ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๑-๑ วินัยปิฎกที่ ๐๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

พระวินัยปิฎก
มหาวิภังค์ ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เวรัญชกัณฑ์
เรื่องเวรัญชพราหมณ์

[๑] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ควงต้นสะเดาอันเป็น
ที่อยู่ของนเฬรุยักษ์ เขตเมืองเวรัญชา พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป
เวรัญชพราหมณ์ได้ฟังข่าวว่า ท่านพระสมณโคดม เป็นศากยบุตร เสด็จออกผนวช
จากศากยตระกูล ประทับอยู่ ณ ควงต้นสะเดาอันเป็นที่อยู่ของนเฬรุยักษ์ เขตเมือง
เวรัญชา พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ท่านพระโคดมผู้เจริญนั้น
มีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น
เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค๑

เชิงอรรถ :
๑ พระพุทธคุณ ทั้ง ๙ บทนี้ แต่ละบทมีอรรถอเนกประการ คือ
๑. ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะห่างไกลจากกิเลส, เพราะกำจัดข้าศึกคือกิเลส, เพราะหักซี่กำแห่ง
สังสารวัฏคือการเวียนว่ายตายเกิด, เพราะเป็นผู้ควรรับไทยธรรม, เพราะไม่ทำบาปในที่ลับ
๒. ชื่อว่า ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง
๓. ชื่อว่าเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เพราะมีวิชชา ๓ และวิชชา ๘ ดังนี้ วิชชา ๓ คือ :-
(๑) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ให้ระลึกชาติได้ (๒) จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติ (ตาย) และอุบัติ (เกิด)
ของสัตว์ (๓) อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ วิชชา ๘ คือ (๑) วิปัสสนาญาณ ญาณที่เป็นวิปัสสนา
(๒) มโนมยิทธิ มีฤทธิ์ทางใจ (๓) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ (๔) ทิพพโสต หูทิพย์ (๕) เจโตปริยญาณ
รู้จักกำหนดจิตผู้อื่นได้ (๖) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ให้ระลึกชาติได้ (๗) ทิพพจักขุ ตาทิพย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงประกาศให้ผู้
อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลางและมีความ
งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง

เวรัญชพราหมณ์กล่าวตำหนิพระผู้มีพระภาค
[๒] ๑ต่อมา เวรัญชพราหมณ์เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันและกัน

เชิงอรรถ :
(= จุตูปปาตญาณ) (๘) อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ จรณะ ๑๕ คือ (๑) สีลสัมปทา ความถึง
พร้อมด้วยศีล (๒) อินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย์ (๓) โภชเนมัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการ
บริโภค (๔) ชาคริยานุโยค การหมั่นประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น (๕) มีศรัทธา (๖) มีหิริ (๗) มี
โอตตัปปะ (๘) เป็นพหูสูต (๙) วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร (๑๐) มีสติมั่นคง (๑๑) มีปัญญา (๑๒)ปฐมฌาน
(๑๓) ทุติยฌาน (๑๔) ตติยฌาน (๑๕) จตุตถฌาน
๔. ชื่อว่า เสด็จไปดี เพราะมีการเสด็จไปงาม เพราะเสด็จไปสู่ฐานะที่ดี เพราะเสด็จไปโดยชอบ และ
เพราะตรัสไว้โดยชอบ
๕. ชื่อว่า รู้แจ้งโลก เพราะทรงรู้แจ้งโลก เหตุเกิดโลก ความดับโลก วิธีปฏิบัติให้ลุถึงความดับโลก (ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค) และทรงรู้แจ้งโลกทั้ง ๓ คือ สังขารโลก สัตวโลก โอกาสโลก
๖. ชื่อว่า เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะทรงฝึกฝนคนที่ควรฝึกฝน ทั้งเทวดา มนุษย์
อมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน ด้วยอุบายต่างๆ
๗. ชื่อว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะทรงสั่งสอนเทวดาและมนุษย์ด้วยประโยชน์
ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ตามสมควรแก่ประโยชน์ที่เทวดาและ
มนุษย์จะพึงได้รับ และเพราะทรงช่วยพาหมู่สัตว์ให้พ้นความกันดารคือความเกิด ดุจสัตถวาหะคือหัวหน้า
กองเกวียนพาบริวารข้ามทางกันดาร
๘. ชื่อว่า เป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดด้วยพระองค์เองและทรงสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
๙. ชื่อว่า เป็นพระผู้มีพระภาค เพราะ (๑) ทรงมีโชค (๒) ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส (๓) ทรงประกอบ
ด้วยภคธรรม ๖ ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน, โลกุตตรธรรม, ยศ, สิริ, ความสำเร็จ
ประโยชน์ตามต้องการ และความเพียร) (๔) ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (๕) ทรงเสพอริยธรรม (๖) ทรงคาย
ตัณหาในภพทั้งสาม (๗) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (๘) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (๙) ทรงมีส่วนแห่งปัจจัย
๔ เป็นต้น (ตามนัย วิ.อ. ๑/๑/๑๐๓-๑๑๘, สารตฺถ.ฏีกา. ๑/๒๗๐-๔๐๐)
อนึ่ง พุทธคุณนี้ ท่านแบ่งเป็น ๑๐ ประการ โดยแยกพุทธคุณข้อ ๖ เป็น ๒ ประการ คือ (๑) เป็นผู้ยอดเยี่ยม
(๒) เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ (วิสุทฺธิ. ๑/๒๖๕, วิ.อ ๑/๑/๑๑๒-๑๑๓)
๑ องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๑/๑๔๓-๑๔๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

แล้วนั่ง ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า พระ
สมณโคดมไม่ยอมไหว้ ไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ ผู้ล่วงกาลผ่านวัย
หรือไม่เชื้อเชิญให้นั่ง เรื่องที่ข้าพเจ้าได้ทราบมานั้นจริงทีเดียว การที่ท่านพระโคดม
ทำเช่นนั้นไม่สมควรเลย”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เรายังไม่เห็นใครไม่ว่าในโลกไหนๆ
ในบริษัทไหนๆ ที่เราควรจะไหว้ ลุกรับหรือเชื้อเชิญให้นั่ง เพราะว่าตถาคตไหว้ ลุกรับ
หรือเชื้อเชิญผู้ใดให้นั่ง ศีรษะของผู้นั้นจะต้องขาดตกไป”
[๓] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม เป็นคนไม่มีรส๑”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะตถาคตละรส คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
[๔] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม เป็นคนไม่มีสมบัติ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะตถาคตละสมบัติคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้หมดสิ้น ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
[๕] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม สอนไม่ให้ทำ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะเราสอนไม่ให้ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ตลอดถึงการไม่ให้ทำบาป
อกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”

เชิงอรรถ :
๑ ข้อที่พราหมณ์ตำหนิพระผู้มีพระภาคว่า เป็นคนไม่มีรส ในที่นี้ หมายถึงเป็นคนไม่มีสัมมาคารวะ
เช่น การกราบไหว้ การต้อนรับ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พระองค์ละรสได้แล้ว หมายถึงพระองค์ละ
อัสสาทะ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสได้แล้ว จึงเป็นคนไม่มีรส คือไม่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส
สัมผัส (วิ.อ. ๑/๓/๑๒๕-๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

[๖] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม สอนให้ทำลาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะเราสอนให้ทำลายราคะ โทสะ โมหะ ตลอดถึงให้ทำลายบาปอกุศลธรรมต่างๆ
ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
[๗] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม เป็นคนช่างรังเกียจ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะเราช่างรังเกียจกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และบาปอกุศลธรรมต่างๆ ข้อ
ที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
[๘] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม เป็นคนช่างกำจัด”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะเราแสดงธรรมเพื่อกำจัดราคะ โทสะ โมหะ และบาปอกุศลธรรมต่างๆ ข้อที่
เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
[๙] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม เป็นคนช่างเผาผลาญ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะเรากล่าวถึงบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตว่า
เป็นสิ่งที่ควรเผาผลาญ พราหมณ์ เราเรียกคนที่ละบาปอกุศลธรรมทั้งหลายที่ควร
เผาผลาญ ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่
ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ว่า เป็นคนช่างเผาผลาญ ตถาคตละบาปอกุศลธรรมต่างๆ
ที่ควรเผาผลาญได้หมดสิ้น ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”
[๑๐] พราหมณ์กราบทูลต่อไปว่า “ท่านพระโคดม เป็นคนไม่ผุดไม่เกิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่
เพราะเราเรียกคนที่ละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่ได้หมด ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ว่า เป็นคนไม่ผุดไม่เกิด ตถาคตละการอยู่ในครรภ์และการเกิดใหม่ได้หมดสิ้นแล้ว
ข้อที่เขากล่าวหาเรานั้นมีมูลอยู่ แต่ไม่ใช่ที่ท่านกล่าวถึง”


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

ทรงอุปมาด้วยลูกไก่

[๑๑] “พราหมณ์ ไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ที่แม่ไก่กกหรือฟัก
ดีแล้ว ลูกไก่ตัวที่ใช้เล็บหรือจะงอยปากทำลายกระเปาะ๑ ไข่ออกมาได้ก่อน ควร
เรียกมันว่า เป็นตัวพี่ หรือตัวน้อง” “ควรเรียกว่า พี่ เพราะมันแก่กว่าเขา”
“เช่นเดียวกันนั่นแหละพราหมณ์ ในขณะที่หมู่สัตว์ ถูกกระเปาะไข่คืออวิชชา
ห่อหุ้มอยู่ เราได้ทำลายกระเปาะไข่คืออวิชชา ผู้เดียวเท่านั้นสำเร็จอนุตตรสัมมา
สัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม จึงเป็นพี่ใหญ่ผู้ประเสริฐที่สุดของโลก

ฌาน ๔

พราหมณ์ เราปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มี
กายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ

ปฐมฌาน

เราสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร
ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่

ทุติยฌาน

เพราะวิตก วิจารสงบระงับไปแล้ว เราบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสภายใน มี
ภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น๒ ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิเท่านั้นอยู่

ตติยฌาน

เพราะปีติจางคลายไปแล้ว เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนาม
กาย ได้บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข

เชิงอรรถ :
๑ กระเปาะ คือ เปลือกไข่ส่วนที่มีสัณฐานนูนกลม คำว่า “กระเปาะ” คือ รูปนูนกลม สิ่งต่างๆ ที่มี
สัณฐานคล้ายคลึงเช่นนั้น เรียกว่า กระเปาะ เช่น กระเปาะไข่ กระเปาะดอกไม้
๒ เจตโส เอโกทิภาวํ ภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น คำว่า “เอโกทิ” เป็นชื่อของสมาธิ ทุติยฌาน ชื่อว่า
เอโกทิภาวะ เพราะทำสมาธิที่ชื่อว่าเอโกทินี้ให้เกิดเจริญขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุด
ขึ้น” เพราะสมาธิชื่อเอโกทินี้มีแก่จิตเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ ไม่มีแก่ชีวะ (วิ.อ. ๑/๑๑/๑๔๓-๑๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

จตุตถฌาน

เพราะละสุขและทุกข์ได้แล้ว เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว เราได้
บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่”

วิชชา ๓
ปุพเพนิวาสานุสติญาณ

[๑๒] “เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น ได้
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒
ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง
๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐,๐๐๐ ชาติบ้าง
ตลอดสังวัฏฏกัปบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง หลาย
กัปว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมี
อายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น มีชื่อ มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร
เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้ เราระลึกชาติ
ก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป และชีวประวัติอย่างนี้
พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๑ ในยามแรกแห่งราตรี ความมืดมิดคือ
อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือนแสงสว่าง
เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ ๑ ของเรา
เหมือนการเจาะออกจากกระเปาะไข่ของลูกไก่”

จุตูปปาตญาณ

[๑๓] “เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นได้น้อม
จิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุบัติ ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งาม


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

และไม่งาม เกิดดีและไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เรารู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้
เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ
มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตาย
แล้วจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต
มโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตาม
ความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์
พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๒ ในยามที่ ๒ แห่งราตรี ความมืดมิดคือ
อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือนแสงสว่าง
เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ ๒ ของเรา
เหมือนการเจาะออกจากกระเปาะไข่ของลูกไก่”

อาสวักขยญาณ

[๑๔] “เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นได้
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ได้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้
อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเรารู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
พราหมณ์ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๓ ในยามที่ ๓ แห่งราตรี ความมืดมิดคือ
อวิชชาเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เรา เปรียบเหมือนแสงสว่าง
เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “พรหมจรรย์” ในที่นี้หมายเอาอริยมรรค คือ พระอรหันต์อยู่ประพฤติอริยมรรคจบแล้ว ส่วน
กัลยาณปุถุชนและพระเสขะ ๗ พวก ยังต้องอยู่ประพฤติมรรคพรหมจรรย์ต่อไป (วิ.อ. ๑/๑๔/๑๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

พราหมณ์ นี้คือการเจาะกระเปาะไข่คืออวิชชาออกมาครั้งที่ ๓ ของเรา
เหมือนการเจาะออกจากกระเปาะไข่ของลูกไก่”

เวรัญชพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก

[๑๕] เมื่อตรัสอย่างนี้ เวรัญชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ท่านพระโคดมเป็นพี่ใหญ่ ผู้ประเสริฐที่สุด ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์
ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้ง โดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า คนมี
ตาดีจักเห็นรูป ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็น
สรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต และขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์ทรงรับคำนิมนต์
ของข้าพระองค์ อยู่จำพรรษาที่เมืองเวรัญชาด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับคำนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้นเวรัญชพราหมณ์ทราบ
ว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงลุกขึ้นจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค
กระทำประทักษิณแล้วจากไป๑

เมืองเวรัญชาเกิดข้าวยากหมากแพง

[๑๖] สมัยนั้น เมืองเวรัญชาเกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนมีความเป็น
อยู่แร้นแค้น ใช้สลากปันส่วนซื้ออาหาร ล้มตายกันกระดูกขาวเกลื่อน ยากที่พระ
อริยะจะบิณฑบาตยังชีพได้

เชิงอรรถ :
๑ กระทำประทักษิณ คือ เดินเวียนขวา พราหมณ์เดินประนมมือเวียนไปทางขวาตามเข็มนาฬิกา ๓ รอบ
โดยมีพระผู้มีพระภาคอยู่ทางขวา เสร็จแล้วหันหน้าไปทางพระผู้มีพระภาค เดินถอยหลังจนสุดสายตา คือ
จนมองไม่เห็นพระผู้มีพระภาค คุกเข่าลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วเดินจากไป (วิ.อ. ๑/๑๕/๑๗๖-๑๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

ต่อมา พวกพ่อค้าม้าชาวเมืองอุตตราบถ มีม้าอยู่ประมาณ ๕๐๐ ตัว เข้าพัก
แรมช่วงฤดูฝนในเมืองเวรัญชา พวกเขาตระเตรียมข้าวนึ่ง๑ เพื่อถวายพระภิกษุรูปละ
ประมาณ ๑ ทะนานไว้ที่คอกม้า รุ่งเช้า ภิกษุทั้งหลายครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรไปบิณฑบาตในเมืองเวรัญชา บิณฑบาตไม่ได้เลย จึงไปที่คอกม้า รับข้าวนึ่งรูป
ละประมาณ ๑ ทะนาน นำไปตำให้ละเอียดแล้วฉัน ส่วนพระอานนท์บดข้าวนึ่งประมาณ
๑ ทะนานบนหินบดแล้วน้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาค พระองค์เสวยข้าวนั้น

พุทธประเพณี

พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับเสียงครก พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงทราบเรื่อง
ตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลอันควร ตรัสถามก็มี ไม่ตรัสถามก็มี ตรัส
ถามเรื่องที่เป็นประโยชน์ ไม่ตรัสถามเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะพระตถาคตเจ้า
ทั้งหลายทรงขจัดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์เสียด้วยอริยมรรคแล้ว พระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าทั้งหลายสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ จะทรงแสดงธรรม
อย่างหนึ่ง จะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกอย่างหนึ่ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระอานนท์มารับสั่งถามว่า “นั่นเสียง
ครกใช่ไหม อานนท์”
พระอานนท์จึงกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ
“อานนท์ ดีแล้วๆ พวกเธอเป็นสัตบุรุษ ชนะได้เด็ดขาดแล้ว ข้าวสาลีเจือ
ด้วยเนื้อเพื่อนพรหมจารีในภายหลังจะพากันดูหมิ่น”๒

เชิงอรรถ :
๑ ปูลกํ นาม นิตฺถุสํ กตฺวา ฯเปฯ ที่ชื่อว่า ข้าวนึ่ง ได้แก่ ข้าวสารเหนียวที่เอาแกลบออกแล้วนึ่งเก็บไว้ จะ
เรียกว่า ข้าวตาก ก็ได้ พวกพ่อค้านิยมนำติดตัวไปในเวลาเดินทางไปค้าขายยังต่างเมือง เพื่อเป็นอาหารม้า
ในถิ่นที่อาหารม้าหายาก (วิ.อ. ๑/๑๖/๑๗๙)
๒ ในอนาคต เพื่อนพรหมจารีในภายหลัง เช่นพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ จักดูหมิ่นข้าวสุกเจือด้วยเนื้อที่
เขาถวายเพราะความเลื่อมใสในข้อปฏิบัติของพวกเธอ ซึ่งทำได้ยากที่เมืองเวรัญชา (วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๔-๕,
สารตฺถ.ฏีกา ๑/๑๖/๕๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

พระมหาโมคคัลลานะเปล่งสีหนาท

[๑๗] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร ท่าน
พระมหาโมคคัลลานะผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“เวลานี้เมืองเวรัญชาเกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ใช้
สลากปันส่วนซื้ออาหาร ล้มตายกันกระดูกขาวเกลื่อน ยากที่พระอริยะจะบิณฑบาต
ยังชีพได้ พระพุทธเจ้าข้า พื้นดินใต้มหาปฐพีนี้มีโอชะ มีรสอร่อย เหมือนน้ำผึ้งหวี่ที่
ไม่มีตัวอ่อน ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระพุทธเจ้าจะพลิกแผ่นดิน เพื่อให้ภิกษุ
ทั้งหลายได้ฉันง้วนดิน”
“ในแผ่นดินมีสัตว์อาศัยอยู่ เธอจักทำอย่างไรกับสัตว์เหล่านั้น โมคคัลลานะ”
“ข้าพระพุทธเจ้าจักเนรมิตฝ่ามือข้างหนึ่งให้เป็นเช่นแผ่นดินใหญ่ ย้ายเหล่า
สัตว์ที่อาศัยแผ่นดินอยู่ไปรวมกันที่ฝ่ามือนั้น แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งพลิกแผ่นดิน
พระพุทธเจ้าข้า”
“อย่าเลย โมคคัลลานะ เธออย่าพอใจที่จะพลิกแผ่นดินเลย หมู่สัตว์จะเข้าใจ
ผิดได้”
“ขอประทานพระวโรกาสให้ภิกษุสงฆ์ทุกรูปไปบิณฑบาตในอุตตรกุรุทวีปเถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอจักทำอย่างไรกับภิกษุที่ไม่มีฤทธิ์”
“ข้าพระพุทธเจ้าจักทำให้ภิกษุสงฆ์ทุกรูปไปได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“อย่าเลย โมคคัลลานะ เธออย่าพอใจการที่จะพาภิกษุสงฆ์ทุกรูปไป
บิณฑบาตที่อุตตรกุรุทวีปเลย”

พระสารีบุตรทูลถามถึงเหตุที่ทำให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่นานและไม่นาน

[๑๘] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด รำพึงขึ้นมาอย่างนี้ว่า
“พรหมจรรย์๑ ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระองค์ไหนดำรงอยู่ไม่นาน ของพระ

เชิงอรรถ :
๑ “พรหมจรรย์” ในที่นี้หมายถึง ศาสนา (วิ.อ. ๑/๑๘/๑๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน” ครั้นเวลาเย็นจึงออกจากที่พักเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งลง
ณ ที่สมควร ท่านพระสารีบุตรผู้นั่งอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ได้เกิดความรำพึง
ขึ้นมาอย่างนี้ว่า ‘พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระองค์ไหนดำรงอยู่ไม่
นาน ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน’ พรหมจรรย์ของพระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระองค์ไหนดำรงอยู่ไม่นาน ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระ
องค์ไหนดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สารีบุตร พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้าวิปัสสี
พระพุทธเจ้าสิขี พระพุทธเจ้าเวสสภู ดำรงอยู่ไม่นาน พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้า
กกุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ และพระพุทธเจ้ากัสสปะ ดำรงอยู่นาน”
[๑๙] “อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้าวิปัสสี
พระพุทธเจ้าสิขี และพระพุทธเจ้าเวสสภู ดำรงอยู่ไม่นาน พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร พระพุทธเจ้าวิปัสสี พระพุทธเจ้าสิขี พระพุทธเจ้าเวสสภู ทรงผ่อน
คลายที่จะแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวก สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ๑ ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์จึงมีน้อย
มิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แก่สาวก ไม่มีการแสดงปาติโมกข์ เมื่อหมดพระพุทธเจ้า
และสาวกผู้ตรัสรู้ตามแล้ว สาวกชั้นหลัง ๆ ต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติวรรณะ ได้เข้า
มาบวชจากต่างตระกูล เธอเหล่านั้นพาให้พรหมจรรย์สูญสิ้นไปเร็วพลัน เหมือนดอก
ไม้นานาพรรณกองอยู่บนแผ่นกระดาน ยังไม่ร้อยด้วยด้าย ย่อมถูกลมพัด
กระจัดกระจายไป เพราะเหตุไร เพราะไม่ได้เอาด้ายร้อยไว้ ข้อนี้ฉันใด เมื่อหมด
พระพุทธเจ้าและสาวกผู้ตรัสรู้ตามแล้ว สาวกชั้นหลังๆ ต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติ
วรรณะ ได้เข้ามาบวชจากต่างตระกูล เธอเหล่านั้นพาให้พรหมจรรย์สูญสิ้นไปเร็ว
พลันฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ รวมเรียกว่า “นวังค
สัตถุศาสน์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

อนึ่ง พระพุทธเจ้าเหล่านั้นไม่ทรงผ่อนคลายที่จะกำหนดจิตของสาวกด้วย
พระทัยแล้วทรงสั่งสอน สารีบุตร เรื่องเคยเกิดขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าเวสสภู ทรง
กำหนดจิตภิกษุสงฆ์แล้วทรงสั่งสอนภิกษุสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูป ในราวป่าน่าสะพึงกลัว
แห่งหนึ่งว่า “เธอทั้งหลายจงพิจารณาเช่นนี้ อย่าพิจารณาอย่างนั้น จงตั้งใจอย่างนี้
อย่าตั้งใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่เถิด” จิตของภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป ที่พระ
พุทธเจ้าเวสสภูทรงสั่งสอน หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่มีความถือมั่น สารีบุตร
เพราะราวป่าน่าสะพึงกลัว น่าสยดสยอง จึงมีเรื่องดังนี้ คือ ภิกษุผู้ไม่ปราศจาก
ราคะ เข้าไปราวป่า ส่วนมากเกิดความกลัวขนลุกขนพอง
สารีบุตร นี้คือเหตุปัจจัยที่ทำให้พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้าวิปัสสี พระ
พุทธเจ้าสิขี พระพุทธเจ้าเวสสภูดำรงอยู่ไม่นาน”
[๒๐] “อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ
พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ และพระพุทธเจ้ากัสสปะดำรงอยู่นาน พระพุทธเจ้าข้า”
“สารีบุตร พระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ และพระพุทธเจ้า
กัสสปะ ไม่ทรงผ่อนคลายที่จะทรงแสดงธรรมโดยพิสดารแก่สาวก สุตตะ เคยยะ
เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละของพระพุทธเจ้า ๓
พระองค์จึงมีมาก ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แก่สาวก มีการแสดงปาติโมกข์ เมื่อหมด
พระพุทธเจ้าและสาวกผู้ตรัสรู้ตามแล้ว สาวกชั้นหลังๆ ต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติ
วรรณะ ได้เข้ามาบวชจากต่างตระกูล เธอเหล่านั้นพาให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่นาน
เหมือนดอกไม้นานาพรรณกองอยู่บนแผ่นกระดานเอาด้ายร้อยไว้ ย่อมไม่ถูกลมพัด
กระจัดกระจายไป เพราะเหตุไร เพราะเอาด้ายร้อยไว้ ข้อนี้ฉันใด เมื่อหมดพระพุทธเจ้า
และสาวกผู้ตรัสรู้ตามแล้ว สาวกชั้นหลังๆ ต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติวรรณะ ได้เข้า
มาบวชจากต่างตระกูล เธอเหล่านั้นพาให้พรหมจรรย์ดำรงอยู่นานฉันนั้น
สารีบุตร นี้คือเหตุปัจจัยที่ทำให้พรหมจรรย์ของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระ
พุทธเจ้าโกนาคมนะ และพระพุทธเจ้ากัสสปะ ดำรงอยู่นาน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

ทรงปรารภเหตุที่จะบัญญัติสิกขาบท

[๒๑] ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรลุกขึ้นห่มผ้าเฉวียงบ่าประนมมือไปทาง
พระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า “ถึงเวลาแล้วพระพุทธเจ้าข้า ที่พระผู้มีพระภาคจะ
ทรงบัญญัติสิกขาบท ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่พระสาวกอันจะเป็นเหตุให้
พรหมจรรย์ดำรงอยู่ได้ยืนนาน”
“จงรอไปก่อนเถิดสารีบุตร ตถาคตรู้เวลาในเรื่องที่จะบัญญัติสิกขาบทนั้น
ศาสดาจะยังไม่บัญญัติสิกขาบทแก่สาวก ไม่ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ตลอดเวลาที่ยัง
ไม่เกิดอาสวัฏฐานิยธรรม๑ บางอย่างในสงฆ์ เมื่อเกิดอาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างใน
สงฆ์ ตถาคตจึงจะบัญญัติสิกขาบท จะยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่สาวก เพื่อขจัด
ธรรมเหล่านั้น
สารีบุตร อาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างยังไม่เกิดในสงฆ์ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่
เป็นหมู่ใหญ่เพราะมีภิกษุบวชนาน เมื่อสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่เพราะมีภิกษุบวชนาน และ
มีอาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างเกิดในสงฆ์ ตถาคตจะบัญญัติสิกขาบท จะยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่สาวก เพื่อขจัดธรรมเหล่านั้น
สารีบุตร อาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างยังไม่เกิดในสงฆ์ ตราบเท่าที่สงฆ์ยัง
ไม่เป็นหมู่ใหญ่เพราะแพร่หลาย เมื่อสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่เพราะแพร่หลาย และมี
อาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างเกิดในสงฆ์ ตถาคตจะบัญญัติสิกขาบท จะยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดงแก่สาวก เพื่อขจัดธรรมเหล่านั้น
สารีบุตร อาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างยังไม่เกิดในสงฆ์ ตราบเท่าที่สงฆ์ยัง
ไม่เป็นหมู่ใหญ่เพราะมีลาภสักการะมาก เมื่อสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่เพราะมีลาภสักการะ
มาก และมีอาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างเกิดในสงฆ์ ตถาคตจะบัญญัติสิกขาบท จะยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่สาวก เพื่อขจัดธรรมเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ตตฺถ อาสวา ติฏฺฐนฺติ เอเตสูติ อาสเวหิ ฐาตพฺพา น โวกฺกมิตพฺพาติ วา อาสวฏฐานียา แปล
สรุปความว่า ธรรมเป็นที่ตั้งอาสวะ ความชั่วต่างๆ เช่น การกล่าวให้ร้ายคนอื่น ความเดือดร้อน และการ
จองจำ (วิ.อ. ๑/๒๑/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

สารีบุตร อาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างยังไม่เกิดในสงฆ์ ตราบเท่าที่สงฆ์ยังไม่
เป็นหมู่ใหญ่เพราะความเป็นพหูสูต เมื่อสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่เพราะความเป็นพหูสูต
และมีอาสวัฏฐานิยธรรมบางอย่างเกิดในสงฆ์ ตถาคตจะบัญญัติสิกขาบท จะยก
ปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่สาวก เพื่อขจัดธรรมเหล่านั้น
สารีบุตร ก็ภิกษุสงฆ์ยังไม่มีเสนียด ไม่มีโทษ ไม่มีสิ่งมัวหมอง บริสุทธิ์
ผุดผ่อง ดำรงอยู่ในสารคุณ แท้จริงในภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ผู้มีคุณธรรมอย่างต่ำก็ชั้น
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า๑”

เสด็จนิเวศน์เวรัญชพราหมณ์

[๒๒] ต่อมา พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า
“อานนท์ พระตถาคตทั้งหลายยังมิได้บอกลาผู้ที่นิมนต์ให้อยู่จำพรรษา จะไม่จากไป
เรื่องนี้เป็นประเพณีของพระตถาคตทั้งหลาย เราจะไปลาเวรัญชพราหมณ์” พระ
อานนท์ทูลสนองพระพุทธดำรัสแล้ว
ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร๒ มีพระ
อานนท์ตามเสด็จ เสด็จพระพุทธดำเนินไปถึงนิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ครั้นถึง
แล้วจึงประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย ทรงบอกเวรัญชพราหมณ์ผู้มาเฝ้าว่า
“ท่านนิมนต์เราอยู่จำพรรษา เราขอลาท่าน ต้องการจะจาริกไปในชนบท”
เวรัญชพราหมณ์กราบทูลว่า “เป็นความจริง ข้าพระพุทธเจ้านิมนต์ท่านพระ
โคดมอยู่จำพรรษา แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ถวายไทยธรรมที่ได้ตั้งใจเอาไว้ สิ่งนั้น

เชิงอรรถ :
๑ สัมโพธิปรายณะ จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า คือ อุปริ มคฺคตฺตยํ อวสฺสํ สมฺปาปโก... ปฏิลทฺธ-
ปฐมมคฺคตฺตา จะบรรลุมรรค ๓ ชั้นสูงขึ้นไปแน่นอน เพราะได้ปฐมมรรค(คือโสดาปัตติมรรค)แล้ว (วิ.อ. ๑/๒๑/
๒๐๓); อุปริมคฺคตฺตยสงฺขาตา สมฺโพธิ สัมโพธิ คือ มรรค ๓ (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค)
ที่สูงขึ้นไป (สารตฺถ.ฏีกา. ๑/๒๑/๕๕๙).
๒ คำว่า “ทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร” นี้มิใช่ว่าก่อนหน้านี้ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงนุ่งสบง
มิใช่ว่าพระองค์ถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยพระกายส่วนบน คำว่า “ครองอันตรวาสก” หมายถึงพระองค์
ผลัดเปลี่ยนสบงหรือขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ คำว่า “ถือบาตรและจีวร” หมายถึงถือบาตรด้วยมือ ถือจีวร
ด้วยกาย คือ ห่มจีวรอุ้มบาตรนั่นเอง (วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๐, ที.อ. ๒/๑๕๓/๑๔๓, ม.อ. ๑/๖๓/๑๖๓, อุทาน.อ. ๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์

มิใช่จะไม่มีและมิใช่ว่าข้าพระพุทธเจ้าจะไม่เต็มใจถวาย ไตรมาสที่ผ่านมา พระองค์ยัง
มิได้รับไทยธรรมนั้น เพราะผู้ครองเรือนมีกิจมาก มีธุระมาก ขอท่านพระโคดม
พร้อมกับภิกษุสงฆ์จงรับอาหารของข้าพระพุทธเจ้าเพื่อเจริญกุศลในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับคำนิมนต์โดยดุษณีภาพ ทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์
เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้
สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป
เมื่อผ่านราตรีนั้นไป เวรัญชพราหมณ์สั่งให้เตรียมของเคี้ยวของฉันอัน
ประณีตไว้ในบ้านแล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม
ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
[๒๓] ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรเสด็จพระพุทธดำเนินไปยังนิเวศน์ของเวรัญชพราหมณ์ ประทับนั่งเหนือพระ
พุทธอาสน์พร้อมภิกษุสงฆ์ ครั้นแล้วเวรัญชพราหมณ์ประเคนของเคี้ยวของฉันอัน
ประณีตด้วยตัวเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้วละพระหัตถ์จากบาตร จึง
ทูลถวายไตรจีวรให้ทรงครอง และถวายผ้าคู่ให้ภิกษุครองรูปละสำรับ
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เวรัญชพราหมณ์เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว
เสด็จจากไป
พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ เมืองเวรัญชาตามพระอัธยาศัยแล้วได้เสด็จพระ
พุทธดำเนินไปยังเมืองท่าปยาคะ ไม่ทรงแวะเมืองโสเรยยะ เมืองสังกัสสะ เมือง
กัณณกุชชะ ทรงข้ามแม่น้ำคงคาที่เมืองท่าปยาคะ เสด็จพระพุทธดำเนินถึงกรุง
พาราณสี ครั้นประทับที่กรุงพาราณสีตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปโดยลำดับ
จนถึงกรุงเวสาลี ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขต
กรุงเวสาลีนั้น

เวรัญชภาณวาร จบ



หน้าว่าง


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร

๑. ปาราชิกกัณฑ์
ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑
ว่าด้วยการเสพเมถุนธรรม
สุทินภาณวาร

[๒๔] สมัยนั้น ที่หมู่บ้านกลันทคามไม่ห่างจากกรุงเวสาลี มีบุตรชายเศรษฐี
ชาวกลันทคาม ชื่อสุทิน วันหนึ่ง เขามีธุระบางอย่างจึงเดินทางไปในกรุงเวสาลีกับเพื่อนๆ
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคกำลังประทับนั่งแสดงธรรมห้อมล้อมด้วยบริษัทจำนวนมาก
เขาได้เห็นแล้ว มีความคิดว่า “ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะได้ฟังธรรมบ้าง” จึงเข้าไปยัง
บริษัทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้มีความคิดดังนี้ว่า “ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงนั้น เราเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์
บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย’ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะ
ปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกจากเรือนไปบวชเป็นอนาคาริก” ต่อจากนั้น
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว บริษัทก็ลุกขึ้น
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป
[๒๕] หลังจากบริษัทจากไปไม่นาน สุทินกลันทบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ
ภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งลง ณ ที่สมควร สุทินกลันทบุตรผู้นั่ง ณ ที่
สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ธรรมตามที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติ
พรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดแล้ว มิใช่กระทำได้ง่าย’
ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนมา
บวช เป็นอนาคาริก ขอพระผู้มีพระภาคทรงพระกรุณาให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชด้วยเถิด”
“สุทิน มารดาบิดาอนุญาตให้เธอออกจากเรือนบวชเป็นอนาคาริกแล้วหรือ”
“ยังมิได้อนุญาต พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร

“สุทิน พระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่บวชให้กุลบุตรที่มารดาบิดายังไม่อนุญาต”
“ข้าพระพุทธเจ้า จักหาวิธีให้มารดาบิดาอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้าออกจาก
เรือนมาบวชเป็นอนาคาริก พระพุทธเจ้าข้า”

ขออนุญาตออกบวช

[๒๖] ต่อมา สุทินกลันทบุตรทำธุระในกรุงเวสาลีเสร็จแล้ว กลับไปหา
มารดาบิดาที่กลันทคาม ครั้นถึงแล้วจึงกล่าวกับมารดาบิดาดังนี้ว่า “คุณพ่อคุณแม่
ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ลูกเข้าใจว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะ
ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างยิ่งเหมือนสังข์ที่ขัดแล้วนี้มิใช่ทำได้ง่าย’
ลูกปรารถนาจะปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนไปบวชเป็น
อนาคาริก คุณพ่อคุณแม่โปรดอนุญาตให้ลูกออกไปบวชเป็นอนาคาริกเถิด”
เมื่อสุทินกลันทบุตรกล่าวอย่างนี้ มารดาบิดาตอบว่า “ลูกสุทิน เจ้าเป็นลูก
คนเดียว เป็นที่รักที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย ได้รับการ
เลี้ยงดูมาอย่างดี ความทุกข์ยากสักนิดหนึ่งลูกก็ยังไม่รู้จัก ถึงลูกจะตายไป พ่อแม่
ก็ไม่ปรารถนาจะจาก แล้วเหตุไฉน พ่อแม่จะยอมให้ลูกผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือน
ไปบวชเป็นอนาคาริกเล่า”
สุทินกลันทบุตรได้กล่าวกับมารดาบิดาดังนี้เป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ เป็นครั้งที่ ๓
ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ มารดาบิดาก็ตอบว่า “ลูกสุทิน เจ้าเป็นลูกคนเดียว ฯลฯ เหตุไฉน
พ่อแม่จะยอมให้ลูกผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนไปบวชเป็นอนาคาริกเล่า”
[๒๗] ลำดับนั้น สุทินกลันทบุตรวิตกว่า มารดาบิดาไม่อนุญาตให้เราบวชแน่
จึงนอนบนพื้นที่ไม่มีเครื่องปูลาด ณ ที่นั้นเอง ตัดสินใจว่า เราจักตาย หรือจักได้บวช
ก็ที่ตรงนี้แหละ และแล้วเขาก็อดอาหารไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ ๑ มื้อ ๒ มื้อ ๓ มื้อ ๔ มื้อ ๕
มื้อ ๖ มื้อ จนถึง ๗ มื้อ

มารดาบิดาไม่อนุญาต

[๒๘] ถึงกระนั้น มารดาบิดาของเขาก็คงยืนยันว่า “ลูกสุทิน เจ้าเป็นลูกคน
เดียว เป็นที่รักที่ชอบใจของพ่อแม่ เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย ได้รับการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร

เลี้ยงดูมาอย่างดี ความทุกข์ยากสักนิดหนึ่ง ลูกก็ยังไม่รู้จัก ถึงลูกจะตายไป พ่อแม่ก็
ไม่ปรารถนาจะจาก แล้วเหตุไฉนพ่อแม่จะยอมให้ลูกผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนไป
บวชเป็นอนาคาริกได้เล่า ลุกขึ้นเถิด ลูกสุทิน จงกิน จงดื่ม จงรื่นเริง จงพอใจกิน
ดื่ม รื่นเริง ใช้สอยโภคทรัพย์ทำบุญเถิด ถึงอย่างไร พ่อแม่ก็จะไม่อนุญาตให้ลูก
บวชแน่”
เมื่อมารดาบิดากล่าวอย่างนี้ สุทินกลันทบุตรได้นิ่งเฉยเสีย มารดาบิดาได้
ยืนยันกะสุทินกลันทบุตรแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯแม้ครั้งที่ ๓ ว่า “ลูกสุทิน เจ้าเป็นลูกคนเดียว
เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของพ่อแม่ ฯลฯ ลูกสุทิน จงกิน จงดื่ม จงรื่นเริง จงพอใจกิน ดื่ม
รื่นเริง ใช้สอยโภคทรัพย์ทำบุญเถิด ถึงอย่างไร พ่อแม่ก็จะไม่อนุญาตให้ลูกบวชแน่”
สุทินกลันทบุตรก็ได้นิ่งเป็นครั้งที่ ๓

พวกเพื่อนช่วยเจรจา

ต่อมา พวกเพื่อนของสุทินกลันทบุตร พากันเข้าไปหาถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้
ปลอบใจว่า “สุทินเพื่อนรัก เพื่อนเป็นลูกคนเดียว เป็นที่รักที่ชอบใจของพ่อแม่
เจริญเติบโตมาด้วยความสุขสบาย ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดี ความทุกข์ยากสักนิด
หนึ่ง เพื่อนก็ยังไม่รู้จัก ถึงเพื่อนจะตายไป พ่อแม่ก็ไม่ปรารถนาจะจาก แล้วเหตุไฉน
พ่อแม่จะยอมให้เพื่อนผู้ยังมีชีวิตอยู่ออกจากเรือนไปบวชเป็นอนาคาริกได้เล่า ลุกขึ้นเถิด
เพื่อนรัก เพื่อนจงกิน จงดื่ม จงรื่นเริง พอใจกิน ดื่ม รื่นเริง ใช้สอยโภคทรัพย์ทำบุญ
เถิด ถึงจะอย่างไร พ่อแม่ก็ไม่อนุญาตให้เพื่อนบวชแน่”
เมื่อพวกเพื่อนกล่าวอย่างนี้ สุทินกลันทบุตรก็ได้แต่นิ่งเฉย พวกเพื่อนได้
ปลอบใจสุทินกลันทบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ เป็นครั้งที่ ๓ ว่า “สุทินเพื่อนรัก เพื่อน
เป็นลูกคนเดียว เป็นที่รักที่ชอบใจของพ่อแม่ ฯลฯ พ่อแม่ก็ไม่อนุญาตให้เพื่อนบวช
แน่” สุทินกลันทบุตรก็ได้นิ่งเฉยเป็นครั้งที่ ๓
[๒๙] ต่อมา พวกสหายพากันเข้าไปหามารดาบิดาของสุทินกลันทบุตรถึง
ที่อยู่ กล่าวว่า “คุณพ่อคุณแม่ครับ สุทินนอนบนพื้นที่ไม่มีเครื่องปูลาดตัดสินใจว่า
เราจักตาย หรือจักได้บวชก็ที่ตรงนี้แหละ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ยอมให้เขาบวช เขาจัก


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร

ตาย ณ ที่ตรงนั้นแน่ แต่ถ้ายอมให้เขาออกบวช คุณพ่อคุณแม่ ก็ยังจะได้พบเห็น
เขาแม้บวชแล้ว ถ้าไม่ยินดีจะบวชอยู่ต่อไป เขาจะมีทางไปที่ไหนอื่นเล่า จะต้องกลับ
มาที่นี้แหละ อนุญาตให้เขาบวชเถิดขอรับ” มารดาบิดาของสุทินจึงกล่าวว่า “ลูก
ทั้งหลาย พ่อและแม่อนุญาตให้เขาบวชได้”

สุทินกลันทบุตรออกบวช

ต่อมา พวกเพื่อนพากันเข้าไปหาเขาถึงที่อยู่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับสุทิน
กลันทบุตรดังนี้ว่า “ลุกขึ้นเถิดสุทินเพื่อนรัก มารดาบิดาอนุญาตให้เพื่อนบวชแล้ว”
[๓๐] ทันใดนั้น พอสุทินกลันทบุตรได้ทราบว่า มารดาบิดาอนุญาตให้บวช
ก็ร่าเริงดีใจมาก ลุกขึ้นมาใช้ฝ่ามือเช็ดตัว บำรุงกำลังอยู่ ๒-๓ วัน แล้วไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งลง ณ ที่
สมควร สุทินกลันทบุตรผู้นั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“มารดาบิดาอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้าออกจากเรือนมาบวชเป็นอนาคาริกแล้ว ขอ
พระผู้มีพระภาคได้โปรดบวชให้ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
สุทินกลันทบุตรได้รับการบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระพุทธเจ้า เมื่อ
บวชได้ไม่นาน ท่านพระสุทินได้ถือธุดงควัตรดังนี้ คือ อยู่ป่าเป็นวัตร ๑ เที่ยว
บิณฑบาตเป็นวัตร ๑ ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ๑ เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเรือน
เป็นวัตร ๑ พักอาศัยอยู่ใกล้หมู่บ้านชาววัชชีตำบลหนึ่ง

พระสุทินกลันทบุตรไปเยี่ยมบ้าน

สมัยนั้น แคว้นวัชชีเกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนมีความเป็นอยู่แร้นแค้น
ใช้สลากปันส่วนซื้ออาหาร ล้มตายกันกระดูกขาวเกลื่อน ยากที่พระอริยะจะบิณฑบาต
ยังชีพได้
ท่านพระสุทินได้มีความคิดดังนี้ว่า บัดนี้ แคว้นวัชชีเกิดข้าวยากหมากแพง
ประชาชนมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ใช้สลากปันส่วนซื้ออาหาร ล้มตายกันกระดูกขาว
เกลื่อน ยากที่พระอริยะจะบิณฑบาตยังชีพได้ แต่ในกรุงเวสาลี เรามีญาติอยู่จำนวน


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร

มาก ซึ่งล้วนแต่เป็นครอบครัวมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินมีทองมาก มี
เครื่องประดับมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก๑ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะไปอาศัย
พวกญาติอยู่ ถึงพวกญาติก็จะอาศัยเราทำบุญถวายทาน ภิกษุทั้งหลายจักมีลาภ
และเราก็ไม่เดือดร้อนเรื่องบิณฑบาต
ครั้งนั้น ท่านพระสุทินจึงเก็บเสนาสนะถือบาตรและจีวรแล้วจาริกไปทางกรุง
เวสาลี เที่ยวจาริกไปโดยลำดับ จนถึงกรุงเวสาลี ทราบว่า ท่านพระสุทินพักอยู่ ณ
กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลีนั้น
บรรดาญาติของท่านพอทราบข่าวว่า พระสุทินกลันทบุตรกลับมากรุงเวสาลี
จึงนำอาหาร ๖๐ สำรับไปถวาย ท่านสละอาหารทั้งหมดถวายภิกษุทั้งหลายแล้ว
ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านกลันทคามในตอนเช้า
เที่ยวบิณฑบาตไปในหมู่บ้านกลันทคามตามลำดับเรือน เดินตรงไปทางบ้านโยมบิดา
[๓๑] พอดีขณะนั้น ทาสหญิงของญาติกำลังจะทิ้งขนมกุมมาสค้างคืน ท่าน
บอกทาสหญิงว่า “ถ้าจะทิ้งสิ่งนั้น ก็จงใส่บาตรของอาตมาเถิด” ขณะที่ทาสหญิง
กำลังเกลี่ยขนมกุมมาสค้างคืนลงบาตร นางจำเค้ามือ เท้า และน้ำเสียงของพระสุทิน
ได้ จึงรีบเข้าไปหามารดาของท่านแล้วกล่าวว่า “คุณนายเจ้าขา โปรดทราบเถิดว่า
พระสุทินบุตรคุณนายกลับมาแล้ว เจ้าค่ะ”
มารดาของพระสุทินกล่าวว่า “ถ้าเธอพูดจริง เราจะปลดปล่อยเธอให้เป็นไท”
[๓๒] ขณะที่ท่านพระสุทินกำลังนั่งพิงฝาเรือนแห่งหนึ่งฉันขนมกุมมาสค้าง
คืนอยู่ พอดีโยมบิดาของท่านเดินกลับจากทำงาน ได้เห็นท่านกำลังนั่งฉันขนมกุม
มาสค้างคืนอยู่ ครั้นเห็นแล้วจึงตรงเข้าไปหาถึงที่ ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับท่านพระ
สุทินดังนี้ว่า “อะไรกันลูกสุทิน ลูกฉันขนมกุมมาสค้างคืนหรือ ลูกควรไปบ้านของลูก
มิใช่หรือ”

เชิงอรรถ :
๑ โคธนาทีนญฺจ สตฺตวิธธญฺญานญฺจ ปหูตตาย ปหูตธนธญฺญา มีทรัพย์คือโคเป็นต้น และมีข้าวเจ็ด
ชนิดมาก (สํ.อ. ๑/๑๑๔/๑๓๑), มีทรัพย์คือรัตนะ ๗ และข้าวเปลือกอันสงเคราะห์ด้วยบุพพัณชาติและ
อปรัณชาติมาก (สารตฺถ.ฏีกา ๒/๓๐/๘), ดูข้อ ๑๐๔ หน้า ๘๗
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๒๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร

ท่านพระสุทินตอบว่า “อาตมาไปที่บ้านของโยมมาแล้ว ขนมกุมมาสค้างคืน
นี้ก็ได้มาจากที่บ้านนั้น”
ทันใดนั้น บิดาจับแขนท่านพระสุทินกล่าวว่า “มาเถิดลูกสุทินไปบ้านด้วยกัน”
ท่านพระสุทินจึงเดินตรงไปบ้านของโยมบิดา ครั้นถึงแล้ว ได้นั่งบนอาสนะที่
เขาจัดถวาย
บิดาของท่านสุทินกล่าวว่า “นิมนต์ท่านฉันเถิด”
“ไม่ละโยม วันนี้อาตมาฉันอิ่มแล้ว”
“ขอนิมนต์รับฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้เถิด”
ท่านพระสุทินรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ แล้วก็ลุกจากอาสนะหลีกไป

บิดาวิงวอนให้ลาสิกขา

[๓๓] ในคืนนั้น มารดาของพระสุทินสั่งให้เอามูลโคสดมาฉาบทาพื้นดินแล้ว
แบ่งทรัพย์ออกเป็น ๒ กอง คือ เงินกองหนึ่ง ทองกองหนึ่ง เป็นกองใหญ่เท่าๆ กัน
สูงท่วมศีรษะ คนยืนอยู่ข้างนี้จะมองไม่เห็นคนยืนอยู่ข้างโน้น คนยืนอยู่ข้างโน้นจะ
มองไม่เห็นคนยืนอยู่ข้างนี้ ใช้เสื่อลำแพนปิดกองทรัพย์ไว้ ตรงกลางจัดอาสนะใช้ม่าน
ล้อมเป็นวงเสร็จแล้วเรียกอดีตภรรยาของท่านพระสุทินมาสั่งว่า “ลูกหญิง เธอจง
แต่งกายด้วยอาภรณ์ที่ลูกสุทินเคยรักใคร่ชอบใจ” ลูกสะใภ้รับคำสั่งแม่ผัวแล้ว
[๓๔] พอรุ่งเช้า ท่านพระสุทินครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปถึง
เรือนโยมบิดา ครั้นถึงแล้ว ได้นั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย
ลำดับนั้น โยมบิดาของท่านเข้าไปหาแล้วให้คนเปิดกองทรัพย์ออก กล่าวว่า
“ลูกสุทิน นี่คือทรัพย์ฝ่ายมารดาเป็นสมบัติฝ่ายหญิงที่ได้รับมาทางฝ่ายมารดา ของ
พ่อมีอีกต่างหาก ส่วนของปู่อีกต่างหาก ลูกสุทินจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์เถิด จะได้ใช้
สอยทรัพย์สมบัติและทำบุญ”
ท่านพระสุทินตอบว่า “โยม อาตมาไม่อาจไม่สามารถ อาตมายังพอใจ
ประพฤติพรหมจรรย์อยู่”
โยมบิดาของพระสุทินวิงวอนเป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ เป็นครั้งที่ ๓ ว่า “ลูกสุทิน นี่
คือทรัพย์ฝ่ายมารดาเป็นสมบัติฝ่ายหญิงที่ได้รับมาทางฝ่ายมารดา ของพ่อมีอีกต่าง


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร

หาก ส่วนของปู่อีกต่างหาก ลูกสุทินจงกลับมาเป็นคฤหัสถ์เถิด จะได้ใช้สอยทรัพย์
สมบัติและทำบุญ”
ท่านพระสุทินตอบว่า “อาตมาขอพูดบ้าง ถ้าโยมไม่ขัดข้อง”
บิดาของท่านตอบว่า “นิมนต์พูดเถิด ลูกสุทิน”
ท่านพระสุทินกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น โยมพ่อจงสั่งให้ทำกระสอบป่านใบใหญ่ๆ
บรรจุเงินทองให้เต็ม บรรทุกเกวียนไปแล้วโยนลงกลางแม่น้ำคงคา เพราะอะไร
เพราะโยมพ่อจะไม่ต้องกลัว ไม่ต้องหวาดระแวง ไม่ต้องขนพองสยองเกล้า ไม่ต้องมี
การดูแลรักษาซึ่งมีสาเหตุมาจากทรัพย์นั้นเลย”
เมื่อท่านพระสุทินกล่าวอย่างนี้ โยมบิดาของท่านเสียใจด้วยคิดว่า ลูกสุทิน
กล่าวอย่างนี้ได้อย่างไร
[๓๕] ต่อมา บิดาของพระสุทินเรียกอดีตภรรยาของท่านมาสั่งว่า “ลูกหญิง
เจ้าเป็นที่รักใคร่พอใจ บางทีลูกสุทินจะเชื่อเจ้าบ้าง”
ทันใดนั้น นางจึงจับเท้าทั้ง ๒ ของพระสุทินพลางถามว่า “หลวงพี่ นางอัปสร
พวกไหนเล่าผู้เป็นต้นเหตุให้หลวงพี่ประพฤติพรหมจรรย์”
ท่านพระสุทินตอบว่า “น้องหญิง อาตมาไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์เพราะ
นางอัปสรเป็นเหตุ” นางเสียใจด้วยคิดว่า วันนี้ เป็นวันแรกที่หลวงพี่สุทินเรียกเราว่า
‘น้องหญิง’ จึงล้มสลบลงตรงนั้นเอง
ท่านพระสุทินบอกโยมบิดาว่า “โยมพ่อ ถ้าโยมจะถวายโภชนะก็จงถวาย
อย่าทำให้อาตมาลำบากใจเลย” บิดาของท่านจึงนิมนต์ให้ฉัน จากนั้นมารดาบิดา
ของท่านประเคนของเคี้ยวของฉันอันประณีต จนกระทั่งอิ่มหนำ จากนั้นมารดาบอก
พระสุทินผู้ฉันเสร็จว่า “ลูกสุทิน ตระกูลเรานี้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินมี
ทองมาก มีเครื่องประดับมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ท่านควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์
จะได้ใช้สอยทรัพย์สมบัติและทำบุญ มาเถิดลูกสุทิน กลับมาเป็นคฤหัสถ์เถิด จะได้
ใช้สอยทรัพย์สมบัติและทำบุญ”
ท่านพระสุทินตอบว่า “โยมแม่ อาตมาไม่อาจไม่สามารถ อาตมายังพอใจ
ประพฤติพรหมจรรย์อยู่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร

มารดาพระสุทินวิงวอนแม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ นางกล่าวว่า “ลูกสุทิน
ตระกูลเรานี้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินมีทองมาก มีเครื่องประดับมาก มี
ทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ลูกจงให้ผู้สืบเชื้อสายไว้ เจ้าลิจฉวีจะได้ไม่ริบมรดกของ
เราที่ขาดผู้สืบสกุล”
“คุณโยม เรื่องนี้อาตมาพอจะทำได้”
“เวลานี้ ลูกพักอยู่ที่ไหน”
“อาตมาพักอยู่ที่ป่ามหาวัน” พระสุทินตอบแล้วลุกจากอาสนะหลีกไป

พระสุทินเสพเมถุนธรรม

[๓๖] หลังจากนั้น มารดาของท่านพระสุทินเรียกอดีตภรรยาพระสุทินมาสั่ง
ว่า ลูกหญิง เมื่อถึงเวลาที่เจ้ามีระดู ต่อมโลหิตเกิดมีแก่เจ้า เจ้าต้องบอกแม่”
นางรับคำ ต่อมาเมื่อนางมีระดู ต่อมโลหิตเกิดขึ้นจึงบอกแม่ผัวว่า “ดิฉันมีระดู
ต่อมโลหิตเกิดแล้ว”
มารดากล่าวว่า “ลูกหญิง ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงแต่งกายด้วยอาภรณ์ที่ลูกสุทิน
เคยรักใคร่ชอบใจเถิด” นางก็ปฏิบัติตามคำของแม่ผัว
ต่อมา มารดาพาสะใภ้ไปหาท่านพระสุทินที่ป่ามหาวัน กล่าวว่า “ลูกสุทิน
ตระกูลเรามั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินมีทองมาก มีเครื่องประดับมาก มี
ทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ลูกควรกลับมาเป็นคฤหัสถ์ จะได้ใช้สอยทรัพย์สมบัติและ
ทำบุญ”
พระสุทินตอบว่า “อาตมาไม่อาจ ไม่สามารถ อาตมายังพอใจประพฤติ
พรหมจรรย์อยู่”
มารดาพระสุทินวิงวอนเป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ นางกล่าวว่า “ลูก
สุทิน ตระกูลเรานี้มั่งคั่ง ฯลฯ มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก ลูกจงให้ผู้สืบเชื้อสายไว้
เจ้าลิจฉวีจะได้ไม่ริบมรดกของเราที่ขาดผู้สืบสกุล”
พระสุทินตอบว่า “โยม เรื่องนี้อาตมาพอจะทำได้” แล้วจับแขนอดีตภรรยา
พาเข้าป่ามหาวัน เพราะยังมิได้บัญญัติสิกขาบท จึงเห็นว่าไม่มีโทษ ได้เสพเมถุน
ธรรมกับอดีตภรรยา ถึง ๓ ครั้ง นางตั้งครรภ์เพราะเหตุนี้


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร

ทวยเทพกระจายข่าว

ทวยเทพชั้นภุมมะ กระจายข่าวว่า ท่านผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ไม่เคยมีเสนียดไม่
เคยมีโทษ พระสุทินกลันทบุตร ก่อเสนียด ก่อโทษขึ้นแล้ว
ทวยเทพชั้นจาตุมมหาราชสดับเสียงของทวยเทพชั้นภุมมะแล้ว ได้กระจาย
ข่าวต่อไป ฯลฯ ทวยเทพชั้นดาวดึงษ์ ฯลฯ ทวยเทพชั้นยามา ฯลฯ ทวยเทพชั้นดุสิต
ฯลฯ ทวยเทพชั้นนิมมานรดี ฯลฯ ทวยเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ฯลฯ ทวยเทพที่
นับเนื่องในหมู่พรหมสดับเสียงแล้วก็กระจายข่าวกันต่อไปว่า ท่านผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์
ไม่เคยมีเสนียด ไม่เคยมีโทษ พระสุทินกลันทบุตรก่อเสนียด ก่อโทษขึ้นแล้ว
เพียงครู่เดียวเท่านั้น เสียงป่าวประกาศได้กระจายขึ้นไปถึงพรหมโลกด้วย
ประการฉะนี้
ต่อมา อดีตภรรยาของพระสุทินครรภ์แก่จึงคลอดบุตร พวกเพื่อนของ
พระสุทินตั้งชื่อเด็กคนนั้นว่า เด็กชายพีชกะ๑ เรียกอดีตภรรยาของพระสุทินว่า
พีชกมารดา เรียกพระสุทินว่าพีชกบิดา ต่อมาทั้งมารดาทั้งบุตรได้ออกจากเรือนไป
บวชเป็นอนาคาริก ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

พระสุทินเกิดความเดือดร้อนใจ

[๓๗] ต่อมา พระสุทินเกิดความกลุ้มใจเดือดร้อนใจว่า “ไม่ใช่ลาภของเรา
หนอ เราไม่มีลาภหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีแล้วหนอ ถึงจะเข้ามาบวชใน
พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ก็ยังไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์
ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต” เพราะความกลุ้มใจ เดือดร้อนใจนั้น ท่านจึงซูบผอม
หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง มีเรื่องในใจ ใจหดหู่ เป็นทุกข์ เสียใจ
เดือดร้อนใจ เศร้าซึม

เชิงอรรถ :
๑ พีชกะ หมายถึง ผู้สืบเชื้อสาย ที่ตั้งชื่อให้ว่า “พีชกะ” เพราะย่าได้เคยกล่าวว่า “พีชกํปิ เทหิ จงให้ผู้สืบ
เชื้อสาย” (วิ.อ. ๑/๓๖/๒๒๔).
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๒๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร

[๓๘] ฝ่ายภิกษุผู้เป็นเพื่อนของพระสุทิน กล่าวกับท่านสุทินว่า “ท่านสุทิน
เมื่อก่อนท่านมีผิวพรรณเปล่งปลั่งกระชุ่มกระชวย หน้าตาสดใส มีน้ำมีนวล แต่บัดนี้
ดูท่านซูบผอม หมองคล้ำ ซีดเหลือง เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่ง มีเรื่องในใจ ใจหดหู่ เป็นทุกข์
เสียใจ เดือดร้อนใจ เศร้าซึม ท่านไม่ยินดีจะประพฤติพรหมจรรย์กระมัง”
พระสุทินตอบว่า “ท่านทั้งหลาย ความจริงไม่ใช่กระผมจะไม่ยินดีประพฤติ
พรหมจรรย์ กระผมมีบาปกรรมที่ทำไว้ คือ ได้เสพเมถุนธรรมกับอดีตภรรยา
กระผมจึงเกิดความกลุ้มใจเดือดร้อนใจว่า มิใช่ลาภของเราหนอ เราไม่มีลาภหนอ
เราได้ชั่วแล้วหนอ เราไม่ได้ดีหนอ ถึงจะเข้ามาบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสไว้ดีแล้ว ก็ยังไม่สามารถจะประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้
ตลอดชีวิต”
ภิกษุผู้เป็นเพื่อนกล่าวว่า “จริงทีเดียวท่านสุทิน การที่ท่านเข้ามาบวชในพระ
ธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วแต่ไม่สามารถจะประพฤติพรหมจรรย์ให้
บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต ก็พอที่จะทำให้กลุ้มใจ เดือดร้อนใจได้ พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงธรรมไว้โดยประการต่าง ๆ เพื่อคลายความกำหนัด มิใช่เพื่อความกำหนัด
เพื่อความพราก มิใช่เพื่อความประกอบไว้ เพื่อความไม่ถือมั่น มิใช่เพื่อความถือมั่น
มิใช่หรือ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เพื่อคลายความกำหนัด ท่านก็ยังจะ
คิดเพื่อความกำหนัด ทรงแสดงธรรมเพื่อความพราก ท่านก็ยังจะคิดเพื่อความประกอบ
ไว้ ทรงแสดงธรรมเพื่อความไม่ถือมั่น ท่านก็ยังจะคิดเพื่อมีความถือมั่น พระผู้มีพระ
ภาคทรงแสดงธรรมโดยประการต่าง ๆ เพื่อสำรอกราคะ เพื่อสร่างความเมา เพื่อดับ
ความกระหาย เพื่อถอนความอาลัย เพื่อตัดวัฏฏะ เพื่อความสิ้นตัณหา เพื่อคลาย
ความกำหนัด เพื่อดับทุกข์ เพื่อนิพพาน มิใช่หรือ พระผู้มีพระภาคตรัสบอกการละ
กาม การกำหนดรู้ความสำคัญในกาม การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอน
ความตรึกในกาม การระงับความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้โดยประการต่าง ๆ มิใช่หรือ
การกระทำของท่านนั้น มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใส
อยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย
คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป”


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร

[๓๙] ครั้นภิกษุผู้เป็นเพื่อนเหล่านั้นตำหนิพระสุทินโดยประการต่าง ๆ แล้ว
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระสุทินว่า “สุทิน ทราบว่า เธอเสพเมถุนธรรมกับอดีตภรรยา
จริงหรือ” พระสุทินทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่สมควร ไม่
คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย เธอบวชในธรรม
วินัยที่เรากล่าวดีแล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้
ตลอดชีวิตเล่า เราแสดงธรรมโดยประการต่าง ๆ เพื่อคลายความกำหนัด มิใช่เพื่อ
ความกำหนัด เพื่อความพราก มิใช่เพื่อความประกอบไว้ เพื่อความไม่ถือมั่น มิใช่
เพื่อความถือมั่น มิใช่หรือ เมื่อเราแสดงธรรมเพื่อคลายความกำหนัด เธอก็ยังจะคิด
เพื่อความกำหนัด เราแสดงธรรมเพื่อความพราก เธอก็ยังจะคิดเพื่อความประกอบไว้
เราแสดงธรรมเพื่อความไม่ถือมั่น เธอก็ยังจะคิดเพื่อมีความถือมั่น เราแสดงธรรม
โดยประการต่าง ๆ เพื่อสำรอกราคะ เพื่อสร่างความเมา เพื่อดับความกระหาย
เพื่อถอนความอาลัย เพื่อตัดวัฏฏะ เพื่อความสิ้นตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด
เพื่อดับทุกข์ เพื่อนิพพาน มิใช่หรือ เราบอกการละกาม การกำหนดรู้ความสำคัญ
ในกาม การกำจัดความกระหายในกาม การเพิกถอนความตรึกในกาม การระงับ
ความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้โดยประการต่าง ๆ มิใช่หรือ
โมฆบุรุษ เธอสอดองคชาตเข้าปากอสรพิษร้ายเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้า
องค์กำเนิดสตรี สอดองคชาตเข้าปากงูเห่าเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้าองค์กำเนิด
สตรี สอดองคชาตเข้าหลุมถ่านไฟเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้าองค์กำเนิดสตรี
เพราะอะไรเล่า เพราะผู้สอดองคชาตเข้าปากอสรพิษร้ายเป็นต้น พึงถึงความตาย
หรือทุกข์ปางตายเพราะการกระทำนั้นเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วก็ไม่ต้องไปบังเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนผู้สอดองคชาตเข้าองค์กำเนิดสตรี หลังจากตาย
แล้วต้องไปบังเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สุทินนภาณวาร

โมฆบุรุษ ในการที่เธอเสพอสัทธรรม ซึ่งเป็นประเวณีของชาวบ้าน มารยาท
ของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่จะต้องทำในที่ลับ ต้องทำกัน
สอง ต่อสองนี้มีโทษมาก เธอเป็นคนแรกที่ก่ออกุศลธรรมก่อนใครๆ การทำอย่างนี้
มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น
ได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
บางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป”
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงตำหนิพระสุทินโดยประการต่าง ๆ แล้ว ได้ตรัสโทษ
แห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก บำรุงยาก มักมาก ไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความ
เกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย มักน้อย สันโดษ ความ
ขัดเกลา ความกำจัดกิเลส อาการน่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร
โดยประการต่าง ๆ ทรงแสดงธรรมีกถาให้เหมาะสมให้คล้อยตามกับเรื่องนั้น แล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เราจะบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย โดย
อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
๓. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
๔. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม
๕. เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
๖. เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต
๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว
๙. เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๒๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ พระบัญญัติ

๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย๑”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ

ก็ ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก๒ หาสังวาสมิได้
สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
สุทินภาณวาร จบ

เรื่องลิงตัวเมีย

[๔๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งให้อาหารเลี้ยงลิงตัวเมียในป่ามหาวัน กรุงเวสาลี
แล้วเสพเมถุนธรรมกับนางลิงนั้น ครั้นเวลาเช้า เธอครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรไปบิณฑบาตในกรุงเวสาลี ต่อมาภิกษุหลายรูปจาริกไปตามเสนาสนะ เดินผ่าน
ไปทางที่อยู่ของภิกษุนั้น นางลิงเห็นภิกษุเหล่านั้นกำลังเดินมาแต่ไกลจึงตรงเข้าไปหา
แล้วส่ายสะเอว แกว่งหาง โก่งตะโพกขึ้น ทำท่าทางต่างๆ ต่อหน้าภิกษุเหล่านั้น
ภิกษุเหล่านั้น จึงพากันสันนิษฐานว่า ภิกษุเจ้าถิ่นคงจะเสพเมถุนธรรมกับนางลิงตัว
นี้แน่ แล้วแอบอยู่ ณ ที่กำบังแห่งหนึ่งจนกระทั่งภิกษุเจ้าถิ่นเที่ยวบิณฑบาตในกรุง
เวสาลี แล้วถืออาหารบิณฑบาตกลับมา

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๑,๒ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมคือสงฆ์
ข้อ ๓,๔ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่บุคคล
ข้อ ๕,๖ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์หรือแก่ชีวิต
ข้อ ๗,๘ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน
ข้อ ๙,๑๐ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา
ข้อ ๑๐ คำว่า “เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย” หมายถึง เพื่อเชิดชู ค้ำจุน ประคับประคองพระวินัย ๔ อย่าง คือ
สังวรวินัย ปหานวินัย สมถวินัย บัญญัติวินัย (วิ.อ. ๑/๓๙/๒๓๖-๒๓๗)
๒ เป็นผู้พ่ายแพ้ ถึงความพ่ายแพ้ คือ เป็นผู้เคลื่อน พลัดตก เหินห่างจากพระสัทธรรม (สารตฺถ.ฏีกา. ๒/
๕๕/๑๐๓-๑๐๔), ปาราชิกศัพท์นั้น หมายถึงตัวสิกขาบท หมายถึงตัวอาบัติ หมายถึงบุคคล ในที่นี้หมายถึง
บุคคล (วิ.อ. ๑/๕๕/๒๗๗).
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๒๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ พระบัญญัติ

[๔๑] ขณะนั้น นางลิงได้เข้าไปหาภิกษุเจ้าถิ่นนั้น ครั้นภิกษุเจ้าถิ่นฉัน
บิณฑบาตนั้นส่วนหนึ่งแล้ว ได้แบ่งอีกส่วนหนึ่งให้แก่นางลิง เมื่อมันกินอาหารแล้วได้
โก่งตะโพกให้ ภิกษุเจ้าถิ่นจึงเสพเมถุนธรรมกับมัน
ทันใดนั้น ภิกษุเหล่านั้นออกจากที่ซ่อน กล่าวกับภิกษุเจ้าถิ่นว่า “ท่าน พระผู้
มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้วมิใช่หรือ เหตุไร ท่านจึงเสพเมถุนธรรมกับนาง
ลิงนี้เล่า”
ท่านกล่าวแย้งว่า “จริงท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติสิกขาบท
ไว้แล้ว แต่สิกขาบทนั้น ใช้เฉพาะหญิงมนุษย์ ไม่ใช้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “พระบัญญัตินั้นใช้ได้เหมือนกันทั้งในหญิงมนุษย์และ
ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียมิใช่หรือ การกระทำของท่านไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม
ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ท่านบวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระ
ภาคตรัสไว้ดีแล้ว ไฉนจึงไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอด
ชีวิตเล่า พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมโดยประการต่าง ๆ เพื่อคลายความกำหนัด
มิใช่เพื่อความกำหนัด ฯลฯ ตรัสบอกการระงับความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้โดย
ประการต่างๆ มิใช่หรือ การทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำ
คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่
เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป” ครั้นภิกษุเหล่านั้น
ตำหนิภิกษุนั้นโดยประการต่างๆ แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติอนุบัญญัติ

[๔๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ
ทรงสอบถามภิกษุนั้นว่า “ภิกษุ ทราบว่า เธอเสพเมถุนธรรมกับนางลิง จริงหรือ”
เธอ ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า
“โมฆบุรุษ การกระทำของเธอไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของ
สมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ เธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้ว ไฉนจึงไม่สามารถ
ประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิตเล่า เราแสดงธรรมโดยประการ
ต่าง ๆ เพื่อคลายความกำหนัด ฯลฯ เราบอกการระงับความกลัดกลุ้มเพราะกามไว้
โดยประการต่าง ๆ มิใช่หรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๓๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ พระอนุบัญญัติ

โมฆบุรุษ เธอสอดองคชาตเข้าปากอสรพิษร้ายเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้า
องค์กำเนิดนางลิง สอดองคชาตเข้าปากงูเห่าเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้าองค์กำเนิด
นางลิง สอดองคชาตเข้าหลุมถ่านไฟเสียยังดีกว่าสอดองคชาตเข้าองค์กำเนิดนางลิง
เพราะอะไรเล่า เพราะผู้สอดองคชาตเข้าปากอสรพิษร้ายเป็นต้น พึงถึงความตาย
หรือทุกข์ปางตายเพราะการกระทำนั้นเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วก็ไม่ต้องไปบังเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนผู้สอดองคชาตเข้าองค์กำเนิดนางลิง หลังจาก
ตายแล้วต้องไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
โมฆบุรุษ ในการที่เธอเสพอสัทธรรมซึ่งเป็นประเวณีของชาวบ้าน มารยาท
ของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่จะต้องทำในที่ลับ ต้องทำกัน
สองต่อสองนี้มีโทษมาก
โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคน
ที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่
เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป” แล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้กับสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ภิกษุ
นั้นเป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

เรื่องลิงตัวเมีย จบ

สันถตภาณวาร
เรื่องพวกภิกษุวัชชีบุตร

[๔๓] สมัยนั้น พวกภิกษุวัชชีบุตรชาวกรุงเวสาลีหลายรูปฉันอาหาร จำวัด
และสรงน้ำพอแก่ความต้องการ มนสิการโดยไม่แยบคาย ไม่บอกคืนสิกขา ไม่เปิด
เผยความท้อแท้ พากันเสพเมถุนธรรม


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ พระอนุบัญญัติ

ต่อมา พวกเธอถูกความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคะและโรคกลุ้มรุม จึง
เข้าไปหาท่านพระอานนท์เรียนว่า “ท่านพระอานนท์ พวกกระผมไม่ติเตียนพระพุทธ
ไม่ติเตียนพระธรรม ไม่ติเตียนพระสงฆ์ พวกกระผมติเตียนตนเอง ไม่ติเตียนผู้อื่น
พวกกระผมไม่มีวาสนา มีบุญน้อย บวชในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดี
แล้ว ไม่สามารถจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอดชีวิต บัดนี้ ถ้า
พวกกระผมได้บรรพชา อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคอีก พวกกระผมพึงเห็น
แจ้งกุศลธรรม หมั่นประกอบความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรมตั้งแต่หัวค่ำจน
รุ่งสาง พวกกระผมขอโอกาส ท่านพระอานนท์ ได้โปรดกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มี
พระภาคเถิด”
พระอานนท์รับคำแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้
กราบทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่ตถาคตจะถอน
ปาราชิกสิกขาบทที่บัญญัติแก่สาวกทั้งหลาย เพราะพวกวัชชีหรือวัชชีบุตรเป็นเหตุ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุแล้ว
รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเป็นภิกษุ ไม่บอกคืนสิกขา ไม่เปิดเผย
ความท้อแท้ เสพเมถุนธรรมทั้งที่ยังเป็นภิกษุ ผู้นั้นมาแล้ว สงฆ์ไม่พึงให้อุปสมบท
แต่ผู้ใดเป็นภิกษุ บอกคืนสิกขา เปิดเผยความท้อแท้ แล้วเสพเมถุนธรรม ผู้นั้นมา
แล้ว สงฆ์พึงให้อุปสมบท” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ

[๔๔] อนึ่ง ภิกษุใดถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย ไม่
บอกคืนสิกขา ไม่เปิดเผยความท้อแท้ เสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้กับสัตว์
ดิรัจฉานตัวเมีย ภิกษุนั้นเป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

เรื่องพวกภิกษุวัชชีบุตร จบ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์

สิกขาบทวิภังค์

[๔๕] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด มีการงาน มีชาติวรรณะ มีชื่อ มี
ตระกูล มีลักษณนิสัย มีคุณธรรมมีอารมณ์อย่างไร เป็นเถระ นวกะหรือมัชฌิมะ๑ นี้
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ
อาศัยการเที่ยวขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะใช้ผืนผ้าที่ถูกทำให้เสียราคา๒ ชื่อว่า ภิกษุ
เพราะเรียกกันโดยโวหาร ชื่อว่า ภิกษุ เพราะการปฏิญญาตน ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ
พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้อุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ ชื่อว่า
ภิกษุ เพราะเป็นผู้เจริญ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้มีสาระ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ยัง
ต้องศึกษา ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ไม่ต้องศึกษา ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ที่สงฆ์
พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมที่ถูกต้อง สมควรแก่เหตุ ในภิกษุที่
กล่าวมานั้น ภิกษุผู้ที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรมที่ถูกต้อง
สมควรแก่เหตุนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า สิกขา ได้แก่ สิกขา ๓ อย่าง คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และ
อธิปัญญาสิกขา ในสิกขา ๓ นั้น อธิสีลสิกขานี้ที่ทรงประสงค์เอาในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า สาชีพ หมายถึง สิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ ภิกษุ
ศึกษาสาชีพนั้น เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยสาชีพ
คำว่า ไม่บอกคืนสิกขา ไม่เปิดเผยความท้อแท้ มีพุทธาธิบายว่า ภิกษุ
ทั้งหลาย การเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการบอกคืนสิกขาก็มี การเปิดเผยความ
ท้อแท้ และเป็นการบอกคืนสิกขาก็มี

เชิงอรรถ :
๑ เถระ พระผู้ใหญ่ ตามวินัยกำหนดว่ามีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ปีขึ้นไป นวกะ ภิกษุผู้มีพรรษายังไม่ครบ ๕
มัชฌิมะ ภิกษุผู้มีพรรษาครบ ๕ แล้ว แต่ยังไม่ถึง ๑๐ พรรษา(วิ.อ. ๑/๔๕/๒๕๓)
๒ เสียราคา เพราะทำให้เสียสี ๑ เพราะใช้ศัตราตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ๑ เพราะทำให้เป็นตำหนิด้วยการ
ทำพินทุกัปปะ ๑ (วิ.อ. ๑/๔๕/๒๕๓-๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๓๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

บทภาชนีย์
ลักษณะที่ไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา

ภิกษุทั้งหลาย อย่างไร ชื่อว่าการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการบอกคืน
สิกขา

๑. การบอกคืนสิกขาด้วยการใช้คำรำพึง ๑๔ บท

(๑) ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก
อึดอัด เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ปรารถนาจะเป็นอุบาสก
ปรารถนาจะเป็นคนวัด ปรารถนาจะเป็นสามเณร ปรารถนาจะเป็นเดียรถีย์ ปรารถนา
จะเป็นสาวกเดียรถีย์ ปรารถนาจะไม่เป็นสมณะ ปรารถนาจะไม่เป็นเชื้อสายพระ
ศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า “ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระพุทธเจ้า”
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการ
บอกคืนสิกขา
(๒) อีกประการหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัย กระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก
อึดอัด เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่
เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระธรรม
(๓) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระสงฆ์ (๔) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า
ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนสิกขา (๕) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึง
บอกคืนพระวินัย (๖) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระปาติโมกข์
(๗) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนอุทเทส๑ (๘) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า
ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระอุปัชฌาย์ (๙) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ
ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระอาจารย์ (๑๐) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอก
คืนสัทธิวิหาริก (๑๑) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนอันเตวาสิก

เชิงอรรถ :
๑ อุทเทส ในที่นี้ คือ การยกภิกขุปาติโมกข์ ภิกขุนีปาติโมกข์ขึ้นสวด (วิ.อ. ๑/๕๓/๒๖๙)
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

(๑๒) ...บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌาย์
(๑๓)... บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนภิกษุผู้ร่วมอาจารย์
(๑๔)... บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนเพื่อนพรหมจารี
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่งานี้ ก็ชื่อว่า เป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่
เป็นการบอกคืนสิกขา

๒. การบอกคืนสิกขาด้วยการใช้คำรำพึงกำหนดภาวะ ๘ บท

(๑) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด เบื่อหน่าย
รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็นเชื้อสายพระ
ศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ไฉนหนอ ข้าพเจ้าพึงเป็นคฤหัสถ์ (๒) ...พึงเป็นอุบาสก
(๓) ...พึงเป็นคนวัด (๔) ...พึงเป็นสามเณร (๕) ...พึงเป็นเดียรถีย์ (๖) ...พึงเป็นสาวก
เดียรถีย์ (๗) ...พึงเป็นผู้มิใช่สมณะ (๘) ...พึงเป็นผู้มิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการ
บอกคืนสิกขา

๓.-๑๐. การบอกคืนสิกขาด้วยการใช้คำปริกัป ๑๔ บทและ ๘ บท๑

[๔๖] (๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระสัน ไม่ยินดี ปรารถนา
จะสึก อึดอัด เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนา
จะไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ก็ถ้าว่า ข้าพเจ้าพึงบอกคืน
พระพุทธเจ้า... (๘) ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ก็ถ้าว่า ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้มิใช่เชื้อสายพระ
ศากยบุตร... (๑) ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ก็ถ้าว่า ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระพุทธเจ้า...
(๘) ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ก็ถ้าว่า ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้มิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร...
(๑) ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า เอาเถอะ ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระพุทธเจ้า... (๘) ภิกษุ
บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า เอาเถอะ ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้มิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร... (๑) ภิกษุ

เชิงอรรถ :
๑ บทที่ ๑-๑๔ และบทที่ ๑-๘ ดูความพิสดารในข้อ ๑-๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๓๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีความดำริว่า ข้าพเจ้าพึงบอกคืนพระพุทธเจ้า... (๘) ภิกษุ
บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีความดำริว่า ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้มิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็น
การบอกคืนสิกขา

๑๑. การบอกคืนสิกขาด้วยการใช้คำอ้างวัตถุที่ระลึก ๑๗ บท

[๔๗] (๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุกระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด
เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็นเชื้อ
สายพระศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงมารดา (๒) ...ภิกษุบอกให้ผู้
อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงบิดา (๓) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงพี่ชายน้อง
ชาย (๔)...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงพี่สาวน้องสาว (๕) ...ภิกษุบอกให้
ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพ เจ้าระลึกถึงบุตร (๖) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงธิดา
(๗) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงภรรยา (๘) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า
ข้าพเจ้าระลึกถึงหมู่ญาติ (๙) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงหมู่มิตร
(๑๐) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงบ้าน (๑๑) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่น
รู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงนิคม (๑๒) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงนา
(๑๓) ... ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงสวน (๑๔) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่น
รู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงเงิน (๑๕) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงทอง
(๑๖) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงศิลปะ (๑๗) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า
ข้าพเจ้าระลึกถึงการหัวเราะ การเจรจา การเล่นในครั้งก่อน
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการ
บอกคืนสิกขา

๑๒. การบอกคืนสิกขาด้วยการใช้คำแสดงความห่วงใย ๙ บท

[๔๘] (๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุกระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด
เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็นเชื้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๓๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

สายพระศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีมารดาที่ต้องเลี้ยงดู (๒) ...ภิกษุบอก
ให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีบิดาที่ต้องเลี้ยงดู (๓) ... ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีพี่
ชายน้องชายที่ต้องเลี้ยงดู (๔) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีพี่สาวน้องสาวที่ต้อง
เลี้ยงดู (๕) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีบุตรที่ต้องเลี้ยงดู (๖) ...ภิกษุบอกให้ผู้
อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีธิดาที่ต้องเลี้ยงดู (๗) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีภรรยาที่
ต้องเลี้ยงดู (๘) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีหมู่ญาติที่ต้องเลี้ยงดู (๙) ...ภิกษุ
บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีหมู่มิตรที่ต้องเลี้ยงดู
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการ
บอกคืนสิกขา

๑๓. การบอกคืนสิกขาด้วยการใช้คำอ้างที่อยู่อาศัย ๑๖ บท

[๔๙] (๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุกระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด
เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็น
เชื้อสายพระศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีมารดา ท่านจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า
(๒) ... ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีบิดา ท่านจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า (๓) ...ภิกษุ
บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีพี่ชายน้องชาย เขาจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า (๔) ...ภิกษุบอกให้
ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีพี่สาวน้องสาว เธอจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า (๕) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่น
รู้ว่า ข้าพเจ้ามีบุตร เขาจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า (๖)...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีธิดา
เธอจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า (๗) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีภรรยา เธอจักเลี้ยงดู
ข้าพเจ้า (๘) ... ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีหมู่ญาติ พวกเขาจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า
(๙) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีหมู่มิตร พวกเขาจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า
(๑๐) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีบ้าน ข้าพเจ้าจักเลี้ยงชีพด้วยบ้านนั้น
(๑๑) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีนิคม ข้าพเจ้าจักเลี้ยงชีพด้วยนิคมนั้น
(๑๒) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีนา ข้าพเจ้าจักเลี้ยงชีพด้วยนานั้น
(๑๓) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีสวน ข้าพเจ้าจักเลี้ยงชีพด้วยสวนนั้น
(๑๔) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีเงิน ข้าพเจ้าจักเลี้ยงชีพด้วยเงินนั้น
(๑๕) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีทอง ข้าพเจ้าจักเลี้ยงชีพด้วยทองนั้น
(๑๖) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้ามีศิลปะ ข้าพเจ้าจักเลี้ยงชีพด้วยศิลปะนั้น


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการ
บอกคืนสิกขา

๑๔. การบอกคืนสิกขาด้วยการอ้างว่าพรหมจรรย์ทำได้ยาก ๘ บท
[๕๐] (๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุกระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด
เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็นเชื้อ
สายพระศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า พรหมจรรย์ทำได้ยาก (๒) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่น
รู้ว่า พรหมจรรย์ทำไม่ได้ง่าย (๓) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่าพรหมจรรย์ประพฤติได้ยาก
(๔) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า พรหมจรรย์ประพฤติไม่ได้ง่าย (๕) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่น
รู้ว่า เราไม่อาจ (๖) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า เราไม่สามารถ (๗) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า
เราไม่ยินดี (๘) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า เราไม่รื่นเริง
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ แต่ไม่เป็นการ
บอกคืนสิกขา

ลักษณะที่จัดว่าเป็นการบอกคืนสิกขา

[๕๑] ภิกษุทั้งหลาย อย่างไร ชื่อว่าการเปิดเผยความท้อแท้และเป็นการ
บอกคืนสิกขา

๑. การบอกคืนสิกขาด้วยคำเป็นปัจจุบัน ๑๔ บท

(๑) ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ กระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด
เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็นเชื้อ
สายพระศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระพุทธเจ้า
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ และเป็นการ
บอกคืนสิกขา
(๒) อีกประการหนึ่ง ภิกษุกระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด เบื่อหน่าย
รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็นเชื้อสายพระ
ศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระธรรม (๓) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๓๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

ข้าพเจ้าบอกคืนพระสงฆ์ (๔) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนสิกขา
(๕) ... ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระวินัย (๖) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า
ข้าพเจ้าบอกคืนพระปาติโมกข์ (๗) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนอุทเทส
(๘) ... ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระอุปัชฌาย์ (๙) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่น
รู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนพระอาจารย์ (๑๐) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืน
สัทธิวิหาริก (๑๑) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนอันเตวาสิก (๑๒) ...ภิกษุ
บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืนภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌาย์ (๑๓) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า
ข้าพเจ้าบอกคืนภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ (๑๔) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าบอกคืน
เพื่อนพรหมจารี
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ และเป็นการ
บอกคืนสิกขา

๒. การบอกคืนสิกขาโดยการแสดงภาวะ ๘ บท

(๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุกระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด เบื่อหน่าย
รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็นเชื้อสายพระ
ศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ท่านจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นคฤหัสถ์ (๒) ...ภิกษุบอกให้ผู้
อื่นรู้ว่า ท่านจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก (๓) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ท่านจงจำ
ข้าพเจ้าว่าเป็นคนวัด (๔) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ท่านจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นสามเณร
(๕) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ท่านจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นเดียรถีย์ (๖) ...ภิกษุบอกให้ผู้
อื่นรู้ว่า ท่านจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นสาวกเดียรถีย์ (๗) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ท่านจง
จำข้าพเจ้าว่าเป็นผู้มิใช่สมณะ (๘) ...ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ท่านจงจำข้าพเจ้าว่าเป็น
ผู้มิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ และเป็นการ
บอกคืนสิกขา

๓. การบอกคืนสิกขาโดยใช้คำเป็นปัจจุบันว่าไม่เกี่ยวข้อง ๑๔ บท

[๕๒] (๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุกระสัน ไม่ยินดี ปรารถนาจะสึก อึดอัด
เบื่อหน่าย รังเกียจเพศภิกษุ ปรารถนาจะเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ ปรารถนาจะไม่เป็น


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

เชื้อสายพระศากยบุตร บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าเลิกเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ฯลฯ
(๑๔) ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าเลิกเกี่ยวข้องกับเพื่อนพรหมจารี
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ และเป็นการ
บอกคืนสิกขา

๔. การบอกคืนสิกขาโดยใช้คำว่าจะมีอะไร ๑๔ บท

(๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้บอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าจะมีอะไร
กับพระพุทธเจ้า ฯลฯ (๑๔) ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าจะมีอะไรกับเพื่อนพรหมจารี
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ และเป็นการ
บอกคืนสิกขา

๕. การบอกคืนสิกขาโดยใช้คำว่าไม่ต้องการ ๑๔ บท

(๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าไม่ต้องการพระพุทธเจ้า
ฯลฯ (๑๔) ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าไม่ต้องการเพื่อนพรหมจารี
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ และเป็นการ
บอกคืนสิกขา

๖. การบอกคืนสิกขาโดยใช้คำว่าพ้นขาดแล้ว ๑๔ บท

(๑) อีกประการหนึ่ง ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าพ้นขาดแล้วจากพระพุทธเจ้า
ฯลฯ (๑๔) ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ว่า ข้าพเจ้าพ้นขาดแล้วจากเพื่อนพรหมจารี
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ และเป็นการ
บอกคืนสิกขา

บอกคืนสิกขาโดยการใช้คำไวพจน์

[๕๓] อีกประการหนึ่ง คำที่เป็นไวพจน์๑ ของพระพุทธ คำที่เป็นไวพจน์ของ
พระธรรม คำที่เป็นไวพจน์ของพระสงฆ์ คำที่เป็นไวพจน์ของสิกขา คำที่เป็นไวพจน์

เชิงอรรถ :
๑ ไวพจน์ ในที่นี้ หมายเอาคำที่มีรูปต่างกัน มีความหมายต่างกัน แต่หมายถึงสิ่งเดียวกัน, หมายถึง คำ
ที่ใช้แทนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ฯลฯ สมณะ เชื้อสายพระศากยบุตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

ของพระวินัย คำที่เป็นไวพจน์ของพระปาติโมกข์ คำที่เป็นไวพจน์ของอุทเทส คำที่
เป็นไวพจน์ของพระอุปัชฌาย์ คำที่เป็นไวพจน์ของพระอาจารย์ คำที่เป็นไวพจน์ของ
สัทธิวิหาริก คำที่เป็นไวพจน์ของอันเตวาสิก คำที่เป็นไวพจน์ของภิกษุผู้ร่วมพระ
อุปัชฌาย์ คำที่เป็นไวพจน์ของภิกษุผู้ร่วมพระอาจารย์ คำที่เป็นไวพจน์ของเพื่อน
พรหมจารี คำที่เป็นไวพจน์ของคฤหัสถ์ คำที่เป็นไวพจน์ของอุบาสก คำที่เป็นไวพจน์
ของคนวัด คำที่เป็นไวพจน์ของสามเณร คำที่เป็นไวพจน์ของเดียรถีย์ คำที่เป็น
ไวพจน์ของสาวกของเดียรถีย์ คำที่เป็นไวพจน์ของผู้มิใช่สมณะ คำที่เป็นไวพจน์ของ
ผู้มิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร แม้อื่นใดที่มีอยู่ ภิกษุบอกให้ผู้อื่นรู้ด้วยคำที่เป็นไวพจน์
เหล่านั้น อันเป็นอาการ เป็นลักษณะ เป็นสัญลักษณ์
ภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าเป็นการเปิดเผยความท้อแท้ และเป็นการ
บอกคืนสิกขา

ลักษณะที่บอกคืนสิกขาแล้วไม่เป็นอันบอกคืน

[๕๔] ภิกษุทั้งหลาย อย่างไร ชื่อว่าไม่เป็นการบอกคืนสิกขา คือ ภิกษุผู้
วิกลจริต บอกคืนสิกขาด้วยคำที่เป็นอาการ เป็นลักษณะ เป็นสัญลักษณ์ ตามที่ภิกษุ
ในธรรมวินัยนี้บอกคืนสิกขากัน ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุปกติบอกคืนสิกขาต่อหน้าภิกษุผู้วิกลจริต ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่านบอกคืนสิกขา ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขาต่อหน้าภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุกระสับกระส่ายเพราะเวทนาบอกคืนสิกขา ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขาต่อหน้าภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ย่อมไม่เป็น
อันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขาต่อหน้าเทวดา ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขาต่อหน้าสัตว์ดิรัจฉาน ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ สิกขาบทวิภังค์

ภิกษุบอกคืนสิกขาต่อหน้าชาวมิลักขะ ด้วยภาษาชาวอริยกะ ถ้าเขาไม่เข้าใจ
ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขาต่อหน้าชาวอริยกะ ด้วยภาษาชาวมิลักขะ ถ้าเขาไม่เข้าใจ
ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขาต่อหน้าชาวอริยกะ ด้วยภาษาชาวอริยกะ ถ้าเขาไม่เข้าใจ
ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขาต่อหน้าชาวมิลักขะ ด้วยภาษาชาวมิลักขะ ถ้าเขาไม่เข้าใจ
ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขา โดยพูดเล่น ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุบอกคืนสิกขา โดยพูดพลั้งพลาด ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุไม่ประสงค์จะประกาศ แต่ประกาศให้ได้ยิน ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุประสงค์จะประกาศ แต่ไม่ประกาศให้ได้ยิน ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุประกาศแก่ผู้ไม่เข้าใจความหมาย ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุไม่ประกาศแก่ผู้เข้าใจความหมาย ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุไม่ประกาศโดยประการทั้งปวง ย่อมไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา
ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้ ชื่อว่าไม่เป็นอันบอกคืนสิกขา

สิกขาบทวิภังค์

[๕๕] ที่ชื่อว่า เมถุนธรรม ได้แก่ อสัทธรรม ซึ่งเป็นประเวณีของชาวบ้าน
มารยาทของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่จะต้องทำในที่ลับ
ต้องทำกันสองต่อสอง นี้ชื่อว่าเมถุนธรรม
ที่ชื่อว่า เสพ ได้แก่ ภิกษุใด สอดเครื่องหมายเพศเข้าไปทางเครื่องหมายเพศ
สอดองคชาตเข้าไปทางองค์กำเนิด โดยที่สุดเข้าไปแม้เพียงเมล็ดงา ภิกษุนี้ชื่อว่า เสพ
คำว่า โดยที่สุดแม้กับสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ความว่า ภิกษุเสพเมถุนธรรมแม้
กับสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ก็ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร จะกล่าวไปใย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๔๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

ถึงการเสพกับหญิงมนุษย์เล่า ดังนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า โดยที่สุดแม้กับสัตว์
ดิรัจฉานตัวเมีย
คำว่า เป็นปาราชิก ความว่า ภิกษุเสพเมถุนธรรม ย่อมไม่เป็นสมณะไม่เป็น
เชื้อสายพระศากยบุตร เปรียบเหมือนคนถูกตัดศีรษะ ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ โดยการต่อ
ศรีษะเข้ากับร่างกายนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เป็นปาราชิก
คำว่า หาสังวาสมิได้ อธิบายว่า ที่ชื่อว่า สังวาส ได้แก่ กรรมที่ทำร่วมกัน
อุทเทสที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่า สังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับภิกษุ
รูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้

บทภาชนีย์
มรรคภาณวาร

[๕๖] หญิง ๓ จำพวก คือ หญิงมนุษย์ หญิงอมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย
อุภโตพยัญชนก๑ ๓ จำพวก คือ อุภโตพยัญชนกที่เป็นมนุษย์ อุภโตพยัญชนก
ที่เป็นอมนุษย์ และอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน
บัณเฑาะก์๒ ๓ จำพวก คือ บัณเฑาะก์ที่เป็นมนุษย์ บัณเฑาะก์ที่เป็นอมนุษย์
บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน
ชาย ๓ จำพวก คือ ชายที่เป็นมนุษย์ ชายที่เป็นอมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้

หญิง ๓ จำพวก มีพวกละ ๓ ทวาร

ภิกษุเสพเมถุนธรรมกับหญิงมนุษย์ ๓ ทาง คือ ทวารหนัก ทวารเบา ปาก
ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุเสพเมถุนธรรมกับหญิงอมนุษย์ ... กับสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ๓ ทาง คือ

เชิงอรรถ :
๑ อุภโตพยัญชนก แปลว่า คนมี ๒ เพศ คือมีสัญลักษณ์ทั้งที่เป็นเพศชายและเพศหญิง
๒ บัณเฑาะก์ หมายถึง ขันที ชายที่ถูกตอน พจนานุกรมบาลีสันสกฤตแปลว่า กะเทย
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

ทวารหนัก ทวารเบา ปาก ต้องอาบัติปาราชิก

อุภโตพยัญชนก ๓ จำพวก มีพวกละ ๓ ทวาร

ภิกษุเสพเมถุนธรรมกับอุภโตพยัญชนกที่เป็นมนุษย์ ... กับอุภโตพยัญชนกที่
เป็นอมนุษย์ ... กับอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ๓ ทาง คือ ทวารหนัก ทวารเบา
ปาก ต้องอาบัติปาราชิก

บัณเฑาะก์ ๓ จำพวก มีพวกละ ๒ ทวาร

ภิกษุเสพเมถุนธรรมกับบัณเฑาะก์ที่เป็นมนุษย์ ... กับบัณเฑาะก์ที่เป็นอมนุษย์
... กับบัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ๒ ทาง คือ ทวารหนัก ปาก ต้องอาบัติปาราชิก

ชาย ๓ จำพวก มีพวกละ ๒ ทวาร

ภิกษุเสพเมถุนธรรมกับชายที่เป็นมนุษย์ ... กับชายที่เป็นอมนุษย์ ... กับ
สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ ๒ ทาง คือ ทวารหนัก ปาก ต้องอาบัติปาราชิก

ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง ๓ ทวาร

[๕๗] เมื่อภิกษุเกิดความคิดจะเสพเมถุนธรรม สอดองคชาตเข้าทางทวาร
หนักของหญิงมนุษย์ ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อภิกษุเกิดความคิดจะเสพเมถุนธรรม
สอดองคชาตเข้าทางทวารเบา ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อภิกษุเกิดความคิดจะเสพ
เมถุนธรรม สอดองคชาตเข้าทางปากของหญิงมนุษย์ ต้องอาบัติปาราชิก
เมื่อภิกษุเกิดความคิดจะเสพเมถุนธรรม สอดองคชาตเข้าทางทวารหนัก...
ทวารเบา...ทางปากของหญิงอมนุษย์...ของสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย...ของอุภโตพยัญชนก
ที่เป็นมนุษย์ ... ของอุภโตพยัญชนกที่เป็นอมนุษย์ ... ของอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์
ดิรัจฉาน ต้องอาบัติปาราชิก
เมื่อภิกษุเกิดความคิดจะเสพเมถุนธรรม สอดองคชาตเข้าทางทวารหนัก ...
ทางปากของบัณเฑาะก์ที่เป็นมนุษย์ ... ของบัณเฑาะก์ที่เป็นอมนุษย์ ... ของ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๔๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ... ของมนุษย์ผู้ชาย ... ของอมนุษย์ผู้ชาย...ของสัตว์
ดิรัจฉานตัวผู้ ต้องอาบัติปาราชิก

ว่าด้วยเรื่องไม่มีเครื่องหุ้ม

[๕๘] พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์มาหาภิกษุแล้ว ใช้ทวารหนัก๑
นั่งทับองคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดี
ขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์มาหาภิกษุแล้ว ใช้ทวารหนักนั่งทับ
องคชาต ถ้าภิกษุไม่ยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป แต่ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะ
หยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์มาหาภิกษุแล้ว ใช้ทวารหนักนั่งทับ
องคชาต ถ้าภิกษุไม่ยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ไม่ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว แต่ยินดี
ขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์มาหาภิกษุแล้ว ใช้ทวารหนักนั่งทับ
องคชาต ถ้าภิกษุไม่ยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ไม่ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ไม่ยินดี
ขณะหยุดอยู่ แต่ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์มาหาภิกษุแล้ว ใช้ทวารหนักนั่งทับ
องคชาต ถ้าภิกษุไม่ยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ไม่ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ไม่ยินดี
ขณะหยุดอยู่ ไม่ยินดีขณะถอนออก ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์มาหาภิกษุแล้ว ใช้ทวารเบานั่งทับองค
ชาต... ใช้ปากอมองคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว
ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ ไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ
[๕๙] พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์ตื่น ...หญิงมนุษย์หลับ...หญิง

เชิงอรรถ :
๑ อรรถกถาอธิบายว่า อิตฺถิยา วจฺจมคฺเคน ตสฺส ภิกฺขุโน องฺคชาตํ อภินิสีเทนฺติ แปลว่า ให้องคชาตของ
ภิกษุนั้น สอดเข้าไปทางทวารหนักของหญิง (วิ.อ. ๑/๕๘/๒๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

มนุษย์เมา... หญิงมนุษย์วิกลจริต...หญิงมนุษย์เผลอสติ...หญิงมนุษย์ที่ตายแล้วแต่
ไม่ถูกสัตว์กัดกิน...หญิงมนุษย์ที่ตายแล้วแต่ไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมากมา แล้วใช้ทวาร
หนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ทวารเบานั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ถ้าภิกษุยินดี
ต้องอาบัติปาราชิก
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์ที่ตายแล้วซึ่งถูกสัตว์กัดกินโดยมากมา
หาภิกษุแล้วใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ทวารเบานั่งทับองคชาต ใช้ปากอม
องคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่
ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ ไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงอมนุษย์ ... สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย ... อุภโต
พยัญชนกที่เป็นมนุษย์ ... อุภโตพยัญชนกที่เป็นอมนุษย์ ... อุภโตพยัญชนกที่เป็น
สัตว์ดิรัจฉาน มาหาภิกษุ แล้วใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ทวารเบานั่งทับ
องคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอด
เข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ ไม่ยินดี
ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานตื่น...อุภโต
พยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานหลับ...อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานเมา...อุภโต
พยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานวิกลจริต...อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานเผลอ
สติ...อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานที่ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน...อุภโต
พยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานตายแล้วแต่ไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมากมา ฯลฯ ถ้าภิกษุ
ยินดี...ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานตายแล้วถูกสัตว์
กัดกินโดยมากมาหาภิกษุแล้ว ใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ทวารเบานั่งทับ
องคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว
ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ ไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาบัณเฑาะก์ที่เป็นมนุษย์...บัณเฑาะก์ที่เป็นอมนุษย์
... บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานมาหาภิกษุแล้วใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ... ใช้
ทวารเบานั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก
ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาบัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานตื่น...บัณเฑาะก์ที่
เป็นสัตว์ดิรัจฉานหลับ...บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานเมา...บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์
ดิรัจฉานวิกลจริต...บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานเผลอสติ...บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์
ดิรัจฉานที่ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน...บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานที่ตายแล้ว
แต่ไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมากมา...ถ้าภิกษุยินดี...ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ พา
บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานที่ตายแล้วถูกสัตว์กัดกินโดยมากมาหาภิกษุแล้วใช้ทวาร
หนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดี
ขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ
ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
[๖๐] พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พามนุษย์ผู้ชาย ฯลฯ อมนุษย์ผู้ชาย ฯลฯ
สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มาหาภิกษุแล้วใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต
ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดี
ขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ตื่น...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้หลับ
...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้เมา...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้วิกลจริต...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้เผลอสติ
...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ที่ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ที่ตายแล้ว
แต่ไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมากมา ฯลฯ ถ้าภิกษุยินดี ... ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ
พาสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ที่ตายแล้วถูกสัตว์กัดกินโดยมากมาหาภิกษุแล้วใช้ทวารหนัก
นั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะ
สอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ
ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ

ว่าด้วยเรื่องมีเครื่องหุ้ม

[๖๑] พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์มาหาภิกษุแล้วใช้ทวารหนัก
นั่งทับองคชาต ... ใช้ทวารเบานั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ของหญิงมีเครื่องหุ้ม


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

ของภิกษุไม่มี ...ของหญิงไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุมี...ของหญิงมีเครื่องหุ้ม ของภิกษุ
ก็มี...ของหญิงไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็ไม่มี ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดี
ขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ
ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาหญิงมนุษย์ตื่น...หญิงมนุษย์หลับ...หญิงมนุษย์
เมา...หญิงมนุษย์วิกลจริต...หญิงมนุษย์เผลอสติ...หญิงมนุษย์ที่ตายแล้วแต่ไม่ถูก
สัตว์กัดกิน...หญิงมนุษย์ที่ตายแล้วแต่ไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมากมา ฯลฯ ถ้าภิกษุ
ยินดี...ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ พาหญิงมนุษย์ที่ตายแล้วถูกสัตว์กัดกินโดยมากมา
หาภิกษุแล้วใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ทวารเบานั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอม
องคชาต ของหญิงมีเครื่องหุ้ม ของภิกษุไม่มี...ของหญิงไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุ
มี...ของหญิงมีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็มี...ของหญิงไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็ไม่มี
ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดี
ขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาอมนุษย์ผู้หญิง...สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย...
อุภโตพยัญชนกที่เป็นมนุษย์...อุภโตพยัญชนกที่เป็นอมนุษย์...อุภโตพยัญชนกที่เป็น
สัตว์ดิรัจฉาน มาหาภิกษุแล้วให้ใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ทวารเบานั่งทับองคชาต
... ใช้ปากอมองคชาต ของอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานมีเครื่องหุ้ม ของภิกษุ
ไม่มี...ของอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุมี...ของ
อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็มี...ของอุภโตพยัญชนก
ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็ไม่มี ถ้าภิกษุนั้นยินดีขณะกำลังสอด
เข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติ
ปาราชิก ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานตื่น...
อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานหลับ...อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน
เมา...อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานวิกลจริต...อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์
ดิรัจฉานเผลอสติ...อุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัด
กิน...อุภโต พยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมากมา


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

ฯลฯ ถ้าภิกษุยินดี... ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ พาอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์
ดิรัจฉานตายแล้วถูกสัตว์กินโดยมากมาหาภิกษุแล้วใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ...
ใช้ทวารเบานั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ของอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์
ดิรัจฉานมีเครื่องหุ้ม ของภิกษุไม่มี...ของอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานไม่มีเครื่อง
หุ้มของภิกษุมี... ของอุภโตพยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็มี ...
ของอุภโต พยัญชนกที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็ไม่มี ถ้าภิกษุ
นั้นยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะ
ถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
[๖๒] พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาบัณเฑาะก์ที่เป็นมนุษย์... บัณเฑาะก์ที่
เป็นอมนุษย์... บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน...มนุษย์ผู้ชาย... อมนุษย์ผู้ชาย... สัตว์
ดิรัจฉานตัวผู้มาหาภิกษุแล้วใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ... ใช้ปากอมองคชาต ของ
สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุไม่มี ...ของสัตวดิรัจฉานตัวผู้ไม่มีเครื่องหุ้ม
ของภิกษุมี...ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็มี... ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
ไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็ไม่มี ถ้าภิกษุนั้นยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอด
เข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่
ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรู พาสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ตื่น...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้หลับ...สัตว์
ดิรัจฉานตัวผู้เมา...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้วิกลจริต...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้เผลอสติ...สัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ตายแล้วไม่ถูกสัตว์กัดกิน
โดยมากมา ฯลฯ ถ้าภิกษุยินดี...ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ บางพวกพาสัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ที่ตายแล้วถูกสัตว์กัดกินโดยมากมาหาภิกษุแล้วใช้ทวารหนักนั่งทับองคชาต ...
ใช้ปากอมองคชาต ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดี
ขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ

ว่าด้วยเรื่องไม่มีเครื่องหุ้ม

[๖๓] พวกภิกษุผู้เป็นศัตรู พาภิกษุไปหาหญิงแล้ว ให้ใช้องคชาตสอดเข้า
ทางทวารหนัก ทางทวารเบา ทางปาก ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

สอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออกต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ ไม่
ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาภิกษุไปหาหญิงตื่น ...หญิงหลับ ...หญิงเมา
...หญิงวิกลจริต ...หญิงเผลอสติ ...หญิงที่ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน ...หญิงที่
ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมาก ฯลฯ ถ้าภิกษุยินดี...ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ
พาภิกษุไปหาหญิงที่ตายแล้ว ถูกสัตว์กัดกินโดยมากแล้วใช้องคชาตสอดเข้าทาง
ทวารหนัก ... ทางทวารเบา ... ทางปาก ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดี
ขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ
ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาภิกษุไปหาอมนุษย์ผู้หญิง... สัตว์ดิรัจฉานตัว
เมีย... อุภโตพยัญชนกที่เป็นมนุษย์... อุภโตพยัญชนกที่เป็นอมนุษย์... อุภโตพยัญชนก
ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ... บัณเฑาะก์ที่เป็นมนุษย์ ... บัณเฑาะก์ที่เป็นอมนุษย์ ...
บัณเฑาะก์ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ... มนุษย์ผู้ชาย ... อมนุษย์ผู้ชาย ... พาไปหาสัตว์
ดิรัจฉานตัวผู้แล้วใช้องคชาตสอดเข้าทางทวารหนัก ... ทางปาก ... ถ้าภิกษุยินดี
ขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก
ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาภิกษุไปหาสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ตื่น ...สัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้หลับ ...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้เมา...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้วิกลจริต...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
เผลอสติ...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ที่ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน...พาไปหาสัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ที่ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมาก ถ้าภิกษุยินดี...ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ
บางพวกพาภิกษุไปหาสัตว์ดิรัจฉานที่ตายแล้วถูกสัตว์กัดกินโดยมาก แล้วใช้องคชาต
สอดเข้าทางทวารหนัก ... ทางปาก ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะ
สอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ ไม่
ยินดี ไม่ต้องอาบัติ

ว่าด้วยเรื่องมีเครื่องหุ้ม

[๖๔] พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกันพาภิกษุไปหาหญิงแล้วให้ใช้องคชาตสอดเข้า
ทางทวารหนัก ... ทางทวารเบา ... ทางปาก ของภิกษุมีเครื่องหุ้ม ของหญิงไม่


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สันถตภาณวาร

มี...ของภิกษุไม่มีเครื่องหุ้ม ของหญิงมี ...ของภิกษุมีเครื่องหุ้ม ของหญิงก็มี...ของ
ภิกษุไม่มีเครื่องหุ้ม ของหญิงก็ไม่มี ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอด
เข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ ไม่ยินดี
ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาภิกษุไปหาหญิงตื่น ...หญิงหลับ ...หญิงเมา
...หญิงวิกลจริต ...หญิงเผลอสติ...หญิงที่ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน...หญิงที่
ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมากแล้วใช้องคชาตสอดเข้าทางทวารหนัก ...
ทางทวารเบา ... ทางปาก ฯลฯ ถ้าภิกษุยินดี...ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ บางพวก
พาภิกษุไปหาหญิงที่ตายแล้วถูกสัตว์กัดกินโดยมากแล้วให้ใช้องคชาตสอดเข้าทาง
ทวารหนัก ... ทางทวารเบา ... ทางปาก ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดี
ขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ
ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกัน พาภิกษุไปหาอมนุษย์ผู้หญิง... สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย...
อุภโตพยัญชนกที่เป็นมนุษย์... อุภโตพยัญชนกที่เป็นอมนุษย์... อุภโตพยัญชนกที่
เป็นสัตว์ดิรัจฉาน... บัณเฑาะก์ที่เป็นมนุษย์...บัณเฑาะก์ที่เป็นอมนุษย์... บัณเฑาะก์
ที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน... มนุษย์ผู้ชาย... อมนุษย์ผู้ชาย... พาไปหาสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
แล้วใช้องคชาตสอดเข้าทางทวารหนัก... ทางปาก ของภิกษุมีเครื่องหุ้ม ของสัตว์
ดิรัจฉานตัวผู้ไม่มี ... ของภิกษุไม่มีเครื่องหุ้ม ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มี ... ของภิกษุมี
เครื่องหุ้ม ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ก็มี...ของภิกษุไม่มีเครื่องหุ้ม ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
ก็ไม่มี ถ้าภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่
ยินดีขณะถอนออก ต้องอาบัติปาราชิก ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
[๖๕] พวกภิกษุผู้เป็นศัตรูกันพาภิกษุไปหาสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ตื่น...สัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้หลับ ...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้เมา ...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้วิกลจริต ...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้
เผลอสติ ...สัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ที่ตายแล้วแต่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน ...พาไปหาสัตว์ดิรัจฉาน
ตัวผู้ที่ตายแล้วแต่ไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมาก ฯลฯ ถ้าภิกษุยินดี...ต้องอาบัติปาราชิก
ฯลฯ พาภิกษุไปหาสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ที่ตายแล้วถูกสัตว์กัดกินโดยมากแล้วใช้องคชาต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๕๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ บทภาชนีย์ สัณถตภาณวาร

สอดเข้าทางทวารหนัก ... ทางปาก ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุไม่
มี...ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุมี...ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้มี
เครื่องหุ้ม ของภิกษุก็มี...ของสัตว์ดิรัจฉานตัวผู้ไม่มีเครื่องหุ้ม ของภิกษุก็ไม่มี ถ้า
ภิกษุยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะสอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดี
ขณะถอนออก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ ไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ
พวกพระราชาผู้เป็นศัตรู พวกโจรผู้เป็นศัตรู พวกนักเลงผู้เป็นศัตรู พวกควัก
หัวใจที่เป็นศัตรู๑ ก็พึงขยายให้พิสดารเหมือนพวกภิกษุผู้เป็นศัตรูที่ให้พิสดารมาแล้ว
ฉะนั้น
[๖๖] ภิกษุสอดองคชาตเข้ามรรคทางมรรค ต้องอาบัติปาราชิก๒
ภิกษุสอดองคชาตเข้าอมรรคทางมรรค ต้องอาบัติปาราชิก๓
ภิกษุสอดองคชาตเข้ามรรคทางอมรรค ต้องอาบัติปาราชิก๔
ภิกษุสอดองคชาตเข้าอมรรคทางอมรรค ต้องอาบัติถุลลัจจัย๕
ภิกษุลักหลับภิกษุที่กำลังหลับ เธอตื่นขึ้นยินดี พึงให้สึกเสียทั้งสองรูป หาก
เธอตื่นขึ้นแต่ไม่ยินดี ให้สึกเฉพาะภิกษุรูปที่ทำผิด
ภิกษุลักหลับสามเณรที่กำลังหลับ สามเณรตื่นขึ้นยินดี พึงให้สึกเสียทั้งสองรูป
หากสามเณรตื่นขึ้นแต่ไม่ยินดี พึงให้สึกเฉพาะภิกษุรูปที่ทำผิด
สามเณรลักหลับภิกษุที่กำลังหลับ เธอตื่นขึ้นยินดี พึงให้สึกเสียทั้งสองรูป
หากเธอตื่นขึ้นแต่ไม่ยินดี พึงให้สึกเฉพาะสามเณรรูปที่ทำผิด

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า อุปฺปลคนฺธปจฺจตฺถิกา อรรถกถาอธิบายว่า คนฺธนฺติ หทยํ วุจฺจติ, ตํ อุปฺปาเฏนฺตีติ อุปฺปลคนฺธา,
อุปฺปลคนฺธา เอว ปจฺจตฺถิกา อุปฺปลนฺธปจฺจตฺถิกา. หทัย ท่านเรียกว่า คันธะ พวกศัตรูที่ชื่อว่า อุปปลคันธะ
เพราะหมายความว่า ชำแหละหทัยนั้น คือผู้ควักหัวใจ ชื่อว่า อุปปลคันธปัจจัตถิกา ( วิ.อ. ๑/๖๕/๒๘๘)
๒ สอดองคชาตเข้าทางใดทางหนึ่ง ใน ๓ ทาง (คือทวารเบา, ทวารหนัก, ปาก)
๓ สอดองคชาตเข้าทางทวารเบาเป็นต้น แล้วถอนออกทางแผลที่อยู่ใกล้ทวารเบาเป็นต้นนั้น
๔ สอดองคชาตเข้าทางแผลที่อยู่ใกล้ทวารเบาเป็นต้น แล้วถอนออกทางทวารเบาเป็นต้นนั้น
๕ ในจำนวน ๒ แผลที่ปะปนกันอยู่ ภิกษุสอดองคชาตเข้าทางแผลหนึ่ง แล้วถอนออกทางแผลที่สอง
(ดู วิ.อ. ๑/๖๖/๒๘๘-๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๕๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ อนาปัตติวาร

สามเณรลักหลับสามเณรที่กำลังหลับ เธอตื่นขึ้นยินดี พึงให้สึกเสียทั้งสองรูป
หากเธอตื่นขึ้นแต่ไม่ยินดี พึงให้สึกเฉพาะสามเณรรูปที่ทำผิด

อนาปัตติวาร

ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
๑. ภิกษุไม่รู้สึกตัว
๒. ภิกษุไม่ยินดี
๓. ภิกษุวิกลจริต
๔. ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน
๕. ภิกษุผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา
๖. ภิกษุต้นบัญญัติ

สันถตภาณวาร จบ

คาถารวมวินีตวัตถุ
เรื่องที่ทรงวินิจฉัยแล้ว

เรื่องลิงตัวเมีย ๑ เรื่อง___เรื่องพวกภิกษุวัชชีบุตร ๑ เรื่อง
เรื่องปลอมเป็นคฤหัสถ์ ๑ เรื่อง___เรื่องเปลือยกาย ๑ เรื่อง
เรื่องปลอมเป็นเดียรถีย์ ๗ เรื่อง___เรื่องเด็กหญิง ๑ เรื่อง
เรื่องภิกษุณีอุบลวรรณา ๑ เรื่อง___เรื่องเพศกลับ ๒ เรื่อง
เรื่องมารดา ๑ เรื่อง___เรื่องธิดา ๑ เรื่อง
เรื่องน้องสาว ๑ เรื่อง___เรื่องอดีตภรรยา ๑ เรื่อง
เรื่องภิกษุหลังอ่อน ๑ เรื่อง___เรื่องภิกษุองคชาตยาว ๑ เรื่อง
เรื่องบาดแผล ๒ เรื่อง___เรื่องรูปปั้น ๑ เรื่อง
เรื่องตุ๊กตาไม้ ๑ เรื่อง___เรื่องพระสุนทร ๑ เรื่อง
เรื่องหญิง ๔ เรื่อง___เรื่องป่าช้า ๕ เรื่อง
เรื่องกระดูก ๑ เรื่อง___เรื่องนางนาค ๑ เรื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๕๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

เรื่องนางยักษิณี ๑ เรื่อง___เรื่องนางเปรต ๑ เรื่อง
เรื่องบัณเฑาะก์ ๑ เรื่อง___เรื่องภิกษุผู้มีกายประสาทพิการ ๑ เรื่อง
เรื่องจับต้อง ๑ เรื่อง___เรื่องพระอรหันต์ชาวเมืองภัททิยะหลับ ๑ เรื่อง
เรื่องภิกษุชาวกรุงสาวัตถี ๔ เรื่อง___เรื่องภิกษุชาวมัลละกรุงเวสาลี ๓ เรื่อง
เรื่องภิกษุเปิดประตูจำวัด ๑ เรื่อง___เรื่องภิกษุชาวเมืองภารุกัจฉะฝัน ๑ เรื่อง
เรื่องอุบาสิกาชื่อสุปัพพา ๙ เรื่อง___เรื่องอุบาสิกาชื่อสัทธา ๙ เรื่อง
เรื่องภิกษุณี ๑ เรื่อง___เรื่องสิกขมานา ๑ เรื่อง
เรื่องสามเณรี ๑ เรื่อง___เรื่องหญิงแพศยา ๑ เรื่อง
เรื่องภิกษุบัณเฑาะก์ ๑ เรื่อง
เรื่องหญิงคฤหัสถ์ ๑ เรื่อง___เรื่องให้ภิกษุผลัดกัน ๑ เรื่อง
เรื่องพระขรัวตา ๑ เรื่อง___เรื่องลูกเนื้อ ๑ เรื่อง

วินีตวัตถุ
เรื่องลิงตัวเมีย ๑ เรื่อง

[๖๗] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเสพเมถุนธรรมกับนางลิง เกิดความกังวลใจว่า
พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้อง
อาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑)

เรื่องพวกภิกษุวัชชีบุตร ๑ เรื่อง

สมัยนั้น พวกภิกษุวัชชีบุตรชาวกรุงเวสาลีหลายรูป ยังไม่บอกคืนสิกขา ไม่
เปิดเผยความท้อแท้ พากันเสพเมถุนธรรม เกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้อง
อาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๒)

เรื่องปลอมเป็นคฤหัสถ์ ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง ปลอมเป็นคฤหัสถ์ไปเสพเมถุนธรรมด้วยคิดว่า อย่างนี้
เราจะไม่ต้องอาบัติ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๕๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง
ทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๓)

เรื่องเปลือยกาย ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง เปลือยกายไปเสพเมถุนธรรมด้วยคิดว่า อย่างนี้ เราจะ
ไม่ต้องอาบัติ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๔)

เรื่องปลอมเป็นเดียรถีย์ ๗ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง นุ่งคากรองไปเสพเมถุนธรรม ด้วยคิดว่า อย่างนี้ เรา
จะไม่ต้องอาบัติ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๕)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง นุ่งเปลือกไม้กรองไปเสพเมถุนธรรมด้วยคิดว่า อย่างนี้
เราจะไม่ต้องอาบัติ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้
แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง
ทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๖)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง นุ่งผ้าแผ่นกระดานกรอง๑ ไปเสพเมถุนธรรมด้วยคิดว่า
อย่างนี้ เราจะไม่ต้องอาบัติ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ
สิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๗)

เชิงอรรถ :
๑ ผ้ามีสัณฐานดังเสื้อเกราะ ผลกจีรํ นาม ผลกสณฺฐานานิ ผลกานิ สิพฺเพตฺวา กตจีรํ แปลว่า ผ้า
เปลือกไม้ที่ทำขึ้นโดยเย็บแผ่นไม้ให้มีรูปร่างเหมือนเกราะโล่ (วิ.อ. ๑/๖๗/๒๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๕๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง นุ่งผ้าทอด้วยผมคนไปเสพเมถุนธรรมด้วยคิดว่า อย่างนี้
เราจะไม่ต้องอาบัติ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้
แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง
ทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๘)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง นุ่งผ้าทอด้วยขนจามรีไปเสพเมถุนธรรมด้วยคิดว่า อย่างนี้
เราจะไม่ต้องอาบัติ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้
แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง
ทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๙)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง นุ่งผ้าทอด้วยขนปีกนกเค้าไปเสพเมถุนธรรมด้วยคิดว่า
อย่างนี้ เราจะไม่ต้องอาบัติ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ
สิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๐)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง นุ่งหนังเสือไปเสพเมถุนธรรมด้วยคิดว่า อย่างนี้ เราจะ
ไม่ต้องอาบัติ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๑)

เรื่องเด็กหญิง ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเที่ยวบิณฑบาต เห็นเด็กหญิงนอนบนตั่ง เกิดความ
กำหนัดจึงสอดนิ้วหัวแม่มือเข้าในองค์กำเนิดเด็กหญิง เด็กหญิงนั้นตาย ท่านเกิด
ความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิก
หรือ หนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า
“ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๑๒)

เรื่องภิกษุณีอุบลวรรณา ๑ เรื่อง

[๖๘] สมัยนั้น ชายหนุ่มคนหนึ่งมีความรักใคร่ภิกษุณีอุบลวรรณา วันหนึ่ง
เมื่อภิกษุณีไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน จึงเข้าไปซ่อนอยู่ในกุฏิ ภิกษุณีอุบลวรรณากลับ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

จากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหาร ล้างเท้าแล้วเข้ากุฏิ นั่งบนเตียง ทันใดนั้นเขาจึง
ออกมาข่มขืนภิกษุณี ภิกษุณีไปบอกภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุณีทั้งหลายจึงบอกเรื่องนั้น
แก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนั้นไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีอุบลวรรณานั้นไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่อง
ที่ ๑๓)

เรื่องเพศกลับ ๒ เรื่อง

[๖๙] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง เพศกลับกลายเป็นหญิง ภิกษุทั้งหลายจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ มีพระพุทธานุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้ถืออุปัชฌาย์เดิม ให้ถืออุปสมบทเดิม นับพรรษาเดิม และให้อยู่ร่วม
กับภิกษุณีทั้งหลายได้ เราอนุญาตให้ปลงอาบัติของภิกษุทั้งหลายที่ทั่วไปกับภิกษุณี
ทั้งหลายในสำนักภิกษุณี เธอไม่ต้องอาบัติของภิกษุทั้งหลายที่ไม่ทั่วไปกับภิกษุณี
ทั้งหลาย” (เรื่องที่ ๑๔)
สมัยนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่ง เพศกลับกลายเป็นชาย ภิกษุทั้งหลาย จึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ มีพระพุทธานุญาตว่า “เราอนุญาตให้ถือ
อุปัชฌาย์เดิม ให้ถืออุปสมบทเดิม นับพรรษาเดิมและให้อยู่ร่วมกับภิกษุทั้งหลายได้
เราอนุญาตให้ปลงอาบัติของภิกษุณีทั้งหลายที่ทั่วไปกับภิกษุในสำนักภิกษุ เธอไม่
ต้องอาบัติของภิกษุณีทั้งหลายที่ไม่ทั่วไปกับภิกษุทั้งหลาย” (เรื่องที่ ๑๕)

เรื่องมารดา ๑ เรื่อง

[๗๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง เสพเมถุนธรรมกับมารดา ด้วยคิดว่า อย่างนี้
เราจะไม่ต้องอาบัติ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้
แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง
ทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๖)

เรื่องธิดา ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง เสพเมถุนธรรมกับธิดา ด้วยคิดว่า อย่างนี้ เราจะไม่
ต้องอาบัติ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เรา


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

ต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุเธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๗)

เรื่องน้องสาว ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง เสพเมถุนธรรมกับน้องสาวด้วยคิดว่า อย่างนี้ เรา
จะไม่ต้องอาบัติ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้
แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง
ทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๘)

เรื่องอดีตภรรยา ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง เสพเมถุนธรรมกับอดีตภรรยา ด้วยคิดว่า อย่างนี้ เรา
จะไม่ต้องอาบัติ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๙)

เรื่องภิกษุหลังอ่อน ๑ เรื่อง

[๗๑] สมัยนั้น ภิกษุหลังอ่อนรูปหนึ่ง มีความกำหนัดมาก ใช้ปากอมองคชาต
ของตน แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เรา
ต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๒๐)

เรื่องภิกษุองคชาตยาว ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีองคชาตยาว มีความกำหนัดมาก สอดองคชาตเข้า
ทางทวารหนักของตนแล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบท
ไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๒๑)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

เรื่องบาดแผล ๒ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบศพมีบาดแผลอยู่ใกล้องค์กำเนิด จึงสอดองคชาตเข้า
ในองค์กำเนิดศพแล้วถอนออกทางบาดแผลด้วยคิดว่า อย่างนี้เราจะไม่ต้องอาบัติ
แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า
“ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๒๒)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบศพมีบาดแผลอยู่ใกล้องค์กำเนิด จึงสอดองคชาต
เข้าในบาดแผลแล้วถอนออกทางองค์กำเนิดศพด้วยคิดว่า อย่างนี้เราจะไม่ต้องอาบัติ
แล้วเกิดความความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้อง
อาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระ
องค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๒๓)

เรื่องรูปปั้น ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัด ใช้องคชาตเสียดสีเครื่องหมายเพศ
รูปปั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เรา
ต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๒๔)

เรื่องตุ๊กตาไม้ ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีความกำหนัด ใช้องคชาตเสียดสีเครื่องหมายเพศ
ตุ๊กตาไม้ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เรา
ต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๒๕)

เรื่องพระสุนทร ๑ เรื่อง

[๗๒] สมัยนั้น พระสุนทรเป็นชาวกรุงราชคฤห์ บวชด้วยศรัทธา เดินไปตาม
ถนน หญิงคนหนึ่งเห็นเข้า ได้กล่าวกับท่านว่า “ท่านนิมนต์รอสักครู่ ดิฉันจะไหว้”


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

นางไหว้พลางเลิกอันตรวาสกขึ้น ใช้ปากอมองคชาต ท่านเกิดความกังวลใจว่า พระ
ผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอยินดีหรือ”
“ไม่ยินดี พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๒๖)

เรื่องหญิง ๔ เรื่อง

สมัยนั้น หญิงคนหนึ่งพบภิกษุแล้วกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิด
เจ้าค่ะ” “อย่าเลยน้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ ดิฉันจะทำเอง
ท่านไม่ต้องทำ ถ้าทำอย่างนี้ ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความ
กังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอ
ต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๒๗)
สมัยนั้น หญิงคนหนึ่งพบภิกษุ แล้วกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกัน
เถิดเจ้าค่ะ” “อย่าเลยน้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์ท่านทำ
ดิฉันไม่ต้องทำ ถ้าทำอย่างนี้ ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความ
กังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอ
ต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๒๘)
สมัยนั้น หญิงคนหนึ่งพบภิกษุ แล้วกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกัน
เถิดเจ้าค่ะ” “อย่าเลยน้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์
พยายามภายในแล้วหลั่งภายนอก ถ้าทำอย่างนี้ ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่าง
นั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้อง
อาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระ
องค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๒๙)
สมัยนั้น หญิงคนหนึ่ง พบภิกษุแล้วกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกัน
เถิดเจ้าค่ะ” “อย่าเลย น้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

พยายามภายนอกแล้วหลั่งภายใน ถ้าทำอย่างนี้ ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่าง
นั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เรา
ต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๓๐)

เรื่องป่าช้า ๕ เรื่อง

[๗๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปป่าช้า มองเห็นศพที่ยังไม่ถูกสัตว์กัดกิน ได้
เสพเมถุนธรรมในศพนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ
สิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๓๑)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปป่าช้า มองเห็นศพยังไม่ถูกสัตว์กัดกินโดยมาก ได้
เสพเมถุนธรรมในศพนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ
สิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๓๒)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปป่าช้า มองเห็นศพถูกสัตว์กัดกินโดยมาก ได้เสพ
เมถุนธรรมในศพนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบท
ไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย”
(เรื่องที่ ๓๓)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปป่าช้า มองเห็นศพที่ศีรษะขาดจึงสอดองคชาตเข้าไป
กระทบภายในปากที่อ้า แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ
สิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๓๔)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปป่าช้า มองเห็นศพที่ศีรษะขาดจึงสอดองคชาตเข้า
ภายในปากที่อ้าไม่ให้กระทบอะไรแล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก
แต่ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๓๕)

เรื่องกระดูก ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งหลงรักสตรีคนหนึ่ง ต่อมานางเสียชีวิต ถูกนำไปทิ้งไว้
ในป่าช้า กระดูกกระจัดกระจาย วันหนึ่งภิกษุรูปนั้นไปป่าช้า เก็บกระดูกรวมเป็นร่าง
จดองคชาตลงที่เครื่องหมายเพศ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรง
บัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้อง
อาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๓๖)

เรื่องนางนาค ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเสพเมถุนธรรมกับนางนาค แล้วเกิดความกังวลใจว่า
พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติ
ปาราชิก” (เรื่องที่ ๓๗)

เรื่องนางยักษิณี ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเสพเมถุนธรรมกับนางยักษิณี แล้วเกิดความกังวลใจว่า
พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติ
ปาราชิก” (เรื่องที่ ๓๘)

เรื่องนางเปรต ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเสพเมถุนธรรมกับนางเปรต แล้วเกิดความกังวลใจว่า
พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติ
ปาราชิก” (เรื่องที่ ๓๙)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

เรื่องบัณเฑาะก์ ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเสพเมถุนธรรมกับบัณเฑาะก์ แล้วเกิดความกังวลใจว่า
พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้อง
อาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๔๐)

เรื่องภิกษุผู้มีกายประสาทพิการ ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุผู้มีกายประสาทพิการรูปหนึ่งคิดว่า “เราไม่รู้สึกสุขหรือทุกข์จึง
ไม่ต้องอาบัติ” จึงเสพเมถุนธรรม แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรง
บัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงบอกเรื่องนี้ให้ภิกษุทั้ง
หลายทราบ พวกภิกษุจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษนั้นจะรู้สึกหรือไม่รู้สึกก็ตาม ก็ต้องอาบัติปาราชิก”
(เรื่องที่ ๔๑)

เรื่องจับต้อง ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งคิดจะเสพเมถุนธรรมกับหญิง แต่ครั้นพอจับต้อง
เท่านั้นก็เกิดความเดือดร้อนใจ แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ
สิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้อง
อาบัติทุกกฏ”๑ (เรื่องที่ ๔๒)

เรื่องพระอรหันต์ชาวเมืองภัททิยะหลับ ๑ เรื่อง

[๗๔] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำวัดกลางวันในป่าชาติยาวัน เขตเมืองภัททิยะ
ขณะที่จำวัดหลับ อวัยวะทุกส่วนของท่านถูกลมรำเพยให้แข็งตัว หญิงคนหนึ่งพบเข้า

เชิงอรรถ :
๑ แก้เป็น “อาปตฺติ สงฺฆาทิเสสสฺส แปลว่า ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” เป็นการแก้ความตามนัยบาลีเก่า
(วิ.อ. ๑/๗๓/๓๐๑, สารตฺถ.ฏีกา. ๒/๑๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๖๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

จึงนั่งคร่อมองคชาต ทำการจนพอใจแล้วจากไป ภิกษุทั้งหลายเห็นองคชาตเปรอะ
เปื้อนจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย องคชาตแข็งตัวได้ด้วยเหตุ ๕ อย่าง คือ กำหนัด ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ
ถูกลมรำเพยพัด ถูกบุ้งขน องคชาตจะแข็งตัวเพราะเหตุ ๕ อย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย
ข้อที่องคชาตของภิกษุนั้นจะแข็งตัวเพราะความกำหนัดนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะภิกษุนั้น
เป็นพระอรหันต์ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๔๓)

เรื่องภิกษุชาวกรุงสาวัตถี ๔ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง จำวัดกลางวันในป่าอันธวัน เขตกรุงสาวัตถี หญิง
เลี้ยงโคคนหนึ่งพบเข้าจึงนั่งคร่อมองคชาต ท่านยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะ
สอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระ
ผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้อง
อาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๔๔)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำวัดกลางวันในป่าอันธวัน เขตกรุงสาวัตถี หญิงเลี้ยง
แพะคนหนึ่ง พบเข้าจึงนั่งคร่อมองคชาต ท่านยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะ
สอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก แล้วเกิดความกังวลใจว่า
พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้อง
อาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๔๕)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำวัดกลางวันในป่าอันธวัน เขตกรุงสาวัตถี หญิงหา
ฟืนคนหนึ่ง พบเข้าจึงนั่งคร่อมองคชาต ท่านยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะ
สอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก แล้วเกิดความกังวลใจว่า
พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้อง
อาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๔๖)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำวัดกลางวันในป่าอันธวัน เขตกรุงสาวัตถี หญิงขน
โคมัยคนหนึ่ง พบเข้าจึงนั่งคร่อมองคชาต ท่านยินดีขณะกำลังสอดเข้าไป ยินดีขณะ
สอดเข้าไปแล้ว ยินดีขณะหยุดอยู่ ยินดีขณะถอนออก แล้วเกิดความกังวลใจว่า
พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้อง
อาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๔๗)

เรื่องภิกษุชาวมัลละกรุงเวสาลี ๓ เรื่อง

[๗๕] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำวัดกลางวันในป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี
หญิงคนหนึ่งพบเข้าจึงนั่งคร่อมองคชาต ทำการจนพอใจแล้วยืนหัวเราะอยู่ใกล้ๆ
ภิกษุนั้นตื่นขึ้นมา กล่าวกะหญิงนั้นว่า “นี่เป็นการกระทำของเธอหรือ” “ใช่แล้ว นี่เป็น
การกระทำของดิฉัน” ท่านเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบท
ไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอรู้หรือ” “ไม่รู้ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ
เธอไม่รู้ ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๔๘)
[๗๖] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำวัดกลางวันในป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ขณะ
ที่จำวัดหลับพิงต้นไม้ หญิงคนหนึ่งพบเข้าจึงนั่งคร่อมองคชาต ท่านรีบลุกขึ้นทันที
แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอยินดีหรือ” “ไม่ยินดี พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่ยินดี ไม่
ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๔๙)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำวัดกลางวันในป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ขณะที่จำวัด
หลับพิงต้นไม้ หญิงคนหนึ่งพบเข้าจึงนั่งคร่อมองคชาต ท่านผลักนางกลิ้งไป แล้วเกิด
ความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอยินดีหรือ” “ไม่ยินดี
พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๕๐)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

เรื่องภิกษุเปิดประตูจำวัด ๑ เรื่อง

[๗๗] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำวัดกลางวันในกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขต
กรุงเวสาลี ขณะที่เปิดประตูจำวัดหลับ อวัยวะทุกส่วนของท่านถูกลมรำเพยให้แข็งตัว
ครั้งนั้นมีหญิงหลายคนถือของหอมและดอกไม้พากันไปอาราม มองไปที่วิหาร เห็น
ภิกษุ นั้น จึงไปนั่งคร่อมองคชาต ทำการจนพอใจแล้วกล่าวชมเชยภิกษุนั้นว่า “เป็น
ผู้ชายยอดเยี่ยมจริงๆ คนนี้” จากนั้นได้ยกของหอมและดอกไม้พากันจากไป ภิกษุ
ทั้งหลายเห็นองคชาต (ของภิกษุผู้หลับ) เปรอะเปื้อน จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย องคชาตแข็งตัวได้ด้วยเหตุ ๕
อย่าง คือ กำหนัด ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ถูกลมรำเพยพัด ถูกบุ้งขน องคชาต
จะแข็งตัว เพราะเหตุ ๕ อย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่องคชาตของภิกษุนั้นจะแข็งตัว
เพราะความกำหนัดนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะภิกษุนั้น เป็นพระอรหันต์ ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้จะหลีกเร้นพักผ่อนกลางวัน
ปิดประตูแล้วจึงหลีกเร้นพักผ่อน” (เรื่องที่ ๕๑)

เรื่องภิกษุชาวเมืองภารุกัจฉะฝัน ๑ เรื่อง

[๗๘] สมัยนั้น ภิกษุชาวเมืองภารุกัจฉะรูปหนึ่ง ฝันว่าได้เสพเมถุนธรรมกับ
อดีตภรรยา จึงคิดว่า เราไม่ใช่สมณะ จักสึก ขณะเดินไปเมืองภารุกัจฉะ ในระหว่าง
ทางพบพระอุบาลี จึงเรียนให้ท่านทราบ พระอุบาลีชี้แจงว่า “ท่าน เพียงความฝัน
ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๕๒)

เรื่องอุบาสิกาชื่อสุปัพพา ๙ เรื่อง

สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสุปัพพา มีความเลื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ
เมื่อนางพบภิกษุรูปหนึ่งจึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” “อย่า
เลยน้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์เสียดสีที่ระหว่างขาอ่อน
ทำอย่างนี้ ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๖๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

ผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติ
ปาราชิก แต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๕๓)
สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสุปัพพา มีความเลื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ เมื่อ
นางพบภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” “อย่าเลย
น้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์เสียดสีที่สะดือ ทำอย่างนี้
ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๕๔)
สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสุปัพพา มีความเลื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ เมื่อ
นางพบภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” “อย่าเลย
น้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์เสียดสีที่เกลียวท้อง ทำอย่างนี้
ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๕๕)
สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสุปัพพา มีความเลื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ เมื่อ
นางพบภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” “อย่าเลย
น้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์เสียดสีที่ซอกรักแร้ ทำอย่างนี้
ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๕๖)
สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสุปัพพา มีความเลื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ เมื่อ
นางพบภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” “อย่าเลย
น้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์เสียดสีที่คอ ทำอย่างนี้ ท่าน
ไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรง
บัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้อง
อาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๕๗)
สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสุปัพพา มีความเลื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ เมื่อ
นางพบภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” “อย่าเลย
น้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์เสียดสีที่ช่องหู ทำอย่างนี้
ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๕๘)
สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสุปัพพา มีความเลื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ
เมื่อนางพบภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” “อย่า
เลยน้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์เสียดสีที่มวยผม ทำอย่างนี้
ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๕๙)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสุปัพพา มีความเลื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ เมื่อ
นางพบภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” “อย่าเลย
น้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์เสียดสีที่ง่ามมือ ทำอย่างนี้
ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๖๐)
สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสุปัพพา มีความเลื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ เมื่อ
นางพบภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” “อย่าเลย
น้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ ดิฉันจะใช้มือพยายามปล่อยอสุจิให้
ทำอย่างนี้ ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระ
ผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติ
ปาราชิก แต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๖๑)

เรื่องอุบาสิกาชื่อสัทธา ๙ เรื่อง

[๗๙] สมัยนั้น ในกรุงสาวัตถี มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสัทธา มีความเลื่อมใส
แบบงมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ
เมื่อนางพบภิกษุรูปหนึ่งจึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” “อย่า
เลย น้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์เสียดสีที่ระหว่างขาอ่อน
ทำอย่างนี้ ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้นแล้วเกิดความกังวลใจว่า พระ
ผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้อง
อาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๖๒)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสัทธา มีความเลื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ เมื่อ
นางพบภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” “อย่า
เลยน้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์เสียดสีที่สะดือ ทำอย่างนี้
ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้นแล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรง
บัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้อง
อาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๖๓)
สมัยหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสัทธา มีความเลื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ เมื่อ
นางพบภิกษุรูปหนึ่งจึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” “อย่าเลย
น้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์เสียดสีที่เกลียวท้อง ทำอย่างนี้
ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๖๔)
สมัยหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสัทธา มีความเลื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ เมื่อ
นางพบภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” “อย่าเลย
น้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์เสียดสีที่ซอกรักแร้ ทำอย่างนี้
ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๖๕)
สมัยหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสัทธา มีความเสื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ เมื่อ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

นางพบภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” “อย่า
เลยน้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์เสียดสีที่คอ ทำอย่างนี้
ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๖๖)
สมัยหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสัทธา มีความเลื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ
เมื่อนางพบภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ”
“อย่าเลยน้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์เสียดสีที่ช่องหู ทำ
อย่างนี้ ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มี
พระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติ
ปาราชิก แต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๖๗)
สมัยหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสัทธา มีความเลื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ
เมื่อนางพบภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ”
“อย่าเลยน้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์เสียดสีที่มวยผม
ทำอย่างนี้ ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มี
พระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติ
ปาราชิก แต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๖๘)
สมัยหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสัทธา มีความเลื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ เมื่อ
นางพบภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” “อย่าเลย
น้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ นิมนต์เสียดสีที่ง่ามมือ ทำอย่างนี้
ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาค


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่
ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๖๙)
สมัยหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์ มีอุบาสิกาคนหนึ่งชื่อสัทธา มีความเลื่อมใสแบบ
งมงาย มีความเห็นอย่างนี้ว่า หญิงผู้ถวายเมถุนธรรม ชื่อว่าได้ถวายทานอันเลิศ
เมื่อนางพบภิกษุรูปหนึ่ง จึงกล่าวว่า “นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิดเจ้าค่ะ” “อย่า
เลย น้องหญิง เรื่องนี้ไม่สมควร” “นิมนต์เถิดเจ้าค่ะ ดิฉันจะใช้มือพยายามปล่อย
อสุจิให้ ทำอย่างนี้ ท่านไม่ต้องอาบัติ” ท่านได้ทำอย่างนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า
พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้อง
อาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส” (เรื่องที่ ๗๐)

เรื่องภิกษุณี ๑ เรื่อง

[๘๐] สมัยนั้น ในกรุงเวสาลี เจ้าชายลิจฉวีทั้งหลายจับภิกษุให้เสพเมถุน
ธรรมกับภิกษุณี เธอทั้งสองยินดี พึงให้สึกเสียทั้งคู่ ทั้งสองไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ
(เรื่องที่ ๗๑)

เรื่องสิกขมานา ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ในกรุงเวสาลี เจ้าชายลิจฉวีทั้งหลายจับภิกษุให้เสพเมถุนธรรมกับ
สิกขมานา เธอทั้งสองยินดี พึงให้สึกเสียทั้งคู่ ทั้งสองไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ (เรื่องที่ ๗๒)

เรื่องสามเณรี ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ในกรุงเวสาลี เจ้าชายลิจฉวีทั้งหลาย จับภิกษุให้เสพเมถุนธรรมกับ
สามเณรี เธอทั้งสองยินดี พึงให้สึกเสียทั้งคู่ ทั้งสองไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ (เรื่องที่ ๗๓)

เรื่องหญิงแพศยา ๑ เรื่อง

[๘๑] สมัยนั้น ในกรุงเวสาลี เจ้าชายลิจฉวีทั้งหลายจับภิกษุให้เสพเมถุน
ธรรมกับหญิงแพศยา ภิกษุยินดี พึงให้สึกเสีย ถ้าไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ (เรื่องที่ ๗๔)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ วินีตวัตถุ

เรื่องบัณเฑาะก์ ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ในกรุงเวสาลี เจ้าชายลิจฉวีทั้งหลายจับภิกษุให้เสพเมถุนธรรมกับ
บัณเฑาะก์ ภิกษุยินดี พึงให้สึกเสีย ถ้าไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ (เรื่องที่ ๗๕)

เรื่องหญิงคฤหัสถ์ ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ในกรุงเวสาลี เจ้าชายลิจฉวีทั้งหลายจับภิกษุให้เสพเมถุนธรรมกับ
หญิงคฤหัสถ์ ภิกษุยินดี พึงให้สึกเสีย ถ้าไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ (เรื่องที่ ๗๖)

เรื่องให้ภิกษุผลัดกัน ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ในกรุงเวสาลี เจ้าชายลิจฉวีทั้งหลายจับภิกษุให้เสพเมถุนธรรมกับ
กันและกัน เธอทั้งสองยินดี พึงให้สึกเสียทั้งคู่ ถ้าไม่ยินดี ไม่ต้องอาบัติ (เรื่องที่ ๗๗)

เรื่องพระขรัวตา ๑ เรื่อง

[๘๒] สมัยนั้น พระขรัวตารูปหนึ่งไปเยี่ยมอดีตภรรยา ถูกบังคับให้สึก ท่าน
ถอยหนีจนล้มหงาย นางขึ้นคร่อมองคชาต ท่านเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระ
ภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอยินดีหรือ”
“ไม่ยินดี พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่ยินดีไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๗๘)

เรื่องลูกเนื้อ ๑ เรื่อง

[๘๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในป่า ลูกเนื้อมาที่ถ่ายปัสสาวะของท่านแล้ว
อมองคชาตพลางดื่มน้ำปัสสาวะ ท่านยินดี เกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก (เรื่อง
ที่ ๗๙)

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๑ จบ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ เรื่องพระธนิยกุมภการบุตร

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒
ว่าด้วยการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
เรื่องพระธนิยกุมภการบุตร

[๘๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขต
กรุงราชคฤห์ ภิกษุหลายรูปเป็นเพื่อนเห็นเพื่อนคบกัน ช่วยกันทำกุฎีมุงหญ้า อยู่จำ
พรรษา ที่เชิงภูเขาอิสิคิลิ ท่านพระธนิยกุมภการบุตรก็ทำกุฎีมุงหญ้าอยู่จำพรรษาใน
ที่นั้น ต่อเมื่อล่วงไตรมาสไปแล้ว ภิกษุเหล่านั้นรื้อกุฏีมุงหญ้า เก็บหญ้าและตัวไม้ไว้
แล้วพากันหลีกจาริกไปในชนบท ส่วนพระธนิยกุมภการบุตร ยังพักอยู่ที่นั้นตลอด
ฤดูฝน ฤดูหนาวและฤดูร้อน วันหนึ่งเมื่อท่านไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน คนหาบหญ้า
คนหาฟืน รื้อกุฎีหญ้าของท่าน แล้วขนเอาหญ้าและไม้ไป ท่านพระธนิยกุมภการบุตร
ได้หาหญ้าและไม้มาทำกุฎีหญ้าเป็นครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ เมื่อท่านไป
บิณฑบาตในหมู่บ้าน คนหาบหญ้า คนหาฟืน ได้รื้อกุฎีหญ้าของท่าน แล้วขนหญ้า
และไม้ไป เป็นครั้งที่ ๓
ท่านคิดว่า เมื่อเราไปบิณฑบาตในบ้าน คนหาบหญ้า คนหาฟืน รื้อกุฎีหญ้า
แล้วขนหญ้าและตัวไม้ไปถึง ๓ ครั้ง เรามีการศึกษาดี ไม่บกพร่อง สำเร็จศิลปะช่าง
หม้อเทียบเท่าอาจารย์ อย่ากระนั้นเลย เราพึงขยำโคลนทำกุฎีดินล้วนด้วยตัวเอง
ดังนั้น ท่านจึงขยำโคลนก่อกุฎีดินล้วน และรวบรวมหญ้า ไม้และขี้วัวแห้งมา
สุมไฟเผากุฎีนั้นจนสุก กุฎีนั้นงดงามน่าดูน่าชม มีสีแดงเหมือนสีแมลงค่อมทอง
(เวลาลมพัด)ส่งเสียงเหมือนเสียงกระดึง
[๘๕] ต่อมา พระผู้มีพระภาคเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏพร้อมกับภิกษุ
จำนวนมาก ทอดพระเนตรเห็นกุฎีอันงดงามน่าดู น่าชม ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย
นั่นอะไรน่าดูน่าชม สีเหมือนแมลงค่อมทอง” ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้น
ให้ทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำ
ของโมฆบุรุษนั่นไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้
ไม่ควรทำเลย ไฉนโมฆบุรุษจึงขยำโคลนก่อกุฎีดินล้วนเล่า โมฆบุรุษนั้นชื่อว่ามิได้มี


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ เรื่องพระธนิยกุมภการบุตร

ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ความไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย พวกเธอจงไป
ทำลายกุฎีนั้นเสีย อย่าให้เพื่อนพรหมจารีในภายหลังได้เบียดเบียนหมู่สัตว์เลย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทำกุฎีดินล้วน ภิกษุใดทำ ต้องอาบัติทุกกฏ”
ภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธฎีกาแล้วพากันไปที่กุฎี ช่วยกันทำลายกุฎีนั้น
ในขณะนั้น ท่านพระธนิยกุมภการบุตรมาถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ทำไม
พวกท่านจึงทำลายกุฎีของกระผม” “ท่าน พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ทำลาย” “ถ้า
พระผู้มีพระภาคผู้เป็นธรรมสามีรับสั่งให้ทำลาย ก็ทำลายเถิด”
[๘๖] ต่อมา ท่านพระธนิยกุมภการบุตรคิดว่า เมื่อเราไปบิณฑบาตใน
หมู่บ้าน คนหาบหญ้า คนหาฟืนมารื้อกุฎีหญ้า ขนหญ้าและตัวไม้ไปถึง ๓ ครั้ง
แม้กุฎีดินล้วนที่ทำไว้พระผู้มีพระภาคก็รับสั่งให้ทำลาย เรารู้จักพนักงานป่าไม้ที่ชอบ
พอกัน อย่ากระนั้นเลย เราควรขอไม้มาทำกุฎีไม้ แล้วไปหาเจ้าพนักงานป่าไม้ กล่าว
ว่า “เจริญพร เมื่ออาตมาไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน คนหาบหญ้า คนหาฟืนไปรื้อ
กุฎีหญ้า ขนหญ้าและตัวไม้ไปถึง ๓ ครั้ง แม้กุฎีดินล้วนที่ทำไว้ พระผู้มีพระภาคก็
รับสั่งให้ทำลาย ท่านจงให้ไม้แก่อาตมา อาตมาต้องการจะทำกุฎีไม้”
เจ้าพนักงานป่าไม้ตอบว่า “กระผมไม่มีไม้จะถวายพระคุณเจ้าได้ขอรับ จะมี
ก็แต่ไม้ของหลวงที่เก็บไว้ซ่อมแปลงเมืองในคราวจำเป็น ถ้าพระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่ง
ให้พระราชทาน พระคุณเจ้าก็ให้คนไปขนเอาเถิด”
ท่านพระธนิยกุมภการบุตรกล่าวว่า “เจริญพร พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทาน
ไม้นั้นแล้ว”
ลำดับนั้น เจ้าพนักงานป่าไม้คิดว่า “พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้
ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ พูดจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม
แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินยังทรงเลื่อมใสมาก พระธนิยะคงไม่กล้าพูดสิ่งที่พระเจ้าแผ่น
ดินยังไม่ได้พระราชทานว่า ได้พระราชทานแล้ว” ลำดับนั้น เจ้าพนักงานป่าไม้
จึงกล่าวกับท่านพระธนิยะดังนี้ว่า “นิมนต์ท่านให้คนขนไปเถิด ขอรับ”
ท่านพระธนิยะสั่งให้ตัดไม้เหล่านั้นเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่บรรทุกเกวียนไป
ทำกุฎีไม้


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ เรื่องพระธนิยกุมภการบุตร

วัสสการพราหมณ์ตรวจราชการ

[๘๗] เวลานั้น วัสสการพราหมณ์มหาอมาตย์มคธรัฐไปตรวจราชการ เข้า
ไปหาเจ้าพนักงานป่าไม้ถึงที่พัก ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับเจ้าพนักงานป่าไม้ดังนี้ว่า “นี่
แน่ะคุณ ไม้ของหลวงที่เก็บไว้ซ่อมแปลงเมืองในคราวจำเป็นอยู่ที่ไหน”
เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตอบว่า “ใต้เท้าขอรับ พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทานไม้แก่
พระธนิยกุมภการบุตรไปแล้ว”
วัสสการพราหมณ์ไม่พอใจว่า “ทำไมพระเจ้าแผ่นดินจึงได้พระราชทานไม้ของ
หลวงที่เก็บไว้ซ่อมแปลงเมืองในคราวจำเป็นแก่พระธนิยกุมภการบุตรไปเล่า” จึง
เข้าไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ ถึงที่ประทับ ครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระเจ้า
พิมพิสารจอมทัพมคธดังนี้ว่า “ได้ทราบเกล้าว่า พระองค์ได้พระราชทานไม้ของหลวง
ที่เก็บไว้ซ่อมแปลงเมืองในคราวจำเป็นแก่พระธนิยกุมภการบุตรไปแล้ว จริงหรือ
พระพุทธเจ้าข้า”
“ใครกล่าวอย่างนั้น”
“เจ้าหน้าที่ป่าไม้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ถ้าเช่นนี้ จงไปเรียกเจ้าหน้าที่ป่าไม้มา”
วัสสการพราหมณ์สั่งให้เจ้าหน้าที่คุมตัวเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาทันที
พระธนิยภุมภการบุตรเห็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ถูกควบคุมตัวไปจึงกล่าวว่า “เจริญพร
ท่านถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวด้วยเรื่องอะไร”
“เรื่องไม้นั่นแหละ ขอรับ”
“ท่านจงไปก่อนเถิด อาตมาจะตามไป”
เจ้าหน้าที่ป่าไม้กล่าวว่า “พระคุณเจ้าควรไปก่อนที่กระผมจะเดือดร้อนนะ ขอรับ”
[๘๘] พระธนิยกุมภการบุตร เข้าไปพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสารแล้ว
นั่งบนอาสนะ ขณะนั้น พระเจ้าพิมพิสารเสด็จเข้าไปหาพระธนิยกุมภการบุตร ทรง
ไหว้แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ตรัสถามว่า “พระคุณเจ้า ทราบว่าไม้ของหลวง
ที่เก็บไว้ซ่อมแปลงเมืองในคราวจำเป็น โยมถวายแก่พระคุณเจ้าจริงหรือ”


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ เรื่องพระธนิยกุมภการบุตร

“จริง มหาบพิตร”
“พระคุณเจ้า โยมเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีกรณียกิจมากมาย ถึงจะถวายไป
แล้วก็จำไม่ได้ พระคุณเจ้าโปรดเตือนความจำให้โยมด้วย”
พระธนิยกุมภการบุตร ทูลว่า “ขอถวายพระพร พระองค์จำได้ไหม ครั้งที่
พระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ใหม่ๆ ทรงเปล่งพระวาจาว่า ข้าพเจ้าถวายหญ้า ไม้
และน้ำแก่สมณพราหมณ์ ขอสมณพราหมณ์โปรดใช้สอยเถิด”
“พระคุณเจ้า โยมจำได้ ที่โยมพูดนั้นหมายถึงสมณพราหมณ์ผู้มีความละอาย
มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา มีความรังเกียจแม้ในโทษเล็กน้อย หญ้า ไม้และน้ำ
นั้นยังมิได้มีใครจับจอง อยู่ในป่า ท่านจงใจอ้างจะขนไม้ที่ไม่ให้ไป พระเจ้าแผ่นดิน
เช่นโยมจะฆ่า จองจำหรือเนรเทศสมณพราหมณ์อย่างไรได้ นิมนต์กลับไปเถิด ท่าน
รอดตัวเพราะขน๑ แต่อย่าได้ทำอย่างนี้อีก”

ประชาชนตำหนิ

ประชาชนพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร
เหล่านี้ไม่มีความละอาย ทุศีล ชอบพูดเท็จ แต่ก็ปฏิญญาว่า ประพฤติธรรม ประพฤติ
สงบ ประพฤติพรหมจรรย์ พูดจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม พวกท่านไม่มีความเป็น
สมณะ ไม่มีความเป็นพราหมณ์ ความเป็นสมณะ ความเป็นพราหมณ์ของพวกท่าน
เสื่อมสิ้นไปแล้ว พวกท่านจะเป็นสมณะเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร พวกท่านปราศจาก
ความเป็นสมณะ ปราศจากความเป็นพราหมณ์ แม้พระเจ้าแผ่นดินก็ยังถูกสมณะ
เหล่านั้นหลอกลวงได้ ไฉนคนอื่นจักไม่ถูกหลอกลวงเล่า”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชนตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มัก
น้อยสันโดษ มีความละอาย มีความระมัดระวัง ใฝ่การศึกษา จึงตำหนิ ประณาม

เชิงอรรถ :
๑ โลเมน ตฺวํ มุตฺโตสีติ เอตฺถ โลมมิว โลมํ, กึ ปน ตํ ปพฺพชฺชาลิงฺคํ คำว่า “ขน” ในที่นี้ หมายถึงเพศบรรพชิต
คือผ้ากาสาวพัสตร์ที่ท่านพระธนิยะห่มอยู่ ท่านธนิยะทำความผิดลักไม้ของหลวง ควรถูกจับฆ่าหรือจองจำ
แต่ท่านนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ จึงรอดตัวจากการถูกฆ่าถูกจองจำ ท่านอุปมา
เหมือนแพะมีขนยาวที่จะถูกฆ่ากินเนื้อ พอดีมีบุรุษคนหนึ่งเห็นว่า แพะนี้ขนมีราคา จึงเอาแพะที่ขนสั้น ๒ ตัว
มาแลกไป แพะขนยาวจึงรอดตัวเพราะขน (วิ.อ. ๑/๘๘/๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๗๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ พระบัญญัติ

โพนทะนาว่า “ไฉน ท่านพระธนิยกุมภการบุตรจึงขโมยไม้ของหลวงที่เขาไม่ได้ให้ไป
เล่า” ครั้นภิกษุทั้งหลายตำหนิท่านพระธนิยกุมภการบุตรโดยประการต่าง ๆ แล้วจึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามท่านพระธนิยกุมภการบุตรว่า “ธนิยะ ทราบว่าเธอขโมยไม้หลวงจริงหรือ”
ท่านทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษ
การกระทำอย่างนี้ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้
ไม่ควรทำ โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส ให้เลื่อมใสหรือ
ทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็
ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสแล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป”
สมัยนั้น มีมหาอมาตย์เคยเป็นผู้พิพากษาคนหนึ่งบวชอยู่ในหมู่ภิกษุ นั่งอยู่
ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค พระองค์จึงรับสั่งถามภิกษุรูปนั้นว่า “พระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพมคธ จับโจรได้แล้วประหารบ้าง จองจำบ้าง เนรเทศบ้าง ด้วยอัตราโทษตาม
มูลค่าทรัพย์ที่โจรกรรมมาเท่าไร”
ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า “ด้วยมูลค่า ๑ บาทบ้าง ควรแก่ ๑ บาทบ้าง เกินกว่า
๑ บาทบ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ ทรัพย์ ๑ บาท เท่ากับ ๕ มาสก
พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิท่านพระธนิยกุมภการบุตร โดยประการต่าง ๆ
แล้วได้ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ฯลฯ คุณแห่งการปรารภความเพียร
แล้วทรงแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลายให้เหมาะสมกับเรื่องนั้นแล้วจึงรับสั่งให้
ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ

[๘๙] ก็ ภิกษุใด ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้โดยส่วนแห่งจิตคิดจะลัก
มีมูลค่าเท่ากับอัตราโทษที่พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้วประหารบ้าง จองจำ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ พระบัญญัติ

บ้าง เนรเทศบ้าง บริภาษว่า “เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้า
เป็นขโมย” ดังนี้ เพราะถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้เช่นใด ภิกษุผู้ถือเอา
ทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้เช่นนั้น แม้ภิกษุนี้เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้

เรื่องพระธนิยกุมภการบุตร จบ

เรื่องพวกภิกษุฉัพพัคคีย์

[๙๐] ครั้นต่อมา พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไปลานตากผ้าของช่างย้อมผ้า แล้วพา
กันลักห่อผ้ากลับมาวัด แบ่งกัน
ภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า “พวกท่านมีบุญมาก จีวรจึงเกิดขึ้นแก่พวก
ท่านมาก”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ตอบว่า “พวกผมจะมีบุญมาจากไหนกัน พวกผมไปลาน
ตากผ้าของช่างย้อมแล้ว ได้ลักห่อผ้าของช่างย้อมมาเดี๋ยวนี้เอง”
ภิกษุทั้งหลายจึงท้วงติงว่า “ท่าน พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติสิกขาบท
ไว้แล้วมิใช่หรือ เหตุไร พวกท่านจึงลักห่อผ้าของช่างย้อมมาเล่า”
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์กล่าวแย้งว่า “จริง ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้
ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว แต่สิกขาบทนั้นใช้เฉพาะในบ้าน ไม่ใช่ในป่า”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “พระบัญญัตินั้นใช้ได้เหมือนกันทั้งในบ้านและในป่ามิ
ใช่หรือ การกระทำของท่านไม่สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ
ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำเลย ไฉน พวกท่านจึงลักห่อผ้าของช่างย้อมมาเล่า การกระทำ
อย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใส
ยิ่งขึ้นได้เลย ที่จริง กลับจะทำให้คนที่ไม่เลื่อมใสก็ไม่เลื่อมใสไปเลย คนที่เลื่อมใสอยู่
แล้วบางพวกก็จะกลายเป็นอื่นไป”
ครั้นภิกษุเหล่านั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่าง ๆ แล้วจึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๗๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ สิกขาบทวิภังค์

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง
สอบถามพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอลักห่อผ้าของช่าง
ย้อม จริงหรือ” พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระ
ภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอไม่สมควร
ฯลฯ ไม่ควรทำเลย โมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงลักห่อผ้าของช่างย้อมมาเล่า
โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ”
ครั้นตำหนิพวกภิกษุฉัพพัคคีย์โดยประการต่างๆ แล้วจึงตรัสโทษแห่งความเป็นผู้เลี้ยง
ยาก ฯลฯ คุณแห่งการปรารภความเพียร แล้วทรงแสดงธรรมีกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย
ให้เหมาะสมกับเรื่องนั้นแล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ

[๙๑] อนึ่ง ภิกษุใดถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้โดยส่วนแห่งจิตคิดจะ
ลัก จากหมู่บ้านก็ตาม จากป่าก็ตาม มีมูลค่าเท่ากับอัตราโทษที่พระราชาทั้ง
หลายจับโจรได้แล้ว ประหารบ้าง จองจำบ้าง เนรเทศบ้าง บริภาษว่า “เจ้าเป็นโจร
เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมย” ดังนี้ เพราะถือเอาทรัพย์ที่
เจ้าของมิได้ให้เช่นใด ภิกษุผู้ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้เช่นนั้น แม้ภิกษุนี้ก็
เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

เรื่องพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์

[๙๒] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง... ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
ที่ชื่อว่า หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านมีกระท่อม ๑ หลังบ้าง หมู่บ้านมีกระท่อม ๒
หลังบ้าง หมู่บ้านมีกระท่อม ๓ หลังบ้าง หมู่บ้านมีกระท่อม ๔ หลังบ้าง หมู่บ้านมี


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ สิกขาบทวิภังค์

คนอยู่บ้าง หมู่บ้านไม่มีคนอยู่บ้าง หมู่บ้านที่มีรั้วล้อมบ้าง หมู่บ้านไม่มีรั้วล้อมบ้าง
หมู่บ้านที่มีโรงเรือนเหมือนโรงพักโคบ้าง แม้สถานที่ที่มีหมู่เกวียนหรือโคต่างพักแรม
เกินกว่า ๔ เดือน ก็ตรัสเรียกว่า เป็นหมู่บ้าน
ที่ชื่อว่า อุปจารหมู่บ้าน ได้แก่ เขตที่ชายมีกำลังปานกลางยืนอยู่ที่เสาเขื่อน
ของหมู่บ้านที่มีรั้วล้อม ขว้างก้อนดินไปตกลง หรือ เขตที่ชายมีกำลังปานกลางยืนอยู่
ที่อุปจารเรือนของหมู่บ้านที่ไม่มีรั้วล้อม ขว้างก้อนดินไปตกลง
ที่ชื่อว่า ป่า ได้แก่ สถานที่ที่เว้นหมู่บ้านและอุปจารหมู่บ้าน นอกนั้นชื่อว่า ป่า
ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ ได้แก่ ทรัพย์ที่เจ้าของไม่ให้ ไม่สละ ไม่
บริจาค ยังรักษาคุ้มครองอยู่ ถือกรรมสิทธิ์อยู่ เป็นทรัพย์ที่คนอื่นหวงแหน นั่นชื่อว่า
ทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้
คำว่า โดยส่วนแห่งจิตคิดจะลัก คือ มีไถยจิต ได้แก่ คิดจะลัก
คำว่า ถือเอา ได้แก่ ตู่ ชิง ฉ้อ เคลื่อนไหวอิริยาบถ ทำให้ทรัพย์เคลื่อนที่ ให้
ล่วงเขตที่หมาย
ที่ชื่อว่า เช่นใด คือ ๑ บาทบ้าง ควรแก่ ๑ บาทบ้าง เกินกว่า ๑ บาทบ้าง
ที่ชื่อว่า พระราชาทั้งหลาย ได้แก่ พระเจ้าแผ่นดิน เจ้าผู้ปกครองประเทศ
ท่านผู้ปกครองมณฑล ท่านผู้ปกครองหมู่บ้านที่อยู่ในระหว่าง ท่านผู้ตัดสินคดี
มหาอมาตย์ หรือเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจสั่งประหารและจองจำได้ ท่านเหล่านี้ชื่อว่า
พระราชาทั้งหลาย
ที่ชื่อว่า โจร ได้แก่ ผู้ที่ลักทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้มีราคา ๕ มาสกบ้าง
เกินกว่า ๕ มาสกบ้าง โดยส่วนแห่งจิตคิดจะลัก นี้ชื่อว่า โจร
คำว่า ประหารบ้าง ได้แก่ ประหารด้วยมือบ้าง ด้วยเท้าบ้าง ด้วยแส้บ้าง
ด้วยหวายบ้าง ด้วยกระบองบ้าง ด้วยการตัดบ้าง
คำว่า จองจำบ้าง ได้แก่ จองจำด้วยเครื่องจองจำคือเชือกบ้าง ขื่อคาบ้าง
โซ่ตรวนบ้าง ด้วยการกักขังในเรือนจำบ้าง กักบริเวณในเมืองบ้าง ในหมู่บ้านบ้าง ใน
ตำบลบ้าง ให้คนคอยควบคุมบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๘๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์

คำว่า เนรเทศบ้าง ได้แก่ ขับไล่ออกไปจากหมู่บ้านบ้าง จากตำบลบ้าง จาก
เมืองบ้าง จากชนบทบ้าง จากประเทศบ้าง
คำว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมย นี้เป็น
คำบริภาษ
ที่ชื่อว่า เช่นนั้น คือ ๑ บาทบ้าง ควรแก่ ๑ บาทบ้าง เกินกว่า ๑ บาทบ้าง
คำว่า ผู้ถือเอา ได้แก่ ผู้ตู่ ชิง ฉ้อ เคลื่อนไหวอิริยาบถ ทำให้ทรัพย์เคลื่อนที่
ให้ล่วงเขตที่หมาย
คำว่า แม้ภิกษุนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุรูปก่อน
คำว่า เป็นปาราชิก อธิบายว่า ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ ๑ บาทบ้าง
ควรแก่ ๑ บาทบ้าง เกินกว่า ๑ บาทบ้าง โดยส่วนแห่งจิตคิดจะลัก ย่อมไม่เป็นสมณะ
ไม่เป็นเชื้อสายศากยบุตร เปรียบเหมือนใบไม้เหี่ยวเหลืองหลุดจากขั้วแล้ว ไม่อาจ
เป็นของเขียวสดต่อไปได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า เป็นปาราชิก
คำว่า หาสังวาสมิได้ อธิบายว่า ที่ชื่อว่า สังวาส ได้แก่ กรรมที่ทำร่วมกัน
อุทเทสที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่า สังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับภิกษุ
รูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้

บทภาชนีย์
มาติกา

[๙๓] ทรัพย์ที่อยู่ในแผ่นดิน ทรัพย์ที่อยู่บนบก ทรัพย์ที่อยู่ในอากาศ
ทรัพย์ที่อยู่ในที่แจ้ง ทรัพย์ที่อยู่ในน้ำ ทรัพย์ที่อยู่ในเรือ ทรัพย์ที่อยู่ในยาน ทรัพย์
ที่นำติดตัวไปได้ ทรัพย์ที่อยู่ในสวน ทรัพย์ที่อยู่ในวัด ทรัพย์ที่อยู่ในนา ทรัพย์ที่
อยู่ในพื้นที่ ทรัพย์ที่อยู่ในหมู่บ้าน ทรัพย์ที่อยู่ในป่า น้ำ ไม้ชำระฟัน ต้นไม้เจ้าป่า
ทรัพย์ที่มีผู้นำไป ทรัพย์ที่เขาฝากไว้ ด่านภาษี สัตว์มีชีวิต สัตว์ไม่มีเท้า สัตว์ ๒ เท้า
สัตว์ ๔ เท้า สัตว์มีเท้ามาก ภิกษุผู้สั่ง ภิกษุผู้รับของฝาก การชักชวนกันไปลัก
การนัดหมาย การทำนิมิต


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์

ทรัพย์ที่อยู่ในแผ่นดิน

[๙๔] ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่อยู่ในแผ่นดิน ได้แก่ ทรัพย์ที่ฝังกลบไว้ในแผ่นดิน
ภิกษุมีไถยจิตคิดจะลักทรัพย์ที่อยู่ในแผ่นดิน แล้วหาเพื่อนไปด้วย หาจอบ หาตะกร้า
หรือไปแต่ผู้เดียว ต้องอาบัติทุกกฏ ตัดไม้หรือเถาวัลย์ที่ขึ้นอยู่ที่นั้น ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ขุดคุ้ยหรือโกยดินร่วน ต้องอาบัติทุกกฏ จับต้องหม้อทรัพย์ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุมีไถยจิต หย่อนภาชนะของตนลงไปถูกต้องทรัพย์มีราคา ๕ มาสกหรือ
เกินกว่า ๕ มาสก ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้ทรัพย์เข้า
ไปอยู่ในภาชนะของตน หรือหยิบขาดจากกันขึ้นมาหนึ่งกำมือ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุมีไถยจิต จับต้องทรัพย์ที่เขาร้อยด้วยด้าย สังวาล สร้อยคอ เข็มขัด
ผ้าสาฎก ผ้าโพก ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติทุกกฏ จับปลายยกขึ้น
ต้องอาบัติถุลลัจจัย ดึงครูดออกไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย ให้พ้นปากหม้อแม้เพียง
ปลายผม ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุมีไถยจิต ดื่มเนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย มีราคา ๕ มาสก หรือเกิน
กว่า ๕ มาสก ด้วยการดื่มครั้งเดียว ต้องอาบัติปาราชิก ทำลาย ทำให้หก เผา
ทิ้ง หรือทำให้บริโภคไม่ได้ ต้องอาบัติทุกกฏ

ทรัพย์ที่อยู่บนบก

[๙๕] ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่อยู่บนบก ได้แก่ ทรัพย์ที่เขาวางไว้บนบก ภิกษุมี
ไถยจิตคิดจะลักทรัพย์ที่อยู่บนบก หาเพื่อนไปด้วยหรือไปแต่ผู้เดียว ต้องอาบัติ
ทุกกฏ จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้เคลื่อนที่
ต้องอาบัติปาราชิก

ทรัพย์ที่อยู่ในอากาศ

[๙๖] ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่อยู่ในอากาศ ได้แก่ ทรัพย์ที่ไปในอากาศ คือนกยูง
นกคับแค นกกระทา นกกระจาบ ผ้าสาฎก ผ้าโพก หรือเงินทองที่ขาดหลุดตกลง


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์

ภิกษุมีไถยจิตคิดจะลักทรัพย์ที่อยู่ในอากาศ หาเพื่อนไปด้วยหรือไปแต่ผู้เดียว ต้อง
อาบัติทุกกฏ หยุดการไปของทรัพย์ ต้องอาบัติทุกกฏ จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก

ทรัพย์ที่อยู่ในที่แจ้ง

[๙๗] ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่อยู่ในที่แจ้ง ได้แก่ ทรัพย์ที่แขวนไว้ในที่แจ้ง เช่น
ทรัพย์ที่คล้องไว้บนเตียงหรือตั่ง ห้อยไว้บนราวจีวร สายระเดียง ที่เดือยฝา ที่เครื่อง
แขวนรูปงาช้างหรือที่ต้นไม้ โดยที่สุดแม้บนเชิงรองบาตร ภิกษุมีไถยจิตคิดจะลัก
ทรัพย์ที่อยู่ในที่แจ้ง หาเพื่อนไปด้วยหรือไปแต่ผู้เดียว ต้องอาบัติทุกกฏ จับต้อง ต้อง
อาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก

ทรัพย์ที่อยู่ในน้ำ

[๙๘] ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่อยู่ในน้ำ ได้แก่ ทรัพย์ที่เขาเก็บไว้ในน้ำ
ภิกษุมีไถยจิตคิดจะลักทรัพย์ที่อยู่ในน้ำ หาเพื่อนไปด้วย หรือไปแต่ผู้เดียว
ต้องอาบัติทุกกฏ ดำลงหรือโผล่ขึ้นในน้ำ ต้องอาบัติทุกกฏ จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ
ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุมีไถยจิต จับต้องดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก เหง้าบัว ปลาหรือเต่า
ที่เกิดในน้ำนั้น มีราคา ๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว
ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก

ทรัพย์ที่อยู่ในเรือ

[๙๙] ที่ชื่อว่า เรือ ได้แก่ พาหนะสำหรับใช้ข้ามน้ำ
ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่อยู่ในเรือ ได้แก่ ทรัพย์ที่เขาเก็บไว้ในเรือ
ภิกษุมีไถยจิตคิดจะลักทรัพย์ที่อยู่ในเรือ หาเพื่อนไปด้วยหรือไปแต่ผู้เดียว
ต้องอาบัติทุกกฏ จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้
เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์

ภิกษุมีไถยจิตคิดจะลักเรือ หาเพื่อนไปด้วยหรือไปแต่ผู้เดียว ต้องทุกกฏ จับ
ต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย แก้เครื่องผูก ต้องอาบัติทุกกฏ
แก้เครื่องผูกแล้ว จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้เรือ
ลอยทวนน้ำ ลอยตามน้ำหรือลอยไปขวางลำน้ำ ให้เคลื่อนไปแม้เพียงปลายผม ต้อง
อาบัติปาราชิก

ทรัพย์ที่อยู่ในยาน

[๑๐๐] ที่ชื่อว่า ยาน ได้แก่ วอ รถ เกวียน คานหาม
ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่อยู่ในยาน ได้แก่ ทรัพย์ที่เขาเก็บไว้ในยาน
ภิกษุมีไถยจิตคิดจะลักทรัพย์ที่อยู่ในยาน หาเพื่อนไปด้วย หรือไปแต่ผู้เดียว
ต้องอาบัติทุกกฏ จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้
เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุมีไถยจิตคิดจะลักยาน หาเพื่อนไปด้วยหรือไปแต่ผู้เดียว ต้องอาบัติทุกกฏ
จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก

ทรัพย์ที่นำติดตัวไปได้

[๑๐๑] ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่นำติดตัวไปได้ ได้แก่ ทรัพย์ที่ทูนไป แบกไป
กระเดียดไป หิ้วไป
ภิกษุมีไถยจิต จับต้องทรัพย์ที่อยู่บนศีรษะ ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย ลดทรัพย์ลงมาที่ไหล่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุมีไถยจิต จับต้องทรัพย์ที่อยู่ระดับไหล่ ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย ลดทรัพย์ลงมาถึงระดับสะเอว ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุมีไถยจิต จับต้องทรัพย์ซึ่งอยู่ที่สะเอว ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย ใช้มือถือไป ต้องอาบัติปาราชิก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๘๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์

ภิกษุมีไถยจิต วางทรัพย์ในมือลงบนพื้น ต้องอาบัติปาราชิก ถือเอาจาก
พื้นไป ต้องอาบัติปาราชิก

ทรัพย์ที่อยู่ในสวน

[๑๐๒] ที่ชื่อว่า สวน ได้แก่ สวนไม้ดอก สวนไม้ผล
ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่อยู่ในสวน ได้แก่ ทรัพย์ที่เขาเก็บไว้ในสวนโดยฐานะ ๔ คือ
ฝังอยู่ในแผ่นดิน ตั้งอยู่บนพื้นดิน ลอยอยู่ในอากาศ แขวนอยู่ในที่แจ้ง
ภิกษุมีไถยจิตคิดจะลักทรัพย์ที่อยู่ในสวน หาเพื่อนไปด้วย หรือไปแต่ผู้เดียว
ต้องอาบัติทุกกฏ จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้
เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุมีไถยจิต จับต้องราก เปลือก ใบ ดอกหรือผลไม้ในสวนนั้น มีราคา ๕
มาสกหรือเกินกว่า ๕ มาสก ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำ
ให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุกล่าวตู่เอาที่สวน ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้เจ้าของเกิดความสงสัย ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย หากเจ้าของทอดธุระว่าจะไม่เป็นของเรา ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุเมื่อดำเนินคดีชนะความเจ้าของ ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อดำเนินคดี
แพ้ความ ต้องอาบัติถุลลัจจัย

ทรัพย์ที่อยู่ในวัด

[๑๐๓] ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่อยู่ในวัด ได้แก่ ทรัพย์ที่เขาเก็บไว้ในวัดโดยฐานะ ๔
คือ ฝังอยู่ในแผ่นดิน ตั้งอยู่บนพื้นดิน ลอยอยู่ในอากาศ แขวนอยู่ในที่แจ้ง
ภิกษุมีไถยจิตคิดจะลักทรัพย์ที่อยู่ในวัด หาเพื่อนไปด้วยหรือไปแต่ผู้เดียว
ต้องอาบัติทุกกฏ จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้
เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุกล่าวตู่เอาที่วัด ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้เจ้าของเกิดความสงสัย ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย หากเจ้าของทอดธุระว่า จะไม่เป็นของเรา ต้องอาบัติปาราชิก


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์

ภิกษุเมื่อดำเนินคดี ชนะความเจ้าของ ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อดำเนินคดีแพ้
ความ ต้องอาบัติถุลลัจจัย

ทรัพย์ที่อยู่ในนา

[๑๐๔] ที่ชื่อว่า นา ได้แก่ ที่ซึ่งมีบุพพัณชาติหรืออปรัณชาติ๑ เกิด
ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่อยู่ในนา ได้แก่ ทรัพย์ที่เขาเก็บไว้ในนาโดยฐานะ ๔ คือ ฝัง
อยู่ในแผ่นดิน ตั้งอยู่บนพื้นดิน ลอยอยู่ในอากาศ แขวนอยู่ในที่แจ้ง
ภิกษุมีไถยจิตคิดจะลักทรัพย์ที่อยู่ในนา หาเพื่อนไปด้วยหรือไปแต่ผู้เดียว
ต้องอาบัติทุกกฏ จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้
เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุมีไถยจิตจับต้องบุพพัณชาติหรืออปรัณชาติที่เกิดในนานั้น มีราคา ๕
มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุกล่าวตู่เอาที่นา ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้เจ้าของเกิดความสงสัย ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย หากเจ้าของทอดธุระว่า จะไม่เป็นของเรา ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุเมื่อดำเนินคดี ชนะความเจ้าของ ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อดำเนินคดีแพ้
ความ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ภิกษุปักหลัก ขึงเชือก ล้อมรั้ว หรือถมคันนาให้รุกล้ำที่นา ต้องอาบัติทุกกฏ
เมื่อความพยายามรุกล้ำที่นาอีกครั้งเดียวจะสำเร็จ ต้องอาบัติถุลลัจจัย เมื่อความ
พยายามครั้งสุดท้ายสำเร็จ ต้องอาบัติปาราชิก

ทรัพย์ที่อยู่ในพื้นที่

[๑๐๕] ที่ชื่อว่า พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่สวน พื้นที่วัด

เชิงอรรถ :
๑ บุพพัณชาติ ได้แก่ ธัญชาติ ๗ อย่าง คือ ข้าวสาลี ข้าวเจ้า หญ้ากับแก้ ข้าวละมาน ลูกเดือย
ข้าวเหนียว และข้าวฟ่าง ส่วนอปรัณชาติ ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วราชมาส งา พืชผักที่กินหลังอาหาร (วิ.อ. ๑/
๑๐๔/๓๖๘, สารตฺถ.ฏีกา ๒/๑๐๔/๑๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๘๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์

ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่อยู่ในพื้นที่ ได้แก่ ทรัพย์ที่เขาเก็บไว้ในพื้นที่ โดยฐานะ ๔
คือ ฝังอยู่ในแผ่นดิน ตั้งอยู่บนพื้นดิน ลอยอยู่ในอากาศ แขวนอยู่ในที่แจ้ง
ภิกษุมีไถยจิตคิดจะลักทรัพย์ที่อยู่ในพื้นที่ หาเพื่อนไปด้วยหรือไปแต่ผู้เดียว
ต้องอาบัติทุกกฏ จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้
เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุกล่าวตู่เอาพื้นที่ ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้เจ้าของเกิดความสงสัย ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย หากเจ้าของทอดธุระว่า จะไม่เป็นของเรา ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุเมื่อดำเนินคดี ชนะความเจ้าของ ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อดำเนินคดี
แพ้ความ ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ภิกษุปักหลัก ขึงเชือก ล้อมรั้วหรือถมคันนาให้รุกล้ำพื้นที่ ต้องอาบัติทุกกฏ
เมื่อความพยายามรุกล้ำพื้นที่อีกครั้งเดียวจะสำเร็จ ต้องอาบัติถุลลัจจัย เมื่อ
ความพยายามครั้งสุดท้ายสำเร็จ ต้องอาบัติปาราชิก

ทรัพย์ที่อยู่ในหมู่บ้าน

[๑๐๖] ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่อยู่ในหมู่บ้าน ได้แก่ ทรัพย์ที่เขาเก็บไว้ในหมู่บ้าน
โดยฐานะ ๔ คือ ฝังอยู่ในแผ่นดิน ตั้งอยู่บนพื้นดิน ลอยอยู่ในอากาศ แขวนอยู่ในที่แจ้ง
ภิกษุมีไถยจิตจิตคิดจะลักทรัพย์ที่เก็บไว้ในหมู่บ้าน หาเพื่อนไปด้วยหรือไป
แต่ผู้เดียว ต้องอาบัติทุกกฏ จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก

ทรัพย์ที่อยู่ในป่า

[๑๐๗] ที่ชื่อว่า ป่า ได้แก่ ป่าที่มนุษย์ครอบครอง
ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่อยู่ในป่า ได้แก่ ทรัพย์ที่เขาเก็บไว้ในป่า โดยฐานะ ๔ คือ ฝัง
อยู่ในแผ่นดิน ตั้งอยู่บนพื้นดิน ลอยอยู่ในอากาศ แขวนอยู่ในที่แจ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๘๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์

ต้องอาบัติทุกกฏ จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้
เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุมีไถยจิต จับต้องไม้ เถาวัลย์ หญ้าที่เกิดในป่านั้น มีราคา ๕ มาสกหรือ
เกินกว่า ๕ มาสก ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้เคลื่อนที่
ต้องอาบัติปาราชิก

น้ำ

[๑๐๘] ที่ชื่อว่า น้ำ ได้แก่ น้ำที่อยู่ในภาชนะ ขังอยู่ในสระโบกขรณี หรือในบ่อ
ภิกษุมีไถยจิต จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุมีไถยจิต หย่อนภาชนะของตนลงไปถูกต้องน้ำ มีราคา ๕ มาสกหรือ
เกินกว่า ๕ มาสก ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้น้ำไหล
เข้าไปในภาชนะของตน ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุทำลายคันนา ต้องอาบัติทุกกฏ ทำลายคันนาทำน้ำให้ไหลออกไป มีราคา
๕ มาสกหรือเกินกว่า ๕ มาสก ต้องอาบัติปาราชิก ทำให้น้ำไหลออกไปมีราคาเกิน
กว่า ๑ มาสก หรือน้อยกว่า ๕ มาสก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้น้ำไหลออกไป มี
ราคา ๑ มาสกหรือหย่อนกว่า ๑ มาสก ต้องอาบัติทุกกฏ

ไม้ชำระฟัน

[๑๐๙] ที่ชื่อว่า ไม้ชำระฟัน ได้แก่ ไม้ชำระฟันที่ตัดแล้วหรือยังมิได้ตัด
ภิกษุมีไถยจิต จับต้องไม้ชำระฟัน มีราคา ๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก
ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก

ต้นไม้เจ้าป่า

[๑๑๐] ที่ชื่อว่า ต้นไม้เจ้าป่า ได้แก่ ต้นไม้ที่คนทั้งหลายครอบครอง เป็น
ต้นไม้ใช้สอยได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๘๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์

ภิกษุมีไถยจิต ตัด ต้องอาบัติทุกกฏ ทุกๆ ครั้งที่ฟันต้นไม้ เมื่อฟันอีกครั้ง
เดียว ต้นไม้จะขาด ต้องอาบัติถุลลัจจัย เมื่อฟันต้นไม้ขาด ต้องอาบัติปาราชิก

ทรัพย์ที่มีผู้นำไป

[๑๑๑] ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่มีผู้นำไป ได้แก่ สิ่งของที่ผู้อื่นนำไป
ภิกษุมีไถยจิต จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุคิดว่า จะนำทรัพย์พร้อมกับผู้ถือทรัพย์เดินไป ให้ย่างเท้าที่ ๑ ไป ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย ให้ย่างเท้าที่ ๒ ไป ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุทำให้ทรัพย์ตกด้วยคิดว่า จะเก็บทรัพย์ที่ตก ต้องอาบัติทุกกฏ มีไถยจิต
จับต้องทรัพย์ที่ตก มีราคา ๕ มาสกหรือเกินกว่า ๕ มาสก ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้
ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก

ทรัพย์ที่เขาฝากไว้

[๑๑๒] ที่ชื่อว่า ทรัพย์ที่เขาฝากไว้ ได้แก่ สิ่งของที่ผู้อื่นให้เก็บไว้
ภิกษุรับฝากของ เมื่อเจ้าของทวงว่า “จงคืนทรัพย์ให้แก่ข้าพเจ้า” ปฏิเสธว่า
“อาตมาไม่ได้รับไว้” ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้เจ้าของเกิดความสงสัย ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย หากเจ้าของทอดธุระว่า จะไม่คืนให้เรา ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุเมื่อดำเนินคดี ชนะความเจ้าของ ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อดำเนินคดี
แพ้ความ ต้องอาบัติถุลลัจจัย

ด่านภาษี

[๑๑๓] ที่ชื่อว่า ด่านภาษี ได้แก่ ที่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงกำหนดเขต
ที่ภูเขาขาดก็ดี ท่าน้ำก็ดี ประตูเข้าหมู่บ้านก็ดี ด้วยรับสั่งว่า “จงเก็บภาษีผู้ผ่าน
เข้าไปที่นั้น”


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์

ภิกษุเข้าไปที่ด่านภาษีนั้น มีไถยจิตจับต้องทรัพย์ที่ควรเสียภาษี มีราคา ๕
มาสกหรือเกินกว่า ๕ มาสก ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ย่างเท้าที่ ๑ ผ่านด่านภาษีไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย ย่างเท้าที่ ๒ ผ่านด่านภาษีไป
ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุยืนอยู่ภายในด่านภาษี โยนทรัพย์ให้ตกนอกด่านภาษี ต้องอาบัติ
ปาราชิก ภิกษุหลีกด่านภาษี๑ ต้องอาบัติทุกกฏ

สัตว์มีชีวิต

[๑๑๔] ที่ชื่อว่า สัตว์มีชีวิต หมายเอามนุษย์ที่มีชีวิต๒
ภิกษุมีไถยจิต จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุคิดจะพาเดินไป ให้ย่างเท้าที่ ๑ ไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย ให้ย่างเท้าที่ ๒
ไป ต้องอาบัติปาราชิก

สัตว์ไม่มีเท้า

ที่ชื่อว่า สัตว์ไม่มีเท้า ได้แก่ งู ปลา
ภิกษุมีไถยจิต จับต้องสัตว์ไม่มีเท้า มีราคา ๕ มาสกหรือเกินกว่า ๕ มาสก
ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก

สัตว์ ๒ เท้า

[๑๑๕] ที่ชื่อว่า สัตว์ ๒ เท้า ได้แก่ มนุษย์ นก

เชิงอรรถ :
๑ พระอรรถกถาจารย์แก้ความตามนัยแห่งมหาอรรถกถาว่า ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะเดินหลบด่านภาษี
ไปห่าง ๒ ช่วงก้อนดินตก (วิ.อ. ๑/๑๑๓/๓๙๒)
๒ มนุษย์ที่มีชีวิต หมายถึง ทาสเรือนเบี้ย ทาสน้ำเงิน ทาสเชลย (วิ.อ. ๑/๑๑๔/๓๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๙๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์

ภิกษุมีไถยจิต จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุคิดจะพาเดินไป ให้ย่างเท้าที่ ๑ ไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย ให้ย่างเท้าที่ ๒ ไป
ต้องอาบัติปาราชิก

สัตว์ ๔ เท้า

[๑๑๖] ที่ชื่อว่า สัตว์ ๔ เท้า ได้แก่ ช้าง ม้า อูฐ โค ลา สัตว์เลี้ยง
ภิกษุมีไถยจิต จับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย
ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุคิดจะพาเดินไป ให้ย่างเท้าที่ ๑ ไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย ให้ย่างเท้าที่ ๒ ไป
ต้องอาบัติถุลลัจจัย ให้ย่างเท้าที่ ๓ ไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย ให้ย่างเท้าที่ ๔ ไป ต้อง
อาบัติปาราชิก

สัตว์มีเท้ามาก

[๑๑๗] ที่ชื่อว่า สัตว์มีเท้ามาก ได้แก่ สัตว์จำพวกแมลงป่อง ตะขาบ บุ้งขน
ภิกษุมีไถยจิต จับต้องสัตว์มีเท้ามาก ที่มีราคา ๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก
ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุคิดจะพาเดินไป ให้ย่างเท้าก้าวไป ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทุกๆ ก้าว ให้
ย่างเท้าหลังสุดก้าวไป ต้องอาบัติปาราชิก

ภิกษุผู้สั่ง

[๑๑๘] ที่ชื่อว่า ภิกษุผู้สั่ง ได้แก่ ภิกษุสั่งกำหนดลักทรัพย์ว่า ท่านจงลัก
ทรัพย์อันนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุรับคำสั่งลักทรัพย์นั้นมาได้ ต้องอาบัติปาราชิก
ทั้ง ๒ รูป


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์

ภิกษุผู้รับของฝาก

ที่ชื่อว่า ภิกษุผู้รับของฝาก ได้แก่ ภิกษุผู้รักษาทรัพย์ที่เขานำมาฝากไว้ ภิกษุ
มีไถยจิต จับต้องทรัพย์มีราคา ๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก ต้องอาบัติทุกกฏ
ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก

การชักชวนกันไปลัก

ที่ชื่อว่า การชักชวนกันไปลัก ได้แก่ ภิกษุหลายรูปชักชวนกันแล้ว รูปหนึ่ง
ลักทรัพย์มาได้ ต้องอาบัติปาราชิกทุกรูป

การนัดหมาย

[๑๑๙] ที่ชื่อว่า การนัดหมาย อธิบายว่า ภิกษุทำการนัดหมายว่า จงลัก
ทรัพย์ตามเวลานัดหมายนั้น คือ ในเวลาก่อนฉันอาหาร หรือในเวลาหลังหลังอาหาร
ในเวลากลางคืน หรือในเวลากลางวัน ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้ลัก ลักทรัพย์ได้มา
ตามเวลานัดหมายนั้น ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง ๒ รูป ภิกษุผู้ลัก ลักทรัพย์ได้มา
ก่อนหรือหลังเวลานัดหมายนั้น ภิกษุผู้นัดหมายไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ลัก ต้องอาบัติ
ปาราชิก

การทำนิมิต

[๑๒๐] ที่ชื่อว่า การทำนิมิต อธิบายว่า ภิกษุทำนิมิตว่า เราจักขยิบตา ยักคิ้ว
หรือผงกศีรษะ ท่านจงลักทรัพย์นั้น ตามที่เราทำนิมิตนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุ
ผู้ลัก ลักทรัพย์ได้มาตามการทำนิมิตนั้น ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง ๒ รูป ภิกษุผู้ลัก
ลักทรัพย์มาได้ก่อนหรือหลังการทำนิมิตนั้น ภิกษุผู้ทำนิมิตไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ลัก
ต้องอาบัติปาราชิก

การสั่ง

[๑๒๑] ภิกษุสั่งภิกษุว่า “ท่านจงลักทรัพย์นี้มา” ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุ
ผู้รับคำสั่งสำคัญทรัพย์นั้นว่าเป็นทรัพย์นั้น ลักทรัพย์นั้นมาได้ ต้องอาบัติปาราชิก
ทั้ง ๒ รูป


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์

ภิกษุสั่งภิกษุว่า “ท่านจงลักทรัพย์นี้มา” ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่ง
สำคัญทรัพย์นั้นว่าเป็นทรัพย์นั้น ลักทรัพย์อื่นมา ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ลัก
ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุสั่งภิกษุว่า “ท่านจงลักทรัพย์นี้มา” ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่ง
สำคัญทรัพย์นั้นว่าเป็นทรัพย์อื่น แต่ลักทรัพย์นั้นมาได้ ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง ๒ รูป
ภิกษุสั่งภิกษุว่า “ท่านจงลักทรัพย์นี้มา” ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่ง
สำคัญทรัพย์นั้นว่าเป็นทรัพย์อื่น ลักทรัพย์อื่นมาได้ ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้
ลักต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุ (ผู้เป็นอาจารย์) สั่งภิกษุ (ชื่อว่าพุทธรักขิต) ว่า “ท่านจงบอกภิกษุ
ชื่อ(ธัมมรักขิต)นี้ว่า จงบอกภิกษุชื่อ(สังฆรักขิต)นี้ว่า ‘จงลักทรัพย์นี้มา” ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่งไปบอกภิกษุอีกรูปหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ๑ ภิกษุผู้ลักรับคำสั่ง
ภิกษุผู้สั่งครั้งแรกต้องอาบัติถุลลัจจัย ภิกษุผู้ลัก ลักทรัพย์นั้นมาได้ ต้องอาบัติ
ปาราชิกทุกรูป
ภิกษุ (ผู้เป็นอาจารย์) สั่งภิกษุ (ชื่อว่าพุทธรักขิต) ว่า “ท่านจงบอกภิกษุ
ชื่อ(ธัมมรักขิต)นี้ว่า จงบอกภิกษุชื่อ(สังฆรักขิต)นี้ว่า ‘จงลักทรัพย์นี้มา” ดังนี้ ต้อง
อาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่งไปบอกภิกษุรูปอื่น ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้ลักรับคำสั่ง
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้ลัก ลักทรัพย์นั้นมาได้ ภิกษุผู้สั่งครั้งแรก ไม่ต้องอาบัติ
ภิกษุผู้สั่งต่อและภิกษุผู้ลัก ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุสั่งภิกษุว่า “จงลักทรัพย์นี้มา” ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่งไปแล้ว
กลับมาบอกว่า “กระผมไม่สามารถลักทรัพย์นั้นได้” ผู้สั่งจึงสั่งอีกว่า “จงลักทรัพย์

เชิงอรรถ :
๑ พระอรรถกถาจารย์ยกตัวอย่างไว้ชัดเจนว่า ในกรณีนี้มีภิกษุเกี่ยวข้องอยู่ ๔ รูป คือ อาจารย์ ๑ รูป
ภิกษุผู้เป็นศิษย์อีก ๓ รูป คือ พุทธรักขิต ธัมมรักขิต และสังฆรักขิต กรณีนี้มี ๓ ขั้นตอน คือ
๑. ขั้นออกคำสั่ง ทั้งอาจารย์และศิษย์ ต้องอาบัติทุกกฏ
๒. ขั้นรับคำสั่ง ทันทีที่พระสังฆรักขิตรับคำสั่ง ผู้เป็นอาจารย์ต้องอาบัติถุลลัจจัย
๓. ขั้นปฏิบัติการ ถ้าพระสังฆรักขิตลักทรัพย์นั้นมาได้ ทั้ง ๔ รูป ต้องอาบัติปาราชิก
(วิ.อ. ๑/๑๒๑/๔๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๙๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์

นั้นในเวลาที่ท่านสามารถจะลักได้” ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่งลักทรัพย์นั้นมา
ได้ ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง ๒ รูป
ภิกษุสั่งภิกษุว่า “จงลักทรัพย์นี้มา” ต้องอาบัติทุกกฏ เธอสั่งแล้วเกิดความ
เดือดร้อนใจ แต่ไม่ได้กล่าวให้ผู้รับคำสั่งได้ยินว่า “อย่าลัก” ภิกษุผู้รับคำสั่งลักทรัพย์
นั้นมาได้ ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง ๒ รูป
ภิกษุสั่งภิกษุว่า “จงลักทรัพย์นี้มา” ต้องอาบัติทุกกฏ เธอสั่งแล้วเกิดความ
เดือดร้อนใจ จึงกล่าวให้ได้ยินว่า “อย่าลัก” แต่ภิกษุผู้รับคำสั่งกล่าวว่า “ท่านสั่ง
ผมแล้ว” ลักทรัพย์นั้นมาได้ ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ลัก ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุสั่งภิกษุว่า “จงลักทรัพย์นี้มา” ต้องอาบัติทุกกฏ เธอสั่งแล้วเกิดความ
เดือดร้อนใจ จึงกล่าวให้ผู้รับคำสั่งได้ยินว่า “อย่าลัก” ภิกษุผู้รับคำสั่งนั้นรับว่า “ดีละ”
จึงงดเว้น ไม่ต้องอาบัติทั้ง ๒ รูป

องค์แห่งปาราชิกสิกขาบทที่ ๒

[๑๒๒] ภิกษุผู้ถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ต้องอาบัติปาราชิก ด้วยอาการ ๕
อย่าง คือ
๑. ทรัพย์มีผู้ครอบครอง
๒. สำคัญว่าเป็นทรัพย์ที่มีผู้ครอบครอง
๓. ทรัพย์มีค่ามาก ราคา ๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก
๔. มีไถยจิตปรากฏ
๕. ภิกษุจับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้
เคลื่อนที่ ต้องอาบัติปาราชิก
[๑๒๓] ภิกษุผู้ถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ด้วยอาการ ๕
อย่าง คือ
๑. ทรัพย์มีผู้ครอบครอง
๒. สำคัญว่าเป็นทรัพย์ที่มีผู้ครอบครอง
๓. ทรัพย์มีค่าน้อย ราคาเกิน ๑ มาสก หรือน้อยกว่า ๕ มาสก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๙๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์

๔. มีไถยจิตปรากฏ
๕. ภิกษุจับต้อง ต้องอาบัติทุกกฎ ทำให้ไหว ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้เคลื่อนที่
ต้องอาบัติถุลลัจจัย
[๑๒๔] ภิกษุผู้ถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ต้องอาบัติทุกกฏ ด้วยอาการ ๕ อย่าง
คือ
๑. ทรัพย์มีผู้ครอบครอง
๒. สำคัญว่าเป็นทรัพย์ที่มีผู้ครอบครอง
๓. ทรัพย์มีค่าน้อย ราคา ๑ มาสก หรือน้อยกว่า ๑ มาสก
๔. มีไถยจิตปรากฏ
๕. ภิกษุจับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้เคลื่อนที่
ต้องอาบัติทุกกฏ
[๑๒๕] ภิกษุผู้ถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ต้องอาบัติปาราชิก ด้วยอาการ ๖ อย่าง
คือ
๑. สำคัญว่าไม่ใช่ของของตน
๒. ไม่ใช่ถือเอาด้วยวิสาสะ
๓. ไม่ใช่เป็นของขอยืม
๔. ทรัพย์มีค่ามาก ราคา ๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก
๕. มีไถยจิตปรากฏ
๖. ภิกษุจับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติถุลลัจจัย ทำให้เคลื่อนที่
ต้องอาบัติปาราชิก
[๑๒๖] ภิกษุผู้ถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ต้องอาบัติถุลลัจจัย ด้วยอาการ ๖
อย่าง คือ
๑. สำคัญว่าไม่ใช่ของของตน
๒. ไม่ใช่ถือเอาด้วยวิสาสะ
๓. ไม่ใช่เป็นของขอยืม
๔. ทรัพย์มีค่าน้อย ราคาเกิน ๑ มาสก หรือน้อยกว่า ๕ มาสก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๙๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ บทภาชนีย์

๕. มีไถยจิตปรากฏ
๖. ภิกษุจับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้เคลื่อนที่
ต้องอาบัติถุลลัจจัย
[๑๒๗] ภิกษุผู้ถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ต้องอาบัติทุกกฏ ด้วยอาการ ๖ อย่าง
คือ
๑. สำคัญว่าไม่ใช่ของของตน
๒. ไม่ใช่ถือเอาด้วยวิสาสะ
๓. ไม่ใช่เป็นของขอยืม
๔. ทรัพย์มีค่าน้อย ราคา ๑ มาสก หรือน้อยกว่า ๑ มาสก
๕. มีไถยจิตปรากฏ
๖. ภิกษุจับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้เคลื่อนที่
ต้องอาบัติทุกกฏ
[๑๒๘] ภิกษุผู้ถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ต้องอาบัติทุกกฏ ด้วยอาการ ๕ อย่าง
คือ
๑. ไม่ใช่ทรัพย์ที่มีผู้ครอบครอง
๒. สำคัญว่าเป็นทรัพย์ที่มีผู้ครอบครอง
๓. ทรัพย์มีค่ามาก ราคา ๕ มาสก หรือเกินกว่า ๕ มาสก
๔. มีไถยจิตปรากฏ
๕. ภิกษุจับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้เคลื่อนที่
ต้องอาบัติทุกกฏ
[๑๒๙] ภิกษุผู้ถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ต้องอาบัติทุกกฏ ด้วยอาการ ๕ อย่าง
คือ
๑. ไม่ใช่ทรัพย์ที่มีผู้ครอบครอง
๒. สำคัญว่าเป็นทรัพย์ที่มีผู้ครอบครอง
๓. ทรัพย์มีค่าน้อย ราคาเกิน ๑ มาสก หรือน้อยกว่า ๕ มาสก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๙๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ อนาปัตติวาร

๔. มีไถยจิตปรากฏ
๕. ภิกษุจับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้เคลื่อนที่
ต้องอาบัติทุกกฏ
[๑๓๐] ภิกษุผู้ถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้ ต้องอาบัติทุกกฏ ด้วยอาการ ๕ อย่าง
คือ
๑. ไม่ใช่ทรัพย์ที่มีผู้ครอบครอง
๒. สำคัญว่าเป็นทรัพย์ที่มีผู้ครอบครอง
๓. ทรัพย์มีค่าน้อย ราคา ๑ มาสก หรือน้อยกว่า ๑ มาสก
๔. มีไถยจิตปรากฏ
๕. ภิกษุจับต้อง ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้ไหว ต้องอาบัติทุกกฏ ทำให้เคลื่อนที่
ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ

[๑๓๑] ๑. ภิกษุสำคัญว่าเป็นของของตน
๒. ภิกษุถือเอาด้วยวิสาสะ
๓. ภิกษุถือเอาเป็นของขอยืม
๔. ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เปรตครอบครอง
๕. ภิกษุถือเอาทรัพย์ที่สัตว์ดิรัจฉานครอบครอง
๖. ภิกษุสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล
๗. ภิกษุวิกลจริต
๘. ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน
๙. ภิกษุกระสับกระส่ายเพราะเวทนา
๑๐. ภิกษุต้นบัญญัติ

ปฐมภาณวาร ในอทินนาทานสิกขาบท จบ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ คาถารวมวินีตวัตถุ

คาถารวมวินีตวัตถุ
เรื่องที่ทรงวินิจฉัยแล้ว

เรื่องช่างย้อม ๕ เรื่อง___เรื่องผ้าปูเตียง ๔ เรื่อง
เรื่องกลางคืน ๕ เรื่อง___เรื่องทรัพย์ที่ภิกษุนำไปแต่ผู้เดียว ๑๑ เรื่อง
เรื่องตอบตามคำถามนำ ๕ เรื่อง___เรื่องลม ๒ เรื่อง
เรื่องศพที่ยังสด ๑ เรื่อง___เรื่องสับเปลี่ยนสลาก ๑ เรื่อง
เรื่องเรือนไฟ ๑ เรื่อง___เรื่องเนื้อเดนสัตว์ ๕ เรื่อง
เรื่องไม่มีมูล ๕ เรื่อง___ในสมัยข้าวยากหมากแพง มี ๕ เรื่อง คือ
เรื่องข้าวสุก ๑ เรื่อง___เรื่องเนื้อ ๑ เรื่อง
เรื่องขนม ๑ เรื่อง___เรื่องน้ำตาลกรวด ๑ เรื่อง
เรื่องขนมต้ม ๑ เรื่อง___เรื่องบริขาร ๕ เรื่อง
เรื่องถุง ๑ เรื่อง___เรื่องฟูก ๑ เรื่อง
เรื่องราวจีวร ๑ เรื่อง___เรื่องไม่ออกไป ๑ เรื่อง
เรื่องถือวิสาสะฉันของเคี้ยว ๑ เรื่อง ___เรื่องสำคัญว่าเป็นของของตน ๒ เรื่อง
เรื่องไม่ได้ลัก ๗ เรื่อง___เรื่องลัก ๗ เรื่อง
เรื่องลักของสงฆ์ ๗ เรื่อง___เรื่องลักดอกไม้ ๒ เรื่อง
เรื่องพูดตามคำบอก ๓ เรื่อง___เรื่องนำแก้วมณีผ่านด่านภาษี ๓ เรื่อง
เรื่องปล่อยสุกร ๒ เรื่อง___เรื่องปล่อยเนื้อ ๒ เรื่อง
เรื่องปล่อยปลา ๒ เรื่อง___เรื่องกลิ้งทรัพย์ในยาน ๑ เรื่อง
เรื่องชิ้นเนื้อ ๒ เรื่อง___เรื่องไม้ ๒ เรื่อง
เรื่องผ้าบังสุกุล ๑ เรื่อง___เรื่องข้ามน้ำ ๒ เรื่อง
เรื่องฉันทีละน้อย ๑ เรื่อง___เรื่องชักชวนกันไปลัก ๒ เรื่อง
เรื่องกำมือที่กรุงสาวัตถี ๔ เรื่อง___เรื่องเนื้อเป็นเดน ๒ เรื่อง
เรื่องหญ้า ๒ เรื่อง___เรื่องให้แบ่งของสงฆ์ ๗ เรื่อง
เรื่องไม่ใช่เจ้าของ ๗ เรื่อง___เรื่องยืมไม้ของสงฆ์ ๑ เรื่อง
เรื่องลักน้ำของสงฆ์ ๑ เรื่อง___เรื่องลักดินของสงฆ์ ๑ เรื่อง
เรื่องลักหญ้าของสงฆ์ ๒ เรื่อง___เรื่องลักเสนาสนะของสงฆ์ ๗ เรื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๙๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

เรื่องของมีเจ้าของไม่ควรนำไปใช้ ๑ เรื่อง___เรื่องของมีเจ้าของควรขอยืม ๑ เรื่อง
เรื่องภิกษุณีชาวกรุงจัมปา ๑ เรื่อง___เรื่องภิกษุณีชาวกรุงราชคฤห์ ๑ เรื่อง
เรื่องพระอัชชุกะชาวกรุงเวสาลี ๑ เรื่อง___เรื่องทารกชาวกรุงพาราณสี ๑ เรื่อง
เรื่องภิกษุชาวกรุงโกสัมพี ๑ เรื่อง
เรื่องสัทธิวิหาริกของพระทัฬหิกะกรุงสาคละ ๑ เรื่อง

วินีตวัตถุ
เรื่องช่างย้อม ๕ เรื่อง

[๑๓๒] สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ไปที่ลานตากผ้าของช่างย้อม ได้ลักห่อ
ผ้าของช่างย้อม แล้วเกิดความกังวลใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว
พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง
ทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปที่ลานตากผ้าของช่างย้อม พบผ้ามีราคามาก เกิด
ไถยจิตขึ้นมา แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เพียงแต่คิด ไม่
ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๒)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปที่ลานตากผ้าของช่างย้อม พบผ้ามีราคามาก มี
ไถยจิตจับผ้าผืนนั้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้อง
อาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๓)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปที่ลานตากผ้าของช่างย้อม พบผ้ามีราคามาก มี
ไถยจิต ทำให้ผ้าไหว แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุเธอไม่ต้อง
อาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย” (เรื่องที่ ๔)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปที่ลานตากผ้าของช่างย้อม พบผ้ามีราคามาก มี
ไถยจิตทำให้ผ้าเคลื่อนที่ แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๐๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอ
ต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๕)

เรื่องผ้าปูเตียง ๔ เรื่อง

[๑๓๓] สมัยนั้น ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งพบผ้าปูเตียงมีราคา
มาก เกิดไถยจิตขึ้นมา แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เพียง
แต่คิดไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๖)
สมัยนั้น ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งพบผ้าปูเตียงมีราคามาก มี
ไถยจิตจับต้อง แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติ
ปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๗)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบผ้าปูเตียงมีราคามาก มีไถยจิต ทำให้ผ้าไหว แล้ว
เกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย” (เรื่องที่ ๘)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบผ้าปูเตียงมีราคามาก มีไถยจิต ทำให้ผ้าเคลื่อนที่
แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่อง
ที่ ๙)

เรื่องกลางคืน ๕ เรื่อง

[๑๓๔] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบสิ่งของตอนกลางวัน ได้ทำเครื่องหมายไว้
ด้วยตั้งใจว่า จะลักตอนกลางคืน ท่านสำคัญสิ่งของนั้นว่าเป็นสิ่งของนั้น จึงได้ลัก
ของนั้นมา แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติ
ปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๐)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบสิ่งของตอนกลางวัน ได้ทำเครื่องหมายไว้ ด้วย
ตั้งใจว่า จะลักตอนกลางคืน ท่านสำคัญสิ่งของนั้นว่าเป็นสิ่งของนั้น แต่ได้ลักสิ่งของ
อื่นมา แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติ
ปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๑)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบสิ่งของตอนกลางวัน ได้ทำเครื่องหมายไว้ ด้วย
ตั้งใจว่าจะลักตอนกลางคืน ท่านสำคัญสิ่งของนั้นว่าเป็นสิ่งของอื่น แต่ได้ลักสิ่งของ
นั้นมา แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติ
ปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๒)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบสิ่งของตอนกลางวัน ได้ทำเครื่องหมายไว้ด้วย
ตั้งใจว่า จะลักตอนกลางคืน ท่านสำคัญสิ่งของนั้นว่าเป็นสิ่งของอื่น ได้ลักสิ่งของ
อื่นมา แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติ
ปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๓ )
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบสิ่งของตอนกลางวัน ได้ทำเครื่องหมายไว้ด้วย
ตั้งใจว่า จะลักตอนกลางคืน ท่านสำคัญสิ่งของนั้นว่าเป็นสิ่งของนั้น แต่ได้ลักสิ่งของ
ของตนเอง แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติ
ปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๑๔)

เรื่องทรัพย์ที่ภิกษุนำไปแต่ผู้เดียว ๑๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนำสิ่งของของผู้อื่นไป มีไถยจิต จับต้องสิ่งของที่อยู่บน
ศีรษะตนเอง แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติ
ปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๑๕)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนำสิ่งของของผู้อื่นไป มีไถยจิต ทำสิ่งของที่อยู่บน
ศีรษะตนเองให้ไหว แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้อง
อาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย” (เรื่องที่ ๑๖)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนำสิ่งของของผู้อื่นไป มีไถยจิต ลดสิ่งของที่อยู่บน
ศีรษะตนเองลงมาที่ไหล่ แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอ
ต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๗)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนำสิ่งของของผู้อื่นไป มีไถยจิต จับต้องสิ่งของที่อยู่บน
ไหล่ แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก
แต่ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๑๘)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนำสิ่งของของผู้อื่นไป มีไถยจิต ทำสิ่งของที่อยู่ที่ไหล่
ตนเองให้ไหว แล้วเกิดความความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่
ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย” (เรื่องที่ ๑๙)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนำสิ่งของของผู้อื่นไป มีไถยจิต ลดสิ่งของที่อยู่ที่ไหล่ลง
มาถึงระดับสะเอว แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติ
ปาราชิก” (เรื่องที่ ๒๐)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนำสิ่งของของผู้อื่นไป มีไถยจิต จับต้องสิ่งของที่อยู่ที่
สะเอว แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติ
ปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๐๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนำสิ่งของของผู้อื่นไป มีไถยจิต ทำสิ่งของซึ่งอยู่ที่
สะเอวให้ไหว แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติ
ปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย” (เรื่องที่ ๒๒)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนำสิ่งของของผู้อื่นไป มีไถยจิต เอามือหยิบสิ่งของซึ่ง
อยู่ที่สะเอวหิ้วไป แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้อง
อาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๒๓)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนำสิ่งของของผู้อื่นไป มีไถยจิต เอาสิ่งของที่มือวางลงที่
พื้น แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก”
(เรื่องที่ ๒๔)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง นำสิ่งของของผู้อื่นไป มีไถยจิตหยิบสิ่งของขึ้นจาก
พื้นดิน แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติ
ปาราชิก” (เรื่องที่ ๒๕)

เรื่องตอบตามคำถามนำ ๕ เรื่อง

[๑๓๕] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งผึ่งจีวรไว้กลางแจ้งแล้วเข้าไปวิหาร ภิกษุอีก
รูปหนึ่งเก็บจีวรนั้นด้วยหวังว่า จะไม่ให้จีวรหาย ภิกษุเจ้าของจีวรออกมา ถามภิกษุ
รูปที่เก็บไปนั้นว่า “ท่าน จีวรของผมใครลักไป” ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “ผมลักไป”
ภิกษุเจ้าของจีวรจับเอาภิกษุรูปที่นำจีวรไปกล่าวว่า “ท่านไม่เป็นพระ” ภิกษุรูปที่นำ
จีวรไปเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้า
พระพุทธเจ้าตอบไปตามคำถามนำ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ ไม่ต้องอาบัติ เพราะ
ตอบตามคำถามนำ” (เรื่องที่ ๒๖)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพาดจีวรไว้บนตั่งแล้วเข้าไปวิหาร ภิกษุอีกรูปหนึ่งเก็บ
จีวรนั้นด้วยหวังว่าจะไม่ให้จีวรหาย ภิกษุเจ้าของจีวรออกมา ถามภิกษุรูปที่เก็บไป
นั้นว่า “ท่าน จีวรของผมใครลักไป” ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “ผมลักไป” ภิกษุเจ้าของ
จีวรจับเอาภิกษุรูปที่นำจีวรไปกล่าวว่า “ท่านไม่เป็นพระ” ภิกษุรูปที่นำจีวรไปเกิด
ความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธ
เจ้าตอบไปตามคำถามนำ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ ไม่ต้องอาบัติ เพราะตอบตาม
คำถามนำ” (เรื่องที่ ๒๗)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพาดผ้าปูนั่งไว้บนตั่ง ภิกษุอีกรูปหนึ่งเก็บผ้าปูนั่งนั้น
ด้วยหวังว่า จะไม่ให้ผ้าปูนั่งหาย ภิกษุเจ้าของผ้าปูนั่งออกมา ถามภิกษุรูปที่เก็บไป
นั้นว่า “ท่าน ผ้าปูนั่งของผม ใครลักไป” ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “ผมลักไป” ภิกษุ
เจ้าของผ้าปูนั่งจับเอาภิกษุรูปที่นำผ้าปูนั่งไปกล่าวว่า “ท่านไม่เป็นพระ” ภิกษุรูปที่นำ
ผ้าปูนั่งไปเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้า
พระพุทธเจ้าตอบไปตามคำถามนำ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ ไม่ต้องอาบัติ เพราะ
ตอบตามคำถามนำ” (เรื่องที่ ๒๘)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งวางบาตรไว้ใต้ตั่งแล้วเข้าไปวิหาร ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้
เก็บบาตรนั้นด้วยหวังว่า จะไม่ให้บาตรหาย ภิกษุเจ้าของบาตรออกมาถามภิกษุรูปที่
เก็บไปนั้นว่า “ท่าน บาตรของผม ใครลักไป” ภิกษุรูปนั้นตอบว่า “ผมลักไป” ภิกษุ
เจ้าของบาตรจับเอาภิกษุรูปที่นำบาตรไปกล่าวว่า “ท่านไม่เป็นพระ” ภิกษุรูปที่นำ
บาตรไปเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร”
“ข้าพระพุทธเจ้าตอบไปตามคำถามนำ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ ไม่ต้องอาบัติ
เพราะตอบตามคำถามนำ” (เรื่องที่ ๒๙)
สมัยนั้น ภิกษุณีรูปหนึ่งผึ่งจีวรไว้ที่รั้วแล้วเข้าไปยังวิหาร ภิกษุณีอีกรูปหนึ่ง
เก็บจีวรนั้นด้วยหวังว่า จะไม่ให้จีวรหาย ภิกษุณีเจ้าของจีวรออกมาถามภิกษุณีรูปที่


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

เก็บไปนั้นว่า “เธอ จีวรของฉันใครลักไป” ภิกษุณีรูปนั้นตอบว่า “ฉันลักไป” ภิกษุณี
เจ้าของจีวรจับเอาภิกษุณีรูปที่นำจีวรไปกล่าวว่า “เธอไม่เป็นพระ” ภิกษุณีรูปที่นำ
จีวรไปเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงบอกเรื่องนี้แก่ภิกษุณี
ทั้งหลาย ภิกษุณีทั้งหลายจึงบอกแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่ต้องอาบัติ
เพราะตอบตามคำถามนำ” (เรื่องที่ ๓๐)

เรื่องลม ๒ เรื่อง

[๑๓๖] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบผ้าสาฎกถูกลมบ้าหมูพัดมา จึงเก็บไว้ด้วย
ตั้งใจจะนำคืนเจ้าของ แต่พวกเจ้าของผ้ากล่าวหาท่านว่า “ท่านไม่เป็นพระ” ท่าน
เกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้า
ไม่มีไถยจิต พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ ไม่มีไถยจิต ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๓๑)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ถือเอาผ้าโพกซึ่งถูกลมบ้าหมูพัดมา ด้วย
เกรงว่า เจ้าของผ้าจะเห็นเสียก่อน พวกเจ้าของผ้ากล่าวหาท่านว่า “ท่านไม่เป็น
พระ” ท่านเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิด
อย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้ามีไถยจิต พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก”
(เรื่องที่ ๓๒)

เรื่องศพที่ยังสด ๑ เรื่อง

[๑๓๗] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปป่าช้า ถือเอาผ้าบังสุกุลที่ซากศพยังสดซึ่งมี
เปรตสิงอยู่ในร่าง เปรตนั้นพูดกับภิกษุนั้นว่า “อย่าเอาผ้าของเราไป” ภิกษุไม่ใส่ใจ
ถือเอาไป ทันใดนั้น ร่างนั้นลุกขึ้นติดตามภิกษุไป ภิกษุรูปนั้นเข้าไปวิหารแล้วปิด
ประตูเสีย ร่างนั้นได้ล้มลงที่ประตูนั่นเอง ท่านเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงถือเอา
ผ้าบังสุกุลในซากศพที่ยังสด ภิกษุใดถือเอา ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๓๓)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

เรื่องสับเปลี่ยนสลาก ๑ เรื่อง

[๑๓๘] สมัยนั้น เมื่อภิกษุเจ้าหน้าที่กำลังแจกจีวรแก่สงฆ์ ภิกษุรูปหนึ่ง มี
ไถยจิตได้สับเปลี่ยนสลากรับจีวรไป ท่านเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิก
หรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า
“ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๓๔)

เรื่องเรือนไฟ ๑ เรื่อง

[๑๓๙] สมัยนั้น พระอานนท์สำคัญว่าผ้าอันตรวาสกของภิกษุรูปหนึ่งในเรือน
ไฟเป็นของตนจึงนุ่ง ภิกษุรูปที่เป็นเจ้าของผ้าอันตรวาสกกล่าวกับท่านพระอานนท์
ว่า “ทำไมท่านจึงเอาผ้าอันตราสกของผมไปนุ่ง” “ท่าน ผมสำคัญว่าเป็นของผม”
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุสำคัญว่าเป็นของตน ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๓๕)

เรื่องเนื้อเดนสัตว์ ๕ เรื่อง

[๑๔๐] สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปลงจากภูเขาคิชฌกูฏ พบเนื้อเป็นเดนของราชสีห์
จึงใช้ให้อนุปสัมบันทำให้สุกแล้วฉัน พวกท่านเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุฉันเนื้อเป็นเดนราชสีห์ ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๓๖)
สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปลงจากภูเขาคิชฌกูฏ พบเนื้อเป็นเดนเสือโคร่ง จึงใช้
ให้อนุปสัมบันทำให้สุกแล้วฉัน พวกท่านเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุฉันเนื้อเป็นเดนเสือโคร่ง ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๓๗)
สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปลงจากภูเขาคิชฌกูฏ พบเนื้อเป็นเดนเสือเหลือง จึงใช้
ให้อนุปสัมบันทำให้สุกแล้วฉัน พวกท่านเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุฉันเนื้อเป็นเดนเสือเหลือง ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๓๘)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปลงจากภูเขาคิชฌกูฏ พบเนื้อเป็นเดนหมาใน จึงใช้ให้
อนุปสัมบันทำให้สุกแล้วฉัน พวกท่านเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัส
ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุฉันเนื้อที่เป็นเดนหมาใน ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๓๙)
สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปลงจากภูเขาคิชฌกูฏ พบเนื้อเป็นเดนหมาป่า จึงใช้ให้
อนุปสัมบันทำให้สุกแล้วฉัน พวกท่านเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุฉันเนื้อที่สัตว์ดิรัจฉานครอบครอง ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่อง
ที่ ๔๐)

เรื่องไม่มีมูล ๕ เรื่อง

[๑๔๑] สมัยนั้น เมื่อภิกษุเจ้าหน้าที่กำลังแจกอาหารแก่สงฆ์ ภิกษุรูปหนึ่ง
กล่าวคำไม่มีมูลว่า “จงให้เพื่อภิกษุอื่นอีกส่วนหนึ่ง” แล้วรับไป ท่านเกิดความกังวลใจ
ว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง
ทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เพราะกล่าวเท็จทั้งที่รู้” (เรื่องที่ ๔๑)
สมัยนั้น เมื่อภิกษุเจ้าหน้าที่กำลังแจกของเคี้ยวแก่สงฆ์ ภิกษุรูปหนึ่งกล่าว
คำไม่มีมูลว่า “จงให้เพื่อภิกษุอื่นอีกส่วนหนึ่ง” แล้วรับไป ท่านเกิดความกังวลใจว่า
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะ
กล่าวเท็จทั้งที่รู้” (เรื่องที่ ๔๒)
สมัยนั้น เมื่อภิกษุเจ้าหน้าที่กำลังแจกขนมแก่สงฆ์ ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวคำไม่มี
มูลว่า “จงให้เพื่อภิกษุอื่นอีกส่วนหนึ่ง” แล้วรับไป ท่านเกิดความกังวลใจว่า เราต้อง
อาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระ
องค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะกล่าว
เท็จทั้งที่รู้” (เรื่องที่ ๔๓)
สมัยนั้น เมื่อภิกษุเจ้าหน้าที่กำลังแจกน้ำอ้อยแก่สงฆ์ ภิกษุรูปหนึ่งกล่าวคำ
ไม่มีมูลว่า “จงให้เพื่อภิกษุอื่นอีกส่วนหนึ่ง” แล้วรับไป ท่านเกิดความกังวลใจว่า เรา


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

ต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะ
กล่าวเท็จทั้งที่รู้” (เรื่องที่ ๔๔)
สมัยนั้น เมื่อภิกษุเจ้าหน้าที่กำลังแจกผลมะพลับแก่สงฆ์ ภิกษุรูปหนึ่งกล่าว
คำไม่มีมูลว่า “จงให้เพื่อภิกษุอื่นอีกส่วนหนึ่ง” แล้วรับไป ท่านเกิดความกังวลใจว่า
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะ
กล่าวเท็จทั้งที่รู้” (เรื่องที่ ๔๕)

ในสมัยข้าวยากหมากแพงมี ๕ เรื่อง คือ
เรื่องข้าวสุก ๑ เรื่อง

[๑๔๒] สมัยนั้น เมื่อเกิดข้าวยากหมากแพง ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปร้านขายข้าว
สุก มีไถยจิตได้ลักข้าวสุกไปเต็มบาตร แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๔๖)

เรื่องเนื้อ ๑ เรื่อง

สมัยนั้น เมื่อเกิดข้าวยากหมากแพง ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปร้านขายเนื้อสุก มี
ไถยจิตได้ลักเนื้อไปเต็มบาตร แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือ
หนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ
เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่อง ๔๗)

เรื่องขนม ๑ เรื่อง

สมัยนั้น เมื่อเกิดข้าวยากหมากแพง ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปร้านขายขนม มี
ไถยจิตได้ลักขนมไปเต็มบาตร แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือ
หนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ
เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๔๘ )


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

เรื่องน้ำตาลกรวด ๑ เรื่อง

สมัยนั้น เมื่อเกิดข้าวยากหมากแพง ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปร้านขายน้ำตาลกรวด
มีไถยจิตได้ลักน้ำตาลกรวดไปเต็มบาตร แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า
“ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก”(เรื่องที่ ๔๙)

เรื่องขนมต้ม ๑ เรื่อง

สมัยนั้น เมื่อเกิดข้าวยากหมากแพง ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปร้านขายขนมต้ม มี
ไถยจิตได้ลักขนมต้มไปเต็มบาตร แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิก
หรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ
เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๕๐)

เรื่องบริขาร ๕ เรื่อง

[๑๔๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบเครื่องใช้สอยตอนกลางวัน ได้ทำเครื่อง
หมายไว้ด้วยตั้งใจว่าจะลักตอนกลางคืน ท่านสำคัญเครื่องใช้สอยนั้นว่าเป็นเครื่องใช้
สอยนั้น จึงได้ลักเครื่องใช้สอยนั้นมา แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิก
หรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ
เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๕๑)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบเครื่องใช้สอยตอนกลางวัน ได้ทำเครื่องหมายไว้
ด้วยตั้งใจว่า จะลักตอนกลางคืน ท่านสำคัญเครื่องใช้สอยนั้นว่าเป็นเครื่องใช้สอยนั้น
แต่ได้ลักเครื่องใช้สอยอื่นมา แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอ
ต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๕๒)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบเครื่องใช้สอยตอนกลางวัน ได้ทำเครื่องหมายไว้
ด้วยตั้งใจว่า จะลักตอนกลางคืน ท่านสำคัญเครื่องใช้สอยนั้นว่าเป็นเครื่องใช้สอยอื่น
แต่ได้ลักเครื่องใช้สอยนั้นมา แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๑๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอ
ต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๕๓)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบเครื่องใช้สอยตอนกลางวัน ได้ทำเครื่องหมายไว้
ด้วยตั้งใจว่า จะลักตอนกลางคืน ท่านสำคัญเครื่องใช้สอยนั้นว่าเป็นเครื่องใช้สอยอื่น
แต่ได้ลักเครื่องใช้สอยอื่นมา แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอ
ต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๕๔)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบเครื่องใช้สอยตอนกลางวัน ได้ทำเครื่องหมายไว้
ด้วยตั้งใจว่า จะลักตอนกลางคืน ท่านสำคัญเครื่องใช้สอยนั้นว่าเป็นเครื่องใช้สอยนั้น
แต่ลักเครื่องใช้สอยของตนเอง แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่
ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๕๕)

เรื่องถุง ๑ เรื่อง

[๑๔๔] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบถุงวางไว้บนตั่ง คิดว่าหากหยิบไปจากตั่ง
จะเป็นปาราชิก จึงยกเอาไปพร้อมทั้งตั่ง แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๕๖)

เรื่องฟูก ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตได้ลักฟูกของสงฆ์ แล้วเกิดความกังวลใจว่า
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๕๗)

เรื่องราวจีวร ๑ เรื่อง

[๑๔๕] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตได้ลักจีวรที่ราวจีวร แล้วเกิดความ
กังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๑๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

เรื่องไม่ออกไป ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งลักจีวรในวิหาร คิดว่าหากตนออกไปจากวิหารจะเป็น
ปาราชิก จึงไม่ยอมออกไปจากวิหาร ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษนั้นจะออกจากวิหาร
หรือไม่ออกก็ตาม ก็ต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๕๙)

เรื่องถือวิสาสะฉันของเคี้ยว ๑ เรื่อง

[๑๔๖] สมัยนั้น ภิกษุ ๒ รูปเป็นเพื่อนกัน ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปบิณฑบาตยัง
หมู่บ้าน เมื่อภิกษุเจ้าหน้าที่กำลังแจกของขบเคี้ยวแก่สงฆ์ ภิกษุรูปที่เป็นเพื่อนรับ
เอาส่วนแบ่งของเพื่อนไปแล้วถือวิสาสะฉันส่วนแบ่งของภิกษุนั้น ท่านรู้เรื่องเข้าจึง
กล่าวหาภิกษุนั้นว่า “ท่านไม่เป็นพระ” ภิกษุนั้นเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้าถือเอาด้วยวิสาสะ พระ
พุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติ เพราะถือเอาด้วยวิสาสะ” (เรื่องที่ ๖๐)

เรื่องสำคัญว่าเป็นของของตน ๒ เรื่อง

[๑๔๗] สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปกำลังตัดเย็บจีวร เมื่อภิกษุเจ้าหน้าที่กำลัง
แจกของขบเคี้ยวแก่สงฆ์ ภิกษุทุกรูปต่างนำส่วนแบ่งของตนไปเก็บไว้ ภิกษุรูปหนึ่ง
สำคัญส่วนแบ่งของภิกษุอีกรูปหนึ่งว่าเป็นส่วนแบ่งของตนจึงฉันเสีย ภิกษุเจ้าของ
ส่วนแบ่งรู้เรื่องเข้า จึงกล่าวหาภิกษุนั้นว่า “ท่านไม่เป็นพระ” ภิกษุรูปที่ถูกกล่าวหา
เกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้า
สำคัญว่าเป็นของของตน พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอสำคัญว่าเป็นของของตน ไม่
ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๖๑)
สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปกำลังตัดเย็บจีวร เมื่อภิกษุเจ้าหน้าที่กำลังแจกของขบ
เคี้ยวแก่สงฆ์ ภิกษุรูปหนึ่งเอาบาตรของภิกษุอีกรูปหนึ่งนำส่วนแบ่งของภิกษุอีกรูป


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

หนึ่งมาเก็บไว้ ภิกษุเจ้าของบาตรสำคัญว่าเป็นส่วนแบ่งของตนจึงฉันเสีย ภิกษุรูปที่
นำบาตรไปรู้เรื่องเข้า จึงกล่าวหาภิกษุนั้นว่า “ท่านไม่เป็นพระ” ภิกษุรูปที่ถูกกล่าว
หาเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอสำคัญว่าเป็นของของตน ไม่
ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๖๒)

เรื่องไม่ได้ลัก ๗ เรื่อง

[๑๔๘] สมัยนั้น พวกขโมยลักมะม่วง ทำให้ผลมะม่วงหล่นแล้วห่อถือไป
พวกเจ้าของพากันติดตาม พวกขโมยเห็นพวกเจ้าของจึงโยนห่อผลมะม่วงทิ้งแล้วหนีไป
พวกภิกษุสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล จึงให้อนุปสัมบันเก็บมะม่วงห่อนั้นไปแล้วฉัน
พวกเจ้าของกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุเกิดความ
กังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอคิดอย่างไร” “พวก
ข้าพระพุทธเจ้าสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ
สำคัญว่าเป็นของบังสุกุล ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๖๓)
สมัยนั้น พวกขโมยลักลูกหว้า ทำให้ผลหว้าหล่นแล้วห่อถือไป พวกเจ้าของ
พากันติดตาม พวกขโมยเห็นพวกเจ้าของจึงโยนห่อผลหว้าทิ้งแล้วหนีไป พวกภิกษุ
สำคัญว่าเป็นของบังสุกุล จึงให้อนุปสัมบันเก็บห่อผลหว้านั้นไปแล้วฉัน พวกเจ้าของ
กล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุเกิดความกังวลใจว่า
พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอคิดอย่างไร” “พวกข้าพระพุทธเจ้า
สำคัญว่าเป็นของบังสุกุล พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญว่าเป็น
ของบังสุกุล ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๖๔)
สมัยนั้น พวกขโมยลักขนุนสำปะลอ ทำให้ผลขนุนสำปะลอหล่นแล้ว ห่อถือ
ไป พวกเจ้าของพากันติดตาม พวกขโมยเห็นพวกเจ้าของจึงโยนห่อผลขนุนสำปะลอ
ทิ้งแล้วหนีไป พวกภิกษุสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล จึงให้อนุปสัมบันเก็บห่อผลขนุน


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

สำปะลอนั้นไปแล้วฉัน พวกเจ้าของกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ”
พวกภิกษุเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ
คิดอย่างไร” “พวกข้าพระพุทธเจ้าสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ
ทั้งหลาย พวกเธอสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๖๕)
สมัยนั้น พวกขโมยลักขนุน ทำให้ผลขนุนหล่นแล้วห่อถือไป พวกเจ้าของพา
กันติดตาม พวกขโมยเห็นพวกเจ้าของจึงโยนห่อผลขนุนทิ้งแล้วหนีไป พวกภิกษุ
สำคัญว่าเป็นของบังสุกุล จึงให้อนุปสัมบันเก็บห่อผลขนุนนั้นไปแล้วฉัน พวกเจ้าของ
กล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุเกิดความกังวลใจว่า
พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอคิดอย่างไร” “พวก
ข้าพระพุทธเจ้าสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ
สำคัญว่าเป็นของบังสุกุล ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๖๖)
สมัยนั้น พวกขโมยลักผลตาลสุก ทำให้ผลตาลสุกหล่นแล้วห่อถือไป พวก
เจ้าของพากันติดตาม พวกขโมยเห็นพวกเจ้าของจึงโยนห่อผลตาลสุกทิ้งแล้วหนีไป
พวกภิกษุสำคัญว่าเป็นของบังสุกุลจึงให้อนุปสัมบันเก็บห่อผลตาลสุกนั้นไปแล้วฉัน
พวกเจ้าของกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุเกิดความ
กังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอคิดอย่างไร” “พวก
ข้าพระพุทธเจ้าสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ
สำคัญว่าเป็นของบังสุกุล ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๖๗)
สมัยนั้น พวกขโมยลักอ้อย ตัดอ้อยแล้วมัดถือไป พวกเจ้าของพากันติดตาม
พวกขโมยเห็นพวกเจ้าของจึงโยนมัดอ้อยทิ้งแล้วหนีไป พวกภิกษุสำคัญว่าเป็นของ
บังสุกุล จึงให้อนุปสัมบันเก็บมัดอ้อยนั้นไปแล้วฉัน พวกเจ้าของกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า
“พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิก
หรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอคิดอย่างไร” “พวกข้าพระพุทธเจ้าสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล
พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล ไม่ต้องอาบัติ”
(เรื่องที่ ๖๘)
สมัยนั้น พวกขโมยลักผลมะพลับ ทำให้ผลมะพลับหล่นแล้วห่อถือไป พวก
เจ้าของพากันติดตาม พวกขโมยเห็นพวกเจ้าของจึงโยนห่อผลมะพลับทิ้งแล้วหนีไป
พวกภิกษุสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล จึงให้อนุปสัมบันเก็บห่อผลมะพลับนั้นไปแล้วฉัน
พวกเจ้าของกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุเกิดความ
กังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอคิดอย่างไร” “พวก
ข้าพระพุทธเจ้าสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ
สำคัญว่าเป็นของบังสุกุล ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๖๙)

เรื่องลัก ๗ เรื่อง

สมัยนั้น พวกขโมยลักมะม่วง ทำให้ผลมะม่วงหล่นแล้วห่อถือไป พวก
เจ้าของพากันติดตาม พวกขโมยเห็นพวกเจ้าของจึงโยนห่อผลมะม่วงทิ้งแล้วหนีไป
พวกภิกษุมีไถยจิต คิดว่า พวกเจ้าของจะเห็น จึงฉันผลมะม่วง พวกเจ้าของกล่าวหา
ภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้อง
อาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระ
องค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๗๐)
สมัยนั้น พวกขโมยลักลูกหว้า ทำให้ผลหว้าหล่นแล้วห่อถือไป พวกเจ้าของ
พากันติดตาม พวกขโมยเห็นพวกเจ้าของจึงโยนห่อผลหว้าทิ้งแล้วหนีไป พวกภิกษุมี
ไถยจิต คิดว่าพวกเจ้าของจะเห็น จึงฉันผลหว้า พวกเจ้าของกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า
“พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิก
หรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๗๑)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

สมัยนั้น พวกขโมยลักขนุนสำปะลอ ทำให้ผลขนุนสำปะลอหล่นแล้วห่อถือไป
พวกเจ้าของพากันติดตาม พวกขโมยเห็นพวกเจ้าของจึงโยนห่อผลขนุนสำปะลอทิ้ง
แล้วหนีไป พวกภิกษุมีไถยจิตคิดว่า พวกเจ้าของจะเห็น จึงฉันผลขนุนสำปะลอ พวก
เจ้าของกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุเกิดความกังวลใจ
ว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๗๒)
สมัยนั้น พวกขโมยลักขนุน ทำให้ผลขนุนหล่นแล้วห่อถือไป พวกเจ้าของพา
กันติดตาม พวกขโมยเห็นพวกเจ้าของจึงโยนห่อผลขนุนทิ้งแล้วหนีไป พวกภิกษุมี
ไถยจิตคิดว่า พวกเจ้าของจะเห็น จึงฉันผลขนุน พวกเจ้าของกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า
“พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิก
หรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๗๓)
สมัยนั้น พวกขโมยลักผลตาลสุก ทำให้ผลตาลสุกหล่นแล้วห่อถือไป พวก
เจ้าของพากันติดตาม พวกขโมยเห็นพวกเจ้าของจึงโยนห่อผลตาลสุกทิ้งแล้วหนีไป
พวกภิกษุมีไถยจิตคิดว่า พวกเจ้าของจะเห็น จึงฉันผลตาลสุก พวกเจ้าของกล่าวหา
ภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้อง
อาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระ
องค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๗๔)
สมัยนั้น พวกขโมยลักอ้อย ตัดอ้อยแล้วมัดถือไป พวกเจ้าของพากันติดตาม
พวกขโมยเห็นพวกเจ้าของจึงโยนมัดอ้อยทิ้งแล้วหนีไป พวกภิกษุมีไถยจิตคิดว่า
พวกเจ้าของจะเห็น จึงฉันอ้อย พวกเจ้าของกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่
เป็นพระ” พวกภิกษุเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๗๕)
สมัยนั้น พวกขโมยลักผลมะพลับ ทำให้ผลมะพลับหล่นแล้วห่อถือไป พวก
เจ้าของพากันติดตาม พวกขโมยเห็นพวกเจ้าของจึงโยนห่อผลมะพลับทิ้งแล้วหนีไป
พวกภิกษุมีไถยจิตคิดว่า พวกเจ้าของจะเห็น จึงฉันผลมะพลับ พวกเจ้าของกล่าวหา


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

ภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้อง
อาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระ
องค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๗๖)

เรื่องลักของสงฆ์ ๗ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักผลมะม่วงของสงฆ์ แล้วเกิดความกังวล
ใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๗๗)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักผลหว้าของสงฆ์ แล้วเกิดความกังวลใจว่า
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๗๘)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักผลขนุนสำปะลอของสงฆ์ แล้วเกิดความ
กังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๗๙)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักผลขนุนของสงฆ์ แล้วเกิดความกังวลใจว่า
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๘๐)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักผลตาลสุกของสงฆ์ แล้วเกิดความกังวล
ใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๘๑)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักอ้อยของสงฆ์ แล้วเกิดความกังวลใจว่า
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๘๒)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักผลมะพลับของสงฆ์ แล้วเกิดความกังวล
ใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๘๓)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

เรื่องลักดอกไม้ ๒ เรื่อง

[๑๔๙] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปสวนดอกไม้ มีไถยจิต ได้ลักดอกไม้ที่เขา
เก็บไว้แล้ว มีราคา ๕ มาสก แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือ
หนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ
เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๘๔)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปสวนดอกไม้ มีไถยจิต ได้ลักเก็บดอกไม้ มีราคา ๕
มาสก แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติ
ปาราชิก” (เรื่องที่ ๘๕)

เรื่องพูดตามคำบอก ๓ เรื่อง

[๑๕๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งกำลังเข้าไปหมู่บ้าน ได้บอกภิกษุอีกรูปหนึ่งว่า
“ท่านครับ ผมจะไปบอกตระกูลอุปัฏฐากให้ตามที่ท่านสั่ง” ครั้นเธอไปถึงจึงให้เขานำ
ผ้ามา ๑ ผืนแล้วใช้เสียเอง ภิกษุผู้สั่งรู้เข้าจึงกล่าวหาภิกษุนั้นว่า “ท่านไม่เป็นพระ”
ภิกษุรูปนั้นเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติ
ปาราชิก อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกล่าวว่า ผมจะบอกตามที่ท่านสั่ง ภิกษุใด
พึงกล่าว ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๘๖)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจะเข้าไปหมู่บ้าน ภิกษุอีกรูปหนึ่งได้สั่งท่านว่า “ท่านครับ
ท่านช่วยบอกตระกูลอุปัฏฐากของผมตามที่ผมสั่งด้วย” ภิกษุนั้นครั้นไปแล้วจึงให้
ตระกูลอุปัฏฐากนำผ้ามา ๑ คู่ ตนเองใช้ ๑ ผืน ถวายภิกษุผู้สั่งนั้น ๑ ผืน ภิกษุผู้สั่ง
รู้เข้าจึงกล่าวหาภิกษุนั้นว่า “ท่านไม่เป็นพระ” ภิกษุรูปนั้นเกิดความกังวลใจว่า เรา
ต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกล่าว
ว่า ท่านจงบอกตามที่สั่ง ภิกษุใดพึงกล่าว ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๘๗)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งกำลังไปหมู่บ้าน ได้บอกภิกษุอีกรูปหนึ่งว่า “ท่าน ผม
จะไปบอกตระกูลอุปัฏฐากของท่านตามที่ท่านสั่ง” ภิกษุแม้รูปนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

“ท่านช่วยบอกตามที่ผมสั่ง” ภิกษุนั้น ครั้นไปถึงจึงให้ตระกูลอุปัฏฐากนำเนยใส ๑
อาฬหกะ น้ำอ้อยงบ ๑ ตุละ ข้าวสาร ๑ โทณะ๑ มาแล้วฉันเสียเอง ภิกษุผู้สั่งรู้เข้า
จึงกล่าวหาภิกษุนั้นว่า “ท่านไม่เป็นพระ” ท่านเกิดความเกิดความกังวลใจว่า เรา
ต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึง
กล่าวว่า ผมจะบอกตามที่สั่ง และไม่พึงกล่าวว่า ท่านจงบอกตามที่สั่ง ภิกษุใดพึง
กล่าว ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๘๘)

เรื่องนำแก้วมณีผ่านด่านภาษี ๓ เรื่อง

[๑๕๑] สมัยนั้น บุรุษคนหนึ่งนำแก้วมณีราคาแพง เดินทางไกลไปกับภิกษุ
รูปหนึ่ง ครั้นเห็นด่านภาษี จึงใส่แก้วมณีลงในย่ามของภิกษุนั้นผู้ไม่รู้ เมื่อเดินพ้น
ด่านภาษีจึงถือไปแต่ผู้เดียว ภิกษุนั้นเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือ
หนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ
เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่รู้ ไม่ต้องอาบัติ”
(เรื่องที่ ๘๙)
สมัยนั้น บุรุษคนหนึ่งนำแก้วมณีราคาแพงเดินทางไกลไปกับภิกษุรูปหนึ่ง
ครั้นเห็นด่านภาษี ทำลวงว่าเป็นไข้แล้วมอบห่อของของตนให้ภิกษุถือไป เมื่อเดินพ้น

เชิงอรรถ :
๑ ๔ กุฑุวะ หรือ ปสตะ (ฟายมือ) เป็น ๑ ปัตถะ (กอบ)
๔ ปัตถะ เป็น ๑ อาฬหกะ
๔ อาฬหกะ เป็น ๑ โทณะ
๔ โทณะ เป็น ๑ มาณิกา
๔ มาณิกา เป็น ๑ ขารี
๒๐ ขารี เป็น ๑ วาหะ
๒๐ วาหะ เป็น ๑ ธารณะ
๑๐ ธารณะ เป็น ๑ ปละ
๑๐๐ ปละ เป็น ๑๒ ตุลา
๒๐ ตุลา เป็น ๑ ภาระ
(ดู อภิธา.ฏี. คาถา ๔๘๐-๔๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๑๙ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

ด่านภาษีไป จึงกล่าวกับภิกษุนั้นว่า “ท่านครับ กรุณาส่งห่อของให้ผมเถิด ผมไม่ได้
เป็นไข้” “โยม ท่านได้ทำอย่างนี้เพื่ออะไร” บุรุษนั้นจึงบอกความนั้นให้ภิกษุนั้นทราบ
ท่านเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร”
“ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่รู้ ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๙๐)
[๑๕๒] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางไกลไปกับหมู่เกวียน ชายคนหนึ่ง
เกลี้ยกล่อมท่านด้วยอามิส เห็นด่านภาษีจึงมอบแก้วมณีราคาแพงให้ภิกษุนั้นด้วย
กล่าวว่า “ขอท่านกรุณาช่วยนำแก้วมณีนี้ผ่านด่านภาษีไปด้วยขอรับ” ภิกษุนั้นได้นำ
แก้วมณีนั้นผ่านด่านภาษีไปแล้ว เกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ
จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอ
ต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๙๑)

เรื่องปล่อยสุกร ๒ เรื่อง

[๑๕๓] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งปล่อยสุกรที่ติดบ่วงไปด้วยความสงสารแล้ว
เกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้า
มีความประสงค์จะช่วยเหลือ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอมีความประสงค์จะช่วยเหลือ
ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๙๒)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตคิดว่า เจ้าของจะเห็น จึงปล่อยสุกรที่ติดบ่วงไป
แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่
๙๓)

เรื่องปล่อยเนื้อ ๒ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งปล่อยเนื้อติดบ่วงไปด้วยความสงสารแล้วเกิดความ
กังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้ามีความ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

ประสงค์จะช่วยเหลือ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอมีความประสงค์จะช่วยเหลือ ไม่
ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๙๔)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตคิดว่า เจ้าของจะเห็น จึงปล่อยเนื้อที่ติดบ่วงไป
แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่
๙๕)

เรื่องปล่อยปลา ๒ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งปล่อยฝูงปลาที่ติดลอบไปด้วยความสงสารแล้วเกิด
ความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้า
มีความประสงค์จะช่วยเหลือ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอมีความประสงค์จะช่วยเหลือ
ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๙๖)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิตคิดว่า เจ้าของจะเห็น จึงปล่อยฝูงปลาที่ติด
ลอบไปแล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่อง
ที่ ๙๗)

เรื่องกลิ้งทรัพย์ในยาน ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเห็นทรัพย์ในยานคิดว่า เมื่อเราหยิบไปจากยานนี้จัก
เป็นปาราชิก จึงเขี่ยให้กลิ้งแล้วถือเอา ท่านเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิก
หรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ
เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๙๘)

เรื่องชิ้นเนื้อ ๒ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งถือเอาชิ้นเนื้อที่เหยี่ยวเฉี่ยวเอามา ด้วยตั้งใจว่าจะคืน
ให้เจ้าของ แต่พวกเจ้าของเนื้อกล่าวหาภิกษุนั้นว่า “ท่านไม่เป็นพระ” ท่านเกิดความ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

กังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่มีไถยจิต ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๙๙)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง มีไถยจิตคิดว่า เจ้าของจะเห็น ได้ถือเอาชิ้นเนื้อที่
เหยี่ยวเฉี่ยวเอามา พวกเจ้าของเนื้อกล่าวหาภิกษุนั้นว่า “ท่านไม่เป็นพระ” ท่านเกิด
ความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๐๐)

เรื่องไม้ ๒ เรื่อง

[๑๕๔] สมัยนั้น พวกชาวบ้านผูกแพแล้วเข็นลงแม่น้ำอจิรวดี เมื่อเชือกขาด
ไม้ทั้งหลายได้กระจายไป พวกภิกษุสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล จึงช่วยกันขนไม้ขึ้นฝั่ง
พวกเจ้าของกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุเกิดความ
กังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล
ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๑๐๑)
สมัยนั้น พวกชาวบ้านผูกแพแล้วเข็นลงแม่น้ำอจิรวดี เมื่อเชือกขาด ไม้ทั้ง
หลายได้กระจายไป พวกภิกษุมีไถยจิต คิดว่า พวกเจ้าของจะเห็น จึงช่วยกันขนไม้
ขึ้นฝั่ง พวกเจ้าของกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุเกิด
ความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้
มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติปาราชิก”
(เรื่องที่ ๑๐๒)

เรื่องผ้าบังสุกุล ๑ เรื่อง

สมัยนั้น คนเลี้ยงโคคนหนึ่งพาดผ้าไว้ที่ต้นไม้แล้วไปถ่ายอุจจาระ ภิกษุรูป
หนึ่งสำคัญว่าเป็นผ้าบังสุกุล จึงถือเอาไป คนเลี้ยงโคกล่าวหาภิกษุนั้นว่า “ท่านไม่
เป็นพระ” ภิกษุรูปนั้นเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอสำคัญว่า
เป็นผ้าบังสุกุล ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๑๐๓)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

เรื่องข้ามน้ำ ๒ เรื่อง

สมัยนั้น ผ้าผืนหนึ่งหลุดจากมือพวกช่างย้อมไปคล้องอยู่ที่เท้าของภิกษุรูป
หนึ่งผู้กำลังข้ามน้ำ ท่านเก็บไว้ด้วยตั้งใจว่าจะนำไปคืนให้เจ้าของ พวกเจ้าของกล่าว
หาภิกษุนั้นว่า “ท่านไม่เป็นพระ” ภิกษุรูปนั้นเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่มีไถยจิต ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๑๐๔)
สมัยนั้น ผ้าผืนหนึ่งหลุดจากมือพวกช่างย้อมไปคล้องอยู่ที่เท้าของภิกษุรูป
หนึ่งผู้กำลังข้ามน้ำ ท่านมีไถยจิตคิดว่า พวกเจ้าของจะเห็น ได้ถือเอาผ้านั้นไป พวก
เจ้าของกล่าวหาภิกษุนั้นว่า “ท่านไม่เป็นพระ” ภิกษุรูปนั้นเกิดความกังวลใจว่า เรา
ต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๐๕)

เรื่องฉันทีละน้อย ๑ เรื่อง

[๑๕๕] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งพบหม้อเนยใสจึงฉันเนยใสทีละน้อย แล้วเกิด
ความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้อง
อาบัติทุกกฏ” ๑ (เรื่องที่ ๑๐๖)

เรื่องชักชวนกันไปลัก ๒ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปชักชวนกันไปด้วยคิดจะลักทรัพย์ ภิกษุรูปหนึ่ง
ลักทรัพย์มาได้ ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “พวกเราไม่เป็นปาราชิก ภิกษุรูปใด
ลักทรัพย์ ภิกษุรูปนั้นเป็นปาราชิก” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง
ทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๐๗)

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุถือเอาเนยใสและน้ำมันเป็นต้น มีราคาไม่ถึงหนึ่งบาท คิดว่า เราจักไม่ทำอย่างนี้อีก ดำรงอยู่ใน
ความสำรวมแม้ในวันที่ ๒ และ ๓ เมื่อเกิดความคิดขึ้นอย่างนี้แล้ว ขณะที่ฉันก็ทำการทอดธุระอย่างนั้น แม้
จะฉันเนยใสและนำมันเป็นต้นนั้นทั้งหมด ก็ไม่เป็นปาราชิก เธอต้องอาบัติทุกกฏหรือถุลลัจจัย แต่สิ่งของนั้น
เธอต้องชดใช้คืน(เป็นภัณฑไทย) (ดู วิ.อ. ๑/๑๕๕/๔๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๒๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปชักชวนกันไปแล้ว ได้ลักทรัพย์มา แล้วแบ่งกัน เมื่อ
กำลังแบ่งทรัพย์กัน ภิกษุแต่ละรูปได้ส่วนแบ่งไม่ครบ ๕ มาสก ภิกษุเหล่านั้นจึงบอก
ว่า “พวกเราไม่เป็นปาราชิก” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง
ทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๐๘)

เรื่องกำมือที่กรุงสาวัตถี ๔ เรื่อง

สมัยนั้น กรุงสาวัตถีเกิดข้าวยากหมากแพง ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลัก
ข้าวสารของชาวร้านตลาดไป ๑ กำมือ แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๐๙)
สมัยนั้น กรุงสาวัตถีเกิดข้าวยากหมากแพง ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลัก
ถั่วเขียวของชาวร้านตลาดไป ๑ กำมือ แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๑๐)
สมัยนั้น กรุงสาวัตถีเกิดข้าวยากหมากแพง ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลัก
ถั่วราชมาสของชาวร้านตลาดไป ๑ กำมือ แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๑๑)
สมัยนั้น กรุงสาวัตถีเกิดข้าวยากหมากแพง ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักงา
ของชาวร้านตลาดไป ๑ กำมือ แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือ
หนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ
เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๑๒)

เรื่องเนื้อเป็นเดน ๒ เรื่อง

สมัยนั้น พวกโจรฆ่าโค กินเนื้อแล้ว ซ่อนส่วนที่เหลือไว้ในป่าอันธวัน เขตกรุง
สาวัตถี แล้วพากันไป พวกภิกษุสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล จึงให้อนุปสัมบันถือเอาไป


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

ทำให้สุกแล้วฉัน พวกโจรกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวก
ภิกษุเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญว่า
เป็นของบังสุกุล ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๑๑๓)
สมัยนั้น พวกโจรฆ่าสุกร กินเนื้อแล้ว ซ่อนส่วนที่เหลือไว้ในป่าอันธวัน เขต
กรุงสาวัตถีแล้วพากันไป พวกภิกษุสำคัญว่าเป็นของบังสุกุล จึงให้อนุปสัมบันถือเอา
ไปทำให้สุกแล้วฉัน พวกโจรกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวก
ภิกษุเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญว่าเป็น
ของบังสุกุล ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๑๑๔)

เรื่องหญ้า ๒ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปที่ทุ่งหญ้า มีไถยจิต ได้ลักหญ้าที่เขาเกี่ยวไว้แล้ว มี
ราคา ๕ มาสก แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติ
ปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๑๕)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งไปที่ทุ่งหญ้า มีไถยจิต ได้ลักเกี่ยวหญ้า มีราคา ๕ มาสก
ไปแล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่อง
ที่ ๑๑๖)

เรื่องให้แบ่งของสงฆ์ ๗ เรื่อง

[๑๕๖] สมัยนั้น พวกภิกษุอาคันตุกะให้แบ่งผลมะม่วงของสงฆ์แล้วขบฉัน
พวกภิกษุเจ้าถิ่นกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุ
อาคันตุกะเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

คิดอย่างไร” “พวกข้าพระพุทธเจ้าต้องการจะฉัน พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอต้องการจะฉัน ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๑๑๗)
สมัยนั้น พวกภิกษุอาคันตุกะให้แบ่งผลหว้าของสงฆ์แล้วขบฉัน พวกภิกษุ
เจ้าถิ่นกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุอาคันตุกะเกิด
ความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องการจะฉัน
ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๑๑๘)
สมัยนั้น พวกภิกษุอาคันตุกะให้แบ่งผลขนุนสำปะลอของสงฆ์แล้วขบฉัน
พวกภิกษุเจ้าถิ่นกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุ
อาคันตุกะเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ
ต้องการจะฉัน ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๑๑๙)
สมัยนั้น พวกภิกษุอาคันตุกะให้แบ่งผลขนุนของสงฆ์แล้วขบฉัน พวกภิกษุ
เจ้าถิ่นกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุอาคันตุกะเกิด
ความกังวล ใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องการจะ
ฉัน ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๑๒๐)
สมัยนั้น พวกภิกษุอาคันตุกะให้แบ่งผลตาลสุกของสงฆ์แล้วขบฉัน พวกภิกษุ
เจ้าถิ่นกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุอาคันตุกะเกิด
ความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องการจะฉัน
ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๑๒๑)
สมัยนั้น พวกภิกษุอาคันตุกะให้แบ่งต้นอ้อยของสงฆ์แล้วขบฉัน พวกภิกษุ
เจ้าถิ่นกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุอาคันตุกะเกิด
ความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องการจะฉัน
ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๑๒๒)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

สมัยนั้น พวกภิกษุอาคันตุกะให้แบ่งผลมะพลับของสงฆ์แล้วขบฉัน พวก
ภิกษุเจ้าถิ่นกล่าวหาภิกษุเหล่านั้นว่า “พวกท่านไม่เป็นพระ” พวกภิกษุอาคันตุกะ
เกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องการจะ
ฉัน ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๑๒๓)

เรื่องไม่ใช่เจ้าของ ๗ เรื่อง

สมัยนั้น พวกคนเฝ้าสวนมะม่วงได้ถวายผลมะม่วงแก่ภิกษุทั้งหลาย พวก
ภิกษุมีความรังเกียจว่า ชนเหล่านี้มีหน้าที่เฝ้า ไม่มีสิทธิ์จะถวาย จึงไม่ยอมรับแล้วนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ไม่ต้องอาบัติ เพราะคนเฝ้าถวาย” (เรื่องที่ ๑๒๔)
สมัยนั้น พวกคนเฝ้าสวนหว้าได้ถวายผลหว้าแก่ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุมี
ความรังเกียจว่า ชนเหล่านี้มีหน้าที่เฝ้า ไม่มีสิทธิ์จะถวาย จึงไม่ยอมรับแล้วนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่ต้อง
อาบัติ เพราะคนเฝ้าถวาย” (เรื่องที่ ๑๒๕)
สมัยนั้น พวกคนเฝ้าสวนขนุนสำปะลอได้ถวายผลขนุนสำปะลอแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย พวกภิกษุมีความรังเกียจว่า ชนเหล่านี้มีหน้าที่เฝ้า ไม่มีสิทธิ์จะถวาย จึงไม่
ยอมรับแล้วนำเรื่องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย ไม่ต้องอาบัติ เพราะคนเฝ้าถวาย” (เรื่องที่ ๑๒๖)
สมัยนั้น พวกคนเฝ้าสวนขนุนได้ถวายผลขนุนแก่ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุมี
ความรังเกียจว่า ชนเหล่านี้มีหน้าที่เฝ้า ไม่มีสิทธิ์จะถวาย จึงไม่ยอมรับแล้วนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่ต้อง
อาบัติ เพราะคนเฝ้าถวาย” (เรื่องที่ ๑๒๗)
สมัยนั้น พวกคนเฝ้าสวนตาลสุกได้ถวายผลตาลสุกแก่ภิกษุทั้งหลาย พวก
ภิกษุมีความรังเกียจว่า ชนเหล่านี้มีหน้าที่เฝ้า ไม่มีสิทธิ์จะถวาย จึงไม่ยอมรับแล้ว
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ไม่ต้องอาบัติ เพราะคนเฝ้าถวาย” (เรื่องที่ ๑๒๘)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

สมัยนั้น พวกคนเฝ้าไร่อ้อยได้ถวายลำอ้อยแก่ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุมี
ความรังเกียจว่า ชนเหล่านี้มีหน้าที่เฝ้า ไม่มีสิทธิ์จะถวาย จึงไม่ยอมรับแล้วนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่ต้อง
อาบัติ เพราะคนเฝ้าถวาย” (เรื่องที่ ๑๒๙)
สมัยนั้น พวกคนเฝ้าสวนมะพลับได้ถวายผลมะพลับแก่ภิกษุทั้งหลาย พวก
ภิกษุมีความรังเกียจว่า ชนเหล่านี้มีหน้าที่เฝ้า ไม่มีสิทธิ์จะถวาย จึงไม่ยอมรับแล้วนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่
ต้องอาบัติ เพราะคนเฝ้าถวาย” (เรื่องที่ ๑๓๐)

เรื่องยืมไม้ของสงฆ์ ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้ยืมไม้ของสงฆ์ไปค้ำฝาวิหาร ภิกษุทั้งหลายกล่าวหา
ภิกษุนั้นว่า “ท่านไม่เป็นพระ” ภิกษุรูปนั้นเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิก
หรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า
“ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้า ต้องการจะขอยืม พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ
เธอไม่ต้องอาบัติ เพราะขอยืม” (เรื่องที่ ๑๓๑)

เรื่องลักน้ำของสงฆ์ ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักน้ำของสงฆ์ แล้วเกิดความกังวลใจว่า
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๓๒)

เรื่องลักดินของสงฆ์ ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักดินของสงฆ์ แล้วเกิดความกังวลใจว่า
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๓๓)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

เรื่องลักหญ้าของสงฆ์ ๒ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักหญ้ามุงกระต่ายของสงฆ์ แล้วเกิดความ
กังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๓๔)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้เผาหญ้ามุงกระต่ายของสงฆ์ แล้วเกิดความ
กังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติทุกกฏ”
(เรื่องที่ ๑๓๕)

เรื่องลักเสนาสนะของสงฆ์ ๗ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักเตียงของสงฆ์ แล้วเกิดความกังวลใจว่า
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๓๖)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักตั่งของสงฆ์ แล้วเกิดความกังวลใจว่า
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๓๗)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักฟูกของสงฆ์ แล้วเกิดความกังวลใจว่า
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๓๘)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักหมอนของสงฆ์ แล้วเกิดความกังวลใจว่า
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๓๙)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักบานประตูของสงฆ์ แล้วเกิดความกังวล
ใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๔๐)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักบานหน้าต่างของสงฆ์ แล้วเกิดความ
กังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๔๑)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีไถยจิต ได้ลักไม้กลอนของสงฆ์ แล้วเกิดความกังวลใจ
ว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง
ทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๔๒)

เรื่องของมีเจ้าของไม่ควรนำไปใช้ ๑ เรื่อง

[๑๕๗] สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายได้นำเสนาสนะเครื่องใช้สอยประจำในวิหาร
ของอุบาสกคนหนึ่งไปใช้สอยที่อื่น อุบาสกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน
พระคุณเจ้าทั้งหลายจึงนำเครื่องใช้สอยประจำในที่แห่งหนึ่ง ไปใช้ในที่อีกแห่งหนึ่ง
เล่า” ภิกษุทั้งหลาย จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เครื่องใช้สอยในที่แห่งหนึ่ง ไม่พึงนำไปใช้สอยในที่อีกแห่งหนึ่ง
ภิกษุใดพึงใช้สอย ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๑๔๓)

เรื่องของมีเจ้าของควรขอยืม ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายรังเกียจการนำเสนาสนะเครื่องใช้สอยไปโรงอุโบสถบ้าง
ที่ประชุมบ้าง จึงนั่งบนพื้นดิน เนื้อตัวและจีวรจึงเปื้อนฝุ่น ภิกษุทั้งหลาย จึงนำเรื่องนี้
ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรา
อนุญาตให้นำไปใช้ได้ชั่วคราว” (เรื่องที่ ๑๔๔)

เรื่องภิกษุณีชาวกรุงจำปา ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุณีผู้เป็นอันเตวาสินีของภิกษุณีถุลลนันทา ไปยังตระกูล
อุปัฏฐากของภิกษุณีถุลลนันทา ในกรุงจัมปา บอกคนในตระกูลว่า “ภิกษุณีถุลลนันทา
ประสงค์จะดื่มยาคูปรุงด้วยของ ๓ อย่าง” เมื่อเขาหุงหาให้แล้วเธอกลับนำไปฉัน
เสียเอง ภิกษุณีถุลลนันทารู้เข้าจึงกล่าวหาภิกษุณีนั้นว่า “เธอไม่เป็พระ” ภิกษุณีนั้น


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

เกิดความกังวลใจจึงบอกความนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลาย พวกภิกษุณีจึงบอกแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีนั้นไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เพราะกล่าวเท็จทั้งที่รู้” (เรื่องที่ ๑๔๕)

เรื่องภิกษุณีชาวกรุงราชคฤห์ ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุณีผู้เป็นอันเตวาสินีของภิกษุณีถุลลนันทา ไปยังตระกูลอุปัฏฐาก
ของภิกษุณีถุลลนันทาในกรุงราชคฤห์ บอกคนในตระกูลว่า “ภิกษุณีถุลลนันทา
ประสงค์จะฉันขนมรวงผึ้ง” เมื่อสั่งให้เขาทอดแล้วเธอกลับนำไปฉันเสียเอง
ภิกษุณีถุลลนันทารู้เข้าจึงกล่าวหาภิกษุณีนั้นว่า “เธอไม่เป็นพระ” ภิกษุณีนั้นเกิด
ความกังวลใจจึงบอกความนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลาย พวกภิกษุณีจึงบอกแก่ภิกษุทั้งหลาย
พวกภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุณีนั้นไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะ
กล่าวเท็จทั้งที่รู้” (เรื่องที่ ๑๔๖)

เรื่องพระอัชชุกะชาวกรุงเวสาลี ๑ เรื่อง

[๑๕๘] คหบดีผู้เป็นอุปัฏฐากของพระอัชชุกะ ในกรุงเวสาลี มีบุตร ๑ คน
หลาน ๑ คน ต่อมา เขาสั่งเสียท่านพระอัชชุกะว่า “ท่านพึงบอกที่ฝังทรัพย์แก่เด็ก
ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ในจำนวนเด็ก ๒ คนนี้” แล้วถึงแก่กรรม เวลานั้นปรากฏว่า
หลานชายของคหบดีเป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ท่านพระอัชชุกะจึงบอกที่ฝังทรัพย์แก่
เธอ เธอนำทรัพย์สมบัติมาตั้งเป็นกองทุนและเริ่มให้ทาน
ต่อมาบุตรของคหบดีนั้น ได้เรียนถามท่านพระอานนท์ว่า “พระคุณเจ้า
อานนท์ ใครเป็นทายาทของพ่อ ลูกหรือหลาน”
“ธรรมดาลูกต้องเป็นทายาทของพ่อ”
“ท่านขอรับ พระคุณเจ้าอัชชุกะบอกทรัพย์สมบัติของกระผมแก่คู่แข่งของ
กระผมไปแล้ว”


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

“โยม ท่านพระอัชชุกะไม่เป็นพระ”
ลำดับนั้น ท่านพระอัชชุกะกล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า “ท่านอานนท์
ท่านโปรดให้การวินิจฉัยแก่กระผมเถิด ขอรับ”
ท่านพระอุบาลีอยู่ฝ่ายพระอัชชุกะ ถามพระอานนท์ว่า “ท่านอานนท์ ภิกษุ
รูปใดบอกขุมทรัพย์แก่บุคคลตามที่เจ้าของสั่งให้บอก ภิกษุรูปนั้นจะต้องอาบัติอะไร”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ภิกษุนั้นจะไม่ต้องอาบัติอะไรเลย โดยที่สุดแม้แต่
อาบัติทุกกฏ”
ท่านพระอุบาลีจึงกล่าวว่า “พระอัชชุกะนี้อันเจ้าของทรัพย์สั่งไว้ว่า ท่านโปรด
บอกที่ฝังทรัพย์นี้แก่บุคคลชื่อนี้ จึงได้บอกแก่ผู้นั้น ดังนั้นพระอัชชุกะจึงไม่ต้อง
อาบัติ” (เรื่องที่ ๑๔๗)

เรื่องทารกชาวกรุงพาราณสี ๑ เรื่อง

[๑๕๙] ตระกูลอุปัฏฐากของท่านพระปิลินทวัจฉะในกรุงพาราณสี ถูกโจร
ปล้นและพาเด็กไป ๒ คน ต่อมา ท่านพระปิลินทวัจฉะช่วยนำเด็กหนีออกมาไว้
ที่ปราสาทด้วยอิทธิฤทธิ์ ชาวบ้านเลื่อมใสว่า นี้เป็นอิทธานุภาพของท่าน
พระปิลินทวัจฉะโดยแท้ ภิกษุทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนท่าน
ปิลินทวัจฉะจึงนำเด็กที่พวกโจรพาตัวไปมาเล่า” แล้วนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีฤทธิ์ไม่ต้องอาบัติ
เพราะวิสัยแห่งฤทธิ์” (เรื่องที่ ๑๔๘)

เรื่องภิกษุชาวกรุงโกสัมพี ๑ เรื่อง

[๑๖๐] สมัยนั้น พระปัณฑุกะและพระกปิละเป็นเพื่อนกัน รูปหนึ่งอยู่ใน
อาวาสใกล้หมู่บ้าน อีกรูปหนึ่งอยู่ในกรุงโกสัมพี ต่อมาเพื่อนภิกษุผู้อยู่ในหมู่บ้าน
เดินทางจากหมู่บ้านไปกรุงโกสัมพี ระหว่างทาง ข้ามแม่น้ำ เปลวมันข้นที่หลุดจาก
มือของพวกคนฆ่าหมูลอยมาติดที่เท้า เธอจึงเก็บไว้ด้วยตั้งใจว่าจะให้คืนแก่เจ้าของ
พวกเจ้าของกล่าวหาภิกษุนั้นว่า “ท่านไม่เป็นพระ” หญิงเลี้ยงโคคนหนึ่งพบท่านข้าม


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ วินีตวัตถุ

น้ำจึงได้กล่าวกับท่านดังนี้ว่า “ท่าน นิมนต์มาเสพเมถุนธรรมกันเถิด เจ้าค่ะ” ท่าน
คิดว่า แม้ตามปกติ เราก็ไม่เป็นพระอยู่แล้ว จึงเสพเมถุนธรรมกับหญิงเลี้ยงโค แล้ว
เดินทางถึงกรุงโกสัมพี เล่าเรื่องนั้นให้ภิกษุทั้งหลายฟัง พวกภิกษุจึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้น
ไม่ต้องอาบัติ ปาราชิกเพราะถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ แต่ต้องอาบัติปาราชิก
เพราะเสพเมถุนธรรม” (เรื่องที่ ๑๔๙)

เรื่องสัทธิวิหาริกของพระทัฬหิกะกรุงสาคละ ๑ เรื่อง

[๑๖๑] สมัยนั้น ภิกษุสัทธิวิหาริกของท่านพระทัฬหิกะ กรุงสาคละ อยาก
จะสึกจึงไปลักผ้าโพกของชาวร้านตลาดมาแล้ว ได้กล่าวกับท่านพระทัฬหิกะดังนี้ว่า
“กระผมไม่เป็นพระเสียแล้วจักสึกล่ะ ขอรับ”
“คุณทำผิดอะไรเล่า”
“กระผมลักผ้าโพกของชาวร้านตลาด”
ท่านพระทัฬหิกะให้นำผ้านั้นมาตีราคา ราคาผ้าไม่ถึง ๕ มาสก ท่านพระ
ทัฬหิกะกล่าวว่า “เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก” แล้วได้แสดงธรรมีกถาให้ฟัง ภิกษุ
นั้นยินดียิ่ง (เรื่องที่ ๑๕๐)

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ จบ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ ปฐมบัญญัตินิทาน

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓
ว่าด้วยการพรากกายมนุษย์
เรื่องหมู่ภิกษุผู้เจริญอสุภกัมมัฏฐานกับตาเถนมิคลัณฑิกะ

[๑๖๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ใน
ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสสอนอสุภกัมมัฏฐาน ทรง
พรรณนาคุณอสุภกัมมัฏฐาน ตรัสสรรเสริญการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน ตรัสพรรณนา
คุณอสุภสมาบัติเนือง ๆ แก่ภิกษุทั้งหลาย โดยประการต่างๆ
ต่อมา พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เราปรารถนาจะหลีกเร้นอยู่ผู้เดียวสักครึ่งเดือน ใครๆ อย่าเข้าไปหาเรา ยกเว้นภิกษุ
ผู้นำภัตตาหารเข้าไปให้รูปเดียว”
ภิกษุทั้งหลายรับสนองพระพุทธดำรัสว่า “ได้พระพุทธเจ้าข้า” ไม่มีใครเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาค นอกจากภิกษุผู้นำภัตตาหารเข้าไปทูลถวายรูปเดียว
ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า “พระผู้มีพระภาคตรัสสอนอสุภกัมมัฏฐาน ทรง
พรรณนาคุณอสุภกัมมัฏฐาน ตรัสสรรเสริญการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน ตรัสพรรณนา
คุณอสุภสมาบัติเนืองๆ แก่ภิกษุทั้งหลายโดยประการต่างๆ” แล้วพากันประกอบ
ความเพียรในการเจริญอสุภกัมมัฏฐานหลายประการ กระทั่งเกิดความรู้สึกอึดอัด
เบื่อหน่าย รังเกียจร่างกายของตน เหมือนชายหรือหญิงที่เป็นหนุ่มเป็นสาวชอบแต่ง
ตัว อาบน้ำ สระเกล้า มีซากศพงู ซากศพสุนัขหรือซากศพมนุษย์มาติดอยู่ที่คอ เกิด
ความรู้สึกอึดอัด เบื่อหน่าย รังเกียจ ภิกษุเหล่านั้นจึงฆ่าตัวตายเองบ้าง ใช้กันและ
กันให้ฆ่าบ้าง ภิกษุบางกลุ่มพากันเข้าไปหาตาเถนมิคลัณฑิกะ๑ บอกว่า “ขอโอกาส
หน่อยเถิด ท่านช่วยฆ่าพวกอาตมาทีเถิด บาตรและจีวรนี้จักเป็นของท่าน” ตาเถน

เชิงอรรถ :
๑ สมณกุตฺตโกติ สมณเวสธารโก ผู้ทรงเพศคล้ายสมณะ เพียงแต่ศึกษาธรรม โกนผม นุ่งผ้ากาสายะ ผืน
หนึ่ง เอาผืนหนึ่งพาดบ่า อาศัยอยู่ในวัด กินข้าวก้นบาตร ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกว่า “ตาเถน” (วิ.อ. ๑/๑๖๒/
๔๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๓๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ ปฐมบัญญัตินิทาน

มิคลัณฑิกะรับจ้างเอาบาตรและจีวรจึงฆ่าภิกษุมากมาย ถือดาบเปื้อนเลือดเดินไปถึง
แม่น้ำวัคคุมุทา
[๑๖๓] เมื่อตาเถนมิลัณฑิกะกำลังล้างดาบเปื้อนเลือดอยู่ ได้มีความกังวลใจ
เดือดร้อนใจว่า ไม่ใช่ลาภของเราหนอ เราไม่มีลาภหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราได้ไม่
ดีหนอ เราได้สร้างบาปไว้มากที่ได้ฆ่าภิกษุผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม
ขณะนั้นเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่มารตนหนึ่ง เดินมาบนผิวน้ำไม่แตกกระเซ็น
กล่าวว่า “ดีแล้ว ๆ ท่านสัตบุรุษ เป็นลาภเป็นโชคของท่าน ท่านได้สั่งสมบุญไว้มาก
ที่ได้ช่วยส่งคนที่ยังไม่พ้นทุกข์ให้ข้ามพ้นทุกข์ได้”
ครั้นตาเถนมิคลัณฑิกะได้ทราบว่า เป็นลาภเป็นโชคของเรา เราได้สั่งสมบุญ
ไว้มากที่ได้ช่วยส่งคนที่ยังไม่พ้นทุกข์ให้ข้ามพ้นทุกข์ได้ จึงถือดาบคมกริบเข้าไป
บริเวณวิหารกล่าวว่า “ใครที่ยังไม่พ้นทุกข์ ข้าพเจ้าจะช่วยให้ใครพ้นทุกข์ได้บ้าง”
ในภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยังมีราคะ เกิดความหวาดกลัวขนพองสยองเกล้า
ส่วนพวกภิกษุผู้ที่ไม่มีราคะ ย่อมไม่หวาดกลัว ไม่ขนพองสยองเกล้า
เวลานั้น เขาฆ่าภิกษุวันละ ๑ รูปบ้าง ๒ รูปบ้าง ๓ รูปบ้าง ๔ รูปบ้าง ๕
รูปบ้าง ๖ รูปบ้าง ๗ รูปบ้าง ๘ รูปบ้าง ๙ รูปบ้าง ๑๐ รูปบ้าง ๒๐ รูปบ้าง
๓๐ รูปบ้าง ๔๐ รูปบ้าง ๕๐ รูปบ้าง ๖๐ รูปบ้าง

รับสั่งให้เผดียงสงฆ์

[๑๖๔] เมื่อครึ่งเดือนผ่านไป พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น ตรัส
เรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า “อานนท์ ทำไม ภิกษุสงฆ์จึงดูเหมือนจะน้อยลง”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “จริงพระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสสอน
อสุภกัมมัฏฐาน ทรงพรรณนาคุณอสุภกัมมัฏฐาน ตรัสสรรเสริญการเจริญ
อสุภกัมมัฏฐาน ตรัสพรรณนาคุณอสุภสมาบัติเนืองๆ แก่ภิกษุทั้งหลายโดยประการ
ต่างๆ และภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสสอนอสุภกัมมัฏฐาน ทรง
พรรณนาคุณอสุภกัมมัฏฐาน ตรัสสรรเสริญการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน ตรัสพรรณนา


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ ปฐมบัญญัตินิทาน

อสุภสมาบัติเนือง ๆ โดยประการต่าง ๆ’ จึงพากันประกอบความเพียรในการเจริญ
อสุภกัมมัฏฐานหลายประการ กระทั่งเกิดความรู้สึกอึดอัด เบื่อหน่าย รังเกียจร่าง
กายของตน เหมือนชายหรือหญิงที่เป็นหนุ่มเป็นสาวชอบแต่งตัวอาบน้ำสระเกล้า มี
ซากศพงู ซากศพสุนัขหรือซากศพมนุษย์ มาติดอยู่ที่คอ เกิดความรู้สึกอึดอัด เบื่อ
หน่าย รังเกียจ ภิกษุเหล่านั้นจึงฆ่าตัวตายเองบ้าง ใช้กันและกันให้ฆ่าบ้าง ภิกษุบาง
กลุ่มพากันไปหาตาเถนมิคลัณฑิกะบอกว่า ‘ขอโอกาสหน่อยเถิด ท่านช่วยฆ่าพวก
อาตมาทีเถิด บาตรและจีวรนี้จักเป็นของท่าน’ ตาเถนมิคลัณฑิกะ รับจ้างเอาบาตร
และจีวร จึงฆ่าภิกษุวันละ ๑ รูปบ้าง ฯลฯ วันละ ๖๐ รูปบ้าง ขอประทานพระ
วโรกาส ขอพระองค์โปรดตรัสบอกวิธีอื่นที่ภิกษุสงฆ์จะพึงดำรงอยู่ในอรหัตตผลเถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้นเธอจงเผดียงภิกษุเท่าที่อาศัย
กรุงเวสาลีอยู่ทั้งหมดให้ประชุมกันที่โรงอาหาร”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระพุทธดำรัส แล้วเผดียง๑ภิกษุสงฆ์ที่อาศัย
กรุงเวสาลีอยู่ทั้งหมดให้ประชุมที่โรงอาหาร แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับครั้นถึงแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุสงฆ์
ประชุมพร้อมกันแล้ว ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดทราบเวลาอันสมควรในบัดนี้”

ทรงแสดงอานาปานสติสมาธิกถา

[๑๖๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปที่โรงอาหาร ประทับนั่งบนพุทธ
อาสน์ที่จัดถวาย ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ
สมาธิแม้นี้ที่เจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นสภาพสงบประณีต สดชื่น เป็นธรรม
เครื่องอยู่เป็นสุข และทำอกุศลธรรมชั่วร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานไป สงบไป
โดยเร็ว เปรียบเหมือนฝุ่นละอองที่ฟุ้งขึ้นท้ายฤดูร้อน ถูกฝนใหญ่นอกฤดูกาลให้

เชิงอรรถ :
๑ “เผดียง” คือบอกให้รู้ นิยมใช้ในพิธีกรรมของสงฆ์ เวลาภิกษุสงฆ์จะทำสังฆกรรม ก่อนจะเริ่มทำสังฆกรรม
จะมีการเผดียงสงฆ์ คือบอกให้สงฆ์รู้ว่าจะทำอะไร อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๓๖ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ ปฐมบัญญัตินิทาน

อันตรธานไป สงบไปโดยเร็ว อานาปานสติสมาธิที่เจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้ว
อย่างไร จึงเป็นสภาพสงบประณีต สดชื่น เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขและทำอกุศล
ธรรมชั่วร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานไป สงบไปโดยเร็ว
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า๑ มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า๒

อานาปานสติ ๑๖ ขั้น๓

(๑) เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว
(๒) เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น
(๓) สำเหนียกว่า จะรู้ชัดกองลมทั้งปวง หายใจออก
สำเหนียกว่า จะรู้ชัดกองลมทั้งปวง หายใจเข้า
(๔) สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขาร หายใจออก
สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขาร หายใจเข้า
(๕) สำเหนียกว่า จะรู้ชัดปีติ หายใจออก
สำเหนียกว่า จะรู้ชัดปีติ หายใจเข้า
(๖) สำเหนียกว่า จะรู้ชัดสุข หายใจออก
สำเหนียกว่า จะรู้ชัดสุข หายใจเข้า
(๗) สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิตตสังขาร หายใจออก
สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิตตสังขาร หายใจเข้า

เชิงอรรถ :
๑ กำหนดอารมณ์กัมมัฏฐาน
๒ ตามอรรถกถาวินัยนี้ อัสสาสะ หายใจออก ปัสสาสะ หายใจเข้า (อสฺสาโสติ พหินิกฺขมนวาโต. ปสฺสาโสติ
อนฺโตปวิสนวาโต. วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๖) ส่วนตามอรรถกถาพระสูตร กลับกัน อัสสาสะ หายใจเข้า ปัสสาสะ
หายใจออก (อสฺสาโสติ อนฺโตปวิสนนาสิกวาโต. ปสฺสาโสติ พหินิกฺขมนนาสิกวาโต. ม.อ. ๒/๓๐๕/๑๓๖)
๓ ม.ม. ๑๓/๑๔๑/๙๕-๖, ม.อุ. ๑๔/๑๔๗/๑๓๐-๑๓๑, สํ.ม. ๑๙/๙๗๗/๒๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๓๗ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ ปฐมบัญญัตินิทาน

(๘) สำเหนียกว่า จะระงับจิตตสังขาร หายใจออก
สำเหนียกว่า จะระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า
(๙) สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิต หายใจออก
สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิต หายใจเข้า
(๑๐) สำเหนียกว่า จะยังจิตให้บันเทิง หายใจออก
สำเหนียกว่า จะยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า
(๑๑) สำเหนียกว่า จะตั้งจิตมั่น หายใจออก
สำเหนียกว่า จะตั้งจิตมั่น หายใจเข้า
(๑๒) สำเหนียกว่า จะเปลื้องจิต หายใจออก
สำเหนียกว่า จะเปลื้องจิต หายใจเข้า
(๑๓) สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจออก
สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจเข้า
(๑๔) สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจออก
สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจเข้า
(๑๕) สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความดับไป หายใจออก
สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความดับไป หายใจเข้า
(๑๖) สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความสลัดเสียได้ หายใจออก
สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความสลัดเสียได้ หายใจเข้า”

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท

[๑๖๖] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้น
เหตุทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า ภิกษุทั้งหลายฆ่าตัวตาย
เองบ้าง ใช้กันและกันให้ฆ่าบ้าง บางกลุ่มพากันเข้าไปหาตาเถนมิคลัณฑิกะ บอกว่า
‘ขอโอกาสหน่อยเถิด ท่านช่วยฆ่าพวกอาตมาทีเถิด บาตรและจีวรนี้จักเป็นของท่าน’
จริงหรือ” ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๓๘ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ พระบัญญัติ

ทรงตำหนิว่า “ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของภิกษุเหล่านั้น ไม่สมควร ไม่คล้อยตาม
ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช่ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนภิกษุเหล่านั้น จึงฆ่าตัวตาย
เองบ้าง ใช้กันและให้ฆ่าบ้าง บางกลุ่มพากันเข้าไปหาตาเถนมิคลัณฑิกะ บอกว่า
‘ขอโอกาสหน่อยเถิด ท่านช่วยฆ่าพวกอาตมาทีเถิด บาตรและจีวรนี้จักเป็นของท่าน’
บ้างเล่า ภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ”
แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระบัญญัติ

[๑๖๗] ก็ ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตรา
อันจะพรากกายมนุษย์นั้น แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
สิกขาบทนี้พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้
เรื่องหมู่ภิกษุผู้เจริญอสุภกัมมัฏฐานกับตาเถนมิคลัณฑิกะ จบ

เรื่องพระฉัพพัคคีย์

[๑๖๘] สมัยนั้น อุบาสกคนหนึ่งล้มป่วย เขามีภรรยารูปงาม น่าดู น่าชม
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ชอบภรรยาของเขาจึงปรึกษาว่า “ถ้าอุบาสกยังมีชีวิต พวกเราจัก
ไม่ได้นาง มาช่วยกันกล่าวพรรณนาคุณความตายให้เขาฟังเถิด” จึงเข้าไปหาอุบาสกกล่าว
ว่า “อุบาสก ท่านทำคุณงามความดี ทำที่ต้านทานความขลาดกลัวไว้แล้ว ไม่ได้ทำ
ชั่ว ไม่ได้ทำบาปหยาบช้าทารุณอะไรไว้ ท่านสร้างแต่คุณงามความดี ไม่สร้างกรรมชั่ว
เลย จะมีชีวิตอยู่อย่างลำบากยากเข็ญไปทำไม ท่านตายเสียดีกว่า หลังจากตายแล้ว
จักไปบังเกิดในสุคติ โลกสวรรค์ จักเอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์”
[๑๖๙] อุบาสกเห็นจริงว่า “ท่านกล่าวจริง เพราะเราทำคุณงามความดี ทำ
ที่ต้านทานความขลาดกลัวไว้แล้ว ไม่ได้ทำชั่ว ไม่ได้ทำบาปหยาบช้าทารุณอะไรไว้
เราสร้างแต่คุณงามความดี ไม่สร้างกรรมชั่วเลย จะมีชีวิตอยู่อย่างลำบากยากเข็ญไป
ทำไม เราตายเสียดีกว่า หลังจากตายแล้ว จักไปบังเกิดในสุคติ โลกสวรรค์ จักเอิบ
อิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์” จึงรับประทานอาหารแสลง กินของแสลง


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ พระอนุบัญญัติ

ลิ้มของแสลง ดื่มของแสลง จนอาการเจ็บป่วยหนักเข้าถึงกับเสียชีวิต ภรรยาของ
อุบาสกนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ ไม่มี
ความละอาย ทุศีล ชอบกล่าวเท็จ แต่ก็ปฏิญญาตนว่า ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ
ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม พวกเธอไม่มีความเป็นสมณะ
ความเป็นพราหมณ์ ความเป็นสมณะความเป็นพราหมณ์ของพวกเธอเสื่อมสิ้นไปแล้ว
พวกเธอจะเป็นสมณะจะเป็นพราหมณ์ได้อย่างไร พวกเธอปราศจากความเป็นสมณะ
ปราศจากความเป็นพราหมณ์ พวกเธอได้กล่าวพรรณนาคุณความตายให้สามีของ
เราฟัง สามีของเราถูกพวกเธอฆ่าแล้ว” แม้พวกชาวบ้านอื่นๆ ก็ตำหนิ ประณาม
โพนทะนาว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ไม่มีความละอาย ฯลฯ พวกเธอ
กล่าวพรรณาคุณความตายให้อุบาสกฟัง อุบาสกถูกพวกเธอฆ่าแล้ว”
ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชน ตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุ
ผู้มักน้อย ฯลฯ จึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ จึงกล่าว
พรรณนาคุณความตายให้อุบาสกฟังเล่า”

ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติอนุบัญญัติ

[๑๗๐] ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนั้นไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ พระองค์รับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรงสอบถาม
พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ทราบว่า พวกเธอกล่าวพรรณนาคุณความ
ตายให้อุบาสกฟังจริงหรือ” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้า ทรงตำหนิว่า “โมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอไม่
สมควร ไม่คล้อยตาม ไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช่ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน
พวกเธอ จึงกล่าวพรรณนาคุณความตายให้อุบาสกฟังเล่า โมฆบุรุษทั้งหลาย การ
ทำอย่างนี้มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย
ยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้

พระอนุบัญญัติ

[๑๗๑] อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตรา
อันจะพรากกายมนุษย์นั้น กล่าวพรรณนาคุณความตายหรือชักชวนเพื่อให้ตาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๔๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์

ว่า “ท่านผู้เจริญ จะมีชีวิตอย่างลำบากยากเข็ญนี้ไปทำไม ท่านตายเสียดีกว่า
ดังนี้” เธอมีจิตใจอย่างนี้ มีดำริในใจอย่างนี้ กล่าวพรรณนาคุณความตาย
หรือชักชวนเพื่อความตายโดยประการต่าง ๆ แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หา
สังวาสมิได้

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์

[๑๗๒] คำว่า อนึ่ง...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง...ใด
คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้
คำว่า จงใจ ได้แก่ รู้อยู่ รู้ดีอยู่ จงใจ ตั้งใจ ล่วงละเมิด
ที่ชื่อว่า กายมนุษย์ ได้แก่ จิตดวงแรกเกิด คือวิญญาณดวงแรกปรากฏขึ้นใน
ครรภ์มารดา จนถึงเวลาตาย อัตภาพในระหว่างนี้ชื่อว่ากายมนุษย์
คำว่า พรากจากชีวิต ได้แก่ ตัดทำลายชีวิตินทรีย์ ตัดความสืบต่อ
คำว่า แสวงหาศัสตราอันจะพรากกายมนุษย์นั้น ได้แก่ แสงหาดาบ หอก
ฉมวก หลาว ค้อน หิน มีด ยาพิษ หรือเชือก
คำว่า กล่าวพรรณนาคุณความตาย ได้แก่ แสดงโทษในความมีชีวิตอยู่
พรรณนาคุณความตาย
คำว่า ชักชวนเพื่อให้ตาย คือ ชักชวนให้นำมีดมา ให้กินยาพิษหรือให้เอา
เชือกผูกคอตาย
คำว่า ท่านผู้เจริญ เป็นคำร้องเรียก
คำว่า จะมีชีวิตอย่างลำบากยากเข็ญนี้ไปทำไม ท่านตายเสียดีกว่า นั้นมี
อธิบายว่า ชีวิตที่ชื่อว่ายากแค้น คือ เทียบชีวิตของคนมั่งคั่ง ชีวิตของคนขัดสนก็ชื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๔๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ สิกขาบทวิภังค์

ว่ายากแค้น เทียบชีวิตของคนมีทรัพย์ ชีวิตของคนไม่มีทรัพย์ก็ชื่อว่ายากแค้น
เทียบชีวิตของพวกเทวดา ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายก็ชื่อว่ายากแค้น
ที่ชื่อว่า ชีวิตลำบาก ได้แก่ ชีวิตคนมือขาด เท้าขาด ทั้งมือและเท้าขาด หูแหว่ง
จมูกวิ่น ทั้งหูแหว่งและจมูกวิ่น มีชีวิตอยู่อย่างยากเข็ญเช่นนี้ไปทำไม ตายเสียดีกว่าอยู่
คำว่า มีจิตใจอย่างนี้ ได้แก่ จิตคือใจ ใจคือจิต
คำว่า มีดำริในใจอย่างนี้ คือ มีความมั่นหมายจะให้ตาย มีเจตจำนงจะ
ให้ตาย มีความประสงค์จะให้ตาย
คำว่า โดยประการต่าง ๆ คือ โดยอาการสูงต่ำ
คำว่า กล่าวพรรณนาคุณความตาย ได้แก่ แสดงโทษของชีวิต พรรณนาคุณ
ความตายว่า หลังจากตายแล้ว ท่านจักไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ จักเอิบอิ่มพรั่ง
พร้อมด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์ในที่นั้น
คำว่า ชักชวนเพื่อความตาย คือ ชักชวนให้นำมีดมา ให้กินยาพิษ ให้ใช้
เชือกผูกคอตาย ให้โดดลงบ่อ ลงเหว หรือที่ผาชัน
คำว่า แม้ภิกษุนี้ พระผู้มีพระภาค ตรัสเทียบเคียงกับภิกษุ ๒ รูปแรก๑
คำว่า เป็นปาราชิก อธิบายว่า ภิกษุผู้จงใจพรากกายมนุษย์เสียจากชีวิต
ย่อมไม่เป็นสมณะไม่เป็นเชื้อสายศากยบุตร เปรียบเหมือนแผ่นศิลาหนาแตกออกเป็น
๒ เสี่ยงจะประสานให้สนิทเป็นเนื้อเดียวกันอีกไม่ได้ ดังนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เป็นปาราชิก
คำว่า หาสังวาสมิได้ อธิบายว่า ที่ชื่อว่า สังวาส ได้แก่ กรรมที่ทำร่วมกัน
อุทเทสที่สวดร่วมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน นี้ชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับภิกษุ
รูปนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุ ๒ รูปแรก คือ พระสุทินกลันทบุตรในปฐมปาราชิก และพระธนิยกุมภการบุตรในทุติยปาราชิก
(วิ.อ. ๑/๑๗๒/๔๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๔๒ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ บทภาชนีย์

บทภาชนีย์
มาติกา

[๑๗๓] ทำเอง ยืนอยู่ใกล้ สั่งทูต สั่งทูตต่อ ทูตไม่สามารถ ทูตไปแล้วกลับมา
ที่ไม่ลับสำคัญว่าที่ลับ ที่ลับสำคัญว่าที่ไม่ลับ ที่ไม่ลับสำคัญว่าที่ไม่ลับ ที่ลับสำคัญว่า
ที่ลับ พรรณนาด้วยกาย พรรณนาด้วยวาจา พรรณนาด้วยกายและวาจา พรรณนา
ด้วยทูต พรรณนาด้วยหนังสือ หลุมพราง ที่พิง การลอบวาง เภสัช การนำรูปเข้า
ไปใกล้ การนำเสียงเข้าไปใกล้ การนำกลิ่นเข้าไปใกล้ การนำรสเข้าไปใกล้ การนำ
โผฏฐัพพะเข้าไปใกล้ การนำธัมมารมณ์เข้าไปใกล้ การบอก การแนะนำ การ
นัดหมาย การทำนิมิต

ทำเอง

[๑๗๔] คำว่า ทำเอง คือ ลงมือฆ่าเองด้วยกาย ด้วยเครื่องประหารที่เนื่อง
ด้วยกาย หรือด้วยเครื่องประหารที่ต้องซัดไป

ยืนอยู่ใกล้

คำว่า ยืนอยู่ใกล้ คือ ยืนสั่งอยู่ที่ใกล้ๆ ว่า “จงแทงอย่างนี้ จงประหารอย่างนี้
จงฆ่าอย่างนี้”

สั่งทูต

ภิกษุสั่งภิกษุว่า “ท่านจงฆ่าผู้ชื่อนี้” ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่งสำคัญ
ผู้นั้นว่าเป็นผู้นั้น จึงฆ่าผู้นั้นตาย ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง ๒ รูป
ภิกษุสั่งภิกษุว่า “ท่านจงฆ่าผู้ชื่อนี้” ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่งสำคัญ
ผู้นั้นว่าเป็นผู้นั้น แต่ฆ่าผู้อื่นตาย ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ฆ่าต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุสั่งภิกษุว่า “ท่านจงฆ่าผู้ชื่อนี้” ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่งสำคัญ
ผู้นั้นว่าเป็นผู้อื่น แต่ฆ่าผู้นั้น ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง ๒ รูป
ภิกษุสั่งภิกษุว่า “ท่านจงฆ่าผู้ชื่อนี้” ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่งสำคัญ
ผู้นั้นว่าเป็นผู้อื่น และฆ่าผู้อื่น ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ฆ่าต้องอาบัติปาราชิก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๔๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ บทภาชนีย์

สั่งทูตต่อ

ภิกษุ (ผู้เป็นอาจารย์) สั่งภิกษุ (ชื่อว่าพุทธรักขิต) ว่า “ท่านจงบอกภิกษุชื่อ
(ธัมมรักขิต)นี้ว่า จงบอกภิกษุชื่อ(สังฆรักขิต)นี้ว่า ภิกษุชื่อนี้จงฆ่าบุคคลนี้” ดังนี้
ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่งไปบอกภิกษุอีกรูปหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้ฆ่า
รับคำสั่ง ภิกษุผู้สั่งครั้งแรก ต้องอาบัติถุลลัจจัย ภิกษุผู้ฆ่าฆ่าบุคคลนั้นสำเร็จ ต้อง
อาบัติปาราชิกทุกรูป
ภิกษุ(ผู้เป็นอาจารย์)สั่งภิกษุ(ชื่อพุทธรักขิต)ว่า “ท่านจงบอกภิกษุชื่อ
(ธัมมรักขิต)นี้ว่า จงบอกภิกษุชื่อ(สังฆรักขิต)นี้ว่า ‘จงฆ่าบุคคลนี้” ดังนี้ ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่งไปบอกภิกษุรูปอื่น ต้องอาบัติทุกกฏ ผู้ฆ่ารับคำสั่ง ต้องอาบัติ
ทุกกฏ ภิกษุผู้ฆ่าฆ่าบุคคลนั้นสำเร็จ ภิกษุผู้สั่งครั้งแรกไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้สั่งต่อ
และภิกษุผู้ฆ่า ต้องอาบัติปาราชิก

ทูตไม่สามารถ

ภิกษุสั่งภิกษุว่า “จงฆ่าบุคคลชื่อนี้” ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่งไปแล้ว
กลับมาบอกว่า “กระผมไม่สามารถฆ่าผู้นั้นได้” ผู้สั่งจึงสั่งอีกว่า “จงฆ่าผู้นั้นในเวลา
ที่ท่านสามารถจะฆ่าได้” ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่งฆ่าบุคคลนั้นสำเร็จ ต้อง
อาบัติปาราชิกทั้ง ๒ รูป

ทูตไปแล้วกลับมา

ภิกษุสั่งภิกษุว่า “จงฆ่าบุคคลชื่อนี้” ต้องอาบัติทุกกฏ เธอสั่งแล้วเกิดความ
เดือดร้อนใจ แต่ไม่ได้กล่าวให้ผู้รับคำสั่งได้ยินว่า “อย่าฆ่า” ภิกษุผู้รับคำสั่งฆ่าบุคคล
นั้นสำเร็จ ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง ๒ รูป
ภิกษุสั่งภิกษุว่า “จงฆ่าบุคคลชื่อนี้” ต้องอาบัติทุกกฏ เธอสั่งแล้วเกิดความ
เดือดร้อนใจจึงกล่าวให้ผู้รับคำสั่งได้ยินว่า “อย่าฆ่า” แต่ภิกษุผู้รับคำสั่งกล่าวว่า
“ท่านสั่งผมแล้ว” ฆ่าบุคคลนั้น ภิกษุผู้สั่งไม่ต้องอาบัติ ภิกษุผู้ฆ่า ต้องอาบัติปาราชิก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๔๔ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ บทภาชนีย์

ภิกษุสั่งภิกษุว่า “จงฆ่าบุคคลชื่อนี้” ต้องอาบัติทุกกฏ เธอสั่งแล้วเกิดความ
เดือดร้อนใจจึงกล่าวให้ผู้รับคำสั่งได้ยินว่า “อย่าฆ่า” ภิกษุผู้รับคำสั่งนั้นรับว่า “ดีละ”
จึงงดเว้น ไม่ต้องอาบัติทั้ง ๒ รูป

ที่ไม่ลับ สำคัญว่าที่ลับ

[๑๗๕] ที่ไม่ลับ ภิกษุสำคัญว่าที่ลับ กล่าวขึ้นว่า “ทำอย่างไร บุคคลชื่อนี้จะ
ถูกฆ่า” ต้องอาบัติทุกกฏ

ที่ลับ สำคัญว่าที่ไม่ลับ

ที่ลับ ภิกษุสำคัญว่าที่ไม่ลับ กล่าวขึ้นว่า “ทำอย่างไร บุคคลชื่อนี้จะถูกฆ่า”
ต้องอาบัติทุกกฏ

ที่ไม่ลับ สำคัญว่าที่ไม่ลับ

ที่ไม่ลับ ภิกษุสำคัญว่าที่ไม่ลับ กล่าวขึ้นว่า “ทำอย่างไร บุคคลชื่อนี้จะถูกฆ่า”
ต้องอาบัติทุกกฏ

ที่ลับ สำคัญว่าที่ลับ

ที่ลับ ภิกษุสำคัญว่าที่ลับ กล่าวขึ้นว่า “ทำอย่างไร บุคคลชื่อนี้จะถูกฆ่า” ต้อง
อาบัติทุกกฏ

พรรณนาด้วยกาย

ที่ชื่อว่า พรรณนาด้วยกาย ได้แก่ ภิกษุแสดงอาการต่างๆ ด้วยกายเป็นเหตุ
ให้รู้ว่า “ผู้ใดตายอย่างนี้ ผู้นั้นจะได้ทรัพย์ ได้ยศหรือได้ไปสวรรค์” ต้องอาบัติทุกกฏ
มีผู้ใดผู้หนึ่งคิดจะตายแล้วทำให้เกิดทุกขเวทนาตามการพรรณนานั้น ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก

พรรณนาด้วยวาจา

ที่ชื่อว่า พรรณนาด้วยวาจา ได้แก่ ภิกษุกล่าวด้วยวาจาว่า “ผู้ใดตายอย่างนี้
ผู้นั้นจะได้ทรัพย์ ได้ยศ หรือได้ไปสวรรค์” ต้องอาบัติทุกกฏ มีผู้ใดผู้หนึ่งคิดจะตาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๔๕ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ บทภาชนีย์

แล้วทำให้เกิดทุกขเวทนาตามการพรรณนานั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้อง
อาบัติปาราชิก

พรรณนาด้วยกายและวาจา

ที่ชื่อว่า พรรณนาด้วยกายและวาจา ได้แก่ ภิกษุแสดงอาการต่างๆ ด้วย
กายและกล่าวด้วยวาจาว่า “ผู้ใดตายอย่างนี้ ผู้นั้นจะได้ทรัพย์ ได้ยศ หรือได้ไป
สวรรค์” ต้องอาบัติทุกกฏ มีผู้ใดผู้หนึ่งคิดจะตายหรือทำให้เกิดทุกขเวทนาตามการ
พรรณนานั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก

พรรณนาด้วยทูต

ที่ชื่อว่า พรรณนาด้วยทูต ได้แก่ ภิกษุสั่งทูตว่า “ผู้ใดตายอย่างนี้ ผู้นั้นจะได้
ทรัพย์ ได้ยศ หรือได้ไปสวรรค์” ต้องอาบัติทุกกฏ มีผู้ใดผู้หนึ่งฟังสาส์นของทูตแล้ว
คิดจะตาย ทำให้เกิดทุกขเวทนาตามการพรรณนานั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย
ต้องอาบัติปาราชิก

พรรณนาด้วยหนังสือ

[๑๗๖] ที่ชื่อว่า พรรณนาด้วยหนังสือ ได้แก่ ภิกษุเขียนหนังสือว่า “ผู้ใด
ตายอย่างนี้ ผู้นั้นจะได้ทรัพย์ ได้ยศ หรือได้ไปสวรรค์” ต้องอาบัติทุกกฏ ทุกตัวอักษร
ผู้ใดผู้หนึ่งเห็นหนังสือคิดจะตายแล้วทำให้เกิดทุกขเวทนา ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขา
ตาย ต้องอาบัติปาราชิก

หลุมพราง

ที่ชื่อว่า หลุมพราง ได้แก่ ภิกษุขุดหลุมพรางไว้เจาะจงมนุษย์ว่า “บุคคลชื่อนี้
จะตกลงไปตาย” ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อบุคคลชื่อนั้นตกลงไปได้รับทุกขเวทนา ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุขุดหลุมพรางไว้ไม่เจาะจงด้วยคิดว่า “ใครก็ได้จะตกลงไปตาย” ต้อง
อาบัติทุกกฏ มนุษย์ตกลงไปในหลุมนั้น ภิกษุผู้ขุดต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อมนุษย์ตกลง
ไปแล้วได้รับทุกขเวทนา ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ บทภาชนีย์

ยักษ์ เปรต หรือสัตว์ดิรัจฉานมีกายเป็นมนุษย์ ตกลงไปในหลุมนั้น ต้อง
อาบัติทุกกฏ เมื่อตกลงไปแล้วได้รับทุกขเวทนา ต้องอาบัติทุกกฏ ยักษ์เป็นต้นนั้นตาย
ต้องอาบัติถุลลัจจัย สัตว์ดิรัจฉาน ตกลงไปในหลุมนั้น ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อตกลงไป
แล้วได้รับทุกขเวทนา ต้องอาบัติทุกกฏ สัตว์ดิรัจฉานตาย ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ที่พิง

[๑๗๗] ที่ชื่อว่า ที่พิง ได้แก่ ภิกษุวางศัสตราไว้ในที่พิง หรือทายาพิษ ทำให้
ชำรุด หรือวางไว้ที่ริมบ่อ เหวหรือที่ลาดชันด้วยหมายใจว่า จะมีผู้ตกลงไปตายด้วยวิธีนี้
ต้องอาบัติทุกกฏ มีผู้ได้รับทุกขเวทนา เพราะต้องศัสตรา ถูกยาพิษหรือตกลงไป
ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก

การลอบวาง

ที่ชื่อว่า การลอบวาง ได้แก่ ภิกษุวางดาบ หอก ฉมวก หลาว ไม้ค้อน หิน มีด
ยาพิษ หรือเชือกไว้ใกล้ๆ ด้วยตั้งใจว่า จะมีผู้ตายด้วยของสิ่งนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ มีผู้
คิดว่า เราจะตาย แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิดด้วยสิ่งของนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย
ต้องอาบัติปาราชิก

เภสัช

ที่ชื่อว่า เภสัช ได้แก่ ภิกษุให้เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย ด้วย
ตั้งใจว่า เขาลิ้มเภสัชนี้แล้วจะตาย ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อเขาลิ้มเภสัชนั้นแล้วได้รับ
ทุกขเวทนา ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก

การนำรูปเข้าไปใกล้

[๑๗๘] ที่ชื่อว่า นำรูปเข้าไปใกล้ ได้แก่ ภิกษุนำรูปที่ไม่น่าพอใจ น่ากลัว
น่าหวาดเสียวเข้าไปใกล้ด้วยตั้งใจว่า เขาเห็นรูปนี้แล้วจะตกใจตาย ต้องอาบัติทุกกฏ
เขาเห็นรูปนั้นแล้วตกใจ ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ บทภาชนีย์

ภิกษุนำรูปที่น่าพอใจ น่ารัก น่าจับใจเข้าไปใกล้ด้วยตั้งใจว่า เขาเห็นรูปนี้
แล้วจะซูบผอมตายไป เพราะไม่ได้(รูปนั้น) ต้องอาบัติทุกกฏ เขาเห็นรูปนั้นแล้วซูบ
ผอมเพราะไม่ได้(รูปนั้น) ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก

การนำเสียงเข้าไปใกล้

ที่ชื่อว่า นำเสียงเข้าไปใกล้ ได้แก่ ภิกษุนำเสียงที่ไม่น่าพอใจ น่ากลัว น่า
หวาดเสียวเข้าไปใกล้ ด้วยตั้งใจว่า เขาฟังเสียงนี้แล้วจะตกใจตาย ต้องอาบัติทุกกฏ
เขาได้ยินเสียงนั้นแล้วตกใจ ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุนำเสียงที่น่าพอใจ ไพเราะจับใจ เข้าไปใกล้ด้วยตั้งใจว่า เขาฟังเสียงนี้แล้ว
จะซูบผอมตายไป เพราะไม่ได้(เสียงนั้น) ต้องอาบัติทุกกฏ เขาเห็นรูปนั้นแล้ว
ซูบผอมเพราะไม่ได้(เสียงนั้น) ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก

การนำกลิ่นเข้าไปใกล้

ที่ชื่อว่า นำกลิ่นเข้าไปใกล้ ได้แก่ ภิกษุนำกลิ่นที่ไม่น่าชอบใจ น่ารังเกียจ
น่าคลื่นไส้เข้าไปใกล้ด้วยตั้งใจว่า เขาสูดกลิ่นนี้แล้วจะตายไป เพราะรังเกียจ เพราะ
คลื่นไส้ ต้องอาบัติทุกกฏ เขาสูดกลิ่นแล้วเกิดทุกขเวทนาเพราะรังเกียจ เพราะ
คลื่นไส้ ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุนำกลิ่นที่น่าพอใจ เข้าไปใกล้ ด้วยตั้งใจว่า เขาสูดกลิ่นนี้แล้ว จะซูบผอม
ตายไป เพราะไม่ได้(กลิ่นนั้น) ต้องอาบัติทุกกฏ เขาเห็นรูปนั้นแล้วซูบผอมเพราะไม่
ได้(กลิ่นนั้น) ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก

การนำรสเข้าไปใกล้

ที่ชื่อว่า การนำรสเข้าไปใกล้ ได้แก่ ภิกษุนำรสที่ไม่น่าชอบใจ น่ารังเกียจ น่า
สะอิดสะเอียน เข้าไปใกล้ ด้วยตั้งใจว่า เขาลิ้มรสนี้แล้วจะตาย เพราะรังเกียจ เพราะ
สะอิดสะเอียน ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อเขาได้ลิ้มรสนั้นแล้ว ยังทุกขเวทนาให้เกิด
เพราะรังเกียจ เพราะสะอิดสะเอียน ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ บทภาชนีย์

ภิกษุนำรสที่น่าชอบใจเข้าไปใกล้ ด้วยตั้งใจว่า เขาลิ้มรสนี้แล้วจะซูบผอมตาย
เพราะไม่ได้(รสนั้น) ต้องอาบัติทุกกฏ เขาเห็นรูปนั้นแล้วซูบผอมเพราะไม่ได้(รสนั้น)
ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก

การนำโผฏฐัพพะเข้าไปใกล้

ที่ชื่อว่า การนำโผฏฐัพพะเข้าไปใกล้ ได้แก่ ภิกษุนำโผฏฐัพพะที่ไม่น่าพอใจ
มีสัมผัสไม่สบายและแข็งกระด้างเข้าไปใกล้ ด้วยตั้งใจว่า เขาถูกต้องสิ่งนี้แล้วจะตาย
ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อเขาถูกต้องสิ่งนั้นแล้วเกิดทุกขเวทนา ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขา
ตาย ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุนำโผฏฐัพพะที่น่าพอใจ มีสัมผัสสบาย อ่อนนุ่ม เข้าไปใกล้ ด้วยตั้งใจว่า
เขาถูกต้องสิ่งนี้แล้ว จะซูบผอมตายเพราะไม่ได้(โผฏฐัพพะนั้น) ต้องอาบัติทุกกฏ
เขาถูกสิ่งนั้นแล้ว ซูบผอมเพราะไม่ได้(โผฏฐัพพะนั้น) ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย
ต้องอาบัติปาราชิก

การนำธรรมารมณ์เข้าไปใกล้

ที่ชื่อว่า การนำธรรมารมณ์เข้าไปใกล้ ได้แก่ ภิกษุแสดงเรื่องนรกแก่คนผู้
ควรจะเกิดในนรกด้วยตั้งใจว่า เขาฟังเรื่องนรกนี้แล้ว จะตกใจตาย ต้องอาบัติทุกกฏ
เขาฟังเรื่องนั้นแล้ว ตกใจ ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก
ภิกษุแสดงเรื่องสวรรค์แก่บุคคลผู้กระทำความดี ด้วยตั้งใจว่า เขาฟังเรื่องนี้
แล้ว จะสมัครใจตาย ต้องอาบัติทุกกฏ เขาฟังเรื่องนั้นแล้ว คิดว่า เราจะยอมตายละ
แล้วทำทุกขเวทนาให้เกิดขึ้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก

การบอก

[๑๗๙] ที่ชื่อว่า การบอก ได้แก่ ภิกษุถูกถามแล้วบอกว่า “ท่านจงตาย
อย่างนี้ ผู้ตายอย่างนี้จะได้ทรัพย์ ได้ยศ หรือได้ไปสวรรค์” ต้องอาบัติทุกกฏ เขา
คิดว่า จะตาย แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิดตามการบอกนั้น ต้องอาบัติถุลลัจจัย เขา
ตาย ต้องอาบัติปาราชิก


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ อนาปัตติวาร

การแนะนำ

ที่ชื่อว่า การแนะนำ ได้แก่ ภิกษุที่เขาไม่ได้ถามแต่แนะนำให้เขาตายว่า
“ท่านจงตายอย่างนี้ ผู้ตายอย่างนี้จะได้ทรัพย์ ได้ยศ หรือได้ไปสวรรค์” ต้องอาบัติ
ทุกกฏ เขาคิดว่า “จะตาย” แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิดตามการแนะนำนั้น ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย เขาตาย ต้องอาบัติปาราชิก

การนัดหมาย

ที่ชื่อว่า การนัดหมาย ได้แก่ ภิกษุทำการนัดหมายว่า “จงฆ่าเขา ตามเวลา
นัดหมายนั้น คือ ในเวลาก่อนอาหาร หรือในเวลาหลังอาหาร ในเวลากลางคืน หรือ
ในเวลากลางวัน” ต้องอาบัติทุกกฏ ผู้รับคำสั่งฆ่าเขาสำเร็จตามเวลานัดหมายนั้น
ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง ๒ รูป ฆ่าเขาได้ก่อนหรือหลังเวลานัดหมายนั้น ผู้นัดหมาย
ไม่ต้องอาบัติ ผู้ฆ่าต้องอาบัติปาราชิก

การทำนิมิต

ที่ชื่อว่า การทำนิมิต ได้แก่ ภิกษุทำนิมิตว่า “เราจักขยิบตา ยักคิ้ว หรือผงก
ศีรษะ ท่านจงฆ่าเขาตามที่เราทำนิมิตนั้น” ต้องอาบัติทุกกฏ ผู้รับสัญญาณ ฆ่าเขา
สำเร็จตามนิมิตนั้น ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง ๒ รูป ฆ่าเขาได้ก่อนหรือหลังการทำนิมิต
ผู้ทำนิมิตไม่ต้องอาบัติ ผู้ฆ่าต้องอาบัติปาราชิก

อนาปัตติวาร

ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ
๑. ภิกษุไม่จงใจ
๒. ภิกษุไม่รู้
๓. ภิกษุไม่มีความประสงค์จะฆ่า
๔. ภิกษุวิกลจริต
๕. ภิกษุมีจิตฟุ้งซ่าน
๖. ภิกษุกระสับกระส่ายเพราะเวทนา
๗. ภิกษุต้นบัญญัติ
ปฐมภาณวาร ในมนุสสวิคคหปาราชิก จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๕๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ คาถารวมวินีตวัตถุ

คาถารวมวินีตวัตถุ
เรื่องที่ทรงวินิจฉัยแล้ว

เรื่องพรรณนาคุณความตาย ๑ เรื่อง___เรื่องนั่ง ๑ เรื่อง
เรื่องสาก ๑ เรื่อง___เรื่องไม้สำหรับทำครก ๑ เรื่อง
เรื่องพระขรัวตา ๓ เรื่อง___เรื่องเนื้อติดคอ ๓ เรื่อง
เรื่องยาพิษ ๒ เรื่อง___เรื่องเตรียมพื้นที่สร้างวิหาร ๓ เรื่อง
เรื่องอิฐ ๓ เรื่อง___เรื่องมีด ๓ เรื่อง
เรื่องไม้กลอน ๓ เรื่อง___เรื่องนั่งร้าน ๓ เรื่อง
เรื่องให้ลงจากหลังคา ๓ เรื่อง___เรื่องกระโดดหน้าผา ๒ เรื่อง
เรื่องอบตัว ๓ เรื่อง___เรื่องนัตถุ์ยา ๓ เรื่อง
เรื่องนวด ๓ เรื่อง___เรื่องให้อาบน้ำ ๓ เรื่อง
เรื่องให้ทาน้ำมัน ๓ เรื่อง___เรื่องให้ลุกขึ้น ๓ เรื่อง
เรื่องทำให้ล้ม ๓ เรื่อง___เรื่องให้ตายด้วยข้าว ๓ เรื่อง
เรื่องให้ตายด้วยน้ำฉัน ๓ เรื่อง___เรื่องหญิงมีครรภ์กับชายชู้ ๑ เรื่อง
เรื่องหญิงร่วมสามี ๒ เรื่อง___เรื่องนาบครรภ์ให้ร้อน ๑ เรื่อง
เรื่องฆ่ามารดาและบุตรทั้ง ๒ คนตาย ๑ เรื่อง
เรื่องฆ่ามารดาและบุตรทั้ง ๒ คนไม่ตาย ๑ เรื่อง
เรื่องให้รีด ๑ เรื่อง___เรื่องหญิงหมัน ๑ เรื่อง
เรื่องหญิงไม่เป็นหมัน ๑ เรื่อง___เรื่องจี้ ๑ เรื่อง
เรื่องทับ ๑ เรื่อง___เรื่องฆ่ายักษ์ ๑ เรื่อง
เรื่องส่งไปสู่ที่มีสัตว์ร้ายและยักษ์ดุ ๙ เรื่อง___เรื่องสำคัญว่าใช่ ๔ เรื่อง
เรื่องประหาร ๓ เรื่อง___เรื่องพรรณนาสวรรค์ ๓ เรื่อง
เรื่องพรรณนานรก ๓ เรื่อง___เรื่องต้นไม้ที่เมืองอาฬวี ๓ เรื่อง
เรื่องเผาป่า ๓ เรื่อง___เรื่องไม่ให้ลำบาก ๑ เรื่อง
เรื่องไม่ทำตามท่าน ๑ เรื่อง___เรื่องให้ดื่มเปรียง ๑ เรื่อง
เรื่องให้ดื่มยาโลณโสวีรกะ ๑ เรื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๕๑ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ วินีตวัตถุ

วินีตวัตถุ
เรื่องพรรณนาคุณความตาย ๑ เรื่อง

[๑๘๐] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายได้พรรณนาคุณแห่ง
ความตายให้ท่านฟังด้วยความสงสาร ท่านถึงแก่มรณภาพ ภิกษุเหล่านั้นเกิดความ
กังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติปาราชิก”
(เรื่องที่ ๑)

เรื่องนั่ง ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง นั่งทับเด็กชายที่เขาใช้ผ้าเก่า
คลุมไว้บนตั่ง ทำให้เด็กนั้นตาย ท่านเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือ
หนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ
เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังไม่ได้พิจารณาแล้วไม่พึงนั่ง
บนอาสนะ ภิกษุใดนั่ง ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๒)

เรื่องสาก ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งปูลาดอาสนะที่โรงอาหารในละแวกบ้าน ได้หยิบสากอัน
หนึ่งในสากที่เขาพิงกันไว้ สากอันที่สองล้มฟาดศีรษะเด็กชายคนหนึ่งตาย ท่านเกิด
ความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้า
ไม่จงใจ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่จงใจ ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๓)

เรื่องไม้สำหรับทำครก ๑ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งปูลาดอาสนะที่โรงอาหารในละแวกบ้าน เหยียบขอนไม้
ที่เขานำมาทำครกกลิ้งไปทับเด็กชายคนหนึ่งถึงตาย แล้วเกิดความกังวลใจว่า เรา
ต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ วินีตวัตถุ

พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้าไม่จงใจ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุ เธอไม่จงใจ ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๔)

เรื่องพระขรัวตา ๓ เรื่อง

สมัยนั้น บิดาและบุตรบวชในสำนักภิกษุ วันหนึ่งเมื่อเขาบอกเวลาอาหาร
ภิกษุผู้เป็นบุตรได้กล่าวกับภิกษุผู้เป็นบิดาว่า “นิมนต์ไปเถิด พระสงฆ์กำลังคอยท่าน
อยู่” แล้วจับหลังผลักไปจนภิกษุผู้เป็นบิดาล้มลงถึงแก่มรณภาพ ท่านเกิดความ
กังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้าไม่มี
ความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่มีความประสงค์จะฆ่า ไม่ต้อง
อาบัติ” (เรื่องที่ ๕)
สมัยนั้น บิดาและบุตรบวชในสำนักภิกษุ วันหนึ่งเมื่อเขาบอกเวลาอาหาร
ภิกษุผู้เป็นบุตรได้กล่าวกับภิกษุผู้เป็นบิดาว่า “นิมนต์ไปเถิด พระสงฆ์กำลังคอยท่าน
อยู่” มีความประสงค์จะฆ่าจึงจับหลังผลักไป ภิกษุผู้เป็นบิดาล้มลง ถึงแก่มรณภาพ
ท่านเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้า
พระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก”
(เรื่องที่ ๖)
สมัยนั้น บิดาและบุตรบวชในสำนักภิกษุ วันหนึ่งเมื่อเขาบอกเวลาอาหาร
ภิกษุผู้เป็นบุตรได้กล่าวกับภิกษุผู้เป็นบิดาว่า “นิมนต์ไปเถิด พระสงฆ์กำลังคอยท่าน
อยู่” มีความประสงค์จะฆ่าจึงจับหลังผลักไป ภิกษุผู้เป็นบิดาล้มลงแต่ไม่ถึงมรณภาพ
ท่านเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล
พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร”
“ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติ
ปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย” (เรื่องที่ ๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๕๓ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ วินีตวัตถุ

เรื่องเนื้อติดคอ ๓ เรื่อง

[๑๘๑] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งกำลังฉันอาหาร เนื้อติดคอ เพื่อนอีกรูปหนึ่ง
ได้ทุบที่คอของภิกษุรูปนั้น เนื้อได้หลุดออกมาพร้อมกับโลหิต ท่านถึงแก่มรณภาพ
ภิกษุรูปที่ทุบเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร”
“ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่มีความ
ประสงค์จะฆ่า ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๘)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งกำลังฉันอาหาร เนื้อติดคอ ภิกษุอีกรูปหนึ่งมีความ
ประสงค์จะฆ่าจึงได้ทุบที่คอ เนื้อหลุดออกมาพร้อมกับโลหิต ท่านถึงแก่มรณภาพ
ภิกษุรูปที่ทุบเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร”
“ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอต้องอาบัติ
ปาราชิก” (เรื่องที่ ๙)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งกำลังฉันอาหาร เนื้อติดคอ ภิกษุอีกรูปหนึ่งมีความ
ประสงค์จะฆ่าจึงได้ทุบที่คอ เนื้อหลุดออกมาพร้อมกับโลหิต แต่ท่านไม่ถึงแก่มรณภาพ
ภิกษุรูปที่ทุบเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร”
“ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติ
ปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย” (เรื่องที่ ๑๐)

เรื่องยาพิษ ๒ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่งได้อาหารบิณฑบาตที่เจือยา
พิษมาแล้วนำกลับไปถวายแก่ภิกษุทั้งหลายให้ฉันก่อน ภิกษุเหล่านั้นถึงแก่มรณภาพ
ภิกษุเจ้าของบิณฑบาตเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำ
เรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิด
อย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่ทราบไม่ต้อง
อาบัติ” (เรื่องที่ ๑๑)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ วินีตวัตถุ

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งต้องการทดลองจึงให้ยาพิษแก่ภิกษุอีกรูปหนึ่งฉัน ท่าน
ถึงแก่มรณภาพ ภิกษุผู้ทดลองยาพิษเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือ
หนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ
เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะทดลอง พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ
เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย” (เรื่องที่ ๑๒)

เรื่องเตรียมพื้นที่สร้างวิหาร ๓ เรื่อง

[๑๘๒] สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวี กำลังเตรียมพื้นที่สร้างวิหาร
ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ข้างล่างยกศิลาส่งขึ้นไป ศิลาที่ภิกษุรูปที่อยู่ข้างบนรับไว้ไม่ดี พลัด
ตกลงทับศีรษะภิกษุรูปที่อยู่ข้างล่างจนถึงแก่มรณภาพ ภิกษุรูปที่อยู่ข้างบนเกิดความ
กังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้าไม่จงใจ
พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุเธอไม่จงใจ ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๑๓)
สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีกำลังเตรียมพื้นที่สร้างวิหาร ภิกษุรูปหนึ่ง
อยู่ข้างล่างยกศิลาส่งขึ้นไป ภิกษุรูปที่อยู่ข้างบนมีความประสงค์จะฆ่าจึงปล่อยศิลาลง
บนศีรษะภิกษุรูปที่อยู่ข้างล่างจนถึงแก่มรณภาพ ภิกษุรูปที่ปล่อยศิลาลงมาเกิดความ
กังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้ามีความ
ประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๑๔)
สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีช่วยกันทำการก่อสร้างวิหาร ภิกษุรูปหนึ่ง
อยู่ข้างล่างยกศิลาส่งขึ้นไป ภิกษุรูปที่อยู่ข้างบนมีความประสงค์จะฆ่าภิกษุรูปที่อยู่
ข้างล่าง จึงปล่อยศิลาลงบนศีรษะ แต่ท่านไม่ถึงมรณภาพ ภิกษุรูปที่อยู่ข้างบนเกิด
ความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มี
พระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้า
มีความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้อง
อาบัติถุลลัจจัย” (เรื่องที่ ๑๕)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ วินีตวัตถุ

เรื่องอิฐ ๓ เรื่อง

สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีช่วยกันทำการก่อฝาวิหาร ภิกษุรูปหนึ่งอยู่
ข้างล่างส่งอิฐขึ้นไป อิฐที่ภิกษุรูปที่อยู่ข้างบนรับไว้ไม่ดี พลัดตกลงทับศีรษะภิกษุรูปที่
อยู่ข้างล่างถึงแก่มรณภาพ ภิกษุรูปที่อยู่ข้างบนเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้าไม่จงใจ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ
เธอไม่จงใจ ไม่ต้องอาบัติ”(เรื่องที่ ๑๖)
สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีช่วยกันทำการก่อฝาวิหาร ภิกษุรูปหนึ่งอยู่
ข้างล่างส่งอิฐขึ้นไป ภิกษุรูปที่อยู่ข้างบนมีความประสงค์จะฆ่า จึงปล่อยอิฐลงบน
ศีรษะภิกษุรูปที่อยู่ข้างล่าง ถึงแก่มรณภาพ ภิกษุรูปที่ปล่อยอิฐลงมาเกิดความกังวล
ใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้ามีความ
ประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก”(เรื่องที่ ๑๗)
สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวี ช่วยกันทำการก่อสร้างฝาวิหาร ภิกษุรูป
หนึ่งอยู่ข้างล่างส่งอิฐขึ้นไป ภิกษุรูปที่อยู่ข้างบนมีความประสงค์จะฆ่า จึงปล่อยอิฐลง
บนศีรษะของภิกษุรูปที่อยู่ข้างล่าง แต่ภิกษุรูปที่อยู่ข้างล่างไม่ถึงแก่มรณภาพ ภิกษุ
รูปที่ปล่อยอิฐลงมาเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิด
อย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่
ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย” (เรื่องที่ ๑๘)

เรื่องมีด ๓ เรื่อง

[๑๘๓] สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีช่วยกันทำการก่อสร้าง ภิกษุรูป
หนึ่งอยู่ข้างล่างส่งมีดขึ้นไป มีดที่ภิกษุรูปที่อยู่ข้างบนรับไว้ไม่ดี พลัดตกลงบนศีรษะ
ภิกษุรูปที่อยู่ข้างล่างถึงแก่มรณภาพ ภิกษุรูปที่ทำอยู่ข้างบนเกิดความกังวลใจว่า เรา
ต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ วินีตวัตถุ

พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้าไม่จงใจ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุ เธอไม่จงใจ ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๑๙)
สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีช่วยกันทำการก่อสร้าง ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ข้าง
ล่างส่งมีดขึ้นไป ภิกษุรูปที่อยู่ข้างบนมีความประสงค์จะฆ่าจึงปล่อยมีดลงบนศีรษะ
ภิกษุรูปที่อยู่ข้างล่างถึงแก่มรณภาพ ภิกษุรูปที่ปล่อยมีดตกลงมาเกิดความกังวลใจ
ว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรง
ทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์
จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๒๐)
สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีช่วยกันทำการก่อสร้าง ภิกษุรูปหนึ่งอยู่
ข้างล่างส่งมีดขึ้นไป ภิกษุรูปที่อยู่ข้างบนมีความประสงค์จะฆ่า จึงปล่อยมีดลงบน
ศีรษะของภิกษุรูปที่อยู่ข้างล่าง แต่ภิกษุรูปที่อยู่ข้างล่างไม่ถึงแก่มรณภาพ ภิกษุรูปที่
ปล่อยมีดตกลงมาเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิด
อย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่
ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย” (เรื่องที่ ๒๑)

เรื่องไม้กลอน ๓ เรื่อง

สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีช่วยกันทำการก่อสร้าง ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ข้าง
ล่าง ยกไม้กลอนหลังคาส่งขึ้นไป ไม้กลอนหลังคาที่ภิกษุรูปที่อยู่ข้างบนรับไว้ไม่ดี
พลัดตกลงบนศีรษะภิกษุรูปที่อยู่ข้างล่างถึงแก่มรณภาพ ภิกษุรูปที่ทำไม้กลอนพลัด
ตกลงมาเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบ
ทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้า
พระพุทธเจ้าไม่จงใจ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่จงใจ ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๒๒)
สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีช่วยกันทำการก่อสร้าง ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ข้าง
ล่าง ยกไม้กลอนหลังคาส่งขึ้นไป ภิกษุรูปที่อยู่ข้างบนมีความประสงค์จะฆ่าจึงปล่อย
ไม้กลอนหลังคาลงบนศีรษะภิกษุรูปที่อยู่ข้างล่างถึงแก่มรณภาพ ภิกษุรูปที่ปล่อยไม้


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ วินีตวัตถุ

กลอนหลังคาลงมาเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่อง
นี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิด
อย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอต้อง
อาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๒๓)
สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีช่วยกันทำการก่อสร้าง ภิกษุรูปหนึ่งอยู่
ข้างล่าง ยกไม้กลอนหลังคาส่งขึ้นไป ภิกษุรูปที่อยู่ข้างบนมีความประสงค์จะฆ่า จึง
ปล่อยไม้กลอนหลังคาลงบนศีรษะภิกษุรูปที่อยู่ข้างล่างแต่ไม่ถึงมรณภาพ ภิกษุรูปที่
ปล่อยไม้กลอนหลังคาลงมาเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอ
คิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่
ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย” (เรื่องที่ ๒๔)

เรื่องนั่งร้าน ๓ เรื่อง

สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีช่วยกันผูกนั่งร้านทำการก่อสร้าง ภิกษุรูป
หนึ่งบอกอีกรูปหนึ่งว่า “ท่านจงยืนผูกที่ตรงนี้” ภิกษุนั้นจึงยืนผูกที่นั้น ได้พลัดตกลง
มาถึงแก่มรณภาพ ภิกษุรูปที่บอกเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือ
หนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า
“ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุ เธอไม่มีความประสงค์จะฆ่า ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๒๕)
สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีช่วยกันผูกนั่งร้านทำการก่อสร้าง ภิกษุรูป
หนึ่งมีความประสงค์จะฆ่าบอกอีกรูปหนึ่งว่า “ท่านจงยืนผูกที่ตรงนี้” ภิกษุรูปนั้นจึง
ยืนผูกที่ตรงนั้น ได้พลัดตกลงมาถึงแก่มรณภาพ ภิกษุรูปที่บอกเกิดความกังวลใจว่า
เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะฆ่า
พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๒๖)
สมัยนั้น พวกภิกษุชาวเมืองอาฬวีช่วยกันผูกนั่งร้านทำการก่อสร้าง ภิกษุรูป
หนึ่งมีความประสงค์จะฆ่าบอกอีกรูปหนึ่งว่า “ท่านจงยืนผูกที่ตรงนี้” ภิกษุรูปนั้นจึง


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ วินีตวัตถุ

ยืนผูกที่ตรงนั้น ได้พลัดตกลงมา แต่ไม่ถึงแก่มรณภาพ ภิกษุรูปที่บอกเกิดความ
กังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาค
ให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้ามีความ
ประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติ
ถุลลัจจัย” (เรื่องที่ ๒๗)

เรื่องให้ลงจากหลังคา ๓ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมุงหลังคาวิหารเสร็จแล้วจะลง อีกรูปหนึ่งบอกท่านว่า
“นิมนต์ท่านลงมาทางนี้” ภิกษุนั้นจึงลงทางนั้น ได้พลัดตกลงมาถึงแก่มรณภาพ
ภิกษุรูปที่บอกเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไป
กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร”
“ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่มีความ
ประสงค์จะฆ่า ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๒๘)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมุงหลังคาวิหารเสร็จแล้วจะลง อีกรูปหนึ่งมีความ
ประสงค์จะฆ่าบอกเธอว่า “นิมนต์ท่านลงมาทางนี้” ภิกษุรูปนั้นจึงลงทางนั้นได้พลัด
ตกลงมาถึงแก่มรณภาพ ภิกษุรูปที่บอกเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิก
หรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า
“ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุ เธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๒๙)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมุงหลังคาวิหารเสร็จแล้วจะลง อีกรูปหนึ่งมีความ
ประสงค์จะฆ่าบอกเธอว่า “นิมนต์ท่านลงมาทางนี้” ภิกษุรูปนั้นจึงลงทางนั้น ได้
พลัดตกลงมาแต่ไม่ถึงแก่มรณภาพ ภิกษุรูปที่บอกเกิดความกังวลใจว่า เราต้อง
อาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะฆ่า
พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย” (เรื่อง
ที่ ๓๐)


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ วินีตวัตถุ

เรื่องกระโดดหน้าผา ๒ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเกิดความเบื่อหน่ายจึงขึ้นภูเขาคิชฌกูฏแล้วกระโดดลง
ทางหน้าผาทับช่างสานคนหนึ่งตาย แล้วเกิดความกังวลใจว่า เราต้องอาบัติปาราชิก
หรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า
“ภิกษุ เธอคิดอย่างไร” “ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทำให้ตนเองตก
ภิกษุใดทำให้ตก ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๓๑)
สมัยนั้น พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ขึ้นภูเขาคิชฌกูฏ กลิ้งศิลาเล่น ศิลาตกทับคน
เลี้ยงโคคนหนึ่งตาย พวกท่านเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือ
หนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย พวกเธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงกลิ้งศิลา
เล่น ภิกษุใดกลิ้ง ต้องอาบัติทุกกฏ” (เรื่องที่ ๓๒)

เรื่องอบตัว ๓ เรื่อง

[๑๘๔] สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายจึงให้ท่านอบตัวจนถึง
แก่มรณภาพ พวกท่านเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปราชิกหรือหนอ จึง
นำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า “พวกเธอคิด
อย่างไร” “พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่มีความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “พวกเธอ
ไม่มีความประสงค์จะฆ่า ไม่ต้องอาบัติ” (เรื่องที่ ๓๓)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายมีความประสงค์จะฆ่าจึงให้เธอ
อบตัวจนถึงแก่มรณภาพ พวกท่านเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิก
หรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอคิดอย่างไร” “พวกข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะฆ่า
พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติปาราชิก” (เรื่องที่ ๓๔)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายมีความประสงค์จะฆ่าจึงให้เธอ
อบตัว แต่ท่านไม่ถึงแก่มรณภาพ ภิกษุเหล่านั้นเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้อง
อาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑ หน้า :๑๖๐ }


พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๑. ปาราชิกกัณฑ์] ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ วินีตวัตถุ

พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอคิดอย่างไร” “พวกข้าพระพุทธเจ้ามี
ความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก
แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย” (เรื่องที่ ๓๕)

เรื่องนัตถุ์ยา ๓ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งปวดศีรษะ ภิกษุทั้งหลายจึงให้ท่านนัตถุ์ยา ท่านถึง
แก่มรณภาพ ภิกษุเหล่านั้นเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือ
หนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสถามว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอคิดอย่างไร” “พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่มีความประสงค์จะฆ่า
พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีความประสงค์จะฆ่า ไม่ต้องอาบัติ”
(เรื่องที่ ๓๖)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งปวดศีรษะ ภิกษุทั้งหลายมีความประสงค์จะฆ่าจึงให้
ท่านนัตถุ์ยาจนถึงแก่มรณภาพ ภิกษุเหล่านั้นเกิดความกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติ
ปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระองค์
ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอคิดอย่างไร” “พวกข้าพระพุทธเจ้ามีความ
ประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติปาราชิก”
(เรื่องที่ ๓๗)
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งปวดศีรษะ ภิกษุทั้งหลายมีความประสงค์จะฆ่าจึงให้
ท่านนัตถุ์ยา แต่ท่านไม่ถึงแก่มรณภาพ ภิกษุเหล่านั้นเกิดความกังวลใจว่า พวกเรา
ต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอคิดอย่างไร” “พวกข้าพระพุทธเจ้ามี
ความประสงค์จะฆ่า พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก
แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย” (เรื่องที่ ๓๘)

เรื่องนวด ๓ เรื่อง

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายจึงช่วยกันนวดเฟ้นท่าน ท่านถึง
แก่มรณภาพ ภิกษุเหล่านั้นเกิดกังวลใจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกหรือหนอ จึง


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker