ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. สรณคมน์

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. สรณคมน์
ว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ๑

ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓
ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓
ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓

สรณคมน์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สรณะ หมายถึงสิ่งที่ทำลาย ขจัดปัดเป่า บรรเทาทุกข์ ภัย และกิเลส การยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
ก็เพื่อเป็นเครื่องช่วย ทำลาย ขจัดปัดเป่าทุกข์ ภัยและกิเลสต่าง ๆ ในจิตใจให้หมดสิ้น (ขุ.ขุ.อ. ๑/๖-๗)
อนึ่ง การเปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัย ถือเป็นการบรรพชาและอุปสมบทในสมัยต้นพุทธกาล เรียกว่า
ติสรณคมนูปสัมปทา (การอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์) (วิ.อ. ๓/๓๔/๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๒. ทสสิกขาบท
๒. ทสสิกขาบท
ว่าด้วยสิกขาบท๑ ๑๐ ประการ

๑. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของมิได้ให้
๓. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากพฤติกรรมอันมิใช่
พรหมจรรย์๒
๔. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ
๕. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท๓ คือเจตนางดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุรา
และเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท


เชิงอรรถ :
๑ สิกขาบท แยกศัพท์อธิบายดังนี้ สิกขา + บท คำว่า สิกขา หมายถึงสิ่งที่จะต้องศึกษา ได้แก่ ศีล สมาธิ
และปัญญา คำว่า บท หมายถึงอุบายเครื่องบรรลุ (ปชฺชเต อเนนาติ ปทํ) หมายถึงพื้นฐาน(มูละ) หมายถึง
ที่อาศัย(นิสสยะ) และหมายถึงที่ตั้ง(ปติฏฐะ) ดุจในคำว่า “สีลํ นิสฺสาย สีเล ปติฏฺฐาย สตฺต โพชฺฌงฺเค
ภาเวนฺโต พหุลีกโรนฺโต” เป็นต้น (สํ.ม. ๑๙/๑๘๒/๕๘) ดังนั้น สิกขาบท จึงหมายถึงอุบายเครื่องบรรลุสิ่งที่
จะต้องศึกษา และหมายถึงพื้นฐาน ที่อาศัย หรือที่ตั้งแห่งสิ่งที่จะต้องศึกษา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา
คำว่า “สิกขาบท” มีความหมายเท่ากับคำว่า “เวรมณี” ดังบทวิเคราะห์ว่า “เวรมณี เอว สิกฺขาปทํ”
จึงมีพระบาลีว่า “เวรมณีสิกฺขาปทํ” แปลว่า สิกขาบทคือเจตนางดเว้น คำว่า “เจตนางดเว้น” หมายถึงการงด
(วิรัติ) การไม่ทำ(อกิริยา) การไม่ต้องอาบัติ(อนัชฌาบัติ) การไม่ล่วงละเมิดขอบเขต(เวลาอนติกกมะ)
รวมถึงการกำจัดกิเลสด้วยอริยมรรคที่เรียกว่า เสตุ (เสตุฆาตะ) (ดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๗๐๔/๔๔๗)
ในที่นี้หมายถึงศีล ๑๐ สำหรับสามเณร เป็นต้น (ขุ.ขุ.อ. ๒/๑๕-๑๗) และดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๐๕-๑๐๖/
๑๖๘-๑๖๙
๒ พฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์ หมายถึงเจตนาที่จะเสพเมถุนธรรม(พฤติกรรมของคนคู่กัน) หรือเจตนาที่
แสดงออกทางกายโดยมุ่งหมายจะเสพเมถุนธรรม (ขุ.ขุ.อ. ๒/๑๗)
๓ อรรถกถาอธิบายว่า สุราและเมรัยเป็นของมึนเมา และมีสิ่งอื่นอีกที่เป็นของมึนเมา (ตทุภยเมว (สุราเมรยํ)
มทนียฏฺเฐน มชฺชํ, ยํ วา ปนฺมฺปิ กิฺจิ มทนียํ) จึงอาจแปลตามนัยนี้ว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท
คือ เจตนางดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย และของมึนเมาอันเป็นเหตุแห่งความประมาท (ขุ.ขุ.อ. ๒/๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๒. ทสสิกขาบท

๖. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการบริโภคอาหาร
ในเวลาวิกาล๑
๗. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง
บรรเลงดนตรี และดูการละเล่นอันเป็น
ข้าศึกต่อกุศล๒
๘. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการทัดทรงประดับ
ตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอมและ
เครื่องลูบไล้๓
๙. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการนอนบนที่นอน
สูงและที่นอนใหญ่
๑๐. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการรับทองและเงิน

ทสสิกขาบท จบ

เชิงอรรถ :
๑ เวลาวิกาล ในที่นี้หมายถึงเวลาที่เลยเที่ยงวันไป (ขุ.ขุ.อ. ๒/๒๗)
๒ คำว่า “นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนา” ในสิกขาบทนี้ แปลได้ ๒ นัย คือ นัยที่ ๑ แปลว่า “การดูการละเล่นอัน
เป็นข้าศึกต่อกุศลคือการฟ้อนรำ ขับร้อง และบรรเลงดนตรี” (ดู ที.สี. (แปล) ๙/๑๓/๖ ประกอบ) นัยที่ ๒
แปลว่า “การฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี และการดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล” ในที่นี้แปล
ตามนัยที่ ๒ คำว่า “ทัสสนา” มิได้จำกัดความหมายเพียงการดู การเห็นเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง
การฟัง การได้ยินด้วย คำว่า “ข้าศึกต่อกุศล” แปลจากคำว่า “วิสูกะ” หมายถึงเป็นเหตุทำลายกุศลธรรม
ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้น และหมายถึงเป็นข้อประพฤติที่ไม่เหมาะสมต่อพระพุทธศาสนา
ในสิกขาบทนี้พึงทราบนัยเพิ่มเติมอีก ๒ นัย คือ (๑) จะจัดเป็นการล่วงละเมิดสิกขาบทได้ต่อเมื่อ
เข้าไปดูเพราะประสงค์จะเห็นเท่านั้น แต่ถ้าบังเอิญการละเล่นนั้นผ่านมาให้เห็นเองทางที่ตนยืน นั่ง หรือ
นอนอยู่ ไม่จัดเป็นการล่วงละเมิด จัดเป็นเพียงความเศร้าหมอง (๒) เพลงขับร้อง(คีตะ)ที่ประกอบด้วย
ธรรม ถือเป็นความเหมาะสม ไม่ห้าม แต่ธรรมที่ประกอบเป็นเพลงขับร้อง ถือเป็นความไม่เหมาะสม
(ขุ.ขุ.อ. ๒/๒๗-๒๘)
๓ ดู สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๐๖/๓๐๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๓. ทวัตติงสาการ
๓. ทวัตติงสาการ
ว่าด้วยอาการ ๓๒
ในร่างกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต๑
หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม๒ ปอด
ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา
เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร๓ และมันสมอง
ทวัตติงสาการ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไต แปลจากคำว่า “วกฺก” (โบราณแปลว่า ม้าม) ได้แก่ ก้อนเนื้อ ๒ ก้อนมีขั้วเดียวกัน รูปร่างคล้ายลูก
สะบ้าของเด็กๆ หรือคล้ายผลมะม่วง ๒ ผลที่ติดอยู่ในขั้วเดียวกัน มีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัวใจ
แล้วแยกออกห้อยอยู่ทั้ง ๒ ข้าง (ขุ.ขุ.อ. ๓/๔๓), พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕
ให้บท นิยามคำว่า “ไต” ว่า “อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูกสันหลัง ทำหน้าที่
ขับของเสียออกมากับน้ำปัสสาวะ”, Buddhadatta Mahathera, A. Concise Pali-English Dictionary,
1985, (224), และ Rhys Davids, T.W. Pali-English Dictionary, 1921-1925, (591) ให้ความหมาย
ของคำว่า “วกฺก” ตรงกันกับคำว่า “ไต” (Kidney)
๒ ม้าม แปลจากคำว่า “ปิหก” ตาม (ขุ.ขุ.อ. ๓/๔๕) (โบราณแปลว่า ไต), พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้บทนิยามไว้ว่า “อวัยวะภายในร่างกาย ริมกระเพาะอาหารข้างซ้ายมีหน้าที่ทำลายเม็ด
เลือดแดง สร้างเม็ดน้ำเหลืองและสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย”
๓ มูตร หมายถึงน้ำปัสสาวะที่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะ (ขุ.ขุ.อ. ๓/๕๗, วิสุทฺธิ. ๑/๒๑๓/๒๘๘) และดู องฺ.ฉกฺก.
(แปล) ๒๒/๒๙/๔๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๔. สามเณรปัญหา
๔. สามเณรปัญหา
ว่าด้วยการถามปัญหากับโสปากสามเณร
๑. อะไรชื่อว่า หนึ่ง
ที่ชื่อว่า หนึ่ง ได้แก่ สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร๑
๒. อะไรชื่อว่า สอง
ที่ชื่อว่า สอง ได้แก่ นามและรูป
๓. อะไรชื่อว่า สาม
ที่ชื่อว่า สาม ได้แก่ เวทนา ๓๒
๔. อะไรชื่อว่า สี่
ที่ชื่อว่า สี่ ได้แก่ อริยสัจ ๔
๕. อะไรชื่อว่า ห้า
ที่ชื่อว่า ห้า ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ๕๓
๖. อะไรชื่อว่า หก
ที่ชื่อว่า หก ได้แก่ อายตนะภายใน ๖๔
๗. อะไรชื่อว่า เจ็ด
ที่ชื่อว่า เจ็ด ได้แก่ โพชฌงค์ ๗

เชิงอรรถ :
๑ อาหาร หมายถึงปัจจัยที่เป็นเหตุให้สัตว์ดำรงชีพอยู่ได้ ได้แก่ อาหาร ๔ คือ (๑) กวฬิงการาหาร
(อาหารคือคำข้าว) (๒) ผัสสาหาร(อาหารคือผัสสะ) (๓) มโนสัญเจตนาหาร(อาหารคือมโนสัญเจตนา)
(๔) วิญญาณาหาร(อาหารคือวิญญาณ) ยกเว้นอสัญญีสัตตพรหม ซึ่งมีฌานเป็นอาหาร (ขุ.ขุ.อ. ๔/๖๕,
องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๗/๓๓๖) และดู ที.ปา. ๑๑/๓๐๓/๑๙๑,๓๑๑/๒๐๓, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๗/๖๒, ขุ.ป. (แปล)
๓๑/๒๐๘/๓๔๕, ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๐/๘๔
๒ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๔, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๗๐/๓๐๓
๓ ดู สํ.ข. (แปล) ๑๗/๔๘/๖๖-๖๗, อภิ.วิ (แปล) ๓๕/๑/๑-๒
๔ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๒๓/๒๑๕, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๕๔-๑๖๗/๑๑๒-๑๑๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๕. มงคลสูตร
๘. อะไรชื่อว่า แปด
ที่ชื่อว่า แปด ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘
๙. อะไรชื่อว่า เก้า
ที่ชื่อว่า เก้า ได้แก่ สัตตาวาส ๙๑
๑๐. อะไรชื่อว่า สิบ
ที่ชื่อว่า สิบ ได้แก่ บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์คุณ ๑๐๒ เรียกว่า พระอรหันต์
สามเณรปัญหา จบ

๕. มงคลสูตร
ว่าด้วยมงคล
[๑] ข้าพเจ้า๓ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๔ เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร๕ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๔๑/๒๓๒, ๓๕๙/๒๗๒
๒ องค์คุณ ๑๐ ได้แก่ (๑) สัมมาทิฏฐิ (๒) สัมมาสังกัปปะ (๓) สัมมาวาจา (๔) สัมมากัมมันตะ (๕) สัมมาอาชีวะ
(๖) สัมมาวายามะ (๗) สัมมาสติ (๘) สัมมาสมาธิ (๙) สัมมาญาณะ (๑๐) สัมมาวิมุตติ (ขุ.ขุ.อ. ๔/๗๗)
๓ ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้และพระสูตรอื่น ๆ ในเล่มนี้หมายถึง พระอานนท์
๔ ราตรีผ่านไป ในที่นี้หมายถึงปฐมยาม(ยามแรก) กำหนดเวลา ๔ ชั่วโมงตั้งแต่เวลา ๑๘ นาฬิกาถึง ๒๒
นาฬิกาแห่งราตรีที่ผ่านไป กำลังอยู่ในช่วงมัชฌิยาม(ยามกลาง) คือกำลังอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่ ๒๒ นาฬิกา
ถึง ๒ นาฬิกาของวันใหม่ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๑-๒๒/๑๐๘, ขุ.ขุ.อ. ๕/๙๙)
๕ ที่สมควร (เอกมนฺตํ) ในที่นี้หมายถึงที่เหมาะสมเว้นโทษ ๖ ประการ คือ (๑) ไกลเกินไป (๒) ใกล้เกินไป
(๓) อยู่เหนือลม (๔) สูงเกินไป (๕) อยู่ตรงหน้าเกินไป (๖) อยู่ข้างหลังเกินไป (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๖/๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๕. มงคลสูตร
[๒] เทวดาและมนุษย์จำนวนมาก
ต่างมุ่งหวังความสวัสดี ร่วมกันคิดถึงเรื่องมงคล
ขอพระองค์ตรัสบอกมงคลอันสูงสุดด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบดังนี้)
[๓] (๑) การไม่คบคนพาล (๒) การคบแต่บัณฑิต
(๓) การบูชาคนที่ควรบูชา
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๔] (๔) การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
(๕) การได้สร้างบุญไว้ในปางก่อน (๖) การตั้งตนไว้ชอบ
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๕] (๗) ความเป็นพหูสูต (๘) ความเป็นผู้มีศิลปะ
(๙) วินัยที่ศึกษามาดี (๑๐) วาจาสุภาษิต
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๖] (๑๑) การบำรุงมารดาบิดา (๑๒) การสงเคราะห์บุตร
(๑๓) การสงเคราะห์ภรรยา (๑๔) การงานที่ไม่อากูล๑
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๗] (๑๕) การให้ทาน (๑๖) การประพฤติธรรม
(๑๗) การสงเคราะห์ญาติ (๑๘) การงานที่ไม่มีโทษ
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๘] (๑๙) การงดเว้นจากบาป (๒๐) การเว้นจากการดื่มน้ำเมา
(๒๑) ความไม่ประมาทในธรรม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

เชิงอรรถ :
๑ อากูล หมายถึงการงานที่ทำคั่งค้างไว้ ที่ทำไม่เหมาะสม และที่ทำย่อหย่อนไม่สมบูรณ์แบบ (ขุ.ขุ.อ. ๕/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๕. มงคลสูตร
[๙] (๒๒) ความเคารพ (๒๓) ความถ่อมตน (๒๔) ความสันโดษ
(๒๕) ความกตัญญู (๒๖) การฟังธรรมตามกาล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๐] (๒๗) ความอดทน๑ (๒๘) ความเป็นคนว่าง่าย
(๒๙) การพบเห็นสมณะ (๓๐) การสนทนาธรรมตามกาล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๑] (๓๑) การเผาผลาญบาป (๓๒) การประพฤติพรหมจรรย์๒
(๓๓) การเห็นอริยสัจ (๓๔) การทำนิพพานให้แจ้ง
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๒] (๓๕) จิตของผู้ที่ถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว
(๓๖) จิตไม่เศร้าโศก (๓๗) จิตปราศจากธุลี (๓๘) จิตเกษม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๓] เทวดาและมนุษย์ทำมงคลดังกล่าวมานี้แล้ว
ไม่พ่ายแพ้ข้าศึกทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน
ทั้ง ๓๘ ประการนั้น เป็นมงคลอันสูงสุด
ของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
มงคลสูตร จบ

เชิงอรรถ :
๑ ความอดทน ในที่นี้หมายถึงอธิวาสนขันติ (ขันติคือความอดกลั้น) ได้แก่ ความอดกลั้นต่อคำด่าต่าง ๆ
อดกลั้นต่อการถูกเบียดเบียน ตลอดถึงอดกลั้นต่อทุกขเวทนา เช่น ความหนาว ความร้อน เป็นต้น ยกตน
อยู่เหนือทุกข์ต่าง ๆ ดำรงตนอยู่ได้อย่างไม่หวั่นไหว (ขุ.ขุ.อ. ๕/๑๒๙)
๒ พรหมจรรย์ เป็นชื่อของ (๑) เมถุนวิรัติ (ดู ที.สี. (แปล) ๙/๘/๓, ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๙๒/๓๒๓)
(๒)สมณธรรม (ดู ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๕๗/๒๑๗) (๓)ศาสนา (ดู ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๖๘/๑๑๓) (๔)มรรค
(ดู สํ.ม. (แปล) ๑๙/๖/๙) (ขุ.ขุ.อ. ๕/๑๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
๖. รตนสูตร ๑
ว่าด้วยรตนะอันประณีต
(พระผู้มีพระภาคตรัสรตนสูตรดังนี้)
[๑] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น๒
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ๓ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ขอให้ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจดี และจงฟังภาษิตโดยเคารพเถิด
[๒] เพราะฉะนั้นแล ภูตทั้งปวง ท่านจงใคร่ครวญ
จงแผ่เมตตาต่อหมู่มนุษย์ด้วยเถิด
มนุษย์เหล่าใดนำเครื่องเซ่นสรวงมาให้
ทั้งกลางวันและกลางคืน
เพราะเหตุนั้น ขอท่านทั้งหลายอย่าประมาท
จงรักษามนุษย์เหล่านั้น
[๓] ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ หรือรัตนชาติที่ประณีต๔ใด ๆ
ที่มีในโลกนี้ ในโลกอื่น หรือในสวรรค์
ทรัพย์หรือรัตนชาตินั้น ๆ ที่เสมอด้วยตถาคต ไม่มี
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี

เชิงอรรถ :
๑ ดู สุตตนิบาตข้อ ๒๒๔-๒๔๑ หน้า ๕๒๙ ในเล่มนี้
๒ คำว่า ภูต มีความหมายหลายนัย คือ นัยที่ ๑ มีความหมายเชิงกริยาว่า “มีแล้ว” (หรือ “เกิดแล้ว” ดู วิ.มหา.
(แปล) ๒/๑๕๓/๓๒๗) นัยที่ ๒ หมายถึงขันธ์ ๕ (ดู ม.มู. (แปล) ๑๒/๔๐๑/๔๓๒) นัยที่ ๓ หมายถึงธาตุ ๔
มีปฐวีธาตุ เป็นต้น (ดู ม.อุ. ๑๔/๘๖/๖๘) นัยที่ ๔ หมายถึงพระขีณาสพ (ดู ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๙๐/๑๑๖)
นัยที่ ๕ หมายถึง สรรพสัตว์ (ดู ที.ม. (แปล) ๑๐/๒๒๐/๑๖๗) นัยที่ ๖ หมายถึงรุกขชาติต่าง ๆ (ดู วิ.มหา.
(แปล) ๒/๙๐/๑๑๖) นัยที่ ๗ หมายถึงหมู่สัตว์นับแต่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ลงมา (ดู ม.มู. (แปล) ๑๒/๓/๕)
ในที่นี้หมายถึงอมนุษย์ที่มีศักดิ์น้อย หรืออมนุษย์ที่มีศักดิ์มาก และคำว่า ผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น หมายถึง
ภุมมเทวดาคือเทวดาที่บังเกิดบนพื้นดิน ต้นไม้ และภูเขา เป็นต้น (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๔๕)
๓ ผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ หมายถึงเทวดาที่บังเกิดในวิมานในอากาศตั้งแต่สวรรค์ชั้นยามาจนถึงพรหมโลก
ชั้นอกนิษฐา (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๔๕)
๔ ประณีต ในที่นี้หมายถึงสูงสุด ประเสริฐสุด (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
[๔] พระศากยมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น
ทรงบรรลุธรรมใดอันเป็นที่สิ้นกิเลส
ปราศจากราคะ เป็นอมตธรรมอันประณีต
ไม่มีธรรมใด ๆ ที่เสมอด้วยธรรมนั้น
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๕] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ตรัสสรรเสริญสมาธิ๑ใดว่าเป็นธรรมสะอาด
ตรัสถึงสมาธิใดว่าให้ผลโดยลำดับ
สมาธิอื่น๒ที่เสมอด้วยสมาธินั้น ไม่มี
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๖] บุคคล ๑๐๘ จำพวก๓ที่สัตบุรุษสรรเสริญ
ซึ่งจัดเป็นบุคคล ๔ คู่ เป็นสาวกของพระสุคต

เชิงอรรถ :
๑ สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอริยสัมมาสมาธิ (ม.อุ. ๑๔/๑๓๖/๑๒๑) ที่เรียกว่า อานันตริกสมาธิ (สมาธิที่ให้ผล
โดยลำดับ) เพราะเป็นสมาธิที่ให้ผลแน่นนอนตามลำดับ สามารถถอนกิเลสได้สิ้นเชิง (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๘)
๒ สมาธิอื่น หมายถึงรูปาวจรสมาธิและอรูปาวจรสมาธิ (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๙)
๓ บุคคล ๑๐๘ จำพวก ได้แก่ พระโสดาบัน ๓ จำพวก คือ (๑) เอกพีชี (๒) โกลังโกละ (๓) สัตตักขัตตุปรมะ
พระสกทาคามี ๓ จำพวก คือ (๑) ผู้บรรลุผลในกามภพ (๒) ผู้บรรลุผลในรูปภพ (๓) ผู้บรรลุผลในอรูปภพ
รวมพระโสดาบัน ๓ จำพวก และพระสกทาคามี ๓ จำพวก นับโดยปฏิปทา ๔ ประการ จึงได้บุคคล ๒๔
จำพวก (๖ x ๔ = ๒๔) รวมกับพระอนาคามี ๔ ชั้น คือ ชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา ชั้นสุทัสสี
อีกชั้นละ ๕ จำพวก (๔ x ๕ = ๒๐) และพระอนาคามีชั้นอกนิษฐคามีอีก ๔ จำพวก (๒๐ + ๔ = ๒๔) เป็น
บุคคล ๔๘ จำพวก (๒๔ + ๒๔ = ๔๘) รวมกับพระอรหันต์ ๒ จำพวก คือ (๑) สุขวิปัสสก (๒) สมถยานิก
เป็นบุคคล ๕๐ จำพวก (๔๘ + ๒ = ๕๐) รวมกับพระอริยบุคคลผู้ดำรงอยู่ในมรรคอีก ๔ จำพวก เป็น
บุคคล ๕๔ จำพวก (๕๐ + ๔ = ๕๔)
บุคคลเหล่านี้มี ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายสัทธาธุระ ๕๔ จำพวก และฝ่ายปัญญาธุระ ๕๔ จำพวก จึงเป็น
พระอริยบุคคล ๑๐๘ จำพวก (๕๔ + ๕๔ = ๑๐๘) (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๙-๑๖๐) นี้คือนัยโดยพิสดาร
ส่วนนัยโดยย่อ ได้แก่ บุคคล ๘ จำพวก คือ (๑) พระโสดาบัน (๒) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
โสดาปัตติผล (๓) พระสกทาคามี (๔) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล (๕) พระอนาคามี
(๖) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล (๗) พระอรหันต์ (๘) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล
(ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา
ทานที่เขาถวายในบุคคลเหล่านั้น มีผลมาก
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๗] บุคคลเหล่าใดในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
เป็นผู้ประกอบตนไว้ดี มีใจมั่นคง หมดความห่วงใย
บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าบรรลุอรหัตตผล
หยั่งถึงอมตนิพพาน รับรสความดับสนิทแบบได้เปล่า๑
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๘] สัตบุรุษใดพิจารณาเห็นแจ้งอริยสัจ
เราเรียกสัตบุรุษนั้นว่า มีอุปมาเหมือนเสาเขื่อนที่ฝังลงดิน
อันไม่หวั่นไหวเพราะลมที่พัดมาจากทิศทั้งสี่
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๙] พระโสดาบันเหล่าใดรู้แจ้งอริยสัจ
ที่พระศาสดาผู้มีปัญญาลึกซึ้งแสดงแล้ว
ถึงแม้ว่าพระโสดาบันเหล่านั้นจะประมาทไปบ้าง

เชิงอรรถ :
๑ แบบได้เปล่า หมายถึงได้โดยไม่ต้องจ่ายแม้แต่กากณึกเดียว (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๑) กากณึก เป็นมาตราเงิน
อย่างต่ำที่สุด (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
ท่านเหล่านั้นก็จะไม่ถือกำเนิดในภพที่ ๘๑
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๐] พระโสดาบันนั้นละธรรม ๓ ประการ คือ
สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส
พร้อมกับการบรรลุโสดาปัตติมรรคได้แล้ว
แม้จะมีกิเลสบางอย่างเหลืออยู่๒
[๑๑] พระโสดาบันนั้นพ้นแล้วจากอบายทั้งสี่๓
และจะไม่ทำอภิฐาน ๖๔
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๒] ถึงแม้ว่า พระโสดาบันนั้นจะทำบาปกรรม๕
ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจไปบ้าง
ท่านก็ไม่ปกปิดบาปกรรมนั้นไว้
เรากล่าวว่าผู้เห็นบท๖แล้ว ไม่อาจทำอย่างนั้นได้
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ถือกำเนิดในภพที่ ๘ หมายถึงไม่เกิดในภพที่ ๘ เพราะท่านเหล่านั้นละสังโยชน์ ๓ ประการ (สักกายทิฏฐิ
วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส) ได้แล้ว และจะเวียนเกิดเวียนตายในเทวโลกและมนุษยโลกอย่างมากไม่เกิน
๗ ครั้ง แล้วบรรลุอรหัตตผล เพราะนามรูปดับไปในภพที่ ๗ นั่นเอง (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๓-๑๖๔)
๒ อภิ.ก. ๓๗/๒๗๘/๑๐๓
๓ อบายทั้งสี่ หมายถึงภูมิที่ปราศจากความเจริญ มี ๔ คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต และอสุรกาย
(ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๕)
๔ อภิฐาน ๖ หมายถึงฐานะอันหนัก ๖ ประการ ได้แก่ (๑) ฆ่ามารดา (๒) ฆ่าบิดา (๓) ฆ่าพระอรหันต์
(๔) ทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ (๕) ทำให้สงฆ์แตกกัน (๖) เข้ารีตศาสดาอื่น (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๖)
๕ บาปกรรม ในที่นี้หมายถึงการต้องอาบัติเบา เช่น ต้องอาบัติเพราะนอนร่วมกับสามเณรเป็นต้น มิได้
หมายถึงอาบัติหนัก (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๗) และดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๕๐/๒๓๘ ประกอบ
๖ บท ในที่นี้หมายถึงทางแห่งนิพพาน (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
[๑๓] พุ่มไม้งามในป่า ซึ่งมียอดออกดอกบานสะพรั่ง
ในต้นเดือนห้าแห่งคิมหันตฤดู งามอย่างยิ่ง ฉันใด
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ
ที่ให้ถึงนิพพาน เพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง ฉันนั้น
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๔] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงรู้ธรรมอันประเสริฐ
ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ ทรงนำทางอันประเสริฐมาให้
ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าใคร ๆ ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐไว้
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๕] พระขีณาสพเหล่าใดสิ้นภพเก่าแล้ว ไม่มีการเกิดใหม่
ทั้งมีจิตเบื่อหน่ายในภพที่จะเกิดต่อไป
ท่านเหล่านั้นชื่อว่า มีพืช๑สิ้นแล้ว ไม่มีฉันทะงอกขึ้น เป็นปราชญ์
ย่อมดับสนิทเหมือนประทีปดวงนี้ดับไป
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
(ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลเป็นคาถา ดังนี้ )
[๑๖] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้

เชิงอรรถ :
๑ พืช ในที่นี้หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๗๑) และดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๗๗/๓๐๐ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระตถาคต๑พุทธเจ้า
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
[๑๗] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระธรรมของพระตถาคต
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
[๑๘] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระสงฆ์ของพระตถาคต
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
ถ้าเห็นว่าจะได้สุขอันยิ่งใหญ่
ด้วยการเสียสละสุขอันเล็กน้อย
นักปราชญ์พึงเสียสละสุขอันเล็กน้อย
เพื่อเห็นแก่สุขอันยิ่งใหญ่๒
รตนสูตร จบ

เชิงอรรถ :
๑ ตถาคต แปลว่า ไปอย่างนั้นหรือมาอย่างนั้น มีความหมายหลายนัย เช่น ไปหรือมาอย่างบุคคลผู้
ขวนขวายเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก ไปหรือมาด้วยการเพิกถอนกิเสสได้ด้วยกำลังแห่งสมถะและวิปัสสนา
ไปหรือมาด้วยการกำจัดทุกข์ทั้งปวงได้ ไปหรือมาด้วยการปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน ในที่นี้ใช้เป็น
คำแสดงคุณลักษณะของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าไปอย่างนั้นหรือมาอย่างนั้น (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๗๒)
๒ สุขอันยิ่งใหญ่ ในที่นี้หมายถึงความสุขอันโอฬารคือพระนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๘๗) ดู ขุ.ธ. แปลในเล่มนี้
ข้อ ๒๙๐ หน้า ๑๒๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๗. ติโรกุฑฑสูตร
๗. ติโรกุฑฑสูตร๑
ว่าด้วยเรื่องเปรตที่อยู่ภายนอกฝาเรือน๒
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้ เพื่ออนุโมทนาพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
ดังนี้)
[๑] พวกเปรตพากันมาสู่เรือนของตน๓
บ้างยืนอยู่ที่ฝาเรือนด้านนอก
บ้างยืนอยู่ที่ทางสี่แพร่ง สามแพร่ง
บ้างยืนพิงอยู่ที่บานประตู
[๒] เมื่อมีข้าวและน้ำดื่มมากมาย
เมื่อของเคี้ยวของกินถูกจัดเตรียมไว้แล้ว
ญาติสักคนก็ไม่นึกถึงเปรตเหล่านั้น
เพราะกรรมของสัตว์เหล่านั้นเป็นปัจจัย
[๓] เหล่าชนผู้อนุเคราะห์ ย่อมถวายอาหารและน้ำดื่ม
ที่สะอาดประณีต เหมาะแก่พระสงฆ์ตามกาล
อุทิศให้ญาติทั้งหลาย(ที่เกิดเป็นเปรต)อย่างนี้ว่า
ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของเรา
ขอญาติทั้งหลาย จงเป็นสุขเถิด
[๔] ส่วนญาติที่เกิดเป็นเปรตเหล่านั้น
พากันมาประชุมพร้อมกัน ณ ที่ให้ทานนั้น
ย่อมอนุโมทนาในอาหารและน้ำดื่มเป็นอันมากโดยเคารพว่า
[๕] เพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด พวกเราจึงได้สุขสมบัติเช่นนี้
ขอญาติเหล่านั้นของพวกเราจงมีอายุยืน
อนึ่ง การบูชา ญาติผู้เป็นทายกก็ได้ทำแก่พวกเราแล้ว
และทายกก็ไม่ไร้ผล

เชิงอรรถ :
๑ พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พระเจ้าพิมพิสาร ณ กรุงราชคฤห์ (ขุ.ขุ.อ. ๗/๑๗๗)
๒ ดูเทียบ ขุ.เปต. (แปล) ๒๖/๑๔-๒๕/๑๗๐-๑๗๒, อภิ.ก. ๓๗/๔๙๐/๒๙๕
๓ เรือนของตน หมายถึงเรือนญาติของตน หรือเรือนที่เคยอยู่ในปางก่อน (ขุ.ขุ.อ. ๗/๑๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๗. ติโรกุฑฑสูตร
[๖] ในเปตวิสัย๑นั้น ไม่มีกสิกรรม (การทำไร่ไถนา)
ไม่มีโครักขกรรม (การเลี้ยงวัวไว้ขาย)
ไม่มีพาณิชกรรม (การค้าขาย) เช่นนั้น
การแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงิน ก็ไม่มี
ผู้ที่ตายไปเกิดเป็นเปรตในเปตวิสัยนั้น
ดำรงชีพด้วยผลทานที่พวกญาติอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
[๗] น้ำฝนที่ตกลงมาในที่ดอนย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด
ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
ย่อมสำเร็จผลแน่นอนแก่พวกเปรต ฉันนั้นเหมือนกัน
[๘] ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้เต็มเปี่ยม ฉันใด
ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
ย่อมสำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน
[๙] กุลบุตรเมื่อระลึกถึงอุปการะ
ที่ญาติผู้ละไปแล้ว(เปรต)เคยทำไว้ในกาลก่อนว่า
‘ผู้นั้นได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ได้ทำสิ่งนี้แก่เรา
ได้เป็นญาติ มิตร และสหายของเรา’
ก็ควรถวายทักษิณาทานอุทิศให้แก่ญาติผู้ละไปแล้ว
[๑๐] การร้องไห้ ความเศร้าโศก
หรือความร่ำไห้คร่ำครวญอย่างอื่นใด
ใคร ๆ ไม่ควรทำเลย เพราะการร้องไห้ เป็นต้นนั้น
ไม่เป็นประโยชน์แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
ญาติทั้งหลายก็ยังคงสภาพอยู่อย่างนั้น

เชิงอรรถ :
๑ เปตวิสัย หมายถึงภูมิหรือกำเนิดแห่งเปรต (ขุ.ขุ.อ. ๗/๑๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๘. นิธิกัณฑสูตร
[๑๑] ส่วนทักษิณาทานนี้แล ที่ตั้งไว้ดีแล้วในพระสงฆ์
ย่อมสำเร็จประโยชน์เกื้อกูลสิ้นกาลนาน
แก่หมู่ญาติที่เกิดเป็นเปรตนั้น โดยพลันทีเดียว
[๑๒] ญาติธรรม๑นี้นั้น ท่านแสดงออกแล้ว
การบูชาญาติที่ตายไปเป็นเปรต ท่านทำอย่างยิ่งใหญ่แล้ว
ทั้งกำลังกายของภิกษุ ท่านก็เพิ่มให้แล้ว
เป็นอันว่าท่านสั่งสมบุญไว้มิใช่น้อยเลย
ติโรกุฑฑสูตร จบ

๘. นิธิกัณฑสูตร
ว่าด้วยการฝังขุมทรัพย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุฎุมพีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ดังนี้)
[๑] คนเราฝังขุมทรัพย์๒ไว้ในที่ลึกจดถึงน้ำก็ด้วยคิดว่า
เมื่อเกิดกิจที่จำเป็นขึ้น ขุมทรัพย์นี้จะเป็นประโยชน์แก่เรา
[๒] คนเราฝังขุมทรัพย์ไว้ในโลก ก็เพื่อจุดประสงค์นี้ คือ
เพื่อให้พ้นจากราชภัยที่คอยคุกคาม
เพื่อให้พ้นจากโจรภัยที่คอยเบียดเบียน
เพื่อเก็บไว้ใช้หนี้ก็มี เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกิดทุพภิกขภัย๓
หรือเพื่อใช้ในเวลามีภัยอันตรายต่าง ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ญาติธรรม หมายถึงกิจคือการสงเคราะห์ต่อกันที่ญาติจะพึงกระทำต่อกัน (ขุ.ขุ.อ. ๗/๑๙๐)
๒ ขุมทรัพย์ มี ๔ ชนิด คือ (๑) ถาวระ คือขุมทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน ที่นา ที่สวน เงินและทอง (๒) ชังคมะ
คือขุมทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ เช่น ทาสชาย ทาสหญิง ช้าง ม้า โค กระบือ แกะ ไก่ สุกร เป็นต้น (๓) อังคสมะ
คือขุมทรัพย์ติดตัว เช่น วิชาความรู้ ศิลปวิทยา เป็นต้น (๔) อนุคามิกะ คือขุมทรัพย์ตามตัวทางคุณธรรม
ได้แก่ บุญกุศล ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา เป็นต้น ในที่นี้หมายถึงขุมทรัพย์ถาวร (ขุ.ขุ.อ. ๘/๑๙๓)
๓ ทุพภิกขภัย หมายถึงภัยที่เกิดจากข้าวยากหมากแพง หรือการขาดแคลนอาหารในบ้านเมือง (ขุ.ขุ.อ.
๘/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๘. นิธิกัณฑสูตร
[๓] ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้อย่างดีในที่ลึกจดน้ำถึงเพียงนั้น
จะสำเร็จประโยชน์แก่เขาไปทั้งหมด ตลอดเวลาก็หาไม่
[๔] เพราะบางทีขุมทรัพย์ก็เคลื่อนที่ไปก็มี
บางทีเขาลืมที่ฝังไว้ก็มี
บางทีพวกนาคเคลื่อนย้ายก็มี
บางทีพวกยักษ์นำขุมทรัพย์นั้นไปก็มี
[๕] หรือบางทีเมื่อเขาไม่เห็นทายาทผู้ไม่เป็นที่รักขโมยขุดเอาไปก็มี
เมื่อเขาสิ้นบุญ ขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ทั้งหมดนั้นก็พินาศหายไป
[๖] ขุมทรัพย์๑ที่ผู้ใดจะเป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม
ฝังไว้ดีแล้ว ด้วยทาน ศีล สัญญมะ และทมะ๒
[๗] ในพระเจดีย์ พระสงฆ์ บุคคล แขกที่มาหา
ในมารดา บิดา หรือพี่ชาย
[๘] ขุมทรัพย์นี้ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว คนอื่นขนเอาไปไม่ได้
จะติดตามคนฝังตลอดไป
บรรดาทรัพย์สมบัติที่เขาจำต้องละไป
เขาพาไปได้เฉพาะขุมทรัพย์นี้เท่านั้น
[๙] ขุมทรัพย์นี้ไม่ทั่วไปแก่คนเหล่าอื่น ทั้งโจรก็ลักเอาไปไม่ได้
ผู้มีปัญญาควรทำแต่บุญที่จะเป็นขุมทรัพย์ติดตามตนตลอดไป
[๑๐] ขุมทรัพย์นี้ให้ผลอันน่าปรารถนาทุกประการ
แก่เทวดา และมนุษย์ คือเทวดาและมนุษย์ปรารถนาผลใด ๆ
ผลนั้น ๆ ทุกอย่าง จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้

เชิงอรรถ :
๑ ขุมทรัพย์ ในที่นี้หมายถึงขุมทรัพย์ชนิดอนุคามิกะ (ดูเชิงอรรถหน้า ๑๗ ประกอบ) (ขุ.ขุ.อ. ๘/๑๙๖)
๒ สัญญมะ หมายถึงการห้ามจิตมิให้ตกไปในอารมณ์ต่าง ๆ คำนี้เป็นชื่อของสมาธิและอินทรียสังวร ทมะ
หมายถึงการฝึกตน ได้แก่ การเข้าไประงับกิเลส คำนี้เป็นชื่อของปัญญา (ขุ.ขุ.อ. ๘/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๘. นิธิกัณฑสูตร
[๑๑] ความมีผิวพรรณงดงาม ความมีเสียงไพเราะ
ความมีทรวดทรงสมส่วน ความมีรูปสวย
ความเป็นใหญ่ ความมีบริวาร ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๒] ความเป็นพระราชาในประเทศ ความเป็นอิสระ๑
ความสุขของความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอันน่าพอใจ
และแม้ความเป็นเทวราชของเทวดาในหมู่เทพ
ทั้งหมดก็จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๓] สมบัติของมนุษย์ก็ดี ความยินดีในเทวโลกก็ดี
สมบัติคือนิพพานก็ดี ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๔] บุคคลอาศัยมิตตสัมปทา๒
ประกอบความเพียรโดยแยบคาย
ก็จะเป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ
ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๕] ปฏิสัมภิทา๓ วิโมกข์๔ สาวกบารมี๕
ปัจเจกโพธิ๖ และพุทธภูมิ๗
ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้

เชิงอรรถ :
๑ ความเป็นอิสระ หมายถึงความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๓)
๒ มิตตสัมปทา หมายถึงความเพรียบพร้อมด้วยมิตรที่มีคุณความดี เช่น พระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารี
ผู้ดำรงตนน่าเคารพ (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๕)
๓ ปฏิสัมภิทา หมายถึงปัญญาแตกฉานมี ๔ ประการ คือ (๑) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ
(๒) ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม (๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติคือภาษา
(๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
๔ วิโมกข์ หมายถึงวิโมกข์ ๘ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
๕ สาวกบารมี หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระสาวก (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
๖ ปัจเจกโพธิ หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ได้เอง (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
๗ พุทธภูมิ หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๙. เมตตสูตร
[๑๖] บุญสัมปทา๑นี้มีประโยชน์มากอย่างนี้
เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้เป็นปราชญ์
จึงสรรเสริญภาวะแห่งบุญที่ทำไว้แล้ว
นิธิกัณฑสูตร จบ

๙. เมตตสูตร
ว่าด้วยการแผ่เมตตา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า ดังนี้)
[๑] ผู้ฉลาดในประโยชน์มุ่งหวังบรรลุสันตบท๒
ควรบำเพ็ญกรณียกิจ๓ควรเป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง
เคร่งครัด ว่าง่าย อ่อนโยน และไม่เย่อหยิ่ง
[๒] ควรเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย๔
มีความประพฤติเบา๕ มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน
ไม่คะนอง๖ ไม่ยึดติดในตระกูลทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ บุญสัมปทา หมายถึงความถึงพร้อมแห่งบุญ (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
๒ สันตบท หมายถึงนิพพาน (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๒)
๓ กรณียกิจ หมายถึงการศึกษาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ตรงกันข้ามกับ อกรณียกิจ คือ สีลวิบัติ
ทิฏฐิวิบัติ อาจารวิบัติ อาชีววิบัติ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๒)
๔ มีกิจน้อย ในที่นี้หมายถึงไม่ขวนขวายการงานต่าง ๆ ที่จะทำให้จิตฟุ้งซ่าน ไม่พูดคุยเพ้อเจ้อ ไม่คลุกคลี
หมู่คณะ ปล่อยวางหน้าที่รับผิดชอบงานก่อสร้าง งานบริหารคณะสงฆ์ เป็นต้น มุ่งบำเพ็ญสมณธรรมเป็น
หลัก (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๖)
๕ มีความประพฤติเบา ในที่นี้หมายถึงมีเพียงบริขาร ๘ เช่น บาตร จีวร เป็นต้น ไม่สะสมสิ่งของมากให้เป็น
ภาระ เหมือนนกมีเพียงปีกบินไปฉะนั้น (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๖)
๖ ไม่คะนอง หมายถึงไม่คะนองกาย วาจา และใจ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๙. เมตตสูตร
[๓] อนึ่ง ไม่ควรประพฤติความเสียหายใด ๆ
ที่จะเป็นเหตุให้วิญญูชนเหล่าอื่นตำหนิเอาได้
(ควรแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์อย่างนี้ว่า)
ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข
มีความเกษม มีตนเป็นสุขเถิด
[๔] คือ เหล่าสัตว์ที่ยังเป็นผู้หวาดสะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง๑
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
เหล่าสัตว์ที่มีขนาดกายยาว ขนาดกายใหญ่ ขนาดกายปานกลาง
ขนาดกายเตี้ย ขนาดกายผอม หรือขนาดกายอ้วน
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[๕] เหล่าสัตว์ที่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่ไม่เคยเห็นก็ดี
เหล่าสัตว์ที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลก็ดี ภูตหรือสัมภเวสี๒ก็ดี
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[๖] ไม่ควรข่มเหง ไม่ควรดูหมิ่นกันและกันในทุกโอกาส
ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน
เพราะความโกรธและความแค้น

เชิงอรรถ :
๑ หวาดสะดุ้ง หมายถึงมีตัณหาและความกลัวภัย มั่นคง หมายถึงบรรลุอรหัตตผล เพราะละตัณหาและ
ความกลัวภัยได้ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๐)
๒ ในที่นี้ ภูต หมายถึงพระอรหันตขีณาสพ สัมภเวสี หมายถึงพระเสขะและปุถุชนผู้ยังต้องแสวงหาที่เกิด
ต่อไป เพราะยังละภวสังโยชน์ไม่ได้
อีกนัยหนึ่ง ในกำเนิด ๔ สัตว์ที่เกิดในไข่และเกิดในครรภ์ ถ้ายังไม่เจาะเปลือกไข่หรือคลอดจากครรภ์
ออกมา ยังเรียกว่า สัมภเวสี ต่อเมื่อเจาะเปลือกไข่หรือคลอดออกมา เรียกว่า ภูต, พวกสังเสทชะ (เกิดที่
ชื้นแฉะ) และพวกโอปปาติกะ (เกิดผุดขึ้น) ในขณะจิตแรก ก็เรียกว่า สัมภเวสี ตั้งแต่ขณะจิตที่ ๒ เป็นต้นไป
เรียกว่า ภูต (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๙. เมตตสูตร
[๗] ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณไปยังสรรพสัตว์
ดุจมารดาเฝ้าถนอมบุตรคนเดียวด้วยชีวิต ฉะนั้น
[๘] อนึ่ง ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณ
กว้างขวาง ไม่มีเวร ไม่มีศัตรูไปยังสัตว์โลกทั่วทั้งหมด
ทั้งชั้นบน๑ ชั้นล่าง๒ และชั้นกลาง๓
[๙] ผู้แผ่เมตตาจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน
ควรตั้งสติ๔นี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วง
นักปราชญ์เรียกการอยู่ด้วยเมตตานี้ว่า พรหมวิหาร
[๑๐] อนึ่ง ผู้แผ่เมตตาที่ไม่ยึดถือทิฏฐิ๕
มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ๖
กำจัดความยินดีในกามคุณได้แล้ว
ก็จะไม่เกิดในครรภ์อีกต่อไป
เมตตสูตร จบ
ขุททกปาฐะ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ชั้นบน หมายถึงอรูปภพ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๓)
๒ ชั้นล่าง หมายถึงกามภพ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๓)
๓ ชั้นกลาง หมายถึงรูปภพ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๓)
๔ สติ หมายถึงเมตตาฌานัสสติ คือสติที่ประกอบด้วยเมตตาฌาน (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๔)
๕ ทิฏฐิ หมายถึงทิฏฐิที่ว่า “กองแห่งสังขารล้วน ๆ จัดเป็นสัตว์ไม่ได้” (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๕) และดู สํ.ส. (แปล)
๑๕/๑๗๑/๒๒๘
๖ ทัสสนะ หมายถึงโสดาปัตติมัคคสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
อันเป็นเหตุให้ไปเกิดในชั้นสุทธาวาส แล้วบรรลุอรหัตตผลในที่นั้น ไม่กลับมาเกิดในครรภ์อีกต่อไป (ขุ.ขุ.อ.
๙/๒๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. ยมกวรรค ๑. จักขุปาลเถรวัตถุ
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ธรรมบท
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ยมกวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่กัน
๑. จักขุปาลเถรวัตถุ
เรื่องพระจักขุบาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑] ธรรมทั้งหลาย๑ มีใจ๒เป็นหัวหน้า๓
มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ
ถ้าคนมีใจชั่ว ก็จะพูดชั่วหรือทำชั่วตามไปด้วย
เพราะความชั่วนั้น ทุกข์ย่อมติดตามเขาไป
เหมือนล้อหมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งหลาย มีความหมาย ๔ ประการ คือ (๑) คุณธรรม (๒) เทศนาธรรม (๓) ปริยัติธรรม
(๔) นิสสัตตธรรม (สภาวะที่มิใช่สัตว์) หรือนิชชีวธรรม (สภาวะที่มิใช่ชีวะ) ในที่นี้หมายถึงนิสสัตตธรรม
ได้แก่ อรูปขันธ์ ๓ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ (ขุ.ธ.อ. ๑/๒๐-๒๑) และดู ขุ.ชา. (แปล)
๒๗/๓๘๖/๕๓๗ ประกอบ
๒ ใจ หมายถึงจิต ๔ ระดับ คือ จิตระดับกามาวจรภูมิ จิตระดับรูปาวจรภูมิ จิตระดับอรูปาวจรภูมิ และ
จิตระดับโลกุตตรภูมิ แต่ในที่นี้หมายเอาจิตที่มีโทมนัสประกอบด้วยปฏิฆะ เดิมทีเดียว จิตนั้นเป็นภวังคจิต
คือเป็นจิตที่ผ่องใส(ปภัสสรจิต) แต่เมื่อถูกเจตสิกธรรมฝ่ายชั่วกล่าวคืออุปกิเสสธรรมจรมากระทบเข้า ก็กลาย
เป็นจิตเศร้าหมองที่เรียกว่า ใจชั่ว ซึ่งพร้อมที่จะแสดงพฤติกรรมออกมาทางกายและวาจา (ขุ.ธ.อ. ๑/๒๐)
๓ เป็นหัวหน้า หมายถึงเป็นหัวหน้าของเจตสิกธรรม กล่าวคือเป็นเหตุปัจจัยให้เจตสิกธรรมเกิดขึ้น (ขุ.ธ.อ. ๑/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. ยมกวรรค ๓. ติสสเถรวัตถุ
๒. มัฏฐกุณฑลีวัตถุ
เรื่องนายมัฏฐกุณฑลี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อทินนปุพพกพราหมณ์บิดาของนาย
มัฏฐกุณฑลี ดังนี้)
[๒] ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า
มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ
ถ้าคนมีใจดี ก็จะพูดดีหรือทำดีตามไปด้วย
เพราะความดีนั้น สุขย่อมติดตามเขาไป
เหมือนเงาติดตามตัวเขาไป ฉะนั้น๑

๓. ติสสเถรวัตถุ๒
เรื่องพระติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓] ชนเหล่าใด เข้าไปผูกเวรว่า
“คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา
ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป”
เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่สงบระงับ

เชิงอรรถ :
๑ ความหมายของธรรมบทข้อที่ ๒ นี้มีนัยตรงกันข้ามกับธรรมบทข้อที่ ๑ ดูเทียบเชิงอรรถหน้า ๒๓ และดู
ขุ.ธ.อ. ๑/๓๒-๓๔ ประกอบ
๒ ธรรมบทข้อ ๓-๖ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๔๖๔/๓๕๔, ม.อุ. ๑๔/๒๓๗/๒๐๓-๒๐๔, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๑๓-
๑๑๕/๒๒๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. ยมกวรรค ๕. โกสัมพิกวัตถุ
[๔] ส่วนชนเหล่าใด ไม่เข้าไปผูกเวรว่า
“คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา
ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป”
เวรของชนหล่านั้น ย่อมสงบระงับ

๔. กาลียักขินีวัตถุ
เรื่องนางยักษ์ชื่อกาลี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางยักษ์ชื่อกาลีและหญิงคนหนึ่ง ดังนี้)
[๕] เพราะว่าในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมไม่สงบระงับด้วยเวร๑
แต่เวรทั้งหลายย่อมสงบระงับด้วยการไม่จองเวร๒
นี้เป็นธรรมเก่า๓

๕. โกสัมพิกวัตถุ
เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีผู้ทะเลาะกัน ดังนี้)
[๖] ชนเหล่าอื่น๔ไม่รู้ชัดว่า “พวกเรากำลังย่อยยับอยู่ ณ ที่นี้”
ส่วนชนเหล่าใด๕ในหมู่นั้น รู้ชัด
ความมุ่งร้ายกันย่อมระงับ
เพราะการปฏิบัติของชนเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ เวรนั้นนอกจากจะไม่สงบระงับแล้วยังกลับเพิ่มพูนเวรต่อกันให้มากขึ้น เปรียบเหมือนการใช้น้ำสกปรก
ชำระล้างสิ่งสกปรกก็ยิ่งเพิ่มพูนความสกปรกมากขึ้นฉะนั้น (ขุ.ธ.อ. ๑/๔๕)
๒ การไม่จองเวร หมายถึงธรรมคือขันติ(ความอดทน) เมตตา(ความรัก) โยนิโสมนิการ(การพิจารณาโดย
แยบคาย) และปัจจเวกขณะ(การพิจารณา) (ขุ.ธ.อ. ๑/๔๕)
๓ เป็นธรรมเก่า หมายถึงเป็นทางปฏิบัติเพื่อสงบระงับเวรที่ประพฤติสืบ ๆ กันมาของพระพุทธเจ้า พระ
ปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. ๑/๔๕)
๔ ชนเหล่าอื่น หมายถึงคนที่สร้างความแตกแยกในหมู่ (ขุ.ธ.อ. ๑/๕๘)
๕ ชนเหล่าใด หมายถึงบัณฑิต (ขุ.ธ.อ. ๑/๕๘/)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. ยมกวรรค ๗. เทวทัตตวัตถุ
๖. มหากาลเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗] มาร๑ย่อมครอบงำบุคคลผู้พิจารณาเห็นความงาม๒
ไม่สำรวมอินทรีย์ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน
เหมือนพายุพัดต้นไม้ที่ไม่มั่นคงให้หักโค่นลงได้ ฉะนั้น
[๘] มารย่อมไม่ครอบงำบุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นความงาม
สำรวมอินทรีย์ดีแล้ว รู้จักประมาณในการบริโภค
มีศรัทธา และปรารภความเพียร
เหมือนพายุพัดโค่นภูเขาศิลาไม่ได้ ฉะนั้น

๗. เทวทัตตวัตถุ
เรื่องพระเทวทัต
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระเทวทัตที่ได้ผ้ากาสาวะมีราคามากจากแคว้น
คันธาระ จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุชาวเมืองราชคฤห์ ดังนี้)
[๙] ผู้ใดยังมีกิเลสดุจน้ำฝาด๓
ปราศจากทมะและสัจจะ๔

เชิงอรรถ :
๑ มาร ในที่นี้หมายถึงกิเลสมาร (ขุ.ธ.อ. ๑/๖๖)
๒ พิจารณาเห็นความงาม ในที่นี้หมายถึงอยู่อย่างปล่อยใจไปในอิฏฐารมณ์ เช่น ยึดถือว่าเล็บงาม นิ้วงาม
เท้างาม เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๑/๖๕)
๓ กิเลสดุจน้ำฝาด หมายถึงกิเลสดุจน้ำย้อม ได้แก่ ราคะ (ความกำหนัด) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ
(ความหลง) มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน) ปลาสะ (ความตีเสมอ) อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความ
ตระหนี่) มายา (มารยา) สาเถยยะ (ความโอ้อวด) ถัมภะ (หัวดื้อ) สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ความถือตัว)
อติมานะ (ความดูหมิ่น) มทะ (ความัวเมา) ปมาทะ (ความประมาท) อกุศลทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง กรรมนำ
สัตว์ไปเกิดในภพทั้งปวง และกิเลสพันห้า (ขุ.ธ.อ. ๑/๗๑, ขุ.ชา.อ. ๓/๑๔๑/๑๙๙)
๔ ในที่นี้ ทมะ หมายถึงการฝึกอินทรีย์ สัจจะ หมายถึงวจีสัจจะ (ขุ.ธ.อ. ๑/๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. ยมกวรรค ๘. สัญชยวัตถุ
จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ
ผู้นั้นไม่ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะเลย
[๑๐] ส่วนผู้ใดคายกิเลสดุจน้ำฝาด
ตั้งมั่นดีแล้วในศีล๑ ประกอบด้วยทมะและสัจจะ
ผู้นั้นแลควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะได้๒

๘. สัญชยวัตถุ
เรื่องสัญชัยปริพาชก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๑] ชนเหล่าใดเห็นสิ่งที่ไม่มีสาระ๓ว่ามีสาระ
และเห็นสิ่งที่มีสาระ๔ว่าไม่มีสาระ
ชนเหล่านั้น ชื่อว่ามีความดำริผิดเป็นทางปฏิบัติ
ย่อมไม่ประสบสิ่งที่มีสาระ๕
[๑๒] ส่วนชนเหล่าใดที่รู้สิ่งที่มีสาระว่ามีสาระ
และรู้สิ่งที่ไม่มีสาระว่าไม่มีสาระ
ชนเหล่านั้น ชื่อว่ามีความดำริชอบเป็นทางปฏิบัติ
ย่อมประสบสิ่งที่มีสาระ

เชิงอรรถ :
๑ ศีล ในที่นี้หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๑/๗๒)
๒ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๖๙-๙๗๐/๔๙๘, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๔๑-๑๔๒/๑๐๒, ๑๒๒-๑๒๓/๕๕๘
๓ สิ่งที่ไม่มีสาระ หมายถึงปัจจัย ๔ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ และธรรมเทศนาที่ส่งเสริมมิจฉาทิฏฐินั้น (ขุ.ธ.อ.
๑/๑๐๑)
๔ สิ่งที่มีสาระ หมายถึงสัมมาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ และธรรมเทศนาที่ส่งเสริมสัมมาทิฏฐินั้น (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๐๑)
๕ สาระ ในที่นี้หมายถึงสีลสาระ สมาธิสาระ ปัญญาสาระ วิมุตติสาระ วิมุตติญาณทัสสนสาระ ปรมัตถสาระ
และนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑. ยมกวรรค ๑๐. จูนทสูกริกวัตถุ
๙. นันทเถรวัตถุ
เรื่องพระนันทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๓] ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีได้ ฉันใด
ราคะย่อมรั่วรดจิตที่ไม่ได้อบรม๑ได้ ฉันนั้น
[๑๔] ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ ฉันใด
ราคะย่อมรั่วรดจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ ฉันนั้น๒

๑๐. จุนทสูกริกวัตถุ
เรื่องนายจุนทะฆ่าสุกร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๕] ผู้ทำบาปเป็นปกติ ย่อมเศร้าโศกในโลกนี้
ตายไปแล้วก็ยังเศร้าโศกในโลกหน้า
ชื่อว่าเศร้าโศกในโลกทั้งสอง
เขาย่อมเศร้าโศกเดือดร้อน เพราะเห็นกรรมที่เศร้าหมองของตน

เชิงอรรถ :
๑ จิตที่ไม่ได้อบรม หมายถึงจิตที่ไม่ได้อบรมด้วยสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ในคาถานี้หาใช่หมายเอา
เฉพาะราคะเท่านั้นไม่ที่รั่วรดจิต แต่ยังหมายเอากิเลสทั้งปวง มีโทสะ และโมหะ เป็นต้นด้วย (ขุ.ธ.อ.
๑/๑๐๙)
๒ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๓๓-๑๓๔/๓๕๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑. ยมกวรรค ๑๓. สุมนาเทวีวัตถุ
๑๑. ธัมมิกอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสกผู้ประพฤติธรรม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๖] ผู้ทำบุญไว้ ย่อมบันเทิงใจในโลกนี้
ตายไปแล้วก็ยังบันเทิงใจในโลกหน้า
ชื่อว่าบันเทิงใจในโลกทั้งสอง
เขาย่อมบันเทิงรื่นเริงใจเพราะเห็นกรรมที่บริสุทธิ์ของตน

๑๒. เทวทัตตวัตถุ
เรื่องพระเทวทัต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๗] ผู้ทำบาปเป็นปกติ ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้
ตายไปแล้วก็ยังเดือดร้อนในโลกหน้า
ชื่อว่าเดือดร้อนในโลกทั้งสอง
เขาย่อมเดือดร้อนใจว่า “เราได้ทำบาปไว้แล้ว”
ครั้นไปสู่ทุคติ เขายิ่งเดือดร้อนมากขึ้น

๑๓. สุมนาเทวีวัตถุ
เรื่องนางสุมนาเทวี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภนางสุมนาเทวีธิดาคนเล็กของเศรษฐีซึ่งเสียชีวิตจึง
ตรัสพระคาถานี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี ดังนี้)
[๑๘] ผู้ทำบุญไว้ ย่อมเพลิดเพลินใจในโลกนี้
ตายไปแล้วก็ยังเพลิดเพลินใจในโลกหน้า
ชื่อว่าเพลิดเพลินใจในโลกทั้งสอง
เขาย่อมเพลิดเพลินใจว่า “เราได้ทำบุญไว้แล้ว”
ครั้นไปสู่สุคติ เขายิ่งเพลิดเพลินใจมากขึ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑. ยมกววค ๑๔. เทวสหายกภิกขุวัตถุ
๑๔. เทวสหายกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุสองสหาย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๙] คนที่กล่าวพุทธพจน์๑แม้มาก
แต่มัวประมาท ไม่ทำตามพุทธพจน์นั้น
ย่อมไม่ได้รับผลแห่งความเป็นสมณะ๒
เหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโคได้แต่นับโคให้คนอื่น ฉะนั้น
[๒๐] คนที่กล่าวพุทธพจน์แม้น้อย
แต่ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นปกติ๓
ละราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว
รู้ชอบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว
ไม่ยึดติดในโลกนี้และโลกหน้า๔
เขาย่อมได้รับผลแห่งความเป็นสมณะ
ยมกวรรคที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พุทธพจน์ ในที่นี้หมายถึงพระไตรปิฎก (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๔๐)
๒ ผลแห่งความเป็นสมณะ หมายถึงมรรค ๔ ผล ๔ (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๔๐)
๓ ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ในที่นี้หมายถึงประพฤติธรรม คือ ปาริสุทธิศีล ๔ ประการ ธุดงค์ ๑๓ ประการ
และอสุภกัมมัฏฐาน เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมที่ควรแก่การบรรลุโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๔๑)
๔ ไม่ยึดติดในโลกนี้และโลกหน้า ในที่นี้หมายถึงไม่ถือมั่นขันธ์ ธาตุ และอายตนะทั้งภายในภายนอก ในโลก
นี้และโลกหน้าด้วยอุปาทาน ๔ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒. อัปปมาทวรรค ๑. สามาวตีวัตถุ
๒. อัปปมาทวรรค
หมวดว่าด้วยความไม่ประมาท
๑. สามาวตีวัตถุ
เรื่องพระนางสามาวดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๑] ความไม่ประมาท๑ เป็นทางแห่งอมตะ๒
ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย
คนผู้ไม่ประมาทชื่อว่าย่อมไม่ตาย
คนผู้ประมาทจึงเหมือนคนตายแล้ว๓
[๒๒] บัณฑิตทราบความต่างกัน
ระหว่างความไม่ประมาทกับความประมาทนั้น
แล้วตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ย่อมบันเทิงใจในความไม่ประมาท
ยินดีในทางปฏิบัติของพระอริยะทั้งหลาย๔
[๒๓] บัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์เหล่านั้น เพ่งพินิจ๕
มีความเพียรต่อเนื่อง มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์
ย่อมบรรลุนิพพานอันเป็นสภาวะยอดเยี่ยม ปลอดจากโยคะ๖

เชิงอรรถ :
๑ ความไม่ประมาท นี้เป็นชื่อของสติ (ขุ.ธ.อ. ๒/๖๐)
๒ ทางแห่งอมตะ หมายถึงอุบายบรรลุอมตะ คำว่า อมตะ (ไม่ตาย) หมายถึงนิพพาน นิพพานนั้นแล ที่ชื่อว่า
ไม่แก่ ไม่ตาย เพราะไม่เกิด (ขุ.ธ.อ. ๒/๖๐)
๓ ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๓๓๒/๕๘๘
๔ ทางปฏิบัติของพระอริยะ หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น และโลกุตตร-
ธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๒/๖๑)
๕ เพ่งพินิจ หมายถึงการเพ่งพินิจด้วยจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่มี ๒ อย่าง คือ อารัมมณูปนิชฌาน (การเพ่ง
อารมณ์ ได้แก่สมาบัติ ๘) และลักขณูปนิชฌาน (การเพ่งลักษณะ ได้แก่ วิปัสสนา มรรค และผล) (ขุ.ธ.อ.
๒/๖๑-๖๕)
๖ โยคะ หมายถึงสภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพมี ๔ ประการ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.ธ.อ.
๒/๖๒, ขุ.ธ.อ. ๘/๙๓,๑๐๙, ขุ.อุ.อ. ๑๙/๑๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒. อัปปมาทวรรค ๔. พาลนักขัตตวัตถุ
๒. กุมภโฆสกวัตถุ
เรื่องนายกุมภโฆสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าพิมพิสารและนายกุมภโฆสก ดังนี้)
[๒๔] ยศ๑ ย่อมเจริญแก่บุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียร
มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญก่อนทำ
สำรวม ดำรงชีวิตโดยธรรม และไม่ประมาท

๓. จูฬปันถกวัตถุ
เรื่องพระจูฬปันถก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๕] คนมีปัญญาพึงทำที่พึ่งดุจเกาะที่น้ำท่วมไม่ถึง๒
ด้วยความขยัน ด้วยความไม่ประมาท
ด้วยการสำรวม และด้วยการฝึกฝน

๔. พาลนักขัตตวัตถุ
เรื่องนักษัตรของคนพาล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๖] คนพาลมีปัญญาทราม ประกอบความประมาทอยู่เสมอ
ส่วนบัณฑิตผู้มีปัญญา รักษาความไม่ประมาทไว้
เหมือนคนรักษาทรัพย์อันประเสริฐ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ยศ หมายถึงความเป็นใหญ่ ความมีโภคสมบัติ ความนับถือ ความมีเกียรติ และการสรรเสริญ (ขุ.ธ.อ. ๒/๖๙)
๒ ที่พึ่งดุจเกาะที่น้ำท่วมไม่ถึง หมายถึงอรหัตตผล ที่น้ำ คือ โอฆะ ๔ (กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา) ท่วมไม่ถึง
(ขุ.ธ.อ. ๒/๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒. อัปปมาทวรรค ๖. เทวสหายกภิกขุวัตถุ
[๒๗] ท่านทั้งหลาย อย่าประกอบความประมาท
อย่าประกอบความเชยชมยินดีในกามเลย
เพราะผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งพินิจอยู่
ย่อมได้รับความสุขอันไพบูลย์๑

๕. มหากัสสปเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถา ดังนี้)
[๒๘] เมื่อใด บัณฑิตบรรเทาความประมาท ด้วยความไม่ประมาท
ขึ้นสู่ปัญญาดุจปราสาท๒ ไม่เศร้าโศก
พิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้มีความเศร้าโศก
เมื่อนั้น บัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ ย่อมเห็นคนพาลได้
เหมือนคนที่ยืนอยู่บนภูเขาเห็นคนที่ภาคพื้นได้ ฉะนั้น

๖. เทวสหายกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุสองสหาย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๒ รูป ดังนี้)
[๒๙] ผู้มีปัญญาดี๓ เป็นผู้ไม่ประมาท ในเมื่อผู้อื่นประมาท
เป็นผู้ตื่นอยู่โดยมาก๔ ในเมื่อผู้อื่นหลับ
ย่อมละทิ้งคนมีปัญญาทรามไปไกล
เหมือนม้าฝีเท้าจัดวิ่งละทิ้งม้าที่หมดแรงไว้ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความสุขอันไพบูลย์ หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๒/๘๕) และดู ๒ คาถานี้เทียบใน สํ.ส. (แปล) ๑๕/๓๖/๔๘
๒ ปัญญาดุจปราสาท ในที่นี้หมายถึงทิพพจักขุญาณอันบริสุทธิ์ (ขุ.ธ.อ. ๒/๘๗)
๓ ผู้มีปัญญาดี ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้มีสติไพบูลย์ (ขุ.ธ.อ. ๒/๘๙)
๔ ตื่นอยู่โดยมาก หมายถึงมีสติเต็มที่ (ขุ.ธ.อ. ๒/๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒. อัปปมาทวรรค ๙. นิคมวาสีติสสเถรวัตถุ
๗. มฆวัตถุ
เรื่องท้าวมัฆวาน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เจ้าลิจฉวีนามว่า มหาลิ ดังนี้)
[๓๐] ท้าวมัฆวานประเสริฐสุดในหมู่เทวดาเพราะความไม่ประมาท
บัณฑิตทั้งหลาย สรรเสริญความไม่ประมาท
และติเตียนความประมาททุกเมื่อ

๘. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๓๑] ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท
หรือเห็นภัยในความประมาท
เผาสังโยชน์๑น้อยใหญ่ได้หมด
เหมือนไฟเผาเชื้อน้อยใหญ่ให้หมดไป ฉะนั้น

๙. นิคมวาสีติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้อยู่ในนิคม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระผู้อยู่ในนิคม ดังนี้)
[๓๒] ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท
หรือมีปกติเห็นภัยในความประมาท
เป็นผู้ไม่เสื่อม๒ ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพานแน่แท้
อัปปมาทวรรคที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์มี ๑๐ อย่าง คือ (๑) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นอัตตาของตน
(๒) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (๓) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต (๔) กามราคะ ความกำหนัดในกาม
(๕) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ (๖) รูปราคะ ความกำหนัดในรูป (๗) อรูปราคะ ความกำหนัดในอรูป
(๘) มานะ ความถือตัว (๙) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน (๑๐) อวิชชา ความไม่รู้ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๐๖, ขุ.อิติ.อ. ๓๔/๑๒๑)
๒ ไม่เสื่อม หมายถึงไม่เสื่อมจากสมถและวิปัสสนา มรรคและผลที่ได้บรรลุแล้ว และทั้งยังจะได้บรรลุมรรค
ผลที่ยังไม่ได้บรรลุ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๐๙ องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๓๗/๓๖๗) และดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๓๗/๖๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๓. จิตตวรรค ๑. เมฆิยเถรวัตถุ
๓. จิตตวรรค
หมวดว่าด้วยการฝึกจิต
๑. เมฆิยเถรวัตถุ
เรื่องพระเมฆิยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเมฆิยเถระ ดังนี้)
[๓๓] จิตที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก๑
ผู้มีปัญญาสามารถควบคุมให้ตรงได้
เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรง ฉะนั้น
[๓๔] จิตนี้ย่อมดิ้นรนไปมา๒
เหมือนปลาที่ถูกยกขึ้นจากน้ำโยนไปบนบก ฉะนั้น
ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงควรละบ่วงแห่งมาร๓

เชิงอรรถ :
๑ ดิ้นรน หมายถึงดิ้นรนไปในอารมณ์ทั้ง ๖ มี รูปารมณ์ เป็นต้น
กวัดแกว่ง หมายถึงหวั่นไหว ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้นาน ดุจทารกไม่อาจทรงตัวอยู่ใน
อิริยาบถเดียวได้นาน ฉะนั้น
รักษายาก หมายถึงให้ดำรงอยู่ในอารมณ์ธรรมที่เป็นสัปปายะได้ยาก
ห้ามยาก หมายถึงห้ามหรือกันมิให้ซ่านไปในวิสภาคารมณ์ได้ยาก (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๒)
๒ ดิ้นรนไปมา หมายถึงยินดีในกามคุณ ๕ เมื่อถูกพรากจากกามคุณ ๕ ให้หยุดนิ่งอยู่ในวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ก็จะดิ้นรนไปมา ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ได้ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๒)
๓ บ่วงแห่งมาร ในที่นี้หมายถึงกิเลสวัฏ(วงจรกิเลส) ประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน (ขุ.ธ.อ.
๒/๑๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๓. จิตตวรรค ๓. อุกกัณฐิตภิกขุวัตถุ
๒. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๓๕] การฝึก๑จิตที่ควบคุมได้ยาก เปลี่ยนแปลงง่าย๒
ชอบใฝ่หาแต่อารมณ์ที่ปรารถนา จัดว่าเป็นความดี
เพราะจิตที่ฝึกแล้วย่อมนำสุขมาให้๓

๓. อุกกัณฐิตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้กระสันจะสึก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่งผู้กระสันจะสึก ดังนี้)
[๓๖] ผู้มีปัญญาควรรักษาจิต
ที่เห็นได้ยากยิ่ง ละเอียดยิ่ง
ชอบใฝ่หาแต่อารมณ์ที่ปรารถนา
เพราะจิตที่คุ้มครองแล้วย่อมนำสุขมาให้

เชิงอรรถ :
๑ การฝึก ในที่นี้หมายถึงการฝึกด้วยอริยมรรค ๔ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
และอรหัตตมรรค (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๘)
๒ เปลี่ยนแปลงง่าย หมายถึงเกิดดับเร็ว (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๘)
๓ สุข ในที่นี้หมายถึงสุขที่เกิดจากอริยมรรค อริยผล และสุขที่เกิดจากการบรรลุนิพพานอันเป็นประโยชน์
สูงสุด (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๓. จิตตวรรค ๕. จิตตหัตถเถรวัตถุ
๔. สังฆรักขิตเถรวัตถุ
เรื่องพระสังฆรักขิตเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระสังฆรักขิตเถระ ดังนี้)
[๓๗] คนเหล่าใดสำรวมจิต
ที่เที่ยวไปไกล๑ เที่ยวไปดวงเดียว๒
ไม่มีรูปร่าง๓ อาศัยอยู่ในถ้ำ๔
คนเหล่านั้นจักพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร๕

๕. จิตตหัตถเถรวัตถุ
เรื่องพระจิตตหัตถเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๘] ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งสัทธรรม
มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย
ย่อมไม่มีปัญญาสมบูรณ์
[๓๙] ผู้มีจิตไม่ชุ่มด้วยราคะ ไม่ขุ่นมัวด้วยโทสะ
ละบุญและบาปได้แล้ว มีสติตื่นอยู่
ย่อมไม่มีภัย๖

เชิงอรรถ :
๑ เที่ยวไปไกล หมายถึงรับอารมณ์ที่อยู่ไกลได้ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๒๖)
๒ เที่ยวไปดวงเดียว หมายถึงเกิดขึ้นทีละดวง ๆ ดวงหนึ่งดับ ดวงหนึ่งจึงเกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน
(ขุ.ธ.อ. ๒/๑๒๖)
๓ ไม่มีรูปร่าง หมายถึงไม่มีสัณฐาน ไม่มีสี เป็นต้น (ขุ.ธ.อ.๒/๑๒๖)
๔ อาศัยอยู่ในถ้ำ หมายถึงอาศัยอยู่ในมหาภูตรูป ๔ และหทัยรูป (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๒๖)
๕ เครื่องผูกแห่งมาร หมายถึงวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) (ขุ.ธ.อ.
๒/๑๒๖)
๖ไม่มีภัย ในที่นี้หมายถึงไม่มีภัยคือกิเลส คาถานี้ ตรัสถึงคุณสมบัติของพระขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๓. จิตตวรรค ๗. ปูติคัตตติสสเถรวัตถุ
๖. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๔๐] ภิกษุรู้ว่า ร่างกายนี้เปรียบเหมือนหม้อดิน
ควรป้องกันจิตนี้ เหมือนป้องกันพระนคร
แล้วใช้อาวุธคือปัญญารบกับมาร๑
และควรรักษาชัยชนะไว้ แต่ไม่ควรยินดียึดติด๒

๗. ปูติคัตตติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้มีร่างกายเน่าเปื่อย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระผู้มีร่างกายเน่าเปื่อย ดังนี้)
[๔๑] อีกไม่นานนัก ร่างกายนี้ก็จักปราศจากวิญญาณ
ถูกทอดทิ้งทับถมแผ่นดิน
เหมือนท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ มาร ในที่นี้หมายถึงกิเลสมาร (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๓๗)
๒ ควรรักษาชัยชนะไว้ แต่ไม่ควรยินดียึดติด หมายถึงเมื่อภิกษุบรรลุสมาบัติได้วิปัสสนาอ่อน ๆ ชนะ
กิเลสได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ควรยึดติดอยู่เพียงสมาบัตินั้น ควรพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยจิตที่ผ่องใสแล้ว
รักษาระดับจิตนั้นไว้ได้ ในที่สุด จะสามารถบรรลุมรรคผลอันสูงสุด ชนะกิเลสมารได้อย่างสิ้นเชิง (ขุ.ธ.อ.
๒/๑๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๓. จิตตวรรค ๙. โสเรยยวัตถุ
๘. นันทโคปาลกวัตถุ
เรื่องนายนันทะผู้เลี้ยงโค
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๒] จิตที่ตั้งไว้ผิด๑พึงทำให้ได้รับความเสียหาย
ยิ่งกว่าความเสียหายที่โจรเห็นโจร๒
หรือผู้จองเวรเห็นผู้จองเวร จะพึงทำให้แก่กัน

๙. โสเรยยวัตถุ
เรื่องพระโสเรยยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๓] จิตที่ตั้งไว้ชอบ๓ ย่อมอำนวยให้ได้ผลที่ประเสริฐยิ่ง
ที่มารดาบิดาก็ทำให้ไม่ได้
หรือแม้ญาติเหล่าอื่นก็ให้ไม่ได้
จิตตวรรคที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ จิตที่ตั้งไว้ผิด หมายถึงจิตที่ตั้งไว้ผิดในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ทำให้ถึงความพินาศฉิบหายในโลกนี้
และตกไปในอบายภูมิ ๔ ถึง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๔๓)
๒ โจรเห็นโจร หมายถึงโจรเห็นโจรที่เป็นคู่อาฆาตกันแล้วจะต้องฆ่ากัน หรือเบียดเบียนให้ได้รับความเสียหาย
(ขุ.ธ.อ. ๒/๑๔๓)
๓ จิตที่ตั้งไว้ชอบ หมายถึงจิตที่มุ่งมั่นประพฤติตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๔. ปุปผวรรค ๑. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
๔. ปุปผวรรค
หมวดว่าด้วยดอกไม้
๑. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๔๔] ใครจักรู้แจ้งแผ่นดินนี้๑ ยมโลก๒
และมนุษยโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก
ใครจักเลือกบทธรรม๓ที่ตถาคตแสดงไว้ดีแล้ว
เหมือนช่างดอกไม้ผู้ชาญฉลาดเลือกเก็บดอกไม้ ฉะนั้น
[๔๕] พระเสขะ๔จักรู้แจ้งแผ่นดินนี้ ยมโลก
และมนุษยโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก
พระเสขะจักเลือกบทธรรมที่ตถาคตแสดงไว้ดีแล้ว
เหมือนช่างดอกไม้ผู้ชาญฉลาดเลือกเก็บดอกไม้ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ แผ่นดิน ในที่นี้หมายถึงอัตภาพ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑/๒)
๒ ยมโลก หมายถึงอบายภูมิ ๔ (ขุ.ธ.อ. ๓/๒)
๓ บทธรรม หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๓/๒)
๔ พระเสขะ หมายถึงพระอริยบุคคล ๗ จำพวก มีพระโสดาบัน เป็นต้น ผู้ศึกษาตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ
และปัญญา (ขุ.ธ.อ. ๓/๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๔. ปุปผวรรค ๓. วิฑูฑภวัตถุ
๒. มรีจิกัมมัฏฐานิกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เจริญมรีจิกัมมัฏฐาน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เจริญกัมมัฏฐานมีพยับแดดเป็นอารมณ์
ดังนี้)
[๔๖] ภิกษุผู้รู้แจ้งว่า ร่างกายนี้เปรียบเหมือนฟองน้ำ
รู้ชัดว่า ร่างกายนี้มีลักษณะดุจพยับแดด๑
ตัดพวงดอกไม้ของมาร๒ได้แล้ว
ก็จะไปถึงสถานที่ที่มัจจุราชหาไม่พบ๓

๓. วิฑูฑภวัตถุ
เรื่องเจ้าชายวิฑูฑภะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๗] มฤตยู๔ ย่อมฉุดคร่านรชนผู้มีใจติดข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ
ผู้มัวแต่เลือกเก็บดอกไม้๕อยู่
เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดพาเอาชาวบ้านที่หลับไหลไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อว่า เหมือนฟองน้ำ เพราะจะดำรงอยู่ได้ไม่นาน
ชื่อว่า ดุจพยับแดด เพราะปรากฏในที่ไกลเหมือนเป็นรูปที่จะยึดถือจับต้องได้ แต่พอเข้าใกล้กลับว่างเปล่า
ยึดถือจับต้องไม่ได้เลย ดำรงอยู่ได้ชั่วกาลนิดหน่อย (ขุ.ธ.อ. ๓/๔)
๒ ตัดพวงดอกไม้ของมาร หมายถึงตัดวัฏฏะในภูมิ ๓ (กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ) ได้ด้วยอริยมรรค (ขุ.ธ.อ. ๓/๔)
๓ สถานที่มัจจุราชหาไม่พบ หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๓/๔)
๔ มฤตยู หมายถึงความตาย (ขุ.ธ.อ. ๓/๒๕)
๕ ดอกไม้ ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๓/๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๔. ปุปผวรรค ๖. ปาฏิกาชีวกวัตถุ
๔. ปติปูชิกาวัตถุ
เรื่องนางปติปูชิกา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๘] มฤตยูย่อมทำคนที่มีใจติดข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ
ผู้มัวแต่เลือกเก็บดอกไม้อยู่
ผู้ไม่อิ่มในกามทั้งหลาย๑ ให้ตกอยู่ในอำนาจ

๕. มัจฉริโกสิยเสฏฐิวัตถุ
เรื่องโกสิยเศรษฐีผู้ตระหนี่
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๙] ภมรไม่ทำลายดอก สี และกลิ่น
ดูดแต่น้ำหวานไป ฉันใด
มุนีพึงเที่ยวไปในหมู่บ้าน ฉันนั้น๒

๖. ปาฏิกาชีวกวัตถุ
เรื่องอาชีวกชื่อปาฏิกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อุบาสิกาผู้รับใช้อาชีวกชื่อปาฏิกะ ดังนี้)
[๕๐] บุคคลไม่พึงใส่ใจถ้อยคำแสลงหูของคนอื่น
ไม่พึงเพ่งเล็งกิจที่คนอื่นทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำ
แต่พึงตรวจดูกิจที่ตนทำแล้วและยังไม่ได้ทำเท่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ไม่อิ่มในกามทั้งหลาย หมายถึงผู้ไม่อิ่มในกิเลสกามและวัตถุกาม มุ่งแต่จะแสวงหา มุ่งแต่จะให้ได้มา
มุ่งแต่จะใช้สอย และมุ่งแต่จะสะสม (ขุ.ธ.อ. ๓/๒๘)
๒ ความหมายในคาถานี้คือ มุนีผู้เป็นทั้งพระเสขะและพระอเสขะเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านตามลำดับเรือน
รับเอาภิกษาหารโดยไม่ทำลายศรัทธาและทรัพย์ของชาวบ้าน ดุจหมู่ผึ้งที่บินเข้าไปในหมู่ไม้ดูดเอาแต่น้ำหวาน
ไม่ทำลายดอก สี และกลิ่นของต้นไม้ ในคาถานี้ ตรัสถึงคุณสมบัติของพระขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. ๓/๓๔-๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๔. ปุปผวรรค ๙. อานันทเถรวัตถุ
๗. ฉัตตปาณิอุปาสกวัตถุ
เรื่องฉัตตปาณิอุบาสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๕๑] วาจาสุภาษิต๑ ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ทำตาม๒
เหมือนดอกไม้งาม มีสีสวย (แต่) ไม่มีกลิ่น
[๕๒] วาจาสุภาษิต ย่อมมีผลแก่ผู้ทำตามด้วยดี
เหมือนดอกไม้งาม มีทั้งสีและมีกลิ่น ฉะนั้น๓

๘. วิสาขาวัตถุ
เรื่องนางวิสาขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๕๓] สัตว์ผู้มีอันจะต้องตาย เมื่อเกิดมาแล้ว ควรสร้างกุศลไว้ให้มาก
เหมือนช่างดอกไม้ร้อยพวงมาลัยไว้เป็นจำนวนมากจากกองดอกไม้ ฉะนั้น

๙. อานันทเถรวัตถุ
เรื่องพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๕๔] กลิ่นดอกไม้ลอยไปทวนลมไม่ได้
กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา

เชิงอรรถ :
๑ วาจาสุภาษิต ในที่นี้หมายถึงพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก (ขุ.ธ.อ. ๒/๔๒)
๒ ผู้ไม่ทำตาม หมายถึงบุคคลผู้ไม่ตั้งใจประพฤติตามพระพุทธพจน์โดยเอื้อเฟื้อ กล่าวคือไม่ตั้งใจฟัง ทรงจำ
และนำมาปฏิบัติ ผลจึงไม่เกิดแก่ผู้นั้น (ขุ.ธ.อ. ๓/๔๒)
๓ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๓๒๓-๓๒๔/๓๙๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๔. ปุปผวรรค ๑๑. โคธิกเถรวัตถุ
หรือกลิ่นกระลำพักก็ลอยไปทวนลมไม่ได้
ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษ ลอยไปทวนลมได้
เพราะสัตบุรุษขจรไปทั่วทุกทิศ๑
[๕๕] กลิ่นศีลยอดเยี่ยมกว่ากลิ่นหอมเหล่านี้ คือ
กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา กลิ่นดอกอุบล และกลิ่นดอกมะลิ

๑๐. มหากัสสปเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๕๖] กลิ่นกฤษณา หรือกลิ่นจันทน์นี้ หอมเพียงเล็กน้อย
แต่กลิ่นของท่านผู้มีศีล หอมมากที่สุด
หอมฟุ้งไปทั่วทั้งเทวโลกและมนุษยโลก

๑๑. โคธิกเถรวัตถุ
เรื่องพระโคธิกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๕๗] มารย่อมไม่พบทางของท่านผู้มีศีลสมบูรณ์
ผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทเป็นปกติ
ผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ

เชิงอรรถ :
๑ สัตบุรุษย่อมมีกลิ่นเกียรติคุณคือศีลแผ่ขจรไปทั่วทุกทิศ (ขุ.ธ.อ. ๓/๗๖) และดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/
๘๐/๓๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๑. อัญญตรปุริสวัตถุ
๑๒. ครหทินนวัตถุ
เรื่องนายครหทินน์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นายครหทินน์ และนายสิริคุตต์ ดังนี้)
[๕๘] ในกองขยะที่เขาทิ้งไว้ข้างทางใหญ่
ยังมีดอกบัวมีกลิ่นหอมรื่นรมย์ใจเกิดขึ้นมาได้ ฉันใด
[๕๙] ในหมู่ปุถุชนผู้มืดมนซึ่งเปรียบได้กับกองขยะ
ก็ยังมีสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเจริญรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา ฉันนั้น
ปุปผวรรคที่ ๔ จบ

๕. พาลวรรค
หมวดว่าด้วยคนพาล๑
๑. อัญญตรปุริสวัตถุ
เรื่องชายคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล และชายคนหนึ่ง ดังนี้)
[๖๐] ราตรีหนึ่ง ยาวนานสำหรับคนผู้ตื่นอยู่
ระยะทางโยชน์หนึ่ง ยาวไกลสำหรับคนผู้เมื่อยล้า
สังสารวัฏ๒ยาวนานสำหรับคนพาลผู้ไม่รู้แจ้งสัทธรรม

เชิงอรรถ :
๑ คนพาล ในที่นี้หมายถึงคนโง่ ไม่มีปัญญา ไม่รู้จักประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า ไม่รู้จักพระ
สัทธรรมมีโพธิปักขิยธรรม และอริยสัจ ๔ เป็นต้น จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๐๖,
ขุ.ธ.ฏีกา ๘๑)
๒ สังสารวัฏ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิด (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๔. คัณฐิเภทกโจรวัตถุ
๒. มหากัสสปสัทธิวิหาริกวัตถุ
เรื่องสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้อยู่ในกรุงราชคฤห์ ดังนี้)
[๖๑] หากบุคคลเที่ยวหาคนดีกว่าตน หรือเสมอกับตนไม่ได้
ก็ควรถือการเที่ยวไปคนเดียวให้มั่นคง
เพราะจะหาความเป็นเพื่อน๑ในคนพาลไม่ได้เลย

๓. อานันทเสฏฐิวัตถุ
เรื่องอานันทเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เศรษฐีชื่อมูลสิริบุตรของอานันทเศรษฐี ดังนี้)
[๖๒] คนพาลย่อมเดือดร้อนว่า “เรามีบุตร เรามีทรัพย์”
แท้จริง ตัวตนก็ไม่มี บุตรและทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน

๔. คัณฐิเภทกโจรวัตถุ
เรื่องโจรผู้ทำลายปม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่โจรผู้ทำลายปมและชนทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๓] คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล
ยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง
แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต
นั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้

เชิงอรรถ :
๑ ความเป็นเพื่อน ในที่นี้หมายถึงคุณธรรมที่ได้จากความเป็นเพื่อนคือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล กถาวัตถุ ๑๐
ธุดงคคุณ ๑๓ วิปัสสนา มรรค ๔ ผล ๔ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๗. สุปปพุทธกุฏฐิวัตถุ
๕. อุทายิเถรวัตถุ
เรื่องพระอุทายีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๔] คนพาล แม้จะอยู่ใกล้บัณฑิตชั่วชีวิต
ก็ไม่รู้แจ้งธรรม เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง ฉะนั้น

๖. ปาเฐยยกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุชาวเมืองปาฐา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๕] วิญญูชน แม้จะอยู่ใกล้บัณฑิตเพียงชั่วครู่
ก็รู้แจ้งธรรมได้ฉับพลัน เหมือนลิ้นรู้รสแกง ฉะนั้น

๗. สุปปพุทธกุฏฐิวัตถุ
เรื่องนายสุปปพุทธะผู้เป็นโรคเรื้อน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๖] คนพาลผู้มีปัญญาทราม ทำตนให้เป็นดุจข้าศึก
เที่ยวทำบาปกรรมที่ให้ผลเผ็ดร้อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๑๐. อุปปลวัณณาเถรีวัตถุ
๘. กัสสกวัตถุ
เรื่องชาวนา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ชาวนาคนหนึ่ง ดังนี้)
[๖๗] บุคคลทำกรรมใดแล้ว
ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลัง
ร้องไห้น้ำตานองหน้า เสวยผลกรรมอยู่
กรรมนั้นชื่อว่า เป็นกรรมไม่ดี

๙. สุมนมาลาการวัตถุ
เรื่องช่างดอกไม้ชื่อสุมนะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๘] บุคคลทำกรรมใดแล้ว
ย่อมไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง
อิ่มเอิบ ดีใจ เสวยผลกรรมอยู่
กรรมนั้นชื่อว่า เป็นกรรมดี

๑๐. อุปปลวัณณาเถรีวัตถุ
เรื่องพระอุบลวัณณาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๙] ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล
คนพาลย่อมสำคัญบาปดุจน้ำผึ้ง๑
แต่เมื่อใดบาปให้ผล เมื่อนั้นคนพาลย่อมประสบทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ สำคัญบาปดุจน้ำผึ้ง หมายถึงสำคัญว่าบาปอกุศลที่ตนทำอยู่ ปรากฏน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ
เหมือนน้ำผึ้ง (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๑๓. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
๑๑. ชัมพุกาชีวกวัตถุ
เรื่องอาชีวกชื่อชัมพุกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มหาชนชาวแคว้นอังคะและมคธ ดังนี้)
[๗๐] คนพาลถึงใช้ปลายหญ้าคาจิ้มอาหารกินทุกๆ เดือน
เขาก็ไม่ได้รับผลแห่งการปฏิบัติเช่นนั้น
เท่าเสี้ยวที่ ๑๖ ของผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว๑

๑๒. อหิเปตวัตถุ
เรื่องเปรตผู้มีรูปร่างเหมือนงู
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๑] บาปกรรมที่บุคคลทำแล้วยังไม่ให้ผลทันที
เหมือนน้ำนมที่รีดในวันนี้
บาปกรรมนั้นจะค่อย ๆ เผาผลาญคนพาล
เหมือนไฟที่ถูกเถ้ากลบไว้ ฉะนั้น

๑๓. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
เรื่องเปรตถูกฆ้อนต่อยศีรษะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๒] ความรู้๒เกิดแก่คนพาลเพียงเพื่อทำลายถ่ายเดียว
ความรู้ของคนพาลนั้น กำจัดคุณงามความดี
ทำปัญญาของเขาให้ตกต่ำ

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว หมายถึงผู้มีธรรมอันรู้แล้ว ผู้มีธรรมอันชั่งได้แล้ว ในที่นี้หมายถึง พระโสดาบัน
จนถึงพระอรหันต์ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๔๗)
๒ ความรู้ ในที่นี้หมายรวมถึงศิลปะ ยศ ชื่อเสียง (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๑๔. สุธัมมเถรวัตถุ
๑๔. สุธัมมเถรวัตถุ
เรื่องพระสุธัมมเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระสุธัมมเถระ ดังนี้)
[๗๓] ภิกษุพาลปรารถนาการยกย่องที่ตนไม่มี๑
ปรารถนาให้ภิกษุทั้งหลายตามแวดล้อมตน
ปรารถนาความเป็นใหญ่ในอาวาส
และปรารถนาเครื่องบูชาจากชาวบ้านทั้งหลาย
[๗๔] ภิกษุพาลเกิดความดำริว่า
“ขอให้คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้ง ๒ ฝ่าย จงเข้าใจว่า
เราผู้เดียวทำกิจนี้ เราผู้เดียวพึงมีอำนาจในการงาน
ไม่ว่ากิจการใหญ่หรือเล็ก”
ความริษยา๒และความถือตัว๓จึงเกิดพอกพูนขึ้น

เชิงอรรถ :
๑ ปรารถนาการยกย่องที่ตนไม่มี หมายถึงไม่มีศรัทธา ต้องการให้คนชมว่ามีศรัทธา ทุศีลต้องการให้คนชม
ว่ามีศีล เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๕๙)
๒ ความริษยา ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่เกิดในทวาร ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๖๐)
๓ ความถือตัว ในที่นี้หมายถึงมานะ ๙ อย่าง (๑) เป็นผู้เลิศกว่าเขา ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา (๒) เป็นผู้เลิศกว่าเขา
ถือตัวว่าเสมอเขา (๓) เป็นผู้เลิศกว่าเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา (๔) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา
(๕) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าเสมอเขา (๖) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา (๗) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา
ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา (๘) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา (๙) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
(ขุ.ธ.อ. ๓/๑๖๐) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๑/๙๖-๙๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๖. ปัณฑิตวรรค ๑. ราธเถรวัตถุ
๑๕ วนวาสีติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระวนวาสีติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๕] ข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้ได้ลาภเป็นอย่างหนึ่ง
ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงนิพพานเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
รู้ชัดข้อปฏิบัติทั้งสองนี้แล้ว ไม่พึงยินดีสักการะ๑
แต่พึงเพิ่มพูนวิเวก๒(ให้ต่อเนื่อง)
พาลวรรคที่ ๕ จบ

๖. ปัณฑิตวรรค
หมวดว่าด้วยบัณฑิต
๑. ราธเถรวัตถุ
เรื่องพระราธเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๖] บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญามักชี้โทษ
มักพูดปรามไว้ เหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์
(และ) พึงคบผู้ที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้น
เพราะเมื่อคบคนเช่นนั้น ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย๓

เชิงอรรถ :
๑ สักการะ ในที่นี้หมายถึงปัจจัย ๔ (จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร) (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๘๑)
๒ วิเวก หมายถึงความสงัด มี ๓ คือ (๑) กายวิเวก ความสงัดกาย (๒) จิตตวิเวก ความสงัดใจ (๓) อุปธิวิเวก
ความสงัดอุปธิ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๘๑)
๓ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๙๓/๕๐๒, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๐๘/๖๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๖. ปัณฑิตวรรค ๔. มหากัปปินเถรวัตถุ
๒. อัสสชิปุนัพพสุกวัตถุ
เรื่องพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๗] ผู้ใดพึงกล่าวสอน พร่ำสอน
และห้ามจากความชั่ว
ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย
แต่ไม่เป็นที่รักของอสัตบุรุษทั้งหลาย๑

๓. ฉันนเถรวัตถุ
เรื่องพระฉันนเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๘] บุคคลไม่พึงคบมิตรชั่ว๒ ไม่พึงคบคนต่ำช้า๓
พึงคบแต่กัลยาณมิตร พึงคบแต่สัตบุรุษ

๔. มหากัปปินเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัปปินเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๙] บุคคลผู้อิ่มเอิบในธรรม๔ มีใจผ่องใส ย่อมอยู่เป็นสุข
บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยะประกาศแล้วทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๙๕/๕๐๒, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๐๘/๖๑๐
๒ มิตรชั่ว หมายถึงผู้ยินดีในอกุศลกรรม มีกายทุจริต เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๗)
๓ คนต่ำช้า หมายถึงคนที่ชักนำในสิ่งที่ไม่สมควร มีการตัดช่องย่องเบา เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๗)
๔ ผู้อิ่มเอิบในธรรม หมายถึงบุคคลผู้บรรลุโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) (ขุ.ธ.อ.
๔/๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๖. ปัณฑิตวรรค ๗. กาณมาตาวัตถุ
๕. ปัณฑิตสามเณรวัตถุ
เรื่องบัณฑิตสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๐] คนไขน้ำ ย่อมไขน้ำ
ช่างศร ย่อมดัดลูกศร
ช่างไม้ ย่อมถากไม้
บัณฑิต ย่อมฝึกตน๑

๖. ลกุณฑกภัททิยเถรวัตถุ
เรื่องพระลกุณฑกภัททิยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๑] ภูเขาศิลาล้วน เป็นแท่งทึบ ย่อมไม่สะเทือนเพราะลม ฉันใด
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาหรือสรรเสริญ๒ ฉันนั้น

๗. กาณมาตาวัตถุ
เรื่องมารดาของนางกาณา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๒] บัณฑิตทั้งหลายฟังธรรมแล้ว ย่อมผ่องใส๓
ดุจห้วงน้ำที่ลึก ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ฝึกตน หมายถึงฝึกฝนตนเองเพื่อบรรลุอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. ๔/๓๕) และดู ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๕๒/๔๓๑, ขุ.เถร.
(แปล) ๒๖/๘๗๗/๔๘๔
๒ ในคาถานี้ แม้จะตรัสโลกธรรมไว้เพียง ๒ ประการ คือ นินทาและสรรเสริญก็จริง แต่พึงทราบว่า ทรงแสดง
โลกธรรมไว้ทั้ง ๘ ประการ ความหมายโดยสรุป คือ ไม่หวั่นไหวทั้งในอิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่น่าปรารถนา)
และอนิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) (ขุ.ธ.อ. ๔/๓๖)
๓ ผ่องใส ในที่นี้หมายถึงบรรลุสภาวะที่จิตปราศจากอุปธิกิเลสด้วยอำนาจโสดาปัตติมรรค เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๖. ปัณฑิตวรรค ๙. ธัมมิกเถรวัตถุ
๘. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๓] สัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมเว้นในธรรมทั้งปวง๑
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่พร่ำเพ้อเพราะกามคุณเป็นเหตุ
บัณฑิตทั้งหลายจะประสบสุขหรือทุกข์
ย่อมไม่แสดงอาการขึ้นลง๒

๙. ธัมมิกเถรวัตถุ
เรื่องพระธัมมิกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๔] บัณฑิตย่อมไม่ทำบาปเพราะตนเป็นเหตุ
หรือเพราะผู้อื่นเป็นเหตุ
บุคคลไม่พึงปรารถนาบุตร ทรัพย์ แว่นแคว้น
หรือความสำเร็จเพื่อตน โดยไม่ชอบธรรม
พึงเป็นผู้มีศีล มีปัญญา และยึดมั่นอยู่ในธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ย่อมเว้นในธรรมทั้งปวง หมายถึงมีอรหัตตมัคคญาณเป็นเครื่องเว้นหรือละฉันทราคะ(ความกำหนัดด้วย
อำนาจความพอใจ)ในขันธ์ ๕ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๒)
๒ ไม่แสดงอาการขึ้นลง หมายถึงไม่แสดงอาการยินดีหรือยินร้ายเมื่อถูกโลกธรรมกระทบ (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๖. ปัณฑิตวรรค ๑๑. ปัญจสตอาคันตุกภิกขุวัตถุ
๑๐. ธัมมัสสวนวัตถุ๑
เรื่องการฟังธรรม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๕] ในหมู่มนุษย์ เหล่าชนผู้ไปถึงฝั่งโน้น๒ มีจำนวนน้อย
ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้เลาะไปตามฝั่งนี้๓ทั้งนั้น
[๘๖] ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามธรรม
ในธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ๔
ชนเหล่านั้นจักข้ามพ้นวัฏฏะ
อันเป็นบ่วงมารที่ข้ามได้แสนยาก ไปถึงฝั่งโน้นได้

๑๑. ปัญจสตอาคันตุกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุอาคันตุกะ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุอาคันตุกะผู้อยู่ในแคว้นโกศล ดังนี้)
[๘๗] บัณฑิตละธรรมดำ๕ แล้วพึงเจริญธรรมขาว๖
ออกจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ๗

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๔/๓๓, ๑๙๘/๗๔, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๑๗/๒๖๙-๒๗๐
๒ ฝั่งโน้น หมายถึงนิพพาน (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕, ขุ.ธ.อ. ๔/๔๕, สํ.ม.อ. ๓/๓๑-๔๐/๑๙๖)
๓ ฝั่งนี้ หมายถึงสักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นอัตตาของตน) (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๕) หรือหมายถึงวัฏฏะ (สํ.ม.อ.
๓/๓๑-๔๐/๑๙๖)
๔ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔
นิพพาน ๑ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕)
๕ ธรรมดำ หมายถึงอกุศลธรรม มีกายทุจริต เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๗)
๖ ธรรมขาว หมายถึงกุศลธรรม มีกายสุจริต เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๗)
๗ ออกจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ หมายถึงออกจากวัฏฏะที่เรียกว่า โอกะ (ที่มีน้ำ) มาสู่วิวัฏฏะที่เรียกว่า อโนกะ
(ที่ไม่มีน้ำ) ได้แก่ นิพพาน (สํ.ม.อ. ๓/๓๑-๔๐/๑๙๖, องฺ.ทสก.อ.๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕, ขุ.ธ.อ.๔/๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๗. อรหันตวรรค ๑. ชีวกวัตถุ
[๘๘] ละกามทั้งหลายแล้ว เป็นผู้หมดความกังวล
พึงปรารถนายินดียิ่งในวิเวกที่ยินดีได้ยากยิ่ง
พึงชำระตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งหลาย
[๘๙] บัณฑิตเหล่าใดอบรมจิตโดยชอบ
ในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย
ไม่ถือมั่น ยินดีในนิพพานเป็นที่สละความถือมั่น
บัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้ว
มีความรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก๑
ปัณฑิตวรรคที่ ๖ จบ

๗. อรหันตวรรค
หมวดว่าด้วยพระอรหันต์
๑. ชีวกวัตถุ
เรื่องหมอชีวก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่หมอชีวก ดังนี้)
[๙๐] ผู้บรรลุจุดหมายปลายทางแล้ว๒
ไร้ความโศก หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง๓
ละกิเลสเครื่องร้อยรัด๔ได้หมด ย่อมไม่มีความเร่าร้อน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๔/๓๓-๓๔, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๖๙/๒๖๙-๒๗๐
๒ ผู้บรรลุจุดหมายปลายทาง หมายถึงพระขีณาสพผู้ถึงที่สุดแห่งสังสารวัฏ (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๙)
๓ ธรรมทั้งปวง หมายถึงธรรมทั้งหลายมีขันธ์ ๕ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๙)
๔ กิเลสเครื่องร้อยรัด หมายถึงกิเลส ๔ อย่าง คือ (๑) อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่น
(๒) พยาบาท ความคิดร้ายผู้อื่น (๓) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลและวัตร (๔) อิทังสัจจาภินิเวส
ความถือมั่นว่านี้เท่านั้นจริง (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๙) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๙/๑๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๗. อรหันตวรรค ๓. เพฬัฏฐสีสเถรวัตถุ
๒. มหากัสสปเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๙๑] ผู้มีสติ หมั่นประกอบความเพียร๑
ไม่ติดในที่อยู่ ละความห่วงอาลัยไป
เหมือนหงส์ละเปือกตมไป ฉะนั้น

๓. เพฬัฏฐสีสเถรวัตถุ
เรื่องพระเพฬัฏฐสีสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๙๒] ผู้ไม่มีการสั่งสม๒
กำหนดรู้อาหารก่อนแล้วจึงบริโภค
มีสุญญตวิโมกข์๓ และอนิมิตตวิโมกข์ เป็นอารมณ์
ไม่ทิ้งทางไว้ให้เป็นที่รู้ได้
เหมือนนกไม่ทิ้งทางไว้ในอากาศ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีสติ หมั่นประกอบความเพียร ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้มีสติไพบูลย์ หมั่นประกอบในคุณธรรมมี
ฌานและวิปัสสนา เป็นต้น ที่ตนได้บรรลุแล้วโดยการนึก การเข้า การออก การอธิษฐาน และการพิจารณา
(ขุ.ธ.อ.๔/๕๒)
๒ การสั่งสม มี ๒ อย่าง คือ (๑) กัมมสันนิจยะ การสั่งสมกรรมคือกุศลและอกุศล (๒) ปัจจยสันนิจยะ
การสั่งสมปัจจัย ๔ (ขุ.ธ.อ.๔/๕๓-๕๔)
๓ สุญญตวิโมกข์ หมายถึงสภาวะที่หลุดพ้น เพราะว่างจาก ราคะ โทสะ โมหะ
อนิมิตตวิโมกข์ หมายถึงสภาวะที่หลุดพ้น เพราะไม่มีนิมิต คือ ราคะ เป็นต้น
ในคาถาที่ ๙๒-๙๓ นี้ หมายรวมถึงอัปปณิหิตวิโมกข์ ได้แก่ สภาวะที่หลุดพ้น เพราะไม่มีที่ตั้งคือกิเลส
มีราคะเป็นต้นด้วย วิโมกข์ทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นชื่อของนิพพาน (ขุ.ธ.อ.๔/๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๗. อรหันตวรรค ๕. มหากัจจายนเถรวัตถุ
๔. อนุรุทธเถรวัตถุ
เรื่องพระอนุรุทธเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๙๓] ท่านผู้สิ้นอาสวะแล้ว ไม่ติดในอาหาร
มีสุญญตวิโมกข์ และอนิมิตตวิโมกข์ เป็นอารมณ์
ไม่ทิ้งร่องรอยไว้ให้เป็นที่รู้ได้
เหมือนนกไม่ทิ้งร่องรอยไว้ในอากาศ ฉะนั้น๑

๕. มหากัจจายนเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัจจายนเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๙๔] ผู้ใดฝึกอินทรีย์๒ให้สงบได้
เหมือนม้าที่นายสารถีฝึกดีแล้ว
ผู้นั้นย่อมละมานะได้ ไม่มีอาสวะ คงที่
แม้ทวยเทพทั้งหลายก็รักใคร่

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๒/๓๓๗
๒ อินทรีย์ หมายถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (ขุ.ธ.อ. ๔/๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๗. อรหันตวรรค ๘. สารีปุตตเถรวัตถุ
๖. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๙๕] ภิกษุผู้คงที่ มีวัตรงาม
ไม่ยินดียินร้าย เสมอด้วยแผ่นดิน
เปรียบด้วยเสาเขื่อน
(มีใจผ่องใส) เหมือนห้วงน้ำไร้เปือกตม
สังสารวัฏย่อมไม่มีแก่ผู้เช่นนั้น

๗. โกสัมพีวาสีติสสเถรสามเณรวัตถุ
เรื่องสามเณรของพระติสสเถระชาวเมืองโกสัมพี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระชาวเมืองโกสัมพี ดังนี้)
[๙๖] ผู้หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ ผู้สงบ ผู้คงที่
ย่อมมีมโนกรรมที่สงบ วจีกรรมที่สงบ กายกรรมที่สงบ

๘. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้อยู่ในป่า ๓๐ รูป ดังนี้)
[๙๗] นรชนใด ผู้ไม่ต้องเชื่อใคร๑
รู้จักนิพพานที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ต้องเชื่อใคร ในที่นี้หมายถึงรู้แจ้งธรรมอย่างประจักษ์ชัดด้วยตนเอง ไม่ต้องรอสดับธรรมจากผู้อื่น (ขุ.ม.อ.
๘๘/๓๓๙-๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๗. อรหันตรรค ๑๐. อัญญตริตถีวัตถุ
ตัดรอยต่อ๑แห่งการเกิดใหม่
ทำลายโอกาส๒ แห่งการท่องเที่ยวไปในสงสาร
คายความหวังแล้ว นรชนนั้นแล เป็นบุรุษสูงสุด๓

๙. ขทิรวนิยเรวตเถรวัตถุ
เรื่องพระเรวตเถระผู้อยู่ในป่าไม้ตะเคียน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางวิสาขามิคารมาตา ดังนี้)
[๙๘] พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่สถานที่ใด
คือ จะเป็นบ้านก็ตาม ป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม
สถานที่นั้น เป็นรมณียสถาน๔

๑๐. อัญญตริตถีวัตถุ
เรื่องหญิงคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๙๙] ท่านผู้ปราศจากราคะทั้งหลาย
จะยินดีป่าทั้งหลาย อันน่ารื่นรมย์
ที่ชนผู้แสวงหากามไม่ยินดี
เพราะท่านเหล่านั้นไม่แสวงหากาม๕
อรหันตวรรคที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ รอยต่อ หมายถึงวัฏฏสนธิ (รอยต่อคือวัฏฏะ) สังสารสนธิ (รอยต่อคือสงสาร) (ขุ.ธ.อ. ๔/๘/๖๖)
๒ ทำลายโอกาส หมายถึงทำลายโอกาสที่จะเกิดอีกได้ เพราะสิ้นเชื้อพันธุ์คือกุศลกรรมและอกุศลกรรม
(ขุ.ธ.อ. ๔/๖๖)
๓ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๘/๒๗๕
๔ ในคาถานี้มีนัยว่า แม้ในหมู่บ้านจะหาความสงบกายไม่ได้ก็จริง แต่พระอรหันต์ทั้งหลายก็ได้ความสงบใจ
เพราะอารมณ์ทั้งหลายหาทำจิตของท่านให้หวั่นไหวได้ไม่ ดังนั้น ที่ไหนก็ตามย่อมเป็นที่พระอรหันต์อยู่ได้
และที่นั้นย่อมเป็นสถานที่รื่นรมย์ (ขุ.ธ.อ. ๔/๗๒) และดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๙๑/๕๐๒
๕ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๙๒/๕๐๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๒. พาหิยทารุจีริยเถรวัตถุ
๘. สหัสสวรรค
หมวดว่าด้วยหนึ่งในร้อยในพัน
๑. ตัมพทาฐิกโจรฆาตกวัตถุ
เรื่องเพชฌฆาตโจรเคราแดง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๐๐] คำพูดที่มีประโยชน์คำเดียว๑
ที่คนฟังแล้วสงบระงับได้๒
ย่อมดีกว่าคำพูดที่ไร้ประโยชน์ตั้ง ๑,๐๐๐ คำ

๒. พาหิยทารุจีริยเถรวัตถุ
เรื่องพระพาหิยทารุจีริยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๐๑] คาถาที่มีประโยชน์คาถาเดียว
ที่คนฟังแล้วสงบระงับได้
ย่อมดีกว่าคาถาที่ไร้ประโยชน์ตั้ง ๑,๐๐๐ คาถา

เชิงอรรถ :
๑ มีประโยชน์ ในที่นี้หมายถึงเป็นคำที่แสดงเรื่องนิพพาน หรือเรื่องขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ พละ
โพชฌงค์ และสติปัฏฐาน (ขุ.ธ.อ. ๔/๘๒)
๒ สงบระงับ หมายถึงสงบระงับกิเลสมีราคะเป็นต้นได้ (ขุ.ธ.อ. ๔/๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๔. อนัตถปุจฉกพราหมณวัตถุ
๓. กุณฑลเกสีเถรีวัตถุ
เรื่องพระกุณฑลเกสีเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๐๒] ธรรมะบทหนึ่ง๑ ที่คนฟังแล้วสงบระงับได้
ย่อมดีกว่าคาถาที่ไร้ประโยชน์ตั้ง ๑๐๐ คาถา
[๑๐๓] ผู้ชนะข้าศึกจำนวนพันคูณด้วยพันในสงคราม
หาชื่อว่าผู้ชนะที่ยอดเยี่ยมไม่
แต่ผู้ชนะตน๒ได้ จึงชื่อว่า ผู้ชนะที่ยอดเยี่ยม

๔. อนัตถปุจฉกพราหมณวัตถุ
เรื่องอนัตถปุจฉกพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ ดังนี้)
[๑๐๔] การชนะตนของบุคคลผู้ฝึกตนดีแล้ว๓
ประพฤติสำรวมเป็นนิตย์นั่นแล
ประเสริฐกว่าการชนะผู้อื่น
[๑๐๕] เทวดา คนธรรพ์ มาร หรือพรหม
ไม่อาจทำชัยชนะของบุคคลเช่นนั้นให้กลับแพ้ได้เลย

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมะบทหนึ่ง หมายถึงข้อธรรมหนึ่งในหมวดธรรมที่มีหลายข้อ เช่น หมวดธรรม ๔ คือ (๑) อนภิชฌา
(๒) อพยาบาท (๓) สัมมาสติ (๔) สัมมาสมาธิ แต่ละข้อเป็นธรรมะบทหนึ่ง (ขุ.ธ.อ. ๔/๙๕)
๒ ชนะตน หมายถึงชนะกิเลสมีโลภะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๙๕)
๓ ผู้ฝึกตนดี ในที่นี้หมายถึงผู้ไม่มีกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๔/๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๖. สารีปุตตเถรภาคิเนยยวัตถุ
๕. สารีปุตตเถรมาตุลพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถระ ดังนี้)
[๑๐๖] การบูชาของบุคคลผู้บูชาท่านที่อบรมตนดี๑แล้ว
คนเดียว แม้เพียงครู่เดียว
ประเสริฐกว่าการบูชาของบุคคลผู้บูชายัญ๒
ด้วยทรัพย์จำนวน ๑,๐๐๐ กหาปณะทุก ๆ เดือน ตลอด ๑๐๐ ปี

๖. สารีปุตตเถรภาคิเนยยวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นหลานของพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้เป็นหลานของพระสารีบุตรเถระ
ดังนี้)
[๑๐๗] การบูชาของบุคคลผู้บูชาท่านที่อบรมตนดีแล้ว
คนเดียว แม้เพียงครู่เดียว
ประเสริฐกว่าการบูชาของบุคคลผู้บูชาไฟในป่าเป็นเวลา ๑๐๐ ปี

เชิงอรรถ :
๑ ท่านที่อบรมตนดี ในที่นี้หมายถึงพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันตขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. ๔/๙๙)
๒ บูชายัญ หมายถึงให้ทานแก่มหาชน (ขุ.ธ.อ.๔/๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๙. สังกิจจสามเณรวัตถุ
๗. สารีปุตตเถรสหายกพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นเพื่อนของพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้เป็นเพื่อนของพระสารีบุตรเถระ
ดังนี้)
[๑๐๘] การไหว้ท่านผู้ปฏิบัติตรง
ประเสริฐกว่าการบูชายัญและการบวงสรวงใด ๆ ในโลก
ที่ผู้หวังบุญทำอยู่ตลอดปี
เพราะการบูชายัญและการบวงสรวงทั้งหมดนั้น
มีค่าไม่ถึงหนึ่งในสี่๑

๘. อายุวัฑฒนกุมารวัตถุ
เรื่องอายุวัฒนกุมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อายุวัฒนกุมารและอุบาสก ๕๐๐ คน ดังนี้)
[๑๐๙] ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
ย่อมเจริญแก่ผู้กราบไหว้ ผู้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เป็นนิตย์

๙. สังกิจจสามเณรวัตถุ
เรื่องสังกิจจสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๑๑๐] ผู้มีศีล เพ่งพินิจ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าคนทุศีล ไม่มีจิตตั้งมั่น
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี

เชิงอรรถ :
๑ มีค่าไม่ถึงหนึ่งในสี่ หมายถึงอานิสงส์ไม่ถึง ๑ ส่วนใน ๔ ส่วนแห่งผลที่เกิดจากการมีกุศลเจตนาคือจิต
เลื่อมใสแล้วน้อมกายไหว้พระอริยบุคคลผู้ปฏิบัติตรง (ขุ.ธ.อ. ๔/๑๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๑๒. ปฏาจาราเถรีวัตถุ
๑๐. ขาณุโกณฑัญญเถรวัตถุ
เรื่องพระขาณุโกณฑัญญเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ผู้เป็นศิษย์พระขาณุ-
โกณฑัญญเถระ ดังนี้)
[๑๑๑] ผู้มีปัญญา เพ่งพินิจ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าผู้มีปัญญาทราม ไม่มีจิตตั้งมั่น
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี๑

๑๑. สัปปทาสเถรวัตถุ
เรื่องพระสัปปทาสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๑๒] ผู้มีความเพียรมั่นคง๒ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าผู้เกียจคร้าน ไม่มีความเพียร
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี

๑๒. ปฏาจาราเถรีวัตถุ
เรื่องพระปฏาจาราเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระปฏาจาราเถรี ดังนี้)
[๑๑๓] ผู้เห็นความเกิดและความดับ๓ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าผู้ไม่เห็นความเกิดและความดับ
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี๔

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.อป. (แปล) ๓๓/๒๓๙/๔๘๖
๒ มีความเพียรมั่นคง หมายถึงบำเพ็ญเพียรอย่างหนักแน่น สามารถจะให้เกิดฌาน ๒ ประการ คือ
(๑) อารัมมณูปนิชฌาน(การเพ่งอารมณ์ ได้แก่ สมาบัติ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔) (๒) ลักขณูปนิชฌาน
(การเพ่งลักษณะ ได้แก่ วิปัสสนา มรรค และผล)
๓ เห็นความเกิดและความดับ หมายถึงเห็นความเกิดและความดับของขันธ์ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๔/๑๒๘)
๔ ขุ.อป. (แปล) ๓๓/๘๑/๔๖๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๑๔. พหุปุตติกาเถรีวัตถุ
๑๓. กิสาโคตมีวัตถุ
เรื่องนางกิสาโคตมี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางกิสาโคตมี ดังนี้)
[๑๑๔] ผู้เห็นทางอมตะ๑ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าผู้ไม่เห็นทางอมตะ
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี

๑๔. พหุปุตติกาเถรีวัตถุ
เรื่องพระพหุปุตติกาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระพหุปุตติกาเถรี ดังนี้)
[๑๑๕] ผู้เห็นธรรมอันสูงสุด๒ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าผู้ไม่เห็นธรรมอันสูงสุด
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี
สหัสสวรรคที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ทางอมตะ หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๔/๑๓๒)
๒ ธรรมอันสูงสุด ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ (ขุ.ธ.อ. ๔/๑๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๒. เสยยสกเถรวัตถุ
๙. ปาปวรรค
หมวดว่าด้วยบาป
๑. จูเฬกสาฏกวัตถุ
เรื่องพราหมณ์จูเฬกสาฎก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๑๖] บุคคลควรรีบเร่งทำบุญ๑ ควรห้ามจิตจากบาป๒
เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจจะยินดีในบาป

๒. เสยยสกเถรวัตถุ
เรื่องพระเสยยสกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเสยยสกเถระ ดังนี้)
[๑๑๗] หากบุคคลทำบาปไป ก็ไม่ควรทำบาปนั้นซ้ำอีก
ไม่ควรทำความพอใจในบาปนั้น
เพราะการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้

เชิงอรรถ :
๑ บุญ หมายถึงการให้ทาน การบำเพ็ญวัตร มีอุปัชฌายวัตรเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๕/๔)
๒ บาป หมายถึงกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือการเกิดขึ้นแห่งอกุศลจิต (ขุ.ธ.อ. ๕/๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๔. อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ
๓. ลาชเทวธีตาวัตถุ
เรื่องลาชเทพธิดา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ลาชเทพธิดา ดังนี้)
[๑๑๘] หากบุคคลทำบุญ ก็ควรทำบุญนั้นบ่อย ๆ
ควรทำความพอใจในบุญนั้น
เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้

๔. อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ
เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีและเทวดาผู้สิงสถิต
อยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของเศรษฐี ดังนี้)
[๑๑๙] ตราบใดที่บาปยังไม่ให้ผล
ตราบนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าดี
แต่เมื่อใด บาปให้ผล
เมื่อนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าชั่วแท้
[๑๒๐] ตราบใดที่กรรมดียังไม่ให้ผล
ตราบนั้น คนดีจะเห็นกรรมดีว่าชั่ว
แต่เมื่อใด กรรมดีให้ผล
เมื่อนั้นคนดีจะเห็นกรรมดีว่าดีแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๗. มหาธนวาณิชวัตถุ
๕. อสัญญตปริกขารภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ไม่เก็บรักษาบริขาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๑๒๑] บุคคลอย่าสำคัญว่าบาปเล็กน้อยคงจักไม่มาถึง๑
แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยน้ำที่ตกลงมาทีละหยาด ๆ ได้ ฉันใด
คนพาล เมื่อสั่งสมบาปทีละเล็กทีละน้อย
ก็เต็มด้วยบาปได้ ฉันนั้น

๖. พิฬารปทกเสฏฐิวัตถุ
เรื่องพิฬารปทกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เศรษฐีผู้อยู่เมืองสาวัตถี ดังนี้)
[๑๒๒] บุคคลอย่าสำคัญว่าบุญเล็กน้อยคงจักไม่มาถึง
แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยน้ำที่ตกลงมาทีละหยาด ๆ ได้ ฉันใด
คนมีปัญญา เมื่อสั่งสมบุญแม้ทีละเล็กทีละน้อย
ก็เต็มด้วยบุญได้ ฉันนั้น

๗. มหาธนวาณิชวัตถุ
เรื่องพ่อค้าผู้มีทรัพย์มาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๓] บุคคลควรละเว้นบาปทั้งหลาย
ดุจพ่อค้าที่มีทรัพย์มาก แต่มีพวกน้อย หลีกเลี่ยงทางที่มีภัย
และดุจคนรักชีวิตหลีกเลี่ยงยาพิษ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงอย่าสำคัญว่าตนทำบาปไว้เพียงนิดหน่อย คงจักไม่ให้ผล (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๑๐. มณิการกุลุปกติสสเถรวัตถุ
๘. กุกกุฏมิตตเนสาทวัตถุ
เรื่องนายพรานเนื้อชื่อกุกกุฏมิต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๔] หากที่ฝ่ามือไม่มีแผล บุคคลก็ใช้ฝ่ามือนำยาพิษไปได้
เพราะยาพิษจะไม่ซึมเข้าไปยังฝ่ามือที่ไม่มีแผล
เหมือนบาปไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป ฉะนั้น

๙. โกกสุนขลุททกวัตถุ
เรื่องนายพรานสุนัขชื่อโกกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๑๒๕] บุคคลใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย
เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้
ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลม ฉะนั้น๑

๑๐. มณิการกุลุปกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้เข้าถึงตระกูลช่างแก้ว
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๖] สัตว์พวกหนึ่ง ย่อมเกิดในครรภ์๒
พวกที่ทำบาปกรรมย่อมไปนรก
พวกที่ทำความดีย่อมไปสวรรค์
ส่วนผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมนิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๒๒/๒๖, ๑๙๐/๒๖๙, ขุ.เปต. (แปล) ๒๖/๒๖๕/๒๑๐, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๙๔/๒๑๖
และดูสุตตนิบาตข้อ ๖๖๘ หน้า ๖๖๐ ในเล่มนี้
๒ ครรภ์ ในที่นี้หมายถึงครรภ์มนุษย์ (ขุ.ธ.อ. ๕/๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๑๒. สุปปพุทธสักกวัตถุ
๑๑. ตโยชนวัตถุ
เรื่องคน ๓ จำพวก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๗] คนทำบาป ถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
ถึงจะดำลงไปกลางทะเล ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
ถึงจะเข้าไปหลบตัวในซอกเขา ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่คนทำบาปยืนอยู่แล้ว
จะพ้นจากบาปกรรมได้

๑๒. สุปปพุทธสักกวัตถุ
เรื่องเจ้าศากยะสุปปพุทธะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๘] บุคคล ถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ ก็ไม่พ้นจากความตาย
ถึงจะดำลงไปกลางทะเล ก็ไม่พ้นจากความตาย
ถึงจะเข้าไปหลบตัวในซอกเขา ก็ไม่พ้นจากความตาย
เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่บุคคลยืนอยู่แล้ว
จะไม่ถูกความตายครอบงำได้
ปาปวรรคที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณธวรรค ๒. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
๑๐. ทัณฑวรรค
หมวดว่าด้วยการลงทัณฑ์๑
๑. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๙] สัตว์ทุกประเภท ย่อมสะดุ้งกลัวโทษทัณฑ์
สัตว์ทุกประเภท ย่อมหวาดกลัวความตาย
บุคคลนำตนเข้าไปเปรียบเทียบแล้ว
ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้คนอื่นฆ่า

๒. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๓๐] สัตว์ทุกประเภท ย่อมสะดุ้งกลัวโทษทัณฑ์
สัตว์ทุกประเภท ย่อมรักชีวิต๒
บุคคลนำตนเข้าไปเปรียบเทียบแล้ว
ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้คนอื่นฆ่า

เชิงอรรถ :
๑ ลงทัณฑ์ ตามความหมายในวรรคนี้คือ การใช้กำลังทำร้าย เข่นฆ่า หรือเบียดเบียนบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่น
ให้ได้รับความเดือดร้อน โดยการใช้ท่อนไม้ ก้อนดิน และวาจาที่หยาบคายให้ร้ายป้ายสี ตลอดถึงการใช้
บทบัญญัติ บทลงโทษที่เอื้อประโยชน์ตนเป็นเครื่องมือ (ขุ.ธ.อ. ๕/๔๐-๕๘)
๒ ยกเว้นพระขีณาสพ เพราะท่านเป็นผู้วางเฉยได้ในชีวิตหรือความตาย (ขุ.ธ.อ. ๕/๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณธวรรค ๔. โกณฑธานเถรวัตถุ
๓. สัมพหุลกุมารวัตถุ
เรื่องเด็กชายหลายคน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เด็กชายชาวเมืองสาวัตถีประมาณ ๕๐๐ คน
ที่กำลังตีงูในระหว่างทาง ดังนี้)
[๑๓๑] ผู้ใดใฝ่หาความสุขเพื่อตน
แต่กลับใช้ท่อนไม้ทำร้ายสัตว์ทั้งหลายผู้รักสุข
ผู้นั้นตายไปแล้วย่อมไม่ได้รับความสุขเลย
[๑๓๒] ส่วนผู้ใดใฝ่หาความสุขเพื่อตน
ไม่ใช้ท่อนไม้ทำร้ายสัตว์ทั้งหลายผู้รักสุข
ผู้นั้นตายไปแล้วย่อมได้รับความสุข๑

๔. โกณฑธานเถรวัตถุ
เรื่องพระโกณฑธานเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระโกณฑธานเถระ ดังนี้)
[๑๓๓] เธออย่าได้กล่าวคำหยาบต่อใคร ๆ
คนที่ถูกเธอว่ากล่าวจะกล่าวโต้ตอบเธอ
เพราะว่าถ้อยคำที่โต้เถียงกัน ก่อให้เกิดทุกข์
และการทำร้ายโต้ตอบกันจะมาถึงเธอ
[๑๓๔] ถ้าเธอทำตนให้นิ่งเงียบได้
เหมือนกังสดาล๒ที่ตัดขอบปากออกแล้ว
เธอก็จะบรรลุนิพพานได้
การโต้เถียงกันก็จะไม่มีแก่เธอ

เชิงอรรถ :
๑ ดูอุทานข้อ ๑๓ หน้า ๑๙๓ ในเล่มนี้
๒ กังสดาล หมายถึงระฆังวงเดือน (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณธวรรค ๗. มหาโมคคัลลานเถรวัตถุ
๕. อุโปสถิกอิตถีวัตถุ
เรื่องหญิงผู้รักษาอุโบสถศีล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางวิสาขาและหญิงผู้รักษาอุโบสถศีล
ประมาณ ๕๐๐ คน ดังนี้)
[๑๓๕] คนเลี้ยงโคใช้ท่อนไม้ไล่ต้อนฝูงโคไปยังที่หากิน ฉันใด
ความแก่และความตาย ก็ไล่ต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไป ฉันนั้น

๖. อชครเปตวัตถุ
เรื่องเปรตงูเหลือม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๓๖] คนพาลมีปัญญาทราม เมื่อทำบาปกรรมย่อมไม่รู้สึกตัว
จึงมักเดือดร้อนเพราะกรรมของตน
เหมือนคนถูกไฟไหม้ ฉะนั้น

๗. มหาโมคคัลลานเถรวัตถุ
เรื่องพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๓๗] ผู้ใดประทุษร้ายคนที่ไม่มีความผิด๑
(และ) คนที่ไม่ประทุษร้าย๒ (ตอบ)ด้วยโทษทัณฑ์
ผู้นั้นย่อมได้รับผลอย่าง ๑ ใน ๑๐ อย่าง คือ
[๑๓๘] (๑) ทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า (๒) เสื่อมทรัพย์
(๓) ถูกทำร้ายร่างกาย (๔) เจ็บป่วยอย่างหนัก
(๕) กลายเป็นคนวิกลจริต

เชิงอรรถ :
๑ คนที่ไม่มีความผิด หมายถึงพระขีณาสพผู้ปราศจากความผิดทางกาย เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๕/๕๘)
๒ คนที่ไม่ประทุษร้าย หมายถึงคนที่ไม่มีความผิดต่อผู้อื่น หรือต่อตนเอง (ขุ.ธ.อ. ๕/๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณธวรรค ๙. สันตติมหามัตตวัตถุ
[๑๓๙] (๖) ต้องราชภัย๑ (๗) ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรง
(๘) เสื่อมญาติ (๙) ทรัพย์สมบัติพินาศย่อยยับ
[๑๔๐] (๑๐) บ้านเรือนถูกไฟไหม้
เขาผู้มีปัญญาทราม เมื่อตายไปย่อมตกนรก

๘. พหุภัณฑิกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้มีเครื่องใช้สอยมาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้มีเครื่องใช้สอยมาก ดังนี้)
[๑๔๑] การเป็นคนเปลือย การเกล้าชฎา การเอาโคลนทาตัว
การอดอาหาร การนอนบนพื้นดิน
การมีกายหมักหมมด้วยธุลี
หรือการทำความเพียรด้วยการนั่งกระโหย่ง
วัตรทั้งหมดเหล่านี้หาชำระคนผู้ยังไม่ล่วงพ้นความสงสัยให้หมดจดได้ไม่

๙. สันตติมหามัตตวัตถุ
เรื่องสันตติมหาอำมาตย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๔๒] แม้บุคคลจะแต่งตัวแบบใดก็ตาม
ถ้าเขาเป็นผู้สงบ ฝึกตนได้ เป็นผู้แน่นอน๒ประพฤติพรหมจรรย์
ละเว้นการเบียดเบียนสรรพสัตว์ ประพฤติสม่ำเสมอ
ควรเรียกบุคคลเช่นนั้นว่า พราหมณ์ สมณะ หรือภิกษุ๓ ก็ได้

เชิงอรรถ :
๑ ต้องราชภัย หมายถึงการถูกถอดยศ ปลดจากตำแหน่ง เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๕/๕๘)
๒ สงบ หมายถึงสงบจากกิเลสมีราคะเป็นต้น
ฝึกตนได้ หมายถึงควบคุมอินทรีย์ทั้ง ๖ ได้
เป็นผู้แน่นอน หมายถึงเป็นผู้แน่นอนในโลกุตตรมรรคทั้ง ๔ (ขุ.ธ.อ. ๕/๖๘)
๓ คำว่า “พราหมณ์ สมณะ ภิกษุ” ตามหลักการพุทธศาสนามีความหมายดังนี้ พราหมณ์ หมายถึง
ผู้ลอยบาปได้ สมณะ หมายถึงผู้สงบระงับบาปได้ ภิกษุ หมายถึงผู้ทำลายกิเลสได้ (ขุ.ธ.อ. ๕/๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณฑวรรค ๑๑. สุขสามเณรวัตถุ
๑๐. ปิโลติกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปิโลติกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๔๓] บุคคลผู้กีดกันอกุศลวิตกได้ด้วยหิริ มีอยู่น้อยคนในโลก
ภิกษุใดหลบหลีกนินทาได้ ตื่นตัวอยู่ เหมือนม้าชั้นดีหลบแส้ได้
ภิกษุเช่นนั้นมีอยู่น้อยรูป๑
[๑๔๔] เธอทั้งหลายจงมีความเพียรและมีสังเวคธรรม๒
เหมือนม้าดีที่ถูกลงแส้ เธอทั้งหลายมีศรัทธา ศีล วิริยะ
สมาธิ และธัมมวินิจฉัย๓
สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ มีสติมั่นคง
จักละทุกข์๔มีประมาณไม่น้อยนี้ได้

๑๑. สุขสามเณรวัตถุ
เรื่องสุขสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๔๕] คนไขน้ำ ย่อมไขน้ำ
ช่างศร ย่อมดัดลูกศร
ช่างไม้ ย่อมถากไม้
ผู้มีวัตรดี๕ ย่อมฝึกตน๖
ทัณฑวรรคที่ ๑๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๘/๑๖
๒ มีสังเวคธรรม แปลจากคำว่า “สํเวคิโน” หมายถึงมีสโหตตัปปญาณ คือ ญาณที่มีโอตตัปปะ ได้แก่ ญาณ
ที่มีความกลัวต่อภัยคือชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๓๗/๑๓๑)
๓ ธัมมวินิจฉัย หมายถึงความรู้เหตุที่ควรและไม่ควร (ขุ.ธ.อ. ๕/๗๑)
๔ ทุกข์ ในที่นี้หมายถึงวัฏฏทุกข์ (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐/๗๘)
๕ ผู้มีวัตรดี ในที่นี้หมายถึงคนที่ว่าง่าย สอนง่าย (ขุ.ธ.อ. ๕/๘๒)
๖ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๙/๓๑๐ และดูเทียบธรรมบทข้อ ๘๐ หน้า ๕๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๑. ชราวรรค ๒. สิริมาวัตถุ
๑๑. ชราวรรค
หมวดว่าด้วยความชรา
๑. วิสาขาสหายิกาวัตถุ
เรื่องหญิงสหายของนางวิสาขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่หญิงประมาณ ๕๐๐ คน ดังนี้)
[๑๔๖] เมื่อโลกลุกเป็นไฟ๑อยู่เป็นนิตย์
ทำไมจึงมัวหัวเราะร่าเริงกันอยู่เล่า
เธอทั้งหลายถูกความมืด๒ปกคลุม
ไฉนไม่แสวงหาดวงประทีป๓กันเล่า

๒. สิริมาวัตถุ
เรื่องนางสิริมา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท ๔ ที่มุงดูศพนางสิริมา ดังนี้)
[๑๔๗] จงดูอัตภาพที่ตกแต่งอย่างสวยงาม
แต่มีกายเป็นแผล๔ มีกระดูกเป็นโครงร่าง๕
อันกระสับกระส่าย ที่มหาชนดำริหวังกันมาก๖
ซึ่งไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น

เชิงอรรถ :
๑ โลกลุกเป็นไฟ หมายถึงโลกสันนิวาส (โลกคือหมู่สัตว์) ถูกไฟ ๑๑ กอง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ชาติ ชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส แผดเผาอยู่เป็นนิตย์ (ขุ.ธ.อ. ๕/๘๕) และดู วิ.ม. (แปล)
๔/๕๔/๖๓, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๘/๒๗ ประกอบ
๒ ความมืด หมายถึงอวิชชา (ขุ.ธ.อ. ๕/๘๕)
๓ ดวงประทีป หมายถึงแสงสว่างคือญาณ (ขุ.ธ.อ. ๕/๘๕)
๔ มีกายเป็นแผล หมายถึงมีทวาร ๙ (ขุ.ธ.อ.๕/๙๐)
๕ มีกระดูกเป็นโครงร่าง หมายถึงมีกระดูก ๓๐๐ ท่อนเป็นโครงร่าง (ขุ.ธ.อ.๕/๙๐)
๖ ดูเทียบ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๐๒/๓๕๙, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๗๖๙/๔๖๘, ๑๑๖๐/๕๓๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๑. ชราวรรค ๕. ชนปทกัลยาณีรูปนันทาเถรีวัตถุ
๓. อุตตราเถรีวัตถุ
เรื่องพระอุตตราเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอุตตราเถรีผู้มีอายุ ๑๒๐ ปี ดังนี้)
[๑๔๘] ร่างกายนี้แก่หง่อมแล้ว
เป็นรังของโรค มีแต่จะทรุดโทรมลงไป
ร่างกายที่เน่าเปื่อยนี้ก็จะแตกดับไป
เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด

๔. อธิมานิกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เข้าใจว่าตนสำเร็จ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายที่กำลังดูซากศพในป่าช้า ดังนี้)
[๑๔๙] กระดูกเหล่านี้มีสีเหมือนสีนกพิราบ
ถูกเขาทิ้งไว้เกลื่อนกลาด
เหมือนน้ำเต้าที่ร่วงเกลื่อนกลาดในสารทกาล๑
ความยินดีอะไรเล่าจะเกิด เพราะเห็นกระดูกเหล่านั้น

๕. ชนปทกัลยาณีรูปนันทาเถรีวัตถุ
เรื่องพระรูปนันทาเถรีผู้งามในรัฐ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระรูปนันทาเถรีผู้สำคัญตนว่างาม ดังนี้)
[๑๕๐] ร่างกายนี้ถูกสร้างให้เป็นนครแห่งกระดูก
ฉาบด้วยเนื้อและเลือด เป็นที่สถิตแห่งความแก่
ความตาย ความถือตัว และความลบหลู่กัน

เชิงอรรถ :
๑ สารทกาล หมายถึงฤดูใบไม้ร่วง ฤดูสารท เทศกาลทำบุญสิ้นเดือน ๑๐ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๑. ชราวรรค ๘. ปฐมโพธิวัตถุ
๖. มัลลิกาเทวีวัตถุ
เรื่องพระนางมัลลิกาเทวี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เสียพระทัยเพราะ
การจากไปของพระนางมัลลิกาเทวี ดังนี้)
[๑๕๑] ราชรถอันวิจิตรงดงาม ยังชำรุดได้
แม้แต่ร่างกายนี้ ก็ยังเข้าถึงชราได้
แต่ธรรมของสัตบุรุษ๑หาเข้าถึงชราไม่
สัตบุรุษกับสัตบุรุษรู้กันได้อย่างนี้๒

๗. โลลุทายิเถรวัตถุ
เรื่องพระโลลุทายีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๕๒] คนที่มีการศึกษาน้อยนี้
ย่อมแก่ไปเปล่าเหมือนโคพลิพัท
เขาเจริญแต่เนื้อหนัง ส่วนปัญญาหาเจริญไม่๓

๘. ปฐมโพธิวัตถุ
เรื่องเหตุการณ์คราวแรกตรัสรู้
(พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทาน ดังนี้)
[๑๕๓] เราตามหานายช่าง๔ผู้สร้างเรือน๕ เมื่อไม่พบ๖
จึงท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นอเนกชาติ
เพราะการเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมของสัตบุรุษ หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๑)
๒ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๑๔/๑๓๑, ขุ.ชา. (แปล) ๒๘/๔๑๓/๑๖๖
๓ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๐๒๘/๕๐๘
๔ นายช่าง ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๕)
๕ เรือน ในที่นี้หมายถึงอัตภาพ (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๕)
๖ เมื่อไม่พบ ในที่นี้หมายถึงไม่พบโพธิญาณ (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๑. ชราวรรค ๙. มหาธนเสฏฐิปุตตวัตถุ
[๑๕๔] นายช่างเอ๋ย เราพบท่านแล้ว๑
ท่านจะสร้างเรือนไม่ได้อีก
ซี่โครง๒ทุกซี่ของท่าน เราหักแล้ว
ยอดเรือน๓เราก็รื้อแล้ว
จิตของเราถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว
เราได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว๔

๙. มหาธนเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภบุตรเศรษฐีผู้ใช้สอยทรัพย์สมบัติจนหมด จึงตรัส
พระคาถานี้แก่พระอานนท์ ดังนี้)
[๑๕๕] พวกคนโง่เขลาไม่ประพฤติตนให้เป็นคนดี
ในวัยหนุ่มสาวก็ไม่ได้หาทรัพย์ไว้ ย่อมซบเซา
เหมือนนกกระเรียนแก่ซบเซาอยู่ที่เปือกตมไร้ปลา ฉะนั้น
[๑๕๖] พวกคนโง่เขลาไม่ประพฤติตนให้เป็นคนดี
ในวัยหนุ่มสาวก็ไม่ได้หาทรัพย์ไว้
ย่อมนอนรำพึงถึงความหลัง
ดุจลูกธนูที่พ้นจากแล่ง ฉะนั้น
ชราวรรคที่ ๑๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงพบตัณหานั้นได้ด้วยความรู้แจ้งพระสัพพัญญุตญาณ (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๖)
๒ ซี่โครง ในที่นี้หมายถึงกิเลสเหล่าอื่นทั้งหมด (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๖)
๓ ยอดเรือน ในที่นี้หมายถึงอวิชชา ( ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๖)
๔ พระคาถานี้จัดเป็นปฐมพุทธพจน์ (วิ.อ. ๑/๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๒. อัตตวรรค ๒. อุปนันทสักยปุตตเถรวัตถุ
๑๒. อัตตวรรค
หมวดว่าด้วยตน
๑. โพธิราชกุมารวัตถุ
เรื่องโพธิราชกุมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่โพธิราชกุมาร ดังนี้)
[๑๕๗] ถ้าบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ควรรักษาตนนั้นไว้ให้ดี
บัณฑิตพึงประคับประคองตนไว้ให้ได้๑
อย่างน้อยยามใดยามหนึ่งใน ๓ ยาม๒

๒. อุปนันทสักยปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุหนุ่ม ๒ รูป ดังนี้)
[๑๕๘] บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณธรรมที่เหมาะสมก่อน
แล้วสอนคนอื่นในภายหลัง๓ จึงจะไม่มัวหมอง๔

เชิงอรรถ :
๑ ประคับประคองตน ในที่นี้หมายถึงถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็ควรทำบุญ มีทานและศีล เป็นต้น ถ้าเป็นบรรพชิต
ก็ควรขวยขวายทำวัตรปฏิบัติศึกษาพระปริยัติและเจริญกัมมัฏฐาน (ขุ.ธ.อ.๖/๕)
๒ ยาม ในที่นี้หมายถึงวัย ได้แก่ ระยะของอายุ มี ๓ คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย (ขุ.ธ.อ.๖/๔-๕)
๓ หมายถึงเมื่อบัณฑิตประสงค์จะสอนผู้อื่นด้วยคุณธรรมมีความมักน้อย เป็นต้น หรือด้วยปฏิปทาของอริยวงศ์
ตนเองจะต้องดำรงอยู่ในคุณธรรมนั้นก่อน (ขุ.ธ.อ. ๖/๘)
๔ไม่มัวหมอง หมายถึงไม่ถูกนินทา (ขุ.ธ.อ. ๖/๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๑. ชราวรรค ๕. มหากาลอุปาสกวัตถุ
๓. ปธานิกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปธานิกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๑๕๙] บุคคลสอนผู้อื่นอย่างไร ก็พึงทำตนอย่างนั้น
ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว จึงควรฝึก(ผู้อื่น)
เพราะตนนั่นแลฝึกได้ยากยิ่ง

๔. กุมารกัสสปมาตาวัตถุ
เรื่องมารดาของพระกุมารกัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๖๐] ตนแลเป็นที่พึ่งของตน๑ บุคคลอื่นใครเล่า จะเป็นที่พึ่งได้
เพราะบุคคลที่ฝึกตนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งอันได้โดยยาก

๕. มหากาลอุปาสกวัตถุ
เรื่องมหากาลอุบาสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๖๑] บาปที่ตนเองทำ เกิดในตน มีตนเป็นแดนเกิด
ย่อมทำลายคนมีปัญญาทราม
เหมือนเพชรที่เกิดจากหินทำลายแก้วมณี ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน หมายถึงตนเองเท่านั้นที่จะสามารถทำกุศลแล้วเข้าถึงสวรรค์ หรือบรรลุมรรคผล
ได้ที่พึ่งที่ได้ยากคืออรหัตตผล ไม่มีใครอื่นจะทำให้ได้ (ขุ.ธ.อ.๖/๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๒. อัตตวรรค ๘. กาลเถรวัตถุ
๖. เทวทัตตวัตถุ
เรื่องพระเทวทัต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๖๒] ความทุศีลโดยสิ้นเชิง๑
ย่อมรึงรัดอัตภาพของบุคคลผู้ทุศีลไว้
ดุจเถาวัลย์ที่รึงรัดต้นสาละไว้
เขาย่อมทำตนให้วิบัติดุจโจรปรารถนาให้เขาวิบัติ ฉะนั้น

๗. สังฆเภทปริสักกนวัตถุ
เรื่องความพยายามเพื่อทำลายสงฆ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนท์ปรารภถึงพระเทวทัต ดังนี้)
[๑๖๓] กรรมที่ไม่ดี และไม่มีประโยชน์แก่ตน ทำได้ง่าย
ส่วนกรรมที่ดี และมีประโยชน์ ทำได้ยากอย่างยิ่ง

๘. กาลเถรวัตถุ
เรื่องพระกาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระกาลเถระและชนทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๖๔] ผู้มีปัญญาทราม อาศัยทิฏฐิชั่ว
คัดค้านคำสอนของพระอริยะ
ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้ดำรงอยู่โดยธรรม
การคัดค้านและทิฏฐิชั่วนั้น
เกิดขึ้นมาเพื่อทำลายตนเอง
เหมือนขุยไผ่ทำลายต้นไผ่ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความทุศีลโดยสิ้นเชิง ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยทวารทั้ง ๖ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๒. อัตตวรรค ๑๐. อัตตทัตถเถรวัตถุ
๙. จูฬกาลอุปาสกวัตถุ
เรื่องจูฬกาลอุบาสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่จูฬกาลอุบาสก ดังนี้)
[๑๖๕] ตนทำบาปกรรมเอง ก็เศร้าหมองเอง๑
ตนไม่ทำบาปกรรมเอง ก็บริสุทธิ์เอง
ความบริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตน
คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้๒

๑๐. อัตตทัตถเถรวัตถุ
เรื่องพระอัตตทัตถเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอัตตทัตถเถระ ดังนี้)
[๑๖๖] บุคคลไม่ควรให้ประโยชน์ตน๓เสียไป
เพราะประโยชน์คนอื่นแม้มาก
เมื่อรู้ประโยชน์ตนแล้ว
ก็ควรขวนขวายในประโยชน์ตน
อัตตวรรคที่ ๑๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เศร้าหมองเอง หมายถึงเสวยทุกข์ในอบาย คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย (ขุ.ธ.อ. ๖/๒๓)
๒ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘/๔๑, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๓/๑๖๖, อภิ.ก. ๓๗/๗๔๓/๔๓๕-๔๓๖
๓ ประโยชน์ตน หมายถึงอริยผล ในที่นี้ ตรัสมุ่งกัมมัฏฐานเป็นหลัก (ขุ.ธ.อ. ๖/๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๓. โลกวรรค ๒. สุทโธทนวัตถุ
๑๓. โลกวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องโลก
๑. ทหรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหนุ่ม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๑๖๗] บุคคลไม่พึงเสพสิ่งต่ำทราม๑
ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท
ไม่พึงยึดถือความเห็นผิด
ไม่พึงเป็นคนรกโลก

๒. สุทโธทนวัตถุ
เรื่องพระเจ้าสุทโธทนะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าสุทโธทนะพระบิดาของพระองค์ ดังนี้)
[๑๖๘] ภิกษุไม่พึงประมาทบิณฑบาตที่ตนยืนรับ๒
พึงประพฤติสุจริตธรรม๓
ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๑๖๙] พึงประพฤติสุจริตธรรม
ไม่พึงประพฤติทุจริตธรรม
ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

เชิงอรรถ :
๑ สิ่งต่ำทราม ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๖/๒๗)
๒ ไม่พึงประมาทบิณฑบาตที่ตนยืนรับ หมายถึงไม่พึงดูหมิ่นอาหารที่ต้องลุกขึ้นไปยืนรับตามลำดับตรอก
ไม่เลือกรับเฉพาะบ้าน (ขุ.ธ.อ. ๖/๒๙)
๓ สุจริตธรรม หมายถึงภิกขาจริยธรรม คือ การเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ซึ่งตรงกันข้ามกับทุจริต-
ธรรม คือ การเที่ยวบิณฑบาตในสถานที่อโคจร เช่น สถานที่ที่มีหญิงแพศยา เป็นต้น (ขุ.ธ.อ.๖/๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๓. โลกวรรค ๕. สัมมัชชนเถรวัตถุ
๓. ปัญจสตวิปัสสกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๑๗๐] มัจจุราชย่อมไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณาเห็นโลก๑
เหมือนเห็นฟองน้ำ เหมือนเห็นพยับแดด

๔. อภยราชกุมารวัตถุ
เรื่องอภัยราชกุมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อภัยราชกุมาร ดังนี้)
[๑๗๑] ท่านทั้งหลายจงมาดูโลกนี้๒ ที่วิจิตรดุจราชรถ
ที่พวกคนเขลาหมกมุ่นอยู่ แต่พวกผู้รู้หาข้องอยู่ไม่๓

๕. สัมมัชชนเถรวัตถุ
เรื่องพระสัมมัชชนเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๗๒] ผู้ใดประมาทแล้วในกาลก่อน
ภายหลังไม่ประมาท
ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว๔
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น๕

เชิงอรรถ :
๑ โลก หมายถึงโลกคือขันธ์ ๕ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๑)
๒ ดูความหมายในเชิงอรรถที่ ๑
๓ ข้องอยู่ หมายถึงติดอยู่ด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๒)
๔ ทำโลกนี้ให้สว่างไสว หมายถึงทำโลกคือขันธ์ ๕ เป็นต้น ให้สว่างด้วยมรรคญาณ (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๔)
๕ ดูเทียบ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๕๒/๔๓๐, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๗๑/๔๘๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๓. โลกวรรค ๘. ติงสภิกขุวัตถุ
๖. อังคุลิมาลเถรวัตถุ
เรื่องพระองคุลิมาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๗๓] บาปกรรมที่ทำไว้ ผู้ใดละเสียได้ด้วยกุศล๑
ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น

๗. เปสการธีตาวัตถุ
เรื่องธิดานายช่างหูก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ธิดาของนายช่างหูก ดังนี้)
[๑๗๔] โลกนี้มืดมน๒ คนในโลกนี้น้อยคนนักจักเห็นแจ้ง
น้อยคนนักจักไปสวรรค์๓
เหมือนนกติดข่าย น้อยตัวนักที่จะพ้นจากข่าย ฉะนั้น

๘. ติงสภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๓๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๑๗๕] ฝูงหงส์บินไปทางดวงอาทิตย์๔ได้
ท่านที่เจริญอิทธิบาทดีแล้ว ไปทางอากาศด้วยฤทธิ์ได้
ส่วนนักปราชญ์ทั้งหลายชนะมารพร้อมทั้งพาหนะได้แล้ว
ย่อมออกไปจากโลกได้๕

เชิงอรรถ :
๑ กุศล ในที่นี้หมายถึงอรหัตตมรรค (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๕) และดูเทียบ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๕๒/๔๓๐, ขุ.เถร. (แปล)
๒๖/๘๗๒/๔๘๓
๒ โลกนี้มืดมน หมายถึงโลกิยมหาชนในโลกนี้ เป็นผู้มืดบอด เพราะไม่มีปัญญาจักษุ (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๙)
๓ หมายถึงมีน้อยคนที่จะเห็นแจ้งไตรลักษณ์ ที่จะไปสุคติภูมิ หรือที่จะบรรลุนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๖/๗/๓๙)
๔ ทางดวงอาทิตย์ หมายถึงทางอากาศ (ขุ.ธ.อ. ๖/๔๑)
๕ ออกไปจากโลก ในที่นี้หมายถึงออกไปจากวัฏฏะ กล่าวคือบรรลุนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๖/๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๓. โลกวรรค ๑๑. อนาถปิณฑิกปุตตกาลวัตถุ
๙. จิญจมาณวิกาวัตถุ
เรื่องนางจิญจมาณวิกา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๗๖] บุคคลผู้ล่วงละเมิดธรรมอย่างหนึ่ง๑
ผู้มักกล่าวเท็จ ปฏิเสธปรโลก
จะไม่ทำบาปไม่มี

๑๐. อสทิสทานวัตถุ
เรื่องอสทิสทาน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลและเหล่าอำมาตย์ ดังนี้)
[๑๗๗] พวกคนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้เลย
พวกคนพาลไม่สรรเสริญการให้ทาน
ส่วนนักปราชญ์อนุโมทนาการให้ทาน
เพราะเหตุนั้นแล เขาจึงได้รับสุขในปรโลก

๑๑. อนาถปิณฑิกปุตตกาลวัตถุ
เรื่องนายกาละบุตรของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี ดังนี้)
[๑๗๘] โสดาปัตติผลประเสริฐกว่าความเป็นเอกราชในแผ่นดิน
กว่าการไปสู่สวรรค์ หรือกว่าความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง๒
โลกวรรคที่ ๑๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมอย่างหนึ่ง ในที่นี้หมายถึงสัจจะ (ขุ.ธ.อ.๖/๙/๔๖)
๒ ความเป็นเอกราชในแผ่นดิน การไปสู่สวรรค์ และความเป็นใหญ่ในโลก ยังไม่พ้นจากอบายภูมิมีนรกเป็นต้น
แต่โสดาปัตติผลเป็นธรรมปิดกั้นประตูอบายภูมิได้ (ขุ.ธ.อ. ๖/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๒. ยมกปาฏิหาริยวัตถุ
๑๔. พุทธวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้า
๑. มารธีตาวัตถุ
เรื่องธิดามาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ธิดามาร ๓ นาง คือ นางตัณหา นางอรดี
และนางราคา ดังนี้)
[๑๗๙] กิเลสที่พระพุทธเจ้าพระองค์ใดทรงชนะแล้ว
พระองค์จะไม่ทรงกลับแพ้อีก
กิเลสสักน้อยหนึ่งในโลกไม่ติดตามพระองค์ผู้ชนะได้แล้ว
พวกท่านจักนำพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณหาที่สุดมิได้ ผู้ไม่มีร่องรอย๑ไปด้วยร่องรอยอะไรเล่า
[๑๘๐] ตัณหาดุจตาข่าย ชื่อว่า วิสัตติกา๒
ไม่มีแก่พระพุทธเจ้าพระองค์ใด เพื่อนำไปในภพไหน ๆ
พวกท่านจักนำพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณหาที่สุดมิได้ ผู้ไม่มีร่องรอย ไปด้วยร่องรอยอะไรเล่า

๒. ยมกปาฏิหาริยวัตถุ
เรื่องยมกปาฏิหาริย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เทวดาและมนุษย์ที่ประตูสังกัสสนคร ดังนี้)
[๑๘๑] ท่านผู้เป็นปราชญ์เหล่าใดใฝ่ใจในฌาน ยินดีในเนกขัมมะ๓
แม้ทวยเทพก็ชื่นชมท่านผู้เป็นปราชญ์เหล่านั้น
ผู้มีสติ ตรัสรู้เองโดยชอบ

เชิงอรรถ :
๑ ร่องรอย ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๖๐)
๒ วิสัตติกา หมายถึงตัณหาที่ซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ (ขุ.ธ.อ. ๖/๖๐)
๓ เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงนิพพานเป็นที่สงบระงับกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๖/๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๔. อานันทเถรปัญหวัตถุ
๓. เอรกปัตตนาคราชวัตถุ
เรื่องพญานาคชื่อเอรกปัตต์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พญานาคชื่อเอรกปัตต์ ดังนี้)
[๑๘๒] การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็นับว่ายาก
การดำรงชีวิตอยู่ของเหล่าสัตว์ก็นับว่ายาก
การที่จะได้ฟังสัทธรรมก็นับว่ายาก
การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเสด็จอุบัติขึ้นก็ยิ่งยาก๑

๔. อานันทเถรปัญหวัตถุ
เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๑๘๓] การไม่ทำบาปทั้งปวง
การทำกุศลให้ถึงพร้อม
การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว๒
นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
[๑๘๔] ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นบรมธรรม
ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่า เป็นบรรพชิต
ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่า เป็นสมณะ

เชิงอรรถ :
๑ การเกิดเป็นมนุษย์ นับว่ายาก เพราะจะต้องได้มาด้วยความพยายามมากและด้วยกุศลมาก การดำรง
ชีวิตอยู่ นับว่ายาก เพราะต้องทำการงานเลี้ยงชีวิต และเพราะต้องดำรงชีวิตอยู่เพียงชั่วระยะนิดหน่อย
การได้ฟังสัทธรรม นับว่ายาก เพราะหาผู้แสดงได้ยาก การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้น
นับว่ายาก เพราะจะต้องบำเพ็ญบารมีด้วยความพยายามอันยิ่งใหญ่จึงจะสำเร็จได้ และจะต้องใช้เวลา
หลายพันโกฏิกัปจึงจะเสด็จอุบัติขึ้นได้ (ขุ.ธ.อ. ๖/๙๓)
๒ การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว หมายถึงการทำจิตของตนให้ผ่องใสปราศจากนิวรณ์ ๕ ประการ (ขุ.ธ.อ.
๖/๔/๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๕. อนภิรติภิกขุวัตถุ
[๑๘๕] การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ความสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
การประกอบความเพียรในอธิจิต๑
นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย๒

๕. อนภิรติภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ไม่ยินดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ดังนี้)
[๑๘๖] ความอิ่มในกามทั้งหลาย
มีไม่ได้ด้วยกหาปณะที่หลั่งมาดังห่าฝน
กามทั้งหลายมีสุขน้อย มีทุกข์มาก
[๑๘๗] บัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว
ย่อมไม่ยินดีในกามทั้งหลายแม้ที่เป็นทิพย์
สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นผู้ยินดีในความสิ้นตัณหา

เชิงอรรถ :
๑ อธิจิต ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ รวมถึงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญาด้วย (ขุ.ธ.อ. ๖/๙๕)
๒ ดูอุทานข้อ ๓๖ หน้า ๒๔๔ ในเล่มนี้ และดู ที.ม. (แปล) ๑๐/๙๐/๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๗. อานันทเถรวัตถุ
๖. อัคคิทัตตปุโรหิตวัตถุ
เรื่องอัคคิทัตตปุโรหิต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อัคคิทัตตะผู้ออกบวชเป็นฤๅษีและบริวาร ดังนี้)
[๑๘๘] มนุษย์จำนวนมาก ผู้ถูกภัยคุกคาม
ต่างถึงภูเขา ป่าไม้ อาราม และรุกขเจดีย์เป็นสรณะ
[๑๘๙] นั่นมิใช่สรณะอันเกษม นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุด
เพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง
[๑๙๐] ส่วนผู้ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ
ย่อมใช้ปัญญาชอบพิจารณาเห็นอริยสัจ ๔ ประการ คือ
[๑๙๑] ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์
และอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความสงบระงับทุกข์
[๑๙๒] นั่นเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด
เพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น
ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้๑

๗. อานันทเถรวัตถุ
เรื่องพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๑๙๓] บุรุษอาชาไนยหาได้ยาก เพราะว่าท่านไม่เกิดในที่ทั่วไป
ท่านเป็นนักปราชญ์ ไปเกิดในตระกูลใด
ตระกูลนั้นย่อมมีแต่ความสุข

เชิงอรรถ :
๑ ทุกข์ทั้งปวง หมายถึงวัฏฏทุกข์ทั้งสิ้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๙. กัสสปทสพลสุวัณณเจติยวัตถุ
๘. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๑๙๔] การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นเหตุนำสุขมาให้
การแสดงสัทธรรม เป็นเหตุนำสุขมาให้
ความสามัคคีของหมู่ เป็นเหตุนำสุขมาให้
ความเพียรของคนที่สามัคคีกัน เป็นเหตุนำสุขมาให้

๙. กัสสปทสพลสุวัณณเจติยวัตถุ
เรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทศพล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๙๕] บุญของบุคคลผู้บูชาท่านผู้ควรบูชา
คือพระพุทธเจ้า หรือพระสาวก
ผู้ก้าวพ้นธรรมเครื่องเนิ่นช้า๑
ผู้ข้ามความโศกและความร่ำไรได้แล้ว
[๑๙๖] ผู้คงที่ ผู้ดับกิเลสได้แล้ว
ผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหน
ใคร ๆ ไม่อาจนับได้ว่า
บุญนี้มีประมาณเท่านี้
พุทธวรรคที่ ๑๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเครื่องเนิ่นช้า หมายถึงตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๕. สุขวรรค ๒. มารวัตถุ
๑๕. สุขวรรค
หมวดว่าด้วยความสุข
๑. ญาติกลหวูปสมนวัตถุ
เรื่องการระงับความทะเลาะของหมู่พระญาติ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระญาติฝ่ายศากยะและโกลิยะ ที่ทะเลาะ
กันเพราะแย่งน้ำทำนา ดังนี้)
[๑๙๗] ในหมู่มนุษย์ผู้มีเวร
เราเป็นผู้ไม่มีเวร อยู่เป็นสุขจริงหนอ
ในหมู่มนุษย์ผู้มีเวร เราอยู่อย่างไม่มีเวร
[๑๙๘] ในหมู่มนุษย์ผู้เดือดร้อน๑
เราเป็นผู้ไม่เดือดร้อน อยู่เป็นสุขจริงหนอ
ในหมู่มนุษย์ผู้เดือดร้อน เราอยู่อย่างไม่เดือดร้อน
[๑๙๙] ในหมู่มนุษย์ผู้ขวนขวาย๒
เราเป็นผู้ไม่ขวนขวาย อยู่เป็นสุขจริงหนอ
ในหมู่มนุษย์ผู้ขวนขวาย เราอยู่อย่างไม่ขวนขวาย

๒. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้มีบาป ดังนี้)
[๒๐๐] เราไม่มีกิเลสเครื่องกังวล๓ อยู่เป็นสุขจริงหนอ
เรามีปีติเป็นภักษา
ดุจทวยเทพชั้นอาภัสระ ฉะนั้น๔

เชิงอรรถ :
๑ ผู้เดือดร้อน หมายถึงผู้เดือดร้อนเพราะกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๓)
๒ ผู้ขวนขวาย หมายถึงผู้มุ่งหากามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๓)
๓ กิเลสเครื่องกังวล (กิญจนะ) หมายถึงราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๕)
๔ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๕๔/๑๙๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๕. สุขวรรค ๕. อัญญตรอุปาสกวัตถุ
๓. โกสลรัญโญปราชยวัตถุ
เรื่องความพ่ายแพ้ของพระเจ้าโกศล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๐๑] ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้พ่ายแพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์
ผู้ละทั้งความชนะและความพ่ายแพ้ได้แล้ว
มีใจสงบ ย่อมนอนเป็นสุข๑

๔. อัญญตรกุลทาริกาวัตถุ
เรื่องสาวน้อยในตระกูลหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่สามีของสาวน้อยในตระกูลหนึ่ง ดังนี้)
[๒๐๒] ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี
โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี
ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี
สุข(อื่น)ยิ่งกว่าความสงบ๒ไม่มี

๕. อัญญตรอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสกคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๐๓] ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง๓
สังขารทั้งหลาย๔เป็นทุกข์อย่างยิ่ง
บัณฑิตรู้เรื่องนี้ตามความเป็นจริงแล้ว
ย่อมทำนิพพานให้แจ้ง
เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๒๕/๑๔๘
๒ ความสงบ (สันติ) ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๗)
๓ ความหิว ที่เรียกว่าเป็นโรคอย่างยิ่ง เพราะจะต้องเยียวยารักษาอยู่ตลอดเวลา (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๖)
๔ สังขารทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๕. สุขวรรค ๘. สักกวัตถุ
๖. ปเสนทิโกสลวัตถุ
เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ดังนี้)
[๒๐๔] ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง
ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง
นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

๗. ติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระ ดังนี้)
[๒๐๕] บุคคลดื่มปวิเวกรส๑
ลิ้มรสแห่งความสงบ๒
และได้ลิ้มรสแห่งปีติในธรรมแล้ว
เป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป๓

๘. สักกวัตถุ
เรื่องท้าวสักกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๐๖] การพบเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นการดี
การอยู่ร่วมกับพระอริยะ ก่อให้เกิดสุขทุกเมื่อ
เพราะการไม่พบเห็นคนพาล บุคคลพึงอยู่เป็นสุขเนืองนิตย์

เชิงอรรถ :
๑ ปวิเวกรส หมายถึงเอกีภาวสุข(สุขที่เกิดจากความเป็นผู้อยู่ผู้เดียว) (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๒๔)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๙๕ ในเล่มนี้
๓ ในคาถานี้ ตรัสหมายเอาคุณสมบัติของพระขีณาสพผู้ดื่มรสแห่งปีติที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจโลกุตตรธรรม ๙ ประการ
(ขุ.ธ.อ. ๖/๑๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๖. ปิยวรรค ๑. ตโยชนปัพพชิตวัตถุ
[๒๐๗] เพราะผู้คบค้าสมาคมกับคนพาล
ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน
การอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นทุกข์ตลอดเวลา
เหมือนอยู่ร่วมกับศัตรู
การอยู่ร่วมกับนักปราชญ์มีแต่ความสุข
เหมือนอยู่ในหมู่ญาติ
[๒๐๘] เพราะฉะนั้นแล บุคคลควรคบผู้เป็นปราชญ์
มีปัญญา เป็นพหูสูต
มีปกติเอาธุระ มีวัตร๑ เป็นพระอริยะ
เป็นสัตบุรุษ มีปัญญาดี เช่นนั้น
เหมือนดวงจันทร์โคจรไปตามทางของดาวนักษัตร ฉะนั้น
สุขวรรคที่ ๑๕ จบ

๑๖. ปิยวรรค
หมวดว่าด้วยสิ่งเป็นที่รัก
๑. ตโยชนปัพพชิตวัตถุ
เรื่องบรรพชิต ๓ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บรรพชิต ๓ รูป ดังนี้)
[๒๐๙] บุคคลทำตัวให้หมกมุ่นในกิจที่ไม่ควรหมกมุ่น๒
และไม่หมกมุ่นในกิจที่ควรหมกมุ่น
ละเลยสิ่งที่เป็นประโยชน์๓ ติดอยู่ในปิยารมณ์๔
ทะเยอทะยานตามบุคคลผู้ปฏิบัติตนดี

เชิงอรรถ :
๑ มีวัตร หมายถึงมีศีลวัตร และธุดงควัตร ๑๓ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๒๗)
๒ กิจที่ไม่ควรหมกมุ่น หมายถึงการเสพอโคจร ๖ อย่าง มีหญิงแพศยาเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๐)
๓ สิ่งที่เป็นประโยชน์ หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๐)
๔ ปิยารมณ์(อารมณ์ที่น่ารัก) หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๖. ปิยวรรค ๓. วิสาขาวัตถุ
[๒๑๐] ไม่ว่าเวลาใด บุคคลไม่ควรติดพันกับสิ่งเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก
เพราะการไม่เห็นสิ่งเป็นที่รักเป็นทุกข์
การพบเห็นสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์
[๒๑๑] เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรทำสิ่งไร ๆ ให้เป็นที่รัก
เพราะการพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก เป็นทุกข์ระทม
ผู้ที่ไม่มีสิ่งเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก
ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด

๒. อัญญตรกุฏุมพิกวัตถุ
เรื่องกุฎุมพีคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุฎุมพี ดังนี้)
[๒๑๒] ความโศกเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก ภัยก็เกิดจากสิ่งเป็นที่รัก
ผู้พ้นจากสิ่งเป็นที่รักได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

๓. วิสาขาวัตถุ
เรื่องนางวิสาขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางวิสาขามิคารมาตาผู้เศร้าโศกเพราะหลานสาว
ชื่อสุทัตตีเสียชีวิต ดังนี้)
[๒๑๓] ความโศกเกิดจากความรัก ภัยก็เกิดจากความรัก
ผู้พ้นจากความรักได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๖. ปิยวรรค ๖. อัญญตรพราหมณวัตถุ
๔. ลิจฉวีวัตถุ
เรื่องเจ้าลิจฉวี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพวกเจ้าลิจฉวีที่แย่งหญิงผู้งดงามในเมืองจนถึงขั้น
ชกต่อยกัน จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๑๔] ความโศกเกิดจากความยินดี๑ ภัยก็เกิดจากความยินดี
ผู้พ้นจากความยินดีได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

๕. อนิตถิคันธกุมารวัตถุ
เรื่องอนิตถิคันธกุมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนิตถิคันธกุมาร ดังนี้)
[๒๑๕] ความโศกเกิดจากกาม๒ ภัยก็เกิดจากกาม
ผู้พ้นจากกามได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

๖. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ ดังนี้)
[๒๑๖] ความโศกเกิดจากตัณหา ภัยก็เกิดจากตัณหา
ผู้พ้นจากตัณหาได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

เชิงอรรถ :
๑ ความยินดี หมายถึงความยินดีในกามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๕)
๒ กาม ในที่นี้หมายถึงวัตถุกามและกิเลสกาม (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๖. ปิยวรรค ๘. อนาคามิเถรวัตถุ
๗. ปัญจสตทารกวัตถุ
เรื่องเด็กน้อย ๕๐๐ คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เด็กน้อย ๕๐๐ คน ดังนี้)
[๒๑๗] บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล๑และทัสสนะ๒
ดำรงอยู่ในธรรม๓ กล่าวคำสัตย์๔
ทำหน้าที่ของตน๕
ย่อมเป็นที่รักของประชาชน

๘. อนาคามิเถรวัตถุ
เรื่องพระอนาคามีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ของพระผู้บรรลุ
อนาคามิผล ดังนี้)
[๒๑๘] ภิกษุผู้เกิดฉันทะในธรรม๖ ที่ใคร ๆ บอกไม่ได้
มีใจได้สัมผัสแล้ว๗และมีจิตไม่เกาะเกี่ยวในกามทั้งหลาย๘
เราเรียกว่า ผู้มีกระแสในเบื้องบน๙

เชิงอรรถ :
๑ ศีล หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๒)
๒ ทัสสนะ หมายถึงสัมมาทัสสนะ (เห็นชอบ) ที่ประกอบด้วยมรรคและผล (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๒
๓ ดำรงอยู่ในธรรม หมายถึงบรรลุโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๒)
๔ กล่าวคำสัตย์ หมายถึงแสดงอริยสัจ ๔ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๒)
๕ ทำหน้าที่ของตน หมายถึงบำเพ็ญสิกขา ๓ ให้บริบูรณ์ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๒)
๖ ธรรม หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ.๖/๑๔๔)
๗ มีใจได้สัมผัสแล้ว หมายถึงมีใจได้สัมผัสมรรคผลเบื้องต่ำ คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค
สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๔)
๘ ด้วยอำนาจอนาคามิมรรค จึงมีจิตไม่เกาะเกี่ยวในกามทั้งหลาย (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๔)
๙ ผู้มีกระแสในเบื้องบน หมายถึงจะบังเกิดในสุทธาวาสชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ คือบังเกิดในชั้นอวิหาจนถึง
ชั้นอกนิฏฐา (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๗. โกธวรรค ๑. โรหิณีขัตติยกัญญาวัตถุ
๙. นันทิยวัตถุ
เรื่องนายนันทิยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระมหาโมคคัลลานะผู้เห็นทิพยสมบัติของ
นายนันทิยะในเทวโลก ดังนี้)
[๒๑๙] ญาติ มิตร และผู้มีใจดีทั้งหลาย
เห็นคนที่จากบ้านไปนาน
กลับจากที่ไกลมาถึงโดยสวัสดิภาพ
ย่อมยินดีว่ามาแล้ว
[๒๒๐] เช่นเดียวกันนั้น บุญทั้งหลาย
ย่อมต้อนรับคนที่ทำบุญไว้
ซึ่งจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า
เหมือนญาติต้อนรับญาติผู้เป็นที่รักที่กลับมาบ้าน ฉะนั้น
ปิยวรรคที่ ๑๖ จบ

๑๗. โกธวรรค
หมวดว่าด้วยความโกรธ
๑. โรหิณีขัตติยกัญญาวัตถุ
เรื่องเจ้าหญิงโรหิณี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เจ้าหญิงโรหิณี ดังนี้)
[๒๒๑] บุคคลควรละความโกรธ สละมานะ
ก้าวล่วงสังโยชน์ได้หมดทุกอย่าง
ความทุกข์ย่อมไม่รุมเร้าคนนั้นผู้ไม่ติดอยู่ในนามรูป
ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๓๔/๔๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๗. โกธวรรค ๔. มหาโมคคัลลานเถรปัญหวัตถุ
๒. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เทวดา ดังนี้)
[๒๒๒] ผู้ใดอดกลั้นความโกรธที่เกิดขึ้นไว้ได้
เหมือนนายสารถีหยุดรถที่กำลังแล่นอยู่ได้
เราเรียกผู้นั้นว่า นายสารถี
คนนอกจากนี้ เป็นเพียงผู้ถือเชือกเท่านั้น

๓. อุตตราอุปาสิกาวัตถุ
เรื่องนางอุตตราอุบาสิกา
(พระผู้มีพระภาคทรงชมเชยนางอุตตราที่อดกลั้นความโกรธต่อนางสิริมา จึงตรัส
พระคาถานี้แก่นางอุตตรา ดังนี้)
[๒๒๓] บุคคลพึงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ
พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี
พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้
พึงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์๑

๔. มหาโมคคัลลานเถรปัญหวัตถุ
เรื่องปัญหาของพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระมหาโมคคัลลานเถระ ดังนี้)
[๒๒๔] บุคคลควรพูดคำจริง ไม่ควรโกรธ
แม้เขาขอเพียงเล็กน้อยก็ควรให้๒
ด้วยเหตุ ๓ อย่างนี้ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) บุคคลพึงไปเทวโลกได้

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๒/๖๒
๒ ให้ ในที่นี้หมายถึงให้ไทยธรรมแก่ท่านผู้ทรงศีล (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๗. โกธวรรค ๗. อตุลอุปาสกวัตถุ
๕. ภิกขูหิปุฏฐปัญหวัตถุ
เรื่องปัญหาที่ภิกษุทูลถาม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๒๕] มุนี๑ผู้ไม่เบียดเบียน สำรวมกายอยู่เป็นนิตย์๒
ย่อมไปสู่ที่ที่ไม่จุติที่ไปแล้วไม่เศร้าโศก

๖. ปุณณทาสีวัตถุ
เรื่องนางปุณณทาสี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางทาสของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ชื่อปุณณา
ดังนี้)
[๒๒๖] สำหรับบุคคลผู้ตื่นอยู่ตลอดเวลา
หมั่นศึกษาไตรสิกขาทั้งกลางวันและกลางคืน
น้อมจิตเข้าหานิพพาน
อาสวะทั้งหลาย๓ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้

๗. อตุลอุปาสกวัตถุ
เรื่องอตุลอุบาสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อตุลอุบาสกพร้อมบริวาร ๕๐๐ คน ดังนี้)
[๒๒๗] อตุละเอ๋ย การนินทาและสรรเสริญนี้มีมานานแล้ว
มิใช่เพิ่งมีในวันนี้เท่านั้น
คนนั่งอยู่เฉย ๆ เขาก็นินทา

เชิงอรรถ :
๑ มุนี ในที่นี้หมายถึงพระอเสขะมุนีผู้บรรลุมรรคและผลด้วยโมเนยยปฏิปทา (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๖๘)
๒ สำรวมกาย หมายถึงสำรวมกาย วาจา ใจ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๖๘)
๓ อาสวะ มี ๔ ประการ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๗๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๓๗/๕๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๗. โกธวรรค ๘. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
คนพูดมาก เขาก็นินทา
แม้คนพูดน้อย เขาก็นินทา
ไม่มีใครเลยในโลกนี้ไม่ถูกนินทา
[๒๒๘] ทั้งในอดีต ในอนาคต และในปัจจุบัน
ก็ไม่มีใครเลยที่จะถูกนินทาอย่างเดียว
หรือได้รับการสรรเสริญอย่างเดียว
[๒๒๙] แต่วิญญูชนพิจารณาทุกวัน ๆ
ย่อมสรรเสริญบุคคลผู้ดำเนินชีวิตหาข้อตำหนิมิได้
ผู้เป็นนักปราชญ์ ผู้มีปัญญาและศีลมั่นคง๑
[๒๓๐] ใครเล่าจะควรตำหนิผู้นั้น
ผู้เปรียบเหมือนแท่งทองชมพูนุท
ผู้เช่นนั้น แม้เทวดาและมนุษย์ก็ชื่นชม
ถึงพรหมก็สรรเสริญ

๘. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระฉัพพัคคีย์ ดังนี้)
[๒๓๑] บุคคลพึงรักษาความกำเริบทางกาย
พึงสำรวมกาย ละกายทุจริตแล้ว
พึงประพฤติกายสุจริต

เชิงอรรถ :
๑ ความหมายของคาถานี้ คือ การนินทาหรือสรรเสริญของคนพาล ไม่ถือเป็นประมาณ แต่บัณฑิตผู้ใคร่ครวญแล้ว
รู้เหตุที่ควรติเตียนหรือเหตุที่ควรสรรเสริญ ย่อมเลือกสรรเสริญนักปราชญ์ผู้มีปัญญา และศีลมั่นคง ดำรง
ชีวิตอย่างหาข้อตำหนิมิได้ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๑. โคฆาตกปุตตวัตถุ
[๒๓๒] บุคคลพึงรักษาความกำเริบทางวาจา
พึงสำรวมวาจา ละวจีทุจริตแล้ว
พึงประพฤติวจีสุจริต
[๒๓๓] บุคคลพึงรักษาความกำเริบทางใจ
พึงสำรวมใจ ละมโนทุจริตแล้ว
พึงประพฤติมโนสุจริต
[๒๓๔] นักปราชญ์ผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ
ชื่อว่าเป็นผู้สำรวมดีแท้
โกธวรรคที่ ๑๗ จบ

๑๘. มลวรรค
หมวดว่าด้วยมลทินทางใจ
๑. โคฆาตกปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรของคนฆ่าโค
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บุตรของคนฆ่าโคผู้แก่เฒ่า ดังนี้)
[๒๓๕] บัดนี้ ท่านเปรียบเหมือนใบไม้เหลือง
ทั้งยมทูต๑มาปรากฏแก่ท่านแล้ว
ท่านอยู่ใกล้ปากแห่งความเสื่อม
และแม้แต่เสบียงเดินทาง๒ของท่านก็ยังไม่มีเลย

เชิงอรรถ :
๑ ยมทูต ในที่นี้หมายถึงความตาย (ขุ.ธ.อ. ๗/๕)
๒ เสบียงเดินทาง หมายถึงกุศล (ขุ.ธ.อ. ๗/๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๒. อัญญตรพราหมณวัตถุ
[๒๓๖] ท่านนั้นจงทำที่พึ่ง๑แก่ตนเอง
จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต
ท่านขจัดมลทินได้แล้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
จะเข้าถึงอริยภูมิอันเป็นทิพย์๒
[๒๓๗] บัดนี้ ท่านเป็นผู้มีวัยถูกนำเข้าไปแล้ว๓
เตรียมจะไปสำนักพระยายม
ที่พักระหว่างทางของท่านยังไม่มี
และแม้แต่เสบียงเดินทางของท่านก็ยังไม่มีเลย
[๒๓๘] ท่านนั้นจงทำที่พึ่งแก่ตนเอง
จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต
ท่านขจัดมลทินได้แล้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ก็จะไม่ต้องเข้าถึงชาติ และชราอีกต่อไป

๒. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้ทำกุศลอยู่บ่อย ๆ ดังนี้)
[๒๓๙] ผู้มีปัญญา พึงกำจัดมลทิน๔ของตน
ทีละน้อย ทุกขณะ โดยลำดับ
เหมือนช่างทองกำจัดสนิมทอง ฉะนั้น๕

เชิงอรรถ :
๑ ที่พึ่ง หมายถึงกุศลกรรม (ขุ.ธ.อ. ๗/๕)
๒ อริยภูมิอันเป็นทิพย์ ในที่นี้หมายถึงสุทธาวาสภูมิ ที่อยู่ของพระอนาคามี มี ๕ คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา
สุทัสสีและอกนิฏฐา (ขุ.ธ.อ. ๗/๕, ที.ปา. ๑๑/๓๑๘/๒๑๑)
๓ มีวัยถูกนำเข้าไปแล้ว หมายถึงล่วงวัยทั้ง ๓ ใกล้จะถึงอายุขัยแล้ว (ขุ.ธ.อ. ๗/๕)
๔ มลทิน หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๗)
๕ ดูเทียบ อภิ.ก. ๓๗/๑๗๘/๑๐๒,๓๔๖/๑๘๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๔. โลลุทายีวัตถุ
๓. ติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๔๐] สนิมเกิดขึ้นจากเหล็ก
ครั้นเกิดขึ้นแล้ว ย่อมกัดเหล็กนั่นเอง ฉันใด
กรรมทั้งหลายของตน ย่อมนำคนผู้ประพฤติล่วงโธนา๑
ไปสู่ทุคติ ฉันนั้น

๔. โลลุทายีวัตถุ
เรื่องพระโลลุทายี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระโลลุทายีผู้เล่าเรียนธรรมเพียงเล็กน้อยและไม่
ท่องบ่น จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๔๑] มนตร์๒มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน
เรือนมีความไม่ขยันหมั่นเพียร๓เป็นมลทิน
ผิวพรรณมีความเกียจคร้าน๔ เป็นมลทิน
ผู้รักษามีความประมาท๕ เป็นมลทิน

เชิงอรรถ :
๑ โธนา หมายถึงปัญญาที่พิจารณาปัจจัย ๔ แล้วจึงบริโภค ดังนั้น “ผู้ประพฤติล่วงโธนา” จึงหมายถึงผู้
ปราศจากปัญญาพิจารณาปัจจัย ๔ แล้วจึงบริโภค (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑)
๒ มนตร์ หมายถึงปริยัติและศิลปะ เมื่อไม่ท่องบ่น และไม่เอาใจใส่ ก็เสื่อมสูญ หรือหายไปได้ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๓)
๓ ไม่ขยันหมั่นเพียร หมายถึงไม่เอาใจใส่ดูแล หรือไม่บูรณะซ่อมแซมบ้านเรือน (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๓)
๔ ความเกียจคร้าน หมายถึงการไม่หมั่นชำระร่างกายและอวัยวะส่วนอื่น ๆ ให้สะอาดทำให้มีผิวพรรณมัวหมอง
(ขุ.ธ.อ. ๗/๑๓)
๕ ความประมาท สำหรับคฤหัสถ์ หมายถึงประมาทในทรัพย์สมบัติ เช่น สัตว์เลี้ยง สำหรับบรรพชิต
หมายถึงไม่คุ้มครองอินทรีย์ทวารทั้ง ๖ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๖. จูฬสาริภิกขุวัตถุ
๕. อัญญตรกุลปุตตวัตถุ
เรื่องกุลบุตรคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุลบุตรคนหนึ่งซึ่งมีภรรยามักนอกใจ ดังนี้)
[๒๔๒] สตรีมีความประพฤติชั่ว๑เป็นมลทิน
ผู้ให้มีความตระหนี่เป็นมลทิน
บาปธรรม๒เป็นมลทินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๒๔๓] มลทินที่ยิ่งกว่ามลทินนั้นคืออวิชชา๓
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละมลทินนั้นให้ได้
แล้วเป็นอยู่อย่างผู้ปราศจากมลทินเถิด

๖. จูฬสาริภิกขุวัตถุ
เรื่องจูฬสารีภิกษุ
(พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิพระจูฬสารีผู้เป็นหมอปรุงยาให้ชาวบ้านเพื่อแลกกับ
โภชนะ จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๔๔] ผู้ไม่มีความละอาย กล้าเหมือนกา
ชอบทำลายคนอื่น ชอบเอาหน้า
มีความคะนอง มีพฤติกรรมสกปรก เป็นอยู่สบาย
[๒๔๕] ส่วนผู้มีความละอาย
แสวงหาความบริสุทธิ์เป็นนิตย์
ไม่เกียจคร้าน ไม่มีความคะนอง
มีอาชีพบริสุทธิ์ และมีปัญญา เป็นอยู่ลำบาก

เชิงอรรถ :
๑ ประพฤติชั่ว หมายถึงการประพฤตินอกใจสามี (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๑๕-๑๘/๒๗๙)
๒ บาปธรรม ในที่นี้หมายถึงอกุศลธรรมทั้งหมด (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๕)
๓ ดู องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๑๕/๒๔๑-๒๔๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๘. ติสสทหรวัตถุ
๗. ปัญจอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสก ๕ คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อุบาสก ๕ คน ดังนี้)
[๒๔๖] นรชนใดในโลก ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
คบชู้กับภรรยาของผู้อื่น พูดเท็จ
[๒๔๗] และหมกมุ่นในการดื่มสุราและเมรัย๑
นรชนนั้นชื่อว่า ขุดทรัพย์อันเป็นต้นทุน๒ของตนในโลกนี้
[๒๔๘] ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้มีบาปธรรมทั้งหลาย มักไม่สำรวม
ขอโลภะและอธรรม๓ อย่าย่ำยีท่านให้เป็นทุกข์ตลอดกาลนานเลย

๘. ติสสทหรวัตถุ
เรื่องภิกษุหนุ่มชื่อติสสะ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระติสสะเที่ยวติเตียนทานของคนอื่น จึงตรัสพระ
คาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๔๙] บุคคลย่อมให้ทานตามความเชื่อตามความเลื่อมใส
ภิกษุไม่พอใจในข้าวและน้ำที่เป็นทานของคนอื่นนั้น
ย่อมไม่บรรลุสมาธิ๔ในเวลากลางวันหรือกลางคืน
[๒๕๐] ส่วนภิกษุผู้ตัดอกุศลจิตนี้ได้
ถอนขึ้นทำให้รากขาดแล้ว
ย่อมบรรลุสมาธิในเวลากลางวันหรือกลางคืน

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๗๔/๒๙๑
๒ ขุดทรัพย์อันเป็นต้นทุน หมายถึงนำที่นาและสวนไปจำนอง หรือขายขาด เพื่อนำทรัพย์ไปซื้อสุรามาดื่ม
(ขุ.ธ.อ. ๗/๑๙)
๓ อธรรม หมายถึงโทสะ (ขุ.ธ.อ. ๗/๒๐)
๔ สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ หรือมัคคสมาธิ และผลสมาธิ (ขุ.ธ.อ. ๗/๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๑๐. เมณฑกเสฏฐิวัตถุ
๙. ปัญจอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสก ๕ คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อุบาสกคนหนึ่ง ในจำนวน ๕ คน ดังนี้)
[๒๕๑] ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี
ผู้จับเสมอด้วยโทสะไม่มี
ข่ายเสมอด้วยโมหะไม่มี
แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี๑

๑๐. เมณฑกเสฏฐิวัตถุ
เรื่องเมณฑกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เมณฑกเศรษฐี ดังนี้)
[๒๕๒] โทษ๒ของคนอื่นเห็นได้ง่าย
ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก
เพราะคนนั้นชอบโปรยโทษของผู้อื่น
เหมือนคนโปรยแกลบ
แต่กลับปกปิดโทษของตนไว้
เหมือนพรานนกปกปิดร่างพรางกายตนไว้ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความหมายในคาถานี้ คือ ไฟยังแสดงควันให้รู้ว่ายังมีไฟคนจึงสามารถดับได้ แต่ราคะเผาสัตว์ภายในไม่
แสดงอาการให้รู้, ผู้จับ เช่น ยักษ์ เป็นต้น สามารถจับสัตว์ได้ในชาติเดียวเท่านั้น แต่โทสะจับสัตว์ไม่มีที่
สิ้นสุด, ตาข่ายที่รัดรึงสัตว์ยังสามารถแก้หรือคลายได้ แต่โมหะที่รัดรึงสัตว์ยากที่จะแก้หรือคลายได้, แม่น้ำ
ยังมีวันพร่องหรือเต็มปรากฏให้เห็นได้ แต่ตัณหาไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันเหือดแห้ง ทั้งยังปรากฏความพร่อง
อยู่เป็นนิตย์ เติมให้เต็มได้ยาก (ขุ.ธ.อ. ๗/๒๕)
๒ โทษ หมายถึงความพลั้งพลาด (ขุ.ธ.อ. ๗/๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๑๒. สุภัททปริพาชกวัตถุ
๑๑. อุชฌานสัญญิเถรวัตถุ
เรื่องพระอุชฌานสัญญีเถระ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระอุชฌานสัญญีผู้เที่ยวจับผิดภิกษุ จึงตรัสพระ
คาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๕๓] ผู้ที่คอยแต่สอดส่ายหาโทษคนอื่น
คอยเพ่งโทษอยู่เนืองนิตย์
จะมีอาสวะพอกพูนยิ่งขึ้น
และห่างไกลจากความสิ้นอาสวะโดยแท้

๑๒. สุภัททปริพาชกวัตถุ
เรื่องสุภัททปริพาชก
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาของสุภัททปริพาชก ดังนี้)
[๒๕๔] ไม่มีรอยเท้าในอากาศ ไม่มีสมณะภายนอก๑
หมู่สัตว์เป็นผู้ยินดีในปปัญจธรรม๒
แต่พระตถาคตทั้งหลาย ไม่มีปปัญจธรรม
[๒๕๕] ไม่มีรอยเท้าในอากาศ ไม่มีสมณะภายนอก
ไม่มีสังขาร๓ที่เที่ยงแท้
พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีความหวั่นไหว
มลวรรคที่ ๑๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีสมณะภายนอก หมายถึงไม่มีสมณะผู้ดำรงอยู่ในอริยมรรคและอริยผลภายนอกพระพุทธศาสนา
(ขุ.ธ.อ. ๗/๓๗)
๒ปปัญจธรรม หมายถึงกิเลสธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า คือตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.ธ.อ. ๗/๓๗)
๓สังขาร ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.ธ.อ.๗/๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๒. ฉัพพัคคิยวัตถุ
๑๙. ธัมมัฏฐวรรค
หมวดว่าด้วยผู้ตั้งอยู่ในธรรม
๑. วินิจฉยมหามัตตวัตถุ
เรื่องมหาอำมาตย์ผู้พิพากษา
(ภิกษุทั้งหลายเห็นมหาอำมาตย์ผู้พิพากษารับสินบนแล้วตัดสินคดี จึงกราบทูล
ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระองค์ตรัสพระคาถา ดังนี้)
[๒๕๖] ผู้ที่ตัดสินคดีโดยผลีผลาม๑
ไม่ชื่อว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม
ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิต วินิจฉัยคดี
เหตุแห่งคดีทั้งที่เป็นจริงและไม่เป็นจริงทั้งสอง
[๒๕๗] พิพากษาผู้อื่นโดยไม่ผลีผลาม
โดยเที่ยงธรรม โดยสม่ำเสมอ
ผู้มีปัญญา มีธรรมคุ้มครองนั้น
เราเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม

๒. ฉัพพัคคิยวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๕๘] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตเพียงเพราะพูดมาก
แต่ผู้มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย จึงจะชื่อว่า เป็นบัณฑิต.

เชิงอรรถ :
๑ ตัดสินคดีโดยผลีผลาม หมายถึงดำรงอยู่ในอคติ ๔ มีฉันทาคติเป็นต้นแล้วตัดสินคดีโดยมุสาวาท เช่น ทำผู้
ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ให้เป็นเจ้าของทรัพย์ หรือทำผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ไม่ให้เป็นเจ้าของทรัพย์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๔. ลกุณฑกภัททิยเถรวัตถุ
๓. เอกุทานขีณาสววัตถุ
เรื่องพระเอกุทานขีณาสพ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎก ๒ รูป ดังนี้)
[๒๕๙] บุคคลไม่ชื่อว่าผู้ทรงธรรมเพียงเพราะพูดมาก
ส่วนผู้ใดได้สดับตรับฟังธรรมน้อย
แต่พิจารณาเห็นธรรมด้วยนามกาย
ทั้งไม่ประมาทธรรมนั้น
ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ทรงธรรม

๔. ลกุณฏกภัททิยเถรวัตถุ
เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้อยู่ป่า ๓๐ รูป ที่เห็นพระลกุณฑก-
ภัททิยเถระรูปร่างเล็กเหมือนสามเณร ดังนี้)
[๒๖๐] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นเถระ๑เพียงเพราะมีผมหงอก
ผู้ที่แก่แต่วัยเท่านั้น เรียกว่า คนแก่เปล่า
[๒๖๑] ส่วนผู้มีสัจจะ มีธรรม๒
มีอหิงสา สัญญมะ และทมะ๓
คายมลทินได้แล้ว เป็นปราชญ์ ชื่อว่า เถระ

เชิงอรรถ :
๑ เถระ ในที่นี้หมายถึงผู้มีคุณธรรมที่ทำให้เป็นผู้มั่นคง คือ รู้แจ้งอริยสัจ ๔ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๔๔)
๒ มีสัจจะ หมายถึงรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการ มีธรรม หมายถึงบรรลุโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๗/๔๓)
๓ อหิงสา หมายถึงความไม่เบียดเบียน สัญญมะ หมายถึงศีล ทมะ หมายถึงการสำรวมอินทรีย์ (ขุ.ธ.อ.
๗/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๖. หัตถกวัตถุ
๕. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายที่พูดจาคล่องแคล่ว ดังนี้)
[๒๖๒] เพราะเหตุเพียงการพูดจาคล่องแคล่ว
หรือเพราะมีผิวพรรณงดงาม
แต่ยังมีความริษยา ตระหนี่ และโอ้อวด
บุคคลก็หาชื่อว่าคนดีได้ไม่
[๒๖๓] ส่วนผู้ตัดความริษยาเป็นต้นนี้ได้
ถอนขึ้นทำให้รากขาดแล้ว
คายโทษได้แล้ว เป็นผู้มีปัญญา
จึงจะชื่อว่า คนดี

๖. หัตถกวัตถุ
เรื่องหัตถกภิกษุ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระหัตถกะผู้พูดจาเหลาะแหละ ดังนี้)
[๒๖๔] ผู้ไม่มีวัตร๑ พูดจาเหลาะแหละ
แม้มีศีรษะโล้น ก็ไม่ชื่อว่าสมณะ
ผู้เต็มไปด้วยความปรารถนา และความอยากได้
จะเป็นสมณะได้อย่างไร
[๒๖๕] ส่วนผู้ใดระงับบาปน้อยใหญ่ลงได้โดยสิ้นเชิง
และเพราะเหตุที่ระงับบาปทั้งหลายได้นี้เอง
เขาจึงเรียกผู้นั้นว่า สมณะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๙๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๘. ติตถิยวัตถุ
๗. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พราหมณ์คนหนึ่งเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนาเที่ยวบิณฑบาตอย่างภิกษุ
วันหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคประสงค์จะให้พระองค์ตรัสเรียกว่าภิกษุ พระองค์
จึงตรัสพระคาถา ดังนี้)
[๒๖๖] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ๑ เพียงเพราะขอจากผู้อื่นเท่านั้น
ทั้งไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะยังสมาทานธรรมที่เป็นพิษอยู่๒
[๒๖๗] ในศาสนานี้ ผู้ที่ลอยบุญและบาปได้แล้ว
ประพฤติพรหมจรรย์ อยู่ในโลกด้วยปัญญา
จึงจะชื่อว่า ภิกษุ

๘. ติตถิยวัตถุ
เรื่องเดียรถีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๖๘] บุคคลโง่เขลาไม่รู้อะไร เพียงแต่นั่งนิ่ง ๆ หาชื่อว่าเป็นมุนีไม่
ส่วนบุคคลผู้ฉลาด เลือกชั่งเอาแต่สิ่งที่ดี ละทิ้งสิ่งที่ชั่ว
[๒๖๙] เหมือนบุคคลชั่งสิ่งของ จึงจะชื่อว่า มุนีแท้
ผู้ที่รู้โลกทั้งสอง ก็เรียกว่า มุนี(เช่นกัน)๓

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุ ในที่นี้หมายถึงผู้ทำลายกิเลสทั้งหลายได้ด้วยญาณ (ขุ.ธ.อ. ๗/๔๗)
๒ สมาทานธรรมที่เป็นพิษ หมายถึงมีความประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ (ขุ.ธ.อ.๗/๔๗)
๓ คาถาธรรมบท ๒ ข้อนี้ มีข้อความสัมพันธ์กัน ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๔/๗๑, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๑๐. สัมพหุลสีลาทิสัมปันนภิกขุวัตถุ
๙. อริยพาฬิสิกวัตถุ
เรื่องพรานเบ็ดชื่ออริยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสถามชื่อนายพรานเบ็ด นายพรานเบ็ดทูลตอบว่าชื่ออริยะ
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสพระคาถานี้แก่เขา ดังนี้)
[๒๗๐] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะ เพราะยังเบียดเบียนสัตว์อยู่
แต่ชื่อว่า อริยะ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง

๑๐. สัมพหุลสีลาทิสัมปันนภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลเป็นต้นหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๗๑] ภิกษุ ด้วยเหตุเพียงมีศีล๑และวัตร๒
แม้ด้วยความเป็นพหูสูต๓ ด้วยการได้สมาธิ๔
หรือด้วยการนอนในที่สงัด
[๒๗๒] หรือด้วยการรู้ประจักษ์ว่าเราได้สัมผัสเนกขัมมสุข๕
ที่ปุถุชนไม่เคยได้สัมผัส
แต่ถ้าเธอยังไม่บรรลุความสิ้นอาสวะ
ก็อย่าไว้วางใจ
ธัมมัฏฐวรรคที่ ๑๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ศีล หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ (ปาติโมกขสังวรศีล อินทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล ปัจจัยสันนิสิตศีล)
(ขุ.ธ.อ. ๗/๕๒)
๒ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๙๗ ในเล่มนี้
๓ความเป็นพหูสูต หมายถึงเรียนปิฎก ๓ (พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก) (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๒)
๔สมาธิ หมายถึงสมาบัติ ๘ (รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔) (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๒)
๕เนกขัมมสุข หมายถึงสุขของพระอนาคามี (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๑. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
๒๐. มัคควรรค
หมวดว่าด้วยมรรค
๑. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๒๗๓] บรรดามรรค มรรคมีองค์ ๘ ประเสริฐที่สุด
บรรดาสัจจะ อริยสัจ ๔ ประเสริฐที่สุด
บรรดาธรรม วิราคธรรม๑ประเสริฐที่สุด
บรรดาสัตว์สองเท้า๒ตถาคตผู้มีจักษุ๓ ประเสริฐที่สุด๔
[๒๗๔] ทางเพื่อความหมดจดแห่งทัสสนะ
คือทางนี้เท่านั้น มิใช่ทางอื่น
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงดำเนินไปตามทางนี้แล
เพราะทางนี้เป็นทางลวงมารให้หลง
[๒๗๕] ด้วยว่า เธอทั้งหลายดำเนินไปตามทางนี้แล้ว
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เรารู้วิธีถอนลูกศรคือกิเลสแล้ว
จึงชี้บอกทางนี้แก่เธอทั้งหลาย
[๒๗๖] เธอทั้งหลายควรทำความเพียรเองเถิด
ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้บอกเท่านั้น
ผู้บำเพ็ญภาวนา ดำเนินตามทางนี้แล้ว เพ่งพินิจอยู่
จักพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารได้๕

เชิงอรรถ :
๑ วิราคธรรม หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๔)
๒ สัตว์สองเท้า ในที่นี้หมายถึงมนุษย์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๔)
๓ จักษุ ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (วิ.อ. ๓/๑๓/๑๗)
๔ อภิ.ก. ๓๗/๘๗๒/๔๙๖
๕ เครื่องผูกแห่งมาร หมายถึงวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๔. อนัตตลักขณวัตถุ
๒. อนิจจลักขณวัตถุ
เรื่องอนิจจลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๗๗] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญา๑ว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์
นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

๓. ทุกขลักขณวัตถุ
เรื่องทุกขลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๗๘] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์
เมื่อนั้นย่อมหน่ายในทุกข์
นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

๔. อนัตตลักขณวัตถุ
เรื่องอนัตตลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๗๙] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์
นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์๒

เชิงอรรถ :
๑ เห็นด้วยปัญญา หมายถึงเห็นด้วยวิปัสสนาปัญญา (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๖)
๒ ข้อ ๒๗๗-๒๗๙ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๗๖-๖๗๘/๔๕๕, อภิ.ก.๓๗/๗๕๓/๔๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๖. สูกรเปตวัตถุ
๕. ปธานกัมมิกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปธานกัมมิกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๘๐] คนที่ไม่ขยันในเวลาที่ควรขยัน
ทั้งที่ยังหนุ่มยังสาว มีกำลัง
แต่กลับเกียจคร้าน มีความคิดใฝ่ต่ำ๑ ปราศจากความเพียร
เกียจคร้านมาก ย่อมไม่ประสบทาง๒ด้วยปัญญา

๖. สูกรเปตวัตถุ
เรื่องสูกรเปรต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๘๑] บุคคลพึงรักษาวาจา๓ พึงสำรวมใจ๔
และไม่พึงทำความชั่วทางกาย๕
พึงชำระกรรมบถทั้ง ๓ ประการนี้ให้หมดจด
จะพึงพบทางที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้

เชิงอรรถ :
๑ มีความคิดใฝ่ต่ำ หมายถึงหมกมุ่นในมิจฉาวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก
(ขุ.ธ.อ. ๗/๕๙)
๒ ทาง หมายถึงอริยมรรค (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๙)
๓ รักษาวาจา หมายถึงระมัดระวังวาจา โดยเว้นจากวจีทุจริต ๔ อย่าง (เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจาก
การพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ) (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๔)
๔ สำรวมใจ หมายถึงควบคุมใจ โดยไม่ให้มโนทุจริตเกิดขึ้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๔)
๕ ความชั่วทางกาย หมายถึงกายทุริต ๓ อย่าง (ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม) (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๘. สัมพหุลมหัลลกภิกขุวัตถุ
๗. โปฐิลเถรวัตถุ
เรื่องพระโปฐิลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่โปฐิลเถระ ดังนี้)
[๒๘๒] ปัญญา๑เกิดเพราะการประกอบ๒
และเสื่อมไปเพราะการไม่ประกอบ
เมื่อรู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งปัญญาทั้ง ๒ ทางนี้แล้ว
บุคคลพึงตั้งตนโดยวิธีที่ปัญญาจะเจริญยิ่งขึ้น

๘. สัมพหุลมหัลลกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุแก่หลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๘๓] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตัดป่า๓ แต่อย่าตัดต้นไม้
เพราะภัย๔ย่อมเกิดจากป่า
เธอทั้งหลายครั้นตัดป่า และหมู่ไม้ในป่าแล้ว๕
จงเป็นผู้ไม่มีป่าอยู่เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญา แปลจากคำว่า “ภูริ” ซึ่งเป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของปัญญา (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๖, อภิธา.ฏีกา ๑๕๒-
๑๕๔/๑๒๑)
๒ การประกอบ หมายถึงมนสิการโดยแยบคายในอารมณ์ธรรม ๓๘ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๖)
๓ ป่า ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๘)
๔ ภัย ในที่นี้หมายถึงภัยคือชาติ (การเกิด) เป็นต้น ที่เกิดจากป่าคือกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๘)
๕ หมู่ไม้ในป่า หมายถึงกิเลสอื่น ๆ ที่ให้วิบาก หรือที่ให้เกิดในภพต่อ ๆ ไป (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๑๐. มหาธนวาณิชวัตถุ
[๒๘๔] ตราบใด บุรุษยังไม่ตัดหมู่ไม้ในป่า
แม้เพียงเล็กน้อยในสตรีทั้งหลาย
ตราบนั้น เขาย่อมมีใจผูกพัน
เหมือนลูกโคที่ยังดื่มนมมีใจผูกพันในแม่โค ฉะนั้น

๙. สารีปุตตเถรสัทธิวิหาริกวัตถุ
เรื่องสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เป็นศิษย์ของพระสารีบุตร ดังนี้)
[๒๘๕] เธอจงตัดความรักของตน
เหมือนตัดดอกบัวที่เกิดในสารทกาล
จงเพิ่มพูนทางแห่งสันติ๑เท่านั้น
เพราะพระสุคตเจ้าแสดงนิพพานไว้แล้ว

๑๐. มหาธนวาณิชวัตถุ
เรื่องพ่อค้ามีทรัพย์มาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พ่อค้าผ้าที่พักอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ดังนี้)
[๒๘๖] คนพาลมักคิดเช่นนี้ว่า “เราจักอยู่ที่นี่ตลอดฤดูฝน
เราจักอยู่ที่นี่ตลอดฤดูหนาวและฤดูร้อน”
ชื่อว่าย่อมไม่รู้อันตราย๒ที่จะมาถึงตน

เชิงอรรถ :
๑ ทางแห่งสันติ หมายถึงมรรคมีองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๗๒)
๒ อันตราย หมายถึงความตาย (ขุ.ธ.อ. ๗/๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๑๒. ปฏาจาราวัตถุ
๑๑. กิสาโคตมีวัตถุ
เรื่องนางกิสาโคตมี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางกิสาโคตมี ดังนี้)
[๒๘๗] นรชนผู้มัวเมาในบุตรและปศุสัตว์
มีใจเกี่ยวข้องในอารมณ์ต่าง ๆ๑
ย่อมถูกมฤตยูคร่าไป
เหมือนชาวบ้านผู้หลับไหลถูกห้วงน้ำพัดพาไป ฉะนั้น

๑๒. ปฏาจาราวัตถุ
เรื่องนางปฏาจารา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางปฏาจารา ดังนี้)
[๒๘๘] บุคคลเมื่อถึงคราวจะตาย
บุตรทั้งหลายก็ต้านทานไว้ไม่ได้
บิดาก็ต้านทานไว้ไม่ได้
พวกพ้องก็ต้านทานไว้ไม่ได้
แม้ญาติพี่น้องก็ต้านทานไว้ไม่ได้
[๒๘๙] บัณฑิตผู้สำรวมในศีล รู้ความจริงนี้แล้ว
พึงรีบเร่งชำระทางอันจะนำไปสู่นิพพาน
มัคควรรคที่ ๒๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มีใจเกี่ยวข้องในอารมณ์ต่าง ๆ หมายถึงปรารถนาอยากได้ทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (ขุ.ธ.อ. ๗/๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๑. ปกิณณกวรรค ๒. กุกกุฏณฑขาทิกาวัตถุ
๒๑. ปกิณณกวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด
๑. อัตตโนปุพพกัมมวัตถุ
เรื่องบุพกรรมของพระองค์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๙๐] ถ้าเห็นว่าจะได้สุขอันยิ่งใหญ่๑
ด้วยการเสียสละสุขอันเล็กน้อย
นักปราชญ์พึงเสียสละสุขอันเล็กน้อย
เพื่อเห็นแก่สุขอันยิ่งใหญ่๒

๒. กุกกุฏัณฑขาทิกาวัตถุ
เรื่องกุมาริกากินไข่ไก่
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางยักษิณีและนางกุลธิดา ดังนี้)
[๒๙๑] ผู้ใดปรารถนาสุขเพื่อตน ด้วยการก่อทุกข์ให้คนอื่น
ผู้นั้นต้องเกี่ยวพันกับเวร ไม่พ้นจากเวรไปได้

เชิงอรรถ :
๑ สุขอันยิ่งใหญ่ ในที่นี้หมายถึงความสุขในนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๘๗)
๒ ดู ขุ.ขุ. แปลในเล่มนี้ ข้อ ๑๘ หน้า ๑๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๑. ปกิณณกวรรค ๔. ลกุณฏกภัททิยวัตถุ
๓. ภัททิยภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุชาวเมืองภัททิยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุชาวเมืองภัททิยะผู้ขวนขวายในการ
ประดับเขียงเท้า ดังนี้)
[๒๙๒] ภิกษุเหล่าใดละทิ้งกิจที่ควรทำ๑
แต่กลับทำกิจที่ไม่ควรทำ๒
อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่ภิกษุเหล่านั้น
ผู้ถือตัวจัด มัวแต่ประมาท
[๒๙๓] ส่วนภิกษุเหล่าใดมีสติตั้งมั่นในกาย๓เป็นนิตย์
ภิกษุเหล่านั้นหมั่นทำความเพียรในกิจที่ควรทำ
ไม่ทำกิจที่ไม่ควรทำ
อาสวะทั้งหลายของเธอผู้มีสติสัมปชัญญะ
ย่อมถึงการสูญสิ้นไป

๔. ลกุณฏกภัททิยวัตถุ
เรื่องพระลกุณฏกภัททิยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๙๔] บุคคลฆ่ามารดา๔ ฆ่าบิดา๕
ฆ่ากษัตราธิราชทั้ง ๒ พระองค์ได้๖

เชิงอรรถ :
๑ กิจที่ควรทำ หมายถึงการรักษาศีล การอยู่ป่า การถือธุดงควัตร และการเจริญภาวนา (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๐)
๒ กิจที่ไม่ควรทำ หมายถึงการประดับร่ม รองเท้า เขียงเท้า บาตร ถลกบาตร ประคตเอว และอังสะ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๐)
๓ มีสติตั้งมั่นในกาย หมายถึงเจริญกายคตาสติกัมมัฏฐาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๐)
๔ มารดา หมายถึงตัณหาที่เป็นเหตุให้สัตว์เกิดในภพทั้งสาม (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)
๕ บิดา หมายถึงอัสมิมานะ (การถือตัวว่าเป็นเรา) (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)
๖ กษัตราธิราชทั้ง ๒ พระองค์ หมายถึงสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) และอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่า
ขาดสูญ) (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๑. ปกิณณกวรรค ๕. ทารุสากฏิกวัตถุ
ฆ่าชาวแว่นแคว้น๑พร้อมเจ้าพนักงาน๒แล้ว
ดำเนินชีวิตเป็นพราหมณ์๓อยู่อย่างไร้ทุกข์
[๒๙๕] บุคคลฆ่ามารดา ฆ่าบิดา
ฆ่ากษัตราธิราชทั้ง ๒ พระองค์ได้
ทำลายทางเสือผ่านที่ ๕๔ ได้
ดำเนินชีวิตเป็นพราหมณ์อยู่อย่างไร้ทุกข์

๕. ทารุสากฏิกวัตถุ
เรื่องนายทารุสากฏิกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระราชา และนายทารุสากฏิกะ พร้อม
ครอบครัว ดังนี้)
[๒๙๖] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีสติตั้งมั่นในพระพุทธเจ้าเป็นนิตย์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
[๒๙๗] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีสติตั้งมั่นในพระธรรมเป็นนิตย์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ

เชิงอรรถ :
๑ แว่นแคว้น หมายถึงอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)
๒ เจ้าพนักงาน หมายถึงนันทิราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี) (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)
๓ พราหมณ์ หมายถึงพระขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)
๔ ทางเสือผ่านที่ ๕ หมายถึงวิจิกิจฉานิวรณ์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๑. ปกิณณกวรรค ๖. วัชชีปุตตกภิกขุวัตถุ
[๒๙๘] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีสติตั้งมั่นในพระสงฆ์เป็นนิตย์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
[๒๙๙] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีสติตั้งมั่นในกายเป็นนิตย์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
[๓๐๐] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีใจยินดีในความไม่เบียดเบียน
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
[๓๐๑] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีใจยินดีในการเจริญภาวนา
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ

๖. วัชชีปุตตกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เป็นโอรสของเจ้าวัชชี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เป็นโอรสของเจ้าวัชชี ดังนี้)
[๓๐๒] การบวชเป็นของยาก๑
ความยินดีในการบำเพ็ญธรรมก็เป็นของยาก

เชิงอรรถ :
๑ การบวช ที่ชื่อว่า เป็นของยาก เพราะจะต้องสละโภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติแล้วมอบกายถวายชีวิต
ในพระศาสนานี้จึงจะบวชได้ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๑. ปกิณณกวรรค ๘. จูฬสุภัททาวัตถุ
เรือนที่ครอบครองไม่ดี ก่อให้เกิดทุกข์๑
การอยู่ร่วมกับคนเสมอกันเป็นทุกข์
การเดินทางไกล๒ก็เป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่ควรเป็นผู้เดินทางไกล
และไม่ควรให้ทุกข์ติดตามได้

๗. จิตตคหปติวัตถุ
เรื่องจิตตคหบดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๓๐๓] คนมีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล๓
เพียบพร้อมด้วยยศ๔และโภคทรัพย์
จะไปสู่ถิ่นใด ๆ ย่อมได้รับการบูชาในถิ่นนั้น ๆ

๘. จูฬสุภัททาวัตถุ
เรื่องนางจูฬสุภัททา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท ๔ ดังนี้)
[๓๐๔] สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล
เหมือนภูเขาหิมพานต์ ฉะนั้น
อสัตบุรุษทั้งหลาย ณ ที่นี้ย่อมไม่ปรากฏ
เหมือนลูกศรที่ยิงไปในเวลากลางคืน ฉะนั้น๕

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงผู้ครองเรือนจะต้องปฏิบัติราชกิจของพระราชา หรือกิจของอิสรชน จะต้องสงเคราะห์ชนข้างเคียง
และให้ทานแก่สมณพราหมณ์ เพราะฉะนั้น การครองเรือนจะให้สมบูรณ์เต็มที่เป็นไปได้ยาก ถ้าครองเรือน
ไม่ดี ก็ก่อให้เกิดทุกข์ได้ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๘)
๒ การเดินทางไกล หมายถึงการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๙)
๓ ศีล ในที่นี้หมายถึงศีลสำหรับผู้ครองเรือน (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๐๐)
๔ ยศ ในที่นี้หมายถึงความมีบริวาร (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๐๐)
๕ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๒. นิรยวรรค ๑. สุนทรีปริพาชิกาวัตถุ
๙. เอกวิหาริเถรวัตถุ
เรื่องพระเถระผู้อยู่รูปเดียว
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๐๕] ภิกษุพึงยินดีการนั่งผู้เดียว การนอนผู้เดียว๑
ไม่เกียจคร้าน เที่ยวไปตามลำพัง
ฝึกฝนอยู่ผู้เดียว และยินดีการอยู่ป่า
ปกิณณกวรรคที่ ๒๑ จบ

๒๒. นิรยวรรค
หมวดว่าด้วยคนทำกรรมชั่วตกนรก
๑. สุนทรีปริพาชิกาวัตถุ
เรื่องปริพาชิกาชื่อสุนทรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๐๖] คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
‘ฉันไม่ได้ทำ’ ต่างก็ตกนรก
คน ๒ จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้ว มีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า๒

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว” มิใช่หมายถึงการอยู่ตามลำพัง แต่หมายถึงการอยู่อย่างไม่ละการมนสิการ
กัมมัฏฐาน เมื่อทำได้อย่างนี้ แม้จะอยู่ท่ามกลางหมู่ภิกษุพันรูป ก็ชื่อว่า นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว (ขุ.ธ.อ.
๗/๑๐๖)
๒ ดู อุทาน ข้อ ๓๘ หน้า ๒๔๘, อิติวุตตกะ ข้อ ๔๘ หน้า ๓๙๙, สุตตนิบาต ข้อ ๖๖๗ หน้า ๖๕๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๒. นิรยวรรค ๔. เขมเสฏฐิปุตตวัตถุ
๒. ทุกขปีฬิตสัตตวัตถุ
เรื่องสัตว์ถูกทุกข์เบียดเบียน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๐๗] ภิกษุชั่วจำนวนมากมีผ้ากาสาวะพันที่คอ
มีธรรมเลวทราม ไม่สำรวม
ย่อมตกนรกเพราะบาปกรรมทั้งหลาย

๓. วัคคุมุทาตีริยภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุอยู่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภภิกษุผู้อยู่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา พูดอวดอุตริมนุสสธรรม
ที่ไม่มีในตนของกันและกันแก่คฤหัสถ์เพื่อปากท้อง จึงตรัสพระคาถาแก่ภิกษุเหล่านั้น
ดังนี้)
[๓๐๘] การกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนดุจเปลวเพลิง
ยังดีกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีล ไม่สำรวม
บริโภคอาหารที่ชาวบ้านเขาถวาย๑

๔. เขมเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรเศรษฐีชื่อเขมกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นายเขมกะผู้ชอบเป็นชู้กับภรรยาของคนอื่น
ดังนี้)
[๓๐๙] นรชนที่ประมาท ชอบเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น
ย่อมถึงฐานะ๒ ๔ ประการ คือ

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความคาถานี้หมายถึงการที่บุคคลกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนดุจเปลวเพลิงนั้นส่งผลให้ได้รับทุกขเวทนา
ถึงตาย เพียงชาตินี้เท่านั้น แต่การที่ภิกษุผู้ทุศีลบริโภคข้าวที่ชาวบ้านถวายด้วยศรัทธานั้น ทำให้ตกนรก
หลายร้อยชาติ ดังนั้น การกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนนั้นจึงดีกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีลบริโภคข้าวชาวบ้าน (ขุ.ธ.อ.
๗/๑๑๒)
๒ ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุแห่งทุกข์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๒. นิรยวรรค ๕. ทุพพจภิกขุวัตถุ
(๑) ได้บาป (๒) นอนไม่เป็นสุข
(๓) ถูกนินทา (๔) ตกนรก
[๓๑๐] เพราะการได้บาป ๑ การได้คติที่เลว ๑
หญิงชายที่ต่างสะดุ้งกลัวมีความสนุกนิดหน่อย ๑
ถูกพระราชาลงพระอาชญาอย่างหนัก ๑
นรชนจึงไม่ควรเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น

๕. ทุพพจภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ว่ายาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ว่ายาก ดังนี้)
[๓๑๑] หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือได้ ฉันใด
ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี๑
ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น
[๓๑๒] กรรมที่ย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรที่เศร้าหมอง
และพรหมจรรย์ที่พึงระลึกถึงด้วยความระแวงสงสัย
ทั้ง ๓ นั้น ไม่มีผลมาก๒
[๓๑๓] หากภิกษุพึงทำกรรมใด ก็ควรทำกรรมนั้นให้จริงจัง
ควรบากบั่นทำกรรมนั้นให้มั่นคง
เพราะธรรมเครื่องละเว้น๓ที่ประพฤติอย่างย่อหย่อน
รังแต่จะเกลี่ยธุลี๔ลงใส่ตัว

เชิงอรรถ :
๑ ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี หมายถึงภาวะแห่งความเป็นสมณะ กล่าวคือสมณธรรมที่ภิกษุ
ปฏิบัติไม่ดีเพราะเป็นผู้ทุศีล เป็นต้น ย่อมส่งผลให้สัตว์ไปเกิดในนรก (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑๕)
๒ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๘๙/๙๔, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๒๗๗/๓๘๔
๓ ธรรมเครื่องละเว้น ในที่นี้หมายถึงสมณธรรม (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑๖)
๔ ธุลี หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๒. นิรยวรรค ๗. อาคันตุกภิกขุวัตถุ
๖. อิสสาปกติอิตถีวัตถุ
เรื่องหญิงขี้หึง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่หญิงขี้หึงและแก่บริษัท ๔ ดังนี้)
[๓๑๔] ความชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า
เพราะระลึกถึงความชั่ว บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
ส่วนความดี ทำไว้เถิดดีกว่า
เพราะทำแล้วระลึกถึงภายหลังบุคคลย่อมไม่เดือดร้อน

๗. อาคันตุกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุอาคันตุกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุอาคันตุกะผู้อยู่ในเมืองชายแดน ดังนี้)
[๓๑๕] เมืองชายแดนได้รับการคุ้มครองทั้งภายในและภายนอก ฉันใด
เธอทั้งหลายจงคุ้มครองตนให้ได้ ฉันนั้น
ขณะ๑อย่าได้ล่วงเลยเธอทั้งหลายไปเสีย
เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป
ย่อมเศร้าโศก แออัดอยู่ในนรก๒

เชิงอรรถ :
๑ ขณะ หมายถึงเวลา หรือสมัย มี ๔ คือ (๑) ขณะแห่งการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า (๒) ขณะแห่งการเกิด
ในมัชฌิมประเทศ (๓) ขณะแห่งการได้สัมมาทิฏฐิ (๔) ขณะแห่งอายตนะทั้ง ๖ ไม่วิกลวิกาล (ขุ.ธ.อ. ๗/๒๓๐)
๒ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๕๓/๔๕๒, ๑๐๐๔/๕๐๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๒. นิรยวรรค ๙. ติตถิยสาวกวัตถุ
๘. นิคัณฐวัตถุ
เรื่องนิครนถ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๑๖] สัตว์ทั้งหลายผู้ละอายในสิ่งที่ไม่ควรละอาย
และไม่ละอายในสิ่งที่ควรละอาย
ชื่อว่าถือมั่นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ
[๓๑๗] สัตว์ทั้งหลายผู้เห็นสิ่งที่ไม่ควรกลัวว่าควรกลัว
และเห็นสิ่งที่ควรกลัวว่าไม่ควรกลัว
ชื่อว่าถือมั่นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ

๙. ติตถิยสาวกวัตถุ
เรื่องสาวกเดียรถีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่สาวกของเดียรถีย์ ดังนี้)
[๓๑๘] สัตว์ทั้งหลายผู้เห็นสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ๑
และเห็นสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ
ชื่อว่าถือมั่นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ
[๓๑๙] สัตว์ทั้งหลายผู้รู้สิ่งที่มีโทษว่ามีโทษ
และรู้สิ่งที่ไม่มีโทษว่าไม่มีโทษ
ชื่อว่าถือมั่นสัมมาทิฏฐิ ย่อมไปสู่สุคติ
นิรยวรรคที่ ๒๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เห็นสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ หมายถึงเห็นสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ ประการ และ
เห็นธรรมที่ส่งเสริมสัมมาทิฏฐิว่าเป็นธรรมที่ส่งเสริมมิจฉาทิฏฐิ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๓. นาควรรค ๑. อัตตทันตวัตถุ
๒๓. นาควรรค
หมวดว่าด้วยช้าง
๑. อัตตทันตวัตถุ
เรื่องการฝึกตน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนท์ ดังนี้)
[๓๒๐] เราจักอดกลั้นถ้อยคำล่วงเกิน
เหมือนพญาช้างในสงคราม
อดทนลูกศรที่ตกจากแล่ง
เพราะคนจำนวนมากเป็นผู้ทุศีล
[๓๒๑] คนทั้งหลายนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม
พระราชาย่อมทรงราชพาหนะที่ฝึกแล้ว
ในหมู่มนุษย์ คนที่อดกลั้นถ้อยคำล่วงเกินได้
ชื่อว่าเป็นผู้ฝึกตนได้แล้ว๑ เป็นผู้ประเสริฐที่สุด
[๓๒๒] ม้าอัสดร ม้าอาชาไนย ม้าสินธพ ช้างใหญ่
ที่ได้รับการฝึกหัดแล้ว เป็นสัตว์ประเสริฐ
แต่คนที่ฝึกตนได้แล้ว ประเสริฐกว่าสัตว์พาหนะเหล่านั้น๒

เชิงอรรถ :
๑ ฝึกตนได้แล้ว หมายถึงฝึกตนได้ด้วยอริยมรรค ๔ (โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
และอรหัตตมรรค) (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๒๕)
๒ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๐/๒๘๒, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๘/๑๑๗-๑๑๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๓. นาควรรค ๔. ปเสนทิโกสลราชวัตถุ
๒. หัตถาจริยปุพพกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เคยเป็นนายควาญช้าง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เคยเป็นนายควาญช้าง ดังนี้)
[๓๒๓] แท้จริง บุคคลไม่สามารถไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไป๑ด้วยยานเหล่านี้
แต่บุคคลผู้ฝึกตนได้แล้ว สามารถไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป
ด้วยตนที่ฝึกแล้ว ที่ฝึกดีแล้ว๒

๓. ปริชิณณพราหมณปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรของพราหมณ์ชรา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บุตร ๔ คนของพราหมณ์ชรา ดังนี้)
[๓๒๔] ช้างกุญชรชื่อธนปาลกะ ตกมันจัด ห้ามได้ยาก ถูกขังไว้
ไม่ยอมกินฟ่อนหญ้า เพราะระลึกถึงแต่นาควัน๓

๔. ปเสนทิโกสลราชวัตถุ
เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เสวยพระกระยาหารมาก
ดังนี้)
[๓๒๕] เมื่อใด บุคคลผู้ถูกความง่วงเหงาครอบงำ บริโภคมาก
ชอบแต่นอนกลิ้งเกลือกไปมา
เมื่อนั้น เขาย่อมมีปัญญาเฉื่อยชา ชอบเข้าห้องเป็นอาจิณ
เหมือนสุกรอ้วนที่เขาขุนด้วยเศษอาหาร ฉะนั้น๔

เชิงอรรถ :
๑ ทิศที่ยังไม่เคยไป หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๒๖)
๒ ที่ชื่อว่า ฝึกแล้ว เพราะฝึกอินทรีย์ได้ในเบื้องต้น ที่ชื่อว่า ฝึกดีแล้ว เพราะอบรมตนได้ด้วยอริยมรรค
(ขุ.ธ.อ. ๗/๑๒๖)
๓ นาควัน หมายถึงป่าช้าง เป็นที่อยู่ของช้างพังแม่ของช้างธนปาลกะ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๒๖)
๔ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๗/๓๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๓. นาควรรค ๗. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
๕. สานุสามเณรวัตถุ
เรื่องสานุสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่สานุสามเณร ดังนี้)
[๓๒๖] แต่ก่อนจิตนี้ได้ท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่าง ๆ
ตามความปรารถนา ตามความต้องการ ตามความสบาย
วันนี้ เราจะข่มจิตนั้นโดยอุบายอันแยบคาย
เหมือนควาญช้างปราบพยศช้างตกมัน ฉะนั้น๑

๖. ปาเวรกหัตถิวัตถุ
เรื่องช้างปาเวรกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๒๗] เธอทั้งหลายจงยินดีในความไม่ประมาท
จงตามรักษาจิตของตน
จงถอนตนขึ้นจากหล่ม๒
เหมือนช้างกุญชรที่จมลงในเปือกตม ถอนตนขึ้นได้ ฉะนั้น

๗. สัมพหุลภิกขุวัตถุ๓
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๒๘] ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกัน เป็นสาธุวิหารี๔ เป็นนักปราชญ์

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๗๗/๓๓๑,๑๑๓๓/๕๒๔
๒ หล่ม ในที่นี้หมายถึงกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔๐)
๓ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๔๖๔/๓๕๕, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๗-๑๙/๓๐๓, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๑-๑๓๒/๔๓๓-๔๓๔
๔ สาธุวิหารี หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยพรหมวิหารธรรม ๔ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิต-
นิโรธ ๑ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๑/๔๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๓. นาควรรค ๘. มารวัตถุ
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด
[๓๒๙] ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่ผู้เดียว
และเหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น
[๓๓๐] การเที่ยวไปของบุคคลผู้เดียวเป็นความประเสริฐ
เพราะคุณเครื่องความเป็นสหาย๑ไม่มีในคนพาล
อนึ่ง บุคคลควรมีความขวนขวายน้อย
เที่ยวไปผู้เดียว ไม่พึงทำความชั่ว
เหมือนช้างมาตังคะเที่ยวไปตัวเดียวในป่า ฉะนั้น

๘. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้มีบาป ดังนี้)
[๓๓๑] เมื่อมีกิจเกิดขึ้น สหายทั้งหลายนำสุขมาให้
ความยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นำสุขมาให้
ในเวลาสิ้นชีวิต บุญนำสุขมาให้
การละทุกข์ได้ทั้งหมด นำสุขมาให้

เชิงอรรถ :
๑ คุณเครื่องความเป็นสหาย หมายถึงคุณธรรมเหล่านี้ คือ จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล กถาวัตถุ ๑๐
ธุดงคคุณ ๑๓ วิปัสสนาญาณ มรรค ๔ ผล ๔ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ อมตมหานิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๗/๑๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๑. กปิลมัจฉวัตถุ
[๓๓๒] ในโลก การเกื้อกูลมารดา นำสุขมาให้
การเกื้อกูลบิดา นำสุขมาให้
การเกื้อกูลสมณะ นำสุขมาให้
การเกื้อกูลท่านผู้ประเสริฐ๑ก็นำสุขมาให้
[๓๓๓] ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา๒
ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้ว นำสุขมาให้
การได้ปัญญา นำสุขมาให้
การไม่ทำบาปทั้งหลาย ก็นำสุขมาให้
นาควรรคที่ ๒๓ จบ

๒๔. ตัณหาวรรค
หมวดว่าด้วยตัณหา
๑. กปิลมัจฉวัตถุ
เรื่องปลากปิละ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท ๔ ดังนี้)
[๓๓๔] ตัณหาย่อมเจริญแก่มนุษย์ผู้ประพฤติประมาท๓
เหมือนเถาย่านทรายเจริญอยู่ในป่า
เขาย่อมเร่ร่อนไปมา
เหมือนวานรที่ต้องการผลไม้ เที่ยวเร่ร่อนไปมาในป่า ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ท่านผู้ประเสริฐ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกผู้ลอยบาปได้แล้ว
(ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔๗)
๒ ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา หมายถึงศีล ๕ ศีล ๑๐ เป็นต้น ย่อมเป็นเครื่องประดับทำให้เกิดความงาม
และความสุขแก่คนทุกเพศทุกวัย ไม่มีล้าสมัยไร้ตำหนิ ต่างจากเครื่องประดับภายนอกที่ทำให้งามเฉพาะ
เพศหรือวัย ใครที่ใช้เครื่องประดับหรือเครื่องแต่งกายไม่เหมาะกับเพศหรือวัย ก็จะถูกตำหนิ และถูกสงสัยว่า
เป็นบ้าเสียสติ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔๗)
๓ ผู้ประพฤติประมาท หมายถึงผู้มีความเป็นอยู่ด้วยความประมาท ปราศจากสติ ไม่เจริญฌาน วิปัสสนา
มรรค และผล (ขุ.ธ.อ. ๘/๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๒. สูกรโปติกาวัตถุ
[๓๓๕] ตัณหาที่เลวทรามซ่านไปในโลกนี้
ครอบงำบุคคลใดไว้ได้
ความโศกย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น
เหมือนหญ้าคมบางที่ถูกฝนตกรดแล้วเจริญงอกงามขึ้น ฉะนั้น
[๓๓๖] ส่วนบุคคลใดครอบงำตัณหาที่เลวทรามนั้น
ซึ่งล่วงได้ยากในโลกไว้ได้
ความโศกย่อมตกไปจากบุคคลนั้น
เหมือนหยาดน้ำกลิ้งตกไปจากใบบัว ฉะนั้น
[๓๓๗] เพราะเหตุนั้น เราขอเตือนท่านทั้งหลาย
ขอท่านทั้งหลายที่ประชุมกันในที่นี้ จงมีความเจริญ
ขอท่านทั้งหลายจงขุดรากเหง้าแห่งตัณหา๑
เหมือนคนต้องการหญ้าแฝกขุดหญ้าแฝก
มารอย่าได้ระรานท่านทั้งหลายอยู่ร่ำไป
เหมือนกระแสน้ำระรานไม้อ้อ ฉะนั้น๒

๒. สูกรโปติกาวัตถุ
เรื่องลูกสุกรตัวเมีย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๓๘] ต้นไม้ เมื่อรากยังแข็งแรง ยังไม่ถูกทำลาย
แม้ลำต้นถูกตัดแล้ว ก็งอกขึ้นได้ใหม่ ฉันใด
ความทุกข์นี้ เมื่อบุคคลขจัดตัณหานุสัยไม่ได้ขาด
ก็ย่อมเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุดรากเหง้า หมายถึงขุดรากเหง้าแห่งตัณหาอันเป็นไปในทวาร ๖ นี้ ด้วยญาณอันสัมปยุตด้วยอรหัตต-
มรรค (ขุ.ธ.อ. ๘/๗)
๒ ธรรมบทข้อ ๓๓๔-๓๓๗ นี้ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๓๙๙-๔๐๒/๔๐๘-๔๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๒. สูกรโปติกาวัตถุ
[๓๓๙] บุคคลใดยังมีกระแสตัณหาอันแรงกล้า ๓๖ สาย๑
ที่มักไหลไปยังอารมณ์อันน่าพอใจ
ความดำริเป็นอันมากที่อาศัยราคะ
ย่อมนำบุคคลนั้นซึ่งมีความเห็นผิดไป
[๓๔๐] กระแสตัณหาทั้งหลายไหลไปในอารมณ์ทั้งหมด
ตัณหาดุจเถาวัลย์ ก็งอกงามขึ้น
พวกเธอ ครั้นเห็นตัณหาดุจเถาวัลย์ที่งอกงามนั้น
จงตัดรากด้วยปัญญา๒
[๓๔๑] สัตว์โลกผู้มีแต่โสมนัสซาบซ่าน
ฉ่ำชื้นด้วยเสน่หา๓
มัวแต่จะแสวงหาความสุขสำราญกันอยู่
จึงต้องเข้าถึงชาติและชราร่ำไป
[๓๔๒] หมู่สัตว์ถูกล้อมไว้ด้วยตัณหาที่ทำให้สะดุ้ง
จึงดิ้นรนเหมือนกระต่ายติดบ่วง
หมู่สัตว์ผู้ถูกสังโยชน์และกิเลสเครื่องข้อง๔ผูกไว้แน่น
ย่อมได้รับความทุกข์ร่ำไปชั่วกาลนาน

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหา ๓๖ สาย ได้แก่ ตัณหา ๓ (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา) อาศัยอายตนะภายใน ๖
(๓ x ๖ = ๑๘) อาศัยอายตนะภายนอก ๖ (๓ x ๖ = ๑๘) ได้กระแส ๓๖ สายที่ไหลไปในอารมณ์มีรูป
เป็นต้นที่น่าชอบใจ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐)
๒ ปัญญา หมายถึงปัญญาอันสัมปยุตด้วยมรรค (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐)
๓ ฉ่ำชื้นด้วยเสน่หา หมายถึงเปียกชุ่มด้วยยางเหนียว คือตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐)
๔ หมายถึงสังโยชน์ ๑๐ ประการ และกิเลสเครื่องข้อง ๗ ประการ มีราคะเป็นต้นผูกไว้หรือเกี่ยวไว้ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๔. พันธนาคารวัตถุ
[๓๔๓] หมู่สัตว์ถูกล้อมไว้ด้วยตัณหาที่ทำให้สะดุ้ง
จึงดิ้นรนเหมือนกระต่ายติดบ่วง
เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อหวังให้ตนสิ้นราคะ
ควรบรรเทาตัณหาที่ทำให้สะดุ้งเสีย

๓. วิพภันตกวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้กระสันจะสึก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท ๔ ดังนี้)
[๓๔๔] บุคคลใดออกจากอาลัยแล้ว๑ มีใจน้อมไปในป่า๒
พ้นจากป่าแล้ว๓ยังแล่นเข้าไปสู่ป่านั้นอีก
ท่านทั้งหลายจงดูบุคคลนั้น
เขาพ้นจากเครื่องผูก ยังแล่นไปสู่เครื่องผูกตามเดิม

๔. พันธนาคารวัตถุ
เรื่องเรือนจำ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เหล่าภิกษุผู้เห็นโจรถูกจองจำในเรือนจำ ดังนี้)
[๓๔๕] นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวถึงเครื่องจองจำ
ที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้าปล้อง
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง แต่กล่าวถึง
ความกำหนัดยินดีในต่างหูแก้วมณี และความใยดีในบุตรภรรยา
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง

เชิงอรรถ :
๑ อาลัย ในที่นี้หมายถึงความเป็นอยู่อย่างคฤหัสถ์ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๔)
๒ ป่า ในที่นี้หมายถึงตบะ (ตโปวนะ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๔)
๓ ป่า ในที่นี้หมายถึงตัณหาคือเครื่องผูกให้อยู่ครองเรือน (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๖. อุคคเสนเสฏฐิปุตตวัตถุ
[๓๔๖] นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงความกำหนัด เครื่องจองจำที่มั่นคงนั้น
ว่ามีปกติเหนี่ยวลง หย่อนยาน แต่แก้ให้หลุดยาก
นักปราชญ์เหล่านั้นตัดเครื่องจองจำนั้นได้แล้ว
ไม่ใยดี ละกามสุข ออกบวช๑

๕. เขมาเถรีวัตถุ
เรื่องพระเขมาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเขมาเถรี ดังนี้)
[๓๔๗] สัตว์ทั้งหลายผู้กำหนัดยินดีด้วยราคะ๒
ย่อมตกไปสู่กระแสตัณหา
เหมือนแมงมุมติดใยที่ตนถักไว้เอง
นักปราชญ์ทั้งหลายตัดกระแสตัณหานั้นได้แล้ว
หมดความใยดี ย่อมละทุกข์ทั้งปวงไปได้

๖. อุคคเสนเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรเศรษฐีชื่ออุคคเสน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นายอุคคเสน ดังนี้)
[๓๔๘] เธอจงเป็นผู้ปล่อยวางทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน๓
จงเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ
เธอผู้มีใจหลุดพ้นในธรรมทั้งปวงแล้ว
จักไม่เข้าถึงชาติ และชราอีกต่อไป

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๒๑/๑๔๐, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๐๑-๑๐๒/๕๕
๒ หมายรวมถึงขุ่นเคืองเพราะโทสะ ลุ่มหลงเพราะโมหะด้วย (ขุ.ธ.อ. ๘/๒๐)
๓ หมายถึงปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ความทะยานอยากในขันธ์ทั้งหลายที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
(ขุ.ธ.อ.๘/๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๘. มารวัตถุ
๗. จูฬธนุคคหปัณฑิตวัตถุ
เรื่องจูฬธนุคคหบัณฑิต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งผู้กระสันจะสึก ดังนี้)
[๓๔๙] บุคคลผู้ถูกวิตก๑ย่ำยี มีราคะจัด เห็นอารมณ์ว่างามเสมอ
ย่อมมีตัณหาพอกพูนมากขึ้น ๆ
บุคคลเช่นนั้นแลชื่อว่าสร้างเครื่องผูกมัดที่แน่นหนา
[๓๕๐] ส่วนผู้ใดยินดีในฌานเป็นที่ระงับวิตก๒
มีสติทุกเมื่อ เจริญอสุภฌานอยู่
ผู้นั้นแล จักทำตัณหาให้สิ้นไปได้
จักตัดเครื่องผูกแห่งมาร๓ได้

๘. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้มีบาป ดังนี้)
[๓๕๑] ผู้บรรลุความสำเร็จแล้ว๔ ไม่มีความสะดุ้งกลัว
ปราศจากตัณหา ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ตัดลูกศรที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
ร่างกายนี้จึงเป็นร่างกายสุดท้าย

เชิงอรรถ :
๑ วิตก หมายถึงความตรึกมี ๓ อย่าง คือ กามวิตก ความตรึกในทางกาม พยาบาทวิตก ความตรึกในทาง
พยาบาท วิหิงสาวิตก ความตรึกในทางเบียดเบียน (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๐)
๒ ฌานเป็นที่ระงับวิตก หมายถึงปฐมฌานที่มีอสุภะ ๑๐ ประการเป็นอารมณ์ สามารถเข้าไปสงบระงับ
มิจฉาวิตกได้ (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๐)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๓ หน้า ๓๕ ในเล่มนี้
๔ ความสำเร็จ หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๙. อุปกาชีวกวัตถุ
[๓๕๒] ผู้ปราศจากตัณหา หมดความยึดมั่น
ฉลาดในนิรุตติบท๑
รู้หมวดหมู่และเบื้องต้นเบื้องปลายของอักษรทั้งหลาย
ผู้นั้นแลเรียกว่า ผู้มีร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย
ผู้มีปัญญามาก เป็นมหาบุรุษ

๙. อุปกาชีวกวัตถุ
เรื่องอาชีวกชื่ออุปกะ
(พระผู้มีพระภาคเมื่อแรกตรัสรู้ประทับนั่งที่ควงไม้โพธิ์ อาชีวกชื่ออุปกะเข้ามา
ถามพระองค์ว่า บวชเพื่อใคร ใครเป็นศาสดา พระองค์จึงตรัสพระคาถา ดังนี้)
[๓๕๓] เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง๒ รู้ธรรมทั้งปวง๓
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง๔ ละธรรมทั้งปวงได้๕
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
ตรัสรู้ยิ่งเองแล้วจะพึงกล่าวอ้างใครเล่า๖

เชิงอรรถ :
๑ นิรุตติบท หมายถึงนิรุตติปฏิสัมภิทา รวมทั้งปฏิสัมภิทาที่เหลืออีก ๓ อย่าง (อัตถปฏิสัมภิทา ธัมมปฏิสัมภิทา
และปฏิภาณปฏิสัมภิทา) (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๒)
๒ ธรรม หมายถึงธรรม ๓ ระดับ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๔)
๓ ธรรม หมายถึงธรรม ๔ ระดับ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ โลกุตตรภูมิ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๔)
๔ มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง หมายถึงไม่เปื้อนด้วยตัณหาและทิฏฐิในธรรม ๓ ระดับนั้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๔)
๕ ละธรรมทั้งปวงได้ หมายถึงละธรรม ๓ ระดับ กล่าวคือละธรรมชั้นกามาวจร ชั้นรูปาวจร และชั้น
อรูปาวจรได้ (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๔)
๖ หมายถึงเมื่อรู้เองได้อย่างนี้แล้ว จะต้องอ้างใครเป็นอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์อีกเล่า (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๔) และดู
วิ.ม. (แปล) ๔/๑๑/๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๑๑. อปุตตกเสฏฐิปุตตวัตถุ
๑๐. สักกเทวราชวัตถุ
เรื่องท้าวสักกะจอมเทพ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ท้าวสักกะจอมเทพและเหล่าเทวดา ดังนี้)
[๓๕๔] การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง
รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง
ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง
ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง๑

๑๑. อปุตตกเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องอปุตตกเศรษฐีบุตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ดังนี้)
[๓๕๕] โภคทรัพย์ทั้งหลาย ย่อมทำลายคนมีปัญญาทราม
แต่จะไม่ทำลายคนที่แสวงหาฝั่ง๒
เพราะความทะยานอยากในโภคทรัพย์
คนมีปัญญาทรามจึงทำลายตนเองดุจทำลายคนอื่น

เชิงอรรถ :
๑ การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง หมายถึงบุคคลจะให้หรือเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุข
ส่วนรวมได้ก็ต่อเมื่อได้ฟังธรรม จนรู้ว่าคุณประโยชน์ของการให้หรือการเสียสละว่าดีอย่างไรเสียก่อน จึงจะ
ให้หรือเสียสละได้ หากไม่ได้ฟังธรรม การให้สิ่งอื่นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง หมายถึงรสอื่น ๆ เช่น รสสุธาโภชน์ของเทวดา ยังเป็นปัจจัยให้สัตว์ต้อง
เสวยทุกข์ในสังสารวัฏ แต่รสแห่งพระธรรม คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และโลกุตตรธรรม ๙ ประการ
เป็นรสแห่งความสุขที่ประเสริฐสุด
ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง หมายถึงความยินดีอื่น ๆ เช่น ความยินดีบุตร ธิดา ทรัพย์สิน
สตรี หรือการขับร้อง ประโคมดนตรี ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยให้เสวยทุกข์ในสังสารวัฏ แต่การแสดงธรรม
การได้ฟังธรรม หรือการแนะนำธรรม ย่อมก่อให้เกิดปีติสุข และเป็นปัจจัยให้บรรลุอรหัตตผล สิ้นทุกข์ใน
สังสารวัฏได้
ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง หมายถึงอรหัตตผลที่เกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นตัณหานั้นเป็นสภาวะ
ที่ครอบงำตัดขาดทุกข์ในสังสารวัฏได้อย่างสิ้นเชิง (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๖-๓๘)
๒ ฝั่ง หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๘/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๑๒. อังกุรวัตถุ
๑๒. อังกุรวัตถุ
เรื่องอังกุรเทพบุตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อังกุรเทพบุตร และอินทกเทพบุตร ดังนี้)
[๓๕๖] นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีราคะเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากราคะ จึงมีผลมาก
[๓๕๗] นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีโทสะเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากโทสะ จึงมีผลมาก
[๓๕๘] นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีโมหะเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากโมหะ จึงมีผลมาก
[๓๕๙] นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีความอยากเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากความอยาก จึงมีผลมาก
(นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีตัณหาเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากตัณหา จึงมีผลมาก)
ตัณหาวรรคที่ ๒๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๒. หังสฆาตกภิกขุวัตถุ
๒๕. ภิกขุวรรค
หมวดว่าด้วยภิกษุ
๑. ปัญจภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕ รูป ผู้สำรวมทวาร(ช่องตามร่าง
กาย)รูปละทวาร ดังนี้)
[๓๖๐] การสำรวมตา เป็นการดี
การสำรวมหู เป็นการดี
การสำรวมจมูก เป็นการดี
การสำรวมลิ้น เป็นการดี
[๓๖๑] การสำรวมกาย เป็นการดี
การสำรวมวาจา เป็นการดี
การสำรวมใจ เป็นการดี
การสำรวมทวารทั้งปวง เป็นการดี
ภิกษุผู้สำรวมทวารทั้งปวง ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้๑

๒. หังสฆาตกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุฆ่าหงส์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ฆ่าหงส์ ดังนี้)
[๓๖๒] บุคคลผู้สำรวมมือ๒ สำรวมเท้า สำรวมวาจา สำรวมตน
ยินดีธรรมภายใน๓ มีจิตตั้งมั่น อยู่ผู้เดียว สันโดษ
บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า ภิกษุ

เชิงอรรถ :
๑ ทุกข์ หมายถึงทุกข์ในวัฏฏะ (ขุ.ธ.อ. ๘/๔๗)
๒ สำรวมมือ หมายถึงไม่คะนองมือ หรือไม่ทำร้ายสัตว์ด้วยมือ แม้เท้า วาจา ก็มีนัยเดียวกันนี้ (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๐)
๓ ยินดีธรรมภายใน หมายถึงยินดีในการเจริญกัมมัฏฐาน คือ สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน
(ขุ.ธ.อ. ๘/๕๐, ขุ.เถร.อ. ๑๐๓๕/๔๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๕. อัญญตรวิปักขเสวกภิกขุวัตถุ
๓. โกกาลิกวัตถุ
เรื่องพระโกกาลิกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๖๓] ภิกษุรูปใดสำรวมปาก พูดโดยใช้มันตา๑เสมอ
ไม่ฟุ้งซ่าน แสดงแต่อรรถ๒และธรรม๓ เท่านั้น
ภาษิตของภิกษุนั้นไพเราะ

๔. ธัมมารามเถรวัตถุ
เรื่องพระเถระผู้ยินดีในธรรม
[๓๖๔] ภิกษุมีธรรมเป็นที่มายินดี๔ ยินดีแล้วในธรรม
พิจารณาใคร่ครวญถึงธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่
ย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรม๕

๕. อัญญตรวิปักขเสวกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้คบฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุที่เป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัต ดังนี้)
[๓๖๕] ภิกษุไม่ควรดูหมิ่นลาภของตน
ไม่ควรเที่ยวปรารถนาลาภของคนอื่น
เมื่อภิกษุปรารถนาลาภของคนอื่น
ย่อมไม่บรรลุสมาธิ๖

เชิงอรรถ :
๑ มันตา หมายถึงปัญญา (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๓)
๒ อรรถ หมายถึงเนื้อความแห่งภาษิต (ขุ.ธ.อ. ๘/๓/๕๓)
๓ ธรรม หมายถึงธรรมเทศนา (ขุ.ธ.อ. ๘/๓/๕๓)
๔ ธรรมเป็นที่มายินดี ในที่นี้หมายถึงสมถะและวิปัสสนา (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๔)
๕ สัทธรรม หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๔-๕๕)
และดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๐๓๕/๕๐๙
๖ สมาธิ หมายถึงอัปปนาสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๗. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
[๓๖๖] ถ้าภิกษุแม้จะมีลาภน้อย แต่ไม่ดูหมิ่นลาภของตน
เทวดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญภิกษุนั้นแล
ว่าเป็นผู้มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจคร้าน

๖. ปัญจัคคทายกพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ถวายทานอันเลิศ ๕ อย่าง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ และนางพราหมณีผู้ถวายทาน
อันเลิศ ๕ อย่าง ดังนี้)
[๓๖๗] ผู้ใดไม่มีความยึดถือในนามรูป
ว่าเป็นของเรา โดยประการทั้งปวง
และไม่เศร้าโศก เพราะนามรูปแปรผันไป
ผู้นั้นแล เราเรียกว่า ภิกษุ๑

๗. สัมพหุลภิกขุวัตุถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๖๘] ภิกษุผู้อยู่ด้วยเมตตา เลื่อมใสในพุทธศาสนา
ก็จะพึงบรรลุสันตบท๒ อันเป็นที่ระงับสังขารเป็นสุข
[๓๖๙] ภิกษุ เธอจงวิดเรือ๓นี้
เรือที่เธอวิดแล้วจักถึงเร็ว
เธอตัดราคะ โทสะได้แล้ว
ต่อจากนั้น ก็จักบรรลุนิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบสุตตนิบาต ข้อ ๙๕๗ หน้า ๗๒๙ ในเล่มนี้ (บาทคาถาที่ ๔ ต่างกัน)
๒ สันตบท หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๘/๖๖)
๓ เรือ ในที่นี้หมายถึงอัตภาพ (ขุ.ธ.อ. ๘/๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๗. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
[๓๗๐] ภิกษุพึงตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พึงละสังโยชน์เบื้องสูง ๕
และพึงเจริญอินทรีย์ ๕ ให้ยิ่งขึ้นไป
ภิกษุผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง ๕๑ ได้แล้ว
เราเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะได้๒
[๓๗๑] ภิกษุ เธอจงเพ่งพินิจ และอย่าประมาท
จงอย่าปล่อยจิตของเธอ ให้วนเวียนอยู่ในกามคุณ
อย่าเผลอกลืนก้อนเหล็กแดง(ในนรก)
อย่าเร่าร้อนคร่ำครวญอยู่ว่า นี่ทุกข์จริง
[๓๗๒] ฌาน ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา
ปัญญาก็ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน
ผู้มีทั้งฌานและปัญญานั่นแล
จึงนับว่าอยู่ใกล้นิพพาน
[๓๗๓] ภิกษุผู้เข้าไปยังเรือนว่าง๓
มีจิตสงบ เห็นแจ้งธรรมโดยชอบ
ย่อมเกิดความยินดีที่ไม่ใช่เป็นของคนทั่วไป
[๓๗๔] ขณะใด ภิกษุพิจารณาเห็นความเกิด
และความเสื่อมของขันธ์ทั้งหลาย
ขณะนั้น เธอย่อมได้รับปีติปราโมทย์
ซึ่งเป็นอมตธรรมสำหรับผู้รู้ทั้งหลาย
[๓๗๕] ในอมตธรรมนั้น ธรรมนี้คือ
ความสำรวมอินทรีย์ ความสันโดษ
และความสำรวมในปาติโมกข์
เป็นเบื้องต้นของภิกษุผู้มีปัญญาในศาสนานี้

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องข้อง ๕ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ (สํ.ส.อ. ๑/๕/๒๔, ขุ.ธ.อ.๘/๖๗)
๒ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๕/๖, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๕/๓๐๘, ๖๓๓/๔๔๙
๓ เรือนว่าง ในที่นี้หมายถึงการนั่งเจริญกัมมัฏฐานในที่สงัดแห่งใดแห่งหนึ่ง (ขุ.ธ.อ. ๘/๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๙. สันตกายเถรวัตถุ
[๓๗๖] เธอจงคบภิกษุที่เป็นกัลยาณมิตร
มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจคร้าน
ควรทำการปฏิสันถาร และฉลาดในเรื่องมารยาท
เพราะปฏิบัติตามคุณธรรมดังกล่าวนั้น
เธอก็จักมากด้วยความปราโมทย์
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

๘. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๗๗] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงสลัดราคะและโทสะทิ้งเสีย
เหมือนต้นมะลิสลัดดอกที่เหี่ยวแห้ง ฉะนั้น

๙. สันตกายเถรวัตถุ
เรื่องพระสันตกายเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๗๘] ภิกษุผู้มีกายสงบ๑ มีวาจาสงบ๒
มีใจสงบ๓ มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
และเป็นผู้ละโลกามิสได้
เราเรียกว่าผู้สงบระงับ

เชิงอรรถ :
๑ มีกายสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางกายมีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๒)
๒ มีวาจาสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางวาจามีการพูดเท็จ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๒)
๓ มีใจสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางใจมีการเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๑๑. วักกลิเถรวัตถุ
๑๐. นังคลกูฏเถรวัตถุ
เรื่องพระนังคลกูฏเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๗๙] ภิกษุ เธอจงเตือนตนด้วยตนเอง
จงพิจารณาดูตนด้วยตนเอง
ถ้าเธอคุ้มครองตนเองได้แล้ว มีสติ
เธอก็จักอยู่เป็นสุข
[๓๘๐] ตนแล เป็นที่พึ่งของตน
ตนแล เป็นคติ๑ของตน
เพราะฉะนั้น เธอจงสงวนตน๒ให้ดี
เหมือนพ่อค้าม้าสงวนม้าพันธุ์ดี ฉะนั้น

๑๑. วักกลิเถรวัตถุ
เรื่องพระวักกลิเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระวักกลิเถระ ดังนี้)
[๓๘๑] ภิกษุผู้มากด้วยความปราโมทย์
เลื่อมใสในพุทธศาสนา พึงบรรลุสันตบท๓
อันเป็นธรรมเข้าไปสงบระงับสังขาร เป็นสุข๔

เชิงอรรถ :
๑ เป็นคติ หมายถึงเป็นที่พำนัก หรือเป็นสรณะ (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๔)
๒ สงวนตน หมายถึงป้องกันการเกิดอกุศลกรรมที่ยังไม่เกิดในตน (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๔)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๑๔๘ ในเล่มนี้
๔ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๑/๓๐๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑. ปสาทพหุลพราหมณวัตถุ
๑๒. สุมนสามเณรวัตถุ
เรื่องสุมนสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๘๒] ภิกษุใดแลยังหนุ่มแน่น
ย่อมประกอบขวนขวายในพุทธศาสนา
ภิกษุนั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว๑
เหมือนดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น๒
ภิกขุวรรคที่ ๒๕ จบ

๒๖. พราหมณวรรค
หมวดว่าด้วยพราหมณ์
๑. ปสาทพหุลพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ผู้เลื่อมใสมาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๘๓] พราหมณ์๓ เธอจงพยายามตัดกระแส๔ให้ขาด
จงบรรเทากามทั้งหลายให้ได้
เธอรู้ความสิ้นไปแห่งสังขารทั้งหลายแล้ว
ก็จะรู้แจ้งสภาวะที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้๕

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงให้โลกคือขันธ์ ๕ สว่างไสวด้วยอรหัตตมรรคญาณ (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๐)
๒ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๗๓/๔๘๔
๓ พราหมณ์ ตามหลักพุทธศาสนาในวรรคนี้หมายถึงพระขีณาสพทั้งหลาย แต่มีบ้างที่ตรัสหมายเอา
พราหมณ์โดยชาติกำเนิด เช่น ในธรรมบทข้อ ๓๙๒ หน้า ๑๕๖ (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๒)
๔ กระแส หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๒)
๕ สภาวะที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้ หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓. มารวัตถุ
๒. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๓๐ รูป ดังนี้)
[๓๘๔] เมื่อใด พราหมณ์เป็นผู้ถึงฝั่งในธรรมทั้งสอง๑
เมื่อนั้น สังโยคะ๒ทั้งหมดของเขาผู้รู้อยู่
ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้

๓. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคเมื่อตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้ถามเรื่องฝั่ง ดังนี้)
[๓๘๕] ผู้ใดไม่มีฝั่งนี้๓ ไม่มีฝั่งโน้น๔ หรือไม่มีทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
เราเรียกผู้นั้นซึ่งปราศจากความกระวนกระวาย
ปลอดจากกิเลสแล้วว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งสอง หมายถึงสมถะ และวิปัสสนา (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๓)
๒ สังโยคะ หมายถึงโยคะ(สภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพ) มี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.ธ.อ.
๘/๙๓) และดูความหมายของคำว่า “โยคะ” ใน ขุ.ธ.อ. ๒/๖๒, ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๙ ประกอบ
๓ ไม่มีฝั่งนี้ หมายถึงไม่มีความยึดถืออายตนะภายใน ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ว่า “เรา” หรือ
“ของเรา” (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๖)
๔ ไม่มีฝั่งโน้น หมายถึงไม่มีความยึดถืออายตนะภายนอก ๖ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ
ธรรมารมณ์) ว่า “เรา” หรือ “ของเรา” (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๕. อานันทเถรวัตถุ
๔. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคเมื่อตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้ถามเรื่องพราหมณ์ ดังนี้)
[๓๘๖] ผู้เพ่งพินิจ ปราศจากธุลี
อยู่ตามลำพัง ทำกิจเสร็จแล้ว หมดอาสวะ
บรรลุประโยชน์สูงสุด๑
เราเรียกว่า พราหมณ์

๕. อานันทเถรวัตถุ
เรื่องพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๓๘๗] ดวงอาทิตย์ส่องสว่างเฉพาะกลางวัน
ดวงจันทร์ส่องสว่างเฉพาะกลางคืน
กษัตริย์ทรงเครื่องรบแล้ว จึงสง่างาม
พราหมณ์เพ่งพินิจ จึงสง่างาม
แต่พระพุทธเจ้าทรงสง่างามด้วยพระเดช๒
ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์สูงสุด หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๓)
๒ พระเดช ในที่นี้หมายถึงเดช ๕ อย่าง คือ เดชแห่งศีล เดชแห่งคุณ เดชแห่งปัญญา เดชแห่งบุญ และ
เดชแห่งธรรม (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
๖. อัญญตรปัพพชิตวัตถุ
เรื่องบรรพชิตรูปใดรูปหนึ่ง
(นักบวชนอกพระพุทธศาสนา ท่านหนึ่ง ถามพระผู้มีพระมีพระภาค เรื่องบรรพชิต
พระองค์จึงตรัสพระคาถา ดังนี้)
[๓๘๘] ผู้ที่ลอยบาปได้ เราเรียกว่า พราหมณ์
เพราะประพฤติสงบ๑ เราเรียกว่า สมณะ
ฉะนั้น ผู้ที่กำจัดมลทิน๒ของตนให้หมดไปได้
เราจึงเรียกว่า บรรพชิต

๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระสารีบุตรซึ่งถูกพราหมณ์ทำร้าย จึงตรัสพระคาถา
นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๘๙] พราหมณ์ไม่พึงทำร้ายพราหมณ์
ไม่พึงจองเวรพราหมณ์ผู้ทำร้ายนั้น
น่าตำหนิพราหมณ์ผู้ทำร้ายพราหมณ์
พราหมณ์ที่จองเวรตอบนั้น น่าตำหนิยิ่งกว่า
[๓๙๐] ข้อที่พราหมณ์ห้ามใจจากอารมณ์อันเป็นที่รัก๓ทั้งหลายได้
เป็นความประเสริฐไม่น้อยเลย
ใจที่มีความเบียดเบียน กลับจากวัตถุใด ๆ
ความทุกข์ก็ย่อมสงบระงับจากวัตถุนั้น ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ประพฤติสงบ หมายถึงประพฤติปฏิบัติให้อกุศลธรรมทั้งหมดสงบ (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๗)
๒ มลทิน หมายถึงกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๗)
๓ อารมณ์อันเป็นที่รัก หมายถึงการเกิดขึ้นแห่งความโกรธของผู้มักโกรธ (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑๐. ชฏิลพราหมณวัตถุ
๘. มหาปชาปตีโคตมีวัตถุ
เรื่องพระนางมหาปชาบดีโคตมี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๙๑] ผู้ไม่มีกรรมชั่ว๑ทางกาย วาจา และใจ
สำรวมระวังได้ครบทั้ง ๓ ทวาร
เราเรียกว่า พราหมณ์

๙. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระสารีบุตร นอบน้อมทิศที่พระอัสสชิเถระอยู่ จึงตรัส
พระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๙๒] บุคคลรู้แจ้งธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
จากอาจารย์ใด
ควรนอบน้อมอาจารย์นั้นโดยเคารพ
เหมือนพราหมณ์๒นอบน้อมไฟที่บูชา ฉะนั้น

๑๐. ชฏิลพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ชฎิล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ชฎิลผู้ถามเรื่องพราหมณ์ ดังนี้)
[๓๙๓] คนเป็นพราหมณ์ ไม่ใช่เพราะเกล้าชฎา
ไม่ใช่เพราะโคตร ไม่ใช่เพราะชาติกำเนิด
แต่สัจจะ๓และธรรม๔มีอยู่ในผู้ใด
ผู้นั้น เป็นผู้สะอาด และผู้นั้น เป็นพราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ กรรมชั่ว หมายถึงกรรมที่มีโทษ มีทุกข์เป็นกำไร นำสัตว์ให้ตกไปในอบาย (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๐)
๒ พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพราหมณ์โดยชาติกำเนิด (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๒)
๓ สัจจะ หมายถึงสัจญาณอันหยั่งรู้สัจจะ ๔ โดยอาการ ๑๖ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๓)
๔ ธรรม หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑๒. กิสาโคตมีวัตถุ
๑๑. กุหกพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์โกหก
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพราหมณ์โกหกมีวัตรดังค้างคาว ตรัสพระคาถานี้
แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๙๔] เจ้าคนมีปัญญาทราม การเกล้าชฎา การครองหนังเสือ
จะมีประโยชน์อะไรสำหรับเจ้า
ภายนอกของเจ้าเปล่งปลั่งเกลี้ยงเกลา
แต่ภายในของเจ้ารกรุงรัง๑

๑๒. กิสาโคตมีวัตถุ
เรื่องนางกิสาโคตมี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภนางกิสาโคตมีจึงตรัสพระคาถานี้แก่ท้าวสักกะจอมเทพ
ดังนี้)
[๓๙๕] ผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุล
ซูบผอม มีเส้นเอ็นปรากฏทั่วร่าง
เพ่งพินิจอยู่ในป่าผู้เดียว
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ รกรุงรัง หมายถึงรกรุงรังด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑๔. อุคคเสนวัตถุ
๑๓. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์คนหนึ่ง ดังนี้)
[๓๙๖] เราไม่เรียกบุคคลผู้ถือกำเนิด
เกิดในครรภ์มารดาว่า พราหมณ์
ถ้าเขายังมีกิเลสเครื่องกังวลอยู่
เขาเป็นเพียงผู้ชื่อว่า โภวาที๑เท่านั้น
เราเรียกผู้หมดกิเลสเครื่องกังวล
หมดความยึดมั่นถือมั่นเท่านั้นว่า พราหมณ์๒

๑๔. อุคคเสนวัตถุ
เรื่องนายอุคคเสน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๙๗] ผู้ตัดสังโยชน์ได้หมดสิ้น ไม่สะดุ้ง๓
ผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง๔ได้
ผู้ปราศจากโยคะ๕
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ โภวาที หมายถึงบุคคลผู้มีปกติเที่ยวร้องเรียกตนเองว่า “เป็นผู้เจริญ” (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๘)
๒ ม.ม. (แปล) ๑๓/๔๕๗/๕๗๗
๓ ไม่สะดุ้ง หมายถึงไม่สะดุ้งหวาดกลัวเพราะตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๙)
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๔๙ ในเล่มนี้
๕ ดูเชิงอรรถที่ ๖ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
๑๕. เทวพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ ๒ คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๓๙๘] ผู้ตัดชะเนาะ เชือกหนัง และเงื่อน๑
พร้อมทั้งสายรัดได้ ถอดลิ่มสลัก๒เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์

๑๖. อักโกสกภารทวาชวัตถุ
เรื่องอักโกสกภารทวาชพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๙๙] ผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นคำด่า
การฆ่า และการจองจำได้
มีขันติเป็นพลัง มีขันติเป็นกำลังพล
เราเรียกว่า พราหมณ์

๑๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๐] ผู้ไม่มักโกรธ มีศีล มีวัตร
ไม่มีตัณหาเครื่องฟูขึ้น ฝึกตนได้แล้ว
มีสรีระเป็นร่างกายสุดท้าย
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ชะเนาะ หมายถึงความโกรธ เชือกหนัง หมายถึงตัณหา เงื่อน หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑๐)
๒ สายรัด หมายถึงอนุสัยกิเลส ลิ่มสลัก หมายถึงอวิชชา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๒๐. เขมาภิกขุนีวัตถุ
๑๘. อุปปลวัณณาเถรีวัตถุ
เรื่องพระอุบลวัณณาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๑] ผู้ใดไม่ติดในกามทั้งหลาย
เหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่บนปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๑๙. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์คนหนึ่ง ดังนี้)
[๔๐๒] ผู้ใดในศาสนานี้ รู้ชัดความสิ้นทุกข์ของตน
ปลงภาระได้แล้ว ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๒๐. เขมาภิกขุนีวัตถุ
เรื่องพระเขมาภิกษุณี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ท้าวสักกะจอมเทพและเทวดาทั้งหลาย
ดังนี้)
[๔๐๓] ผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เป็นปราชญ์
ฉลาดในทางและมิใช่ทาง๑ บรรลุประโยชน์สูงสุด
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ฉลาดในทางและมิใช่ทาง หมายถึงรู้ว่าธรรมนี้เป็นทางไปทุคติ ธรรมนี้เป็นทางไปสุคติ ธรรมนี้เป็นทาง
ไปนิพพาน และรู้ว่าธรรมนี้มิใช่ทาง (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๒๓. สามเณรวัตถุ
๒๑. ปัพภารวาสีติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้อยู่ที่เงื้อมเขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๔] ผู้ไม่คลุกคลี๑กับคน ๒ จำพวก
คือ คฤหัสถ์ และบรรพชิต
ไม่มีความอาลัยเที่ยวไป มีความปรารถนาน้อย
เราเรียกว่า พราหมณ์

๒๒. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๕] ผู้ใดละวางโทษทัณฑ์ในสัตว์ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง๒และสัตว์ที่มั่นคง๓
ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่า
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๒๓. สามเณรวัตถุ
เรื่องสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๖] ผู้ไม่มุ่งร้ายในหมู่คนผู้มุ่งร้าย
ผู้สงบในหมู่คนผู้ชอบหาเรื่องใส่ตน
ผู้ไม่ถือมั่นในหมู่คนผู้ถือมั่น
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ คลุกคลี ในที่นี้หมายถึงการคลุกคลีทางกายคือการเห็น การฟัง การเจรจาปราศรัย การร่วมกิน ร่วมดื่ม
(ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๐)
๒ สัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง หมายถึงสัตว์ที่ยังมีตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๑)
๓ สัตว์ที่มั่นคง หมายถึงสัตว์ที่หมดตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๒๖. อัญญตรภิกขุวัตถุ
๒๔. มหาปันถกเถรวัตถุ
เรื่องพระมหาปันถกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๗] ผู้ใดทำราคะ โทสะ โมหะ มานะ และมักขะให้ตกไป๑
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๒๕. ปิลินทวัจฉเถรวัตถุ
เรื่องพระปิลินทวัจฉเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๘] ผู้กล่าวคำที่ไม่หยาบคาย สื่อความหมายได้
เป็นคำจริง ไม่เป็นเหตุให้ใครๆ ขัดเคือง
เราเรียกว่า พราหมณ์

๒๖. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๙] ผู้ใดในโลกนี้ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้
ไม่ว่ายาวหรือสั้น เล็กหรือใหญ่ งามหรือไม่งาม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ตกไป หมายถึงไม่ให้ตั้งอยู่ในใจ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๒๙. เรวตเถรวัตถุ
๒๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๐] ผู้ใดไม่มีความหวัง๑ในโลกนี้และโลกหน้า
ปราศจากความหวัง ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๒๘. มหาโมคคัลลานวัตถุ
เรื่องพระมหาโมคคัลลานะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๑] ผู้ใดไม่มีความอาลัย๒ หมดความสงสัยเพราะรู้ชัด
หยั่งลงสู่อมตะ๓ บรรลุแล้ว
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๒๙. เรวตเถรวัตถุ
เรื่องพระเรวตเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๒] ผู้ใดในโลกนี้ ละบุญและบาปทั้งสองได้
พ้นจากกิเลสเครื่องข้องได้ ไม่เศร้าโศก
ปราศจากกิเลสดุจธุลี เป็นผู้บริสุทธิ์
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ความหวัง (อาสา) หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๐)
๒ อาลัย ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๐)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓๑. สีวลิเถรวัตถุ
๓๐. จันทาภเถรวัตถุ
เรื่องพระจันทาภเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๓] ผู้บริสุทธิ์ดุจจันทร์แจ่ม
มีจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัว๑ เป็นผู้สิ้นความเพลิดเพลินในภพ๒
เราเรียกว่า พราหมณ์

๓๑. สีวลิเถรวัตถุ
เรื่องพระสีวลีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๔] ผู้ใดก้าวพ้นทางอ้อม๓ ทางหล่ม๔
สงสาร๕และโมหะได้แล้ว
ข้ามไปถึงฝั่งแล้ว เจริญฌาน
ไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย
ดับเย็น เพราะไม่ถือมั่น
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ขุ่นมัว หมายถึงปราศจากมลทินคือกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๕)
๒ ความเพลิดเพลินในภพ หมายถึงตัณหาในภพทั้ง ๓ (กามภพ รูปภพ อรูปภพ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๕)
๓ ทางอ้อม หมายถึงราคะ
๔ ทางหล่ม หมายถึงกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๕)
๕ สงสาร หมายถึงสังสารวัฏ (การเวียนว่ายตายเกิด) (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓๔. โชติกเถรวัตถุ
๓๒. สุนทรสมุททเถรวัตถุ
เรื่องพระสุนทรสมุทรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๕] ผู้ใดในโลกนี้ ละกามได้แล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นกามและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๓๓. ชฏิลวัตถุ
เรื่องพระชฎิลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๖] ผู้ใดในโลกนี้ ละตัณหาได้ขาด
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นตัณหาและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๓๔. โชติกเถรวัตถุ
เรื่องพระโชติกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๖] ผู้ใดในโลกนี้ ละตัณหาได้ขาด
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นตัณหาและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓๖. ทุติยนฏปุพพกเถรวัตถุ
๓๕. ปฐมนฏปุพพกเถรวัตถุ
เรื่องพระเถระผู้เคยเป็นนักฟ้อนรูปที่ ๑
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๗] ผู้ละกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของมนุษย์ได้๑
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นทิพย์ได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากโยคะ๒ทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๓๖. ทุติยนฏปุพพกเถรวัตถุ
เรื่องพระเถระผู้เคยเป็นนักฟ้อนรูปที่ ๒
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๘] ผู้ละทั้งความยินดี๓และความไม่ยินดี๔
เป็นผู้เยือกเย็น หมดอุปธิกิเลส
ครอบงำโลกทั้งหมด๕ เป็นผู้แกล้วกล้า
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของมนุษย์ หมายถึงอายุและกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ)
อันเป็นของมนุษย์ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๖๔)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๖ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้
๓ ความยินดี หมายถึงความยินดีในกามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๖๕)
๔ ความไม่ยินดี หมายถึงความระอาในการอยู่ป่า (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๖๕)
๕ ครอบงำโลกทั้งหมด หมายถึงครอบงำโลกคือขันธ์ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓๘. ธัมมทินนาเถรีวัตถุ
๓๗. วังคีสเถรวัตถุ
เรื่องพระวังคีสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๙] ผู้ใดรู้การจุติและการอุบัติ
ของสัตว์ทั้งหลายโดยประการทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้น ซึ่งเป็นผู้ไม่ติดข้อง
ไปดีแล้ว และตรัสรู้แล้วว่า พราหมณ์
[๔๒๐] ผู้ใดมีคติที่เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์ ก็รู้ไม่ได้
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นอรหันตขีณาสพว่า พราหมณ์

๓๘. ธัมมทินนาเถรีวัตถุ
เรื่องพระธัมมทินนาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่วิสาขอุบาสก อดีตสามีของพระธัมมทินนาเถรี
ดังนี้)
[๔๒๑] ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวล๑
ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
หมดความยึดมั่นถือมั่นว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องกังวล หมายถึงความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๔๐. เทวหิตพราหมณวัตถุ
๓๙. อังคุลิมาลเถรวัตถุ
เรื่องพระองคุลิมาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๒๒] ผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้แกล้วกล้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ชำนะแล้ว
ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ชำระแล้ว และตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์

๔๐. เทวหิตพราหมณวัตถุ
เรื่องเทวหิตพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เทวหิตพราหมณ์ ดังนี้)
[๔๒๓] ผู้ใดระลึกอดีตชาติได้๑ เห็นสวรรค์และอบาย
บรรลุภาวะที่สิ้นสุดการเกิด๒
หมดภารกิจ๓เพราะรู้ยิ่ง เป็นมุนี
เป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
พราหมณวรรคที่ ๒๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ระลึกอดีตชาติได้ หมายถึงมีทิพยจักษุญาณเห็นสวรรค์ ๒๖ ชั้น และอบายภูมิ ๔ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๙๑)
๒ ภาวะที่สิ้นสุดการเกิด หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๙๑)
๓ หมดภารกิจ หมายถึงหมดหน้าที่กำหนดรู้(ปริญญากิจ) หมดหน้าที่ละ(ปหานกิจ) และหมดหน้าที่ทำ
ให้แจ้ง(สัจฉิกิริยากิจ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท รวมวรรคในธรรมบท
รวมวรรคในธรรมบท

๑. ยมกวรรค ๒. อัปปมาทวรรค
๓. จิตตวรรค ๔. ปุปผวรรค
๕. พาลวรรค ๖. ปัณฑิตวรรค
๗. อรหันตวรรค ๘. สหัสสวรรค
๙. ปาปวรรค ๑๐. ทัณฑวรรค
๑๑. ชราวรรค ๑๒. อัตตวรรค
๑๓. โลกวรรค ๑๔. พุทธวรรค
๑๕. สุขวรรค ๑๖. ปิยวรรค
๑๗. โกธวรรค ๑๘. มลวรรค
๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๒๐. มัคควรรค
๒๑. ปกิณณกวรรค ๒๒. นิรยวรรค
๒๓. นาควรรค ๒๔. ตัณหาวรรค
๒๕. ภิกขุวรรค ๒๖. พราหมณวรรค

รวมเป็น ๒๖ วรรค อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดง
ไว้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท รวมพระคาถาในธรรมบท
รวมพระคาถาในธรรมบท

ยมกวรรค มี ๒๐ คาถา อัปปมาทวรรค มี ๑๒ คาถา
จิตตวรรค มี ๑๑ คาถา ปุปผวรรค มี ๑๖ คาถา
พาลวรรค มี ๑๖ คาถา ปัณฑิตวรรค มี ๑๔ คาถา
อรหันตวรรค มี ๑๐ คาถา สหัสสวรรค มี ๑๖ คาถา
ปาปวรรค มี ๑๓ คาถา ทัณฑวรรค มี ๑๗ คาถา
ชราวรรค มี ๑๑ คาถา อัตตวรรค มี ๑๐ คาถา
โลกวรรค มี ๑๒ คาถา พุทธวรรค มี ๑๘ คาถา
สุขวรรค มี ๑๒ คาถา ปิยวรรค มี ๑๒ คาถา
โกธวรรค มี ๑๔ คาถา มลวรรค มี ๒๑ คาถา
ธัมมัฏฐวรรค มี ๑๗ คาถา มัคควรรค มี ๑๗ คาถา
ปกิณณกวรรค มี ๑๖ คาถา นิรยวรรค มี ๑๔ คาถา
นาควรรค มี ๑๔ คาถา ตัณหาวรรค มี ๒๖ คาถา
ภิกขุวรรค มี ๒๓ คาถา พราหมณวรรค มี ๔๑ คาถา

รวมพระคาถาทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงไว้
ในนิบาต ในธรรมบทนี้ ๔๒๓ พระคาถา
ธรรมบท จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑. ปฐมโพธิสูตร
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. โพธิวรรค
ว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ๑
๑. ปฐมโพธิสูตร๑
ว่าด้วยเหตุการณ์แรกตรัสรู้ สูตรที่ ๑
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่ง
โดยบัลลังก์เดียว๒ เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มี
พระภาคทรงออกจากสมาธินั้นแล้ว ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท(ธรรมที่อาศัยกัน
เกิดขึ้น) โดยอนุโลมอย่างละเอียด ตลอดปฐมยามแห่งราตรีว่า

ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี


เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๑-๔/๑-๗
๒ นั่งโดยบัลลังก์เดียว หมายถึงนั่งขัดสมาธิโดยไม่ลุกขึ้นเลยตลอด ๗ วัน (วิ.อ. ๓/๑/๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑. ปฐมโพธิสูตร

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงมี

กองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย๒ ปรากฏแก่พราหมณ์๓
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะได้รู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ๔
ปฐมโพธิสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงการเกิดขึ้นแห่งญาณที่ประกอบด้วยโสมนัส แสดงอานุภาพแห่งการรู้เหตุและธรรม
ที่เกิดขึ้นจากเหตุด้วยอำนาจพิจารณาปัจจยาการ หรือปฏิจจสมุปบาท (วิ.อ. ๓/๓/๖, ขุ.อุ.อ. ๓/๔๕-๕๒)
๒ ธรรมทั้งหลาย หมายถึงโพธิปักขิยธรรมที่ให้สำเร็จการตรัสรู้ปัจจยาการ หรือปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลม
(ขุ.อุ.อ. ๑/๔๖)
๓ พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้ลอยบาปได้แล้ว (ขุ.อุ.อ. ๑/๔๖)
๔ รู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ หมายถึงรู้กองทุกข์ และรู้เหตุแห่งทุกข์ (ขุ.อุ.อ. ๑/๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๒. ทุติยโพธิสูตร
๒. ทุติยโพธิสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์แรกตรัสรู้ สูตรที่ ๒
[๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่ง
โดยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มี
พระภาคทรงออกจากสมาธินั้นแล้ว ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท โดยปฏิโลม
อย่างละเอียด ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรีว่า

ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
เพราะเมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ

เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีการดับด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๓. ตติยโพธิสูตร
พุทธอุทาน๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย
ทุติยโพธิสูตรที่ ๒ จบ

๓. ตติยโพธิสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์แรกตรัสรู้ สูตรที่ ๓
[๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาค
ทรงออกจากสมาธินั้นแล้ว ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลมและปฏิโลมอย่าง
ละเอียด ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรีว่า

ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เพราะเมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี


เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งด้วยอำนาจพิจารณาพระนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๓/๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๓. ตติยโพธิสูตร

เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงมี

กองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้

ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีการดับด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๔. นิหุหุงกสูตร
พุทธอุทาน๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนาเสียได้
ดุจดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นสาดส่องท้องฟ้าให้สว่างไสว ฉะนั้น
ตติยโพธิสูตรที่ ๓ จบ

๔. นิหุหุงกสูตร
ว่าด้วยผู้ไม่ตวาดว่า หึ หึ
[๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธ๒
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาค
ก็ทรงออกจากสมาธินั้น
ครั้งนั้น พราหมณ์หุหุกชาติ๓ผู้หนึ่ง ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พราหมณ์นั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระโคดม
ผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงไรหนอ และธรรมเหล่าไหนที่ทำ
บุคคลให้เป็นพราหมณ์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งด้วยอำนาจพิจารณามรรค พุทธอุทานที่ ๑-๓ นี้ ทรงเปล่งในราตรีที่ ๗ นับแต่วัน
ตรัสรู้ (ขุ.อุ.อ. ๓/๕๒)
๒ นิโครธ แปลว่า ต้นไทร ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Banyan” หรือ “Indian Fig-tree” ไม้จำพวกไทร หรือ
กร่างของอินเดีย พวกคนเลี้ยงแพะชอบมานั่งที่ร่มเงาของต้นนิโครธนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อชปาลนิโครธ
(ขุ.อุ.อ. ๔/๕๓, Pali-English Dictionary, P.355, Edited by T.W. RHYS DAVIDS and WILLIAM STEDE)
๓ พราหมณ์หุหุกชาติ เป็นพราหมณ์โดยชาติกำเนิด พราหมณ์นี้มีทิฏฐิว่า “สิ่งที่เห็นแล้วเป็นมงคล” ชอบ
เที่ยวตวาดว่า หึหึ เพราะความถือตัวและเพราะความโกรธ (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๕. พราหมณสูตร
พุทธอุทาน
พราหมณ์ใดลอยบาปธรรมได้แล้ว ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ
ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาด สำรวมตน
เรียนจบเวท๑ อยู่จบพรหมจรรย์
พราหมณ์นั้นไม่มีกิเลสเครื่องฟู๒ขึ้นในอารมณ์ไหน ๆ ในโลก
ควรกล่าวพรหมวาทะ๓ ได้โดยธรรม๔
นิหุหุงกสูตรที่ ๔ จบ

๕. พราหมณสูตร
ว่าด้วยความเป็นพราหมณ์
[๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลานะ
ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระมหากัจจานะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ท่านพระ
มหากัปปินะ ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระเรวตะ และท่านพระ
นันทะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านเหล่านั้นกำลังเดินมาแต่ไกล
ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วจึงรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
พราหมณ์เหล่านั้นกำลังมา ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์เหล่านั้นกำลังมา” เมื่อพระ

เชิงอรรถ :
๑ เรียนจบเวท หมายถึงบรรลุนิพพานด้วยเวทกล่าวคือมัคคญาณทั้ง ๔ (โสดาปัตติมัคคญาณ สกทาคามิมัคค-
ญาณ สกทาคามิมัคคญาณ อนาคามิมัคคญาณ อรหัตตมัคคญาณ) (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๗)
๒ กิเลสเครื่องฟูขึ้น หมายถึงราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๗)
๓ พรหมวาทะ ในที่นี้หมายถึงวาทะว่า “เราเป็นพราหมณ์” (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๗)
๔ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๔/๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๖. มหากัสสปสูตร
ผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเป็นพราหมณ์โดยกำเนิดรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ด้วยเหตุ
เพียงไรหนอ และธรรมเหล่าไหนที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๑
บุคคลเหล่าใดลอยบาปธรรมได้แล้ว
เป็นผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ มีสังโยชน์สิ้นแล้ว เป็นผู้ตรัสรู้
บุคคลเหล่านั้นแล ชื่อว่า ‘พราหมณ์’ ในโลก
พราหมณสูตรที่ ๕ จบ

๖. มหากัสสปสูตร
ว่าด้วยพระมหากัสสปะ
[๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน๒
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะอยู่ที่ถ้ำปิปผลิคูหา อาพาธ ได้รับทุกข์
เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะหายจากอาพาธนั้นแล้วมีความคิดดังนี้ว่า
“เอาละ เราควรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์”
สมัยนั้นแล เทวดาประมาณ ๕๐๐ องค์ ถึงความขวนขวายเพื่อให้ท่านพระ
มหากัสสปะได้บิณฑบาต ท่านพระมหากัสสปะห้ามเทวดาประมาณ ๕๐๐ องค์นั้นแล้ว
ในเวลาเช้าครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ตามทาง
ที่อยู่ของคนจน ที่อยู่ของคนกำพร้า และที่อยู่ของช่างหูก

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทางเปล่งมุ่งประกาศความเป็นพราหมณ์โดยปรมัตถ์ (ขุ.อุ.อ. ๕/๖๐)
๒ หมายถึงสถานที่สำหรับพระราชทานเหยื่อแก่กระแต (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๔๑-๔๒, ขุ.อุ.อ. ๖/๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๗. อชกลาปกสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหากัสสปะ กำลังเที่ยวบิณฑบาต
ตามทางที่อยู่ของคนจน ที่อยู่ของคนกำพร้า และที่อยู่ของช่างหูก
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๑
ผู้ไม่เลี้ยงคนอื่น ผู้รู้จักตนดี
ผู้ฝึกฝนตนได้แล้ว ดำรงมั่นอยู่ในสารธรรม๒
ผู้สิ้นอาสวะแล้ว ผู้คายโทษได้แล้ว๓
เราเรียกว่า พราหมณ์
มหากัสสปสูตรที่ ๖ จบ

๗. อชกลาปกสูตร
ว่าด้วยอชกลาปกยักษ์
[๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อชกลาปกเจดีย์อันเป็นที่อยู่ของยักษ์
ชื่อว่า อชกลาปกะ เขตกรุงปาวา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง ณ ที่แจ้ง
ในความมืดมิดแห่งราตรี และฝนก็โปรยละอองอยู่ ครั้งนั้น อชกลาปกยักษ์ประสงค์
จะให้พระผู้มีพระภาคเกิดความกลัว หวาดหวั่น ขนพองสยองเกล้า จึงเข้าไปหา

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงความเป็นผู้มั่นคงของพระขีณาสพ โดยทรงมุ่งแสดงความเป็นผู้มักน้อยอย่างยิ่ง
เป็นหลัก (ขุ.อุ.อ. ๖/๖๔)
๒ สารธรรม หมายถึงวิมุตติสาระ (ขุ.อุ.อ. ๖/๖๖)
๓ คายโทษ หมายถึงคายโทษมีราคะเป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๖/๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๘. สังคมชิสูตร
ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ส่งเสียงร้องโหยหวนขึ้น ๓ ครั้ง ณ ที่ใกล้พระผู้มีพระภาคว่า
“อักกุโล ปักกุโล” แล้วพูดว่า “สมณะ นั่นปีศาจ๑ปรากฏแก่ท่าน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๒
เมื่อใด บุคคลถึงฝั่งในธรรมของตน ชื่อว่าเป็นพราหมณ์
เมื่อนั้น บุคคลนั้นย่อมไม่กลัวปีศาจ และเสียงร้องโหยหวนอย่างนี้
อชกลาปกสูตรที่ ๗ จบ

๘. สังคามชิสูตร
ว่าด้วยพระสังคามชิเถระ
[๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสังคามชิเดินทางมาถึงกรุงสาวัตถี
โดยลำดับเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค อดีตภรรยาของท่านพระสังคามชิได้ฟังข่าวว่า
“ทราบว่าพระคุณเจ้าสังคามชิถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับแล้ว” นางจึงอุ้มลูกน้อยไปยัง
พระเชตวัน
สมัยนั้น ท่านพระสังคามชินั่งพักกลางวันอยู่ใต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง ครั้งนั้น อดีต
ภรรยาของท่านพระสังคามชิเข้าไปหาถึงที่พัก ได้กล่าวกับท่านพระสังคามชิ ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ปีศาจ ในที่นี้หมายถึงยักษ์เนรมิตรูปร่างใหญ่โตน่ากลัว ยืนเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค (ขุ.อุ.อ.
๗/๗๑)
๒ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงธรรมานุภาพที่เป็นเหตุให้ไม่ทรงคำนึงถึงการกระทำน่ากลัวใด ๆ (ขุ.อุ.อ. ๗/๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๘. สังคมชิสูตร
“ข้าแต่สมณะ ขอท่านจงเลี้ยงดูดิฉันผู้มีลูกน้อยเถิด” เมื่อนางกล่าวอย่างนี้แล้ว
ท่านพระสังคามชิได้นิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๒ นางก็ได้กล่าวกับท่านพระสังคามชิดังนี้ว่า “ข้าแต่สมณะ ขอท่าน
จงเลี้ยงดูดิฉันผู้มีลูกน้อยเถิด”
ท่านพระสังคามชิก็ได้นิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๓ นางก็ได้กล่าวกับท่านพระสังคามชิดังนี้ว่า “ข้าแต่สมณะ ขอท่าน
จงเลี้ยงดูดิฉันผู้มีลูกน้อยเถิด”
ท่านพระสังคามชิก็ได้นิ่งอยู่
ครั้งนั้น อดีตภรรยาของท่านพระสังคามชิจึงอุ้มลูกน้อยนั้นไปวางไว้ข้างหน้า
ท่านพระสังคามชิแล้วเดินหนีไปโดยพูดว่า “สมณะ นั่นลูกของท่าน จงเลี้ยงดูลูกนั้น
ด้วยเถิด”
ครั้งนั้น ท่านพระสังคามชิทั้งไม่แลดูและไม่พูดกับเด็กน้อยนั้นเลย ขณะนั้น
อดีตภรรยาของท่านพระสังคามชิไปแอบดูอยู่ในที่ไม่ไกลนัก ได้เห็นท่านทั้งไม่แลดู
และไม่พูดกับเด็กน้อยนั้น จึงคิดว่า “สมณะนี้ คงไม่ต้องการลูกน้อย” จึงกลับออก
จากที่นั้นแล้วอุ้มลูกน้อยเดินไป
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นอดีตภรรยาของท่านพระสังคามชิแสดง
อาการแปลกอย่างนั้นด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๙. ชฏิลสูตร
พุทธอุทาน๑
ผู้ไม่ใยดีอดีตภรรยาผู้มาหา
ไม่เศร้าโศกถึงอดีตภรรยาผู้จากไป
เราเรียกผู้ชนะสงคราม ผู้พ้นจากกิเลสเครื่องข้องแล้ว๒ ว่าพราหมณ์
สังคามชิสูตรที่ ๘ จบ

๙. ชฏิลสูตร
ว่าด้วยพวกชฎิล
[๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ คยาสีสบรรพต ใกล้หมู่บ้านคยา
สมัยนั้น เป็นฤดูหนาว มีหิมะตก ๘ วัน ในช่วงกลางคืนอากาศหนาวเหน็บ
ชฎิลจำนวนมาก ผุดขึ้นบ้าง ดำลงบ้าง ทั้งผุดขึ้นและดำลงบ้าง รดน้ำบ้าง บูชาไฟบ้าง
ที่แม่น้ำคยาด้วยคิดว่า “ด้วยวิธีนี้จะบริสุทธิ์”
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นชฎิลจำนวนมากผุดขึ้นบ้าง ดำลงบ้าง
ทั้งผุดขึ้นและดำลงบ้าง รดน้ำบ้าง บูชาไฟบ้างที่แม่น้ำคยาด้วยคิดว่า “ด้วยวิธีนี้จะ
บริสุทธิ์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงความเป็นผู้มั่นคงในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ (ขุ.อุ.อ. ๘/๗๗)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๔๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑๐. พาหิยสูตร
พุทธอุทาน๑
บุคคลจะเป็นผู้สะอาดเพราะน้ำ
ที่คนจำนวนมากพากันไปอาบก็หาไม่
ผู้ใดมีสัจจะ๒และธรรม๓
ผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้สะอาด และผู้นั้นชื่อว่า เป็นพราหมณ์
ชฏิลสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. พาหิยสูตร
ว่าด้วยพระพาหิยเถระ
[๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น บุรุษชื่อพาหิยะ ทารุจีริยะ๔อาศัยอยู่ ณ
ท่าสุปปารกะ ใกล้ฝั่งทะเล มีคนจำนวนมากพากันสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อม จึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ครั้งนั้น
เมื่อพาหิยะ ทารุจีริยะอยู่ในที่ลับหลีกเร้นอยู่๕ เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า “เราเป็น
คนหนึ่งในบรรดาคนในโลกที่เป็นพระอรหันต์ หรือว่าเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรค”

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงว่าความสะอาดเพราะน้ำมิใช่ทางแห่งความบริสุทธิ์ของสัตว์ และแสดงว่า
ธรรมทั้งหลายมีสัจจะเป็นต้นเท่านั้นที่เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ที่แท้จริงของสัตว์ (ขุ.อุ.อ. ๙/๗๙)
๒ สัจจะ หมายถึงวจีสัจจะ และวิรัติสัจจะ (ขุ.อุ.อ. ๙/๘๐)
๓ ธรรม หมายถึงอริยมรรคและอริยผล (ขุ.อุ.อ. ๙/๘๐)
๔ ที่ชื่อว่า พาหิยะ เพราะเกิดในแคว้นพาหิยะ ที่ชื่อว่า ทารุจีริยะ เพราะเป็นผู้นุ่งผ้าเปลือกไม้ พาหิยะ
ทารุจีริยะนี้เคยตั้งความปรารถนาว่าขอให้ตรัสรู้เร็วพลัน ในศาสนาของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า (ขุ.อุ.อ.
๑๐/๘๑-๘๒)
๕ หลีกเร้นอยู่ หมายถึงการอยู่ผู้เดียว การอยู่โดยเพ่งพินิจธรรม หรืออยู่ด้วยผลสมาบัติ อีกนัยหนึ่ง
หมายถึงการทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ เข้าผลสมาบัติในเวลาเช้า (วิ.อ. ๑/๒๒/๒๐๔, สํ.สฬา.อ. ๓/๘๗/๒๐,
องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๗/๑๐๖-๑๐๗) แต่ในที่นี้เป็นเพียงกิริยาเลียนแบบด้วยประสงค์จะให้เขายกย่องว่าเป็นพระ
อรหันต์ (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑๐. พาหิยสูตร
คราวนั้น เทวดาที่เป็นญาติสาโลหิต๑ในปางก่อนของเขา มีปกติอนุเคราะห์
ปรารถนาจะให้เกิดประโยชน์ ได้ทราบความคิดคำนึงของเขา จึงเข้าไปหาเขาถึงที่อยู่
ได้พูดดังนี้ว่า “พาหิยะ ท่านไม่เป็นพระอรหันต์ หรือไม่เป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรคเลย
แม้ปฏิปทาที่จะเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรคของท่านก็ไม่มี”
พาหิยะ ทารุจีริยะจึงถามว่า “เมื่อเป็นอย่างนั้น บัดนี้ ใครเล่าเป็นพระอรหันต์
หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรค ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก”
เทวดานั้นตอบว่า “พาหิยะ ในชนบททางเหนือ มีเมืองชื่อว่าสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่นั้น พาหิยะ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงเป็นพระอรหันต์ ทั้งทรงแสดงธรรมเพื่อความเป็น
พระอรหันต์ด้วย”
ลำดับนั้น พาหิยะ ทารุจีริยะถูกเทวดานั้นทำให้สังเวชแล้ว จึงหลีกไปจาก
ท่าสุปปารกะในทันใดนั้นเองไปยังเมืองสาวัตถีทันที โดยพักแรมสิ้นราตรีเดียวในที่
ทั้งปวง ได้เข้าไปยังพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี
ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมาก กำลังจงกรมอยู่ในที่แจ้ง พาหิยะ ทารุจีริยะ
ได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่จงกรม ได้พูดดังนี้ว่า “ท่านขอรับ บัดนี้ พระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหน กระผมต้องการจะเฝ้าพระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า “พาหิยะ
พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังละแวกบ้าน”
ลำดับนั้น พาหิยะ ทารุจีริยะรีบด่วนออกจากพระเชตวัน เข้าไปยังกรุงสาวัตถี
ได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้กำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ผู้น่าเลื่อมใส ทรงเป็น
ที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ทรงบรรลุทมถะและสมถะ

เชิงอรรถ :
๑ ญาติ หมายถึงบิดามารดาและเครือญาติฝ่ายบิดามารดาของสามี หรือบิดามารดาและเครือญาติฝ่ายบิดา
มารดาของภรรยา สาโลหิต หมายถึงผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่สาวน้องสาว
พี่ชายน้องชาย เป็นต้น (องฺ.ติก.อ. ๒/๗๖/๒๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑๐. พาหิยสูตร
ที่สูงสุด ทรงฝึกฝนแล้ว ทรงคุ้มครองแล้ว ทรงสำรวมอินทรีย์ ทรงเป็นพระนาคะ๑
ครั้นเห็นแล้วจึงเข้าไปเฝ้า หมอบลงแทบพระยุคลบาทพระผู้มีพระภาคได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม
แก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความ
สุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อพาหิยะ ทารุจีริยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับพาหิยะ
ทารุจีริยะดังนี้ว่า “พาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควร เพราะเรากำลังเที่ยวบิณฑบาต
ตามละแวกบ้านอยู่”
แม้ครั้งที่ ๒ พาหิยะ ทารุจีริยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความเป็น
ไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ-
ผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมที่จะเป็นไป
เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับพาหิยะ ทารุจีริยะดังนี้ว่า “พาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควร
เพราะเรากำลังเที่ยวบิณฑบาตตามละแวกบ้านอยู่”
แม้ครั้งที่ ๓ พาหิยะ ทารุจีริยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความ
เป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรม
ที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด
พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ที่ทรงพระนามว่า “นาคะ” เพราะเหตุ ๔ ประการ คือ (๑) เพราะไม่ถึงอคติ ๔ มีฉันทาคติ เป็นต้น
(๒) เพราะไม่ทรงกลับไปหากิเลสที่ทรงละได้แล้ว (๓) เพราะไม่ทำความชั่วอะไร ๆ (๔) เพราะไม่ไปเกิดใน
ภพใหม่ (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑๐. พาหิยสูตร
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “พาหิยะ เพราะเหตุนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อฟังเสียงก็สักแต่ว่าฟัง เมื่อรับรู้อารมณ์ที่ได้รับรู้๑ก็
สักแต่ว่ารับรู้ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งก็สักแต่ว่ารู้แจ้ง พาหิยะ เธอพึงรักษา
อย่างนี้แล
เมื่อใด เธอเมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อฟังเสียงก็สักแต่ว่าฟัง เมื่อรับรู้อารมณ์
ที่ได้รับรู้ก็สักแต่ว่ารับรู้ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งก็สักแต่ว่ารู้แจ้ง เมื่อนั้น เธอ
ก็จะไม่มี เมื่อใด เธอไม่มี เมื่อนั้น เธอก็จะไม่ยึดติดในสิ่งนั้น๒ เมื่อใด เธอไม่
ยึดติดในสิ่งนั้น เมื่อนั้น เธอจักไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างโลก
ทั้งสอง นี้เป็นที่สุดแห่งทุกข์”
ลำดับนั้น ด้วยพระธรรมเทศนาย่อนี้ของพระผู้มีพระภาค จิตของพาหิยะ
ทารุจีริยะจึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น
ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสสอนพาหิยะ ทารุจีริยะด้วยพระโอวาทโดยย่อนี้แล้วก็
เสด็จจากไป
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน โคแม่ลูกอ่อนได้ขวิดพาหิยะ ทารุจีริยะ
จนล้มลงเสียชีวิต
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เสด็จกลับจาก
บิณฑบาตหลังจากเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เสด็จออกจากพระนครพร้อมกับ

เชิงอรรถ :
๑ อารมณ์ที่ได้รับรู้ แปลจากคำว่า มุตะ หมายถึงอารมณ์ ๓ คือ คันธารมณ์(กลิ่น) รสารมณ์(รส)
โผฏฐัพพารมณ์(การสัมผัส) (อภิ.สงฺ.อ. ๙๖๖/๓๙๖)
๒ คำว่า “เมื่อใดเธอเมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น ฯลฯ เมื่อนั้น เธอก็จะไม่ยึดติดในสิ่งนั้น” นี้ พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงภูมิแห่งพระขีณาสพ มีความหมายดังนี้ คือ เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น ฯลฯ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์
ก็สักแต่ว่ารู้แจ้งแล้ว ก็จักไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เมื่อไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ก็จักไม่มีความยึดติดด้วย
อำนาจตัณหาว่า “นั่นของเรา” ไม่มีความยึดติดด้วยอำนาจมานะว่า ‘เราเป็นนั่น’ และไม่มีความยึดติดด้วย
อำนาจทิฏฐิว่า “นั่นเป็นอัตตาของเรา”
อีกนัยหนึ่ง คำว่า “เธอก็จะไม่มี” เป็นคำแสดงมรรค คำว่า “เธอก็จะไม่ยึดติดในสิ่งนั้น” เป็นคำแสดงผล
คำว่า “เธอก็จะไม่มีในโลกนี้ เป็นต้น” เป็นคำแสดงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๘๗-๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑๐. พาหิยสูตร
ภิกษุจำนวนมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นพาหิยะ ทารุจีริยะเสียชีวิตแล้ว จึงรับสั่ง
เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงช่วยกันยกร่างพาหิยะ
ทารุจีริยะขึ้นวางบนเตียงแล้วนำไปเผา และจงทำสถูปไว้ เพื่อนพรหมจารีของเธอ
ทั้งหลายเสียชีวิตแล้ว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ช่วยกันยกร่างพาหิยะ ทารุจีริยะขึ้นวาง
บนเตียงแล้วนำไปเผา ทำสถูปไว้แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายเผาร่างพาหิยะ ทารุจีริยะและ
ทำสถูปไว้แล้ว พระพุทธเจ้าข้า เขามีคติเป็นอย่างไร มีภพเบื้องหน้าเป็นอย่างไร
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พาหิยะ ทารุจีริยะเป็นผู้ดำเนินชีวิต
ด้วยปัญญา ดำเนินตามธรรมที่สมควรแก่ธรรม ทั้งไม่ทำให้เราลำบาก เพราะเหตุ
แห่งการแสดงธรรม ภิกษุทั้งหลาย พาหิยะ ทารุจีริยะปรินิพพานแล้ว”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๑
ในนิพพาน ไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม
ไม่มีดวงดาวส่องแสง
ไม่มีดวงอาทิตย์ส่องแสง
ไม่มีดวงจันทร์ส่องแสง และไม่มีความมืด

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ พระผู้มีพระภาค ครั้นทรงทราบว่า พระพาหิยะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ และ
ทรงทราบว่าคติของพระขีณาสพอันปุถุชนรู้ได้ยาก จึงทรงเปล่งแสดงอานุภาพแห่งการปรินิพพาน (ขุ.อุ.อ.
๑๐/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เมื่อใด พราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนี
เพราะมีโมนธรรม๑รู้แจ้งด้วยตนเอง
เมื่อนั้น เขาย่อมหลุดพ้นจากรูปภพ๒ อรูปภพ๓ และจากสุขและทุกข์๔
พาหิยสูตรที่ ๑๐ จบ
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอุทานแม้นี้ ตามที่ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้)
โพธิวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมโพธิสูตร ๒. ทุติยโพธิสูตร
๓. ตติยโพธิสูตร ๔. นิหุหุงกสูตร
๕. พราหมณสูตร ๖. มหากัสสปสูตร
๗. อชกลาปกสูตร ๘. สังคามชิสูตร
๙. ชฏิลสูตร ๑๐. พาหิยสูตร


เชิงอรรถ :
๑ โมนธรรม หมายถึงอริยสัจ ๔ (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๑๐๒)
๒ รูปภพ หมายถึงปัญจโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๕) และเอกโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๑) (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๑๐๓)
๓ อรูปภพ หมายถึงจตุโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๔) (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๑๐๓)
๔ ขุ.อป. (แปล) ๓๓/๒๑๘-๒๒๐/๒๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๑. มุจจลินทสูตร
๒. มุจจลินทวรรค
หมวดว่าด้วยพญานาคมุจลินท์
๑. มุจจลินทสูตร
ว่าด้วยพญานาคมุจลินท์
[๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นมุจลินท์๑
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน
สมัยนั้น ได้บังเกิดเมฆใหญ่ขึ้นในสมัยมิใช่ฤดูกาล เป็นฝนเจือลมหนาวตกพรำ
ตลอด ๗ วัน ลำดับนั้น พญานาคมุจลินท์ได้ออกจากที่อยู่ของตน ไปโอบรอบ
พระวรกายของพระผู้มีพระภาคด้วยขนด ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเหนือ
พระเศียรด้วยหวังว่า “ความหนาว อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค ความร้อน
อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน
อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค”
ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น พญานาคมุจลินท์
รู้ว่าฝนหาย ปลอดเมฆแล้ว จึงคลายขนดออกจากพระวรกายของพระผู้มีพระภาค
จำแลงร่างของตนเป็นมาณพ ยืนประนมมือถวายอภิวาทอยู่ ณ เบื้องพระพักตร์ของ
พระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ มุจลินท์ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า นิจุละ คือ ต้นจิกนา(นีปะ) ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “The Tree Barringtonai
Acutangula” ต้นมุจลินท์นี้เป็นเจ้าแห่งไม้ในป่า (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๒. ราชสูตร
พุทธอุทาน๑
วิเวก๒เป็นความสุขของผู้สันโดษ๓
ผู้มีธรรมปรากฏแล้ว ผู้เห็นอยู่
ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก
ความเป็นผู้ปราศจากราคะคือความล่วงกามทั้งหลายได้๔ เป็นสุขในโลก
ความกำจัดอัสมิมานะได้๕ เป็นสุขอย่างยิ่ง๖
มุจจลินทสูตรที่ ๑ จบ

๒. ราชสูตร
ว่าด้วยอานุภาพของพระราชา
[๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากกลับจากบิณฑบาตหลังจาก
ฉันอาหารเสร็จแล้ว มานั่งประชุมพร้อมกันในอุปัฏฐานศาลา๗ได้สนทนาอันตรากถา๘
ขึ้นว่า “ท่านทั้งหลาย บรรดาพระราชา ๒ พระองค์นี้ คือ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ

เชิงอรรถ :-
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงอานุภาพแห่งวิเวกสุข (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๕)
๒ วิเวก ในที่นี้หมายถึงนิพพานที่สงัดจากอุปธิกิเลส (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๔)
๓ ผู้สันโดษ ในที่นี้หมายถึงผู้สันโดษในมัคคญาณ ๔ (โสดาปัตติมัคคญาณ สกทาคามิมัคคญาณ อนาคามิ-
มัคคญาณ อรหัตตมัคคญาณ) (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๕)
๔ ความล่วงกามทั้งหลายได้ หมายถึงอนาคามิมรรค (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๖)
๕ ความกำจัดอัสมิมานะ หมายถึงอรหัตต์ (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๖)
๖ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๕/๘-๙, อภิ.ก.๓๗/๓๓๘/๑๘๓
๗ อุปัฏฐานศาลา แปลว่าศาลาเป็นที่บำรุงหรือหอฉัน ในที่นี้หมายถึง มณฑปแสดงธรรม คือ เมื่อพระผู้มี
พระภาคเสด็จมาทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่มณฑปนี้ ภิกษุทั้งหลายจึงได้ถวายอุปัฏฐากพระองค์ ด้วยเหตุนี้
จึงเรียกว่า อุปัฏฐานศาลา ใช้เป็นที่ประชุมสนทนาธรรม วินิจฉัยวินัย และแสดงธรรมของภิกษุทั้งหลาย
(ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๐๖)
๘ อันตรากถา หมายถึงการพูดคุยนอกเรื่องการเจริญกัมมัฏฐานเป็นต้น หรือพูดคุยระหว่างรอการฟังธรรม
(ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๒. ราชสูตร
มคธรัฐ กับพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ไหน มีราชทรัพย์มากกว่า โภคสมบัติ
มากกว่า ท้องพระคลังมากกว่า แว่นแคว้นมากกว่า ราชพาหนะมากกว่า พระกำลัง
มากกว่า พระฤทธิ์มากกว่า หรือทรงอานุภาพมากกว่า” อันตรากถาของภิกษุ
เหล่านั้นได้ค้างไว้เพียงเท่านี้
ครั้งนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไปยัง
อุปัฏฐานศาลา ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา
ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร และพูด
เรื่องอะไรค้างไว้”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เมื่อ
ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาต หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้วมานั่งประชุม
พร้อมกันในอุปัฏฐานศาลา ได้สนทนาอันตรากถาขึ้นมาดังนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย
บรรดาพระราชา ๒ พระองค์นี้ คือ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ กับพระเจ้า
ปเสนทิโกศล พระองค์ไหน มีราชทรัพย์มากกว่า โภคสมบัติมากกว่า ท้องพระคลัง
มากกว่า แว่นแคว้นมากกว่า ราชพาหนะมากกว่า พระกำลังมากกว่า พระฤทธิ์
มากกว่า หรือทรงอานุภาพมากกว่า’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันตรากถานี้แลที่ข้าพระองค์
ทั้งหลายพูดค้างไว้ ก็พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตรมีศรัทธา
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แล้วมัวสนทนาเรื่องอย่างนี้นั้น ไม่สมควรเลย ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันแล้วควรทำกิจเพียง ๒ อย่าง คือ การกล่าวธรรม
หรือความเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๓. ทัณฑสูตร
พุทธอุทาน๑
กามสุข๒ในโลก๓และทิพยสุข๔ ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖
แห่งความสุขคือความสิ้นตัณหา๕
ราชสูตรที่ ๒ จบ

๓. ทัณฑสูตร
ว่าด้วยการทำร้ายสัตว์ด้วยท่อนไม้
[๑๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น เด็กชายจำนวนมากใช้ท่อนไม้ตีงูในระหว่าง
กรุงสาวัตถีกับพระเชตวัน ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก
ถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กชาย
เหล่านั้นกำลังใช้ท่อนไม้ตีงูในระหว่างกรุงสาวัตถีกับพระเชตวัน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงอานุภาพอริยวิหารสุข (ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๑๑)
๒ กามสุข หมายถึงความสุขที่เกิดจากกิเลสกาม (ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๑๑-๑๑๒)
๓ โลก หมายถึงสัตวโลกและโอกาสโลก (ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๑๑)
๔ ทิพยสุข หมายถึงสุขอันเป็นทิพย์และสุขอันเกิดจากรูปสมาบัติของพรหมและมนุษย์ (ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๑๒)
๕ ความสุขคือความสิ้นตัณหา หมายถึงสุขอันเกิดจากผลสมาบัติ (ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๔. สักการสูตร
พุทธอุทาน
ผู้ใดใฝ่หาความสุขเพื่อตน
แต่กลับใช้ท่อนไม้ทำร้ายสัตว์ทั้งหลายผู้รักสุข
ผู้นั้นตายไปแล้วย่อมไม่ได้รับความสุขเลย
ส่วนผู้ใดใฝ่หาความสุขเพื่อตน
ไม่ใช้ท่อนไม้ทำร้ายสัตว์ทั้งหลายผู้รักสุข
ผู้นั้นตายไปแล้ว ย่อมได้รับความสุข๑
ทัณฑสูตรที่ ๓ จบ

๔. สักการสูตร
ว่าด้วยเครื่องสักการะ
[๑๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่มหาชนสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนพวกอัญเดียรถีย์๒
ปริพาชก เป็นผู้ที่มหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่นอบน้อม ไม่ได้
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ครั้งนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชกทนดูสักการะที่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไม่ได้ เห็นภิกษุ
ทั้งหลายในบ้านและในป่า ย่อมด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจา
หยาบคายที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษ

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๑๓๑-๑๓๒ หน้า ๗๓ ในเล่มนี้
๒ อัญเดียรถีย์ หมายถึงนักบวชผู้ชายภายนอกพระพุทธศาสนา (วิ.อ. ๓/๑๓๒/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๔. สักการสูตร
ครั้งนั้นแล ภิกษุจำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา นอบน้อม ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก
เป็นผู้ที่มหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่นอบน้อม ไม่ได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ครั้งนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชก ทนดูสักการะที่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไม่ได้ เห็นภิกษุ
ทั้งหลายในบ้านและในป่า ย่อมด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจา
หยาบคายที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษ พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
เธอทั้งหลายได้รับสุขและทุกข์ ในบ้าน(หรือ)ในป่า
ไม่ควรใส่ใจสุขและทุกข์นั้นว่ามีสาเหตุมาจากตน หรือคนอื่น
ผัสสะทั้งหลาย๑ จะสัมผัสได้ก็เพราะอาศัยอุปธิ๒
เมื่อไม่มีอุปธิ ผัสสะทั้งหลายจะสัมผัสได้อย่างไร
สักการสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ผัสสะทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงสุขเวทนา และทุกขเวทนา (ขุ.อุ.อ. ๑๔/๑๑๘)
๒ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.อุ.อ. ๑๔/๑๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๕. อุปาสกสูตร
๕. อุปาสกสูตร
ว่าด้วยอุบาสก
[๑๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น อุบาสกชาวบ้านอิจฉานังคละคนหนึ่ง
ถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ ด้วยกิจที่จะต้องทำบางอย่าง ครั้งนั้น อุบาสกนั้นครั้นทำ
กิจที่จะต้องทำในกรุงสาววัตถีเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับ
อุบาสกนั้นดังนี้ว่า “นานเหลือเกิน อุบาสก ท่านจึงมีเหตุมา ณ ที่นี้ได้”
อุบาสกนั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคนานแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แต่ว่าข้าพระองค์มัวขวนขวายกับกิจที่จะ
ต้องทำบางอย่าง จึงไม่สามารถเข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ความสุขย่อมมีแก่บุคคลผู้ไม่มีอะไร๑
ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว๒เป็นพหูสูต๓
ท่านจงดูคนที่มีกิเลสเครื่องกังวลกำลังเดือดร้อนอยู่
เพราะคนที่มีความผูกพันกับคนอื่นย่อมเดือดร้อน
อุปาสกสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีอะไร หมายถึงไม่มีอารมณ์อะไรในอารมณ์ทั้ง ๕ ที่จะต้องยึดถือด้วยตัณหาว่า “สิ่งนั้นเป็นของเรา”
อีกนัยหนึ่งหมายถึงไม่มีกิเลสเครื่องกังวลมีราคะเป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๑๕/๑๒๐)
๒ ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว หมายถึงผู้ทำกิจแสร็จแล้ว ได้แก่ บรรลุมรรค ๔ ผล ๔ ในที่นี้หมายถึงพระอรหันต์
(ขุ.อุ.อ. ๑๕/๑๒๐-๑๒๑)
๓ พหูสูต ในที่นี้หมายถึงเป็นพหูสูตด้วยปฏิเวธพาหุสัจจะ(ความเป็นพหูสูตด้วยการรู้แจ้งธรรม) (ขุ.อุ.อ. ๑๕/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๖. คัพภินีสูตร
๖. คัพภินีสูตร
ว่าด้วยหญิงมีครรภ์
[๑๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภรรยาของปริพาชกคนหนึ่ง เป็นมาณวิกา
วัยสาวมีครรภ์แก่ใกล้คลอด ครั้งนั้น นางปริพาชิกานั้นได้กล่าวกับปริพาชกนั้น
ดังนี้ว่า “พราหมณ์ ท่านจงไปนำน้ำมันมาเตรียมไว้เพื่อดิฉันในเวลาคลอด”
เมื่อนางปริพาชิกากล่าวอย่างนี้ ปริพาชกนั้นจึงกล่าวกับนางปริพาชิกาดังนี้ว่า
“แม่นาง ฉันจะนำน้ำมันมาจากที่ไหนเล่า”
แม้ครั้งที่ ๒ นางปริพาชิกาก็ได้กล่าวกับปริพาชกดังนี้ว่า “พราหมณ์ ท่านจง
ไปนำน้ำมันมาเตรียมไว้เพื่อดิฉันในเวลาคลอด”
ปริพาชกได้กล่าวกับนางปริพาชิกาดังนี้ว่า “แม่นาง ฉันจะนำน้ำมันมาจาก
ที่ไหนเล่า”
แม้ครั้งที่ ๓ นางปริพาชิกาก็ได้กล่าวกับปริพาชกดังนี้ว่า “พราหมณ์ ท่านจง
ไปนำน้ำมันมาเตรียมไว้เพื่อดิฉันในเวลาคลอด”
สมัยนั้น เจ้าหน้าที่พระคลังได้ถวายเนยใสบ้าง น้ำมันบ้าง ในท้องพระคลัง
ของพระเจ้าปเทนทิโกศล แก่สมณะบ้าง แก่พราหมณ์บ้าง ให้ดื่มจนพอ ไม่ให้เพื่อนำ
ออกไป
ครั้งนั้น ปริพาชกนั้นมีความคิดดังนี้ว่า “เจ้าหน้าที่พระคลังได้ถวายเนยใสบ้าง
น้ำมันบ้าง ในท้องพระคลังของพระเจ้าปเสนทิโกศล แก่สมณะบ้าง แก่พราหมณ์บ้าง
ให้ดื่มจนพอ ไม่ให้เพื่อนำออกไป ทางที่ดี เราควรไปท้องพระคลังของพระเจ้า
ปเสนทิโกศล ดื่มน้ำมันจนพอแล้วกลับมาเรือน สำรอกน้ำมันออกมาเตรียมไว้เพื่อ
นางปริพาชิกาในเวลาคลอด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๖. คัพภินีสูตร
ครั้งนั้น ปริพาชกนั้นได้ไปยังท้องพระคลังของพระเจ้าปเสนทิโกศล ดื่มน้ำมัน
จนพอแล้วกลับมาเรือน ไม่สามารถนำออกข้างบน (ทางปาก) ได้ ไม่สามารถนำออก
ข้างล่าง(ถ่ายออก)ได้ เขาได้รับทุกขเวทนากล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน จึงกระสับ-
กระส่าย นอนกลิ้งไปมา
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปเพื่อบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นปริพาชกนั้นได้รับ
ทุกขเวทนากล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน กระสับกระส่าย นอนกลิ้งไปมา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
คนทั้งหลายผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ย่อมเป็นผู้มีความสุขแท้จริง
ก็คนทั้งหลาย ที่เป็นผู้จบเวท๑
ชื่อว่าผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ท่านจงดูคนที่มีกิเลสเครื่องกังวลกำลังเดือดร้อนอยู่
เพราะคนที่มีความผูกพันกับคนอื่นย่อมเดือดร้อน
คัพภินีสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ จบเวท ในที่นี้หมายถึงบรรลุอริยมัคคญาณ หรือบรรลุนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๑๖/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๗. เอกปุตตกสูตร
๗. เอกปุตตกสูตร
ว่าด้วยอุบาสกมีบุตรน้อยคนเดียว
[๑๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น บุตรน้อยคนเดียวของอุบาสกคนหนึ่ง
ผู้น่ารัก น่าพอใจ ได้ตายจากไป
ครั้งนั้น อุบาสกจำนวนมากมีผ้าเปียก ผมเปียก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับในเวลาเที่ยงวัน ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับอุบาสกเหล่านั้นดังนี้ว่า “อุบาสกทั้งหลาย มีเรื่อง
อะไรหรือ ท่านทั้งหลายมีผ้าเปียก ผมเปียก เข้ามาที่นี่ในเวลาเที่ยงวัน”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ อุบาสกนั้นจึงกราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มี
พระภาค บุตรน้อยคนเดียวของข้าพระองค์ ผู้น่ารัก น่าพอใจ ได้ตายจากไป
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงมีผ้าเปียก ผมเปียก เข้ามาที่นี่ในเวลาเที่ยงวัน
พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
เทวดาและมนุษย์จำนวนมาก
พากันเพลิดเพลินยึดติดในรูปที่น่ารัก
จึงระทมทุกข์ เสื่อมหมดสิ้น๑
ตกอยู่ในอำนาจของมัจจุราช

เชิงอรรถ :
๑ เสื่อมหมดสิ้น หมายถึงเสื่อมจากสมบัติ (ขุ.อุ.อ.๑๗/๑๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๘. สุปปาวาสาสูตร
แต่คนเหล่าใด ไม่ประมาท
ทั้งกลางวันและกลางคืน ละรูปที่น่ารักได้
คนเหล่านั้นย่อมขุดขึ้นได้ซึ่งมูลเหตุแห่งทุกข์๑
ที่เป็นเหยื่อของมัจจุราช และที่ล่วงพ้นได้ยาก
เอกปุตตกสูตรที่ ๗ จบ

๘. สุปปวาสาสูตร
ว่าด้วยพระนางสุปปวาสา
[๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่ากุณฑิฏฐานวัน ใกล้หมู่บ้าน
กุณฑิยา สมัยนั้น พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีพระครรภ์
หลง๒อยู่ถึง ๗ วัน พระนางได้รับทุกขเวทนากล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน แต่ทรง
อดกลั้นไว้ด้วยความตรึก ๓ ประการ คือ (๑) พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ทรงแสดงธรรมเพื่อละทุกข์เห็นปานนี้ (๒) พระสงฆ์
สาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติเพื่อละทุกข์เห็นปานนี้
(๓) พระนิพพานซึ่งไม่มีทุกข์เห็นปานนี้ เป็นสุขดีอย่างแท้จริง
ครั้นต่อมา พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ได้ทูลเชิญพระราชสวามีมาตรัสว่า
“ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์เสด็จมานี่เถิด พระองค์จงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า

เชิงอรรถ :
๑ มูลเหตุแห่งทุกข์ ในที่นี้หมายถึงตัณหาพร้อมทั้งอวิชชา (ขุ.อุ.อ. ๑๗/๑๒๖)
๒ ครรภ์หลง หมายถึงอาการที่ทารกขวางช่องคลอด ทำให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นในครรภ์ เพราะลมกรรมชวาต
พัดหมุนทำให้ทารกพลิกหมุนกลับไปกลับมา ไม่สามารถคลอดได้ตามปกติ (ขุ.อุ.อ. ๑๘/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๘. สุปปวาสาสูตร
แล้วจงทูลถามถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้ประเปร่า มีพระพลานามัย
สมบูรณ์ อยู่สำราญตามคำของหม่อมฉันว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปป-
วาสา โกลิยธิดา ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
พร้อมกับทูลถามถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้ประเปร่า มีพระพลานามัย
สมบูรณ์ อยู่สำราญ’ อนึ่ง ขอพระองค์จงกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีครรภ์หลงอยู่ถึง ๗ วัน
พระนางได้รับทุกขเวทนากล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน แต่ทรงอดกลั้นไว้ได้ด้วย
ความตรึก ๓ ประการ คือ (๑) พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
โดยชอบ ทรงแสดงธรรมเพื่อละทุกข์เห็นปานนี้ (๒) พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติเพื่อละทุกข์เห็นปานนี้ (๓) พระนิพพานซึ่งไม่มีทุกข์
เห็นปานนี้ เป็นสุขดีอย่างแท้จริง”
พระราชบุตรพระเจ้าโกลิยะนั้นทรงรับคำของพระนาง จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ขอถวาย
อภิวาทพระยุคลบาทพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า พร้อมกับทูลถามถึงสุขภาพ
ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้ประเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ
อนึ่ง พระนางยังรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา
ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีพระครรภ์หลงอยู่ถึง ๗ วัน พระนางได้รับทุกขเวทนากล้าแข็ง
เจ็บปวด เผ็ดร้อน แต่ทรงอดกลั้นไว้ได้ด้วยความตรึก ๓ ประการ คือ (๑) พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ทรงแสดงธรรมเพื่อละทุกข์เห็น
ปานนี้ (๒) พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติเพื่อละ
ทุกข์เห็นปานนี้ (๓) พระนิพพานซึ่งไม่มีทุกข์เห็นปานนี้ เป็นสุขดีอย่างแท้จริง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๘. สุปปวาสาสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ขอพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา จงมีสุข อย่ามี
โรคเลย ขอจงประสูติโอรสผู้ไม่มีโรคด้วยเถิด” ด้วยพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค
นั่นแล พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาก็ทรงพระเกษมสำราญ หายจากพระโรค
ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค
พระราชบุตรพระเจ้าโกลิยะนั้นทูลรับว่า “ขอจงเป็นอย่างนั้นเถิด พระพุทธ-
เจ้าข้า” แล้วทรงยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับพระราชนิเวศน์ของ
พระองค์ ได้ทรงเห็นพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาทรงพระเกษมสำราญ หายจาก
พระโรค ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค ครั้นทรงเห็นแล้ว ได้เกิดความอัศจรรย์พระทัย
ขึ้นมาว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากจริง พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดานี้คงจักทรงพระเกษมสำราญ หายจาก
พระโรค ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค ด้วยพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคนั่นแล
เป็นแน่แท้” จึงทรงดีพระทัย เบิกบาน ทรงเกิดปีติโสมนัสอย่างยิ่ง
ครั้นต่อมา พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ได้ทูลเชิญพระราชสวามีมาตรัสว่า
“ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์เสด็จมาที่นี่เถิด พระองค์จงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
กราบทูลตามคำของหม่อมฉันว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา
โกลิยธิดาขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า’ อนึ่ง
ขอพระองค์จงกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา
โกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีครรภ์หลงอยู่ถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรงพระ
เกษมสำราญ หายจากพระโรค ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค พระนางจึงขอนิมนต์
ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานฉันภัตตาหารเป็นเวลา ๗ วัน ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของพระนาง
สุปปวาสา โกลิยธิดาตลอด ๗ วันเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๘. สุปปวาสาสูตร
พระราชบุตรพระเจ้าโกลิยะนั้นทรงรับคำของพระนาง แล้วเสด็จเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาขอถวาย
อภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า อนึ่ง พระนางยังรับสั่ง
อย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี
มีพระครรภ์หลงอยู่ถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรงพระเกษมสำราญ หายจากพระโรค
ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค พระนางจึงขอนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
ฉันภัตตาหารเป็นเวลา ๗ วัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาตลอด ๗ วันเถิด”
อนึ่ง เวลานั้น อุบาสกคนหนึ่งได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
ฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้นไว้(ก่อน)แล้ว และอุบาสกนั้นเป็นโยมอุปัฏฐากของท่านพระ
มหาโมคคัลลานะ ทีนั้น พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งเรียกท่านพระมหาโมคคัลลานะมา
ตรัสว่า “มาเถิด โมคคัลลานะ เธอจงเข้าไปหาอุบาสกนั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจงพูดกับ
เขาอย่างนี้ว่า ‘พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี มีพระครรภ์หลง
อยู่ถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรงพระเกษมสำราญ หายจากพระโรค ประสูติพระโอรส
ผู้ไม่มีโรค พระนางจึงนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานฉันภัตตาหารเป็น
เวลา ๗ วัน ขอให้พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา จัดอาหารถวายตลอด ๗ วันเถิด
หลังจากนั้น อุบาสกผู้เป็นโยมอุปัฏฐากของเธอ จึงจัดอาหารถวาย”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จึงเข้าไปหาอุบาสกนั้น
ถึงที่อยู่ ได้กล่าวดังนี้ว่า “พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ทรงครรภ์อยู่ถึง ๗ ปี
มีพระครรภ์หลงอยู่ถึง ๗ วัน บัดนี้ พระนางทรงพระเกษมสำราญ หายจากพระโรค
ประสูติพระโอรสผู้ไม่มีโรค พระนางจึงทรงนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
ฉันภัตตาหารเป็นเวลา ๗ วัน ขอให้พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาจัดอาหารถวาย
ตลอด ๗ วันเถิด หลังจากนั้น ท่านจึงจัดอาหารถวาย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๘. สุปปวาสาสูตร
อุบาสกนั้นกราบเรียนว่า “ท่านขอรับ ถ้าพระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะจะเป็นผู้
ค้ำประกันธรรม ๓ ประการ คือ โภคสมบัติ ชีวิต และศรัทธาของกระผมได้ ก็ขอ
พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาทรงจัดอาหารถวายตลอด ๗ วันเถิด หลังจากนั้น
ผมจึงจัดอาหารถวาย” ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงพูดว่า “อาตมภาพ ขอค้ำ
ประกันธรรม ๒ ประการ คือ โภคสมบัติและชีวิตของท่าน ส่วนศรัทธา ท่านต้อง
ค้ำประกันเอง”
อุบาสกนั้นกราบเรียนว่า “ท่านขอรับ ถ้าพระคุณเจ้ามหาโมคคัลลานะจะเป็น
ผู้ค้ำประกันธรรม ๒ ประการ คือ โภคสมบัติและชีวิตของกระผมได้ พระนาง
สุปปวาสา โกลิยธิดาทรงจัดอาหารถวายตลอด ๗ วันเถิด หลังจากนั้น ผมจึง
จัดอาหารถวาย”
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะให้อุบาสกนั้นยินยอมแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ให้
อุบาสกนั้นยินยอมแล้ว ขอพระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาจัดอาหารถวายตลอด
๗ วันเถิด หลังจากนั้น อุบาสกนั้นจึงจัดอาหารถวาย”
ครั้นแล้ว พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา ทรงนำของขบฉันอันประณีต ประเคน
ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้อิ่มหนำด้วยตนเองตลอด ๗ วัน และทรงให้
พระโอรสน้อยนั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคและไหว้ภิกษุสงฆ์ทุกรูป
ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวกับพระโอรสน้อยนั้นดังนี้ว่า “พระโอรสน้อย
พระองค์ทรงพระเกษมสำราญดีหรือ ทรงพอดำรงอยู่ได้หรือ ไม่มีทุกข์อะไรหรือ”
พระโอรสน้อยนั้นตรัสตอบว่า “ท่านพระสารีบุตรขอรับ กระผมอยู่ในครรภ์เปื้อน
โลหิตถึง ๗ ปี จะสบายแต่ที่ไหน”
ต่อจากนั้น พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาทรงดีพระทัยชื่นชม เกิดปีติโสมนัสว่า
“บุตรของเรารู้จักสนทนากับท่านพระธรรมเสนาบดี” ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๙. วิสาขาสูตร
พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดาทรงดีพระทัยชื่นชม เกิดปีติโสมนัส จึงได้ตรัสกับ
พระนางดังนี้ว่า “สุปปวาสา เธอยังปรารถนาจะมีพระโอรสเช่นนี้อีกหรือไม่”
พระนางกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังปรารถนาจะมี
พระโอรสเช่นนี้อีก ๗ พระองค์ พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๑
สิ่งที่ไม่น่ายินดี ย่อมครอบงำคนผู้ประมาทด้วยอาการที่น่ายินดี
สิ่งที่ไม่น่ารัก ย่อมครอบงำคนผู้ประมาทด้วยอาการที่น่ารัก
สิ่งที่เป็นทุกข์ย่อมครอบงำคนผู้ประมาทด้วยอาการที่เป็นสุข๒
สุปปวาสาสูตรที่ ๘ จบ

๙. วิสาขาสูตร
ว่าด้วยนางวิสาขา
[๑๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา
มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น นางวิสาขา มิคารมาตามีประโยชน์บางอย่าง
เกี่ยวข้องในพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงยังประโยชน์นั้นให้
สำเร็จตามความประสงค์

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงว่าความรักที่ประกอบด้วยตัณหาสามารถทำความฉิบหายใหญ่หลวงแก่
บุคคลผู้ประมาทได้ (ขุ.อุ.อ. ๑๘/๑๖๔)
๒ ดูเทียบ ขุ.เปต. (แปล) ๒๖/๗๙๙/๒๙๘, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๐๐/๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๙. วิสาขาสูตร
ครั้งนั้น ในเวลาเที่ยงวัน นางวิสาขา มิคารมาตาจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
กับนางวิสาขาดังนี้ว่า “วิสาขา เธอมาจากไหน แต่เที่ยงวัน” นางกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์มีประโยชน์บางอย่างที่
เกี่ยวข้องในพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงยังประโยชน์นั้นให้
สำเร็จตามความประสงค์เลย พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ประโยชน์ทั้งปวงอยู่ในอำนาจผู้อื่น ก่อให้เกิดทุกข์
ความเป็นอิสระ๑ทั้งปวง ก่อให้เกิดสุข
สัตว์ทั้งหลายเมื่อยังมีประโยชน์ทั่วไปอยู่ ย่อมเดือดร้อน
เพราะโยคะทั้งหลาย๒เป็นสิ่งที่ก้าวล่วงได้ยาก
วิสาขาสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ความเป็นอิสระ มี ๒ อย่าง คือ (๑) ความอิสระอันเป็นโลกิยะ ได้แก่ ความเป็นพระราชา เป็นต้น และ
ความมีจิตอิสระที่เกิดจากฌานและอภิญญา (๒) ความอิสระอันเป็นโลกุตตระ ได้แก่ ความอิสระที่เกิดจาก
นิโรธซึ่งมีเหตุมาจากการบรรลุมรรคและผล ในที่นี้หมายถึงความอิสระที่เกิดจากนิโรธ เป็นความอิสระที่ก่อ
ให้เกิดสุขอย่างแท้จริง เพราะไม่ต้องหวั่นไหวต่อโลกธรรม และเพราะมีสภาวะที่ไม่ต้องกลับเป็นทุกข์ได้อีก
(ขุ.อุ.อ. ๑๙/๑๖๗)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๖ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๑๐. ภัททิยสูตร
๑๐. ภัททิยสูตร
ว่าด้วยพระภัททิยเถระ
[๒๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อนุปิยอัมพวัน สมัยนั้น ท่าน
พระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตร๑เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี
ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’
ภิกษุจำนวนมากได้ฟังท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรเมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่
ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’
ภิกษุเหล่านั้น ครั้นได้ฟังแล้ว จึงมีความคิดอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตร ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์แน่ ๆ เพราะเคยได้รับ
ความสุขในราชสมบัติเมื่อครั้งเป็นฆราวาสแล้ว ท่านคงหวนระลึกถึงความสุขนั้น
เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า
‘สุขหนอ สุขหนอ”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระภัททิยะ
กาฬิโคธาบุตรเมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทาน
เนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระภัททิยะไม่ยินดี
ประพฤติพรหมจรรย์แน่ ๆ เพราะเคยได้รับความสุขในราชสมบัติ เมื่อครั้งเป็น
ฆราวาสแล้ว ท่านคงหวนระลึกถึงความสุขนั้น เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี
หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “ภิกษุ เธอจง
ไปเรียกภิกษุชื่อภัททิยะมาหาเราว่า ท่านภัททิยะ พระศาสดามีรับสั่งหาท่าน” ภิกษุ

เชิงอรรถ :
๑ พระภัททิยะ เป็นพระโอรสของพระนางกาฬิโคธาซึ่งเป็นเจ้าหญิงสากิยาราชเทวี ท่านบวชได้ไม่นานก็
บำเพ็ญวิปัสสนาจนได้บรรลุอภิญญา ๖ สมาทานธุดงค์ ๑๓ ประการ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเกิด
ในตระกูลสูง (ขุ.อุ.อ.๒๐/๑๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๑๐. ภัททิยสูตร
นั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรถึงที่อยู่
ได้กล่าวกับท่านพระภัททิยะดังนี้ว่า “ท่านภัททิยะ พระศาสดามีรับสั่งหาท่าน”
ท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรรับคำของภิกษุนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านดังนี้ว่า
“ภัททิยะ ทราบว่า เธอเมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี
ก็เปล่งอุทานว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’ จริงหรือ”
ท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภัททิยะ ก็เธอมองเห็นประโยชน์อะไร เมื่ออยู่
ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี จึงเปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ
สุขหนอ”
ท่านพระภัททิยะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยเมื่อข้าพระองค์เป็น
ฆราวาส เสวยความสุขในราชสมบัติ ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายในวัง
ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายนอกวัง ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดี
ทั้งภายในเมือง ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายนอกเมือง ได้รับการ
อารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งในชนบท ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งนอกชนบท
ข้าพระองค์นั้นถึงจะได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีเช่นนี้ ก็ยังกลัว ยังหวาดหวั่น
ระแวง สะดุ้งอยู่ แต่เวลานี้ ข้าพระองค์เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่
ในเรือนว่างก็ดี เพียงผู้เดียวก็ไม่กลัว ไม่หวาดหวั่น ไม่ระแวง ไม่สะดุ้ง มีความ
ปรารถนาน้อย ไม่ขนลุกขนพอง ดำรงชีวิตด้วยปัจจัยที่ผู้อื่นให้ มีจิตอิสระดุจมฤค๑
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นประโยชน์อย่างนี้ เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่
ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี จึงเปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’
พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ มีจิตอิสระดุจมฤค หมายถึงมีความโล่งใจ เหมือนเนื้อทรายที่อยู่ในป่าห่างไกลจากมนุษย์ จะยืน เดิน นั่ง
นอน ก็โล่งใจ (ขุ.อุ.อ. ๒๐/๑๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พุทธอุทาน๑
ผู้ใดไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้กำเริบ๒ภายในจิต
และล่วงพ้นความเป็นภพและอภพ๓ต่าง ๆ ได้แล้ว
ทวยเทพไม่สามารถจะมองเห็นผู้นั้น
ผู้ปราศจากภัย มีความสุข ไม่เศร้าโศก๔
ภัททิยสูตรที่ ๑๐ จบ
มุจจลินทวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มุจจลินทสูตร ๒. ราชสูตร
๓. ทัณฑสูตร ๔. สักการสูตร
๕. อุปาสกสูตร ๖. คัพภินีสูตร
๗. เอกปุตตกสูตร ๘. สุปปวาสาสูตร
๙. วิสาขาสูตร ๑๐. ภัททิยสูตร


เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงอานุภาพวิเวกสุขที่ล่วงวิสัยของปุถุชน ว่าเป็นสุขที่ปราศจากภัยและความ
โศกเศร้า (ขุ.อุ.อ. ๒๐/๑๗๑)
๒ กิเลสเป็นเหตุให้กำเริบ หมายถึงราคะ โทสะ โมหะ (ขุ.อุ.อ. ๒๐/๑๗๒)
๓ ภพ หมายถึงสมบัติ(ความถึงพร้อม) วุฑฒิ(ความเจริญ) สัสสตะ(ความเที่ยงแท้) ปุญญะ(บุญ) สุคติ(ภูมิที่
ไปดี) ขุททกะ(สิ่งเล็กน้อย) อภพหมายถึงวิปัตติ(ความวิบัติ) หานิ(ความเสื่อม) อุจเฉทะ(ความขาดสูญ) บาป(ความชั่ว)
มหันตะ(สิ่งใหญ่ ๆ) (ขุ.อุ.อ. ๒๐/๑๗๒)
๔ ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๓๒/๑๗๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๑. กัมมวิปากชสูตร
๓. นันทวรรค
หมวดว่าด้วยพระนันทเถระ
๑. กัมมวิปากชสูตร
ว่าด้วยการอดกลั้นทุกขเวทนาที่เกิดจากผลกรรม
[๒๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
อดกลั้นทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ที่เกิดจากผลแห่งกรรมเก่า มีสติ
มีสัมปชัญญะ ไม่ร้อนรุ่มใจ อยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุรูปนั้นผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
อดกลั้นทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง เจ็บปวด เผ็ดร้อน ที่เกิดจากผลกรรมเก่า มีสติ
มีสัมปชัญญะ ไม่ร้อนรุ่มใจอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ภิกษุผู้ละกรรมทั้งหมด๑ได้
กำจัดกรรมที่เป็นดุจธุลี๒ที่ตนเคยทำไว้ได้
ไม่มีความยึดถือว่าของเรา ดำรงมั่น๓ คงที่
ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะบอกให้คนช่วยเยียวยา
กัมมวิปากชสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ละกรรมทั้งหมด หมายถึงละกุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งหมด (ขุ.อุ.อ. ๒๑/๑๗๔)
๒ กรรมที่เป็นดุจธุลี หมายถึงทุกขเวทนียกรรม(กรรมที่พึงเสวยทุกข์) อันเจือด้วยราคะเป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๒๑/๑๗๕)
๓ ดำรงมั่น หมายถึงข้ามโอฆะ ๔ ประการได้แล้ว ดำรงมั่นอยู่บนบกคือนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๒๑/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๒. นันทสูตร
๒. นันทสูตร
ว่าด้วยพระนันทเถระ
[๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค
พระโอรสของพระมาตุจฉา ได้บอกแก่ภิกษุหลายรูปอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
กระผมไม่ยินดีจะประพฤติพรหมจรรย์๑ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ กระผม
จักบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์”
ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค พระโอรสของพระมาตุจฉาได้บอก
แก่ภิกษุหลายรูปอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย กระผมไม่ยินดีประพฤติ
พรหมจรรย์ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ กระผมจักบอกคืนสิกขากลับมาเป็น
คฤหัสถ์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “ภิกษุ เธอจงไป
เรียกนันทะมาหาเราว่า ท่านนันทะ พระศาสดารับสั่งหาท่าน” ภิกษุนั้นทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้วเข้าไปหาท่านพระนันทะถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับท่านพระนันทะว่า “ท่านนันทะ
พระศาสดารับสั่งหาท่าน”
ท่านพระนันทะรับคำของภิกษุรูปนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามท่านพระนันทะ
ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๒. นันทสูตร
“นันทะ ทราบว่า เธอได้บอกแก่ภิกษุหลายรูปอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
กระผมไม่ยินดีจะประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ กระผม
จักบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์จริงหรือ”
ท่านพระนันทะทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “นันทะ ก็เพราะเหตุอะไร เธอจึงไม่ยินดี
จะประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ จักบอกคืนสิกขากลับมา
เป็นคฤหัสถ์”
ท่านพระนันทะทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขณะที่ข้าพระองค์กำลัง
ออกจากพระตำหนัก นางชนบทกัลยาณีสากิยานี มีเกสาที่เกล้าไว้เพียงครึ่งเดียว
เหลียวมากล่าวกับข้าพระองค์ว่า ‘ข้าแต่ทูลกระหม่อม ขอพระองค์รีบเสด็จกลับมา’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นั้น เมื่อนึกถึงคำของพระนางทีไร ก็ไม่ยินดี
จะประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถจะทรงพรหมจรรย์ไว้ได้ จึงจักบอกคืนสิกขา
กลับมาเป็นคฤหัสถ์”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจับแขนท่านพระนันทะ เสด็จหายไปจากพระเชตวัน
ไปปรากฏในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ขณะนั้น นางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบประมาณ ๕๐๐ นาง กำลัง
มาสู่ที่เฝ้ารับใช้ท้าวสักกะจอมเทพ ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเรียกท่านพระนันทะ
มาตรัสถามว่า “นันทะ เธอเห็นนางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นาง
เหล่านี้หรือไม่”
ท่านพระนันทะทูลตอบว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “นันทะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร (คือ)
ระหว่างนางชนบทกัลยาณีสากิยานี กับนางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบ
๕๐๐ นางเหล่านี้ ใครสวยกว่ากัน น่าดูกว่ากัน หรือน่าชมกว่ากัน”
ท่านพระนันทะทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางชนบทกัลยาณีสากิยานี
เมื่อเปรียบเทียบกับนางอัปสร ๕๐๐ นางเหล่านี้ ก็เหมือนนางลิงรุ่นถูกไฟไหม้อวัยวะ
หูวิ่นจมูกแหว่ง คือ สวยไม่ถึงหนึ่งเสี้ยว สวยไม่ถึงส่วนหนึ่งของเสี้ยว เปรียบเทียบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๒. นันทสูตร
กันไม่ได้เลย โดยที่แท้ นางอัปสร ๕๐๐ นางเหล่านี้แลสวยกว่า น่าดูกว่า และ
น่าชมกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอจงยินดี เธอจงยินดีเถิด นันทะ เราขอรับรอง
เธอเพื่อได้นางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นางแน่ ๆ”
ท่านพระนันทะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคจะทรง
รับรองข้าพระองค์เพื่อได้นางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นางแน่แท้
ข้าพระองค์จักยินดีประพฤติพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า”
ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจับแขนท่านพระนันทะแล้ว เสด็จหายไปจากหมู่
เทวดาชั้นดาวดึงส์ ไปปรากฏ ณ พระเชตวัน เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออก
หรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ภิกษุทั้งหลายได้ฟังข่าวว่า “ทราบว่า ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มี
พระภาค พระโอรสของพระมาตุจฉา ประพฤติพรหมจรรย์เพราะนางอัปสรเป็นเหตุ
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคก็ทรงรับรองพระนันทะเพื่อให้ได้นางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือน
สีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นาง”
ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุทั้งหลายที่เป็นสหายของท่านพระนันทะ ก็ร้องเรียก
ท่านพระนันทะด้วยวาทะว่าลูกจ้างบ้าง ด้วยวาทะว่าผู้ถูกไถ่มาบ้างว่า “ทราบว่า
ท่านพระนันทะเป็นลูกจ้าง ทราบว่า ท่านพระนันทะเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงไถ่มา
ประพฤติพรหมจรรย์เพราะนางอัปสรเป็นเหตุ ทราบว่า พระผู้มีพระภาคก็ทรงรับรอง
พระนันทะเพื่อให้ได้นางอัปสรผู้มีสีเท้าเหมือนสีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นาง”
ท่านพระนันทะอึดอัด ระอา รังเกียจวาทะว่าลูกจ้าง และวาทะว่าผู้ถูกไถ่มา
ของภิกษุผู้เป็นสหายเหล่านั้น จึงจากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม๑ อันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญา

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์ยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผลอันเป็นที่สุดแห่งมัคคพรหมจรรย์ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๕/๗, ม.ม.อ.
๒/๘๒/๘๐, ขุ.อุ.อ. ๒๒/๑๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๒. นันทสูตร
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ได้รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจ
ที่ควรทำ๑เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ จึงเป็นอันว่า ท่าน
พระนันทะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมี
ให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของผู้มีพระภาค พระโอรสของพระมาตุจฉา ทำให้
แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงเกิดพระญาณรู้ว่า “นันทะทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา-
วิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
ครั้นคืนนั้นผ่านไป ท่านพระนันทะจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงรับรองข้าพระองค์ เพื่อได้นางอัปสรผู้มีสีเท้า
เหมือนสีเท้านกพิราบ ๕๐๐ นาง ข้าพระองค์ขอปลดเปลื้องพระผู้มีพระภาคจากการ
รับรองนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นันทะ แม้เราเองก็กำหนดรู้ใจเธอด้วยใจว่า ‘นันทะ
ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญา
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ แม้เทวดาก็ได้บอกเนื้อความนี้แก่เราว่า ‘ข้าแต่พระองค์

เชิงอรรถ :
๑ กิจที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงกิจ ๔ อย่าง คือ ปริญญากิจ หน้าที่กำหนดรู้ทุกข์ ปหานกิจ หน้าที่ละเหตุ
เกิดทุกข์ สัจฉิกิริยากิจ หน้าที่ทำให้แจ้งความดับทุกข์ ภาวนากิจ หน้าที่อบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ
เป็นกิจในอริยสัจ ๔ (ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓, องฺ.นวก.อ. ๓/๓/๒๘๗, ขุ.อุ.อ. ๒๒/๑๘๔, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา
๓/๔๙/๑๔๑)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๓. ยโสชสูตร
ผู้เจริญ ท่านพระนันทะพระภาดาของพระผู้มีพระภาค พระโอรสของพระมาตุจฉาทำให้
แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ นันทะ เราพ้นจากการรับรองนี้ตั้งแต่จิตของเธอหลุดพ้นจากอาสวะ
ทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นนั้นแล้ว”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ภิกษุใดข้ามเปือกตมคือกามได้๑
ย่ำยีหนามคือกามได้
ภิกษุนั้นบรรลุความสิ้นโมหะ๒
ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะสุขและทุกข์
นันทสูตรที่ ๒ จบ

๓. ยโสชสูตร
ว่าด้วยพระยโสชเถระ
[๒๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปมีพระยโสชะเป็น
หัวหน้าเดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะ
เหล่านั้นแลกำลังทักทายกับภิกษุเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงได้
ส่งเสียงอื้ออึง

เชิงอรรถ :
๑ ดูชื่อของกามใน องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๒๓/๔๕๓, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๕๖/๓๔๙
๒ ความสิ้นโมหะ หมายถึงอรหัตตผลและนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๒๒/๑๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๓. ยโสชสูตร
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเรียกพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุ
พวกไหนส่งเสียงอื้ออึงเหมือนพวกชาวประมงแย่งปลากัน”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป
เหล่านั้น มีพระยโสชะเป็นหัวหน้าเดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับเพื่อจะเฝ้า
พระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นแลกำลังทักทายกับภิกษุเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ
เก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงได้ส่งเสียงอื้ออึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงเรียกภิกษุเหล่านั้นมาหา
เราว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้กล่าว
กับภิกษุเหล่านั้นว่า “พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำของ
ท่านพระอานนท์แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุอะไร เธอทั้งหลายจึงส่งเสียงอื้ออึงเหมือนพวก
ชาวประมงแย่งปลากัน” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้ ท่านพระยโสชะจึง
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป
เหล่านี้เดินทางมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุอาคันตุกะ
เหล่านั้นทักทายกับภิกษุเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรอยู่ จึงได้ส่งเสียง
อื้ออึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไปเสียเถิด เราขับไล่
เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่ควรอยู่ในสำนักของเรา”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วพากันลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาท
แล้วทำประทักษิณ เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรเที่ยวจาริกไปทางแคว้นวัชชี
เที่ยวจาริกไปโดยลำดับจนถึงแคว้นวัชชีแล้วไปที่แม่น้ำวัคคุมุทา สร้างกุฎีมุงด้วยใบไม้
เข้าอยู่จำพรรษาใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
ครั้งนั้น ท่านพระยโสชะผู้เข้าจำพรรษาอยู่ด้วย ได้เรียกภิกษุทั้งหลายมา
กล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงมุ่งหวังประโยชน์ แสวงหา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๓. ยโสชสูตร
ประโยชน์ ทรงอนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์ จึงทรงขับไล่พวกเรา เอาเถิด
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ขอพวกเราจงอยู่อย่างที่พระผู้มีพระภาคทรงมุ่งหวังประโยชน์
แก่พวกเราเถิด”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระยโสชะ แล้วก็ปลีกตัวไป ไม่ประมาท มีความ
เพียร อุทิศกายและใจอยู่ ภายในพรรษานั้นนั่นแล ทุกรูปก็ได้ทำให้แจ้งวิชชา
๓ ประการ๑
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคครั้นประทับอยู่ในกรุงสาวัตถีตามพระอัธยาศัยแล้ว
จึงเสด็จจาริกไปทางกรุงเวสาลี เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงเวสาลี ประทับอยู่
ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลีนั้น
ขณะประทับอยู่ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการกำหนดจิตของภิกษุที่อยู่
ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาด้วยพระทัย แล้วรับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า
“อานนท์ ทิศที่ภิกษุผู้อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาอยู่จำพรรษานี้ เป็นเหมือนเกิด
แสงสว่าง เป็นเหมือนเกิดรัศมี ปรากฏแก่เรา เธอคงไม่รังเกียจที่จะไปเพื่อความ
สนใจของเรา อานนท์ เธอพึงส่งภิกษุผู้เป็นทูตไปสำนักภิกษุผู้อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
พร้อมกับสั่งว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดามีพระประสงค์จะพบ
ท่านทั้งหลาย”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่งถึงที่อยู่ ได้กล่าว
กับท่านว่า “ผู้มีอายุ ท่านจงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาถึงที่อยู่
แล้วพูดอย่างนี้ว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดามีพระประสงค์จะพบ
ท่านทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
๑ วิชชา ๓ ประการ คือ (๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (๒) ทิพพจักขุญาณ (๓) อาสวักขยญาณ (ขุ.อุ.อ.
๒๓/๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๓. ยโสชสูตร
ภิกษุรูปนั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้วก็หายไปจากกูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน
ไปปรากฏเบื้องหน้าภิกษุเหล่านั้น ณ ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา เหมือนคนมีกำลัง
เหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น แล้วได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ใกล้ฝั่ง
แม่น้ำวัคคุมุทาว่า “พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดามีพระประสงค์จะพบ
ท่านทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำของภิกษุนั้นแล้วเก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรพร้อมกับ
หายไปจากฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา ไปปรากฏเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ณ กูฏาคาร-
ศาลาในป่ามหาวัน เหมือนคนมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งเข้าอาเนญชสมาธิ๑ ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้น
ได้มีควมคิดอย่างนี้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ด้วยวิหารธรรมไหนหนอ”
ครั้นแล้ว ภิกษุเหล่านั้นก็ได้รู้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ด้วยอาเนญช-
วิหารธรรม” ทุกรูปจึงพากันนั่งเข้าอาเนญชสมาธิ
ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ก็ลุก
จากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว
ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุอาคันตุกะนั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรง
ทักทายกับภิกษุอาคันตุกะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูล
อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคก็ยังประทับนิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๒ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ก็
ลุกจากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ อาเนญชสมาธิ หมายถึงสมาธิอันสัมปยุตด้วยอรหัตตผลมีฌานที่ ๔ เป็นพื้นฐาน อาจารย์บางพวกกล่าวว่า
มีอรูปฌานเป็นพื้นฐาน เหตุที่พระผู้มีพระภาคทรงเข้าอาเนญชสมาธิ เพราะทรงประสงค์จะแสดงว่าภิกษุ
เหล่านั้นมีสัมโภคะเสมอกับพระองค์ และทรงประสงค์จะแสดงให้ปรากฏว่าภิกษุเหล่านั้นบรรลุพระอรหัตตผล
โดยไม่ต้องทรงเปล่งพระวาจา (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๓. ยโสชสูตร
มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุอาคันตุกะนั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงทักทายกับ
ภิกษุอาคันตุกะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคก็ยังประทับนิ่งอยู่เช่นเดิม
แม้ครั้งที่ ๓ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว เข้ารุ่งอรุณ เริ่มสว่าง
ท่านพระอานนท์ก็ลุกจากที่นั่ง ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางพระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรี
ผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว เข้ารุ่งอรุณ เริ่มสว่าง ภิกษุอาคันตุกะนั่งอยู่นานแล้ว
ขอพระผู้มีพระภาคทรงทักทายกับภิกษุอาคันตุกะด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคก็เสด็จออกจากสมาธินั้น รับสั่งเรียกท่านพระ
อานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเธอพึงรู้ไซร้ ความแจ่มแจ้งแม้นี้ก็ยังไม่ปรากฏชัด
แก่เธอ อานนท์ เรากับภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ทั้งหมดได้นั่งเข้าอาเนญชสมาธิ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๑
ภิกษุใดละหนามคือกามได้๒
ชนะการด่าได้๓ ชนะการทำร้ายได้๔ และชนะการจองจำได้
ภิกษุนั้นดำรงมั่น ไม่หวั่นไหวดุจภูเขา
ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะสุขและทุกข์
ยโสชสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงการละกิเลสมีราคะเป็นต้นได้อย่างสิ้นเชิง แสดงความสำเร็จ และความเป็นผู้
คงที่ของภิกษุเหล่านั้น (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๗)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๒๑๔ ในเล่มนี้
๓ ชนะการด่า หมายถึงไม่มีวจีทุจริต (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๗)
๔ ชนะการทำร้าย หมายถึงไม่มีกายทุจริต (ขุ.อุ.อ. ๒๓/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๕. มหาโมคคัลลานสูตร
๔. สารีปุตตสูตร
ว่าด้วยพระสารีบุตรเถระ
[๒๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติ
ไว้เฉพาะหน้าอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย
ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ภูเขาศิลาล้วนตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้น เพราะสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวดุจภูเขา๑
สารีปุตตสูตรที่ ๔ จบ

๕. มหาโมคคัลลานสูตร
ว่าด้วยพระมหาโมคคัลลานเถระ
[๒๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
มีกายคตาสติ๒ที่ตั้งมั่นภายในตนอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๙๙/๕๐๓
๒ กายคตาสติ มีความหมายหลายนัย คือ นัยที่ ๑ หมายถึงสติที่ตั้งมั่นในกายด้วยอุปจารสมาธิ และ
อัปปนาสมาธิ โดยวิธีมนสิการความปฏิกูลในอาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ เป็นต้น นัยที่ ๒ หมายถึงสติที่ตั้ง
มั่นในกายด้วยอุปจารสมาธิและให้มนสิการเป็นไปด้วยสติสัมปชัญญะที่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก กำหนด
รู้อิริยาบถทั้ง ๔ และการพิจารณาอสุภะ นัยที่ ๓ หมายถึงสติที่สัมปยุตด้วยวิปัสสนาตั้งขึ้นด้วยพิจารณา
เห็นกฎไตรลักษณ์ในธาตุ ๔ แต่ในที่นี้ทรงประสงค์เอานัยที่ ๓ (ขุ.อุ.อ. ๒๕/๒๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๖. ปิลินทวัจฉสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง มีกายคตาสติที่ตั้งมั่นภายในตนอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ภิกษุที่เจริญกายคตาสติแน่วแน่
สำรวมในผัสสายตนะทั้ง ๖ มีจิตตั้งมั่นเสมอ
ก็จะพึงรู้การดับกิเลสของตนได้
มหาโมคคัลลานสูตรที่ ๕ จบ

๖. ปิลินทวัจฉสูตร
ว่าด้วยพระปิลินทวัจฉเถระ
[๒๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน๑
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า
คนถ่อย ครั้งนั้น ภิกษุจำนวนมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระปิลินทวัจฉะร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย
พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “ภิกษุ เธอจงไป
เรียกพระปิลินทวัจฉะมาหาเราว่า ท่านปิลินทวัจฉะ พระศาสดารับสั่งหาท่าน” ภิกษุ
รูปนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าว
กับท่านพระปิลินทวัจฉะว่า “ท่านปิลินทวัจฉะ พระศาสดารับสั่งหาท่าน”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๑๗๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๖. ปิลินทวัจฉสูตร
ท่านพระปิลินทวัจฉะรับคำของภิกษุรูปนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามท่าน
ดังนี้ว่า “ปิลินทวัจฉะ ทราบว่า เธอร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย จริง
หรือ”
ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงระลึกถึงอดีตชาติของท่านพระปิลินทวัจฉะแล้ว
รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าถือโทษวัจฉะเลย
วัจฉะหาได้มุ่งร้ายร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อยไม่ วัจฉะเกิดในตระกูล
พราหมณ์ติดต่อกันไม่มีช่วงคั่นถึง ๕๐๐ ชาติ การใช้วาทะว่าคนถ่อยนั้น เธอก็
ประพฤติมานานแล้ว เพราะฉะนั้น วัจฉะนี้จึงร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้ใดไม่มีมายา ไม่มีมานะ สิ้นโลภะแล้ว
ไม่มีการยึดถือว่าของเรา ไม่มีความหวัง๑
ละความโกรธได้ มีจิตสงบเย็นยิ่งนัก
ผู้นั้นชื่อว่า พราหมณ์ สมณะ ภิกษุ๒
ปิลินทวัจฉสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีความหวัง หมายถึงไม่มีความหวังที่จะเกิดในภพต่อ ๆ ไป (ขุ.อุ.อ. ๒๖/๒๐๕)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๓ หน้า ๗๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๗. สักกุทานสูตร
๗. สักกุทานสูตร
ว่าด้วยการเปล่งอุทานของท้าวสักกะ
[๒๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะนั่งเข้าสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่งโดย
บัลลังก์เดียวอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ณ ถ้ำปิปผลิคูหา ครั้นล่วงไป ๗ วัน ท่านพระ
มหากัสสปะก็ออกจากสมาธินั้น เมื่อท่านพระมหากัสสปะออกจากสมาธินั้นได้มี
ความคิดดังนี้ว่า “ทางที่ดี เราควรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์”
สมัยนั้น เทวดาประมาณ ๕๐๐ องค์ขวนขวายเพื่อให้ท่านพระมหากัสสปะ
ได้รับบิณฑบาต ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะจึงห้ามเทวดาประมาณ ๕๐๐ องค์
เหล่านั้น ในเวลาเช้า ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุง
ราชคฤห์
ขณะนั้น ท้าวสักกะจอมเทพมีพระประสงค์จะถวายบิณฑบาตแก่ท่าน
พระมหากัสสปะ จึงทรงแปลงพระวรกายเป็นนายช่างหูกทอผ้าอยู่ นางสุชาดา
อสุรกัญญากำลังกรอด้ายหลอด ฝ่ายท่านพระมหากัสสปะเที่ยวบิณฑบาตตาม
ลำดับตรอกถึงนิเวศน์ของท้าวสักกะจอมเทพ ท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็นท่าน
พระมหากัสสปะกำลังเดินมาแต่ไกล จึงเสด็จออกจากเรือนทรงต้อนรับ ทรงรับ
บาตรจากมือเสด็จเข้าเรือน ทรงคดข้าวสุกจากหม้อใส่เต็มบาตรถวายท่านพระ
มหากัสสปะ บิณฑบาตนั้นได้มีแกงและกับข้าวหลายอย่าง ท่านพระมหากัสสปะได้มี
ความคิดอย่างนี้ว่า “ท่านผู้นี้เป็นใครหนอ จึงมีฤทธานุภาพถึงปานนี้” ลำดับนั้น
ท่านพระมหากัสสปะได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “คงเป็นท้าวสักกะจอมเทพแน่” จึงได้
กล่าวกับท้าวเธอดังนี้ว่า “ท้าวโกสีย์ ทำไมพระองค์จึงทรงทำอย่างนี้ ต่อไปอย่าได้ทำ
เช่นนี้อีก” ท้าวสักกะจอมเทพตรัสตอบว่า “ขอรับ ท่านกัสสปะ พวกเราทั้งหลายก็
ต้องการบุญ จึงควรทำบุญเหมือนกัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๗. สักกุทานสูตร
ต่อจากนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงอภิวาทท่านพระมหากัสสปะ ทรงทำ
ประทักษิณแล้วเสด็จเหาะขึ้นไปในอากาศ ทรงเปล่งอุทานกลางอากาศ ๓ ครั้งว่า
“โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่านพระมหากัสสปะแล้ว
โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่านพระมหากัสสปะแล้ว
โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่านพระมหากัสสปะแล้ว”
พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับอุทานที่ท้าวสักกะจอมเทพเสด็จเหาะขึ้นไปในอากาศ
ทรงเปล่งกลางอากาศ ๓ ครั้งว่า “โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่าน
พระมหากัสสปะแล้ว โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่านพระมหากัสสปะแล้ว
โอ เราได้ถวายทานอย่างยอดเยี่ยมในท่านพระมหากัสสปะแล้ว” ด้วยหูทิพย์อัน
บริสุทธิ์ เหนือมนุษย์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
เทวดาทั้งหลายย่อมเคารพรักภิกษุ
ผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตน ไม่เลี้ยงคนอื่น
ผู้คงที่ ผู้สงบ มีสติอยู่ทุกเมื่อ
สักกุทานสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๘. ปิณฑปาติกสูตร
๘. ปิณฑปาติกสูตร
ว่าด้วยการสนทนาเรื่องบิณฑบาต
[๒๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากกลับจากบิณฑบาต
หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว มานั่งประชุมพร้อมกันในกเรริมณฑป๑ ได้สนทนา
อันตรากถาขึ้นว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เมื่อกำลัง
บิณฑบาต ย่อมได้เห็นรูปที่น่าพอใจทางตาตามกาลอันควร ย่อมได้ฟังเสียง
ที่น่าพอใจทางหูตามกาลอันควร ย่อมได้ดมกลิ่นที่น่าพอใจทางจมูกตามกาลอันควร
ย่อมได้ลิ้มรสที่น่าพอใจทางลิ้นตามกาลอันควร ย่อมได้ถูกต้องผัสสะที่น่าพอใจ
ทางกายตามกาลอันควร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้บิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้ที่
มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมขณะเที่ยวไปบิณฑบาต ท่านผู้มี
อายุทั้งหลาย ขอพวกเราจงเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรเถิด แม้พวกเราก็จักได้เห็น
รูปที่น่าพอใจทางตาตามกาลอันควร จักได้ฟังเสียงที่น่าพอใจทางหูตามกาลอันควร
จักได้ดมกลิ่นน่าพอใจทางจมูกตามกาลอันควร จักได้ลิ้มรสที่น่าพอใจทางลิ้นตาม
กาลอันควร จักได้ถูกต้องผัสสะที่น่าพอใจทางกายตามกาลอันควร พวกเราจักเป็น
ผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมขณะเที่ยวไปบิณฑบาต
อันตรากถาของภิกษุเหล่านั้นได้ค้างไว้เพียงเท่านี้
ครั้งนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไป
ยังกเรริมณฑป ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ พระผู้มีพระภาคครั้นประทับ
นั่งแล้ว รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ เธอทั้งหลาย
นั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร และพูดเรื่องอะไรค้างไว้”

เชิงอรรถ :
๑ กเรริมณฑป หมายถึงศาลาที่นั่งวงกลมซึ่งสร้างติดกับต้นกเรริ(ต้นกุ่ม) บางอาจารย์กล่าวว่า หมายถึง
ศาลาโรงกลมที่มุงด้วยหญ้าและใบไม้ ฝนตกรั่วรดไม่ได้ (ขุ.อุ.อ. ๒๘/๒๑๔, อภิธา.ฏีกา ๕๕๓/๓๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๘. ปิณฑปาติกสูตร
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว มานั่งประชุม
พร้อมกันในกเรริมณฑป ได้สนทนาอันตรากถาขึ้นว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุ
ผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เมื่อกำลังบิณฑบาต ย่อมได้เห็นรูปที่น่าพอใจทางตาตาม
กาลอันควร ย่อมได้ฟังเสียงที่น่าพอใจทางหูตามกาลอันควร ย่อมได้ดมกลิ่นที่น่า
พอใจทางจมูกตามกาลอันควร ย่อมได้ลิ้มรสที่น่าพอใจทางลิ้นตามกาลอันควร ย่อมได้
ถูกต้องผัสสะที่น่าพอใจทางกายตามกาลอันควร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้บิณฑบาต
เป็นวัตร เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมขณะเที่ยวไปบิณฑบาต
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ขอพวกเราจงเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรเถิด แม้พวกเราก็จัก
ได้เห็นรูปที่น่าพอใจทางตาตามกาลอันควร จักได้ฟังเสียงที่น่าพอใจทางหูตามกาล
อันควร จักได้ดมกลิ่นที่น่าพอใจทางจมูกตามกาลอันควร จักได้ลิ้มรสที่น่าพอใจทาง
ลิ้นตามกาลอันควร จักได้ถูกต้องผัสสะที่น่าพอใจทางกายตามกาลอันควร พวกเรา
เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมขณะเที่ยวไปบิณฑบาต
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันตรากถานี้แลที่ข้าพระองค์ทั้งหลายพูดค้างไว้ พอดีพระผู้มี
พระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายเป็นกุลบุตรมีศรัทธา
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้วพากันสนทนาเรื่องอย่างนี้นั้น ไม่สมควรเลย
เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันแล้วควรทำกิจเพียง ๒ อย่าง คือ การกล่าวธรรม หรือ
ความเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๙. สิปปสูตร
พุทธอุทาน
เทวดาทั้งหลายย่อมเคารพรักภิกษุ
ผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้เลี้ยงตน ไม่เลี้ยงคนอื่น
ผู้คงที่ หากภิกษุไม่อาศัยเสียงสรรเสริญ๑
ปิณฑปาติกสูตรที่ ๘ จบ

๙. สิปปสูตร
ว่าด้วยการสนทนาเรื่องศิลปะ
[๒๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากกลับจากบิณฑบาตหลังจากฉัน
อาหารเสร็จแล้ว มานั่งประชุมพร้อมกันในมณฑป ได้สนทนาอันตรากถาขึ้นว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ใครรู้จักศิลปะบ้าง ใครศึกษาศิลปะอะไรมาบ้าง ศิลปะชนิด
ไหนเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย”
บรรดาภิกษุเหล่านั้น บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยช้างเลิศกว่าศิลปะ
ทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยม้าเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย” บางพวก
กล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยรถเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะ
ว่าด้วยธนูเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยอาวุธ๒เลิศกว่า
ศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีนับนิ้วเลิศกว่า

เชิงอรรถ :
๑ ไม่อาศัยเสียงสรรเสริญ หมายถึงไม่ต้องการเสียงสรรเสริญ หรือการยกย่องจากคนอื่นว่า พระคุณเจ้ารูปนี้
มีความมักน้อย สันโดษ มีความประพฤติขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง (ขุ.อุ.อ. ๒๘/๒๑๕)
๒ แปลจากคำว่า “ถรุสิปฺปํ” หมายถึงอาวุธอื่น ๆ จากธนู (ขุ.อุ.อ. ๒๙/๒๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๙. สิปปสูตร
ศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีคิดในใจเลิศกว่า
ศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีอนุมานด้วย
สายตาเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยการวาดเขียน
เลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยฉันทลักษณ์เลิศกว่า
ศิลปะทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยโลกายตศาสตร์๑เลิศกว่าศิลปะ
ทั้งหลาย” บางพวกกล่าวว่า “ศิลปะว่าด้วยวิชากฎหมายเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นได้สนทนาอันตรากถากันค้างไว้เพียงเท่านี้
ครั้งนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไป
ยังมณฑป ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ พระผู้มีพระภาคครั้นประทับนั่งแล้ว
รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ เธอทั้งหลายสนทนากัน
ด้วยเรื่องอะไร และพูดเรื่องอะไรค้างไว้”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ข้าพระองค์ทั้งหลาย กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว มานั่งประชุม
พร้อมกันในมณฑป ได้สนทนาอันตรากถาขึ้นว่า ‘ท่านทั้งหลาย ใครรู้จักศิลปะบ้าง
ใครศึกษาศิลปะอะไรมาบ้าง ศิลปะชนิดไหนเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บรรดาพวก
ข้าพระองค์นั้น บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยช้างเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวก
กล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยม้าเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วย
รถเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยธนูเลิศกว่าศิลปะ
ทั้งหลาย’ บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยอาวุธเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวก
กล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีนับนิ้วเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวก
กล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีคิดในใจเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวก
กล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยการคำนวณด้วยวิธีอนุมานด้วยสายตาเลิศกว่าศิลปะ
ทั้งหลาย’ บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยการวาดเขียนเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’

เชิงอรรถ :
๑ โลกายตศาสตร์ ในที่นี้หมายถึงวิตัณฑวาทศาสตร์ คือศิลปะแห่งการเอาชนะผู้อื่นในเชิงวาทศิลป์ โดยการ
อ้างทฤษฎีและประเพณีทางสังคมมาหักล้างสัจธรรม มุ่งแสดงให้เห็นว่าตนฉลาดกว่า มิได้มุ่งสัจธรรมแต่
อย่างใด (ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒,ขุ.อุ.อ. ๒๙/๒๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๙. สิปปสูตร
บางพวกกล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยฉันทลักษณ์เลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวก
กล่าวว่า ‘ศิลปะว่าด้วยโลกายตศาสตร์เลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ บางพวกกล่าวว่า
‘ศิลปะว่าด้วยวิชากฎหมายเลิศกว่าศิลปะทั้งหลาย’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันตรากถา
นี้แล ที่ข้าพระองค์ทั้งหลายพูดค้างไว้ พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายเป็นกุลบุตรมี
ศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้วพากันสนทนาเรื่องอย่างนี้ ไม่สมควรเลย
เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันแล้วควรทำกิจเพียง ๒ อย่าง คือ การกล่าวธรรม หรือ
ความเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้ใดไม่อาศัยศิลปะเลี้ยงชีพ เป็นอยู่เรียบง่าย
มุ่งบำเพ็ญประโยชน์ สำรวมอินทรีย์
หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง๑
ไม่ต้องแล่นไปในโอกะ๒ ไม่มีการยึดถือว่าของเรา
ไม่มีความหวัง กำจัดมารได้แล้ว เที่ยวไปผู้เดียว
ผู้นั้นชื่อว่า ภิกษุ
สิปปสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง หมายถึงหลุดพ้นจากภพเป็นต้น เพราะละสังโยชน์ทั้งหลายได้ด้วยอริยมรรค
๔ ประการ (ขุ.อุ.อ. ๒๙/๒๑๗)
๒ ไม่ต้องแล่นไปในโอกะ หมายถึงไม่ต้องแล่นไปในอำนาจของอายตนะทั้ง ๖ ที่เรียกว่า “โอกะ” เพราะไม่
มีธรรมเครื่องแล่นไปคือตัณหา (ขุ.อุ.อ. ๒๙/๒๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] ๑๐. โลกสูตร
๑๐. โลกสูตร
ว่าด้วยสัตว์โลก
[๓๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน
ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากสมาธินั้นแล้ว ทรงตรวจดู
สัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทอดพระเนตรเห็นหมู่สัตว์กำลังเดือดร้อนด้วยความทุกข์
มากมาย และถูกความเร่าร้อนหลากหลายที่เกิดจากราคะบ้าง เกิดจากโทสะบ้าง
เกิดจากโมหะบ้างรุมแผดเผาอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
สัตว์โลกนี้เกิดความเร่าร้อน ถูกทุกขเวทนากระทบแล้ว
กล่าวทุกขเวทนาว่าเป็นของตน
เพราะสัตว์โลกนี้สำคัญสิ่งใดว่าเที่ยง สิ่งนั้นกลับเป็นอย่างอื่น
สัตว์โลกมีภาวะไม่มั่นคง ติดอยู่ในภพ
หมกมุ่นอยู่ในภพ เพลิดเพลินอยู่ในภพ
ภพที่สัตว์โลกเพลิดเพลินจัดเป็นภัย
ภัยที่สัตว์โลกกลัว จัดเป็นทุกข์
บุคคลต้องบำเพ็ญพรหมจรรย์๑นี้เท่านั้น เพื่อละภพให้ได้
สมณะ หรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งกล่าวถึงความหลุดพ้นจากภพด้วย
ภพ๒เราถือว่าสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดหาได้หลุดพ้นจากภพทั้งปวงไม่

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงมัคคพรหมจรรย์ (ขุ.อุ.อ. ๓๐/๒๒๒,๔๒/๒๙๘)
๒ หมายถึงสมณะหรือพราหมณ์บางพวกถือว่า ความหลุดพ้นจากภพคือความบริสุทธิ์จากสังสารวัฏ จะมีได้ก็
ด้วยกามภพหรือรูปภพ (ขุ.อุ.อ. ๓๐/๒๒๓-๒๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๓. นันทวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
อนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวถึงการออกจากภพด้วยวิภพ๑
เราถือว่าสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดหาได้ออกจากภพไม่
เพราะอาศัยอุปธิ๒ทั้งปวง ทุกข์นี้จึงเกิดมีขึ้น เพราะอุปาทานทั้งหมดสิ้นไป
ทุกข์จึงไม่เกิด ท่านจงดูสัตว์โลกนี้ สัตว์เป็นจำนวนมากถูกอวิชชาครอบงำ หรือ
มัวหลงติดใจในสัตว์ด้วยกัน จึงหลุดพ้นไปจากภพไม่ได้ ความจริง ภพอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทุกชั้นล้วนแต่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา
บุคคลเมื่อรู้เห็นเบญจขันธ์คือภพนี้
ตามความเป็นจริงอย่างถ่องแท้ ด้วยปัญญาอันชอบ
ย่อมละภวตัณหาได้ ทั้งไม่ยินดีวิภวตัณหา
เพราะตัณหาทั้งหลายสิ้นไปโดยประการทั้งปวง
ความดับกิเลสไม่เหลือด้วยวิราคะ คือนิพพานจึงมี
เพราะไม่มีความยึดมั่น ภิกษุผู้นิพพานแล้ว จึงไม่มีภพใหม่
ภิกษุนั้นได้ชื่อว่าครอบงำมารได้ ชนะสงครามได้
ก้าวล่วงภพทั้งปวงได้ เป็นผู้คงที่ ฉะนี้
โลกสูตรที่ ๑๐ จบ
นันทวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กัมมวิปากชสูตร ๒. นันทสูตร
๓. ยโสชสูตร ๔. สารีปุตตสูตร
๕. มหาโมคคัลลานสูตร ๖. ปิลินทวัจฉสูตร
๗. สักกุทานสูตร ๘. ปิณฑปาติกสูตร
๙. สิปปสูตร ๑๐. โลกสูตร


เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงสมณะหรือพราหมณ์บางพวกถือว่าความหลุดพ้นจากภพจะมีได้ก็ด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. ๓๐/๒๒๔)
๒ อุปธิ หมายถึงขันธ์ กิเลส และอภิสังขาร (ขุ.อุ.อ. ๓๐/๒๒๕-๒๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
๔. เมฆิยวรรค
หมวดว่าด้วยพระเมฆิยเถระ
๑. เมฆิยสูตร๑
ว่าด้วยพระเมฆิยเถระ๒
[๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพต เขตเมืองจาลิกา
สมัยนั้น ท่านพระเมฆิยะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ครั้งนั้นแล ท่านพระ
เมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะ
เข้าไปยังชันตุคามเพื่อบิณฑบาต”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เมฆิยะ จงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ท่านพระเมฆิยะครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไป
ยังชันตุคามเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เดินไป
ตามฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ขณะที่เที่ยวเดินพักผ่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬานั้น ได้เห็น
ป่ามะม่วงที่งดงาม น่ารื่นรมย์ จึงมีความคิดดังนี้ว่า “ป่ามะม่วงนี้ช่างงดงาม
น่ารื่นรมย์จริง เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรสำหรับกุลบุตรผู้ต้องการบำเพ็ญเพียร
โดยแท้ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตเรา เราจะกลับมาบำเพ็ญเพียรในป่า
มะม่วงนี้”
ต่อมา ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอประทานวโรกาส เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๓/๔๓๐-๔๓๔
๒ พระเมฆิยเถระ เป็นพระอุปัฏฐากรูปหนึ่งของพระผู้มีพระภาค ในต้นพุทธกาล(๒๐ พรรษาแรก) พระผู้มี
พระภาคไม่มีพระอุปัฏฐากประจำ บางคราวได้พระนาคสมาละ บางคราวได้พระนาคิตะ บางคราวได้พระ-
อุปวาหนะ บางคราวได้พระสุนักขัตตะ บางคราวได้พระสาคตะ บางคราวได้สามเณรจุนทะ (ขุ.อุ.อ. ๓๑/๒๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
เข้าไปยังชันตุคามเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว
เดินไปตามฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ขณะที่เที่ยวเดินพักผ่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬานั้น
ได้เห็นป่ามะม่วงที่งดงาม น่ารื่นรมย์ จึงมีความคิดดังนี้ว่า ‘ป่ามะม่วงนี้ช่างงดงาม
น่ารื่นรมย์จริง เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรสำหรับกุลบุตรผู้ต้องการบำเพ็ญเพียร
โดยแท้ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตเรา เราจะกลับมาบำเพ็ญเพียรในป่ามะม่วงนี้’
ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะกลับไปบำเพ็ญเพียรในป่า
มะม่วงนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อท่านพระเมฆิยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านดังนี้ว่า
“เมฆิยะ เราอยู่คนเดียว เธอจงรอจนกว่าภิกษุรูปอื่นจะมา๑”
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระเมฆิยะกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก๒ ทั้งไม่มีการสั่งสม
กิจที่ทำแล้ว๓ ส่วนข้าพระองค์ยังมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งยังต้องสั่งสมกิจที่
ทำแล้ว ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะกลับไปบำเพ็ญ
เพียรในป่ามะม่วงนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เมฆิยะ เราอยู่คนเดียว เธอจงรอจนกว่าภิกษุรูปอื่นจะมา”
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระเมฆิยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งไม่มีการสั่งสมกิจ
ที่ทำแล้ว ส่วนข้าพระองค์ยังมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งยังต้องสั่งสมกิจ

เชิงอรรถ :
๑ นัยว่า พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ ก็ด้วยพระประสงค์ที่จะประวิงเวลารอให้จิตของท่านพระเมฆิยะอ่อนโยน
เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร (องฺ.นวก.อ. ๓/๓/๒๘๗)
๒ ไม่มีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ในที่นี้หมายถึงไม่มีกิจ ๔ อย่างในอริยสัจ ๔ ประการ ดูเชิงอรรถที่ ๑
หน้า ๒๑๓ ประกอบ
๓ ไม่มีการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ในที่นี้หมายถึงไม่ต้องเพิ่มพูนกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่เคยทำมาก่อน หรือ
อีกนัยหนึ่ง หมายถึงไม่ต้องเจริญมรรคที่เจริญได้แล้ว และไม่ต้องละกิเลสที่ละได้แล้วอีก (ขุ.เถร.อ. ๖๔๔/
๒๖๒, องฺ.นวก.อ. ๓/๓/๒๘๗) และดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๕/๕๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
ที่ทำแล้ว ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะกลับไปบำเพ็ญ
เพียรในป่ามะม่วงนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “เมฆิยะ เมื่อเธอพูดว่า ‘จะไปบำเพ็ญเพียร’ เราจะ
พึงว่าอะไร เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ลำดับนั้น ท่านพระเมฆิยะลุกจากที่นั่งถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ
แล้วเข้าไปยังป่ามะม่วงนั้น อาศัยป่ามะม่วงนั้นนั่งพักกลางวันอยู่ ณ โคนไม้มะม่วง
ต้นหนึ่ง เมื่อท่านพักอยู่ในป่ามะม่วงนั้น บาปอกุศลวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก
(ความตรึกในทางกาม) พยาบาทวิตก(ความตรึกในทางพยาบาท) วิหิงสาวิตก
(ความตรึกในทางเบียดเบียน) เกิดขึ้นโดยมาก
ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะได้มีความคิดดังนี้ว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาแท้ ๆ แต่กระนั้นก็ยังถูกบาป
อกุศลวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกรุมเร้าจิตได้”
ครั้งนั้น ในเวลาเย็น ท่านพระเมฆิยะก็ออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เมื่อข้าพระองค์
พักอยู่ในป่ามะม่วงนั้น บาปอกุศลวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก
วิหิงสาวิตก เกิดขึ้นโดยมาก ข้าพระองค์จึงมีความคิดดังนี้ว่า ‘น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาแท้ ๆ แต่กระนั้น ก็ยังถูก
บาปอกุศลวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกรุมเร้าจิตได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เมฆิยะ ธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความ
แก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๑ ที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์
เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๒
ที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ได้กถาเป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่ง๑ ที่เป็น
สัปปายะแห่งความเป็นไปของจิต เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายอย่างเดียว
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพี่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อ
นิพพาน คือ อัปปิจฉกถา(เรื่องความมักน้อย) สันตุฏฐิกถา(เรื่อง
ความสันโดษ) ปวิเวกกถา(เรื่องความสงัด) อสังสัคคกถา(เรื่อง
ความไม่คลุกคลี) วิริยารัมภกถา(เรื่องการปรารภความเพียร)
สีลกถา(เรื่องศีล) สมาธิกถา(เรื่องสมาธิ) ปัญญากถา(เรื่องปัญญา)
วิมุตติกถา(เรื่องวิมุตติ) วิมุตติญาณทัสสนกถา(เรื่องความรู้ความ
เห็นในวิมุตติ) ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่
ยังไม่แก่กล้า
๔. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อ
ให้กุศลธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระ
ในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ที่เป็นไปเพื่อความ
แก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
๕. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็น
เครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรก
กิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมประการที่ ๕ ที่เป็นไป
เพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๙๐/๑๖๐-๑๖๑, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๖๙/๑๕๒, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๕/๒๕๗-๒๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
เมฆิยะ ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติ
ที่ยังไม่แก่กล้า
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้มีศีล สำรวม
ด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษ
แม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้ได้กถา
เป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่งที่เป็นสัปปายะแห่งความเป็นไปของจิต เป็นไปเพื่อความ
เบื่อหน่ายอย่างเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา
สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ตามความ
ปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้ปรารภความ
เพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง
ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้มีปัญญา
คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ
ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เมฆิยะ ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึงเจริญธรรม ๔ ประการ
ให้ยิ่งขึ้นไปอีก คือ
๑. พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ
๒. พึงเจริญเมตตาเพื่อละพยาบาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑. เมฆิยสูตร
๓. พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก
๔. พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อถอนอัสมิมานะ๑
เมฆิยะ อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ภิกษุผู้ได้อนัตตสัญญา
ย่อมบรรลุนิพพานที่ถอนอัสมิมานะได้ในปัจจุบัน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๒
วิตกที่หยาบ๓และวิตกที่ละเอียด๔
เป็นไปแล้ว ทำใจให้ฟุ้งซ่าน
บุคคลผู้มีจิตสับสน ไม่รู้วิตกแห่งใจเหล่านี้
ย่อมแล่นไปสู่ภพน้อยภพใหญ่
ส่วนผู้ที่เพียรระวัง มีสติอยู่เสมอ
รู้เท่าทันวิตกที่เกิดแก่จิตเหล่านี้ ย่อมสำรวมระวัง
บุคคลผู้ตรัสรู้แล้วเท่านั้น
ย่อมละวิตกที่เป็นไปแล้วทำใจให้ฟุ้งซ่านได้โดยไม่เหลือ
เมฆิยสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อัสมิมานะ หมายถึงมานะ ๙ ประการ (องฺ.นวก.อ. ๓/๑/๒๘๖) และดู องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๑/๔๒๘, ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๑๗๘/๕๐๘, อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๒๓๙/๓๑๔, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๘๓๒/๕๓๖ ประกอบ
๒ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงโทษแห่งการไม่บรรเทา และอานิสงส์แห่งการบรรเทากามวิตก เป็นต้น (ขุ.อุ.อ.
๓๑/๒๕๒)
๓ วิตกที่หยาบ หมายถึงอกุศลวิตก มี ๓ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก (ขุ.อุ.อ. ๓๑/๒๕๒)
๔ วิตกที่ละเอียด หมายถึงญาติวิตก(ความตรึกถึงญาติ) ชนปทวิตก(ความตรึกถึงชนบท) อมราวิตก(ความ
ตรึกถึงเทพเจ้า) เป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๓๑/๒๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๒. อุทธตสูตร
๒. อุทธตสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
[๓๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าสาลวัน ซึ่งเป็นทางเข้ากรุง
กุสินาราของพวกเจ้ามัลละ สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล
ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง
ไม่สำรวมอินทรีย์อยู่ ณ กระท่อมในป่า ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล
ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง
ไม่สำรวมอินทรีย์อยู่ ณ กระท่อมในป่า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๑
ภิกษุผู้ไม่รักษากาย๒ มีความเห็นผิด
ถูกถีนมิทธะ๓ครอบงำ ย่อมไปสู่อำนาจมาร๔
เพราะฉะนั้น ภิกษุควรรักษาจิต๕
มีความดำริชอบเป็นอารมณ์
มุ่งความเห็นถูกต้องเป็นสำคัญ
รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของเบญจขันธ์
ครอบงำถีนมิทธะได้ ก็สามารถละทุคติได้ทั้งหมด
อุทธตสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงโทษในการอยู่ด้วยความประมาท และอานิสงส์ในการอยู่ด้วยความไม่
ประมาทตามลำดับ (ขุ.อุ.อ. ๓๒/๒๕๔)
๒ ผู้ไม่รักษากาย หมายถึงผู้ไม่ใช้สติคุ้มครองป้องกันกายวิญญาณ ๖ (ขุ.อุ.อ. ๓๒/๒๕๔)
๓ ถีนมิทธะ หมายถึงความที่จิตหดหู่และเซื่องซึม (ขุ.อุ.อ. ๓๒/๒๕๔)
๔ มาร หมายถึงกิเลสมาร เป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๓๒/๒๕๕)
๕ รักษาจิต หมายถึงปิดกั้นอินทรีย์มีมนินทรีย์เป็นที่ ๖ ด้วยสติสังวร (ขุ.อุ.อ. ๓๒/๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๓. โคปาลกสูตร
๓. โคปาลกสูตร
ว่าด้วยนายโคบาล
[๓๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จแวะลงข้างทาง เข้าไป ณ ควงไม้ต้นหนึ่ง
แล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ลำดับนั้น นายโคบาลคนหนึ่ง ได้เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคทรง
ชี้แจงให้นายโคบาลนั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
นายโคบาลนั้น ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยาก
รับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ
ผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด
พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี นายโคบาลนั้น
ทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่งถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป
ครั้นคืนนั้นผ่านไป นายโคบาลนั้นสั่งให้คนจัดข้าวปายาสมีน้ำน้อยและเนยใสใหม่
อย่างเพียงพอไว้ในนิเวศน์ของตนแล้วส่งคนไปกราบทูลภัตกาลว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า” ขณะนั้น ในเวลาเช้า
พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังบ้านของ
นายโคบาลนั้นพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ นายโคบาล
ได้นำข้าวปายาสมีน้ำน้อยและเนยใสใหม่ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
ให้อิ่มหนำสำราญด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์แล้ว
นายโคบาลจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจง
ให้เขาเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ
ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๔. ยักขปหารสูตร
หลังจากพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ชายคนหนึ่งได้ทำร้ายนายโคบาล
นั้นจนเสียชีวิต ในระหว่างเขตบ้าน
ต่อมา ภิกษุจำนวนมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ทราบว่า นายโคบาลผู้นำข้าวปายาสและเนยใสใหม่ ประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธานให้อิ่มหนำสำราญด้วยตนเอง ในวันนี้นั้น ได้ถูกชายคนหนึ่ง
ทำร้ายจนเสียชีวิตในระหว่างเขตบ้าน พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
จิตที่ตั้งไว้ผิดพึงทำให้ได้รับความเสียหาย
ยิ่งกว่าความเสียหายที่โจรเห็นโจร
หรือผู้จองเวรเห็นผู้จองเวร จะพึงทำให้แก่กัน๑
โคปาลกสูตรที่ ๓ จบ

๔. ยักขปหารสูตร
ว่าด้วยยักษ์ตีศีรษะพระสารีบุตรเถระ
[๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะอยู่ที่
กโปตกันทราวิหาร๒ ในคืนเดือนเพ็ญ ท่านพระสารีบุตรปลงผมใหม่ ๆ นั่งเข้าสมาธิ
อยู่ในที่แจ้ง

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๔๒ หน้า ๓๙ ในเล่มนี้
๒ กโปตกันทราวิหาร หมายถึงวิหารสร้างใกล้ซอกเขาซึ่งเป็นที่อาศัยอยู่ของนกพิราบ (ขุ.อุ.อ. ๓๔/๒๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๔. ยักขปหารสูตร
ขณะนั้นมียักษ์ ๒ ตนเป็นสหายกัน เดินทางจากทิศเหนือไปทางทิศใต้เพื่อ
ทำกิจที่จะต้องทำบางอย่าง ยักษ์ทั้งสองนั้นได้เห็นท่านพระสารีบุตรปลงผมใหม่ ๆ
นั่งเข้าสมาธิอยู่ในที่แจ้ง ยักษ์ตนหนึ่งได้กล่าวกับยักษ์อีกตนหนึ่งว่า “สหาย เราคิด
อยากตีศีรษะสมณะรูปนี้” เมื่อยักษ์ตนนั้นกล่าวอย่างนี้ ยักษ์ตนหนึ่งจึงกล่าวดังนี้ว่า
“อย่าเลยสหาย ท่านอย่าทำร้ายสมณะเลย สมณะรูปนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมาก”
แม้ครั้งที่ ๒ ยักษ์ตนนั้นได้กล่าวกับยักษ์ตนหนึ่งดังนี้ว่า “สหาย เราคิดอยากตี
ศีรษะสมณะรูปนี้”
ยักษ์ตนหนึ่งได้กล่าวกับยักษ์ตนนั้นดังนี้ว่า “อย่าเลยสหาย ท่านอย่าทำร้าย
สมณะเลย สมณะรูปนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก”
แม้ครั้งที่ ๓ ยักษ์ตนนั้นได้กล่าวกับยักษ์ตนหนึ่งดังนี้ว่า “สหาย เราคิดอยากตี
ศีรษะสมณะรูปนี้”
ยักษ์ตนหนึ่งก็ได้กล่าวกับยักษ์ตนนั้นดังนี้ว่า “อย่าเลยสหาย ท่านอย่าทำร้าย
สมณะเลย สมณะรูปนั้นมีคุณยิ่ง มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก”
ครั้งนั้น ยักษ์นั้นไม่เชื่อยักษ์ผู้เป็นสหาย จึงได้ตีศีรษะท่านพระสารีบุตรเถระ
เป็นการตีอย่างรุนแรง การตีเช่นนั้น สามารถทำให้ช้างสูง ๗-๘ ศอกจมดินได้
หรือสามารถทำลายยอดภูเขามหึมาให้ทลายลงได้ และทันใดนั้นเอง ยักษ์ตนนั้นได้
ร้องว่า “โอย ร้อนเหลือเกิน” แล้วล้มตกไปสู่มหานรก ณ ที่นั้นเอง
ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นยักษ์ตนนั้นตีศีรษะท่านพระสารีบุตร ด้วย
ตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ จึงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรแล้วได้กล่าวกับท่าน
พระสารีบุตรดังนี้ว่า “ท่านสารีบุตร ท่านยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ไม่มี
ทุกข์อะไรหรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านโมคคัลลานะ ผมสบายดี พอเป็นอยู่ได้
เพียงแต่เจ็บที่ศีรษะนิดหน่อย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๔. ยักขปหารสูตร
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ท่าน
สารีบุตร ท่านมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง ยักษ์ตนหนึ่งได้ตีศีรษะท่านในที่นี้
เป็นการตีอย่างรุนแรง การตีเช่นนี้สามารถทำให้ช้างสูง ๗-๘ ศอกจมดินได้ หรือ
สามารถทำลายยอดภูเขามหึมาให้ทลายลงได้ แต่กระนั้น ท่านก็ยังกล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านโมคคัลลานะ ผมสบายดี พอเป็นอยู่ได้ เพียงแต่เจ็บที่ศีรษะนิดหน่อย”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ท่านโมคคัลลานะ
ท่านมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง เห็นแม้กระทั่งยักษ์ ส่วนผมขณะนี้ แม้แต่ปีศาจ
คลุกฝุ่นสักตนก็ยังไม่เห็น”
พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับเสียงสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ของพระอัครสาวก
ทั้ง ๒ รูปนั้นด้วยพระโสตทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
จิตของใครตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ดุจภูเขา
ไม่กำหนัดในอารมณ์อันชวนให้กำหนัด
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันชวนให้ขัดเคือง
ผู้ใด อบรมจิตได้อย่างนี้
ทุกข์จะมาถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน๑
ยักขปหารสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๙๑/๓๖๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๕. นาคสูตร
๕. นาคสูตร
ว่าด้วยพญาช้างปรนนิบัติพระพุทธเจ้า
[๓๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี สมัยนั้น
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงดำริอย่างนี้ว่า “เวลานี้
เราอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์
ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ เราอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก ทางที่ดี
เราควรปลีกตัวจากหมู่อยู่ผู้เดียว”
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงโกสัมพี เสด็จกลับจากบิณฑบาต หลังจากเสวยพระ
กระยาหารเสร็จแล้วทรงเก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง ไม่ตรัส
บอกพระอุปัฏฐาก ไม่ตรัสบอกภิกษุสงฆ์ พระองค์เดียว ไม่มีเพื่อน เสด็จจาริกไป
ทางป่าปาลิไลยกะเสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงป่าปาลิไลยกะ ทราบว่า พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ที่ควงไม้รัง ในราวป่ารักขิตวัน เขตป่าปาลิไลยกะนั้น
สมัยนั้น พญาช้างตัวหนึ่งอยู่คลุกคลีกับพวกช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่
ลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน ถูกช้างเหล่านั้นกินกิ่งไม้ที่ตนหักลงมากองไว้ ได้ดื่ม
แต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อพญาช้างนั้นเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป
พญาช้างอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก พญาช้างนั้นจึงมีความคิดดังนี้ว่า “เวลานี้
เราอยู่คลุกคลีกับพวกช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน
ถูกช้างเหล่านั้นกินกิ่งไม้ที่เราหักลงมากองไว้ ได้ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราเดินลงหรือ
ขึ้นจากท่าน้ำ ช่างพังก็เดินเสียดสีกายไป เราอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก ทางที่ดี
เราควรหลีกออกจากโขลงไปอยู่ผู้เดียว”
ครั้นแล้ว พญาช้างนั้นก็ได้หลีกออกจากโขลง เดินไปทางเขตป่าปาลิไลยกะ
ราวป่ารักขิตวัน ณ ควงไม้รัง เข้าไปหาพระผู้มีพระภาค ทราบว่า พญาช้างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๕. นาคสูตร
ปรับพื้นที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ให้ปราศจากของเขียวสด และใช้งวงตักน้ำดื่ม
น้ำใช้เข้าไปตั้งไว้เพื่อพระผู้มีพระภาค ณ ที่นั้น
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงดำริอย่างนี้ว่า
“เมื่อก่อน เราอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา
มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ เราอยู่คลุกคลี ลำบาก
ไม่ผาสุก เวลานี้ เรานั้นไม่คลุกคลีอยู่กับพวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ เราไม่คลุกคลี
จึงอยู่ผาสุกดี”
พญาช้างนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อน เราอยู่คลุกคลีกับพวกช้างพลาย
ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก กินหญ้ายอดด้วน ส่วนกิ่งไม้ที่เราหักลงมากองไว้
ช้างเหล่านั้นก็กินหมด ได้ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพัง
ก็เดินเสียดสีกายไป เราอยู่คลุกคลี ลำบาก ไม่ผาสุก เวลานี้ เรานั้นไม่คลุกคลีอยู่
กับพวกช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ ลูกช้างเล็ก ไม่กินหญ้ายอดด้วน ไม่ถูกช้าง
กินกิ่งไม้ที่เราหักลงมา ไม่ดื่มแต่น้ำขุ่น ๆ เมื่อเราเดินลงหรือขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพัง
ไม่เดินเสียดสีกายไป เราไม่คลุกคลี จึงอยู่ผาสุกดี”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความสงัดพระวรกายของพระองค์ และ
ทรงทราบความคิดของพญาช้างนั้นด้วยพระทัยแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
จิตของพญาช้างผู้มีงางามดุจงอนรถนั้น
ย่อมเสมอกับจิตของพระพุทธเจ้า
เพราะอยู่ผู้เดียวยินดีในป่าเหมือนกัน๑
นาคสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๔๖๗/๓๖๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๖. ปิณโฑลสูตร
๖. ปิณโฑลสูตร
ว่าด้วยพระปิณโฑลภารทวาชเถระ
[๓๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะผู้ถือการ
อยู่ป่าเป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
ถือการนุ่งห่มไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลี
ด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร เป็นผู้กำจัดกิเลส และกล่าวถึงแต่เรื่องกำจัดกิเลส
หมั่นประกอบอธิจิต นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระปิณโฑลภารทวาชะผู้ถือการอยู่ป่า
เป็นวัตร ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือการ
นุ่งห่มผ้าไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วย
หมู่คณะ ปรารภความเพียร เป็นผู้กำจัดกิเลส และกล่าวถึงแต่เรื่องกำจัดกิเลส
หมั่นประกอบอธิจิต นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ความสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
การประกอบความเพียรในอธิจิต
นี้คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย๑
ปิณโฑลสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๑๘๕ หน้า ๙๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๗. สารีปุตตสูตร
๗. สารีปุตตสูตร
ว่าด้วยพระสารีบุตรเถระ
[๓๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรผู้มีความปรารถนาน้อย สันโดษ
ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร หมั่นประกอบอธิจิต นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง อยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรผู้มีความปรารถนาน้อย
สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร หมั่นประกอบอธิจิต
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้มีจิตมั่นคง๑ ไม่ประมาท เป็นมุนี๒
ศึกษาทางแห่งความเป็นมุนี๓
ผู้คงที่ สงบ มีสติทุกขณะ
ย่อมเป็นผู้ไม่เศร้าโศก๔
สารีปุตตสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มีจิตมั่นคง ในที่นี้หมายถึงประกอบด้วยอรหัตตผลจิตที่ยอดเยี่ยมกว่าจิตทั้งปวง (ขุ.อุ.อ. ๓๗/๒๗๒)
๒ มุนี ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพที่ประกอบด้วยอรหัตตผลญาณที่เรียกว่า โมนะ (ขุ.อุ.อ. ๓๗/๒๗๒)
๓ ทางแห่งความเป็นมุนี หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ขุ.อุ.อ. ๓๗/๒๗๒)
๔ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๘/๓๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๘. สุนทรีสูตร
๘. สุนทรีสูตร
ว่าด้วยนางสุนทรีปริพาชิกา
[๓๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่มหาชนสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย-
เภสัชบริขาร แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนพวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชกเป็นผู้ที่มหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่นอบน้อม
ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ครั้งนั้น พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกทนเห็นสักการะเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค
และภิกษุสงฆ์ไม่ได้ จึงพากันไปหานางสุนทรีปริพาชิกาถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับนางสุนทรี
ปริพาชิกาดังนี้ว่า “น้องหญิง เธอสามารถจะทำประโยชน์แก่พวกญาติได้ไหม”
นางถามว่า “ท่านเจ้าข้า จะให้ดิฉันทำอะไร ดิฉันสามารถทำได้ เพื่อประโยชน์แก่
พวกญาติ แม้ชีวิตดิฉันก็สละให้ได้”
พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกจึงกล่าวว่า “ดีละ น้องหญิง ถ้าอย่างนั้น เธอจง
ไปพระเชตวันเนือง ๆ” นางสุนทรีปริพาชิการับคำของอัญเดียรถีย์ปริพาชกแล้วไป
พระเชตวันเนือง ๆ
เมื่อพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นรู้ว่า คนจำนวนมากเห็นนางสุนทรี
ปริพาชิกาไปพระเชตวันเนือง ๆ จึงได้จ้างนักเลงให้ฆ่านาง แล้วหมกไว้ในคูรอบ
พระเชตวันนั่นเอง จากนั้นได้พากันเข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลถึงที่ประทับ
ได้กราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลดังนี้ว่า “ขอเดชะ มหาบพิตร อาตมภาพทั้งหลาย
ไม่เห็นนางสุนทรีปริพาชิกาเลย”
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า “พระคุณเจ้าทั้งหลายสงสัยที่ไหนเล่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๘. สุนทรีสูตร
พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกทูลตอบว่า “ที่พระเชตวัน มหาบพิตร”
พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งว่า “ถ้าอย่างนั้น พระคุณเจ้าทั้งหลายจงค้นพระเชตวัน
ดูเถิด”
ลำดับนั้น อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นจึงค้นพระเชตวันแล้วขุดศพนาง
สุนทรีปริพาชิกาตามที่ตนสั่งให้หมกไว้ขึ้นจากคู ยกขึ้นเตียงแล้วให้หามเข้าไปยัง
กรุงสาวัตถี เดินจากถนนนี้ไปถนนโน้น จากตรอกนี้ไปตรอกโน้น พร้อมกับให้
คนทั้งหลายโพนทนาว่า
“ท่านทั้งหลาย เชิญดูการกระทำของพวกพระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเถิด
พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ไม่มียางอาย ทุศีล มีธรรมเลวทราม กล่าวเท็จ
ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ความจริง พระเหล่านี้ถึงจะปฏิญญาว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม
ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่พระ
เหล่านี้ไม่มีความเป็นสมณะ ไม่มีความเป็นพรหม๑ ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้
เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นสมณะ
ของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน พระ
เหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะ พระเหล่านี้ปราศจากความเป็นพรหมแล้ว ทำไม
เป็นชายจึงข่มขืนผู้หญิงแล้วฆ่าเสียเล่า”
สมัยนั้น คนทั้งหลายในกรุงสาวัตถีเห็นภิกษุทั้งหลายแล้วด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด
เบียดเบียนด้วยวาจาหยาบคายที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตร
เหล่านี้ ไม่มียางอาย ทุศีล มีธรรมเลวทราม กล่าวเท็จ ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
ความจริง พระเหล่านี้ถึงจะปฏิญญาว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติ
พรหมจรรย์ กล่าวคำจริง มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่พระเหล่านี้ก็ไม่มีความเป็น
สมณะ ไม่มีความเป็นพรหม ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว
ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้

เชิงอรรถ :
๑ ความเป็นพรหม ในที่นี้หมายถึงความเป็นผู้ประเสริฐ ความเป็นผู้มีบาปอันลอยแล้ว (ขุ.อุ.อ.๓๘/๒๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๘. สุนทรีสูตร
จะมีแต่ที่ไหน ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน พระเหล่านี้ปราศจาก
ความเป็นสมณะ พระเหล่านี้ปราศจากความเป็นพรหมแล้ว ทำไม เป็นชายจึงข่มขืน
ผู้หญิงแล้วฆ่าเสียเล่า”
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขณะนี้ คนทั้งหลายในกรุงสาวัตถี
เห็นภิกษุทั้งหลายแล้วด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจาหยาบคาย
ที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษว่า ‘พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ไม่มียางอาย ทุศีล
มีธรรมเลวทราม กล่าวเท็จ ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ความจริง พระเหล่านี้ถึงจะ
ปฏิญญาว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำจริง
มีศีล มีกัลยาณธรรม แต่พระเหล่านี้ก็ไม่มีความเป็นสมณะ ไม่มีความเป็นพรหม
ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปแล้ว ความเป็นพรหมของพระเหล่านี้เสื่อม
สิ้นไปแล้ว ความเป็นสมณะของพระเหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน ความเป็นพรหมของพระ
เหล่านี้จะมีแต่ที่ไหน พระเหล่านี้ปราศจากความเป็นสมณะ พระเหล่านี้ปราศจาก
ความเป็นพรหมแล้ว ทำไม เป็นชายจึงข่มขืนผู้หญิงแล้วฆ่าเสียเล่า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เสียง(โจษ)นั้นจักมีไม่นาน จักมี
เพียง ๗ วันเท่านั้น ครั้นพ้น ๗ วันก็จักหายไป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงกล่าวตอบกับคนทั้งหลายที่เห็นภิกษุแล้วด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียน
ด้วยวาจาหยาบคายที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษ ด้วยคาถานี้ว่า
คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
“ฉันไม่ได้ทำ” ต่างก็ตกนรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๘. สุนทรีสูตร
คน ๒ จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้ว มีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า๑
ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายเรียนคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคแล้วกล่าวตอบ
คนทั้งหลายที่เห็นภิกษุแล้วด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจาหยาบคาย
ที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษ ด้วยคาถานี้ว่า
คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
‘ฉันไม่ได้ทำ’ ต่างก็ตกนรก
คน ๒ จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้วมีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า
คนทั้งหลายได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้ คงไม่
ได้ทำความผิด พระสมณะเชื้อสายศากยบุตรเหล่านี้คงไม่ได้ทำบาป พระสมณะเชื้อสาย
ศากยบุตรจึงกล่าวสบถเช่นนั้น” เสียง(โจษ)นั้นได้มีอยู่ไม่นาน เสียง(โจษ)ได้มีอยู่
เพียง ๗ วันเท่านั้น ครั้นพ้น ๗ วันก็หายไป
ต่อมา ภิกษุจำนวนมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัส
พระดำรัสนี้ไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เสียง(โจษ)นั้นจักมีไม่นาน จักมีเพียง ๗ วันเท่านั้น
ครั้นพ้น ๗ วันก็จักหายไป เสียง(โจษ)นั้นก็หายไป พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบท ข้อ ๓๐๖ หน้า ๑๒๘, อิติวุตตกะ ข้อ ๔๘ หน้า ๓๙๙, สุตตนิบาต ข้อ ๖๖๗ หน้า ๖๕๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๙. อุปเสนสูตร
พุทธอุทาน
คนทั้งหลายผู้ไม่สำรวม ชอบกล่าวทิ่มแทงผู้อื่นด้วยวาจา
เหมือนทหารข้าศึกทิ่มแทงช้างที่ออกศึกด้วยลูกศร ฉะนั้น
ภิกษุผู้มีจิตไม่คิดประทุษร้าย ฟังคำหยาบคาย
ที่คนพาลกล่าวแล้ว พึงอดกลั้นไว้ได้
สุนทรีสูตรที่ ๘ จบ

๙. อุปเสนสูตร
ว่าด้วยพระอุปเสนวังคันตบุตร
[๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตร หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด
เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า “เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่เรามีพระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เรามีเพื่อนพรหมจารีล้วนแต่มีศีล
มีกัลยาณธรรม เราบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์แล้ว เรามีจิตตั้งมั่นดีแล้ว มีอารมณ์
เป็นหนึ่ง เป็นพระอรหันตขีณาสพ เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ชีวิตของเรา
ชื่อว่ามีความเจริญ ความตายของเราก็ชื่อว่าเป็นความตายดี”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบความคิดคำนึงของท่านพระอุปเสน-
วังคันตบุตรด้วยพระทัยแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] ๑๐. สารีปุตตอุปสมสูตร
พุทธอุทาน
บุคคลผู้ที่ดำรงชีวิตอยู่โดยไม่เดือดร้อน
ในเวลาจวนจะตายก็ไม่เศร้าโศก
ชื่อว่าพบนิพพานแล้ว เป็นปราชญ์
แม้จะอยู่ท่ามกลางคนที่เศร้าโศก ก็ไม่เศร้าโศก
ภิกษุผู้ตัดภวตัณหา๑ได้เด็ดขาด
มีจิตสงบ มีชาติสงสาร๒สิ้นแล้ว
เธอย่อมไม่มีภพใหม่
อุปเสนสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. สารีปุตตอุปสมสูตร
ว่าด้วยการระงับกิเลสของพระสารีบุตรเถระ
[๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
พิจารณาถึงการระงับกิเลสลงได้หมดสิ้นของตน อยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง พิจารณาถึงการระงับกิเลสได้หมดสิ้นของตนอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ ภวตัณหา หมายถึงความกำหนัดแห่งจิตที่สหรคตด้วยภวทิฏฐิ (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๑๖/๕๗๓)
๒ ชาติสงสาร ในที่นี้หมายถึงความเกิด (ขุ.อุ.อ. ๓๙/๒๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๔. เมฆิยวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พุทธอุทาน
ภิกษุผู้มีจิตสงบและระงับกิเลสได้
ตัดตัณหาที่นำไปสู่ภพได้
มีชาติสงสารสิ้นแล้ว
ชื่อว่าเป็นผู้พ้นแล้วจากเครื่องผูกแห่งมาร
สารีปุตตอุปสมสูตรที่ ๑๐ จบ
เมฆิยวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เมฆิยสูตร ๒. อุทธตสูตร
๓. โคปาลกสูตร ๔. ยักขปหารสูตร
๕. นาคสูตร ๖. ปิณโฑลสูตร
๗. สารีปุตตสูตร ๘. สุนทรีสูตร
๙. อุปเสนสูตร ๑๐. สารีปุตตอุปสมสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๑. ปิยตรสูตร
๕. โสณเถรวรรค
หมวดว่าด้วยพระโสณเถระ
๑. ปิยตรสูตร๑
ว่าด้วยการไม่มีผู้อื่นเป็นที่รักยิ่งกว่าตน
[๔๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลกับพระนางมัลลิกาเทวี
ประทับอยู่ที่ปราสาทอันประเสริฐชั้นบน ขณะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสกับพระนาง
มัลลิกาเทวีดังนี้ว่า “มัลลิกา ใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของเธอมีบ้างไหม”
พระนางมัลลิกาเทวีได้ทูลสนองว่า “ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ใครอื่น
ซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของหม่อนฉันไม่มีเลย และใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของ
พระองค์มีอยู่หรือ”
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า “มัลลิกา ใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของเรา
ไม่มีเลย”
ต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลงจากปราสาท เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ ข้าพระองค์กับพระนางมัลลิกาเทวีอยู่ที่ปราสาท
อันประเสริฐชั้นบน ได้พูดกับพระนางมัลลิกาเทวีดังนี้ว่า ‘มัลลิกา ใครอื่นซึ่งเป็น
ที่รักยิ่งกว่าตนของเธอมีบ้างไหม’ เมื่อข้าพระองค์ถามแล้วอย่างนี้ พระนางมัลลิกา-
เทวีได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ใครอื่นซึ่งเป็นที่รัก

เชิงอรรถ :
๑ สํ.สํ. (แปล) ๑๕/๑๑๙/๑๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๒. อัปปายุกสูตร
ยิ่งกว่าตนของหม่อนฉันไม่มี และใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของพระองค์มีอยู่หรือ’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระนางมัลลิกาเทวีกล่าวอย่างนี้ข้าพระองค์ได้พูดกับ
พระนางมัลลิกาเทวี ดังนี้ว่า ‘มัลลิกา ใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของเราไม่มีเลย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
บุคคลตั้งใจค้นหาทั่วทุกทิศ
ก็ไม่พบใครซึ่งเป็นที่รักยิ่งว่าตนในที่ไหน ๆ เลย
สัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่นก็รักตนมากเช่นนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น
ปิยตรสูตรที่ ๑ จบ

๒. อัปปายุกสูตร
ว่าด้วยพระมารดาพระโพธิสัตว์มีอายุน้อย
[๔๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น ท่านพระอานนท์ออกจากที่
หลีกเร้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ พระมารดาของพระผู้มีพระภาคมีพระชนมายุน้อย เมื่อพระผู้มีพระภาค
ประสูติได้ ๗ วัน พระมารดาของพระผู้มีพระภาคก็เสด็จสวรรคตไปเกิดยังหมู่เทพ
ชั้นดุสิต”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จริงอย่างนั้น อานนท์ จริงอย่างนั้น อานนท์ มารดา
พระโพธิสัตว์มีอายุน้อย เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน มารดาก็สวรรคตไปเกิด
ยังหมู่เทพชั้นดุสิต”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เกิดแล้ว
จะเกิดต่อไป หรือกำลังเกิดก็ตาม
สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจักต้องละทิ้งร่างกายไป
คนฉลาดรู้ความเสื่อมไปของสัตว์ทั้งหมดนั้นแล้ว
ควรเป็นผู้ประกอบความเพียร๑ ประพฤติพรหมจรรย์๒
อัปปายุกสูตรที่ ๒ จบ

๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ว่าด้วยชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ
[๔๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ชายคนหนึ่งชื่อสุปปพุทธะ เป็นโรคเรื้อน ยากจน กำพร้า
ยากไร้ วันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคมีบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมประทับนั่งแสดงธรรมอยู่
ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้เห็นหมู่มหาชนนั้นนั่งประชุมกันแต่ที่ไกล ได้มีความคิด
ดังนี้ว่า “ชนทั้งหลายกำลังแจกของเคี้ยวหรือของบริโภค ในที่นี้เป็นแน่ ทางที่ดีเรา
ควรเข้าไปยังหมู่มหาชนนั้น พึงได้ของเคี้ยวหรือของบริโภคในที่นี้บ้าง”

เชิงอรรถ :
๑ ประกอบความเพียร หมายถึงบำเพ็ญวิปัสสนา (ขุ.อุ.อ. ๔๒/๒๙๘)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๒๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ลำดับนั้น ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้เข้าไปยังหมู่มหาชนนั้น ได้เห็นพระผู้มี
พระภาคมีบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ จึงมีความคิดดังนี้ว่า
“ชนทั้งหลายคงไม่แจกของเคี้ยวหรือของบริโภคในที่นี้ พระสมณโคดมนี้แสดงธรรม
ในบริษัท ทางที่ดีเราควรฟังธรรมบ้าง” จึงนั่งลง ณ ที่สมควรในที่นั้น ด้วยตั้งใจว่า
“เราจักฟังธรรม”
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการกำหนดจิตของบริษัททุกหมู่เหล่าด้วย
พระทัยว่า ในบริษัทนี้ ใครหนอแลควรรู้แจ้งธรรม พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตร
เห็นชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะนั่งอยู่ในบริษัทนั้น จึงทรงพระดำริดังนี้ว่า “ในบริษัทนี้
ชายคนนี้แลควรรู้แจ้งธรรม” พระองค์ทรงปรารภชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ จึงตรัส
อนุปุพพีกถา คือ ทรงประกาศ
๑. ทานกถา (เรื่องทาน)
๒. สีลกถา (เรื่องศีล)
๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์)
๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม)๑
๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งการออกจากกาม)
เมื่อทรงทราบว่าชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะมีจิตควรบรรลุธรรม สงบ อ่อน
ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา๒ของพระ-
พุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันไร้ธุลี ปราศจากมลทิน
ได้เกิดแก่ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ ณ ที่นั่งนั้นนั่นเองว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือนผ้า
ขาวสะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

เชิงอรรถ :
๑ แปลจากคำว่า กามานํ อาทีนวํ โอการํ สงฺกิเลสํ (ขุ.อุ. ๒๕/๔๓/๑๖๐)
๒ สามุกกังสิกเทศนา หมายถึงพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่มีผู้ทูลอาราธนา
หรือทูลถาม พระธรรมเทศนานั้น คือ อริยสัจ ๔ ประการ (ขุ.อุ.อ. ๔๓/๓๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ครั้งนั้นแล ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้เห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม
หยั่งลงสู่ธรรม ข้ามพ้นความสงสัย๑ ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความ
แกล้วกล้า ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย๒ ในศาสนาของพระศาสดา ลุกจาก
ที่นั่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรม
แจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดี จักเห็น
รูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จนตลอดชีวิต”
เมื่อชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะได้ฟังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้วก็ชื่นชมยินดีพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว
จึงลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทแล้วลุกขึ้นทำประทักษิณจากไป ทันใดนั้นเอง
โคแม่ลูกอ่อนได้ขวิดชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะผู้จากไปไม่นานจนล้มลงเสียชีวิต
ลำดับนั้น ภิกษุจำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะผู้ได้ฟังพระดำรัสที่พระองค์ทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจ

เชิงอรรถ :
๑ ความสงสัย หมายถึงวิจิกิจฉา ๘ ประการ เป็นองค์ธรรมในสังโยชน์ ๑๐ ประการ ดูรายละเอียดใน อภิ.สงฺ.
(แปล) ๓๔/๑๐๐๘/๒๖๑, และวิจิกิจฉา ๑๖ ประการ ดูรายละเอียดใน ม.มู. (แปล) ๑๒/๑๘/๑๙, สํ.นิ.
๑๖/๒๐/๒๗
๒ ปราศจากความมีผู้อื่นเป็นปัจจัย ในที่นี้หมายถึงไม่ต้องเชื่อผู้อื่นหรือไม่ต้องอาศัยผู้อื่นสนับสนุนให้เชื่อ
เพราะเห็นประจักษ์ชัดด้วยตนเอง (ที.สี.อ. ๑/๒๙๙/๒๕๐, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๖/๑๐๖, ขุ.อุ.อ. ๔๓/๓๐๖,
องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๑๖/๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร
ให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา เขาเสียชีวิตแล้ว คติของเขาเป็นอย่างไร สัมปรายภพของเขาเป็น
อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะเป็น
บัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และไม่เบียดเบียนเราให้ลำบาก เพราะธรรม
เป็นเหตุ ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ เป็นโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๑ในวันข้างหน้า”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ชายชื่อ
สุปปพุทธะ เป็นโรคเรื้อน ยากจน กำพร้า ยากไร้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ชาติก่อน ชายโรคเรื้อนชื่อสุปปพุทธะ
เป็นบุตรเศรษฐีในกรุงราชคฤห์นี้เอง เขาออกไปยังสวนสาธารณะ ได้เห็นพระปัจเจก-
พุทธะนามว่าตครสิขี กำลังเดินบิณฑบาตในพระนคร เขาครั้นเห็นแล้ว จึงได้มีความ
คิดอย่างนี้ว่า ‘ใครนี้ เป็นโรคเรื้อนห่มผ้าสกปรกเที่ยวไป’ แล้วถ่มน้ำลายเดินแซงไป
ทางด้านซ้าย เพราะผลแห่งกรรมนั้น เขาไหม้อยู่ในนรกหลาย ๑๐๐ หลาย ๑,๐๐๐
หลาย ๑๐๐,๐๐๐ ปี เพราะเศษแห่งวิบากกรรมนั้นยังเหลืออยู่ เขาจึงเกิดเป็นชาย
โรคเรื้อน ยากจน กำพร้า ยากไร้ในกรุงราชคฤห์นี้เอง เขาอาศัยธรรมวินัยที่ตถาคต
ประกาศไว้แล้ว ยึดมั่น ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เขาครั้นได้อาศัยธรรมวินัยที่
ตถาคตประกาศไว้แล้วยึดมั่นศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา หลังจากตายแล้ว
เขาจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ และ
รุ่งโรจน์เหนือกว่าเทวดาเหล่าอื่น ในชั้นดาวดึงส์นั้น ด้วยวรรณะและยศ๒”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๓ เบื้องสูง คือ สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค (ที.สี.อ.
๑/๓๗๓/๒๘๑, องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗/๒๔๒, ขุ.อุ.อ. ๔๓/๓๑๐, องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๘๗/๒๓๕)
๒ ในที่นี้ วรรณะ หมายถึงรูปสมบัติ ยศ หมายถึงบริวาร (ขุ.อุ.อ.๔๓/๓๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๔. กุมารกสูตร
พุทธอุทาน
บัณฑิตในโลกนี้ เมื่อยังมีความบากบั่นอยู่
ควรละเว้นบาปทุกอย่าง
เหมือนคนตาดีละเว้นทางขรุขระ ฉะนั้น
สุปปพุทธกุฏฐิสูตรที่ ๓ จบ

๔. กุมารกสูตร
ว่าด้วยเด็กจับปลา
[๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น เด็กจำนวนมากจับปลาอยู่ในระหว่าง
กรุงสาวัตถีกับพระเชตวัน
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กจำนวนมากจับปลาอยู่
ในระหว่างกรุงสาวัตถีกับพระเชตวันนั้น จึงเสด็จเข้าไปหาเด็กเหล่านั้นแล้วได้ตรัส
ถามดังนี้ว่า “พ่อหนูทั้งหลาย เธอทั้งหลายกลัวความทุกข์ ความทุกข์ไม่เป็นที่รัก
ของเธอทั้งหลายมิใช่หรือ”
เด็กทั้งหลายทูลตอบว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายกลัว
ความทุกข์ ความทุกข์ไม่เป็นที่รักของข้าพระองค์ทั้งหลาย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
พุทธอุทาน
ถ้าเธอทั้งหลายกลัวความทุกข์
ถ้าความทุกข์ไม่เป็นที่รักของเธอทั้งหลาย
ก็อย่าได้ทำบาปกรรมในที่แจ้ง๑หรือบาปกรรมในที่ลับ๒
เพราะถ้าเธอทั้งหลายจักทำ หรือกำลังทำบาปกรรมอยู่
ถึงจะเหาะหนีไป เธอย่อมไม่พ้นจากความทุกข์ไปได้
กุมารกสูตรที่ ๔ จบ

๕. อุโปสถสูตร๓
ว่าด้วยอุโบสถกรรม
[๔๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา-
มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับ
นั่งในวันอุโบสถวันหนึ่ง
ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว๔ ปฐมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ลุกจาก
อาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูล
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์
นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ บาปกรรมในที่แจ้ง หมายถึงกรรมชั่วทางกาย และทางวาจา (ขุ.อุ.อ. ๔๔/๓๑๕)
๒ บาปกรรมในที่ลับ หมายถึงกรรมชั่วทางใจ (ขุ.อุ.อ. ๔๔/๓๑๕)
๓ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๘๓-๓๘๕/๒๘๓-๒๘๕, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๒๐/๒๕๒-๒๖๕, อภิ.ก. ๓๗/๓๔๖/๑๘๘
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงนิ่ง๑
แม้ครั้งที่ ๒ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์
ลุกจากอาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูล
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์
นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ทรงนิ่ง
แม้ครั้ง ๓ เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ยามรุ่งอรุณเริ่ม
สว่าง ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทาง
พระผู้มีพระภาคได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว
ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ยามรุ่งอรุณเริ่มสว่าง ภิกษุสงฆ์นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มี
พระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ บริษัทไม่บริสุทธิ์”
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาค
ตรัสอย่างนี้ว่า ‘บริษัทไม่บริสุทธิ์’ ทรงหมายถึงใครกัน” จึงกำหนดจิตของภิกษุสงฆ์
ด้วยจิต(ของตน) ได้เห็นบุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติ
ที่น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี
แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ
นั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์นั้น ครั้นเห็นแล้วจึงลุกจากอาสนะเข้าไปหาบุคคลนั้นแล้ว
กล่าวว่า “ท่านจงลุกขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีสังวาส๒กับ
ภิกษุทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
๑ เหตุที่ทรงนิ่ง ก็ด้วยพระประสงค์จะอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทุศีลที่มีอยู่ในบริษัท เพราะหากพระองค์ทรงยกปาติโมกข์
ขึ้นแสดง ศีรษะของภิกษุผู้ทุศีลนั้นก็จะแตก ๗ เสี่ยง พระองค์จึงทรงนิ่งเสีย (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๒๐/๒๔๕)
๒ สังวาส ในที่นี้หมายถึงกรรมที่ทำร่วมกัน อุทเทสที่สวดรวมกัน ความมีสิกขาเสมอกัน (วิ.มหา.(แปล)
๑/๕๕/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
เมื่อท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวอย่างนี้แล้ว บุคคลนั้นก็ยังนิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้กล่าวกับบุคคลนั้นว่า “ท่านจง
ลุกขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีสังวาสกับภิกษุทั้งหลาย”
แม้ครั้งที่ ๒ บุคคลนั้นก็ยังนิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้กล่าวกับบุคคลนั้นว่า “ท่านจง
ลุกขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านแล้ว ท่านไม่มีสังวาสกับภิกษุทั้งหลาย”
แม้ครั้งที่ ๓ บุคคลนั้นก็ยังนิ่งอยู่
ครั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงจับแขนเขาฉุดให้ออกไปนอกซุ้มประตู
ใส่กลอนแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ให้บุคคลนั้นออกไปพ้นแล้ว บริษัท
บริสุทธิ์แล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
โมฆบุรุษนี้ดื้ออยู่ จนต้องฉุดแขนไล่ออกไป”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ตั้งแต่บัดนี้ไป เราจักไม่ทำอุโบสถ จักไม่ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ตั้งแต่บัดนี้ไป
เธอทั้งหลายนั้นแลพึงทำอุโบสถ ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงเถิด ภิกษุทั้งหลาย เป็นไป
ไม่ได้ที่ตถาคตจะทำอุโบสถ จะยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในเมื่อบริษัทไม่บริสุทธิ์๑
ภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทรมีสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ
ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
สิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ คือ
๑. มหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ
ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที ภิกษุทั้งหลาย การที่มหาสมุทรต่ำไปโดยลำดับ

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๒๐/๒๕๔ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดยลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที นี้เป็นสิ่ง
ที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๑ ในมหาสมุทรที่พวกอสูร
พบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๒. มหาสมุทรมีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง ภิกษุทั้งหลาย การที่มหาสมุทรมี
ปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการ
ที่ ๒ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๓. มหาสมุทรไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่งจนถึงบนบกทันที
ภิกษุทั้งหลาย ที่มหาสมุทรไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพ
ขึ้นฝั่งจนถึงบนบกทันที นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ
ประการที่ ๓ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดี
ในมหาสมุทร
๔. มหานทีทุกสาย คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลลงสู่
มหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า
‘มหาสมุทร’ ทั้งสิ้น ภิกษุทั้งหลาย การที่มหานทีทุกสาย คือ คงคา
ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ไหลลงสู่มหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและ
โคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า ‘มหาสมุทร’ ทั้งสิ้น นี้เป็นสิ่งที่น่า
อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๔ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบ
เห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๕. แม่น้ำสายใดสายหนึ่งในโลก ที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝน
ตกลงจากฟากฟ้าก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้ ภิกษุทั้งหลาย
การที่แม่น้ำสายใดสายหนึ่งในโลกที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และ
สายฝนตกลงจากฟากฟ้า ก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้
นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๕ ในมหาสมุทร
ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
๖. มหาสมุทรมีรสเดียว คือ รสเค็ม ภิกษุทั้งหลาย การที่มหาสมุทร
มีรสเดียว คือ รสเค็ม นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ
ประการที่ ๖ ที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
๗. มหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ แก้วมุกดา แก้วมณี
แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว
ภิกษุทั้งหลาย การที่มหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ
แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน
ทอง ทับทิม แก้วตาแมว นี้เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ
ประการที่ ๗ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดี
ในมหาสมุทร
๘. มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิ ปลา
ติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ๑ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว
๑๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๒๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี
มีลำตัว ๔๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี ภิกษุทั้งหลาย
การที่มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิ
ปลาติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว
๑๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๒๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี
มีลำตัว ๔๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี นี้เป็นสิ่งที่น่า
อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๘ ในมหาสมุทรที่พวกอสูรพบ
เห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
ภิกษุทั้งหลาย ในมหาสมุทรมีสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ
นี้แลที่พวกอสูรพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในมหาสมุทร
ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคย
ปรากฏ ๘ ประการที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ คือ
๑. ธรรมวินัยนี้มีการศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ
มีการปฏิบัติไปตามลำดับ๒ ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อปลาเหล่านี้ปรากฏในเรื่องไตรภูมิว่า ว่ายเวียนอยู่ในมหานทีสีทันดรรอบภูเขาสัตบริภัณฑ์
๒ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๑๙/๒๔๘ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
เหมือนมหาสมุทรที่ต่ำไปโดยลำดับ ลาดไปโดยลำดับ ลึกลงไปโดย
ลำดับ ไม่ลึกชันดิ่งไปทันที ภิกษุทั้งหลาย การที่ธรรมวินัยนี้มีการ
ศึกษาไปตามลำดับ มีการบำเพ็ญไปตามลำดับ มีการปฏิบัติไป
ตามลำดับ ไม่ใช่มีการบรรลุอรหัตตผลโดยทันที นี้เป็นธรรมที่น่า
อัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๑ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลาย
พบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๒. สาวกทั้งหลายของเราย่อมไม่ละเมิดสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ แม้
เพราะเหตุแห่งชีวิต เหมือนมหาสมุทรที่มีปกติคงที่ ไม่ล้นฝั่ง ภิกษุ
ทั้งหลาย การที่สาวกทั้งหลายของเราไม่ละเมิดสิกขาบทที่เรา
บัญญัติไว้ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคย
ปรากฏ ประการที่ ๒ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้ว
ต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๓. บุคคลใดทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติที่
น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ
ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน ชุ่มด้วย
ราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ สงฆ์ก็ไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น ย่อม
ประชุมกันนำเธอออกไปทันที แม้เธอจะนั่งอยู่ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์
ก็ยังห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเธอ เหมือนมหาสมุทร
ไม่อยู่ร่วมกับซากศพ ย่อมซัดซากศพขึ้นฝั่งจนถึงบนบกทันที ภิกษุ
ทั้งหลาย การที่บุคคลใดทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความ
ประพฤติที่น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญญาว่า
เป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารี แต่ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารี เน่าภายใน
ชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ สงฆ์ไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น
ย่อมประชุมกันนำเธอออกไปทันที แม้เธอจะนั่งอยู่ในท่ามกลาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
ภิกษุสงฆ์ ก็ยังห่างไกลจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ห่างไกลจากเธอ นี้เป็น
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๓ ในธรรมวินัยนี้ที่
ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๔. วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว
ย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า ‘สมณศากยบุตร’
ทั้งสิ้น เหมือนมหานทีทุกสาย คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู
มหี ไหลลงสู่มหาสมุทรแล้ว ย่อมละชื่อและโคตรเดิมของตนรวม
เรียกว่า ‘มหาสมุทร’ ทั้งสิ้น ภิกษุทั้งหลาย การที่วรรณะ ๔
เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละชื่อและ
โคตรเดิมของตน รวมเรียกว่า ‘สมณศากยบุตร’ ทั้งสิ้น นี้เป็น
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ ๔ ในธรรมวินัยนี้
ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๕. แม้หากภิกษุจำนวนมากปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ก็ไม่ทำให้นิพพานพร่องหรือเต็มได้ เหมือนแม่น้ำสายใดสายหนึ่ง
ในโลก ที่ไหลรวมลงสู่มหาสมุทร และสายฝนตกลงจากฟากฟ้า
ก็ไม่ทำให้มหาสมุทรพร่องหรือเต็มได้ ภิกษุทั้งหลาย การที่แม้หาก
ภิกษุจำนวนมากปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ก็ไม่ทำให้
นิพพานพร่องหรือเต็มได้ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ
ประการที่ ๕ ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้ว ต่างพากัน
ยินดีในธรรมวินัยนี้
๖. ธรรมวินัยนี้มีรสเดียวคือวิมุตติรส เหมือนมหาสมุทรมีรสเดียว คือ
รสเค็ม ภิกษุทั้งหลาย การที่ธรรมวินัยนี้มีรสเดียวคือวิมุตติรส
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๖ ในธรรม
วินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๕. อุโปสถสูตร
๗. ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗
อริยมรรคมีองค์ ๘ เหมือนมหาสมุทรมีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด
คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ
เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว ภิกษุทั้งหลาย การที่ธรรมวินัยนี้
มีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๗ ในธรรมวินัย
นี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
๘. ธรรมวินัยนี้เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือ พระโสดาบัน บุคคลผู้ปฏิบัติ
เพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อ
ทำให้แจ้งสกทาคามิผล พระอนาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
อนาคามิผล พระอรหันต์ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล
เหมือนมหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิ
ปลาติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว
๑๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๒๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๓๐๐ โยชน์ก็มี
มีลำตัว ๔๐๐ โยชน์ก็มี มีลำตัว ๕๐๐ โยชน์ก็มี ภิกษุทั้งหลาย
การที่ธรรมวินัยนี้เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือ พระโสดาบัน บุคคลผู้
ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติ
เพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล พระอนาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อ
ทำให้แจ้งอนาคามิผล พระอรหันต์ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
อรหัตตผล นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ ๘
ในธรรมวินัยนี้ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ๘ ประการ
นี้แล ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๖. โสณสูตร
พุทธอุทาน
ยิ่งปิด ยิ่งรั่ว๑ เปิดแล้วไม่รั่ว๒
เพราะฉะนั้น พึงเปิดสิ่งที่ปิด
เมื่อเป็นดังนี้ สิ่งที่เปิดนั้นก็จะไม่รั่ว๓
อุโปสถสูตรที่ ๕ จบ

๖. โสณสูตร๔
ว่าด้วยพระโสณเถระ
[๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระมหากัจจานะพักอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ
เมืองกุรุรฆระ แคว้นอวันตี ครั้งนั้น อุบาสกชื่อโสณะ กุฏิกัณณะเป็นอุปัฏฐาก
ของท่านพระมหากัจจานะ
ครั้งนั้น อุบาสกชื่อโสณะ กุฏิกัณณะหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า “การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ครบถ้วน
ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว อย่างที่พระมหากัจจานะแสดงธรรมไว้ มิใช่กระทำได้ง่าย ทางที่
ดีเราควรปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”

เชิงอรรถ :
๑ ยิ่งปิด ยิ่งรั่ว หมายถึงภิกษุต้องอาบัติแล้วปกปิดไว้ ย่อมต้องอาบัติตัวอื่นใหม่อีก และต้องอาบัติมากขึ้น
เรื่อย ๆ ฝนคืออาบัติหรือฝนคือกิเลส ย่อมรั่วรดจิตมากขึ้น (ขุ.อุ.อ. ๔๕/๓๒๗)
๒ เปิดแล้วไม่รั่ว หมายถึงภิกษุต้องอาบัติแล้ว เปิดเผยอาบัติแก่เพื่อนภิกษุแล้วแสดงออกจากอาบัติตาม
ธรรมตามวินัย จึงไม่ต้องอาบัตินั้น (ขุ.อุ.อ. ๔๕/๓๒๗)
๓ ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๘๕/๒๘๔, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๔๔๗/๔๑๕
๔ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๕๗-๒๕๘/๓๒-๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๖. โสณสูตร
ต่อมา เขาเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้น
อยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติ
พรหมจรรย์ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว อย่างที่พระมหากัจจานะ
แสดงธรรมไว้ มิใช่กระทำได้ง่าย ทางที่ดีเราควรปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ขอพระคุณเจ้ามหากัจจานะโปรดให้กระผมบวช
ด้วยเถิด ขอรับ”
เมื่อเขากล่าวอย่างนี้ ท่านพระมหากัจจานะจึงกล่าวกับเขาดังนี้ว่า “โสณะ
การประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งต้องบริโภคอาหารมื้อเดียว นอนผู้เดียว๑จนตลอดชีพ
ทำได้ยาก แต่เอาเถอะ โสณะ ท่านเป็นคฤหัสถ์อยู่ที่บ้านนั่นแหละ จงหมั่นประพฤติ
ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นพรหมจรรย์ที่ต้องบริโภคอาหาร
มื้อเดียว นอนผู้เดียว ตามเวลาที่เหมาะสมเถิด๒” ครั้งนั้น ความคิดที่น้อมไปเพื่อ
บรรพชาของอุบาสกโสณะ กุฏิกัณณะ ระงับไป
แม้ครั้งที่ ๒ อุบาสกโสณะ กุฏิกัณณะหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า “การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว อย่างที่พระมหากัจจานะแสดงธรรมไว้ มิใช่กระทำได้ง่าย
ทางที่ดีเราควรปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต” แล้วเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้น
อยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า ‘การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์

เชิงอรรถ :
๑ นอนผู้เดียว มิได้หมายถึงแต่เพียงอิริยาบถนอนอย่างเดียว แต่หมายถึงอิริยาบถอีก ๓ อิริยาบถด้วย คือ
ยืนผู้เดียว เดินผู้เดียว นั่งผู้เดียว ซึ่งจัดเป็นกายวิเวก (สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๕๗/๓๖๐)
๒ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่อุบาสกจะพึงหมั่นประพฤติ ในส่วนเบื้องต้น คือ ศีล ๕ ที่จะต้องรักษาประจำ
ศีล ๘ ที่พึงรักษาในวันอุโบสถ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และศีล ๑๐ (ถ้าสามารถ) และเจริญสมาธิปัญญา
ตามความเหมาะสมแก่ศีลที่รักษานั้น ๆ (ขุ.อุ.อ.๔๖/๓๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๖. โสณสูตร
ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว อย่างที่พระมหากัจจานะแสดงธรรมไว้
มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิต ขอพระคุณเจ้ามหากัจจานะโปรดให้กระผมบวชด้วยเถิด ขอรับ”
ท่านพระมหากัจจานะได้กล่าวกับเขาดังนี้ว่า “โสณะ การประพฤติพรหมจรรย์
ซึ่งต้องบริโภคอาหารมื้อเดียว นอนผู้เดียวจนตลอดชีพ ทำได้ยาก แต่เอาเถอะ
โสณะ ท่านเป็นคฤหัสถ์ยู่ที่บ้านนั่นแหละ จงหมั่นประพฤติตามคำสั่งสอนของ
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นพรหมจรรย์ที่ต้องบริโภคอาหารมื้อเดียว นอนผู้เดียว
ตามเวลาที่เหมาะสมเถิด” ครั้งนั้น ความคิดที่น้อมไปเพื่อบรรพชาของอุบาสกโสณะ
กุฏิกัณณะ ระงับไป
แม้ครั้งที่ ๓ อุบาสกโสณะ กุฏิกัณณะหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า “การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว อย่างที่พระมหากัจจานะแสดงธรรมไว้ มิใช่กระทำได้ง่าย ทางที่ดี
เราควรปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”
แล้วเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควรได้กล่าวกับท่าน
พระมหากัจจานะดังนี้ว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า ‘การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้ว อย่างที่พระมหากัจจานะแสดงธรรมไว้ มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี
เราควรปลงผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ขอพระคุณเจ้ามหากัจจานะโปรดให้กระผมบวชด้วยเถิด ขอรับ”
ลำดับนั้น ท่านพระมหากัจจานะจึงให้อุบาสกโสณะ กุฏิกัณณะบวช ก็สมัยนั้น
อวันตีทักขิณาบถมีภิกษุน้อย คราวนั้น ท่านพระมหากัจจานะจัดหาภิกษุสงฆ์จาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๖. โสณสูตร
ที่นั้น ๆ ให้ครบองค์ประชุมคือ ๑๐ รูปได้ยากลำบาก เวลาล่วงไปถึง ๓ ปี๑ จึงให้
ท่านโสณะอุปสมบทได้
สมัยนั้น ท่านพระโสณะออกพรรษาแล้ว หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิด
คำนึงอย่างนี้ว่า “เราไม่เคยเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเฉพาะพระพักตร์เลย
เพียงแต่ได้ยินว่า ‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงมีพระลักษณะเช่นนี้และเช่นนี้’
ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาต เราจะไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้น”
ครั้งนั้นในเวลาเย็น ท่านพระโสณะออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปหาท่านพระมหา-
กัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า
เราไม่เคยเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเฉพาะพระพักตร์เลย เพียงแต่ได้ยินว่า
‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงมีพระลักษณะเช่นนี้และเช่นนี้’ ถ้าพระอุปัชฌาย์
อนุญาต กระผมจะไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า “ดีละ ดีละ โสณะ ท่านจงไปเข้าเฝ้าพระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเถิด ท่านจะเห็นพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นผู้น่าเลื่อมใส ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส๒ มีพระอินทรีย์สงบ
มีพระทัยสงบ ทรงบรรลุทมถะและสมถะ๓สูงสุด ทรงฝึกฝนแล้ว คุ้มครองแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงเวลาผ่านไป ๓ พรรษา นับจากวันที่บรรพชาเป็นสามเณร (วิ.อ. ๓/๒๕๗/๑๗๐)
๒ น่าเลื่อมใส หมายถึงมีพระรูปกายถึงพร้อมด้วยพระรัศมีแห่งพระสรีระ เพราะประดับด้วยมหาปุริส-
ลักษณะ ๓๒ ประการ อนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ และพระเกตุมาลามีพระรัศมีแผ่ออกข้างละวา เป็น
ที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส หมายถึงทรงถึงพร้อมด้วยกองธรรม เช่น พลญาณ ๑๐ เวสารัชชญาณ ๔
อสาธารณญาณ ๖ และพุทธธรรมเฉพาะอย่าง ๑๘ ประการ (ดู ที.ปา.อ. ๓/๓๐๕/๑๘๘-๑๘๙) (ขุ.อ.อ.
๑๐/๙๐, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๒๕๗/๓๖๓)
๓ ทมถะ หมายถึงปัญญาบ้าง ความสงบกายบ้าง สมถะ หมายถึงสมาธิบ้าง ความสงบจิตบ้าง (วิ.อ.
๓/๒๕๗/๑๗๐) อีกนัยหนึ่ง ทมถะ หมายถึงโลกุตตรปัญญาวิมุตติ สมถะ หมายถึงโลกุตตรเจโตวิมุตติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๖. โสณสูตร
ทรงสำรวมอินทรีย์ ทรงเป็นผู้ประเสริฐ ท่านครั้นเห็นแล้วจงถวายอภิวาทพระ-
ยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า จงทูลถามถึงสุขภาพ ความมี
โรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ ตามคำ
ของเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระมหากัจจานะ พระอุปัชฌาย์ของข้า
พระองค์ ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า กราบทูล
ถามถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์
อยู่สำราญ”
ท่านพระโสณะรับคำของท่านพระมหากัจจานะแล้ว ชื่นชม ยินดีคำที่ท่าน
พระมหากัจจานะกล่าวแล้ว ลุกจากอาสนะ ไหว้ท่านพระมหากัจจานะ ทำประทักษิณแล้ว
จึงเก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวร จาริกไปทางกรุงสาวัตถี เที่ยวจาริกไปโดยลำดับ
จนถึงพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี แล้วเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระมหากัจจานะพระอุปัชฌาย์
ของข้าพระองค์ ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า
กราบทูลถามถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัย
สมบูรณ์ อยู่สำราญ”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ
เธอเดินทางมาโดยไม่ลำบากหรือ บิณฑบาตไม่ลำบากหรือ”
ท่านพระโสณะทูลตอบว่า “สบายดี พระพุทธเจ้าข้า พอเป็นอยู่ได้
พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เดินทางมาโดยไม่ลำบาก ทั้งบิณฑบาตก็ไม่ลำบาก
พระพุทธเจ้าข้า”
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
เธอจงจัดเสนาสนะต้อนรับภิกษุอาคันตุกะรูปนี้” ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิด
ดังนี้ว่า “การที่พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ‘อานนท์ เธอจงจัดเสนาสนะต้อนรับภิกษุ
อาคันตุกะรูปนี้’ สำหรับภิกษุรูปใด มีนัยให้รู้ว่าพระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์จะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๖. โสณสูตร
ประทับอยู่ในพระวิหารหลังเดียวกับภิกษุรูปนั้น พระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์
จะประทับอยู่ในพระวิหารหลังเดียวกับท่านพระโสณะ” จึงจัดเสนาสนะต้อนรับท่าน
พระโสณะในพระวิหารอันเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในที่แจ้งจนดึก จึงทรงล้างพระบาทแล้ว
เสด็จเข้าพระวิหาร ฝ่ายท่านพระโสณะก็อยู่ในที่แจ้งจนดึก จึงล้างเท้าแล้วเข้าพระ-
วิหาร พอถึงเวลาใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคทรงลุกขึ้นแล้ว ทรงเชื้อเชิญท่านพระ
โสณะว่า “ภิกษุ เธอจงกล่าวธรรมตามถนัดเถิด๑”
ท่านพระโสณะทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ได้สวดพระสูตรทั้งหมด ๑๖ สูตร
ในอัฏฐกวรรค๒ โดยทำนองสรภัญญะ
เมื่อท่านพระโสณะสวดทำนองสรภัญญะจบแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงชื่นชม
อย่างยิ่ง จึงได้ประทานสาธุการว่า “ดีละ ดีละ ภิกษุ เธอเล่าเรียนสูตร ๑๖ สูตรใน
อัฏฐกวรรคมาดีแล้ว จำได้แม่นยำดี เปล่งเสียงสวดได้ไพเราะเพราะพริ้ง ไม่มีที่น่า
ตำหนิ บอกความหมายได้ชัดเจน เธอมีพรรษาเท่าไร”
ท่านพระโสณะทูลตอบว่า “ข้าพระองค์บวชได้ ๑ พรรษา พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เพราะเหตุไร เธอจึงช้าอยู่เล่า”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า “ข้าพระองค์เห็นโทษในกามทั้งหลายนานแล้ว
แต่ผู้อยู่ครองเรือนวุ่นวาย มีกิจมาก มีธุระมาก พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงจงกล่าวธรรมตามที่ได้ฟัง ตามที่เล่าเรียนมา (ขุ.อุ.อ.๔๖/๓๓๔)
๒ ดู สุตตนิบาต ข้อ ๗๗๓-๙๘๒ หน้า ๖๘๗-๗๓๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๗. กังขาเรวตสูตร
พุทธอุทาน
อารยชนเห็นโทษในโลก๑
รู้ธรรมที่ไม่มีอุปธิ๒ จึงไม่ยินดีในบาป
เพราะคนบริสุทธิ์ย่อมไม่ยินดีในบาป๓
โสณสูตรที่ ๖ จบ

๗. กังขาเรวตสูตร
ว่าด้วยพระกังขาเรวตเถระ
[๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระกังขาเรวตะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
พิจารณากังขาวิตรณวิสุทธิ๔ของตนอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระกังขาเรวตะผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรงพิจารณากังขาวิตรณวิสุทธิของตนอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ โลก ในที่นี้หมายถึง สังขารโลก (ขุ.อุ.อ. ๔๖/๓๓๕)
๒ ธรรมที่ไม่มีอุปธิ หมายถึงนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๔๖/๓๓๖)
๓ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๕๘/๓๗
๔ กังขาวิตรณวิสุทธิ หมายถึงความบริสุทธิ์เพราะข้ามพ้นความสงสัยทั้งหมด (ขุ.อุ.อ. ๔๗/๓๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๘. สังฆเภทสูตร
พุทธอุทาน
ความสงสัยเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีในอัตภาพนี้หรือในอัตภาพอื่น
ที่มีในความรู้ของตนหรือในความรู้ของผู้อื่น
บุคคลผู้เพ่งพินิจ มีความเพียร ประพฤติพรหมจรรย์อยู่
ย่อมละความสงสัยเหล่านั้นทั้งหมดได้๑]
กังขาเรวตสูตรที่ ๗ จบ

๘. สังฆเภทสูตร
ว่าด้วยการทำสงฆ์ให้แตกกัน
[๔๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ในเวลาเช้า วันอุโบสถ ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก
ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์
พระเทวทัตพบท่านพระอานนท์กำลังเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ จึงเข้าไป
หาแล้วกล่าวกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะ
ทำอุโบสถ จะทำสังฆกรรมแยกจากพระผู้มีพระภาค แยกจากภิกษุสงฆ์”
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์แล้ว กลับจาก
บิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ในเวลาเช้า ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก

เชิงอรรถ :
๑ อภิ.ก.๓๗/๓๒๑/๑๖๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๙. สธายมานสูตร
ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ พระเทวทัตพบข้าพระองค์กำลัง
เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ จึงเข้าไปหาแล้วกล่าวกับข้าพระองค์ดังนี้ว่า ‘ท่าน
อานนท์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะทำอุโบสถ จะทำสังฆกรรมแยกจากพระผู้มี
พระภาค แยกจากภิกษุสงฆ์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ พระเทวทัตจะทำลายสงฆ์
จะทำอุโบสถ จะทำสังฆกรรม พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
กรรมดี คนดีทำได้ง่าย
กรรมดี คนชั่วทำได้ยาก
กรรมชั่ว คนชั่วทำได้ง่าย
กรรมชั่ว พระอริยะทั้งหลายทำได้ยาก๑]
สังฆเภทสูตรที่ ๘ จบ

๙. สธายมานสูตร
ว่าด้วยเด็กหนุ่มกล่าวถากถางผู้อื่น
[๔๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ สมัยนั้น เด็กหนุ่มจำนวนมากเดินคุยถากถางผู้อื่นในที่ไม่ไกลจากพระผู้มี
พระภาค

เชิงอรรถ :
๑ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๔๓/๒๐๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] ๑๐. จูฬปันถกสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กหนุ่มเหล่านั้นเดินคุยถากถางผู้อื่นอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
คนฟั่นเฟือน ยกตนว่าเป็นบัณฑิต
เอาแต่พูด ยื่นปากพูดตามที่ตัวปรารถนา
แต่ไม่ยอมรับรู้เรื่องที่ทะเลาะกันอย่างไร้ยางอาย๑
สธายมานสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. จูฬปันถกสูตร
ว่าด้วยพระจูฬปันถกเถระ
[๕๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระจูฬปันถกนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระจูฬปันถกผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรงดำรงสติไว้เฉพาะหน้าอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ ม.อุ.๑๔/๒๓๗/๒๐๓, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๑/๓๐๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๕. โสณเถรวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พุทธอุทาน
ภิกษุมีกายที่ตั้งมั่น มีจิตที่ตั้งมั่น
กำลังยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม ก็ดำรงสตินี้ไว้มั่น
เธอพึงได้คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย
ครั้นได้คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายแล้ว
พึงถึงสถานที่ที่มัจจุราชมองไม่เห็น
จูฬปันถกสูตรที่ ๑๐ จบ
โสณเถรวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปิยตรสูตร ๒. อัปปายุกสูตร
๓. สุปปพุทธกุฏฐิสูตร ๔. กุมารกสูตร
๕. อุโปสถสูตร ๖. โสณสูตร
๗. กังขาเรวตสูตร ๘. สังฆเภทสูตร
๙. สธายมานสูตร ๑๐. จูฬปันถกสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๑. อายุสังขาโรสสัชชนสูตร
๖. ชัจจันธวรรค
หมวดว่าด้วยผู้บอดโดยกำเนิด
๑. อายุสังขาโรสสัชชนสูตร๑
ว่าด้วยการปลงพระชนมายุสังขาร
[๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุง
เวสาลี ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวร เสด็จเข้าไปยังกรุงเวสาลีเพื่อบิณฑบาต เสด็จกลับจากบิณฑบาตหลังจากเสวย
พระกระยาหารเสร็จแล้ว รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจงถือ
นิสีทนะ๒ เราจะเข้าไปพักกลางวันที่ปาวาลเจดีย์” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระ-
ดำรัสแล้ว ถือนิสีทนะตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปข้างพระปฤษฎางค์
ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่
ปูลาดไว้ ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทน-
เจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์น่ารื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์
น่ารื่นรมย์ สารันทเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์
อิทธิบาท ๔ ผู้ใดเจริญทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว
ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป
หรือเกินกว่า ๑ กัป
อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็น
ที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้
๑ กัป หรือเกินกว่า ๑ กัป”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๖๖-๑๖๙/๑๑๒-๑๑๖ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๘๒๒/๓๘๕-๓๘๖, องฺ.อฏฺฐก. (แปล)
๒๓/๗๐/๓๗๒, อภิ.ก. ๓๗/๖๒๔/๓๗๙
๒ นิสีทนะ หมายถึงที่รองนั่งที่ทำด้วยแผ่นหนังสัตว์ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๗๐/๓๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๑. อายุสังขาโรสสัชชนสูตร
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทรงทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้
ท่านพระอานนท์ก็ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่กราบทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคต
โปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัปเพื่อเกื้อแก่คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก
เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า” ทั้งนี้ เป็นเพราะท่านถูกมารดลใจ
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
กรุงเวสาลีน่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์
น่ารื่นรมย์ พหุปุตตเจดีย์น่ารื่นรมย์ สารันทเจดีย์น่ารื่นรมย์ ปาวาลเจดีย์น่ารื่นรมย์
อิทธิบาท ๔ ผู้ใดเจริญทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่
ตั้งแล้ว สั่งสมดีแล้ว ปรารภดีแล้ว ผู้นั้นเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป หรือเกิน
กว่า ๑ กัป
อิทธิบาท ๔ ตถาคตเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็น
ที่ตั้งแล้ว สั่งสมดีแล้ว ปรารภดีแล้ว ตถาคตเมื่อมุ่งหวัง พึงดำรงอยู่ได้ ๑ กัป
หรือเกินกว่า ๑ กัป”
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทำนิมิตที่ชัดแจ้ง ทรงทำโอภาสที่ชัดเจนแม้อย่างนี้
ท่านพระอานนท์ก็ไม่อาจจะรู้ทัน จึงไม่กราบทูลวิงวอนพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัป ขอพระสุคต
โปรดดำรงพระชนมชีพอยู่ตลอดกัปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก
เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า” ทั้งนี้ เป็นเพราะท่านถูกมารดลใจ
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
ไปเถิด เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาค ทำประทักษิณแล้วนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่งซึ่งไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
ครั้นเมื่อท่านพระอานนท์จากไปไม่นาน มารผู้มีบาปได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๑. อายุสังขาโรสสัชชนสูตร
ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด
เวลานี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า
‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน ตราบเท่าที่เหล่าภิกษุผู้เป็นสาวกของเรายังไม่
เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจาก
โยคะ ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบยิ่ง
ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วแต่ก็ยังบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท
ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลานี้ เหล่าภิกษุผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจาก
โยคะ เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติ
ตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานเถิด ขอพระสุคต
โปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่เหล่าภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม
ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบยิ่ง ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับ
อาจารย์ของตนแล้วแต่ก็ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรม
ไม่ได้’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลานี้ เหล่าภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้
เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติตามธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๑. อายุสังขาโรสสัชชนสูตร
เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายได้
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมได้ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตโปรด
ปรินิพพานเถิด เวลานี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่เหล่าอุบาสกผู้เป็นสาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่
แกล้วกล้า ไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม
ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบยิ่ง ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับ
อาจารย์ของตนแล้วแต่ก็ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลานี้ เหล่าอุบาสกผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติ
ตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดย
ชอบธรรมได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานเถิด
ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้ เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่เหล่าอุบาสิกาผู้เป็นสาวิกาของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ
ไม่แกล้วกล้า ไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม
ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบยิ่ง ไม่ประพฤติตามธรรม เรียนกับ
อาจารย์ของตนแล้วแต่ก็ยังบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๑. อายุสังขาโรสสัชชนสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลานี้ เหล่าอุบาสิกาผู้เป็นสาวิกาของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับการแนะนำ แกล้วกล้า บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจาก
โยคะ เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติ
ตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้วบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาทที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อย
โดยชอบธรรมได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานเถิด
ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้ เป็นเวลาปรินิพพานพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ไว้ว่า ‘มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพาน
ตราบเท่าที่พรหมจรรย์๑นี้ของเรายังไม่เจริญ แพร่หลาย กว้างขวาง รู้กันโดยมาก
เป็นปึกแผ่น กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว๒’ ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ เวลานี้ พรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคเจริญแพร่หลาย กว้างขวาง รู้กันโดยมาก
เป็นปึกแผ่น กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดปรินิพพานเถิด ขอพระสุคตโปรดปรินิพพานเถิด เวลานี้
เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค”
เมื่อมารกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีภาคได้ตรัสตอบว่า “มารผู้มีบาป
ท่านจงขวนขวายน้อยเถิด ไม่นานนัก ตถาคตจะปรินิพพาน จากนี้ไปอีก ๓ เดือน
ตถาคตจะปรินิพพาน”
เวลานั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงปลงพระชนมายุสังขาร๓
ณ ปาวาลเจดีย์ ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงปลงพระชนมายุสังขารแล้ว ได้เกิดแผ่นดิน
ไหวครั้งใหญ่ น่าสะพรึงกลัว ขนพองสยองเกล้า ทั้งกลองทิพย์ก็ดังกึกก้อง

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงศาสนพรหมจรรย์คือคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้นที่รวมลงในไตรสิกขา
ได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญา (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๗๐/๒๗๖, ขุ.อุ.อ.๕๑/๓๕๐) ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๘ ประกอบ
๒ คำว่า “กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว” นี้แปลตามนัย ที.ม.อ. ๒/๑๖๘/๑๕๘, ขุ.อุ.อ.
๕๑/๓๕๐
๓ ปลงพระชนมายุสังขาร หมายถึงตกลงพระทัยที่จะทรงสละอายุสังขาร (ขุ.อุ.อ. ๕๑/๓๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๒. สัตตชฏิลสูตร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคนั้นทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
มุนีละกรรมทั้งที่ชั่งได้ และชั่งไม่ได้
อันเป็นเหตุก่อกำเนิดเป็นเครื่องปรุงแต่งภพได้แล้ว
ยินดีในภายใน มีใจมั่นคง
ทำลายกิเลสที่เกิดในตนได้
เหมือนนักรบทำลายเกราะได้ ฉะนั้น
อายุสังขาโรสสัชชนสูตรที่ ๑ จบ

๒. สัตตชฏิลสูตร๑
ว่าด้วยนักบวชพวกละ ๗ คน
[๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทในปุพพารามของนาง
วิสาขามิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออก
จากที่หลีกเร้น ประทับนั่งอยู่ที่ซุ้มประตูภายนอก ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล
เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร
สมัยนั้น ชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน
และปริพาชก ๗ คนผู้มีขนรักแร้ เล็บ และขนยาว ถือเครื่องบริขารต่าง ๆ เดินผ่านไป
ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๒๒/๑๔๑-๑๔๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๒. สัตตชฏิลสูตร
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทอดพระเนตรเห็นชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก
๗ คน เอกสาฎก ๗ คน และปริพาชก ๗ คนผู้มีขนรักแร้ เล็บ และขนยาว
ถือเครื่องบริขารต่าง ๆ เดินผ่านไปไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค จึงเสด็จลุกจากที่
ประทับนั่ง ทรงห่มพระภูษาเฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง ทรงจดพระชานุมณฑลเบื้องขวา
ลงที่พื้นดิน ทรงประคองอัญชลีไปทางนักบวชเหล่านั้น แล้วทรงประกาศพระนาม
๓ ครั้งว่า “ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือพระราชาปเสนทิโกศล ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือ
พระราชาปเสนทิโกศล ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือพระราชาปเสนทิโกศล”
ลำดับนั้น เมื่อนักบวชเหล่านั้นจากไปไม่นาน พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกนักบวชเหล่านั้นคงเป็น
พระอรหันต์หรือท่านผู้บรรลุอรหัตตมรรคเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นแน่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร พระองค์เป็นคฤหัสถ์ เป็นกามโภคี
ครอบครองเรือนบรรทมเบียดพระโอรสและพระชายา ใช้สอยพระภูษาและเครื่อง
สำอางจากแคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ทรงยินดีเงินและทอง
ยากที่จะทรงรู้ได้ว่า ‘คนพวกนี้เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรค’
มหาบพิตร ศีล พึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน
ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้
ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
มหาบพิตร ความสะอาด๑ พึงรู้ได้ด้วยการเจรจา๒ และความสะอาดนั้นแล
พึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่
ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่

เชิงอรรถ :
๑ ความสะอาด หมายถึงวาจาสะอาด (ขุ.อุ.อ. ๕๒/๓๕๖)
๒ การเจรจา แปลจากบาลีว่า “สํโวหาเรน” ซึ่งมีความหมายหลายนัยดังนี้ คือ (๑) หมายถึงพาณิชกรรม
(การค้าขาย) (ดู สุตตนิบาต ข้อ ๖๒๐ หน้า ๖๔๘) (๒) หมายถึงเจตนา (ดู ที.ปา. ๑๑/๓๑๓/๒๐๖) หมายถึง
บัญญัติ (ดู อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๓๑๓/๓๓๐) หมายถึงการเจรจา (ดู สํ.ส. (แปล) ๑๕/๒๕/๒๙) ในที่นี้หมายถึง
การเจรจา (ขุ.อุ.อ. ๕๒/๓๕๖, สํ.ส.อ. ๑/๑๒๒/๑๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๒. สัตตชฏิลสูตร
มหาบพิตร กำลัง๑ พึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย และกำลังนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้
เวลานาน ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มี
ปัญญาจึงรู้ได้ ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
มหาบพิตร ปัญญา พึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้
เวลานาน ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มี
ปัญญาจึงรู้ได้ ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ดียิ่งนักว่า มหาบพิตร พระองค์เป็น
คฤหัสถ์ เป็นกามโภคี ครอบครองเรือนบรรทมเบียดพระโอรสและพระมเหสี ทรงใช้
สอยพระภูษาและเครื่องสำอางจากแคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้
ทรงยินดีเงินและทอง ยากที่จะทรงรู้ได้ว่า ‘คนพวกนี้เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้
บรรลุอรหัตตมรรค’
มหาบพิตร ศีล พึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน
ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้
ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
มหาบพิตร ความสะอาด พึงรู้ได้ด้วยเจรจา และความสะอาดนั้นแลพึงรู้ได้โดย
ใช้เวลานาน ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่
ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
มหาบพิตร กำลัง พึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย และกำลังนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้
เวลานาน ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มี
ปัญญาจึงรู้ได้ ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่

เชิงอรรถ :
๑ กำลัง ในที่นี้หมายถึงกำลังคือญาณ ผู้ที่ไม่มีกำลังคือญาณ เมื่อมีภัยเกิดขึ้น ก็ไม่เห็นสิ่งที่ควรยึดเหนี่ยว
และสิ่งที่จะต้องทำ ได้แต่หนีภัยไปอย่างเดียว (ขุ.อุ.อ.๕๒/๓๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๒. สัตตชฏิลสูตร
มหาบพิตร ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน
ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้
ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นักบวชเหล่านั้น เป็นคนของข้าพระองค์ เป็นบุรุษสอดแนม
เป็นสายลับเที่ยวสอดแนมไปยังชนบทแล้วพากันกลับมา ข้าพระองค์จะรู้เรื่องราว
หลังจากที่คนเหล่านั้นสืบมา บัดนี้ คนเหล่านั้นคงจะชำระล้างละอองธุลีนั้นแล้ว
อาบสะอาดดี ลูบไล้ผิวดีแล้ว ตัดผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้าขาว เอิบอิ่ม เพียบพร้อม
ด้วยกามคุณ ๕ บำเรออินทรีย์ทั้งหลายอยู่”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
บรรพชิตไม่พึงพยายามในบาปกรรมทั้งปวง
ไม่พึงเป็นคนของผู้อื่น
ไม่พึงอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่
และไม่พึงใช้ธรรมเป็นเครื่องค้าขาย๑
สัตตชฏิลสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ความหมายของพุทธอุทานนี้ คือ บรรพชิตไม่พึงพยายามทำตนดุจราชบุรุษ เช่น รับทำงานเดินข่าว เป็น
บุรุษสอดแนม เป็นต้น ไม่พึงเป็นเสวก(ข้าราชการในราชสำนัก)ด้วยรูปแบบของบรรพชิต ไม่พึงมีผู้อื่นเป็น
ที่พึ่ง แต่พึงมีตนเป็นที่พึ่งของตน และไม่พึงแสดงธรรมเพราะต้องการทรัพย์ (ขุ.อุ.อ. ๕๒/๓๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๓. ปัจจเวกขณสูตร
๓. ปัจจเวกขณสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาอกุศลธรรมและกุศลธรรม
[๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งพิจารณาบาป
อุกศลธรรมจำนวนมากที่พระองค์ทรงละได้ขาดแล้ว และกุศลธรรมจำนวนมากที่
พระองค์ให้ถึงความเจริญบริบูรณ์แล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบบาปอกุศลธรรมจำนวนมากที่พระองค์
ทรงละได้ขาดแล้ว และกุศลธรรมจำนวนมากที่พระองค์ให้ถึงความเจริญบริบูรณ์แล้ว
จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ในกาลก่อน หมู่กิเลสได้มีแล้ว
แต่ในกาลนั้น หมู่กิเลสไม่มี
ในกาลก่อน ธรรมอันปราศจากโทษไม่มี
แต่ในกาลนั้น ธรรมอันปราศจากโทษได้มีแล้ว
ในอดีต อริยมรรคไม่มี ในอนาคตก็จักไม่มี และในปัจจุบันก็ไม่มี๑
ปัจจเวกขณสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ความหมายของพุทธอุทานนี้ คือ ก่อนการบรรลุอรหัตตมัคคญาณยังมีกิเลส เช่น ราคะ เป็นต้นเหลืออยู่
และธรรมที่ปราศจากโทษก็ยังไม่เจริญบริบูรณ์ แต่เมื่อบรรลุอรหัตตมัคคญาณแล้ว กิเลสทั้งหลายก็ถูกละ
ได้สิ้นเชิง ธรรมที่ปราศจากโทษก็เจริญบริบูรณ์
อนึ่ง ในอดีตก่อนตรัสรู้ อริยมรรคที่เป็นเหตุละกิเลสยังไม่เกิดแก่พระองค์ แม้ในปัจจุบันและอนาคต
อริยมรรคนั้นก็ไม่เกิดแก่พระองค์เช่นกัน เพราะไม่มีกิเลสที่จะต้องใช้อริยมรรคนั้นเป็นเครื่องละอีกต่อไป (ขุ.อุ.อ.
๕๓/๓๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๔. ปฐมนานาติตถิยสูตร
๔. ปฐมนานาติตถิยสูตร
ว่าด้วยลัทธิแตกต่างกัน สูตรที่ ๑
[๕๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น สมณพราหมณ์และปริพาชกจำนวนมาก
ผู้มีลัทธิแตกต่างกัน มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความชอบใจ
แตกต่างกัน ยึดถือทิฏฐิแตกต่างกัน อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี คือ
๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “โลก๑เที่ยง
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “โลกไม่เที่ยง
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “โลกมี
ที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “โลกไม่มี
ที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “ชีวะ๒
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “ชีวะกับ
สรีระเป็นคนละอย่างกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๗. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคต๓เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”

เชิงอรรถ :
๑ โลก ในที่นี้หมายถึงอัตตา (ขุ.อุ.อ.๕๔/๓๖๓)
๒ ชีวะ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณอมตะ หรืออาตมัน (Soul) (อภิ.ปญฺจ.อ.๑/๑/๑๒๙)
๓ ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา(อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า
อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงสัตตะ (ที.สี.อ. ๑/๖๕/๑๐๘, ขุ.อุ.อ. ๕๔/๓๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๔. ปฐมนานาติตถิยสูตร
๘. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๙. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก และไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๑๐. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่า
นั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือ
ปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า “อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้
ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
ครั้งนั้นแล ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส สมณพราหมณ์
และปริพาชกจำนวนมากผู้มีลัทธิแตกต่างกัน มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความพอใจแตก
ต่างกัน มีความชอบใจแตกต่างกัน ยึดถือทิฏฐิแตกต่างกัน อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี คือ
๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกเที่ยง
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลก
ไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกมี
ที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกไม่มี
ที่สุด นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๔. ปฐมนานาติตถิยสูตร
๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ชีวะกับ
สรีระเป็นอย่างเดียวกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ชีวะกับ
สรีระเป็นคนละอย่างกัน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๗. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๘. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๙. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก และไม่เกิดอีก นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๑๐. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่า
นั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือ
ปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า ‘อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้
ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นคนบอด
ไม่มีจักษุ๑ จึงไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม
เมื่อไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม ก็เกิดการ
บาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า ‘อย่างนี้เป็นธรรม
อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้ ธรรมต้องเป็นอย่างนี้’

เชิงอรรถ :
๑ จักษุ ในที่นี้หมายถึงปัญญา (ขุ.อุ.อ.๕๔/๓๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๔. ปฐมนานาติตถิยสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ในกรุงสาวัตถีนี้เอง มีพระราชาพระองค์หนึ่ง
รับสั่งเรียกบุรุษคนหนึ่งมาตรัสว่า ‘พ่อหนุ่ม เจ้าจงไป จงบอกให้คนตาบอดทั้งหมด
ในกรุงสาวัตถีมาประชุมร่วมกัน’ บุรุษนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พาคนตาบอด
ทั้งหมดในกรุงสาวัตถีเข้าไปเฝ้าพระราชาถึงที่ประทับ ได้กราบทูลพระราชาดังนี้ว่า
‘ขอเดชะ คนตาบอดทั้งหลายในกรุงสาวัตถีมาประชุมกันแล้ว พระเจ้าข้า’ พระราชา
ตรัสว่า ‘พ่อหนุ่ม ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงแสดงช้าง๑แก่คนตาบอดทั้งหลายเถิด’ บุรุษนั้น
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจึงแสดงช้างแก่คนตาบอดทั้งหลาย คือ แสดงหัวช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงหูช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงงาช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงงวงช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงตัวช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงเท้าช้างแก่คน
ตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้‘แสดงระหว่างขาอ่อนช้าง
แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงหางช้าง
แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ แสดงขนหางช้าง
แก่คนตาบอดพวกหนึ่ง บอกว่า ‘ท่านทั้งหลาย ช้างเป็นอย่างนี้’ ภิกษุทั้งหลาย
บุรุษนั้นครั้นแสดงช้างแก่คนตาบอดทั้งหลายแล้ว ได้เข้าเฝ้าพระราชาพระองค์นั้น
ถึงที่ประทับแล้วกราบทูลดังนี้ว่า ‘ขอเดชะ คนตาบอดทั้งหลายเห็นช้างแล้ว๒
พระเจ้าข้า ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’
ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น พระราชาพระองค์นั้นได้เสด็จไปหาคนตาบอดเหล่านั้น
ได้ตรัสกับคนตาบอดทั้งหลายดังนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย พวกท่านเห็นช้างแล้วหรือ’

เชิงอรรถ :
๑ แสดงช้าง หมายถึงนำช้างมาแล้วให้ช้างนอนลงโดยให้คนตาบอดคลำดูแต่ละส่วน (ขุ.อุ.อ. ๕๔/๓๖๗)
๒ เห็นช้าง ในที่นี้หมายถึงคนตาบอดใช้มือจับต้อง ลูบคลำช้าง เหมือนเห็นด้วยตา (ขุ.อุ.อ. ๕๔/๓๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๔. ปฐมนานาติตถิยสูตร
คนตาบอดเหล่านั้นกราบทูลว่า ‘ขอเดชะ ข้าพระองค์ทั้งหลายเห็นแล้ว พระเจ้าข้า’
พระราชาตรัสว่า ‘ท่านทั้งหลาย พวกท่านกล่าวว่า ‘ข้าพระองค์ทั้งหลาย
เห็นช้างแล้ว ช้างเป็นอย่างไร’
คนตาบอดพวกที่คลำหัวช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่างเหมือนหม้อ
พระเจ้าข้า’
คนตาบอดพวกที่คลำหูช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่างเหมือนกระด้ง
พระเจ้าข้า’
คนตาบอดพวกที่คลำงาช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่างเหมือนตอไม้
พระเจ้าข้า’
คนตาบอดพวกที่คลำงวงช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่างเหมือนงอนไถ
พระเจ้าข้า’
คนตาบอดพวกที่คลำตัวช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่างเหมือนยุ้งข้าว
พระเจ้าข้า’
คนตาบอดพวกที่คลำเท้าช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่างเหมือนเสา
พระเจ้าข้า’
คนตาบอดพวกที่คลำระหว่างขาอ่อนช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่าง
เหมือนครก พระเจ้าข้า’
คนตาบอดพวกที่คลำหางช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่างเหมือนสากตำข้าว
พระเจ้าข้า’
คนตาบอดพวกที่คลำขนหางช้างกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ช้างมีรูปร่างเหมือนไม้กวาด
พระเจ้าข้า’
ภิกษุทั้งหลาย คนตาบอดเหล่านั้นต่างกำหมัดทุ่มเถียงกันว่า ‘อย่างนี้คือช้าง
อย่างนี้มิใช่ช้าง ช้างต้องไม่เป็นอย่างนี้ ช้างต้องเป็นอย่างนี้’ ภิกษุทั้งหลาย พระราชา
พระองค์นั้นจึงทรงพอพระทัย ด้วยเหตุนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๕. ทุติยนานาติตถิยสูตร
ภิกษุทั้งหลาย อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นคนบอด ไม่มีจักษุ จึงไม่รู้ประโยชน์
ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม เมื่อไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่
มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม ก็เกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน
ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า ‘อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่
เป็นอย่างนี้ ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ทราบว่า สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
ยึดติดอยู่ในทิฏฐิหรืออุปาทานขันธ์เหล่านี้
จึงกล่าวโต้แย้งวิวาทกัน
เหมือนคนตาบอดที่คลำช้างแต่ละส่วน ฉะนั้น
ปฐมนานาติตถิยสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุติยนานาติตถิยสูตร
ว่าด้วยลัทธิแตกต่างกัน สูตรที่ ๒
[๕๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น สมณพราหมณ์และปริพาชกจำนวนมาก
ผู้มีลัทธิแตกต่างกัน มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความชอบใจ
แตกต่างกัน ยึดถือทิฏฐิแตกต่างกัน อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๕. ทุติยนานาติตถิยสูตร
๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลก๑เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกไม่เที่ยง๒ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกเที่ยงและไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกจะว่าเที่ยงก็มิใช่ จะว่าไม่เที่ยงก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่าง
อื่นไม่จริง”
๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลก ตนเองเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลก ผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๗. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลก ตนเองเป็นตัวการและผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง”
๘. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกเกิดขึ้นได้เอง ตนเองเป็นตัวการก็มิใช่ ผู้อื่นเป็นตัวการก็มิใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๙. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ยั่งยืน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า อัตตา และ โลก มีนัยดังนี้คือ นัยที่ ๑ ทั้ง อัตตา และ โลก หมายถึงขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ นัยที่ ๒ อัตตา หมายถึงอหังการวัตถุ คือเหตุให้เกิดมานะว่าเป็นเรา โลก หมายถึง
มมังการวัตถุ คือเหตุให้เกิดตัณหาว่าเป็นของเรา นัยที่ ๓ อัตตา หมายถึงตนเอง โลก หมายถึงผู้อื่น
นัยที่ ๔ อัตตา หมายถึงขันธ์ใดขันธ์หนึ่งในอุปาทานขันธ์ ๕ โลก หมายถึงสิ่งนอกจากขันธ์ ๕ นัยที่ ๕
อัตตา หมายถึงขันธสันดานที่มีวิญญาณ โลก หมายถึงขันธสันดานที่ไม่มีวิญญาณ คำว่า “อัตตาและ
โลกเที่ยง” นี้ ทรงมุ่งแสดงสัสสตวาทะ ๔ ประการ (ขุ.อุ.อ. ๕๕/๓๖๙)
๒ คำว่า “อัตตาและโลกไม่เที่ยง” นี้ ทรงมุ่งแสดงอุจเฉทวาทะ ๗ ประการ (ขุ.อุ.อ. ๕๕/๓๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๕. ทุติยนานาติตถิยสูตร
๑๐. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ไม่ยั่งยืน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๑๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ยั่งยืนก็ใช่ ไม่ยั่งยืนก็ใช่ นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง”
๑๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ จะว่ายั่งยืนก็มิใช่ จะว่าไม่ยั่งยืนก็มิใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๑๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ตนเองเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง”
๑๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตาและ
โลกมีทั้งสุขและทุกข์ ผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๑๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ตนเองเป็นตัวการและผู้อื่นเป็นตัวการ
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๑๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ เกิดขึ้นได้เอง ตนเองเป็นตัวการก็มิใช่
ผู้อื่นเป็นตัวการก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือ
ปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า “อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้
ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
ครั้งนั้นแล ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้า
ไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส สมณพราหมณ์
และปริพาชกจำนวนมากผู้มีลัทธิแตกต่างกัน มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน
มีความ ชอบใจแตกต่างกัน ยึดถือทิฏฐิแตกต่างกัน อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๕. ทุติยนานาติตถิยสูตร
๑. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและ
โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
ฯลฯ
๑๖. สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ฯลฯ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือ
ปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า ‘อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้
ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นคนบอด
ไม่มีจักษุ จึงไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม
เมื่อไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม ก็เกิดการ
บาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า ‘อย่างนี้เป็นธรรม
อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้ ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ทราบว่า สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง
ยึดติดอยู่ในทิฏฐิหรืออุปาทานขันธ์เหล่านี้
จึงไม่บรรลุนิพพานหรืออริยมรรค
มัวจมอยู่ในระหว่างทางนั่นเอง๑
ทุติยนานาติตถิยสูตร ที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ จมอยู่ระหว่างทาง หมายถึงจมอยู่ในโอฆะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.อุ.อ. ๕๕/๓๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๖. ตติยนานาติตถิยสูตร
๖. ตติยนานาติตถิยสูตร
ว่าด้วยลัทธิแตกต่างกัน สูตรที่ ๓
[๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น สมณพราหมณ์และปริพาชกจำนวนมาก
ผู้มีลัทธิแตกต่างกัน มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความชอบใจ
แตกต่างกัน ยึดถือทิฏฐิแตกต่างกัน อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี คือ
๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกเที่ยงและไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกจะว่าเที่ยงก็มิใช่ จะว่าไม่เที่ยงก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่าง
อื่นไม่จริง”
๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลก ตนเองเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลก ผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๗. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลก ตนเองเป็นตัวการและผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง”
๘. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกเกิดขึ้นได้เอง ตนเองเป็นตัวการก็มิใช่ ผู้อื่นเป็นตัวการก็มิใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๖. ตติยนานาติตถิยสูตร
๙. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ยั่งยืน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๑๐. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ไม่ยั่งยืน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๑๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ยั่งยืนก็ใช่ ไม่ยั่งยืนก็ใช่ นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง”
๑๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกจะว่ายั่งยืนก็มิใช่ จะว่าไม่ยั่งยืนก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง”
๑๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ตนเองเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง”
๑๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง”
๑๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ตนเองเป็นตัวการ และผู้อื่นเป็นตัวการนี้
เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
๑๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ เกิดขึ้นได้เอง ตนเองเป็นตัวการก็มิใช่ ผู้อื่น
เป็นตัวการก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือ
ปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า “อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้
ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
ครั้งนั้นแล ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๖. ตติยนานาติตถิยสูตร
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส สมณพราหมณ์และ
ปริพาชกจำนวนมากผู้มีลัทธิแตกต่างกัน มีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน
มีความชอบใจแตกต่างกัน ยึดถือทิฏฐิแตกต่างกัน อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี คือ
๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกเที่ยงและไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกจะว่าเที่ยงก็มิใช่ จะว่าไม่เที่ยงก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’
๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลก ตนเองเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลก ผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๗. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลก ตนเองเป็นตัวการ และผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’
๘. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกเกิดขึ้นได้เอง ตนเองเป็นตัวการก็มิใช่ ผู้อื่นเป็นตัวการก็มิใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๙. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ยั่งยืน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๑๐. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ไม่ยั่งยืน นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๖. ตติยนานาติตถิยสูตร
๑๑. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ยั่งยืนก็ใช่ ไม่ยั่งยืนก็ใช่ นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’
๑๒. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ จะว่ายั่งยืนก็มิใช่ จะว่าไม่ยังยืนก็มิใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๑๓. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ตนเองเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’
๑๔. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ผู้อื่นเป็นตัวการ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’
๑๕. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ตนเองเป็นตัวการ และผู้อื่นเป็นตัวการ
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
๑๖. มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกมีทั้งสุขและทุกข์ เกิดขึ้นได้เอง ตนเองเป็นตัวการก็มิใช่ ผู้อื่น
เป็นตัวการก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือ
ปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า ‘อย่างนี้เป็นธรรม อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้
ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นคนบอด
ไม่มีจักษุ จึงไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม
เมื่อไม่รู้ประโยชน์ ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ไม่รู้ธรรม ไม่รู้สิ่งที่มิใช่ธรรม ก็เกิดการ
บาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ว่า ‘อย่างนี้เป็นธรรม
อย่างนี้มิใช่ธรรม ธรรมต้องไม่เป็นอย่างนี้ ธรรมต้องเป็นอย่างนี้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๖. ตติยนานาติตถิยสูตร
พุทธอุทาน
หมู่สัตว์นี้ คือพวกที่ถือทิฏฐิว่า เราเป็นตัวการ๑
พวกที่ถือทิฏฐิว่า ผู้อื่นเป็นตัวการ
และสมณพราหมณ์พวกหนึ่งที่ไม่คล้อยตามทิฏฐิทั้งสองนี้๒
ไม่เห็นทิฏฐินั้นว่า ‘เป็นเหมือนลูกศร’
แต่สำหรับผู้ใช้ปัญญาพิจารณาจนรู้แจ้งว่า
ทิฏฐินั้นเป็นเหมือนลูกศร
ย่อมไม่มีทิฏฐิที่ว่า “เราสร้าง”
ย่อมไม่มีทิฏฐิที่ว่า “ผู้อื่นสร้าง”
หมู่สัตว์นี้มีมานะ ถูกมานะร้อยรัด
ถูกมานะผูกพันไว้ ชอบกล่าวถกเถียงกันในเรื่องทิฏฐิ
จึงไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏไปได้
ตติยนานาติตถิยสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เราเป็นตัวการ แปลจากบาลีว่า ‘อหังการ’ ในที่นี้หมายถึงลัทธิสยังการหรือสยังกตา (ลัทธิสยังการหรือ
สยังกตานี้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ลัทธิอัตตการ) หมายถึงลัทธิที่เชื่อว่าตนเป็นตัวการคือเป็นผู้สร้างอัตตาและ
โลกขึ้นเอง (ขุ.อุ.อ. ๕๖/๓๗๑)
๒ หมายถึงพวกอธิจจสมุปปันนวาท คือลัทธิที่เชื่อว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นได้เอง มิได้อาศัยเหตุอะไร เป็นลัทธิ
ปฏิเสธทั้งลัทธิสยังการ และลัทธิปรังการ(ผู้อื่นเป็นตัวการ) พวกอธิจจสมุปปันนวาทนี้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
อเหตุกวาท (ขุ.อุ.อ. ๕๕/๓๗๐, ๕๖/๓๗๑-๓๗๒) และดู สํ.นิ. ๑๖/๑๗/๑๙, สํ.นิ.อ. ๒/๑๗/๔๐ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๗. สุภูติสูตร
๗. สุภูติสูตร
ว่าด้วยพระสุภูติเถระ
[๕๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสุภูตินั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง เข้าสมาธิ
ที่ไม่มีวิตก๑อยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสุภูติผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
เข้าสมาธิที่ไม่มีวิตกอยู่ในที่ไม่ไกล
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้กำจัดวิตกทั้งหลายได้
กำหนดวิตกทุกอย่างที่เกิดภายในตนได้ด้วยดี
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง๒ได้ เป็นผู้มีอรูปสัญญา๓
ละโยคะ ๔ ประการ๔ ได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว
ไม่ต้องหวนกลับมาเกิดอีกต่อไป
สุภูติสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สมาธิที่ไม่มีวิตก ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผลสมาธิที่มีฌานที่ ๔ เป็นพื้นฐาน (ขุ.อุ.อ. ๕๗/๓๗๓)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๔๙ ในเล่มนี้
๓ เป็นผู้มีอรูปสัญญา หมายถึงยึดเอานิพพานเป็นอารมณ์ (ขุ.อุ.อ. ๕๗/๓๗๔)
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๘. คณิกาสูตร
๘. คณิกาสูตร
ว่าด้วยหญิงโสเภณี
[๕๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์ มีนักเลง ๒ พวกมีจิตปฏิพัทธ์ยินดีใน
หญิงโสเภณีคนหนึ่ง เกิดการบาดหมางกัน ทะเลาะ วิวาทกัน ถึงขั้นชกต่อยกันบ้าง
ใช้ก้อนดินขว้างกันบ้าง ใช้ท่อนไม้ตีกันบ้าง ใช้ศัสตราทำร้ายกันบ้าง นักเลงเหล่านั้น
ถึงแก่ความตายในที่นั้นบ้าง ได้รับทุกข์ปางตายบ้าง
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระ-
ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ในกรุงราชคฤห์
มีนักเลง ๒ พวกมีจิตปฏิพัทธ์ยินดีในหญิงโสเภณีคนหนึ่งเกิดการบาดหมางกัน
ทะเลาะ วิวาทกัน ถึงขั้นชกต่อยกันบ้าง ใช้ก้อนดินขว้างกันบ้าง ใช้ท่อนไม้ตีกันบ้าง
ใช้ศัสตราทำร้ายกันบ้าง นักเลงเหล่านั้นถึงแก่ความตายในที่นั้นบ้าง ได้รับทุกข์
ปางตายบ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว๑ จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว” นี้หมายถึงทรงทราบว่าความกำหนัดติดใจในกามทั้งหลายเป็นมูล
เหตุแห่งความพินาศทั้งหลายทั้งปวง จึงทรงเปล่งอุทานเพื่อแสดงให้เห็นโทษในข้อปฏิบัติที่สุดโต่งทั้ง ๒ ประการ
(คือกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค) และเพื่อแสดงให้เห็นอานิสงส์แห่งข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง
(มัชฌิมาปฏิปทา) (ขุ.อุ.อ. ๕๘/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๘. คณิกาสูตร
พุทธอุทาน
สิ่งที่บุคคลได้รับอยู่และสิ่งที่บุคคลยังหวังที่จะได้รับต่อไป๑
สิ่งทั้งสองนั้นเจือด้วยธุลีคือราคะเป็นต้นแก่ผู้ทุรนทุรายใฝ่ใจอยากได้รับอยู่
สมณพราหมณ์ผู้มีสิกขาอันเป็นสาระ
คือศีล วัตร ชีวิต พรหมจรรย์ และการบำบวงอันเป็นสาระ๒
นี้เป็นส่วนสุดที่ ๑
สมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ว่า
‘โทษในกามไม่มี’ นี้เป็นส่วนสุดที่ ๒
ส่วนสุดทั้งสองนี้ มีแต่จะเพิ่มตัณหาและอวิชชาให้มากขึ้น
ตัณหาและอวิชชาย่อมก่อให้เกิดความเห็นผิดมากขึ้น
สมณพราหมณ์ทั้งหลายไม่รู้ส่วนสุดทั้งสองนั้น
บางพวกก็จมติดอยู่ บางพวกก็แล่นไป๓
ส่วนพระอริยะทั้งหลายได้รู้แจ้งส่วนสุดทั้งสองนั้น
จึงไม่ตกไปในส่วนสุดทั้งสองนั้น
และเพราะละส่วนสุดทั้งสองนั้นได้
จึงไม่สำคัญตนด้วยตัณหา ทิฏฐิ และมานะ
ย่อมไม่มีวัฏฏะปรากฏ๔
คณิกาสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สิ่งที่บุคคลได้รับอยู่ มีความหมาย ๒ นัย คือ (๑) หมายถึงกามคุณ ๕ ประการ ที่บุคคลเสวยด้วยความ
ยึดมั่นว่า โทษในกามคุณ ๕ ไม่มี (กามสุขัลลิกานุโยค) (๒) หมายถึงการทำตนให้เดือดร้อนด้วยการ
ประพฤติวัตรอย่างนักบวชเปลือย(อัตตกิลมถานุโยค) สิ่งที่บุคคลยังหวังที่จะได้รับต่อไป มีความหมาย
๒ นัย เช่นเดียวกัน คือ (๑) หมายถึงกามคุณ ๕ ที่บุคคลมุ่งหวังที่จะได้รับด้วยความเชื่อว่าเมื่อได้รับแล้ว
ถือเป็นบุญอันยิ่งใหญ่(กามสุขัลลิกานุโยค) (๒) หมายถึงผลที่จะพึงได้รับในอบาย เพราะการทำกรรมตาม
ความเห็นผิดเป็นเหตุ(อัตตกิลมถานุโยค) (ขุ.อุ.อ. ๕๘/๓๗๕-๓๗๗)
๒ ในที่นี้ ศีล หมายถึงข้อที่บุคคลงดเว้น ไม่ทำ วัตร หมายถึงการประพฤติอย่างลำบาก ชีวิต หมายถึงการ
ดำเนินชีวิตอย่างฝืดเคือง เช่น การเป็นอยู่ด้วยการบริโภคผักเป็นอาหาร พรหมจรรย์ หมายถึงเมถุนวิรัติ
การบำบวง หมายถึงการบนบานเซ่นสรวงบูชา (ขุ.อุ.อ. ๕๘/๓๗๖)
๓ ข้อความตอนนี้มีความหมาย ๓ นัย คือ นัยที่ ๑ หมายถึงบางพวกจมติดอยู่ในกามสุข(กามสุขัลลิกานุโยค)
บางพวกแล่นไป คือ มุ่งประกอบตนให้ลำบาก(อัตตกิลมถานุโยค) นัยที่ ๒ หมายถึงบางพวกติดอยู่ด้วย
อำนาจตัณหา บางพวกแล่นไปในอำนาจทิฏฐิ นัยที่ ๓ หมายถึงบางพวกติดอยู่ในสัสสตทิฏฐิ บางพวกแล่นไป
ในอำนาจอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. ๕๘/๓๗๘)
๔ วัฏฏะ ในที่นี้หมายถึงกิเลส กรรม วิบาก (ขุ.อุ.อ. ๕๘/๓๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๙. อุปาติธาวันติสูตร
๙. อุปาติธาวันติสูตร
ว่าด้วยแมลงบินเข้าไฟ
[๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ในความมืดมิดแห่งราตรี พระผู้มีพระภาคประทับ
นั่งในที่แจ้ง มีประทีปน้ำมันลุกโพลงอยู่
ขณะนั้น แมลงจำนวนมากตกลงรอบ ๆ ที่ประทีปน้ำมันเหล่านั้นถึงความทุกข์
ความพินาศย่อยยับ
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นแมลงจำนวนมากตกลงรอบ ๆ ที่ประทีป
น้ำมันเหล่านั้นถึงความทุกข์ ความพินาศย่อยยับ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งแล่นเลยไป๑
ไม่บรรลุธรรมที่เป็นสาระ๒
ชื่อว่าพอกพูนเครื่องพันธนาการ๓ใหม่ ๆ ยิ่งขึ้น
ยึดมั่นในสิ่งที่ตนได้เห็นแล้วและฟังแล้วอย่างนี้
จึงตกสู่หลุมถ่านเพลิง๔ตลอดไป
เหมือนแมลงตกลงสู่ประทีปน้ำมันฉะนั้น
อุปาติธาวันติสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ แล่นเลยไป หมายถึงยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเที่ยง งาม เป็นสุข และเป็นอัตตา (ขุ.อุ.อ. ๕๙/๓๘๒)
๒ ธรรมที่เป็นสาระ หมายถึงศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ เป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๕๙/๓๘๒)
๓ เครื่องพันธนาการ หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. ๕๙/๓๘๒)
๔ หลุมถ่านเพลิง ในที่นี้หมายถึงภพ ๓ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ (ขุ.อุ.อ. ๕๙/๓๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] ๑๐. อุปปัชชันติสูตร
๑๐. อุปปัชชันติสูตร
ว่าด้วยแสงหิ่งห้อยกับแสงอาทิตย์
[๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา นอบน้อม ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตราบเท่า
ที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้นในโลก แต่พอพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว อัญเดียรถีย์ปริพาชกก็เป็นผู้ที่มหาชน
ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่นอบน้อม ไม่ได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร บัดนี้ พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์เป็น
ผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จริงอย่างนั้น อานนท์ อัญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นผู้ที่
มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตราบเท่าที่ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ
ขึ้นในโลก แต่พอตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกแล้ว อัญเดียรถีย์-
ปริพาชกก็เป็นผู้ที่มหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่นอบน้อม ไม่ได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร บัดนี้ ตถาคตและภิกษุสงฆ์
เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๖. ชัจจันธวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พุทธอุทาน
หิ่งห้อยนั้นส่องสว่างอยู่ได้ชั่วเวลาดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น
เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว ก็อับแสงและไม่ส่องสว่างได้เลย
อัญเดียรถีย์ก็เหมือนกัน รุ่งเรืองอยู่ได้
ชั่วเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้นในโลก
แต่เมื่อใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก
เมื่อนั้น อัญเดียรถีย์พร้อมทั้งสานุศิษย์ก็อับเฉา
หมดความรุ่งเรืองอีกต่อไป
พวกเขามีความเห็นผิด จึงไม่พ้นจากทุกข์ไปได้
อุปปัชชันติสูตรที่ ๑๐ จบ
ชัจจันธวรรคที่ ๖ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อายุสังขาโรสสัชชนสูตร ๒. สัตตชฏิลสูตร
๓. ปัจจเวกขณสูตร ๔. ปฐมนานาติตถิยสูตร
๕. ทุติยนานาติตถิยสูตร ๖. ตติยนานาติตถิยสูตร
๗. สุภูติสูตร ๘. คณิกาสูตร
๙. อุปาติธาวันติสูตร ๑๐. อุปปัชชันติสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๑. ปฐมลกุณฏกภัททิยสูตร
๗. จูฬวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องเล็กน้อย
๑. ปฐมลกุณฏกภัททิยสูตร
ว่าด้วยพระลกุณฏกภัททิยเถระ สูตรที่ ๑
[๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรชี้แจงให้ท่านพระ
ลกุณฏกภัททิยะ๑เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาโดยวิธีต่าง ๆ๒ จิตของ
ท่านพระลกุณฏกภัททิยะหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น๓
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรชี้แจงให้ท่านพระลกุณฏก-
ภัททิยะเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ
ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาโดยวิธีต่าง ๆ จิตของท่านพระลกุณฏกภัททิยะ
หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ เดิมชื่อ ภัททิยะ แต่เพราะท่านมีร่างกายเตี้ย คนจึงเรียกท่านว่า “ลกุณฏกภัททิยะ” นัยว่า ก่อนที่ท่านจะ
ได้ฟังธรรมจากท่านพระสารีบุตรนั้น ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว (ขุ.อุ.อ. ๖๑/๓๘๖)
๒ โดยวิธีต่าง ๆ หมายถึงโดยเหตุมากมายอย่างนี้ คือ ให้พิจารณาเห็นว่าขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็น
อนัตตา เป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๖๑/๓๘๗)
๓ หมายถึงทำให้แจ้งอรหัตตผล (ขุ.อุ.อ. ๖๑/๓๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๒. ทุติยลกุณฏกภัททิยสูตร
พุทธอุทาน
บุคคลหลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวงทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ๑
ไม่หลงเข้าใจว่า นี้เป็นของเรา นี้เป็นตัวเรา
มีจิตหลุดพ้นได้เด็ดขาดอย่างนี้
ชื่อว่าข้ามพ้นโอฆะ๒ ที่ตนยังไม่เคยข้ามได้
ไม่ต้องมีภพใหม่อีก
ปฐมลกุณฏกภัททิยสูตรที่ ๑ จบ

๒. ทุติยลกุณฏกภัททิยสูตร
ว่าด้วยพระลกุณฏกภัททิยเถระ สูตรที่ ๒
[๖๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรสำคัญท่านพระ
ลกุณฏกภัททิยะว่าเป็นพระเสขะ จึงชี้แจงให้ท่านพระลกุณฏกภัททิยะเห็นชัด ชวนใจ
ให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมมีกถาโดยวิธีต่าง ๆ ยิ่งกว่าประมาณ
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระสารีบุตรผู้สำคัญท่านพระลกุณฏก-
ภัททิยะว่าเป็นพระเสขะ จึงชี้แจงให้ท่านพระลกุณฏกภัททิยะเห็นชัด ชวนใจให้

เชิงอรรถ :
๑ ชั้นสูง หมายถึงรูปธาตุ และอรูปธาตุ นี้ว่าโดยหลุดพ้นเบื้องต้น แต่เมื่อว่าโดยหลุดพ้นเบื้องปลายหมายถึง
ละสังโยชน์เบื้องสูง ๕ ประการได้ ชั้นต่ำ หมายถึงกามธาตุ นี้ว่าโดยหลุดพ้นเบื้องต้น แต่เมื่อว่าโดยหลุดพ้น
เบื้องปลายหมายถึงละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการได้ (ขุ.อุ.อ. ๖๑/๓๘๗)
๒ โอฆะ หมายถึงห้วงน้ำคือสังสารวัฏมี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.อุ.อ. ๖๑/๓๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๓. ปฐมสัตตสูตร
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาโดยวิธีต่าง ๆ ยิ่งกว่าประมาณ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
บุคคลตัดวัฏฏะ๑ได้ จึงบรรลุถึงความไม่หวัง๒
แม่น้ำคือตัณหาที่ถูกอรหัตตมรรคญาณทำให้เหือดแห้งแล้ว
จึงไหลไปอีกไม่ได้
วัฏฏะที่ตัดได้แล้ว ย่อมไม่หมุนวนได้อีก
สภาพนี้แหละคือความสิ้นสุดแห่งทุกข์
ทุติยลกุณฏกภัททิยสูตรที่ ๒ จบ

๓. ปฐมสัตตสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่ติดอยู่ในกาม สูตรที่ ๑
[๖๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายในกรุงสาวัตถีโดยมากเป็นผู้ติดใจใน
กามทั้งหลายเกินขอบเขต เป็นผู้ยินดี รักใคร่ เพลิดเพลิน หลงใหล หมกมุ่น มัวเมา
อยู่ในกามทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ วัฏฏะ ในที่นี้หมายถึงกิเลสวัฏ (ขุ.อุ.อ. ๖๒/๓๘๙)
๒ บรรลุถึงความไม่หวัง หมายถึงบรรลุนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๖๒/๓๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๔. ทุติยสัตตสูตร
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส มนุษย์ทั้งหลาย
ในกรุงสาวัตถีโดยมาก เป็นผู้ติดใจในกามทั้งหลายเกินขอบเขต เป็นผู้ยินดี รักใคร่
เพลิดเพลิน หลงใหล หมกมุ่น มัวเมาอยู่ในกามทั้งหลาย พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
สัตว์ทั้งหลายติดใจในกาม
ข้องด้วยกิเลสเครื่องข้องในกาม
ไม่เห็นโทษในสังโยชน์ ข้องในกิเลสเครื่องข้องคือสังโยชน์
จะพึงข้ามโอฆะอันกว้างใหญ่ไม่ได้เลย
ปฐมสัตตสูตรที่ ๓ จบ

๔. ทุติยสัตตสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่ติดอยู่ในกาม สูตรที่ ๒
[๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายในกรุงสาวัตถีโดยมาก
เป็นผู้ติดใจในกามทั้งหลาย เป็นผู้ยินดี รักใคร่ เพลิดเพลิน หลงใหล หมกมุ่น
มืดมน มัวเมาอยู่ในกามทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๕. อปรลกุณฏกภัททิยสูตร
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นมนุษย์ทั้งหลายในกรุง
สาวัตถีโดยมากเป็นผู้ติดใจในกามทั้งหลาย เป็นผู้ยินดี รักใคร่ เพลิดเพลิน หลงใหล
หมกมุ่น มืดมน มัวเมาอยู่ในกามทั้งหลาย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
สัตว์ทั้งหลายมืดมนเพราะกาม
ถูกข่ายรัดรึงไว้แน่น
ถูกเครื่องมุงบังคือตัณหาปกคลุมไว้
ถูกเครื่องผูกคือความประมาทผูกพันไว้ เหมือนปลาในข้อง๑
สัตว์เหล่านั้น จึงไปสู่ความแก่และความตาย
เหมือนลูกโคที่ยังไม่อดนม วิ่งตามแม่โค ฉะนั้น
ทุติยสัตตสูตรที่ ๔ จบ

๕. อปรลกุณฏกภัททิยสูตร
ว่าด้วยพระลกุณฏกภัททิยเถระ อีกสูตรหนึ่ง
[๖๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระลกุณฏกภัททิยะเดินตามหลัง
ภิกษุทั้งหลาย เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๒๙๗/๓๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๕. อปรลกุณฏกภัททิยสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระลกุณฏกภัททิยะมีผิวพรรณ
หยาบ ไม่น่าดู มีร่างกายค่อมเตี้ย ถูกภิกษุดูหมิ่น กำลังเดินตามหลังภิกษุทั้งหลาย
มาแต่ไกล จึงรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็น
ภิกษุรูปนั้นผู้มีผิวพรรณหยาบ ไม่น่าดู มีร่างกายค่อมเตี้ย ถูกภิกษุดูหมิ่น กำลัง
เดินตามหลังภิกษุทั้งหลายมาแต่ไกลหรือไม่”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนั้นมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
เพราะเธอเคยเข้าสมาบัติมาแล้วแทบทุกชนิด เธอใช้ปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ทำให้
แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม๑ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรผู้ออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
เธอจงดูรถ๒ซึ่งมีส่วนประกอบอันไม่มีโทษ๓
มีหลังคาขาว๔ มีเพลาเดียว๕ ไม่มีทุกข์
แล่นไปถึงที่หมาย ตัดกระแส ไม่มีเครื่องผูก๖
อปรลกุณฏกภัททิยสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๒๑๒ ในเล่มนี้
๒ รถ หมายถึงร่างกาย (สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๓๔๗/๓๘๐, ขุ.อุ.อ. ๖๕/๓๙๖)
๓ ส่วนประกอบอันไม่มีโทษ หมายถึงอรหัตตผลศีล (สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๓๔๗/๓๘๐, ขุ.อุ.อ. ๖๕/๓๙๖)
๔ หลังคาขาว หมายถึงอรหัตตผลวิมุตติ (สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๓๔๗/๓๘๐, ขุ.อุ.อ. ๖๕/๓๙๖)
๕ เพลาเดียว หมายถึงสติ (สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๓๔๗/๓๘๐, ขุ.อุ.อ. ๖๕/๓๙๖)
๖ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๓๔๗/๓๘๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๖. ตัณหาสังขยสูตร
๖. ตัณหาสังขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นไปแห่งตัณหา
[๖๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง พิจารณาความหลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหาอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระอัญญาโกณฑัญญะผู้กำลังนั่ง
คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง พิจารณาความหลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหาอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
พระอริยบุคคลใดไม่มีราก๑ไม่มีพื้นดิน๒ไม่มีเถา๓
จะมีใบ๔แต่ที่ไหน
ใครเล่าควรจะติเตียนพระอริยบุคคลนั้น
ที่เป็นปราชญ์ พ้นจากเครื่องผูกแล้ว
พระอริยบุคคลนั้น แม้เทวดาก็ชื่นชม ถึงพรหมก็สรรเสริญ
ตัณหาสังขยสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีราก หมายถึงไม่มีอวิชชา (ความไม่รู้) (ขุ.อุ.อ.๖๖/๓๙๗)
๒ ไม่มีพื้นดิน หมายถึงไม่มีอาสวะ(กิเลสที่หมักดองอยู่ในสันดาน) นิวรณ์ (ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี)
และอโยนิโสมนสิการ (การไม่มนสิการโดยแยบคาย) (ขุ.อุ.อ. ๖๖/๓๙๗)
๓ ไม่มีเถา หมายถึงไม่มีมานะ (ถือตัว) และอติมานะ (ดูหมิ่น) (ขุ.อุ.อ.๖๗/๓๙๗)
๔ ใบ หมายถึงมทะ(ความมัวเมา) ปมาทะ(ความประมาท) มายา(มีมารยา) และสาเฐยยะ(ความโอ้อวดหลอกเขา)
(ขุ.อุ.อ. ๖๖/๓๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๘. กัจจานสูตร
๗. ปปัญจักขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นไปแห่งกิเลสเครื่องเนิ่นช้า
[๖๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งพิจารณาถึง
การละส่วนสัญญาอันประกอบด้วยกิเลสเครื่องเนิ่นช้า๑ของพระองค์อยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบถึงการละส่วนสัญญาอันประกอบด้วย
กิเลสเครื่องเนิ่นช้าของพระองค์แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องเนิ่นช้าและการดำรงอยู่ (ในสังสารวัฏ)
ก้าวพ้นที่ต่อ๒และลิ่มสลัก๓ได้แล้ว
ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ย่อมไม่ดูหมิ่นผู้นั้นซึ่งไม่มีตัณหา เป็นมุนี เที่ยวไป
ปปัญจักขยสูตรที่ ๗ จบ

๘. กัจจานสูตร
ว่าด้วยพระมหากัจจานะ
[๖๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระมหากัจจานะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง
มีกายคตาสติที่ตั้งมั่นภายในตนอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องเนิ่นช้า หมายถึงราคะ โทสะ โมหะ ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.อุ.อ. ๖๗/๓๙๙)
๒ ที่ต่อ หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. ๖๗/๔๐๐)
๓ ลิ่มสลัก หมายถึงอวิชชา (ขุ.อุ.อ. ๖๗/๔๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๙. อุทปานสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหากัจจานะผู้กำลังนั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง มีกายคตาสติที่ตั้งมั่นภายในตนอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้ใดพึงเข้าไปตั้งกายคตาสติไว้ในกาลทุกเมื่อว่า
“ถ้าในอดีต กรรมกิเลสไม่พึงมีแก่เรา
ในปัจจุบัน อัตภาพนี้ก็ไม่พึงมีแก่เรา
ในอัตภาพนี้ กรรมกิเลสจักไม่มีแก่เรา
ในอนาคต วิปากวัฏก็จักไม่มีแก่เรา”
ผู้นั้นมีปกติอยู่ด้วยอนุปุพพวิหารในกาลทั้ง ๓ นั้น
พึงข้ามพ้นตัณหาที่ชื่อวิสัตติกาได้
โดยเวลาที่อริยมรรคเกิดขึ้นนั่นแล
กัจจานสูตรที่ ๘ จบ

๙. อุทปานสูตร
ว่าด้วยบ่อน้ำ
[๖๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมัลละ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงถูนคามหมู่บ้านพราหมณ์ในแคว้นมัลละ ชาวถูนคามผู้เป็น
พราหมณ์และคหบดีได้ฟังว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ทราบว่าพระสมณโคดม-
ศากยบุตร ผู้เสด็จออกบวชจากศากยตระกูล กำลังเสด็จจาริกไปในแคว้นมัลละ
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงถูนคามโดยลำดับ” พวกเขาจึงใช้หญ้าและ
แกลบถมบ่อน้ำจนเต็มถึงปากบ่อด้วยตั้งใจว่า “สมณะโล้นเหล่านั้นอย่าได้น้ำดื่ม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๙. อุทปานสูตร
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแวะลงข้างทาง เสด็จเข้าไปยังควงไม้ต้นหนึ่ง
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ พระผู้มีพระภาค ครั้นประทับนั่งแล้ว รับสั่งเรียก
ท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจงนำน้ำดื่มจากบ่อน้ำมาเพื่อเรา”
ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ บ่อน้ำนั้นถูกชาวถูนคามผู้เป็น
พราหมณ์และคหบดีใช้หญ้าและแกลบถมจนเต็มปากบ่อ ด้วยตั้งใจว่า ‘สมณะโล้น
เหล่านั้นอย่าได้น้ำดื่ม พระพุทธเจ้าข้า”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ เธอจง
นำน้ำดื่มจากบ่อน้ำนั้นมาเพื่อเรา”
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
บัดนี้ บ่อน้ำนั้นถูกชาวถูนคามผู้เป็นพราหมณ์และคหบดีใช้หญ้าและแกลบถมจน
เต็มปากบ่อ ด้วยตั้งใจว่า ‘สมณะโล้นเหล่านั้นอย่าได้น้ำดื่ม พระพุทธเจ้าข้า”
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ เธอจง
นำน้ำดื่มจากบ่อน้ำนั้นมาเพื่อเรา”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วถือบาตรเดินไปที่บ่อน้ำนั้น ครั้งนั้น
บ่อน้ำนั้นเมื่อท่านพระอานนท์เดินเข้าไปถึง น้ำก็ล้นขึ้นมา พัดเอาหญ้าและแกลบ
ทั้งหมดนั้นออกไปจากปากบ่อ เหลือแต่น้ำที่ใสสะอาด ไม่ขุ่น เต็มเปี่ยมถึงปากบ่อ
ขังอยู่ดุจไหลออกจากปากบ่อได้เอง
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคต
ทรงเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง บ่อน้ำนี้ เมื่อเราเดินเข้าไปถึงน้ำ
ก็ล้นขึ้นมาพัดเอาหญ้าและแกลบทั้งหมดนั้นออกไปจากปากบ่อ เหลือแต่น้ำที่ใสสะอาด
ไม่ขุ่น เต็มเปี่ยมถึงปากบ่อ ขังอยู่ดุจไหลออกมาจากปากบ่อได้เอง” ครั้นแล้ว ท่านก็
ใช้บาตรตักน้ำนำเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงเป็นผู้มี
ฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บ่อน้ำนี้ เมื่อข้าพระองค์เดิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] ๑๐. อุเทนสูตร
เข้าไปถึง น้ำก็ล้นขึ้นมาพัดเอาหญ้าและแกลบทั้งหมดนั้นออกไปจากปากบ่อ เหลือแต่
น้ำที่ใสสะอาด ไม่ขุ่น เต็มเปี่ยมถึงปากบ่อ ขังอยู่ดุจไหลออกมาจากปากบ่อได้เอง
ขอพระผู้มีพระภาคทรงดื่มน้ำเถิด ขอพระสุคตทรงดื่มน้ำเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ถ้าน้ำมีอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่จำเป็นต้องขุดบ่อน้ำ
พระพุทธเจ้าเช่นเรา ตัดรากตัณหาขาดแล้ว
ก็ไม่จำเป็นต้องเที่ยวแสวงหา(น้ำหรือปัจจัยอย่างอื่น)
อุทปานสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. อุเทนสูตร
ว่าด้วยพระราชวังของพระเจ้าอุเทนถูกเผา
[๗๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี สมัยนั้น
เมื่อพระเจ้าอุเทนเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ภายในพระราชวังถูกไฟไหม้ หญิง
๕๐๐ คน มีพระนางสามาวดีเป็นหัวหน้า ต่างเสียชีวิตทั้งหมด
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้า
ไปบิณฑบาตยังกรุงโกสัมพี กลับจากบิณฑบาตหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เมื่อพระเจ้า
อุเทนเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ภายในพระราชวังถูกไฟไหม้ หญิง ๕๐๐ คน
มีพระนางสามาวดีเป็นหัวหน้า ต่างเสียชีวิตทั้งหมด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คติของ
อุบาสิกาเหล่านั้นเป็นอย่างไร ภพหน้าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๗. จูฬวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาเหล่านั้นที่เป็นโสดาบันก็มีที่
เป็นสกทาคามินีก็มี ที่เป็นอนาคามินีก็มี ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาเหล่านั้นทั้งหมด
ชื่อว่าไม่ตายเปล่า๑”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
สัตว์โลกมีโมหะเป็นเครื่องผูกพัน
ย่อมปรากฏเหมือนสมบูรณ์ด้วยเหตุ
คนพาลมีอุปธิเป็นเครื่องผูกพัน ถูกความมืดหุ้มห่อไว้
ย่อมปรากฏเหมือนยั่งยืนนิรันดร์
แต่ผู้เห็นอยู่ ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
อุเทนสูตรที่ ๑๐ จบ
จูฬวรรคที่ ๗ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมลกุณฏกภัททิยสูตร ๒. ทุติยลกุณฏกภัททิยสูตร
๓. ปฐมสัตตสูตร ๔. ทุติยสัตตสูตร
๕. อปรลกุณฏกภัททิยสูตร ๖. ตัณหาสังขยสูตร
๗. ปปัญจักขยสูตร ๘. กัจจานสูตร
๙. อุทปานสูตร ๑๐. อุเทนสูตร


เชิงอรรถ :
๑ ไม่ตายเปล่า หมายถึงไม่ไร้ผล คือบรรลุสามัญญผล (ผลแห่งความเป็นสมณะ) (ขุ.อุ.อ. ๗๐/๔๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๑. ปฐมนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
๘. ปาฏลิคามิยวรรค
หมวดว่าด้วยปาฏลิคาม
๑. ปฐมนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เกี่ยวกับนิพพาน สูตรที่ ๑
[๗๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาว่าด้วยเรื่องนิพพาน ฝ่ายภิกษุเหล่านั้นก็ทำให้มั่น มนสิการ
แล้วน้อมนึกธรรมีกถาทั้งปวงด้วยจิต เงี่ยโสตลงฟังธรรม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ภิกษุทั้งหลาย อายตนะ๑มีอยู่
(แต่) ในอายตนะนั้นไม่มีปฐวีธาตุ
ไม่มีอาโปธาตุ ไม่มีเตโชธาตุ ไม่มีวาโยธาตุ
ไม่มีอากาสานัญจายตนะ ไม่มีวิญญาณัญจายตนะ
ไม่มีอากิญจัญญายตนะ ไม่มีเนวสัญญานาสัญญายตนะ
ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ไม่มีดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ทั้งสองนั้น

เชิงอรรถ :
๑ อายตนะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๗๑/๔๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๒. ทุติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกอายตนะนั้นว่า
มีการมา มีการไป มีการตั้งอยู่ มีการจุติ มีการอุบัติ
อายตนะนั้นไม่มีที่ตั้งอาศัย ไม่เปลี่ยนแปลง
ไม่มีอารมณ์ยึดเหนี่ยว นี้แลคือที่สุดแห่งทุกข์
ปฐมนิพพานปฏิสังยุตตสูตรที่ ๑ จบ

๒. ทุติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เกี่ยวกับนิพพาน สูตรที่ ๒
[๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาว่าด้วยเรื่องนิพพาน ฝ่ายภิกษุเหล่านั้นก็ทำให้มั่น มนสิการ
แล้วน้อมนึกธรรมีกถาทั้งปวงด้วยจิต เงี่ยโสตลงฟังธรรม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยาก
ชื่อว่านิพพานอันไม่มีตัณหา
นิพพานนั้นเป็นธรรมที่มีอยู่จริง ไม่เห็นได้ง่าย
ตัณหาอันบุคคลแทงตลอดแล้ว
กิเลสเครื่องกังวลก็ไม่มีแก่ผู้รู้อยู่ เห็นอยู่
ทุติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๓. ตติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
๓. ตติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เกี่ยวกับนิพพาน สูตรที่ ๓
[๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาว่าด้วยเรื่องนิพพาน ฝ่ายภิกษุเหล่านั้นก็ทำให้มั่น มนสิการ
แล้วน้อมนึกธรรมีกถาทั้งปวงด้วยจิต เงี่ยโสตลงฟังธรรม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ
ไม่ถูกเหตุสร้าง ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ
ไม่ถูกเหตุสร้าง ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง จักไม่มี
ในโลกนี้ก็จะไม่ปรากฏภาวะสลัดออกจากธรรมชาติที่เกิดแล้ว
ที่ปรากฏแล้ว ที่ถูกเหตุสร้างแล้ว ที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ
ไม่ถูกเหตุสร้าง ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง มีอยู่
ฉะนั้น จึงปรากฏภาวะสลัดออกจากธรรมชาติที่เกิดแล้ว
ที่ปรากฏแล้ว ที่ถูกเหตุสร้างแล้ว ที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
ตติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๔. จตุตถนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
๔. จตุตถนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เกี่ยวกับนิพพาน สูตรที่ ๔
[๗๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาว่าด้วยเรื่องนิพพาน ฝ่ายภิกษุเหล่านั้นก็ทำให้มั่น มนสิการ
แล้วน้อมนึกธรรมีกถาทั้งปวงด้วยจิต เงี่ยโสตลงฟังธรรม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ความหวั่นไหวย่อมมีแก่บุคคลผู้ถูกตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ความหวั่นไหวย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิอาศัย
เมื่อความหวั่นไหว(จิต)ไม่มี ก็ย่อมมีปัสสัทธิ๑
เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ย่อมไม่มีตัณหา
เมื่อไม่มีตัณหา ก็ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด
เมื่อไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ก็ไม่มีการจุติและการอุบัติ
เมื่อไม่มีการจุติและการอุบัติ ก็ไม่มีโลกนี้ โลกอื่น
และระหว่างโลกทั้งสอง นี้คือที่สุดแห่งทุกข์
จตุตถนิพพานปฏิสังยุตตสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ปัสสัทธิ หมายถึงความเข้าไปสงบกายและจิต (ขุ.ขุ.อ. ๗๔/๔๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๕. จุนทสูตร
๕. จุนทสูตร๑
ว่าด้วยนายจุนทกัมมารบุตร๒
[๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมัลละพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ ได้เสด็จไปถึงเมืองปาวา ได้ยินว่า ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ
สวนอัมพวันของนายจุนทกัมมารบุตร
นายจุนทกัมมารบุตรได้ฟังว่า “ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปใน
แคว้นมัลละพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงเมืองปาวาแล้วประทับอยู่ ณ
สวนอัมพวันของเรา” นายจุนทกัมมารบุตรจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นายจุนท-
กัมมารบุตรเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ครั้งนั้น นายจุนทกัมมารบุตรผู้อัน
พระผู้มีพระภาคตรัสชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วย
ภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มี
พระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
ครั้งนั้น นายจุนทกัมมารบุตรทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว
ลุกขึ้นจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วจากไป ครั้นคืนนั้น
ผ่านไป นายจุนทกัมมารบุตรสั่งให้คนจัดของขบฉันอย่างประณีต และสูกรมัททวะ๓

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๘๙-๑๙๗/๑๓๗-๑๔๗
๒ บุตรของนายช่างทอง (ขุ.อุ.อ.๗๔/๔๒๖)
๓ สูกรมัททวะ พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ดังนี้ คือ (๑) (สูกรมทฺทวนฺติ สูกรสฺส มุทุสินิทฺธํ ปวตฺตมํสํ)
หมายถึงเนื้อสุกรทั่วไปที่อ่อนนุ่ม (๒) (สูกเรหิ มทฺทิตวํสกฬีโร) หมายถึงหน่อไม้ชนิดหนึ่งที่สุกรแทะดุน
(๓) (สูกเรหิ มทฺทิตปฺปเทเส ชาตํ อหิฉตฺตกํ) หมายถึงเห็ดชนิดหนึ่งที่เกิดในถิ่นที่สุกรแทะดุน (๔) (สูกร-
มทฺทวํ นาม เอกํ รสายตนํ) หมายถึงรสอาหารชนิดหนึ่งชื่อว่า สูกรมัททวะ (ขุ.อุ.อ. ๗๕/๔๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๕. จุนทสูตร
จำนวนเพียงพอไว้ในนิเวศน์ของตน แล้วส่งคนไปให้กราบทูลภัตตกาลว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของนายจุนทกัมมารบุตรพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบน
พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้รับสั่งเรียกนายจุนทกัมมารบุตรมาตรัสว่า “จุนทะ ท่านจง
ประเคนเราด้วยสูกรมัททวะที่เตรียมไว้ ประเคนภิกษุสงฆ์ด้วยของขบฉันอย่างอื่นที่เตรียม
ไว้เถิด” นายจุนทกัมมารบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ประเคนพระผู้มีพระภาค
ด้วยสูกรมัททวะที่เตรียมไว้ ประเคนของขบฉันอย่างอื่นที่เตรียมไว้แด่ภิกษุสงฆ์
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกนายจุนทกัมมารบุตรมาตรัสว่า “จุนทะ
ท่านจงฝังสูกรมัททวะที่เหลือในหลุม เรายังไม่เห็นใครในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะบริโภค
สูกรมัททวะนั้นแล้วพึงถึงการย่อยไปด้วยดี ยกเว้นตถาคต” นายจุนทกัมมารบุตร
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว นำสูกรมัททวะที่เหลือนั้นไปฝังไว้ในหลุมเสร็จแล้วเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค
ทรงชี้แจงให้นายจุนทะเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากพุทธอาสน์
เสด็จจากไป
หลังจากที่พระผู้มีพระภาคเสวยพระกระยาหารของนายจุนทกัมมารบุตรเสร็จแล้ว
ได้เกิดอาการพระประชวรอย่างรุนแรง มีทุกขเวทนาเกิดจากโรคลงพระบังคนหนัก
เป็นโลหิตจวนเจียนจะปรินิพพาน ได้ยินว่า ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีสติ-
สัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นเวทนานั้นไว้มิได้ทรงพรั่นพรึง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด
อานนท์ เราไปยังกรุงกุสินารากันเถิด” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัส
พระผู้มีพระภาคทันที

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๕. จุนทสูตร
ข้าพเจ้าได้สดับมาว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีพระปรีชา
เสวยพระกระยาหารของนายจุนทะกัมมารบุตรแล้ว
ทรงพระประชวรหนักจวนเจียนจะปรินิพพาน
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยสูกรมัททวะแล้ว
ได้เกิดอาการพระประชวรอย่างรุนแรงลงพระบังคนหนัก
ตรัสว่า เราจะไปยังกรุงกุสินารา

รับสั่งขอน้ำดื่ม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแวะลงข้างทาง เสด็จเข้าไปยังควงไม้ต้นหนึ่งแล้ว
รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ เธอจงปูสังฆาฏิ ๔ ชั้นแก่เรา
เราเหน็ดเหนื่อย จะนั่ง” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจึงปูสังฆาฏิ
๔ ชั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนพุทธอาสน์นั้นแล้วตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้
ว่า “อานนท์ เธอจงนำน้ำดื่มมาเพื่อเรา เรากระหายจะดื่มน้ำ”
เมื่อพระผู้มีพระภาครับสั่งอย่างนี้ ท่านพระอานนท์จึงได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่มผ่านไปเมื่อ
สักครู่นี้เอง น้ำนั้นถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม่น้ำ
กุกุฏานี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใส รสจืด เย็นฉ่ำ สะอาด มีท่าขึ้นลงสะดวก น่ารื่นรมย์
พระผู้มีพระภาคจักทรงดื่ม และทรงสนานพระวรกายให้ชุ่มชื่นได้ ณ แม่น้ำนั้น”
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ เธอจง
นำน้ำดื่มมาเพื่อเรา เรากระหายจะดื่มน้ำ”
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เกวียนประมาณ
๕๐๐ เล่มผ่านไปเมื่อสักครู่นี้เอง น้ำนั้นถูกล้อเกวียนย่ำ จนขุ่นเป็นตมไหลไป ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ แม่น้ำกุกุฏานี้อยู่ไม่ไกล มีน้ำใส รสจืด เย็นฉ่ำ สะอาด มีท่าขึ้นลง
สะดวก น่ารื่นรมย์ พระผู้มีพระภาคจักทรงดื่ม และทรงสนานพระวรกายให้ชุ่มชื่นได้
ณ แม่น้ำนั้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๕. จุนทสูตร
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์ เธอจง
นำน้ำดื่มมาเพื่อเรา เรากระหายจะดื่มน้ำ” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
ถือบาตรเดินไปที่แม่น้ำนั้น
ครั้งนั้น แม่น้ำซึ่งถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไปอยู่นั้น เมื่อท่านพระ
อานนท์เดินเข้าไปถึง ก็พลันใสสะอาด ไม่ขุ่น ไหลไปตามปกติ ลำดับนั้น ท่านพระ
อานนท์ได้มีความคิดดังนี้ว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงมี
ฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง แม่น้ำนี้มีน้ำน้อย ถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไป
เมื่อเราเดินมาถึงก็พลันใส สะอาด ไม่ขุ่น ไหลไป” ท่านพระอานนท์จึงใช้บาตรตักน้ำ
แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระตถาคตทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม่น้ำนี้มีน้ำน้อย ถูกล้อเกวียนย่ำจนขุ่นเป็นตมไหลไป
เมื่อข้าพระองค์เดินเข้าไปถึง ก็พลันใสสะอาด ไม่ขุ่นไหลไป ขอพระผู้มีพระภาค
ทรงดื่มน้ำเถิด ขอพระสุคตทรงดื่มน้ำเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงดื่มน้ำแล้วเสด็จไปที่แม่น้ำกุกุฏา พร้อมกับ
สงฆ์หมู่ใหญ่ พอเสด็จถึงก็เสด็จลงแม่น้ำนั้น ทรงสรงและทรงดื่มแล้วเสด็จขึ้น เสด็จ
กลับไปยังสวนอัมพวันแล้วรับสั่งเรียกท่านพระจุนทกะมาตรัสว่า “จุนทกะ เธอจงปู
ผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้นแก่เรา เราเหน็ดเหนื่อย จะนอน” ท่านพระจุนทกะทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้วปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยา
โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท ทรงมีสติสัมปชัญญะ
บริบูรณ์ ทรงกำหนดพระทัยว่าจะเสด็จลุกขึ้น ส่วนท่านพระจุนทกะก็นั่งเฝ้าอยู่เบื้อง
พระพักตร์ของพระองค์ ในที่นั้นเอง
ภายหลัง พระธรรมสังคาหกาจารย์ได้รจนาคาถาสรุปดังนี้ว่า
พระพุทธเจ้าผู้ตถาคตศาสดา หาผู้เปรียบมิได้ในโลกนี้
ทรงมีพระวรกายเหน็ดเหนื่อยมาก
เสด็จถึงแม่น้ำกุกุฏาซึ่งมีน้ำใส รสจืด สะอาด
เสด็จลงไปสู่แม่น้ำนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๕. จุนทสูตร
พระศาสดาผู้อันชาวโลกทั้งหมดบูชา
เสด็จอยู่ท่ามกลางภิกษุสงฆ์
ทรงสรงและทรงดื่มน้ำแล้วเสด็จขึ้นจากแม่น้ำ
พระผู้มีพระภาคบรมศาสดา ผู้ทรงแสวงหาคุณยิ่งใหญ่
ทรงประกาศเผยแผ่ธรรมวินัยไว้ในพุทธศาสนานี้
เสด็จเข้าไปยังสวนอัมพวันแล้ว
รับสั่งเรียกพระจุนทกะมาตรัสว่า
เธอจงปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้นให้เป็นที่นอนแก่เรา
ท่านพระจุนทกะนั้น อันพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงฝึกฝนอบรมพระองค์แล้วตรัสเตือน
จึงปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น ทันที
พระบรมศาสดาทรงมีพระวรกายเหน็ดเหนื่อย ทรงบรรทมแล้ว
ฝ่ายพระจุนทกะก็นั่งเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ในที่นั้น

บิณฑบาตทาน ๒ คราว มีผลเสมอกัน
ครั้นต่อมา พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “อานนท์
หากจะมีใครมากล่าวให้นายจุนทกัมมารบุตรเดือดร้อนใจว่า ‘ท่านจุนทะ การที่พระ
ตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้ายแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน ไม่ใช่
ลาภของท่าน ท่านได้ชั่วแล้ว อานนท์ เธอพึงระงับความเดือดร้อนใจของนายจุนท-
กัมมารบุตรอย่างนี้ว่า
ท่านจุนทะ การที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้าย แล้วเสด็จ
ดับขันธปรินิพพาน เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ท่านจุนทะ ความข้อนี้ อาตมภาพ
ได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคว่า บิณฑบาต ๒ คราว
มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอื่น
อย่างมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๕. จุนทสูตร
บิณฑบาต ๒ คราว อะไรบ้าง คือ
๑. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม
๒. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
บิณฑบาต ๒ คราวนี้ มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมี
อานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอื่นอย่างมาก
นายจุนทกัมมารบุตรได้สั่งสมกุศลกรรมที่เป็นเหตุให้มีอายุยืน มีผิวพรรณ
ผ่องใส มีความสุข เกิดในสวรรค์ เจริญด้วยลาภยศ เป็นใหญ่ยิ่งแล้ว อานนท์
เธอพึงระงับความเดือดร้อนใจของนายจุนทกัมมารบุตรอย่างนี้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ผู้ให้ทาน ย่อมเพิ่มพูนบุญ
ผู้สำรวม (ในศีล) ย่อมไม่ก่อเวร
ส่วนผู้ฉลาด ย่อมละบาปได้
เพราะสิ้นราคะ โทสะ และโมหะ
ผู้นั้นจึงชื่อว่าปรินิพพานแล้ว
จุนทสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
๖. ปาฏลิคามิยสูตร๑
ว่าด้วยอุบาสกชาวปาฏลิคาม
[๗๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ ได้เสด็จมาถึงปาฏลิคาม
อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามได้ทราบข่าวว่า “พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไป
ในแคว้นมคธพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จมาถึงปาฏลิคามแล้ว” จึงพากัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบ
ทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดรับอาคารที่พักของ
ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยพระอาการดุษณี
ลำดับนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรง
รับนิมนต์แล้วจึงพากันลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ
แล้วพากันเดินไปยังอาคารที่พัก ปูลาดอาสนะทั่วอาคาร จัดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ
ตามประทีปน้ำมันไว้แล้วกลับเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ
ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
ทั้งหลายปูลาดอาสนะ ดาดเพดานทั่วอาคารที่พัก จัดอาสนะ ตั้งหม้อน้ำ ตาม
ประทีปน้ำมันไว้แล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด
พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๕-๒๘๖/๙๗-๑๐๓, ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๔๘-๑๕๔/๙๒-๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
ครั้งนั้น เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จไปที่อาคารที่พัก พร้อมกับภิกษุสงฆ์ ทรงชำระพระบาทแล้วเสด็จเข้าไปยัง
อาคารที่พัก ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก แม้ภิกษุสงฆ์
ก็ล้างเท้าแล้วเข้าไปยังอาคารที่พัก นั่งพิงฝาด้านทิศตะวันตก ผินหน้าไปทางทิศ
ตะวันออกห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค แม้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามก็ล้างเท้า
แล้วเข้าไปยังอาคารที่พักนั้น นั่งพิงฝาด้านทิศตะวันออก ผินหน้าไปทางทิศตะวันตก
ห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค

โทษแห่งศีลวิบัติ ๕ ประการ๑
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับอุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามว่า “คหบดี
ทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีลมีโทษ ๕ ประการนี้ โทษ ๕ ประการ คือ
๑. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติในโลกนี้ ย่อมถึงความเสื่อมโภคทรัพย์เป็น
อันมากซึ่งมีความประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นโทษประการที่ ๑ แห่งศีล
วิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๒. กิตติศัพท์อันชั่วของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมกระฉ่อนไป นี้เป็น
โทษที่ ๒ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๓. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็นขัตติยบริษัท
ก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม สมณบริษัทก็ตาม
ย่อมไม่แกล้วกล้า เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นโทษประการที่ ๓ แห่งศีลวิบัติ
ของบุคคลผู้ทุศีล
๔. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมหลงลืมสติตาย นี้เป็นโทษประการที่ ๔
แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
๕. บุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ หลังจากตายแล้ว ย่อมไปบังเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก นี้เป็นโทษประการที่ ๕ แห่งศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีล
คหบดีทั้งหลาย ศีลวิบัติของบุคคลผู้ทุศีลมีโทษ ๕ ประการนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๑๖/๒๐๙-๒๐๑, องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๑๓/๓๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
อานิสงส์แห่งศีลสมบัติ ๕ ประการ
คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล มีอานิสงส์ ๕ ประการนี้ อานิสงส์
๕ ประการ คือ
๑. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติในโลกนี้ ย่อมได้โภคทรัพย์เป็นอันมาก
ซึ่งมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๑ แห่งศีล
สมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๒. กิตติศัพท์อันงามของบุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ ย่อมขจรไป นี้เป็น
อานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๓. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ จะเข้าไปยังบริษัทใด ๆ จะเป็นขัตติยบริษัท
ก็ตาม พราหมณบริษัทก็ตาม คหบดีบริษัทก็ตาม หรือสมณบริษัท
ก็ตาม ย่อมแกล้วกล้า ไม่เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓
แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๔. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ ย่อมไม่หลงลืมสติตาย นี้เป็นอานิสงส์ประการ
ที่ ๔ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
๕. บุคคลผู้มีศีล มีศีลสมบัติ หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๕ แห่งศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีล
คหบดีทั้งหลาย ศีลสมบัติของบุคคลผู้มีศีลมีอานิสงส์ ๕ ประการนี้แล”
หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคาม
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาจนดึกดื่นแล้วทรงส่งกลับด้วยรับสั่งว่า “คหบดีทั้งหลาย
ราตรีใกล้จะสว่าง ขอท่านทั้งหลาย จงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ลำดับนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามต่างชื่นชมอนุโมทนาพระธรรมเทศนา
ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แล้วลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
ทำประทักษิณแล้วจากไป เมื่ออุบาสกอุบาสิกาชาวปาฏลิคามจากไปไม่นาน พระผู้มี
พระภาคก็เสด็จเข้าไปยังเรือนว่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
สร้างเมืองปาฏลีบุตร
สมัยนั้น สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ กำลังสร้างเมือง
ปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกวัชชี ครั้งนั้น เทวดาจำนวนมากเป็นเรือนพัน กำลัง
ยึดครองที่ดินในปาฏลิคาม คือ
เทวดาที่มีศักดิ์ใหญ่ยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชา และมหา-
อำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ใหญ่ ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น๑
เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นกลางยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหา-
อำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ชั้นกลาง ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น
เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์
ของพระราชาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำ ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงเล็งทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ได้ทอดพระเนตร
เห็นเทวดาเหล่านั้นเป็นเรือนพัน กำลังยึดครองที่ดินในปาฏลิคาม คือ เทวดาที่มี
ศักดิ์ใหญ่ยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา
ที่มีศักดิ์ใหญ่ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นกลาง
ยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์
ชั้นกลางต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำยึดครองที่
ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำ
ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทมในเวลาใกล้รุ่ง รับสั่งเรียกท่านพระ
อานนท์มาตรัสว่า “อานนท์ ใครกำลังสร้างเมืองในปาฏลิคาม”

เชิงอรรถ :
๑ ทราบว่า เทวดาทั้งหลายเข้าสิงร่างของคนผู้เชี่ยวชาญวิชาดูพื้นที่แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นบอกว่าควรจะ
สร้างบ้านเมืองที่นั้นที่นี้ เพราะเทวดาเหล่านั้นประสงค์จะให้พระราชาและมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ใหญ่ มีศักดิ์
ชั้นกลาง มีศักดิ์ชั้นต่ำอยู่ใกล้ชิดกับตน และทำสักการะสมควรแก่ตน (วิ.อ.๓/๒๘๖/๑๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สุนีธะและวัสสการะ
ผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ กำลังสร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกวัชชี
พระพุทธเจาข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่ง
มคธรัฐกำลังสร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกวัชชี เหมือนได้ปรึกษากับเทวดา
ชั้นดาวดึงส์ อานนท์ ณ ที่นี้ เราเล็งทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ได้เห็นเทวดา
จำนวนมาก เป็นเรือนพัน กำลังยึดครองที่ดินในปาฏลิคาม คือ เทวดาที่มีศักดิ์ใหญ่
ยึดครองที่ดินในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ใหญ่
ต่างก็น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นกลางยึดครองที่ดิน
ในประเทศใด จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ชั้นกลางต่างก็
น้อมไปเพื่อสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น เทวดาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำยึดครองที่ดินในประเทศใด
จิตของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาที่มีศักดิ์ชั้นต่ำต่างก็น้อมไปเพื่อสร้าง
นิเวศน์ในประเทศนั้น
อานนท์ ตลอดพื้นที่อันเป็นย่านชุมชนแห่งอารยชนและเป็นทางค้าขาย นครนี้
จะเป็นนครชั้นเอก เป็นทำเลค้าขาย ชื่อปาฏลีบุตร และนครปาฏลีบุตรจะเกิด
อันตราย ๓ อย่าง คือ อัคคีภัย อุทกภัย หรือการแตกความสามัคคีภายในกลุ่ม”

สองมหาอำมาตย์เลี้ยงพระ
ครั้งนั้น สุนีธะและวัสสการะผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วได้ยืน ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ขอพระโคดมผู้เจริญพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ทั้งหลาย
ในวันนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
สุนีธะและวัสสการะมหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐ ทราบอาการที่พระผู้มีพระภาค
ทรงรับนิมนต์แล้ว จึงเข้าไปยังที่พักของตน แล้วสั่งให้จัดเตรียมของเคี้ยวของฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
อย่างประณีตไว้ในที่พักของตนแล้วส่งคนไปกราบทูลภัตกาลว่า “ข้าแต่พระโคดม
ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เสด็จเข้าไปยังที่พักของสุนีธะและวัสสการะมหาอำมาตย์แห่ง
มคธรัฐ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ลำดับนั้น สุนีธะและวัสสการะ
มหาอำมาตย์แห่งมคธรัฐได้นำของเคี้ยวของฉันอันประณีตมาประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าเป็นประธาน ให้อิ่มหนำด้วยตนเอง กระทั่งพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ
ทรงละพระหัตถ์จากบาตรแล้ว ได้นั่งเฝ้า ณ ที่สมควร ที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่สุนีธะและวัสสการะมหาอำมาตย์แห่ง
มคธรัฐ ด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า

อนุโมทนาคาถา
บัณฑิตอยู่ในที่ใด เลี้ยงดูท่านผู้มีศีล
ผู้สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ ในที่ที่ตนอยู่นั้น
พึงอุทิศทักษิณาแก่เหล่าเทวดาผู้สถิตอยู่ในที่นั้น
เทวดาเหล่านั้นอันเขาบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบ
อันเขานับถือแล้ว ย่อมนับถือตอบ
จากนั้นย่อมอนุเคราะห์บัณฑิตนั้นเป็นการตอบแทน
ดุจมารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เกิดแต่อก ฉะนั้น
ดังนั้น ผู้ที่เทวดาอนุเคราะห์แล้ว
ย่อมพบเห็นแต่สิ่งที่เจริญทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
ประตูโคดมและท่าโคดม
พระผู้มีพระภาค ครั้นทรงอนุโมทนามหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะ
แคว้นมคธด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว ทรงลุกขึ้นจากอาสนะเสด็จจากไป สมัยนั้น
มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะแคว้นมคธ ตามส่งเสด็จพระผู้มี
พระภาคไปเบื้องพระปฤษฎางค์ด้วยคิดว่า “วันนี้ ประตูที่ท่านพระสมณโคดมเสด็จ
ออกไป จะได้ชื่อว่า ‘ประตูโคดม’ ท่าที่พระองค์เสด็จข้ามแม่น้ำคงคา จะได้ชื่อว่า
‘ท่าพระโคดม”
ต่อมา ประตูที่พระผู้มีพระภาคเสด็จผ่านไปนั้นได้ปรากฏนามว่า ‘ประตูพระโคดม’
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปทางแม่น้ำคงคา เวลานั้น แม่น้ำคงคามีน้ำเต็ม
เสมอตลิ่ง นกกาพอดื่มกินได้ คนทั้งหลายผู้ปรารถนาจะข้ามฟาก บางพวกเที่ยว
หาเรือ บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
ทรงหายไปจากฝั่งนี้แห่งแม่น้ำคงคา ไปปรากฏพระวรกายที่ฝั่งโน้น เหมือนบุรุษมี
กำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นคนเหล่านั้นผู้ปรารถนาจะข้ามฟาก บางพวก
เที่ยวหาเรือ บางพวกเที่ยวหาแพ บางพวกผูกทุ่น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
คนพวกหนึ่งกำลังสร้างสะพาน
ข้ามสระใหญ่ โดยมิให้แปดเปื้อนด้วยโคลนตม
ขณะที่คนอีกพวกหนึ่งกำลังผูกทุ่นอยู่
ชนผู้ฉลาดได้ข้ามพ้นไปแล้ว๑
ปาฏลิคามิยสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๒๘๖/๑๐๐-๑๐๑, ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๕๓-๑๕๔/๙๖-๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๗. ทวิธาปถสูตร
๗. ทวิธาปถสูตร
ว่าด้วยทางสองแพร่ง
[๗๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จพุทธดำเนินทางไกลไปในแคว้นโกศล มีท่าน
พระนาคสมาละเป็นปัจฉาสมณะ๑ ท่านพระนาคสมาละได้เห็นทางสองแพร่ง
ในระหว่างทาง จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ
นี้คือทางที่จะไป ไปทางนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า” เมื่อท่านพระนาคสมาละกราบทูล
อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระนาคสมาละดังนี้ว่า “นาคสมาละ
นี้คือทางที่จะไป เราจะไปทางนี้”
แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระนาคสมาละได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ นี้คือทางที่จะไป ไปทางนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระนาคสมาละดังนี้ว่า “นาคสมาละ นี้คือทาง
ที่จะไป เราจะไปทางนี้”
แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระนาคสมาละได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ นี้คือทางที่จะไป ไปทางนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับท่านพระนาคสมาละดังนี้ว่า “นาคสมาละ นี้คือ
ทางที่จะไป เราจะไปทางนี้”
ครั้งนั้น ท่านพระนาคสมาละวางบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคไว้ที่พื้นดิน
ณ ทางนั้นเองแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้บาตรและจีวรของพระผู้มี
พระภาค” แล้วจากไป เมื่อท่านพระนาคสมาละเดินไปตามทางนั้น พวกโจรที่แอบ
ซุ่มอยู่ระหว่างทาง ได้ออกมารุมทำร้ายทั้งเตะทั้งต่อย ทุบบาตรแตก และฉีกผ้า
สังฆาฏิขาด หลังจากนั้น ท่านพระนาคสมาละมีบาตรแตก มีผ้าสังฆาฏิขาด เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระ

เชิงอรรถ :
๑ ปัจฉาสมณะ หมายถึงพระผู้ติดตามรับใช้ (ขุ.อุ.อ. ๗๗/๔๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายอุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๘. วิสาขาสูตร
ผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เมื่อข้าพระองค์
เดินไปตามทางนั้น พวกโจรที่แอบซุ่มอยู่ระหว่างทาง ได้ออกมารุมทำร้ายทั้ง
เตะทั้งต่อย ทุบบาตรแตก และฉีกผ้าสังฆาฏิขาด พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
บุคคลผู้จบเวท๑ ถึงจะเที่ยวไปด้วยกัน
อยู่ร่วมกัน ปะปนกับคนอื่น
รู้แจ้ง (คนชั่ว) ย่อมละคนชั่วไปได้
เหมือนนกกระเรียนเว้นน้ำ ดื่มแต่น้ำนม ฉะนั้น
ทวิธาปถสูตรที่ ๗ จบ

๘. วิสาขาสูตร
ว่าด้วยนางวิสาขา
[๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทในบุพพารามของนางวิสาขา
มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น หลานสาวผู้เป็นที่รัก ที่ชอบใจ ของนางวิสาขา
มิคารมาตาเสียชีวิตลง ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตามีผ้าเปียก ผมเปียก เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่เที่ยงวัน ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสถามนางวิสาขามิคารมาตาดังนี้ว่า “วิสาขา เธอมาจากไหน จึงมีผ้าเปียก ผมเปียก
เข้ามาที่นี่แต่เที่ยงวัน”

เชิงอรรถ :
๑ ผู้จบเวท หมายถึงผู้บรรลุสัจจะ ๔ ด้วยอริยมรรค (ขุ.อุ.อ. ๗๗/๔๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๘. วิสาขาสูตร
นางวิสาขาทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หลานสาวผู้เป็นที่รัก ที่ชอบใจ
ของหม่อมฉันเสียชีวิตแล้ว จึงทำให้หม่อมฉันมีผ้าเปียก ผมเปียกเข้ามาที่นี่แต่เที่ยงวัน
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วิสาขา เธอต้องการมีบุตรและหลานจำนวนเท่ากับ
ชาวกรุงสาวัตถีหรือ”
นางวิสาขาทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันต้องการมีบุตรและ
หลานจำนวนเท่ากับชาวกรุงสาวัตถี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วิสาขา ชาวกรุงสาวัตถีเสียชีวิตลง แต่ละวัน
มากเท่าไร”
นางวิสาขาทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชาวกรุงสาวัตถีเสียชีวิตลง
แต่ละวัน ๑๐ คนบ้าง ๙ คนบ้าง ๘ คนบ้าง ๗ คนบ้าง ๖ คนบ้าง ๕ คนบ้าง
๔ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๒ คนบ้าง ๑ คนบ้าง กรุงสาวัตถีจะไม่ว่างเว้นจากคนที่เสีย
ชีวิตเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วิสาขา เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอมิต้องมี
ผ้าเปียก ผมเปียก ทุกครั้งทุกคราวหรือ”
นางวิสาขาทูลตอบว่า “ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก พระพุทธเจ้าข้า มีลูกและ
หลานมากขนาดนั้น หม่อมฉันก็พอใจแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วิสาขา ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๑๐๐ ก็มีทุกข์ ๑๐๐
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๙๐ ก็มีทุกข์ ๙๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๘๐ ก็มีทุกข์ ๘๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๗๐
ก็มีทุกข์ ๗๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๖๐ ก็มีทุกข์ ๖๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๕๐ ก็มีทุกข์ ๕๐
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๔๐ ก็มีทุกข์ ๔๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๓๐ ก็มีทุกข์ ๓๐ ผู้มีสิ่งเป็น
ที่รัก ๒๐ ก็มีทุกข์ ๒๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๑๐ ก็มีทุกข์ ๑๐ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๙ ก็มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๙. ปฐมทัพพสูตร
ทุกข์ ๙ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๘ ก็มีทุกข์ ๘ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๗ ก็มีทุกข์ ๗ ผู้มีสิ่งเป็น
ที่รัก ๖ ก็มีทุกข์ ๖ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๕ ก็มีทุกข์ ๕ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๔ ก็มีทุกข์ ๔
ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๓ ก็มีทุกข์ ๓ ผู้มีสิ่งเป็นที่รัก ๒ ก็มีทุกข์ ๒ ผู้มีสิ่งเป็นที่รักเพียง ๑
ก็มีทุกข์เพียง ๑ ผู้ไม่มีสิ่งเป็นที่รัก ก็ไม่มีทุกข์ ซึ่งเราเรียกว่า ผู้หมดความโศก
ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีความคับแค้นใจ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ความโศก ความคร่ำครวญ และความทุกข์หลากหลายมีในโลกนี้
ย่อมเกิดมีได้เพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รัก
เมื่อไม่มีสิ่งเป็นที่รัก ความเศร้าโศกเป็นต้นเหล่านี้ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น คนที่ไม่มีสิ่งเป็นที่รักในโลกไหนๆ
จึงชื่อว่ามีความสุข ปราศจากความเศร้าโศก
ดังนั้น ผู้ปรารถนาความไม่เศร้าโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี
จึงไม่ควรยึดสิ่งเป็นที่รักในโลกไหน ๆ
วิสาขาสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปฐมทัพพสูตร
ว่าด้วยพระทัพพมัลลบุตร สูตรที่ ๑
[๗๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระทัพพมัลลบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระสุคต บัดนี้
ถึงเวลาที่ข้าพระองค์จะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ทัพพะ เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ทันใดนั้นเอง ท่านพระทัพพ-

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๑๐. ทุติยทัพพสูตร
มัลลบุตรก็ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท ทำประทักษิณแล้ว เหาะขึ้นไปในอากาศ
นั่งขัดสมาธิ เข้าเตโชกสิณสมาบัติ๑อยู่กลางอากาศ ออกจากสมาบัติแล้วจึงปรินิพพาน
ขณะที่ท่านพระทัพพมัลลบุตรเหาะขึ้นไปในอากาศ นั่งขัดสมาธิ เข้าเตโชกสิณ-
สมาบัติอยู่กลางอากาศ ออกจากสมาบัติแล้วปรินิพพาน สรีระของท่านถูกไฟเผา
ไหม้อยู่นั้น ไม่ปรากฏว่ามีเถ้าและเขม่าควันเลย มีอุปมาเหมือนเนยใสหรือน้ำมัน
ที่ถูกไฟเผาไหม้ ไม่ปรากฏว่ามีเถ้าและเขม่าควัน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ร่างกายได้แตกดับไปแล้ว
เวทนาทั้งหมดดับสนิทแล้ว
สัญญาก็ดับลง สังขารทั้งหลายก็สงบระงับ
วิญญาณก็ถึงความดับสูญ
ปฐมทัพพสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุติยทัพพสูตร
ว่าด้วยพระทัพพมัลลบุตร สูตรที่ ๒
[๘๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย
มารับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงตรัสดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ เข้าเตโชกสิณสมาบัติ หมายถึงเข้าจตุตถฌานสมาบัติ มีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ (ขุ.อุ.อ. ๗๙/๔๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] ๑๐. ทุติยทัพพสูตร
“ภิกษุทั้งหลาย ขณะที่พระทัพพมัลลบุตรเหาะขึ้นไปในอากาศ นั่งขัดสมาธิเข้า
เตโชกสิณสมาบัติอยู่กลางอากาศ ออกจากสมาบัติแล้วปรินิพพาน สรีระของเธอถูก
ไฟเผาไหม้อยู่นั้น ไม่ปรากฏว่ามีเถ้าและเขม่าควันเลย มีอุปมาเหมือนเนยใส หรือน้ำ
มันที่ถูกไฟเผาไหม้ไม่ปรากฏว่ามีเถ้าและเขม่าควัน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ไฟที่ลุกโพลง ถูกช่างใช้ค้อนเหล็กตี
ก็ค่อย ๆ มอดดับสนิทลงไป
ใคร ๆ รู้ไม่ได้ว่าไฟนั้นไปอยู่ที่ไหน ฉันใด
พระอรหันต์ทั้งหลายผู้หลุดพ้นโดยชอบ
ข้ามโอฆะเครื่องผูกพันในกามได้หมดแล้ว
บรรลุถึงความสุขที่ไม่หวั่นไหว
ย่อมไม่มีคติที่จะบัญญัติให้รู้กันได้ ฉันนั้น
ทุติยทัพพสูตรที่ ๑๐ จบ
ปาฏลิคามิยวรรคที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๘. ปาฏลิคามิยวรรค] รวมจำนวนวรรคที่มีในอุทาน
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมนิพพานปฏิสังยุตตสูตร ๒. ทุติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
๓. ตติยนิพพานปฏิสังยุตตสูตร ๔. จตุตถนิพพานปฏิสังยุตตสูตร
๕. จุนทสูตร ๖. ปาฏลิคามิยสูตร
๗. ทวิธาปถสูตร ๘. วิสาขาสูตร
๙. ปฐมทัพพสูตร ๑๐. ทุติยทัพพสูตร

รวมจำนวนวรรคที่มีในอุทาน คือ

๑. โพธิวรรค ๒. มุจจลินทวรรค
๓. นันทวรรค ๔. เมฆิยวรรค
๕. โสณเถรวรรค ๖. ชัจจันธวรรค
๗. จูฬวรรค ๘. ปาฏลิคามิยวรรค

ทั้ง ๘ วรรคนี้ มีพระสูตรที่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงมีพระจักษุญาณ ปราศจาก
มลทิน ทรงจำแนกแสดงไว้ละเอียดรวม ๘๐ สูตร ซึ่งเหล่าบัณฑิตผู้มีศรัทธา ได้กล่าว
วรรคนั้นว่าอุทาน ฉะนี้แล
อุทาน จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑. โลภสูตร
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. เอกกนิบาต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. โลภสูตร
ว่าด้วยโลภะ
[๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้๑
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือโลภะ(ความอยากได้)ได้ เราขอ
รับรองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
๑ แปลตามนัย ขุ.อิติ.อ. ๑๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๒. โทสสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โลภะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้โลภไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง๑ ย่อมละโลภะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โลภสูตรที่ ๑ จบ

๒. โทสสูตร
ว่าด้วยโทสะ
[๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือโทสะ(ความคิดประทุษร้าย)ได้
เราขอรับรองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”

เชิงอรรถ :
๑ เห็นแจ้ง หมายถึงเห็นอุปาทานขันธ์ ๕ โดยความไม่เที่ยง เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๑/๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๓. โมหสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โทสะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ประทุษร้ายไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโทสะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โทสสูตรที่ ๒ จบ

๓. โมหสูตร
ว่าด้วยโมหะ
[๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือโมหะ(ความหลง)ได้ เราขอรับ
รองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โมหะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้หลงไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโมหะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โมหสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๔. โกธสูตร
๔. โกธสูตร
ว่าด้วยโกธะ
[๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือโกธะ(ความโกรธ)ได้ เราขอ
รับรองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โกธะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้โกรธไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโกธะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โกธสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๕. มักขสูตร
๕. มักขสูตร
ว่าด้วยมักขะ
[๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือมักขะ(ความลบหลู่)ได้ เราขอ
รับรองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
มักขะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ลบหลู่คุณท่านไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละมักขะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มักขสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๖. มานสูตร
๖. มานสูตร
ว่าด้วยมานะ
[๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งได้ เราขอรับรองความเป็น
อนาคามีของเธอทั้งหลาย
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละธรรมอย่างหนึ่งคือมานะ(ความถือตัว)ได้ เราขอ
รับรองความเป็นอนาคามีของเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
มานะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ถือตัวไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละมานะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มานสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๗. สัพพปริญญาสูตร
๗. สัพพปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง
[๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงธรรมทั้งปวง๑ ยังกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงไม่ได้๒
ยังไม่คลายความพอใจในธรรมทั้งปวงนั้น ยังละธรรมทั้งปวงไม่ได้๓ ก็ยังไม่อาจ
สิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้ซึ้งถึงธรรมทั้งปวง กำหนดรู้ธรรมทั้งปวงได้ คลาย
ความพอใจในธรรมทั้งปวงนั้นได้ ละธรรมทั้งปวงได้ จึงอาจสิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้ใดรู้ธรรมทั้งปวงโดยอาการทุกอย่าง
ไม่ยินดีในธรรมทั้งปวง
ผู้นั้นแล กำหนดรู้ธรรมทั้งปวงได้
ล่วงพ้นทุกข์ทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สัพพปริญญาสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่รู้ซึ้งถึงธรรมทั้งปวง หมายถึงไม่รู้ธรรมที่ควรรู้ทั้งปวง โดยนัยว่า “เหล่านี้คือขันธ์ ๕ เหล่านี้คืออายตนะ
๑๒ เหล่านี้คือธาตุ ๑๘ นี้คือทุกขอริยสัจ นี้คือทุกขสมุทัยสัจ” เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๗/๕๙)
๒ ยังกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงไม่ได้ หมายถึงยังไม่สามารถกำหนดรู้ธรรมด้วยญาตปริญญา ตีรณปริญญา
และปหานปริญญาได้ (ขุ.อิติ.อ. ๗/๕๙)
๓ ยังละธรรมทั้งปวงไม่ได้ หมายถึงยังละกิเลสวัฏที่ควรละด้วยมัคคปัญญาไม่ได้ (ขุ.อิติ.อ. ๗/๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๘. มานปริญญาสูตร
๘. มานปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้มานะ
[๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงมานะ ยังกำหนดรู้มานะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในมานะนั้น ยังละมานะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้
ซึ้งถึงมานะ กำหนดรู้มานะได้ คลายความพอใจในมานะนั้นได้ ละมานะได้ จึงอาจ
สิ้นทุกข์ได้
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
หมู่สัตว์นี้ประกอบด้วยมานะ
ถูกมานะร้อยรัดไว้ ยินดีแล้วในภพ
ไม่กำหนดรู้มานะ จึงกลับมาเกิดซ้ำอีก
ส่วนหมู่สัตว์ที่ละมานะได้แล้ว
น้อมใจไปในธรรมเป็นที่สิ้นมานะ
ครอบงำมานะที่ร้อยรัดได้แล้ว
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องร้อยรัดได้ทั้งหมด
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มานปริญญาสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๙. โลภปริญญาสูตร
๙. โลภปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้โลภะ
[๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงโลภะ ยังกำหนดรู้โลภะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในโลภะนั้น ยังละโลภะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้ซึ้ง
ถึงโลภะ กำหนดรู้โลภะได้ คลายความพอใจในโลภะนั้นได้ ละโลภะได้แล้ว จึงอาจ
สิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โลภะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้โลภไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโลภะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โลภปริญญาสูตรที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๑๐. โทสปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้โทสะ
[๑๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงโทสะ ยังกำหนดรู้โทสะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในโทสะนั้น ยังละโทสะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้ซึ้ง
ถึงโทสะ กำหนดรู้โทสะได้ คลายความพอใจในโทสะนั้นได้ ละโทสะได้แล้ว จึงอาจ
สิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โทสะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ประทุษร้ายไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโทสะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โทสปริญญาสูตรที่ ๑๐ จบ
ปฐมวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โลภสูตร ๒. โทสสูตร
๓. โมหสูตร ๔. โกธสูตร
๕. มักขสูตร ๖. มานสูตร
๗. สัพพปริญญาสูตร ๘. มานปริญญาสูตร
๙. โลภปริญญาสูตร ๑๐. โทสปริญญาสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑. โมหปริญญาสูตร
๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
๑. โมหปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้โมหะ
[๑๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงโมหะ ยังกำหนดรู้โมหะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในโมหะนั้น ยังละโมหะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้ซึ้ง
ถึงโมหะ กำหนดรู้โมหะได้ คลายความพอใจในโมหะนั้นได้ ละโมหะได้แล้ว จึงอาจ
สิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โมหะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้หลงไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโมหะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โมหปริญญาสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๒. โกธปริญญาสูตร
๒. โกธปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้โกธะ
[๑๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงโกธะ ยังกำหนดรู้โกธะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในโกธะนั้น ยังละโกธะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้
รู้ซึ้งถึงโกธะ กำหนดรู้โกธะได้ คลายความพอใจในโกธะนั้นได้ ละโกธะได้แล้ว จึงอาจ
สิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โกธะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้โกรธไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละโกธะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว ก็ไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โกธปริญญาสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๓. มักขปริญญาสูตร
๓. มักขปริญญาสูตร
ว่าด้วยการกำหนดรู้มักขะ
[๑๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ซึ้งถึงมักขะ ยังกำหนดรู้มักขะไม่ได้ ยังไม่คลายความ
พอใจในมักขะนั้น ยังละมักขะไม่ได้ ก็ยังไม่อาจสิ้นทุกข์ได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนผู้รู้
ซึ้งถึงมักขะ กำหนดรู้มักขะได้ คลายความพอใจในมักขะนั้นได้ ละมักขะได้แล้ว
จึงอาจสิ้นทุกข์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
มักขะใดเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ลบหลู่คุณท่านไปสู่ทุคติ
ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมละมักขะนั้นได้เพราะรู้โดยชอบ
ครั้นละได้แล้ว จึงไม่ต้องหวนกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มักขปริญญาสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๔. อวิชชานีวรณสูตร
๔. อวิชชานีวรณสูตร
ว่าด้วยธรรมเครื่องกางกั้นคืออวิชชา
[๑๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมเครื่องกางกั้นอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้
หมู่สัตว์ซึ่งถูกธรรมเครื่องกางกั้นปิดบังแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน
เหมือนธรรมเครื่องกางกั้นคืออวิชชานี้เลย ภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ที่ถูกธรรมเครื่อง
กางกั้นคืออวิชชาปิดบังแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ไม่มีธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้หมู่สัตว์
ซึ่งถูกปิดบังแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปตลอดวันและคืน
เหมือนถูกโมหะปิดกั้นเลย
ส่วนอริยสาวกทั้งหลาย ละโมหะได้
ทำลายกองแห่งความมืด๑ได้
ย่อมไม่ท่องเที่ยวไปอีก
เพราะท่านเหล่านั้นไม่มีอวิชชาเป็นเหตุ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อวิชชานีวรณสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ กองแห่งความมืด ในที่นี้หมายถึงโมหะ (ความหลง) (ขุ.อิติ.อ.๑๔/๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๕. ตัณหาสังโยชนสูตร
๕. ตัณหาสังโยชนสูตร
ว่าด้วยสังโยชน์คือตัณหา
[๑๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นสังโยชน์อื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้หมู่สัตว์ซึ่งถูก
สังโยชน์ผูกมัดแล้วต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนานเหมือนสังโยชน์คือตัณหานี้เลย
ภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ที่ถูกสังโยชน์คือตัณหาผูกมัดแล้ว ต้องแล่นไป ท่องเที่ยวไป
สิ้นกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น
ภิกษุรู้โทษนี้ รู้ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ตัณหาสังโยชนสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๙/๑๕, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๗/๓๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๖. ปฐมเสขสูตร
๖. ปฐมเสขสูตร
ว่าด้วยพระเสขะ สูตรที่ ๑
[๑๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้เป็นพระเสขะยังไม่บรรลุ ปรารถนาจะบรรลุธรรม
อันเป็นแดนเกษมจากโยคะ๑อันยอดเยี่ยม เราไม่เห็นเหตุอื่นแม้อย่างหนึ่งที่ทำเหตุซึ่ง
มีอยู่ภายในตนให้มีอุปการะมากอย่างนี้เหมือนโยนิโสมนสิการ(การมนสิการโดยแยบคาย)
นี้เลย ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อมนสิการโดยแยบคายย่อมละอกุศลได้ และทำกุศล
ให้เจริญ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ไม่มีธรรมอื่นที่จะมีอุปการะมาก
แก่ภิกษุผู้เป็นพระเสขะเพื่อการบรรลุประโยชน์สูงสุด
เหมือนกับโยนิโสมนสิการ
เพราะภิกษุเมื่อเริ่มตั้งความเพียรด้วยโยนิโสมนสิการไว้
ก็พึงบรรลุความสิ้นทุกข์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมเสขสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ หมายถึงอรหัตตผลและนิพพาน (ขุ.อิติ.อ. ๑๖/๗๐,๑๘/๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๘. สังฆเภทสูตร
๗. ทุติยเสขสูตร
ว่าด้วยพระเสขะ สูตรที่ ๒
[๑๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุผู้เป็นพระเสขะยังไม่บรรลุ ปรารถนาจะบรรลุธรรม
อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เราไม่เห็นเหตุอื่นแม้อย่างหนึ่งที่ทำเหตุซึ่งมี
อยู่ภายนอกตนให้มีอุปการะมากอย่างนี้เหมือนความเป็นผู้มีมิตรดีนี้เลย ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมละอกุศลได้ และทำกุศลให้เจริญ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีความเคารพ ยำเกรง
ปฏิบัติตามคำของมิตรทั้งหลาย
มีสติสัมปชัญญะมั่นคง
ก็พึงถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงได้โดยลำดับ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยเสขสูตรที่ ๗ จบ

๘. สังฆเภทสูตร
ว่าด้วยการทำสงฆ์ให้แตกกัน
[๑๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้น เพื่อไม่ใช่
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ประโยชน์ เพื่อไม่ใช่
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เกิดขึ้นเพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๙. สังฆสามัคคีสูตร
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
คือ สังฆเภท๑
ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อสงฆ์แตกกัน ย่อมมีความบาดหมางกัน มีการบริภาษกัน
มีการดูหมิ่นกัน และมีการขับไล่กัน ในเพราะสังฆเภทนั้น ชนทั้งหลายที่ยังไม่เลื่อมใส
ก็ไม่เลื่อมใส และบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ก็ย่อมเป็นอื่นไป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ยินดีในการแตกกัน
ตั้งอยู่ในอธรรม เป็นผู้เข้าถึงอบาย อยู่ในนรกตลอดกัป
พลาดจากธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ๒
เสวยผลกรรมอยู่ในนรกตลอดกัป
เพราะทำลายสงฆ์ที่สามัคคีกันให้แตกแยกกัน๓
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สังฆเภทสูตรที่ ๘ จบ

๙. สังฆสามัคคีสูตร
ว่าด้วยการทำสงฆ์ให้สามัคคีกัน
[๑๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่
คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เกิดขึ้นเพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ สังฆเภท หมายถึงการทำสงฆ์ให้แตกจากกัน เช่นการไม่ทำอุโบสถ ปวารณา และสังฆกรรมร่วมกัน
(ขุ.อิติ.อ. ๑๘/๗๘)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๓๖๐ ในเล่มนี้
๓ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๕๔/๒๑๖, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๓๙/๙๑, อภิ.ก. ๓๗/๖๕๗/๓๙๕-๓๙๖,๘๖๒/๔๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๐. ปทุฏฐจิตตสูตร
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
คือ สังฆสามัคคี
ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อสงฆ์พร้อมเพรียงกัน ย่อมไม่มีความบาดหมางกัน ไม่มี
การข่มขู่กัน ไม่มีการด่าว่ากัน และไม่มีการขับไล่กัน ในเพราะความสามัคคีของสงฆ์
นั้น ชนทั้งหลายที่ยังไม่เลื่อมใส ก็เลื่อมใส ส่วนชนทั้งหลายที่เลื่อมใสแล้ว ก็เลื่อมใส
ยิ่ง ๆ ขึ้นไป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ความสามัคคีแห่งสงฆ์ เป็นเหตุให้เกิดสุข
และบุคคลผู้อนุเคราะห์สงฆ์ผู้สามัคคีกันแล้ว
ผู้ยินดีในความสามัคคีกัน ตั้งอยู่ในธรรม
ย่อมไม่พลาดจากธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ย่อมบันเทิงในสวรรค์ตลอดกัป เพราะสมานสงฆ์ให้สามัคคีกัน๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สังฆสามัคคีสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ปทุฏฐจิตตสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีจิตถูกประทุษร้าย๒
[๒๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดวาระจิตของบุคคลผู้มีจิตถูกประทุษร้ายบางคนใน
โลกนี้ด้วยใจ จึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ถ้าบุคคลนี้ตายในขณะนี้ จะถูกไหม้ในนรกเหมือนถูก
นำไปฝังไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะจิตของเขาถูกประทุษร้าย ภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๕๔/๒๑๗, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๔๐/๙๒
๒ จิตถูกประทุษร้าย หมายถึงจิตขุ่นมัวด้วยกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๒๐/๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก [๑. เอกกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ก็เพราะเหตุที่มีจิตถูกประทุษร้ายนั่นเอง สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ หลังจาก
ตายแล้วจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ด้วยอาการอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระพุทธเจ้าทรงรู้บุคคลบางคน
ผู้มีจิตถูกประทุษร้ายแล้วในโลกนี้
จึงทรงขยายเนื้อความนี้ให้ชัดแก่ภิกษุในที่ใกล้ว่า
ถ้าบุคคลนี้ตายในขณะนี้ ต้องไปเกิดในนรก
เพราะจิตของเขาถูกประทุษร้าย
เขาเป็นอย่างนั้น เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ก็เพราะเหตุที่มีจิตถูกประทุษร้าย
สัตว์ทั้งหลายจึงไปสู่ทุคติ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปทุฏฐจิตตสูตรที่ ๑๐ จบ
ทุติยวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โมหปริญญาสูตร ๒. โกธปริญญาสูตร
๓. มักขปริญญาสูตร ๔. อวิชชานีวรณสูตร
๕. ตัณหาสังโยชนสูตร ๖. ปฐมเสขสูตร
๗. ทุติยเสขสูตร ๘. สังฆเภทสูตร
๙. สังฆสามัคคีสูตร ๑๐. ปทุฏฐจิตตสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๑. ปสันนจิตตสูตร
๓. ตติยวรรค
หมวดที่ ๓
๑. ปสันนจิตตสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใส
[๒๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดวาระจิตของบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใสบางคนในโลกนี้ด้วยใจ
จึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า ถ้าบุคคลนี้ตายในขณะนี้ จะดำรงอยู่ในสวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญ
ไปประดิษฐานไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะจิตของเขาเลื่อมใส ภิกษุทั้งหลาย
ก็เพราะเหตุที่มีจิตเลื่อมใสนั่นเอง สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้ว
จึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ด้วยอาการอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระพุทธเจ้าทรงรู้บุคคลบางคน
ผู้มีจิตเลื่อมใส๑ในโลกนี้
จึงทรงขยายเนื้อความนี้ให้ชัดแก่ภิกษุในที่ใกล้ว่า
ถ้าบุคคลนี้ตายในขณะนี้ ต้องไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
เพราะจิตของเขาเลื่อมใส
เขาเป็นอย่างนั้น เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ก็เพราะเหตุที่มีจิตเลื่อมใส สัตว์ทั้งหลายจึงไปสู่สุคติ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปสันนจิตตสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีจิตเลื่อมใส หมายถึงผู้มีศรัทธาเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย และเชื่อผลแห่งกรรม (ขุ.อิติ.อ. ๒๑/๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๒. เมตตสูตร
๒. เมตตสูตร
ว่าด้วยการเจริญเมตตา
[๒๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวบุญเลย คำว่า ‘บุญ’ นี้ เป็นชื่อของความสุข
ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ เรารู้ชัดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก
น่าพอใจของบุญที่เราทำไว้ตลอดกาลนาน เราเจริญเมตตาพรหมวิหารมาถึง ๗ ปี
จึงไม่มาเกิดในโลกนี้อีกถึง ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป๑ ทราบมาว่า เมื่อกัปพินาศไป เราบังเกิด
อยู่ในพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อกัปเจริญขึ้นใหม่ เราบังเกิดอยู่ในพรหมวิมานที่ว่างเปล่า
ภิกษุทั้งหลาย ณ พรหมวิมานนั้น เราเป็นพรหม เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครเทียบ
ได้ด้วยคุณธรรม เป็นผู้สามารถเห็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้อย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้
บังคับจิตให้เป็นไปในอำนาจของตนได้ ภิกษุทั้งหลาย เราเคยเป็นท้าวสักกะจอมเทพ
ถึง ๓๖ ชาติติดต่อกัน เคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชามีอำนาจ
แผ่ไปทั่วมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นผู้พิชิตชัยได้ทั้งภายในและภายนอก มีแว่นแคว้น
มั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ๒ นับได้หลายร้อยครั้ง
ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดินประเทศราชเลย
เรานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ เราเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากถึง
เพียงนี้ด้วยผลของกรรมและวิบากของกรรมอะไรหนอ’

เชิงอรรถ :
๑ ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป หมายถึง ๗ มหากัป (ขุ.อิติ.อ.๒๒/๘๖)
๒ รัตนะ ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นารีแก้ว คหบดีแก้ว และปริณายกแก้ว (ที.สี.
(แปล) ๙/๒๕๘/๘๙, ที.ม. (แปล) ๑๐/๒๔๓-๒๕๑/๑๘๓-๑๘๗, ที.ปา. ๑๑/๑๙๙/๑๒๓, องฺ.สตฺตก. (แปล)
๒๓/๖๒/๑๒๐, ขุ.อิติ.อ.๒๒/๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๓. อุภยัตถสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เราตอบตนเองได้ว่า ‘บัดนี้ เราเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
ถึงเพียงนี้ด้วยผลของกรรมและวิบากของกรรม ๓ ประการ คือ
๑. ทาน (การให้)๑
๒. ทมะ (การฝึกตน)๒
๓. สัญญมะ (การสำรวม)๓”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บัณฑิตพึงศึกษาบุญที่ดีเลิศ
มีความสุขเป็นกำไรเท่านั้น คือพึงบำเพ็ญทาน
ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ และเจริญเมตตาจิต
บัณฑิตครั้นบำเพ็ญธรรม ๓ ประการ
อันเป็นเหตุเกิดความสุขเหล่านี้แล้ว
ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุข ซึ่งไม่มีการเบียดเบียนกัน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เมตตสูตรที่ ๒ จบ

๓. อุภยัตถสูตร
ว่าด้วยประโยชน์ทั้งสอง
[๒๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมถือเอา
ประโยชน์ทั้งสองได้ คือ ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า

เชิงอรรถ :
๑ การให้ ในที่นี้หมายถึงการบริจาคไทยธรรมมีข้าวเป็นต้น (ขุ.อิติ.อ.๒๒/๘๙)
๒ การฝึกตน ในที่นี้หมายถึงการสำรวมอินทรีย์มีตาเป็นต้น และการข่มกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๒๒/๘๙)
๓ การสำรวม หมายถึงการสำรวมกาย วาจา (ขุ.อิติ.อ.๒๒/๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๔. อัฏฐิปุญชสูตร
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
คือ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล ที่บุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม
ถือเอาประโยชน์ทั้งสองได้ คือ ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท
ในการทำบุญทั้งหลาย
บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมบรรลุประโยชน์ทั้งสอง
ธีรชน เราเรียกว่า บัณฑิต
เพราะยึดประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ คือ
ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในภายหน้า๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อุภยัตถสูตรที่ ๓ จบ

๔. อัฏฐิปุญชสูตร
ว่าด้วยร่างกระดูก
[๒๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลคนหนึ่งพึงแล่นไป ท่องเที่ยวไปตลอดกัป โครงกระดูก
ร่างกระดูก กองกระดูก ถ้ามีคนรวบรวมเก็บไว้ และไม่สูญหายไป ก็จะเป็นกอง
กระดูกใหญ่โตเท่าภูเขาเวปุลละนี้แน่นอน”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๒๘/๑๕๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๕. มุสาวาทสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า
กองกระดูกของคนคนหนึ่ง ตลอดกัปหนึ่ง
จะเป็นกองกระดูกเสมอเท่าภูเขา
ภูเขาเวปุลละนี้นั้น เป็นภูเขากว้างใหญ่
ตั้งอยู่ทางเหนือภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ของชาวมคธ
เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นอริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความพ้นทุกข์ และอริยมรรคมีองค์ ๘
ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ
เมื่อนั้น บุคคลนั้นแล่นไปแล้วอีก ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง
ก็จะทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะสังโยชน์ทั้งปวงสิ้นไป
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อัฏฐิปุญชสูตรที่ ๔ จบ

๕. มุสาวาทสูตร
ว่าด้วยการกล่าวเท็จ
[๒๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลล่วงละเมิดธรรมอย่างหนึ่งแล้ว เราขอบอกว่า
บาปกรรมอะไร ๆ อย่างอื่นที่เขาจะไม่ทำนั้นย่อมไม่มี
ธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
คือ สัมปชานมุสาวาท (การกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่)”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๖. ทานสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
คนที่ล่วงละเมิดธรรมอย่างหนึ่ง
มักกล่าวเท็จเสมอ ปฏิเสธปรโลก
จะไม่ทำบาปนั้นไม่มี๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มุสาวาทสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทานสูตร
ว่าด้วยการให้
[๒๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งทานเจตนาและการจำแนกทาน
เหมือนอย่างที่เรารู้ สัตว์เหล่านั้นไม่ให้ทานเสียก่อน ก็จะไม่บริโภค และมลทินคือ
ความตระหนี่ก็จะไม่พึงครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้นได้ แม้คำข้าวคือก้อนข้าวของ
สัตว์เหล่านั้นจะพึงเหลืออยู่คำสุดท้ายก็ตาม
ถ้าปฏิคาหกของพวกเขายังมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นยังไม่ได้แบ่งคำข้าวคำสุดท้าย
แม้นั้น(ให้แก่ปฏิคาหก) ก็จะไม่บริโภค ภิกษุทั้งหลาย แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ผล

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๑๗๖ หน้า ๘๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๖. ทานสูตร
แห่งทานเจตนาและการจำแนกทานเหมือนอย่างที่เรารู้ ฉะนั้น สัตว์เหล่านั้นจึงไม่ให้ทาน
เสียก่อนแล้วบริโภค และมลทินคือความตระหนี่ก็ครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้นได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ถ้าสัตว์ทั้งหลายรู้ผลของการจำแนกทาน
ตามที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ตรัสไว้
โดยวิธีที่วิบากนั้นจะมีผลมากอย่างนี้
พึงกำจัดมลทินคือความตระหนี่ มีใจเลื่อมใสยิ่ง
พึงถวายทานตามกาลในพระอริยะทั้งหลาย
ซึ่งเป็นเขตที่ทานอันบุคคลถวายแล้วมีผลมาก
อนึ่ง ทายกจำนวนมากถวายข้าว
ให้เป็นทักษิณาทานในพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย
ตายจากมนุษยโลกนี้แล้ว ย่อมไปเกิดในสวรรค์
ครั้นไปเกิดในสวรรค์นั้นแล้ว
ยังปรารถนากามอยู่ แต่ไม่ตระหนี่
ก็จะบันเทิงในสวรรค์นั้น เสวยผลของการจำแนกทานอยู่
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทานสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๗. เมตตาภาวนาสูตร
๗. เมตตาภาวนาสูตร
ว่าด้วยการเจริญเมตตา
[๒๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ๑ที่มีอุปธิเป็นเหตุทั้งหมด ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่ง
เมตตาเจโตวิมุตติ เมตตาเจโตวิมุตติเท่านั้น แผ่แสงบริสุทธิ์ แผดเผากิเลส รุ่งเรือง
เหนือกว่าบุญกิริยาวัตถุทั้งหมดนั้น
แสงดาวทุกดวงรวมกัน ก็ยังสว่างไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งแสงจันทร์ แสงจันทร์
เท่านั้นกระจ่าง สว่างไสว รุ่งเรืองข่มแสงดาวทั้งหมดนั้น ฉันใด บุญกิริยาวัตถุที่มี
อุปธิเป็นเหตุทั้งหมดนั้นไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งเมตตาเจโตวิมุตติ ฉันนั้นเหมือนกัน
เมตตาเจโตวิมุตติเท่านั้น แผ่แสงบริสุทธิ์ แผดเผากิเลส รุ่งเรืองเหนือกว่าบุญกิริยา-
วัตถุทั้งหมดนั้น
เมื่ออากาศโปร่ง ปราศจากเมฆหมอกในสารทกาลในช่วงเดือนท้ายของฤดูฝน
ดวงอาทิตย์ลอยขึ้นอยู่บนอากาศ แผดแสงเจิดจ้า สว่างไสว ไล่ขจัดความมืดสลัวให้
หมดไป ฉันใด บุญกิริยาวัตถุที่มีอุปธิเป็นเหตุทั้งหมดนั้น ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่ง
เมตตาเจโตวิมุตติก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมตตาเจโตวิมุตติเท่านั้น แผ่แสงบริสุทธิ์
แผดเผากิเลส รุ่งเรืองเหนือกว่าบุญกิริยาวัตถุทั้งหมดนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ดาวประกายพรึกทั้งหลาย ต่างทอแสง
แพรวพราวระยิบระยับ ฉันใด บุญกิริยาวัตถุที่มีอุปธิเป็นเหตุทั้งหมด ไม่ถึงเสี้ยว
ที่ ๑๖ แห่งเมตตาเจโตวิมุตติ ฉันนั้นเหมือนกัน เมตตาเจโตวิมุตติเท่านั้น แผ่แสง
บริสุทธิ์ แผดเผากิเลส รุ่งเรืองเหนือกว่าบุญกิริยาวัตถุทั้งหมดนั้น

เชิงอรรถ :
๑ บุญกิริยาวัตถุ หมายถึงการบำเพ็ญบุญอันเป็นเหตุให้ได้อานิสงส์ มี ๓ อย่าง คือ (๑) ทานมัย (๒) สีลมัย
(๓) ภาวนามัย (ขุ.อิติ.อ. ๒๗/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๗. เมตตาภาวนาสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้มีสติตั้งมั่น เจริญเมตตาแผ่ไปไม่มีประมาณ
พิจารณาเห็นธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ ย่อมมีสังโยชน์เบาบาง
หากบุคคลมีจิตไม่คิดประทุษร้ายสัตว์แม้ชีวิตเดียว
เจริญเมตตาเป็นประจำอยู่
ก็เป็นผู้ชื่อว่าฉลาดเพราะการเจริญเมตตานั้น
แต่พระอริยบุคคลผู้มีใจอนุเคราะห์สัตว์ทุกหมู่เหล่า
ชื่อว่าสั่งสมบุญไว้เป็นอันมาก
พระราชาผู้ทรงธรรมเช่นกับฤๅษี
ทรงชนะใจหมู่สัตว์ทั่วแผ่นดินด้วยราชธรรม
ทรงบูชายัญ คือ (สัสสเมธะ ปุริสเมธะ สัมมาปาสะ
วาชเปยยะ และนิรัคคฬะ)๑ เสด็จเที่ยวไป

เชิงอรรถ :
๑ ยัญ ๕ นี้ เดิมทีเดียว คือราชสังคหวัตถุ(หลักสงเคราะห์ของพระราชา) มีดังนี้ (๑) สัสสเมธะ (ฉลาดในการ
บำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร) (๒) ปุริสเมธะ (ฉลาดในการบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ)
(๓) สัมมาปาสะ (ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ) (๔) วาชเปยยะ (ความมี
วาจาอันดูดดื่มน้ำใจ) (๕) นิรัคคฬะ (บ้านเมืองสงบสุข ปราศจากโจรผู้ร้าย ไม่ต้องระแวงภัย บ้านเรือนไม่
ต้องลงกลอน) ยัญ ๔ ประการแรก เป็นเหตุ ส่วนยัญประการสุดท้ายเป็นผล
ต่อมาพราหมณ์สมัยหนึ่งดัดแปลงเป็นการบูชายัญ เพื่อผลประโยชน์ในทางลาภสักการะแก่ตน และมี
ความหมายแตกต่างออกไปดังนี้ อัสสเมธะ (การฆ่าม้าบูชายัญ) ปุริสเมธะ (การฆ่าคนบูชายัญ) สัมมาปาสะ
(การทำบ่วงแล้วขว้างไม้ลอดบ่วง ไม้ตกที่ไหนก็ทำพิธีบูชายัญที่นั่น) วาชเปยยะ (การดื่มน้ำเมาเพื่อกล่อม
จิตใจให้พร้อมที่จะบูชายัญ) นิรัคคฬะ (ยัญไม่มีลิ่มสลัก คือทั่วไปไม่มีขีดขั้นจำกัด หรือการฆ่าครบทุกอย่าง
บูชายัญ) (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๑/๒๑๓, ขุ.อิติ.อ. ๒๗/๑๐๖-๑๐๘, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๓๙/๓๗๑-๓๗๒, องฺ.อฏฺฐก.
ฏีกา ๓/๑/๒๔๙-๒๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. เอกกนิบาต] ๓. ตติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ยัญเหล่านั้น ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖
แห่งเมตตาเจโตวิมุตติที่บุคคลเจริญดีแล้ว
(เหมือนแสงหมู่ดวงดาวทุกดวงไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งแสงจันทร์ ฉะนั้น)
ผู้มีเมตตาในสัตว์ทุกหมู่เหล่า
จะไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า
ไม่ชนะเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นชนะ ไม่มีเวรกับใคร ๆ๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เมตตาภาวนาสูตรที่ ๗ จบ
ตติยวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปสันนจิตตสูตร ๒. เมตตสูตร
๓. อุภยัตถสูตร ๔. อัฏฐิปุญชสูตร
๕. มุสาวาทสูตร ๖. ทานสูตร
๗. เมตตาภาวนาสูตร

รวมพระสูตรในนิบาตนี้
ในเอกกนิบาตนี้มีพระสูตรรวมได้ ๒๗ สูตร คือ ในวรรคนี้มี ๗ สูตร ใน ๒
วรรคข้างต้นมี ๒๐ สูตร
เอกกนิบาต จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๑/๑๙๔-๑๙๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑. ทุกขวิหารสูตร
๒. ทุกนิบาต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. ทุกขวิหารสูตร
ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นทุกข์
[๒๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมอยู่เป็นทุกข์
อึดอัด คับแค้น กระวนกระวายในปัจจุบันนี้ หลังจากมรณภาพแล้ว พึงหวังได้ทุคติ
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๒. ความไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมอยู่เป็นทุกข์
อึดอัด คับแค้น กระวนกระวายในปัจจุบันนี้ หลังจากมรณภาพแล้ว พึงหวังได้ทุคติ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุใดไม่คุ้มครองทวารทั้ง ๖ นี้ คือ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ทั้งไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
ไม่สำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย
ภิกษุนั้นย่อมประสบทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ
ภิกษุเช่นนั้นจะมีแต่ความรุ่มร้อนกาย เร่าร้อนใจ
ชื่อว่าอยู่เป็นทุกข์ทั้งกลางวันและกลางคืน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุกขวิหารสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๒. สุขวิหารสูตร
๒. สุขวิหารสูตร
ว่าด้วยธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข
[๒๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่อึดอัด
ไม่คับแค้น ไม่กระวนกระวายในปัจจุบันนี้ หลังจากมรณภาพแล้วพึงหวังได้สุคติ
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
๒. ความรู้จักประมาณในการบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมอยู่เป็นสุข
ไม่อึดอัด ไม่คับแค้น ไม่กระวนกระวายในปัจจุบันนี้ หลังจากมรณภาพแล้วพึง
หวังได้สุคติ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุใดคุ้มครองทวารทั้ง ๖ นี้ คือ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ทั้งรู้จักประมาณในการบริโภค สำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย
ภิกษุนั้นย่อมประสบสุขทั้งทางกายและทางใจ
ภิกษุเช่นนั้นจะไม่มีความรุ่มร้อนกาย เร่าร้อนใจเลย
ชื่อว่าอยู่เป็นสุขทั้งกลางวันและกลางคืน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สุขวิหารสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๓. ตปนียสูตร
๓. ตปนียสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้เดือดร้อน
[๓๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเหตุให้เดือดร้อน ๒ ประการนี้
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ทำความดีไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำบุญเครื่อง
ต่อต้านความหวาดกลัวทุกข์ไว้ ทำแต่ความชั่ว ทำแต่ความหยาบช้า ทำแต่ความ
ร้ายกาจไว้
๑. เขาคิดว่า “เราไม่ได้ทำความดีไว้” จึงเดือดร้อน
๒. เขาคิดว่า “เราทำแต่ความชั่ว” จึงเดือดร้อน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นเหตุให้เดือดร้อน ๒ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลมีปัญญาทราม ทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
และอกุศลกรรมอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยโทษ
ไม่ทำกุศลกรรมไว้ ทำแต่อกุศลกรรมไว้มากมาย
หลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในนรก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ตปนียสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๔. อตปนียสูตร
๔. อตปนียสูตร
ว่าด้วยธรรมไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน
[๓๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน ๒ ประการนี้
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำความดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำบุญเครื่องต่อต้านความ
หวาดกลัวทุกข์ไว้ ไม่ได้ทำความชั่ว ไม่ได้ทำความหยาบช้า ไม่ได้ทำความร้ายกาจไว้
๑. เขาคิดว่า “เราทำความดีไว้” จึงไม่เดือดร้อน
๒. เขาคิดว่า “เราไม่ได้ทำความชั่วไว้” จึงไม่เดือดร้อน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน ๒ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังต่อไปนี้
บุคคลผู้มีปัญญา ละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
และอกุศลกรรมอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยโทษได้แล้ว
ไม่ทำอกุศลกรรมไว้ ทำแต่กุศลกรรมไว้มากมาย
หลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อตปนียสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๕. ปฐมสีลสูตร
๕. ปฐมสีลสูตร
ว่าด้วยศีลและทิฏฐิ สูตรที่ ๑
[๓๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ศีลวิบัติ (ความวิบัติแห่งศีล)
๒. มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
นรชนผู้มีปัญญาทราม ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้
คือ ศีลวิบัติ และมิจฉาทิฏฐิ
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในนรก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมสีลสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๖. ทุติยสีลสูตร
๖. ทุติยสีลสูตร
ว่าด้วยศีลและทิฏฐิ สูตรที่ ๒
[๓๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ศีลสมบัติ (ความสมบูรณ์แห่งศีล)
๒. สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่
ในสวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
นรชนผู้มีปัญญา ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้
คือ ศีลสมบัติ และสัมมาทิฏฐิ
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยสีลสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๗. อาตาปีสูตร
๗. อาตาปีสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ไม่มีความเพียร
[๓๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ จึงไม่ควรเพื่อตรัสรู้
ไม่ควรเพื่อนิพพาน ไม่ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีความเพียร มีโอตตัปปะนั้นแล จึงควรเพื่อตรัสรู้ ควรเพื่อ
นิพพาน ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ
เป็นผู้เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน
มักท้อแท้ ง่วงซึม ไม่มีหิริ
ไม่มีความเอื้อเฟื้อต่อธรรม เช่นนี้
ย่อมไม่ควรเพื่อจะบรรลุสัมโพธิ๑อันยอดเยี่ยมได้
แต่ภิกษุผู้มีสติ มีปัญญารักษาตน
มีฌาน มีความเพียร
มีโอตตัปปะ และไม่ประมาท
ตัดสังโยชน์๒ในชาติ ชราได้แล้ว
พึงบรรลุสัมโพธิอันยอดเยี่ยม ในอัตภาพนี้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อาตาปีสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.อิติ.อ. ๓๔/๑๒๑)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๓๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๘. ปฐมนกุหนสูตร
๘. ปฐมนกุหนสูตร๑
ว่าด้วยการไม่หลอกลวง สูตรที่ ๑
[๓๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้ มิใช่เพื่อจะลวงคน มิใช่เพื่อจะ
เกลี้ยกล่อมคน มิใช่เพื่ออานิสงส์คือลาภสักการะและการสรรเสริญ มิใช่เพื่อให้
คนรู้ว่า ‘คนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้’ แท้จริง ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้ก็เพื่อ
สังวร๒ และเพื่อปหานะ๓เท่านั้น”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์อันเป็นธรรมกำจัดความจัญไร๔
ทำให้สัตว์ถึงนิพพานเพื่อสังวร เพื่อปหานะ
ทางนี้ ท่านผู้ใหญ่ผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่ดำเนินไปแล้ว
อนึ่ง เหล่าชนผู้ปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมนกุหนสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๕/๔๑
๒ สังวร (การสำรวม) มี ๕ อย่าง คือ (๑) ปาติโมกขสังวร (สำรวมในปาติโมกข์) (๒) สติสังวร (สำรวม
ด้วยสติ) (๓) ญาณสังวร (สำรวมด้วยญาณ) (๔) ขันติสังวร (สำรวมด้วยขันติ) (๕) วิริยสังวร (สำรวม
ด้วยความเพียร) (ขุ.อิติ.อ. ๓๕/๑๒๖, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๒๕/๓๒๓-๓๒๔)
๓ ปหานะ (การละ) มี ๕ อย่าง คือ (๑) ตทังคปหานะ (ละกิเลสด้วยองค์นั้น ๆ) (๒) วิกขัมภนปหานะ
(ละกิเลสด้วยการข่มไว้) (๓) สมุจเฉทปหานะ (ละกิเลสด้วยตัดขาด) (๔) ปฏิปัสสัทธิปหานะ (ละกิเลส
ด้วยสงบระงับ) (๕) นิสสรณปหานะ (ละกิเลสด้วยสลัดออกได้) (ขุ.อิติ.อ. ๓๕/๑๒๖, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา
๒/๒๕/๓๒๔-๓๒๕)
๔ความจัญไร มีความหมายหลายนัย คือ นัยที่ ๑ หมายถึงอุปัททวะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต นัยที่ ๒
หมายถึงอุปกิเลสมีตัณหาเป็นต้น นัยที่ ๓ หมายถึงลัทธิเดียรถีย์ นัยที่ ๔ หมายถึงวิจิกิจฉา (ขุ.อิติ.อ.
๓๕/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑๐. โสมนัสสสูตร
๙. ทุติยนกุหนสูตร
ว่าด้วยการไม่หลอกลวง สูตรที่ ๒
[๓๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้ มิใช่เพื่อจะลวงคน มิใช่เพื่อจะ
เกลี้ยกล่อมคน มิใช่เพื่ออานิสงส์คือลาภสักการะและการสรรเสริญ มิใช่เพื่อให้
คนรู้ว่า “คนจงรู้จักเราด้วยอาการอย่างนี้” แท้จริง ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้
ก็เพื่อความรู้ยิ่ง และเพื่อความรอบรู้เท่านั้น”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์อันเป็นธรรมกำจัดความจัญไร
ทำให้สัตว์ถึงนิพพาน ก็เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรอบรู้
ทางนี้ ท่านผู้ใหญ่ผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่ดำเนินไปแล้ว
อนึ่ง เหล่าชนผู้ปฏิบัติตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยนกุหนสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. โสมนัสสสูตร
ว่าด้วยโสมนัส
[๓๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ ย่อมอยู่อย่างมีความสุข
โสมนัสมากในปัจจุบัน และย่อมเริ่มประกอบความเพียรโดยแยบคาย เพื่อความ
สิ้นอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความมีสังเวคธรรม๑ในฐานะที่ควรมีสังเวคธรรม๒
๒. ความเพียรโดยแยบคายแห่งบุคคลผู้มีสังเวคธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมอยู่อย่างมี
ความสุขโสมนัสมากในปัจจุบัน และย่อมเริ่มประกอบความเพียรโดยแยบคาย เพื่อ
ความสิ้นอาสวะ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต มีความเพียร
มีปัญญารักษาตน พิจารณาเห็นชอบด้วยปัญญา
ควรมีสังเวคธรรมในฐานะที่ควรมีสังเวคธรรมทีเดียว
ภิกษุผู้มีความเพียร มีความประพฤติสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน
หมั่นประกอบอุบายเป็นเครื่องสงบใจอยู่อย่างนี้
พึงถึงความสิ้นทุกข์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โสมนัสสสูตรที่ ๑๐ จบ
ปฐมวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ทุกขวิหารสูตร ๒. สุขวิหารสูตร
๓. ตปนียสูตร ๔. อตปนียสูตร
๕. ปฐมสีลสูตร ๖. ทุติยสีลสูตร
๗. อาตาปีสูตร ๘. ปฐมนกุหนสูตร
๙. ทุติยนกุหนสูตร ๑๐. โสมนัสสสูตร


เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๗๖ ในเล่มนี้
๒ ฐานะที่ควรมีสังเวคธรรม หมายถึงชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ในอบาย วัฏฏมูลกทุกข์ อาหารปริเยฏฐิมูลกทุกข์
(ขุ.อิติ.อ. ๓๗/๑๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑. วิตักกสูตร
๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
๑. วิตักกสูตร
ว่าด้วยวิตก
[๓๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย วิตก ๒ ประการ คือ เขมวิตก๑ และวิเวกวิตก๒ ย่อมแผ่ซ่าน
ไปยังตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอันมาก ตถาคตพอใจความไม่เบียดเบียน
ยินดีความไม่เบียดเบียน วิตกนั่นแลแผ่ซ่านไปยังตถาคตผู้พอใจความไม่เบียดเบียน
ยินดีในความไม่เบียดเบียนเป็นอันมากว่า “เราจะไม่เบียดเบียนสัตว์ใด ๆ ทั้งที่ยังมีจิต
หวาดสะดุ้งหรือมีจิตมั่นคงด้วยการทำนี้”
ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตพอใจความสงัด ยินดีความสงัด วิตกนั่นแลแผ่ซ่านไปยัง
ตถาคตผู้พอใจความสงัด ยินดีความสงัดเป็นอันมากว่า ‘สิ่งใดเป็นอกุศล สิ่งนั้นเรา
ละได้แล้ว’ เพราะเหตุดังกล่าวนั้น แม้เธอทั้งหลายก็จงพอใจความไม่เบียดเบียน
ยินดีความไม่เบียดเบียนอยู่เถิด เธอทั้งหลายซึ่งพอใจความไม่เบียดเบียน ยินดีความ
ไม่เบียดเบียนอยู่ วิตกนี้นั้นแลจะแผ่ซ่านไปเป็นอันมากว่า “เราทั้งหลายจะไม่
เบียดเบียนสัตว์ใด ๆ ทั้งที่ยังมีจิตหวาดสะดุ้งหรือมีจิตมั่นคงด้วยการทำนี้”
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพอใจความสงัด ยินดีความสงัดอยู่เถิด เมื่อเธอ
ทั้งหลายซึ่งพอใจความสงัด ยินดีความสงัด วิตกนี้นั้นแลจะแผ่ซ่านไปเป็นอันมากว่า
“อะไรคืออกุศล อกุศลอะไรที่เราทั้งหลายยังละไม่ได้ เราทั้งหลายจะละอกุศลอะไร”

เชิงอรรถ :
๑ เขมวิตก หมายถึงความตรึกที่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา และมุทิตา หรือหมายถึงอพยาบาทวิตก และ
อวิหิงสาวิตก (ขุ.อิติ.อ. ๓๘/๑๖๔-๑๖๘)
๒ วิเวกวิตก หมายถึงความตรึกที่ประกอบด้วยผลสมาบัติ หรือความตรึกที่ประกอบด้วยวิเวก ๓ ประการ คือ
กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก และประกอบด้วยวิเวก ๕ ประการ คือ ตทังควิเวก วิกขัมภนวิเวก สมุจเฉทวิเวก
ปฏิปัสสัทธิวิเวก นิสสรณวิเวก (ขุ.อิติ.อ. ๓๘/๑๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑. วิตักกสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
วิตก ๒ ประการ คือ เขมวิตกที่ทรงยกขึ้นแสดงเป็นข้อที่ ๑
วิเวกวิตกที่ทรงประกาศเป็นข้อที่ ๒
ย่อมแผ่ซ่านไปยังตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพิชิตมาร
มุนีผู้บรรเทาความมืด ผู้ถึงฝั่ง
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ผู้ถึงคุณอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายพึงถึง
ผู้มีความชำนาญ ผู้ไม่มีอาสวะ ผู้ข้ามวัฏฏทุกข์อันเป็นยาพิษ
ผู้น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา
ผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้ายนั้นแล
เรากล่าวว่า เป็นผู้ละมาร เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งชรา
บุรุษ (ผู้มีตาดี) ยืนอยู่บนยอดภูเขาศิลาล้วน
พึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ แม้ฉันใด
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญาดี มีสมันตจักขุ๑
หมดความโศกแล้ว เสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม
ทรงพิจารณาเห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก
และถูกชาติชราครอบงำได้ชัดเจน๒ ฉันนั้น
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
วิตักกสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สมันตจักขุ หมายถึงสัพพัญญุตญาณ (ที.ม.อ. ๒/๗๐/๖๖, ขุ.อิติ.อ. ๓๘/๑๗๓)
๒ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๘/๑๓, ที.ม. (แปล) ๑๐/๗๐/๔๐, ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๘๒/๓๐๖-๓๐๗, ม.ม. (แปล)
๑๓/๓๓๘/๔๐๘, สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๗๒/๒๓๑, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๓๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๕/๓๐๔
และดู ขุ.อิติ.อ. ๓๘/๑๗๓ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๒. เทสนาสูตร
๒. เทสนาสูตร
ว่าด้วยธรรมเทศนา
[๓๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าโดยปริยาย
มี ๒ ประการ
ธรรมเทศนา ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ธรรมเทศนาว่า “ท่านทั้งหลายจงเห็นบาปว่าเป็นบาป” นี้จัดเป็น
ธรรมเทศนาประการที่ ๑
๒. ธรรมเทศนาว่า “ท่านทั้งหลายครั้นเห็นบาปว่าเป็นบาปแล้ว จงเบื่อ
หน่ายคลายกำหนัด ปลดเปลื้องตนให้พ้นจากบาปนั้น” นี้จัดเป็น
ธรรมเทศนาประการที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าโดยปริยาย
มี ๒ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
เธอจงดูธรรมเทศนา ๒ ประการ
ที่ตถาคตพุทธเจ้าผู้ทรงอนุเคราะห์สัตว์ทุกหมู่เหล่า
ได้ทรงประกาศไว้แล้วโดยคำปริยาย
เธอทั้งหลายผู้ฉลาด จงพิจารณาเห็นบาป
จงคลายความยินดีในบาปนั้น
เธอทั้งหลายมีจิตคลายความยินดีในบาปนั้นแล้ว
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เทสนาสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๓. วิชชาสูตร
๓. วิชชาสูตร
ว่าด้วยวิชชา
[๔๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อวิชชา(ความไม่รู้)เป็นหัวหน้าแห่งความถึงพร้อมแห่งอกุศลธรรม
ทั้งหลาย อหิริกะ(ความไม่อายบาป) และอโนตตัปปะ(ความไม่กลัวบาป)เป็นไปตาม
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนวิชชา(ความรู้)เป็นหัวหน้าแห่งความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม
ทั้งหลาย หิริ(ความอายบาป) และโอตตัปปะ(ความกลัวบาป)เป็นไปตาม”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ทุคติ๑อย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้และในโลกอื่น
ทั้งหมดมีอวิชชาเป็นมูลเหตุ
เกิดขึ้นด้วยความปรารถนาและความโลภ
อนึ่ง เพราะมีอวิชชาเป็นมูลเหตุ
คนจึงมีความปรารถนาชั่ว
ไม่มีหิริ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
เขาประสพ๒บาปอยู่เสมอ
เพราะบาปนั้น เขาต้องไปเกิดในอบายแน่นอน
เพราะฉะนั้น ภิกษุ เมื่อละฉันทะ โลภะ และอวิชชาได้
ทำวิชชาให้เกิดขึ้น จึงละทุคติทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
วิชชาสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ทุคติ หมายถึงก่อเกิดทุกข์มีพยาธิ และมรณะ เป็นต้น หรือหมายถึงข้อประพฤติที่ถูกกิเลสมีราคะเป็นต้น
ครอบงำ ได้แก่ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต (ขุ.อิติ.อ. ๔๐/๑๗๖)
๒ ประสพ ในที่นี้หมายถึงสั่งสมบาปมีกายทุจริต เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๔๐/๑๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๔. ปัญญาปริหีนสูตร
๔. ปัญญาปริหีนสูตร
ว่าด้วยสัตว์ที่เสื่อมจากปัญญา
[๔๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่เสื่อมจากอริยปัญญา๑ ชื่อว่าเสื่อมถึงที่สุด
สัตว์เหล่านั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ คับแค้น อึดอัด เร่าร้อนในปัจจุบัน หลังจากตายแล้ว
พึงหวังได้ทุคติ
ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่ไม่เสื่อมจากอริยปัญญา ชื่อว่าไม่เสื่อม สัตว์เหล่านั้น
ย่อมอยู่เป็นสุข ไม่คับแค้น ไม่อึดอัด ไม่เร่าร้อนในปัจจุบัน หลังจากตายแล้ว
พึงหวังได้สุคติ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ท่านจงดูชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกที่ยึดมั่นในนามรูป
เข้าใจว่า “นี้เท่านั้นเป็นจริง” เพราะเสื่อมจากปัญญา
ปัญญาที่เป็นเหตุให้ถึงความทำลายกิเลส
และปัญญาที่รู้ชัดความสิ้นไปแห่งชาติและภพโดยชอบ
เป็นปัญญาที่ประเสริฐในโลก
เทวดาและมนุษย์ ย่อมรักปรารถนาดี
ต่อพระสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
ผู้มีพระสติไพบูลย์ มีพระปัญญาผ่องใส
มีพระสรีระเป็นร่างกายสุดท้าย
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปัญญาปริหีนสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อริยปัญญา หมายถึงวิปัสสนาปัญญาและมัคคปัญญา (ขุ.อิติ.อ. ๔๑/๑๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๕. สุกกธัมมสูตร
๕. สุกกธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมฝ่ายขาว
[๔๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม๑ ๒ ประการนี้ ย่อมคุ้มครองโลก
สุกกธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. หิริ๒ ๒. โอตตัปปะ๓
ถ้าสุกกธรรม ๒ ประการนี้ไม่คุ้มครองโลก ในมนุษยโลกนี้ก็จะไม่ปรากฏ๔ให้รู้ว่า
หญิงนี้เป็นมารดา หญิงนี้เป็นน้า หญิงนี้เป็นป้า หญิงนี้เป็นภรรยาของอาจารย์หรือ
หญิงนี้เป็นภรรยาของครู มนุษยโลกก็จะประพฤติสำส่อนกันไปหมด เหมือนอย่าง
พวกแพะ แกะ ไก่ สุกร สุนัข และสุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุที่สุกกธรรม ๒ ประการนี้ยังคุ้มครองโลกอยู่
ฉะนั้นจึงยังปรากฏให้รู้ว่า หญิงนี้เป็นมารดา หญิงนี้เป็นน้า หญิงนี้เป็นป้า หญิงนี้
เป็นภรรยาของอาจารย์ หรือหญิงนี้เป็นภรรยาของครู”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ สุกกธรรม หมายถึงกุศลธรรม คือธรรมที่เป็นฝ่ายขาว หรือ ธรรมบริสุทธิ์ (ขุ.อิติ.อ. ๔๒/๑๗๙)
๒ หิริ หมายถึงความละอายต่ออกุศลธรรม (ขุ.อิติ.อ. ๔๒/๑๗๙)
๓ โอตตัปปะ หมายถึงความกลัวต่ออกุศลธรรม (ขุ.อิติ.อ. ๔๒/๑๗๙)
๔ ไม่ปรากฏ หมายถึงไม่ปรากฏความเคารพยำเกรงต่อกัน (ขุ.อิติ.อ. ๔๒/๑๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๖. อชาตสูตร
หากสัตว์เหล่าใดไม่มีหิริโอตตัปปะในกาลทุกเมื่อ
สัตว์เหล่านั้นก็ชื่อว่าปราศจากสุกกธรรม
เป็นผู้เข้าถึงชาติและมรณะ
ส่วนสัตว์เหล่าใดเข้าไปตั้งหิริและโอตตัปปะไว้โดยชอบ
สัตว์เหล่านั้นมีพรหมจรรย์งอกงาม สงบ มีภพใหม่สิ้นไปแล้ว๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สุกกธรรมสูตรที่ ๕ จบ

๖. อชาตสูตร
ว่าด้วยธรรมชาติที่ไม่เกิด
[๔๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ อันปัจจัยไม่ทำ อันปัจจัยไม่
ปรุงแต่ง มีอยู่จริง ภิกษุทั้งหลาย หากธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ อันปัจจัยไม่ทำ
อันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง จะไม่มีอยู่จริงไซร้ ในโลกนี้ก็จะไม่ปรากฏภาวะที่สลัดออกจาก
ธรรมชาติที่เกิด ที่ปรากฏ อันปัจจัยทำ อันปัจจัยปรุงแต่งได้เลย ภิกษุทั้งหลาย
ก็เพราะธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ปรากฏ อันปัจจัยไม่ทำ อันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง มีอยู่จริง
ฉะนั้น จึงปรากฏภาวะที่สลัดออกจากธรรมชาติที่เกิด ที่ปรากฏ อันปัจจัยทำ
อันปัจจัยปรุงแต่ง”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๐๘๒/๕๑๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๗. นิพพานธาตุสูตร
ธรรมชาติที่เกิด ที่ปรากฏ ที่เกิดขึ้นพร้อมแล้ว
อันปัจจัยทำ อันปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ยั่งยืน
ระคนด้วยชราและมรณะ เป็นรังแห่งโรค
มีความเสื่อมโทรมเป็นปกติ
มีอาหารและตัณหาเป็นแดนเกิด
บุคคลจึงไม่ควรยินดีธรรมชาติดังกล่าวนั้น
ความสลัดออกจากธรรมชาติดังกล่าวนั้นได้
เป็นความสงบ มิใช่วิสัยแห่งการคาดคะเน
เป็นภาวะที่ยั่งยืน
ธรรมชาติที่ไม่เกิด ที่ไม่เกิดขึ้นพร้อมแล้ว
ไม่มีความโศก ปราศจากธุลีคือกิเลส
เป็นภาวะควรเข้าถึงแท้จริง
ความดับแห่งธรรมชาติที่เป็นทุกข์ทั้งหลาย
คือความสงบระงับแห่งสังขาร เป็นความสุข
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อชาตสูตรที่ ๖ จบ

๗. นิพพานธาตุสูตร
ว่าด้วยนิพพานธาตุ
[๔๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้
นิพพานธาตุ ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
๒. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๗. นิพพานธาตุสูตร
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่
ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว๑ บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภว-
สังโยชน์แล้ว๒ หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ เพราะอินทรีย์ ๕ ที่ยังคงอยู่ ไม่ดับไป ภิกษุ
นั้นจึงประสบอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ เสวยสุขและทุกข์อยู่ ภิกษุทั้งหลาย
ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะของภิกษุนั้น เราเรียกว่า สอุปาทิเสส-
นิพพานธาตุ
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจ
ที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภว-
สังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ ภิกษุทั้งหลาย เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้
นั่นแลของภิกษุนั้น อันตัณหาเป็นต้นให้เพลิดเพลินไม่ได้ต่อไปแล้ว จักระงับดับสนิท
ภิกษุทั้งหลาย สภาวะดังกล่าวนี้ เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ตถาคตผู้มีพระจักษุ๓ ไม่ทรงอิงอาศัยสิ่งใด ๆ
ผู้คงที่ ทรงประกาศนิพพานธาตุไว้ ๒ ประการนี้ คือ

เชิงอรรถ :
๑ ปลงภาระได้แล้ว หมายถึงปลงขันธภาระได้ ปลงกิเลสภาระได้ และปลงอภิสังขารภาระได้ (ขุ.อิติ.อ. ๔๔/
๑๘๙)
๒ สิ้นภวสังโยชน์ หมายถึงสิ้นกิเลสที่เป็นเครื่องผูกสัตว์ คร่าสัตว์มาไว้ในภพทั้งหลาย (ขุ.อิติ.อ. ๔๔/๑๘๙)
๓ หมายถึงจักษุ ๕ ประการ คือ (๑) พุทธจักษุ (ตาพระพุทธเจ้า) (๒) มังสจักษุ (ตาเนื้อ) (๓) ทิพพจักษุ (ตาทิพย์)
(๔) ปัญญาจักษุ (ตาปัญญา) (๕) สมันตจักษุ (ตาเห็นรอบ) (ดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๒๔, ขุ.อิติ.อ.
๔๔/๑๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๘. ปฏิสัลลานสูตร
นิพพานธาตุประการหนึ่ง เป็นสภาวะมีให้เห็นในอัตภาพนี้
ชื่อว่าสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาที่นำไปสู่ภพ
ส่วนนิพพานธาตุอีกประการหนึ่ง เป็นสภาวะมีในภายภาคหน้า
ชื่อว่าอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
เป็นที่ดับสนิทแห่งภพทั้งหลายได้โดยสิ้นเชิง
ชนทั้งหลายผู้รู้ที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่งนี้แล้ว
มีจิตหลุดพ้นเพราะความสิ้นไปแห่งภวเนตติ๑
ยินดียิ่งในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลส เพราะบรรลุธรรมเป็นสาระ
เป็นผู้คงที่ ละภพทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
นิพพานธาตุสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปฏิสัลลานสูตร
ว่าด้วยการหลีกเร้น
[๔๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้พอใจในการหลีกเร้น ยินดีในการ
หลีกเร้น หมั่นประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง๒] เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ภวเนตติ เป็นชื่อของตัณหา หมายถึงเชือกผูกสัตว์ไว้ในภพ(ภวรชฺชุ) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑/๒๗๙)
๒ เพิ่มพูนเรือนว่าง ในที่นี้หมายถึงการเรียนสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วไปยังเรือนว่าง นั่งอยู่
ตลอดวันและคืน เจริญอธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา (องฺ.ทสก.อ. ๓/๗๑/๓๕๗, ม.มู.อ. ๑/๖๕/๑๖๙,
ขุ.อิติ.อ. ๔๕/๑๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๙. สิกขานิสังสสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายพอใจในการหลีกเร้น ยินดีในการหลีกเร้น
หมั่นประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา
เพิ่มพูนเรือนว่างอยู่ พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ชนทั้งหลายมีจิตสงบแล้ว มีปัญญารักษาตน
มีสติ เพ่งพินิจอยู่ ไม่ไยดีในกามทั้งหลาย
ย่อมเห็นแจ้งธรรมโดยชอบ
เป็นผู้ยินดีในความไม่ประมาท
มีปกติเห็นภัยในความประมาท
เป็นผู้ไม่ควรเสื่อม ดำรงอยู่ใกล้นิพพานทีเดียว
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฏิสัลลานสูตรที่ ๘ จบ

๙. สิกขานิสังสสูตร
ว่าด้วยผู้มีสิกขาเป็นอานิสงส์
[๔๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีสิกขา๑ เป็นอานิสงส์ มีปัญญา๒
เป็นเยี่ยม มีวิมุตติ๓เป็นแก่นสาร มีสติเป็นใหญ่๔อยู่เถิด

เชิงอรรถ :
๑ สิกขา ในที่นี้หมายถึงสิกขา ๓ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา (ขุ.อิติ.อ. ๔๖/๑๙๔)
๒ ปัญญา ในที่นี้หมายถึงอธิปัญญาสิกขา (ขุ.อิติ.อ. ๔๖/๙๔)
๓ วิมุตติ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.อิติ.อ. ๔๖/๑๙๔)
๔ สติเป็นใหญ่ หมายถึงมีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ (ขุ.อิติ.อ. ๔๖/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๙. สิกขานิสังสสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเป็นผู้มีสิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นเยี่ยม
มีวิมุตติเป็นแก่นสาร มีสติเป็นใหญ่อยู่ พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ
อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
เราเรียกมุนีผู้มีสิกขาบริบูรณ์ ไม่มีธรรมที่ต้องละ
มีปัญญาเป็นเยี่ยม มีปกติเห็นที่สุดคือภาวะที่สิ้นสุดแห่งชาติ
ทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้ายนั้นแลว่า
เป็นผู้ละมาร เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งชรา๑
เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายจงเป็นผู้ยินดีในฌาน
เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นทุกเมื่อ มีความเพียร
มีปกติเห็นที่สุดคือภาวะที่สิ้นสุดแห่งชาติ
ครอบงำมารพร้อมทั้งเสนามารได้
เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งชาติและมรณะได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สิกขานิสังสสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ อิติวุตตกะข้อ ๓๙ หน้า ๓๘๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๐. ชาคริยสูตร
๑๐. ชาคริยสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ตื่นอยู่
[๔๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้ตื่น๑ อยู่อย่างมีสติ มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น
เบิกบาน ผ่องใส และควรเป็นผู้เห็นแจ้งสมควรแก่กาลในกุศลธรรมทั้งหลาย ในการ
ประกอบเนือง ๆ ซึ่งกัมมัฏฐานนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเป็นผู้ตื่น อยู่อย่างมีสติ มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น
เบิกบาน ผ่องใส และเป็นผู้เห็นแจ้งสมควรแก่กาลในกุศลธรรมทั้งหลาย ในการ
ประกอบกัมมัฏฐานนั้นอยู่ พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผล
ในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
เธอทั้งหลายที่หลับอยู่ จงรีบตื่น
ที่ตื่นอยู่ จงฟังคำของเรานี้
ความเป็นผู้ตื่นจากความหลับเป็นคุณประเสริฐ
เพราะภัย๒ย่อมไม่มีแก่ผู้ตื่นอยู่

เชิงอรรถ :
๑ เป็นผู้ตื่น หมายถึงเป็นผู้มีความเพียรเป็นเครื่องตื่น (ขุ.อิติ.อ. ๔๗/๑๙๖)
๒ ภัย ในที่นี้หมายถึง (๑) อัตตานุวาทภัย (ภัยเกิดจากการติเตียนตนเอง) (๒) ปรานุวาทภัย (ภัยเกิดจาก
การถูกผู้อื่นติเตียน) (๓) ทัณฑภัย (ภัยเกิดจากการถูกลงอาชญา) (๔) ทุคคติภัย (ภัยเกิดจากทุคติ) และ
(๕) วัฏฏภัยมีชาติ เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๔๗/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๑. อาปายิกสูตร
ผู้ที่ตื่นอยู่ มีสติสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น
เบิกบาน ผ่องใส พิจารณาธรรมโดยชอบตามกาลที่เหมาะสม
มีสมาธิเป็นธรรมผุดขึ้น๑ พึงกำจัดความมืดได้
เพราะฉะนั้นแล ภิกษุควรประพฤติธรรมเป็นเหตุให้ตื่น
มีความเพียร มีปัญญารักษาตน มีปกติได้ฌาน
ตัดสังโยชน์ในชาติและชราได้แล้ว
ก็จะบรรลุสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในอัตภาพนี้แน่นอน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ชาคริยสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. อาปายิกสูตร
ว่าด้วยคนผู้จะเกิดในอบาย
[๔๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้ จะเกิดในอบาย จะเกิดในนรก เพราะไม่ละ
ความประพฤติชั่วนี้
คน ๒ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. คนที่ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ปฏิญญาว่า ประพฤติพรหมจรรย์
๒. คนที่ชอบโจทผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ด้วย
อพรหมจรรย์อันไม่มีมูล

เชิงอรรถ :
๑ สมาธิเป็นธรรมผุดขึ้น หมายถึงสัมมัปปธานที่ให้สำเร็จกิจ ๔ (ขุ.อิติ.อ. ๔๗/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๑. อาปายิกสูตร
ภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวกนี้แล จะเกิดในอบาย จะเกิดในนรก เพราะไม่ละ
ความประพฤติชั่วนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
“ฉันไม่ได้ทำ” ต่างก็ตกนรก
คน ๒ จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้ว มีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า๑
ภิกษุชั่วจำนวนมากมีผ้ากาสาวะพันที่คอ
มีธรรมเลวทราม ไม่สำรวม
ย่อมตกนรกเพราะบาปกรรมทั้งหลาย
การกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนดุจเปลวเพลิง
ยังดีกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีลไม่สำรวม
บริโภคอาหารที่ชาวบ้านเขาถวาย๒
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อาปายิกสูตรที่ ๑๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู ธรรมบท ข้อ ๓๐๖ หน้า ๑๒๘, อุทาน ข้อ ๓๘ หน้าที่ ๒๔๘, สุตตนิบาต ข้อ ๖๖๗ หน้า ๖๕๙ ในเล่มนี้
๒ ดูธรรมบทข้อ ๓๐๗-๓๐๘ หน้า ๑๒๙, อิติวุตตกะข้อ ๙๑ หน้า ๔๖๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๒. ทิฏฐิคตสูตร
๑๒. ทิฏฐิคตสูตร
ว่าด้วยทิฏฐิ
[๔๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ต่างก็ถูกทิฏฐิ ๒ อย่างครอบงำ คือ เทวดา
และมนุษย์พวกหนึ่งยึดติดอยู่๑ เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งแล่นเลยไป๒ ส่วนเทวดา
และมนุษย์ผู้มีปัญญาจักษุ ย่อมเห็นตามความเป็นจริง
เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งยึดติดอยู่ เป็นอย่างไร
คือ เทวดาและมนุษย์พอใจ ยินดี เพลิดเพลินอยู่ในภพ เมื่อตถาคตแสดงธรรม
เพื่อความดับแห่งภพ จิตของเทวดาและมนุษย์นั้นย่อมไม่ยอมรับ ไม่เลื่อมใส
ไม่ตั้งมั่น ไม่น้อมใจเชื่อ เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งยึดติดอยู่ เป็นอย่างนี้แล
เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งแล่นเลยไป เป็นอย่างไร
คือ เทวดาและมนุษย์อึดอัด ระอา รังเกียจ ไม่ยินดีภพนั่นแล จึงหลงเพลิดเพลิน
ความขาดสูญโดยทำนองว่า ท่านทั้งหลาย ทราบว่า อัตตาของเรานี้ เมื่อตายไป
ย่อมขาดสูญพินาศไป หลังจากตายแล้วจะไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ชื่อว่าเป็นธรรมชาติ
สงบ ประณีต ถ่องแท้ เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งแล่นเลยไป เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ พวกหนึ่งยึดติดอยู่ หมายถึงพวกสัสสตทิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ. ๔๙/๒๐๒)
๒ พวกหนึ่งแล่นเลยไป หมายถึงพวกอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ. ๔๙/๒๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๒. ทิฏฐิคตสูตร
เทวดาและมนุษย์ผู้มีปัญญาจักษุย่อมเห็นตามความเป็นจริง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ โดยสภาวะแท้จริง
ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้วก็ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับสิ่ง
ที่เป็นจริง โดยความเป็นจริงนั้น เทวดาและมนุษย์ผู้มีปัญญาจักษุย่อมเห็นตาม
ความเป็นจริง เป็นอย่างนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
อริยสาวกพิจารณาเห็นขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้วตามความเป็นจริง
และธรรมเป็นเครื่องก้าวล่วงขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว
ย่อมน้อมจิตไปในนิพพานตามความเป็นจริง
เพราะความสิ้นไปแห่งภวตัณหา
ถ้าอริยสาวกผู้กำหนดรู้ขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว
ปราศจากตัณหาในภพน้อยและใหญ่ไซร้
ชื่อว่าภิกษุ ย่อมไม่กลับมาสู่ภพอีก
เพราะขันธ์ ๕ เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทิฏฐิคตสูตรที่ ๑๒ จบ
ทุติยวรรค จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๒. ทุกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. วิตักกสูตร ๒. เทสนาสูตร
๓. วิชชาสูตร ๔. ปัญญาปริหีนสูตร
๕. สุกกธัมมสูตร ๖. อชาตสูตร
๗. นิพพานธาตุสูตร ๘. ปฏิสัลลานสูตร
๙. สิกขานิสังสสูตร ๑๐. ชาคริยสูตร
๑๑. อาปายิกสูตร ๑๒. ทิฏฐิคตสูตร

(ในทุกนิบาตแห่งอิติวุตตกะนี้ ท่านพระเถระผู้ทำปฐมสังคายนา ประกาศพระสูตร
ไว้ ๒๒ สูตร คือ ในปฐมวรรค ๑๐ สูตร และในทุติยวรรคนี้ ๑๒ สูตร ดังกล่าวมา
ฉะนี้เแล)
ทุกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑. มูลสูตร
๓. ติกนิบาต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. มูลสูตร
ว่าด้วยอกุศลมูล๑
[๕๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล ๓ ประการนี้
อกุศลมูล ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อกุศลมูลคือโลภะ (ความอยากได้)
๒. อกุศลมูลคือโทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
๓. อกุศลมูลคือโมหะ (ความหลง)
ภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โลภะ โทสะ และโมหะที่เกิดภายในตน
ย่อมทำร้ายบุรุษผู้มีจิตเลวทราม
เหมือนขุยไผ่กำจัดต้นไผ่ ฉะนั้น๒
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มูลสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อกุศลมูล หมายถึงรากเหง้าของอกุศล หรือต้นตอของความชั่ว (ขุ.อิติ.อ. ๕๐/๒๐๖)
๒ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๑๓/๑๓๐, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๒๑, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๘/๔๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๒. ธาตุสูตร
๒. ธาตุสูตร
ว่าด้วยธาตุ
[๕๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธาตุ ๓ ประการนี้
ธาตุ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปธาตุ๑ ๒. อรูปธาตุ๒ ๓. นิโรธธาตุ๓
ภิกษุทั้งหลาย ธาตุ ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สัตว์เหล่าใดกำหนดรู้รูปธาตุได้แล้ว
ไม่ติดอยู่ในอรูปธาตุ น้อมจิตไปในนิโรธธาตุ
สัตว์เหล่านั้นย่อมล่วงพ้นมัจจุราชไปได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสัมผัสอมตธาตุที่ไร้อุปธิด้วยนามกาย
ทรงรู้แจ้งประจักษ์ถึงเหตุแห่งความสลัดคืนอุปธิ
ผู้หาอาสวะมิได้ ทรงแสดงบท๔ที่ไม่มีความโศก ปราศจากธุลีไว้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ธาตุสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ รูปธาตุ ในที่นี้หมายถึงรูปภพ (ขุ.อิติ.อ. ๕๑/๒๐๘)
๒ อรูปธาตุ ในที่นี้หมายถึงอรูปภพ (ขุ.อิติ.อ. ๕๑/๒๐๘)
๓ นิโรธธาตุ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อิติ.อ. ๕๑/๒๐๘, ๗๒/๒๕๑)
๔ บท ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อิติ.อ. ๕๑/๒๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๓. ปฐมเวทนาสูตร
๓. ปฐมเวทนาสูตร๑
ว่าด้วยเวทนา สูตรที่ ๑
[๕๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ ประการนี้
เวทนา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สุขเวทนา (ความรู้สึกสุข)
๒. ทุกขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์)
๓. อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกเฉย ๆ จะสุขก็ไม่ใช่ จะทุกข์ก็ไม่ใช่)
ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีจิตตั้งมั่น
มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ
ย่อมรู้ชัดเวทนา เหตุเกิดเวทนา นิพพานอันเป็นที่ดับเวทนา
และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับเวทนา
เพราะสิ้นเวทนาทั้งหลาย
ภิกษุจึงเป็นผู้หมดความหิว ปรินิพพานแล้ว
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมเวทนาสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๔๙/๒๗๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๔. ทุติยเวทนาสูตร
๔. ทุติยเวทนาสูตร๑
ว่าด้วยเวทนา สูตรที่ ๒
[๕๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ ประการนี้
เวทนา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สุขเวทนา ๒. ทุกขเวทนา ๓. อทุกขมสุขเวทนา
ภิกษุพึงเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์๒ พึงเห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นดุจลูกศร
พึงเห็นอทุกขมสุขเวทนาโดยความไม่เที่ยง
ภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์ เห็นทุกขเวทนาโดย
ความเป็นดุจลูกศร เห็นอทุกขมสุขเวทนาโดยความไม่เที่ยงได้ ภิกษุนี้เราเรียกว่า
‘เป็นอริยะ มีความเห็นชอบ ตัดตัณหาได้ เพิกถอนสังโยชน์ได้แล้ว ได้ทำที่สุด
แห่งทุกข์ เพราะรู้แจ้งมานะได้โดยชอบ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุใดเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์
เห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นดุจลูกศร
เห็นอทุกขมสุขเวทนาที่มีอยู่โดยความไม่เที่ยง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๕๓/๒๗๓
๒ ทุกข์ หมายถึงวิปริณามทุกข์ (ทุกข์คือ ความผันแปรเปลี่ยนแปลงเรื่อยไป) (ขุ.อิติ.อ.๕๓/๒๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๕. ปฐมเอสนาสูตร
ภิกษุนั้นแล เป็นผู้มีความเห็นชอบ
เพราะเหตุที่หลุดพ้นได้เด็ดขาดในเวทนานั้น
จึงชื่อว่าสำเร็จอภิญญา ๖ ประการ
เป็นผู้สงบ ล่วงพ้นโยคะได้แล้ว เป็นมุนีแท้จริง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยเวทนาสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฐมเอสนาสูตร
ว่าด้วยการแสวงหา สูตรที่ ๑
[๕๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ ประการนี้
การแสวงหา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การแสวงหากาม ๒. การแสวงหาภพ
๓. การแสวงหาพรหมจรรย์๑
ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิพรหมจรรย์ กล่าวคือ ลัทธิที่มีความเชื่อว่า ‘โลกเที่ยง’ ‘โลกไม่เที่ยง’
เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๕๔/๒๒๔) และดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๑๙/๕๗๕ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๖. ทุติยเอสนาสูตร
สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีจิตตั้งมั่น
มีสติสัมปชัญญะ
ย่อมรู้ชัดการแสวงหา เหตุเกิดการแสวงหา
ธรรมเป็นที่ดับการแสวงหา๑
และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความสิ้นสุดการแสวงหา
เพราะสิ้นการแสวงหาทั้งหลาย
ภิกษุจึงเป็นผู้หมดความหิว ปรินิพพานแล้ว๒
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมเอสนาสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทุติยเอสนาสูตร
ว่าด้วยการแสวงหา สูตรที่ ๒
[๕๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ ประการนี้
การแสวงหา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การแสวงหากาม ๒. การแสวงหาภพ
๓. การแสวงหาพรหมจรรย์
ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหา ๓ ประการนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเป็นที่ดับการแสวงหา แยกเป็น ๓ ระดับ คือ (๑) ปฐมมรรค(โสดาปัตติมรรค) เป็นที่ดับการแสวงหา
พรหมจรรย์ (๒) อนาคามิมรรค เป็นที่ดับการแสวงหากาม (๓) อรหัตตมรรค เป็นที่ดับการแสวงหาภพ
(ขุ.อิติ.อ. ๕๔/๒๒๔) และดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๑๙/๕๗๕ ประกอบ
๒ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๔, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๑๙/๕๗๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๖. ทุติยเอสนาสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
การแสวงหากาม การแสวงหาภพ
และการแสวงหาพรหมจรรย์
คือการยึดถือว่าอย่างนี้จริง
อันเป็นทิฏฐิฏฐาน๑
ภิกษุผู้คลายกำหนัดได้ทั้งหมด
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
ชื่อว่าสละคืนการแสวงหา(กามและภพ)
พร้อมทั้งถอนทิฏฐิฏฐานได้๒
เพราะสิ้นการแสวงหาทั้งหลาย
ภิกษุจึงเป็นผู้ไม่หวัง
และหมดความสงสัยโดยสิ้นเชิง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยเอสนาสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ทิฏฐิฏฐาน” เป็นชื่อของทิฏฐินั่นเอง ทิฏฐิทั้งหลายที่ชื่อว่า ทิฏฐิฏฐาน เพราะเป็นเหตุแห่งความ
พินาศทั้งหลายทั้งปวง (ขุ.อิติ.อ. ๕๕/๒๒๕)
๒ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๓๘/๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๗. ปฐมอาสวสูตร
๗. ปฐมอาสวสูตร
ว่าด้วยอาสวะ สูตรที่ ๑
[๕๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อาสวะ๑ ๓ ประการนี้
อาสวะ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามาสวะ (อาสวะคือกาม) ๒. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ)
๓. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา)
ภิกษุทั้งหลาย อาสวะ ๓ ประการนี้แล
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีจิตตั้งมั่น
มีสติสัมปชัญญะ
ย่อมรู้ชัดอาสวะ เหตุเกิดอาสวะ ธรรมเป็นที่ดับอาสวะ
และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับอาสวะ
เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ภิกษุจึงเป็นผู้หมดความหิว ปรินิพพานแล้ว
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมอาสวสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อาสวะ หมายถึงกิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน (ที.ปา.อ.๓๐๕/๑๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๘. ทุติยอาสวสูตร
๘. ทุติยอาสวสูตร
ว่าด้วยอาสวะ สูตรที่ ๒
[๕๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อาสวะ ๓ ประการนี้
อาสวะ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามาสวะ ๒. ภวาสวะ ๓. อวิชชาสวะ
ภิกษุทั้งหลาย อาสวะ ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้สิ้นกามาสวะ และภวาสวะ
สำรอกอวิชชาได้แล้ว มีจิตหลุดพ้น
เป็นผู้หาอุปธิมิได้ พิชิตมารพร้อมทั้งเสนามารได้แล้ว
ย่อมทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้าย
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยอาสวสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๙. ตัณหาสูตร
๙. ตัณหาสูตร๑
ว่าด้วยตัณหา
[๕๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ตัณหา ๓ ประการนี้
ตัณหา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามตัณหา๒
๒. ภวตัณหา๓
๓. วิภวตัณหา๔
ภิกษุทั้งหลาย ตัณหา ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ชนทั้งหลายผู้เกี่ยวข้องด้วยโยคะคือตัณหา
มีจิตยินดีในภพน้อยและภพใหญ่๕
เป็นผู้ติดข้องด้วยโยคะคือบ่วงมาร
ไม่มีความเกษมจากโยคะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๔, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๓๒๓/๓๔๒, องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๑๐๖/๖๒๗, อภิ.วิ.
(แปล) ๓๕/๙๑๖-๙๑๗, ๙๑๘/๕๗๓-๕๗๔
๒ กามตัณหา หมายถึงความมีจิตกำหนัดนักในกาม (ขุ.อิติ.อ.๕๘/๒๒๗)
๓ ภวตัณหา หมายถึงความมีจิตกำหนัดนักในภวทิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ.๕๘/๒๒๗)
๔ วิภวตัณหา หมายถึงความมีจิตกำหนัดนักในอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ.๕๘/๒๒๗)
๕ ในที่นี้ ภพน้อย หมายถึงสัสสตทิฏฐิ หรือภวตัณหา ภพใหญ่ หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ หรือวิภวตัณหา (ขุ.อิติ.อ.
๕๘/๒๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค ๑๐. มารเธยยสูตร
สัตว์เหล่านั้นย่อมท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ
เข้าถึงชาติและมรณะ
ส่วนชนเหล่าใดละตัณหาได้
ปราศจากตัณหาในภพน้อยและภพใหญ่
บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะแล้ว
ชนเหล่านั้นชื่อว่า ไปถึงฝั่งในโลก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ตัณหาสูตรที่ ๘ จบ

๑๐. มารเธยยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้ล่วงพ้นบ่วงมาร
[๕๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมล่วงพ้นบ่วงมาร รุ่งเรืองดุจ
ดวงอาทิตย์
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ
๓. เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมล่วงพ้นบ่วงมาร
รุ่งเรืองดุจดวงอาทิตย์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๑. ปฐมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้เจริญศีล สมาธิ และปัญญาเหล่านี้ไว้ดีแล้ว
จึงล่วงพ้นบ่วงมาร รุ่งเรืองดุจดวงอาทิตย์ ฉะนั้น
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มารเธยยสูตรที่ ๑๐ จบ
ปฐมวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มูลสูตร ๒. ธาตุสูตร
๓. ปฐมเวทนาสูตร ๔. ทุติยเวทนาสูตร
๕. ปฐมเอสนาสูตร ๖. ทุติยเอสนาสูตร
๗. ปฐมอาสวสูตร ๘. ทุติยอาสวสูตร
๙. ตัณหาสูตร ๑๐. มารเธยยสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑. ปุญญกิริยาวัตถุสูตร
๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
๑. ปุญญกิริยาวัตถุสูตร๑
ว่าด้วยบุญกิริยาวัตถุ
[๖๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ๒ ๓ ประการนี้
บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทาน
๒. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีล
๓. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนา
ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้หวังประโยชน์สุข ควรฝึกฝนบำเพ็ญบุญนี้เท่านั้น
ที่ให้ผลเลิศติดต่อกันไป มีสุขเป็นกำไร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๓-๑๙๖, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๓๖/๒๙๔-๒๙๕
๒ บุญกิริยาวัตถุ มาจากบุญกิริยา + วัตถุ แยกอธิบายความหมายได้ดังนี้ (๑) บุญกิริยา หมายถึงการตั้งใจ
บำเพ็ญบุญ (๒) วัตถุ หมายถึงที่ตั้งหรือเหตุให้เกิดอานิสงส์ต่าง ๆ ดังนั้น บุญกิริยาวัตถุ จึงหมายถึงการ
บำเพ็ญบุญอันเป็นที่ตั้งหรือเป็นเหตุให้เกิดอานิสงส์ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๓๖/๒๕๖-๒๕๗, ขุ.อิติ.อ. ๖๐/๒๓๒,
องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๓๖/๒๙๒-๒๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๒. จักขุสูตร
คือควรบำเพ็ญทาน ควรประพฤติธรรมสม่ำเสมอ
และควรเจริญเมตตาภาวนา
บัณฑิต ครั้นเจริญธรรม ๓ ประการ
ที่เป็นเหตุให้เกิดสุขดังกล่าวมานี้แล้ว
ย่อมเข้าถึงโลกที่มีสุข ปราศจากการเบียดเบียนกัน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปุญญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๑ จบ

๒. จักขุสูตร
ว่าด้วยจักษุ
[๖๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ๓ ประการนี้
จักษุ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. มังสจักษุ (ตาเนื้อ)
๒. ทิพพจักษุ (ตาทิพย์)
๓. ปัญญาจักษุ (ตาคือปัญญา)
ภิกษุทั้งหลาย จักษุ ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นอุดมบุรุษ
ได้ตรัสจักษุ ๓ ประการนี้ คือ มังสจักษุ
ทิพพจักษุ และปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๓. อินทริยสูตร
ความเกิดขึ้นแห่งมังสจักษุ เป็นทางแห่งทิพพจักษุ
เมื่อใด ญาณคือปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยมเกิดขึ้น
เมื่อนั้น บุคคลย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
เพราะได้ปัญญาจักษุ๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
จักขุสูตรที่ ๒ จบ

๓. อินทริยสูตร
ว่าด้วยอินทรีย์
[๖๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๓ ประการนี้
อินทรีย์ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์๒
๒. อัญญินทรีย์๓
๓. อัญญาตาวินทรีย์๔
ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๓ ประการนี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๖, อภิ.ก. ๓๗/๓๗๔/๒๑๔
๒ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ของผู้ปฏิบัติด้วยมุ่งว่า ‘เราจักรู้อมตบท (นิพพาน) หรือ
อริยสัจธรรม ๔ ที่ยังมิได้รู้ ยังมิได้บรรลุ’ คำนี้เป็นชื่อของโสดาปัตติมัคคญาณ (ขุ.อิติ.อ. ๖๒/๒๓๗)
๓ อัญญินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ หรือปัญญาที่รู้โดยข้ามพ้นแดนมิจฉาทิฏฐิแล้วกำหนดรู้อริยสัจ ๔ มีทุกข์
เป็นต้น เช่นเดียวกับโสดาปัตติมัคคญาณ แต่มีลักษณะรู้ชัดกว่ากันตามลำดับ คำนี้เป็นชื่อของญาณ ๖
คือตั้งแต่โสดาปัตติผลญาณ ถึงอรหัตตมัคคญาณ (ขุ.อิติ.อ. ๖๒/๒๓๗-๒๓๘)
๔ อัญญาตาวินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ของท่านผู้รู้ทั่วถึงแล้ว กล่าวคือปัญญาของพระอรหันตขีณาสพ คำนี้
เป็นชื่อของอรหัตตผลญาณ (ขุ.อิติ.อ. ๖๒/๒๓๗-๒๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๔. อัทธาสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ญาณในความสิ้นกิเลสย่อมเกิดขึ้นแก่พระเสขะ
ผู้กำลังศึกษาและปฏิบัติตามทางสายตรงก่อน
ลำดับต่อจากนั้นอัญญินทรีย์จึงเกิดขึ้น
ต่อจากอัญญินทรีย์นั้น
ญาณว่า ‘วิมุตติของเราไม่กำเริบ’ เพราะภวสังโยชน์สิ้นไป
ย่อมเกิดขึ้นแก่ท่านผู้หลุดพ้นด้วยอรหัตตผล ผู้คงที่๑
พระอริยะผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์
ผู้สงบ ยินดีในสันติบท
พิชิตมารพร้อมทั้งเสนามารได้แล้ว
ย่อมทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้าย
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อินทริยสูตรที่ ๓ จบ

๔. อัทธาสูตร๒
ว่าด้วยกาลเวลา
[๖๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย กาล ๓ กาลนี้
กาล ๓ กาล อะไรบ้าง คือ
๑. อดีตกาล ๒. อนาคตกาล ๓. ปัจจุบันกาล
ภิกษุทั้งหลาย กาล ๓ กาลนี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๘๖/๓๑๒ และดู องฺ.ติก.อ. ๒/๘๖/๒๔๐-๒๔๑, ขุ.อิติ.อ. ๖๒/๒๓๗ ประกอบ
๒ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๔. อัทธาสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สัตว์ทั้งหลายผู้สำคัญขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรื่องที่พูดกัน
ยึดมั่นอยู่ในเรื่องที่พูดกัน
ย่อมดิ่งเข้าหากิเลสเครื่องประกอบของมัจจุราช
เพราะไม่กำหนดรู้เรื่องที่พูดกันให้ถ่องแท้
ส่วนพระขีณาสพกำหนดรู้เรื่องที่พูดกันได้อย่างถ่องแท้
จึงไม่สำคัญผู้พูด ท่านมีใจสัมผัสวิโมกข์
และสันติบทอันยอดเยี่ยมแล้วนั่นแล
พระขีณาสพนั้น ชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ
ที่เกิดจากความกำหนดรู้เรื่องที่พูดกัน สงบแล้ว
ยินดีในสันติบท เป็นผู้พิจารณาแล้วจึงใช้สอยปัจจัย ๔ เสมอ
ดำรงอยู่ในธรรม เป็นผู้จบเวท
จึงไม่เข้าถึงการนับ๑อีกต่อไป
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อัทธาสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่เข้าถึงการนับ หมายถึงไม่นับว่าเป็นมนุษย์และเทวดา เพราะไม่มีภพที่จะเกิดอีก (ขุ.อิติ.อ. ๖๓/๒๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๕. ทุจจริตสูตร
๕. ทุจจริตสูตร
ว่าด้วยทุจริต
[๖๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ทุจริต ๓ ประการนี้
ทุจริต ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กายทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยกาย)
๒. วจีทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยวาจา)
๓. มโนทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยใจ)
ภิกษุทั้งหลาย ทุจริต ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลมีปัญญาทราม ทำกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริต และอกุศลกรรมอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยโทษไว้ตลอด
ไม่ทำกุศลกรรมไว้เลย ทำแต่อกุศลกรรมไว้มากมาย
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในนรก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุจจริตสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๖. สุจริตสูตร
๖. สุจริตสูตร
ว่าด้วยสุจริต
[๖๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย สุจริต ๓ ประการนี้
สุจริต ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กายสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยกาย)
๒. วจีสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยวาจา)
๓. มโนสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยใจ)
ภิกษุทั้งหลาย สุจริต ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลผู้มีปัญญา ละกายทุจริต วจีทุจริต
มโนทุจริตและอกุศลกรรมอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยโทษได้แล้ว
ไม่ทำอกุศลกรรมไว้ ทำแต่กุศลกรรมไว้มากมาย
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สุจริตสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๗. โสเจยยสูตร
๗. โสเจยยสูตร
ว่าด้วยความสะอาด
[๖๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ความสะอาด ๓ ประการนี้
ความสะอาด ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความสะอาดกาย ๒. ความสะอาดวาจา
๓. ความสะอาดใจ
ภิกษุทั้งหลาย ความสะอาด ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้มีกายสะอาด มีวาจาสะอาด
มีใจสะอาด ไม่มีอาสวะ
เป็นผู้สะอาด ถึงพร้อมด้วยความสะอาด
บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า เป็นผู้ล้างบาปได้๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โสเจยยสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๒๒/๓๖๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๘. โมเนยยสูตร
๘. โมเนยยสูตร
ว่าด้วยความเป็นมุนี
[๖๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมุนี ๓ ประการนี้
ความเป็นมุนี ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นมุนีทางกาย ๒. ความเป็นมุนีทางวาจา
๓. ความเป็นมุนีทางใจ
ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมุนี ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ผู้ที่เป็นมุนีทางกาย เป็นมุนีทางวาจา
เป็นมุนีทางใจ ไม่มีอาสวะ
เป็นมุนี ถึงพร้อมด้วยความเป็นมุนี
บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า เป็นผู้ละได้ทุกอย่าง๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โมเนยยสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา ๑๑/๓๐๕/๑๙๖, องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๑๒๓/๓๖๙, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๔/๖๙, ๑๔๙/๔๐๐,
ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๙. ปฐมราคสูตร
๙. ปฐมราคสูตร
ว่าด้วยการละราคะ สูตรที่ ๑
[๖๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดยังละราคะ โทสะ โมหะไม่ได้ บุคคลนี้เราเรียกว่า
ถูกมาร๑ผูกไว้ สวมบ่วงมารไว้ และถูกมารผู้มีบาปทำได้ตามความปรารถนา
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว บุคคลนี้เราเรียกว่า
ไม่ถูกมารผูกไว้ ไม่สวมบ่วงมารไว้ และไม่ถูกมารผู้มีบาปทำได้ตามความปรารถนา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
เรียกบุคคลผู้ละราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้วว่า
เป็นคนหนึ่งในบรรดาท่านผู้อบรมตนแล้ว
เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้ไปแล้วอย่างนั้น เป็นผู้ตรัสรู้
เป็นผู้ล่วงเวรและภัย เป็นผู้ละกิเลสทั้งปวงได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปฐมราคสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มารในที่นี้หมายถึงกิเลสมาร (ขุ.อิติ.อ. ๖๘/๒๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค ๑๐. ทุติยราคสูตร
๑๐. ทุติยราคสูตร
ว่าด้วยการละราคะ สูตรที่ ๒
[๖๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดเป็นภิกษุหรือภิกษุณี ยังละราคะ โทสะ โมหะไม่ได้
บุคคลนี้เราเรียกว่า ยังข้ามทะเล๑ที่มีคลื่น มีระลอก๒ มีน้ำวน๓ มีสัตว์ร้าย๔ มี
ผีเสื้อน้ำไม่ได้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดเป็นภิกษุหรือภิกษุณี ละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว
บุคคลนี้เราเรียกว่า ข้ามทะเลที่มีคลื่น มีระลอก มีน้ำวน มีสัตว์ร้าย มีผีเสื้อน้ำ
ได้แล้ว ข้ามไปถึงฝั่งเป็นผู้ลอยบาปอยู่บนบก๕”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลใดคลายราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้ว
บุคคลนั้นชื่อว่าข้ามสมุทรนี้ซึ่งมีทั้งคลื่น สัตว์ร้าย
(และ)ผีเสื้อน้ำ ที่น่ากลัว ข้ามได้ยาก

เชิงอรรถ :
๑ ทะเล หมายถึงสังสารวัฏ หรืออายตนะ ๖ (ขุ.อิติ.อ.๖๙/๒๔๗)
๒ ระลอก หมายถึงความโกรธ และความคับแค้นใจ (ขุ.อิติ.อ.๖๙/๒๔๗)
๓ น้ำวน หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.อิติ.อ.๖๙/๒๔๗)
๔ สัตว์ร้าย ผีเสื้อน้ำ หมายถึงมาตุคาม (ขุ.อิติ.อ.๖๙/๒๔๗
๕ หมายถึงข้ามโอฆะใหญ่คือสังสารวัฏและกามทั้งหลายเป็นต้น แล้วดำรงอยู่บนบกคือนิพพาน (ขุ.อิติ.อ.
๖๙/๒๔๗) และดู องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๑๕/๒๔ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๒. ทุติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เรากล่าวว่า ‘บุคคลนั้นล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง ละมัจจุได้
ไม่มีอุปธิ ละทุกข์เพื่อไม่เกิดอีกต่อไป
ถึงความดับ ไม่ถึงการนับ
ลวงมัจจุราชให้หลงได้๑’
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทุติยราคสูตรที่ ๑๐ จบ
ทุติยวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ๒. จักขุสูตร
๓. อินทริยสูตร ๔. อัทธาสูตร
๕. ทุจจริตสูตร ๖. สุจริตสูตร
๗. โสเจยยสูตร ๘. โมเนยยสูตร
๙. ปฐมราคสูตร ๑๐. ทุติยราคสูตร


เชิงอรรถ :
๑ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๒๙/๒๑๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๑. มิจฉาทิฏฐิกสูตร
๓. ตติยวรรค
หมวดที่ ๓
๑. มิจฉาทิฏฐิกสูตร
ว่าด้วยผู้มีความเห็นผิด
[๗๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโน-
ทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นผิด หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
คำที่ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ นั้น เราหาได้กล่าวเพราะ
รับฟังมาจากสมณะหรือพราหมณ์อื่น ๆ ไม่
ภิกษุทั้งหลาย ที่แท้แล้ว เรารู้เอง เห็นเอง ทราบเองทั้งนั้น จึงกล่าว
คำนี้ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้าย
พระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด หลังจาก
ตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๒. สัมมาทิฏฐิกสูตร
บุคคลในโลกนี้ตั้งจิตไว้ผิด กล่าววาจาผิด
ทำการงานทางกายที่ผิด มีความขวนขวายน้อย๑
ทำกรรมอันไม่เป็นบุญไว้ในชีวิตอันน้อยในโลกนี้
เขามีปัญญาทราม หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในนรก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
มิจฉาทิฏฐิกสูตรที่ ๑ จบ

๒. สัมมาทิฏฐิกสูตร
ว่าด้วยผู้มีความเห็นชอบ
[๗๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต
ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
คำที่ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต
ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบ หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ นั้น เราหาได้กล่าวเพราะ
รับฟังมาจากสมณะหรือพราหมณ์อื่น ๆ ไม่
ภิกษุทั้งหลาย ที่แท้แล้ว เรารู้เอง เห็นเอง ทราบเองทั้งนั้น จึงกล่าว
คำนี้ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าว

เชิงอรรถ :
๑ มีความขวนขวายน้อย หมายถึงไม่ทำประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น (ขุ.อิติ.อ. ๗๐/๒๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๓. นิสสรณิยสูตร
ร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลในโลกนี้ ตั้งจิตไว้ชอบ กล่าววาจาชอบ
ทำการงานทางกายที่ชอบ มีความขวนขวายมาก
ได้ทำกรรมอันเป็นบุญไว้ในชีวิตอันน้อยในโลกนี้
เขามีปัญญา หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สัมมาทิฏฐิกสูตรที่ ๒ จบ

๓. นิสสรณิยสูตร
ว่าด้วยธาตุที่มีคุณสมบัติสลัดออก
[๗๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธาตุเป็นที่สลัดออก ๓ ประการนี้
ธาตุเป็นที่สลัดออก ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เนกขัมมธาตุ๑เป็นที่สลัดละกามทั้งหลาย
๒. อรูปธาตุ๒เป็นที่สลัดละรูปธรรมทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ เนกขัมมธาตุ หมายถึงรูปฌาน (ขุ.อิติ.อ. ๗๒/๒๕๑)
๒ อรูปธาตุ หมายถึงอรูปฌาน (ขุ.อิติ.อ.๗๒/๒๕๑) และดูเทียบเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๓๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๔. สันตตรสูตร
๓. นิโรธธาตุ๑เป็นที่สลัดละธรรมชาติที่เกิดแล้ว ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัย
กันและกันเกิดขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย ธาตุเป็นที่สลัดออก ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้มีความเพียรรู้ชัดธาตุเป็นที่สลัดกามออก
และธาตุเป็นเหตุล่วงพ้นรูปธรรมแล้ว
สัมผัสภาวะที่สงบระงับสังขารทั้งปวงตลอดกาล
ภิกษุนั้นแล เป็นผู้มีความเห็นชอบ
เพราะเหตุที่น้อมจิตไปในนิพพานธาตุนั้น
จึงชื่อว่าสำเร็จอภิญญา ๖ ประการ
เป็นผู้สงบ ล่วงพ้นโยคะได้แล้ว เป็นมุนีแท้จริง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
นิสสรณิยสูตรที่ ๓ จบ

๔. สันตตรสูตร
ว่าด้วยนิโรธสงบยิ่งกว่าอรูปธรรม
[๗๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อรูปธรรม๒สงบยิ่งกว่ารูปธรรม๓ นิโรธ๔สงบยิ่งกว่าอรูปธรรม”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๓ หน้า ๓๘๘ ในเล่มนี้
๒ อรูปธรรม ในที่นี้หมายถึงอรูปภพ (ขุ.อิติ.อ.๗๓/๒๕๒)
๓ รูปธรรม ในที่นี้หมายถึงรูปภพ (ขุ.อิติ.อ.๗๓/๒๕๒)
๔ นิโรธ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อิติ.อ. ๗๓/๒๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๕. ปุตตสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สัตว์เหล่าใดเข้าถึงรูปภพ
และสัตว์เหล่าใดดำรงอยู่ในอรูปภพ
สัตว์เหล่านั้นเมื่อยังไม่รู้แจ้งนิโรธ จะต้องกลับมาเกิดอีก
ส่วนสัตว์เหล่าใดกำหนดรู้รูปธาตุได้แล้ว
ไม่ติดอยู่ในอรูปธาตุ น้อมจิตอยู่ในนิโรธ
สัตว์เหล่านั้นย่อมล่วงพ้นมัจจุราชไปได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสัมผัสอมตธาตุที่ไร้อุปธิด้วยนามกาย
ทรงรู้แจ้งประจักษ์ถึงเหตุแห่งความสลัดคืนอุปธิ
ผู้หาอาสวะมิได้ ทรงแสดงบทที่ไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากธุลีไว้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สันตตรสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปุตตสูตร
ว่าด้วยบุตร
[๗๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุตร ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุตร ๓ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. อติชาตบุตร (บุตรที่มีคุณสมบัติสูงกว่ามารดาบิดา)
๒. อนุชาตบุตร (บุตรที่มีคุณสมบัติเสมอด้วยมารดาบิดา)
๓. อวชาตบุตร (บุตรที่มีคุณสมบัติต่ำกว่ามารดาบิดา)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๕. ปุตตสูตร
อติชาตบุตร เป็นอย่างไร
คือ มารดาบิดาของบุตรในโลกนี้ไม่ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ไม่ถึงพระธรรม
เป็นสรณะ ไม่ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ไม่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ไม่งดเว้นจากการถือ
เอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ไม่งดเว้นจากการ
พูดเท็จ ไม่งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ส่วนบุตรของมารดาบิดาเหล่านั้น ถึงพระพุทธเจ้า
เป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้น
จากการพูดเท็จ งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม อติชาตบุตรเป็นอย่างนี้
อนุชาตบุตร เป็นอย่างไร
คือ มารดาบิดาของบุตรในโลกนี้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ
ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
มิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการ
ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
แม้บุตรของมารดาบิดาเหล่านั้น ก็ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ
ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
มิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการ
ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
อนุชาตบุตรเป็นอย่างนี้
อวชาตบุตร เป็นอย่างไร
คือ มารดาบิดาของบุตรในโลกนี้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็น
สรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของ
ที่เจ้าของมิได้ให้ งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๕. ปุตตสูตร
การดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
ส่วนบุตรของมารดาบิดาเหล่านั้น ไม่ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ไม่ถึงพระธรรม
เป็นสรณะ ไม่ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ไม่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ไม่งดเว้นจากการ
ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ไม่งดเว้นจาก
การพูดเท็จ ไม่งดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
เป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม อวชาตบุตรเป็นอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย บุตร ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บัณฑิตย่อมปรารถนาอติชาตบุตรและอนุชาตบุตร
ไม่ปรารถนาอวชาตบุตร ซึ่งมีแต่ทำลายวงศ์ตระกูล
บุตร ๓ จำพวกนี้เท่านั้น มีอยู่ในโลกนี้
ส่วนบุตรผู้เป็นอุบาสก ถึงพร้อมด้วยศรัทธาและศีล
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ๑ ปราศจากความตระหนี่
ย่อมรุ่งเรืองในหมู่บริษัท เหมือนดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปุตตสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ รู้ความประสงค์ของผู้ขอ หมายถึงคฤหัสถ์เมื่อเห็นภิกษุเที่ยวบิณฑบาตยืนที่ประตูเรือนของตน เป็นผู้นิ่ง
ไม่ออกปากขอ แต่ก็รู้ความหมายได้ว่า ท่านกำลังขอ (องฺ.ปญฺจก.ฏีกา ๓/๓๖-๓๗/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๖. อวุฏฐิกสูตร
๖. อวุฏฐิกสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบด้วยฝน
[๗๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๓ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนไม่ตก
๒. บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่บางส่วน
๓. บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่ทั่วไป
บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนไม่ตก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะ พราหมณ์ คนยากเข็ญ
คนหมดเสบียงทาง คนเร่ร่อน และคนขอทานทุกหมู่เหล่า บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนไม่
ตกเป็นอย่างนี้
บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่บางส่วน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะ พราหมณ์ คนยากเข็ญ
คนหมดเสบียงทาง คนเร่ร่อน และคนขอทานบางพวก แต่ไม่ให้แก่คนบางพวก
บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่บางส่วนเป็นอย่างนี้
บุคคลผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่ทั่วไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม
เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะ พราหมณ์ คนยากเข็ญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๖. อวุฏฐิกสูตร
คนหมดเสบียงทาง คนเร่ร่อน และคนขอทานทั่วทุกหมู่ทุกเหล่า บุคคลผู้เปรียบด้วย
ฝนตกในพื้นที่ทั่วไปเป็นอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลได้พบสมณะ พราหมณ์ คนยากเข็ญ
คนหมดเสบียงทาง คนเร่ร่อน และคนขอทานแล้ว
ไม่ยอมแบ่งข้าว น้ำ และเครื่องใช้สอยอื่น ๆ ให้
ปัญญาชนเรียกคนต่ำทราม ใจแคบเช่นนั้นว่า
‘เป็นผู้เปรียบด้วยฝนไม่ตก’
บุคคลไม่ให้ข้าวน้ำเป็นต้นแก่สมณะ พราหมณ์เป็นต้นบางพวก
แต่ให้แก่บางพวก
ปัญญาชนเรียกผู้นั้นว่า ‘เป็นผู้เปรียบด้วยฝนตกในพื้นที่บางส่วน’
คนที่เขาออกปากขอได้ง่าย ชอบช่วยเหลือคนโดยทั่วหน้า
มีใจเบิกบาน แจกจ่ายสิ่งของ
ปากก็พูดแต่คำว่า ‘จงให้ จงให้’
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนอย่างนั้น
รวบรวมทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม
นำมาเลี้ยงวณิพกผู้มาถึง ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ
เหมือนเมฆฝนส่งเสียงร้องคำรามทำให้ฝนตก
จนน้ำไหลนองเต็มทั้งที่ดอนและที่ลุ่ม ฉะนั้น
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อวุฏฐิกสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๗. สุขปัตถนาสูตร
๗. สุขปัตถนาสูตร
ว่าด้วยผู้ปรารถนาความสุข
[๗๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตเมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการนี้ พึงรักษาศีล
ความสุข ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เมื่อปรารถนาความสุขว่า “ขอความสรรเสริญ จงมาถึงเรา” พึงรักษาศีล
๒. เมื่อปรารถนาความสุขว่า “ขอโภคสมบัติทั้งหลาย จงเกิดขึ้นแก่เรา”
พึงรักษาศีล
๓. เมื่อปรารถนาความสุขว่า “หลังจากตายแล้ว เราจักไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์” พึงรักษาศีล
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตเมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการนี้แล พึงรักษาศีล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
นักปราชญ์ เมื่อปรารถนาความสุข ๓ ประการ คือ
ความสรรเสริญ การได้ความปลื้มใจ๑
และการตายไปเกิดในสวรรค์ พึงรักษาศีล๒
บุคคลแม้ไม่ทำบาป แต่ยังคบคนทำบาป
ก็ต้องถูกระแวงสงสัยในบาปเรื่อยไป
และได้รับคำตำหนิติเตียนมากมาย

เชิงอรรถ :
๑ ความปลื้มใจ ในที่นี้หมายถึงทรัพย์สมบัติ (ขุ.อิติ.อ. ๗๖/๒๙๑)
๒ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๐๙/๔๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๗. สุขปัตถนาสูตร
บุคคลทำคนเช่นใดให้เป็นมิตร
และคบสนิทคนเช่นใด เขาก็เป็นเช่นคนนั้น
เพราะการอยู่ด้วยกันเป็นเช่นนั้น
คนชั่วเมื่อมาคบมาเกี่ยวข้องกับคนดีทั่วไป
หรือคนดีหลงไปคบไปเกี่ยวข้องเข้า
ย่อมพลอยทำให้คนดีแปดเปื้อนบาปไปด้วย
เหมือนลูกศรอาบยาพิษ ถูกยาพิษแปดเปื้อนแล้ว
ย่อมทำลายแล่งลูกศรที่สะอาดให้แปดเปื้อนไปด้วย ฉะนั้น
เพราะกลัวการแปดเปื้อนบาป
ผู้มีปัญญา จึงไม่คบคนชั่วเป็นมิตรเลย
ใบหญ้าคาที่คนนำมาใช้ห่อปลาเน่า
ก็พลอยเหม็นเน่าส่งกลิ่นคลุ้งตามไปด้วย ฉันใด
การคบคนพาล ก็ฉันนั้น
ใบไม้ทั้งหลายที่คนนำมาห่อกฤษณา
ก็พลอยมีกลิ่นหอมฟุ้งตามไปด้วย ฉันใด
การคบบัณฑิต ก็ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น บัณฑิตรู้ผลดีผลเสียที่จะเกิดแก่ตน
ดุจใบไม้ที่ใช้ห่อแล้ว ไม่ควรคบอสัตบุรุษ
ควรคบแต่สัตบุรุษเท่านั้น
เพราะว่า อสัตบุรุษย่อมชักนำให้ตกนรก
ส่วนสัตบุรุษย่อมชักนำให้เข้าถึงสุคติ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สุขปัตถนาสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๘. ภิทุรสูตร
๘. ภิทุรสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ต้องแตกสลายไปเป็นธรรมดา
[๗๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ร่างกายนี้ต้องแตกสลายไป วิญญาณ๑ มีความเสื่อมไปเป็น
ธรรมดา อุปธิทั้งหมด๒ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลรู้ว่าร่างกายนี้ต้องแตกสลายไป
และวิญญาณก็ต้องเสื่อมไป
เห็นภัยในอุปธิทั้งหลายแล้ว
ย่อมล่วงพ้นความเกิด และความตายได้
บรรลุถึงธรรมเป็นที่สงบอย่างยิ่งแล้ว
ชื่อว่าอบรมตนได้แล้ว รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น๓
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ภิทุรสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ วิญญาณ หมายถึงจิต ๓ ระดับ (จิตระดับกามาวจรภูมิ จิตระดับรูปาวจรภูมิ จิตระดับอรูปาวจรภูมิ
(ขุ.อิติ.อ.๗๗/๒๗๗)
๒ อุปธิทั้งหมด หมายถึงขันธ์ ๕ กิเลส อภิสังขาร (กรรม) และกามคุณ ๕ (ขุ.อิติ.อ.๗๗/๒๗๗)
๓ รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น หมายถึงรอคอยเวลาดับขันธปรินิพพาน (ขุ.อิติ.อ.๗๗/๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๙. ธาตุโสสังสันทนสูตร
๙. ธาตุโสสังสันทนสูตร
ว่าด้วยสัตว์ทั้งหลายเสมอกันโดยธาตุ
[๗๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อว่าโดยธาตุ๑ สัตว์ทั้งหลายเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ คือ
สัตว์ที่มีนิสัยเลวเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยเลว สัตว์ที่มีนิสัยดีงามเข้ากันได้
คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยดีงาม
ภิกษุทั้งหลาย แม้ในอดีตกาล เมื่อว่าโดยธาตุ สัตว์ทั้งหลายก็เข้ากันได้ คบกัน
ได้กับสัตว์ คือ สัตว์ที่มีนิสัยเลวเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยเลว สัตว์ที่มี
นิสัยดีงามเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยดีงาม”
ภิกษุทั้งหลาย แม้ในอนาคตกาล เมื่อว่าโดยธาตุ สัตว์ทั้งหลายก็จะเข้ากันได้
คบกันได้กับสัตว์ คือ สัตว์ที่มีนิสัยเลวเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยเลว
สัตว์ที่มีนิสัยดีงามเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยดีงาม
ภิกษุทั้งหลาย แม้ในปัจจุบันกาลนี้ เมื่อว่าโดยธาตุ สัตว์ทั้งหลายก็เข้ากันได้
คบกันได้กับสัตว์ คือ สัตว์ที่มีนิสัยเลวเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยเลว
สัตว์ที่มีนิสัยดีงามเข้ากันได้ คบกันได้กับสัตว์ที่มีนิสัยดีงาม
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ธาตุ ในที่นี้หมายถึงอัธยาศัย (ขุ.อิติ.อ.๗๘/๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๑๐. ปริหานสูตร
เพราะการคลุกคลีกัน๑ กิเลสจึงเกิดขึ้น
เพราะการไม่คลุกคลีกัน กิเลสจึงขาดไป
บุคคลลงเรือเล็ก หวังจะข้ามมหาสมุทร
ยังไม่ทันถึงฝั่งก็จมลงในมหาสมุทร ฉันใด
บุคคลแม้มีความเป็นอยู่ดี อาศัยคนเกียจคร้าน
ก็จมลงในสังสารวัฏได้ ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น บุคคลควรเว้นคนเกียจคร้าน
ผู้มีความเพียรย่อหย่อนนั้น
ควรคบพระอริยะทั้งหลาย ผู้สงัด มีใจมั่นคง
เพ่งพินิจอยู่ ปรารภความเพียรเป็นนิตย์ เป็นบัณฑิต
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ธาตุโสสังสันทนสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ปริหานสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุแห่งความเสื่อม
[๗๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้
เป็นเสขะ

เชิงอรรถ :
๑ การคลุกคลี มี ๕ ประการ คือ (๑) ทัสสนสังสัคคะ(การคลุกคลีด้วยการเห็น) (๒) สวนสังสัคคะ(การ
คลุกคลีด้วยการฟัง) (๓) สมุลลาปนสังสัคคะ(การคลุกคลีด้วยการเจรจา) (๔) สัมโภคสังสัคคะ(การ
คลุกคลีด้วยการใช้สอยร่วมกัน) (๕) กายสังสัคคะ(การคลุกคลีด้วยกาย) (ขุ.อิติ.อ.๗๘/๒๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค ๑๐. ปริหานสูตร
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุผู้เป็นเสขะในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ชอบการงาน๑ ยินดีในการงาน หมั่นประกอบความเป็นผู้
ชอบการงาน
๒. เป็นผู้ชอบการพูดคุย ยินดีในการพูดคุย หมั่นประกอบความเป็นผู้
ชอบการพูดคุย
๓. เป็นผู้ชอบการนอนหลับ ยินดีในการนอนหลับ หมั่นประกอบความ
เป็นผู้ชอบการนอนหลับ
ธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ”
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้
เป็นเสขะ
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุผู้เป็นเสขะในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ไม่ชอบการงาน ไม่ยินดีในการงาน ไม่หมั่นประกอบความเป็น
ผู้ชอบการงาน
๒. เป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย ไม่ยินดีในการพูดคุย ไม่หมั่นประกอบความ
เป็นผู้ชอบการพูดคุย
๓. เป็นผู้ไม่ชอบการนอนหลับ ไม่ยินดีในการนอนหลับ ไม่หมั่นประกอบ
ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ
ธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นเสขะ”

เชิงอรรถ :
๑ การงาน ในที่นี้หมายถึงงานนวกรรม คือ การก่อสร้างต่าง ๆ เช่น การก่อสร้างวิหาร เป็นต้น ความเป็น
ผู้ยินดีแต่การก่อสร้างจึงถือว่าเป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยนี้ เพราะทำให้ละเลยต่อการบำเพ็ญคันถธุระ
และวิปัสสนาธุระ (องฺ.ฉกฺก. ๓/๑๔/๑๐๕, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา. ๓/๑๔-๑๕/๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๓. ตติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุชอบการงาน ยินดีในการพูดคุย
ชอบการนอนหลับ มีจิตฟุ้งซ่าน เช่นนี้
จึงไม่ควรเพื่อจะบรรลุอรหัตตผลอันยอดเยี่ยมได้
เพราะฉะนั้น ภิกษุจึงควรเป็นผู้ทำกิจแต่น้อย
นอนหลับแต่พอสมควร มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน เช่นนี้
จึงควรเพื่อจะบรรลุอรหัตตผลอันยอดเยี่ยมได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปริหานสูตรที่ ๑๐ จบ
ตติยวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มิจฉาทิฏฐิกสูตร ๒. สัมมาทิฏฐิกสูตร
๓. นิสสรณิยสูตร ๔. สันตตรสูตร
๕. ปุตตสูตร ๖. อวุฏฐิกสูตร
๗. สุขปัตถนาสูตร ๘. ภิทุรสูตร
๙. ธาตุโสสังสันทนสูตร ๑๐. ปริหานสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๑. วิตักกสูตร
๔. จตุตถวรรค
หมวดที่ ๔
๑. วิตักกสูตร
ว่าด้วยอกุศลวิตก
[๘๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ ประการนี้
อกุศลวิตก ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. วิตกที่เกี่ยวกับความไม่ต้องการให้ผู้อื่นดูหมิ่นตน
๒. วิตกที่เกี่ยวกับลาภสักการะและการสรรเสริญ
๓. วิตกที่เกี่ยวกับความเอ็นดูในคนอื่น
ภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลผู้ประกอบด้วยวิตกที่ไม่ต้องการให้ผู้อื่นดูหมิ่นตน
เป็นผู้หนักในลาภสักการะและการสรรเสริญ
มีปกติยินดีกับพวกอำมาตย์
ย่อมอยู่ห่างไกลจากธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละทิ้งบุตร สัตว์เลี้ยง
การแต่งงาน และความห่วงใยได้ เช่นนี้
จึงควรเพื่อจะบรรลุอรหัตตผลอันยอดเยี่ยมได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
วิตักกสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๒. สักการสูตร
๒. สักการสูตร
ว่าด้วยผู้ถูกสักการะครอบงำจิต
[๘๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกสักการะครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกความเสื่อมสักการะครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกสักการะและความเสื่อมสักการะทั้งสองครอบงำย่ำยีจิต
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
คำที่ว่า ‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกสักการะครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกความเสื่อมสักการะ
ครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เราได้
เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกสักการะและความเสื่อมสักการะทั้งสองครอบงำย่ำยีจิต หลังจาก
ตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ นั้น เราหาได้กล่าวเพราะรับ
ฟังมาจากสมณะหรือพราหมณ์อื่น ๆ ไม่
ภิกษุทั้งหลาย แท้จริงแล้ว เรารู้เอง เห็นเอง ทราบเองทั้งนั้น จึงกล่าวคำนี้ว่า
‘เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกสักการะครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูกความเสื่อมสักการะครอบงำย่ำยีจิต
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เราได้เห็นเหล่าสัตว์ที่ถูก
สักการะและความเสื่อมสักการะทั้งสองครอบงำย่ำยีจิต หลังจากตายแล้ว จะไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๓. เทวสัททสูตร
สมาธิของภิกษุใด ผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท
ย่อมหวั่นไหวด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ
(๑) ด้วยมีผู้สักการะ (๒) ด้วยไม่มีผู้สักการะ
ภิกษุนั้นผู้เข้าฌาน มีความเพียรต่อเนื่อง
พิจารณาเห็นด้วยปัญญาที่สุขุม
ยินดีในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปาทาน๑
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกว่า สัตบุรุษ๒
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สักการสูตรที่ ๒ จบ

๓. เทวสัททสูตร
ว่าด้วยการเปล่งเสียงของเทวดา
[๘๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เทวดาอาศัยโอกาส ๓ โอกาส จึงเปล่งเสียงออกไปในหมู่เทวดา
โอกาส ๓ โอกาส อะไรบ้าง คือ
๑. โอกาสที่อริยสาวกปลงผม โกนหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เทวดาย่อมเปล่งเสียงออกไปในหมู่
เทวดาว่า ‘อริยสาวกนี้ตั้งใจจะทำสงครามกับกิเลสมาร’ นี้เป็นเสียง
ของเทวดาข้อที่ ๑ ที่เปล่งออกไปเพราะอาศัยโอกาส

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปาทาน หมายถึงอรหัตตผลอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปาทาน ๔ ประการ คือ
(๑) กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม) (๒) ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ) (๓) สีลัพพตุปาทาน (ความ
ยึดมั่นในศีลและวัตร) (๔) อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในอัตตวาทะ) (ขุ.อิติ.อ. ๘๑/๒๘๖) และดู ที.ปา.
๑๑/๓๑๒/๒๐๕ ประกอบ
๒ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๐๑๐-๑๐๑๑/๕๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๓. เทวสัททสูตร
๒. โอกาสที่อริยสาวกบำเพ็ญเพียรด้วยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๗ หมวด
เทวดาย่อมเปล่งเสียงออกไปในหมู่เทวดาว่า ‘อริยสาวกนี้ กำลังผจญ
กับกิเลสมาร’ นี้เป็นเสียงของเทวดาข้อที่ ๒ ที่เปล่งออกไปเพราะ
อาศัยโอกาส
๓. โอกาสที่อริยสาวกทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เทวดา
ย่อมเปล่งเสียงออกไปในหมู่เทวดาว่า ‘อริยสาวกนี้ชนะสงครามแล้ว
เอาชนะได้ขาด จึงครอบครองตำแหน่งความเป็นใหญ่ในสงครามนั้น
นั่นแล’ นี้เป็นเสียงของเทวดาข้อที่ ๓ ที่เปล่งออกไปเพราะอาศัย
โอกาส
ภิกษุทั้งหลาย เทวดาอาศัยโอกาส ๓ โอกาสนี้แล จึงเปล่งเสียงออกไปในหมู่
เทวดา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
แม้เทวดาเห็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ชนะสงครามกิเลส ทรงคุณธรรมยิ่งใหญ่
ปราศจากความสะทกสะท้าน
ย่อมนอบน้อมพร้อมกับกล่าวว่า
ท่านบุรุษอาชาไนย ขอนอบน้อมต่อท่าน
ผู้ครอบงำกิเลสที่ชนะได้ยาก
เอาชนะเสนาของมัจจุราชอันไม่มีใครกั้นไว้ได้ ด้วยวิโมกข์
เทวดาย่อมนอบน้อมท่านผู้มีจิตบรรลุอรหัตตผลแล้ว
ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้แล
เพราะท่านไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งมัจจุราช
เทวดาจึงนอบน้อมต่อท่าน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เทวสัททสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๔. ปัญจปุพพนิมิตตสูตร
๔. ปัญจปุพพนิมิตตสูตร
ว่าด้วยบุพพนิมิต ๕ ประการ
[๘๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาที่เทพบุตรจะจุติจากหมู่เทพ ย่อมปรากฏบุพพนิมิต
๕ ประการ คือ
๑. ดอกไม้ที่ประดับเหี่ยวแห้ง
๒. พัสตราภรณ์ที่สวมใส่หมองจางลง
๓. เหงื่อไหลออกจากรักแร้
๔. ผิวพรรณเศร้าหมองปรากฏที่กาย
๕. เทพบุตรนั้นจะหมดความยินดีในทิพยสมบัติของตน
เทวดาทราบว่า เทพบุตรนี้จะจุติ ก็พลอยยินดีอวยพรให้ ๓ ประการ คือ
๑. ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้ว ขอให้ได้ไปเกิดในภูมิที่ดี
๒. ท่านได้ไปเกิดในภูมิที่ดีแล้ว ขอให้ได้ลาภอันดี
๓. ท่านครั้นได้ลาภอันดีแล้ว ขอให้ดำรงตนอยู่ด้วยดี
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การไปเกิดในภูมิที่ดีของเทวดาเป็นอย่างไร การได้ลาภ
อันดีของเทวดาเป็นอย่างไร การดำรงตนอยู่ด้วยดีของเทวดาเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุทั้งหลาย การเกิดเป็นมนุษย์ ชื่อว่าเป็นการ
ไปเกิดในภูมิที่ดีของเทวดา การที่เทพบุตรลงมาเกิดเป็นมนุษย์แล้วได้ความศรัทธา
ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ นี้ชื่อว่าเป็นการได้ลาภอันดีของเทวดา ก็ความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๔. ปัญจปุพพนิมิตตสูตร
ศรัทธาของเทพบุตรนั้นแล ตั้งมั่น มีเหตุเกิด หยั่งลง มั่นคง อันสมณพราหมณ์
เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกไม่สามารถทำให้คลอนแคลนไปได้ นี้ชื่อว่า
เป็นการดำรงตนอยู่ด้วยดีของเทวดา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้
เมื่อเทพบุตรจะจุติจากเทวโลก เพราะสิ้นอายุ
เทวดาผู้พลอยยินดี ย่อมเปล่งเสียงอวยพร ๓ ประการ คือ
ท่านผู้เจริญ ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้ว
ขอให้ไปเกิดในภูมิที่ดี คืออยู่ร่วมกับมนุษย์เถิด
ท่านเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ขอให้ได้มีศรัทธาอย่างสูงยิ่ง
ในพระสัทธรรมเถิด
ศรัทธาของท่านนั้นขอให้ตั้งมั่น มีเหตุเกิด
หยั่งลง มั่นคงในสัทธรรม
ที่ตถาคตประกาศไว้ดีแล้ว
ใคร ๆ ทำให้คลอนแคลนไม่ได้ตลอดชีวิตเถิด
ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตได้ทั้งหมด
รวมทั้งละกรรมชั่วที่ประกอบด้วยโทษอื่น ๆ
จงทำความดีทางกาย วาจาให้มาก
และทำความดีทางใจที่ประมาณมิได้ ปราศจากอุปธิ
นอกจากนั้น ท่านจงทำบุญ
ที่ให้เกิดสมบัตินั้นให้มาก ด้วยการให้ทาน
ชักชวนผู้อื่นให้ดำรงอยู่ในสัทธรรม
ในพุทธศาสนาเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๕. พหุชนหิตสูตร
เมื่อเทวดารู้แน่ว่า เทพบุตรกำลังจะจุติ
ย่อมพลอยยินดีด้วยการอนุเคราะห์กล่าวชวนดังนี้ว่า
ท่านเทพบุตร ท่านจงหวนกลับมาเกิด
ในเทวโลกนี้บ่อย ๆ เถิด
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ปัญจปุพพนิมิตตสูตรที่ ๔ จบ

๕. พหุชนหิตสูตร
ว่าด้วยบุคคลเกื้อกูลชาวโลก
[๘๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้ เมื่อเกิดขึ้นในโลก๑ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อ
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อ
ประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
บุคคล ๓ จำพวก คือ
๑. พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี
รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค
ตถาคตพระองค์นั้น ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความ
งามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์

เชิงอรรถ :
๑ โลก มี ๓ คือ (๑) สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ (๒) สังขารโลก โลกคือสังขาร (ขันธ์ ๕) (๓) โอกาสโลก
โลกคือแผ่นดิน ในที่นี้หมายถึงสัตวโลก (ขุ.อิติ.อ. ๘๔/๒๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๕. พหุชนหิตสูตร
พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน นี้คือบุคคล
จำพวกที่ ๑ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๒. สาวกของพระตถาคตศาสดาพระองค์นั้นนั่นเอง เป็นพระอรหันต-
ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระ
ได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว
หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ สาวกนั้นแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น
มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน นี้คือบุคคล
จำพวกที่ ๒ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่คน
หมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อ
ประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
๓. สาวกของพระตถาคตศาสดาพระองค์นั้นนั่นเอง ยังเป็นพระเสขะ
กำลังปฏิบัติอยู่ เป็นพหูสูต ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตร แม้สาวกนั้น
ก็แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี
ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน นี้คือบุคคลจำพวกที่ ๓ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น
ในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คน
หมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อ
ความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๓ จำพวกนี้แล เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อ
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อ
ประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๕. พหุชนหิตสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระศาสดาผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
จัดเป็นบุคคลจำพวกที่ ๑ ในโลก
พระสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระศาสดาพระองค์นั้น
ผู้อบรมตนแล้ว จัดเป็นบุคคลจำพวกที่ ๒
พระสาวกอื่น ๆ นอกจากนั้น ผู้ยังเป็นพระเสขะ
กำลังปฏิบัติอยู่ เป็นพหูสูต ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตร
จัดเป็นบุคคลจำพวกที่ ๓
บุคคล ๓ จำพวกนี้เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในเทวดาและมนุษย์
เป็นผู้ส่องแสงสว่าง เผยแผ่สัจธรรมอยู่
ย่อมเปิดประตูเข้าสู่นิพพาน
ท่านเหล่านั้นช่วยปลดเปลื้องชนจำนวนมากออกจากโยคะ
ชนทั้งหลายผู้ปฏิบัติตามอริยมรรค
ที่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงนำหมู่เวไนยชนออกจากภพ
ผู้ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า ทรงแสดงไว้ดีแล้ว
เป็นผู้ไม่ประมาทในศาสนธรรมของพระสุคต
ย่อมทำที่สุดแห่งทุกข์ในอัตภาพนี้ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
พหุชนหิตสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๖. อสุภานุปัสสีสูตร
๖. อสุภานุปัสสีสูตร
ว่าด้วยการพิจารณากายให้เห็นเป็นของไม่งาม
[๘๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพิจารณาเห็นความไม่งามในกายอยู่เสมอเถิด
จงหมั่นเจริญอานาปานสติ มุ่งเฉพาะอารมณ์ที่เป็นภายในของพวกเธอ จงพิจารณา
เห็นสภาวะไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่เสมอเถิด เมื่อเธอทั้งหลายพิจารณาเห็นความ
ไม่งามในกายอยู่เสมอ ย่อมละราคานุสัยในธาตุที่สวยงามได้ เมื่อเธอทั้งหลาย
หมั่นเจริญอานาปานสติ มุ่งเฉพาะอารมณ์ที่เป็นภายในของพวกเธอ มิจฉาวิตกภายนอก
ที่เป็นฝ่ายแห่งความทุกข์ก็จะไม่มี เมื่อเธอทั้งหลายพิจารณาเห็นสภาวะไม่เที่ยงในสังขาร
ทั้งปวงอยู่เสมอ ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้มีความเพียรพิจารณาเห็นความไม่งามในกาย
ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
พิจารณาเห็นภาวะที่สงบระงับสังขารทั้งปวงตลอดกาล
ภิกษุนั้นแล เป็นผู้เห็นโดยชอบ
เพราะเหตุที่น้อมจิตไปในนิพพานธาตุนั้น
จึงชื่อว่าสำเร็จอภิญญา ๖ ประการ
เป็นผู้สงบ ล่วงพ้นโยคะได้แล้ว เป็นมุนีแท้จริง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อสุภานุปัสสีสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๗. ธัมมานุธัมมปฏิปันนสูตร
๗. ธัมมานุธัมมปฏิปันนสูตร
ว่าด้วยผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
[๘๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อกล่าวว่า ‘สภาวะที่สมควรใดเป็นเหตุให้บุคคลเป็นผู้
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมด้วยการพยากรณ์ สภาวะที่สมควรนี้ชื่อว่าเป็นธรรมที่
สมควรแก่ภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม’ ชื่อว่ากล่าวแต่เรื่องที่เป็นธรรมเท่านั้น
ไม่กล่าวเรื่องที่ไม่เป็นธรรม เมื่อตรึก ชื่อว่าตรึกถึงแต่วิตกที่เป็นธรรมเท่านั้น ไม่ตรึก
ถึงวิตกที่ไม่เป็นธรรม หรือเว้นกิริยาทั้งสองนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ
มีสัมปชัญญะอยู่”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุมีธรรมเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรม
พิจารณาใคร่ครวญถึงธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่
ย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรม๑
ภิกษุเมื่อยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม
ควบคุมจิตให้สงบอยู่ภายในได้
ย่อมบรรลุความสงบแท้จริง
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ธัมมานุธัมมปฏิปันนสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๓๖๔ หน้า ๑๔๗ ในเล่มนี้ และดู ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๐๓๕/๒๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๘. อันธกรณสูตร
๘. อันธกรณสูตร
ว่าด้วยวิตกทั้งที่ทำให้มืดมนและไม่มืดมน
[๘๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก ๓ ประการนี้ทำความมืดมน ไม่ทำให้เกิด
ปัญญาจักษุ ทำแต่ความไม่รู้ ดับปัญญา๑ เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
อกุศลวิตก ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. กามวิตก ทำความมืดมน ไม่ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำแต่ความ
ไม่รู้ ดับปัญญา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
๒. พยาบาทวิตก ทำความมืดมน ไม่ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำแต่
ความไม่รู้ ดับปัญญา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
๓. วิหิงสาวิตก ทำความมืดมน ไม่ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำแต่ความไม่รู้
ดับปัญญา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
อกุศลวิตก ๓ ประการนี้แล ทำความมืดมน ไม่ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำแต่
ความไม่รู้ ดับปัญญา เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย กุศลวิตก ๓ ประการนี้ไม่ทำความมืดมน ทำให้เกิดปัญญา-
จักษุ ทำให้เกิดความรู้ ทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพาน
กุศลวิตก ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เนกขัมมวิตก ไม่ทำความมืดมน ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำให้เกิดความรู้
ทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญา หมายถึงปัญญา ๓ ประการ คือ (๑) กัมมัสสกตปัญญา (๒) ฌานปัญญา (๓) วิปัสสนาปัญญา
(ขุ.อิติ.อ. ๘๗/๓๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๘. อันธกรณสูตร
๒. อัพยาบาทวิตก ไม่ทำความมืดมน ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำให้เกิด
ความรู้ ทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นไปเพื่อ
นิพพาน
๓. อวิหิงสาวิตก ไม่ทำความมืดมน ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำให้เกิด
ความรู้ ทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นไปเพื่อ
นิพพาน
กุศลวิตก ๓ ประการนี้แล ไม่ทำความมืดมน ทำให้เกิดปัญญาจักษุ ทำให้เกิด
ความรู้ ทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพาน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียร ควรตรึกถึงกุศลวิตก ๓ ประการ
และควรขจัดอกุศลวิตก ๓ ประการออก
ภิกษุนั้นย่อมทำมิจฉาวิตกและมิจฉาวิจารให้สงบลงได้พลัน
เหมือนฝนตกทำฝุ่นธุลีที่ฟุ้งขึ้นให้สงบหายได้ ฉะนั้น
ภิกษุผู้บำเพ็ญเพียรนั้น มีใจสงบจากอกุศลวิตกทั้งหมด
ย่อมบรรลุสันติบท๑ได้ในอัตภาพนี้แน่นอน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อันธกรณสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๒๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๙. อันตรามลสูตร
๙. อันตรามลสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นมลทินภายใน
[๘๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน
เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โลภะเป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
๒. โทสะเป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
๓. โมหะเป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน
เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
โลภะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โลภะทำให้จิตกำเริบ โลภะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน(ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๙. อันตรามลสูตร
คนโลภไม่รู้จักผล คนโลภไม่รู้จักเหตุ
ความโลภครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น
ส่วนผู้ใดละโลภะได้
ไม่ทะยานอยากในอารมณ์ที่เป็นเหตุแห่งความโลภ
โลภะจะถูกอริยมรรคละได้เด็ดขาดไปจากผู้นั้น
เหมือนหยาดน้ำกลิ้งตกจากใบบัว ฉะนั้น
โทสะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โทสะทำให้จิตกำเริบ โทสะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน(ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนโกรธไม่รู้จักผล คนโกรธไม่รู้จักเหตุ
ความโกรธครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น
ส่วนผู้ใดละโทสะได้
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์ที่เป็นเหตุแห่งความขัดเคือง
โทสะจะถูกอริยมรรคละได้เด็ดขาดไปจากผู้นั้น
เหมือนผลตาลสุกหลุดจากขั้ว ฉะนั้น
โมหะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โมหะทำจิตให้กำเริบ โมหะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน(ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนหลงไม่รู้จักผล คนหลงไม่รู้จักเหตุ
ความหลงครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๑๐. เทวทัตตสูตร
ส่วนผู้ใดละโมหะได้
ไม่ลุ่มหลงในอารมณ์ที่เป็นเหตุแห่งความหลง
ผู้นั้นย่อมกำจัดโมหะทั้งหมดได้เด็ดขาด
เหมือนดวงอาทิตย์กำจัดความมืด ฉะนั้น๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อันตรามลสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. เทวทัตตสูตร
ว่าด้วยพระเทวทัตถูกอสัทธรรมครอบงำ
[๘๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย พระเทวทัตถูกอสัทธรรม ๓ ประการครอบงำย่ำยีจิต ต้องไป
เกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
อสัทธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เทวทัตถูกความปรารถนาชั่วครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย
ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
๒. เทวทัตถูกความมีมิตรชั่วครอบงำย่ำยีจิต ต้องไปเกิดในอบาย ต้องไป
เกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้
๓. เมื่อยังมีมรรคผลที่ควรทำให้สูงขึ้นไป เทวทัตกลับมาถึงความเสื่อม
เสียกลางคัน เพราะบรรลุคุณวิเศษขั้นต่ำ
ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตถูกอสัทธรรม ๓ ประการนี้แล ครอบงำย่ำยีจิต ต้อง
ไปเกิดในอบาย ต้องไปเกิดในนรก ดำรงอยู่ชั่วกัป แก้ไขไม่ได้”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๒๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๘/๔๒๗-๔๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค ๑๐. เทวทัตตสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ใคร ๆ อย่าได้เกิดเป็นคนปรารถนาชั่ว
ไม่ว่าในกาลไหน ๆ ในโลก
เธอทั้งหลายจงรู้จักเทวทัตว่า
มีคติเหมือนกับคนปรารถนาชั่ว
เทวทัตเป็นที่ยกย่องกันว่า เป็นบัณฑิต
เป็นที่รู้กันว่า ได้อบรมตนแล้ว
เราได้ฟังมาว่า เทวทัตดุจรุ่งเรืองอยู่ด้วยยศ
เทวทัตนั้นสั่งสมความประมาท
เบียดเบียนตถาคตนั้น
จึงต้องไปเกิดในนรกอเวจี มีประตู ๔ ด้าน
น่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก
ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนที่ไม่ประทุษร้าย
ผู้ไม่ทำกรรมชั่ว
บาปย่อมถูกต้องเฉพาะผู้นั้นเท่านั้น
ผู้มีจิตคิดประทุษร้าย ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
ผู้ใดเบียดเบียนตถาคต ผู้เสด็จไปดี
มีพระทัยสงบ ด้วยการกล่าวตำหนิ
การตำหนิพระองค์ ย่อมฟังไม่ขึ้น
เปรียบเหมือนผู้ที่ตั้งใจประทุษร้ายมหาสมุทร
ด้วยยาพิษจำนวนเป็นหม้อ
เขาไม่อาจประทุษร้ายได้ เพราะมหาสมุทรน่ากลัว๑

เชิงอรรถ :
๑ น่ากลัว หมายถึงทั้งกว้างและลึก (ขุ.อิติ.อ. ๘๙/๓๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๔. จตุตถวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ภิกษุผู้ดำเนินตามมรรคาของพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก
พึงถึงความสิ้นทุกข์ได้
บัณฑิตทำพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกให้เป็นกัลยาณมิตร
และคบหาท่านเหล่านั้น๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เทวทัตตสูตรที่ ๑๐ จบ
จตุตถวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. วิตักกสูตร ๒. สักการสูตร
๓. เทวสัททสูตร ๔. ปัญจปุพพนิมิตตสูตร
๕. พหุชนหิตสูตร ๖. อสุภานุปัสสีสูตร
๗. ธัมมานุธัมมปฏิปันนสูตร ๘. อันธกรณสูตร
๙. อันตรามลสูตร ๑๐. เทวทัตตสูตร


เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๕๐/๒๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๑. อัคคัปปสาทสูตร
๕. ปัญจมวรรค
หมวดที่ ๕
๑. อัคคัปปสาทสูตร๑
ว่าด้วยความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
[๙๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ๓ ประการนี้
ความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ๓ ประการ คือ
๑. สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้า มีสองเท้า มีสี่เท้า และมีเท้ามากก็ตาม
มีรูป หรือไม่มีรูปก็ตาม มีสัญญา ไม่มีสัญญา หรือมีสัญญาก็ไม่ใช่
ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ก็ตาม มีประมาณเท่าใด ตถาคตอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าสัตว์มีประมาณเท่านั้น บุคคล
ผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศ
ย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
๒. ธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งหรือธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งมีประมาณเท่าใด
วิราคะ(ความคลายกำหนัด) คือความสร่างความเมา ความดับความ
กระหาย ความถอนอาลัย ความตัดวัฏฏะ ความสิ้นตัณหา ความ
คลายกำหนัด ความดับทุกข์ นิพพาน บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่า
ธรรมเหล่านั้น บุคคลผู้เลื่อมใสในวิราคธรรม ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่ง
ที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๓๔/๕๓-๕๕, องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๓๒/๔๙-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๑. อัคคัปปสาทสูตร
[ธรรมทั้งหลายที่ปัจจัยปรุงแต่งมีประมาณเท่าใด อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

เรากล่าวว่า เลิศกว่าธรรมเหล่านั้น บุคคลผู้เลื่อมใสในอริยมรรคมีองค์ ๘ ชื่อว่า
เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เสื่อมใสในสิ่งที่เลิศ] ๑
๓. หมู่ก็ดี คณะก็ดี มีประมาณเท่าใด พระสงฆ์สาวกของตถาคต ได้แก่
อริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล๒ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้
เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่
ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าหมู่หรือคณะเหล่านั้น บุคคลผู้เลื่อมใส
ในสงฆ์ ชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ และวิบากที่เลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้
เสื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุญที่เลิศ คือ อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุข และพละ
ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้เลื่อมใส
ผู้รู้ธรรมที่เลิศโดยความเป็นธรรมที่เลิศ

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความนี้ ดู ขุ.อิติ.อ. ๙๐/๓๒๕ ประกอบ
๒ ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๒๐๗/๒๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๒. ชีวกสูตร
ผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ซึ่งเป็นทักขิไณยบุคคลชั้นเยี่ยม
ผู้เลื่อมใสในพระธรรมที่เลิศ อันเป็นที่คลายความกำหนัด
และเป็นที่สงบระงับ นำสุขมาให้
ผู้เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ ซึ่งเป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
ให้ทานแก่ท่านผู้เลิศ
นักปราชญ์ตั้งมั่นในธรรมที่เลิศ ให้ทานแก่ท่านผู้เลิศ
เกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ย่อมถึงความเป็นผู้เลิศ บันเทิงอยู่
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อัคคัปปสาทสูตรที่ ๑ จบ

๒. ชีวกสูตร
ว่าด้วยชีวิตของผู้ทุศีล
[๙๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย การที่ภิกษุทุศีลเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพนี้ เป็นการกระทำ
ที่ต่ำทราม การที่ภิกษุทุศีลประพฤติเช่นนี้ย่อมถูกชาวโลกด่าว่า “เจ้าคนนี้อุ้มบาตร
เที่ยวขอชาวโลกเลี้ยงชีพ”
กุลบุตรต่างเป็นผู้ตระหนักในเหตุ อาศัยความตระหนักในเหตุ จึงเข้ามาใช้ชีวิต
เที่ยวขอก้อนข้าวนี้ มิใช่ถูกพระราชารับสั่งให้นำไปจองจำ มิใช่ถูกพวกโจรนำไปกักขัง
มิใช่เป็นลูกหนี้ มิใช่ตกอยู่ในห้วงอันตราย มิใช่มุ่งจะยึดเป็นอาชีพ แท้จริง กุลบุตร
เหล่านั้นเข้ามาบวชด้วยเหตุผลว่า “พวกเราต่างถูกความเกิด ความแก่ ความตาย
ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความเสียใจ ความตรอมใจ ทับถมครอบงำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๒. ชีวกสูตร
จมอยู่ในทุกข์ สาละวนอยู่กับทุกข์ ทำอย่างไรเล่า การทำที่สุดกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้
จะพึงปรากฏได้”
กุลบุตรนี้เป็นผู้บวชแล้วด้วยเหตุผลตามที่กล่าวแล้วนี้ แต่แล้วกุลบุตรนั้นกลับ
มีความละโมบ กำหนัดยินดีอย่างแรงกล้าในกาม มีจิตพยาบาท คิดประทุษร้าย
หลงลืมสติ ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น กระสับกระส่าย ไม่สำรวมอินทรีย์
ภิกษุทั้งหลาย ท่อนฟืนในที่เผาศพ ถูกไฟไหม้ทั้งด้านหัวและท้าย และตรง
กลางยังเปื้อนคูถ จะใช้เป็นฟืนในบ้านหรือในป่าก็ไม่ได้ทั้งนั้น ฉันใด บุคคลผู้นี้ก็
เปรียบเช่นนั้น เราเรียกว่า “เป็นคนเสื่อมจากโภคะของคฤหัสถ์ และไม่สามารถ
บำเพ็ญประโยชน์สำหรับความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
คนผู้มีส่วนชั่ว เสื่อมจากโภคะของคฤหัสถ์
ทั้งยังทำลายประโยชน์ของความเป็นสมณะให้เสื่อมสูญสิ้นไป
เหมือนท่อนฟืนในที่เผาศพมอดไหม้ไป ฉะนั้น
ภิกษุชั่วจำนวนมากมีผ้ากาสาวะพันที่คอ
มีธรรมเลวทราม ไม่สำรวม
ย่อมตกนรกเพราะบาปกรรมทั้งหลาย
การกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนดุจเปลวเพลิง
ยังดีกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีล ไม่สำรวม
บริโภคอาหารที่ชาวบ้านเขาถวาย๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ชีวกสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบท ข้อ ๓๐๗-๓๐๘ หน้า ๑๒๙, อิติวุตตกะ ข้อ ๔๘ หน้า ๓๙๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๓. สังฆาฏิกัณณสูตร
๓. สังฆาฏิกัณณสูตร
ว่าด้วยผู้เกาะชายผ้าสังฆาฏิ
[๙๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย แม้ถ้าภิกษุจับชายผ้าสังฆาฏิแล้วเดินตามรอยเท้าเรา ติดตาม
ไปข้างหลัง แต่ภิกษุนั้นมีความละโมบ กำหนัดยินดีอย่างแรงกล้าในกาม มีจิต
พยาบาท คิดประทุษร้าย หลงลืมสติ ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น กระสับกระส่าย
ไม่สำรวมอินทรีย์ แท้จริงแล้ว ภิกษุนั้นก็ยังชื่อว่าอยู่ห่างไกลเรา เราก็ห่างไกล
ภิกษุนั้น นั่นเป็นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นยังไม่เห็นธรรม เมื่อไม่เห็นธรรม
ชื่อว่าไม่เห็นเรา
ภิกษุทั้งหลาย แม้ถ้าภิกษุอยู่ไกลเราถึง ๑๐๐ โยชน์ แต่ภิกษุนั้นไม่มีความ
ละโมบ ไม่กำหนัดยินดีอย่างแรงกล้าในกาม มีจิตไม่พยาบาท ไม่คิดประทุษร้าย
มีสติตั้งมั่น มีความรู้สึกตัว มีจิตตั้งมั่น แน่วแน่ สำรวมอินทรีย์ แท้จริงแล้ว
ภิกษุนั้นก็ชื่อว่าอยู่ใกล้เรา เราก็อยู่ใกล้ภิกษุนั้น นั่นเป็นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุ
นั้นเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรม ชื่อว่าเห็นเรา”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลผู้มักมาก มีความคับแค้น
ตกอยู่ในอำนาจตัณหา ยังดับความเร่าร้อนไม่ได้
ถึงจะติดตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้หมดตัณหาที่ทำให้หวั่นไหว ผู้ทรงดับความเร่าร้อนได้
ผู้นั้นชื่อว่ามีความกำหนัดยินดี
เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ปราศจากความกำหนัดยินดี
เป็นผู้อยู่ห่างไกล๑

เชิงอรรถ :
๑ เป็นผู้อยู่ห่างไกล หมายถึงอยู่ห่างไกลจากสภาวธรรม (ขุ.อิติ.อ. ๙๒/๓๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๔. อัคคิสูตร
ส่วนบุคคลผู้เป็นบัณฑิต
พิจารณารู้ธรรม๑ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว
ต่อมาจึงกำหนดรู้ธรรมนั้น
เป็นผู้หมดกิเลสที่ทำให้หวั่นไหว สงบระงับกิเลสได้เด็ดขาด
ดุจห้วงน้ำสงบเรียบยามสงัดลม ฉะนั้น
ผู้นั้นไม่หวั่นไหว ดับความเร่าร้อนได้แล้ว
ชื่อว่าหมดความกำหนัดยินดี
เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่ทรงมีความหวั่นไหว
ทรงดับความเร่าร้อนได้
ทรงปราศจากความกำหนัดยินดี เป็นผู้อยู่ใกล้ทีเดียว
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สังฆาฏิกัณณสูตรที่ ๓ จบ

๔. อัคคิสูตร
ว่าด้วยไฟกิเลส
[๙๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้
ไฟ ๓ กอง คือ
๑. ไฟคือราคะ ๒. ไฟคือโทสะ ๓. ไฟคือโมหะ
ภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงอริยสัจ ๔ ประการ (ขุ.อิติ.อ. ๙๒/๓๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๔. อัคคิสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ไฟคือราคะ ย่อมเผาผลาญนรชนผู้กำหนัด
หมกมุ่นอยู่ในกามทั้งหลาย
ไฟคือโทสะ ย่อมเผาผลาญนรชนผู้มีจิตพยาบาท ชอบฆ่าสัตว์
ไฟคือโมหะ ย่อมเผาผลาญนรชนผู้ลุ่มหลง
ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
หมู่สัตว์ เมื่อไม่รู้จักไฟทั้ง ๓ กองนี้
จึงยินดียิ่งในสักกายะ๑
ไม่พ้นจากบ่วงแห่งมาร สั่งสมเพื่อเกิดในนรก
กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน อสุรกาย และแดนเปรต
ส่วนชนทั้งหลายผู้หมั่นอบรมตนในศาสนธรรม
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งกลางวันและกลางคืน
หมั่นเจริญอสุภสัญญาเป็นนิตย์
ย่อมทำไฟคือราคะให้ดับลงได้
ชนทั้งหลายที่มีคุณธรรมสูง
ย่อมดับไฟคือโทสะลงได้ด้วยเมตตา
และย่อมดับไฟคือโมหะด้วยปัญญา
อันเป็นเครื่องทำลายกิเลสได้เด็ดขาด
ชนผู้มีปัญญารักษาตนเหล่านั้น
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
ดับไฟทั้ง ๓ กองนั้นได้แล้ว
ชื่อว่าดับกิเลสได้สิ้นเชิง ล่วงพ้นทุกข์ได้ทั้งสิ้น

เชิงอรรถ :
๑ ยินดียิ่งในสักกายะ หมายถึงเพลิดเพลินยินดีในอุปาทานขันธ์ ๕ ด้วยอำนาจตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.อิติ.อ.
๙๓/๓๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๕. อุปปริกขสูตร
บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นแจ้งอริยสัจ
จบเวท รู้สิ่งทั้งปวงโดยชอบ
ย่อมไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก
เพราะรู้ยิ่งถึงภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อัคคิสูตรที่ ๔ จบ

๕. อุปปริกขสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาโดยวิธีที่จิตไม่ฟุ้งซ่าน
[๙๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรพิจารณาโดยประการที่วิญญาณ(จิต)ของตนไม่ฟุ้งซ่าน
ไม่ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก ไม่ติดอยู่ภายใน จึงไม่หวาดสะดุ้งเพราะไม่ยึดติดใน
อารมณ์ต่าง ๆ
ภิกษุทั้งหลาย ครั้นวิญญาณไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก ไม่ติด
อยู่ภายใน เมื่อภิกษุไม่หวาดสะดุ้ง เพราะไม่ยึดมั่นอารมณ์ต่าง ๆ เหตุแห่งทุกข์คือชาติ
และความเกิดทุกข์คือชราและมรณะ ก็จะเกิดมีไม่ได้อีกต่อไป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุละกิเลสเครื่องข้อง ๗ ประการ๑ ได้
ตัดตัณหาที่นำไปสู่ภพได้เด็ดขาด
มีสงสารคือชาติหมดสิ้นแล้ว
ย่อมไม่มีภพใหม่
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อุปปริกขสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องข้อง ๗ ประการ คือ (๑) ตัณหา (๒) ทิฏฐิ (๓) มานะ (๔) โกธะ (๕) อวิชชา (๖) กิเลส
(๗) ทุจริต (ขุ.อิติ.อ. ๙๔/๓๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๖. กามูปปัตติสูตร
๖. กามูปปัตติสูตร
ว่าด้วยผู้ยังเสพกามไม่สามารถล่วงสังสารทุกข์ได้
[๙๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย การเสพกาม ๓ ประการนี้
การเสพกาม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การเสพกามของสัตว์ผู้มีความใคร่ปรากฏอยู่เป็นนิตย์๑
๒. การเสพกามของเทวดาผู้ยินดีในกามสมบัติที่ตนเนรมิต๒
๓. การเสพกามของเทวดาผู้ยินดีในกามสมบัติที่เทวดาอื่นเนรมิตให้๓
ภิกษุทั้งหลาย การเสพกาม ๓ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สัตว์ผู้มีความใคร่ปรากฏอยู่เป็นนิตย์
เทวดาผู้ยินดีในกามสมบัติที่ตนเนรมิต
เทวดาผู้ยินดีในกามสมบัติที่เทวดาอื่นเนรมิตให้
และสัตว์เหล่าอื่นที่เสพกามอยู่เป็นนิตย์
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น
บัณฑิตรู้โทษในการเสพกามทั้งหลายนี้แล้ว
ควรละเว้นกามทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ทั้งหมด

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงมนุษย์ และเทวดาตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา จนถึงชั้นดุสิต (ขุ.อิติ.อ. ๙๕/๓๔๐)
๒ หมายถึงเทวดาชั้นนิมมานรดี (ขุ.อิติ.อ. ๙๕/๓๔๐)
๓ หมายถึงเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี (ขุ.อิติ.อ. ๙๕/๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๗. กามโยคสูตร
บัณฑิตทั้งหลาย ตัดกระแสตัณหาที่กำหนัดยินดี
ในปิยรูปสาตรูป๑ที่คนทั่วไปล่วงพ้นได้ยากขาดสิ้นแล้ว
ชื่อว่าดับกิเลสได้สิ้นเชิง ล่วงพ้นทุกข์ได้ทั้งสิ้น
บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นแจ้งอริยสัจ
จบเวท รู้สิ่งทั้งปวงโดยชอบ
ย่อมไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก
เพราะรู้ยิ่งถึงภาวะสิ้นสุดการเกิด
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
กามูปปัตติสูตรที่ ๖ จบ

๗. กามโยคสูตร
ว่าด้วยผู้ประกอบด้วยกามไปสู่วัฏฏสงสาร
[๙๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบตนด้วยกามโยคะ๒ ประกอบตนด้วยภวโยคะ๓
ชื่อว่าเป็นอาคามี๔ คือยังต้องกลับมาเกิดในกามภูมิอีก
บุคคลผู้พรากตนออกจากกามโยคะ แต่ยังประกอบตนด้วยภวโยคะ ชื่อว่าเป็น
อนาคามี๕คือเป็นผู้ไม่ต้องกลับมาเกิดในกามภูมิอีก

เชิงอรรถ :
๑ ปิยรูปสาตรูป หมายถึงรูปเป็นต้นที่น่ารักและน่าพอใจด้วยอำนาจสุขเวทนา (ขุ.อิติ.อ.๙๕/๓๔๑)
๒ กามโยคะ หมายถึงราคะที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕ (กามราคะ) (ขุ.อิติ.อ.๙๖/๓๔๒)
๓ ภวโยคะ หมายถึงความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในรูปภพและอรูปภพ อีกอย่างหนึ่ง หมายถึงราคะ
ที่ประกอบด้วยสัสสตทิฏฐิ (ขุ.อิติ.อ.๙๖/๓๔๒)
๔ อาคามี หมายถึงผู้อยู่ในพรหมโลก สามารถมาเกิดยังมนุษยโลกได้ (ขุ.อิติ.อ.๙๖/๓๔๒)
๕ อนาคามี หมายถึงผู้ไม่กลับมาเกิดในกามโลกอีก (ขุ.อิติ.อ.๙๖/๓๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๘. กัลยาณสีลสูตร
บุคคลผู้พรากตนออกจากกามโยคะและภวโยคะได้ขาดแล้ว ชื่อว่าเป็นอรหันต์
คือเป็นผู้สิ้นอาสวกิเลสแล้ว”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบตน
ด้วยกามโยคะและภวโยคะทั้งสอง
ชื่อว่ายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ
ส่วนผู้ที่ละกามทั้งหลายได้เด็ดขาด
แต่ยังไม่ถึงความสิ้นอาสวะ
ยังประกอบตนด้วยภวโยคะ
บัณฑิตทั้งหลาย เรียกว่า เป็นอนาคามี
แต่ผู้ที่ตัดความสงสัยได้
สิ้นทั้งมานะและภพที่จะเกิดใหม่
ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
เป็นผู้ชื่อว่า ถึงฝั่งแล้วในโลก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
กามโยคสูตรที่ ๗ จบ

๘. กัลยาณสีลสูตร
ว่าด้วยผู้มีศีลงาม ธรรมงาม และปัญญางาม
[๙๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม และมีปัญญางาม เราจึงเรียกว่า
‘เป็นพระอรหันต์แท้จริง อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นบุรุษผู้สูงสุด’ ในธรรมวินัยนี้
ผู้มีศีลงาม เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อม
ด้วยอาจาระและโคจรอยู่ มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบท
ทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีศีลงามอย่างนี้แล เป็นผู้มีศีลงาม ด้วยอาการดังกล่าวนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๘. กัลยาณสีลสูตร
ผู้มีธรรมงาม เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้หมั่นประกอบความเพียรติดต่อกันด้วยการเจริญโพธิ-
ปักขิยธรรม ๓๗ ประการอยู่เสมอ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีธรรมงามอย่างนี้แล เป็นผู้
มีศีลงาม มีธรรมงาม ด้วยอาการดังกล่าวนี้
ผู้มีปัญญางาม เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะ
อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญางาม
อย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม และมีปัญญางาม ด้วยอาการดังกล่าวนี้ เราจึง
เรียกว่า ‘เป็นพระอรหันต์แท้จริง อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นบุรุษผู้สูงสุด’ ในธรรมวินัยนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
ตรัสเรียกภิกษุผู้ไม่มีความชั่วทางกาย วาจา ใจ
มีหิริครองใจนั้นว่า เป็นผู้มีศีลงาม
ตรัสเรียกภิกษุผู้บำเพ็ญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
มาแล้วเป็นอย่างดี
ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องฟูใจนั้นว่า เป็นผู้มีธรรมงาม
ตรัสเรียกภิกษุผู้รู้แจ้งความสิ้นทุกข์ของตนในอัตภาพนี้เท่านั้น
ผู้หาอาสวะมิได้นั้นว่า เป็นผู้มีปัญญางาม
ตรัสเรียกภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยธรรมมีศีลเป็นต้นนั้น
ผู้ไม่มีทุกข์ ตัดความสงสัยได้แล้ว
ไม่อาศัยโลกทั้งปวง ละกิเลสทุกอย่างในโลกได้หมดสิ้น
(ว่าเป็นผู้มีปัญญางาม)
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
กัลยาณสีลสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๙. ทานสูตร
๙. ทานสูตร
ว่าด้วยการให้ทาน
[๙๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๒ อย่าง คือ อามิสทาน(การให้สิ่งของ)และธรรม-
ทาน(การให้ธรรม) บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ
การจำแนก ๒ อย่าง คือ การจำแนกด้วยอามิส และการจำแนกด้วยธรรม
บรรดาการจำแนก ๒ อย่างนี้ การจำแนกด้วยธรรมเป็นเลิศ
การอนุเคราะห์ ๒ อย่าง คือ การอนุเคราะห์ด้วยอามิส และการอนุเคราะห์
ด้วยธรรม บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ การอนุเคราะห์ด้วยธรรมเป็นเลิศ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
วิญญูชนผู้มีจิตเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และพระอริยสงฆ์ผู้ประเสริฐ เป็นนาบุญอันเลิศของโลก
เมื่อทราบชัดทานและการจำแนก
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญว่า ยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง
ใครเล่าจะไม่ถวายทานในกาลอันสมควร
ประโยชน์อย่างยอดเยี่ยมนั้นย่อมสำเร็จแก่คน ๒ ฝ่าย คือ
ฝ่ายแสดงธรรมและฝ่ายฟังธรรม
ผู้มีจิตเลื่อมใสในคำสอนของพระสุคต
และผู้ไม่ประมาทในคำสอนของพระสุคต
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ทานสูตรที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๑๐. เตวิชชสูตร
๑๐. เตวิชชสูตร๑
ว่าด้วยวิชชา ๓
[๙๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราบัญญัติเรียกผู้บรรลุวิชชา ๓ ว่าเป็นพราหมณ์ โดยธรรม
เราหาบัญญัติเรียกบุคคลอื่นว่า เป็นพราหมณ์ โดยเหตุเพียงการกล่าวอ้างตามที่ผู้
อื่นเรียกกันไม่
ก็เราบัญญัติเรียกผู้บรรลุวิชชา ๓ ว่าเป็นพราหมณ์ โดยธรรม เราหาบัญญัติ
เรียกบุคคลอื่นว่า เป็นพราหมณ์ โดยเหตุเพียงการกล่าวอ้างตามที่ผู้อื่นเรียกกันไม่
มีอธิบายอย่างไร คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง
๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง
๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอัน
มากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป๒เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏะและวิวัฏฏกัป
เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิด
ในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิด
ในภพนี้’ ภิกษุนั้นระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป
และชีวประวัติอย่างนี้ เธอชื่อว่าได้บรรลุวิชชาที่ ๑ นี้แล้ว ความ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๕๙/๒๒๕-๒๒๙
๒ สังวัฏฏกัป คือกัปฝ่ายเสื่อม ได้แก่ ช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังพินาศ วิวัฏฏกัป คือกัปฝ่ายเจริญ ได้แก่
ช่วงระยะเวลาเวลาที่โลกกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ (ตามนัย วิ.อ. ๑/๑๒/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค ๑๐. เตวิชชสูตร
มืดมิดคืออวิชชา เธอกำจัดได้แล้ว แสงสว่าง๑คือวิชชาได้เกิดขึ้น
แก่เธอ เปรียบเหมือนแสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความ
เพียรอุทิศกายและใจ
๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและ
ชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์ รู้ชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบ
กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความ
เห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด หลังจากตาย
แล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบ
กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความ
เห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ หลังจาก
ตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ
กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม
อย่างนี้ เธอชื่อว่าได้บรรลุวิชชาที่ ๒ นี้แล้ว๒ ความมืดมิดคืออวิชชา
เธอกำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เธอ เปรียบเหมือน
แสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรอุทิศกายและใจ
๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ อันไม่
มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน เธอชื่อว่าได้บรรลุวิชชาที่ ๓ นี้แล้ว๓ ความมืดมิดคืออวิชชา

เชิงอรรถ :
๑ ความมืดมิด (ตมะ) ในที่นี้หมายถึงโมหะ ที่เรียกว่า มืดมิด เพราะปิดบังมิให้ระลึกชาติได้ แสงสว่าง
(อาโลกะ) ในที่นี้หมายถึงวิชชา ที่เรียกว่า แสงสว่าง เพราะทำให้เกิดแสงสว่างทำลายความมืดมิดได้
วิชชาขั้นที่ ๑ นี้ได้แก่ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือความรู้เป็นเครื่องระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ใน
กาลก่อน (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๔, ขุ.อิติ.อ. ๙๙/๓๕๗)
๒ วิชชาที่ ๒ นี้ได้แก่ทิพพจักขุญาณ คือ ความรู้ที่สามารถเล็งเห็นหมู่สัตว์ที่เป็นไปต่าง ๆ กัน เพราะอำนาจ
กรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าจุตูปปาตญาณ เป็นญาณคือแสงสว่างที่ทำลายความมืดมิดคืออวิชชาที่ปิดบังการ
จุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๔, ขุ.อิติ.อ. ๙๙/๓๕๙)
๓ วิชชาที่ ๓ นี้ ได้แก่ อรหัตตมัคคญาณ เป็นญาณคือความรู้เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐ ประการ หรือ
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาสวักขยญาณ เป็นญาณคือแสงสว่างที่ทำลายความมืดมิดคืออวิชชาที่ปิดบัง
อริยสัจ ๔ ประการ (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๖, ขุ.อิติ.อ. ๙๙/๓๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๓. ติกนิบาต] ๕. ปัญจมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เธอกำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เธอ เปรียบเหมือน
แสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรอุทิศกายและใจ
ภิกษุทั้งหลาย เราบัญญัติเรียกผู้บรรลุวิชชา ๓ ว่าเป็นพราหมณ์ โดยธรรม
เราหาบัญญัติเรียกบุคคลอื่นว่า เป็นพราหมณ์ โดยเหตุเพียงการกล่าวอ้างตามที่
ผู้อื่นเรียกกันไม่ อย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลใดรู้ปุพเพนิวาสญาณ เห็นทั้งสวรรค์และอบาย
บรรลุธรรมที่สิ้นความเกิด
เป็นมุนี อยู่จบพรหมจรรย์เพราะรู้ยิ่ง
เป็นพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ โดยวิชชา ๓ นี้
เราเรียกบุคคลนั้นว่า ได้วิชชา ๓
หาเรียกบุคคลอื่นว่า ได้วิชชา ๓ ตามที่ผู้อื่นเรียกกันไม่
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เตวิชชสูตรที่ ๑๐ จบ
ปัญจมวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัคคัปปสาทสูตร ๒. ชีวกสูตร
๓. สังฆาฏิกัณณสูตร ๔. อัคคิสูตร
๕. อุปปริกขสูตร ๖. กามูปปัตติสูตร
๗. กามโยคสูตร ๘. กัลยาณสีลสูตร
๙. ทานสูตร ๑๐. เตวิชชสูตร

ติกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑. พราหมณธัมมยาคสูตร
๔. จตุกกนิบาต
๑. พราหมณธัมมยาคสูตร
ว่าด้วยการบูชายัญด้วยธรรมของผู้เป็นพราหมณ์
[๑๐๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เรานี้แลเป็นพราหมณ์ผู้ควรแก่การขอ ขวนขวายในธรรมทาน
ตลอดเวลา ทรงไว้ซึ่งอัตภาพสุดท้าย เป็นศัลยแพทย์ ผ่าตัดกิเลสผู้เชี่ยวชาญ
เธอทั้งหลายเป็นบุตร ผู้เนื่องในอกของเรา คือ เกิดแต่ปาก เกิดแต่ธรรม ธรรม
สร้างสรรค์ไว้ จงเป็นธรรมทายาทเถิด อย่าเป็นอามิสทายาทเลย
ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๒ อย่างนี้ คือ (๑) อามิสทาน (๒) ธรรมทาน บรรดา
ทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ
การจำแนก ๒ อย่างนี้ คือ (๑) การจำแนกอามิส (๒) การจำแนกธรรม
บรรดาการจำแนก ๒ อย่างนี้ การจำแนกธรรมเป็นเลิศ
การอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ คือ (๑) การอนุเคราะห์ด้วยอามิส (๒) การอนุเคราะห์
ด้วยธรรม บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ การอนุเคราะห์ด้วยธรรมเป็นเลิศ
การบูชายัญ ๒ อย่างนี้ คือ (๑) การบูชายัญด้วยอามิส (๒) การบูชายัญ
ด้วยธรรม บรรดาการบูชายัญ ๒ อย่างนี้ การบูชายัญด้วยธรรมเป็นเลิศ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๒. สุลภสูตร
สัตว์ทั้งหลายย่อมนอบน้อมตถาคต
ผู้บูชาด้วยธรรม ไม่มีความตระหนี่
อนุเคราะห์สรรพสัตว์เสมอ
เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์
ผู้ถึงฝั่งแห่งภพ เช่นนั้น
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
พราหมณธัมมยาคสูตรที่ ๑ จบ

๒. สุลภสูตร๑
ว่าด้วยปัจจัยที่หาได้ง่าย
[๑๐๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ปัจจัย ๔ อย่างนี้ มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ
ปัจจัย ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. บรรดาจีวร บังสุกุลจีวร(ผ้าที่ได้มาจากกองฝุ่น) มีค่าน้อย หาได้ง่าย
และไม่มีโทษ
๒. บรรดาโภชนะ ปิณฑิยาโลปโภชนะ(โภชนะคือคำข้าวที่ได้มาด้วยกำลัง
ปลีแข้ง) มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ
๓. บรรดาเสนาสนะ รุกขมูลเสนาสนะ(เสนาสนะคือโคนไม้) มีค่าน้อย
หาได้ง่าย และไม่มีโทษ
๔. บรรดายารักษาโรค ปูติมุตตเภสัช(ยาดองน้ำมูตรเน่า) มีค่าน้อย
หาได้ง่าย และไม่มีโทษ
ปัจจัย ๔ อย่างนี้แล มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๗/๔๒-๔๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๓. อาสวักขยสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัย ๔ ที่มีค่าน้อย หาได้ง่าย
และไม่มีโทษนี้ เราจึงกล่าวว่า “เป็นองค์ประกอบแห่งคุณเครื่องความเป็นสมณะ๑
อย่างหนึ่งของภิกษุนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
จิตของภิกษุผู้สันโดษด้วยปัจจัย
ที่มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ
ย่อมไม่มีความคับแค้น ไม่ติดขัดทั่วทิศ
เพราะปรารภจีวร โภชนะ เสนาสนะ (และยารักษาโรค)
และธรรมที่เหมาะแก่ความเป็นสมณะที่ภิกษุนั้นกล่าวแล้ว
อันภิกษุผู้สันโดษ ไม่ประมาท บรรลุแล้ว
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สุลภสูตรที่ ๒ จบ

๓. อาสวักขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นอาสวะ
[๑๐๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวถึงความสิ้นอาสวะทั้งหลายสำหรับภิกษุผู้รู้อยู่ ผู้เห็น
อยู่ หากล่าวถึงความสิ้นอาสวะทั้งหลายสำหรับภิกษุผู้ไม่รู้อยู่ ไม่เห็นอยู่ไม่

เชิงอรรถ :
๑ คุณเครื่องความเป็นสมณะ หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ ประการ สมถะ วิปัสสนา หรืออริยมรรค เมื่อว่า
โดยย่อมี ๒ ประการ คือ (๑) คุณเครื่องภายนอก ได้แก่ ธรรมเครื่องอาศัยของสัตบุรุษและการฟัง
สัทธรรม (๒) คุณเครื่องภายใน ได้แก่ โยนิโสมนสิการ(การมนสิการโดยแยบคาย) และธัมมานุธัมมปฏิบัติ
(การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม) คุณเครื่องความเป็นสมณะนั้น มีธรรมที่เป็นองค์ประกอบเหล่านี้ คือ
ความมักน้อย ความสันโดษ ความสงัด ความไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ความปรารภความเพียร เป็นต้น
(ขุ.อิติ.อ. ๑๐๑/๓๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๓. อาสวักขยสูตร
ภิกษุรู้อะไร เห็นอะไร จึงชื่อว่ามีความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
คือ ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ว่า ‘นี้ทุกข’ จึงชื่อว่ามีความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ว่า ‘นี้ทุกขสมุทัย(เหตุเกิดทุกข์)’ จึงชื่อว่ามีความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ(ความดับทุกข์)’ จึงชื่อว่ามีความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ว่า ‘นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์)’ จึง
ชื่อว่ามีความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงชื่อว่ามีความสิ้นอาสวะ
ทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ญาณในความสิ้นกิเลสย่อมเกิดขึ้นแก่พระเสขะ
ผู้กำลังศึกษาและปฏิบัติตามทางสายตรงก่อน
ลำดับต่อจากนั้นอัญญินทรีย์จึงเกิดขึ้น๑
ต่อจากอัญญินทรีย์นั้น วิมุตติญาณอันสูงสุด
และญาณในความสิ้นกิเลส
ย่อมเกิดขึ้นแก่ท่านผู้หลุดพ้นด้วยอรหัตตผลว่า
“สังโยชน์ทั้งหลายสิ้นไปแล้ว’
คนพาลผู้เกียจคร้าน ไม่รู้แจ้ง ไม่ควรบรรลุนิพพาน
เป็นที่ปลดเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงนี้เลย
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
อาสวักขยสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูอิติวุตตกะ ข้อ ๖๒ หน้า ๔๑๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๔. สมณพราหมณสูตร
๔. สมณพราหมณสูตร
ว่าด้วยสมณะหรือพราหมณ์
[๑๐๓] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริงว่า
‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้น เราหายกย่องว่า เป็นสมณะในหมู่สมณะไม่ หายกย่องว่าเป็นพราหมณ์ใน
หมู่พราหมณ์ไม่ เพราะว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ไม่ได้ทำให้แจ้งผลคือ
ความเป็นสมณะ และผลคือความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดรู้แจ้งตามความเป็นจริงว่า
‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นแล เรายกย่องว่า เป็นสมณะในหมู่สมณะ ยกย่องว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่
พราหมณ์ เพราะว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นได้ทำให้แจ้งผลคือความเป็นสมณะ
และผลคือความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนั่นแล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดไม่รู้จักทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง
และไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นผู้เสื่อมจากเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๕. สีลสัมปันนสูตร
เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เป็นผู้เข้าถึงชาติและชราแท้
ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดรู้จักทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง
และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
เป็นผู้ควรเพื่อจะทำที่สุดทุกข์ได้
และเป็นผู้ไม่เข้าถึงชาติและชรา๑
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สมณพราหมณสูตรที่ ๔ จบ

๕. สีลสัมปันนสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
[๑๐๔] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดสมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยสมาธิ สมบูรณ์
ด้วยปัญญา สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นผู้กล่าวสอน
ให้รู้แจ้ง ชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง เป็นผู้สามารถกล่าวบรรยายสัทธรรมให้เข้าใจง่าย
การได้เห็นภิกษุเหล่านั้น เรากล่าวว่ามีอุปการะมาก การได้ฟัง(ธรรม)ภิกษุ
เหล่านั้น เรากล่าวว่ามีอุปการะมาก การได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น เรากล่าวว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบสุตตนิบาต ข้อ ๗๓๐-๗๓๓ หน้า ๖๗๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๕. สีลสัมปันนสูตร
มีอุปการะมาก การได้เข้าไปนั่งใกล้ภิกษุเหล่านั้น เรากล่าวว่ามีอุปการะมาก การได้
ระลึกถึงภิกษุเหล่านั้น เรากล่าวว่ามีอุปการะมาก และการได้ออกบวชตามภิกษุ
เหล่านั้น เรากล่าวว่ามีอุปการะมาก นั่นเป็นเพราะเหตุไร ภิกษุทั้งหลาย เพราะ
เมื่อภิกษุเสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้๑ภิกษุผู้ทรงคุณดังกล่าวนั้น สีลขันธ์ สมาธิขันธ์
ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ แม้ที่ยังไม่บริบูรณ์ก็จะถึงความ
บริบูรณ์ด้วยภาวนา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ทรงคุณเห็นปานนี้นั้น เราเรียกว่า ‘ศาสดา’ บ้าง
‘สัตถวาหะ(ผู้นำหมู่คณะ)’ บ้าง ‘รณัญชหะ(ผู้ละข้าศึกคือกิเลส)’ บ้าง ‘ตโมนุทะ(ผู้
บรรเทาความมืด)’ บ้าง ‘อาโลกกร(ผู้ทำแสงสว่าง)’ บ้าง ‘โอภาสกร(ผู้ทำโอภาส)’ บ้าง
‘ปัชโชตกร(ผู้ทำความรุ่งเรือง)’ บ้าง ‘ปภังกร(ผู้ทำรัศมี)’ บ้าง ‘อุกการธาร(ผู้ทรง
ประทีปคือปัญญา)’ บ้าง ‘อริยะ(พระอริยะ)’ บ้าง ‘จักขุมันตะ(ผู้มีปัญญาจักษุ)’ บ้าง”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
การได้เห็นพระอริยะทั้งหลายผู้อบรมตนดีแล้ว
ดำรงชีวิตโดยธรรมเสมอ
ย่อมเป็นเหตุให้เกิดปราโมทย์แก่บัณฑิตผู้รู้แจ้ง
พระอริยะทั้งหลายผู้ทำรัศมี ทำแสงสว่าง
เป็นนักปราชญ์ มีปัญญาจักษุ ละข้าศึกคือกิเลส
ประกาศสัทธรรม ทำสัตว์โลกให้เกิดปัญญาสว่างไสว
ซึ่งหากบัณฑิตได้ฟังคำสอนแล้ว รู้สิ่งทั้งปวงโดยชอบ
ย่อมไม่กลับมาเกิดอีกแน่นอน
เพราะรู้ยิ่งภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สีลสัมปันนสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เข้าไปนั่งใกล้ หมายถึงถามปัญหาและปฏิบัติตาม (ขุ.อิติ.อ. ๑๐๔/๓๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๖. ตัณหุปปาทสูตร
๖. ตัณหุปปาทสูตร๑
ว่าด้วยที่เกิดตัณหา
[๑๐๕] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาเมื่อเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ย่อมเกิดขึ้นในที่เกิดตัณหา ๔ อย่างนี้
ที่เกิดตัณหา ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. ตัณหาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะจีวรเป็นเหตุ
๒. ตัณหาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ
๓. ตัณหาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะเสนาสนะเป็นเหตุ
๔. ตัณหาเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะสมบัติและวิบัติเป็นเหตุ
ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาเมื่อเกิดขึ้นแก่ภิกษุ ย่อมเกิดขึ้นในที่เกิดตัณหา ๔ อย่างนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น
ภิกษุรู้โทษนี้ รู้ตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ตัณหุปปาทสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๙/๑๕, ที.ปา. ๑๑/๓๑๑/๒๐๔, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๐, ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๑๐๗/๓๖๔, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๓๙/๔๕๘/๕๘๙ และดูอิติวุตตกะ ข้อ ๑๕ หน้า ๓๕๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๗. สพรหมกสูตร
๗. สพรหมกสูตร๑
ว่าด้วยมารดาบิดาเป็นพรหมของบุตร
[๑๐๖] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่า
มีพรหม บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีบุรพเทพ
บุตรของสกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีบุรพาจารย์ บุตรของ
สกุลใดบูชามารดาบิดาภายในเรือนตน สกุลนั้นชื่อว่ามีอาหุไนยบุคคล
ภิกษุทั้งหลาย คำว่า พรหม นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา คำว่า บุรพเทพ นี้เป็น
ชื่อของมารดาบิดา คำว่า บุรพาจารย์ นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา คำว่า อาหุไนย-
บุคคล นี้เป็นชื่อของมารดาบิดา๒ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดาบิดาเป็นผู้มี
อุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
มารดาบิดาผู้อนุเคราะห์ประชา
ท่านเรียกว่าพรหม บุรพเทพ บุรพาจารย์
และอาหุไนยบุคคลของบุตรทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๑/๑๘๓, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๖๓/๑๐๗, ขุ.ชา. (แปล) ๒๘/๑๘๑-๑๘๓/๘๔
๒ มารดาบิดา ชื่อว่า พรหม เพราะมีพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ชื่อว่า
บุรพเทพ เพราะเป็นดุจเทพผู้มีพรหมวิหารธรรม ไม่คำนึงความผิดที่บุตรทำไป พร้อมที่จะให้อภัย มุ่งหวัง
แต่ความเจริญแก่บุตร นำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาแก่บุตร ชื่อว่า บุรพาจารย์ เพราะเป็นอาจารย์
คนแรกที่สอนลูกให้เรียนรู้การนั่ง การยืน การเดิน การนอน การเคี้ยว การกิน รวมทั้งสอนให้รู้จักพูดและ
รู้จักอะไรควร อะไรมิควร ชื่อว่า อาหุไนยบุคคล เพราะเป็นผู้ควรแก่ปฏิการคุณที่บุตรพึงทำตอบแทน เช่น
การปรนนิบัติท่านด้วยอาหารเครื่องนุ่งห่ม (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๑๑/๑๑๑-๑๑๒, ขุ.อิติ.อ. ๑๐๖/๓๗๙-๓๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๘. พหุการสูตร
เพราะเหตุนั้นแล บัณฑิตพึงนมัสการ
และสักการะมารดาบิดานั้นด้วยข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน
การอบกลิ่น การอาบน้ำ และการล้างเท้า
เพราะการปรนนิบัติมารดาบิดานั้น
บัณฑิตจึงสรรเสริญเขาในโลกนี้เอง
เขาตายไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สพรหมกสูตรที่ ๗ จบ

๘. พหุการสูตร
ว่าด้วยผู้มีอุปการะมาก
[๑๐๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายผู้บำรุงอุปถัมภ์เธอทั้งหลายด้วย
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ชื่อว่าเป็นผู้มีอุปการะมาก
แก่เธอทั้งหลาย
ข้อที่เธอทั้งหลายแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์
บริบูรณ์ ครบถ้วนแก่พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้น ชื่อว่าเธอทั้งหลายก็มีอุปการะ
มากแก่พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์และบรรพชิตต่างพึ่งพาอาศัยกันและกันอยู่ ประพฤติ
พรหมจรรย์เพื่อต้องการสลัดโอฆะออกให้ได้ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ด้วยประการ
ดังกล่าวนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๘. พหุการสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
คฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนและบรรพชิตผู้ไม่อยู่ครองเรือน
ทั้ง ๒ ฝ่าย ต่างอาศัยกันและกัน
จึงบรรลุสัทธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมได้
ฝ่ายบรรพชิตผู้ไม่อยู่ครองเรือนย่อมต้องการปัจจัย ๔ คือ
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัช
อันเป็นเครื่องบรรเทาอันตรายจากฝ่ายคฤหัสถ์
ฝ่ายคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน
อาศัยพระอริยะผู้ปฏิบัติดีแล้ว
เชื่อมั่นคำสั่งสอนและการปฏิบัติดีของพระอรหันต์
เป็นผู้เพ่งพินิจอยู่ด้วยอริยปัญญา
ประพฤติธรรมอันเป็นทางนำไปสู่สุคติโลกสวรรค์ในอัตภาพนี้
มีความเพลิดเพลิน เสวยกามสุข รื่นเริงบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
พหุการสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๙. กุหสูตร
๙. กุหสูตร๑
ว่าด้วยภิกษุผู้หลอกลวง
[๑๐๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดหลอกลวง กระด้าง เป็นคนประจบ ชอบวางท่า
อวดดี และมีจิตไม่ตั้งมั่น ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าไม่ใช่ผู้นับถือเรา อยู่ห่างไกลจาก
ธรรมวินัยนี้ และย่อมไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
ส่วนภิกษุเหล่าใดไม่หลอกลวง ไม่เป็นคนประจบ เป็นนักปราชญ์ ไม่กระด้าง
และมีจิตตั้งมั่นดี ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าผู้นับถือเรา ไม่ห่างไกลจากธรรมวินัยนี้ และ
ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
พวกภิกษุผู้หลอกลวง กระด้าง เป็นคนประจบ
ชอบวางท่า อวดดี และมีจิตไม่ตั้งมั่น
ย่อมไม่งอกงามในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
ส่วนพวกภิกษุผู้ไม่หลอกลวง ไม่ประจบ
เป็นนักปราชญ์ ไม่กระด้าง และมีจิตตั้งมั่นดี
ย่อมงอกงามในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
กุหสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๖/๔๑-๔๒, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๑/๑๕๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๐. นทีโสตสูตร
๑๐. นทีโสตสูตร
ว่าด้วยกิเลสเปรียบด้วยกระแสน้ำ
[๑๐๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมาว่า ชายคนหนึ่งถูกกระแสน้ำคือปิยรูปสาตรูปพัดพาไปอยู่
คนมีตาดียืนอยู่บนฝั่ง เห็นชายคนนั้นแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พ่อหนุ่ม ท่านถูกกระแส
น้ำคือปิยรูปสาตรูปพัดไปอยู่แล้วจริง ๆ แต่ในกระแสน้ำนี้มีห้วงน้ำลึกภายใต้ที่มีคลื่น
มีน้ำวน มีสัตว์ร้าย มีผีเสื้อน้ำ ซึ่งท่านจมไปถึงแล้วต้องถึงความตาย หรือไม่ก็ได้
รับความทุกข์ปางตายแน่นอน’ ครั้นชายคนนั้นได้ยินเสียงของชายที่อยู่บนฝั่งนั้นแล้ว
ก็พยายามใช้ทั้งมือและเท้าแหวกว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นมา
ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตทำข้ออุปมานี้ไว้เพื่อให้เข้าใจความแจ่มแจ้ง ก็ในอุปมานี้
มีความหมายดังนี้
คำว่า ‘กระแสน้ำ’ เป็นชื่อของตัณหา
คำว่า ‘ปิยรูปสาตรูป’ เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖
คำว่า ‘ห้วงน้ำลึกภายใต้’ เป็นชื่อของโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕
คำว่า ‘มีคลื่น’ เป็นชื่อของความโกรธและความคับแค้นใจ
คำว่า ‘มีน้ำวน’ เป็นชื่อของกามคุณ ๕
คำว่า ‘มีสัตว์ร้าย มีผีเสื้อน้ำ’ เป็นชื่อของมาตุคาม
คำว่า ‘ทวนกระแสน้ำ’ เป็นชื่อของเนกขัมมะ
คำว่า ‘พยายามใช้ทั้งมือและเท้าแหวกว่าย’ เป็นชื่อการเริ่มทำความเพียร
คำว่า ‘คนมีตาดียืนอยู่บนฝั่ง’ หมายถึงตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๑. จรสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุพึงละกามทั้งหลายให้ได้
แม้จะด้วยความยากลำบาก
เมื่อปรารถนาความเกษมจากโยคะต่อไป
ควรเป็นผู้มีสัมปชัญญะ มีจิตหลุดพ้นจากกิเลสได้
ในเวลาที่บรรลุมรรคผลนั้น ๆ ก็จะสัมผัสวิมุตติได้
ภิกษุนั้นเป็นผู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ถึงที่สุดของโลก๑ เราเรียกว่า เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
นทีโสตสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. จรสูตร๒
ว่าด้วยอิริยาบถเดิน
[๑๑๐] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากามวิตก(ความตรึกในทางกาม) พยาบาทวิตก(ความตรึก
ในทางพยาบาท) หรือวิหิงสาวิตก(ความตรึกในทางเบียดเบียน) เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้
กำลังเดิน และภิกษุรับวิตกนั้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ให้ถึงความ
ไม่มี ภิกษุแม้กำลังเดิน ผู้เป็นอย่างนี้ ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า
‘ผู้เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อนต่อเนื่องตลอดไป’

เชิงอรรถ :
๑ โลก ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.อิติ.อ.๑๐๙/๓๙๖)
๒ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๑/๒๐-๒๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๑. จรสูตร
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังยืน และภิกษุ
รับวิตกนั้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ให้ถึงความไม่มี ภิกษุแม้กำลังยืน
ผู้เป็นอย่างนี้ ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้เกียจคร้าน มีความเพียร
ย่อหย่อนต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังนั่ง และภิกษุ
รับวิตกนั้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ให้ถึงความไม่มี ภิกษุแม้กำลังนั่ง
ผู้เป็นอย่างนี้ ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้เกียจคร้าน มีความเพียร
ย่อหย่อนต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังนอน ตื่นอยู่
และภิกษุรับวิตกนั้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด ไม่ให้ถึงความไม่มี ภิกษุ
แม้กำลังนอน ตื่นอยู่ ผู้เป็นอย่างนี้ ไม่มีความเพียร ไม่มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า
‘ผู้เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อนต่อเนื่องตลอดไป’
ภิกษุทั้งหลาย ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้
กำลังเดิน และภิกษุไม่รับวิตกนั้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ภิกษุ
แม้กำลังเดิน ผู้เป็นอย่างนี้ มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภ
ความเพียร อุทิศกายและใจต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังยืน และ
ภิกษุไม่รับวิตกนั้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ภิกษุแม้กำลังยืน ผู้เป็น
อย่างนี้ มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกาย
และใจต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังนั่ง และภิกษุ
ไม่รับวิตกนั้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ภิกษุแม้นั่งแล้ว ผู้เป็นอย่างนี้
มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจต่อเนื่อง
ตลอดไป’


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๑. จรสูตร
ถ้ากามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กำลังนอน ตื่นอยู่
และภิกษุไม่รับวิตกนั้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ให้ถึงความไม่มี ภิกษุแม้กำลังนอน
ตื่นอยู่ ผู้เป็นอย่างนี้ มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร
อุทิศกายและใจต่อเนื่องตลอดไป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ถ้าภิกษุใดผู้กำลังเดิน ยืน นั่ง หรือนอน
นึกคิดถึงอกุศลวิตกที่เกี่ยวเนื่องกับการครองเรือน
ภิกษุนั้นชื่อว่าเดินทางผิด
หมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เป็นเหตุแห่งความหลง
ภิกษุเช่นนั้นไม่สามารถบรรลุสัมโพธิญาณ๑อันสูงสุดได้
ส่วนภิกษุใดผู้กำลังเดิน ยืน นั่ง หรือนอนให้วิตกสงบ
ยินดีในธรรมเป็นที่ระงับวิตก
ภิกษุนั้นสามารถบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุดได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
จรสูตรที่ ๑๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สัมโพธิญาณ หมายถึงญาณอันสูงสุด คืออรหัตตผล (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๑/๒๙๐) หรือหมายถึงอริยมัคค-
ญาณ (ขุ.อิติ.อ. ๑๑๐/๓๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๒. สัมปันนสีลสูตร
๑๒. สัมปันนสีลสูตร๑
ว่าด้วยผู้มีศีลสมบูรณ์
[๑๑๑] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์
สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัย
ในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายเถิด
เมื่อเธอทั้งหลายเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์ สำรวมด้วยการ
สังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย จะมีกิจอะไรที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปอีกเล่า
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้กำลังเดินอยู่ ปราศจากอภิชฌา(เพ่งเล็งอยากได้
ของเขา) พยาบาท(ความคิดร้าย) ถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) อุทธัจจกุกกุจจะ
(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย)ได้ ปรารภความเพียร
ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่
เป็นสมาธิ ภิกษุแม้กำลังเดินอยู่ ผู้เป็นอย่างนี้ มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียก
ว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้าภิกษุผู้กำลังยืนปราศจากอภิชฌา พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉาได้ ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ
ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ ภิกษุแม้กำลังยืน ผู้เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๒/๒๒-๒๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๒. สัมปันนสีลสูตร
มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจต่อเนื่อง
ตลอดไป’
ถ้าภิกษุผู้กำลังนั่ง ปราศจากอภิชฌา พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉาได้ ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ
ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ ภิกษุแม้กำลังนั่ง ผู้เป็นอย่างนี้
มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจ
ต่อเนื่องตลอดไป’
ถ้าภิกษุผู้กำลังนอน ตื่นอยู่ ปราศจากอภิชฌา พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจ-
กุกกุจจะ ละวิจิกิจฉาได้ ปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม
มีกายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ ภิกษุแม้กำลังนอน ตื่นอยู่
ผู้เป็นอย่างนี้ มีความเพียร มีโอตตัปปะ เราเรียกว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร อุทิศกาย
และใจต่อเนื่องตลอดไป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ภิกษุควรเดินสำรวม ยืนสำรวม นั่งสำรวม นอนสำรวม
คู้เข้าสำรวม เหยียดออกสำรวม
พิจารณาความเกิด และความดับแห่งธรรมขันธ์๑
ทั่วภูมิอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งชั้นบน ชั้นกลาง ชั้นล่าง

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมขันธ์ หมายถึงเบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) (ขุ.อิติ.อ. ๑๑๑/๔๑๐,
องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๒/๒๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๓. โลกสูตร
นักปราชญ์ทั้งหลายเรียกภิกษุเช่นนั้น ผู้มีความเพียร
ละกิเลสอยู่อย่างนี้ ประพฤติตนสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน
ผู้ศึกษาข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ความสงบใจ๑
มีสติทุกเมื่อว่า ‘ผู้อุทิศกายและใจต่อเนื่อง’
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
สัมปันนสีลสูตรที่ ๑๒ จบ

๑๓. โลกสูตร๒
ว่าด้วยโลก
[๑๑๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้
พระอรหันต์กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตตรัสรู้โลก๓แล้ว ตถาคตพรากจากโลก ตถาคตตรัสรู้
เหตุเกิดแห่งโลก ตถาคตละเหตุเกิดแห่งโลกแล้ว ตถาคตตรัสรู้ความดับแห่งโลก
ตถาคตทำให้แจ้งความดับแห่งโลก ตถาคตตรัสรู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลก
ตถาคตบำเพ็ญข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลกแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ศึกษาข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ความสงบใจ หมายถึงผู้ปฏิบัติบำเพ็ญให้เกิดญาณทัสสนวิสุทธิอันเป็นข้อ
ปฏิบัติสมควรแก่อริยมรรค กล่าวคือ เจโตสมถะ เพราะสงบระงับกิเลสได้สิ้นเชิง (ขุ.อิติ.อ. ๑๑๑/๔๑๐)
๒ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๑๘๘/๑๑๗, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๓/๓๗-๓๙
๓ โลก มีความหมายหลายนัย แต่ในที่นี้หมายถึงทุกขอริยสัจ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/๓๐๑, ขุ.อิติ.อ. ๑๑๒/๔๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๓. โลกสูตร
เพราะตถาคตตรัสรู้รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ๑ ธรรมารมณ์
ที่ได้รู้แจ้ง ที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ถึง แสวงหา ตรองตามด้วยใจทั้งหมด ฉะนั้น
ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในราตรีใด และปรินิพพานด้วย
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุในราตรีใด ในระหว่างนี้ ย่อมภาษิต กล่าว แสดงออก
ซึ่งคำใด คำนั้นทั้งหมดเป็นจริงอย่างนั้นแล ไม่เป็นอย่างอื่น ฉะนั้น ชาวโลกจึง
เรียกว่า ‘ตถาคต’
เพราะตถาคตกล่าวอย่างใด (ยถาวาที) ก็ทำอย่างนั้น (ตถาการี) ทำอย่างใด
(ยถาการี) ก็กล่าวอย่างนั้น (ตถาวาที) ฉะนั้น ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตเป็นผู้ยิ่งใหญ่ เห็นถ่องแท้ แผ่อำนาจไปในโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา
และมนุษย์ ฉะนั้น ชาวโลกจึงเรียกว่า ‘ตถาคต’
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลใดรู้แจ้งโลกทั้งปวงตามความเป็นจริงทั้งหมด
พรากจากโลกทั้งปวง ไม่มีกิเลสสั่งสมอยู่ในโลกทั้งปวง
บุคคลนั้นแลครอบงำอารมณ์ได้ทั้งหมด

เชิงอรรถ :
๑ รูปที่ได้เห็น หมายถึงรูปายตนะ (อายตนะคือรูป) เสียงที่ได้ฟัง หมายถึงสัททายตนะ (อายตนะคือเสียง)
อารมณ์ที่ได้ทราบ หมายถึงคันธายตนะ (อายตนะคือกลิ่น) รสายตนะ (อายตนะคือรส) โผฏฐัพพายตนะ
(อายตนะคือโผฏฐัพพะ)
อารมณ์ทั้ง ๓ นี้ ชื่อว่าอารมณ์ที่ได้ทราบ เพราะเป็นสภาวะที่เข้ามากระทบจมูก ลิ้นหรือกายแล้วเท่านั้น
จึงกำหนดได้ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๓/๓๐๑, ขุ.อิติ.อ. ๑๑๒/๔๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] ๑๓. โลกสูตร
เป็นนักปราชญ์ ปลดเปลื้องกิเลสที่ร้อยรัดได้ทั้งหมด
บรรลุนิพพานที่มีความสงบอย่างยิ่ง ไม่มีภัยแต่ที่ไหน
บุคคลนี้สิ้นอาสวะ เป็นพุทธะ
ไม่มีทุกข์ ตัดความสงสัยได้
บรรลุความสิ้นกรรมทั้งปวง
หลุดพ้นเพราะสิ้นอุปธิ
บุคคลนั้นเป็นผู้มีโชค ตรัสรู้
เปรียบเหมือนราชสีห์ที่ยอดเยี่ยม
ประกาศพรหมจักรแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก
เพราะเหตุนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ที่ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ
จึงมาประชุมกันนมัสการพระองค์ผู้ยิ่งใหญ่ ทรงแกล้วกล้า
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนมัสการพระพุทธเจ้านั้น
ผู้ยิ่งใหญ่ ทรงแกล้วกล้า ด้วยการสรรเสริญว่า
‘เป็นผู้ฝึกฝนที่ประเสริฐสุดในหมู่ผู้ฝึกตนทั้งหลาย
เป็นฤๅษีผู้สงบกว่าผู้สงบทั้งหลาย
เป็นผู้หลุดพ้นที่ยอดเยี่ยมกว่าผู้หลุดพ้นทั้งหลาย
เป็นผู้ข้ามพ้นที่ประเสริฐกว่าผู้ข้ามพ้นทั้งหลาย
ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ไม่มีบุคคลที่เปรียบเทียบกับพระองค์ได้
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
โลกสูตรที่ ๑๓ จบ
จตุกกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๔. จตุกกนิบาต] รวมพระสูตรที่มีในนิบาต
รวมพระสูตรที่มีในนิบาตนี้ คือ

๑. พราหมณธัมมยาคสูตร ๒. สุลภสูตร
๓. อาสวักขยสูตร ๔. สมณพราหมณสูตร
๕. สีลสัมปันนสูตร ๖. ตัณหุปปาทสูตร
๗. สพรหมกสูตร ๘. พหุการสูตร
๙. กุหสูตร ๑๐. นทีโสตสูตร
๑๑. จรสูตร ๑๒. สัมปันนสีลสูตร
๑๓. โลกสูตร

ในคัมภีร์อิติวุตตกะ มีจำนวนพระสูตรทั้งหมด ๑๑๒ สูตร
อิติวุตตกะ จบ

รวมพระสูตรที่มีในอิติวุตตกะ
เอกกนิบาต มี ๒๗ สูตร ทุกนิบาต มี ๒๒ สูตร
ติกนิบาต มี ๕๐ สูตร จตุกกนิบาต มี ๑๓ สูตร
รวมพระสูตรที่พระอรหันต์ทั้งหลายรวบรวมร้อยกรองไว้ ตั้งชื่อว่าอิติวุตตกะ
เพื่อให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ชั่วกาลนาน จำนวน ๑๑๒ สูตร
อิติวุตตกะ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑. อุรคสูตร
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย สุตตนิบาต
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. อุรควรรค
หมวดว่าด้วยการกำจัดกิเลสดุจงูลอกคราบ
๑. อุรคสูตร
ว่าด้วยการกำจัดกิเลสดุจงูลอกคราบ
[๑] ภิกษุผู้กำจัดความโกรธที่เกิดขึ้นได้
เหมือนหมองูกำจัดพิษงูที่แผ่ซ่านไปด้วยยากำจัดพิษ
ชื่อว่าละฝั่งในได้๑ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๒] ภิกษุผู้ตัดราคะ๒พร้อมทั้งอนุสัยกิเลสได้ทั้งหมด
เหมือนคนลงไปตัดดอกปทุมที่งอกขึ้นในสระจนหมดสิ้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ฝั่งใน หมายถึงสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นอัตตาของตน)
(๒) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (๓) สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลและวัตร) (๔) กามราคะ (ความ
กำหนัดในกาม) (๕) ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ) (ขุ.สุ.อ. ๑/๑/๑๒)
๒ ราคะ ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.สุ.อ.๑/๑/๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑. อุรคสูตร
[๓] ภิกษุตัดตัณหาที่ท่วมทับสัตว์โลก เป็นไปรวดเร็ว
ให้เหือดแห้งไปทีละน้อย ๆ จนหมดสิ้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๔] ภิกษุผู้กำจัดมานะได้หมดสิ้น
เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดสะพานไม้อ้อที่อ่อนกำลังให้ทะลายไปหมดสิ้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๕] ภิกษุผู้ใช้ปัญญาค้นคว้าอยู่
ไม่พบแก่นสารในภพทั้งหลาย๑
เหมือนพราหมณ์ค้นหาดอกมะเดื่อบนต้นไม่พบ ฉะนั้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๖] ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสกำเริบภายในจิต
และล่วงพ้นความเจริญและความเสื่อมมีประการต่าง ๆ ได้
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๗] ภิกษุผู้ระงับวิตกทั้งหลายได้
กำหนดวิตกทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในตนได้ด้วยดี
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๘] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
ล่วงพ้นปปัญจธรรม๒ได้ทั้งหมด
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ไม่พบแก่นสารในภพทั้งหลาย หมายถึงไม่พบนิจจภาวะ(ภาวะเที่ยง) หรืออัตตภาวะ(ภาวะที่เป็นอัตตา)
ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญีภพ อสัญญีภพ เนวสัญญีนาสัญญีภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ และ
ปัญจโวการภพ (ขุ.สุ.อ. ๑/๕/๑๘)
๒ ปปัญจธรรม หมายถึงกิเลสเครื่องเนิ่นช้า มี ๓ อย่าง คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ.๑/๘/๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑. อุรคสูตร
[๙] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
รู้สิ่งทั้งหมด๑ในโลกว่า มีภาวะผันแปร
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๐] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
รู้สิ่งทั้งหมดในโลกว่า มีภาวะผันแปร เป็นผู้ปราศจากโลภะ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๑] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
รู้สิ่งทั้งหมดในโลกว่า มีภาวะผันแปร เป็นผู้ปราศจากราคะ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๒] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
รู้สิ่งทั้งหมดในโลกว่า มีภาวะผันแปร เป็นผู้ปราศจากโทสะ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๓] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
รู้สิ่งทั้งหมดในโลกว่า มีภาวะผันแปร เป็นผู้ปราศจากโมหะ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๔] ภิกษุผู้ไม่มีอนุสัยกิเลส๒ใด ๆ
และถอนรากอกุศลธรรม๓ได้หมดสิ้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ สิ่งทั้งหมด ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ธาตุ และอายตนะ (ขุ.สุ.อ. ๑/๙/๒๐)
๒ อนุสัยกิเลส หมายถึงกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน มี ๗ ประการ คือ (๑) กามราคะ (ความกำหนัด
ในกาม) (๒) ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ) (๓) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) (๔) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
(๕) มานะ (ความถือตัว) (๖) ภวราคะ (ความกำหนัดในภพ) (๗) อวิชชา (ความไม่รู้) (ขุ.สุ.อ.๑/๑๔/๒๑)
๓ รากอกุศลธรรม หมายถึงราคะ โทสะ และโมหะ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๔/๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๒. ธนิยสูตร
[๑๕] ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสที่เกิดจากความกระวนกระวายใด ๆ
อันเป็นปัจจัยเพื่อมาสู่ฝั่งใน
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๖] ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสที่เกิดจากตัณหานุสัยดุจป่าใด ๆ
ซึ่งเป็นเหตุกำหนดความผูกพันไว้ในภพ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๗] ภิกษุผู้ละนิวรณ์๑ ๕ ได้
ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ปราศจากกิเลสเพียงดังลูกศร
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
อุรคสูตรที่ ๑ จบ

๒. ธนิยสูตร
ว่าด้วยการโต้ตอบระหว่างนายธนิยะกับพระพุทธเจ้า
[๑๘] (นายธนิยะเจ้าของโคกล่าวดังนี้)
ข้าพเจ้าปรุงอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว รีดน้ำนมโคไว้แล้ว
อยู่ร่วมกับบริวารช่วยเหลือกัน ใกล้ฝั่งแม่น้ำมหี
มุงหลังคากั้นฝาเรือน นำไฟมาติดไว้เรียบร้อย
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๑๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราเป็นผู้ไม่โกรธ ปราศจากกิเลสดุจตะปูตรึงใจ
พักแรม ๑ ราตรี ใกล้ฝั่งแม่น้ำมหี
เพิงที่พักคืออัตภาพ ก็ปราศจากหลังคาเครื่องมุงบัง
กองไฟคือราคะเป็นต้นก็ดับหมดแล้ว
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด

เชิงอรรถ :
๑ นิวรณ์ หมายถึงธรรมเป็นเครื่องกั้นความดี มี ๕ ประการ คือ (๑) กามฉันทะ (ความพอใจในกาม)
(๒) พยาบาท (ความคิดร้าย) (๓) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่าน
และร้อนใจ) (๕) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (ขุ.สุ.อ.๑/๑๗/๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๒. ธนิยสูตร
[๒๐] (นายธนิยะเจ้าของโคกล่าวดังนี้)
ฝูงโคของข้าพเจ้าไม่มีเหลือบและยุงมารบกวน
เที่ยวหากิน ณ ริมฝั่งแม่น้ำที่มีหญ้างอกงาม
จึงสามารถทนฝนที่ตกลงมาได้ดี
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๒๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราผูกแพคืออริยมรรค ตกแต่งคือบำเพ็ญดีแล้ว
กำจัดห้วงน้ำคือกิเลสได้แล้ว ข้ามไปจนถึงฝั่งแล้ว๑
จึงไม่มีความต้องการแพนั้นอีกต่อไป
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๒๒] (นายธนิยะเจ้าของโคกล่าวดังนี้)
ภรรยาของข้าพเจ้าเป็นหญิงเชื่อฟัง ไม่โลเล๒
ครองรักร่วมกันมานานหลายปี เป็นที่ไว้วางใจของข้าพเจ้า
ความชั่ว๓ใด ๆ ของนาง ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินเลย
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๒๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
จิตของเราเชื่อฟังเรา หลุดพ้นกิเลสแล้ว
เราฝึกอบรมมานานจนเป็นจิตที่ฝึกหัดดีแล้ว
ดังนั้น เราจึงไม่มีความชั่ว๔ใด ๆ ต่อไป
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ข้ามไปจนถึงฝั่ง หมายถึงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑/๓๓)
๒ โลเล หมายถึงความลุ่มหลง ความอยากของสตรี มี ๕ อย่าง (๑) โลเลในอาหาร (๒) โลเลในเครื่อง
ประดับ (๓) โลเลในบุรุษอื่น (๔) โลเลในทรัพย์ (๕) โลเลในการเที่ยวเตร่ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒/๓๓)
๓ ความชั่ว (บาป) ที่นายธนิยะกล่าวนั้นหมายถึงความประพฤตินอกใจ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒/๓๓)
๔ ความชั่ว ที่พระผู้มีพระภาคตรัสนั้นหมายถึงกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจาร และอาชีวะที่ไม่บริสุทธิ์
(ขุ.สุ.อ. ๑/๒๓/๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๒. ธนิยสูตร
[๒๔] (นายธนิยะเจ้าของโคกล่าวดังนี้)
ข้าพเจ้าเป็นผู้ทำการงานของตนเองเลี้ยงชีวิต
ทั้งบุตรธิดาของข้าพเจ้าก็พร้อมหน้า ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
ความชั่ว๑ใด ๆ ของบุตรธิดาเหล่านั้น ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินเลย
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๒๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราไม่เป็นลูกจ้างใคร๒
เที่ยวไปด้วยความเป็นสัพพัญญู
ผู้ไม่มีความต้องการในโลกทั้งปวง
เราจึงไม่มีความต้องการด้วยค่าจ้างอีกต่อไป
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๒๖] (นายธนิยะเจ้าของโคกล่าวดังนี้)
ในจำนวนฝูงโคของข้าพเจ้านี้
มีทั้งโครุ่นที่ยังไม่ได้ฝึก
ลูกโคที่ยังดื่มนม แม่โคที่กำลังตั้งครรภ์
แม่โควัยเจริญพันธุ์ และโคสำคัญที่เป็นจ่าฝูง
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๒๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ในจำนวนฝูงโคคือศาสนธรรมของเรานี้
ไม่มีทั้งโครุ่นที่ยังไม่ได้ฝึก๓

เชิงอรรถ :
๑ ความชั่ว ของบุตรธิดาที่นายธนิยะกล่าวนั้น หมายถึงความเป็นโจร เป็นภรรยาของคนอื่น หรือเป็นผู้ทุศีล
(ขุ.สุ.อ. ๑/๒๔/๓๖)
๒ ไม่เป็นลูกจ้างใคร หมายถึงไม่เป็นทาสแห่งตัณหา (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๕/๓๖)
๓ โครุ่นที่ยังไม่ได้ฝึก ในที่นี้หมายถึงปริยุฏฐานกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๗/๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๒. ธนิยสูตร
ลูกโคที่ยังดื่มนม๑ แม่โคที่กำลังตั้งครรภ์๒
แม่โควัยเจริญพันธุ์๓และโคสำคัญที่เป็นจ่าฝูง๔
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๒๘] (นายธนิยะเจ้าของโคกล่าวดังนี้)
ข้าพเจ้าปักเสาสำหรับล่ามโคไว้แน่นหนา ไม่โยกคลอน
เชือกพิเศษสำหรับล่ามโคทั้งหลาย
ก็ฝั้นด้วยหญ้าปล้องใหม่ ๆ มีรูปทรงกะทัดรัดดี
ถึงแม้โคหนุ่ม ๆ จะดิ้นดึง ก็ไม่สามารถทำให้ขาดได้เลย
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๒๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราได้ตัดเครื่องผูกทั้งหลาย
เหมือนโคอุสภะสลัดเชือกที่ล่ามไว้จนขาดสะบั้น
ทำลายเถาหัวด้วนเหมือนช้างทำลายเถาหัวด้วนจนแหลกละเอียด๕
จึงไม่ต้องกลับมาเกิดอีก
ฝนเอ๋ย หากท่านอยากตกก็เชิญตกลงมาเถิด
[๓๐] (พระสังคีติกาจารย์กล่าวดังนี้)
ทันใดนั่นเอง ฝนห่าใหญ่ได้ตกลงมา
จนน้ำท่วมเต็มทั้งที่ลุ่มและที่ดอน
นายธนิยะเจ้าของโคได้ยินเสียงฝนที่กำลังตกอยู่
ได้กราบทูลเนื้อความดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ลูกโคที่ยังดื่มนม ในที่นี้หมายถึงอนุสัยกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๗/๓๗)
๒ แม่โคที่กำลังตั้งครรภ์ ในที่นี้หมายถึงปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร (ขุ.สุ.อ.
๑/๒๗/๓๗)
๓ แม่โควัยเจริญพันธุ์ ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.สุ.อ.๑/๒๗/๓๗)
๔ โคจ่าฝูง ในที่นี้หมายถึงอภิสังขารวิญญาณ (ขุ.สุ.อ.๑/๒๗/๓๗)
๕ พระองค์ทรงทำลายเถาหัวด้วน คือ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ ด้วยโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค
และอนาคามิมรรค เหมือนช้างทำลายเถาหัวด้วน ทรงตัดเครื่องผูกคืออุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ
ด้วยอรหัตตมรรคเหมือนโคอุสภะสลัดเชือก (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๙/๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๒. ธนิยสูตร
[๓๑] เป็นลาภของพวกข้าพระองค์ไม่น้อยเลย
ที่พวกข้าพระองค์ได้เห็นพระผู้มีพระภาค
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
พวกข้าพระองค์ขอถึงพระองค์เป็นสรณะ
ข้าแต่พระมหามุนี ขอพระองค์ทรงเป็นพระศาสดา
ของพวกข้าพระองค์เถิด
[๓๒] ข้าพระองค์และภรรยามีศรัทธาเชื่อฟังพระองค์
ขอประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระสุคต
ข้าพระองค์ทั้งสองขอเป็นผู้ไปถึงฝั่งแห่งชาติและมรณะ
จะเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
[๓๓] (มารผู้มีบาปกล่าวดังนี้)
คนมีบุตรก็เพลิดเพลินบุตร
เช่นเดียวกับคนมีโคก็เพลิดเพลินโค
เพราะคนมีอุปธิ๑เป็นเหตุเพลิดเพลิน
คนที่ไม่มีอุปธิย่อมไม่เพลิดเพลินเลย
[๓๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนมีบุตรก็เศร้าโศกเพราะบุตร
เช่นเดียวกับคนมีโคก็เศร้าโศกเพราะโค
เพราะคนมีอุปธิเป็นเหตุเศร้าโศก
คนที่ไม่มีอุปธิ ย่อมไม่เศร้าโศกเลย
ธนิยสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อุปธิ หมายถึงกิเลสที่ทำให้ติดอยู่ในวัฏฏสงสารมี ๔ อย่าง คือ (๑) กามูปธิ (อุปธิคือกาม) (๒) ขันธูปธิ
(อุปธิคือขันธ์) (๓) กิเลสูปธิ (อุปธิคือกิเลส) (๔) อภิสังขารูปธิ (อุปธิคืออภิสังขาร) (ขุ.สุ.อ. ๑/๓๓/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
๓. ขัคควิสาณสูตร๑
ว่าด้วยพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้ประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๓๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น
ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด๒
[๓๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ความรักย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง
ทุกข์นี้ย่อมเป็นไปตามความรัก
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๓๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี
มีใจผูกพัน ย่อมทำประโยชน์๓ให้เสื่อมไปได้

เชิงอรรถ :
๑ คาถาที่ ๓๕-๗๕ เป็นคำที่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแต่ละองค์กล่าวไว้ คือ พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าประวัติ
ในอดีตชาติของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์นั้น ๆ ได้กล่าวคาถาว่าอย่างนั้น ๆ
ให้พระอานนท์ฟัง (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๘) และดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๑-๑๖๑/๓๙๓-๔๙๙
๒ ประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด หมายถึงประพฤติตามจริยา ๘ อย่าง คือ (๑) ความประพฤติ
ในอิริยาบถ ๔ (๒) ความประพฤติในอายตนะภายในและภายนอก (๓) ความประพฤติในสติปัฏฐาน ๔
(๔) ความประพฤติในสมาธิคือฌาน ๔ (๕) ความประพฤติในอริยสัจ ๔ (๖) ความประพฤติในอริยมรรค ๔
(๗) ความประพฤติในสามัญญผล ๔ (๘) ความประพฤติเพื่อประโยชน์แก่โลก
และสามารถละตัณหาได้ ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ละกิเลสได้สิ้นเชิง ดำเนินทางสายเอกกล่าวคือ
สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ และตรัสรู้
อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เหมือนแรดมีนอเดียว ไม่มีนอที่สอง (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๑/๓๙๕-๔๐๑, ขุ.สุ.อ.
๑/๓๕/๖๐-๖๑)
๓ ประโยชน์ มี ๓ อย่าง คือ (๑) ทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ในโลกนี้) (๒) สัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์ใน
โลกหน้า) (๓) ปรมัตถะ (ประโยชน์ยอดเยี่ยม) (ขุ.สุ.อ.๑/๓๗/๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยในความเชยชิด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๓๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
กอไผ่กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวกันไว้ ฉันใด
ความห่วงใยในบุตรและทาระ
ก็กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวไว้ ฉันนั้น
บุคคลเมื่อไม่เกี่ยวข้องเหมือนหน่อไผ่
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๓๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
เนื้อในป่า มิได้ถูกผูกมัดไว้
ย่อมเที่ยวหาอาหารได้ตามความพอใจ ฉันใด
วิญญูชนเมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี๑
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากัน
ในเรื่องที่อยู่ เรื่องการดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นการบวชที่ให้ถึงความเสรี
ที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการเล่น มีความยินดี
และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์

เชิงอรรถ :
๑ ความเสรี มี ๒ อย่าง (๑) ธัมมเสรี ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕
โพชฌงค์ ๗ และอริยมรรคมีองค์ ๘ (๒) บุคคลเสรี คือ ผู้ที่มีธัมมเสรี (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๕/๔๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง ๔ ทิศ ไม่ขัดเคือง
ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้๑
ครอบงำอันตรายทั้งหลาย และไม่หวาดเสียว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
แม้บรรพชิตพวกหนึ่ง และคฤหัสถ์ที่กำลังครองเรือน
สงเคราะห์ได้ยาก๒
บุคคลพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยทั้งในผู้อื่นและในบุตร
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้กล้าหาญ
ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว๓
ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ หมายถึงยินดีปัจจัยตามที่ได้(ยถาลาภสันโดษ) ยินดีตามกำลัง(ยถาพลสันโดษ)
ยินดีตามสมควร(ยถาสารุปปสันโดษ) เช่นได้จีวรไม่ว่าจะหยาบ ละเอียด เศร้าหมอง ประณีต คงทน หรือ
เก่าก็ตาม ก็ยินดีด้วยสันโดษทั้ง ๓ นั้น (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๒/๘๒, ขุ.จู.อ. ๑๒๘/๑๑๗)
๒ สงเคราะห์ได้ยาก หมายถึงเป็นผู้ถูกความไม่สันโดษครอบงำ (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๓/๘๔)
๓ เครื่องหมายคฤหัสถ์ คือ ผม หนวด ผ้าขาว เครื่องประดับ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ สตรี บุตร ทาส
เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๔/๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
[๔๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี๑ เป็นนักปราชญ์
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด
[๔๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว
และเหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น๒
[๔๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
เราสรรเสริญสหายสัมปทาโดยแท้
บุคคลควรคบสหายผู้ประเสริฐสุด (หรือ) ผู้เสมอกัน
ถ้าบุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้ พึงเป็นผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลเห็นกำไลทอง ๒ วง อันสุกปลั่ง
ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี กระทบกันอยู่ที่ข้อมือแล้ว๓
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๑๓๕ ในเล่มนี้
๒ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๔๖๔/๓๕๕, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๗-๑๙/๓๐๓ และดูธรรมบทข้อ ๓๒๘-๓๒๙ หน้า
๑๓๕-๑๓๖ ในเล่มนี้
๓ หมายถึงเกิดความเบื่อหน่ายด้วยพิจารณาเห็นว่าคนอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก ย่อมกระทบกระะทั่งกันได้
ด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ ดุจกำไลมือกระทบกัน (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๘/๙๑) และดู ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๔/๔๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
[๔๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้)
ด้วยอาการอย่างนี้ การกล่าววาจา๑
หรือความเกี่ยวข้องกับเพื่อน พึงมีแก่เรา
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัย๒นี้ต่อไป
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
เพราะกามทั้งหลายสวยงาม
มีรสอร่อย น่ารื่นเริงใจ
ยั่วยวนจิตด้วยอารมณ์หลายรูปแบบ
บุคคลเห็นโทษในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
คำว่า ‘กาม’ นี้ เป็นอันตราย เป็นดุจฝี เป็นอุปัทวะ
เป็นโรค เป็นดุจลูกศร และเป็นภัย
บุคคลเห็นภัยนี้ในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลครอบงำภัยทั้งปวงเหล่านี้ คือ
ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
ลม แดด เหลือบ และสัตว์เลื้อยคลานแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ การกล่าววาจา ในที่นี้หมายถึงติรัจฉานกถา ๓๒ ประการ มีเรื่องพระราชา เรื่องโจร เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๑๓๕/๔๓๙)
๒ ภัย หมายถึงชาติภัย ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย ราชภัย โจรภัย เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๕/๔๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
[๕๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละทิ้งหมู่ มีขันธ์๑เกิดดีแล้ว
มีดอกบัว (คือธรรม) เป็นผู้ยิ่งใหญ่
อยู่ในป่าตามความชอบใจได้
เหมือนนาคะ๒ละทิ้งโขลงแล้วอยู่ในป่าได้ตามชอบใจ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลสัมผัสวิมุตติใด ซึ่งเกิดขึ้นตามสมัย
วิมุตตินั้น เป็นไปไม่ได้สำหรับบุคคล
ผู้ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
บุคคลใคร่ครวญถ้อยคำของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า)ประพฤติล่วงทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม๓
ถึงนิยาม๔ ได้เฉพาะมรรค๕แล้ว
เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ ขันธ์ ในที่นี้หมายถึงอเสขสีลขันธ์ (กองแห่งศีลของพระอเสขะ) (ขุ.สุ.อ.๑/๕๓/๙๙)
๒ นาคะ ที่เป็นชื่อของช้าง เพราะช้างไดรับการฝึกให้อยู่ในระเบียบที่มนุษย์ต้องการได้ เพราะช้างไม่กลับมาสู่
ระดับเดิมที่ยังไม่ได้ฝึก หรือเพราะช้างมีสรีระใหญ่ ที่เป็นชื่อของพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะท่านฝึกตนในศีล
ที่พระอริยะใคร่ เพราะท่านไม่กลับมาสู่ภูมิที่ไม่ได้ฝึก เพราะท่านไม่ทำความชั่ว หรือเพราะท่านมีคุณอันยิ่งใหญ่
(ขุ.สุ.อ.๑/๕๓/๙๘)
๓ ทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ เป็นเสี้ยนหนามต่อสัมมาทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ.๑/๕๕/๑๐๒)
๔ ถึงนิยาม ในที่นี้หมายถึงบรรลุมรรค ๔ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๑/๔๕๓)
๕ มรรค ในที่นี้หมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๑/๔๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
[๕๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) เป็นผู้ไม่โลภ
ไม่หลอกลวง ไม่กระหาย ไม่มีความลบหลู่
กำจัดกสาวะ(กิเลสดุจน้ำย้อม) และโมหะได้แล้ว
ไม่มีความหวัง๑ในโลกทั้งปวง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลพึงละเว้นสหายชั่วผู้ไม่เห็นประโยชน์
ผู้ตั้งอยู่ในธรรมที่ผิด
ไม่พึงคบคนผู้ขวนขวาย๒ และผู้ประมาทด้วยตนเอง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม
ผู้ยิ่งใหญ่ มีปฏิภาณ รู้จักประโยชน์แล้ว
พึงกำจัดความสงสัยได้
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ชื่นชมการเล่น
ความยินดี และความสุขในโลก ไม่ใส่ใจ
งดเว้นจากฐานะแห่งการประดับตกแต่ง พูดคำจริง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละทิ้งบุตร ภรรยา บิดา มารดา
ทรัพย์ ธัญชาติ พวกพ้อง และกาม ตามส่วนแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีความหวัง หมายถึงไม่มีตัณหา (ขุ.สุ.อ.๑/๕๖/๑๐๕)
๒ ขวนขวาย หมายถึงเกี่ยวข้องในธรรมผิดด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ ประการ (ขุ.สุ.อ.๑/๕๗/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
[๖๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
กามนี้เป็นเครื่องข้อง มีความสุขน้อย
ในกามนี้มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก
ผู้มีปัญญารู้ว่า กามนี้เป็นดุจขอเหล็กแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ทำลายสังโยชน์แล้ว
เหมือนสัตว์น้ำทำลายข่าย
และเหมือนไฟไหม้เชื้อมอดหมดไปไม่กลับมา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ภิกษุเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
คุ้มครองอินทรีย์ รักษาใจได้แล้ว
ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ไฟกิเลสมิได้เผา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
ครองผ้ากาสาวะ ออกบวช
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด๑
[๖๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ทำความยินดีในรส ไม่โลเล
ผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก
มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่าง ๆ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความคล้ายกันกับสุตตนิบาตข้อ ๔๔ หน้า ๕๐๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
[๖๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละนิวรณ์ ๕ อย่าง
ขจัดอุปกิเลส๑แห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว
ไม่อิงอาศัย ตัดความรัก และความชังได้แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละทิ้งสุขและทุกข์
โสมนัส โทมนัสก่อน ๆ ได้แล้ว
ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ตั้งความเพียร
เพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง๒
มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
มีความบากบั่นมั่นคง เข้าถึงเรี่ยวแรงและกำลังแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ละการหลีกเร้น๓และฌาน
ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิตย์

เชิงอรรถ :
๑ อุปกิเลส หมายถึงอกุศลธรรมที่เข้าไปเบียดเบียนจิต มี ๑๖ คือ (๑) อภิชฌาวิสามโลภะ คิดเพ่งเล็งอยากได้
(๒) พยาบาท คิดร้ายเขา (๓) โกธะ ความโกรธ (๔) อุปนาหะ ความผูกโกรธ (๕) มักขะ ความลบหลู่
คุณท่าน (๖) ปลาสะ ความตีเสมอ (๗) อิสสา ความริษยา (๘) มัจฉริยะ ความตระหนี่ (๙) มายา มารยา
(๑๐) สาเถยยะ ความโอ้อวดหลอกเขา (๑๑) ถัมภะ ความหัวดื้อ (๑๒) สารัมภะ ความแข่งดี (๑๓) มานะ
ความถือตัว (๑๔) อติมานะ ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา (๑๕) มทะ ความมัวเมา (๑๖) ปมาทะ ความประมาท
(ขุ.สุ.อ.๑/๖๖/๑๑๗)
๒ ประโยชน์อย่างยิ่ง หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ.๑/๖๘/๑๒๑)
๓ การหลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก (สงัดกาย) (ขุ.สุ.อ.๑/๖๙/๑๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๓. ขัคควิสาณสูตร
พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ปรารถนาความสิ้นตัณหา
ไม่ประมาท ไม่โง่เขลา คงแก่เรียน มีสติ
ผู้มีสังขาตธรรม ผู้แน่นอน มีความมุ่งมั่น
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่สะดุ้งในเพราะเสียง เหมือนราชสีห์
ไม่ติดข่าย๑ เหมือนลม
ไม่เปียกน้ำ๒ เหมือนบัว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
พญาสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง
ข่มขี่ ครอบงำเนื้อทั้งหลายเที่ยวไป ฉันใด
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็มีปัญญาเป็นกำลัง
ครอบงำบุคคลทั้งหลายด้วยปัญญา
ใช้เสนาสนะอันสงัด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) เสพอาศัยเมตตา กรุณา
มุทิตา และอุเบกขา อันเป็นวิมุตติตามกาล

เชิงอรรถ :
๑ ข่าย หมายถึง ตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.จู (แปล) ๓๐/๑๕๗/๔๙๓)
๒ ไม่เปียกน้ำ ในที่นี้หมายถึงไม่ติดด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.จู (แปล) ๓๐/๑๕๗/๔๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๔. กิสภารทวาชสูตร
สัตว์โลกทั้งปวงมิได้เกลียดชัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละราคะ โทสะ และโมหะ
ทำลายสังโยชน์ได้แล้ว
ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ทุกวันนี้ มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ
จึงคบและเสพด้วย
มิตรที่ไม่มุ่งประโยชน์หาได้ยาก
มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่งประโยชน์ตน ไม่สะอาด๑
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
ขัคควิสาณสูตรที่ ๓ จบ

๔. กสิภารทวาชสูตร๒
ว่าด้วยภารทวาชพราหมณ์ผู้เป็นชาวนา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคีรีมหาวิหาร๓ ใกล้หมู่บ้าน
พราหมณ์ ชื่อเอกนาฬา แคว้นมคธ สมัยนั้น ในฤดูหว่านข้าว กสิภารทวาช-
พราหมณ์ได้ประกอบไถจำนวน ๕๐๐ เล่ม เตรียมไถนา

เชิงอรรถ :
๑ ไม่สะอาด หมายถึงกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมไม่สะอาด (ขุ.สุ.อ.๑/๗๕/๑๓๑)
๒ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๙๗/๒๘๓
๓ ทักขิณาคีรีมหาวิหาร นี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ติดเชิงภูเขาที่ล้อมรอบกรุงราชคฤห์ ใกล้หมู่บ้านพราหมณ์
(ขุ.สุ.อ.๑/๔/๑๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๔. กิสภารทวาชสูตร
ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปยังที่ทำการงานของกสิภารทวาชพราหมณ์ ขณะนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์
กำลังเลี้ยงอาหารกันอยู่ พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังสถานที่เลี้ยงอาหารของเขาแล้ว
ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร
กสิภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคประทับยืนบิณฑบาตอยู่ จึงกราบทูล
ดังนี้ว่า “ท่านพระสมณะ ข้าพเจ้าไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว จึงบริโภค
ท่านพระสมณะ แม้ท่านก็จงไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว จงบริโภค”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและ
หว่านแล้ว จึงบริโภค”
กสิภารทวาชพราหมณ์ทูลถามว่า “ท่านพระสมณะ ข้าพเจ้าไม่เห็นแอก ไถ
ผาล ประตัก หรือโคทั้งหลายของท่านพระโคดมเลย ถึงกระนั้น ท่านพระโคดม
ยังพูดอย่างนี้ว่า ‘พราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้ว จึงบริโภค”
ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[๗๖] ท่านปฏิญญาว่าเป็นชาวนา
แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นสัมภาระแห่งการไถของท่านเลย
ท่านผู้เป็นชาวนา ข้าพเจ้าถามแล้ว
ขอจงบอก ข้าพเจ้าจะรู้สัมภาระแห่งการไถของท่านได้อย่างไร
[๗๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน
ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริเป็นงอนไถ
ใจเป็นเชือก สติของเราเป็นผาลและประตัก
[๗๘] เราคุ้มครองกาย คุ้มครองวาจาได้แล้ว
สำรวมในการบริโภคอาหาร
เราดายหญ้า (คือวาจาสับปลับ) ด้วยคำสัตย์
โสรัจจะของเราช่วยทำงานให้สำเร็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๔. กิสภารทวาชสูตร
[๗๙] ความเพียรของเราช่วยนำธุระไป
ให้ถึงความเกษมจากโยคะ นำไปไม่ถอยหลัง
นำไปถึงที่ซึ่งบุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก
[๘๐] เราไถนาอย่างนี้
นาที่เราไถนั้นมีผลเป็นอมตะ๑
บุคคลครั้นไถนาอย่างนี้แล้ว
ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์เทข้าวปายาสใส่ถาดสำริดใบใหญ่แล้วน้อมถวาย
พระผู้มีพระภาค พร้อมกับกราบทูลว่า “ขอท่านพระโคดมจงบริโภคข้าวปายาสเถิด
เพราะท่านผู้เจริญทรงเป็นชาวนา ทรงไถนาอันมีผลเป็นอมตะ”
[๘๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราไม่บริโภคโภชนะ
ที่ได้มาเพราะการขับกล่อม
พราหมณ์ ธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมของผู้พิจารณา
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ไม่รับโภชนะที่ได้มาเพราะการขับกล่อม
พราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่
การเลี้ยงชีพแบบนี้ก็ยังมีอยู่
[๘๒] อนึ่ง ท่านจงบำรุงพระขีณาสพ
ผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
มีความคะนองสงบแล้ว ด้วยข้าวและน้ำ
เพราะว่าการบำรุงนั้น
เป็นเขตบุญของผู้แสวงบุญ
กสิภารทวาชพราหมณ์ทูลถามว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้า
จะนำข้าวปายาสนี้ไปถวายใครเล่า”

เชิงอรรถ :
๑ ผลเป็นอมตะ คือ มีนิพพานเป็นอานิสงส์ (ขุ.สุ.อ. ๑/๘๐/๑๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๔. กิสภารทวาชสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เราไม่เห็นใครในโลก พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ที่บริโภค
ข้าวปายาสนั้นแล้ว จะให้ย่อยได้ตามปกติ นอกเสียจากตถาคตหรือสาวกของตถาคต
เท่านั้น พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงนำข้าวปายาสนี้ไปเททิ้งบนพื้นดินที่ปราศจาก
ต้นไม้ใบหญ้า หรือเทลงในน้ำที่ไม่มีสัตว์อาศัยอยู่เถิด”
ลำดับนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์จึงนำข้าวปายาสนั้นไปเททิ้งลงในน้ำที่ไม่มี
สัตว์อาศัยอยู่ พอข้าวปายาสนั้นถูกเทจมลงในน้ำ ก็เกิดเสียงดังแฉ่ ๆ ปรากฏ
ควันโขมงคลุ้งขึ้นรอบด้าน เหมือนก้อนเหล็กที่ถูกเผาไฟให้ร้อนอยู่ตลอดวันแล้ว
ถูกนำไปหย่อนลงในน้ำ ก็เกิดเสียงดังแฉ่ ๆ ปรากฏควันโขมงคลุ้งขึ้นรอบด้าน ฉะนั้น
เมื่อเห็นดังนั้น กสิภารทวาชพราหมณ์จึงสลดใจ เกิดอาการขนพองสยองเกล้า
ตรงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ หมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มี
พระภาค พร้อมกับกราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดม
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะ
ยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือน
บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป
ในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม
พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์
ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต ข้าแต่ท่านพระโคดม
ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของท่านพระโคดมด้วยเถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
กสิภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค หลังจาก
อุปสมบทแล้วไม่นาน ท่านพระภารทวาชะจากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์
ที่กุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึง
อยู่ในปัจจุบัน ได้รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
จึงเป็นอันว่า ท่านพระภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดา
พระอรหันต์ทั้งหลาย
กสิภารทวาชสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๕. จุนทสูตร
๕. จุนทสูตร
ว่าด้วยปัญหาของนายจุนทกัมมารบุตร
[๘๓] (นายจุนทกัมมารบุตรทูลถามปัญหาดังนี้)
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระพุทธเจ้าผู้เป็นมุนี
มีพระปัญญามาก ทรงเป็นเจ้าของพระธรรม ปราศจากตัณหา
ทรงเป็นผู้ประเสริฐสุดในบรรดาสรรพสัตว์มีสัตว์ ๒ เท้าเป็นต้น
ทรงเป็นผู้เลิศกว่านายสารถีผู้ฝึกทั้งหลายว่า
ในโลกนี้มีสมณะอยู่กี่จำพวก
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกให้ข้าพระองค์ทราบด้วยเถิด
[๘๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
จุนทะ สมณะมีอยู่ ๔ จำพวก ไม่มีสมณะจำพวกที่ ๕
เราถูกท่านถามต่อหน้าอย่างนี้ ก็จะชี้แจงให้ท่านทราบ
สมณะ ๔ จำพวกนั้น คือ
๑. สมณะผู้ชนะกิเลสทั้งปวงด้วยมรรค
๒. สมณะผู้แสดงมรรคแก่ชนเหล่าอื่น
๓. สมณะผู้ดำรงอยู่ในมรรค
๔. สมณะผู้ประทุษร้ายมรรค
[๘๕] (นายจุนทกัมมารบุตรทูลถามปัญหาดังนี้)
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบัญญัติเรียก
สมณะผู้ชนะกิเลสทั้งปวงด้วยมรรคว่าอย่างไร
ทรงบัญญัติเรียกสมณะผู้มีปกติเพ่งมรรค ไม่มีผู้เปรียบเทียบนั้นว่าอย่างไร
ทรงบัญญัติเรียกสมณะผู้ดำรงอยู่ในมรรคนั้นว่าอย่างไร
ทรงบัญญัติเรียกสมณะผู้ประทุษร้ายมรรคนั้นว่าอย่างไร
ข้าพระองค์ทูลถามแล้วขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์
ขอพระองค์ทรงชี้แจงแก่ข้าพระองค์เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๕. จุนทสูตร
[๘๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบัญญัติเรียก
สมณะผู้ข้ามพ้นความสงสัยได้เด็ดขาด
ปราศจากกิเลสดุจลูกศร ยินดียิ่งในนิพพาน
ไม่ติดอยู่ในตัณหา ผู้แนะนำสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกว่า
เป็นสมณะผู้ชนะกิเลสทั้งปวงด้วยมรรค
[๘๗] ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้ รู้ว่า นิพพานเป็นบรมธรรม
แล้วบอก เปิดเผยนิพพานธรรมในธรรมวินัยนี้
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบัญญัติเรียกภิกษุ
ผู้ตัดความสงสัยได้แล้ว เป็นมุนี
ไม่มีตัณหาทำให้หวั่นไหวนั้นว่า
เป็นสมณะจำพวกที่ ๒ ผู้แสดงมรรค
[๘๘] ภิกษุใดเป็นผู้สำรวมแล้ว มีสติ เสพบทอันไม่มีโทษ๑
ดำรงอยู่ในมรรคคือบทแห่งธรรมที่แสดงไว้ดีแล้ว
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบัญญัติเรียกภิกษุนั้นว่า
เป็นสมณะจำพวกที่ ๓ ผู้ดำรงอยู่ในมรรค
[๘๙] ภิกษุใดทำตนเลียนแบบพระอริยะ ผู้มีวัตรดีงาม
ชอบเอาหน้า ประทุษร้ายตระกูล
คะนองกาย วาจา ใจ มีมายา ไม่สำรวม พูดเพ้อเจ้อ
ภิกษุผู้เที่ยวเลียนแบบ จัดเป็นสมณะจำพวกที่ ๔ ผู้ประทุษร้ายมรรค
[๙๐] อนึ่ง คฤหัสถ์ผู้ได้สดับแล้ว เป็นอริยสาวก มีปัญญา
รู้ซึ้งถึงลักษณะสมณะทั้ง ๔ จำพวกนั้น
แล้วรู้ว่า สมณะทั้งหมดไม่เป็นเช่นนี้
เพราะเห็นเช่นนี้ ศรัทธาของเขาจึงไม่เสื่อมไป

เชิงอรรถ :
๑ เสพบทอันไม่มีโทษ หมายถึงปฏิบัติตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ขุ.สุ.อ.๑/๘๘/๑๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๖. ปราภวสูตร
เพราะเห็นว่า บุคคลจะทำสมณะผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
ให้เสมอกับสมณะผู้ทุศีล
และสมณะผู้บริสุทธิ์ให้เสมอกับสมณะผู้ไม่บริสุทธิ์
ได้อย่างไรเล่า
จุนทสูตรที่ ๕ จบ

๖. ปราภวสูตร
ว่าด้วยทางแห่งความเสื่อม
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๑ เทวดาองค์หนึ่ง
มีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วย
คาถาว่า
[๙๑] ข้าพระองค์มาทูลถามถึงคนผู้มีแต่ความเสื่อม
กับพระผู้มีพระภาคผู้โคดมว่า
อะไรเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๙๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ผู้เจริญก็รู้ได้ง่าย๒ ผู้เสื่อมก็รู้ได้ง่าย
ผู้เจริญใคร่ธรรม๓ ผู้เสื่อมชังธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ข้อ ๑ หน้า ๖ ในเล่มนี้
๒ ผู้เจริญก็รู้ได้ง่าย ในที่นี้หมายถึงผู้พัฒนาแล้ว ใคร ๆ ก็รู้ได้ง่ายเพราะได้เห็นหรือได้ยินเกี่ยวกับการ
ประพฤติปฏิบัติของเขา (ขุ.สุ.อ. ๑/๙๒/๑๗๑)
๓ ใคร่ธรรม หมายถึงปรารถนาที่จะฟังและปฏิบัติตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๑/๙๒/๑๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๖. ปราภวสูตร
[๙๓] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๒ ว่าเป็นอย่างไร
[๙๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนที่มีอสัตบุรุษเป็นที่รัก ไม่ทำสัตบุรุษให้เป็นที่รัก
ชอบใจธรรมของอสัตบุรุษ
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๙๕] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๒
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๓ ว่าเป็นอย่างไร
[๙๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้ชอบหลับอยู่เสมอ ชอบสมาคม๑
ไม่ขยันหมั่นเพียร เกียจคร้าน โกรธง่าย
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๙๗] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๓
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๔ ว่าเป็นอย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ ชอบสมาคม หมายถึงชอบคลุกคลีและพูดคุยในเรื่องไร้สาระ (ขุ.สุ.อ. ๑/๙๖/๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๖. ปราภวสูตร
[๙๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้มีความสามารถเลี้ยงตนและผู้อื่นได้
แต่ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่ชรา ผู้ผ่านวัยหนุ่มวัยสาวแล้ว
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๙๙] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๔
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๕ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๐๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้กล่าวมุสาวาท หลอกลวงสมณะหรือพราหมณ์
หรือแม้กระทั่งวณิพกยาจกอื่น ๆ
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๐๑] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๕
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๖ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๐๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้มีทรัพย์มาก มีเงินทองของกินเหลือเฟือ
กินของอร่อยเพียงคนเดียว๑
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม

เชิงอรรถ :
๑ กินของอร่อยเพียงคนเดียว ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้ตระหนี่ลาภกินโดยไม่แบ่งให้แม้กระทั่งบุตรและภรรยา (ขุ.สุ.อ.
๑/๑๐๒/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๖. ปราภวสูตร
[๑๐๓] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๖
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๗ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๐๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนกระด้างเพราะชาติ กระด้างเพราะทรัพย์
และกระด้างเพราะโคตร
ชอบดูหมิ่นญาติของตน
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๐๕] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๗
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๘ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๐๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้เป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา และนักเลงการพนัน
ชอบล้างผลาญทรัพย์สมบัติที่ตนหามาได้
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๐๗] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๘
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๙ ว่าเป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๖. ปราภวสูตร
[๑๐๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้ไม่ยินดีภรรยาของตน ชอบเที่ยวหญิงแพศยา
ชอบคบชู้สู่สาวภรรยาคนอื่น
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๐๙] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๙
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๐ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๑๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ชายแก่ได้หญิงสาววัยรุ่น มีถันเท่าผลมะพลับมาเป็นภรรยา
มักจะนอนไม่ค่อยหลับ เพราะความหึงหญิงสาวรุ่นนั้น
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๑๑] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๐
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๑ ว่าเป็นอย่างไร
[๑๑๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนแต่งตั้งหญิงหรือชายผู้เป็นนักเลง
ใช้จ่ายเงินทองฟุ่มเฟือย ไว้ในความเป็นใหญ่
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๑๓] (เทวดาทูลถามดังนี้)
ด้วยพระดำรัสที่ตรัสบอกนี้ ข้าพระองค์จึงทราบชัดว่า
ข้อนี้นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๑
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ทางแห่งความเสื่อมข้อที่ ๑๒ ว่าเป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๗. วสลสูตร
[๑๑๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนผู้เกิดในขัตติยตระกูล มีโภคะน้อย
แต่มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ปรารถนาจะครองราชย์
นั้นเป็นทางแห่งความเสื่อม
[๑๑๕] บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะอันประเสริฐ
พิจารณาเห็นทางแห่งความเสื่อมในโลก ดังกล่าวมานี้แล้ว
ท่านย่อมคบโลกที่เจริญแน่นอน
ปราภวสูตรที่ ๖ จบ

๗. วสลสูตร
ว่าด้วยลักษณะคนเลว
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครอง
อันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ที่บ้าน
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ มีการจุดไฟเตรียมทำพิธีบูชาไฟ พระผู้มีพระภาคเสด็จ
เที่ยวบิณฑบาตมาตามลำดับตรอก ในกรุงสาวัตถี จนเสด็จเข้าไปถึงนิเวศน์ของ
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลทีเดียว จึงได้กล่าว
ดังนี้ว่า “หยุดอยู่แค่นั้นแหละ คนหัวโล้น หยุดอยู่แค่นั้นแหละ สมณะ หยุดอยู่แค่นั้นแหละ
คนเลว”๑
เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ ท่านรู้จัก
คนเลว หรือธรรมที่ทำให้เป็นคนเลวหรือไม่”

เชิงอรรถ :
๑ เหตุที่อัคคิกภารทวาชพราหมณ์พูดคำหยาบเช่นนี้ เพราะมีความเชื่อว่าการเห็นสมณะในเวลาที่มีงานมงคล
ถือว่าเป็นอวมงคล และมีความเชื่อว่า คนที่มีศีรษะโล้น เป็นคนไม่บริสุทธิ์ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๑๖/๑๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๗. วสลสูตร
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ตอบว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าไม่รู้จักคนเลวหรือ
ธรรมที่ทำให้เป็นคนเลว ดีละ ถ้าท่านพระโคดมรู้ ก็จงแสดงธรรมให้ข้าพเจ้ารู้จัก
คนเลวหรือธรรมที่ทำให้เป็นคนเลวบ้าง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจะกล่าว”
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๑๑๖] คนมักโกรธ ชอบผูกอาฆาต ชอบลบหลู่ดูหมิ่น
เห็นผิดเป็นชอบ มีมายา
พึงทราบว่าเป็นคนเลว๑
[๑๑๗] คนผู้ชอบเบียดเบียนสัตว์ทุกจำพวกในโลกนี้
ไม่มีความเอ็นดูในเพื่อนมนุษย์และสัตว์อื่น
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๑๘] คนผู้ชอบทำลายชีวิตผู้อื่น เที่ยวปล้นสะดม
ถูกประณามว่าเป็นโจรปล้นฆ่าชาวบ้านร้านตลาด
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๑๙] คนเที่ยวลักขโมยทรัพย์สินเงินทอง
ที่เจ้าของหวงแหนไม่ได้ให้ ในบ้านหรือในป่าก็ตาม
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๐] คนกู้หนี้ยืมสินเขามาแล้ว
ถูกทวงกลับกล่าวว่า ไม่ได้ยืม หลบหนีไปเสีย
พึงทราบว่าเป็นคนเลว

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑๕๐/๒๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๗. วสลสูตร
[๑๒๑] คนดักฆ่าหรือทำร้ายคนเดินทาง ชิงเอาทรัพย์สมบัติ
เพราะความอยากได้ทรัพย์สมบัติเพียงเล็กน้อยของเขา
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๒] คนถูกเขาอ้างเป็นพยาน แล้วกล่าวคำเท็จ
เพราะตนเป็นเหตุ เพราะผู้อื่นเป็นเหตุ หรือเพราะทรัพย์เป็นเหตุ
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๓] คนที่ประพฤติล่วงเกินภรรยาของญาติ หรือของเพื่อน
จะด้วยการข่มขืนหรือด้วยความยินยอมกันก็ตาม
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๔] คนผู้สามารถเลี้ยงตนเองและผู้อื่นได้
แต่ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาของตน ผู้แก่ชรา
ผ่านวัยหนุ่มวัยสาวแล้ว พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๕] คนผู้ทุบตี ดุด่ามารดาบิดา พี่น้อง
พ่อตา แม่ยาย หรือพ่อผัว แม่ผัว
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๖] คนที่ถูกถามถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์
กลับบอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
หรือพูดกลบเกลื่อนบอกไม่ชัดเจน
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๗] คนทำบาปกรรมไว้แล้ว ปรารถนาว่า
คนอื่นอย่าพึงรู้ว่าเราทำ
ปกปิดการกระทำไว้
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๒๘] คนไปบ้านผู้อื่น ถูกต้อนรับด้วยโภชนาหารอย่างดี
แต่พอเขามาบ้านตนบ้าง กลับไม่ต้อนรับเขาเช่นนั้น
พึงทราบว่าเป็นคนเลว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๗. วสลสูตร
[๑๒๙] คนผู้กล่าวมุสาวาท หลอกลวงสมณะหรือพราหมณ์
หรือแม้กระทั่งวณิพกยาจกอื่น ๆ
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๐] คนที่เมื่อสมณะหรือพราหมณ์มาบิณฑบาตแต่เช้า
ไม่ถวายอาหารบิณฑบาต กลับด่าว่าขับไล่
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๑] ในโลกนี้คนถูกโมหะครอบงำ
อยากได้สิ่งของเล็กน้อยของผู้อื่น
ก็พูดจาหลอกลวงเขาเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๒] คนผู้ชอบยกตน และดูหมิ่นคนอื่น
ประพฤติเลวทราม เพราะความถือตัวจัดของตน
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๓] คนโหดร้าย มีจิตใจคับแคบ ปรารถนาชั่ว
มีความตระหนี่ โอ้อวด ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๔] คนกล่าวร้ายพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก
ของพระพุทธเจ้าที่เป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์
พึงทราบว่าเป็นคนเลว
[๑๓๕] คนไม่เป็นพระอรหันต์ แต่ปฏิญญาว่าเป็นพระอรหันต์
ชื่อว่าเป็นดุจโจรในมนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก
พึงทราบว่าเป็นคนเลวทรามต่ำช้าที่สุด
[๑๓๖] คนที่เรากล่าวมาทั้งหมดนี้ เราเรียกว่าเป็นคนเลว
คนจะชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๗. วสลสูตร
แต่ชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะกรรม
ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม
[๑๓๗] ท่านจงรู้ข้อนั้นตามที่เราแสดงนี้ คือ
บุตรคนจัณฑาลผู้ปรากฏชื่อว่ามาตังคะ
ผู้ปิ้งสุนัขรับประทาน
[๑๓๘] ต่อมา นายมาตังคะได้รับยศศักดิ์ใหญ่ซึ่งได้แสนยาก
ทั้งกษัตริย์และพราหมณ์จำนวนมาก ต่างมาสู่ที่บำรุงของเขา
[๑๓๙] เขาขึ้นยานอันประเสริฐ๑ไปตามทางใหญ่๒ที่ไม่มีฝุ่นละออง๓
ละกามราคะได้แล้ว ไปเกิดในพรหมโลก
ชาติกำเนิดห้ามเขาไม่ให้ไปเกิดในพรหมโลกไม่ได้
[๑๔๐] พวกพราหมณ์ที่เกิดในตระกูลสาธยายมนตร์ มีหน้าที่ร่ายมนตร์
แต่ปรากฏว่าพวกเขาทำบาปกรรมอยู่เป็นประจำ
[๑๔๑] พราหมณ์พวกนั้นถูกตำหนิในชาติปัจจุบันตายแล้วก็ต้องไปทุคติ
ชาติกำเนิดห้ามพวกเขาจากทุคติหรือจากการติเตียนไม่ได้
[๑๔๒] คนจะชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
แต่ชื่อว่าเป็นคนเลวเพราะกรรม
ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัคคิกภารทวาชพรามหณ์ได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่าน

เชิงอรรถ :
๑ ยานอันประเสริฐ ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๓๙/๑๙๒)
๒ ไปตามทางใหญ่ หมายถึงเป็นผู้ปฏิบัติตามทางที่พระพุทธเจ้าเป็นต้นดำเนินไปแล้ว (ขุ.สุ.อ.๑/๑๓๙/๑๙๒)
๓ ฝุ่นละออง หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ.๑/๑๓๙/๑๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๘. เมตตสูตร
พระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’
ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่าน
พระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
วสลสูตรที่ ๗ จบ

๘. เมตตสูตร๑
ว่าด้วยการแผ่เมตตา
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่าดังนี้)
[๑๔๓] ผู้ฉลาดในประโยชน์ มุ่งหวังบรรลุสันตบท
ควรบำเพ็ญกรณียกิจ ควรเป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง
เคร่งครัด ว่าง่าย อ่อนโยน และไม่เย่อหยิ่ง
[๑๔๔] ควรเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย
มีความประพฤติเบา มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน
ไม่คะนอง ไม่ยึดติดในตระกูลทั้งหลาย
[๑๔๕] อนึ่ง ไม่ควรประพฤติความเสียหายใด ๆ
ที่จะเป็นเหตุให้วิญญูชนเหล่าอื่นตำหนิเอาได้
(ควรแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์อย่างนี้ว่า)
ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข
มีความเกษม มีตนเป็นสุขเถิด
[๑๔๖] คือเหล่าสัตว์ที่ยังเป็นผู้หวาดสะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๑๔๓-๑๕๒ ดู ขุททกปาฐะ (เมตตสูตร ข้อ ๑-๑๐ หน้า ๒๐-๒๒ ในเล่มนี้)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๘. เมตตสูตร
เหล่าสัตว์ที่มีขนาดกายยาว ขนาดกายใหญ่ ขนาดกายปานกลาง
ขนาดกายเตี้ย ขนาดกายผอม หรือขนาดกายอ้วน
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[๑๔๗] เหล่าสัตว์ที่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่ไม่เคยเห็นก็ดี
เหล่าสัตว์ที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลก็ดี ภูตหรือสัมภเวสีก็ดี
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[๑๔๘] ไม่ควรข่มเหง ไม่ควรดูหมิ่นกันและกันในทุกโอกาส
ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน
เพราะความโกรธและเพราะความแค้น
[๑๔๙] ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณไปยังสรรพสัตว์
ดุจมารดาเฝ้าถนอมบุตรคนเดียวด้วยชีวิต ฉะนั้น
[๑๕๐] อนึ่ง ควรแผ่เมตตาจิตชนิดไม่มีประมาณ
กว้างขวาง ไม่มีเวร ไม่มีศัตรูไปยังสัตว์โลกทั่วทั้งหมด
ทั้งชั้นบน ชั้นล่าง และชั้นกลาง
[๑๕๑] ผู้แผ่เมตตาจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน
ควรตั้งสตินี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วง
นักปราชญ์เรียกการอยู่ด้วยเมตตานี้ว่า พรหมวิหาร
[๑๕๒] อนึ่ง ผู้แผ่เมตตาที่ไม่ยึดถือทิฏฐิ
มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ
กำจัดความยินดีในกามคุณได้แล้ว
ก็จะไม่เกิดในครรภ์อีกต่อไป
เมตตสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
๙. เหมวตสูตร
ว่าด้วยเหมวตยักษ์ทูลถามปัญหา
[๑๕๓] (สาตาคิรยักษ์กล่าวดังนี้)
วันนี้เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ
ราตรีที่เป็นทิพย์ปรากฏแล้ว
เราทั้งสองไปเฝ้าพระโคดมผู้เป็นศาสดา
ทรงพระนามสูงส่งกันดีกว่า
[๑๕๔] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมเป็นผู้คงที่๑ มีพระทัยสม่ำเสมอ
ในสัตว์โลกทุกจำพวกจริงหรือ
ทรงทำความดำริในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ให้อยู่ในอำนาจได้จริงหรือ
[๑๕๕] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมเป็นผู้คงที่ มีพระทัยสม่ำเสมอ
ในสัตว์โลกทุกจำพวกจริง
และทรงทำความดำริในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ให้อยู่ในอำนาจได้จริง
[๑๕๖] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้จริงหรือ
ทรงสำรวมในสัตว์ทั้งหลายจริงหรือ
ทรงประพฤติห่างไกลจากกามคุณจริงหรือ
พระองค์ไม่ทรงละทิ้งฌานจริงหรือ

เชิงอรรถ :
๑ พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มีพระทัยคงที่โดยอาการ ๕ อย่าง คือ (๑) เป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
(๒) เป็นผู้คงที่เพราะสละแล้ว (๓) เป็นผู้คงที่เพราะพ้นแล้ว (๔) เป็นผู้คงที่เพราะข้ามได้แล้ว (๕) เป็นผู้คง
ที่เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้น ๆ ได้ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๕๕/๒๓) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๘/๑๓๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
[๑๕๗] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้จริง
ทรงสำรวมในสัตว์ทั้งหลายจริง
ทรงประพฤติห่างไกลจากกามคุณจริง
พระองค์ตรัสรู้แล้ว ไม่ทรงละทิ้งฌานจริง
[๑๕๘] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมไม่ตรัสคำเท็จจริงหรือ
มีพระวาจาไม่หยาบคายจริงหรือ
ไม่ตรัสคำส่อเสียดจริงหรือ ไม่ตรัสคำเพ้อเจ้อจริงหรือ
[๑๕๙] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมไม่ตรัสคำเท็จจริง
มีพระวาจาไม่หยาบคายจริง
ไม่ตรัสคำส่อเสียดจริง ไม่ตรัสคำเพ้อเจ้อจริง
ตรัสคำที่เป็นประโยชน์อย่างเดียว
เพราะทรงกำหนดด้วยพระปัญญา
[๑๖๐] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลายจริงหรือ
พระทัยของพระองค์ไม่ขุ่นมัวจริงหรือ
พระองค์ทรงล่วงพ้นโมหะได้จริงหรือ
พระองค์ทรงมีปัญญาจักษุในธรรมทั้งหลายจริงหรือ
[๑๖๑] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลายจริง
พระทัยของพระองค์ไม่ขุ่นมัวจริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
พระองค์ทรงล่วงพ้นโมหะทั้งปวงได้จริง
พระองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงมีปัญญาจักษุในธรรมทั้งหลายจริง
[๑๖๒] (เหมวตยักษ์ถามดังนี้)
พระโคดมทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาจริงหรือ
พระองค์ทรงมีจรณะบริสุทธิ์จริงหรือ
พระองค์ทรงสิ้นอาสวะทั้งหลายจริงหรือ
พระองค์ไม่ทรงเกิดอีกจริงหรือ
[๑๖๓] (สาตาคิรยักษ์ตอบดังนี้)
พระโคดมทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาจริง
พระองค์ทรงมีจรณะบริสุทธิ์จริง
พระองค์ทรงสิ้นอาสวะทั้งหลายจริง
พระองค์ไม่ทรงเกิดอีกจริง
[๑๖๔] (เหมวตยักษ์กล่าวชื่นชมสาตาคิรยักษ์ดังนี้)
ท่านได้สรรเสริญพระทัยของพระมุนีโคดม
ที่ถึงพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
และสรรเสริญพระมุนีโคดมนั้น
ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ โดยธรรม
[๑๖๕] (สาตาคิรยักษ์กล่าวชื่นชมเหมวตยักษ์ดังนี้)
ท่านก็ชื่นชมพระทัยของพระมุนีโคดม
ที่ถึงพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
และชื่นชมพระมุนีโคดมนั้น
ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ โดยธรรม
[๑๖๖] พระทัยของพระมุนีโคดม
ถึงพร้อมด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
เราไปเฝ้าพระโคดมผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะกันเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
[๑๖๗] (เหมวตยักษ์กล่าวดังนี้)
มาเถิด เราทั้งสองจะไปเฝ้าพระโคดม
ผู้มีพระชงฆ์ดังปลีแข้งเนื้อทราย
มีพระวรกายงามระหง มีลักษณะองอาจ
เสวยพระกระยาหารแต่พอประมาณ
ทรงปราศจากความติดพระทัยในรสพระกระยาหาร
ทรงเป็นมุนีผู้เพ่งพินิจอยู่ในป่า
[๑๖๘] เราทั้งสองไปเฝ้าพระโคดม ผู้สง่าดุจราชสีห์
เสด็จจาริกโดดเด่นพระองค์เดียว๑
ทรงเป็นพระนาคะ๒
ไม่ทรงยินดีในกามทั้งหลาย
จะทูลถามถึงธรรมเครื่องพ้นจากบ่วงมัจจุราช๓
[๑๖๙] เราทั้งสองจงทูลถามพระโคดมผู้ทรงแนะนำพร่ำสอน
ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง๔
ทรงเป็นผู้ตรัสรู้ ล่วงพ้นเวรภัยได้ทุกอย่าง

เชิงอรรถ :
๑ เสด็จจาริกโดดเด่นพระองค์เดียว หมายถึงไม่มีตัณหา อีกนัยหนึ่ง หมายถึงในโลกธาตุเดียวกันนี้ มีเพียง
พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๖๘/๒๓๗)
๒ ทรงเป็นพระนาคะ หมายถึงเป็นผู้ไม่เกิดอีกบ้าง เป็นผู้ไม่ทำความชั่วบ้าง หรือหมายถึงทรงมีพลธรรม
บ้าง (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๖๘/๒๓๗)
๓ ธรรมเครื่องพ้นจากบ่วงมัจจุราช ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ.๑/๑๖๘/๒๓๘)
๔ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๔ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๖๙/๒๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
[๑๗๐] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้)
เมื่ออะไรเกิด สัตว์โลกจึงเกิด
สัตว์โลกยินดีในอะไร
สัตว์โลกยึดถืออะไร
เพราะอะไรสัตว์โลกจึงเดือดร้อน
[๑๗๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เมื่ออายตนะ ๖๑ เกิด สัตว์โลกจึงเกิด
สัตว์โลกย่อมยินดีในอายตนะ ๖
สัตว์โลกยึดถืออายตนะ ๖ นั่นแล
เพราะอายตนะ ๖ สัตว์โลกจึงเดือดร้อน
[๑๗๒] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้)
ความยึดถือที่ทำให้สัตว์โลกเดือดร้อนนั้นคืออะไร
ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องนำออกจากโลก
สัตว์โลกจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร
[๑๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
กามคุณ ๕ อันมีใจเป็นที่ ๖ ซึ่งมีอยู่ในโลก
เราประกาศไว้ชัดเจนแล้ว
สัตว์โลกคลายความพอใจในกามคุณ ๕ นี้ได้
ย่อมพ้นจากทุกข์ได้ ด้วยวิธีดังกล่าวนี้๒

เชิงอรรถ :
๑ อายตนะ ๖ หมายถึงอายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๗๑/๒๔๐)
๒ ดูเทียบ อภิ.ก. ๓๗/๕๑๐/๓๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
[๑๗๔] นี้คือธรรมเครื่องนำออกจากโลก
เราบอกแก่พวกท่านตามความเป็นจริง
เราก็บอกพวกท่านเช่นนี้แล
เพราะว่าสัตว์โลกย่อมพ้นจากทุกข์ได้ก็ด้วยวิธีดังนี้
[๑๗๕] (เหมวตยักษ์ทูลถามดังนี้)
ในโลกนี้ใครเล่าข้ามโอฆะ๑ได้
ใครเล่าข้ามห้วงมหรรณพได้๒
ใครเล่าไม่จมลงในห้วงมหรรณพที่ลุ่มลึก
ปราศจากเกาะแก่ง และเครื่องยึดเหนี่ยว
[๑๗๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีปัญญา มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
เพ่งพินิจธรรมภายใน มีสติทุกเมื่อ
ย่อมข้ามพ้นโอฆะที่ข้ามได้ยาก
[๑๗๗] ผู้นั้นเว้นขาดจากกามสัญญา๓ได้แล้ว
เป็นผู้ละสังโยชน์ได้ทุกอย่าง
หมดสิ้นความเพลิดเพลินและภพแล้ว
ย่อมไม่จมลงในห้วงมหรรณพที่ลุ่มลึก

เชิงอรรถ :
๑ โอฆะ หมายถึงกิเลส ๔ ประการ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๗๕/๒๔๓)
๒ ห้วงมหรรณพ ในที่นี้หมายถึงสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๗๕/๒๔๓)
๓ กามสัญญา หมายถึงสัญญาที่เกิดขึ้นปรารภกาม หรือสัญญาที่สหรคตด้วยโลภจิต ๘ ดวง (องฺ.ติก.อ.
๒/๓๓/๑๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๙. เหมวตสูตร
[๑๗๘] (เหมวตยักษ์กล่าวดังนี้)
ท่านทั้งหลายโปรดมาดูพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
มีพระปัญญาลึกซึ้ง ทรงแสดงเนื้อความอย่างละเอียด
ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ทรงข้องในกามภพ
ทรงหลุดพ้นได้เด็ดขาดในอารมณ์ทั้งปวง
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เสด็จดำเนินอยู่ในปฏิปทาอันเป็นทิพย์
[๑๗๙] ท่านทั้งหลายโปรดมาดูพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
มีพระนามเลื่องลือไกล ทรงแสดงเนื้อความอย่างละเอียด
ทรงประทานแสงสว่างคือปัญญา ไม่ทรงติดข้องอาลัย๑ในกาม
ทรงเป็นพระสัพพัญญูรู้ธรรมทั้งปวง
มีพระปัญญาบารมี แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เสด็จดำเนินอยู่ในปฏิปทาของพระอริยะ
[๑๘๐] วันนี้เราทั้งหลายเห็นดีแล้ว
สว่างไสวแล้ว ตั้งมั่นดีแล้ว
เพราะเราทั้งหลายได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ข้ามพ้นโอฆะ ผู้ปราศจากอาสวะ
[๑๘๑] ยักษ์ ๑,๐๐๐ ตนที่อยู่ ณ ที่นั้นทั้งหมด มีฤทธิ์ มียศ
ย่อมถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นสรณะ
โดยเปล่งวาจาว่าพระองค์ทรงเป็นพระศาสดาผู้ยอดเยี่ยม
ไม่มีใครยิ่งกว่าของข้าพระองค์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ อาลัย หมายถึงตัณหา และทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๗๙/๒๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๐. อาฬวกสูตร
[๑๘๒] ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว
เที่ยวประกาศธรรมไปทุกหนทุกแห่ง
ตามหมู่บ้านหรือตามขุนเขาลำเนาไพร
เหมวตสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. อาฬวกสูตร
ว่าด้วยอาฬวกยักษ์ทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ เขตเมืองอาฬวี
ครั้งนั้น อาฬวกยักษ์ได้เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับกล่าวดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำว่า “ได้ท่าน” แล้วเสด็จออกไป อาฬวกยักษ์
กล่าวอีกว่า “จงเข้ามา สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำอีกว่า “ได้ท่าน”
แล้วเสด็จเข้าไป
แม้ครั้งที่ ๒ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำว่า “ได้ท่าน” แล้วเสด็จออกไป อาฬวกยักษ์
กล่าวอีกว่า “จงเข้ามา สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำอีกว่า “ได้ท่าน”
แล้วเสด็จเข้าไป
แม้ครั้งที่ ๓ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำว่า “ได้ท่าน” แล้วเสด็จออกไป อาฬวกยักษ์
กล่าวอีกว่า “จงเข้ามา สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำอีกว่า “ได้ท่าน”
แล้วเสด็จเข้าไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๐. อาฬวกสูตร
แม้ครั้งที่ ๔ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เราจะไม่ออกไปอีกแล้ว ท่านจะทำอะไรก็เชิญเถิด”
อาฬวกยักษ์กล่าวว่า “สมณะ ข้าพเจ้าจะขอตั้งปัญหาถามท่าน ถ้าท่านตอบ
ข้าพเจ้าไม่ได้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจท่านให้แหลก
สลาย หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของท่านเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ยักษ์เอ๋ย เรายังไม่เห็นใครสักคนเลยในโลก พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์ ผู้จะสามารถควักดวงจิตของเราออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจเราให้แหลกสลาย
หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของเราเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้นได้ เอาเถอะ
เชิญท่านถามปัญหาตามที่ท่านสงสัยเถิด”
ลำดับนั้น อาฬวกยักษ์ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[๑๘๓] อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้
อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
อะไรเล่าเป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ
[๑๘๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้
ธรรม๑ที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
สัจจะเท่านั้น เป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา๒
นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ๓

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (สํ.ส.อ. ๑/๗๓/๙๔, ขุ.สุ.อ. ๑/๑๘๔/๒๖๒)
๒ มีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา หมายถึงที่เป็นคฤหัสถ์ ก็ยินดีข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์ คือ ขยันทำการงาน
นับถือพระรัตนตรัย ให้ทาน รักษาศีล ๕ และศีล ๘ และที่เป็นบรรพชิตก็ยินดีข้อปฏิบัติสำหรับบรรพชิต
คือ รักษาศีลไม่ให้ขาด และเจริญภาวนา (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๘๔/๒๖๔)
๓ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๗๓/๘๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๐. อาฬวกสูตร
[๑๘๕] (อาฬวกยักษ์ถามดังนี้)
คนจะข้ามโอฆะได้อย่างไร
จะข้ามห้วงมหรรณพได้อย่างไร
จะล่วงพ้นทุกข์ได้อย่างไร
และจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร
[๑๘๖] (พระผู้พระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนจะข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา
จะข้ามห้วงมหรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท
จะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร
และจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา
[๑๘๗] (อาฬวกยักษ์ถามดังนี้)
คนทำอย่างไรจึงจะได้ปัญญา
ทำอย่างไรจึงจะได้ทรัพย์
ทำอย่างไรจึงจะได้เกียรติ
ทำอย่างไรจึงจะผูกใจหมู่มิตรไว้ได้
และทำอย่างไรเมื่อตายแล้วจะไม่เศร้าโศก
[๑๘๘] (พระผู้พระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนต้องการบรรลุนิพพาน
เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระอรหันต์
ไม่ประมาท รู้จักพินิจพิจารณา
ตั้งใจฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา
[๑๘๙] คนปฏิบัติตนตรงต่อเวลา เอาธุระ
มีความขยันย่อมหาทรัพย์ได้
ย่อมได้เกียรติด้วยความสัตย์จริง
ผู้ให้ย่อมผูกใจหมู่มิตรไว้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๐. อาฬวกสูตร
[๑๙๐] คนผู้อยู่ครองเรือน มีศรัทธา
ประพฤติธรรม ๔ ประการนี้คือ
สัจจะ ธรรมะ ธิติ และจาคะ
ตายแล้วย่อมไม่เศร้าโศก
[๑๙๑] เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นดูเถิดว่า
ในโลกนี้ เหตุให้ได้เกียรติที่ยิ่งไปกว่าสัจจะก็ดี
เหตุให้มีปัญญาที่ยิ่งไปกว่าทมะ๑ก็ดี
เหตุให้ผูกมิตรสหายไว้ได้ที่ยิ่งไปกว่าจาคะก็ดี
เหตุให้หาทรัพย์ได้ที่ยิ่งไปกว่าขันติ๒ก็ดี มีอยู่หรือไม่
[๑๙๒] (อาฬวกยักษ์กราบทูลดังนี้)
วันนี้ ข้าพระองค์ได้ทราบชัดถึงประโยชน์ที่จะพึงได้ในโลกหน้าแล้ว
ยังต้องถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นอีกทำไม
[๑๙๓] พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่เมืองอาฬวี
เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์โดยแท้
ในวันนี้ข้าพระองค์ได้ทราบชัดถึงบุคคล
ที่ใคร ๆ ถวายทานแล้วมีผลมาก
[๑๙๔] ข้าพระองค์นั้นขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว
เที่ยวประกาศธรรมไปทุกหนทุกแห่ง
ตามหมู่บ้านหรือตามหัวเมืองน้อยใหญ่
อาฬวกสูตรที่ ๑๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ธรรม” ในข้อ ๑๙๐ กับคำว่า “ทมะ” ในข้อ ๑๙๑ มีความหมายเดียวกัน คือ หมายถึงปัญญา
ที่ได้จากการฟัง และปัญญานี้เองเป็นเหตุให้ได้ปัญญาที่เป็นทั้งโลกิยะและโลกุตตระ (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๙๐-๑๙๑/
๒๖๗-๒๖๘)
๒ คำว่า “ธิติ” ในข้อ ๑๙๐ กับคำว่า “ขันติ” ในข้อ ๑๙๑ มีความหมายเดียวกัน คือ หมายถึงวิริยะ
(ความเพียร) (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๙๑/๒๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๑. วิชยสูตร
๑๑. วิชยสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเอาชนะความสวยงามของร่างกาย
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[๑๙๕] การที่คนเรายืน เดิน นั่ง หรือนอน
คู้เข้าหรือเหยียดออก
นี้จัดเป็นความเคลื่อนไหวของร่างกาย
[๑๙๖] ร่างกายนี้ประกอบด้วยกระดูกและเส้นเอ็น๑
มีหนังและเนื้อฉาบทา ห่อหุ้มด้วยผิวหนัง
ปุถุชนย่อมไม่พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง
[๑๙๗] ร่างกายนี้เต็มไปด้วยลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก
อาหารใหม่ อาหารเก่า
ตับ มูตร หัวใจ ปอด ไต ม้าม
[๑๙๘] น้ำมูก น้ำลาย เหงื่อ มันข้น เลือด ไขข้อ ดี เปลวมัน
[๑๙๙] อนึ่ง ร่างกายนี้มีของไม่สะอาด
ไหลออกทางทวารทั้ง ๙ เสมอ คือ
มีขี้ตาไหลออกทางเบ้าตา มีขี้หูไหลออกทางรูหู
[๒๐๐] มีน้ำมูกไหลออกจากทางช่องจมูก
บางคราวก็อาเจียน สำรอกน้ำดี ขากเสลดออกทางปาก
มีหยาดเหงื่อออกตามขุมขน มีหนองฝีไหลออกตรงที่เป็นแผล

เชิงอรรถ :
๑ ร่างกายนี้ประกอบด้วยกระดูก ๓๐๐ ท่อน และเอ็น ๙๐๐ เส้น (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๙๖/๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ [๑. อุรควรรค] ๑๑. วิชยสูตร
[๒๐๑] อนึ่ง ร่างกายนี้มีศีรษะเป็นโพรง เต็มด้วยมันสมอง
ซึ่งคนพาลถูกอวิชชาครอบงำ หลงเข้าใจว่าเป็นของสวยงาม
[๒๐๒] และเมื่อร่างกายนั้นตาย ขึ้นอืด มีสีเขียวคล้ำ
ถูกทิ้งให้นอนอยู่ในป่าช้า หมู่ญาติต่างหมดความอาลัยไยดี
[๒๐๓] ร่างกายที่เปื่อยเน่านั้น สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า
หมู่หนอน ฝูงกา ฝูงแร้งและสัตว์ที่กินซากศพอื่น ๆ
ย่อมรุมยื้อแย่งกันกิน
[๒๐๔] ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ฟังพุทธพจน์แล้วเกิดปัญญา
ย่อมกำหนดรู้และพิจารณาเห็นร่างกายนั้น
ตามความเป็นจริงทีเดียว
[๒๐๕] ร่างกายที่ตายแล้วนั้นได้เคยเป็นเหมือนร่างกายที่มีชีวิตนี้
และร่างกายที่มีชีวิตนี้ก็จะเป็นเหมือนร่างกายที่ตายแล้วนั้น
ภิกษุจึงควรคลายความยินดีพอใจในร่างกาย
ทั้งภายในและภายนอก
[๒๐๖] ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีปัญญา ไม่ยินดีด้วยฉันทราคะ
ได้บรรลุนิพพานที่เป็นอมตะอันสงบ ดับ และไม่จุติ
[๒๐๗] ร่างกายนี้ มี ๒ เท้า ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น
เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ ขับถ่ายของไม่สะอาด
มีน้ำลายน้ำมูกเป็นต้นออกทางทวารทั้ง ๙
ขับเหงื่อไคลให้ไหลออกทางรูขุมขนนั้น ๆ
ต้องบำรุงรักษาอยู่เสมอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑๒. มุนิสูตร
[๒๐๘] ด้วยร่างกายที่มีสภาพเช่นนี้
การที่บุคคลหลงเข้าใจผิดคิดเข้าข้างตนเอง
และดูหมิ่นผู้อื่นนั้น จะมีประโยชน์อะไร
นอกจากการไม่เห็นอริยสัจ
วิชยสูตรที่ ๑๑ จบ

๑๒. มุนิสูตร
ว่าด้วยลักษณะของมุนี
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[๒๐๙] ภัยเกิดจากความเชยชิด๑
ธุลีคือราคะ โทสะ และโมหะ
เกิดจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส
ความไม่มีกิเลส ไม่มีความเชยชิด
นั้นแล เป็นลักษณะของมุนี
[๒๑๐] บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้ที่ตัดกิเลสที่เกิดขึ้นได้
ไม่ปลูกกิเลสให้เกิดขึ้นอีก
เมื่อกิเลสเกิดขึ้นก็ไม่พึงให้ไหลเข้าอีก
ว่า เป็นมุนีผู้เที่ยวไปอยู่
พระมุนีนั้นผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้ทรงเห็นสันติบทแจ้งชัดแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ความเชยชิด หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๐๙/๒๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑๒. มุนิสูตร
[๒๑๑] ผู้กำหนดรู้ที่ตั้งแห่งกิเลส๑ กำจัดพืช๒ได้เด็ดขาด
ไม่ให้ยางพืชไหลเข้าไปได้อีก
ชื่อว่า เป็นมุนีผู้มีปกติเห็นภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
ละอกุศลวิตกได้ จึงไม่ถึงการนับอีกต่อไป
[๒๑๒] ผู้รู้แจ้งภพเป็นที่อาศัยอยู่ทั้งหมด
ไม่ปรารถนาภพเหล่านั้นแม้สักภพเดียว
ชื่อว่า เป็นมุนีผู้ปราศจากความยึดติด๓ ไม่มีความยึดมั่น
ย่อมไม่ก่อกรรมใด ๆ อีก เพราะเป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว
[๒๑๓] ผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวง มีปัญญา
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ละธรรมทั้งปวงได้
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๔] ผู้มีกำลังคือปัญญา ถึงพร้อมด้วยศีลและวัตร๔
มีจิตตั้งมั่น ยินดีในฌาน มีสติ
หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องข้องแล้ว
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ ปราศจากอาสวะ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี

เชิงอรรถ :
๑ ที่ตั้งแห่งกิเลส ในที่นี้หมายถึงขันธ์ อายตนะ และธาตุ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๑/๒๘๙)
๒ พืช ในที่นี้หมายถึงอภิสังขารวิญญาณ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๑/๒๘๙)
๓ ความยึดติด หมายถึงตัณหา (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๒/๒๙๐)
๔ ในที่นี้ ศีล หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ ประการ วัตร หมายถึงธุดงควัตร ๑๓ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๔/๒๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑๒. มุนิสูตร
[๒๑๕] ผู้เที่ยวไปผู้เดียว มีปัญญา ไม่ประมาท
ไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ
ไม่สะดุ้งเพราะเสียง เหมือนราชสีห์
ไม่ติดข่าย๑ เหมือนลม
ไม่เปียกน้ำ เหมือนบัว
เป็นผู้แนะนำผู้อื่น ไม่ใช่ผู้อื่นแนะนำ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๖] ผู้ไม่ยินดียินร้ายคำสรรเสริญหรือนินทาของคนอื่น
ดุจเสาที่เขาฝังปักไว้ที่ท่าน้ำ
ปราศจากราคะ มีอินทรีย์ตั้งมั่นดีแล้ว
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๗] ผู้ตั้งตนไว้ชอบ ซื่อตรงดุจกระสวย๒
รังเกียจบาปกรรมทั้งหลาย
พิจารณาเห็นกรรมที่เสมอและไม่เสมอ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๑๘] ผู้ยังอยู่ในวัยหนุ่ม วัยสาว หรือวัยกลางคน
สำรวมตนแล้ว ไม่ทำบาป
เป็นมุนี มีจิตห่างจากบาป
ไม่โกรธง่าย ไม่ว่าร้ายใคร ๆ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี

เชิงอรรถ :
๑ ข่าย ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๑๕/๒๙๕)
๒ กระสวย หมายถึงเครื่องบรรจุด้ายสำหรับทอผ้าหรือเย็บผ้า (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] ๑๒. มุนิสูตร
[๒๑๙] ผู้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ผู้อื่นให้
ได้อาหารดีเลิศ ก็ไม่กล่าวประจบยกย่องผู้ให้
ได้อาหารปานกลางหรือเลวก็ไม่ติเตียนเขาให้เสียน้ำใจ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๒๐] ผู้มีปัญญา เที่ยวไปอยู่ผู้เดียว
มีจิตเว้นขาดจากเมถุนธรรมคือ
ไม่ผูกจิตรักใคร่ในหญิงสาวเลยแม้สักคนเดียว
เว้นขาดจากความมัวเมา ประมาท เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๒๑] ผู้รู้แจ้งโลก๑ เห็นปรมัตถธรรม๒
ข้ามโอฆะ และสมุทร๓ได้
เป็นผู้คงที่ ตัดกิเลสเครื่องร้อยรัดได้เด็ดขาด
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย ปราศจากอาสวะ
นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศว่า เป็นมุนี
[๒๒๒] คฤหัสถ์และบรรพชิต ๒ จำพวกนี้
มีที่อยู่และการดำรงชีวิตห่างไกลกัน คือ
คฤหัสถ์ทำงานเลี้ยงบุตรภรรยา
ส่วนบรรพชิตไม่ยึดถือสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นของตน มีวัตรงาม
คฤหัสถ์ไม่สำรวม เพราะเบียดเบียนสัตว์อื่น

เชิงอรรถ :
๑ โลก ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒๑/๓๐๗)
๒ เห็นปรมัตถธรรม หมายถึงทำให้แจ้งนิโรธสัจ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒๑/๓๐๗)
๓ สมุทร ในที่นี้หมายถึงอายตนะ ๑๒ (ขุ.สุ.อ. ๑/๒๒๑/๓๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ส่วนบรรพชิตที่ชื่อว่าเป็นมุนี สำรวมเป็นนิตย์
รักษาสัตว์มีชีวิตไว้
[๒๒๓] ภิกษุเป็นมุนี เป็นผู้สงบ เพ่งพินิจอยู่ในป่า
คฤหัสถ์จะทำตามอย่างท่านไม่ได้
เหมือนนกยูงมีสร้อยคอสีเขียว ถึงจะบินไปในอากาศได้
ก็ยังสู้ความเร็วของหงส์ไม่ได้ตลอดกาล ฉะนั้น
มุนิสูตรที่ ๑๒ จบ
อุรควรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อุรคสูตร ๒. ธนิยสูตร
๓. ขัคควิสาณสูตร ๔. กสิภารทวาชสูตร
๕. จุนทสูตร ๖. ปราภวสูตร
๗. วสลสูตร ๘. เมตตสูตร
๙. เหมวตสูตร ๑๐. อาฬวกสูตร
๑๑. วิชยสูตร ๑๒. มุนิสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑. รตนสูตร
๒. จูฬวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องเล็กน้อย
๑. รตนสูตร๑
ว่าด้วยรัตนะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสรตนสูตรดังนี้)
[๒๒๔] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ขอให้ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจดี และจงฟังภาษิตโดยเคารพเถิด
[๒๒๕] เพราะฉะนั้นแล ภูตทั้งปวง ท่านจงใคร่ครวญ
จงแผ่เมตตาต่อหมู่มนุษย์ด้วยเถิด
มนุษย์เหล่าใดนำเครื่องเซ่นสรวงมาให้
ทั้งกลางวันและกลางคืน
เพราะเหตุนั้น ขอท่านทั้งหลายอย่าประมาท
จงรักษามนุษย์เหล่านั้น
[๒๒๖] ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ หรือรัตนชาติที่ประณีตใด ๆ
ที่มีในโลกนี้ ในโลกอื่น หรือในสวรรค์
ทรัพย์หรือรัตนชาตินั้น ๆ ที่เสมอด้วยตถาคต ไม่มี
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี

เชิงอรรถ :
๑ ดู ขุททกปาฐะ (รตนสูตร ข้อ ๑-๑๘ หน้า ๙-๑๔ ในเล่มนี้)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑. รตนสูตร
[๒๒๗] พระศากยมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น
ทรงบรรลุธรรมใดอันเป็นที่สิ้นกิเลส
ปราศจากราคะ เป็นอมตธรรมอันประณีต
ไม่มีธรรมใด ๆ ที่เสมอด้วยธรรมนั้น
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๒๘] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ตรัสสรรเสริญสมาธิใดว่าเป็นธรรมสะอาด
ตรัสถึงสมาธิใดว่าให้ผลโดยลำดับ
สมาธิอื่นที่เสมอด้วยสมาธินั้น ไม่มี
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๒๙] บุคคล ๑๐๘ จำพวกที่สัตบุรุษสรรเสริญ
ซึ่งจัดเป็นบุคคล ๔ คู่ เป็นสาวกของพระสุคต
เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา
ทานที่เขาถวายในบุคคลเหล่านั้น มีผลมาก
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๐] บุคคลเหล่าใดในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
เป็นผู้ประกอบตนไว้ดี มีใจมั่นคง หมดความห่วงใย
บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าบรรลุอรหัตตผล
หยั่งถึงอมตนิพพาน รับรสความดับสนิทแบบได้เปล่า
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑. รตนสูตร
[๒๓๑] สัตบุรุษใดพิจารณาเห็นแจ้งอริยสัจ
เราเรียกสัตบุรุษนั้นว่ามีอุปมาเหมือนเสาเขื่อนที่ฝังลงดิน
อันไม่หวั่นไหวเพราะลมที่พัดมาจากทิศทั้งสี่
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๒] พระโสดาบันเหล่าใดรู้แจ้งอริยสัจ
ที่พระศาสดาผู้มีปัญญาลึกซึ้งแสดงแล้ว
ถึงแม้ว่าพระโสดาบันเหล่านั้นจะประมาทไปบ้าง
ท่านเหล่านั้นก็จะไม่ถือกำเนิดในภพที่ ๘
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๓] พระโสดาบันนั้นละธรรม ๓ ประการ คือ
สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้อย่างสิ้นเชิง
พร้อมกับการบรรลุโสดาปัตติมรรค
[๒๓๔] พระโสดาบันนั้นพ้นจากอบายทั้งสี่
และจะไม่ทำอภิฐาน ๖๑
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๕] ถึงแม้ว่า พระโสดาบันนั้นจะทำบาปกรรม
ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจไปบ้าง
ท่านก็ไม่ปกปิดบาปกรรมนั้นไว้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ขุททกปาฐะ (รตนสูตร ข้อ ๑๑ หน้า ๑๒ ในเล่มนี้)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑. รตนสูตร
เรากล่าวว่าผู้เห็นบทแล้ว ไม่อาจทำอย่างนั้นได้
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๖] พุ่มไม้งามในป่าซึ่งมียอดออกดอกบานสะพรั่ง
ในต้นเดือนห้าแห่งคิมหันตฤดู งามอย่างยิ่ง ฉันใด
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ
ที่ให้ถึงนิพพาน เพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง ฉันนั้น
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๗] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงรู้ธรรมอันประเสริฐ
ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ ทรงนำทางอันประเสริฐมาให้
ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าใคร ๆ ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐไว้
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๒๓๘] พระขีณาสพเหล่าใดสิ้นภพเก่าแล้ว ไม่มีการเกิดใหม่
ทั้งมีจิตเบื่อหน่ายในภพที่จะเกิดต่อไป
ท่านเหล่านั้นชื่อว่า มีพืชสิ้นแล้ว ไม่มีฉันทะงอกขึ้น เป็นนักปราชญ์
ย่อมดับสนิทเหมือนประทีปดวงนี้ดับไป
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
(ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลดังนี้)
[๒๓๙] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระตถาคตพุทธเจ้า
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๒. อามคันธสูตร
[๒๔๐] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระธรรมของพระตถาคต
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
[๒๔๑] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระสงฆ์ของพระตถาคต
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
รตนสูตรที่ ๑ จบ

๒. อามคันธสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่มีกลิ่นดิบ
[๒๔๒] (ติสสดาบสทูลถามพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าดังนี้)
สัตบุรุษทั้งหลายบริโภคข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วเขียว
ใบไม้ เผือกมัน และผลไม้ที่ได้มาโดยชอบธรรม
ถึงใคร่ในกาม ก็ไม่กล่าวคำเหลาะแหละ
[๒๔๓] ข้าแต่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์เมื่อเสวยเนื้อชนิดใด
ที่ผู้อื่นปรุงเป็นพิเศษเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ตบแต่งอย่างประณีตถวาย
เมื่อเสวยข้าวสาลีที่เขาหุงสุกแล้วก็ชื่อว่า เสวยกลิ่นดิบ๑
[๒๔๔] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระพรหม
พระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า ‘กลิ่นดิบไม่สมควรแก่เรา’
แต่ยังเสวยข้าวสาลีที่เขาหุงสุกแล้วกับเนื้อนกที่เขาปรุงเป็นพิเศษ

เชิงอรรถ :
๑ กลิ่นดิบ ในที่นี้หมายถึงอาหารจำพวกปลาและเนื้อสัตว์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๔๓/๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๒. อามคันธสูตร
ข้าแต่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้าพระองค์ขอทูลถามความข้อนี้กับพระองค์
กลิ่นดิบของพระองค์ มีความหมายอย่างไร
[๒๔๕] (พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบดังนี้)
การฆ่าสัตว์ การทุบตี การตัด การจองจำ
การลักขโมย การพูดเท็จ การเห็นแก่ได้ การหลอกลวง
การศึกษาตำราที่ไร้ประโยชน์ และการเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๔๖] ในโลกนี้ คนผู้ไม่ควบคุมตนในกามทั้งหลาย
ติดอยู่ในรสต่าง ๆ เจือปนด้วยของไม่สะอาด
มีความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล
มีการงานไม่เสมอ ว่ายากสอนยาก
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๔๗] พวกคนผู้เศร้าหมอง มีใจหยาบช้า หน้าไหว้หลังหลอก
ประทุษร้ายมิตร ไร้ความกรุณาผู้อื่น ถือตัวจัด
ไม่ชอบให้ทาน และไม่เคยให้อะไรแก่ใคร ๆ
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๔๘] ความโกรธ ความมัวเมา ความดื้อรั้น การตั้งตนไว้ผิด
ความมีมายา ความริษยา การยกตนข่มผู้อื่น
การถือตัวเหยียดหยามผู้อื่น และการสมาคมกับอสัตบุรุษ
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๔๙] ในโลกนี้ คนผู้ประพฤติชั่วเป็นปกติ
กู้หนี้แล้วไม่ชดใช้ ชอบพูดเสียดสี
เป็นพยานให้การเท็จ ปลอมเป็นนักบวชในศาสนานี้
เป็นคนต่ำทราม ทำความชั่วร้ายแรงไว้
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๒. อามคันธสูตร
[๒๕๐] ในโลกนี้ คนผู้ฆ่าสัตว์ทั้งหลาย
ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น
ประพฤติชั่ว ร้ายกาจ พูดคำหยาบ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๕๑] คนผู้รักใคร่ เกลียดชัง ลุ่มหลง
ประกอบอกุศลกรรมอยู่เสมอ
ตายแล้วต้องตกไปสู่ที่มืด หรือไม่ก็ดิ่งหัวจมลงไปสู่นรก
นี้ต่างหาก ชื่อว่า กลิ่นดิบ หาใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อไม่
[๒๕๒] มิใช่การบริโภคปลาและเนื้อ มิใช่การเป็นคนเปลือย
มิใช่ความเป็นคนโล้น มิใช่การเกล้าชฎา
และการเป็นคนหมักหมมด้วยธุลี
มิใช่การครองหนังเสือที่ยังมีเล็บ มิใช่การบำเรอไฟ
หรือความเศร้าหมองในกาย
ที่เป็นไปด้วยความปรารถนาความเป็นเทพ
ความเป็นผู้ไม่ตาย การทำตนให้ลำบากหลากหลายวิธี
เวทมนตร์ทั้งหลาย การบูชาไฟ การบูชายัญ
และการทรมานตนตามฤดูกาล
ที่ทำคนผู้ยังไม่ล่วงพ้นความสงสัยให้หมดจดได้
[๒๕๓] ผู้ใดคุ้มครองอินทรีย์ทั้ง ๖ นั้นได้
เข้าใจชัดอินทรีย์ ๖ อยู่เสมอ ดำรงตนอยู่ในธรรม
ยินดีในความซื่อตรงและความอ่อนโยน
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องได้ ละทุกข์ทั้งหมดได้เด็ดขาด
ผู้นั้นชื่อว่า เป็นปราชญ์ ไม่ยึดติดในอารมณ์ที่ได้เห็น ได้ฟัง และได้รับรู้
[๒๕๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกความที่กล่าวมานี้เนือง ๆ
จนติสสดาบสผู้เรียนจบมนตร์เข้าใจข้อความนั้นได้แล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมุนี ได้ทรงประกาศด้วยพระคาถาอันไพเราะว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๓. หิริสูตร
บุคคลผู้ไม่มีกิเลสคือกลิ่นดิบ
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ใคร ๆ ก็แนะนำได้ยาก
[๒๕๕] ติสสดาบสฟังบทสุภาษิตว่าด้วยเรื่องสิ่งที่ไม่มีกลิ่นดิบ
ที่เป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวง
ของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
มีใจอ่อนน้อม ถวายอภิวาทพระตถาคต
และกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท ณ ที่นั้นนั่นเอง
อามคันธสูตรที่ ๒ จบ

๓. หิริสูตร
ว่าด้วยความละอาย
[๒๕๖] (พระผู้มีพระภาคทรงตอบปัญหาของดาบสดังนี้)
คนผู้ไม่มีหิริ รังเกียจคนมีหิริ
ชอบพูดว่า ‘เราเป็นเพื่อนท่าน’
แต่ไม่เคยช่วยเหลือการงานของเพื่อนเลย
พึงรู้เถิดว่า ‘คนนั้นไม่ใช่เพื่อนเรา’
[๒๕๗] คนพูดวาจาไพเราะอ่อนหวาน
แต่ไม่ทำประโยชน์แก่มิตร
บัณฑิตเรียกว่า ผู้ดีแต่พูด
[๒๕๘] มิตรใดไม่พลั้งเผลอ มุ่งหวังความแตกแยกกัน
คอยหาแต่ความผิดเท่านั้นทุกเวลา
มิตรนั้นไม่ควรคบ
ส่วนมิตรที่วางใจได้ เหมือนบุตรในไส้
ถึงผู้อื่นกล่าวเหตุตั้งร้อยอย่างพันอย่าง
ก็ไม่แตกแยกจากกัน
มิตรเช่นนั้นควรคบอย่างยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๔. มงคลสูตร
[๒๕๙] ความเพียรที่เป็นเหตุให้เกิดปราโมทย์
ย่อมนำทั้งความสรรเสริญและความสุขมาให้
ผู้หวังผล นำธุระอันสมควรแก่บุรุษ
ย่อมทำความเพียรนั้นให้เจริญได้
[๒๖๐] บุคคลดื่มปวิเวกรส
ลิ้มรสแห่งความสงบ
และได้ลิ้มรสแห่งปีติในธรรมแล้ว
เป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป๑
หิริสูตรที่ ๓ จบ

๔. มงคลสูตร
ว่าด้วยมงคล๒
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๓ เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วย
คาถาว่า
[๒๖๑] เทวดาและมนุษย์จำนวนมาก
ต่างมุ่งหวังความสวัสดี ร่วมกันคิดถึงเรื่องมงคล
ขอพระองค์ตรัสบอกมงคลอันสูงสุดด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๒๐๕ หน้า ๙๖ ในเล่มนี้
๒ ดูขุททกปาฐะ (มงคลสูตร ข้อ ๑-๑๓ หน้า ๖-๘ ในเล่มนี้)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๔. มงคลสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๒๖๒] (๑) การไม่คบคนพาล (๒) การคบแต่บัณฑิต
(๓) การบูชาคนที่ควรบูชา
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๓] (๔) การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
(๕) การได้สร้างบุญไว้ในปางก่อน (๖) การตั้งตนไว้ชอบ
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๔] (๗) ความเป็นพหูสูต (๘) ความเป็นผู้มีศิลปะ
(๙) วินัยที่ศึกษามาดี (๑๐) วาจาสุภาษิต
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๕] (๑๑) การบำรุงมารดาบิดา (๑๒) การสงเคราะห์บุตร
(๑๓) การสงเคราะห์ภรรยา (๑๔) การทำงานไม่อากูล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๖] (๑๕) การให้ทาน (๑๖) การประพฤติธรรม
(๑๗) การสงเคราะห์ญาติ (๑๘) การงานที่ไม่มีโทษ
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๗] (๑๙) การงดเว้นจากบาป (๒๐) การงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา
(๒๑) ความไม่ประมาทในธรรม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๘] (๒๒) ความเคารพ (๒๓) ความถ่อมตน (๒๔) ความสันโดษ
(๒๕) ความกตัญญู (๒๖) การฟังธรรมตามกาล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๖๙] (๒๗) ความอดทน (๒๘) ความเป็นคนว่าง่าย
(๒๙) การพบเห็นสมณะ (๓๐) การสนทนาธรรมตามกาล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๕. สูจิโลมสูตร
[๒๗๐] (๓๑) การเผาผลาญบาป (๓๒) การประพฤติพรหมจรรย์
(๓๓) การเห็นอริยสัจ (๓๔) การทำนิพพานให้แจ้ง
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๗๑] (๓๕) จิตของผู้ที่ถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว
(๓๖) จิตไม่เศร้าโศก (๓๗) จิตปราศจากธุลี (๓๘) จิตเกษม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๒๗๒] เทวดาและมนุษย์ทำมงคลดังกล่าวมานี้แล้ว
ไม่พ่ายแพ้ในข้าศึกทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน
ทั้ง ๓๘ ประการนั้น เป็นมงคลอันสูงสุด
ของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
มงคลสูตรที่ ๔ จบ

๕. สูจิโลมสูตร๑
ว่าด้วยสูจิโลมยักษ์ทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนแท่นหิน ในที่อาศัยของสูจิโลมยักษ์
ใกล้หมู่บ้านคยา สมัยนั้น ขรยักษ์และสูจิโลมยักษ์เดินผ่านเข้ามาใกล้ ๆ พระผู้มี
พระภาค ทันใดนั้น ขรยักษ์ได้กล่าวกับสูจิโลมยักษ์ว่า “นั่น สมณะ” สูจิโลมยักษ์
กลับกล่าวว่า “นั่น ไม่ใช่สมณะจริง แต่เป็นสมณะปลอม เดี๋ยวก็รู้ว่าสมณะจริงหรือ
สมณะปลอมกันแน่”
ต่อจากนั้น สูจิโลมยักษ์เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ น้อมกายเข้าไป
จนชิดพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงขยับพระวรกายออกไป สูจิโลมยักษ์
จึงกล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “สมณะ ท่านกลัวข้าพเจ้าหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยักษ์เอ๋ย เราไม่เคยกลัวท่านเลย แต่สัมผัสของท่าน
หยาบกร้านเหลือเกิน”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๒๓๗/๓๓๙, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๑๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๕. สูจิโลมสูตร
สูจิโลมยักษ์กล่าวว่า “สมณะ ข้าพเจ้าจะขอตั้งปัญหาถามท่าน ถ้าท่านตอบ
ข้าพเจ้าไม่ได้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจท่านให้
แหลกสลาย หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของท่านเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ยักษ์เอ๋ย เรายังไม่เห็นใครสักคนเลยในโลก พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์ ผู้จะสามารถควักดวงจิตของเราออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจเราให้แหลกสลาย
หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของเราเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้นได้ เอาเถอะ
เชิญท่านถามปัญหาตามที่ท่านสงสัยเถิด”
ลำดับนั้น สูจิโลมยักษ์ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[๒๗๓] ราคะและโทสะ มีอะไรเป็นเหตุ
ความไม่ยินดี ความยินดี
และความขนพองสยองเกล้าเกิดจากอะไร
ความตรึกในใจเกิดจากอะไร ย่อมผูกจิตไว้ได้
เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น
[๒๗๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาดังนี้)
ราคะและโทสะมีอัตภาพนี้เป็นเหตุ
ความไม่ยินดี ความยินดี
และความขนพองสยองเกล้าเกิดจากอัตภาพนี้
ความตรึกในใจเกิดจากอัตภาพนี้ ย่อมผูกจิตไว้ได้
เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น
[๒๗๕] อกุศลวิตกเป็นอันมากเกิดจากความเยื่อใย๑
เกิดขึ้นในตนแล้วแผ่ซ่านไปในวัตถุกามทั้งหลาย
เหมือนย่านไทรเกิดจากลำต้นไทรแล้วแผ่ขยายไปในป่า ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความเยื่อใย ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๗๕/๑๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๖. ธัมมจริยสูตร
[๒๗๖] สัตว์เหล่าใดรู้ชัดหมู่กิเลสนั้นว่า มีกิเลสใดเป็นเหตุ
สัตว์เหล่านั้นย่อมบรรเทาหมู่กิเลสนั้นเสียได้
ท่านจงฟังเถิดยักษ์ สัตว์เหล่าใดบรรเทาหมู่กิเลสได้
สัตว์เหล่านั้นย่อมข้ามพ้นโอฆะที่ข้ามได้ยาก
อันตนไม่เคยข้าม เพื่อความไม่มีภพใหม่ต่อไป
สูจิโลมสูตรที่ ๕ จบ

๖. ธัมมจริยสูตร
ว่าด้วยการประพฤติธรรม
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายดังนี้)
[๒๗๗] พระอริยะทั้งหลายกล่าวการประพฤติธรรม๑
และการประพฤติพรหมจรรย์๒ทั้ง ๒ นี้ว่า เป็นรัตนะอันสูงสุด
ถ้าบุคคลออกจากเรือนมาบวชเป็นบรรพชิต
[๒๗๘] หากผู้ที่บวชแล้วนั้นเป็นคนปากร้าย
ชอบเบียดเบียนผู้อื่นดุจสัตว์ป่า
ชีวิตของเขาชื่อว่าต่ำทรามที่สุด
เพราะมีแต่จะทำให้ธุลีคือกิเลสพอกพูนในใจของตน
[๒๗๙] ภิกษุผู้ชอบทะเลาะ ถูกโมหะปิดบัง
แม้เพื่อนพรหมจารีผู้มีศีลตักเตือนแล้ว
ก็ไม่ยอมรับรู้ธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
[๒๘๐] ภิกษุผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว
ชอบเบียดเบียนพระอริยะผู้อบรมตนแล้ว
ไม่รู้ว่าเป็นความเศร้าหมองและเป็นหนทางให้ตกนรก

เชิงอรรถ :
๑ การประพฤติธรรม หมายถึงการประพฤติสุจริต มีกายสุจริต เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๗๗/๑๒๑)
๒ พรหมจรรย์ หมายถึงมัคคพรหมจรรย์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๗๗/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๖. ธัมมจริยสูตร
[๒๘๑] ภิกษุเมื่อไม่รู้เช่นนั้น ก็ต้องเกิดในอบาย
ออกจากครรภ์สู่ครรภ์ ออกจากที่มืดสู่ที่มืด
ภิกษุผู้เช่นนั้นเมื่อตายไปย่อมได้รับทุกข์
[๒๘๒] บุคคลใดมีความประพฤติเสียหายเช่นนี้ตลอดกาลนาน
พึงเป็นผู้เต็มด้วยบาป เหมือนหลุมคูถที่เต็มอยู่นานปี
บุคคลนั้นเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนิน ชำระให้หมดจดได้ยาก
[๒๘๓] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงรู้จักบุคคลผู้อาศัยเรือน๑
มีความปรารถนาชั่ว มีความดำริชั่ว
มีอาจาระและโคจรชั่ว เช่นนี้
[๒๘๔] เธอทั้งหลายพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เลิกคบบุคคลนั้น
จงกำจัดผู้ที่ไม่มีคุณธรรมในใจเหมือนแกลบออกเสีย
จงคร่าผู้ทุศีลออกจากหมู่
เหมือนคนกำจัดหยากเยื่อออกจากบ้าน ฉะนั้น
[๒๘๕] ต่อจากนั้น เธอทั้งหลายจงขับไล่ผู้ที่มิใช่สมณะ
แต่แต่งกายเลียนแบบสมณะออกไปจากสงฆ์
เหมือนคนคัดข้าวลีบทิ้ง ฉะนั้น
ครั้นกำจัดพวกปรารถนาชั่ว
มีอาจาระและโคจรชั่วออกได้แล้ว
[๒๘๖] เธอทั้งหลายผู้มีศีลบริสุทธิ์
จงเคารพยำเกรงกันอยู่ร่วมกับท่านผู้บริสุทธิ์
หลังจากนั้น เธอทั้งหลายจงเป็นผู้สามัคคีกัน
มีปัญญารักษาตน จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ธัมมจริยสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อาศัยเรือน ในที่นี้หมายถึงอาศัยกามคุณ ๕ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๘๓/๑๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
๗. พราหมณธัมมิกสูตร
ว่าด้วยธรรมของพราหมณ์ที่แท้จริง
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พรามหณ์มหาศาลชาวโกศลจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่
เป็นผู้แก่เฒ่า สูงอายุ เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับแล้วทั้งนั้น พากัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ปัจจุบันนี้ พราหมณ์๑ทั้งหลายยังนิยมปฏิบัติ
ธรรมเนียมของพราหมณ์สมัยโบราณอยู่หรือไม่”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย ปัจจุบันนี้ พราหมณ์
ทั้งหลายไม่นิยมปฏิบัติธรรมเนียมของพราหมณ์สมัยโบราณเลย”
พราหมณ์ทั้งหลายทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ขอประทานวโรกาส หากไม่
ทรงหนักพระทัย ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเนียมของพราหมณ์สมัยโบราณแก่
ข้าพระองค์ทั้งหลายด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าว”
พราหมณมหาศาลเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๒๘๗] ฤๅษีทั้งหลายสมัยก่อน มีความสำรวมตน
มีตบะ๒ ละกามคุณ ๕ ได้แล้ว
บำเพ็ญประโยชน์ตนให้สำเร็จ

เชิงอรรถ :
๑ พราหมณ์ มี ๕ จำพวก คือ (๑) พรหมสมพราหมณ์ (พราหมณ์ที่มีความประพฤติเสมอพรหม)
(๒) เทวสมพราหมณ์ (พราหมณ์ที่มีความประพฤติเสมอเทวดา) (๓) มริยาทพราหมณ์ (พราหมณ์ที่มีความ
ประพฤติดี) (๔) สัมภินนมริยาทพราหมณ์ (พราหมณ์ที่มีความประพฤติทั้งดีและชั่วปนกัน) (๕) พราหมณ-
จัณฑาลพราหมณ์ (พราหมณ์ที่เป็นพราหมณ์จันฑาล) (องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๙๒/๓๒๓)
๒ มีตบะ ในที่นี้หมายถึงสำรวมอินทรีย์ ๖ ประการ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๘๗/๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
[๒๘๘] พราหมณ์สมัยก่อน ไม่มีสัตว์เลี้ยง
ไม่สะสมเงินทอง ไม่มีสิ่งของต่าง ๆ
พวกเขามีทรัพย์และธัญชาติคือการสาธยายมนตร์
รักษาขุมทรัพย์ที่ประเสริฐ๑ไว้
[๒๘๙] ทายกต่างเต็มใจถวายภัตตาหาร
ที่ตนจัดเตรียมไว้ที่ประตูเรือน
แก่พราหมณ์ที่แสวงหาภัตตาหาร
ที่บุคคลให้ด้วยศรัทธาเป็นนิตย์
[๒๙๐] ทั้งชาวชนบทและชาวเมืองต่างแต่งกาย
ด้วยเสื้อผ้าแพรพรรณหลากสี
มีที่อยู่หลับนอนอาศัยเป็นหลักแหล่งมั่นคง
ได้พากันเคารพนับถือพราหมณ์เหล่านั้น
[๒๙๑] พราหมณ์ทั้งหลาย ชื่อว่ามีธรรมรักษา
จึงไม่มีใคร ๆ คิดฆ่า คิดเอาชนะ
และทุกครัวเรือนไม่มีใคร ๆ ปฏิเสธพราหมณ์เหล่านั้นเลย
[๒๙๒] สมัยก่อน พราหมณ์ได้ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่เด็ก
เที่ยวเสาะแสวงหาวิชชาและจรณะ นับเป็นเวลานานถึง ๔๘ ปี
[๒๙๓] พราหมณ์เหล่านั้นไม่สมสู่กับหญิงวรรณะอื่น
ทั้งไม่ยอมใช้เงินซื้อหญิงมาเป็นภรรยา
แต่จะอภิรมย์อยู่กินกับหญิงที่ผู้ปกครองยกให้
ด้วยความสมัครใจเท่านั้น
[๒๙๔] พราหมณ์ผู้เป็นสามีย่อมไม่ร่วมกับภรรยาผู้เว้นจากระดู๒
นอกจากสมัยที่ควรจะร่วม
พราหมณ์ย่อมไม่ร่วมเมถุนธรรมในระหว่างโดยแท้

เชิงอรรถ :
๑ ขุมทรัพย์ที่ประเสริฐ ในที่นี้หมายถึงวิหารธรรม มีเมตตา เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๘๘/๑๒๖-๑๒๗)
๒ ภรรยาผู้เว้นจากระดู หมายถึงภรรยาที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๙๔/๑๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
[๒๙๕] พราหมณ์สมัยนั้นพากันสรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์๑
ศีล ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ตบะ
ความสงบเสงี่ยม การไม่เบียดเบียนกัน และขันติ
[๒๙๖] พราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหม ผู้มีความบากบั่นมั่นคง
เป็นผู้สูงสุดกว่าพราหมณ์เหล่านั้น
และพราหมณ์เหล่านั้นย่อมไม่เสพเมถุนธรรม
แม้แต่จะฝันถึงก็ไม่มี
[๒๙๗] พราหมณ์บางพวกผู้เป็นบัณฑิตในโลกนี้
ศึกษาตามวัตรปฏิบัติของพราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหมนั้นอยู่
จึงสรรเสริญการประพฤติพรหมจรรย์ ศีล และขันติ
[๒๙๘] พราหมณ์ทั้งหลายผู้ขอข้าวสาร ที่นอน ผ้า เนยใส และน้ำมัน
มาเก็บรวบรวมไว้โดยธรรมแล้วบูชายัญด้วยของเหล่านั้น
[๒๙๙] ในยัญที่บูชานั้น พราหมณ์จะไม่ยอมฆ่าแม่โคเลย
เหมือนมารดาบิดา พี่น้อง หรือแม้ญาติอื่น ๆ
ไม่ยอมฆ่าแม่โค เพราะคิดว่าแม่โคเป็นสัตว์มีอุปการะยิ่งใหญ่
ซึ่งผลิตปัญจโครส๒อันเป็นยา
[๓๐๐] อนึ่ง แม่โคนั้นให้ข้าว ให้กำลัง ให้ผิวพรรณ และความสุข
พราหมณ์ทราบถึงประโยชน์ยิ่งใหญ่เช่นนี้จึงไม่ยอมฆ่าแม่โค
[๓๐๑] พราหมณ์เหล่านั้นมีผิวเนื้อละเอียดอ่อน
มีรูปร่างใหญ่ มีผิวพรรณผุดผ่อง มีเกียรติยศ
ปฏิบัติหน้าที่ใหญ่น้อยตามธรรมเนียมของตนอย่างเคร่งครัด

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๙๔/๑๓๐)
๒ ปัญจโครส หมายถึงผลผลิตเกิดจากโค มี ๕ อย่าง คือ นมสด นมเปรี้ยว เปรียง เนยใส และเนยข้น (วิ.ม.
(แปล) ๕/๒๙๙/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
ได้บำเพ็ญจริยาวัตรต่าง ๆ ในโลก
มุ่งให้ประชาชนประสพสุขสวัสดี
[๓๐๒] ต่อมา พราหมณ์เหล่านั้นเกิดความสำคัญผิด
เพราะเห็นความสุขเพียงเล็กน้อยที่เกิดจากกามคุณที่ต่ำทราม
สมบัติอันวิเศษของพระเจ้าแผ่นดิน และสตรีที่แต่งกายงดงาม
[๓๐๓] รถเทียมม้าอาชาไนยที่ตกแต่งไว้ดี
สลักลวดลายอย่างวิจิตร
เรือนใหญ่เรือนน้อยที่แบ่งสัดส่วนไว้เป็นอย่างดี
[๓๐๔] พราหมณ์ผู้สำคัญผิดนั้น
ปรารถนาอยากเป็นเจ้าของโภคทรัพย์
ซึ่งเป็นของมนุษย์อันโอฬาร เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงโค
ประกอบไปด้วยหมู่นารีผู้ประเสริฐ
[๓๐๕] พราหมณ์เหล่านั้นจึงผูกมนตร์มุ่งหวังโภคสมบัตินั้น ๆ
แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระเจ้าโอกกากะ กราบทูลว่า
‘พระองค์ทรงมีทรัพย์และธัญชาติเป็นจำนวนมาก
ขอพระองค์ทรงบูชายัญเถิด
พระองค์จะทรงมีแก้ว แหวน เงิน ทอง
พืชพันธุ์ธัญญาหารเพิ่มมากขึ้น’
[๓๐๖] และเมื่อพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงองอาจยิ่งใหญ่
ทรงยินยอมตามคำของพราหมณ์นั้นแล้ว
จึงทรงบูชายัญ คือ อัสสเมธะ ปุริสเมธะ
สัมมาปาสะ วาชเปยยะ และนิรัคคฬะ๑
ครั้นเสร็จแล้วก็พระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์เหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๓๗๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
[๓๐๗] อีกทั้งโค ที่นอน ผ้า สตรีที่แต่งกายงดงาม
รถเทียมม้าอาชาไนยที่ตกแต่งไว้ดี
สลักลวดลายอย่างวิจิตร
[๓๐๘] ทั้งรับสั่งให้นำเอาธัญชาติต่างๆ
ไปบรรจุไว้ให้เต็มเรือนที่น่ารื่นรมย์ ซึ่งแบ่งสัดส่วนไว้เป็นอย่างดี
แล้วพระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์เหล่านั้น
[๓๐๙] พราหมณ์เหล่านั้นได้ทรัพย์ที่พระราชทานนั้น ๆ แล้ว
ชอบเก็บสะสมไว้ จึงถูกความอยากครอบงำ
เพิ่มพูนความอยากได้มากยิ่งขึ้นไปอีก
พวกเขาจึงผูกมนตร์มุ่งหวังโภคทรัพย์นั้น ๆ ขึ้น
พากันเข้าไปเฝ้าพระเจ้าโอกกากะอีก
[๓๑๐] กราบทูลว่า โคทั้งหลายเกิดขึ้นเพื่อให้ใช้ทำประโยชน์
ในกิจการต่าง ๆ ของมนุษย์
เหมือนแม่น้ำ แผ่นดิน เงินทอง ทรัพย์สินและพืชพันธุ์ธัญญาหาร
เกิดขึ้นเพื่อให้มนุษย์ใช้ประโยชน์
ขอพระองค์ทรงทำพิธีบูชายัญเถิด
พระองค์จะทรงมีแก้ว แหวน เงิน ทอง
พืชพันธุ์ธัญญาหารเพิ่มมากขึ้น
[๓๑๑] และเมื่อพระเจ้าแผ่นดิน ผู้องอาจยิ่งใหญ่
ทรงยินยอมตามคำของพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว
จึงทรงทำพิธีบูชายัญ ในพิธีบูชายัญนั้น
รับสั่งให้ฆ่าแม่โคมากมายหลายแสนตัว
[๓๑๒] แม่โคนมทั้งหลายสงบเสงี่ยมเหมือนแม่แพะ
ถึงจะถูกคนเลี้ยงรีดนมใส่หม้อ
ก็ไม่ใช้เท้าหรือเขาอย่างใดอย่างหนึ่งทำอันตรายเลย
กระนั้น พระราชาก็รับสั่งให้จับที่เขาแล้วฆ่าด้วยศัสตรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๗. พราหมณธัมมิกสูตร
[๓๑๓] เพราะการฆ่าโคบูชายัญนั้น เทวดา พระพรหม
พระอินทร์ อสูร และผีเสื้อสมุทร
ต่างเปล่งวาจาประณามมนุษย์ว่า
ไม่มีคุณธรรม เพราะมีดที่แทงแม่โค
[๓๑๔] แต่ก่อนนั้นมีโรคร้ายอยู่เพียง ๓ ชนิด คือ
โรคความอยาก โรคความหิว และโรคชรา
แต่เพราะการทำร้ายเบียดเบียนปศุสัตว์
จึงทำให้แพร่โรคร้ายเพิ่มขึ้นถึง ๙๘ ชนิด
[๓๑๕] การทำร้ายเบียดเบียนปศุสัตว์นี้
นับเป็นการลงทัณฑ์ชนิดหนึ่งที่ไร้คุณธรรม มีมาแต่เดิมแล้ว
แม่โคนมทั้งหลายที่ไม่ทำร้ายเบียดเบียนใคร ๆ ต่างก็ถูกฆ่า
พวกบูชายัญก็เสื่อมจากธรรม
[๓๑๖] ดังกล่าวมานี้ การฆ่าสัตว์บูชายัญนี้
เป็นธรรมเนียมที่ต่ำทราม
มีมาแต่โบราณ ถูกวิญญูชนติเตียน
คือวิญญูชนจะติเตียนคนที่ทำพิธีบูชายัญ
โดยวิธีนี้ในที่ทุกแห่งที่ตนเห็น
[๓๑๗] เมื่อธรรมเนียมเก่าของพราหมณ์เสื่อมสูญไปอย่างนี้แล้ว
คนวรรณะศูทรและแพศย์ก็แตกแยกกัน
วรรณะกษัตริย์จำนวนมากก็แตกแยกกัน
ภรรยาก็ยังดูหมิ่นสามี
[๓๑๘] กษัตริย์ พราหมณ์ พร้อมทั้งแพศย์และศูทร
ที่เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม
ที่ได้รับความคุ้มครองจากวงศ์ตระกูลของตน
ต่างไม่คำนึงถึงชาติชั้นวรรณะต่อไป
ล้วนตกอยู่ในอำนาจกามคุณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๘. นาวาสูตร
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณมหาศาลเหล่านั้นได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคล
หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด
โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ พวกข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้ง
พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
พราหมณธัมมิกสูตรที่ ๗ จบ

๘. นาวาสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้เป็นดุจเรือข้ามฟาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[๓๑๙] บุรุษควรบูชาสักการะบุคคลที่ตนเรียนรู้ธรรมจนเข้าใจ
เหมือนเทวดาบูชาพระอินทร์ ฉะนั้น
บุคคลผู้เป็นพหูสูต ได้รับการบูชาจากศิษย์แล้ว
มีใจเอื้ออาทรในศิษย์นั้น
ย่อมอธิบายธรรมให้เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง
[๓๒๐] บุรุษผู้มีปัญญา ไม่ประมาท
คบบุคคลผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้น
ทำธรรมนั้นให้มีประโยชน์ ใคร่ครวญแล้ว
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมเป็นผู้รู้แจ้ง
แสดงธรรมแก่ผู้อื่นและเป็นผู้ละเอียด
[๓๒๑] ผู้ที่คบบุคคลผู้มีคุณธรรมน้อย เป็นคนพาล
ยังไม่บรรลุประโยชน์ตน ทั้งยังมีใจริษยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๘.นาวาสูตร
ไม่เข้าใจธรรมในศาสนานี้ได้อย่างแจ่มแจ้ง
ยังไม่ทันหมดความสงสัยก็สิ้นชีวิตไปก่อน
[๓๒๒] เปรียบเหมือนคนข้ามแม่น้ำที่มีน้ำมาก
กำลังหลากมา มีกระแสเชี่ยว
ถูกพัดลอยไปตามกระแสน้ำเสียเอง
จะสามารถช่วยพาผู้อื่นให้ข้ามไปได้อย่างไร ฉันใด
[๓๒๓] บุคคลผู้ยังไม่เข้าใจธรรมอย่างแจ่มแจ้ง ก็ฉันนั้น
ไม่พิจารณาความหมายแห่งธรรมให้ถ่องแท้
ในสำนักอาจารย์ผู้เป็นพหูสูต
ตนเองยังไม่รู้แจ้งจริง ทั้งยังไม่หมดความสงสัย
จะสามารถสอนผู้อื่นให้เพ่งพินิจธรรมได้อย่างไร
[๓๒๔] คนลงเรือที่มั่นคงแข็งแรง มีพายและถ่ออยู่พร้อม
เป็นผู้เฉลียวฉลาด รอบรู้ ชำนาญการเดินเรือนั้น
ย่อมสามารถพาผู้โดยสารจำนวนมากในเรือนั้น
ให้ข้ามไปถึงฝั่งได้โดยปลอดภัย แม้ฉันใด
[๓๒๕] ผู้บรรลุถึงความรู้แจ้ง อบรมตนแล้ว
เป็นพหูสูต มีสภาพจิตไม่หวั่นไหว ก็ฉันนั้น
สามารถสั่งสอนผู้อื่นที่ตั้งใจฟังและสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัยให้เพ่งพินิจได้
[๓๒๖] เพราะฉะนั้น บุคคลจึงควรคบสัตบุรุษ
ผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต
บุคคลผู้คบหาสัตบุรุษนั้น รู้แจ้งชัดเนื้อความนั้นแล้วปฏิบัติอยู่
เป็นผู้เข้าใจธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง พึงได้รับความสุข
นาวาสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๙. กิงสีลสูตร
๙. กิงสีลสูตร
ว่าด้วยการจะบรรลุประโยชน์สูงสุดต้องประพฤติเช่นไร
[๓๒๗] (ท่านพระสารีบุตรทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้)
นรชนมีปกติอย่างไร มีความประพฤติอย่างไร
เพิ่มพูนการทำอะไรบ้าง
จึงชื่อว่า พึงดำรงตนอยู่อย่างถูกต้อง และบรรลุประโยชน์สูงสุดได้
[๓๒๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
นรชนควรเป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่๑ ไม่ริษยา
และควรรู้จักกาลที่จะเข้าไปหาครูทั้งหลาย
รู้จักขณะที่จะฟังธรรมีกถาที่ท่านกล่าว
และตั้งใจฟังสุภาษิตอื่น ๆ จากท่านโดยเคารพ
[๓๒๙] ควรลดมานะ นบนอบอ่อนน้อม
เข้าไปยังสำนักของครูตามเวลาเหมาะสม
ตั้งใจระลึกถึงอรรถ ธรรม สังยมะ๒ พรหมจรรย์
พร้อมทั้งยึดถือปฏิบัติตามนั้น
[๓๓๐] ควรเป็นผู้พอใจธรรม ยินดีในธรรม
ดำรงอยู่ในธรรม รู้จักพิจารณาธรรม
ไม่ควรกล่าววาจาที่ประทุษร้ายธรรม
ควรให้เวลาสิ้นไปกับสุภาษิตที่แท้๓

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ใหญ่ มี ๔ คือ (๑) ปัญญาวุฒ ผู้ใหญ่โดยปัญญา (๒) คุณวุฒ ผู้ใหญ่โดยคุณความดี (๓) ชาติวุฒ ผู้ใหญ่
โดยชาติ (เกิดในชาติกำเนิดฐานะอันสูง) (๔) วัยวุฒ ผู้ใหญ่โดยวัยคือเกิดก่อน ในที่นี้หมายถึงปัญญาวุฒ
(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๒๘/๑๔๗)
๒ สังยมะ หมายถึงศีล (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๒๙/๑๔๘)
๓ สุภาษิตที่แท้ หมายถึงสุภาษิตที่ประกอบด้วยสมถะและวิปัสสนา (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๐/๑๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๙. กิงสีลสูตร
[๓๓๑] การละความสนุกรื่นเริง การพูดกระซิบ
ความร่ำไรรำพัน ความโกรธง่าย
การหลอกลวงเสแสร้งทำความดี
ความยินดีในปัจจัย ความถือตัว
การชิงดีชิงเด่น ความหยาบคาย
และความหมกมุ่นอยู่ในกิเลสดุจน้ำฝาดย้อมใจ
ควรเป็นผู้ปราศจากความมัวเมา ดำรงสติมั่นคงอยู่
[๓๓๒] นรชนใดเป็นผู้ประพฤติรีบด่วน๑ เป็นผู้ประมาท
เพียงแต่รู้สุภาษิตอันเป็นสาระ
และได้สดับสมาธิอันเป็นสาระในธรรมที่รู้เท่านั้น
ปัญญาและสุตะย่อมไม่เจริญแก่นรชนนั้นเลย๒
[๓๓๓] ส่วนนรชนผู้ยินดีในธรรม๓ที่พระอริยะประกาศแล้ว
เป็นผู้ประเสริฐกว่าคนนอกนี้
ด้วยกาย วาจา และใจ
ดำรงมั่นอยู่ในสันติ โสรัจจะ และสมาธิ๔
จึงได้บรรลุถึงธรรมอันเป็นสาระแห่งสุตะและปัญญา
กิงสีลสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ประพฤติรีบด่วน ในที่นี้หมายถึงไม่พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ ตกไปในอำนาจกิเลสมีราคะเป็นต้น
(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๒/๑๕๐)
๒ ความหมายในคาถานี้ คือ นรชนผู้ถูกราคะเป็นต้นครอบงำ ไม่พิจารณาไตร่ตรอง ประมาท ไม่บำเพ็ญ
เพียรอย่างต่อเนื่อง แม้จะได้รับโอวาท ฟังสุภาษิตมากมายก็ตาม แต่ปัญญาของเขาก็ไม่เจริญ เพราะไม่รู้
ความหมาย และสุตะก็ไม่เจริญเพราะไม่มีการปฏิบัติตาม (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๒/๑๕๐)
๓ ธรรม ในที่นี้หมายถึงสมถวิปัสสนา (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๓/๑๕๑)
๔ สันติ หมายถึงนิพพาน โสรัจจะ หมายถึงมัคคปัญญาอันมีนิพพานเป็นอารมณ์ สมาธิ หมายถึงมัคคสมาธิ
(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๓/๑๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๐. อุฏฐานสูตร
๑๐. อุฏฐานสูตร
ว่าด้วยการลุกขึ้นนั่งสมาธิ
(พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[๓๓๔] เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด๑ จงนั่งเถิด๒
ความหลับจะมีประโยชน์อะไรแก่เธอทั้งหลาย
ผู้เร่าร้อนด้วยโรคคือกิเลสมีประการต่าง ๆ
ถูกลูกศรคือราคะเป็นต้นทิ่มแทงจนย่อยยับอยู่
[๓๓๕] เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงนั่งเถิด
จงบากบั่นขยันศึกษาปฏิบัติเพื่อบรรลุสันติธรรม๓กันเถิด
อย่าให้มัจจุราชรู้ว่า เธอทั้งหลายมัวแต่ประมาทลุ่มหลง
แล้วบังคับให้หลงใหลอยู่ในอำนาจเลย
[๓๓๖] เธอทั้งหลายจงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา
ซึ่งเป็นเหตุให้เทวดาและมนุษย์
ผู้ยังมีความต้องการยึดติดอยู่
ขณะอย่าได้ล่วงเลยเธอทั้งหลายไปเสีย๔
เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป
ย่อมแออัดกันในนรก เศร้าโศกอยู่

เชิงอรรถ :
๑ จงลุกขึ้น หมายถึงลุกจากอาสนะ จงเพียรพยายามอย่าเกียจคร้าน (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๔/๑๕๓)
๒ จงนั่ง หมายถึงนั่งคู้บัลลังก์ เพื่อปฏิบัติกัมมัฏฐาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๔/๑๕๓)
๓ สันติธรรม มี ๓ ประการ คือ (๑) อัจจันตสันติ(ความสงบอย่างสิ้นเชิง) (๒) ตทังคสันติ(ความสงบ
ด้วยองค์นั้น ๆ) (๓) สัมมุติสันติ(ความสงบโดยสมมติ) แต่ในที่นี้หมายถึงอัจจันตสันติ กล่าวคือนิพพาน
(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๕/๑๕๔)
๔ ขณะอย่าได้ล่วงเลยเธอทั้งหลายไปเสีย ในที่นี้หมายถึงอย่าปล่อยให้โอกาสหรือเวลาแห่งการบำเพ็ญ
สมณธรรมผ่านไป (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๖/๑๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๑. ราหุลสูตร
[๓๓๗] ความประมาทเป็นดุจธุลี
ความประมาทที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็จัดเป็นดุจธุลี
กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิตควรถอนลูกศรคือกิเลสของตน
ด้วยความไม่ประมาทและด้วยวิชชา
อุฏฐานสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. ราหุลสูตร
ว่าด้วยพระพุทโธวาทที่ตรัสโปรดพระราหุล
[๓๓๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระราหุลดังนี้)
เพราะความสนิทสนมกันเกินไป
เธอนึกดูหมิ่นบัณฑิต๑บ้างหรือไม่
การชูคบเพลิงแก่มวลมนุษย์๒
เธอยังใส่ใจนอบน้อมอยู่หรือไม่
[๓๓๙] (ท่านพระราหุลทูลตอบดังนี้)
ถึงจะมีความสนิทสนมกันมากสักเพียงใด
ข้าพระองค์ก็ไม่เคยนึกดูหมิ่นบัณฑิตเลย
การชูคบเพลิงแก่มวลมนุษย์
ข้าพระองค์ก็ยังใส่ใจนอบน้อมอยู่เสมอ
[๓๔๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสโอวาทดังนี้)
เธอละกามคุณ ๕ ซึ่งน่ารัก น่ารื่นรมย์ใจแล้ว
ออกจากเรือนบวชด้วยศรัทธา
จงทำที่สุดแห่งทุกข์เถิด๓

เชิงอรรถ :
๑ บัณฑิต ในที่นี้พระผู้มีพระภาคตรัสหมายเอาพระสารีบุตร (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๘/๑๕๗)
๒ การชูคบเพลิง ในที่นี้หมายถึงการแสดงธรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๓๘/๑๕๗)
๓ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๙๕/๓๖๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๑. ราหุลสูตร
[๓๔๑] เธอจงคบกัลยาณมิตร ยินดีเสนาสนะอันสงัด
ปราศจากเสียงอึกทึกครึกโครม
จงเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
[๓๔๒] เธอจงอย่าทำความอยากในปัจจัย ๔ เหล่านี้ คือ
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชที่เกิดขึ้น
เธออย่ากลับมายังโลกนี้อีกเลย
[๓๔๓] เธอจงเป็นผู้สำรวมในปาติโมกข์ และอินทรีย์ ๕
จงเจริญกายคตาสติกัมมัฏฐาน
จงเป็นผู้เบื่อหน่ายในสังสารวัฏให้มาก
[๓๔๔] จงเว้นสุภนิมิตอันเป็นเหตุให้เกิดราคะเสีย
จงเจริญสมาธิจิตด้วยอสุภภาวนา
จนจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง และตั้งมั่นด้วยดี๑
[๓๔๕] จงเจริญกัมมัฏฐานที่ไม่มีนิมิต จงละมานานุสัยกิเลส
เพราะละมานะได้นั่นเอง เธอก็จะเป็นผู้สงบระงับ
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสสอนท่านพระราหุลด้วยคาถาเหล่านี้อยู่เนือง ๆ
ด้วยประการฉะนี้
ราหุลสูตรที่ ๑๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง หมายถึงแน่วแน่ด้วยอุปจารสมาธิ ตั้งมั่นด้วยดี หมายถึงตั้งมั่นแนบแน่นด้วยอัปปนาสมาธิ
(ขุ.สุ.อ. ๒/๓๔๔/๑๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๒. วังคีสสูตร
๑๒. วังคีสสูตร๑
ว่าด้วยพุทธพจน์ตรัสแก้ความสงสัยของพระวังคีสะ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ เขตเมืองอาฬวี
สมัยนั้น พระนิโครธกัปปเถระซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านพระวังคีสะเพิ่งจะปรินิพพาน
ที่อัคคาฬวเจดีย์ไม่นาน ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ๒ได้เกิดความ
คิดคำนึงอย่างนี้ว่า “พระอุปัชฌาย์ของเราปรินิพพานแล้วหรือว่ายังไม่ปรินิพพาน”
ครั้นถึงเวลาเย็น ท่านพระวังคีสะจึงออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่ลับได้เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า ‘พระอุปัชฌาย์ของเราปรินิพพานแล้วหรือว่ายังไม่ปรินิพพาน”
ครั้งนั้น ท่านพระวังคีสะก็ลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไป
ทางพระผู้มีพระภาคแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
[๓๔๖] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระบรมศาสดา
ผู้มีพระปัญญามากว่า
ภิกษุใดมีชื่อเสียง เรืองยศ๓
ตัดความสงสัย ดับกิเลสเสียได้ในปัจจุบันชาตินี้
ได้ปรินิพพานที่อัคคาฬวเจดีย์วิหาร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๒๗๒-๑๒๘๗/๕๔๖-๕๔๙
๒ หลีกเร้นอยู่ในที่ลับ หมายถึงหลีกออกจากหมู่คณะอยู่สงบกาย และอยู่สงบจิตจากอารมณ์นั้น ๆ (ขุ.สุ.อ.
๒/๓๔๖/๑๖๔)
๓ เรืองยศ ในที่นี้หมายถึงเพียบพร้อมด้วยลาภและบริวาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๔๖/๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๒. วังคีสสูตร
[๓๔๗] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเห็นธรรมอันมั่นคง
ภิกษุนั้นเป็นพราหมณ์มาแต่กำเนิด
มีนามที่พระองค์ทรงประทานให้ว่า ‘นิโครธกัปปะ’
ท่านเที่ยวนอบน้อม มุ่งหวังความหลุดพ้น ปรารภความเพียร
[๓๔๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าศากยะ ผู้มีสมันตจักขุ
ข้าพระองค์ทุกรูปปรารถนาจะทราบถึงพระสาวกรูปนั้น
ข้าพระองค์ทั้งหลายพร้อมที่จะเงี่ยโสตฟัง
พระองค์เป็นศาสดาของข้าพระองค์ทั้งหลาย พระองค์เป็นผู้ยอดเยี่ยม
[๓๔๙] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
ขอพระองค์โปรดขจัดความเคลือบแคลงสงสัยของข้าพระองค์ทั้งหลาย
โปรดตรัสบอกพระนิโครธกัปปเถระ
ผู้ปรินิพพานแล้วนั้น ให้ข้าพระองค์ทราบด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกท่ามกลางแห่งข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด
เหมือนท้าวสักกะผู้มีพระเนตรตั้งพันตรัสบอกแก่เหล่าเทวดา
[๓๕๐] กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้
เป็นทางก่อให้เกิดความลุ่มหลง เป็นฝ่ายแห่งความไม่รู้
เป็นมูลฐานแห่งความเคลือบแคลงสงสัย
กิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่านั้นพอมาถึงพระตถาคตผู้มีพระจักษุ
มีพระคุณยิ่งกว่านรชนทั้งหลายนี้แล ย่อมหมดไป
[๓๕๑] ถ้าพระผู้มีพระภาคจะเป็นเพียงบุรุษธรรมดา
ก็จะไม่ทรงทำลายกิเลสได้
เหมือนลมพัดทำลายก้อนเมฆที่หนาทึบไม่ได้ ฉะนั้น
โลกทั้งมวลที่มืดอยู่แล้วก็ยิ่งจะมืดหนักลง
นรชนทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น
ที่รุ่งเรืองอยู่บ้าง ก็จะไม่รุ่งเรืองนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๒. วังคีสสูตร
[๓๕๒] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยความเพียร
นักปราชญ์ทั้งหลายเป็นผู้ทำแสงสว่าง๑ให้เกิด
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายเข้าใจพระองค์ว่า
ทรงทำแสงสว่างให้เกิดเป็นแม่นมั่น
ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ว่า พระองค์ทรงเห็นธรรมทั้งปวง
ได้อย่างแจ่มแจ้ง จึงได้พากันมาเฝ้า
ขอพระองค์โปรดประกาศพระนิโครธกัปปเถระ
แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในที่ประชุมนี้ด้วยเถิด
[๓๕๓] พระองค์ทรงเปล่งพระวาจาอย่างไพเราะจับใจ
ทั้งทรงเปล่งด้วยพระสุรเสียงกังวาลที่เกิดแต่พระนาสิก
ที่บุญญาธิการตกแต่งมาดีแล้ว ได้อย่างคล่องแคล่วแผ่วเบา
เหมือนพญาหงส์ทองโก่งคอขันเบา ๆ อย่างไพเราะ
ข้าพระองค์ทุกรูปตั้งใจแน่วแน่
ขอฟังพระดำรัสที่ไพเราะของพระองค์
[๓๕๔] ข้าพระองค์จะเปิดเผยความเกิดและความตาย
ที่ละได้อย่างสิ้นเชิง
จะแสดงบอกบาปธรรมซึ่งเป็นตัวกำจัด
เพราะบรรดาปุถุชนทั้งหลาย
บุคคลผู้ที่ทำได้ตามความพอใจตนไม่มี
แต่คนที่ไตร่ตรองพิจารณาตามพระตถาคตเท่านั้น
สามารถที่จะรู้หรือกล่าวธรรมอย่างที่ตนต้องการได้
[๓๕๕] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญามาก
พระองค์ผู้ทรงมีพระปัญญารุ่งเรือง
ได้ตรัสไวยากรณ์ที่สมบูรณ์ไว้อย่างถูกต้องแล้ว
ข้าพระองค์ขอถวายอัญชลีกรรมอย่างนอบน้อม

เชิงอรรถ :
๑ แสงสว่าง ในที่นี้หมายถึงปัญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๕๒/๑๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๒. วังคีสสูตร
พระองค์ทรงทราบคติของพระนิโครธกัปปเถระ
โปรดอย่าให้ข้าพระองค์หลงอยู่เลย
[๓๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
พระองค์ทรงรู้แจ้งอริยธรรม๑ทั้งที่เป็นโลกุตตระและโลกิยะ
ทรงทราบเญยยธรรมทั้งหมด
โปรดอย่าให้ข้าพระองค์หลงอยู่เลย
ข้าพระองค์หวังพระดำรัสของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง
เหมือนคนถูกความร้อนแผดเผาในฤดูร้อนต้องการน้ำเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้น
ขอพระองค์โปรดเปล่งสัททายตนะคือสุตะเถิด
[๓๕๗] พระนิโครธกัปปเถระประพฤติพรหมจรรย์เพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นของท่าน ไม่สูญเปล่าหรือ
ท่านนิพพานด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
หรือนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ข้าพระองค์ทั้งหลายขอฟังเรื่องนั้น
[๓๕๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
นิโครธกัปปเถระนั้นได้ตัดขาดตัณหาในนามรูปนี้
ทั้งตัดกระแสแห่งธรรมฝ่ายดำ
ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในสันดานมาช้านาน
ข้ามพ้นชาติและมรณะได้อย่างสิ้นเชิง
พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐด้วยพลธรรม ๕ ประการ๒
ได้ตรัสไว้ดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ อริยธรรม หมายถึงอริยสัจ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๕๖/๑๖๘)
๒ พลธรรม ๕ ประการ คือ (๑) สัทธา(ความเชื่อ) (๒) วิริยะ(ความเพียร) (๓) สติ(ความระลึกได้) (๔) สมาธิ
(ความตั้งจิตมั่น) (๕) ปัญญา(ความรู้ทั่ว) อนึ่ง คำว่า “พระผู้มีพระภาค” ในคาถานี้เป็นคำกล่าวของพระ
สังคีติกาจารย์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๕๘/๑๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[๓๕๙] (ท่านพระวังคีสเถระกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นพุทธะ
ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว ย่อมเลื่อมใส
ทราบว่า เรื่องที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้วไม่ไร้ประโยชน์
พระองค์ทรงเป็นพุทธเจ้า ไม่ทรงลวงข้าพระองค์แน่นอน
[๓๖๐] สาวกของพระพุทธองค์พูดอย่างใด ก็ทำอย่างนั้น
ได้ตัดข่ายคือตัณหาที่แผ่กว้าง ทั้งมั่นคง
ของมารเจ้าเล่ห์ได้เด็ดขาด
[๓๖๑] พระผู้มีพระภาคสมควรที่จะตรัสว่า
ท่านพระนิโครธกัปปเถระได้เห็นมูลเหตุแห่งอุปาทาน
ล่วงพ้นบ่วงมัจจุราชที่ข้ามได้แสนยากแล้ว
วังคีสสูตรที่ ๑๒ จบ

๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
ว่าด้วยภิกษุควรละเว้นอยู่ในโลกโดยชอบ
[๓๖๒] (พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระมุนีผู้มีปัญญามาก
ทรงข้ามโอฆะได้แล้วปรินิพพาน มีพระทัยมั่นคง
ภิกษุนั้นบรรเทากามทั้งหลาย ออกจากเรือน (มาบวช) แล้ว
พึงละเว้นอยู่ในโลกโดยชอบได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[๓๖๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ภิกษุผู้ตัดขาดการเชื่อสิ่งที่เห็นเป็นต้นว่า เป็นมงคล
การยึดถืออุกกาบาตตก ความฝัน และการทำนายลักษณะ
ละสิ่งที่ทำให้เกิดผลเสียต่อมงคลได้เด็ดขาด
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๖๔] ภิกษุพึงกำจัดความกำหนัดในกามทั้งหลาย
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ และที่เป็นทิพย์
ภิกษุนั้นตรัสรู้ธรรมแล้ว ก้าวพ้นภพได้แล้ว
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๖๕] ภิกษุกำจัดความส่อเสียดแล้ว
พึงละความโกรธ ความตระหนี่
ภิกษุนั้นละความยินดีและความยินร้ายได้แล้ว
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๖๖] ภิกษุละสิ่งอันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักแล้ว
ไม่ถือมั่น ผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัยในภพไหน ๆ
หลุดพ้นแล้วจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๖๗] ภิกษุกำจัดฉันทราคะในสิ่งที่พึงยึดถือทั้งหลาย
ไม่เห็นความเป็นสาระในอุปธิทั้งหลาย๑
ภิกษุนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ใคร ๆ พึงชักนำไปไม่ได้
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ

เชิงอรรถ :
๑ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๖๗/๑๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[๓๖๘] ภิกษุผู้ไม่ผิดพลาดทางกาย วาจา และใจ
รู้แจ้งซึ่งธรรมโดยชอบ ปรารถนาบทคือนิพพานอยู่
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๖๙] ภิกษุรู้จักเคารพนบไหว้ ไม่ถือตัว ถึงถูกด่าว่าก็ไม่โกรธ
ได้ภัตตาหารที่ผู้อื่นถวายประจำแล้วก็ไม่ประมาทมัวเมา
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๐] ภิกษุละความโลภและกามภพเป็นต้นได้แล้ว
เว้นขาดจากการฆ่าฟัน และการจองจำผู้อื่น
ตัดความสงสัยได้แล้ว ปราศจากกิเลสดุจลูกศร
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๑] ภิกษุผู้รู้ข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ตน
รู้แจ้งสัจธรรมตามความเป็นจริง
ไม่เบียดเบียนสัตว์โลกทุกชนิด
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๒] ภิกษุไม่มีอนุสัยกิเลสใด ๆ ถอนรากอกุศลธรรมได้หมดสิ้น
ไม่มีความหวัง ปราศจากตัณหาโดยสิ้นเชิง
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๓] ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว ละมานะได้เด็ดขาด
ล่วงพ้นทางแห่งราคะ๑ทั้งหมด
ฝึกตนได้ ดับกิเลสลงได้อย่างสิ้นเชิง ดำรงตนมั่นคง
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ

เชิงอรรถ :
๑ ทางแห่งราคะ หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ) (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๓/๑๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
[๓๗๔] ภิกษุมีศรัทธามั่นคง เป็นผู้ได้สดับอย่างดี
เห็นทางปฏิบัติอันถูกต้อง เป็นนักปราชญ์
ผู้ไม่คล้อยตามไปในฝักฝ่ายมิจฉาทิฏฐิ
ขจัดโลภะ โทสะคือความขุ่นเคืองใจได้
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๕] ภิกษุเอาชนะกิเลสได้ด้วยอรหัตตมรรคที่หมดจดดี
ไม่มีกิเลสเครื่องปิดบัง เชี่ยวชาญในธรรมทั้งหลาย๑
เป็นผู้ถึงฝั่ง หมดตัณหาอันทำให้หวั่นไหว
มีความฉลาดในญาณเป็นที่ดับสังขาร
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๖] ภิกษุล่วงพ้นความกำหนดที่ถือว่าเป็นของเรา
ในเบญจขันธ์ทั้งที่เป็นอดีตและอนาคต
มีปัญญาบริสุทธิ์ เป็นผู้หลุดพ้นจากอายตนะทั้งปวงได้เด็ดขาด
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
[๓๗๗] ภิกษุรู้แจ้งสภาวะที่ควรเข้าถึง จนได้บรรลุธรรม
เห็นการละอาสวะทั้งหลายเป็นวิวฏะ๒
ไม่ติดข้องอยู่ในภพไหน ๆ
เพราะอุปธิทั้งปวงหมดสิ้นไปแล้ว
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงอริยสัจ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๕/๑๘๕)
๒ วิวฏะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๗/๑๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
[๓๗๘] (พระพุทธเนรมิตทูลสรุปดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ที่พระองค์ตรัสมาทั้งหมดนั้นถูกต้องทีเดียว
ภิกษุใดมีความประพฤติเช่นนี้อยู่ประจำ
ฝึกฝนตนแล้ว เป็นผู้ข้ามสังโยชน์และโยคะทั้งปวงได้
ชื่อว่า ละเว้นอยู่ในโลกได้โดยชอบ
สัมมาปริพพาชนียสูตรที่ ๑๓ จบ

๑๔. ธัมมิกสูตร
ว่าด้วยพระพุทธพจน์ตรัสโปรดธัมมิกอุบาสก
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ธัมมิกอุบาสกพร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ คน เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
ด้วยคาถาว่า
[๓๗๙] ข้าแต่พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ว่า
บรรดาสาวกที่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
กับสาวกที่เป็นอุบาสกอยู่ครองเรือนนั้น
สาวกที่ปฏิบัติตนอย่างไร จึงชื่อว่า เป็นสาวกที่ดี
[๓๘๐] พระองค์เท่านั้นทรงทราบชัดคติ๑
และความข้ามพ้นไปจากคติ

เชิงอรรถ :
๑ คติ หมายถึงการไปหรือภพที่สัตว์ไปเกิด มี ๕ คือ (๑) นรก (๒) กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน (๓) แดนเปรต
(๔) มนุษย์ (๕) เทพ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๘๐/๑๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
ของชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ไม่มีใครที่เล็งเห็นประโยชน์ได้สุขุมลุ่มลึกเท่ากับพระองค์
บัณฑิตทั้งหลายพากันขนานนามพระองค์ว่า
เป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[๓๘๑] พระองค์ผู้ทรงรู้แจ้งเญยยธรรม ทรงอนุเคราะห์เหล่าสัตว์
ได้ทรงประกาศพระญาณและธรรมทั้งปวง
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
พระองค์ไม่มีกิเลสดุจเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว
ทรงปราศจากมลทิน รุ่งเรืองอยู่ในโลกทั้งปวง
[๓๘๒] พญาช้างเอราวัณ๑ทราบว่าพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้ทรงชนะบาปธรรมได้แล้ว
จึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ถึงที่ประทับ
พญาช้างแม้นั้นได้ปรึกษาทูลถามปัญหากับพระองค์
ฟังคำพยากรณ์แล้ว ได้บรรลุธรรม
มีความยินดีเปล่งสาธุการแล้วจากไป
[๓๘๓] ถึงแม้ท้าวเวสวัณ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า ท้าวกุเวร
ก็ยังเสด็จเข้ามาเฝ้ากราบทูลถามปัญหาธรรม
พระองค์แม้ถูกท้าวเวสวัณนั้นทูลถาม
ก็ยังตรัสตอบจนท้าวเธอสดับแล้วมีความชื่นชมยินดีจากไป
[๓๘๔] ชนต่างๆเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นพวกเดียรถีย์อาชีวกหรือนิครนถ์
ผู้ชอบกล่าวยกตนข่มผู้อื่นทั้งหมด
ย่อมไม่เกินเหนือพระองค์ด้วยปัญญา
เหมือนคนที่หยุดอยู่ ไม่ทันคนที่เดินเร็วและไม่หยุด ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ช้างเอราวัณ หมายถึงเทพบุตรชื่อเอราวัณเนรมิตกายเป็นพญาช้าง (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๘/๑๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
[๓๘๕] พวกพราหมณ์ผู้เฒ่า
ที่มีปกติกล่าววาทะเหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ดี
และพราหมณ์เหล่าอื่นที่สำคัญอยู่ว่า
เราทั้งหลายผู้มีปกติทำวาทะก็ดี
ชนเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนแต่ได้รับประโยชน์จากพระองค์
[๓๘๖] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ธรรมนี้๑ที่พระองค์ทรงแสดงอย่างดีละเอียด
และก่อให้เกิดสุขอย่างแท้จริง
ข้าพระองค์ทั้งหมดตั้งใจฟังธรรมนั้น
ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหา
ที่พวกข้าพระองค์ทูลถามแล้วด้วยเถิด
[๓๘๗] ภิกษุพร้อมทั้งอุบาสกนี้ทั้งหมด
ผู้นั่งประชุมกัน ณ ที่นี้ เพื่อต้องการจะฟัง
จะตั้งใจฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงปราศจากมลทินตรัสรู้แล้ว
เหมือนทวยเทพต่างตั้งใจฟังสุภาษิตของท้าววาสวะ ฉะนั้น
[๓๘๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟังเรา
เราจะให้เธอได้สดับธรรมคือข้อปฏิบัติกำจัดกิเลส
และขอพวกเธอทั้งหมดจงประพฤติธรรมนั้น
ภิกษุผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นประโยชน์
ควรปฏิบัติตนอยู่ทุกอิริยาบถที่สมควรแก่บรรพชิต

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๘๖/๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
[๓๘๙] ภิกษุไม่ควรออกเที่ยวไปในเวลาวิกาล
แต่ควรเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านตามเวลา
เพราะว่าภิกษุผู้ออกเที่ยวในเวลาวิกาล
กิเลสเครื่องข้อง๑จะครอบงำ
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้รู้ทั้งหลายจึงไม่ออกเที่ยวในเวลาวิกาล
[๓๙๐] ภิกษุควรกำจัดความพอใจในกามคุณ ๕ เหล่านี้ คือ
รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสที่ทำให้เหล่าสัตว์หลงมัวเมา
เข้าไปยังโอกาสที่จะพึงบริโภคอาหารในเวลาเช้า ตามกาล
[๓๙๑] อนึ่ง ภิกษุได้อาหารบิณฑบาตมาฉันภายในเวลาแล้ว
ควรกลับไปนั่งในที่สงัดตามลำพัง
ควบคุมอัตภาพคือจิตได้อย่างมั่นคงแล้ว
กำหนดจิตพิจารณาอารมณ์ภายใน
ไม่ปล่อยจิตไปในอารมณ์ภายนอก
[๓๙๒] ถ้าแม้ภิกษุนั้นจำเป็นจะต้องสนทนากับสาวกอื่น ๆ
หรือภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ก็ควรสนทนาธรรมที่ประณีต๒นั้น
ไม่ควรกล่าวคำสอนส่อเสียดกระทบว่าร้ายผู้อื่น
[๓๙๓] มีคนพวกหนึ่งชอบกล่าววาทะโต้เถียงกัน
เราไม่สรรเสริญคนพวกนั้นผู้มีปัญญาน้อย
เพราะกิเลสเครื่องข้องที่เกิดจากการกล่าววาจาโตัเถียงกันนั้น
จะครอบงำคนพวกนั้น เพราะพวกเขา (เมื่อโต้เถียงกัน)
ย่อมทำจิตให้ไกลจากการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๔๙ ในเล่มนี้
๒ ธรรมที่ประณีต หมายถึงกถาวัตถุ ๑๐ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๙๒/๑๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
[๓๙๔] สาวกผู้มีปัญญาดี ฟังธรรมที่พระสุคตพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
พิจารณาอาหารบิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ที่นอนที่นั่ง น้ำใช้น้ำฉัน
และการซักผ้าสังฆาฏิที่สกปรกให้สะอาดแล้วจึงใช้สอยปัจจัย
[๓๙๕] เพราะฉะนั้น ภิกษุจึงไม่ควรเป็นผู้ยึดติดในสิ่งเหล่านี้
คือ อาหารบิณฑบาต ที่นอนที่นั่ง น้ำใช้น้ำฉัน
และการซักผ้าสังฆาฏิที่สกปรกให้สะอาดนี้
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว ฉะนั้น
[๓๙๖] ต่อไปนี้ เราจะบอกข้อปฏิบัติของคฤหัสถ์แก่พวกเธอ
คือสาวกที่เป็นคฤหัสถ์ประพฤติอย่างไร
จึงยังประโยชน์ให้สำเร็จได้
จริงอยู่ สาวกที่ยังมีความหวงแหนในไร่นาเป็นต้น
ไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมของภิกษุล้วน ๆ ได้
[๓๙๗] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง และที่มั่นคงในโลกแล้ว
ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นฆ่า และไม่พึงอนุญาตให้ใคร ๆ ฆ่า
[๓๙๘] จากนั้น สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ รู้อยู่
ควรงดเว้นการถือเอาสิ่งของต่าง ๆ ในทุกหนทุกแห่ง ที่เจ้าของมิได้ให้
คือ ไม่พึงลักเอง ไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นลัก และไม่พึงอนุญาตให้ใคร ๆ ลัก
พึงงดเว้นการถือเอาสิ่งของทั้งปวงที่เจ้าของมิได้ให้โดยเด็ดขาด
[๓๙๙] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ ผู้เข้าใจชัดแจ้ง
ควรงดเว้นพฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์
เหมือนคนเดินหลีกหลุมถ่านเพลิงที่มีไฟลุกโชน ฉะนั้น
แต่เมื่อไม่สามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้
ก็ไม่ควรล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น
[๔๐๐] สาวกผู้อยู่ในที่ประชุม หรือในที่สาธารณชน
และอยู่กับคนคนเดียว ไม่ควรพูดเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] ๑๔. ธัมมิกสูตร
ไม่ควรใช้ให้ผู้อื่นพูดเท็จ และไม่ควรอนุญาตให้ใคร ๆ พูดเท็จ
ควรงดเว้นคำพูดที่ไม่เป็นจริงทั้งหมด
[๔๐๑] สาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ไม่ควรประพฤติการดื่มน้ำเมา
ควรยินดีชอบใจธรรมคือการงดเว้นการดื่มน้ำเมานี้
ไม่ควรชักชวนผู้อื่นให้ดื่ม และไม่ควรอนุญาตให้ใคร ๆ ดื่ม
เพราะรู้ชัดถึงโทษของการดื่มน้ำเมานั้นว่า มีความเป็นบ้าในที่สุด
[๔๐๒] เพราะความเมานั่นเอง คนพาลทั้งหลายจึงทำบาปต่างๆ ได้
ทั้งยังชักชวนคนอื่น ๆ ผู้ประมาทให้ทำอีกด้วย
สาวกที่เป็นคฤหัสถ์จึงควรงดเว้นการดื่มน้ำเมา
ที่ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งความดี มีแต่ทำให้เป็นบ้า หลงลืม
ที่พวกคนปัญญาทรามชอบดื่มกันนี้
[๔๐๓] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรลักทรัพย์
ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา
ควรงดเว้นจากเมถุนที่เป็นความประพฤติไม่ประเสริฐ
ไม่ควรบริโภคอาหารในเวลาวิกาลในเวลากลางคืน
[๔๐๔] ไม่ควรทัดทรงดอกไม้ ไม่ควรลูบไล้กายด้วยของหอม
ควรนอนบนเตียง บนพื้น หรือบนที่ที่ปูลาดไว้
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า อุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล
พระพุทธเจ้าผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ทรงประกาศไว้๑
[๔๐๕] และต่อไป สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ผู้มีใจเลื่อมใส
ควรเข้าจำอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ให้บริบูรณ์ดี
ทุกวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดปาฏิหาริกปักษ์๒

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๔๐๓-๔ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๗๑/๒๘๙-๒๙๐, องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๔๓/๓๐๘
๒ ปาฏิหาริกปักษ์ หมายถึงกำหนดเวลา ๕ เดือน คือ เดือน ๘ ต้นแห่งวันเข้าพรรษา, ๓ เดือนภายในพรรษา,
เดือน ๑๒ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๐๕/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๒. จูฬวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
[๔๐๖] อันดับต่อไป สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ผู้เข้าจำอุโบสถแต่เช้า
มีจิตเลื่อมใส เบิกบานใจอยู่เนือง ๆ มีปัญญาเข้าใจแจ้งชัด
ควรแจกจ่ายถวายข้าวน้ำแด่ภิกษุสงฆ์ตามสมควร
[๔๐๗] สาวกที่เป็นคฤหัสถ์นั้น
ควรบำรุงเลี้ยงมารดาบิดาโดยชอบธรรม
ควรประกอบการค้าขายที่ชอบธรรม๑
เป็นผู้ไม่ประมาทประพฤติวัตรแห่งคฤหัสถ์นี้อยู่
ย่อมไปเกิดในหมู่เทพที่ชื่อว่าสยัมปภา๒
ธัมมิกสูตรที่ ๑๔ จบ
จูฬวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. รตนสูตร ๒. อามคันธสูตร
๓. หิริสูตร ๔. มงคลสูตร
๕. สูจิโลมสูตร ๖. ธัมมจริยสูตร
๗. พราหมณธัมมิกสูตร ๘. นาวาสูตร
๙. กิงสีลสูตร ๑๐. อุฏฐานสูตร
๑๑. ราหุลสูตร ๑๒. วังคีสสูตร
๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร ๑๔. ธัมมิกสูตร


เชิงอรรถ :
๑ การค้าขายที่ชอบธรรม หมายถึงการค้าขายที่เว้นจากการค้าที่ไม่ชอบธรรม ๕ อย่าง คือ (๑) สัตถวณิชชา
(ค้าขายอาวุธ) (๒) สัตตวณิชชา (ค้าขายมนุษย์) (๓) มังสวณิชชา (ค้าขายเนื้อสัตว์) (๔) มัชชวณิชชา
(ค้าขายน้ำเมา) (๕) วิสวณิชชา (ค้าขายยาพิษ) (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๐๗/๒๐๐)
๒ สยัมปภา หมายถึงหมู่เทวดาที่มีแสงสว่างในตัว มีอยู่ในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๐๗/๒๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑. ปัพพัชชาสูตร
๓. มหาวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องใหญ่
๑. ปัพพัชชาสูตร
ว่าด้วยการสรรเสริญการบรรพชา
(ท่านพระอานนท์เถระกล่าวสรรเสริญการบรรพชา ณ พระเชตวันดังนี้)
[๔๐๘] ข้าพเจ้าจักสรรเสริญการบรรพชา
อย่างที่พระผู้มีพระภาค
ผู้มีพระจักษุทรงบรรพชา
และอย่างที่พระองค์ทรงพิจารณารอบคอบ
จึงพอพระทัยการบรรพชา
[๔๐๙] พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าการอยู่ครองเรือนนี้
คับแคบ๑ เป็นบ่อเกิดธุลีคือกิเลส
และทรงเห็นว่า การบรรพชาปลอดโปร่ง
จึงเสด็จออกบรรพชา
[๔๑๐] พระพุทธองค์ครั้นบรรพชาแล้ว
ทรงเว้นบาปกรรมทางกายและละวจีทุจริตได้
ทรงชำระอาชีวะให้หมดจด
[๔๑๑] พระพุทธองค์ผู้มีพระลักษณะอันประเสริฐทั่วพระวรกาย
เสด็จไปถึงกรุงราชคฤห์ คิริพพชนคร๒ แคว้นมคธ
ได้เสด็จเที่ยวไปเพื่อทรงบิณฑบาต

เชิงอรรถ :
๑ คับแคบ หมายถึงหมดโอกาสบำเพ็ญกุศล เพราะถูกรบกวนด้วยบุตรภรรยา และถูกรบกวนด้วยกิเลส (ขุ.สุ.อ.
๒/๔๐๙/๒๐๑)
๒ คำว่า “คิริพพชนคร” คือ ชื่อของกรุงราชคฤห์นั่นเอง ที่มีชื่อว่า คิริพพชนคร เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางระหว่างภูเขา
๕ ลูก คือ (๑) ภูเขาปัณฑวะ (๒) ภูเขาคิชฌกูฏ (๓) ภูเขาเวภาระ (๔) ภูเขาอิสิคิลิ (๕) ภูเขาเวปุลละ ภูเขา
ทั้ง ๕ ลูกนี้เป็นเสมือนรั้วหรือกำแพงล้อมรอบ (คิริ = ภูเขา + วช = รั้ว + นคร) (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๑๑/๒๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑. ปัพพัชชาสูตร
[๔๑๒] พระเจ้าพิมพิสารประทับยืนอยู่บนปราสาท
ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ครั้นได้ทรงเห็นพระพุทธองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะ
จึงได้ตรัสดังนี้ว่า
[๔๑๓] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจงพิจารณาดูภิกษุรูปนี้เถิด
ภิกษุรูปนี้มีรูปร่างงาม สมส่วน สะอาด
เยื้องย่างโดยสำรวม และทอดสายตาเพียงชั่วแอก
[๔๑๔] มีจักษุทอดลง มีสติ ภิกษุรูปนี้
หาเหมือนกับผู้ออกบวชจากตระกูลต่ำไม่
ราชทูตทั้งหลายจงรีบไปสืบดูให้รู้ว่า
ภิกษุรูปนี้จะจาริกไปไหน
[๔๑๕] ราชทูตที่พระเจ้าพิมพิสารทรงส่งไปนั้น
ได้เดินตามหลังไปเพื่อสืบดูว่า
ภิกษุรูปนั้นจะจาริกไปไหน และพักอยู่ที่ไหน
[๔๑๖] พระพุทธองค์เสด็จไปตามลำดับบ้าน ทรงคุ้มครองอินทรีย์
ทรงสำรวมดีแล้ว มีสติสัมปชัญญะมั่นคง
ทรงรับบิณฑบาตแต่พอประมาณ
[๔๑๗] พระมุนีเสด็จเที่ยวบิณฑบาต
แล้วเสด็จออกจากพระนคร
เสด็จขึ้นไปยังปัณฑวบรรพตด้วยทรงดำริว่า
จะประทับอยู่ ณ ที่นั้น
[๔๑๘] ราชทูตทั้ง ๓ เห็นพระพุทธองค์เสด็จเข้าไปสู่ที่พัก
จึงพากันเข้าไปเฝ้า ส่วนราชทูตคนหนึ่ง
กลับมากราบทูลพระเจ้าพิมพิสารว่า
[๔๑๙] ขอเดชะ มหาราชเจ้า
ภิกษุรูปนั้นพักอยู่ที่ถ้ำด้านหน้าภูเขาปัณฑวะ
เหมือนเสือโคร่ง โคอุสภราช และราชสีห์ที่ซอกเขา ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑. ปัพพัชชาสูตร
[๔๒๐] พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับคำของราชทูตแล้ว
ทรงรีบเสด็จไปยังภูเขาปัณฑวะ
โดยพระราชพาหนะชั้นเยี่ยม
[๔๒๑] ท้าวเธอได้เสด็จไปจนสุดทางที่พระราชพาหนะจะสามารถไปได้
จึงเสด็จลงจากพระราชพาหนะ
เสด็จพระราชดำเนินต่อไปด้วยพระบาท
เข้าไปถึงปัณฑวบรรพตนั้นแล้วประทับนั่ง
[๔๒๒] ท้าวเธอครั้นประทับนั่งแล้ว
ได้ทรงสนทนาปราศรัยเป็นธรรมเนียมระลึกถึงกัน
ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยแล้วได้ตรัสดังนี้ว่า
[๔๒๓] พระคุณเจ้ายังหนุ่มแน่น เพิ่งผ่านปฐมวัยเมื่อไม่นานนี้
ถึงพร้อมด้วยความผุดผ่องแห่งวรรณะ
เหมือนกษัตริย์สุขุมาลชาติ
[๔๒๔] ข้าพเจ้าจะมอบโภคสมบัติให้
ขอท่านจงเป็นจอมทัพยังหมู่พลกายให้งดงาม
บริโภคสมบัติอยู่เถิด
พระคุณเจ้าจงบอกชาติกำเนิดด้วยเถิด
[๔๒๕] (พระพุทธองค์ตรัสดังนี้)
มหาบพิตร มีชนบทแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในแคว้นโกศล
ตรงด้านข้างหิมวันตประเทศ
เป็นเมืองที่มั่งคั่ง ประชาชนขยันขันแข็ง
[๔๒๖] อาตมภาพมีนามตามโคตรว่าอาทิตย์
มีนามตามชาติกำเนิดว่าศากยะ
ไม่ปรารถนากามสุข
จึงออกจากตระกูลนั้นมาบวชเป็นบรรพชิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๒. ปธานสูตร
[๔๒๗] อาตมภาพเห็นโทษในกามทั้งหลาย
เห็นการออกบวชว่าเป็นทางเกษม
จะจาริกไปเพื่อบำเพ็ญเพียร
ใจของอาตมภาพ ยินดีในการบำเพ็ญเพียรนั้น
ปัพพัชชาสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปธานสูตร
ว่าด้วยความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[๔๒๘] เราตั้งจิตบำเพ็ญเพียร ขะมักเขม้น เพ่งพินิจอยู่
เพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานั้น
[๔๒๙] มารได้เข้ามาหาพร้อมกับกล่าวถ้อยคำแสดงความเอ็นดูว่า
ท่านมีร่างกายผ่ายผอม มีผิวพรรณซูบซีด ใกล้จะตายอยู่แล้ว
[๔๓๐] ท่านมีโอกาสตายถึง ๑,๐๐๐ ส่วน
โอกาสรอดชีวิตมีเพียงส่วนเดียวเท่านั้น
ท่านเอ๋ย การที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้นดีแล้ว
เพราะเมื่อมีชีวิตอยู่ ท่านก็จักบำเพ็ญบุญทั้งหลายได้
[๔๓๑] ท่านประพฤติพรหมจรรย์๑และบูชาไฟอยู่
ก็ชื่อว่าสั่งสมบุญไว้มาก ท่านจักบำเพ็ญเพียรไปทำไม
[๔๓๒] ทางเพื่อความเพียรดำเนินไปถึงยาก ทำได้ยาก
ยากยิ่งนักที่จะก่อผลสำเร็จ
มารได้ยืนกล่าวคาถาเหล่านี้อยู่ใกล้ ๆ เราผู้จะเป็นพุทธะ

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๓๑/๒๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๒. ปธานสูตร
[๔๓๓] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบมารผู้กล่าวอย่างนั้นว่า
มารผู้มีบาป ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของคนประมาท
ท่านมาที่นี้มีความประสงค์ใด
[๔๓๔] เราไม่มีความต้องการบุญแม้แต่น้อย
ความจริง ท่านผู้เป็นมาร
ควรไปบอกแก่คนผู้ต้องการบุญ
[๔๓๕] เพราะเหตุไร ท่านจึงเฝ้าเพียรถามเรา
ผู้มีทั้งศรัทธา ตบะ วิริยะ และปัญญา
ผู้มีจิตมุ่งมั่น มีความเป็นอยู่อย่างนี้
[๔๓๖] กระแสแม่น้ำทุกสาย ลมนี้สามารถพัดให้เหือดแห้งได้
แต่ว่าเลือดของเราผู้มีจิตมุ่งมั่นไม่เหือดแห้งไปแม้สักหยดเลย
[๔๓๗] เมื่อเลือดกำลังเหือดแห้งไป ดี เสลดก็กำลังเหือดแห้งไปด้วย
และเมื่อเนื้อกำลังจะหมดสิ้นไป แต่จิตของเราก็ยิ่งผ่องใส
สติ และปัญญาก็ผ่องใส สมาธิของเราก็ยิ่งตั้งมั่นขึ้นไปอีก
[๔๓๘] เรานั้นถึงจะได้รับทุกขเวทนาอันแรงกล้าอยู่อย่างนี้
จิตก็หาได้หวนคนึงถึงกามทั้งหลายไม่
ท่านจงคอยดูภาวะที่เราเป็นสัตว์บริสุทธิ์
[๔๓๙] กิเลสกามทั้งหลาย เราเรียกว่าเสนากองที่ ๑ ของท่าน
ความไม่ยินดี เราเรียกว่าเสนากองที่ ๒ ของท่าน
ความหิวกระหาย เราเรียกว่าเสนากองที่ ๓ ของท่าน
ตัณหา(ความทะยานอยาก) เราเรียกว่าเสนากองที่ ๔ ของท่าน
[๔๔๐] ถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)
เราเรียกว่าเสนากองที่ ๕ ของท่าน
ความกลัว เราเรียกว่าเสนากองที่ ๖ ของท่าน
วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) เราเรียกว่าเสนากองที่ ๗ ของท่าน
มักขะ(ความลบหลู่คุณท่าน) และถัมภะ(ความหัวดื้อ)
เราเรียกว่าเสนากองที่ ๘ ของท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๒. ปธานสูตร
[๔๔๑] ลาภ ความสรรเสริญ สักการะ และยศที่ได้มาที่ผิดๆ
เราเรียกว่าเสนากองที่ ๙ ของท่าน
การยกตนและข่มผู้อื่น เราเรียกว่าเสนากองที่ ๑๐ ของท่าน
[๔๔๒] มารเอ๋ย เสนาของท่านผู้มีธรรมดำนี้
มีปกติประหารสมณพราหมณ์
คนขลาดเอาชนะเสนานั้นไม่ได้
แต่คนกล้า เอาชนะเสนามารได้แล้วย่อมได้รับสุข๑
[๔๔๓] แม้เรานี้ก็รักษาหญ้ามุงกระต่ายไว้
น่าติเตียน(ถ้า)ชีวิตของเรา(จะพ่ายแพ้)
เราตายเสียในสงครามประเสริฐกว่า
แพ้แล้วเป็นอยู่จะประเสริฐอะไร
[๔๔๔] สมณพราหมณ์บางพวกตกอยู่ในอำนาจเสนาของท่านแล้ว
ย่อมไม่ปรากฏเกียรติคุณ
และย่อมไม่รู้ทางที่เหล่าท่านผู้มีวัตรดีดำเนินไปอยู่
[๔๔๕] เราได้เห็นมารขี่ช้างเป็นพาหนะ
นำเสนาออกมาโดยรอบทิศ
จึงเตรียมเผชิญหน้าเพื่อจะต่อสู้
โดยมั่นใจว่า มารอย่าหวังที่จะให้เราลุกจากที่
[๔๔๖] ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ไม่สามารถเอาชนะเสนาของท่านนั้นได้
แต่เราจะใช้ปัญญาเป็นอาวุธ
ทำลายเสนาท่านนั้นให้พินาศ
เหมือนคนใช้ก้อนหินทุบภาชนะดิน
ทั้งที่ยังไม่ได้เผาและที่เผาแล้วให้แตกไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๘/๑๑๖, ๑๔๖/๒๗๗, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๗/๑๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๒. ปธานสูตร
[๔๔๗] เราจักเจริญสัมมาสังกัปปะให้เชี่ยวชาญ
และตั้งสติไว้อย่างมั่นคงแล้ว
เที่ยวจาริกแนะนำพร่ำสอนสาวกจำนวนมากไปทุกแว่นแคว้น
[๔๔๘] สาวกผู้ไม่ประมาทเหล่านั้น มีจิตมุ่งมั่น
ปฏิบัติตามคำสอนของเรา เป็นผู้หมดความปรารถนา
ก็จะเข้าถึงสถานที่ซึ่งเหล่าชนผู้ไปแล้ว ไม่เศร้าโศก
[๔๔๙] (มารกล่าวดังนี้)
ข้าพเจ้าได้สะกดรอยตามพระผู้มีพระภาคนานถึง ๗ ปี
ก็ยังหาโอกาสที่จะทำลายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระสิริไม่ได้เลย
[๔๕๐] กาตัวหนึ่งบินอยู่รอบ ๆ แท่นศิลา
ที่มีสีคล้ายมันข้น ด้วยคิดว่า
‘เรากำลังจะได้ของอ่อนนุ่มในสิ่งนี้
ความยินดีพอใจก็จะมีแก่เรา’
(แต่เมื่อไม่ได้ความพอใจ รู้ว่า ‘นี้คือแท่นศิลา’ จึงหลีกไป)๑
[๔๕๑] ข้าพเจ้าก็เช่นเดียวกัน ตั้งใจว่า
จะมารบกวนก่อความรำคาญพระทัย
ให้พระสมณโคดมเบื่อเสด็จลุกหนีไป
แต่ข้าพเจ้ากลับไม่ได้รับความยินยอมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เกิดความท้อแท้จึงหลีกไป
[๔๕๒] เมื่อมารนั้นกำลังเศร้าโศกมาก
พิณที่หนีบอยู่นั้นจึงตกลงจากรักแร้
ลำดับนั้น มารนั้นผู้เสียใจ
ได้อันตรธานหายไปในที่นั้นเอง
ปธานสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความนี้แปลเติมตามนัยอรรถกถา (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๔๙-๔๕๑/๒๑๔-๒๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๓. สุภาสิตตสูตร
๓. สุภาสิตสูตร๑
ว่าด้วยวาจาสุภาษิต ๔ ประการ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ เป็นสุภาษิต ไม่เป็น
ทุพภาษิต ไม่มีโทษ และวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน
วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. กล่าววาจาสุภาษิตอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาทุพภาษิต
๒. กล่าววาจาที่เป็นธรรมอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม
๓. กล่าววาจาเป็นที่รักอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาไม่เป็นที่รัก
๔. กล่าววาจาสัตย์จริงอย่างเดียว ไม่กล่าววาจาเหลาะแหละ
ภิกษุทั้งหลาย วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการนี้แล เป็นสุภาษิต ไม่เป็น
ทุพภาษิต ไม่มีโทษ และวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน”
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๔๕๓] สัตบุรุษกล่าวว่าวาจาสุภาษิตเป็นวาจาสูงสุด (นั้นเป็นองค์ที่ ๑)
บุคคลพึงกล่าววาจาที่เป็นธรรม
ไม่พึงกล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม นั้นเป็นองค์ที่ ๒
บุคคลพึงกล่าววาจาเป็นที่รัก

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๒๑๓/๓๐๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๓. สุภาสิตตสูตร
ไม่พึงกล่าววาจาไม่เป็นที่รัก นั้นเป็นองค์ที่ ๓
บุคคลพึงกล่าววาจาสัตย์
ไม่พึงกล่าววาจาเหลาะแหละ นั้นเป็นองค์ที่ ๔
ลำดับนั้น ท่านพระวังคีสะลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ยืนประนมมือไป
ทางพระผู้มีพระภาคประทับ แล้วได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์เข้าใจพระภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง ข้าแต่พระสุคต ข้าพระองค์เข้าใจ
พระภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “วังคีสะ เธอจงเข้าใจภาษิตของเราอย่างแจ่มแจ้งเถิด”
ลำดับนั้น ท่านพระวังคีสะได้กล่าวชมเชยพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาอย่างเหมาะสม
เฉพาะพระพักตร์ว่า
[๔๕๔] บุคคลพึงกล่าววาจาที่ไม่เป็นเหตุทำตนให้เดือดร้อน
และไม่เบียดเบียนผู้อื่น วาจานั้นเป็นวาจาสุภาษิตแท้
[๔๕๕] บุคคลพึงกล่าวเฉพาะวาจาเป็นที่รัก เป็นที่ถูกใจผู้ฟัง
พึงเว้นคำลามกทั้งหลายเสีย กล่าวแต่วาจาเป็นที่รักแก่คนอื่น
[๔๕๖] วาจาสัตย์เป็นวาจาไม่ตาย นี้เป็นของเก่า
สัตบุรุษล้วนดำรงมั่นอยู่ในสัจจะทั้งที่เป็นอรรถและเป็นธรรม
[๔๕๗] พระพุทธเจ้าตรัสพระวาจาใด อันเป็นวาจาเกษม
เพื่อการบรรลุนิพพาน เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์
วาจานั้นแลเป็นวาจายอดเยี่ยมกว่าวาจาทั้งหลาย
สุภาสิตสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
ว่าด้วยสุนทริกภารทวาชพราหมณ์
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสุนทริกา แคว้นโกศล
สมัยนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กำลังประกอบพิธีบูชาไฟ บำเรอการบูชาไฟ
อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำสุนทริกา ครั้นเสร็จสิ้นพิธีแล้วก็ลุกจากที่นั่ง เหลียวดูทิศทั้ง ๔
โดยรอบด้วยคิดว่า “ใครกันควรบริโภคเครื่องเซ่นที่เหลือนี้” พลันเหลือบไปเห็น
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งห่มคลุมพระวรกายจนถึงพระเศียรอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง
จึงใช้มือซ้ายถือเครื่องเซ่นที่เหลือ มือขวาถือคนโทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปิดผ้าคลุมพระเศียรออก เพราะได้สดับเสียง
ฝีเท้าของสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ขณะนั้นสุนทริกภารทวาชพราหมณ์กล่าวขึ้นว่า
“นี้คนหัวโล้น นี้คนหัวโล้น” ตั้งใจจะหันหลังกลับจากที่นั้น แต่แล้วได้ฉุกคิดว่า
“อันที่จริง พราหมณ์บางพวกในโลกนี้ก็หัวโล้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราควร
เข้าไปถามชาติตระกูล” ครั้นคิดเช่นนั้นแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้กล่าวว่า “ท่านมีชาติกำเนิดอะไร”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสตอบสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถา
ดังนี้ว่า
[๔๕๘] เราไม่ใช่พราหมณ์ ไม่ใช่ราชโอรส ไม่ใช่แพศย์
หรือคนวรรณะใดวรรณะหนึ่ง
เรากำหนดรู้โคตรของปุถุชนทั้งหลายแล้ว
ไม่มีความกังวล ประพฤติตนอยู่ในโลกด้วยปัญญา
[๔๕๙] เรานุ่งห่มไตรจีวร ไม่มีเรือน ปลงผมแล้ว
ควบคุมตน สงบระงับได้
ไม่คลุกคลีกับหมู่คน เที่ยวจาริกไปในโลก
การที่ท่านถามเราถึงโคตรวงศ์นั้นไม่สมควรเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
[๔๖๐] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้)
พราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลายด้วยกันเท่านั้น
ที่จะถามว่า ท่านเป็นพราหมณ์หรือไม่
[๔๖๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ถ้าท่านเรียกตัวเองว่าพราหมณ์
แต่มาสนทนากับเราผู้มิใช่พราหมณ์
เพราะฉะนั้น เราจะถามท่านถึงเรื่องสาวิตรีฉันท์๑
ที่มี ๓ บาท ๒๔ พยางค์
[๔๖๒] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์เป็นจำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
[๔๖๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เราขอชี้แจงว่า บุคคลผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ จบเวท
พึงได้รับเครื่องบูชาในกาลแห่งยัญพิธีของผู้ใด
การประกอบพิธีบูชายัญของผู้นั้น จึงจะสำเร็จผลมาก
[๔๖๔] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้)
การบูชายัญของข้าพเจ้านั้น ชื่อว่าสำเร็จผลแน่แท้
เพราะได้พบเห็นบุคคล ผู้จบเวทเช่นพระองค์
ก็เพราะยังไม่พบบุคคลผู้ทรงคุณเช่นกับพระองค์
คนอื่น ๆ จึงได้กินเครื่องเซ่น

เชิงอรรถ :
๑ สาวิตรีฉันท์ โดยทั่วไปหมายถึงบทสวดในคัมภีร์พระเวท แต่ในที่นี้พระพุทธองค์ทรงหมายเอาอริยสาวิตรี
คือ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๖๑/๒๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
[๔๖๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
พราหมณ์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีความต้องการด้วยประโยชน์นี้
จงเข้ามาถามเถิด ท่านก็จะได้พบบุคคลผู้สงบ
กำจัดความโกรธได้ ไม่มีความทุกข์
ไม่มีความหวัง มีปัญญาดี ในโลกนี้แน่นอน
[๔๖๖] (พราหมณ์ทูลถามดังนี้)
ข้าพเจ้ายินดีในการบูชายัญ ปรารถนาที่จะบูชายัญ
แต่ข้าพเจ้ายังไม่รู้ ขอพระองค์โปรดตรัสสอนข้าพเจ้า
โปรดตรัสบอกสถานที่ที่การบูชายัญจะสำเร็จผล
ให้ข้าพเจ้าทราบด้วยเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงตั้งใจฟังเถิด เราจะ
แสดงธรรมแก่ท่าน”
[๔๖๗] ท่านอย่าถามถึงชาติตระกูลเลย
จงถามเฉพาะธรรมที่ประพฤติเถิด
ไฟย่อมเกิดจากไม้
แม้ผู้ที่เกิดในสกุลต่ำก็สามารถเป็นมุนี
มีปัญญา กีดกันอกุศลวิตกได้ด้วยหิริ
เป็นบุรุษอาชาไนยได้
[๔๖๘] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่พระทักขิไณยบุคคลผู้ฝึกตนจนบรรลุสัจจะ
สมบูรณ์ด้วยการฝึกอินทรีย์
ผู้จบเวท อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[๔๖๙] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละกามทั้งหลายได้แล้ว ไม่ยึดมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
สำรวมตนเคร่งครัด เที่ยวไปอยู่
เหมือนกระสวยที่ไปตรง
[๔๗๐] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ปราศจากราคะ มีอินทรีย์มั่นคงดีแล้ว
หลุดพ้นจากกิเลส เหมือนดวงจันทร์พ้นจากราหูจับ ฉะนั้น
[๔๗๑] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกิเลส มีสติอยู่ทุกเมื่อ
ละนามรูปที่ยึดถือว่าเป็นของเราได้แล้ว เที่ยวไปอยู่ในโลก
[๔๗๒] ตถาคตละกามทั้งหลายได้
มีปกติครอบงำกามทั้งหลาย เที่ยวไป
รู้ที่สุดแห่งชาติและมรณะ
ดับกิเลสเครื่องเร่าร้อนได้เด็ดขาดแล้ว
เป็นผู้เยือกเย็นเหมือนห้วงน้ำ ควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๓] ตถาคตผู้เสมอพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
อยู่ห่างไกลจากบุคคลผู้ไม่เสมอทั้งหลาย มีปัญญาหาที่สุดมิได้
เป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่แปดเปื้อน ไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกไหน ๆ
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๔] ตถาคต ไม่มีมายา ไม่มีมานะ ปราศจากโลภะ
ไม่ยึดถือสิ่งว่าเป็นของเรา
ไม่มีความหวัง กำจัดความโกรธ
ดับกิเลสเครื่องเร่าร้อนได้เด็ดขาด
เป็นพราหมณ์ผู้ลอยบาปได้แท้จริง
ละมลทินคือความโศกได้แล้ว ย่อมควรแก่เครื่องบูชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
[๔๗๕] ตถาคตละตัณหาและทิฏฐิ
อันเป็นกิเลสนอนเนื่องประจำใจได้แล้ว
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิเครื่องยึดถือใด ๆ
ชื่อว่าหมดความยึดมั่นในโลกนี้หรือโลกอื่น
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๖] ตถาคตมีจิตเป็นสมาธิ ข้ามพ้นโอฆะได้เด็ดขาด
และรู้ธรรมด้วยปัญญาอันยอดเยี่ยม
หมดสิ้นอาสวะ ทรงไว้ซึ่งร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๗] ภวาสวะ๑และวาจาหยาบคาย
ตถาคตกำจัดให้สิ้นได้ ไม่มีอยู่
เป็นผู้จบเวท หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง๒
ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๘] ตถาคตผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง ไม่มีธรรมเครื่องข้อง
เมื่อคนทั่วไปติดข้องเพราะมานะ ตถาคตขจัดมานะได้
กำหนดรู้ทุกข์พร้อมทั้งเขตและที่ตั้ง ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๗๙] ตถาคตไม่อิงอาศัยความหวัง มีปกติเห็นความสงัด
ล่วงพ้นทิฏฐิที่ผู้อื่นรู้กัน
ไม่มีกิเลสเครื่องยึดเหนี่ยวใด ๆ ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๘๐] ตถาคตรู้แจ้งธรรมทั้งที่ดีและเลว
กำจัดให้สูญสิ้นได้เด็ดขาดแล้ว เป็นผู้สงบ
น้อมจิตไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปาทาน ย่อมควรแก่เครื่องบูชา

เชิงอรรถ :
๑ ภวาสวะ หมายถึงราคะที่ประกอบด้วย (๑) ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ) (๒) ฌานนิกันติ (ความ
ยึดติดในฌาน (๓) สัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๗๗/๒๓๒)
๒ ธรรมทั้งปวง หมายถึงขันธ์และอายตนะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๗๗/๒๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
[๔๘๑] ตถาคตมีปกติเห็นภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
ขจัดสังโยชน์อันเป็นทางแห่งราคะได้หมดสิ้น
เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีโทษ ปราศจากมลทิน
หมดกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๘๒] ตถาคตไม่พิจารณาเห็นตนโดยความเป็นตน๑
มีจิตตั้งมั่น ปฏิบัติตรง ดำรงตนมั่นคง ไม่หวั่นไหว
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ หมดความสงสัย ย่อมควรแก่เครื่องบูชา
[๔๘๓] ตถาคตไม่มีเหตุเกิดโมหะใด ๆ
มีปกติเห็นด้วยญาณในธรรมทั้งปวง
ทรงไว้ซึ่งร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย
และบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณที่ยอดเยี่ยมอันเกษม
ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ตถาคตนับว่ามีความบริสุทธิ์ที่น่าบูชา
จึงควรแก่เครื่องบูชา
[๔๘๔] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้)
การบูชาของข้าพระองค์
จะเป็นการบูชาที่ถูกต้องอย่างแน่แท้
เพราะได้พบบุคคล ผู้จบเวทเช่นพระองค์
ขอพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นพรหมโดยประจักษ์
โปรดทรงรับ ทรงบริโภคเครื่องบูชาของข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๔๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
พราหมณ์ เราไม่บริโภคโภชนะ
ที่ได้มาเพราะการขับกล่อม
ธรรมนั้นมิใช่ธรรมของผู้พิจารณา

เชิงอรรถ :
๑ เห็นตนโดยความเป็นตน หมายถึงเห็นขันธ์ ๕ ด้วยจิตอันสัมปยุตด้วยญาณ (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๘๒/๒๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่รับโภชนะ
ที่ได้มาเพราะการขับกล่อม
เมื่อธรรมยังมีอยู่
การเลี้ยงชีพแบบนี้ก็ยังมีอยู่
[๔๘๖] อนึ่ง ท่านจงบำรุงพระขีณาสพ
ผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
มีความคะนองสงบแล้ว ด้วยข้าวและน้ำ
เพราะว่าการบำรุงนั้น
เป็นนาบุญของผู้แสวงบุญ
[๔๘๗] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระผู้พระภาค ขอประทานวโรกาส
ข้าพระองค์เข้าถึงคำสอนของพระองค์
จนรู้ชัดตามที่พระองค์ตรัสบอกแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสแสดงบุคคล
ผู้ควรจะบริโภคทักษิณาทานของข้าพระองค์
ซึ่งเป็นผู้ที่ข้าพระองค์กำลังแสวงหาในเวลาบูชายัญ
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๔๘๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
บุคคลใดปราศจากการแก่งแย่งชิงดีกัน
มีจิตไม่ขุ่นมัว หลุดพ้นแล้วจากกามทั้งหลาย
กำจัดถีนมิทธะได้แล้ว
[๔๘๙] กำจัดกิเลสส่วนสุดออกได้
รู้เท่าทันชาติและมรณะ
เป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา
ถ้าบุคคลเช่นนั้นมาถึงสถานที่บูชายัญของท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
[๔๙๐] ท่านอย่าทำหน้านิ่วคิ้วขมวด จงประคองอัญชลีนอบน้อม
บูชาด้วยข้าวและน้ำเถิด
ทักษิณาของท่านจึงจะสำเร็จได้ด้วยอาการอย่างนี้
[๔๙๑] (พราหมณ์กราบทูลดังนี้)
พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าผู้ควรบูชาในโลกทั้งปวง
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม ย่อมควรรับเครื่องบูชา
ทานที่ถวายแก่พระองค์ย่อมมีผลมาก
ลำดับนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระ-
โคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’
ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ
ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของท่านพระโคดมเถิด”
สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชา ได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค ฯลฯ
จึงเป็นอันว่า ท่านพระสุนทริกภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดา
พระอรหันต์ทั้งหลาย
สุนทริกภารทวาชสูตรที่ ๔ จบ

๕. มาฆสูตร
ว่าด้วยมาฆมาณพทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์
ครั้งนั้น มาฆมาณพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็น
ที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้พระภาค
ดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ความจริง ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี รู้ความ
ประสงค์ของผู้ขอ ควรแก่การขอ ย่อมแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ครั้นแสวงหา
ได้แล้วก็นำโภคทรัพย์ที่ตนได้มาโดยชอบธรรมแบ่งให้แก่ปฏิคาหกผู้รับทาน ๑ คนบ้าง
๒ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๔ คนบ้าง ๕ คนบ้าง ๖ คนบ้าง ๗ คนบ้าง ๘ คนบ้าง
๙ คนบ้าง ๑๐ คนบ้าง ๒๐ คนบ้าง ๓๐ คนบ้าง ๔๐ คนบ้าง ๕๐ คนบ้าง
๑๐๐ คนบ้าง มากกว่า ๑๐๐ คนบ้าง ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์
ให้ทานอย่างนี้ บูชาอย่างนี้ จะได้รับบุญมากไหม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาณพ แน่นอนทีเดียว เมื่อท่านให้ทานอย่างนี้ บูชา
อย่างนี้ ย่อมได้รับบุญมาก มาณพ บุคคลผู้เป็นทายก เป็นทานบดี รู้ความประสงค์
ของผู้ขอ ควรแก่การขอ แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ครั้นแสวงหาได้แล้ว
ก็นำโภคทรัพย์ที่ตนได้มาโดยชอบธรรมแบ่งให้แก่ปฏิคาหกผู้รับทาน ๑ คนบ้าง ฯลฯ
๑๐๐ คนบ้าง มากกว่า ๑๐๐ คนบ้าง ย่อมได้รับบุญมาก”
ลำดับนั้น มาฆมาณพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาดังนี้
[๔๙๒] ข้าพระองค์ขอทูลถามท่านพระโคดม
ผู้ทรงเปรื่องปราชญ์ในถ้อยคำ ผู้ทรงผ้ากาสาวพัสตร์
ไม่ทรงยึดมั่น เสด็จเที่ยวไปอยู่ว่า
ในโลกนี้ คฤหัสถ์ผู้ใดเป็นทานบดี ควรแก่การขอ
เป็นผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ
ให้ข้าว และน้ำ บูชาชนเหล่าอื่น
การบูชาของคฤหัสถ์ผู้นั้นที่ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร
[๔๙๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
มาฆะ ในโลกนี้ คฤหัสถ์ผู้ใดเป็นทานบดี ควรแก่การขอ
เป็นผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ
ให้ข้าว และน้ำ บูชาชนเหล่าอื่น
คฤหัสถ์ผู้เช่นนั้น พึงยังการบูชาให้สำเร็จได้
ด้วยพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
[๔๙๔] (มาฆมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย
แก่ข้าพระองค์ ผู้เป็นคฤหัสถ์ เป็นทานบดี
ควรแก่การขอ ผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ
ให้ข้าว และน้ำ บูชาชนเหล่าอื่นในโลกนี้ด้วยเถิด
[๔๙๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่ข้องด้วยกิเลส
ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ผู้บริสุทธิ์ครบถ้วน
ผู้ควบคุมตนได้ เที่ยวไปในโลก
[๔๙๖] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ตัดเครื่องผูกคือสังโยชน์ได้ทั้งหมด
ฝึกตนแล้ว มีจิตหลุดพ้น ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
[๔๙๗] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้หลุดพ้นจากสังโยชน์ทั้งปวง
ฝึกตนแล้ว มีจิตหลุดพ้น ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
[๔๙๘] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละราคะ โทสะ โมหะได้แล้ว
สิ้นอาสวะ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[๔๙๙] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
แก่เหล่าชนผู้ไม่มีมายา ไม่มีมานะ
สิ้นอาสวะ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[๕๐๐] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ปราศจากโลภะ
ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา ไม่มีความหวัง
สิ้นอาสวะ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
[๕๐๑] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้มีจิตไม่น้อมไปในตัณหาทั้งหลาย
ข้ามโอฆะได้ ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา เที่ยวไป
[๕๐๒] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ไม่มีตัณหา๑เป็นเหตุให้เกิดภพใหม่
ในโลกไหน ๆ คือในโลกนี้หรือโลกอื่น
[๕๐๓] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละกามทั้งหลายได้แล้ว
ไม่มีความยึดถือ สำรวมตนดีแล้ว เที่ยวไป
เหมือนกระสวยที่ไปตรง ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยาก ในที่นี้หมายถึง ตัณหา ๖ อย่างคือ (๑) รูปตัณหา (ความทะยานอยาก
ในรูป) (๒) สัททตัณหา (ความทะยานอยากในเสียง) (๓) คันธตัณหา (ความทะยานอยากในกลิ่น)
(๔) รสตัณหา (ความทะยานอยากในรส) (๕) โผฏฐัพพตัณหา (ความทะยานอยากในสิ่งที่ถูกต้องกาย)
(๖) ธัมมตัณหา (ความทะยานอยากในอารมณ์ที่เกิดกับใจ) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓/๑๐, ขุ.สุ.อ. ๒/๕๐๒/๒๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
[๕๐๔] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ปราศจากราคะ มีอินทรีย์มั่นคงดีแล้ว
หลุดพ้นจากกิเลส เหมือนดวงจันทร์พ้นจากราหูจับ ฉะนั้น
[๕๐๕] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้สงบ ผู้ปราศจากราคะ ไม่มีความโกรธ
ผู้ไม่มีคติ เพราะละขันธ์ ๕ ในโลกนี้ได้แล้ว
[๕๐๖] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้ละชาติและมรณะได้หมดสิ้นแล้ว
ล่วงพ้นความสงสัยทุกอย่าง
[๕๐๗] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง เที่ยวไปในโลก
[๕๐๘] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่เหล่าชนผู้รู้แจ้งในขันธ์และอายตนะเป็นต้น
ตามสภาวะที่เป็นจริงว่า
นี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีภพใหม่อีกต่อไป
[๕๐๙] พราหมณ์ผู้มุ่งบุญ ควรบูชา
จัดถวายเครื่องไทยธรรมให้เหมาะแก่กาล
แก่ท่านผู้จบเวท ยินดีในฌาน
มีสติ บรรลุสัมโพธิญาณ
เป็นสรณะของเทวดาและมนุษย์จำนวนมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
[๕๑๐] (มาฆมาณพกราบทูลดังนี้)
คำถามของข้าพระองค์ไม่เปล่าประโยชน์แน่แท้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสบอก
พระทักขิไณยบุคคลทั้งหลายแก่ข้าพระองค์แล้ว
ความจริง พระองค์ทรงทราบเญยยธรรมทั้งหมด
ในโลกนี้อย่างถ่องแท้
ธรรมนี้พระองค์ทรงรู้แจ้งแล้ว
[๕๑๑] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกยัญญสัมปทา๑
แก่ข้าพระองค์ผู้เป็นคฤหัสถ์ เป็นทานบดี ควรแก่การขอ
ผู้ต้องการบุญ มุ่งหวังบุญ ให้ข้าว และน้ำ
บูชาชนเหล่าอื่นในโลกนี้ด้วยเถิด
[๕๑๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
มาฆะ ท่านเมื่อจะบูชาก็จงบูชาเถิด
และจงทำจิตให้ผ่องใสในกาลทั้งปวง
ยัญย่อมเป็นอารมณ์หน่วงจิตของผู้กำลังบูชาบุคคล
ผู้มีจิตตั้งมั่นในยัญนี้แล้ว ย่อมละโทษ๒ได้
[๕๑๓] อนึ่ง บุคคลนั้นปราศจากราคะแล้ว ควรกำจัดโทสะ
เจริญเมตตาจิตทั่วไปแก่สัตว์ทุกจำพวก
ไม่ประมาททั้งกลางวันและกลางคืนเป็นนิตย์
ชื่อว่าย่อมแผ่อัปปมัญญา๓ไปทั่วทิศ

เชิงอรรถ :
๑ ยัญญสัมปทา หมายถึงความสมบูรณ์ของการบูชาครบ ๓ กาล คือ (๑) ก่อนให้ ก็มีใจดี (๒) ขณะให้
ก็ทำจิตให้ผ่องใส (๓) ครั้นให้แล้ว ก็ชื่นใจ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๑๒/๒๔๑)
๒ โทษ มี ๓ อย่าง คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๑๒/๒๔๑)
๓ อัปปมัญญา ในที่นี้หมายถึงเมตตาฌาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๑๓/๒๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๕. มาฆสูตร
[๕๑๔] (มาฆมาณพทูลถามดังนี้)
ใคร ชื่อว่าบริสุทธิ์ หลุดพ้น และชื่อว่ายังติดอยู่
บุคคลจะไปให้ถึงพรหมโลกด้วยตนได้อย่างไร
ข้าแต่พระมุนี ข้าพระองค์ไม่รู้ จึงทูลถาม
ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ก็พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระพรหม
ข้าพระองค์เห็นโดยประจักษ์ในวันนี้
เพราะพระองค์เป็นผู้เสมอด้วยพรหมของข้าพระองค์จริง ๆ
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความรุ่งเรือง
บุคคลจะเข้าถึงพรหมโลกได้อย่างไร
[๕๑๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
มาฆะ บุคคลผู้บูชายัญญสัมปทาครบทั้ง ๓ กาลเช่นนั้น
พึงยังการบูชาให้บริสุทธิ์ด้วยพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย
เราเรียกบุคคลผู้ควรแก่การขอ
บูชาถวายไทยธรรมอย่างนั้นว่า
เข้าถึงพรหมโลกได้แน่นอน
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มาฆมาณพได้กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่าน
พระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอพระองค์จงทรงจำ
ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
มาฆสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
๖. สภิยสูตร
ว่าด้วยสภิยปริพาชกทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น เทวดาผู้เคยเป็นสาโลหิต๑ของสภิยปริพาชกได้ตั้งปัญหา
พร้อมกล่าวว่า “สภิยะ สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใด ถูกท่านถามปัญหาเหล่านี้แล้ว
พยากรณ์ได้ ท่านควรประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้นเถิด”
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกเรียนปัญหาเหล่านั้นในสำนักของเทวดานั้น แล้วเข้า
ไปหาสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง
มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ปูรณะ กัสสปะ
มักขลิ โคสาล อชิตะ เกสกัมพล ปกุธะ กัจจานะ สัญชัย เวลัฏฐบุตร นิครนถ์
นาฏบุตร แล้วถามปัญหาเหล่านั้น
ท่านเหล่านั้นถูกถามแล้วไม่สามารถตอบได้ เมื่อตอบไม่ได้ก็แสดงความโกรธ
ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามสภิยปริพาชก
เสียอีก
ต่อมา สภิยปริพาชกมีความคิดดังนี้ว่า “ท่านสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเจ้า
หมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่
คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ท่านปูรณะ กัสสปะ ฯลฯ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร
ถูกเราถามปัญหาแล้วไม่สามารถตอบได้ เมื่อตอบไม่ได้ก็แสดงความโกรธ ความ
ขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามเราในข้อนั้นเสียอีก
ถ้าเป็นอย่างนี้ละก็ เราเปลี่ยนเพศเป็นคฤหัสถ์ไปเสพกามเสียดีกว่า”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “สาโลหิต” ในที่นี้มิใช่เป็นมารดา มิใช่เป็นบิดา แต่เป็นเหมือนมารดา เหมือนบิดา เพราะมี
อัธยาศัยเกื้อกูลต่อกัน (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
ต่อมา สภิยปริพาชกกลับคิดขึ้นได้ว่า “พระสมณโคดมนี้ก็เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ
เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่คนส่วนมากยกย่องว่าดี
เลิศเช่นกัน อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหาเหล่านี้”
แต่แล้ว สภิยปริพาชกกลับคิดเช่นนี้ว่า “ท่านสมณพราหมณ์ทั้งหลายล้วนเป็น
ผู้เจริญทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ เป็นพระเถระ
เป็นรัตตัญญูบุคคล บวชมานาน เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง
มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นผู้ที่คนส่วนมากยกย่องว่าดีเลิศ คือ ท่านปูรณะ กัสสปะ
ฯลฯ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร ท่านเหล่านั้นถูกเราถามปัญหาแล้วก็ยังไม่สามารถ
ตอบได้ เมื่อไม่สามารถตอบได้ ก็ยังแสดงความโกรธ ความขัดเคือง และความ
ไม่พอใจให้ปรากฏออกมา ทั้งยังกลับย้อนถามเราในข้อนั้นเสียอีก พระสมณโคดม
ถูกเราถามปัญหาเหล่านี้แล้ว จักพยากรณ์ตอบได้อย่างไร เพราะพระสมณโคดม
ยังหนุ่มนัก และออกบวชก็ยังไม่นาน”
หลังจากนั้น สภิยปริพาชกกลับคิดขึ้นได้ว่า “เราไม่ควรดูหมิ่น ไม่ควร
ดูแคลนพระสมณโคดมว่า ยังหนุ่มนัก ความจริง แม้พระสมณโคดมจะยังหนุ่ม
แต่ก็เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปหาพระสมณ-
โคดมแล้วถามปัญหาเหล่านี้ดีกว่า”
ต่อจากนั้น สภิยปริพาชกได้ออกเดินทางมุ่งหน้าไปทางกรุงราชคฤห์ เที่ยวจาริก
ไปโดยลำดับ จนกระทั่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาป-
สถาน เขตกรุงราชคฤห์ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลด้วยคาถาว่า
[๕๑๖] ข้าพระองค์มีความเคลือบแคลงสงสัย
มุ่งหวังจะทูลถามปัญหา
พระองค์โปรดตรัสตอบปัญหาที่ข้าพระองค์ทูลถามให้สิ้นสงสัย
โปรดพยากรณ์ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมไปตามลำดับ
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[๕๑๗] สภิยะ ท่านเดินทางมาไกล มุ่งหวังเพื่อจะถามปัญหา
เราจะกล่าวเฉลยปัญหาที่ท่านถามให้สิ้นสงสัย
เราจะพยากรณ์ปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมไปตามลำดับแก่ท่าน
[๕๑๘] สภิยะ ท่านปรารถนาจะถามปัญหาข้อใดข้อหนึ่งอยู่ในใจ
ก็จงถามมาเถิด
เราจะตอบปัญหานั้น ๆ ให้หมดแก่ท่าน
ทันใดนั้น สภิยปริพาชกคิดว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ เราไม่เคยได้
โอกาสสักหน่อยในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นเลย แต่พระสมณโคดมได้ทรงให้โอกาสนี้
แก่เราแล้ว” เขาจึงดีใจ เบิกบาน แช่มชื่น เกิดปีติโสมนัส ได้ทูลถามปัญหากับพระ
ผู้มีพระภาคว่า
[๕๑๙] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ภิกษุ
บุคคลปฏิบัติอย่างไรบัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้สงบเสงี่ยม
บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้ฝึกตนแล้ว
บุคคลรู้อย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า พุทธะ
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์ด้วยพระคาถาดังนี้)
[๕๒๐] สภิยะ บุคคลใดควรแก่คำชมเชยว่า
เป็นผู้ถึงนิพพานด้วยทางที่ตนทำแล้ว
ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ละความเสื่อมและความเจริญแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์ สิ้นภพใหม่แล้ว
บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ภิกษุ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๘/๘๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
[๕๒๑] บุคคลผู้วางเฉยในอารมณ์ทั้งปวง มีสติ
ไม่เบียดเบียนสัตว์ไร ๆ ในโลกทั้งหมด
เป็นผู้ข้ามโอฆะได้ เป็นผู้สงบ
มีจิตไม่ขุ่นมัว ไม่มีกิเลสฟุ้งซ่าน
บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ผู้สงบเสงี่ยม
[๕๒๒] บุคคลใดอบรมอินทรีย์ทั้งหลายได้แล้วในโลกทั้งปวง
ทั้งภายในและภายนอก รู้ชัดทั้งโลกนี้และโลกหน้า
รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น
บุคคลนั้นผู้อบรมตนแล้วเช่นนี้
บัณฑิตเรียกว่า ผู้ฝึกตนแล้ว๑
[๕๒๓] บุคคลผู้พิจารณากิเลสเครื่องกำหนดจิตทั้งสิ้น
รู้ชัดสังสารวัฏทั้ง ๒ ส่วน คือจุติและอุบัติ
ปราศจากธุลี ไม่มีกิเลสพอกพูน
เป็นผู้หมดจด บรรลุภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
บัณฑิตเรียกว่า พุทธะ
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดีใจ
เบิกบาน แช่มชื่น เกิดปีติโสมนัส ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคต่อไปว่า
[๕๒๔] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า พราหมณ์
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า สมณะ
บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้ล้างบาปได้
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า นาคะ๒
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๐/๒๘๒, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๘/๑๑๘
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๘๕ ในเล่มนี้ และดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๐/๒๓๘, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๗/๑๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
[๕๒๕] สภิยะ บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากมลทิน เป็นผู้ประเสริฐ
มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง
ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์ครบถ้วน
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้คงที่
บุคคลนั้นบัณฑิตเรียกว่า พราหมณ์๑
[๕๒๖] บุคคลผู้สงบ ละบุญและบาปได้
เป็นผู้ปราศจากธุลี รู้โลกนี้และโลกหน้า
ล่วงพ้นชาติและมรณะได้แล้ว
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า สมณะ
[๕๒๗] บุคคลผู้ชำระล้างบาปได้ทั้งหมด
ทั้งภายในและภายนอก ในโลกทั้งปวง๒
ไม่กลับมาสู่กัป ในเทวดาและมนุษย์ผู้ยังท่องเที่ยวอยู่ในกัป๓
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า ผู้ล้างบาปได้
[๕๒๘] บุคคลผู้ไม่ทำบาปแม้เล็กน้อยในโลก
สลัดสังโยชน์และเครื่องผูกพันได้ทั้งหมด
ไม่ติดข้องอยู่ในกิเลสเครื่องข้องทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้น
เป็นผู้คงที่ ผู้ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า นาคะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๕, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๘/๑๔๗
๒ โลกทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอายตนะทั้งหมด (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๒๗/๒๕๓)
๓ กัป ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๒๗/๒๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ
ต่อไปว่า
[๕๒๙] พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกบุคคลเช่นไรว่า ผู้ชนะเขต
ตรัสเรียกบุคคลว่า ผู้ฉลาด ด้วยอาการอย่างไร
อย่างไร จึงตรัสเรียกว่า บัณฑิต
และอย่างไร ตรัสเรียกว่า มุนี
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๕๓๐] สภิยะ บุคคลพิจารณาเขต๑ทั้งสิ้น
คือ เขตเทวดา เขตมนุษย์ และเขตพรหมแล้ว
ผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกที่เป็นมูลเหตุแห่งเขต๒ทั้งมวล
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า ผู้ชนะเขต
[๕๓๑] บุคคลพิจารณากระเปาะฟอง๓ทั้งสิ้น
คือ กระเปาะฟองเทวดา กระเปาะฟองมนุษย์
และกระเปาะฟองพรหมแล้ว
ผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกที่เป็นมูลเหตุแห่งกระเปาะฟองทั้งมวล
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า ผู้ฉลาด
[๕๓๒] บุคคลพิจารณาอายตนะทั้ง ๒ ประการ
คือ อายตนะทั้งภายในและภายนอกแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ เขต ในที่นี้หมายถึงอายตนะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๐/๒๕๓)
๒ เครื่องผูกที่เป็นมูลเหตุแห่งเขต หมายถึงอวิชชา ตัณหา และภพ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๐/๒๕๔)
๓ กระเปาะฟอง หมายถึงกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๑/๒๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
มีปัญญาบริสุทธิ์ ก้าวพ้นธรรมดำและธรรมขาว๑ได้แล้ว
เป็นผู้คงที่ ผู้ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า บัณฑิต
[๕๓๓] บุคคลรู้ธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ
ทั้งภายในและภายนอกในโลกทั้งปวง
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจข่ายได้แล้ว
ควรได้รับความเคารพบูชาจากเทวดาและมนุษย์
บุคคลนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเรียกว่า มุนี๒
ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ
ต่อไปว่า
[๕๓๔] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้จบเวท
บุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้รู้ตาม
บุคคลประพฤติตนอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีความเพียร
และบุคคลตัดอะไรได้ บัณฑิตจึงเรียกว่า บุรุษอาชาไนย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหาแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๕๓๕] สภิยะ บุคคลเลือกเฟ้นเวท๓ทั้งสิ้น
ของสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่มีอยู่
ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง
ก้าวล่วงเวททั้งปวงได้แล้ว
บุคคลนั้น บัณฑิตเรียกว่า ผู้จบเวท๔

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมดำและธรรมขาว หมายถึงบาปและบุญ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๒/๒๕๕)
๒ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๙
๓ เวท ในที่นี้หมายถึงศาสตร์ความรู้ของสมณพราหมณ์ทั้งหมด (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๕/๒๕๕)
๔ เวท ในที่นี้หมายถึงมัคคญาณ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๕/๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
[๕๓๖] บุคคลพิจารณารู้เท่าทันกิเลสเครื่องเนิ่นช้า
และนามรูปภายในตน
และกิเลสอันเป็นมูลเหตุแห่งโรคในภายนอก
เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นมูลเหตุแห่งโรคทั้งปวง
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า ผู้รู้ตาม
[๕๓๗] ในโลกนี้ บุคคลผู้งดเว้นบาปทั้งหมด
ล่วงพ้นทุกข์ในนรก มีความเพียร
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีความเพียร
มีความมุ่งมั่น เป็นนักปราชญ์
[๕๓๘] บุคคลตัดเครื่องผูก๑อันเป็นมูลเหตุแห่งกิเลสเครื่องข้อง
ทั้งภายในและภายนอกได้แล้ว
เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูก
อันเป็นมูลเหตุแห่งกิเลสเครื่องข้องทั้งปวง
เป็นผู้คงที่ ดำรงตนอยู่เช่นนั้น
บัณฑิตเรียกว่า บุรุษอาชาไนย
ลำดับนั้น สภิยปริพาชก ฯลฯ ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคเป็นข้อ
ต่อไปว่า
[๕๓๙] บุคคลบรรลุอะไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีสุตะ
บัณฑิตเรียกบุคคลว่า อริยะ ด้วยอาการอย่างไร
บุคคลประพฤติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้มีจรณะ
และบุคคลปฏิบัติอย่างไร บัณฑิตจึงเรียกว่า ปริพาชก
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสพยากรณ์ปัญหาที่ทูลถามด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
๑ เครื่องผูก ในที่นี้หมายถึงกิเลสทั้งหลาย มีราคะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๓๘/๒๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๕๔๐] สภิยะ บุคคลผู้สดับแล้ว รู้ยิ่งธรรมทั้งปวง
ครอบงำธรรมทั้งที่มีโทษและไม่มีโทษต่าง ๆ มีอยู่ในโลกได้
หมดความสงสัย มีจิตหลุดพ้น
ไม่มีความทุกข์ในธรรมทั้งปวง๑
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีสุตะ
[๕๔๑] บุคคลผู้มีปัญญา ตัดอาลัยและอาสวะได้แล้ว
ไม่ถือกำเนิดเกิดในครรภ์อีก
ละสัญญา ๓ อย่าง และละเปือกตมคือกามได้
ไม่กลับมาสู่กัป๒อีก
บัณฑิตเรียกว่า อริยะ
[๕๔๒] ในศาสนานี้ บุคคลผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุเพราะจรณะ๓
เป็นผู้ฉลาด รู้ธรรมได้ในกาลทุกเมื่อ
ไม่ข้องอยู่ในธรรมทั้งปวง
มีจิตหลุดพ้นแล้ว ไม่มีปฏิฆะ
บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีจรณะ
[๕๔๓] บุคคลผู้กำจัดธรรมที่มีทุกข์เป็นวิบากซึ่งมีอยู่
ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้แล้ว
ประพฤติตนอยู่ด้วยปัญญาพิจารณา

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงขันธ์ และอายตนะ เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๔๐/๒๕๘)
๒ กัป ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๔๑/๒๕๘)
๓ จรณะ หมายถึงความประพฤติ,ปฏิปทา ในที่นี้หมายถึงจรณะ ๑๕ คือ (๑) สีลสัมปทา (ความถึงพร้อม
ด้วยศีล) (๒) อินทรียสังวร (การสำรวมอินทรีย์) (๓) โภชเนมัตตัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการ
บริโภค (๔) ชาคริยานุโยค (การหมั่นประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่น) (๕) ศรัทธา (๖) หิริ
(๗) โอตตัปปะ (๘) ความเป็นพหูสูต (๙) วิริยารัมภะ (ปรารภความเพียร) (๑๐) ความมีสติมั่นคง
(๑๑) ปัญญา (๑๒) ปฐมฌาน (๑๓) ทุติยฌาน (๑๔) ตติยฌาน (๑๕) จตุตถฌาน (ม.ม. (แปล) ๑๓/๒๓-๒๖/
๒๖-๓๐, ขุ.สุ.อ. ๒/๕๔๒/๒๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
และละมายา มานะ โลภะ และโกธะได้หมดสิ้น
ทำนามรูปให้สิ้นสุดลงได้
บัณฑิตเรียกว่า ปริพาชก
ผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุ
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ดีใจ
เบิกบาน แช่มชื่น เกิดปีติโสมนัส ลุกจากที่นั่ง ทำผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประคอง
อัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับ แล้วได้สดุดีพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาที่เหมาะสม
เฉพาะพระพักตร์ว่า
[๕๔๔] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน
พระองค์ทรงกำจัดมิจฉาทิฏฐิ ๓ และมิจฉาทิฏฐิ ๖๐
ที่อาศัยคัมภีร์เป็นหลักการของพวกสมณะลัทธิอื่น
ซึ่งอาศัยอักษรสื่อความหมาย และสัญญาที่วิปริต
ทรงก้าวพ้นความมืดคือโอฆะได้แล้ว
[๕๔๕] พระองค์ทรงเป็นผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เป็นผู้ถึงฝั่ง
ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้าพระองค์ตระหนักในพระองค์ว่า มีอาสวะสิ้นแล้ว
พระองค์ทรงมีความรุ่งเรือง มีความรู้ มีปัญญามาก
ได้ทรงแนะนำข้าพระองค์ผู้ทำที่สุดทุกข์ให้ข้ามได้แล้ว
[๕๔๖] เพราะพระองค์ได้ทรงทราบปัญหาที่ข้าพระองค์สงสัย
ทรงช่วยให้ข้าพระองค์ข้ามพ้นความลังเลใจ
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพระมุนี
ผู้ทรงบรรลุธรรมที่ควรบรรลุในแนวทางของมุนี
ไม่มีกิเลสฝังแน่นพระทัย
ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ผู้ทรงสงบเสงี่ยมอย่างยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
[๕๔๗] พระองค์ผู้มีพระจักษุ ได้ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อสงสัย
ที่เคยมีมาก่อนของข้าพระองค์จนหมดสิ้นแล้ว
พระองค์ไม่มีนิวรณ์ จึงนับว่าเป็นพระมุนี
ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองแน่แท้
[๕๔๘] อนึ่ง ความคับแค้นใจทั้งหมด
พระองค์ทรงกำจัดตัดถอนได้แล้ว
พระองค์จึงมีพระทัยเยือกเย็น
มีการอบรมตนถึงที่สุดแล้ว มีพระปัญญาทรงจำมั่นคง
มีความบากบั่นในสัจจะเป็นนิตย์
[๕๔๙] เทวดาทั้ง ๒ พวกที่อาศัยอยู่ ณ นารทบรรพตทั้งหมด
พากันชื่นชมอนุโมทนาพระองค์ผู้ประเสริฐ
ยิ่งใหญ่ในหมู่คนผู้ประเสริฐ ผู้ทรงมีความเพียรยิ่งใหญ่
ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่
[๕๕๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษสูงสุด
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ไม่มีผู้ใดเลยที่จะทรงคุณเสมอด้วยพระองค์
ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
[๕๕๑] พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า
เป็นพระศาสดา เป็นพระมุนีครอบงำมารได้
ทรงตัดอนุสัยกิเลสได้ ทรงข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสงสารได้แล้ว
ยังทรงช่วยหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามตามไปได้ด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๖. สภิยสูตร
[๕๕๒] พระองค์ทรงล่วงพ้นอุปธิกิเลสได้
ทำลายอาสวะได้แล้ว ไม่มีอุปาทาน (ความถือมั่น)
ละความหวาดกลัวภัยได้ เหมือนพญาราชสีห์ไม่กลัวต่อหมู่เนื้อ๑
[๕๕๓] พระองค์ไม่ทรงติดอยู่ในบุญและบาปทั้งสอง
เหมือนดอกบัวขาวที่สวยงามไม่ติดอยู่ในน้ำ
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
ขอพระองค์โปรดเหยียดพระบาทออกมาเถิด
สภิยะจะขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระศาสดา
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกหมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย
เศียรเกล้าแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมอย่างแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือน
บุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป
ในที่มืด โดยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค
พร้อมทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้
บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สภิยะ ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์มาก่อน หวังจะบรรพชา
อุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาสเป็นเวลา ๔ เดือน เมื่อครบ ๔ เดือนแล้ว
ภิกษุทั้งหลายพอใจจึงจะบรรพชาอุปสมบทให้เป็นภิกษุ แต่ในเรื่องการอยู่ปริวาสนี้
เราก็ทราบความแตกต่างของแต่ละบุคคล”
สภิยปริพาชกกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์มา
ก่อน หวังจะบรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาสเป็นเวลา ๔ เดือน
เมื่อครบ ๔ เดือนแล้ว ภิกษุทั้งหลายพอใจจึงจะบรรพชาอุปสมบทให้เป็นภิกษุ
ข้าพระองค์ก็จะขออยู่ปริวาสเป็นเวลา ๔ ปี เมื่อครบ ๔ ปี หากภิกษุทั้งหลายพอใจก็
ขอโปรดบรรพชาอุปสมบทให้ข้าพระองค์เป็นภิกษุด้วยเถิด”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๓๙-๘๔๐/๔๗๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
ลำดับนั้น สภิยปริพาชกก็ได้รับการบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค
เมื่อท่านพระสภิยะอุปสมบทได้ไม่นาน ก็จากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความ
เพียร อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญา
อันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่
ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
จึงเป็นอันว่า ท่านพระสภิยะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์
ทั้งหลาย
สภิยสูตรที่ ๖ จบ

๗. เสลสูตร๑
ว่าด้วยเสลพราหมณ์
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป
เสด็จเที่ยวจาริกไปในอังคุตตราปชนบท เสด็จถึงอาปณนิคมของชาวอังคุตตราป-
ชนบท
เกณิยชฎิลได้สดับข่าวว่า “ได้ยินว่า พระสมณโคดมศากยบุตร เสด็จออก
ผนวชจากศากยตระกูลกำลังเสด็จจาริกอยู่ในอังคุตตราปชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เสด็จไปตามลำดับจนถึงอาปณนิคมแล้ว ท่านพระ-
โคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชา
และจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น ทรงรู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์

เชิงอรรถ :
๑ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๙๖-๓๙๙/๔๙๐-๕๐๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงประกาศให้ผู้อื่น
รู้ตาม พระองค์ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”

เกณิยชฎิลนิมนต์เสวยภัตตาหาร
หลังจากนั้น เกณิยชฎิลได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนา
ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ
ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เกณิยชฎิลเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ครั้งนั้น
เกณิยชฎิลผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหาร
ของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อเกณิยชฎิลกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเขาดังนี้ว่า
“เกณิยะ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป แม้ท่านก็ยังเลื่อมใสในพวกพราหมณ์ยิ่งนัก”
แม้ครั้งที่ ๒ เกณิยชฎิลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดม
ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป ทั้งข้าพระองค์เป็นผู้เลื่อมใสในพวกพราหมณ์
ก็จริง ถึงอย่างนั้น ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของ
ข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเขาว่า “เกณิยะ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป
แม้ท่านก็ยังเลื่อมใสในพวกพราหมณ์ยิ่งนัก”
แม้ครั้งที่ ๓ เกณิยชฎิลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดม
ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์มีมากถึง ๑,๒๕๐ รูป ทั้งข้าพระองค์เป็นผู้เลื่อมใสในพวกพราหมณ์
ก็จริง ถึงอย่างนั้น ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์
ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี เมื่อเกณิยชฎิลทราบอาการ
ที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากที่นั่งเข้าไปสู่อาศรมของตนแล้วเรียก
พวกมิตร คนสนิท และญาติสาโลหิตมาบอกว่า “ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอแจ้ง
ให้ทราบว่า ข้าพเจ้าได้นิมนต์พระสมณโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหาร
เช้าวันพรุ่งนี้ จึงขอให้ท่านทั้งหลายสละแรงกายช่วยเหลือข้าพเจ้าด้วยเถิด” ชนเหล่านั้น
รับคำแล้ว บางพวกขุดที่ทำเตา บางพวกฝ่าฟืน บางพวกล้างถ้วยโถโอชาม บางพวก
จัดหาน้ำใช้น้ำฉัน บางพวกปูอาสนะ ส่วนเกณิยชฎิลลงมือตบแต่งโรงประรำพิธีเอง
ทีเดียว

เสลพราหมณ์ได้ฟังคำว่าพุทธะ
สมัยนั้น เสลพราหมณ์อาศัยอยู่ที่ป่าอาปณนิคม เป็นผู้มีความรู้จบไตรเพท
พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบท
และไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์ และการทำนายลักษณะมหาบุรุษ ทั้งยัง
เป็นอาจารย์สอนมนตร์แก่มาณพจำนวน ๓๐๐ คนอีกด้วย
สมัยนั้น เกณิยชฎิลก็เป็นผู้หนึ่งที่มีความเลื่อมใสในเสลพราหมณ์มาก ขณะนั้น
เสลพราหมณ์กำลังเดินพักผ่อนพร้อมกับมาณพ ๓๐๐ คนติดตามไปห่าง ๆ ผ่านไป
ทางอาศรมของเกณิยชฎิล ได้เห็นคนบางพวกกำลังขุดที่ทำเตา ฯลฯ บางพวกปู
อาสนะ ส่วนเกณิยชฎิลกำลังลงมือตบแต่งโรงประรำพิธีเองทีเดียว ครั้นเห็นดังนั้น
จึงกล่าวกับเกณิยชฎิลดังนี้ว่า “ท่านเกณิยะ จะมีพิธีอาวาหมงคล วิวาหมงคลหรือ
พิธีบูชามหายัญจะปรากฏแก่ท่าน หรือท่านได้ทูลเชิญพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
ให้เสด็จมาเสวยพระกระยาหารพร้อมกับข้าราชบริพารในเช้าวันพรุ่งนี้หรือ”
เกณิยชฎิลบอกว่า “ข้าแต่ท่านเสละ อาวาหมงคล วิวาหมงคลไม่มีแก่ข้าพเจ้า
ทั้งพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ ข้าพเจ้าก็มิได้ทูลเชิญเสด็จมาเสวยพระกระยาหาร
พร้อมทั้งข้าราชบริพารในเช้าวันพรุ่งนี้เลย แต่พิธีมหายัญได้ปรากฏแก่ข้าพเจ้า
เนื่องจากพระสมณโคดมศากยบุตรผู้เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล กำลังเสด็จจาริก
ไปในอังคุตตราปชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เสด็จมา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
ตามลำดับจนถึงอาปณนิคมแล้ว ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีพระกิตติศัพท์อันงาม
ขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ข้าพเจ้าได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาฉันภัตตาหารในเช้าวันพรุ่งนี้”
เสลพราหมณ์ถามว่า “ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวคำว่า พุทธะ หรือ”
เกณิยชฎิลตอบว่า “ท่านเสละ ใช่ ข้าพเจ้ากล่าวคำว่า พุทธะ”
เสลพราหมณ์ถามย้ำอีกว่า “ท่านเกณิยะ ท่านกล่าวคำว่า พุทธะ หรือ”
เกณิยชฎิลก็ตอบย้ำว่า “ท่านเสละ ใช่ ข้าพเจ้ากล่าวคำว่า พุทธะ”
ลำดับนั้น เสลพราหมณ์ได้คิดว่า “ว่าตามลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
ในคัมภีร์มนตร์ของพวกเราระบุว่า ‘แม้แต่เสียงประกาศ คือคำว่า พุทธะ นี้ก็หา
ได้ยากในโลก’ ซึ่งมหาบุรุษผู้ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ย่อมมี
คติ ๒ ประการเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
ถ้าอยู่ครองเรือนก็จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ปกครองแผ่นดินโดยธรรม
พระราชอำนาจแผ่ไปทั่วปฐพีมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะข้าศึกทั้ง
ภายในและภายนอก มีพระราชอาณาจักรมั่นคง ทรงสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นารีแก้ว คหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว
พระองค์มีพระราชโอรสมากกว่า ๑,๐๐๐ พระองค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีพระรูป
สง่างามสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถจะทำลายกองทัพข้าศึก พระองค์ทรงพิชิตชัยโดย
คุณธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา ทรงครอบครองแผ่นดินนี้ ซึ่งมี
สมุทรสาครเป็นขอบเขต
ถ้าเสด็จออกจากเรือนผนวชเป็นบรรพชิต จะสำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก”
เสลพราหมณ์ถามว่า “ท่านเกณิยะ ขณะนี้ท่านพระโคดมผู้เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
เสลพราหมณ์เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
เมื่อเสลพราหมณ์ถามอย่างนี้แล้ว เกณิยชฎิลได้ยกแขนขวาขึ้นได้กล่าวกับ
เสลพราหมณ์ดังนี้ว่า “ท่านเสละ ท่านจงเดินไปทางบริเวณทิวไม้สีเขียวนั้นเถิด”
เมื่อได้ฟังดังนั้น เสลพราหมณ์พร้อมทั้งมาณพ ๓๐๐ คน จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ พลางเรียกมาณพเหล่านั้นมาเตือนว่า “ท่านทั้งหลาย จงอย่า
ส่งเสียงดัง ค่อย ๆ เดินตามกันไปให้เป็นระเบียบ เพราะท่านผู้เจริญเหล่านั้นชอบอยู่
ตามลำพังดุจพญาราชสีห์ให้ยินดีได้ยาก อนึ่ง ขณะที่เรากำลังสนทนากับพระสมณ-
โคดม ขอพวกท่านอย่าพูดสอดแทรกขึ้น รอให้เราสนทนาจบเสียก่อน”
เมื่อตักเตือนศิษย์อย่างนี้แล้ว เสลพราหมณ์พาศิษย์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกัน แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร พลางตรวจดูลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
ในพระวรกายพระผู้มีพระภาค ก็ได้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการในพระวรกาย
ของพระผู้มีพระภาคเป็นส่วนมาก เว้นอยู่เพียง ๒ ประการ จึงยังเคลือบแคลง สงสัย
ไม่มั่นใจ ไม่ยอมรับ ในลักษณะมหาบุรุษอีก ๒ ประการ คือ (๑) พระคุยหฐานที่
เร้นอยู่ในฝัก (๒) พระชิวหาที่ยาวยิ่ง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า “เสลพราหมณ์นี้เห็นลักษณะมหาบุรุษ
๓๒ ประการของเราเป็นส่วนมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ จึงยังเคลือบแคลง สงสัย
ไม่มั่นใจ ไม่ยอมรับในลักษณะมหาบุรุษอีก ๒ ประการ คือ (๑) พระคุยหฐานที่เร้นอยู่
ในฝัก (๒) พระชิวหาที่ยาวยิ่ง”
ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้เสลพราหมณ์ได้เห็น
พระคุยหฐานที่เร้นอยู่ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้ง ๒
สลับกันไปมา แล้วทรงย้ายกลับมาสอดเข้าช่องพระนาสิกทั้งสองสลับกัน แล้วจึง
ทรงแผ่พระชิวหาปิดบริเวณพระนลาฏทั้งหมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
เสลพราหมณ์กับศิษย์กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท
เสลพราหมณ์คิดว่า “พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒
ประการบริบูรณ์ ไม่บกพร่อง แต่เรายังไม่ทราบว่าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าจริง
หรือไม่ เราเคยฟังคำของพราหมณ์ทั้งหลายผู้สูงวัย เป็นผู้ใหญ่ เป็นอาจารย์ต่อ ๆ
กันมา กล่าวสอนไว้ว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมแสดง
พระองค์ให้ปรากฏในเมื่อบุคคลกล่าวถึงคุณของพระองค์ อย่ากระนั้นเลย เราควร
ชมเชยพระสมณโคดมเฉพาะพระพักตร์เป็นคาถาที่เหมาะสม”
เมื่อคิดได้ดังนั้น เสลพราหมณ์จึงสดุดีพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาที่เหมาะสม
เฉพาะพระพักตร์ว่า
[๕๕๔] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์เสด็จอุบัติมาดีแล้ว
มีพระวิริยภาพ มีพระวรกายสมบูรณ์
มีพระรัศมีเรืองงาม เป็นผู้น่าทัศนายิ่งนัก
มีพระฉวีวรรณเปล่งปลั่งดั่งทอง
มีพระเขี้ยวแก้วขาวสะอาด
[๕๕๕] เพราะพระลักษณะมหาบุรุษ
ที่มีปรากฏแก่มหาบุรุษนั้น
ย่อมมีปรากฏในพระวรกายของพระองค์อย่างครบถ้วน
[๕๕๖] พระองค์มีพระเนตรแจ่มใส มีพระพักตร์ผุดผ่อง
มีพระวรกายสูงใหญ่ตรง
มีพระเดช ทรงรุ่งเรืองอยู่ในท่ามกลางหมู่สมณะ
เหมือนดวงอาทิตย์รุ่งเรืองอยู่ ฉะนั้น
[๕๕๗] พระองค์เป็นภิกษุ มีคุณสมบัติงดงามน่าชม
มีพระฉวีวรรณผุดผ่องดั่งทอง
พระองค์มีพระวรรณะสูงส่งถึงเพียงนี้
จะเป็นสมณะไปทำไม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
[๕๕๘] พระองค์ควรเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ที่องอาจในหมู่พลรถ ทรงปราบปรามชนะไพรี
ทรงเป็นใหญ่ในภาคพื้นชมพูทวีป
ซึ่งมีสมุทรสาครทั้งสี่เป็นขอบเขต
[๕๕๙] ข้าแต่พระโคดม ขอเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์
เป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมมนุษย์ตามพระราชประเพณี
ที่กษัตราธิราชโดยพระชาติได้เสวยราชย์
มีหมู่เสวกามาตย์เสด็จตามพระองค์เถิด
[๕๖๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
เสลพราหมณ์ เราเป็นพระราชาอยู่แล้ว
คือเป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม
ยังธรรมจักรที่ไม่มีใคร ๆ หมุนไปได้ ให้หมุนไปได้
[๕๖๑] (เสลพราหมณ์กราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงปฏิญญาว่า
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม
ทั้งยังตรัสยืนยันว่ายังธรรมจักรให้หมุนไปได้
[๕๖๒] ใครหนอเป็นเสนาบดีของพระองค์ผู้เจริญ
เป็นสาวกผู้ประพฤติตามเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ผู้เป็นศาสดา
ใครจะช่วยประกาศธรรมจักรที่พระองค์ทรงให้หมุนไปแล้วนี้ได้
[๕๖๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
เสลพราหมณ์ สารีบุตรผู้เกิดตามตถาคต
จะช่วยประกาศธรรมจักรที่ยอดเยี่ยม
ซึ่งเราให้หมุนไปแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
[๕๖๔] พราหมณ์ เราได้รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง
ได้เจริญธรรมที่ควรให้เจริญ
ได้ละธรรมที่ควรละได้แล้ว
เพราะฉะนั้น เราจึงเป็นพระพุทธเจ้า
[๕๖๕] พราหมณ์ ท่านจงขจัดความสงสัยในตัวเราเสีย
จงน้อมใจเชื่อเราเสียเถิด
การได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนือง ๆ
เป็นโอกาสที่หาได้ยาก
[๕๖๖] ผู้จะปรากฏเนือง ๆ ในโลก
ย่อมเป็นการหาได้ยาก
พราหมณ์ เรานั้น เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นหมอผ่าตัดลูกศรคือกิเลสชั้นเยี่ยม
[๕๖๗] เราเป็นผู้ประเสริฐสุด ไม่มีผู้เปรียบเทียบ
ย่ำยีมารและเสนามารได้
ควบคุมอมิตร๑ทั้งปวงไว้ในอำนาจ
ไม่มีภัยจากที่ไหน เบิกบานอยู่
[๕๖๘] (เสลพราหมณ์กล่าวดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระองค์
จงทรงใคร่ครวญคำของข้าพระองค์นี้
เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
เป็นหมอผ่าตัดลูกศรคือกิเลส
เป็นมหาวีระได้ตรัสไว้
เหมือนพญาราชสีห์บรรลือสีหนาทอยู่ในป่า

เชิงอรรถ :
๑ อมิตร ในที่นี้หมายถึงมาร ๕ คือ (๑) กิเลสมาร(มารคือกิเลส) (๒) ขันธมาร(มารคือเบญจขันธ์)
(๓) อภิสังขารมาร(มารคืออภิสังขาร) (๔) เทวปุตตมาร(มารคือเทพบุตร) (๕) มัจจุมาร(มารคือความตาย)
(ขุ.สุ.อ. ๒/๕๖๗/๒๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
[๕๖๙] ใครเห็นพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐสุด
ไม่มีผู้เปรียบเทียบ
ย่ำยีมารและเสนามารได้ จะไม่พึงเลื่อมใสเล่า
ถึงคนผู้เกิดในตระกูลต่ำก็ยังเลื่อมใส
[๕๗๐] ผู้ปรารถนาจะตามฉัน ก็เชิญมา
หรือผู้ที่ไม่ปรารถนา ก็เชิญกลับไป
ฉันจะบวชในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาประเสริฐนี้
[๕๗๑] (มาณพเหล่านั้นกล่าวดังนี้)
หากท่านอาจารย์ประทับใจคำสอน
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นนี้
แม้เราทั้งหลายก็จะบวช
ในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาประเสริฐ
[๕๗๒] พราหมณ์ ๓๐๐ คนนี้พากันประนมมือ ทูลขอบรรพชาว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย
จะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระองค์
[๕๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
เสละ พรหมจรรย์ เรากล่าวไว้ดีแล้ว
ผู้บรรลุจะเห็นได้เอง ให้ผลไม่จำกัดกาล
ในศาสนาที่มีการบรรพชาไม่ไร้ผล๑
เมื่อคนที่ไม่ประมาท หมั่นศึกษาอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๕๕๔-๕๗๓ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๑๘-๘๓๗/๔๗๖-๔๗๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
เสลพราหมณ์พร้อมทั้งบริวารได้รับการบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี
พระภาคแล้ว
ฝ่ายเกณิยชฎิล ครั้นคืนนั้นผ่านไป สั่งให้จัดของขบฉันอย่างประณีตไว้ในอาศรม
ของตนแล้วส่งคนไปกราบทูลภัตตกาลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ขณะนั้น เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร เสด็จไปยังอาศรมของเกณิยชฎิลแล้วประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูไว้
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
จากนั้น เกณิยชฎิลได้นำของขบฉันอันประณีต ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระ-
พุทธเจ้าเป็นประธานให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ
แล้วทรงวางพระหัตถ์ เกณิยชฎิลเลือกเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่งแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร

พระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิล
พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถาดังนี้
[๕๗๔] การบูชาไฟเป็นการบูชายัญอันประเสริฐ
ว่าด้วยเรื่องฉันท์ สาวิตรีฉันท์เป็นฉันท์อันดับแรก
พระราชาเป็นประมุขของมนุษย์ทั้งหลาย
สมุทรสาครเป็นศูนย์รวมแห่งแม่น้ำทั้งหลาย
[๕๗๕] ดาวนักษัตรทั้งหลาย มีดวงจันทร์เด่นสกาว
มวลความร้อนมีดวงอาทิตย์เป็นเจ้า
หมู่ชนผู้มุ่งแสวงบุญอยู่มีพระสงฆ์เท่านั้น
เป็นทางเจริญแห่งบุญแท้จริงของผู้บูชา
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้วก็เสด็จ
ลุกจากอาสนะจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๗. เสลสูตร
ต่อมา ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารจากไปอยู่เพียงลำพัง ไม่ประมาท
มีความเพียร อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็น
ที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ
ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป
จึงเป็นอันว่า ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารได้เป็นพระอรหันต์
จำนวนหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ครั้งนั้น ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลด้วยคาถาว่า
[๕๗๖] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
ข้าพระองค์ทั้งหลายถึงพระองค์เป็นสรณะครบ ๘ วันนับจากวันนี้
จึงเป็นอันว่าข้าพระองค์ทั้งหลายฝึกฝนตนสำเร็จ
ในศาสนาของพระองค์ใช้เวลา ๗ วันเท่านั้น
[๕๗๗] พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า
เป็นพระศาสดา เป็นพระมุนีครอบงำมารได้
ทรงตัดอนุสัยกิเลสได้ ทรงข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสงสารได้แล้ว
ยังทรงช่วยหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามตามไปได้ด้วย
[๕๗๘] พระองค์ทรงล่วงพ้นอุปธิกิเลสได้
ทำลายอาสวะได้แล้ว ไม่มีอุปาทาน
ละความหวาดกลัวภัยได้ เหมือนพญาราชสีห์ไม่กลัวต่อหมู่เนื้อ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูข้อ ๕๕๑-๕๕๒ หน้า ๖๒๘-๖๒๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๘. สัลลสูตร
[๕๗๙] ภิกษุ ๓๐๐ รูปนี้ ยืนประนมมือกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแกล้วกล้า
ขอพระองค์โปรดเหยียดพระยุคลบาทออกมาเถิด
ขอเชิญท่านผู้ประเสริฐทั้งหลาย
ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระศาสดาเถิด
เสลสูตรที่ ๗ จบ

๘. สัลลสูตร
ว่าด้วยลูกศรคือกิเลส
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แก่อุบาสกคนหนึ่งผู้โศกเศร้าเพราะบุตรตาย
ด้วยพระคาถาดังนี้)
[๕๘๐] ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้
ไม่มีนิมิต๑ ใคร ๆ รู้ไม่ได้ ทั้งลำบาก
สั้นนิดเดียว และประกอบด้วยทุกข์
[๕๘๑] วิธีที่สัตว์ผู้เกิดมาแล้วจะไม่ตายย่อมไม่มี
แม้จะอยู่ไปจนถึงชรา ก็จะต้องถึงแก่ความตาย
เพราะสัตว์ทั้งหลายมีความตายอย่างนี้เป็นธรรมดา
[๕๘๒] สัตว์ที่เกิดมาแล้ว มีภัยจากความตายเป็นนิตย์
เหมือนผลไม้สุกแล้วมีภัยจากการหล่นไปในเวลาเช้า ฉะนั้น
[๕๘๓] ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำไว้ทั้งหมด
มีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีนิมิต หมายถึงไม่มีกิริยาอาการบ่งบอกว่าจะตาย (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๘๐/๒๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๘. สัลลสูตร
[๕๘๔] มนุษย์ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โง่ และฉลาด ทั้งหมด
ย่อมไปสู่อำนาจความตาย มีความตายรออยู่ข้างหน้า
[๕๘๕] เมื่อมนุษย์เหล่านั้นถูกความตายครอบงำอยู่
กำลังจะจากโลกนี้ไปสู่ปรโลก
บิดาก็ต้านทานบุตรไว้ไม่ได้
หรือหมู่ญาติก็ต้านทานญาติไว้ไม่ได้
[๕๘๖] เมื่อพวกญาติ กำลังเพ่งมองดูอยู่
รำพันกันเป็นอันมากอยู่นั่นแหละว่า จงดูสัตว์แต่ละตน ๆ
ถูกความตายนำไป เหมือนโคถูกนำไปฆ่า ฉะนั้น
[๕๘๗] สัตว์โลกถูกความแก่และความตายครอบงำอยู่อย่างนี้๑
เพราะฉะนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายทราบชัด
ความเป็นจริงของสัตว์โลกแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก
[๕๘๘] ท่านไม่รู้ทางของผู้มาหรือผู้ไป
เมื่อไม่เห็นที่สุดทั้ง ๒ นี้ ถึงจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์
[๕๘๙] หากผู้ที่หลงคร่ำครวญ เบียดเบียนตนอยู่
จะพึงนำประโยชน์อะไรมาได้บ้าง
บัณฑิตผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ก็จะพึงกระทำเช่นนั้นบ้าง๒
[๕๙๐] บุคคลจะได้รับความสงบใจ เพราะการร้องไห้
เพราะความเศร้าโศกก็หาไม่
ทุกข์ย่อมเกิดแก่ผู้นั้นยิ่งขึ้น
และร่างกายของเขามีแต่จะซีดเซียวลง

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๕๘๒-๕๘๗ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๙/๑๔๒-๑๔๗, ขุ.ชา (แปล) ๒๘/๑๑๙/๒๐๑
๒ ดู ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๙๐/๓๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๘. สัลลสูตร
[๕๙๑] ผู้ที่เบียดเบียนตนเอง ย่อมจะซูบผอม ไม่ผ่องใส
สัตว์ทั้งหลายผู้ละไปสู่ปรโลก
หาคุ้มครองตนอยู่ด้วยการคร่ำครวญนั้นได้ไม่
ฉะนั้น การคร่ำครวญจึงเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์๑
[๕๙๒] ผู้ทอดถอนใจถึงคนที่ตายไปแล้วอยู่เสมอ
บรรเทาความเศร้าโศกไม่ได้
ตกอยู่ในอำนาจแห่งความเศร้าโศก
ย่อมได้รับทุกข์มากขึ้น
[๕๙๓] ท่านจงดูแม้คนเหล่าอื่นผู้ใกล้จะตายไปตามกรรม
และสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ผู้ตกอยู่ในอำนาจมัจจุราช
ต่างพากันดิ้นรนอยู่ทั้งนั้น
[๕๙๔] อาการใด ๆ ที่สัตว์ทั้งหลายสำคัญหมาย
อาการนั้น ๆ ย่อมแปรผันเป็นอื่นไป๒
การพลัดพรากจากกันและกันเช่นนี้ มีอยู่เป็นประจำ
ท่านจงพิจารณาดูความเป็นจริงของสัตว์โลกเถิด
[๕๙๕] บุคคลแม้จะดำรงชีวิตอยู่ถึง ๑๐๐ ปี
หรือเกินไปบ้างก็ตาม ก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ
และต้องละทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้แน่นอน
[๕๙๖] เพราะฉะนั้น บุคคลฟังธรรมเทศนาของพระอรหันต์แล้ว
เห็นคนล่วงลับดับชีวิตไป กำหนดรู้ว่าผู้ล่วงลับดับชีวิตไปนั้น
ไม่สามารถฟื้นคืนชีวิตอยู่ร่วมกับเราได้อีก
ควรกำจัดความคร่ำครวญ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๙๑/๓๖๙
๒ หมายถึงที่หวังไว้ว่า ‘ขอให้มีอายุยืน’ ก็กลับกลายเป็นสิ่งตรงข้ามคือตายไป และที่หวังไว้ว่า ‘ขอให้ไม่มีโรค’
ก็กลับกลายมีโรค เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๕๙๔/๒๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๕๙๗] ธีรชนผู้มีปัญญา ฉลาดปราชญ์เปรื่อง
ควรขจัดความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน
เหมือนลมพัดนุ่นปลิวไป
เหมือนคนใช้น้ำดับไฟที่กำลังไหม้ลุกลาม ฉะนั้น
[๕๙๘] บุคคลผู้แสวงหาความสุขแก่ตน
ควรกำจัดความคร่ำครวญ ความทะยานอยาก
และโทมนัสของตน
ควรถอนลูกศรคือกิเลสของตน
[๕๙๙] บุคคลผู้ถอนลูกศรคือกิเลสได้แล้ว
เป็นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ถึงความสงบใจ ล่วงพ้นความเศร้าโศกได้ทั้งหมด
ไม่มีความเศร้าโศก ชื่อว่าดับกิเลสได้แล้ว
สัลลสูตรที่ ๘ จบ

๙. วาเสฏฐสูตร
ว่าด้วยวาเสฏฐมาณพทูลถามปัญหา
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนื้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้าน
อิจฉานังคละ สมัยนั้น พราหมณ์มหาศาลมีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก คือ จังกีพราหมณ์
ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุสโสณิพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์
และพราหมณมหาศาลมีชื่อเสียงอื่น ๆ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอิจฉานังคละ
ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพกำลังเดินเล่นพักผ่อน ระหว่างนั้น
ได้สนทนาถึงข้อความนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลชื่อว่าพราหมณ์ โดยวิธีอย่างไร”
ภารทวาชมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลที่เกิดมาดีทั้ง ๒ ฝ่าย คือ
ทั้งฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุรษ ไม่มีใคร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
จะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล เพื่อนเอ๋ย เพราะเหตุดังกล่าวมานี้
บุคคลนั้นจึงชื่อว่า พราหมณ์”
วาเสฏฐมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร
เพราะเหตุดังกล่าวมานี้จึงชื่อว่า พราหมณ์”
ภารทวาชมาณพไม่สามารถให้วาเสฏฐมาณพยอมรับเหตุผลของตนได้ ฝ่าย
วาเสฏฐมาณพก็ไม่สามารถให้ภารทวาชมาณพยอมรับเหตุผลของตนได้เช่นกัน
ลำดับนั้น วาเสฏฐมาณพได้กล่าวเชิงปรึกษากับภารทวาชมาณพว่า “ภารทวาชะ
เพื่อนรัก พระสมณโคดมศากยบุตรพระองค์นี้เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล ประทับ
อยู่ที่ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้านอิจฉานังคละ ก็ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์
อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ภารทวาชะเพื่อนรัก เราทั้งสองเข้าไปเฝ้าพระ
สมณโคดม ณ ที่ประทับกันเถิด แล้วเราจะทูลถามถึงเรื่องนี้กับพระองค์ จะได้จดจำ
ข้อความที่พระองค์ทรงพยากรณ์แก่เรา”
ภารทวาชมาณพรับคำวาเสฏฐมาณพว่า “อย่างนั้นก็ได้เพื่อน”
ต่อจากนั้น วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร วาเสฏฐมาณพได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคด้วยคาถาว่า
[๖๐๐] ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ได้รับยกย่อง
และรับรองจากอาจารย์ว่า เป็นผู้ได้ศึกษาจบไตรเพท
ข้าพระองค์เป็นหัวหน้าศิษย์ของโปกขรสาติพราหมณ์
ส่วนภารทวาชมาณพนี้เป็นหัวหน้าศิษย์ของตารุกขพราหมณ์
[๖๐๑] ข้าพระองค์ทั้งสอง ศึกษาจบไตรเพท
ตามที่อาจารย์ผู้แตกฉานอบรมสั่งสอน
เป็นผู้เข้าใจตัวบท ชำนาญไวยากรณ์
ในพระเวทเทียบเท่าอาจารย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๐๒] ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทั้งสองนั้นเกิดโต้เถียงกัน
ในเรื่องเหตุที่ทำให้บุคคลเป็นพราหมณ์
ภารทวาชมาณพกล่าวว่า
บุคคลเป็นพราหมณ์ เพราะชาติกำเนิด
ส่วนข้าพระองค์กล่าวว่า
บุคคลเป็นพราหมณ์ เพราะกรรม
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด
[๖๐๓] ข้าพระองค์ทั้งสองนั้นไม่สามารถตกลงกันได้
จึงพากันมาทูลถามพระองค์ผู้ทรงปรากฏพระนามว่า
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๖๐๔] ข้าพระองค์ทั้งสองประนมมือถวายนมัสการพระองค์
ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลก
เหมือนชนทั้งหลายประนมมือ
น้อมไหว้พระจันทร์วันเพ็ญโดยทั่วถึงกัน
[๖๐๕] ข้าพระองค์ทั้งสองขอทูลถามพระโคดมผู้มีพระจักษุ
ผู้เสด็จอุบัติดีแล้วในโลกว่า
บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด
หรือเพราะกรรมหนอ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกข้าพระองค์ทั้งสอง
ผู้ไม่รู้ให้รู้จักพราหมณ์ที่แท้จริงด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๖๐๖] วาเสฏฐะ เราจะพยากรณ์ถึงความพิสดาร
แห่งชาติกำเนิดของสัตว์ทั้งหลาย
ตามลำดับความเหมาะสมแก่เธอ
เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายมีชาติกำเนิดแตกต่างกันหลายเผ่าพันธุ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๐๗] เธอทั้งหลายย่อมรู้จักหญ้าและต้นไม้
แต่หญ้าและต้นไม้ก็ไม่ยอมรับว่าเป็นหญ้าเป็นต้นไม้
หญ้าและต้นไม้นั้นมีสัณฐานสำเร็จมาแต่กำเนิด
เพราะธรรมชาติของมันต่างกัน
[๖๐๘] ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักแมลง ตั๊กแตน
ตลอดจนถึงมดดำ มดแดง
สัตว์เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๐๙] เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์สี่เท้า ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่
สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๑๐] เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์เลื้อยคลาน
ที่ใช้ท้องแทนเท้า มีสันหลังยาว
สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๑๑] ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักปลา
และสัตว์น้ำประเภทอื่นที่เกิดเที่ยวหากินอยู่ในน้ำ
สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๑๒] ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์ปีกที่บินไปในอากาศ
สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๑๓] ในหมู่มนุษย์ ไม่มีรูปร่างสัณฐานแตกต่างกันไป
ตามกำเนิดมากมาย เหมือนกำเนิดของสัตว์เหล่านี้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๑๔] คือ ไม่มีการกำหนดว่า เป็นพราหมณ์ เป็นกษัตริย์เป็นต้น
ด้วยผม ศีรษะ ใบหู นัยน์ตา ใบหน้า จมูก ริมฝีปาก คิ้ว
[๖๑๕] คอ บ่า ท้อง หลัง สะโพก อก
ซอกอวัยวะ อวัยวะสืบพันธุ์
[๖๑๖] มือ เท้า นิ้วมือ เล็บ แข้ง ขาอ่อน
ผิวพรรณ หรือเสียง
ในหมู่มนุษย์จึงไม่มีรูปร่างสัณฐาน
แตกต่างกันตามกำเนิดมากมาย
เหมือนในกำเนิดอื่น ๆ เลย
[๖๑๗] ในหมู่มนุษย์ไม่มีลักษณะเฉพาะตัวในสรีระของแต่ละคน
และในหมู่มนุษย์ การเรียกชื่อต่างกันว่า พราหมณ์ กษัตริย์ เป็นต้น
ท่านบัญญัติเรียกเพียงโวหาร
[๖๑๘] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า ชาวนา ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๑๙] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพ
ด้วยการช่างฝีมืออันเป็นศิลปะต่าง ๆ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า ช่างศิลป์ ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๐] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า พ่อค้า ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๑] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพด้วยการรับใช้ผู้อื่น
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า คนรับใช้ ไม่เรียกว่า พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๒๒] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยการลักทรัพย์ผู้อื่นเลี้ยงชีพ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า โจร ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๓] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยลูกศรและศัสตราเลี้ยงชีพ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า ทหารอาชีพ ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๔] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพด้วยการเป็นปุโรหิต
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า ผู้เป็นที่เคารพบูชา ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๕] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามปกครองท้องถิ่นและแว่นแคว้น
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า พระราชา ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๖] ผู้ถือกำเนิดจากมารดา (ที่เป็นพราหมณ์)
เราไม่เรียกว่า พราหมณ์
เขาเป็นเพียงผู้ชื่อว่า โภวาที เท่านั้น
เขายังมีกิเลสเครื่องกังวล
แต่เราเรียกผู้ที่ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ไม่ถือมั่นเท่านั้นว่า พราหมณ์๑
[๖๒๗] ผู้ตัดสังโยชน์ได้หมดสิ้น ไม่สะดุ้ง
ผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องได้ ผู้ปราศจากโยคะ
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๘] ผู้ตัดชะเนาะ เชือกหนัง และเงื่อน
พร้อมทั้งสายรัดได้ ถอดลิ่มสลัก เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๓๙๖-๔๒๓ หน้า ๑๕๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๒๙] ผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นคำด่า
การฆ่า และการจองจำได้
มีขันติเป็นพลัง มีขันติเป็นกำลังพล
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๐] ผู้ไม่มักโกรธ มีศีล มีวัตร
ไม่มีตัณหาเครื่องฟูขึ้น ฝึกตนได้แล้ว
มีสรีระเป็นร่างกายสุดท้าย
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๑] ผู้ใดไม่ติดในกามทั้งหลาย
เหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่บนปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๓๒] ผู้ใดในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดความสิ้นทุกข์ของตน
ปลงภาระได้แล้ว ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๓๓] ผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เป็นนักปราชญ์
ฉลาดในทางและมิใช่ทาง
บรรลุประโยชน์สูงสุด
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๔] ผู้ไม่คลุกคลีกับคน ๒ จำพวก
คือ คฤหัสถ์ และบรรพชิต
ไม่มีความอาลัยเที่ยวไป มีความปรารถนาน้อย
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๕] ผู้ใดละวางโทษทัณฑ์ในสัตว์ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง และสัตว์ที่มั่นคง
ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่า
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๓๖] ผู้ไม่มุ่งร้ายในหมู่คนผู้มุ่งร้าย
ผู้สงบในหมู่คนผู้ชอบหาเรื่องใส่ตน
ผู้ไม่ถือมั่นในหมู่คนผู้ถือมั่น
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๗] ผู้ใดทำราคะ โทสะ โมหะ มานะ และมักขะให้ตกไป
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๓๘] ผู้กล่าวคำที่ไม่หยาบคาย สื่อความหมายได้
เป็นคำจริง ไม่เป็นเหตุให้ใคร ๆ ขัดเคือง
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๙] ผู้ใดในโลกนี้ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
ไม่ว่ายาวหรือสั้น เล็กหรือใหญ่ งามหรือไม่งาม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๐] ผู้ใดไม่มีความหวังในโลกนี้และโลกหน้า
ปราศจากความหวัง ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๑] ผู้ใดไม่มีความอาลัย หมดความสงสัยเพราะรู้ชัด
หยั่งลงสู่อมตะ บรรลุแล้ว
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๒] ผู้ใดในโลกนี้ละบุญและบาปทั้งสองได้
พ้นจากกิเลสเครื่องข้องได้ ไม่เศร้าหมอง
ปราศจากกิเลสดุจธุลี เป็นผู้บริสุทธิ์
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๓] ผู้บริสุทธิ์ดุจจันทร์แจ่ม
มีจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัว
เป็นผู้สิ้นความยินดีในภพ
เราเรียกว่า พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๔๔] ผู้ใดก้าวพ้นทางอ้อม๑ทางหล่ม๒
สงสาร และโมหะได้แล้ว
ข้ามไปถึงฝั่งแล้ว เจริญฌาน
ไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย
ดับเย็น เพราะไม่ถือมั่น
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๕] ผู้ใดในโลกนี้ละกามได้แล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นกามและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๖] ผู้ใดในโลกนี้ละตัณหาได้เด็ดขาด
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นตัณหาและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๗] ผู้ละกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของมนุษย์ได้๓
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นทิพย์ได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากโยคะทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๘] ผู้ละทั้งความยินดี๔ และความไม่ยินดี๕
เป็นผู้เยือกเย็น หมดอุปธิกิเลส

เชิงอรรถ :
๑ ทางอ้อม ในที่นี้หมายถึงราคะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๔๔/๒๙๙)
๒ ทางหล่ม ในที่นี้หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๔๔/๒๙๙)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๖๖ ในเล่มนี้
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๓ หน้า ๑๖๖ ในเล่มนี้
๕ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๑๖๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
ครอบงำโลกทั้งหมด เป็นผู้แกล้วกล้า
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๙] ผู้ใดรู้การจุติและการอุบัติ
ของสัตว์ทั้งหลายโดยประการทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ไม่ติดข้อง ไปดีแล้ว
และตรัสรู้แล้วว่า พราหมณ์
[๖๕๐] ผู้ใดมีคติที่เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์ก็รู้ไม่ได้
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นอรหันตขีณาสพว่า พราหมณ์
[๖๕๑] ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
หมดความยึดมั่นถือมั่นว่า พราหมณ์
[๖๕๒] ผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้แกล้วกล้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ชำนะแล้ว
ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ชำระแล้ว และผู้ตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๕๓] ผู้ใดระลึกอดีตชาติได้ เห็นสวรรค์และอบาย
บรรลุภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๕๔] อันที่จริง ชื่อและโคตรที่เขากำหนดให้กันนั้น
เป็นเพียงสมมติบัญญัติในโลก
ชื่อและโคตรปรากฏอยู่ได้เพราะรู้ตามกันมา
ญาติสาโลหิตกำหนดไว้ในการเกิดนั้น ๆ
[๖๕๕] ชื่อและโคตรที่กำหนดเรียกกันนี้
เป็นความเห็นที่ฝังแน่นอยู่ในใจมานานของคนผู้ไม่รู้ความจริง
เมื่อไม่รู้จึงกล่าวว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๙. วาเสฏฐสูตร
[๖๕๖] บุคคลจะชื่อว่า เป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
จะชื่อว่ามิใช่พราหมณ์เพราะชาติกำเกิดก็หามิได้
แต่ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม
ชื่อว่ามิใช่พราหมณ์เพราะกรรม
[๖๕๗] บุคคลชื่อว่าเป็นชาวนาเพราะกรรม
ชื่อว่าเป็นช่างศิลป์ เป็นพ่อค้า เป็นคนรับใช้ ก็เพราะกรรม
[๖๕๘] ชื่อว่าเป็นโจร เป็นทหารอาชีพ เป็นปุโรหิต
แม้กระทั่งเป็นพระราชา ก็เพราะกรรมทั้งนั้น
[๖๕๙] บัณฑิตผู้มีปกติเห็นปฏิจจสมุปบาท
ฉลาดในกรรมและวิบาก
ย่อมเห็นกรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้
[๖๖๐] สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
หมู่สัตว์เป็นไปตามกรรม
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน
เปรียบเหมือนรถที่แล่นไปมีหมุดเป็นเครื่องตรึงไว้ ฉะนั้น
[๖๖๑] บุคคลจะเป็นพราหมณ์ ก็เพราะกรรมอันประเสริฐนี้
คือ ตบะ พรหมจรรย์ สัญญมะ ทมะ๑
กรรมอันประเสริฐนี้นำความเป็นพราหมณ์ที่สูงสุดมาให้
[๖๖๒] บุคคลสมบูรณ์ด้วยวิชชา ๓
มีความสงบ สิ้นภพใหม่แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ตบะ หมายถึงการสำรวมอินทรีย์ พรหมจรรย์ หมายถึงการประพฤติธรรมอันประเสริฐ สัญญมะ
หมายถึงมีศีล ทมะ หมายถึงมีปัญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๑/๓๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
บุคคลนั้นเป็นทั้งพรหม และท้าวสักกะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพได้
กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะ
ยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
วาเสฏฐสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. โกกาลิกสูตร๑
ว่าด้วยพระโกกาลิกะ
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล โกกาลิกภิกษุเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาชั่ว
ลุอำนาจความปรารถนาชั่ว”
เมื่อโกกาลิกภิกษุกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับโกกาลิก-
ภิกษุดังนี้ว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจง
ทำจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีล
เป็นที่รัก”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๘๑/๒๔๘, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๘๙/๒๐๐-๒๐๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
แม้ครั้งที่ ๒ โกกาลิกภิกษุก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของข้าพระองค์ มีพระพุทธพจน์
ที่ข้าพระองค์เชื่อถือได้ก็จริง แต่ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นผู้มี
ความปรารถนาชั่ว ลุอำนาจความปรารถนาชั่ว”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับโกกาลิกภิกษุดังนี้ว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น
เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจงทำจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด
สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
แม้ครั้งที่ ๓ โกกาลิกภิกษุก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของข้าพระองค์ มีพระพุทธพจน์
ที่ข้าพระองค์เชื่อถือได้ก็จริง แต่ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นผู้มี
ความปรารถนาชั่ว ลุอำนาจความปรารถนาชั่ว”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับโกกาลิกภิกษุดังนี้ว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าว
อย่างนั้น เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธอจงทำจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะ
เถิด สารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
ครั้งนั้น โกกาลิกภิกษุลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำ
ประทักษิณแล้วจากไป
เมื่อโกกาลิกภิกษุจากไปไม่นาน ร่างกายก็มีตุ่มขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเกิด
ขึ้นทั่วร่าง ตุ่มเหล่านั้นโตเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด แล้วก็โตเท่าเมล็ดถั่วเขียว โตเท่า
เมล็ดถั่วดำ โตเท่าเมล็ดพุทรา โตเท่าเมล็ดกระเบา โตเท่าผลมะขามป้อม โตเท่า
ผลมะตูมอ่อน เท่าผลมะตูมแก่ แล้วก็แตกเยิ้ม หนองและเลือดไหลออกมา
โกกาลิกภิกษุเพราะทนพิษตุ่มแตกนั้นไม่ไหวจึงมรณภาพลงในขณะนั้น และเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
มรณภาพลงแล้วได้ไปเกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในท่านพระสารีบุตรและ
ท่านพระโมคคัลลานะ
ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๑ ท้าวสหัมบดีพรหมมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมี
ให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืน
อยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
โกกาลิกภิกษุมรณภาพแล้วไปเกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในท่านพระสารีบุตร
และท่านพระโมคคัลลานะ”
ท้าวสหัมบดีพรหมครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
กระทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นแล
ครั้นคืนนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป ท้าวสหัมบดีพรหม ฯลฯ ภิกษุ
ทั้งหลาย ท้าวสหัมบดีพรหมครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็กระทำประทักษิณแล้วหายไป
ณ ที่นั้นแล”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้เแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ประมาณอายุในปทุมนรกนานเท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ ประมาณอายุในปทุมนรกนานมาก ประมาณ
อายุในปทุมนรกนั้น ยากที่จะนับได้ว่า ‘ประมาณเท่านี้ปี ประมาณ ๑๐๐ ปีเท่านี้
ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีเท่านี้ ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปีเท่านี้”
ภิกษุนั้นทูลถามอีกว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์พอจะยกอุปมาได้
หรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ได้ ภิกษุ” แล้วตรัสว่า “ภิกษุ หนึ่งเกวียน
เมล็ดงาของชาวโกศลมีอัตรา ๒๐ ขารี๑ ล่วงไปแล้ว ๑๐๐,๐๐๐ ปี บุรุษจึงนำ
เมล็ดงาออกจากเกวียนนั้น ๑ เมล็ด เมล็ดงาหนึ่งเกวียนของชาวโกศลซึ่งมีอัตรา
๒๐ ขารีนั้น จะพึงหมดไปโดยทำนองนี้เร็วกว่า แต่ว่า ๑ อัพพุทนรก๒หาหมด
ไปไม่ ๒๐ อัพพุทนรก เป็น ๑ นิรัพพุทนรก ๒๐ นิรัพพุทนรก เป็น ๑ อพพนรก
๒๐ อพพนรก เป็น ๑ อหหนรก ๒๐ อหหนรก เป็น ๑ อฏฏนรก ๒๐ อฏฏนรก
เป็น ๑ กุมุทนรก ๒๐ กุมุทนรก เป็น ๑ โสคันธิกนรก ๒๐ โสคันธิกนรก เป็น
๑ อุปปลกนรก ๒๐ อุปปลกนรก เป็น ๑ ปุณฑรีกนรก ๒๐ ปุณฑรีกนรก เป็น
๑ ปทุมนรก
ภิกษุ โกกาลิกภิกษุนี้เกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในสารีบุตรและ
โมคคัลลานะ”

เชิงอรรถ :
๑ ขารี เป็นชื่อมาตราตวงชนิดหนึ่งของอินเดียโบราณ มีลำดับมาตราดังนี้
๔ กุฑุวะ หรือปสตะ(ฟายมือ) เป็น ๑ ปัตถะ (กอบ)
๔ ปัตถะ เป็น ๑ อาฬหกะ
๔ อาฬหกะ เป็น ๑ โทณะ
๔ โทณะ เป็น ๑ มาณิกา
๔ มาณิกา เป็น ๑ ขารี
๒๐ ขารี เป็น ๑ เกวียน
(ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๒/๓๐๗, อภิธา. ฏีกา คาถา ๔๘๐-๔๙๔)
๒ อัพพุทนรก นิรัพพุทนรก อพพนรก อหหนรก อฏฏนรก กุมุทนรก โสคันธิกนรก อุปปลกนรก ปุณฑรีกนรก
ปทุมนรก ทั้งหมดนี้อยู่ในอเวจีมหานรก เป็นนรกเล็กอยู่ในนรกใหญ่ ไม่มีภูมิเป็นของตนเอง แต่เป็นที่ซึ่ง
สัตว์จะต้องรับกรรม เช่น อัพพุทนรก เป็นสถานที่ทรมานสัตว์โดยการนับชิ้นเนื้อเป็นเครื่องบอกระยะ
เวลาในการทรมานสัตว์ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๘๙/๓๖๖, ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๒/๓๐๗)
อนึ่ง นรกเหล่านี้ปรากฏชื่อตามจำนวนสังขยา อรรถกถาให้นัยไว้ว่า นรกเหล่านี้มีวิธีนับระยะเวลาปี
ของอัพพุทนรกเป็นตัวอย่างดังนี้ คือ
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ปี เป็น ๑ โกฏิ-ปี
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ โกฏิ-ปี เป็น ๑ ปโกฏิ-ปี
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ปโกฏิ-ปี เป็น ๑ โกฏิปโกฏิ-ปี
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ โกฏิปโกฏิ-ปี เป็น ๑ นหุต-ปี
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ นหุต-ปี เป็น ๑ นินนหุต-ปี
๑๐,๐๐๐,๐๐๐ นินนหุต-ปี เป็น ๑ อัพพุทะ-ปี
ต่อจากอัพพุทะไปใช้ ๑ x ๒๐ เช่น ๒๐ อัพพุทะ (๑ อัพพุทะ x ๒๐) ได้เท่ากับ ๑ นิรัพพุทะ เป็นต้น
(ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๒/๓๐๗, กัจ. ๕/๘/๓๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๖๖๓] ผรุสวาจา(คำหยาบ)เป็นเหมือนผึ่ง๑
เครื่องตัดตนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว
ย่อมเกิดที่ปากของคนพาล
[๖๖๔] ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรติเตียน
หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าสั่งสมความผิดไว้ด้วยปาก
ย่อมไม่ประสบความสุข เพราะความผิดนั้น
[๖๖๕] การปราชัยด้วยทรัพย์
ในการเล่นการพนันจนหมดตัวนี้
เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย
แต่การที่บุคคลมีใจประทุษร้าย
ในบุคคลผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้เท่านั้น
เป็นความผิดมากกว่า
[๖๖๖] บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจอันชั่ว
ติเตียนพระอริยะย่อมเข้าถึงนรก
สิ้น ๑๓๖,๐๐๐ นิรัพพุทกัป
กับอีก ๕ อัพพุทกัป
[๖๖๗] คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
‘ฉันไม่ได้ทำ’ ต่างก็ตกนรก๒

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ผึ่ง” หมายถึงชื่อเครื่องมือสำหรับถากไม้ชนิดหนึ่ง รูปคล้ายจอบ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตย-
สถาน พ.ศ.๒๕๒๕)
๒ ดู ธรรมบท ข้อ ๓๐๖ หน้า ๑๒๘, อุทาน ข้อ ๓๘ หน้า ๒๔๘, อิติวุตตกะ ข้อ ๔๘ หน้า ๓๙๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
คน ๒ จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้วมีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า
[๖๖๘] บุคคลใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย
เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้
ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลม ฉะนั้น๑
[๖๖๙] ผู้หมกมุ่นในความโลภต่าง ๆ ไม่มีศรัทธา
มีนิสัยหยาบกระด้าง ไม่รู้พุทธพจน์
มีความตระหนี่ ชอบพูดส่อเสียด
ย่อมใช้วาจากล่าวร้ายผู้อื่น
[๖๗๐] โกกาลิกะผู้มีปากเป็นหล่ม ชอบพูดเท็จ
ไม่ใช่คนดี ชอบกำจัดความเจริญของตน
เป็นคนชั่ว ชอบทำแต่กรรมชั่ว
เป็นคนต่ำช้า เป็นคนอาภัพ เป็นอวชาตบุตร
เธออย่าพูดมากในที่นี้ อย่าต้องเป็นสัตว์นรกเลย
[๖๗๑] เธอย่อมเกลี่ยธุลีคือกิเลสลงใส่ตน
ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองเลย
เธอชอบทำกรรมหยาบช้าแล้ว ยังติเตียนสัตบุรุษ
เธอประพฤติทุจริตมากมาย
ต้องไปเกิดในมหานรกเป็นเวลายาวนานแน่นอน
[๖๗๒] กรรม๒ของใคร ๆ ย่อมไม่สูญหายไปไหน
เขาต้องได้รับผลกรรมนั้น และเป็นเจ้าของกรรมนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบท ข้อ ๑๒๕ หน้า ๗๐ ในเล่มนี้
๒ กรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรม และอกุศลกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๗๒/๓๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
คนโง่เขลาผู้ชอบทำกรรมชั่วหยาบ
จะประสบทุกข์ที่ตนได้รับในปรโลก
[๖๗๓] ผู้ทำกรรมชั่วย่อมเข้าถึงสถานที่ที่นายนิรยบาล
เอาขอเหล็กอันคมกริบมาเกี่ยวไว้
ถูกหลาวเหล็กอันคมกริบเสียบไว้
และมีก้อนเหล็กแดงโชติช่วงเป็นอาหาร
ตามสมควรแก่ความชั่ว ตามสมควรแก่กรรมชั่วที่ตนทำไว้
[๖๗๔] นายนิรยบาลทั้งหลายเมื่อพูดกับสัตว์นรก ก็พูดไม่ไพเราะ
สัตว์นรกเหล่านั้นจะวิ่งหนีไปก็ไม่ได้
จะเข้าไปขอความช่วยเหลือก็ไม่ได้
จึงนอนอยู่บนถ่านเพลิงอันลาดไว้
เข้าไปสู่กองไฟอันลุกโพลง
[๖๗๕] นายนิรยบาลเอาข่ายเหล็กพันสัตว์นรก
แล้วทุบด้วยฆ้อนเหล็กในที่นั้น ๆ
สัตว์นรกทั้งหลายเข้าไปสู่นรกหมอกควันที่มืดทึบ
ซึ่งปกคลุมอบอวลไปทั่วดุจกลุ่มหมอก
[๖๗๖] ต่อจากนั้น สัตว์นรกเหล่านั้น
ก็เข้าไปสู่โลหกุมภีนรกที่มีเปลวไฟลุกโพลง
ลอยวนขึ้นลงพร้อมกับถูกไฟไหม้อยู่
ในหม้อเหล็กที่ติดไฟลุกนั้นเป็นเวลานานแสนนาน
[๖๗๗] สัตว์นรกผู้ทำกรรมชั่วหยาบไว้ประจำ
จะพลิกหนีไปทางทิศใด ๆ
ก็ถูกไฟตามเผาไหม้อยู่
ในหม้อเหล็กร้อนแดงที่ปนด้วยหนองและเลือด
ได้รับทุกข์ระกำลำบาก
ซ้ำยังแปดเปื้อนหนองและเลือดอยู่ในโลหกุมภีนรกนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๐. โกกาลิกสูตร
[๖๗๘] สัตว์นรกผู้ทำกรรมชั่วหยาบไว้ประจำ
ย่อมหมกไหม้อยู่ในน้ำที่มีหมู่หนอนยั้วเยี้ยในโลหกุมภี
นรกแต่ละขุมนั้น ๆ ไม่มีฝั่งที่จะให้ขึ้นอาศัยเลย
เพราะมีกระทะครอบอยู่อย่างมิดชิดรอบทุกทิศ
[๖๗๙] ยังมีป่าไม้ที่มีใบคม เหมือนดาบขึ้นอยู่ทั่วไป
ซึ่งพวกสัตว์นรกเข้าไปก็จะถูกตัดลำตัวขาดทันที
นายนิรยบาลก็จะเอาเบ็ดเกี่ยวลิ้น
ทรมานด้วยการดึงออกมาเรื่อย ๆ
[๖๘๐] ต่อจากนั้น สัตว์นรกนั้นต้องตกนรกน้ำกรดซึ่งเป็นแอ่ง
ถูกคมมีดโกนคมกริบกรีดตามตัว
สัตว์ที่โง่เขลาชอบทำบาปไว้มาก
จึงต้องตกลงไปบนคมมีดโกนนั้น
[๖๘๑] เพราะได้เคยก่อกรรมทำเข็ญไว้
สัตว์นรกจึงถูกสุนัขดำด่าง
และสุนัขจิ้งจอกรุมทึ้งกัดกิน ร้องคร่ำครวญอยู่ในที่นั้น ๆ
ซ้ำยังถูกฝูงแร้ง กา และนกตะกรุมรุมทึ้งจิกกินอีก
[๖๘๒] คนผู้ชอบทำกรรมชั่วหยาบเป็นประจำ ต้องรู้แก่ใจว่า
การดำรงอยู่ในนรกนี้ทุกข์ยากลำบากจริง ๆ
เพราะฉะนั้น นรชนจึงควรรีบทำกิจที่ควรทำแต่ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่นี้
และไม่ควรประมาท
[๖๘๓] เกวียนบรรทุกงาที่ผู้รู้ทั้งหลายนับคำนวณ
แล้วนำเข้าไปเปรียบกับอายุสัตว์ที่เกิดในปทุมนรก
ก็ได้เท่ากับ ๕๑,๒๐๐ โกฏิ
[๖๘๔] สัตว์นรกทั้งหลาย ต้องอยู่ในนรกซึ่งมีทุกข์มากมาย
ตามที่เรากล่าวไว้ในที่นี้ ตลอดระยะเวลายาวนาน
เพราะฉะนั้น บุคคลควรกำหนดรักษาวาจาใจให้เป็นปกติ
ในท่านผู้บริสุทธิ์ มีศีลเป็นที่รัก และมีคุณงามความดี
โกกาลิกสูตรที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
๑๑. นาลกสูตร
ว่าด้วยนาลกดาบสทูลถามปัญหา
[๖๘๕] อสิตฤๅษีอยู่ในที่พักกลางวัน ได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ
และทวยเทพชั้นดาวดึงส์มีใจชื่นชมโสมนัส
ยกผ้าทิพย์ขึ้นชมเชยอยู่มิได้ขาด
ณ ที่สถิตอันสะอาด
[๖๘๖] ครั้นเห็นแล้วจึงทำความนอบน้อม
พลางถามเทวดาทั้งหลายผู้มีใจเบิกบานในที่นั้นว่า
เพราะเหตุไร ทวยเทพจึงดีใจอย่างล้นเหลือ
เพราะอาศัยอะไร ท่านทั้งหลายจึงยกผ้าทิพย์ขึ้นแล้วรื่นเริงอยู่เช่นนี้
[๖๘๗] แม้คราวที่เกิดสงครามกับพวกอสูร ทวยเทพได้ชัยชนะ
เหล่าอสูรปราชัย อาการดีใจขนลุกขนพองสยองเกล้าเช่นนี้ก็มิได้มี
เทวดาทั้งหลายได้เห็นเหตุอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน
จึงพากันเบิกบานสำราญใจมากมายเช่นนี้
[๖๘๘] ทวยเทพเปล่งเสียงชมเชยขับร้องบรรเลงดนตรี
ปรบมือฟ้อนรำกันอยู่
ข้าพเจ้าขอถามท่านทั้งหลายผู้อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุว่า
ท่านผู้ไร้ทุกข์ทั้งหลาย
ขอพวกท่านจงช่วยกันขจัดความสงสัยของข้าพเจ้า
ให้สิ้นไปโดยเร็วเถิด
(เทวดาทั้งหลายกล่าวตอบดังนี้)
[๖๘๙] พระโพธิสัตว์ผู้เป็นรัตนะอันประเสริฐ ไม่มีผู้เปรียบเทียบ
ได้บังเกิดแล้วในมนุษยโลก ที่ป่าลุมพินีวัน
ในคามชนบทของเจ้าศากยะทั้งหลาย
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข
เพราะเหตุนั้น เราทั้งหลายจึงพากันยินดีเบิกบานใจอย่างล้นเหลือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๖๙๐] พระโพธิสัตว์นั้น เป็นบุคคลผู้เลิศเป็นผู้สูงสุดในสรรพสัตว์
เป็นนรชนผู้องอาจ ประเสริฐสูงสุดในหมู่สัตว์ทั้งปวง
จะทรงประกาศธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนะ
เปรียบเหมือนพญาราชสีห์ มีกำลัง
มีอำนาจเหนือหมู่เนื้อบันลือสีหนาทอยู่
[๖๙๑] อสิตฤๅษีนั้นฟังเสียงของเทวดานั้นแล้ว
จึงรีบลงเข้าไปสู่ที่ประทับของพระเจ้าสุทโธทนะ ณ เวลานั้นทันที
ครั้นนั่งแล้วได้ทูลถามเจ้าศากยะทั้งหลายในที่นั้นว่า
พระกุมารประทับอยู่ที่ไหน อาตมภาพประสงค์จะเฝ้า
[๖๙๒] ลำดับนั้น เจ้าศากยะทั้งหลาย
ได้ทรงนำพระกุมาร ผู้ทรงเปล่งปลั่งดังทอง
ที่ปากเบ้าซึ่งช่างทองผู้ชำนาญหลอมดีแล้ว
ทรงรุ่งเรืองยิ่งด้วยพระสิริ มีพระฉวีวรรณผุดผ่อง
เป็นพระโอรสผู้ประเสริฐ
ออกมาให้อสิตฤๅษีเฝ้าชมพระบารมี
[๖๙๓] อสิตฤๅษีได้เห็นพระกุมารผู้ทรงรุ่งเรืองดังเปลวไฟ
เหมือนดวงจันทร์เพ็ญลอยเด่นในนภากาศ
มีแสงพราวกว่าหมู่ดาว
ดุจดวงอาทิตย์พ้นจากเมฆแผดแสงอยู่ในสารทกาล
จึงเกิดความยินดี ได้รับปีติไพบูลย์
[๖๙๔] ทวยเทพกั้นเศวตฉัตร มีซี่มากมาย
ประกอบด้วยชั้น ๑,๐๐๐ ชั้น ไว้ในนภากาศ
จามรด้ามทองทั้งหลาย โบกไปมาอยู่
แต่ผู้ถือจามรและเศวตฉัตรไม่ปรากฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๖๙๕] ฤๅษีเกล้าชฎา นามว่ากัณหสิริ
ได้เห็นพระกุมารงามดุจแท่งทองบนผ้ากัมพลแดง
และเศวตฉัตรที่กั้นอยู่บนพระเศียร
ก็มีจิตเบิกบาน ดีใจพลางช้อนอุ้มพระกุมารไว้แนบกาย
[๖๙๖] พออุ้มพระกุมารผู้ประเสริฐไว้แล้ว
อสิตฤๅษีผู้เรียนจบลักษณะมนตร์
ก็ตรวจพิจารณาลักษณะ
มีจิตเลื่อมใส ได้เปล่งวาจาว่า
พระกุมารนี้ไม่มีผู้อื่นเยี่ยมกว่า
เป็นผู้สุงสุดในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า
[๖๙๗] ครั้นแล้ว อสิตฤๅษีหวนระลึกถึงการที่ตนต้องไปเกิด
ก็ระทมใจจนน้ำตาไหล
ซึ่งเจ้าศากยะทั้งหลายได้ทอดพระเนตรเห็นฤๅษีร้องไห้เช่นนั้น
จึงตรัสถามว่า พระกุมารจะมีอันตรายหรืออย่างไร
[๖๙๘] อสิตฤๅษีได้ทูลเจ้าศากยะทั้งหลาย
ผู้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว ไม่ทรงสบายพระทัยว่า
ไม่ใช่อาตมภาพระลึกถึงสิ่งที่เป็นอัปปมงคลในพระกุมาร
และก็ไม่ใช่พระกุมารนั้นจะทรงมีอันตราย
พระกุมารนี้ไม่เป็นผู้ต่ำต้อยเลย
ขอมหาบพิตรทั้งหลายจงสบายพระทัยเถิด
[๖๙๙] พระกุมารนี้จะทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
จะทรงเห็นนิพพานที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง
จะทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน
จักประกาศธรรมจักร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
พรหมจรรย์๑ของพระกุมารนี้
จะเผยแผ่ขจรไปอย่างกว้างขวาง
[๗๐๐] แต่อายุของอาตมภาพเหลืออยู่ในโลกนี้ไม่นาน
อาตมภาพจะต้องมรณภาพไปในระหว่างนี้
อาตมภาพนั้นจะไม่ได้สดับธรรมของพระกุมาร
ผู้ทรงมีความเพียรหาผู้เสมอเหมือนมิได้
เพราะเหตุนั้น อาตมภาพจึงเร่าร้อนถึงความพินาศ ทุกข์ใจ
[๗๐๑] อสิตฤๅษีนั้นทูลให้เจ้าศากยะทั้งหลาย
เกิดความปีติเป็นล้นพ้นแล้ว
จึงออกจากพระราชวังไปบำเพ็ญพรหมจรรย์ต่อไป
พร้อมกับอนุเคราะห์หลานของตนเอง
ฝึกให้เขาสมาทานในธรรมของพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงมีความเพียรหาผู้เสมอเหมือนมิได้
[๗๐๒] กล่าวสอนว่า ต่อไปภายหน้า
เจ้าได้ยินเสียงระบือไปว่า พระพุทธเจ้า
พระสิทธัตถราชกุมารนี้ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว
กำลังทรงเผยแผ่ทางดำเนินสู่อมตธรรม
เจ้าจงไปทูลสอบถามด้วยตนเองในสำนักของพระองค์
จงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด
[๗๐๓] นาลกดาบสสั่งสมบุญไว้มาก
ได้รับคำพร่ำสอนจากอสิตฤๅษี
ผู้มีใจเกื้อกูล มีจิตมั่นคง
ซึ่งเป็นผู้เห็นนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่งในอนาคต
จึงเฝ้ารักษาโสตินทรีย์ รอคอยพระชินสีห์อยู่

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงศาสนา (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๙๙/๓๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๗๐๔] นาลกดาบสได้ฟังเสียงระบือถึงการที่พระชินสีห์
ทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ
จึงไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ องอาจกว่าฤๅษี
แล้วเลื่อมใส ได้ทูลถามปฏิปทาที่ประเสริฐสุดกับพระมุนีผู้ประเสริฐ
ในเมื่อเวลาคำสั่งสอนของอสิตฤๅษีมาถึงเข้า
วัตถุคาถา จบ

(นาลกดาบสทูลถามดังนี้)
[๗๐๕] ข้าแต่พระโคดม คำของอสิตฤๅษีนั้น
ข้าพระองค์ได้รู้ว่า เป็นจริงตามที่กล่าวแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
[๗๐๖] พระองค์ผู้อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอจงตรัสบอกมุนีและปฏิปทาอันสูงสุดของมุนีแห่งบรรพชิต
ผู้แสวงหาการเที่ยวไปเพื่อภิกษา แก่ข้าพระองค์เถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๗๐๗] เราจักพยากรณ์ปฏิปทาของมุนีที่ปฏิบัติได้ยาก
ทั้งให้เกิดความยินดีได้ยากแก่เธอ
เอาเถิด เราจะบอกปฏิปทาของมุนีนั้นแก่เธอ
เธอจงช่วยเหลือตนเอง จงเป็นผู้มั่นคงเถิด
[๗๐๘] มุนีพึงทำทั้งคำด่าและการกราบไหว้
ในหมู่บ้านให้มีส่วนเสมอกัน
คือพึงรักษาจิตไม่ให้คิดร้าย เป็นผู้สงบ
ไม่ฟุ้งซ่านเที่ยวไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๗๐๙] อารมณ์สู่งต่ำ๑เปรียบเหมือนเปลวไฟในป่าย่อมปรากฏ
นารีมักประเล้าประโลมมุนี
เธอจงระวังอย่าให้นางประเล้าประโลมได้
[๗๑๐] มุนีพึงงดเว้นจากเมถุนธรรม
ละกามคุณทั้งที่ประณีตและไม่ประณีต
ไม่ยินดียินร้ายในสัตว์ผู้ยังหวาดสะดุ้งและที่มั่นคง
[๗๑๑] มุนีพึงทำตนให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด
สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น
สัตว์เหล่านี้ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว
ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า
[๗๑๒] มุนีละความปรารถนาและความโลภในปัจจัย ๔
ที่ปุถุชนพากันหลงยึดติดได้แล้ว เป็นผู้มีจักษุ
ปฏิบัติปฏิปทาของมุนี
ก็จะข้ามพ้นความทะยานอยากในปัจจัยซึ่งเป็นดุจเหวลึกนี้ได้
[๗๑๓] มุนีควรเป็นผู้มีท้องพร่อง ฉันอาหารแต่พอประมาณ
มีความปรารถนาน้อย ปราศจากความละโมบ
หมดความกระหายหิวด้วยความอยาก ไม่มีความอยากอีกต่อไป
ดับความเร่าร้อนได้ตลอดกาล

เชิงอรรถ :
๑ อารมณ์สูงต่ำ หมายถึงอิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่น่าปรารถนา) และอนิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) (ขุ.สุ.อ.
๒/๗๐๙/๓๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๗๑๔] มุนีนั้นเที่ยวรับบิณฑบาตแล้ว ควรเข้าไปชายป่าทันที
ยืนหรือนั่งที่โคนต้นไม้ชายป่านั้น
[๗๑๕] มุนีนั้นควรจะขวนขวายในฌาน ทรงปัญญา
ยินดีอยู่เฉพาะในชายป่า
ควรเพ่งพินิจ ทำตนให้ยินดียิ่ง ณ โคนต้นไม้นั้น
[๗๑๖] จากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว
มุนีควรเข้าไปสู่บริเวณหมู่บ้าน
ไม่ควรยินดีรับนิมนต์ฉันที่เรือน
และอาหารที่เขานำมาจากบ้านถวายเจาะจง
[๗๑๗] มุนีเข้าไปถึงหมู่บ้านแล้ว
ไม่ควรรีบร้อนเข้าไปเรือนตระกูลอุปัฏฐาก
เป็นผู้ตัดการพูดคุย ไม่ควรกล่าววาจาเกี่ยวกับการแสวงหาของกิน
[๗๑๘] มุนีนั้นคิดว่า สิ่งที่เราได้แล้วล้วนแต่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น
ถึงไม่ได้ก็ดี ดังนี้แล้ว
เป็นผู้คงที่ เพราะการได้เและไม่ได้ทั้ง ๒ อย่างนั้น
กลับเข้าไปยังที่อยู่ของตน
เหมือนคนหาผลไม้เข้าไปยังต้นไม้ ฉะนั้น
[๗๑๙] มุนีนั้นอุ้มบาตรเที่ยวไป
ไม่เป็นใบ้ก็สมมติตนว่าเป็นใบ้
ไม่ควรดูหมิ่นทานว่าน้อย
ไม่ควรดูแคลนทายกผู้ให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๗๒๐] ปฏิปทา๑ที่พระสมณะประกาศแล้ว มีทั้งสูงและต่ำ๒
มุนีผู้ปฏิบัติจะไปถึงฝั่งถึง ๒ ครั้งหามิได้๓
ฝั่งนี้ ผู้ปฏิบัติรู้ได้ครั้งเดียว ก็หามิได้๔
[๗๒๑] อนึ่ง มุนีเป็นภิกษุซึ่งตัดกระแสขาดแล้ว
ไม่มีตัณหาซ่านไป ละกิจน้อยใหญ่ได้แล้ว
ย่อมไม่มีความเร่าร้อน๕
[๗๒๒] เราจะพยากรณ์ปฏิปทาของมุนีให้เธอทราบต่อไปคือ
ภิกษุผู้ปฏิบัติควรเป็นผู้มีคมมีดโกนเป็นเครื่องเปรียบ
กดเพดานไว้ด้วยลิ้น สำรวมท้อง
[๗๒๓] ควรเป็นผู้มีจิตไม่ท้อแท้ และไม่ควรครุ่นคิดกังวลมาก
เป็นผู้หมดกลิ่นสาบ๖ ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย
มีพรหมจรรย์เป็นจุดหมาย

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิปทา หมายถึงประเภทของการปฏิบัติ มี ๔ อย่าง คือ (๑) ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก
และรู้ได้ช้า) (๒) ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา(ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว) (๓) สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา
(ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า) (๔) สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา(ปฏิบัติสะดวก และรู้ได้เร็ว) (องฺ.จตุกฺก. (แปล)
๒๑/๑๖๑-๑๖๓/๒๒๖-๒๓๐)
๒ มีทั้งสูงและต่ำ หมายถึงปฏิปทาสูง คือ ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา และสุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา
ส่วนปฏิปทาต่ำ คือ ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา และสุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๐/๓๓๐)
๓ หมายถึงมุนีไม่สามารถบรรลุนิพพานถึง ๒ ครั้งได้ ข้อความนี้แสดงถึงภาวะที่ไม่มีความเสื่อม กล่าวคือ
กิเลสเหล่าใดที่ละได้แล้ว ก็ไม่ต้องกลับไปละกิเลสเหล่านั้นซ้ำอีก (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๐/๓๓๐)
๔ ข้อความนี้แสดงภาวะที่ละกิเลสด้วยมรรคนั้น ๆ ตามลำดับถึงอรหัตตมรรค มิใช่ละกิเลสทั้งหมดด้วยมรรค
ใดมรรคหนึ่ง (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๐/๓๓๐) และดู อภิ.ก. ๓๗/๒๖๕/๔๗๔
๕ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๔/๒๗๐
๖ กลิ่นสาบ หมายถึงความโกรธ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๕๔/๑๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๑. นาลกสูตร
[๗๒๔] พึงฝึกฝนเพื่อการนั่งสงบผู้เดียว
และเพื่อบำเพ็ญจิตภาวนาของสมณะ
ความเป็นมุนีที่เราบอกไว้แล้วโดยส่วนเดียว
หากเธอจักยินดีอยู่ผู้เดียว
เธอก็จักปรากฏเกียรติคุณไปทั่ว ๑๐ ทิศ
[๗๒๕] เธอได้ฟังเสียงสรรเสริญของนักปราชญ์ทั้งหลาย
ผู้เพ่งพินิจอยู่ ตัดขาดจากกามแล้ว
ต่อจากนั้น ควรทำหิริและศรัทธาให้ยิ่งขึ้น
จึงนับว่าเป็นสาวกของเราได้
[๗๒๖] เธอจะเข้าใจคำที่เรากล่าวแล้วนั้นได้แจ่มแจ้ง
ด้วยการเปรียบเทียบแม้น้ำกับลำคลอง และหนองบึง คือ
แม่น้ำน้อยไหลดังสนั่น
แม่น้ำสายใหญ่ๆ ไหลเงียบสงบ
[๗๒๗] สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง
สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นเงียบ
คนพาลเปรียบได้กับหม้อน้ำที่มีน้ำเพียงครึ่งเดียว
บัณฑิตเปรียบได้กับห้วงน้ำที่เต็มเปี่ยม
[๗๒๘] พระสมณพุทธเจ้าทรงรู้จักถ้อยคำที่จะตรัสให้มากว่า
มีสาระประกอบด้วยประโยชน์ จึงทรงแสดงธรรม
พระองค์ทรงรู้อยู่จึงตรัสได้มาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๒๙] อนึ่ง สมณะใดรู้แจ้งธรรม
สำรวมจิตของตนได้ ไม่กล่าวมากทั้งที่รู้
สมณะนั้นชื่อว่าเป็นมุนี
ย่อมควรแก่ปฏิปทาของมุนี
สมณะนั้นเป็นมุนีได้บรรลุปฏิปทาของมุนี๑แล้ว
นาลกสูตรที่ ๑๑ จบ

๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเห็นธรรมเป็นคู่
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา-
มิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นเป็นคืนวันเพ็ญ เป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งกลางแจ้งมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ทอดพระเนตรเห็นภิกษุ-
สงฆ์สงบนิ่งจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การฟังกุศลธรรมที่เป็นของ
พระอริยะ เป็นเครื่องนำออกจากโลก เป็นเหตุให้ดำเนินไปสู่ความตรัสรู้ จะมี
ประโยชน์อะไรแก่ท่านทั้งหลาย’ เธอทั้งหลายควรตอบเขาอย่างนี้ว่า ‘มีประโยชน์ให้
รู้จักธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่ตามความเป็นจริง’
เธอทั้งหลายควรตอบเขาถึงธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่ คือ
(๑) การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ นี้เป็นคู่
ที่ ๒ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ

เชิงอรรถ :
๑ บรรลุปฏิปทาของมุนี หมายถึงบรรลุอรหัตตมัคคญาณ (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๒๗-๗๒๙/๓๓๒-๓๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
อย่างนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน
๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือความเป็นพระอนาคามี เมื่อยังมีอุปาทานขันธ์
เหลืออยู่”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๓๐] สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดไม่รู้จักทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง
และไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๗๓๑] สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นผู้เสื่อมจากเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เป็นผู้เข้าถึงชาติและชราแท้
[๗๓๒] ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดรู้จักทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ลงได้สิ้นเชิง
และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
[๗๓๓] สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ
เป็นผู้ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
และเป็นผู้ไม่เข้าถึงชาติและชรา๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ อิติวุตตกะ ข้อ ๑๐๓ หน้า ๔๘๑-๔๘๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
(๒) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น
๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ ด้วยวิธีอื่นยังมีอีกบ้างไหม’ ควรตอบเขาว่า ‘มี’ หากเขาถาม
ต่อไปอีกว่า ‘มีอย่างไร’ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอุปธิ๑เป็นปัจจัย’ นี้เป็น
คู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะอุปธิทั้งหลายนั้นเองดับลงโดยการ
คายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๓๔] ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ
ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า
มีชาติเป็นแดนเกิด ไม่ควรก่ออุปธิ
(๓) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น
๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ ด้วยวิธีอื่นยังมีอีกบ้างไหม’ ควรตอบเขาว่า ‘มี’ หากเขาถาม
ต่อไปอีกว่า ‘มีอย่างไร’ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ
ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย’
นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะอวิชชานั้นเองดับลงโดยการ
คายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

เชิงอรรถ :
๑ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๓/๓๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๓๕] อวิชชานั่นแลเป็นคติของสัตว์ทั้งหลาย
ผู้เข้าถึงชาติ มรณะ และสังสารวัฏ
ซึ่งมีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น๑อยู่บ่อย ๆ
[๗๓๖] อวิชชาคือความหลงมัวเมาอย่างใหญ่หลวงนี้
เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายจมปลักอยู่สิ้นกาลนาน
สัตว์เหล่าใดทำลายอวิชชาด้วยวิชชาแล้ว
สัตว์เหล่านั้นย่อมไม่เข้าถึงภพใหม่อีก
(๔) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น
๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ ด้วยวิธีอื่นยังมีอีกบ้างไหม’ ควรตอบเขาว่า ‘มี’ หากเขาถาม
ต่อไปอีกว่า ‘มีอย่างไร’ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ
ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะสังขาร๒เป็นปัจจัย’
นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะสังขารทั้งหลายนั้นเองดับลงโดยการ
คายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๓๗] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย
เพราะสังขารทั้งหลายดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๓๘] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะสังขารเป็นปัจจัย
เพราะความสงบสังขารทั้งปวง สัญญาทั้งหลายจึงดับลง

เชิงอรรถ :
๑ สภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น หมายถึงสภาวะแห่งความเป็นมนุษย์และความเป็นสัตว์อื่นที่เหลือ
จากความเป็นมนุษย์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๕/๓๓๘)
๒ สังขาร ในที่นี้หมายถึงปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๖/๓๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ความสิ้นทุกข์ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
เพราะรู้ความสิ้นทุกข์นี้โดยถ่องแท้แล้ว
[๗๓๙] บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นชอบ เป็นผู้จบเวท รู้โดยชอบแล้ว
ครอบงำกิเลสเครื่องประกอบของมารได้แล้ว ย่อมไม่เกิดอีก
(๕) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมด
ย่อมเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย๑’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘เพราะวิญญาณนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’
นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๐] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
เพราะวิญญาณดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๔๑] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
เป็นผู้ปราศจากตัณหา ดับกิเลสได้สิ้นเชิงแล้ว
เพราะวิญญาณระงับลง
(๖) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิด
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย๒’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะผัสสะ
นั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒

เชิงอรรถ :
๑ วิญญาณเป็นปัจจัย หมายถึงอภิสังขารวิญญาณที่เกิดพร้อมกับกรรมเป็นปัจจัย (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๓๙/๓๓๙)
๒ ผัสสะเป็นปัจจัย หมายถึงผัสสะที่สัมปยุตด้วยอภิสังขารวิญญาณเป็นปัจจัย (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๔๑/๓๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๒] ชนทั้งหลายผู้ถูกผัสสะครอบงำแล้ว
แล่นไปตามกระแส (ตัณหา) ในภพ
ดำเนินไปผิดทาง ย่อมห่างไกลจากความสิ้นสังโยชน์
[๗๔๓] ส่วนชนทั้งหลายผู้กำหนดรู้ผัสสะจนทั่วถึงแล้ว
ยินดีในธรรมเป็นที่สงบระงับได้ด้วยปัญญา
ย่อมเป็นผู้ปราศจากตัณหา ดับกิเลสลงได้สิ้นเชิง
เพราะรู้ยิ่งถึงผัสสะ
(๗) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย๑ ‘ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ‘เพราะ
เวทนานั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ อย่างนี้
ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๔] เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา
มีอยู่ทั้งภายในและภายนอก
[๗๔๕] ภิกษุรู้ว่า เวทนานี้เป็นเหตุแห่งทุกข์
ถูกต้องสัมผัสเวทนาที่มีความเสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา
มีปกติทรุดโทรมไป ด้วยอุทยัพพยญาณแล้ว
เห็นความเสื่อมเป็นที่สุด

เชิงอรรถ :
๑ เวทนาเป็นปัจจัย หมายถึงเวทนาที่สัมปยุตด้วยกรรมเป็นปัจจัย (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๔๔/๓๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ชื่อว่ารู้แจ้งเห็นจริงในเวทนานั้นอย่างนี้
เพราะเวทนาทั้งหลายสิ้นไปนั่นเอง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
(๘) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิด
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ‘เพราะตัณหานั้น
เองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๔๖] บุคคลมีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏ ที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่น
[๗๔๗] ภิกษุรู้โทษนี้ รู้ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่๑
(๙) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะ
อุปาทานนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็น
คู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๙/๑๕, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๗/๓๖๔ และดู
อิติวุตตกะ ข้อ ๑๕ หน้า ๓๕๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๔๘] ภพมีได้เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
สัตว์เกิดมาแล้วต้องประสบทุกข์ ต้องตาย
นี้เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์
[๗๔๙] เพราะฉะนั้น บัณฑิตทั้งหลายรู้ด้วยปัญญาโดยชอบ
รู้แจ้งภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
เพราะอุปาทานสิ้นไป จึงไม่เข้าถึงภพใหม่อีก
(๑๐) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะอารัมภะ๑เป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘เพราะ
อารัมภะนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’ นี้เป็น
คู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๕๐] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอารัมภะเป็นปัจจัย
เพราะอารัมภะทั้งหลายดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๕๑] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอารัมภะเป็นปัจจัย
สละคืนอารัมภะได้ทั้งหมด
น้อมจิตไปในนิพพานที่ปราศจากอารัมภะ

เชิงอรรถ :
๑ อารัมภะ ในที่นี้หมายถึงความเพียรที่สัมปยุตด้วยกรรม (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๔๙/๓๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๕๒] ภิกษุผู้ถอนภวตัณหาได้แล้ว มีจิตสงบ
มีชาติและสงสารสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีภพใหม่
(๑๑) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมด
ย่อมเกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย‘๑ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘เพราะอาหารนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป’
นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๕๓] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอาหารเป็นปัจจัย
เพราะอาหารทั้งหลายดับลง
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๕๔] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นปัจจัย
กำหนดรู้อาหารทุกอย่าง
จึงเป็นผู้ไม่มีตัณหาในอาหารทั้งหมด
[๗๕๕] ภิกษุรู้ความไม่มีโรค๒โดยชอบ
พิจารณาแล้วจึงใช้สอยปัจจัย ๔

เชิงอรรถ :
๑ อาหาร หมายถึงอาหารที่สัมปยุตด้วยกรรม ความจริง สัตว์ ๔ จำพวกมีอาหารเป็นปัจจัย คือ
(๑) รูปูปคา (ผู้เข้าถึงรูป) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในกามธาตุ ๑๑ อย่าง เสพกวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว)
(๒) เวทนูปคา(ผู้เข้าถึงเวทนา) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในรูปธาตุ ยกเว้นอสัญญีสัตว์ เสพผัสสาหาร
(๓) สัญญูปคา (ผู้เข้าถึงสัญญา) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในอรูปธาตุ ๓ อย่าง เบื้องต่ำ เสพมโนสัญเจตนาหาร
อันเกิดแต่สัญญา (๔) สังขารูปคา (ผู้เข้าถึงสังขาร) หมายถึงสัตว์ที่อยู่ในภูมิเบื้องสูง เสพวิญญาณาหาร
อันเกิดแต่สังขาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๕๑/๓๔๐)
๒ ความไม่มีโรค ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๕๕/๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ดำรงอยู่ในธรรม จบเวท
ย่อมไม่เข้าถึงการนับ๑อีกต่อไป
เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป
(๑๒) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อม
เกิดเพราะอิญชิตะ๒(ความหวั่นไหว) เป็นปัจจัย’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็น
เนือง ๆ ว่า ‘เพราะอิญชิตะนั้นเองดับลงโดยการคายกิเลสได้หมด ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้
อีกต่อไป’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๕๖] ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น
ทุกข์นั้นทั้งหมดย่อมเกิดเพราะอิญชิตะเป็นปัจจัย
เพราะดับอิญชิตะ
ทุกข์จึงเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป
[๗๕๗] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอิญชิตะเป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้น จึงควรสละตัณหา ดับสังขารได้
ไม่มีอิญชิตะ ไม่มีความถือมั่น มีสติ สัมปชัญญะอยู่
(๑๓) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ผันทิตะ(ความดิ้นรน) ย่อมมีแก่ผู้ตกอยู่ใต้อำนาจ
ตัณหาทิฏฐิ และมานะ’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘ผู้ที่พ้นจาก
อำนาจตัณหาทิฏฐิ และมานะ ย่อมไม่ดิ้นรน’ นี้เป็นคู่ที่ ๒

เชิงอรรถ :
๑ ไม่เข้าถึงการนับ ในที่นี้หมายถึงไม่เข้าถึงการนับว่า ‘เทพ’ หรือ “มนุษย์” เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๓๗๕/๓๔๑)
๒ อิญชิตะ(ความหวั่นไหว) ในที่นี้หมายถึงตัณหา มานะ ทิฏฐิ กรรม และกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๕๕/๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๕๘] ผู้พ้นจากอำนาจตัณหา ทิฏฐิ และมานะ ย่อมไม่ดิ้นรน
ส่วนผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจตัณหาเป็นต้น ถือมั่นอยู่
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีสภาวะอย่างนี้และสภาวะอย่างอื่นไปได้
[๗๕๙] ภิกษุรู้โทษนี้ว่า ตัณหาเป็นภัยใหญ่
พ้นจากตัณหาเป็นต้นนั้นได้แล้ว
ไม่มีความถือมั่น มีสติ สัมปชัญญะอยู่
(๑๔) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘อรูปภพละเอียดกว่ารูปภพ’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การ
พิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นิโรธละเอียดกว่าอรูปภพ’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๖๐] สัตว์ทั้งหลายทั้งที่เข้าถึงรูปภพและที่ดำรงอยู่ในอรูปภพ
เมื่อยังไม่รู้ชัดถึงความดับกิเลส
ก็ยังต้องกลับมาเกิดใหม่อีก
[๗๖๑] ส่วนผู้ที่กำหนดรู้รูปภพแล้ว ไม่ดำรงอยู่ในอรูปภพ
น้อมจิตไปในนิพพาน ย่อมชนะมัจจุราชได้
(๑๕) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ฯลฯ ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ
การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า ‘นามรูปที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า นามรูป
นี้เป็นของจริง ซึ่งพระอริยะทั้งหลายพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
อันชอบว่า นามรูปนี้ไม่เป็นของจริง’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ
ว่า ‘นิพพานที่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า นิพพานนี้ไม่มีอยู่จริง
ซึ่งพระอริยะทั้งหลายพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า นิพพาน
นี้มีอยู่จริง’ นี้เป็นคู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๖๒] ท่านมีความเข้าใจผิดในนามรูปที่มิใช่อัตตาว่าเป็นอัตตา
จงดูชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ซึ่งพากันยึดมั่นในนามรูป โดยเข้าใจว่า
นามรูปนี้เป็นของจริง
[๗๖๓] ความจริง นามรูปนั้นย่อมแปรผันเป็นอย่างอื่น
จากอาการที่คนทั่วไปเข้าใจอยู่เสมอ
นามรูปของผู้เข้าใจเช่นนั้น หาเป็นจริงตามนั้นไม่
เพราะนามรูปนั้นปรากฏชั่วครู่ก็เสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา
[๗๖๔] นิพพานมีความไม่เสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา
ซึ่งพระอริยะทั้งหลายรู้แจ้งตามความเป็นจริง
จึงเป็นผู้ปราศจากตัณหา ปรินิพพานแล้ว
เพราะรู้แจ้งอริยสัจ
(๑๖) ภิกษุทั้งหลาย หากมีผู้ถามว่า ‘การพิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น
๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ ด้วยวิธีอื่นมีบ้างไหม’ ควรตอบเขาว่า ‘มี’ หากเขาถาม
ต่อไปอีกว่า ‘มีอย่างไร’ ก็ควรตอบเขาว่า มีอย่างนี้ คือ การพิจารณาเห็นเนือง ๆ ว่า
‘อิฏฐารมณ์ที่ชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า อิฏฐารมณ์นี้เป็นความสุข
ซึ่งพระอริยะทั้งหลายพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า อิฏฐารมณ์
นี้เป็นความทุกข์’ นี้เป็นคู่ที่ ๑ การพิจารณาเห็นว่า ‘นิพพานที่ชาวโลกพร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
มนุษย์พากันพิจารณาเห็นว่า นิพพานนี้เป็นความทุกข์ ซึ่งพระอริยะทั้งหลาย
พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘นิพพานนี้เป็นความสุข’ นี้เป็น
คู่ที่ ๒
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมแยกออกเป็น ๒ คู่โดยชอบเนือง ๆ
อย่างนี้ ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง
คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือความเป็นพระอนาคามี เมื่อยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๗๖๕] รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
ล้วนน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ที่กล่าวกันว่ามีอยู่ประมาณเท่าใด
[๗๖๖] รูปเป็นต้นเหล่านั้นแลเป็นสิ่งที่ชาวโลก
พร้อมทั้งเทวโลกสมมติว่า เป็นสุข
ถ้ารูปเป็นต้นเหล่านั้นดับในที่ใด
ที่นั้น เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นก็สมมติกันว่า เป็นทุกข์
[๗๖๗] ส่วนอริยบุคคลทั้งหลายเห็นการดับสักกายะว่า เป็นสุข
การเห็นของอริยบุคคลทั้งหลายผู้เห็นอยู่นี้
ย่อมขัดแย้งกับชาวโลกทั้งปวง
[๗๖๘] บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่า เป็นสุข
อริยบุคคลทั้งหลายกล่าวสิ่งนั้นว่า เป็นทุกข์
บุคคลเหล่าอื่นกล่าวสิ่งใดว่า เป็นทุกข์
อริยบุคคลทั้งหลายรู้แจ้งสิ่งนั้นว่า เป็นสุข

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
[๗๖๙] เธอจงเห็นธรรมที่รู้ได้ยาก
คนพาลผู้หลง ไม่รู้แจ้งในนิพพานนี้
ความมืดปรากฏแก่บุคคลผู้ถูกนิวรณ์คือกิเลสหุ้มห่อไว้
(เหมือน) ความมืดปรากฏแก่บุคคลผู้ไม่เห็น ฉะนั้น
[๗๗๐] แต่นิพพานย่อมปรากฏแจ่มแจ้งแก่สัตบุรุษ
เหมือนแสงสว่างปรากฏแก่บุคคลผู้เห็นอยู่ ฉะนั้น
ชนทั้งหลายผู้แสวงหาทาง ไม่ฉลาดในธรรม
ย่อมไม่รู้แจ้ง(นิพพาน)ที่อยู่ใกล้
[๗๗๑] บุคคลผู้ถูกความกำหนัดในภพครอบงำ
แล่นไปตามกระแส (ตัณหา)ในภพ
ถูกบ่วงมารคล้องไว้ จะไม่รู้ธรรมนี้ได้ง่าย
[๗๗๒] เว้นอริยบุคคลทั้งหลายแล้ว
ใครเล่าควรจะตรัสรู้บท๑
ที่อริยบุคคลทั้งหลายตรัสรู้ชอบแล้ว
ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน๒
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ขณะที่พระผู้มีพระภาคตรัสพระภาษิตนี้อยู่ จิตของ
ภิกษุประมาณ ๖๐ รูปหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น
ทวยตานุปัสสนาสูตรที่ ๑๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ บท ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (สํ.สฬา.อ. ๓/๑๓๖/๕๓, ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๒/๓๔๓)
๒ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๑๓๖/๑๗๑-๑๗๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค] รวมพระสูตรในวรรค
รวมหัวข้อธรรมประจำเรื่องในพระสูตรนี้ คือ

๑. สัจจะ ๒. อุปธิ
๓. อวิชชา ๔. สังขาร
๕. วิญญาณ ๖. ผัสสะ
๗. เวทนา ๘. ตัณหา
๙. อุปาทาน ๑๐. อารัมภะ
๑๑. อาหาร ๑๒. อิญชิตะ
๑๓. ผันทิตะ ๑๔. รูป
๑๕. นิพพานสัจจะ ๑๖. ทุกข์

มหาวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปัพพัชชาสูตร ๒. ปธานสูตร
๓. สุภาสิตสูตร ๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
๕. มาฆสูตร ๖. สภิยสูตร
๗. เสลสูตร ๘. สัลลสูตร
๙. วาเสฏฐสูตร ๑๐. โกกาลิกสูตร
๑๑. นาลกสูตร ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑. กามสูตร
๔. อัฏฐกวรรค
หมวดว่าด้วยการไม่ติดอยู่ในกาม
กามสูตร๑
ว่าด้วยเรื่องกาม
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พราหมณ์ผู้เป็นชาวนา ณ กรุงสาวัตถีดังนี้)
[๗๗๓] ถ้ากาม๒นั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น ผู้อยากได้กามอยู่
สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว
ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่แท้
[๗๗๔] ถ้าเมื่อสัตว์นั้นอยากได้กามอยู่ เกิดความพอใจแล้ว
กามเหล่านั้นเสื่อมไป
สัตว์นั้นย่อมเจ็บปวด เหมือนถูกลูกศรแทง
[๗๗๕] ผู้ใดละกามได้ เหมือนคนเดินเลี่ยงหัวงู
ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา๓นี้ในโลก
[๗๗๖] นรชนใดปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า
ทาส บุรุษ สตรี พวกพ้อง หรือกามเป็นอันมาก
[๗๗๗] กิเลสทั้งหลายอันไม่มีกำลังครอบงำนรชนนั้น
อันตรายทั้งหลาย๔ย่ำยีนรชนนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑-๖/๑-๒๓
๒ กาม ในที่นี้หมายถึงวัตถุกาม (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๓/๓๔๖)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๘๙ ในเล่มนี้
๔ อันตราย มี ๒ อย่าง (๑) อันตรายที่ปรากฏ คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เป็นต้น (๒) อันตรายที่ไม่ปรากฏ คือ
กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต เป็นต้น ในที่นี้หมายถึงอันตรายที่ไม่ปรากฏ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๑๖-๑๗,
ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๗/๓๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสูตร
เพราะอันตรายนั้น ทุกข์จึงติดตามนรชนนั้นไป
เหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว ฉะนั้น
[๗๗๘] เพราะฉะนั้น สัตว์เกิด๑พึงมีสติทุกเมื่อ ละกามทั้งหลายได้
ครั้นละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะได้
เหมือนคนวิดน้ำเรือแล้วไปถึงฝั่งได้ ฉะนั้น
กามสูตรที่ ๑ จบ

๒. คุหัฏฐกสูตร๒
ว่าด้วยผู้ข้องอยู่ในถ้ำ
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ณ กรุงสาวัตถีดังนี้)
[๗๗๙] นรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำ๓ ถูกกิเลสมากหลายปิดบังไว้
เมื่อดำรงตนอยู่(อย่างนี้) ก็จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง๔
ผู้เป็นเช่นนั้นแล ย่อมอยู่ไกลจากวิเวก
เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่เป็นของที่นรชนละได้ง่ายเลย
[๗๘๐] สัตว์เหล่านั้นมีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ
ติดพันอยู่กับความพอใจในภพ มุ่งหวัง(กาม)
ในกาลภายหลัง(อนาคต)หรือในกาลก่อน(อดีต)
ปรารถนากามเหล่านี้และกามที่มีอยู่ก่อน
ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นได้ยาก(และ)ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นไม่ได้เลย

เชิงอรรถ :
๑ สัตว์เกิด หมายถึงนรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เป็นไปตามกรรม (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๖/๒๓)
๒ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗-๑๔/๒๘-๖๗
๓ ถ้ำ ในที่นี้หมายถึงร่างกาย (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๗๙/๓๕๐)
๔ เหตุให้ลุ่มหลง ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗/๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสูตร
[๗๘๑] สัตว์เหล่านั้นยินดีขวนขวาย ลุ่มหลงในกามทั้งหลาย
เป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่ในกรรมที่ผิด
ประสบทุกข์แล้วจึงคร่ำครวญอยู่ว่า
เราจุติจากภพนี้ จักเป็นอะไรหนอ
[๗๘๒] เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้๑
พึงรู้จักกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกว่า เป็นกรรมที่ผิด
ไม่พึงประพฤติผิดเพราะเหตุแห่งกรรมที่ผิดนั้น
นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย
[๗๘๓] เราเห็นหมู่สัตว์นี้ผู้ตกไปในอำนาจตัณหาในภพทั้งหลาย๒
กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก
นรชนที่เลวผู้ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช
[๗๘๔] พวกเธอจงดูหมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่
เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อยสิ้นกระแสแล้ว
นรชนเห็นโทษนี้แล้วก็อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย
พึงประพฤติไม่ยึดถือว่า เป็นของเรา
[๗๘๕] นักปราชญ์พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน
กำหนดรู้ผัสสะ๓แล้ว ก็ไม่ติดใจ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้ ดูรายละเอียดใน ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๐/๔๘-๔๙
๒ ภพทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงกามภพ รูปภพ และอรูปภพ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๑/๕๗)
๓ ผัสสะ หมายถึงความสัมผัสอารมณ์ที่มากระทบ เช่น ตากระทบกับรูป หรือตาเห็นรูป เรียกจักขุสัมผัส
เป็นต้น (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๓/๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร
ติเตียนกรรมใดด้วยตน ก็ไม่ทำกรรมนั้น
ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินแล้ว
[๗๘๖] มุนีกำหนดรู้สัญญาแล้ว ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย
พึงข้ามโอฆะได้ ถอนลูกศรได้แล้ว ไม่ประมาท
ประพฤติอยู่ ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า
คุหัฏฐกสูตรที่ ๒ จบ

๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร๑
ว่าด้วยเรื่องเดียรถีย์กับมุนี
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พระอานนท์ดังนี้)
[๗๘๗] เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย
บุคคลเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริงก็กล่าวร้ายด้วย
แต่มุนีย่อมไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิตในที่ไหน ๆ
[๗๘๘] ผู้ไปตามความพอใจ ตั้งอยู่ในความชอบใจ
พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า
แต่เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น
[๗๘๙] สัตว์เกิดใดไม่มีใครถาม
ก็บอกศีลและวัตรของตนแก่บุคคลเหล่าอื่น
สัตว์เกิดใดกล่าวถึงตัวเองเท่านั้น
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกสัตว์เกิดนั้นว่า ผู้ไม่มีอริยธรรม
[๗๙๐] ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว
ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็นดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบคำแปลพร้อมทั้งอธิบายใน ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕-๒๒/๗๔-๑๐๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร
อนึ่ง ภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูในที่ไหน ๆ ในโลก
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มีอริยธรรม
[๗๙๑] เจ้าลัทธิใด มีธรรมที่กำหนดไว้ อันปัจจัยปรุงแต่งเชิดชูไว้
(แต่)ไม่ขาวสะอาด เจ้าลัทธินั้นเห็นอานิสงส์ใดในตน
อาศัยอานิสงส์นั้น และสันติ๑ที่กำเริบซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น
[๗๙๒] ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย ๆ
การปลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น
ก็มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย
เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น
นรชนย่อมสลัดทิ้งธรรมบ้าง ยึดถือธรรมไว้บ้าง
[๗๙๓] ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพน้อยภพใหญ่
ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดไม่มีในที่ไหน ๆ ในโลก
เพราะผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้น
ละความหลอกลวงและความถือตัวได้แล้ว
ไม่มีความถือมั่น จะพึงไปด้วยเหตุอะไรเล่า
[๗๙๔] เพราะว่า ผู้มีความถือมั่นย่อมเข้าถึงวาทะในธรรมทั้งหลาย
จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่นด้วยเหตุอะไรเล่า
เพราะทิฏฐิว่ามีอัตตา ทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา๒
ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น
ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัดแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ
ทุฏฐัฏฐกสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สันติ หมายถึงความสงบ มี ๓ อย่าง คือ (๑) อัจจันตสันติ (ความสงบอย่างสิ้นเชิง) หมายถึงอมตนิพพาน
(๒) ตทังคสันติ (ความสงบด้วยองค์นั้น ๆ) หมายถึงผู้บรรลุรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ (๓) สมมุติสันติ
(ความสงบโดยสมมติ) หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ ในที่นี้หมายถึงสันติโดยสมมติ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙/๘๘-๘๙)
๒ ทิฏฐิว่ามีอัตตา หมายถึงสัสสตทิฏฐิ ทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ ดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๒/
๙๘-๑๐๐, ๙๓/๒๘๘-๒๘๙ และดู สุตตนิบาตข้อ ๘๖๕ หน้า ๗๐๗ ในเล่มนี้ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสูตร
๔. สุทธัฏฐกสูตร๑
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นความหมดจด
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[๗๙๕] เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง
ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น
บุคคลเมื่อรู้จริงอย่างนี้ก็รู้ว่า ความเห็นนี้ยอดเยี่ยม
จึงเป็นผู้พิจารณาเห็นความหมดจด
เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณ
[๗๙๖] ถ้าความหมดจดมีแก่นรชนเพราะความเห็น
หรือนรชนนั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ
นรชนผู้ยังมีอุปธินั้นย่อมหมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้)
เพราะว่า ทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้นผู้พูดอย่างนั้น
[๗๙๗] พราหมณ์๒ ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
ศีลและวัตรหรืออารมณ์ที่รับรู้โดยมรรคอื่น
พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป ละอัตตาได้๓
เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมในโลกนี้
[๗๙๘] สมณพราหมณ์เหล่านั้นละสิ่งแรก อาศัยสิ่งหลัง
ไปตามความพลุ่งพล่าน๔
ย่อมข้ามกิเลสเครื่องข้องไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๓-๓๐/๑๐๑-๑๒๓
๒ พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงผู้ลอยบาปธรรม ๗ ประการ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ (๒) วิจิกิจฉา (๓) สีลัพพต-
ปรามาส (๔) ราคะ (๕) โทสะ (๖) โมหะ (๗) มานะ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๔)
๓ ละอัตตาได้ หมายถึงละ สละ และคายความยึดมั่นถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อว่าเป็นอัตตาด้วย
อำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๙)
๔ ความพลุ่งพล่าน ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๖/๑๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสูตร
สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมยึดถือ ย่อมสลัดทิ้ง
เหมือนลิงจับกิ่งไม้แล้วก็ปล่อย ฉะนั้น
[๗๙๙] สัตว์เกิดสมาทานวัตรทั้งหลายเอง
ข้องอยู่ในสัญญา๑ ย่อมดำเนินไปลุ่ม ๆ ดอน ๆ
ส่วนผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลาย๒แล้ว
เป็นผู้มีปัญญาอันไพบูลย์
ย่อมไม่ดำเนินไปลุ่ม ๆ ดอน ๆ
[๘๐๐] ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง คือ
รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนดผู้มีปัญญานั้น
ผู้เห็นผู้ประพฤติเปิดเผยด้วยเหตุอะไรเล่า
[๘๐๑] สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู
สัตบุรุษเหล่านั้นไม่กล่าวว่าเป็นความหมดจดสุดโต่ง
สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว
ไม่ก่อความหวังในที่ไหน ๆ ในโลก
[๘๐๒] พระอรหันต์เป็นผู้ไปพ้นเขตแดน๓แล้ว เป็นพราหมณ์
เพราะรู้และเห็น พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีความถือมั่น
ไม่มีความกำหนัดในกามคุณอันเป็นที่กำหนัด
ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด
พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีความถือมั่นว่า ยอดเยี่ยมในโลกนี้
สุทธัฏฐกสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ข้องอยู่ในสัญญา หมายถึงพัวพันอยู่ในกามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา และทิฏฐิสัญญา
(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๗/๑๑๒)
๒ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลาย หมายถึงรู้อริยสัจ ๔ ด้วยมรรคญาณ ๔ (ขุ.สุ.อ. ๒/๗๙๙/๓๖๓)
๓ เขตแดน หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๐๒/๓๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสูตร
๕. ปรมัฏฐกสูตร๑
ว่าด้วยผู้ยึดถือทิฏฐิของตนว่ายอดเยี่ยม
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายดังนี้)
[๘๐๓] สัตว์เกิดผู้ยึดถือในทิฏฐิทั้งหลายว่า ยอดเยี่ยม
ย่อมทำทิฏฐิใดให้ยิ่งใหญ่ในโลก
กล่าวทิฏฐิอื่นทุกอย่างนอกจากทิฏฐินั้นว่า เลว
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดนั้นจึงไม่ล่วงพ้นการวิวาทไปได้
[๘๐๔] เจ้าลัทธิเห็นอานิสงส์ใดในตน ในรูปที่เห็น
ในเสียงที่ได้ยิน ในศีลและวัตร หรือในอารมณ์ที่รับรู้
เจ้าลัทธินั้นยึดมั่นทิฏฐินั้นในลัทธิของตนนั้น
เห็นทิฏฐิอื่นทั้งปวงโดยความเป็นของเลว
[๘๐๕] บุคคลอาศัยศาสดาใด เห็นศาสดาอื่นว่า เลว
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกศาสดานั้นว่า เป็นเครื่องร้อยรัด
เพราะฉะนั้นแล ภิกษุจึงไม่ควรอาศัยรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้ หรือศีลและวัตร
[๘๐๖] ภิกษุไม่พึงกำหนดทิฏฐิในโลกด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลและวัตร
ไม่พึงเอาตนเข้าไปเทียบว่าเสมอเขา
ไม่พึงสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา หรือเลิศกว่าเขา
[๘๐๗] ภิกษุนั้นละอัตตาแล้ว ไม่ยึดถือ ไม่สร้างนิสัยแม้ด้วยญาณ
เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน
ภิกษุนั้นก็ไม่เข้าเป็นฝักเป็นฝ่าย
ภิกษุนั้นไม่ถือแม้ทิฏฐิอะไร ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๑-๓๘/๑๒๓-๑๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๖. ชราสูตร
[๘๐๘] พระอรหันต์ใดผู้ไม่มีความคะนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน
ในโลกนี้ ในภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือในโลกหน้า
พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีเครื่องอยู่อะไร ๆ
ความตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นก็ไม่มี
[๘๐๙] พระอรหันต์นั้นไม่มีทิฏฐิอันสัญญากำหนดไว้แม้นิดเดียว
ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือในอารมณ์ที่รับรู้ในโลกนี้
ใคร ๆ ในโลกนี้ จะพึงกำหนดพระอรหันต์นั้น
ผู้เป็นพราหมณ์ไม่ยึดถือทิฏฐิอยู่ด้วยเหตุอะไรเล่า
[๘๑๐] พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย
ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู(ตัณหาและทิฏฐิ)ไว้
แม้ธรรมทั้งหลาย๑พระอรหันต์เหล่านั้นก็ไม่ปรารถนา
พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์นั้น ใคร ๆ ก็นำไปด้วยศีลและวัตรไม่ได้
เป็นผู้ถึงฝั่ง๒ ไม่กลับมา เป็นผู้คงที่
ปรมัฏฐกสูตรที่ ๕ จบ

๖. ชราสูตร๓
ว่าด้วยชรา
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พุทธบริษัทชาวเมืองสาเกตดังนี้)
[๘๑๑] ชีวิตนี้น้อยนัก มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี
แม้หากผู้ใดจะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น
ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๑๐/๓๖๗)
๒ ฝั่ง หมายถึงอมตนิพพาน ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวงเป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง เป็นต้น (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๓๘/๑๓๘)
๓ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓๙-๔๘/๑๔๒-๑๖๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๖. ชราสูตร
[๘๑๒] ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศก เพราะวัตถุที่ยึดถือว่า เป็นของเรา
เพราะความยึดถือที่เที่ยงแท้ไม่มีอยู่
ความพลัดพรากจากกันนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ไม่พึงครองเรือน
[๘๑๓] บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา
เบญจขันธ์นั้นบุรุษนั้นย่อมละไปเพราะความตาย
บัณฑิตผู้เป็นพุทธมามกะ รู้ชัดโทษนี้แล้ว
ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่า เป็นของเรา
[๘๑๔] บุรุษผู้ตื่นขึ้นแล้ว
ไม่เห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยความฝัน ฉันใด
ใคร ๆ ก็ไม่เห็นชนผู้เป็นที่รัก ซึ่งตายจากไปแล้ว ฉันนั้น
[๘๑๕] ชื่อของชนเหล่าใดที่กล่าวกันอยู่นี้
ชนเหล่านั้นยังเห็นกันอยู่บ้าง ยังได้ยินกันอยู่บ้าง
สัตว์เกิดจากไปแล้ว เหลือไว้แต่ชื่อเท่านั้นเพื่อกล่าวขานกัน
[๘๑๖] ชนทั้งหลายผู้ติดใจในวัตถุที่ยึดถือว่า เป็นของเรา
ย่อมละทิ้งความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ และความตระหนี่ไม่ได้
เพราะฉะนั้น มุนีผู้เห็นแดนเกษม ละความยึดถือได้แล้ว เที่ยวไป
[๘๑๗] บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพ
ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น ใช้ที่นั่งอันสงัดนั้นว่า
เป็นความสามัคคี
[๘๑๘] มุนีไม่อาศัยในสิ่งทั้งปวง๑ ไม่ทำสิ่ง๒ไหนให้เป็นที่รัก
และไม่ทำสิ่งไหนให้ไม่เป็นที่รัก
ความคร่ำครวญและความตระหนี่ไม่ติดอยู่ในมุนีนั้น
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ สิ่งทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอายตนะ ๑๒ คือ ตาและรูป หูและเสียง จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและ
โผฏฐัพพะ ใจและธรรมารมณ์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๐๘/๓๗๑) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๖/๑๖๑
๒ สิ่ง ในที่นี้หมายถึงสัตว์และสังขาร (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๑๘/๓๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสูตร
[๘๑๙] มุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับรู้
เหมือนหยดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนดอกบัว ฉะนั้น
[๘๒๐] พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด
ย่อมไม่สำคัญหมายรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับรู้
พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการความหมดจดด้วยมรรคอื่น
ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้องคลายกำหนัด
ชราสูตรที่ ๖ จบ

๗. ติสสเมตเตยยสูตร๑
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยะ
(ท่านพระติสสเมตเตยยะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้)
[๘๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ความคับแค้นของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
ข้าพระองค์ฟังคำสอนของพระองค์แล้วจักศึกษาวิเวก
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตเตยยะ)
[๘๒๒] คำสั่งสอนของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
ย่อมเลอะเลือน และบุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด
การปฏิบัตินี้ เป็นธรรมไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๙-๕๘/๑๖๘-๑๙๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสูตร
[๘๒๓] ผู้ใดในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียว๑
(ต่อมา)เข้าไปเสพเมถุนธรรม๒
ผู้รู้ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นปุถุชนเลวในโลก
เหมือนยานที่แล่นไป๓ ฉะนั้น
[๘๒๔] ยศและเกียรติ๔ในเบื้องต้นของภิกษุนั้น เสื่อมไป
ภิกษุเห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม
[๘๒๕] ภิกษุนั้นถูกความดำริครอบงำ
ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้า
ครั้นได้ยินคำตำหนิของคนอื่นแล้ว
ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น
[๘๒๖] ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของผู้อื่นตักตือนแล้ว
ย่อมสร้างศัสตรา๕ย่อมก้าวลงสู่ความเป็นคนพูดเท็จ
นี้แหละเป็นเครื่องทำให้ติดใหญ่ของเธอ
[๘๒๗] ภิกษุ (ในเบื้องต้น) ได้สมญานามว่า เป็นบัณฑิต
อธิษฐานการเที่ยวไปผู้เดียว
ต่อมา เธอประกอบในเมถุนธรรม
ก็จักมัวหมอง เหมือนกับคนโง่ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ เที่ยวไปผู้เดียว หมายถึงบวชเป็นบรรพชิตและการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๑๗๗)
๒ เข้าไปเสพเมถุน หมายถึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์เสพเมถุนธรรม (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๑๗๘)
๓ ยานที่แล่นไป ในที่นี้หมายถึงยานช้าง ยานม้า และยานโค ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกหัด ย่อมแล่นพาออกไป
นอกทาง (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๑๗๘)
๔ ยศและเกียรติ ในที่นี้หมายถึงลาภสักการะและความสรรเสริญ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๒๔/๓๗๓)
๕ ศัสตรา มี ๓ อย่าง คือ (๑) ศัสตราทางกาย (๒) ศัสตราทางวาจา (๓) ศัสตราทางใจ หรือกายทุจริต
๓ อย่าง วจีทุจริต ๔ อย่าง และมโนทุจริต ๓ อย่าง ในที่นี้หมายถึงศัสตราทางวาจา (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๕๔/๑๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๘. ปสูรสูตร
[๘๒๘] มุนีรู้โทษนี้แล้ว ในคราวเป็นคฤหัสถ์
ก่อนบวชในธรรมวินัยนี้
พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง
ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม
[๘๒๙] บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั้นแหละ
เพราะการประพฤติวิเวกนี้ เป็นกิจสูงสุดของพระอริยะทั้งหลาย
ไม่พึงสำคัญตนว่าเราเป็นผู้ประเสริฐสุด ด้วยการประพฤติวิเวกนั้น
ผู้นั้นแล ชื่อว่า อยู่ใกล้นิพพาน
[๘๓๐] หมู่สัตว์ผู้ติดใจในกามทั้งหลาย
ย่อมยินดีมุนีผู้ว่าง ประพฤติอยู่
ไม่มุ่งหวังกามทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว
ติสสเมตเตยยสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปสูรสูตร๑
ว่าด้วยปริพาชกชื่อว่าปสูระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ปสูรปริพาชกในท่ามกลางพุทธบริษัทดังนี้)
[๘๓๑] สมณพราหมณ์เป็นอันมาก
ย่อมกล่าวความหมดจดในธรรมนี้เท่านั้น
ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
บุคคลอาศัยศาสดาใดก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม
ในเพราะทิฏฐิของตนนั้น เป็นผู้ตั้งอยู่ในปัจเจกสัจจะ๒

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๙-๖๙/๑๙๕-๒๑๖
๒ ปัจเจกสัจจะ ในที่นี้หมายถึงสัจจะเฉพาะอย่าง เช่น สัจจะที่ว่า โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๕๙/๑๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๘. ปสูรสูตร
[๘๓๒] สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด
เข้าไปสู่บริษัทแล้ว จับคู่กล่าวหากันและกันว่า เป็นคนพาล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว
ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด
[๘๓๓] คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว) ในท่ามกลางบริษัท
เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ
เป็นผู้เก้อเขินในเมื่อถูกคัดค้านตกไป
ย่อมโกรธเคืองเพราะคำนินทา แสวงหาข้อแก้ตัว
[๘๓๔] บริษัทผู้พิจารณาปัญหากล่าววาทะของเขาว่า เลว
ถูกคัดค้านให้ตกไปแล้ว
เขาเสื่อมวาทะไปแล้ว ย่อมคร่ำครวญเศร้าโศก
ทอดถอนใจว่า เขานำ(หน้า) เราไปแล้ว
[๘๓๕] การวิวาทเหล่านี้เกิดแล้วในหมู่สมณะ
ความยินดีและความยินร้าย มีอยู่ในการวิวาทเหล่านี้
บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว พึงงดเว้นถ้อยคำขัดแย้งกัน
เพราะว่าไม่มีประโยชน์อื่นนอกจากการได้ความสรรเสริญ
[๘๓๖] ก็หรือว่า บุคคลกล่าววาทะในท่ามกลางบริษัท
ได้รับความสรรเสริญเพราะทิฏฐิของตนนั้น
เขาย่อมหัวเราะและฟูใจด้วยประโยชน์แห่งความชนะนั้น
เพราะได้บรรลุถึงประโยชน์ตามที่ใจคิดไว้แล้ว
[๘๓๗] ความลำพองตน ย่อมเป็นภูมิสำหรับย่ำยีของเขา
เขาจึงกล่าวคำถือตัวและคำดูหมิ่นกัน
บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว ไม่ควรวิวาทกัน
เพราะผู้ฉลาดทั้งหลาย ไม่กล่าวความหมดจด
ด้วยความวิวาทกันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสูตร
[๘๓๘] คนกล้าที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยของเสวยของพระราชา
เขาคึกคะนอง อยากพบคนกล้าฝ่ายตรงข้ามย่อมได้พบ ฉันใด
(เจ้าลัทธิย่อมได้พบเจ้าลัทธิ ฉันนั้น)
ผู้กล้าเอ๋ย เจ้าลัทธิอยู่ที่ใด เธอจงไปเสียจากที่นั้นเถิด
เพราะกิเลสที่เคยมีแต่ก่อนของตถาคตมิได้มีเพื่อการรบ
[๘๓๙] ชนเหล่าใดถือทิฏฐิแล้ววิวาทกัน
และกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
เธอจงพูดกับชนเหล่านั้นว่า กิเลสที่เป็นข้าศึกกัน
เมื่อวาทะเกิดไม่มีในธรรมวินัยนี้
[๘๔๐] พระอรหันต์เหล่าใด กำจัดเสนาได้แล้ว
ไม่เอาทิฏฐิไปกระทบทิฏฐิ เที่ยวไป
พระอรหันต์เหล่าใดในธรรมวินัยนี้
ไม่มีความถือมั่นสิ่งนี้ว่า ยอดเยี่ยม
ปสูระเอ๋ย เธอจะพึงได้อะไร ในพระอรหันต์เหล่านั้น
[๘๔๑] อนึ่ง เธอตรึกอยู่มาแล้ว เธอคิดทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ
มาถึงการแข่งคู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว
ย่อมไม่สามารถเทียมทันได้เลย
ปสูรสูตรที่ ๘ จบ

๙. มาคันทิยสูตร๑
ว่าด้วยมาคันทิยพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่มาคันทิยพราหมณ์พร้อมภรรยาดังนี้)
[๘๔๒] เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา
ก็ไม่ได้มีความพอใจในเมถุนธรรมเลย
จักมีความพอใจเพราะเห็นเรือนร่าง

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๐-๘๒/๒๑๗-๒๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสูตร
ที่เต็มไปด้วยปัสสาวะและอุจจาระนี้ได้อย่างไรเล่า
เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องเรือนร่างนางแม้ด้วยเท้า
(มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามดังนี้)
[๘๔๓] หากท่านไม่ปรารถนานารีผู้เป็นอิตถีรัตนะเช่นนี้
ที่พระราชาผู้เป็นจอมคนจำนวนมากพากันปรารถนา
ท่านจะกล่าวทิฏฐิ ศีล วัตร ชีวิต
และการอุบัติขึ้นในภพว่าเป็นเช่นไร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มาคันทิยะ)
[๘๔๔] การตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นว่า
เรากล่าวสิ่งนี้ ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เรา
เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น
เมื่อเลือกเฟ้น จึงได้เห็นความสงบภายใน
(มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามดังนี้)
[๘๔๕] ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว
มุนีไม่ยึดมั่นทิฏฐิเหล่านั้นแล
กล่าวเนื้อความใดว่า ความสงบภายใน
เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาคันทิยะ)
[๘๔๖] นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสูตร
บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ๑
เพราะความไม่มีสุตะ๒ เพราะความไม่มีญาณ๓
เพราะความไม่มีศีล๔ เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็หามิได้๕
นักปราชญ์สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว
ไม่ยึดมั่น เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยแล้ว ไม่พึงหวังภพ
(มาคันทิยพราหมณ์กราบทูลดังนี้)
[๘๔๗] หากนักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงสัมมาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ คือ (๑) ทานที่ให้แล้วมีผล (๒) ยัญที่บูชาแล้วมีผล (๓) การ
เซ่นสรวงมีผล (๔) ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วมีอยู่ (๕) โลกนี้มี (๖) โลกหน้ามี (๗) มารดามีคุณ
(๘) บิดามีคุณ (๙) สัตว์เป็นโอปปาติกะมีอยู่ (๑๐) สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รู้แจ้งโลกนี้และ
โลกหน้า ด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔)
๒ สุตะ ในที่นี้หมายถึงเสียงจากผู้อื่น คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม
และเวทัลละ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔)
๓ ญาณ หมายถึงกัมมัสสกตาญาณ (ญาณที่เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน) หมายถึงสัจจานุโลมิก-
ญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ) และหมายถึงอภิญญาญาณ (ญาณคือความรู้
อย่างยิ่งยวด) มี ๖ คือ (๑) อิทธิวิธิ (๒) ทิพพโสต (๓) เจโตปริยญาณ (๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
(๕) ทิพพจักขุ (๖) อาสวักขยญาณ และสมาปัตติญาณ (ญาณในสมาบัติ ๘) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔)
๔ ศีล ในที่นี้หมายถึงปาติโมกขสังวร (สำรวมในพระปาติโมกข์) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔)
๕ วัตร ในที่นี้หมายถึงธุดงค์ ๘ ข้อ คือ (๑) อารัญญิกังคธุดงค์ (สมาทานการอยู่ในป่าเป็นวัตร) (๒) ปิณฑ-
ปาติกังคธุดงค์ (สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร) (๓) ปังสุกูลิกังคธุดงค์ (สมาทานการนุ่งห่มผ้าบังสุกุล
เป็นวัตร) (๔) เตจีวริกังคธุดงค์ (สมาทานการทรงไตรจีวรเป็นวัตร) (๕) สปทานจาริกังคธุดงค์ (สมาทาน
การเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร) (๖) ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ (สมาทานห้ามภัตที่ถวายภาย
หลังเป็นวัตร) (๗) เนสัชชิกังคธุดงค์ (สมาทานการนั่งเป็นวัตร) (๘) ยถาสันถติกังคธุดงค์ (สมาทานการอยู่
ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔-๒๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสูตร
บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ
เพราะความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ
เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้น ก็หามิได้
ข้าพเจ้าจึงเข้าใจธรรมของท่านว่า เป็นเรื่องงมงายแน่นอน
เพราะสมณพราหมณ์บางพวกถึงความหมดจดได้เพราะทิฏฐิ
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาคันทิยะ)
[๘๔๘] เพราะอาศัยทิฏฐิทั้งหลายท่านจึงถามเนือง ๆ
ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลายที่ท่านถือมั่นไว้แล้ว
และท่านก็มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้
เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบแต่ความงมงาย
[๘๔๙] ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา
ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น
บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว ๓ อย่าง
ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา (หรือด้อยกว่าเขา)
จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น
[๘๕๐] บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้น พึงกล่าวอะไรว่า จริง
หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงโต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร
ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เราเลิศกว่าเขา (หรือด้อยกว่าเขา)
ย่อมไม่มีในพระอรหันต์ใด
พระอรหันต์นั้นพึงตอบโต้วาทะด้วยเหตุอะไรเล่า
[๘๕๑] บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย
มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย
ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
[๘๕๒] บุคคลผู้เป็นนาคะ สงัดจากทิฏฐิเหล่าใด
พึงเที่ยวไปในโลก ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสูตร
ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ
ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม ฉันใด
มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี
ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก ฉันนั้น
[๘๕๓] มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ
ไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้
มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป
มุนีนั้นไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไปในที่อาศัยทั้งหลาย
[๘๕๔] มุนีผู้เว้นจากสัญญาแล้ว ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
มุนีผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีความลุ่มหลง
ชนเหล่าใดยังยึดถือสัญญาและทิฏฐิ
ชนเหล่านั้นย่อมเที่ยวกระทบกระทั่งกันในโลก
มาคันทิยสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ปุราเภทสูตร๑
ว่าด้วยก่อนการดับขันธปรินิพพาน
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๕๕] บุคคลมีทัสสนะ๒อย่างไร มีศีล๓อย่างไร
จึงเรียกว่า เป็นผู้สงบ๔แล้ว
ข้าแต่พระโคตมะ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกนรชนผู้สูงสุดนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๓-๙๖/๒๔๖-๒๙๖
๒ ทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงอธิปัญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๕๕/๓๘๘, ขุ.ม.อ. ๘๓/๓๑๕)
๓ ศีล ในที่นี้หมายถึงอธิศีล (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๕๕/๓๘๘, ขุ.ม.อ. ๘๓/๓๑๕)
๔ สงบ ในที่นี้หมายถึงอธิจิต (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๕๕/๓๘๘, ขุ.ม.อ. ๘๓/๓๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๕๖] ก่อนดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์เป็นผู้คลายตัณหา
ไม่ติดอยู่กับความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น
ใคร ๆ กำหนดไม่ได้ในส่วนท่ามกลาง
พระอรหันต์นั้นมิได้มุ่งหวังถึงตัณหาและทิฏฐิ (ในส่วนเบื้องปลาย)
[๘๕๗] บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง ไม่โอ้อวด
ไม่คะนอง พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
เป็นผู้สำรวมวาจานั้นแล ชื่อว่า เป็นมุนี
[๘๕๘] บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต
ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย
ย่อมไม่ถูกนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย
[๘๕๙] บุคคลนั้นเป็นผู้หลีกเร้น
ไม่หลอกลวง ไม่ทะเยอทะยาน
ไม่ตระหนี่๑ ไม่คะนอง ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ
และไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด
[๘๖๐] บุคคลผู้ไม่ยินดีในสิ่งที่น่ายินดี
ไม่ประกอบในความดูหมิ่น
ละเอียดอ่อน มีปฏิภาณ
ไม่ต้องเชื่อใคร และไม่ต้องคลายกำหนัด
[๘๖๑] บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ
ไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ
ไม่เดือดดาลและไม่ยินดีในรสเพราะตัณหา

เชิงอรรถ :
๑ ตระหนี่ มี ๕ อย่าง (๑) อาวาสมัจฉริยะ(ตระหนี่ที่อยู่) (๒) กุลมัจฉริยะ(ตระหนี่ตระกูล) (๓) ลาภ-
มัจฉริยะ (ตระหนี่ลาภ) (๔) วัณณมัจฉริยะ(ตระหนี่วรรณะ) (๕) ธัมมมัจฉริยะ(ตระหนี่ธรรม) (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๘๗/๒๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสูตร
[๘๖๒] บุคคลเป็นผู้วางเฉย มีสติทุกเมื่อ
ไม่สำคัญว่าเสมอเขา ไม่สำคัญว่าเลิศกว่าเขา
ไม่สำคัญว่าด้อยกว่าเขา ในโลก
กิเลสหนาย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น
[๘๖๓] บุคคลใดไม่มีที่อาศัย
ไม่มีตัณหาในภพหรือในวิภพ๑
บุคคลนั้นรู้ธรรมแล้วไม่ต้องอาศัย
[๘๖๔] เราเรียกบุคคลนั้นผู้ไม่มุ่งหวังในกามทั้งหลายว่า
เป็นผู้เข้าไปสงบ บุคคลนั้นไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
ข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ได้แล้ว
[๘๖๕] บุคคลนั้นไม่มีบุตร สัตว์เลี้ยง นา ไร่ และที่ดิน
ทิฏฐิว่า มีอัตตา หรือทิฏฐิว่า ไม่มีอัตตา หาไม่ได้ในบุคคลนั้น๒
[๘๖๖] เหล่าปุถุชน หรือสมณพราหมณ์
พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยโทษ๓ใด
โทษนั้น ไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย
เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงไม่หวั่นไหวในเพราะวาทะทั้งหลาย
[๘๖๗] บุคคลผู้เป็นมุนี เป็นผู้คลายความยินดี ไม่ตระหนี่
ย่อมไม่กล่าวในเรื่องเลิศกว่าเขา
ไม่กล่าวในเรื่องเสมอเขา ไม่กล่าวในเรื่องด้อยกว่าเขา
เป็นผู้ไม่มีความกำหนด ย่อมไม่ถึงความกำหนด๔

เชิงอรรถ :
๑ ภพ หมายถึงสัสสตทิฏฐิหรือภวทิฏฐิ วิภพ หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ หรือวิภวทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๖๓/๓๙๐)
และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๑/๒๘๕)
๒ ดูสุตตนิบาตข้อ ๗๙๔ หน้า ๖๙๑ ในเล่มนี้ และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๒/๙๘-๑๐๐, ๙๓/๒๘๘-๒๘๙ ประกอบ
๓ โทษ หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๖๖/๓๙๐)
๔ ความกำหนด(กัปปะ) มี ๒ อย่าง คือ (๑) กำหนดด้วยอำนาจตัณหา (๒) กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๙๕/๒๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสูตร
[๘๖๘] บุคคลใดไม่มีความถือว่าเป็นของตนในโลก
เมื่อไม่มีความถือว่าเป็นของตน ย่อมไม่เศร้าโศก
ไม่ถึงความลำเอียงในธรรมทั้งหลาย
บุคคลนั้นแล เรียกว่า ผู้สงบ
ปุราเภทสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. กลหวิวาทสูตร๑
ว่าด้วยการทะเลาะวิวาท
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๖๙] การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว
ความดูหมิ่น และวาจาส่อเสียด มีมาจากไหน
กิเลสเหล่านั้นมีมาจากไหน
ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกเหตุนั้น
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๐] การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว
ความดูหมิ่น และวาจาส่อเสียด มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก๒
การทะเลาะ การวิวาท ประกอบในความตระหนี่
มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก
เมื่อการวิวาทเกิดขึ้นแล้ว ก็มีวาจาส่อเสียดเกิดขึ้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๗-๑๑๒/๒๙๗-๓๓๗
๒ สิ่งเป็นที่รัก มีความหมาย ๒ อย่าง คือ (๑) สัตว์ หมายถึงมารดา บิดา พี่ น้อง บุตร ธิดา เป็นต้น
(๒) สังขาร หมายถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ชอบใจ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๘/๓๐๑-๓๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสูตร
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๗๑] สิ่งเป็นที่รักในโลกมีอะไรเป็นต้นเหตุ
และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ
ความโลภของชนเหล่านั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ
ความหวังและความสำเร็จหวังใด จะมีแก่นรชนในภพหน้า
ความหวังและความสำเร็จหวังนั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๒] สิ่งเป็นที่รักในโลกมีความพอใจเป็นต้นเหตุ
และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ
ความโลภของชนเหล่านั้นมีความพอใจเป็นต้นเหตุ
ความหวังและความสำเร็จหวังใด จะมีแก่นรชนในภพหน้า
ความหวังและความสำเร็จหวังของนรชนนั้น
มีความพอใจนี้เป็นต้นเหตุ
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๗๓] ฉันทะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
และความตัดสินใจมีมาจากไหน
อนึ่ง ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ
และความสงสัย มีมาจากอะไร
และธรรมเหล่าใดพระสมณะตรัสไว้แล้ว
ธรรมเหล่านั้นมีมาจากอะไร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๔] ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใดว่า น่าดีใจ น่าเสียใจ
ฉันทะก็จะมีขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนั้น
ชนในโลกมองเห็นความเสื่อมและความเจริญในรูปทั้งหลายแล้ว
ย่อมทำการตัดสินใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสูตร
[๘๗๕] ธรรมแม้เหล่านี้ คือ ความโกรธ
ความเป็นคนพูดเท็จ และความสงสัย
ย่อมมีในเมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่
บุคคลผู้มีสงสัยพึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ๑
และธรรมเหล่าใดพระสมณะทรงทราบแล้วตรัสไว้
ธรรมเหล่านั้น เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ก็มีมา
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๗๖] ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านั้นจึงไม่มี

เชิงอรรถ :
๑ ญาณ ในที่นี้หมายถึงญาณ ๑๖ (โสฬสญาณ) ความหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ
ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด คือ (๑) นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดรู้นามและรูป) (๒) ปัจจยปริคคหญาณ
(ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป) (๓) สัมมสนญาณ (ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดย
ไตรลักษณ์) (๔) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ) (๕) ภังคานุ-
ปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความสลายเห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปหมด) (๖) ภยตูปัฏ-
ฐานญาณ (ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไปไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น)
(๗) อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ) (๘) นิพพิทานุปัสสนาญาณ
(ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย) (๙) มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย เมื่อ
หน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น) (๑๐) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ
(ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออก) (๑๑) สังขารุเปกขาญาณ (ญาณ
อันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร ไม่ยินดียินร้ายต่อสังขารทั้งหลาย) (๑๒) สัจจานุโลมิกญาณ หรือ
อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลม ได้แก่การหยั่งรู้อริยสัจ) (๑๓) โคตรภูญาณ (ญาณหยั่งรู้ที่เป็น
หัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชน เข้าสู่ภาวะอริยบุคคล) (๑๔) มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค (ความ
หยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น) (๑๕) ผลญาณ ญาณในอริยผล (ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของ
พระอริยบุคคลชั้นนั้น ๆ) (๑๖) ปัจจเวกขณญาณ (ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน สำรวจรู้มรรคผล
กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่และนิพพาน) (ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑-๖๕/๗-๑๐๙, วิสุทฺธิ. ๒/๖๖๒-๘๐๔/
๒๕๐-๓๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสูตร
ขอพระองค์จงตรัสบอกเรื่องความไม่มีและความมีว่า
มีต้นเหตุมาจากสิ่งใดแก่ข้าพระองค์
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๗] ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากผัสสะ
เมื่อผัสสะไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
เราขอบอกเรื่องคือความไม่มีและความมีนี้ว่า
มีต้นเหตุมาจากผัสสะแก่เธอ
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๗๘] ผัสสะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
และความยึดถือมีมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๙] เพราะอาศัยนามและรูป ผัสสะจึงเกิดขึ้น
ความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา
เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๘๐] เมื่อบุคคลดำเนินอย่างไร รูปจึงไม่มี
สุขและทุกข์จะไม่มีได้อย่างไร
สุขและทุกข์ย่อมไม่มีโดยวิธีการใด
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกวิธีการนั้นแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์มีความตั้งใจว่า จะรู้วิธีการนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๘๑] บุคคลไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาปกติ
ไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาผิดปกติ
เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ปราศจากสัญญาก็มิใช่
เมื่อบุคคลดำเนินอย่างนี้ รูปจึงไม่มี
เพราะส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้ามีต้นเหตุมาจากสัญญา
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๘๒] ข้าพระองค์ได้ทูลถามธรรมใดแล้ว
พระองค์ก็ได้ตรัสตอบธรรมนั้นแก่ข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามธรรมอื่นอีก
ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมนั้นด้วยเถิด
สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่าเป็นบัณฑิตในโลกนี้
พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์๑
ด้วยอรูปสมาบัติเท่านั้นหรือหนอว่า เป็นธรรมอันเลิศ
หรือว่าสมณพราหมณ์บางพวก กล่าวถึงความหมดจดอย่างอื่นว่า
เยี่ยมกว่าอรูปสมาบัตินี้
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๘๓] สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้
พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์
ด้วยอรูปสมาบัติเท่านั้นว่า เป็นธรรมอันเลิศ
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็อ้างตนว่า เป็นผู้ฉลาด
พากันกล่าวความสงบในความไม่มีอะไรเหลือ

เชิงอรรถ :
๑ ยักษ์ ในที่นี้หมายถึงสัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์ (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๑๑๐/๓๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
[๘๘๔] มุนีผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น รู้จักสมณพราหมณ์
ผู้เป็นเจ้าลัทธิเหล่านี้ว่า เป็นผู้เข้าไปอาศัยทิฏฐิ
และรู้จักทิฏฐิเป็นที่อาศัย
นักปราชญ์ครั้นรู้จักแล้ว ก็หลุดพ้นไม่ถึงการวิวาท
ไม่กลับมาในภพน้อยภพใหญ่
กลหวิวาทสูตรที่ ๑๑ จบ

๑๒. จูฬวิยูหสูตร๑
ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรเล็ก
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๘๕] สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก
ยึดถือยู่เฉพาะทิฏฐิของตน ๆ
ถือแล้วก็อ้างตัวว่า เป็นคนฉลาด พูดกันไปต่าง ๆ ว่า
บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นชื่อว่า รู้ธรรมแล้ว
บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่า ยังไม่สำเร็จกิจ
[๘๘๖] สมณพราหมณ์เหล่านั้นถืออย่างนี้ แล้วก็พากันวิวาท
และกล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้
วาทะไหนเป็นเรื่องจริงกันหนอ
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมด
ต่างก็อ้างตัวว่า เป็นคนฉลาด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๘๗] คนพาลไม่ยอมรับธรรมของผู้อื่นเลย
เป็นคนต่ำทราม มีปัญญาทราม

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๑๓-๑๒๙/๓๓๘-๓๖๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้นแหละเป็นคนพาล มีปัญญาทราม
สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั้นแหละยึดถือทิฏฐิอยู่
[๘๘๘] ถ้าพวกสมณพราหมณ์ไม่ผ่องแผ้วเพราะทิฏฐิของตน๑
เป็นผู้มีปัญญาหมดจดดี ฉลาด มีความรู้แล้วไซร้
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็ไม่มีใครเสื่อมปัญญา
เพราะทิฏฐิของสมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น ถือกันมาอย่างนั้น
[๘๘๙] คน ๒ จำพวกกล่าวทิฏฐิใดต่อกันว่า เป็นคนพาล
เราไม่กล่าวทิฏฐินั้นว่า จริง
สมณพราหมณ์พากันประกาศทิฏฐิของตน ๆ ว่า จริง
เพราะฉะนั้น จึงพากันใส่ไฟผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๙๐] สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่าจริง ว่าแท้
สมณพราหมณ์พวกอื่นก็พากันกล่าวธรรมนั้นว่าเปล่า ว่าเท็จ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นต่างพากันถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ววิวาทกัน
เพราะหตุไร สมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๙๑] หมู่ชนรู้ชัดสัจจะใดไม่พึงวิวาทกัน
สัจจะนั้นมีอย่างเดียว๒เท่านั้น ไม่มีอย่างที่ ๒
สมณพราหมณ์เหล่านั้น พากันอวดสัจจะต่าง ๆ กันไปเอง
เพราะฉะนั้น สมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความนี้แปลตามบาลีที่ปรากฏว่า “สนฺทิฏฺฐิยา เจว น วีวทาตา” อีกนัยหนึ่งมีบาลีปรากฏว่า “สนฺทิฏฺฐิยา
เจ ปน วีวทาตา” ดังนี้ก็มี แปลว่า “ก็ถ้าพวกสมณพราหมณ์เป็นผู้ผ่องแผ้ว เพราะทิฏฐิของตน” (ขุ.สุ.อ.
๒/๘๘๗-๘๘๘/๓๙๖)
๒ สัจจะมีอย่างเดียว หมายถึงนิโรธสัจจะ หรือมัคคสัจจะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๘๙๑/๓๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๙๒] เพราะเหตุไรหนอ สมณพราหมณ์จึงพูดสัจจะไปต่าง ๆ
อ้างตนว่า เป็นคนฉลาดพูดพร่ำกันไป
สัจจะที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่าเรียนมา
มีหลายอย่างต่าง ๆ กันหรือ
หรือว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันนึกตรึกเอาเอง
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๙๓] มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย
เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วยสัญญาในโลก
แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
พากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลายไปเอง
แล้วกล่าวธรรมเป็น ๒ อย่างว่า
คำของเราจริง คำของท่านเท็จ
[๘๙๔] เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ
รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร และอารมณ์ที่รับรู้
แล้วแสดงอาการดูหมิ่น และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจ
แล้วก็ร่าเริงกล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
[๘๙๕] เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด
ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น
เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่า เป็นคนฉลาด
ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน
[๘๙๖] เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ๑
เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด อภิเษกตนเองด้วยใจ
เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น

เชิงอรรถ :
๑ อติสารทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ และทิฏฐิ ๖๒ นี้เอง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ทิฏฐิที่ตกลงใจ’ (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๑๒๔/๓๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
[๘๙๗] อนึ่ง หากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจาของผู้อื่นไซร้
เขาก็เป็นผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น
และถ้าผู้เรียนจบพระเวทเอง๑ เป็นนักปราชญ์ได้ไซร้
บรรดาสมณะ ก็ไม่มีใครเป็นคนพาล
[๘๙๘] ชนเหล่าใดกล่าวสรรเสริญธรรมอื่นนอกจากธรรมนี้
ชนเหล่านั้นเป็นผู้พลาดทางแห่งความหมดจด เป็นผู้ไม่บริบูรณ์
เดียรถีย์พากันกล่าวทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
เพราะพวกเขาเป็นผู้ยินดียิ่งด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน
[๘๙๙] พวกเดียรถีย์พากันกล่าวความหมดจดว่ามีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น
ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
พวกเดียรถีย์ตั้งอยู่ในทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
ต่างกล่าวยืนยันในธรรมอันเป็นแนวทางของตนนั้น
[๙๐๐] อนึ่ง เจ้าลัทธิกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
ใส่ไฟใครอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะทิฏฐินี้
เจ้าลัทธินั้น กล่าวถึงผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
มีความไม่หมดจดเป็นธรรมดา
พึงนำความมุ่งร้ายมาเองทีเดียว
[๙๐๑] เจ้าลัทธินั้นตั้งอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจและนับถือเองแล้ว
ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก
คนที่เกิดมาละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้
ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก
จูฬวิยูหสูตรที่ ๑๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ จบพระเวท หมายถึงจบไตรเพท อันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ มี ๓ คือ (๑) ฤคเวท
หรืออิรุเวท ประมวลบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า (๒) ยชุรเวท บทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่าง ๆ
(๓) สามเวท ประมวลบทเพลงขับสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ ต่อมาเพิ่ม (๔) อถรรพเวท
หรืออาถรรพณเวท ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสูตร
๑๓. มหาวิยูหสูตร๑
ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรใหญ่
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๐๒] สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งเหล่านี้
ยึดถือทิฏฐิอยู่ พากันกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกพวกนั่นแหละจะถูกนินทา
หรือว่าจะได้รับความสรรเสริญเพราะทิฏฐินั้น
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๐๓] ผลแห่งวาทะนี้น้อยนัก ไม่พอเพื่อความสงบ
เรากล่าวผลแห่งการวิวาทเป็น ๒ อย่าง๒
บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว
มองเห็นภูมิ(เหตุ)แห่งการไม่วิวาท๓ว่า เกษม
ไม่พึงวิวาทกัน
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๐๔] ทิฏฐิสมมติ๔เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดจากปุถุชน
บุคคลผู้มีความรู้ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง
บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น
ไม่ทำความพอใจในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๓๐-๑๔๙/๓๖๒-๓๙๗
๒ หมายถึงมีนินทา หรือสรรเสริญ อีกนัยหนึ่ง มีชนะ หรือพ่ายแพ้ (ขุ.สุ.อ. ๒/๙๐๓/๔๐๐)
๓ ภูมิแห่งการไม่วิวาท ในที่นี้หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๓๑/๓๖๕)
๔ ทิฏฐิสมมติ หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๓๒/๓๖๖, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๐๔/๔๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๐๕] สมณพราหมณ์ผู้กล่าวอ้างศีลว่า สูงสุด
สมาทานวัตรแล้ว ดำรงอยู่
ได้กล่าวความหมดจดด้วยความสำรวมว่า
พวกเราศึกษาในทิฏฐินี้แหละ และศึกษาความหมดจดแห่งวัตรนั้น
สมณพราหมณ์เหล่านั้นอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด
ย่อมเป็นผู้ถูกนำเข้าสู่ภพ
[๙๐๖] ถ้าบุคคลเคลื่อนจากศีลและวัตร
พลาดกรรมแล้วก็หวั่นไหว
เขาย่อมเฝ้าแต่พร่ำเพ้อและปรารถนาความหมดจด
เหมือนคนออกจากเรือนอยู่ร่วมกับพวกเดินทาง
พลัดพรากจากพวก ฉะนั้น
[๙๐๗] อริยสาวกละศีลและวัตรได้ทั้งหมด
ละกรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษ๑เสียได้
ไม่ปรารถนาความหมดจดและความไม่หมดจด
งดเว้นแล้ว ไม่ยึดมั่นทิฏฐิที่มีอยู่เที่ยวไป
[๙๐๘] สมณพราหมณ์เข้าไปอาศัยตบะที่ตนเกลียดชังนั้น
เข้าไปอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้
เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า
ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
จึงยังพร่ำพูดถึงความหมดจดอยู่

เชิงอรรถ :
๑ กรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษ หมายถึงอกุศลทั้งปวง ได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ และโลกิย-
กุศลได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๒/๙๐๗/๔๐๑, ที.ปา.อ. ๓/๓๑๒/๒๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสูตร
[๙๐๙] ความชอบใจวัตถุ ย่อมมีแก่ผู้กำลังปรารถนา
อนึ่ง ความหวั่นไหว ย่อมมีเพราะวัตถุที่กำหนดแล้ว
ความตายและความเกิดมิได้มีแก่ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้
ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยเหตุอะไรเล่า
หรือจะพึงชอบใจในอะไรเล่า
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๑๐] สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่า เยี่ยม
แต่สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับกล่าวธรรมนั้นนั่นเองว่า เลว
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนจริงกันหนอ
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทุกพวก
ต่างกล่าวอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๑๑] อนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวก
กล่าวธรรมของตนว่า บริบูรณ์ แต่กล่าวธรรมของผู้อื่นว่า เลว
พวกสมณพราหมณ์ถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ว ย่อมวิวาทกัน
เพราะต่างกล่าวทิฏฐิสมมติของตน ๆ ว่า จริง
[๙๑๒] หากบุคคลเป็นคนเลวเพราะเหตุที่ผู้อื่นพูดติเตียนไซร้
ก็จะไม่พึงมีใครวิเศษในธรรมทั้งหลายได้เลย
เพราะคนส่วนมาก ต่างกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
พากันกล่าวถึงธรรมของผู้อื่นว่า เป็นสิ่งเลวทราม
[๙๑๓] การบูชาหลักการของตน เป็นเรื่องแท้จริง
เหมือนสมณพราหมณ์พากันสรรเสริญแนวทางของตน ฉะนั้น
การว่าร้ายทุกอย่างก็พึงมีอยู่แท้จริง
เพราะความหมดจดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นเรื่องเฉพาะตนเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสูตร
[๙๑๔] ญาณที่ผู้อื่นพึงแนะนำไม่มีแก่พราหมณ์
ความตกลงใจแล้วยึดมั่นในธรรมทั้งหลาย ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงล่วงเลยการวิวาททั้งหลายได้แล้ว
แท้จริง พราหมณ์ไม่เห็นธรรมอื่นว่า เป็นของประเสริฐ
[๙๑๕] สมณพราหมณ์บางพวกเชื่อความหมดจดเพราะทิฏฐิว่า
เรารู้ เราเห็นความหมดจดนี้ว่า มีจริง
ถ้าสมณพราหมณ์ผู้หนึ่งได้เห็นแล้ว
จะมีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นนั้นแก่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่า
เพราะพวกสมณพราหมณ์แล่นเลย(ทางแห่งความหมดจด)แล้ว
ย่อมกล่าวความหมดจดด้วยการเห็นอื่น
[๙๑๖] นรชนเมื่อเห็นย่อมเห็นนามรูป
หรือครั้นเห็นแล้วก็รู้จักเฉพาะนามรูปเหล่านั้นเท่านั้น
นรชนเห็นนามรูปมากบ้าง น้อยบ้างโดยแท้
ถึงอย่างนั้น ผู้ฉลาดทั้งหลายก็ไม่กล่าวความหมดจด
เพราะการเห็นนามรูปนั้น
[๙๑๗] นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำได้ง่าย
เป็นผู้เชิดชูทิฏฐิที่กำหนดไว้แล้ว
อาศัยศาสดาใด ก็กล่าวว่าศาสดานั้นดีงามเพราะทิฏฐินั้น
นรชนนั้นผู้กล่าวความหมดจดได้เห็นว่าแท้จริงในทิฏฐินั้น
[๙๑๘] พราหมณ์พิจารณาแล้ว ย่อมไม่เข้าถึงความกำหนด
ไม่แล่นไปด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่ผูกพันด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเพราะญาณ
พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้วก็วางเฉยทิฏฐิสมมติที่เกิดจากปุถุชน
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสูตร
[๙๑๙] มุนีสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดในโลกนี้แล้ว
เมื่อคนทั้งหลายเกิดวิวาทกันแล้ว
ก็ไม่เข้าไปเป็นฝักเป็นฝ่าย
เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ มุนีนั้นเป็นผู้สงบ วางเฉย ไม่ถือมั่น
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น
[๙๒๐] มุนีละอาสวะเก่า๑ไม่ก่ออาสวะใหม่๒
ไม่ดำเนินไปตามความพอใจ
ทั้งไม่มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
มุนีนั้นเป็นนักปราชญ์ พ้นขาดแล้วจากทิฏฐิทั้งหลาย
ติเตียนตนเองไม่ได้ ไม่ติดอยู่ในโลก
[๙๒๑] มุนีนั้น เป็นผู้กำจัดเสนา๓ในธรรมทั้งปวง
คือในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
มุนีนั้นเป็นผู้ปลงภาระ๔ลงแล้ว พ้นขาดแล้ว
ไม่มีความกำหนด ไม่เข้าไปยินดี
ไม่มีความปรารถนา
มหาวิยูหสูตรที่ ๑๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อาสวะเก่า หมายถึงกิเลสเกิดขึ้นเพราะปรารภรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในอดีต (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๑๔๘/๓๙๔, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๒๐/๔๐๔)
๒ อาวสวะใหม่ หมายถึงกิเลสที่เกิดขึ้นปรารภรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในปัจจุบัน (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๑๔๘/๓๙๔, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๒๐/๔๐๔)
๓ เสนา ในที่นี้หมายถึงเสนามาร คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒๙/๑๔๙/๒๗๗)
๔ ภาระ หมายถึงสิ่งที่ต้องนำพา มี ๓ คือ (๑) ขันธภาระ ได้แก่ ขันธ์ ๕ (๒) กิเลสภาระ ได้แก่ ราคะ โทสะ
โมหะ เป็นต้น (๓) อภิสังขารภาระ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๑๔๙/๓๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสูตร
๑๔. ตุวฏกสูตร๑
ว่าด้วยภิกษุผู้กำจัดบาปธรรมอย่างเร็วพลัน
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๒๒] ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์
ผู้มีวิเวก มีสันติบท ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ว่า
ภิกษุเห็นอย่างไร จึงไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ดับไป
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๒๓] ภิกษุพึงขจัดบาปธรรมทั้งปวง
ที่เป็นรากเหง้าแห่งกิเลสเครื่องเนิ่นช้า๒
และอัสมิมานะ ด้วยมันตา๓
ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดในภายใน
ภิกษุมีสติทุกเมื่อ พึงศึกษาเพื่อกำจัดตัณหาเหล่านั้น
[๙๒๔] ภิกษุพึงรู้คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ในภายในหรือในภายนอก
แต่ไม่ควรทำความดื้อรั้นเพราะคุณธรรมนั้น
เพราะการทำความดื้อรั้นนั้น
ผู้สงบทั้งหลายไม่กล่าวว่า เป็นความดับกิเลส

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบคำแปลและรายละเอียดใน ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๐-๑๖๙/๔๐๕-๔๗๙
๒ รากเหง้าแห่งกิเลสเครื่องเนิ่นช้า ในที่นี้หมายถึงอวิชชา (ความไม่รู้) อโยนิโสมนสิการ (การไม่มนสิการ
โดยแยบคาย) อัสมิมานะ (ความถือตัว) อหิริกะ (ความไม่ละอาย) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัว) อุทธัจจะ
(ความฟุ้งซ่าน) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๑/๔๑๒)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๔๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสูตร
[๙๒๕] ภิกษุไม่พึงสำคัญตนว่า เราเลิศกว่าเขา เราด้อยกว่าเขา
หรือว่าเราเสมอเขา เพราะคุณธรรมนั้น
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมเป็นอเนกแล้ว
ไม่พึงกำหนดตนดำรงอยู่
[๙๒๖] ภิกษุพึงสงบกิเลสภายในนั่นเอง
ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยทางอื่น
เมื่อภิกษุสงบกิเลสภายในได้แล้ว
ทิฏฐิว่ามีอัตตา หรือทิฏฐิว่าไม่มีอัตตาก็ไม่มีแต่ที่ไหน ๆ
[๙๒๗] คลื่นไม่เกิดในส่วนกลางทะเล ทะเลเรียบอยู่ ฉันใด
ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหว ฉันนั้น
ภิกษุไม่พึงก่อกิเลสเครื่องฟูใจ๑ในที่ไหน ๆ
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๒๘] พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ๒แจ่มแจ้ง
ได้ทรงแสดงธรรมที่เป็นพยาน๓
อันเป็นธรรมเครื่องกำจัดอันตราย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงตรัสบอกปฏิปทา
คือปาติโมกข์ หรือแม้สมาธิ

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องฟูใจ มี ๗ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และกรรม (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๕/
๔๒๓-๔๒๔)
๒ จักษุ ในที่นี้หมายถึงจักษุ ๕ ชนิด คือ มังสจักษุ ทิพพจักษุ ปัญญาจักษุ พุทธจักษุ และสมันตจักษุ (ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๒๔
๓ ธรรมที่เป็นพยาน หมายถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงทราบเอง ประจักษ์แก่พระองค์เอง มิใช่โดยการ
เชื่อผู้อื่น (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสูตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๒๙] ภิกษุไม่พึงเป็นผู้มีตาลอกแลก
พึงป้องกันหูมิให้ได้ยินคามกถา๑
ไม่พึงติดใจในรส และไม่พึงยึดถืออะไร ๆ
ในโลกว่า เป็นของเรา
[๙๓๐] เมื่อใด ภิกษุถูกผัสสะกระทบ
เมื่อนั้น เธอก็ไม่พึงทำความคร่ำครวญในที่ไหน ๆ
ไม่พึงคาดหวังภพ และไม่พึงกระสับกระส่าย
เพราะอารมณ์ที่น่ากลัว
[๙๓๑] ภิกษุได้ข้าวก็ดี น้ำก็ดี ของขบเคี้ยวก็ดี ผ้าก็ดี
ไม่ควรทำการสะสม เมื่อไม่ได้ข้าวเป็นต้น ก็ไม่พึงสะดุ้ง
[๙๓๒] ภิกษุพึงเป็นผู้มีฌาน ไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
พึงเว้นจากความคะนอง ไม่พึงประมาท
และพึงอยู่ในที่นั่งที่นอนที่มีเสียงน้อย
[๙๓๓] ภิกษุไม่พึงหลับมาก มีความเพียรเครื่องเผากิเลส
พึงประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความหลอกลวง
เรื่องชวนหัว การเล่น เมถุนธรรม พร้อมทั้งการประดับตกแต่ง
[๙๓๔] ผู้นับถือพระรัตนตรัยไม่พึงประกอบการทำอาถรรพณ์๒
การทำนายฝัน การทำนายลักษณะ หรือแม้การดูฤกษ์ยาม

เชิงอรรถ :
๑ คามกถา ในที่นี้หมายถึงติรัจฉานกถา คือถ้อยคำอันขวางทางไปสู่สวรรค์หรือนิพพาน ได้แก่เรื่องราวที่ภิกษุ
ไม่ควรนำมาเป็นข้อสนทนากัน เพราะทำให้เกิดความฟุ้งซ่านและหลงเพลินเสียเวลา (ที.สี.อ. ๑/๑๗/๘๔)
และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๗/๔๓๙ ประกอบ
๒ อาถรรรพณ์ หมายถึงคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ หรือเวทมนตร์ที่ใช้เพื่อให้ดีหรือร้าย เป็นคัมภีร์อีกเล่มหนึ่ง
ในคัมภีร์พระเวท (ขุ.ม.อ. ๑๒๖/๔๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสูตร
ไม่พึงเรียนการทำนายเสียงสัตว์ร้อง
การปรุงยาให้ตั้งครรภ์ และการบำบัดรักษาโรค
[๙๓๕] ภิกษุไม่พึงหวั่นไหวเพราะการนินทา
แม้ได้รับการสรรเสริญก็ไม่พึงลำพองตน
พึงบรรเทาความโลภรวมทั้งความตระหนี่
ความโกรธ และวาจาส่อเสียด
[๙๓๖] ภิกษุไม่พึงดำรงชีวิตในการซื้อขาย
ไม่พึงก่อกิเลสเป็นเหตุว่าร้ายในที่ไหน ๆ
ไม่พึงเกี่ยวข้องในบ้าน
และไม่พึงพูดเลียบเคียงกับคน เพราะอยากได้ลาภ
[๙๓๗] ภิกษุไม่พึงเป็นคนมักอวด ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้
ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง
ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง
[๙๓๘] ภิกษุไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ
เมื่อรู้ตัวก็ไม่พึงทำความโอ้อวด
และไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่
ด้วยปัญญา ด้วยศีลและวัตร
[๙๓๙] ภิกษุผู้ถูกคนเหล่าอื่นเบียดเบียน
ได้ยินคำพูดมากของพวกสมณะ หรือพวกคนพูดมาก(เหล่าอื่น)
ไม่พึงโต้ตอบคนเหล่านั้นด้วยคำหยาบ
เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู
[๙๔๐] ภิกษุรู้ธรรมนี้แล้ว เลือกสรรอยู่
พึงเป็นผู้มีสติ ศึกษาทุกเมื่อ
รู้ความดับกิเลสว่า เป็นความสงบแล้ว
ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสูตร
[๙๔๑] ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำ๑ไม่ถูกครอบงำ
ได้เห็นธรรมที่เป็นพยานซึ่งไม่ต้องเชื่อใคร
เพราะฉะนั้น เธอพึงเป็นผู้ไม่ประมาท
ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
นอบน้อมอยู่ พึงหมั่นศึกษาทุกเมื่อ
ตุวฏกสูตรที่ ๑๔ จบ

๑๕. อัตตทัณฑสูตร๒
ว่าด้วยความกลัวเกิดจากโทษของตน
(พระผู้มีพระภาคตรัสท่ามกลางหมู่ทหารของพระญาติทั้งสองฝ่ายดังนี้)
[๙๔๒] ความกลัวเกิดจากโทษของตน
เธอทั้งหลายจงมองดูคนที่มุ่งร้ายกัน
เราจักกล่าวความสังเวชตามที่เราได้เคยสังเวชมาแล้ว
[๙๔๓] เพราะเห็นหมู่สัตว์ผู้ดิ้นรนอยู่
เหมือนฝูงปลาในบ่อที่มีน้ำน้อย
เพราะเห็นสัตว์ทำร้ายกันและกัน ภัยจึงปรากฏแก่เรา
[๙๔๔] โลกทั้งหมด๓ไม่มีแก่นสาร
สังขารทั้งหลายทุกทิศก็หวั่นไหว
เราเมื่อต้องการภพสำหรับตน
ก็มองไม่เห็นฐานะอะไรที่ไม่ถูกครอบงำ

เชิงอรรถ :
๑ ครอบงำ หมายถึงครอบงำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ หรือครอบงำบาปอกุศลธรรม
(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๖๙/๔๗๘)
๒ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๗๐-๑๘๙/๔๘๐-๕๓๔
๓ โลกทั้งหมด หมายถึงโลกนรก โลกกำเนิดดิรัจฉาน โลกเปตวิสัย โลกมนุษย์ โลกเทวดา โลกขันธ์ โลกธาตุ
โลกอายตนะ และโลกพรหม (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๗๒/๔๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสูตร
[๙๔๕] เพราะเห็นสัตว์มีที่สิ้นสุดและถูกสกัดกั้น
ความไม่ยินดี จึงมีแก่เรา
อนึ่ง เราได้เห็นลูกศร๑ที่เห็นได้ยาก
อันอาศัยหทัยในสัตว์เหล่านี้แล้ว
[๙๔๖] สัตว์ถูกลูกศรใดปักติดแล้ว วิ่งพล่านไปทุกทิศทาง
เพราะถอนลูกศรนั้นได้แล้ว
จึงไม่ต้องวิ่งพล่าน ไม่ต้องล่มจม
[๙๔๗] คนทั้งหลายกล่าวถึงการศึกษา
เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
บุคคลไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษาหรือกามคุณเหล่านั้น
รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว
พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน
[๙๔๘] มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง ไม่มีความหลอกลวง
ปราศจากวาจาส่อเสียด ไม่โกรธ
ข้ามพ้นความโลภอันชั่วและความหวงแหนได้แล้ว
[๙๔๙] นรชนพึงควบคุมความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ
ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท
ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น
พึงน้อมใจไปในนิพพาน
[๙๕๐] นรชนไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ
ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป
พึงกำหนดรู้ความถือตัว
และพึงประพฤติละเว้นจากความผลุนผลัน

เชิงอรรถ :
๑ ลูกศร ในที่นี้หมายถึงกิเลส มี ๗ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ โสกะ และความสงสัย (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๑๗๔/๔๙๒-๔๙๓, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๔๕/๔๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสูตร
[๙๕๑] นรชนไม่พึงยินดีสังขารเก่า
ไม่พึงทำความพอใจสังขารใหม่
เมื่อสังขารเสื่อมไปก็ไม่พึงเศร้าโศก
ไม่พึงติดอยู่กับกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง
[๙๕๒] เราเรียกความติดใจว่า ห้วงน้ำใหญ่
เรียกความโลดแล่นว่า ความปรารถนา
เรียกอารมณ์๑ว่า ความหวั่นไหว
เปือกตมคือกาม เป็นสภาวะที่ลุล่วงไปได้ยาก
[๙๕๓] มุนีไม่ก้าวล่วงสัจจะ เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก
มุนีสลัดสิ่งทั้งปวงได้แล้ว มุนีนั้นแล เราเรียกว่า ผู้สงบ
[๙๕๔] มุนีนั้นแลมีความรู้ จบเวท รู้ธรรมแล้ว ก็ไม่อาศัย๒
มุนีนั้นอยู่ในโลกโดยชอบ
ย่อมไม่ใฝ่หาใคร ๆ ในโลกนี้
[๙๕๕] ผู้ใดข้ามกามและกิเลสเครื่องข้องที่ล่วงได้ยากในโลกได้
ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละโมบ
เป็นผู้ตัดกระแสได้ ไม่มีเครื่องผูก
[๙๕๖] เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
กิเลสเครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลัง อย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป

เชิงอรรถ :
๑ ความติดใจ ความโลดแล่น อารมณ์ หมายถึงตัณหา (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๘๐/๕๑๔)
๒ ไม่อาศัย ในที่นี้หมายถึงไม่มีตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๘๒/๕๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสูตร
[๙๕๗] ความยึดถือว่า เป็นของเราในนามรูป
ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง
และผู้ใดไม่เศร้าโศกเพราะไม่มีความยึดถือว่า เป็นของเรา
ผู้นั้นแลชื่อว่า ย่อมไม่เสื่อมในโลก๑
[๙๕๘] กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา
หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ไม่มีแก่ผู้ใด
ผู้นั้น เมื่อไม่ได้ความยึดถือว่า เป็นของเรา
ย่อมไม่เศร้าโศกว่า สิ่งของของเราไม่มี
[๙๕๙] บุคคลเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ติดใจ ไม่หวั่นไหว
สม่ำเสมอในอายตนะทั้งปวง
เราถูกถามถึงบุคคลผู้ไม่หวั่นไหว จึงบอกอานิสงส์นั้น
[๙๖๐] อภิสังขารไร ๆ ไม่มีแก่ผู้ไม่หวั่นไหว รู้แจ่มแจ้ง
เขางดเว้นแล้วจากการปรารภอภิสังขาร
ย่อมมองเห็นความปลอดโปร่งในที่ทั้งปวง
[๙๖๑] มุนีย่อมไม่กล่าวถึงตนในหมู่ชนที่เสมอกัน
ด้อยกว่า (หรือ) เลิศกว่าเลย
มุนีนั้นเป็นผู้สงบ คลายความตระหนี่ ไม่ยึดถือ ไม่สลัดทิ้ง
อัตตทัณฑสูตรที่ ๑๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบธรรมบทข้อ ๓๖๗ หน้า ๑๔๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสูตร
๑๖. สารีปุตตสูตร๑
ว่าด้วยพระสารีบุตรกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ
(ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้)
[๙๖๒] พระศาสดาผู้มีพระสุรเสียงไพเราะอย่างนี้
ได้เสด็จจากภพดุสิตมาเป็นพระคณาจารย์
ก่อนหน้านี้ ข้าพระองค์ไม่เคยเห็น
ทั้งไม่เคยได้ยินจากใคร ๆ มาเลย
[๙๖๓] พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
ย่อมปรากฏแก่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ทรงกำจัดความมืดทั้งปวง
ทรงเป็นเอกบุรุษ บรรลุความยินดีแล้ว
[๙๖๔] ข้าพระองค์มีความต้องการ(ถาม)ปัญหา
จึงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ไม่ทรงถูกกิเลสอาศัย เป็นผู้มั่นคง ไม่หลอกลวง
เสด็จมาเป็นพระคณาจารย์ของคนเป็นอันมาก
ผู้ยังผูกพันอยู่ในศาสนานี้
[๙๖๕] เมื่อภิกษุเบื่อหน่าย ใช้สอยที่นั่งอันว่างเปล่า
ในถ้ำแห่งภูเขา ที่โคนไม้ หรือที่ป่าช้า
[๙๖๖] ภิกษุอยู่บนที่นอนที่นั่งอันไม่มีเสียงอื้ออึง
เห็นอารมณ์ที่น่าหวาดเสียวเหล่าใดแล้ว ไม่พึงหวั่นไหว
ภิกษุ(อื่น) พึงหวั่นไหวร้องไห้อยู่บนที่นอนสูงและใหญ่
ซึ่งเป็นที่มีอารมณ์ที่น่าหวาดเสียว

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๐-๒๑๐/๕๓๕-๖๒๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสูตร
[๙๖๗] ภิกษุเมื่อจะไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป๑
พึงปราบปรามอันตรายที่มีอยู่ในโลก
บนที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด
[๙๖๘] ภิกษุอบรมตนอยู่ พึงมีแนวทางแห่งถ้อยคำอย่างไร
พึงมีโคจรในศาสนานี้อย่างไร พึงมีศีลและวัตรอย่างไร
[๙๖๙] ภิกษุนั้นพึงสมาทานสิกขาอะไร
จึงมีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
มีปัญญารักษาตน มีสติกำจัดมลทินของตนได้
เหมือนช่างทองขจัดมลทินทอง ฉะนั้น
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร)
[๙๗๐] เราจักบอกความผาสุก และธรรมตามสมควรนั้น
ของผู้เบื่อหน่าย ใช้สอยที่นั่งที่นอนอันสงัด
ผู้ปรารถนาสัมโพธิญาณแก่เธอ ตามที่รู้
[๙๗๑] ภิกษุผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ
ประพฤติธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบ
ไม่พึงกลัวภัย ๕ อย่าง คือ
เหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน
สัมผัสจากมนุษย์ และสัตว์ ๔ เท้า
[๙๗๒] ภิกษุไม่พึงหวาดกลัวผู้ถือธรรมอื่น
แม้เห็นอารมณ์น่าหวาดเสียวเป็นอันมาก

เชิงอรรถ :
๑ ทิศที่ไม่เคยไป ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๙๖๗/๔๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสูตร
ของผู้ถือธรรมอื่นเหล่านั้น ก็ไม่พึงหวาดกลัว
อนึ่ง ภิกษุผู้หมั่นแสวงหากุศลธรรม
พึงปราบปรามอันตรายอื่น ๆ
[๙๗๓] ภิกษุถูกผัสสะแห่งความเจ็บป่วยและความหิวกระทบแล้ว
พึงอดกลั้นความหนาว หรือความร้อน
ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้ว
โดยอาการมากอย่าง ก็ไม่ให้โอกาส
พึงทำความเพียรและความบากบั่นให้มั่นคง
[๙๗๔] ภิกษุไม่พึงขโมย ไม่พึงพูดเท็จ
พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งผู้ยังหวาดสะดุ้ง และผู้มั่นคง
เมื่อใด ภิกษุรู้แจ้งความขุ่นมัวแห่งใจ
เมื่อนั้น เธอพึงบรรเทาด้วยมนสิการว่า
นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ
[๙๗๕] ภิกษุไม่พึงลุอำนาจแห่งความโกรธและความดูหมิ่น
ทั้งพึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นเหล่านั้นดำรงอยู่
แต่เมื่อจะกำราบ ก็พึงครอบงำสัตว์หรือสังขาร
ที่เป็นที่รักหรือไม่เป็นที่รักโดยแท้
[๙๗๖] ภิกษุผู้มีปีติในเรื่องดีงาม พึงเชิดชูปัญญา
พึงข่มอันตรายเหล่านั้น พึงปราบความไม่ยินดีในที่นั่งที่นอนอันสงัด
ทั้งปราบธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญ ๔ ประการ
[๙๗๗] เราจักฉันอะไรเล่า หรือจักฉันที่ไหน
คืนนี้เรานอนลำบากแล้วหนอ เราจักนอนที่ไหนเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสูตร
ภิกษุผู้เป็นเสขะพึงกำจัดวิตกอันเป็นที่ตั้ง
แห่งความคร่ำครวญเหล่านี้ เป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป
[๙๗๘] ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้
ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาลแล้ว
พึงรู้จักประมาณเพื่อสันโดษ
ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น
เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน
แม้ถูกด่า ก็ไม่พึงกล่าววาจาหยาบ
[๙๗๙] ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน ตื่นอยู่โดยมาก
ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่น
พึงเข้าไปตัดความตรึกธรรม
ที่อาศัยความตรึกและความคะนอง
[๙๘๐] ภิกษุถูกผู้ตักเตือนด้วยวาจา พึงมีสติชื่นชม
ทำลายความกระด้างในเพื่อนพรหมจารี
พึงเปล่งวาจาเป็นกุศล
ไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต
ไม่พึงคิดหาเรื่องที่จะว่ากล่าวคน
[๙๘๑] ลำดับต่อไป ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ
ศึกษาเพื่อกำจัดธุลี ๕ อย่างในโลก
คือพึงปราบปรามราคะในรูป ราคะในเสียง ราคะในกลิ่น
ราคะในรส และราคะในผัสสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๔. อัฏฐกวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
[๙๘๒] ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว
พึงกำจัดความพอใจในธรรมเหล่านี้
ภิกษุนั้นเมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล
เป็นผู้มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืด
สารีปุตตสูตรที่ ๑๖ จบ
อัฏฐกวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กามสูตร ๒. คุหัฏฐกสูตร
๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร ๔. สุทธัฏฐกสูตร
๕. ปรมัฏฐกสูตร ๖. ชราสูตร
๗. ติสสเมตเตยยสูตร ๘. ปสูรสูตร
๙. มาคันทิยสูตร ๑๐. ปุราเภทสูตร
๑๑. กลหวิวาทสูตร ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
๑๓. มหาวิยูหสูตร ๑๔. ตุวฏกสูตร
๑๕. อัตตทัณฑสูตร ๑๖. สารีปุตตสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
๕. ปารายนวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
วัตถุกถา๑
พราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ไปทูลถามปัญหา
[๙๘๓] เรื่องพราหมณ์พาวรีผู้เรียนจบมนตร์
ปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีกังวล
จึงเดินทางออกจากแคว้นโกศลอันรื่นรมย์
ไปสู่ทักขิณาปถชนบท
[๙๘๔] ท่านอาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี
อันเป็นพรมแดนแคว้นอัสสกะและแคว้นมุฬกะต่อกัน
(เลี้ยงชีพ) อยู่ด้วยการเที่ยวภิกษาและผลไม้
[๙๘๕] เพราะอาศัยพราหมณ์นั้นนั่นเอง
หมู่บ้านจึงได้เจริญไพบูลย์
ท่านได้ประกอบพิธีมหายัญขึ้น
ด้วยรายได้ที่เกิดจากหมู่บ้านนั้น
[๙๘๖] ท่านบูชาพิธีมหายัญเสร็จแล้ว ก็กลับเข้าอาศรม
เมื่อท่านกลับเข้าอาศรมแล้ว
พราหมณ์อีกคนหนึ่งก็เดินทางมาถึง
[๙๘๗] พราหมณ์ที่มาพบนั้น มีเท้าเดินเสียดสีกัน
ท่าทางน่ากลัวมีฟันเขลอะ
ศีรษะเกลือกกลั้วด้วยสิ่งสกปรก
เข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้ว
ขอทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑-๕๖/๑-๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
[๙๘๘] พราหมณ์พาวรีเห็นเขานั้นแล้วก็เชิญให้นั่ง
ไต่ถามถึงความสุขความสบาย จึงกล่าวคำนี้ว่า
[๙๘๙] สิ่งของที่ควรให้ซึ่งเป็นของเราทั้งหมด
เราบริจาคไปแล้ว พราหมณ์เอ๋ย
ท่านจงเชื่อเราเถิด เราไม่มีทรัพย์ ๕๐๐ เลย
[๙๙๐] (ปังกทันตพราหมณ์กล่าวว่า)
ถ้าเมื่อเราขอ ท่านไม่ให้สิ่งที่มีอยู่
ในวันที่ ๗ ขอให้ศีรษะท่านแตกเป็น ๗ เสี่ยง
[๙๙๑] พราหมณ์นั้นเป็นคนโกหก
แสดงท่าทาง(หลอกลวง)กล่าวคำทำให้น่ากลัว
พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำพูดของเขาแล้วก็เป็นทุกข์
[๙๙๒] (พราหมณ์พาวรี) ถูกลูกศรคือความโศกเสียบแทงแล้ว
ไม่บริโภคอาหาร ซูบผอม
เมื่อท่านมีความคิดอย่างนั้น ใจก็ไม่ยินดีในฌาน
[๙๙๓] เทวดา๑ผู้ปรารถนาประโยชน์
เห็นพราหมณ์พาวรีหวาดกลัว เป็นทุกข์อยู่
จึงเข้าไปหาท่านแล้วกล่าวคำนี้ว่า
[๙๙๔] พราหมณ์ผู้ต้องการทรัพย์นั้น เป็นคนโกหก
เขาไม่รู้จักศีรษะ ไม่มีความรู้เรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๙๙๕] พราหมณ์พาวรีคิดว่า เทวดาผู้เจริญนี้คงจะรู้
(จึงกล่าวไปว่า) ข้าพเจ้าขอถามเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป

เชิงอรรถ :
๑ เทวดา ผู้สิงสถิตอยู่ในอาศรมของพราหมณ์พาวรี (ขุ.สุ.อ. ๒/๙๙๓/๔๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
ขอท่านจงบอกเรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ข้าพเจ้าขอฟังคำตอบของท่าน
[๙๙๖] (เทวดากล่าวว่า)
แม้ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้
เรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
เป็นวิสัยของพระชินเจ้าเท่านั้น
[๙๙๗] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
เทวดา ก็ใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้
รู้จักเรื่องศีรษะและธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป
ขอท่านจงบอกผู้นั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
[๙๙๘] (เทวดากล่าวว่า)
พระโอรสของเจ้าศากยะ
เป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากะ
เสด็จออกผนวชจากกรุงกบิลพัสดุ์
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เป็นผู้ก่อความสว่างไสว
[๙๙๙] (เทวดากล่าวว่า)
พราหมณ์ เจ้าศากยบุตรพระองค์นั้น
เป็นพระสัมพุทธเจ้า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
บรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งหมดแล้ว
มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง
ทรงถึงธรรมเป็นที่สิ้นกรรมทุกอย่าง
ทรงน้อมพระทัยไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
[๑๐๐๐] พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระพุทธเจ้าในโลก
มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม
ท่านจงไปทูลถามพระองค์เถิด
พระองค์จักตรัสตอบปัญหานั้นแก่ท่านได้
[๑๐๐๑] พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า พระสัมพุทธเจ้า
ก็มีความเบิกบานใจ
มีความโศกเบาบางและได้รับปีติเปี่ยมล้น
[๑๐๐๒] พราหมณ์พาวรีนั้นดีใจ เบิกบานใจ
เกิดความปลาบปลื้มใจ
จึงไต่ถามเทวดาถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
(และประกาศว่า) พระสัมพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ประทับอยู่ ณ ที่ไหน จะเป็นบ้าน นิคม หรือชนบทใดก็ตาม
พวกเราพึงไปนมัสการพระสัมพุทธเจ้า
ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๑๐๐๓] (เทวดากล่าวว่า)
เจ้าศากยบุตรพระองค์นั้น ทรงชนะมาร
มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาล้ำเลิศแผ่ไพศาลยิ่ง
ทรงปราศจากธุระ ไม่มีอาสวะ
ทรงเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ทรงเป็นผู้องอาจกว่านรชน
ประทับอยู่ ณ มณเฑียรสถานของชนชาวโกศล เขตกรุงสาวัตถี
[๑๐๐๔] ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรีได้เรียกพราหมณ์ทั้งหลาย
ผู้เป็นศิษย์ ซึ่งเรียนจบมนตร์มากล่าวว่า
มาณพทั้งหลาย มานี่เถิด เราจักบอก
ขอพวกเธอจงฟังคำของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
[๑๐๐๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ความที่พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดปรากฏเนือง ๆ ในโลก
นั่นหาได้ยาก
วันนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
เสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ปรากฏพระนามว่า พระสัมพุทธเจ้า
เธอทั้งหลายจงรีบไปกรุงสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๑๐๐๖] (มาณพทั้งหลายถามว่า)
ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าข้าพเจ้าทั้งหลายพบแล้ว
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพระพุทธเจ้า
ขอท่านจงบอกวิธีที่จะรู้จักพระองค์
แก่พวกข้าพเจ้าผู้ไม่รู้ด้วยเถิด
[๑๐๐๗] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ก็ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
อันมาแล้วในมนตร์ทั้งหลาย
ท่านกล่าวไว้แจ่มแจ้งครบถ้วนโดยลำดับว่า
[๑๐๐๘] บุคคลใดมีลักษณะมหาบุรุษเหล่านั้นอยู่ในตัว
บุคคลนั้นมีคติเป็น ๒ อย่างเท่านั้น
มิได้มีคติเป็นที่ ๓ เลย
[๑๐๐๙] คือ ถ้าบุคคลนั้นอยู่ครองเรือนจะพึงครอบครองแผ่นดินนี้
ย่อมปกครองโดยธรรม โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
[๑๐๑๐] แต่ถ้าบุคคลนั้นออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม
มีกิเลสดุจเครื่องปิดบัง๑อันเปิดแล้ว
[๑๐๑๑] พวกเธอจงทูลถามด้วยใจเท่านั้น
ถึงชาติ โคตร ลักษณะ
มนตร์ ศิษย์คนอื่น ๆ
ศีรษะ และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๑๐๑๒] ถ้าบุคคลนั้นเป็นพระพุทธเจ้า
ผู้มีปกติเห็นธรรมหาเครื่องกางกั้นมิได้
เมื่อพวกเธอถามปัญหาด้วยใจแล้ว
ก็จักทรงวิสัชนาด้วยพระวาจา
[๑๐๑๓] ครั้นได้ฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้ว
พราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็นศิษย์ คือ (๑) อชิตะ
(๒) ติสสเมตเตยยะ (๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู
[๑๐๑๔] (๕) โธตกะ (๖) อุปสีวะ (๗) นันทะ (๘) เหมกะ
(๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ (๑๑) ชตุกัณณิ ผู้เป็นบัณฑิต
[๑๐๑๕] (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย (๑๔) โปสาละ
(๑๕) โมฆราช ผู้มีปัญญา (๑๖) ปิงคิยะ ผู้เป็นมหาฤๅษี
[๑๐๑๖] พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คนนั้น
แต่ละคนเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ
มีชื่อปรากฏแก่ชาวโลกทั่วไป
เป็นผู้บำเพ็ญฌาน ยินดีในฌาน

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสดุจเครื่องปิดบัง มี ๕ อย่าง คือ ตัณหา ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต และอวิชชา (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๘/๓๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
เป็นผู้ทรงปัญญาปราดเปรื่อง
เคยอบรมวาสนาแต่ชาติปางก่อน๑ทั้งนั้น
[๑๐๑๗] ทุกคนเกล้าชฎาและครองหนังเสือ
อภิวาทพราหมณ์พาวรีและทำประทักษิณแล้ว
ต่างออกเดินทาง มุ่งหน้าไปทางทิศอุดร
[๑๐๑๘] สู่สถานเป็นที่ตั้งแคว้นอุฬกะ เมืองมาหิสสติในกาลนั้น
กรุงอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสา เมืองวนสวหยะ๒
[๑๐๑๙] กรุงโกสัมพี เมืองสาเกต กรุงสาวัตถีอันอุดม
เมืองเสตัพยะ กรุงกบิลพัสดุ์ กรุงกุสินารา
[๑๐๒๐] กรุงปาวา โภคนคร กรุงเวสาลี แคว้นมคธ
และปาสาณกเจดีย์อันรื่นรมย์ น่ารื่นเริงใจ
[๑๐๒๑] พราหมณ์เหล่านั้นรีบขึ้นสู่ภูเขา
เหมือนคนกระหายน้ำ รีบหาน้ำเย็นดื่ม
เหมือนพ่อค้าได้ลาภใหญ่มาครอง
และเหมือนคนถูกความร้อนแผดเผารีบหาร่มเงา ฉะนั้น
[๑๐๒๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม
ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่
ประหนึ่งว่าราชสีห์บันลือสีหนาทอยู่ในป่า

เชิงอรรถ :
๑ มาณพ ๑๖ คนนี้ได้เคยบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ แล้วอบรมจิตเพื่อเป็นบุญ
วาสนาที่จะติดตามตัวไป (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๑๓-๑๘/๔๓๐)
๒ วนสวหยะ มีชื่อ ๒ ชื่อ คือ (๑) ปวนนคร (๒) วนสาวัตถี (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๑๓-๑๘/๔๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
[๑๐๒๓] อชิตมาณพได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นดุจดวงอาทิตย์อันมีรัศมีเจิดจ้า
และดุจดวงจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญ ฉะนั้น
[๑๐๒๔] ลำดับนั้น อชิตมาณพยืนอยู่ ณ ที่สมควร
รื่นเริงใจเพราะได้เห็นอนุพยัญชนะ
บริบูรณ์ในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค
จึงได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่า
[๑๐๒๕] (อชิตมาณพทูลถามปัญหาทางใจว่า)
ขอพระองค์ตรัสระบุให้แน่ชัด
ถึงชาติ โคตรพร้อมด้วยลักษณะ
ขอจงตรัสบอกความสำเร็จในมนตร์ทั้งหลายว่า
พราหมณ์สอนมาณพเท่าไร
[๑๐๒๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์นั้นมีอายุ ๑๒๐ ปี
ชื่อพาวรีโดยโคตร มีลักษณะ ๓ อย่างอยู่ในตัว
เป็นผู้เรียนจบไตรเพท
[๑๐๒๗] พราหมณ์พาวรีนั้นถึงความสำเร็จ
ในลักษณะมนตร์ และประวัติศาสตร์๑
พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์๒ และเกฏุภศาสตร์๓

เชิงอรรถ :
๑ ประวัติศาสตร์ คือ พงศาวดารเล่าเรื่องเก่า ๆ มักจะมีคำว่า สิ่งนี้ได้เป็นมาอย่างนี้
๒ นิฆัณฑุศาสตร์ คัมภีร์ประเภทศัพท์มูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (lexicon) หรือภิธานศัพท์ (Glossary)
ที่รวบรวมคำศัพท์ ในพระเวทซึ่งเป็นคำยาก หรือคำที่เลิกใช้แล้ว นำมาอธิบายความหมายเป็นส่วนหนึ่ง
ของนิรุกติ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ (ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔)
๓ เกฏุภศาสตร์ คัมภีร์ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นส่วน
หนึ่งของกัลปะ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ (ที.สี.อ. ๑/๒๕๖/๒๒๒, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
ชื่อว่าถึงความสำเร็จในหลักธรรมของตน
กล่าวสอนมนตร์แก่ศิษย์จำนวน ๕๐๐ คน
[๑๐๒๘] (อชิตมาณพทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ผู้ตัดตัณหาเสียได้
ขอพระองค์จงทรงประกาศความเด่นชัด
แห่งลักษณะของพราหมณ์พาวรี
อย่าให้พวกข้าพระองค์มีความสงสัยเลย
[๑๐๒๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์นั้นย่อมใช้ลิ้นปิดหน้าได้
มีอุณาโลมอยู่ระหว่างคิ้ว
มีคุยหฐานซ่อนอยู่ในฝัก
มาณพ เธอจงรู้อย่างนี้เถิด
[๑๐๓๐] ชนทั้งปวงไม่ได้ยินใครถามปัญหาอะไร
ได้ยินแต่ปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงตอบ
ก็ปลาบปลื้มใจประนมอัญชลีแล้วพากันคิดไปต่าง ๆ ว่า
[๑๐๓๑] ใครหนอ เป็นเทพ เป็นพระพรหม
หรือเป็นพระอินทร์ผู้สุชัมบดี เมื่อถามปัญหาด้วยใจ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหานั้นกับใครเล่า
[๑๐๓๒] (อชิตมาณพกราบทูลว่า)
พราหมณ์พาวรีถามเรื่องศีรษะ
และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] วัตถุกถา
ขอพระองค์ตรัสตอบปัญหานั้น
กำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๓๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เธอจงรู้เถิดว่า อวิชชาเป็นศีรษะ
วิชชาที่ประกอบด้วยสัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ
และวิริยะ เป็นธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๑๐๓๔] ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความปลาบปลื้มใจมากล้น สนับสนุนแล้ว
ทำหนังเสือเฉวียงบ่า ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาท
[๑๐๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ
พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยเหล่าศิษย์มีจิตเบิกบาน ดีใจ
ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระองค์
[๑๐๓๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ขอพราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยเหล่าศิษย์
จงมีความสุข และแม้เธอเองก็ขอให้มีความสุข
มีชีวิตอยู่ยืนนานเถิด มาณพ
[๑๐๓๗] เราให้โอกาสแก่พราหมณ์พาวรี
แก่เธอและมาณพทั้งหมดถามข้อสงสัยทั้งปวง
พวกเธอปรารถนาจะถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จงถามเถิด
[๑๐๓๘] อชิตมาณพได้รับโอกาสจากพระสัมพุทธเจ้าแล้ว
นั่งประคองอัญชลี ทูลถามปฐมปัญหากับพระตถาคต
ณ ปาสาณกเจดีย์นั้น
วัตถุกถา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑. อชิตมาณวกปัญหา
๑. อชิตมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของอชิตมาณพ
[๑๐๓๙] (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)
โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้
เพราะอะไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไร เป็นเครื่องฉาบทาโลกนี้ไว้
อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
[๑๐๔๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่๒ และความประมาท
เราเรียกความอยากว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้
ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
[๑๐๔๑] (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)
กระแส๓ทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง๔
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕๗-๖๔/๑๑-๑๒
๒ ความตระหนี่ มี ๕ อย่าง (๑) อาวาสมัจฉริยะ (ความตระหนี่ที่อยู่) (๒) กุลมัจฉริยะ (ความตระหนี่ตระกูล)
(๓) ลาภมัจฉริยะ (ความตระหนี่ลาภ) (๔) วัณณมัจฉริยะ (ความตระหนี่วรรณะ) (๕) ธัมมมัจฉริยะ (ความ
ตระหนี่ธรรม) (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒/๔๙)
๓ กระแส ในที่นี้หมายถึงตัณหา ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต และอวิชชา (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓/๕๓)
๔ ที่ทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอายตนะทั้งปวง (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑. อชิตมาณวกปัญหา
[๑๐๔๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
กระแสเหล่าใดในโลก
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้
[๑๐๔๓] (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ
นาม๑และรูป๒นี้ ดับที่ไหน

เชิงอรรถ :
๑ นาม หมายถึงขันธ์ที่มิใช่รูป ๔ อย่าง (เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕/๕๘)
๒ รูป หมายถึงมหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูปทั้ง ๔
มหาภูตรูป คือ รูปใหญ่ รูปต้นเดิม คือ ธาตุ ๔ ได้แก่ (๑) ปฐวีธาตุ สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่
สภาพอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูป เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็ง หรือธาตุดิน (๒) อาโปธาตุ
สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม ซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว หรือธาตุน้ำ
(๓) เตโชธาตุ สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ (๔) วาโยธาตุ สภาวะที่ทำให้สั่นไหว เคลื่อนที่ ค้ำจุน
เรียกสามัญว่า ธาตุลม (ที.สี.(แปล) ๙/๔๘๗-๔๙๙/๒๑๖-๒๒๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕/๕๘)
รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ หรือที่เรียกว่า อุปาทายรูป มี ๒๔ คือ
ปสาทรูป ๕ (รูปที่เป็นประธานสำหรับรับอารมณ์) (๑) ตา (๒) หู (๓) จมูก (๔) ลิ้น (๕) กาย
โคจรรูป หรือวิสัยรูป ๕ (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์) (๖) รูป (๗) เสียง (๘) กลิ่น
(๙) รส (๑๐) โผฏฐัพพะ (ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกันกับมหาภูตรูป ๓ คือ ปฐวี เตโช วาโย)
ภาวรูป ๒ (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ) (๑๐) อิตถัตตะ อิตถินทรีย์ ความเป็นหญิง (๑๑) ปุริสัตตะ ปุริสินทรีย์
ความเป็นชาย
หทัยรูป ๑ (รูปคือหทัย) (๑๒) หทัยวัตถุ ที่ตั้งแห่งใจ หัวใจ
ชีวิตรูป ๑ (รูปที่เป็นชีวิต) (๑๓) ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต
อาหารรูป ๑ (รูปคืออาหาร) (๑๔) กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว
ปริจเฉทรูป ๑ (รูปที่กำหนดเทศะ) (๑๕) อากาสธาตุ สภาวะคือช่องว่าง
วิญญัติรูป ๒ (รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย) (๑๖) กายวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความ
หมายด้วยกาย (๑๗) วจีวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา
วิการรูป ๔ (รูปคือการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้) (๑๘) (รูปัสส) ลหุตา ความเบา (๑๙) (รูปัสส)
มุทุตา ความอ่อนสลวย (๒๐) (รูปัสส) กัมมัญญตา ความควรแก่การงาน ใช้การได้
ลักขณรูป ๔ (รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด) (๒๑) อุปจยะ ความก่อตัว (๒๒) สันตติ
ความสืบต่อ (๒๓) ชรตา ความทรุดโทรม (๒๔) อนิจจตา ความแปรแตกสลาย (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕/๕๘,
อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๕๘๔-๙๘๔/๑๖๙-๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑. อชิตมาณวกปัญหา
ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์ตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
เธอได้ถามปัญหานั้นใด
เราจะกล่าวแก้ปัญหานั้นแก่เธอ
นามและรูปดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด
นามและรูปนั้นดับไปในที่นั้นเพราะวิญญาณดับ
[๑๐๔๕] (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)
พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด ผู้มีธรรมที่พิจารณาแล้ว
และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์ผู้มีพระปัญญา โปรดตรัสบอกการดำเนินชีวิต
ของพระอรหันตขีณาสพ
และพระเสขะเหล่านั้นด้วยเถิด
[๑๐๔๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ภิกษุไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย
เป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง
มีสติดำรงอยู่
อชิตมาณวกปัญหาที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๓. ปุณณกมาณวกปัญหา
๒. ติสสเมตเตยยมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยมาณพ
[๑๐๔๗] (ติสสเมตเตยยมาณพทูลถามดังนี้)
ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้
ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร
ใครรู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว๒
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
พระองค์ตรัสเรียกใครว่า เป็นมหาบุรุษ
ใครล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้
[๑๐๔๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ)
บุคคลเป็นผู้มีพรหมจรรย์๓(เพราะเห็นโทษ) ในกามทั้งหลาย
ชื่อว่า เป็นผู้สันโดษ ผู้คลายตัณหาแล้ว
มีสติทุกเมื่อ รู้ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้
ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้ไม่หวั่นไหว
[๑๐๔๙] ภิกษุนั้นชื่อว่า รู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
เราเรียกภิกษุนั้นว่า เป็นมหาบุรุษ
ภิกษุนั้นชื่อว่า ล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้
ติสสเมตเตยยมาณวกปัญหาที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๖๕-๖๗/๑๓
๒ ส่วนสุด ๒ ด้าน ได้แก่ ผัสสะเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ผัสสสมุทัยเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ผัสสนิโรธอยู่ท่ามกลาง
เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑/๗๙)
๓ พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงมรรคพรหมจรรย์ (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๔๘/๔๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๓. ปุณณกมาณวกปัญหา
๓. ปุณณกมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของปุณณกมาณพ
[๑๐๕๐] (ปุณณกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญ๒แก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์ตรัสตอบปัญหาแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๕๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ฤๅษี มนุชะ๓กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้๔
อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ
[๑๐๕๒] (ปุณณกมาณพทูลถามดังนี้)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วในการบูชายัญ
ได้ข้ามพ้นชาติและชราบ้างไหม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๖๘-๗๓/๑๔-๑๕
๒ ยัญ ในที่นี้หมายถึงไทยธรรม ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน
พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒/๘๘)
๓ มนุชะ คือผู้ที่เกิดจากพระมนู (ขุ.ม.อ. ๑/๒๖)
๔ หวังความเป็นอย่างนี้ หมายถึงปรารถนาการบังเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๕๑/๔๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๓. ปุณณกมาณวกปัญหา
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๕๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ
เพราะอาศัยลาภจึงมุ่งหวังกาม
เรากล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ
ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้
[๑๐๕๔] (ปุณณกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ถ้าชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลกข้ามชาติและชราได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๕๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ
เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้น๑ในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน๒ ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่า ข้ามชาติและชราได้แล้ว๓
ปุณณกมาณวกปัญหาที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ฝั่งนี้และฝั่งโน้น ในที่นี้หมายถึงอัตภาพของตนและอัตภาพของผู้อื่น (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๒/๑๑๔, ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๑๗/๑๐๔)
๒ ควัน หมายถึงความประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๒/๑๑๔, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๗/๑๐๕)
๓ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๒/๑๘๕, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๔๑/๗๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๗/๑๐๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๔. เมตตคูมาณวกปัญหา
๔. เมตตคูมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของเมตตคูมาณพ
[๑๐๕๖] (เมตตคูมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหา
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า
ทรงเป็นผู้จบเวท๒ ทรงอบรมพระองค์แล้ว
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากที่ไหนหนอ
[๑๐๕๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่รู้
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลกนี้
ล้วนเกิดมาแต่อุปธิ๓เป็นต้นเหตุ
[๑๐๕๘] ผู้ใดแลไม่มีปัญญา ก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่า เป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้ชัดอยู่
เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า มีชาติเป็นแดนเกิด
ไม่ควรก่ออุปธิ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๔-๘๕/๑๕-๑๘
๒ เวท ในที่นี้หมายถึงญาณ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ฯลฯ วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิในมรรคทั้ง ๔ (ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๑๘/๑๑๔)
๓ อุปธิ มี ๑๐ อย่าง (๑) อุปธิคือตัณหา (๒) อุปธิคือทิฏฐิ (๓) อุปธิคือกิเลส (๔) อุปธิคือกรรม (๕) อุปธิคือ
ทุจริต (๖) อุปธิคืออาหาร (๗) อุปธิคือปฏิฆะ (๘) อุปธิคืออุปาทินนธาตุ ๔ (๙) อุปธิคืออายตนะภายใน ๖
(๙) อุปธิคืออายตนะภายนอก ๖ (๑๐) อุปธิคือหมวดวิญญาณ ๖ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๙/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๔. เมตตคูมาณวกปัญหา
[๑๐๕๙] (เมตตคูมาณพทูลถามดังนี้)
พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นด้วยเถิด
นักปราชญ์ทั้งหลายจะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา
โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสตอบปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว
[๑๐๖๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตตคู)
บุคคลรู้ชัดธรรม๑ใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
เราจักกล่าวธรรมที่ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้วแก่เธอ
[๑๐๖๑] (เมตตคูมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุดนั้นที่บุคคลรู้ชัดแล้ว
มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
[๑๐๖๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตตคู)
เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง
เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความถือมั่น

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๖๐/๔๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๔. เมตตคูมาณวกปัญหา
และวิญญาณในธรรมเหล่านั้นเสีย
ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ๑
[๑๐๖๓] ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท รู้แจ้ง
ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้วเที่ยวไปอยู่
พึงละชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะ
อันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน
[๑๐๖๔] (เมตตคูมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระองค์
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่
เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว
[๑๐๖๕] พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่หยุดหย่อน
แม้ชนเหล่านั้นก็พึงละทุกข์ได้เป็นแน่
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์มาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ
ขอนมัสการพระองค์ (โดยหวังว่า) พระผู้มีพระภาค
พึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง
[๑๐๖๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท
ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ
ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง๒
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ หมดความสงสัยแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ภพ มี ๒ คือ (๑) กรรมภพ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร (๒) ภพใหม่
อันมีในปฏิสนธิ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๔/๑๓๘)
๒ ฝั่ง ในที่นี้หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๘/๑๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๕. โธตกมาณวกปัญหา
[๑๐๖๗] นรชนใดในที่นี้เป็นผู้มีปัญญา จบเวท
สลัดกิเลสเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว
นรชนนั้นเป็นผู้ปราศจากตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามพ้นชาติและชราได้แล้ว
เมตตคูมาณวกปัญหาที่ ๔ จบ

๕. โธตกมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโธตกมาณพ
[๑๐๖๘] (โธตกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง
บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
ศึกษาธรรม๒เป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน
[๑๐๖๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน
มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล
บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๖-๙๓/๑๘-๒๐
๒ ศึกษาธรรม หมายถึงศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๑/๑๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๕. โธตกมาณวกปัญหา
[๑๐๗๐] (โธตกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์เห็นพระองค์ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
เป็นพราหมณ์ เสด็จจาริกอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ๑ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้องข้าพระองค์
จากความสงสัยทั้งหลายเถิด
[๑๐๗๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใครๆ
ผู้มีความสงสัยในโลกได้
แต่เธอเมื่อรู้แจ้งธรรมอันประเสริฐ
ก็จะข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้
[๑๐๗๒] (โธตกมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอนวิเวกธรรม
ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ
ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล
เป็นผู้ไม่อาศัย๒ เที่ยวไปอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ผู้สักกะ หมายถึงพระผู้มีพระภาคเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๒/๑๖๓)
๒ ไม่อาศัย หมายถึงไม่อาศัยในอารมณ์ไหน ๆ ด้วยทิฏฐิหรือตัณหา (ขุ.สุ.อ. ๒/๒๒๑/๓๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๕. โธตกมาณวกปัญหา
[๑๐๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
บุคคลผู้รู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
เราจักกล่าวความสงบนั้นที่เรารู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้วแก่เธอ
[๑๐๗๔] (โธตกมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจความสงบอันสูงสุดนั้น
ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
[๑๐๗๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง
เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่า เป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว
อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย
โธตกมาณวกปัญหาที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๖. อุปสีวมาณวกปัญหา
๖. อุปสีวมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของอุปสีวมาณพ
[๑๐๗๖] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว
ไม่ได้อาศัย(ใคร ๆ หรือสิ่งใด ๆ)
จึงไม่สามารถข้ามห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่๒ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอารมณ์
ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว พึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้
[๑๐๗๗] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ‘ไม่มีอะไร’ ดังนี้แล้วก็จะข้ามห้วงกิเลสได้
เธอจงละกามทั้งหลาย เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย
พิจารณาดูความสิ้นตัณหาทั้งคืนทั้งวัน
[๑๐๗๘] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้)
บุคคลใดเป็นผู้ปราศจากราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น๓อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง๔

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๙๔-๑๐๑/๒๐-๒๒
๒ ห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ หมายถึงโอฆะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๘/๑๗๗)
๓ ละสมาบัติอื่น ในที่นี้หมายถึงละสมาบัติ ๖ เบื้องต่ำ (รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๒) (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๐/๑๘๔,
ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๗๘/๔๔๒)
๔ สัญญาวิโมกข์ หมายถึงสัญญาสมาบัติ คุณธรรมชั้นสูงที่บุคคลบรรลุ มี ๗ ประการ ได้แก่ รูปฌาน ๔
อรูปฌาน ๓ (ยกเว้นเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ) (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๐/๑๘๔, ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๗๘/๔๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๗. นันทมาณวกปัญหา
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่
ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ
[๑๐๗๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
บุคคลใดเป็นผู้ปราศจากราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว
ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้
[๑๐๘๐] (อุปสีวมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานนับปีไม่ได้ไซร้
บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
มีความสงบเย็นอยู่ในพรหมโลกนั่นนั้นแลหรือ
หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก
[๑๐๘๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป
ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ ฉันใด
มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมดับไป
กำหนดไม่ได้ ฉันนั้น
[๑๐๘๒] (ท่านอุปสีวะทูลถามดังนี้)
มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี
หรือว่าไม่แตกทำลาย เพราะมีความแน่แท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๗. นันทมาณวกปัญหา
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสตอบปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว
[๑๐๘๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
มุนีผู้ถึงความสลายไปย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ
ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด
กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น
(เพราะ)เมื่อมุนีนั้นถอนธรรม๑ทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว
แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวงท่านก็ถอนได้เด็ดขาดแล้ว
อุปสีวมาณวกปัญหาที่ ๖ จบ

๗. นันทมาณวกปัญหา๒
ว่าด้วยปัญหาของนันทมาณพ
[๑๐๘๔] (นันทมาณพทูลถามดังนี้)
ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก
คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร
ชนทั้งหลายย่อมเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณ๓
หรือว่าย่อมเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่๔ว่า เป็นมุนี

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะ คติ เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๕/๑๙๓)
๒ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๒-๑๐๘/๒๒-๒๔
๓ ผู้เป็นไปด้วยญาณ หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยญาณในสมาบัติ ๘ หรือ ญาณในอภิญญา ๕ (ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๔๖/๑๙๖)
๔ ผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยความเพียรของบุคคลผู้ดำเนินชีวิตเศร้าหมอง ผู้ทำ
กิจที่ทำได้ยากยิ่งหลายอย่าง (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๖/๑๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๗. นันทมาณวกปัญหา
[๑๐๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้
ย่อมไม่เรียกบุคคลว่า เป็นมุนี
เพราะได้เห็น ได้ฟังและได้รู้
เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว
ผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี
[๑๐๘๖] (นันทมาณพทูลถามดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
เพราะศีลและวัตรบ้าง เพราะพิธีหลากหลายบ้าง
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
สมณพราหมณ์พวกนั้นผู้ประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของตนนั้น
ข้ามชาติและชราได้บ้างหรือไม่
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๘๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
สมณพราหมณ์พวกนั้นประพฤติตนเคร่งครัด
ในหลักการของตนนั้นก็จริง
แต่เรากล่าวว่า พวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๗. นันทมาณวกปัญหา
[๑๐๘๘] (นันทมาณพทูลถามดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่า
สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก
ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๘๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
เราย่อมไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมด
ถูกชาติและชราโอบล้อม
นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้ หรือศีลและวัตรได้ทั้งหมด
ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว๑ เป็นผู้หมดอาสวะ
เรากล่าวว่า นรชนเหล่านั้นแลชื่อว่า ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว หมายถึงกำหนดรู้ตัณหาได้ด้วยปริญญา ๓ อย่าง คือ (๑) ญาตปริญญา กำหนด
รู้ขั้นรู้จัก คือรู้ว่า นี้คือรูปตัณหาเป็นต้น (๒) ตีรณปริญญา กำหนดรู้ขั้นพิจารณา คือ พิจารณาตัณหาโดย
ความเป็นของไม่เที่ยง (๓) ปหานปริญญา กำหนดรู้ขั้นละ คือ ละตัณหาให้ได้เด็ดขาด (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕๑/๒๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๘. เหมกมาณวกปัญหา
[๑๐๙๐] (นันทมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าแต่พระโคดม นิพพานที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้ หรือศีลและวัตรได้ทั้งหมด
ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ
แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า นรชนเหล่านั้นชื่อว่า ข้ามห้วงกิเลสได้
นันทมาณวกปัญหาที่ ๗ จบ

๘. เหมกมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของเหมกมาณพ
[๑๐๙๑] (เหมกมาณพทูลถามดังนี้)
ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยตอบแก่ข้าพระองค์ว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำตอบทั้งหมด เป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำตอบทั้งหมดนั้น มีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในคำตอบนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๙-๑๑๒/๒๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๙. โตเทยยมาณวกปัญหา
[๑๐๙๒] ข้าแต่พระมุนี บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม(นั้น)ที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๙๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
เหมกะ นิพพานบทอันไม่แปรผัน
เครื่องบรรเทาฉันทราคะ
ในปิยรูปทั้งหลายที่เห็น ที่ได้ยิน และที่ได้รับรู้ในโลกนี้
[๑๐๙๔] ชนเหล่าใดมีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้นเป็นผู้สงบทุกเมื่อ
เป็นผู้ข้ามตัณหาที่ชื่อว่า วิสัตติกา ในโลกได้แล้ว
เหมกมาณวกปัญหาที่ ๘ จบ

๙. โตเทยยมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโตเทยยมาณพ
[๑๐๙๕] (โตเทยยมาณพทูลถามดังนี้)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามพ้นจากความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์ของบุคคลนั้นเป็นเช่นไร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๓-๑๑๖/๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๙. โตเทยยมาณวกปัญหา
[๑๐๙๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โตเทยยะ)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามพ้นจากความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์อื่นของบุคคลนั้นไม่มี
[๑๐๙๗] (โตเทยยมาณพทูลถามดังนี้)
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง หรือว่ายังหวังอยู่
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา หรือว่ายังมีความดำริด้วยปัญญา
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์
ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
[๑๐๙๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวังทั้งไม่หวัง
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่ดำริด้วยปัญญา
โตเทยยะ บุคคลจงรู้จักบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ผู้ไม่ข้องในกามและภพว่า เป็นมุนีอย่างนี้
โตเทยยมาณวกปัญหาที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๐. กัปปมาณวกปัญหา
๑๐. กัปปมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของกัปปมาณพ
[๑๐๙๙] (กัปปมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ๒
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย
อนึ่ง ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่ง
โดยวิธีที่ทุกข์นี้จะไม่พึงมีแก่ข้าพระองค์อีก
[๑๑๐๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า กัปปะ)
เราจะบอกที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย
เราจะบอกที่พึ่งแก่เธออีก
[๑๑๐๑] เราเรียกนิพพานซึ่งไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ไม่มีเครื่องยึดมั่นนี้นั้นว่า เป็นที่พึ่งอันไม่มีที่พึ่งอื่นยิ่งกว่า
(เพราะ)นิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมัจจุราช
[๑๑๐๒] ชนเหล่าใดมีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้นก็ไม่ไปตามอำนาจของมาร ไม่ไปบำรุงมาร
กัปปมาณวกปัญหาที่ ๑๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๗-๑๒๐/๒๗
๒ สระ ในที่นี้หมายถึงสังสารวัฏ (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๙๙/๔๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๑. ชตุกัณณิมาณวกปัญหา
๑๑. ชตุกัณณิมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของชตุกัณณิมาณพ
[๑๑๐๓] (ชตุกัณณิมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่า
พระองค์ไม่มีความใคร่กาม ล่วงพ้นห้วงกิเลส
จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม
ข้าแต่พระสหชเนตร๒ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกสันติบท
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม
อันแท้จริงนั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๑๐๔] อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกามทั้งหลายด้วยพระเดช
เคลื่อนไหว(อิริยาบถ)อยู่
เหมือนดวงอาทิตย์มีแสงสว่างส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี
พระองค์ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติ และชราในโลกนี้
ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด
[๑๑๐๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชตุกัณณิ)
เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลายเสีย
เห็นเนกขัมมะ๓โดยความเป็นธรรมเกษมแล้ว
ควรสลัดกิเลสเครื่องกังวลที่ยึดถือ
หรือว่ากิเลสเครื่องกังวลอย่าได้มีแก่เธอ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๑-๑๒๕/๒๘-๒๙
๒ พระสหชเนตร ในที่นี้หมายถึงผู้มีพระเนตร คือ พระสัพพัญญุตญาณ (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๐๓/๔๔๗)
๓ เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๐๕/๔๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๒. ภัทราวุธมาณวกปัญหา
[๑๑๐๖] เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
กิเลสเครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป
[๑๑๐๗] พราหมณ์ อาสวะทั้งหลายอันเป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่งมัจจุ
ไม่มีแก่บุคคลนั้น ผู้คลายความติดใจในนามรูป
โดยประการทั้งปวง
ชตุกัณณิมาณวกปัญหาที่ ๑๑ จบ

๑๒. ภัทราวุธมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของภัทราวุธมาณพ
[๑๑๐๘] (ภัทราวุธมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนาพระองค์
ผู้ละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ตัดตัณหาได้
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ทรงละความเพลิดเพลินได้
ข้ามห้วงกิเลสได้ หลุดพ้นแล้ว
ละการกำหนดได้ มีพระปัญญาดี
ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้ว
จึงกลับไปจากที่นี้
[๑๑๐๙] ข้าแต่พระวีระ ชนต่าง ๆ จากชนบททั้งหลาย
มาชุมนุมกัน(ในที่นี้)

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๖-๑๒๙/๒๙-๓๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๓. อุทยมาณวกปัญหา
หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระดำรัสของพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหา
แก่ชนเหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว
[๑๑๑๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภัทราวุธ)
นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่น๑ทั้งปวง
ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง
เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดถือขันธ์ใด ๆ ในโลก
มารย่อมติดตามสัตว์ เพราะสิ่งที่ยึดถือนั้นนั่นแล
[๑๑๑๑] เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัด
เพ่งพิจารณาหมู่สัตว์นี้ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราช๒
ว่าเป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น
ควรเป็นผู้มีสติ ไม่เข้าไปยึดถือเครื่องกังวลในโลกทั้งปวง
ภัทราวุธมาณวกปัญหาที่ ๑๒ จบ

๑๓. อุทยมาณวกปัญหา๓
ว่าด้วยปัญหาของอุทัยมาณพ
[๑๑๑๒] (อุทัยมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงมีฌาน ปราศจากธุลี
ประทับนั่งอยู่ ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ

เชิงอรรถ :
๑ เครื่องยึดมั่น หมายถึงรูปตัณหา คือ ยึดมั่น ถือมั่นในรูปเป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๑๐/๔๔๙)
๒ บ่วงแห่งมัจจุราช หมายถึงกิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๓/๒๖๖)
๓ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๐-๑๓๖/๓๐-๓๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๓. อุทยมาณวกปัญหา
ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์๑
อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด
[๑๑๑๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุทัย)
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์
อันเป็นเครื่องละความพอใจในกาม และโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง
เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ
และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง
[๑๑๑๔] เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ที่บริสุทธิ์
เพราะมีอุเบกขาและสติ
ที่มีธรรมตรรกะเป็นเบื้องต้น
เป็นเครื่องทำลายอวิชชา๒
[๑๑๑๕] (อุทัยมาณพทูลถามอีกดังนี้)
สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้
อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน
[๑๑๑๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
สัตว์โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้
ความตรึก๓เป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละตัณหาได้ เราจึงเรียกว่า นิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ อัญญาวิโมกข์ หมายถึงความหลุดพ้นด้วยอรหัตตผล (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๓/๑๑๕-๑๑๖) และดู ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๗๔-๗๕/๒๖๖-๒๗๕ ประกอบ
๒ ข้อ ๑๑๑๓-๔ ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๓/๑๘๖, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๕-๗๖/๒๗๒-๒๗๗
๓ ความตรึก (วิตก) มี ๙ อย่าง (๑) กามวิตก (ความตรึกในกาม) (๒) พยาบาทวิตก (ความตรึกในพยาบาท)
(๓) วิหิงสาวิตก (ความตรึกในความเบียดเบียน) (๔) ญาติวิตก (ความตรึกถึงญาติ) (๕) ชนปทวิตก
(ความตรึกถึงชนบท) (๖) อมราวิตก (ความตรึกถึงเทพเจ้า) (๗) ปรานุทยตาปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึก
ที่ประกอบด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น) (๘) ลาภสักการสิโลกปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึกที่ประกอบด้วย
ลาภสักการะและความสรรเสริญ) (๙) อนวัญญัตติปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึกที่ประกอบด้วยความไม่ถูก
ดูหมิ่น) (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๘/๒๗๘-๒๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๔. โปสาลมาณวกปัญหา
[๑๑๑๗] (อุทัยมาณพทูลถามอีกดังนี้)
ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร วิญญาณจึงดับสนิท
ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์
[๑๑๑๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก
มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ วิญญาณ๑จึงดับสนิท
อุทยมาณวกปัญหาที่ ๑๓ จบ

๑๔.โปสาลมาณวกปัญหา๒
ว่าด้วยปัญหาของโปสาลมาณพ
[๑๑๑๙] (โปสาลมาณพทูลถามดังนี้)
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
ตัดความสงสัยได้แล้ว ทรงแสดงอดีตธรรม
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง

เชิงอรรถ :
๑ วิญญาณ หมายถึงอภิสังขารวิญญาณ (วิญญาณที่เกิดพร้อมกับอภิสังขาร) (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๑๘/๔๕๐)
๒ ดู ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๗-๑๔๐/๓๒-๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๔. โปสาลมาณวกปัญหา
[๑๑๒๐] ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ
ของบุคคลผู้ไม่มีรูปสัญญา๑ ผู้ละรูปกายได้ทั้งหมด
ผู้พิจารณาทั้งภายในและภายนอกเห็นว่าไม่มีอะไร
บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ควรแนะนำอย่างไร
[๑๑๒๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โปสาละ)
ตถาคตรู้ยิ่งซึ่งวิญญาณัฏฐิติ๒ทั้งหมด
รู้จักบุคคลนั้นผู้ดำรงอยู่ ผู้น้อมไปแล้ว
ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย
[๑๑๒๒] บุคคลนั้นรู้กัมมาภิสังขาร๓ว่า เป็นเหตุเกิด
แห่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ
รู้อรูปราคะว่า มีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้
ครั้นรู้กรรมอย่างนี้แล้ว ออกจากสมาบัตินั้น
เห็นแจ้งธรรมที่เกิดในสมาบัตินั้น
ญาณนี้ของพราหมณ์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์
เป็นญาณอันแท้จริง
โปสาลมาณวกปัญหาที่ ๑๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ไม่มีรูปสัญญา หมายถึงผู้ได้อรูปสมาบัติ ๔ (ขู.จู. (แปล) ๓๐/๘๒/๒๘๗)
๒ วิญญาณัฏฐิติ คือ ภูมิอันเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณัฏฐิติ ๔ และวิญญาณัฏฐิติ ๗
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๓/๒๘๙-๒๙๐)
๓ กัมมาภิสังขาร ในที่นี้หมายถึงอาเนญชาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศล-
เจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔ หมายถึง ภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ (ขุ.จู.อ. ๘๔/๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๕. โมฆราชมาณวกปัญหา
๑๕. โมฆราชมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโมฆราชมาณพ
[๑๑๒๓] (โมฆราชมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ ๒ ครั้งแล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ มิได้ตรัสตอบแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์รับทราบมาว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี
(ถ้าผู้ใดถามปัญหา) ถึง ๓ ครั้ง จะตรัสตอบ
[๑๑๒๔] โลกนี้๒ โลกอื่น๓ พรหมโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ย่อมไม่ทราบชัดความเห็นของพระองค์
ผู้โคตมโคตร ผู้มีพระยศ
[๑๑๒๕] ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ทรงมีปกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงไม่เห็น
[๑๑๒๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
โมฆราช เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า๔
มีสติทุกเมื่อ พึงถอนอัตตานุทิฏฐิ๕เสีย
เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น
โมฆราชมาณวกปัญหาที่ ๑๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๑-๑๔๔/๓๓-๓๔
๒ โลกนี้ ในที่นี้หมายถึงมนุษยโลก (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๖/๓๐๗)
๓ โลกอื่น หมายถึงโลกอื่นทั้งหมด เว้นมนุษยโลก (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๖/๓๐๗)
๔ พิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า หมายถึงพิจารณาโลก คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปตวิสัย
มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก และพรหมโลกด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) ด้วยการ
กำหนดเห็นสังขารไม่เป็นไปตามอำนาจ (๒) ด้วยการพิจารณาเห็นสังขารเป็นของว่างเปล่า (ขุ.จู. (แปล)
๓๐/๘๘/๓๐๙-๓๒๐, ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๒๖/๔๕๓)
๕ อัตตานุทิฏฐิ หมายถึงสักกาทิฏฐิ (ขุ.จู. ๒/๑๑๒๖/๔๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ๑๖. ปิงคิยมาณวกปัญหา
๑๖. ปิงคิยมาณวกปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของปิงคิยมาณพ
[๑๑๒๗] (ปิงคิยมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์ชราภาพแล้ว ไม่มีกำลัง
ผิวพรรณไม่ผุดผ่อง นัยน์ตาไม่แจ่มใส หูฟังไม่ชัด
ขอข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลงเสียหายในระหว่างนี้เลย
ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่เป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้
ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้เถิด
[๑๑๒๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ)
ชนทั้งหลายเห็นชนอื่นๆ เดือดร้อนอยู่เพราะรูปทั้งหลายแล้ว
ยังประมาทเจ็บปวดเพราะรูปทั้งหลาย
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละรูปเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป
[๑๑๒๙] (ปิงคิยมาณพทูลถามดังนี้)
ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ ทิศเบื้องบน ๑
ทิศเบื้องล่าง ๑ เหล่านี้รวมเป็น ๑๐
สิ่งใด ๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงได้ยิน
ไม่ทรงทราบ หรือไม่ทรงรู้แจ้ง มิได้มีเลย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้
ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๕-๑๔๘/๓๔-๓๕ และดูรายละเอียดใน ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๘๙-๙๒/๓๒๔-๓๓๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนัตถุติคาถา
[๑๑๓๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ)
เธอจงเพ่งพิจารณาหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต
เกิดความเร่าร้อน ถูกชราครอบงำแล้ว
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป
ปิงคิยมาณวกปัญหาที่ ๑๖ จบ

ปารายนัตถุติคาถา๑
ว่าด้วยการสดุดีธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
พระธรรมสังคาหกาจารย์เมื่อจะสรรเสริญพระธรรมเทศนานี้จึงได้กล่าวไว้ดังนี้
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถานี้แล้ว เมื่อประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์
แคว้นมคธ ได้ทรงรับอาราธนากราบทูลหลายครั้งจากพราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็น
ศิษย์ใกล้ชิด ได้ตรัสตอบปัญหาแล้ว ถ้าแม้บุคคลรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรม
แห่งปัญหาแต่ละปัญหาแล้วปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม ก็จะพึงถึงฝั่งแห่งชรา
และมรณะได้แน่นอน เพราะธรรมเหล่านี้เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง เพราะเหตุดังกล่าวมานี้นั้น
ธรรมบรรยายนี้จึงชื่อว่า ปารายนะ

[๑๑๓๑] (๑) อชิตะ (๒) ติสสเมตเตยยะ
(๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู
(๕) โธตกะ (๖) อุปสีวะ
(๗) นันทะ (๘) เหมกะ


เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๙-๑๕๕/๓๖-๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนัตถุติคาถา
[๑๑๓๒] (๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ
(๑๑) ชตุกัณณิผู้เป็นบัณฑิต (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย
(๑๔) โปสาละ (๑๕) โมฆราชผู้มีปัญญา
(๑๖) ปิงคิยะผู้เป็นมหาฤๅษี
[๑๑๓๓] พราหมณ์ ๑๖ คนนี้พากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยจรณะ ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เมื่อจะทูลถามปัญหาที่ลุ่มลึก
จึงเข้าไปใกล้เฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[๑๑๓๔] พระพุทธเจ้า(อันพราหมณ์เหล่านั้น)ทูลถามปัญหาแล้ว
ตรัสตอบปัญหาแก่พราหมณ์เหล่านั้นตามความเป็นจริง
พระพุทธมุนีทรงทำให้พราหมณ์ทั้งหลายพอใจ
ด้วยการตรัสตอบปัญหาทั้งหลาย
[๑๑๓๕] พราหมณ์เหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ทำให้พอใจแล้ว
ได้ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ
[๑๑๓๖] การตรัสตอบปัญหาแต่ละปัญหา
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วโดยประการใด
ผู้ใดปฏิบัติตามโดยประการนั้น
ผู้นั้นพึงจากที่มิใช่ฝั่ง๑ไปถึงฝั่ง๒ได้

เชิงอรรถ :
๑ ที่มิใช่ฝั่ง หมายถึงกิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๐/๓๔๔)
๒ ฝั่ง หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๐/๓๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนานุคีติคาถา
[๑๑๓๗] บุคคลเมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด
จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งไปถึงฝั่งได้
(เพราะ)มรรคนั้น(เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง
เพราะฉะนั้น มรรคนั้นจึงชื่อว่า ปารายนะ

ปารายนานุคีติคาถา๑
ว่าด้วยเพลงขับตามธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
[๑๑๓๘] (ท่านพระปิงคิยะกล่าวแก่พราหมณ์พาวรีท่ามกลางชุมชนดังนี้)
อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ปราศจากมลทิน
พระปัญญาอันไพบูลย์ ปราศจากกาม
ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ
ทรงเห็นอย่างใดก็ตรัสบอกอย่างนั้น
จะพึงตรัสคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า
[๑๑๓๙] อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำที่ประกอบด้วยคำสรรเสริญ
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว
ผู้ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ ณ บัดนี้
[๑๑๔๐] ท่านพราหมณาจารย์ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ
ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด
ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทรงมีชื่อตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๕๖-๑๗๔/๓๘-๔๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนานุคีติคาถา
[๑๑๔๑] นกพึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่ที่มีผลไม้มาก ฉันใด
อาตมภาพก็ฉันนั้น ละคณาจารย์ผู้มีทัสสนะแคบ๑
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ ฉะนั้น
[๑๑๔๒] ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยตอบแก่อาตมภาพว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำตอบทั้งหมดนั้น เป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำตอบทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
(อาตมภาพจึงไม่ยินดียิ่งในคำตอบนั้น)
[๑๑๔๓] พระโคดมทรงเป็นเอกบุรุษ ประทับนั่ง
ทำลายความมืดอยู่ ทรงรุ่งเรือง ทรงแผ่รัศมี
พระโคดมผู้มีพระญาณอันไพบูลย์
พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
[๑๑๔๔] ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ
[๑๑๔๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวกับท่านพระปิงคิยะดังนี้)
ท่านปิงคิยะ เพราะเหตุไรหนอ
ท่านจึงอยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณอันไพบูลย์ ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ สิ้นกาลชั่วครู่

เชิงอรรถ :
๑ ทัสสนะแคบ ในที่นี้หมายถึงมีปัญญาน้อย (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๔๑/๔๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนานุคีติคาถา
[๑๑๔๖] ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่ท่าน
[๑๑๔๗] (ท่านพระปิงคิยะกล่าวดังนี้)
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพ
มิได้อยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณอันไพบูลย์
ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ สิ้นกาลชั่วครู่
[๑๑๔๘] ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ
[๑๑๔๙] ท่านพราหมณ์ อาตมภาพไม่ประมาททั้งกลางคืนและกลางวัน
เห็นพระโคดมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยใจเหมือนเห็นด้วยตา
อาตมภาพนอบน้อมพระองค์อยู่ตลอดราตรี
อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่ปราศจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
[๑๑๕๐] ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธา ปีติ มนะ และสติ
ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ เสด็จไปสู่ทิศใด ๆ
อาตมภาพเป็นผู้น้อมไปทางทิศนั้น ๆ นั่นแล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๕. ปารายนวรรค] ปารายนานุคีติคาถา
[๑๑๕๑] อาตมภาพชราแล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อย
เพราะเหตุนั้นแล ร่างกายจึงไปในสถานที่
ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ไม่ได้
แต่อาตมภาพไปเฝ้าพระองค์เป็นนิตย์ โดยการไปด้วยความดำริ
ท่านพราหมณ์ เพราะว่าใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยวอยู่กับสถานที่
ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่นั้น
[๑๑๕๒] อาตมภาพนอนดิ้นรนอยู่ในเปือกตม๑
ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่อีกเกาะหนึ่ง๒
ครั้นต่อมา อาตมภาพได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ
[๑๑๕๓] (พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสดังนี้)
วักกลิ ภัทราวุธ และอาฬวิโคดม
เป็นผู้มีศรัทธาน้อมไปแล้ว ฉันใด
แม้เธอก็จงปล่อยวางศรัทธา ฉันนั้นเหมือนกัน
ปิงคิยะ เธอจักถึงฝั่งโน้น(ฝั่งตรงข้าม)แห่งบ่วงมัจจุราช
[๑๑๕๔] (ท่านพระปิงคิยะกราบทูลดังนี้)
ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้วเลื่อมใสอย่างยิ่ง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีกิเลสเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว
ไม่ทรงมีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ ทรงมีปฏิภาณ

เชิงอรรถ :
๑ เปือกตม ในที่นี้หมายถึงกาม (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๖/๓๘๐)
๒ ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง หมายถึงละจากคำสอนของศาสดาหนึ่งไปหาคำสอนของศาสดาหนึ่ง
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๖/๓๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา สรุปคาถาที่มีในสุตตนิบาต
[๑๑๕๕] พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดอธิเทพ๑
ทรงรู้ธรรมที่ทำความเป็นอธิเทพของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง
ผู้ทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย
เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัยให้กลับรู้ได้
[๑๑๕๖] สภาวะใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ
ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้
ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล
ปารายนวรรคที่ ๕ จบ

สุตตุททานคาถา
สรุปคาถาที่มีในสุตตนิบาต
(๑-๒) ในวรรคที่ ๑ มี

๑. อุรคสูตร ๒. ธนิยสูตร ๓. ขัคควิสาณสูตร
๔. กสิภารทวาชสูตร ๕. จุนทสูตร ๖. ปราภวสูตร
๗. วสลสูตร ๘. เมตตสูตร ๙. เหมวตสูตร
๑๐. อาฬวกสูตร ๑๑. วิชยสูตร ๑๒. มุนิสูตร


เชิงอรรถ :
๑ อธิเทพ หมายถึงเทพ ๓ จำพวก คือ (๑) สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชา พระราชกุมาร
พระราชเทวี (๒) อุปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ เทวดาชั้นจาตุมหาราช เป็นต้น (๓) วิสุทธิเทพ
เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ พระตถาคต สาวกของพระตถาคต พระอรหันตขีณาสพ พระปัจเจกพุทธเจ้า
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๙/๓๘๗-๓๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา
รวมเรื่องพระสูตรในวรรคที่ ๑ นี้ที่มีเนื้อความประเสริฐสุดได้ ๑๒ สูตร พระผู้มี
พระภาคผู้ทรงมีพระจักษุทรงปราศจากมลทิน ทรงจำแนกแสดงไว้ดีแล้ว บัณฑิต
ทั้งหลายต่างสดับกันมาว่า อุรควรรค
(๓-๔) ในวรรคที่ ๒ มี

๑. รตนสูตร ๒. อามคันธสูตร ๓. หิริสูตร
๔. มงคลสูตร ๕. สูจิโลมสูตร ๖. ธัมมจริยสูตร
๗. พราหมณธัมมิกสูตร ๘. นาวาสูตร ๙. กิงสีลสูตร
๑๐. อุฏฐานสูตร ๑๑. ราหุลสูตร ๑๒. วังคีสสูตร
๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร ๑๔. ธัมมิกสูตร

รวมเรื่องพระสูตรในวรรคที่ ๒ นี้ ได้ ๑๔ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้
ดีแล้ว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า จูฬวรรค
(๕-๖) ในวรรคที่ ๓ มี

๑. ปัพพัชชาสูตร ๒. ปธานสูตร ๓. สุภาสิตสูตร
๔. สุนทริกภารทวาชสูตร ๕. มาฆสูตร ๖. สภิยสูตร
๗. เสลสูตร ๘. สัลลสูตร ๙. วาเสฏฐสูตร
๑๐. โกกาลิกสูตร ๑๑. นาลกสูตร ๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร

รวมเรื่องพระสูตรที่มีในวรรคที่ ๓ นี้ ได้ ๑๒ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้
ดีแล้ว บัณฑิตทั้งหลายต่างสดับกันมาว่า มหาวรรค
(๗-๘) ในวรรคที่ ๔ มี

๑. กามสูตร ๒. คุหัฏฐกสูตร ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร
๔. สุทธัฏฐกสูตร ๕. ปรมัฏฐกสูตร ๖. ชราสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา

๗. ติสสเมตเตยยสูตร ๘. ปสูรสูตร ๙. มาคันทิยสูตร
๑๐. ปุราเภทสูตร ๑๑. กลหวิวาทสูตร ๑๒. จูฬวิยูหสูตร
๑๓. มหาวิยูหสูตร ๑๔. ตุวฏกสูตร ๑๕. อัตตทัณฑสูตร
๑๖. สารีปุตตสูตร

รวมเรื่องพระสูตรที่มีในวรรคที่ ๔ นี้ ได้ ๑๖ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนก
ไว้ดีแล้ว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า อัฏฐกวรรค
(๙) พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐสุดในคณะ
ประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์ที่ประเสริฐซึ่งตกแต่งไว้อย่างดี
ในมคธชนบทอันน่ารื่นรมย์ มีภูมิประเทศสวยงาม
เป็นที่อยู่อาศัยของบุคคลที่เคยสร้างบุญไว้
(๑๐) ทราบว่า พระผู้มีพระภาคอันพราหมณ์ผู้เป็นมาณพ ๑๖ คน
กราบทูลถามแล้ว ได้ทรงประกาศประทานธรรม
แก่ชนทั้ง ๒ พวกที่มาประชุมกันแน่นขนัด ณ ปาสาณกเจดีย์
กินเนื้อที่ประมาณ ๑๒ โยชน์ เพราะการถามโสฬสปัญหา
(๑๑) พระผู้มีพระภาคผู้ทรงชนะมาร
ผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงธรรมที่ประกาศอรรถ บริบูรณ์ด้วยพยัญชนะ
เป็นบ่อเกิดแห่งความเกษมอย่างยิ่ง
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก
พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันหลากหลายด้วยธรรมจำนวนมาก
ซึ่งเป็นเหตุให้ปลดเปลื้องกิเลสทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา
(๑๒) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันประกอบด้วยบทแห่งพยัญชนะและอรรถ
มีการเปรียบเทียบที่หมายรู้ด้วยอักขระซึ่งแน่นอน
เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง
(๑๓) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันไม่มีมลทิน
เพราะมลทินคือราคะ โทสะ โมหะ
เป็นส่วนแห่งธรรมที่ปราศจากมลทิน
เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง
(๑๔) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐ อันไม่มีมลทิน
เพราะมลทินคือกิเลส มลทินคือทุจริต
เป็นส่วนแห่งธรรมที่ปราศจากมลทิน
เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง
(๑๕) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐเป็นเหตุปลดเปลื้องอาสวะ
กิเลสเป็นเครื่องผูกพัน และกิเลสเป็นเครื่องประกอบ
เป็นเหตุปลดเปลื้องนิวรณ์และมลทินทั้ง ๓ ของชาวโลกนั้น
(๑๖) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐซึ่งหามลทินไม่ได้
เป็นเครื่องบรรเทาความเศร้าหมองทุกอย่าง
เป็นเครื่องคลายความกำหนัด ไม่มีความหวั่นไหว
หมดความเศร้าโศก เป็นธรรมสงบ ประณีต และรู้เห็นได้ยาก
(๑๗) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐซึ่งหักรานราคะและโทสะให้สงบ
เป็นเครื่องตัด เป็นเครื่องต้านทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สุตตุททานคาถา
และเป็นเครื่องพ้นกำเนิด ทุคติ วิญญาณ ๕
และความยินดีที่มีตัณหาเป็นพื้นฐาน
(๑๘) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันลึกซึ้ง
รู้เห็นได้ยาก และละเอียดอ่อน
มีอรรถอันลุ่มลึกซึ่งรู้ได้เฉพาะบัณฑิต
เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง
(๑๙) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐ
ดุจดอกไม้เครื่องประดับที่คงทน ๙ ชนิด
อันจำแนกอินทรีย์ ฌาน และวิโมกข์ อันมรรคมีองค์ ๘
เป็นยานเครื่องนำไปอย่างประเสริฐ
(๒๐) พระผู้มีพระภาค ผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐซึ่งปราศจากมลทิน
บริสุทธิ์เปรียบเหมือนดวงจันทร์
วิจิตรด้วยรัตนะ เปรียบเหมือนห้วงน้ำ
เสมอด้วยดอกไม้ มีเดชเปรียบดังดวงอาทิตย์
(๒๑) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐ ปลอดโปร่ง เกษม
ให้ความสุข ฉ่ำเย็น สงบ
เป็นเครื่องต้านทานมัจจุราชอย่างยิ่ง มีประโยชน์อย่างสูง
เป็นเหตุให้ชาวโลกนั้นรู้แจ้งเห็นจริงซึ่งสภาวธรรมที่ดับกิเลสได้แล้ว
สุตตนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘๔ }


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน จบ





eXTReMe Tracker