ให้กับให้

         หมู่บ้านตั้งอยู่ในหุบเขา กลางป่าใหญ่ มีลำห้วยไหลผ่าน
         ชาวบ้านเป็นชาวเขา อยู่ที่นี่มานานหลายร้อยปีแล้ว
         ต้นมะพร้าว ต้นหมาก สูงสุดตา ต้นมะขามเกินสองคนโอบ คือหลักฐานที่รุ่นปู่ย่าตายายปลูกไว้
         ปีนี้ฝนค่อยดีขึ้น ชีวิตของชาวบ้านกลางป่าเขาขึ้นอยู่กับธรรมชาติ เพราะไม่มีระบบชลประทาน อาศัยน้ำฟ้าน้ำฝนเพียงอย่างเดียว
         ทำไร่ข้าวแซมด้วยพริก มะเขือ ถั่ว แตงโม ฟักทอง ผักกาด ฯลฯ ไว้กินในครอบครัว รายได้มีเล็กน้อยจากการหาของป่า เช่น น้ำผึ้ง เปลือกไม้
         หากฟ้าฝนดีก็มีอาหารกินอย่างไม่อดอยาก
         แต่ปีที่แล้วฟ้าฝนไม่ดี ตอนหยอดข้าว ฝนขาดช่วง และก่อนข้าวตั้งท้องฝนก็มาขาดช่วงอีกครั้ง หลายครอบครัวไม่ได้ข้าวเลย ที่ได้ก็ได้ไม่กี่ถัง
         ข้าวที่เคยมีพอกินตลอดปี มาปีนี้แบ่งปันกันในญาติพี่น้องชั่ว 3 เดือน ข้าวหมดสิ้นทุกยุ้งฉางในหมู่บ้าน
         หมู่บ้านเงียบเหงา กลางวันผู้ใหญ่และเด็กที่โตแล้ว ต้องคว้าเสียมและตะกร้า ขึ้นเขาไปหาขุดกลอยเอามาทำอาหาร ก่อนทำกินต้องเอาไปแช่น้ำลำห้วยก่อน เพื่อจะได้ไม่เมา
         กลอยหายากขึ้นทุกที รถชาติก็ไม่อร่อย พืชผักที่ปลูกไว้ในไร่ยังไม่ให้ผล เสียงพูดคุย เสียงหัวเราะในหมู่บ้านยามกลางคืนน้อยลง ทุกคนคิดเพียงว่า วันหนึ่ง ๆ จะหาอะไรมาเลี้ยงครอบครัว
         เมื่อสองอาทิตย์ก่อน มีนักศึกษา 4 คน ขึ้นมาเที่ยวในหมู่บ้าน โดยขนเสบียงอาหารมาพร้อม หลังจากช่วยสอนหนังสือเด็ก นักศึกษาทำอาหารกลางวันกินบนหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา
         เด็ก ๆ มุงดูนักศึกษากินข้าว
         "กินข้าวเที่ยงกันหรือยัง" นักศึกษาคนหนึ่งถามเด็ก ๆ
         เด็กที่ตัวโตหน่อยสองสามคนส่ายหน้า
         "แล้วกินข้าวเช้าหรือยัง" นักศึกษาอีกคนหนึ่งถาม
         เด็กกลุ่มเดิมส่ายหน้า
         นักศึกษามองหน้ากันเองเงียบ แล้วเรียกเด็ก ๆ มากินข้าวด้วยกัน
         แต่เด็ก ๆ วิ่งหนีเพราะไม่กล้า
         เที่ยงวันหนึ่ง เสียงเด็กวิ่งตะโกน
         "อาจารย์ทิพย์มา"
         อาจารย์ทิพย์ เป็นพระธรรมจาริก เคยมาอยู่หมู่บ้านนี้แล้วจาริกไปอยู่หมู่บ้านคนไทยที่อำเภอใกล้เคียง
         พอรู้ว่าที่นี่อดข้าว จึงพาญาติโยมนำข้าวสารมาแจก แต่รถขึ้นมาไม่ได้ จอดรออยู่ข้างล่าง อาจารย์ทิพย์ต้องเดินขึ้นเขา 6 กิโลเมตร เพื่อบอกให้ชาวบ้านลงไปรับข้าวสาร
         ทุกคนดีใจ แต่ละบ้านส่งตัวแทนบ้านละคน รวม 40 คน พร้อมย่ามเพื่อใส่ข้าวสาร เตรียมเดินลงไป
         "เดี๋ยวก่อน" ลุงจะพี้ คนเฒ่าของหมู่บ้านเอ่ย และบอกให้คนหนุ่ม 3 คนขึ้นมะพร้าวเพื่อนำมะพร้าวแห้งไปฝากคนข้างล่างด้วย
         ไม่นาน มะพร้าวแห้งเกือบร้อยลูก แบ่งกระจายใส่ย่าม 40 ใบ แล้วขบวนออกเดินลงไปข้างล่าง
         ชั่วโมงกว่าถัดมา ลุงเอ่งรถซึ่งอายุมากที่สุด จัดแถวคนที่ไปรับของ เมื่อเป็นแถวเรียบร้อย ลุงเอ่งรถก็มายืนที่หัวแถว เพื่อรับแจกข้าวสารเป็นคนแรก
         ขบวนชาวเขาเดินกลับอย่างช้า ๆ ขึ้นตามสันเขา ทุกคนแบกย่ามบรรจุข้าวสารประมาณค่อนถัง
         ระหว่างทางมีเสียงพูดคุยหัวเราะตลอดทาง เรื่องที่คุยเป็นเรื่องข้าวสารที่ได้รับ ขอบคุณ อาจารย์ทิพย์และคนไทยที่อุตส่าห์นำข้าวสารมาให้ ไม่มีใครนึกถึงมะพร้าว 50 ลูกที่ให้ไปเลย
         รถปิคอั๊พ 2 คันวิ่งช้า ๆ ตามเส้นทางป่าเขา ภายในรถคนพูดคุยกันถึงมะพร้าวเกือบร้อยลูก ที่ชาวเขาอุตส่าห์แบกมาให้ ไม่มีใครนึกถึงข้าวสาร 5 กระสอบที่ให้ไปเลย
         ข้าวสาร 5 กระสอบ มีค่าไม่มากนักสำหรับหมู่บ้านคนไทย และมะพร้าวแห้งเกือบร้อยลูก ก็มีค่าไม่มากสำหรับหมู่บ้านชาวเขา แต่เมื่อเกิดการให้ซึ่งกันและกันด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ของเหล่านี้กลับมีคุณค่าอย่างอนันต์ในใจของผู้รับ


© 2000-2001 by Karen Studies and Development Centre. Report technical problems to [email protected] . This document was build on: 22/06/2001 . Best view in IE4xor higher,800x600 pix.Font Medium.
Hosted by www.Geocities.ws