มู ทวีปแห่งมารดร

 

 

James Churchward นายพันผู้สนใจปรัชญาตะวันออก ได้เดินทางไปพำนักที่อินเดีย โดยอาศัยอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งใกล้เมือง Rishi ด้วยความสนใจด้านตำนานโบราณ เชิร์ชวาร์ดได้สนิทสนมกับนักบวชผู้ใหญ่รูปหนึ่งอย่างรวดเร็ว ความใฝ่รู้ของเขาทำให้นักบวชเกิดความพอใจ และถ่ายทอดตำนานเร้นลับที่สาปสูญมานานนับพันปีเรื่องหนึ่งให้กับเขา ไม่เพียงแต่ตำนานครับ นักบวชท่านนั้นยังได้ถ่ายทอดภาษาโบราณที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นภาษาดั้งเดิมของมนุษยชาติให้กับเชิร์ชวาร์ด นายพันหนุ่มใหญ่รู้สึกทึ่งระคนกับอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะกับเรื่องราวที่เขาได้ศึกษามาหลังจากนั้น ยิ่งแกะรอยลึกเข้าไปเขาก็ยิ่งงงงัน เพราะเรื่องราวทั้งหลายทั้งปวงที่เขาเรียนรู้มา มันเพียงพอที่จะพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้เลยทีเดียว เจมส์ เชิร์ชวาร์ดตั้งปณิธานไว้กับตัวเองว่า เขาจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะทั่วโลกยังทีดินอดนต่างๆอีกมากมายที่รอให้เขาบุกเบิก เพื่อศึกษาเข้าไปถึงแก่นลึกของอาณาจักรโบราณที่ล่มสลายไปแล้วเมื่อหลายหมื่นปีก่อน ทวีปแห่งมารดร... มู เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2411 ครับ

นี่แหละครับ หน้าตาของนักโบราณคดีคนเก่ง เจมส์ เชิร์ชวาร์ด

หลักฐานที่ค้นพบทั้งหลายแหล่นำมาสู่คำถามที่ว่า ทวีปแห่งมารดรหรือมูนี้ได้สูญหายไปในอดีตกาลหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงแค่ตำนานของคนรุ่นก่อนเท่านั้น หากมีจริง มู ตั้งอยู่ที่ไหน ควรจะมีลักษณะของภูมิศาสตร์หรืออารยธรรมเป็นเช่นไร?

ว่ากันว่าทวีปมู ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งประสบภัยพิบัติคล้ายกับแอตแลนติส และปัจจุบันคงเหลือเพียงหมู่เกาะเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปให้เราเห็นเท่านั้น เป็นเรื่องน่ากลัวเหมือนกันนะครับ เพราะในตำนาน มู เป็นดินแดนที่กว้างใหญ่มหาศาล แต่กลับหายไปจนแทบไม่เหลือร่องรอย ทั้งที่ตามหลักฐานที่เราพอจะมีอยู่ ตำนานของอาณาจักรนี้ บอกกับเราว่า ครั้งหนึ่ง ที่นี่เป็นจุดกำเนิดอารยธรรมของมนุษยชาติ มีอายมากกว่า 50,000 ปี ซึ่งแน่นอนว่า เก่าขนาดนี้ร่องรอยอะไรก็คงไม่เหลือแล้ว เราจะเอาอะไรไปศึกษา แล้วเรื่องนี้มันน่าเชื่อถือได้ไหม? อารยธรรมโบราณต่างๆสืบทอดมาจากมูใช่หรือไม่ และประการสำคัญ มูกับแอตแลนติส เป็นดินแดนเดียวกันหรือเปล่า เดี๋ยวเราจะค่อยๆมาค้นหาคำตอบกันครับ

มากล่าวถึงเชิร์ชวาร์ดกันต่อ จากการศึกษาทำให้นักโบราณคดีผู้นี้สนใจเรื่องของมูเป็นอย่างมาก เขาได้เดินทางสำรวจไปทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปออสเตรเลียและหมู่เกาะในทะเลใต้ ซึ่งเชิร์ชวาร์ดเองเชื่อว่าเคยเป็นที่ตั้งของมูมาก่อน หลักฐานที่ทำให้เขาปักใจเรื่องของดินแดนโบราณนี้ อย่างแรกคือแผ่นจารึกที่เขาได้ทำการศึกษาในอินเดียครับ เราเรียกกันว่าจารึกนาอะคัล(Naacal) อย่างที่สองก็คือ เมื่อนำเอาเรื่องราวจากจารึกนี้ไปโยงใยกับอารยธรรมโบราณ ที่มีความเจริญแบบผิดยุคสมัยและมีที่มาที่ไปอันมืดมน(สำหรับนักโบราณคดีน่ะนะ) เช่น อียิปต์ แอซเท็ค อินคา จะพบว่า มันมีความสัมพันธ์กันอย่างน่าประหลาด ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีโบราณ หรือตำนานอันน่าทึ่งที่บังเอิญมาพ้องต้องกัน จนเราอาจจะยืนยันได้ว่า ทวีปซึ่งครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางของโลก เป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมของมนุษยชาตินั้นมีอยู่จริง

แต่จะใช่อันเดียวกับแอตแลนติสไหม หลักฐานของใครหนักแน่นกว่า เพราะหลายคนก็มีแนวคิดที่ไม่เหมือนกัน ประการสำคัญ นักคิดนักเขียนพวกนี้ไม่มีใครยอมใครด้วย ก็ขอให้ใช้วิจารณญาณในการอ่านและเลือกที่จะเชื่อ (หรือรับฟังไว้ก่อน)ก็แล้วกันนะครับ

แผนที่โบราณซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ตั้งของอาณาจักรมู

เมื่อกล่าวถึงอาณาจักรมูแล้วไม่กล่าวถึงคนๆนี้ก็ดูดหมือนจะขาดอะไรไปสักอย่างครับ บุคคลที่ว่าเป็นนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสชื่อ ชาร์ลส-เอเตียน บราสเซอร์ เดอ บอร์บอร์ก ซึ่งนับเป็นคนแรกเลยที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับทวีปมูขึ้นมา

เดอ บอร์บอร์ก เคยศึกษาอยู่ในอเมริกาครับ ระหว่าที่เขากำลังศึกษาเรื่องราวของชาวมายาอยู่นั้น (พ.ศ. 2407) เขาได้แปลเอกสารโบราณส่วนหนึ่งของชาวมายาออกมา โดยเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดที่รอดจากการเผาทำลายของชาวสเปนมาได้ ผลจากความพยายามของบอร์บอร์กทำใหอนุชนรุ่นหลังอย่างพวกเราได้ทราบว่า ครั้งหนึ่งเคยมีนครโบราณที่ต้องมีอันเป็นไป ด้วยการจมลงสู่ก้นมหาสมุทรเพราะการระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟ เดอ บอร์บอร์กพบอักษรภาพคู่หนึ่งในเอกสารโบราณนั้น ซึ่งการออกเสียงของอักษรดังกล่าวตรงกับตัวเอ็มและตัวยูในภาษาอังกฤษ เขาจึงอนุมานว่า นครโบราณที่จมหายลงสู่ใต้น้ำนั้น น่าจะมีชื่อว่านครมูหรืออาณาจักรมูครับ

การค้นพบของเดอบอร์บอร์กสร้างความตื่นตัวให้วงการโบราณคดีอยูไม่น้อยครับ นักโบราณคดีหลายคนพยายามแกะรอยอาณาจักรดังกล่าวจากเอกสารต่างๆที่พอจะหาได้ ซึ่งผลงานที่ออกมาก็มีทั้งตั้งอกตั้งใจและแหกตา เนื่องมาจากมูลเหตุอยู่ที่เอกสารโบราณของชาวมายา ดังนั้นหลักฐานเพิ่มเติมที่ควรสนใจจึงน่าจะอยู่ที่แหล่งอารยธรรมของมายา ซึ่งก็โชคดีอีกนั่นแหละ ที่นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสอีกทีมได้ค้นพบหลักฐานน่าสนใจที่โยงใยถึงอาณาจักรมูอีกชิ้นหนึ่ง นักโบราณคดีชุดนี้นำทีมโดย ออกัสตัส เลอพอง กีออง ครับ

เลอพอง กีออง แถลงว่า สิ่งที่พวกเขาค้นพบคือหลักฐานที่ว่าด้วยตำนานของชาวมายาครับ กล่าวถึงนครโบราณที่มีนามว่า มู มีผู้ปกครองเป็นราชินีนามเหมือนชื่อนครนั่นคือ ราชินีมู(Moo) พระนางมีสวามีเป็นพี่น้องกันแต่ต่อมาได้สิ้นพระชนม์ลงด้วยการแย่งอำนาจ จนนางต้องอภิเษกกับน้องชายอีกคนหนึ่ง กระทั่งเมื่อนครนี้ประสบภัยจากภูเขาไฟระเบิด ราชินีมู ได้พาผู้คนอพยพไปตั้งรกราก ณ ดินแดนแห่งใหม่ ซึ่งนักโบราณคดีกลุ่มนี้ตีความว่าน่าจะเป็นดินแดนอียิปต์ เพราะตำนานไปสอดพ้องต้องกันกับเรื่องราวของ เทวีไอซิส อย่างเหลือเชื่อ - - สวามีของไอซิสคือโอสิริสซึ่งสิ้นชีพไปเพราะการกระทำของเซธผู้เป็นน้องชาย สุดท้ายเซธก็ต้องมารบกับโฮรัสบุตรของโอสิริสซึ่งมาล้างแค้นแทนบิดา ส่งผลให้ทะเลทรายซาฮาร่ากลายสภาพจากป่าดงดิบเป็นทะเลทรายอันไพศาลไป รายละเอียดของเรื่องราวนับว่าคล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมล่ะครับ?

นักโบราณคดีชุดนี้เชื่อว่า ทวีปมูน่าจะตั้งอยู่ในอ่าวเม็กซิโก และอยู่ทางตะวันตกของทะเลแคริบเบียน โดยทวีปมูมีการแบ่งดินแดนในปกครองออกเป็นนครเล็กๆสิบแห่ง ซึ่งนับว่าคล้ายคลึงกับเรื่องแอตแลนติสของเพลโตเป็นที่สุด และที่สำคัญ ชาวมายากล่าวถึงมูว่า ทวีปนี้ได้จมหายสู่ก้นมหาสมทุรเมื่อราว 8 พันปีมาแล้ว อันเป็นระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันกับการล่มสลายของแอตแลนติสภายใต้สมมติฐานของนักโบราณคดีปัจจุบัน

หรือว่า... มูกับแอตแลนติสนั้นคือดินแดนเดียวกัน แต่ถูกเรียกต่างกันไปตามภาษาต่างๆ?

หลายคนว่ามันไม่น่าจะใช่ ลืมเจมส์ เชิร์ชวาร์ดไปแล้วหรือยังครับ นักโบราณคดีผู้แปลตัวอักษรที่มีการจารึกไว้บนศิลาโบราณในอินเดีย เชิร์ชวาร์ดได้พบเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับมู เขาบรรยายว่าดินแดนแห่งมูนั้นราวกับสวนสวรรค์บนโลกมนุษย์ก็มิปาน เป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีประชากรอยู่มากถึง 64 ล้านคน เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา ทำให้ดินแดนนี้ถึงแก่การล่มสลาย มีประชาชนเพียงส่วนน้อยที่อพยพหนีออกมากันได้ และต้องเริ่มต้นตั้งอารยธรรมมนุษย์กันใหม่หมด ดังนั้นพวกเขาจึงจารึกเรื่องราวทั้งหลาย เพื่อถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลังให้รับทราบ

... เอ ชักจะยังไงแล้วสิ เพราะเรื่องราวของทั้งสองดินแดนนี้ดูคล้ายคลึงกันมาก เรามาดูรายละเอียดกันต่อสักนิดดีไหมครับ ว่า "มู" คงหลงเหลือหลักฐานอะไรไว้ให้พวกเรารุ่นหลังได้ศึกษากันอีก

NEXT หน้า2 >>

 

 

 


 
 
BY ขจรศักดิ์ เลาห์สัฒนะ
Hosted by www.Geocities.ws

1