ส่วนร่วมในการพัฒนา

         "พรุ่งนี้ขอแรงช่วยกันซ่อมทางเข้าหมู่บ้านด้วยนะครับ"
         ครูโจ่ พูดในที่ประชุมชาวบ้านในคืนหนึ่ง
         "อยากให้มากันทุกคน ใครมีจอบมีเสียมช่วยเอามาด้วย หากไม่มีก็เอามีดมา"
         ชาวกะเหรี่ยงทุกคนชำนาญในการใช้มีด เพราะมีดเป็นเครื่องมือเครื่องใช้สารพัดประโยชน์ บ้านหนึ่งหลังมีมีดเพียงเล่มเดียวก็สามารถสร้างได้ไม่ยาก
         "วันพระ หลังจากทำบุญฟังเทศน์ตอนเช้าแล้ว ช่วยกันเทปูนศาลาวัดหน่อย"
         ลุงตาฉี้ ซึ่งเป็นมัคนายกวัดแจ้งข่าวและปรึกษาที่ประชุมว่า
         "อีก 7 วัน จะมีคนบ้านโป่งมาทอดผ้าป่าที่วัดของเรา จะเตรียมต้อนรับเขาอย่างไรดี เขาจะพักในหมู่บ้านเราคืนหนึ่ง " หลังจากแบ่งงานกันแล้ว ครูโจ่แจ้งอีกว่า
         "วันที่ 15 ทางโรงพยาบาลอำเภอจะมาตรวจรักษา และสำรวจเรื่องสุขภาพอนามัย ขอให้อยู่บ้านกันด้วย"
         ผู้ช่วยเสิกขันโจ ก็มีเรื่องแจ้งให้ทราบจากการประชุมที่อำเภอ
         "วันที่ 13 ทางพัฒนากรจะมาประชุม และ วันที่ 17 เกษตรตำบลจะเข้ามาแนะนำการเกษตรขอให้อยู่บ้านทั้งสองวัน"
         ตุก หนุ่มโสดวัยสูงสุดของหมู่บ้าน คือ 28 ปีส่ายหน้า งานของหมู่บ้านมีมากเหลือ บางงานก็เต็มใจทำ บางงานจำเป็นต้องทำ แต่ก็มีไม่น้อยที่จำใจทำ
         วันนี้ตุกเพิ่งเสร็จจากการซ่อมน้ำประปาภูเขา ซึ่งต่อท่อมาจากลำน้ำในป่า คืนก่อนมีฝนตกทำให้ต้นไม้ล้มลงมาทับท่อน้ำแตก ตุกและชาวบ้านเสียเวลากว่าครึ่งวันจึงซ่อมเสร็จ
         พรุ่งนี้ต้องไปซ่อมทางเข้าหมู่บ้าน ซึ่งเป็นทางดินตามไหล่เขา ตุกไม่แน่ใจว่าในเวลา 2 วัน จะเสร็จหรือไม่ เพราะทางเข้าหมู่บ้านในช่วงฤดูฝนใช้การไม่ใช้ จึงปล่อยไว้รกด้วยต้นไม้ต่าง ๆ และหลายจุดเป็นหลุมบ่อ ชาวบ้านไม่มีอุปกรณ์อะไรมากมาย มีเพียงแรงงานต้องซ่อมให้เสร็จก่อนที่ทางเจ้าหน้าที่จะมา เพราะเจ้าหน้าที่มาด้วยรถยนต์ไม่ได้เดินมาเหมือนพวกกะเหรี่ยงโดยทั่วไป
         ตุกนึกถึงข้าวไร่ที่ปลูกไว้ตามไหล่เขา
         ตอนนี้คงมีวัชพืชโดยเฉพาะหญ้าขึ้นแย่งอาหาร น้ำ และแสงแดดไม่น้อย คิดจะไปดายหญ้าหลายครั้ง แต่ยังไม่มีเวลาว่าง เมื่อ 3 วันก่อนมีเวลาไปดายหญ้าได้หน่อยเดียว ยังเหลือพื้นที่ต้องดายหญ้าอีกมาก
         ตุกเคยลองนับวันที่ทำงานในแต่ละเดือน
         เมื่อเดือนที่แล้วไปทำงานไร่ คือ ดายหญ้าเพียง 5 วัน เข้าป่าหาของป่าอีก 5 วัน พาน้องชายไปหาหมอที่โรงพยาบาลอำเภอ 4 วัน เวลาที่เหลือก็อยู่ในหมู่บ้านร่วมงานในหมู่บ้าน มีทั้งงานทางวัด ทางโรงเรียน ทางอำเภอ ทางอนามัย ทางหน่วยพัฒนาชาวเขา และงานประเพณีของหมู่บ้าน
         งานเหล่านี้เป็นงานของส่วนรวม ซึ่งทางเจ้าหน้าที่พูดเสมอว่า "เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการพัฒนา"
         น้อยครั้งจริง ๆ ที่ตุกไม่ได้เข้าร่วมงานส่วนรวม มีครั้งหนึ่งซึ่งแม่ของตุกไม่สบาย ตุกจึงอยู่บ้านดูแลแม่ไม่ได้ไปต้อนรับเจ้าหน้าที่จากทางอำเภอที่มาประชุม
         เจ้าหน้าที่บ่นในที่ประชุม
         "เดี๋ยวนี้ ตุกมันไม่สนใจงานส่วนรวมแล้วสละเวลานิดหน่อยมาประชุมก็ไม่ได้ หากในหมู่บ้านมีคนเห็นแก่ตัวเหมือนตุกทุกคน หมู่บ้านก็มีแต่แย่ลง ไม่มีการพัฒนา"
         แต่ตุกก็ไม่โกรธและไม่น้อยใจ เพราะการประชุมครั้งต่อไป ตุกรีบขอโทษเจ้าหน้าที่และบอกเหตุผลที่ขาดการประชุม
         ครูโจ่เคยพูดเปิดอกกับตุกว่า
         "หมู่บ้านของเราเป็นหมู่บ้านอยู่กับป่าเขา ยังขาดความเจริญและห่างไกล ทุรกันดาร ที่จริงรัฐควรจะมาช่วยเหลือก่อนที่อื่น เพราะหมู่บ้านของเราด้อยกว่าที่อื่นมาก
         แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่สนใจ เห็นว่าพวกเราไม่มีปากเสียง งบประมาณที่ได้มาของหมู่บ้านที่เขาเจริญแล้ว ชาวบ้านไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะงบเขามีเพียงพอในการจ้างคนและวัสดุอุปกรณ์ มีคนรับเหมาทำหมด
         หมู่บ้านของเรามีโครงการทำอะไร ชาวบ้านต้องทำเองทั้งนั้น"
         ตุกนึกถึงงานส่วนรวมของหมู่บ้าน เช่น ทำถนน สร้างโรงเรียน ชาวบ้านช่วยกัน ทำกันเอง ใช้เวลาเป็นแรมเดือน
         แต่ตุกก็ภูมิใจที่ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองได้ ชาวบ้านไม่เคยรอหวังความช่วยเหลือจากรัฐหรือบุคคลภายนอก
         "ผมเคยไปกรุงเทพฯ" ครูโจ่พูดต่อ
         "ต่างคนต่างอยู่ไม่มีใครสนใจงานส่วนรวมเลย ขยะหน้าบ้านตัวเองยังไม่ช่วยกันเก็บ ต้องรอให้ทาง กทม. มาเก็บ งานวัดก็มีแต่คนเที่ยวไม่เห็นมีคนไปช่วยงาน"
         ตุกถามว่า "ที่เขามาบอกให้เรามีส่วนร่วมในการพัฒนา แล้วคนในกรุงเทพมีส่วนร่วมในการพัฒนามากน้อยแค่ไหน"
         ครูโจ่นิ่งก่อนตอบ
         "เขาคงคิดว่าเขาจ่ายภาษีแล้วมั้ง แต่พวกเราซื้อของก็เสียภาษีเหมือนกัน
         แต่ยังไงก็ช่างเขาเถอะ ดีร้ายก็ตกกับเขาเอง หมู่บ้านของเราหากไม่ช่วยกันก็ไม่มีคนอื่นมาช่วย
         เขาไม่ใช่คนในหมู่บ้านของเรา เขามาช่วยเราแค่นี้ก็ช่างเขาเถอะ พวกเราต้องอยู่ที่นี่กันตลอดไปก็ต้องช่วยเหลือกันเองอย่างเต็มที่"
         ตุกพยักหน้าเห็นด้วยที่ต้องช่วยเหลือกันอย่างสุดความสามารถภายในหมู่บ้าน เพื่อความสงบสุขของชุมชนที่อยู่ร่วมกัน แต่ก็สงสัยอยู่ว่า แล้วคนในกรุงเทพฯ ที่ได้ข่าวว่าไม่ค่อยช่วยเหลือร่วมมือกันทำอะไรเพื่อส่วนรวมนั้น พวกเขามีความสงบสุขกันขนาดไหน
         "ผมก็ไม่รู้ชัดนะ" ครูโจ่บอก
         "แต่เท่าที่ผมไปมา ผมว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีความสงบสุขเท่าไหร่หรอก"


© 2000-2001 by Karen Studies and Development Centre. Report technical problems to [email protected] . This document was build on: 22/06/2001 . Best view in IE4xor higher,800x600 pix.Font Medium.
Hosted by www.Geocities.ws