วิธีการแก้ความโกรธจากผู้เป็นศัตร

1. นึกถึงพระพุทธโอวาท พยายามสั่งสอนตักเตือนตัวเองบ่อย ๆ ว่า
- "แน่ะ เจ้าขี้โกรธอย่างร้าย พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้วมิใช่หรือว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้หากโจรที่หยาบช้า พึงเอาเลื่อยที่มีคม 2 ข้าง ตัดอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้ใดโกรธต่อโจรนั้น ผู้นั้นไม่ชื่อว่าทำตามคำสอนของเรา เพราะเหตุที่ทำใจให้ประทุษร้ายโจรนั้น"

- ผู้ใดย่อมโกรธตอบต่อผู้ที่โกรธแล้ว ผู้นั้นเลวเสียกว่าผู้ที่โกรธทีแรกนั้นอีก เพราะเหตุที่โกรธตอบเขานั้น ผู้ที่ไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธตัวแล้ว ชื่อว่าย่อมชนะสงครามซึ่งชนะได้แสนยาก ผู้ที่รู้ว่าคนอื่นโกรธแล้ว ย่อมประพฤติเป็นประโยชน์ ทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งฝ่ายตนและผู้อื่น เป็นมีผู้มีสติ ย่อมสงบระงับได้

 

2. ถ้ายังไม่ระงับให้นึกถึงความดีของผู้นั้น ที่เคยทำให้แก่เรา ให้แก่ชาติเรา สังคมเรา
พึงฝึกใจให้นึกถึงความดีของคนอื่นไว้บ่อย ๆ อย่าได้นึกถึงความชั่วของเขาเลย แล้วความเกลียดความโกรธจะหายไป ใจจะประเสริฐขึ้น

 

3. ถ้านึกถึงความดีผู้นั้นแล้ว ความอาฆาตยังมีอยู่อีก ให้สอนตัวเอง

- "ถ้าว่า ทุกข์อันศัตรูทำแก่ท่านที่กายของท่าน แล้วทำไมท่านจึงมาต้องการให้ความทุกข์เกิดในใจท่าน ซึ่งมิใช่ร่างกายของศัตรูของท่านเล่า"

 

 

- "ท่านรักษาศีลเหล่าใดไว้ แต่ความโกรธอันเป็นเครื่องทำลายศีลเหล่านั้นของท่าน ท่านยังพะนอมันไว้อยู่ ใครเล่าจะเซ่อเท่าท่าน"

- "ท่านโกรธว่าคนอื่นทำความเสียหายให้ โอ! ไฉนท่านจึงยังทำความเสียหายเช่นนั้นเสียอีกเล่า"

- "คนอื่นผู้ต้องการทำให้ท่านแค้น จึงทำสิ่งที่ไม่พอใจให้ ไฉนท่านจึงยังมโนรถ (ความต้องการ) ของเขาให้สำเร็จด้วยวิธีบันดาลความแค้นให้เกิดขึ้นในตัวท่าน"

- "ก็ท่านโกรธแล้ว จะทำความทุกข์ให้แก่เขาได้หรือไม่ก็ตามที แต่บัดนี้ ท่านชื่อว่าเบียดเบียนตนเอง ด้วยทุกข์อันเกิดจากความโกรธนี้เป็นแม่นมั่น"

- "ถ้าหากว่า คนที่เป็นศัตรูก่อความโกรธจองเวรขึ้น อันเป็นทางที่ไร้ประโยชน์ แล้วทำไมท่านจึงโกรธตอบชื่อว่าเอาอย่างเขาเล่า"

-"ศัตรูอาศัยความแค้น จึงทำความน่าชังให้แก่ท่าน ท่านก็จงตัดความแค้นนั้นเสีย จะมามัวลำบากในสิ่งที่ไม่ควรไปทำไมกัน"

-"ความไม่พอใจอันขันธ์เหล่าใดกระทำแก่ท่าน ขันธ์เหล่านั้นก็ไม่เที่ยง ดับไปแล้ว เพราะธรรมทั้งหลายเป็นไปชั่วขณะ เดี๋ยวนี้ท่านโกรธใครในโลกนี้เล่า (คือทุกสิ่งไม่มีตัวตนที่ควรเข้าไปยึดมั่นเลย)"

- "ท่านเองเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์เดือดร้อนเสียเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วทำไมท่านจึงโกรธคนอื่นเขาเล่า"

4. ถ้าความโกรธยังไม่ระงับให้ถือว่าทุกคนมีกรรมเป็นของของตน
กรรมชั่วอันเกิดจากความโกรธของท่านนี้ จะบันดาลให้เกิดผลดีใด ๆ แก่ท่านไม่ได้เลย มีแต่จะทำความเสียหายแก่ท่านฝ่ายเดียวให้ได้รับความทุกข์ ความเสื่อมเกียรติในชาตินี้ และยังจะก่อให้เกิดความทุกข์ในนรกอีกด้วย ท่านโกรธสร้างกรรมเช่นนี้ขึ้น ก็ชื่อว่าเผาตัวเอง และสร้างความเน่าเหม็นให้แก่ตัวเอง

ท่านผู้ที่โกรธนี้ก็มีกรรมเป็นของตน ทำกรรมใดไว้ ก็จะต้องได้รับผลของกรรมนั้นเช่นกัน กรรมชั่วของเขานี้ จะบันดาลให้เขาได้รับผลดีใด ๆ ก็หาไม่ แต่กลับทำให้เขาเดือดร้อนในปัจจุบัน และยังได้รับทุกข์ในอบายมีนรกเป็นต้นอีกด้วย ผู้ทำกรรมชั่วเช่นนี้ เปรียบเหมือนคนยืนอยู่ใต้ลมซัดธุลี ใส่คนที่อยู่เหนือลาม แต่มันกลับปลิวมาใส่ตนเองฉะนั้น

 

<1><2>

 

 

 

 

 

 

 

 

Hosted by www.Geocities.ws

1