ข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาพิษสารตะกั่วต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม บริเวณห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี


    ความเป็นมาและปัญหาการปนเปื้อนตะกอนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้

           การปนเปื้อนตะกอนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ บริเวณลำห้วยระหว่างหมู่บ้านคลิตึ้บนถึงหมู่บ้านคลิตี้ล่าง และไหลต่อลงไปยังลำคลองงู ซึ่งเป็นส่วนบนของอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ที่ ต. ชะแล อ. ทองผาภูมิ จ. กาญจนบุรี มีหลักฐานว่าเกิดจากการปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการแต่งแร่โดยวิธีการลอยแร่ จากโรงแต่งแร่คลิตี้ ที่บริเวณใกล้กับหมู่บ้านคลิตี้บน ของบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรท (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงแต่งแร่สินแร่ตะกั่วประเภทตะกั่วคาร์บอเนต หรือแร่ cerrussite (PBCO3 ) ที่ระบุว่าเป็นสินแร่ที่ได้จากการขุดทำเหมืองแบบเหมืองเปิด ที่เหมืองบ่องาม บริเวณภูเขาห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากโรงแต่งแร่ประมาณ 6 กิโลเมตร

          เหมืองบ่องาม และโรงแต่งแร่ตะกั่วคลิตี้ได้ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ พ.ศ.2510 เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี จนกระทั่งกรมทรัพยากรธรณีมีประกาศให้โรงแต่งแร่หยุดทำการเนื่องจากตรวจสอบพบว่ามีการปล่อยน้ำจากบ่อเก็บกักตะกอนหางแร่ (Tailing pond) ลงห้วยคลิตี้ ตามคำประกาศของทรัพยากรธรณีจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 และเหมืองบ่องามได้หยุดดำเนินการเนื่องจากหมดอายุประทานบัตรตั้งแต่ 26 กรกฎาคม 2539 (แต่ในความเป็นจริงทางเหมืองฯ ยังมีการดำเนินการต่อมาโดยอ้างว่าเป็นสินแร่เก่า) ส่วนโรงแต่งแร่ได้สิ้นสุดอายุการแต่งแร่ไปแล้วเมื่อ 3 ตุลาคม 2543 (ตามใบอนุญาตแต่งแร่ เลขที่ 2/2537)

          

    ประเด็นปัญหาในเรื่องนี้สามารถสรุปความสำคัญได้ดังต่อไปนี้
          1. ไม่ปรากฏว่าโรงแต่งแร่คลิตี้ และเหมืองแร่บ่องาม มีระบบบำบัดน้ำเสียจากกระบวนการต่างๆ ยกเว้นการกักเก็บน้ำจากกระบวนการในบ่อดินเสริมคันดินถมกั้น กักเก็บน้ำในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อให้ตกตะกอนและระบายน้ำส่วนบนออกสู่ลำห้วยโดยตรง
          2. สภาพบ่อกักเก็บตะกอนของโรงแต่งแร่มีลักษณะไม่ปลอดภัย เนื่องจากเป็นบ่อดินธรรมดาไม่มีการปูลาดด้วยวัสดุกันซึมประกอบกับตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งมีสภาพธรณีวิทยารองรับด้วนหินปูนและหินทรายที่มีความซึมน้ำได้ง่าย โดยเฉพาะการไหลลงใต้ดินผ่านหลุมยุบและทางน้ำใต้ดินในหินปูน
          3. มีรายงานประกอบภาพถ่ายของหน่วยราชการ (คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, 2531) และจากสื่ออื่นๆ ที่แสดงว่าเคยมีการต่อท่อน้ำทิ้งออกจากบ่อกักเก็บตะกอนลงสู่ลำห้วยคลิตี้โดยตรง และจากการสอบถามชาวบ้านพบว่า ทางโรงแต่งแร่มีการปล่อยน้ำเสียลงตามลำห้วยมาเป็นเวลานานก่อนที่จะมีข่าวแพร่กระจายและไม่ปรากฎหลักฐานใดๆที่แสดงว่าเคยมีเหตุการณ์ที่คันบ่อกักเก็บพังจากพายุฝน(ในเดือนเมษายน!) ในปี 2541 ดังรายงานของกรมทรัพยากรธรณี
          4. หลังจากมีข่าวเรื่องนี้แพร่กระจายและโรงแต่งแร่ได้ถูกระงับการดำเนินการ ในช่วงเวลานั้นสภาพน้ำและตะกอนในลำห้วยมีค่าตะกั่วอยู่ในระดับสูงมาก ดังรายงานการศึกษาของหน่วยงานทุกๆหน่วย ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรธรณี และกรมอนามัย แต่ในปัจจุบันค่าตะกั่วในน้ำได้ลดลงมากจนใกล้สู่ระดับค่าไม่เกินค่ามาตรฐานน้ำผิวดิน แต่ตะกอนในธารน้ำเกือบทั้งหมดยังไม่มีการดำเนินการขุดหรือสูบออกไปแต่อย่างใด ดังนั้นพืชน้ำและสัตว์น้ำย่อมสะสมตะกั่วตามห่วงโซ่อาหารอยู่ตลอดเวลา มีรายงานจากหน่วยงานรัฐถึงค่าตะกั่วที่ปนเปื้อนในตะกอนใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ตั้งแต่ปี 2531 (คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, 2531) แต่ก็ไม่มีการศึกษาถึงแหล่งที่มาและหาแนวทางการแก้ไขตลอดมา ดังนั้นทั้งลำห้วยคลิตี้และเขื่อนศรีนครินทร์จึงเป็นพื้นที่อันตรายที่ควรประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษอย่างเร่งด่วน
          5. มีการอ้างเหตุผลการปนเปื้อนของตะกั่วในธารน้ำจากกรมทรัพยากรธรณีว่า เป็นเพราะสาเหตุตามธรรมชาติที่อยู่ในเขตศักยภาพแหล่งแร่ตะกั่ว แต่จากข้อมูลการศึกษาทุกแห่งก็พบความผิดปกติของปริมาณการปนเปื้อนที่มากเฉพาะแหล่งน้ำและตะกอนที่ผ่านบริเวณกิจกรรมเหมืองแร่ และแต่งแร่ ในขณะเดียวกันปริมาณตะกั่วในดินและน้ำบริเวณที่ไม่ผ่านกิจกรรมเหมืองแร่และแต่งแร่ก็ไม่เกินปริมาณปกติแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีรายงานทางวิชาการของกรมทรัพยากรธรณีตั้งแต่ปี 2538 ก่อนที่จะมีข่าวแพร่กระจายในเรื่องนี้ได้สรุปว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นแหล่งที่มาของการปนเปื้อนสารตะกั่วในธรรมชาติ (กองสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ กรมทรัพยากรธรณี, 2538)
          6. แม้ว่าตะกั่วคาร์บอเนตจะละลายน้ำได้น้อยโดยธรรมชาติ และมีการทดสอบทางเคมีโดยวิธีสกัดสารและพบว่ามีค่าการละลายได้ไม่เกินค่ามาตรฐานที่จัดเป็นของเสียอันตราย แต่การที่มีปริมาณการปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติและแพร่กระจายสู่วงจรของสัตว์น้ำได้ตลอดเวลา โดยมีที่มาจากผู้ก่อมลพิษที่ชัดเจนเช่นกรณีนี้ไม่สมควรที่จะนำหลักการข้อนี้เป็นข้ออ้างในการละเลยหรือไม่เร่งการฟื้นฟูลำห้วย ดังเช่นที่มีแนวโน้มปรากฎในปัจจุบัน

    สภาพปัญหาในการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้
          แม้ว่าจะมีการตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ โดยมีอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นประธานและมีคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทรัพยากรธรณี กรมอนามัย กรมป่าไม้ นักวิชาการ และผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน แต่คณะกรรมการชุดนี้มีบทบาทร่วมกันเพียงแค่ร่วมให้ความคิดเห็นกับการดำเนินการของกรมควบคุมมลพิษ และมีการประชุมเพียง 3 ครั้งตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา และลักษณะการทำงานเป็นการทำหน้าที่ตามบทบาทของหน่วยงานเป็นส่วนใหญ่ ต่างมีลักษณะการปกป้องการทำงานของหน่วยงานของตนเองโดยขาดลักษณะการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจและจริงจัง ดังเห็นได้จากความล่าช้าของความคืบหน้าในการฟื้นฟูลำห้วยที่ยังไม่ปรากฎผลจนถึงปัจจุบัน

     สำหรับประเด็นปัญหาเรื่องนี้สามารถสรุปความสำคัญได้ดังนี้
          1. มีความขัดแย้งในเรื่องวิธีการนำตะกอนขึ้นจากลำน้ำเนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ตะกอนฟุ้งกระจายและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของลำน้ำ แม้มีความคิดจะทำฝายดักกั้นตะกอนเป็นระยะและใช้วิธีสูบขึ้นในลักษณะของการดูดทรายซึ่งเป็นที่ยอมรับทางวิชาการ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีการสรุปและดำเนินการอย่างแน่ชัด
          2. จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าการขุดตะกอนขึ้นจะทำตลอดลำน้ำหรือไม่ โดยอ้างสาเหตุของความลำบากในการทำงาน และเกรงที่จะกระทบพื้นที่ป่าไม้ที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติสองฝั่งน้ำ
          3. ในกรณีของการฝังกลบตะกอนปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยหลังจากนำขึ้นมาแล้วยังมีปัญหาหลายประการในเรื่องตำแหน่งและพื้นที่ฝังกลบเนื่องจากพื้นที่ 2 ฝั่งลำน้ำเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนในการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ นอกจากนี้ตามแผนการฝังกลบของกรมควบคุมมลพิษยังออกแบบหลุมไว้ไม่พอเพียงหากขุดลอกตะกอนออกตลอดลำน้ำ
          4. ยังมีกองสินแร่อยู่จำนวนหนึ่งที่โรงแต่งแร่ ซึ่งอาจจะถูกชะล้างลงในลำห้วยได้
          5. ไม่เคยมีข้อระบุใด ๆ ถึงความรับผิดชอบจากผู้ก่อมลพิษ

    สภาพปัญหาในการรับสารตะกั่วของชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้
           แม้ว่าปัจจุบัน หลังจากที่โรงแต่งแร่ได้หยุดดำเนินการลงแล้ว และสภาพน้ำเริ่มที่จะมีค่าตะกั่วเจือจางลง แต่ชาวบ้านคลิตี้ยังไม่พ้นจากสภาพปัญหาจากมลพิษ เนื่องจากทุกคนต่างได้รับสารตะกั่วสะสมในร่างกายในปริมาณมากเป็นเวลายาวนาน สัตว์เลี้ยงที่เป็นทรัพย์สินหลักของหมู่บ้านคือควายตายลงไปทั้งหมด ปัญหาเรื่องน้ำใช้และแหล่งอาหารยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ประการสำคัญที่สุดคือยังมีการเจ็บป่วยจากโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง และมีการล้มตายลงเป็นระยะ ๆ

    สำหรับประเด็นปัญหาเรื่องนี้สามารถสรุปความสำคัญได้ดังนี้
          1. สภาพหมู่บ้านคลิตี้เป็นหมู่บ้านห่างไกล ทั้งหมดเป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง มีชีวิตอยู่กับธรรมชาติทำการเกษตรเพื่อการยังชีพ การคมนาคมสู่ตัวเมืองหรือชุมชนทำได้ลำบากมาก มีลำห้วยคลิตี้เป็นแหล่งน้ำหลัก และใช้สัตว์น้ำในลำห้วยเป็นแหล่งอาหารหลักเช่นกัน
          2. นับตั้งแต่โรงแต่งแร่ดำเนินการ ชาวบ้านคลิตี้ล่างและคลิตี้บนมีความเดือดร้อนจากการปล่อยน้ำเสียลงในลำห้วยมาโดยตลอด และได้รับความเดือดร้อนมากในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2536-2541 ปรากฏผลความเดือดร้อนในเรื่องปัญหาน้ำใช้ และควาย ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงประจำหมู่บ้านหลายร้อยตัวทยอยตายลง เนื่องจากอยู่กับแหล่งน้ำลำห้วยตลอดเวลา ชาวบ้านเริ่มเจ็บป่วยและเสียชีวิตโดยมีอาการสัมพันธ์กับโรคพิษตะกั่วหลายคน
          3. เมื่อข่าวเรื่องนี้เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน หน่วยงานรัฐได้เข้ามาทำการตรวจสอบ มีหน่วยงานทางสาธารณสุขเข้ามาตรวจวัดผลตะกั่วในเลือดชาวบ้านคลิตี้ล่างหลายครั้ง พบว่าชาวบ้านทุกคนที่ใช้น้ำและจับปลามีตะกั่วในเลือดในปริมาณสูงมาก โดยส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 20 - 50 มก./เดซิลิตร แต่ก็ไม่มีการให้การช่วยเหลือรักษาชาวบ้าน ทั้ง ๆ ที่ค่าตะกั่วที่ถูกระบุจากทางสาธารณสุขว่าจะเป็นอันตรายอยู่ในระดับ 40 มก./เดซิลิตร และหากระดับตะกั่วมีตั้งแต่ 10 มก./เดซิลิตร แต่ละ 1 เดซิลิตร ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เด็กมี ระดับสติปัญญา (ไอคิว) ลดลง 0.25 จุด
          4. มีความพยายามในการบ่ายเบี่ยงสภาพปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยอ้างถึงอาการของโรคพิษตะกั่วเฉียบพลันซึ่งไม่ปรากฎผู้ป่วยในโรคนี้ในหมู่บ้าน แต่ในความเป็นจริงในกรณีทั้งหมดเป็นเรื่องของการเจ็บป่วยของโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง เนื่องจากชาวบ้านสะสมตะกั่วจากอาหารและน้ำทีละเล็กละน้อย แม้มีการให้ยาแก่เด็กบางคนก็เป็นการให้ยาอย่างฉาบฉวยเพียงไม่กี่วันเพื่อสร้างภาพ โดยไม่มีการตรวจรักษาอย่างจริงจัง และไม่มีการติดตามตรวจสอบผลแต่อย่างใด 5. จนถึงปัจจุบันยังมีชาวบ้านเจ็บป่วยและถึงแก่ชีวิตอยู่เป็นระยะๆ

    สภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
           1. บริเวณพื้นที่ปัญหา เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกที่อยู่ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งซึ่งได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก และเคยมีมติจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ 2/2541 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2541 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ยกเลิกการทำกิจกรรมเหมืองแร่ทั้งหมดในบริเวณโดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แต่ก็ยังไม่ได้รับการปฎิบัติตามอย่างจริงจัง เนื่องจากแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีลักษณะงานที่แตกต่างกันและมีหลายส่วนที่ขัดแย้งกัน อาทิ กรมป่าไม้ต้องการพื้นที่คืนเพื่อเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่กรมทรัพยากรธรณีต้องการให้มีการทำเหมืองแร่ต่อไป โดยไม่มีนโยบายระดับสูงให้ถือปฏิบัติร่วมกัน
          2. นอกจากโรงแต่งแร่คลิตี้และเหมืองแร่บ่องามแล้วในพื้นที่ด้านตะวันตกของห้วยคลิตี้ยังเป็นที่ตั้งของเหมืองสองท่อ หรือ เหมืองเคมโก้ ซึ่งเป็นเหมืองแร่ตะกั่วซึ่งดำเนินการในรูปของเหมืองใต้ดินที่มีขนาดใหญ่มาก มีกิจกรรมการแต่งแร่ในบริเวณเหมืองแห่งนี้ด้วย การศึกษาจากกรมทรัพยากรในปี 2538 ถึงระดับตะกั่วในน้ำจากกระบวนการแต่งแร่เกินค่ามาตรฐานน้ำทิ้ง แต่ ยังไม่มีข้อร้องเรียนความเดือดร้อนของชาวบ้านเนื่องจากไม่มีชุมชนที่ใช้น้ำจากลำห้วยที่ผ่านกิจกรรมด้านแร่ แต่อย่างไรก็ตามน้ำจากกระบวนการด้านแร่ของเหมืองนี้ก็ระบายลงลำห้วยและไหลลงลำคลองงูซึ่งเป็นลำห้วยใหญ่ที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์เช่นกัน ในพื้นที่รับน้ำลำคลองงูนี้มีลักษณะธรณีวิทยาเป็นหินปูนรองรับ จึงเกิดภูมิประเทศแบบคาสต์ ที่ปรากฏถ้ำและธารน้ำมุดลงใต้ดินอยู่ทั่วไป ดังนั้นหากตะกั่วมีการปนเปื้อนออกสู่ลำห้วยในบริเวณนี้จึงยากที่จะตรวจสอบและอาจจะไหลออกสู่เขื่อนศรีนครินทร์ได้
          3. เหมืองเคมโก้ หรือเหมืองสองท่อ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาพระฤาษี-บ่อแร่ ซึ่งกรมป่าไม้เตรียมประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงู ใบอนุญาตขอใช้พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมเหมืองแร่ สิ้นสุดเมื่อ 16 มิถุนายน 2535 แต่เหมืองแร่ยังมีการดำเนินการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน 4. ในใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีเหมืองแร่กลุ่มพุจือ ซึ่งไม่มีการดำเนินการมาหลายปีแล้ว ในอดีตมีผลกระทบต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งการตัดถนนผ่านกลางทุ่งใหญ่ การขนส่งแร่ ชุมชนคนงานเหมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างประเทศผิดกฎหมาย ตลอดจนการทำเหมืองแร่เถื่อน ทางกรมป่าไม้กำลังดำเนินการผนวกพื้นที่บริเวณเหมืองพุจือ เข้าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แต่ติดขัดที่กรมทรัพยากรธรณีไม่ให้ความร่วมมือ
          5. ในบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีผลการสำรวจว่าเป็นแหล่งศักยภาพตะกั่วแหล่งใหญ่ของประเทศ มีกลุ่มเหมืองแร่อื่น ๆ ดำเนินการอยู่อีก ได้แก่ กลุ่มเหมืองทางฝั่งตะวันออกของเขื่อนศรีนครินทร์ เหมืองบ่อใหญ่-บ่อน้อยทางด้านใต้ ซึ่งมีลำห้วยไหลผ่านลงไปยังพื้นที่รับน้ำของเขื่อนเขาแหลมทางด้านตะวันตก ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีปัญหาตะกั่วปนเปื้อนเช่นกัน
          6. การมีกิจกรรมด้านแร่ในพื้นที่ป่าตะวันตกที่มีความสำคัญในระดับโลกนี้ เป็นความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรอย่างชัดเจนเนื่องจากการนำชุมชนคนงานจำนวนมากเข้าในพื้นที่ย่อมมีผลกระทบต่อระบบนิเวศของป่าและเพิ่มปัญหาการทำลายป่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
          7. สินแร่ตะกั่วในบริเวณนี้เป็นสินแร่ที่ถูกส่งขายต่างประเทศในลักษณะของแร่ดิบเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่มีการนำแร่มาถลุงเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศโดยตรง จึงนับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรแร่ที่เป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อย่างไม่คุ้มค่า ในภาวะที่ประเทศไทยมีการพัฒนาประเทศไปมากแล้วในขณะนี้ จึงควรพิจารณาทบทวนไม่มีความจำเป็นในการส่งแร่ดิบไปจำหน่าย ควรเก็บแหล่งแร่นี้เป็นทรัพยากรสำรองภายในประเทศเมื่อมีเทคโนโลยีที่เพียงพอในการถลุงแร่ และสามารถจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้วจึงค่อยพิจารณาใช้ทรัพยากรในส่วนนี้
          8. พื้นที่ป่าตะวันตกและชีวิตของประชาชนควรได้รับความคุ้มครองและรับผิดชอบจากหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นนโยบายความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรในบริเวณนี้ต้องได้รับการพิจารณาแก้ไขอย่างเร่งด่วน

    ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหา
           เนื่องจากปัญหานี้สั่งสมมาเนิ่นนานและไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาลงได้ ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการแก้ไขเป็นไปในทิศทางเดียวกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปโดยฉับไวทันต่อปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งด้านสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จะต้องเข้ามาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโดยด่วนดังนี้
           1. อาศัยอำนาจและหน้าที่ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 นายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นมลพิษทั้งต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัย
          2. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เร่งประกาศพื้นที่บริเวณห้วยคลิตี้เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตามอำนาจหน้าที่มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อควบคุม และแก้ไขภาวะมลพิษ ด้วยการดูดตะกอนแร่ตะกั่วและสารพิษอื่นๆออกจากห้วยคลิตี้จนหมด
          3. พื้นที่โดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องปราศจากกิจกรรมเหมืองแร่ โดย
          3.1 เหมืองบ่องาม และโรงแต่งแร่คลิตี้ ไม่มีการต่อประทานบัตรและใบอนุญาตแต่งแร่ โดยให้กรมป่าไม้เข้าควบคุมพื้นที่และดำเนินคดีกับผู้บุกรุกทำผิดกฏหมาย รวมทั้งฟื้นฟูสภาพแวดล้อม
          3.2 กลุ่มเหมืองพุจือ กรมทรัพยากรธรณีต้องยกเลิกประทานบัตร และไม่ออกประทานบัตรใหม่ เพราะไม่มีการดำเนินกิจกรรมเหมืองแร่อย่างต่อเนื่องนานเกิน 1 ปีแล้ว เพื่อให้กรมป่าไม้ผนวกเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรต่อไป
          3.3 เหมืองเคมโก หรือเหมืองสองท่อ ดำเนินกิจการโดยผิดกฎหมายเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ต้องมีการจับกุมดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด และสอบสวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ปล่อยให้มีการกระทำผิดอย่างต่อเนื่องเกือบ 10 ปี รวมทั้งเพิกถอน-ยกเลิกประทานบัตรให้กรมป่าไม้พื้นฟูสภาพเพื่อประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป
          3.4 ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่อื่นๆ โดยรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรดำเนินกิจกรรมเหมืองแร่เพิ่มเติม และกรมป่าไม้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษควรต้องเข้าไปตรวจสอบและดำเนินฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้ปราศจากมลพิษ ปลูกป่าให้กลับคืนสภาพป่าสมบูรณ์ต่อไป รวมถึงการไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรไปใช้เพื่อกิจกรรมเหมืองแร่ด้วยเช่นกัน
          4. กระทรวงสาธารณสุขจะต้องตรวจรักษาชาวบ้านคลิตี้ทุกคนอย่างละเอียด รวมถึงรักษาอาการผิดปกติต่างที่ เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเชื่อ วัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งเรียกกันว่า การรักษาแบบองค์รวม ทั้งจัดหาน้ำ สะอาดปราศจากมลพิษให้ชาวบ้านคลิตี้ในการอุปโภคบริโภค


© 2000-2001 by Karen Studies and Development Centre. Report technical problems to [email protected] . This document was build on: 22/06/2001 . Best view in IE4xor higher,800x600 pix.Font Medium.
Hosted by www.Geocities.ws