การบริหารการสอบ

ผลของการวัดที่ได้จะมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด นอกจากจะอาศัยเครื่องมือที่มีคุณภาพแล้ว การดำเนินการสอบให้อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ยุติธรรม และเสมอหน้าทั่วกันหมดก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะจะทำให้ไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้เข้าสอบ ผลที่ได้จึงเป็นความสามารถของผู้สอบอย่างแท้จริง

วิธีการสอบโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ การเตรียมตัวก่อนการสอบ วิธีดำเนินการขณะสอบและวิธีปฏิบัติเมื่อหมดเวลาสอบ (สำนักทดสอบวิทยาลัยวิชาการศึกษา. 2514 : 41-47)

 

1. การเตรียมตัวก่อนการสอบ โดยสิ่งที่จะต้องเตรียมตัวก่อนการสอบ มีดังนี้

 

1.1 การกำหนดวันเวลาสอบ ทางโรงเรียนควรกำหนดแผนการสอบอย่างรอบคอบแล้วประกาศให้นักเรียนทราบล่วงหน้าถึงวัตถุประสงค์ของการสอบ สถานที่ ห้องสอบ วันเวลา และวิชาที่สอบ การเตือนล่วงหน้าเช่นนี้ก็เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสเตรียมตัวสำหรับการสอบ วิธีสอบแบบจู่โจมโดยมิให้เด็กรู้ตัวล่วงหน้าเป็นเรื่องล้าสมัย ไม่ยุติธรรม ผิดทั้งวัตถุประสงค์ และวิธี
การสอบ

 

1.2 ห้องสอบ ควรจัดให้เหมาะสมกับการสอบมากที่สุด เช่น ไม่ร้อนอบอ้าว ไม่มืดสลัว ไม่มีเสียงอึกทึกรบกวนสมาธิของผู้สอบ วิธีที่ได้ผลดี คือ เขียนป้ายติดไว้หน้าห้องสอบว่า "กำลังทดสอบ" หรือ "ห้ามรบกวน" เป็นต้น

โต๊ะ ม้านั่ง ควรมีขนาดพอเหมาะกับผู้สอบ และควรใช้โต๊ะเดี่ยว เว้นระยะให้ห่างกันพอสมควร ในห้องสอบจะต้องมีกระดานดำ และชอล์กสำหรับเขียนประกอบคำอธิบาย

1.3 จำนวนผู้เข้าสอบ การทดสอบแต่ละกลุ่มควรมีจำนวนไม่เกินห้องละ 30 - 40 คน โดยมีผู้ดำเนินการสอบ 1 คน และผู้ช่วยอีก 1 คน แต่ถ้าเป็นห้องใหญ่ จะต้องให้มีกรรมการช่วยควบคุมการสอบเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ยืนเป็นระยะ ๆ ต่อจำนวนนักเรียนที่ต้องเพิ่มขึ้นทุก ๆ 20-25 คน

1.4 อุปกรณ์การสอบ ผู้ดำเนินการสอบจะต้องเตรียมแบบทดสอบและกระดาษคำตอบให้มีจำนวนมากกว่าผู้เข้าสอบประมาณ 5 % เสมอ เพื่อเก็บสำรองไว้สำหรับเด็กบางคนที่ทำกระดาษคำตอบขาด หรือแบบทดสอบบางฉบับพิมพ์ไม่ชัด

 

1.5 การเตรียมตัวสำหรับผู้ดำเนินการสอบ ผู้ดำเนินการสอบควรมีบุคลิกภาพเป็นผู้นำ มีความรู้และซื่อสัตย์ต่อวิทยาการวัดผล สามารถชักจูงใจให้นักเรียนตั้งใจทำแบบทดสอบด้วยความขะมักเขม้นจนเต็มความสามารถ ผู้ดำเนินการสอบจะต้องอ่านและศึกษาคำชี้แจงวิธีทำข้อสอบล่วงหน้า 1 ครั้ง เพื่อช่วยให้เข้าใจความมุ่งหมายของแบบทดสอบ และสามารถดำเนินการสอบได้ชัดเจน

 

 

 

2. วิธีดำเนินการขณะสอบ ผู้ดำเนินการสอบควรปฏิบัติดังนี้

 

2.1 พูดโน้มน้าวจิตใจผู้เข้าสอบ เพื่อให้ผู้เข้าสอบมีความกระตือรือร้น ที่จะทำการทดสอบอย่างเต็มความสามารถของเขา ไม่ใช้วิธีการพูดข่มขู่หรือแสดงอาการใดๆให้นักเรียนเกิดความตื่นเต้นหรือเสียขวัญ แต่ควรจะปลุกปลอบให้กำลังใจเพื่อให้นักเรียนเกิดความมั่นใจ

 

2.2 การให้คำชี้แจง หรือการอธิบายใด ๆ แก่นักเรียน จะต้องจำกัดอยู่แต่เฉพาะเท่าที่ปรากฏในคำชี้แจงของแบบทดสอบนั้น ๆ เท่านั้น ห้ามอธิบายหรือให้ตัวอย่างอื่นใดเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากที่ให้ไว้ในแบบทดสอบนั้นเป็นอันขาด นอกจากจะเป็นการอธิบายเกี่ยวกับวิธีการตอบ

 

2.3 ควรระวังอย่าให้นักเรียนลงมือทำก่อนเวลา และพึงอย่าได้ใช้วิธีบังคับให้นักเรียนนั่งกอดอก

 

2.4 การเตือนเวลา ให้เตือนเวลา 2 ครั้ง คือ เตือนเมื่อหมดครึ่งเวลาครั้งหนึ่งกับอีก 2-3 นาที จะหมดเวลาอีกครั้งหนึ่ง โดยบอกว่าเหลือเวลาอีกกี่นาที

 

2.5 ในขณะที่นักเรียนลงมือทำ ผู้ดำเนินการสอบไม่ควรเดินพลุกพล่าน ทำให้เกิดเสียงกุกกักน่ารำคาญ การเดินตรวจทั่วชั้นเบาๆ จำเป็นต้องทำเมื่อเด็กเริ่มสอบฉบับแรก เพื่อตรวจดูว่านักเรียนขีดเครื่องหมายถูกต้องตามคำชี้แจงหรือไม่ เพียงครั้งเดียวเท่านั้น นอกนั้นจะเดินบ้างก็ต่อเมื่อนักเรียนมีข้อสงสัยยกมือขึ้นถาม หรือเมื่อแจกและเก็บข้อสอบ

 

2.6 การขีดคำตอบ ควรบอกให้นักเรียนขีดด้วยมือ อย่าใช้ไม้บรรทัดทาบขีด เพราะจะทำให้เสียเวลาโดยไม่จำเป็น

 

2.7 การยืนคุมสอบ เมื่อตรวจดูความเรียบร้อยเสร็จแล้ว ผู้ดำเนินการสอบจะต้องยืนคุมสอบที่หน้าชั้น การยืนมุมห้องจะช่วยให้มองเห็นนักเรียนได้ทั่วกว่ากลางห้อง

 

2.8 ถ้านักเรียนยกมือถามระหว่างการสอบ ผู้ดำเนินการสอบควรค่อย ๆ เดินเข้าไปหาและช่วยเหลือตามกรณี โดยไม่เป็นที่รบกวนแก่นักเรียนคนอื่น ๆ โดยปกติผู้คุมสอบจะไม่อธิบายเพิ่มเติมในระหว่างการสอบเลย ถึงแม้จะมีเด็กถามข้อสงสัยในขณะนั้น ถ้าพิจารณาเห็นว่าไม่สำคัญก็ควรแต่รับทราบเออๆ ค่ะๆ ไปตามเรื่องเพื่อไม่ให้เด็กเสียน้ำใจ พร้อมกับเร่งให้ข้ามไปทำข้ออื่น ๆ ต่อไปเลย

 

2.9 ในกรณีที่เด็กแสดงอาการทุจริต ไม่ควรเอะอะขึ้นในขณะสอบเพราะจะทำให้โกลาหล หรือขวัญเสียไปทั่วห้อง แต่ควรแก้ไขโดยละม่อมโดยการตักเตือน แต่ถ้าเด็กยังทำซ้ำอีกก็ให้ปล่อยเลยตามเลย แล้วจดชื่อและเลขที่สอบไว้ เพื่อไม่ตรวจให้คะแนนแบบทดสอบฉบับนั้น ในโอกาสหน้าจึงค่อยเรียกมาทดสอบกับครูตัวต่อตัวใหม่

 

 

3. วิธีปฏิบัติเมื่อหมดเวลาสอบ เมื่อหมดเวลาสอบให้ผู้ดำเนินการสอบดำเนินการ ดังนี้

 

3.1 สั่งให้นักเรียนวางดินสอหรือปากกา หยุดทำทันที ถ้ามีนักเรียนบางคนโอ้เอ้ไม่ทำตามก็ควรเตือนเป็นรายบุคคลให้ปฏิบัติตามโดยเร็ว

 

3.2 การส่งคำตอบ ควรสั่งให้นักเรียนเอากระดาษคำตอบสอดไว้ในฉบับคำถามโดยให้หัวกระดาษยื่นออกมาเล็กน้อย เพื่อสะดวกในการรวบรวม และผู้คุมสอบเดินไปเก็บตามลำดับ จากนั้นจึงดึงเอากระดาษคำตอบมาเรียงให้ตรงตามบัญชีเข้าสอบ

 

3.3 เมื่อเสร็จสิ้นการทดสอบ ก่อนที่จะปล่อยออกจากห้อง ให้ผู้ดำเนินการสอบกล่าวคำชมเชยนักเรียนที่พยายามตั้งใจทำเป็นอย่างดี เพื่อให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ

 

3.4 การตรวจนับข้อสอบ ผู้ดำเนินการสอบจะต้องตรวจนับจำนวนแบบทดสอบเป็นรายฉบับ พร้อมทั้งนับจำนวนกระดาษคำตอบมิให้สูญหาย หรือบกพร่องด้วยประการทั้งปวง เสร็จแล้ว จึงรวบรวมกระดาษคำตอบเข้าเป็นปึก เป็นรายวิชาเพื่อส่งตรวจ ส่วนแบบทดสอบให้เรียงตามลำดับเลขที่ แล้วบรรจุใส่ซองเพื่อรวบรวมส่งคืนแก่เจ้าหน้าที่ต่อไป

 

บทสรุป

1. คะแนนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ คะแนนดิบ และคะแนนแปลงรูป โดยทั่วไปคะแนนดิบจะไม่มีความหมายเพียงพอที่จะบอกสภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ดีเหมือนคะแนนแปลงรูป คะแนนมาตรฐานก็เป็นคะแนนแปลรูปชนิดหนึ่งที่แปลงรูปมาจากคะแนนดิบ เพื่อให้มีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปการแปลงคะแนนดิบให้เป็นคะแนนมาตรฐานมี 2 วิธี คือ การแปลงในรูปเส้นตรง (linear transformation) ได้แก่ Z-Score, T-Score และการแปลงโดยยึดพื้นที่ (area transformation) ได้แก่ Normalized T-Score

คะแนนมาตรฐานนี้นำเอาไปใช้ในการแปลความหมายของคะแนน รายงานผลการสอบ ตลอดจนการให้ระดับคะแนน (grade)

2. การดำเนินการสอบให้อยู่ในสถานการณ์ที่ยุติธรรมอย่างทั่วหน้ากันทั้งหมดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการป้องกันมิให้ผู้เข้าสอบเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ผลที่ได้จากการสอบจึงเป็นความสามารถของผู้เข้าสอบอย่างแท้จริง วิธีการดำเนินการสอบโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ระยะคือการเตรียมตัวก่อนสอบ การดำเนินการขณะสอบและวิธีปฏิบัติเมื่อหมดเวลาสอบ

 

 

บรรณานุกรมประจำบทที่ 9

 

ชวาล แพรัตกุล. "การใช้ผลการสอบ," ใน พัฒนาวัดผล 11. หน้า 1-12. กรุงเทพฯ :

สำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร, 2518.

 

. เทคนิคการวัดผล. กรุงเทพฯ : วัฒนาพานิช, 2516.

เชิดศักดิ์ โฆวาสินธุ์. "การใช้ผลการสอบ," วารสารการวัดผลการศึกษา. 4(1) : 49-62 ; พฤษภาคม-

สิงหาคม 2525.

ทดสอบ, สำนัก. วิทยาลัยวิชาการศึกษา. "วิธีดำเนินการสอบ," ใน พัฒนาวัดผล 7. กรุงเทพฯ :

วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร, 2514.

นิภา เมธาวีชัย. การประเมินผลและการสร้างแบบทดสอบ. กรุงเทพฯ : วิทยาลัยครูธนบุรี, 2533.

บุญชม ศรีสะอาด, นิภา ศรีไพโรจน์และนุชวนา ทองทวี. การวัดผลและประเมินผลการศึกษา.

มหาสารคาม : โรงพิมพ์ปรีดาการพิมพ์, 2528.

ไพศาล หวังพานิช. การวัดผลการศึกษา. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2526.

ภัทรา นิคมานนท์. การประเมินผลและการสร้างแบบทดสอบ. กรุงเทพฯ : สารมวลชน, 2522.

ล้วน สายยศ และอังคณา สายยศ. หลักการสร้างแบบทดสอบความถนัดทางการเรียน. กรุงเทพฯ :

วัฒนาพานิช, 2527.

วิชาการ, กรม. กระทรวงศึกษาธิการ. คู่มือการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรประถมศึกษา

พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :

โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว, 2535.

. คู่มือหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533).

กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2534 ก.

 

. หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533).

กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2534 ข.

สมนึก ภัททิยธนี. การวัดผลการศึกษา. กาฬสินธุ์ : ประสานการพิมพ์, 2537.

เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ และเอนกกุล กรีแสง. หลักเบื้องต้นของการวัดผลการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 4.

กรุงเทพฯ : พิฆเณศ, 2522.

อนันต์ ศรีโสภา. การวัดและประเมินผลการศึกษา. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2525.

 

Ebel, Robert L.. Essentials of Education Measurement. 3rd ed. Englewool Cliffs, N.J.

Prentice-Hall, 1979.

Kubiszyn, Tom. Educational Testing and Measurement : Classroom Applicational and

Practice. Glenview, will., Scott, Foresman and Company, 1984.

Norman E. Gronlund. Measurement and Evaluation in Teaching. 5th ed. NewYork :

Macmillan, 1985.

                    แบบทดสอบ

        Back        Home

Hosted by www.Geocities.ws

1