2. การสังเกต (observation)

การสังเกต หมายถึง การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคล โดยใช้ประสาทสัมผัสของผู้สังเกตเฝ้าดูพฤติกรรมต่าง ๆ ที่บุคคลนั้นแสดงออกมาในลักษณะที่เป็นจริงตามธรรมชาติโดยมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนในการดู และไม่มีการควบคุมสถานการณ์ที่ทำการศึกษา

การสังเกตสามารถแบ่งได้โดยใช้เกณฑ์ในการแบ่ง 3 เกณฑ์ ดังนี้ (กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์. 2527 : 33-36)

2.1 ใช้วิธีการใช้การสังเกตเป็นเกณฑ์ แบ่งได้ 2 ประเภท คือ

2.1.1 การสังเกตทางตรง (direct observations) คือวิธีการสังเกตที่ ผู้สังเกตไปสังเกตด้วยตนเองตลอดเวลา

2.1.2 การสังเกตทางอ้อม (indirect observations) คือวิธีที่ผู้สังเกตไม่ได้สังเกตด้วยตนเองแต่ส่งตัวแทนไป แล้วกลับมาเล่าพฤติกรรมที่สังเกตได้ให้ฟัง

2.2 ใช้ผู้สังเกตเป็นเกณฑ์ แบ่งได้ 2 ชนิด ดังนี้

2.2.1 การสังเกตโดยการเข้าร่วม (participant observations) คือการที่ผู้สังเกตเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่สังเกต โดยทำตนเป็นเหมือนสมาชิกในกลุ่มนั้น เช่น การศึกษาพฤติกรรมของคนในหมู่บ้าน โดยการเข้าไปอยู่ในหมู่บ้าน

2.2.2 การสังเกตโดยการไม่เข้าร่วม(non-participant observations) คือการที่ผู้สังเกตไม่ได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ เพียงแต่อยู่ภายนอกสถานการณ์เพื่อคอยสังเกตเพียงอย่างเดียว

 

 

2.3 ใช้ผู้ถูกสังเกตเป็นเกณฑ์ แบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ

2.3.1 การสังเกตเป็นทางการ (formal observations) คือ การที่ ผู้ถูกสังเกตรู้ตัวว่าถูกสังเกต เพราะมีการบอกจุดมุ่งหมาย วัน เวลา สถานที่ ที่จะสังเกตไว้ล่วงหน้า

2.3.2 การสังเกตแบบไม่เป็นทางการ (informal observation) คือการสังเกตที่ผู้ถูกสังเกตไม่รู้ตัวว่าถูกสังเกต

 

หลักในการสังเกต

1. ต้องตั้งจุดมุ่งหมายในการสังเกตที่แน่นอนว่าจะสังเกตพฤติกรรมใด เช่น พฤติกรรมการช่วยเหลือผู้อื่น การเสียสละ เป็นต้น

2. ต้องสังเกตด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารญาณในการพินิจพิเคราะห์ ทั้งพฤติกรรม ดีและไม่ดี และต้องมีความยุติธรรมกับเด็กมากที่สุด

3. ระยะเวลาในการสังเกตต้องติดต่อกัน และต้องทำการสังเกตหลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ สถานการณ์ เพื่อที่จะให้ได้พฤติกรรมที่แท้จริง

4. วิธีการสังเกตและวิธีการบันทึกข้อมูลต้องเป็นระบบ มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน เช่น การใช้มาตราส่วนประมาณค่า ระเบียนพฤติกรรม เป็นต้น

5. ขณะที่สังเกตจะต้องไม่ให้ผู้ถูกสังเกตรู้ตัว เพื่อที่จะได้พฤติกรรมที่แท้จริง

6. บันทึกเฉพาะพฤติกรรมที่สังเกตเห็นเท่านั้นไม่ใส่ความรู้สึกส่วนตัวของผู้สังเกตเข้าไป

7. การสังเกตจะให้ผลที่แน่นอนน่าเชื่อถือ ควรใช้ผู้สังเกตหลาย ๆ คน

 

เครื่องมือที่ใช้ในการสังเกต

การสังเกตเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด และจดบันทึกไว้อย่างมีระบบ เครื่องมือที่ใช้ในการสังเกตจึงได้แก่ แบบสังเกต ซึ่งแบบสังเกตสามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ แบบสังเกตพฤติกรรม และแบบสังเกตทักษะ

 

1. แบบสังเกตพฤติกรรม เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ที่ได้จากการสังเกตพฤติกรรมการแสดงออก ซึ่งเป็นคุณลักษณะด้านจิตพิสัย เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา ความรับผิดชอบ เป็นต้น

 

ตัวอย่าง แบบสังเกตพฤติกรรมที่กำหนดรายการพฤติกรรมมาให้ แล้วให้ผู้สังเกตประเมินความมากน้อยของพฤติกรรมที่สังเกตเห็น

 

แบบสังเกตความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา

ชื่อ ..........................................................................…………………………………....................

วัน / เดือน / ปี ที่สังเกต ................................................ เวลา ....................................………........

สถานที่ .................................................. กิจกรรมที่ปฏิบัติ .................................................……..

ผู้สังเกต ....................................................................

รายการ

บ่อยมาก

บ่อย

นานๆ ครั้ง

ไม่ปรากฏ

1. การปฏิบัติตามกติกาการเล่น        
2. ความอดทน        
3. .................................................        
4. .................................................        
5. การยอมรับผลการเล่น        

 

 

2. แบบสังเกตทักษะ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสังเกตทักษะการปฏิบัติต่าง ๆ เช่น ทักษะการพูด ทักษะการเล่นกีฬา เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตรวจผลงานที่ได้จากการปฏิบัติ เช่น การตอนกิ่ง การติดตา การเย็บเสื้อตามแบบที่กำหนด เป็นต้น

 

ตัวอย่าง แบบสังเกตทักษะการปฏิบัติงาน ให้ผู้สังเกตบันทึกผลการสังเกต โดยเขียนบรรยายพฤติกรรมที่สังเกตได้จากรายการที่กำหนด แล้วให้คะแนนผลการสังเกต

 

แบบสังเกตทักษะการขยายพันธุ์พืชโดยการตอน

ชื่อ ................................................................ ชั้น ............................................................

วัน/เดือน/ปี ที่สังเกต ...................................... เวลา .........................................................

รายการที่สังเกต

ผลการสังเกต

คะแนนเต็ม

คะแนนที่ได้

1. การเตรียมเครื่องมือตอนกิ่ง  

10

 
2. การเลือกกิ่งพันธุ์  

10

 
3. การควั่นกิ่งพันธุ์  

10

 
4. การหุ้มกิ่ง  

10

 
5. การเก็บเครื่องมือตอนกิ่ง  

5

 
6. ผลงาน  

25

 

รวม

 

70

 

 

ลงชื่อ..................................................

(ผู้สังเกต)

 

คุณสมบัติของผู้สังเกตที่ดี

ข้อมูลที่ได้จากการสังเกต จะถูกต้องแม่นยำเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้สังเกต ดังนั้นผู้สังเกตที่ดี ควรมีลักษณะดังนี้

1. ต้องเป็นผู้ที่มีความสนใจและตั้งใจที่จะแสวงหาความรู้ในเรื่องนั้นอย่างจริงจัง

2. ต้องมีความว่องไวในการใช้ประสาทสัมผัสและการสื่อความหมาย

3. ต้องมีความยุติธรรม ไม่ลำเอียง

4.ต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องที่จะสังเกตได้ดีพอสมควร

 

ข้อดีและข้อจำกัดของการสังเกต (บุญชม ศรีสะอาด. 2535 : 75)

ข้อดีของการสังเกต

1. ช่วยให้ได้ข้อมูลที่ไม่สามารถรวบรวมโดยใช้เครื่องมือหรือเทคนิคอย่างอื่น

2. ช่วยให้ได้ข้อมูลที่เป็นตัวแทนพฤติกรรมในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างแท้จริง

3. สามารถบันทึกความจริงในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์นั้น

4. การสังเกตเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย สะดวกและนำไปใช้บ่อยโดยไม่เปลืองเงิน

5. ช่วยให้ผู้สังเกตมีทักษะในการสังเกตดียิ่งขึ้น

6.มีความสบายใจทั้งสองฝ่ายเนื่องจากผู้ถูกสังเกตไม่เกิดความรู้สึกว่าถูกจ้องหรือจับผิด (กรณีที่ผู้ถูกสังเกตไม่รู้ตัว)

 

ข้อจำกัดของการสังเกต

1. สิ้นเปลืองเวลาที่ต้องแอบติดตามสังเกตพฤติกรรมตามเทศกาลต่าง ๆ

2. ถ้าผู้สังเกตมีเวลาน้อยอาจทำให้ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน

3. การสังเกตบางครั้งทำได้ไม่สะดวก เช่น ที่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว

4. การสังเกตบางเหตุการณ์กระทำไม่ได้ ถ้าหากว่าเหตุการณ์นั้นไม่เกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่ทำการสังเกต

            Back             Next

Hosted by www.Geocities.ws

1