องค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้

 

  • ประวัติหน่วยงาน
 ประวัติความเป็นมา
องค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้ ได้รับการยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลและมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.๒๕๓๗ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๘ โดยมี  นายวัฒนา  สิตรานนท์  กำนันตำบลเสม็ดใต้  เป็นประธานกรรมการบริหาร  (โดยตำแหน่ง) คนแรก  และในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง คือ นายกิตติพงศ์  สีเหลือง  เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล  คนปัจจุบัน
 
ตำบลนี้สภาพพื้นที่แต่เดิมเป็นเช่นเดียวกับตำบลเสม็ดเหนือ คือ มีต้นเสม็ดขึ้นเป็นจำนวนมากจะมีลักษณะเป็นป่าชายเลนทำให้เกิดดินเปรี้ยวเป็นส่วนมาก สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนาและทำสวนแต่การผลิตข้าวยังมีผลผลิตต่ำมากเพราะดินเปรี้ยว จุดเด่นที่สำคัญคือในเขตพื้นที่ตำบลเสม็ด  ก็คือจะมีต้นเสม็ดขึ้นตามป่าชายเลนในสมัยก่อนเป็นจำนวนมากจึงเป็นที่เรียกขานในนามตำบลเสม็ด ภายหลังอำเภอบางคล้าได้ขยายการปกครอง  แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ตำบลคือ ตำบลเสม็ดเหนือและตำบลเสม็ดใต้ โดยใช้คลองวังซุงเป็นเส้นแบ่งเขต  เป็นเหตุให้เกิดตำบลเสม็ดใต้ขึ้นใหม่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งตำบลเสม็ดใต้เป็นตำบลหนึ่งที่อยู่เขตอำเภอบางคล้าจังหวัดฉะเชิงเทรา   ซึ่งแบ่งเขตพื้นที่การปกครองออกเป็น  6  หมู่บ้าน คือ
 
 หมู่ที่ 1   บ้านวังสีทอง
 
บ้านวังสีทอง (วางสี่กอง,วังสีกอง) หรือบ้านลาดปลาเค้าเดิมนี้ ตั้งขึ้นราวปีพ.ศ.2454 โดยมีนายอำเภอ(อร่ามรณชิต) ในสมัยนั้นเป็นผู้ตั้งสภาพเดิมของหมู่บ้านเป็นทุ่งนา มีหนองน้ำธรรมชาติอยู่ตามพื้นที่ราบลุ่มทั่วไป และเป็นที่มีปลาเค้าชุกชุมกว่าที่แห่งอื่น  คนทั่วไปจึงเรียกบริเวณนี้ว่า“บ้านลาดปลาเค้า” ส่วนชื่อบ้านวังสีทอง นั้นเล่ากันว่าตามหนองบึงนั้นเต็มไปด้วยหญ้า  คนที่มาหาปลาเวลาจะทำการจับปลาต้องถกหญ้าขึ้นมากองรวมกันเป็นกอง ๆ ตามมุมหนอง  รวม 4  กอง  จึงมีชื่อเรียก  “วางสี่กอง”  ต่อมากลายเป็น  “วังสีกอง”  และเป็น “วังสีทอง”  ในปัจจุบัน
 
 หมู่ที่ 2   บ้านหนองโสน
 
หมู่บ้านนี้ตั้งขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏ มีเพียงคำเล่าสืบต่อกันมาถึงชื่อเรียกหมู่บ้านว่า  พื้นที่ตั้งในหมู่บ้านมีหนองน้ำ  และในหนองน้ำนั้นเต็มไปด้วยต้นโสน   จึงเรียกชื่อหนองน้ำในหมู่บ้านว่า “หนองโสน”  และเรียกชื่อหมู่บ้านตามชื่อหนองน้ำว่า “บ้านหนองโสน”
 
 หมู่ที่ 3   บ้านหนองโพรง
 
หมู่บ้านนี้ก็เช่นเดียวกับหมู่บ้านอื่น  คือไม่ปรากฏหลักฐานว่าตั้งขึ้นเมื่อใด  สภาพเดิมบริเวณหมู่บ้านมีหนองน้ำใหญ่ เรียกกันมาว่า “หนองโพรง”  และเรียกชื่อหมู่บ้านตามชื่อหนองน้ำนั้นว่า “บ้านหนองโพรง” (นายสมศักดิ์  เปลี่ยนเจริญ  จากการสัมภาษณ์  เมื่อ 15 มีนาคม 2550)
 
 หมู่ที่ 4   บ้านสนามช้าง
 
หมู่บ้านนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน สภาพหมู่บ้านเดิมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีบ้านเรือนตั้งกระจัดกระจายอยู่ตามริมคลองไม่กี่หลังคาเรือน ที่ใกล้หมู่บ้านมีหนองน้ำใหญ่ลึกมาก  มีน้ำขังตลอดปี  เป็นสถานที่ที่ช้างมากินน้ำและหากิน บริเวณริมหนองน้ำมีผู้พบเห็นรอยเท้าช้างและขี้ช้างมากมาย คนทั่วไปเลยเรียก “หนองตีนช้าง” บ้าง “หนองขี้ช้าง” บ้าง  ต่อมาได้เปลี่ยนคำเรียกชื่อหนองน้ำและหมู่บ้านใหม่ว่า “หนองสนามช้าง”  และ “บ้านสนามช้าง”  ด้วยคำเรียกเดิมไม่สุภาพ
 
 หมู่ที่ 5   บ้านวังโคลน
 
หมู่บ้านนี้ตั้งขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน สภาพเดิมบริเวณใกล้หมู่บ้านมีวังน้ำใหญ่  เมื่อถึงหน้าแล้ง  น้ำจะแห้งงวดเป็นโคลนตมไปทั่ว  จึงเรียกวังนี้ว่า “วังโคลน”  และเรียกชื่อหมู่บ้านตามชื่อวังน้ำว่า “บ้านวังโคลน”  (นายวัฒนา สิตรานนท์   จากการสัมภาษณ์  เมื่อ 15 มีนาคม 2550)
 
 หมู่ที่ 6   บ้านดอนทับไก่
 
หมู่บ้านนี้มีการก่อตั้งมานานนับร้อยกว่าปี ส่วนชื่อเรียกหมู่บ้านสัมพันธ์กับตำนานพื้นบ้านที่คนรุ่นก่อนเล่าสืบต่อกันมาว่า  พระรถซึ่งอยู่ที่เมืองพนัสนิคมชอบการชนไก่ ต้องเดินทางผ่านหมู่บ้านนี้เพื่อไปชนไก่ที่เมืองปราจีนบุรี มักจะมาแวะพักที่บริเวณหมู่บ้านนี้  ชาวบ้านใกล้เคียงจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “ดอนพักไก่”  ต่อมาเพี้ยนเป็นหมู่บ้าน “ดอนทับไก่”
 
 ความหมายและตราสัญลักษณ์ 
 
  1. ตราเครื่องหมายเป็นรูปวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 5 เซนติเมตร 

  2. ขอบเบื้องบน “ อบต.เสม็ดใต้ ” ขอบเบื้องล่าง “ อ.บางคล้า  จ.ฉะเชิงเทรา ” 

  3. ตอนกลางของเครื่องหมายมีสัญลักษณ์   ดังนี้ 

    • รูปช้าง หมายถึง ประวัติความเป็นมาของตำบลเสม็ดใต้ซึ่งเล่าต่อกันมาและช้างเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงแข็งแรง ความยิ่งใหญ่และมีบารมีคู่บ้านคู่เมือง 

    • น้ำ หมายถึง ประชาชนมีอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำและประกอบกับในเขตตำบลเสม็ดใต้มีแหล่งน้ำ ลำคลองตามธรรมชาติและคลองส่งน้ำของชลประทานไหลผ่านหลายสาย 

    • พันธ์พืช หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ของดินและประชาชนมีอาชีพการเกษตร 

    • กุ้ง , ปลา หมายถึง ปัจจุบันประชาชนมีอาชีพเลี้ยงกุ้งและปลา และในพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ 

      ความหมายโดยรวมแล้ว หมายถึง
       
      ความมั่นคงแข็งแรงและความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีอาชีพหลัก คือการเกษตร
 
 คำขวัญองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้
 

คลองวังซุงสายเลือดใหญ่     พระคู่ใจหลวงพ่อถึก 
ล้ำลึกโบสถ์สแตนเลส       เกษตรกรรมนำชีวิต

 


 

              



All Site Contents Copyright © by Thidarat Kuansawat All Rights Reserved.