จดหมายติดต่อหน่วยงาน
โดย : เครือข่ายแก้ไขปัญหาพิษสารตะกั่วต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม บริเวณแม่น้ำแม่กลองตอนบน


วันที่ 22 มีนาคม 2544 เรื่อง : ขอเสนอความเห็นต่อการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้


ที่ 0110/2544
เครือข่ายแก้ไขปัญหาพิษสารตะกั่วต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม
บริเวณแม่น้ำแม่กลองตอนบน
211/2 ซ.งามวงศ์วาน 31 อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000





22 มีนาคม 2544


เรื่อง ขอเสนอความเห็นต่อการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้

เรียน อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาพิษสารตะกั่วในบริเวณห้วยคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

........... ตามที่กรมควบคุมมลพิษได้ตรวจสอบการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ได้พบการปนเปื้อนของสารตะกั่วสูงมาก และได้ดำเนินการแก้ไขฟื้นฟูสภาพแวดล้อมมาเป็นลำดับ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2541 จนถึงปัจจุบัน เครือข่ายแก้ไขปัญหาพิษสารตะกั่วต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม บริเวณแม่น้ำแม่กลองตอนบน ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุข และองค์กรท้องถิ่น ใคร่ขอเสนอความเห็นเพื่อพิจารณาในการดำเนินการต่อไปดังนี้
........... 1. ในพื้นที่บริเวณที่เคยเป็นเหมืองแร่ โรงแต่งแร่ และบริเวณใกล้เคียงริมลำห้วยคลิตี้ ซึ่งมีข้อมูลชัดเจนว่าเป็นแหล่งที่มีมลพิษ ควรที่จะประกาศเป็นพื้นที่อันตราย โดยมีป้ายแสดงอย่างชัดแจ้ง
........... 2. ในพื้นที่ที่เคยเป็นโรงแต่งแร่คลิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งก่อให้เกิดมลพิษ ปัจจุบันยังมีกองสินแร่ตะกั่วอยู่จำนวนมาก ควรที่จะต้องเร่งแก้ไขสภาพแวดล้อมบริเวณนี้ให้ปลอดมลพิษโดยเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันยังปล่อยมลพิษลงสู่ลำห้วยคลิตี้อยู่ตลอดเวลา
........... 3. เนื่องจากการรั่วไหลลงสู่ลำห้วยคลิตี้ตลอดเวลากว่า 20 ปี เป็นตะกอนตะกั่วและสารเคมีในการแต่งแร่ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัทผู้ประกอบกิจการ จึงควรคืนให้ผู้ประกอบกิจการทำการเก็บรักษาทรัพย์สมบัติของตนในพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ไม่ควรมาฝังกลบให้เป็นภาระของฝ่ายอื่นในพื้นที่สาธารณะ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เป็นต้น
........... 4. การฝังกลบในพื้นที่ของผู้ประกอบกิจการ ต้องนำตะกอนตะกั่วออกจากลำห้วยให้มากที่สุด จนสภาพลำห้วยกลับสู่สภาพปลอดมลพิษดังเดิม กล่าวคือ ต้องขุดตะกอนตะกั่วออกตลอดลำห้วยทั้ง 19 กิโลเมตร นำไปฝังกลบอย่างได้มาตรฐาน คือ มีการปรับเสถียร ปูพื้นและห่อด้วยพลาสติก พื้นดินที่ฝังกลบต้องมีความปลอดภัย เป็นต้น
........... 5. การดำเนินการต้องเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้ โดยกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ดำเนินการและเรียกค่าใช้จ่ายจากบริษัทผู้ก่อให้เกิดมลพิษ

จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ

(นายสุรพงษ์ กองจันทึก)
ผู้ประสานงานเครือข่าย







เครือข่ายแก้ไขปัญหาพิษสารตะกั่วต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม บริเวณแม่น้ำแม่กลองตอนบน

1. โครงการประชาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
2. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
3. มูลนิธิสุขภาพไทย
4. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
5. มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
6. มูลนิธิโลกสีเขียว
7. มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
8. ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา
9. กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์
10. กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม
11. กลุ่มอนุรักษ์วังศาลา กาญจนบุรี
12. ชมรมรักษ์กาญจน์ สถาบันราชภัฏกาญจนบุรี
13. เครือข่ายชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงภาคตะวันตก
ประสานงาน : นางสาวพจศนา บุญทอง โทรศัพท์ / โทรสาร 9525060-2

© 2000-2001 by Karen Studies and Development Centre. Report technical problems to [email protected]. This document was build on: 22/06/2001 . Best view in IE4x or higher,800x600 pix.Font Medium.
Hosted by www.Geocities.ws

1