Atlantis Stories เรื่องราวของทวีปปริศนา แอตแลนติส

 

 

บทนำ

กาลครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว อาณาจักรโบราณนามแอตแลนติส ได้สถิตอยู่ในความทรงจำของคนทั้งโลก ทั้งนี้ เนื่องมาจากความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของอาณาจักร แอตแลนติสเป็นดินแดนที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากร มีเทคโนโลยีทางวัตถุที่สูงส่ง ซึง่ท้ายที่สุดก็นำเอาความล่มจมมาสู่ผู้ถือครองเทคโนโลยี แอตแลนติส... เป็นอาณาจักรในฝันที่ถูกถ่ายทอดผ่านกาลเวลามาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง จากเรื่องเล่าขานกลายเป็นตำนาน จากตำนานกลายเป็นเทพนิยาย ไม่มีใครในปัจจุบันสามารถพิสูจน์ได้ว่า แท้ที่จริง อาณาจักรนี้เคยดำรงคงอยู่หรือไม่ ถ้าเคยมีอยู่จริง แอตแลนติสนั้นตั้งอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้?

สิ่งที่นักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์ค้นพบ ก็เป็นเพียงเรื่องเล่าจากวรรณกรรมโบราณ หลักฐานทางประวัติศาสตร์อันน่าฉงนเพียงไม่กี่ชิ้น ซึ่งระบุไม่ได้ด้วยซ้ำว่า โบราณวัตถุเหล่านั้น คือผลพวงจากอารยธรรมแอตแลนติสหรือไม่ หรือว่าแอตแลนติสจะเป็นเช่นเดียวกับทรอยและไมซีนี่ ที่แรกเริ่มเดิมที ทุกคนเข้าใจว่า เป็นเพียงเมืองในตำนานที่กวีจินตนาการขึ้น หาได้มีอยู่ในโลกนี้จริงๆไม่

เรื่องราวของอาณาจักรอันรุ่งเรือง ที่ล่มสลายไปเพราะภัยพิบัติ ดูจะเป็นสากลที่มีอยู่ในตำนานเล่าขานของทุกชนชาติ วีรบุรุษผู้นั่งเรือข้ามขอบฟ้าของอเมริกาใต้ ทายาทของอาณาจักรโบราณที่ล่มสลาย อาณาจักรแห่งเทพของธิเบต ที่เป็นที่พำนักของเผ่าพงศ์ศักดิ์สิทธิ พระราชวังใต้ดินแห่งเทือกเขาหิมาลัยของอินเดีย มหาปิระมิดคูฟู เรื่องราวเหล่านี้ ดูจะสอดคล้องกันในแง่ของการตกทอดทางอารยธรรมที่ล่มสลายไปแล้ว ทว่า ห่วงโซ่ที่จะร้อยเอาเรื่องราวเหล่านี้เข้าด้วยกัน เพื่อพิสูจน์ว่า มันมาจากต้นตอเดียวกันนั้น ยังไม่มีใครค้นพบ หรืออีกนัยหนึ่ง มนุษย์ในปัจจุบัน ยังหากุญแจสำคัญในการไขเรื่องราวของอาณาจักรโบราณนี้ไม่เจอ ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าก็เพียงแต่กระพี้เล็กๆที่ไม่ใช่แก่น ถึงกระนั้น นัยสำคัญของกระพี้เหล่านั้น ก็บ่งบอกเราอยู่เป็นราางๆว่า เรื่องราวของแอตแลนติส ไม่ได้เป็นเพียงตำนานที่ไร้ตัวตนอีกต่อไปแล้ว ยิ่งวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเจริญก้าวหน้าเท่าใด เราก็ยิ่งฉงนฉงายกับเรื่องราวที่เราเคยมองว่า "โบราณ" และ "ล้าสมัย" มากขึ้นเท่านั้น

สิ่งที่ท่านจะได้สัมผัสต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งของหลักฐานชิ้นเล็กหลายๆชิ้น ซึ่งนักค้นคว้าบางกลุ่มนำมาปะติดปะต่อกัน เพื่อยืนยันการคงอยู่ รวมทั้งเป็นเข็มทิศคลำทางไปสู่ถนนสายหลักของนครแห่งความฝัน ที่มีนามว่า "แอตแลนติส

ภาคที่หนึ่ง ตำนานหรือข้อเท็จจริง

การจมหายของผืนแผ่นดินลงสู่ก้นมหาสมุทร ด้วยอานุภาพของแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟ ดูจะเป็นที่เล่าขานสืบกันมานานในประวัติศาสตร์ แห่งชาติพันธุ์มนุษย์ เรื่องที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของพวกเรานั้นก็ได้แก่ การระเบิดและจมลงสู่ก้นมหาสมุทร ของเกาะกรากาตั้วที่อยู่ระหว่างเกาะสุมาตราและชวา อันมีสาเหตุมาจากภูเขาไฟชื่อเดียวกัน ผลจากแรงระเบิดทำให้เกิดคลื่นสูงถึง 100 ฟุต กวาดเอาทุกสิ่งทุกอย่างจมหายไปกับคลื่นยักษ์ เสียงกัมปนาทของภูเขาไฟได้ยินไปถึงทวีปออสเตรเลีย ชั้นบรรยากาศโลกปั่นปวนและมืดทะมึนไปด้วยฝุ่นและลาวาจากปากปล่องภูเขาไฟ.

เป็นไงครับ พอจะนึกภาพออกไหมกับการระเบิดในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการระเบิดอย่างรุนแรงที่สุด เท่าที่มนุษย์รุ่นใหม่ยุคจรวดอย่างพวกเราได้ทันพานพบ การระเบิดของกรากระตั้ว สะเทือนทั้งโลกสะเทือนทั้งขวัญผู้คนอย่างรุนแรง เพราะเกาะใหญ่ระดับอนุทวีปเกาะหนึ่ง จมหายมิดไม่เหลือแม้แต่นิดเดียวภายในเวลาไม่นาน เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีก่อนนี้เอง ตอนนี้เล่าครับ? การระเบิดของภูเขาไฟกรากระตั้ว กลายเป็นแค่ตำนานยุคใหม่ กาลเวลาได้ลบเลือนมันออกไปจากความทรงจำของผู้คน น้อยคนนักที่จะระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาครั้งใหญ่ ซึ่งเกิดในช่วงอายุคนที่ผ่านมาของพวกเรานี้เอง

สิ่งนี้พอจะทำให้เราหวนระลึกได้ไหมว่า บางที การเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาครั้งสำคัญ อาจเกิดขึ้นบนโลกมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และถ้าเราจะนับเรื่องของแอตแลนติสปนเข้าไปในนั้นด้วย มันก็ไม่แปลกอะไรหากทวีปใหญ่ๆซักทวีป จะหายไปจากโลกในพริบตา อารยธรรมที่สั่งสมกันมาแสนนานสามารถล่มสลายกันได้ในชั่วข้ามคืน ก็เพราะการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยานี่แหละ

การศึกษาในปัจจุบันทำให้เราทราบว่า มีนครโบราณ ดินแดนที่รุ่งเรืองด้วยอารยธรรมมากมาย ที่ล่มสลายไปกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิศาสตร์ นครอีทรัสกัน, โอสกูเรีย แม้กระทั่งท่าเรือใหญ่แห่งทะเลเอเดรียติคของกรีก ปัจจุบันก็นอนสงบนิ่งอยู่ใต้ก้นทะเล ทิ้งความรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีตกาลให้ลูกหลานรุ่นปัจจุบันได้ระลึกถึงเท่านั้น ทีนี้เราลองมาดูเรื่องราวที่ฟังดูคล้ายกับนิทานดูกันบ้างไหมครับ หลายๆเรื่องที่เล่ากันมา ผู้คนนึกว่าเป็นตำนาน หรือไม่ก้เรื่องเล่าปรำปราเท่านั้น แต่กลับมาเจอเอาว่าเป็นเรื่องจริง เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปช่วงหนึ่ง นายโซนิคขอยกเคสของวิหารจูปิเตอร์ ที่อิตาลี สร้างเมื่อประมาณร้อยกว่าปีก่อนคริสตกาล มีชื่อในความโออ่าสวยงามเป็นอย่างมาก อารามนี้ค่อยๆจมลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และโผล่ขึ้นเหนือน้ำอีกครั้งเมื่อปี 1742 และในปัจจุบัน มันก็กลับจมอยู่ก้นทะเลเช่นเดิม ส่วนป้อมปืนแห่งคาราวาน-ซาไรแห่งทะเลแคสเปียนนั้นเล่า มันค่อยๆจมหายลงไปในทะเลพร้อมทั้งเอกสารทั้งหมดเกี่ยวกับตัวมัน จนทำให้คนยุคหลังคิดว่าป้อมนี้เป็นแค่นิทานที่เล่าสืบต่อกันมา แต่แล้วเมื่อไม่กี่ร้อยปีก่อน ป้อมนี้ก็โผล่ขึ้นมาเป็นเกาะเล็กๆเหนือน้ำ และสามารถเห็นได้เด่นชัดมากในปัจจุบัน

ไม่เพียงแต่เกาะหรือแนวทะเลแถบชายฝั่งเท่านั้นหรอกนะครับ แผ่นดินหรือทวีปผืนใหญ่ๆก็เคยยกตัวหรือจมลงจากระดับปกติของมันมาแล้วทั้งนั้น อย่างประเทศไทยแถบภูกระดึง หรือภาคอิสาน เมื่อก่อนก็เป็นทะเล ขณะนี้ประเทศฝรั่งเศสและอิตาลีกำลังยุบตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่แถบหิมาลัยกำลังยกตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก บางทีก็ค่อยเป็นค่อยไปชนิดสองมิลลิเมตรต่อศตวรรษ แต่บางคราวก็ปุบปับอย่างน่าใจหาย ส่วนที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่า เป้นส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบปุบปับและรุนแรงที่สุด ก็คือส่วนที่เป็นมหาสมุทรแอตแลนติคในปัจจุบัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดเดาว่า บริเวณนั้น น่าจะเคยเป็นทวีปใหญ่และผืนแผ่นดินมาก่อน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง แอตแลนติส อาจจมอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติคก็เป็นได้ น่าเสียดายที่ปัจจุบัน เรายังไม่มีหลักฐานที่เด่นชัดมายืนยัน

หลักฐานสำคัญที่ควรสนใจอยู่ที่เทือกเขาแอนดิสครับ มาดูกันดีกว่าว่า ที่นั่นมีอะไรน่าสนใจ และพอจะตอบคำถามที่พวกเราสงสัยกันได้ไหมว่า แท้ที่จริง แอตแลนติส ล่มสลายเพราะสงครามหรือภัยพิบัติตามธรรมชาติกันแน่

กล่าวถึงเทือกเขาแอนดิส ทุกคนคงจะรู้จักดี โดยเฉพาะบริเวณเชิงเขาที่เต็มไปด้วยอาณาบริเวณของชนเผ่า สิ่งก่อสร้าง ที่บ่งถึงอารยธรรมอันเก่าแก่ นักวิชาการหลายท่านได้ให้ข้อสังเกตว่า เทือกเขาดังกล่าวเมื่อก่อนมิได้สูงชะลูดชูดชันขนาดดังในปัจจุบัน หากแต่มันต้องเกิดการยกตัวขึ้นอย่างทันทีทันใดในเวลาไม่นานมานี้ ที่ว่าไม่นานคือ อยู่ในช่วงเวลาที่มนุษย์สามารถพัฒนาอารยธรรม จนกระทั่งมีเรือขนาดใหญ่ใช้กันน่านล่ะครับ

หลักฐานอยู่ตรงไหน? เรามาดูบริเวณทะเลสาบติติคาคากันเสียหน่อย ทะเลสาบอันโด่งดังแห่งนี้ อยู่บริเวณเทือกเขาแอนดิสซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 12,500 ฟุต และห่างจากมหาสมุทรแปซิฟิกถึง 200 ไมล์นั้น มันดันมีท่าเรือโบราณตั้งอยู่น่ะสิครับ แหวนสำหรับเคเบิลเรือที่นักสำรวจพบที่นั่น มันใหญ่ขนาดพอที่จะใช้กับเรือเดินสมุทรขึ้นไป อีกประการ ตำนานโบร่ำโบราณที่กล่าวถึงกษัตริย์พระอาทิตย์ผู้ปกครองดินแดนก็ดี ซากสัตว์ทะเลที่พบในบริเวณนั้นก็ดี ล้วนแต่บ่งบอกกับเราว่า เทือเขาแอนดิสน่าจะเป็นมหาสมุทร หรือชายฝั่งทางตะวันตกของอเมริกาใต้มาก่อน

ที่พูดมาเสียยืดยาวนี่ก็ไม่มีอะไรหรอกครับ อยากจะให้ตั้งข้อสังเกตกันเท่านั้นแหละว่า เป็นไปได้ไหมที่สาเหตุของการยกตัวอย่างฉับพลันบริเวณเทือกเขาแอนดิส มาจากการจมลงอย่างปัจจุบันทันด่วนของอนุทวีปแอตแลนติส?

จุดจบของแอตแลนติส อาจไม่ได้มาจากสงครามหรือการลงทัณฑ์ของทวยเทพ แต่เป็นภัยพิบัติตามธรรมชาติโดยแท้จริง ภัยสะท้านโลกครั้งนี้ แม้จะทำลายอารยธรรมแอตแลนติสลงอย่างสิ้นเชิง กระนั้น มรดกทางอารยธรรมที่ยังเหลือมาสู่หูตาอนุชนรุ่นหลัง ก็ยังมีอยู่มากมายกระจัดกระจายกันไปทั่วโลก ดังที่ท่านจะได้พบได้เจอไปทีละอย่างสองอย่าง ในสารคดีมหายาวของนายโซนิคชุดนี้ครับ

แอตแลนติสในวรรณกรรม

อาจกล่าวได้ว่าโลกได้รับทราบรายละเอียดของแอตแลนติสจากงานชื่อ "ทิไมอุสและคริติอัส" ของเพลโต ซึ่งได้มาจากปรัชญาเมธีโซลอน ซึ่งไปเอาเรื่องเหล่านี้จากนักบวชแห่งอียิปต์อีกต่อหนึ่ง (หลายซึ่งจังวุ๊ย) ในครั้งที่โซลอนเดินทางไปยังอียิปต์เมื่อ 560 ปีก่อนคริสตกาลครับ

โซลอนเอาข้อมูลเหล่านี้มาจากนักบวชไอยคุปต์จากวิทยาลัยสงฆ์ที่นั่น โดยเอามาจากเอกสารโบราณอายุนับพันๆปี บันทึกดังกล่าวพูดถึงทวีปที่อยู่ไกลโพ้น ถัดจากบริเวณที่เรียกว่าเสาหินของเฮอร์คิวลิส (แถวช่องแคบยิบรอลต้าในปัจจุบัน) ซึ่งจมลงเมื่อประมาณ 9560 ปี ก่อนคริตกาล ครับ... ทวีปนั้นก็คือแอตแลนติสนั่นเอง

"ถัดจากเสาหินของเฮอร์คิวลิส? มันก็อเมริกาน่ะสิ ที่แท้แอตแลนติสก็หมายถึงทวีปอเมริกานี่เอง..." ยังครับ ยัง.. อย่าเพิ่งสรุปอะไรง่ายๆอย่างนั้น ดูจากแผนที่โลกโบราณมันก็ดูเหมือนจะใช่อยู่หรอก แล้วถ้าเทียบเคียงความเจริญของหลายๆชนเผ่า เช่น อินคา มายา แอสเท็ค มันก็ยิ่งเข้าเค้าว่า แอตแลนติสตามคำบรรยายของเพลโต ปัจจุบันคือทวีปอเมริกา แต่เปล่าหรอกครับ... มันไม่ง่ายขนาดนั้น อย่างแรก เพลโตมิได้สับสนเรื่องทวีปอย่างแน่นอน เพราะในงานเขียนของเขากล่าวว่า ถัดจากแอตแลนติสออกไปทางตะวันตกยังมีทวีปใหญ่อยู่ด้วย (นั่นแหละ อเมริกา) และมหาสมุทรในความหมายของเพลโต คือมหาสมุทรที่เป็นมหาสมุทรจริงๆ มิใช่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่เป็นเพียงทะเลท้องถิ่นแถบบ้านเกิดของเพลโต

รายละเอียดของแอตแลนติสในงานเขียนของเพลโต กล่าวไว้อย่างน่าสนใจทีเดียวครับ เพลโตกล่าวถึงแอตแลนติสว่า เป็นเกาะขนาดอนุทวีป มีที่ราบแห้งแล้งในใจกลางเกาะ แนวเขาสูงเป็นปราการธรรมชาติกั้นลมอยู่ทางเหนือ สภาพอากาศอยู่ในแบบกึ่งเขตร้อน พืชผลอุดมสมบูรณ์พลเมืองสามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละสองครั้ง ประเทศของแอตแลนติสมั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีความรุ่งเรืองด้านอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้น แอตแลนติสยังมีอู่ต่อเรือ คลองสำหรับคมนาคม พวกเขาติดต่อกับโลกภายนอกด้วยเรือเดินสมุทรครับ...

 

หน้า2 NEXT >>

 

 


 
 
BY ขจรศักดิ์ เลาห์สัฒนะ
Hosted by www.Geocities.ws

1