มิใช่หรือว่า อาจารย์ เรา
สามารถนอนตะแคงอีกข้างหนึ่งตลอด ๗ เดือน”
เศรษฐีตอบว่า “อาจารย์ เรารับรองไว้ก็จริง แต่เราคงตายแน่ เราไม่สามารถ
นอนตะแคงอีกข้างหนึ่งได้ตลอด ๗ เดือน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๐๖. เสฏฐิปุตตวัตถุ
ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “คหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงนอนหงายตลอด ๗ เดือน”
ครั้นผ่านไป ๑ สัปดาห์ เศรษฐีคหบดีกล่าวกับหมอชีวกโกมารภัจว่า “อาจารย์
เราไม่สามารถนอนหงายได้ตลอด ๗ เดือน”
ชีวกโกมารภัจถามว่า “คหบดี ท่านรับรองเราไว้มิใช่หรือว่า อาจารย์ เรา
สามารถนอนหงายได้ตลอด ๗ เดือน”
เศรษฐีตอบว่า “อาจารย์ เรารับรองไว้ก็จริง แต่เราคงตายแน่ เราไม่สามารถ
นอนหงายได้ตลอด ๗ เดือน”
ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “ท่านคหบดี ถ้าผมไม่บอกท่านไว้เช่นนั้น ท่านก็จะนอน
เท่านั้นไม่ได้ ผมทราบอยู่ก่อนแล้วว่า “เศรษฐีคหบดีจะหายดีเป็นปกติใน ๓ สัปดาห์
ลุกขึ้นเถิด คหบดี ท่านหายป่วยแล้ว จะให้อะไรเป็นรางวัลเล่า”
เศรษฐีคหบดีตอบว่า จงรู้ว่า “อาจารย์ ทรัพย์สมบัติทุกอย่างเป็นของท่าน
เราเองก็ขอยอมเป็นทาสท่าน”
ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “อย่าเลยขอรับ ท่านอย่าให้ทรัพย์สมบัติทุกอย่าง ท่านเอง
ก็ไม่ต้องยอมเป็นทาสของผม ท่านจงทูลเกล้าถวายทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ
แด่พระราชา ให้ผม ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะก็พอแล้ว”
เมื่อเศรษฐีคหบดีหายป่วยได้ทูลเกล้าถวายทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะแด่
พระราชา และให้แก่ชีวกโกมารภัจ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ

๒๐๖. เสฏฐิปุตตวัตถุ
ว่าด้วยบุตรเศรษฐี

เรื่องรักษาโรคเนื้องอกในลำไส้
[๓๓๓] สมัยนั้น บุตรเศรษฐีชาวกรุงพาราณสีกำลังเล่นตีลังกา เกิดป่วยเป็น
โรคลำไส้บิด ข้าวต้มที่เธอดื่มไม่ย่อยไปด้วยดี อาหารที่รับประทานไม่ย่อยไปด้วยดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๐๖. เสฏฐิปุตตวัตถุ
อุจจาระ ปัสสาวะไม่สะดวก ดังนั้น บุตรเศรษฐีนั้น จึงซูบผอม หมองคล้ำ
ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง
ต่อมา เศรษฐีชาวกรุงพาราณสี คิดว่า “บุตรของเราเจ็บป่วยถึงเพียงนี้
ข้าวต้มที่เธอดื่มไม่ย่อยไปด้วยดี อาหารที่รับประทานก็ไม่ย่อยไปด้วยดี อุจจาระ
ปัสสาวะไม่สะดวก ดังนั้น เธอจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง
อย่ากระนั้นเลย เราควรไปกรุงราชคฤห์ กราบทูลขอนายแพทย์ชีวกต่อพระราชา
เพื่อจะได้รักษาบุตรของเรา” แล้วเดินทางไปกรุงราชคฤห์เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพมคธรัฐกราบทูลว่า “ขอเดชะ บุตรของข้าพระองค์เจ็บป่วยขนาดข้าวต้มที่
เธอดื่มไม่ย่อยไปด้วยดี อาหารที่รับประทานก็ไม่ย่อยไปด้วยดี อุจจาระ ปัสสาวะ
ไม่สะดวก ดังนั้น เธอจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง ขอ
ประทานวโรกาสเถิด ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท โปรดรับสั่งนายแพทย์ชีวกเพื่อจะได้
รักษาบุตรของข้าพระองค์ด้วยเถิด”
ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐรับสั่งชีวกโกมารภัจว่า “ไปเถิด
ชีวก เจ้าเดินทางไปกรุงพาราณสี จงรักษาบุตรเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เดินทางไปกรุงพาราณสี เข้า
ไปหาบุตรเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี ตรวจดูอาการของเขาแล้วให้คนออกไป ขึงม่าน
มัดไว้กับเสา ให้ภรรยาอยู่ต่อหน้าแล้วผ่าหนังท้อง นำเนื้องอกที่ลำไส้ออกมาแสดง
แก่ภรรยาว่า “เธอจงดูความเจ็บป่วยของสามีเธอ ข้าวต้มที่เธอดื่มจึงไม่ย่อยไปด้วยดี
อาหารที่รับประทานจึงไม่ย่อยไปด้วยดี อุจจาระ ปัสสาวะไม่สะดวก ดังนั้น บุตร
เศรษฐีนี้จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง” แล้วตัดเนื้องอกใน
ลำไส้ออก สอดใส่ลำไส้กลับไว้ตามเดิมแล้วเย็บหนังท้องทายาสมานแผล ต่อมาไม่
นานนัก บุตรเศรษฐีชาวกรุงพาราณสีจึงหายป่วยเป็นปกติ
ต่อมาเศรษฐีชาวกรุงพาราณสีคิดว่า “บุตรของเราหายป่วยแล้ว” จึงให้รางวัล
แก่ชีวกโกมารภัจเป็นเงิน ๑๖,๐๐๐ กหาปณะ ชีวกโกมารภัจรับเงินจำนวนนั้นแล้ว
เดินทางกลับกรุงราชคฤห์ตามเดิม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๙. จัมเปยยขันธกะ] ๒๐๗. ปัชโชตราชวัตถุ
๒๐๗. ปัชโชตราชวัตถุ
ว่าด้วยพระเจ้าปัชโชต

เรื่องรักษาโรคผอมเหลืองของพระเจ้าปัชโชต
[๓๓๔] สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตในกรุงอุชเชนี ทรงประชวรเป็นโรคผอมเหลือง
นายแพทย์ทิศาปาโมกข์คนสำคัญหลายคนมารักษาก็ไม่อาจทำให้โรคหายได้ ได้เงิน
ไปเป็นจำนวนมาก
สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตทรงส่งทูตไปยังราชสำนักของพระเจ้าพิมพิสารจอม
ทัพมคธรัฐใจความว่า “หม่อมฉันเจ็บป่วยมีอาการอย่างนี้ ขอประทานวโรกาสเถิด
พระองค์โปรดส่งหมอชีวกให้มารักษาหม่อมฉัน”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐรับสั่งชีวกโกมารภัจว่า “ไปเถิดชีวก เจ้าเดิน
ทางไปกรุงอุชเชนีจงถวายการรักษาพระเจ้าปัชโชต”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเดินทางไปกรุงอุชเชนี เข้าไปเฝ้า
พระเจ้าปัชโชต ตรวจพระอาการแล้วกราบทูลว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์จะหุงเนยใส
ให้พระองค์เสวย”
พระเจ้าปัชโชตตรัสห้ามว่า “อย่าเลยชีวก ท่านจงรักษาเราด้วยวิธีที่ไม่ต้องใช้
เนยใสก็หายได้ เพราะเราเกลียดเนยใส”
ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจคิดว่า “พระราชานี้ทรงประชวรถึงขนาดนี้ ถ้าไม่มีเนยใส
เราก็ไม่อาจรักษาพระองค์ให้หายเป็นปกติ เอาละเราควรหุงเนยใสให้มีสี กลิ่น รส
เหมือนน้ำฝาด” แล้วให้หุงเนยใสด้วยยาชนิดต่าง ๆ ทำให้มีสี กลิ่น รสเหมือนน้ำฝาด
สมัยนั้น ชีวกโกมารภัจมีความคิดดังนี้ว่า “เนยใสที่ท้าวเธอเสวยแล้ว เมื่อย่อย
ไปจะทำให้เรอ พระราชาพระองค์นี้ทรงพิโรธก็จะพึงรับสั่งให้ฆ่าเราได้ ทางที่ดีเราควร
กราบทูลลาไว้เสียก่อน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๗. ปัชโชตราชวัตถุ
วันต่อมา ชีวกโกมารภัจจึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้าปัชโชตถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ขอเดชะ ข้าพระองค์เป็นหมอ จะเก็บรากไม้ จะรวบรวมยา
โดยกาลชั่วครู่หนึ่ง ในขณะนั้น ๆ๑ ขอประทานวโรกาสเถิด พระองค์โปรดรับสั่ง
เจ้าพนักงานในโรงราชพาหนะและที่เฝ้าประตูว่า หมอชีวกจงเดินทางด้วยยานที่
ต้องการได้ จงออกไปทางประตูที่ต้องการได้ จงเข้าออกได้ในเวลาที่ต้องการ”
พระเจ้าปัชโชตมีรับสั่งเจ้าพนักงานในโรงพาหนะและที่เฝ้าประตูว่า “หมอชีวก
จงเดินทางด้วยยานที่ต้องการได้ จงออกไปทางประตูที่ต้องการได้ จงเข้าออกได้ใน
เวลาที่ต้องการ”
ก็สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตมีช้างพังชื่อภัททวดี เดินทางได้วันละ ๕๐ โยชน์
ชีวกโกมารภัจทูลถวายเนยใสแด่พระเจ้าปัชโชตนั้นกราบทูลว่า “พระองค์โปรด
เสวยน้ำฝาด” เมื่อให้ท้าวเธอเสวยเนยใสแล้วก็ไปที่โรงช้าง ขึ้นช้างภัททวดีหนีออกไป
ครั้งนั้น เนยใสที่ท้าวเธอเสวยกำลังย่อยจึงทำให้ทรงเรอขึ้น ทันใดนั้นพระเจ้า
ปัชโชตจึงรับสั่งคนทั้งหลายว่า “เราถูกหมอชีวกชาติชั่วลวงให้ดื่มเนยใส พวกเจ้าจง
ค้นหามันมาให้ได้”
คนทั้งหลายกราบทูลว่า “หมอชีวกขึ้นช้างภัททวดีหนีออกไปจากกรุงแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า”
สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตมีทาสชื่อกากะซึ่งอาศัยเกิดกับอมนุษย์ เดินทางได้วัน
ละ ๖๐ โยชน์ จึงรับสั่งว่า “นายกากะ เจ้าจงไปตามหมอชีวกกลับมา โดยบอกว่า
พระราชารับสั่งให้เชิญท่านกลับ ธรรมดาพวกหมอมีเล่ห์เหลี่ยมมาก เจ้าอย่าไปรับ
สิ่งไรของเขานะ”
ครั้นทาสกากะเดินไปทันชีวกโกมารภัจผู้กำลังรับประทานอาหารเช้าในระหว่างทาง
กรุงโกสัมพี จึงบอกว่า “ท่านอาจารย์ พระราชารับสั่งให้เชิญท่านกลับ”

เชิงอรรถ :
๑ แปลมาจากคำว่า ตาทิเสน มุหุตฺเตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๗. ปัชโชตราชวัตถุ
ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “กากะ ท่านโปรดรออยู่ชั่วเวลาที่เรารับประทานอาหาร
เชิญท่านมาร่วมรับประทานอาหารด้วยกันเถิด”
ทาสกากะตอบว่า “อย่าเลย ท่านอาจารย์ พระราชารับสั่งว่า ธรรมดาพวก
หมอมีเล่ห์เหลี่ยมมาก อย่าไปรับสิ่งไร ๆ ของเขา”
ขณะนั้น ชีวกโกมารภัจได้แทรกยาทาเล็บ พลางเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำ
แล้วร้องเชิญทาสกากะว่า “เชิญท่านกากะมาเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำด้วยกันเถิด”
ทาสกากะคิดว่า “แพทย์คนนี้กำลังเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำ คงไม่มีโทษ
อะไร” จึงเคี้ยวมะขามป้อมและดื่มน้ำ มะขามป้อมครึ่งผลที่เขาเคี้ยวนั้นได้ระบายท้อง
ให้ถ่ายอุจจาระออกมาในที่นั้นทีเดียว
ต่อมาทาสกากะถามชีวกโกมารภัจว่า “ท่านอาจารย์ ผมจะยังมีชีวิตอยู่หรือ”
ชีวกโกมารภัจตอบว่า “อย่ากลัวไปเลย ท่านไม่มีอันตราย แต่พระราชาทรง
พิโรธก็จะรับสั่งให้ฆ่าเราได้ ดังนั้นเราไม่กลับละ” แล้วมอบช้างภัททวดีให้ทาสกากะ
เดินทางรอนแรมไปจนถึงกรุงราชคฤห์ ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
แล้วกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบทุกประการ
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “เจ้าไม่กลับไปก็เป็นการกระทำที่ดี
เพราะพระราชาพระองค์นั้นเหี้ยมโหดพึงสั่งให้ฆ่าเจ้าก็ได้”
เมื่อพระเจ้าปัชโชตทรงหายประชวรจึงทรงส่งราชทูตไปถึงชีวกโกมารภัจว่า “เชิญ
หมอชีวกมา เราจะให้พร”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลตอบไปว่า “อย่าเลย พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ทรง
ระลึกว่าเป็นหน้าที่ของข้าพระองค์”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๙. สมติงสวิเรจนกถา
๒๐๘. สิเวยยกทุสสยุคกถา
ว่าด้วยการพระราชทานผ้าสิไวยกะ ๑ คู่๑
[๓๓๕] สมัยนั้น พระเจ้าปัชโชตได้รับผ้าสิไวยกะ ๑ คู่ เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ
ประเสริฐสุดซึ่งมีชื่อเด่นเยี่ยมกว่าผ้าเป็นอันมาก คู่ผ้าหลายคู่ คู่ผ้าหลายร้อย คู่ผ้า
หลายพัน คู่ผ้าหลายแสน ต่อมาพระเจ้าปัชโชตจึงทรงส่งผ้าสิไวยกะนั้น ๑ คู่ไป
พระราชทานแก่ชีวกโกมารภัจ
ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจคิดว่า “พระเจ้าปัชโชตทรงส่งผ้าสิไวยกะ ๑ คู่นี้อันเป็น
ผ้าเนื้อดีเลิศซึ่งมีชื่อเด่นเยี่ยมกว่าผ้าเป็นอันมาก คู่ผ้าหลายคู่ คู่ผ้าตั้งหลายร้อย
คู่ผ้าหลายพัน คู่ผ้าหลายแสน นอกจากพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
หรือพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐแล้ว ไม่มีใครอื่นเหมาะที่จะใช้คู่ผ้านี้เลย”

๒๐๙. สมติงสวิเรจนกถา
ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคเสวยพระโอสถถ่าย ๓๐ ครั้ง

เรื่องสรงพระกายพระผู้มีพระภาค
[๓๓๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีพระวรกายหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ
พระองค์ได้ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า “อานนท์ ตถาคตมีกายหมักหมม
ด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ตถาคตประสงค์จะฉันยาถ่าย”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปหาชีวกโกมารภัจถึงที่พัก ครั้นถึงแล้วได้
กล่าวกับชีวกโกมารภัจดังนี้ว่า “ท่านชีวก พระตถาคตมีพระวรกายหมักหมมด้วย
สิ่งอันเป็นโทษ พระตถาคตประสงค์จะฉันพระโอสถถ่าย”

เชิงอรรถ :
๑ ผ้าสิไวยกะ เป็นผ้าที่ชาวแคว้นอุตตรกุรุใช้ห่อศพไปทิ้งไว้ในป่าช้า พวกนกหัสดีลิงค์คาบซากศพพร้อมทั้ง
ผ้านั้นไปที่ยอดเขาหิมาลัย ดึงผ้าออกแล้วกินซากศพ พวกนายพรานเห็นผ้านั้น จึงนำมาถวายพระเจ้า
ปัชโชต (วิ.อ. ๓/๓๓๕/๒๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๙. สมติงสวิเรจนกถา
ชีวกโกมารภัจกล่าวว่า “ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ท่านโปรดทำ
พระวรกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื้นสัก ๒-๓ วัน”
ครั้นท่านพระอานนท์ทำพระวรกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื้น ๒-๓ วันแล้ว
จึงเข้าไปหาชีวกโกมารภัจถึงที่พัก ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับชีวกโกมารภัจดังนี้ว่า “ท่าน
ชีวก พระวรกายของพระผู้มีพระภาคชุ่มชื้นดี เวลานี้ท่านจงรู้เวลาที่ควร”

เรื่องหมอชีวกทูลถวายพระโอสถถ่าย ๓๐ ครั้ง
ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจได้มีความคิดดังนี้ว่า “การที่เราจะทูลถวายพระโอสถ
ถ่ายชนิดหยาบแด่พระผู้มีพระภาคนั้นไม่สมควรเลย อย่ากระนั้นเลย เราพึงอบก้าน
อุบล ๓ ก้านด้วยยาต่าง ๆ แล้วน้อมเข้าไปถวายพระตถาคต” แล้วได้อบก้าน
อุบล ๓ ก้านด้วยยาต่าง ๆ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้น้อมถวายก้านอุบลก้านหนึ่งแด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดดมก้านอุบลก้านที่ ๑ นี้ วิธีนี้จะทำให้พระผู้มีพระภาค
ทรงถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง” แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๒ แด่พระผู้มีพระภาค
กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคจงทรงสูดดมก้านอุบลก้านที่ ๒ นี้
วิธีนี้จะทำให้พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง” แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่
๓ แด่พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคจงทรงสูดดม
ก้านอุบลก้านที่ ๓ นี้ วิธีนี้จะทำให้พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง”
ครั้นชีวกโกมารภัจทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อให้ถ่ายครบ
๓๐ ครั้งแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณกลับไป
เมื่อชีวกโกมารภัจออกไปนอกซุ้มประตู ได้เกิดความคิดดังนี้ว่า “เราทูลถวาย
พระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระตถาคตมีพระวร
กายหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จะไม่ทำพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง (แต่)
ทำพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๐๙. สมติงสวิเรจนกถา
ทรงถ่ายแล้วจะทรงสรงสนานแล้วจึงจะถ่ายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเป็นดังนั้น พระผู้มีพระ
ภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้งพอดี”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดของชีวกโกมารภัจด้วยพระทัย
จึงรับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เวลานี้ ชีวกโกมารภัจออกไปนอกซุ้ม
ประตูได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เราทูลถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อให้ถ่าย
ครบ ๓๐ ครั้ง พระตถาคตมีพระวรกายหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จะไม่ทำพระผู้มี
พระภาคให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง (แต่) จะทำพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง
อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วจะทรงสรงสนาน จักทำพระผู้มี
พระภาคซึ่งทรงสรงสนานแล้วให้ถ่ายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเป็นดังนั้น พระผู้มีพระภาค
จักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้งพอดี’ อานนท์ ถ้าอย่างนั้นเธอจงเตรียมน้ำร้อนไว้”
ท่านพระอานนท์กราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้วจัดเตรียมน้ำร้อนไว้ถวาย
ต่อมา ชีวกโกมารภัจเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลว่า “พระผู้มีพระภาคทรงถ่ายแล้วหรือ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ชีวก เราถ่ายแล้ว”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลว่า “เมื่อข้าพระองค์ออกไปนอกซุ้มประตูคิดว่า ‘เราทูล
ถวายพระโอสถถ่ายแด่พระผู้มีพระภาคเพื่อให้ถ่ายครบ ๓๐ ครั้ง พระตถาคตมี
พระวรกายหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ จะทำพระผู้มีพระภาคให้ไม่ถ่ายครบ ๓๐
ครั้ง (แต่)จะทำพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายเพียง ๒๙ ครั้ง พระผู้มีพระภาคทรงถ่าย
แล้วจะทรงสรงสนาน จักทำพระผู้มีพระภาคซึ่งทรงสรงสนานแล้วให้ถ่ายอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อเป็นดังนี้ พระผู้มีพระภาคจักทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้งพอดี พระผู้มีพระภาค
โปรดทรงสรงสนานเถิด พระพุทธเจ้าข้า พระสุคตโปรดสรงสนานเถิด”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสรงน้ำอุ่น วิธีนี้ทำพระผู้มีพระภาคซึ่งทรงสรง
สนานแล้วให้ถ่ายอีกครั้งหนึ่งจึงครบ ๓๐ ครั้งพอดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๐. วรยาจนากถา
ครั้งนั้น ชีวกโกมารภัจกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคไม่
ควรเสวยพระกระยาหารที่ปรุงด้วยน้ำต้มผักต่าง ๆ จนกว่าพระวรกายจะเป็นปกติ”

๒๑๐. วรยาจนากถา
ว่าด้วยหมอชีวกโกมารภัจกราบทูลขอพร
[๓๓๗] ต่อมาไม่นานนัก พระผู้มีพระภาคทรงมีพระวรกายเป็นปกติ ครั้งนั้น
ชีวกโกมารภัจจึงถือผ้าสิไวยกะคู่ ๑ นั้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควรได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าพระองค์ ทูลขอพรอย่างหนึ่งกับพระผู้มีพระภาค
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ตถาคตทั้งหลายเลิกให้พรเสียแล้ว ชีวก”
ชีวกโกมารภัจกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ทูลขอพรที่เหมาะสมและไม่มีโทษ พระ
พุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จงพูดมาเถิด ชีวก”

เรื่องทรงรับคู่ผ้าสิไวยกะ
ชีวกโกมารภัจกราบทูลว่า “พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ถือผ้าบังสุกุลอยู่เป็น
วัตร ผ้าสิไวยกะคู่นี้เป็นผ้าเนื้อดีเลิศ ประเสริฐสุด มีชื่อเด่นเยี่ยมกว่าคู่ผ้าเป็น
อันมาก หลายร้อย หลายพัน หลายแสนคู่ พระเจ้าปัชโชตทรงส่งมาพระราชทาน
พระองค์โปรดรับผ้าสิไวยกะคู่ ๑ ของข้าพระองค์เถิดพระพุทธเจ้าข้า และโปรด
ทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุสงฆ์”
พระผู้มีพระภาคทรงรับผ้าสิไวยกะแล้ว
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ชีวกโกมารภัจเห็นชัด ชวนให้อยากรับ
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๐. วรยาจนากถา
ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจ ผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณ
แล้วจากไป

เรื่องทรงอนุญาตคหบดีจีวร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตคหบดีจีวร รูปใดปรารถนา
จะถือผ้าบังสุกุลก็ได้ รูปใดปรารถนาจะรับคหบดีจีวรก็ได้ แต่เราสรรเสริญการยินดี
ปัจจัยตามที่ได้”

เรื่องจีวรเกิดขึ้นมากในกรุงราชคฤห์
คนทั้งหลายในกรุงราชคฤห์ทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวร
แก่ภิกษุทั้งหลาย” คนทั้งหลายเหล่านั้นต่างรื่นเริงบันเทิงใจว่า “บัดนี้พวกเราจะ
ถวายทาน จะบำเพ็ญบุญ เพราะพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย” ชั่วเพียงวันเดียว จีวรหลายพันผืนได้เกิดขึ้นในกรุงราชคฤห์
ชาวชนบททราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย”
คนทั้งหลายเหล่านั้นต่างรื่นเริงบันเทิงใจว่า “บัดนี้พวกเราจะถวายทาน จะบำเพ็ญ
บุญเพราะพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคหบดีจีวรแก่ภิกษุทั้งหลาย” ชั่วเพียงวันเดียว
จีวรหลายพันผืนได้เกิดขึ้นในชนบท

เรื่องทรงอนุญาตผ้าปาวาร ผ้าไหม และผ้าโกเชาว์
สมัยนั้น ผ้าปาวาร๑ได้เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ ผ้าปาวาร คือ ผ้าห่มใหญ่ อาจเป็นผ้าฝ้ายมีขน หรือผ้าชนิดอื่นก็ได้ (วิ.อ. ๓/๓๓๗/๒๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๑. กัมพลานุชานนาทิกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปาวาร”
ผ้าปาวารแกมไหมเกิดขึ้นแก่สงฆ์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปาวารแกมไหม”
ผ้าโกเชาว์๑เกิดขึ้นแก่สงฆ์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าโกเชาว์”
ปฐมภาณวาร จบ

๒๑๑. กัมพลานุชานนาทิกถา
ว่าด้วยทรงอนุญาตผ้ากัมพลเป็นต้น

เรื่องผ้ากัมพลราคาครึ่งกาสิยะ
[๓๓๘] สมัยนั้น พระเจ้ากาสีทรงส่งผ้ากัมพลราคาครึ่งกาสิยะ๒ไปพระราชทาน
แก่ชีวกโกมารภัจ ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจรับผ้ากัมพลครึ่งกาสิยะนั้นแล้วเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ
ที่สมควร ชีวกโกมารภัจผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“พระองค์ผู้เจริญ ผ้ากัมพลของข้าพระองค์ผืนนี้ราคาครึ่งกาสิยะ พระเจ้ากาสีพระ
ราชทานมา ขอพระผู้มีพระภาคโปรดรับผ้ากัมพลผืนนี้เพื่อประโยชน์และความสุข
ตลอดกาลนานแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ผ้าโกเชาว์ คือ ผ้าทำด้วยขนแพะ ผ้าโกเชาว์ผืนใหญ่ไม่ควร ส่วนผ้าโกเชาว์ปกติทั่วไป ควรอยู่ (วิ.อ. ๓/
๓๓๗/๒๐๘)
๒ ผ้ากัมพล คือ ผ้าทอด้วยขนสัตว์ กาสิยะ หมายถึง ๑,๐๐๐ ผ้ากัมพลราคาครึ่งกาสิยะคือราคา ๕๐๐
(วิ.อ. ๓/๓๓๘/๒๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๑. กัมพลานุชานนาทิกถา
พระผู้มีพระภาคทรงรับผ้ากัมพลแล้ว ชี้แจงให้ชีวกโกมารภัจเห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น ร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา
ลำดับนั้น ชีวกโกมารภัจผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับ
ไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
แล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถา เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้ากัมพล”

ทรงอนุญาตคหบดีจีวร ๖ ชนิด
เรื่องผ้าเนื้อดี เนื้อหยาบ
[๓๓๙] สมัยนั้น จีวรทั้งชนิดที่มีเนื้อละเอียดและเนื้อหยาบได้เกิดขึ้นแก่สงฆ์
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตจีวรอะไรบ้าง
ไม่ทรงอนุญาตจีวรอะไรบ้าง”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวร ๖ ชนิด คือ

๑. โขมะ (ผ้าเปลือกไม้) ๒. กัปปาสิกะ (ผ้าฝ้าย)
๓. โกเสยยะ (ผ้าไหม) ๔. กัมพล (ผ้าขนสัตว์)
๕. สาณะ (ผ้าป่าน) ๖. ภังคะ (ผ้าที่ทำด้วยของผสมกัน)”

[๓๔๐] สมัยนั้น ภิกษุผู้ยินดีคหบดีจีวร พากันรังเกียจไม่ยอมรับผ้าบังสุกุล
เพราะคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตจีวรอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ ๒ ชนิด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๒. ปังสุกูลปริเยสนกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ยินดีคหบดี
จีวรยินดีผ้าบังสุกุลได้ แต่เราสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรทั้งสองชนิดนั้น”

๒๑๒. ปังสุกูลปริเยสนกถา
ว่าด้วยการแสวงหาผ้าบังสุกุล

เรื่องภิกษุรอกันและไม่รอ
[๓๔๑] สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินทางไกลไปในแคว้นโกศล บางพวกแวะเข้า
ป่าช้าเพื่อหาผ้าบังสุกุล บางพวกไม่ยอมรอ ผู้แวะเข้าป่าช้าเพื่อหาผ้าบังสุกุลต่างได้
ผ้าบังสุกุล ผู้ที่ไม่รอพูดว่า “ท่านทั้งหลาย โปรดให้ส่วนแบ่งพวกเราบ้าง”
พวกที่ได้ผ้าบังสุกุลตอบว่า “พวกเราไม่ให้ส่วนแบ่งแก่พวกท่าน ทำไมท่าน
ไม่รอเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ไม่ต้องการไม่
ต้องให้ส่วนแบ่งแก่ภิกษุที่ไม่รอ”
สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินทางไกลไปในแคว้นโกศล บางพวกแวะเข้าป่าช้า
เพื่อหาผ้าบังสุกุล บางพวกรออยู่ ผู้แวะเข้าป่าช้าเพื่อหาผ้าบังสุกุลต่างได้ผ้าบังสุกุล
ผู้ที่รออยู่พูดอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย โปรดให้ส่วนแบ่งพวกเราบ้าง”
พวกที่ได้ผ้าบังสุกุลตอบว่า “พวกเราไม่ให้ส่วนแบ่งแก่พวกท่าน ทำไมพวก
ท่านไม่แวะไปเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ไม่ต้องการก็
ต้องให้ส่วนแบ่งแก่ภิกษุที่รออยู่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๒. ปังสุกูลปริเยสนกถา
สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินทางไกลไปในแคว้นโกศล บางพวกแวะเข้าป่าช้า
เพื่อหาผ้าบังสุกุลก่อน บางพวกแวะเข้าไปทีหลัง ผู้แวะเข้าป่าช้าเพื่อหาผ้าบังสุกุล
ก่อนต่างได้ผ้าบังสุกุล ผู้ที่แวะเข้าไปทีหลังไม่ได้ผ้า จึงพูดว่า “ท่านทั้งหลาย โปรด
ให้ส่วนแบ่งพวกเราบ้าง”
พวกได้ผ้าบังสุกุลตอบว่า “พวกเราไม่ให้ส่วนแบ่งแก่พวกท่าน ทำไมท่านแวะ
ไปทีหลังเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ไม่ต้องการไม่
ต้องให้ส่วนแบ่งแก่ภิกษุที่แวะเข้าไปทีหลัง”
สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินทางไกลไปในแคว้นโกศล พร้อมกันแวะเข้าป่าช้า
เพื่อหาผ้าบังสุกุล บางพวกได้ผ้าบังสุกุล บางพวกไม่ได้ผ้า พวกที่ไม่ได้ผ้า
พูดอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย โปรดให้ส่วนแบ่งพวกเราบ้าง”
พวกได้ผ้าบังสุกุลตอบว่า “พวกเราไม่ให้ส่วนแบ่งแก่พวกท่าน ทำไมพวก
ท่านหาไม่ได้เล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ไม่ต้องการ
ก็ต้องให้ส่วนแบ่งแก่ภิกษุที่แวะเข้าไปพร้อมกัน”
สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินทางไกลไปในแคว้นโกศล นัดกันแวะเข้าป่าช้าเพื่อ
หาผ้าบังสุกุล บางพวกได้ผ้าบังสกุล บางพวกไม่ได้ผ้า พวกที่ไม่ได้ผ้าพูดอย่างนี้ว่า
“ท่านทั้งหลายโปรดให้ส่วนแบ่งพวกเราบ้าง”
พวกได้ผ้าบังสุกุลตอบว่า “พวกเราไม่ให้ส่วนแบ่งแก่พวกท่าน ทำไมพวก
ท่านหาไม่ได้เล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ไม่ต้องการก็
ต้องให้ส่วนแบ่งแก่ภิกษุที่นัดกันแวะเข้าไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๓. จีวรปฏิคคาหกสมัตติกถา
๒๑๓. จีวรปฏิคคาหกสัมมติกถา
ว่าด้วยการแต่งตั้งภิกษุเป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร

เรื่องทายกนำจีวรกลับคืน
[๓๔๒] สมัยนั้น คนทั้งหลายถือจีวรมาสู่อาราม หาภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่รับ
ไม่ได้จึงนำจีวรกลับไป จีวรจึงเกิดแก่ภิกษุน้อย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แต่งตั้งภิกษุผู้มีคุณสมบัติ
๕ อย่างเป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร คือ
๑. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ ๒. ไม่ลำเอียงเพราะชัง
๓. ไม่ลำเอียงเพราะหลง ๔. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
๕. รู้จักจีวรที่รับไว้และจีวรที่ยังมิได้รับไว้

วิธีแต่งตั้งและกรรมวาจาแต่งตั้งภิกษุเป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ คือ ในเบื้องต้นต้องขอร้องภิกษุ
จากนั้น ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงแต่งตั้งภิกษุ
ชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่
รับจีวร ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร ท่านรูปนั้น
พึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวรแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๓. จีวรปฏิคคาหกสัมมติกถา
ก็สมัยนั้น พวกภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่รับจีวร รับจีวรแล้วทิ้งไว้ในที่นั้นเองแล้ว
หลีกไป จีวรจึงเสียหาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แต่งตั้งภิกษุผู้มีคุณสมบัติ
๕ อย่าง เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร คือ
๑. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ ๒. ไม่ลำเอียงเพราะชัง
๓. ไม่ลำเอียงเพราะหลง ๔. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
๕. รู้จักจีวรที่เก็บไว้และจีวรที่ยังมิได้เก็บไว้”

วิธีแต่งตั้งและกรรมวาจาแต่งตั้งภิกษุเป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ คือ ในเบื้องต้นต้องขอร้องภิกษุ จากนั้น
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมแล้ว สงฆ์พึงแต่งตั้งภิกษุ
ชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์แต่งตั้งภิกษุนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร
ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง
ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวรแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๔. ภัณฑาคารสัมมติอาทิกถา
๒๑๔. ภัณฑาคารสัมมติอาทิกถา
ว่าด้วยการสมมติเรือนคลังเป็นต้น

เรื่องสมมติเรือนคลัง
[๓๔๓] สมัยนั้น พวกภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่เก็บจีวร ได้เก็บจีวรไว้ในมณฑปบ้าง
ที่โคนไม้บ้าง ที่ชายคาบ้าง ที่กลางแจ้งบ้าง จีวรถูกหนูและปลวกกัดกิน
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมมติเรือนคลังที่สงฆ์
จำนงหวังคือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น หรือถ้ำ

วิธีสมมติและกรรมวาจาสมมติเรือนคลัง
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงสมมติอย่างนี้ คือ ในเบื้องต้นต้องขอร้องภิกษุ จากนั้น
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมแล้ว สงฆ์พึงสมมติวิหารชื่อนี้
ให้เป็นเรือนคลัง นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติวิหารชื่อนี้ให้เป็นเรือนคลัง ท่าน
รูปใดเห็นด้วยกับการสมมติวิหารชื่อนี้ให้เป็นเรือนคลัง ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใด
ไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์สมมติวิหารชื่อนี้ให้เป็นเรือนคลังแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้น จึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

เรื่องเจ้าหน้าที่รักษาผ้าในเรือนคลัง
สมัยนั้น จีวรในเรือนคลังของสงฆ์ไม่มีผู้ดูแล


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๔. ภัณฑาคารสัมมติอาทิกถา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แต่งตั้งภิกษุผู้มี
คุณสมบัติ ๕ อย่าง เป็นเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง คือ
๑. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ ๒. ไม่ลำเอียงเพราะชัง
๓. ไม่ลำเอียงเพราะหลง ๔. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
๕. รู้จักจีวรที่รักษาไว้และจีวรที่ยังมิได้รักษาไว้

วิธีสมมติและกรรมวาจาแต่งตั้งภิกษุให้เป็นเจ้าหน้าที่เรือนคลัง
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ คือ ในเบื้องต้นต้องขอร้องภิกษุ จากนั้น
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมแล้ว สงฆ์พึงแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้
ให้เป็นเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รักษา
เรือนคลัง ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง
ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลังแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
เหตุนั้น จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

เรื่องทรงห้ามย้ายเจ้าหน้าที่เรือนคลัง
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ย้ายเจ้าหน้าที่รักษาเรือนคลัง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่เรือนคลัง
ไม่ควรให้ย้าย ภิกษุใดให้ย้าย ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๔. ภัณฑาคารสัมมติอาทิกถา
เรื่องจีวรเกิดขึ้นมาก
ก็สมัยนั้น ในเรือนคลังของสงฆ์มีจีวรอยู่มาก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์ผู้อยู่พร้อมหน้า
แจกจีวรกันได้”

เรื่องส่งเสียงดังขณะแจกจีวร
สมัยนั้น เมื่อสงฆ์ทั้งหมดกำลังแจกจีวร ได้เกิดชุลมุนขึ้น
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้แต่งตั้งภิกษุผู้มี
คุณสมบัติ ๕ อย่าง เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร คือ
๑. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ ๒. ไม่ลำเอียงเพราะชัง
๓. ไม่ลำเอียงเพราะหลง ๔. ไม่ลำเอียงเพราะกลัว
๕. รู้จักจีวรที่แจกและจีวรที่ยังมิได้แจก

วิธีแต่งตั้งและกรรมวาจาแต่งตั้งภิกษุให้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงแต่งตั้งอย่างนี้ คือ ในเบื้องต้นต้องขอร้องภิกษุ จากนั้น
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบ(ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา)ว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมแล้ว สงฆ์พึงแต่งตั้งภิกษุ
ชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่
แจกจีวร ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการแต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวร ท่าน
รูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๔. ภัณฑาคารสัมมติอาทิกถา
สงฆ์แต่งตั้งภิกษุชื่อนี้ให้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวรแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะเหตุนั้น
จึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

เรื่องวิธีแจกจีวร
สมัยนั้น พวกภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวรได้มีความคิดดังนี้ว่า “ควรแจกจีวร
อย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คัดเลือกผ้าก่อนแล้ว
พิจารณาคิดถัวกัน นับภิกษุแล้วผูกผ้าเป็นมัดตั้งส่วนจีวรไว้”

เรื่องวิธีให้ส่วนแบ่ง
สมัยนั้น พวกภิกษุผู้เป็นเจ้าหน้าที่แจกจีวรได้มีความคิดดังนี้ว่า “พึงให้ส่วนจีวร
แก่สามเณรอย่างไร”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มอบแก่สามเณร
ครึ่งส่วน”๑

เรื่องให้แลกส่วนของตน
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งประสงค์จะรีบเดินทางโดยจะรับส่วนของตนไปด้วย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มอบส่วนของตนแก่
ภิกษุผู้รีบเดินทาง”

เชิงอรรถ :
๑ สามเณร ในที่นี้ หมายเอาสามเณรที่อวดตัวเองว่าเป็นใหญ่ ไม่ช่วยทำกิจที่พึงทำแก่ภิกษุเหล่าอื่นมุ่งแต่
จะเรียนบาลีและอรรถกถา ทำวัตรปฏิบัติแก่อุปัชฌาย์อาจารย์เท่านั้น ไม่ทำแก่คนอื่น สามเณรเหล่านี้
ควรให้ส่วนแบ่งครึ่งเดียว (วิ.อ. ๓/๓๔๓/๒๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๕. จีวรรชนกถา
เรื่องให้ส่วนพิเศษ
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งประสงค์จะรีบเดินทางไปกับส่วนพิเศษ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มอบส่วนพิเศษในเมื่อ
ให้สิ่งทดแทน”

เรื่องวิธีให้ส่วนจีวร
สมัยนั้น ภิกษุเจ้าหน้าที่แจกจีวรได้มีความคิดดังนี้ว่า พึงให้ส่วนจีวร(ส่วนที่
ไม่พอแจก)อย่างไรหนอ คือ จะให้ตามลำดับผู้มาถึงหรือตามลำดับพรรษา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สมยอมส่วนที่พร่อง
แล้วจับสลาก”

๒๑๕. จีวรรชนกถา
ว่าด้วยน้ำย้อมจีวร

เรื่องย้อมจีวรด้วยโคมัย
[๓๔๔] สมัยนั้น พวกภิกษุใช้โคมัยบ้าง ดินแดงบ้าง ย้อมจีวร จีวรมีสีคล้ำ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำย้อม ๖ ชนิด คือ
น้ำย้อมจากรากไม้ น้ำย้อมจากต้นไม้ น้ำย้อมจากเปลือกไม้ น้ำย้อมจากใบไม้
น้ำย้อมจากดอกไม้ และน้ำย้อมจากผลไม้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๕. จีวรรชนกถา
เรื่องย้อมด้วยน้ำเย็น
สมัยนั้น พวกภิกษุใช้น้ำย้อมที่เย็นย้อมจีวร จีวรมีกลิ่นเหม็นสาบ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหม้อย้อมขนาดเล็กไว้
ต้มน้ำย้อม"

เรื่องนำย้อมล้น
น้ำย้อมล้นออก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผูกตะกร้อกันน้ำล้น”

เรื่องไม่รู้ว่าน้ำย้อมเดือดแล้วหรือยังไม่เดือด
สมัยนั้น พวกภิกษุไม่รู้ว่าน้ำย้อมต้มเดือดแล้วหรือยังไม่เดือด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หยดหยาดน้ำลงใน
น้ำหรือบนหลังเล็บ”

เรื่องยกหม้อน้ำย้อมลง
สมัยนั้น พวกภิกษุยกหม้อน้ำย้อมลงทำหม้อกลิ้งตกแตก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกระบวยตักน้ำย้อม
เป็นภาชนะมีด้าม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๕. จีวรรชนกถา
เรื่องไม่มีภาชนะสำหรับย้อม
สมัยนั้น พวกภิกษุไม่มีภาชนะสำหรับย้อม
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอ่างและหม้อไว้สำหรับ
ย้อม”

เรื่องขยำจีวรในถาดและในบาตร
สมัยนั้น พวกภิกษุขยำจีวรลงในถาดบ้าง ในบาตรบ้าง จีวรปริขาด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรางสำหรับย้อม”

เรื่องตากจีวรบนพื้น
สมัยนั้น พวกภิกษุตากจีวรบนพื้นดิน จีวรเปื้อนฝุ่น
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องรองทำด้วยหญ้า”

เรื่องปลวกกัดเครื่องรองทำด้วยหญ้า
เครื่องรองทำด้วยหญ้าถูกปลวกกัด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตราวจีวรและสายระเดียง”

เรื่องแขวนจีวรพับกลาง
พวกภิกษุแขวนจีวรพับกลาง น้ำย้อมหยดออกจากชายจีวรทั้งสองข้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๕. จีวรรชนกถา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผูกมุมจีวรไว้”

เรื่องชายจีวรชำรุด
ชายจีวรชำรุด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตด้ายผูกมุมจีวร”

เรื่องน้ำย้อมหยดออกจากชายข้างเดียว
น้ำย้อมหยดออกจากชายข้างเดียว
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ย้อมจีวร พลิกกลับ
ไปกลับมาแต่เมื่อหยาดน้ำยังหยดไม่ขาดสาย อย่าเพิ่งหลีกไป”

เรื่องจีวรแข็ง
สมัยนั้น จีวรกลายเป็นผ้าเนื้อแข็ง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จุ่มลงในน้ำ”

เรื่องจีวรหยาบกระด้าง
สมัยนั้น จีวรเป็นผ้าหยาบกระด้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทุบด้วยฝ่ามือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๖. ฉินทกจีวรานุชานนา
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้จีวรที่ไม่ได้ตัด
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้จีวรที่ไม่ได้ตัดที่ย้อมน้ำฝาดมีสีเหมือนงาช้าง
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้จีวรที่ไม่ได้ตัด ภิกษุใด
ใช้ต้องอาบัติทุกกฏ”

๒๑๖. ฉินทกจีวรานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตจีวรตัด

เรื่องตัดจีวรตามแบบคันนา
[๓๔๕] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทักขิณาคิรีชนบท ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ
ซึ่งเขาพูนดินเป็นคันนาสี่เหลี่ยมจตุรัส ก่อคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง
คั่นระหว่างด้วยคันนาสั้น ๆ เชื่อมกันเหมือนทางสี่แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนาตัดผ่านกัน
รับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธอเห็นนาของชาวมคธซึ่งเขาพูนดินเป็น
คันนาสี่เหลี่ยม ยาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง คั่นระหว่างด้วยคันนาสั้น ๆ เชื่อมกัน
เหมือนทางสี่แพร่ง หรือ”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอสามารถทำจีวรของภิกษุให้มีรูปอย่างนั้นได้
หรือ”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “สามารถทำได้ พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระอัธยาศัยแล้ว
เสด็จกลับมายังกรุงราชคฤห์อีก ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๖. ฉินทกจีวรานุชานนา
หลายรูป แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลดังนี้ว่า “ขอพระองค์โปรดทอด
พระเนตรจีวรที่ข้าพระองค์จัดทำแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”

ตรัสสรรเสริญพระอานนท์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วรับ
สั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นบัณฑิต ภิกษุทั้งหลาย อานนท์
มีปัญญามาก ที่เข้าใจความหมายที่เรากล่าวย่อ ๆ ได้อย่างพิสดาร เธอทำผ้ากุสิบ้าง
ทำผ้าอัฑฒกุสิบ้าง ทำผ้ามณฑลบ้าง ทำผ้าอัฑฒมณฑลบ้าง ทำผ้าวิวัฏฏะบ้าง
ทำผ้าอนุวิวัฏฏะบ้าง ทำผ้าคีเวยยกะบ้าง ทำผ้าชังเฆยยกะบ้าง ทำผ้าพาหันตะบ้าง๑
จีวรเป็นผ้าที่ต้องตัด เศร้าหมองเพราะศัสตรา เหมาะแก่สมณะ และพวกโจรไม่
ต้องการ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสังฆาฏิตัด อุตตราสงค์ตัด และอันตรวาสกตัด

เชิงอรรถ :
๑ ผ้ากุสิ คือ ผ้ายาวที่ติดขอบจีวรทั้งด้านยาวและด้านกว้าง (อนุวาต)
ผ้าอัฑฒกุสิ คือ ผ้าสั้นที่แทรกอยู่เป็นตอน ๆ ในระหว่างผ้ายาว
ผ้ามณฑล คือ ผ้ามีบริเวณกว้างใหญ่ในแต่ละตอนของจีวร ๕ ตอน (จีวร ๕ ขัณฑ์)
ผ้าอัฑฒมณฑล คือ ผ้ามีบริเวณเล็ก ๆ
ผ้าวิวัฏฏะ คือ ตอน (ขัณฑ์) ของผ้าที่อยู่ตรงกลางซึ่งเย็บผ้ามณฑลและอัฑฒมณฑลเข้าด้วยกัน
ผ้าอนุวิวัฏฏะ คือ ผ้า ๒ ตอน (ขัณฑ์) ที่อยู่ ๒ ด้านของจีวร
ผ้าคีเวยยกะ คือ ผ้าที่เอาด้ายเย็บเล็มทาบเข้ามาทีหลังเพื่อทำให้แน่นหนา บริเวณที่พันรอบคอ
ผ้าชังเฆยยกะ คือ ผ้าที่เอาด้ายเย็บทาบเข้าทีหลัง บริเวณที่ปิดแข้ง
ผ้าพาหันตะ คือ ผ้าทั้ง ๒ ด้าน (ของจีวร) ที่ภิกษุเมื่อห่มจีวรขนาดพอดี จะม้วนมาพาดไว้บนแขน
หันหน้าออกด้านนอก (วิ.อ. ๓/๓๔๕/๒๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๗. ติจีวรานุชานนา
๒๑๗. ติจีวรานุชานนา
ว่าด้วยการอนุญาตไตรจีวร

เรื่องทอดพระเนตรเห็นภิกษุแบกห่อจีวร
[๓๔๖] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปกรุงเวสาลี พระผู้มีพระภาคทรงดำเนินทางไกลระหว่าง
กรุงราชคฤห์ต่อกับกรุงเวสาลี ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้จำนวน
มากหอบผ้าพะรุงพะรัง บ้างก็ทูนห่อผ้าที่พับดังฟูกไว้บนศีรษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า
บ้างก็กระเดียดไว้ที่สะเอวเดินมา ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้มี
พระดำริว่า “โมฆบุรุษเหล่านี้หมกมุ่นเพื่อความมักมากในจีวรเหลือเกิน อย่ากระนั้นเลย
เราควรกำหนดเขตแดน เราควรกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย” แล้ว
เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่โคตมกเจดีย์
สมัยนั้น เป็นยามค่ำคืนที่หนาวเหน็บในฤดูหนาวอยู่ในช่วงเดือน ๓ เดือน ๔
พระผู้มีพระภาคทรงห่มจีวรผืนเดียว ประทับนั่งอยู่กลางแจ้งตลอดราตรีขณะที่น้ำค้างตก
แต่ไม่ทรงหนาว เมื่อปฐมยามผ่านไปทรงรู้สึกหนาว ทรงห่มจีวรผืนที่ ๒ จึงไม่ทรง
หนาว เมื่อมัชฌิมยามผ่านไป ทรงรู้สึกหนาว ทรงห่มจีวรผืนที่ ๓ จึงไม่ทรงหนาว
เมื่อปัจฉิมยามผ่านไป ยามรุ่งอรุณแห่งราตรีอันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น ทรง
รู้สึกหนาว ทรงห่มจีวรผืนที่ ๔ จึงไม่ทรงหนาว แล้วทรงพระดำริว่า “กุลบุตรในธรรม
วินัยนี้ที่เป็นคนมีปกติหนาว กลัวความหนาว อาจครองชีพอยู่ได้ด้วยผ้า ๓ ผืน
อย่ากระนั้นเลย เราควรกำหนดเขตแดน ควรกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องผ้า เราควร
อนุญาตผ้า ๓ ผืนแก่ภิกษุทั้งหลาย”

เรื่องทรงอนุญาตไตรจีวร
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราเดินทางไกลระหว่างกรุงราชคฤห์กับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๘. อติเรกจีวรกถา
กรุงเวสาลีต่อกัน ได้เห็นภิกษุในธรรมวินัยนี้จำนวนมากหอบผ้าพะรุงพะรัง บ้างก็ทูน
ห่อผ้าที่พับดังฟูกไว้บนศีรษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า บ้างก็กระเดียดไว้ที่สะเอวเดินมา
ครั้นเห็นแล้ว เราได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘โมฆบุรุษเหล่านี้หมกมุ่นเพื่อความมักมากใน
จีวรเหลือเกิน อย่ากระนั้นเลย เราควรกำหนดเขตแดน เราควรกำหนดกฏเกณฑ์ใน
เรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย’ ต่อมา ในยามค่ำคืนที่หนาวเหน็บในฤดูหนาวอยู่ในช่วง
เดือน ๓ เดือน ๔ เราครองจีวรผืนเดียวนั่งอยู่กลางแจ้งตลอดราตรีขณะที่น้ำค้างตก
แต่ยังไม่รู้สึกหนาว เมื่อปฐมยามผ่านไป รู้สึกหนาว ห่มจีวรผืนที่ ๒ จึงไม่หนาว
เมื่อมัชฌิมยามผ่านไป รู้สึกหนาว ห่มจีวรผืนที่ ๓ จึงไม่หนาว เมื่อปัจฉิมยามผ่านไป
ยามรุ่งอรุณแห่งราตรีอันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น รู้สึกหนาว ห่มจีวรผืนที่ ๔
จึงไม่หนาว ภิกษุทั้งหลาย เราเองได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ที่เป็น
คนมีปกติหนาว กลัวความหนาว อาจครองชีพอยู่ได้ด้วยผ้า ๓ ผืน อย่ากระนั้น
เลย เราควรกำหนดเขตแดน เราควรกำหนดกฏเกณฑ์ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย
เราควรอนุญาตผ้า ๓ ผืน ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไตรจีวร คือ สังฆาฏิ ๒ ชั้น
อุตตราสงค์ชั้นเดียว อันตรวาสกชั้นเดียว”

๒๑๘. อติเรกจีวรกถา
ว่าด้วยอติเรกจีวร

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ทรงอติเรกจีวรชุดอื่นเข้าบ้าน
[๓๔๗] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต
ไตรจีวรแล้ว” จึงใช้ไตรจีวรชุดหนึ่งเข้าบ้าน ใช้ไตรจีวรอีกชุดหนึ่งอยู่ในอาราม
ใช้ไตรจีวรอีกชุดหนึ่งลงสรงน้ำ บรรดาภิกษุผู้มักน้อยสันโดษตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงทรงอติเรกจีวรเล่า” แล้วนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๘. อติเรกจีวรกถา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทรงอติเรกจีวร ภิกษุใดทรง พึงปรับอาบัติตามธรรม”
สมัยนั้น อติเรกจีวรเกิดขึ้นแก่ท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์ต้องการจะ
ถวายอติเรกจีวรนั้นแก่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านพระสารีบุตรอยู่เมืองสาเกต ทีนั้น
ท่านพระอานนท์ ได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า
‘ภิกษุไม่พึงทรงอติเรกจีวร’ ก็อติเรกจีวรนี้เกิดขึ้นแก่เรา เราต้องการจะถวายท่าน
พระสารีบุตร แต่ท่านอยู่ที่เมืองสาเกต เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ”
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์จึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อานนท์ อีกนานเพียงไร สารีบุตรจะกลับมา”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “อีก ๙ วัน หรือ ๑๐ วัน จึงจะกลับมา
พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทรงอติเรกจีวรไว้ได้ ๑๐ วัน
เป็นอย่างมาก”

เรื่องอติเรกจีวรเกิดขึ้น
สมัยนั้น อติเรกจีวรเกิดขึ้นแก่พวกภิกษุ ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มี
ความคิดดังนี้ว่า “พวกเราจะปฏิบัติในอติเรกจีวรอย่างไร” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปอติเรกจีวร”

เรื่องทรงอนุญาตผ้าปะเมื่ออันตรวาสกขาดทะลุ
[๓๔๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงเวสาลีตามพระอัธยาศัย
แล้วเสด็จจาริกไปทางกรุงพาราณสี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงพาราณสี
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
ครั้งนั้น อันตรวาสกของภิกษุรูปหนึ่งขาดทะลุ ภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า
“พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตผ้า ๓ ผืน คือ สังฆาฏิ ๒ ชั้น อุตตราสงค์ชั้นเดียว
อันตรวาสกชั้นเดียว ก็อันตรวาสกของเราผืนนี้ขาดทะลุ อย่ากระนั้นเลย เราควร
ทาบผ้าปะ บริเวณโดยรอบจะเป็น ๒ ชั้น ตรงกลางเป็นชั้นเดียว” จึงได้ทาบผ้าปะ
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปตามเสนาสนะ ทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้นกำลังทาบ
ผ้าปะจึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายตรัสดังนี้ว่า “เธอทำอะไรภิกษุ”
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “ข้าพระองค์กำลังทาบผ้าปะ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ ดีแล้วที่เธอทาบผ้าปะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย สำหรับผ้าใหม่และผ้าเทียมผ้าใหม่ เรา
อนุญาตสังฆาฏิ ๒ ชั้น อุตตราสงค์ชั้นเดียว อันตรวาสกชั้นเดียว สำหรับผ้าที่เก็บไว้
ค้างฤดูเราอนุญาตสังฆาฏิ ๔ ชั้น อุตตราสงค์ ๒ ชั้น อันตรวาสกชั้นเดียว
ภิกษุพึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลได้ตามต้องการหรือในผ้าที่เก็บมาจากร้านตลาด ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปะ การชุน รังดุม ลูกดุม การทำให้แน่น”

๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
ว่าด้วยนางวิสาขากราบทูลขอพร

เรื่องฝนตกพร้อมกัน ๔ ทวีป
[๓๔๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสีตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุง
สาวัตถีแล้ว ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ
บิณฑิกเศรษฐี ในกรุงสาวัตถีนั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้ว
นั่งอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นางวิสาขามิคารมาตาเห็นชัด
ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ลำดับนั้น นางวิสาขามิคารมาตาผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด
ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาค
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของหม่อมฉัน เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุก
จากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป
ครั้นผ่านราตรีนั้น เมฆฝนใหญ่ตั้งเค้าขึ้นในทวีปทั้ง ๔ ตกลงมาอย่างหนัก๑
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ฝนตกใน
เชตวันฉันใด ตกในทวีปทั้ง ๔ ก็ฉันนั้น พวกเธอจงสรงสนานกายด้วยน้ำฝนเถิด
นี้เป็นเมฆฝนใหญ่ครั้งสุดท้ายที่ตั้งเค้าขึ้นตก (พร้อมกัน) ในทวีปทั้ง ๔”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พากันเอาจีวรวางไว้ สรงสนาน
กายด้วยน้ำฝน ลำดับนั้น นางวิสาขามิคารมาตาสั่งให้คนเตรียมของเคี้ยวของฉันอัน
ประณีตแล้วสั่งสาวใช้ว่า “ไปเถิดแม่สาวใช้ เธอไปสู่อารามแล้วบอกภัตกาลว่า ถึงเวลา
แล้ว ท่านเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว”

เชิงอรรถ :
๑ ทวีปทั้ง ๔ ได้แก่
๑. ชมพูทวีป ๒. อมรโคยานทวีป
๓. อุตตรกุรุทวีป ๔. ปุพพวิเทหทวีป (องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๘๑/๓๐๖-๓๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
นางทาสีรับคำแล้วไปสู่อาราม เห็นพวกภิกษุเอาจีวรวางไว้ สรงสนานกายด้วย
น้ำฝนอยู่คิดว่า “ไม่มีภิกษุอยู่ในอาราม มีแต่พวกอาชีวกกำลังสนานกายด้วยน้ำ
ฝน”๑ จึงกลับไปหานางวิสาขามิคารมาตา ได้กล่าวดังนี้ว่า “แม่เจ้า ไม่มีภิกษุอยู่
ในอาราม มีแต่พวกอาชีวกกำลังสนานกายด้วยน้ำฝน”
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาผู้เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด มีปัญญา ได้มี
ความคิดดังนี้ว่า “พวกพระคุณเจ้าคงเอาจีวรวางไว้สรงสนานกายด้วยน้ำฝนเป็นแน่
นางทาสีคนนี้เป็นคนเขลา จึงเข้าใจว่า ไม่มีภิกษุอยู่ในอาราม มีแต่พวกอาชีวกกำลัง
สนานกายด้วยน้ำฝน” จึงสั่งสาวใช้ว่า “ไปเถิดแม่สาวใช้ เธอไปที่อารามแล้วบอก
เวลาว่า ถึงเวลาแล้ว ท่านเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
สมัยนั้น ภิกษุเหล่านั้นชำระร่างกายจนหนาวแล้วนุ่งผ้าเรียบร้อย ต่างถือจีวร
เข้าไปสู่ที่อยู่ตามเดิม นางทาสีนั้นไปสู่อารามไม่พบพวกภิกษุเข้าใจว่า “ไม่มีภิกษุใน
อาราม อารามว่างเปล่า” จึงกลับไปหานางวิสาขามิคารมาตา ได้กล่าวดังนี้ว่า
“แม่เจ้า ไม่มีภิกษุในอาราม อารามว่างเปล่า”
ลำดับนั้น นางวิสาขามิคารมาตา ผู้เป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาด มีปัญญา ได้
มีความคิดดังนี้ว่า “พวกพระคุณเจ้าคงจะชำระร่างกายจนหนาวแล้วนุ่งผ้าเรียบร้อย
ต่างถือจีวรเข้าไปสู่ที่อยู่ตามเดิม นางทาสีคนนี้เป็นคนเขลาจึงเข้าใจว่า ไม่มีภิกษุใน
อาราม อารามว่างเปล่า” จึงสั่งสาวใช้อีกว่า “ไปเถิดแม่สาวใช้ เธอไปที่อารามแล้ว
บอกภัตกาลว่า ถึงเวลาแล้ว ท่านเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
[๓๕๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า “พวก
เธอจงเตรียมบาตรและจีวร ถึงเวลาภัตตาหารแล้ว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จ
หายไปในพระเชตวัน มาปรากฏที่ซุ้มประตูบ้านนางวิสาขามิคารมาตา เปรียบเหมือน

เชิงอรรถ :
๑ อาชีวก เป็นชื่อเรียกพวกนักบวชเปลือย (วิ.อ. ๓/๑๑๐/๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
คนมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ที่เขา
ปูไว้พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตารื่นเริงบันเทิงใจว่า “น่าอัศจรรย์จริง ผู้เจริญ
ทั้งหลาย ไม่เคยปรากฏ ผู้เจริญทั้งหลาย พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมี
อานุภาพมาก เมื่อห้วงน้ำไหลนองไปแค่เข่าบ้าง เมื่อห้วงน้ำไหลนองไปแค่สะเอว
บ้าง เท้าหรือจีวรของภิกษุสักรูปเดียวก็ไม่เปียกน้ำเลย” จึงได้ประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยมือตนเอง กระทั่ง
พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรงละพระหัตถ์จากบาตร นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
กราบทูลว่า “หม่อมฉันกราบทูลขอพร ๘ ประการ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ตถาคตทั้งหลายเลิกให้พรเสียแล้ว วิสาขา”
นางวิสาขากราบทูลว่า “หม่อมฉันทูลขอพรที่เหมาะสมและไม่มีโทษ พระ
พุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จงพูดมาเถิด วิสาขา”

เรื่องนางวิสาขาขอพรเพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝนเป็นต้น
นางวิสาขามิคารมาตากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันประสงค์
จะถวายผ้าวัสสิกสาฎก ถวายอาคันตุกภัต ถวายคมิกภัต ถวายคิลานภัต ถวาย
คิลานุปัฏฐากภัต ถวายคิลานเภสัช ถวายธุวยาคู๑แก่พระสงฆ์ และถวายผ้า
อาบน้ำแก่ภิกษุณีสงฆ์จนตลอดชีวิต”

เชิงอรรถ :
๑ ผ้าวัสสิกสาฎก คือ ผ้าอาบน้ำฝน
อาคันตุกภัต คือ อาหารสำหรับภิกษุที่มาขอพักอาศัย ไม่ใช่อยู่ประจำ
คมิกภัต คือ อาหารสำหรับภิกษุที่เตรียมจะเดินทางไป
คิลานภัต คือ อาหารสำหรับภิกษุไข้
คิลานุปัฏฐากภัต คือ อาหารสำหรับภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้
คิลานเภสัช คือ เภสัชสำหรับภิกษุไข้
ธุวยาคู คือ ข้าวต้มที่ถวายเป็นประจำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอเห็นอำนาจประโยชน์อะไรจึงขอพร ๘
ประการกับตถาคต”
นางวิสาขามิคารมาตากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า วันนี้หม่อมฉันสั่งสาวใช้
ไปว่า ‘ไปเถิดแม่สาวใช้ เธอไปสู่อารามแล้วบอกเวลาว่า ‘ได้เวลาแล้ว ท่านเจ้าข้า
ภัตตาหารเสร็จแล้ว’ ครั้นนางไปสู่อารามได้เห็นภิกษุเอาจีวรวางไว้ สรงสนานกาย
ด้วยน้ำฝนอยู่จึงเข้าใจว่า ‘ไม่มีภิกษุอยู่ในอาราม มีแต่พวกอาชีวกกำลังสนานกาย
ด้วยน้ำฝน’ จึงกลับเข้ามาหาหม่อมฉันบอกดังนี้ว่า ‘แม่เจ้า ไม่มีภิกษุอยู่ในอาราม
มีแต่พวกอาชีวกกำลังสนานกายด้วยน้ำฝน”
๑. การเปลือยกายไม่งาม น่าเกลียด น่าชัง หม่อมฉันเห็นอำนาจ
ประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายผ้าวัสสิกสาฎกแก่พระสงฆ์จน
ตลอดชีวิต
๒. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุอาคันตุกะไม่ชำนาญหนทาง ไม่รู้จักที่โคจร
บิณฑบาตลำบาก ภิกษุอาคันตุกะนั้นฉันอาคันตุกภัตของหม่อมฉัน
แล้ว พอชำนาญทาง รู้จักที่โคจร จะเที่ยวบิณฑบาตได้ไม่ลำบาก
หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายอาคันตุกภัตแก่
พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
๓. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุผู้เตรียมตัวจะเดินทาง มัวแสวงหาภัตตาหาร
เพื่อตนอยู่ จะพลาดจากหมู่เกวียน หรือถึงที่ที่ตนจะไปอยู่เมื่อ
พลบค่ำ จะเดินทางลำบาก ภิกษุผู้เตรียมจะเดินทางนั้นฉัน
คมิกภัตของหม่อมฉันแล้วจะไม่พลาดจากหมู่เกวียน หรือไม่ถึงที่ที่
ตนจะไปอยู่ทันเวลา จะได้เดินทางไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นอำนาจ
ประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายคมิกภัตแก่พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
๔. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อภิกษุไข้ไม่ได้โภชนาหารที่เป็นสัปปายะ อาพาธ
จะกำเริบหรือจะถึงมรณภาพได้ ภิกษุไข้นั้นฉันคิลานภัตของหม่อม
ฉันแล้ว อาพาธจะทุเลาหรือไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็น
อำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายคิลานภัตแก่พระสงฆ์จน
ตลอดชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
๕. อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้มัวแสวงหาภัตตาหารเพื่อ
ตนเอง จะนำภัตตาหารไปถวายภิกษุไข้ในเมื่อเวลาสาย ตนเองจะ
อดอาหาร ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้นั้นได้ฉันคิลานุปัฏฐากภัตของ
หม่อมฉันแล้ว จะนำภัตตาหารไปถวายภิกษุไข้ได้ทันเวลา ตนเองก็
ไม่อดอาหาร หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวาย
คิลานุปัฏฐากภัตแก่พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
๖. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อภิกษุไข้ไม่ได้เภสัชที่เป็นสัปปายะ อาพาธจะ
กำเริบ หรือถึงมรณภาพได้ ภิกษุไข้นั้นฉันคิลานเภสัชของหม่อมฉัน
แล้ว อาพาธจะทุเลาหรือไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็นอำนาจ
ประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายคิลานเภสัชแก่พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
๗. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอานิสงส์ ๑๐ ประการ
จึงได้ทรงอนุญาตข้าวต้มไว้ที่เมืองอันธกวินทะ หม่อมฉันเห็น
อำนาจอานิสงส์เหล่านั้น จึงปรารถนาถวายข้าวต้มเป็นประจำแก่
พระสงฆ์จนตลอดชีวิต
๘. พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุณีทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เปลือยกายอาบน้ำ
ในแม่น้ำอจิรวดีท่าเดียวกับหญิงแพศยา พวกหญิงแพศยาทั้งหลาย
เย้ยภิกษุณีเหล่านั้นว่า แม่เจ้าทั้งหลาย พวกท่านยังเป็นสาว
จะประพฤติพรหมจรรย์ไปทำไมกัน ธรรมดามนุษย์ควรบริโภคกาม
มิใช่หรือ ต่อเมื่อชรา พวกท่านจึงค่อยประพฤติพรหมจรรย์
เมื่อเป็นอย่างนี้ ชื่อว่าได้หยิบฉวยเอาประโยชน์ทั้ง ๒ แล้ว”
ภิกษุณีเหล่านั้นถูกพวกหญิงแพศยาเย้ยหยันต่างเก้อเขิน พระ
พุทธเจ้าข้า มาตุคาม๑เปลือยกายย่อมไม่งดงาม น่าเกลียด น่าชัง
หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาถวายผ้าอาบน้ำแก่
ภิกษุณีสงฆ์จนตลอดชีวิต

เชิงอรรถ :
๑ มาตุคาม คือผู้หญิง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๑๙. วิสาขาวัตถุ
[๓๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วิสาขา เธอเห็นอานิสงส์อะไรจึงขอพร
๘ ประการกับตถาคต”
นางวิสาขามิคารมาตากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายในพระ
ธรรมวินัยนี้จำพรรษาในทิศต่าง ๆ แล้วจะเดินทางมากรุงสาวัตถีเพื่อเฝ้าพระผู้มี
พระภาค ภิกษุเหล่านั้นจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามว่า ‘พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุ
ชื่อนี้มรณภาพแล้ว เธอมีคติอย่างไร มีภพหน้าอย่างไร’ พระผู้มีพระภาค
จะทรงพยากรณ์ภิกษุนั้นในโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผล
หม่อมฉันจะเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นแล้วถามว่า ‘พระคุณเจ้ารูปนั้นเคยมากรุงสาวัตถี
ไหมเจ้าข้า’ ถ้าภิกษุเหล่านั้นตอบหม่อมฉันว่า ‘ภิกษุนั้นเคยมากรุงสาวัตถี’ ใน
เรื่องนี้หม่อมฉันจะสันนิษฐานได้ว่า ‘พระคุณเจ้านั้นคงใช้ผ้าวัสสิกสาฎก คงฉัน
อาคันตุกภัต คมิกภัต คิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัต คิลานเภสัช หรือธุวยาคู
ของหม่อมฉันเป็นแน่’ เมื่อหม่อมฉันระลึกถึงบุญกุศลนั้นก็จะเกิดความปลื้มใจ เมื่อ
หม่อมฉันปลื้มใจก็จะเกิดอิ่มใจ เมื่ออิ่มใจ กายจะสงบ หม่อมฉันมีกายสงบ
จะมีความสุข จิตของผู้มีความสุขจะตั้งมั่น หม่อมฉันจะได้อบรมอินทรีย์ พละ และ
โพชฌงค์ หม่อมฉันเห็นอานิสงส์นี้จึงกราบทูลขอพร ๘ ประการกับพระตถาคต
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ วิสาขา เป็นการดีแล้วที่เธอเห็นอานิสงส์
นี้จึงขอพร ๘ ประการกับตถาคต วิสาขา เราอนุญาตพร ๘ ประการแก่เธอ”

คาถาอนุโมทนา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนานางวิสาขามิคารมาตาด้วยพระคาถา
เหล่านี้ว่า
สตรีใดเมื่อให้ข้าวและน้ำก็เบิกบานใจ
มีศีล เป็นสาวิกาของพระสุคต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๐. นิสีทนาทิอนุชานนา
ครอบงำความตระหนี่ ให้ทานซึ่งเป็นหนทางสวรรค์
เป็นเครื่องบรรเทาความโศก นำสุขมาให้
สตรีนั้นอาศัยหนทางที่ไม่มีธุลี ไม่มีกิเลสยวนใจ
ย่อมได้กำลังและอายุทิพย์ เธอผู้ประสงค์บุญ มีความสุข
มีพลานามัย ย่อมปลื้มใจในชาวสวรรค์ตลอดกาลนาน
[๓๕๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาต่อนางวิสาขามิคารมาตาด้วย
พระคาถาเหล่านี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะแล้วเสด็จกลับ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าวัสสิกสาฎก อาคันตุกภัต
คมิกภัต คิลานภัต คิลานุปัฏฐากภัต คิลานเภสัช ธุวยาคู และผ้าอาบน้ำ
สำหรับภิกษุณีสงฆ์”
วิสาขาภาณวาร จบ

๒๒๐. นิสีทนาทิอนุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตผ้ารองนั่งเป็นต้น

เรื่องภิกษุนอนหลับขาดสติสัมปชัญญะ
[๓๕๓] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารอันประณีต จำวัดหลับขาดสติ
สัมปชัญญะ เมื่อพวกเธอจำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ น้ำอสุจิออกมาเพราะความ
ฝัน เสนาสนะ เปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีท่านพระอานนท์ตามเสด็จ เสด็จจาริกไปตาม
เสนาสนะได้ทอดพระเนตรเห็นเสนาสนะเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ จึงตรัสถามท่านพระ
อานนท์ว่า “อานนท์ เสนาสนะนั่นเปรอะเปื้อนอะไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๐. นิสีทนาทิอนุชานนา
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “เวลานี้ ภิกษุฉันอาหารอย่างดี จำวัดหลับขาด
สติสัมปชัญญะ เมื่อพวกภิกษุเหล่านั้นจำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ น้ำอสุจิออกมา
เพราะความฝัน เสนาสนะนี้จึงเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นแหละ อานนท์ อย่างนั้นแหละ อานนท์
เพราะเมื่อภิกษุเหล่านั้นจำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ น้ำอสุจิย่อมออกมาเพราะความ
ฝัน อานนท์ น้ำอสุจิของภิกษุผู้จำวัดหลับมีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ ย่อมไม่ออกมา
อานนท์ น้ำอสุจิแม้ของปุถุชนผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม๑ ย่อมไม่ออกมา อานนท์
ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ใช่โอกาสที่น้ำอสุจิของพระอรหันต์จะออกมา”
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย วันนี้ เรามีอานนท์เดินตามหลัง เที่ยวจาริกไป
ตามเสนาสนะได้เห็นเสนาสนะเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิจึงถามอานนท์ว่า ‘อานนท์ เสนาสนะ
นั่นเปรอะเปื้อนอะไร’ อานนท์ตอบว่า ‘เวลานี้ ภิกษุฉันอาหารอย่างดี จำวัดหลับ
ขาดสติสัมปชัญญะ เมื่อพวกภิกษุเหล่านั้นจำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ น้ำอสุจิ
ออกมาเพราะความฝัน เสนาสนะเปรอะเปื้อนน้ำอสุจิ’ เรากล่าวรับรองว่า อย่างนั้น
แหละ อานนท์ อย่างนั้นแหละ อานนท์ เพราะเมื่อภิกษุเหล่านั้นจำวัดหลับขาด
สติสัมปชัญญะ อานนท์ น้ำอสุจิย่อมออกมาเพราะความฝัน น้ำอสุจิของภิกษุผู้จำ
วัดหลับมีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ ย่อมไม่ออกมา อานนท์ น้ำอสุจิแม้ของปุถุชนผู้
ปราศจากความกำหนัดในกามย่อมไม่ออกมา อานนท์ ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่
ใช่โอกาสที่น้ำอสุจิของพระอรหันต์จะออกมา”

นอนหลับขาดสติสัมปชัญญะมีโทษ ๕ อย่าง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่จำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ มีโทษ ๕ อย่าง คือ
๑. หลับเป็นทุกข์ ๒. ตื่นเป็นทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ ปุถุชนผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม คือ ผู้มีปกติได้ฌาน (วิ.อ. ๓/๓๕๓/๒๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๐. นิสีทนาทิอนุชานนา
๓. เห็นความฝันเลวทราม ๔. เทวดาไม่รักษา
๕. น้ำอสุจิเคลื่อน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่จำวัดหลับขาดสติสัมปชัญญะ มีโทษ ๕ อย่างนี้แล

นอนหลับมีสติสัมปชัญญะ มีอานิสงส์ ๕ อย่าง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่จำวัดหลับมีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีอานิสงส์ ๕
อย่าง คือ

๑. หลับเป็นสุข ๒. ตื่นเป็นสุข
๓. ไม่เห็นความฝันเลวทราม ๔. เทวดารักษา
๕. น้ำอสุจิไม่เคลื่อน

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่จำวัดหลับมีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีอานิสงส์ ๕
อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้ารองนั่งเพื่อรักษากาย รักษาจีวร รักษาเสนาสนะ

เรื่องผ้าปูนั่งผืนเล็กเกินไป
สมัยนั้น ผ้ารองนั่งมีขนาดเล็กเกินไป ป้องกันเสนาสนะได้ไม่หมด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทำผ้าปูนอนใหญ่ได้
ตามที่ภิกษุต้องการ”

เรื่องฝีดาษ
[๓๕๔] สมัยนั้น ท่านพระเพลัฏฐสีสะผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านพระอานนท์
อาพาธเป็นโรคฝีดาษ ผ้านุ่งห่มเกรอะกรังติดตัวเพราะน้ำเหลือง พวกภิกษุเอาน้ำ
ชุบผ้าเหล่านั้นแล้วค่อย ๆ ดึงออกมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๐. นิสีทนาทิอนุชานนา
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามเสนาสนะ ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น
กำลังเอาน้ำชุบผ้าแล้วค่อย ๆ ดึงออก จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้อาพาธเป็นโรคอะไร”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “อาพาธเป็นโรคฝีดาษ ผ้านุ่งห่มเกรอะกรังที่ตัวเพราะ
น้ำเหลือง พวกข้าพระองค์เอาน้ำชุบผ้าเหล่านั้นแล้วค่อย ๆ ดึงออก พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปิดฝีแก่ภิกษุอาพาธที่เป็นหิด
ตุ่มพุพองหรือฝีดาษ”

เรื่องทรงอนุญาตผ้าเช็ดปาก
[๓๕๕] ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาถือผ้าเช็ดปาก เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้
กราบทูลดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคโปรดรับผ้าเช็ดปากของหม่อมฉัน เพื่อเกื้อกูล
เพื่อความสุขตลอดกาลนานเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับผ้าเช็ดปากแล้วทรงชี้แจงให้นางวิสาขามิคารมาตาเห็นชัด
ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา จึงได้ลุกจากอาสนะ ทำประทักษิณแล้วจากไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าเช็ดปาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
เรื่องทรงอนุญาตให้ถือวิสาสะผ้าเปลือกไม้
[๓๕๖] สมัยนั้น มัลลกษัตริย์ชื่อโรชะ เป็นสหายของท่านพระอานนท์
มัลลกษัตริย์โรชะนั้นฝากผ้าเปลือกไม้เก่าไว้กับท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์
เองก็มีความต้องการผ้าเปลือกไม้เก่า
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผู้ประกอบด้วย
คุณสมบัติ ๕ อย่างถือวิสาสะได้ คือ
๑. เคยเห็นกันมา ๒. เคยคบกันมา
๓. เคยบอกอนุญาตไว้ ๔. เขายังมีชีวิตอยู่
๕. รู้ว่า “เมื่อเราถือเอาแล้ว เขา(ผู้เป็นเจ้าของ)จะพอใจ”
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ อย่างนี้ถือวิสาสะ
กันได้”

เรื่องไตรจีวรบริบูรณ์
[๓๕๗] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีไตรจีวรบริบูรณ์ แต่ยังต้องการผ้ากรอง
น้ำบ้าง ถุงบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าบริขาร”

๒๒๑. ปัจฉิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
ว่าด้วยผ้าที่ต้องวิกัปเป็นอย่างต่ำเป็นต้น

เรื่องอธิษฐาน
[๓๕๘] ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ผ้าที่พระผู้มีพระภาค
ทรงอนุญาต คือไตรจีวร ผ้าอาบน้ำฝน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ผ้าปิดฝี ผ้าเช็ดปาก
หรือผ้าบริขาร ต้องอธิษฐานทั้งหมดหรือ หรือว่าต้องวิกัป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อธิษฐานผ้าไตรจีวร
ไม่ใช่ให้วิกัป ให้อธิษฐาน ผ้าอาบน้ำฝนตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน พ้นเขตนั้นให้วิกัปไว้
ให้อธิษฐานผ้าปูนั่ง ไม่ใช่ให้วิกัป ให้อธิษฐานผ้าปูนอน ไม่ใช่ให้วิกัป ให้อธิฐานผ้า
ปิดฝีตลอดเวลาที่อาพาธ พ้นจากนั้นให้วิกัปไว้ ให้อธิษฐานผ้าเช็ดปาก ไม่ใช่ให้วิกัป
ให้อธิษฐานผ้าบริขาร ไม่ใช่ให้วิกัป”

เรื่องจีวรมีขนาดเพียงไรจึงต้องวิกัป
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความคิดดังนี้ว่า “จีวรมีขนาดเพียงไรเป็นอย่างต่ำ
พึงวิกัป”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปจีวรมีขนาดยาว
๘ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้ว โดยนิ้วสุคตเป็นอย่างต่ำ”

เรื่องอุตตราสงค์ที่ทำจากผ้าบังสุกุลหนัก
[๓๕๙] สมัยนั้น อุตตราสงค์ที่ทำจากผ้าบังสุกุลของท่านพระมหากัสสปะหนัก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เย็บดามด้วยด้าย”

เรื่องชายสังฆาฏิไม่เสมอกัน
สังฆาฏิมีชายไม่เสมอกัน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รื้อชายที่ไม่เท่ากัน
ออก”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
เรื่องด้ายหลุดลุ่ย
ด้ายหลุดลุ่ย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ติดผ้าอนุวาตหุ้มขอบ”

เรื่องแผ่นสังฆาฏิลุ่ยออก
สมัยนั้น แผ่นสังฆาฏิลุ่ยออก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เย็บตะเข็บดังตา
หมากรุก”

เรื่องผ้าไม่พอ
[๓๖๐] สมัยนั้น เมื่อสงฆ์กำลังทำไตรจีวรให้ภิกษุรูปหนึ่ง ผ้าตัดทั้งหมดไม่พอ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าที่ต้องตัด ๒ ผืน
ไม่ตัด ๑ ผืน”
ผ้าที่ตัด ๒ ผืน ที่ไม่ตัด ๑ ผืน ผ้าก็ยังไม่พอ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าที่ไม่ตัด ๒ ผืน
ตัด ๑ ผืน”

เรื่องผ้าเพลาะ
ผ้าที่ไม่ตัด ๒ ผืน ที่ตัด ๑ ผืน ผ้าก็ยังไม่พอ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ติดผ้าเพลาะ ภิกษุ
ทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุไม่พึงใช้ผ้าที่ไม่ได้ตัดทั้งหมด รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
ทรงอนุญาตให้ให้ผ้าแก่โยมมารดาบิดาได้
เรื่องจีวรเกิดขึ้นมาก
[๓๖๑] สมัยนั้น จีวรเกิดขึ้นแก่ภิกษุรูปหนึ่งหลายผืน และภิกษุนั้นประสงค์
จะให้ผ้านั้นแก่มารดาบิดา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุให้ด้วยกล่าวว่า ‘เป็น
มารดาบิดา’ เราจะว่าอะไร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ให้แก่มารดาบิดา แต่ภิกษุ
ไม่พึงทำสัทธาไทย(ของที่ให้ด้วยศรัทธา)ให้ตกไป รูปใดทำให้ตกไป ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องเก็บจีวรไว้ในวิหารอันธวัน
[๓๖๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเก็บจีวร(สังฆาฏิ)ไว้ในป่าอันธวัน ครองอุตตรา-
สงค์กับอันตรวาสกเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน พวกโจรลักจีวร(สังฆาฏิ)นั้นไป ภิกษุ
นั้นจึงใช้ผ้าเก่า ครองจีวรเศร้าหมอง
พวกภิกษุกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน ทำไมท่านจึงใช้ผ้าเก่าครองจีวรเศร้าหมองเล่า”
ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ผมเก็บจีวร(สังฆาฏิ)ไว้ในป่าอันธวันแห่งนี้
แล้วครองอุตตราสงค์กับอันตรวาสกเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน พวกโจรลักจีวร(สังฆาฏิ)
นั้นไป เพราะเหตุนั้น ผมจึงใช้ผ้าเก่า ครองจีวรเศร้าหมอง”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีแต่อุตตราสงค์กับอันตรวาสก
ไม่พึงเข้าหมู่บ้าน รูปใดเข้าไป ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องท่านพระอานนท์เผลอสติ
สมัยนั้น ท่านพระอานนท์เผลอสติ ครองอุตตราสงค์กับอันตรวาสกเข้าไป
บิณฑบาตในหมู่บ้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๑. ปัจฏิมวิกัปปนุปคจีวราทิกถา
พวกภิกษุได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติห้ามไว้มิใช่หรือว่า ‘ภิกษุมีแต่อุตตราสงค์กับอันตรวาสกไม่พึงเข้าหมู่บ้าน’
ทำไม่ท่านจึงมีเพียงอุตตราสงค์กับอันตรวาสกเข้าหมู่บ้านเล่า”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ใช่ขอรับ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามไว้แล้ว
ว่า ‘ภิกษุมีแต่อุตตราสงค์กับอันตรวาสกไม่พึงเข้าหมู่บ้าน’ แต่ผมเข้าหมู่บ้านเพราะ
เผลอสติ”
ภิกษุทั้งหลายจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บสังฆาฏิ มี ๕ อย่าง คือ
๑. เป็นไข้ ๒. เป็นฤดูที่หมายรู้ว่าฝนจะตก๑
๓. ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ ๔. วิหารมีกุญแจคุมแน่นหนา
๕. ได้กรานกฐินแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บสังฆาฏิ มี ๕ อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บอุตตราสงค์ มี ๕ อย่าง คือ
๑. เป็นไข้ ๒. เป็นฤดูที่หมายรู้ว่าฝนจะตก
๓. ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ ๔. วิหารมีกุญแจคุมแน่นหนา
๕. ได้กรานกฐินแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บอุตตราสงค์ มี ๕ อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บอันตรวาสก มี ๕ อย่าง คือ
๑. เป็นไข้ ๒. สังเกตเห็นว่าฝนจะตก
๓. ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ ๔. วิหารมีกุญแจคุมแน่นหนา
๕. ได้กรานกฐินแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บอันตรวาสกไว้ มี ๕ อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึง อยู่ในช่วงฤดูฝน ๔ เดือน (วิ.อ. ๓/๓๖๒/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๒. สังฆิกจีวรุปปาทกถา
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บผ้าอาบน้ำฝนไว้ มี ๕ อย่าง คือ
๑. เป็นไข้ ๒. ไปนอกสีมา
๓. ไปสู่ฝั่งแม่น้ำ ๔. วิหารมีกุญแจคุมแน่นหนา
๕. ผ้าอาบน้ำฝนยังไม่ได้ทำหรือทำค้างไว้
ภิกษุทั้งหลาย เหตุจำเป็นเพื่อเก็บผ้าอาบน้ำฝนไว้ มี ๕ อย่างนี้แล

๒๒๒. สังฆิกจีวรุปปาทกถา
ว่าด้วยการให้จีวรเกิดขึ้นแก่สงฆ์

เรื่องภิกษุรูปเดียวจำพรรษา
[๓๖๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอยู่จำพรรษาผู้เดียว คนทั้งหลายในถิ่นนั้นได้
ถวายจีวรด้วยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายแก่สงฆ์”
ต่อมา ภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า
‘ภิกษุมี ๔ รูปเป็นอย่างน้อย ชื่อว่าสงฆ์’ แต่เรามีผู้เดียว และคนเหล่านี้ได้ถวาย
จีวรด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายแก่สงฆ์’ อย่ากระนั้นเลย เราพึงนำจีวรของสงฆ์
เหล่านี้ไปกรุงสาวัตถี” แล้วได้นำจีวรเหล่านั้นไปยังกรุงสาวัตถี ได้กราบทูลเรื่องนี้ให้
พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ จีวรเหล่านั้นเป็นของเธอผู้เดียวจนถึงคราว
เดาะกฐิน ภิกษุทั้งหลาย แต่ในกรณีนี้มีภิกษุจำพรรษารูปเดียว คนทั้งหลายในถิ่น
นั้นได้ถวายจีวรด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายแก่สงฆ์’ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
จีวรเหล่านั้นแก่เธอรูปเดียวจนถึงคราวเดาะกฐิน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๒. สังฆิกจีวรุปปาทกถา
เรื่องภิกษุอยู่รูปเดียวตลอดฤดูกาล
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอยู่รูปเดียวตลอดฤดูกาล๑ คนทั้งหลายในถิ่นนั้นได้
ถวายจีวรด้วยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายแก่สงฆ์”
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า
‘ภิกษุมี ๔ รูปเป็นอย่างน้อย ชื่อว่าสงฆ์’ แต่เรามีผู้เดียว และคนเหล่านี้ได้ถวาย
จีวรด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายแก่สงฆ์’ อย่ากระนั้นเลย เราพึงนำจีวรของสงฆ์
เหล่านี้ไปกรุงสาวัตถี” แล้วได้นำจีวรเหล่านั้นไปยังกรุงสาวัตถี แล้วบอกเรื่องนั้นแก่
ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สงฆ์พร้อมใจกันแจกกัน
ภิกษุทั้งหลาย แต่ในกรณีนี้ภิกษุอยู่รูปเดียวตลอดฤดูกาล คนทั้งหลายในถิ่น
นั้นได้ถวายจีวรด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายแก่สงฆ์’
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุนั้นอธิษฐานจีวรเหล่านั้นว่า ‘จีวรเหล่านี้เป็น
ของเรา’
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุนั้นยังไม่ได้อธิษฐานจีวรนั้น มีภิกษุรูปอื่นมาก็พึง
ให้ส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังแบ่งจีวรนั้น แต่ยังไม่ได้จับสลาก
มีภิกษุรูปอื่นมาก็พึงให้ส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อภิกษุเหล่านั้นกำลังแบ่งจีวรนั้น และจับสลากเสร็จ
แล้วมีภิกษุรูปอื่นมา ภิกษุเหล่านั้นไม่ต้องการก็ไม่ต้องให้ส่วนแบ่ง”

เชิงอรรถ :
๑ ฤดูกาล ในที่นี้ หมายถึงฤดูกาลอื่นนอกจากฤดูฝน (วิ.อ. ๓/๓๖๓/๒๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๒. สังฆิกจีวรุปปาทกถา
เรื่องพระเถระสองพี่น้อง
สมัยนั้น มีพระเถระสองพี่น้อง คือ ท่านพระอิสิทาสและท่านพระอิสิภัต จำ
พรรษาอยู่ในกรุงสาวัตถี ได้เดินทางไปอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง
คนทั้งหลายกล่าวว่า “นาน ๆ พระเถระทั้งหลายจะมา” จึงได้ถวายภัตตาหาร
พร้อมด้วยจีวร
ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ประจำในอาวาสถามพระเถระทั้งสองว่า “ท่านขอรับ จีวร
ของสงฆ์เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยพระเถระ พระเถระจะยินดีส่วนแบ่งไหม”
พระเถระทั้งสองกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกเรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จีวรเหล่านั้นเป็นของพวกท่านเท่านั้นจนถึงคราว
เดาะกฐิน”

เรื่องภิกษุ ๓ รูปจำพรรษาในกรุงราชคฤห์
สมัยนั้น ภิกษุ ๓ รูปจำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์ คนทั้งหลายในถิ่นนั้น
ได้ถวายจีวรโดยกล่าวว่า “พวกเราขอถวายแก่สงฆ์”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า
‘ภิกษุมี ๔ รูปเป็นอย่างน้อย ชื่อว่าสงฆ์’ แต่พวกเรามีอยู่ ๓ รูป และคนเหล่านี้
ได้ถวายจีวรด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายแก่สงฆ์’ พวกเราจะปฏิบัติอย่างไรหนอ”
สมัยนั้น พระเถระหลายรูป คือ ท่านพระนีลวาสี ท่านพระสาณวาสี ท่าน
พระโคปกะ ท่านพระภคุ และท่านพระผลิกสันทานะอยู่ในกุกกุฏาราม เขตกรุง
ปาตลีบุตร
ภิกษุ ๓ รูปนั้นได้เดินทางไปกรุงปาตลีบุตรแล้วสอบถามพระเถระทั้งหลาย
พระเถระทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกเรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จีวรเหล่านั้นเป็นของพวกท่านเท่านั้นจนถึงคราว
เดาะกฐิน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๓. อุปนันทสักยปุตตวัตถุ
๒๒๓. อุปนันทสักยปุตตวัตถุ
ว่าด้วยพระอุปนันทศากยบุตร

เรื่องพระอุปนันทะจำพรรษาแล้วไปอาวาสใกล้บ้าน
[๓๖๔] สมัยนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรจำพรรษาอยู่ในกรุงสาวัตถี ได้
เดินทางไปอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลายในอาวาสนั้น ประสงค์จะแบ่งจีวร จึงประชุมกันกล่าวอย่างนี้ว่า
“ท่าน พวกภิกษุจะแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้ ท่านจะยินดีส่วนแบ่งไหม”
ท่านพระอุปนันทะตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ผมขอยินดีส่วนแบ่งด้วย” ได้รับ
ส่วนจีวรจากอาวาสนั้นแล้วเดินทางไปอาวาสอื่น แม้พวกภิกษุในอาวาสอื่นนั้นก็
ประสงค์จะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน แม้พวกภิกษุเหล่านั้นก็กล่าวอย่างนี้ว่า “ท่าน
พวกภิกษุจะแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้ ท่านจะยินดีส่วนแบ่งไหม”
ท่านพระอุปนันทะตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ผมขอยินดีส่วนแบ่งด้วย” ได้รับ
ส่วนจีวรจากอาวาสนั้น ถือจีวรห่อใหญ่เดินทางกลับไปกรุงสาวัตถีตามเดิม
ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านอุปนันทะ ท่านเป็นผู้มีบุญมาก จีวรจึง
เกิดขึ้นแก่ท่านเป็นจำนวนมาก”
ท่านพระอุปนันทะกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย ผมจะมีบุญมาจากไหนกัน ผม
จำพรรษาอยู่ในกรุงสาวัตถีนี้ ได้เดินทางไปอาวาสใกล้บ้านแห่งหนึ่ง พวกภิกษุใน
อาวาสนั้นประสงค์จะแบ่งจีวรจึงได้ประชุมกัน พวกภิกษุเหล่านั้นกล่าวกับผมอย่างนี้
ว่า ‘ท่าน พวกภิกษุจะแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้ ท่านจะยินดีส่วนแบ่งไหม’ ผมตอบ
ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ผมขอยินดีส่วนแบ่งด้วย’ ได้รับส่วนจีวรจากอาวาสนั้นแล้วเดิน
ทางไปอาวาสอื่น แม้พวกภิกษุในอาวาสอื่นนั้นประสงค์จะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน
แม้พวกภิกษุเหล่านั้นก็กล่าวกับผมอย่างนี้ว่า ‘ท่าน พวกภิกษุจะแบ่งจีวรของสงฆ์
เหล่านี้ ท่านจะยินดีส่วนแบ่งไหม’ ผมตอบว่า ‘ผมขอยินดีส่วนแบ่งด้วย’ ได้รับ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๓. อุปนันทสักยปุตตวัตถุ
ส่วนจีวรจากอาวาสนั้นแล้วเดินทางไปอาวาสอื่น แม้พวกภิกษุในอาวาสอื่นนั้น
ประสงค์จะแบ่งจีวร จึงประชุมกัน แม้พวกภิกษุเหล่านั้นก็กล่าวกับผมอย่างนี้ว่า
‘ท่าน พวกภิกษุจะแบ่งจีวรของสงฆ์เหล่านี้ ท่านจะยินดีส่วนแบ่งไหม’ ผมตอบว่า
‘ท่านทั้งหลาย ผมขอยินดีส่วนแบ่งด้วย’ ได้รับจีวรแม้จากอาวาสนั้น จีวรเป็น
จำนวนมากจึงเกิดขึ้นแก่ผมอย่างนี้”
พวกภิกษุถามว่า “ท่านอุปนันทะ ท่านจำพรรษาในวัดหนึ่งแล้วยังยินดีส่วน
จีวรในวัดอื่นอีกหรือ”
ท่านพระอุปนันทะกล่าวยอมรับตามนั้น
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรจำพรรษาในวัดหนึ่งจึงยินดีส่วนจีวรในวัดอื่นอีกเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ฯลฯ อุปนันทะ ทราบว่าเธอจำพรรษาในวัดหนึ่ง
แล้วยังยินดีส่วนจีวรในวัดอื่นอีก จริงหรือ”
ท่านพระอุปนันทะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจำพรรษา
ในวัดหนึ่งแล้วยังยินดีส่วนจีวรในวัดอื่นอีกเล่า โมฆบุรุษ การทำอย่างนี้มิได้ทำให้คน
ที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจำพรรษาในวัดหนึ่งแล้ว ไม่พึงยินดีส่วน
จีวรในวัดอื่นอีก รูปใดยินดี ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องพระอุปนันทะจำพรรษาใน ๒ อาวาส
สมัยนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรรูปเดียวจำพรรษาอยู่ใน ๒ อาวาส
เพราะคิดว่า “ด้วยอุบายนี้ จีวรจะเกิดขึ้นแก่เรามาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๔. คิลานวัตถุกถา
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “พวกเราจะให้ส่วนแบ่งแก่ท่าน
พระอุปนันทศากยบุตรอย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงให้ตามความประสงค์
ส่วนหนึ่งแก่โมฆบุรุษ ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีที่ภิกษุรูปเดียวจำพรรษาอยู่ใน ๒
อาวาสเพราะคิดว่า ‘ด้วยอุบายนี้จีวรจะเกิดขึ้นแก่เรามาก’ ถ้าภิกษุจำพรรษาใน
อาวาสโน้นกึ่งหนึ่ง ในอาวาสโน้นอีกกึ่งหนึ่ง ก็พึงให้ส่วนจีวรอาวาสละกึ่งหนึ่ง
หรือให้ส่วนจีวรในอาวาสที่เธอจำพรรษามากกว่า”

๒๒๔. คิลานวัตถุกถา
ว่าด้วยภิกษุไข้

เรื่องภิกษุอาพาธเป็นโรคท้องร่วง
[๓๖๕] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคท้องร่วง ภิกษุนั้นนอนกลิ้ง
เกลือกไปมาบนปัสสาวะและอุจจาระของตนเอง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคมีท่านพระอานนท์ตามเสด็จ เสด็จจาริกไปตาม
เสนาสนะ เสด็จเข้าไปทางที่อยู่ของภิกษุนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้นนอน
กลิ้งเกลือกไปมาบนปัสสาวะและอุจจาระของตนเอง จึงเสด็จเข้าไปใกล้แล้ว ได้ตรัส
ดังนี้ว่า “ภิกษุ เธออาพาธเป็นโรคอะไร”
ภิกษุนั้นทูลว่า “ข้าพระองค์อาพาธเป็นโรคท้องร่วง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอมีภิกษุผู้คอยพยาบาลหรือ”
ภิกษุนั้นทูลว่า “ไม่มี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เหตุใด พวกภิกษุจึงไม่คอยพยาบาลเธอ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๔. คิลานวัตถุกถา
ภิกษุนั้นทูลว่า “เพราะข้าพระองค์ไม่ได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น
พวกภิกษุจึงไม่คอยพยาบาลข้าพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า “อานนท์ เธอไปตัก
น้ำมา เราจะอาบน้ำให้ภิกษุนี้”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วตักน้ำมาถวาย พระผู้มีพระภาค
ทรงราดน้ำ ท่านพระอานนท์ขัดสี พระผู้มีพระภาคทรงประคองศีรษะขึ้น ท่าน
พระอานนท์ยกเท้าวางบนเตียง
ต่อมา พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบ
ถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในวิหารหลังโน้นมีภิกษุเป็นไข้หรือ”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “มี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธออาพาธเป็นโรคอะไร”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “เธออาพาธเป็นโรคท้องร่วง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุนั้นมีภิกษุผู้คอยพยาบาลหรือ”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “ไม่มี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เหตุใด พวกภิกษุจึงไม่คอยพยาบาลเธอ”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “เพราะเธอไม่ได้ทำอุปการะแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น
พวกภิกษุจึงไม่คอยพยาบาลเธอ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดาผู้คอย
พยาบาล ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจะคอยพยาบาล
พวกเธอ ภิกษุทั้งหลาย ผู้จะพยาบาลเราก็จงพยาบาลภิกษุไข้เถิด ถ้ามีอุปัชฌาย์
อุปัชฌาย์พึงพยาบาลภิกษุไข้นั้นจนตลอดชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอจะหาย ถ้ามีอาจารย์
อาจารย์พึงพยาบาลภิกษุไข้นั้นจนตลอดชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอจะหาย ถ้ามีสัทธิ
วิหาริก สัทธิวิหาริกพึงพยาบาลภิกษุไข้นั้นจนตลอดชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอจะหาย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๔. คิลานวัตถุกถา
ถ้ามีอันเตวาสิก อันเตวาสิกพึงพยาบาลภิกษุไข้นั้นจนตลอดชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอ
จะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌาย์ ผู้ร่วมอุปัชฌาย์พึงพยาบาลภิกษุไข้นั้นจนตลอด
ชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอจะหาย ถ้ามีภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ ผู้ร่วมอาจารย์พึงพยาบาล
ภิกษุไข้นั้นจนตลอดชีวิต(หรือ)จนกว่าเธอจะหาย ถ้าไม่มีอุปัชฌาย์ อาจารย์
สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ผู้ร่วมอุปัชฌาย์ หรือผู้ร่วมอาจารย์ สงฆ์ต้องพยาบาล
ภิกษุไข้นั้น ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องคนไข้ที่พยาบาลได้ยากและพยาบาลได้ง่าย
คนไข้ที่พยาบาลได้ยากมีอาการ ๕ อย่าง
[๓๖๖] ภิกษุทั้งหลาย คนไข้ที่มีอาการ ๕ อย่าง พยาบาลได้ยาก คือ
๑. ไม่ทำความสบาย
๒. ไม่รู้ประมาณในความสบาย
๓. ไม่ฉันยา
๔. ไม่บอกอาการไข้ตามเป็นจริงแก่ผู้พยาบาลไข้ที่มุ่งประโยชน์ คือ ไม่
บอกอาการไข้ที่กำเริบว่ากำเริบ อาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา อาการไข้
ที่ทรงอยู่ว่าทรงอยู่
๕. เป็นคนไม่อดทนความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้น เป็นทุกข์แสนสาหัส
กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต
ภิกษุทั้งหลาย คนไข้ที่มีอาการ ๕ อย่างนี้แล พยาบาลได้ยาก

คนไข้ที่พยาบาลได้ง่ายมีอาการ ๕ อย่าง
ภิกษุทั้งหลาย คนไข้ที่มีอาการ ๕ อย่าง พยาบาลได้ง่าย คือ
๑. ทำความสบาย
๒. รู้ประมาณในความสบาย
๓. ฉันยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๔. คิลานวัตถุกถา
๔. บอกอาการไข้ตามเป็นจริงแก่ผู้พยาบาลไข้ที่มุ่งประโยชน์ คือ บอก
อาการไข้ที่กำเริบว่ากำเริบ อาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา อาการไข้ที่
ทรงอยู่ว่าทรงอยู่
๕. เป็นคนอดทนต่อความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้น เป็นทุกข์แสนสาหัส
กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ แทบจะคร่าชีวิต
ภิกษุทั้งหลาย คนไข้ที่มีอาการ ๕ อย่างนี้แล พยาบาลได้ง่าย

บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ควรพยาบาลภิกษุไข้
ภิกษุทั้งหลาย ผู้พยาบาลภิกษุไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ควรพยาบาลคนไข้ คือ
๑. ไม่สามารถจัดยา
๒. ไม่รู้จักของแสลงและไม่แสลง คือ นำของแสลงเข้าไปให้ นำของไม่
แสลงออกไป
๓. พยาบาลคนไข้เพราะเห็นแก่อามิส ไม่มีจิตเมตตา
๔. รังเกียจที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลายหรือของที่อาเจียนออกมา
ไปเททิ้ง
๕. ไม่สามารถพูดให้คนไข้เห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา เป็น
บางครั้งบางคราว
ภิกษุทั้งหลาย ผู้พยาบาลภิกษุไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ไม่ควรพยาบาล
คนไข้

บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรพยาบาลภิกษุไข้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรพยาบาล
ภิกษุไข้ คือ
๑. สามารถจัดยา
๒. รู้จักของแสลงและไม่แสลง คือ นำของแสลงออกไป นำของไม่แสลง
เข้ามาให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๕. มตสัจตกกถา
๓. ไม่พยาบาลคนไข้เพราะเห็นแก่อามิส มีจิตเมตตา
๔. ไม่รังเกียจที่จะนำอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลายหรือของที่อาเจียนออกมา
ไปเททิ้ง
๕. สามารถพูดให้คนไข้เห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา เป็นบางครั้ง
บางคราว
ภิกษุทั้งหลาย ผู้พยาบาลภิกษุไข้ที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ควรพยาบาล
คนไข้

๒๒๕. มตสันตกกถา
ว่าด้วยการให้บริขารของภิกษุมรณภาพแก่ผู้พยาบาลไข้

เรื่องภิกษุและสามเณรเป็นไข้
[๓๖๗] สมัยนั้น ภิกษุ ๒ รูปเดินทางไกลไปในแคว้นโกศล เธอทั้ง ๒ เดิน
ทางไปยังอาวาสแห่งหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่งในอาวาสนั้นเป็นไข้
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค
ทรงสรรเสริญการพยาบาลภิกษุไข้ พวกเราจงพยาบาลภิกษุรูปนี้กันเถิด” แล้วพากัน
พยาบาลภิกษุไข้นั้น
เธอได้รับการพยาบาลอยู่ได้มรณภาพลง
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นถือเอาบาตรและจีวรของเธอไปกรุงสาวัตถี แล้วกราบทูล
เรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมรณภาพ สงฆ์เป็นเจ้าของ
บาตรและจีวรแต่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้เป็นผู้มีอุปการะมาก ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้สงฆ์มอบไตรจีวรและบาตรแก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๕. มตสัจตกกถา
วิธีมอบให้ไตรจีวร บาตร และกรรมวาจาสำหรับมอบให้
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้ไตรจีวรและบาตรอย่างนี้ คือ ภิกษุพยาบาลภิกษุ
ไข้นั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ภิกษุชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้
คือไตรจีวรและบาตรของเธอ”
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้คือไตรจีวรและ
บาตรของเธอ สงฆ์พึงให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้คือไตรจีวรและ
บาตรของเธอ สงฆ์ให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ ท่านรูปใดเห็น
ด้วยกับการให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง
ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์ให้ไตรจีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้แล้วสงฆ์เห็นด้วย เพราะ
เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

สามเณรมรณภาพ
[๓๖๘] สมัยนั้น สามเณรรูปหนึ่งมรณภาพ ภิกษุทั้งหลายได้นำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อสามเณรมรณภาพ สงฆ์เป็น
เจ้าของบาตรและจีวร แต่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้เป็นผู้มีอุปการะมาก ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้สงฆ์มอบจีวรและบาตรแก่ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้”

วิธีมอบจีวรและบาตรให้ และกรรมวาจาสำหรับมอบให้
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้จีวรและบาตรอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้นั้น
พึงเข้าไปหาสงฆ์แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ สามเณรชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้
คือจีวรและบาตรของเธอ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๕. มตสัจตกกถา
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สามเณรชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้คือจีวรและ
บาตรของเธอ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลสามเณร
ไข้ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สามเณรชื่อนี้มรณภาพแล้ว นี้คือจีวรและ
บาตรของเธอ สงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลสามเณรไข้ ท่านรูปใดเห็น
ด้วยกับการให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลสามเณรไข้ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่าน
รูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
สงฆ์ให้จีวรและบาตรนี้แก่ภิกษุผู้พยาบาลสามเณรไข้แล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะ
เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

ภิกษุสามเณรช่วยกันพยาบาลไข้
[๓๖๙] สมัยนั้น ภิกษุและสามเณรช่วยกันพยาบาลภิกษุไข้ เธอได้รับการ
พยาบาลอยู่ได้มรณภาพลง ลำดับนั้น ภิกษุผู้พยาบาลไข้ได้มีความคิดดังนี้ว่า “เรา
พึงให้ส่วนจีวรแก่สามเณรผู้พยาบาลไข้อย่างไรหนอ”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มอบส่วนจีวรแก่
สามเณรผู้พยาบาลไข้เท่า ๆ กัน”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีเครื่องบริขารมาก มรณภาพลง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุมรณภาพ สงฆ์เป็นเจ้า
ของบาตรและจีวร แต่ผู้พยาบาลไข้เป็นผู้มีอุปการะมาก ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้สงฆ์มอบไตรจีวรและบาตรแก่ภิกษุผู้พยาบาลไข้ บรรดาสิ่งของเหล่านั้น เราอนุญาต
ให้สงฆ์พร้อมใจกันแบ่งลหุภัณฑ์และลหุบริขาร ส่วนครุภัณฑ์และครุบริขาร เป็นของ
สงฆ์ผู้อยู่ในจตุรทิศทั้งที่เดินทางมาและยังไม่มา เป็นของที่ไม่ควรแจกไม่ควรแบ่ง”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๗. กุสจีราทิปฏิกเขปกถา
๒๒๖. นัคคิยปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามเปลือยกาย

เรื่องภิกษุเปลือยกาย
[๓๗๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเปลือยกายเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ
ที่ประทับแล้วได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญ
ความมักน้อย สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม
การปรารภความเพียรโดยประการต่าง ๆ การเปลือยกายนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความ
มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการน่าเลื่อมใส การไม่
สะสม การปรารภความเพียรโดยประการต่าง ๆ ขอประทานวโรกาส พระผู้มี
พระภาคทรงโปรดอนุญาตการเปลือยกายแก่ภิกษุเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่
สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย
โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้สมาทานการเปลือยกายที่พวกเดียรถีย์ทำกันเล่า โมฆบุรุษ
การทำอย่างนี้มิได้เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรง
ตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึง
สมาทานการเปลือยกายที่พวกเดียรถีย์ทำกัน รูปใดสมาทาน ต้องอาบัติถุลลัจจัย”

๒๒๗. กุสจีราทิปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามผ้าคากรองเป็นต้น

เรื่องภิกษุนุ่งผ้าคากรองเป็นต้น
[๓๗๑] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนุ่งผ้าคากรอง ฯลฯ นุ่งผ้าเปลือกไม้ ฯลฯ นุ่ง
ผ้าผลไม้ ฯลฯ นุ่งผ้าทอด้วยผมคน ฯลฯ นุ่งผ้าทอด้วยขนสัตว์ ฯลฯ นุ่งผ้าทอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๗. กุสจีราทิปฏิกเขปกถา
ด้วยขนปีกนกเค้า ฯลฯ นุ่งหนังเสือแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ
ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญความมักน้อย ความ
สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ
ความเพียรโดยประการต่าง ๆ หนังเสือนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความมักน้อยความสันโดษ
ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความ
เพียรโดยประการต่าง ๆ ขอประทานวโรกาส พระผู้มีพระภาคทรงโปรดอนุญาตหนังเสือ
แก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่สมควร
ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ไฉนเธอจึงได้ใช้
หนังเสืออันเป็นสัญลักษณ์ของเดียรถีย์เล่า โมฆบุรุษ การทำอย่างนี้ มิได้เป็นไป
เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถา
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หนังเสืออันเป็นสัญลักษณ์
ของเดียรถีย์ รูปใดใช้ ต้องอาบัติถุลลัจจัย”

เรื่องภิกษุนุ่งผ้าทำด้วยก้านดอกรักเป็นต้น
ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งนุ่งผ้าทำด้วยก้านดอกรัก ฯลฯ นุ่งผ้าทำด้วยเปลือกปอ
แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความ
กำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยประการต่าง ๆ
ผ้าทำด้วยเปลือกปอนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา
ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยประการ
ต่าง ๆ ขอประทานวโรกาส พระผู้มีพระภาคทรงโปรดอนุญาตผ้าเปลือกปอแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่
สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๘. สัพพนีลกาทิปฏิกเขปกถา
โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้นุ่งผ้าเปลือกปอเล่า โมฆบุรุษ การทำอย่างนี้ มิได้เป็น
ไปเพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดง
ธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงนุ่งผ้าทำด้วยเปลือกปอ
รูปใดพึงนุ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ”

๒๒๘. สัพพนีลกาทิปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามจีวรสีเขียวล้วนเป็นต้น

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ห่มจีวรสีเขียวล้วนเป็นต้น
[๓๗๒] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ห่มจีวรสีเขียวล้วน ... ห่มจีวรสีเหลือง
ล้วน ... ห่มจีวรสีแดงล้วน ... ห่มจีวรสีบานเย็นล้วน ... ห่มจีวร สีดำล้วน ... ห่มจีวร
สีแสดล้วน ... ห่มจีวรสีชมพูล้วน ... ห่มจีวรที่ไม่ตัดชาย ... ห่มจีวรมีชายยาว ...
ห่มจีวรมีชายเป็นลายดอกไม้ ... ห่มจีวรมีชายเป็นแผ่น ... สวมเสื้อ ... สวมหมวก
... โพกศีรษะ
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระ
ศากยบุตรจึงใช้ผ้าโพกศีรษะเหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงห่มจีวรสีเขียวล้วน ... ไม่
พึงห่มจีวรสีเหลืองล้วน ... ไม่พึงห่มจีวรสีแดงล้วน ... ไม่พึงห่มจีวรสีบานเย็นล้วน ...
ไม่พึงห่มจีวรสีดำล้วน ... ไม่พึงห่มจีวรสีแสดล้วน ... ไม่พึงห่มจีวรสีชมพูล้วน ... ไม่
พึงห่มจีวรที่ไม่ตัดชาย ... ไม่พึงห่มจีวรมีชายยาว ... ไม่พึงห่มจีวรมีชายลายดอกไม้
... ไม่พึงห่มจีวรมีชายเป็นแผ่น ...ไม่พึงสวมเสื้อ ... ไม่พึงสวมหมวก ... ไม่พึงใช้ผ้า
โพกศีรษะ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๙. วัสสังวุตถานังอนุปปันนจีวรกถา
๒๒๙. วัสสังวุตถานังอนุปปันนจีวรกถา
ว่าด้วยจีวรยังไม่เกิดแก่ภิกษุผู้จำพรรษา

เรื่องจีวรยังไม่เกิดขึ้นภิกษุหลีกไป
[๓๗๓] สมัยนั้น พวกภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น พากัน
หลีกไปบ้าง สึกบ้าง มรณภาพบ้าง ปฏิญญาเป็นสามเณรบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้
บอกลาสิกขาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ต้องอันติมวัตถุบ้าง๑ ปฏิญญาเป็นคนวิกลจริตบ้าง
ปฏิญญาเป็นคนมีจิตฟุ้งซ่านบ้าง ปฏิญญาเป็นคนกระสับกระส่ายเพราะเวทนาบ้าง
ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ถูก
สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนีย
กรรมเพราะไม่สละทิฏฐิบาปบ้าง ปฏิญญาเป็นบัณเฑาะก์บ้าง๒ ปฏิญญาเป็นคน

เชิงอรรถ :
๑ ต้องอันติมวัตถุ ได้แก่ ต้องอาบัติปาราชิก
๒ บัณเฑาะก์มี ๕ ประเภท คือ
๑. คนที่ดับความใคร่เร่าร้อน (เพราะกาม) ของตนโดยการใช้น้ำอสุจิผู้อื่นราดตัวเอง ชื่อว่า อาสิตต
บัณเฑาะก์
๒. เมื่อเกิดความริษยาขึ้น คนที่เมื่อเห็นผู้อื่นประพฤติล่วงเกินกัน ความเร่าร้อนจึงระงับ ชื่อว่า
อุสูยบัณเฑาะก์
๓. คนที่ถูกตัดองคชาต ชื่อว่า โอปักกมิกบัณเฑาะก์
๔. คนที่เป็นบัณเฑาะก์ในเวลาข้างแรมด้วยอานุภาพอกุศลวิบาก แต่ในเวลาข้างขึ้น ความเร่าร้อน
ย่อมระงับไป ชื่อว่า ปักขบัณเฑาะก์
๕. คนที่เป็นบัณเฑาะก์โดยกำเนิด ชื่อว่า นปุงสกบัณเฑาะก์
ในบัณเฑาะก์ ๕ ประเภทนี้
อาสิตตบัณเฑาะก์ และอุสูยบัณเฑาะก์ ไม่ห้ามบรรพชา
ส่วนบัณเฑาะก์อีก ๓ ประเภทที่เหลือ ห้ามบรรพชา
อนึ่งในกุรุนทีกล่าวว่า ปักขบัณเฑาะก์ ห้ามบรรพชาเฉพาะในปักษ์ที่เป็นบัณเฑาะก์ (ข้างแรม) (วิ.อ. ๓/
๑๐๙/๘๑-๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๘. จีวรขันธกะ] ๒๒๙. วัสสังวุตถานังอนุปปันนจีวรกถา
ลักเพศบ้าง๑ ปฏิญญาเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์บ้าง ปฏิญญาเป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง
ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่ามารดาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าบิดาบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าพระ
อรหันต์บ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ประทุษร้ายภิกษุณีบ้าง ปฏิญญาเป็นผู้ทำลายสงฆ์บ้าง
ปฏิญญาเป็นผู้ทำร้ายพระศาสดาจนถึงห้อพระโลหิตบ้าง ปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก
บ้าง๒
ภิกษุทั้งหลายจึงได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
[๓๗๔] พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุจำพรรษา
แล้ว หลีกไปเสียเมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น เมื่อมีผู้รับแทนที่สมควร สงฆ์ก็พึงให้
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้ว เมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น สึกเสีย
มรณภาพลง ปฏิญญาเป็นสามเณร ปฏิญญาเป็นผู้บอกลาสิกขา เป็นผู้ต้อง
อันติมวัตถุ สงฆ์เป็นเจ้าของ(จีวรนั้น)
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนี้ ภิกษุที่จำพรรษาแล้วเมื่อจีวรยังไม่เกิดขึ้น ปฏิญญา
เป็นคนวิกลจริต ปฏิญญาเป็นคนมีจิตฟุ้งซ่าน ปฏิญญาเป็นคนกระสับกระส่าย

เชิงอรรถ :
๑ คนลักเพศ แปลมาจากคำว่า “เถยยสังวาสกะ” คนลักเพศมี ๓ จำพวก คือ
๑. คนลักเพศ ๒. คนลักสังวาส
๓. คนลักทั้งเพศและสังวาส
คนที่บวชเองแล้วไปวัด ไม่คำนึงพรรษาของภิกษุ ไม่ยินดีการไหว้ตามลำดับพรรษา ไม่ห้ามอาสนะ
ไม่เข้าร่วมในอุโบสถและปวารณาเป็นต้น นี้ชื่อว่า คนลักเพศ
คนที่ภิกษุทั้งหลายบวชให้ ขณะยังเป็นสามเณร ไปต่างถิ่น พูดเท็จว่า “ผมบวชมาแล้ว ๑๐ พรรษา
หรือ ๒๐ พรรษา” นับพรรษาตามแบบพรรษาของภิกษุ ยินดีการไหว้ตามลำดับพรรษา ห้ามอาสนะ
เข้าร่วมในอุโบสถและปวารณาเป็นต้น เพราะเหตุเพียงลักสังวาสเท่านั้น นี้ชื่อว่า คนลักสังวาส ก็กิริยา
ทุกประเภทมีการนับพรรษาของภิกษุเป็นต้นพึงทราบว่า “สังวาส”
คนที่บวชเองแล้วไปวัด นับพรรษาตามแบบพรรษาของภิกษุ ยินดีการไหว้ตามลำดับพรรษา ห้าม
อาสนะเข้าร่วมในอุโบสถและปวารณาเป็นต้น เพราะลักเพศและสังวาส นี้ชื่อว่า คนลักทั้งเพศและสังวาส
(วิ.อ. ๓/๑๑๐/๘๒-๘๓)
๒ อุภโตพยัญชนก หมายถึงคนมี ๒ เพศ คือ สัญลักษณ์เพศหญิง และสัญลักษณ์เพศชาย เพราะผล
กรรมที่ทำไว้ (วิ.อ. ๓/๑๑๖/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๕๐ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker