ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. สรณคมน์

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. สรณคมน์
ว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ๑

ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ
ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ
ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๒
ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓
ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓
ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ แม้ครั้งที่ ๓

สรณคมน์ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สรณะ หมายถึงสิ่งที่ทำลาย ขจัดปัดเป่า บรรเทาทุกข์ ภัย และกิเลส การยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
ก็เพื่อเป็นเครื่องช่วย ทำลาย ขจัดปัดเป่าทุกข์ ภัยและกิเลสต่าง ๆ ในจิตใจให้หมดสิ้น (ขุ.ขุ.อ. ๑/๖-๗)
อนึ่ง การเปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัย ถือเป็นการบรรพชาและอุปสมบทในสมัยต้นพุทธกาล เรียกว่า
ติสรณคมนูปสัมปทา (การอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์) (วิ.อ. ๓/๓๔/๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๒. ทสสิกขาบท
๒. ทสสิกขาบท
ว่าด้วยสิกขาบท๑ ๑๐ ประการ

๑. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของมิได้ให้
๓. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากพฤติกรรมอันมิใช่
พรหมจรรย์๒
๔. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ
๕. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท๓ คือเจตนางดเว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุรา
และเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท


เชิงอรรถ :
๑ สิกขาบท แยกศัพท์อธิบายดังนี้ สิกขา + บท คำว่า สิกขา หมายถึงสิ่งที่จะต้องศึกษา ได้แก่ ศีล สมาธิ
และปัญญา คำว่า บท หมายถึงอุบายเครื่องบรรลุ (ปชฺชเต อเนนาติ ปทํ) หมายถึงพื้นฐาน(มูละ) หมายถึง
ที่อาศัย(นิสสยะ) และหมายถึงที่ตั้ง(ปติฏฐะ) ดุจในคำว่า “สีลํ นิสฺสาย สีเล ปติฏฺฐาย สตฺต โพชฺฌงฺเค
ภาเวนฺโต พหุลีกโรนฺโต” เป็นต้น (สํ.ม. ๑๙/๑๘๒/๕๘) ดังนั้น สิกขาบท จึงหมายถึงอุบายเครื่องบรรลุสิ่งที่
จะต้องศึกษา และหมายถึงพื้นฐาน ที่อาศัย หรือที่ตั้งแห่งสิ่งที่จะต้องศึกษา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา
คำว่า “สิกขาบท” มีความหมายเท่ากับคำว่า “เวรมณี” ดังบทวิเคราะห์ว่า “เวรมณี เอว สิกฺขาปทํ”
จึงมีพระบาลีว่า “เวรมณีสิกฺขาปทํ” แปลว่า สิกขาบทคือเจตนางดเว้น คำว่า “เจตนางดเว้น” หมายถึงการงด
(วิรัติ) การไม่ทำ(อกิริยา) การไม่ต้องอาบัติ(อนัชฌาบัติ) การไม่ล่วงละเมิดขอบเขต(เวลาอนติกกมะ)
รวมถึงการกำจัดกิเลสด้วยอริยมรรคที่เรียกว่า เสตุ (เสตุฆาตะ) (ดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๗๐๔/๔๔๗)
ในที่นี้หมายถึงศีล ๑๐ สำหรับสามเณร เป็นต้น (ขุ.ขุ.อ. ๒/๑๕-๑๗) และดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๐๕-๑๐๖/
๑๖๘-๑๖๙
๒ พฤติกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์ หมายถึงเจตนาที่จะเสพเมถุนธรรม(พฤติกรรมของคนคู่กัน) หรือเจตนาที่
แสดงออกทางกายโดยมุ่งหมายจะเสพเมถุนธรรม (ขุ.ขุ.อ. ๒/๑๗)
๓ อรรถกถาอธิบายว่า สุราและเมรัยเป็นของมึนเมา และมีสิ่งอื่นอีกที่เป็นของมึนเมา (ตทุภยเมว (สุราเมรยํ)
มทนียฏฺเฐน มชฺชํ, ยํ วา ปน�ฺ�มฺปิ กิ�ฺจิ มทนียํ) จึงอาจแปลตามนัยนี้ว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท
คือ เจตนางดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย และของมึนเมาอันเป็นเหตุแห่งความประมาท (ขุ.ขุ.อ. ๒/๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๒. ทสสิกขาบท

๖. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการบริโภคอาหาร
ในเวลาวิกาล๑
๗. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง
บรรเลงดนตรี และดูการละเล่นอันเป็น
ข้าศึกต่อกุศล๒
๘. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการทัดทรงประดับ
ตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอมและ
เครื่องลูบไล้๓
๙. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการนอนบนที่นอน
สูงและที่นอนใหญ่
๑๐. ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจากการรับทองและเงิน

ทสสิกขาบท จบ

เชิงอรรถ :
๑ เวลาวิกาล ในที่นี้หมายถึงเวลาที่เลยเที่ยงวันไป (ขุ.ขุ.อ. ๒/๒๗)
๒ คำว่า “นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนา” ในสิกขาบทนี้ แปลได้ ๒ นัย คือ นัยที่ ๑ แปลว่า “การดูการละเล่นอัน
เป็นข้าศึกต่อกุศลคือการฟ้อนรำ ขับร้อง และบรรเลงดนตรี” (ดู ที.สี. (แปล) ๙/๑๓/๖ ประกอบ) นัยที่ ๒
แปลว่า “การฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี และการดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล” ในที่นี้แปล
ตามนัยที่ ๒ คำว่า “ทัสสนา” มิได้จำกัดความหมายเพียงการดู การเห็นเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง
การฟัง การได้ยินด้วย คำว่า “ข้าศึกต่อกุศล” แปลจากคำว่า “วิสูกะ” หมายถึงเป็นเหตุทำลายกุศลธรรม
ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้น และหมายถึงเป็นข้อประพฤติที่ไม่เหมาะสมต่อพระพุทธศาสนา
ในสิกขาบทนี้พึงทราบนัยเพิ่มเติมอีก ๒ นัย คือ (๑) จะจัดเป็นการล่วงละเมิดสิกขาบทได้ต่อเมื่อ
เข้าไปดูเพราะประสงค์จะเห็นเท่านั้น แต่ถ้าบังเอิญการละเล่นนั้นผ่านมาให้เห็นเองทางที่ตนยืน นั่ง หรือ
นอนอยู่ ไม่จัดเป็นการล่วงละเมิด จัดเป็นเพียงความเศร้าหมอง (๒) เพลงขับร้อง(คีตะ)ที่ประกอบด้วย
ธรรม ถือเป็นความเหมาะสม ไม่ห้าม แต่ธรรมที่ประกอบเป็นเพลงขับร้อง ถือเป็นความไม่เหมาะสม
(ขุ.ขุ.อ. ๒/๒๗-๒๘)
๓ ดู สารตฺถ.ฏีกา ๓/๑๐๖/๓๐๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๓. ทวัตติงสาการ
๓. ทวัตติงสาการ
ว่าด้วยอาการ ๓๒
ในร่างกายนี้มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต๑
หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม๒ ปอด
ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา
เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร๓ และมันสมอง
ทวัตติงสาการ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไต แปลจากคำว่า “วกฺก” (โบราณแปลว่า ม้าม) ได้แก่ ก้อนเนื้อ ๒ ก้อนมีขั้วเดียวกัน รูปร่างคล้ายลูก
สะบ้าของเด็กๆ หรือคล้ายผลมะม่วง ๒ ผลที่ติดอยู่ในขั้วเดียวกัน มีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัวใจ
แล้วแยกออกห้อยอยู่ทั้ง ๒ ข้าง (ขุ.ขุ.อ. ๓/๔๓), พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕
ให้บท นิยามคำว่า “ไต” ว่า “อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูกสันหลัง ทำหน้าที่
ขับของเสียออกมากับน้ำปัสสาวะ”, Buddhadatta Mahathera, A. Concise Pali-English Dictionary,
1985, (224), และ Rhys Davids, T.W. Pali-English Dictionary, 1921-1925, (591) ให้ความหมาย
ของคำว่า “วกฺก” ตรงกันกับคำว่า “ไต” (Kidney)
๒ ม้าม แปลจากคำว่า “ปิหก” ตาม (ขุ.ขุ.อ. ๓/๔๕) (โบราณแปลว่า ไต), พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้บทนิยามไว้ว่า “อวัยวะภายในร่างกาย ริมกระเพาะอาหารข้างซ้ายมีหน้าที่ทำลายเม็ด
เลือดแดง สร้างเม็ดน้ำเหลืองและสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย”
๓ มูตร หมายถึงน้ำปัสสาวะที่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะ (ขุ.ขุ.อ. ๓/๕๗, วิสุทฺธิ. ๑/๒๑๓/๒๘๘) และดู องฺ.ฉกฺก.
(แปล) ๒๒/๒๙/๔๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๔. สามเณรปัญหา
๔. สามเณรปัญหา
ว่าด้วยการถามปัญหากับโสปากสามเณร
๑. อะไรชื่อว่า หนึ่ง
ที่ชื่อว่า หนึ่ง ได้แก่ สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร๑
๒. อะไรชื่อว่า สอง
ที่ชื่อว่า สอง ได้แก่ นามและรูป
๓. อะไรชื่อว่า สาม
ที่ชื่อว่า สาม ได้แก่ เวทนา ๓๒
๔. อะไรชื่อว่า สี่
ที่ชื่อว่า สี่ ได้แก่ อริยสัจ ๔
๕. อะไรชื่อว่า ห้า
ที่ชื่อว่า ห้า ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ๕๓
๖. อะไรชื่อว่า หก
ที่ชื่อว่า หก ได้แก่ อายตนะภายใน ๖๔
๗. อะไรชื่อว่า เจ็ด
ที่ชื่อว่า เจ็ด ได้แก่ โพชฌงค์ ๗

เชิงอรรถ :
๑ อาหาร หมายถึงปัจจัยที่เป็นเหตุให้สัตว์ดำรงชีพอยู่ได้ ได้แก่ อาหาร ๔ คือ (๑) กวฬิงการาหาร
(อาหารคือคำข้าว) (๒) ผัสสาหาร(อาหารคือผัสสะ) (๓) มโนสัญเจตนาหาร(อาหารคือมโนสัญเจตนา)
(๔) วิญญาณาหาร(อาหารคือวิญญาณ) ยกเว้นอสัญญีสัตตพรหม ซึ่งมีฌานเป็นอาหาร (ขุ.ขุ.อ. ๔/๖๕,
องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๗/๓๓๖) และดู ที.ปา. ๑๑/๓๐๓/๑๙๑,๓๑๑/๒๐๓, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๗/๖๒, ขุ.ป. (แปล)
๓๑/๒๐๘/๓๔๕, ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๐/๘๔
๒ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๔, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๗๐/๓๐๓
๓ ดู สํ.ข. (แปล) ๑๗/๔๘/๖๖-๖๗, อภิ.วิ (แปล) ๓๕/๑/๑-๒
๔ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๒๓/๒๑๕, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๕๔-๑๖๗/๑๑๒-๑๑๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๕. มงคลสูตร
๘. อะไรชื่อว่า แปด
ที่ชื่อว่า แปด ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘
๙. อะไรชื่อว่า เก้า
ที่ชื่อว่า เก้า ได้แก่ สัตตาวาส ๙๑
๑๐. อะไรชื่อว่า สิบ
ที่ชื่อว่า สิบ ได้แก่ บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์คุณ ๑๐๒ เรียกว่า พระอรหันต์
สามเณรปัญหา จบ

๕. มงคลสูตร
ว่าด้วยมงคล
[๑] ข้าพเจ้า๓ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป๔ เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างไปทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร๕ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๔๑/๒๓๒, ๓๕๙/๒๗๒
๒ องค์คุณ ๑๐ ได้แก่ (๑) สัมมาทิฏฐิ (๒) สัมมาสังกัปปะ (๓) สัมมาวาจา (๔) สัมมากัมมันตะ (๕) สัมมาอาชีวะ
(๖) สัมมาวายามะ (๗) สัมมาสติ (๘) สัมมาสมาธิ (๙) สัมมาญาณะ (๑๐) สัมมาวิมุตติ (ขุ.ขุ.อ. ๔/๗๗)
๓ ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้และพระสูตรอื่น ๆ ในเล่มนี้หมายถึง พระอานนท์
๔ ราตรีผ่านไป ในที่นี้หมายถึงปฐมยาม(ยามแรก) กำหนดเวลา ๔ ชั่วโมงตั้งแต่เวลา ๑๘ นาฬิกาถึง ๒๒
นาฬิกาแห่งราตรีที่ผ่านไป กำลังอยู่ในช่วงมัชฌิยาม(ยามกลาง) คือกำลังอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่ ๒๒ นาฬิกา
ถึง ๒ นาฬิกาของวันใหม่ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๒๑-๒๒/๑๐๘, ขุ.ขุ.อ. ๕/๙๙)
๕ ที่สมควร (เอกมนฺตํ) ในที่นี้หมายถึงที่เหมาะสมเว้นโทษ ๖ ประการ คือ (๑) ไกลเกินไป (๒) ใกล้เกินไป
(๓) อยู่เหนือลม (๔) สูงเกินไป (๕) อยู่ตรงหน้าเกินไป (๖) อยู่ข้างหลังเกินไป (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๖/๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๕. มงคลสูตร
[๒] เทวดาและมนุษย์จำนวนมาก
ต่างมุ่งหวังความสวัสดี ร่วมกันคิดถึงเรื่องมงคล
ขอพระองค์ตรัสบอกมงคลอันสูงสุดด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบดังนี้)
[๓] (๑) การไม่คบคนพาล (๒) การคบแต่บัณฑิต
(๓) การบูชาคนที่ควรบูชา
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๔] (๔) การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม
(๕) การได้สร้างบุญไว้ในปางก่อน (๖) การตั้งตนไว้ชอบ
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๕] (๗) ความเป็นพหูสูต (๘) ความเป็นผู้มีศิลปะ
(๙) วินัยที่ศึกษามาดี (๑๐) วาจาสุภาษิต
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๖] (๑๑) การบำรุงมารดาบิดา (๑๒) การสงเคราะห์บุตร
(๑๓) การสงเคราะห์ภรรยา (๑๔) การงานที่ไม่อากูล๑
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๗] (๑๕) การให้ทาน (๑๖) การประพฤติธรรม
(๑๗) การสงเคราะห์ญาติ (๑๘) การงานที่ไม่มีโทษ
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๘] (๑๙) การงดเว้นจากบาป (๒๐) การเว้นจากการดื่มน้ำเมา
(๒๑) ความไม่ประมาทในธรรม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

เชิงอรรถ :
๑ อากูล หมายถึงการงานที่ทำคั่งค้างไว้ ที่ทำไม่เหมาะสม และที่ทำย่อหย่อนไม่สมบูรณ์แบบ (ขุ.ขุ.อ. ๕/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๕. มงคลสูตร
[๙] (๒๒) ความเคารพ (๒๓) ความถ่อมตน (๒๔) ความสันโดษ
(๒๕) ความกตัญญู (๒๖) การฟังธรรมตามกาล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๐] (๒๗) ความอดทน๑ (๒๘) ความเป็นคนว่าง่าย
(๒๙) การพบเห็นสมณะ (๓๐) การสนทนาธรรมตามกาล
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๑] (๓๑) การเผาผลาญบาป (๓๒) การประพฤติพรหมจรรย์๒
(๓๓) การเห็นอริยสัจ (๓๔) การทำนิพพานให้แจ้ง
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๒] (๓๕) จิตของผู้ที่ถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว
(๓๖) จิตไม่เศร้าโศก (๓๗) จิตปราศจากธุลี (๓๘) จิตเกษม
นี้เป็นมงคลอันสูงสุด
[๑๓] เทวดาและมนุษย์ทำมงคลดังกล่าวมานี้แล้ว
ไม่พ่ายแพ้ข้าศึกทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน
ทั้ง ๓๘ ประการนั้น เป็นมงคลอันสูงสุด
ของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
มงคลสูตร จบ

เชิงอรรถ :
๑ ความอดทน ในที่นี้หมายถึงอธิวาสนขันติ (ขันติคือความอดกลั้น) ได้แก่ ความอดกลั้นต่อคำด่าต่าง ๆ
อดกลั้นต่อการถูกเบียดเบียน ตลอดถึงอดกลั้นต่อทุกขเวทนา เช่น ความหนาว ความร้อน เป็นต้น ยกตน
อยู่เหนือทุกข์ต่าง ๆ ดำรงตนอยู่ได้อย่างไม่หวั่นไหว (ขุ.ขุ.อ. ๕/๑๒๙)
๒ พรหมจรรย์ เป็นชื่อของ (๑) เมถุนวิรัติ (ดู ที.สี. (แปล) ๙/๘/๓, ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๙๒/๓๒๓)
(๒)สมณธรรม (ดู ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๕๗/๒๑๗) (๓)ศาสนา (ดู ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๖๘/๑๑๓) (๔)มรรค
(ดู สํ.ม. (แปล) ๑๙/๖/๙) (ขุ.ขุ.อ. ๕/๑๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
๖. รตนสูตร ๑
ว่าด้วยรตนะอันประณีต
(พระผู้มีพระภาคตรัสรตนสูตรดังนี้)
[๑] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น๒
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ๓ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ขอให้ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจดี และจงฟังภาษิตโดยเคารพเถิด
[๒] เพราะฉะนั้นแล ภูตทั้งปวง ท่านจงใคร่ครวญ
จงแผ่เมตตาต่อหมู่มนุษย์ด้วยเถิด
มนุษย์เหล่าใดนำเครื่องเซ่นสรวงมาให้
ทั้งกลางวันและกลางคืน
เพราะเหตุนั้น ขอท่านทั้งหลายอย่าประมาท
จงรักษามนุษย์เหล่านั้น
[๓] ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ หรือรัตนชาติที่ประณีต๔ใด ๆ
ที่มีในโลกนี้ ในโลกอื่น หรือในสวรรค์
ทรัพย์หรือรัตนชาตินั้น ๆ ที่เสมอด้วยตถาคต ไม่มี
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี

เชิงอรรถ :
๑ ดู สุตตนิบาตข้อ ๒๒๔-๒๔๑ หน้า ๕๒๙ ในเล่มนี้
๒ คำว่า ภูต มีความหมายหลายนัย คือ นัยที่ ๑ มีความหมายเชิงกริยาว่า “มีแล้ว” (หรือ “เกิดแล้ว” ดู วิ.มหา.
(แปล) ๒/๑๕๓/๓๒๗) นัยที่ ๒ หมายถึงขันธ์ ๕ (ดู ม.มู. (แปล) ๑๒/๔๐๑/๔๓๒) นัยที่ ๓ หมายถึงธาตุ ๔
มีปฐวีธาตุ เป็นต้น (ดู ม.อุ. ๑๔/๘๖/๖๘) นัยที่ ๔ หมายถึงพระขีณาสพ (ดู ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๙๐/๑๑๖)
นัยที่ ๕ หมายถึง สรรพสัตว์ (ดู ที.ม. (แปล) ๑๐/๒๒๐/๑๖๗) นัยที่ ๖ หมายถึงรุกขชาติต่าง ๆ (ดู วิ.มหา.
(แปล) ๒/๙๐/๑๑๖) นัยที่ ๗ หมายถึงหมู่สัตว์นับแต่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ลงมา (ดู ม.มู. (แปล) ๑๒/๓/๕)
ในที่นี้หมายถึงอมนุษย์ที่มีศักดิ์น้อย หรืออมนุษย์ที่มีศักดิ์มาก และคำว่า ผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น หมายถึง
ภุมมเทวดาคือเทวดาที่บังเกิดบนพื้นดิน ต้นไม้ และภูเขา เป็นต้น (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๔๕)
๓ ผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ หมายถึงเทวดาที่บังเกิดในวิมานในอากาศตั้งแต่สวรรค์ชั้นยามาจนถึงพรหมโลก
ชั้นอกนิษฐา (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๔๕)
๔ ประณีต ในที่นี้หมายถึงสูงสุด ประเสริฐสุด (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
[๔] พระศากยมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น
ทรงบรรลุธรรมใดอันเป็นที่สิ้นกิเลส
ปราศจากราคะ เป็นอมตธรรมอันประณีต
ไม่มีธรรมใด ๆ ที่เสมอด้วยธรรมนั้น
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๕] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ตรัสสรรเสริญสมาธิ๑ใดว่าเป็นธรรมสะอาด
ตรัสถึงสมาธิใดว่าให้ผลโดยลำดับ
สมาธิอื่น๒ที่เสมอด้วยสมาธินั้น ไม่มี
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระธรรม
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๖] บุคคล ๑๐๘ จำพวก๓ที่สัตบุรุษสรรเสริญ
ซึ่งจัดเป็นบุคคล ๔ คู่ เป็นสาวกของพระสุคต

เชิงอรรถ :
๑ สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอริยสัมมาสมาธิ (ม.อุ. ๑๔/๑๓๖/๑๒๑) ที่เรียกว่า อานันตริกสมาธิ (สมาธิที่ให้ผล
โดยลำดับ) เพราะเป็นสมาธิที่ให้ผลแน่นนอนตามลำดับ สามารถถอนกิเลสได้สิ้นเชิง (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๘)
๒ สมาธิอื่น หมายถึงรูปาวจรสมาธิและอรูปาวจรสมาธิ (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๙)
๓ บุคคล ๑๐๘ จำพวก ได้แก่ พระโสดาบัน ๓ จำพวก คือ (๑) เอกพีชี (๒) โกลังโกละ (๓) สัตตักขัตตุปรมะ
พระสกทาคามี ๓ จำพวก คือ (๑) ผู้บรรลุผลในกามภพ (๒) ผู้บรรลุผลในรูปภพ (๓) ผู้บรรลุผลในอรูปภพ
รวมพระโสดาบัน ๓ จำพวก และพระสกทาคามี ๓ จำพวก นับโดยปฏิปทา ๔ ประการ จึงได้บุคคล ๒๔
จำพวก (๖ x ๔ = ๒๔) รวมกับพระอนาคามี ๔ ชั้น คือ ชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา ชั้นสุทัสสี
อีกชั้นละ ๕ จำพวก (๔ x ๕ = ๒๐) และพระอนาคามีชั้นอกนิษฐคามีอีก ๔ จำพวก (๒๐ + ๔ = ๒๔) เป็น
บุคคล ๔๘ จำพวก (๒๔ + ๒๔ = ๔๘) รวมกับพระอรหันต์ ๒ จำพวก คือ (๑) สุขวิปัสสก (๒) สมถยานิก
เป็นบุคคล ๕๐ จำพวก (๔๘ + ๒ = ๕๐) รวมกับพระอริยบุคคลผู้ดำรงอยู่ในมรรคอีก ๔ จำพวก เป็น
บุคคล ๕๔ จำพวก (๕๐ + ๔ = ๕๔)
บุคคลเหล่านี้มี ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายสัทธาธุระ ๕๔ จำพวก และฝ่ายปัญญาธุระ ๕๔ จำพวก จึงเป็น
พระอริยบุคคล ๑๐๘ จำพวก (๕๔ + ๕๔ = ๑๐๘) (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๕๙-๑๖๐) นี้คือนัยโดยพิสดาร
ส่วนนัยโดยย่อ ได้แก่ บุคคล ๘ จำพวก คือ (๑) พระโสดาบัน (๒) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
โสดาปัตติผล (๓) พระสกทาคามี (๔) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล (๕) พระอนาคามี
(๖) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล (๗) พระอรหันต์ (๘) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล
(ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา
ทานที่เขาถวายในบุคคลเหล่านั้น มีผลมาก
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๗] บุคคลเหล่าใดในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
เป็นผู้ประกอบตนไว้ดี มีใจมั่นคง หมดความห่วงใย
บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าบรรลุอรหัตตผล
หยั่งถึงอมตนิพพาน รับรสความดับสนิทแบบได้เปล่า๑
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๘] สัตบุรุษใดพิจารณาเห็นแจ้งอริยสัจ
เราเรียกสัตบุรุษนั้นว่า มีอุปมาเหมือนเสาเขื่อนที่ฝังลงดิน
อันไม่หวั่นไหวเพราะลมที่พัดมาจากทิศทั้งสี่
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๙] พระโสดาบันเหล่าใดรู้แจ้งอริยสัจ
ที่พระศาสดาผู้มีปัญญาลึกซึ้งแสดงแล้ว
ถึงแม้ว่าพระโสดาบันเหล่านั้นจะประมาทไปบ้าง

เชิงอรรถ :
๑ แบบได้เปล่า หมายถึงได้โดยไม่ต้องจ่ายแม้แต่กากณึกเดียว (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๑) กากณึก เป็นมาตราเงิน
อย่างต่ำที่สุด (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
ท่านเหล่านั้นก็จะไม่ถือกำเนิดในภพที่ ๘๑
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๐] พระโสดาบันนั้นละธรรม ๓ ประการ คือ
สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส
พร้อมกับการบรรลุโสดาปัตติมรรคได้แล้ว
แม้จะมีกิเลสบางอย่างเหลืออยู่๒
[๑๑] พระโสดาบันนั้นพ้นแล้วจากอบายทั้งสี่๓
และจะไม่ทำอภิฐาน ๖๔
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๒] ถึงแม้ว่า พระโสดาบันนั้นจะทำบาปกรรม๕
ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจไปบ้าง
ท่านก็ไม่ปกปิดบาปกรรมนั้นไว้
เรากล่าวว่าผู้เห็นบท๖แล้ว ไม่อาจทำอย่างนั้นได้
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ถือกำเนิดในภพที่ ๘ หมายถึงไม่เกิดในภพที่ ๘ เพราะท่านเหล่านั้นละสังโยชน์ ๓ ประการ (สักกายทิฏฐิ
วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส) ได้แล้ว และจะเวียนเกิดเวียนตายในเทวโลกและมนุษยโลกอย่างมากไม่เกิน
๗ ครั้ง แล้วบรรลุอรหัตตผล เพราะนามรูปดับไปในภพที่ ๗ นั่นเอง (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๓-๑๖๔)
๒ อภิ.ก. ๓๗/๒๗๘/๑๐๓
๓ อบายทั้งสี่ หมายถึงภูมิที่ปราศจากความเจริญ มี ๔ คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต และอสุรกาย
(ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๕)
๔ อภิฐาน ๖ หมายถึงฐานะอันหนัก ๖ ประการ ได้แก่ (๑) ฆ่ามารดา (๒) ฆ่าบิดา (๓) ฆ่าพระอรหันต์
(๔) ทำโลหิตของพระพุทธเจ้าให้ห้อ (๕) ทำให้สงฆ์แตกกัน (๖) เข้ารีตศาสดาอื่น (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๖)
๕ บาปกรรม ในที่นี้หมายถึงการต้องอาบัติเบา เช่น ต้องอาบัติเพราะนอนร่วมกับสามเณรเป็นต้น มิได้
หมายถึงอาบัติหนัก (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๗) และดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๕๐/๒๓๘ ประกอบ
๖ บท ในที่นี้หมายถึงทางแห่งนิพพาน (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
[๑๓] พุ่มไม้งามในป่า ซึ่งมียอดออกดอกบานสะพรั่ง
ในต้นเดือนห้าแห่งคิมหันตฤดู งามอย่างยิ่ง ฉันใด
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ
ที่ให้ถึงนิพพาน เพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง ฉันนั้น
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๔] พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงรู้ธรรมอันประเสริฐ
ทรงประทานธรรมอันประเสริฐ ทรงนำทางอันประเสริฐมาให้
ทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าใคร ๆ ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐไว้
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
[๑๕] พระขีณาสพเหล่าใดสิ้นภพเก่าแล้ว ไม่มีการเกิดใหม่
ทั้งมีจิตเบื่อหน่ายในภพที่จะเกิดต่อไป
ท่านเหล่านั้นชื่อว่า มีพืช๑สิ้นแล้ว ไม่มีฉันทะงอกขึ้น เป็นปราชญ์
ย่อมดับสนิทเหมือนประทีปดวงนี้ดับไป
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี
(ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลเป็นคาถา ดังนี้ )
[๑๖] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้

เชิงอรรถ :
๑ พืช ในที่นี้หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๗๑) และดู องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๗๗/๓๐๐ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๖. รตนสูตร
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระตถาคต๑พุทธเจ้า
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
[๑๗] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระธรรมของพระตถาคต
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
[๑๘] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอนอบน้อมพระสงฆ์ของพระตถาคต
ที่เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอให้มีความสวัสดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
ถ้าเห็นว่าจะได้สุขอันยิ่งใหญ่
ด้วยการเสียสละสุขอันเล็กน้อย
นักปราชญ์พึงเสียสละสุขอันเล็กน้อย
เพื่อเห็นแก่สุขอันยิ่งใหญ่๒
รตนสูตร จบ

เชิงอรรถ :
๑ ตถาคต แปลว่า ไปอย่างนั้นหรือมาอย่างนั้น มีความหมายหลายนัย เช่น ไปหรือมาอย่างบุคคลผู้
ขวนขวายเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก ไปหรือมาด้วยการเพิกถอนกิเสสได้ด้วยกำลังแห่งสมถะและวิปัสสนา
ไปหรือมาด้วยการกำจัดทุกข์ทั้งปวงได้ ไปหรือมาด้วยการปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน ในที่นี้ใช้เป็น
คำแสดงคุณลักษณะของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าไปอย่างนั้นหรือมาอย่างนั้น (ขุ.ขุ.อ. ๖/๑๗๒)
๒ สุขอันยิ่งใหญ่ ในที่นี้หมายถึงความสุขอันโอฬารคือพระนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๘๗) ดู ขุ.ธ. แปลในเล่มนี้
ข้อ ๒๙๐ หน้า ๑๒๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๗. ติโรกุฑฑสูตร
๗. ติโรกุฑฑสูตร๑
ว่าด้วยเรื่องเปรตที่อยู่ภายนอกฝาเรือน๒
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้ เพื่ออนุโมทนาพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ
ดังนี้)
[๑] พวกเปรตพากันมาสู่เรือนของตน๓
บ้างยืนอยู่ที่ฝาเรือนด้านนอก
บ้างยืนอยู่ที่ทางสี่แพร่ง สามแพร่ง
บ้างยืนพิงอยู่ที่บานประตู
[๒] เมื่อมีข้าวและน้ำดื่มมากมาย
เมื่อของเคี้ยวของกินถูกจัดเตรียมไว้แล้ว
ญาติสักคนก็ไม่นึกถึงเปรตเหล่านั้น
เพราะกรรมของสัตว์เหล่านั้นเป็นปัจจัย
[๓] เหล่าชนผู้อนุเคราะห์ ย่อมถวายอาหารและน้ำดื่ม
ที่สะอาดประณีต เหมาะแก่พระสงฆ์ตามกาล
อุทิศให้ญาติทั้งหลาย(ที่เกิดเป็นเปรต)อย่างนี้ว่า
ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของเรา
ขอญาติทั้งหลาย จงเป็นสุขเถิด
[๔] ส่วนญาติที่เกิดเป็นเปรตเหล่านั้น
พากันมาประชุมพร้อมกัน ณ ที่ให้ทานนั้น
ย่อมอนุโมทนาในอาหารและน้ำดื่มเป็นอันมากโดยเคารพว่า
[๕] เพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด พวกเราจึงได้สุขสมบัติเช่นนี้
ขอญาติเหล่านั้นของพวกเราจงมีอายุยืน
อนึ่ง การบูชา ญาติผู้เป็นทายกก็ได้ทำแก่พวกเราแล้ว
และทายกก็ไม่ไร้ผล

เชิงอรรถ :
๑ พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พระเจ้าพิมพิสาร ณ กรุงราชคฤห์ (ขุ.ขุ.อ. ๗/๑๗๗)
๒ ดูเทียบ ขุ.เปต. (แปล) ๒๖/๑๔-๒๕/๑๗๐-๑๗๒, อภิ.ก. ๓๗/๔๙๐/๒๙๕
๓ เรือนของตน หมายถึงเรือนญาติของตน หรือเรือนที่เคยอยู่ในปางก่อน (ขุ.ขุ.อ. ๗/๑๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๗. ติโรกุฑฑสูตร
[๖] ในเปตวิสัย๑นั้น ไม่มีกสิกรรม (การทำไร่ไถนา)
ไม่มีโครักขกรรม (การเลี้ยงวัวไว้ขาย)
ไม่มีพาณิชกรรม (การค้าขาย) เช่นนั้น
การแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงิน ก็ไม่มี
ผู้ที่ตายไปเกิดเป็นเปรตในเปตวิสัยนั้น
ดำรงชีพด้วยผลทานที่พวกญาติอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
[๗] น้ำฝนที่ตกลงมาในที่ดอนย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด
ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
ย่อมสำเร็จผลแน่นอนแก่พวกเปรต ฉันนั้นเหมือนกัน
[๘] ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้เต็มเปี่ยม ฉันใด
ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
ย่อมสำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน
[๙] กุลบุตรเมื่อระลึกถึงอุปการะ
ที่ญาติผู้ละไปแล้ว(เปรต)เคยทำไว้ในกาลก่อนว่า
‘ผู้นั้นได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ได้ทำสิ่งนี้แก่เรา
ได้เป็นญาติ มิตร และสหายของเรา’
ก็ควรถวายทักษิณาทานอุทิศให้แก่ญาติผู้ละไปแล้ว
[๑๐] การร้องไห้ ความเศร้าโศก
หรือความร่ำไห้คร่ำครวญอย่างอื่นใด
ใคร ๆ ไม่ควรทำเลย เพราะการร้องไห้ เป็นต้นนั้น
ไม่เป็นประโยชน์แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
ญาติทั้งหลายก็ยังคงสภาพอยู่อย่างนั้น

เชิงอรรถ :
๑ เปตวิสัย หมายถึงภูมิหรือกำเนิดแห่งเปรต (ขุ.ขุ.อ. ๗/๑๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๘. นิธิกัณฑสูตร
[๑๑] ส่วนทักษิณาทานนี้แล ที่ตั้งไว้ดีแล้วในพระสงฆ์
ย่อมสำเร็จประโยชน์เกื้อกูลสิ้นกาลนาน
แก่หมู่ญาติที่เกิดเป็นเปรตนั้น โดยพลันทีเดียว
[๑๒] ญาติธรรม๑นี้นั้น ท่านแสดงออกแล้ว
การบูชาญาติที่ตายไปเป็นเปรต ท่านทำอย่างยิ่งใหญ่แล้ว
ทั้งกำลังกายของภิกษุ ท่านก็เพิ่มให้แล้ว
เป็นอันว่าท่านสั่งสมบุญไว้มิใช่น้อยเลย
ติโรกุฑฑสูตร จบ

๘. นิธิกัณฑสูตร
ว่าด้วยการฝังขุมทรัพย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุฎุมพีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ดังนี้)
[๑] คนเราฝังขุมทรัพย์๒ไว้ในที่ลึกจดถึงน้ำก็ด้วยคิดว่า
เมื่อเกิดกิจที่จำเป็นขึ้น ขุมทรัพย์นี้จะเป็นประโยชน์แก่เรา
[๒] คนเราฝังขุมทรัพย์ไว้ในโลก ก็เพื่อจุดประสงค์นี้ คือ
เพื่อให้พ้นจากราชภัยที่คอยคุกคาม
เพื่อให้พ้นจากโจรภัยที่คอยเบียดเบียน
เพื่อเก็บไว้ใช้หนี้ก็มี เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกิดทุพภิกขภัย๓
หรือเพื่อใช้ในเวลามีภัยอันตรายต่าง ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ญาติธรรม หมายถึงกิจคือการสงเคราะห์ต่อกันที่ญาติจะพึงกระทำต่อกัน (ขุ.ขุ.อ. ๗/๑๙๐)
๒ ขุมทรัพย์ มี ๔ ชนิด คือ (๑) ถาวระ คือขุมทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน ที่นา ที่สวน เงินและทอง (๒) ชังคมะ
คือขุมทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ เช่น ทาสชาย ทาสหญิง ช้าง ม้า โค กระบือ แกะ ไก่ สุกร เป็นต้น (๓) อังคสมะ
คือขุมทรัพย์ติดตัว เช่น วิชาความรู้ ศิลปวิทยา เป็นต้น (๔) อนุคามิกะ คือขุมทรัพย์ตามตัวทางคุณธรรม
ได้แก่ บุญกุศล ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา เป็นต้น ในที่นี้หมายถึงขุมทรัพย์ถาวร (ขุ.ขุ.อ. ๘/๑๙๓)
๓ ทุพภิกขภัย หมายถึงภัยที่เกิดจากข้าวยากหมากแพง หรือการขาดแคลนอาหารในบ้านเมือง (ขุ.ขุ.อ.
๘/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๘. นิธิกัณฑสูตร
[๓] ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้อย่างดีในที่ลึกจดน้ำถึงเพียงนั้น
จะสำเร็จประโยชน์แก่เขาไปทั้งหมด ตลอดเวลาก็หาไม่
[๔] เพราะบางทีขุมทรัพย์ก็เคลื่อนที่ไปก็มี
บางทีเขาลืมที่ฝังไว้ก็มี
บางทีพวกนาคเคลื่อนย้ายก็มี
บางทีพวกยักษ์นำขุมทรัพย์นั้นไปก็มี
[๕] หรือบางทีเมื่อเขาไม่เห็นทายาทผู้ไม่เป็นที่รักขโมยขุดเอาไปก็มี
เมื่อเขาสิ้นบุญ ขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ทั้งหมดนั้นก็พินาศหายไป
[๖] ขุมทรัพย์๑ที่ผู้ใดจะเป็นสตรีก็ตาม เป็นบุรุษก็ตาม
ฝังไว้ดีแล้ว ด้วยทาน ศีล สัญญมะ และทมะ๒
[๗] ในพระเจดีย์ พระสงฆ์ บุคคล แขกที่มาหา
ในมารดา บิดา หรือพี่ชาย
[๘] ขุมทรัพย์นี้ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว คนอื่นขนเอาไปไม่ได้
จะติดตามคนฝังตลอดไป
บรรดาทรัพย์สมบัติที่เขาจำต้องละไป
เขาพาไปได้เฉพาะขุมทรัพย์นี้เท่านั้น
[๙] ขุมทรัพย์นี้ไม่ทั่วไปแก่คนเหล่าอื่น ทั้งโจรก็ลักเอาไปไม่ได้
ผู้มีปัญญาควรทำแต่บุญที่จะเป็นขุมทรัพย์ติดตามตนตลอดไป
[๑๐] ขุมทรัพย์นี้ให้ผลอันน่าปรารถนาทุกประการ
แก่เทวดา และมนุษย์ คือเทวดาและมนุษย์ปรารถนาผลใด ๆ
ผลนั้น ๆ ทุกอย่าง จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้

เชิงอรรถ :
๑ ขุมทรัพย์ ในที่นี้หมายถึงขุมทรัพย์ชนิดอนุคามิกะ (ดูเชิงอรรถหน้า ๑๗ ประกอบ) (ขุ.ขุ.อ. ๘/๑๙๖)
๒ สัญญมะ หมายถึงการห้ามจิตมิให้ตกไปในอารมณ์ต่าง ๆ คำนี้เป็นชื่อของสมาธิและอินทรียสังวร ทมะ
หมายถึงการฝึกตน ได้แก่ การเข้าไประงับกิเลส คำนี้เป็นชื่อของปัญญา (ขุ.ขุ.อ. ๘/๑๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๘. นิธิกัณฑสูตร
[๑๑] ความมีผิวพรรณงดงาม ความมีเสียงไพเราะ
ความมีทรวดทรงสมส่วน ความมีรูปสวย
ความเป็นใหญ่ ความมีบริวาร ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๒] ความเป็นพระราชาในประเทศ ความเป็นอิสระ๑
ความสุขของความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอันน่าพอใจ
และแม้ความเป็นเทวราชของเทวดาในหมู่เทพ
ทั้งหมดก็จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๓] สมบัติของมนุษย์ก็ดี ความยินดีในเทวโลกก็ดี
สมบัติคือนิพพานก็ดี ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๔] บุคคลอาศัยมิตตสัมปทา๒
ประกอบความเพียรโดยแยบคาย
ก็จะเป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ
ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้
[๑๕] ปฏิสัมภิทา๓ วิโมกข์๔ สาวกบารมี๕
ปัจเจกโพธิ๖ และพุทธภูมิ๗
ทั้งหมดจะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้

เชิงอรรถ :
๑ ความเป็นอิสระ หมายถึงความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๓)
๒ มิตตสัมปทา หมายถึงความเพรียบพร้อมด้วยมิตรที่มีคุณความดี เช่น พระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารี
ผู้ดำรงตนน่าเคารพ (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๕)
๓ ปฏิสัมภิทา หมายถึงปัญญาแตกฉานมี ๔ ประการ คือ (๑) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ
(๒) ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม (๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติคือภาษา
(๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
๔ วิโมกข์ หมายถึงวิโมกข์ ๘ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
๕ สาวกบารมี หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระสาวก (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
๖ ปัจเจกโพธิ หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ได้เอง (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
๗ พุทธภูมิ หมายถึงบารมีที่ให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๙. เมตตสูตร
[๑๖] บุญสัมปทา๑นี้มีประโยชน์มากอย่างนี้
เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้เป็นปราชญ์
จึงสรรเสริญภาวะแห่งบุญที่ทำไว้แล้ว
นิธิกัณฑสูตร จบ

๙. เมตตสูตร
ว่าด้วยการแผ่เมตตา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า ดังนี้)
[๑] ผู้ฉลาดในประโยชน์มุ่งหวังบรรลุสันตบท๒
ควรบำเพ็ญกรณียกิจ๓ควรเป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง
เคร่งครัด ว่าง่าย อ่อนโยน และไม่เย่อหยิ่ง
[๒] ควรเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจน้อย๔
มีความประพฤติเบา๕ มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน
ไม่คะนอง๖ ไม่ยึดติดในตระกูลทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ บุญสัมปทา หมายถึงความถึงพร้อมแห่งบุญ (ขุ.ขุ.อ. ๘/๒๐๖)
๒ สันตบท หมายถึงนิพพาน (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๒)
๓ กรณียกิจ หมายถึงการศึกษาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ตรงกันข้ามกับ อกรณียกิจ คือ สีลวิบัติ
ทิฏฐิวิบัติ อาจารวิบัติ อาชีววิบัติ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๒)
๔ มีกิจน้อย ในที่นี้หมายถึงไม่ขวนขวายการงานต่าง ๆ ที่จะทำให้จิตฟุ้งซ่าน ไม่พูดคุยเพ้อเจ้อ ไม่คลุกคลี
หมู่คณะ ปล่อยวางหน้าที่รับผิดชอบงานก่อสร้าง งานบริหารคณะสงฆ์ เป็นต้น มุ่งบำเพ็ญสมณธรรมเป็น
หลัก (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๖)
๕ มีความประพฤติเบา ในที่นี้หมายถึงมีเพียงบริขาร ๘ เช่น บาตร จีวร เป็นต้น ไม่สะสมสิ่งของมากให้เป็น
ภาระ เหมือนนกมีเพียงปีกบินไปฉะนั้น (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๖)
๖ ไม่คะนอง หมายถึงไม่คะนองกาย วาจา และใจ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๙. เมตตสูตร
[๓] อนึ่ง ไม่ควรประพฤติความเสียหายใด ๆ
ที่จะเป็นเหตุให้วิญญูชนเหล่าอื่นตำหนิเอาได้
(ควรแผ่เมตตาไปในสรรพสัตว์อย่างนี้ว่า)
ขอสัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข
มีความเกษม มีตนเป็นสุขเถิด
[๔] คือ เหล่าสัตว์ที่ยังเป็นผู้หวาดสะดุ้งหรือเป็นผู้มั่นคง๑
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
เหล่าสัตว์ที่มีขนาดกายยาว ขนาดกายใหญ่ ขนาดกายปานกลาง
ขนาดกายเตี้ย ขนาดกายผอม หรือขนาดกายอ้วน
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[๕] เหล่าสัตว์ที่เคยเห็นก็ดี เหล่าสัตว์ที่ไม่เคยเห็นก็ดี
เหล่าสัตว์ที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลก็ดี ภูตหรือสัมภเวสี๒ก็ดี
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงมีตนเป็นสุขเถิด
[๖] ไม่ควรข่มเหง ไม่ควรดูหมิ่นกันและกันในทุกโอกาส
ไม่ควรปรารถนาทุกข์แก่กันและกัน
เพราะความโกรธและความแค้น

เชิงอรรถ :
๑ หวาดสะดุ้ง หมายถึงมีตัณหาและความกลัวภัย มั่นคง หมายถึงบรรลุอรหัตตผล เพราะละตัณหาและ
ความกลัวภัยได้ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๐)
๒ ในที่นี้ ภูต หมายถึงพระอรหันตขีณาสพ สัมภเวสี หมายถึงพระเสขะและปุถุชนผู้ยังต้องแสวงหาที่เกิด
ต่อไป เพราะยังละภวสังโยชน์ไม่ได้
อีกนัยหนึ่ง ในกำเนิด ๔ สัตว์ที่เกิดในไข่และเกิดในครรภ์ ถ้ายังไม่เจาะเปลือกไข่หรือคลอดจากครรภ์
ออกมา ยังเรียกว่า สัมภเวสี ต่อเมื่อเจาะเปลือกไข่หรือคลอดออกมา เรียกว่า ภูต, พวกสังเสทชะ (เกิดที่
ชื้นแฉะ) และพวกโอปปาติกะ (เกิดผุดขึ้น) ในขณะจิตแรก ก็เรียกว่า สัมภเวสี ตั้งแต่ขณะจิตที่ ๒ เป็นต้นไป
เรียกว่า ภูต (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๙. เมตตสูตร
[๗] ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณไปยังสรรพสัตว์
ดุจมารดาเฝ้าถนอมบุตรคนเดียวด้วยชีวิต ฉะนั้น
[๘] อนึ่ง ควรแผ่เมตตาจิตอย่างไม่มีประมาณ
กว้างขวาง ไม่มีเวร ไม่มีศัตรูไปยังสัตว์โลกทั่วทั้งหมด
ทั้งชั้นบน๑ ชั้นล่าง๒ และชั้นกลาง๓
[๙] ผู้แผ่เมตตาจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน
ควรตั้งสติ๔นี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วง
นักปราชญ์เรียกการอยู่ด้วยเมตตานี้ว่า พรหมวิหาร
[๑๐] อนึ่ง ผู้แผ่เมตตาที่ไม่ยึดถือทิฏฐิ๕
มีศีล ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ๖
กำจัดความยินดีในกามคุณได้แล้ว
ก็จะไม่เกิดในครรภ์อีกต่อไป
เมตตสูตร จบ
ขุททกปาฐะ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ชั้นบน หมายถึงอรูปภพ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๓)
๒ ชั้นล่าง หมายถึงกามภพ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๓)
๓ ชั้นกลาง หมายถึงรูปภพ (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๓)
๔ สติ หมายถึงเมตตาฌานัสสติ คือสติที่ประกอบด้วยเมตตาฌาน (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๔)
๕ ทิฏฐิ หมายถึงทิฏฐิที่ว่า “กองแห่งสังขารล้วน ๆ จัดเป็นสัตว์ไม่ได้” (ขุ.ขุ.อ. ๙/๒๒๕) และดู สํ.ส. (แปล)
๑๕/๑๗๑/๒๒๘
๖ ทัสสนะ หมายถึงโสดาปัตติมัคคสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งการบรรลุสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
อันเป็นเหตุให้ไปเกิดในชั้นสุทธาวาส แล้วบรรลุอรหัตตผลในที่นั้น ไม่กลับมาเกิดในครรภ์อีกต่อไป (ขุ.ขุ.อ.
๙/๒๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. ยมกวรรค ๑. จักขุปาลเถรวัตถุ
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ธรรมบท
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ยมกวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่กัน
๑. จักขุปาลเถรวัตถุ
เรื่องพระจักขุบาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑] ธรรมทั้งหลาย๑ มีใจ๒เป็นหัวหน้า๓
มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ
ถ้าคนมีใจชั่ว ก็จะพูดชั่วหรือทำชั่วตามไปด้วย
เพราะความชั่วนั้น ทุกข์ย่อมติดตามเขาไป
เหมือนล้อหมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งหลาย มีความหมาย ๔ ประการ คือ (๑) คุณธรรม (๒) เทศนาธรรม (๓) ปริยัติธรรม
(๔) นิสสัตตธรรม (สภาวะที่มิใช่สัตว์) หรือนิชชีวธรรม (สภาวะที่มิใช่ชีวะ) ในที่นี้หมายถึงนิสสัตตธรรม
ได้แก่ อรูปขันธ์ ๓ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ (ขุ.ธ.อ. ๑/๒๐-๒๑) และดู ขุ.ชา. (แปล)
๒๗/๓๘๖/๕๓๗ ประกอบ
๒ ใจ หมายถึงจิต ๔ ระดับ คือ จิตระดับกามาวจรภูมิ จิตระดับรูปาวจรภูมิ จิตระดับอรูปาวจรภูมิ และ
จิตระดับโลกุตตรภูมิ แต่ในที่นี้หมายเอาจิตที่มีโทมนัสประกอบด้วยปฏิฆะ เดิมทีเดียว จิตนั้นเป็นภวังคจิต
คือเป็นจิตที่ผ่องใส(ปภัสสรจิต) แต่เมื่อถูกเจตสิกธรรมฝ่ายชั่วกล่าวคืออุปกิเสสธรรมจรมากระทบเข้า ก็กลาย
เป็นจิตเศร้าหมองที่เรียกว่า ใจชั่ว ซึ่งพร้อมที่จะแสดงพฤติกรรมออกมาทางกายและวาจา (ขุ.ธ.อ. ๑/๒๐)
๓ เป็นหัวหน้า หมายถึงเป็นหัวหน้าของเจตสิกธรรม กล่าวคือเป็นเหตุปัจจัยให้เจตสิกธรรมเกิดขึ้น (ขุ.ธ.อ. ๑/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. ยมกวรรค ๓. ติสสเถรวัตถุ
๒. มัฏฐกุณฑลีวัตถุ
เรื่องนายมัฏฐกุณฑลี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อทินนปุพพกพราหมณ์บิดาของนาย
มัฏฐกุณฑลี ดังนี้)
[๒] ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า
มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ
ถ้าคนมีใจดี ก็จะพูดดีหรือทำดีตามไปด้วย
เพราะความดีนั้น สุขย่อมติดตามเขาไป
เหมือนเงาติดตามตัวเขาไป ฉะนั้น๑

๓. ติสสเถรวัตถุ๒
เรื่องพระติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓] ชนเหล่าใด เข้าไปผูกเวรว่า
“คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา
ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป”
เวรของชนเหล่านั้น ย่อมไม่สงบระงับ

เชิงอรรถ :
๑ ความหมายของธรรมบทข้อที่ ๒ นี้มีนัยตรงกันข้ามกับธรรมบทข้อที่ ๑ ดูเทียบเชิงอรรถหน้า ๒๓ และดู
ขุ.ธ.อ. ๑/๓๒-๓๔ ประกอบ
๒ ธรรมบทข้อ ๓-๖ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๔๖๔/๓๕๔, ม.อุ. ๑๔/๒๓๗/๒๐๓-๒๐๔, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๑๓-
๑๑๕/๒๒๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. ยมกวรรค ๕. โกสัมพิกวัตถุ
[๔] ส่วนชนเหล่าใด ไม่เข้าไปผูกเวรว่า
“คนนี้ได้ด่าเรา ได้ฆ่าเรา
ได้ชนะเรา และได้ลักสิ่งของของเราไป”
เวรของชนหล่านั้น ย่อมสงบระงับ

๔. กาลียักขินีวัตถุ
เรื่องนางยักษ์ชื่อกาลี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางยักษ์ชื่อกาลีและหญิงคนหนึ่ง ดังนี้)
[๕] เพราะว่าในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้
ย่อมไม่สงบระงับด้วยเวร๑
แต่เวรทั้งหลายย่อมสงบระงับด้วยการไม่จองเวร๒
นี้เป็นธรรมเก่า๓

๕. โกสัมพิกวัตถุ
เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีผู้ทะเลาะกัน ดังนี้)
[๖] ชนเหล่าอื่น๔ไม่รู้ชัดว่า “พวกเรากำลังย่อยยับอยู่ ณ ที่นี้”
ส่วนชนเหล่าใด๕ในหมู่นั้น รู้ชัด
ความมุ่งร้ายกันย่อมระงับ
เพราะการปฏิบัติของชนเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ เวรนั้นนอกจากจะไม่สงบระงับแล้วยังกลับเพิ่มพูนเวรต่อกันให้มากขึ้น เปรียบเหมือนการใช้น้ำสกปรก
ชำระล้างสิ่งสกปรกก็ยิ่งเพิ่มพูนความสกปรกมากขึ้นฉะนั้น (ขุ.ธ.อ. ๑/๔๕)
๒ การไม่จองเวร หมายถึงธรรมคือขันติ(ความอดทน) เมตตา(ความรัก) โยนิโสมนิการ(การพิจารณาโดย
แยบคาย) และปัจจเวกขณะ(การพิจารณา) (ขุ.ธ.อ. ๑/๔๕)
๓ เป็นธรรมเก่า หมายถึงเป็นทางปฏิบัติเพื่อสงบระงับเวรที่ประพฤติสืบ ๆ กันมาของพระพุทธเจ้า พระ
ปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. ๑/๔๕)
๔ ชนเหล่าอื่น หมายถึงคนที่สร้างความแตกแยกในหมู่ (ขุ.ธ.อ. ๑/๕๘)
๕ ชนเหล่าใด หมายถึงบัณฑิต (ขุ.ธ.อ. ๑/๕๘/)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. ยมกวรรค ๗. เทวทัตตวัตถุ
๖. มหากาลเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗] มาร๑ย่อมครอบงำบุคคลผู้พิจารณาเห็นความงาม๒
ไม่สำรวมอินทรีย์ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน
เหมือนพายุพัดต้นไม้ที่ไม่มั่นคงให้หักโค่นลงได้ ฉะนั้น
[๘] มารย่อมไม่ครอบงำบุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นความงาม
สำรวมอินทรีย์ดีแล้ว รู้จักประมาณในการบริโภค
มีศรัทธา และปรารภความเพียร
เหมือนพายุพัดโค่นภูเขาศิลาไม่ได้ ฉะนั้น

๗. เทวทัตตวัตถุ
เรื่องพระเทวทัต
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระเทวทัตที่ได้ผ้ากาสาวะมีราคามากจากแคว้น
คันธาระ จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุชาวเมืองราชคฤห์ ดังนี้)
[๙] ผู้ใดยังมีกิเลสดุจน้ำฝาด๓
ปราศจากทมะและสัจจะ๔

เชิงอรรถ :
๑ มาร ในที่นี้หมายถึงกิเลสมาร (ขุ.ธ.อ. ๑/๖๖)
๒ พิจารณาเห็นความงาม ในที่นี้หมายถึงอยู่อย่างปล่อยใจไปในอิฏฐารมณ์ เช่น ยึดถือว่าเล็บงาม นิ้วงาม
เท้างาม เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๑/๖๕)
๓ กิเลสดุจน้ำฝาด หมายถึงกิเลสดุจน้ำย้อม ได้แก่ ราคะ (ความกำหนัด) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ
(ความหลง) มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน) ปลาสะ (ความตีเสมอ) อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความ
ตระหนี่) มายา (มารยา) สาเถยยะ (ความโอ้อวด) ถัมภะ (หัวดื้อ) สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ความถือตัว)
อติมานะ (ความดูหมิ่น) มทะ (ความัวเมา) ปมาทะ (ความประมาท) อกุศลทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง กรรมนำ
สัตว์ไปเกิดในภพทั้งปวง และกิเลสพันห้า (ขุ.ธ.อ. ๑/๗๑, ขุ.ชา.อ. ๓/๑๔๑/๑๙๙)
๔ ในที่นี้ ทมะ หมายถึงการฝึกอินทรีย์ สัจจะ หมายถึงวจีสัจจะ (ขุ.ธ.อ. ๑/๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๑. ยมกวรรค ๘. สัญชยวัตถุ
จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ
ผู้นั้นไม่ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะเลย
[๑๐] ส่วนผู้ใดคายกิเลสดุจน้ำฝาด
ตั้งมั่นดีแล้วในศีล๑ ประกอบด้วยทมะและสัจจะ
ผู้นั้นแลควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะได้๒

๘. สัญชยวัตถุ
เรื่องสัญชัยปริพาชก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๑] ชนเหล่าใดเห็นสิ่งที่ไม่มีสาระ๓ว่ามีสาระ
และเห็นสิ่งที่มีสาระ๔ว่าไม่มีสาระ
ชนเหล่านั้น ชื่อว่ามีความดำริผิดเป็นทางปฏิบัติ
ย่อมไม่ประสบสิ่งที่มีสาระ๕
[๑๒] ส่วนชนเหล่าใดที่รู้สิ่งที่มีสาระว่ามีสาระ
และรู้สิ่งที่ไม่มีสาระว่าไม่มีสาระ
ชนเหล่านั้น ชื่อว่ามีความดำริชอบเป็นทางปฏิบัติ
ย่อมประสบสิ่งที่มีสาระ

เชิงอรรถ :
๑ ศีล ในที่นี้หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๑/๗๒)
๒ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๖๙-๙๗๐/๔๙๘, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๔๑-๑๔๒/๑๐๒, ๑๒๒-๑๒๓/๕๕๘
๓ สิ่งที่ไม่มีสาระ หมายถึงปัจจัย ๔ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ และธรรมเทศนาที่ส่งเสริมมิจฉาทิฏฐินั้น (ขุ.ธ.อ.
๑/๑๐๑)
๔ สิ่งที่มีสาระ หมายถึงสัมมาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ และธรรมเทศนาที่ส่งเสริมสัมมาทิฏฐินั้น (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๐๑)
๕ สาระ ในที่นี้หมายถึงสีลสาระ สมาธิสาระ ปัญญาสาระ วิมุตติสาระ วิมุตติญาณทัสสนสาระ ปรมัตถสาระ
และนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑. ยมกวรรค ๑๐. จูนทสูกริกวัตถุ
๙. นันทเถรวัตถุ
เรื่องพระนันทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๓] ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีได้ ฉันใด
ราคะย่อมรั่วรดจิตที่ไม่ได้อบรม๑ได้ ฉันนั้น
[๑๔] ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ ฉันใด
ราคะย่อมรั่วรดจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ ฉันนั้น๒

๑๐. จุนทสูกริกวัตถุ
เรื่องนายจุนทะฆ่าสุกร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๕] ผู้ทำบาปเป็นปกติ ย่อมเศร้าโศกในโลกนี้
ตายไปแล้วก็ยังเศร้าโศกในโลกหน้า
ชื่อว่าเศร้าโศกในโลกทั้งสอง
เขาย่อมเศร้าโศกเดือดร้อน เพราะเห็นกรรมที่เศร้าหมองของตน

เชิงอรรถ :
๑ จิตที่ไม่ได้อบรม หมายถึงจิตที่ไม่ได้อบรมด้วยสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ในคาถานี้หาใช่หมายเอา
เฉพาะราคะเท่านั้นไม่ที่รั่วรดจิต แต่ยังหมายเอากิเลสทั้งปวง มีโทสะ และโมหะ เป็นต้นด้วย (ขุ.ธ.อ.
๑/๑๐๙)
๒ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๓๓-๑๓๔/๓๕๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑. ยมกวรรค ๑๓. สุมนาเทวีวัตถุ
๑๑. ธัมมิกอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสกผู้ประพฤติธรรม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๖] ผู้ทำบุญไว้ ย่อมบันเทิงใจในโลกนี้
ตายไปแล้วก็ยังบันเทิงใจในโลกหน้า
ชื่อว่าบันเทิงใจในโลกทั้งสอง
เขาย่อมบันเทิงรื่นเริงใจเพราะเห็นกรรมที่บริสุทธิ์ของตน

๑๒. เทวทัตตวัตถุ
เรื่องพระเทวทัต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๗] ผู้ทำบาปเป็นปกติ ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้
ตายไปแล้วก็ยังเดือดร้อนในโลกหน้า
ชื่อว่าเดือดร้อนในโลกทั้งสอง
เขาย่อมเดือดร้อนใจว่า “เราได้ทำบาปไว้แล้ว”
ครั้นไปสู่ทุคติ เขายิ่งเดือดร้อนมากขึ้น

๑๓. สุมนาเทวีวัตถุ
เรื่องนางสุมนาเทวี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภนางสุมนาเทวีธิดาคนเล็กของเศรษฐีซึ่งเสียชีวิตจึง
ตรัสพระคาถานี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี ดังนี้)
[๑๘] ผู้ทำบุญไว้ ย่อมเพลิดเพลินใจในโลกนี้
ตายไปแล้วก็ยังเพลิดเพลินใจในโลกหน้า
ชื่อว่าเพลิดเพลินใจในโลกทั้งสอง
เขาย่อมเพลิดเพลินใจว่า “เราได้ทำบุญไว้แล้ว”
ครั้นไปสู่สุคติ เขายิ่งเพลิดเพลินใจมากขึ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑. ยมกววค ๑๔. เทวสหายกภิกขุวัตถุ
๑๔. เทวสหายกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุสองสหาย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๙] คนที่กล่าวพุทธพจน์๑แม้มาก
แต่มัวประมาท ไม่ทำตามพุทธพจน์นั้น
ย่อมไม่ได้รับผลแห่งความเป็นสมณะ๒
เหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโคได้แต่นับโคให้คนอื่น ฉะนั้น
[๒๐] คนที่กล่าวพุทธพจน์แม้น้อย
แต่ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นปกติ๓
ละราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว
รู้ชอบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว
ไม่ยึดติดในโลกนี้และโลกหน้า๔
เขาย่อมได้รับผลแห่งความเป็นสมณะ
ยมกวรรคที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พุทธพจน์ ในที่นี้หมายถึงพระไตรปิฎก (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๔๐)
๒ ผลแห่งความเป็นสมณะ หมายถึงมรรค ๔ ผล ๔ (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๔๐)
๓ ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ในที่นี้หมายถึงประพฤติธรรม คือ ปาริสุทธิศีล ๔ ประการ ธุดงค์ ๑๓ ประการ
และอสุภกัมมัฏฐาน เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมที่ควรแก่การบรรลุโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๔๑)
๔ ไม่ยึดติดในโลกนี้และโลกหน้า ในที่นี้หมายถึงไม่ถือมั่นขันธ์ ธาตุ และอายตนะทั้งภายในภายนอก ในโลก
นี้และโลกหน้าด้วยอุปาทาน ๔ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๑/๑๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒. อัปปมาทวรรค ๑. สามาวตีวัตถุ
๒. อัปปมาทวรรค
หมวดว่าด้วยความไม่ประมาท
๑. สามาวตีวัตถุ
เรื่องพระนางสามาวดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๑] ความไม่ประมาท๑ เป็นทางแห่งอมตะ๒
ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย
คนผู้ไม่ประมาทชื่อว่าย่อมไม่ตาย
คนผู้ประมาทจึงเหมือนคนตายแล้ว๓
[๒๒] บัณฑิตทราบความต่างกัน
ระหว่างความไม่ประมาทกับความประมาทนั้น
แล้วตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
ย่อมบันเทิงใจในความไม่ประมาท
ยินดีในทางปฏิบัติของพระอริยะทั้งหลาย๔
[๒๓] บัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์เหล่านั้น เพ่งพินิจ๕
มีความเพียรต่อเนื่อง มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์
ย่อมบรรลุนิพพานอันเป็นสภาวะยอดเยี่ยม ปลอดจากโยคะ๖

เชิงอรรถ :
๑ ความไม่ประมาท นี้เป็นชื่อของสติ (ขุ.ธ.อ. ๒/๖๐)
๒ ทางแห่งอมตะ หมายถึงอุบายบรรลุอมตะ คำว่า อมตะ (ไม่ตาย) หมายถึงนิพพาน นิพพานนั้นแล ที่ชื่อว่า
ไม่แก่ ไม่ตาย เพราะไม่เกิด (ขุ.ธ.อ. ๒/๖๐)
๓ ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๓๓๒/๕๘๘
๔ ทางปฏิบัติของพระอริยะ หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น และโลกุตตร-
ธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๒/๖๑)
๕ เพ่งพินิจ หมายถึงการเพ่งพินิจด้วยจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่มี ๒ อย่าง คือ อารัมมณูปนิชฌาน (การเพ่ง
อารมณ์ ได้แก่สมาบัติ ๘) และลักขณูปนิชฌาน (การเพ่งลักษณะ ได้แก่ วิปัสสนา มรรค และผล) (ขุ.ธ.อ.
๒/๖๑-๖๕)
๖ โยคะ หมายถึงสภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพมี ๔ ประการ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.ธ.อ.
๒/๖๒, ขุ.ธ.อ. ๘/๙๓,๑๐๙, ขุ.อุ.อ. ๑๙/๑๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒. อัปปมาทวรรค ๔. พาลนักขัตตวัตถุ
๒. กุมภโฆสกวัตถุ
เรื่องนายกุมภโฆสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าพิมพิสารและนายกุมภโฆสก ดังนี้)
[๒๔] ยศ๑ ย่อมเจริญแก่บุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียร
มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญก่อนทำ
สำรวม ดำรงชีวิตโดยธรรม และไม่ประมาท

๓. จูฬปันถกวัตถุ
เรื่องพระจูฬปันถก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๕] คนมีปัญญาพึงทำที่พึ่งดุจเกาะที่น้ำท่วมไม่ถึง๒
ด้วยความขยัน ด้วยความไม่ประมาท
ด้วยการสำรวม และด้วยการฝึกฝน

๔. พาลนักขัตตวัตถุ
เรื่องนักษัตรของคนพาล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๖] คนพาลมีปัญญาทราม ประกอบความประมาทอยู่เสมอ
ส่วนบัณฑิตผู้มีปัญญา รักษาความไม่ประมาทไว้
เหมือนคนรักษาทรัพย์อันประเสริฐ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ยศ หมายถึงความเป็นใหญ่ ความมีโภคสมบัติ ความนับถือ ความมีเกียรติ และการสรรเสริญ (ขุ.ธ.อ. ๒/๖๙)
๒ ที่พึ่งดุจเกาะที่น้ำท่วมไม่ถึง หมายถึงอรหัตตผล ที่น้ำ คือ โอฆะ ๔ (กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา) ท่วมไม่ถึง
(ขุ.ธ.อ. ๒/๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒. อัปปมาทวรรค ๖. เทวสหายกภิกขุวัตถุ
[๒๗] ท่านทั้งหลาย อย่าประกอบความประมาท
อย่าประกอบความเชยชมยินดีในกามเลย
เพราะผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งพินิจอยู่
ย่อมได้รับความสุขอันไพบูลย์๑

๕. มหากัสสปเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถา ดังนี้)
[๒๘] เมื่อใด บัณฑิตบรรเทาความประมาท ด้วยความไม่ประมาท
ขึ้นสู่ปัญญาดุจปราสาท๒ ไม่เศร้าโศก
พิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้มีความเศร้าโศก
เมื่อนั้น บัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ ย่อมเห็นคนพาลได้
เหมือนคนที่ยืนอยู่บนภูเขาเห็นคนที่ภาคพื้นได้ ฉะนั้น

๖. เทวสหายกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุสองสหาย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๒ รูป ดังนี้)
[๒๙] ผู้มีปัญญาดี๓ เป็นผู้ไม่ประมาท ในเมื่อผู้อื่นประมาท
เป็นผู้ตื่นอยู่โดยมาก๔ ในเมื่อผู้อื่นหลับ
ย่อมละทิ้งคนมีปัญญาทรามไปไกล
เหมือนม้าฝีเท้าจัดวิ่งละทิ้งม้าที่หมดแรงไว้ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความสุขอันไพบูลย์ หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๒/๘๕) และดู ๒ คาถานี้เทียบใน สํ.ส. (แปล) ๑๕/๓๖/๔๘
๒ ปัญญาดุจปราสาท ในที่นี้หมายถึงทิพพจักขุญาณอันบริสุทธิ์ (ขุ.ธ.อ. ๒/๘๗)
๓ ผู้มีปัญญาดี ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้มีสติไพบูลย์ (ขุ.ธ.อ. ๒/๘๙)
๔ ตื่นอยู่โดยมาก หมายถึงมีสติเต็มที่ (ขุ.ธ.อ. ๒/๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒. อัปปมาทวรรค ๙. นิคมวาสีติสสเถรวัตถุ
๗. มฆวัตถุ
เรื่องท้าวมัฆวาน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เจ้าลิจฉวีนามว่า มหาลิ ดังนี้)
[๓๐] ท้าวมัฆวานประเสริฐสุดในหมู่เทวดาเพราะความไม่ประมาท
บัณฑิตทั้งหลาย สรรเสริญความไม่ประมาท
และติเตียนความประมาททุกเมื่อ

๘. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๓๑] ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท
หรือเห็นภัยในความประมาท
เผาสังโยชน์๑น้อยใหญ่ได้หมด
เหมือนไฟเผาเชื้อน้อยใหญ่ให้หมดไป ฉะนั้น

๙. นิคมวาสีติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้อยู่ในนิคม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระผู้อยู่ในนิคม ดังนี้)
[๓๒] ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท
หรือมีปกติเห็นภัยในความประมาท
เป็นผู้ไม่เสื่อม๒ ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพานแน่แท้
อัปปมาทวรรคที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์มี ๑๐ อย่าง คือ (๑) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นอัตตาของตน
(๒) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (๓) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต (๔) กามราคะ ความกำหนัดในกาม
(๕) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ (๖) รูปราคะ ความกำหนัดในรูป (๗) อรูปราคะ ความกำหนัดในอรูป
(๘) มานะ ความถือตัว (๙) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน (๑๐) อวิชชา ความไม่รู้ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๐๖, ขุ.อิติ.อ. ๓๔/๑๒๑)
๒ ไม่เสื่อม หมายถึงไม่เสื่อมจากสมถและวิปัสสนา มรรคและผลที่ได้บรรลุแล้ว และทั้งยังจะได้บรรลุมรรค
ผลที่ยังไม่ได้บรรลุ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๐๙ องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๓๗/๓๖๗) และดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๓๗/๖๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๓. จิตตวรรค ๑. เมฆิยเถรวัตถุ
๓. จิตตวรรค
หมวดว่าด้วยการฝึกจิต
๑. เมฆิยเถรวัตถุ
เรื่องพระเมฆิยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเมฆิยเถระ ดังนี้)
[๓๓] จิตที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก๑
ผู้มีปัญญาสามารถควบคุมให้ตรงได้
เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรง ฉะนั้น
[๓๔] จิตนี้ย่อมดิ้นรนไปมา๒
เหมือนปลาที่ถูกยกขึ้นจากน้ำโยนไปบนบก ฉะนั้น
ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงควรละบ่วงแห่งมาร๓

เชิงอรรถ :
๑ ดิ้นรน หมายถึงดิ้นรนไปในอารมณ์ทั้ง ๖ มี รูปารมณ์ เป็นต้น
กวัดแกว่ง หมายถึงหวั่นไหว ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้นาน ดุจทารกไม่อาจทรงตัวอยู่ใน
อิริยาบถเดียวได้นาน ฉะนั้น
รักษายาก หมายถึงให้ดำรงอยู่ในอารมณ์ธรรมที่เป็นสัปปายะได้ยาก
ห้ามยาก หมายถึงห้ามหรือกันมิให้ซ่านไปในวิสภาคารมณ์ได้ยาก (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๒)
๒ ดิ้นรนไปมา หมายถึงยินดีในกามคุณ ๕ เมื่อถูกพรากจากกามคุณ ๕ ให้หยุดนิ่งอยู่ในวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ก็จะดิ้นรนไปมา ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ได้ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๒)
๓ บ่วงแห่งมาร ในที่นี้หมายถึงกิเลสวัฏ(วงจรกิเลส) ประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน (ขุ.ธ.อ.
๒/๑๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๓. จิตตวรรค ๓. อุกกัณฐิตภิกขุวัตถุ
๒. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๓๕] การฝึก๑จิตที่ควบคุมได้ยาก เปลี่ยนแปลงง่าย๒
ชอบใฝ่หาแต่อารมณ์ที่ปรารถนา จัดว่าเป็นความดี
เพราะจิตที่ฝึกแล้วย่อมนำสุขมาให้๓

๓. อุกกัณฐิตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้กระสันจะสึก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่งผู้กระสันจะสึก ดังนี้)
[๓๖] ผู้มีปัญญาควรรักษาจิต
ที่เห็นได้ยากยิ่ง ละเอียดยิ่ง
ชอบใฝ่หาแต่อารมณ์ที่ปรารถนา
เพราะจิตที่คุ้มครองแล้วย่อมนำสุขมาให้

เชิงอรรถ :
๑ การฝึก ในที่นี้หมายถึงการฝึกด้วยอริยมรรค ๔ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
และอรหัตตมรรค (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๘)
๒ เปลี่ยนแปลงง่าย หมายถึงเกิดดับเร็ว (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๘)
๓ สุข ในที่นี้หมายถึงสุขที่เกิดจากอริยมรรค อริยผล และสุขที่เกิดจากการบรรลุนิพพานอันเป็นประโยชน์
สูงสุด (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๓. จิตตวรรค ๕. จิตตหัตถเถรวัตถุ
๔. สังฆรักขิตเถรวัตถุ
เรื่องพระสังฆรักขิตเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระสังฆรักขิตเถระ ดังนี้)
[๓๗] คนเหล่าใดสำรวมจิต
ที่เที่ยวไปไกล๑ เที่ยวไปดวงเดียว๒
ไม่มีรูปร่าง๓ อาศัยอยู่ในถ้ำ๔
คนเหล่านั้นจักพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร๕

๕. จิตตหัตถเถรวัตถุ
เรื่องพระจิตตหัตถเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๘] ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้แจ้งสัทธรรม
มีความเลื่อมใสเลื่อนลอย
ย่อมไม่มีปัญญาสมบูรณ์
[๓๙] ผู้มีจิตไม่ชุ่มด้วยราคะ ไม่ขุ่นมัวด้วยโทสะ
ละบุญและบาปได้แล้ว มีสติตื่นอยู่
ย่อมไม่มีภัย๖

เชิงอรรถ :
๑ เที่ยวไปไกล หมายถึงรับอารมณ์ที่อยู่ไกลได้ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๒๖)
๒ เที่ยวไปดวงเดียว หมายถึงเกิดขึ้นทีละดวง ๆ ดวงหนึ่งดับ ดวงหนึ่งจึงเกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน
(ขุ.ธ.อ. ๒/๑๒๖)
๓ ไม่มีรูปร่าง หมายถึงไม่มีสัณฐาน ไม่มีสี เป็นต้น (ขุ.ธ.อ.๒/๑๒๖)
๔ อาศัยอยู่ในถ้ำ หมายถึงอาศัยอยู่ในมหาภูตรูป ๔ และหทัยรูป (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๒๖)
๕ เครื่องผูกแห่งมาร หมายถึงวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) (ขุ.ธ.อ.
๒/๑๒๖)
๖ไม่มีภัย ในที่นี้หมายถึงไม่มีภัยคือกิเลส คาถานี้ ตรัสถึงคุณสมบัติของพระขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๓. จิตตวรรค ๗. ปูติคัตตติสสเถรวัตถุ
๖. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๔๐] ภิกษุรู้ว่า ร่างกายนี้เปรียบเหมือนหม้อดิน
ควรป้องกันจิตนี้ เหมือนป้องกันพระนคร
แล้วใช้อาวุธคือปัญญารบกับมาร๑
และควรรักษาชัยชนะไว้ แต่ไม่ควรยินดียึดติด๒

๗. ปูติคัตตติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้มีร่างกายเน่าเปื่อย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระผู้มีร่างกายเน่าเปื่อย ดังนี้)
[๔๑] อีกไม่นานนัก ร่างกายนี้ก็จักปราศจากวิญญาณ
ถูกทอดทิ้งทับถมแผ่นดิน
เหมือนท่อนไม้ที่ไร้ประโยชน์ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ มาร ในที่นี้หมายถึงกิเลสมาร (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๓๗)
๒ ควรรักษาชัยชนะไว้ แต่ไม่ควรยินดียึดติด หมายถึงเมื่อภิกษุบรรลุสมาบัติได้วิปัสสนาอ่อน ๆ ชนะ
กิเลสได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ควรยึดติดอยู่เพียงสมาบัตินั้น ควรพิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยจิตที่ผ่องใสแล้ว
รักษาระดับจิตนั้นไว้ได้ ในที่สุด จะสามารถบรรลุมรรคผลอันสูงสุด ชนะกิเลสมารได้อย่างสิ้นเชิง (ขุ.ธ.อ.
๒/๑๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๓. จิตตวรรค ๙. โสเรยยวัตถุ
๘. นันทโคปาลกวัตถุ
เรื่องนายนันทะผู้เลี้ยงโค
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๒] จิตที่ตั้งไว้ผิด๑พึงทำให้ได้รับความเสียหาย
ยิ่งกว่าความเสียหายที่โจรเห็นโจร๒
หรือผู้จองเวรเห็นผู้จองเวร จะพึงทำให้แก่กัน

๙. โสเรยยวัตถุ
เรื่องพระโสเรยยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๓] จิตที่ตั้งไว้ชอบ๓ ย่อมอำนวยให้ได้ผลที่ประเสริฐยิ่ง
ที่มารดาบิดาก็ทำให้ไม่ได้
หรือแม้ญาติเหล่าอื่นก็ให้ไม่ได้
จิตตวรรคที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ จิตที่ตั้งไว้ผิด หมายถึงจิตที่ตั้งไว้ผิดในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ทำให้ถึงความพินาศฉิบหายในโลกนี้
และตกไปในอบายภูมิ ๔ ถึง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๔๓)
๒ โจรเห็นโจร หมายถึงโจรเห็นโจรที่เป็นคู่อาฆาตกันแล้วจะต้องฆ่ากัน หรือเบียดเบียนให้ได้รับความเสียหาย
(ขุ.ธ.อ. ๒/๑๔๓)
๓ จิตที่ตั้งไว้ชอบ หมายถึงจิตที่มุ่งมั่นประพฤติตามกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๒/๑๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๔. ปุปผวรรค ๑. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
๔. ปุปผวรรค
หมวดว่าด้วยดอกไม้
๑. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๔๔] ใครจักรู้แจ้งแผ่นดินนี้๑ ยมโลก๒
และมนุษยโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก
ใครจักเลือกบทธรรม๓ที่ตถาคตแสดงไว้ดีแล้ว
เหมือนช่างดอกไม้ผู้ชาญฉลาดเลือกเก็บดอกไม้ ฉะนั้น
[๔๕] พระเสขะ๔จักรู้แจ้งแผ่นดินนี้ ยมโลก
และมนุษยโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก
พระเสขะจักเลือกบทธรรมที่ตถาคตแสดงไว้ดีแล้ว
เหมือนช่างดอกไม้ผู้ชาญฉลาดเลือกเก็บดอกไม้ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ แผ่นดิน ในที่นี้หมายถึงอัตภาพ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑/๒)
๒ ยมโลก หมายถึงอบายภูมิ ๔ (ขุ.ธ.อ. ๓/๒)
๓ บทธรรม หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๓/๒)
๔ พระเสขะ หมายถึงพระอริยบุคคล ๗ จำพวก มีพระโสดาบัน เป็นต้น ผู้ศึกษาตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ
และปัญญา (ขุ.ธ.อ. ๓/๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๔. ปุปผวรรค ๓. วิฑูฑภวัตถุ
๒. มรีจิกัมมัฏฐานิกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เจริญมรีจิกัมมัฏฐาน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เจริญกัมมัฏฐานมีพยับแดดเป็นอารมณ์
ดังนี้)
[๔๖] ภิกษุผู้รู้แจ้งว่า ร่างกายนี้เปรียบเหมือนฟองน้ำ
รู้ชัดว่า ร่างกายนี้มีลักษณะดุจพยับแดด๑
ตัดพวงดอกไม้ของมาร๒ได้แล้ว
ก็จะไปถึงสถานที่ที่มัจจุราชหาไม่พบ๓

๓. วิฑูฑภวัตถุ
เรื่องเจ้าชายวิฑูฑภะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๗] มฤตยู๔ ย่อมฉุดคร่านรชนผู้มีใจติดข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ
ผู้มัวแต่เลือกเก็บดอกไม้๕อยู่
เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดพาเอาชาวบ้านที่หลับไหลไป ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อว่า เหมือนฟองน้ำ เพราะจะดำรงอยู่ได้ไม่นาน
ชื่อว่า ดุจพยับแดด เพราะปรากฏในที่ไกลเหมือนเป็นรูปที่จะยึดถือจับต้องได้ แต่พอเข้าใกล้กลับว่างเปล่า
ยึดถือจับต้องไม่ได้เลย ดำรงอยู่ได้ชั่วกาลนิดหน่อย (ขุ.ธ.อ. ๓/๔)
๒ ตัดพวงดอกไม้ของมาร หมายถึงตัดวัฏฏะในภูมิ ๓ (กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ) ได้ด้วยอริยมรรค (ขุ.ธ.อ. ๓/๔)
๓ สถานที่มัจจุราชหาไม่พบ หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๓/๔)
๔ มฤตยู หมายถึงความตาย (ขุ.ธ.อ. ๓/๒๕)
๕ ดอกไม้ ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๓/๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๔. ปุปผวรรค ๖. ปาฏิกาชีวกวัตถุ
๔. ปติปูชิกาวัตถุ
เรื่องนางปติปูชิกา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๘] มฤตยูย่อมทำคนที่มีใจติดข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ
ผู้มัวแต่เลือกเก็บดอกไม้อยู่
ผู้ไม่อิ่มในกามทั้งหลาย๑ ให้ตกอยู่ในอำนาจ

๕. มัจฉริโกสิยเสฏฐิวัตถุ
เรื่องโกสิยเศรษฐีผู้ตระหนี่
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๙] ภมรไม่ทำลายดอก สี และกลิ่น
ดูดแต่น้ำหวานไป ฉันใด
มุนีพึงเที่ยวไปในหมู่บ้าน ฉันนั้น๒

๖. ปาฏิกาชีวกวัตถุ
เรื่องอาชีวกชื่อปาฏิกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อุบาสิกาผู้รับใช้อาชีวกชื่อปาฏิกะ ดังนี้)
[๕๐] บุคคลไม่พึงใส่ใจถ้อยคำแสลงหูของคนอื่น
ไม่พึงเพ่งเล็งกิจที่คนอื่นทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำ
แต่พึงตรวจดูกิจที่ตนทำแล้วและยังไม่ได้ทำเท่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ไม่อิ่มในกามทั้งหลาย หมายถึงผู้ไม่อิ่มในกิเลสกามและวัตถุกาม มุ่งแต่จะแสวงหา มุ่งแต่จะให้ได้มา
มุ่งแต่จะใช้สอย และมุ่งแต่จะสะสม (ขุ.ธ.อ. ๓/๒๘)
๒ ความหมายในคาถานี้คือ มุนีผู้เป็นทั้งพระเสขะและพระอเสขะเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านตามลำดับเรือน
รับเอาภิกษาหารโดยไม่ทำลายศรัทธาและทรัพย์ของชาวบ้าน ดุจหมู่ผึ้งที่บินเข้าไปในหมู่ไม้ดูดเอาแต่น้ำหวาน
ไม่ทำลายดอก สี และกลิ่นของต้นไม้ ในคาถานี้ ตรัสถึงคุณสมบัติของพระขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. ๓/๓๔-๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๔. ปุปผวรรค ๙. อานันทเถรวัตถุ
๗. ฉัตตปาณิอุปาสกวัตถุ
เรื่องฉัตตปาณิอุบาสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๕๑] วาจาสุภาษิต๑ ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ทำตาม๒
เหมือนดอกไม้งาม มีสีสวย (แต่) ไม่มีกลิ่น
[๕๒] วาจาสุภาษิต ย่อมมีผลแก่ผู้ทำตามด้วยดี
เหมือนดอกไม้งาม มีทั้งสีและมีกลิ่น ฉะนั้น๓

๘. วิสาขาวัตถุ
เรื่องนางวิสาขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๕๓] สัตว์ผู้มีอันจะต้องตาย เมื่อเกิดมาแล้ว ควรสร้างกุศลไว้ให้มาก
เหมือนช่างดอกไม้ร้อยพวงมาลัยไว้เป็นจำนวนมากจากกองดอกไม้ ฉะนั้น

๙. อานันทเถรวัตถุ
เรื่องพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๕๔] กลิ่นดอกไม้ลอยไปทวนลมไม่ได้
กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา

เชิงอรรถ :
๑ วาจาสุภาษิต ในที่นี้หมายถึงพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก (ขุ.ธ.อ. ๒/๔๒)
๒ ผู้ไม่ทำตาม หมายถึงบุคคลผู้ไม่ตั้งใจประพฤติตามพระพุทธพจน์โดยเอื้อเฟื้อ กล่าวคือไม่ตั้งใจฟัง ทรงจำ
และนำมาปฏิบัติ ผลจึงไม่เกิดแก่ผู้นั้น (ขุ.ธ.อ. ๓/๔๒)
๓ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๓๒๓-๓๒๔/๓๙๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๔. ปุปผวรรค ๑๑. โคธิกเถรวัตถุ
หรือกลิ่นกระลำพักก็ลอยไปทวนลมไม่ได้
ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษ ลอยไปทวนลมได้
เพราะสัตบุรุษขจรไปทั่วทุกทิศ๑
[๕๕] กลิ่นศีลยอดเยี่ยมกว่ากลิ่นหอมเหล่านี้ คือ
กลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา กลิ่นดอกอุบล และกลิ่นดอกมะลิ

๑๐. มหากัสสปเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๕๖] กลิ่นกฤษณา หรือกลิ่นจันทน์นี้ หอมเพียงเล็กน้อย
แต่กลิ่นของท่านผู้มีศีล หอมมากที่สุด
หอมฟุ้งไปทั่วทั้งเทวโลกและมนุษยโลก

๑๑. โคธิกเถรวัตถุ
เรื่องพระโคธิกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๕๗] มารย่อมไม่พบทางของท่านผู้มีศีลสมบูรณ์
ผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทเป็นปกติ
ผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ

เชิงอรรถ :
๑ สัตบุรุษย่อมมีกลิ่นเกียรติคุณคือศีลแผ่ขจรไปทั่วทุกทิศ (ขุ.ธ.อ. ๓/๗๖) และดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/
๘๐/๓๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๑. อัญญตรปุริสวัตถุ
๑๒. ครหทินนวัตถุ
เรื่องนายครหทินน์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นายครหทินน์ และนายสิริคุตต์ ดังนี้)
[๕๘] ในกองขยะที่เขาทิ้งไว้ข้างทางใหญ่
ยังมีดอกบัวมีกลิ่นหอมรื่นรมย์ใจเกิดขึ้นมาได้ ฉันใด
[๕๙] ในหมู่ปุถุชนผู้มืดมนซึ่งเปรียบได้กับกองขยะ
ก็ยังมีสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเจริญรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา ฉันนั้น
ปุปผวรรคที่ ๔ จบ

๕. พาลวรรค
หมวดว่าด้วยคนพาล๑
๑. อัญญตรปุริสวัตถุ
เรื่องชายคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล และชายคนหนึ่ง ดังนี้)
[๖๐] ราตรีหนึ่ง ยาวนานสำหรับคนผู้ตื่นอยู่
ระยะทางโยชน์หนึ่ง ยาวไกลสำหรับคนผู้เมื่อยล้า
สังสารวัฏ๒ยาวนานสำหรับคนพาลผู้ไม่รู้แจ้งสัทธรรม

เชิงอรรถ :
๑ คนพาล ในที่นี้หมายถึงคนโง่ ไม่มีปัญญา ไม่รู้จักประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า ไม่รู้จักพระ
สัทธรรมมีโพธิปักขิยธรรม และอริยสัจ ๔ เป็นต้น จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๐๖,
ขุ.ธ.ฏีกา ๘๑)
๒ สังสารวัฏ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิด (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๔. คัณฐิเภทกโจรวัตถุ
๒. มหากัสสปสัทธิวิหาริกวัตถุ
เรื่องสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้อยู่ในกรุงราชคฤห์ ดังนี้)
[๖๑] หากบุคคลเที่ยวหาคนดีกว่าตน หรือเสมอกับตนไม่ได้
ก็ควรถือการเที่ยวไปคนเดียวให้มั่นคง
เพราะจะหาความเป็นเพื่อน๑ในคนพาลไม่ได้เลย

๓. อานันทเสฏฐิวัตถุ
เรื่องอานันทเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เศรษฐีชื่อมูลสิริบุตรของอานันทเศรษฐี ดังนี้)
[๖๒] คนพาลย่อมเดือดร้อนว่า “เรามีบุตร เรามีทรัพย์”
แท้จริง ตัวตนก็ไม่มี บุตรและทรัพย์จักมีแต่ที่ไหน

๔. คัณฐิเภทกโจรวัตถุ
เรื่องโจรผู้ทำลายปม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่โจรผู้ทำลายปมและชนทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๓] คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล
ยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง
แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต
นั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้

เชิงอรรถ :
๑ ความเป็นเพื่อน ในที่นี้หมายถึงคุณธรรมที่ได้จากความเป็นเพื่อนคือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล กถาวัตถุ ๑๐
ธุดงคคุณ ๑๓ วิปัสสนา มรรค ๔ ผล ๔ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๗. สุปปพุทธกุฏฐิวัตถุ
๕. อุทายิเถรวัตถุ
เรื่องพระอุทายีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๔] คนพาล แม้จะอยู่ใกล้บัณฑิตชั่วชีวิต
ก็ไม่รู้แจ้งธรรม เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง ฉะนั้น

๖. ปาเฐยยกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุชาวเมืองปาฐา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๕] วิญญูชน แม้จะอยู่ใกล้บัณฑิตเพียงชั่วครู่
ก็รู้แจ้งธรรมได้ฉับพลัน เหมือนลิ้นรู้รสแกง ฉะนั้น

๗. สุปปพุทธกุฏฐิวัตถุ
เรื่องนายสุปปพุทธะผู้เป็นโรคเรื้อน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๖] คนพาลผู้มีปัญญาทราม ทำตนให้เป็นดุจข้าศึก
เที่ยวทำบาปกรรมที่ให้ผลเผ็ดร้อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๑๐. อุปปลวัณณาเถรีวัตถุ
๘. กัสสกวัตถุ
เรื่องชาวนา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ชาวนาคนหนึ่ง ดังนี้)
[๖๗] บุคคลทำกรรมใดแล้ว
ย่อมเดือดร้อนใจในภายหลัง
ร้องไห้น้ำตานองหน้า เสวยผลกรรมอยู่
กรรมนั้นชื่อว่า เป็นกรรมไม่ดี

๙. สุมนมาลาการวัตถุ
เรื่องช่างดอกไม้ชื่อสุมนะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๘] บุคคลทำกรรมใดแล้ว
ย่อมไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง
อิ่มเอิบ ดีใจ เสวยผลกรรมอยู่
กรรมนั้นชื่อว่า เป็นกรรมดี

๑๐. อุปปลวัณณาเถรีวัตถุ
เรื่องพระอุบลวัณณาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๖๙] ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล
คนพาลย่อมสำคัญบาปดุจน้ำผึ้ง๑
แต่เมื่อใดบาปให้ผล เมื่อนั้นคนพาลย่อมประสบทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ สำคัญบาปดุจน้ำผึ้ง หมายถึงสำคัญว่าบาปอกุศลที่ตนทำอยู่ ปรากฏน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ
เหมือนน้ำผึ้ง (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๑๓. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
๑๑. ชัมพุกาชีวกวัตถุ
เรื่องอาชีวกชื่อชัมพุกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มหาชนชาวแคว้นอังคะและมคธ ดังนี้)
[๗๐] คนพาลถึงใช้ปลายหญ้าคาจิ้มอาหารกินทุกๆ เดือน
เขาก็ไม่ได้รับผลแห่งการปฏิบัติเช่นนั้น
เท่าเสี้ยวที่ ๑๖ ของผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว๑

๑๒. อหิเปตวัตถุ
เรื่องเปรตผู้มีรูปร่างเหมือนงู
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๑] บาปกรรมที่บุคคลทำแล้วยังไม่ให้ผลทันที
เหมือนน้ำนมที่รีดในวันนี้
บาปกรรมนั้นจะค่อย ๆ เผาผลาญคนพาล
เหมือนไฟที่ถูกเถ้ากลบไว้ ฉะนั้น

๑๓. สัฏฐิกูฏเปตวัตถุ
เรื่องเปรตถูกฆ้อนต่อยศีรษะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๒] ความรู้๒เกิดแก่คนพาลเพียงเพื่อทำลายถ่ายเดียว
ความรู้ของคนพาลนั้น กำจัดคุณงามความดี
ทำปัญญาของเขาให้ตกต่ำ

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว หมายถึงผู้มีธรรมอันรู้แล้ว ผู้มีธรรมอันชั่งได้แล้ว ในที่นี้หมายถึง พระโสดาบัน
จนถึงพระอรหันต์ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๔๗)
๒ ความรู้ ในที่นี้หมายรวมถึงศิลปะ ยศ ชื่อเสียง (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๕. พาลวรรค ๑๔. สุธัมมเถรวัตถุ
๑๔. สุธัมมเถรวัตถุ
เรื่องพระสุธัมมเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระสุธัมมเถระ ดังนี้)
[๗๓] ภิกษุพาลปรารถนาการยกย่องที่ตนไม่มี๑
ปรารถนาให้ภิกษุทั้งหลายตามแวดล้อมตน
ปรารถนาความเป็นใหญ่ในอาวาส
และปรารถนาเครื่องบูชาจากชาวบ้านทั้งหลาย
[๗๔] ภิกษุพาลเกิดความดำริว่า
“ขอให้คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้ง ๒ ฝ่าย จงเข้าใจว่า
เราผู้เดียวทำกิจนี้ เราผู้เดียวพึงมีอำนาจในการงาน
ไม่ว่ากิจการใหญ่หรือเล็ก”
ความริษยา๒และความถือตัว๓จึงเกิดพอกพูนขึ้น

เชิงอรรถ :
๑ ปรารถนาการยกย่องที่ตนไม่มี หมายถึงไม่มีศรัทธา ต้องการให้คนชมว่ามีศรัทธา ทุศีลต้องการให้คนชม
ว่ามีศีล เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๕๙)
๒ ความริษยา ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่เกิดในทวาร ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๖๐)
๓ ความถือตัว ในที่นี้หมายถึงมานะ ๙ อย่าง (๑) เป็นผู้เลิศกว่าเขา ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา (๒) เป็นผู้เลิศกว่าเขา
ถือตัวว่าเสมอเขา (๓) เป็นผู้เลิศกว่าเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา (๔) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา
(๕) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าเสมอเขา (๖) เป็นผู้เสมอเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา (๗) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา
ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา (๘) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา ถือตัวว่าเสมอเขา (๙) เป็นผู้ด้อยกว่าเขา ถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
(ขุ.ธ.อ. ๓/๑๖๐) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๑/๙๖-๙๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๖. ปัณฑิตวรรค ๑. ราธเถรวัตถุ
๑๕ วนวาสีติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระวนวาสีติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๕] ข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้ได้ลาภเป็นอย่างหนึ่ง
ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงนิพพานเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
รู้ชัดข้อปฏิบัติทั้งสองนี้แล้ว ไม่พึงยินดีสักการะ๑
แต่พึงเพิ่มพูนวิเวก๒(ให้ต่อเนื่อง)
พาลวรรคที่ ๕ จบ

๖. ปัณฑิตวรรค
หมวดว่าด้วยบัณฑิต
๑. ราธเถรวัตถุ
เรื่องพระราธเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๖] บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญามักชี้โทษ
มักพูดปรามไว้ เหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์
(และ) พึงคบผู้ที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้น
เพราะเมื่อคบคนเช่นนั้น ย่อมมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย๓

เชิงอรรถ :
๑ สักการะ ในที่นี้หมายถึงปัจจัย ๔ (จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร) (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๘๑)
๒ วิเวก หมายถึงความสงัด มี ๓ คือ (๑) กายวิเวก ความสงัดกาย (๒) จิตตวิเวก ความสงัดใจ (๓) อุปธิวิเวก
ความสงัดอุปธิ (ขุ.ธ.อ. ๓/๑๘๑)
๓ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๙๓/๕๐๒, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๐๘/๖๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๖. ปัณฑิตวรรค ๔. มหากัปปินเถรวัตถุ
๒. อัสสชิปุนัพพสุกวัตถุ
เรื่องพระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๗] ผู้ใดพึงกล่าวสอน พร่ำสอน
และห้ามจากความชั่ว
ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย
แต่ไม่เป็นที่รักของอสัตบุรุษทั้งหลาย๑

๓. ฉันนเถรวัตถุ
เรื่องพระฉันนเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๘] บุคคลไม่พึงคบมิตรชั่ว๒ ไม่พึงคบคนต่ำช้า๓
พึงคบแต่กัลยาณมิตร พึงคบแต่สัตบุรุษ

๔. มหากัปปินเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัปปินเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๗๙] บุคคลผู้อิ่มเอิบในธรรม๔ มีใจผ่องใส ย่อมอยู่เป็นสุข
บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยะประกาศแล้วทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๙๕/๕๐๒, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๐๘/๖๑๐
๒ มิตรชั่ว หมายถึงผู้ยินดีในอกุศลกรรม มีกายทุจริต เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๗)
๓ คนต่ำช้า หมายถึงคนที่ชักนำในสิ่งที่ไม่สมควร มีการตัดช่องย่องเบา เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๗)
๔ ผู้อิ่มเอิบในธรรม หมายถึงบุคคลผู้บรรลุโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) (ขุ.ธ.อ.
๔/๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๖. ปัณฑิตวรรค ๗. กาณมาตาวัตถุ
๕. ปัณฑิตสามเณรวัตถุ
เรื่องบัณฑิตสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๐] คนไขน้ำ ย่อมไขน้ำ
ช่างศร ย่อมดัดลูกศร
ช่างไม้ ย่อมถากไม้
บัณฑิต ย่อมฝึกตน๑

๖. ลกุณฑกภัททิยเถรวัตถุ
เรื่องพระลกุณฑกภัททิยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๑] ภูเขาศิลาล้วน เป็นแท่งทึบ ย่อมไม่สะเทือนเพราะลม ฉันใด
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาหรือสรรเสริญ๒ ฉันนั้น

๗. กาณมาตาวัตถุ
เรื่องมารดาของนางกาณา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๒] บัณฑิตทั้งหลายฟังธรรมแล้ว ย่อมผ่องใส๓
ดุจห้วงน้ำที่ลึก ใสสะอาด ไม่ขุ่นมัว ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ฝึกตน หมายถึงฝึกฝนตนเองเพื่อบรรลุอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. ๔/๓๕) และดู ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๕๒/๔๓๑, ขุ.เถร.
(แปล) ๒๖/๘๗๗/๔๘๔
๒ ในคาถานี้ แม้จะตรัสโลกธรรมไว้เพียง ๒ ประการ คือ นินทาและสรรเสริญก็จริง แต่พึงทราบว่า ทรงแสดง
โลกธรรมไว้ทั้ง ๘ ประการ ความหมายโดยสรุป คือ ไม่หวั่นไหวทั้งในอิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่น่าปรารถนา)
และอนิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) (ขุ.ธ.อ. ๔/๓๖)
๓ ผ่องใส ในที่นี้หมายถึงบรรลุสภาวะที่จิตปราศจากอุปธิกิเลสด้วยอำนาจโสดาปัตติมรรค เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๖. ปัณฑิตวรรค ๙. ธัมมิกเถรวัตถุ
๘. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๓] สัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมเว้นในธรรมทั้งปวง๑
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่พร่ำเพ้อเพราะกามคุณเป็นเหตุ
บัณฑิตทั้งหลายจะประสบสุขหรือทุกข์
ย่อมไม่แสดงอาการขึ้นลง๒

๙. ธัมมิกเถรวัตถุ
เรื่องพระธัมมิกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๔] บัณฑิตย่อมไม่ทำบาปเพราะตนเป็นเหตุ
หรือเพราะผู้อื่นเป็นเหตุ
บุคคลไม่พึงปรารถนาบุตร ทรัพย์ แว่นแคว้น
หรือความสำเร็จเพื่อตน โดยไม่ชอบธรรม
พึงเป็นผู้มีศีล มีปัญญา และยึดมั่นอยู่ในธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ย่อมเว้นในธรรมทั้งปวง หมายถึงมีอรหัตตมัคคญาณเป็นเครื่องเว้นหรือละฉันทราคะ(ความกำหนัดด้วย
อำนาจความพอใจ)ในขันธ์ ๕ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๒)
๒ ไม่แสดงอาการขึ้นลง หมายถึงไม่แสดงอาการยินดีหรือยินร้ายเมื่อถูกโลกธรรมกระทบ (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๖. ปัณฑิตวรรค ๑๑. ปัญจสตอาคันตุกภิกขุวัตถุ
๑๐. ธัมมัสสวนวัตถุ๑
เรื่องการฟังธรรม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๘๕] ในหมู่มนุษย์ เหล่าชนผู้ไปถึงฝั่งโน้น๒ มีจำนวนน้อย
ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้เลาะไปตามฝั่งนี้๓ทั้งนั้น
[๘๖] ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามธรรม
ในธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ๔
ชนเหล่านั้นจักข้ามพ้นวัฏฏะ
อันเป็นบ่วงมารที่ข้ามได้แสนยาก ไปถึงฝั่งโน้นได้

๑๑. ปัญจสตอาคันตุกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุอาคันตุกะ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุอาคันตุกะผู้อยู่ในแคว้นโกศล ดังนี้)
[๘๗] บัณฑิตละธรรมดำ๕ แล้วพึงเจริญธรรมขาว๖
ออกจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ๗

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๔/๓๓, ๑๙๘/๗๔, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๑๗/๒๖๙-๒๗๐
๒ ฝั่งโน้น หมายถึงนิพพาน (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕, ขุ.ธ.อ. ๔/๔๕, สํ.ม.อ. ๓/๓๑-๔๐/๑๙๖)
๓ ฝั่งนี้ หมายถึงสักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นอัตตาของตน) (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๕) หรือหมายถึงวัฏฏะ (สํ.ม.อ.
๓/๓๑-๔๐/๑๙๖)
๔ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔
นิพพาน ๑ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕)
๕ ธรรมดำ หมายถึงอกุศลธรรม มีกายทุจริต เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๗)
๖ ธรรมขาว หมายถึงกุศลธรรม มีกายสุจริต เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๗)
๗ ออกจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ หมายถึงออกจากวัฏฏะที่เรียกว่า โอกะ (ที่มีน้ำ) มาสู่วิวัฏฏะที่เรียกว่า อโนกะ
(ที่ไม่มีน้ำ) ได้แก่ นิพพาน (สํ.ม.อ. ๓/๓๑-๔๐/๑๙๖, องฺ.ทสก.อ.๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕, ขุ.ธ.อ.๔/๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๗. อรหันตวรรค ๑. ชีวกวัตถุ
[๘๘] ละกามทั้งหลายแล้ว เป็นผู้หมดความกังวล
พึงปรารถนายินดียิ่งในวิเวกที่ยินดีได้ยากยิ่ง
พึงชำระตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งหลาย
[๘๙] บัณฑิตเหล่าใดอบรมจิตโดยชอบ
ในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย
ไม่ถือมั่น ยินดีในนิพพานเป็นที่สละความถือมั่น
บัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้ว
มีความรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก๑
ปัณฑิตวรรคที่ ๖ จบ

๗. อรหันตวรรค
หมวดว่าด้วยพระอรหันต์
๑. ชีวกวัตถุ
เรื่องหมอชีวก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่หมอชีวก ดังนี้)
[๙๐] ผู้บรรลุจุดหมายปลายทางแล้ว๒
ไร้ความโศก หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง๓
ละกิเลสเครื่องร้อยรัด๔ได้หมด ย่อมไม่มีความเร่าร้อน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๔/๓๓-๓๔, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๖๙/๒๖๙-๒๗๐
๒ ผู้บรรลุจุดหมายปลายทาง หมายถึงพระขีณาสพผู้ถึงที่สุดแห่งสังสารวัฏ (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๙)
๓ ธรรมทั้งปวง หมายถึงธรรมทั้งหลายมีขันธ์ ๕ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๙)
๔ กิเลสเครื่องร้อยรัด หมายถึงกิเลส ๔ อย่าง คือ (๑) อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่น
(๒) พยาบาท ความคิดร้ายผู้อื่น (๓) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลและวัตร (๔) อิทังสัจจาภินิเวส
ความถือมั่นว่านี้เท่านั้นจริง (ขุ.ธ.อ. ๔/๔๙) และดู ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๙/๑๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๗. อรหันตวรรค ๓. เพฬัฏฐสีสเถรวัตถุ
๒. มหากัสสปเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๙๑] ผู้มีสติ หมั่นประกอบความเพียร๑
ไม่ติดในที่อยู่ ละความห่วงอาลัยไป
เหมือนหงส์ละเปือกตมไป ฉะนั้น

๓. เพฬัฏฐสีสเถรวัตถุ
เรื่องพระเพฬัฏฐสีสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๙๒] ผู้ไม่มีการสั่งสม๒
กำหนดรู้อาหารก่อนแล้วจึงบริโภค
มีสุญญตวิโมกข์๓ และอนิมิตตวิโมกข์ เป็นอารมณ์
ไม่ทิ้งทางไว้ให้เป็นที่รู้ได้
เหมือนนกไม่ทิ้งทางไว้ในอากาศ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีสติ หมั่นประกอบความเพียร ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้มีสติไพบูลย์ หมั่นประกอบในคุณธรรมมี
ฌานและวิปัสสนา เป็นต้น ที่ตนได้บรรลุแล้วโดยการนึก การเข้า การออก การอธิษฐาน และการพิจารณา
(ขุ.ธ.อ.๔/๕๒)
๒ การสั่งสม มี ๒ อย่าง คือ (๑) กัมมสันนิจยะ การสั่งสมกรรมคือกุศลและอกุศล (๒) ปัจจยสันนิจยะ
การสั่งสมปัจจัย ๔ (ขุ.ธ.อ.๔/๕๓-๕๔)
๓ สุญญตวิโมกข์ หมายถึงสภาวะที่หลุดพ้น เพราะว่างจาก ราคะ โทสะ โมหะ
อนิมิตตวิโมกข์ หมายถึงสภาวะที่หลุดพ้น เพราะไม่มีนิมิต คือ ราคะ เป็นต้น
ในคาถาที่ ๙๒-๙๓ นี้ หมายรวมถึงอัปปณิหิตวิโมกข์ ได้แก่ สภาวะที่หลุดพ้น เพราะไม่มีที่ตั้งคือกิเลส
มีราคะเป็นต้นด้วย วิโมกข์ทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นชื่อของนิพพาน (ขุ.ธ.อ.๔/๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๗. อรหันตวรรค ๕. มหากัจจายนเถรวัตถุ
๔. อนุรุทธเถรวัตถุ
เรื่องพระอนุรุทธเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๙๓] ท่านผู้สิ้นอาสวะแล้ว ไม่ติดในอาหาร
มีสุญญตวิโมกข์ และอนิมิตตวิโมกข์ เป็นอารมณ์
ไม่ทิ้งร่องรอยไว้ให้เป็นที่รู้ได้
เหมือนนกไม่ทิ้งร่องรอยไว้ในอากาศ ฉะนั้น๑

๕. มหากัจจายนเถรวัตถุ
เรื่องพระมหากัจจายนเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๙๔] ผู้ใดฝึกอินทรีย์๒ให้สงบได้
เหมือนม้าที่นายสารถีฝึกดีแล้ว
ผู้นั้นย่อมละมานะได้ ไม่มีอาสวะ คงที่
แม้ทวยเทพทั้งหลายก็รักใคร่

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๒/๓๓๗
๒ อินทรีย์ หมายถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (ขุ.ธ.อ. ๔/๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๗. อรหันตวรรค ๘. สารีปุตตเถรวัตถุ
๖. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๙๕] ภิกษุผู้คงที่ มีวัตรงาม
ไม่ยินดียินร้าย เสมอด้วยแผ่นดิน
เปรียบด้วยเสาเขื่อน
(มีใจผ่องใส) เหมือนห้วงน้ำไร้เปือกตม
สังสารวัฏย่อมไม่มีแก่ผู้เช่นนั้น

๗. โกสัมพีวาสีติสสเถรสามเณรวัตถุ
เรื่องสามเณรของพระติสสเถระชาวเมืองโกสัมพี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระชาวเมืองโกสัมพี ดังนี้)
[๙๖] ผู้หลุดพ้นเพราะรู้ชอบ ผู้สงบ ผู้คงที่
ย่อมมีมโนกรรมที่สงบ วจีกรรมที่สงบ กายกรรมที่สงบ

๘. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้อยู่ในป่า ๓๐ รูป ดังนี้)
[๙๗] นรชนใด ผู้ไม่ต้องเชื่อใคร๑
รู้จักนิพพานที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ต้องเชื่อใคร ในที่นี้หมายถึงรู้แจ้งธรรมอย่างประจักษ์ชัดด้วยตนเอง ไม่ต้องรอสดับธรรมจากผู้อื่น (ขุ.ม.อ.
๘๘/๓๓๙-๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๗. อรหันตรรค ๑๐. อัญญตริตถีวัตถุ
ตัดรอยต่อ๑แห่งการเกิดใหม่
ทำลายโอกาส๒ แห่งการท่องเที่ยวไปในสงสาร
คายความหวังแล้ว นรชนนั้นแล เป็นบุรุษสูงสุด๓

๙. ขทิรวนิยเรวตเถรวัตถุ
เรื่องพระเรวตเถระผู้อยู่ในป่าไม้ตะเคียน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางวิสาขามิคารมาตา ดังนี้)
[๙๘] พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่สถานที่ใด
คือ จะเป็นบ้านก็ตาม ป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม
สถานที่นั้น เป็นรมณียสถาน๔

๑๐. อัญญตริตถีวัตถุ
เรื่องหญิงคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๙๙] ท่านผู้ปราศจากราคะทั้งหลาย
จะยินดีป่าทั้งหลาย อันน่ารื่นรมย์
ที่ชนผู้แสวงหากามไม่ยินดี
เพราะท่านเหล่านั้นไม่แสวงหากาม๕
อรหันตวรรคที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ รอยต่อ หมายถึงวัฏฏสนธิ (รอยต่อคือวัฏฏะ) สังสารสนธิ (รอยต่อคือสงสาร) (ขุ.ธ.อ. ๔/๘/๖๖)
๒ ทำลายโอกาส หมายถึงทำลายโอกาสที่จะเกิดอีกได้ เพราะสิ้นเชื้อพันธุ์คือกุศลกรรมและอกุศลกรรม
(ขุ.ธ.อ. ๔/๖๖)
๓ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๘/๒๗๕
๔ ในคาถานี้มีนัยว่า แม้ในหมู่บ้านจะหาความสงบกายไม่ได้ก็จริง แต่พระอรหันต์ทั้งหลายก็ได้ความสงบใจ
เพราะอารมณ์ทั้งหลายหาทำจิตของท่านให้หวั่นไหวได้ไม่ ดังนั้น ที่ไหนก็ตามย่อมเป็นที่พระอรหันต์อยู่ได้
และที่นั้นย่อมเป็นสถานที่รื่นรมย์ (ขุ.ธ.อ. ๔/๗๒) และดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๙๑/๕๐๒
๕ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๙๙๒/๕๐๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๒. พาหิยทารุจีริยเถรวัตถุ
๘. สหัสสวรรค
หมวดว่าด้วยหนึ่งในร้อยในพัน
๑. ตัมพทาฐิกโจรฆาตกวัตถุ
เรื่องเพชฌฆาตโจรเคราแดง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๐๐] คำพูดที่มีประโยชน์คำเดียว๑
ที่คนฟังแล้วสงบระงับได้๒
ย่อมดีกว่าคำพูดที่ไร้ประโยชน์ตั้ง ๑,๐๐๐ คำ

๒. พาหิยทารุจีริยเถรวัตถุ
เรื่องพระพาหิยทารุจีริยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๐๑] คาถาที่มีประโยชน์คาถาเดียว
ที่คนฟังแล้วสงบระงับได้
ย่อมดีกว่าคาถาที่ไร้ประโยชน์ตั้ง ๑,๐๐๐ คาถา

เชิงอรรถ :
๑ มีประโยชน์ ในที่นี้หมายถึงเป็นคำที่แสดงเรื่องนิพพาน หรือเรื่องขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ พละ
โพชฌงค์ และสติปัฏฐาน (ขุ.ธ.อ. ๔/๘๒)
๒ สงบระงับ หมายถึงสงบระงับกิเลสมีราคะเป็นต้นได้ (ขุ.ธ.อ. ๔/๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๔. อนัตถปุจฉกพราหมณวัตถุ
๓. กุณฑลเกสีเถรีวัตถุ
เรื่องพระกุณฑลเกสีเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๐๒] ธรรมะบทหนึ่ง๑ ที่คนฟังแล้วสงบระงับได้
ย่อมดีกว่าคาถาที่ไร้ประโยชน์ตั้ง ๑๐๐ คาถา
[๑๐๓] ผู้ชนะข้าศึกจำนวนพันคูณด้วยพันในสงคราม
หาชื่อว่าผู้ชนะที่ยอดเยี่ยมไม่
แต่ผู้ชนะตน๒ได้ จึงชื่อว่า ผู้ชนะที่ยอดเยี่ยม

๔. อนัตถปุจฉกพราหมณวัตถุ
เรื่องอนัตถปุจฉกพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ ดังนี้)
[๑๐๔] การชนะตนของบุคคลผู้ฝึกตนดีแล้ว๓
ประพฤติสำรวมเป็นนิตย์นั่นแล
ประเสริฐกว่าการชนะผู้อื่น
[๑๐๕] เทวดา คนธรรพ์ มาร หรือพรหม
ไม่อาจทำชัยชนะของบุคคลเช่นนั้นให้กลับแพ้ได้เลย

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมะบทหนึ่ง หมายถึงข้อธรรมหนึ่งในหมวดธรรมที่มีหลายข้อ เช่น หมวดธรรม ๔ คือ (๑) อนภิชฌา
(๒) อพยาบาท (๓) สัมมาสติ (๔) สัมมาสมาธิ แต่ละข้อเป็นธรรมะบทหนึ่ง (ขุ.ธ.อ. ๔/๙๕)
๒ ชนะตน หมายถึงชนะกิเลสมีโลภะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๔/๙๕)
๓ ผู้ฝึกตนดี ในที่นี้หมายถึงผู้ไม่มีกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๔/๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๖. สารีปุตตเถรภาคิเนยยวัตถุ
๕. สารีปุตตเถรมาตุลพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้เป็นลุงของพระสารีบุตรเถระ ดังนี้)
[๑๐๖] การบูชาของบุคคลผู้บูชาท่านที่อบรมตนดี๑แล้ว
คนเดียว แม้เพียงครู่เดียว
ประเสริฐกว่าการบูชาของบุคคลผู้บูชายัญ๒
ด้วยทรัพย์จำนวน ๑,๐๐๐ กหาปณะทุก ๆ เดือน ตลอด ๑๐๐ ปี

๖. สารีปุตตเถรภาคิเนยยวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นหลานของพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้เป็นหลานของพระสารีบุตรเถระ
ดังนี้)
[๑๐๗] การบูชาของบุคคลผู้บูชาท่านที่อบรมตนดีแล้ว
คนเดียว แม้เพียงครู่เดียว
ประเสริฐกว่าการบูชาของบุคคลผู้บูชาไฟในป่าเป็นเวลา ๑๐๐ ปี

เชิงอรรถ :
๑ ท่านที่อบรมตนดี ในที่นี้หมายถึงพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันตขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. ๔/๙๙)
๒ บูชายัญ หมายถึงให้ทานแก่มหาชน (ขุ.ธ.อ.๔/๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๙. สังกิจจสามเณรวัตถุ
๗. สารีปุตตเถรสหายกพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ผู้เป็นเพื่อนของพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้เป็นเพื่อนของพระสารีบุตรเถระ
ดังนี้)
[๑๐๘] การไหว้ท่านผู้ปฏิบัติตรง
ประเสริฐกว่าการบูชายัญและการบวงสรวงใด ๆ ในโลก
ที่ผู้หวังบุญทำอยู่ตลอดปี
เพราะการบูชายัญและการบวงสรวงทั้งหมดนั้น
มีค่าไม่ถึงหนึ่งในสี่๑

๘. อายุวัฑฒนกุมารวัตถุ
เรื่องอายุวัฒนกุมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อายุวัฒนกุมารและอุบาสก ๕๐๐ คน ดังนี้)
[๑๐๙] ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
ย่อมเจริญแก่ผู้กราบไหว้ ผู้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เป็นนิตย์

๙. สังกิจจสามเณรวัตถุ
เรื่องสังกิจจสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๑๑๐] ผู้มีศีล เพ่งพินิจ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าคนทุศีล ไม่มีจิตตั้งมั่น
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี

เชิงอรรถ :
๑ มีค่าไม่ถึงหนึ่งในสี่ หมายถึงอานิสงส์ไม่ถึง ๑ ส่วนใน ๔ ส่วนแห่งผลที่เกิดจากการมีกุศลเจตนาคือจิต
เลื่อมใสแล้วน้อมกายไหว้พระอริยบุคคลผู้ปฏิบัติตรง (ขุ.ธ.อ. ๔/๑๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๑๒. ปฏาจาราเถรีวัตถุ
๑๐. ขาณุโกณฑัญญเถรวัตถุ
เรื่องพระขาณุโกณฑัญญเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ผู้เป็นศิษย์พระขาณุ-
โกณฑัญญเถระ ดังนี้)
[๑๑๑] ผู้มีปัญญา เพ่งพินิจ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าผู้มีปัญญาทราม ไม่มีจิตตั้งมั่น
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี๑

๑๑. สัปปทาสเถรวัตถุ
เรื่องพระสัปปทาสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๑๒] ผู้มีความเพียรมั่นคง๒ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าผู้เกียจคร้าน ไม่มีความเพียร
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี

๑๒. ปฏาจาราเถรีวัตถุ
เรื่องพระปฏาจาราเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระปฏาจาราเถรี ดังนี้)
[๑๑๓] ผู้เห็นความเกิดและความดับ๓ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าผู้ไม่เห็นความเกิดและความดับ
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี๔

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.อป. (แปล) ๓๓/๒๓๙/๔๘๖
๒ มีความเพียรมั่นคง หมายถึงบำเพ็ญเพียรอย่างหนักแน่น สามารถจะให้เกิดฌาน ๒ ประการ คือ
(๑) อารัมมณูปนิชฌาน(การเพ่งอารมณ์ ได้แก่ สมาบัติ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔) (๒) ลักขณูปนิชฌาน
(การเพ่งลักษณะ ได้แก่ วิปัสสนา มรรค และผล)
๓ เห็นความเกิดและความดับ หมายถึงเห็นความเกิดและความดับของขันธ์ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๔/๑๒๘)
๔ ขุ.อป. (แปล) ๓๓/๘๑/๔๖๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๘. สหัสสวรรค ๑๔. พหุปุตติกาเถรีวัตถุ
๑๓. กิสาโคตมีวัตถุ
เรื่องนางกิสาโคตมี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางกิสาโคตมี ดังนี้)
[๑๑๔] ผู้เห็นทางอมตะ๑ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าผู้ไม่เห็นทางอมตะ
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี

๑๔. พหุปุตติกาเถรีวัตถุ
เรื่องพระพหุปุตติกาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระพหุปุตติกาเถรี ดังนี้)
[๑๑๕] ผู้เห็นธรรมอันสูงสุด๒ แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว
ประเสริฐกว่าผู้ไม่เห็นธรรมอันสูงสุด
ที่มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี
สหัสสวรรคที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ทางอมตะ หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๔/๑๓๒)
๒ ธรรมอันสูงสุด ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ (ขุ.ธ.อ. ๔/๑๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๒. เสยยสกเถรวัตถุ
๙. ปาปวรรค
หมวดว่าด้วยบาป
๑. จูเฬกสาฏกวัตถุ
เรื่องพราหมณ์จูเฬกสาฎก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๑๖] บุคคลควรรีบเร่งทำบุญ๑ ควรห้ามจิตจากบาป๒
เพราะเมื่อทำบุญช้าไป ใจจะยินดีในบาป

๒. เสยยสกเถรวัตถุ
เรื่องพระเสยยสกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเสยยสกเถระ ดังนี้)
[๑๑๗] หากบุคคลทำบาปไป ก็ไม่ควรทำบาปนั้นซ้ำอีก
ไม่ควรทำความพอใจในบาปนั้น
เพราะการสั่งสมบาปนำทุกข์มาให้

เชิงอรรถ :
๑ บุญ หมายถึงการให้ทาน การบำเพ็ญวัตร มีอุปัชฌายวัตรเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๕/๔)
๒ บาป หมายถึงกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือการเกิดขึ้นแห่งอกุศลจิต (ขุ.ธ.อ. ๕/๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๔. อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ
๓. ลาชเทวธีตาวัตถุ
เรื่องลาชเทพธิดา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ลาชเทพธิดา ดังนี้)
[๑๑๘] หากบุคคลทำบุญ ก็ควรทำบุญนั้นบ่อย ๆ
ควรทำความพอใจในบุญนั้น
เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้

๔. อนาถปิณฑิกเสฏฐิวัตถุ
เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีและเทวดาผู้สิงสถิต
อยู่ที่ซุ้มประตูบ้านของเศรษฐี ดังนี้)
[๑๑๙] ตราบใดที่บาปยังไม่ให้ผล
ตราบนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าดี
แต่เมื่อใด บาปให้ผล
เมื่อนั้น คนชั่วจะเห็นบาปว่าชั่วแท้
[๑๒๐] ตราบใดที่กรรมดียังไม่ให้ผล
ตราบนั้น คนดีจะเห็นกรรมดีว่าชั่ว
แต่เมื่อใด กรรมดีให้ผล
เมื่อนั้นคนดีจะเห็นกรรมดีว่าดีแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๗. มหาธนวาณิชวัตถุ
๕. อสัญญตปริกขารภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ไม่เก็บรักษาบริขาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๑๒๑] บุคคลอย่าสำคัญว่าบาปเล็กน้อยคงจักไม่มาถึง๑
แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยน้ำที่ตกลงมาทีละหยาด ๆ ได้ ฉันใด
คนพาล เมื่อสั่งสมบาปทีละเล็กทีละน้อย
ก็เต็มด้วยบาปได้ ฉันนั้น

๖. พิฬารปทกเสฏฐิวัตถุ
เรื่องพิฬารปทกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เศรษฐีผู้อยู่เมืองสาวัตถี ดังนี้)
[๑๒๒] บุคคลอย่าสำคัญว่าบุญเล็กน้อยคงจักไม่มาถึง
แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยน้ำที่ตกลงมาทีละหยาด ๆ ได้ ฉันใด
คนมีปัญญา เมื่อสั่งสมบุญแม้ทีละเล็กทีละน้อย
ก็เต็มด้วยบุญได้ ฉันนั้น

๗. มหาธนวาณิชวัตถุ
เรื่องพ่อค้าผู้มีทรัพย์มาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๓] บุคคลควรละเว้นบาปทั้งหลาย
ดุจพ่อค้าที่มีทรัพย์มาก แต่มีพวกน้อย หลีกเลี่ยงทางที่มีภัย
และดุจคนรักชีวิตหลีกเลี่ยงยาพิษ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงอย่าสำคัญว่าตนทำบาปไว้เพียงนิดหน่อย คงจักไม่ให้ผล (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๑๐. มณิการกุลุปกติสสเถรวัตถุ
๘. กุกกุฏมิตตเนสาทวัตถุ
เรื่องนายพรานเนื้อชื่อกุกกุฏมิต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๔] หากที่ฝ่ามือไม่มีแผล บุคคลก็ใช้ฝ่ามือนำยาพิษไปได้
เพราะยาพิษจะไม่ซึมเข้าไปยังฝ่ามือที่ไม่มีแผล
เหมือนบาปไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป ฉะนั้น

๙. โกกสุนขลุททกวัตถุ
เรื่องนายพรานสุนัขชื่อโกกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๑๒๕] บุคคลใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย
เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บาปย่อมกลับมาถึงบุคคลนั้นซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้
ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลม ฉะนั้น๑

๑๐. มณิการกุลุปกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้เข้าถึงตระกูลช่างแก้ว
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๖] สัตว์พวกหนึ่ง ย่อมเกิดในครรภ์๒
พวกที่ทำบาปกรรมย่อมไปนรก
พวกที่ทำความดีย่อมไปสวรรค์
ส่วนผู้ที่ไม่มีอาสวะย่อมนิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๒๒/๒๖, ๑๙๐/๒๖๙, ขุ.เปต. (แปล) ๒๖/๒๖๕/๒๑๐, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๙๔/๒๑๖
และดูสุตตนิบาตข้อ ๖๖๘ หน้า ๖๖๐ ในเล่มนี้
๒ ครรภ์ ในที่นี้หมายถึงครรภ์มนุษย์ (ขุ.ธ.อ. ๕/๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๙. ปาปวรรค ๑๒. สุปปพุทธสักกวัตถุ
๑๑. ตโยชนวัตถุ
เรื่องคน ๓ จำพวก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๗] คนทำบาป ถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
ถึงจะดำลงไปกลางทะเล ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
ถึงจะเข้าไปหลบตัวในซอกเขา ก็ไม่พ้นจากบาปกรรม
เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่คนทำบาปยืนอยู่แล้ว
จะพ้นจากบาปกรรมได้

๑๒. สุปปพุทธสักกวัตถุ
เรื่องเจ้าศากยะสุปปพุทธะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๘] บุคคล ถึงจะเหาะขึ้นไปในอากาศ ก็ไม่พ้นจากความตาย
ถึงจะดำลงไปกลางทะเล ก็ไม่พ้นจากความตาย
ถึงจะเข้าไปหลบตัวในซอกเขา ก็ไม่พ้นจากความตาย
เพราะไม่มีแผ่นดินสักส่วนหนึ่งที่บุคคลยืนอยู่แล้ว
จะไม่ถูกความตายครอบงำได้
ปาปวรรคที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณธวรรค ๒. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
๑๐. ทัณฑวรรค
หมวดว่าด้วยการลงทัณฑ์๑
๑. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๒๙] สัตว์ทุกประเภท ย่อมสะดุ้งกลัวโทษทัณฑ์
สัตว์ทุกประเภท ย่อมหวาดกลัวความตาย
บุคคลนำตนเข้าไปเปรียบเทียบแล้ว
ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้คนอื่นฆ่า

๒. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๓๐] สัตว์ทุกประเภท ย่อมสะดุ้งกลัวโทษทัณฑ์
สัตว์ทุกประเภท ย่อมรักชีวิต๒
บุคคลนำตนเข้าไปเปรียบเทียบแล้ว
ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้คนอื่นฆ่า

เชิงอรรถ :
๑ ลงทัณฑ์ ตามความหมายในวรรคนี้คือ การใช้กำลังทำร้าย เข่นฆ่า หรือเบียดเบียนบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่น
ให้ได้รับความเดือดร้อน โดยการใช้ท่อนไม้ ก้อนดิน และวาจาที่หยาบคายให้ร้ายป้ายสี ตลอดถึงการใช้
บทบัญญัติ บทลงโทษที่เอื้อประโยชน์ตนเป็นเครื่องมือ (ขุ.ธ.อ. ๕/๔๐-๕๘)
๒ ยกเว้นพระขีณาสพ เพราะท่านเป็นผู้วางเฉยได้ในชีวิตหรือความตาย (ขุ.ธ.อ. ๕/๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณธวรรค ๔. โกณฑธานเถรวัตถุ
๓. สัมพหุลกุมารวัตถุ
เรื่องเด็กชายหลายคน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เด็กชายชาวเมืองสาวัตถีประมาณ ๕๐๐ คน
ที่กำลังตีงูในระหว่างทาง ดังนี้)
[๑๓๑] ผู้ใดใฝ่หาความสุขเพื่อตน
แต่กลับใช้ท่อนไม้ทำร้ายสัตว์ทั้งหลายผู้รักสุข
ผู้นั้นตายไปแล้วย่อมไม่ได้รับความสุขเลย
[๑๓๒] ส่วนผู้ใดใฝ่หาความสุขเพื่อตน
ไม่ใช้ท่อนไม้ทำร้ายสัตว์ทั้งหลายผู้รักสุข
ผู้นั้นตายไปแล้วย่อมได้รับความสุข๑

๔. โกณฑธานเถรวัตถุ
เรื่องพระโกณฑธานเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระโกณฑธานเถระ ดังนี้)
[๑๓๓] เธออย่าได้กล่าวคำหยาบต่อใคร ๆ
คนที่ถูกเธอว่ากล่าวจะกล่าวโต้ตอบเธอ
เพราะว่าถ้อยคำที่โต้เถียงกัน ก่อให้เกิดทุกข์
และการทำร้ายโต้ตอบกันจะมาถึงเธอ
[๑๓๔] ถ้าเธอทำตนให้นิ่งเงียบได้
เหมือนกังสดาล๒ที่ตัดขอบปากออกแล้ว
เธอก็จะบรรลุนิพพานได้
การโต้เถียงกันก็จะไม่มีแก่เธอ

เชิงอรรถ :
๑ ดูอุทานข้อ ๑๓ หน้า ๑๙๓ ในเล่มนี้
๒ กังสดาล หมายถึงระฆังวงเดือน (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณธวรรค ๗. มหาโมคคัลลานเถรวัตถุ
๕. อุโปสถิกอิตถีวัตถุ
เรื่องหญิงผู้รักษาอุโบสถศีล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางวิสาขาและหญิงผู้รักษาอุโบสถศีล
ประมาณ ๕๐๐ คน ดังนี้)
[๑๓๕] คนเลี้ยงโคใช้ท่อนไม้ไล่ต้อนฝูงโคไปยังที่หากิน ฉันใด
ความแก่และความตาย ก็ไล่ต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไป ฉันนั้น

๖. อชครเปตวัตถุ
เรื่องเปรตงูเหลือม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๓๖] คนพาลมีปัญญาทราม เมื่อทำบาปกรรมย่อมไม่รู้สึกตัว
จึงมักเดือดร้อนเพราะกรรมของตน
เหมือนคนถูกไฟไหม้ ฉะนั้น

๗. มหาโมคคัลลานเถรวัตถุ
เรื่องพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๓๗] ผู้ใดประทุษร้ายคนที่ไม่มีความผิด๑
(และ) คนที่ไม่ประทุษร้าย๒ (ตอบ)ด้วยโทษทัณฑ์
ผู้นั้นย่อมได้รับผลอย่าง ๑ ใน ๑๐ อย่าง คือ
[๑๓๘] (๑) ทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า (๒) เสื่อมทรัพย์
(๓) ถูกทำร้ายร่างกาย (๔) เจ็บป่วยอย่างหนัก
(๕) กลายเป็นคนวิกลจริต

เชิงอรรถ :
๑ คนที่ไม่มีความผิด หมายถึงพระขีณาสพผู้ปราศจากความผิดทางกาย เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๕/๕๘)
๒ คนที่ไม่ประทุษร้าย หมายถึงคนที่ไม่มีความผิดต่อผู้อื่น หรือต่อตนเอง (ขุ.ธ.อ. ๕/๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณธวรรค ๙. สันตติมหามัตตวัตถุ
[๑๓๙] (๖) ต้องราชภัย๑ (๗) ถูกกล่าวหาอย่างร้ายแรง
(๘) เสื่อมญาติ (๙) ทรัพย์สมบัติพินาศย่อยยับ
[๑๔๐] (๑๐) บ้านเรือนถูกไฟไหม้
เขาผู้มีปัญญาทราม เมื่อตายไปย่อมตกนรก

๘. พหุภัณฑิกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้มีเครื่องใช้สอยมาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้มีเครื่องใช้สอยมาก ดังนี้)
[๑๔๑] การเป็นคนเปลือย การเกล้าชฎา การเอาโคลนทาตัว
การอดอาหาร การนอนบนพื้นดิน
การมีกายหมักหมมด้วยธุลี
หรือการทำความเพียรด้วยการนั่งกระโหย่ง
วัตรทั้งหมดเหล่านี้หาชำระคนผู้ยังไม่ล่วงพ้นความสงสัยให้หมดจดได้ไม่

๙. สันตติมหามัตตวัตถุ
เรื่องสันตติมหาอำมาตย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๔๒] แม้บุคคลจะแต่งตัวแบบใดก็ตาม
ถ้าเขาเป็นผู้สงบ ฝึกตนได้ เป็นผู้แน่นอน๒ประพฤติพรหมจรรย์
ละเว้นการเบียดเบียนสรรพสัตว์ ประพฤติสม่ำเสมอ
ควรเรียกบุคคลเช่นนั้นว่า พราหมณ์ สมณะ หรือภิกษุ๓ ก็ได้

เชิงอรรถ :
๑ ต้องราชภัย หมายถึงการถูกถอดยศ ปลดจากตำแหน่ง เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๕/๕๘)
๒ สงบ หมายถึงสงบจากกิเลสมีราคะเป็นต้น
ฝึกตนได้ หมายถึงควบคุมอินทรีย์ทั้ง ๖ ได้
เป็นผู้แน่นอน หมายถึงเป็นผู้แน่นอนในโลกุตตรมรรคทั้ง ๔ (ขุ.ธ.อ. ๕/๖๘)
๓ คำว่า “พราหมณ์ สมณะ ภิกษุ” ตามหลักการพุทธศาสนามีความหมายดังนี้ พราหมณ์ หมายถึง
ผู้ลอยบาปได้ สมณะ หมายถึงผู้สงบระงับบาปได้ ภิกษุ หมายถึงผู้ทำลายกิเลสได้ (ขุ.ธ.อ. ๕/๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๐. ทัณฑวรรค ๑๑. สุขสามเณรวัตถุ
๑๐. ปิโลติกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปิโลติกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๔๓] บุคคลผู้กีดกันอกุศลวิตกได้ด้วยหิริ มีอยู่น้อยคนในโลก
ภิกษุใดหลบหลีกนินทาได้ ตื่นตัวอยู่ เหมือนม้าชั้นดีหลบแส้ได้
ภิกษุเช่นนั้นมีอยู่น้อยรูป๑
[๑๔๔] เธอทั้งหลายจงมีความเพียรและมีสังเวคธรรม๒
เหมือนม้าดีที่ถูกลงแส้ เธอทั้งหลายมีศรัทธา ศีล วิริยะ
สมาธิ และธัมมวินิจฉัย๓
สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ มีสติมั่นคง
จักละทุกข์๔มีประมาณไม่น้อยนี้ได้

๑๑. สุขสามเณรวัตถุ
เรื่องสุขสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๔๕] คนไขน้ำ ย่อมไขน้ำ
ช่างศร ย่อมดัดลูกศร
ช่างไม้ ย่อมถากไม้
ผู้มีวัตรดี๕ ย่อมฝึกตน๖
ทัณฑวรรคที่ ๑๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๘/๑๖
๒ มีสังเวคธรรม แปลจากคำว่า “สํเวคิโน” หมายถึงมีสโหตตัปปญาณ คือ ญาณที่มีโอตตัปปะ ได้แก่ ญาณ
ที่มีความกลัวต่อภัยคือชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๓๗/๑๓๑)
๓ ธัมมวินิจฉัย หมายถึงความรู้เหตุที่ควรและไม่ควร (ขุ.ธ.อ. ๕/๗๑)
๔ ทุกข์ ในที่นี้หมายถึงวัฏฏทุกข์ (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐/๗๘)
๕ ผู้มีวัตรดี ในที่นี้หมายถึงคนที่ว่าง่าย สอนง่าย (ขุ.ธ.อ. ๕/๘๒)
๖ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๙/๓๑๐ และดูเทียบธรรมบทข้อ ๘๐ หน้า ๕๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๑. ชราวรรค ๒. สิริมาวัตถุ
๑๑. ชราวรรค
หมวดว่าด้วยความชรา
๑. วิสาขาสหายิกาวัตถุ
เรื่องหญิงสหายของนางวิสาขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่หญิงประมาณ ๕๐๐ คน ดังนี้)
[๑๔๖] เมื่อโลกลุกเป็นไฟ๑อยู่เป็นนิตย์
ทำไมจึงมัวหัวเราะร่าเริงกันอยู่เล่า
เธอทั้งหลายถูกความมืด๒ปกคลุม
ไฉนไม่แสวงหาดวงประทีป๓กันเล่า

๒. สิริมาวัตถุ
เรื่องนางสิริมา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท ๔ ที่มุงดูศพนางสิริมา ดังนี้)
[๑๔๗] จงดูอัตภาพที่ตกแต่งอย่างสวยงาม
แต่มีกายเป็นแผล๔ มีกระดูกเป็นโครงร่าง๕
อันกระสับกระส่าย ที่มหาชนดำริหวังกันมาก๖
ซึ่งไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น

เชิงอรรถ :
๑ โลกลุกเป็นไฟ หมายถึงโลกสันนิวาส (โลกคือหมู่สัตว์) ถูกไฟ ๑๑ กอง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ชาติ ชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส แผดเผาอยู่เป็นนิตย์ (ขุ.ธ.อ. ๕/๘๕) และดู วิ.ม. (แปล)
๔/๕๔/๖๓, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๘/๒๗ ประกอบ
๒ ความมืด หมายถึงอวิชชา (ขุ.ธ.อ. ๕/๘๕)
๓ ดวงประทีป หมายถึงแสงสว่างคือญาณ (ขุ.ธ.อ. ๕/๘๕)
๔ มีกายเป็นแผล หมายถึงมีทวาร ๙ (ขุ.ธ.อ.๕/๙๐)
๕ มีกระดูกเป็นโครงร่าง หมายถึงมีกระดูก ๓๐๐ ท่อนเป็นโครงร่าง (ขุ.ธ.อ.๕/๙๐)
๖ ดูเทียบ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๐๒/๓๕๙, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๗๖๙/๔๖๘, ๑๑๖๐/๕๓๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๑. ชราวรรค ๕. ชนปทกัลยาณีรูปนันทาเถรีวัตถุ
๓. อุตตราเถรีวัตถุ
เรื่องพระอุตตราเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอุตตราเถรีผู้มีอายุ ๑๒๐ ปี ดังนี้)
[๑๔๘] ร่างกายนี้แก่หง่อมแล้ว
เป็นรังของโรค มีแต่จะทรุดโทรมลงไป
ร่างกายที่เน่าเปื่อยนี้ก็จะแตกดับไป
เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด

๔. อธิมานิกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เข้าใจว่าตนสำเร็จ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายที่กำลังดูซากศพในป่าช้า ดังนี้)
[๑๔๙] กระดูกเหล่านี้มีสีเหมือนสีนกพิราบ
ถูกเขาทิ้งไว้เกลื่อนกลาด
เหมือนน้ำเต้าที่ร่วงเกลื่อนกลาดในสารทกาล๑
ความยินดีอะไรเล่าจะเกิด เพราะเห็นกระดูกเหล่านั้น

๕. ชนปทกัลยาณีรูปนันทาเถรีวัตถุ
เรื่องพระรูปนันทาเถรีผู้งามในรัฐ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระรูปนันทาเถรีผู้สำคัญตนว่างาม ดังนี้)
[๑๕๐] ร่างกายนี้ถูกสร้างให้เป็นนครแห่งกระดูก
ฉาบด้วยเนื้อและเลือด เป็นที่สถิตแห่งความแก่
ความตาย ความถือตัว และความลบหลู่กัน

เชิงอรรถ :
๑ สารทกาล หมายถึงฤดูใบไม้ร่วง ฤดูสารท เทศกาลทำบุญสิ้นเดือน ๑๐ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๑. ชราวรรค ๘. ปฐมโพธิวัตถุ
๖. มัลลิกาเทวีวัตถุ
เรื่องพระนางมัลลิกาเทวี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เสียพระทัยเพราะ
การจากไปของพระนางมัลลิกาเทวี ดังนี้)
[๑๕๑] ราชรถอันวิจิตรงดงาม ยังชำรุดได้
แม้แต่ร่างกายนี้ ก็ยังเข้าถึงชราได้
แต่ธรรมของสัตบุรุษ๑หาเข้าถึงชราไม่
สัตบุรุษกับสัตบุรุษรู้กันได้อย่างนี้๒

๗. โลลุทายิเถรวัตถุ
เรื่องพระโลลุทายีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๕๒] คนที่มีการศึกษาน้อยนี้
ย่อมแก่ไปเปล่าเหมือนโคพลิพัท
เขาเจริญแต่เนื้อหนัง ส่วนปัญญาหาเจริญไม่๓

๘. ปฐมโพธิวัตถุ
เรื่องเหตุการณ์คราวแรกตรัสรู้
(พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทาน ดังนี้)
[๑๕๓] เราตามหานายช่าง๔ผู้สร้างเรือน๕ เมื่อไม่พบ๖
จึงท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นอเนกชาติ
เพราะการเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมของสัตบุรุษ หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ (มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑) (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๑)
๒ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๑๔/๑๓๑, ขุ.ชา. (แปล) ๒๘/๔๑๓/๑๖๖
๓ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๐๒๘/๕๐๘
๔ นายช่าง ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๕)
๕ เรือน ในที่นี้หมายถึงอัตภาพ (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๕)
๖ เมื่อไม่พบ ในที่นี้หมายถึงไม่พบโพธิญาณ (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๑. ชราวรรค ๙. มหาธนเสฏฐิปุตตวัตถุ
[๑๕๔] นายช่างเอ๋ย เราพบท่านแล้ว๑
ท่านจะสร้างเรือนไม่ได้อีก
ซี่โครง๒ทุกซี่ของท่าน เราหักแล้ว
ยอดเรือน๓เราก็รื้อแล้ว
จิตของเราถึงธรรมปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว
เราได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว๔

๙. มหาธนเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภบุตรเศรษฐีผู้ใช้สอยทรัพย์สมบัติจนหมด จึงตรัส
พระคาถานี้แก่พระอานนท์ ดังนี้)
[๑๕๕] พวกคนโง่เขลาไม่ประพฤติตนให้เป็นคนดี
ในวัยหนุ่มสาวก็ไม่ได้หาทรัพย์ไว้ ย่อมซบเซา
เหมือนนกกระเรียนแก่ซบเซาอยู่ที่เปือกตมไร้ปลา ฉะนั้น
[๑๕๖] พวกคนโง่เขลาไม่ประพฤติตนให้เป็นคนดี
ในวัยหนุ่มสาวก็ไม่ได้หาทรัพย์ไว้
ย่อมนอนรำพึงถึงความหลัง
ดุจลูกธนูที่พ้นจากแล่ง ฉะนั้น
ชราวรรคที่ ๑๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงพบตัณหานั้นได้ด้วยความรู้แจ้งพระสัพพัญญุตญาณ (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๖)
๒ ซี่โครง ในที่นี้หมายถึงกิเลสเหล่าอื่นทั้งหมด (ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๖)
๓ ยอดเรือน ในที่นี้หมายถึงอวิชชา ( ขุ.ธ.อ. ๕/๑๐๖)
๔ พระคาถานี้จัดเป็นปฐมพุทธพจน์ (วิ.อ. ๑/๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๒. อัตตวรรค ๒. อุปนันทสักยปุตตเถรวัตถุ
๑๒. อัตตวรรค
หมวดว่าด้วยตน
๑. โพธิราชกุมารวัตถุ
เรื่องโพธิราชกุมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่โพธิราชกุมาร ดังนี้)
[๑๕๗] ถ้าบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ควรรักษาตนนั้นไว้ให้ดี
บัณฑิตพึงประคับประคองตนไว้ให้ได้๑
อย่างน้อยยามใดยามหนึ่งใน ๓ ยาม๒

๒. อุปนันทสักยปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุหนุ่ม ๒ รูป ดังนี้)
[๑๕๘] บัณฑิตพึงตั้งตนไว้ในคุณธรรมที่เหมาะสมก่อน
แล้วสอนคนอื่นในภายหลัง๓ จึงจะไม่มัวหมอง๔

เชิงอรรถ :
๑ ประคับประคองตน ในที่นี้หมายถึงถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็ควรทำบุญ มีทานและศีล เป็นต้น ถ้าเป็นบรรพชิต
ก็ควรขวยขวายทำวัตรปฏิบัติศึกษาพระปริยัติและเจริญกัมมัฏฐาน (ขุ.ธ.อ.๖/๕)
๒ ยาม ในที่นี้หมายถึงวัย ได้แก่ ระยะของอายุ มี ๓ คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย (ขุ.ธ.อ.๖/๔-๕)
๓ หมายถึงเมื่อบัณฑิตประสงค์จะสอนผู้อื่นด้วยคุณธรรมมีความมักน้อย เป็นต้น หรือด้วยปฏิปทาของอริยวงศ์
ตนเองจะต้องดำรงอยู่ในคุณธรรมนั้นก่อน (ขุ.ธ.อ. ๖/๘)
๔ไม่มัวหมอง หมายถึงไม่ถูกนินทา (ขุ.ธ.อ. ๖/๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๑. ชราวรรค ๕. มหากาลอุปาสกวัตถุ
๓. ปธานิกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปธานิกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๑๕๙] บุคคลสอนผู้อื่นอย่างไร ก็พึงทำตนอย่างนั้น
ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว จึงควรฝึก(ผู้อื่น)
เพราะตนนั่นแลฝึกได้ยากยิ่ง

๔. กุมารกัสสปมาตาวัตถุ
เรื่องมารดาของพระกุมารกัสสปเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๖๐] ตนแลเป็นที่พึ่งของตน๑ บุคคลอื่นใครเล่า จะเป็นที่พึ่งได้
เพราะบุคคลที่ฝึกตนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งอันได้โดยยาก

๕. มหากาลอุปาสกวัตถุ
เรื่องมหากาลอุบาสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๖๑] บาปที่ตนเองทำ เกิดในตน มีตนเป็นแดนเกิด
ย่อมทำลายคนมีปัญญาทราม
เหมือนเพชรที่เกิดจากหินทำลายแก้วมณี ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน หมายถึงตนเองเท่านั้นที่จะสามารถทำกุศลแล้วเข้าถึงสวรรค์ หรือบรรลุมรรคผล
ได้ที่พึ่งที่ได้ยากคืออรหัตตผล ไม่มีใครอื่นจะทำให้ได้ (ขุ.ธ.อ.๖/๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๒. อัตตวรรค ๘. กาลเถรวัตถุ
๖. เทวทัตตวัตถุ
เรื่องพระเทวทัต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๖๒] ความทุศีลโดยสิ้นเชิง๑
ย่อมรึงรัดอัตภาพของบุคคลผู้ทุศีลไว้
ดุจเถาวัลย์ที่รึงรัดต้นสาละไว้
เขาย่อมทำตนให้วิบัติดุจโจรปรารถนาให้เขาวิบัติ ฉะนั้น

๗. สังฆเภทปริสักกนวัตถุ
เรื่องความพยายามเพื่อทำลายสงฆ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนท์ปรารภถึงพระเทวทัต ดังนี้)
[๑๖๓] กรรมที่ไม่ดี และไม่มีประโยชน์แก่ตน ทำได้ง่าย
ส่วนกรรมที่ดี และมีประโยชน์ ทำได้ยากอย่างยิ่ง

๘. กาลเถรวัตถุ
เรื่องพระกาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระกาลเถระและชนทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๖๔] ผู้มีปัญญาทราม อาศัยทิฏฐิชั่ว
คัดค้านคำสอนของพระอริยะ
ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้ดำรงอยู่โดยธรรม
การคัดค้านและทิฏฐิชั่วนั้น
เกิดขึ้นมาเพื่อทำลายตนเอง
เหมือนขุยไผ่ทำลายต้นไผ่ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความทุศีลโดยสิ้นเชิง ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยทวารทั้ง ๖ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๒. อัตตวรรค ๑๐. อัตตทัตถเถรวัตถุ
๙. จูฬกาลอุปาสกวัตถุ
เรื่องจูฬกาลอุบาสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่จูฬกาลอุบาสก ดังนี้)
[๑๖๕] ตนทำบาปกรรมเอง ก็เศร้าหมองเอง๑
ตนไม่ทำบาปกรรมเอง ก็บริสุทธิ์เอง
ความบริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตน
คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้๒

๑๐. อัตตทัตถเถรวัตถุ
เรื่องพระอัตตทัตถเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอัตตทัตถเถระ ดังนี้)
[๑๖๖] บุคคลไม่ควรให้ประโยชน์ตน๓เสียไป
เพราะประโยชน์คนอื่นแม้มาก
เมื่อรู้ประโยชน์ตนแล้ว
ก็ควรขวนขวายในประโยชน์ตน
อัตตวรรคที่ ๑๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เศร้าหมองเอง หมายถึงเสวยทุกข์ในอบาย คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย (ขุ.ธ.อ. ๖/๒๓)
๒ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘/๔๑, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓๓/๑๖๖, อภิ.ก. ๓๗/๗๔๓/๔๓๕-๔๓๖
๓ ประโยชน์ตน หมายถึงอริยผล ในที่นี้ ตรัสมุ่งกัมมัฏฐานเป็นหลัก (ขุ.ธ.อ. ๖/๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๓. โลกวรรค ๒. สุทโธทนวัตถุ
๑๓. โลกวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องโลก
๑. ทหรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหนุ่ม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง ดังนี้)
[๑๖๗] บุคคลไม่พึงเสพสิ่งต่ำทราม๑
ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท
ไม่พึงยึดถือความเห็นผิด
ไม่พึงเป็นคนรกโลก

๒. สุทโธทนวัตถุ
เรื่องพระเจ้าสุทโธทนะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าสุทโธทนะพระบิดาของพระองค์ ดังนี้)
[๑๖๘] ภิกษุไม่พึงประมาทบิณฑบาตที่ตนยืนรับ๒
พึงประพฤติสุจริตธรรม๓
ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๑๖๙] พึงประพฤติสุจริตธรรม
ไม่พึงประพฤติทุจริตธรรม
ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

เชิงอรรถ :
๑ สิ่งต่ำทราม ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๖/๒๗)
๒ ไม่พึงประมาทบิณฑบาตที่ตนยืนรับ หมายถึงไม่พึงดูหมิ่นอาหารที่ต้องลุกขึ้นไปยืนรับตามลำดับตรอก
ไม่เลือกรับเฉพาะบ้าน (ขุ.ธ.อ. ๖/๒๙)
๓ สุจริตธรรม หมายถึงภิกขาจริยธรรม คือ การเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ซึ่งตรงกันข้ามกับทุจริต-
ธรรม คือ การเที่ยวบิณฑบาตในสถานที่อโคจร เช่น สถานที่ที่มีหญิงแพศยา เป็นต้น (ขุ.ธ.อ.๖/๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๓. โลกวรรค ๕. สัมมัชชนเถรวัตถุ
๓. ปัญจสตวิปัสสกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๑๗๐] มัจจุราชย่อมไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณาเห็นโลก๑
เหมือนเห็นฟองน้ำ เหมือนเห็นพยับแดด

๔. อภยราชกุมารวัตถุ
เรื่องอภัยราชกุมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อภัยราชกุมาร ดังนี้)
[๑๗๑] ท่านทั้งหลายจงมาดูโลกนี้๒ ที่วิจิตรดุจราชรถ
ที่พวกคนเขลาหมกมุ่นอยู่ แต่พวกผู้รู้หาข้องอยู่ไม่๓

๕. สัมมัชชนเถรวัตถุ
เรื่องพระสัมมัชชนเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๗๒] ผู้ใดประมาทแล้วในกาลก่อน
ภายหลังไม่ประมาท
ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว๔
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น๕

เชิงอรรถ :
๑ โลก หมายถึงโลกคือขันธ์ ๕ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๑)
๒ ดูความหมายในเชิงอรรถที่ ๑
๓ ข้องอยู่ หมายถึงติดอยู่ด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๒)
๔ ทำโลกนี้ให้สว่างไสว หมายถึงทำโลกคือขันธ์ ๕ เป็นต้น ให้สว่างด้วยมรรคญาณ (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๔)
๕ ดูเทียบ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๕๒/๔๓๐, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๗๑/๔๘๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๓. โลกวรรค ๘. ติงสภิกขุวัตถุ
๖. อังคุลิมาลเถรวัตถุ
เรื่องพระองคุลิมาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๗๓] บาปกรรมที่ทำไว้ ผู้ใดละเสียได้ด้วยกุศล๑
ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น

๗. เปสการธีตาวัตถุ
เรื่องธิดานายช่างหูก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ธิดาของนายช่างหูก ดังนี้)
[๑๗๔] โลกนี้มืดมน๒ คนในโลกนี้น้อยคนนักจักเห็นแจ้ง
น้อยคนนักจักไปสวรรค์๓
เหมือนนกติดข่าย น้อยตัวนักที่จะพ้นจากข่าย ฉะนั้น

๘. ติงสภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๓๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๑๗๕] ฝูงหงส์บินไปทางดวงอาทิตย์๔ได้
ท่านที่เจริญอิทธิบาทดีแล้ว ไปทางอากาศด้วยฤทธิ์ได้
ส่วนนักปราชญ์ทั้งหลายชนะมารพร้อมทั้งพาหนะได้แล้ว
ย่อมออกไปจากโลกได้๕

เชิงอรรถ :
๑ กุศล ในที่นี้หมายถึงอรหัตตมรรค (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๕) และดูเทียบ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๕๒/๔๓๐, ขุ.เถร. (แปล)
๒๖/๘๗๒/๔๘๓
๒ โลกนี้มืดมน หมายถึงโลกิยมหาชนในโลกนี้ เป็นผู้มืดบอด เพราะไม่มีปัญญาจักษุ (ขุ.ธ.อ. ๖/๓๙)
๓ หมายถึงมีน้อยคนที่จะเห็นแจ้งไตรลักษณ์ ที่จะไปสุคติภูมิ หรือที่จะบรรลุนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๖/๗/๓๙)
๔ ทางดวงอาทิตย์ หมายถึงทางอากาศ (ขุ.ธ.อ. ๖/๔๑)
๕ ออกไปจากโลก ในที่นี้หมายถึงออกไปจากวัฏฏะ กล่าวคือบรรลุนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๖/๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๓. โลกวรรค ๑๑. อนาถปิณฑิกปุตตกาลวัตถุ
๙. จิญจมาณวิกาวัตถุ
เรื่องนางจิญจมาณวิกา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๗๖] บุคคลผู้ล่วงละเมิดธรรมอย่างหนึ่ง๑
ผู้มักกล่าวเท็จ ปฏิเสธปรโลก
จะไม่ทำบาปไม่มี

๑๐. อสทิสทานวัตถุ
เรื่องอสทิสทาน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลและเหล่าอำมาตย์ ดังนี้)
[๑๗๗] พวกคนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้เลย
พวกคนพาลไม่สรรเสริญการให้ทาน
ส่วนนักปราชญ์อนุโมทนาการให้ทาน
เพราะเหตุนั้นแล เขาจึงได้รับสุขในปรโลก

๑๑. อนาถปิณฑิกปุตตกาลวัตถุ
เรื่องนายกาละบุตรของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี ดังนี้)
[๑๗๘] โสดาปัตติผลประเสริฐกว่าความเป็นเอกราชในแผ่นดิน
กว่าการไปสู่สวรรค์ หรือกว่าความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง๒
โลกวรรคที่ ๑๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมอย่างหนึ่ง ในที่นี้หมายถึงสัจจะ (ขุ.ธ.อ.๖/๙/๔๖)
๒ ความเป็นเอกราชในแผ่นดิน การไปสู่สวรรค์ และความเป็นใหญ่ในโลก ยังไม่พ้นจากอบายภูมิมีนรกเป็นต้น
แต่โสดาปัตติผลเป็นธรรมปิดกั้นประตูอบายภูมิได้ (ขุ.ธ.อ. ๖/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๒. ยมกปาฏิหาริยวัตถุ
๑๔. พุทธวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้า
๑. มารธีตาวัตถุ
เรื่องธิดามาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ธิดามาร ๓ นาง คือ นางตัณหา นางอรดี
และนางราคา ดังนี้)
[๑๗๙] กิเลสที่พระพุทธเจ้าพระองค์ใดทรงชนะแล้ว
พระองค์จะไม่ทรงกลับแพ้อีก
กิเลสสักน้อยหนึ่งในโลกไม่ติดตามพระองค์ผู้ชนะได้แล้ว
พวกท่านจักนำพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณหาที่สุดมิได้ ผู้ไม่มีร่องรอย๑ไปด้วยร่องรอยอะไรเล่า
[๑๘๐] ตัณหาดุจตาข่าย ชื่อว่า วิสัตติกา๒
ไม่มีแก่พระพุทธเจ้าพระองค์ใด เพื่อนำไปในภพไหน ๆ
พวกท่านจักนำพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณหาที่สุดมิได้ ผู้ไม่มีร่องรอย ไปด้วยร่องรอยอะไรเล่า

๒. ยมกปาฏิหาริยวัตถุ
เรื่องยมกปาฏิหาริย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เทวดาและมนุษย์ที่ประตูสังกัสสนคร ดังนี้)
[๑๘๑] ท่านผู้เป็นปราชญ์เหล่าใดใฝ่ใจในฌาน ยินดีในเนกขัมมะ๓
แม้ทวยเทพก็ชื่นชมท่านผู้เป็นปราชญ์เหล่านั้น
ผู้มีสติ ตรัสรู้เองโดยชอบ

เชิงอรรถ :
๑ ร่องรอย ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๖๐)
๒ วิสัตติกา หมายถึงตัณหาที่ซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ (ขุ.ธ.อ. ๖/๖๐)
๓ เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงนิพพานเป็นที่สงบระงับกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๖/๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๔. อานันทเถรปัญหวัตถุ
๓. เอรกปัตตนาคราชวัตถุ
เรื่องพญานาคชื่อเอรกปัตต์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พญานาคชื่อเอรกปัตต์ ดังนี้)
[๑๘๒] การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็นับว่ายาก
การดำรงชีวิตอยู่ของเหล่าสัตว์ก็นับว่ายาก
การที่จะได้ฟังสัทธรรมก็นับว่ายาก
การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเสด็จอุบัติขึ้นก็ยิ่งยาก๑

๔. อานันทเถรปัญหวัตถุ
เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๑๘๓] การไม่ทำบาปทั้งปวง
การทำกุศลให้ถึงพร้อม
การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว๒
นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
[๑๘๔] ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นบรมธรรม
ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่า เป็นบรรพชิต
ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่า เป็นสมณะ

เชิงอรรถ :
๑ การเกิดเป็นมนุษย์ นับว่ายาก เพราะจะต้องได้มาด้วยความพยายามมากและด้วยกุศลมาก การดำรง
ชีวิตอยู่ นับว่ายาก เพราะต้องทำการงานเลี้ยงชีวิต และเพราะต้องดำรงชีวิตอยู่เพียงชั่วระยะนิดหน่อย
การได้ฟังสัทธรรม นับว่ายาก เพราะหาผู้แสดงได้ยาก การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้น
นับว่ายาก เพราะจะต้องบำเพ็ญบารมีด้วยความพยายามอันยิ่งใหญ่จึงจะสำเร็จได้ และจะต้องใช้เวลา
หลายพันโกฏิกัปจึงจะเสด็จอุบัติขึ้นได้ (ขุ.ธ.อ. ๖/๙๓)
๒ การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว หมายถึงการทำจิตของตนให้ผ่องใสปราศจากนิวรณ์ ๕ ประการ (ขุ.ธ.อ.
๖/๔/๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๕. อนภิรติภิกขุวัตถุ
[๑๘๕] การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ความสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
การประกอบความเพียรในอธิจิต๑
นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย๒

๕. อนภิรติภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ไม่ยินดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ดังนี้)
[๑๘๖] ความอิ่มในกามทั้งหลาย
มีไม่ได้ด้วยกหาปณะที่หลั่งมาดังห่าฝน
กามทั้งหลายมีสุขน้อย มีทุกข์มาก
[๑๘๗] บัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว
ย่อมไม่ยินดีในกามทั้งหลายแม้ที่เป็นทิพย์
สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นผู้ยินดีในความสิ้นตัณหา

เชิงอรรถ :
๑ อธิจิต ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ รวมถึงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญาด้วย (ขุ.ธ.อ. ๖/๙๕)
๒ ดูอุทานข้อ ๓๖ หน้า ๒๔๔ ในเล่มนี้ และดู ที.ม. (แปล) ๑๐/๙๐/๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๗. อานันทเถรวัตถุ
๖. อัคคิทัตตปุโรหิตวัตถุ
เรื่องอัคคิทัตตปุโรหิต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อัคคิทัตตะผู้ออกบวชเป็นฤๅษีและบริวาร ดังนี้)
[๑๘๘] มนุษย์จำนวนมาก ผู้ถูกภัยคุกคาม
ต่างถึงภูเขา ป่าไม้ อาราม และรุกขเจดีย์เป็นสรณะ
[๑๘๙] นั่นมิใช่สรณะอันเกษม นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุด
เพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง
[๑๙๐] ส่วนผู้ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ
ย่อมใช้ปัญญาชอบพิจารณาเห็นอริยสัจ ๔ ประการ คือ
[๑๙๑] ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์
และอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความสงบระงับทุกข์
[๑๙๒] นั่นเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด
เพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น
ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้๑

๗. อานันทเถรวัตถุ
เรื่องพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๑๙๓] บุรุษอาชาไนยหาได้ยาก เพราะว่าท่านไม่เกิดในที่ทั่วไป
ท่านเป็นนักปราชญ์ ไปเกิดในตระกูลใด
ตระกูลนั้นย่อมมีแต่ความสุข

เชิงอรรถ :
๑ ทุกข์ทั้งปวง หมายถึงวัฏฏทุกข์ทั้งสิ้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๙. กัสสปทสพลสุวัณณเจติยวัตถุ
๘. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๑๙๔] การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นเหตุนำสุขมาให้
การแสดงสัทธรรม เป็นเหตุนำสุขมาให้
ความสามัคคีของหมู่ เป็นเหตุนำสุขมาให้
ความเพียรของคนที่สามัคคีกัน เป็นเหตุนำสุขมาให้

๙. กัสสปทสพลสุวัณณเจติยวัตถุ
เรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทศพล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๑๙๕] บุญของบุคคลผู้บูชาท่านผู้ควรบูชา
คือพระพุทธเจ้า หรือพระสาวก
ผู้ก้าวพ้นธรรมเครื่องเนิ่นช้า๑
ผู้ข้ามความโศกและความร่ำไรได้แล้ว
[๑๙๖] ผู้คงที่ ผู้ดับกิเลสได้แล้ว
ผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหน
ใคร ๆ ไม่อาจนับได้ว่า
บุญนี้มีประมาณเท่านี้
พุทธวรรคที่ ๑๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเครื่องเนิ่นช้า หมายถึงตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๕. สุขวรรค ๒. มารวัตถุ
๑๕. สุขวรรค
หมวดว่าด้วยความสุข
๑. ญาติกลหวูปสมนวัตถุ
เรื่องการระงับความทะเลาะของหมู่พระญาติ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระญาติฝ่ายศากยะและโกลิยะ ที่ทะเลาะ
กันเพราะแย่งน้ำทำนา ดังนี้)
[๑๙๗] ในหมู่มนุษย์ผู้มีเวร
เราเป็นผู้ไม่มีเวร อยู่เป็นสุขจริงหนอ
ในหมู่มนุษย์ผู้มีเวร เราอยู่อย่างไม่มีเวร
[๑๙๘] ในหมู่มนุษย์ผู้เดือดร้อน๑
เราเป็นผู้ไม่เดือดร้อน อยู่เป็นสุขจริงหนอ
ในหมู่มนุษย์ผู้เดือดร้อน เราอยู่อย่างไม่เดือดร้อน
[๑๙๙] ในหมู่มนุษย์ผู้ขวนขวาย๒
เราเป็นผู้ไม่ขวนขวาย อยู่เป็นสุขจริงหนอ
ในหมู่มนุษย์ผู้ขวนขวาย เราอยู่อย่างไม่ขวนขวาย

๒. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้มีบาป ดังนี้)
[๒๐๐] เราไม่มีกิเลสเครื่องกังวล๓ อยู่เป็นสุขจริงหนอ
เรามีปีติเป็นภักษา
ดุจทวยเทพชั้นอาภัสระ ฉะนั้น๔

เชิงอรรถ :
๑ ผู้เดือดร้อน หมายถึงผู้เดือดร้อนเพราะกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๓)
๒ ผู้ขวนขวาย หมายถึงผู้มุ่งหากามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๓)
๓ กิเลสเครื่องกังวล (กิญจนะ) หมายถึงราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๕)
๔ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๕๔/๑๙๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๕. สุขวรรค ๕. อัญญตรอุปาสกวัตถุ
๓. โกสลรัญโญปราชยวัตถุ
เรื่องความพ่ายแพ้ของพระเจ้าโกศล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๐๑] ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้พ่ายแพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์
ผู้ละทั้งความชนะและความพ่ายแพ้ได้แล้ว
มีใจสงบ ย่อมนอนเป็นสุข๑

๔. อัญญตรกุลทาริกาวัตถุ
เรื่องสาวน้อยในตระกูลหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่สามีของสาวน้อยในตระกูลหนึ่ง ดังนี้)
[๒๐๒] ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี
โทษเสมอด้วยโทสะไม่มี
ทุกข์เสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี
สุข(อื่น)ยิ่งกว่าความสงบ๒ไม่มี

๕. อัญญตรอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสกคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๐๓] ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง๓
สังขารทั้งหลาย๔เป็นทุกข์อย่างยิ่ง
บัณฑิตรู้เรื่องนี้ตามความเป็นจริงแล้ว
ย่อมทำนิพพานให้แจ้ง
เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๒๕/๑๔๘
๒ ความสงบ (สันติ) ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๗)
๓ ความหิว ที่เรียกว่าเป็นโรคอย่างยิ่ง เพราะจะต้องเยียวยารักษาอยู่ตลอดเวลา (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๖)
๔ สังขารทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๕. สุขวรรค ๘. สักกวัตถุ
๖. ปเสนทิโกสลวัตถุ
เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ดังนี้)
[๒๐๔] ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง
ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง
นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

๗. ติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระ ดังนี้)
[๒๐๕] บุคคลดื่มปวิเวกรส๑
ลิ้มรสแห่งความสงบ๒
และได้ลิ้มรสแห่งปีติในธรรมแล้ว
เป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป๓

๘. สักกวัตถุ
เรื่องท้าวสักกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๐๖] การพบเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นการดี
การอยู่ร่วมกับพระอริยะ ก่อให้เกิดสุขทุกเมื่อ
เพราะการไม่พบเห็นคนพาล บุคคลพึงอยู่เป็นสุขเนืองนิตย์

เชิงอรรถ :
๑ ปวิเวกรส หมายถึงเอกีภาวสุข(สุขที่เกิดจากความเป็นผู้อยู่ผู้เดียว) (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๒๔)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๙๕ ในเล่มนี้
๓ ในคาถานี้ ตรัสหมายเอาคุณสมบัติของพระขีณาสพผู้ดื่มรสแห่งปีติที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจโลกุตตรธรรม ๙ ประการ
(ขุ.ธ.อ. ๖/๑๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๖. ปิยวรรค ๑. ตโยชนปัพพชิตวัตถุ
[๒๐๗] เพราะผู้คบค้าสมาคมกับคนพาล
ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน
การอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นทุกข์ตลอดเวลา
เหมือนอยู่ร่วมกับศัตรู
การอยู่ร่วมกับนักปราชญ์มีแต่ความสุข
เหมือนอยู่ในหมู่ญาติ
[๒๐๘] เพราะฉะนั้นแล บุคคลควรคบผู้เป็นปราชญ์
มีปัญญา เป็นพหูสูต
มีปกติเอาธุระ มีวัตร๑ เป็นพระอริยะ
เป็นสัตบุรุษ มีปัญญาดี เช่นนั้น
เหมือนดวงจันทร์โคจรไปตามทางของดาวนักษัตร ฉะนั้น
สุขวรรคที่ ๑๕ จบ

๑๖. ปิยวรรค
หมวดว่าด้วยสิ่งเป็นที่รัก
๑. ตโยชนปัพพชิตวัตถุ
เรื่องบรรพชิต ๓ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บรรพชิต ๓ รูป ดังนี้)
[๒๐๙] บุคคลทำตัวให้หมกมุ่นในกิจที่ไม่ควรหมกมุ่น๒
และไม่หมกมุ่นในกิจที่ควรหมกมุ่น
ละเลยสิ่งที่เป็นประโยชน์๓ ติดอยู่ในปิยารมณ์๔
ทะเยอทะยานตามบุคคลผู้ปฏิบัติตนดี

เชิงอรรถ :
๑ มีวัตร หมายถึงมีศีลวัตร และธุดงควัตร ๑๓ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๒๗)
๒ กิจที่ไม่ควรหมกมุ่น หมายถึงการเสพอโคจร ๖ อย่าง มีหญิงแพศยาเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๐)
๓ สิ่งที่เป็นประโยชน์ หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๐)
๔ ปิยารมณ์(อารมณ์ที่น่ารัก) หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๖. ปิยวรรค ๓. วิสาขาวัตถุ
[๒๑๐] ไม่ว่าเวลาใด บุคคลไม่ควรติดพันกับสิ่งเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก
เพราะการไม่เห็นสิ่งเป็นที่รักเป็นทุกข์
การพบเห็นสิ่งไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์
[๒๑๑] เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรทำสิ่งไร ๆ ให้เป็นที่รัก
เพราะการพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก เป็นทุกข์ระทม
ผู้ที่ไม่มีสิ่งเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก
ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด

๒. อัญญตรกุฏุมพิกวัตถุ
เรื่องกุฎุมพีคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุฎุมพี ดังนี้)
[๒๑๒] ความโศกเกิดจากสิ่งเป็นที่รัก ภัยก็เกิดจากสิ่งเป็นที่รัก
ผู้พ้นจากสิ่งเป็นที่รักได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

๓. วิสาขาวัตถุ
เรื่องนางวิสาขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางวิสาขามิคารมาตาผู้เศร้าโศกเพราะหลานสาว
ชื่อสุทัตตีเสียชีวิต ดังนี้)
[๒๑๓] ความโศกเกิดจากความรัก ภัยก็เกิดจากความรัก
ผู้พ้นจากความรักได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๖. ปิยวรรค ๖. อัญญตรพราหมณวัตถุ
๔. ลิจฉวีวัตถุ
เรื่องเจ้าลิจฉวี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพวกเจ้าลิจฉวีที่แย่งหญิงผู้งดงามในเมืองจนถึงขั้น
ชกต่อยกัน จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๑๔] ความโศกเกิดจากความยินดี๑ ภัยก็เกิดจากความยินดี
ผู้พ้นจากความยินดีได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

๕. อนิตถิคันธกุมารวัตถุ
เรื่องอนิตถิคันธกุมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนิตถิคันธกุมาร ดังนี้)
[๒๑๕] ความโศกเกิดจากกาม๒ ภัยก็เกิดจากกาม
ผู้พ้นจากกามได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

๖. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ ดังนี้)
[๒๑๖] ความโศกเกิดจากตัณหา ภัยก็เกิดจากตัณหา
ผู้พ้นจากตัณหาได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

เชิงอรรถ :
๑ ความยินดี หมายถึงความยินดีในกามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๕)
๒ กาม ในที่นี้หมายถึงวัตถุกามและกิเลสกาม (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๖. ปิยวรรค ๘. อนาคามิเถรวัตถุ
๗. ปัญจสตทารกวัตถุ
เรื่องเด็กน้อย ๕๐๐ คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เด็กน้อย ๕๐๐ คน ดังนี้)
[๒๑๗] บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล๑และทัสสนะ๒
ดำรงอยู่ในธรรม๓ กล่าวคำสัตย์๔
ทำหน้าที่ของตน๕
ย่อมเป็นที่รักของประชาชน

๘. อนาคามิเถรวัตถุ
เรื่องพระอนาคามีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ของพระผู้บรรลุ
อนาคามิผล ดังนี้)
[๒๑๘] ภิกษุผู้เกิดฉันทะในธรรม๖ ที่ใคร ๆ บอกไม่ได้
มีใจได้สัมผัสแล้ว๗และมีจิตไม่เกาะเกี่ยวในกามทั้งหลาย๘
เราเรียกว่า ผู้มีกระแสในเบื้องบน๙

เชิงอรรถ :
๑ ศีล หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๒)
๒ ทัสสนะ หมายถึงสัมมาทัสสนะ (เห็นชอบ) ที่ประกอบด้วยมรรคและผล (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๒
๓ ดำรงอยู่ในธรรม หมายถึงบรรลุโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๒)
๔ กล่าวคำสัตย์ หมายถึงแสดงอริยสัจ ๔ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๒)
๕ ทำหน้าที่ของตน หมายถึงบำเพ็ญสิกขา ๓ ให้บริบูรณ์ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๒)
๖ ธรรม หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ.๖/๑๔๔)
๗ มีใจได้สัมผัสแล้ว หมายถึงมีใจได้สัมผัสมรรคผลเบื้องต่ำ คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค
สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๔)
๘ ด้วยอำนาจอนาคามิมรรค จึงมีจิตไม่เกาะเกี่ยวในกามทั้งหลาย (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๔)
๙ ผู้มีกระแสในเบื้องบน หมายถึงจะบังเกิดในสุทธาวาสชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ คือบังเกิดในชั้นอวิหาจนถึง
ชั้นอกนิฏฐา (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๗. โกธวรรค ๑. โรหิณีขัตติยกัญญาวัตถุ
๙. นันทิยวัตถุ
เรื่องนายนันทิยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระมหาโมคคัลลานะผู้เห็นทิพยสมบัติของ
นายนันทิยะในเทวโลก ดังนี้)
[๒๑๙] ญาติ มิตร และผู้มีใจดีทั้งหลาย
เห็นคนที่จากบ้านไปนาน
กลับจากที่ไกลมาถึงโดยสวัสดิภาพ
ย่อมยินดีว่ามาแล้ว
[๒๒๐] เช่นเดียวกันนั้น บุญทั้งหลาย
ย่อมต้อนรับคนที่ทำบุญไว้
ซึ่งจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า
เหมือนญาติต้อนรับญาติผู้เป็นที่รักที่กลับมาบ้าน ฉะนั้น
ปิยวรรคที่ ๑๖ จบ

๑๗. โกธวรรค
หมวดว่าด้วยความโกรธ
๑. โรหิณีขัตติยกัญญาวัตถุ
เรื่องเจ้าหญิงโรหิณี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เจ้าหญิงโรหิณี ดังนี้)
[๒๒๑] บุคคลควรละความโกรธ สละมานะ
ก้าวล่วงสังโยชน์ได้หมดทุกอย่าง
ความทุกข์ย่อมไม่รุมเร้าคนนั้นผู้ไม่ติดอยู่ในนามรูป
ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๓๔/๔๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๗. โกธวรรค ๔. มหาโมคคัลลานเถรปัญหวัตถุ
๒. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เทวดา ดังนี้)
[๒๒๒] ผู้ใดอดกลั้นความโกรธที่เกิดขึ้นไว้ได้
เหมือนนายสารถีหยุดรถที่กำลังแล่นอยู่ได้
เราเรียกผู้นั้นว่า นายสารถี
คนนอกจากนี้ เป็นเพียงผู้ถือเชือกเท่านั้น

๓. อุตตราอุปาสิกาวัตถุ
เรื่องนางอุตตราอุบาสิกา
(พระผู้มีพระภาคทรงชมเชยนางอุตตราที่อดกลั้นความโกรธต่อนางสิริมา จึงตรัส
พระคาถานี้แก่นางอุตตรา ดังนี้)
[๒๒๓] บุคคลพึงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ
พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี
พึงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้
พึงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์๑

๔. มหาโมคคัลลานเถรปัญหวัตถุ
เรื่องปัญหาของพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระมหาโมคคัลลานเถระ ดังนี้)
[๒๒๔] บุคคลควรพูดคำจริง ไม่ควรโกรธ
แม้เขาขอเพียงเล็กน้อยก็ควรให้๒
ด้วยเหตุ ๓ อย่างนี้ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) บุคคลพึงไปเทวโลกได้

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๒/๖๒
๒ ให้ ในที่นี้หมายถึงให้ไทยธรรมแก่ท่านผู้ทรงศีล (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๗. โกธวรรค ๗. อตุลอุปาสกวัตถุ
๕. ภิกขูหิปุฏฐปัญหวัตถุ
เรื่องปัญหาที่ภิกษุทูลถาม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๒๕] มุนี๑ผู้ไม่เบียดเบียน สำรวมกายอยู่เป็นนิตย์๒
ย่อมไปสู่ที่ที่ไม่จุติที่ไปแล้วไม่เศร้าโศก

๖. ปุณณทาสีวัตถุ
เรื่องนางปุณณทาสี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางทาสของเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ชื่อปุณณา
ดังนี้)
[๒๒๖] สำหรับบุคคลผู้ตื่นอยู่ตลอดเวลา
หมั่นศึกษาไตรสิกขาทั้งกลางวันและกลางคืน
น้อมจิตเข้าหานิพพาน
อาสวะทั้งหลาย๓ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้

๗. อตุลอุปาสกวัตถุ
เรื่องอตุลอุบาสก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อตุลอุบาสกพร้อมบริวาร ๕๐๐ คน ดังนี้)
[๒๒๗] อตุละเอ๋ย การนินทาและสรรเสริญนี้มีมานานแล้ว
มิใช่เพิ่งมีในวันนี้เท่านั้น
คนนั่งอยู่เฉย ๆ เขาก็นินทา

เชิงอรรถ :
๑ มุนี ในที่นี้หมายถึงพระอเสขะมุนีผู้บรรลุมรรคและผลด้วยโมเนยยปฏิปทา (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๖๘)
๒ สำรวมกาย หมายถึงสำรวมกาย วาจา ใจ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๖๘)
๓ อาสวะ มี ๔ ประการ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๗๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๙๓๗/๕๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๗. โกธวรรค ๘. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
คนพูดมาก เขาก็นินทา
แม้คนพูดน้อย เขาก็นินทา
ไม่มีใครเลยในโลกนี้ไม่ถูกนินทา
[๒๒๘] ทั้งในอดีต ในอนาคต และในปัจจุบัน
ก็ไม่มีใครเลยที่จะถูกนินทาอย่างเดียว
หรือได้รับการสรรเสริญอย่างเดียว
[๒๒๙] แต่วิญญูชนพิจารณาทุกวัน ๆ
ย่อมสรรเสริญบุคคลผู้ดำเนินชีวิตหาข้อตำหนิมิได้
ผู้เป็นนักปราชญ์ ผู้มีปัญญาและศีลมั่นคง๑
[๒๓๐] ใครเล่าจะควรตำหนิผู้นั้น
ผู้เปรียบเหมือนแท่งทองชมพูนุท
ผู้เช่นนั้น แม้เทวดาและมนุษย์ก็ชื่นชม
ถึงพรหมก็สรรเสริญ

๘. ฉัพพัคคิยภิกขุวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระฉัพพัคคีย์ ดังนี้)
[๒๓๑] บุคคลพึงรักษาความกำเริบทางกาย
พึงสำรวมกาย ละกายทุจริตแล้ว
พึงประพฤติกายสุจริต

เชิงอรรถ :
๑ ความหมายของคาถานี้ คือ การนินทาหรือสรรเสริญของคนพาล ไม่ถือเป็นประมาณ แต่บัณฑิตผู้ใคร่ครวญแล้ว
รู้เหตุที่ควรติเตียนหรือเหตุที่ควรสรรเสริญ ย่อมเลือกสรรเสริญนักปราชญ์ผู้มีปัญญา และศีลมั่นคง ดำรง
ชีวิตอย่างหาข้อตำหนิมิได้ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๑. โคฆาตกปุตตวัตถุ
[๒๓๒] บุคคลพึงรักษาความกำเริบทางวาจา
พึงสำรวมวาจา ละวจีทุจริตแล้ว
พึงประพฤติวจีสุจริต
[๒๓๓] บุคคลพึงรักษาความกำเริบทางใจ
พึงสำรวมใจ ละมโนทุจริตแล้ว
พึงประพฤติมโนสุจริต
[๒๓๔] นักปราชญ์ผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ
ชื่อว่าเป็นผู้สำรวมดีแท้
โกธวรรคที่ ๑๗ จบ

๑๘. มลวรรค
หมวดว่าด้วยมลทินทางใจ
๑. โคฆาตกปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรของคนฆ่าโค
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บุตรของคนฆ่าโคผู้แก่เฒ่า ดังนี้)
[๒๓๕] บัดนี้ ท่านเปรียบเหมือนใบไม้เหลือง
ทั้งยมทูต๑มาปรากฏแก่ท่านแล้ว
ท่านอยู่ใกล้ปากแห่งความเสื่อม
และแม้แต่เสบียงเดินทาง๒ของท่านก็ยังไม่มีเลย

เชิงอรรถ :
๑ ยมทูต ในที่นี้หมายถึงความตาย (ขุ.ธ.อ. ๗/๕)
๒ เสบียงเดินทาง หมายถึงกุศล (ขุ.ธ.อ. ๗/๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๒. อัญญตรพราหมณวัตถุ
[๒๓๖] ท่านนั้นจงทำที่พึ่ง๑แก่ตนเอง
จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต
ท่านขจัดมลทินได้แล้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
จะเข้าถึงอริยภูมิอันเป็นทิพย์๒
[๒๓๗] บัดนี้ ท่านเป็นผู้มีวัยถูกนำเข้าไปแล้ว๓
เตรียมจะไปสำนักพระยายม
ที่พักระหว่างทางของท่านยังไม่มี
และแม้แต่เสบียงเดินทางของท่านก็ยังไม่มีเลย
[๒๓๘] ท่านนั้นจงทำที่พึ่งแก่ตนเอง
จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต
ท่านขจัดมลทินได้แล้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ก็จะไม่ต้องเข้าถึงชาติ และชราอีกต่อไป

๒. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้ทำกุศลอยู่บ่อย ๆ ดังนี้)
[๒๓๙] ผู้มีปัญญา พึงกำจัดมลทิน๔ของตน
ทีละน้อย ทุกขณะ โดยลำดับ
เหมือนช่างทองกำจัดสนิมทอง ฉะนั้น๕

เชิงอรรถ :
๑ ที่พึ่ง หมายถึงกุศลกรรม (ขุ.ธ.อ. ๗/๕)
๒ อริยภูมิอันเป็นทิพย์ ในที่นี้หมายถึงสุทธาวาสภูมิ ที่อยู่ของพระอนาคามี มี ๕ คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา
สุทัสสีและอกนิฏฐา (ขุ.ธ.อ. ๗/๕, ที.ปา. ๑๑/๓๑๘/๒๑๑)
๓ มีวัยถูกนำเข้าไปแล้ว หมายถึงล่วงวัยทั้ง ๓ ใกล้จะถึงอายุขัยแล้ว (ขุ.ธ.อ. ๗/๕)
๔ มลทิน หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๗)
๕ ดูเทียบ อภิ.ก. ๓๗/๑๗๘/๑๐๒,๓๔๖/๑๘๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๔. โลลุทายีวัตถุ
๓. ติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๔๐] สนิมเกิดขึ้นจากเหล็ก
ครั้นเกิดขึ้นแล้ว ย่อมกัดเหล็กนั่นเอง ฉันใด
กรรมทั้งหลายของตน ย่อมนำคนผู้ประพฤติล่วงโธนา๑
ไปสู่ทุคติ ฉันนั้น

๔. โลลุทายีวัตถุ
เรื่องพระโลลุทายี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระโลลุทายีผู้เล่าเรียนธรรมเพียงเล็กน้อยและไม่
ท่องบ่น จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๔๑] มนตร์๒มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน
เรือนมีความไม่ขยันหมั่นเพียร๓เป็นมลทิน
ผิวพรรณมีความเกียจคร้าน๔ เป็นมลทิน
ผู้รักษามีความประมาท๕ เป็นมลทิน

เชิงอรรถ :
๑ โธนา หมายถึงปัญญาที่พิจารณาปัจจัย ๔ แล้วจึงบริโภค ดังนั้น “ผู้ประพฤติล่วงโธนา” จึงหมายถึงผู้
ปราศจากปัญญาพิจารณาปัจจัย ๔ แล้วจึงบริโภค (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑)
๒ มนตร์ หมายถึงปริยัติและศิลปะ เมื่อไม่ท่องบ่น และไม่เอาใจใส่ ก็เสื่อมสูญ หรือหายไปได้ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๓)
๓ ไม่ขยันหมั่นเพียร หมายถึงไม่เอาใจใส่ดูแล หรือไม่บูรณะซ่อมแซมบ้านเรือน (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๓)
๔ ความเกียจคร้าน หมายถึงการไม่หมั่นชำระร่างกายและอวัยวะส่วนอื่น ๆ ให้สะอาดทำให้มีผิวพรรณมัวหมอง
(ขุ.ธ.อ. ๗/๑๓)
๕ ความประมาท สำหรับคฤหัสถ์ หมายถึงประมาทในทรัพย์สมบัติ เช่น สัตว์เลี้ยง สำหรับบรรพชิต
หมายถึงไม่คุ้มครองอินทรีย์ทวารทั้ง ๖ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๖. จูฬสาริภิกขุวัตถุ
๕. อัญญตรกุลปุตตวัตถุ
เรื่องกุลบุตรคนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่กุลบุตรคนหนึ่งซึ่งมีภรรยามักนอกใจ ดังนี้)
[๒๔๒] สตรีมีความประพฤติชั่ว๑เป็นมลทิน
ผู้ให้มีความตระหนี่เป็นมลทิน
บาปธรรม๒เป็นมลทินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๒๔๓] มลทินที่ยิ่งกว่ามลทินนั้นคืออวิชชา๓
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละมลทินนั้นให้ได้
แล้วเป็นอยู่อย่างผู้ปราศจากมลทินเถิด

๖. จูฬสาริภิกขุวัตถุ
เรื่องจูฬสารีภิกษุ
(พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิพระจูฬสารีผู้เป็นหมอปรุงยาให้ชาวบ้านเพื่อแลกกับ
โภชนะ จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๔๔] ผู้ไม่มีความละอาย กล้าเหมือนกา
ชอบทำลายคนอื่น ชอบเอาหน้า
มีความคะนอง มีพฤติกรรมสกปรก เป็นอยู่สบาย
[๒๔๕] ส่วนผู้มีความละอาย
แสวงหาความบริสุทธิ์เป็นนิตย์
ไม่เกียจคร้าน ไม่มีความคะนอง
มีอาชีพบริสุทธิ์ และมีปัญญา เป็นอยู่ลำบาก

เชิงอรรถ :
๑ ประพฤติชั่ว หมายถึงการประพฤตินอกใจสามี (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๑๕-๑๘/๒๗๙)
๒ บาปธรรม ในที่นี้หมายถึงอกุศลธรรมทั้งหมด (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๕)
๓ ดู องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๑๕/๒๔๑-๒๔๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๘. ติสสทหรวัตถุ
๗. ปัญจอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสก ๕ คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อุบาสก ๕ คน ดังนี้)
[๒๔๖] นรชนใดในโลก ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
คบชู้กับภรรยาของผู้อื่น พูดเท็จ
[๒๔๗] และหมกมุ่นในการดื่มสุราและเมรัย๑
นรชนนั้นชื่อว่า ขุดทรัพย์อันเป็นต้นทุน๒ของตนในโลกนี้
[๒๔๘] ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้มีบาปธรรมทั้งหลาย มักไม่สำรวม
ขอโลภะและอธรรม๓ อย่าย่ำยีท่านให้เป็นทุกข์ตลอดกาลนานเลย

๘. ติสสทหรวัตถุ
เรื่องภิกษุหนุ่มชื่อติสสะ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระติสสะเที่ยวติเตียนทานของคนอื่น จึงตรัสพระ
คาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๔๙] บุคคลย่อมให้ทานตามความเชื่อตามความเลื่อมใส
ภิกษุไม่พอใจในข้าวและน้ำที่เป็นทานของคนอื่นนั้น
ย่อมไม่บรรลุสมาธิ๔ในเวลากลางวันหรือกลางคืน
[๒๕๐] ส่วนภิกษุผู้ตัดอกุศลจิตนี้ได้
ถอนขึ้นทำให้รากขาดแล้ว
ย่อมบรรลุสมาธิในเวลากลางวันหรือกลางคืน

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๗๔/๒๙๑
๒ ขุดทรัพย์อันเป็นต้นทุน หมายถึงนำที่นาและสวนไปจำนอง หรือขายขาด เพื่อนำทรัพย์ไปซื้อสุรามาดื่ม
(ขุ.ธ.อ. ๗/๑๙)
๓ อธรรม หมายถึงโทสะ (ขุ.ธ.อ. ๗/๒๐)
๔ สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ หรือมัคคสมาธิ และผลสมาธิ (ขุ.ธ.อ. ๗/๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๑๐. เมณฑกเสฏฐิวัตถุ
๙. ปัญจอุปาสกวัตถุ
เรื่องอุบาสก ๕ คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อุบาสกคนหนึ่ง ในจำนวน ๕ คน ดังนี้)
[๒๕๑] ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี
ผู้จับเสมอด้วยโทสะไม่มี
ข่ายเสมอด้วยโมหะไม่มี
แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี๑

๑๐. เมณฑกเสฏฐิวัตถุ
เรื่องเมณฑกเศรษฐี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เมณฑกเศรษฐี ดังนี้)
[๒๕๒] โทษ๒ของคนอื่นเห็นได้ง่าย
ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก
เพราะคนนั้นชอบโปรยโทษของผู้อื่น
เหมือนคนโปรยแกลบ
แต่กลับปกปิดโทษของตนไว้
เหมือนพรานนกปกปิดร่างพรางกายตนไว้ ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความหมายในคาถานี้ คือ ไฟยังแสดงควันให้รู้ว่ายังมีไฟคนจึงสามารถดับได้ แต่ราคะเผาสัตว์ภายในไม่
แสดงอาการให้รู้, ผู้จับ เช่น ยักษ์ เป็นต้น สามารถจับสัตว์ได้ในชาติเดียวเท่านั้น แต่โทสะจับสัตว์ไม่มีที่
สิ้นสุด, ตาข่ายที่รัดรึงสัตว์ยังสามารถแก้หรือคลายได้ แต่โมหะที่รัดรึงสัตว์ยากที่จะแก้หรือคลายได้, แม่น้ำ
ยังมีวันพร่องหรือเต็มปรากฏให้เห็นได้ แต่ตัณหาไม่มีวันเต็ม ไม่มีวันเหือดแห้ง ทั้งยังปรากฏความพร่อง
อยู่เป็นนิตย์ เติมให้เต็มได้ยาก (ขุ.ธ.อ. ๗/๒๕)
๒ โทษ หมายถึงความพลั้งพลาด (ขุ.ธ.อ. ๗/๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๘. มลวรรค ๑๒. สุภัททปริพาชกวัตถุ
๑๑. อุชฌานสัญญิเถรวัตถุ
เรื่องพระอุชฌานสัญญีเถระ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระอุชฌานสัญญีผู้เที่ยวจับผิดภิกษุ จึงตรัสพระ
คาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๕๓] ผู้ที่คอยแต่สอดส่ายหาโทษคนอื่น
คอยเพ่งโทษอยู่เนืองนิตย์
จะมีอาสวะพอกพูนยิ่งขึ้น
และห่างไกลจากความสิ้นอาสวะโดยแท้

๑๒. สุภัททปริพาชกวัตถุ
เรื่องสุภัททปริพาชก
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาของสุภัททปริพาชก ดังนี้)
[๒๕๔] ไม่มีรอยเท้าในอากาศ ไม่มีสมณะภายนอก๑
หมู่สัตว์เป็นผู้ยินดีในปปัญจธรรม๒
แต่พระตถาคตทั้งหลาย ไม่มีปปัญจธรรม
[๒๕๕] ไม่มีรอยเท้าในอากาศ ไม่มีสมณะภายนอก
ไม่มีสังขาร๓ที่เที่ยงแท้
พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีความหวั่นไหว
มลวรรคที่ ๑๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีสมณะภายนอก หมายถึงไม่มีสมณะผู้ดำรงอยู่ในอริยมรรคและอริยผลภายนอกพระพุทธศาสนา
(ขุ.ธ.อ. ๗/๓๗)
๒ปปัญจธรรม หมายถึงกิเลสธรรมที่ทำให้เนิ่นช้า คือตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.ธ.อ. ๗/๓๗)
๓สังขาร ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.ธ.อ.๗/๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๒. ฉัพพัคคิยวัตถุ
๑๙. ธัมมัฏฐวรรค
หมวดว่าด้วยผู้ตั้งอยู่ในธรรม
๑. วินิจฉยมหามัตตวัตถุ
เรื่องมหาอำมาตย์ผู้พิพากษา
(ภิกษุทั้งหลายเห็นมหาอำมาตย์ผู้พิพากษารับสินบนแล้วตัดสินคดี จึงกราบทูล
ให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ พระองค์ตรัสพระคาถา ดังนี้)
[๒๕๖] ผู้ที่ตัดสินคดีโดยผลีผลาม๑
ไม่ชื่อว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม
ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิต วินิจฉัยคดี
เหตุแห่งคดีทั้งที่เป็นจริงและไม่เป็นจริงทั้งสอง
[๒๕๗] พิพากษาผู้อื่นโดยไม่ผลีผลาม
โดยเที่ยงธรรม โดยสม่ำเสมอ
ผู้มีปัญญา มีธรรมคุ้มครองนั้น
เราเรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม

๒. ฉัพพัคคิยวัตถุ
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๕๘] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตเพียงเพราะพูดมาก
แต่ผู้มีความเกษม ไม่มีเวร ไม่มีภัย จึงจะชื่อว่า เป็นบัณฑิต.

เชิงอรรถ :
๑ ตัดสินคดีโดยผลีผลาม หมายถึงดำรงอยู่ในอคติ ๔ มีฉันทาคติเป็นต้นแล้วตัดสินคดีโดยมุสาวาท เช่น ทำผู้
ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ให้เป็นเจ้าของทรัพย์ หรือทำผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ไม่ให้เป็นเจ้าของทรัพย์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๔. ลกุณฑกภัททิยเถรวัตถุ
๓. เอกุทานขีณาสววัตถุ
เรื่องพระเอกุทานขีณาสพ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎก ๒ รูป ดังนี้)
[๒๕๙] บุคคลไม่ชื่อว่าผู้ทรงธรรมเพียงเพราะพูดมาก
ส่วนผู้ใดได้สดับตรับฟังธรรมน้อย
แต่พิจารณาเห็นธรรมด้วยนามกาย
ทั้งไม่ประมาทธรรมนั้น
ผู้นั้นชื่อว่า ผู้ทรงธรรม

๔. ลกุณฏกภัททิยเถรวัตถุ
เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้อยู่ป่า ๓๐ รูป ที่เห็นพระลกุณฑก-
ภัททิยเถระรูปร่างเล็กเหมือนสามเณร ดังนี้)
[๒๖๐] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นเถระ๑เพียงเพราะมีผมหงอก
ผู้ที่แก่แต่วัยเท่านั้น เรียกว่า คนแก่เปล่า
[๒๖๑] ส่วนผู้มีสัจจะ มีธรรม๒
มีอหิงสา สัญญมะ และทมะ๓
คายมลทินได้แล้ว เป็นปราชญ์ ชื่อว่า เถระ

เชิงอรรถ :
๑ เถระ ในที่นี้หมายถึงผู้มีคุณธรรมที่ทำให้เป็นผู้มั่นคง คือ รู้แจ้งอริยสัจ ๔ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๔๔)
๒ มีสัจจะ หมายถึงรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ประการ มีธรรม หมายถึงบรรลุโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๗/๔๓)
๓ อหิงสา หมายถึงความไม่เบียดเบียน สัญญมะ หมายถึงศีล ทมะ หมายถึงการสำรวมอินทรีย์ (ขุ.ธ.อ.
๗/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๖. หัตถกวัตถุ
๕. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายที่พูดจาคล่องแคล่ว ดังนี้)
[๒๖๒] เพราะเหตุเพียงการพูดจาคล่องแคล่ว
หรือเพราะมีผิวพรรณงดงาม
แต่ยังมีความริษยา ตระหนี่ และโอ้อวด
บุคคลก็หาชื่อว่าคนดีได้ไม่
[๒๖๓] ส่วนผู้ตัดความริษยาเป็นต้นนี้ได้
ถอนขึ้นทำให้รากขาดแล้ว
คายโทษได้แล้ว เป็นผู้มีปัญญา
จึงจะชื่อว่า คนดี

๖. หัตถกวัตถุ
เรื่องหัตถกภิกษุ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระหัตถกะผู้พูดจาเหลาะแหละ ดังนี้)
[๒๖๔] ผู้ไม่มีวัตร๑ พูดจาเหลาะแหละ
แม้มีศีรษะโล้น ก็ไม่ชื่อว่าสมณะ
ผู้เต็มไปด้วยความปรารถนา และความอยากได้
จะเป็นสมณะได้อย่างไร
[๒๖๕] ส่วนผู้ใดระงับบาปน้อยใหญ่ลงได้โดยสิ้นเชิง
และเพราะเหตุที่ระงับบาปทั้งหลายได้นี้เอง
เขาจึงเรียกผู้นั้นว่า สมณะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๙๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๘. ติตถิยวัตถุ
๗. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พราหมณ์คนหนึ่งเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนาเที่ยวบิณฑบาตอย่างภิกษุ
วันหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคประสงค์จะให้พระองค์ตรัสเรียกว่าภิกษุ พระองค์
จึงตรัสพระคาถา ดังนี้)
[๒๖๖] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ๑ เพียงเพราะขอจากผู้อื่นเท่านั้น
ทั้งไม่ชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะยังสมาทานธรรมที่เป็นพิษอยู่๒
[๒๖๗] ในศาสนานี้ ผู้ที่ลอยบุญและบาปได้แล้ว
ประพฤติพรหมจรรย์ อยู่ในโลกด้วยปัญญา
จึงจะชื่อว่า ภิกษุ

๘. ติตถิยวัตถุ
เรื่องเดียรถีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๖๘] บุคคลโง่เขลาไม่รู้อะไร เพียงแต่นั่งนิ่ง ๆ หาชื่อว่าเป็นมุนีไม่
ส่วนบุคคลผู้ฉลาด เลือกชั่งเอาแต่สิ่งที่ดี ละทิ้งสิ่งที่ชั่ว
[๒๖๙] เหมือนบุคคลชั่งสิ่งของ จึงจะชื่อว่า มุนีแท้
ผู้ที่รู้โลกทั้งสอง ก็เรียกว่า มุนี(เช่นกัน)๓

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุ ในที่นี้หมายถึงผู้ทำลายกิเลสทั้งหลายได้ด้วยญาณ (ขุ.ธ.อ. ๗/๔๗)
๒ สมาทานธรรมที่เป็นพิษ หมายถึงมีความประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ (ขุ.ธ.อ.๗/๔๗)
๓ คาถาธรรมบท ๒ ข้อนี้ มีข้อความสัมพันธ์กัน ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๔/๗๑, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๑๐. สัมพหุลสีลาทิสัมปันนภิกขุวัตถุ
๙. อริยพาฬิสิกวัตถุ
เรื่องพรานเบ็ดชื่ออริยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสถามชื่อนายพรานเบ็ด นายพรานเบ็ดทูลตอบว่าชื่ออริยะ
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสพระคาถานี้แก่เขา ดังนี้)
[๒๗๐] บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นอริยะ เพราะยังเบียดเบียนสัตว์อยู่
แต่ชื่อว่า อริยะ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง

๑๐. สัมพหุลสีลาทิสัมปันนภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลเป็นต้นหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๗๑] ภิกษุ ด้วยเหตุเพียงมีศีล๑และวัตร๒
แม้ด้วยความเป็นพหูสูต๓ ด้วยการได้สมาธิ๔
หรือด้วยการนอนในที่สงัด
[๒๗๒] หรือด้วยการรู้ประจักษ์ว่าเราได้สัมผัสเนกขัมมสุข๕
ที่ปุถุชนไม่เคยได้สัมผัส
แต่ถ้าเธอยังไม่บรรลุความสิ้นอาสวะ
ก็อย่าไว้วางใจ
ธัมมัฏฐวรรคที่ ๑๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ศีล หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ (ปาติโมกขสังวรศีล อินทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล ปัจจัยสันนิสิตศีล)
(ขุ.ธ.อ. ๗/๕๒)
๒ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๙๗ ในเล่มนี้
๓ความเป็นพหูสูต หมายถึงเรียนปิฎก ๓ (พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก) (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๒)
๔สมาธิ หมายถึงสมาบัติ ๘ (รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔) (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๒)
๕เนกขัมมสุข หมายถึงสุขของพระอนาคามี (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๑. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
๒๐. มัคควรรค
หมวดว่าด้วยมรรค
๑. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๒๗๓] บรรดามรรค มรรคมีองค์ ๘ ประเสริฐที่สุด
บรรดาสัจจะ อริยสัจ ๔ ประเสริฐที่สุด
บรรดาธรรม วิราคธรรม๑ประเสริฐที่สุด
บรรดาสัตว์สองเท้า๒ตถาคตผู้มีจักษุ๓ ประเสริฐที่สุด๔
[๒๗๔] ทางเพื่อความหมดจดแห่งทัสสนะ
คือทางนี้เท่านั้น มิใช่ทางอื่น
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงดำเนินไปตามทางนี้แล
เพราะทางนี้เป็นทางลวงมารให้หลง
[๒๗๕] ด้วยว่า เธอทั้งหลายดำเนินไปตามทางนี้แล้ว
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
เรารู้วิธีถอนลูกศรคือกิเลสแล้ว
จึงชี้บอกทางนี้แก่เธอทั้งหลาย
[๒๗๖] เธอทั้งหลายควรทำความเพียรเองเถิด
ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้บอกเท่านั้น
ผู้บำเพ็ญภาวนา ดำเนินตามทางนี้แล้ว เพ่งพินิจอยู่
จักพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารได้๕

เชิงอรรถ :
๑ วิราคธรรม หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๔)
๒ สัตว์สองเท้า ในที่นี้หมายถึงมนุษย์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๔)
๓ จักษุ ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (วิ.อ. ๓/๑๓/๑๗)
๔ อภิ.ก. ๓๗/๘๗๒/๔๙๖
๕ เครื่องผูกแห่งมาร หมายถึงวัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๔. อนัตตลักขณวัตถุ
๒. อนิจจลักขณวัตถุ
เรื่องอนิจจลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๗๗] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญา๑ว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์
นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

๓. ทุกขลักขณวัตถุ
เรื่องทุกขลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๗๘] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์
เมื่อนั้นย่อมหน่ายในทุกข์
นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์

๔. อนัตตลักขณวัตถุ
เรื่องอนัตตลักษณะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๗๙] เมื่อใด อริยสาวกพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา
เมื่อนั้น ย่อมหน่ายในทุกข์
นั่นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์๒

เชิงอรรถ :
๑ เห็นด้วยปัญญา หมายถึงเห็นด้วยวิปัสสนาปัญญา (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๖)
๒ ข้อ ๒๗๗-๒๗๙ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๗๖-๖๗๘/๔๕๕, อภิ.ก.๓๗/๗๕๓/๔๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๖. สูกรเปตวัตถุ
๕. ปธานกัมมิกติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระปธานกัมมิกติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๘๐] คนที่ไม่ขยันในเวลาที่ควรขยัน
ทั้งที่ยังหนุ่มยังสาว มีกำลัง
แต่กลับเกียจคร้าน มีความคิดใฝ่ต่ำ๑ ปราศจากความเพียร
เกียจคร้านมาก ย่อมไม่ประสบทาง๒ด้วยปัญญา

๖. สูกรเปตวัตถุ
เรื่องสูกรเปรต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๘๑] บุคคลพึงรักษาวาจา๓ พึงสำรวมใจ๔
และไม่พึงทำความชั่วทางกาย๕
พึงชำระกรรมบถทั้ง ๓ ประการนี้ให้หมดจด
จะพึงพบทางที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้

เชิงอรรถ :
๑ มีความคิดใฝ่ต่ำ หมายถึงหมกมุ่นในมิจฉาวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก
(ขุ.ธ.อ. ๗/๕๙)
๒ ทาง หมายถึงอริยมรรค (ขุ.ธ.อ. ๗/๕๙)
๓ รักษาวาจา หมายถึงระมัดระวังวาจา โดยเว้นจากวจีทุจริต ๔ อย่าง (เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจาก
การพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ) (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๔)
๔ สำรวมใจ หมายถึงควบคุมใจ โดยไม่ให้มโนทุจริตเกิดขึ้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๔)
๕ ความชั่วทางกาย หมายถึงกายทุริต ๓ อย่าง (ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม) (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๘. สัมพหุลมหัลลกภิกขุวัตถุ
๗. โปฐิลเถรวัตถุ
เรื่องพระโปฐิลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่โปฐิลเถระ ดังนี้)
[๒๘๒] ปัญญา๑เกิดเพราะการประกอบ๒
และเสื่อมไปเพราะการไม่ประกอบ
เมื่อรู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งปัญญาทั้ง ๒ ทางนี้แล้ว
บุคคลพึงตั้งตนโดยวิธีที่ปัญญาจะเจริญยิ่งขึ้น

๘. สัมพหุลมหัลลกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุแก่หลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๘๓] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตัดป่า๓ แต่อย่าตัดต้นไม้
เพราะภัย๔ย่อมเกิดจากป่า
เธอทั้งหลายครั้นตัดป่า และหมู่ไม้ในป่าแล้ว๕
จงเป็นผู้ไม่มีป่าอยู่เถิด

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญา แปลจากคำว่า “ภูริ” ซึ่งเป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของปัญญา (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๖, อภิธา.ฏีกา ๑๕๒-
๑๕๔/๑๒๑)
๒ การประกอบ หมายถึงมนสิการโดยแยบคายในอารมณ์ธรรม ๓๘ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๖)
๓ ป่า ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๘)
๔ ภัย ในที่นี้หมายถึงภัยคือชาติ (การเกิด) เป็นต้น ที่เกิดจากป่าคือกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๘)
๕ หมู่ไม้ในป่า หมายถึงกิเลสอื่น ๆ ที่ให้วิบาก หรือที่ให้เกิดในภพต่อ ๆ ไป (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๑๐. มหาธนวาณิชวัตถุ
[๒๘๔] ตราบใด บุรุษยังไม่ตัดหมู่ไม้ในป่า
แม้เพียงเล็กน้อยในสตรีทั้งหลาย
ตราบนั้น เขาย่อมมีใจผูกพัน
เหมือนลูกโคที่ยังดื่มนมมีใจผูกพันในแม่โค ฉะนั้น

๙. สารีปุตตเถรสัทธิวิหาริกวัตถุ
เรื่องสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เป็นศิษย์ของพระสารีบุตร ดังนี้)
[๒๘๕] เธอจงตัดความรักของตน
เหมือนตัดดอกบัวที่เกิดในสารทกาล
จงเพิ่มพูนทางแห่งสันติ๑เท่านั้น
เพราะพระสุคตเจ้าแสดงนิพพานไว้แล้ว

๑๐. มหาธนวาณิชวัตถุ
เรื่องพ่อค้ามีทรัพย์มาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พ่อค้าผ้าที่พักอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ดังนี้)
[๒๘๖] คนพาลมักคิดเช่นนี้ว่า “เราจักอยู่ที่นี่ตลอดฤดูฝน
เราจักอยู่ที่นี่ตลอดฤดูหนาวและฤดูร้อน”
ชื่อว่าย่อมไม่รู้อันตราย๒ที่จะมาถึงตน

เชิงอรรถ :
๑ ทางแห่งสันติ หมายถึงมรรคมีองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๗๒)
๒ อันตราย หมายถึงความตาย (ขุ.ธ.อ. ๗/๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๐. มัคควรรค ๑๒. ปฏาจาราวัตถุ
๑๑. กิสาโคตมีวัตถุ
เรื่องนางกิสาโคตมี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางกิสาโคตมี ดังนี้)
[๒๘๗] นรชนผู้มัวเมาในบุตรและปศุสัตว์
มีใจเกี่ยวข้องในอารมณ์ต่าง ๆ๑
ย่อมถูกมฤตยูคร่าไป
เหมือนชาวบ้านผู้หลับไหลถูกห้วงน้ำพัดพาไป ฉะนั้น

๑๒. ปฏาจาราวัตถุ
เรื่องนางปฏาจารา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางปฏาจารา ดังนี้)
[๒๘๘] บุคคลเมื่อถึงคราวจะตาย
บุตรทั้งหลายก็ต้านทานไว้ไม่ได้
บิดาก็ต้านทานไว้ไม่ได้
พวกพ้องก็ต้านทานไว้ไม่ได้
แม้ญาติพี่น้องก็ต้านทานไว้ไม่ได้
[๒๘๙] บัณฑิตผู้สำรวมในศีล รู้ความจริงนี้แล้ว
พึงรีบเร่งชำระทางอันจะนำไปสู่นิพพาน
มัคควรรคที่ ๒๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มีใจเกี่ยวข้องในอารมณ์ต่าง ๆ หมายถึงปรารถนาอยากได้ทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (ขุ.ธ.อ. ๗/๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๑. ปกิณณกวรรค ๒. กุกกุฏณฑขาทิกาวัตถุ
๒๑. ปกิณณกวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด
๑. อัตตโนปุพพกัมมวัตถุ
เรื่องบุพกรรมของพระองค์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๙๐] ถ้าเห็นว่าจะได้สุขอันยิ่งใหญ่๑
ด้วยการเสียสละสุขอันเล็กน้อย
นักปราชญ์พึงเสียสละสุขอันเล็กน้อย
เพื่อเห็นแก่สุขอันยิ่งใหญ่๒

๒. กุกกุฏัณฑขาทิกาวัตถุ
เรื่องกุมาริกากินไข่ไก่
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นางยักษิณีและนางกุลธิดา ดังนี้)
[๒๙๑] ผู้ใดปรารถนาสุขเพื่อตน ด้วยการก่อทุกข์ให้คนอื่น
ผู้นั้นต้องเกี่ยวพันกับเวร ไม่พ้นจากเวรไปได้

เชิงอรรถ :
๑ สุขอันยิ่งใหญ่ ในที่นี้หมายถึงความสุขในนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๘๗)
๒ ดู ขุ.ขุ. แปลในเล่มนี้ ข้อ ๑๘ หน้า ๑๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๑. ปกิณณกวรรค ๔. ลกุณฏกภัททิยวัตถุ
๓. ภัททิยภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุชาวเมืองภัททิยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุชาวเมืองภัททิยะผู้ขวนขวายในการ
ประดับเขียงเท้า ดังนี้)
[๒๙๒] ภิกษุเหล่าใดละทิ้งกิจที่ควรทำ๑
แต่กลับทำกิจที่ไม่ควรทำ๒
อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่ภิกษุเหล่านั้น
ผู้ถือตัวจัด มัวแต่ประมาท
[๒๙๓] ส่วนภิกษุเหล่าใดมีสติตั้งมั่นในกาย๓เป็นนิตย์
ภิกษุเหล่านั้นหมั่นทำความเพียรในกิจที่ควรทำ
ไม่ทำกิจที่ไม่ควรทำ
อาสวะทั้งหลายของเธอผู้มีสติสัมปชัญญะ
ย่อมถึงการสูญสิ้นไป

๔. ลกุณฏกภัททิยวัตถุ
เรื่องพระลกุณฏกภัททิยะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๒๙๔] บุคคลฆ่ามารดา๔ ฆ่าบิดา๕
ฆ่ากษัตราธิราชทั้ง ๒ พระองค์ได้๖

เชิงอรรถ :
๑ กิจที่ควรทำ หมายถึงการรักษาศีล การอยู่ป่า การถือธุดงควัตร และการเจริญภาวนา (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๐)
๒ กิจที่ไม่ควรทำ หมายถึงการประดับร่ม รองเท้า เขียงเท้า บาตร ถลกบาตร ประคตเอว และอังสะ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๐)
๓ มีสติตั้งมั่นในกาย หมายถึงเจริญกายคตาสติกัมมัฏฐาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๐)
๔ มารดา หมายถึงตัณหาที่เป็นเหตุให้สัตว์เกิดในภพทั้งสาม (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)
๕ บิดา หมายถึงอัสมิมานะ (การถือตัวว่าเป็นเรา) (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)
๖ กษัตราธิราชทั้ง ๒ พระองค์ หมายถึงสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) และอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่า
ขาดสูญ) (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๑. ปกิณณกวรรค ๕. ทารุสากฏิกวัตถุ
ฆ่าชาวแว่นแคว้น๑พร้อมเจ้าพนักงาน๒แล้ว
ดำเนินชีวิตเป็นพราหมณ์๓อยู่อย่างไร้ทุกข์
[๒๙๕] บุคคลฆ่ามารดา ฆ่าบิดา
ฆ่ากษัตราธิราชทั้ง ๒ พระองค์ได้
ทำลายทางเสือผ่านที่ ๕๔ ได้
ดำเนินชีวิตเป็นพราหมณ์อยู่อย่างไร้ทุกข์

๕. ทารุสากฏิกวัตถุ
เรื่องนายทารุสากฏิกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระราชา และนายทารุสากฏิกะ พร้อม
ครอบครัว ดังนี้)
[๒๙๖] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีสติตั้งมั่นในพระพุทธเจ้าเป็นนิตย์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
[๒๙๗] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีสติตั้งมั่นในพระธรรมเป็นนิตย์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ

เชิงอรรถ :
๑ แว่นแคว้น หมายถึงอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)
๒ เจ้าพนักงาน หมายถึงนันทิราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี) (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)
๓ พราหมณ์ หมายถึงพระขีณาสพ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๒)
๔ ทางเสือผ่านที่ ๕ หมายถึงวิจิกิจฉานิวรณ์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๑. ปกิณณกวรรค ๖. วัชชีปุตตกภิกขุวัตถุ
[๒๙๘] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีสติตั้งมั่นในพระสงฆ์เป็นนิตย์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
[๒๙๙] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีสติตั้งมั่นในกายเป็นนิตย์
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
[๓๐๐] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีใจยินดีในความไม่เบียดเบียน
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ
[๓๐๑] เหล่าพระสาวกของพระโคดม
มีใจยินดีในการเจริญภาวนา
ทั้งกลางวันและกลางคืน
ชื่อว่าตื่นด้วยดีอยู่เสมอ

๖. วัชชีปุตตกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เป็นโอรสของเจ้าวัชชี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เป็นโอรสของเจ้าวัชชี ดังนี้)
[๓๐๒] การบวชเป็นของยาก๑
ความยินดีในการบำเพ็ญธรรมก็เป็นของยาก

เชิงอรรถ :
๑ การบวช ที่ชื่อว่า เป็นของยาก เพราะจะต้องสละโภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติแล้วมอบกายถวายชีวิต
ในพระศาสนานี้จึงจะบวชได้ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๑. ปกิณณกวรรค ๘. จูฬสุภัททาวัตถุ
เรือนที่ครอบครองไม่ดี ก่อให้เกิดทุกข์๑
การอยู่ร่วมกับคนเสมอกันเป็นทุกข์
การเดินทางไกล๒ก็เป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่ควรเป็นผู้เดินทางไกล
และไม่ควรให้ทุกข์ติดตามได้

๗. จิตตคหปติวัตถุ
เรื่องจิตตคหบดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๓๐๓] คนมีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล๓
เพียบพร้อมด้วยยศ๔และโภคทรัพย์
จะไปสู่ถิ่นใด ๆ ย่อมได้รับการบูชาในถิ่นนั้น ๆ

๘. จูฬสุภัททาวัตถุ
เรื่องนางจูฬสุภัททา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท ๔ ดังนี้)
[๓๐๔] สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล
เหมือนภูเขาหิมพานต์ ฉะนั้น
อสัตบุรุษทั้งหลาย ณ ที่นี้ย่อมไม่ปรากฏ
เหมือนลูกศรที่ยิงไปในเวลากลางคืน ฉะนั้น๕

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงผู้ครองเรือนจะต้องปฏิบัติราชกิจของพระราชา หรือกิจของอิสรชน จะต้องสงเคราะห์ชนข้างเคียง
และให้ทานแก่สมณพราหมณ์ เพราะฉะนั้น การครองเรือนจะให้สมบูรณ์เต็มที่เป็นไปได้ยาก ถ้าครองเรือน
ไม่ดี ก็ก่อให้เกิดทุกข์ได้ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๘)
๒ การเดินทางไกล หมายถึงการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ (ขุ.ธ.อ. ๗/๙๙)
๓ ศีล ในที่นี้หมายถึงศีลสำหรับผู้ครองเรือน (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๐๐)
๔ ยศ ในที่นี้หมายถึงความมีบริวาร (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๐๐)
๕ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๒. นิรยวรรค ๑. สุนทรีปริพาชิกาวัตถุ
๙. เอกวิหาริเถรวัตถุ
เรื่องพระเถระผู้อยู่รูปเดียว
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๐๕] ภิกษุพึงยินดีการนั่งผู้เดียว การนอนผู้เดียว๑
ไม่เกียจคร้าน เที่ยวไปตามลำพัง
ฝึกฝนอยู่ผู้เดียว และยินดีการอยู่ป่า
ปกิณณกวรรคที่ ๒๑ จบ

๒๒. นิรยวรรค
หมวดว่าด้วยคนทำกรรมชั่วตกนรก
๑. สุนทรีปริพาชิกาวัตถุ
เรื่องปริพาชิกาชื่อสุนทรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๐๖] คนที่ชอบกล่าวคำไม่จริง
หรือคนที่ทำความชั่วแล้วกล่าวว่า
‘ฉันไม่ได้ทำ’ ต่างก็ตกนรก
คน ๒ จำพวกนั้น ต่างก็มีกรรมชั่ว
ตายไปแล้ว มีคติเท่าเทียมกันในโลกหน้า๒

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว” มิใช่หมายถึงการอยู่ตามลำพัง แต่หมายถึงการอยู่อย่างไม่ละการมนสิการ
กัมมัฏฐาน เมื่อทำได้อย่างนี้ แม้จะอยู่ท่ามกลางหมู่ภิกษุพันรูป ก็ชื่อว่า นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว (ขุ.ธ.อ.
๗/๑๐๖)
๒ ดู อุทาน ข้อ ๓๘ หน้า ๒๔๘, อิติวุตตกะ ข้อ ๔๘ หน้า ๓๙๙, สุตตนิบาต ข้อ ๖๖๗ หน้า ๖๕๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๒. นิรยวรรค ๔. เขมเสฏฐิปุตตวัตถุ
๒. ทุกขปีฬิตสัตตวัตถุ
เรื่องสัตว์ถูกทุกข์เบียดเบียน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๐๗] ภิกษุชั่วจำนวนมากมีผ้ากาสาวะพันที่คอ
มีธรรมเลวทราม ไม่สำรวม
ย่อมตกนรกเพราะบาปกรรมทั้งหลาย

๓. วัคคุมุทาตีริยภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุอยู่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภภิกษุผู้อยู่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา พูดอวดอุตริมนุสสธรรม
ที่ไม่มีในตนของกันและกันแก่คฤหัสถ์เพื่อปากท้อง จึงตรัสพระคาถาแก่ภิกษุเหล่านั้น
ดังนี้)
[๓๐๘] การกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนดุจเปลวเพลิง
ยังดีกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีล ไม่สำรวม
บริโภคอาหารที่ชาวบ้านเขาถวาย๑

๔. เขมเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรเศรษฐีชื่อเขมกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นายเขมกะผู้ชอบเป็นชู้กับภรรยาของคนอื่น
ดังนี้)
[๓๐๙] นรชนที่ประมาท ชอบเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น
ย่อมถึงฐานะ๒ ๔ ประการ คือ

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความคาถานี้หมายถึงการที่บุคคลกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนดุจเปลวเพลิงนั้นส่งผลให้ได้รับทุกขเวทนา
ถึงตาย เพียงชาตินี้เท่านั้น แต่การที่ภิกษุผู้ทุศีลบริโภคข้าวที่ชาวบ้านถวายด้วยศรัทธานั้น ทำให้ตกนรก
หลายร้อยชาติ ดังนั้น การกลืนกินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนนั้นจึงดีกว่าการที่ภิกษุผู้ทุศีลบริโภคข้าวชาวบ้าน (ขุ.ธ.อ.
๗/๑๑๒)
๒ ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุแห่งทุกข์ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๒. นิรยวรรค ๕. ทุพพจภิกขุวัตถุ
(๑) ได้บาป (๒) นอนไม่เป็นสุข
(๓) ถูกนินทา (๔) ตกนรก
[๓๑๐] เพราะการได้บาป ๑ การได้คติที่เลว ๑
หญิงชายที่ต่างสะดุ้งกลัวมีความสนุกนิดหน่อย ๑
ถูกพระราชาลงพระอาชญาอย่างหนัก ๑
นรชนจึงไม่ควรเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น

๕. ทุพพจภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ว่ายาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ว่ายาก ดังนี้)
[๓๑๑] หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือได้ ฉันใด
ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี๑
ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น
[๓๑๒] กรรมที่ย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรที่เศร้าหมอง
และพรหมจรรย์ที่พึงระลึกถึงด้วยความระแวงสงสัย
ทั้ง ๓ นั้น ไม่มีผลมาก๒
[๓๑๓] หากภิกษุพึงทำกรรมใด ก็ควรทำกรรมนั้นให้จริงจัง
ควรบากบั่นทำกรรมนั้นให้มั่นคง
เพราะธรรมเครื่องละเว้น๓ที่ประพฤติอย่างย่อหย่อน
รังแต่จะเกลี่ยธุลี๔ลงใส่ตัว

เชิงอรรถ :
๑ ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี หมายถึงภาวะแห่งความเป็นสมณะ กล่าวคือสมณธรรมที่ภิกษุ
ปฏิบัติไม่ดีเพราะเป็นผู้ทุศีล เป็นต้น ย่อมส่งผลให้สัตว์ไปเกิดในนรก (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑๕)
๒ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๘๙/๙๔, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๒๗๗/๓๘๔
๓ ธรรมเครื่องละเว้น ในที่นี้หมายถึงสมณธรรม (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑๖)
๔ ธุลี หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๒. นิรยวรรค ๗. อาคันตุกภิกขุวัตถุ
๖. อิสสาปกติอิตถีวัตถุ
เรื่องหญิงขี้หึง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่หญิงขี้หึงและแก่บริษัท ๔ ดังนี้)
[๓๑๔] ความชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า
เพราะระลึกถึงความชั่ว บุคคลย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
ส่วนความดี ทำไว้เถิดดีกว่า
เพราะทำแล้วระลึกถึงภายหลังบุคคลย่อมไม่เดือดร้อน

๗. อาคันตุกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุอาคันตุกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุอาคันตุกะผู้อยู่ในเมืองชายแดน ดังนี้)
[๓๑๕] เมืองชายแดนได้รับการคุ้มครองทั้งภายในและภายนอก ฉันใด
เธอทั้งหลายจงคุ้มครองตนให้ได้ ฉันนั้น
ขณะ๑อย่าได้ล่วงเลยเธอทั้งหลายไปเสีย
เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป
ย่อมเศร้าโศก แออัดอยู่ในนรก๒

เชิงอรรถ :
๑ ขณะ หมายถึงเวลา หรือสมัย มี ๔ คือ (๑) ขณะแห่งการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า (๒) ขณะแห่งการเกิด
ในมัชฌิมประเทศ (๓) ขณะแห่งการได้สัมมาทิฏฐิ (๔) ขณะแห่งอายตนะทั้ง ๖ ไม่วิกลวิกาล (ขุ.ธ.อ. ๗/๒๓๐)
๒ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๖๕๓/๔๕๒, ๑๐๐๔/๕๐๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๒. นิรยวรรค ๙. ติตถิยสาวกวัตถุ
๘. นิคัณฐวัตถุ
เรื่องนิครนถ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๑๖] สัตว์ทั้งหลายผู้ละอายในสิ่งที่ไม่ควรละอาย
และไม่ละอายในสิ่งที่ควรละอาย
ชื่อว่าถือมั่นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ
[๓๑๗] สัตว์ทั้งหลายผู้เห็นสิ่งที่ไม่ควรกลัวว่าควรกลัว
และเห็นสิ่งที่ควรกลัวว่าไม่ควรกลัว
ชื่อว่าถือมั่นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ

๙. ติตถิยสาวกวัตถุ
เรื่องสาวกเดียรถีย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่สาวกของเดียรถีย์ ดังนี้)
[๓๑๘] สัตว์ทั้งหลายผู้เห็นสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ๑
และเห็นสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ
ชื่อว่าถือมั่นมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ
[๓๑๙] สัตว์ทั้งหลายผู้รู้สิ่งที่มีโทษว่ามีโทษ
และรู้สิ่งที่ไม่มีโทษว่าไม่มีโทษ
ชื่อว่าถือมั่นสัมมาทิฏฐิ ย่อมไปสู่สุคติ
นิรยวรรคที่ ๒๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เห็นสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ หมายถึงเห็นสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ ประการ และ
เห็นธรรมที่ส่งเสริมสัมมาทิฏฐิว่าเป็นธรรมที่ส่งเสริมมิจฉาทิฏฐิ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๓. นาควรรค ๑. อัตตทันตวัตถุ
๒๓. นาควรรค
หมวดว่าด้วยช้าง
๑. อัตตทันตวัตถุ
เรื่องการฝึกตน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนท์ ดังนี้)
[๓๒๐] เราจักอดกลั้นถ้อยคำล่วงเกิน
เหมือนพญาช้างในสงคราม
อดทนลูกศรที่ตกจากแล่ง
เพราะคนจำนวนมากเป็นผู้ทุศีล
[๓๒๑] คนทั้งหลายนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม
พระราชาย่อมทรงราชพาหนะที่ฝึกแล้ว
ในหมู่มนุษย์ คนที่อดกลั้นถ้อยคำล่วงเกินได้
ชื่อว่าเป็นผู้ฝึกตนได้แล้ว๑ เป็นผู้ประเสริฐที่สุด
[๓๒๒] ม้าอัสดร ม้าอาชาไนย ม้าสินธพ ช้างใหญ่
ที่ได้รับการฝึกหัดแล้ว เป็นสัตว์ประเสริฐ
แต่คนที่ฝึกตนได้แล้ว ประเสริฐกว่าสัตว์พาหนะเหล่านั้น๒

เชิงอรรถ :
๑ ฝึกตนได้แล้ว หมายถึงฝึกตนได้ด้วยอริยมรรค ๔ (โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค
และอรหัตตมรรค) (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๒๕)
๒ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๐/๒๘๒, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๘/๑๑๗-๑๑๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๓. นาควรรค ๔. ปเสนทิโกสลราชวัตถุ
๒. หัตถาจริยปุพพกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เคยเป็นนายควาญช้าง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เคยเป็นนายควาญช้าง ดังนี้)
[๓๒๓] แท้จริง บุคคลไม่สามารถไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไป๑ด้วยยานเหล่านี้
แต่บุคคลผู้ฝึกตนได้แล้ว สามารถไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป
ด้วยตนที่ฝึกแล้ว ที่ฝึกดีแล้ว๒

๓. ปริชิณณพราหมณปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรของพราหมณ์ชรา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บุตร ๔ คนของพราหมณ์ชรา ดังนี้)
[๓๒๔] ช้างกุญชรชื่อธนปาลกะ ตกมันจัด ห้ามได้ยาก ถูกขังไว้
ไม่ยอมกินฟ่อนหญ้า เพราะระลึกถึงแต่นาควัน๓

๔. ปเสนทิโกสลราชวัตถุ
เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เสวยพระกระยาหารมาก
ดังนี้)
[๓๒๕] เมื่อใด บุคคลผู้ถูกความง่วงเหงาครอบงำ บริโภคมาก
ชอบแต่นอนกลิ้งเกลือกไปมา
เมื่อนั้น เขาย่อมมีปัญญาเฉื่อยชา ชอบเข้าห้องเป็นอาจิณ
เหมือนสุกรอ้วนที่เขาขุนด้วยเศษอาหาร ฉะนั้น๔

เชิงอรรถ :
๑ ทิศที่ยังไม่เคยไป หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๒๖)
๒ ที่ชื่อว่า ฝึกแล้ว เพราะฝึกอินทรีย์ได้ในเบื้องต้น ที่ชื่อว่า ฝึกดีแล้ว เพราะอบรมตนได้ด้วยอริยมรรค
(ขุ.ธ.อ. ๗/๑๒๖)
๓ นาควัน หมายถึงป่าช้าง เป็นที่อยู่ของช้างพังแม่ของช้างธนปาลกะ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๒๖)
๔ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๗/๓๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๓. นาควรรค ๗. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
๕. สานุสามเณรวัตถุ
เรื่องสานุสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่สานุสามเณร ดังนี้)
[๓๒๖] แต่ก่อนจิตนี้ได้ท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่าง ๆ
ตามความปรารถนา ตามความต้องการ ตามความสบาย
วันนี้ เราจะข่มจิตนั้นโดยอุบายอันแยบคาย
เหมือนควาญช้างปราบพยศช้างตกมัน ฉะนั้น๑

๖. ปาเวรกหัตถิวัตถุ
เรื่องช้างปาเวรกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๒๗] เธอทั้งหลายจงยินดีในความไม่ประมาท
จงตามรักษาจิตของตน
จงถอนตนขึ้นจากหล่ม๒
เหมือนช้างกุญชรที่จมลงในเปือกตม ถอนตนขึ้นได้ ฉะนั้น

๗. สัมพหุลภิกขุวัตถุ๓
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๒๘] ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกัน เป็นสาธุวิหารี๔ เป็นนักปราชญ์

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๗๗/๓๓๑,๑๑๓๓/๕๒๔
๒ หล่ม ในที่นี้หมายถึงกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔๐)
๓ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๔๖๔/๓๕๕, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๗-๑๙/๓๐๓, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๑-๑๓๒/๔๓๓-๔๓๔
๔ สาธุวิหารี หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยพรหมวิหารธรรม ๔ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิต-
นิโรธ ๑ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๑/๔๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๓. นาควรรค ๘. มารวัตถุ
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด
[๓๒๙] ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่ผู้เดียว
และเหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น
[๓๓๐] การเที่ยวไปของบุคคลผู้เดียวเป็นความประเสริฐ
เพราะคุณเครื่องความเป็นสหาย๑ไม่มีในคนพาล
อนึ่ง บุคคลควรมีความขวนขวายน้อย
เที่ยวไปผู้เดียว ไม่พึงทำความชั่ว
เหมือนช้างมาตังคะเที่ยวไปตัวเดียวในป่า ฉะนั้น

๘. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้มีบาป ดังนี้)
[๓๓๑] เมื่อมีกิจเกิดขึ้น สหายทั้งหลายนำสุขมาให้
ความยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นำสุขมาให้
ในเวลาสิ้นชีวิต บุญนำสุขมาให้
การละทุกข์ได้ทั้งหมด นำสุขมาให้

เชิงอรรถ :
๑ คุณเครื่องความเป็นสหาย หมายถึงคุณธรรมเหล่านี้ คือ จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล กถาวัตถุ ๑๐
ธุดงคคุณ ๑๓ วิปัสสนาญาณ มรรค ๔ ผล ๔ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ อมตมหานิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๗/๑๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๑. กปิลมัจฉวัตถุ
[๓๓๒] ในโลก การเกื้อกูลมารดา นำสุขมาให้
การเกื้อกูลบิดา นำสุขมาให้
การเกื้อกูลสมณะ นำสุขมาให้
การเกื้อกูลท่านผู้ประเสริฐ๑ก็นำสุขมาให้
[๓๓๓] ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา๒
ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้ว นำสุขมาให้
การได้ปัญญา นำสุขมาให้
การไม่ทำบาปทั้งหลาย ก็นำสุขมาให้
นาควรรคที่ ๒๓ จบ

๒๔. ตัณหาวรรค
หมวดว่าด้วยตัณหา
๑. กปิลมัจฉวัตถุ
เรื่องปลากปิละ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท ๔ ดังนี้)
[๓๓๔] ตัณหาย่อมเจริญแก่มนุษย์ผู้ประพฤติประมาท๓
เหมือนเถาย่านทรายเจริญอยู่ในป่า
เขาย่อมเร่ร่อนไปมา
เหมือนวานรที่ต้องการผลไม้ เที่ยวเร่ร่อนไปมาในป่า ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ท่านผู้ประเสริฐ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกผู้ลอยบาปได้แล้ว
(ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔๗)
๒ ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา หมายถึงศีล ๕ ศีล ๑๐ เป็นต้น ย่อมเป็นเครื่องประดับทำให้เกิดความงาม
และความสุขแก่คนทุกเพศทุกวัย ไม่มีล้าสมัยไร้ตำหนิ ต่างจากเครื่องประดับภายนอกที่ทำให้งามเฉพาะ
เพศหรือวัย ใครที่ใช้เครื่องประดับหรือเครื่องแต่งกายไม่เหมาะกับเพศหรือวัย ก็จะถูกตำหนิ และถูกสงสัยว่า
เป็นบ้าเสียสติ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๔๗)
๓ ผู้ประพฤติประมาท หมายถึงผู้มีความเป็นอยู่ด้วยความประมาท ปราศจากสติ ไม่เจริญฌาน วิปัสสนา
มรรค และผล (ขุ.ธ.อ. ๘/๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๒. สูกรโปติกาวัตถุ
[๓๓๕] ตัณหาที่เลวทรามซ่านไปในโลกนี้
ครอบงำบุคคลใดไว้ได้
ความโศกย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น
เหมือนหญ้าคมบางที่ถูกฝนตกรดแล้วเจริญงอกงามขึ้น ฉะนั้น
[๓๓๖] ส่วนบุคคลใดครอบงำตัณหาที่เลวทรามนั้น
ซึ่งล่วงได้ยากในโลกไว้ได้
ความโศกย่อมตกไปจากบุคคลนั้น
เหมือนหยาดน้ำกลิ้งตกไปจากใบบัว ฉะนั้น
[๓๓๗] เพราะเหตุนั้น เราขอเตือนท่านทั้งหลาย
ขอท่านทั้งหลายที่ประชุมกันในที่นี้ จงมีความเจริญ
ขอท่านทั้งหลายจงขุดรากเหง้าแห่งตัณหา๑
เหมือนคนต้องการหญ้าแฝกขุดหญ้าแฝก
มารอย่าได้ระรานท่านทั้งหลายอยู่ร่ำไป
เหมือนกระแสน้ำระรานไม้อ้อ ฉะนั้น๒

๒. สูกรโปติกาวัตถุ
เรื่องลูกสุกรตัวเมีย
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๓๘] ต้นไม้ เมื่อรากยังแข็งแรง ยังไม่ถูกทำลาย
แม้ลำต้นถูกตัดแล้ว ก็งอกขึ้นได้ใหม่ ฉันใด
ความทุกข์นี้ เมื่อบุคคลขจัดตัณหานุสัยไม่ได้ขาด
ก็ย่อมเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุดรากเหง้า หมายถึงขุดรากเหง้าแห่งตัณหาอันเป็นไปในทวาร ๖ นี้ ด้วยญาณอันสัมปยุตด้วยอรหัตต-
มรรค (ขุ.ธ.อ. ๘/๗)
๒ ธรรมบทข้อ ๓๓๔-๓๓๗ นี้ ดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๓๙๙-๔๐๒/๔๐๘-๔๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๒. สูกรโปติกาวัตถุ
[๓๓๙] บุคคลใดยังมีกระแสตัณหาอันแรงกล้า ๓๖ สาย๑
ที่มักไหลไปยังอารมณ์อันน่าพอใจ
ความดำริเป็นอันมากที่อาศัยราคะ
ย่อมนำบุคคลนั้นซึ่งมีความเห็นผิดไป
[๓๔๐] กระแสตัณหาทั้งหลายไหลไปในอารมณ์ทั้งหมด
ตัณหาดุจเถาวัลย์ ก็งอกงามขึ้น
พวกเธอ ครั้นเห็นตัณหาดุจเถาวัลย์ที่งอกงามนั้น
จงตัดรากด้วยปัญญา๒
[๓๔๑] สัตว์โลกผู้มีแต่โสมนัสซาบซ่าน
ฉ่ำชื้นด้วยเสน่หา๓
มัวแต่จะแสวงหาความสุขสำราญกันอยู่
จึงต้องเข้าถึงชาติและชราร่ำไป
[๓๔๒] หมู่สัตว์ถูกล้อมไว้ด้วยตัณหาที่ทำให้สะดุ้ง
จึงดิ้นรนเหมือนกระต่ายติดบ่วง
หมู่สัตว์ผู้ถูกสังโยชน์และกิเลสเครื่องข้อง๔ผูกไว้แน่น
ย่อมได้รับความทุกข์ร่ำไปชั่วกาลนาน

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหา ๓๖ สาย ได้แก่ ตัณหา ๓ (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา) อาศัยอายตนะภายใน ๖
(๓ x ๖ = ๑๘) อาศัยอายตนะภายนอก ๖ (๓ x ๖ = ๑๘) ได้กระแส ๓๖ สายที่ไหลไปในอารมณ์มีรูป
เป็นต้นที่น่าชอบใจ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐)
๒ ปัญญา หมายถึงปัญญาอันสัมปยุตด้วยมรรค (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐)
๓ ฉ่ำชื้นด้วยเสน่หา หมายถึงเปียกชุ่มด้วยยางเหนียว คือตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐)
๔ หมายถึงสังโยชน์ ๑๐ ประการ และกิเลสเครื่องข้อง ๗ ประการ มีราคะเป็นต้นผูกไว้หรือเกี่ยวไว้ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๔. พันธนาคารวัตถุ
[๓๔๓] หมู่สัตว์ถูกล้อมไว้ด้วยตัณหาที่ทำให้สะดุ้ง
จึงดิ้นรนเหมือนกระต่ายติดบ่วง
เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อหวังให้ตนสิ้นราคะ
ควรบรรเทาตัณหาที่ทำให้สะดุ้งเสีย

๓. วิพภันตกวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้กระสันจะสึก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บริษัท ๔ ดังนี้)
[๓๔๔] บุคคลใดออกจากอาลัยแล้ว๑ มีใจน้อมไปในป่า๒
พ้นจากป่าแล้ว๓ยังแล่นเข้าไปสู่ป่านั้นอีก
ท่านทั้งหลายจงดูบุคคลนั้น
เขาพ้นจากเครื่องผูก ยังแล่นไปสู่เครื่องผูกตามเดิม

๔. พันธนาคารวัตถุ
เรื่องเรือนจำ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เหล่าภิกษุผู้เห็นโจรถูกจองจำในเรือนจำ ดังนี้)
[๓๔๕] นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวถึงเครื่องจองจำ
ที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้าปล้อง
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง แต่กล่าวถึง
ความกำหนัดยินดีในต่างหูแก้วมณี และความใยดีในบุตรภรรยา
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง

เชิงอรรถ :
๑ อาลัย ในที่นี้หมายถึงความเป็นอยู่อย่างคฤหัสถ์ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๔)
๒ ป่า ในที่นี้หมายถึงตบะ (ตโปวนะ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๔)
๓ ป่า ในที่นี้หมายถึงตัณหาคือเครื่องผูกให้อยู่ครองเรือน (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๖. อุคคเสนเสฏฐิปุตตวัตถุ
[๓๔๖] นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงความกำหนัด เครื่องจองจำที่มั่นคงนั้น
ว่ามีปกติเหนี่ยวลง หย่อนยาน แต่แก้ให้หลุดยาก
นักปราชญ์เหล่านั้นตัดเครื่องจองจำนั้นได้แล้ว
ไม่ใยดี ละกามสุข ออกบวช๑

๕. เขมาเถรีวัตถุ
เรื่องพระเขมาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเขมาเถรี ดังนี้)
[๓๔๗] สัตว์ทั้งหลายผู้กำหนัดยินดีด้วยราคะ๒
ย่อมตกไปสู่กระแสตัณหา
เหมือนแมงมุมติดใยที่ตนถักไว้เอง
นักปราชญ์ทั้งหลายตัดกระแสตัณหานั้นได้แล้ว
หมดความใยดี ย่อมละทุกข์ทั้งปวงไปได้

๖. อุคคเสนเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องบุตรเศรษฐีชื่ออุคคเสน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่นายอุคคเสน ดังนี้)
[๓๔๘] เธอจงเป็นผู้ปล่อยวางทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน๓
จงเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ
เธอผู้มีใจหลุดพ้นในธรรมทั้งปวงแล้ว
จักไม่เข้าถึงชาติ และชราอีกต่อไป

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๒๑/๑๔๐, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๐๑-๑๐๒/๕๕
๒ หมายรวมถึงขุ่นเคืองเพราะโทสะ ลุ่มหลงเพราะโมหะด้วย (ขุ.ธ.อ. ๘/๒๐)
๓ หมายถึงปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ความทะยานอยากในขันธ์ทั้งหลายที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
(ขุ.ธ.อ.๘/๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๘. มารวัตถุ
๗. จูฬธนุคคหปัณฑิตวัตถุ
เรื่องจูฬธนุคคหบัณฑิต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งผู้กระสันจะสึก ดังนี้)
[๓๔๙] บุคคลผู้ถูกวิตก๑ย่ำยี มีราคะจัด เห็นอารมณ์ว่างามเสมอ
ย่อมมีตัณหาพอกพูนมากขึ้น ๆ
บุคคลเช่นนั้นแลชื่อว่าสร้างเครื่องผูกมัดที่แน่นหนา
[๓๕๐] ส่วนผู้ใดยินดีในฌานเป็นที่ระงับวิตก๒
มีสติทุกเมื่อ เจริญอสุภฌานอยู่
ผู้นั้นแล จักทำตัณหาให้สิ้นไปได้
จักตัดเครื่องผูกแห่งมาร๓ได้

๘. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้มีบาป ดังนี้)
[๓๕๑] ผู้บรรลุความสำเร็จแล้ว๔ ไม่มีความสะดุ้งกลัว
ปราศจากตัณหา ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ตัดลูกศรที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
ร่างกายนี้จึงเป็นร่างกายสุดท้าย

เชิงอรรถ :
๑ วิตก หมายถึงความตรึกมี ๓ อย่าง คือ กามวิตก ความตรึกในทางกาม พยาบาทวิตก ความตรึกในทาง
พยาบาท วิหิงสาวิตก ความตรึกในทางเบียดเบียน (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๐)
๒ ฌานเป็นที่ระงับวิตก หมายถึงปฐมฌานที่มีอสุภะ ๑๐ ประการเป็นอารมณ์ สามารถเข้าไปสงบระงับ
มิจฉาวิตกได้ (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๐)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๓ หน้า ๓๕ ในเล่มนี้
๔ ความสำเร็จ หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๙. อุปกาชีวกวัตถุ
[๓๕๒] ผู้ปราศจากตัณหา หมดความยึดมั่น
ฉลาดในนิรุตติบท๑
รู้หมวดหมู่และเบื้องต้นเบื้องปลายของอักษรทั้งหลาย
ผู้นั้นแลเรียกว่า ผู้มีร่างกายเป็นร่างกายสุดท้าย
ผู้มีปัญญามาก เป็นมหาบุรุษ

๙. อุปกาชีวกวัตถุ
เรื่องอาชีวกชื่ออุปกะ
(พระผู้มีพระภาคเมื่อแรกตรัสรู้ประทับนั่งที่ควงไม้โพธิ์ อาชีวกชื่ออุปกะเข้ามา
ถามพระองค์ว่า บวชเพื่อใคร ใครเป็นศาสดา พระองค์จึงตรัสพระคาถา ดังนี้)
[๓๕๓] เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง๒ รู้ธรรมทั้งปวง๓
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง๔ ละธรรมทั้งปวงได้๕
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา
ตรัสรู้ยิ่งเองแล้วจะพึงกล่าวอ้างใครเล่า๖

เชิงอรรถ :
๑ นิรุตติบท หมายถึงนิรุตติปฏิสัมภิทา รวมทั้งปฏิสัมภิทาที่เหลืออีก ๓ อย่าง (อัตถปฏิสัมภิทา ธัมมปฏิสัมภิทา
และปฏิภาณปฏิสัมภิทา) (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๒)
๒ ธรรม หมายถึงธรรม ๓ ระดับ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๔)
๓ ธรรม หมายถึงธรรม ๔ ระดับ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ โลกุตตรภูมิ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๔)
๔ มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง หมายถึงไม่เปื้อนด้วยตัณหาและทิฏฐิในธรรม ๓ ระดับนั้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๔)
๕ ละธรรมทั้งปวงได้ หมายถึงละธรรม ๓ ระดับ กล่าวคือละธรรมชั้นกามาวจร ชั้นรูปาวจร และชั้น
อรูปาวจรได้ (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๔)
๖ หมายถึงเมื่อรู้เองได้อย่างนี้แล้ว จะต้องอ้างใครเป็นอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์อีกเล่า (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๔) และดู
วิ.ม. (แปล) ๔/๑๑/๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๑๑. อปุตตกเสฏฐิปุตตวัตถุ
๑๐. สักกเทวราชวัตถุ
เรื่องท้าวสักกะจอมเทพ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ท้าวสักกะจอมเทพและเหล่าเทวดา ดังนี้)
[๓๕๔] การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง
รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง
ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง
ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง๑

๑๑. อปุตตกเสฏฐิปุตตวัตถุ
เรื่องอปุตตกเศรษฐีบุตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ดังนี้)
[๓๕๕] โภคทรัพย์ทั้งหลาย ย่อมทำลายคนมีปัญญาทราม
แต่จะไม่ทำลายคนที่แสวงหาฝั่ง๒
เพราะความทะยานอยากในโภคทรัพย์
คนมีปัญญาทรามจึงทำลายตนเองดุจทำลายคนอื่น

เชิงอรรถ :
๑ การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง หมายถึงบุคคลจะให้หรือเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุข
ส่วนรวมได้ก็ต่อเมื่อได้ฟังธรรม จนรู้ว่าคุณประโยชน์ของการให้หรือการเสียสละว่าดีอย่างไรเสียก่อน จึงจะ
ให้หรือเสียสละได้ หากไม่ได้ฟังธรรม การให้สิ่งอื่นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง หมายถึงรสอื่น ๆ เช่น รสสุธาโภชน์ของเทวดา ยังเป็นปัจจัยให้สัตว์ต้อง
เสวยทุกข์ในสังสารวัฏ แต่รสแห่งพระธรรม คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และโลกุตตรธรรม ๙ ประการ
เป็นรสแห่งความสุขที่ประเสริฐสุด
ความยินดีในธรรม ชนะความยินดีทั้งปวง หมายถึงความยินดีอื่น ๆ เช่น ความยินดีบุตร ธิดา ทรัพย์สิน
สตรี หรือการขับร้อง ประโคมดนตรี ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยให้เสวยทุกข์ในสังสารวัฏ แต่การแสดงธรรม
การได้ฟังธรรม หรือการแนะนำธรรม ย่อมก่อให้เกิดปีติสุข และเป็นปัจจัยให้บรรลุอรหัตตผล สิ้นทุกข์ใน
สังสารวัฏได้
ความสิ้นตัณหา ชนะทุกข์ทั้งปวง หมายถึงอรหัตตผลที่เกิดขึ้นในที่สุดแห่งความสิ้นตัณหานั้นเป็นสภาวะ
ที่ครอบงำตัดขาดทุกข์ในสังสารวัฏได้อย่างสิ้นเชิง (ขุ.ธ.อ. ๘/๓๖-๓๘)
๒ ฝั่ง หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๘/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๔. ตัณหาวรรค ๑๒. อังกุรวัตถุ
๑๒. อังกุรวัตถุ
เรื่องอังกุรเทพบุตร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อังกุรเทพบุตร และอินทกเทพบุตร ดังนี้)
[๓๕๖] นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีราคะเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากราคะ จึงมีผลมาก
[๓๕๗] นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีโทสะเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากโทสะ จึงมีผลมาก
[๓๕๘] นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีโมหะเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากโมหะ จึงมีผลมาก
[๓๕๙] นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีความอยากเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากความอยาก จึงมีผลมาก
(นามีหญ้าเป็นโทษ หมู่ชนมีตัณหาเป็นโทษ
ฉะนั้น ทานที่ให้แก่ผู้ปราศจากตัณหา จึงมีผลมาก)
ตัณหาวรรคที่ ๒๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๒. หังสฆาตกภิกขุวัตถุ
๒๕. ภิกขุวรรค
หมวดว่าด้วยภิกษุ
๑. ปัญจภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๕ รูป ผู้สำรวมทวาร(ช่องตามร่าง
กาย)รูปละทวาร ดังนี้)
[๓๖๐] การสำรวมตา เป็นการดี
การสำรวมหู เป็นการดี
การสำรวมจมูก เป็นการดี
การสำรวมลิ้น เป็นการดี
[๓๖๑] การสำรวมกาย เป็นการดี
การสำรวมวาจา เป็นการดี
การสำรวมใจ เป็นการดี
การสำรวมทวารทั้งปวง เป็นการดี
ภิกษุผู้สำรวมทวารทั้งปวง ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้๑

๒. หังสฆาตกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุฆ่าหงส์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ฆ่าหงส์ ดังนี้)
[๓๖๒] บุคคลผู้สำรวมมือ๒ สำรวมเท้า สำรวมวาจา สำรวมตน
ยินดีธรรมภายใน๓ มีจิตตั้งมั่น อยู่ผู้เดียว สันโดษ
บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า ภิกษุ

เชิงอรรถ :
๑ ทุกข์ หมายถึงทุกข์ในวัฏฏะ (ขุ.ธ.อ. ๘/๔๗)
๒ สำรวมมือ หมายถึงไม่คะนองมือ หรือไม่ทำร้ายสัตว์ด้วยมือ แม้เท้า วาจา ก็มีนัยเดียวกันนี้ (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๐)
๓ ยินดีธรรมภายใน หมายถึงยินดีในการเจริญกัมมัฏฐาน คือ สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน
(ขุ.ธ.อ. ๘/๕๐, ขุ.เถร.อ. ๑๐๓๕/๔๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๕. อัญญตรวิปักขเสวกภิกขุวัตถุ
๓. โกกาลิกวัตถุ
เรื่องพระโกกาลิกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๖๓] ภิกษุรูปใดสำรวมปาก พูดโดยใช้มันตา๑เสมอ
ไม่ฟุ้งซ่าน แสดงแต่อรรถ๒และธรรม๓ เท่านั้น
ภาษิตของภิกษุนั้นไพเราะ

๔. ธัมมารามเถรวัตถุ
เรื่องพระเถระผู้ยินดีในธรรม
[๓๖๔] ภิกษุมีธรรมเป็นที่มายินดี๔ ยินดีแล้วในธรรม
พิจารณาใคร่ครวญถึงธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่
ย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรม๕

๕. อัญญตรวิปักขเสวกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้คบฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุที่เป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัต ดังนี้)
[๓๖๕] ภิกษุไม่ควรดูหมิ่นลาภของตน
ไม่ควรเที่ยวปรารถนาลาภของคนอื่น
เมื่อภิกษุปรารถนาลาภของคนอื่น
ย่อมไม่บรรลุสมาธิ๖

เชิงอรรถ :
๑ มันตา หมายถึงปัญญา (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๓)
๒ อรรถ หมายถึงเนื้อความแห่งภาษิต (ขุ.ธ.อ. ๘/๓/๕๓)
๓ ธรรม หมายถึงธรรมเทศนา (ขุ.ธ.อ. ๘/๓/๕๓)
๔ ธรรมเป็นที่มายินดี ในที่นี้หมายถึงสมถะและวิปัสสนา (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๔)
๕ สัทธรรม หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และโลกุตตรธรรม ๙ ประการ (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๔-๕๕)
และดูเทียบ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๐๓๕/๕๐๙
๖ สมาธิ หมายถึงอัปปนาสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ (ขุ.ธ.อ. ๘/๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๗. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
[๓๖๖] ถ้าภิกษุแม้จะมีลาภน้อย แต่ไม่ดูหมิ่นลาภของตน
เทวดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญภิกษุนั้นแล
ว่าเป็นผู้มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจคร้าน

๖. ปัญจัคคทายกพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ถวายทานอันเลิศ ๕ อย่าง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ และนางพราหมณีผู้ถวายทาน
อันเลิศ ๕ อย่าง ดังนี้)
[๓๖๗] ผู้ใดไม่มีความยึดถือในนามรูป
ว่าเป็นของเรา โดยประการทั้งปวง
และไม่เศร้าโศก เพราะนามรูปแปรผันไป
ผู้นั้นแล เราเรียกว่า ภิกษุ๑

๗. สัมพหุลภิกขุวัตุถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๖๘] ภิกษุผู้อยู่ด้วยเมตตา เลื่อมใสในพุทธศาสนา
ก็จะพึงบรรลุสันตบท๒ อันเป็นที่ระงับสังขารเป็นสุข
[๓๖๙] ภิกษุ เธอจงวิดเรือ๓นี้
เรือที่เธอวิดแล้วจักถึงเร็ว
เธอตัดราคะ โทสะได้แล้ว
ต่อจากนั้น ก็จักบรรลุนิพพาน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบสุตตนิบาต ข้อ ๙๕๗ หน้า ๗๒๙ ในเล่มนี้ (บาทคาถาที่ ๔ ต่างกัน)
๒ สันตบท หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๘/๖๖)
๓ เรือ ในที่นี้หมายถึงอัตภาพ (ขุ.ธ.อ. ๘/๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๗. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
[๓๗๐] ภิกษุพึงตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พึงละสังโยชน์เบื้องสูง ๕
และพึงเจริญอินทรีย์ ๕ ให้ยิ่งขึ้นไป
ภิกษุผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง ๕๑ ได้แล้ว
เราเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะได้๒
[๓๗๑] ภิกษุ เธอจงเพ่งพินิจ และอย่าประมาท
จงอย่าปล่อยจิตของเธอ ให้วนเวียนอยู่ในกามคุณ
อย่าเผลอกลืนก้อนเหล็กแดง(ในนรก)
อย่าเร่าร้อนคร่ำครวญอยู่ว่า นี่ทุกข์จริง
[๓๗๒] ฌาน ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา
ปัญญาก็ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน
ผู้มีทั้งฌานและปัญญานั่นแล
จึงนับว่าอยู่ใกล้นิพพาน
[๓๗๓] ภิกษุผู้เข้าไปยังเรือนว่าง๓
มีจิตสงบ เห็นแจ้งธรรมโดยชอบ
ย่อมเกิดความยินดีที่ไม่ใช่เป็นของคนทั่วไป
[๓๗๔] ขณะใด ภิกษุพิจารณาเห็นความเกิด
และความเสื่อมของขันธ์ทั้งหลาย
ขณะนั้น เธอย่อมได้รับปีติปราโมทย์
ซึ่งเป็นอมตธรรมสำหรับผู้รู้ทั้งหลาย
[๓๗๕] ในอมตธรรมนั้น ธรรมนี้คือ
ความสำรวมอินทรีย์ ความสันโดษ
และความสำรวมในปาติโมกข์
เป็นเบื้องต้นของภิกษุผู้มีปัญญาในศาสนานี้

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องข้อง ๕ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ (สํ.ส.อ. ๑/๕/๒๔, ขุ.ธ.อ.๘/๖๗)
๒ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๕/๖, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๕/๓๐๘, ๖๓๓/๔๔๙
๓ เรือนว่าง ในที่นี้หมายถึงการนั่งเจริญกัมมัฏฐานในที่สงัดแห่งใดแห่งหนึ่ง (ขุ.ธ.อ. ๘/๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๙. สันตกายเถรวัตถุ
[๓๗๖] เธอจงคบภิกษุที่เป็นกัลยาณมิตร
มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจคร้าน
ควรทำการปฏิสันถาร และฉลาดในเรื่องมารยาท
เพราะปฏิบัติตามคุณธรรมดังกล่าวนั้น
เธอก็จักมากด้วยความปราโมทย์
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

๘. ปัญจสตภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๗๗] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงสลัดราคะและโทสะทิ้งเสีย
เหมือนต้นมะลิสลัดดอกที่เหี่ยวแห้ง ฉะนั้น

๙. สันตกายเถรวัตถุ
เรื่องพระสันตกายเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๗๘] ภิกษุผู้มีกายสงบ๑ มีวาจาสงบ๒
มีใจสงบ๓ มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว
และเป็นผู้ละโลกามิสได้
เราเรียกว่าผู้สงบระงับ

เชิงอรรถ :
๑ มีกายสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางกายมีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๒)
๒ มีวาจาสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางวาจามีการพูดเท็จ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๒)
๓ มีใจสงบ หมายถึงไม่มีความประพฤติชั่วทางใจมีการเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๕. ภิกขุวรรค ๑๑. วักกลิเถรวัตถุ
๑๐. นังคลกูฏเถรวัตถุ
เรื่องพระนังคลกูฏเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๗๙] ภิกษุ เธอจงเตือนตนด้วยตนเอง
จงพิจารณาดูตนด้วยตนเอง
ถ้าเธอคุ้มครองตนเองได้แล้ว มีสติ
เธอก็จักอยู่เป็นสุข
[๓๘๐] ตนแล เป็นที่พึ่งของตน
ตนแล เป็นคติ๑ของตน
เพราะฉะนั้น เธอจงสงวนตน๒ให้ดี
เหมือนพ่อค้าม้าสงวนม้าพันธุ์ดี ฉะนั้น

๑๑. วักกลิเถรวัตถุ
เรื่องพระวักกลิเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระวักกลิเถระ ดังนี้)
[๓๘๑] ภิกษุผู้มากด้วยความปราโมทย์
เลื่อมใสในพุทธศาสนา พึงบรรลุสันตบท๓
อันเป็นธรรมเข้าไปสงบระงับสังขาร เป็นสุข๔

เชิงอรรถ :
๑ เป็นคติ หมายถึงเป็นที่พำนัก หรือเป็นสรณะ (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๔)
๒ สงวนตน หมายถึงป้องกันการเกิดอกุศลกรรมที่ยังไม่เกิดในตน (ขุ.ธ.อ. ๘/๗๔)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๑๔๘ ในเล่มนี้
๔ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๑๑/๓๐๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑. ปสาทพหุลพราหมณวัตถุ
๑๒. สุมนสามเณรวัตถุ
เรื่องสุมนสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๘๒] ภิกษุใดแลยังหนุ่มแน่น
ย่อมประกอบขวนขวายในพุทธศาสนา
ภิกษุนั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว๑
เหมือนดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น๒
ภิกขุวรรคที่ ๒๕ จบ

๒๖. พราหมณวรรค
หมวดว่าด้วยพราหมณ์
๑. ปสาทพหุลพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ผู้เลื่อมใสมาก
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๘๓] พราหมณ์๓ เธอจงพยายามตัดกระแส๔ให้ขาด
จงบรรเทากามทั้งหลายให้ได้
เธอรู้ความสิ้นไปแห่งสังขารทั้งหลายแล้ว
ก็จะรู้แจ้งสภาวะที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้๕

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงให้โลกคือขันธ์ ๕ สว่างไสวด้วยอรหัตตมรรคญาณ (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๐)
๒ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๗๓/๔๘๔
๓ พราหมณ์ ตามหลักพุทธศาสนาในวรรคนี้หมายถึงพระขีณาสพทั้งหลาย แต่มีบ้างที่ตรัสหมายเอา
พราหมณ์โดยชาติกำเนิด เช่น ในธรรมบทข้อ ๓๙๒ หน้า ๑๕๖ (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๒)
๔ กระแส หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๒)
๕ สภาวะที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้ หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓. มารวัตถุ
๒. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุ ๓๐ รูป ดังนี้)
[๓๘๔] เมื่อใด พราหมณ์เป็นผู้ถึงฝั่งในธรรมทั้งสอง๑
เมื่อนั้น สังโยคะ๒ทั้งหมดของเขาผู้รู้อยู่
ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้

๓. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคเมื่อตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้ถามเรื่องฝั่ง ดังนี้)
[๓๘๕] ผู้ใดไม่มีฝั่งนี้๓ ไม่มีฝั่งโน้น๔ หรือไม่มีทั้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
เราเรียกผู้นั้นซึ่งปราศจากความกระวนกระวาย
ปลอดจากกิเลสแล้วว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งสอง หมายถึงสมถะ และวิปัสสนา (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๓)
๒ สังโยคะ หมายถึงโยคะ(สภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพ) มี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.ธ.อ.
๘/๙๓) และดูความหมายของคำว่า “โยคะ” ใน ขุ.ธ.อ. ๒/๖๒, ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๙ ประกอบ
๓ ไม่มีฝั่งนี้ หมายถึงไม่มีความยึดถืออายตนะภายใน ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ว่า “เรา” หรือ
“ของเรา” (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๖)
๔ ไม่มีฝั่งโน้น หมายถึงไม่มีความยึดถืออายตนะภายนอก ๖ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ
ธรรมารมณ์) ว่า “เรา” หรือ “ของเรา” (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๕. อานันทเถรวัตถุ
๔. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคเมื่อตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ผู้ถามเรื่องพราหมณ์ ดังนี้)
[๓๘๖] ผู้เพ่งพินิจ ปราศจากธุลี
อยู่ตามลำพัง ทำกิจเสร็จแล้ว หมดอาสวะ
บรรลุประโยชน์สูงสุด๑
เราเรียกว่า พราหมณ์

๕. อานันทเถรวัตถุ
เรื่องพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[๓๘๗] ดวงอาทิตย์ส่องสว่างเฉพาะกลางวัน
ดวงจันทร์ส่องสว่างเฉพาะกลางคืน
กษัตริย์ทรงเครื่องรบแล้ว จึงสง่างาม
พราหมณ์เพ่งพินิจ จึงสง่างาม
แต่พระพุทธเจ้าทรงสง่างามด้วยพระเดช๒
ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์สูงสุด หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๓)
๒ พระเดช ในที่นี้หมายถึงเดช ๕ อย่าง คือ เดชแห่งศีล เดชแห่งคุณ เดชแห่งปัญญา เดชแห่งบุญ และ
เดชแห่งธรรม (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
๖. อัญญตรปัพพชิตวัตถุ
เรื่องบรรพชิตรูปใดรูปหนึ่ง
(นักบวชนอกพระพุทธศาสนา ท่านหนึ่ง ถามพระผู้มีพระมีพระภาค เรื่องบรรพชิต
พระองค์จึงตรัสพระคาถา ดังนี้)
[๓๘๘] ผู้ที่ลอยบาปได้ เราเรียกว่า พราหมณ์
เพราะประพฤติสงบ๑ เราเรียกว่า สมณะ
ฉะนั้น ผู้ที่กำจัดมลทิน๒ของตนให้หมดไปได้
เราจึงเรียกว่า บรรพชิต

๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระสารีบุตรซึ่งถูกพราหมณ์ทำร้าย จึงตรัสพระคาถา
นี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๘๙] พราหมณ์ไม่พึงทำร้ายพราหมณ์
ไม่พึงจองเวรพราหมณ์ผู้ทำร้ายนั้น
น่าตำหนิพราหมณ์ผู้ทำร้ายพราหมณ์
พราหมณ์ที่จองเวรตอบนั้น น่าตำหนิยิ่งกว่า
[๓๙๐] ข้อที่พราหมณ์ห้ามใจจากอารมณ์อันเป็นที่รัก๓ทั้งหลายได้
เป็นความประเสริฐไม่น้อยเลย
ใจที่มีความเบียดเบียน กลับจากวัตถุใด ๆ
ความทุกข์ก็ย่อมสงบระงับจากวัตถุนั้น ๆ

เชิงอรรถ :
๑ ประพฤติสงบ หมายถึงประพฤติปฏิบัติให้อกุศลธรรมทั้งหมดสงบ (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๗)
๒ มลทิน หมายถึงกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๗)
๓ อารมณ์อันเป็นที่รัก หมายถึงการเกิดขึ้นแห่งความโกรธของผู้มักโกรธ (ขุ.ธ.อ. ๘/๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑๐. ชฏิลพราหมณวัตถุ
๘. มหาปชาปตีโคตมีวัตถุ
เรื่องพระนางมหาปชาบดีโคตมี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๙๑] ผู้ไม่มีกรรมชั่ว๑ทางกาย วาจา และใจ
สำรวมระวังได้ครบทั้ง ๓ ทวาร
เราเรียกว่า พราหมณ์

๙. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระสารีบุตร นอบน้อมทิศที่พระอัสสชิเถระอยู่ จึงตรัส
พระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๙๒] บุคคลรู้แจ้งธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
จากอาจารย์ใด
ควรนอบน้อมอาจารย์นั้นโดยเคารพ
เหมือนพราหมณ์๒นอบน้อมไฟที่บูชา ฉะนั้น

๑๐. ชฏิลพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ชฎิล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ชฎิลผู้ถามเรื่องพราหมณ์ ดังนี้)
[๓๙๓] คนเป็นพราหมณ์ ไม่ใช่เพราะเกล้าชฎา
ไม่ใช่เพราะโคตร ไม่ใช่เพราะชาติกำเนิด
แต่สัจจะ๓และธรรม๔มีอยู่ในผู้ใด
ผู้นั้น เป็นผู้สะอาด และผู้นั้น เป็นพราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ กรรมชั่ว หมายถึงกรรมที่มีโทษ มีทุกข์เป็นกำไร นำสัตว์ให้ตกไปในอบาย (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๐)
๒ พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพราหมณ์โดยชาติกำเนิด (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๒)
๓ สัจจะ หมายถึงสัจญาณอันหยั่งรู้สัจจะ ๔ โดยอาการ ๑๖ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๓)
๔ ธรรม หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑๒. กิสาโคตมีวัตถุ
๑๑. กุหกพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์โกหก
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพราหมณ์โกหกมีวัตรดังค้างคาว ตรัสพระคาถานี้
แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๙๔] เจ้าคนมีปัญญาทราม การเกล้าชฎา การครองหนังเสือ
จะมีประโยชน์อะไรสำหรับเจ้า
ภายนอกของเจ้าเปล่งปลั่งเกลี้ยงเกลา
แต่ภายในของเจ้ารกรุงรัง๑

๑๒. กิสาโคตมีวัตถุ
เรื่องนางกิสาโคตมี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภนางกิสาโคตมีจึงตรัสพระคาถานี้แก่ท้าวสักกะจอมเทพ
ดังนี้)
[๓๙๕] ผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุล
ซูบผอม มีเส้นเอ็นปรากฏทั่วร่าง
เพ่งพินิจอยู่ในป่าผู้เดียว
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ รกรุงรัง หมายถึงรกรุงรังด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑๔. อุคคเสนวัตถุ
๑๓. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์คนหนึ่ง ดังนี้)
[๓๙๖] เราไม่เรียกบุคคลผู้ถือกำเนิด
เกิดในครรภ์มารดาว่า พราหมณ์
ถ้าเขายังมีกิเลสเครื่องกังวลอยู่
เขาเป็นเพียงผู้ชื่อว่า โภวาที๑เท่านั้น
เราเรียกผู้หมดกิเลสเครื่องกังวล
หมดความยึดมั่นถือมั่นเท่านั้นว่า พราหมณ์๒

๑๔. อุคคเสนวัตถุ
เรื่องนายอุคคเสน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๙๗] ผู้ตัดสังโยชน์ได้หมดสิ้น ไม่สะดุ้ง๓
ผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้อง๔ได้
ผู้ปราศจากโยคะ๕
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ โภวาที หมายถึงบุคคลผู้มีปกติเที่ยวร้องเรียกตนเองว่า “เป็นผู้เจริญ” (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๘)
๒ ม.ม. (แปล) ๑๓/๔๕๗/๕๗๗
๓ ไม่สะดุ้ง หมายถึงไม่สะดุ้งหวาดกลัวเพราะตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๐๙)
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๔๙ ในเล่มนี้
๕ ดูเชิงอรรถที่ ๖ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๑๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
๑๕. เทวพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์ ๒ คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ดังนี้)
[๓๙๘] ผู้ตัดชะเนาะ เชือกหนัง และเงื่อน๑
พร้อมทั้งสายรัดได้ ถอดลิ่มสลัก๒เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์

๑๖. อักโกสกภารทวาชวัตถุ
เรื่องอักโกสกภารทวาชพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๓๙๙] ผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นคำด่า
การฆ่า และการจองจำได้
มีขันติเป็นพลัง มีขันติเป็นกำลังพล
เราเรียกว่า พราหมณ์

๑๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๐] ผู้ไม่มักโกรธ มีศีล มีวัตร
ไม่มีตัณหาเครื่องฟูขึ้น ฝึกตนได้แล้ว
มีสรีระเป็นร่างกายสุดท้าย
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ชะเนาะ หมายถึงความโกรธ เชือกหนัง หมายถึงตัณหา เงื่อน หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑๐)
๒ สายรัด หมายถึงอนุสัยกิเลส ลิ่มสลัก หมายถึงอวิชชา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๒๐. เขมาภิกขุนีวัตถุ
๑๘. อุปปลวัณณาเถรีวัตถุ
เรื่องพระอุบลวัณณาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๑] ผู้ใดไม่ติดในกามทั้งหลาย
เหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่บนปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๑๙. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์คนหนึ่ง ดังนี้)
[๔๐๒] ผู้ใดในศาสนานี้ รู้ชัดความสิ้นทุกข์ของตน
ปลงภาระได้แล้ว ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๒๐. เขมาภิกขุนีวัตถุ
เรื่องพระเขมาภิกษุณี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ท้าวสักกะจอมเทพและเทวดาทั้งหลาย
ดังนี้)
[๔๐๓] ผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เป็นปราชญ์
ฉลาดในทางและมิใช่ทาง๑ บรรลุประโยชน์สูงสุด
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ฉลาดในทางและมิใช่ทาง หมายถึงรู้ว่าธรรมนี้เป็นทางไปทุคติ ธรรมนี้เป็นทางไปสุคติ ธรรมนี้เป็นทาง
ไปนิพพาน และรู้ว่าธรรมนี้มิใช่ทาง (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๒๓. สามเณรวัตถุ
๒๑. ปัพภารวาสีติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระผู้อยู่ที่เงื้อมเขา
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๔] ผู้ไม่คลุกคลี๑กับคน ๒ จำพวก
คือ คฤหัสถ์ และบรรพชิต
ไม่มีความอาลัยเที่ยวไป มีความปรารถนาน้อย
เราเรียกว่า พราหมณ์

๒๒. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๕] ผู้ใดละวางโทษทัณฑ์ในสัตว์ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง๒และสัตว์ที่มั่นคง๓
ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่า
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๒๓. สามเณรวัตถุ
เรื่องสามเณร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๖] ผู้ไม่มุ่งร้ายในหมู่คนผู้มุ่งร้าย
ผู้สงบในหมู่คนผู้ชอบหาเรื่องใส่ตน
ผู้ไม่ถือมั่นในหมู่คนผู้ถือมั่น
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ คลุกคลี ในที่นี้หมายถึงการคลุกคลีทางกายคือการเห็น การฟัง การเจรจาปราศรัย การร่วมกิน ร่วมดื่ม
(ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๐)
๒ สัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง หมายถึงสัตว์ที่ยังมีตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๑)
๓ สัตว์ที่มั่นคง หมายถึงสัตว์ที่หมดตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๒๖. อัญญตรภิกขุวัตถุ
๒๔. มหาปันถกเถรวัตถุ
เรื่องพระมหาปันถกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๗] ผู้ใดทำราคะ โทสะ โมหะ มานะ และมักขะให้ตกไป๑
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๒๕. ปิลินทวัจฉเถรวัตถุ
เรื่องพระปิลินทวัจฉเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๘] ผู้กล่าวคำที่ไม่หยาบคาย สื่อความหมายได้
เป็นคำจริง ไม่เป็นเหตุให้ใครๆ ขัดเคือง
เราเรียกว่า พราหมณ์

๒๖. อัญญตรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๐๙] ผู้ใดในโลกนี้ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้
ไม่ว่ายาวหรือสั้น เล็กหรือใหญ่ งามหรือไม่งาม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ตกไป หมายถึงไม่ให้ตั้งอยู่ในใจ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๒๙. เรวตเถรวัตถุ
๒๗. สารีปุตตเถรวัตถุ
เรื่องพระสารีบุตรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๐] ผู้ใดไม่มีความหวัง๑ในโลกนี้และโลกหน้า
ปราศจากความหวัง ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๒๘. มหาโมคคัลลานวัตถุ
เรื่องพระมหาโมคคัลลานะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๑] ผู้ใดไม่มีความอาลัย๒ หมดความสงสัยเพราะรู้ชัด
หยั่งลงสู่อมตะ๓ บรรลุแล้ว
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๒๙. เรวตเถรวัตถุ
เรื่องพระเรวตเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๒] ผู้ใดในโลกนี้ ละบุญและบาปทั้งสองได้
พ้นจากกิเลสเครื่องข้องได้ ไม่เศร้าโศก
ปราศจากกิเลสดุจธุลี เป็นผู้บริสุทธิ์
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ความหวัง (อาสา) หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๐)
๒ อาลัย ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๐)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๒ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓๑. สีวลิเถรวัตถุ
๓๐. จันทาภเถรวัตถุ
เรื่องพระจันทาภเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๓] ผู้บริสุทธิ์ดุจจันทร์แจ่ม
มีจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัว๑ เป็นผู้สิ้นความเพลิดเพลินในภพ๒
เราเรียกว่า พราหมณ์

๓๑. สีวลิเถรวัตถุ
เรื่องพระสีวลีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๔] ผู้ใดก้าวพ้นทางอ้อม๓ ทางหล่ม๔
สงสาร๕และโมหะได้แล้ว
ข้ามไปถึงฝั่งแล้ว เจริญฌาน
ไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย
ดับเย็น เพราะไม่ถือมั่น
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ขุ่นมัว หมายถึงปราศจากมลทินคือกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๕)
๒ ความเพลิดเพลินในภพ หมายถึงตัณหาในภพทั้ง ๓ (กามภพ รูปภพ อรูปภพ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๕)
๓ ทางอ้อม หมายถึงราคะ
๔ ทางหล่ม หมายถึงกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๕)
๕ สงสาร หมายถึงสังสารวัฏ (การเวียนว่ายตายเกิด) (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓๔. โชติกเถรวัตถุ
๓๒. สุนทรสมุททเถรวัตถุ
เรื่องพระสุนทรสมุทรเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๕] ผู้ใดในโลกนี้ ละกามได้แล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นกามและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๓๓. ชฏิลวัตถุ
เรื่องพระชฎิลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๖] ผู้ใดในโลกนี้ ละตัณหาได้ขาด
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นตัณหาและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๓๔. โชติกเถรวัตถุ
เรื่องพระโชติกเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๖] ผู้ใดในโลกนี้ ละตัณหาได้ขาด
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นตัณหาและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓๖. ทุติยนฏปุพพกเถรวัตถุ
๓๕. ปฐมนฏปุพพกเถรวัตถุ
เรื่องพระเถระผู้เคยเป็นนักฟ้อนรูปที่ ๑
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๗] ผู้ละกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของมนุษย์ได้๑
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นทิพย์ได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากโยคะ๒ทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์

๓๖. ทุติยนฏปุพพกเถรวัตถุ
เรื่องพระเถระผู้เคยเป็นนักฟ้อนรูปที่ ๒
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๘] ผู้ละทั้งความยินดี๓และความไม่ยินดี๔
เป็นผู้เยือกเย็น หมดอุปธิกิเลส
ครอบงำโลกทั้งหมด๕ เป็นผู้แกล้วกล้า
เราเรียกว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของมนุษย์ หมายถึงอายุและกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ)
อันเป็นของมนุษย์ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๖๔)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๖ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้
๓ ความยินดี หมายถึงความยินดีในกามคุณ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๖๕)
๔ ความไม่ยินดี หมายถึงความระอาในการอยู่ป่า (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๖๕)
๕ ครอบงำโลกทั้งหมด หมายถึงครอบงำโลกคือขันธ์ ๕ (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๓๘. ธัมมทินนาเถรีวัตถุ
๓๗. วังคีสเถรวัตถุ
เรื่องพระวังคีสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๑๙] ผู้ใดรู้การจุติและการอุบัติ
ของสัตว์ทั้งหลายโดยประการทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้น ซึ่งเป็นผู้ไม่ติดข้อง
ไปดีแล้ว และตรัสรู้แล้วว่า พราหมณ์
[๔๒๐] ผู้ใดมีคติที่เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์ ก็รู้ไม่ได้
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นอรหันตขีณาสพว่า พราหมณ์

๓๘. ธัมมทินนาเถรีวัตถุ
เรื่องพระธัมมทินนาเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่วิสาขอุบาสก อดีตสามีของพระธัมมทินนาเถรี
ดังนี้)
[๔๒๑] ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวล๑
ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
หมดความยึดมั่นถือมั่นว่า พราหมณ์

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเครื่องกังวล หมายถึงความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๒๖. พราหมณวรรค ๔๐. เทวหิตพราหมณวัตถุ
๓๙. อังคุลิมาลเถรวัตถุ
เรื่องพระองคุลิมาลเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[๔๒๒] ผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้แกล้วกล้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ชำนะแล้ว
ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ชำระแล้ว และตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์

๔๐. เทวหิตพราหมณวัตถุ
เรื่องเทวหิตพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เทวหิตพราหมณ์ ดังนี้)
[๔๒๓] ผู้ใดระลึกอดีตชาติได้๑ เห็นสวรรค์และอบาย
บรรลุภาวะที่สิ้นสุดการเกิด๒
หมดภารกิจ๓เพราะรู้ยิ่ง เป็นมุนี
เป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
พราหมณวรรคที่ ๒๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ระลึกอดีตชาติได้ หมายถึงมีทิพยจักษุญาณเห็นสวรรค์ ๒๖ ชั้น และอบายภูมิ ๔ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๙๑)
๒ ภาวะที่สิ้นสุดการเกิด หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๙๑)
๓ หมดภารกิจ หมายถึงหมดหน้าที่กำหนดรู้(ปริญญากิจ) หมดหน้าที่ละ(ปหานกิจ) และหมดหน้าที่ทำ
ให้แจ้ง(สัจฉิกิริยากิจ) (ขุ.ธ.อ. ๘/๑๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท รวมวรรคในธรรมบท
รวมวรรคในธรรมบท

๑. ยมกวรรค ๒. อัปปมาทวรรค
๓. จิตตวรรค ๔. ปุปผวรรค
๕. พาลวรรค ๖. ปัณฑิตวรรค
๗. อรหันตวรรค ๘. สหัสสวรรค
๙. ปาปวรรค ๑๐. ทัณฑวรรค
๑๑. ชราวรรค ๑๒. อัตตวรรค
๑๓. โลกวรรค ๑๔. พุทธวรรค
๑๕. สุขวรรค ๑๖. ปิยวรรค
๑๗. โกธวรรค ๑๘. มลวรรค
๑๙. ธัมมัฏฐวรรค ๒๐. มัคควรรค
๒๑. ปกิณณกวรรค ๒๒. นิรยวรรค
๒๓. นาควรรค ๒๔. ตัณหาวรรค
๒๕. ภิกขุวรรค ๒๖. พราหมณวรรค

รวมเป็น ๒๖ วรรค อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดง
ไว้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท รวมพระคาถาในธรรมบท
รวมพระคาถาในธรรมบท

ยมกวรรค มี ๒๐ คาถา อัปปมาทวรรค มี ๑๒ คาถา
จิตตวรรค มี ๑๑ คาถา ปุปผวรรค มี ๑๖ คาถา
พาลวรรค มี ๑๖ คาถา ปัณฑิตวรรค มี ๑๔ คาถา
อรหันตวรรค มี ๑๐ คาถา สหัสสวรรค มี ๑๖ คาถา
ปาปวรรค มี ๑๓ คาถา ทัณฑวรรค มี ๑๗ คาถา
ชราวรรค มี ๑๑ คาถา อัตตวรรค มี ๑๐ คาถา
โลกวรรค มี ๑๒ คาถา พุทธวรรค มี ๑๘ คาถา
สุขวรรค มี ๑๒ คาถา ปิยวรรค มี ๑๒ คาถา
โกธวรรค มี ๑๔ คาถา มลวรรค มี ๒๑ คาถา
ธัมมัฏฐวรรค มี ๑๗ คาถา มัคควรรค มี ๑๗ คาถา
ปกิณณกวรรค มี ๑๖ คาถา นิรยวรรค มี ๑๔ คาถา
นาควรรค มี ๑๔ คาถา ตัณหาวรรค มี ๒๖ คาถา
ภิกขุวรรค มี ๒๓ คาถา พราหมณวรรค มี ๔๑ คาถา

รวมพระคาถาทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงไว้
ในนิบาต ในธรรมบทนี้ ๔๒๓ พระคาถา
ธรรมบท จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑. ปฐมโพธิสูตร
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. โพธิวรรค
ว่าด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ๑
๑. ปฐมโพธิสูตร๑
ว่าด้วยเหตุการณ์แรกตรัสรู้ สูตรที่ ๑
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่ง
โดยบัลลังก์เดียว๒ เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มี
พระภาคทรงออกจากสมาธินั้นแล้ว ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท(ธรรมที่อาศัยกัน
เกิดขึ้น) โดยอนุโลมอย่างละเอียด ตลอดปฐมยามแห่งราตรีว่า

ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี


เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๑-๔/๑-๗
๒ นั่งโดยบัลลังก์เดียว หมายถึงนั่งขัดสมาธิโดยไม่ลุกขึ้นเลยตลอด ๗ วัน (วิ.อ. ๓/๑/๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑. ปฐมโพธิสูตร

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงมี

กองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย๒ ปรากฏแก่พราหมณ์๓
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะได้รู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ๔
ปฐมโพธิสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงการเกิดขึ้นแห่งญาณที่ประกอบด้วยโสมนัส แสดงอานุภาพแห่งการรู้เหตุและธรรม
ที่เกิดขึ้นจากเหตุด้วยอำนาจพิจารณาปัจจยาการ หรือปฏิจจสมุปบาท (วิ.อ. ๓/๓/๖, ขุ.อุ.อ. ๓/๔๕-๕๒)
๒ ธรรมทั้งหลาย หมายถึงโพธิปักขิยธรรมที่ให้สำเร็จการตรัสรู้ปัจจยาการ หรือปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลม
(ขุ.อุ.อ. ๑/๔๖)
๓ พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพผู้ลอยบาปได้แล้ว (ขุ.อุ.อ. ๑/๔๖)
๔ รู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ หมายถึงรู้กองทุกข์ และรู้เหตุแห่งทุกข์ (ขุ.อุ.อ. ๑/๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๒. ทุติยโพธิสูตร
๒. ทุติยโพธิสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์แรกตรัสรู้ สูตรที่ ๒
[๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่ง
โดยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มี
พระภาคทรงออกจากสมาธินั้นแล้ว ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท โดยปฏิโลม
อย่างละเอียด ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรีว่า

ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
เพราะเมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ

เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีการดับด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๓. ตติยโพธิสูตร
พุทธอุทาน๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย
ทุติยโพธิสูตรที่ ๒ จบ

๓. ตติยโพธิสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์แรกตรัสรู้ สูตรที่ ๓
[๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นโพธิพฤกษ์
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาค
ทรงออกจากสมาธินั้นแล้ว ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลมและปฏิโลมอย่าง
ละเอียด ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรีว่า

ปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม
เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เพราะเมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี


เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งด้วยอำนาจพิจารณาพระนิพพาน (ขุ.อุ.อ. ๓/๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๓. ตติยโพธิสูตร

เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงมี

กองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีการเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้

ปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีการดับด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๔. นิหุหุงกสูตร
พุทธอุทาน๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่
เมื่อนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนาเสียได้
ดุจดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นสาดส่องท้องฟ้าให้สว่างไสว ฉะนั้น
ตติยโพธิสูตรที่ ๓ จบ

๔. นิหุหุงกสูตร
ว่าด้วยผู้ไม่ตวาดว่า หึ หึ
[๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธ๒
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาค
ก็ทรงออกจากสมาธินั้น
ครั้งนั้น พราหมณ์หุหุกชาติ๓ผู้หนึ่ง ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พราหมณ์นั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระโคดม
ผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงไรหนอ และธรรมเหล่าไหนที่ทำ
บุคคลให้เป็นพราหมณ์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งด้วยอำนาจพิจารณามรรค พุทธอุทานที่ ๑-๓ นี้ ทรงเปล่งในราตรีที่ ๗ นับแต่วัน
ตรัสรู้ (ขุ.อุ.อ. ๓/๕๒)
๒ นิโครธ แปลว่า ต้นไทร ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Banyan” หรือ “Indian Fig-tree” ไม้จำพวกไทร หรือ
กร่างของอินเดีย พวกคนเลี้ยงแพะชอบมานั่งที่ร่มเงาของต้นนิโครธนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อชปาลนิโครธ
(ขุ.อุ.อ. ๔/๕๓, Pali-English Dictionary, P.355, Edited by T.W. RHYS DAVIDS and WILLIAM STEDE)
๓ พราหมณ์หุหุกชาติ เป็นพราหมณ์โดยชาติกำเนิด พราหมณ์นี้มีทิฏฐิว่า “สิ่งที่เห็นแล้วเป็นมงคล” ชอบ
เที่ยวตวาดว่า หึหึ เพราะความถือตัวและเพราะความโกรธ (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๕. พราหมณสูตร
พุทธอุทาน
พราหมณ์ใดลอยบาปธรรมได้แล้ว ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ
ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาด สำรวมตน
เรียนจบเวท๑ อยู่จบพรหมจรรย์
พราหมณ์นั้นไม่มีกิเลสเครื่องฟู๒ขึ้นในอารมณ์ไหน ๆ ในโลก
ควรกล่าวพรหมวาทะ๓ ได้โดยธรรม๔
นิหุหุงกสูตรที่ ๔ จบ

๕. พราหมณสูตร
ว่าด้วยความเป็นพราหมณ์
[๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลานะ
ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระมหากัจจานะ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ท่านพระ
มหากัปปินะ ท่านพระมหาจุนทะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระเรวตะ และท่านพระ
นันทะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านเหล่านั้นกำลังเดินมาแต่ไกล
ครั้นทอดพระเนตรเห็นแล้วจึงรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
พราหมณ์เหล่านั้นกำลังมา ภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์เหล่านั้นกำลังมา” เมื่อพระ

เชิงอรรถ :
๑ เรียนจบเวท หมายถึงบรรลุนิพพานด้วยเวทกล่าวคือมัคคญาณทั้ง ๔ (โสดาปัตติมัคคญาณ สกทาคามิมัคค-
ญาณ สกทาคามิมัคคญาณ อนาคามิมัคคญาณ อรหัตตมัคคญาณ) (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๗)
๒ กิเลสเครื่องฟูขึ้น หมายถึงราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๗)
๓ พรหมวาทะ ในที่นี้หมายถึงวาทะว่า “เราเป็นพราหมณ์” (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๗)
๔ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๔/๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๖. มหากัสสปสูตร
ผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเป็นพราหมณ์โดยกำเนิดรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ด้วยเหตุ
เพียงไรหนอ และธรรมเหล่าไหนที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๑
บุคคลเหล่าใดลอยบาปธรรมได้แล้ว
เป็นผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ มีสังโยชน์สิ้นแล้ว เป็นผู้ตรัสรู้
บุคคลเหล่านั้นแล ชื่อว่า ‘พราหมณ์’ ในโลก
พราหมณสูตรที่ ๕ จบ

๖. มหากัสสปสูตร
ว่าด้วยพระมหากัสสปะ
[๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน๒
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะอยู่ที่ถ้ำปิปผลิคูหา อาพาธ ได้รับทุกข์
เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะหายจากอาพาธนั้นแล้วมีความคิดดังนี้ว่า
“เอาละ เราควรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์”
สมัยนั้นแล เทวดาประมาณ ๕๐๐ องค์ ถึงความขวนขวายเพื่อให้ท่านพระ
มหากัสสปะได้บิณฑบาต ท่านพระมหากัสสปะห้ามเทวดาประมาณ ๕๐๐ องค์นั้นแล้ว
ในเวลาเช้าครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ ตามทาง
ที่อยู่ของคนจน ที่อยู่ของคนกำพร้า และที่อยู่ของช่างหูก

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทางเปล่งมุ่งประกาศความเป็นพราหมณ์โดยปรมัตถ์ (ขุ.อุ.อ. ๕/๖๐)
๒ หมายถึงสถานที่สำหรับพระราชทานเหยื่อแก่กระแต (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๔๑-๔๒, ขุ.อุ.อ. ๖/๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๗. อชกลาปกสูตร
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหากัสสปะ กำลังเที่ยวบิณฑบาต
ตามทางที่อยู่ของคนจน ที่อยู่ของคนกำพร้า และที่อยู่ของช่างหูก
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๑
ผู้ไม่เลี้ยงคนอื่น ผู้รู้จักตนดี
ผู้ฝึกฝนตนได้แล้ว ดำรงมั่นอยู่ในสารธรรม๒
ผู้สิ้นอาสวะแล้ว ผู้คายโทษได้แล้ว๓
เราเรียกว่า พราหมณ์
มหากัสสปสูตรที่ ๖ จบ

๗. อชกลาปกสูตร
ว่าด้วยอชกลาปกยักษ์
[๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อชกลาปกเจดีย์อันเป็นที่อยู่ของยักษ์
ชื่อว่า อชกลาปกะ เขตกรุงปาวา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง ณ ที่แจ้ง
ในความมืดมิดแห่งราตรี และฝนก็โปรยละอองอยู่ ครั้งนั้น อชกลาปกยักษ์ประสงค์
จะให้พระผู้มีพระภาคเกิดความกลัว หวาดหวั่น ขนพองสยองเกล้า จึงเข้าไปหา

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงความเป็นผู้มั่นคงของพระขีณาสพ โดยทรงมุ่งแสดงความเป็นผู้มักน้อยอย่างยิ่ง
เป็นหลัก (ขุ.อุ.อ. ๖/๖๔)
๒ สารธรรม หมายถึงวิมุตติสาระ (ขุ.อุ.อ. ๖/๖๖)
๓ คายโทษ หมายถึงคายโทษมีราคะเป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๖/๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๘. สังคมชิสูตร
ถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ส่งเสียงร้องโหยหวนขึ้น ๓ ครั้ง ณ ที่ใกล้พระผู้มีพระภาคว่า
“อักกุโล ปักกุโล” แล้วพูดว่า “สมณะ นั่นปีศาจ๑ปรากฏแก่ท่าน”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๒
เมื่อใด บุคคลถึงฝั่งในธรรมของตน ชื่อว่าเป็นพราหมณ์
เมื่อนั้น บุคคลนั้นย่อมไม่กลัวปีศาจ และเสียงร้องโหยหวนอย่างนี้
อชกลาปกสูตรที่ ๗ จบ

๘. สังคามชิสูตร
ว่าด้วยพระสังคามชิเถระ
[๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระสังคามชิเดินทางมาถึงกรุงสาวัตถี
โดยลำดับเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค อดีตภรรยาของท่านพระสังคามชิได้ฟังข่าวว่า
“ทราบว่าพระคุณเจ้าสังคามชิถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับแล้ว” นางจึงอุ้มลูกน้อยไปยัง
พระเชตวัน
สมัยนั้น ท่านพระสังคามชินั่งพักกลางวันอยู่ใต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง ครั้งนั้น อดีต
ภรรยาของท่านพระสังคามชิเข้าไปหาถึงที่พัก ได้กล่าวกับท่านพระสังคามชิ ดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ปีศาจ ในที่นี้หมายถึงยักษ์เนรมิตรูปร่างใหญ่โตน่ากลัว ยืนเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค (ขุ.อุ.อ.
๗/๗๑)
๒ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงธรรมานุภาพที่เป็นเหตุให้ไม่ทรงคำนึงถึงการกระทำน่ากลัวใด ๆ (ขุ.อุ.อ. ๗/๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๘. สังคมชิสูตร
“ข้าแต่สมณะ ขอท่านจงเลี้ยงดูดิฉันผู้มีลูกน้อยเถิด” เมื่อนางกล่าวอย่างนี้แล้ว
ท่านพระสังคามชิได้นิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๒ นางก็ได้กล่าวกับท่านพระสังคามชิดังนี้ว่า “ข้าแต่สมณะ ขอท่าน
จงเลี้ยงดูดิฉันผู้มีลูกน้อยเถิด”
ท่านพระสังคามชิก็ได้นิ่งอยู่
แม้ครั้งที่ ๓ นางก็ได้กล่าวกับท่านพระสังคามชิดังนี้ว่า “ข้าแต่สมณะ ขอท่าน
จงเลี้ยงดูดิฉันผู้มีลูกน้อยเถิด”
ท่านพระสังคามชิก็ได้นิ่งอยู่
ครั้งนั้น อดีตภรรยาของท่านพระสังคามชิจึงอุ้มลูกน้อยนั้นไปวางไว้ข้างหน้า
ท่านพระสังคามชิแล้วเดินหนีไปโดยพูดว่า “สมณะ นั่นลูกของท่าน จงเลี้ยงดูลูกนั้น
ด้วยเถิด”
ครั้งนั้น ท่านพระสังคามชิทั้งไม่แลดูและไม่พูดกับเด็กน้อยนั้นเลย ขณะนั้น
อดีตภรรยาของท่านพระสังคามชิไปแอบดูอยู่ในที่ไม่ไกลนัก ได้เห็นท่านทั้งไม่แลดู
และไม่พูดกับเด็กน้อยนั้น จึงคิดว่า “สมณะนี้ คงไม่ต้องการลูกน้อย” จึงกลับออก
จากที่นั้นแล้วอุ้มลูกน้อยเดินไป
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นอดีตภรรยาของท่านพระสังคามชิแสดง
อาการแปลกอย่างนั้นด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๙. ชฏิลสูตร
พุทธอุทาน๑
ผู้ไม่ใยดีอดีตภรรยาผู้มาหา
ไม่เศร้าโศกถึงอดีตภรรยาผู้จากไป
เราเรียกผู้ชนะสงคราม ผู้พ้นจากกิเลสเครื่องข้องแล้ว๒ ว่าพราหมณ์
สังคามชิสูตรที่ ๘ จบ

๙. ชฏิลสูตร
ว่าด้วยพวกชฎิล
[๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ คยาสีสบรรพต ใกล้หมู่บ้านคยา
สมัยนั้น เป็นฤดูหนาว มีหิมะตก ๘ วัน ในช่วงกลางคืนอากาศหนาวเหน็บ
ชฎิลจำนวนมาก ผุดขึ้นบ้าง ดำลงบ้าง ทั้งผุดขึ้นและดำลงบ้าง รดน้ำบ้าง บูชาไฟบ้าง
ที่แม่น้ำคยาด้วยคิดว่า “ด้วยวิธีนี้จะบริสุทธิ์”
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นชฎิลจำนวนมากผุดขึ้นบ้าง ดำลงบ้าง
ทั้งผุดขึ้นและดำลงบ้าง รดน้ำบ้าง บูชาไฟบ้างที่แม่น้ำคยาด้วยคิดว่า “ด้วยวิธีนี้จะ
บริสุทธิ์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงความเป็นผู้มั่นคงในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ (ขุ.อุ.อ. ๘/๗๗)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๔๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑๐. พาหิยสูตร
พุทธอุทาน๑
บุคคลจะเป็นผู้สะอาดเพราะน้ำ
ที่คนจำนวนมากพากันไปอาบก็หาไม่
ผู้ใดมีสัจจะ๒และธรรม๓
ผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้สะอาด และผู้นั้นชื่อว่า เป็นพราหมณ์
ชฏิลสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. พาหิยสูตร
ว่าด้วยพระพาหิยเถระ
[๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น บุรุษชื่อพาหิยะ ทารุจีริยะ๔อาศัยอยู่ ณ
ท่าสุปปารกะ ใกล้ฝั่งทะเล มีคนจำนวนมากพากันสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อม จึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ครั้งนั้น
เมื่อพาหิยะ ทารุจีริยะอยู่ในที่ลับหลีกเร้นอยู่๕ เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า “เราเป็น
คนหนึ่งในบรรดาคนในโลกที่เป็นพระอรหันต์ หรือว่าเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรค”

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงว่าความสะอาดเพราะน้ำมิใช่ทางแห่งความบริสุทธิ์ของสัตว์ และแสดงว่า
ธรรมทั้งหลายมีสัจจะเป็นต้นเท่านั้นที่เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ที่แท้จริงของสัตว์ (ขุ.อุ.อ. ๙/๗๙)
๒ สัจจะ หมายถึงวจีสัจจะ และวิรัติสัจจะ (ขุ.อุ.อ. ๙/๘๐)
๓ ธรรม หมายถึงอริยมรรคและอริยผล (ขุ.อุ.อ. ๙/๘๐)
๔ ที่ชื่อว่า พาหิยะ เพราะเกิดในแคว้นพาหิยะ ที่ชื่อว่า ทารุจีริยะ เพราะเป็นผู้นุ่งผ้าเปลือกไม้ พาหิยะ
ทารุจีริยะนี้เคยตั้งความปรารถนาว่าขอให้ตรัสรู้เร็วพลัน ในศาสนาของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า (ขุ.อุ.อ.
๑๐/๘๑-๘๒)
๕ หลีกเร้นอยู่ หมายถึงการอยู่ผู้เดียว การอยู่โดยเพ่งพินิจธรรม หรืออยู่ด้วยผลสมาบัติ อีกนัยหนึ่ง
หมายถึงการทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ เข้าผลสมาบัติในเวลาเช้า (วิ.อ. ๑/๒๒/๒๐๔, สํ.สฬา.อ. ๓/๘๗/๒๐,
องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๗/๑๐๖-๑๐๗) แต่ในที่นี้เป็นเพียงกิริยาเลียนแบบด้วยประสงค์จะให้เขายกย่องว่าเป็นพระ
อรหันต์ (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑๐. พาหิยสูตร
คราวนั้น เทวดาที่เป็นญาติสาโลหิต๑ในปางก่อนของเขา มีปกติอนุเคราะห์
ปรารถนาจะให้เกิดประโยชน์ ได้ทราบความคิดคำนึงของเขา จึงเข้าไปหาเขาถึงที่อยู่
ได้พูดดังนี้ว่า “พาหิยะ ท่านไม่เป็นพระอรหันต์ หรือไม่เป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรคเลย
แม้ปฏิปทาที่จะเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรคของท่านก็ไม่มี”
พาหิยะ ทารุจีริยะจึงถามว่า “เมื่อเป็นอย่างนั้น บัดนี้ ใครเล่าเป็นพระอรหันต์
หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรค ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก”
เทวดานั้นตอบว่า “พาหิยะ ในชนบททางเหนือ มีเมืองชื่อว่าสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ ณ ที่นั้น พาหิยะ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงเป็นพระอรหันต์ ทั้งทรงแสดงธรรมเพื่อความเป็น
พระอรหันต์ด้วย”
ลำดับนั้น พาหิยะ ทารุจีริยะถูกเทวดานั้นทำให้สังเวชแล้ว จึงหลีกไปจาก
ท่าสุปปารกะในทันใดนั้นเองไปยังเมืองสาวัตถีทันที โดยพักแรมสิ้นราตรีเดียวในที่
ทั้งปวง ได้เข้าไปยังพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี
ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมาก กำลังจงกรมอยู่ในที่แจ้ง พาหิยะ ทารุจีริยะ
ได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่จงกรม ได้พูดดังนี้ว่า “ท่านขอรับ บัดนี้ พระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหน กระผมต้องการจะเฝ้าพระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า “พาหิยะ
พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังละแวกบ้าน”
ลำดับนั้น พาหิยะ ทารุจีริยะรีบด่วนออกจากพระเชตวัน เข้าไปยังกรุงสาวัตถี
ได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้กำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ผู้น่าเลื่อมใส ทรงเป็น
ที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ทรงบรรลุทมถะและสมถะ

เชิงอรรถ :
๑ ญาติ หมายถึงบิดามารดาและเครือญาติฝ่ายบิดามารดาของสามี หรือบิดามารดาและเครือญาติฝ่ายบิดา
มารดาของภรรยา สาโลหิต หมายถึงผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่สาวน้องสาว
พี่ชายน้องชาย เป็นต้น (องฺ.ติก.อ. ๒/๗๖/๒๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑๐. พาหิยสูตร
ที่สูงสุด ทรงฝึกฝนแล้ว ทรงคุ้มครองแล้ว ทรงสำรวมอินทรีย์ ทรงเป็นพระนาคะ๑
ครั้นเห็นแล้วจึงเข้าไปเฝ้า หมอบลงแทบพระยุคลบาทพระผู้มีพระภาคได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรม
แก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความ
สุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อพาหิยะ ทารุจีริยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับพาหิยะ
ทารุจีริยะดังนี้ว่า “พาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควร เพราะเรากำลังเที่ยวบิณฑบาต
ตามละแวกบ้านอยู่”
แม้ครั้งที่ ๒ พาหิยะ ทารุจีริยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความเป็น
ไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระ-
ผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมที่จะเป็นไป
เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับพาหิยะ ทารุจีริยะดังนี้ว่า “พาหิยะ เวลานี้ยังไม่สมควร
เพราะเรากำลังเที่ยวบิณฑบาตตามละแวกบ้านอยู่”
แม้ครั้งที่ ๓ พาหิยะ ทารุจีริยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของพระผู้มีพระภาคก็ดี ความ
เป็นไปแห่งอันตรายแก่ชีวิตของข้าพระองค์ก็ดี รู้ได้ยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรม
ที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนานเถิด
พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ที่ทรงพระนามว่า “นาคะ” เพราะเหตุ ๔ ประการ คือ (๑) เพราะไม่ถึงอคติ ๔ มีฉันทาคติ เป็นต้น
(๒) เพราะไม่ทรงกลับไปหากิเลสที่ทรงละได้แล้ว (๓) เพราะไม่ทำความชั่วอะไร ๆ (๔) เพราะไม่ไปเกิดใน
ภพใหม่ (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑๐. พาหิยสูตร
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “พาหิยะ เพราะเหตุนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อฟังเสียงก็สักแต่ว่าฟัง เมื่อรับรู้อารมณ์ที่ได้รับรู้๑ก็
สักแต่ว่ารับรู้ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งก็สักแต่ว่ารู้แจ้ง พาหิยะ เธอพึงรักษา
อย่างนี้แล
เมื่อใด เธอเมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อฟังเสียงก็สักแต่ว่าฟัง เมื่อรับรู้อารมณ์
ที่ได้รับรู้ก็สักแต่ว่ารับรู้ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งก็สักแต่ว่ารู้แจ้ง เมื่อนั้น เธอ
ก็จะไม่มี เมื่อใด เธอไม่มี เมื่อนั้น เธอก็จะไม่ยึดติดในสิ่งนั้น๒ เมื่อใด เธอไม่
ยึดติดในสิ่งนั้น เมื่อนั้น เธอจักไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างโลก
ทั้งสอง นี้เป็นที่สุดแห่งทุกข์”
ลำดับนั้น ด้วยพระธรรมเทศนาย่อนี้ของพระผู้มีพระภาค จิตของพาหิยะ
ทารุจีริยะจึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น
ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสสอนพาหิยะ ทารุจีริยะด้วยพระโอวาทโดยย่อนี้แล้วก็
เสด็จจากไป
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน โคแม่ลูกอ่อนได้ขวิดพาหิยะ ทารุจีริยะ
จนล้มลงเสียชีวิต
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เสด็จกลับจาก
บิณฑบาตหลังจากเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เสด็จออกจากพระนครพร้อมกับ

เชิงอรรถ :
๑ อารมณ์ที่ได้รับรู้ แปลจากคำว่า มุตะ หมายถึงอารมณ์ ๓ คือ คันธารมณ์(กลิ่น) รสารมณ์(รส)
โผฏฐัพพารมณ์(การสัมผัส) (อภิ.สงฺ.อ. ๙๖๖/๓๙๖)
๒ คำว่า “เมื่อใดเธอเมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น ฯลฯ เมื่อนั้น เธอก็จะไม่ยึดติดในสิ่งนั้น” นี้ พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงภูมิแห่งพระขีณาสพ มีความหมายดังนี้ คือ เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น ฯลฯ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์
ก็สักแต่ว่ารู้แจ้งแล้ว ก็จักไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เมื่อไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ก็จักไม่มีความยึดติดด้วย
อำนาจตัณหาว่า “นั่นของเรา” ไม่มีความยึดติดด้วยอำนาจมานะว่า ‘เราเป็นนั่น’ และไม่มีความยึดติดด้วย
อำนาจทิฏฐิว่า “นั่นเป็นอัตตาของเรา”
อีกนัยหนึ่ง คำว่า “เธอก็จะไม่มี” เป็นคำแสดงมรรค คำว่า “เธอก็จะไม่ยึดติดในสิ่งนั้น” เป็นคำแสดงผล
คำว่า “เธอก็จะไม่มีในโลกนี้ เป็นต้น” เป็นคำแสดงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๘๗-๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] ๑๐. พาหิยสูตร
ภิกษุจำนวนมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นพาหิยะ ทารุจีริยะเสียชีวิตแล้ว จึงรับสั่ง
เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงช่วยกันยกร่างพาหิยะ
ทารุจีริยะขึ้นวางบนเตียงแล้วนำไปเผา และจงทำสถูปไว้ เพื่อนพรหมจารีของเธอ
ทั้งหลายเสียชีวิตแล้ว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ช่วยกันยกร่างพาหิยะ ทารุจีริยะขึ้นวาง
บนเตียงแล้วนำไปเผา ทำสถูปไว้แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายเผาร่างพาหิยะ ทารุจีริยะและ
ทำสถูปไว้แล้ว พระพุทธเจ้าข้า เขามีคติเป็นอย่างไร มีภพเบื้องหน้าเป็นอย่างไร
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พาหิยะ ทารุจีริยะเป็นผู้ดำเนินชีวิต
ด้วยปัญญา ดำเนินตามธรรมที่สมควรแก่ธรรม ทั้งไม่ทำให้เราลำบาก เพราะเหตุ
แห่งการแสดงธรรม ภิกษุทั้งหลาย พาหิยะ ทารุจีริยะปรินิพพานแล้ว”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน๑
ในนิพพาน ไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม
ไม่มีดวงดาวส่องแสง
ไม่มีดวงอาทิตย์ส่องแสง
ไม่มีดวงจันทร์ส่องแสง และไม่มีความมืด

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ พระผู้มีพระภาค ครั้นทรงทราบว่า พระพาหิยะปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ และ
ทรงทราบว่าคติของพระขีณาสพอันปุถุชนรู้ได้ยาก จึงทรงเปล่งแสดงอานุภาพแห่งการปรินิพพาน (ขุ.อุ.อ.
๑๐/๑๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๑. โพธิวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เมื่อใด พราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนี
เพราะมีโมนธรรม๑รู้แจ้งด้วยตนเอง
เมื่อนั้น เขาย่อมหลุดพ้นจากรูปภพ๒ อรูปภพ๓ และจากสุขและทุกข์๔
พาหิยสูตรที่ ๑๐ จบ
(พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอุทานแม้นี้ ตามที่ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้)
โพธิวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมโพธิสูตร ๒. ทุติยโพธิสูตร
๓. ตติยโพธิสูตร ๔. นิหุหุงกสูตร
๕. พราหมณสูตร ๖. มหากัสสปสูตร
๗. อชกลาปกสูตร ๘. สังคามชิสูตร
๙. ชฏิลสูตร ๑๐. พาหิยสูตร


เชิงอรรถ :
๑ โมนธรรม หมายถึงอริยสัจ ๔ (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๑๐๒)
๒ รูปภพ หมายถึงปัญจโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๕) และเอกโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๑) (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๑๐๓)
๓ อรูปภพ หมายถึงจตุโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๔) (ขุ.อุ.อ. ๑๐/๑๐๓)
๔ ขุ.อป. (แปล) ๓๓/๒๑๘-๒๒๐/๒๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๑. มุจจลินทสูตร
๒. มุจจลินทวรรค
หมวดว่าด้วยพญานาคมุจลินท์
๑. มุจจลินทสูตร
ว่าด้วยพญานาคมุจลินท์
[๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นมุจลินท์๑
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน
สมัยนั้น ได้บังเกิดเมฆใหญ่ขึ้นในสมัยมิใช่ฤดูกาล เป็นฝนเจือลมหนาวตกพรำ
ตลอด ๗ วัน ลำดับนั้น พญานาคมุจลินท์ได้ออกจากที่อยู่ของตน ไปโอบรอบ
พระวรกายของพระผู้มีพระภาคด้วยขนด ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเหนือ
พระเศียรด้วยหวังว่า “ความหนาว อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค ความร้อน
อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค สัมผัสจากเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน
อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาค”
ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น พญานาคมุจลินท์
รู้ว่าฝนหาย ปลอดเมฆแล้ว จึงคลายขนดออกจากพระวรกายของพระผู้มีพระภาค
จำแลงร่างของตนเป็นมาณพ ยืนประนมมือถวายอภิวาทอยู่ ณ เบื้องพระพักตร์ของ
พระผู้มีพระภาค
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ มุจลินท์ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า นิจุละ คือ ต้นจิกนา(นีปะ) ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “The Tree Barringtonai
Acutangula” ต้นมุจลินท์นี้เป็นเจ้าแห่งไม้ในป่า (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๒. ราชสูตร
พุทธอุทาน๑
วิเวก๒เป็นความสุขของผู้สันโดษ๓
ผู้มีธรรมปรากฏแล้ว ผู้เห็นอยู่
ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก
ความเป็นผู้ปราศจากราคะคือความล่วงกามทั้งหลายได้๔ เป็นสุขในโลก
ความกำจัดอัสมิมานะได้๕ เป็นสุขอย่างยิ่ง๖
มุจจลินทสูตรที่ ๑ จบ

๒. ราชสูตร
ว่าด้วยอานุภาพของพระราชา
[๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากกลับจากบิณฑบาตหลังจาก
ฉันอาหารเสร็จแล้ว มานั่งประชุมพร้อมกันในอุปัฏฐานศาลา๗ได้สนทนาอันตรากถา๘
ขึ้นว่า “ท่านทั้งหลาย บรรดาพระราชา ๒ พระองค์นี้ คือ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ

เชิงอรรถ :-
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงอานุภาพแห่งวิเวกสุข (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๕)
๒ วิเวก ในที่นี้หมายถึงนิพพานที่สงัดจากอุปธิกิเลส (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๔)
๓ ผู้สันโดษ ในที่นี้หมายถึงผู้สันโดษในมัคคญาณ ๔ (โสดาปัตติมัคคญาณ สกทาคามิมัคคญาณ อนาคามิ-
มัคคญาณ อรหัตตมัคคญาณ) (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๕)
๔ ความล่วงกามทั้งหลายได้ หมายถึงอนาคามิมรรค (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๖)
๕ ความกำจัดอัสมิมานะ หมายถึงอรหัตต์ (ขุ.อุ.อ. ๑๑/๑๐๖)
๖ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๕/๘-๙, อภิ.ก.๓๗/๓๓๘/๑๘๓
๗ อุปัฏฐานศาลา แปลว่าศาลาเป็นที่บำรุงหรือหอฉัน ในที่นี้หมายถึง มณฑปแสดงธรรม คือ เมื่อพระผู้มี
พระภาคเสด็จมาทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่มณฑปนี้ ภิกษุทั้งหลายจึงได้ถวายอุปัฏฐากพระองค์ ด้วยเหตุนี้
จึงเรียกว่า อุปัฏฐานศาลา ใช้เป็นที่ประชุมสนทนาธรรม วินิจฉัยวินัย และแสดงธรรมของภิกษุทั้งหลาย
(ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๐๖)
๘ อันตรากถา หมายถึงการพูดคุยนอกเรื่องการเจริญกัมมัฏฐานเป็นต้น หรือพูดคุยระหว่างรอการฟังธรรม
(ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๒. ราชสูตร
มคธรัฐ กับพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ไหน มีราชทรัพย์มากกว่า โภคสมบัติ
มากกว่า ท้องพระคลังมากกว่า แว่นแคว้นมากกว่า ราชพาหนะมากกว่า พระกำลัง
มากกว่า พระฤทธิ์มากกว่า หรือทรงอานุภาพมากกว่า” อันตรากถาของภิกษุ
เหล่านั้นได้ค้างไว้เพียงเท่านี้
ครั้งนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จเข้าไปยัง
อุปัฏฐานศาลา ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา
ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้ เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร และพูด
เรื่องอะไรค้างไว้”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เมื่อ
ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาต หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้วมานั่งประชุม
พร้อมกันในอุปัฏฐานศาลา ได้สนทนาอันตรากถาขึ้นมาดังนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย
บรรดาพระราชา ๒ พระองค์นี้ คือ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธรัฐ กับพระเจ้า
ปเสนทิโกศล พระองค์ไหน มีราชทรัพย์มากกว่า โภคสมบัติมากกว่า ท้องพระคลัง
มากกว่า แว่นแคว้นมากกว่า ราชพาหนะมากกว่า พระกำลังมากกว่า พระฤทธิ์
มากกว่า หรือทรงอานุภาพมากกว่า’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันตรากถานี้แลที่ข้าพระองค์
ทั้งหลายพูดค้างไว้ ก็พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตรมีศรัทธา
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แล้วมัวสนทนาเรื่องอย่างนี้นั้น ไม่สมควรเลย ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายนั่งประชุมกันแล้วควรทำกิจเพียง ๒ อย่าง คือ การกล่าวธรรม
หรือความเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๓. ทัณฑสูตร
พุทธอุทาน๑
กามสุข๒ในโลก๓และทิพยสุข๔ ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖
แห่งความสุขคือความสิ้นตัณหา๕
ราชสูตรที่ ๒ จบ

๓. ทัณฑสูตร
ว่าด้วยการทำร้ายสัตว์ด้วยท่อนไม้
[๑๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น เด็กชายจำนวนมากใช้ท่อนไม้ตีงูในระหว่าง
กรุงสาวัตถีกับพระเชตวัน ครั้งนั้น ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก
ถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กชาย
เหล่านั้นกำลังใช้ท่อนไม้ตีงูในระหว่างกรุงสาวัตถีกับพระเชตวัน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงอานุภาพอริยวิหารสุข (ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๑๑)
๒ กามสุข หมายถึงความสุขที่เกิดจากกิเลสกาม (ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๑๑-๑๑๒)
๓ โลก หมายถึงสัตวโลกและโอกาสโลก (ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๑๑)
๔ ทิพยสุข หมายถึงสุขอันเป็นทิพย์และสุขอันเกิดจากรูปสมาบัติของพรหมและมนุษย์ (ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๑๒)
๕ ความสุขคือความสิ้นตัณหา หมายถึงสุขอันเกิดจากผลสมาบัติ (ขุ.อุ.อ. ๑๒/๑๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๔. สักการสูตร
พุทธอุทาน
ผู้ใดใฝ่หาความสุขเพื่อตน
แต่กลับใช้ท่อนไม้ทำร้ายสัตว์ทั้งหลายผู้รักสุข
ผู้นั้นตายไปแล้วย่อมไม่ได้รับความสุขเลย
ส่วนผู้ใดใฝ่หาความสุขเพื่อตน
ไม่ใช้ท่อนไม้ทำร้ายสัตว์ทั้งหลายผู้รักสุข
ผู้นั้นตายไปแล้ว ย่อมได้รับความสุข๑
ทัณฑสูตรที่ ๓ จบ

๔. สักการสูตร
ว่าด้วยเครื่องสักการะ
[๑๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่มหาชนสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม
ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนพวกอัญเดียรถีย์๒
ปริพาชก เป็นผู้ที่มหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่นอบน้อม ไม่ได้
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ครั้งนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชกทนดูสักการะที่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไม่ได้ เห็นภิกษุ
ทั้งหลายในบ้านและในป่า ย่อมด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจา
หยาบคายที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษ

เชิงอรรถ :
๑ ดูธรรมบทข้อ ๑๓๑-๑๓๒ หน้า ๗๓ ในเล่มนี้
๒ อัญเดียรถีย์ หมายถึงนักบวชผู้ชายภายนอกพระพุทธศาสนา (วิ.อ. ๓/๑๓๒/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๔. สักการสูตร
ครั้งนั้นแล ภิกษุจำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา นอบน้อม ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้ที่มหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก
เป็นผู้ที่มหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่นอบน้อม ไม่ได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ครั้งนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชก ทนดูสักการะที่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไม่ได้ เห็นภิกษุ
ทั้งหลายในบ้านและในป่า ย่อมด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจา
หยาบคายที่ไม่ใช่ของสัตบุรุษ พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
เธอทั้งหลายได้รับสุขและทุกข์ ในบ้าน(หรือ)ในป่า
ไม่ควรใส่ใจสุขและทุกข์นั้นว่ามีสาเหตุมาจากตน หรือคนอื่น
ผัสสะทั้งหลาย๑ จะสัมผัสได้ก็เพราะอาศัยอุปธิ๒
เมื่อไม่มีอุปธิ ผัสสะทั้งหลายจะสัมผัสได้อย่างไร
สักการสูตรที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ผัสสะทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงสุขเวทนา และทุกขเวทนา (ขุ.อุ.อ. ๑๔/๑๑๘)
๒ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ๕ (ขุ.อุ.อ. ๑๔/๑๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๕. อุปาสกสูตร
๕. อุปาสกสูตร
ว่าด้วยอุบาสก
[๑๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น อุบาสกชาวบ้านอิจฉานังคละคนหนึ่ง
ถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ ด้วยกิจที่จะต้องทำบางอย่าง ครั้งนั้น อุบาสกนั้นครั้นทำ
กิจที่จะต้องทำในกรุงสาววัตถีเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับ
อุบาสกนั้นดังนี้ว่า “นานเหลือเกิน อุบาสก ท่านจึงมีเหตุมา ณ ที่นี้ได้”
อุบาสกนั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคนานแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แต่ว่าข้าพระองค์มัวขวนขวายกับกิจที่จะ
ต้องทำบางอย่าง จึงไม่สามารถเข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า

พุทธอุทาน
ความสุขย่อมมีแก่บุคคลผู้ไม่มีอะไร๑
ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว๒เป็นพหูสูต๓
ท่านจงดูคนที่มีกิเลสเครื่องกังวลกำลังเดือดร้อนอยู่
เพราะคนที่มีความผูกพันกับคนอื่นย่อมเดือดร้อน
อุปาสกสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีอะไร หมายถึงไม่มีอารมณ์อะไรในอารมณ์ทั้ง ๕ ที่จะต้องยึดถือด้วยตัณหาว่า “สิ่งนั้นเป็นของเรา”
อีกนัยหนึ่งหมายถึงไม่มีกิเลสเครื่องกังวลมีราคะเป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๑๕/๑๒๐)
๒ ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว หมายถึงผู้ทำกิจแสร็จแล้ว ได้แก่ บรรลุมรรค ๔ ผล ๔ ในที่นี้หมายถึงพระอรหันต์
(ขุ.อุ.อ. ๑๕/๑๒๐-๑๒๑)
๓ พหูสูต ในที่นี้หมายถึงเป็นพหูสูตด้วยปฏิเวธพาหุสัจจะ(ความเป็นพหูสูตด้วยการรู้แจ้งธรรม) (ขุ.อุ.อ. ๑๕/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน [๒. มุจจลินทวรรค] ๖. คัพภินีสูตร
๖. คัพภินีสูตร
ว่าด้วยหญิงมีครรภ์
[๑๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภรรยาของปริพาชกคนหนึ่ง เป็นมาณวิกา
วัยสาวมีครรภ์แก่ใกล้คลอด ครั้งนั้น นางปริพาชิกานั้นได้กล่าวกับปริพาชกนั้น
ดังนี้ว่า “พราหมณ์ ท่านจงไปนำน้ำมันมาเตรียมไว้เพื่อดิฉันในเวลาคลอด”
เมื่อนางปริพาชิกากล่าวอย่างนี้ ปริพาชกนั้นจึงกล่าวกับนางปริพาชิกาดังนี้ว่า
“แม่นาง ฉันจะนำน้ำมันมาจากที่ไหนเล่า”
แม้ครั้งที่ ๒ นางปริพาชิกาก็ได้กล่าวกับปริพาชกดังนี้ว่า “พราหมณ์ ท่านจง
ไปนำน้ำมันมาเตรียมไว้เพื่อดิฉันในเวลาคลอด”
ปริพาชกได้กล่าวกับนางปริพาชิกาดังนี้ว่า “แม่นาง ฉันจะนำน้ำมันมาจาก
ที่ไหนเล่า”
แม้ครั้งที่ ๓ นางปริพาชิกาก็ได้กล่าวกับปริพาชกดังนี้ว่า “พราหมณ์ ท่านจง
ไปนำน้ำมันมาเตรียมไว้เพื่อดิฉันในเวลาคลอด”
สมัยนั้น เจ้าหน้าที่พระคลังได้ถวายเนยใสบ้าง น้ำมันบ้าง ในท้องพระคลัง
ของพระเจ้าปเทนทิโกศล แก่สมณะบ้าง แก่พราหมณ์บ้าง ให้ดื่มจนพอ ไม่ให้เพื่อนำ
ออกไป
ครั้งนั้น ปริพาชกนั้นมีความคิดดังนี้ว่า “เจ้าหน้าที่พระคลังได้ถวายเนยใสบ้าง
น้ำมันบ้าง ในท้องพระคลังของพระเจ้าปเสนทิโกศล แก่สมณะบ้าง แก่พราหมณ์บ้าง
ให้ดื่มจนพอ ไม่ให้เพื่อนำออกไป ทางที่ดี เราควรไปท้องพระคลังของพระเจ้า
ปเสนทิโกศล ดื่มน้ำมันจนพอแล้วกลับมาเรือน สำรอกน้ำมันออกมาเตรียมไว้เพื่อ
นางปริพาชิกาในเวลาคลอด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า :๑๙๖ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker