หลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2545

โรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี

    

| ความเป็นมา | ภาพรวม | วิสัยทัศน์ | เป้าหมาย | จุดมุ่งหมายของหลักสูตร | คุณลักษณะที่พึงประสงค์ | โครงสร้างหลักสูตร | สาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มวิชา | กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน | การวัดประเมินผล |


ความเป็นมา Top

หลักสูตรเก่าใช้มานาน 10 ปีกว่า กรมวิชาการ ได้ติดตามผลและวิจัยพบว่ามีข้อจำกัดหลายประการ เช่น

  >> การกำหนดหลักสูตรจากส่วนกลางไม่สามารถสะท้อนสภาพความต้องการที่แท้จริงของสถานศึกษาและท้องถิ่น

>> การจัดหลักสูตรและการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ยังไม่สามารถผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในภูมิภาคได้ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนให้คนไทยมีทักษะกระบวนการและเจตคติที่ดีทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มีความคิดสร้างสรรค์

>> การนำหลักสูตรไปใช้ยังไม่สามารถสร้างพื้นฐานในการคิด สร้างวิธีการเรียนรู้ให้คนไทยมีทักษะในการจัดการและทักษะในการดำเนินชีวิต สามารถเผชิญปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ

>> การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ยังไม่สามารถที่จะทำให้ผู้เรียนใช้ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสารและการค้นคว้าหาความรู้จากปหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่หลากหลายในยุคสารสนเทศ

>> เพื่อตอบสนอง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542



ภาพรวม Top

     กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรระดับชาติ ใช้ทั่วประเทศ จัดทำขึ้นโดยยึดหลักความมีเอกภาพด้านนโยบาย และมีความหลากหลายในการปฏิบัติ หมายความว่า เป็นหลักสูตรแกนกลาง จัดโครงสร้างหลักสูตรให้ยืดหยุ่นให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในชุมชน สังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณสมบัติที่พึงประสงค์ เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ รวมทั้งให้เหมาะสมกับความสามารถ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียนแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

     การจัดการศึกษามุ่งเน้นความสำคัญทั้งด้านความรู้ ความถนัด ความสามารถ คุณธรรมกระบวนการเรียนรู้ และความรับผิดชอบต่อสังคม โดยยึดหลักผู้เรียนสำคัญที่สุด ทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ตามธรรมชาติ และเต็มศักยภาพของตน ซึ่งมีกรอบหลักสูตรอย่างกว้างๆ ที่ผู้เรียนเห็นคุณค่าของตนเอง สัมพันธ์ตนเองกับสังคม รวมทั้งมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย ระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีความรู้และทักษะในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีประสบการณ์เรื่องการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาท้อถิ่น มีทักษะด้านคณิตศาสตร์และภาษา เน้นการใช้ภาษาไทยอย่าง ถูกต้อง ความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข

โครงสร้างของหลักสูตรนี้จะกำหนดอย่างกว้างๆ เช่นกัน เพื่อให้สถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องมีแนวปฏิบัติ ซึ่งกำหนดดังนี้

1. ระดับช่วงชั้น หมายถึง เวลาเรียนจะมี 12 ปี แบ่งเป็น 4 ช่วงชั้น
- ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1 - ป.3) มีเวลาเรียนประมาณปีละ 800 - 1,000 ชั่วโมง เฉลี่ยวันละ 4 - 5 ชั่วโมง
- ช่วงชั้นที่ 2 (ป.4 - ป.6) มีเวลาเรียนประมาณปีละ 800 - 1,000 ชั่วโมง เฉลี่ยวันละ 4 - 5 ชั่วโมง
- ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1 - ม.3) มีเวลาเรียนประมาณปีละ 1,000 - 1,200 ชั่วโมง เฉลี่ยวันละ 5 / 6 ชั่วโมง
- ช่วงชั้นที่ 4 (ม.4 - ม.6) มีเวลาเรียนปีละไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมง เฉลี่ยวันละไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง

2. สาระการเรียนรู้ หมายถึง วิชาที่เรียน กระบวนการเรียนรู้ และค่านิยม คุณธรรม จริย-ธรรมของผู้เรียน แบ่งเป็น 8 กลุ่มพื้นฐาน คือ
  ภาษาไทย
สุขศึกษาและพลศึกษา
คณิตศาสตร์
ศิลปะ
วิทยาศาสตร์
การงานอาชีพและเทคโนโลยี
สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
ภาษาต่างประเทศ
ส่วนผู้ที่ต้องการเรียนเฉพาะสาขา (ซึ่งควรจะเป็นช่วงชั้นที่ 4) สามารถเรียนในรายวิชาเพิ่มเติมใหม่ๆ ได้ เช่น แคลคูลัส กลุ่มคณิตศาสตร์ขั้นสูง และวิทยาศาสตร์ขั้นสูง เป็นต้น

3. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเองโดยเลือกด้วยตนเองตามความถนัด และความสนใจ เพื่อพัฒนาร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ซึ่งจะจัดเพิ่มเติมใน 8 กลุ่มพื้นฐานของสาระการเรียนรู้ ได้แก่ กิจกรรมแนะแนว ซึ่งเป็นกิจกรรมพัฒนาความสามารถของผู้เรียน เสริมสร้างทักษะชีวิต วุฒิภาวะทางอารมณ์ การสร้างสัมพันธภาพที่ดี และกิจกรรมนักเรียน เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนปฏิบัติด้วยตนเอง ตั้งแต่ศึกษาวิเคราะห์ วางแผน ปฏิบัติตามแผน ประเมินและปรับปรุงการทำงาน เน้นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ได้แก่ ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด และผู้บำเพ็ญประโยชน์

4. การวัดและการประเมินผลการเรียน เมื่อผู้เรียนเรียนครบ และผ่านเกณฑ์กำหนดคุณภาพ ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษานั้นแล้ว เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อย่างน้อย 12 ปี) ผู้เรียนจะผ่านมาตรฐานการเรียนรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน และเมื่ออยู่ในปีสุดท้ายของการเรียนแต่ละช่วงชั้น คือ ป.3 , ป.6 , ม.3 และ ม.6 จะต้องเข้ารับ การประเมินคุณภาพระดับชาติด้วย ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่สำคัญ ได้แก่ ภาษาไทย , คณิตศาสตร์ , ภาษาอังกฤษ และวิชาอื่นที่จำเป็น เรียกว่า มาตรฐานช่วงชั้น จึงจะจบการศึกษาได้อย่างครบบริบูรณ์




วิสัยทัศน์ Top
     เป็นสถานศึกษาที่มีความพร้อมสำหรับการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของชุมชน มีการบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ จัดการศึกษาอย่างครูมืออาชีพ มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์

เป้าหมายการจัดการศึกษา Top
1. โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ในระดับแนวหน้าของชุมชนโดยรอบ และสังคมโดยรอบ
2. ผู้เรียนทุกคนได้รับการพัฒนาให้มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และคุณลักษณะ ที่พึงประสงค์
3. ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างสูงสุด
4. ผู้เรียนมีพัฒนาการทางร่างกายเหมาะสมกับวัย มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
5. ส่งเสริมการเรียนร่วมกับผู้เรียนที่ด้อยโอกาส
6. ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะด้านอาชีพ ตามความถนัดและความสนใจของแต่ละบุคคล


จุดหมายของหลักสูตร Top
       หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้ง ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา คุณธรรม และจริยธรรม บนพื้นฐานของความเป็นไทย โดยมีจุดหมาย ดังนี้

1. มีคุณธรรม จริยธรรมค่านิยมที่ดีในการดำรงชีวิตเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมได้
2. มีความรู้ความสามารถทางวิชาการ รู้จักคิด แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ตลอดจนสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตน
    เองอย่างต่อเนื่อง
3. มีความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยี และใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ การสื่อสาร การจัดการที่เหมาะสมได้
4. มีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจมีสุนทรียภาพทางด้านดนตรี กีฬา ศิลปะ และอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้
     อย่างมีความสุข
5. ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภูมิใจในความเป็นไทย และ
    ประวัติความเป็นมาของชาติไทย
6. มีจิตสำนึกที่ดีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ชุมชนและประเทศ


คุณลักษณะที่พึงประสงค์ Top
1. ด้านความประพฤติ / คุณธรรม จริยธรรม / บำเพ็ญประโยชน์
1.1 ความมีวินัย
1.2 ความซื่อสัตย์
1.3 มีความรับผิดชอบ
1.4 ประหยัด อดทน เสียสละ
1.5 กตัญญ
1.6 มีความภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นและความเป็นไทย
1.7 มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมและรู้จักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
2. ด้านความสามารถ
2.1 ค้นพบความสามารถของตนเอง (ศักยภาพ)
2.2 มีความกล้าแสดงออก
2.3 สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้
2.4 มีทักษะในการดำรงชีวิต
2.5 พึ่งตนเองได้
3. ด้านรู้จักใช้เหตุผล
3.1 มีวิสัยทัศน์ในการเรียนรู้
3.2 มีวิจารณญาณ ใคร่ครวญ อย่างมีเหตุผล
3.3 มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประมาณค่าในสาระต่างๆ ที่รับรู้
4. ด้านสุขภาพ และความปลอดภัย
4.1 มีสุขภาพที่แข็งแรง และมีสุขภาพจิตดี
4.2 รู้จักการหลีกเลี่ยง และป้องกันสิ่งเสพย์ติด อบายมุข
5. ด้านสุนทรียภาพ / การหารายได้ / งานอดิเรกอื่น
5.1 รู้จักใช้ดนตรี นาฏศิลป์ ศิลปะ ในการจรรโลงจิตใจ
5.2 รู้จักฝึกการหารายได้ระหว่างเรียน หรือฝึกทักษะด้านอาชีพ
5.3 ใช้เวลาว่างทำงานอดิเรกที่เป็นประโยชน์


 

 

    

 
หมวดวิชาวิทยาศาสตร์  โรงเรียนพรหมานุสรณ์จังหวัดเพชรบุรี  อำเภอเมือง  จังหวัดเพชรบุรี  76000
โทรศัพท์ 032-425070, 032-427032  ภายใน 132 โทรสาร 032-425809  e - mail : [email protected]
Hosted by www.Geocities.ws

1