กลุ่มโรคหรือความผิดปกติ ของผิวลิ้น

1. ผิวลิ้นหนา ขนลิ้นยาว คล้ายเคลือบสีขาวหรือดำ

               ตคความหมาย  : เป็นความผิดปกติ อันเนื่องมาจากการงอกยาวเกิน ของขนลิ้นชนิดหนึ่ง ซึ่งปกติยาวไม่เกิน 3 มิลลิเมตร  ภาวะขนลิ้นยาวนี้ทำให้สีจากสารอาหารที่กินเข้าไปเกาะติดได้ง่าย

                           สาเหตุ     :  ไม่กระจ่างชัดนัก อาจเกิดจากขนลิ้นสร้างชั้นของเซลมากขึ้น อาจเกิดจากขนลิ้นสร้างสารเคอราตินมากขึ้น อาจเกิดจากคนๆนั้นใช้น้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์บ้วนปากทุกวัน  อาจมาจากการสะสมความสกปรกเนื่องจากไม่รักษาสุขภาพช่องปาก อาจมาจากการสูบบุหรี่อย่างหนักแล้วเกิดการตอบสนองของขนลิ้น 

                            อาจมาจากช่องปากมีความเป็นกรดสูง ทำให้ไปขัดขวางกระบวนการขับสลายของเซลขนลิ้น จึงมีการสะสมบนผิวลิ้นพอกพูนขึ้น หรืออาจไม่พบสาเหตุใดๆที่สำคัญเลยก็ได้ แต่มีขนลิ้นยาวหนา

                ลักษณะที่พบ :  จะพบบนตัวผิวลิ้นด้านที่หันเข้าหาเพดานปาก บางคนอาจมีขนลิ้นยาวถึง 2 ซม.หรือ 20 มิลลิเมตร ( ปกติขนลิ้นยาว 3 มม.)  การเกาะติดของสีที่ขนลิ้นยาวๆนั้นอาจมีตั้งแต่สีขาวถึงสีเหลือง สีเทาหรือดำ  สีน้ำตาลเข้มถึงดำ ก็มี ขึ้นกับว่าคนๆนั้นได้สาร หรืออาหารใดๆเข้าไปมากๆ  ในกอของขนลิ้นมักจะมีแบคทีเรียสะสมอยู่จำนวนหนึ่ง ที่อาจก่อโรคได้ บางคนอาจมีอาการรับรสไม่ดี ไม่อยากอาหาร รำคาญหรือรู้สึกไม่สบายลิ้น บางคนอาจรู้สึกคันๆลิ้นก็มี

                การรักษา :  1.รักษาสาเหตุ ว่ามาจากอะไร

                                2.รักษาความสะอาด ใช้แปรงสีฟันขนอ่อน แปรงลิ้นพร้อมการแปรงฟัน

                                ( ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ในการรักษา )

2. ลิ้นหยัก

            ความหมาย  :  ลิ้นมีรอยหยักด้านข้าง ตามรูปร่างของฟันซ้ายและขวา สาเหตุอาจมาจากเจ้าของลิ้นนั้นกลืนผิดปกติ ชอบใช้ลิ้นดุนฟันขณะที่กลืน หรือ ลิ้นมีขนาดใหญ่กว่าพื้นช่องปาก จนคับทำให้ขอบลิ้นดันผิวฟันด้านในตลอดเวลาจึงเกิดรอยหยักด้านข้างลิ้น หรือ ลิ้นบวมอักเสบหลายวันก็จะไปดันผิวฟันจนเกิดรอยหยักชั่วคราว เมื่อการอักเสบหายไป รอยหยักก็หายไปด้วย

            ลักษณะที่พบ  :  ด้านข้างลิ้นมีแอ่งหลายๆแอ่ง ที่เข้าได้กับรูปร่างของฟันพอดี แต่ไม่มีอาการใดๆ

            การรักษา  :  ไม่ต้องรักษา ยกเว้นแต่ลิ้นมีโรคหรือมีการอักเสบ

 

3. ผิวโคนลิ้นอักเสบ

            ความหมาย  : ที่โคนลิ้นมีตุ่มลิ้นขนาดใหญ่กว่าขนลิ้นด้านหน้าอยู่หลายตุ่ม ตุ่มเหล่านี้มีเนื้อเยื่อภายในของระบบน้ำเหลืองอยู่ด้วย เมื่อเกิดการอักเสบหรือเสียดสีแล้วชอกช้ำจากอาหารที่กลืนเข้าไป ก็อาจบวมโตขึ้นมา จนเจ็บได้ หรือกระทั่งอาจติดเชื้อร่วมกับการติดเชื้อของทางเดินหายใจ คอ หรือต่อมทอนซิล ก็ได้

            ลักษณะที่พบ  :  มีอาการเจ็บคอ  กลืนแล้วเจ็บ คอแดง  ปากคอรู้สึกมีรสปร่าๆ  หากเป็นเรื้อรัง อาการเหล่านี้อาจกินเวลาเป็นปีได้  จะตรวจพบตุ่มที่โคนลิ้นบวมโต แดง

            การรักษา     :  กำจัดสาเหตุที่เสียดสี เช่น ฟันคม ขอบฟันปลอมที่หลวมเสียดสี และรักษาด้วยยา

 

4. ลิ้นแผนที่

           ความหมาย  :  ไม่รู้สาเหตุ อาจเป็นได้ทั้งมาจาก การติดเชื้อ อารมณ์แปรปรวน ขาดสารอาหาร กรรมพันธุ์ หรือเกิดร่วมกับโรคของระบบร่างกายอื่นๆ เช่น โรคเลือด หอบหืด โรค eczema  บนหลังลิ้นจะมีพื้นที่ของที่ราบ อันปราศจากขนลิ้น และมีพื้นที่ของขนลิ้นแซมสลับกันไป 

           ลักษณะที่พบ  :  บนหลังลิ้นหรือด้านข้างของลิ้น จะมีที่เรียบเลี่ยนไม่มีขนลิ้น  สลับกับที่มีขนลิ้น มองดูคล้ายแผนที่  แผนที่ดังกล่าวจะเกิดไม่มีตำแหน่งแน่นอน วันนี้เป็นรูปแผนที่แบบหนึ่ง ชั่วโมงหน้า วันรุ่งขึ้น หรือเดือนหน้าอาจสลับเป็นแผนที่อีกแบบหนึ่งได้   โดยทั่วไปเจ้าของลิ้นจะไม่มีอาการใดๆ แต่บางคนอาจรู้สึกการรับรสไม่ดีนัก แสบร้อนลิ้นเมื่อกินอาหารเผ็ด

            มีบางคน ที่เกิดร่วมกับริมฝีปากแผนที่ คือ ริมฝีปากมีการลอกเลี่ยน สลับกับผิวปกติของริมฝีปาก

            การรักษา  :  ไม่ต้องรักษา หากไม่มีอาการ หรือ หากมีอาการ ( ดูเรื่องการรักษาด้วยยา )

 

5. ลิ้นสูบบุหรี่

             ความหมาย  :  เป็นรอยโรคบนลิ้น ที่เกิดในคนสูบบุหรมากๆจนเป็นนิสัย ( ในคนสูบบุหรี่อาจพบรอยโรคหลายตำแหน่ง เช่น ที่ต่อมน้ำลายของเพดาน แก้ม หรือลิ้น)

            ลักษณะที่พบ  :  เป็นหลุมเล็กๆ รูปครึ่งวงกลม ลักษณะสีขาว กระจายทั่วไปบนหลังลิ้น ดูไปคล้ายๆผิวลูกกอล์ฟ บางคนเชื่อว่า รอยโรคเช่นนี้อยู่ระหว่างรอยโรคสีขาวที่เกิดจากผิวลิ้นหนาตัวขึ้น กับมะเร็งเยื่อบุผิวช่องปาก ชนิดหนึ่ง

            การรักษา  :  ลดการสูบบุหรี่ รักษาความสะอาด พบทันตแพทย์

6. ผิวกลางลิ้นอักเสบแบบรูปสีเหลี่ยม

            ความหมาย  :  รอยที่เกิดจากการฝ่อลีบของขนลิ้น เกิดบริเวณหลังลิ้น ในแนวเส้นกลางลิ้นด้านหน้า ไม่ใช่ด้านโคนลิ้น

            สาเหตุ  :  เดิมเชื่อกันว่าเกิดจากการอักเสบ ต่อมากลับเชื่อว่า เกิดจากความผิดปกติในการเจริญเติบโตของขนลิ้น จนปัจจุบันพบว่าเชื้อราชนิดหนึ่ง และหรือร่วมกับการสูบบุหรี่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฝ่อลีบของขนลิ้นบริเวณนี้

            ลักษณะที่พบ  :  รอยเรียบลื่น ที่ปราศจากขนลิ้น นูนเล็กน้อย เกิดตรงใจกลางของหลังลิ้น รูปร่างของรอยโรคคล้ายสี่เหลี่ยมเพชร ขนาด 1-2 ซม. หลายคนไม่มีอาการ บางคนมีอาการไม่สบายลิ้น หรืออาจแสบเมื่อกินอาหารรสจัด  อาจจำเป็นต้องตรวจเพาะเชื้อ หาเชื้อราแคนดิดาด้วย 

            การรักษา  :  หากพบเชื้อรา รักษาเชื้อรา รักษาความสะอาด

 กลับบ้านหน้าแรก / ประวัติคลินิก / รู้จักกับเรา / กายวิภาคช่องปาก / โรคช่องปากขากรรไกร / การรักษา / เครื่องมือดูแลสุขภาพช่องปาก / ท่านถามเราตอบ / สมัครสมาชิก / WEBSITE COMPUTER

 

 

Hosted by www.Geocities.ws

1