ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๕-๑ วินัยปิฎกที่ ๐๕ มหาวรรค ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ

พระวินัยปิฎก
มหาวรรค ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๕. จัมมขันธกะ

๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ๑
ว่าด้วยบุตรเศรษฐีชื่อโสณโกฬิวิสะ

เรื่องพระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้โสณโกฬิวิสะเข้าเฝ้า

[๒๔๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ครองราชสมบัติเป็นใหญ่
ปกครองหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ หมู่บ้าน
ครั้งนั้น ในกรุงจัมปา มีบุตรเศรษฐีชื่อโสณโกฬิวิสะ เป็นคนมีลักษณะละเอียด
อ่อนมีขนขึ้นที่ฝ่าเท้าทั้งสอง
ต่อมา พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ รับสั่งให้กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐
คนประชุมกัน ทรงส่งราชทูตไปพบนายโสณโกฬิวิสะด้วยพระราชกรณียกิจบางอย่าง
ด้วยรับสั่งว่า “เราต้องการให้เจ้าโสณะมาหา”

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๕/๕๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ครั้งนั้น มารดาบิดาของนายโสณโกฬิวิสะได้กล่าวกับนายโสณโกฬิวิสะดังนี้ว่า
“พ่อโสณะ พระราชามีพระประสงค์จะทอดพระเนตรเท้าทั้งสองของเจ้า พ่อโสณะ
เจ้าไม่พึงเหยียดเท้าไปทางที่พระราชาประทับ จงนั่งขัดสมาธิตรงพระพักตร์ของ
พระราชา พระองค์จะทอดพระเนตรเท้าทั้งสอง เมื่อเจ้านั่งลงแล้ว”
ต่อมา บริวารชนใช้วอนำนายโสณโกฬิวิสะไป ลำดับนั้น โสณโกฬิวิสะได้เข้า
เฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ณ ที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งขัดสมาธิ
ตรงพระพักตร์ของพระราชา
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ได้ทอดพระเนตรเห็นขนที่ฝ่าเท้าทั้งสองของ
เขาแล้ว ทรงสั่งสอนกุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คน เกี่ยวกับประโยชน์ในปัจจุบัน๑
ทรงส่งกลับไปด้วยรับสั่งว่า “ท่านทั้งหลาย เราสั่งสอนพวกท่านเกี่ยวกับประโยชน์
ในปัจจุบันแล้ว พวกท่านจงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค
ของเราทั้งหลายพระองค์นั้น จะทรงสั่งสอนพวกท่านเกี่ยวกับประโยชน์ในภาย
ภาคหน้า”

เรื่องพระสาคตะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
ครั้งนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คน พากันไปที่ภูเขาคิชฌกูฏ
สมัยนั้น ท่านพระสาคตะเป็นพระอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้น
กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนเหล่านั้น เข้าไปหาท่านพระสาคตะ ณ ที่พักแล้ว
ได้กล่าวกับท่านพระสาคตะดังนี้ว่า “ท่านขอรับ กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนี้
พากันเข้ามาที่นี้เพื่อขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอโอกาสให้พวกเราได้เข้าเฝ้าพระผู้
มีพระภาคเถิด”
ท่านพระสาคตะกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงรออยู่ที่นี้สักครู่ จนกว่า
อาตมาจะกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ”

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์ในปัจจุบัน หมายถึงประโยชน์ในโลกนี้ เช่น การทำไร่ไถนา การค้าขายที่สุจริตชอบธรรม
ตลอดถึงการเลี้ยงดูมารดาบิดาโดยถูกต้องชอบธรรม (วิ.อ. ๓/๒๔๒/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ลำดับนั้น ท่านพระสาคตะ เมื่อกุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนกำลังเพ่ง
มองอยู่เฉพาะหน้า ได้ดำลงใต้แผ่นหินไปผุดขึ้นตรงพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค
แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนี้พากัน
เข้ามาที่นี้เพื่อขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดทรงทราบเวลา
อันควรในบัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “สาคตะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงปูอาสนะใต้ร่มเงา
ที่มุมสุดวิหาร”
ท่านพระสาคตะรับสนองพระพุทธดำรัสแล้วถือตั่ง ดำลงเบื้องพระพักตร์ของ
พระผู้มีพระภาค ผุดขึ้นที่แผ่นหินต่อหน้ากุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนที่กำลัง
เพ่งมองอยู่แล้วปูอาสนะใต้ร่มเงาที่มุมสุดพระวิหาร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหาร ไปประทับนั่งบนพุทธ
อาสน์ที่จัดไว้ใต้ร่มเงาที่มุมสุดพระวิหาร
ลำดับนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้นได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร พากันสนใจแต่ท่านพระสาคตะ
เท่านั้น ไม่สนใจพระผู้มีพระภาคเลย
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิต
ของกุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้น จึงรับสั่งกับท่านพระสาคตะว่า “สาคตะ
ถ้าอย่างนั้น เธอจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นอุตตริมนุสสธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป”
ท่านพระสาคตะทูลรับสนองพระพุทธาณัติแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศ จงกรมบ้าง
ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง บังหวนควันบ้าง โพลงไฟบ้าง หายตัวบ้าง ในอากาศ
กลางท้องฟ้า ลำดับนั้น ครั้นท่านพระสาคตะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นอุตตริ-
มนุสสธรรมหลายอย่างในอากาศกลางท้องฟ้าแล้ว จึงกลับลงมาซบศีรษะแทบ
พระบาทของพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูลดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดา
ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระองค์
ข้าพระองค์เป็นสาวก”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ครั้งนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้น ต่างสรรเสริญว่า “น่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ พระสาวกยังมีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากถึงเพียงนี้ พระศาสดา
จะต้องมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก(กว่านี้)แน่นอน” แล้วหันมาสนใจพระผู้มีพระภาค
เท่านั้น ไม่ยอมสนใจท่านพระสาคตะอีกเลย

ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิตของ
กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้น จึงตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๑
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)๒
เมื่อทรงทราบว่ากุลบุตรเหล่านั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนา๓ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่กุลบุตร
ในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้น ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น
เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาด
ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

เชิงอรรถ :
๑ แปลจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สํกิเลสํ
๒ อานิสงส์แห่งการออกจากกาม ในที่นี้หมายถึงอานิสงส์แห่งการออกจากกามสัญญา การออกจากกาม
วิตก การออกจากกามปริฬาหะ(ความเร่าร้อนเพราะกาม) การออกจากความขวนขวาย ได้แก่คุณในการ
บรรพชาและในฌานเป็นต้น (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๖-๒๓๗)
๓ สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ทรงเห็น
ด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับแนะนำจากผู้อื่น ทรงตรัสรู้ลำพังพระองค์เองก่อนใครในโลก
(วิ.อ. ๓/๒๙๒/๑๘๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๗, ที.สี.ฏีกา (อภินว) ๒/๒๙๘/๓๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คนนั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้ง
ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ
ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม
แจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูป’
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและ
พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่าเป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

เรื่องโสณโกฬิวิสะเศรษฐีบุตรบรรพชา
[๒๔๓] ครั้นนั้น โสณโกฬิวิสะได้มีความคิดดังนี้ว่า “ธรรมตามที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงแสดงนั้น เราเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้
บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย’ อย่ากระนั้นเลย
เราควรจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต”
ครั้งนั้น กุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คน ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ลุกจากอาสนะถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วจากไป ลำดับนั้น โสณโกฬิวิสะ
เมื่อกุลบุตรในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ คน ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วจากไปไม่นาน
ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร
โสณโกฬิวิสกะผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“พระพุทธเจ้าข้า ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ข้าพระองค์เข้าใจว่า
‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่
ขัดดีแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย’ ข้าพระองค์ปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
กาสายะ ออกจากเรือนมาบวชเป็นบรรพชิต ขอพระผู้มีพระภาคทรงพระกรุณา
ให้ข้าพระองค์บวชด้วยเถิด”
โสณโกฬิวิสะได้รับการบรรพชาอุปสมบทในพุทธสำนัก และเมื่อท่านอุปสมบท
ได้ไม่นาน พำนักอยู่ ณ ป่าสีตวัน ท่านปรารภความเพียรอย่างยิ่ง๑เดินจงกรมจน
เท้าทั้งสองแตก สถานที่เดินจงกรมเปื้อนเลือดดุจที่ฆ่าโค
ต่อมา ท่านพระโสณโกฬิวิสะหลีกเร้นอยู่ในสงัด ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ใน
บรรดาพระสาวกของพระผู้มีพระภาคที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่
ไฉนจิตของเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นได้เล่า ทรัพย์สมบัติใน
ตระกูลของเรามีอยู่ เราอาจใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญได้ อย่ากระนั้นเลย
เราควรสึกไปใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญ”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระทัยถึงความคิดคำนึงในจิตของท่าน
พระโสณโกฬิวิสะจึงทรงหายไปจากภูเขาคิชฌกูฏ มาปรากฏพระองค์ที่ป่าสีตวัน
เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อม
ด้วยภิกษุเป็นจำนวนมากเสด็จเที่ยวจาริกไปตามเสนาสนะ เสด็จไปทางที่เดินจงกรม
ของท่านพระโสณโกฬิวิสะ ทอดพระเนตรเห็นสถานที่เดินจงกรมเปื้อนเลือด จึงรับ
สั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของใคร เปื้อนเลือดดุจที่ฆ่าโค”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ท่านพระโสณโกฬิวิสะปรารภความเพียรอย่างยิ่ง
เดินจงกรมจนเท้าทั้งสองแตก สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของท่านจึงเปื้อนเลือดดุจที่
ฆ่าโค พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ปรารภความเพียร หมายถึงประกอบความเพียรในสัมมัปปธาน (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๘๔/๒๙๒) หมายถึง
ระดมความเพียรอย่างเต็มที่ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๓/๓๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปที่อยู่ของท่านพระโสณโกฬิวิสะ ประทับ
นั่งบนพุทธอาสน์ที่จัดไว้ แม้ท่านพระโสณโกฬิวิสะก็ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
แล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร

เรื่องทรงเปรียบเทียบความเพียรกับสายพิณ
พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระโสณโกฬิวิสะผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควรดังนี้ว่า
“โสณะ เธอหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ในบรรดาพระสาวกของ
พระผู้มีพระภาคที่ปรารภความเพียร เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉนจิตของเราจึงยังไม่
หลุดพ้นจากอาสวะโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นได้เล่า ทรัพย์สมบัติในตระกูลของเรามีอยู่
เราอาจใช้สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญได้ อย่ากระนั้นเลย เราควรสึกไปใช้
สอยทรัพย์สมบัติและบำเพ็ญบุญ’ มิใช่หรือ”
ท่านพระโสณะทูลรับว่า “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เมื่อครั้งที่เธอ
อยู่ครองเรือนนั้น เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดีดพิณมิใช่หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอตึงเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามต่อว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เวลาสาย
พิณของเธอหย่อนเกินไป พิณของเธอมีเสียงใช้การได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า “โสณะ เธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร เวลาสายพิณ
ของเธอไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป ขึงอยู่ในระดับที่พอเหมาะ พิณของเธอมีเสียงใช้การ
ได้หรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ใช้การได้ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โสณะ เช่นเดียวกัน ความเพียรที่ปรารภอย่างยิ่ง
ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความ
เกียจคร้าน ฉะนั้น เธอจงตั้งความเพียรให้พอดี จงปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน๑ จงถือ
เอานิมิต๒ในความเสมอกันนั้น” ท่านพระโสณะกราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นทรงสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทข้อนี้แล้ว
ทรงหายไปจากป่าสีตวันต่อหน้าท่านพระโสณะ มาปรากฏพระองค์ที่ภูเขาคิชฌกูฏ
เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น

พระโสณะบรรลุอรหัตตผล
ครั้นต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรให้พอดี ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน
และถือเอานิมิตในความเสมอกันนั้น ได้หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจ ไม่นานนัก ก็ได้ทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วย
ปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแท้ รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์
แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” ท่านพระ
โสณะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

อุปนิสัยสมบัติของผู้เป็นพระอรหันต์
[๒๔๔] ครั้งนั้น ท่านพระโสณะผู้ได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ได้มีความคิดดังนี้
ว่า “ถ้ากระไร เราพึงพยากรณ์อรหัตตผลในสำนักของพระผู้มีพระภาค” จึงเข้าไป

เชิงอรรถ :
๑ ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน หมายถึงปรับศรัทธาให้เสมอกับปัญญา และปรับปัญญาให้เสมอกับศรัทธา ปรับ
วิริยะให้เสมอกับสมาธิ และปรับสมาธิให้เสมอกับวิริยะ ส่วนสตินั้นยิ่งมีเท่าไรก็ยิ่งดีไม่มีคำว่าเกิน (วิ.อ. ๓/
๒๔๓/๑๖๔, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๔๔๓/๓๕๒-๓๕๓)
๒ ถือเอานิมิต ในที่นี้ หมายถึงให้สมถนิมิต วิปัสสนานิมิต มัคคนิมิต และผลนิมิตเกิดขึ้น (สารตฺถ.ฏีกา
๓/๒๔๓/๓๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
เฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ไม่มี
อาสวกิเลส อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ได้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
ไม่มีหน้าที่ต้องทำอีก บรรลุประโยชน์สูงสุดแล้ว สิ้นกิเลสเครื่องผูกไว้ในภพ หลุด
พ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ย่อมน้อมไปในฐานะ ๖๑ คือ

๑. น้อมไปในเนกขัมมะ ๒. น้อมไปในปวิเวก
๓. น้อมไปในความไม่เบียดเบียน ๔. น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน
๕. น้อมไปในความสิ้นตัณหา ๖. น้อมไปในความไม่ลุ่มหลง

พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้
อาศัยคุณเพียงศรัทธาอย่างเดียวเป็นแน่จึงน้อมไปในเนกขัมมะ’ แต่ข้อนี้ไม่พึงเห็น
อย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่เห็น
ว่าตนยังจะต้องทำอะไรอีกหรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
เนกขัมมะ เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในเนกขัมมะ
เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในเนกขัมมะ เพราะสิ้นโมหะ
เพราะปราศจากโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า ‘ท่านรูปนี้
ต้องการลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นแน่ จึงน้อมไปในปวิเวก’ แต่ข้อนี้ก็ไม่
พึงเห็นอย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่เห็นว่าตนยังจะต้องทำอะไรอีกหรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน

เชิงอรรถ :
๑ น้อมไป หมายถึงบรรลุอย่างประจักษ์ชัด
ฐานะ ๖ หมายถึงพระอรหัตตผล พระอรหัตตผล ชื่อว่าการออกจากกาม (เนกขัมมะ) เพราะออกไป
จากกิเลสทุกอย่าง ชื่อว่าความสงัด (ปวิเวก) เพราะสงัดจากกิเลสเหล่านั้น ชื่อว่าความไม่เบียดเบียน
(อัพยาปัชชะ) เพราะไม่มีความเบียดเบียน ขื่อว่าความสิ้นอุปาทาน (อุปาทานักขยะ) เพราะเกิดขึ้นใน
ที่สุดแห่งความสิ้นอุปาทาน ชื่อว่าความสิ้นตัณหา (ตัณหักขยะ) เพราะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นตัณหา
ชื่อว่าความไม่ลุ่มหลง (อสัมโมหะ) เพราะไม่มีความลุ่มหลง (วิ.อ. ๓/๒๔๓/๑๖๔-๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ปวิเวก เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในปวิเวก เพราะสิ้น
โทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปในปวิเวก เพราะสิ้นโมหะ เพราะ
ปราศจากโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญไปว่า “ท่านรูปนี้
ถือสีลัพพตปรามาส๑โดยเป็นสาระแน่ จึงน้อมไปในความไม่เบียดเบียน’ แต่ข้อนี้ก็
ไม่พึงเห็นอย่างนั้น เพราะพระขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่เห็นว่าตนยังจะต้องทำอะไรอีกหรือต้องไปสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความไม่เบียดเบียน เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความไม่เบียดเบียน เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความไม่เบียดเบียน เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้น้อม
ไปในความสิ้นอุปาทาน เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไป
ในความสิ้นอุปาทาน เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความสิ้นอุปาทาน เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้น้อม
ไปในความสิ้นตัณหา เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความสิ้นตัณหา เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความสิ้นตัณหา เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้
น้อมไปในความไม่ลุ่มหลง เพราะสิ้นราคะ เพราะปราศจากราคะ ย่อมเป็นผู้น้อม

เชิงอรรถ :
๑ สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดถือว่าบุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและพรต เป็นเพียงความยึดถึอ
ที่อิงอาศัยศีลและพรต (วิ.อ. ๓/๒๔๓/๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ไปในความไม่ลุ่มหลง เพราะสิ้นโทสะ เพราะปราศจากโทสะ ย่อมเป็นผู้น้อมไปใน
ความไม่ลุ่มหลง เพราะสิ้นโมหะ เพราะปราศจากโมหะ
ถ้ารูปารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางตา มาปรากฏทางตาของภิกษุผู้มีจิตหลุด
พ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ รูปารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย
จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนักแน่น และภิกษุนั้น
ก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น
ถ้าสัททารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางหู ...
ถ้าคันธารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางจมูก ...
ถ้ารสารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางลิ้น ...
ถ้าโผฏฐัพพารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางกาย ...
ถ้าธรรมารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางใจ มาปรากฏทางใจของภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ธรรมารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้น
ได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนักแน่น และ
ภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น
พระพุทธเจ้าข้า ภูเขาศิลาล้วน ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบอันเดียวกัน
ถ้าลมฝนอย่างแรงพัดมาจากทิศตะวันออก ก็ทำภูเขานั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือนไม่ได้
ถ้าลมฝนอย่างแรงพัดมาจากทิศตะวันตก ...
ถ้าลมฝนอย่างแรงพัดมาจากทิศเหนือ ...
ถ้าลมฝนอย่างแรงพัดมาจากทิศใต้ ก็ทำภูเขานั้นให้หวั่นไหวสั่นสะเทือนไม่ได้
แม้ฉันใด
พระพุทธเจ้าข้า ถ้ารูปารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางตา มาปรากฏทางตา
ของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ รูปารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิต


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๗. โสณโกฬิวิสวัตถุ
ของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนัก
แน่น และภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น
ถ้าสัททารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางหู ...
ถ้าคันธารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางจมูก ...
ถ้ารสารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางลิ้น ...
ถ้าโผฏฐัพพารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางกาย ...
ถ้าธรรมารมณ์ที่รุนแรงอันจะพึงรับรู้ทางใจ มาปรากฏทางใจของภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ธรรมารมณ์เหล่านั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้น
ได้เลย จิตของภิกษุนั้นไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ เป็นธรรมชาติมั่นคงหนักแน่น และ
ภิกษุนั้นก็พิจารณาเห็นความ(เกิด)ดับของจิตนั้น

นิคมคาถา
จิตของพระขีณาสพผู้น้อมไปในเนกขัมมะ
น้อมไปในปวิเวก น้อมไปในความไม่เบียดเบียน
น้อมไปในความสิ้นอุปาทาน น้อมไปในความสิ้นตัณหา
และน้อมไปในความไม่ลุ่มหลง๑ ย่อมหลุดพ้นโดยชอบ
เพราะเห็นความเกิดแห่งอายตนะ๒
ภิกษุผู้มีจิตสงบระงับหลุดพ้นโดยชอบ
ย่อมไม่มีการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ทั้งไม่มีกิจที่จะต้องทำอีก
ภูเขาหินแท่งทึบย่อมไม่สะเทือนเพราะลม ฉันใด
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งมวล

เชิงอรรถ :
๑ ฐานะ ๖ มีเนกขัมมะเป็นต้น หมายถึงพระอรหัตตผล (วิ.อ. ๓/๒๔๓/๑๖๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๓/๓๕๕)
ส่วนในเถรคาถาอรรถกถากล่าวอธิบายโดยประการอื่น (ขุ.เถร.อ. ๒/๖๔๐-๖๔๑)
๒ ความเกิดและความดับแห่งอายตนะทั้งหลาย (วิ.อ. ๓/๒๔๓-๒๔๔/๑๖๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๔๔/๓๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๘. ทิคุณาทิอุปาหนปฏิกเขปะ
ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ย่อมทำจิตของผู้คงที่ให้หวั่นไหวมิได้ ฉันนั้น
จิตของผู้คงที่นั้น เป็นจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอารมณ์อะไร เพราะท่านผู้คงที่
พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น๑

๑๔๘. ทิคุณาทิอุปาหนปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามใช้รองเท้า ๒ ชั้นเป็นต้น
[๒๔๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
กุลบุตรทั้งหลายกล่าวพยากรณ์อรหัตตผลอย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวแต่เนื้อความและมิได้
น้อมตนเข้าไป๒ แต่โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้เห็นเป็นของสนุก กล่าวพยากรณ์
อรหัตตผล ภายหลัง จึงเดือดร้อน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับท่านพระโสณะว่า “โสณะ เธอเป็นคน
สุขุมาลชาติ เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียวแก่เธอ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ละทิ้งเงินถึง ๘๐ เล่มเกวียนและ
กองคาราวานประกอบด้วยช้าง ๗ เชือก ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อเป็นอย่างนี้
ถ้าข้าพระองค์จะใช้รองเท้าชั้นเดียวก็จะมีคนกล่าวว่า พระโสณโกฬิวิสะละทิ้งเงินถึง
๘๐ เล่มเกวียนและกองคาราวานประกอบด้วยช้าง ๗ เชือก ออกบวชเป็นบรรพชิต
เวลานี้ท่านพระโสณะนั้นยังข้องอยู่ในเรื่องรองเท้าชั้นเดียว ถ้าพระผู้มีพระภาคทรง
อนุญาตภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระองค์ก็จะใช้สอย ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต
ภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระองค์ก็จะไม่ใช้สอย พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๕/๕๓๘-๕๓๙ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๔๐-๖๔๔/๔๕๐
๒ มิได้น้อมตนเข้าไปด้วยการแสดงให้ปรากฏว่า เราเป็นพระอรหันต์ (วิ.อ. ๓/๒๔๕/๑๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๙. สัพพนีลกาทิปฏิกเขปะ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียว ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้า ๒ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้า ๓ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้าหลายชั้น
รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

๑๔๙. สัพพนีลกาทิปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามใช้รองเท้าสีเขียวล้วนเป็นต้น

เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๒๔๖] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ สวมรองเท้าสีเขียวล้วน ... สวมรองเท้า
สีเหลืองล้วน ... สวมรองเท้าสีแดงล้วน ... สวมรองเท้าสีบานเย็นล้วน ... สวมรองเท้า
สีดำล้วน ... สวมรองเท้าสีแสดล้วน ... สวมรองเท้าสีชมพูล้วน
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”๑
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าสีเขียวล้วน
... ไม่พึงสวมรองเท้าสีเหลืองล้วน ... ไม่พึงสวมรองเท้าสีแดงล้วน ... ไม่พึงสวม
รองเท้าสีบานเย็นล้วน ... ไม่พึงสวมรองเท้าสีดำล้วน ... ไม่พึงสวมรองเท้าสีแสดล้วน
... ไม่พึงสวมรองเท้าสีชมพูล้วน รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้ามีหูสีเขียวเป็นต้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สวมรองเท้ามีหูสีเขียว ... สวมรองเท้ามีหูสีเหลือง
... สวมรองเท้ามีหูสีแดง ... สวมรองเท้ามีหูสีบานเย็น ... สวมรองเท้ามีหูสีดำ ...
สวมรองเท้ามีหูสีแสด ... สวมรองเท้ามีหูสีชมพู

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงผู้ครองเรือน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕/๒๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๔๙. สัพพนีลกาทิปฏิกเขปะ
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีเขียว
... ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีเหลือง ... ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีแดง ... ไม่พึงสวมรองเท้า
มีหูสีบานเย็น ... ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีดำ ... ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูสีแสด ... ไม่พึง
สวมรองเท้ามีหูสีชมพู รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าหุ้มส้นเป็นต้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าติดแผ่นหนังหุ้มส้น ... สวมรองเท้า
หุ้มแข้ง ... สวมรองเท้าปกหลังเท้า ... สวมรองเท้ายัดนุ่น ... สวมรองเท้ามีหูลาย
คล้ายขนปีกนกกระทา ... สวมรองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแกะ ... สวมรองเท้า
หูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแพะ ... สวมรองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายหางแมงป่อง ...
สวมรองเท้าที่เย็บด้วยขนนกยูง ... สวมรองเท้างดงามวิจิตร
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าติดแผ่นหนัง
หุ้มส้น ... ไม่พึงสวมรองเท้าหุ้มแข้ง ... ไม่พึงสวมรองเท้าปกหลังเท้า ... ไม่พึงสวม
รองเท้ายัดนุ่น ... ไม่พึงสวมรองเท้ามีหูลายคล้ายขนปีกนกกระทา ... ไม่พึงสวม
รองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแกะ ... ไม่พึงสวมรองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแพะ
... ไม่พึงสวมรองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายหางแมงป่อง ... ไม่พึงสวมรองเท้าที่เย็บ
ด้วยขนนกยูง ... ไม่พึงสวมรองเท้างดงามวิจิตร รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังราชสีห์ ... สวมรองเท้า
ขลิบด้วยหนังเสือโคร่ง ... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังเสือเหลือง ... สวมรองเท้าขลิบ

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๐. โอมุกกคุณังคุณุปาหนานุชานนา
ด้วยหนังเสือดาว... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังนาก ... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนัง
แมว ... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังค่าง ... สวมรองเท้าขลิบด้วยหนังนกเค้า
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนัง
ราชสีห์ ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังเสือโคร่ง ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วย
หนังเสือเหลือง ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังเสือดาว ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบ
ด้วยหนังนาก ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังแมว ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วย
หนังค่าง ... ไม่พึงสวมรองเท้าขลิบด้วยหนังนกเค้า รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

๑๕๐. โอมุกกคุณังคุณุปาหนานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตรองเท้าหลายชั้นที่ใช้แล้ว

เรื่องภิกษุเท้าแตก
[๒๔๗] ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นปัจฉาสมณะ แต่
ภิกษุนั้นเดินเขยกตามพระองค์ไปเบื้องพระปฤษฎางค์
อุบาสกคนหนึ่งสวมรองเท้าหลายชั้น มองเห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมา
แต่ไกล จึงถอดรองเท้าแล้วเข้าไปเฝ้า ถวายอภิวาทแล้วเข้าไปหาภิกษุรูปนั้นไหว้แล้ว
ถามว่า “ทำไม พระคุณเจ้าเดินเขยกขอรับ”
ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “อุบาสก อาตมาเท้าแตก”
อุบาสกกล่าวว่า “นิมนต์พระคุณเจ้ารับรองเท้า ขอรับ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๑. อัชฌารามุปาหนปฏิกเขปะ
ภิกษุตอบว่า “ไม่ละ พระผู้มีพระภาคทรงห้ามรองเท้าหลายชั้น”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุ เธอรับรองเท้าคู่นั้นได้”
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าหลายชั้นที่ใช้แล้ว ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าหลายชั้นที่ยังใหม่ รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

๑๕๑. อัชฌารามุปาหนปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามสวมรองเท้าในอาราม

เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าในอาราม
[๒๔๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ทรงฉลองพระบาทเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง
ภิกษุผู้เถระทั้งหลายทราบว่า “พระศาสดาไม่ทรงฉลองพระบาทเสด็จจงกรมอยู่”
จึงไม่สวมรองเท้าเดินจงกรมบ้าง เมื่อพระศาสดาไม่ทรงฉลองพระบาทเสด็จจงกรม
เมื่อเหล่าภิกษุผู้เถระไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กลับสวมรอง
เท้าเดินจงกรม
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์ เมื่อพระศาสดาไม่ทรงฉลองพระบาทเสด็จจงกรม เมื่อภิกษุผู้เถระ
ทั้งหลายไม่สวมรองเท้าเดินจงกรมอยู่ กลับสวมรองเท้าเดินจงกรมเล่า” แล้วจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าเมื่อเราผู้ศาสดาไม่สวม
รองเท้าเดินจงกรม เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายก็ไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม พวกภิกษุ
ฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าเดินจงกรม จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๑. อัชฌารามุปาหนปฏิกเขปะ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราผู้ศาสดา
ไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม เมื่อภิกษุผู้เถระทั้งหลายก็ไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม
ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงสวมรองเท้าเดินจงกรมเล่า แท้จริงพวกคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาว
ก็ยังมีความเคารพยำเกรงประพฤติสม่ำเสมอในอาจารย์ เพราะได้ศึกษาศิลปะอัน
เป็นเครื่องเลี้ยงชีวิต การที่พวกเธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ พึงมี
ความเคารพยำเกรงประพฤติสม่ำเสมอในอาจารย์ ในภิกษุรุ่นอาจารย์ ในอุปัชฌาย์
ในภิกษุรุ่นอุปัชฌาย์ ก็จะงดงามในธรรมวินัยนี้แน่ การกระทำของโมฆบุรุษเหล่านั้น
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถา
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออาจารย์ เมื่อภิกษุรุ่นอาจารย์ เมื่อ
อุปัชฌาย์ เมื่อภิกษุรุ่นอุปัชฌาย์ ไม่สวมรองเท้าเดินจงกรม ภิกษุไม่พึงสวมรอง
เท้าเดินจงกรม รูปใดสวมเดินจงกรม ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง
ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าในอาราม รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องภิกษุอาพาธเป็นหน่อที่เท้า
[๒๔๙] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นหน่อที่เท้า พวกภิกษุต้องพยุง
ภิกษุนั้นไปถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกตามเสนาสนะ ทอดพระเนตรเห็นพวกภิกษุกำลัง
พยุงภิกษุรูปนั้นไปถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น
แล้วได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้น ดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้อาพาธเป็นอะไร”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ท่านรูปนี้อาพาธเป็นหน่อที่เท้า พวกข้าพระ
พุทธเจ้าต้องพยุงท่านไปถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มีเท้าเจ็บ เท้าแตก
หรืออาพาธเป็นหน่อที่เท้าสวมรองเท้าได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายไม่ล้างเท้าขึ้นเตียงบ้าง ตั่งบ้าง จีวรและเสนาสนะจึง
เปรอะเปื้อน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวมรองเท้าในขณะ
ที่ตั้งใจว่า ประเดี๋ยวจะขึ้นเตียงหรือตั่ง”
สมัยนั้น เวลากลางคืน ภิกษุทั้งหลายเดินไปโรงอุโบสถบ้าง ที่ประชุมบ้าง
เหยียบตอไม้บ้าง หนามบ้างในที่มืด เท้าทั้งสองบาดเจ็บ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สวมรองเท้า ใช้คบ
เพลิง ประทีป ไม้เท้าในอาราม”

๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามสวมเขียงเท้าไม้เป็นต้น

เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมเขียงเท้าไม้
[๒๕๐] สมัยนั้น ในเวลาเช้ามืด พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ลุกขึ้นสวมเขียงเท้าไม้
เดินจงกรมในที่กลางแจ้ง มีเสียงกึกกัก ดังอึกทึก สนทนาดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ๑

๑. ราชกถา เรื่องพระราชา ๒. โจรกถา เรื่องโจร
๓. มหามัตตกถา เรื่องมหาอมาตย์ ๔. เสนากถา เรื่องกองทัพ
๕. ภยกถา เรื่องภัย ๖. ยุทธกถา เรื่องการรบ
๗. อันนกถา เรื่องข้าว ๘. ปานกถา เรื่องน้ำดื่ม
๙. วัตถกถา เรื่องผ้า ๑๐. สยนกถา เรื่องที่นอน
๑๑. มาลากถา เรื่องพวงดอกไม้ ๑๒. คันธกถา เรื่องของหอม


เชิงอรรถ :
๑ วิ.มหา. (แปล) ๒/๕๐๘/๕๙๙-๖๐๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ

๑๓. ญาติกถา เรื่องญาติ ๑๔. ยานกถา เรื่องยาน
๑๕. คามกถา เรื่องบ้าน ๑๖. นิคมกถา เรื่องนิคม
๑๗. นครกถา เรื่องเมือง ๑๘. ชนปทกถา เรื่องชนบท
๑๙. อิตถีกถา เรื่องสตรี ๒๐. ปุริสกถา เรื่องบุรุษ
๒๑. สูรกถา เรื่องคนกล้าหาญ ๒๒. วิสิขากถา เรื่องตรอก
๒๓. กุมภัฏฐานกถา เรื่องท่าน้ำ ๒๔. ปุพพเปตกถา เรื่องคนที่ล่วง
ลับไปแล้ว
๒๕. นานัตตกถา เรื่องเบ็ดเตล็ด ๒๖. โลกักขายิกะ เรื่องโลก
๒๗. สมุททักขายิกะ เรื่องทะเล ๒๘. อิติภวาภวกถา เรื่องความ
เจริญและความเสื่อม

เหยียบแมลงตายบ้าง ทำภิกษุทั้งหลายให้คลาดจากสมาธิบ้าง
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน พวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงลุกขึ้นในเวลาเช้ามืด สวมเขียงเท้าไม้ เดินจงกรมในที่กลางแจ้ง
มีเสียงกึกกัก ดังอึกทึก สนทนาดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ
๑. ราชกถา เรื่องพระราชา ๒. โจรกถา เรื่องโจร
ฯลฯ
๒๘. อิติภวาภวกถา เรื่องความเจริญและความเสื่อม
เหยียบแมลงตายบ้าง ทำภิกษุทั้งหลายให้คลาดจากสมาธิบ้างเล่า” แล้วจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ลุก
ขึ้นในเวลาเช้ามืด สวมเขียงเท้าไม้เดินจงกรมในที่กลางแจ้ง มีเสียงกึกกัก ดังอึกทึก
สนทนาดิรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ
๑. ราชกถา เรื่องพระราชา ๒. โจรกถา เรื่องโจร
ฯลฯ
๒๘. อิติภวาภวกถา เรื่องความเจริญและความเสื่อม
เหยียบแมลงตายบ้าง ทำภิกษุทั้งหลายให้คลาดจากสมาธิบ้าง จริงหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาค ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้วแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมเขียงเท้าไม้ รูปใดสวม ต้องอาบัติ
ทุกกฏ”

เรื่องเขียงเท้าใบตาล
ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จ
จาริกไปทางกรุงพาราณสี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงพาราณสีแล้ว ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันในกรุงพาราณสีนั้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้ปรึกษากันว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามเขียง
เท้าไม้” จึงให้ตัดต้นตาลอ่อน แล้วใช้ใบตาลมาทำเขียงเท้าสวม ต้นตาลอ่อนที่ถูก
ตัดนั้น ๆ ย่อมเหี่ยวแห้ง
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากย
บุตรจึงให้ตัดต้นตาลอ่อน ใช้ใบตาลทำเขียงเท้าสวมเล่า ต้นตาลอ่อนที่ถูกตัดนั้น ๆ
ย่อมเหี่ยวแห้ง พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตซึ่งมีอินทรีย์เดียว”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ให้
ตัดต้นตาลอ่อน นำใบตาลมาทำเขียงเท้าสวม ต้นตาลอ่อนที่ถูกตัดนั้น ๆ ย่อมเหี่ยว
แห้งไป จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น
จึงให้ตัดต้นตาลอ่อน ใช้ใบตาลมาทำเขียงเท้าสวมเล่า ต้นตาลอ่อน ที่ถูกตัดนั้น ๆ
ย่อมเหี่ยวแห้งไป ภิกษุทั้งหลาย เพราะคนทั้งหลายมีความสำคัญว่าต้นไม้มีชีวิต

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษนั้น มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุไม่พึงสวมเขียงเท้าใบตาล รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องเขียงเท้าสานด้วยใบไผ่
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ได้ปรึกษากันว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามเขียง
เท้าใบตาล” จึงให้ตัดไม้ไผ่อ่อน แล้วใช้ใบไผ่มาทำเขียงเท้าสวม ไม้ไผ่อ่อนที่ถูก
ตัดนั้น ๆ ย่อมเหี่ยวแห้ง
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายศากย
บุตรจึงให้ตัดไม้ไผ่อ่อน ใช้ใบไผ่มาทำเขียงเท้าสวมเล่า ไม้ไผ่อ่อนที่ถูกตัดนั้น ๆ
ย่อมเหี่ยวแห้งไป พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตซึ่งมีอินทรีย์เดียว”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมเขียงเท้าใบไผ่ รูปใด
สวม ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องเขียงเท้าสานด้วยหญ้าสามัญ
[๒๕๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสีตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปเมืองภัททิยะ เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงเมือง
ภัททิยะแล้ว ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าชาติยาวัน ในเมือง
ภัททิยะนั้น
สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองภัททิยะ ขวนขวายตกแต่งเขียงเท้าหลายชนิด คือ
ทำเขียงเท้าหญ้า(สามัญ)เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้ามุงกระต่ายเองบ้าง
ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้าปล้องเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าใบเป้งเองบ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้าแฝกเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าขนสัตว์เองบ้าง
ใช้ให้ทำบ้าง ทอดทิ้งอุทเทส ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุชาวเมืองภัททิยะ จึงขวนขวายตกแต่งเขียงเท้าหลายชนิด คือ ทำเขียงเท้าหญ้า
(สามัญ)เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้ามุงกระต่ายเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง
ทำเขียงเท้าหญ้าปล้องเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าใบเป้งเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง
ทำเขียงเท้าหญ้าแฝกเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าขนสัตว์เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง
ทอดทิ้งอุทเทส ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญาเล่า”
ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุชาวเมืองภัททิยะ
ขวนขวายตกแต่งเขียงเท้าหลายชนิด คือ ทำเขียงเท้าหญ้า(สามัญ)เองบ้าง ใช้ให้
ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้ามุงกระต่ายเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้าปล้อง
เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าใบเป้งเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้า
แฝกเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าขนสัตว์เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทอดทิ้งอุทเทส
ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษ
เหล่านั้นจึงขวนขวายตกแต่งเขียงเท้าหลายชนิด คือ ทำเขียงเท้าหญ้า(สามัญ)เอง
บ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าหญ้ามุงกระต่ายเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้า
หญ้าปล้องเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าใบเป้งเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียง
เท้าหญ้าแฝกเองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทำเขียงเท้าขนสัตว์เองบ้าง ใช้ให้ทำบ้าง ทอด
ทิ้งอุทเทส ปริปุจฉา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่าง
นี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๒. กัฏฐปาทุกาทิปฏิกเขปะ
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมเขียงเท้าหญ้า(สามัญ) ...
ไม่พึงสวมเขียงเท้าหญ้ามุงกระต่าย ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าหญ้าปล้อง ... ไม่พึงสวม
เขียงเท้าใบเป้ง ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าหญ้าแฝก ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าขนสัตว์ ... ไม่
พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยทองคำ ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยเงิน ... ไม่
พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วมณี ...ไม่พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วไพฑูรย์ ...
ไม่พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วผลึก ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยสำริด ...
ไม่พึงสวมเขียงเท้าประดับด้วยกระจก ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าทำด้วยดีบุก ... ไม่พึง
สวมเขียงเท้าทำด้วยสังกะสี ... ไม่พึงสวมเขียงเท้าทำด้วยทองแดง รูปใดสวม ต้อง
อาบัติทุกกฏ
อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมเขียงเท้าชนิดที่ต้องสวมเดิน รูปใดสวม
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเขียงเท้าที่ตรึงอยู่กับที่ ไม่ใช้สวมเดิน
๓ ชนิด คือ เขียงเท้าสำหรับใช้ในที่ที่ถ่ายอุจจาระ เขียงเท้าสำหรับใช้ในที่ที่ถ่าย
ปัสสาวะ เขียงเท้าสำหรับใช้ในที่ชำระ”

เรื่องพระฉัพพัคคีย์จับแม่โค
[๒๕๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เมืองภัททิยะตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุง
สาวัตถีแล้ว ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ในกรุงสาวัตถีนั้น
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จับแม่โคที่กำลังข้ามแม่น้ำอจิรวดีที่เขาบ้าง จับที่
หูบ้าง จับที่คอบ้าง จับที่หางบ้าง ขึ้นขี่หลังบ้าง มีความกำหนัดจับองค์กำเนิดบ้าง
กดลูกโคจนจมน้ำตายบ้าง
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระ
ศากยบุตรจึงจับแม่โคที่กำลังข้ามแม่น้ำอจิรวดีที่เขาบ้าง จับที่หูบ้าง จับที่คอบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๓. ยานาทิปฏิกเขปะ
จับที่หางบ้าง ขึ้นขี่หลังบ้าง มีความกำหนัดจับองค์กำเนิดบ้าง กดลูกโคจนจมน้ำ
ตายบ้าง เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา ฯลฯ จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุฉัพพัคคีย์จับ
แม่โคที่กำลังข้ามแม่น้ำอจิรวดีที่เขาบ้าง จับที่หูบ้าง จับที่คอบ้าง จับที่หางบ้าง ขึ้นขี่
หลังบ้าง มีความกำหนัดจับองค์กำเนิดบ้าง กดลูกโคจนจมน้ำตายบ้าง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงจับแม่โคทั้งหลายที่เขา รูปใดจับ
ต้องอาบัติทุกกฏ... ไม่พึงจับที่หู ... ไม่พึงจับที่คอ ... ไม่พึงจับที่หาง ... ไม่พึง
ขึ้นขี่หลัง รูปใดขึ้นขี่หลัง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีจิตกำหนัด
ไม่พึงจับองค์กำเนิด(แม่โค) รูปใดจับ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ภิกษุไม่พึงฆ่าลูกโค
รูปใดฆ่า พึงปรับอาบัติตามธรรม”

๑๕๓. ยานาทิปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามยานพาหนะเป็นต้น

เรื่องพระฉัพพัคคีย์โดยสารยานพาหนะและภิกษุเป็นไข้
[๒๕๓] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยสารยานพาหนะเทียมด้วยโคเพศเมีย
มีบุรุษเป็นสารถีบ้าง เทียมด้วยโคเพศผู้มีสตรีเป็นสารถีบ้าง
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนชายหนุ่มหญิงสาว
โดยสารยานพาหนะไปเล่นน้ำในแม่น้ำคงคาและแม่น้ำมหี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๓. ยานาทิปฏิกเขปะ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงโดยสารยานพาหนะ รูปใด
โดยสาร ต้องอาบัติทุกกฏ”
ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไปกรุงสาวัตถี ในแคว้นโกศล เพื่อจะเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคเป็นไข้ในระหว่างทาง จึงแวะไปนั่งอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง คนทั้งหลาย
พบภิกษุรูปนั้นจึงถามว่า “พระคุณเจ้าจะไปไหน ขอรับ”
ภิกษุตอบว่า “โยมทั้งหลาย อาตมาจะไปกรุงสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค”
คนเหล่านั้นกล่าวว่า “นิมนต์มาเถิด พระคุณเจ้า เราจะไปด้วยกัน”
ภิกษุตอบว่า “อาตมาเป็นไข้ ไปไม่ได้”
คนทั้งหลายกล่าวว่า “นิมนต์มาขึ้นยานพาหนะเถิด พระคุณเจ้า”
ภิกษุตอบว่า “อย่าเลย พระผู้มีพระภาคทรงห้ามโดยสารยานพาหนะ” ยำเกรงอยู่
ไม่ยอมขึ้นยาน พอไปถึงกรุงสาวัตถีจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยานพาหนะสำหรับภิกษุผู้เป็นไข้”

เรื่องยานพาหนะเทียมด้วยโคเพศผู้และยานพาหนะที่ใช้มือลาก
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีการสนทนากันดังนี้ว่า “ยานพาหนะที่ทรงอนุญาต
นั้นเทียมโคเพศเมียหรือโคเพศผู้”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยานพาหนะที่เทียมโค
เพศผู้๑ ยานพาหนะที่ใช้มือลาก”

เชิงอรรถ :
๑ คนที่ลากยานพาหนะจะเป็นบุรุษหรือสตรีก็ได้ (วิ.อ. ๓/๑๕๓/๑๖๘) ภิกษุขี่ยานพาหนะประเภทนี้ ไม่ต้อง
อาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๔. อุจจาสยนมหาสยนาปฏิกเขปะ
เรื่องคานหาม
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไม่สบายอย่างหนัก เพราะยานพาหนะกระเทือน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตวอ(และ)เปลหาม”

๑๕๔. อุจจาสยนมหาสยนาปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามที่นอนสูงใหญ่

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้ที่นอนสูงใหญ่
[๒๕๔] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ที่นอนสูงใหญ่๑ คือ

๑. เตียงมีเท้าสูงเกินขนาด ๒. เตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย
๓. พรมขนสัตว์ ๔. เครื่องลาดขนแกะลายวิจิตร
๕. เครื่องลาดขนแกะสีขาว ๖. เครื่องลาดมีรูปดอกไม้
๗. เครื่องลาดยัดนุ่น ๘. เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูป
สัตว์ร้าย เช่นราชสีห์และเสือ
๙. เครื่องลาดขนแกะมีขน ๒ ด้าน ๑๐. เครื่องลาดขนแกะมีขนด้านเดียว
๑๑. เครื่องลาดปักด้วยไหมประดับรัตนะ ๑๒. เครื่องลาดผ้าไหมประดับรัตนะ
๑๓. เครื่องลาดขนแกะขนาดใหญ่ที่นาง ๑๔. เครื่องลาดบนหลังช้าง
ฟ้อน ๑๖ คนร่ายรำได้
๑๕. เครื่องลาดบนหลังม้า ๑๖. เครื่องลาดในรถ
๑๗. เครื่องลาดทำด้วยหนังเสือดาว ๑๘. เครื่องลาดหนังชะมด
๑๙. เครื่องลาดมีเพดาน ๒๐. เครื่องลาดมีหมอน ๒ ข้าง๒


เชิงอรรถ :
๑ ที่นอนสูงใหญ่ หมายถึงเตียงเกินประมาณและเครื่องลาดที่ไม่สมควร (วิ.อ. ๓/๒๕๔/๑๖๙)
๒ วิ.จู. ๗/๓๒๐/๙๒-๙๓, ที.สี. (แปล) ๙/๑๕/๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๕. สัพพจัมมปฏิกเขปะ
คนทั้งหลายเดินเที่ยวไปตามวิหารพบเห็น จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ที่นอนสูงใหญ่ คือ

๑. เตียงมีเท้าสูงเกินขนาด ๒. เตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย
๓. พรมขนสัตว์ ๔. เครื่องลาดขนแกะลายวิจิตร
๕. เครื่องลาดขนแกะสีขาว ๖. เครื่องลาดมีรูปดอกไม้
๗. เครื่องลาดยัดนุ่น ๘. เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูป
สัตว์ร้าย เช่นราชสีห์และเสือ
๙. เครื่องลาดขนแกะมีขน ๒ ด้าน ๑๐. เครื่องลาดขนแกะมีขนด้านเดียว
๑๑. เครื่องลาดปักด้วยไหมประดับรัตนะ ๑๒. เครื่องลาดผ้าไหมประดับรัตนะ
๑๓. เครื่องลาดขนแกะขนาดใหญ่ที่นาง ๑๔. เครื่องลาดบนหลังช้าง
ฟ้อน ๑๖ คนร่ายรำได้
๑๕. เครื่องลาดบนหลังม้า ๑๖. เครื่องลาดในรถ
๑๗. เครื่องลาดทำด้วยหนังเสือดาว ๑๘. เครื่องลาดหนังชะมด
๑๙. เครื่องลาดมีเพดาน ๒๐. เครื่องลาดมีหมอน ๒ ข้าง
รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

๑๕๕. สัพพจัมมปฏิกเขปะ
ว่าด้วยทรงห้ามแผ่นหนัง

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้หนังผืนใหญ่
[๒๕๕] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามที่นอน
สูงใหญ่” จึงใช้หนังผืนใหญ่ คือ หนังสีหะ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง แผ่นหนัง
เหล่านั้นตัดตามขนาดเตียงบ้าง ตัดตามขนาดตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายในเตียงบ้าง
ปูลาดไว้ภายนอกเตียงบ้าง ปูลาดไว้ภายในตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายนอกตั่งบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๕. สัพพจัมมปฏิกเขปะ
คนทั้งหลายเดินเที่ยวไปตามวิหารพบเข้า จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หนังผืนใหญ่ คือ
หนังสีหะ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”
ต่อมา พวกภิกษุฉัพพัคคีย์รู้ว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามหนังผืนใหญ่” จึงใช้
หนังโค ตัดตามขนาดเตียงบ้าง ตัดตามขนาดตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายในเตียงบ้าง
ปูลาดไว้ภายนอกเตียงบ้าง ปูลาดไว้ภายในตั่งบ้าง ปูลาดไว้ภายนอกตั่งบ้าง

เรื่องภิกษุใจบาปขอหนังลูกโค
มีภิกษุใจบาปรูปหนึ่งเป็นพระใกล้ชิดตระกูลของอุบาสกใจบาปคนหนึ่ง เช้าวัน
หนึ่ง ภิกษุนั้นครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเดินไปบ้านของอุบาสกนั้น นั่ง
บนอาสนะที่เขาจัดไว้ ลำดับนั้น อุบาสกใจบาปนั้นเข้าไปหาภิกษุใจบาปถึงอาสนะ
ไหว้แล้วนั่งลง ณ ที่สมควร อุบาสกใจบาปนั้นมีลูกโครุ่นรูปร่างงดงาม น่าดู น่าชม
คล้ายลูกเสือเหลือง ภิกษุใจบาปนั้นจึงมองลูกโคนั้นด้วยความสนใจ
อุบาสกถามภิกษุว่า “พระคุณเจ้า ท่านมองดูลูกโคอย่างสนใจ เพื่ออะไรกัน”
ภิกษุตอบว่า “อุบาสก อาตมาอยากได้หนังของมัน”
เขาจึงฆ่าลูกโคแล้วถลกหนังมาถวายภิกษุใจบาปนั้น ลำดับนั้น ภิกษุใจบาป
นั้นใช้สังฆาฏิห่อหนังเดินจากไป แม่โคจึงเดินตามภิกษุเพราะความรักลูก
ภิกษุทั้งหลายถามภิกษุใจบาปนั้นว่า “ทำไมแม่โคจึงเดินตามท่านเล่า”
ภิกษุนั้นตอบว่า “ผมเองก็ไม่ทราบว่า มันเดินตามมาเพราะเหตุใด”
พอดีสังฆาฏิของภิกษุใจบาปนั้นเปื้อนเลือด ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
“สังฆาฏิผืนนี้ท่านห่ออะไรไว้”
ภิกษุนั้นจึงบอกเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายทราบ

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๖. คิหิวิกตานุญญาตาทิ
พวกภิกษุถามว่า “ท่านชักชวนให้ฆ่าสัตว์หรือ”
ภิกษุนั้นกล่าวว่า “อย่างนั้น ท่านทั้งหลาย”
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุจึง
ชักชวนให้ฆ่าสัตว์เล่า พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิการฆ่าสัตว์ ทรงสรรเสริญการงด
เว้นจากการฆ่าสัตว์มิใช่หรือ” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เรื่องทรงห้ามใช้หนังโคเป็นต้น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุใจบาปรูปนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่าเธอชักชวนให้ฆ่าสัตว์ จริงหรือ”
ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงชักชวนให้ฆ่าสัตว์
เล่า โมฆบุรุษ เราตำหนิการฆ่าสัตว์ สรรเสริญการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ โดย
ประการต่าง ๆ มิใช่หรือ โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงชักชวนให้ฆ่าสัตว์ รูปใดชักชวน พึงปรับอาบัติตามธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้หนังโค รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
หนังอะไรก็ตาม ภิกษุไม่พึงใช้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ”

๑๕๖. คิหิวิกตานุญญาตาทิ
ว่าด้วยทรงอนุญาตเครื่องคิหิวิกัต๑เป็นต้น
[๒๕๖] สมัยนั้น เตียงก็ดี ตั่งก็ดีของคนทั้งหลาย หุ้มด้วยหนังบ้าง รัดด้วย
หนังบ้าง ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่นั่งทับ

เชิงอรรถ :
๑ คิหิวิกัต หมายถึงเครื่องใช้สอยของพวกคฤหัสถ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๖. คิหิวิกตานุญญาตาทิ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งทับเตียงตั่งที่เป็น
คิหิวิกัต แต่ไม่อนุญาตให้นอนทับ”
ต่อมา วิหารทั้งหลายเขาผูกรัดด้วยเชือกหนัง ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่
นั่งพิง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้นั่งพิงเฉพาะเชือก”

ทรงห้ามและอนุญาตให้สวมรองเท้าเข้าหมู่บ้าน
เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าเข้าหมู่บ้านและภิกษุเป็นไข้
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าเข้าหมู่บ้าน
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้าเข้าหมู่บ้าน
รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ”
ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้ ไม่สวมรองเท้าไม่อาจเข้าหมู่บ้านได้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุไข้สวมรองเท้าเข้า
หมู่บ้านได้”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๗. โสณกุฏิกัณณวัตถุ
๑๕๗. โสณกุฏิกัณณวัตถุ๑
ว่าด้วยพระโสณกุฏิกัณณะ

เรื่องพระมหากัจจานะ
[๒๕๗] สมัยนั้น ท่านพระมหากัจจานะพักอยู่ที่ภูเขาปปาตะ๒ เมืองกุรุรฆระ
ในแคว้นอวันตี ครั้งนั้น อุบาสกชื่อโสณกุฏิกัณณะ เป็นอุปัฏฐากของท่านพระ
มหากัจจานะ ต่อมา เขาเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว นั่ง ณ
ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ธรรมตามที่พระ
คุณเจ้ามหากัจจานะแสดงนั้น กระผมเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติ
พรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย’
กระผมปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนมาบวช
เป็นบรรพชิต ขอพระคุณเจ้ากัจจานะโปรดให้กระผมบวชด้วยเถิด ขอรับ”
เมื่อเขากล่าวอย่างนี้ ท่านพระมหากัจจานะได้กล่าวกับอุบาสกโสณกุฏิกัณณะ
ดังนี้ว่า “การประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งต้องนอนผู้เดียว๓ บริโภคอาหารมื้อเดียวจน
ตลอดชีพทำได้ยาก แต่เอาเถอะ โสณะ ท่านเป็นคฤหัสถ์อยู่ที่บ้านนั้นแหละ จง
หมั่นประพฤติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นพรหมจรรย์ที่ต้อง
นอนผู้เดียว บริโภคอาหารมื้อเดียวตามเวลาที่เหมาะสมเถิด”๔
ครั้งนั้น ความคิดที่น้อมไปเพื่อบรรพชาของอุบาสกโสณกุฏิกัณณะ ระงับไป

เชิงอรรถ :
๑ โสณสูตร (ขุ.อุ. ๒๕/๔๖/๑๗๑)
๒ ภูเขาปวัตตะ (ขุ.อ. ๒๕/๔๖/๑๗๑)
๓ นอนผู้เดียว มิได้หมายถึงแต่เพียงอิริยาบถนอนอย่างเดียว แต่หมายถึงอิริยาบถอีก ๓ อิริยาบถด้วย คือ
ยืนผู้เดียว เดินผู้เดียว นั่งผู้เดียว ซึ่งจัดเป็นกายวิเวก (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๕๓/๓๖๐)
๔ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่อุบาสกจะพึงหมั่นประพฤติในส่วนเบื้องต้น คือ ศีล ๕ ที่จะต้องรักษาประจำ
ศีล ๘ ที่พึงรักษาในวันอุโบสถ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และศีล ๑๐ (ถ้าสามารถ)และเจริญสมาธิ
ปัญญาตามเหมาะสมแก่ศีลที่รักษานั้น ๆ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๕๗/๓๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
แม้ครั้งที่ ๒ อุบาสกโสณกุฏิกัณณะ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ อุบาสกโสณกุฏิกัณณะ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่
ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ
ธรรมตามที่พระคุณเจ้ามหากัจจานะแสดงนั้น กระผมเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครอง
เรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว มิใช่
กระทำได้ง่าย’ กระผมปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจาก
เรือนมาบวชเป็นบรรพชิต ขอพระคุณเจ้ากัจจานะโปรดให้กระผมบวชด้วยเถิด ขอรับ”
ลำดับนั้น ท่านพระมหากัจจานะจึงให้อุบาสกโสณกุฏิกัณณะบวช
ก็สมัยนั้น อวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อย ท่านพระมหากัจจานะจัดหาภิกษุ
สงฆ์จากที่นั้น ๆ ให้ครบองค์ประชุม คือ ๑๐ รูป ได้ยากลำบาก เวลาล่วงไปถึง
๓ ปี จึงให้ท่านโสณะอุปสมบทได้

๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ว่าด้วยอาณัตติกพจน์ของท่านพระมหากัจจานะ ๕ ประการ
สมัยนั้น ท่านพระโสณะออกพรรษาแล้ว หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความ
คิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า “เราเพียงแต่ได้ยินว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงมีพระ
ลักษณะเช่นนี้และเช่นนี้’ แต่เราไม่เคยเฝ้าเฉพาะพระพักตร์เลย เราจะไปเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต”
ครั้นเวลาเย็น ท่านพระโสณะออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปหาท่านพระมหา
กัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระโสณะได้กล่าวกับท่านพระ
มหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิด
ความคิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า “เราเพียงแต่ได้ยินว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ทรงมีพระลักษณะเช่นนี้และเช่นนี้’ แต่เราไม่เคยเฝ้าเฉพาะพระพักตร์เลย เราจะไป
เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ท่านผู้เจริญ กระผมจะไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต”
ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า “ดีละ ดีละ โสณะ ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเถิด ท่านจะเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้น่าเลื่อมใส ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส๑ มีพระอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ทรง
บรรลุทมถะและสมถะสูงสุด๒ ทรงฝึกฝนแล้ว คุ้มครองแล้ว ทรงสำรวมอินทรีย์ ทรง
เป็นผู้ประเสริฐ ท่านโสณะ ท่านจงถวายอภิวาทด้วยเศียรเกล้าแทบพระบาทของ
พระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ‘พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระมหากัจจานะผู้เป็นพระ
อุปัชฌาย์ของข้าพระองค์ ขอถวายอภิวาทแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย
เศียรเกล้า’ ดังนี้ และจงกราบทูลอย่างนี้ว่า
๑. พระพุทธเจ้าข้า อวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อย ข้าพระองค์จัดหา
ภิกษุสงฆ์จากที่นั้น ๆ ให้ครบองค์ประชุม คือ ๑๐ รูป ได้ยาก
ลำบาก เวลาล่วงไปถึง ๓ ปี๓ จึงได้อุปสมบท ถ้ากระไร พระผู้มี
พระภาคพึงทรงอนุญาตให้อุปสมบทด้วยคณะสงฆ์น้อยรูปกว่านี้ได้
เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ

เชิงอรรถ :
๑ น่าเลื่อมใส คือให้เกิดความเลื่อมใส (วิ.อ. ๓/๒๕๗/๑๗๐) พระรูปกายของพระผู้มีพระภาคถึงพร้อมด้วย
พระรัศมีแห่งพระสรีระอันนำความเลื่อมใสมารอบด้าน เพราะประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ
อนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ และพระเกตุมาลามีพระรัศมีแผ่ออกข้างละวา นำความเลื่อมใสมาแก่ชนผู้สนใจ
ทัสสนาพระรูปกาย เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส พระผู้มีพระภาคทรงถึงพร้อมด้วยกองธรรมอันประกอบ
ด้วยหมู่แห่งคุณที่ประมาณมิได้ เป็นต้นว่า พลญาณ ๑๐ เวสารัชชญาณ ๔ อสาธารณญาณ ๖ (ดู ขุ.ป.
๓๑/๖๘-๗๓/๕,๑๒๑/๑๓๗) และพุทธธรรมเฉพาะอย่าง ๑๘ ประการ (ดู ที.ปา.อ. ๓/๓๐๕/๑๘๘-๑๘๙)
(ขุ.อุ.อ. ๙๐, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๕๗/๓๖๓)
๒ ทมถะและสมถะ หมายถึงปัญญาและสมาธิและหมายถึงความสงบกายและความสงบจิตบ้าง (วิ.อ. ๓/
๒๕๗/๑๗๐) ทมถะและสมถะที่สูงสุด คือปัญญาวิมุตติและเจโตวิมุตติอันเป็นโลกุตตระ (สารตฺถ. ฏีกา. ๓/
๒๕๗/๓๖๓)
๓ หมายถึง เวลาผ่านไป ๓ พรรษา นับจากวันที่บรรพชาเป็นสามเณร (วิ.อ. ๓/๒๕๗/๑๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
๒. พระพุทธเจ้าข้า พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีสีดำมาก แข็ง มี
รอยระแหงกีบโค ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตรองเท้า
หลายชั้น เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๓. พระพุทธเจ้าข้า พวกมนุษย์ในอวันตีทักขิณาบถนิยมการอาบน้ำ
ถือว่าน้ำจะทำให้สะอาด ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาต
การอาบน้ำได้เป็นนิตย์ เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๔. พระพุทธเจ้าข้า ในอวันตีทักขิณาบถ มีหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ
หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค เหมือนกับที่มัชฌิมชนบทมีหญ้า
ตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง ถ้ากระไร
พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ หนังแกะ
หนังแพะ และหนังมฤค เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๕. พระพุทธเจ้าข้า เวลานี้ พวกมนุษย์ถวายจีวรฝากภิกษุทั้งหลาย
ผู้อยู่นอกสีมาด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้’
ภิกษุผู้รับฝากเหล่านั้นมาบอกว่า ‘พวกมนุษย์ชื่อนี้ถวายจีวรแก่ท่าน’
ภิกษุที่จะได้รับจีวรเหล่านั้นยำเกรงอยู่ จึงไม่ยินดี ด้วยคิดว่า
‘ของที่เป็นนิสสัคคีย์๑ อย่าได้มีแก่พวกเราเลย’ ถ้ากระไร พระผู้มี
พระภาคพึงตรัสบอกเหตุในเรื่องจีวร”

พระโสณะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ท่านพระโสณะรับคำของท่านพระมหากัจจานะแล้ว ลุกจากอาสนะไหว้ท่าน
พระมหากัจจานะ ทำประทักษิณ เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวร จาริกไปทาง
กรุงสาวัตถี เดินทางไปโดยลำดับจนถึงกรุงสาวัตถี ถึงพระเชตวันอารามของอนาถ
บิณฑิกเศรษฐีแล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดเกี่ยวกับของที่เป็นนิสสัคคีย์ใน วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๕๙-๕๔๑/๑-๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เธอจงจัด
เสนาสนะต้อนรับภิกษุอาคันตุกะรูปนี้”
ท่านพระอานนท์ทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงมีพระประสงค์จะประทับอยู่ใน
วิหารหลังเดียวกับภิกษุรูปที่พระองค์มีพระบัญชาใช้เราว่า ‘อานนท์ เธอจงจัด
เสนาสนะต้อนรับภิกษุอาคันตุกะรูปนี้’ พระผู้มีพระภาคทรงมีพระประสงค์จะประทับ
อยู่ในวิหารแห่งเดียวกับท่านพระโสณะ” จึงจัดเสนาสนะต้อนรับท่านพระโสณะใน
พระวิหารอันเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาค

เรื่องพระโสณะสวดพระสูตรในอัฏฐกวรรค
[๒๕๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในที่แจ้งจนดึกจึงเสด็จเข้าพระวิหาร
ฝ่ายท่านพระโสณะก็ใช้เวลาอยู่ในที่แจ้งจนดึกจึงเข้าพระวิหาร พอถึงเวลาใกล้รุ่ง
พระผู้มีพระภาคทรงลุกขึ้นแล้ว ทรงเชื้อเชิญท่านพระโสณะว่า “ภิกษุ เธอจงกล่าวธรรม
ตามถนัดเถิด”๑
ท่านพระโสณะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ได้สวดพระสูตรทั้งหมด ในอัฏฐก
วรรค๒โดยทำนองสรภัญญะ
เมื่อท่านพระโสณะสวดทำนองสรภัญญะจบแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงชื่นชม
อย่างยิ่งจึงได้ประทานสาธุการว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ เธอเล่าเรียนสูตรในอัฏฐก
วรรคมาดีแล้ว จำได้แม่นยำดี เปล่งเสียงสวดได้ไพเราะเพราะพริ้ง ไม่มีที่น่าตำหนิ
บอกความหมายได้ชัดเจน ภิกษุ เธอมีพรรษาเท่าไร”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ข้าพระองค์บวชได้ ๑ พรรษา พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เพราะเหตุไร เธอจึงช้าอยู่เล่า”

เชิงอรรถ :
๑ จงกล่าวธรรมตามที่ได้ฟัง ตามที่เล่าเรียนมา (ขุ.อุ.อ. ๔๖/๓๓๔)
๒ ขุ.สุ. ๒๕/๗๗๓-๙๘๒/๔๘๖-๕๒๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ข้าพระองค์เห็นโทษในกามนานแล้ว แต่ผู้ครองเรือน
วุ่นวาย๑ มีกิจมาก มีธุระมาก พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องนี้แล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า
“อารยชนเห็นโทษในโลก รู้ธรรมที่ไม่มีอุปธิ
จึงไม่ยินดีในบาป เพราะคนบริสุทธิ์๒ ย่อมไม่ยินดีในบาป”๓
ลำดับนั้น ท่านพระโสณะคิดว่า “พระผู้มีพระภาคกำลังทรงชื่นชมเรา เวลานี้
ควรกราบทูลคำสั่งของพระอุปัชฌาย์” จึงลุกจากอาสนะ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า
ข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า กราบทูลพระผู้
มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่านพระมหากัจจานะผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของข้าพระองค์ ขอกราบ
ถวายอภิวาทแทบพระบาทของพระพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า สั่งให้กราบทูลว่า
๑. พระพุทธเจ้าข้า อวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อย ข้าพระองค์จัดหา
ภิกษุสงฆ์จากที่นั้น ๆ ให้ครบองค์ประชุม คือ ๑๐ รูป ได้ยาก
ลำบาก เวลาล่วงไปถึง ๓ ปี จึงได้อุปสมบท ถ้ากระไร พระผู้มี
พระภาค พึงทรงอนุญาตให้อุปสมบทด้วยคณะสงฆ์น้อยรูปกว่านี้ได้
เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๒. พระพุทธเจ้าข้า พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีสีดำมาก แข็ง มี
รอยระแหงกีบโค ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตรองเท้า
หลายชั้น เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๓. พระพุทธเจ้าข้า พวกมนุษย์ในอวันตีทักขิณาบถนิยมการอาบน้ำ
ถือว่าน้ำจะทำให้สะอาด ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาต
การอาบน้ำได้เป็นนิตย์ เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ

เชิงอรรถ :
๑ วุ่นวายอยู่กับกรณียกิจน้อยใหญ่ (ขุ.อุ.อ. ๔๖/๓๓๕)
๒ คือเป็นผู้มีความประพฤติทางกายเป็นต้นบริสุทธิ์สม่ำเสมอ (ขุ.อุ.อ. ๔๖/๓๓๖)
๓ ขุ.อุ. ๒๕/๔๖/๑๗๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
๔. พระพุทธเจ้าข้า ในอวันตีทักขิณาบถ มีหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ
หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค เหมือนกับที่มัชฌิมชนบทมีหญ้าตีนกา หญ้า
หางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง ถ้ากระไร
พระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ หนังแกะ
หนังแพะ และหนังมฤค เฉพาะในอวันตีทักขิณาบถ
๕. พระพุทธเจ้าข้า เวลานี้ มนุษย์ทั้งหลายถวายจีวรฝากภิกษุทั้งหลาย
ผู้อยู่นอกสีมาด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้’
ภิกษุผู้รับฝากเหล่านั้นมาบอกว่า ‘พวกมนุษย์ชื่อนี้ถวายจีวรแก่ท่าน’
ภิกษุที่จะได้รับจีวรเหล่านั้นยำเกรงอยู่ จึงไม่ยินดีด้วยคิดว่า ‘ของ
ที่เป็นนิสสัคคีย์อย่าได้มีแก่พวกเราเลย’ ถ้ากระไร พระผู้มีพระภาค
พึงตรัสบอกเหตุในเรื่องจีวร”

เรื่องประทานพร ๕ อย่างแก่พระโสณะ
[๒๕๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ
แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
๑. ภิกษุทั้งหลาย อวันตีทักขิณาบถ มีภิกษุน้อย ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะมีจำนวน ๕ รูปรวมทั้งพระ
วินัยธร ในปัจจันตชนบททั้งหมด

กำหนดเขตปัจจันตชนบทและมัชฌิมชนบท
บรรดาชนบทเหล่านั้น ปัจจันตชนบทกำหนดเขตไว้ ดังนี้
ทางทิศตะวันออกมีนิคมกชังคละ เป็นขอบเขต ถัดเข้ามาถึงมหาสาลนคร
พ้นเขตนั้นไปเป็นปัจจันตชนบท ด้านในเป็นมัชฌิมชนบท
ทางทิศเหนือมีแม่น้ำสัลลวดี เป็นขอบเขต พ้นเขตนั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท
ด้านในเป็นมัชฌิมชนบท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๘. มหากัจจานปัญจวรปริทัสสนา
ทางทิศใต้มีนิคมเสตกัณณิกะเป็นขอบเขต พ้นเขตนั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท
ด้านในเป็นมัชฌิมชนบท
ทางทิศตะวันตกมีหมู่บ้านพราหมณ์ถูณะเป็นขอบเขต พ้นเขตนั้นออกไป
เป็นปัจจันตชนบท ด้านในเป็นมัชฌิมชนบท
ทางทิศอุดรมีภูเขาอุสีรธชะเป็นขอบเขต พ้นเขตนั้นออกไปเป็นปัจจันตชนบท
ด้านในเป็นมัชฌิมชนบท
ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะสงฆ์ ๕ รูปรวมทั้งพระ
วินัยธรได้ทั่วปัจจันตชนบทดังกล่าวนี้
๒. ภิกษุทั้งหลาย พื้นดินในอวันตีทักขิณาบถ มีสีดำมาก แข็ง มีรอย
ระแหงกีบโค เราอนุญาตรองเท้าหลายชั้น ในปัจจันตชนบททั้งหมด
๓. ภิกษุทั้งหลาย พวกมนุษย์ในอวันตีทักขิณาบถนิยมการอาบน้ำ
ถือว่าน้ำจะทำให้สะอาด เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ ใน
ปัจจันตชนบททั้งหมด
๔. ภิกษุทั้งหลาย ในอวันตีทักขิณาบถมีหนังที่เป็นเครื่องลาด คือ
หนังแกะ หนังแพะ หนังมฤค เหมือนกับที่มัชฌิมชนบทมีหญ้า
ตีนกา หญ้าหางนกยูง หญ้าหนวดแมว หญ้าหางช้าง เราอนุญาต
หนังที่เป็นเครื่องลาด คือ หนังแกะ หนังแพะ และหนังมฤค ใน
ปัจจันตชนบททั้งหมด
๕. ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกมนุษย์ถวายจีวรฝากภิกษุทั้งหลายผู้อยู่นอก
สีมาด้วยกล่าวว่า ‘พวกเราขอฝากถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้’ เรา
อนุญาตให้ยินดีจีวรนั้นยังไม่นับ(ราตรี) ตลอดเวลาที่ยังไม่ถึงมือ”๑
จัมมขันธกะที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุที่รับฝากถวายจีวร ยังมิได้นำจีวรมาถวายจนถึงมือ หรือยังมิได้ส่งข่าวมาแจ้งให้ทราบว่า มีทายก
ถวายจีวร ต่อเมื่อภิกษุที่รับฝากถวายจีวรนำมาถวายจนถึงมือ หรือส่งข่าวมาแจ้งให้ทราบ หรือได้ฟังข่าวว่า
มีทายกถวายจีวรแล้วแต่นั้น จีวรนั้นเก็บไว้ได้ ๑๐ วัน (วิ.อ. ๓/๒๕๙/๑๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๓๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๙. รวมเรื่องที่มีในจัมมขันธกะ
๑๕๙. รวมเรื่องที่มีในจัมมขันธกะ
จัมมขันธกะมี ๖๓ เรื่อง คือ๑
เรื่องพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐปกครองหมู่บ้าน
๘๐,๐๐๐ หมู่บ้านรับสั่งให้นายโสณโกฬิวิสะเข้าเฝ้า
เรื่องพระสาคตะแสดงอุตตริมนุสสธรรมอิทธิปาฏิหาริย์
เรื่องโสณโกฬิวิสะเศรษฐีบุตรออกบรรพชาปรารภความเพียรจนเท้าแตก
เรื่องทรงเปรียบเทียบความเพียรกับสายพิณ
เรื่องทรงอนุญาตให้ใช้รองเท้าชั้นเดียว เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีเขียว
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีเหลือง
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีแดง เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีบานเย็น
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีดำ
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีแสด เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าสีชมพู
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้ามีหู เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าติดแผ่นหนังหุ้มส้น
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าหุ้มแข้ง เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าปกหลังเท้า
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้ายัดนุ่น
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้ามีหูลายคล้ายขนปีกนกกระทา
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแกะ
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายเขาแพะ
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าหูงอนมีรูปทรงคล้ายหางแมลงป่อง
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่เย็บด้วยขนนกยูง
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่งดงามวิจิตร
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังราชสีห์
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังเสือโคร่ง
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังเสือเหลือง

เชิงอรรถ :
๑ พระสังคีติกาจารย์ท่านเก็บข้อความมากล่าวเป็นคาถา ดูเหมือนจะไม่รวมข้อใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๙. รวมเรื่องที่มีในจัมมขันธกะ
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังเสือดาว
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังนาก
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังแมว
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังค่าง
เรื่องทรงห้ามใช้รองเท้าที่ขลิบด้วยหนังนกเค้า
เรื่องภิกษุเท้าแตก เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าในอาราม
เรื่องภิกษุอาพาธเป็นหน่อที่เท้า เรื่องภิกษุไม่ล้างเท้า
เรื่องภิกษุเหยียบตอไม้ เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมเขียงเท้าเดินเสียงดังกึกกัก
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยใบตาล เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยใบไผ่
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยหญ้าสามัญ
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยหญ้ามุงกระต่าย
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยหญ้าปล้อง เรื่องสวมเขียงเท้าสานด้วยใบเป้ง
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยแฝก เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยขนสัตว์
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยทองคำ เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยเงิน
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วมณี
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วไพฑูรย์
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยแก้วผลึก
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยสำริด
เรื่องสวมเขียงเท้าประดับด้วยกระจก เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยดีบุก
เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยสังกะสี เรื่องสวมเขียงเท้าทำด้วยทองแดง
เรื่องจับโค เรื่องพระฉัพพัคคีย์โดยสารยานพาหนะ
เรื่องภิกษุเป็นไข้ เรื่องยานเทียมด้วยโคเพศผู้
เรื่องวอ เรื่องพระฉัพพัคคีย์ใช้ที่นอนสูงใหญ่
เรื่องหนังผืนใหญ่ เรื่องภิกษุใจบาปขอหนังลูกโค
เรื่องเตียงตั่งของพวกคฤหัสถ์หุ้มด้วยหนัง
เรื่องพระฉัพพัคคีย์สวมรองเท้าเข้าหมู่บ้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๕. จัมมขันธกะ] ๑๕๙. รวมเรื่องที่มีในจัมมขันธกะ
เรื่องภิกษุเป็นไข้สวมรองเท้าเข้าหมู่บ้านได้ เรื่องพระมหากัจจานะ
เรื่องพระโสณะสวดพระสูตรในอัฏฐกวรรคโดยทำนองสรภัญญะ
เรื่องทรงประทานพร ๕ อย่างแก่พระโสณะ คือ
๑. อนุญาตให้สงฆ์ปัญจวรรคให้อุปสมบทได้
๒. อนุญาตให้สวมรองเท้าหลายชั้นได้
๓. อนุญาตให้อาบน้ำได้เป็นนิตย์
๔. อนุญาตให้ใช้หนังเครื่องลาดได้ในทักขิณาบถ
๕. ทายกถวายจีวร เมื่อยังไม่ถึงมือภิกษุ อนุญาตให้
ไม่ต้องนับราตรี
จัมมขันธกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๐. ปัญจเภสัชชกถา
๖. เภสัชชขันธกะ
๑๖๐. ปัญจเภสัชชกถา
ว่าด้วยทรงอนุญาตเภสัช ๕

เรื่องภิกษุอาพาธในฤดูสารท๑
[๒๖๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายป่วยด้วยอาพาธที่เกิดในฤดู
สารท แม้ข้าวต้มที่ดื่มเข้าไปก็กลับอาเจียนออกมา แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็กลับอาเจียน
ออกมา ภิกษุเหล่านั้นซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง เพราะโรคนั้น
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้นซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง
เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง จึงตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ ทำไมเวลานี้ ภิกษุ
ทั้งหลายจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “เวลานี้ ภิกษุทั้งหลายป่วยด้วยอาพาธที่เกิดใน
ฤดูสารท แม้ข้าวต้มที่ดื่มเข้าไปก็กลับอาเจียนออกมา แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็กลับ
อาเจียนออกมา ภิกษุเหล่านั้นจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง
เพราะโรคนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงอนุญาตเภสัช ๕ ในกาล
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้น ประทับในที่สงัด ได้เกิดความดำริใน
พระทัยอย่างนี้ว่า “เวลานี้ ภิกษุทั้งหลายป่วยด้วยอาพาธที่เกิดในฤดูสารท แม้ข้าว

เชิงอรรถ :
๑ อาพาธในฤดูสารท คือ ไข้เหลือง (หรือโรคดีซ่าน) ที่เกิดขึ้นในฤดูสารท (ฤดูใบไม้ร่วง) เพราะในฤดูสารทนี้
ภิกษุทั้งหลายเปียกชุ่มด้วยน้ำฝนบ้าง เดินย่ำโคลนบ้าง แสงแดดแผดกล้าบ้าง ทำให้น้ำดีของภิกษุ
ทั้งหลายขังอยู่แต่ในถุงน้ำดี (วิ.อ. ๓/๒๖๐/๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๐. ปัญจเภสัชชกถา
ต้มที่ดื่มเข้าไปก็กลับอาเจียนออกมา แม้ข้าวสวยที่ฉันแล้วก็กลับอาเจียนออกมา
ภิกษุเหล่านั้นซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง เพราะโรคนั้น เราจะ
อนุญาตอะไรเป็นยาแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นทั้งตัวยาและชาวโลกถือกันว่าเป็นยา
ทั้งจะให้ประโยชน์ทางโภชนาหาร และไม่เป็นอาหารหยาบ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ทรงดำริดังนี้ว่า “เภสัช ๕ นี้ ได้แก่ เนยใส
เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นทั้งตัวยาและชาวโลกถือกันว่าเป็นยา
ทั้งให้ประโยชน์ทางโภชนาหาร และไม่เป็นอาหารหยาบ อย่ากระนั้นเลย เราพึง
อนุญาตเภสัช ๕ นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ให้รับประเคนในกาลแล้วฉันในกาล”
ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น ทรงแสดงธรรมีกถา
เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราหลีกเร้น
อยู่ในที่สงัด เกิดความคิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า ‘เวลานี้ ภิกษุทั้งหลายป่วยด้วย
อาพาธที่เกิดในฤดูสารท แม้ข้าวต้มที่ดื่มเข้าไปก็กลับอาเจียนออกมา แม้ข้าวสวย
ที่ฉันแล้วก็กลับอาเจียนออกมา ภิกษุเหล่านั้นซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้น
เอ็นขึ้นสะพรั่ง เพราะโรคนั้น เราจะอนุญาตอะไรเป็นยาแก่ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็น
ทั้งตัวยา และชาวโลกถือกันว่าเป็นยา ทั้งจะให้ประโยชน์ทางโภชนาหาร และไม่
เป็นอาหารหยาบ ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เภสัช ๕ นี้ ได้แก่
เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นทั้งตัวยาและชาวโลกถือกันว่าเป็นยา
ทั้งให้ประโยชน์ทางโภชนาหาร และไม่เป็นอาหารหยาบ เราพึงอนุญาตเภสัช ๕
นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ให้รับประเคนในกาลแล้วฉันในกาล’ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ภิกษุทั้งหลายรับประเคนเภสัชทั้ง ๕ เหล่านั้นในกาลแล้วฉันในกาล”

เรื่องเภสัช ๕ ในเวลาวิกาล
[๒๖๑] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายรับประเคนเภสัช ๕ ในกาลแล้วฉันในกาล
โภชนาหารชนิดธรรมดาที่ฉันประจำวันของภิกษุเหล่านั้นยังไม่อาจย่อย ไม่จำต้องกล่าว
ถึงโภชนาหารชนิดที่มีไขมัน ภิกษุเหล่านั้นจึงป่วยด้วยอาพาธที่เกิดในฤดูสารท


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๐. ปัญจเภสัชชกถา
และเบื่อภัตตาหาร เพราะเหตุ ๒ ประการนั้น จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง
เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งมากยิ่งขึ้น
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสถามท่านพระอานนท์
อีกว่า “อานนท์ ทำไมเวลานี้ ภิกษุทั้งหลายจึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง
เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “เวลานี้ ภิกษุทั้งหลายรับประเคนเภสัช ๕ ใน
กาลแล้วฉันในกาล โภชนาหารชนิดธรรมดาที่ฉันประจำวันของภิกษุเหล่านั้นยังไม่
อาจย่อย ไม่จำต้องกล่าวถึงโภชนาหารชนิดที่มีไขมัน ภิกษุทั้งหลายจึงป่วยด้วยอาพาธ
ที่เกิดในฤดูสารท และเบื่อภัตตาหาร เพราะเหตุ ๒ ประการนั้น จึงซูบผอม หมองคล้ำ
ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งมากยิ่งขึ้น พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนเภสัช ๕ ฉันได้ทั้ง
ในกาลและในเวลาวิกาล”

เรื่องน้ำมันเหลวที่เป็นยา
[๒๖๒] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ต้องการมันเหลวที่เป็นยา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตมันเหลวที่เป็นยา คือ
มันเหลวหมี มันเหลวปลา มันเหลวปลาฉลาม๑ มันเหลวหมู มันเหลวลาที่รับ
ประเคนในกาล เจียวในกาล กรองในกาลแล้วฉันอย่างน้ำมัน
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนมันเหลวในเวลาวิกาล เจียวในเวลาวิกาล
กรองในเวลาวิกาลแล้ว ถ้าภิกษุฉันมันเหลวนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๓ ตัว

เชิงอรรถ :
๑ บางอาจารย์ว่า จระเข้ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖๒/๓๖๗) ฉบับ PALI TEXT SOCIETY แปลว่า จระเข้ (Book
of the discipline past 4 P. 271) มหาวรรคฉบับภาษาพม่าแปลว่า “ปลาโลมา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนมันเหลวในกาล เจียวในเวลาวิกาล กรอง
ในเวลาวิกาลแล้ว ถ้าภิกษุฉันมันเหลวนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนมันเหลวในกาล เจียวในกาล กรองในเวลา
วิกาลแล้ว ถ้าภิกษุฉันมันเหลวนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ (๑ ตัว)
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุรับประเคนมันเหลวในกาล เจียวในกาล กรองในกาล
แล้ว ถ้าภิกษุฉันมันเหลวนั้น ไม่ต้องอาบัติ”

๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
ว่าด้วยทรงอนุญาตเครื่องยามีรากไม้เป็นต้น

เรื่องรากไม้ที่เป็นยา
[๒๖๓] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ ต้องการรากไม้ที่เป็นยา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรากไม้ที่เป็นยา คือ ขมิ้น
ขิงสด ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิต ข่า แฝก แห้วหมู หรือรากไม้ที่เป็นยาชนิด
อื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมี
เหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องรากไม้บดที่เป็นยา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ ต้องการรากไม้ที่บดเป็นยา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตหินบด ลูกหินบด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องน้ำฝาดที่เป็นยา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ ต้องการน้ำฝาดที่เป็นยา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำฝาดที่เป็นยา คือ น้ำ
ฝาดสะเดา น้ำฝาดโมกมัน น้ำฝาดขี้กา น้ำฝาดบอระเพ็ด น้ำฝาดกระถินพิมาน
หรือน้ำฝาดที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้
ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้อง
อาบัติทุกกฏ”

เรื่องใบไม้ที่เป็นยา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ต้องการใบไม้ที่เป็นยา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตใบไม้ที่เป็นยา คือ ใบสะเดา
ใบโมกมัน ใบขี้กา ใบแมงลัก ใบฝ้าย หรือใบไม้ที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของ
เคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้
เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องผลไม้ที่เป็นยา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ต้องการผลไม้ที่เป็นยา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลไม้ที่เป็นยา คือ ลูกพิลังคะ
ดีปลี พริก สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ผลโกฐ หรือผลไม้ที่เป็นยาชนิดอื่น
ที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น
ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องยางไม้ที่เป็นยา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ ต้องการยางไม้ที่เป็นยา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยางไม้ที่เป็นยา คือ หิงคุ
ยางเคี่ยวจากหิงคุ ยางเคี่ยวจากเปลือกหิงคุ ยางจากยอดตันตกะ ยางจากใบ
ตันตกะ ยางเคี่ยวจากก้านตันตกะ กำยาน หรือยางที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่
ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุ
จึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องเกลือที่เป็นยา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ ต้องการเกลือที่เป็นยา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเกลือที่เป็นยา คือ
เกลือสมุทร เกลือดำ เกลือสินเธาว์ เกลือดินโป่ง เกลือหุงหรือเกลือที่เป็นยา
ชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ
เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องมูลโค ดินเหนียว กากน้ำย้อมดับกลิ่นตัว
[๒๖๔] สมัยนั้น ท่านพระเพลัฏฐสีสะผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านพระอานนท์
เป็นโรคฝีดาษ จีวรติดกายเพราะน้ำเหลือง พวกภิกษุใช้น้ำชุบผ้าเหล่านั้นแล้ว
ค่อย ๆ ดึงออกมา
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามเสนาสนะ ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น
กำลังใช้น้ำชุบผ้าแล้วค่อย ๆ ดึงออกมา จึงเสด็จเข้าไปหา ตรัสถามว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุนี้เป็นโรคอะไร”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ภิกษุนี้เป็นโรคฝีดาษ จีวรติดกายเพราะน้ำเหลือง
พวกข้าพระองค์ใช้น้ำชุบผ้าแล้วค่อย ๆ ดึงออกมา พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยาผงสำหรับภิกษุผู้เป็นหิด ตุ่ม
พุพอง ฝีดาษ หรือมีกลิ่นตัวแรง มูลโค ดินเหนียว กากน้ำย้อมสำหรับภิกษุผู้ไม่
เป็นไข้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตครกและสาก”

เรื่องยาผงและเครื่องร่อนยา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ ต้องการยาผงที่ร่อนแล้ว
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องร่อนยาผง”
ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ต้องการยาผงละเอียด
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าร่อนยา”

เรื่องเนื้อดิบและเลือดสด
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้เพราะถูกอมนุษย์เข้าสิง อาจารย์และอุปัชฌาย์
ช่วยกันรักษาภิกษุนั้น แต่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ภิกษุนั้นเดินไปที่ร้านขายหมู
แล้วกินเนื้อดิบ ดื่มเลือดสด ๆ โรคอมนุษย์เข้าสิงของภิกษุนั้นจึงสงบ๑
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเนื้อดิบ เลือดสด ใน
เมื่อมีโรคอมนุษย์เข้าสิง”

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุผู้เป็นไข้นั้น ไม่ได้กินเนื้อดิบ ไม่ได้ดื่มเลือดสด แต่อมนุษย์ (ผี) ที่สิงอยู่ในร่างภิกษุนั้น กินและดื่ม
พอกินเนื้อดิบและดื่มเลือดสดแล้ว ก็ออกจากร่างภิกษุนั้นไป (วิ.อ. ๓/๒๖๔/๑๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๔๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องยาหยอดตา
[๒๖๕] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคตา พวกภิกษุต้องพยุงภิกษุนั้น
ไปให้ถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามเสนาสนะ ทอดพระเนตรเห็นพวกภิกษุกำลัง
พยุงภิกษุนั้นไปให้ถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง จึงเสด็จเข้าไปหาแล้วตรัสถาม
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เป็นโรคอะไร”
พวกภิกษุกราบทูลว่า “ท่านรูปนี้อาพาธเป็นโรคตา พวกข้าพระองค์คอยพยุง
ท่านไปให้ถ่ายอุจจาระบ้าง ถ่ายปัสสาวะบ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยาหยอดตา อันได้แก่ยา
ทาตาที่ปรุงด้วยเครื่องปรุงหลายอย่าง ยาป้ายตาที่ทำด้วยเครื่องปรุงต่าง ๆ ยาทา
ตาที่เกิดในกระแสน้ำ หรดาลกลีบทอง เขม่าไฟ”

เรื่องเครื่องบดยาผสมยาตา
ภิกษุทั้งหลายต้องการเครื่องบดยาผสมยาตา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้จันทน์ กฤษณา
กะลัมพัก ใบเฉียง แห้วหมู”

เรื่องกลักยาตา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายเก็บยาตาชนิดผงไว้ในโอ่งบ้าง ในขันบ้าง ผงหญ้าบ้าง
ฝุ่นบ้างปลิวลงไป
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกลักยาตา”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้กลักยาตาชนิดต่าง ๆ ทำด้วยทองคำ ทำ
ด้วยเงิน มนุษย์ทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้
บริโภคกาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้กลักยาตาชนิดต่าง ๆ
รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกลักยาตาทำด้วยกระดูก
ทำด้วยงา ทำด้วยเขา ทำด้วยไม้อ้อ ทำด้วยไม้ไผ่ ทำด้วยไม้ ทำด้วยยางไม้
ทำด้วยผลไม้ ทำด้วยโลหะ ทำด้วยเปลือกสังข์”
กลักยาตาไม่มีฝาปิด ผงหญ้าบ้าง ฝุ่นบ้างปลิวลงไป
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด”
ฝาปิดตกจากกลักยาตา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ด้ายผูกพันไว้กับ
กลักยาตา”
กลักยาตาแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ด้ายถัก”

เรื่องไม้ป้ายยาตา
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้นิ้วมือป้ายทาตา นัยน์ตาช้ำ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้ป้ายยาตา”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ไม้ป้ายยาตาชนิดต่าง ๆ ทำด้วยทองคำ ทำด้วยเงิน
คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ไม้ป้ายยาตาชนิดต่าง ๆ
รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้ป้ายยาตาทำด้วยกระดูก
ทำด้วยงา ทำด้วยเขา ฯลฯ ทำด้วยเปลือกสังข์”

เรื่องที่เก็บไม้ป้ายยาตา
สมัยนั้น ไม้ป้ายยาตาตกที่พื้นจึงเปื้อน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตภาชนะ สำหรับเก็บไม้
ป้ายยาตา”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้มือถือกลักยาตาบ้าง ไม้ป้ายยาตาบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถุงกลักยาตา”
ถุงกลักยาตาไม่มีหูสะพาย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชือกผูกเป็นสายสะพาย”

เรื่องน้ำมันทาศีรษะ
[๒๖๖] สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะปวดร้อนที่ศีรษะ ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำมันทาศีรษะ”

เรื่องนัตถุ์ยา
พระปิลันทวัจฉะยังไม่หายโรคปวดร้อนที่ศีรษะ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการนัตถุ์”๑
น้ำมันที่นัตถุ์ไหลออก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องยานัตถุ์”

เรื่องกล้องยานัตถุ์
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้กล้องยานัตถุ์ชนิดต่าง ๆ ทำด้วยทองคำ ทำ
ด้วยเงิน คนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภค
กาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้กล้องยานัตถุ์ชนิดต่าง ๆ
รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องยานัตถุ์ทำด้วยกระดูก
ฯลฯ ทำด้วยเปลือกสังข์”
พระปิลินทวัจฉะนัตถุ์ได้ไม่เท่ากัน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้
มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องยานัตถุ์มีหลอดคู่”

เรื่องสูดควัน
พระปิลันทวัจฉะยังไม่หายโรคปวดศีรษะ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สูดควัน”

เชิงอรรถ :
๑ การนัตถุ์ หมายถึงการใช้น้ำมันที่ปรุงเป็นยาหยอดจมูก (ที.สี.อ. ๑/๙๑, ม.ม.อ. ๓/๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องกล้องสูดควันและฝาปิดกล้องสูดควัน
ภิกษุทั้งหลายจุดเกลียวผ้าแล้วสูดควัน คอแสบ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องสูดควัน”
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้กล้องสูดควันชนิดต่าง ๆ ทำด้วยทองคำ ทำ
ด้วยเงิน คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “เหมือนคฤหัสถ์ผู้บริโภค
กาม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายภิกษุไม่พึงใช้กล้องสูดควันชนิดต่าง ๆ
รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องสูดควัน ทำด้วยกระดูก
ทำด้วยงา ทำด้วยเขา ทำด้วยไม้อ้อ ทำด้วยไม้ไผ่ ทำด้วยไม้ ทำด้วยยางไม้ ทำด้วย
ผลไม้ ทำด้วยโลหะ ทำด้วยเปลือกสังข์”
สมัยนั้น กล้องสูดควันไม่มีฝาปิด ตัวสัตว์เล็ก ๆ เข้าไปได้ ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตฝาปิด”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายใช้มือถือกล้องสูดควัน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถุงกล้องสูดควัน”
กล้องสูดควันอยู่รวมกันย่อมกระทบกัน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตถุงคู่”
ถุงคู่ไม่มีหูสะพาย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเชือกผูกเป็นสายสะพาย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
พระปิลินทวัจฉะอาพาธเป็นโรคลม
เรื่องน้ำมันหุง
[๒๖๗] สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะอาพาธเป็นโรคลม พวกแพทย์กล่าว
อย่างนี้ว่า “ต้องหุงน้ำมันถวาย”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำมันที่หุง”

เรื่องน้ำเมาเจือในน้ำมันหุง
แพทย์ต้องเจือน้ำเมาในน้ำมันที่หุง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เจือน้ำเมาลงในน้ำ
มันที่หุงได้”

เรื่องน้ำมันเจือด้วยน้ำเมามากเกินไป
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์หุงน้ำมันเจือน้ำเมาลงไปเกินขนาด ดื่มน้ำมัน
นั้นแล้วเมา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงดื่มน้ำมันเจือน้ำเมาลง
ไปเกินขนาด รูปใดดื่ม พึงปรับอาบัติตามธรรม๑ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
ดื่มน้ำมันเจือด้วยน้ำเมาชนิดที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสน้ำเมา”

เชิงอรรถ :
๑ พึงปรับอาบัติตามธรรม ในที่นี้ หมายถึง ปรับอาบัติปาจิตตีย์เพราะดื่มสุราและเมรัย ตามความใน
สิกขาบทที่ ๑ แห่งสุราปานวรรค (ดู วิ.มหา (แปล) ๒/๓๒๗-๓๒๘/๔๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องทรงอนุญาตน้ำมันเจือน้ำเมามากใช้เป็นยาทา
สมัยนั้น น้ำมันที่ภิกษุหุงเจือน้ำเมาลงไปเกินขนาดมาก
ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “พวกเราจะปฏิบัติในน้ำมัน
เจือน้ำเมาลงไปเกินขนาดนี้ อย่างไร” จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เก็บไว้เป็นยาทา”

เรื่องลักจั่น
สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะหุงน้ำมันไว้มาก ไม่มีภาชนะบรรจุน้ำมัน
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลักจั่น ๓ ชนิด คือ
ลักจั่นทำด้วยโลหะ ลักจั่นทำด้วยไม้ ลักจั่นทำด้วยผลไม้”

เรื่องการรมเหงื่อ
สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะอาพาธเป็นโรคลมตามอวัยวะ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการเข้ากระโจมรมเหงื่อ”

เรื่องการรมด้วยใบไม้
ท่านพระปิลันทวัจฉะก็ยังไม่หายโรคลม
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการรมด้วยใบไม้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องรมใหญ่
ท่านพระปิลันทวัจฉะก็ยังไม่หายโรคลม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการรมใหญ่”๑

เรื่องรมด้วยใบไม้ต่าง ๆ
ท่านพระปิลันทวัจฉะก็ยังไม่หายโรคลม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำต้มใบไม้ชนิดต่าง ๆ”๒

เรื่องอ่างน้ำ
ท่านพระปิลันทวัจฉะก็ยังไม่หายโรคลม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอ่างน้ำ”

เรื่องใช้เขาสัตว์กอกระบายโลหิตออก
สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะอาพาธเป็นโรคลมขัดยอกตามข้อ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ระบายโลหิตออก”

เชิงอรรถ :
๑ การรมใหญ่ หมายถึงเอาถ่านเพลิงใส่หลุมจนเต็ม เอาดินร่วนและทรายเป็นต้นปิดไว้ ลาดใบไม้นานา
ชนิดทับลงไป เอาน้ำมันทาตัวนอนบนหลุมนั้น รมร่างกายโดยการพลิกกลับไปมา (วิ.อ. ๓/๒๖๗/๑๗๔-
๑๗๕)
๒ น้ำต้มใบไม้ชนิดต่าง ๆ คือ น้ำต้มใบไม้นานาชนิดจนเดือดแล้ว ใช้ใบไม้และน้ำราดรม (วิ.อ. ๓/๒๖๗/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
ท่านพระปิลินทวัจฉะก็ยังไม่หายโรคลมขัดยอกตามข้อ ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้เขาสัตว์กอกระบาย
โลหิตออก”๑

เรื่องยาทาเท้า
สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะเท้าแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยาทาเท้า”

เรื่องปรุงน้ำมันทาเท้า
ท่านพระปิลันทวัจฉะยังไม่หายโรคเท้าแตก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปรุงน้ำมันทาเท้า”

เรื่องภิกษุอาพาธเป็นฝี
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นฝี ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการผ่าตัด”

เรื่องน้ำฝาด
ภิกษุนั้นต้องการน้ำฝาด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำฝาด”

เชิงอรรถ :
๑ กอก คือการดูดเลือด หนอง หรือลมออกจากร่างกาย หรือดูดเอาน้ำนม ออกจากเต้านม โดยใช้ถ้วย
กระบอก ฯลฯ เป็นเครื่องดูด วิธีดูดให้กดปากถ้วย หรือกระบอกแนบครอบลงบนแผล หนองแล้วยกขึ้น
ทำบ่อย ๆ จนดูดเลือดที่เสีย หรือหนองออกหมด ในที่นี้ใช้เขาสัตว์กอก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องงาบด
ภิกษุนั้นต้องการงาบด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตงาบด”

เรื่องยาพอก
ภิกษุนั้นต้องการยาพอก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยาพอก”

เรื่องผ้าพันแผล
ภิกษุนั้นต้องการผ้าพันแผล ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าพันแผล”

เรื่องชะแผลด้วยน้ำแป้งเมล็ดผักกาด
แผลคัน ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ชะด้วยน้ำแป้งเมล็ด
ผักกาด”

เรื่องรมแผลด้วยควัน
แผลชื้น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รมควัน”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๕๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องใช้ก้อนเกลือตัดเนื้องอก
เนื้องอกยื่นออกมา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ตัดด้วยก้อนเกลือ”

เรื่องน้ำมันทาแผล
แผลไม่งอก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำมันทาแผล”

เรื่องผ้าปิดกันน้ำมันไหลเยิ้ม
น้ำมันไหลเยิ้ม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าเก่าสำหรับซับน้ำมัน
รักษาแผลทุกชนิด”

เรื่องยามหาวิกัฏ ๔ อย่าง
[๒๖๘] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ยามหาวิกัฏ ๔
อย่าง คือ คูถ มูตร เถ้า ดิน”

เรื่องรับประเคน
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “ยามหาวิกัฏไม่ต้องรับประเคน
หรือต้องรับประเคน”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนเมื่อมี
กัปปิยการก ถ้าไม่มีกัปปิยการก ให้หยิบเองได้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องน้ำดื่มเจือคูถ
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งดื่มยาพิษเข้าไป ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มน้ำเจือคูถ”
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้ปรึกษากันดังนี้ว่า “คูถไม่ต้องรับประเคน หรือจะ
ต้องรับประเคน”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตคูถที่ภิกษุหยิบไว้ขณะ
กำลังถ่ายนั่นแหละเป็นอันประเคนแล้ว จึงไม่ต้องรับประเคนอีก”

เรื่องภิกษุโดนยาแฝดดื่มน้ำที่ละลายจากดินติดผาลไถ
[๒๖๙] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธโดนยาแฝด๑ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มน้ำที่เขาละลายดิน
รอยไถติดผาล”

เรื่องดื่มน้ำด่างดิบ
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคท้องผูก ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มน้ำด่างดิบ”

เชิงอรรถ :
๑ อาพาธโดนยาแฝด แปลมาจากบาลีว่า “ฆรทินฺนาพาโธ” หมายถึงโรคที่เกิดขึ้นเพราะน้ำหรือยาที่หญิง
แม่เรือนให้ ซึ่งดื่มกินเข้าไปแล้วจะตกอยู่ในอำนาจของหญิงนั้น (วิ.อ. ๓/๒๖๙/๑๗๕, สารตฺถ. ฏีกา ๓/๒๖๙
/๓๖๗, วิมติ.ฏีกา ๒/๒๖๙/๒๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๑. มูลาทิเภสัชชกถา
เรื่องดื่มน้ำสมอดองมูตรโค
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคผอมเหลือง๑
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มยาผลสมอดอง
น้ำมูตร”๒

เรื่องไล้ทาของหอม
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคผิวหนัง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ลูบไล้ด้วยของหอม”

เรื่องดื่มยาถ่าย
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธมีผดผื่นขึ้นตามตัว
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มยาถ่าย”

เรื่องน้ำข้าวใส
ภิกษุนั้นต้องการน้ำข้าวใส ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำข้าวใส”

เชิงอรรถ :
๑ โรคผอมเหลือง คือ โรคดีซ่าน
๒ ดองด้วยมูตรโค (วิ.อ. ๓/๒๖๙/๑๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ
เรื่องน้ำต้มถั่วเขียวไม่ข้น
ภิกษุนั้นต้องการน้ำต้มถั่วเขียวไม่ข้น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำต้มถั่วเขียวไม่ข้น”

เรื่องน้ำต้มถั่วเขียวข้น
ภิกษุนั้นต้องการน้ำต้มถั่วเขียวข้นเล็กน้อย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำต้มถั่วเขียวข้นเล็ก
น้อย”

เรื่องน้ำต้มเนื้อ
ภิกษุนั้นต้องการน้ำต้มเนื้อ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำต้มเนื้อ”

๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ
ว่าด้วยพระปิลินทวัจฉะ๑

เรื่องพระปิลินทวัจฉะจะทำความสะอาดเงื้อมเขา
และพระเจ้าพิมพิสารพระราชทานคนงานวัด
[๒๗๐] สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะประสงค์จะทำที่เร้น จึงให้ภิกษุทั้งหลาย
ทำความสะอาดเงื้อมเขาในกรุงราชคฤห์

เชิงอรรถ :
๑ วิ.มหา. (แปล) ๒/๖๑๘-๖๑๙/๑๓๙-๑๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐเสด็จเข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะ
ถึงที่พัก ครั้นถึงแล้ว ได้ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพมคธรัฐผู้ประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ตรัสกับท่านพระปิลินทวัจฉะดังนี้ว่า
“พระคุณเจ้าให้ภิกษุทั้งหลายทำอะไร”
ท่านพระปิลินทวัจฉะถวายพระพรว่า “ขอถวายพระพร อาตมภาพประสงค์
จะทำที่เร้น จึงให้ภิกษุทั้งหลายทำความสะอาดเงื้อมเขา”
พระเจ้าพิมพิสารตรัสถามว่า “พระคุณเจ้า ต้องการคนวัด บ้างไหม”
ท่านพระปิลินทวัจฉะถวายพระพรว่า “ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคไม่ทรง
อนุญาตให้มีคนวัด”
พระเจ้าพิมพิสารตรัสถามว่า “ถ้าเช่นนั้น พระคุณเจ้าพึงทูลถามพระผู้มีพระภาค
แล้วบอกโยมด้วย”
ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลสนองพระดำรัสแล้ว ชี้แจงให้ท้าวเธอเห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐผู้ซึ่งท่านพระปิลินทวัจฉะชี้แจงให้
เห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ได้เสด็จลุกจากราชอาสน์ ทรงอภิวาทพระเถระ ทำประทักษิณ
แล้วเสด็จกลับไป
ต่อมา ท่านพระปิลินทวัจฉะส่งทูตไปยังสำนักพระผู้มีพระภาคให้กราบทูลว่า
“พระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐมีพระราชประสงค์จะถวายคนวัด
ข้าพระองค์ จะพึงปฏิบัติอย่างไร”

ทรงอนุญาตคนงานวัด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มีคนวัด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ
แม้ครั้งที่ ๒ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ เสด็จเข้าไปหาท่านพระ
ปิลินทวัจฉะถึงที่พัก ครั้นถึงแล้ว ได้ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้
ตรัสกับท่านพระปิลินทวัจฉะดังนี้ว่า “พระคุณเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตคน
วัดแล้วหรือ”
ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลว่า “ขอถวายพระพร ทรงอนุญาตแล้ว”
พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น โยมจะถวายคนวัดแก่พระคุณเจ้า”
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ทรงรับที่จะถวายคนวัดแก่ท่าน
พระปิลินทวัจฉะแล้ว แต่ทรงลืม เมื่อเวลาผ่านไปนาน ทรงระลึกได้ จึงตรัสถาม
มหาอมาตย์ผู้สนองราชกิจคนหนึ่งว่า “เราถวายคนวัดที่ให้สัญญาไว้แก่พระคุณเจ้า
แล้วหรือ”
มหาอมาตย์กราบทูลว่า “ขอเดชะ ยังไม่ได้ถวายคนวัดแก่พระคุณเจ้าเลย”
พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า “ผ่านมากี่วันแล้ว”
มหาอมาตย์นับราตรีแล้วกราบทูลว่า “ขอเดชะ ผ่านมา ๕๐๐ ราตรี”
ท้าวเธอรับสั่งว่า “ถ้าอย่างนั้น จงถวายคนวัด ๕๐๐ คน แก่พระคุณเจ้า”
มหาอมาตย์กราบทูลรับสนองพระราชโองการแล้ว จัดคนวัดไปถวายท่านพระ
ปิลินทวัจฉะ จำนวน ๕๐๐ คน ตั้งหมู่บ้านขึ้นมาต่างหาก มีชื่อเรียกว่า อารามิกคาม
บ้าง ปิลินทวัจฉคามบ้าง
[๒๗๑] สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะเป็นพระประจำตระกูลในหมู่บ้านนั้น
เช้าวันหนึ่ง ท่านพระปิลินทวัจฉะครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาต
ในหมู่บ้านปิลันทวัจฉคาม ครั้งนั้น ในหมู่บ้านนั้นกำลังมีมหรสพ พวกเด็ก ๆ
แต่งกายประดับ ดอกไม้เล่นอยู่ พอดีท่านพระปิลินทวัจฉะเที่ยวบิณฑบาตมาตามลำดับ
ในหมู่บ้านปิลินทวัจฉคาม มาถึงเรือนของคนวัดคนหนึ่งแล้วได้นั่งบนอาสนะที่เขาจัด
ถวาย

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ
ขณะนั้น ธิดาของสตรีคนวัดเห็นพวกเด็กคนอื่นแต่งกายประดับดอกไม้ จึงร้อง
ไห้ขอว่า “พ่อแม่ โปรดให้ดอกไม้ โปรดให้เครื่องประดับแก่หนู”
พระเถระถามสตรีนั้นว่า “เด็กคนนี้อยากได้อะไร”
นางตอบว่า “ท่านผู้เจริญ เด็กคนนี้เห็นพวกเด็กอื่นแต่งกายประดับดอกไม้
จึงร้องไห้ขอพวงดอกไม้และเครื่องประดับว่า “พ่อแม่โปรดให้ดอกไม้ โปรดให้เครื่อง
ประดับแก่หนู” เราคนจนจะได้ดอกไม้และเครื่องประดับจากไหนกัน”
ท่านพระปิลินทวัจฉะจึงหยิบเสวียนหญ้า๑อันหนึ่งส่งให้พลางกล่าวว่า “ท่านจง
สวมเสวียนหญ้าอันนี้ที่ศีรษะเด็กหญิงนั้น”
หญิงคนวัดหยิบเสวียนหญ้าสวมที่ศีรษะเด็กหญิง เสวียนหญ้ากลายเป็นพวง
ดอกไม้ทองคำงดงามน่าดูน่าชม พวงดอกไม้ทองคำอย่างนี้แม้ในพระราชฐานก็ยังไม่มี
พวกชาวบ้านกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารว่า “ขอเดชะ ที่เรือนคนวัดโน้นมีพวง
ดอกไม้ทองคำงดงามน่าดูน่าชม พวงดอกไม้ทองคำอย่างนี้แม้ในพระราชฐานก็ยัง
ไม่มี เขาเป็นคนเข็ญใจจะได้มาจากไหน ชะรอยจะได้มาเพราะทำโจรกรรมเป็นแน่แท้”
พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้จองจำตระกูลคนวัดนั้น
ต่อมาเช้าวันที่ ๒ ท่านพระปิลินทวัจฉะครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
ไปบิณฑบาตที่ปิลินทวัจฉคามอีก เมื่อเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับในหมู่บ้าน
ปิลินทวัจฉคาม เดินผ่านไปทางที่อยู่คนวัดคนนั้นถามคนคุ้นเคยว่า “ครอบครัวคนวัด
นี้ไปไหน”
ชาวบ้านตอบว่า “ครอบครัวนี้ถูกจองจำเพราะเรื่องพวงดอกไม้ทองคำ เจ้าข้า”
ต่อจากนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะเข้าไปถึงพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพมคธรัฐ ครั้นถึงแล้วได้นั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย

เชิงอรรถ :
๑ เสวียนหญ้า คือของเป็นวงกลมสำหรับรอบก้นหม้อ ทำด้วยหญ้าหรือหวายเป็นต้น ของที่ทำเป็น
วงกลมสำหรับรองหรือรับสิ่งต่าง ๆ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๒. ปิลินทวัจฉวัตถุ
ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ เสด็จเข้าไปหาพระเถระจนถึง
อาสนะ ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลถามพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐว่า “ขอถวายพระพร
ครอบครัวคนวัดถูกจองจำเพราะเรื่องอะไร”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “ที่เรือนเขามีพวงดอกไม้ทองคำ
งดงามน่าดูน่าชม พวงดอกไม้ทองคำอย่างนี้แม้ในวังก็ยังไม่มี เขาเป็นคนเข็ญใจจะ
ได้มาจากไหน ชะรอยจะได้มาเพราะทำโจรกรรมเป็นแน่แท้”
ทีนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะได้อธิษฐานให้ปราสาทของพระเจ้าพิมพิสารเป็นทองคำ
ปราสาทกลายเป็นทองคำไปทั้งหลัง แล้วท่านก็ถวายพระพรว่า “ทองคำมากมาย
มหาบพิตรได้มาจากไหน”
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐตรัสว่า “โยมทราบแล้ว นี่เป็นฤทธานุภาพ
ของพระคุณเจ้า” แล้วรับสั่งให้ปล่อยครอบครัวนั้น
พวกชาวบ้านทราบข่าวว่า “พระคุณเจ้าปิลินทวัจฉะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อัน
เป็นอุตตริมนุสสธรรมในท่ามกลางราชบริษัท” พากันพอใจเลื่อมใสนำเภสัช ๕ คือ
เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยมาถวาย ตามปกติท่านพระปิลินทวัจฉะ
ก็ได้เภสัช ๕ อยู่เสมอ ท่านจึงแบ่งเภสัชให้บริษัทของท่าน แต่บริษัทของท่านมักมาก
บรรจุเภสัชที่ได้มาแล้วไว้ในตุ่มบ้าง ในหม้อน้ำบ้าง จนเต็มแล้วเก็บไว้ บรรจุลงใน
หม้อกรองน้ำบ้าง ในถุงย่ามบ้าง แล้วแขวนไว้ที่หน้าต่าง เภสัชเหล่านั้นซึมไหลเยิ้ม
จึงมีสัตว์จำพวกหนูชุกชุมทั่ววิหาร
พวกชาวบ้านเที่ยวไปตามวิหารพบเข้าจึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนา
ว่า “พวกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้มีเรือนคลังเก็บของเหมือนพระเจ้า
พิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย
ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงคิดเพื่อความ
มักมากเช่นนี้เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้ว
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๓. คุฬาทิอนุชานนา
เรื่องฉันเภสัชที่เก็บไว้ ๗ วัน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุคิดเพื่อความมักมาก
อย่างนั้นจริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรับประเคนเภสัชที่ควรสำหรับภิกษุไข้ คือ เนยใส เนยข้น
น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย แล้วเก็บไว้ฉันได้ ๗ วัน เป็นอย่างมาก ให้เกินกำหนด
นั้นไปพึงปรับอาบัติตามธรรม”
เภสัชชานุญญาตภาณวาร ที่ ๑ จบ

๑๖๓. คุฬาทิอนุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตน้ำอ้อยงบเป็นต้น

เรื่องน้ำอ้อยงบ
[๒๗๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถีตามพระอัธยาศัย
แล้ว เสด็จไปกรุงราชคฤห์ ในระหว่างทาง ท่านพระกังขาเรวตะแวะเข้าโรงทำน้ำ
อ้อยงบ เห็นเขาผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในน้ำอ้อยงบ ยำเกรงอยู่ว่า “น้ำอ้อย
งบเจืออามิสเป็นของไม่ควรฉันในเวลาวิกาล” พร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันน้ำอ้อยงบ
แม้ภิกษุทั้งหลายที่เชื่อฟังท่านก็พลอยไม่ฉันน้ำอ้อยงบไปด้วย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ชาวบ้านผสม
แป้งบ้าง เถ้าบ้าง ลงในน้ำอ้อยงบเพื่ออะไร”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๓. คุฬาทิอนุชานนา
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เพื่อให้เนื้อน้ำอ้อยเกาะกันแน่น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเขาผสมแป้งบ้าง เถ้าบ้างลงในน้ำ
อ้อยงบ เพื่อให้เนื้อน้ำอ้อยเกาะกันแน่น น้ำอ้อยงบนั้นก็ยังคงเป็นน้ำอ้อยงบเหมือนเดิม
เราอนุญาตให้ฉันน้ำอ้อยงบได้ตามสบาย”

เรื่องถั่วเขียว
ท่านพระกังขาเรวตะเห็นถั่วเขียวงอกขึ้นในกองอุจจาระระหว่างทาง ยำเกรงอยู่
ว่า “ถั่วเขียวเป็นของไม่ควร ถึงต้มแล้วก็ยังงอกได้” พร้อมด้วยบริษัทไม่ฉันถั่วเขียว
แม้พวกภิกษุที่เชื่อฟังท่านก็พลอยไม่ฉันถั่วเขียวไปด้วย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าถั่วเขียวแม้ที่ต้มสุกแล้วแต่ยังงอกได้
เราอนุญาตให้ฉันได้ตามสบาย”

เรื่องยาดองโลณโสวีรกะ๑
[๒๗๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคลมในท้อง จึงดื่มยาดองโลณโสวีรกะ
โรคลมสงบลง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุไข้ฉันยาดองโลณ-
โสวีรกะได้ตามสบาย แต่ผู้ไม่เป็นไข้ต้องเจือน้ำฉันอย่างน้ำปานะ”

เชิงอรรถ :
๑ ยาดองโลณโสวีรกะ ได้แก่ ยาที่ปรุงด้วยส่วนประกอบนานาชนิด เช่น มะขามป้อมสด สมอพิเภก
ธัญชาติทุกชนิด ถั่วเขียว ข้าวสุก ผลกล้วย หน่อหวาย การเกด อินทผลัม หน่อไม้ ปลา เนื้อ น้ำผึ้ง
น้ำอ้อย เกลือ โดยใส่เครื่องยาเหล่านี้ในหม้อ ปิดฝามิดชิด เก็บดองไว้ ๑ วัน ๒ วัน หรือ ๓ วัน เมื่อยา
นี้สุกได้ที่แล้ว จะมีรสและสีเหมือนผลหว้า เป็นยาแก้โรคลม โรคไอ โรคเรื้อน โรคผอมเหลือง (ดีซ่าน)
โรคริดสีดวงเป็นต้น ในกาลภายหลังภัต คือเที่ยงวันไปก็ฉันได้ (วิ.อ. ๑/๑๙๒/๕๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๖๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๔. อันโตวุฏฐาทิปฏิกเขปกถา
๑๖๔. อันโตวุฏฐาทิปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามการหุงต้มภายในเป็นต้น

เรื่องอาหารที่หุงต้มเอง
[๒๗๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ
พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงประชวรโรคลมใน
พระอุทร
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ดำริว่า “เมื่อก่อน พระผู้มีพระภาคทรงประชวร
โรคลมในพระอุทร ก็ทรงพระสำราญได้ด้วยข้าวต้มปรุงด้วยของ ๓ อย่าง” จึงออก
ปากของาบ้าง ข้าวสารบ้าง ถั่วเขียวบ้าง ด้วยตนเองแล้วเก็บไว้ภายใน๑ ต้มเองแล้ว
น้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคด้วยกราบทูลว่า “ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดื่มข้าวต้ม
ปรุงด้วยของ ๓ อย่างเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

พุทธประเพณี
พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงทราบเรื่อง ตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบ
กาลอันควร ตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ตรัสถามเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ตรัส
ถามเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะพระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงขจัดเรื่องที่ไม่เป็น
ประโยชน์เสียด้วยอริยมรรคแล้ว
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยเหตุ ๒ ประการ
คือ จะทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งถามว่า “เธอได้
ข้าวต้มนี้มาจากไหน อานนท์”

เชิงอรรถ :
๑ เก็บไว้ภายใน คือเก็บไว้ในอกัปปิยกุฎี (วิ.อ. ๓/๒๗๔/๑๗๖) ภายหลังพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตกัปปิย
กุฎี (ดูข้อ ๒๙๕ หน้า ๑๑๖ ในเล่มนี้) เพื่อให้ภิกษุภิกษุณี พ้นจากการเก็บของไว้ภายในและหุงต้มภายใน
(วิ.อ. ๓/๒๙๕/๑๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๔. อันโตวุฏฐาทิปฏิกเขปกถา
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “อานนท์ การทำอย่างนี้ไม่สมควร
ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ไฉนเธอ
จึงขวนขวายเพื่อความมักมากเช่นนี้เล่า อาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้มภายใน ที่
หุงต้มเอง จัดเป็นอกัปปิยะ๑ การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
ฯลฯ” ทรงแสดงธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่
พึงฉันอาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้มภายใน ที่หุงต้มเอง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายใน หุงต้มภายใน หุงต้มเอง ถ้าภิกษุฉัน
อาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๓ ตัว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายใน หุงต้มภายใน คนอื่นหุงต้มให้ ถ้า
ภิกษุฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายใน แต่หุงต้มภายนอก หุงต้มเอง ถ้า
ภิกษุฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายนอก แต่หุงต้มภายใน หุงต้มเอง ถ้าภิกษุ
ฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ๒ ตัว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายใน แต่หุงต้มภายนอก คนอื่นหุงต้มให้
ถ้าภิกษุฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏตัวเดียว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายนอก หุงต้มภายใน คนอื่นหุงต้มให้ ถ้าภิกษุ
ฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏตัวเดียว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายนอก หุงต้มภายนอก หุงต้มเอง ถ้าภิกษุ
ฉันอาหารนั้น ต้องอาบัติทุกกฏตัวเดียว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเก็บอาหารไว้ภายนอก หุงต้มภายนอก คนอื่นหุงต้มให้
ถ้าภิกษุฉันอาหารนั้น ไม่ต้องอาบัติ

เชิงอรรถ :
๑ อกัปปิยะ คือ ของที่ภิกษุไม่สมควรจะบริโภค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๔. อันโตวุฏฐาทิปฏิกเขปกถา
เรื่องอุ่นภัตตาหาร
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนาว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามภัตตาหารที่หุง
ต้มเอง” จึงยำเกรงโภชนาหารที่อุ่นใหม่
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุ่นภัตตาหารได้”

เรื่องให้เก็บอาหารภายในและหุงต้มเองเมื่อคราวจำเป็น
สมัยนั้น กรุงราชคฤห์เกิดข้าวยากหมากแพง คนทั้งหลายนำเกลือบ้าง น้ำมัน
บ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้างมาที่อาราม ภิกษุทั้งหลายให้เก็บของเหล่านั้นไว้ภาย
นอก สัตว์ต่าง ๆ๑ คาบไปกินเสียบ้าง พวกโจรลักเอาไปบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้เก็บไว้ภายในได้”
พวกกัปปิยการกเก็บอาหารไว้ภายในแล้วหุงต้มภายนอก พวกคนกินเดนพากัน
ห้อมล้อม ภิกษุทั้งหลายฉันไม่สะดวก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หุงต้มภายในได้”
ในคราวข้าวยากหมากแพง พวกกัปปิยการก๒นำเอาสิ่งของไปเป็นจำนวนมากกว่า
ถวายภิกษุทั้งหลายเพียงเล็กน้อย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หุงต้มเอง ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตอาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้มภายใน ที่หุงต้มเอง”

เชิงอรรถ :
๑ สัตว์ต่าง ๆ แปลมาจากบาลีว่า “อุกฺกปิณฺฑกาปิ” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “vermin” แปลว่า สัตว์ที่
ทำลายพืชพันธุ์ เช่น เสือปลา หนู นก ไส้เดือน (วิ.อ. ๓/๒๘๑/๑๗๘)
๒ กัปปิยการก หมายถึงผู้ทำหน้าที่จัดของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภค, ผู้ปฏิบัติภิกษุ, ศิษย์พระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๕. อุคคหิตปฏิคคหณา
๑๖๕. อุคคหิตปฏิคคหณา
ว่าด้วยการรับประเคนของที่จับต้องแล้ว

เรื่องรับประเคนผลไม้ที่จับต้องแล้ว
[๒๗๕] สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปอยู่จำตลอดพรรษาในแคว้นกาสีแล้ว เดินทาง
ไปกรุงราชคฤห์เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ระหว่างทาง ไม่ได้โภชนาหารธรรมดาหรือ
ที่ประณีตตามต้องการเลย แม้ว่าของเคี้ยวคือผลไม้จะมีมาก แต่ไม่มีกัปปิยการก
พากันลำบาก จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระเวฬุวัน เขตกรุงราชคฤห์ สถานที่
ให้เหยื่อกระแต ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร
การที่พระพุทธเจ้าทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ เดินทางมาไม่ลำบากหรือ และพวก
เธอมาจากที่ไหน”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ยังสบายดีพระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นอยู่ได้
พระพุทธเจ้าข้า ขอพระราชทานพระวโรกาส พวกข้าพระองค์จำพรรษาในแคว้น
กาสี เดินทางมากรุงราชคฤห์เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ระหว่างทางไม่ได้โภชนาหาร
ธรรมดาหรือที่ประณีตตามต้องการ แม้ของเคี้ยวคือผลไม้จะมีมาก แต่ก็หา
กัปปิยการกไม่ได้ ดังนั้นจึงเดินทางมาลำบาก พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเห็นของเคี้ยวคือผลไม้ที่ใด ถึงไม่มี
กัปปิยการก เราอนุญาตให้หยิบนำไปเอง พบกัปปิยการกแล้ววางไว้บนพื้นดินให้
เขาประเคนแล้วฉันได้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนสิ่งของที่จับต้องแล้ว”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๕. อุคคหิตปฏิคคหณา
เรื่องพราหมณ์ถวายงาและน้ำผึ้ง
[๒๗๖] สมัยนั้น พราหมณ์คนหนึ่งมีงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่ ครั้งนั้น พราหมณ์
นั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “อย่ากระนั้นเลย เราพึงถวายงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่แก่
ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน” แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันและกันแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร พราหมณ์นั้นผู้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์โปรด
รับภัตตาหารของข้าพระองค์ เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น พราหมณ์นั้นทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงกลับไป
เมื่อผ่านราตรีนั้นไป พราหมณ์สั่งให้เตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีตแล้วให้คนไป
กราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “พระโคดมผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหาร
เสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปนิเวศน์ของพราหมณ์พร้อมภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ที่จัด
ถวาย เขาได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น
ประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว
ละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พราหมณ์นั้นเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วทรงลุก
จากอาสนะเสด็จกลับ
เมื่อพระองค์เสด็จกลับไม่นาน พราหมณ์นั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราตั้งใจว่า
จะถวายงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่จึงได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แต่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๖. ปฏิคคหิตาทิอนุชานนา
กลับลืมเสีย เราพึงให้เขาจัดงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่บรรจุขวดและหม้อนำไปอาราม” แล้ว
ให้จัดงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่บรรจุขวดและหม้อนำไปอาราม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้
ว่า “พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ตั้งใจจะถวายงาใหม่และน้ำผึ้งใหม่จึงได้นิมนต์ภิกษุ
สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แต่ลืมถวาย ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดรับงาใหม่และ
น้ำผึ้งใหม่ของข้าพระองค์เถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงถวายภิกษุทั้งหลาย”
สมัยนั้น เป็นคราวข้าวยากหมากแพง ภิกษุทั้งหลายรับของเล็กน้อยแล้ว
ห้ามเสียบ้าง พิจารณาแล้วห้ามเสียบ้าง เป็นอันว่า พระสงฆ์ล้วนเป็นผู้บอกห้าม
ภัตตาหารแล้วทั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรับประเคนฉันเถิด เรา
อนุญาตให้ภิกษุผู้ฉันแล้วบอกห้ามภัตตาหารแล้ว ฉันโภชนาหารที่ไม่เป็นเดนที่นำ
มาจากที่ฉันได้”

๑๖๖. ปฏิคคหิตาทิอนุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตให้ฉันของที่รับประเคนไว้เป็นต้น

เรื่องของฉันที่รับประเคนไว้ตอนเช้า
[๒๗๗] ๑สมัยนั้น ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระอุปนันทศากยบุตร ส่งของ
เคี้ยวไปถวายสงฆ์ด้วยแจ้งว่า “ขอมอบให้พระคุณเจ้าอุปนันทะเป็นผู้ถวายสงฆ์” ครั้งนั้น
ท่านพระอุปนันทศากยบุตรกำลังเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน

เชิงอรรถ :
๑ วิ.มหา. (แปล) ๒/๒๙๕/๔๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๖. ปฏิคคหิตาทิอนุชานนา
พอดี คนทั้งหลายไปถึงอารามได้ถามภิกษุทั้งหลายว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย
พระคุณเจ้าอุปนันทะไปไหน”
ภิกษุทั้งหลายตอบว่า “อุบาสกทั้งหลาย ท่านอุปนันทศากยบุตรองค์นั้นเข้า
ไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน”
คนเหล่านั้นกราบเรียนว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลาย ของเคี้ยวนี้ขอมอบให้พระ
คุณเจ้าอุปนันทะเป็นผู้ถวายสงฆ์”
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นพวกเธอจงรับประเคน
เก็บไว้จนกว่าอุปนันทะจะกลับมา”
ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรเข้าไปเยี่ยมตระกูลก่อนเวลาฉัน กลับมา
ถึงตอนกลางวัน เวลานั้นเป็นคราวข้าวยากหมากแพง ภิกษุทั้งหลายรับสิ่งของเล็ก
น้อยแล้วห้ามเสียบ้าง พิจารณาแล้วห้ามเสียบ้าง เป็นอันว่า พระสงฆ์ล้วนเป็นผู้
บอกห้ามภัตตาหารแล้วทั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ยอมรับประเคน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรับประเคนฉันเถิด เรา
อนุญาตให้ภิกษุฉันแล้วบอกห้ามภัตตาหารแล้ว ฉันโภชนาหารที่ไม่เป็นเดนที่รับ
ประเคนไว้ก่อนเวลาฉันได้”

เรื่องพระสารีบุตรอาพาธร้อนในกาย
[๒๗๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงสาวัตถี
แล้วทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก
เศรษฐีในกรุงสาวัตถีนั้น
สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรอาพาธร้อนในกาย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๖. ปฏิคคหิตาทิอนุชานนา
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ถึงที่อยู่แล้ว
ได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า “ท่านสารีบุตร เมื่อก่อนท่านอาพาธร้อนในกาย
กลับมีความสำราญด้วยยาอะไร”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ผมมีความสำราญด้วยเหง้าบัวและ
รากบัว”
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะหายตัวจากพระเชตวันมาปรากฏที่ฝั่ง
สระโบกขรณีมันทากินีเร็วเหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า
ช้างตัวหนึ่งเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงได้กล่าวกับ
ท่านพระมหาโมคคัลลานะดังนี้ว่า “นิมนต์พระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะมาเถิด พระ
คุณเจ้ามาดี ต้องการอะไร จะถวายอะไรดีเล่า”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า “อาตมาต้องการเหง้าบัวกับรากบัว”
ช้างนั้นสั่งช้างอีกตัวหนึ่งว่า “ท่านจงถวายเหง้าบัวกับรากบัวตามต้องการแด่
พระคุณเจ้า”
ช้างตัวนั้นลงสระโบกขรณีมันทากินี ใช้งวงถอนเหง้าบัวและรากบัวล้างน้ำจน
สะอาด ม้วนเป็นห่อแล้วเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะ
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะหายตัวจากฝั่งสระโบกขรณีมันทากินี มา
ปรากฏตัวที่พระเชตวันวิหาร เหมือนคนมีกำลังเหยียดออกหรือคู้แขนเข้า แม้ช้าง
เชือกนั้นก็หายจากฝั่งสระโบกขรณีมันทากินี มาปรากฏตัวที่พระเชตวันวิหาร
ประเคนเหง้าบัวและรากบัวแก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ แล้วหายตัวไปจากพระ
เชตวันมาปรากฏที่ฝั่งสระโบกขรณีมันทากินี
ต่อมา ท่านพระมหาโมคคัลลานะน้อมเหง้าบัวและรากบัวเข้าไปถวายท่านพระ
สารีบุตร เมื่อท่านพระสารีบุตรฉันเหง้าบัวและรากบัว อาพาธร้อนในกายก็หาย
ทันที เหง้าบัวและรากบัวยังเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๗. สัตถกัมมปฏิกเขปกถา
สมัยนั้น เกิดข้าวยากหมากแพง ภิกษุทั้งหลายรับของเล็กน้อยแล้วห้ามเสียบ้าง
พิจารณาแล้วห้ามเสียบ้าง เป็นอันว่าพระสงฆ์ล้วนเป็นผู้ห้ามภัตตาหารแล้วทั้งนั้น
ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่ จึงไม่ยอมรับประเคน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอรับประเคนฉันเถิด เรา
อนุญาตให้ภิกษุฉันแล้วห้ามภัตตาหารแล้ว ฉันโภชนาหารที่ไม่เป็นเดน ที่เกิดในป่า
ที่เกิดในกอบัวได้”

เรื่องฉันผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออก
สมัยนั้น ของฉันคือผลไม้มีมากมายในกรุงสาวัตถี แต่ไม่มีกัปปิยการก ภิกษุ
ทั้งหลายยำเกรงอยู่จึงไม่ฉันผลไม้
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันผลไม้ที่ใช้เพาะ
พันธุ์ไม่ได้๑ ผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออกแล้วยังไม่ทำกัปปะก็ฉันได้”

๑๖๗. สัตถกัมมปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยการทรงห้ามทำสัตถกรรม๒

เรื่องริดสีดวงทวาร
[๒๗๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถีตามพระอัธยาศัย
แล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงราชคฤห์ เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงราชคฤห์
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
ในกรุงราชคฤห์นั้น

เชิงอรรถ :
๑ ผลไม้ที่เพาะพันธุ์ไม่ได้ หมายถึงผลไม้ที่มีเมล็ดอ่อน ไม่สามารถให้เกิดหน่อได้ (วิ.อ. ๓/๒๗๙/๑๗๖)
๒ สัตถกรรม คือ การผ่าตัดด้วยศัสตรา การบ่งด้วยเข็มหรือหนาม การตัดด้วยกรรไกรหรือใช้เล็บหยิก
ในที่ลับ (วิ.อ. ๓/๒๗๙/๑๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๗. สัตถกัมมปฏิกเขปกถา
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นริดสีดวงทวาร นายแพทย์อากาสโคตรกำลัง
ทำการผ่าตัดด้วยศัสตรา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามเสนาสนะ เสด็จเข้าไปทางที่อยู่ของ
ภิกษุนั้น นายแพทย์อากาสโคตรเห็นพระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จมาแต่ไกล จึงกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระโคดมผู้เจริญโปรดเสด็จมาทอดพระเนตรวัจมรรค
ของภิกษุรูปนี้ เหมือนปากเหี้ย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า “โมฆบุรุษนี้เยาะเย้ยเรา” จึงเสด็จกลับ
จากที่นั้นแล้วรับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ในวิหารหลังโน้นมีภิกษุเป็นไข้หรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “มีอยู่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นอาพาธเป็นโรคอะไร”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ภิกษุนั้นเป็นริดสีดวงทวาร นายแพทย์อากาสโคตร
กำลังทำการผ่าตัดด้วยศัสตรา พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “การกระทำของโมฆบุรุษนั้นไม่สมควร
ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ไฉน
โมฆบุรุษนั้นจึงให้ทำการผ่าตัดด้วยศัสตราในที่แคบเล่า ในที่แคบมีผิวเนื้ออ่อน แผล
หายยาก ผ่าตัดลำบาก ภิกษุทั้งหลาย การทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้
เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้ผ่าตัดด้วยศัสตราในที่แคบ รูปใดให้ผ่าตัด ต้องอาบัติถุลลัจจัย”

เรื่องทรงห้ามทำวัตถิกรรม๑
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามผ่าตัดด้วย
ศัสตรา” จึงเลี่ยงให้ทำการบีบหัวริดสีดวง

เชิงอรรถ :
๑ วัตถิกรรม คือ การใช้หนังหรือผ้าผูกรัดที่ทวารหนักเพื่อรัดหัวริดสีดวง (วิ.อ. ๓/๒๗๙/๑๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๗๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๘. มนุสสมังสปฏิกเขปกถา
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์จึงให้ทำการบีบหัวริดสีดวงเล่า” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวก
ภิกษุฉัพพัคคีย์ให้ทำการบีบหัวริดสีดวง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริงพระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ ครั้นทรงตำหนิแล้ว
ทรงแสดงธรรมีกถาแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้ผ่า
ตัดทวารหนักด้วยศัสตราหรือบีบหัวริดสีดวง ประมาณ ๒ นิ้วรอบ ๆ ที่แคบ
รูปใดให้ผ่าหรือให้บีบ ต้องอาบัติถุลลัจจัย”

๑๖๘. มนุสสมังสปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามฉันเนื้อมนุษย์

เรื่องอุบาสิกาสุปปิยาเชือดเนื้อขาอ่อนถวาย
[๒๘๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางกรุงพาราณสี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุง
พาราณสี ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใน
กรุงพาราณสีนั้น
สมัยนั้น อุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยา ทั้ง ๒ คนมีศรัทธาทั้งเป็น
ทายก เป็นกัปปิยการก เป็นผู้บำรุงพระสงฆ์ในกรุงพาราณสี วันหนึ่งอุบาสิกา
สุปปิยาไปที่อาราม เดินเที่ยวไปตามวิหารและบริเวณทั่วทุกแห่งแล้วถามภิกษุทั้งหลาย
ว่า “ภิกษุรูปใดอาพาธ รูปใดจะให้ดิฉันนำอะไรมาถวาย เจ้าข้า”
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งดื่มยาถ่าย ลำดับนั้น ท่านได้กล่าวกับอุบาสิกาสุปปิยา
ดังนี้ว่า “น้องหญิง อาตมาดื่มยาถ่าย อาตมาต้องการน้ำต้มเนื้อ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๘. มนุสสมังสปฏิกเขปกถา
อุบาสิกาสุปปิยากล่าวว่า “พระคุณเจ้า ดิฉันจะนำมาถวายเป็นพิเศษ” แล้ว
กลับไปบ้านสั่งคนรับใช้ว่า “เจ้าจงไปหาซื้อเนื้อสัตว์ที่มีขายมา”๑
คนรับใช้รับคำแล้วไปเที่ยวหาซื้อเนื้อทั่วกรุงพาราณสีก็ไม่เห็นเนื้อสัตว์ที่มีขาย
ลำดับนั้น คนรับใช้นั้นจึงกลับเข้าไปหาอุบาสิกาสุปปิยาบอกว่า “แม่เจ้า ไม่มีเนื้อ
สัตว์ที่เขาขาย วันนี้เป็นวันห้ามฆ่าสัตว์”
ครั้งนั้น อุบาสิกาสุปปิยาได้มีความคิดดังนี้ว่า “ภิกษุเป็นไข้รูปนั้นเมื่อไม่ได้
ฉันน้ำต้มเนื้อ อาพาธจะกำเริบหรือถึงมรณภาพได้ การที่เรารับคำแล้วไม่จัดหาไป
ถวายไม่สมควรเลย” จึงได้หยิบมีดหั่นเนื้อมาเชือดเนื้อขาอ่อนตนส่งให้หญิงรับใช้สั่ง
ว่า “แม่สาวใช้ เธอจงต้มเนื้อนี้แล้วนำไปถวายภิกษุไข้ที่วิหารหลังโน้น และใครถาม
ถึงเราก็จงบอกว่าเราเป็นไข้” แล้วใช้ผ้าห่มพันขาเข้าห้องนอนบนเตียง
ลำดับนั้น อุบาสกสุปปิยะไปบ้านถามหญิงรับใช้ว่า “แม่สุปปิยาไปไหน”
หญิงรับใช้ตอบว่า “นายท่าน แม่เจ้าสุปปิยานั่นนอนอยู่ในห้อง”
อุบาสกสุปปิยะเข้าไปหาแล้วได้กล่าวกับอุบาสิกาสุปปิยาดังนี้ว่า “เธอนอนทำไม”
อุบาสิกาตอบว่า “ดิฉันเป็นไข้”
อุบาสกถามว่า “เธอเป็นโรคอะไร”
อุบาสิกาจึงเล่าเรื่องนั้นให้อุบาสกสุปปิยะทราบ
ครั้งนั้น อุบาสกสุปปิยะร่าเริง เบิกบานใจว่า “น่าอัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ
ไม่เคยปรากฏ ท่านผู้เจริญ แม่สุปปิยามีศรัทธาถึงกับสละเนื้อตนเอง สิ่งใดอื่น
ทำไมนางจะให้ไม่ได้” แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มี
พระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อเจริญกุศลใน
วันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ

เชิงอรรถ :
๑ เนื้อสัตว์ที่มีขาย หมายถึงเนื้อสัตว์ที่ตายแล้ว (วิ.อ. ๓/๒๘๐/๑๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๘. มนุสสมังสปฏิกเขปกถา
ครั้งนั้น อุบาสกสุปปิยะทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุก
จากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป
เมื่อผ่านราตรีนั้นไป อุบาสกสุปปิยะสั่งให้จัดของเคี้ยวของฉันอันประณีตแล้ว
ให้คนไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหาร
เสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปนิเวศน์ของอุบาสกสุปปิยะ ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อมภิกษุสงฆ์
ลำดับนั้น อุบาสกสุปปิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วยืน ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับอุบาสกสุปปิยะดังนี้ว่า “อุบาสิกาสุปปิยาอยู่ที่ไหน”
อุบาสกกราบทูลว่า “นางเป็นไข้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น ขอให้นางมาเถอะ”
อุบาสกกราบทูลว่า “นางไม่สามารถมาได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น เธอช่วยพยุงมาเถิด”
อุบาสกสุปปิยะพยุงภรรยามาเฝ้า ทันทีที่นางได้เห็นพระผู้มีพระภาค แผลใหญ่
กลับหายเป็นปกติ มีผิวพรรณเรียบสนิทเกิดโลมชาติ
ลำดับนั้น อุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยาร่าเริง เบิกบานใจว่า “น่า
อัศจรรย์จริง ท่านผู้เจริญ ไม่เคยปรากฏ ท่านผู้เจริญ พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมาก เพียงได้เห็นพระองค์เท่านั้น แผลใหญ่กลับหายเป็นปกติ มีผิว
พรรณเรียบสนิทเกิดโลมชาติ” แล้วนำของเคี้ยวของฉันอันประณีตมาประเคนภิกษุ
สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว
ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสกสุปปิยะและอุบาสิกาสุปปิยาเห็นชัด ชวน
ให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากอาสนะแล้วเสด็จกลับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๙. หัตถิมังสาทิปฏิกเขปกถา
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อมนุษย์
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบ
ถามพวกภิกษุว่า “ภิกษุทั้งหลาย ใครเล่าออกปากขอเนื้อกับอุบาสิกาสุปปิยา”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปนั้นจึงกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้า
ได้ออกปากขอเนื้อกับอุบาสิกาสุปปิยา พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เขานำมาถวายแล้วหรือ”
ภิกษุกราบทูลว่า “นำมาถวาย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอฉันแล้วหรือ”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ฉันแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “เธอพิจารณาแล้วหรือ”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ไม่ได้พิจารณา พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ ไฉนเธอยังไม่ได้พิจารณาเลย
จึงฉันเนื้อเล่า เธอฉันเนื้อมนุษย์แล้ว โมฆบุรุษ การกระทำของเธอมิได้ทำคนที่ยัง
ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนทั้งหลายผู้มีศรัทธาเลื่อมใสมีอยู่ คนแม้เหล่านั้น
ได้สละเนื้อของตนถวาย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย อนึ่ง ภิกษุยังไม่ได้พิจารณา ไม่พึงฉันเนื้อ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

๑๖๙. หัตถิมังสาทิปฏิกเขปกถา
ว่าด้วยทรงห้ามฉันเนื้อช้างเป็นต้น

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อช้าง
[๒๘๑] สมัยนั้น ช้างหลวงล้ม ในคราวข้าวยากหมากแพง คนทั้งหลาย
พากันกินเนื้อช้าง ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุจึงฉันเนื้อช้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๙. หัตถิมังสาทิปฏิกเขปกถา
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงฉันเนื้อช้างเล่า ช้างเป็นราชพาหนะ ถ้าพระราชาทรงทราบคงไม่พอ
พระทัยภิกษุทั้งหลายเป็นแน่”
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อช้าง รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อม้า
สมัยนั้น ม้าหลวงตาย ในคราวข้าวยากหมากแพง คนทั้งหลายพากันกิน
เนื้อม้า ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุจึงฉันเนื้อม้า
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงฉันเนื้อม้าเล่า ม้าเป็นราชพาหนะ ถ้าพระราชาทรงทราบคงไม่พอ
พระทัยภิกษุทั้งหลายเป็นแน่”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อม้า รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อสุนัข
สมัยนั้น ในคราวข้าวยากหมากแพง คนทั้งหลายพากันกินเนื้อสุนัข ได้
ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุจึงฉันเนื้อสุนัข
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงฉันเนื้อสุนัขเล่า สุนัขเป็นสัตว์น่าเกลียดสกปรก”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๙. หัตถิมังสาทิปฏิกเขปกถา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อสุนัข รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้องู
สมัยนั้น ในคราวข้าวยากหมากแพง คนทั้งหลายพากันกินเนื้องู ได้ถวาย
แก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุจึงฉันเนื้องู
คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระสมณะเชื้อสาย ศากย-
บุตรจึงฉันเนื้องูเล่า งูเป็นสัตว์น่าเกลียดน่าชัง”
ฝ่ายพญานาคสุปัสสะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืน ณ ที่สมควร พญานาคสุปัสสะซึ่งยืน
ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า นาคงูที่ไม่ศรัทธา
ไม่เลื่อมใสมีอยู่ นาคเหล่านั้น พึงเบียดเบียนภิกษุแม้ด้วยเหตุเล็กน้อยได้ พระพุทธเจ้าข้า
ขอประทานวโรกาส พระคุณเจ้าทั้งหลายไม่พึงฉันเนื้องูเลย”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พญานาคสุปัสสะเห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา
ลำดับนั้น พญานาคสุปัสสะผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณแล้วจากไป
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้องู รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๖๙. หัตถิมังสาทิปฏิกเขปกถา
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อราชสีห์
สมัยนั้น พวกนายพรานฆ่าราชสีห์กิน ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวบิณฑบาต
ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อราชสีห์แล้วอยู่ในป่า ราชสีห์ไล่ตะครุบภิกษุเพราะได้กลิ่นเนื้อ
ราชสีห์
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อราชสีห์ รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือโคร่ง
สมัยนั้น พวกนายพรานฆ่าเสือโคร่งแล้วกิน ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยว
บิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อเสือโคร่งแล้วอยู่ในป่า เสือโคร่งไล่ตะครุบภิกษุ
เพราะได้กลิ่นเนื้อเสือโคร่ง
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือโคร่ง รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือเหลือง
สมัยนั้น พวกนายพรานฆ่าเสือเหลืองแล้วกิน ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยว
บิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อเสือเหลืองแล้วอยู่ในป่า เสือเหลืองไล่ตะครุบภิกษุ
เพราะได้กลิ่นเนื้อเสือเหลือง
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือเหลือง รูปใด
ฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๐. ยาคุมธุโคฬกานุชานนา
เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อหมี
สมัยนั้น พวกนายพรานฆ่าหมีแล้วกิน ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยว
บิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อหมีแล้วอยู่ในป่า หมีไล่ตะครุบภิกษุเพราะได้กลิ่น
เนื้อหมี
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อหมี รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อเสือดาว
สมัยนั้น พวกนายพรานฆ่าเสือดาวแล้วกิน ได้ถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยว
บิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อเสือดาวแล้วอยู่ในป่า เสือดาวไล่ตะครุบภิกษุเพราะ
ได้กลิ่นเนื้อเสือดาว
ภิกษุทั้งหลายนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือดาว รูปใดฉัน
ต้องอาบัติทุกกฏ”
สุปปิยภาณวารที่ ๒ จบ

๑๗๐. ยาคุมธุโคฬกานุชานนา
ว่าด้วยทรงอนุญาตข้าวต้มและขนมหวาน

เรื่องพราหมณ์คอยโอกาสถวายภัตตาหาร
[๒๘๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสีตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางอันธกวินทชนบท พร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๐. ยาคุมธุโคฬกานุชานนา
๑,๒๕๐ รูป สมัยนั้น ชาวชนบทบรรทุกเกลือ น้ำมัน ข้าวสาร ของเคี้ยวเป็นอัน
มากมาในเกวียน เดินตามภิกษุสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ด้วยตั้งใจว่า
“เมื่อได้โอกาสพวกเรา จะทำภัตตาหารถวาย” มีคนกินเดนอีก ๕๐๐ คนติดตาม
ไปด้วย ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามลำดับ จนถึงถึงอันธวินทชนบท
ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งเมื่อไม่ได้โอกาส ได้มีความคิดดังนี้ว่า “เราเดินตาม
ภิกษุสงฆ์ที่มีพระพระพุทธเจ้าเป็นประธานมากว่า ๒ เดือนแล้ว ด้วยตั้งใจว่า ‘จะทำ
ภัตตาหารถวายเมื่อได้โอกาส’ แต่ก็หาโอกาสไม่ได้ เราตัวคนเดียวและยังเสีย
ประโยชน์ทางฆราวาสไปมาก อย่ากระนั้นเลย เราพึงตรวจดูโรงอาหาร สิ่งใดยังไม่
มีในโรงอาหาร จัดเตรียมสิ่งนั้นถวาย” แล้วตรวจดูโรงอาหาร ไม่เห็นของ ๒ อย่าง
คือ ข้าวต้มและขนมหวาน จึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์แล้ว ได้กล่าวกับท่านพระ
อานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ ขอโอกาสเถิด กระผมเมื่อไม่ได้โอกาสจึงได้มีความ
คิดดังนี้ว่า ‘เราเดินตามภิกษุสงฆ์ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานมากว่า ๒ เดือนแล้ว
ด้วยตั้งใจว่า ‘จะทำภัตตาหารถวายเมื่อได้โอกาส’ แต่ก็หาโอกาสไม่ได้ เราตัวคน
เดียวและยังเสียประโยชน์ทางฆราวาสไปมาก อย่ากระนั้นเลย เราพึงตรวจดูโรง
อาหาร สิ่งใดยังไม่มีในโรงอาหาร ‘จัดเตรียมสิ่งนั้นถวาย’ ท่านอานนท์ กระผม
นั้นตรวจดูโรงอาหาร ไม่เห็นของ ๒ อย่าง คือ ข้าวต้มและขนมหวาน ท่านอานนท์
ถ้ากระผมจัดเตรียมข้าวต้มและขนมหวาน พระโคดมผู้เจริญจะทรงรับหรือ”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น อาตมาจะกราบทูลถามพระ
ผู้มีพระภาค” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์จงจัดเตรียมถวายเถิด”
ท่านพระอานนท์บอกพราหมณ์ว่า “ท่านจัดเตรียมได้”
เมื่อผ่านราตรีนั้นไป พราหมณ์จัดเตรียมข้าวต้มและขนมหวานเป็นจำนวน
มากแล้ว น้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคว่า “ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดรับข้าว
ต้มและขนมหวานของข้าพระองค์เถิด”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๐. ยาคุมธุโคฬกานุชานนา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถวายแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย” ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่ จึงไม่ยอมรับประเคน
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงรับประเคนฉันเถิด”
ครั้งนั้น พราหมณ์ได้นำข้าวต้มและขนมหวานจำนวนมากมาประเคนภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงห้าม
ภัตแล้ว ล้างพระหัตถ์แล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร

ประโยชน์ของข้าวต้มมี ๑๐ อย่าง
พระผู้มีพระภาคตรัสกับพราหมณ์ผู้นั่ง ณ ที่สมควรว่า “พราหมณ์ ข้าวต้ม
มีอานิสงส์ ๑๐ ประการ คือ ผู้ถวายข้าวต้มชื่อว่า (๑) ให้อายุ (๒) ให้วรรณะ
(๓) ให้สุขะ (๔) ให้พละ (๕) ให้ปฏิภาณ (๖) บรรเทาความหิว (๗) ระงับความ
กระหาย (๘) ให้ลมเดินคล่อง (๙) ชำระลำไส้ (๑๐) เผาอาหารที่ยังไม่ย่อยให้ย่อย
พราหมณ์ ข้าวต้มมีอานิสงส์ ๑๐ ประการนี้แล
ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว พระสุคตตรัสอนุโมทนาต่อไปว่า
“ทายกผู้ตั้งใจถวายข้าวต้มแก่ปฏิคาหกผู้สำรวมแล้ว
ผู้ฉันอาหารที่ผู้อื่นถวายตามกาลสมควร
เขาได้ชื่อว่าตามเพิ่มให้ประโยชน์ ๑๐ ประการแก่ปฏิคาหก
คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ
นอกจากนั้นข้าวต้มย่อมบรรเทาความหิว ความกระหาย
ให้ลมเดินคล่อง ชำระลำไส้ และช่วยย่อยอาหาร
พระสุคตตรัสว่าข้าวต้มเป็นยา
ดังนั้น ผู้ที่ต้องการความสุขอันเป็นของมนุษย์ตลอดกาลนาน
และปรารถนาความสุขอันเป็นทิพย์ หรือปรารถนาความงาม
อันเป็นของมนุษย์ จึงควรถวายข้าวต้ม”
เมื่อทรงอนุโมทนาแก่พราหมณ์ด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว จึงเสด็จลุกจากที่
ประทับกลับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๘๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๑. ตรุณัปปสันนมหามัตตวัตถุ
ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตข้าวต้มและขนมหวาน”

๑๗๑. ตรุณัปปสันนมหามัตตวัตถุ
ว่าด้วยมหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่
[๒๘๓] คนทั้งหลายทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้าวต้มและ
ขนมหวานแก่ภิกษุ จึงจัดเตรียมข้าวต้มข้น๑และขนมหวานถวายแต่เช้า พวกภิกษุ
ที่รับประเคนข้าวต้มข้นและขนมหวานแต่เช้า ฉันภัตตาหารในโรงอาหารไม่ได้ตาม
ต้องการ
สมัยนั้น มหาอมาตย์คนหนึ่งผู้เลื่อมใสใหม่ได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธานเพื่อเจริญกุศลในวันรุ่งขึ้น มหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่นั้นได้มีความคิด
ดังนี้ว่า “ถ้ากระไร เราพึงตกแต่งสำรับเนื้อ ๑,๒๕๐ ที่ เพื่อภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป
น้อมเข้าไปถวายภิกษุรูปละ ๑ ที่” โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้น เขาสั่งให้จัดเตรียม
ของฉันอย่างดี และสำรับเนื้อ ๑,๒๕๐ ที่ แล้วให้เจ้าหน้าที่ไปกราบทูลภัตกาล
พระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปนิเวศน์ของมหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่นั้น ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เขาได้ประเคนภิกษุในโรงอาหาร
พวกภิกษุกล่าวอย่างนี้ว่า “มหาอมาตย์ ท่านจงถวายแต่น้อย ๆ เถิด”
มหาอมาตย์กล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านอย่ารับเพียงน้อย ๆ เพราะคิดว่า
‘นี่เป็นมหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่’ ผมจัดเตรียมของฉันไว้เป็นจำนวนมากพร้อมด้วย

เชิงอรรถ :
๑ ข้าวต้มข้น ข้าวต้มที่ควรบริโภค คือมีคติอย่างข้าวสุก (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๘๓/๓๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๑. ตรุณัปปสันนมหามัตตวัตถุ
สำรับเนื้อ ๑,๒๕๐ ที่ จะน้อมเข้าไปถวายภิกษุรูปละ ๑ ที่ ท่านโปรดรับให้พอความ
ต้องการเถิด”
พวกภิกษุกล่าวว่า “มหาอมาตย์ พวกอาตมารับแต่น้อยไม่ใช่เพราะสาเหตุนั้น
แต่พวกอาตมารับประเคนข้าวต้มข้นและขนมหวานมาแต่เช้าแล้ว ดังนั้นจึงต้องรับ
แต่น้อย ๆ”
ครั้งนั้น มหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่ ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
ที่ผมนิมนต์ไว้จึงฉันข้าวต้มข้นของผู้อื่นเล่า ผมไม่สามารถจะถวายให้พอแก่ความต้อง
การหรือ” โกรธเสียใจคอยจับผิด ได้บรรจุบาตรของภิกษุจนเต็มพลางกล่าวว่า “พวก
ท่านจะฉันก็ได้ จะขนเอาไปก็ได้” แล้วได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคน
ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเองกระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว
ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้า ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่นั้นเห็นชัด ชวนให้อยาก
รับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมี
กถาแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับ
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับไม่นาน มหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่นั้นได้มีความกังวล
ได้มีความร้อนใจว่า “ไม่ใช่ลาภของเราหนอ เราไม่มีลาภหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ
เราได้ไม่ดีแล้วหนอ ที่ไปโกรธเสียใจคอยจับผิดแล้วบรรจุบาตรของภิกษุจนเต็มพลาง
กล่าวว่า พวกท่านจะฉันก็ได้ จะขนเอาไปก็ได้ เราสร้างสมบุญหรือบาปมากกว่า
กันหนอ” จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้อภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควรแล้วได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
ขอพระราชทานวโรกาส เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับไม่นาน ข้าพระองค์ได้มี
ความกังวล ได้มีความร้อนใจว่า ‘ไม่ใช่ลาภของเราหนอ เราไม่มีลาภหนอ เราได้
ชั่วแล้วหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ ที่ไปโกรธเสียใจคอยจับผิดแล้วบรรจุบาตรของภิกษุ
จนเต็มพลางกล่าวว่า พวกท่านจะฉันก็ได้ จะขนเอาไปก็ได้ เราสร้างสมบุญหรือ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๑. ตรุณัปปสันนมหามัตตวัตถุ
บาปมากกว่ากันหนอ’ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์สร้างสมบุญหรือบาปมากกว่า
กัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาอมาตย์ ท่านนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธานด้วยการให้ที่ล้ำเลิศใด ท่านชื่อว่าสร้างสมบุญไว้มากเพราะการให้ที่เลิศ
นั้น ภิกษุแต่ละรูปผู้รับเมล็ดข้าวสุกแต่ละเมล็ดของท่านล้วนเลิศด้วยคุณสมบัติใด
ท่านจึงเป็นผู้ที่ชื่อว่าสร้างสมบุญไว้มากเพราะภิกษุผู้เลิศด้วยคุณสมบัตินั้น สวรรค์
เป็นหนทางที่ท่านเริ่มต้นไว้แล้ว”
ครั้งนั้น มหาอมาตย์ผู้เลื่อมใสใหม่นั้น ร่าเริงเบิกบานใจว่า “ทราบว่าเป็นลาภ
ของเรา ทราบว่าเราได้ดีแล้ว ทราบว่าสวรรค์เป็นหนทางที่เราเริ่มต้นไว้แล้ว” แล้ว
ลุกจากที่นั่งถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้ว
ทรงสอบถามพวกภิกษุว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุได้รับนิมนต์ไว้ที่หนึ่ง
แล้วไปฉันข้าวต้มข้นอีกที่หนึ่ง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้น
ได้รับนิมนต์ไว้ที่หนึ่งแล้วไปฉันข้าวต้มข้นอีกที่หนึ่งเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
อย่าง นี้มิได้ทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใสขึ้น ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้วทรงแสดง
ธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรับนิมนต์ไว้ที่หนึ่งแล้ว
ไม่พึงไปฉันอีกที่หนึ่ง รูปใดพึงฉัน พึงถูกปรับอาบัติตามธรรม”๑

เชิงอรรถ :
๑ พึงถูกปรับอาบัติตามธรรม หมายถึงพึงปรับอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันปรัมปรโภชนะ ตามความใน
สิกขาบทที่ ๓ แห่งโภชนวรรค (ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๒๒๑-๒๒๖/๓๘๑-๓๘๔) ภิกษุฉันข้าวต้มข้นที่มี
คติอย่างข้าวสุกของทายกรายหนึ่งแล้วไปฉันภัตตาหารของมหาอมาตย์ นับว่าฉันปรัมปรโภชนะ (ดู สารตฺถ.
ฏีกา ๓/๒๘๓/๓๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๒. เพลักฐกัจจานวัตถุ
๑๗๒. เพลัฏฐกัจจานวัตถุ
ว่าด้วยพราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะถวายน้ำอ้อยงบ
[๒๘๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อันธกวินทชนบทตามพระ
อัธยาศัย แล้วเสด็จจาริกไปทางกรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ รูป
สมัยนั้น พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะเดินทางไกลจากกรุงราชคฤห์ไปยังอันธกวินทชนบท
พร้อมด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม ล้วนบรรทุกน้ำอ้อยงบเต็ม พระผู้มีพระภาคทอด
พระเนตรเห็นเขาเดินมาแต่ไกล จึงเสด็จแวะข้างทางประทับนั่ง ณ ควงไม้ต้นหนึ่ง
ลำดับนั้น พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พราหมณ์
เพลัฏฐกัจจานะผู้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าพระองค์
ปรารถนาจะถวายน้ำอ้อยงบแก่ภิกษุรูปละ ๑ หม้อ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัจจานะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงนำน้ำอ้อยงบมาหม้อ
เดียวเท่านั้น”
พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะ กราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว นำหม้อน้ำ
อ้อยงบมาเพียงหม้อเดียว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าพระองค์นำหม้อน้ำอ้อยงบมาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
ข้าพระองค์จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัจจานะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงถวายน้ำอ้อยงบแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด”
พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะกราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าพระองค์ถวายน้ำอ้อยงบแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว พระพุทธ
เจ้าข้า และน้ำอ้อยงบเหลือเป็นจำนวนมาก ข้าพระองค์จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงถวายน้ำอ้อยงบแก่ภิกษุทั้งหลายตามต้องการ
เถิด”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๒. เพลักฐกัจจานวัตถุ
พราหมณ์กราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ได้ถวายน้ำอ้อยงบแก่ภิกษุ
ทั้งหลายตามต้องการแล้วได้กราบทูลว่า “ข้าพระองค์ถวายน้ำอ้อยงบแก่ภิกษุทั้งหลาย
ตามต้องการ แต่น้ำอ้อยงบยังเหลืออยู่มาก จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงนำน้ำอ้อยงบประเคนภิกษุทั้งหลายให้ฉันจน
อิ่มหนำเถิด”
พราหมณ์กราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ได้นำน้ำอ้อยงบประเคนภิกษุ
ทั้งหลายให้ฉันจนอิ่มหนำ ภิกษุบางพวกบรรจุน้ำอ้อยงบเต็มบาตรบ้าง เต็มหม้อ
กรองน้ำบ้าง เต็มถุงย่ามบ้าง พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะนำน้ำอ้อยงบประเคนภิกษุ
ทั้งหลายให้ฉันจนอิ่มแล้วกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้นำน้ำอ้อยงบประเคนภิกษุทั้งหลาย
ให้ฉันจนอิ่มหนำแล้ว แต่น้ำอ้อยงบยังเหลืออยู่มาก จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงให้น้ำอ้อยงบแก่พวกคนกินเดนเถิด”
พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะกราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ได้ให้น้ำ
อ้อยงบแก่พวกคนกินเดนแล้วกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ให้น้ำอ้อยงบแก่พวกคน
กินเดนแล้ว แต่น้ำอ้อยงบยังเหลืออยู่มาก จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงให้น้ำอ้อยงบแก่พวกคนกินเดนจนพอแก่ความต้อง
การเถิด”
พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะกราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ได้ให้น้ำอ้อย
งบแก่พวกคนกินเดนแล้วกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ให้น้ำอ้อยงบแก่พวกคนกินเดน
จนพอแก่ความต้องการแล้ว แต่น้ำอ้อยงบยังเหลืออยู่มาก จะปฏิบัติอย่างไร พระ
พุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงนำน้ำอ้อยงบมาให้พวกคนกินเดนกินจนอิ่มหนำ
เถิด”
พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะกราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ได้นำน้ำอ้อย
งบให้พวกคนกินเดนกินจนอิ่มหนำแล้ว

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๒. เพลักฐกัจจานวัตถุ
คนกินเดนบางพวกบรรจุน้ำอ้อยงบเต็มกระป๋องบ้าง เต็มหม้อบ้าง ห่อเต็ม
ผ้าขาวปูลาดบ้าง เต็มพกบ้าง
พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะนำน้ำอ้อยงบเลี้ยงดูพวกคนกินเดนให้อิ่มหนำแล้วได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าพระองค์ได้นำน้ำอ้อยงบเลี้ยงดูพวกคนกินเดนจน
อิ่มหนำ แต่น้ำอ้อยงบยังเหลืออยู่มาก จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูก่อนกัจจานะ ทั่วโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลกทั่วทุกหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ เราไม่เล็งเห็น
ผู้ที่บริโภคน้ำอ้อยงบนั้นแล้วจะย่อยได้ดี ยกเว้นตถาคตหรือสาวกของตถาคต เธอจง
ทิ้งน้ำอ้อยงบนั้นในที่ปราศจากของเขียวหรือในที่ที่ไม่มีตัวสัตว์”
พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะกราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว ได้เทน้ำอ้อยงบ
ลงในที่ไม่มีตัวสัตว์ น้ำอ้อยงบนั้นได้เดือดพุ่งส่งเสียงดัง ฉี่ ฉี่ ฉี่ ฉี่ พ่นไอพ่นควันขึ้น
เหมือนผาลที่ร้อนโชนตลอดวันที่บุคคลจุ่มลงน้ำย่อมเดือดพุ่งส่งเสียงดัง ฉี่ ฉี่ ฉี่ ฉี่
ทันใดนั้นเขาสลดใจเกิดโลมชาติชูชัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึง
แล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่พราหมณ์เพลัฏฐะนั้นผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควร
เมื่อทรงทราบว่าพราหมณ์เพลัฏฐะนั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิก
บาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่
พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะ ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น
ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาด
ปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๒. เพลัฏฐกัจจานวัตถุ
ครั้งนั้น พราหมณ์เพลัฏฐกัจจานะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้ง
ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึง
ความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนคนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระ
สงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามลำดับ จนถึงกรุงราชคฤห์ ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต ในกรุงราช
คฤห์นั้น สมัยนั้น กรุงราชคฤห์มีน้ำอ้อยงบมาก ภิกษุทั้งหลายยำเกรงอยู่ว่า “พระ
ผู้มีพระภาคทรงอนุญาตน้ำอ้อยงบแก่ภิกษุผู้เป็นไข้เท่านั้น ไม่ทรงอนุญาตแก่ผู้ไม่เป็นไข้”
จึงไม่ฉันน้ำอ้อยงบ
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยงบแก่ภิกษุผู้เป็นไข้
น้ำอ้อยงบละลายน้ำแก่ผู้ไม่เป็นไข้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๓. ปาฏลิคามวัตถุ
๑๗๓. ปาฏลิคามวัตถุ
ว่าด้วยชาวปาฏลิคามถวายที่พัก

เรื่องทรงรับอาคารพักแรม
[๒๘๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ตามพระ
อัธยาศัยแล้ว เสด็จไปทางปาฏลิคามพร้อมด้วยภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ รูป สมัยนั้น
พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามลำดับ จนถึงปาฏลิคาม
อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง
ปาฏลิคามแล้ว” จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามเห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถา
ครั้งนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคชี้แจงให้เห็นชัด
ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาค
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับอาคารที่พักของพวกข้าพระองค์เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับแล้ว
จึงลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วพากันเดินไปที่
อาคารที่พัก ปูลาดอาสนะทั่วอาคาร จัดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีปน้ำมัน
แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พวกข้า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๓. ปาฏลิคามวัตถุ
พระองค์ปูลาดอาสนะ ดาดเพดานทั่วอาคารที่พัก จัดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตามประทีป
น้ำมันไว้แล้ว ขอพระองค์ทรงทราบเวลาอันเหมาะสมในบัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปที่อาคารพักแรมพร้อมกับภิกษุสงฆ์ ทรงชำระพระบาทแล้วเสด็จเข้าอาคารที่พัก
ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แม้ภิกษุสงฆ์ก็ล้างเท้าแล้ว
เข้าอาคารที่พัก นั่งพิงฝาด้านตะวันตก ผินหน้าไปทางทิศตะวันออกห้อมล้อมพระ
ผู้มีพระภาค แม้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามก็ล้างเท้าแล้วเข้าไปอาคารที่พัก นั่ง
พิงฝาด้านทิศตะวันออกผินหน้าไปทางทิศตะวันตกห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค

โทษแห่งศีลวิบัติ ๕ ประการ๑
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามว่า “คหบดี
ทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล มีโทษ ๕ ประการนี้ โทษ ๕ ประการ คือ
๑. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมถึงความเสื่อม
โภคทรัพย์ใหญ่หลวง ซึ่งมีความประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นโทษประการ
ที่ ๑ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๒. คหบดีทั้งหลาย กิตติศัพท์อันชั่วของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อม
กระฉ่อนไป นี้เป็นโทษประการที่ ๒ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๓. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะ
เป็นขัตติยบริษัทก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัก็ตาม
สมณบริษัทก็ตาม ย่อมไม่แกล้วกล้าเก้อเขินเข้าไป นี้เป็นโทษประการ
ที่ ๓ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๔. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมหลงลืมสติตาย นี้เป็น
โทษประการที่ ๔ แห่งศีลวิบัติของคนทุศีล

เชิงอรรถ :
๑ ที.ปา. ๑๑/๓๑๖/๒๐๙-๒๑๐, องฺ. ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๑๓/๓๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๓. ปาฏลิคามวัตถุ
๕. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ หลังจากตายแล้ว ย่อม
ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เป็นโทษข้อที่ ๕ แห่งศีล
วิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
คหบดีทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล มีโทษ ๕ ประการนี้แล

อานิสงส์แห่งศีลสมบัติ ๕ ประการ๑
คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มีอานิสงส์ ๕ ประการ อานิสงส์
๕ ประการนี้ คือ
๑. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติในโลกนี้ ย่อมได้โภค
ทรัพย์ใหญ่หลวง ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์
ประการที่ ๑ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๒. คหบดีทั้งหลาย กิตติศัพท์อันดีงามของบุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ
ย่อมกระฉ่อนไป นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งศีลสมบัติของ
บุคคลผู้มีศีล
๓. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ
จะเป็นขัตติยบริษัทก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัท
ก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม ย่อมแกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป นี้เป็น
อานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๔. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ ย่อมไม่หลงลืมสติตาย นี้
เป็นอานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๕. คหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ หลังจากตายแล้ว
ย่อมไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๕ แห่ง
ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้ทุศีล มีอานิสงส์ ๕ ประการนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ที.ปา. ๑๑/๓๑๖/๒๑๐, องฺ. ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๑๓/๓๕๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๙๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๔. สุนีธวัสสการวัตถุ
ครั้นทรงแสดงธรรมีกถาชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามเห็นชัด ชวนให้
อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาจนดึกดื่นแล้ว ทรงส่งกลับด้วยรับสั่งว่า ราตรีใกล้จะสว่าง บัดนี้พวกท่าน
จงรู้เวลาที่จะกลับเถิด
พวกเขากราบทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้วลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป เมื่อพวกเขากลับไปได้ไม่นาน พระผู้มี
พระภาคได้เสด็จเข้าสุญญาคาร

๑๗๔. สุนีธวัสสการวัตถุ๑
ว่าด้วยมหาอมาตย์สุนีธะและวัสสการะ

เรื่องพุทธทำนายเกี่ยวกับนครปาฏลีบุตร
[๒๘๖] สมัยนั้น สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่งมคธรัฐ กำลังสร้าง
เมืองที่ปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกวัชชี
พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทมเวลาใกล้รุ่ง ทรงเล็งจักษุทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือ
มนุษย์ ได้ทอดพระเนตรเห็นทวยเทพเป็นจำนวนมากกำลังยึดครองที่ดินในปาฏลิคาม
คือ ทวยเทพมีศักดิ์ใหญ่ยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพวกพระราชาและราช
มหาอมาตย์ผู้สูงศักดิ์ต่างน้อมเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น๒
ทวยเทพที่มีศักดิ์ชั้นกลางยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพวกพระราชา
และราชมหาอมาตย์ที่มีศักดิ์ชั้นกลางต่างน้อมเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น
ทวยเทพที่มีศักดิ์ชั้นต่ำยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพวกพระราชาและ
ราชมหาอมาตย์ชั้นต่ำต่างน้อมเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ที.ม. ๑๐/๑๕๒/๗๙
๒ ทราบว่า เทวดาทั้งหลายเข้าสิงในร่างของคนผู้เชี่ยวชาญวิชาดูพื้นที่แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นบอกว่าควรจะ
สร้างบ้านเมืองที่นั้นที่นี้เพราะเทวดาเหล่านั้นประสงค์จะให้พระราชาและมหาอมาตย์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีศักดิ์
ปานกลาง มีศักดิ์ชั้นต่ำอยู่ใกล้ชิดกับตน และทำสักการะสมควรแก่ตน (วิ.อ. ๓/๒๘๖/๑๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๔. สุนีธวัสสการวัตถุ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาถามว่า “อานนท์
คนที่สร้างเมืองที่ปาฏลิคามนั้นเป็นพวกไหน”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ๊สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่งมคธ
รัฐ กำลังสร้างเมืองที่ปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกวัชชี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่ง
มคธรัฐ กำลังสร้างเมืองที่ปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกวัชชี เหมือนได้ปรึกษากับ
ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ อานนท์ เมื่อตอนเช้ามืดคืนนี้ เราลุกขึ้นเล็งจักษุทิพย์อัน
บริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เห็นทวยเทพเป็นจำนวนมากกำลังยึดครองที่ดินในปาฏลิคาม คือ
ทวยเทพมีศักดิ์ใหญ่ยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพวกพระราชาและราช
มหาอมาตย์ผู้สูงศักดิ์ต่างน้อมเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น
ทวยเทพที่มีศักดิ์ชั้นกลางยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพวกพระราชา
และราชมหาอมาตย์ที่มีศักดิ์ชั้นกลางต่างน้อมเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น
ทวยเทพที่มีศักดิ์ชั้นต่ำยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพวกพระราชาและ
ราชมหาอมาตย์ชั้นต่ำต่างน้อมเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น

นครปาฏลีบุตรจะแตกด้วยภัย ๓ อย่าง
อานนท์ ตลอดพื้นที่อันเป็นย่านชุมชนแห่งอารยชนและเป็นทางค้าขาย นครนี้
จะเป็นนครชั้นเอก เป็นทำเลค้าขาย ชื่อปาฏลีบุตร และนครปาฏลีบุตรจะเกิด
อันตราย ๓ อย่าง คือ อัคคีภัย อุทกภัย หรือการแตกความสามัคคีภายในกลุ่ม”
ครั้งนั้น สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่งมคธรัฐ พากันไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลสนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอให้ระลึกถึงกันและกันแล้วได้ยืน ณ ที่สมควร สุนีธะและ
วัสสการะมหาอมาตย์แห่งมคธรัฐ ผู้ยืน ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของพวกข้าพระ
องค์เพื่อเจริญกุศลในวันนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๔. สุนีธวัสสการวัตถุ
ครั้งนั้น สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่งมคธรัฐทราบว่าพระผู้มี
พระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ลุกจากอาสนะแล้วกลับไป ลำดับนั้น สุนีธะและ
วัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่งมคธรัฐให้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีตแล้ว
ให้เจ้าหน้าที่ไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปที่จัดเลี้ยงของสุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่งมคธรัฐ ประทับนั่ง
บนอาสนะที่จัดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ลำดับนั้น สุนีธะและวัสสการะผู้เป็น
มหาอมาตย์แห่งมคธรัฐ ได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธาน กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ห้ามภัตตาหารแล้ว
ทรงละพระหัตถ์จากบาตร ได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนา
แก่มหาอมาตย์ทั้งสองด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า
“บัณฑิตอยู่ในที่ใด ครั้นเลี้ยงดูท่านผู้มีศีล ผู้สำรวม
ประพฤติพรหมจรรย์ในที่ที่ตนอยู่นั้นพึงอุทิศทักษิณา๑
แก่เหล่าทวยเทพผู้สถิตอยู่ในที่นั้น
ทวยเทพเหล่านั้นอันเขาบูชาแล้วย่อมบูชาตอบ
อันเขานับถือแล้วย่อมนับถือตอบ
จากนั้นย่อมอนุเคราะห์บัณฑิตนั้นเป็นการตอบแทน
ดุจมารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เกิดแต่อก
ดังนั้น ผู้ที่ทวยเทพอนุเคราะห์แล้ว
ย่อมพบเห็นแต่สิ่งที่เจริญทุกเมื่อ”๒
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาสุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่ง
มคธรัฐด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว ได้เสด็จลุกจากอาสนะแล้วเสด็จกลับ

เชิงอรรถ :
๑ พึงอุทิศทักษิณา หมายถึงพึงให้ส่วนบุญ (ที.ม.อ. ๒/๑๕๓/๑๔๓)
๒ ที.ม. ๑๐/๑๕๓/๘๐-๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๕. โกฏิคามสัจจกถา
เรื่องประตูโคดมและท่าโคดมที่แม่น้ำคงคา
สมัยนั้น สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอมาตย์แห่งมคธรัฐ ตามส่งเสด็จพระ
ผู้มีพระภาคไปทางพระปฤษฎางค์ ด้วยดำริว่า “วันนี้ ประตูที่พระสมณโคดมเสด็จ
ออกจะได้ชื่อว่าประตูโคดม ท่าที่เสด็จข้ามแม่น้ำคงคาจะได้ชื่อว่าท่าโคดม” ต่อมา
ประตูที่พระผู้มีพระภาคเสด็จผ่านไปนั้น ได้ปรากฏนามว่าประตูโคดม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปทางแม่น้ำคงคา เวลานั้น แม่น้ำคงคามีน้ำ
เต็มเสมอตลิ่ง นกกาพอดื่มกินได้ คนทั้งหลายประสงค์จะไปจากฝั่งนี้สู่ฝั่งโน้น ต่างก็
หาเรือแพหรือผูกแพลูกบวบ พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นคนเหล่านั้นกำลัง
หาเรือแพและผูกแพลูกบวบจะข้ามฟาก ได้ทรงหายไปจากฝั่งแม่น้ำคงคาไปปรากฏ
ที่ฝั่งฟากโน้น พร้อมกับภิกษุสงฆ์ เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า
ครั้นพระองค์ทรงทราบความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานว่า
“คนพวกหนึ่งกำลังสร้างสะพานข้ามสระใหญ่
โดยมิให้แปดเปื้อนด้วยเลนตม
ขณะที่คนอีกพวกหนึ่งกำลังผูกทุ่นอยู่
ชนผู้ฉลาดได้ข้ามพ้นไปแล้ว”๑

๑๗๕. โกฏิคามสัจจกถา
ว่าด้วยทรงแสดงอริยสัจที่โกฏิคาม
[๒๘๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปทางโกฏิคาม ทราบว่า พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ที่โกฏิคามนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายในโกฏิคาม
นั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราและพวกเธอเร่ร่อนไปตลอดเวลานานถึงเพียงนี้ เพราะ

เชิงอรรถ :
๑ ที.ม. ๑๐/๑๕๔/๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๖. อัมพปาลีวัตถุ
ไม่ตรัสรู้และไม่แทงตลอดอริยสัจ ๔ ได้แก่ เราและพวกเธอเร่ร่อนไปตลอดเวลา
นานถึงเพียงนี้ เพราะไม่ตรัสรู้และไม่แทงตลอดทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขสมุทยอริยสัจ
ฯลฯ ทุกขนิโรธอริยสัจ ฯลฯ เราและพวกเธอเร่ร่อนไปตลอดเวลานานถึงเพียงนี้
เพราะไม่ตรัสรู้และไม่แทงตลอดทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ภิกษุทั้งหลาย แต่บัดนี้
ทุกขอริยสัจ อันเราและพวกเธอได้ตรัสรู้และแทงตลอดแล้ว ทุกขสมุทยอริยสัจ อันเรา
และพวกเธอได้ตรัสรู้และแทงตลอดแล้ว ทุกขนิโรธอริยสัจ อันเราและพวกเธอได้ตรัสรู้
และแทงตลอดแล้ว ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ อันเราและพวกเธอได้ตรัสรู้และ
แทงตลอดแล้ว เราและพวกเธอตัดตัณหาในภพได้เด็ดขาด ตัณหาที่จะนำไปเกิดสิ้นแล้ว
บัดนี้จึงไม่มีการเกิดอีกต่อไป

นิคมคาถา
เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามเป็นจริง
เราและพวกเธอจึงต้องท่องเที่ยวไปในชาตินั้น ๆ ตลอดเวลานาน
แต่เพราะได้เห็นอริยสัจ ๔
เราและพวกเธอจึงถอนตัณหาที่จะนำไปเกิดได้
ตัดรากแห่งทุกข์ได้เด็ดขาด บัดนี้จึงไม่มีการเกิดอีกต่อไป

๑๗๖. อัมพปาลีวัตถุ
ว่าด้วยหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
[๒๘๘] หญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จถึง
โกฏิคามแล้ว” จึงให้จัดยานพาหนะคันงาม ขึ้นยานพาหนะคันงาม มียานพาหนะ
คันงามหลายคันเดินทางออกจากกรุงเวสาลี เพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค เดินทาง
ไปด้วยยานพาหนะตลอดพื้นที่ที่ยานพาหนะจะไปได้ แล้วลงเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ
ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๗. ลิจฉวีวัตถุ
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้หญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีผู้นั่ง ณ ที่สมควรเห็น
ชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ลำดับนั้น หญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด
ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของดิฉันเพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น หญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์
แล้ว จึงลุกจากอาสนะถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป

๑๗๗. ลิจฉวีวัตถุ
ว่าด้วยเจ้าลิจฉวี
[๒๘๙] พวกเจ้าลิจฉวีชาวกรุงเวสาลีได้ทรงสดับข่าวว่า “พระผู้มีพระภาค
เสด็จมาถึงโกฏิคามแล้ว” จึงให้จัดยานพาหนะคันงาม ขึ้นยานพาหนะคันงาม
มียานพาหนะคันงามหลายคัน เสด็จออกจากกรุงเวสาลี เพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มี
พระภาค เจ้าลิจฉวีบางพวกเขียว คือ ทรงมีสีเขียว ทรงพัสตร์สีเขียว ทรงเครื่อง
ประดับเขียว เจ้าลิจฉวีบางพวกเหลือง คือ ทรงมีสีเหลือง ทรงพัสตร์เหลือง
ทรงเครื่องประดับเหลือง เจ้าลิจฉวีบางพวกแดง คือ ทรงมีสีแดง ทรงพัสตร์แดง
ทรงเครื่องประดับแดง เจ้าลิจฉวีบางพวกขาว คือ ทรงมีสีขาว ทรงพัสตร์ขาว
ทรงเครื่องประดับขาว
ครั้งนั้น หญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีทำให้งอนรถกระทบงอนรถ แอกกระทบ
แอก ล้อกระทบล้อ เพลากระทบเพลา ของเจ้าลิจฉวีหนุ่ม ๆ ลำดับนั้น พวกเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๗. ลิจฉวีวัตถุ
ลิจฉวีเหล่านั้นจึงได้ตรัสกับหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีดังนี้ว่า “แม่อัมพปาลี เหตุ
ไฉนเธอจึงทำให้งอนรถกระทบงอนรถ แอกกระทบแอก ล้อกระทบล้อ เพลากระทบ
เพลา ของเจ้าลิจฉวีหนุ่ม ๆ เล่า”
นางตอบว่า “พระลูกเจ้าทั้งหลาย หม่อมฉันได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธานเพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้แล้ว”
เจ้าลิจฉวีทั้งหลายตรัสว่า “แม่อัมพปาลี เธอจงให้พวกฉันถวายภัตตาหาร
มื้อนี้ด้วยทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะเถิด”
นางตอบว่า “พระลูกเจ้าทั้งหลาย ถ้าแม้พวกท่านจะประทานกรุงเวสาลีพร้อม
กับชนบท หม่อมฉันก็ให้พวกท่านถวายภัตตาหารมื้อนี้ไม่ได้”
เจ้าลิจฉวีทั้งหลายทรงดีดองคุลีตรัสว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย พวกเราแพ้นางอัมพ
ปาลีเสียแล้ว ผู้เจริญทั้งหลาย พวกเราแพ้นางอัมพปาลีเสียแล้ว” จึงพากันไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นกำลังเสด็จมาแต่ไกล
จึงรับสั่งภิกษุทั้งหลายมาว่า “ภิกษุทั้งหลาย เหล่าภิกษุที่ไม่เคยเห็นพวกเทวดาชั้น
ดาวดึงส์ก็จงดูบริษัทเจ้าลิจฉวี จงพิจารณาดูบริษัทเจ้าลิจฉวี จงเทียบเคียงดูบริษัท
เจ้าลิจฉวีกับพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์”
ครั้งนั้น พวกเจ้าลิจฉวีเสด็จขึ้นยานพาหนะไปตลอดพื้นที่ที่ยานพาหนะจะไปได้
แล้วเสด็จลงจากยานพาหนะ ดำเนินไปด้วยพระบาทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ
ที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พวกเจ้าลิจฉวีผู้ประทับนั่ง ณ ที่สมควรเห็นชัด
ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ลำดับนั้น พวกเจ้าลิจฉวีผู้ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยาก
รับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๗. ลิจฉวีวัตถุ
ธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์โปรดรับโภชนาหารของพวกข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระ
พุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อาตมารับนิมนต์ฉันภัตตาหารของหญิงงามเมืองชื่อ
อัมพปาลีไว้เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้แล้ว”
ลำดับนั้น พวกเจ้าลิจฉวีทรงดีดองคุลีตรัสว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย พวกเราแพ้
หญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีเสียแล้ว ผู้เจริญทั้งหลาย พวกเราแพ้หญิงงามเมืองชื่อ
อัมพปาลีเสียแล้ว” ทรงชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค เสด็จลุกจากอาสนะ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โกฏิคามตามอัธยาศัยแล้ว เสด็จ
จาริกไปทางนาทิกคาม ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระตำหนักตึกใน
นาทิกคามนั้น
คืนนั้นหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีสั่งให้จัดเตรียมโภชนาหารอันประณีตในสวน
ของตนแล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จไปที่จัดเลี้ยงของหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวาย พร้อม
ด้วยภิกษุสงฆ์ นางได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้า
เป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว ทรงห้ามภัตตาหาร
แล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร หญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี
ผู้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
หม่อมฉันขอถวายสวนมะม่วงนี้แก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน”
พระผู้มีพระภาคทรงรับอารามแล้ว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้
หญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลีเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ แกล้วกล้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จ ไปทาง
ป่ามหาวัน ทราบว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ใน
กรุงเวสาลีนั้น
ลิจฉวีภาณวารที่ ๓ จบ

๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
ว่าด้วยสีหเสนาบดีสาวกของนิครนถ์นาฏบุตร
[๒๙๐] สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงนั่งประชุมกันในสันถาคาร๑กล่าวสรรเสริญ
พระพุทธ กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์โดยประการต่าง ๆ
สมัยนั้น สีหเสนาบดีสาวกของนิครนถ์ นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย ลำดับนั้น
สีหเสนาบดีได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ต้องเป็นพระอรหันต
สัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ เพราะเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้นั่งประชุมกันในสันถาคาร
ต่างก็กล่าวสรรเสริญพระพุทธ กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์
โดยประการต่าง ๆ อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา
สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ต่อมา เขาเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่งอยู่
ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับนิครนถ์นาฏบุตรดังนี้ว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเฝ้าพระ
สมณโคดม เจ้าข้า”
นิครนถ์นาฏบุตรกล่าวว่า “สีหะ ท่านเป็นผู้สอนให้ทำ ไฉนจึงจะไปเฝ้าพระ
สมณโคดมผู้สอนไม่ให้ทำเล่า สีหะ เพราะพระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ ย่อม
แสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น”
ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีจึงล้มเลิกความตั้งใจที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ สันถาคาร มีความหมาย ๒ นัยคือ หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักผ่อนสำหรับมหาชน ถูกสร้าง
ขึ้นที่ใจกลางเมือง คนที่อยู่รอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศสามารถมองเห็นได้ คนที่มาจากทิศทั้ง ๔ จะพักผ่อนที่อาคาร
นี้ก่อนที่จะไปพักในที่สบายสำหรับตน นัยที่ ๒ หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อประชุมพิจารณาราชกิจสำหรับ
ราชตระกูล ในที่นี้หมายถึงนัยที่ ๒ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑๒/๒๒๙-๒๓๐ ดู องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๒/๑๔๙ ด้วย)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ เจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงนั่งประชุมอยู่ในสันถาคาร กล่าวสรรเสริญ
พระพุทธ กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าวสรรเสริญพระสงฆ์ โดยประการต่าง ๆ
แม้ครั้งที่ ๓ สีหเสนาบดีก็มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ เพราะเจ้าลิจฉวีผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้นั่ง
ประชุมกันในสันถาคาร ต่างก็กล่าวสรรเสริญพระพุทธ กล่าวสรรเสริญพระธรรม กล่าว
สรรเสริญพระสงฆ์ โดยประการต่าง ๆ ก็พวกนิครนถ์เหล่านี้ เราจะบอกหรือไม่ก็ไม่
มีประโยชน์อะไร อย่ากระนั้นเลย เราจะไม่บอกพวกนิครนถ์แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
ครั้งนั้น สีหเสนาบดีเดินทางออกจากกรุงเวสาลีแต่หัววัน พร้อมด้วยรถ ๕๐๐
คัน เดินทางไปด้วยยานพาหนะตลอดพื้นที่ที่ยานพาหนะจะไปได้แล้วลงเดินเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ
ที่สมควร สีหเสนาบดีผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระ
องค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาดังนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ ทรงแสดง
ธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ พระพุทธเจ้าข้า คนเหล่า
ใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะ
นำพวกสาวกตามแนวนั้น’ พระพุทธเจ้าข้า คนเหล่านั้นจะชื่อว่ากล่าวตรงตามที่พระ
ผู้มีพระภาคตรัสไว้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จหรือ ชื่อว่ากล่าวแก้
อย่างสมเหตุสมผลหรือ ไม่มีบ้างหรือที่คำกล่าวเช่นนั้นและคำกล่าวต่อ ๆ กันมา จะ
เป็นเหตุให้ถูกตำหนิได้ เพราะข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย”

ข้อกล่าวหาของคนทั่วไป ๘ ประการ
[๒๙๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
๑. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ
ทรงแสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้น
มีมูลอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๐๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
๒. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำ แสดง
ธรรมเพื่อการให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่
๓. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำลาย
แสดงธรรมเพื่อความทำลาย ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้น
มีมูลอยู่
๔. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างรังเกียจ
แสดงธรรมเพื่อความรังเกียจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้น
มีมูลอยู่
๕. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างกำจัด แสดง
ธรรมเพื่อความกำจัด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมี
มูลอยู่
๖. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ
แสดงธรรมเพื่อความเผาผลาญ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’
นั้นมีมูลอยู่
๗. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด
แสดงธรรมเพื่อไม่ผุดไม่เกิด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้น
มีมูลอยู่
๘. สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรม
เพื่อความเบาใจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่

พระดำรัสแก้ข้อกล่าวหา ๘ ประการ
[๒๙๒] สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำทรง
แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่
เป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
๑. สีหะ เพราะเราสอนไม่ให้ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ตลอด
ถึงการไม่ให้ทำบาปอกุศลธรรมต่าง ๆ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระ
สมณโคดมเป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรมเพื่อการไม่ให้ทำ ทั้งแนะนำ
พวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้สอนให้ทำ แสดงธรรม
เพื่อการให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นมีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
๒. สีหะ เพราะเราสอนให้ทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ตลอดถึง
การทำกุศลธรรมต่าง ๆ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดม
เป็นผู้สอนให้ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการให้ทำ ทั้งแนะนำพวกสาวก
ตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมสอนให้ทำลาย แสดงธรรมเพื่อ
ความทำลาย ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
๓. สีหะ เพราะเราสอนให้ทำลายราคะ โทสะ โมหะ ตลอดถึงให้ทำลาย
บาปอกุศลธรรมต่าง ๆ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดม
สอนให้ทำลาย แสดงธรรมเพื่อความทำลาย ทั้งแนะนำพวกสาวก
ตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างรังเกียจ แสดงธรรม
เพื่อความรังเกียจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
๔. สีหะ เพราะเราช่างรังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ตลอด
ถึงรังเกียจบาป อกุศลธรรมต่าง ๆ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระ
สมณโคดมเป็นคน ช่างรังเกียจ แสดงธรรมเพื่อความรังเกียจ ทั้ง
แนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อ
ความกำจัด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
๕. สีหะ เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ และบาป
อกุศลธรรมต่าง ๆ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคน
ช่างกำจัด แสดงธรรมเพื่อความกำจัด ทั้งแนะนำพวกสาวกตาม
แนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ แสดงธรรม
เพื่อความเผาผลาญ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
๖. สีหะ เพราะเรากล่าวถึงบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย คือ กายทุจริต
วจีทุจริต มโนทุจริตว่าเป็นสิ่งที่ควรเผาผลาญ สีหะ เราเรียกคน
ที่ละบาปอกุศลธรรมทั้งหลายที่ควรเผาผลาญได้หมดสิ้น ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่
ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ว่า ‘เป็นคนช่างเผาผลาญ’ ตถาคต
ละบาปอกุศลธรรมต่าง ๆ ที่ควรเผาผลาญได้หมดสิ้น ข้อที่เขากล่าว
หาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนช่างเผาผลาญ แสดงธรรมเพื่อ
การเผาผลาญ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด แสดงธรรม
เพื่อความไม่ผุดไม่เกิด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
๗. สีหะ เพราะเราเรียกคนที่ละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่ได้หมด
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนแล้ว เหลือแต่
พื้นที่ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ว่า ‘เป็นคนไม่ผุดไม่เกิด’ ตถาคต
ละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่ได้หมดสิ้นแล้ว ข้อที่เขากล่าว
หาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นคนไม่ผุดไม่เกิด แสดงธรรมเพื่อความ
ไม่ผุดไม่เกิด ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
สีหะ ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรมเพื่อความ
เบาใจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น’ นั้นชื่อว่ามีมูลอยู่ เป็นอย่างไร
๘. สีหะ เพราะเราเป็นผู้เบาใจด้วยความเบาใจอย่างยิ่ง แสดงธรรมเพื่อ
ความเบาใจ ทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น ข้อที่เขากล่าวหาเราว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
‘พระสมณโคดมเป็นผู้เบาใจ แสดงธรรมเพื่อความเบาใจ ทั้งแนะนำ
พวกสาวกตามแนวนั้น’ นี้แลมีมูลอยู่
[๒๙๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบอย่างนี้แล้ว สีหเสนาบดีได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม
แจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์
ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็น
สรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้เข้าถึงสรณะตั้งแต่วัน
นี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีหะ ท่านใคร่ครวญก่อนแล้วจึงตัดสินใจเถิด คนที่
มีชื่อเสียงเช่นท่านต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนจึงเป็นการดี”
สีหเสนาบดีกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปลาบปลื้มชื่นใจอย่างยิ่ง
เพราะพระดำรัส ที่พระองค์ตรัสว่า ‘ท่านใคร่ครวญก่อนแล้วจึงตัดสินใจเถิด คนที่มี
ชื่อเสียงเช่นท่านต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนจึงเป็นการดี’ ความจริง เพราะพวก
อัญเดียรถีย์ได้ข้าพระองค์เป็นสาวกแล้วก็ป่าวประกาศไปทั่วกรุงเวสาลีว่า ‘สีหเสนาบดี
เป็นสาวกของพวกเรา’ แต่พระองค์กลับตรัสว่า ‘ท่านใคร่ครวญก่อนแล้วจึงค่อย
ตัดสินใจเถิด คนที่มีชื่อเสียงเช่นท่านต้องใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนจึงเป็นการดี’
พระองค์ผู้เจริญ แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม
และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้
เข้าถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิตเถิด”

ทรงสนับสนุนให้อุปถัมภ์ลัทธิที่เคยนับถือมาก่อน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีหะ ตระกูลของท่านเคยเป็นที่ต้อนรับพวกนิครนถ์
มานาน ดังนั้น ท่านพึงใส่ใจว่าควรให้บิณฑบาตแก่พวกนิครนถ์ผู้เข้าไปตระกูลต่อไปเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
สีหเสนาบดีกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปลาบปลื้มชื่นใจอย่าง
ยิ่งเพราะพระดำรัสที่พระองค์ตรัสว่า ‘สีหะ ตระกูลของท่านเคยเป็นที่ต้อนรับพวก
นิครนถ์มานาน ดังนั้น ท่านพึงใส่ใจว่าควรให้บิณฑบาตแก่พวกนิครนถ์ผู้เข้าไป
ตระกูลต่อไปเถิด’ ข้าพระองค์ได้ฟังมาดังนี้ พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า ‘ควรให้
ทานแก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่ศาสดาอื่น ควรให้ทานแก่สาวกของเราเท่านั้น
ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของศาสดาอื่น ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้
แก่ศาสดาอื่นไม่มีผลมาก ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่
สาวกของศาสดาอื่นไม่มีผลมาก’ แต่พระผู้มีพระภาคกลับทรงชักชวนให้ข้าพระองค์
ให้ทานแก่พวกนิครนถ์ ข้าพระองค์จะรู้เวลาในเรื่องนี้เอง พระองค์ผู้เจริญ แม้ครั้งที่ ๓
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอ
พระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้เข้าถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่สีหะเสนาบดี
เมื่อทรงทราบว่าสีหเสนาบดีมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแก่สีหเสนาบดี
นั้น ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมี
ความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อม
ได้เป็นอย่างดี
ครั้งนั้น สีหเสนาบดีได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๘. สีหเสนาปติวัตถุ
ไม่ต้องเชื่อใครอีกในคำสอนของพระศาสดา จึงกราบทูลว่า “ขอพระผู้มีพระภาค
พร้อมภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธ
เจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
สีหเสนาบดีนั้นทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงได้ลุกจาก
อาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป
[๒๙๔] ครั้งนั้น สีหเสนาบดีใช้มหาดเล็กผู้หนึ่งว่า “เธอไปหาซื้อเนื้อสดที่มี
ขายมา” โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้นได้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีตแล้วให้
มหาดเล็กไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว ทรงถือบาตรและ
จีวร เสด็จไปที่นิเวศน์ของสีหเสนาบดี ประทับนั่งบนอาสนะที่จัดถวายพร้อมกับภิกษุสงฆ์
สมัยนั้น พวกนิครนถ์จำนวนมากพากันกอดแขนคร่ำครวญไปตามถนนสี่แยก
สามแยกทั่วกรุงเวสาลีว่า “วันนี้ สีหเสนาบดีฆ่าสัตว์เลี้ยงตัวอ้วน ๆ ทำอาหาร
เลี้ยงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทั้งที่รู้อยู่ก็ยังฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจงตนเอง”
ครั้งนั้น มหาดเล็กผู้หนึ่งเข้าไปหาสีหเสนาบดี กล่าวว่า “เจ้านายพึงทราบเถิด
พวกนิครนถ์จำนวนมากพากันกอดแขนคร่ำครวญไปตามถนนสี่แยกสามแยกทั่ว
กรุงเวสาลีว่า ‘วันนี้ สีหเสนาบดีฆ่าสัตว์เลี้ยงตัวอ้วน ๆ ทำอาหารเลี้ยงพระสมณ
โคดม พระสมณโคดมทั้งที่รู้อยู่ก็ยังฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจงตนเอง”
สีหเสนาบดีตอบว่า “ช่างเถิด ท่านเหล่านั้นประสงค์จะตำหนิพระพุทธ ประสงค์
จะตำหนิพระธรรม ประสงค์จะตำหนิพระสงฆ์มานานแล้ว อนึ่ง ท่านเหล่านั้นกล่าวตู่
พระผู้มีพระภาคด้วยเรื่องที่ไม่มีอยู่ เปล่าประโยชน์ เป็นเรื่องเท็จ ไม่เป็นจริง ส่วน
พวกเราไม่จงใจฆ่าสัตว์แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๙. กัปปิยภูมิอนุชานนา
ลำดับนั้น สีหเสนาบดี ได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงห้าม
ภัตตาหารแล้วทรงละพระหัตถ์จากบาตร จึงได้นั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร

เรื่องทรงห้ามฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจง
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้สีหเสนาบดีเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรง
แสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุรู้อยู่ ไม่พึงฉันเนื้อที่เขาทำเจาะจง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตปลา เนื้อเป็นของบริสุทธิ์ด้วยอาการ ๓ อย่างคือ
๑. ไม่ได้เห็น
๒. ไม่ได้ยิน
๓. ไม่ได้นึกสงสัย

๑๗๙. กัปปิยภูมิอนุชานนา
ว่าด้วยการทรงอนุญาตกัปปิยภูมิ

เรื่องกรุงเวสาลีหาอาหารได้ง่าย
[๒๙๕] สมัยนั้น กรุงเวสาลีมีภิกษาหารมาก มีข้าวกล้างอกงาม บิณฑบาต
หาได้ง่าย พระอริยะบิณฑบาตยังชีพได้ง่าย
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้มีพระดำริดังนี้ว่า
“อาหารที่เราอนุญาตแก่ภิกษุเมื่อคราวอัตคัดอาหาร มีข้าวกล้าไม่งอกงาม บิณฑบาต
หาได้ลำบาก คือ อาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้มภายใน ที่หุงต้มเอง ที่จับต้อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๙. กัปปิยภูมิอนุชานนา
แล้วรับประเคนใหม่ ที่นำมาจากที่นิมนต์ ที่รับประเคนก่อนเวลาภัตตาหาร ที่เกิด
ในป่า ที่เกิดในกอบัว๑ ทุกวันนี้ภิกษุยังฉันภัตตาหารเหล่านั้นอยู่หรือหนอ”
ครั้นเวลาเย็นจึงเสด็จออกจากที่หลีกเร้น ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มาถามว่า
“อานนท์ อาหารที่เราอนุญาตแก่ภิกษุเมื่อคราวอัตคัดอาหาร มีข้าวกล้าน้อย
บิณฑบาตได้ลำบาก คือ อาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้มภายใน ที่หุงต้มเอง ที่จับต้อง
แล้วรับประเคนใหม่ ที่นำมาจากที่นิมนต์ ที่รับประเคนก่อนเวลาอาหารที่เกิดในป่า
และที่เกิดในกอบัว ทุกวันนี้ภิกษุยังฉันอาหารเหล่านั้นอยู่หรือหนอ”

เรื่องทรงห้ามอาหารที่หุงต้มภายในเป็นต้น
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ภิกษุยังฉันอยู่ พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว รับสั่ง
กับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราห้ามอาหารเหล่านั้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอนุญาตแก่ภิกษุเมื่อคราวอัตคัดอาหาร มีข้าวกล้าไม่งอกงาม บิณฑบาต
หาได้ลำบาก คือ อาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้มภายใน ที่หุงต้มเอง ที่จับต้อง
แล้วรับประเคนใหม่ ที่นำมาจากที่นิมนต์ ที่รับประเคนก่อนเวลาภัตตาหาร ที่เกิด
ในป่า ที่เกิดในกอบัว ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันอาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้ม
ภายใน ที่หุงต้มเอง ที่จับต้องแล้วรับประเคนใหม่ ผู้ใดฉันต้องอาบัติทุกกฏ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่ฉันแล้ว บอกห้ามภัตตาหารแล้ว ไม่พึงฉันอาหารที่นำมา

เชิงอรรถ :
๑ อาหารที่เก็บไว้ภายใน แปลมาจากศัพท์เฉพาะว่า อันโตวุฏฐะ
ที่หุงต้มภายใน แปลมาจากศัพท์เฉพาะว่า อันโตปักกะ
ที่หุงต้มเอง แปลมาจากศัพท์เฉพาะว่า สามปักกะ
ที่จับต้องแล้วรับประเคนใหม่ แปลมาจากศัพท์เฉพาะว่า อุคคหิตปฏิคคหิตกะ
ที่นำมาจากที่นิมนต์ แปลมาจากศัพท์เฉพาะว่า ตโตนีหฏะ
ที่รับประเคนก่อนเวลาภัตตาหาร แปลมาจากศัพท์เฉพาะว่า ปุเรภัตตปฏิคคหิตกะ
ที่เกิดในป่า แปลมาจากศัพท์เฉพาะว่า วนัฏฐะ
ที่เกิดในกอบัว แปลมาจากศัพท์เฉพาะว่า โปกขรัฏฐะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๙. กัปปิยภูมิอนุชานนา
จากที่นิมนต์ ที่รับประเคนก่อนเวลาภัตตาหาร ที่เกิดในป่า ที่เกิดในกอบัว ซึ่งเป็น
อาหารที่ไม่เป็นเดน รูปใดฉัน พึงปรับอาบัติตามธรรม”๑

เรื่องฝนตั้งเค้า
สมัยนั้น คนทั้งหลายในชนบทบรรทุกเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง
ของฉันบ้างเป็นอันมากไว้ในเกวียนแล้วตั้งวงล้อมเกวียนอยู่นอกซุ้มประตูพระวิหาร
คอยว่า “พวกเราจะทำภัตตาหารถวายเมื่อได้โอกาส”
ก็เมฆฝนใหญ่ตั้งเค้าขึ้นแล้ว คนเหล่านั้นพากันเข้าไปหาท่านพระอานนท์แล้ว
ได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ ขอโอกาสเถิด พวกเราบรรทุก
เกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้าง เป็นอันมากไว้ในเกวียนแล้วตั้งวง
ล้อมเกวียนอยู่นอกซุ้มประตูพระวิหารนี้เอง ก็เมฆฝนใหญ่ตั้งเค้าขึ้นแล้ว พวกเราจะ
ปฏิบัติอย่างไรเล่า”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “อานนท์ ถ้าอย่างนั้น สงฆ์จงสมมติวิหารอยู่สุด
เขตวัดให้เป็นกัปปิยภูมิ แล้วให้เก็บไว้ในสถานที่ที่สงฆ์มุ่งหวัง คือ ในวิหาร เรือน
มุงแถบเดียว ปราสาท เรือนโล้น หรือถ้ำ”

วิธีสมมติกัปปิยภูมิและกรรมวาจาสมมติ
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงสมมติกัปปิยภูมิอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึง
ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงสมมติวิหารชื่อ
นี้ให้เป็นกัปปิยภูมิ นี่เป็นญัตติ

เชิงอรรถ :
๑ พึงปรับอาบัติตามธรรม หมายถึงปรับอาบัติปาจิตตีย์ เพราะเคี้ยวฉันของที่ไม่เป็นเดน ตามความใน
สิกขาบทที่ ๕ แห่งโภชนวรรค (วิ.มหา. (แปล) ๒/๒๓๗-๒๓๘/๓๙๔-๓๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๗๙. กัปปิยภูมิอนุชานนา
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สงฆ์สมมติวิหารชื่อนี้ให้เป็นกัปปิยภูมิ
ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการสมมติวิหารชื่อนี้ให้เป็นกัปปิยภูมิ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่าน
รูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง
วิหารชื่อนี้ สงฆ์สมมติให้เป็นกัปปิยภูมิแล้ว สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง
ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”
สมัยนั้น ชาวบ้านต้มข้าวต้ม หุงข้าวสวย ต้มแกง สับเนื้อ ผ่าฟืนส่งเสียงเซ็งแซ่
อยู่ในกัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทมในเวลาเช้ามืด ได้ทรงสดับเสียงเซ็งแซ่และเสียง
การ้อง จึงตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า “อานนท์ เสียงเซ็งแซ่อะไร”
ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลเรื่องนี้ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

ทรงอนุญาตกัปปิยภูมิ ๓,๔ ชนิด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้ที่อันเป็นกัปปิยภูมิซึ่งสงฆ์
สมมติไว้ รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกัปปิยภูมิ ๓ ชนิด
คือ
๑. อุสสาวนันติกา (กัปปิยภูมิที่ประกาศให้รู้กันแต่เริ่มสร้าง)
๒. โคนิสาทิกา (กัปปิยภูมิเคลื่อนที่ได้)
๓. คหปติกา (เรือนของคหบดีที่เขาถวายให้เป็นกัปปิยภูมิ)

เรื่องพระยโสชะเป็นไข้
สมัยนั้น ท่านพระยโสชะเป็นไข้ คนทั้งหลายนำเภสัชมาถวายท่าน ภิกษุ
ทั้งหลายให้เก็บเภสัชเหล่านั้นไว้ข้างนอกจึงถูกสัตว์กินบ้าง ขโมยลักไปบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๑๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้กัปปิยภูมิที่สงฆ์
สมมติ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกัปปิยภูมิ ๔ ชนิด คือ๑

๑. อุสสาวนันติกา (กัปปิยภูมิที่ประกาศให้รู้กันแต่เริ่มสร้าง)
๒. โคนิสาทิกา (กัปปิยภูมิเคลื่อนที่ได้)
๓. คหปติกา (เรือนคหบดีที่เขาถวายให้เป็นกัปปิยภูมิ)
๔. สัมมติกา (กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ)”

สีหภาณวารที่ ๔ จบ

๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
ว่าด้วยเมณฑกคหบดีถวายปัญจโครสกับเสบียงเดินทาง
[๒๙๖] สมัยนั้น เมณฑกคหบดีอยู่ในเมืองภัททิยะ ท่านมีฤทธานุภาพอย่างนี้
คือ สระเกล้าแล้วให้กวาดฉางข้าว นั่งอยู่นอกประตู สายธารข้าวเปลือกไหลตก
จากอากาศเต็มฉาง

เชิงอรรถ :
๑ กัปปิยภูมิ ๔ เป็นชื่อเรียกสถานที่เก็บโภชนาหารสำหรับภิกษุสงฆ์ มีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้
๑. อุสสาวนันติกา แปลว่า กัปปิยภูมิที่ประกาศให้ได้ยินกัน ได้แก่ กุฎีที่ภิกษุทั้งหลายตั้งใจจะให้เป็น
กัปปิยกุฎี เป็นเรือนที่ใช้เป็นห้องครัวมาตั้งแต่แรก คือ เมื่อขณะทำ ก็ช่วยกันทำโดยประกาศให้ได้ยินทั่วกัน
๓ ครั้งว่า “กปฺปิยกุฏึ กโรม” แปลว่า “เราทั้งหลายทำกัปปิยกุฎี”
๒. โคนิสาทิกา แปลว่า กัปปิยภูมิเหมือนกับที่โคจ่อม ได้แก่ สถานที่ไม่มีรั้วล้อม แบ่งออกเป็น ๒
ประเภท คือ วัดที่ไม่มีรั้วล้อม เรียกว่า อารามโคนิสาทิกา กุฎีที่ไม่มีรั้วล้อม เรียกว่า วิหารโคนิสาทิกา
โดยความก็คือ เรือนครัวเล็ก ๆ ที่ไม่ลงหลักปักฐานมั่นคง สามารถเคลื่อนย้ายได้
๓. คหปติกา เรือนของคหบดี ได้แก่ เรือนของพวกชาวบ้าน เขาถวายให้ภิกษุสงฆ์เพื่อใช้เป็นกัปปิยกุฎี
สถานที่นั้นอาจเคยเป็นที่อยู่ของภิกษุมาก่อน โดยสวดประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า
จะใช้ที่แห่งนี้เป็นกัปปิยกุฎีหรือกัปปิยภูมิ
๔. สัมมติกา แปลว่า กัปปิยภูมิที่สงฆ์สมมติ ได้แก่ สถานที่หรือกุฎีที่ภิกษุทั้งหลายตกลงกันเลือก
ใช้เป็นกัปปิยกุฎี สถานที่นั้นอาจเคยเป็นที่อยู่ของภิกษุมาก่อน โดยสวดประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติ
ทุติยกรรมวาจาว่า จะใช้ที่แห่งนี้เป็นกัปปิยกุฎีหรือเป็นกัปปิยภูมิ (วิ.อ. ๓/๒๙๕/๑๘๒-๑๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
ภรรยาของท่านมีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ นั่งใกล้ถาดข้าวสุกขนาดจุน้ำได้ ๑
อาฬหกะใบเดียวเท่านั้น และหม้อแกง ๑ หม้อ มีภัตตาหารเลี้ยงแก่ทาสและ
กรรมกรได้ ภัตตาหารนั้นย่อมไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกขึ้น
บุตรของท่านมีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ ถือถุงจุทรัพย์ ๑ พันเพียงถุงเดียวแล้ว
แจกค่าจ้างกลางปีแก่ทาสและกรรมกร ทรัพย์ค่าจ้างนั้นไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่
ถุงเงินยังอยู่ในมือของเขา
สะใภ้ของท่านมีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ นั่งใกล้กระบุงที่จุข้าว ๔ ทะนานเพียง
ใบเดียวแล้วแจกภัตตาหารกลางปีแก่ทาสและกรรมกร ภัตตาหารไม่หมดสิ้นไป
ตลอดเวลาที่เธอยังไม่ลุกขึ้น
ทาสของท่านมีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ เมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถ
ถึง ๗ รอย
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้ทรงสดับข่าวว่า “เมณฑกคหบดีอยู่ใน
เมืองภัททิยะ เขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ สระเกล้าแล้วให้กวาดฉางข้าว นั่งอยู่
นอกประตู สายธารข้าวเปลือกไหลตกจากอากาศเต็มฉาง
ภรรยาของเขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ นั่งใกล้ถาดข้าวสุกขนาดจุน้ำได้ ๑
อาฬหกะใบเดียวเท่านั้น และหม้อแกง ๑ หม้อ มีภัตตาหารเลี้ยงแก่ทาสและ
กรรมกรได้ ภัตตาหารนั้นย่อมไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกขึ้น
บุตรของเขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ ถือถุงจุทรัพย์ ๑ พันเพียงถุงเดียว
แล้วแจกค่าจ้างกลางปีแก่ทาสและกรรมกร ทรัพย์ค่าจ้างนั้นไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลา
ที่ถุงเงินยังอยู่ในมือของเขา
สะใภ้ของเขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ นั่งใกล้กระบุงที่จุข้าว ๔ ทะนานเพียงใบ
เดียวแล้วแจกภัตตาหารกลางปีแก่ทาสและกรรมกร ภัตตาหารนั้นไม่หมดสิ้นไป
ตลอดเวลาที่เธอยังไม่ลุกขึ้น
ทาสของเขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ เมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถ
ถึง ๗ รอย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
ลำดับนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ตรัสเรียกมหาอมาตย์ผู้สำเร็จ
ราชกิจมารับสั่งว่า “ท่าน เมณฑกคหบดีอาศัยอยู่ในแว่นแคว้นของเรา เขามีฤทธานุภาพ
อย่างนี้ คือ สระเกล้าแล้วให้กวาดฉางข้าว นั่งอยู่นอกประตู สายธารข้าวเปลือกไหล
ตกจากอากาศเต็มฉาง
ภรรยาของเขา ฯลฯ บุตรของเขา ฯลฯ สะใภ้ของเขา ฯลฯ ทาสของเขา
มีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ เมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถถึง ๗ รอย ท่าน
จงไปสืบดูให้รู้เห็นเหมือนอย่างที่เราเห็นด้วยตนเอง”
[๒๙๗] มหาอมาตย์รับสนองพระราชดำรัสแล้ว ออกเดินทางพร้อมด้วยเสนา
๔ เหล่าไปยังเมืองภัททิยะ เข้าไปหาเมณฑกคหบดีถึงที่พำนัก ครั้นถึงแล้ว ได้กล่าว
กับเมณฑกคหบดีดังนี้ว่า “คหบดี พระราชารับสั่งข้าพเจ้ามาว่า ‘ทราบว่าเมณฑก
คหบดีอาศัยอยู่ในแว่นแคว้นของเรา เขามีฤทธานุภาพอย่างนี้ คือ สระเกล้าแล้วให้
กวาดฉางข้าว นั่งอยู่นอกประตู สายธารข้าวเปลือกไหลตกจากอากาศเต็มฉาง ภรรยา
ของเขา ฯลฯ บุตรของเขา ฯลฯ สะใภ้ของเขา ฯลฯ ทาสของเขา มีฤทธานุภาพ
อย่างนี้ คือ เมื่อเขาไถนาด้วยไถคันเดียว มีรอยไถถึง ๗ รอย ท่านจงไปสืบดูให้
รู้เห็นเหมือนอย่างที่เราเห็นด้วยตนเอง’ คหบดี พวกเราจะดูฤทธานุภาพของท่าน”
ลำดับนั้น เมณฑกคหบดีสระเกล้าแล้วให้กวาดฉางข้าวนั่งอยู่นอกประตู สาย
ธารข้าวเปลือกไหลตกจากอากาศเต็มฉาง
มหาอมาตย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นฤทธานุภาพของท่านแล้ว ขอชมฤทธานุ-
ภาพของภรรยาท่าน”
ลำดับนั้น เมณฑกคหบดีสั่งภรรยาว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงเลี้ยงอาหารแก่เสนา
ทั้ง ๔ เหล่า”
ภรรยาของท่านนั่งใกล้ถาดข้าวสุกขนาดจุน้ำได้ ๑ อาฬหกะใบเดียวเท่านั้น
และหม้อแกงอีก ๑ หม้อ มีภัตตาหารเลี้ยงแก่เสนาทั้ง ๔ เหล่า ภัตตาหารนั้น
ไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่นางยังไม่ลุกขึ้น
มหาอมาตย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นฤทธานุภาพของภรรยาท่านแล้ว ขอชม
ฤทธานุภาพของบุตรท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
ลำดับนั้น เมณฑกคหบดีสั่งบุตรว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงแจกค่าจ้างกลางปี
แก่เสนาทั้ง ๔ เหล่า”
บุตรของเมณฑกคหบดีถือถุงจุทรัพย์ ๑ พันเพียงถุงเดียว แล้วแจกค่าจ้าง
กลางปีแก่เสนาทั้ง ๔ เหล่า ทรัพย์ค่าจ้างนั้นไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลาที่ถุงเงินยังอยู่
ในมือของเขา
มหาอมาตย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นฤทธานุภาพของบุตรท่านแล้ว ขอชม
ฤทธานุภาพของสะใภ้ท่าน”
ลำดับนั้น เมณฑกคหบดีสั่งสะใภ้ว่า “ถ้าอย่างนั้น เธอจงแจกภัตตาหาร
กลางปีแก่เสนาทั้ง ๔ เหล่า”
สะใภ้ของเมณฑกคหบดีนั่งใกล้กระบุงที่จุข้าวได้ ๔ ทะนานเพียงใบเดียว แล้ว
แจกภัตตาหารกลางปีแก่เสนาทั้ง ๔ เหล่า ภัตตาหารนั้นไม่หมดสิ้นไปตลอดเวลา
ที่นางยังไม่ลุกขึ้น
มหาอมาตย์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นฤทธานุภาพของสะใภ้ท่านแล้ว ขอชม
ฤทธานุภาพของทาสท่าน”
ท่านเมณฑกคหบดีกล่าวว่า “นาย ท่านต้องไปชมฤทธานุภาพของทาสข้าพเจ้า
ที่นา ขอรับ”
มหาอมาตย์กล่าวว่า “ไม่ต้องละ ข้าพเจ้าได้เห็นฤทธานุภาพของทาสท่านแล้ว”
ครั้นเสร็จราชการนั้น มหาอมาตย์จึงเดินทางกลับถึงกรุงราชคฤห์พร้อมกับเสนา ๔
เหล่า ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วกราบ
ทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ
[๒๙๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กรุงเวสาลีตามพระอัธยาศัยแล้ว
เสด็จจาริกไปทางเมืองภัททิยะพร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ๑,๒๕๐ รูป พระผู้มี
พระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงเมืองภัททิยะ ทราบว่า พระผู้มีพระภาค
ประทับ อยู่ ณ ป่าชาติยาวัน ในเมืองภัททิยะนั้น
เมณฑกคหบดีได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณโคดมผู้ศากยบุตร เสด็จออกผนวช
จากศากยตระกูล เสด็จถึงเมืองภัททิยะ ประทับอยู่ ณ ป่าชาติยาวัน ท่านพระโคดม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
ผู้เจริญนั้น มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชา
และจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็น
ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค”๑
พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงประกาศให้ผู้
อื่นรู้ตามทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลางและมีความ
งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดี ให้จัดแจงยานพาหนะคันงาม ขึ้นยานพาหนะคันงาม
มียานพาหนะคันงามหลายคันเดินทางออกจากเมืองภัททิยะเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เดียรถีย์จำนวนมากเห็นเมณฑกคหบดีมาแต่ไกล จึงได้กล่าวกับเมณฑก
คหบดีดังนี้ว่า “คหบดี ท่านจะไปไหน”
เมณฑกคหบดีกล่าวว่า “จะไปเฝ้าพระสมณโคดม เจ้าข้า”
พวกเดียรถีย์กล่าวว่า “ท่านเป็นพวกสอนให้ทำ ไฉนจึงจะไปหาพระสมณโคดม
ผู้สอนไม่ให้ทำเล่า เพราะพระสมณโคดม เป็นผู้สอนไม่ให้ทำ แสดงธรรรมเพื่อ
การไม่ให้ทำทั้งแนะนำพวกสาวกตามแนวนั้น”
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคจะต้องเป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่ ดังนั้นพวกเดียรถีย์จึงพากันริษยา” แล้วออกเดินทาง
ไปด้วยยานตลอดพื้นที่ที่ยานพาหนะจะไปได้ แล้วลงเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ

เชิงอรรถ :
๑ ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๑/๑-๒ (เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๖. เภสัชชขันธกะ] ๑๘๐. เมณฑกคหปติวัตถุ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่เมณฑกคหบดี ผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควร
เมื่อทรงทราบว่าเมณฑกคหบดีนั้นมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินได้เกิดแก่เมณฑก
คหบดีนั้น ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งปวงย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว
หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้
แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดย
ประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนคนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้
หลงทางหรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูป’ พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอ
พระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้เข้าถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้น
ไปจนตลอดชีวิต และขอพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์จงรับภัตตาหารของ
ข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ครั้งนั้น เมณฑกคหบดีทราบการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ได้ลุก
จากอาสนะถวายบังคม ทำประทักษิณแล้วกลับไป โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้นได้จัด
เตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีตแล้วให้เจ้าหน้าที่ไปกราบทูลภัตกาลพระผู้มีพระ
ภาคว่า “ถึงเวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๕ หน้า :๑๒๕ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker