การติดเชื้อของฟัน          

 ฟัน เป็นกระดูกชนิดเดียวที่โผล่พ้นออกมาจากเนื้อเยื่ออ่อน มีเหงือกที่เป็นเสมือนเสื้อผ้าห่อหุ้มไว้  จากการที่ต้องทำหน้าที่ทุกวันในการบดเคี้ยว การเสียดสีสึกหรอ การหมักหมมจากเศษอาหาร หรือการรุกรานจากเชื้อโรค ย่อมเกิดขึ้นมากหรือน้อยตามแต่การใช้งานนั้น

            ในช่องปาก มีเชื้อโรคชนิดหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ฟันโดยตรง  ซึ่งแตกต่างไปจากการติดเชื้อของเหงือกอันมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียหลายพันธ์ กระบวนการติดเชื้อของฟัน หรือที่เรียกในเบื้องต้นว่า "ฟันผุ" นั้นมีลำดับขั้นตอนดังนี้

    1.การเกาะตัวที่ผิวฟันของคราบแบคทีเรีย    จากเมือกน้ำลายที่เกาะเข้ากับผิวนอกของฟัน และไม่ได้รับการกำจัดออก ( โดยการแปรงฟันหรือกากอาหารขัดสี) กลุ่มเชื้อโรคจะผนึกเข้ากับเมือกน้ำลาย เกาะแน่นกับผิวหัน ณ ตำแหน่งนั้นๆ ( ที่พบมาก เช่น ตามหลุมร่องบนตัวฟันและผิวฟันที่อยู่ตรงร่องระหว่างฟันต่อฟัน  เมื่อมีเศษอาหาร เช่น น้ำตาล หรืออาหารอื่นๆ ที่เชื้อโรคย่อยสลายได้ เป็นกรด กรดจากการย่อยนั้นจะทำลายผิวฟันทีละน้อยอย่างช้าๆ จนเป็นหลุมดำ ใหญ่เล็กขึ้นกับปริมาณเชื้อโรคและเวลาที่ผ่านไป

    ในช่วงเวลานี้ คนๆนั้นจะไม่มีอาการอะไรเลย ไม่เสียวฟัน ไม่ปวดฟัน เป็นปกติอยู่

    2.การผุกร่อนทำลาย ลามเข้าถึงเนื้อฟัน    เมื่อกรดและเชื้อโรคทำลายผิวเคลือบฟันด้านนอก ( หนาประมาณ 1-2 มม. ดูเรื่อง กายวิภาค)  ที่แข็งมากแล้ว ก็จะลามเข้าถึงเนื้อฟันที่อ่อนกว่า และมีโครงสร้างอันประสาทรับความรู้สึกเข้าถึงเนื้อฟันนี้ได้ การลุกลามผุเข้าถึงเนื้อฟัน จะใช้เวลาน้อยในการทำลาย เพราะเนื้อฟันอ่อนนั่นเอง ตอนนี้การผุจะเร็ว ทำลายเป็นโพรงใหญ่ จึงบางทีเราจะเห็นจุดดำผุภายนอก ไม่ใหญ่นักแต่ภายใต้จุดดำนั้น เป็นโพรงสีเขียวคล้ำใหญ่กว่ามาก  บางคนอาจมีความรู้สึกเสียวๆฟันได้ในระยะนี้  รอยผุจะขยายเข้าใกล้โพรงประสาทฟันทุกที เมื่อเข้าใกล้มาก อาจเริ่มเสียวหนักขึ้น หรือถึงขั้นปวดเล็กน้อยแล้วหายไปได้ ระยะนี้เป็นอันตรายต่อโพรงประสาทฟัน ซึ่งถือเป็นโครงสร้างสำคัญของฟันทั้งหมด

    ช่วงนี้ คนๆนั้นอาจเริ่มเสียวมากหรือน้อยก็ได้ หากทิ้งไว้อีกไม่นานก็จะเริ่มปวดต่อไป

    3.การผุทะลุเข้าโพรงประสาทฟัน    เมื่อไม่มีการกำจัดหรือรักษาการผุนั้น เชื้อโรคจะย่อยสลายเนื้อฟันต่อไป จนกระทั่งพาตนเองทะลุเข้าสู่โพรงประสาทฟัน ก่อให้เกิดภาวะ "การติดเชื้อโพรงประสาทฟัน"   ( ดูกายวิภาคฯประกอบ)  การติดเชื้อโพรคงประสาทฟันนี่เอง ที่เป็นจุดเปลี่ยนของการรักษาฟัน นำมาซึ่งกระบวนการรักษาหลายประการ ที่นำไปสู่การสิ้นเปลืองทรัพย์สินเงินทองมากมาย เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่โพรงประสาทฟัน จะได้รับการต่อสู้จากเซลระบบภูมิคุ้มกันและตัวระบบเอง ก่อให้เกิดภาวะหลายประการตามมา เช่น เกิดเนื้อโพรงประสาทงอกมากขึ้น เกิดอาการอักเสบของโพรงประสาทมากหรือน้อย   แต่ในที่สุดเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันจะค่อยๆถูกทำลายลงจนสลายไปในทึ่สุด สิ่งที่เกิดตามมาคือ หนองและปริมาณเชื้อโรคที่เพิ่มขึ้น การติดเชื้อจะลุกลามต่อไป ตามคลองประสาทฟันจนถึงทางออกจากคลองรากฟัน ที่ปลายรากฟัน ปลายรากฟันนี้อยู่ในกระดูก ดังนั้นกระดูกรอบๆปลายรากฟันจะเกิดการติดเชื้อตามไปด้วย

    ระยะนี้คนๆนั้น จะมีฟันผุเป็นโพรงใหญ่หรือไม่ใหญ่มาก แต่จะรู้สึกปวดแน่นอน บางคนเสียวมาก บางคนกินอาหารยัดลงไปจะปวดแรงจนไม่กล้าเคี้ยวด้านนั้น เมื่อทิ้งไว้อาจหายได้เองบ้าง จากการต่อสู้กับเชื้อโรคของระบบภูมิคุ้มกันในโพรงประสาท  หลังจากโพรงประสาทถูกทำลายหมดอาจคิดว่าหายแล้ว แต่ไม่ใช่ เพราะกำลังจะเริ่มระยะใหม่ของการติดเชื้อ คือกลายเป็นการติดเชื้อเรื้อรัง ที่มีหนองและจะรักษายากขึ้น เมื่อทิ้งไว้ต่อไปฟันจะเหลือแต่ตอหรือรากเสียบคาที่เหงือกให้เห็นเท่านั้น

    4.ระยะกระดูกรอบปลายรากฟันอักเสบ    เมื่อเชื้อโรคจำนวนมากเข้าสู่กระดูกปลายรากฟันได้สำเร็จ และก่อให้เกิดการติดเชื้อของกระดูกปลายรากฟัน ผู้ป่วยจำนวนมากที่มีโรคนี้ จะปวดบวมรุนแรงได้ ทั้งแบบเฉียบพลันหรือเป็นๆหายๆ เชื้อโรคจะค่อยทำลายกระดูก บางคนจะพบถุงน้ำติดเชื้อรอบปลายรากนั้น จากการทำลายเช่นนี้  หากไม่ทำการรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง การติดเชื้อจะลุกลามต่อไปจนกระดูกอักเสบไกลออกไปจากฟันซี่ที่เป็นต้นเหตุ ก่อให้เกิดโรคกระดูกขากรรไกรติดเชื้อ ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงขึ้นอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำอยู่แล้ว การติดเชื้อของกระดูกขากรรไกรดังกล่าวจะเร็วและรุถนแรงมากกว่าคนปกติทั่วไป  ( ดูรายละเอียดในเรืองกระดูกขากรรไกรติดเชื้อ)

    ในฟันหลังบน ที่ใกล้กับโพรงอากาศข้างจมูก หรือไซนัส เมื่อปลายรากฟันซี่นั้นติดเชื้อ โอกาสที่การติดเชื้อจะลามไปที่โพรงอากาศหรือไซนัส จะเป็นไปได้มากทำให้เกิดไซนัสอักเสบตามมาได้ในภายหลัง

    การติดเชื้อหรือการผุ ของฟันแต่ละซี่ จะไม่ส่งผลให้ให้ฟันซี่ติดกันผุตาม การผุจะเกิดจากเชื้อโรคที่เกาะติดฟันซี่นั้นอยู่ เท่านั้น แต่เมื่อการติดเชื้อลามถึงกระดูกแล้ว จะมีโอกาสที่ลุกลามไปที่กระดูกรอบปลายรากฟันซี่ใกล้เคียงได้ หรือหากเกิดถุงน้ำที่ติดเชื้อดังที่กล่าวมา แล้วถุงน้ำขยายตัวออกทำลายกระดูก โอกาสที่ถุงน้ำจะขยายตัวไปถึงรากฟันซี่ที่ดีใกล้เคียงกัน และก่อให้ฟันดีๆซี่นั้นติดโรค ก็เป็นไปได้

การติดเชื้อของเหงือก

    เหงือกเป็นอีกอวัยวะหนึ่ง ที่คลุกเคล้าอยู่กับเชื้อโรคในช่องปากตลอดเวลา เหมือนคนที่ขับรถบนท้องถนนทุกวันและทุกเวลา โอกาสจะเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บย่อมเป็นไปได้มาก เหงือกก็เช่นกัน ดังนั้นเหงือกจึงต้องมีการป้องกันตนเองที่ดี เช่น มีกายวิภาคที่แข็งแรงและเหมาะสมต่อหน้าที่ตนเอง เกาะแน่นกับกระดูกรอบรากฟันโดยยึดตนเองเข้าอีกทีกับคอฟัน ซ้ำยังต้องมีร่องเหงือกตื้นๆประมาณ 2-3 มม.เพื่อทำให้ขอบเหงือกเคลื่อนไหวได้สะดวก น้ำลายและเหงือกเป็นสิ่งที่คู่กัน น้ำลายจะหล่อเลี้ยงให้เหงือกมีสภาพที่ดี ที่สดชื่น และเป็นภูมิคุ้มกันคอยป้องกันเหงือกด้วย

    ขณะเดียวกัน ในน้ำลายก็มีสารและการตกตะกอนใ้ห้เกิดหินน้ำลายหรือหินปูนเกาะตามคอฟัน เป็นอันตรายต่อเหงือกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเกาะของหินน้ำลายมีเชื้อโรคปะปนอยู่ การติดเชื้อของเหงือกจะเกิดขึ้น ลุกลามขยายตัวต่อไป เรียกว่าภาวะ "เหงือกอักเสบ"

    ภาวะเหงือกอักเสบระยะต้นจนถึงระยะรุนแรง มีขั้นตอนดังนี้คือ

    1.การเกาะติดของคราบแบคทีเรียและเชื้อก่อโรค       

         ในแต่ละวัน น้ำลายจะถูกสร้างและหลั่งออกมาจากท่อน้ำลายมากบ้างน้อยบ้างตามสภาพของน้ำในร่างกาย น้ำลายจะมีเมือกและเกาะติดไปตามผิวฟัน คอฟัน ผิวรากฟันที่อาจโผล่พ้นเหงือก ตามสภาพของแต่ละคน เมือกเหล่านี้เป็นตัวกลางอย่างดีสำหรับการเกาะจับของหินน้ำลายและเชื้อโรค เมื่อจับตัวเป็นคราบ จะเห็นเป็นสีขาวออกเหลือกตามคอฟันหรือหลุมร่องฟัน เรียกว่า  คราบเชื้อโรค [ plaque] คราบเชื้อโรคนี้จะมีผลให้ขอบเหงือกที่อยู่ติดกันเกิดการอักเสบได้ เรียกว่าเหงือกอักเสบ  อาการของเหงือกอักเสบคือ ขอบเหงือกแดงถึงแดงจัด เจ็บ อาจมใีเลือดออกได้  สักหลายวันจะหายเจ็บเองได้โดยที่การอักเสบนั้นยังคงอยู่และแปรเป็น การอกัเสบที่เรื้อรังต่อไป

    2.การเกาะติดของหินน้ำลายและเชื้อก่อโรค

        ที่คราบเชื้อโรคนี้เองจะเป็นที่ตกตะกอนเกาะตัวของหินน้ำลาย  การเกาะจับตกตะกอนของหินน้ำลายส่วนใหญ่จะพบตามคอฟัน เว้นแต่กรณีที่คนๆนั้นไม่ใช้ฟันเคี้ยวอาหารต่อเนื่องเป็นเวลานานก็จะพบหินน้ำลายเกาะตามหลุมร่องและตัวฟันด้านที่ไม่ใช้เคี้ยวนั้น

        หินน้ำลายเมื่อเกาะมากเข้าผิวจะหยาบหรือแหลม และเสียดสีผิวของเหงือกได้ เมื่อหินน้ำลายมีเชื้อก่อโรคจัวตัวอยู่ด้วย ก็จะชักนำภาวะการติดเชื้อให้เกิดขึ้นแก่เหงือกได้ เรียกว่า เหงือกอักเสบร่วมกับมีหินน้ำลาย อาจคันเหงือก เหงือกบวมช้ำ เหงือกฉุๆ  มีเลือดออก อาจปวดได้โดยบอกไม่ถูกว่าปวดแน่ๆที่ตรงไหน

    3.การทำลายกระดูกรอบรากฟันและการเกิดร่องลึกปริทันต์

       เมื่อการอักเสบของเหงือกได้ลุกลามต่อไปโดยไม่ได้รักษาหรือกำจัดสาเหตุออกไป เชื้อก่อโรคจะลามเข้าสู่ร่องเหงือกรอบๆคอฟันและรากฟัน ลึกเข้าไปเรื่อยๆจนสามารถทำลายเนื้อเยื่อที่ยึดรากฟันไว้กับกระดูก จากนั้นข้าถึงกระดูกและทำให้ขอบกระดูกเริ่มละลาย เมื่อกระดูกถูกเชื้อโรคทำลายมากขึ้น จะเริ่มมองเห็นภาวะกระดูกรอบรากฟันละลายตัวจากฟิล์มเอกซ์เรย์  

    เราเรียกการติดเชื้อในระยะนี้ว่า โรคปริทันต์ หรือเหงือกอักเสบระยะรุนแรง

    เมื่อยังไม่ได้รับการรักษาอีก เชื้อโรคจะเซาะลึกต่อไป ก่อให้เกิดร่องลึกปริทันต์ ซึ่งเป็นที่หมักหมมของอาหารและเชื้อโรครุนแรงหลายชนิด กระดูกจะถูกทำลายไปตามลำดับ พร้อมกับอาการฟันโยกมากขึ้นเรื่อยๆ เคี้ยวเจ็บ เหงือกบวม  มีเลือดออกมาก หรือมีหนองจนแก้ม เพดานปาก หรือริมฝีปากบวมเจ่อ แล้วแต่ตำแหน่งที่ฟันซี่นั้นๆตั้งอยู่

    5.การทำลายกระดูกที่มากเกินกว่าการฟื้นฟูสภาพ

    สภาพที่เชื้อโรคได้ทำลายกระดูกรอบรากฟันมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวรากฟันซี่นั้นๆ มีความหมายว่า โรคปริทันต์ได้เข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว อาการที่เกิดขึ้นคือ ปวดเป็นๆหายๆ เคี้ยวอาหารไม่ได้ แม้จะเป็นแอาหารอ่อน เหงือกบวมต่อเนื่องเรื้อรัง ฟันโยกไปมาเหมือนไม้ปักเลน หินปูนมากเกรอะกรัง แปลว่ากระดูกรอบๆรากฟันถูกทำลายเกือบจะหมดแล้ว  ในระยะเช่นนี้สิ่งที่จะกระทำได้ก็คงเป็นการถอนฟันออก เพื่อกำจัดการติดเชื้อนั้นๆ

 

    ต้องการติดตามว่าจะรักษาอย่างไรคลิกที่ การรักษา

 กลับบ้านหน้าแรก / ประวัติคลินิก / รู้จักกับเรา / กายวิภาคช่องปาก / โรคช่องปากขากรรไกร / การรักษา / เครื่องมือดูแลสุขภาพช่องปาก / ท่านถามเราตอบ / สมัครสมาชิก / WEBSITE COMPUTER

 

Hosted by www.Geocities.ws

1