ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๔-๑ วินัยปิฎกที่ ๐๔ มหาวรรค ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑.โพธิกถา

พระวินัยปิฎก
มหาวรรค ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. มหาขันธกะ

๑. โพธิกถา๑
ว่าด้วยเหตุการณ์แรกตรัสรู้ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์

เรื่องทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท

[๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้น
โพธิพฤกษ์๒ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคได้
ประทับนั่งโดยบัลลังก์เดียว๓เสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์เป็นเวลา ๗ วัน
ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท๔ โดยอนุโลมและปฏิโลมตลอด
ปฐมยามแห่งราตรีว่า

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.อุ. ๒๕/๑-๔/๙๓-๙๖
๒ วิหรติ ... โพธิรุกฺขมูเล ป�มาภิสมฺพุทฺโธ เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์ ฎีกาอธิบาย
ว่า “อภิสมฺพุทฺโธ หุตฺวา สพฺพป�มํ โพธิรุกฺขมูเล วิหรติ ตรัสรู้แล้ว ประทับนั่ง ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
ก่อนที่อื่นทั้งหมด” (วิมติ.ฏีกา ๒/๑/๑๐๘)
๓ นั่งโดยบัลลังก์เดียว หมายถึงนั่งขัดสมาธิโดยไม่ลุกขึ้นเลยตลอด ๗ วัน (วิ.อ. ๓/๑/๓)
๔ มนสิการปฏิจจสมุปบาท แปลว่า พิจารณาโดยถ้วนถี่ ใส่ใจโดยถ้วนถี่ พิจารณาโดยแยบคายซึ่งปฏิจจ-
สมุปบาท คือธรรมที่อาศัยกันและกันแล้วยังธรรมที่เกิดร่วมกันให้เกิดขึ้น (วิ.อ. ๓/๑/๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑.โพธิกถา
ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงมี

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้

ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ๑ สังขารจึงดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ


เชิงอรรถ :
๑ วิราคะ ในที่นี้หมายถึงมรรค (วิ.อ. ๓/๑/๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑. โพธิกถา

เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการดับด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ใน
เวลานั้นว่า

พุทธอุทานคาถาที่ ๑๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะมารู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ๒
[๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลมและ
ปฏิโลม ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรีว่า

ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี


เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานที่ ๑ เกิดขึ้นด้วยอำนาจการที่ทรงพิจารณาปัจจยาการหรือปฏิจจสมุปบาท (วิ.อ. ๓/๓/๖)
๒ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงโพธิปักขิยธรรมที่ให้สำเร็จการตรัสรู้ปัจจยาการ(หรือปฏิจจสมุปบาท)โดย
อนุโลม(และปฏิโลม) (วิ.อ. ๓/๑/๕)
พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้ลอยบาปธรรมเสียได้ (วิ.อ. ๓/๑/๕)
ธรรม ในที่นี้หมายถึงธรรมคือกองทุกข์ทั้งสิ้นมีสังขารเป็นต้น พร้อมทั้งเหตุคืออวิชชาเป็นต้น (วิ.อ. ๓/๑/๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑.โพธิกถา

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงมี

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้

ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการดับด้วยอาการอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑.โพธิกถา
ลำดับนั้น ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่ง
อุทานนี้ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทานคาถาที่ ๒๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย
[๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลมและ
ปฏิโลมตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรีว่า

ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงมี

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานที่ ๒ เกิดขึ้นด้วยอำนาจการที่ทรงพิจารณานิพพาน (วิ.อ. ๓/๓/๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑. โพธิกถา
ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสจึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีการดับด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทานคาถาที่ ๓๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนา๒เสียได้
ดุจพระอาทิตย์อุทัยขึ้นสาดส่องท้องฟ้าให้สว่างไสวฉะนั้น
โพธิกถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานที่ ๓ นี้ เกิดขึ้นด้วยอำนาจการที่ทรงพิจารณามรรค (วิ.อ. ๓/๓/๖)
๒ มารและเสนามาร ในที่นี้หมายถึงกามทั้งหลาย (วิ.อ. ๓/๓/๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒. อชปาลกถา
๒. อชปาลกถา
ว่าด้วยเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธ

เรื่องทรงแสดงธรรมเป็นเหตุให้เป็นพราหมณ์
[๔] ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จ
จากควงต้นโพธิพฤกษ์ ไปยังควงต้นอชปาลนิโครธ๑ ครั้นถึงแล้ว จึงประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียวเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธเป็นเวลา ๗ วัน
ครั้งนั้น พราหมณ์หุหุกชาติ๒ผู้หนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้ว ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันและกันแล้วได้ยืน ณ ที่สมควร พราหมณ์นั้นผู้ยืน ณ ที่สมควรแล้วแล
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระโคดมผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์
ด้วยเหตุเพียงไรหนอ ก็และธรรมเหล่าไหนที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พราหมณ์ใด ลอยบาปธรรมเสีย ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ
ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาด สำรวมตน๓เรียนจบพระเวท๔อยู่จบพรหมจรรย์๕
พราหมณ์นั้น ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้นในอารมณ์ไหน ๆ ในโลก
ควรกล่าววาทะว่า เราเป็นพราหมณ์โดยธรรม
อชปาลกถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ นิโครธ แปลว่า ต้นไทร ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Banyan” หรือ “Indian Fig-tree” ไม้จำพวกไทรหรือกร่าง
ของอินเดีย พวกคนเลี้ยงแพะชอบมานั่งที่ร่มเงาของต้นนิโครธนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อชปาลนิโครธ
(วิ.อ. ๓/๔/๘; PALI-ENGLISH DICTIONARY, P.355, Edited by T.W. RHYS DAVIDS and
WILLIAM STEDE)
๒ หุหุกชาติ คือ ชอบตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ พราหมณ์นี้มีทิฏฐิว่า “สิ่งที่เห็นแล้วเป็นมงคล” ชอบเที่ยวตวาดว่า
หึ หึ เพราะความถือตัวและเพราะความโกรธ (ดู ขุ.อุ. ๒๕/๔/๙๖)
๓ สำรวมตน หมายถึงมีจิตมุ่งมั่นอยู่ในภาวนาหรือสำรวมด้วยศีลสังวร (วิ.อ. ๓/๔/๙)
๔ เรียนจบพระเวท หมายถึงบรรลุมรรคญาณ ๔ (โสดาปัตติมรรค,สกทาคามิมรรค,อนาคามิมรรค,อรหัตต-
มรรค) หรือเรียนจบเวท ๓ (ฤคเวท,ยชุรเวท,สามเวท) (วิ.อ. ๓/๔/๙)
๕ อยู่จบพรหมจรรย์ หมายถึงจบมรรคพรหมจรรย์ (วิ.อ. ๓/๔/๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๓. มุจลินทกถา
๓. มุจลินทกถา
ว่าด้วยเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นมุจลินท์

เรื่องทรงเปล่งอุทานปรารภความสุข
[๕] ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จ
จากควงต้นอชปาลนิโครธไปยังควงต้นมุจลินท์๑ ครั้นถึงแล้ว จึงประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียวเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นมุจลินท์เป็นเวลา ๗ วัน
ครั้งนั้น ได้บังเกิดเมฆใหญ่ขึ้นในสมัยมิใช่ฤดูกาล เป็นฝนเจือลมหนาวตกพรำตลอด
๗ วัน ลำดับนั้น พญานาคมุจลินท์ได้ออกจากที่อยู่ของตนไปโอบรอบพระกายของ
พระผู้มีพระภาคด้วยขนด ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเหนือพระเศียรด้วยหวังว่า
“ความหนาว อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค ความร้อน อย่าได้เบียดเบียน
พระผู้มีพระภาค สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลานอย่าได้เบียดเบียน
พระผู้มีพระภาค”
ครั้น ๗ วันผ่านไป พญานาคมุจลินท์รู้ว่า ฝนหายปลอดเมฆแล้ว จึงคลาย
ขนดออกจากพระกายของพระผู้มีพระภาค จำแลงร่างของตนเป็นมาณพ ยืนประนมมือ
ถวายอภิวาทอยู่เบื้องพระพักตร์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทานคาถา
ความสงัด๒เป็นสุขของบุคคลผู้สันโดษ
ผู้มีธรรมปรากฏแล้ว ผู้เห็นอยู่

เชิงอรรถ :
๑ มุจลินท์ คือ ต้นจิกนา ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “The Tree Barringtonai Acutangula” ต้นมุจลินท์นี้
เป็นเจ้าแห่งต้นมุจละ (PALI-ENGLISH DICTIONARY, P.535, COL. 1, Edited by T.W. RHYS
DAVIDS and WILLIAM STEDE)
๒ ความสงัด ในที่นี้หมายถึงธรรมเป็นที่สงบระงับสังขารทั้งปวง คือ นิพพานนั่นเอง (วิ.อ. ๓/๕/๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔.ราชายตนกถา
ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก
ความปราศจากราคะคือความล่วงกามทั้งหลายได้ เป็นสุขในโลก
ความกำจัดอัสมิมานะ(ความถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่)เสียได้
เป็นสุขอย่างยิ่ง๑
มุจลินทกถา จบ

๔. ราชายตนกถา
ว่าด้วยเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นราชายตนะ

เรื่องทรงพบกับตปุสสะและภัลลิกะ
[๖] ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จ
จากควงต้นมุจลินท์ไปยังควงต้นราชายตนะ๒ ครั้นถึงแล้วจึงประทับนั่งโดยบัลลังก์เดียว
เสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นราชายตนะเป็นเวลา ๗ วัน
ครั้งนั้น พ่อค้า ๒ คนชื่อตปุสสะและภัลลิกะ เดินทางไกลจากอุกกลชนบท
มาถึงที่นั้น ขณะนั้น เทวดาผู้เป็นญาติร่วมสายโลหิตของตปุสสะและภัลลิกะพ่อค้า
ทั้งสอง ได้กล่าวว่า “ท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ เมื่อแรกตรัสรู้
ประทับอยู่ ณ ควงต้นราชายตนะ ท่านทั้งสองจงไปต้อนรับพระองค์ด้วยข้าวตูผงและ
ข้าวตูก้อนปรุงด้วยน้ำผึ้งเถิด การบูชาของท่านทั้งสองจักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขสิ้น
กาลนาน”
ต่อมา ตปุสสะและภัลลิกะ ได้ถือข้าวตูผงและข้าวตูก้อนปรุงด้วยน้ำผึ้งเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “พระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.อุ. ๒๕/๑๑/๑๐๕
๒ ราชายตนะ แปลกันว่า ต้นเกด ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Buchania Latifolia” และอธิบายเพิ่มเติมว่า
เป็นต้นไม้หลวง เป็นที่สิงสถิตของเทพแห่งนางไม้ทั้งหลาย (PALI-ENGLISH DICTIONARY, P.569,
COL. 2, Edited by T.W. RHYS DAVIDS and WILLIAM STEDE)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๔. ราชายตนกถา
ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดทรงรับข้าวตูผลและข้าวตูก้อนปรุงด้วยนำผึ้ง ซึ่งจะเป็นไป
เพื่อประโยชน์สุขสิ้นกาลนานแก่ข้าพระองค์ทั้งสองเถิด”
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า “พระตถาคตทั้งหลายไม่ทรงรับ
ภัตตาหารด้วยพระหัตถ์เลย เราจะพึงรับข้าวตูผงและข้าวตูก้อนปรุงด้วยน้ำผึ้งอย่างไร
หนอ”
ทันใดนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทราบความดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค
ด้วยใจของตน ๆ จึงนำบาตรศิลา ๔ ใบมาจาก ๔ ทิศ เข้าไปถวายแล้ว
ทูลว่า “ขอพระองค์โปรดทรงรับข้าวตูผงและข้าวตูก้อนปรุงน้ำผึ้ง ด้วยบาตรนี้เถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับข้าวตูผงและข้าวตูก้อนปรุงด้วยน้ำผึ้งด้วยบาตรศิลาใหม่
เอี่ยมแล้วเสวย
ต่อมา ตปุสสะและภัลลิกะได้กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง
สองนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมเป็นสรณะ ขอพระองค์โปรดทรงจำ
ข้าพระองค์ทั้งสองว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จนตลอดชีวิต”
ตปุสสะและภัลลิกะนั้น ได้เป็นเทฺววาจิกอุบาสก(ผู้กล่าววาจาถึงรัตนะ ๒ ว่า
เป็นสรณะ)เป็นพวกแรกในโลกแล
ราชายตนกถา จบ๑

เชิงอรรถ :
๑ สรุปสถานที่สำคัญที่พระผู้มีพระภาค เสด็จประทับหลังจากตรัสรู้แล้วตามนัยแห่งอรรถกถา ดังนี้
สัปดาห์ที่ ๑ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิ์
สัปดาห์ที่ ๒ ประทับอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นโพธิ์ เรียกว่า อนิมิสสเจดีย์
สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จจงกรมไปมาระหว่างต้นโพธิ์กับอนิมิสสเจดีย์ เรียกบริเวณนั้นว่า รตนจงกรมเจดีย์
สัปดาห์ที่ ๔ ประทับอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นโพธิ์ เรียกบริเวณนั้นว่า รตนฆรเจดีย์
สัปดาห์ที่ ๕ ประทับอยู่ ณ ต้นอชปาลนิโครธ อยู่ห่างไกลออกไป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นโพธิ์
สัปดาห์ที่ ๖ ประทับอยู่ ณ ต้นมุจลินท์ อยู่ห่างไกลออกไป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นโพธิ์
สัปดาห์ที่ ๗ ประทับอยู่ ณ ต้นราชายตนะ อยู่ห่างไกลออกไป ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของต้นโพธิ์
(วิ.อ. ๓/๔-๖/๘-๑๒, ขุ.พุทฺธ.อ. ๔๑๙-๔๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕.พรหมยาจนกถา
๕. พรหมยาจนกถา
ว่าด้วยพรหมอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม

เรื่องทรงพิจารณาความลึกซึ้งแห่งปฏิจสมุปบาท
[๗] ครั้นล่วง ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธิ แล้วเสด็จจาก
ควงต้นราชายตนะไปยังต้นอชปาลนิโครธ ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ควงต้น
อชปาลนิโครธนั้น ขณะเมื่อทรงหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงเกิดความดำริขึ้นในพระ
ทัยว่า๑ “ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต
ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ สำหรับหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ด้วย
อาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลินในอาลัย๒ ฐานะอันนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าว
คือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก
กล่าวคือความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ
นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะ
พึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่าแก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา”
อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ที่ไม่เคยทรงสดับมาก่อน ได้ปรากฏแจ่มแจ้ง
แก่พระผู้มีพระภาคว่า

อนัจฉริยคาถา
บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราได้บรรลุด้วยความลำบาก
เพราะธรรมนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำ จะรู้ได้ง่าย
แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส๓ ละเอียด ลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก ประณีต
ผู้กำหนัดด้วยราคะ ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ม.มู. ๑๒/๒๘๑/๒๔๒, ม.ม. ๑๓/๓๓๗/๓๑๙
๒ อาลัย คือกามคุณ ๕ ที่สัตว์พัวพัน ยินดี เพลิดเพลิน (วิ.อ. ๓/๗/๑๓) เป็นชื่อเรียกกิเลส ๒ อย่างคือ กามคุณ
๕ และตัณหาวิจริต ๑๐๘ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๗/๑๘๔) ดู อภิ.วิ. (แปล)๓๕/๙๗๓-๙๗๖/๖๒๒-๖๓๔
๓ พาทวนกระแส ในที่นี้หมายถึงพาเข้าถึงนิพพาน (วิ.อ. ๓/๗/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕.พรหมยาจนกถา
เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาดังนี้ พระทัยก็น้อมไปเพื่อการขวนขวายน้อย มิได้
น้อมไปเพื่อแสดงธรรม
[๘] ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบความดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค
ด้วยใจของตน ได้มีความดำริว่า “ท่านผู้เจริญเอ๋ย โลกจะฉิบหายหนอ โลกจะ
พินาศหนอ เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปเพื่อ
การขวนขวายน้อย มิได้น้อมพระทัยไปเพื่อทรงแสดงธรรม” จึงหายไปจากพรหม
โลกมาปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เปรียบประหนึ่งบุรุษมีกำลัง
เหยียดแขนออก หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น แล้วห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
คุกเข่าเบื้องขวาลงบนแผ่นดิน ประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับพลางทูล
ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตเจ้าได้
โปรดแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในตาน้อยมีอยู่๑ สัตว์เหล่านั้นย่อม
เสื่อมเพราะไม่ได้สดับธรรม เพราะจักมีผู้รู้ธรรม๒”
ท้าวสหัมบดีพรหมได้ทูลอาราธนาดังนี้ แล้วได้ทูลเป็นประพันธคาถาต่อไปว่า

พรหมนิคมคาถา
ในกาลก่อน ธรรมที่ไม่บริสุทธิ์อันคนที่มีมลทิน๓คิดค้นไว้
ปรากฏในแคว้นมคธ
พระองค์ โปรดทรงเปิดประตูอมตธรรมนั้นเถิด
ขอเหล่าสัตว์ จงฟังธรรมที่พระสัมพุทธเจ้าผู้ปราศจากมลทิน
ได้ตรัสรู้แล้วตามลำดับ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงมีธุลีคือราคะ โทสะ โมหะ ปิดบังดวงตาปัญญาเบาบาง (วิ.อ. ๗๘-๙/๑๔-๑๕)
๒ เหตุการณ์นี้เป็นที่มาแห่งพิธีอาราธนาพระสงฆ์แสดงธรรม(ดู ขุ.พุทธ. ๓๓/๑/๔๓๕)
๓ คนที่มีมลทิน ในที่นี้หมายถึงครูทั้ง ๖ (วิ.อ. ๓/๘/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕.พรหมยาจนกถา
ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญาดี มีสมันตจักษุ
บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดเขาศิลาล้วน พึงเห็นหมู่ชนได้
โดยรอบ ฉันใด
พระองค์ผู้หมดความโศกแล้ว ก็ฉันนั้น
โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรมแล้ว
จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความโศกและถูกชาติชรา
ครอบงำได้ชัดเจน
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ผู้ชนะสงคราม ผู้นำหมู่
ผู้ไม่มีหนี้ ขอพระองค์โปรดลุกขึ้นเสด็จจาริกไปในโลก
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดจงทรงแสดง
ธรรม เพราะจักมีผู้รู้ธรรม
[เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมได้กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับ
ท้าวสหัมบดีพรหมว่า พรหม แม้เราเองก็มีความดำริว่า ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้
... จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา พรหม อนึ่งเล่า อนัจฉริยคาถาเหล่านี้ที่
ไม่เคยสดับมาก่อนได้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่เราว่า
บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราได้บรรลุ ด้วยความลำบาก
... แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส ...
พรหม เมื่อเราพิจารณาแจ้งชัดดังนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อการขวนขวายน้อย
หาน้อมไปเพื่อแสดงธรรมไม่
แม้ครั้งที่ ๒ ท้าวสหัมบดีพรหมก็ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคได้โปรดแสดงธรรม ... เพราะจักมีผู้รู้ธรรม”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า “พรหม แม้เราเองก็มีความคิด
ว่า... หาน้อมไปเพื่อแสดงธรรมไม่”
แม้ครั้งที่ ๓ ท้าวสหัมบดีพรหมก็ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มี
พระภาคได้โปรดแสดงธรรม ... เพราะจักมีผู้รู้ธรรม”]

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๕. พรหมยาจนกถา
เรื่องทรงพิจารณาเวไนยสัตว์เปรียบด้วยดอกบัว๑
[๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงรับคำทูลอาราธนาของพรหม และเพราะ
อาศัยพระกรุณาในหมู่สัตว์ ทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ๒ เมื่อทรงตรวจดูโลก
ด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในตาน้อย มีธุลีในตามาก๓ มีอินทรีย์แก่กล้า
มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวก
มักเห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัวก็มี บางพวกมักไม่เห็นปรโลกและโทษว่าน่ากลัวก็มี
มีอุปมาเหมือนในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม
ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ ดอกอุบล
ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำอยู่เสมอน้ำ ดอกอุบล
ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ขึ้นพ้นน้ำ ไม่แตะน้ำ ฉันใด
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีธุลีใน
ตาน้อย มีธุลีในตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการ
ทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษว่าเป็น
สิ่งน่ากลัวก็มี บางพวกมักไม่เห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัวก็มี ฉันนั้น๔

เชิงอรรถ :
๑ ที.ม. ๑๐/๖๙/๓๓, ม.มู. ๑๒/๒๘๓/๒๔๔, อภิ.ก. ๓๗/๘๕๖/๔๙๐, ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๓๓/๑๕๓
๒ พุทธจักษุ หมายถึง (๑) อินทริยปโรปริยัตติญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและความหย่อนแห่ง
อินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือ รู้ว่า สัตว์นั้น ๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด
มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีความพร้อม ที่จะตรัสรู้หรือไม่ (๒) อาสยานุสยญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัย
ความมุ่งหมาย สภาพจิตที่นอนอยู่ (ขุ.ป. ๓๑/๑๑๑/๑๒๔,๑๑๓/๑๒๖)
๓ ตา ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (วิ.อ. ๓/๙/๑๕, ดู ขุ.ป. ๓๑/๑๑๑-๑๑๕/๑๒๔-๑๒๘)
๔ นอกจากบัวจมอยู่ในน้ำ บัวอยู่เสมอน้ำ บัวพ้นน้ำ ๓ เหล่านี้ อรรถกถาได้กล่าวถึงบัวเหล่าที่ ๔
คือ บัวที่มีโรคยังไม่พ้นน้ำเป็นภักษาของปลาและเต่า ซึ่งมิได้ยกขึ้นสู่บาลี แล้วแบ่งบุคคลเป็น ๔ เหล่า
(ตามที่ปรากฏใน องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๓๓/๒๐๒, อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๐/๑๔๒,๑๔๘-๑๕๑/๑๘๖-๑๘๗)
คือ (๑) อุคฆฏิตัญญู (๒) วิปจิตัญญู (๓) เนยยะ (๔) ปทปรมะ แล้วเปรียบอุคฆฏิตัญญู เป็น
เหมือนบัวพ้นน้ำ ที่พอต้องแสงอาทิตย์แล้วก็บานในวันนี้ เปรียบวิปจิตัญญู เป็นเหมือนบัวอยู่เสมอน้ำ
ที่จะบานในวันรุ่งขึ้น เปรียบเนยยะ เป็นเหมือนบัวจมอยู่ในน้ำที่จะขึ้นมาบานในวันที่ ๓ ส่วนปทปรมะ
เปรียบเหมือนบัวที่มีโรค ยังไม่พ้นน้ำ ไม่มีโอกาสขึ้นมาบาน เป็นภักษาของปลาและเต่า
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุอันเป็นเหมือนกออุบลเป็นต้น ได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงว่า
หมู่ประชาผู้มีธุลีในตาน้อยมีประมาณเท่านี้ หมู่ประชาผู้มีธุลีในตามากมีประมาณเท่านี้ และในหมู่ประชา
ทั้ง ๒ นั้น อุคฆฏิตัญญูบุคคลมีประมาณเท่านี้ (ที.ม.อ. ๖๖/๖๔-๖๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๙/๑๙๒-๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ครั้นทรงเห็นแล้ว ได้ตรัสคาถาตอบท้าวสหัมบดีพรหมว่า
สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดจะฟัง จงปล่อยศรัทธามาเถิด
เราได้เปิดประตูอมตธรรมแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว
ท่านพรหม เพราะเราสำคัญว่าจะลำบาก
จึงมิได้แสดงธรรมที่ประณีตคล่องแคล่ว ในหมู่มนุษย์
ขณะนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมได้ทราบว่า “พระพุทธองค์ได้ทรงประทานโอกาส
เพื่อจะแสดงธรรมแล้ว” จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้ว
อันตรธานไป ณ ที่นั้นแล

พรหมยาจนกถา จบ

๖. ปัญจวัคคิยกถา
ว่าด้วยภิกษุปัญจวัคคีย์

เรื่องอาฬารดาบสกาลามโคตร
[๑๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า “เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อน
หนอ ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน” แล้วทรงดำริต่อไปว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร
นี้ เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในตาน้อยมานาน ถ้ากระไร เราจะพึง
แสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ ฉับพลัน”

ลำดับนั้น เทวดาผู้ไม่ปรากฏกายมาทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระองค์ผู้เจริญ
อาฬารดาบส กาลามโคตร ได้ทำกาละ ๗ วันแล้ว”

แม้พระผู้มีพระภาคก็ได้เกิดญาณขึ้นว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร ได้ทำ
กาละ ๗ วันแล้ว” จึงทรงดำริว่า “อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อม
นานหนอ๑ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน”

เชิงอรรถ :
๑ มีความเสื่อมนานหนอ หมายถึงมีความเสื่อมมาก เพราะเสื่อมจากมรรคและผลที่จะพึงบรรลุ เพราะ
เกิดในอักขณะ คือ อาฬารดาบสตายไปเกิดในอากิญจัญญายตนภพ ส่วนอุททกดาบสตายไปเกิดใน
เนวสัญญานาสัญญายตนภาพ (วิ.อ. ๓/๑๐/๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
เรื่องอุททกดาบสรามบุตร
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริว่า “เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ
ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน” จึงทรงดำริต่อไปว่า “อุททกดาบส รามบุตรนี้
เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในตาน้อยมานาน ถ้ากระไร เราจะพึง
แสดงธรรมแก่อุททกดาบส รามบุตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน”
ลำดับนั้น เทวดาผู้ไม่ปรากฏกายมาทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระองค์ผู้เจริญ
อุททกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละเมื่อวานนี้”
แม้พระผู้มีพระภาคก็ได้เกิดญาณขึ้นว่า “อุททกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละ
เมื่อวานนี้” จึงทรงดำริว่า “อุททกดาบส รามบุตร เป็นผู้มีความเสื่อมนานหนอ
เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน”
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้ทรงดำริดังนี้ว่า “เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ
ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน” จึงทรงดำริว่า “ภิกษุปัญจวัคคีย์ มีอุปการะแก่เรามาก
ที่ได้เฝ้าปรนนิบัติเราผู้มุ่งหน้าบำเพ็ญเพียรมา ถ้ากระไร เราจะพึงแสดงธรรมแก่
ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อน” แล้วทรงดำริต่อไปว่า “บัดนี้ ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ”
ก็ได้ทรงเห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ด้วย
ทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์
ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลาตามพระอัธยาศัยแล้ว
ได้เสด็จจาริกไปทางกรุงพาราณสี

เรื่องอุปกาชีวก
[๑๑] อาชีวกชื่ออุปกะได้พบพระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินทางไกล ณ ระหว่าง
แม่น้ำคยากับต้นโพธิพฤกษ์ ได้ทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “อาวุโส อินทรีย์ของ
ท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็น
ศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
เมื่ออุปกาชีวกทูลถามดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถาตอบอุปกาชีวกว่า
“เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง๑ รู้ธรรมทั้งปวง๒
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง๓ ละธรรมทั้งปวงได้สิ้นเชิง๔
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา ตรัสรู้ยิ่งเอง
แล้วจะพึงกล่าวอ้างใครเล่า
เราไม่มีอาจารย์๕ เราไม่มีผู้เสมอเหมือน
เราไม่มีผู้ทัดเทียม ในโลกกับทั้งเทวโลก
เพราะเราเป็นอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม
เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเองเพียงผู้เดียว เป็นผู้เยือกเย็น
ดับกิเลสได้แล้วในโลก
เราจะไปเมืองหลวงแห่งชาวกาสี ประกาศธรรมจักร
ตีกลองอมตธรรมไปในโลกอันมีความมืดมน”๖
อุปกาชีวกทูลว่า “อาวุโส ท่านสมควรเป็นพระอนันตชินะตามที่ท่านประกาศ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ชนเหล่าใดได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
ชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระชินะเช่นเรา
อุปกะ เราชนะความชั่วได้แล้ว
เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่าพระชินะ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้แล้ว อุปกาชีวกจึงทูลว่า “อาวุโส ควรจะเป็น
อย่างนั้น” โคลงศีรษะแล้วเดินสวนทางหลีกไป

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๒ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔ (วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๓ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๔ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๕ เราไม่มีอาจารย์ ในที่นี้หมายถึงไม่มีอาจารย์ในระดับโลกุตตรธรรม (วิ.อ. ๓/๑๑/๑๗)
๖ ม.มู. ๑๒/๒๘๕/๒๔๖, ม.ม. ๑๓/๓๔๑/๓๒๓ อภิ.ก. ๓๗/๔๐๕/๒๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
เรื่องทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์
[๑๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตน
มฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี แล้วได้เสด็จไปทางที่ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ ภิกษุ
ปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ได้นัดหมายกันและกันว่า “ท่าน
ทั้งหลาย พระสมณโคดมนี้เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็น
คนมักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่พึงกราบไหว้ ไม่พึงลุกรับ ไม่พึงรับบาตรและ
จีวรของพระองค์ แต่จะจัดอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง”
ครั้นเสด็จมาถึง ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ไม่อาจตั้งอยู่ในกติกาของตนได้ ต่างต้อนรับ
พระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งรับบาตรและจีวร รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้าง
พระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปวาง
พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งบนอาสนะที่ภิกษุปัญจวัคคีย์จัดถวาย แล้วทรงล้างพระบาท
แต่ภิกษุปัญจวัคคีย์กลับร้องเรียกพระผู้มีพระภาคโดยออกพระนาม และใช้คำว่า
“อาวุโส”๑
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์ กล่าวอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสห้ามภิกษุ
ปัญจวัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าร้องเรียกตถาคตโดยออกชื่อและใช้คำว่า
อาวุโส ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ
เราได้บรรลุอมตธรรมแล้วจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอเมื่อปฏิบัติตามที่เรา
สั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้”

เชิงอรรถ :
๑ ในครั้งพุทธกาล คำว่า “อาวุโส” เป็นคำที่คนทั่วไปใช้กล่าวนำทักทายร้องเรียกกัน ไม่แสดงความเคารพ
เป็นพิเศษ ก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้ารับสั่งห้ามพระผู้น้อยเรียกพระผู้ใหญ่
โดยใช้คำว่า “อาวุโส” และห้ามพูดกับผู้ใหญ่โดยออกชื่อท่านนั้นท่านนี้ แต่ควรเรียกพระผู้ใหญ่โดยใช้คำว่า
“ภันเต” หรือ “อายัสมา” ส่วนพระผู้ใหญ่ควรเรียกพระผู้น้อยว่า “อาวุโส” หรือโดยการระบุชื่อนั้นชื่อนี้
(ดู. ที. ม. ๑๐/๒๑๖/๑๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “อาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วย
ทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังมิได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่
ประเสริฐ อันสามารถ บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมากคลายความเพียร เวียนมาเพื่อ
ความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่
ประเสริฐ อันสามารถได้เล่า”
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุ
ปัญจวัคคีย์ดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่เป็นคนมักมาก ไม่ได้คลายความเพียร
ไม่ได้เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เอง
โดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว จะสั่งสอน จะแสดง
ธรรม พวกเธอเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์
อันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้”
แม้ครั้งที่ ๒ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระปัญจวัคคีย์ดังนี้ว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “อาวุโส
โคดม แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยัง
มิได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถ บัดนี้
พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจัก
บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันสามารถได้เล่า”
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กราบทูลอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุ
ปัญจวัคคีย์ดังนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังจำได้หรือไม่ว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้
เคยกล่าวในกาลก่อนแต่นี้”
ภิกษุปัญจวัคคีย์กราบทูลว่า “ถ้อยคำเช่นนี้ไม่เคยได้ฟังมาก่อน พระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ
พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว จะสั่งสอน จะแสดงธรรม
พวกเธอเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม
อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ
ต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้”
พระผู้มีพระภาคทรงสามารถให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว
ลำดับนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้ยอมเชื่อฟังพระผู้มีพระภาค เงี่ยโสตสดับ ตั้ง
จิตเพื่อรู้ยิ่ง
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร๑
[๑๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค ได้รับสั่งกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ที่สุด ๒ อย่างนี้ บรรพชิตไม่พึงเสพ กล่าวคือ
๑. กามสุขัลลิกานุโยคในกามทั้งหลาย (การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุขใน
กามทั้งหลาย) เป็นธรรมอันทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
๒. อัตตกิลมถานุโยค(การประกอบความลำบากเดือดร้อนแก่ตน) เป็น
ทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ภิกษุทั้งหลาย มัชฌิมาปฏิปทาไม่เอียงเข้าใกล้ที่สุด ๒ อย่างนั้น ตถาคตได้
ตรัสรู้อันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ๒ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อ
ความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย ก็มัชฌิมาปฏิปทาที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทาก่อให้
เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้
เพื่อพระนิพพานนั้นเป็นไฉน

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ม. ๑๙/๑๐๘๑/๓๖๗/, ขุ.ป. ๓๑/๓๐/๓๕๘
๒ จักษุ ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (วิ.อ. ๓/๑๓/๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
มัชฌิมาปฏิปทานั้น ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือ๑

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

ภิกษุทั้งหลาย นี้คือมัชฌิมาปฏิปทานั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว อันเป็นปฏิปทา
ก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้
เพื่อพระนิพพาน
[๑๔] ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขอริยสัจ คือ แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์
แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์ แม้ความเจ็บก็เป็นทุกข์ แม้ความตายก็เป็นทุกข์ ความ
ประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็น
ทุกข์ ความไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ ก็เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขสมุทยอริยสัจ คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก
ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์
นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

เชิงอรรถ :
๑ องค์มรรคแต่ละข้อมีนัยพิสดาร ดังนี้
๑. สัมมาทิฏฐิ หมายถึงเห็นอริยสัจ ๔ เห็นไตรลักษณ์ หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท
๒. สัมมาสังกัปปะ หมายถึงความนึกคิดในทางสละปลอดจากกาม ความนึกคิดปลอดจากพยาบาท และ
ความนึกคิดปลอดจากการเบียดเบียน
๓. สัมมาวาจา หมายถึงพูดคำสัตย์ พูดไม่ส่อเสียด พูดคำอ่อนหวาน พูดสิ่งมีสาระ
๔. สัมมากัมมันตะ หมายถึงไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ทั้งหลาย ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
๕. สัมมาอาชีวะ หมายถึงเว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาอาชีพ
๖. สัมมาวายามะ หมายถึงเพียรระวังความชั่วไม่ให้เกิดขึ้น เพียรกำจัดความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำ
ความดีให้เกิด เพียรรักษาความดีไว้
๗. สัมมาสติ หมายถึงพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม
๘. สัมมาสมาธิ หมายถึงฌาน ๔
(ที.ม. ๑๐/๓๒๙/๒๑๔,๔๐๒/๒๖๖, ม.อุ. ๑๔/๓๒๕/๒๙๗,๓๗๕/๓๑๙, อภิ.วิ. (แปล)๓๕/๒๐๕/๑๗๑,๔๘๖/
๓๗๑,๔๘๘-๔๙๒/๓๗๓-๓๗๕,๔๙๘-๔๙๙/๓๗๗-๓๗๘,๕๐๔/๓๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วย
วิราคะ ความสละ ความสละทิ้ง ความพ้น ความไม่อาลัยในตัณหา
ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘
นี้แหละ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ

[๑๕] ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
นี้ทุกขอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขอริยสัจนี้ ควรกำหนดรู้
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขอริยสัจนี้ เราได้กำหนดรู้แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขสมุทยอริยสัจนี้ ควรละเสีย
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขสมุทยอริยสัจนี้ เราละได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขนิโรธอริยสัจนี้ ควรทำให้แจ้ง
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขนิโรธอริยสัจนี้ เราได้ทำให้แจ้งแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ ควรให้เจริญ
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเกิดขึ้นแล้ว ญาณเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว
วิชชาเกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้วในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยสดับมาก่อนว่า
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ เราได้ให้เจริญแล้ว
[๑๖] ภิกษุทั้งหลาย ญาณทัสสนะ๑ตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ เหล่านี้
๓ รอบ ๑๒ อาการ๒อย่างนี้ ยังไม่หมดจดดีตราบใด เราก็ยังไม่ยืนยันว่า เป็นผู้
ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก กับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ตราบนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ญาณทัสสนะ หมายถึงสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ (สํ.ม.อ. ๓/๑๐๘๑/๓๘๐, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๖/๒๑๙)
๒ ๓ รอบ ๑๒ อาการ หมายถึงสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ เกิดขึ้นเวียนไปในอริยสัจ ๔ ข้อ ข้อละ
๓ รอบ(๔ x ๓ = ๑๒) รวมเป็น ๑๒ รอบ ดังนี้ ก. (๑) นี้ทุกข์ (๒) ทุกข์นี้ควรกำหนดรู้ (๓) ทุกข์นี้
กำหนดรู้แล้ว ข. (๑) นี้สมุทัย (๒) สมุทัยนี้ควรละ (๓) สมุทัยนี้ละแล้ว ค. (๑) นี้นิโรธ (๒) นิโรธ
นี้ควรทำให้แจ้ง (๓) นิโรธนี้ทำให้แจ้งแล้ว ง. (๑) นี้มรรค (๒) มรรคนี้ควรทำให้เจริญ (๓) มรรคนี้ทำให้
เจริญแล้ว (สํ.ม.อ. ๓/๑๐๘๑/๓๘๐, สารตฺถ. ฏีกา ๓/๑๖/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ความรู้เห็นตามเป็นจริงของเราในอริยสัจ ๔ เหล่านี้
๓ รอบ ๑๒ อาการอย่างนี้ หมดจดดีแล้ว เมื่อนั้น เราจึงยืนยันได้ว่า เป็นผู้ตรัสรู้
สัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก กับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่
สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ญาณทัสสนะเกิดขึ้นแก่เราว่า “ความ
หลุดพ้นของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณ์นี้๑อยู่ ธรรมจักษุ๒อันปราศจากธุลีปราศ
จากมลทินได้เกิดแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา”
[๑๗] ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว ทวยเทพ
ชั้นภุมมะกระจายข่าวว่า “นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงให้
เป็นไปแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์
เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้”๓
ทวยเทพชั้นจาตุมหาราช สดับเสียงของทวยเทพชั้นภุมมะแล้ว ได้กระจายข่าว
ต่อไป ฯลฯ
ทวยเทพชั้นดาวดึงส์ สดับเสียงของทวยเทพชั้นจาตุมหาราชแล้ว ได้กระจายข่าว
ต่อไป ฯลฯ
ทวยเทพชั้นยามา...
ทวยเทพชั้นดุสิต...
ทวยเทพชั้นนิมมานรดี...
ทวยเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ...

เชิงอรรถ :
๑ เวยยากรณ์ ในที่นี้หมายถึงพระสูตรที่ไม่มีคาถา ประกอบด้วยคำถามคำตอบ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๖/๒๒๐)
เป็นองค์อันหนึ่งในนวังคสัตถุศาสน์ (วิ.อ. ๑/๒๖)
๒ ธรรมจักษุ แปลว่า ดวงตาเห็นธรรม คือ โสดาปัตติมรรคญาณ (วิ.อ. ๓/๕๖/๒๗)
๓ ใคร ๆ ในโลกปฏิเสธไม่ได้ เพราะพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเจ้าของธรรมตรัสรู้มาโดยชอบ และเพราะธรรมจักร
เป็นธรรมยอดเยี่ยม (เนตฺติ.อ. ๙/ ๖๓, เนตฺติ.วิ. ๙/๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ทวยเทพที่นับเนื่องในหมู่พรหม สดับเสียงของเหล่าเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
แล้วก็กระจายข่าวว่า “นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศแล้ว
ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร
พรหม หรือใคร ๆ ในโลก ให้หมุนกลับไม่ได้”
เพียงครู่เดียวเท่านั้น เสียงป่าวประกาศได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลก ด้วย
ประการฉะนี้
ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ ก็สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างอันเจิดจ้า หาประมาณมิได้
ก็ปรากฏในโลก ล่วงเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งพระอุทานนี้ว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะ
ได้รู้แล้วหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ” ดังนั้น คำว่า “อัญญา
โกณฑัญญะ” นี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านพระโกณฑัญญะนั่นแล

ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลขอการบรรพชาอุปสมบท
[๑๘] ครั้งนั้น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว
รู้แจ้งธรรมแล้วหยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ
ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น๑ ในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึง
ได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด”๒ แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรม
อันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น หมายถึงไม่ต้องอาศัยผู้อื่นคอยแนะนำพร่ำสอนในคำสอนของพระศาสดา ไม่ได้หมายถึง
ว่า ไม่ต้องเชื่อใครเลย (อปรปฺปจฺจโย-ไม่มีใครอื่นอีกเป็นปัจจัย) (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๘/๒๒๖)
๒ จงมาเป็นภิกษุเถิด หมายถึงคำประกาศอนุมัติการบรรพชาอุปสมบทแก่ผู้ขอบวชคือเท่ากับประกาศว่า
จงมารับการบรรพชาอุปสมบทตามที่ขอ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๘/๒๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
[๑๙] ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงโอวาท สั่งสอนภิกษุทั้งหลายที่เหลือ
ด้วยธรรมีกถา เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงโอวาท สั่งสอนด้วยธรรมีกถา ธรรมจักษุ
อันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระวัปปะและท่านพระภัททิยะ
ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็น
ธรรมดา”
ท่านทั้ง ๒ นั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง ๒ พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอทั้ง ๒ จงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปอีกว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอทั้ง ๒ จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดย
ชอบเถิด”
พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านทั้ง ๒ นั้น
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้เสวยพระกระยาหารที่ท่านทั้งสามนำมาถวายแล้ว
ก็ทรงโอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลายที่เหลือด้วยธรรมีกถา ภิกษุ ๓ รูปเที่ยวบิณฑบาตแล้ว
นำสิ่งใดมา ทั้ง ๖ รูป ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรง
โอวาท สั่งสอนด้วยธรรมีกถา ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่
ท่านพระมหานามะและท่านพระอัสสชิว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา”
ท่านทั้ง ๒ นั้นได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้า
แต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง ๒ พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระองค์”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอทั้ง ๒ จงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอทั้ง ๒ จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์
โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านทั้ง ๒ นั้น

อนัตตลักขณสูตร๑
[๒๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย
รูปเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ไม่พึงเป็นไป
เพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในรูปว่า “รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้
เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูปว่า “รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็น อย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย เวทนาเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเวทนานี้จักเป็นอัตตา
แล้วไซร้ เวทนานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในเวทนาว่า “เวทนาของ
เราจงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเวทนา
เป็นอนัตตา ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในเวทนาว่า
“เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย สัญญาเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัญญานี้จักเป็นอัตตา
แล้วไซร้ สัญญานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสัญญาว่า “สัญญาของ
เราจงเป็นอย่างนี้ สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสัญญา
เป็นอนัตตา ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสัญญาว่า
“สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้ สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสังขารเหล่านี้
จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ สังขารเหล่านี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสังขาร

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ข. ๑๗/๕๙/๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
ทั้งหลายว่า “สังขารทั้งหลายของเราจงเป็นอย่างนี้ สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้
เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ฉะนั้น สังขาร
ทั้งหลายจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสังขารทั้งหลายว่า “สังขาร
ทั้งหลายของเราจงเป็นอย่างนี้ สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลายวิญญาณเป็นอนัตตา ภิกษุทั้งหลาย ถ้าวิญญาณนี้จักเป็นอัตตา
แล้วไซร้ วิญญาณนี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่า “วิญญาณ
ของเราจงเป็นอย่างนี้ วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะ
วิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ใน
วิญญาณว่า “วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้ วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
[๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเข้าใจข้อนั้นอย่างไร
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง”๑
ภิกษุปัญจวัคคีย์ทูลว่า “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สามัญลักษณะ ๓ ประการ ใน สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๑-๑๒/๑-๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖.ปัญจวัคคิยกถา
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็น
สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“สังขารทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็น
สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็น
สิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
[๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น รูปอย่างใด
อย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๖. ปัญจวัคคิยกถา
เลวหรือ ประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ
ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลายพึงเห็น
ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่
อัตตาของเรา
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลาย
พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่
อัตตาของเรา
สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือ
ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอ
ทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่
เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือ
ภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดนั่น เธอทั้งหลาย
พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น
นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
[๒๓] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลาย
กำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณว่า
หลุดพ้นแล้ว อริยสาวกย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควร
ทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
[๒๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนัตตลักขณสูตรนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็มีใจ
ยินดีชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเวยยากรณ์นี้อยู่ จิตของ
ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๖ รูป
ปัญจวัคคิยกถา จบ
ภาณวารที่ ๑ จบ

๗. ปัพพัชชากถา
ว่าด้วยการบรรพชา

เรื่องยสกุลบุตร
[๒๕] สมัยนั้น ในกรุงพาราณสี มีกุลบุตรชื่อยสะเป็นลูกเศรษฐีเป็น
ผู้สุขุมาลชาติ๑ ยสกุลบุตรนั้นมีปราสาท ๓ หลัง คือ หลังหนึ่งสำหรับฤดูหนาว
หลังหนึ่งสำหรับฤดูร้อน หลังหนึ่งสำหรับฤดูฝน ยสกุลบุตรได้รับการบำเรอด้วย
ดนตรี ไม่มีบุรุษเจือปน ตลอด ๔ เดือน อยู่บนปราสาทฤดูฝน ไม่ลงมายังปราสาท
ชั้นล่าง คืนวันหนึ่ง เมื่อยสกุลบุตรได้รับการบำเรออิ่มเอมเพียบพร้อมด้วยกามคุณ
๕ ได้หลับไปก่อน ฝ่ายบริวารชนได้หลับภายหลัง ตะเกียงน้ำมันถูกจุดสว่างทั้งคืน
คืนนั้นยสกุลบุตรตื่นขึ้นก่อน เห็นบริวารชนของตนกำลังหลับ บางนางมีพิณอยู่ใกล้
รักแร้ บางนางมีตะโพนอยู่ข้างคอ บางนางมีโปงมางอยู่ที่อก บางนางสยายผม
บางนางน้ำลายไหล บางนางละเมอเพ้อไปต่าง ๆ ปรากฏดุจป่าช้าผีดิบ เพราะได้เห็น
โทษจึงปรากฏแก่ยสกุลบุตร จิตตั้งอยู่ในความเบื่อหน่าย ยสกุลบุตรจึงเปล่งอุทาน
ขึ้นในขณะนั้นว่า “ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ท่านผู้เจริญ ที่นี่ขัดข้องหนอ”

เชิงอรรถ :
๑ สุขุมาลชาติ หมายถึงผู้ไม่มีทุกข์ (องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๙/๑๙๘, องฺ.ติก.อ. ๒/๓๙/๑๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
ครั้งนั้น ยสกุลบุตรจึงสวมรองเท้าทองเดินตรงไปยังประตูนิเวศน์ พวกอมนุษย์
เปิดประตูให้ด้วยคิดว่า “ใคร ๆ อย่าได้ทำอันตรายต่อการออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตของยสกุลบุตร”
ลำดับนั้น ยสกุลบุตรได้เดินต่อไปยังประตูเมือง พวกอมนุษย์ก็เปิดประตูให้
ด้วยคิดว่า “ใคร ๆ อย่าได้ทำอันตรายต่อการออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตของ
ยสกุลบุตร” หลังจากนั้น ยสกุลบุตรจึงเดินต่อไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
[๒๖] ครั้นราตรีย่ำรุ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งได้
ทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเดินมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้ว จึงเสด็จลงจากที่จงกรม
ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ ขณะนั้น ยสกุลบุตรได้เปล่งอุทานขึ้น ณ ที่ไม่ไกล
พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ท่านผู้เจริญ ที่นี่ขัดข้องหนอ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับยสกุลบุตรนั้นดังนี้ว่า “ยสะ ที่นี่๑ ไม่วุ่นวาย ที่นี่
ไม่ขัดข้อง มาเถิด ยสะ จงนั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่เธอ”
ลำดับนั้น ยสกุลบุตรร่าเริงเบิกบานใจว่า “ได้ยินว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง”
จึงถอดรองเท้าทองเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ
ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๒
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม) แก่ยสกุลบุตร
ผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
๑ ที่นี่ พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงพระนิพพาน (วิมติ.ฏีกา ๒/๒๖/๑๒๐)
๒ แปลมาจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สํกิเลสํ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
เมื่อทรงทราบว่า ยสกุลบุตรมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนา๑ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่
ยสกุลบุตร ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

บิดาตามหายสกุลบุตร
[๒๗] ครั้นรุ่งเช้า มารดาขึ้นไปบนปราสาทไม่พบยสกุลบุตร จึงเข้าไปหาเศรษฐี
คหบดีถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับเศรษฐีคหบดี ดังนี้ว่า “ท่านคหบดีเจ้าข้า
ยสะบุตรของท่านหายไปไหน”
ฝ่ายเศรษฐีคหบดีส่งทูตขี่ม้าไปตามหาทั้ง ๔ ทิศแล้ว ส่วนตนเองไปยังป่า
อิสิปตนมฤคทายวัน ได้พบรองเท้าทองวางอยู่ จึงตามไปยังที่นั้น พระผู้มีพระภาค
ทอดพระเนตรเห็นเศรษฐีคหบดีเดินมาแต่ไกล ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงมีพระดำริ
ว่า “ถ้ากระไร เราพึงบันดาลอิทธาภิสังขาร(การบันดาลทางฤทธิ์) ให้เศรษฐีคหบดี
ผู้นั่งที่นี่ไม่เห็นยสกุลบุตรนั่งอยู่ที่นั่น” จึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขารเช่นนั้น
ลำดับนั้น เศรษฐีคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงพบยส
กุลบุตรบ้างไหม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี เชิญท่านนั่งลงก่อนเถิด บางทีท่านนั่งที่นี่แล้ว
จะพึงพบยสกุลบุตรนั่งอยู่ที่นี่ก็ได้”
เศรษฐีคหบดีร่าเริงเบิกบานใจว่า “ได้ยินว่า เรานั่งที่นี่จักพบยสกุลบุตรผู้นั่ง
อยู่ที่นี่” จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร

เชิงอรรถ :
๑ สามุกกังสิกธรรมเทศนา หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ทรงเห็นด้วยสยัมภูญาณ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น คือมิได้รับคำแนะนำจากผู้อื่น ทรงตรัสรู้ลำพังพระองค์เอง
ก่อนใครในโลก (วิ.อ. ๓/๒๙๓/๑๘๑, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๖/๒๓๗, ที.สี.ฏีกา อภินว. ๒/๒๙๘/๓๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่เศรษฐีคหบดีผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว
เมื่อทรงทราบว่า เศรษฐีคหบดีมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่เศรษฐี
ผู้คหบดี ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวง
มีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำ
ย้อมได้เป็นอย่างดี
เศรษฐีคหบดีได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลง
สู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระ
องค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ
พระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอ
ถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค
จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
เศรษฐีคหบดีนี้แล ได้เป็นเตวาจิกอุบาสก(ผู้กล่าวถึงรัตนะทั้ง ๓ ว่าเป็นสรณะ)
เป็นคนแรก ในโลก

ยสกุลบุตรสำเร็จพระอรหัตตผล
[๒๘] ขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโปรดบิดาของยสกุลบุตรอยู่ จิต
ของยสกุลบุตรผู้พิจารณาภูมิธรรมตามที่ได้เห็นตามที่ได้รู้ ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่ถือมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริดังนี้ว่า “เมื่อเราแสดงธรรมแก่บิดาของ
ยสกุลบุตรอยู่ จิตของยสกุลบุตร ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามที่ได้เห็นตามที่ได้รู้ ก็หลุด
พ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น ยสกุลบุตรไม่ควรจะกลับไปเป็นคฤหัสถ์
บริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน ถ้ากระไร เราพึงคลายอิทธาภิสังขาร”
ทรงคลายอิทธาภิสังขารแล้ว
เศรษฐีคหบดีได้เห็นยสกุลบุตรนั่งอยู่ ครั้นเห็นแล้วจึงกล่าวกับยสกุลบุตรว่า
“พ่อยสะ มารดาของเจ้าโศกเศร้าคร่ำครวญถึง เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาเถิด”
ยสกุลบุตรได้เงยหน้าดูพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเศรษฐีคหบดี
ดังนี้ว่า “คหบดี ท่านจะเข้าใจข้อนั้นอย่างไร ยสกุลบุตรได้เห็นได้รู้ธรรมด้วยญาณ
อันเป็นเสขะ๑ ด้วยทัสสนะอันเป็นเสขะเหมือนท่าน เมื่อเธอพิจารณาภูมิธรรมตาม
ที่ได้เห็นตามที่ได้รู้อยู่ จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น คหบดี
ยสกุลบุตรควรหรือที่จะกลับไปเป็นคฤหัสถ์บริโภคกามเหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน”
เศรษฐีคหบดีกราบทูลว่า “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสรับรองว่า “คหบดี ยสกุลบุตรได้เห็นได้รู้ธรรมด้วยญาณ
อันเป็นเสขะ ด้วยทัสสนะอันเป็นเสขะเหมือนท่าน เมื่อเขาพิจารณาภูมิธรรมตามที่
ได้เห็นตามที่ได้รู้อยู่ จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น คหบดี
ยสกุลบุตรไม่ควรจะกลับไปเป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม เหมือนเป็นคฤหัสถ์ครั้งก่อน”
เศรษฐีคหบดีกราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ การที่จิตของยสกุลบุตรหลุดพ้น
จากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น เป็นลาภของยสกุลบุตร ยสกุลบุตรได้ดีแล้ว
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคมียสกุลบุตรเป็นปัจฉาสมณะโปรดทรงรับภัตตาหาร
ของข้าพระองค์เพื่อเจริญกุศลในวันนี้เถิด”

เชิงอรรถ :
๑ ญาณอันเป็นเสขะ หมายถึงญาณของบุคคลระดับพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี (ดู องฺ.ทุก.
(แปล) ๒๐/๓๖/๗๙ องฺ.ทุก.อ. ๒/๓๖/๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ เศรษฐีคหบดีทราบการที่พระผู้มี
พระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากอาสนะถวายอภิวาทกระทำประทักษิณกลับไป
เมื่อเศรษฐีคหบดีกลับไปแล้วไม่นาน ยสกุลบุตรได้กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรมอัน
เรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด”
พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านยสะนั้น
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๗ รูป

มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้ธรรมจักษุ
[๒๙] ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกถือบาตรและจีวร มีท่าน
พระยสะเป็นปัจฉาสมณะ เสด็จไปยังนิเวศน์ของเศรษฐีคหบดี ครั้นถึงแล้วจึงประทับนั่ง
ณ อาสนะที่เขาจัดถวาย
ลำดับนั้น มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสะก็พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่มารดาและภรรยาเก่า
เมื่อทรงทราบว่าทั้งสองมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่มารดาและ
ภรรยาเก่า ณ อาสนะนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งปวง มีความดับไปเป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทิน
ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้ง
ธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความ
เป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์
ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้ง
โดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่
ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญ
หม่อมฉันทั้งสองนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันทั้งสอง ว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสทั้งสองนี้ ได้เป็นเตวาจิกอุบาสิกา(ผู้กล่าว
ถึงรัตนะทั้ง ๓ ว่าเป็นสรณะ)เป็นคู่แรก ในโลก
ครั้นแล้ว มารดาบิดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสะได้นำของเคี้ยวของฉัน
อันประณีตประเคนพระผู้มีพระภาคกับท่านพระยสะด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มี
พระภาคเสวยเสร็จแล้วทรงห้ามภัตตาหารแล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึงนั่ง ณ ที่
สมควร ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มารดาบิดาและภรรยาเก่าของ
ท่านพระยสะเห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้ สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จลุกจากอาสนะจากไป

เรื่องการบรรพชาของสหาย ๔ คนของพระยสะ
[๓๐] สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยสะ ๔ คน คือ วิมละ สุพาหุ
ปุณณชิ ควัมปติ เป็นบุตรของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อยในกรุงพาราณสีได้ทราบข่าวว่า
“ยสกุลบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว”
ครั้นสหายคฤหัสถ์ได้ทราบข่าวแล้ว จึงได้มีความคิด ดังนี้ว่า “ธรรมวินัยและ
บรรพชาที่ยสกุลบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
นั้น คงจะไม่ต่ำทรามเป็นแน่” ครั้นแล้วสหายคฤหัสถ์เหล่านั้น ได้พากันเข้าไปหา
ท่านพระยสะถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้ว ได้ไหว้ท่านพระยสะแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
ครั้งนั้น ท่านพระยสะได้พาสหายคฤหัสถ์ ๔ คนไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระยสะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
สหายคฤหัสถ์ของข้าพระองค์ ๔ คนเหล่านี้ คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ ควัมปติ
เป็นบุตรของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อยในกรุงพาราณสี ขอพระองค์โปรดประทาน
โอวาทสั่งสอนสหายของข้าพระองค์เหล่านี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่สหายเหล่านั้น
เมื่อทรงทราบว่าพวกเขามีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่พวกเขา ณ ที่นั่ง
นั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็น
ธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว
ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้อง
เชื่อผู้อื่นในคำของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระองค์”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดย
ชอบเถิด” พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วย
ธรรมีกถา เมื่อทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ จิตของภิกษุเหล่านั้น
ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๑๑ รูป
เรื่องการบรรพชาของสหาย ๔ คนของพระยสะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๗.ปัพพัชชากถา
เรื่องการบรรพชาของสหาย ๕๐ คนของพระยสะ
[๓๑] สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยสะจำนวน ๕๐ คน เป็นชาวชนบท เป็น
บุตรของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อยได้ทราบข่าวว่า “ยสกุลบุตรโกนผมและหนวดนุ่งห่ม
ผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว” ครั้นสหายคฤหัสถ์ได้ทราบข่าว
แล้วจึงได้มีความคิด ดังนี้ว่า “ธรรมวินัยและบรรพชาที่ยสกุลบุตรโกนผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตนั้น คงจะไม่ต่ำทรามเป็นแน่”
ครั้นแล้วสหายคฤหัสถ์เหล่านั้น ได้พากันเข้าไปหาท่านพระยสะถึงที่อยู่ ครั้น
ถึงแล้ว ได้ไหว้ท่านพระยสะแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ครั้งนั้น ท่านพระยสะจึงพาสหายคฤหัสถ์ ๕๐ คนไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระยสะผู้นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “พระพุทธ
เจ้าข้า สหายคฤหัสถ์ของข้าพระองค์ ๕๐ คนเหล่านี้ เป็นชาวชนบท เป็นบุตร
ของตระกูลเศรษฐีใหญ่น้อย ขอพระองค์โปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายของข้า
พระองค์เหล่านี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่สหายเหล่านั้น
เมื่อทรงทราบว่าพวกเขามีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่พวกเขา ณ
ที่นั่งนั้นแลว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไป
เป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว
ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๓๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๘. มารกถา
ในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระองค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้น
ด้วย ธรรมีกถา เมื่อทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถาอยู่ จิตของภิกษุ
เหล่านั้น ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น
ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ในโลก ๖๑ รูป
บรรพชากถา จบ

๘. มารกถา
ว่าด้วยมาร

เรื่องส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ไปประกาศศาสนา
[๓๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราพ้นแล้วจากบ่วง๑ทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอ
ก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ อย่าไปโดยทางเดียวกันสองรูป
จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด
จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สัตว์
ทั้งหลายที่มีธุลีในตาน้อย มีอยู่ ย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม จักมีผู้รู้ธรรม ภิกษุ
ทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม”

เชิงอรรถ :
๑ บ่วง ในที่นี้ หมายถึง โลภะ (วิ.อ. ๓/๓๒/๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๘.มารกถา
เรื่องมาร
[๓๓] ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเป็นคาถาความว่า
“ท่านได้ถูกบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์๑คล้องไว้แล้ว
ท่านได้ถูกผูกด้วยเครื่องพันธนาการมากมาย
แน่ะท่านสมณะ ท่านไม่พ้นจากเราได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
“เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เราได้พ้นแล้วจากเครื่องพันธนาการมากมาย
แน่ะมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว”
มารกราบทูลว่า
“บ่วง นี้เที่ยวไปในอากาศ มีในใจ สัญจรไปอยู่
เราจักคล้องท่านด้วยบ่วงนั้น
แน่ะสมณะ ท่านไม่พ้นจากเราได้”๒
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“เราปราศจากความพอใจในอารมณ์เหล่านี้
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ
แน่ะมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว”๓
ขณะนั้น มารผู้มีบาปทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้
จักเรา” มีทุกข์ เสียใจ ได้หายไป ณ ที่นั้น
มารกถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ บ่วงทิพย์ บ่วงมนุษย์ คือบ่วงกิเลสที่เป็นทิพพกามคุณและกามคุณของมนุษย์ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๓๓/๒๔๔)
๒-๓ สํ.ส. ๑๕/๑๕๑/๑๓๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๙. ปัพพัชชูปสัมปทากถา
๙. ปัพพัชชูปสัมปทากถา
ว่าด้วยการบรรพชาและอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์

เรื่องทรงอนุญาตภิกษุบรรพชาอุปสมบทให้กุลบุตร
[๓๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายพาเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบท
มาจากทิศต่าง ๆ จากชนบทต่าง ๆ ด้วยตั้งใจว่า “พระผู้มีพระภาคจักทรงให้พวกเขา
บรรพชาอุปสมบท” ในการที่ภิกษุทั้งหลายนำกุลบุตรมา ทั้งภิกษุทั้งหลาย ทั้งเหล่า
กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบท ย่อมลำบาก
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงเกิดความรำพึงขึ้น
ในพระทัยอย่างนี้ว่า “บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายพาเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่ง
อุปสมบทมาจากทิศนั้น ๆ จากชนบทต่าง ๆ ด้วยตั้งใจว่า พระผู้มีพระภาคจักทรง
ให้พวกเขาบรรพชาอุปสมบท ในการที่ภิกษุทั้งหลายนำกุลบุตรมานั้น ทั้งพวกภิกษุ
ทั้งเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบท ย่อมลำบาก อย่ากระนั้นเลย เราพึง
อนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายนั่นแหละ จงให้บรรพชา
จงให้อุปสมบทในทิศนั้น ๆ ในชนบทนั้น ๆ เถิด”
ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้น ทรงแสดงธรรมีกถา
เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอยู่ในที่สงัด
หลีกเร้นอยู่ที่นี้ ได้เกิดความคิดคำนึงขึ้นในใจว่า บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายพาเหล่า
กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบทมาจากทิศต่าง ๆ จากชนบทต่าง ๆ ด้วยตั้งใจ
ว่า พระผู้มีพระภาคจักทรงให้พวกเขาบรรพชาอุปสมบท ในการที่ภิกษุทั้งหลาย นำ
กุลบุตรมานั้น ทั้งภิกษุทั้งหลาย ทั้งเหล่ากุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบทย่อม
ลำบาก อย่ากระนั้นเลย เราควรอนุญาตภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้
ท่านทั้งหลายนั่นแหละ จงให้บรรพชา จงให้อุปสมบทในทิศนั้น ๆ ในชนบทนั้น ๆ เถิด
ภิกษุทั้งหลาย พึงให้บรรพชาพึงให้อุปสมบทอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๙.ปัพพัชชูปสัมปทากถา
ในเบื้องต้น พึงให้กุลบุตรผู้มุ่งบรรพชาและมุ่งอุปสมบท ปลงผมและหนวด
ให้ครองผ้ากาสายะ ให้ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ให้กราบเท้าภิกษุทั้งหลาย
ให้นั่งกระโหย่ง ให้ประนมมือแล้วสั่งว่า ‘เธอจงกล่าวอย่างนี้’ แล้วให้ว่าสรณคมน์ดังนี้

ไตรสรณคมน์
ว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ๑

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
สํฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๒
ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๒
ทุติยมฺปิ สํฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๒
ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๓
ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๓
ตติยมฺปิ สํฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
แม้ครั้งที่ ๓

ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตบรรพชาอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์เหล่านี้”
ปัพพัชชูปสัมปทากถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ สรณะ หมายถึงสิ่งที่ทำลาย ขจัดปัดเป่า บรรเทาทุกข์ภัยและกิเลส การถือพระรัตนตรัยว่าเป็นสรณะก็
เพื่อเป็นเครื่องช่วยทำลายขจัดปัดเป่าทุกข์ภัยและกิเลสต่าง ๆ ในจิตใจให้หมดสิ้น (ขุ.ขุ.อ. ๖-๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๐. ทุติยมารกถา
๑๐. ทุติยมารกถา
ว่าด้วยมาร เรื่องที่ ๒

เรื่องทรงแนะวิธีให้ได้อนุตตรวิมุตติ
[๓๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษาแล้ว ได้รับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะมนสิการโดยแยบคาย เพราะตั้งความเพียรชอบโดย
แยบคายเราจึงได้บรรลุอนุตตรวิมุตติ ได้ทำอนุตตรวิมุตติให้แจ้ง ภิกษุทั้งหลาย
เพราะทำไว้ในใจโดยแยบคาย เพราะตั้งความเพียรชอบโดยแยบคาย แม้ท่าน
ทั้งหลายย่อมบรรลุอนุตตรวิมุตติได้ ย่อมทำอนุตตรวิมุตติให้แจ้งได้”
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเป็นคาถาความว่า
“ท่านได้ถูกผูกด้วยบ่วงมาร ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์
ท่านได้ถูกเครื่องผูกหลายประการรัดรึงแล้ว
แน่ะสมณะ ท่านไม่พ้นเราได้ดอก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
“เราได้พ้นแล้วจากบ่วงมาร ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ เราได้พ้นแล้วจากเครื่องผูกหลายประการ
แน่ะมารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว”
ขณะนั้น มารผู้มีบาปทราบว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้
จักเรา” มีทุกข์ เสียใจ ได้หายไป ณ ที่นั้น
ทุติยมารกถา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๐.ภัททวัคคิยวัตถุ
๑๑. ภัททวัคคิยวัตถุ
ว่าด้วยภิกษุภัททวัคคีย์

เรื่องทรงแสดงธรรมโปรดภัททวัคคีย์ ๓๐ คน
[๓๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงพาราณสี ตามพระอัธยาศัย
แล้วได้เสด็จจาริกไปทางตำบลอุรุเวลา เสด็จหลีกจากทาง เข้าไปยังไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง
ครั้นเสด็จถึงไพรสณฑ์แห่งนั้นแล้ว ได้ประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้ต้นหนึ่ง
สมัยนั้น สหายภัททวัคคีย์ประมาณ ๓๐ คนพร้อมภรรยาบำเรอกันใน
ไพรสณฑ์แห่งนั้น สหายคนหนึ่งไม่มีภรรยา พวกสหายจึงนำหญิงแพศยามาเพื่อ
ประโยชน์แก่เขา ต่อมา หญิงแพศยาได้ขโมยของหนีไป ขณะพวกเขาเผอเรอมัวบำเรอ
กัน สหายเหล่านั้นเมื่อจะช่วยเหลือเขา จึงเที่ยวตามหาหญิงแพศยาจนไปถึงไพรสณฑ์
แห่งนั้น ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้ต้นหนึ่ง ครั้นเห็นแล้วจึงเข้า
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“พระองค์ทรงเห็นหญิงคนหนึ่งบ้างไหม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามว่า “กุมารทั้งหลาย พวกเธอมีความต้องการ
หญิงไปทำไม”
สหายภัททวัคคีย์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์เป็น
สหายภัททวัคคีย์มีประมาณ ๓๐ คนในตำบลนี้ พร้อมภรรยาบำเรอกันในไพรสณฑ์
แห่งนี้ สหายคนหนึ่งไม่มีภรรยา พวกข้าพระองค์จึงได้นำหญิงแพศยามาเพื่อประโยชน์
แก่เขา ต่อมา หญิงแพศยาได้ขโมยของหนีไป ขณะพวกข้าพระองค์ เผอเรอมัวบำเรอ
กัน เพราะเหตุนั้น พวกข้าพระองค์เป็นสหายกัน เมื่อจะช่วยเหลือเขา จึงเที่ยวตามหา
หญิงแพศยาจนมาถึงไพรสณฑ์แห่งนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “กุมารทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร
การที่พวกเธอจะแสวงหาหญิงหรือแสวงหาตน อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๑. ภัททวัคคิยวัตถุ
“การที่พวกข้าพระองค์แสวงหาตนนี่แหละ ประเสริฐกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
“กุมารทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นพวกเธอจงนั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่พวกเธอ”
สหายภัททวัคคีย์เหล่านั้นทูลรับว่า “ดีละ พระพุทธเจ้าข้า” ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา แก่พวกเขา
เมื่อทรงทราบว่าพวกเขามีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส
จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่พวกเขา ณ
ที่นั่งนั้นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไป
เป็นธรรมดา” เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว๑ บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว
ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อ
ผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า
พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า “ธรรม
อันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น
ภัททวัคคิยวัตถุ จบ
ภาณวารที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เห็นธรรม หมายถึงได้ธรรมจักษุ คือ บางพวกได้บรรลุโสดาปัตติมรรค บางพวกได้บรรลุสกทาคามิมรรค
บางพวกได้บรรลุอนาคามิมรรค มรรคทั้ง ๓ นี้ เรียกว่า ธรรมจักษุ (วิ.อ. ๓/๓๖/๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
๑๒. อุรุเวลปาฏิหาริยกถา
ว่าด้วยปาฏิหาริย์ที่ตำบลอุรุเวลา

เรื่องชฎิล ๓ พี่น้อง
[๓๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยลำดับ ลุถึงตำบลอุรุเวลา
สมัยนั้น ชฎิล ๓ คน คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ อาศัยอยู่ที่
ตำบลอุรุเวลา
ในชฎิล ๓ คนนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะเป็นผู้นำ เป็นผู้ฝึก เป็นเลิศ เป็นหัวหน้า
เป็นประธานของชฎิล ๕๐๐ คน
ชฎิลนทีกัสสปะเป็นผู้นำ เป็นผู้ฝึก เป็นเลิศ เป็นหัวหน้า เป็นประธาน
ของชฎิล ๓๐๐ คน
ชฎิลคยากัสสปะเป็นผู้นำ เป็นผู้ฝึก เป็นเลิศ เป็นหัวหน้า เป็นประธาน
ของชฎิล ๒๐๐ คน
ต่อมา พระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปยังอาศรมของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ ครั้นถึงแล้ว
ได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะดังนี้ว่า “กัสสปะ ถ้าท่านไม่หนักใจ เราจะขอพัก
ในโรงไฟคืนหนึ่ง”
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะกราบทูลว่า “ท่านมหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่หนักใจเลย หากแต่ว่า
ในโรงไฟนั้น มีพญานาคที่ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้าย มันอย่าได้
ทำร้ายท่าน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แม้ครั้งที่ ๒ ว่า “กัสสปะ
ถ้าท่านไม่หนักใจ คืนนี้ เราจะขอพักในโรงไฟ”
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะก็กราบทูลว่า “ท่านมหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่หนักใจเลย
หากแต่ว่า ในโรงไฟนั้น มีพญานาคที่ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้าย มันอย่าได้
ทำร้ายท่าน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แม้ครั้งที่ ๓ ว่า “กัสสปะ
ถ้าท่าน ไม่หนักใจ คืนนี้ เราจะขอพักในโรงไฟ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะก็กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่หนักใจเลย
หากแต่ว่าในโรงไฟนั้น มีพญานาคที่ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้าย
มันอย่าได้ทำร้ายท่าน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า “พญานาคไม่ทำร้ายเรา ท่านกัสสปะท่าน
โปรดอนุญาตโรงไฟเถิด”
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะก็กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาสมณะ นิมนต์ท่านอยู่ตามสบาย
เถิด”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าไปสู่โรงไฟ ทรงปูเครื่องลาดหญ้า
ประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

ปาฏิหาริย์ที่ ๑
เรื่องโรงบูชาไฟ
[๓๘] ครั้งนั้น พญานาคนั้นได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไป ก็โกรธขึ้ง
ไม่พอใจ บังหวนควัน
ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า “ถ้ากระไร เราพึงครอบงำเดช
ของพญานาคนี้ด้วยเดชของเรา ไม่ให้ระคายผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก และ
เยื่อกระดูก” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสำแดงอิทธาภิสังขารเช่นนั้นบังหวนควัน
พญานาคทนการลบหลู่ไม่ได้ จึงพ่นไฟใส่ทันที
ฝ่ายพระผู้มีพระภาคก็ทรงเข้าเตโชกสิณ แล้วโพลงไฟสู้บ้าง
เมื่อทั้งสองฝ่ายบันดาลให้เกิดไฟขึ้น เรือนไฟได้ลุกโพลงโชติช่วงดุจทะเลเพลิง
ลำดับนั้น ชฎิลเหล่านั้นพากันล้อมเรือนไฟกล่าวกันว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
มหาสมณะรูปงามคงจะถูกพญานาคทำร้ายเป็นแน่”
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคก็ทรงครอบงำเดชของพญานาคนั้นด้วย
เดชของพระองค์ ไม่ให้ระคายผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก และเยื่อกระดูกแล้ว


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ทรงจับพญานาคขดลงในบาตรแสดงแก่ชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “ท่านกัสสปะ นี่พญานาค
ของท่าน เราครอบงำเดชของมันด้วยเดชของเราได้แล้ว”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “มหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง
ถึงกับครอบงำเดชของพญานาคที่ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้ายได้ด้วยเดช
ของพระองค์ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”

คาถาสรุป
[๓๙] ณ ที่แม่น้ำเนรัญชรา พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ ถ้าท่านไม่หนักใจ
คืนนี้เราจะขอพักในโรงไฟ”
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะกราบทูลว่า
“ข้าแต่มหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่หนักใจเลย
ข้าพเจ้าหวังความผาสุก จึงห้ามท่านว่า ที่โรงไฟนี้
มีพญานาค เป็นสัตว์ดุร้าย มีฤทธิ์ เป็นอสรพิษ มีพิษร้าย
มันอย่าได้ทำร้ายท่าน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“มันคงไม่ทำร้ายเรา กัสสปะ ท่านโปรดอนุญาตโรงไฟเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้อนุญาตให้แล้ว
ไม่ทรงครั่นคร้าม ทรงปราศจากความกลัว เสด็จเข้าไป
พญานาคเห็นพระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณเสด็จเข้าไป
ก็ไม่พอใจ จึงบังหวนควัน
ฝ่ายพระผู้มีพระภาคทรงเป็นมนุสสนาคะ มีพระทัยชื่นบาน
มีพระทัยไม่ขัดเคือง ก็ทรงบังหวนควันในโรงไฟนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๔๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ส่วนพญานาคทนการลบหลู่ไม่ไหว จึงพ่นไฟราวกับไฟไหม้ป่าสู้
ฝ่ายพระผู้มีพระภาคทรงเป็นมนุสสนาคะทรงฉลาดในเตโชกสิณ
ทรงโพลงไฟสู้บ้าง
เมื่อทั้งสองฝ่ายโพลงไฟขึ้น เรือนไฟก็ลุกโพลง
โชติช่วงดุจทะเลเพลิง พวกชฎิลกล่าวกันว่า
“แน่ะผู้เจริญ มหาสมณะรูปงามคงจะถูกพญานาค
ทำร้ายเป็นแน่”
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป เปลวไฟของพญานาคถูกทำลาย
ส่วนเปลวไฟหลากสีของพระผู้มีพระภาคผู้ทรงฤทธิ์ยังอยู่
พระรัศมีหลากสี คือ สีเขียว สีแดง สีแสด สีเหลือง
สีแก้วผลึก ปรากฏที่พระกายของพระอังคีรส
พระผู้มีพระภาค ทรงจับพญานาคขดลงในบาตรแล้ว
ทรงแสดงแก่ชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “ท่านกัสสปะ นี่พญานาค
ของท่าน เราครอบงำเดชของมันด้วยเดชของเราได้แล้ว”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์นี้ของพระผู้มีพระภาค
ยิ่งนักแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาสมณะ โปรดประทับอยู่ที่
นี่แหละ ข้าพเจ้าจักบำรุงพระองค์ด้วยภัตตาหารประจำ”
ปาฏิหาริย์ที่ ๑ จบ

ปาฏิหาริย์ที่ ๒
เรื่องท้าวมหาราชทั้ง ๔
[๔๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ไม่ไกลจาก
อาศรมของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว๑ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เปล่งรัศมีงามยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้น
ให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วได้ยืนเฝ้าทั้ง ๔ ทิศ ดุจกองไฟใหญ่ฉะนั้น
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว ท่านพระมหาสมณะ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว พวกนั้นคือใครกันหนอ
เปล่งรัศมีงามยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาเฝ้าพระองค์ ถวายอภิวาทแล้ว
ได้ยืนเฝ้าทั้ง ๔ ทิศ ดุจกองไฟใหญ่ฉะนั้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ พวกนั้น คือ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้ามาหา
เราเพื่อฟังธรรม”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมากจริง ถึงกับท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้ามาเฝ้าเพื่อฟังธรรม แต่ไม่เป็น
พระอรหันต์เหมือนเราแน่”
พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่
ไพรสณฑ์แห่งนั้น
ปาฏิหาริย์ที่ ๒ จบ

ปาฏิหาริย์ที่ ๓
เรื่องท้าวสักกะ
[๔๑] ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพ เปล่งรัศมีงาม
ยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้ว
ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วประทับยืน ณ ที่สมควร ดุจกองไฟใหญ่ที่งาม
และประณีตกว่ารัศมีก่อน

เชิงอรรถ :
๑ เมื่อราตรีผ่านไป ในที่นี้หมายถึงราตรีในช่วงแห่งปฐมยาม(ยามที่ ๑)ผ่านไป เพราะเวลาเที่ยงคืน เป็นช่วง
ที่เทวดาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า (ขุ.ขุ.อ. ๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว ข้าแต่พระมหาสมณะ ผู้นั้น คือใครกันหนอ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว
เปล่งรัศมีงามยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาเฝ้าพระองค์ ถวายอภิวาทแล้ว
ได้ยืน ณ ที่สมควร ดุจกองไฟใหญ่ที่งามและประณีตกว่ารัศมีก่อน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ ผู้นั้น คือท้าวสักกะจอมเทพ เข้ามาหาเรา
เพื่อฟังธรรม”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมากจริง ถึงกับท้าวสักกะจอมเทพเข้ามาหาเพื่อฟังธรรม แต่ไม่เป็นพระ
อรหันต์เหมือนเราแน่”
พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่
ไพรสณฑ์แห่งนั้น
ปาฏิหาริย์ที่ ๓ จบ

ปาฏิหาริย์ที่ ๔
เรื่องท้าวสหัมบดีพรหม
[๔๒] ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหม เปล่งรัศมีงามยัง
ไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วประทับยืน ณ ที่ควร ดุจกองไฟใหญ่ที่งามและ
ประณีตกว่ารัศมีก่อน
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว ข้าแต่มหาสมณะ ผู้นั้นคือใครกันหนอ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว
เปล่งรัศมีงามยังไพรสณฑ์ทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาเฝ้าพระองค์ ถวายอภิวาทแล้ว
ได้ยืน ณ ที่สมควร ดุจกองไฟใหญ่ที่งามและประณีตกว่ารัศมีก่อน”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ ผู้นั้น คือท้าวสหัมบดีพรหม เข้ามาหาเรา
เพื่อฟังธรรม”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมากจริง ถึงกับท้าวสหัมบดีพรหมเข้ามาหาเพื่อฟังธรรม แต่ไม่เป็นพระ
อรหันต์เหมือนเราแน่”
พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์
แห่งนั้น
ปาฏิหาริย์ที่ ๔ จบ

ปาฏิหาริย์ที่ ๕
เรื่องชาวอังคะและมคธ
[๔๓] สมัยนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้ตระเตรียมการบูชายัญอันยิ่งใหญ่
ประชาชนชาวอังคะและชาวมคธทั้งสิ้น ต่างถือของเคี้ยวของบริโภคเป็นอันมากมุ่ง
หน้าไปหา
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “บัดนี้ เราได้ตระเตรียมการบูชายัญอันยิ่งใหญ่
ประชาชนชาวอังคะและมคธทั้งสิ้นจักถือของเคี้ยวของบริโภคเป็นอันมากมุ่งหน้ามาหา
ถ้าพระมหาสมณะจักทำอิทธิปาฏิหาริย์ในหมู่มหาชนไซร้ ลาภสักการะจักเจริญยิ่งแก่
พระมหาสมณะ ลาภสักการะของเราจักเสื่อม ทำไฉน วันพรุ่งนี้ พระมหาสมณะ
จึงจะไม่เสด็จมาฉัน”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความรำพึงในใจของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ
ด้วยพระทัย จึงเสด็จไปยังอุตตรกุรุทวีป ทรงนำบิณฑบาตจากทวีปนั้นมาเสวยที่ริม
สระอโนดาต๑ ประทับพักกลางวัน ณ ที่นั้น

เชิงอรรถ :
๑ สระอโนดาต มีขนาดยาว กว้าง และลึก ๕๐ โยชน์ มีอาณาบริเวณโดยรอบ ๑๕๐ โยชน์ ตั้งอยู่
ในป่าหิมพานต์แวดล้อมด้วยยอดเขาทั้ง ๕ คือ สุทัสสนกูฏ จิตรกูฏ กาฬกูฏ คันธมาทนกูฏ และเกลาสกูฏ
(ม.ม.อ. ๒/๓๑/๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว ข้าแต่มหา
สมณะ ทำไมหนอ วานนี้พระองค์จึงไม่เสด็จมา อีกอย่างหนึ่ง พวกข้าพเจ้า
ระลึกถึงพระองค์ว่า ทำไมหนอ พระมหาสมณะจึงไม่เสด็จมา แต่ส่วนแห่งของเคี้ยว
ของฉัน ข้าพเจ้าได้จัดไว้เพื่อพระองค์แล้ว”
พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามว่า “กัสสปะ ท่านได้ดำริไว้มิใช่หรือว่า บัดนี้เราได้
ตระเตรียมการบูชายัญอันยิ่งใหญ่ ประชาชนชาวอังคะและมคธทั้งสิ้นจักถือของ
เคี้ยวของฉันเป็นอันมากมุ่งหน้ามาหา ถ้าพระมหาสมณะจักทำอิทธิปาฏิหาริย์ใน
หมู่มหาชนไซร้ ลาภสักการะจักเจริญยิ่งแก่พระมหาสมณะ ลาภสักการะของเราจัก
เสื่อม ทำไฉน วันพรุ่งนี้ พระมหาสมณะจึงจะไม่เสด็จมาฉัน กัสสปะ เราได้ทราบ
ด้วยใจถึงความรำพึงในใจของท่าน จึงไปยังอุตตรกุรุทวีป นำบิณฑบาตจากทวีปนั้น
มาฉันที่ริมสระอโนดาต พักกลางวัน ณ ที่นั้น”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากจริง ถึงกับทรงทราบความนึกคิดแม้ด้วยใจได้ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือน
เราแน่”
พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์
แห่งนั้น
ปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๕ จบ

เรื่องผ้าบังสุกุล
[๔๔] สมัยนั้น ผ้าบังสุกุลเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค พระองค์ได้ทรงพระดำริ
ดังนี้ว่า “เราจะพึงซักผ้าบังสุกุลที่ไหนหนอ”
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค
ด้วยพระทัย จึงทรงใช้ฝ่าพระหัตถ์ขุดสระโบกขรณีแล้วทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระองค์โปรดทรงซักผ้าบังสุกุลในสระนี้เถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริดังนี้ว่า “เราจะพึงขยำผ้าบังสุกุลที่ไหนหนอ”
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค
ด้วยพระทัย จึงทรงยกศิลาแผ่นใหญ่มาวางไว้ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ
องค์โปรดทรงขยำผ้าบังสุกุลบนศิลานี้เถิด”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริดังนี้ว่า “เราจะพึงพาดผ้าบังสุกุลไว้ที่ไหน
หนอ”
ลำดับนั้น เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นกุ่มทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มี
พระภาคด้วยใจ จึงได้น้อมกิ่งกุ่มลงมา กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์
โปรดทรงพาดผ้าบังสุกุล ที่กิ่งกุ่มนี้เถิด”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริดังนี้ว่า “เราจะพึงผึ่งผ้าบังสุกุลไว้ที่ไหนหนอ”
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบพระดำริในพระทัยของพระผู้มีพระภาค
ด้วยพระทัย จึงทรงยกศิลาแผ่นใหญ่มาวางไว้ทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ
องค์โปรดทรงผึ่งผ้าบังสุกุลไว้บนศิลานี้เถิด”
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระมหาสมณะ ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว ข้าแต่พระมหาสมณะ เมื่อก่อนสระโบกขรณีนี้ไม่มีที่ตรงนี้ ทำไม
ที่ตรงนี้จึงมีสระโบกขรณีอยู่ เมื่อก่อนศิลาเหล่านี้ไม่มีวางอยู่ ศิลาเหล่านี้ ใครยกมา
วางไว้ เมื่อก่อนกิ่งกุ่มต้นนี้ไม่น้อมลง(เดี๋ยวนี้)กิ่งกุ่มต้นนี้กลับน้อมลง”

เรื่องสระโบกขรณี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ ผ้าบังสุกุลเกิดขึ้นแก่เราที่นี่ เราได้คิดดังนี้ว่า
จะพึงซักผ้าบังสุกุลที่ไหนหนอ ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบความรำพึง
ในใจของเราด้วยพระทัย จึงทรงใช้พระหัตถ์ขุดสระโบกขรณีแล้วทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงซักผ้าบังสุกุลในสระนี้เถิด’ สระโบกขรณีนี้
อันผู้ที่มิใช่มนุษย์ใช้มือขุด

เรื่องขยำผ้าบังสุกุลบนแผ่นศิลา
กัสสปะ เราได้ดำริ(ต่อไป)ว่า ‘จะพึงขยำผ้าบังสุกุลที่ไหนหนอ’ ลำดับนั้น
ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบความดำริในใจของเราด้วยพระทัย จึงยกศิลาแผ่นใหญ่
มาวางไว้ทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดทรงขยำผ้าบังสุกุลบนแผ่น
ศิลานี้เถิด’ ศิลานี้อันผู้ที่มิใช่มนุษย์ได้ยกมาวางไว้

เรื่องพาดผ้าบังสุกุลบนต้นกุ่ม
กัสสปะ เราได้ดำริ(ต่อไป)ว่า ‘จะพึงพาดผ้าบังสุกุลไว้ที่ไหนหนอ’ ลำดับนั้น
เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นกุ่มทราบความดำริในใจของเราด้วยใจ จึงได้น้อมกิ่งกุ่มลงมา
กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงพาดผ้าบังสุกุลไว้
ที่กิ่งกุ่มนี้เถิด’ ต้นกุ่มนี้ได้น้อมลงดุจจะกราบทูลว่า ‘โปรดทรงเอื้อมพระหัตถ์มาเถิด’

เรื่องผึ่งผ้าบังสุกุลบนแผ่นศิลา
กัสสปะ เราได้ดำริ(ต่อไป)ว่า ‘จะพึงผึ่งผ้าบังสุกุลไว้ที่ไหนหนอ’ ลำดับนั้น
ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบความดำริในใจของเราด้วยพระทัย จึงยกศิลาแผ่นใหญ่
มาวางไว้ทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงผึ่งผ้าบังสุกุลไว้
บนแผ่นศิลานี้เถิด’ ศิลานี้อันผู้ที่มิใช่มนุษย์ได้ยกมาวางไว้
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากจริง ถึงกับท้าวสักกะจอมเทพได้ทรงทำการช่วยเหลือ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์
เหมือนเราแน่”
พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์
แห่งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ปาฏิหาริย์เก็บผลหว้า
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ครั้นถึงแล้ว
จึงกราบทูลบอกภัตตกาลว่า “ข้าแต่พระมหาสมณะ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ไปเถิด กัสสปะ เราจะตามไป” ทรงส่งชฎิลอุรุเวล
กัสสปะไป ทรงเก็บผลหว้าจากต้นหว้าที่มีอยู่ในชมพูทวีป แล้วเสด็จมาประทับ
นั่งในโรงไฟก่อน
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะเห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งในโรงไฟ ครั้นเห็นแล้วได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่มหาสมณะ พระองค์เสด็จมาทางไหน ข้าพเจ้า
กลับมาก่อนพระองค์ แต่พระองค์เสด็จมาประทับนั่งในโรงไฟก่อน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ เราส่งท่านไปแล้วก็เก็บผลหว้าจากต้นหว้าที่
มีอยู่ในชมพูทวีป แล้วมานั่งในโรงไฟนี้ก่อน กัสสปะ ผลหว้านี้แลสมบูรณ์ด้วยสี
กลิ่น และรส ถ้าท่านต้องการ ก็เชิญบริโภคผลหว้าเถิด”
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะทูลว่า “อย่าเลย มหาสมณะ, พระองค์นั่นแหละย่อมควรกับ
ผลหว้านั้น โปรดเสวยผลหว้านั้นเถิด”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
จริง ถึงกับส่งเรากลับมาก่อน ทรงเก็บผลหว้าจากต้นหว้าที่มีอยู่ในชมพูทวีปแล้ว
เสด็จมาประทับนั่งในโรงไฟก่อน แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”
พระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารของชฎิลอุรุเวลกัสสปะ แล้วประทับอยู่ที่ไพรสณฑ์
แห่งนั้น

ปาฏิหาริย์เก็บผลมะม่วง ผลมะขามป้อม ดอกปาริฉัตร
[๔๕] ครั้นราตรีนั้นผ่านไป ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ครั้นถึงแล้วจึงกราบทูลบอกภัตตกาลว่า “ข้าแต่มหาสมณะ ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ไปเถิด กัสสปะ เราจะตามไป” ทรงส่งชฎิลอุรุเวล
กัสสปะไป ทรงเก็บผลมะม่วง ฯลฯ ผลมะขามป้อม ฯลฯ ผลสมอ ณ ที่อันไม่
ไกลจากต้นหว้าที่มีอยู่ในชมพูทวีป ฯลฯ เสด็จไปสู่ภพดาวดึงส์ ทรงเก็บดอก
ปาริฉัตรแล้วเสด็จลงมาประทับนั่งในโรงไฟก่อน
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะเห็นพระผู้มีพระภาคประทับนั่งในโรงไฟ จึงทูลถามว่า
“ข้าแต่มหาสมณะ พระองค์เสด็จมาทางไหน ข้าพเจ้ากลับมาก่อนพระองค์ แต่
พระองค์เสด็จมาประทับนั่งในโรงไฟก่อน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ เราส่งท่านไปแล้วก็ไปยังภพดาวดึงส์ เก็บ
ดอกปาริฉัตร แล้วลงมานั่งในโรงไฟก่อน กัสสปะ ดอกปาริฉัตรนี้สมบูรณ์ด้วยสี
และกลิ่น”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากจริง ถึงกับส่งเรากลับมาก่อน เสด็จไปยังภพดาวดึงส์ทรงเก็บดอกปาริฉัตร
แล้วเสด็จลงมาประทับนั่งในโรงไฟก่อน แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”

เรื่องพวกชฎิลผ่าฟืน
[๔๖] สมัยนั้น ชฎิลเหล่านั้นต้องการจะบำเรอไฟ แต่ไม่อาจจะผ่าฟืนได้
ครั้งนั้น ชฎิลเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “การที่พวกเราไม่อาจจะผ่าฟืนได้ คง
เป็นอิทธานุภาพของพระมหาสมณะโดยไม่ต้องสงสัยเลย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ พวก
ชฎิลจงผ่าฟืนเถิด”
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะทูลรับพระดำรัสว่า “ข้าแต่มหาสมณะ พวกชฎิลจงผ่าฟืน”
ชฎิลทั้งหลายได้ผ่าฟืน ๕๐๐ ท่อน โดยการผ่าครั้งเดียวเท่านั้น
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากจริง ถึงกับให้พวกชฎิลผ่าฟืนได้ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
เรื่องพวกชฎิลก่อไฟ
[๔๗] สมัยนั้น ชฎิลเหล่านั้นต้องการจะบูชาไฟ แต่ไม่อาจจะก่อไฟให้ลุกได้
ครั้งนั้น ชฎิลเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “การที่พวกเราไม่อาจจะก่อไฟให้ลุกได้
คงเป็นอิทธานุภาพของพระมหาสมณะโดยไม่ต้องสงสัยเลย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ พวกชฎิล
จงก่อไฟให้ลุกขึ้นเถิด”
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะทูลรับพระดำรัสว่า “ข้าแต่มหาสมณะ พวกชฎิลจงก่อไฟ
ให้ลุกขึ้น”
ไฟทั้ง ๕๐๐ กอง ได้ลุกขึ้นพร้อมกันทีเดียว
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
จริงถึงกับให้ไฟลุกขึ้นได้ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”

เรื่องพวกชฎิลดับไฟ
[๔๘] สมัยนั้น ชฎิลเหล่านั้นบูชาไฟกันแล้ว แต่ไม่อาจจะดับไฟได้ ลำดับนั้น
ชฎิลเหล่านั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า “การที่พวกเราไม่อาจจะดับไฟได้ คงเป็น
อิทธานุภาพของพระมหาสมณะโดยไม่ต้องสงสัยเลย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ พวกชฎิล
จงดับไฟเถิด”
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะทูลรับพระดำรัสว่า “ข้าแต่มหาสมณะ พวกชฎิลจงดับไฟ”
ไฟทั้ง ๕๐๐ กอง ได้ดับพร้อมกันทีเดียว
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
จริงถึงกับให้พวกชฎิลดับไฟได้ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”

เรื่องพวกชฎิลดำน้ำ
[๔๙] สมัยนั้น ชฎิลเหล่านั้นพากันดำลงบ้าง ผุดขึ้นบ้าง ทั้งดำทั้งผุดบ้าง
ในแม่น้ำเนรัญชรา ในราตรีเหมันตฤดูอันหนาวเย็นคราวหิมะตก อยู่ในระหว่างปลาย
เดือน ๓ กับต้นเดือน ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๕๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
เรื่องภาชนะใส่ไฟ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงเนรมิตภาชนะใส่ไฟไว้ ๕๐๐ ชุด สำหรับให้
ชฎิลเหล่านั้นขึ้นจากน้ำจะได้ผิง
ลำดับนั้น ชฎิลเหล่านั้นมีความคิดดังนี้ว่า “การที่ภาชนะใส่ไฟเหล่านี้ได้ถูก
เนรมิตไว้ คงเป็นเพราะอิทธานุภาพของพระมหาสมณะโดยไม่ต้องสงสัยเลย”
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดดังนี้ว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากจริง ถึงกับเนรมิตภาชนะใส่ไฟไว้มากมายถึงเพียงนั้น แต่ไม่เป็นพระอรหันต์
เหมือนเราแน่”

เรื่องฝนตกน้ำท่วม
[๕๐] สมัยนั้น ฝนใหญ่นอกฤดูกาลตกลง เกิดห้วงน้ำใหญ่ สถานที่ที่พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ก็ถูกน้ำท่วม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า “ถ้ากระไร เราพึงขับน้ำให้ออกไป
โดยรอบ แล้วจงกรมบนพื้นดินที่มีฝุ่นฟุ้งขึ้นตรงกลาง” ทรงขับน้ำให้ออกไปโดยรอบ
เสด็จจงกรมบนพื้นดินที่มีฝุ่นฟุ้งขึ้นตรงกลาง
ลำดับนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะกล่าวว่า “พระมหาสมณะอย่าได้ถูกน้ำพัดไปเลย”
พร้อมด้วยชฎิลเป็นอันมาก ลงเรือไปยังสถานที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้เห็น
พระผู้มีพระภาคทรงขับน้ำให้ออกไปโดยรอบ เสด็จจงกรมบนพื้นที่มีฝุ่นฟุ้งขึ้นตรง
กลางจึงทูลถามว่า “ข้าแต่พระมหาสมณะ พระองค์ยังประทับอยู่ที่นี่หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ถูกละ กัสสปะ เรายังอยู่ที่นี่” แล้วเสด็จเหาะขึ้นไป
ปรากฏอยู่บนเรือ
ขณะนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะคิดว่า “พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากจริง ถึงกับทรงบันดาลไม่ให้น้ำไหลไปได้ แต่ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
ชฎิล ๓ พี่น้องทูลขอการบรรพชาอุปสมบท
[๕๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริดังนี้ว่า “โมฆบุรุษนี้คงจักมีความคิด
อย่างนี้ไปอีกนานว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง แต่ไม่เป็น
พระอรหันต์เหมือนเราแน่ อย่ากระนั้นเลย เราพึงให้ชฎิลนี้สลดใจ” จึงได้ตรัสกับ
ชฎิลอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์แน่ ทั้งยังไม่ถึงอรหัตตมรรค
แม้ปฏิปทาของท่านอันจะเป็นเหตุให้เป็นพระอรหันต์หรือถึงอรหัตตมรรคก็ยังไม่มี”
ลำดับนั้น ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้ซบศีรษะลงแทบพระบาทพระผู้มีพระภาค
กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ข้าพเจ้าพึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ ท่านเป็นผู้นำ เป็นผู้ฝึก เป็นเลิศ เป็น
หัวหน้า เป็นประธานของชฎิล ๕๐๐ คน ท่านจงบอกลาพวกเขาก่อน ให้พวก
เขาทำตามที่พวกเขาเข้าใจ”
ต่อมา ชฎิลอุรุเวลกัสสปะได้เข้าไปหาชฎิลเหล่านั้นถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า
“ผู้เจริญทั้งหลาย เราต้องการจะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะ ท่าน
ทั้งหลาย จงทำตามที่พวกท่านเข้าใจ”
ชฎิลเหล่านั้นกราบเรียนว่า “พวกกระผมเลื่อมใสยิ่งในสำนักพระมหาสมณะ
มานานแล้ว ขอรับ ถ้าท่านจักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะ
พวกกระผมทั้งหมดก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะเช่นกัน” จึงเอา
ผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟลอยน้ำ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ แล้วซบศีรษะแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า
“พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนัก
ของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
[๕๒] ชฎิลนทีกัสสปะได้เห็นผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟลอย
น้ำมาแล้วคิดว่า “อุปสรรคอย่าได้มีแก่พี่ชายของเราเลย” จึงส่งชฎิลทั้งหลายไป
ด้วยสั่งว่า “พวกเธอจงไป จงรู้ความเป็นไปของพี่ชายของเรา” และตนเอง
พร้อมชฎิล ๓๐๐ คน ได้เข้าไปหาท่านพระอุรุเวลกัสสปะถึงที่อยู่แล้วเรียนถามว่า
“ข้าแต่พี่กัสสปะ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐกว่าหรือ”
ท่านพระอุรุเวลกัสสปะตอบว่า “ถูกละ ผู้มีอายุ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐกว่า”
หลังจากนั้น ชฎิลเหล่านั้นจึงเอาผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟ
ลอยน้ำ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบศีรษะแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค กราบทูล
ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทใน
สำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดย
ชอบเถิด”
พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น
[๕๓] ชฎิลคยากัสสปะได้เห็นผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟ
ลอยน้ำมาแล้วคิดว่า “อุปสรรคอย่าได้มีแก่พี่ชายทั้งสองของเราเลย” จึงส่งชฎิล
ทั้งหลายไปด้วยสั่งว่า “พวกเธอจงไป จงรู้ความเป็นไปของพี่ชายทั้งสองของเรา”
และตนเอง พร้อมชฎิล ๒๐๐ คน ได้เข้าไปหาท่านพระอุรุเวลกัสสปะถึงที่อยู่แล้ว
เรียนถามว่า “ข้าแต่พี่กัสสปะ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐกว่าหรือ”
ท่านพระอุรุเวลกัสสปะตอบว่า “ถูกละ ผู้มีอายุ พรหมจรรย์นี้ประเสริฐกว่า”
หลังจากนั้น ชฎิลเหล่านั้นจึงเอาผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาไฟ
ลอยน้ำ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบศีรษะแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค
กราบทูล ว่า “พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การ
อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒.อุรุเวลปาฎิหาริยกถา
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดย
ชอบเถิด”
พระวาจานั้น ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น
ชฎิลเหล่านั้นผ่าฟืน ๕๐๐ ท่อนไม่ได้ กลับผ่าได้ ก่อไฟไม่ติด กลับก่อไฟติด
ดับไฟไม่ได้ กลับดับได้ ด้วยการอธิษฐานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคทรงเนรมิตภาชนะใส่ไฟไว้ ๕๐๐ ชุด ปาฏิหาริย์ ๓,๕๐๐ วิธี
ย่อมมีโดยนัยนี้

อาทิตตปริยายสูตร๑
[๕๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
ตามพระอัธยาศัยได้เสด็จจาริกไปยังตำบลคยาสีสะ พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ราว
๑,๐๐๐ รูป ล้วนเคยเป็นชฎิลทั้งนั้น ทราบว่า พระองค์ประทับอยู่ ณ ตำบล
คยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยานั้น พร้อมด้วยภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป ณ ที่นั้น พระผู้มี
พระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ก็อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย รูปทั้งหลายเป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย จักขุวิญญาณเป็นของร้อน
ภิกษุทั้งหลาย จักขุสัมผัสเป็นของร้อน
แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์ หรือที่มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้น
เพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร เรากล่าวว่า ร้อนเพราะ
ไฟคือราคะ เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะ
ความแก่ เพราะความตาย เพราะความโศก เพราะความคร่ำครวญ เพราะทุกข์
เพราะโทมนัส เพราะความคับแค้นใจ

เชิงอรรถ :
๑ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๘/๒๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๒. อุรุเวลปาฏิหาริยกถา
โสตะ(หู)เป็นของร้อน เสียงทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ
ฆานะ(จมูก)เป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ
ชิวหา(ลิ้น)เป็นของร้อน รสทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ
กายเป็นของร้อน โผฏฐัพพะ(สิ่งที่กายสัมผัสถูกต้อง)ทั้งหลายเป็นของร้อน ฯลฯ
มนะ(ใจ)เป็นของร้อน ธรรม(อารมณ์)ทั้งหลายเป็นของร้อน มโนวิญญาณ
(ความรู้ทางใจ)เป็นของร้อน มโนสัมผัส(การกระทบทางใจ)เป็นของร้อน แม้ความ
เสวยอารมณ์ ที่เป็นสุขหรือทุกข์ หรือที่มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส
เป็นปัจจัย ก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร เรากล่าวว่า ร้อนเพราะไฟคือราคะ
เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่เพราะ
ความตาย เพราะความโศก เพราะความคร่ำครวญ เพราะทุกข์ เพราะโทมนัส
เพราะความคับแค้นใจ
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูปทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักขุวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในจักขุสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือที่มิ
ใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโสตะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเสียงทั้งหลาย ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกลิ่นทั้งหลาย ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรสทั้งหลาย ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย ฯลฯ
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมนะ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในมโนวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนสัมผัส ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความ
เสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์ หรือที่มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส
เป็นปัจจัย
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณว่า หลุดพ้นแล้ว อริยสาวกย่อมรู้ชัดว่า ชาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา
สิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้มิได้มี”
ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณ์นี้อยู่ จิตของภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปนั้น ก็
หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น
อาทิตตปริยายสูตร จบ
อุรุเวลปาฏิหาริยกถา จบ
ภาณวารที่ ๓ จบ

๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา
ว่าด้วยสมาคมของพระเจ้าพิมพิสาร

เรื่องสวนตาลหนุ่ม
[๕๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะตามพระ
อัธยาศัยแล้วได้เสด็จจาริกไปทางกรุงราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ๑,๐๐๐ รูป
ล้วนเคยเป็นชฎิลทั้งนั้น เสด็จจาริกไปตามลำดับ จนถึงกรุงราชคฤห์ ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ต้นไทรต้นหนึ่งชื่อว่าสุประดิษฐเจดีย์ในสวนตาลหนุ่ม
เขตกรุงราชคฤห์นั้น
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้ทรงสดับข่าวว่า “ท่านพระสมณโคดม เป็น
ศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จถึงกรุงราชคฤห์โดยลำดับ ประทับอยู่
ณ ควงต้นไทรต้นหนึ่งชื่อสุประดิษฐเจดีย์ในสวนตาลหนุ่ม เขตกรุงราชคฤห์ ท่าน
พระโคดมผู้เจริญนั้น มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วย
วิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูพระวินัยปิฎกมหาวิภังค์แปล เล่ม ๑ ข้อ ๑ หน้า ๑-๒ (เชิงอรรถ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา
พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงประกาศให้
ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี
ความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริบูรณ์บริสุทธิ์
ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง

เรื่องพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ทรงแวดล้อมด้วยพราหมณ์คหบดี
ชาวมคธ ๑๒ นหุต๑ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร
ฝ่ายพราหมณ์คหบดีชาวมคธ ๑๒ นหุตเหล่านั้น บางพวกถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มี
พระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันและกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกก็ประคองอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกก็ประกาศนามและโคตรในสำนักพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกก็นั่งนิ่ง ณ ที่สมควร
ขณะนั้น พราหมณ์คหบดีชาวมคธ ๑๒ นหุตเหล่านั้นได้มีความคิด
ดังนี้ว่า “พระมหาสมณะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระอุรุเวลกัสสปะ หรือพระ
อุรุเวลกัสสปะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะหนอ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความรำพึงในใจของพราหมณ์คหบดี
ชาวมคธ ๑๒ นหุตเหล่านั้นด้วยพระทัย จึงตรัสเชื้อเชิญท่านพระอุรุเวลกัสสปะ
ด้วยคาถาว่า
“ท่านอยู่อุรุเวลามานาน เคยเป็นอาจารย์สั่งสอนหมู่ชฎิลผู้ผอม๒
ท่านเห็นอุบายอะไร จึงได้ละไฟเสีย

เชิงอรรถ :
๑ นหุต เป็นมาตรานับ ๑ นหุต เท่ากับ ๑๐,๐๐๐ คน ๑๒ นหุต เท่ากับ ๑๒๐,๐๐๐ คน
๒ หมายถึงเป็นผู้อบรมสั่งสอนหมู่ดาบสที่ได้นามว่า “ผู้ผอม” เนื่องจากเป็นผู้ที่ร่างกายผอม เพราะบำเพ็ญ
ตนเป็นดาบส (วิ.อ. ๓/๕๕/๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา
กัสสปะ เราถามข้อความนี้กะท่าน
ไฉนท่านจึงละการบูชาไฟของท่านเสียเล่า”
พระอุรุเวลกัสสปะทูลตอบว่า
“ยัญทั้งหลายกล่าวสรรเสริญกามทั้งหลาย
คือ รูป เสียง รสและสตรีทั้งหลาย
ข้าพระองค์ได้รู้ในอุปธิ๑ว่า นั่นเป็นมลทิน
เพราะฉะนั้น จึงมิได้ยินดีในการเซ่นสรวง มิได้ยินดีในการบูชา”
“กัสสปะ ใจของท่านไม่ยินดีในรูป เสียงและรสเหล่านั้นแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนั้น ใจของท่านยินดีในสิ่งไรเล่า
ในเทวโลกหรือมนุษยโลก กัสสปะ ท่านจงบอกสิ่งนั้นแก่เรา”
“ข้าพระองค์ได้เห็นบทอันสงบ๒ ไม่มีอุปธิ ไม่มีกังวล
ไม่ข้องอยู่ในกามภพ มีอันไม่แปรเป็นอย่างอื่น
ไม่ใช่ธรรมที่ผู้อื่นจะพึงแนะให้ได้
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงมิได้ยินดีในการเซ่นสรวงมิได้ยินดีใน
การบูชา”
[๕๖] ลำดับนั้น ท่านพระอุรุเวลกัสสปะลุกขึ้นจากอาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า
ข้างหนึ่ง ซบศีรษะแทบพระบาทพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
ขณะนั้น พราหมณ์คหบดีชาวมคธทั้ง ๑๒ นหุตเหล่านั้นก็ทราบว่า “พระ
อุรุเวลกัสสปะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความรำพึงในใจของพราหมณ์คหบดีชาว
มคธ ๑๒ นหุตเหล่านั้นด้วยพระทัย จึงได้ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ

เชิงอรรถ :
๑ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงขันธุปธิ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์อันมีขันธ์เป็นมูล (สารตฺถ.ฎีกา ๓/๕๕/๒๖๐)
๒ บทอันสงบ ในที่นี้หมายถึงบทคือพระนิพพานที่มีสภาพสงบ ที่ชื่อว่า ไม่แปรเป็นอย่างอื่น เพราะไม่มีชาติ
ชรา และมรณะ (วิ.อ.๓/๕๕/๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา
๑. ทานกถา ๒. สีลกถา
๓. สัคคกถา ๔. กามาทีนวกถา
๕. เนกขัมมานิสังสกถา
เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบว่าพวกเขามีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีปราศจากมลทินได้เกิดแก่พราหมณ์
คหบดีชาวมคธ ๑๑ นหุต ซึ่งมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นประมุข ณ ที่นั่งนั้นแลว่า
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา”
เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
พราหมณ์คหบดีอีก ๑ นหุต ได้แสดงตนเป็นอุบาสก

เรื่องความปรารถนา ๕ ประการ
ของพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
[๕๗] ขณะนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว
รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากความแคลงใจ
ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลพระผู้มี
พระภาคว่า “เมื่อก่อนหม่อมฉันยังเป็นพระกุมาร ได้มีความปรารถนา ๕ ประการ
พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ความปรารถนา ๕ ประการเหล่านั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว
คือ
๑. เมื่อก่อนหม่อมฉันยังเป็นพระกุมารได้มีความปรารถนาว่า ไฉนหนอ
พสกนิกรพึงอภิเษกเราในราชสมบัติ นี้เป็นความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่ ๑
พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ความปรารถนานั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว
๒. ขอพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพึงเสด็จมาสู่แว่นแคว้นของหม่อม
ฉันนั้น นี้เป็นความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่ ๒ พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ความ
ปรารถนานั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา
๓. ขอหม่อมฉันพึงเข้าไปนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น นี้เป็น
ความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่ ๓ พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ความปรารถนานั้น
ของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว
๔. ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นพึงแสดงธรรมแก่หม่อมฉัน นี้เป็น
ความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่ ๔ พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ความปรารถนานั้น
ของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว
๕. ขอหม่อมฉันพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น นี้เป็น
ความปรารถนาของหม่อมฉันประการที่ ๕ พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ความปรารถนานั้น
ของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว
เมื่อก่อนหม่อมฉันยังเป็นพระกุมาร ได้มีความปรารถนา ๕ ประการเหล่านี้
พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ความปรารถนา ๕ ประการเหล่านั้นของหม่อมฉันสำเร็จแล้ว
พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของ
พระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือ
ตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูป พระองค์ผู้เจริญหม่อมฉันนี้
ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาค
จงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต และ
ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์ทรงรับคำอาราธนาของหม่อมฉันเพื่อเจริญ
กุศลในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพแล้ว
ครั้นพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐทรงทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับ
นิมนต์แล้ว จึงเสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทรงทำ
ประทักษิณแล้วเสด็จกลับ ผ่านราตรีนั้นไป รับสั่งให้ตระเตรียมของเคี้ยวของฉัน
อันประณีตไว้ แล้วให้เจ้าพนักงานไปกราบทูลภัตตกาลว่า “ได้เวลาแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๖๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา
[๕๘] ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้วถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ราว ๑,๐๐๐ รูป ล้วนเคย
เป็นชฎิลทั้งนั้น
ขณะนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงเนรมิตเพศเป็นมาณพเสด็จพระดำเนินนำอยู่
เบื้องหน้าภิกษุสงฆ์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ทรงขับคาถาเหล่านี้ไปพลางว่า

คาถาสดุดีพระพุทธเจ้า
พระผู้มีพระภาคทรงมีพระฉวีวรรณเสมอด้วยสีลิ่มทองสิงคี
ทรงฝึกอินทรีย์แล้วทรงพ้นวิเศษแล้ว ได้เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์
พร้อมด้วยเหล่าภิกษุที่เคยเป็นชฎิล ผู้ฝึกอินทรีย์แล้ว พ้นวิเศษแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงมีพระฉวีวรรณเสมอด้วยสีลิ่มทองสิงคี
ทรงพ้นแล้ว ทรงพ้นวิเศษแล้ว ได้เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์
พร้อมด้วยเหล่าภิกษุที่เคยเป็นชฎิลผู้พ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงมีพระฉวีวรรณเสมอด้วยสีลิ่มทองสิงคี
ทรงข้ามแล้ว ทรงพ้นวิเศษแล้ว ได้เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์
พร้อมด้วยเหล่าภิกษุที่เคยเป็นชฎิลผู้ข้ามแล้ว พ้นวิเศษแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงมีพระฉวีวรรณเสมอด้วยสีลิ่มทองสิงคี
ทรงสงบแล้ว ทรงพ้นวิเศษแล้ว ได้เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์
พร้อมด้วยเหล่าภิกษุที่เคยเป็นชฎิลผู้สงบแล้ว พ้นวิเศษแล้ว
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงอยู่จบธรรม ๑๐ ประการ
ทรงมีทสพลญาณ ทรงทราบธรรม ๑๐ ประการ และทรงประกอบ
ด้วยธรรม ๑๐ ประการ๑ มีภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปเป็นบริวาร
ได้เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์

เชิงอรรถ :
๑ ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ คือ ประกอบด้วยอเสขธรรม ๑๐ (วิ.อ. ๓/๕๘/๒๘) ได้แก่ สัมมัตตะ
๑๐ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๕๘/๒๗๑) ดู ที.ปา ๑๑/๓๔๘,๓๖๐/๒๔๐,๒๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๓. พิมพิสารสมาคมกถา
คนทั้งหลายได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพแล้วพากันกล่าวว่า “มาณพนี้มีรูปงามหนอ
มาณพนี้น่าดูหนอ มาณพนี้น่าชมหนอ มาณพนี้เป็นผู้รับใช้ของใครหนอ”
เมื่อคนทั้งหลายกล่าวอย่างนั้นแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสตอบคนเหล่านั้น
เป็นคาถาว่า
“พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด ทรงเป็นนักปราชญ์
ทรงฝึกในอินทรีย์ทั้งปวง เป็นผู้ผุดผ่อง ไม่มีผู้ใดเปรียบ
ทรงไกลจากกิเลส เสด็จไปดีในโลก
ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น”

เรื่องทรงรับพระเวฬุวันเป็นวัดแห่งแรก
[๕๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพมคธรัฐ ครั้นถึงแล้วจึงประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวายพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
ขณะนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ทรงนำของเคี้ยวของฉันอันประณีต
ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยพระองค์เอง กระทั่งพระผู้มีพระภาค
เสวยเสร็จแล้ว ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว ละพระหัตถ์จากบาตร จึงประทับนั่ง ณ
ที่สมควร ท้าวเธอทรงดำริว่า “พระผู้มีพระภาคควรประทับที่ไหนหนอ ที่แห่งใดอยู่
ไม่ไกลและไม่ใกล้จากหมู่บ้านนัก คมนาคมสะดวก ผู้ประสงค์พึงเข้าเฝ้าได้ กลางวัน
ไม่พลุกพล่าน กลางคืนสงัด เสียงไม่อึกทึก เว้นจากคนสัญจรไปมา เป็นที่กระทำ
กรรมลับของหมู่มนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น” จึงมีพระราชดำริว่า “อุทยานเวฬุวัน
ของเรานี้ไม่ไกลและไม่ใกล้จากหมู่บ้านนัก คมนาคมสะดวก ผู้ประสงค์พึงเข้าเฝ้าได้
กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนสงัด เสียงไม่อึกทึก เว้นจากคนสัญจรไปมา เป็นที่
กระทำกรรมลับของหมู่มนุษย์ ควรแก่การหลีกเร้น อย่ากระนั้นเลย เราพึงถวาย
อุทยานเวฬุวันแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข” แล้วทรงจับพระสุวรรณภิงคาร
หลั่งน้ำน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคด้วยพระราชดำรัสว่า “หม่อมฉันขอถวาย
อุทยานเวฬุวันนั้นแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
พระผู้มีพระภาคทรงรับอารามแล้ว ทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ
มคธรัฐเห็นชัด ชวนให้อยากรับไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชะโลม
ใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับเสด็จกลับ ต่อมา
พระพุทธองค์ ได้ทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนั้นเป็นต้นเหตุ รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอาราม”
พิมพิสารสมาคมกถา จบ

๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
ว่าด้วยสารีบุตรและโมคคัลลานะบรรพชา
[๖๐] สมัยนั้น สัญชัยปริพาชกอาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์พร้อมด้วยบริษัท
ปริพาชกหมู่ใหญ่จำนวน ๒๕๐ ท่าน ครั้งนั้น สารีบุตรและโมคคัลลานะประพฤติ
พรหมจรรย์อยู่ในสำนักสัญชัยปริพาชก ได้ตั้งกติกากันไว้ว่า “ผู้ใดบรรลุอมตธรรม
ก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง”
ขณะนั้นเวลาเช้า ท่านพระอัสสชิครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ มีกิริยาที่ก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู คู้เข้า
เหยียดออก น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ
สารีบุตรปริพาชกได้เห็นท่านพระอัสสชิกำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์
มีกิริยาก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู คู้เข้า เหยียดออก น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง
ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถแล้วคิดว่า “ภิกษุรูปนี้คงเป็นองค์ใดองค์หนึ่ง บรรดาพระ
อรหันต์หรือท่านผู้ดำเนินสู่หนทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ในโลกเป็นแน่ ถ้ากระไร
เราพึงเข้าไปหาภิกษุนี้ถามว่า ผู้มีอายุ ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน
หรือท่านชอบใจธรรมของใคร” แล้วคิดว่า “บัดนี้ ยังเป็นกาลไม่สมควรที่จะถาม
ภิกษุนี้ เพราะท่านกำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาตอยู่ ถ้ากระไร เราควรติดตาม
ภิกษุนี้ไปข้างหลัง เพราะการติดตามไปข้างหลังนี้เป็นหนทางที่ผู้มีความต้องการรู้แล้ว”
ต่อมา ท่านพระอัสสชิได้เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ รับบิณฑบาตแล้วกลับ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
ลำดับนั้น สารีบุตรปริพาชกจึงเข้าไปหาท่านพระอัสสชิ แล้วได้สนทนาปราศรัย
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกกันแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร เรียนถามว่า
“ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผู้มีอายุ ท่านบวช
อุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร”
พระอัสสชิกล่าวตอบว่า “ท่าน มีพระมหาสมณะผู้เป็นศากยบุตร เสด็จออก
ผนวชจากศากยตระกูล เราบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น เป็นศาสดาของเรา และเราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์
นั้น”
“ก็พระศาสดาของท่านตรัสอย่างไร สอนอย่างไร”
“ท่าน เราเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ไม่สามารถแสดง
ธรรมโดยพิสดารแก่ท่านได้ แต่จักกล่าวแต่ใจความโดยย่อแก่ท่าน”
ทีนั้น สารีบุตรปริพาชกกราบเรียนท่านพระอัสสชิว่า
“เอาเถอะ ผู้มีอายุ จะน้อยหรือมากก็ตาม จงกล่าวเถิด
จงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าต้องการแต่ใจความเท่านั้น
ท่านจักทำพยัญชนะให้มากไปทำไม”

พระอัสสชิแสดงธรรม
ลำดับนั้น ท่านพระอัสสชิได้กล่าวธรรมปริยายนี้แก่สารีบุตรปริพาชกว่า
“ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”๑

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมที่เกิดแต่เหตุ คือ ขันธ์ ๕ ได้แก่ตัวทุกข์
เหตุแห่งธรรม คือ สมุทัย
ความดับแห่งธรรมเหล่านั้น คือ นิโรธและมรรคมีองค์ ๘ (วิ.อ. ๓/๖๐/๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
สารีบุตรปริพาชกได้ธรรมจักษุ
เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้ ธรรมจักษุ อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน
ได้เกิดขึ้นแก่สารีบุตรปริพาชกว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” สารีบุตรปริพาชกกล่าวว่า
“ถ้าธรรมนี้ มีเพียงเท่านี้
ท่านก็ได้รู้แจ้งแทงตลอดทางอันหาความโศกมิได้แล้ว
อันเป็นทางที่พวกข้าพเจ้ายังไม่ได้เห็น
ล่วงเลยมาแล้วหลายหมื่นกัป”

สารีบุตรปริพาชกเปลื้องคำสัญญา
[๖๑] ครั้งนั้น สารีบุตรปริพาชกได้กลับไปหาโมคคัลลานปริพาชกถึงที่พัก
โมคคัลลานปริพาชก ได้เห็นสารีบุตรปริพาชกเดินมาแต่ไกล ครั้นเห็นแล้วจึงได้
กล่าวกับสารีบุตรปริพาชก ดังนี้ว่า “ท่าน อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณ
บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ท่านได้บรรลุอมตธรรมแล้วหรือ”
สารีบุตรปริพาชกตอบว่า “ใช่แล้วท่าน เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว”
“ท่าน ท่านได้บรรลุอมตธรรมได้อย่างไร”
“ท่าน เราได้เห็นท่านพระอัสสชิกำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์
มีกิริยาก้าวไป ถอยกลับ แลดู เหลียวดู คู้เข้า เหยียดออก น่าเลื่อมใส
มีจักษุทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถแล้วคิดว่า ‘ภิกษุรูปนี้คงเป็นองค์ใดองค์หนึ่ง
บรรดาพระอรหันต์หรือท่านผู้ดำเนินสู่หนทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ในโลกเป็นแน่
ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปหาภิกษุนี้ถามว่า ผู้มีอายุ ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็น
ศาสดาของท่าน หรือท่านชอบธรรมของใคร’ แล้วคิดว่า ‘บัดนี้ ยังเป็นกาลไม่
สมควรที่จะถามภิกษุนี้ เพราะท่านกำลังเข้าละแวกบ้านเที่ยวบิณฑบาตอยู่ ถ้ากระไร
เราควรติดตามภิกษุนี้ไปข้างหลัง เพราะการติดตามไปข้างหลังนี้ เป็นหนทางที่ผู้มี
ความต้องการรู้แล้ว’
ต่อมา ท่านพระอัสสชิได้เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ รับบิณฑบาตแล้วกลับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
ลำดับนั้น เราจึงเข้าไปหาท่านพระอัสสชิ แล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่
บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกกันและกันแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควร เรียนถามว่า
‘ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผู้มีอายุ ท่านบวช
อุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร’
พระอัสสชิกล่าวตอบว่า “ท่าน มีพระมหาสมณะผู้เป็นศากยบุตร เสด็จออก
ผนวชจากศากยตระกูล เราบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นเป็นศาสดาของเรา และเราชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น”
เราจึงถามว่า ‘ก็พระศาสดาของท่านตรัสอย่างไร สอนอย่างไร’
ท่านพระอัสสชิกล่าวว่า ‘ท่าน เราเป็นผู้ใหม่ บวชไม่นาน เพิ่งมาสู่
พระธรรมวินัยนี้ ไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารแก่ท่านได้ แต่จักกล่าวแต่ใจ
ความโดยย่อแก่ท่าน’
ทีนั้น เราจึงกราบเรียนท่านพระอัสสชิว่า
“เอาเถอะ ผู้มีอายุจะน้อยหรือมากก็ตาม จงกล่าวเถิด
จงกล่าวแต่ใจความแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าต้องการแต่ใจความเท่านั้น
ท่านจักทำพยัญชนะให้มากไปทำไม”
ลำดับนั้น ท่านพระอัสสชิได้กล่าวธรรมปริยายนี้ว่า
“ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”

โมคคัลลานปริพาชกได้ธรรมจักษุ
เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้ ธรรมจักษุ อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน
ได้เกิดขึ้นแก่โมคคัลลานปริพาชกว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา” โมคคัลลานปริพาชกกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
“ถ้าธรรมนี้ มีเพียงเท่านี้
ท่านก็ได้รู้แจ้งแทงตลอดทางอันหาความโศกมิได้แล้ว
อันเป็นทางที่พวกเรายังไม่ได้เห็น
ล่วงเลยมาแล้วหลายหมื่นกัป”

สองสหายไปอำลาอาจารย์
[๖๒] ครั้งนั้น โมคคัลลานปริพาชกได้กล่าวกับสารีบุตรปริพาชกว่า “ท่าน
เราไปสำนักพระผู้มีพระภาคกันเถิด เพราะพระองค์เป็นศาสดาของเรา”
สารีบุตรปริพาชกกล่าวว่า “ท่าน ปริพาชก ๒๕๐ คนเหล่านี้ อาศัยเรา
เห็นแก่เรา จึงอยู่ในสำนักนี้ เราบอกลาปริพาชกเหล่านั้นก่อน พวกเขาจักทำ
ตามที่เขาเข้าใจ”
ต่อมา สารีบุตรและโมคคัลลานะพากันเข้าไปหาปริพาชกเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้
กล่าวดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย พวกเราจะไปสำนักพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์
เป็นศาสดาของพวกเรา”
พวกปริพาชกกล่าวว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายอาศัยพวกท่าน เห็นแก่พวกท่าน
จึงอยู่ในสำนักนี้ ถ้าท่านทั้งสองจักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะ
ข้าพเจ้าทั้งหมดก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระมหาสมณะด้วย”
ต่อมา สารีบุตรและโมคคัลลานะพากันเข้าไปหาสัญชัยปริพาชกกราบเรียนว่า
“ท่านขอรับ พวกกระผมจะไปสำนักพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์เป็นศาสดา
ของพวกกระผม”
สัญชัยปริพาชกกล่าวห้ามว่า “อย่าเลย ท่านทั้งหลายอย่าไป เราทั้งหมด
๓ คน จักช่วยกันบริหารคณะนี้”
แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ สารีบุตรและโมคคัลลานะ ก็กราบเรียนสัญชัยปริพาชกดังนี้ว่า
“ท่านขอรับ พวกกระผมจะไปสำนักพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์เป็นศาสดา
ของพวกกระผม”
สัญชัยปริพาชกก็ยังกล่าวห้ามว่า “อย่าเลย ท่านทั้งหลายอย่าไป เรา
ทั้งหมด ๓ คน จักช่วยกันบริหารคณะนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
หลังจากนั้น สารีบุตรและโมคคัลลานะได้พาปริพาชก ๒๕๐ คนนั้น มุ่งหน้าไป
ทางพระเวฬุวัน โลหิตร้อนก็พุ่งออกจากปากของสัญชัยปริพาชก ณ ที่นั้นเอง

ทรงพยากรณ์พระอัครสาวก
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นสารีบุตรและโมคคัลลานะเดินมาแต่ไกล
แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย สหายทั้ง ๒ คนนั้น คือโกลิตะ
และอุปติสสะกำลังมา นั่นจักเป็นคู่สาวกชั้นยอด เป็นคู่ที่เจริญของเรา”
ท่านสารีบุตรและท่านโมคคัลลานะ ผู้น้อมจิตไปในธรรม
อันยอดเยี่ยม ลึกซึ้ง เป็นวิสัยแห่งญาณ เป็นที่สิ้นอุปธิ
ยังมาไม่ถึงพระเวฬุวัน พระศาสดาก็ทรงพยากรณ์แล้วว่า
“สหายทั้ง ๒ คนนั้น คือโกลิตะและอุปติสสะ
กำลังมา นั่นจักเป็นคู่สาวกชั้นยอด เป็นคู่ที่เจริญของเรา”

ทูลขอการบรรพชาอุปสมบท
ต่อมา สารีบุตรและโมคคัลลานะได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วซบ
ศีรษะแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวก
ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา พึงได้การอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พวกเธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” แล้วตรัสต่อไปว่า
“ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด”
พระวาจานั้นแล ได้เป็นการอุปสมบทของท่านเหล่านั้น๑

เชิงอรรถ :
๑ ท่านโกลิตะหรือพระโมคคัลลานะหลังจากบวชได้ ๗ วัน ไปพักอาศัยอยู่ ณ บ้านกัลลวาฬคาม
(กัลล วาฬมุตตคาม) บำเพ็ญสมณธรรม ฟังธรรมว่าด้วยธาตุกัมมัฏฐานจากพระพุทธเจ้า บรรลุพระอรหัตตผล
ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณตามที่ตั้งความปรารถนาไว้
ส่วนท่านอุปติสสะ หรือพระสารีบุตร หลังจากบวชได้ ๑๕ วัน ไปพักอาศัยอยู่ ณ ถ้ำสูกรขาตา
เขตกรุงราชคฤห์ พร้อมกับพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงเวทนาปริคคหสูตรแก่หลานชายของ
ท่านชื่อทีฆนขปริพาชก พระสารีบุตรส่งญาณไปตามแนวพระสูตร บรรลุพระอรหัตตผล ถึงที่สุดแห่งสาวก
บารมีญาณตามที่ตั้งความปรารถนาไว้ (สารตฺถ.ฏีกา. ๓/๖๒/๒๗๗-๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๔. สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา
เรื่องกุลบุตรชาวมคธมีชื่อเสียงบรรพชา
[๖๓] สมัยนั้น พวกกุลบุตรชาวมคธที่มีชื่อเสียง พากันประพฤติพรหมจรรย์
ในสำนักพระผู้มีพระภาค คนทั้งหลายจึงพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“พระสมณโคดมปฏิบัติเพื่อให้ชายไม่มีบุตร เพื่อให้หญิงเป็นม่าย และเพื่อความ
ขาดสูญแห่งตระกูล บัดนี้ พระสมณโคดมบวชชฎิล ๑,๐๐๐ คนแล้ว และบวช
ปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของสัญชัย ๒๕๐ คนแล้ว และพวกกุลบุตรชาวมคธเหล่านี้ที่
มีชื่อเสียง ก็พากันประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระสมณโคดม”
อนึ่ง คนทั้งหลายเห็นพวกภิกษุก็พากันโจทด้วยคาถานี้ว่า
“พระมหาสมณะเสด็จมาสู่พระคิริพชนคร๑ของชาวมคธ
ทรงนำปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของสัญชัยไปหมดแล้ว
บัดนี้ยังจักทรงนำใครไปอีกเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เสียงนั้นคงอยู่ไม่นาน จักมีเพียง ๗
วันเท่านั้น พ้น ๗ วัน จักหายไป ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ชนเหล่าใดโจท
พวกเธอด้วยคาถานี้ว่า
“พระมหาสมณะเสด็จมาสู่พระคิริพชนครของชาวมคธ
ทรงนำปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของสัญชัยไปหมดแล้ว
บัดนี้จักทรงนำใครไปอีกเล่า”
พวกเธอจงโจทตอบพวกนั้นด้วยคาถานี้ว่า
“พระตถาคตทั้งหลาย ทรงมีความเพียรมาก
ทรงแนะนำด้วยพระสัทธรรม เมื่อรู้ชัด(อย่างนี้)
จะต้องริษยาพระตถาคตผู้ทรงแนะนำโดยธรรมไปทำไมเล่า”

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงกรุงราชคฤห์ บางทีเรียกว่า เบญจคิรีนคร ที่ชื่อว่าคิริพชนคร เพราะเป็นเมืองที่ล้อมรอบด้วย
ภูเขา ๕ ลูก คือ ปัณฑวะ คิชฌกูฏ เวภาระ อสิคิลิ เวปุลละ (สารตฺถ. ฏีกา ๓/๖๓/๒๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
สมัยนั้น คนทั้งหลายเห็นพวกภิกษุก็พากันโจทด้วยคาถานี้ว่า
“พระมหาสมณะเสด็จมาสู่คิริพชนครของชาวมคธ
ทรงนำปริพาชกผู้เป็นศิษย์ของสัญชัยไปหมดแล้ว
บัดนี้จักทรงนำใครไปอีกเล่า”
ภิกษุทั้งหลายก็โจทตอบคนพวกนั้นด้วยคาถานี้ว่า
“พระตถาคตทั้งหลายทรงมีความเพียรมาก
ทรงแนะนำด้วยพระสัทธรรม เมื่อรู้ชัด(อย่างนี้)
จะต้องริษยาพระตถาคตผู้ทรงแนะนำโดยธรรมไปทำไมเล่า”
คนทั้งหลายกล่าวกันอย่างนี้ว่า “ได้ยินว่า พระสมณะผู้เป็นเชื้อสายศากยบุตร
ทั้งหลาย ย่อมแนะนำโดยธรรม ย่อมไม่แนะนำโดยอธรรม”
เสียงนั้นมีอยู่เพียง ๗ วันเท่านั้น พ้น ๗ วันก็หายไป
สารีปุตตโมคคัลลานปัพพัชชากถา จบ
ภาณวารที่ ๔ จบ

๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา๑
ว่าด้วยอุปัชฌายวัตร

เรื่องภิกษุนุ่งห่มไม่เรียบร้อย
[๖๔] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายยังไม่มีพระอุปัชฌาย์ ไม่มีผู้คอยตักเตือน
พร่ำสอน จึงนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคน
ทั้งหลายกำลังบริโภค ก็ยื่นบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาต๒ เข้าไปบนของบริโภคบ้าง

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จู. ๗/๓๗๕-๓๗๖/๑๗๔-๑๘๐
๒ บาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาต (อุตฺติฏฺ�ปตฺตนฺติ ปิณฺฑาย จรณกปตฺตํ -วิ.อ. ๓/๖๔-๕/๓๒), พวกมนุษย์
สำคัญบาตรนั้นว่าเป็นเดน (วิ.อ. ๓/๖๔-๕/๓๒), ดู สารตฺถ.ฏีกา ๓/๖๔/๒๘๑,วิมติ.ฏีกา ๒/๖๔/๑๓๐-๑๓๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๗๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
บนของเคี้ยวบ้าง บนของลิ้มบ้าง บนน้ำดื่ม ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง
ด้วยตนเองมาแน ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้าง
คนทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตร ทั้งหลายจึงนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต
เมื่อคนทั้งหลาย กำลังบริโภค ก็ยื่นบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปบนของ
บริโภคบ้าง บนของเคี้ยวบ้าง บนของลิ้มบ้าง บนน้ำดื่มบ้าง ออกปากขอแกงบ้าง
ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้าง เหมือนพวกพราหมณ์ใน
สถานที่เลี้ยงพราหมณ์ฉะนั้นเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นกล่าวตำหนิอ ประณาม โพนทะนา บรรดา
ภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา จึง
ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มี
มารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคนทั้งหลายกำลังบริโภค ก็ยื่นบาตร
สำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปบนของบริโภคบ้าง บนของเคี้ยวบ้าง บนของ
ลิ้มบ้าง บนน้ำดื่มบ้าง ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน
ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้างเล่า” แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ
ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวกภิกษุนุ่งห่มไม่เรียบร้อย
มีมารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคนทั้งหลายกำลังบริโภค ก็ยื่นบาตร
สำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปบนของบริโภคบ้าง บนของเคี้ยวบ้าง บนของลิ้มบ้าง
บนน้ำดื่มบ้าง ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน ส่งเสียงดัง
แม้ในโรงฉันบ้าง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลาย ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของโมฆบุรุษ
เหล่านั้น ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้
ไม่ควรทำเลย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงได้นุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคนทั้งหลายกำลังบริโภค ก็ยื่นบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาต
เข้าไปบนของบริโภคบ้าง บนของเคี้ยวบ้าง บนของลิ้มบ้าง บนน้ำดื่มบ้าง
ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน ส่งเสียงดังแม้ในโรงฉันบ้างเล่า
ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของพวกโมฆบุรุษนั่น มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส
หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่
เลื่อมใสให้ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวก ก็จะกลายเป็นอื่นไป”

ทรงอนุญาตอุปัชฌาย์
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิภิกษุเหล่านั้นโดยประการต่าง ๆ แล้ว ได้ตรัส
โทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษ ความคลุกคลี
ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย สันโดษ
ความขัดเกลา ความกำจัดกิเลส อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภ
ความเพียร โดยประการต่าง ๆ ทรงแสดงธรรมีกถาให้เหมาะสม ให้คล้อยตาม
กับเรื่องนั้นแล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
[๖๕] ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์จักเข้าไปตั้งจิตสนิท
สนมในสัทธิวิหาริกฉันบุตร สัทธิวิหาริก๑จักเข้าไปตั้งจิตสนิทสนมในอุปัชฌาย์ฉันบิดา
เมื่อเป็นเช่นนี้ อุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริกจักมีความเคารพ ยำเกรงประพฤติ
กลมเกลียวกัน จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้

วิธีถืออุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกพึงถืออุปัชฌาย์อย่างนี้
สัทธิวิหาริกพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า นั่งกระโหย่ง
ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้าเถิด

เชิงอรรถ :
๑ สัทธิวิหาริก แปลว่า ผู้อยู่ด้วยกัน เป็นคำเรียกผู้ที่ได้รับอุปสมบท ถ้าอุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์รูปใด
ก็เป็นสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์รูปนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้าเถิด ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็น
อุปัชฌาย์ของข้าพเจ้าเถิด”
อุปัชฌาย์ให้สัทธิวิหาริกรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ด้วยกายและวาจา
ว่า “ดีละ” ว่า “เบาใจละ” ว่า “ชอบแก่อุบายละ” ว่า “สมควรละ” หรือว่า
“จงประพฤติปฏิบัติให้น่าเลื่อมใส” อุปัชฌาย์ชื่อว่าเป็นผู้ที่สัทธิวิหาริกถือแล้ว
อุปัชฌาย์ไม่ให้สัทธิวิหาริกรู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้ด้วยวาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกาย
และวาจา อุปัชฌาย์ชื่อว่าเป็นผู้ที่สัทธิวิหาริกยังมิได้ถือ

อุปัชฌายวัตร
[๖๖] ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกพึงประพฤติโดยชอบในอุปัชฌาย์ วิธีประพฤติ
โดยชอบในอุปัชฌาย์นั้นมีดังนี้
สัทธิวิหาริกพึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้า ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
ถวายไม้ชำระฟัน น้ำล้างหน้า ปูอาสนะ
ถ้าข้าวต้มมี พึงล้างภาชนะใส่ข้าวต้มเข้าไปถวาย เมื่ออุปัชฌาย์ฉันข้าวต้มเสร็จแล้ว
พึงถวายน้ำรับภาชนะมา ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด๑ ล้างแล้วเก็บงำไว้
เมื่ออุปัชฌาย์ลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าอุปัชฌาย์ต้องการจะเข้าหมู่บ้าน พึงถวายผ้านุ่ง รับผ้านุ่งอาศัย ถวาย
ประคดเอว ถวายสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน ล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำ
ถ้าอุปัชฌาย์หวังจะให้เป็นปัจฉาสมณะ ถึงนุ่งให้เรียบร้อยปกปิดได้มณฑล ๓๒
คาดประคดเอว ห่มสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน กลัดลูกดุม ล้างบาตรถือไป เป็นปัจฉา
สมณะของอุปัชฌาย์ พึงเดินไม่ให้ห่างนัก ไม่ให้ชิดนัก พึงรับบาตรที่มีของบรรจุอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ให้ครูดพื้น (วิ.อ. ๓/๖๖/๓๖)
๒ มณฑล ๓ คือ ถ้าเป็นผ้าอุตตราสงค์ (ผ้าห่ม) ต้องห่มปิดหลุมคอและทำชายจีวรทั้ง ๒ ข้างให้เสมอกัน
ถ้าเป็นอ้นตรวาสก ต้องนุ่งปิดสะดือ และปิดเข่าทั้ง ๒ ข้าง (ดู วิ.มหา.(แปล) ๒/๕๗๖-๕๗๗/๖๕๐-๖๕๑
และ วิ.อ. ๒/๕๗๖-๕๗๗/๔๔๗-๔๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
เมื่ออุปัชฌาย์กำลังกล่าว ไม่พึงกล่าวสอดขึ้นในระหว่าง อุปัชฌาย์กล่าวถ้อยคำ
ใกล้ต่ออาบัติ พึงห้ามเสีย
เมื่ออุปัชฌาย์จะกลับ พึงมาก่อนแล้วปูอาสนะไว้ พึงเตรียมน้ำล้างเท้า
ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้านุ่งอาศัย
รับผ้านุ่งมา
ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร
เมื่อจะพับจีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ตั้งใจว่า ตรงกลางจะได้ไม่มีรอยพับ
พึงม้วนประคดเอวใส่ขนดจีวร
ถ้าบิณฑบาตมี และอุปัชฌาย์ต้องการจะฉัน พึงถวายน้ำแล้วน้อมบิณฑบาต
เข้าไปถวาย นำน้ำฉันมาถวาย เมื่ออุปัชฌาย์ฉันเสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับบาตรมา
ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเช็ดให้สะเด็ดน้ำผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่ง
ทิ้งไว้ที่แดด
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
เมื่ออุปัชฌาย์ลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ พึงเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าอุปัชฌาย์ต้องการจะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าท่านต้องการน้ำเย็น
พึงจัดน้ำเย็นถวาย ถ้าท่านต้องการน้ำอุ่น พึงจัดน้ำอุ่นถวาย
ถ้าอุปัชฌาย์ต้องการจะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุรณ พึงแช่ดิน ถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟเดินตามหลังอุปัชฌาย์ไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟแล้วรับจีวรมาวาง ณ
ที่สมควร พึงถวายจุรณและดิน
ถ้าสามารถ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อจะเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้าปิดหน้า
และหลัง จึงเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดพระเถระ ไม่พึงกีดกันอาสนะพระนวกะ

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
พึงทำบริกรรม๑แก่อุปัชฌาย์ในเรือนไฟ เมื่อจะออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟปิดหน้าและหลัง จึงออกจากเรือนไฟ
พึงทำบริกรรม๒แก่อุปัชฌาย์แม้ในน้ำ ตนสรงน้ำเสร็จแล้ว พึงขึ้นก่อนเช็ดตัว
ให้แห้งแล้วผลัดผ้า พึงเช็ดน้ำจากตัวอุปัชฌาย์ ถวายผ้านุ่ง สังฆาฏิ ถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟมาก่อน ปูอาสนะ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ นำน้ำฉัน
มาถวายอุปัชฌาย์
ถ้าอุปัชฌาย์ต้องการจะให้เรียน พึงเรียน
ถ้าอุปัชฌาย์ต้องการจะให้สอบถามอรรถ พึงสอบถาม
อุปัชฌาย์อยู่ในวิหารใด ถ้าวิหารนั้นสกปรก ถ้าสามารถ พึงชำระให้สะอาด
เมื่อจะชำระวิหารให้สะอาด พึงขนบาตรและจีวรออกก่อน วางไว้ ณ ที่สมควร
พึงขนผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร
เตียง ตั่ง สัทธิวิหาริกพึงยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ
บานประตูและกรอบประตู ขนออกไปตั้งไว้ ณ ที่สมควร เขียงรองเตียง กระโถน
พนักพิง พึงขนออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร พรมปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม
ค่อยขนออกมาวาง ณ ที่สมควร
ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดเพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและมุมห้อง
พึงเช็ด
ถ้าฝาที่ทาน้ำมันหรือพื้นทาสีดำขึ้นรา พึงใช้ผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด
ถ้าเป็นพื้นไม่ได้ทา พึงใช้น้ำประพรมเช็ด อย่าให้วิหารคลาคล่ำด้วยฝุ่นละออง
พึงเก็บหยากเยื่อไปทิ้ง ณ ที่สมควร
พรมปูพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับปูไว้ตามเดิม เขียงรองเตียง พึงผึ่งแดด
เช็ด ขนกลับวางไว้ตามเดิม
เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดด ชำระ ปัด ยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ
บานประตูและกรอบประตู ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน

เชิงอรรถ :
๑ ทำบริกรรมในเรือนไฟ หมายถึงการถวายขี้เถ้า ดินเหนียว และน้ำร้อนเป็นต้น (วิ.สงฺคห. ๑๘๓/๒๕๘)
๒ ทำบริกรรมในน้ำ หมายถึงการขัดถูร่างกาย (วิ.สงฺคห. ๑๘๓/๒๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับวางปูไว้ตามเดิม กระโถน พนักพิง พึงผึ่งแดด เช็ดถู
ขนกลับวางไว้ตามเดิม
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
ถ้าลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก
ถ้าพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก
ถ้าพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ
ถ้าพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้
ถ้าเป็นฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน
ถ้าเป็นฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน
ถ้าบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎีรก พึงปัดกวาด ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี
พึงจัดเตรียมไว้ ถ้าหม้อชำระไม่มีน้ำ พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ
ถ้าอุปัชฌาย์เกิดความไม่ยินดี สัทธิวิหาริกพึงช่วยระงับ หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌาย์
ถ้าอุปัชฌาย์เกิดความรำคาญ สัทธิวิหาริกพึงช่วยบรรเทา หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌาย์
ถ้าอุปัชฌาย์เกิดความเห็นผิด สัทธิวิหาริกพึงให้สละเสีย หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยให้สละเสีย หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อุปัชฌาย์
ถ้าอุปัชฌาย์ต้องอาบัติหนัก๑ ควรแก่ปริวาส สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อุปัชฌาย์”

เชิงอรรถ :
๑ อาบัติหนัก ในที่นี้หมายถึงอาบัติสังฆาทิเสส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอุปัชฌาย์เข้าหาอาบัติเดิม”
ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่มานัต๑ สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อุปัชฌาย์”
ถ้าอุปัชฌาย์ควรแก่อัพภาน๒ สัทธิวิหาริกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานอุปัชฌาย์”
ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม๓ คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม
ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรม๔แก่อุปัชฌาย์ สัทธิวิหาริกพึงทำการ
ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อุปัชฌาย์หรือ
พึงเปลี่ยนไปเป็นโทษเบา” หรือว่าอุปัชฌาย์ได้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม
ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว สัทธิวิหาริกพึง
ทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ อุปัชฌาย์พึงกลับประพฤติชอบ
พึงหายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้ สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย”

เชิงอรรถ :
๑ มานัต เป็นชื่อวุฏฐานวิธี คือระเบียบปฏิบัติในการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส แปลว่า นับ หมายถึงนับ
ราตรี ๖ ราตรี ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ถ้าปกปิดไว้ ต้องอยู่ปริวาสเท่าวันที่ปกปิดก่อน จึงจะขอ
มานัตได้ แต่ถ้าไม่ได้ปกปิดไว้ สามารถขอมานัตได้ แล้วประพฤติมานัต ๖ ราตรี (กงฺขา.อ. ๑๗๘)
๒ อัพภาน เป็นชื่อวุฏฐานวิธีที่เป็นขั้นตอนสุดท้าย ภิกษุผู้ประพฤติมานัตครบ ๖ ราตรีแล้ว ขออัพภาน
จากสงฆ์ ๒๐ รูป เมื่อสงฆ์สวดอัพภานแล้ว ถือว่าภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสนั้นบริสุทธิ์ สมควรอยู่
ร่วมกับภิกษุสงฆ์ต่อไป (กงฺขา.อ. ๑๗๘-๑๗๙)
๓ ทำกรรม หมายถึงลงโทษ
๔ ตัชชนียกรรม คือ การขู่, การปราม (วิ.ม. ๕/๔๐๗-๔๐๘/๒๐๔-๒๐๕)
นิยสกรรม คือ การถอดยศ, การปลดออกจากตำแหน่ง (วิ.ม. ๕/๔๑๒/๒๐๗,๔๒๓/๒๑๒)
ปัพพาชนียกรรม คือ การไล่ออกจากหมู่, การไล่ออกจากวัด (วิ.ม. ๕/๔๑๓/๒๐๘)
ปฏิสารณียกรรม คือ การให้ระลึกความผิด (วิ.ม. ๕/๔๑๔/๒๐๘)
อุกเขปนียกรรม คือ การกันออกจากหมู่, การยกออกจากหมู่ (วิ.ม. ๕/๔๑๕/๒๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๕. อุปัชฌายวัตตกถา
ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องซัก สัทธิวิหาริกพึงซัก หรือพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงซักจีวรของอุปัชฌาย์”
ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องตัดเย็บ สัทธิวิหาริกพึงตัดเย็บ หรือพึงทำการ
ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงตัดเย็บจีวรของอุปัชฌาย์”
ถ้าน้ำย้อมของอุปัชฌาย์จะต้องต้ม สัทธิวิหาริกพึงต้ม หรือพึงทำการ
ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงต้มน้ำย้อมของอุปัชฌาย์”
ถ้าจีวรของอุปัชฌาย์จะต้องย้อม สัทธิวิหาริกพึงย้อม หรือพึงทำการขวน
ขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงย้อมจีวรของอุปัชฌาย์” เมื่อจะ
ย้อมจีวร พึงย้อม พลิกกลับไปกลับมาดี ๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย
ไม่พึงหลีกไป
สัทธิวิหาริกไม่บอกอุปัชฌาย์ ไม่พึงให้บาตรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบาตร
ของภิกษุบางรูป ไม่พึงให้จีวรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับจีวรของภิกษุบางรูป ไม่
พึงให้บริขารแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบริขารของภิกษุบางรูป ไม่พึงปลงผมให้
ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปปลงผมให้ ไม่พึงทำบริกรรมแก่ภิกษุบางรูป
ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปทำบริกรรมให้ ไม่พึงทำการขวนขวายแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึง
สั่งภิกษุบางรูปให้ทำการขวนขวาย ไม่พึงเป็นปัจฉาสมณะของภิกษุบางรูป ไม่พึง
พาภิกษุบางรูปไปเป็นปัจฉาสมณะ ไม่พึงนำบิณฑบาตไปถวายภิกษุบางรูป ไม่พึง
สั่งภิกษุบางรูปให้นำบิณฑบาตไปถวาย
สัทธิวิหาริกไม่บอกลาอุปัชฌาย์ ไม่พึงเข้าหมู่บ้าน ไม่พึงไปป่าช้า ไม่พึงออกไป
ต่างถิ่น๑ ถ้าอุปัชฌาย์เป็นไข้ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าอุปัชฌาย์นั้น
จะหาย
อุปัชฌายวัตตกถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงไปอยู่ที่อื่น (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๘๓/๒๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๖. สัทธิวิหาริกวัตตกถา
๑๖. สัทธิวิหาริกวัตตกถา๑
ว่าด้วยสัทธิวิหาริกวัตร
[๖๗] ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์พึงประพฤติชอบในสัทธิวิหาริก วิธีประพฤติ
ชอบในสัทธิวิหาริกนั้นมีดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์พึงสงเคราะห์อนุเคราะห์สัทธิวิหาริก ด้วยอุทเทส
ปริปุจฉา โอวาท และอนุศาสน์
ถ้าอุปัชฌาย์มีบาตร สัทธิวิหาริกไม่มีบาตร อุปัชฌาย์พึงถวายบาตรแก่
สัทธิวิหาริก หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ บาตรพึงเกิดขึ้น
แก่สัทธิวิหาริก”
ถ้าอุปัชฌาย์มีจีวร สัทธิวิหาริกไม่มีจีวร อุปัชฌาย์พึงถวายจีวรแก่สัทธิวิหาริก
หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ จีวรพึงเกิดขึ้นแก่สัทธิวิหาริก”
ถ้าอุปัชฌาย์มีบริขาร สัทธิวิหาริกไม่มีบริขาร อุปัชฌาย์พึงถวายบริขารแก่
สัทธิวิหาริก หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ บริขารพึงเกิดขึ้น
แก่สัทธิวิหาริก”
ถ้าสัทธิวิหาริกเป็นไข้ อุปัชฌาย์พึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ถวายไม้ชำระฟัน น้ำล้าง
หน้า ปูอาสนะ
ถ้าข้าวต้มมี พึงล้างภาชนะใส่ข้าวต้มเข้าไปถวาย เมื่อสัทธิวิหาริกฉันข้าวต้ม
เสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับภาชนะมาถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเก็บงำไว้
เมื่อสัทธิวิหาริกลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าสัทธิวิหาริก ต้องการจะเข้าหมู่บ้าน พึงถวายผ้านุ่ง รับผ้านุ่งอาศัย ถวาย
ประคดเอว ถวายสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน ล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำ ปูอาสนะ
ไว้โดยกำหนดว่า “เวลาเพียงเท่านี้ สัทธิวิหาริกจักกลับมา” พึงเตรียมน้ำล้างเท้า
ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้านุ่งอาศัย
รับผ้านุ่งมา

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จู. ๗/๓๗๗-๓๗๘/๑๘๐-๑๘๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๖. สัทธิวิหาริกวัตตกถา
ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อจะพับ
จีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ตั้งใจว่า ตรงกลางจะได้ไม่มีรอยพับ พึงม้วน
ประคตเอวใส่ขนดจีวร
ถ้าบิณฑบาตมี และสัทธิวิหาริกต้องการจะฉัน พึงถวายน้ำแล้วนำบิณฑบาต
เข้าไปถวาย นำน้ำฉันมาถวาย เมื่อสัทธิวิหาริกฉันเสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับบาตรมา
ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเช็ดให้สะเด็ดน้ำผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้ง
ไว้ที่แดด
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
เมื่อสัทธิวิหาริกลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ พึงเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าสัทธิวิหาริกต้องการจะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าเธอต้องการน้ำเย็น
พึงจัดน้ำเย็นให้ ถ้าเธอต้องการน้ำอุ่น พึงจัดน้ำอุ่นถวาย
ถ้าสัทธิวิหาริกต้องการจะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุรณ พึงแช่ดิน ถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟเดินไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟแล้วรับจีวรมาวาง ณ ที่สมควร พึงถวาย
จุรณและดิน
ถ้าสามารถ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อจะเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้าปิดหน้า
และหลัง จึงเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดพระเถระ ไม่พึงกีดกันอาสนะพระนวกะ พึงทำ
บริกรรมแก่สัทธิวิหาริกในเรือนไฟ เมื่อจะออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับเรือน
ไฟปิดหน้าและหลัง จึงออกจากเรือนไฟ
พึงทำบริกรรมแก่สัทธิวิหาริกแม้ในน้ำ ตนสรงเสร็จแล้ว พึงขึ้นก่อนเช็ดตัวให้
แห้งแล้วผลัดผ้า พึงเช็ดน้ำจากตัวสัทธิวิหาริก ถวายผ้านุ่ง สังฆาฏิ ถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟมาก่อน ปูอาสนะ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ นำน้ำฉัน
มาถวายสัทธิวิหาริก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๘๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๖. สัทธิวิหาริกวัตตกถา
สัทธิวิหาริกอยู่ในวิหารใด ถ้าวิหารนั้นสกปรก ถ้าสามารถ พึงชำระให้สะอาด
เมื่อจะชำระวิหารให้สะอาด พึงขนบาตรและจีวรออกก่อน วางไว้ ณ ที่สมควร
พึงขนผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร
เตียง ตั่ง อุปัชฌาย์พึงยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบบาน
ประตูและกรอบประตู ขนออกไปตั้งไว้ ณ ที่สมควร เขียงรองเตียง กระโถน พนักพิง
พึงขนออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร พรมปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม ค่อยขนออก
มาวางไว้ ณ ที่สมควร
ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดเพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและมุม
ห้องพึงเช็ด
ถ้าฝาที่ทาน้ำมันหรือพื้นทาสีดำขึ้นรา พึงใช้ผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด
ถ้าเป็นพื้นไม่ได้ทา พึงใช้น้ำประพรมเช็ด อย่าให้วิหารคลาคล่ำด้วยฝุ่นละออง
พึงเก็บหยากเยื่อไปทิ้ง ณ ที่สมควร
พรมปูพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับปูไว้ตามเดิม เขียงรองเตียง พึง
ผึ่งแดด เช็ด ขนกลับวางไว้ตามเดิม
เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดด ชำระ ปัด ยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ
บานประตูและกรอบประตู ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน
พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับวางปูไว้ตามเดิม กระโถน พนักพิง พึงผึ่งแดด
เช็ดถู ขนกลับวางไว้ตามเดิม
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือข้าง
หนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
ถ้าลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก
ถ้าพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก
ถ้าพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๖. สัทธิวิหาริกวัตตกถา
ถ้าพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้
ถ้าเป็นฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน
ถ้าเป็นฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน
ถ้าบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎีรก พึงปัดกวาด ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี
พึงจัดเตรียมไว้ ถ้าหม้อน้ำชำระไม่มีน้ำ พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ
ถ้าสัทธิวิหาริกเกิดความไม่ยินดี อุปัชฌาย์พึงช่วยระงับ หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่สัทธิวิหาริก
ถ้าสัทธิวิหาริกเกิดความรำคาญ อุปัชฌาย์พึงช่วยบรรเทา หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่สัทธิวิหาริก
ถ้าสัทธิวิหาริกเกิดความเห็นผิด อุปัชฌาย์พึงให้สละเสีย หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยให้สละเสีย หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่สัทธิวิหาริก
ถ้าสัทธิวิหาริกต้องอาบัติหนัก ควรแก่ปริวาส อุปัชฌาย์พึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่สัทธิวิหาริก”
ถ้าสัทธิวิหาริกควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม อุปัชฌาย์พึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักสัทธิวิหาริกเข้าหาอาบัติเดิม”
ถ้าสัทธิวิหาริกควรแก่มานัต อุปัชฌาย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่สัทธิวิหาริก”
ถ้าสัทธิวิหาริกควรแก่อัพภาน อุปัชฌาย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานสัทธิวิหาริก”
ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนีย
กรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแก่สัทธิวิหาริก อุปัชฌาย์พึงทำการ
ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่สัทธิวิหาริกหรือพึง
เปลี่ยนไปเป็นโทษเบา” หรือว่าสัทธิวิหาริกได้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม
ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว อุปัชฌาย์พึงทำการ
ขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สัทธิวิหาริกพึงกลับประพฤติชอบ พึง
หายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้ สงฆ์พึงระงับกรรมนั้นเสีย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
ถ้าจีวรของสัทธิวิหาริกจะต้องซัก อุปัชฌาย์พึงบอกว่า “พึงซักอย่างนี้” หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงซักจีวรของสัทธิวิหาริก”
ถ้าจีวรของสัทธิวิหาริกจะต้องตัดเย็บ อุปัชฌาย์พึงบอกว่า “พึงตัดเย็บอย่างนี้”
หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงตัดเย็บจีวรของ
สัทธิวิหาริก”
ถ้าน้ำย้อมของสัทธิวิหาริกจะต้องต้ม อุปัชฌาย์พึงบอกว่า “พึงต้มอย่างนี้”
หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงต้มน้ำย้อมของ
สัทธิวิหาริก”
ถ้าจีวรของสัทธิวิหาริกจะต้องย้อม อุปัชฌาย์พึงบอกว่า “พึงย้อมอย่างนี้” หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงย้อมจีวรของสัทธิวิหาริก”
เมื่อจะย้อมจีวร พึงย้อมพลิกกลับไปกลับมาดี ๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยด ไม่ขาด
สาย ไม่พึงหลีกไป
ถ้าสัทธิวิหาริกเป็นไข้ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าสัทธิวิหาริกนั้น
จะหาย
สัทธิวิหาริกวัตตกถา จบ

๑๗. ปณามิตกถา
ว่าด้วยการประณาม
[๖๘] สมัยนั้น พวกสัทธิวิหาริกไม่ประพฤติชอบในอุปัชฌาย์ทั้งหลาย
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พวกสัทธิวิหาริกจึงได้ไม่ประพฤติชอบในพระอุปัชฌาย์ทั้งหลายเล่า” แล้วจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ
ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกสัทธิวิหาริกไม่ประพฤติ
ชอบในอุปัชฌาย์ทั้งหลาย จริงหรือ”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ ไฉน พวกสัทธิวิหาริก
จึงไม่ประพฤติชอบในอุปัชฌาย์ทั้งหลายเล่า” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ทรงแสดงธรรมีกถา
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกจะไม่ประพฤติชอบในอุปัชฌาย์
ไม่ได้ รูปใดไม่ประพฤติชอบ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงอนุญาตให้ประณาม
สัทธิวิหาริกทั้งหลายก็ยังไม่ประพฤติชอบอยู่เช่นเดิม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประณามสัทธิวิหาริก
ผู้ไม่ประพฤติชอบ

วิธีประณาม
ภิกษุทั้งหลาย ก็อุปัชฌาย์พึงประณามสัทธิวิหาริกอย่างนี้ว่า “ฉันประณาม
เธอ” หรือ “เธออย่าเข้ามาที่นี้” “เธอจงขนบาตรและจีวรของเธอไป” หรือ “เธอไม่
ต้องอุปัฏฐากฉัน”
อุปัชฌาย์ให้สัทธิวิหาริกรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ด้วยกายและวาจา
เป็นอันได้ประณามสัทธิวิหาริกแล้ว อุปัชฌาย์ไม่ให้สัทธิวิหาริกรู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้
ด้วยวาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกายและวาจา เป็นอันยังมิได้ประณามสัทธิวิหาริก

สัทธิวิหาริกไม่ขอขมา
สมัยนั้น สัทธิวิหาริกทั้งหลายถูกประณามแล้ว ก็ยังไม่ยอมขอขมาอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สัทธิวิหาริกขอขมา
อุปัชฌาย์”
สัทธิวิหาริกทั้งหลาย ก็ยังไม่ยอมขอขมาอุปัชฌาย์อยู่เช่นเดิม ภิกษุทั้งหลาย
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกถูกประณามแล้ว จะไม่
ขอขมาอุปัชฌาย์ไม่ได้ รูปใดไม่ขอขมา ต้องอาบัติทุกกฏ”

อุปัชฌาย์ไม่รับการขอขมา
สมัยนั้น อุปัชฌาย์ทั้งหลายถูกสัทธิวิหาริกขอขมา ก็ยังไม่ยอมให้ขมา
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปัชฌาย์รับการ
ขอขมา”
อุปัชฌาย์ทั้งหลายก็ยังไม่ยอมให้ขมาอยู่เช่นเดิม พวกสัทธิวิหาริกพากันหลีก
ไปเสียบ้าง สึกเสียบ้าง ไปเข้ารีตเดียรถีย์เสียบ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์ผู้ที่สัทธิวิหาริกขอขมา
จะไม่รับการขอขมาไม่ได้ รูปใดไม่รับการขอขมา ต้องอาบัติทุกกฏ”

ทรงปรับทุกกฏเมื่อประณามไม่ถูกต้อง
สมัยนั้น อุปัชฌาย์ทั้งหลายประณามสัทธิวิหาริกผู้ประพฤติชอบ ไม่ประณาม
สัทธิวิหาริกผู้ประพฤติมิชอบ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประพฤติชอบ
อุปัชฌาย์ไม่พึงประณาม รูปใดประณาม ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริก
ผู้ไม่ประพฤติชอบ อุปัชฌาย์จะไม่ประณามไม่ได้ รูปใดไม่ประณาม ต้องอาบัติทุกกฏ”

องค์แห่งการประณาม
ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์พึงประณามสัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. ไม่มีความหวังดี๑อย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์พึงประณามสัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์ไม่พึงประณามสัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย อุปัชฌาย์ไม่พึงประณามสัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรที่จะถูกประณาม คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. ไม่มีความหวังดีอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ควรที่จะถูกประณาม
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ควรที่จะถูกประณาม คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์

เชิงอรรถ :
๑ ภาวนา ความหวังดีในที่นี้หมายถึง เมตตาภาวนา (วิ.อ. ๓/๖๘/๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ไม่ควรที่
จะถูกประณาม
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เมื่ออุปัชฌาย์ไม่ประณาม
ย่อมมีโทษ เมื่อประณาม ย่อมไม่มีโทษ คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. ไม่มีความหวังดีอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ เมื่ออุปัชฌาย์ไม่
ประณาม ย่อมมีโทษ เมื่อประณาม ย่อมไม่มีโทษ
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เมื่ออุปัชฌาย์ประณาม
ย่อมมีโทษ เมื่อไม่ประณาม ย่อมไม่มีโทษ คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอุปัชฌาย์
ภิกษุทั้งหลาย สัทธิวิหาริกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ เมื่ออุปัชฌาย์
ประณาม ย่อมมีโทษ เมื่อไม่ประณาม ย่อมไม่มีโทษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
มูลเหตุให้เกิดการอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม
เรื่องพราหมณ์ซูบผอมเพราะไม่ได้บวช
[๖๙] สมัยนั้น พราหมณ์คนหนึ่ง เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอการบรรพชา
ภิกษุทั้งหลายไม่ประสงค์จะให้เขาบรรพชา
เขาเมื่อไม่ได้การบรรพชาในหมู่ภิกษุ จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง
เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์นั้นซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง
เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง จึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทำไมพราหมณ์
ผู้นั้นจึงได้ซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งเล่า”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “พราหมณ์นั่นได้เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอการ
บรรพชา ภิกษุทั้งหลายไม่ประสงค์จะให้เขาบรรพชา เขาเมื่อไม่ได้การบรรพชาใน
หมู่ภิกษุ จึงซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ใคร
ระลึกความดีของพราหมณ์นั้นได้บ้าง”
เมื่อตรัสถามอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระผู้มีภาคดังนี้ว่า “ข้า
พระองค์ระลึกความดีของพราหมณ์นั้นได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร เธอระลึกความดีอะไรของพราหมณ์นั้นได้”
“พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์นี้ พราหมณ์
นั้นได้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง ข้าพระองค์ระลึกความดีนี้ของพราหมณ์นั้นได้ พระ
พุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ๆ สารีบุตร จริงอยู่ สัตบุรุษทั้งหลายเป็นผู้กตัญญูกตเวที สารีบุตร
ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้พราหมณ์นั้นบรรพชาอุปสมบทเถิด”
“ข้าพระองค์จะให้พราหมณ์นั้นบรรพชาอุปสมบทอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว
รับสั่งภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย นับแต่วันนี้เป็นต้นไป เราห้ามการอุปสมบท
ด้วยไตรสรณคมน์ที่เราได้อนุญาตไว้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทด้วย
ญัตติจตุตถกรรม

วิธีให้อุปสมบทและกรรมวาจาให้อุปสมบท
ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงให้อุปสมบทอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศ
ให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า
[๗๐] “ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะ
(ผู้ขอบวชเป็นภิกษุ)ของท่านผู้มีชื่อนี้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท
มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของ
ท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็น
ด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใด
ไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าก็กล่าวความนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่าน
ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบทมีท่านผู้มีชื่อนี้
เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าก็กล่าวความนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า
ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่านผู้มีชื่อนี้ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบทมีท่าน
ผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้
เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
ผู้มีชื่อนี้สงฆ์ให้อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้”

เรื่องภิกษุประพฤติไม่สมควร
[๗๑] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพออุปสมบทแล้วได้ประพฤติไม่สมควร ภิกษุ
ทั้งหลายพากันกล่าวห้ามปรามว่า “อาวุโส ท่านอย่าได้กระทำอย่างนั้น เพราะการ
กระทำอย่างนั้นไม่ควร”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “กระผมมิได้ขอร้องท่านผู้มีอายุทั้งหลายว่า ‘จงให้กระผม
อุปสมบท’ ท่านทั้งหลายมิได้รับการขอร้องจากกระผม ให้กระผมอุปสมบททำไม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้พระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมิได้รับการขอร้อง ไม่พึงให้
กุลบุตรอุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
ภิกษุผู้ได้รับการขอร้องให้กุลบุตรอุปสมบทได้

วิธีขอการอุปสมบท
ภิกษุทั้งหลาย ก็อุปสัมปทาเปกขะพึงขออย่างนี้
อุปสัมปทาเปกขะพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า
ภิกษุทั้งหลาย นั่งกระโหย่ง ประนมมือ กล่าวคำขอการอุปสมบทอย่างนี้ว่า “ท่าน
ผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอการอุปสมบทต่อสงฆ์ ขอสงฆ์โปรดอนุเคราะห์ยกข้าพเจ้า
ขึ้นเถิด๑ เจ้าข้า”
พึงขอแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ
พึงขอแม้ครั้งที่ ๓ ฯลฯ
ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาว่า

เชิงอรรถ :
๑ ยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด หมายถึงยกขึ้นจากอกุศล แล้วให้ตั้งอยู่ในกุศล ในที่นี้หมายถึงยกขึ้นจากความเป็น
สามเณร ให้ตั้งอยู่ในความเป็นภิกษุ (วิ.อ. ๓/๗๑/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๙๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
กรรมวาจาให้อุปสมบท
[๗๒] ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะ
ของท่านผู้มีชื่อนี้ ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว พึงให้ผู้มีชื่อนี้
อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ นี่เป็นญัตติ
ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ผู้นี้มีชื่อนี้เป็นอุปสัมปทาเปกขะของท่าน
ผู้มีชื่อนี้ ผู้มีชื่อนี้ขออุปสมบทต่อสงฆ์ มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์ให้ผู้มีชื่อนี้
อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้ผู้มีชื่อนี้
อุปสมบท มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย
ท่านรูปนั้น พึงทักท้วง
แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้ากล่าวความนี้ ฯลฯ
ผู้มีชื่อนี้สงฆ์ให้อุปสมบทแล้ว มีท่านผู้มีชื่อนี้เป็นอุปัชฌาย์ สงฆ์เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้

เรื่องพราหมณ์บวชเพราะเห็นแก่ปากท้อง
[๗๓] สมัยนั้น ประชาชนในกรุงราชคฤห์ได้จัดลำดับภัตตาหารอันประณีตไว้
พราหมณ์คนหนึ่งมีความคิดว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้มีลักษณะ
นิสัยดี ประพฤติเรียบร้อย บริโภคอาหารดี นอนในห้องมิดชิด ถ้ากระไร เราพึง
บวชในพวกสมณะเชื้อสายศากยบุตร” ต่อมา จึงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา
ภิกษุทั้งหลายได้ให้บรรพชาอุปสมบท ครั้นเขาบวชแล้ว ลำดับภัตตาหารได้ล้มเลิกไป
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “ท่าน มาเถิด บัดนี้ พวกเราจักไปบิณฑบาตกัน”
ภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ผมไม่ได้บวชเพราะเหตุนี้ว่า จักเที่ยวบิณฑบาต
ถ้าท่านทั้งหลายถวายผม ผมจักฉัน ถ้าไม่ถวายผม ผมจักสึก ขอรับ”
ภิกษุทั้งหลายจึงถามว่า “อาวุโส ก็ท่านบวชเพราะเหตุแห่งปากท้องหรือ”
ท่านตอบว่า “ใช่ ขอรับ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๗. ปณามิตกถา
บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
ภิกษุจึงได้บวชในพระธรรมวินัยอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีอย่างนี้ เพราะเหตุแห่ง
ปากท้องเล่า” แล้วจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ

ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่าเธอบวชเพราะเหตุ
แห่งปากท้อง จริงหรือ”
ภิกษุนั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้บวชใน
ธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีอย่างนี้ เพราะเหตุแห่งปากท้องเล่า โมฆบุรุษ การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นทรงตำหนิแล้ว ทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ให้อุปสมบทบอกนิสสัย ๔ คือ

นิสสัย ๔
๑. บรรพชาอาศัยโภชนะคือคำข้าวที่พึงได้ด้วยปลีแข้งเธอพึงทำอุตสาหะ
ในโภชนะคือคำข้าวที่พึงได้ด้วยปลีแข้งนั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ สังฆภัต
อุทเทสภัต นิมันตนภัต สลากภัต ปักขิกภัต อุโปสถิกภัต ปาฏิปทิกภัต๑
๒. บรรพชาอาศัยผ้าบังสุกุล เธอพึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลนั้นจน
ตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน
ผ้าเจือกัน

เชิงอรรถ :
๑ สังฆภัต คือ ภัตตาหารถวายสงฆ์ทั้งหมด
อุทเทสภัต คือ ภัตตาหารถวายภิกษุ ๒ - ๓ รูป
นิมันตนภัต คือ ภัตตาหารที่นิมนต์แล้วถวาย
สลากภัต คือ ภัตตาหารที่นิมนต์ให้จับสลากแล้วถวาย(ตามสลาก)
ปักขิกภัต คือ ภัตตาหารถวายปักษ์(๑๕ วัน)ละ ๑ ครั้ง
อุโปสถิกภัต คือ ภัตตาหารถวายในวันอุโบสถ
ปาฏิปทิกภัต คือ ภัตตาหารถวายในวันแรม ๑ ค่ำ (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๗๑-๗๓/๒๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
๓. บรรพชาอาศัยเสนาสนะคือควงไม้ เธอพึงทำอุตสาหะในเสนาสนะ
คือ ควงไม้นั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว ปราสาท
เรือนโล้น ถ้ำ
๔. บรรพชาอาศัยยาคือน้ำมูตรเน่า เธอพึงทำอุตสาหะในยาคือน้ำมูตร
เน่านั้นจนตลอดชีวิต อติเรกลาภ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
อุปัชฌายวัตตภาณวารที่ ๕ จบ
ปณามิตกถา จบ

๑๘. อาจริยวัตตกถา๑
ว่าด้วยอาจริยวัตร

เรื่องการบอกนิสสัยแก่มาณพก่อนบวช
[๗๔] สมัยนั้น มาณพคนหนึ่งเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา ภิกษุ
ทั้งหลายได้บอกนิสสัยแก่เขาก่อนบวช เขากล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านขอรับ ถ้า
บวชแล้ว ท่านทั้งหลายจะพึงบอกนิสสัยแก่กระผม กระผมก็จะยินดียิ่ง บัดนี้
กระผมจักไม่บวช ขอรับ เพราะว่านิสสัยเป็นสิ่งที่น่าชังน่าเกลียดสำหรับกระผม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายไม่พึงบอกนิสสัยก่อนบวช รูปใดบอก
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้บอกนิสสัยพออุปสมบทเสร็จ”

เรื่องให้อุปสมบทด้วยคณะ
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายให้อุปสมบทด้วยคณะมีพวก ๒ บ้าง มีพวก ๓ บ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จู. ๗/๓๗๙-๓๘๐/๑๘๔-๑๘๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงให้อุปสมบทด้วยคณะมีพวก
หย่อน ๑๐ ภิกษุรูปใด ให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้
อุปสมบทด้วยคณะมีพวก ๑๐ หรือมีพวกเกิน ๑๐ ได้”

เรื่องอุปัชฌาย์มีพรรษาเดียวให้กุลบุตรบวช
[๗๕] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายมีพรรษา ๑ บ้าง มีพรรษา ๒ บ้าง ให้
สัทธิวิหาริกอุปสมบท แม้ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรมีพรรษาเดียว ก็ให้สัทธิวิหาริก
อุปสมบท ท่านออกพรรษาแล้ว มีพรรษา ๒ ได้พาสัทธิวิหาริกมีพรรษา ๑ เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
อันการที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย
นั่นเป็นพุทธประเพณี ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอุปเสนวังคันต
บุตรว่า “ภิกษุ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ เธอเดินทางมาโดยไม่
ลำบากหรือ”
ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกราบทูลว่า “ยังสบายดี พระพุทธเจ้าข้า ยังพอ
เป็นอยู่ได้ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เดินทางมาโดยไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าข้า”

พุทธประเพณี
พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงทราบเรื่องตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบ
กาลอันควร ตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ตรัสถามเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ตรัส
ถามเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ทรงขจัดเรื่องที่ไม่เป็น
ประโยชน์เสียด้วยอริยมรรคแล้ว
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย สอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยเหตุ ๒ ประการ
คือ จะทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรว่า “เธอมี
พรรษาเท่าไร ภิกษุ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้ ๒ พรรษาแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุรูปนี้ มีพรรษาเท่าไร”
“มีพรรษาเดียว พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุรูปนี้ เป็นอะไรกับเธอ”
“เป็นสัทธิวิหาริกของข้าพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า”

ทรงตำหนิ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น
ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย โมฆบุรุษ
เธอยังเป็นผู้ที่ผู้อื่นจะต้องตักเตือนพร่ำสอน ไฉนจึงได้สำคัญตนเพื่อตักเตือนพร่ำสอน
ผู้อื่นเล่า เธอเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับหมู่เร็วยิ่งนัก
การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
ให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นตำหนิแล้วทรงแสดงธรรมีกถา รับสั่งกับภิกษุ
ทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีพรรษาหย่อน ๑๐ ไม่พึงให้อุปสมบท รูปใดให้
อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุมีพรรษาครบ ๑๐
หรือมีพรรษาเกิน ๑๐ ให้อุปสมบทได้”

เรื่องอุปัชฌาย์โง่เขลา
[๗๖] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดว่า “เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษา
ครบ ๑๐” แต่เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ให้อุปสมบท ปรากฏว่า อุปัชฌาย์เป็น
ผู้โง่เขลา สัทธิวิหาริกเป็นบัณฑิตก็มี อุปัชฌาย์เป็นผู้ไม่ฉลาด สัทธิวิหาริกเป็น
ผู้ฉลาดก็มี อุปัชฌาย์มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็นพหูสูตก็มี อุปัชฌาย์มีปัญญาทราม
สัทธิวิหาริกมีปัญญาดีก็มี
แม้ภิกษุรูปหนึ่งเคยเป็นอัญเดียรถีย์ ถูกอุปัชฌาย์ว่ากล่าวโดยชอบธรรม ก็โต้
เถียงอุปัชฌาย์ไปเข้าลัทธิเดียรถีย์นั้นดังเดิม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
บรรดาภิกษุที่มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุ
ทั้งหลายจึงได้อ้างว่า ‘เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษาครบ ๑๐’ แต่เป็นผู้โง่เขลา
ไม่ฉลาด ให้อุปสมบท ปรากฏว่า อุปัชฌาย์เป็นผู้โง่เขลา สัทธิวิหาริกเป็นบัณฑิตก็มี
อุปัชฌาย์เป็นผู้ไม่ฉลาด สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาดก็มี อุปัชฌาย์มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริก
เป็นพหูสูตก็มี อุปัชฌาย์มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกมีปัญญาดีก็มี” จึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวก
ภิกษุได้อ้างว่า เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษาครบ ๑๐ แต่เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด
ให้อุปสมบท ปรากฏว่าอุปัชฌาย์เป็นผู้โง่เขลา สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาดก็มี อุปัชฌาย์
เป็นผู้ไม่ฉลาด สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาดก็มี อุปัชฌาย์มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็น
พหูสูตก็มี อุปัชฌาย์มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกมีปัญญาดีก็มี จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษ
เหล่านั้นจึงได้อ้างว่า เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษาครบ ๑๐ แต่เป็นผู้โง่เขลา
ไม่ฉลาด ให้อุปสมบทเล่า ปรากฏว่าอุปัชฌาย์เป็นผู้โง่เขลา สัทธิวิหาริกเป็นบัณฑิตก็มี
อุปัชฌาย์เป็นผู้ไม่ฉลาด สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาดก็มี อุปัชฌาย์มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริก
เป็นพหูสูตก็มี อุปัชฌาย์มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกมีปัญญาดีก็มี ภิกษุทั้งหลาย
การกระทำของพวกโมฆบุรุษนั่น มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่
เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมีกถารับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ไม่พึงให้อุปสมบท รูปใด
ให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้ภิกษุผู้ฉลาดผู้สามารถ
มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐ ให้อุปสมบทได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
เรื่องอุปัชฌาย์หลีกไป
[๗๗] สมัยนั้น เมื่ออุปัชฌาย์หลีกไปบ้าง สึกเสียบ้าง มรณภาพบ้าง ไปเข้า
รีตเดียรถีย์บ้าง ภิกษุทั้งหลายไม่มีอาจารย์ ไม่มีผู้คอยตักเตือนพร่ำสอน จึงนุ่งห่มไม่
เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคนทั้งหลายกำลังบริโภค
ก็ยื่นบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปบนของบริโภคบ้าง บนของเคี้ยวบ้าง บน
ของลิ้มบ้าง บนน้ำดื่มบ้าง ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง ด้วยตนเองมาฉัน
ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้าง
คนทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนสมณะเชื้อสายศากย
บุตรทั้งหลายจึงได้นุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร เที่ยวบิณฑบาต เมื่อคน
ทั้งหลายกำลังบริโภค ก็ยื่นบาตรสำหรับเที่ยวบิณฑบาตเข้าไปบนของบริโภคบ้าง
บนของเคี้ยวบ้าง บนของลิ้มบ้าง บนน้ำดื่มบ้าง ออกปากขอแกงบ้าง ข้าวสุกบ้าง
ด้วยตนเองมาฉัน ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้าง เหมือนพวกพราหมณ์ในสถานที่เลี้ยง
พราหมณ์ฉะนั้นเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเหล่านั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาอยู่ บรรดาภิกษุ
ผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนภิกษุทั้งหลาย
จึงได้นุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร ... ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้างเล่า” จึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวก
ภิกษุนุ่งห่มไม่เรียบร้อย มีมารยาทไม่สมควร ... ส่งเสียงดังในโรงฉันบ้าง จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

เรื่องถือนิสสัยอยู่ ๑๐ พรรษา
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ไฉน โมฆบุรุษ
เหล่านั้น ฯลฯ” ครั้นแล้วทรงแสดงธรรมีกถา รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตอาจารย์ อาจารย์จักเข้าไปตั้งจิตสนิทสนมในอันเตวาสิกฉันบุตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
อันเตวาสิกจักเข้าไปตั้งจิตสนิทสนมในอาจารย์ฉันบิดา เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจารย์และ
อันเตวาสิกจักมีความเคารพยำเกรง ประพฤติกลมเกลียวกัน จักถึงความเจริญ
งอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อาศัยภิกษุ
มีพรรษา ๑๐ อยู่ อนุญาตให้ภิกษุมีพรรษา ๑๐ ให้นิสสัยได้”

วิธีถือนิสสัย
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกพึงถืออาจารย์อย่างนี้
อันเตวาสิกนั้นพึงห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กราบเท้า นั่งกระโหย่ง
ประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้า
จักอาศัยท่านอยู่ ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจักอาศัย
ท่านอยู่ ท่านผู้เจริญ ท่านจงเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอาศัยท่านอยู่”
อาจารย์ให้อันเตวาสิกรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ด้วยกายและวาจา
ว่า “ดีละ” ว่า “เบาใจละ” ว่า “ชอบแก่อุบายละ” ว่า “สมควรละ” หรือว่า
“จงประพฤติปฏิบัติให้น่าเลื่อมใส” อาจารย์ชื่อว่าเป็นผู้ที่อันเตวาสิกถือแล้ว
อาจารย์ไม่ให้อันเตวาสิกรู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้ด้วยวาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกาย
และวาจา อาจารย์เป็นผู้ที่อันเตวาสิกยังมิได้ถือ

อาจริยวัตร
[๗๘] ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกพึงประพฤติชอบในอาจารย์ วิธีประพฤติ
ชอบในอาจารย์นั้นมีดังนี้
อันเตวาสิกพึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถอดรองเท้า ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
ถวายไม้ชำระฟัน น้ำล้างหน้า ปูอาสนะ
ถ้าข้าวต้มมี พึงล้างภาชนะใส่ข้าวต้มเข้าไปถวาย เมื่ออาจารย์ฉันข้าวต้ม
เสร็จแล้ว พึงถวายน้ำรับภาชนะมา ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้ว
เก็บงำไว้ เมื่ออาจารย์ลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
ถ้าอาจารย์ต้องการจะเข้าหมู่บ้าน พึงถวายผ้านุ่ง รับผ้านุ่งอาศัย ถวาย
ประคดเอว ถวายสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน ล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำ
ถ้าอาจารย์หวังจะให้เป็นปัจฉาสมณะ พึงนุ่งให้เรียบร้อยปกปิดได้มณฑล ๓
คาดประคดเอว ห่มสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน กลัดลูกดุม ล้างบาตรถือไป เป็นปัจฉา
สมณะของอาจารย์ พึงเดินไม่ให้ห่างนัก ไม่ให้ชิดนัก พึงรับบาตรที่มีของบรรจุอยู่
เมื่ออาจารย์กำลังกล่าว ไม่พึงกล่าวสอดขึ้นในระหว่าง อาจารย์กล่าวถ้อยคำ
ใกล้ต่ออาบัติ พึงห้ามเสีย
เมื่ออาจารย์จะกลับ พึงมาก่อนแล้วปูอาสนะไว้ พึงเตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรอง
เท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้านุ่งอาศัย รับผ้านุ่งมา
ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อจะ
พับจีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ตั้งใจว่า ตรงกลางจะได้ไม่มีรอยพับ
พึงม้วนประคดเอวใส่ขนดจีวร
ถ้าบิณฑบาตมี และอาจารย์ต้องการจะฉัน พึงถวายน้ำแล้วน้อมบิณฑบาต
เข้าไปถวาย นำน้ำฉันมาถวาย เมื่ออาจารย์ฉันเสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับบาตรมา
ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเช็ดให้สะเด็ดน้ำผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้
ที่แดด
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งจับบาตร ใช้มือข้าง
หนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
เมื่ออาจารย์ลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ พึงเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าอาจารย์ต้องการจะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าท่านต้องการน้ำเย็น
พึงจัดน้ำเย็นถวาย ถ้าท่านต้องการน้ำอุ่น พึงจัดน้ำอุ่นถวาย

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
ถ้าอาจารย์ต้องการจะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุรณ พึงแช่ดิน ถือตั่งสำหรับเรือน
ไฟเดินตามหลังอาจารย์ไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟแล้วรับจีวรมาวาง ณ ที่สมควร
จึงถวายจุรณและดิน
ถ้าสามารถ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อจะเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้าปิดหน้า
และหลัง จึงเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดพระเถระ ไม่พึงกีดกันอาสนะพระนวกะ
พึงทำบริกรรมแก่อาจารย์ในเรือนไฟ เมื่อจะออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟปิดหน้าและหลัง จึงออกจากเรือนไฟ
พึงทำบริกรรมแก่อาจารย์แม้ในน้ำ ตนสรงน้ำเสร็จแล้ว พึงขึ้นก่อนเช็ดตัวให้
แห้งแล้วผลัดผ้า พึงเช็ดน้ำจากตัวอาจารย์ ถวายผ้านุ่ง สังฆาฏิ ถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟมาก่อน ปูอาสนะ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ นำ
น้ำฉัน มาถวายอาจารย์
ถ้าอาจารย์ต้องการจะให้เรียน พึงเรียน
ถ้าอาจารย์ต้องการจะให้สอบถามอรรถ พึงสอบถาม
อาจารย์อยู่ในวิหารใด ถ้าวิหารนั้นสกปรก ถ้าสามารถ พึงชำระให้สะอาด
เมื่อจะชำระวิหารให้สะอาด พึงขนบาตรและจีวรออกก่อน วางไว้ ณ ที่สมควร
พึงขนผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกมาวาง ณ ที่สมควร
เตียง ตั่ง อันเตวาสิกพึงยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบบานประตู
และกรอบประตู ขนออกไปตั้งไว้ ณ ที่สมควร เขียงรองเตียง กระโถน พนักพิง
พึงขนออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร พรมปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม ค่อยขนออก
มาวาง ณ ที่สมควร
ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดเพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและ
มุมห้องพึงเช็ด
ถ้าฝาที่เขาทาน้ำมันหรือพื้นทาสีดำขึ้นรา ควรใช้ผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด
ถ้าเป็นพื้นไม่ได้ทา พึงใช้น้ำประพรมเช็ด อย่าให้วิหารคลาคล่ำด้วยฝุ่นละออง
พึงคัดหยากเยื่อไปทิ้ง ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๐๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
พรมปูพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับปูไว้ตามเดิม เขียงรองเตียง พึง
ผึ่งแดด เช็ด ขนกลับวางไว้ตามเดิม
เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดด ชำระ ปัด ยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ
บานประตูและกรอบประตู ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้า
ปูนอน พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับวางปูไว้ตามเดิม กระโถน พนักพิง พึง
ผึ่งแดด เช็ดถู ขนกลับวางไว้ตามเดิม
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
ถ้าลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก
ถ้าพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก
ถ้าพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ
ถ้าพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้
ถ้าเป็นฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน
ถ้าเป็นฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน
ถ้าบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎี รก พึงปัดกวาด ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี
พึงจัดเตรียมไว้ ถ้าหม้อชำระไม่มีน้ำ พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ
ถ้าอาจารย์เกิดความไม่ยินดี อันเตวาสิกพึงช่วยระงับ หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมีกถาแก่อาจารย์
ถ้าอาจารย์เกิดความรำคาญ อันเตวาสิกพึงช่วยบรรเทา หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมีกถาแก่อาจารย์
ถ้าอาจารย์เกิดความเห็นผิด อันเตวาสิกพึงให้สละเสีย หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยให้สละเสีย หรือพึงแสดงธรรมีกถาแก่อาจารย์
ถ้าอาจารย์ต้องอาบัติหนัก ควรแก่ปริวาส อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อาจารย์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๘. อาจริยวัตตกถา
ถ้าอาจารย์ควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอาจารย์เข้าหาอาบัติเดิม”
ถ้าอาจารย์ควรแก่มานัต อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไร
หนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อาจารย์”
ถ้าอาจารย์ควรแก่อัพภาน อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไร
หนอ สงฆ์พึงอัพภานอาจารย์”
ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม
ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแก่อาจารย์ อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อาจารย์หรือพึงเปลี่ยนไปเป็นโทษเบา”
หรือว่าอาจารย์ ได้ถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณีย
กรรม หรืออุกเขปนียกรรมแล้ว อันเตวาสิกพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไร
หนอ อาจารย์พึงกลับประพฤติชอบ พึงหายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้ สงฆ์พึงระงับ
กรรมนั้นเสีย”
ถ้าจีวรของอาจารย์จะต้องซัก อันเตวาสิกพึงซัก หรือพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงซักจีวรของอาจารย์”
ถ้าจีวรของอาจารย์จะต้องตัดเย็บ อันเตวาสิกพึงตัดเย็บ หรือพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงตัดเย็บจีวรของอาจารย์”
ถ้าน้ำย้อมของอาจารย์จะต้องต้ม อันเตวาสิกพึงต้ม หรือพึงทำการขวนขวาย
ว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงต้มน้ำย้อมของอาจารย์”
ถ้าจีวรของอาจารย์จะต้องย้อม อันเตวาสิกพึงย้อม หรือพึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงย้อมจีวรของอาจารย์” เมื่อจะย้อมจีวร พึงย้อม
พลิกกลับไปกลับมาดี ๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย ไม่พึงหลีกไป
อันเตวาสิกไม่บอกอาจารย์ ไม่พึงให้บาตรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบาตรของ
ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้จีวรแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับจีวรของภิกษุบางรูป ไม่พึงให้
บริขารแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงรับบริขารของภิกษุบางรูป ไม่พึงโกนผมให้ภิกษุบางรูป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา
ไม่พึงให้ภิกษุบางรูปโกนผมให้ ไม่พึงทำบริกรรมแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงให้ภิกษุ
บางรูปทำบริกรรมให้ ไม่พึงทำการขวนขวายแก่ภิกษุบางรูป ไม่พึงสั่งภิกษุบาง
รูปให้ทำการขวนขวาย ไม่พึงเป็นปัจฉาสมณะของภิกษุบางรูป ไม่พึงพาภิกษุบาง
รูปไปเป็นปัจฉาสมณะ ไม่พึงนำบิณฑบาตไปถวายภิกษุบางรูป ไม่พึงสั่งภิกษุบาง
รูปให้นำบิณฑบาตไปถวาย
อันเตวาสิกไม่บอกลาอาจารย์ ไม่พึงเข้าหมู่บ้าน ไม่พึงไปป่าช้า ไม่พึงออก
ไปต่างถิ่น ถ้าอาจารย์เป็นไข้ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าอาจารย์นั้น
จะหาย
อาจริยวัตตกถา จบ

๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา๑
ว่าด้วยอันเตวาสิกวัตร
[๗๙] ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงประพฤติชอบในอันเตวาสิก วิธีประพฤติชอบ
ในอันเตวาสิกนั้น มีดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงสงเคราะห์อนุเคราะห์อันเตวาสิก ด้วยอุทเทส
ปริปุจฉา โอวาท และอนุศาสน์
ถ้าอาจารย์มีบาตร อันเตวาสิกไม่มีบาตร อาจารย์พึงถวายบาตรแก่อันเตวาสิก
หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ บาตรพึงเกิดขึ้นแก่อันเตวาสิก”
ถ้าอาจารย์มีจีวร อันเตวาสิกไม่มีจีวร อาจารย์พึงถวายจีวรแก่อันเตวาสิก หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ จีวรพึงเกิดขึ้นแก่อันเตวาสิก”
ถ้าอาจารย์มีบริขาร อันเตวาสิกไม่มีบริขาร อาจารย์พึงถวายบริขารแก่
อันเตวาสิก หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ บริขารพึงเกิดขึ้น
แก่อันเตวาสิก”

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จู. ๗/๓๘๑-๓๘๒/๑๘๙-๑๙๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา
ถ้าอันเตวาสิกเป็นไข้ อาจารย์พึงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ถวายไม้ชำระฟัน น้ำล้างหน้า
ปูอาสนะ
ถ้าข้าวต้มมี พึงล้างภาชนะใส่ข้าวต้มเข้าไปถวาย เมื่ออันเตวาสิกฉันข้าวต้ม
เสร็จแล้ว พึงถวายน้ำ รับภาชนะมาถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเก็บงำไว้
เมื่ออันเตวาสิกลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าอันเตวาสิกต้องการจะเข้าหมู่บ้าน พึงถวายผ้านุ่ง รับผ้านุ่งอาศัย ถวาย
ประคดเอว ถวายสังฆาฏิที่พับซ้อนกัน ล้างบาตรแล้วถวายพร้อมทั้งน้ำ ปู
อาสนะไว้ โดยกำหนดว่า “เวลาเพียงเท่านี้ อันเตวาสิกจักกลับมา” พึงเตรียมน้ำ
ล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้องเช็ดเท้าไว้ พึงลุกขึ้นรับบาตรและจีวร พึงถวายผ้า
นุ่งอาศัย รับผ้านุ่งมา
ถ้าจีวรชุ่มเหงื่อ พึงผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึงผึ่งทิ้งไว้ที่แดด พึงพับจีวร เมื่อจะ
พับจีวร พึงพับจีวรให้เหลื่อมมุมกัน ๔ นิ้ว ตั้งใจว่า ตรงกลางจะได้ไม่มีรอยพับ
พึงม้วนประคดเอวใส่ขนดจีวร
ถ้าบิณฑบาตมี และอันเตวาสิกต้องการจะฉัน พึงถวายน้ำแล้วนำบิณฑบาต
เข้าไปถวาย นำน้ำฉันมาถวาย เมื่ออันเตวาสิกฉันเสร็จแล้ว พึงถวายน้ำรับบาตร
มา ถืออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ล้างแล้วเช็ดให้สะเด็ดน้ำผึ่งแดดครู่หนึ่ง ไม่พึง
ผึ่งทิ้งไว้ที่แดด
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ในจึงเก็บจีวร
เมื่ออันเตวาสิกลุกขึ้นแล้ว พึงยกอาสนะเก็บ พึงเก็บน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า
กระเบื้องเช็ดเท้า ถ้าที่นั้นรก พึงกวาด
ถ้าอันเตวาสิกต้องการจะสรงน้ำ พึงจัดน้ำสรงถวาย ถ้าเธอต้องการน้ำเย็น
พึงจัดน้ำเย็นถวาย ถ้าเธอต้องการน้ำอุ่น พึงจัดน้ำอุ่นถวาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา
ถ้าอันเตวาสิกต้องการจะเข้าเรือนไฟ พึงบดจุรณ พึงแช่ดิน ถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟเดินไป ถวายตั่งสำหรับเรือนไฟ แล้วรับจีวรมาวาง ณ ที่สมควร พึงถวาย
จุรณและดิน
ถ้าสามารถ พึงเข้าเรือนไฟ เมื่อจะเข้าเรือนไฟ พึงเอาดินทาหน้าปิดหน้า
และหลัง จึงเข้าเรือนไฟ ไม่พึงนั่งเบียดพระเถระ ไม่พึงกีดกันอาสนะพระนวกะ
พึงทำบริกรรมแก่อันเตวาสิกในเรือนไฟ เมื่อจะออกจากเรือนไฟ พึงถือตั่งสำหรับ
เรือนไฟปิดหน้าและหลัง จึงออกจากเรือนไฟ
พึงทำบริกรรมแก่อันเตวาสิกแม้ในน้ำ ตนสรงเสร็จแล้ว พึงขึ้นก่อนเช็ดตัวให้
แห้งแล้วผลัดผ้า พึงเช็ดน้ำจากตัวอันเตวาสิก ถวายผ้านุ่ง สังฆาฏิ ถือตั่ง
สำหรับเรือนไฟมาก่อน ปูอาสนะ เตรียมน้ำล้างเท้า ตั่งรองเท้า กระเบื้อง
เช็ดเท้าไว้ นำน้ำฉันมาถวายอันเตวาสิก
อันเตวาสิกอยู่ในวิหารใด ถ้าวิหารนั้นสกปรก ถ้าสามารถ พึงชำระให้สะอาด
เมื่อจะชำระวิหารให้สะอาด พึงขนบาตรและจีวรออกก่อน วางไว้ ณ ที่สมควร
พึงขนผ้าปูนั่ง ผ้าปูนอน ฟูก หมอน ออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร
เตียง ตั่ง อาจารย์พึงยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบบานประตู
และกรอบประตู ขนออกไปตั้งไว้ ณ ที่สมควร เขียงรองเตียง กระโถน พนักพิง
พึงขน ออกมาวางไว้ ณ ที่สมควร พรมปูพื้น พึงสังเกตที่ปูไว้เดิม ค่อยขนออก
มาวางไว้ ณ ที่สมควร
ถ้าในวิหารมีหยากเยื่อ พึงกวาดเพดานลงมาก่อน กรอบหน้าต่างและมุมห้อง
พึงเช็ด
ถ้าฝาที่ทาน้ำมันหรือพื้นทาสีดำขึ้นรา พึงใช้ผ้าชุบน้ำบิดแล้วเช็ด
ถ้าเป็นพื้นไม่ได้ทา พึงใช้น้ำประพรมเช็ด อย่าให้วิหารคลาคล่ำด้วยฝุ่นละออง
พึงเก็บหยากเยื่อไปทิ้ง ณ ที่สมควร
พรมปูพื้น พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับปูไว้ตามเดิม เขียงรองเตียง พึง
ผึ่งแดด เช็ด ขนกลับวางไว้ตามเดิม
เตียง ตั่ง พึงผึ่งแดด ชำระ ปัด ยกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ครูด ไม่ให้กระทบ
บานประตูและกรอบหน้าต่าง ขนกลับตั้งไว้ตามเดิม ฟูก หมอน ผ้าปูนั่ง ผ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา
ปูนอน พึงผึ่งแดด ชำระ ตบ ขนกลับวางปูไว้ตามเดิม กระโถน พนักพิง พึง
ผึ่งแดด เช็ดถู ขนกลับวางไว้ตามเดิม
พึงเก็บบาตรและจีวร เมื่อจะเก็บบาตร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือบาตร ใช้มือ
ข้างหนึ่งคลำใต้เตียงหรือใต้ตั่ง จึงเก็บบาตร ไม่พึงเก็บบาตรไว้บนพื้นที่ไม่มีสิ่งใดรอง
เมื่อจะเก็บจีวร พึงใช้มือข้างหนึ่งถือจีวร ใช้มือข้างหนึ่งลูบราวจีวรหรือสายระเดียง
เอาชายไว้นอก เอาขนดไว้ใน จึงเก็บจีวร
ถ้าลมเจือฝุ่นละอองพัดมาทางทิศตะวันออก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันออก
ถ้าพัดมาทางทิศตะวันตก พึงปิดหน้าต่างด้านตะวันตก
ถ้าพัดมาทางทิศเหนือ พึงปิดหน้าต่างด้านเหนือ
ถ้าพัดมาทางทิศใต้ พึงปิดหน้าต่างด้านใต้
ถ้าเป็นฤดูหนาว พึงเปิดหน้าต่างกลางวัน ปิดกลางคืน
ถ้าเป็นฤดูร้อน พึงปิดหน้าต่างกลางวัน เปิดกลางคืน
ถ้าบริเวณ ซุ้ม โรงฉัน โรงไฟ วัจกุฎีรก พึงปัดกวาด ถ้าน้ำฉันน้ำใช้ไม่มี
พึงจัดเตรียมไว้ ถ้าหม้อชำระไม่มีน้ำ พึงตักน้ำใส่หม้อชำระ
ถ้าอันเตวาสิกเกิดความไม่ยินดี อาจารย์พึงช่วยระงับ หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยระงับ หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อันเตวาสิก
ถ้าอันเตวาสิกเกิดความรำคาญ อาจารย์พึงช่วยบรรเทา หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ ช่วยบรรเทา หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อันเตวาสิก
ถ้าอันเตวาสิกเกิดความเห็นผิด อาจารย์พึงให้สละเสีย หรือพึงบอกภิกษุอื่น
ให้ช่วยสละเสีย หรือพึงแสดงธรรมกถาแก่อันเตวาสิก
ถ้าอันเตวาสิกต้องอาบัติหนัก ควรแก่ปริวาส อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้ปริวาสแก่อันเตวาสิก”
ถ้าอันเตวาสิกควรแก่การชักเข้าหาอาบัติเดิม อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์พึงชักอันเตวาสิกเข้าหาอาบัติเดิม”
ถ้าอันเตวาสิกควรแก่มานัต อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงให้มานัตแก่อันเตวาสิก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๑๙. อันเตวาสิกวัตตกถา
ถ้าอันเตวาสิกควรแก่อัพภาน อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบาย
อย่างไรหนอ สงฆ์พึงอัพภานอันเตวาสิก”
ถ้าสงฆ์ต้องการจะทำกรรม คือ ตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม
ปฏิสารณียกรรม หรืออุกเขปนียกรรมแก่อันเตวาสิก อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า
“ด้วยอุบายอย่างไรหนอ สงฆ์ไม่พึงทำกรรมแก่อันเตวาสิกหรือพึงเปลี่ยนไปเป็นโทษเบา”
หรือว่าอันเตวาสิกถูกสงฆ์ลงตัชชนียกรรม นิยสกรรม ปัพพาชนียกรรม ปฏิสารณีย
กรรม หรืออุเขปนียกรรมแล้ว อาจารย์พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไร
หนอ อันเตวาสิกพึงกลับประพฤติชอบ พึงหายเย่อหยิ่ง พึงกลับตัวได้ สงฆ์พึงระงับ
กรรมนั้นเสีย”
ถ้าจีวรของอันเตวาสิกจะต้องซัก อาจารย์พึงบอกว่า “พึงซักอย่างนี้” หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงซักจีวรของอันเตวาสิก”
ถ้าจีวรของอันเตวาสิก จะต้องตัดเย็บ อาจารย์พึงบอกว่า “พึงตัดเย็บอย่างนี้”
หรือพึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงตัดเย็บจีวรของ
อันเตวาสิก”
ถ้าน้ำย้อมของอันเตวาสิกจะต้องต้ม อาจารย์พึงบอกว่า “พึงต้มอย่างนี้” หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงต้มน้ำย้อมของ
อันเตวาสิก”
ถ้าจีวรของอันเตวาสิกจะต้องย้อม อาจารย์พึงบอกว่า “พึงย้อมอย่างนี้” หรือ
พึงทำการขวนขวายว่า “ด้วยอุบายอย่างไรหนอ ใคร ๆ พึงย้อมจีวรของอันเตวาสิก”
เมื่อจะย้อมจีวร พึงย้อมพลิกกลับไปกลับมาดี ๆ เมื่อหยาดน้ำย้อมยังหยดไม่ขาดสาย
ไม่พึงหลีกไป
ถ้าอันเตวาสิกเป็นไข้ พึงพยาบาลจนตลอดชีวิต พึงรอจนกว่าอันเตวาสิกนั้น
จะหาย
อันเตวาสิกวัตตกถา จบ
ภาณวารที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๐. ปฌามนาขมาปนา
๒๐. ปณามนาขมาปนา
ว่าด้วยการประณามและการขอขมา

เรื่องอันเตวาสิกไม่ประพฤติชอบ
[๘๐] สมัยนั้น พวกอันเตวาสิกไม่ประพฤติชอบในอาจารย์ทั้งหลาย ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกจะไม่
ประพฤติชอบในอาจารย์ไม่ได้ รูปใดไม่ประพฤติชอบ ต้องอาบัติทุกกฏ”

เรื่องทรงอนุญาตให้ประณาม
อันเตวาสิกทั้งหลายก็ยังไม่ประพฤติชอบอยู่เช่นเดิม ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ประณามอันเตวาสิก
ผู้ไม่ประพฤติชอบ”

วิธีประณาม
ภิกษุทั้งหลาย ก็อาจารย์พึงประณามอันเตวาสิกอย่างนี้ว่า “ฉันประณามเธอ”
หรือ “เธออย่าเข้ามาที่นี้” “เธอ จงขนบาตรและจีวรของเธอไป” หรือ “เธอไม่ต้อง
อุปัฏฐากฉัน”
อาจารย์ให้อันเตวาสิกรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ด้วยกายและวาจา
เป็นอันได้ประณามอันเตวาสิกแล้ว อาจารย์ไม่ให้อันเตวาสิกรู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้ด้วย
วาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกายและวาจา เป็นอันยังมิได้ประณามอันเตวาสิก”

อันเตวาสิกไม่ขอขมา
สมัยนั้น อันเตวาสิกทั้งหลายถูกประณามแล้ว ก็ยังไม่ยอมขอขมาอาจารย์
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๐. ปฌามนาขมาปนา
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อันเตวาสิกขอขมา
อาจารย์”
อันเตวาสิกทั้งหลายก็ยังไม่ยอมขอขมาอาจารย์อยู่เช่นเดิม ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกถูกประณามแล้ว จะไม่ขอ
ขมาอาจารย์ไม่ได้ รูปใดไม่ขอขมา ต้องอาบัติทุกกฏ”

อาจารย์ไม่รับการขอขมา
สมัยนั้น อาจารย์ทั้งหลายถูกอันเตวาสิกขอขมา ก็ยังไม่ยอมให้ขมา ภิกษุ
ทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อาจารย์รับการขอขมา”
อาจารย์ทั้งหลายก็ยังไม่ยอมให้ขมาอยู่เช่นเดิม พวกอันเตวาสิกพากันหลีกไป
เสียบ้าง สึกเสียบ้าง ไปเข้ารีตเดียรถีย์เสียบ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ผู้ที่อันเตวาสิกขอขมาจะไม่
รับการขอขมาไม่ได้ รูปใดไม่รับการขอขมา ต้องอาบัติทุกกฏ”

ทรงปรับทุกกฏเมื่อประณามไม่ถูกต้อง
สมัยนั้น อาจารย์ทั้งหลายประณามอันเตวาสิกผู้ประพฤติชอบ ไม่ประณาม
อันเตวาสิกผู้ประพฤติมิชอบ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประพฤติชอบ อาจารย์
ไม่พึงประณาม รูปใดประณาม ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ไม่
ประพฤติชอบ อาจารย์จะไม่ประณามไม่ได้ รูปใดไม่ประณาม ต้องอาบัติทุกกฏ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๐. ปฌามนาขมาปนา
องค์แห่งการประณาม
[๘๑] ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงประณามอันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. ไม่มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์พึงประณามอันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ไม่พึงประณามอันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อาจารย์ไม่พึงประณามอันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ควรที่จะถูกประณาม คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. ไม่มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ควรที่จะถูกประณาม
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่ควรที่จะถูกประณาม คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๑๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๐. ปณามนาขมาปนา
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ไม่ควรที่จะถูก
ประณาม
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เมื่ออาจารย์ไม่ประณาม
ย่อมมีโทษ เมื่อประณามย่อมไม่มีโทษ คือ
๑. ไม่มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. ไม่มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์
๓. ไม่มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. ไม่มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. ไม่มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ เมื่ออาจารย์
ไม่ประณาม ย่อมมีโทษ เมื่อประณามย่อมไม่มีโทษ
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เมื่ออาจารย์ประณาม
ย่อมมีโทษ เมื่อไม่ประณาม ย่อมไม่มีโทษ คือ
๑. มีความรักอย่างยิ่งในอาจารย์
๒. มีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในอาจารย์
๓. มีความละอายอย่างยิ่งในอาจารย์
๔. มีความเคารพอย่างยิ่งในอาจารย์
๕. มีความหวังดีอย่างยิ่งในอาจารย์
ภิกษุทั้งหลาย อันเตวาสิกผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ เมื่ออาจารย์ประณาม
ย่อมมีโทษ เมื่อไม่ประณาม ย่อมไม่มีโทษ
ปณามนาขมาปนา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๑. พาลอัพยัตตวัตถุ
๒๑. พาลอัพยัตตวัตถุ
ว่าด้วยภิกษุโง่ไม่ฉลาด

เรื่องอาจารย์โง่เขลา
[๘๒] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดว่า “เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษา
ครบ ๑๐” แต่เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ให้นิสสัย ปรากฏว่า อาจารย์เป็นผู้โง่เขลา
อันเตวาสิกเป็นบัณฑิตก็มี อาจารย์เป็นผู้ไม่ฉลาด อันเตวาสิกเป็นผู้ฉลาดก็มี อาจารย์
มีสุตะน้อย อันเตวาสิกเป็นพหูสูตก็มี อาจารย์มีปัญญาทราม อันเตวาสิกมีปัญญาดีก็มี
บรรดาภิกษุผู้มีความมักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า
“ไฉน ภิกษุทั้งหลายจึงได้อ้างว่า ‘เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษาครบ ๑๐’ แต่
เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด ให้นิสสัยปรากฏว่า อาจารย์เป็นผู้โง่เขลา อันเตวาสิกเป็น
บัณฑิตก็มี อาจารย์เป็นผู้ไม่ฉลาด อันเตวาสิกเป็นผู้ฉลาดก็มี อาจารย์มีสุตะน้อย
อันเตวาสิกเป็นพหูสูตก็มี อาจารย์มีปัญญาทราม อันเตวาสิกมีปัญญาดีก็มี” จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่าพวก
ภิกษุได้อ้างว่า ‘เรามีพรรษาครบ ๑๐ เรามีพรรษาครบ ๑๐’ แต่เป็นผู้โง่เขลา ไม่ฉลาด
ให้นิสสัย ปรากฏว่า อาจารย์เป็นผู้โง่เขลา ... อันเตวาสิกมีปัญญาดีก็มี จริงหรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้โง่เขลา
ไม่ฉลาด ไม่พึงให้นิสสัย รูปใดให้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต
ให้ภิกษุผู้ฉลาดสามารถ มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐ ให้นิสสัยได้”
พาลอัพยัตตวัตถุ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๒. นิสสยปฏิปัสสัทธิกถา
๒๒. นิสสยปฏิปัสสัทธิกถา
ว่าด้วยการระงับนิสสัย

เรื่องนิสสัยระงับจากอุปัชฌาย์และอาจารย์
[๘๓] สมัยนั้น เมื่ออุปัชฌาย์และอาจารย์หลีกไปก็ดี สึกเสียก็ดี มรณภาพ
ก็ดี ไปเข้ารีตเดียรถีย์ก็ดี ภิกษุทั้งหลายไม่รู้ว่านิสสัยระงับ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอุปัชฌาย์ ๕ ประการ
เหล่านี้ คือ

๑. อุปัชฌาย์หลีกไป ๒. อุปัชฌาย์สึก
๓. อุปัชฌาย์มรณภาพ ๔. อุปัชฌาย์ไปเข้ารีตเดียรถีย์
๕. อุปัชฌาย์สั่งบังคับ

ภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอุปัชฌาย์ ๕ ประการเหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอาจารย์ ๖ ประการเหล่านี้ คือ

๑. อาจารย์หลีกไป ๒. อาจารย์สึก
๓. อาจารย์มรณภาพ ๔. อาจารย์ไปเข้ารีตเดียรถีย์
๕. อาจารย์สั่งบังคับ ๖. สัทธิวิหาริก์ไปเข้าร่วมกับ
อุปัชฌาย์๑

ภิกษุทั้งหลาย นิสสัยระงับจากอาจารย์ ๖ ประการเหล่านี้
นิสสยปฏิปัสสัทธิกถา จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไปเข้าร่วมกับอุปัชฌาย์ คือเมื่อสัทธิวิหาริกได้พบเห็นอุปัชฌาย์เที่ยวบิณฑบาต ได้ยินอุปัชฌาย์แสดง
ธรรมจำเสียงอุปัชฌาย์ได้นิสสัยระงับจากอาจารย์ (วิ.อ. ๓/๘๓/๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
ว่าด้วยองค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ควรให้อุปสมบท ๑๖ หมวด

เรื่องภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕
กัณหปักษ์ ฝ่ายดำ ๑
[๘๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่พึงให้อุปสมบท ไม่พึงให้
นิสสัย๑ ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ไม่ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ไม่ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑)

สุกกปักษ์ ฝ่ายขาว ๑
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่พึงให้อุปสมบท คือ ไม่พึงเป็นอุปัชฌาย์ให้ใคร ๆ อุปสมบท ไม่พึงให้นิสสัย คือ ไม่พึงเป็นอาจารย์ให้
นิสสัย (วิ.อ. ๓/๘๔/๔๘)
๒ สีลขันธ์อันเป็นอเสขะเป็นต้น หมายถึงสีล สมาธิ ปัญญา ผล และปัจจเวกขณญาณ ของพระอรหันต์
(วิ.อ. ๓/๘๔/๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
๕. ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๒)

กัณหปักษ์ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ตนเองไม่ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่นใน
สีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ตนเองไม่ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่น
ในสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ตนเองไม่ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่น
ในปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ตนเองไม่ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่น
ในวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ตนเองไม่ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่
ชักชวนผู้อื่นในวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๓)

สุกกปักษ์ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ตนเองประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวนผู้อื่นในสีลขันธ์
อันเป็นอเสขะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
๒. ตนเองประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวนผู้อื่นใน
สมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ตนเองประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวนผู้อื่นใน
ปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ตนเองประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวนผู้อื่นใน
วิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ตนเองประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ และชักชวน
ผู้อื่นในวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๔)

กัณหปักษ์ ๓
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๒. เป็นผู้ไม่มีหิริ
๓. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ ๔. เป็นผู้เกียจคร้าน
๕. เป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๕)

สุกกปักษ์ ๓
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. เป็นผู้มีศรัทธา ๒. เป็นผู้มีหิริ
๓. เป็นผู้มีโอตตัปปะ ๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร
๕. เป็นผู้มีสติตั้งมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๖)

กัณหปักษ์ ๔
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. เป็นผู้มีสีลวิบัติในอธิสีล ๒. เป็นผู้มีอาจารวิบัติในอัชฌาจาร
๓. เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติในอติทิฏฐิ๑ ๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังน้อย
๕. เป็นผู้มีปัญญาทราม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๗)

สุกกปักษ์ ๔
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. เป็นผู้ไม่มีสีลวิบัติในอธิสีล ๒. เป็นผู้ไม่มีอาจารวิบัติในอัชฌาจาร
๓. เป็นผู้ไม่มีทิฏฐิวิบัติในอติทิฏฐิ ๔. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก
๕. เป็นผู้มีปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๘)

เชิงอรรถ :
๑ มีสีลวิบัติในอธิสีล หมายถึงเป็นผู้ต้องอาบัติปาราชิกและอาบัติสังฆาทิเสส
อาจารวิบัติในอัชฌาจาร หมายถึงเป็นผู้ต้องอาบัติ ๕ กองที่เหลือ (คืออาบัติถุลลัจจัย อาบัติปาจิตตีย์
อาบัติปาฎิเทสนียะ อาบัติทุกกฏ และอาบัติทุพพาสิต)และยังมิได้พ้นจากอาบัติ
ทิฏฐิวิบัติในอติทิฏฐิ หมายถึงเป็นผู้ละสัมมาทิฏฐิแล้วยึดถืออนัตคาหิกทิฏฐิ (วิ.อ. ๓/๘๔/๔๘๙, สารตฺถ.
ฏีกา ๓/๘๔/๒๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
กัณหปักษ์ ๕
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่สามารถพยาบาลเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นพยาบาลอันเตวาสิกหรือ
สัทธิวิหาริกผู้เป็นไข้
๒. ไม่สามารถระงับเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยระงับความกระสัน
๓. ไม่สามารถบรรเทาเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยบรรเทาความเบื่อหน่าย
ที่เกิดขึ้นโดยธรรม
๔. ไม่รู้จักอาบัติ
๕. ไม่รู้จักวิธีออกจากอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๙)

สุกกปักษ์ ๕
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. สามารถพยาบาลเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นพยาบาลอันเตวาสิก หรือ
สัทธิวิหาริกผู้เป็นไข้
๒. สามารถระงับเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยระงับความกระสัน
๓. สามารถบรรเทาเองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยบรรเทาความเบื่อหน่ายที่
เกิดขึ้นโดยธรรม
๔. รู้จักอาบัติ
๕. รู้จักวิธีออกจากอาบัติ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก (๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
กัณหปักษ์ ๖
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่สามารถฝึกปรืออันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริกในอภิสมาจาริกาสิกขา๑
๒. ไม่สามารถแนะนำในอาทิพรหมจริยกาสิกขา๒
๓. ไม่สามารถแนะนำในอภิธรรม๓
๔. ไม่สามารถแนะนำในอภิวินัย๔
๕. ไม่สามารถเปลื้องความเห็นผิดอันเกิดขึ้นได้โดยธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๑)

สุกกปักษ์ ๖
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. สามารถฝึกปรืออันเตวาสิกหรือสัทธิวิหาริกในอภิสมาจาริกาสิกขา
๒. สามารถแนะนำในอาทิพรหมจริกาสิกขา
๓. สามารถแนะนำในอภิธรรม
๔. สามารถแนะนำในอภิวินัย
๕. สามารถเปลื้องความเห็นผิดอันเกิดขึ้นได้โดยธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๒)

เชิงอรรถ :
๑ อภิมาจาริกาสิกขา คือ หลักการศึกษาเกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติ ที่แสดงไว้ในหมวดขันธกวัตร (วิ.อ.
๓/๘๔/๔๙
๒ อาทิพรหมจริยกาสิกขา คือ หลักการศึกษาเกี่ยวกับบัญญัติเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ หมายถึง
สิกขาบทที่มาในภิกขุปาติโมกข์และภิกขุนีปาติโมกข์ เป็นเสกขบัญญัติที่สงฆ์ต้องยกขึ้นแสดงทุกครึ่งเดือน
(วิ.อ. ๓/๘๔/๔๙, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๘๔/๒๙๒)
๓ อภิธรรม คือ หลักการที่ว่าด้วยการกำหนดนามรูป (วิ.อ. ๓/๘๔/๔๙)
๔ อภิวินัย คือ หลักการในพระวินัยปิฎกทั้งสิ้น (วิ.อ. ๓/๔๘/๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๓. อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ
กัณหปักษ์ ๗
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่รู้จักอาบัติ ๒. ไม่รู้จักอนาบัติ
๓. ไม่รู้จักอาบัติเบา ๔. ไม่รู้จักอาบัติหนัก
๕. จำปาติโมกข์ทั้งสองโดยพิสดารไม่ได้ดี จำแนกไม่ได้ดี ไม่คล่องแคล่วดี
วินิจฉัยโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะไม่ได้ดี
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๓)

สุกกปักษ์ ๗
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. รู้จักอาบัติ ๒. รู้จักอนาบัติ
๓. รู้จักอาบัติเบา ๔. รู้จักอาบัติหนัก
๕. จำปาติโมกข์ทั้งสองโดยพิสดารได้ดี จำแนกได้ดี คล่องแคล่วดี วินิจฉัย
โดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะได้ดี
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๔)

กัณหปักษ์ ๘
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่รู้จักอาบัติ ๒. ไม่รู้จักอนาบัติ
๓. ไม่รู้จักอาบัติเบา ๔. ไม่รู้จักอาบัติหนัก
๕. มีพรรษาหย่อน ๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๔. อุปสัมปาเทตัพพฉักกะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๕)

สุกกปักษ์ ๘
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. รู้จักอาบัติ ๒. รู้จักอนาบัติ
๓. รู้จักอาบัติเบา ๔. รู้จักอาบัติหนัก
๕. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑๖)
อุปสัมปาเทตัพพปัญจกะ ๑๖ หมวด จบ

๒๔. อุปสัมปาเทตัพพฉักกะ
ว่าด้วยองค์ ๖ แห่งภิกษุผู้ควรให้อุปสมบท ๑๔ หมวด

เรื่องภิกษุประกอบด้วยองค์ ๖

กัณหปักษ์ ๑
[๘๕] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ ไม่พึงให้อุปสมบท ไม่พึงให้
นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ไม่ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ไม่ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๑.มหาขันธกะ] ๒๔. อุปสัมปาเทตัพพฉักกะ
๓. ไม่ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ไม่ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
๖. มีพรรษาหย่อน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๑)

สุกกปักษ์ ๑
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ พึงให้อุปสมบท พึงให้นิสสัย พึงใช้
สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
๔. ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ
๕. ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ
๖. มีพรรษาครบ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เหล่านี้แล พึงให้อุปสมบท พึงให้
นิสสัย พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก (๒)

กัณหปักษ์ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ แม้อื่นอีก ไม่พึงให้อุปสมบท
ไม่พึงให้นิสสัย ไม่พึงใช้สามเณรอุปัฏฐาก คือ
๑. ตนเองไม่ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่นใน
สีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. ตนเองไม่ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ และไม่ชักชวนผู้อื่น
ในสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า :๑๓๑ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker