ที่มาของคำว่า เลมูเรีย

ปัจจุบัน ทฤษฎีของ ชาร์ลส ดาร์วิน ที่ว่าด้วยเรื่องวิวัฒนาการก็ยังถูกนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกรณีศึกษาของเขาที่เกาะกาลาปากอสนั้น สามารถอธิบายถึงแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์และผลพวงของการวิวัฒนาการได้เป็นอย่างดี เพราะการศึกษาของดาร์วิน จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดพืชแบบนี้จึงมีถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคนี้ สัตว์จำพวกไหนควรอยู่ที่ภูมิภาคใดได้บ้าง แต่ยังมีสัตว์อีกชนิดหนึ่งครับ ซึ่งสร้างความสับสนงงงันให้แก่วงการวิทยาศาสตร์มาก เป็นสัตว์ที่เรียกกันว่า ลิงเลมูร์ (Lemur) ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายลิงแต่เล็กกว่า

นักวิชาการพบว่า ลิงเลมูร์นี้อาศัยอยู่เป้นจำนวนมากบนเกาะมาดากัสก้า ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศใต้ของทวีปแอฟริกา และมีอยู่อีกจึ๋งนึงที่ปรากฏกระจัดกระจายอยู่ในประเทศอินเดียและมาเลเซีย จุดนี้เองทำให้นักวิชาการสันนิษฐานว่า ในอดีตน่าจะมีเกาะแห่งหนึ่งตั้งอยู่ และน่าจะเป็นเกาะที่เชื่อมดินแดนทั้งสองแห่งนี้เข้าด้วยกัน ฟิลลิปป์ สคาเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษเป็นคนแรกครับ ที่ตั้งสมมติฐานว่า น่าจะมีเกาะขนาดใหญ่ซักแห่งเคยตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลของแอฟริกา และได้จมหายไปเนื่องจากสาเหตุบางประการ เขาศึกษาสภาพภูมิศาสตร์และการกระจายตัวของลิงเลมูร์ ในที่สุด เขาได้ให้ชื่อเกาะที่ไม่มีอยู่เสียแล้วในปัจจุบันว่า เลมูเรีย ตามชื่อของลิงเลมูร์ที่ถูกค้นพบในบริเวณนั้นนั่นเอง...

หมายเหตุ - - เรื่องการกระจายถิ่นฐานของสัตว์และแนวคิดของดาร์วิน หาอ่านได้ใน กาลาปากอส ปริศนาแห่งวิวัฒนาการที่ผมเพิ่งเอาลงเว็บไปเร็วๆนี้นะครับ

ภาพวาดของลิงเลมูร์ครับ

ลิงเลมูร์ไม่ใช่สัตว์ชั้นสูงที่ชาญฉลาดนัก แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ต้องกุมขมับปวดหัวกับลักษณะการกระจายตัวของมัน นั่นหมายความว่าไงงั้นหรือครับ ก็หมายความว่าลิงพวกนี้สามารถข้ามมหาสมุทรและขยายเผ่าพันธุ์ออกไปในดินแดนที่อยู่ห่างไกลกันปานนั้นได้น่ะสิ นักชีววิทยาจำนวนหนึ่งจึงพากันตั้งข้อสันนิษฐานว่า ดินแดนที่เคยเป็นต้นกำเนิดของตัวเลมูร์พวกนี้ ครั้งหนึ่งน่าจะเป็นดินแดนที่ติดกับทวีปใหญ่ จึงทำให้เลมูร์สามารถเดินทางขยายเผ่าพันธุ์ออกมาได้ไกลถึงขนาดนั้น เมื่อโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้ทวีปต่างๆค่อยเคลื่อนออกจากกัน จึงทำให้เราพบตัวเลมูร์พวกนี้อยู่ในบางส่วนของทวีปอื่นๆด้วย

ถ้าเคยมีดินแดนดังกล่าว - - ที่เรียกว่าเลมูเรียอยู่จริง ถ้าอย่างนั้นจะเป็นไปได้ไหมที่ดินแดนดังกล่าว เคยเป็นแหล่งอารยธรรมที่มีมนุษย์อาศัยอยู่?

ไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้หรอกครับ เนื่องมาจากดินแดนดังกล่าวน่าจะจมหายลงสู่ก้นมหาสมุทรหลายหมื่นปีมาแล้ว แต่ถ้ามันเคยมีอยู่จริง เลมูเรีย ก็นับเป็นดินแดนแรกที่เป็นต้นกำเนิดอารยธรรมของมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบมา ไฮริช ฮัคเกิล นักวิชาการชาวเยอรมันผู้ปักอกปักใจเกี่ยวกับการศึกษาค้นหาเลมูเรียได้กล่าวไว้ว่า หลักฐานหลายประการบ่งชี้ว่า ดินแดนนี้น่าจะเคยมีอยู่จริง มันคั่นกลางระหว่าง เอเชีย แอฟริกา และ อเมริกา โดยทอดเป็นแนวยาวขนานไปกับฝั่งทะเลแอฟริกา (แต่ผมเปิดแผนที่โลกดูแล้วไม่ get กะแกเหมือนกันนะครับ ว่ามันควรจะตั้งอยู่ที่ไหน) ฮัคเกิล เรียกเลมูเรียว่า สรวงสวรรค์ (Paradise) เพราะเขาเชื่อมั่นเอามากๆว่านั่นคือต้นกำเนิดแห่งอารยธรรมทั้งปวงของมนุษยชาติ เหมือนกับที่หลายๆคนเรียกเลมูเรียหรือมูว่า ทวีปแห่งมารดร เนื่องจากเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมมนุษย์นั่นเอง

ร่องรอยบนเกาะอีสเตอร์

ในเย็นวันหนึ่งของเทศกาลอีสเตอร์ (พ.ศ. 2265) หนึ่งในกองเรือของดัทช์ได้ค้นพบเกาะเล็กๆแห่งหนึ่งที่อยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิค พวกเขาอ้างการค้นพบนี้ให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์แห่งการครอบครองเกาะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ผู้บังคับการกองเรือ ยาคอบ ร็อกเกเวเอน และลูกเรือของเขาเดินทางมาถึงเกาะนี้ในตอนเช้ามืด เป้าหมายของชาวดัทช์เหล่านี้คือการออกหาสัตว์และแหล่งน้ำจืดเพื่อเป็นเสบียง รวมทั้งร่องรอยของชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่บนเกาะนี้ (ถ้ายังมีอยู่) ในระหว่างที่ทอดสมอรอจะขึ้นฝั่งนั้น ลูกเรือชาวดัทช์เห็นกองไฟปรากฏเป็นกลุ่มๆบริเวณชายฝั่งของเกาะ ทำให้มั่นใจได้ว่า เกาะนี้ต้องมีผู้คนอาสัยอยู่อย่างแน่นอน

ครั้นเมื่อถึงยามอรุโณทัย ลูกเรือชาวดัทช์ต้องประหลาดใจเป็นอย่างมากกับภาพที่พวกเขาได้เห็น เพราะตลอดความยาวของชายฝั่ง ผู้คนผิวสีต่างๆกันกำลังทำพิธีสักการะและบวงสรวงรูปสลักหินขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่เบื้องหน้า

ร็อกเกเวเอนตั้งชื่อเกาะนี้ตามภาษาดัทช์ว่า พาชช์ อีลันด์ (Paasch Ey land) หรือในภาษาอังกฤษว่า Easter เนื่องจากค้นพบเกาะแห่งนี้ในวันอีสเตอร์นั่นเอง พวกดัทช์ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงในการสำรวจเกาะเล็กๆแห่งนี้ โดยเฉพาะประติมากรรมรูปหัวคนขนาดใหญ่ ร็อกเกเวเอนสรุปในปูมเรือของเขาว่า ประติมากรรมเหล่านี้สูงต่ำต่างกัน แต่ลักษณะโดยรวมเหมือนกันมาก จากการสำรวจเศษหินบริเวณนั้น เขาคิดว่ามันน่าจะถูกสร้างขึ้นจากดินเหนียวผสมดินธรรมดาและก้อนกรวด โดยหารู้ไม่ว่าประติมากรรมหัวคนเหล่านั้น (ที่ภายหลังเรารู้จักกันในนามของโมอาย) ทำมาจากหินสุดแข็งชนิดหนึ่ง และเกาะนี้ได้กลายมาเป็นแหล่งศึกษาทางอารยธรรมของมนุษย์อีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งยังมีการถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบในภายหลัง

แม้ในปัจจุบัน ปริศนาต่างๆบนเกาะอีสเตอร์ก็ยังไม่มีผู้ใดคลี่คลายออกมาได้หมด เรามาดูกันไหมครับว่า เกาะเล็กๆแห่งนี้ ที่ใครๆเชื่อกันว่า มันคือกุยแจอีกดอกที่จะไขสู่ความลับของอารยธรรมโบราณที่ล่มสลายไปแล้วนั้น มันมีอะไรน่าสนใจบ้าง

ในปี พ.ศ. 2313 ฟิลิเป้ กอนซาเลส นักสำรวจชาวสเปนได้ดั้นด้นไปถึงเกาะอีสเตอร์เพื่อพิสูจน์คำร่ำลือเกี่ยวกับเกาะแห่งนี้ ฟิลิเป้เดินท่อมๆสำรวจตรงนู้นทีตรงนี้ที และฉงนฉงายอย่างมากกับรูปปั้นขนาดใหญ่เหล่านั้น ซึ่งนักสำรวจรุ่นก่อนๆบอกว่ามันถูกทำมาจากดินปั้น

ฟิลิเป้ กอนซาเลส ลงทุนเอาพลั่วทุบรูปปั้นเหล่านั้นและพบว่ามันแข็งแถมมีสะเก็ดไฟแลบเสียด้วย หมายความว่าอะไรหรือครับ ก็หมายความว่า รูปปั้นโมอายเหล่านี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นจากดินเหนียวอย่างที่คิดกันไว้แต่แรกน่ะสิครับ มันถูกสร้างขึ้นจากหินแข็งแท้ๆ ถ้ามันเป็นดินเหนียวปั้นป่านนี้ก็ไม่มีใครสนใจมันแล้วล่ะครับ แต่ในเมื่อสร้างจากหินแท่งมหึมาขนาดนี้ มันก็เกิคำถามขึ้นแล้วล่ะครับว่า ชาวพื้นเมืองไปเรียนวิธีสกัดหินเหล่านี้จากไหน ใช้เครื่องมืออะไรสกัดและขนย้าย ประการสำคัญที่สุด พวกเขาเอาหินพวกนี้มาจากไหน นั่นเป็นคำถามที่แม้ปัจจุบันก็ยังถกเถียงกันไม่จบเลยครับผม

แม้บางส่วนจะผุพังไปกับกาลเวลา แต่ความยิ่งใหญ่และมนขลังของประติมากรรมเหล่านี้ก็ยังคงอยู่จบจนปัจจุบัน

ดูขนาดของโมอายแต่ละตัวและน้ำหนักของมันสิครับ ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือแบบยังชีพของชาวเกาะ มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะสกัดรูปออกมาให้ได้ในลักษณะดังกล่าว ไหนจะลากมาตั้งไว้ริมหาดและรั้งรูปเหล่านั้นให้ตั้งตรงได้อีก ดูแล้วออกจะเหลือเชื่อมากๆครับ.

ในระยะต่อมามีนักสำรวจชาวยุโรปเดินทางมาที่เกาะอีสเตอร์เรื่อยๆ แม้จะพยายามขบกันจนหัวแตก แต่ก็ได้เรื่องราวออกมาน้อยเต็มที กระทั่งชั่วระยะเวลาหนึ่งผ่านไป ปริศนาชิ้นใหม่ๆก็เกิดขึ้นมาอีกพอกับการสะสมศิลาใน Dragon Quest VII ปริศนาดังกล่าวคือไม้กระดานที่ใช้ปักหลุมศพของชาวพื้นเมือง ซึ่งเรารู้จักกันในปัจจุบันว่า รองโกรองโก้ (RongoRongo) เป็นอักษรภาพที่แม้ปัจจุบันก็ไม่มีใครอ่านออก ชาวพื้นเมืองปัจจุบันเองก็ให้ข้อมูลได้แค่มนอยู่อย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แม้นักโบราณคดีในปัจจุบันจะพอแะอักษรนี้ได้บางส่วน แต่ก็ยังมืดมนนักหากต้องการจะอ่านอักษรภาพเหล่านี้ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

จารึกรองโกรองโก้มาจากไหน ใครเป็นผู้จัดทำมันขึ้นมา และมันบันทึกเรื่องราวอะไรเอาไว้บ้าง เรื่องนี้ยังคงติดค้างอยู่ในใจของนักโบราณคดีมานานกว่า 200 ปี นับจากครั้งแรกที่มีการค้นพบ เอาล่ะครับ ตีไม่แตกก็ช่างมันก่อน เราลองมาสำรวจดูสภาพรอบๆเกาะกันดีกว่าครับ เผื่อจะพบร่องรอยอะไรที่น่าสนใจบ้าง

ดูขนาดและน้ำหนักสิครับ คนพื้นเมืองเค้าสร้างขึ้นมาด้วยเครื่องมือง่ายๆอย่างสิ่ว ค้อน และเชือกฟั่นงั้นรึ?

เกาะเล็กๆแห่งนี้มีภูเขาไฟอยู่สามลูกด้วยกันครับ เรียกตามภาษาพื้นเมืองว่า ราโน รากากู(Rano Rakaku) ราโน กาโอ(Rano Kao) และ ราโน อาโรย(Rano Aroi) ตัวเกาะมีความยาว 21 กิลเมตรและกว้างเพียง 11 กิโลเมตรเท่านั้น มันเป็นเกาะที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางมหาสมุทรแปซิฟิค เกาะที่ใกล้ที่สุดกับอีสเตอร์ชื่อปิตการินก็อยู่ไกลออกไปทางทิศตะวันตกประมาณพันกิโลเมตร นอกนั้นก็มีแต่ทะเลกับทะเลรายรอบ อะไรกันครับ ที่ดลใจให้บรรพบุรุษแห่งเกาะอีสเตอร์มาตั้งรกรากบนเกาะที่แร้นแค้นและโดดเดี่ยวเช่นนี้?

สภาพภูมิศาสตร์บนเกาะนั้นเล่าก็ประหลาดนัก นักสำรวจพบว่าบนเกาะไม่มีแหล่งน้ำจืดเลยครับ พวกต้นน้ำลำธารไม่มีเลย แถมลมทะเลยังหอบเอาความเค็มและเกลือจากมหาสมุทรมาเป็นระลอกๆ ทำให้ต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่และพืชผลไม่สามารถเจริญเติบโตได้เป็นป่าอย่างเต็มที่ เมื่อไม่มีป่าก็ไม่มีสัตว์ให้ล่ากันล่ะครับทีนี้ การอยู่กินของชาวเกาะจึงนับได้ว่าแร้นแค้นยิ่ง

เดาได้เลยว่า บรรพบุรุษของชาวเกาะที่มาตั้งรกรากในตอนแรกๆคงเลือดตากระเด็นกันไปเป็นแถบๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าพวกเขาจะมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น มีการพัฒนาภาษาเขียนเป็นของตัวเอง รู้จักสร้างถนนและวิศวกรรมโยธาอย่างง่าย มีการตั้งสถานบวงสรวงสำหรับสังเกตดวงอาทิตย์ และที่สำคัญ พวกเขาสร้างโมอายขนาดยักษ์เหล่านี้ขึ้นมาถึง 600 กว่าตัว มันน่าประหลาดไหมล่ะ?

ประติมากรรมเหล่านี้จะถูกนำมาวางเรียงรายยาวไปตามชายฝั่ง ส่วนที่เหลือเป็นจำนวนมากถูกนำไปตั้งเพื่อบอกความยาวและตำแหน่งของถนน งานประติมากรรมชิ้นที่ใหญ่ที่สุดนั้นสูงกว่า 10 เมตรและหนักถึง 80 ตัน รวมหมวกครอบหัวเข้าไปด้วยก็บวกเข้าไปอีกเถอะครับ 12 ตัน หรือหมื่นสองพันกิโลกรัม รูปที่เหลือก็ขนาดย่อมลงมาแต่ก็ใหญ่อยู่ดี

สิ่งที่ทำให้นักโบราณคดีท้อแท้ที่สุดก็คือชาวพื้นเมืองบเกาะนั่นแหละครับ พวกเขาไม่รู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับโมอายเล่านั้นเอาเสียเลย ดูเหมือนว่าชาวพื้นเมืองบนเกาะเป็นพวกที่เพิ่งอพยพมาตั้งรกรากได้ไม่นานด้วยซ้ำ พวกเขาไม่สนใจใยดีโมอายเหล่านั้นเหมือนกับว่าต่างคนก็ต่างอยู่ ผู้เฒ่าผู้แก่ของชาวพื้นเมืองเคยให้ข้อมูลกับนักโบราณคดีว่า บรรพบุรุษของพวกเขาเคยเล่าว่าหินพวกนี้มันเดินขึ้นมาจากทะเลครับ แหม... พอๆกับที่ชาวเขมรแถบนครวัดเล่าให้นักสำรวจฟังว่า นครวัดนครธมมันงอกขึ้นมาจากดิน บรรพบุรุษของชาวเขมรไม่ได้สร้างเอาไว้ ก็ประมาณว่ามันใหญ้โตอลังการเสียจนไม่มีชาวบ้านคนเชื่อแหละครับว่าเกิดจากฝีมือของมนุษย์

นักคิดนักเขียนหลายคนเชื่อกันว่า อีสเตอร์ คือร่องรอยที่เหลืออยู่ของทวีปบางทวีปที่สูญหายไปแล้ว เนื่องมาจากอารยธรรมอันแปลกประหลาดของมัน รวมทั้งตำนานของมนุษย์ปักษีหรือมนุษย์นกที่เล่าขานกันในกลุ่มชนพื้นเมือง ยิ่งทำให้นักคิดนักเขียนหลายคนตีความไปถึงมนุษย์อวกาศโน่นเลยครับ เอาเป็นว่าเดี๋ยวผมค่อยจะย้อนมาเล่าถึงรายละเอียดส่วนนี้กันในภายหลัง สำหรับตอนนี้เราไปดูหลักฐานอื่นๆที่น่าสนใจเกี่ยวกับทวีปมูเพิ่มเติมกันก่อนดีกว่านะครับ

<< BACK หน้า1

 


 
 
BY ขจรศักดิ์ เลาห์สัฒนะ
Hosted by www.Geocities.ws

1