ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ สุตตันตปิฎกที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก เอกาทสกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์]
๑. อานิสังสวรรค ๑. กิมัตถิยสูตร

พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต
_______________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ปฐมปัณณาสก์
๑. อานิสังสวรรค
หมวดว่าด้วยอานิสงส์
๑. กิมัตถิยสูตร
ว่าด้วยคำถามเกี่ยวกับผลแห่งศีล

[๑] ข้าพเจ้า๑ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร๒ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศีลที่เป็นกุศล๓ มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์”

เชิงอรรถ :
๑ ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้และพระสูตรอื่น ๆ ในเล่มนี้หมายถึง พระอานนท์
๒ ที่สมควร (เอกมนฺตํ) ในที่นี้หมายถึงที่เหมาะสมเว้นโทษ ๖ ประการคือ (๑) ไกลเกินไป (๒) ใกล้เกินไป
(๓) อยู่เหนือลม (๔) สูงเกินไป (๕) อยู่ตรงหน้าเกินไป (๖) อยู่ข้างหลังเกินไป (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๖/๑๕)
๓ ศีลที่เป็นกุศล หมายถึงศีลที่ไม่มีโทษ เป็นไปเพื่อความไม่เก้อเขิน ไม่ร้อนใจ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑/๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๑. อานิสังสวรรค ๑. กิมัตถิยสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ศีลที่เป็นกุศล มีอวิปปฏิสาร(ความไม่
ร้อนใจ)เป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์”
“อวิปปฏิสารมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ อวิปปฏิสารมีปราโมทย์(ความบันเทิงใจ)เป็นผล มีปราโมทย์เป็น
อานิสงส์”
“ปราโมทย์มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ ปราโมทย์มีปีติ(ความอิ่มใจ)เป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์”
“ปีติมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ ปีติมีปัสสัทธิ (ความสงบกายสงบใจ) เป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์”
“ปัสสัทธิมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์”
“สุขมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์”
“สมาธิมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะ๑ (ความรู้ ความเห็นตามความเป็นจริง)
เป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์”
“ยถาภูตญาณทัสสนะมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ ยถาภูตญาณทัสสนะมีนิพพิทา๒ (ความเบื่อหน่าย) และวิราคะ๓
(ความคลายกำหนัด) เป็นผล มีนิพพิทาและวิราคะเป็นอานิสงส์”
“นิพพิทาและวิราคะมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ยถาภูตญาณทัสสนะ หมายถึงตรุณวิปัสสนาคือวิปัสสนาที่ยังอ่อนกำลัง เป็นความรู้ขั้วต่อที่ตัดแยก
ระหว่างความเป็นปุถุชนกับความเป็นอริยบุคคล ยังไม่ใช่ความรู้ขั้นสุดท้าย (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑/๓๑๘)
๒ นิพพิทา ในที่นี้หมายถึงพลววิปัสสนา คือ วิปัสสนาที่มีพลัง (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑/๓๑๘)
๓ วิราคะ หมายถึงมรรคที่สืบเนื่องจากนิพพิทา ก่อนวิมุตติจะเกิดขึ้น (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑/๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๑. อานิสังสวรรค ๒. เจตนากรณียสูตร
“อานนท์ นิพพิทาและวิราคะมีวิมุตติญาณทัสสนะ๑ (ความรู้ความเห็นในวิมุตติ)
เป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์
อานนท์ ศีลที่เป็นกุศลมีอวิปปฏิสารเป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์
อวิปปฏิสารมีปราโมทย์เป็นผล มีปราโมทย์เป็นอานิสงส์ ปราโมทย์มีปีติเป็นผล
มีปีติเป็นอานิสงส์ ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล
มีสุขเป็นอานิสงส์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ สมาธิมียถาภูตญาณ-
ทัสสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ ยถาภูตญาณทัสสนะมี
นิพพิทาและวิราคะเป็นผล มีนิพพิทาและวิราคะเป็นอานิสงส์ นิพพิทาและวิราคะมี
วิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ อย่างนี้ อานนท์
ศีลที่เป็นกุศล ย่อมทำอรหัตตผลให้บริบูรณ์โดยลำดับ อย่างนี้แล”
กิมัตถิยสูตรที่ ๑ จบ

๒. เจตนากรณียสูตร
ว่าด้วยกรรมที่ไม่ต้องทำด้วยความตั้งใจ
[๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล
ไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขออวิปปฏิสารจงเกิดขึ้นแก่เรา’ การที่อวิปปฏิสารเกิดขึ้นแก่บุคคล
ผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลนี้ เป็นธรรมดา๒
บุคคลผู้มีอวิปปฏิสารไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอปราโมทย์จงเกิดขึ้นแก่เรา’ การที่
ปราโมทย์เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีอวิปปฏิสารนี้ เป็นธรรมดา
บุคคลผู้มีปราโมทย์ไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอปีติจงเกิดขึ้นแก่เรา’ การที่ปีติเกิดขึ้นแก่
บุคคลผู้มีปราโมทย์นี้ เป็นธรรมดา
บุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีติไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอกายของเราจงสงบ’ การที่
บุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีติมีกายสงบนี้ เป็นธรรมดา

เชิงอรรถ :
๑ วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นความรู้ขั้นสุดท้าย แยกอธิบายได้ว่า วิมุตติ หมายถึงอรหัตตผลญาณทัสสนะ
หมายถึงปัจจเวกขณญาณ คือญาณที่เกิดขึ้นถัดจากการบรรลุมรรคผลด้วยมัคคญาณและผลญาณเพื่อ
พิจารณามรรคผล พิจารณากิเลสที่ละได้และเหลืออยู่รวมทั้งพิจารณานิพพาน (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑/๓๑๘)
๒ ธรรมดา ในที่นี้หมายถึงสภาวธรรมที่เกิดเอง คำนี้มุ่งแสดงกฎแห่งเหตุผล (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒/๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๑. อานิสังสวรรค ๒. เจตนากรณียสูตร
บุคคลผู้มีกายสงบไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอเราจงเสวยสุข’ การที่บุคคลผู้มีกายสงบ
เสวยสุขนี้ เป็นธรรมดา
บุคคลผู้มีสุขไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอจิตของเราจงเป็นสมาธิ’ การที่บุคคลผู้มีสุขมี
จิตเป็นสมาธินี้ เป็นธรรมดา
บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอเราจงรู้เห็นตามความเป็นจริง’ การที่
บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิรู้เห็นตามความเป็นจริงนี้ เป็นธรรมดา
บุคคลผู้รู้เห็นตามความเป็นจริงไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอเราจงเบื่อหน่ายคลายกำหนัด’
การที่บุคคลผู้รู้เห็นตามความเป็นจริงเบื่อหน่ายคลายกำหนัดนี้ เป็นธรรมดา
บุคคลผู้เบื่อหน่ายคลายกำหนัดไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอเราจงทำให้แจ้งวิมุตติญาณ-
ทัสสนะ’ การที่บุคคลผู้เบื่อหน่ายคลายกำหนัดทำให้แจ้งวิมุตติญาณทัสสนะนี้ เป็น
ธรรมดา
นิพพิทาและวิราคะมีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็น
อานิสงส์ ยถาภูตญาณทัสสนะมีนิพพิทาและวิราคะเป็นผล มีนิพพิทาและวิราคะเป็น
อานิสงส์ สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์
สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์ ปีติมี
ปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ ปราโมทย์มีปีติเป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์
อวิปปฏิสารมีปราโมทย์เป็นผล มีปราโมทย์เป็นอานิสงส์ ศีลที่เป็นกุศลมีอวิปปฏิสาร
เป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายย่อมหลั่งไหลไปสู่ธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย
ย่อมให้ธรรมทั้งหลายบริบูรณ์ เพื่อออกจากฝั่งนี้สู่ฝั่งโน้น๑ อย่างนี้แล
เจตนากรณียสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ฝั่งนี้ ในที่นี้หมายถึงวัฏฏะ ๓ คือ กิเลสวัฏฏ์ (วงจรกิเลส)ประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน
กัมมวัฏฏ์(วงจรกรรม)ประกอบด้วยสังขารและกรรมภพวิปากวัฏฏ์ (วงจรวิบาก)ประกอบด้วยวิญญาณนามรูป
สฬายตนะ ผัสสะ เวทนาซึ่งแสดงออกในรูปปรากฏคืออุปัติภพคือชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น
ฝั่งโน้น หมายถึงนิพพาน (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒/๓๑๘, องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๒-๕/๓๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๑. อานิสังสวรรค ๓. ปฐมอุปนิสสูตร
๓. ปฐมอุปนิสสูตร
ว่าด้วยธรรมมีเหตุให้ถูกขจัด สูตรที่ ๑
[๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย อวิปปฏิสารของบุคคลผู้ทุศีล
มีศีลวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่ออวิปปฏิสารไม่มี ปราโมทย์ของบุคคลผู้มี
อวิปปฏิสารวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อปราโมทย์ไม่มี ปีติของบุคคลผู้มี
ปราโมทย์วิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อปีติไม่มี ปัสสัทธิของบุคคลผู้มีปีติวิบัติ
ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อปัสสัทธิไม่มี สุขของบุคคลผู้มีปัสสัทธิวิบัติชื่อว่ามีเหตุ
ถูกขจัดแล้ว เมื่อสุขไม่มี สัมมาสมาธิของบุคคลผู้มีสุขวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว
เมื่อสัมมาสมาธิไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติชื่อว่ามีเหตุ
ถูกขจัดแล้ว เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี นิพพิทาและวิราคะของบุคคลผู้มี
ยถาภูตญาณทัสสนะวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อนิพพิทาและวิราคะไม่มี
วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีนิพพิทาและวิราคะวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว
อวิปปฏิสารของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่ออวิปปฏิสาร
ไม่มี ปราโมทย์ของบุคคลผู้มีอวิปปฏิสารวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว ฯลฯ เมื่อ
นิพพิทาและวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีนิพพิทาและวิราคะวิบัติ
ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบวิบัติแล้ว สะเก็ด เปลือก
กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้น ย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ ฉะนั้น
อวิปปฏิสารของบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่ออวิปปฏิ-
สารมี ปราโมทย์ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอวิปปฏิสารชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อ
ปราโมทย์มี ปีติของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยปราโมทย์ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อ
ปีติมี ปัสสัทธิของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยปีติชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อปัสสัทธิมี สุข
ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยปัสสัทธิชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อสุขมี สัมมาสมาธิของ
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสุขชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อสัมมาสมาธิมี ยถาภูตญาณทัสสนะ
ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสัมมาสมาธิชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมี
นิพพิทาและวิราคะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
เมื่อนิพพิทาและวิราคะมี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาและ
วิราคะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๑. อานิสังสวรรค ๔. ทุติยอุปนิสสูตร
ภิกษุทั้งหลาย อวิปปฏิสารของบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ชื่อว่ามีเหตุ
สมบูรณ์ เมื่ออวิปปฏิสารมี ปราโมทย์ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอวิปปฏิสารชื่อว่ามี
เหตุสมบูรณ์ ฯลฯ เมื่อนิพพิทาและวิราคะมี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์
ด้วยนิพพิทาและวิราคะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์
สะเก็ด เปลือก กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้น ย่อมถึงความบริบูรณ์ ฉะนั้น
ปฐมอุปนิสสูตรที่ ๓ จบ

๔. ทุติยอุปนิสสูตร
ว่าด้วยธรรมมีเหตุให้ถูกขจัด สูตรที่ ๒
[๔] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย อวิปปฏิสารของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อ
อวิปปฏิสารไม่มี ปราโมทย์ของบุคคลผู้มีอวิปปฏิสารวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว
เมื่อปราโมทย์ไม่มี ปีติของบุคคลผู้มีปราโมทย์วิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อ
ปีติไม่มี ปัสสัทธิของบุคคลผู้มีปีติวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อปัสสัทธิไม่มี สุข
ของบุคคลผู้มีปัสสัทธิวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อสุขไม่มี สัมมาสมาธิของ
บุคคลผู้มีสุขวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อสัมมาสมาธิไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะ
ของบุคคลผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี
นิพพิทาและวิราคะของบุคคลผู้มียถาภูตญาณทัสสนะวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว
เมื่อนิพพิทาและวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีนิพพิทาและวิราคะ
วิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว
อวิปปฏิสารของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่ออวิปปฏิสาร
ไม่มี ปราโมทย์ของบุคคลผู้มีอวิปปฏิสารวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว ฯลฯ เมื่อ
นิพพิทาและวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีนิพพิทาและวิราคะวิบัติ
ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบวิบัติแล้ว สะเก็ด เปลือก
กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้น ย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๑. อานิสังสวรรค ๕. ตติยอุปนิสสูตร
อวิปปฏิสารของบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อ
อวิปปฏิสารมี ปราโมทย์ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอวิปปฏิสารชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
เมื่อปราโมทย์มี ปีติของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยปราโมทย์ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อปีติ
มี ปัสสัทธิของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยปีติชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อปัสสัทธิมี สุขของ
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยปัสสัทธิชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อสุขมี สัมมาสมาธิของบุคคล
ผู้สมบูรณ์ด้วยสุขชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อสัมมาสมาธิมี ยถาภูตญาณทัสสนะของ
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสัมมาสมาธิชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมี
นิพพิทาและวิราคะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
เมื่อนิพพิทาและวิราคะมี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาและ
วิราคะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
ผู้มีอายุทั้งหลาย อวิปปฏิสารของบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลชื่อว่ามีเหตุ
สมบูรณ์ เมื่ออวิปปฏิสารมี ปราโมทย์ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอวิปปฏิสารชื่อว่ามี
เหตุสมบูรณ์ ฯลฯ เมื่อนิพพิทาและวิราคะมี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์
ด้วยนิพพิทาและวิราคะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์
สะเก็ด เปลือก กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้น ย่อมถึงความบริบูรณ์ ฉะนั้น
ทุติยอุปนิสสูตรที่ ๔ จบ

๕. ตติยอุปนิสสูตร
ว่าด้วยธรรมมีเหตุให้ถูกขจัด สูตรที่ ๓
[๕] ณ ที่นั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย อวิปปฏิสารของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อ
อวิปปฏิสารไม่มี ปราโมทย์ของบุคคลผู้มีอวิปปฏิสารวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว
เมื่อปราโมทย์ไม่มี ปีติของบุคคลผู้มีปราโมทย์วิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อปีติไม่มี
ปัสสัทธิของบุคคลผู้มีปีติวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อปัสสัทธิไม่มี สุขของบุคคล
ผู้มีปัสสัทธิวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อสุขไม่มี สัมมาสมาธิของบุคคลผู้มีสุข

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๑. อานิสังสวรรค ๕. ตติยอุปนิสสูตร
วิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อสัมมาสมาธิไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะของบุคคลผู้มี
สัมมาสมาธิวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี นิพพิทาและ
วิราคะของบุคคลผู้มียถาภูตญาณทัสสนะวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อนิพพิทา
และวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีนิพพิทาและวิราคะวิบัติชื่อว่ามีเหตุ
ถูกขจัดแล้ว
อวิปปฏิสารของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่ออวิปปฏิสาร
ไม่มี ปราโมทย์ของบุคคลผู้มีอวิปปฏิสารวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว ฯลฯ เมื่อ
นิพพิทาและวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีนิพพิทาและวิราคะวิบัติชื่อ
ว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบวิบัติแล้ว สะเก็ด เปลือก
กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้น ย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ ฉะนั้น
อวิปปฏิสารของบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อ
อวิปปฏิสารมี ปราโมทย์ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอวิปปฏิสารชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
เมื่อปราโมทย์มี ปีติของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยปราโมทย์ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อปีติมี
ปัสสัทธิของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยปีติชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อปัสสัทธิมี สุขของ
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยปัสสัทธิชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อสุขมี สัมมาสมาธิของบุคคลผู้
สมบูรณ์ด้วยสุขชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อสัมมาสมาธิมี ยถาภูตญาณทัสสนะของ
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสัมมาสมาธิชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมี
นิพพิทาและวิราคะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
เมื่อนิพพิทาและวิราคะมี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาและ
วิราคะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
ผู้มีอายุทั้งหลาย อวิปปฏิสารของบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลชื่อว่ามีเหตุ
สมบูรณ์ เมื่ออวิปปฏิสารมี ปราโมทย์ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอวิปปฏิสารชื่อว่า
มีเหตุสมบูรณ์ ฯลฯ เมื่อนิพพิทาและวิราคะมี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้
สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาและวิราคะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่ง
และใบสมบูรณ์ สะเก็ด เปลือก กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้น ย่อมถึงความบริบูรณ์
ฉะนั้น
ตติยอุปนิสสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๑. อานิสังสวรรค ๖. สมาธิสูตร
๖. สมาธิสูตร
ว่าด้วยการได้สมาธิของภิกษุ
[๖] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีได้หรือหนอ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมี
สัญญา(ความจำได้หมายรู้)ในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน๑ ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ใน
ธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลมว่าเป็นธาตุลม ในอากาสานัญจายตนฌาน๒ว่า
เป็นอากาสานัญจายตนฌาน ในวิญญาณัญจายตนฌาน๓ว่าเป็นวิญญาณัญจายตน-
ฌาน ในอากิญจัญญายตนฌาน๔ว่าเป็นอากิญจัญญายตนฌาน ในเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลก
หน้าว่าเป็นโลกหน้า แต่ต้องมีสัญญา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ มีได้ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญา
ในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลม
ว่าเป็นธาตุลม ในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน ใน
วิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌานว่า
เป็นอากิญจัญญายตนฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานา
สัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า แต่ต้องมีสัญญา”

เชิงอรรถ :
๑ มีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน หมายถึงการบริกรรมดินเป็นอารมณ์กัมมัฏฐานโดยกำหนดว่า “ดิน ดิน”
(องฺ.ทสก.อ. ๓/๖/๓๑๙)
๒ อากาสานัญจายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดอากาศคือช่องว่างอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นฌาน
ขั้นที่ ๑ ของอรูปฌาน ๔ (ที.สี.อ. ๔๑๔/๓๐๘)
๓ วิญญาณัญจายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดวิญญาณอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นฌานขั้นที่ ๒ ของ
อรูปฌาน ๔ (ที.สี.อ. ๔๑๔/๓๐๘)
๔ อากิญจัญญายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดภาวะไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ ฌานนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
สัญญัคคะ (ที่สุดแห่งสัญญา) เพราะเป็นภาวะสุดท้ายของการมีสัญญากล่าวคือผู้บรรลุอากิญจัญญายตน-
ฌานแล้ว ขั้นต่อไปจะเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ้าง เข้าถึงสัญญานิโรธบ้าง (ที.สี.อ. ๔๑๔/๓๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๑. อานิสังสวรรค ๖. สมาธิสูตร
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีได้อย่างไร การที่ภิกษุ
ได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ใน
ธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลมว่าเป็นธาตุลม ในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็น
อากาสานัญจายตนฌาน ในวิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตน-
ฌาน ในอากิญจัญญายนตฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตนฌาน ในเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลก
หน้าว่าเป็นโลกหน้า แต่ต้องมีสัญญา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีสัญญา
อย่างนี้ว่า ภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืน
อุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน๑
อานนท์ มีได้อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุ
ดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลมว่าเป็นธาตุลม ใน
อากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน ในวิญญาณัญจายตนฌาน
ว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตน-
ฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ใน
โลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า แต่ต้องมีสัญญา”
สมาธิสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า “ภาวะที่สงบประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่ง
ตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ และนิพพาน” ทั้งหมดนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสมุ่งแสดงถึงสมาธิใน
ผลสมาบัติ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๖/๓๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๑. อานิสังสวรรค ๗. สารีปุตตสูตร
๗. สารีปุตตสูตร
ว่าด้วยพระสารีบุตรตอบปัญหาพระอานนท์
[๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้
ถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“ท่านสารีบุตร มีได้หรือหนอ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุ
ดินว่าเป็นธาตุดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลม
ว่าเป็นธาตุลม ในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน ใน
วิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌาน
ว่าเป็นอากิญจัญญายตนฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า แต่ต้องมีสัญญา”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านอานนท์ มีได้ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมี
สัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ฯลฯ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า แต่ต้องมีสัญญา”
ท่านพระอานนท์ถามว่า “ท่านสารีบุตร มีได้อย่างไร การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่
ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ฯลฯ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า แต่ต้องมี
สัญญา”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านอานนท์ สมัยหนึ่ง ผมอยู่ที่ป่าอันธวัน เขต
กรุงสาวัตถีนี้แล ณ ที่นั้น ผมได้เข้าสมาธิโดยไม่มีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน
ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลมว่าเป็นธาตุลม ใน
อากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน ในวิญญาณัญจายตนฌาน
ว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตนฌาน
ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่า
เป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า แต่ผมเป็นผู้มีสัญญา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๑. อานิสังสวรรค ๘. ฌานสูตร
ท่านพระอานนท์ถามว่า “ในสมัยนั้น ท่านสารีบุตรเป็นผู้มีสัญญาอย่างไร”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ผู้มีอายุ สัญญาอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่ผมว่า ‘ความ
ดับภพเป็นนิพพาน ความดับภพเป็นนิพพาน’ สัญญาอย่างหนึ่งดับไป ผู้มีอายุ
สัญญาอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่ผมว่า ‘ความดับภพเป็นนิพพาน ความดับภพเป็น
นิพพาน’ สัญญาอย่างหนึ่งดับไป เปรียบเหมือนเมื่อไฟมีเชื้อกำลังไหม้อยู่ เปลวไฟ
อย่างหนึ่งเกิดขึ้น เปลวไฟอย่างหนึ่งดับไปฉะนั้น ผู้มีอายุ ในสมัยนั้น ผมได้มีสัญญา
ว่า ‘ความดับภพเป็นนิพพาน’
สารีปุตตสูตรที่ ๗ จบ

๘. ฌานสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้มีฌาน
[๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่มีศีล
อย่างนี้ เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วย
คิดว่า “ทางที่ดี เราควรเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล” เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล เมื่อนั้น
เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล แต่ไม่เป็นพหูสูต ฯลฯ เป็น
พหูสูตแต่ไม่เป็นธรรมกถึก๑ เป็นธรรมกถึกแต่ไม่เข้าไปสู่บริษัท เข้าไปสู่บริษัทแต่ไม่
แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัทแต่ไม่ทรงวินัย ทรง
วินัยแต่ไม่อยู่ป่าเป็นวัตร และไม่อยู่ในเสนาสนะอันสงัด อยู่ป่าเป็นวัตร และอยู่ใน

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมกถึก หมายถึงผู้กล่าวสอนธรรม ผู้แสดงธรรม หรือนักเทศน์ซี่งจะต้องมีองค์ธรรม ๕ ประการ คือ
(๑) แสดงธรรมไปโดยลำดับ (๒) แสดงอ้างเหตุผล (๓) แสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู (๔) ไม่เพ่งอามิส
แสดงธรรม (๕) แสดงธรรมไม่กระทบตนและผู้อื่น (องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๕๙/๑๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๑. อานิสังสวรรค ๘. ฌานสูตร
เสนาสนะอันสงัดแต่ไม่ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง๑ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ได้โดยยาก ได้โดยลำบาก ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง ซึ่งเป็น
เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก แต่
ไม่ได้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ๒ ปัญญาวิมุตติ๓อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน อย่างนี้ เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น
เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า “ทางที่ดี เราควรเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล
เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก เข้าไปสู่บริษัท แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท ทรงวินัย
อยู่ป่าเป็นวัตร และอยู่ในเสนาสนะอันสงัด ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่อง
อยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก และทำให้
แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีศีล ๑ เป็นพหูสูต ๑ เป็นธรรมกถึก ๑ เข้าไป
สู่บริษัท ๑ แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท ๑ ทรงวินัย ๑ อยู่ป่าเป็นวัตร และอยู่ใน
เสนาสนะอันสงัด ๑ ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตาม
ความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ๑ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา-
วิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ๑
เมื่อนั้น เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น อย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล จึงชื่อว่าเป็นผู้ก่อ
ให้เกิดความเลื่อมใสได้รอบด้าน๔ และเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง
ฌานสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ มีในจิตยิ่ง (อภิเจตสิก) ในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิ (ม.มู.อ. ๑/๖๖/๑๗๓)
๒ เจโตวิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึกจิต ซึ่งเป็นผลแห่งสมาธิ (องฺ.ทุก.อ.
๒/๘๘/๖๒)
๓ ปัญญาวิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยการกำจัดอวิชชาได้ ซึ่งเป็นผลแห่งปัญญา (องฺ.ทุก.อ.
๒/๘๘/๖๒)
๔ ก่อให้เกิดความเลื่อมใสได้รอบด้าน หมายถึงมีกายกรรม วจีกรรมที่น่าเลื่อมใส (องฺ.ทสก.อ. ๓/๘/๓๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๑. อานิสังสวรรค ๙. สันตวิโมกขสูตร
๙. สันตวิโมกขสูตร
ว่าด้วยสันตวิโมกข์๑
[๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาแต่ไม่มีศีล
เป็นผู้มีศีลแต่ไม่เป็นพหูสูต เป็นพหูสูตแต่ไม่เป็นธรรมกถึก เป็นธรรมกถึกแต่ไม่
เข้าไปสู่บริษัท เข้าไปสู่บริษัทแต่ไม่เป็นผู้แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท แกล้วกล้า
แสดงธรรมแก่บริษัทแต่ไม่ทรงวินัย ทรงวินัยแต่ไม่อยู่ป่าเป็นวัตร และไม่อยู่ในเสนาสนะ
อันสงัด อยู่ป่าเป็นวัตร และอยู่ในเสนาสนะอันสงัด แต่ไม่ได้สัมผัสสันตวิโมกข์
ซึ่งไม่มีรูปเพราะล่วงรูปฌานเสียได้ด้วยกาย๒อยู่ ได้สัมผัสสันตวิโมกข์ซึ่งไม่มีรูปเพราะ
ล่วงรูปฌานเสียได้ด้วยกายอยู่ แต่ไม่ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน อย่างนี้ เธอจึงชื่อว่า
เป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า “ทางที่ดี
เราควรเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก เข้าไปสู่บริษัทแกล้วกล้า
แสดงธรรมแก่บริษัท ทรงวินัย อยู่ป่าเป็นวัตร และอยู่ในเสนาสนะอันสงัด ได้สัมผัส
สันตวิโมกข์ซึ่งไม่มีรูป เพราะล่วงรูปฌานเสียได้ด้วยกายอยู่ และทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน”
เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีศีล ๑ เป็นพหูสูต ๑ เป็นธรรมกถึก ๑ เข้าไปสู่
บริษัท ๑ แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท ๑ ทรงวินัย ๑ อยู่ป่าเป็นวัตร และอยู่ใน
เสนาสนะอันสงัด ๑ ได้สัมผัสสันตวิโมกข์ซึ่งไม่มีรูปเพราะล่วงรูปฌานเสียได้ด้วยกาย
อยู่ ๑ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ๑ เมื่อนั้น เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วย
องค์นั้น อย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ สันตวิโมกข์ หมายถึงอรูปฌาณที่พ้นได้อย่างสิ้นเชิง เพราะพ้นจากธรรมที่เป็นข้าศึกกล่าวคือนิวรณ์ ๕
และเพระไม่เกี่ยวข้องในอารมณ์เป็นต้น (องฺ.ทสก.อ. ๓/๙/๓๒๐)
๒ กาย ในที่นี้หมายถึงนามกาย คือกองแห่งนามธรรม ได้แก่ เจตสิกทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๑. อานิสังสวรรค ๑๐. วิชชาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล จึงชื่อว่าเป็นผู้ก่อ
ให้เกิดความเลื่อมใสได้รอบด้าน และเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง
สันตวิโมกขสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. วิชชาสูตร
ว่าด้วยวิชชา
[๑๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่มีศีล
อย่างนี้ เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์
ด้วยคิดว่า “ทางที่ดี เราควรเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล” เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา
มีศีล เมื่อนั้น เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล แต่ไม่เป็นพหูสูต เป็นพหูสูต แต่ไม่
เป็นธรรมกถึก เป็นธรรมกถึก แต่ไม่เข้าไปสู่บริษัท เข้าไปสู่บริษัท แต่ไม่แกล้วกล้า
แสดงธรรมแก่บริษัท แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท แต่ไม่ทรงวินัย ทรงวินัย แต่
ระลึกชาติก่อนไม่ได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ ระลึกชาติก่อนได้
หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้ง
ลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ แต่ไม่เห็นหมู่สัตว์ ฯลฯ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์ ไม่รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม เห็นหมู่สัตว์ด้วยตาทิพย์อัน
บริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม แต่ไม่ทำให้แจ้ง ฯลฯ
เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันอย่างนี้ เธอจึงชื่อว่า
ไม่เป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยองค์นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ ด้วยคิดว่า ‘ทางที่ดี
เราควรเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก เข้าไปสู่บริษัท แกล้วกล้า
แสดงธรรมแก่บริษัท ทรงวินัย ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติ
บ้าง ฯลฯ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
เห็นหมู่สัตว์ ฯลฯ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม
กรรม ทำให้แจ้ง ฯลฯ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๑. อานิสังสวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ๑ มีศีล ๑ เป็นพหูสูต ๑ เป็นธรรมกถึก ๑ เข้าไป
สู่บริษัท ๑ แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท ๑ ทรงวินัย ๑ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ
คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไป
และชีวประวัติอย่างนี้ ๑ เห็นหมู่สัตว์ ฯลฯ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัด
ถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ๑ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ๑ เมื่อนั้น ภิกษุจึงชื่อ
ว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น อย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล จึงชื่อว่าเป็นผู้
ก่อให้เกิดความเลื่อมใสได้รอบด้าน และเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง
วิชชาสูตรที่ ๑๐ จบ
อานิสังสวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กิมัตถิยสูตร ๒. เจตนากรณียสูตร
๓. ปฐมอุปนิสสูตร ๔. ทุติยอุปนิสสูตร
๕. ตติยอุปนิสสูตร ๖. สมาธิสูตร
๗. สารีปุตตสูตร ๘. ฌานสูตร
๙. สันตวิโมกขสูตร ๑๐. วิชชาสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๑. เสนาสนสูตร
๒. นาถกรณวรรค
หมวดว่าด้วยนาถกรณธรรม๑
๑. เสนาสนสูตร
ว่าด้วยองค์ประกอบของเสนาสนะ
[๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕
อาศัยใช้สอยเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนักก็จะทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน
ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า “แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดย
ชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึก
ผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า๒ เป็นพระผู้มีพระภาค๓”
๒. เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหาร
สม่ำเสมอ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด เป็นปานกลาง ควรแก่การบำเพ็ญเพียร

เชิงอรรถ :
๑ ดูปฐมนาถสูตร หน้า ๓๑ และทุติยนาถสูตร หน้า ๓๔ ในเล่มนี้
๒ ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดด้วยพระองค์เอง และทรงสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
๓ ชื่อว่า พระผู้มีพระภาค เพราะ (๑) ทรงมีโชค (๒) ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส (๓) ทรงประกอบด้วยภคธรรม
๖ ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน โลกุตตรธรรม ยศ สิริ ความสำเร็จประโยชน์ตามต้องการ
และความเพียร) (๔) ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (๕) ทรงเสพอริยธรรม (๖) ทรงคลายตัณหาในภพทั้ง ๓
(๗) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (๘) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (๙) ทรงมีส่วนแห่งปัจจัย ๔ เป็นต้น
(ตามนัย วิ. อ. ๑/๑/๑๐๓-๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๑. เสนาสนสูตร
๓. เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริงใน
ศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย
๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร๑ เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด
มีความเข้มแข็ง๒ มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
ทั้งหลายอยู่
๕. เป็นผู้มีปัญญา คือประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความ
เกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นอย่างนี้แล
เสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นอย่างไร
คือ เสนาสนะในธรรมวินัยนี้
๑. อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก๓ มีทางไปมาสะดวก กลางวันไม่พลุกพล่าน
กลางคืนมีเสียงน้อย ไม่อึกทึก มีเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อย
คลานกระทบน้อย
๒. เมื่อภิกษุอยู่ในเสนาสนะนั้น มีจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-
ปัจจัยเภสัชชบริขารที่เกิดขึ้นโดยไม่ฝืดเคืองเลย
๓. ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์๔ ทรงธรรม ทรงวินัย
ทรงมาติกาอยู่ในเสนาสนะนั้น
๔. ภิกษุนั้นเข้าไปหาภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ในเวลาที่สมควรแล้ว จึงสอบถาม
ไต่ถามว่า “พุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็น
อย่างไร”

เชิงอรรถ :
๑ ปรารภความเพียร ในที่นี้หมายถึงประคองความเพียรทางกายและใจไว้ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒/๑)
๒ มีความเข้มแข็ง ในที่นี้หมายถึงมีกำลังความเพียร (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒/๑)
๓ เสนาสนะที่อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก มีอธิบายประกอบว่า เสนาสนะที่อยู่ไกลนัก เมื่อภิกษุอยู่อาศัย
ย่อมลำบากกายที่จะเที่ยวบิณฑบาต จิตใจกระสับกระส่าย ไม่สามารถเจริญสมาธิให้เกิดได้ เสนาสนะที่
อยู่ใกล้นัก ก็จะพลุกพล่านไปด้วยผู้คน (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑/๓๒๐)
๔ เรียนจบคัมภีร์(อาคตาคม) ในที่นี้หมายถึงเรียนจบพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก ๕ นิกาย ได้แก่
ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๒. ปัญจังคสูตร
๕. ภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย ทำข้อที่เข้าใจยาก
ให้เข้าใจง่าย และบรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่
ภิกษุนั้น
เสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อาศัยใช้สอยเสนาสนะอันประกอบ
ด้วยองค์ ๕ ไม่นานนัก ก็จะทำให้แจ้ง ฯลฯ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
เสนาสนสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปัญจังคสูตร
ว่าด้วยองค์ ๕
[๑๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ บัณฑิตเรียกว่า
ผู้ประกอบด้วยคุณทั้งมวล ผู้อยู่จบพรหมจรรย์๑ เป็นอุดมบุรุษในธรรมวินัยนี้
ภิกษุผู้ละองค์ ๕ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ละกามฉันทะ(ความพอใจในกาม)
๒. เป็นผู้ละพยาบาท(ความคิดร้าย)
๓. เป็นผู้ละถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)
๔. เป็นผู้ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
๕. เป็นผู้ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย)
ภิกษุเป็นผู้ละองค์ ๕ เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ อยู่จบพรหมจรรย์ หมายถึงกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อทำลายอาสวกิเลสจบสิ้นสมบูรณ์แล้ว ไม่มีกิจที่จะ
ต้องทำเพื่อตนเอง แต่ยังมีหน้าที่เพื่อผู้อื่นอยู่ ผู้บรรลุถึงขั้นนี้ได้ ชื่อว่าอเสขบุคคล (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๒. ปัญจังคสูตร
ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ประกอบด้วยสีลขันธ์(กองศีล)ที่เป็นอเสขะ๑
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยสมาธิขันธ์(กองสมาธิ)ที่เป็นอเสขะ
๓. เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาขันธ์(กองปัญญา)ที่เป็นอเสขะ
๔. เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์(กองวิมุตติ)ที่เป็นอเสขะ
๕. เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์๒(กองวิมุตติญาณทัสสนะ)
ที่เป็นอเสขะ
ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ บัณฑิตเรียกว่า ผู้
ประกอบด้วยคุณทั้งมวล ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นอุดมบุรุษในธรรมวินัยนี้
กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ
และ วิจิกิจฉา ย่อมไม่มีแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง
ภิกษุผู้เช่นนั้นสมบูรณ์ด้วยสีลขันธ์ที่เป็นอเสขะ
สมาธิขันธ์ที่เป็นอเสขะ ปัญญาขันธ์ที่เป็นอเสขะ
วิมุตติขันธ์ที่เป็นอเสขะ
และวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่เป็นอเสขะ
ภิกษุนั้นแลผู้ละองค์ ๕ ได้ สมบูรณ์ด้วยองค์ ๕
ภิกษุนั้นแล บัณฑิตเรียกว่า ‘ผู้ประกอบด้วยคุณทั้งมวล’
ในธรรมวินัยนี้
ปัญจังคสูตรที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อเสขะ หมายถึงธรรมระดับโลกุตตระของพระอเสขะ คือ พระอรหันตขีณาสพ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๒/๓๒๐)
๒ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ในที่นี้หมายถึงปัจจเวกขณญาณเป็นขันธ์ระดับโลกิยะ ส่วนขันธ์ที่เหลือข้างต้นเป็น
ขันธ์ระดับโลกุตตระ (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๘/๑๖๐, องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๒/๓๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๓. สังโยชนสูตร
๓. สังโยชนสูตร
ว่าด้วยสังโยชน์
[๑๓] ภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์(ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์) ๑๐ ประการนี้
สังโยชน์ ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
โอรัมภาคิยสังโยชน์(สังโยชน์เบื้องต่ำ) ๕ ประการ อุทธัมภาคิยสังโยชน์
(สังโยชน์เบื้องสูง) ๕ ประการ
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน)
๒. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
๓. สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต)
๔. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม)
๕. พยาบาท (ความคิดร้าย)
โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการนี้
อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน)
๒. อรูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน)
๓. มานะ (ความถือตัว)
๔. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)
๕. อวิชชา (ความไม่รู้แจ้ง)
อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการนี้
ภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์ ๑๐ ประการนี้แล
สังโยชนสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๔. เจโตขีลสูตร
๔. เจโตขีลสูตร๑
ว่าด้วยกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู
[๑๔] ภิกษุทั้งหลาย กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ ที่บุคคลผู้ใดผู้
หนึ่งจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ยังละไม่ได้ กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่
บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ยังตัดไม่ขาด เมื่อกลางคืนหรือ
กลางวันของผู้นั้นผ่านไป เขาพึงหวังได้๒แต่ความเสื่อมอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย
ไม่มีความเจริญเลย
กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ ที่บุคคลนั้นยังละไม่ได้ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในศาสดา๓ จิตของภิกษุผู้
เคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในศาสดานั้น ย่อมไม่น้อม
ไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร
นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๑ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อ
ความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร
ยังละไม่ได้
๒. เคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในธรรม ฯลฯ นี้เป็นกิเลส
เครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๒ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร
เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังละไม่ได้
๓. เคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในสงฆ์ ฯลฯ นี้เป็นกิเลส
เครื่องตรึงจิตดุจตะปู ประการที่ ๓ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร
เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังละไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ดู ม.มู. ๑๒/๑๘๕-๑๘๙/๑๕๖-๑๖๑, องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๐๕-๒๐๖/๒๓๔-๒๓๕, องฺ.นวก. ๒๓/๗๑-๗๒/
๓๘๐-๓๘๑
๒ พึงหวังได้ ในที่นี้หมายถึงจำต้องปรารถนา จำต้องได้ จำต้องมีแน่นอน (องฺ.ติก.อ. ๒/๗๐/๒๑๔, องฺ.ฉกฺก.อ.
๓/๗๕/๑๕๓)
๓ ไม่เลื่อมใสในศาสดา ในที่นี้หมายถึงไม่เชื่อว่าพระสรีระของพระพุทธเจ้าประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒
ประการ ไม่เชื่อพระสัพพัญญุตญาณของพระพุทธเจ้าที่สามารถรู้อดีต อนาคต และปัจจุบัน (องฺ.ปญฺจก.อ.
๓/๒๐๕/๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๔. เจโตขีลสูตร
๔. เคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในสิกขา(ข้อที่จะต้องศึกษา)
ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๔ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไป
เพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญ
เพียร ยังละไม่ได้
๕. เป็นผู้โกรธ ไม่พอใจ มีจิตถูกโทสะ(ความคิดประทุษร้าย)กระทบ มีจิต
แข็งกระด้างในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้โกรธ ไม่พอใจ
มีจิตถูกโทสะกระทบ มีจิตแข็งกระด้างในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายนั้น
ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง
เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๕ ที่ภิกษุผู้
มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง
เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังละไม่ได้
นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ ที่บุคคลนั้นยังละไม่ได้
กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่บุคคลนั้นยังตัดไม่ขาด อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจ ไม่ปราศ
จากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจากความเร่าร้อน ไม่
ปราศจากความอยากในกามทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้ยังไม่ปราศจาก
ความกำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศ
จากความกระหาย ไม่ปราศจากความเร่าร้อนไม่ปราศจากความอยาก
ในกามทั้งหลายนั้น ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ
เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจประการที่ ๑
ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำ
ต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังตัดไม่ขาด
๒. เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาย ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจ
ประการที่ ๒ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ
เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังตัดไม่ขาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๔. เจโตขีลสูตร
๓. เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในรูป ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจ
ประการที่ ๓ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ
เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังตัดไม่ขาด
๔. ฉันอาหารตามความต้องการจนอิ่มเกินไป ประกอบความสุขในการนอน
ความสุขในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่อง
ผูกใจประการที่ ๔ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบ
เนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังตัดไม่ขาด
๕. ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า
‘ด้วยศีล วัตร ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทพเจ้าหรือเทพตนใด
ตนหนึ่ง’ จิตของภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความปรารถนาเป็นเทพ
นิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ‘ด้วยศีล วัตร ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็น
เทพเจ้าหรือเทพตนใดตนหนึ่ง’ ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อ
ประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลส
เครื่องผูกใจประการที่ ๕ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อ
ประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังตัดไม่ขาด
นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่บุคคลนั้นยังตัดไม่ขาด
กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการนี้ ที่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นภิกษุหรือ
ภิกษุณีก็ตาม ยังละไม่ได้ กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการนี้ ที่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็น
ภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ยังตัดไม่ขาด เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป เขา
พึงหวังได้แต่ความเสื่อมอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเจริญเลย
เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของดวงจันทร์ในกาฬปักษ์(ข้างแรม)ผ่านไป ดวงจันทร์
นั้นย่อมเสื่อมจากความงาม ย่อมเสื่อมจากรัศมี ย่อมเสื่อมจากแสงสว่าง ย่อมเสื่อม
จากด้านยาวและด้านกว้าง ฉันใด
กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการนี้ ที่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นภิกษุหรือ
ภิกษุณีก็ตาม ยังละไม่ได้ กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการนี้ ที่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๔. เจโตขีลสูตร
ภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ยังตัดไม่ขาด เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป เขา
พึงหวังได้แต่ความเสื่อมอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเจริญเลย ฉันนั้น
กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ ที่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นภิกษุหรือ
ภิกษุณีก็ตาม ละได้แล้ว กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็น
ภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ตัดขาดแล้ว เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป เขา
พึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย
กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ ที่บุคคลนั้นละได้แล้ว อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในศาสดา จิตของภิกษุ
ผู้ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในศาสดานั้น ย่อมน้อมไป
เพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร
นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๑ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อ
ความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร
ละได้แล้ว
๒. ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในพระธรรม ฯลฯ นี้เป็นกิเลส
เครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๒ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร
เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ละได้แล้ว
๓. ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในพระสงฆ์ ฯลฯ นี้เป็นกิเลส
เครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๓ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร
เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ละได้แล้ว
๔. ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในสิกขา ฯลฯ นี้เป็นกิเลส
เครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๔ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร
เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ละได้แล้ว
๕. เป็นผู้ไม่โกรธ พอใจ มีจิตไม่ถูกโทสะกระทบ มีจิตไม่แข็งกระด้างใน
เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้ไม่โกรธ พอใจ มีจิตไม่ถูกโทสะ
กระทบ มีจิตไม่แข็งกระด้างในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายนั้น ย่อมน้อมไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๔. เจโตขีลสูตร
เพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญ
เพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๕ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อม
ไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญ
เพียร ละได้แล้ว
นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ ที่บุคคลนั้นละได้แล้ว
กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่บุคคลนั้นตัดขาดแล้ว อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก
ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากความอยาก
ในกามทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความ
พอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความ
เร่าร้อน ปราศจากความอยากในกามทั้งหลายนั้น ย่อมน้อมไปเพื่อความ
เพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้
เป็นกิเลสเครื่องผูกใจประการที่ ๑ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร
เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ตัดขาดแล้ว
๒. เป็นผู้ปราศจากความกำหนัดในกาย ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจประการ
ที่ ๒ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อ
กระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ตัดขาดแล้ว
๓. เป็นผู้ปราศจากความกำหนัดในรูป ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจประการ
ที่ ๓ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำ
ต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ตัดขาดแล้ว
๔. ฉันอาหารตามต้องการจนอิ่มแล้ว ไม่ประกอบความสุขในการนอน
ความสุขในการเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่อง
ผูกใจประการที่ ๔ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบ
เนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ตัดขาดแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๔. เจโตขีลสูตร
๕. ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง
ว่า ‘ด้วยศีล วัตร ตบะหรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทพเจ้าหรือเทพตน
ใดตนหนึ่ง’ จิตของภิกษุผู้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยความปรารถนา
เป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ‘ด้วยศีล วัตร ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้
เราจักเป็นเทพเจ้าหรือเทพตนใดตนหนึ่ง’ ย่อมน้อมไปเพื่อความเพียร
เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลส
เครื่องผูกใจประการที่ ๕ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อ ความเพียร เพื่อ
ประกอบเนืองๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ตัดขาดแล้ว
นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่บุคคลนั้นตัดขาดแล้ว
กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการนี้ ที่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นภิกษุหรือ
ภิกษุณีก็ตาม ละได้แล้ว กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการนี้ ที่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็น
ภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ตัดขาดแล้ว เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป เขา
พึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของดวงจันทร์ในชุณหปักษ์(ข้างขึ้น)
ผ่านไป ดวงจันทร์นั้นย่อมเจริญด้วยความงาม ย่อมเจริญด้วยรัศมี ย่อมเจริญด้วย
แสงสว่าง ย่อมเจริญด้วยด้านยาวและด้านกว้าง ฉันใด
กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการนี้ ที่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นภิกษุหรือ
ภิกษุณีก็ตาม ละได้แล้ว กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการนี้ ที่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็น
ภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ตัดขาดแล้ว เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป
เขาพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย
ฉันนั้น
เจโตขีลสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๕. อัปปมาทสูตร
๕. อัปปมาทสูตร
ว่าด้วยความไม่ประมาทเลิศกว่ากุศลธรรม
[๑๕] ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้า มีสองเท้า มีสี่เท้า หรือมีเท้า
มากก็ตาม มีรูป หรือไม่มีรูปก็ตาม มีสัญญา ไม่มีสัญญา หรือมีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มี
สัญญาก็ไม่ใช่ก็ตาม มีประมาณเท่าใด ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่า
เลิศกว่าสัตว์มีประมาณเท่านั้น ฉันใด กุศลธรรมทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มี
ความไม่ประมาทเป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่า
เลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น
รอยเท้าของสัตว์ที่เที่ยวไปบนแผ่นดินทั้งหมด รวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง
ชาวโลกกล่าวว่า เลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นรอยเท้าใหญ่ ฉันใด กุศลธรรม
ทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีความไม่ประมาทเป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาท
ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น
กลอนของเรือนยอดทั้งหมด ทอดไปถึงยอด รวมลงที่ยอด ยอดเรือน ชาวโลก
กล่าวว่า เลิศกว่ากลอนเหล่านั้นทั้งหมด ฉันใด กุศลธรรมทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีความไม่ประมาทเป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิต
กล่าวว่า เลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น
กลิ่นหอมที่เกิดแต่รากชนิดใดชนิดหนึ่ง กฤษณา ชาวโลกกล่าวว่า เลิศกว่า
กลิ่นหอมที่เกิดแต่รากเหล่านั้น ฉันใด กุศลธรรมทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ
กลิ่นหอมที่เกิดแต่แก่นชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์แดง ชาวโลกกล่าวว่า เลิศกว่า
กลิ่นหอมที่เกิดแต่แก่นเหล่านั้น ฉันใด กุศลธรรมทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ
กลิ่นหอมที่เกิดแต่ดอกชนิดใดชนิดหนึ่ง ดอกมะลิ ชาวโลกกล่าวว่า เลิศกว่า
กลิ่นที่เกิดแต่ดอกเหล่านั้น ฉันใด กุศลธรรมทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ
พระราชาผู้มีอำนาจน้อยทั้งหมด ย่อมคล้อยตามพระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้า
จักรพรรดิ ชาวโลกกล่าวว่า เลิศกว่าพระราชาผู้มีอำนาจน้อยเหล่านั้น ฉันใด
กุศลธรรมทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๖. อาหุเนยยสูตร
แสงสว่างของดวงดาวทั้งหมด ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งแสงสว่างของ
ดวงจันทร์ แสงสว่างของดวงจันทร์ ชาวโลกกล่าวว่า เลิศกว่าแสงสว่างของดวงดาว
เหล่านั้น ฉันใด กุศลธรรมทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ
ในสารทฤดู เมื่อฝนขาดหายปราศจากเมฆ ดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นสู่ท้องฟ้า
กำจัดความมืดที่มีอยู่ในอากาศทั้งหมด ย่อมส่องแสง แผดแสงเจิดจ้า และแจ่มกระจ่าง
ฉันใด กุศลธรรมทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯลฯ
แม่น้ำใหญ่ทั้งหลาย คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู
แม่น้ำมหี ทั้งหมดย่อมไหลบ่าลงสู่มหาสมุทร น้อมไปสู่มหาสมุทร โน้มไปสู่
มหาสมุทร โอนไปสู่มหาสมุทร มหาสมุทร ชาวโลกกล่าวว่า เลิศกว่าแม่น้ำใหญ่
เหล่านั้น ฉันใด กุศลธรรมทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มีความไม่ประมาทเป็นมูล
รวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่ากุศลธรรม
เหล่านั้น
อัปปมาทสูตรที่ ๕ จบ

๖. อาหุเนยยสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
[๑๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๑๐ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
ของโลก
บุคคล ๑๐ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
๓. ท่านผู้เป็นอุภโตภาควิมุต๑

เชิงอรรถ :
๑ ท่านผู้เป็นอุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน) หมายถึงพระอรหันต์ผู้บำเพ็ญสมถกัมมัฏฐาน ได้สัมผัส
วิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย ได้เจโตวิมุตติขั้นอรูปสมาบัติและสิ้นอาสวะเพราะเห็นด้วยปัญญา เป็นพระอรหันต์
ผู้ได้ปัญญาวิมุตติ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๐, องฺ.นวก.อ. ๓/๔๕/๓๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๖. อาหุเนยยสูตร
๔. ท่านผู้เป็นปัญญาวิมุต๑
๕. ท่านผู้เป็นกายสักขี๒
๖. ท่านผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ๓
๗. ท่านผู้เป็นสัทธาวิมุต๔
๘. ท่านผู้เป็นธัมมานุสารี๕
๙. ท่านผู้เป็นสัทธานุสารี๖
๑๐. ท่านผู้เป็นโคตรภู๗
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๑๐ จำพวกนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
อาหุเนยยสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ท่านผู้เป็นปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา) หมายถึงพระอรหันต์ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาล้วน ๆ มิได้สัมผัส
วิโมกข์ ๘ แต่สิ้นอาสวะเพราะเห็นด้วยปัญญา (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๑)
๒ ท่านผู้เป็นกายสักขี (ผู้เป็นพยานในนามกาย) หมายถึงท่านที่ได้สัมผัสวิโมกข์ ๘ ด้วยนามกาย และอาสวะ
บางส่วนก็สิ้นไปเพราะรู้เห็นด้วยปัญญา ได้แก่ พระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลขึ้นไป จนถึงท่านผู้
ปฏิบัติเพื่อบรรลุพระอรหัตที่มีสมาธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๑)
๓ ท่านผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ (ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ) หมายถึงผู้เข้าใจอริยสัจถูกต้องและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไป
เพราะเห็นด้วยปัญญา ได้แก่พระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลขึ้นไปจนถึงผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุพระอรหัตที่มี
ปัญญินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๑)
๔ ท่านผู้เป็นสัทธาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา) หมายถึงเข้าใจอริยสัจถูกต้อง ได้แก่ พระอริยบุคคลผู้บรรลุ
โสดาปัตติผลขึ้นไป จนถึงผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุพระอรหัตที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/
๑๔/๑๖๑)
๕ ท่านผู้เป็นธัมมานุสารี (ผู้แล่นไปตามธรรม) หมายถึงพระอริยบุคคลผู้บำเพ็ญอริยมรรค ดำรงอยู่ใน
โสดาปัตติมรรค กำลังปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลมีปัญญาแก่กล้าเป็นตัวนำ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๒)
๖ ท่านผู้เป็นสัทธานุสารี (ผู้แล่นไปตามศรัทธา) คือท่านผู้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติมรรค กำลังปฏิบัติเพื่อบรรลุ
โสดาปัตติผล มีศรัทธาแก่กล้าเป็นตัวนำ (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๒)
๗ ท่านผู้เป็นโคตรภู หมายถึงผู้ประกอบด้วยวิปัสสนาจิตที่มีพลังถึงที่สุดโดยเป็นปัจจัยที่ต่อเนื่องกันถึง
โสดาปัตติมรรค, หรือท่านผู้ประกอบด้วยโคตรภูญาณ(ญาณครอบโคตร คือญาณที่เป็นหัวต่อระหว่างภาวะ
ปุถุชนกับภาวะอริยบุคคล)อันมีนิพพานเป็นอารมณ์ หมายเอาผู้ปฏิบัติกำลังจะเข้าสู่ขั้นอริยบุคคลชั้นโสดา-
ปัตติมรรค (องฺ.นวก.อ. ๓/๘-๑๐/๒๙๑, องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๖/๓๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๗. ปฐมนาถสูตร
๗. ปฐมนาถสูตร
ว่าด้วยนาถกรณธรรม สูตรที่ ๑
[๑๗] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีที่พึ่งอยู่เถิด อย่าเป็นผู้ไม่มีที่พึ่ง
อยู่เลย บุคคลผู้ไม่มีที่พึ่งย่อมอยู่เป็นทุกข์ นาถกรณธรรม(ธรรมเครื่องกระทำที่พึ่ง)
๑๐ ประการนี้
นาถกรณธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์๑ เพียบพร้อมด้วยอาจาระ๒
(มารยาท)และโคจร(การเที่ยวไป) มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล ฯลฯ
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
๒. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ๓ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลาย
ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด

เชิงอรรถ :
๑ สังวรในปาติโมกข์ มีอรรถาธิบายแต่ละคำดังนี้ สังวร หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกาย ทางวาจา
ปาติโมกข์ หมายถึงศีลสิกขาบทที่เป็นเหตุให้ผู้รักษาหลุดพ้นจากทุกข์ (ปาติ = รักษา + โมกขะ = ความ
หลุดพ้น) (วิสุทฺธิ. ๑/๑๔/๑๗)
๒ อาจาระ หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกาย การไม่ล่วงละเมิดทางวาจา การไม่ล่วงละเมิดทางกายและทาง
วาจา หรือการสำรวมศีลทั้งหมด คือการไม่เลี้ยงชีพด้วยอาชีพที่ผิด ที่พระพุทธเจ้ารังเกียจ เช่น ไม่เลี้ยง
ชีพด้วยการให้ไม้ไผ่ ให้ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เครื่องสาน ไม้สีฟัน ไม่เลี้ยงชีพด้วยการทำตนต่ำกว่าคฤหัสถ์
ด้วยการพูดเล่นเป็นแกงถั่ว(จริงบ้างไม่จริงบ้าง) ไม่เลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงเด็ก และการรับส่งข่าว (วิสุทฺธิ. ๑/
๑๔/๑๘)
โคจร หมายถึงสถานที่เที่ยวไปของภิกษุซึ่งไม่มีหญิงแพศยา(โสเภณี) ไม่มีหญิงหม้าย ไม่มีสาวเทื้อ(สาวแก่)
ไม่มีบัณเฑาะก์ ไม่มีภิกษุณี ไม่มีร้านสุรา ไม่เป็นสถานที่ต้องคลุกคลีกับพระราชา มหาอำมาตย์ และ
พวกเดียรถีย์ ตรงกันข้าม ต้องเป็นสถานที่ของตระกูลที่มีศรัทธาเลื่อมใสเป็นดุจบ่อน้ำ รุ่งเรืองด้วยผ้า
กาสาวะ อบอวลด้วยกลิ่นฤๅษี ใคร่ความผาสุกแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นสถานที่ที่ภิกษุ
สำรวมอินทรีย์ ๖ งดเว้นการขวนขวายในการดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกต่อกุศล เช่น การฟ้อน ขับร้อง
ประโคมดนตรี หรือหมายถึงสติปัฏฐาน ๔ (ขุ.ม. ๒๙/๑๙๖/๔๐๔, วิสุทฺธิ. ๑/๑๔/๑๗-๑๘)
๓ สุตะ ในที่นี้หมายถึงนวังคสัตถุศาสน์ (คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙) คือ (๑)สุตตะ(พระสูตรทั้งหลายรวม
ทั้งพระวินัยปิฎกและนิทเทส) (๒) เคยยะ(ข้อความร้อยแก้วผสมร้อยกรอง ได้แก่ พระสูตรที่มีคาถา
ทั้งหมด) (๓) เวยยากรณะ(ความร้อยแก้ว) (๔) คาถา(ข้อความร้อยกรอง) (๕) อุทาน(พระคาถาพุทธอุทาน)
(๖) อิติวุตตกะ พระสูตรที่ตรัสอ้างอิง (๗) ชาตกะ (ชาดก ๕๕๐ เรื่อง) (๘) อัพภูตธรรม(เรื่องอัศจรรย์)
(๙) เวทัลละ(พระสูตรแบบถาม-ตอบ) ดู องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๖/๗, องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๗๓/๘๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๗. ปฐมนาถสูตร
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์
ครบถ้วน แล้วทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ๑ แม้
การที่ภิกษุเป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
๓. เป็นผู้มีมิตรดี๒ มีสหายดี๓ มีเพื่อนดี๔ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มี
สหายดี มีเพื่อนดี นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
๔. เป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อดทน
รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วย
ธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อดทน รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ
นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
๕. เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำทั้งงานสูงและ
งานต่ำ๕ของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่อง
พิจารณาอันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถทำได้
สามารถจัดได้ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะ
ต้องช่วยกันทำทั้งงานสูงและงานต่ำของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ฯลฯ
สามารถทำได้ สามารถจัดได้ นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
๖. เป็นผู้ใคร่ธรรม๖ เป็นผู้ฟังและผู้แสดงธรรมอันเป็นที่พอใจ มีปราโมทย์
อย่างยิ่งในอภิธรรม๗ ในอภิวินัย๘ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้ฟัง

เชิงอรรถ :
๑ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ หมายถึงรู้แจ้งธรรมโดยผลและเหตุด้วยปัญญา (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๒/๓๐๐)
๒ มิตรดี หมายถึงมิตรที่มีคุณธรรม คือศีลเป็นต้น (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/๓๒๒)
๓ สหายดี หมายถึงเพื่อนร่วมงานที่ดี (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/๓๒๒)
๔ เพื่อนดี หมายถึงเพื่อนที่รักใคร่สนิทสนม รู้ใจกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/๓๒๒)
๕ งานสูง หมายถึงงานย้อมจีวร หรืองานโบกทาพระเจดีย์ ตลอดถึงงานที่จะต้องช่วยกันทำที่โรงอุโบสถ เรือน
พระเจดีย์ เรือนต้นโพธิ์เป็นต้น (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/๓๒๒)
งานต่ำ หมายถึงงานเล็กน้อย มีล้างเท้า และนวดเท้าเป็นต้น (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/๓๒๒)
๖ ผู้ใคร่ธรรม ในที่นี้หมายถึงรักพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎก (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/๓๒๒)
๗ อภิธรรม หมายถึงสัตตัปปกรณธรรม คืออภิธรรม ๗ คัมภีร์ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ มรรค ๔ และผล ๔
(องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/๓๒๓)
๘ อภิวินัย หมายถึงขันธกปริวาร หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึงธรรมที่เป็นเครื่องระงับกิเลส (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗/
๓๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๗. ปฐมนาถสูตร
และผู้แสดงธรรมอันเป็นที่พอใจ มีปราโมทย์อย่างยิ่งในอภิธรรม ใน
อภิวินัย นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
๗. เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มี
ความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
อยู่ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้
กุศลธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระใน
กุศลธรรมทั้งหลายอยู่ นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
๘. เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชช-
บริขารตามแต่จะได้ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้ นี้ก็เป็นนาถกรณ-
ธรรม
๙. เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน๑อย่างยิ่ง
ระลึกถึงสิ่งที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีสติ คือ
ประกอบด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกถึงสิ่งที่ทำและ
คำที่พูดแม้นานได้ นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
๑๐. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้ง
ความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์
โดยชอบ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็น
เครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส
ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีที่พึ่งอยู่เถิด อย่าเป็นผู้ไม่มีที่พึ่งอยู่เลย
บุคคลผู้ไม่มีที่พึ่งย่อมอยู่เป็นทุกข์
นาถกรณธรรม ๑๐ ประการนี้แล
ปฐมนาถสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน แปลจากคำบาลีว่า ‘เนปกฺก’ อรรถกถาอธิบายว่า เป็นชื่อของปัญญาที่เป็น
อุปการะแก่สติ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๔/๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๘. ทุติยนาถสูตร
๘. ทุติยนาถสูตร
ว่าด้วยนาถกรณธรรม สูตรที่ ๒
[๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา
ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึง
ได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีที่พึ่งอยู่เถิด อย่าเป็นผู้ไม่มีที่พึ่งอยู่เลย
บุคคลผู้ไม่มีที่พึ่งย่อมอยู่เป็นทุกข์ นาถกรณธรรม ๑๐ ประการนี้
นาถกรณธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย
ผู้เป็นเถระก็ดี ผู้เป็นมัชฌิมะก็ดี ผู้เป็นนวกะ๑ก็ดี ย่อมสำคัญภิกษุนั้นว่า
เป็นผู้ควรว่ากล่าวสั่งสอนได้ว่า ‘ภิกษุนี้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรใน
ปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้
เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายหนอ’ ภิกษุนั้นผู้อัน
ภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้เป็นมัชฌิมะ ผู้เป็นนวกะอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้๒ แต่

เชิงอรรถ :
๑ พระเถระ หมายถึงพระผู้มีระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ที่นับว่าเป็นพระผู้ใหญ่ คือมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป
และทรงจำพระปาติโมกข์ได้ พระมัชฌิมะ หมายถึงพระระดับกลางมีพรรษาตั้งแต่ครบ ๕ แต่ยังไม่ถึง ๑๐
พระนวกะ หมายถึงพระใหม่มีระดับอายุ คุณธรรม ความรู้ที่นับว่ายังใหม่ มีพรรษาต่ำกว่า ๕ ที่ยัง
ต้องถือนิสสัย (เทียบ วิ.อ. ๑/๔๕/๒๕๓)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๔ (เจโตขีลสูตร) หน้า ๒๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๘. ทุติยนาถสูตร
ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย นี้ก็เป็น
นาถกรณธรรม
๒. เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระก็ดี ผู้
เป็นมัชฌิมะก็ดี ผู้เป็นนวกะก็ดี ย่อมสำคัญภิกษุนั้นว่าเป็นผู้ควรว่ากล่าว
สั่งสอนได้ว่า ‘ภิกษุนี้เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่ง
ธรรมทั้งหลายที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความ
งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
หนอ’ ภิกษุนั้นผู้อันภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้เป็นมัชฌิมะ ผู้เป็นนวกะอนุเคราะห์
แล้ว พึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความ
เสื่อมเลย นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
๓. เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระก็ดี ผู้เป็น
มัชฌิมะก็ดี ผู้เป็นนวกะก็ดี ย่อมสำคัญภิกษุนั้นว่าเป็นผู้ควรว่ากล่าวสั่ง
สอนได้ว่า ‘ภิกษุนี้เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดีหนอ’ ภิกษุนั้นผู้อัน
ภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้เป็นมัชฌิมะ ผู้เป็นนวกะอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้แต่
ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย นี้ก็เป็น
นาถกรณธรรม
๔. เป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อดทน
รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระก็ดี ผู้เป็นมัชฌิมะ
ก็ดี ผู้เป็นนวกะก็ดี ย่อมสำคัญภิกษุนั้นว่าเป็นผู้ควรว่ากล่าวสั่งสอนได้ว่า
‘ภิกษุนี้เป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
อดทน รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพหนอ’ ภิกษุนั้นผู้อันภิกษุผู้เป็น
เถระ ผู้เป็นมัชฌิมะ ผู้เป็นนวกะอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้แต่ความเจริญ
อย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย นี้ก็เป็นนาถ-
กรณธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๘. ทุติยนาถสูตร
๕. เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำทั้งงานสูงและ
งานต่ำ๑ของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่อง
พิจารณาอันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถทำได้
สามารถจัดได้ ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระก็ดี ผู้เป็นมัชฌิมะก็ดี ผู้เป็น
นวกะก็ดี ย่อมสำคัญภิกษุนั้นว่าเป็นผู้ควรว่ากล่าวสั่งสอนได้ว่า ‘ภิกษุนี้
เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำทั้งงานสูงและงาน
ต่ำของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
อันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถทำได้ สามารถ
จัดได้หนอ’ ภิกษุนั้นผู้อันภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้เป็นมัชฌิมะ ผู้เป็นนวกะ
อนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย
ไม่มีความเสื่อมเลย นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
๖. เป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้ฟังและผู้แสดงธรรมอันเป็นที่พอใจ มีปราโมทย์
อย่างยิ่งในอภิธรรม ในอภิวินัย ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระก็ดี ผู้เป็น
มัชฌิมะก็ดี ผู้เป็นนวกะก็ดีย่อมสำคัญภิกษุนั้นว่าเป็นผู้ควรว่ากล่าว
สั่งสอนได้ว่า ‘ภิกษุนี้เป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้ฟังและผู้แสดงธรรมอันเป็น
ที่พอใจ มีปราโมทย์อย่างยิ่งในอภิธรรม ในอภิวินัยหนอ’ ภิกษุนั้นผู้อัน
ภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้เป็นมัชฌิมะ ผู้เป็นนวกะอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้แต่
ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย นี้ก็เป็น
นาถกรณธรรม
๗. เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มี
ความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระก็ดี ผู้เป็นมัชฌิมะก็ดี ผู้เป็นนวกะก็ดี ย่อม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๕ ข้อ ๑๗ (ปฐมนาถสูตร) หน้า ๓๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๘. ทุติยนาถสูตร
สำคัญภิกษุนั้นว่าเป็นผู้ควรว่ากล่าวสั่งสอนได้ว่า ‘ภิกษุนี้เป็นผู้ปรารภ
ความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มี
ความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่หนอ’ ภิกษุนั้น
ผู้อันภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้เป็นมัชฌิมะ ผู้เป็นนวกะอนุเคราะห์แล้ว พึงหวัง
ได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย
นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
๘. เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชช-
บริขารตามแต่จะได้ ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระก็ดี ผู้เป็นมัชฌิมะก็ดี ผู้เป็น
นวกะก็ดี ย่อมสำคัญภิกษุนั้นว่าเป็นผู้ควรว่ากล่าวสั่งสอนได้ว่า ‘ภิกษุนี้
เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชช-
บริขารตามแต่จะได้หนอ’ ภิกษุนั้นผู้อันภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้เป็นมัชฌิมะ
ผู้เป็นนวกะอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศล
ธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
๙. เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง
ระลึกถึงสิ่งที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้ ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระก็ดี ผู้
เป็นมัชฌิมะก็ดี ผู้เป็นนวกะก็ดี ย่อมสำคัญภิกษุนั้นว่าเป็นผู้ควรว่ากล่าว
สั่งสอนได้ว่า ‘ภิกษุนี้เป็นผู้มีสติ คือประกอบด้วยสติปัญญาเป็นเครื่อง
รักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกถึงสิ่งที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้หนอ’ ภิกษุนั้นผู้
อันภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้เป็นมัชฌิมะ ผู้เป็นนวกะอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้
แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย นี้ก็
เป็นนาถกรณธรรม
๑๐. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความ
เกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระก็ดี ผู้เป็นมัชฌิมะก็ดี ผู้เป็นนวกะก็ดีย่อม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๙. ปฐมอริยวาสสูตร
สำคัญภิกษุนั้นว่าเป็นผู้ควรว่ากล่าวสั่งสอนได้ว่า ‘ภิกษุนี้เป็นผู้มีปัญญา
คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความ
ดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบหนอ’ ภิกษุนั้น
ผู้อันภิกษุผู้เป็นเถระ ผู้เป็นมัชฌิมะ ผู้เป็นนวกะอนุเคราะห์แล้ว พึงหวัง
ได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย
นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีที่พึ่งอยู่เถิด อย่าเป็นผู้ไม่มีที่พึ่งอยู่เลย
บุคคลผู้ไม่มีที่พึ่งย่อมอยู่เป็นทุกข์
นาถกรณธรรม ๑๐ ประการนี้แล
ทุติยนาถสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปฐมอริยวาสสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งพระอริยะ สูตรที่ ๑
[๑๙] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งพระอริยะ ๑๐ ประการนี้ ที่พระ
อริยะอยู่แล้ว กำลังอยู่ หรือจักอยู่
ธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งพระอริยะ ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ละองค์ ๕ ได้
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๖
๓. เป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องรักษาอย่างเอก
๔. เป็นผู้มีอปัสเสนธรรม (ธรรมเป็นดุจพนักพิง) ๔ ประการ
๕. เป็นผู้มีปัจเจกสัจจะบรรเทาได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๑๐. ทุติยอริยวาสสูตร
๖. เป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้ดี
๗. เป็นผู้มีความดำริอันไม่ขุ่นมัว
๘. เป็นผู้มีกายสังขารอันระงับได้
๙. เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นได้ดี
๑๐. เป็นผู้มีปัญญาหลุดพ้นได้ดี
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งพระอริยะ ๑๐ ประการนี้แล ที่พระอริยะ
อยู่แล้ว กำลังอยู่ หรือจักอยู่
ปฐมอริยวาสสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุติยอริยวาสสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งพระอริยะ สูตรที่ ๒
[๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุ ชื่อกัมมาส-
ธัมมะ แคว้นกุรุ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งพระอริยะ ๑๐ ประการนี้แล ที่พระอริยะ
อยู่แล้ว กำลังอยู่ หรือจักอยู่
ธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งพระอริยะ ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ละองค์ ๕ ได้
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๖
๓. เป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องรักษาอย่างเอก
๔. เป็นผู้มีอปัสเสนธรรม ๔ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๑๐. ทุติยอริยวาสสูตร
๕. เป็นผู้มีปัจเจกสัจจะ๑บรรเทาได้
๖. เป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้ดี
๗. เป็นผู้มีความดำริอันไม่ขุ่นมัว
๘. เป็นผู้มีกายสังขารอันระงับได้
๙. เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นได้ดี
๑๐. เป็นผู้มีปัญญาหลุดพ้นได้ดี
ภิกษุเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละกามฉันทะได้ เป็นผู้ละพยาบาทได้ เป็น
ผู้ละถีนมิทธะได้ เป็นผู้ละอุทธัจจกุกกุจจะได้ เป็นผู้ละวิจิกิจฉาได้ ภิกษุเป็นผู้ละ
องค์ ๕ ได้ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา
มีสติสัมปชัญญะอยู่ ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มี
อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๖ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีธรรมเป็นเครื่องรักษาอย่างเอก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ประกอบด้วยใจที่รักษาด้วยสติ ภิกษุเป็นผู้มี
ธรรมเป็นเครื่องรักษาอย่างเอก เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีอปัสเสนธรรม ๔ ประการ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาแล้วเสพอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วอดกลั้น
อย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเว้นอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วบรรเทาอย่างหนึ่ง๒ ภิกษุเป็นผู้
มีอปัสเสนธรรม ๔ ประการ เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ปัจเจกสัจจะ หมายถึงความเห็นของแต่ละคนที่แตกต่างกันไปโดยยึดถือว่า “ความเห็นนี้เท่านั้นจริง ความ
เห็นนี้เท่านั้นจริง” (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๐/๓๒๔)
๒ พิจารณาแล้วเสพ หมายถึงพิจารณาแล้วเสพปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น พิจารณาแล้วอดกลั้น หมายถึง
พิจารณาแล้วอดกลั้นต่อความหนาวเป็นต้น พิจารณาแล้วเว้น หมายถึงพิจารณาแล้วเว้นช้างดุร้าย หรือ
คนพาลเป็นต้น พิจารณาแล้วบรรเทา หมายถึงพิจารณาแล้วบรรเทาอกุศลวิตก มีกามวิตก(ความตรึกใน
ทางกาม) เป็นต้น (ที.ปา. ๑๑/๓๐๘/๒๐๐, ที.ปา.อ. ๓๐๘/๒๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค ๑๐. ทุติยอริยวาสสูตร
ภิกษุเป็นผู้มีปัจเจกสัจจะบรรเทาได้ เป็นอย่างไร
คือ ปัจเจกสัจจะเป็นอันมาก คือเห็นว่า ‘โลกเที่ยง’ บ้าง ‘โลกไม่เที่ยง’ บ้าง
‘โลกมีที่สุด’ บ้าง ‘โลกไม่มีที่สุด’ บ้าง ‘ชีวะ๑กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน’ บ้าง ‘ชีวะ
กับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’ บ้าง ‘หลังจากตายแล้วตถาคต๒เกิดอีก’ บ้าง ‘หลังจาก
ตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก’ บ้าง ‘หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีก
ก็มี’ บ้าง ‘หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่’ บ้าง เหล่านั้น
ทั้งหมดของสมณพราหมณ์จำนวนมากอันภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรเทาได้ กำจัดได้
สละได้ คลายได้ ปล่อยวางได้ ละได้ สละคืนได้ ภิกษุเป็นผู้มีปัจเจกสัจจะบรรเทาได้
เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้ดี เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละการแสวงหากามได้ ละการแสวงหาภพได้
ระงับการแสวงหาพรหมจรรย์ได้ ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาอันสละได้ดี เป็นอย่าง
นี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีความดำริอันไม่ขุ่นมัว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละความดำริในกามได้ เป็นผู้ละความดำริใน
พยาบาทได้ เป็นผู้ละความดำริในวิหิงสาได้ ภิกษุเป็นผู้มีความดำริอันไม่ขุ่นมัว เป็น
อย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารอันระงับได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไป
ก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารอันระงับได้ เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ชีวะ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณอมตะ หรืออาตมัน (ตามนัย อภิ.ปญฺจ.อ. ๑/๑/๑๒๙)
๒ ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้มาก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า
อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงสัตว์ (เทียบ ที.สี.อ. ๖๕/๑๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๒. นาถกรณวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ภิกษุเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นได้ดี เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นจากราคะ หลุดพ้นจากโทสะ และ
หลุดพ้นจากโมหะ ภิกษุเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นได้ดี เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาหลุดพ้นได้ดี เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดว่า ‘ราคะเราละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคนเหมือน
ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้’
รู้ชัดว่า ‘โทสะเราละได้เด็ดขาด ฯลฯ โมหะเราละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป
ไม่ได้’ ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาหลุดพ้นได้ดี เป็นอย่างนี้แล
พระอริยะเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาลได้อาศัยธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งพระ
อริยะ ๑๐ ประการนี้อยู่เหมือนกัน พระอริยะเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล จัก
อาศัยธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งพระอริยะ ๑๐ ประการนี้อยู่เหมือนกัน พระอริยะเหล่า
ใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันกาลนี้ ก็อาศัยธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งพระอริยะ ๑๐ ประการ
นี้อยู่เหมือนกัน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเป็นเครื่องอยู่แห่งพระอริยะ ๑๐ ประการนี้แล ที่พระ
อริยะอยู่แล้ว กำลังอยู่ หรือจักอยู่
ทุติยอริยวาสสูตรที่ ๑๐ จบ
นาถกรณวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เสนาสนสูตร ๒. ปัญจังคสูตร
๓. สังโยชนสูตร ๔. เจโตขีลสูตร
๕. อัปปมาทสูตร ๖. อาหุเนยยสูตร
๗. ปฐมนาถสูตร ๘. ทุติยนาถสูตร
๙. ปฐมอริยวาสสูตร ๑๐. ทุติยอริยวาสสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๑. สีหนาทสูตร
๓. มหาวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องใหญ่
๑. สีหนาทสูตร๑
ว่าด้วยการบันลือสีหนาท
[๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาเย็น พญาราชสีห์ออก
จากที่อาศัยแล้วบิดกาย ชำเลืองดูรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศ บันลือสีหนาท ๓ ครั้งแล้วก็
หลีกไปหากิน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมันคิดว่า ‘เราอย่าทำให้สัตว์เล็ก ๆ ที่หากิน
อยู่ในที่ไม่สม่ำเสมอต้องถูกฆ่าเลย๒’
คำว่า สีหะ นี้ เป็นชื่อของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อาการที่ตถาคต
แสดงธรรมแก่บริษัท เป็นสีหนาทของตถาคตแท้
กำลังของตถาคต ๑๐ ประการนี้ที่ตถาคตประกอบแล้ว เป็นเหตุให้ปฏิญญา-
ฐานะที่องอาจ๓ บันลือสีหนาท๔ ประกาศพรหมจักร๕ในบริษัท๖

เชิงอรรถ :
๑ ดู ม.มู. ๑๒/๑๔๘/๑๐๗-๑๑๐, องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๖๔/๓๙๘
๒ ข้อความนี้อรรถกถาอธิบายว่า พญาราชสีห์บันลือสีหนาท เพราะมีความเอ็นดูต่อสัตว์เล็ก ๆ มีกำลังน้อย
ที่หากินอยู่ในที่ไม่ราบเรียบ ขรุขระ (วิ่งหนีไม่สะดวก) เมื่อมีความหวาดกลัว จะได้วิ่งหนีทันก่อนที่พญา
ราชสีห์จะไปถึง (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๕)
๓ ฐานะที่องอาจ (อาสภะ) อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงฐานะที่ประเสริฐที่สุด ที่สูงสุด หรือฐานะของ
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดในปางก่อน
อนึ่ง คำว่า อาสภะ มาจากคำว่า อุสภะ เป็นชื่อโคจ่าฝูงของโคจำนวนมากตั้ง ๑๐๐ ตัว ๑,๐๐๐ ตัว ๑๐๐
คอก ๑,๐๐๐ คอก มีสีขาว น่าดู มีกำลังสามารถนำภาระหนักยิ่งไปได้ ยืนหยัดด้วยเท้าทั้ง ๔ ไม่หวั่นไหว
ต่อเสียงฟ้าร้องตั้ง ๑๐๐ ครั้ง พระตถาคตเปรียบเหมือนโคอุสภะ คือ ประทับยืนข่มบริษัททั้ง ๘ ได้อย่าง
มั่นคงด้วยพระบาท (ฐานะ) คือ เวสารัชชญาณ ๔ ประการ ไม่มีปัจจามิตรใดในโลกและเทวโลกที่สามารถ
ทำให้พระองค์หวั่นไหวได้ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๖)
๔ บันลือสีหนาท หมายถึงตรัสพระวาจาด้วยท่าทีองอาจดังพญาราชสีห์ ไม่ทรงหวั่นเกรงผู้ใด เพราะทรงมั่น
พระทัยในศีล สมาธิ ปัญญาของพระองค์ (ที.สี.ฏีกา ๑/๔๐๓/๔๓๒)
๕ พรหมจักร หมายถึงธรรมจักรอันประเสริฐ ยอดเยี่ยม บริสุทธิ์ มี ๒ ประการ คือ (๑) ปฏิเวธญาณ ได้แก่
ญาณที่แสดงถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า (๒) เทสนาญาณ ได้แก่ ญาณที่แสดงถึงพระมหากรุณา
คุณของพระพุทธเจ้า ญาณทั้ง ๒ นี้ชื่อว่าโอรสญาณ(ญาณส่วนพระองค์) มีเฉพาะพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เท่านั้น ไม่มีแก่คนทั่วไป (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๗)
๖ บริษัท หมายถึงหมู่, คณะ, ที่ประชุม ในที่นี้หมายถึงบริษัท ๘ คือ (๑) ขัตติยบริษัท (๒) พราหมณบริษัท
(๓) คหบดีบริษัท (๔) สมณบริษัท (๕) จาตุมหาราชิกาบริษัท (๖) ตาวติงสบริษัท (สวรรค์ชั้นที่ ๒ แห่งสวรรค์
๖ ชั้น) (๗) มารบริษัท (๘) พรหมบริษัท (ที.สี.อ. ๔๐๓/๒๙๗, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๑. สีหนาทสูตร
กำลังของตถาคต ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตถาคตรู้ชัดฐานะ๑โดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะในโลกนี้ตาม
ความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็น
อฐานะตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว
ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๒. ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
โดยฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึด
ถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันโดยฐานะ โดยเหตุตามความ
เป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ
บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๓. ตถาคตรู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวง๒ตามความเป็นจริง การที่ตถาคต
รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคต
ที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศ
พรหมจักรในบริษัท
๔. ตถาคตรู้ชัดโลกที่มีธาตุหลายชนิด๓ มีธาตุที่แตกต่างกัน๔ตามความเป็นจริง
การที่ตถาคตรู้ชัดโลกที่มีธาตุหลายชนิด มีธาตุที่แตกต่างกันตามความ
เป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ
บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท

เชิงอรรถ :
๑ ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุและปัจจัย ที่เรียกว่า “ฐานะ” เพราะเป็นแดนตั้งขึ้น เกิดขึ้น และเป็นไปแห่งผล
(องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๘)
๒ ภูมิทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงคติที่ควรไป(คติ) และคติที่ไม่ควรไป(อคติ) (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๘)
๓ ธาตุหลายชนิด ในที่นี้หมายถึงธาตุ ๑๘ มีจักขุธาตุเป็นต้น (องฺ.เอกก.อ. ๑/๕๗๗/๔๗๓) และดู อภิ.วิ. ๓๕/
๑๘๕/๑๐๕, วิสุทธิ. ๓/๖๕
๔ ธาตุที่แตกต่างกัน หมายถึงธาตุที่มีลักษณะต่างกัน (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙, อภิ.วิ.อ. ๗๖๐/๔๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๑. สีหนาทสูตร
๕. ตถาคตรู้ชัดว่าหมู่สัตว์เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างกันตามความเป็นจริง การที่
ตถาคตรู้ชัดว่าหมู่สัตว์เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างกันตามความเป็นจริง นี้เป็น
กำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท
ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๖. ตถาคตรู้ชัดว่าสัตว์เหล่าอื่น และบุคคลเหล่าอื่นมีอินทรีย์แก่กล้าและ
อินทรีย์อ่อน ตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดว่าสัตว์เหล่าอื่น และ
บุคคลเหล่าอื่นมีอินทรีย์แก่กล้าและอินทรีย์อ่อนตามความเป็นจริง นี้
เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือ
สีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๗. ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง๑ ความผ่องแผ้ว๒ แห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ
และสมาบัติ และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ๓ตาม
ความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว แห่งฌาน
วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และ
สมาบัติตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว
ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท

เชิงอรรถ :
๑ ความเศร้าหมอง หมายถึงธรรมฝ่ายเสื่อม ได้แก่ กาม วิตก วิจาร และปีติ เป็นต้น ที่เป็นอุปสรรคต่อการ
เจริญฌานตามลำดับขั้นของผู้ที่มีฌานยังไม่คล่องแคล่ว (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙,องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๒๑/
๓๙๒) และดู องฺ.นวก. ๒๓/๔๑/๓๖๒-๓๖๙
๒ ความผ่องแผ้ว หมายถึงธรรมฝ่ายเจริญ ได้แก่ การสงัดจากกาม การระงับวิตกวิจาร การจางคลายไปแห่ง
ปีติเป็นต้น ซึ่งเป็นคุณต่อการเจริญฌานให้ยิ่งขึ้นไปของผู้ที่มีฌานคล่องแคล่ว (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙,
องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๒๑/๓๙๒) และดู องฺ.นวก. ๒๓/๔๑/๓๖๒-๓๖๙
๓ ในคำว่า “ฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ” นี้ ฌาน หมายถึงฌาน ๔ (ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน
และจตุตถฌาน) (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) วิโมกข์ หมายถึงวิโมกข์ ๘ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) และ
ดู องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๑๑๙/๒๘๙ สมาธิ หมายถึงสมาธิ ๓ คือ สวิตักกสวิจารสมาธิ (สมาธิที่มีวิตกและวิจาร)
อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ (สมาธิที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร) อวิตักกาวิจารสมาธิ (สมาธิที่ไม่มีทั้งวิตกและวิจาร)
(ขุ.ป. ๓๑/๔๓/๕๐) สมาบัติ หมายถึงอนุปุพพสมาบัติ ๙ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญา-
เวทยิตนิโรธ ๑ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) และดู องฺ.นวก. ๒๓/๓๒/๓๓๖, อภิ.วิ. ๓๕/๘๒๘/๔๑๗-๔๑๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๑. สีหนาทสูตร
๘. ตถาคตระลึกถึงชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติ
บ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง
๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐
ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป๑เป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป๒เป็นอัน
มากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น
เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุ
อย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่อ
อย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่าง
นั้น ๆ จุติจากภพนั้นแล้วจึงมาเกิดในภพนี้’ ตถาคตระลึกชาติก่อนได้
หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ การที่ตถาคต
ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ พร้อมทั้ง
ลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคต
อาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรใน
บริษัท
๙. ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ(เคลื่อน) กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งาม
และไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัด
ถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า “หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต
และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้
ทำตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต
ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความ
เห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ตถาคต
เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิด

เชิงอรรถ :
๑ สังวัฏฏกัป หมายถึงกัปฝ่ายเสื่อม, ช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังพินาศ
๒ วิวัฏฏกัป หมายถึงกัปฝ่ายเจริญ, ช่วงระยะเวลาที่โลกกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ (ตามนัย วิ.อ. ๑/๑๒/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๒. อธิมุตติปทสูตร
ดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็น
ไปตามกรรมอย่างนี้แล การที่ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ ฯลฯ ด้วยตาทิพย์อัน
บริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม นี้เป็นกำลังของ
ตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท
ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๑๐. ตถาคตทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน การที่ตถาคตทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้า
ถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้วปฏิญญาฐานะ
ที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
ภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต ๑๐ ประการนี้แล ที่ตถาคตประกอบแล้ว เป็น
เหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
สีหนาทสูตรที่ ๑ จบ

๒. อธิมุตติปทสูตร
ว่าด้วยอธิมุตติบท๑
[๒๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดัง
นี้ว่า
อานนท์ เรากล้าปฏิญญาในธรรมทั้งหลาย๒ที่เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งอธิมุตติบท
นั้น ๆ ด้วยปัญญาอันยิ่ง เพื่อแสดงธรรมโดยวิธีที่บุคคลผู้ปฏิบัติตามแล้วจักรู้ธรรมที่

เชิงอรรถ :
๑ อธิมุตติบท หมายถึงขันธ์ อายตนะ และธาตุ อีกนัยหนึ่ง หมายถึงทิฏฐิ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๒/๓๓๑)
๒ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงทศพลญาณ คือพระญาณเป็นกำลังของพระพุทธเจ้า ๑๐ ประการ (ดูข้อ
๒๑ สีหนาทสูตร) และสัพพัญญุตญาณ คือพระปรีชาญาณหยั่งรู้สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และ
อนาคต (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๒/๓๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๒. อธิมุตติปทสูตร
มีอยู่ว่า ‘มีอยู่’ บ้าง ที่ไม่มีอยู่ว่า ‘ไม่มีอยู่’ บ้าง ที่หยาบว่า ‘หยาบ’ บ้าง ที่ประณีตว่า
‘ประณีต’ บ้าง ที่ไม่ยอดเยี่ยมว่า ‘ไม่ยอดเยี่ยม’ บ้าง ที่ยอดเยี่ยมว่า ‘ยอดเยี่ยม’ บ้าง
หรือเป็นไปได้ที่ผู้ปฏิบัติตามจักรู้สิ่งที่พึงรู้ จักเห็นสิ่งที่พึงเห็น หรือจักทำให้แจ้งสิ่งที่
พึงทำให้แจ้ง
อานนท์ ญาณที่ยอดเยี่ยมกว่าญาณทั้งหลาย คือ ยถาภูตญาณ๑ ในธรรม
เหล่านั้น ๆ
กำลังของตถาคต ๑๐ ประการนี้ ที่ตถาคตมีแล้ว เป็นเหตุให้ปฏิญญาฐานะ
ที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
กำลังของตถาคต ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะในโลกนี้ตาม
ความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็น
อฐานะตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว
ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๒. ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
โดยฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึด
ถือกรรม ฯลฯ นี้เป็นกำลังของตถาคต ฯลฯ๒
๓. ตถาคตรู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้
ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริง ฯลฯ นี้เป็นกำลังของ
ตถาคต ฯลฯ
๔. ตถาคตรู้ชัดโลกที่มีธาตุหลายชนิด มีธาตุที่แตกต่างกันตามความเป็นจริง
การที่ตถาคตรู้ชัดโลกที่มีธาตุหลายชนิด มีธาตุที่แตกต่างกันตามความ
เป็นจริง ฯลฯ นี้เป็นกำลังของตถาคต ฯลฯ
๕. ตถาคตรู้ชัดว่าหมู่สัตว์เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างกันตามความเป็นจริง การที่
ตถาคตรู้ชัดว่าหมู่สัตว์เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างกันตามความเป็นจริง ฯลฯ นี้
เป็นกำลังของตถาคต ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ยถาภูตญาณ ในที่นี้หมายถึงพระสัพพัญญุตญาณ คือพระปรีชาหยั่งรู้สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน
และอนาคต (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๒/๓๓๑)
๒ “ฯลฯ” ที่ปรากฏในสูตรนี้ ดูความเต็มในสีหนาทสูตรในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๒. อธิมุตติปทสูตร
๖. ตถาคตรู้ชัดว่าสัตว์เหล่าอื่นและบุคคลเหล่าอื่นมีอินทรีย์แก่กล้าและ
อินทรีย์อ่อนตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดว่าสัตว์เหล่าอื่นและ
บุคคลเหล่าอื่นมีอินทรีย์แก่กล้าและอินทรีย์อ่อนตามความเป็นจริง ฯลฯ
นี้เป็นกำลังของตถาคต ฯลฯ
๗. ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว แห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ
และสมาบัติ และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติตาม
ความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว แห่ง
ฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ และการออก ฯลฯ ตามความเป็นจริง
นี้เป็นกำลังของตถาคต ฯลฯ
๘. ตถาคตระลึกถึงชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ
ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ ฯลฯ
นี้เป็นกำลังของตถาคต ฯลฯ
๙. ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ฯลฯ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล การที่ตถาคต
เห็นหมู่สัตว์ ฯลฯ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ นี้เป็นกำลัง
ของตถาคต ฯลฯ
๑๐. ตถาคตทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน การที่ตถาคตทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญา
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว
ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
ภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต ๑๐ ประการนี้แล ที่ตถาคตมีแล้ว เป็นเหตุให้
ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
อธิมุตติปทสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๓. กายสูตร
๓. กายสูตร
ว่าด้วยธรรมที่พึงละทางกาย
[๒๓] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่บุคคลพึงละทางกาย แต่มิใช่ทางวาจาก็มี ธรรม
ที่บุคคลพึงละทางวาจา แต่มิใช่ทางกายก็มี ธรรมที่บุคคลพึงละทางกายก็ไม่ได้ ทาง
วาจาก็ไม่ได้ แต่พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ก็มี
ธรรมที่บุคคลพึงละทางกาย แต่มิใช่ทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ต้องอาบัติบางส่วนที่เป็นอกุศลทางกาย เพื่อน
พรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายใคร่ครวญแล้วว่ากล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านนั้นแลเป็นผู้
ต้องอาบัติบางส่วนที่เป็นอกุศลทางกาย จะเป็นการดีหนอ ที่ท่านจะละกายทุจริต
บำเพ็ญกายสุจริต” ภิกษุนั้นถูกเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายใคร่ครวญแล้วว่ากล่าวอยู่
จึงละกายทุจริต บำเพ็ญกายสุจริต
นี้เรียกว่า ธรรมที่บุคคลพึงละทางกาย แต่มิใช่ทางวาจา
ธรรมที่บุคคลพึงละทางวาจา แต่มิใช่ทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ต้องอาบัติบางส่วนที่เป็นอกุศลทางวาจา เพื่อน
พรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายใคร่ครวญแล้วว่ากล่าวภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านนั้นแลเป็นผู้
ต้องอาบัติบางส่วนที่เป็นอกุศลทางวาจา จะเป็นการดีหนอ ที่ท่านจะละวจีทุจริต
บำเพ็ญวจีสุจริต” ภิกษุนั้นถูกเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายใคร่ครวญแล้วว่ากล่าวอยู่
จึงละวจีทุจริต บำเพ็ญวจีสุจริต
นี้เรียกว่า ธรรมที่บุคคลพึงละทางวาจา แต่มิใช่ทางกาย
ธรรมที่บุคคลพึงละทางกายก็ไม่ได้ ทางวาจาก็ไม่ได้ แต่พึงเห็นชัดด้วย
ปัญญาแล้วจึงละได้ เป็นอย่างไร
คือ โลภะ(ความโลภ)ที่บุคคลพึงละทางกายก็ไม่ได้ ทางวาจาก็ไม่ได้ แต่พึงเห็น
ชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้ โทสะ(ความประทุษร้าย) ... โมหะ(ความหลง) ...
โกธะ(ความโกรธ) ... อุปนาหะ(ความผูกโกรธ)... มักขะ(ความลบหลู่) ... ปฬาสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๓. กายสูตร
(ความตีตัวเสมอ) ... มัจฉริยะ(ความตระหนี่)ที่บุคคลพึงละทางกายก็ไม่ได้ ทางวาจาก็
ไม่ได้ แต่พึงเห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้
ความริษยาอันชั่วที่บุคคลพึงละทางกายก็ไม่ได้ ทางวาจาก็ไม่ได้ แต่พึงเห็นชัด
ด้วยปัญญาแล้วจึงละได้
ความริษยาอันชั่ว เป็นอย่างไร
คือ เมื่อคหบดีหรือบุตรของคหบดีในโลกนี้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน
หรือทอง ทาส หรือผู้เข้าไปอาศัยของคหบดีหรือบุตรของคหบดีคนใดคนหนึ่ง
มีความคิดอย่างนี้ว่า “ไฉนหนอ คหบดีหรือบุตรของคหบดีนี้ จะไม่พึงสมบูรณ์ด้วย
ทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทอง”
อนึ่ง เมื่อสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร มีความคิดอย่างนี้ว่า “ไฉนหนอ ท่านผู้นี้จะไม่พึงได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร”
นี้เรียกว่า ความริษยาอันชั่ว
ความริษยาอันชั่วที่บุคคลพึงละทางกายก็ไม่ได้ ทางวาจาก็ไม่ได้ แต่พึงเห็นชัด
ด้วยปัญญาแล้วจึงละได้
(ความปรารถนาอันชั่วที่บุคคลพึงละทางกายก็ไม่ได้ ทางวาจาก็ไม่ได้ แต่พึง
เห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้)
ความปรารถนาอันชั่ว เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ปรารถนาว่า “คนทั้งหลายพึงรู้จัก
เราว่า ‘เป็นผู้มีศรัทธา” เป็นผู้ทุศีล ปรารถนาว่า “คนทั้งหลายพึงรู้จักเราว่า ‘เป็นผู้
มีศีล” เป็นผู้มีสุตะน้อย ปรารถนาว่า “คนทั้งหลายพึงรู้จักเราว่า ‘เป็นพหูสูต” เป็นผู้
ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่ ปรารถนาว่า “คนทั้งหลายพึงรู้จักเราว่า ‘เป็นผู้ชอบสงัด”
เป็นผู้เกียจคร้าน ปรารถนาว่า “คนทั้งหลายพึงรู้จักเราว่า ‘เป็นผู้ปรารภความเพียร”
เป็นผู้หลงลืมสติ ปรารถนาว่า “คนทั้งหลายพึงรู้จักเราว่า ‘เป็นผู้มีสติตั้งมั่น” เป็นผู้
มีปัญญาทราม ปรารถนาว่า “คนทั้งหลายพึงรู้จักเราว่า ‘เป็นผู้มีปัญญา” ไม่เป็น
พระขีณาสพ ปราถนาว่า “คนทั้งหลายพึงรู้จักเราว่า ‘เป็นพระขีณาสพ”
นี้เรียกว่า ความปรารถนาอันชั่ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๔. มหาจุนทสูตร
(ความปรารถนาอันชั่ว ที่บุคคลพึงละทางกายก็ไม่ได้ ทางวาจาก็ไม่ได้ แต่พึง
เห็นชัดด้วยปัญญาแล้วจึงละได้)
หากโลภะเข้าครอบงำภิกษุนั้นได้ ... หากโทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ...
มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนาอันชั่วเข้า
ครอบงำภิกษุนั้นได้ คนก็จะพึงรู้ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ย่อมไม่รู้ชัดอย่างที่โลภะ
จะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น โลภะจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ไม่ได้ ท่านผู้นี้ย่อมไม่รู้
ชัดอย่างที่โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ...
ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนาอันชั่วจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น ความ
ปรารถนาอันชั่วจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ได้
หากโลภะเข้าครอบงำภิกษุนั้นไม่ได้ ... หากโทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ
... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนาอันชั่วเข้า
ครอบงำภิกษุนั้นไม่ได้ คนก็จะพึงรู้ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้นี้ย่อมรู้ชัดอย่างที่โลภะ
จะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น โลภะจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ไม่ได้ ท่านผู้นี้ย่อมรู้ชัด
อย่างที่โทสะ โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ความริษยา
อันชั่ว ... ความปรารถนาอันชั่วจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น ความปรารถนา
อันชั่วจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ไม่ได้” อย่างนี้แล
กายสูตรที่ ๓ จบ

๔. มหาจุนทสูตร
ว่าด้วยพระมหาจุนทะ
[๒๔] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหาจุนทะอยู่ที่สหชาติวัน แคว้นเจตี ณ ที่นั้นแล
ท่านพระมหาจุนทะได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่า
นั้นรับคำแล้ว ท่านพระมหาจุนทะจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อกล่าวอวดความรู้ ย่อมกล่าวว่า “เรารู้ธรรมนี้
เราเห็นธรรมนี้” หากโลภะเข้าครอบงำภิกษุนั้นได้ ... หากโทสะ ... โมหะ ... โกธะ ...
อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ความริษยาอันชั่ว ความปรารถนาอัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๔. มหาจุนทสูตร
ชั่วเข้าครอบงำภิกษุนั้นได้ คนก็จะพึงรู้ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้นี้ย่อมไม่รู้ชัดอย่างที่
โลภะจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น โลภะจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ได้ ท่านผู้นี้ย่อมไม่รู้
ชัดอย่างที่โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ...
ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนาอันชั่วจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น ความ
ปรารถนาอันชั่วจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ได้”
ภิกษุเมื่อกล่าวอวดการเจริญ ย่อมกล่าวว่า “เราเป็นผู้มีกายอันเจริญแล้ว
มีศีลอันเจริญแล้ว มีจิตอันเจริญแล้ว มีปัญญาอันเจริญแล้ว” หากโลภะเข้าครอบงำ
ภิกษุนั้นได้ ... หากโทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ
... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนาอันชั่วเข้าครอบงำภิกษุนั้นได้ คนก็จะพึงรู้
ภิกษุนั้น อย่างนี้ว่า “ท่านผู้นี้ย่อมไม่รู้ชัดอย่างที่โลภะจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น
โลภะจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ได้ ท่านผู้นี้ย่อมไม่รู้ชัดอย่างที่โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ...
อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนา
อันชั่วจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น ความปรารถนาอันชั่วจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ได้”
ภิกษุเมื่อกล่าวอวดความรู้และการเจริญ ย่อมกล่าวว่า “เรารู้ธรรมนี้ เราเห็น
ธรรมนี้ เราเป็นผู้มีกายอันเจริญแล้ว มีศีลอันเจริญแล้ว มีจิตอันเจริญแล้ว มีปัญญา
อันเจริญแล้ว” หากโลภะเข้าครอบงำภิกษุนั้นได้ ... หากโทสะ ... โมหะ ... โกธะ ...
อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนา
อันชั่วเข้าครอบงำภิกษุนั้นได้ คนก็จะพึงรู้ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้นี้ย่อมไม่รู้ชัด
อย่างที่โลภะจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น โลภะจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ได้ ท่านผู้นี้
ย่อมไม่รู้ชัดอย่างที่โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ
... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนาอันชั่วจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น
ความปรารถนาอันชั่วจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ได้”
เปรียบเหมือนบุรุษเป็นคนยากจนแต่กล่าวอวดว่ามั่งมี เป็นคนไม่มีทรัพย์แต่
กล่าวอวดว่ามีทรัพย์ เป็นคนไม่มีโภคะแต่กล่าวอวดว่ามีโภคะ เขาเมื่อมีกิจจำเป็น
ต้องใช้ทรัพย์สักอย่างเกิดขึ้นก็ไม่อาจนำทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองออกใช้จ่าย
ได้ คนทั้งหลายก็จะพึงรู้จักเขาอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นคนยากจนแต่กล่าวอวดว่ามั่งมี
เป็นคนไม่มีทรัพย์แต่กล่าวอวดว่ามีทรัพย์ เป็นคนไม่มีโภคะแต่กล่าวอวดว่ามีโภคะ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๔. มหาจุนทสูตร
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านผู้นี้เมื่อมีกิจจำเป็นต้องใช้ทรัพย์สักอย่างเกิดขึ้นก็ไม่
อาจนำทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองออกใช้จ่ายได้ ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อกล่าวอวดความรู้และการเจริญ ย่อมกล่าวว่า
“เรารู้ธรรมนี้ เราเห็นธรรมนี้ เราเป็นผู้มีกายอันเจริญแล้ว มีศีลอันเจริญแล้ว มีจิต
อันเจริญแล้ว มีปัญญาอันเจริญแล้ว” หากโลภะเข้าครอบงำภิกษุนั้นได้ ... หากโทสะ
... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ความริษยา
อันชั่ว ... ความปรารถนาอันชั่วเข้าครอบงำภิกษุนั้นได้ คนก็จะพึงรู้ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า
“ท่านผู้นี้ย่อมไม่รู้ชัดอย่างที่โลภะจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น โลภะจึงเข้า
ครอบงำท่านผู้นี้ได้ ท่านผู้นี้ย่อมไม่รู้ชัดอย่างที่โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ...
มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนาอันชั่วจะไม่เกิด
แก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น ความปรารถนาอันชั่วจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ได้”
ภิกษุเมื่อกล่าวอวดความรู้ ย่อมกล่าวว่า “เรารู้ธรรมนี้ เราเห็นธรรมนี้” หาก
โลภะเข้าครอบงำภิกษุนั้นไม่ได้ ... หากโทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ
... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนาอันชั่วเข้าครอบงำ
ภิกษุนั้นไม่ได้ คนก็จะพึงรู้ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้นี้ย่อมรู้ชัดอย่างที่โลภะจะไม่เกิด
แก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น โลภะจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ไม่ได้ ท่านผู้นี้ย่อมรู้ชัดอย่างที่
โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ความ
ริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนาอันชั่วจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น ความ
ปรารถนาอันชั่วจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ไม่ได้”
ภิกษุเมื่อกล่าวอวดการเจริญ ย่อมกล่าวว่า “เราเป็นผู้มีกายอันเจริญแล้ว
มีศีลอันเจริญแล้ว มีจิตอันเจริญแล้ว มีปัญญาอันเจริญแล้ว” หากโลภะเข้าครอบงำ
ภิกษุนั้นไม่ได้ ... หากโทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ...
มัจฉริยะ ... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนาอันชั่วเข้าครอบงำภิกษุนั้นไม่ได้
คนก็จะพึงรู้ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้นี้ย่อมรู้ชัดอย่างที่โลภะจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด
เพราะฉะนั้น โลภะจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ไม่ได้ ท่านผู้นี้ย่อมรู้ชัดอย่างที่โทสะ ...
โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ความริษยาอันชั่ว ...
ความปรารถนาอันชั่วจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น ความปรารถนาอันชั่วจึงเข้า
ครอบงำท่านผู้นี้ไม่ได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๔. มหาจุนทสูตร
ภิกษุเมื่อกล่าวอวดความรู้และการเจริญ ย่อมกล่าวว่า “เรารู้ธรรมนี้ เราเห็น
ธรรมนี้ เราเป็นผู้มีกายอันเจริญแล้ว มีศีลอันเจริญแล้ว มีจิตอันเจริญแล้ว มีปัญญา
อันเจริญแล้ว” หากโลภะเข้าครอบงำภิกษุนั้นไม่ได้ ... หากโทสะ ... โมหะ ... โกธะ ...
อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนา
อันชั่วเข้าครอบงำภิกษุนั้นไม่ได้ คนก็จะพึงรู้ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้นี้ย่อม
รู้ชัดอย่างที่โลภะจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น โลภะจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ไม่ได้
ท่านผู้นี้ย่อมรู้ชัดอย่างที่โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ...
มัจฉริยะ ... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนาอันชั่วจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น
ความปรารถนาอันชั่วจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ไม่ได้”
เปรียบเหมือนบุรุษเป็นคนมั่งมีจริง กล่าวอวดว่ามั่งมี เป็นคนมีทรัพย์จริง
กล่าวอวดว่ามีทรัพย์ เป็นคนมีโภคะจริง กล่าวอวดว่ามีโภคะ เขาเมื่อมีกิจจำเป็นต้อง
ใช้ทรัพย์สักอย่างเกิดขึ้นก็อาจนำทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองออกใช้จ่ายได้ คน
ทั้งหลายพึงรู้จักเขาอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นคนมั่งมีจริง จึงกล่าวอวดว่ามั่งมี เป็นคน
มีทรัพย์จริง จึงกล่าวอวดว่ามีทรัพย์ เป็นคนมีโภคะจริง จึงกล่าวอวดว่ามีโภคะ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านผู้นี้เมื่อมีกิจจำเป็นต้องใช้ทรัพย์สักอย่างเกิดขึ้นก็
สามารถนำทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองออกใช้จ่ายได้” ฉันใด
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อกล่าวอวดความรู้และการเจริญ
ย่อมกล่าวว่า “เรารู้ธรรมนี้ เราเห็นธรรมนี้ เราเป็นผู้มีกายอันเจริญแล้ว มีศีลอัน
เจริญแล้ว มีจิตอันเจริญแล้ว มีปัญญาอันเจริญแล้ว” หากโลภะเข้าครอบงำภิกษุ
นั้นไม่ได้ ... หากโทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ
... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนาอันชั่วเข้าครอบงำภิกษุนั้นไม่ได้ คนก็จะพึงรู้
ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “ท่านผู้นี้ย่อมรู้ชัดอย่างที่โลภะจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น
โลภะจึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้ไม่ได้ ท่านผู้นี้ย่อมรู้ชัดอย่างที่โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ...
อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... มัจฉริยะ ... ความริษยาอันชั่ว ... ความปรารถนา
อันชั่วจะไม่เกิดแก่ผู้รู้ชัด เพราะฉะนั้น ความปรารถนาอันชั่ว จึงเข้าครอบงำท่านผู้นี้
ไม่ได้” อย่างนี้แล
มหาจุนทสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๕. กสิณสูตร
๕. กสิณสูตร
ว่าด้วยบ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์๑
[๒๕] ภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ ๑๐ ประการนี้
บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดปฐวีกสิณ(กสิณคือดิน)เบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง
ไม่มีสอง ไม่มีประมาณ
๒. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดอาโปกสิณ(กสิณคือน้ำ) ...
๓. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดเตโชกสิณ(กสิณคือไฟ) ...
๔. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดวาโยกสิณ(กสิณคือลม) ...
๕. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดนีลกสิณ(กสิณคือสีเขียว) ...
๖. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดปีตกสิณ(กสิณคือสีเหลือง) ...
๗. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดโลหิตกสิณ(กสิณคือสีแดง) ...
๘. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดโอทาตกสิณ(กสิณคือสีขาว) ...
๙. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดอากาสกสิณ(กสิณคือที่ว่างเปล่า) ...
๑๐. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดวิญญาณกสิณ(กสิณคือวิญญาณ)เบื้องบน เบื้องต่ำ
เบื้องขวาง ไม่มีสอง ไม่มีประมาณ
ภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ ๑๐ ประการ นี้แล
กสิณสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ หมายถึงที่เกิดหรือที่เป็นไปแห่งธรรมทั้งหลายโดยบริกรรมกสิณ
เป็นอารมณ์ คำว่า กสิณ หมายถึงวัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงใจให้เป็นสมาธิทั้งหมดหรือสิ้นเชิง กล่าวคือ
วัตถุสำหรับแผ่ไปไม่เหลือ ไม่ปักใจอยู่ในอารมณ์กัมมัฏฐานเพียงอารมณ์เดียว (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๕/๓๓๓,
องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๒๕/๓๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๖. กาลีสูตร
๖. กาลีสูตร
ว่าด้วยอุบาสิกาชื่อกาลี
[๒๖] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ ณ ปวัตตบรรพต เขตกรุงกุรรฆระ
แคว้นอวันตีชนบท ครั้งนั้นแล อุบาสิกาชื่อกาลีชาวกรุงกุรรฆระ เข้าไปหาท่านพระ
มหากัจจานะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า
ท่านเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้ไว้ในกุมารีปัญหา๑ว่า
การบรรลุประโยชน์๒ เป็นความสงบแห่งหทัย
เราชนะเสนา๓ ที่มีรูปเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจแล้ว
เป็นผู้เดียวเพ่งอยู่ ได้ตรัสรู้ความสุขโดยลำดับ
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ต้องอ้างบุคคลเป็นพยาน
การอ้างอิงใคร ๆ เป็นพยานจึงไม่มีสำหรับเรา
ท่านเจ้าข้า เนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ จะพึง
เห็นได้โดยพิสดาร อย่างไรหนอ
ท่านพระมหากัจจานะตอบว่า น้องหญิง สมณพราหมณ์พวกหนึ่งทำประโยชน์
ชั้นยอด คือสมาบัติ๔ที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ให้เกิดแล้ว แต่พระผู้มีพระภาคได้ทรง
รู้ประโยชน์ชั้นยอด คือสมาบัติที่มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์นั้นแล้วได้ทรงเห็นเบื้องต้น๕...
โทษ๖... ธรรมเป็นเครื่องสลัดออก๗... มัคคามัคคญาณทัสสนะ๘ เพราะเหตุที่ทรง
เห็นเบื้องต้น โทษ ธรรมเป็นเครื่องสลัดออก และมัคคามัคคญาณทัสสนะ การบรรลุ
ประโยชน์จึงเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าเป็นความสงบแห่งหทัย

เชิงอรรถ :
๑ กุมารีปัญหา หมายถึงคำถามของธิดามาร ปรากฏในมารธีตุสูตร (สํ.ส. ๑๕/๑๖๑/๑๕๒)
๒ ประโยชน์ ในที่นี้หมายถึงพระอรหัตตผล (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๖/๓๓๔)
๓ เสนา ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๖/๓๓๔)
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๒๑ (สีหนาทสูตร) หน้า ๔๕ ในเล่มนี้
๕ เบื้องต้น หมายถึงสมุทัยสัจ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๖/๓๓๔)
๖ โทษ หมายถึงทุกขสัจ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๖/๓๓๔)
๗ ธรรมเป็นเครื่องสลัดออก หมายถึงนิโรธสัจ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๖/๓๓๔)
๘ มัคคามัคคญาณทัสสนะ หมายถึงมัคคสัจ ได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๖/๓๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๖. กาลีสูตร
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งทำประโยชน์ชั้นยอด คือสมาบัติที่มีอาโปกสิณเป็น
อารมณ์ ... ทำประโยชน์ชั้นยอด คือสมาบัติที่มีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ ... ทำประโยชน์
ชั้นยอด คือสมาบัติที่มีวาโยกสิณเป็นอารมณ์ ... ทำประโยชน์ชั้นยอด คือสมาบัติที่มี
นีลกสิณเป็นอารมณ์ ... ทำประโยชน์เชั้นยอด คือสมาบัติที่มีปีตกสิณเป็นอารมณ์ ...
ทำประโยชน์ชั้นยอด คือสมาบัติที่มีโลหิตกสิณเป็นอารมณ์ ... ทำประโยชน์ชั้นยอด คือ
สมาบัติที่มีโอทาตกสิณเป็นอารมณ์ ... ทำประโยชน์ชั้นยอด คือสมาบัติที่มีอากาส-
กสิณเป็นอารมณ์ ... สมณพราหมณ์พวกหนึ่งทำประโยชน์ชั้นยอด คือสมาบัติที่มี
วิญญาณกสิณเป็นอารมณ์ให้เกิดแล้ว แต่พระผู้มีพระภาคได้ทรงรู้ประโยชน์ชั้นยอด
คือสมาบัติที่มีวิญญาณกสิณเป็นอารมณ์นั้นแล้วได้ทรงเห็นเบื้องต้น ... โทษ ... ธรรม
เป็นเครื่องสลัดออก ... มัคคามัคคญาณทัสสนะ เพราะเหตุที่ทรงเห็นเบื้องต้น โทษ
ธรรมเป็นเครื่องสลัดออก และมัคคามัคคญาณทัสสนะ การบรรลุประโยชน์เป็นอัน
พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าเป็นความสงบแห่งหทัย
เหตุดังนี้แล พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสพระดำรัสไว้ในกุมารีปัญหาว่า
การบรรลุประโยชน์เป็นความสงบแห่งหทัย
เราชนะเสนาที่มีรูปเป็นที่รักเป็นที่ชื่นใจแล้ว
เป็นผู้เดียวเพ่งอยู่ ได้ตรัสรู้ความสุขโดยลำดับ
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ต้องอ้างบุคคลเป็นพยาน
การอ้างอิงใคร ๆ เป็นพยานจึงไม่มีสำหรับเรา
น้องหญิง เนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ พึงเห็นได้
โดยพิสดารอย่างนี้แล
กาลีสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๗. ปฐมมหาปัญหาสูตร
๗. ปฐมมหาปัญหาสูตร
ว่าด้วยปัญหาใหญ่ สูตรที่ ๑
[๒๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเช้า ภิกษุหลายรูปครองอันตรวาสก ถือ
บาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “การเที่ยวไป
บิณฑบาตในกรุงสาวัตถียังเช้านัก ทางที่ดี เราทั้งหลายควรจะเข้าไปยังอารามของ
พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก”
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พวก
อัญเดียรถีย์ได้กล่าวกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย มาเถิด เธอทั้งหลายจงรู้แจ้งธรรมทั้งปวงเถิด ครั้นรู้แจ้งธรรมทั้งปวง
แล้วจงอยู่เถิด’ ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้แต่เราทั้งหลายก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย
อย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย มาเถิด ท่านทั้งหลายจงรู้แจ้งธรรมทั้งปวงเถิด ครั้นรู้
แจ้งธรรมทั้งปวงแล้วจงอยู่เถิด’ ผู้มีอายุทั้งหลาย ในธรรมเทศนาหรืออนุสาสนีนี้ คือ
ธรรมเทศนาของพระสมณโคดมกับธรรมเทศนาของพวกเรา หรืออนุสาสนีของพระ
สมณโคดมกับอนุสาสนีของพวกเราจะผิดแผกแตกต่างกันอย่างไร”
ภิกษุเหล่านั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
ลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยคิดว่า “เราทั้งหลายจักรู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนัก
ของพระผู้มีพระภาค”
ภิกษุเหล่านั้น ครั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๗. ปฐมมหาปัญหาสูตร
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายครองอันตรวาสก ถือ
บาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘การเที่ยวไป
บิณฑบาตในกรุงสาวัตถียังเช้านัก ทางที่ดี เราทั้งหลายควรจะเข้าไปยังอารามของ
พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก’ ครั้นแล้วข้าพระองค์ทั้งหลายได้เข้าไปยังอารามของ
พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกได้กล่าวกับข้าพระองค์ทั้งหลายดังนี้ว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย
มาเถิด เธอทั้งหลายจงรู้แจ้งธรรมทั้งปวงเถิด ครั้นรู้แจ้งธรรมทั้งปวงแล้วจงอยู่เถิด’
ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้แต่เราทั้งหลายก็แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ผู้มี
อายุทั้งหลาย มาเถิด เธอทั้งหลายจงรู้แจ้งธรรมทั้งปวงเถิด ครั้นรู้แจ้งธรรมทั้งปวง
แล้วจงอยู่เถิด’ ผู้มีอายุทั้งหลาย ในธรรมเทศนาหรืออนุสาสนีนี้ คือ ธรรมเทศนา
ของพระสมณโคดมกับธรรมเทศนาของพวกเรา หรืออนุสาสนีของพระสมณโคดมกับ
อนุสาสนีของพวกเราจะผิดแผกแตกต่างกันอย่างไร” ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้น
ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
ลุกจากอาสนะหลีกไปด้วยคิดว่า ‘เราทั้งหลายจักรู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนัก
ของพระผู้มีพระภาค”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกมีวาทะอย่างนี้
เธอทั้งหลายควรถามอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ปัญหา ๑ อุทเทส ๑ ไวยากรณ์ ๑
ปัญหา ๒ อุทเทส ๒ ไวยากรณ์ ๒ ปัญหา ๓ อุทเทส ๓ ไวยากรณ์ ๓ ปัญหา ๔
อุทเทส ๔ ไวยากรณ์ ๔ ปัญหา ๕ อุทเทส ๕ ไวยากรณ์ ๕ ปัญหา ๖ อุทเทส ๖
ไวยากรณ์ ๖ ปัญหา ๗ อุทเทส ๗ ไวยากรณ์ ๗ ปัญหา ๘ อุทเทส ๘ ไวยากรณ์ ๘
ปัญหา ๙ อุทเทส ๙ ไวยากรณ์ ๙ ปัญหา ๑๐ อุทเทส ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐ เป็น
อย่างไร ภิกษุทั้งหลาย พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกถูกถามอย่างนี้แล้ว จักไม่สามารถ
ตอบให้บริบูรณ์ได้ จักถึงความลำบากอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพวก
อัญเดียรถีย์ปริพาชกถูกถามปัญหาอันมิใช่วิสัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๗. ปฐมมหาปัญหาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อม
ทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เรายังไม่เห็นบุคคลที่จะยังจิตให้ยินดีได้ด้วย
การตอบปัญหาเหล่านี้ เว้นจากตถาคตหรือสาวกของตถาคต หรือผู้ที่ฟังจากสาวก
ของตถาคตนี้
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๑ อุทเทส ๑ ไวยากรณ์ ๑’ เพราะอาศัย
อะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัด
โดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบใน
ธรรม ๑ ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน ธรรม ๑ ประการคือ
อะไร คือ สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลาย
กำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ
ในธรรม ๑ ประการนี้แล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน เพราะอาศัยคำที่
เรากล่าวไว้ว่า ‘ปัญหา ๑ อุทเทส ๑ ไวยากรณ์ ๑’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๒ อุทเทส ๒ ไวยากรณ์ ๒’ เพราะอาศัย
อะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัด
โดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบใน
ธรรม ๒ ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน ธรรม ๒ ประการคือ
อะไร คือ นามและรูป ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้น
โดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม ๒ ประการ
นี้แล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘ปัญหา
๒ อุทเทส ๒ ไวยากรณ์ ๒’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๓ อุทเทส ๓ ไวยากรณ์ ๓’ เพราะอาศัย
อะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัด
โดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบใน
ธรรม ๓ ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน ธรรม ๓ ประการคือ
อะไร คือ เวทนา ๓๑ ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้น

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๔, สํ.สฬา. ๑๘/๒๗๐/๒๑๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๗. ปฐมมหาปัญหาสูตร
โดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม ๓ ประการนี้แล้ว
จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘ปัญหา ๓
อุทเทส ๓ ไวยากรณ์ ๓’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๔ อุทเทส ๔ ไวยากรณ์ ๔’ เพราะอาศัยอะไร
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดย
ชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม ๔
ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน ธรรม ๔ ประการคืออะไร คือ
อาหาร ๔๑ ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม ๔ ประการนี้แล้ว จึงเป็น
ผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘ปัญหา ๔ อุทเทส ๔
ไวยากรณ์ ๔’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๕ อุทเทส ๕ ไวยากรณ์ ๕’ เพราะอาศัย
อะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลาย
กำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบ
ในธรรม ๕ ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน ธรรม ๕ ประการ
คืออะไร คืออุปาทานขันธ์ ๕๒ ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ
หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม ๕
ประการนี้แล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า
‘ปัญหา ๕ อุทเทส ๕ ไวยากรณ์ ๕’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๖ อุทเทส ๖ ไวยากรณ์ ๖’ เพราะอาศัย
อะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัด

เชิงอรรถ :
๑ อาหาร ๔ หมายถึง (๑) กวฬิงการาหาร(อาหารคือคำข้าว) (๒) ผัสสาหาร(อาหารคือผัสสะ) (๓) มโน-
สัญเจตนาหาร(อาหารคือมโนสัญเจตนา) (๔) วิญญาณาหาร(อาหารคือวิญญาณ) ดู ที.ปา. ๑๑/๓๑๑/๒๐๓,
ม.มู. ๑๒/๙๐/๖๕
๒ ดู สํ.ข. ๑๗/๔๘/๓๙, อภิ.วิ. ๓๕/๑/๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๗. ปฐมมหาปัญหาสูตร
โดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบใน
ธรรม ๖ ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน ธรรม ๖ ประการคือ
อะไร คือ อายตนะภายใน ๖๑ ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ
หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม ๖
ประการนี้แล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า
‘ปัญหา ๖ อุทเทส ๖ ไวยากรณ์ ๖’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๗ อุทเทส ๗ ไวยากรณ์ ๗’ เพราะอาศัย
อะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัด
โดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบใน
ธรรม ๗ ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน ธรรม ๗ ประการคือ
อะไร คือ วิญญาณัฏฐิติ ๗๒ ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ
หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม ๗
ประการนี้แล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า
‘ปัญหา ๗ อุทเทส ๗ ไวยากรณ์ ๗’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
คำที่เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๘ อุทเทส ๘ ไวยากรณ์ ๘’ เพราะอาศัย
อะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัด
โดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม
๘ ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน ธรรม ๘ ประการคืออะไร คือ
โลกธรรม ๘๓ ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม ๘ ประการนี้แล้ว จึงเป็น
ผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวว่า ‘ปัญหา ๘ อุทเทส ๘
ไวยากรณ์ ๘’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๒๓/๒๑๕, อภิ.วิ. ๓๕/๑๕๔-๑๖๗/๗๙-๘๔
๒ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๒/๒๒๒-๒๒๓, องฺ.สตฺตก. ๒๓/๔๔/๓๕
๓ ดู องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๕-๖/๑๓๑-๑๓๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๘. ทุติยมหาปัญหาสูตร
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๙ อุทเทส ๙ ไวยากรณ์ ๙’ เพราะอาศัยอะไร
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดย
ชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม ๙
ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน ธรรม ๙ ประการคืออะไร คือ
สัตตาวาส ๙๑ ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ
มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม ๙ ประการนี้แล้ว จึงเป็นผู้
ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘ปัญหา ๙ อุทเทส ๙
ไวยากรณ์ ๙’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๑๐ อุทเทส ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐’ เพราะ
อาศัยอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลาย
กำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์
โดยชอบในธรรม ๑๐ ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน ธรรม ๑๐
ประการคืออะไร คือ อกุศลกรรมบถ๒ ๑๐ ประการ ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ
คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์
โดยชอบในธรรม ๑๐ ประการนี้แล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน เพราะ
อาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘ปัญหา ๑๐ อุทเทส ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ปฐมมหาปัญหาสูตรที่ ๗ จบ

๘. ทุติยมหาปัญหาสูตร
ว่าด้วยปัญหาใหญ่ สูตรที่ ๒
[๒๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เวฬุวัน ใกล้กชังคลนิคม
ครั้งนั้น อุบาสกชาวกชังคละเป็นอันมากเข้าไปหาภิกษุณีชาวกชังคละถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง
ณ ที่สมควร ได้เรียนถามภิกษุณีชาวเมืองกชังคละดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๔๑/๒๓๒,๓๕๙/๒๗๒
๒ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๔๗/๒๓๘,๓๖๐/๒๗๘, องฺ.ทสก. ๒๔/๑๗๖/๒๑๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๘. ทุติยมหาปัญหาสูตร
“ข้าแต่แม่เจ้า พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในมหาปัญหาสูตรทั้งหลายว่า
‘ปัญหา ๑ อุทเทส ๑ ไวยากรณ์ ๑ ปัญหา ๒ อุทเทส ๒ ไวยากรณ์ ๒ ปัญหา ๓
อุทเทส ๓ ไวยากรณ์ ๓ ปัญหา ๔ อุทเทส ๔ ไวยากรณ์ ๔ ปัญหา ๕ อุทเทส ๕
ไวยากรณ์ ๕ ปัญหา ๖ อุทเทส ๖ ไวยากรณ์ ๖ ปัญหา ๗ อุทเทส ๗ ไวยากรณ์ ๗
ปัญหา ๘ อุทเทส ๘ ไวยากรณ์ ๘ ปัญหา ๙ อุทเทส ๙ ไวยากรณ์ ๙ ปัญหา ๑๐
อุทเทส ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐’ ข้าแต่แม่เจ้า เนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้โดยย่อนี้ จะพึงเห็นได้โดยพิสดารอย่างไรหนอ”
ภิกษุณีชาวกชังคละตอบว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย พระดำรัสนี้ เราได้สดับรับมา
เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคก็หามิได้ เราได้สดับรับมาเฉพาะหน้าของ
ภิกษุทั้งหลายผู้ได้อบรมใจก็หามิได้ แต่ว่าเนื้อความแห่งพระดำรัสนี้ปรากฏแก่เรา
อย่างไร ท่านทั้งหลายก็จงฟังเนื้อความแห่งพระดำรัสนั้นอย่างนั้น จงใส่ใจให้ดี เรา
จักกล่าว” พวกอุบาสกชาวเมืองกชังคละรับคำของภิกษุณีชาวเมืองกชังคละแล้ว
ภิกษุณีชาวเมืองกชังคละได้กล่าวดังนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๑ อุทเทส ๑ ไวยากรณ์ ๑’
เพราะทรงอาศัยอะไรพระองค์จึงตรัสไว้เช่นนั้น ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายุ
โดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุ
ประโยชน์โดยชอบในธรรม ๑ ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน
ธรรม ๑ ประการคืออะไร คือ สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร ภิกษุเมื่อเบื่อหน่าย
โดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุ
ประโยชน์โดยชอบในธรรม ๑ ประการนี้แล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ใน
ปัจจุบัน เพราะทรงอาศัยพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ปัญหา ๑ อุทเทส ๑
ไวยากรณ์ ๑’ พระองค์จึงตรัสไว้เช่นนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๒ อุทเทส ๒ ไวยากรณ์ ๒’
เพราะทรงอาศัยอะไรพระองค์จึงตรัสไว้เช่นนั้น ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่าย
โดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุ
ประโยชน์โดยชอบในธรรม ๒ ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน
ธรรม ๒ ประการคืออะไร คือ นามและรูป ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๘. ทุติยมหาปัญหาสูตร
โดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบใน
ธรรม ๒ ประการนี้แล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน เพราะทรงอาศัย
พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ปัญหา ๒ อุทเทส ๒ ไวยากรณ์ ๒’ พระองค์
จึงตรัสไว้เช่นนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๓ อุทเทส ๓ ไวยากรณ์ ๓’
เพราะทรงอาศัยอะไรพระองค์จึงตรัสไว้เช่นนั้น ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่าย
โดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุ
ประโยชน์โดยชอบในธรรม ๓ ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน
ธรรม ๓ ประการคืออะไร คือ เวทนา ๓ ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลายกำหนัด
โดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม ๓ ประการนี้แล้ว จึง
เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน เพราะทรงอาศัยพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัส
ไว้ว่า ‘ปัญหา ๓ อุทเทส ๓ ไวยากรณ์ ๓’ พระองค์จึงตรัสไว้เช่นนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๔ อุทเทส ๔ ไวยากรณ์ ๔’
เพราะทรงอาศัยอะไรพระองค์จึงตรัสไว้เช่นนั้น ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีจิตอัน
อบรมดีแล้วโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม ๔
ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน ธรรม ๔ ประการคืออะไร คือ
สติปัฏฐาน ๔๑ ภิกษุผู้มีจิตอันอบรมดีแล้วโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุ
ประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๔ ประการนี้แล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน
เพราะทรงอาศัยพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ปัญหา ๔ อุทเทส ๔
ไวยากรณ์ ๔’ พระองค์จึงตรัสไว้เช่นนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๕ อุทเทส ๕ ไวยากรณ์ ๕’
เพราะทรงอาศัยอะไรพระองค์จึงตรัสไว้เช่นนั้น ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีจิตอัน
อบรมดีแล้วโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม ๕
ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน ธรรม ๕ ประการคืออะไร คือ
อินทรีย์๒ ๕ ... ธรรม ๖ ประการคืออะไร คือ นิสสรณียธาตุ ๖๓... ธรรม ๗ ประการ

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ม. ๑๐/๓๗๒-๓๗๔/๒๔๘
๒ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๒๐/๒๑๒, องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๑-๑๓/๙, อภิ.วิ. ๓๕/๘๒๑/๔๑๖
๓ ดู อภิ.วิ. ๓๕/๑๗๒-๑๗๔/๙๖-๙๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๘. ทุติยมหาปัญหาสูตร
คืออะไร คือ โพชฌงค์๑ ๗ ... ธรรม ๘ ประการคืออะไร คือ อริยมรรคมีองค์๒ ๘
ภิกษุผู้มีจิตอันอบรมดีแล้วโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดย
ชอบในธรรม ๘ ประการนี้แล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน เพราะทรง
อาศัยพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ปัญหา ๘ อุทเทส ๘ ไวยากรณ์ ๘’
พระองค์จึงตรัสไว้เช่นนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๙ อุทเทส ๙ ไวยากรณ์ ๙’
เพราะทรงอาศัยอะไรพระองค์จึงตรัสไว้เช่นนั้น ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเบื่อหน่าย
โดยชอบ คลายกำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุ
ประโยชน์โดยชอบ ในธรรม ๙ ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน
ธรรม ๙ ประการคืออะไร คือ สัตตาวาส ๙ ภิกษุเมื่อเบื่อหน่ายโดยชอบ คลาย
กำหนัดโดยชอบ หลุดพ้นโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์
โดยชอบในธรรม ๙ ประการนี้แล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน เพราะ
ทรงอาศัยพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ปัญหา ๙ อุทเทส ๙ ไวยากรณ์ ๙’
พระองค์จึงตรัสไว้เช่นนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ปัญหา ๑๐ อุทเทส ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐’
เพราะทรงอาศัยอะไรพระองค์จึงตรัสไว้เช่นนั้น ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีจิตอัน
อบรมดีแล้วโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดยชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม ๑๐
ประการแล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบัน ธรรม ๑๐ ประการคืออะไร
คือ กุศลกรรมบถ๓ ๑๐ ภิกษุผู้มีจิตอันอบรมดีแล้วโดยชอบ มีปกติเห็นที่สุดโดย
ชอบ บรรลุประโยชน์โดยชอบในธรรม ๑๐ ประการนี้แล้ว จึงเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์
ได้ในปัจจุบัน เพราะทรงอาศัยพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ปัญหา ๑๐
อุทเทส ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐’ พระองค์จึงตรัสไว้เช่นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๑, อภิ.วิ. ๓๕/๔๖๖-๔๗๑/๒๗๔-๒๗๖
๒ ดู ที.ม. ๑๐/๔๐๒/๒๖๖-๒๖๗, ม.อุ. ๑๔/๓๗๕/๓๑๙, อภิ.วิ. ๓๕/๔๘๖-๙/๒๘๓-๒๘๕
๓ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๔๗/๒๓๘, ๓๖๐/๒๗๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๙. ปฐมโกสลสูตร
ผู้มีอายุทั้งหลาย พระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในมหาปัญหาทั้งหลายว่า
‘ปัญหา ๑ อุทเทส ๑ ไวยากรณ์ ๑ ฯลฯ ปัญหา ๑๐ อุทเทส ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐’
นั้นเราย่อมรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อนี้ได้โดย
พิสดารอย่างนี้ ถ้าท่านทั้งหลายยังจำนงอยู่ พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วกราบ
ทูลสอบถามเนื้อความนี้ดูเถิด พระผู้มีพระภาคจะทรงตอบแก่ท่านทั้งหลายอย่างใด
ท่านทั้งหลายพึงทรงจำเนื้อความนี้ไว้อย่างนั้นเถิด”
พวกอุบาสกชาวกชังคละรับคำแล้ว ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของภิกษุณี
ชาวเมืองกชังคละแล้วลุกจากอาสนะ ไหว้แล้ว ทำประทักษิณ๑ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร กราบทูล
ถ้อยคำสนทนากับภิกษุณีชาวเมืองกชังคละทั้งหมดนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ คหบดีทั้งหลาย ภิกษุณีชาวเมืองกชังคละ
เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ถ้าท่านทั้งหลายมาถามเนื้อความนั้นกับเรา แม้เราก็จะพึง
ตอบเนื้อความนี้เหมือนภิกษุณีชาวเมืองกชังคละได้ตอบแล้ว และเนื้อความของคำ
นั้นก็มีความหมายเช่นนี้แล ขอท่านทั้งหลายพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนี้เถิด”
ทุติยมหาปัญหาสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปฐมโกสลสูตร
ว่าด้วยพระเจ้าปเสนทิโกศล สูตรที่ ๑
[๒๙] ภิกษุทั้งหลาย ชนบทของชาวกาสีและโกศลประมาณเท่าใด แว่นแคว้น
ของพระเจ้าปเสนทิโกศลประมาณเท่าใด พระเจ้าปเสนทิโกศลอันพสกนิกรเรียกว่า
เป็นผู้เลิศในชนบทของชาวกาสีและโกศล และแว่นแคว้นเหล่านั้นประมาณเท่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ทำประทักษิณ หมายถึงเดินเวียนขวา โดยการประนมมือเวียนไปทางขวาตามเข็มนาฬิกา ๓ รอบ มีผู้ที่ตน
เคารพอยู่ทางขวา เสร็จแล้วหันหน้าไปทางผู้ที่ตนเคารพ เดินถอยหลังจนสุดสายตา คือจนมองไม่เห็นผู้ที่
ตนเคารพนั้น คุกเข่าลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วลุกขึ้นเดินจากไป (วิ.อ. ๑/๑๕/๑๗๖-๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๙. ปฐมโกสลสูตร
ถึงกระนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ยังมีความแปร๑มีความแปรผัน๒ไปได้ อริยสาวกผู้ได้
สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสมบัตินั้น เมื่อเบื่อหน่ายในสมบัตินั้น
ก็คลายกำหนัดในความเป็นพระราชาซึ่งเป็นเลิศ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงสมบัติที่
ด้อยกว่า (๑)
ภิกษุทั้งหลาย ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ย่อมหมุนเวียนส่องทิศทั้งหลายให้
สว่างอยู่ในที่ประมาณเท่าใด สหัสสธาโลกธาตุ๓มีอยู่ในที่ประมาณเท่านั้น ใน
สหัสสธาโลกธาตุนั้น มีดวงจันทร์ ๑,๐๐๐ ดวง มีดวงอาทิตย์ ๑,๐๐๐ ดวง มีขุนเขา
สิเนรุ ๑,๐๐๐ ลูก มีชมพูทวีป ๑,๐๐๐ มีอปรโคยานทวีป ๑,๐๐๐ มีอุตตรกุรุทวีป
๑,๐๐๐ มีปุพพวิเทหทวีป ๑,๐๐๐ มีมหาสมุทร ๔,๐๐๐ มีท้าวมหาราช ๔,๐๐๐
มีเทวโลกชั้นจาตุมหาราช ๑,๐๐๐ มีเทวโลกชั้นดาวดึงส์ ๑,๐๐๐ มีเทวโลกชั้นยามา
๑,๐๐๐ มีเทวโลกชั้นดุสิต ๑,๐๐๐ มีพรหมโลก ๑,๐๐๐ สหัสสธาโลกธาตุประมาณ
เท่าใด ท้าวมหาพรหม อันชาวโลกกล่าวว่า เป็นผู้เลิศในสหัสสธาโลกธาตุประมาณ
เท่านั้น ถึงกระนั้นท้าวมหาพรหมก็ยังมีความแปร มีความแปรผันไปได้ อริยสาวก
ผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสหัสสธาโลกธาตุนั้น เมื่อเบื่อหน่าย
ในสหัสสธาโลกธาตุนั้น ก็คลายกำหนัดในความเป็นท้าวมหาพรหมซึ่งเป็นเลิศ
ไม่จำเป็นต้องพูดถึงภาวะที่ด้อยกว่า (๒)
สมัยที่โลกนี้พินาศ เมื่อโลกพินาศอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมบังเกิดในพรหมโลกชั้น
อาภัสสระโดยมาก สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้บังเกิดด้วยอำนาจฌาน มีปีติเป็นภักษา มี
รัศมีในตัวเอง เที่ยวไปในอากาศ มีปกติดำรงอยู่ด้วยดี ย่อมดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้น
อาภัสสระนั้นตลอดกาลช้านาน เมื่อโลกพินาศอยู่ อาภัสสรพรหมทั้งหลาย อันชาว
โลกกล่าวว่า เป็นผู้เลิศ ถึงกระนั้นอาภัสสรพรหมทั้งหลายก็ยังมีความแปร มีความ
แปรผันไปได้ อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในพรหมโลกชั้น
อาภัสสระนั้น เมื่อเบื่อหน่ายในพรหมโลกชั้นอาภัสสระนั้น ก็คลายกำหนัดในความ
เป็นอาภัสสรพรหมซึ่งเป็นเลิศ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงภาวะที่ด้อยกว่า (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ความแปร (อัญญถัตตะ) ในที่นี้หมายถึงความเปลี่ยนกลายไปจากลักษณะหรือภาวะเดิม ได้แก่ชรา (องฺ.ติก.
อ. ๒/๔๗/๑๕๔)
๒ ความแปรผัน (วิปริณามะ) ในที่นี้หมายถึงความตาย (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๙/๓๓๘)
๓ สหัสสธาโลกธาตุ ในที่นี้หมายถึงโลกธาตุที่มี ๑,๐๐๐ จักรวาล ดูอังคุตตรนิกายแปล เล่มที่ ๒๐ ข้อ ๘๑
หน้า ๓๐๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๙. ปฐมโกสลสูตร
บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ ๑๐ ประการ
ภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ ๑๐ ประการนี้
บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดปฐวีกสิณเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง ไม่
มีประมาณ
๒. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดอาโปกสิณ ...
๓. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดเตโชกสิณ ...
๔. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดวาโยกสิณ ...
๕. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดนีลกสิณ ...
๖. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดปีตกสิณ ...
๗. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดโลหิตกสิณ ...
๘. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดโอทาตกสิณ ...
๙. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดอากาสกสิณ ...
๑๐. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดวิญญาณกสิณเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง
ไม่มีประมาณ
ภิกษุทั้งหลาย บ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ ๑๐ ประการนี้แล
บรรดาบ่อเกิดแห่งธรรมที่มีกสิณเป็นอารมณ์ ๑๐ ประการนี้ วิญญาณกสิณ
เบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ไม่มีสอง ไม่มีประมาณที่บุคคลหนึ่งรู้ชัดนี้ เป็นเลิศ
สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีสัญญา อย่างนี้แลมีอยู่ ถึงกระนั้นสัตว์ทั้งหลายผู้มีสัญญา
อย่างนี้ก็ยังมีความแปร มีความแปรผันไปได้ ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับ
เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในบ่อเกิดแห่งกสิณนั้น เมื่อเบื่อหน่ายในบ่อเกิด
แห่งกสิณนั้น ก็คลายกำหนัดแม้ในวิญญาณกสิณที่เลิศ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงกสิณที่
ด้อยกว่า (๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๙. ปฐมโกสลสูตร
อภิภายตนะ ๘ ประการ๑
ภิกษุทั้งหลาย อภิภายตนะ ๘ ประการนี้
อภิภายตนะ ๘ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลหนึ่งมีรูปสัญญาภายใน๒ เห็นรูปภายนอกขนาดเล็ก มีสีสันดีหรือ
ไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็น
อภิภายตนะที่ ๑
๒. บุคคลหนึ่งมีรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกขนาดใหญ่ มีสีสันดีหรือ
ไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็น
อภิภายตนะที่ ๒
๓. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน๓ เห็นรูปภายนอกขนาดเล็ก มีสีสันดีหรือ
ไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็น
อภิภายตนะที่ ๓
๔. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกขนาดใหญ่ มีสีสันดีหรือ
ไม่ดี ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็น
อภิภายตนะที่ ๔
๕. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกที่เขียว มีสีเขียว เปรียบ
ด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม เปรียบเหมือนดอกผักตบที่เขียว มีสีเขียว

เชิงอรรถ :
๑ อภิภายตนะ หมายถึงเหตุครอบงำ เหตุที่มีอิทธิพล ได้แก่ญาณหรือฌานที่เป็นเหตุครอบงำนิวรณ์ ๕ และ
อารมณ์ทั้งหลาย คำนี้มาจาก อภิภู + อายตนะ ที่ชื่อว่า อภิภู เพราะครอบงำอารมณ์ และชื่อว่า อายตนะ
เพราะเป็นที่เกิดความสุขอันวิเศษแก่พระโยคีทั้งหลาย เพราะเป็นมนายตนะและธัมมายตนะ (องฺ.อฏฺฐก.อ.
๓/๖๕/๒๗๐, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๖๑-๖๕/๓๐๒, ที.ม.อ. ๑๗๓/๑๖๔)
๒ มีรูปสัญญาภายใน หมายถึงจำได้หมายรู้รูปภายในโดยการบริกรรมรูปภายใน ที่ยังไม่ถึงอัปปนา (องฺ.อฏฺฐก.อ.
๓/๖๕/๒๗๐)
๓ มีอรูปสัญญาภายใน หมายถึงปราศจากการบริกรรมในรูปภายใน เพราะไม่ให้รูปสัญญาเกิดขึ้น (องฺ.อฏฺฐก.อ.
๓/๖๕/๒๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๙. ปฐมโกสลสูตร
เปรียบด้วยของเขียว มีสีเขียวเข้ม ฉันใด หรือเปรียบเหมือนผ้าเมือง
พาราณสีอันมีเนื้อละเอียดทั้งสองด้านที่เขียว มีสีเขียว เปรียบด้วย
ของเขียว มีสีเขียวเข้ม ฉันใด บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายในก็ฉันนั้น
เหมือนกัน เห็นรูปภายนอกที่เขียว มีสีเขียว เปรียบด้วยของเขียว มีสี
เขียวเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้
เป็นอภิภายตนะที่ ๕
๖. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกที่เหลือง มีสีเหลือง
เปรียบด้วยของเหลือง มีสีเหลืองเข้ม เปรียบเหมือนดอกกรรณิกา
ที่เหลือง มีสีเหลือง เปรียบด้วยของเหลือง มีสีเหลืองเข้ม ฉันใด หรือ
เปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสีอันมีเนื้อละเอียดทั้งสองด้านที่เหลือง มี
สีเหลือง เปรียบด้วยของเหลือง มีสีเหลืองเข้ม ฉันใด บุคคลหนึ่งมีอรูป
สัญญาภายในก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นรูปภายนอกที่เหลือง มีสีเหลือง
เปรียบด้วยของเหลือง มีสีเหลืองเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญา
อย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๖
๗. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกที่แดง มีสีแดง เปรียบ
ด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม เปรียบเหมือนดอกชบาที่แดง มีสีแดง เปรียบ
ด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม หรือเปรียบเหมือนผ้าเมืองพาราณสีอันมีเนื้อ
ละเอียดทั้งสองด้านที่แดง มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม ฉันใด
บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายในก็ฉันนั้นเหมือนกัน เห็นรูปภายนอก
ที่แดง มีสีแดง เปรียบด้วยของแดง มีสีแดงเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้
มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๗
๘. บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกที่ขาว มีสีขาว เปรียบ
ด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม เปรียบเหมือนดาวประกายพรึกที่ขาว
มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม หรือเปรียบเหมือนผ้าเมือง
พาราณสีอันมีเนื้อละเอียดทั้งสองด้านที่ขาว มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๙. ปฐมโกสลสูตร
มีสีขาวเข้ม ฉันใด บุคคลหนึ่งมีอรูปสัญญาภายในก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เห็นรูปภายนอกที่ขาว มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว มีสีขาวเข้ม ครอบงำ
รูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นอภิภายตนะที่ ๘
ภิกษุทั้งหลาย อภิภายตนะ ๘ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บรรดาอภิภายตนะ ๘ ประการนี้ อภิภายตนะที่ ๘ คือ บุคคล
หนึ่งมีอรูปสัญญาภายใน เห็นรูปภายนอกที่ขาว มีสีขาว เปรียบด้วยของขาว
มีสีขาวเข้ม ครอบงำรูปเหล่านั้นได้ มีสัญญาอย่างนี้ว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ นี้เป็นเลิศ
สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีสัญญาอย่างนี้แลก็มีอยู่ ถึงกระนั้นสัตว์ทั้งหลายผู้มีสัญญา
อย่างนี้ก็ยังมีความแปร มีความแปรผันไปได้ อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายในอภิภายตนะนั้น เมื่อเบื่อหน่ายแม้ในอภิภายตนะนั้น ก็คลายกำหนัด
ในอภิภายตนะซึ่งเป็นเลิศ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงภาวะที่ด้อยกว่า (๕)

ปฏิปทา ๔ ประการ
ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้
ปฏิปทา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติลำบากทั้งรู้ได้ช้า)
๒. ทุกขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติลำบากแต่รู้ได้เร็ว)
๓. สุขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติสะดวกแต่รู้ได้ช้า)
๔. สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติสะดวกทั้งรู้ได้เร็ว)
ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล
บรรดาปฏิปทา ๔ ประการนี้ สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา นี้เป็นเลิศ สัตว์
ทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แลก็มีอยู่ ถึงกระนั้นสัตว์ทั้งหลายผู้ปฏิบัติอย่างนี้ก็ยังมีความแปร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๙. ปฐมโกสลสูตร
มีความแปรผันไปได้ อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในปฏิปทานั้น
เมื่อเบื่อหน่ายในปฏิปทานั้น ก็คลายกำหนัดในปฏิปทาซึ่งเป็นเลิศ ไม่จำเป็นต้องพูด
ถึงภาวะที่ด้อยกว่า (๖)

สัญญา ๔ ประการ
ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๔ ประการนี้
สัญญา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดปริตตารมณ์๑
๒. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดมหัคคตารมณ์๒
๓. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดอัปปมาณารมณ์๓
๔. บุคคลหนึ่งย่อมรู้ชัดอากิญจัญญายตนฌาน๔ว่า ‘ไม่มีอะไร’
ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๔ ประการนี้แล
บรรดาสัญญา ๔ ประการนี้ อากิญจัญญายตนฌานที่บุคคลหนึ่งรู้ชัดว่า
‘ไม่มีอะไร’ นี้เป็นเลิศ สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีสัญญาอย่างนี้แลก็มีอยู่ ถึงกระนั้นสัตว์
ทั้งหลายผู้มีสัญญาอย่างนี้ก็ยังมีความแปร มีความแปรผันไปได้ อริยสาวกผู้ได้สดับ
เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญานั้น เมื่อเบื่อหน่ายในสัญญานั้น ก็คลาย
กำหนัดแม้ในสัญญาซึ่งเป็นเลิศ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงภาวะที่ด้อยกว่า (๗)

เชิงอรรถ :
๑ ปริตตารมณ์ หมายถึงอารมณ์สมถกัมมัฏฐานที่ยังไม่ได้ขยายให้กว้างออกไป มีขนาดเพียงเท่ากระด้ง
หรือถ้วยชาม (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๕/๒๗๑, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๖๑-๖๕/๓๐๓) หรือหมายถึงธรรมชั้นกามาวจร
ดูอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีแปล เล่มที่ ๓๔ ข้อ ๑๐๒๖, ๑๐๒๙,๑๔๑๗ หน้า ๒๖๔-๒๖๕,๓๔๙
๒ มหัคคตารมณ์ หมายถึงอารมณ์ที่ถึงความเป็นใหญ่ชั้นรูปาวจรและอรูปาวจร เพราะมีผลที่สามารถข่ม
กิเลสได้และเพราะเป็นอารมณ์ที่สืบต่อกันมานาน และหมายถึงฉันทะ วิริยะ จิตตะ และปัญญาอันยิ่งใหญ่
(อภิ.สงฺ.อ. ๑๒/๙๒)
๓ อัปปมาณารมณ์ หมายถึงอารมณ์สมถกัมมัฏฐานที่ได้ขยายให้กว้างใหญ่ไพบูลย์ (องฺ.อฏฺฐก.อ. ๓/๖๕/
๒๗๑, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา ๓/๖๑-๖๕/๓๐๔) หรือหมายถึงธรรมชั้นโลกุตตระ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑
ดูอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีแปล เล่มที่ ๓๔ ข้อ ๑๐๒๘ หน้า ๒๖๕ ข้อ ๑๔๑๙ หน้า ๓๕๐
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ข้อ ๖ (สมาธิสูตร) หน้า ๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๙. ปฐมโกสลสูตร
บรรดาวาทะนอกศาสนา วาทะว่า ‘ถ้าเราจักไม่ได้มีแล้ว อัตภาพนี้ก็ไม่พึงมี
แก่เรา ถ้าเราจักไม่มี ความกังวลอะไรจักไม่มีแก่เรา’ นี้เป็นเลิศ บุคคลผู้มีวาทะ
อย่างนี้ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า ความที่ใจไม่ชอบในภพจักไม่มีแก่เขา และความที่ใจชอบ
ในความดับภพ จักไม่มีแก่เขา สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีวาทะอย่างนี้แลก็มีอยู่ ถึงกระนั้น
สัตว์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ก็ยังมีความแปร มีความแปรผันไปได้ อริยสาวกผู้ได้
สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวาทะนั้น เมื่อเบื่อหน่ายในวาทะนั้น ก็
คลายกำหนัดในวาทะซึ่งเป็นเลิศ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงภาวะที่ด้อยกว่า (๘)
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความหมดจดในสัตว์ชั้นสูงสุดมีอยู่ บุคคลผู้ที่
ล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
นี้เลิศกว่าสมณพราหมณ์ผู้บัญญัติความหมดจดในสัตว์ชั้นสูงสุด สมณพราหมณ์เหล่านั้น
รู้ยิ่งแล้วซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ย่อมแสดงธรรมเพื่อทำให้แจ้งซึ่งเนว-
สัญญานาสัญญายตนฌานนั้น สัตว์ทั้งหลายแม้ผู้มีวาทะอย่างนี้แลก็มีอยู่ ถึงกระนั้น
สัตว์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ก็ยังมีความแปร มีความแปรผันไปได้ อริยสาวกผู้ได้
สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น เมื่อ
เบื่อหน่ายในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ก็คลายกำหนัดในเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌานซึ่งเป็นเลิศ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงภาวะที่ด้อยกว่า (๙)
ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัตินิพพานอันยอดยิ่งในปัจจุบัน
มีอยู่ ความหลุดพ้นแห่งจิตเพราะไม่ถือมั่น เพราะรู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ
และอุบายเครื่องสลัดผัสสายตนะ ๖ ประการ ตามความเป็นจริง นี้เลิศกว่าสมณ-
พราหมณ์ผู้บัญญัตินิพพานอันยอดยิ่งในปัจจุบัน สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อม
กล่าวตู่เราผู้มีวาทะอย่างนี้ ผู้กล่าวอย่างนี้ ด้วยคำไม่จริง คำเปล่า คำเท็จ คำไม่เป็น
จริงว่า ‘พระสมณโคดมไม่บัญญัติการกำหนดรู้กาม รูป และเวทนาทั้งหลาย’ ภิกษุ
ทั้งหลาย เราบัญญัติการกำหนดรู้กาม รูป และเวทนาทั้งหลาย เป็นผู้ปราศจาก
ตัณหาและมิจฉาทิฏฐิแล้ว ดับแล้ว เยือกเย็นแล้ว จึงบัญญัติอนุปาทาปรินิพพานใน
ปัจจุบัน (๑๐)
ปฐมโกสลสูตรที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๑๐. ทุติยโกสลสูตร
๑๐. ทุติยโกสลสูตร
ว่าด้วยพระเจ้าปเสนทิโกศล สูตรที่ ๒
[๓๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จกลับจากการรบ
ทรงชนะสงครามมาสมพระราชประสงค์แล้ว ได้เสด็จไปยังอาราม โดยพระราชยาน
เท่าที่ยานจะไปได้ เสด็จลงจากพระราชยานแล้ว เสด็จไปด้วยพระบาทเข้าไปยังอาราม
สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเดินจงกรมอยู่ที่กลางแจ้ง พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จ
เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นแล้วตรัสถามว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ บัดนี้ พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ โยมประสงค์จะเฝ้าพระองค์”
ภิกษุเหล่านั้นถวายพระพรว่า “ขอมหาบพิตรจงเงียบเสียงเสด็จเข้าไปยังพระ
วิหารหลังนี้ซึ่งมีประตูปิดสนิทดีแล้ว อย่าทรงรีบด่วน เสด็จเข้าไปยังระเบียง ทรง
กระแอม แล้วทรงใช้ปลายพระนขาเคาะบานประตูนิดหน่อยเถิด พระผู้มีพระภาคจัก
ทรงเปิดประตู”
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงเงียบเสียงเสด็จเข้าไปยังพระวิหารหลังนั้นซึ่งมี
ประตูปิดสนิทดีแล้ว มิได้ทรงรีบด่วน เสด็จเข้าไปยังระเบียง ทรงกระแอมแล้วใช้
ปลายพระนขาเคาะบานประตูนิดหน่อย พระผู้มีพระภาคทรงเปิดประตูรับ พระเจ้า
ปเสนทิโกศลจึงเสด็จเข้าไปยังพระวิหาร ซบพระเศียรลงที่พระยุคลบาทของพระผู้มี
พระภาคแล้วจุมพิตพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระโอษฐ์ ทรงนวดด้วย
พระหัตถ์ทั้งสอง และทรงประกาศพระนามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน
คือพระเจ้าปเสนทิโกศล หม่อมฉัน คือพระเจ้าปเสนทิโกศล”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรงเห็นอำนาจประโยชน์
อะไรเล่า จึงทรงทำความนอบน้อมประกอบด้วยเมตตาอย่างยิ่งเช่นนี้ในสรีระนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๑๐. ทุติยโกสลสูตร
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นความ
กตัญญูกตเวที จึงทำความนอบน้อมประกอบด้วยเมตตาอย่างยิ่ง เช่นนี้ในพระผู้มี
พระภาคเพราะ
๑. พระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อเกื้อกูลแก่
คนหมู่มาก ทรงให้คนหมู่มากดำรงอยู่ในอริยญายธรรม คือความเป็นผู้
มีกัลยาณธรรม ความเป็นผู้มีกุศลธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อม
ฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงทำความนอบน้อมประกอบด้วยเมตตา
อย่างยิ่งเช่นนี้ในพระผู้มีพระภาค
๒. พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีศีล มีศีลอันเจริญ มีศีลอันประเสริฐ มีศีลอัน
เป็นกุศล ทรงเป็นผู้ประกอบด้วยกุศล ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน
เห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงทำความนอบน้อมประกอบด้วยเมตตาอย่างยิ่ง
เช่นนี้ในพระผู้มีพระภาค
๓. พระผู้มีพระภาคทรงถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ทรงอยู่อาศัยเสนาสนะอัน
สงัดซึ่งตั้งอยู่ในแนวป่าตลอดกาลนาน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน
เห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงทำความนอบน้อมประกอบด้วยเมตตาอย่าง
ยิ่งเช่นนี้ในพระผู้มีพระภาค
๔. พระผู้มีพระภาคทรงสันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-
ปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็น
อำนาจประโยชน์นี้ จึงทำความนอบน้อมประกอบด้วยเมตตาอย่างยิ่งเช่น
นี้ในพระผู้มีพระภาค
๕. พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่การต้อนรับ
ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงทำความ
นอบน้อมประกอบด้วยเมตตาอย่างยิ่งเช่นนี้ในพระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๑๐. ทุติยโกสลสูตร
๖. พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ได้กถาเป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่ง เป็น
สัปปายะแห่งความเป็นไปของจิต๑ คือ อัปปิจฉกถา(เรื่องความมักน้อย)
สันตุฏฐิกถา(เรื่องความสันโดษ) ปวิเวกกถา(เรื่องความสงัด) อสังสัคค-
กถา(เรื่องความไม่คลุกคลี) วิริยารัมภกถา(เรื่องการปรารภความเพียร)
สีลกถา(เรื่องศีล) สมาธิกถา(เรื่องสมาธิ) ปัญญากถา(เรื่องปัญญา)
วิมุตติกถา(เรื่องวิมุตติ) วิมุตติญาณทัสสนกถา(เรื่องความรู้ความเห็นใน
วิมุตติ) ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ข้าแต่พระ
องค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงทำความนอบน้อม
ประกอบด้วยเมตตาอย่างยิ่งเช่นนี้ในพระผู้มีพระภาค
๗. พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็น
สุขในปัจจุบันตามความปรารถนาได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงทำความนอบน้อม
ประกอบด้วยเมตตาอย่างยิ่งเช่นนี้ในพระผู้มีพระภาค
๘. พระผู้มีพระภาคทรงระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง
๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง
๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง
ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏกัปเป็นอันมาก
บ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร
เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น
แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ เป็นสัปปายะแห่งความเป็นไปของจิต หมายถึงเป็นที่สบายและเป็นอุปการะแก่การชักนำจิตเข้าสู่สมถะ
และวิปัสสนา (องฺ.นวก.อ. ๓/๑/๒๘๕) ในที่นี้บาลีเป็น “เจโตวิจรณสปฺปายา” แต่ในฉบับภาษาอังกฤษ
และฉบับฉัฏฐสังคีติ เป็น “เจโตวิวรณสปฺปายา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค ๑๐. ทุติยโกสลสูตร
และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นแล้วจึงมาเกิดในภพนี้’ พระองค์ทรง
ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงทำความ
นอบน้อมประกอบด้วยเมตตาอย่างยิ่งเห็นปานนี้ในพระผู้มีพระภาค
๙. พระผู้มีพระภาคทรงเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
ทรงรู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า “หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต
วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวน
ผู้อื่นให้ทำตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโน-
สุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำ
ตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
พระองค์ทรงเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งาม
และไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ทรงรู้
ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้ ข้าแต่พระองค์เจริญ หม่อมฉัน
เห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงทำความนอบน้อมประกอบด้วยเมตตา
อย่างยิ่งเช่นนี้ในพระผู้มีพระภาค
๑๐. พระผู้มีพระภาคทรงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงทำความนอบน้อม
ประกอบด้วยเมตตาอย่างยิ่งเช่นนี้ในพระผู้มีพระภาค
ถ้าอย่างนั้น บัดนี้ หม่อมฉันขอทูลลากลับเพราะมีกิจ มีหน้าที่ที่จะต้องทำ
อีกมาก พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๓. มหาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด
มหาบพิตร”
ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลุกขึ้นจากพระราชอาสน์ ถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาค ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับไป
ทุติยโกสลสูตรที่ ๑๐ จบ
มหาวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สีหนาทสูตร ๒. อธิมุตติปทสูตร
๓. กายสูตร ๔. มหาจุนทสูตร
๕. กสิณสูตร ๖. กาลีสูตร
๗. ปฐมมหาปัญหาสูตร ๘. ทุติยมหาปัญหาสูตร
๙. ปฐมโกสลสูตร ๑๐. ทุติยโกสลสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. อุปาลิวรรค ๑. อุปาลิสูตร
๔. อุปาลิวรรค
หมวดว่าด้วยพระอุบาลี
๑. อุปาลิสูตร
ว่าด้วยพระอุบาลีทูลถามประโยชน์แห่งการบัญญัติสิกขาบท
[๓๑] ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระตถาคตทรงบัญญัติสิกขาบท ทรงแสดงปาติโมกข์แก่เหล่าสาวกโดยอาศัยอำนาจ
ประโยชน์เท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุบาลี ตถาคตบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์
แก่เหล่าสาวกโดยอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ
อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์
๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
๓. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก๑
๔. เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม
๕. เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน
๖. เพื่อกำจัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต
๗. เพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของคนที่เลื่อมใสแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ บุคคลผู้เก้อยาก ในที่นี้หมายถึงบุคคลผู้ทุศีลที่กำลังล่วงละเมิดสิกขาบท หรือล่วงละเมิดสิกขาบทแล้วก็ไม่
ละอาย ไม่ยอมรับ ทั้งยังรุกรานสงฆ์ว่า “ท่านเห็นหรือ ท่านได้ยินหรือ ข้าพเจ้าทำผิดอะไร พวกท่านยก
อาบัติอะไรขึ้นข่มข้าพเจ้า” (องฺ.ทสก.อ. ๓/๓๑/๓๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. อุปาลิวรรค ๒. ปาติโมกขัฏฐปนาสูตร
๙. เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม
๑๐. เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย๑
อุบาลี ตถาคตบัญญัติสิกขาบท แสดงปาติโมกข์แก่เหล่าสาวกโดยอาศัย
อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการนี้แล
อุปาลิสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปาติโมกขัฏฐปนาสูตร
ว่าด้วยเหตุงดสวดปาติโมกข์
[๓๒] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุงดสวดปาติโมกข์
มีเท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี เหตุงดสวดปาติโมกข์ ๑๐ ประการ
เหตุงดสวดปาติโมกข์ ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุผู้ต้องอาบัติปาราชิกนั่งอยู่ในบริษัทนั้น
๒. กถาว่าด้วยปาราชิกยังทำค้างอยู่
๓. อนุปสัมบันนั่งอยู่ในบริษัทนั้น
๔. กถาว่าด้วยอนุปสัมบันยังทำค้างอยู่
๕. ผู้บอกลาสิกขานั่งอยู่ในบริษัทนั้น
๖. กถาว่าด้วยผู้บอกลาสิกขายังทำค้างอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๑, ๒ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม คือสงฆ์
ข้อ ๓, ๔ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่บุคคล
ข้อ ๕, ๖ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์หรือแก่ชีวิต
ข้อ ๗, ๘ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน
ข้อ ๙, ๑๐ ทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา
ข้อ ๑๐ คำว่า “เพื่อเอื้อเฟื้อวินัย” หมายถึงเพื่อเชิดชูค้ำจุนประคับประคองพระวินัย ๔ อย่าง คือ สังวรวินัย
ปหานวินัย สมถวินัย บัญญัติวินัย (วิ.อ. ๑/๓๙/๒๓๖-๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. อุปาลิวรรค ๓. อุพพาหิกาสูตร
๗. บัณเฑาะก์นั่งอยู่ในบริษัทนั้น
๘. กถาว่าด้วยบัณเฑาะก์ยังทำค้างอยู่
๙. ผู้ประทุษร้ายภิกษุณีนั่งอยู่ในบริษัทนั้น
๑๐. กถาว่าด้วยผู้ประทุษร้ายภิกษุณียังทำค้างอยู่
อุบาลี เหตุงดสวดปาติโมกข์ ๑๐ ประการนี้แล”
ปาติโมกขัฏฐปนาสูตรที่ ๒ จบ

๓. อุพพาหิกาสูตร
ว่าด้วยคุณสมบัติของภิกษุผู้รื้อฟื้นอธิกรณ์
[๓๓] ท่านพระอุบาลีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้ประกอบด้วย
ธรรมเท่าไรหนอ สงฆ์พึงสมมติ๑ให้เป็นผู้รื้อฟื้นอธิกรณ์ได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ
สงฆ์พึงสมมติให้เป็นผู้รื้อฟื้นอธิกรณ์๒ได้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระ
และโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขา-
บททั้งหลาย
๒. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมที่มีความงาม
ในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศ

เชิงอรรถ :
๑ สมมติ ในที่นี้หมายถึงการที่สงฆ์ประชุมกันตกลงมอบหมาย หรือแต่งตั้งภิกษุรูปใดรูปหนึ่งให้ทำกิจหรือเป็น
เจ้าหน้าที่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
๒ อธิกรณ์ ในที่นี้หมายถึงเรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการมี ๔ อย่าง คือ (๑) วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับ
พระธรรมวินัย (๒) อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ (๓) อาปัตตาธิกรณ์ การต้อง
อาบัติ การปรับอาบัติและการแก้ไขตัวเองให้พ้นจากอาบัติ (๔) กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่าง ๆ ที่สงฆ์จะต้องทำ
เช่นให้อุปสมบท ให้ผ้ากฐิน เป็นต้น (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๕/๑๒, องฺ.ทสก.อ. ๓/๓๓/๓๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. อุปาลิวรรค ๔. อุปสัมปทาสูตร
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน
ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ๑
๓. ทรงจำปาติโมกข์ทั้งสอง๒ ได้ดี จำแนกได้ดี ให้เป็นไปได้ดีโดยพิสดาร
วินิจฉัยได้ดีโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ
๔. เป็นผู้ตั้งมั่น ไม่ง่อนแง่นในวินัย
๕. เป็นผู้สามารถปรับคู่ความทั้ง ๒ ฝ่ายให้ยินยอมกันได้ ให้สำนึกตัว ให้
เพ่งพินิจดู ให้เห็นผล ให้เลื่อมใส
๖. เป็นผู้ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น
๗. รู้อธิกรณ์
๘. รู้เหตุเกิดอธิกรณ์
๙. รู้ความดับอธิกรณ์
๑๐. รู้วิธีปฏิบัติเพื่อระงับอธิกรณ์
อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล สงฆ์พึงสมมติให้เป็นผู้รื้อ
ฟื้นอธิกรณ์ได้”
อุพพาหิกาสูตร ที่ ๓ จบ

๔. อุปสัมปทาสูตร
ว่าด้วยคุณสมบัติของภิกษุผู้ให้อุปสมบท
[๓๔] พระอุบาลีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม
เท่าไรหนอ พึงให้กุลบุตรอุปสมบทได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ
พึงให้กุลบุตรอุปสมบทได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๗ (ปฐมนาถสูตร) หน้า ๓๒ ในเล่มนี้
๒ ปาติโมกข์ทั้งสอง ในที่นี้หมายถึง มหาวิภังค์ (ภิกขุวิภังค์) ว่าด้วยสิกขาบทในปาติโมกข์ฝ่ายภิกษุ ๒๒๗ ข้อ
และภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบท ๓๑๑ ข้อฝ่ายภิกษุณี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. อุปาลิวรรค ๔. อุปสัมปทาสูตร
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระ
และโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท
ทั้งหลาย
๒. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมที่มีความงามใน
เบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศ
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วนแล้ว
ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
๓. ทรงจำปาติโมกข์ได้ดี จำแนกได้ดี ให้เป็นไปได้ดีโดยพิสดาร วินิจฉัยได้ดี
โดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ
๔. เป็นผู้สามารถพยาบาลได้เอง หรือให้ผู้อื่นช่วยพยาบาลสัทธิวิหาริกผู้เจ็บไข้
๕. เป็นผู้สามารถระงับได้เอง หรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยระงับความไม่ยินดี๑
๖. เป็นผู้สามารถบรรเทาความรำคาญที่เกิดขึ้นได้เองโดยธรรม
๗. เป็นผู้สามารถปลดเปลื้องความเห็นผิดที่เกิดขึ้นได้โดยธรรม
๘. เป็นผู้สามารถให้สมาทานอธิศีล
๙. เป็นผู้สามารถให้สมาทานอธิจิต
๑๐. เป็นผู้สามารถให้สมาทานอธิปัญญา
อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล พึงให้กุลบุตรอุปสมบทได้”
อุปสัมปทาสูตร ที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ความไม่ยินดี ในที่นี้หมายถึงความเบื่อหน่ายในการประพฤติพรหมจรรย์ ประสงค์จะลาสิกขา (องฺ.ทสก.อ.
๓/๓๔/๓๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. อุปาลิวรรค ๕. นิสสยสูตร
๕. นิสสยสูตร
ว่าด้วยคุณสมบัติของภิกษุผู้ให้นิสสัย
[๓๕] พระอุบาลีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม
เท่าไรหนอ พึงให้นิสสัยได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ
พึงให้นิสสัยได้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
๒. เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
๓. ทรงจำปาติโมกข์ได้ดี จำแนกได้ดี ให้เป็นไปได้ดีโดยพิสดาร วินิจฉัยได้ดี
โดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ
๔. เป็นผู้สามารถพยาบาลเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยพยาบาลอันเตวาสิกผู้เจ็บไข้
๕. เป็นผู้สามารถระงับได้เองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยระงับความไม่ยินดี
๖. เป็นผู้สามารถบรรเทาความรำคาญที่เกิดขึ้นได้เองโดยธรรม
๗. เป็นผู้สามารถปลดเปลื้องความเห็นผิดที่เกิดขึ้นได้โดยธรรม
๘. เป็นผู้สามารถให้สมาทานอธิศีล
๙. ฯลฯ อธิจิต
๑๐. ฯลฯ อธิปัญญา
อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล พึงให้นิสสัยได้”
นิสสยสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. อุปาลิวรรค ๖. สามเณรสูตร
๖. สามเณรสูตร
ว่าด้วยคุณสมบัติของภิกษุผู้ให้สามเณรอุปัฏฐาก
[๓๖] พระอุบาลีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม
เท่าไรหนอ พึงให้สามเณรอุปัฏฐากได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ
พึงให้สามเณรอุปัฏฐากได้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
๒. เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
๓. ทรงจำปาติโมกข์ได้ดี จำแนกได้ดี ให้เป็นไปได้ดีโดยพิสดาร วินิจฉัยได้ดี
โดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ
๔. เป็นผู้สามารถพยาบาลได้เองหรือใช้ให้ผู้อื่นพยาบาลสัทธิวิหาริกผู้เจ็บไข้
๕. เป็นผู้สามารถระงับได้เองหรือใช้ให้ผู้อื่นช่วยระงับความไม่ยินดี
๖. เป็นผู้สามารถบรรเทาความรำคาญที่เกิดขึ้นได้เองโดยธรรม
๗. เป็นผู้สามารถปลดเปลื้องความเห็นผิดที่เกิดขึ้นได้โดยธรรม
๘. เป็นผู้สามารถให้สมาทานอธิศีล
๙. เป็นผู้สามารถให้สมาทานอธิจิต
๑๐. เป็นผู้สามารถให้สมาทานอธิปัญญา
อุบาลี ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล พึงให้สามเณรอุปัฏฐากได้”
สามเณรสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. อุปาลิวรรค ๗. สังฆเภทสูตร
๗. สังฆเภทสูตร
ว่าด้วยเหตุให้สงฆ์แตกกัน
[๓๗] พระอุบาลีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ‘สังฆเภท
สังฆเภท’ สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุเท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุบาลี ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
๑. แสดงอธรรมว่า ‘เป็นธรรม’
๒. แสดงธรรมว่า ‘เป็นอธรรม’
๓. แสดงสิ่งที่มิใช่วินัยว่า ‘เป็นวินัย’
๔. แสดงวินัยว่า ‘มิใช่วินัย’
๕. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตได้ภาษิตไว้
ได้กล่าวไว้’
๖. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้
กล่าวไว้’
๗. แสดงกรรมที่ตถาคตไม่ได้ประพฤติมาว่า ‘ตถาคตได้ประพฤติมา’
๘. แสดงกรรมที่ตถาคตได้ประพฤติมาว่า ‘ตถาคตไม่ได้ประพฤติมา’
๙. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ‘ตถาคตได้บัญญัติไว้’
๑๐. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้บัญญัติไว้ว่า ‘ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้๑’
ภิกษุเหล่านั้นแตกกัน แยกกัน ทำสังฆกรรมแยกกัน สวดปาติโมกข์แยกกัน
ด้วยเหตุ ๑๐ ประการนี้ อุบาลี สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุเท่านี้แล”
สังฆเภทสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๓๗,๓๙,๔๑,๔๒ ดู วิ.ป. ๘/๒๗๕/๒๑๐ และดูอังคุตตรนิกายแปล เล่มที่ ๒๐ ข้อ ๑๓๐-๑๓๙ หน้า ๒๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. อุปาลิวรรค ๘. สังฆสามัคคีสูตร
๘. สังฆสามัคคีสูตร
ว่าด้วยเหตุให้สงฆ์สามัคคีกัน
[๓๘] พระอุบาลีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า
‘สังฆสามัคคี สังฆสามัคคี’ สงฆ์จะเป็นผู้สามัคคีกันด้วยเหตุเท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุบาลี ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
๑. แสดงอธรรมว่า ‘เป็นอธรรม’
๒. แสดงธรรมว่า ‘เป็นธรรม’
๓. แสดงสิ่งที่มิใช่วินัยว่า ‘มิใช่วินัย’
๔. แสดงวินัยว่า ‘เป็นวินัย’
๕. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้
ไม่ได้กล่าวไว้’
๖. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้’
๗. แสดงกรรมที่ตถาคตไม่ได้ประพฤติมาว่า ‘ตถาคตไม่ได้ประพฤติมา’
๘. แสดงกรรมที่ตถาคตได้ประพฤติมาว่า ‘ตถาคตได้ประพฤติมา’
๙. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ‘ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้’
๑๐. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้บัญญัติไว้ว่า ‘ตถาคตได้บัญญัติไว้‘๑
ภิกษุเหล่านั้นไม่แตกกัน ไม่แยกกัน ไม่ทำสังฆกรรมแยกกัน ไม่สวดปาติโมกข์
แยกกัน ด้วยเหตุ ๑๐ ประการนี้ อุบาลี สงฆ์จะเป็นผู้สามัคคีกันด้วยเหตุเท่านี้แล
สังฆสามัคคีสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๓๘,๔๐ ดู อังคุตตรนิกายแปล เล่มที่ ๒๐ ข้อ ๑๔๑-๑๔๙ หน้า ๒๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. อุปาลิวรรค ๙. ปฐมอานันทสูตร
๙. ปฐมอานันทสูตร
ว่าด้วยพระอานนท์ทูลถามปัญหา สูตรที่ ๑
[๓๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ‘สังฆเภท สังฆเภท’ สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุเท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อานนท์ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
๑. แสดงอธรรมว่า ‘เป็นธรรม’
๒. แสดงธรรมว่า ‘เป็นอธรรม’
๓. แสดงสิ่งที่มิใช่วินัยว่า ‘เป็นวินัย’
๔. แสดงวินัยว่า ‘มิใช่วินัย’
๕. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตได้ภาษิตไว้
ได้กล่าวไว้’
๖. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้
กล่าวไว้’
๗. แสดงกรรมที่ตถาคตไม่ได้ประพฤติมาว่า ‘ตถาคตได้ประพฤติมา’
๘. แสดงกรรมที่ตถาคตได้ประพฤติมาว่า ‘ตถาคตไม่ได้ประพฤติมา’
๙. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ‘ตถาคตได้บัญญัติไว้’
๑๐. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้บัญญัติไว้ว่า ‘ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้’
ภิกษุเหล่านั้นแตกกัน แยกกัน ทำสังฆกรรมแยกกัน สวดปาติโมกข์แยกกัน
ด้วยเหตุ ๑๐ ประการนี้ อานนท์ สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุเท่านี้แล”
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ซึ่งสามัคคีกัน จะประสพผล
อะไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ซึ่งสามัคคีกันนั้น
จะประสพผลอันเผ็ดร้อนอยู่ตลอดกัป”
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “ผลอันเผ็ดร้อนอยู่ตลอดกัป คืออะไร พระ-
พุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. อุปาลิวรรค ๑๐. ทุติยอานันทสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ซึ่งสามัคคีกันนั้น
จะเสวยผลกรรมอยู่ในนรกตลอดกัปหนึ่ง”
บุคคลผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ยินดีในการแตกกัน
อยู่ในอธรรม เป็นผู้เข้าถึงอบาย อยู่ในนรกตลอดกัป
พลาดจากนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ๑
เสวยผลกรรมอยู่ในนรกตลอดกัป
เพราะทำลายสงฆ์ที่สามัคคีกันให้แตกแยกกัน
ปฐมอานันทสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุติยอานันทสูตร
ว่าด้วยพระอานนท์ทูลถามปัญหา สูตรที่ ๒
[๔๐] ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า
‘สังฆสามัคคี สังฆสามัคคี’ สงฆ์จะเป็นผู้สามัคคีกันด้วยเหตุเท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อานนท์ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
๑. แสดงอธรรมว่า ‘เป็นอธรรม’
๒. แสดงธรรมว่า ‘เป็นธรรม’
๓. แสดงสิ่งที่มิใช่วินัยว่า ‘มิใช่วินัย’
๔. แสดงวินัยว่า ‘เป็นวินัย’
๕. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้
ไม่ได้กล่าวไว้’
๖. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้
กล่าวไว้’
๗. แสดงกรรมที่ตถาคตไม่ได้ประพฤติมาว่า ‘ตถาคตไม่ได้ประพฤติมา’
๘. แสดงกรรมที่ตถาคตได้ประพฤติมาว่า ‘ตถาคตได้ประพฤติมา’

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (องฺ.ทสก.อ. ๓/๓๙-๔๐/๓๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๔. อุปาลิวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๙. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ‘ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้’
๑๐. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้บัญญัติไว้ว่า ‘ตถาคตได้บัญญัติไว้’
ภิกษุเหล่านั้นไม่แตกกัน ไม่แยกกัน ไม่ทำสังฆกรรมแยกกัน ไม่สวดปาติโมกข์
แยกกัน ด้วยเหตุ ๑๐ ประการนี้ อานนท์ สงฆ์จะเป็นผู้สามัคคีกันด้วยเหตุเท่านี้แล
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “บุคคลผู้สมานสงฆ์ซึ่งแตกกันแล้วให้สามัคคีกัน
จะประสพผลอะไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ บุคคลผู้สมานสงฆ์ซึ่งแตกกันแล้วให้
สามัคคีกันนั้น จะประสพบุญอันประเสริฐ”
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “บุญอันประเสริฐคืออะไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ บุคคลผู้สมานสงฆ์ซึ่งแตกกันแล้วให้
สามัคคีกัน จะบันเทิงในสวรรค์ตลอดกัป”
ความพร้อมเพรียงแห่งสงฆ์ เป็นเหตุให้เกิดสุข
และบุคคลผู้อนุเคราะห์สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกันแล้ว
ผู้ยินดีแล้วในความพร้อมเพรียงกัน อยู่ในธรรม
ย่อมไม่พลาดจากธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ย่อมบันเทิงในสวรรค์ตลอดกัป
เพราะสมานสงฆ์ให้สามัคคีกัน
ทุติยอานันทสูตรที่ ๑๐ จบ
อุปาลิวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อุปาลิสูตร ๒. ปาติโมกขัฏฐปนาสูตร
๓. อุพพาหิกาสูตร ๔. อุปสัมปทาสูตร
๕. นิสสยสูตร ๖. สามเณรสูตร
๗. สังฆเภทสูตร ๘. สังฆสามัคคีสูตร
๙. ปฐมอานันทสูตร ๑๐. ทุติยอานันทสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค ๑. วิวาทสูตร
๕. อักโกสวรรค
หมวดว่าด้วยการด่า
๑. วิวาทสูตร
ว่าด้วยเหตุให้เกิดวิวาทขึ้นในสงฆ์
[๔๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระอุบาลี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดความบาดหมางกัน ทะเลาะ แก่งแย่ง และ
วิวาทกันขึ้นในสงฆ์ ซึ่งเป็นเหตุให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ไม่สำราญ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อุบาลี ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
๑. แสดงอธรรมว่า ‘เป็นธรรม’
๒. แสดงธรรมว่า ‘เป็นอธรรม’
๓. แสดงสิ่งที่มิใช่วินัยว่า ‘เป็นวินัย’
๔. แสดงวินัยว่า ‘มิใช่วินัย’
๕. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้
กล่าวไว้’
๖. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้
กล่าวไว้’
๗. แสดงกรรมที่ตถาคตไม่ได้ประพฤติมาว่า ‘ตถาคตได้ประพฤติมา’
๘. แสดงกรรมที่ตถาคตได้ประพฤติมาว่า ‘ตถาคตไม่ได้ประพฤติมา’
๙. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ‘ตถาคตได้บัญญัติไว้’
๑๐. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้บัญญัติไว้ว่า ‘ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้’
อุบาลี นี้เป็นเหตุ นี้เป็นปัจจัยให้เกิดความบาดหมาง ทะเลาะ แก่งแย่ง และวิวาท
กันขึ้นในสงฆ์ ซึ่งเป็นเหตุให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ไม่สำราญ
วิวาทสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค ๒. ปฐมวิวาทมูลสูตร
๒. ปฐมวิวาทมูลสูตร
ว่าด้วยมูลเหตุแห่งวิวาท สูตรที่ ๑
[๔๒] พระอุบาลีทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มูลเหตุแห่งวิวาทมีเท่าไรหนอ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุบาลี มูลเหตุแห่งวิวาท ๑๐ ประการ
มูลเหตุแห่งวิวาท ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
๑. แสดงอธรรมว่า ‘เป็นธรรม’
๒. แสดงธรรมว่า ‘เป็นอธรรม’
๓. แสดงสิ่งที่มิใช่วินัยว่า ‘เป็นวินัย’
๔. แสดงวินัยว่า ‘มิใช่วินัย’
๕. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้
กล่าวไว้’
๖. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้ภาษิตไว้ ได้กล่าวไว้ว่า ‘ตถาคตไม่ได้ภาษิตไว้ ไม่ได้
กล่าวไว้’
๗. แสดงกรรมที่ตถาคตไม่ได้ประพฤติมาว่า ‘ตถาคตได้ประพฤติมา’
๘. แสดงกรรมที่ตถาคตได้ประพฤติมาว่า ‘ตถาคตไม่ได้ประพฤติมา’
๙. แสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ‘ตถาคตได้บัญญัติไว้’
๑๐. แสดงสิ่งที่ตถาคตได้บัญญัติไว้ว่า ‘ตถาคตไม่ได้บัญญัติไว้’
อุบาลี มูลเหตุแห่งวิวาท ๑๐ ประการนี้แล
ปฐมวิวาทมูลสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค ๓. ทุติยวิวาทมูลสูตร
๓. ทุติยวิวาทมูลสูตร
ว่าด้วยมูลเหตุแห่งวิวาท สูตรที่ ๒
[๔๓] พระอุบาลีทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มูลเหตุแห่งวิวาทมี
เท่าไรหนอ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุบาลี มูลเหตุแห่งวิวาท ๑๐ ประการ
มูลเหตุแห่งวิวาท ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
๑. แสดงอนาบัติว่า ‘เป็นอาบัติ’
๒. แสดงอาบัติว่า ‘เป็นอนาบัติ’
๓. แสดงอาบัติเบาว่า ‘เป็นอาบัติหนัก’
๔. แสดงอาบัติหนักว่า ‘เป็นอาบัติเบา’
๕. แสดงอาบัติชั่วหยาบ๑ว่า ‘ไม่เป็นอาบัติชั่วหยาบ’
๖. แสดงอาบัติไม่ชั่วหยาบว่า ‘เป็นอาบัติชั่วหยาบ’
๗. แสดงอาบัติมีส่วนเหลือว่า ‘เป็นอาบัติไม่มีส่วนเหลือ๒’
๘. แสดงอาบัติไม่มีส่วนเหลือว่า ‘เป็นอาบัติมีส่วนเหลือ’
๙. แสดงอาบัติที่ทำคืนได้ว่า ‘เป็นอาบัติที่ทำคืนไม่ได้’
๑๐. แสดงอาบัติที่ทำคืนไม่ได้ว่า ‘เป็นอาบัติที่ทำคืนได้๓’
อุบาลี มูลเหตุแห่งวิวาท ๑๐ ประการนี้แล
ทุติยวิวาทมูลสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อาบัติชั่วหยาบ หมายถึงอาบัติปาราชิก ๔ สิกขาบท และอาบัติสังฆาทิเสส ๑๓ สิกขาบท ดู วินัยปิฎกแปล
เล่มที่ ๑ ข้อ ๓๙๙ หน้า ๕๑๑
๒ อาบัติมีส่วนเหลือ หมายถึงสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต อาบัติไม่มี
ส่วนเหลือ หมายถึงปาราชิก ๔ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๕๐/๘๕)
๓ ข้อ ๔๓ ดู อังคุตตรนิกายแปล เล่มที่ ๒๐ ข้อ ๑๕๐-๑๕๙ หน้า ๒๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค ๔. กุสินารสูตร
๔. กุสินารสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่กรุงกุสินารา
[๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์เป็นที่ประกอบ
พลีกรรม เขตกรุงกุสินารา ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม ๕
ประการในตน พึงตั้งมั่นธรรม ๕ ประการไว้ในตนแล้วจึงโจทผู้อื่น
ธรรมที่ภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงพิจารณาไว้ในตน ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า “เราเป็นผู้มี
กายสมาจารบริสุทธิ์ เราเป็นผู้ประกอบกายสมาจารบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่
บกพร่องหรือไม่หนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ” หากภิกษุ
ไม่เป็นผู้มีกายสมาจารบริสุทธิ์ มิได้เป็นผู้ประกอบกายสมาจารบริสุทธิ์
ไม่ขาด ไม่บกพร่อง ก็จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ว่า “เชิญท่านสำเหนียก
ความประพฤติทางกายก่อนเถิด” จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ดังนี้
๒. ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า “เราเป็นผู้มี
วจีสมาจารบริสุทธิ์ เราเป็นผู้ประกอบวจีสมาจารบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่
บกพร่องหรือหนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ” หากภิกษุไม่
เป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ ไม่เป็นผู้ประกอบวจีสมาจารบริสุทธิ์ ไม่ขาด
ไม่บกพร่อง ก็จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ว่า “เชิญท่านสำเหนียกความ
ประพฤติทางวาจาก่อนเถิด” จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ดังนี้
๓. ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า “เราเข้าไป
ตั้งเมตตาจิตไม่อาฆาตในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายแล้วหรือหนอ ธรรมนี้
มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ” หากภิกษุยังไม่เข้าไปตั้งเมตตาจิตไม่
อาฆาตในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายแล้ว ก็จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ว่า
“เชิญท่านเข้าไปตั้งเมตตาจิตในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายเสียก่อนเถิด”
จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ดังนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค ๔. กุสินารสูตร
๔. ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า “เราเป็น
พหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมที่มีความงามใน
เบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศ
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนแล้ว
ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิหรือไม่หนอ ธรรมนี้
มีพร้อมอยู่แก่เราหรือไม่หนอ” หากภิกษุไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงสุตะ ไม่
สั่งสมสุตะ ไม่เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความ
งามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้ง
อรรถ และพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน ทรงจำไว้ไม่ได้ ไม่คล่อง
ปาก ไม่ขึ้นใจ ไม่แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ ก็จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ว่า
“เชิญท่านเล่าเรียนคัมภีร์เสียก่อนเถิด” จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ดังนี้
๕. ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาอย่างนี้ว่า “เราทรงจำ
ปาติโมกข์ทั้งสองได้ดี จำแนกได้ดี ให้เป็นไปได้ดีโดยพิสดาร วินิจฉัยได้ดี
โดยสูตร โดยอนุพยัญชนะหรือไม่หนอ ธรรมนี้มีพร้อมอยู่แก่เราหรือ
ไม่หนอ” หากภิกษุไม่ทรงจำ ปาติโมกข์ทั้งสองได้ดี ไม่จำแนกได้ดี
ไม่ให้เป็นไปได้ดีโดยพิสดาร ไม่วินิจฉัยได้ดีโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ
ภิกษุนั้นหากถูกถามว่า “ท่านผู้มีอายุ สิกขาบทนี้ พระผู้มีพระภาคตรัส
ไว้ที่ไหน” แก้ไม่ได้ก็จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ว่า “เชิญท่านไปศึกษาวินัย
เสียก่อนเถิด” จะมีผู้ว่ากล่าวภิกษุนั้นได้ดังนี้
ธรรมที่ภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงพิจารณาไว้ในตน ๕ ประการนี้
ธรรมที่ภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงตั้งมั่นไว้ในตน ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เราจักกล่าวในเวลาอันควร จักไม่กล่าวในเวลาอันไม่ควร
๒. เราจักกล่าวถ้อยคำจริง จักไม่กล่าวถ้อยคำไม่จริง
๓. เราจักกล่าวถ้อยคำอ่อนหวาน จักไม่กล่าวถ้อยคำหยาบ
๔. เราจักกล่าวถ้อยคำอันประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่กล่าวถ้อยคำอันไม่
ประกอบด้วยประโยชน์
๕. เราจักมีเมตตาจิตกล่าว เราจักไม่เพ่งโทษกล่าว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค ๕. ราชันเตปุรัปปเวสนสูตร
ธรรมที่ภิกษุผู้เป็นโจทก์พึงตั้งมั่นไว้ในตน ๕ ประการนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เป็นโจทก์ประสงค์จะโจทผู้อื่น พึงพิจารณาธรรม ๕
ประการนี้ไว้ในตน พึงตั้งมั่นธรรม ๕ ประการนี้ไว้ในตนแล้วจึงโจทผู้อื่น
กุสินารสูตรที่ ๔ จบ

๕. ราชันเตปุรัปปเวสนสูตร
ว่าด้วยโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน
[๔๕] ภิกษุทั้งหลาย โทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน ๑๐ ประการ
โทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พระราชาในโลกนี้ประทับอยู่กับพระมเหสี ภิกษุเข้าไปในที่นั้น พระมเหสี
ทรงเห็นภิกษุนั้นแล้วทรงยิ้มแย้ม หรือภิกษุเห็นพระมเหสีแล้วยิ้มแย้ม
พระราชาจะทรงสงสัยในอาการนั้นอย่างนี้ว่า “คนทั้ง ๒ นี้คงได้ทำ หรือ
จักทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่” นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระ
ราชวังชั้นในประการที่ ๑
๒. พระราชาทรงมีพระราชกรณียกิจมาก เสด็จไปหาหญิงคนใดคนหนึ่งแล้ว
ทรงระลึกไม่ได้ หญิงนั้นตั้งครรภ์กับพระองค์ พระราชาก็จะทรงสงสัยใน
การตั้งครรภ์นั้นอย่างนี้ว่า “เว้นบรรพชิตเสียแล้ว ใครอื่นจะเข้ามาใน
พระราชวังชั้นในนี้ไม่ได้ กรรมนี้น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้
เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ ๒
๓. รัตนะอย่างใดอย่างหนึ่งในพระราชวังชั้นในหายไป พระราชาก็จะทรง
สงสัยในการที่รัตนะนั้นหายไปนั้นว่า “เว้นบรรพชิตเสียแล้ว ใครอื่นจะ
เข้ามาในพระราชวังชั้นในนี้ไม่ได้ กรรมนี้ น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต”
นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ ๓
๔. เรื่องลับภายในพระราชวังชั้นในแพร่งพรายออกมาภายนอก พระราชาก็
จะทรงสงสัยในเรื่องลับที่แพร่งพรายออกมาภายนอกนั้นอย่างนี้ว่า “เว้น
บรรพชิตเสียแล้ว ใครอื่นจะเข้ามาในพระราชวังชั้นในนี้ไม่ได้ กรรมนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค ๕. ราชันเตปุรัปปเวสนสูตร
น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวัง
ชั้นในประการที่ ๔
๕. ในพระราชวังชั้นใน บิดาปรารถนาจะฆ่าบุตร หรือบุตรปรารถนาจะฆ่าบิดา
คนทั้ง ๒ นั้น ต่างก็จะสงสัยอย่างนี้ว่า “เว้นบรรพชิตเสียแล้ว ใครอื่น
จะเข้ามาในพระราชวังชั้นในนี้ไม่ได้ กรรมนี้น่าจะเป็นการกระทำของ
บรรพชิต” นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ ๕
๖. พระราชาทรงตั้งบุคคลผู้ควรแก่ตำแหน่งต่ำไว้ในตำแหน่งสูง คนทั้งหลาย
ที่ไม่พอใจการแต่งตั้งนั้น จะมีความสงสัยอย่างนี้ว่า “พระราชาทรง
คลุกคลีกับบรรพชิต กรรมนี้น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็น
โทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ ๖
๗. พระราชาทรงตั้งบุคคลผู้ควรแก่ตำแหน่งสูงไว้ในตำแหน่งต่ำ คนทั้งหลาย
ที่ไม่พอใจการแต่งตั้งนั้น จะมีความสงสัยอย่างนี้ว่า “พระราชาทรง
คลุกคลีกับบรรพชิต กรรมนี้น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็น
โทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ ๗
๘. พระราชาทรงส่งกองทัพไปในกาลไม่สมควร คนทั้งหลายที่ไม่พอใจใน
การส่งกองทัพไปนั้น จะมีความสงสัยอย่างนี้ว่า “พระราชาทรงคลุกคลี
กับบรรพชิต กรรมนี้น่าจะเป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็นโทษใน
การเข้าไปในพระราชวังชั้นในประการที่ ๘
๙. พระราชาทรงส่งกองทัพไปในกาลสมควร รับสั่งให้กลับเสียในระหว่างทาง
คนทั้งหลายที่ไม่พอใจในการให้กองทัพกลับเสียในระหว่างทางนั้น จะมี
ความสงสัยอย่างนี้ว่า “พระราชาทรงคลุกคลีกับบรรพชิต กรรมนี้น่าจะ
เป็นการกระทำของบรรพชิต” นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน
ประการที่ ๙
๑๐. พระราชวังชั้นในเป็นที่คับคั่งไปด้วยช้าง คับคั่งไปด้วยม้า คับคั่งไปด้วยรถ
มีรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ซึ่งเป็น
สิ่งที่ไม่สมควรแก่บรรพชิต นี้เป็นโทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน
ประการที่ ๑๐
ภิกษุทั้งหลาย โทษในการเข้าไปในพระราชวังชั้นใน ๑๐ ประการนี้แล
ราชันเตปุรัปปเวสนสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค ๖. สักกสูตร
๖. สักกสูตร
ว่าด้วยอุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะ
[๔๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์
ในแคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล อุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะเป็นจำนวนมากได้พากัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับในวันอุโบสถ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถามอุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะดังนี้ว่า
“อุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพากันรักษาอุโบสถที่
ประกอบด้วยองค์ ๘ บ้างหรือไม่หนอ”
อุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะเหล่านั้นกราบทูลว่า “บางคราวข้าพระองค์
ทั้งหลายพากันรักษาอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ แต่บางคราวก็ไม่ได้พากันรักษา
พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะทั้งหลาย ไม่ใช่ลาภของท่านทั้งหลาย ท่าน
ทั้งหลายได้ชั่วแล้ว ที่เมื่อชีวิตมีภัยเพราะความโศก มีภัยเพราะความตายอย่างนี้
บางคราวท่านทั้งหลายพากันรักษาอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ แต่บางคราวก็ไม่ได้
พากันรักษา
ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้พึงหาทรัพย์ได้วันละ
กึ่งกหาปณะด้วยการงานชอบ โดยไม่แตะต้องอกุศลกรรมเลย สมควรจะกล่าวได้
หรือไม่ว่า ‘เป็นคนฉลาด มีความขยันหมั่นเพียร”
“สมควรกล่าวได้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้พึงหาทรัพย์ได้วันละ ๑ กหาปณะ ... ๒ กหาปณะ ...
๓ กหาปณะ ... ๔ กหาปณะ ... ๕ กหาปณะ ... ๖ กหาปณะ ... ๗ กหาปณะ ...
๘ กหาปณะ ... ๙ กหาปณะ ... ๑๐ กหาปณะ ... ๒๐ กหาปณะ ... ๓๐ กหาปณะ ...
๔๐ กหาปณะ ... ๕๐ กหาปณะ ... ๑๐๐ กหาปณะ ด้วยการงานชอบ โดยไม่แตะ
ต้องอกุศลกรรมเลย สมควรจะกล่าวได้หรือไม่ว่า ‘เป็นคนฉลาด มีความขยันหมั่น
เพียร”
“สมควรกล่าวได้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค ๖. สักกสูตร
“อุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร
บุคคลนั้น เมื่อหาทรัพย์ได้วันละ ๑๐๐ กหาปณะ ๑,๐๐๐ กหาปณะ ก็เก็บทรัพย์ที่
ตนได้ไว้ เป็นผู้มีชีวิต ๑๐๐ ปี จะพึงได้โภคสมบัติกองใหญ่บ้างหรือไม่หนอ”
“ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร
บุคคลนั้นจะพึงเสวยสุขอย่างเดียวอยู่ตลอดคืนหนึ่ง วันหนึ่ง ครึ่งคืนหรือครึ่งวันอันมี
โภคสมบัตินั้นเป็นเหตุ มีโภคสมบัตินั้นเป็นปัจจัย มีโภคสมบัตินั้นเป็นที่ตั้งได้บ้างหรือ
ไม่หนอ”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“เพราะกามทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ว่างเปล่า หลอกลวง๑ มีความฉิบหายไป
เป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะทั้งหลาย ส่วนสาวก
ของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจปฏิบัติตาม
ที่เราพร่ำสอนอยู่ตลอด ๑๐ ปี พึงเป็นผู้เสวยความสุขอย่างแน่นอนอยู่ตลอด ๑๐๐
ปีก็มี ๑๐,๐๐๐ ปีก็มี ๑๐๐,๐๐๐ ปีก็มี และสาวกของเรานั้นแล เป็นสกทาคามีก็มี
เป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันไม่ปฏิบัติผิดพลาดก็มี ไม่จำเป็นต้องพูดถึง ๑๐ ปี
สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนอยู่ตลอด ๙ ปี ... ๘ ปี ... ๗ ปี ... ๖ ปี ... ๕ ปี ... ๔ ปี ...
๓ ปี ... ๒ ปี ... ๑ ปี พึงเป็นผู้เสวยความสุขอย่างแน่นอนอยู่ตลอด ๑๐๐ ปีก็มี ๑๐,๐๐๐
ปีก็มี ๑๐๐,๐๐๐ ปีก็มี และสาวกของเรานั้นแล เป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี
เป็นโสดาบันไม่ปฏิบัติผิดพลาดก็มี ไม่จำเป็นต้องพูดถึง ๑ ปี
สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนอยู่ตลอด ๑๐ เดือน พึงเป็นผู้เสวยความสุขอย่างแน่นอน

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ไม่เที่ยง คือมีแล้วก็กลับกลายเป็นไม่มี ว่างเปล่า คือ ปราศจากสาระ หลอกลวง คือ แม้จะปรากฏ
เหมือนเป็นของเที่ยง สวยงาม และเป็นสุข แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๔๖/๓๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค ๖. สักกสูตร
อยู่ตลอด ๑๐๐ ปีก็มี ๑๐,๐๐๐ ปีก็มี ๑๐๐,๐๐๐ ปีก็มี และสาวกของเรานั้นแล
เป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันไม่ปฏิบัติผิดพลาดก็มี ไม่จำเป็น
ต้องพูดถึง ๑๐ เดือน
สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนอยู่ตลอด ๙ เดือน ... ๘ เดือน ... ๗ เดือน ... ๖ เดือน ...
๕ เดือน ... ๔ เดือน ... ๓ เดือน ... ๒ เดือน ... ๑ เดือน ... ครึ่งเดือน พึงเป็นผู้
เสวยความสุขอย่างแน่นอนอยู่ตลอด ๑๐๐ ปีก็มี ๑๐,๐๐๐ ปีก็มี ๑๐๐,๐๐๐ ปีก็มี
และสาวกของเรานั้นแล เป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันไม่ปฏิบัติ
ผิดพลาดก็มี ไม่จำเป็นต้องพูดถึงครึ่งเดือน
สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนอยู่ตลอด ๑๐ คืน ๑๐ วัน พึงเป็นผู้เสวยความสุขอย่างแน่
นอนอยู่ตลอด ๑๐๐ ปีก็มี ๑๐,๐๐๐ ปีก็มี ๑๐๐,๐๐๐ ปีก็มี และสาวกของเรานั้นแล
เป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันไม่ปฏิบัติผิดพลาดก็มี ไม่จำเป็น
ต้องพูดถึง ๑๐ คืน ๑๐ วัน
สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนอยู่ตลอด ๙ คืน ๙ วัน ... ๘ คืน ๘ วัน ... ๗ คืน ๗ วัน
... ๖ คืน ๖ วัน ... ๕ คืน ๕ วัน ... ๔ คืน ๔ วัน ... ๓ คืน ๓ วัน ... ๒ คืน ๒ วัน
... ๑ คืน ๑ วัน พึงเป็นผู้เสวยความสุขอย่างแน่นอนอยู่ตลอด ๑๐๐ ปีก็มี
๑๐,๐๐๐ ปีก็มี ๑๐๐,๐๐๐ ปีก็มี และสาวกของเรานั้นแล เป็นสกทาคามีก็มี
เป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันไม่ปฏิบัติผิดพลาดก็มี อุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะ
ทั้งหลาย ไม่ใช่ลาภของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายได้ชั่วแล้ว ที่เมื่อชีวิตมีภัยเพราะ
ความโศก มีภัยเพราะความตายอย่างนี้ บางคราวท่านทั้งหลายพากันรักษาอุโบสถที่
ประกอบด้วยองค์ ๘ แต่บางคราวก็ไม่ได้พากันรักษา
อุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์เหล่านี้จักพากันรักษาอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
สักกสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค ๗. มหาลิสูตร
๗. มหาลิสูตร
ว่าด้วยเจ้าลิจฉวีพระนามว่ามหาลิ
[๔๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้นแล เจ้าลิจฉวีพระนามว่ามหาลิเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกรรมชั่ว และให้
กรรมชั่วเป็นไป”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ โลภะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกรรมชั่ว
และให้กรรมชั่วเป็นไป โทสะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกรรมชั่ว และให้กรรมชั่วเป็นไป
โมหะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกรรมชั่ว และให้กรรมชั่วเป็นไป อโยนิโสมนสิการ
(การมนสิการโดยไม่แยบคาย) เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกรรมชั่ว และให้กรรมชั่วเป็นไป
มิจฉาปณิหิตจิต(จิตที่ตั้งไว้ผิด)แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกรรมชั่ว และให้กรรมชั่ว
เป็นไป มหาลิ กิเลสมีโลภะเป็นต้นนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกรรมชั่ว และให้
กรรมชั่วเป็นไป”
เจ้าลิจฉวีพระนามว่ามหาลิทูลถามว่า “อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกรรมดี
และให้กรรมดีเป็นไป พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มหาลิ อโลภะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกรรมดี
และให้กรรมดีเป็นไป อโทสะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกรรมดี และให้กรรมดีเป็นไป
อโมหะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกรรมดี และให้กรรมดีเป็นไป โยนิโสมนสิการ(การ
มนสิการโดยแยบคาย) เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกรรมดี และให้กรรมดีเป็นไป สัมมา-
ปณิหิตจิต(จิตที่ตั้งไว้ถูก)แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกรรมดี และให้กรรมดีเป็นไป
หากธรรม ๑๐ ประการนี้ ไม่พึงมีปรากฏอยู่ในโลก ความประพฤติไม่
สม่ำเสมอคือความประพฤติอธรรม๑ หรือความประพฤติสม่ำเสมอคือความ
ประพฤติธรรม๒ ก็จะไม่พึงมีปรากฏอยู่ในโลกนี้

เชิงอรรถ :
๑ อธรรม ในที่นี้หมายถึงอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๔๗/๓๔๘)
๒ ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๔๗/๓๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค ๘. ปัพพชิตอภิณหสูตร
มหาลิ เพราะธรรม ๑๐ ประการนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ฉะนั้น ความประพฤติ
ไม่สม่ำเสมอคือความประพฤติอธรรม หรือความประพฤติสม่ำเสมอคือความ
ประพฤติธรรม จึงมีปรากฏอยู่ในโลกนี้
มหาลิสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปัพพชิตอภิณหสูตร
ว่าด้วยธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ
[๔๘] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ว่า
๑. เราถึงความมีเพศต่างจากคฤหัสถ์
๒. การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น
๓. เรามีอากัปกิริยาอย่างอื่นที่จะพึงทำ
๔. เราติเตียนตนเองโดยศีลได้หรือไม่
๕. เพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายพิจารณาแล้วติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่
๖. เราจักต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๗. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรม
เป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดี
หรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
๘. วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
๙. เรายินดียิ่งในเรือนว่าง๑อยู่หรือไม่

เชิงอรรถ :
๑ ยินดียิ่งในเรือนว่าง ในที่นี้หมายถึงยินดีอยู่ผู้เดียวบำเพ็ญกายวิเวกให้บริบูรณ์ทุกอิริยาบถในที่สงัด(องฺ.ทสก.อ.
๓/๔๘/๓๔๙) หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงความยินดีในเรือนว่างด้วยปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน
และจตุตถฌาน ดูวินัยปิฎกแปล เล่มที่ ๑ ข้อ ๑๙๙ หน้า ๑๘๖ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค ๙. สรีรัฏฐธัมมสูตร
๑๐. ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ๑อันวิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์๒
ที่เราบรรลุแล้วซึ่งจักเป็นเหตุให้เราไม่เก้อเขินเมื่อเพื่อนพรหมจารีถามใน
ภายหลัง มีอยู่หรือไม่
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ
ปัพพชิตอภิณหสูตรที่ ๘ จบ

๙. สรีรัฏฐธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมประจำสรีระ
[๔๙] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมประจำสรีระ ๑๐ ประการนี้ บรรพชิตควร
พิจารณาเนือง ๆ
ธรรมประจำสรีระ ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ความหนาว ๒. ความร้อน
๓. ความหิว ๔. ความกระหาย
๕. ความปวดอุจจาระ ๖. ความปวดปัสสาวะ
๗. ความสำรวมกาย ๘. ความสำรวมวาจา
๙. ความสำรวมอาชีพ ๑๐. ธรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งภพ๓
เป็นเหตุให้เกิดในภพใหม่

ภิกษุทั้งหลาย ธรรมประจำสรีระ ๑๐ ประการนี้แล บรรพชิตควรพิจารณา
เนือง ๆ
สรีรัฏฐธัมมสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ หมายถึงมหัคคตโลกุตตรปัญญาอันประเสริฐ บริสุทธิ์ สูงสุด
สามารถกำจัดกิเลสได้ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๔๘/๓๕๐)
๒ ธรรมของมนุษย์ ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๔๘/๓๕๐)
๓ ธรรมเป็นเครื่องปรุงแต่งภพ หมายถึงกรรมที่เป็นเครื่องปรุงแต่งภพ คือกรรมดีแต่งให้เกิดภพใหม่ที่ดี
กรรมชั่วแต่งให้เกิดภพใหม่ที่ไม่ดี (องฺ.ทสก.อ. ๓/๔๙-๕๐/๓๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค ๑๐. ภัณฑนสูตร
๑๐. ภัณฑนสูตร
ว่าด้วยภิกษุเกิดความบาดหมางกัน
[๕๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล ภิกษุเป็นจำนวนมากกลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้ว นั่งประชุมกัน ณ หอฉัน เกิดความบาดหมางกัน ทะเลาะกัน
วิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่
ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น๑ เข้าไปยังหอฉัน
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้
เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ และเรื่องอะไรที่เธอทั้งหลาย
สนทนากันค้างไว้”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้ว นั่งประชุมกัน ณ
หอฉัน เกิดความบาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายเกิดความบาดหมาง
กัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่นี้ ไม่สมควรแก่เธอทั้งหลาย
ผู้เป็นกุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาเลย
ภิกษุทั้งหลาย สาราณียธรรม(ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน) ๑๐ ประการนี้
ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่
วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน๒
สาราณียธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เชิงอรรถ :
๑ ที่หลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงการอยู่ผู้เดียวด้วยผลสมาบัติ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๗/๑๐๖,องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๖๘/๒๐๓)
หรือทำนิพพานที่สงบเป็นสุขให้เป็นอารมณ์ เข้าผลสมาบัติในเวลาเช้า (ตามนัย วิ.อ. ๑/๒๒/๒๐๔)
๒ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน หมายถึงความเป็นเอกภาพ ไม่ก่อความแตกแยก (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๒/๑๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค ๑๐. ภัณฑนสูตร
๑. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระ
และโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท
ทั้งหลาย แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท
ทั้งหลาย นี้ก็เป็นสาราณียธรรมที่ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ เป็น
ไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน
เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๒. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลายที่มี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์
ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ แม้การที่
ภิกษุเป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ นี้ก็เป็นสาราณียธรรมที่
ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อ
ความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๓. เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี
มีเพื่อนดี นี้ก็เป็นสาราณียธรรมที่ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ เป็น
ไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน
เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๔. เป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อดทน รับ
ฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย อดทน รับฟังคำ
พร่ำสอนโดยเคารพ นี้ก็เป็นสาราณียธรรมที่ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่
เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความ
สามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๕. เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำทั้งงานสูง และ
งานต่ำ๑ของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่อง
พิจารณาอันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถทำได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๕ ข้อ ๑๗ (ปฐมนาถสูตร) หน้า ๓๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค ๑๐. ภัณฑนสูตร
สามารถจัดได้ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะ
ต้องช่วยกันทำทั้งงานสูง และงานต่ำของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบ
ด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกัน
ทำนั้น สามารถทำได้ สามารถจัดได้ นี้ก็เป็นสาราณียธรรมที่ทำให้เป็น
ที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่
วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๖. เป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้ฟัง และผู้แสดงธรรมอันเป็นที่พอใจ มีปราโมทย์
อย่างยิ่งในอภิธรรม ในอภิวินัย๑ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ใคร่ธรรม ฯลฯ นี้ก็
เป็นสาราณียธรรมที่ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความ
สงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน
๗. เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มี
ความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศล
ธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศล
ธรรมทั้งหลาย นี้ก็เป็นสาราณียธรรมที่ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน
เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๘. เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชช-
บริขารตามแต่จะได้ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้ นี้ก็เป็นสาราณีย-
ธรรมที่ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๙. เป็นผู้มีสติ คือประกอบด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน๒อย่างยิ่ง
ระลึกถึงสิ่งที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีสติ คือ
ประกอบด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกถึงสิ่งที่ทำและ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๗,๘ ข้อ ๑๗ (ปฐมนาถสูตร) หน้า ๓๒ ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๗ (ปฐมนาถสูตร) หน้า ๓๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๑. ปฐมปัณณาสก์] ๕. อักโกสวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
คำที่พูดแม้นานได้ นี้ก็เป็นสาราณียธรรมที่ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่
เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคระห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความ
สามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๑๐. เป็นผู้มีปัญญา คือประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้ง
ความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดย
ชอบ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา คือประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่อง
พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึง
ความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้ก็เป็นสาราณียธรรมที่ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็น
ที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อ
ความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
ภิกษุทั้งหลาย สาราณียธรรม ๑๐ ประการนี้แล ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่
เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน
เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
ภัณฑนสูตรที่ ๑๐ จบ
อักโกสวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. วิวาทสูตร ๒. ปฐมวิวาทมูลสูตร
๓. ทุติยวิวาทมูลสูตร ๔. กุสินารสูตร
๕. ราชันเตปุรัปปเวสนสูตร ๖. สักกสูตร
๗. มหาลิสูตร ๘. ปัพพชิตอภิณหสูตร
๙. สรีรัฏฐธัมมสูตร ๑๐. ภัณฑนสูตร

ปฐมปัณณาสก์ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๑. สจิตตสูตร
๒. ทุติยปัณณาสก์
๑. สจิตตวรรค
หมวดว่าด้วยวาระจิตของตน
๑. สจิตตสูตร
ว่าด้วยผู้ฉลาดในวาระจิตของตน
[๕๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุเป็นผู้ไม่ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนั้น
เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกว่า “เราทั้งหลายจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน” ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุมีการพิจารณาที่เป็นอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลายว่า “เราเป็นผู้
มีอภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา)อยู่โดยมากหรือหนอ หรือไม่มีอภิชฌา เรา
เป็นผู้มีจิตพยาบาทอยู่โดยมากหรือหนอ หรือมีจิตไม่พยาบาท เราเป็นผู้มี
ถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)กลุ้มรุมอยู่โดยมากหรือหนอ หรือปราศจาก
ถีนมิทธะ เราเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านอยู่โดยมากหรือหนอ หรือไม่มีจิตฟุ้งซ่าน เราเป็นผู้มี
ความสงสัยอยู่โดยมากหรือหนอ หรือข้ามพ้นความสงสัยแล้ว เราเป็นผู้มักโกรธอยู่
โดยมากหรือหนอ หรือไม่มักโกรธ เราเป็นผู้มีจิตเศร้าหมองอยู่โดยมากหรือหนอ
หรือมีจิตไม่เศร้าหมอง เราเป็นผู้มีกายกระสับกระส่ายอยู่โดยมากหรือหนอ หรือมี
กายไม่กระสับกระส่าย เราเป็นผู้เกียจคร้านอยู่โดยมากหรือหนอ หรือปรารภความเพียร
เราเป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมากหรือหนอ หรือมีจิตตั้งมั่น” เปรียบเหมือนสตรี
หรือบุรุษที่ยังหนุ่มสาว มีปกติชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกเงาอัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๑. สจิตตสูตร
บริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือในภาชนะน้ำที่ใส ถ้าเห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้นก็พยายามขจัด
ธุลีหรือจุดดำนั้นเสีย หากไม่เห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็ดีใจ ภูมิใจด้วยเหตุนั้น
เองว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ หน้าของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ’
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มีอภิชฌาอยู่โดยมาก เป็นผู้มีจิต
พยาบาทอยู่โดยมาก เป็นผู้มีถีนมิทธะกลุ้มรุมอยู่โดยมาก เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านอยู่โดย
มาก เป็นผู้มีความสงสัยอยู่โดยมาก เป็นผู้มักโกรธอยู่โดยมาก เป็นผู้มีจิตเศร้าหมอง
อยู่โดยมาก เป็นผู้มีกายกระสับกระส่ายอยู่โดยมาก เป็นผู้เกียจคร้านอยู่โดยมาก
เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมาก’ ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความ
อุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง
เพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น
ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น
เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะที่ถูกไฟไหม้ พึงทำความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและ
สัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ไม่มีอภิชฌาอยู่โดย
มาก เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาทอยู่โดยมาก เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะอยู่โดยมาก เป็นผู้
ไม่มีจิตฟุ้งซ่านอยู่โดยมาก เป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัยแล้วอยู่โดยมาก เป็นผู้ไม่โกรธ
อยู่โดยมาก เป็นผู้มีจิตไม่เศร้าหมองอยู่โดยมาก เป็นผู้มีกายไม่กระสับกระส่ายอยู่
โดยมาก เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่โดยมาก เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมาก’ ภิกษุนั้น
ควรตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นแล้วทำความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้ง
หลายให้ยิ่งขึ้นไป
สจิตตสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๒. สารีปุตตสูตร
๒. สารีปุตตสูตร
ว่าด้วยพระสารีบุตร
[๕๒] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นกล่าวรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย หากภิกษุเป็นผู้ไม่ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนั้น
ภิกษุนั้นพึงสำเหนียกว่า ‘เราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน’ ผู้มีอายุทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุมีการพิจารณาที่เป็นอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลายว่า ‘เราเป็นผู้
มีอภิชฌาอยู่โดยมากหรือหนอ หรือไม่มีอภิชฌา เราเป็นผู้มีจิตพยาบาทอยู่โดยมาก
หรือหนอ หรือมีจิตไม่พยาบาท เราเป็นผู้มีถีนมิทธะกลุ้มรุมอยู่โดยมากหรือหนอ
หรือปราศจากถีนมิทธะ เราเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านอยู่โดยมากหรือหนอ หรือไม่มีจิตฟุ้งซ่าน
เราเป็นผู้มีความสงสัยอยู่โดยมากหรือหนอ หรือข้ามพ้นความสงสัยแล้ว เราเป็นผู้
มักโกรธอยู่โดยมากหรือหนอ หรือไม่มักโกรธ เราเป็นผู้มีจิตเศร้าหมองอยู่โดยมาก
หรือหนอ หรือมีจิตไม่เศร้าหมอง เราเป็นผู้มีกายกระสับกระส่ายอยู่โดยมากหรือหนอ
หรือมีกายไม่กระสับกระส่าย เราเป็นผู้เกียจคร้านอยู่โดยมากหรือหนอ หรือปรารภ
ความเพียร เราเป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมากหรือหนอ หรือมีจิตตั้งมั่น’ เปรียบ
เหมือนสตรีหรือบุรุษที่ยังหนุ่มสาว มีปกติชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนใน
กระจกเงาอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือในภาชนะน้ำที่ใส ถ้าเห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้นก็
พยายามขจัดธุลีหรือจุดดำนั้นเสีย หากไม่เห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็ดีใจ ภูมิใจ
ด้วยเหตุนั้นเองว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ หน้าของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ’
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มีอภิชฌาอยู่โดยมาก ฯลฯ เป็นผู้
มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมาก’ ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ
ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อละบาป
อกุศลธรรมเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๓. ฐิติสูตร
ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น
เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะที่ถูกไฟไหม้ ทำความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและ
สัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น
ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ไม่มีอภิชฌาอยู่
โดยมาก ฯลฯ เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมาก’ ภิกษุนั้นควรตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรม
เหล่านั้นแล้วทำความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายให้ยิ่งขึ้นไป
สารีปุตตสูตรที่ ๒ จบ

๓. ฐิติสูตร
ว่าด้วยความคงอยู่กับที่ในธรรม
[๕๓] ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้แต่ความคงอยู่กับที่ในกุศลธรรม
ทั้งหลาย ไฉนจะสรรเสริญความเสื่อมเล่า ภิกษุทั้งหลาย แต่เราสรรเสริญความเจริญ
ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ความคงอยู่กับที่ ไม่ใช่ความเสื่อม
ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ความคงอยู่กับที่ ไม่ใช่ความเจริญ
เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา และปฏิภาณอยู่
เท่าไร ธรรมเหล่านั้นของภิกษุนั้น ไม่คงอยู่กับที่ ไม่เจริญ เรากล่าวข้อนี้ว่าเป็น
ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ความคงอยู่กับที่ ไม่ใช่ความเจริญ
ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ความคงอยู่กับที่ ไม่ใช่ความเจริญ เป็น
อย่างนี้แล
ความคงอยู่กับที่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ความเสื่อม ไม่ใช่ความเจริญ
เป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรร ๓. ฐิติสูตร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา และปฏิภาณอยู่
เท่าไร ธรรมเหล่านั้นของภิกษุนั้น ไม่เสื่อม ไม่เจริญ เรากล่าวข้อนี้ว่าเป็นความคงอยู่
กับที่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ความเสื่อม ไม่ใช่ความเจริญ
ความคงอยู่กับที่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ความเสื่อม ไม่ใช่ความเจริญ
เป็นอย่างนี้แล
ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ความคงอยู่กับที่ ไม่ใช่ความเสื่อม
เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา และปฏิภาณอยู่
เท่าไร ธรรมเหล่านั้นของภิกษุนั้นไม่คงอยู่กับที่ ไม่เสื่อม เรากล่าวข้อนี้ว่าเป็นความ
เจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ความคงอยู่กับที่ ไม่ใช่ความเสื่อม
ความเจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ความคงอยู่กับที่ ไม่ใช่ความเสื่อม เป็น
อย่างนี้แล
หากภิกษุเป็นผู้ไม่ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุพึงสำเหนียก
ว่า ‘เราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียก
อย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุมีการพิจารณาที่เป็นอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลายว่า ‘เราเป็นผู้
มีอภิชฌาอยู่โดยมากหรือหนอ หรือไม่มีอภิชฌา เราเป็นผู้มีจิตพยาบาทอยู่โดยมาก
หรือหนอ หรือมีจิตไม่พยาบาท เราเป็นผู้มีถีนมิทธะกลุ้มรุมอยู่โดยมากหรือหนอ
หรือปราศจากถีนมิทธะ เราเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านอยู่โดยมากหรือหนอ หรือไม่มีจิต
ฟุ้งซ่าน เราเป็นผู้มีความสงสัยอยู่โดยมากหรือหนอ หรือข้ามพ้นความสงสัยแล้ว
เราเป็นผู้มักโกรธอยู่โดยมากหรือหนอ หรือไม่มักโกรธ เราเป็นผู้มีจิตเศร้าหมอง
หรือหนอ หรือมีจิตไม่เศร้าหมอง เราเป็นผู้มีกายกระสับกระส่ายอยู่โดยมากหรือหนอ
หรือมีกายไม่กระสับกระส่าย เราเป็นผู้เกียจคร้านอยู่โดยมากหรือหนอ หรือปรารภ
ความเพียร เราเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมากหรือหนอ หรือมีจิตไม่ตั้งมั่น’ เปรียบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรร ๓. ฐิติสูตร
เหมือนสตรีหรือบุรุษที่ยังหนุ่มสาว มีปกติชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนในกระจก
เงาอันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง หรือในภาชนะน้ำที่ใส ถ้าเห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็
พยายามขจัดธุลีหรือจุดดำนั้นเสีย หากไม่เห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็ดีใจ ภูมิใจ
ด้วยเหตุนั้นเองว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ หน้าของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ’
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มีอภิชฌาอยู่โดยมาก เป็นผู้มีจิต
พยาบาทอยู่โดยมาก เป็นผู้มีถีนมิทธะกลุ้มรุมอยู่โดยมาก เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านอยู่โดย
มาก เป็นผู้มีความสงสัยอยู่โดยมาก เป็นผู้มักโกรธอยู่โดยมาก เป็นผู้มีจิตเศร้าหมอง
อยู่โดยมาก เป็นผู้มีกายกระสับกระส่ายอยู่โดยมาก เป็นผู้เกียจคร้านอยู่โดยมาก
เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมาก’ ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความ
อุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง
เพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น
ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้น
เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะที่ถูกไฟไหม้ ทำความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและ
สัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ไม่มีอภิชฌาอยู่โดย
มากเป็นผู้มีจิตไม่พยาบาทอยู่โดยมาก เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะอยู่โดยมาก เป็นผู้
ไม่ฟุ้งซ่านอยู่โดยมาก เป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัยแล้วอยู่โดยมาก เป็นผู้ไม่มักโกรธอยู่
โดยมาก เป็นผู้มีจิตไม่เศร้าหมองอยู่โดยมาก เป็นผู้มีกายไม่กระสับกระส่ายอยู่โดย
มาก เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่โดยมาก เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมาก’ ภิกษุนั้นควร
ตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นแล้วทำความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
ให้ยิ่งขึ้นไป
ฐิติสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๔. สมถสูตร
๔. สมถสูตร
ว่าด้วยความสงบแห่งจิต
[๕๔] ภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุไม่ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนั้น
ภิกษุพึงสำเหนียกว่า ‘เราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้ง
หลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
ภิกษุฉลาดในวาระจิตของตน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุมีการพิจารณาที่เป็นอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลายว่า ‘เราได้
ความสงบแห่งจิตภายในหรือไม่ได้หนอ เราได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
หรือไม่ได้หนอ’ เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษที่ยังหนุ่มสาว มีปกติชอบแต่งตัว ส่องดู
เงาหน้าของตนในกระจกเงาอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือในภาชนะน้ำที่ใส ถ้าเห็นธุลีหรือ
จุดดำที่หน้านั้น ก็พยายามขจัดธุลีหรือจุดดำนั้นเสีย หากไม่เห็นธุลีหรือจุดดำนั้น
ก็ดีใจ ภูมิใจ ด้วยเหตุนั้นเองว่า ‘เป็นลาภของเรา หน้าของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ’
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘เราได้ความสงบแห่งจิตภายใน แต่ไม่ได้
ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง’ ภิกษุนั้นควรตั้งมั่นในความสงบแห่งจิตภายใน
แล้วทำความเพียรเพื่อความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่งเถิด สมัยต่อมา ภิกษุนั้น
ได้ทั้งความสงบแห่งจิตภายใน และความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘เราได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
แต่ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายใน’ ภิกษุนั้นควรตั้งมั่นอยู่ในความเห็นแจ้งธรรมด้วย
ปัญญาอันยิ่งแล้วทำความเพียรเพื่อความสงบแห่งจิตภายในเถิด สมัยต่อมา ภิกษุ
นั้นได้ทั้งความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง และความสงบจิตภายใน
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘เราไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายใน และความ
เห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง’ ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความ
อุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง
เพื่อได้กุศลธรรมเหล่านั้นเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๔. สมถสูตร
ภิกษุนั้นพึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อได้กุศลธรรมเหล่านั้น เปรียบ
เหมือนบุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะที่ถูกไฟไหม้ ทำความพอใจ ความ
พยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ
ให้มีประมาณยิ่งเพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น สมัยต่อมา ภิกษุนั้น ได้ทั้ง
ความสงบแห่งจิตภายใน และความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘เราได้ความสงบแห่งจิตภายใน ได้ความเห็น
แจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง’ ภิกษุนั้นควรตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นแล้ว ทำ
ความเพียร เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายให้ยิ่งขึ้นไป
แม้จีวรเราก็กล่าวว่ามี ๒ อย่าง คือจีวรที่ควรใช้สอยและจีวรที่ไม่ควรใช้สอย
แม้บิณฑบาตเราก็กล่าวว่ามี ๒ อย่าง คือบิณฑบาตที่ควรฉัน และบิณฑบาตที่ไม่
ควรฉัน แม้เสนาสนะเราก็กล่าวว่ามี ๒ อย่าง คือเสนาสนะที่ควรอยู่อาศัย และ
เสนาสนะที่ไม่ควรอยู่อาศัย แม้บ้านและนิคมเราก็กล่าวว่ามี ๒ อย่าง คือบ้านและ
นิคมที่ควรอยู่อาศัย และบ้านและนิคมที่ไม่ควรอยู่อาศัย แม้ชนบทและประเทศเรา
ก็กล่าวว่ามี ๒ อย่าง คือชนบทและประเทศที่ควรอยู่อาศัย และชนบทและประเทศที่
ไม่ควรอยู่อาศัย แม้บุคคลเราก็กล่าวว่ามี ๒ ประเภท คือบุคคลที่ควรคบ และบุคคล
ที่ไม่ควรคบ

จีวรที่ควรใช้สอย และที่ไม่ควรใช้สอย
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘แม้จีวรเราก็กล่าวว่ามี ๒ อย่าง คือจีวรที่ควรใช้สอย
และจีวรที่ไม่ควรใช้สอย’ เพราะอาศัยอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
บรรดาจีวร ๒ อย่างนั้น จีวรใดภิกษุรู้ว่า ‘เมื่อเราใช้สอยจีวรนี้แล อกุศลธรรม
ทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมไป’ จีวรนี้ไม่ควรใช้สอย จีวรใดภิกษุ
รู้ว่า ‘เมื่อเราใช้สอยจีวรนี้แล อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น’ จีวรนี้ควร
ใช้สอย เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘แม้จีวรเราก็กล่าวว่า มี ๒ อย่าง คือจีวรที่
ควรใช้สอย และจีวรที่ไม่ควรใช้สอย’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๔. สมถสูตร
บิณฑบาตที่ควรฉัน และที่ไม่ควรฉัน
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘แม้บิณฑบาตเราก็กล่าวว่ามี ๒ อย่าง คือ
บิณฑบาตที่ควรฉัน และบิณฑบาตที่ไม่ควรฉัน’ เพราะอาศัยอะไร เราจึงกล่าวไว้
เช่นนั้น
บรรดาบิณฑบาต ๒ อย่างนั้น บิณฑบาตใดภิกษุรู้ว่า ‘เมื่อเราฉันบิณฑบาต
นี้แล อกุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป’ บิณฑบาตนี้ไม่ควรฉัน บิณฑบาต
ใดภิกษุรู้ว่า ‘เมื่อเราฉันบิณฑบาตนี้แล อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น’
บิณฑบาตนี้ควรฉัน เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘แม้บิณฑบาตเราก็กล่าวว่า
มี ๒ อย่าง คือบิณฑบาตที่ควรฉัน และบิณฑบาตที่ไม่ควรฉัน’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

เสนาสนะที่ควรอยู่อาศัย และที่ไม่ควรอยู่อาศัย
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘แม้เสนาสนะเราก็กล่าวว่ามี ๒ อย่าง คือเสนาสนะที่
ควรอยู่อาศัย และเสนาสนะที่ไม่ควรอยู่อาศัย’ เพราะอาศัยอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
บรรดาเสนาสนะ ๒ อย่างนั้น เสนาสนะใดภิกษุรู้ว่า ‘เมื่อเราอยู่อาศัย
เสนาสนะนี้แล อกุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป’ เสนาสนะนี้ไม่ควรอยู่
อาศัย เสนาสนะใดภิกษุรู้ว่า ‘เมื่อเราอยู่อาศัยเสนาสนะนี้แล อกุศลธรรมเสื่อมไป
กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น’ เสนาสนะนี้ควรอยู่อาศัย เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘แม้
เสนาสนะเราก็กล่าวว่ามี ๒ อย่าง คือเสนาสนะที่ควรอยู่อาศัย และเสนาสนะที่ไม่
ควรอยู่อาศัย’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

บ้านและนิคมที่ควรอยู่อาศัย และที่ไม่ควรอยู่อาศัย
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘แม้บ้านและนิคมเราก็กล่าวว่ามี ๒ อย่าง คือบ้าน
และนิคมที่ควรอยู่อาศัย และบ้านและนิคมที่ไม่ควรอยู่อาศัย’ เพราะอาศัยอะไร เรา
จึงกล่าวไว้เช่นนั้น
บรรดาบ้านและนิคม ๒ อย่างนั้น บ้านและนิคมใดภิกษุรู้ว่า ‘เมื่อเราอยู่อาศัย
บ้านและนิคมนี้แล อกุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป’ บ้านและนิคมนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๔. สมถสูตร
ไม่ควรอยู่อาศัย บ้านและนิคมใดภิกษุรู้ว่า ‘เมื่อเราอยู่อาศัยบ้านและนิคมนี้แล
อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น’ บ้านและนิคมนี้ควรอยู่อาศัย เพราะ
อาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘แม้บ้านและนิคมเราก็กล่าวว่ามี ๒ อย่าง คือบ้านและนิคม
ที่ควรอยู่อาศัย และบ้านและนิคมที่ไม่ควรอยู่อาศัย’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

ชนบทและประเทศที่ควรอยู่อาศัย และที่ไม่ควรอยู่อาศัย
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘แม้ชนบทและประเทศเราก็กล่าวว่ามี ๒ อย่าง คือ
ชนบทและประเทศที่ควรอยู่อาศัย และชนบทและประเทศที่ไม่ควรอยู่อาศัย’ เพราะ
อาศัยอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
บรรดาชนบทและประเทศ ๒ อย่างนั้น ชนบทและประเทศใดภิกษุรู้ว่า ‘เมื่อเรา
อยู่อาศัยชนบทและประเทศนี้แล อกุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป’ ชนบท
และประเทศนี้ไม่ควรอยู่อาศัย ชนบทและประเทศใดภิกษุรู้ว่า ‘เมื่อเราอยู่อาศัย
ชนบทและประเทศนี้แล อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น’ ชนบทและ
ประเทศนี้ควรอยู่อาศัย เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘แม้ชนบทและประเทศเราก็
กล่าวว่ามี ๒ อย่าง คือชนบทและประเทศที่ควรอยู่อาศัย และชนบทและประเทศที่
ไม่ควรอยู่อาศัย’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

บุคคลที่ควรคบ และที่ไม่ควรคบ
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘แม้บุคคลเราก็กล่าวว่ามี ๒ ประเภท คือบุคคลที่
ควรคบ และบุคคลที่ไม่ควรคบ’ เพราะอาศัยอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
บรรดาบุคคล ๒ ประเภทนั้น บุคคลใดภิกษุรู้ว่า ‘เมื่อเราคบบุคคลนี้แล อกุศล
ธรรมเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป’ บุคคลนี้ไม่ควรคบ บุคคลใด ภิกษุรู้ว่า ‘เมื่อเรา
คบบุคคลนี้แล อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น’ บุคคลนี้ควรคบ เพราะ
อาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘แม้บุคคลเราก็กล่าวว่ามี ๒ ประเภท คือ บุคคลที่ควรคบ
และบุคคลที่ไม่ควรคบ’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
สมถสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๕. ปริหานสูตร
๕. ปริหานสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้มีธรรมที่เสื่อมไป
[๕๕] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ภิกษุ
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นกล่าวรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าว
เรื่องนี้ว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘บุคคลผู้มีธรรมที่เสื่อมไป บุคคลผู้
มีธรรมที่เสื่อมไป’ และตรัสว่า ‘บุคคลผู้มีธรรมที่ไม่เสื่อม บุคคลผู้มีธรรมที่ไม่เสื่อม’
ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลผู้มีธรรมที่เสื่อมไป พระผู้มีพระภาคตรัสด้วยเหตุเท่าไรหนอ
และบุคคลผู้มีธรรมที่ไม่เสื่อม พระผู้มีพระภาคตรัสด้วยเหตุเท่าไร”
ภิกษุเหล่านั้นเรียนว่า “ผู้มีอายุ กระผมทั้งหลายมาแต่ที่ไกลเพื่อทราบเนื้อความ
แห่งภาษิตนี้ในสำนักของท่านสารีบุตร ดีละ เฉพาะท่านสารีบุตรเท่านั้นที่จะอธิบาย
เนื้อความแห่งภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งได้ ภิกษุทั้งหลายฟังต่อจากท่านสารีบุตรแล้ว
จักทรงจำไว้”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี ผมจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าว
เรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลผู้มีธรรมที่เสื่อมไป พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยเหตุ
เท่าไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. ไม่ได้ฟังธรรมที่ยังไม่เคยฟัง
๒. ธรรมที่ภิกษุนั้นเคยฟังแล้ว ถึงความเลอะเลือน
๓. ธรรมที่ภิกษุนั้นเคยสัมผัสด้วยใจมาก่อน ไม่ปรากฏแก่เธอ
๔. ภิกษุนั้นย่อมไม่รู้ธรรมที่ยังไม่เคยรู้
บุคคลผู้มีธรรมที่เสื่อมไป พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยเหตุเท่านี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๕. ปริหานสูตร
บุคคลผู้มีธรรมที่ไม่เสื่อม
บุคคลผู้มีธรรมที่ไม่เสื่อม พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยเหตุเท่าไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
๑. ได้ฟังธรรมที่ยังไม่เคยฟัง
๒. ธรรมที่ภิกษุนั้นเคยฟังแล้ว ไม่ถึงความเลอะเลือน
๓. ธรรมที่ภิกษุนั้นเคยสัมผัสด้วยใจมาก่อน ปรากฏแก่เธอ
๔. ภิกษุนั้นย่อมรู้ธรรมที่ยังไม่เคยรู้
บุคคลผู้มีธรรมที่ไม่เสื่อม พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยเหตุเท่านี้แล
หากภิกษุไม่ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุนั้นพึงสำเหนียกว่า
“เราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน”
ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล

ภิกษุผู้ฉลาดในวาระจิตของตน
ภิกษุฉลาดในวาระจิตของตน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุมีการพิจารณาที่เป็นอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลายว่า ‘เราไม่มี
อภิชฌาอยู่โดยมากหรือหนอ ธรรมนี้มีอยู่พร้อมแก่เราหรือไม่หนอ เรามีจิตไม่
พยาบาทอยู่โดยมากหรือหนอ ธรรมนี้มีอยู่พร้อมแก่เราหรือไม่หนอ เราปราศจาก
ถีนมิทธะอยู่โดยมากหรือหนอ ธรรมนี้มีอยู่พร้อมแก่เราหรือไม่หนอ เรามีจิตไม่
ฟุ้งซ่านอยู่โดยมากหรือหนอ ธรรมนี้มีอยู่พร้อมแก่เราหรือไม่หนอ เราข้ามพ้นความ
สงสัยแล้วอยู่โดยมากหรือหนอ ธรรมนี้มีอยู่พร้อมแก่เราหรือไม่หนอ เราไม่มักโกรธ
อยู่โดยมากหรือหนอ ธรรมนี้มีอยู่พร้อมแก่เราหรือไม่หนอ เรามีจิตไม่เศร้าหมองอยู่
โดยมากหรือหนอ ธรรมนี้มีอยู่พร้อมแก่เราหรือไม่หนอ เราได้ปราโมทย์ในธรรม
ภายในหรือหนอ ธรรมนี้มีอยู่พร้อมแก่เราหรือไม่หนอ เราได้ความสงบแห่งจิตภายใน
หรือหนอ ธรรมนี้มีอยู่พร้อมแก่เราหรือไม่หนอ เราได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วย
ปัญญาอันยิ่งหรือหนอ ธรรมนี้มีอยู่พร้อมแก่เราหรือไม่หนอ’ เปรียบเหมือนสตรี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๕. ปริหานสูตร
หรือบุรุษที่ยังหนุ่มสาวมีปกติชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกเงาอันบริสุทธิ์
ผุดผ่อง หรือในภาชนะน้ำที่ใส ถ้าเห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็พยายามขจัดธุลี
หรือจุดดำนั้นเสีย หากไม่เห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็ดีใจ ภูมิใจ ด้วยเหตุนั้นเอง
ว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ หน้าของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ’
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ไม่พิจารณาเห็นกุศลธรรมเหล่านี้แม้ทั้งหมดในตน ภิกษุ
นั้นก็ควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อได้กุศลธรรมเหล่านี้ทั้งหมด
ภิกษุนั้นก็ควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อได้กุศลธรรมทั้งหลายเหล่านี้
เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้หรือมีศีรษะที่ถูกไฟไหม้ ควรทำความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ
ให้มีประมาณยิ่งเพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ พิจารณาเห็นกุศลธรรมบางเหล่าว่ามีในตน พิจารณาเห็น
กุศลธรรมบางเหล่าว่าไม่มีในตน ภิกษุนั้นก็ควรตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลายที่
พิจารณาเห็นว่ามีในตนแล้ว ทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความ
ขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อได้กุศลธรรม
ที่พิจารณาเห็นว่าไม่มีในตนเหล่านั้น
ภิกษุนั้นควรตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลายที่พิจารณาเห็นในตนแล้ว ทำความ
พอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและ
สัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อได้กุศลธรรมทั้งหลายที่พิจารณาเห็นว่าไม่มีในตน
เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้หรือมีศีรษะที่ถูกไฟไหม้ ทำความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและ
สัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น
ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ พิจารณาเห็นกุศลธรรมเหล่านี้แม้
ทั้งหมดว่ามีในตน ภิกษุนั้นก็ควรตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเลยแล้วทำ
ความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายให้ยิ่งขึ้นไป
ปริหานสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๖. ปฐมสัญญาสูตร
๖. ปฐมสัญญาสูตร๑
ว่าด้วยสัญญา สูตรที่ ๑
[๕๖] ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๑๐ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ๒ มีอมตะเป็นที่สุด
สัญญา ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อสุภสัญญา (กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย)
๒. มรณสัญญา (กำหนดหมายความตายที่จะต้องมาถึงเป็นธรรมดา)
๓. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา (กำหนดหมายความปฏิกูลในอาหาร)
๔. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา (กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลก
ทั้งปวง)
๕. อนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร)
๖. อนิจเจ ทุกขสัญญา (กำหนดหมายความเป็นทุกข์ในความไม่เที่ยงแห่ง
สังขาร)
๗. ทุกเข อนัตตสัญญา (กำหนดหมายความเป็นอนัตตาในความเป็นทุกข์)
๘. ปหานสัญญา (กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตกและบาปธรรมทั้งหลาย)
๙. วิราคสัญญา (กำหนดหมายวิราคะว่าเป็นธรรมละเอียดประณีต)
๑๐. นิโรธสัญญา (กำหนดหมายนิโรธว่าเป็นธรรมละเอียดประณีต)
ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๑๐ ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
ปฐมสัญญาสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.สตฺตก. ๒๓/๔๘-๔๙/๔๐-๔๑
๒ อมตะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๔๘-๔๙/๑๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๗. ทุติยสัญญาสูตร
๗. ทุติยสัญญาสูตร
ว่าด้วยสัญญา สูตรที่ ๒
[๕๗] ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๑๐ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
สัญญา ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร)
๒. อนัตตสัญญา (กำหนดหมายความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งปวง)
๓. มรณสัญญา (กำหนดหมายความตายที่จะต้องมาถึงเป็นธรรมดา)
๔. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา (กำหนดหมายความปฏิกูลในอาหาร)
๕. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา(กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลก
ทั้งปวง)
๖. อัฏฐิกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูกหรือ
กระดูกท่อน)
๗. ปุฬุวกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด)
๘. วินีลกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่มีสีเขียวคล้ำคละด้วยสีต่าง ๆ)
๙. วิจฉิททกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่ขาดจากกันเป็น ๒ ท่อน)
๑๐. อุทธุมาตกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่เน่าพองขึ้นอืด)
ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๑๐ ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
ทุติยสัญญาสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๘. มูลกสูตร
๘. มูลกสูตร
ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรมทั้งหลาย
[๕๘] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกถามอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นมูล ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นต้นกำเนิด ธรรมทั้งปวง
มีอะไรเป็นเหตุเกิด ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นที่ชุมนุม ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นประมุข
ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นใหญ่ ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นยอดยิ่ง ธรรมทั้งปวงมีอะไร
เป็นแก่น ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นที่หยั่งลง ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นที่สุด’ ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว จะตอบพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
อย่างไร
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาค
เป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เฉพาะพระผู้มีพระภาคเท่านั้น
ที่จะทรงอธิบายเนื้อความแห่งพระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งได้ ภิกษุทั้งหลายฟังต่อจาก
พระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจ
ให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้
ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกถามอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย
๑. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นมูล
๒. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นต้นกำเนิด
๓. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นเหตุเกิด
๔. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นที่ชุมนุม
๕. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นประมุข
๖. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นใหญ่
๗. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นยอดยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๘. มูลกสูตร
๘. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นแก่น
๙. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นที่หยั่งลง
๑๐. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นที่สุด’
เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว ควรตอบพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
อย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย
๑. ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล
๒. ธรรมทั้งปวงมีมนสิการเป็นต้นกำเนิด
๓. ธรรมทั้งปวงมีผัสสะเป็นเหตุเกิด
๔. ธรรมทั้งปวงมีเวทนาเป็นที่ชุมนุม
๕. ธรรมทั้งปวงมีสมาธิเป็นประมุข
๖. ธรรมทั้งปวงมีสติเป็นใหญ่
๗. ธรรมทั้งปวงมีปัญญาเป็นยอดยิ่ง
๘. ธรรมทั้งปวงมีวิมุตติเป็นแก่น
๙. ธรรมทั้งปวงมีอมตะเป็นที่หยั่งลง
๑๐. ธรรมทั้งปวงมีนิพพานเป็นที่สุด’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว ควรตอบพวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้แล
มูลกสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๙. ปัพพัชชาสูตร
๙. ปัพพัชชาสูตร
ว่าด้วยจิตที่ได้รับการอบรมตามสมควรแก่บรรพชา
[๕๙] ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า
‘จิตของเราจักได้รับการอบรมตามสมควรแก่บรรพชา และบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้น
แล้ว จักไม่ครอบงำจิตอยู่ (คือ) จิตของเราจักได้รับการอบรมด้วยอนิจจสัญญา ๑
จิตของเราจักได้รับการอบรมด้วยอนัตตสัญญา ๑ จิตของเราจักได้รับการอบรมด้วย
อสุภสัญญา ๑ จิตของเราจักได้รับการอบรมด้วยอาทีนวสัญญา ๑ จิตของเราจักรู้
ความประพฤติชอบและไม่ชอบของสัตว์โลกแล้วได้รับการอบรมด้วยสัญญา ๑ จิต
ของเราจักรู้ความเจริญและความเสื่อมของสัตว์โลกแล้วได้รับการอบรมด้วยสัญญา ๑
จิตของเราจักรู้ความเกิดและความดับแห่งสังขารโลกแล้วได้รับการอบรมด้วยสัญญา ๑
จิตของเราจักได้รับการอบรมด้วยปหานสัญญา ๑ จิตของเราจักได้รับการอบรมด้วย
วิราคสัญญา ๑ จิตของเราจักได้รับการอบรมด้วยนิโรธสัญญา ๑’ ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
เมื่อใด จิตของภิกษุได้รับการอบรมตามสมควรแก่บรรพชา และบาปอกุศลธรรม
ที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ครอบงำจิตอยู่ (คือ) จิตได้รับการอบรมด้วยอนิจจสัญญา ๑
จิตได้รับการอบรมด้วยอนัตตสัญญา ๑ จิตได้รับการอบรมด้วยอสุภสัญญา ๑ จิตได้
รับการอบรมด้วยอาทีนวสัญญา ๑ จิตนั้นรู้ความประพฤติชอบและไม่ชอบของสัตว์
โลกแล้วได้รับการอบรมด้วยสัญญา ๑ จิตรู้ความเจริญและความเสื่อมของสัตว์โลก
แล้วได้รับการอบรมด้วยสัญญา ๑ จิตรู้ความเกิดและความดับแห่งสังขารโลกแล้วได้
รับการอบรมด้วยสัญญา ๑ จิตได้รับการอบรมด้วยปหานสัญญา ๑ จิตได้รับการ
อบรมด้วยวิราคสัญญา ๑ จิตได้รับการอบรมด้วยนิโรธสัญญา ๑
เมื่อนั้น ภิกษุนั้นพึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
ปัพพัชชาสูตรที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๑๐. คิริมานันทสูตร
๑๐. คิริมานันทสูตร
ว่าด้วยการหายอาพาธของพระคิริมานนท์
[๖๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์
เป็นไข้หนัก ท่านพระอานนท์จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก
ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอนุเคราะห์เสด็จไปเยี่ยมท่านพระ
คิริมานนท์ยังที่อยู่เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเธอเข้าไปหาแล้วกล่าวสัญญา ๑๐
ประการแก่คิริมานนท์ภิกษุ เป็นไปได้ที่การอาพาธของคิริมานนท์ภิกษุจะสงบระงับ
โดยฉับพลันเพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้
สัญญา ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. อนิจจสัญญา ๒. อนัตตสัญญา
๓. อสุภสัญญา ๔. อาทีนวสัญญา
๕. ปหานสัญญา ๖. วิราคสัญญา
๗. นิโรธสัญญา ๘. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา
๙. สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา ๑๐. อานาปานสติ

อนิจจสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณา
ว่า ‘รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง’
เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้อยู่อย่างนี้
นี้เรียกว่า อนิจจสัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๑๐. คิริมานันทสูตร
อนัตตสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณา
เห็นว่า ตาเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็น
อนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะ
เป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความ
เป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลายที่เป็นภายในและภายนอก ๖ ประการนี้อยู่อย่างนี้
นี้เรียกว่า อนัตตสัญญา
อสุภสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นกายนี้เท่านั้น ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่
ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต๑ หัวใจ ตับ
พังผืด ม้าม๒ ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด
เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร’ เป็นผู้พิจารณาเห็นโดย
ความเป็นของไม่งามในกายนี้อยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่า อสุภสัญญา
อาทีนวสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณา
เห็นว่า ‘กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้
คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน
โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เชื่อมซึม โรคท้อง โรคลมสลบ

เชิงอรรถ :
๑ ไต แปลจากคำว่า “วกฺก” (โบราณแปลว่า ม้าม) ได้แก่ ก้อนเนื้อ ๒ ก้อน มีขั้วเดียวกัน รูปร่างคล้ายลูก
สะบ้าของเด็ก ๆ หรือคล้ายผลมะม่วง ๒ ผลที่ติดอยู่ในขั้วเดียวกัน มีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัวใจ
แล้วแยกออกห้อยอยู่ทั้ง ๒ ข้าง (ขุ.ขุ.อ. ๓/๔๓) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ให้บท
นิยามของคำว่า “ไต” ว่า “อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูกสันหลัง ทำหน้าที่ขับของ
เสียออกมากับน้ำปัสสาวะ Buddhadatta Mahathera, A. Concise Pali-English Dictionary, 1985, (224);
และ Rhys Davids, T.W. Pali-English Dictionary, 1921-1925,(591) ให้ความหมายคำว่า “วกฺก”
ตรงกับคำว่า “ไต” (Kidney)
๒ ม้าม แปลจากคำว่า “ปิหก” ตาม (ขุ.ขุ.อ. ๓/๔๕) (โบราณแปลว่า ไต); พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.๒๕๒๕ ให้บทนิยามไว้ว่า “อวัยวะภายในร่างกาย ริมกระเพาะอาหารข้างซ้าย มีหน้าที่ทำลายเม็ด
เลือดแดงสร้างเม็ดเลือดเหลืองและสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๑๐. คิริมานันทสูตร
โรคลงแดง๑ โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลม
บ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด โรคหูด โรคละอองบวม โรค
อาเจียนเป็นเลือด โรคดี โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดี
เป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสลดเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้
สันนิบาตเป็นสมุฏฐาน อาพาธที่เกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธที่เกิดแต่การบริหารที่
ไม่สม่ำเสมอ อาพาธที่เกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธที่เกิดแต่วิบากของกรรม
ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ’
เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้อยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่า อาทีนวสัญญา
ปหานสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้
ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด
ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้
สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
เกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป นี้เรียกว่า
ปหานสัญญา
วิราคสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณา
เห็นว่า ‘ภาวะที่สงบ ประณีต คือความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนซึ่งอุปธิ
ทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด นิพพาน’ นี้เรียกว่า วิราคสัญญา
นิโรธสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณา
เห็นว่า ‘ภาวะที่สงบ ประณีต คือความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนซึ่งอุปธิ
ทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความดับ นิพพาน’ นี้เรียกว่า นิโรธสัญญา
สัพพโลเก อนภิรตสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละอุปาทานในโลกที่เป็นเหตุตั้งมั่น ยึดมั่น และเป็น
อนุสัยแห่งจิต งดเว้น ไม่ถือมั่น นี้เรียกว่า สัพพโลเก อนภิรตสัญญา

เชิงอรรถ :
๑ โรคลงแดง หมายถึงโรคที่ถ่ายอุจจาระท้องเดินเป็นเลือด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๑๐. คิริมานันทสูตร
สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมอึดอัด ระอา รังเกียจในสังขารทั้งปวง นี้เรียกว่า
สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา
อานาปานสติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้
บัลลังก์๑ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า๒ มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก๓

อานาปานสติ ๑๖ ขั้น๔
๑. เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว
๒. เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น
เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น
๓. สำเหนียกว่า จะรู้ชัดกองลมทั้งปวง หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะรู้ชัดกองลมทั้งปวง หายใจออก
๔. สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขาร หายใจออก
๕. สำเหนียกว่า จะรู้ชัดปีติ หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะรู้ชัดปีติ หายใจออก

เชิงอรรถ :
๑ นั่งคู้บัลลังก์ หมายถึงนั่งพับขาเข้าหากันทั้ง ๒ ข้าง เรียกว่านั่งขัดสมาธิ (วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๕)
๒ ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติกำหนดอารมณ์กัมมัฏฐาน (วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๕)
๓ ตามอรรถกถาพระสูตรนี้ อัสสาสะ หมายถึง หายใจเข้า ปัสสาสะ หมายถึงหายใจออก (อสฺสาโสติ อนฺโต-
ปวิสนนาสิกวาโต. ปสฺสาโสติ พหินิกฺขมนนาสิกวาโต. ม.ม.อ.๒/๓๐๕/๑๓๖) ส่วนตามอรรถกถาวินัยกลับกัน
คือ อัสสาสะ หมายถึงหายใจออก ปัสสาสะ หมายถึงหายใจเข้า (อสฺสาโสติ พหินิกฺขมนวาโต ปสฺสาโสติ
อนฺโตปวิสนวาโต. วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๖)
๔ ดู ม.ม. ๑๓/๑๔๑/๙๕-๖, ม.อุ. ๑๔/๑๔๗/๑๓๐-๑๓๑, สํ.ม. ๑๙/๙๗๗/๒๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค ๑๐. คิริมานันทสูตร
๖. สำเหนียกว่า จะรู้ชัดสุข หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะรู้ชัดสุข หายใจออก
๗. สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิตตสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิตตสังขาร หายใจออก
๘. สำเหนียกว่า จะระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะระงับจิตตสังขาร หายใจออก
๙. สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิต หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะรู้ชัดจิต หายใจออก
๑๐. สำเหนียกว่า จะยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะยังจิตให้บันเทิง หายใจออก
๑๑. สำเหนียกว่า จะตั้งจิตมั่น หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะตั้งจิตมั่น หายใจออก
๑๒. สำเหนียกว่า จะเปลื้องจิต หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะเปลื้องจิต หายใจออก
๑๓. สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง หายใจออก
๑๔. สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจออก
๑๕. สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความดับไป หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความดับไป หายใจออก
๑๖. สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจออก
นี้เรียกว่า อานาปานสติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๑. สจิตตวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ถ้าเธอจะพึงเข้าไปหาแล้วกล่าวสัญญา ๑๐ ประการนี้แก่คิริมานนท์ภิกษุ
เป็นไปได้ที่อาพาธของคิริมานนท์ภิกษุนั้นจะระงับไปโดยฉับพลันเพราะได้ฟัง
สัญญา ๑๐ ประการนี้
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เรียนสัญญา ๑๐ ประการนี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาค เข้าไปหาท่านพระคิริมานนท์ถึงที่อยู่ กล่าวสัญญา ๑๐ ประการนี้แก่ท่าน
พระคิริมานนท์ ขณะนั้นเอง อาพาธของท่านพระคิริมานนท์สงบระงับลงโดย
ฉับพลันเพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ ท่านพระคิริมานนท์ได้หายขาดจาก
อาพาธนั้น
อาพาธนั้น เป็นโรคอันท่านพระคิริมานนท์ละได้ อย่างนี้แล
คิริมานันทสูตรที่ ๑๐ จบ
สจิตตวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สจิตตสูตร ๒. สารีปุตตสูตร
๓. ฐิติสูตร ๔. สมถสูตร
๕. ปริหานสูตร ๖. ปฐมสัญญาสูตร
๗. ทุติยสัญญาสูตร ๘. มูลกสูตร
๙. ปัพพัชชาสูตร ๑๐. คิริมานันทสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๑. อวิชชาสูตร
๒. ยมกวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมคู่กัน
๑. อวิชชาสูตร
ว่าด้วยอวิชชา
[๖๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่
ปรากฏ ในกาลก่อนแต่นี้ อวิชชาไม่มี ภายหลังจึงมี เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวคำนี้
อย่างนี้ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น อวิชชาที่มีข้อนี้เป็นปัจจัยจึงปรากฏ
แม้อวิชชา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร๑ มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็นอาหาร
ของอวิชชา ควรตอบว่า ‘นิวรณ์ ๕’
แม้นิวรณ์ ๕ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็น
อาหารของนิวรณ์ ๕ ควรตอบว่า ‘ทุจริต ๓’
แม้ทุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็น
อาหารของทุจริต ๓ ควรตอบว่า ‘ความไม่สำรวมอินทรีย์’
แม้ความไม่สำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
อะไรเล่าเป็นอาหารของความไม่สำรวมอินทรีย์ ควรตอบว่า ‘ความไม่มีสติ-
สัมปชัญญะ’
แม้ความไม่มีสติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
อะไรเล่าเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ ควรตอบว่า ‘การมนสิการโดยไม่
แยบคาย’
แม้การมนสิการโดยไม่แยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
อะไรเล่าเป็นอาหารของการมนสิการโดยไม่แยบคาย ควรตอบว่า ‘ความไม่มีศรัทธา’
แม้ความไม่มีศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่า
เป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา ควรตอบว่า ‘การไม่ฟังสัทธรรม’

เชิงอรรถ :
๑ อาหาร ในที่นี้หมายถึงปัจจัยหรือเหตุ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๖๑-๖๒/๓๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๑. อวิชชาสูตร
แม้การไม่ฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่า
เป็นอาหารของการไม่ฟังสัทธรรม ควรตอบว่า ‘การไม่คบสัตบุรุษ’
การไม่คบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การไม่ฟังสัทธรรมบริบูรณ์
การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ความไม่มีศรัทธาบริบูรณ์
ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การมนสิการโดยไม่แยบคายบริบูรณ์
การมนสิการโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ความไม่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์
ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ความไม่สำรวมอินทรีย์บริบูรณ์
ความไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ทุจริต ๓ บริบูรณ์
ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้นิวรณ์ ๕ บริบูรณ์
นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้อวิชชาบริบูรณ์
อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย การไม่คบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ย่อมทำให้การไม่ฟังสัทธรรมบริบูรณ์
ฯลฯ นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้อวิชชาบริบูรณ์ อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และ
บริบูรณ์อย่างนี้ เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงบนยอดเขา เมื่อฝนตกลงหนัก ๆ
น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่มทำให้ซอกเขา ลำธาร และห้วยเต็มเปี่ยม ซอกเขา ลำธาร
และห้วยเต็มเปี่ยมแล้วทำให้หนองเต็ม หนองเต็มแล้วทำให้บึงเต็ม บึงเต็มแล้วทำให้
แม่น้ำน้อยเต็ม แม่น้ำน้อยเต็มแล้วทำให้แม่น้ำใหญ่เต็ม แม่น้ำใหญ่เต็มแล้วทำให้
มหาสมุทรสาครเต็ม มหาสมุทรสาครนี้มีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้

ว่าด้วยวิชชาและวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย แม้วิชชาและวิมุตติ๑ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มี
อาหาร อะไรเล่าเป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ ควรตอบว่า ‘โพชฌงค์ ๗’
แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็น
อาหารของโพชฌงค์ ๗ ควรตอบว่า ‘สติปัฏฐาน ๔’

เชิงอรรถ :
๑ วิชชาและวิมุตติ ในที่นี้หมายถึงผลญาณ และสัมปยุตตธรรมที่เหลือ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๖๑-๖๒/๓๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๑. อวิชชาสูตร
แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่า
เป็นอาหารของสติปัฏฐาน ๔ ควรตอบว่า ‘สุจริต ๓’
แม้สุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็น
อาหารของสุจริต ๓ ควรตอบว่า ‘ความสำรวมอินทรีย์’
แม้ความสำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไร
เล่าเป็นอาหารของความสำรวมอินทรีย์ ควรตอบว่า ‘สติสัมปชัญญะ’
แม้สติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่า
เป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรตอบว่า ‘การมนสิการโดยแยบคาย’
แม้การมนสิการโดยแยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
อะไรเล่าเป็นอาหารของการมนสิการโดยแยบคาย ควรตอบว่า ‘ศรัทธา’
แม้ศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็นอาหาร
ของศรัทธา ควรตอบว่า ‘การฟังสัทธรรม’
แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่า
เป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรตอบว่า ‘การคบสัตบุรุษ’
การคบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การฟังสัทธรรมบริบูรณ์
การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ศรัทธาบริบูรณ์
ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การมนสิการโดยแยบคายบริบูรณ์
การมนสิการโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้สติสัมปชัญญะบริบูรณ์
สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ความสำรวมอินทรีย์บริบูรณ์
ความสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้สุจริต ๓ บริบูรณ์
สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์
สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์
โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์
วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๒. ตัณหาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย การคบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การฟังสัทธรรมบริบูรณ์ ฯลฯ
โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหาร
อย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงบนยอดเขา เมื่อฝน
ตกลงหนักๆ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่มทำให้ซอกเขา ลำธาร และห้วยเต็มเปี่ยม ซอกเขา
ลำธารและห้วยเต็มเปี่ยมแล้วทำให้หนองเต็ม หนองเต็มแล้วทำให้บึงเต็ม บึงเต็ม
แล้วทำให้แม่น้ำน้อยเต็ม แม่น้ำน้อยเต็มแล้วทำให้แม่น้ำใหญ่เต็ม แม่น้ำใหญ่
เต็มแล้วทำให้มหาสมุทรสาครเต็ม มหาสมุทรสาครนี้มีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยม
อย่างนี้
อวิชชาสูตรที่ ๑ จบ

๒. ตัณหาสูตร
ว่าด้วยตัณหา
[๖๒] ภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งภวตัณหา(ความทะยานอยากในภพ)
ย่อมไม่ปรากฏ ในกาลก่อนแต่นี้ ภวตัณหาไม่มี ภายหลังจึงมี เพราะฉะนั้น เราจึง
กล่าวคำนี้อย่างนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภวตัณหาที่มีข้อนี้เป็นปัจจัยจึงปรากฏ
แม้ภวตัณหา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็น
อาหารของภวตัณหา ควรตอบว่า ‘อวิชชา’
แม้อวิชชา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็นอาหาร
ของอวิชชา ควรตอบว่า ‘นิวรณ์ ๕’
แม้นิวรณ์ ๕ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็น
อาหารของนิวรณ์ ๕ ควรตอบว่า ‘ทุจริต ๓’
แม้ทุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็น
อาหารของทุจริต ๓ ควรตอบว่า ‘ความไม่สำรวมอินทรีย์’
แม้ความไม่สำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
อะไรเล่าเป็นอาหารของความไม่สำรวมอินทรีย์ ควรตอบว่า ‘ความไม่มีสติสัมปชัญญะ’


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๒. ตัณหาสูตร
แม้ความไม่มีสติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
อะไรเล่าเป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ ควรตอบว่า ‘การมนสิการโดย
ไม่แยบคาย’
แม้การมนสิการโดยไม่แยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
อะไรเล่าเป็นอาหารของการมนสิการโดยไม่แยบคาย ควรตอบว่า ‘ความไม่มีศรัทธา’
แม้ความไม่มีศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่า
เป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา ควรตอบว่า ‘การไม่ฟังสัทธรรม’
แม้การฟังอสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่า
เป็นอาหารของการฟังอสัทธรรม ควรตอบว่า ‘การไม่คบสัตบุรุษ’
การไม่คบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การไม่ฟังสัทธรรมบริบูรณ์
การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ความไม่มีศรัทธาบริบูรณ์
ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การมนสิการโดยไม่แยบคายบริบูรณ์
การมนสิการโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ความไม่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์
ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ความไม่สำรวมอินทรีย์บริบูรณ์
ความไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ทุจริต ๓ บริบูรณ์
ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้นิวรณ์ ๕ บริบูรณ์
นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมให้อวิชชาบริบูรณ์
อวิชชาที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ภวตัณหาบริบูรณ์
ภวตัณหานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย การไม่คบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การไม่ฟังสัทธรรม
บริบูรณ์ ฯลฯ อวิชชาที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ภวตัณหาบริบูรณ์ ภวตัณหานี้มีอาหาร
อย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงบนยอดเขา เมื่อฝน
ตกลงหนัก ๆ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่มทำให้ซอกเขา ลำธาร และห้วยเต็มเปี่ยม ซอกเขา
ลำธาร และห้วยเต็มเปี่ยมแล้วทำหนองให้เต็ม หนองเต็มแล้วทำให้บึงเต็ม บึงเต็ม
แล้วทำให้แม่น้ำน้อยเต็ม แม่น้ำน้อยเต็มแล้วทำให้แม่น้ำใหญ่เต็ม แม่น้ำใหญ่เต็ม
แล้วทำให้มหาสมุทรสาครเต็ม มหาสมุทรสาครนี้มีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยม
อย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๒. ตัณหาสูตร
ว่าด้วยวิชชาและวิมุตติ
แม้วิชชาและวิมุตติ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่า
เป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ ควรตอบว่า ‘โพชฌงค์ ๗’
แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็น
อาหารของโพชฌงค์ ๗ ควรตอบว่า ‘สติปัฏฐาน ๔’
แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็น
อาหารของสติปัฏฐาน ๔ ควรตอบว่า ‘สุจริต ๓’
แม้สุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็น
อาหารของสุจริต ๓ ควรตอบว่า ‘ความสำรวมอินทรีย์’
แม้ความสำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไร
เล่าเป็นอาหารของความสำรวมอินทรีย์ ควรตอบว่า ‘สติสัมปชัญญะ’
แม้สติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่า
เป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ ควรตอบว่า ‘การมนสิการโดยแยบคาย’
แม้การมนสิการโดยแยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
อะไรเล่าเป็นอาหารของการมนสิการโดยแยบคาย ควรตอบว่า ‘ศรัทธา’
แม้ศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่าเป็นอาหาร
ของศรัทธา ควรตอบว่า ‘การฟังสัทธรรม’
แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร อะไรเล่า
เป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรตอบว่า ‘การคบสัตบุรุษ’
การคบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การฟังสัทธรรมบริบูรณ์
การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ศรัทธาบริบูรณ์
ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การมนสิการโดยแยบคายบริบูรณ์
การมนสิการโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้สติสัมปชัญญะบริบูรณ์
สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้ความสำรวมอินทรีย์บริบูรณ์
ความสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้สุจริต ๓ บริบูรณ์
สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๓. นิฏฐังคตสูตร
สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้โพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์
โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์
วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย การคบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้การฟังสัทธรรมบริบูรณ์ ฯลฯ
โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมทำให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์ วิชชาและวิมุตตินี้มีอาหาร
อย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงบนยอดเขา เมื่อฝน
ตกลงหนักๆ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่มทำให้ซอกเขา ลำธาร และห้วยเต็มเปี่ยม ซอกเขา
ลำธาร และห้วยเต็มเปี่ยมแล้วทำให้หนองเต็ม หนองเต็มแล้วทำให้บึงเต็ม บึงเต็ม
แล้วทำให้แม่น้ำน้อยเต็ม แม่น้ำน้อยเต็มแล้วทำให้แม่น้ำใหญ่เต็ม แม่น้ำใหญ่เต็ม
แล้วทำให้มหาสมุทรสาครเต็ม มหาสมุทรสาครนี้มีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยม
อย่างนี้
ตัณหาสูตรที่ ๒ จบ

๓. นิฏฐังคตสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้เชื่อมั่นในตถาคต
[๖๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งเชื่อมั่นในเรา บุคคลเหล่านั้น
ทั้งหมดเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ๑ บรรดาบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิเหล่านั้น บุคคล ๕
จำพวกมีความสำเร็จ๒ ในโลกนี้ และบุคคล ๕ จำพวกละโลกนี้ไปแล้ว จึงมีความ
สำเร็จ

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงพระอริยบุคคลชั้นโสดาบันขึ้นไป ซึ่งมีชื่อว่า ‘ผู้ถึงพร้อมด้วยทัสสนะ’
บ้าง ‘ผู้มาสู่พระสัทธรรม’ บ้าง ‘ผู้เห็นพระสัทธรรม’ บ้าง ‘ผู้ประกอบด้วยญาณของพระเสขะ’ บ้าง ‘ผู้
ประกอบด้วยวิชชาของพระเสขะ’ บ้าง ‘ผู้เข้าถึงกระแสธรรม’ บ้าง ‘ผู้มีปัญญาแทงตลอด’ บ้าง ‘ผู้ยืนจรด
ประตูอมตะ’ บ้าง (องฺ.เอกก.อ. ๑/๒๖๘/๔๐๒)
๒ มีความสำเร็จ ในที่นี้หมายถึงปรินิพพานในปัจจุบัน ละโลกนี้ไปแล้วจึงมีความสำเร็จ หมายถึงเข้าถึง
พรหมโลกชั้นสุทธาวาส แล้วจึงปรินิพพาน (องฺ.ทสก.อ. ๓/๖๓-๖๔/๓๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๓. นิฏฐังคตสูตร
บุคคล ๕ จำพวกไหนบ้าง มีความสำเร็จในโลกนี้ คือ
๑. พระสัตตักขัตตุปรมโสดาบัน๑
๒. พระโกลังโกลโสดาบัน๒
๓. พระเอกพีชีโสดาบัน๓
๔. พระสกทาคามี
๕. พระอรหันต์ในปัจจุบัน
บุคคล ๕ จำพวกนี้ มีความสำเร็จในโลกนี้
บุคคล ๕ จำพวกไหนบ้าง ละโลกนี้ไปแล้วจึงมีความสำเร็จ คือ
๑. พระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี๔
๒. พระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี๕

เชิงอรรถ :
๑ สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน หมายถึงพระโสดาบันผู้ละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการได้แล้วเป็นผู้ไม่ตกไปใน
อบาย ๔ คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิคือมรรค ๓ เบื้องสูง
ได้แก่ สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค ในวันข้างหน้า เมื่อเกิดในภพใหม่เป็นเทวดาหรือ
มนุษย์ก็เกิดได้ไม่เกิน ๗ ครั้ง (อภิ.ปุ. ๓๖/๓๑/๑๒๒, อภิ.ปญฺจ.อ. ๓๑/๕๓)
๒ โกลังโกลโสดาบัน หมายถึงพระโสดาบันผู้เมื่อจะเกิดในภพใหม่เป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็เกิดได้ ๒ หรือ
๓ ภพ และถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่เกิดในตระกูลต่ำ คือเกิดในตระกูลที่มีโภคสมบัติมากเท่านั้น (อภิ.ปุ.
๓๖/๓๑/๑๒๒-๓, องฺ.ติก.อ. ๒/๘๘/๒๔๒, อภิ.ปญฺจ.อ. ๓๑/๕)
๓ เอกพีชีโสดาบัน หมายถึงผู้มีพืชคืออัตภาพเดียว คือเกิดอีกครั้งเดียวก็บรรลุพระอรหัตตผล (องฺ.ติก.อ.
๒/๘๘/๒๔๒, องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๘๘/๒๓๗)
๔ อันตราปรินิพพายี หมายถึงพระอนาคามีผู้ปรินิพพานในระหว่าง คือเกิดในสุทธาวาสชั้นใดชั้นหนึ่งแล้ว
อายุยังไม่ถึงกึ่งของอายุผู้เกิดในชั้นสุทธาวาสก็ปรินิพพานเสียในระหว่าง มี ๓ จำพวก คือ
พวกที่ ๑ เกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหาเป็นต้น ซึ่งมีอายุ ๑,๐๐๐ กัป ก็บรรลุพระอรหัตตผลในวันที่เกิด ถ้าไม่
บรรลุในวันที่เกิดได้ก็บรรลุไม่เกินภายใน ๑๐๐ กัป
พวกที่ ๒ เมื่อไม่สามารถบรรลุพระอรหัตตผลในวันที่เกิดได้ก็บรรลุภายใน ๒๐๐ กัป
พวกที่ ๓ บรรลุพระอรหัตตผลไม่เกินภายใน ๔๐๐ กัป (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๘/๒๔๓)
๕ อุปหัจจปรินิพพายี หมายถึงพระอนาคามีผู้เกิดในสุทธาวาสชั้นใดชั้นหนึ่งแล้วจวนจะถึงปรินิพพาน คือ
อายุพ้นกึ่ง (พ้น ๕๐๐ กัป) แล้วจวนจะถึงสิ้นอายุจึงปรินิพพาน (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๘/๒๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๔. อเวจจัปปสันนสูตร
๓. พระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี๑
๔. พระอนาคามีผู้สสังขารปรินิพพายี๒
๕. พระอนาคามีผู้อุทธังโสตอกนิฏฐคามี๓
บุคคล ๕ จำพวกนี้ละโลกนี้ไปแล้วจึงมีความสำเร็จ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งเชื่อมั่นในเรา บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ บรรดาบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิเหล่านั้น บุคคล ๕ จำพวก
แรกนี้ มีความสำเร็จในโลกนี้ และบุคคล ๕ จำพวกหลังนี้ละโลกนี้ไปแล้วจึงมี
ความสำเร็จ
นิฏฐังคตสูตรที่ ๓ จบ

๔. อเวจจัปปสันนสูตร
ว่าด้วยผู้เลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหว
[๖๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในเรา
บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดเป็นโสดาบัน๔ บรรดาบุคคลผู้เป็นโสดาบันเหล่านั้น บุคคล ๕
จำพวก มีความสำเร็จในโลกนี้ และบุคคล ๕ จำพวกละโลกนี้ไปแล้วจึงมีความสำเร็จ
บุคคล ๕ จำพวกไหนบ้าง มีความสำเร็จในโลกนี้ คือ
๑. พระสัตตักขัตตุปรมโสดาบัน
๒. พระโกลังโกลโสดาบัน

เชิงอรรถ :
๑ อสังขารปรินิพพายี หมายถึงพระอนาคามีผู้บรรลุพระอรหัตตผลปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้ความเพียรมาก
(องฺ.ติก.อ. ๒/๘๘/๒๔๓)
๒ สสังขารปรินิพพายี หมายถึงพระอนาคามีผู้เกิดในสุทธาวาสชั้นใดชั้นหนึ่งบรรลุพระอรหัตตผลปรินิพพาน
โดยต้องใช้ความเพียรมาก (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๘/๒๔๓)
๓ อุทธังโสตอกนิฏฐคามี หมายถึงพระอนาคามีผู้มีกระแสสูงขึ้นไปจนถึงชั้นอกนิฏฐภพคือเกิดในสุทธาวาส
ชั้นใดชั้นหนึ่งแล้วก็เกิดเลื่อนต่อไปจนถึงชั้นอกนิฏฐภพแล้วจึงปรินิพพานในชั้นอกนิฏฐภพนั้น (องฺ.ติก.อ.
๒/๘๘/๒๔๒)
๔ โสดาบัน หมายถึงผู้เข้าถึงกระแสคืออริยมรรค (องฺ.ทสก.อ. ๓/๖๓-๖๔/๓๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๕. ปฐมสุขสูตร
๓. พระเอกพีชีโสดาบัน
๔. พระสกทาคามี
๕. พระอรหันต์ในปัจจุบัน
บุคคล ๕ จำพวกนี้ มีความสำเร็จในโลกนี้
บุคคล ๕ จำพวกไหนบ้าง ละโลกนี้ไปแล้วจึงมีความสำเร็จ คือ
๑. พระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี
๒. พระอนาคามีผู้อุปหัจจปรินิพพายี
๓. พระอนาคามีผู้อสังขารปรินิพพายี
๔. พระอนาคามีผู้สสังขารปรินิพพายี
๕. พระอนาคามีผู้อุทธังโสตอกนิฏฐคามี
บุคคล ๕ จำพวกนี้ละโลกนี้ไปแล้วจึงมีความสำเร็จ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในเรา บุคคล
เหล่านั้นทั้งหมดเป็นโสดาบัน บรรดาบุคคลผู้เป็นโสดาบันเหล่านั้น บุคคล ๕ จำพวก
แรกนี้มีความสำเร็จในโลกนี้ และบุคคล ๕ จำพวกหลังนี้ละโลกนี้ไปแล้วจึงมีความ
สำเร็จ
อเวจจัปปสันนสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฐมสุขสูตร
ว่าด้วยเหตุให้เกิดสุขและทุกข์ สูตรที่ ๑
[๖๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ นาลกคาม๑ แคว้นมคธ ครั้งนั้นแล
ปริพาชกชื่อว่าสามัณฑกานิเข้าไปหาท่านถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิง
ใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้เรียนถามท่านว่า “ท่านสารีบุตร
อะไรหนอ เป็นเหตุให้เกิดสุข อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์”

เชิงอรรถ :
๑ นาลกคาม เป็นชื่อหมู่บ้านซึ่งเป็นที่เกิดของท่านพระสารีบุตร ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์ บางทีเรียก
นาลันทคาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๖. ทุติยสุจสูตร
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ผู้มีอายุ การเกิดเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ การไม่เกิด
เป็นเหตุให้เกิดสุข เมื่อมีการเกิด ทุกข์นี้เป็นอันพึงหวังได้๑คือความหนาว ร้อน หิว
กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ สัมผัสไฟ ถูกตีด้วยไม้ ถูกทำร้ายด้วยศัสตรา
ทั้งญาติมิตรต่างก็พากันโกรธเคืองเขา
เมื่อมีการเกิด ทุกข์นี้เป็นอันพึงหวังได้ เมื่อไม่มีการเกิด สุขนี้เป็นอันพึงหวังได้
คือ ความไม่หนาว ไม่ร้อน ไม่หิว ไม่กระหาย ไม่ต้องปวดอุจจาระ ไม่ต้องปวด
ปัสสาวะ ไม่ต้องสัมผัสไฟ ไม่ถูกตีด้วยไม้ ไม่ถูกทำร้ายด้วยศัสตรา ทั้งญาติมิตร ก็
ไม่พากันโกรธเคืองเขา
ผู้มีอายุ เมื่อไม่มีการเกิด สุขนี้เป็นอันพึงหวังได้”
ปฐมสุขสูตรที่ ๕ จบ

๖. ทุติยสุขสูตร
ว่าด้วยเหตุให้เกิดสุขและทุกข์ สูตรที่ ๒
[๖๖] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ นาลกคาม แคว้นมคธ ครั้งนั้นแล
ปริพาชกชื่อว่าสามัณฑกานิเข้าไปหาท่านถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้เรียนถามท่านว่า “ท่านสารีบุตร ใน
ธรรมวินัยนี้ อะไรหนอเป็นเหตุให้เกิดสุข อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ผู้มีอายุ ในธรรมวินัยนี้ ความไม่ยินดีเป็นเหตุให้
เกิดทุกข์ ความยินดีเป็นเหตุให้เกิดสุข เมื่อไม่ยินดี ทุกข์นี้เป็นอันพึงหวังได้ คือ
บุคคลผู้ไม่ยินดี แม้เดินอยู่ก็ไม่ประสพความสุขสำราญ บุคคลผู้ไม่ยินดี แม้ยืนอยู่ ...
แม้นั่งอยู่ ... แม้นอนอยู่ ... แม้ไปสู่บ้าน ... แม้ไปสู่ป่า ... แม้ไปสู่โคนไม้ ... แม้ไปสู่
เรือนว่าง ... แม้ไปสู่ที่แจ้ง ... แม้ไปสู่ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ก็ไม่ประสพความสุขสำราญ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๔ (เจโตขีลสูตร) หน้า ๒๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๗. ปฐมนฬกปานสูตร
ผู้มีอายุ เมื่อไม่ยินดี ทุกข์นี้เป็นอันพึงหวังได้ เมื่อมีความยินดี สุขนี้เป็นอันพึง
หวังได้ คือ บุคคลผู้มีความยินดี แม้เดินอยู่ ก็ประสพความสุขสำราญ แม้ยืนอยู่ ...
แม้นั่งอยู่ ... แม้นอนอยู่ ... แม้ไปสู่บ้าน ... แม้ไปสู่ป่า ... แม้ไปสู่โคนไม้ ... แม้ไปสู่
เรือนว่าง ... แม้ไปสู่ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ... ก็ประสพความสุขสำราญ
ผู้มีอายุ เมื่อมีความยินดี สุขนี้เป็นอันพึงหวังได้”
ทุติยสุขสูตรที่ ๖ จบ

๗. ปฐมนฬกปานสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่นฬกปานนิคม สูตรที่ ๑
[๖๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุ
สงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงนิคมของชาวโกศลชื่อว่านฬกปานะ ประทับอยู่ที่ปลาสวัน
ใกล้นฬกปานนิคมนั้น สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว ประทับ
นั่งในวันอุโบสถนั้น ทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาสิ้นหลาย
ราตรีทีเดียว ทรงชำเลืองดูภิกษุสงฆ์ผู้นิ่งเงียบอยู่ ทรงเรียกท่านพระสารีบุตรมา
ตรัสว่า
“สารีบุตร ภิกษุสงฆ์ปราศจากถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)แล้ว เฉพาะ
เธอเท่านั้นที่จะอธิบายธรรมีกถาให้แจ่มแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายได้๑ เราเมื่อยหลัง จัก
เอนหลัง”
ท่านพระสารีบุตรได้ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาครับ
สั่งให้ปูลาดสังฆาฏิทบ ๔ ชั้น บรรทมสีหไสยาสน์โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงวาง

เชิงอรรถ :
๑ แปลจากประโยคบาลีว่า “ปติภาตุ ตํ สารีปุตฺต ภิกฺขูนํ ธมฺมีกถา” ซึ่งโครงสร้างประโยคเช่นนี้มีปรากฏใน
พระไตรปิฏกหลายเล่ม และแต่ละเล่มก็มีอยู่หลายที่ มีข้อสังเกตว่าประโยคนี้ เป็นประโยคธรรมเนียมมอบ
หมายงานให้แสดงธรรม โดยคำนึงถึง “ความถนัดส่วนบุคคล” เป็นหลัก ในที่นี้ทรงมอบหมายให้ท่านพระ
สารีบุตรแสดง เพราะท่านมีความถนัดในเรื่องนี้ หาใช่เพราะทรงประสงค์จะยกย่องท่านเป็นพิเศษไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๗. ปฐมนฬกปานสูตร
พระบาทเหลื่อมพระบาท ทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงทำอุฏฐานสัญญา(ความกำหนด
หมายว่าจะลุกขึ้น) ไว้ในพระหทัย ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลาย
มากล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นกล่าวรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้
กล่าวเรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีหิริ ... ไม่มี
โอตตัปปะ ... ไม่มีวิริยะ ... ไม่มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือ
กลางวันของผู้นั้นผ่านไป เขาพึงหวังได้แต่ความเสื่อมอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย
ไม่มีความเจริญเลย
ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีหิริ ... ไม่มีโอตตัปปะ ... ไม่มี
วิริยะ ... ไม่มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้น
ผ่านไป เขาพึงหวังได้แต่ความเสื่อมอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเจริญ
เลย เปรียบเหมือนเมื่อกลางคืนหรือกลางวันของดวงจันทร์ในกาฬปักษ์(ข้างแรม)ผ่านไป
ดวงจันทร์นั้น ย่อมเสื่อมจากความงาม ย่อมเสื่อมจากรัศมี ย่อมเสื่อมจากแสงสว่าง
ย่อมเสื่อมจากด้านยาวและด้านกว้าง
ข้อที่ว่า ‘บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ เกียจคร้าน มีปัญญา
ทราม มักโกรธ ผูกโกรธ ปรารถนาชั่ว มีมิตรชั่ว เป็นมิจฉาทิฏฐิ’ นี้เป็นความเสื่อม
ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริ ... มีโอตตัปปะ ... มีวิริยะ ...
มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป เขา
พึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริ ... มีโอตตัปปะ
... มีวิริยะ ... มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้น
ผ่านไป เขาพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อม
เลย เปรียบเหมือนเมื่อกลางคืนหรือกลางวันของดวงจันทร์ในชุณหปักษ์(ข้างขึ้น)
ผ่านไป ดวงจันทร์นั้นย่อมเจริญด้วยความงาม ย่อมเจริญด้วยรัศมี ย่อมเจริญด้วย
แสงสว่าง ย่อมเจริญด้วยด้านยาวและด้านกว้าง
ข้อที่ว่า ‘บุคคลผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ ปรารภความเพียร มีปัญญา
ไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ มักน้อย มีมิตรดี เป็นสัมมาทิฏฐิ’ นี้ไม่เป็นความเสื่อม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๗. ปฐมนฬกปานสูตร
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นแล้วตรัสชมท่านพระสารีบุตรว่า ดีละ ดีละ
สารีบุตร ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีหิริ ... ไม่มีโอตตัปปะ ...
ไม่มีวิริยะ ... ไม่มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของ
ผู้นั้นผ่านไป เขาพึงหวังได้แต่ความเสื่อมอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความ
เจริญเลย
สารีบุตร ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย ฯลฯ ไม่มีปัญญาในกุศล
ธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้น ฯลฯ ไม่มีความเจริญเลย เปรียบ
เหมือนเมื่อกลางคืนหรือกลางวันของดวงจันทร์ในกาฬปักษ์ผ่านไป ดวงจันทร์นั้น
ย่อมเสื่อมจากความงาม ย่อมเสื่อมจากรัศมี ย่อมเสื่อมจากแสงสว่าง ย่อมเสื่อม
จากด้านยาวและด้านกว้าง
ข้อที่ว่า ‘บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ เกียจคร้าน มีปัญญา
ทราม มักโกรธ ผูกโกรธ ปรารถนาชั่ว มีมิตรชั่ว เป็นมิจฉาทิฏฐิ’ นี้เป็นความเสื่อม
ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริ ... มีโอตตัปปะ ... มีวิริยะ ...
มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป ผู้นั้นพึง
หวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย
สารีบุตร ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริ ... มีโอตตัปปะ ...
มีวิริยะ ... มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป
เขาพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย
เปรียบเหมือนเมื่อกลางคืนหรือกลางวันของดวงจันทร์ในชุณหปักษ์ผ่านไป ดวงจันทร์
นั้น ย่อมเจริญด้วยความงาม ย่อมเจริญด้วยรัศมี ย่อมเจริญด้วยแสงสว่าง ย่อม
เจริญด้วยด้านยาวและด้านกว้าง
สารีบุตร ข้อที่ว่า ‘บุคคลผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ ปรารภความเพียร
มีปัญญา ไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ มักน้อย มีมิตรดี เป็นสัมมาทิฏฐิ' นี้ไม่เป็น
ความเสื่อม
ปฐมนฬกปานสูตรที่ ๗ จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๘. ทุติยนฬกปานสูตร
๘. ทุติยนฬกปานสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่นฬกปานนิคม สูตรที่ ๒
[๖๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ ปลาสวัน ใกล้นฬกปานนิคม
สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ประทับนั่งในวันอุโบสถนั้น ทรง
ชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาสิ้นหลายราตรีทีเดียว ทรงชำเลืองดูภิกษุ
สงฆ์ผู้นิ่งเงียบอยู่ ได้ทรงเรียกท่านพระสารีบุตรมาตรัสว่า
“สารีบุตร ภิกษุสงฆ์เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะแล้ว เฉพาะเธอเท่านั้นที่จะอธิบาย
ธรรมีกถาให้แจ่มแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายได้ เราเมื่อยหลัง จักเอนหลัง”
ท่านพระสารีบุตรได้ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค
รับสั่งให้ปูลาดสังฆาฏิทบ ๔ ชั้น บรรทมสีหไสยาสน์โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรง
วางพระบาทเหลื่อมพระบาท ทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงทำอุฏฐานสัญญาไว้ใน
พระหทัย ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีหิริ ... ไม่มี
โอตตัปปะ ... ไม่มีวิริยะ ... ไม่มีปัญญา ... ไม่มีการเงี่ยโสตฟังธรรม ... ไม่มีการทรงจำ
ธรรม ... ไม่มีการพิจารณาเนื้อความแห่งธรรม ... ไม่มีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่
ธรรม ... ไม่มีความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของ
ผู้นั้นผ่านไป เขาพึงหวังได้แต่ความเสื่อมอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความ
เจริญเลย
ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีหิริ ... ไม่มีโอตตัปปะ ... ไม่มี
วิริยะ ... ไม่มีปัญญา ... ไม่มีการเงี่ยโสตฟังธรรม ... ไม่มีการทรงจำธรรม ... ไม่มี
การพิจารณาเนื้อความแห่งธรรม ... ไม่มีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ... ไม่มี
ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๘. ทุติยนฬกปานสูตร
เขาพึงหวังได้แต่ความเสื่อมอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเจริญเลย
เปรียบเหมือนเมื่อกลางคืนหรือกลางวันของดวงจันทร์ในกาฬปักษ์ผ่านไป ดวงจันทร์
นั้นย่อมเสื่อมจากความงาม ย่อมเสื่อมจากรัศมี ย่อมเสื่อมจากแสงสว่าง ย่อมเสื่อม
จากด้านยาวและด้านกว้าง
ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริ ... มีโอตตัปปะ ... มีวิริยะ ...
มีปัญญา ... มีการเงี่ยโสตฟังธรรม ... มีการทรงจำธรรม... มีการพิจารณาเนื้อความ
แห่งธรรม ... มีการปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม ... มีความไม่ประมาทในกุศล
ธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป เขาพึงหวังได้แต่ความ
เจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย
ผู้มีอายุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริ ... มีโอตตัปปะ
... มีวิริยะ ... มีปัญญา ... มีการเงี่ยโสตฟังธรรม ... มีการทรงจำธรรม ... มีการ
พิจารณาเนื้อความแห่งธรรม ... มีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ... มีความไม่
ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป เขาพึงหวัง
ได้แต่ความเจริญอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย เปรียบ
เหมือนเมื่อกลางคืนหรือกลางวันของดวงจันทร์ในชุณหปักษ์ผ่านไป ดวงจันทร์นั้น
ย่อมเจริญด้วยความงาม ย่อมเจริญด้วยรัศมี ย่อมเจริญด้วยแสงสว่าง ย่อมเจริญ
ด้วยด้านยาวและด้านกว้าง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกขึ้นแล้วตรัสชมท่านพระสารีบุตรว่า ดีละ ดีละ
สารีบุตร ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีหิริ ... ไม่มีโอตตัปปะ ...
ไม่มีวิริยะ ... ไม่มีปัญญา ... ไม่มีการเงี่ยโสตฟังธรรม ... ไม่มีการทรงจำธรรม ... ไม่มี
การพิจารณาเนื้อความแห่งธรรม ... ไม่มีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ... ไม่มี
ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป
เขาพึงหวังได้แต่ความเสื่อมอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเจริญเลย
สารีบุตร ผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย ฯลฯ ไม่มีความไม่
ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป เขาพึงหวัง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๙. ปฐมกถาวัตถุสูตร
ได้แต่ความเสื่อมอย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเจริญเลย เปรียบเหมือน
เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของดวงจันทร์ในกาฬปักษ์ผ่านไป ดวงจันทร์นั้นย่อมเสื่อม
จากความงาม ย่อมเสื่อมจากรัศมี ย่อมเสื่อมจากแสงสว่าง ย่อมเสื่อมจากด้านยาว
และด้านกว้าง
ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย มีหิริ ... มีโอตตัปปะ ... มีวิริยะ ...
มีปัญญา ... มีการเงี่ยโสตฟังธรรม ... มีการทรงจำธรรม ... มีการพิจารณาเนื้อความ
แห่งธรรม ... มีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ... มีความไม่ประมาทในกุศลธรรม
ทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป เขาพึงหวังได้แต่ความ เจริญ
อย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย
ผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาในกุศลธรรมทั้งหลาย ฯลฯ มีความไม่ประมาทในกุศลธรรม
ทั้งหลาย เมื่อกลางคืนหรือกลางวันของผู้นั้นผ่านไป เขาพึงหวังได้แต่ความเจริญ
อย่างเดียวในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีความเสื่อมเลย เปรียบเหมือนเมื่อกลางคืนหรือ
กลางวันของดวงจันทร์ในชุณหปักษ์ผ่านไป ดวงจันทร์นั้นย่อมเจริญด้วยความงาม
ย่อมเจริญด้วยรัศมี ย่อมเจริญด้วยแสงสว่าง ย่อมเจริญด้วยด้านยาวและด้านกว้าง
ทุติยนฬกปานสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปฐมกถาวัตถุสูตร
ว่าด้วยกถาวัตถุ สูตรที่ ๑
[๖๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล ภิกษุจำนวนมากกลับจากบิณฑบาตใน
เวลาหลังภัตตาหาร นั่งประชุมกันที่หอฉัน สนทนาติรัจฉานกถา๑ต่าง ๆ คือ (๑) ราช-
กถา เรื่องพระราชา (๒) โจรกถา เรื่องโจร (๓) มหามัตตกถา เรื่องมหาอำมาตย์
(๔) เสนากถา เรื่องกองทัพ (๕) ภยกถา เรื่องภัย (๖) ยุทธกถา เรื่องการรบ

เชิงอรรถ :
๑ ติรัจฉานกถา คือถ้อยคำอันขวางทางไปสู่สวรรค์หรือนิพพาน หมายถึงเรื่องราวที่ภิกษุไม่ควรนำมาเป็นข้อ
ถกเถียงสนทนากัน เพราะทำให้เกิดฟุ้งซ่าน และหลงเพลินเสียเวลา (ที.สี.อ. ๑๗/๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๙. ปฐมกถาวัตถุสูตร
(๗) อันนกถา เรื่องข้าว (๘) ปานกถา เรื่องน้ำ (๙) วัตถกถา เรื่องผ้า (๑๐) สยนกถา
เรื่องที่นอน (๑๑) มาลากถา เรื่องดอกไม้ (๑๒) คันธกถา เรื่องของหอม (๑๓) ญาติกถา
เรื่องญาติ (๑๔) ยานกถา เรื่องยาน (๑๕) คามกถา เรื่องบ้าน (๑๖) นิคมกถา เรื่องนิคม
(๑๗) นครกถา เรื่องนคร (๑๘) ชนปทกถา เรื่องชนบท (๑๙) อิตถีกถา เรื่องสตรี
(๒๐) ปุริสกถา เรื่องบุรุษ (๒๑) สูรกถา เรื่องคนกล้า (๒๒) วิสิขากถา เรื่องตรอก
(๒๓) กุมภัฏฐานกถา เรื่องท่าน้ำ (๒๔) ปุพพเปตกถา เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว (๒๕)
นานัตตกถา เรื่องเบ็ดเตล็ด (๒๖) โลกักขายิกะ เรื่องโลก (๒๗) สมุททักขายิกะ เรื่อง
ทะเล (๒๘) อิติภวาภวกถา เรื่องความเจริญและความเสื่อม
ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาค เสด็จออกจากที่หลีกเร้น๑ เข้าไปยังหอฉัน
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ และเรื่องอะไรที่เธอ
ทั้งหลายสนทนากันค้างไว้”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้า
พระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาตในเวลาหลังภัตตาหาร นั่งประชุมกันที่หอฉัน
สนทนาติรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ (๑) ราชกถา เรื่องพระราชา (๒) โจรกถา เรื่อง
โจร ฯลฯ (๒๘) อิติภวาภวกถา เรื่องความเจริญและความเสื่อม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ไม่สมควรเลยที่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุล
บุตรมีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิตสนทนาติรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ (๑) ราชกถา
เรื่องพระราชา (๒) โจรกถา เรื่องโจร (๓) มหามัตตกถา เรื่องมหาอำมาตย์ (๔)
เสนากถา เรื่องกองทัพ (๕) ภยกถา เรื่องภัย (๖) ยุทธกถา เรื่องการรบ (๗) อันนกถา
เรื่องข้าว (๘) ปานกถา เรื่องน้ำ (๙) วัตถกถา เรื่องผ้า (๑๐) สยนกถา เรื่องที่นอน
(๑๑) มาลากถา เรื่องดอกไม้ (๑๒) คันธกถา เรื่องของหอม (๑๓) ญาติกถา เรื่องญาติ
(๑๔) ยานกถา เรื่องยาน (๑๕) คามกถา เรื่องบ้าน (๑๖) นิคมกถา เรื่องนิคม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๕๐ (ภัณฑนสูตร) หน้า ๑๐๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๙. ปฐมกถาวัตถุสูตร
(๑๗) นครกถา เรื่องนคร (๑๘) ชนปทกถา เรื่องชนบท (๑๙) อิตถีกถา เรื่องสตรี
(๒๐) ปุริสกถา เรื่องบุรุษ (๒๑) สูรกถา เรื่องคนกล้า (๒๒) วิสิขากถา เรื่องตรอก
(๒๓) กุมภัฏฐานกถา เรื่องท่าน้ำ (๒๔) ปุพพเปตกถา เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว
(๒๕) นานัตตกถา เรื่องเบ็ดเตล็ด (๒๖) โลกักขายิกะ เรื่องโลก (๒๗) สมุททักขายิกะ
เรื่องทะเล (๒๘) อิติภวาภวกถา เรื่องความเจริญและความเสื่อม
ภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ ๑๐ ประการนี้
กถาวัตถุ ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อัปปิจฉกถา (เรื่องความมักน้อย)
๒. สันตุฏฐิกถา (เรื่องความสันโดษ)
๓. ปวิเวกกถา (เรื่องความสงัด)
๔. อสังสัคคกถา (เรื่องความไม่คลุกคลี)
๕. วีริยารัมภกถา (เรื่องการปรารภความเพียร)
๖. สีลกถา (เรื่องศีล)
๗. สมาธิกถา (เรื่องสมาธิ)
๘. ปัญญากถา (เรื่องปัญญา)
๙. วิมุตติกถา (เรื่องวิมุตติ)
๑๐. วิมุตติญาณทัสสนกถา (เรื่องความรู้ ความเห็นในวิมุตติ)
ภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ ๑๐ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย หากเธอทั้งหลายจะพึงยกกถาวัตถุ ๑๐ ประการนี้อย่างใดอย่าง
หนึ่งขึ้นมากล่าว เธอทั้งหลายก็จะสามารถครอบงำเดชานุภาพของดวงจันทร์และ
ดวงอาทิตย์ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ด้วยเดชานุภาพของตนได้ ไม่จำเป็น
ต้องพูดถึงอัญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายเลย
ปฐมกถาวัตถุสูตรที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๑๐. ทุติยกถาวัตถุสูตร
๑๐. ทุติยกถาวัตถุสูตร
ว่าด้วยกถาวัตถุ สูตรที่ ๒
[๗๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล ภิกษุจำนวนมากกลับจากบิณฑบาตใน
เวลาหลังภัตตาหาร นั่งประชุมกันที่หอฉัน สนทนาติรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ
(๑) ราชกถา เรื่องพระราชา (๒) โจรกถา เรื่องโจร (๓) มหามัตตกถา เรื่องมหา-
อำมาตย์ ฯลฯ (๒๘) อิติภวาภวกถา เรื่องความเจริญและความเสื่อม
ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปยังหอฉัน
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดไว้ ได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ และเรื่องอะไรที่เธอ
ทั้งหลายสนทนากันค้างไว้”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาตในเวลาหลังภัตตาหาร นั่งประชุมกันที่หอฉัน
สนทนาติรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ (๑) ราชกถา เรื่องพระราชา (๒) โจรกถา เรื่องโจร ฯลฯ
(๒๘) อิติภวาภวกถา เรื่องความเจริญและความเสื่อม พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ไม่สมควรเลยที่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุล
บุตรมีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิตสนทนาติรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ (๑) ราชกถา
เรื่องพระราชา ฯลฯ (๒๘) อิติภวาภวกถา เรื่องความเจริญและความเสื่อม
ภิกษุทั้งหลาย ฐานะที่ควรสรรเสริญ ๑๐ ประการนี้
ฐานะที่ควรสรรเสริญ ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ตนเองเป็นผู้มักน้อย และแสดงคุณของความเป็นผู้มักน้อยแก่ภิกษุทั้งหลาย
ข้อที่ว่า ‘ภิกษุเป็นผู้มักน้อย และแสดงคุณของความเป็นผู้มักน้อยแก่
ภิกษุทั้งหลาย’ นี้เป็นฐานะที่ควรสรรเสริญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค ๑๐. ทุติยกถาวัตถุสูตร
๒. ตนเองเป็นผู้สันโดษ และแสดงคุณของความสันโดษแก่ภิกษุทั้งหลายข้อ
ที่ว่า ‘ภิกษุเป็นผู้สันโดษ และแสดงคุณของความสันโดษแก่ภิกษุทั้งหลาย’
นี้เป็นฐานะที่ควรสรรเสริญ
๓. ตนเองเป็นผู้สงัด และแสดงคุณของความสงัดแก่ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่
ว่า‘ภิกษุเป็นผู้สงัดและแสดงคุณของความสงัดแก่ภิกษุทั้งหลาย’ นี้เป็น
ฐานะที่ควรสรรเสริญ
๔. ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และแสดงคุณของความเป็นผู้ไม่คลุกคลีแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย ข้อที่ว่า ‘ภิกษุเป็นผู้ไม่คลุกคลี และแสดงคุณของความไม่
คลุกคลีแก่ภิกษุทั้งหลาย’ นี้เป็นฐานะที่ควรสรรเสริญ
๕. ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และแสดงคุณของการปรารภความเพียร
แก่ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ว่า ‘ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร และแสดงคุณ
ของการปรารภความเพียรแก่ภิกษุทั้งหลาย’ นี้เป็นฐานะที่ควรสรรเสริญ
๖. ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล และแสดงคุณของความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วย
ศีลแก่ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ว่า ‘ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล และแสดงคุณ
ของความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลแก่ภิกษุทั้งหลาย’ นี้เป็นฐานะที่ควรสรรเสริญ
๗. ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ และแสดงคุณของความเป็นผู้สมบูรณ์
ด้วยสมาธิแก่ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ว่า ‘ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ และ
แสดงคุณของความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิแก่ภิกษุทั้งหลาย’ นี้เป็น
ฐานะที่ควรสรรเสริญ
๘. ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา และแสดงคุณของความเป็นผู้สมบูรณ์
ด้วยปัญญาแก่ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ว่า ‘ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา
และแสดงคุณของความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาแก่ภิกษุทั้งหลาย’ นี้
เป็นฐานะที่ควรสรรเสริญ
๙. ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และแสดงคุณของความเป็นผู้สมบูรณ์
ด้วยวิมุตติแก่ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ว่า ‘ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และ
แสดงคุณของความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติแก่ภิกษุทั้งหลาย’ นี้เป็น
ฐานะที่ควรสรรเสริญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๒. ยมกวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๑๐. ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และแสดงคุณของความ
เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะแก่ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ว่า ‘ภิกษุ
เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และแสดงคุณของความเป็นผู้
สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะแก่ภิกษุทั้งหลาย’ นี้เป็นฐานะที่ควร
สรรเสริญ
ภิกษุทั้งหลาย ฐานะที่ควรสรรเสริญ ๑๐ ประการนี้แล
ทุติยกถาวัตถุสูตรที่ ๑๐ จบ
ยมกวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อวิชชาสูตร ๒. ตัณหาสูตร
๓. นิฏฐังคตสูตร ๔. อเวจจัปปสันนสูตร
๕. ปฐมสุขสูตร ๖. ทุติยสุขสูตร
๗. ปฐมนฬกปานสูตร ๘. ทุติยนฬกปานสูตร
๙. ปฐมกถาวัตถุสูตร ๑๐. ทุติยกถาวัตถุสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๑. อากังขสูตร
๓. อากังขวรรค
หมวดว่าด้วยความหวัง
๑. อากังขสูตร
ว่าด้วยความหวัง
[๗๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลาย มาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยปาติโมกข์
สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร๑ มีปกติเห็นภัย
ในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายเถิด
๑. หากภิกษุหวังว่า ‘เราพึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่
ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย’ พึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์
หมั่นประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง๒เถิด
๒. หากภิกษุหวังว่า ‘เราพึงเป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชชบริขาร’ พึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ หมั่น
ประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่างเถิด
๓. หากภิกษุหวังว่า ‘เราบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-
ปัจจัยเภสัชชบริขารของชนเหล่าใด ขอสักการะของชนเหล่านั้น พึงมี

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑,๒ ข้อ ๑๗ (ปฐมนาถสูตร) หน้า ๓๑ ในเล่มนี้
๒ เพิ่มพูนเรือนว่าง ในที่นี้หมายถึง การเรียนกัมมัฏฐาน คือสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้ว
เข้าไปยังเรือนว่าง นั่งอยู่ตลอดวันตลอดคืน เจริญอธิจิตตสิกขาด้วยสมถกัมมัฏฐาน เจริญอธิปัญญาสิกขา
ด้วยวิปัสสนากัมมัฏฐาน (องฺ.ทสก.อ. ๓/๗๑/๓๕๗, ม.มู.อ. ๑/๖๕/๑๖๙-๑๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๑. อากังขสูตร
ผลมาก มีอานิสงส์มาก’ พึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ ... เพิ่มพูน
เรือนว่างเถิด
๔. หากภิกษุหวังว่า ‘ญาติสาโลหิต๑เหล่าใด ผู้ล่วงลับไปแล้ว มีจิต
เลื่อมใส ระลึกถึงเรา ขอการระลึกถึงเราของญาติสาโลหิตเหล่านั้น พึงมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก’ พึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ ... เพิ่มพูน
เรือนว่างเถิด
๕. หากภิกษุหวังว่า ‘เราพึงเป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารตามแต่จะได้’ พึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้
บริบูรณ์ ... เพิ่มพูนเรือนว่างเถิด
๖. หากภิกษุหวังว่า ‘เราพึงเป็นผู้อดทนต่อความหนาว ร้อน หิว กระหาย
เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน ถ้อยคำหยาบคาย
ร้ายกาจ พึงเป็นผู้อดกลั้นเวทนาทั้งหลายอันมีในร่างกายที่เกิดขึ้นแล้ว
เป็นทุกข์ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่ยินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิต’ พึงเป็นผู้ทำ
ศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ ... เพิ่มพูนเรือนว่างเถิด
๗. หากภิกษุหวังว่า ‘เราพึงเป็นผู้ข่มความยินดีและความยินร้าย ความยินดี
และความยินร้ายไม่พึงครอบงำเรา ขอเราพึงข่มความยินดีและความยิน
ร้ายที่เกิดขึ้นอยู่’ พึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ ... เพิ่มพูน
เรือนว่างเถิด
๘. หากภิกษุหวังว่า ‘เราพึงเป็นผู้ระงับความกลัว ความหวาดเสียวได้
ความกลัวความหวาดเสียวไม่พึงครอบงำเรา ขอเราพึงระงับความ
กลัว ความหวาดเสียวที่เกิดขึ้นอยู่’ พึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ ...
เพิ่มพูนเรือนว่างเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ญาติ หมายถึง บิดามารดาของสามีและเครือญาติฝ่ายบิดามารดาของสามี หรือบิดามารดาของภรรยา
และเครือญาติฝ่ายบิดามารดาของภรรยา สาโลหิต หมายถึงผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ ปู่หรือตา เป็นต้น
(องฺ.ทสก.อ. ๓/๗๑/๓๕๘, องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๗๑-๗๔/๔๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๒. กัณฏกสูตร
๙. หากภิกษุหวังว่า ‘เราพึงเป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่
เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก’
พึงเป็นผู้ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ ... เพิ่มพูนเรือนว่างเถิด
๑๐. หากภิกษุหวังว่า ‘เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ พึงเป็นผู้
ทำศีลทั้งหลายให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่
ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่างเถิด
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘เธอทั้งหลายจงเป็นผู้สมบูรณ์
ด้วยศีลสมบูรณ์ด้วยปาติโมกข์ สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย
อาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท
ทั้งหลายเถิด’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
อากังขสูตรที่ ๑ จบ

๒. กัณฏกสูตร
ว่าด้วยปฏิปักขธรรม
[๗๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี พร้อมด้วยพระสาวกผู้เป็นเถระที่มีชื่อเสียงหลายรูป คือ ท่าน
พระปาละ ท่านพระอุปปาละ ท่านพระกักกฏะ ท่านพระกฬิมภะ ท่านพระนิกฏะ
ท่านพระกฏิสสหะ และพระสาวกผู้เป็นเถระมีชื่อเสียงเหล่าอื่น
สมัยนั้นแล เจ้าลิจฉวีผู้มีกิตติศัพท์เลื่องลือจำนวนมากได้พากันจัดขบวน
พยุหยาตราทางสถลมารค เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังป่ามหาวัน ครั้งนั้นแล
ท่านพระเถระเหล่านั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “เจ้าลิจฉวีผู้มีกิตติศัพท์เลื่องลือ
จำนวนมากได้พากันจัดขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคยังป่ามหาวัน ก็พระผู้มีพระภาคตรัสว่าฌานมีเสียงเป็นปฏิปักษ์ ทางที่ดี
เราทั้งหลายควรจะเข้าไปยังโคสิงคสาลวนทายวัน เป็นผู้เงียบเสียง ไม่พลุกพล่าน
อยู่ผาสุก” ทีนั้น พระเถระเหล่านั้นจึงเข้าไปยังโคสิงคสาลวนทายวัน เป็นผู้เงียบ เสียง
ไม่พลุกพล่าน อยู่ผาสุก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๒. กัณฏกสูตร
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ปาลภิกษุไปไหน อุปปาลภิกษุไปไหน กักกฏภิกษุ กฬิมภภิกษุ นิกฏภิกษุ
ปฏิสสหภิกษุไปไหน สาวกผู้เป็นเถระเหล่านั้นไปไหนหนอ”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ท่าน
พระเถระเหล่านั้นคิดว่า ‘เจ้าลิจฉวีผู้มีกิตติศัพท์เลื่องลือจำนวนมากได้พากันจัด
ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังป่ามหาวัน ก็
พระผู้มีพระภาคตรัสว่าฌานมีเสียงเป็นปฏิปักษ์ ทางที่ดีเราทั้งหลายควรจะเข้าไปยัง
โคสิงคสาลวนทายวัน เป็นผู้เงียบเสียง ไม่พลุกพล่าน อยู่ผาสุก’ ทีนั้น พระเถระ
เหล่านั้น จึงเข้าไปยังโคสิงคสาลวนทายวัน เป็นผู้เงียบเสียง ไม่พลุกพล่าน อยู่ผาสุก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ดีละ ดีละ มหาสาวกเหล่านั้น เมื่อ
ตอบให้ชัดเจนพึงตอบดังนั้น เพราะเรากล่าวว่าฌานมีเสียงเป็นปฏิปักษ์
ปฏิปักขธรรม ๑๐ ประการนี้ ปฏิปักขธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเป็นผู้ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่ เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ยินดีในความสงัด
๒. การเจริญสุภนิมิต เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้เจริญอสุภนิมิต
๓. การดูมหรสพที่เป็นข้าศึก เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์
ทั้งหลาย
๔. ความใกล้ชิดมาตุคาม เป็นปฏิปักษ์ต่อพรหมจรรย์
๕. เสียง เป็นปฏิปักษ์ต่อปฐมฌาน
๖. วิตกวิจาร เป็นปฏิปักษ์ต่อทุติยฌาน
๗. ปีติ เป็นปฏิปักษ์ต่อตติยฌาน
๘. ลมอัสสาสะปัสสาสะ เป็นปฏิปักษ์ต่อจตุตถฌาน
๙. สัญญาและเวทนา เป็นปฏิปักษ์ต่อสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
๑๐. ราคะ โทสะ และโมหะ เป็นปฏิปักขธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๓. อิฏฐธัมมสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีปฏิปักษ์อยู่เถิด (เธอทั้งหลายจงเป็นผู้
หมดปฏิปักขธรรมอยู่เถิด) เธอทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่มีปฏิปักขธรรม หมดปฏิปักข-
ธรรมอยู่เถิด พระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีปฏิปักขธรรม (พระอรหันต์ทั้งหลายหมด
ปฏิปักขธรรม) ภิกษุทั้งหลาย พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีปฏิปักขธรรมและ
หมดปฏิปักขธรรม
กัณฏกสูตรที่ ๒ จบ

๓. อิฏฐธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมที่น่าปรารถนา
[๗๓] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ เป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โภคสมบัติ เป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
๒. ผิวพรรณ เป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
๓. ความไม่มีโรค เป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
๔. ศีล เป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
๕. พรหมจรรย์ เป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
๖. มิตร เป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
๗. ความเป็นพหูสูต เป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยาก
ในโลก
๘. ปัญญา เป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
๙. ธรรม๑ เป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
๑๐. สวรรค์ เป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๗๓-๗๔/๓๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๓. อิฏฐธัมมสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
ธรรม ๑๐ ประการนี้แล ซึ่งเป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้
ยากในโลก มีธรรมที่เป็นอันตราย ๑๐ ประการ คือ
๑. ความเกียจคร้าน ไม่ขยันหมั่นเพียร เป็นอันตรายต่อโภคสมบัติ
๒. การไม่ประดับตกแต่ง เป็นอันตรายต่อผิวพรรณ
๓. การทำสิ่งที่ไม่เป็นสัปปายะ เป็นอันตรายต่อความไม่มีโรค
๔. ความเป็นผู้มีปาปมิตร(มิตรชั่ว) เป็นอันตรายต่อศีล
๕. ความไม่สำรวมอินทรีย์ เป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์
๖. การแกล้งกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริง เป็นอันตรายต่อมิตร
๗. การไม่ทำการสาธยาย เป็นอันตรายต่อความเป็นพหูสูต
๘. การไม่ฟังด้วยดี การไม่สอบถาม เป็นอันตรายต่อปัญญา
๙. การไม่ประกอบความเพียร การไม่พิจารณา เป็นอันตรายต่อธรรม
๑๐. การปฏิบัติผิด เป็นอันตรายต่อสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นอันตรายต่อธรรม ๑๐ ประการ
ซึ่งเป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
ธรรม ๑๐ ประการนี้แล ซึ่งเป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้
ยากในโลก มีธรรมที่เป็นอาหาร ๑๐ ประการ คือ
๑. ความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน เป็นอาหารของโภคสมบัติ
๒. การประดับตกแต่ง เป็นอาหารของผิวพรรณ
๓. การทำสิ่งที่เป็นสัปปายะ เป็นอาหารของความไม่มีโรค
๔. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร(มิตรดี) เป็นอาหารของศีล
๕. ความสำรวมอินทรีย์ เป็นอาหารของพรหมจรรย์
๖. การไม่แกล้งกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริง เป็นอาหารของมิตร
๗. การทำการสาธยาย เป็นอาหารของความเป็นพหูสูต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๔. วัฑฒิสูตร
๘. การฟังด้วยดี การสอบถาม เป็นอาหารของปัญญา
๙. การประกอบความเพียร การพิจารณา เป็นอาหารของธรรม
๑๐. การปฏิบัติชอบ เป็นอาหารของสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นอาหารของธรรม ๑๐ ประการ
ซึ่งเป็นธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก
อิฏฐธัมมสูตรที่ ๓ จบ

๔. วัฑฒิสูตร
ว่าด้วยความเจริญ
[๗๔] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเมื่อเจริญด้วยความเจริญ ๑๐ ประการ ชื่อว่า
เจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ ชื่อว่ามีปกติรับเอาสิ่งที่เป็นสาระ และมีปกติรับ
เอาสิ่งที่ประเสริฐแห่งกาย
ความเจริญ ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
อริยสาวก
๑. เจริญด้วยนาและสวน
๒. เจริญด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก
๓. เจริญด้วยบุตรและภรรยา
๔. เจริญด้วยทาส กรรมกร และคนใช้
๕. เจริญด้วยสัตว์สี่เท้า
๖. เจริญด้วยศรัทธา
๗. เจริญด้วยศีล
๘. เจริญด้วยสุตะ
๙. เจริญด้วยจาคะ
๑๐. เจริญด้วยปัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๕. มิคสาลาสูตร
ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเมื่อเจริญด้วยธรรมเป็นเครื่องเจริญ ๑๐ ประการนี้แล
จึงชื่อว่าเจริญด้วยความเจริญอันประเสริฐ ชื่อว่าเป็นผู้มีปกติรับเอาสิ่งที่เป็นสาระ
และมีปกติรับเอาสิ่งที่ประเสริฐแห่งกาย
บุคคลใดในโลกนี้เจริญด้วยทรัพย์
ข้าวเปลือก บุตร ภรรยา และสัตว์สี่เท้า
บุคคลนั้นเป็นผู้มีโภคสมบัติ มียศ
ญาติมิตร และพระราชาก็ทรงยกย่อง
บุคคลใดในโลกนี้เจริญด้วยศรัทธา
ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา
บุคคลนั้น เป็นผู้คงที่ เป็นสัตบุรุษ
มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
ชื่อว่าเจริญทั้ง ๒ ประการในปัจจุบัน
วัฑฒิสูตรที่ ๔ จบ

๕. มิคสาลาสูตร๑
ว่าด้วยอุบาสิกาชื่อว่ามิคสาลา
[๗๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครอง
อันตรวาสกถือบาตรและจีวร๒แล้วเข้าไปยังที่อยู่ของมิคสาลาอุบาสิกา นั่งบนอาสนะที่
ปูลาดไว้ ลำดับนั้นแล มิคสาลาอุบาสิกาได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ไหว้แล้วนั่ง ณ
ที่สมควร ได้เรียนถามท่านดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๔๔/๓๓๔
๒ คำว่า “ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร” นี้ มิใช่ว่าก่อนหน้านี้ พระอานนท์มิได้นุ่งสบง มิใช่ว่าพระ
อานนท์ถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยกายส่วนบน แต่คำว่า “ครองอันตรวาสก” หมายถึงท่านผลัดเปลี่ยนสบง
หรือขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ คำว่า “ถือบาตรและจีวร” หมายถึงถือบาตรด้วยมือ ถือจีวรด้วยกาย คือ
ห่มจีวรแล้วอุ้มบาตรนั่นเอง เทียบ (วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๐, ที.ม.อ. ๑๕๓/๑๔๓, ม.มู.อ. ๑/๖๓/๑๖๓, ขุ.อุ.อ. ๖/๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๕. มิคสาลาสูตร
“ท่านอานนท์ ธรรมนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ‘คน ๒ คน คือ คนหนึ่ง
ประพฤติพรหมจรรย์ อีกคนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้มีคติเสมอเหมือนกัน
ในสัมปรายภพ’ จะพึงรู้ได้อย่างไร ท่านผู้เจริญ บิดาของดิฉันชื่อว่าปุราณะ เป็นผู้
ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล งดเว้นจากเมถุน๑ซึ่งเป็นธรรมของชาวบ้าน
ท่านถึงแก่กรรมแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่าเป็นสกทาคามีบุคคลเกิดใน
หมู่เทพชั้นดุสิต
เพื่อนรักของบิดาดิฉัน ชื่อว่าอิสิทัตตะ ถึงไม่ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ถือ
สทารสันโดษ(ยินดีด้วยภรรยาของตน) แม้เขาถึงแก่กรรมแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรง
พยากรณ์ว่าเป็นสกทาคามีบุคคลเกิดในหมู่เทพชั้นดุสิต
ท่านอานนท์ ธรรมนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ‘คน ๒ คน คือคนหนึ่ง
ประพฤติพรหมจรรย์ อีกคนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้มีคติเสมอเหมือนกัน
ในสัมปรายภพ’ จะพึงรู้ได้อย่างไร”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “น้องหญิง ข้อนี้พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์ไว้
แล้วอย่างนี้เหมือนกัน”
ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์รับบิณฑบาต ณ ที่อยู่ของมิคสาลาอุบาสิกาแล้ว
ลุกจากอาสนะหลีกไป ครั้นในเวลาหลังภัตตาหาร ท่านพระอานนท์กลับจากบิณฑบาต
แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์ครอง
อันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังที่อยู่ของมิคสาลาอุบาสิกา นั่งบนอาสนะที่ปูลาด
ไว้ ลำดับนั้นแล นางได้เข้าไปหาข้าพระองค์ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามข้า
พระองค์ว่า
ท่านอานนท์ ธรรมนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ‘คน ๒ คน คือคนหนึ่ง
ประพฤติพรหมจรรย์ อีกคนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้มีคติเสมอเหมือนกัน
ในสัมปรายภพ’ จะพึงรู้ได้อย่างไร ท่านผู้เจริญ บิดาของดิฉันชื่อปุราณะ เป็นผู้

เชิงอรรถ :
๑ เมถุน หมายถึงอสัทธรรมซึ่งเป็นประเวณีของชาวบ้าน มารยาทของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด
เป็นกิจที่ต้องทำในที่ลับ ต้องทำกันสองต่อสอง ดูวินัยปิฎกแปล เล่มที่ ๑ ข้อ ๕๕ หน้า ๔๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๕. มิคสาลาสูตร
ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล งดเว้นจากเมถุนซึ่งเป็นธรรมของชาวบ้าน
ท่านถึงแก่กรรมแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่าเป็นสกทาคามีบุคคลเกิดใน
หมู่เทพชั้นดุสิต
เพื่อนรักของบิดาดิฉัน ชื่อว่าอิสิทัตตะ ถึงไม่ประพฤติพรหมจรรย์ แต่ถือ
สทารสันโดษ แม้เขาถึงแก่กรรมแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงพยากรณ์ว่าเป็น
สกทาคามีบุคคลเกิดในหมู่เทพชั้นดุสิต
ท่านอานนท์ ธรรมนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ‘คน ๒ คน คือคนหนึ่ง
ประพฤติพรหมจรรย์ อีกคนหนึ่งไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้มีคติเสมอเหมือนกัน
ในสัมปรายภพ’ จะพึงรู้ได้อย่างไร
เมื่อมิคสาลาอุบาสิกากล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์จึงตอบว่า ‘น้องหญิง ข้อนี้
พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์ไว้อย่างนี้เหมือนกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อานนท์ ในเรื่องญาณเป็นเครื่องกำหนดรู้อินทรีย์แก่
กล้าและอินทรีย์อ่อนของบุคคล ใครกันเล่าคือมิคสาลาอุบาสิกาผู้เขลา ไม่ฉลาด ไม่
หลักแหลม มีปัญญาทึบ และใครกันเล่าคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีวิสัยที่ไม่มีอะไร
ขัดขวางได้๑
อานนท์ บุคคล ๑๐ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๑๐ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล และไม่รู้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติซึ่ง
เป็นที่ดับความเป็นผู้ทุศีลได้สิ้นเชิงตามความเป็นจริง บุคคลนั้นไม่ทำกิจ
ด้วยการฟัง ไม่ทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ๒
และไม่ได้วิมุตติ๓ ตามเวลาอันควร หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปทางเสื่อม
ไม่ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ
๒. ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล แต่รู้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
ซึ่งเป็นที่ดับความเป็นผู้ทุศีลได้สิ้นเชิงตามความเป็นจริง บุคคลนั้นทำกิจ

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความพระดำรัสนี้ พระพุทธเจ้ามีพระประสงค์จะแสดงให้เห็นว่าการที่จะเปรียบเทียบตัดสินหรือวัด
คุณสมบัติของบุคคลด้านการกำหนดรู้อินทรีย์แก่กล้าหรืออ่อนนั้น ไม่ใช่วิสัยของมิคสาลาอุบาสิกา หรือบุคคล
ผู้ปราศจากญาณโดยทั่วไป แต่เป็นวิสัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีญาณวิสัยที่ไม่มีอะไรขัดขวางได้เท่านั้น
(เทียบ องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๔๔/๓๓๔, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๔/๑๒๕)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๗ (ปฐมนาถสูตร) หน้า ๓๒ ในเล่มนี้
๓ ไม่ได้มุตติ หมายถึงไม่ได้อรหัตตผล (องฺ. ทสก.อ. ๓/๑/๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๕. มิคสาลาสูตร
ด้วยการฟัง ทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และได้วิมุต
ติตามเวลาอันควร หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม
ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม
บุคคลผู้ถือประมาณ๑ย่อมถือประมาณข้อนั้นว่า ‘ธรรมแม้ของบุคคลนี้ก็คือ
ธรรมของอีกคนหนึ่งนั่นแล บรรดาบุคคล ๒ คนนั้น เพราะเหตุไร คนหนึ่งจึงเลว
คนหนึ่งจึงดี’ แท้จริง การถือประมาณของผู้ถือประมาณเหล่านั้น เป็นไปเพื่อมิใช่
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน
บรรดาบุคคล ๒ คนนั้น บุคคลใดเป็นผู้ทุศีล แต่รู้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
ซึ่งเป็นที่ดับความทุศีลได้สิ้นเชิงตามความเป็นจริง บุคคลนั้นทำกิจด้วยการฟัง ทำกิจ
ด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และได้วิมุตติตามเวลาอันควร บุคคลนี้ดี
กว่าและประณีตกว่าบุคคลที่กล่าวข้างต้นโน้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนี้หยั่ง
ลงสู่อริยภูมิ ใครเล่าจะพึงรู้เหตุนั้นได้นอกจากตถาคต เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลาย
อย่าได้เป็นผู้ชอบถือประมาณในบุคคล และอย่าถือประมาณในบุคคล เพราะบุคคลผู้
ถือประมาณในบุคคลย่อมทำลายคุณวิเศษของตน ส่วนเราหรือผู้เหมือนเราพึงถือ
ประมาณในบุคคลได้
๓. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศีล แต่ไม่รู้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติซึ่ง
เป็นที่ดับศีลได้สิ้นเชิงตามความเป็นจริง บุคคลนั้นไม่ทำกิจด้วยการฟัง
ไม่ทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และไม่ได้วิมุตติ
ตามเวลาอันควร หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่ไปทางเจริญ
ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ
๔. ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศีล และรู้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
ซึ่งเป็นที่ดับศีลได้สิ้นเชิงตามความเป็นจริง บุคคลนั้นทำกิจด้วยการฟัง
ทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และได้วิมุตติตามเวลา
อันควร หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม ย่อมถึง
ความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม

เชิงอรรถ :
๑ ถือประมาณ ในที่นี้หมายถึงเปรียบเทียบตัดสินคุณสมบัติหรือคุณธรรมด้านเดียวกันระหว่างบุคคลหนึ่งกับ
อีกบุคคลหนึ่ง ว่า ใครมีคุณน้อย ใครมีคุณมาก หรือใครมีคุณมากกว่า ใครมีคุณมากที่สุด (เทียบ องฺ.ทสก.อ.
๓/๗๕/๓๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๕. มิคสาลาสูตร
บุคคลผู้ถือประมาณย่อมถือประมาณข้อนั้นว่า ฯลฯ ส่วนเราหรือผู้เหมือนเรา
พึงถือประมาณในบุคคลได้
๕. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีราคะจัด และไม่รู้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา
วิมุตติซึ่งเป็นที่ดับราคะได้สิ้นเชิงตามความเป็นจริง บุคคลนั้นไม่ทำกิจ
ด้วยการฟัง ไม่ทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และ
ไม่ได้วิมุตติตามเวลาอันควร หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่
ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ
๖. ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีราคะจัด แต่รู้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา-
วิมุตติซึ่งเป็นที่ดับราคะได้สิ้นเชิงตามความเป็นจริง บุคคลนั้นทำกิจด้วย
การฟัง ทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และได้วิมุตติ
ตามเวลาอันควร หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไปทางเสื่อม
ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม
บุคคลผู้ถือประมาณย่อมถือประมาณข้อนั้นว่า ฯลฯ ส่วนเราหรือผู้เหมือนเรา
พึงถือประมาณในบุคคลได้
๗. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มักโกรธ และไม่รู้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
ซึ่งเป็นที่ดับความโกรธได้สิ้นเชิงตามความเป็นจริง บุคคลนั้นไม่ทำกิจ
ด้วยการฟัง ไม่ทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และ
ไม่ได้วิมุตติตามเวลาอันควร หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่
ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ
๘. ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มักโกรธ แต่รู้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา
วิมุตติซึ่งเป็นที่ดับความโกรธได้สิ้นเชิงตามความเป็นจริง บุคคลนั้นทำกิจ
ด้วยการฟัง ทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และได้
วิมุตติตามเวลาอันควร หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไป
ทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม
บุคคลผู้ถือประมาณย่อมถือประมาณข้อนั้นว่า ฯลฯ ส่วนเราหรือผู้เหมือนเรา
พึงถือประมาณในบุคคลได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๕. มิคสาลาสูตร
๙. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฟุ้งซ่าน และไม่รู้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
ซึ่งเป็นที่ดับความฟุ้งซ่านได้สิ้นเชิงตามความเป็นจริง บุคคลนั้นไม่ทำกิจ
ด้วยการฟัง ไม่ทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต ไม่แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และ
ไม่ได้วิมุตติตามเวลาอันควร หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปทางเสื่อม ไม่
ไปทางเจริญ ย่อมถึงความเสื่อมอย่างเดียว ไม่ถึงความเจริญ
๑๐. ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฟุ้งซ่าน แต่รู้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
ซึ่งเป็นที่ดับความฟุ่งซ่านได้สิ้นเชิงตามความเป็นจริง บุคคลนั้นทำกิจ
ด้วยการฟัง ทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และได้
วิมุตติตามเวลาอันควร หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปทางเจริญ ไม่ไป
ทางเสื่อม ย่อมถึงความเจริญอย่างเดียว ไม่ถึงความเสื่อม
อานนท์ บุคคลผู้ถือประมาณย่อมถือประมาณข้อนั้นว่า ‘ธรรมแม้ของบุคคลนี้ก็
คือธรรมของอีกคนหนึ่งนั่นแล บรรดาบุคคล ๒ คนนั้น เพราะเหตุไร คนหนึ่งจึงเลว
คนหนึ่งจึงดี’ แท้จริง การถือประมาณของผู้ถือประมาณเหล่านั้น เป็นไปเพื่อมิใช่
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน
บรรดาบุคคล ๒ คนนั้น บุคคลใดเป็นผู้ฟุ้งซ่าน แต่รู้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา-
วิมุตติซึ่งเป็นที่ดับความฟุ้งซ่านได้สิ้นเชิงตามความเป็นจริง บุคคลนั้นทำกิจด้วยการ
ฟัง ทำกิจด้วยความเป็นพหูสูต แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ และได้วิมุตติตามเวลาอันควร
บุคคลนี้ดีกว่าและประณีตกว่าบุคคลที่กล่าวข้างต้นโน้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
บุคคลนี้หยั่งลงสู่อริยภูมิ ใครเล่าจะพึงรู้เหตุนั้นได้ นอกจากตถาคต เพราะเหตุนั้นแล
เธอทั้งหลายอย่าได้เป็นผู้ชอบถือประมาณในบุคคล และอย่าถือประมาณในบุคคล
เพราะบุคคลผู้ถือประมาณในบุคคลย่อมทำลายคุณวิเศษของตน ส่วนเราหรือผู้
เหมือนเราพึงถือประมาณในบุคคลได้
ในเรื่องญาณเป็นเครื่องกำหนดรู้อินทรีย์แก่กล้าและอินทรีย์อ่อนของบุคคล
ใครกันเล่าคือมิคสาลาอุบาสิกาผู้เขลา ไม่ฉลาด ไม่หลักแหลม มีปัญญาทึบ และ
ใครกันเล่าคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีวิสัยที่ไม่มีอะไรขัดขวางได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๖. ตโยธัมมสูตร
อานนท์ บุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
บุรุษชื่อว่าปุราณะเป็นผู้ประกอบด้วยศีลเช่นใด บุรุษชื่อว่าอิสิทัตตะก็เป็นผู้
ประกอบด้วยศีลเช่นนั้น บุรุษชื่อว่าปุราณะจะได้รู้แม้คติของบุรุษชื่อว่าอิสิทัตตะในโลก
นี้ก็หามิได้ บุรุษชื่อว่าอิสิทัตตะเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเช่นใด บุรุษชื่อว่าปุราณะก็
เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเช่นนั้น บุรุษชื่อว่าอิสิทัตตะจะได้รู้แม้คติของบุรุษชื่อว่า
ปุราณะในโลกนี้ก็หามิได้
อานนท์ บุคคลทั้ง ๒ นี้แล เป็นผู้ต่ำกว่ากันด้วยองค์คุณคนละอย่าง อย่างนี้แล
มิคสาลาสูตรที่ ๕ จบ

๖. ตโยธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรม ๓ ประการ
[๗๖] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ ไม่พึงมีปรากฏอยู่ในโลก ตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พึงอุบัติขึ้นในโลก ธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ก็ไม่พึง
รุ่งเรืองในโลก
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ชาติ (ความเกิด) ๒. ชรา (ความแก่)
๓. มรณะ (ความตาย)
ธรรม ๓ ประการนี้แล ไม่พึงมีปรากฏอยู่ในโลก ตถาคตอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าก็ไม่พึงอุบัติขึ้นในโลก ธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ก็ไม่พึงรุ่งเรืองในโลก
เพราะธรรม ๓ ประการนี้ยังมีปรากฏอยู่ในโลก ฉะนั้น ตถาคตอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าจึงอุบัติขึ้นในโลก ธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้จึงรุ่งเรืองในโลก
๑. บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้ไม่ได้ ก็ไม่อาจละชาติ ชรา และมรณะได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๖. ตโยธัมมสูตร
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) ราคะ (ความกำหนัด)
(๒) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
(๓) โมหะ (ความหลง)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจละชาติ ชรา
และมรณะได้
๒. บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้ไม่ได้ ก็ไม่อาจละราคะ โทสะและโมหะได้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน)
(๒) วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย)
(๓) สีลัพพตปรามาส(ความถือมั่นศีลพรต)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจละราคะ โทสะ
และโมหะได้
๓. บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้ไม่ได้ ก็ไม่อาจละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ
สีลัพพตปรามาสได้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) การมนสิการโดยไม่แยบคาย
(๒) การเดินทางผิด
(๓) ความหดหู่แห่งจิต
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจละสักกายทิฏฐิ
วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้
๔. บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้ไม่ได้ ก็ไม่อาจละการมนสิการโดยไม่แยบคาย
การเดินทางผิด และความหดหู่แห่งจิตได้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) ความหลงลืมสติ
(๒) ความไม่มีสัมปชัญญะ
(๓) ความฟุ้งซ่านแห่งจิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๖. ตโยธัมมสูตร
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจละการมนสิการ
โดยไม่แยบคาย การเดินทางผิด และความหดหู่แห่งจิตได้
๕. บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้ไม่ได้ ก็ไม่อาจละความหลงลืมสติ ความไม่
มีสัมปชัญญะ และความฟุ้งซ่านแห่งจิตได้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะเห็นพระอริยะ
(๒) ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะฟังธรรมของพระอริยะ
(๓) ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดี
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจละความหลง
ลืมสติ ความไม่มีสัมปชัญญะ และความฟุ้งซ่านแห่งจิตได้
๖. บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้ไม่ได้ ก็ไม่อาจละความเป็นผู้ไม่ต้องการจะ
เห็นพระอริยะ ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะฟังธรรมของพระอริยะ และความเป็นผู้มีจิต
คิดแข่งดีได้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) ความฟุ้งซ่าน (๒) ความไม่สำรวม
(๓) ความเป็นผู้ทุศีล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจละความเป็นผู้
ไม่ต้องการจะเห็นพระอริยะ ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะฟังธรรมของพระอริยะ และ
ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดีได้
๗. บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้ไม่ได้ ก็ไม่อาจละความฟุ้งซ่าน ความไม่
สำรวม และความเป็นผู้ทุศีลได้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) ความไม่มีศรัทธา (๒) ความเป็นผู้ไม่มีใจเอื้อเฟื้อ
(๓) ความเกียจคร้าน
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจละความฟุ้งซ่าน
ความไม่สำรวม และความเป็นผู้ทุศีลได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๖. ตโยธัมมสูตร
๘. บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้ไม่ได้ ก็ไม่อาจละความไม่มีศรัทธา ความเป็น
ผู้ไม่มีใจเอื้อเฟื้อ และความเกียจคร้านได้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) ความไม่เอื้อเฟื้อ (๒) ความเป็นผู้ว่ายาก
(๓) ความเป็นผู้มีปาปมิตร
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจละความไม่มี
ศรัทธา ความเป็นผู้ไม่มีใจเอื้อเฟื้อ และความเกียจคร้านได้
๙. บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้ไม่ได้ ก็ไม่อาจละความไม่เอื้อเฟื้อ ความ
เป็นผู้ว่ายาก และความเป็นผู้มีปาปมิตรได้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) ความไม่มีหิริ (๒) ความไม่มีโอตตัปปะ
(๓) ความประมาท
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลยังละธรรม ๓ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจละความไม่เอื้อเฟื้อ
ความเป็นผู้ว่ายาก และความเป็นผู้มีปาปมิตรได้
๑๐. บุคคลนี้เป็นผู้ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ เป็นผู้ประมาท บุคคลนั้น เมื่อ
ประมาท จึงไม่อาจละความไม่เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ว่ายาก และความเป็นผู้มี
ปาปมิตรได้ เมื่อมีปาปมิตร จึงไม่อาจละความไม่มีศรัทธา ความเป็นผู้ไม่มีใจเอื้อเฟื้อ
และความเกียจคร้านได้ เมื่อเกียจคร้าน จึงไม่อาจละความฟุ้งซ่าน ความไม่สำรวม
และความเป็นผู้ทุศีลได้ เมื่อทุศีล จึงไม่อาจละความเป็นผู้ไม่ต้องการจะเห็นพระอริยะ
ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะฟังธรรมของพระอริยะ และความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดีได้ เมื่อ
มีจิตคิดแข่งดี จึงไม่อาจละความหลงลืมสติ ความไม่มีสัมปชัญญะ และความฟุ้งซ่าน
แห่งจิตได้ เมื่อมีจิตฟุ้งซ่าน จึงไม่อาจละการมนสิการโดยไม่แยบคาย การเดินทางผิด
และความหดหู่แห่งจิตได้ เมื่อมีจิตหดหู่ จึงไม่อาจละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ
สีลัพพตปรามาสได้ เมื่อมีวิจิกิจฉา จึงไม่อาจละราคะ โทสะ และโมหะได้ ครั้นละ
ราคะ โทสะ และโมหะยังไม่ได้ จึงไม่อาจละชาติ ชรา และมรณะได้
๑. บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้ได้แล้ว จึงอาจละชาติ ชรา และมรณะได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๖. ตโยธัมมสูตร
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) ราคะ (๒) โทสะ
(๓) โมหะ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจละชาติ ชรา และ
มรณะได้
๒. บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้ได้แล้ว จึงอาจละราคะ โทสะ และโมหะได้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) สักกายทิฏฐิ (๒) วิจิกิจฉา
(๓) สีลัพพตปรามาส
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจละราคะ โทสะ
และโมหะได้
๓. บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้ได้แล้ว จึงอาจละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และ
สีลัพพตปรามาสได้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) การมนสิการโดยไม่แยบคาย (๒) การเดินทางผิด
(๓) ความหดหู่แห่งจิต
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจละสักกายทิฏฐิ
วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้
๔. บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้ได้แล้ว จึงอาจละการมนสิการโดยไม่แยบคาย
การเดินทางผิด และความหดหู่แห่งจิตได้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) ความหลงลืมสติ (๒) ความไม่มีสัมปชัญญะ
(๓) ความฟุ้งซ่านแห่งจิต
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจละการมนสิการ
โดยไม่แยบคาย การเดินทางผิด และความหดหู่แห่งจิตได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๖. ตโยธัมมสูตร
๕. บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้ได้แล้ว จึงอาจละความหลงลืมสติ ความไม่มี
สัมปชัญญะ และความฟุ้งซ่านแห่งจิตได้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะเห็นพระอริยะ
(๒) ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะฟังธรรมของพระอริยะ
(๓) ความเป็นผู้มีจิตคิดแข่งดี
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจละความหลง
ลืมสติ ความไม่มีสัมปชัญญะ และความฟุ้งซ่านแห่งจิตได้
๖. บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้ได้แล้ว จึงอาจละความเป็นผู้ไม่ต้องการจะเห็น
พระอริยะ ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะฟังธรรมของพระอริยะ และความเป็นผู้มีจิตคิด
แข่งดีได้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) ความฟุ้งซ่าน (๒) ความไม่สำรวม
(๓) ความเป็นผู้ทุศีล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจละความเป็นผู้ไม่
ต้องการจะเห็นพระอริยะ ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะฟังธรรมของพระอริยะ และความ
เป็นผู้มีจิตคิดแข่งดีได้
๗. บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้ได้แล้ว จึงอาจละความฟุ้งซ่าน ความไม่สำรวม
และความเป็นผู้ทุศีลได้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) ความไม่มีศรัทธา (๒) ความเป็นผู้ไม่มีใจเอื้อเฟื้อ
(๓) ความเกียจคร้าน
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจละความฟุ้งซ่าน
ความไม่สำรวม และความเป็นผู้ทุศีลได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๖. ตโยธัมมสูตร
๘. บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้ได้แล้ว จึงอาจละความไม่มีศรัทธา ความเป็นผู้
มีใจไม่เอื้อเฟื้อ และความเกียจคร้านได้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) ความไม่เอื้อเฟื้อ (๒) ความเป็นผู้ว่ายาก
(๓) ความเป็นผู้มีปาปมิตร
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจละความเป็นผู้ไม่
มีศรัทธา ความเป็นผู้ไม่มีใจเอื้อเฟื้อ และความเกียจคร้านได้
๙. บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้ได้แล้ว จึงอาจละความเป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ความ
เป็นผู้ว่ายาก และความเป็นผู้มีปาปมิตรได้
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
(๑) ความเป็นผู้ไม่มีหิริ (๒) ความเป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ
(๓) ความประมาท
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๓ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจละความเป็นผู้ไม่
เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ว่ายาก และความเป็นผู้มีปาปมิตรได้ (๙)
๑๐. บุคคลนี้เป็นผู้มีหิริ เป็นผู้มีโอตตัปปะ เป็นผู้ไม่ประมาท บุคคลนั้นเมื่อไม่
ประมาท จึงอาจละความเป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ความเป็นผู้ว่ายาก และความเป็นผู้มีปาปมิตรได้
เมื่อมีกัลยาณมิตร จึงอาจละความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ความเป็นผู้ไม่มีใจเอื้อเฟื้อ
และความเกียจคร้านได้ เมื่อปรารภความเพียร จึงอาจละความฟุ้งซ่าน ความไม่
สำรวม และความเป็นผู้ทุศีลได้ เมื่อมีศีล จึงอาจละความเป็นผู้ไม่ต้องการจะเห็น
พระอริยะ ความเป็นผู้ไม่ต้องการจะฟังธรรมของพระอริยะ และความเป็นผู้มีจิตคิด
แข่งดีได้ เมื่อมีจิตไม่คิดแข่งดี จึงอาจละความหลงลืมสติ ความไม่มีสัมปชัญญะ
ความฟุ้งซ่านแห่งจิตได้ เมื่อมีจิตไม่ฟุ้งซ่าน จึงอาจละการมนสิการโดยไม่แยบคาย
การเดินทางผิด และความหดหู่แห่งจิตได้ เมื่อมีจิตไม่หดหู่ จึงอาจละสักกายทิฏฐิ
วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้ เมื่อไม่มีวิจิกิจฉา จึงอาจละราคะ โทสะ และ
โมหะได้ ครั้นละราคะ โทสะ และโมหะ ได้แล้ว จึงอาจละชาติ ชรา และมรณะได้
ตโยธัมมสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๘. นิคัณฐสูตร
๗. กากสูตร
ว่าด้วยอสัทธรรมของกา
[๗๗] ภิกษุทั้งหลาย กาประกอบด้วยอสัทธรรม ๑๐ ประการ
อสัทธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. มักกำจัด ๒. คะนอง
๓. ทะเยอทะยาน ๔. กินจุ
๕. หยาบช้า ๖. ไม่มีกรุณา
๗. อ่อนแอ ๘. มักร้อง
๙. หลงลืมสติ ๑๐. สั่งสม

กาประกอบด้วยอสัทธรรม ๑๐ ประการนี้แล ฉันใด
ภิกษุชั่วประกอบด้วยอสัทธรรม ๑๐ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
อสัทธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. มักกำจัด๑ ๒. คะนอง
๓. ทะเยอทะยาน ๔. กินจุ
๕. หยาบช้า ๖. ไม่มีกรุณา
๗. อ่อนแอ ๘. มักร้อง
๙. หลงลืมสติ ๑๐. สั่งสม

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษชั่วประกอบด้วยอสัทธรรม ๑๐ ประการนี้แล
กากสูตรที่ ๗ จบ

๘. นิคัณฐสูตร
ว่าด้วยอสัทธรรมของพวกนิครนถ์
[๗๘] ภิกษุทั้งหลาย พวกนิครนถ์ประกอบด้วยอสัทธรรม ๑๐ ประการ
อสัทธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

เชิงอรรถ :
๑ มักกำจัด ในที่นี้หมายถึงกำจัดคุณความดีของผู้อื่น ชอบใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น (องฺ.ทสก.อ. ๓/๗๗/๓๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๙. อาฆาตวัตถุสูตร
๑. ไม่มีศรัทธา ๒. ทุศีล
๓. ไม่มีหิริ ๔. ไม่มีโอตตัปปะ
๕. ไม่ภักดีต่อสัตบุรุษ ๖. ยกตนข่มท่าน
๗. สละคืนความยึดมั่นถือมั่นด้วยทิฏฐิของตนได้ยาก
๘. เป็นคนลวงโลก ๙. ปรารถนาชั่ว
๑๐. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย พวกนิครนถ์ประกอบด้วยอสัทธรรม ๑๐ ประการนี้แล
นิคัณฐสูตรที่ ๘ จบ

๙. อาฆาตวัตถุสูตร
ว่าด้วยอาฆาตวัตถุ
[๗๙] ภิกษุทั้งหลาย อาฆาตวัตถุ(เหตุผูกอาฆาต) ๑๐ ประการนี้
อาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลย่อมผูกอาฆาตว่า
๑. ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์๑แก่เรา
๒. ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชนแก่เรา
๓. ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชนแก่เรา
๔. ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชนแก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา
๕. ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชนแก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา
๖. ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชนแก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา
๗. ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรา
๘. ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรา

เชิงอรรถ :
๑ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ในที่นี้หมายถึงความพินาศ เสียหาย ไม่เจริญ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๘๘-๘๙/๑๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค ๑๐. อาฆาตปฏิวินยสูตร
๙. ผู้นี้จักทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรา
๑๐. โกรธในเหตุอันไม่ควร๑
ภิกษุทั้งหลาย อาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการนี้แล
อาฆาตวัตถุสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. อาฆาตปฏิวินยสูตร
ว่าด้วยอุบายกำจัดอาฆาต
[๘๐] ภิกษุทั้งหลาย อุบายเป็นเครื่องกำจัดอาฆาต ๑๐ ประการนี้
อุบายเป็นเครื่องกำจัดอาฆาต ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลย่อมกำจัดอาฆาตว่า
๑. ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา การทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
แก่เรานั้น จะหาได้ในผู้นี้แต่ที่ไหน
๒. ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา การทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
แก่เรานั้น จะหาได้ในผู้นี้แต่ที่ไหน
๓. ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา การทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่
เรานั้น จะหาได้ในผู้นี้แต่ที่ไหน
๔. ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา การทำ
สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรานั้น จะหาได้ในผู้นี้
แต่ที่ไหน
๕. ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา การ
ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรานั้น จะหาได้ใน
ผู้นี้แต่ที่ไหน

เชิงอรรถ :
๑ ดู อภิ.วิ. ๓๕/๙๖๗/๔๗๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๓. อากังขวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๖. ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา การทำ
สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรานั้น จะหาได้ในผู้นี้
แต่ที่ไหน
๗. ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรา
การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรานั้น
จะหาได้ในผู้นี้แต่ที่ไหน
๘. ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรา
การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรานั้น
จะหาได้ในผู้นี้แต่ที่ไหน
๙. ผู้นี้จักทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรา
การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรานั้น
จะหาได้ในผู้นี้แต่ที่ไหน
๑๐. ไม่โกรธในเหตุอันไม่ควร
ภิกษุทั้งหลาย อุบายเป็นเครื่องกำจัดอาฆาต ๑๐ ประการนี้แล
อาฆาตปฏิวินยสูตรที่ ๑๐ จบ
อากังขวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อากังขสูตร ๒. กัณฏกสูตร
๓. อิฏฐธัมมสูตร ๔. วัฑฒิสูตร
๕. มิคสาลาสูตร ๖. ตโยธัมมสูตร
๗. กากสูตร ๘. นิคัณฐสูตร
๙. อาฆาตวัตถุสูตร ๑๐. อาฆาตปฏิวินยสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๑. วาหุนสูตร
๔. เถรวรรค
หมวดว่าด้วยพระเถระ
๑. วาหุนสูตร
ว่าด้วยพระวาหุนะ
[๘๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ฝั่งสระคัคคราโบกขรณี เขตกรุง
จัมปา ครั้งนั้นแล ท่านพระวาหุนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร จึงได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตทรงสลัด ปราศจาก หลุดพ้นจากธรรม
เท่าไรหนอ จึงมีพระหทัยปราศจากแดน ๑ อยู่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า วาหุนะ ตถาคตสลัด ปราศจาก หลุดพ้นจากธรรม
๑๐ ประการ จึงมีใจปราศจากแดนอยู่
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตถาคตสลัด ปราศจาก หลุดพ้นจากรูป จึงมีใจปราศจากแดนอยู่
๒. ตถาคตสลัด ปราศจาก หลุดพ้นจากเวทนา จึงมีใจปราศจากแดนอยู่
๓. ตถาคตสลัด ปราศจาก หลุดพ้นจากสัญญา จึงมีใจปราศจากแดนอยู่
๔. ตถาคตสลัด ปราศจาก หลุดพ้นจากสังขาร จึงมีใจปราศจากแดนอยู่
๕. ตถาคตสลัด ปราศจาก หลุดพ้นจากวิญญาณ จึงมีใจปราศจากแดนอยู่
๖. ตถาคตสลัด ปราศจาก หลุดพ้นจากชาติ จึงมีใจปราศจากแดนอยู่
๗. ตถาคตสลัด ปราศจาก หลุดพ้นจากชรา จึงมีใจปราศจากแดนอยู่
๘. ตถาคตสลัด ปราศจาก หลุดพ้นจากมรณะ จึงมีใจปราศจากแดนอยู่
๙. ตถาคตสลัด ปราศจาก หลุดพ้นจากทุกข์ จึงมีใจปราศจากแดนอยู่
๑๐. ตถาคตสลัด ปราศจาก หลุดพ้นจากกิเลส จึงมีใจปราศจากแดนอยู่

เชิงอรรถ :
๑ แดน ในที่นี้หมายถึงกิเลส (องฺ.ทสก.อ. ๓/๘๑-๘๓/๓๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๒. อานันทสูตร
วาหุนะ ตถาคตสลัด ปราศจาก หลุดพ้นจากธรรม ๑๐ ประการนี้ จึงมีใจปราศ
จากแดนอยู่ เปรียบเหมือนดอกอุบล ดอกปทุม ดอกปุณฑริกที่เกิดในน้ำ
เจริญในน้ำ ขึ้นพ้นจากน้ำ ไม่ติดอยู่กับน้ำ ฉะนั้น
วาหุนสูตรที่ ๑ จบ

๒. อานันทสูตร
ว่าด้วยพระอานนท์
[๘๒] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
อานนท์
๑. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่มีศรัทธา จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ใน
ธรรมวินัยนี้
๒. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ทุศีล จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ใน
ธรรมวินัยนี้
๓. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้มีสุตะน้อย จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ใน
ธรรมวินัยนี้
๔. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ว่ายาก จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ใน
ธรรมวินัยนี้
๕. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้มีปาปมิตร(มิตรชั่ว) จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
ในธรรมวินัยนี้
๖. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้เกียจคร้าน จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ใน
ธรรมวินัยนี้
๗. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้หลงลืมสติ จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ใน
ธรรมวินัยนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๓. ปุณณิยสูตร
๘. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่สันโดษ จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ใน
ธรรมวินัยนี้
๙. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ปรารถนาชั่ว จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
ในธรรมวินัยนี้
๑๐. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ(เห็นผิด) จักถึงความเจริญงอก
งามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
อานนท์ เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล จักถึง
ความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
อานนท์
๑. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้มีศรัทธา จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรม
วินัยนี้
๒. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้มีศีล จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรม
วินัยนี้
๓. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้เป็นพหูสูต ทรงสุตะ จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
ในธรรมวินัยนี้
๔. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ว่าง่าย จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรม
วินัยนี้
๕. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร(มิตรดี) จักถึงความเจริญงอกงาม
ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
๖. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ปรารภความเพียร จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ใน
ธรรมวินัยนี้
๗. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้มีสติตั้งมั่น จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรม
วินัยนี้
๘. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้สันโดษ จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรม
วินัยนี้
๙. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้มักน้อย จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรม
วินัยนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๓. ปุณณิยสูตร
๑๐. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ(เห็นชอบ) จักถึงความเจริญงอกงาม
ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
อานนท์ เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้ จักถึงความเจริญ
งอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
อานันทสูตรที่ ๒ จบ

๓. ปุณณิยสูตร
ว่าด้วยพระปุณณิยะ
[๘๓] ครั้งนั้น ท่านพระปุณณิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระธรรมเทศนาของ
พระตถาคตแจ่มแจ้งในบางคราว แต่ในบางคราว กลับไม่แจ่มแจ้ง
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่เข้าไปหา
ธรรมเทศนาของตถาคตจึงไม่แจ่มแจ้ง แต่เมื่อใด ภิกษุมีศรัทธาและเข้าไปหา เมื่อนั้น
ธรรมเทศนาของตถาคตจึงแจ่มแจ้ง
ปุณณิยะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและเข้าไปหา แต่ไม่เข้าไปนั่งใกล้ ... เข้าไปนั่งใกล้
แต่ไม่สอบถาม ... สอบถาม แต่ไม่เงี่ยโสตฟังธรรม เงี่ยโสตฟังธรรม แต่ไม่ทรงจำ
ธรรมไว้ ... ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ แต่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ ...
พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ แต่ไม่รู้อรรถ ไม่รู้ธรรม ไม่ปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม รู้อรรถ รู้ธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว แต่ไม่มี
วาจางาม ไม่เจรจาถ้อยคำไพเราะประกอบด้วยวาจาชาวเมืองที่สละสลวยไม่
หยาบคาย ให้รู้ความหมายได้ มีวาจางาม เจรจาถ้อยคำไพเราะประกอบด้วยวาจา
ชาวเมืองที่สละสลวยไม่หยาบคาย ให้รู้ความหมายได้ แต่ไม่ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารี
เห็นชัด ไม่ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ ไม่เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ไม่ปลอบ
ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง ธรรมเทศนาของตถาคตจึงไม่แจ่มแจ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๔. พยากรณสูตร
ปุณณิยะ แต่เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา ๑ เข้าไปหา ๑ เข้าไปนั่งใกล้ ๑
สอบถาม ๑ เงี่ยโสตฟังธรรม ๑ ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ ๑ พิจารณาเนื้อความ
แห่งธรรมที่ทรงจำไว้ ๑ เป็นผู้รู้อรรถรู้ธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑ มีวาจา
งาม เจราจาถ้อยคำไพเราะประกอบด้วยวาจาชาวเมืองที่สละสลวยไม่หยาบคาย ให้รู้
ความหมายได้ ๑ ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง ๑ เมื่อนั้น ธรรมเทศนา
ของตถาคตจึงแจ่มแจ้ง
ปุณณิยะ ธรรมเทศนาของตถาคตประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล จึง
แจ่มแจ้งโดยแท้
ปุณณิยสูตรที่ ๓ จบ

๔. พยากรณสูตร
ว่าด้วยการพยากรณ์อรหัตตผล
[๘๔] ณ ที่นั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า
ภิกษุผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้กล่าว
เรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลว่า ‘เรารู้ชัดว่า
ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ๑เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป๒’ พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ฉลาด
ในสมาบัติ ฉลาดในจิตของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น ย่อมซักถาม
สอบถาม ไล่เลียงภิกษุนั้น ภิกษุนั้นผู้ถูกพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้

เชิงอรรถ :
๑ กิจที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงกิจในอริยสัจ ๔ คือ การกำหนดรู้ทุกข์ การละเหตุเกิดทุกข์ การทำให้แจ้งซึ่ง
ความดับทุกข์และการอบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ (ที.สี.อ. ๒๔๓/๒๐๓)
๒ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมรรคญาณเพื่อความสิ้น
กิเลสอีกต่อไป เพราะพุทธศาสนาถือว่าการบรรลุอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ที.สี.อ. ๒๔๓/๒๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๔. พยากรณสูตร
ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิตของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น
ซักถาม สอบถาม ไล่เลียงอยู่ ย่อมถึงความเป็นคนเปล่า ความไม่มีคุณ ความ
ไม่เจริญ ความพินาศ ทั้งความไม่เจริญและความพินาศ
พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดใน
จิตของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น กำหนดรู้ใจด้วยใจแล้ว ใส่ใจถึงภิกษุ
นั้นอย่างนี้ว่า ‘เพราะเหตุไรหนอ ท่านผู้นี้จึงพยากรณ์อรหัตตผลว่า เรารู้ชัดว่า ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้อีกต่อไป’
พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิต
ของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น กำหนดรู้ใจด้วยใจแล้ว ย่อมรู้ชัดซึ่ง
ภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า
๑. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มักโกรธ มีใจถูกความโกรธกลุ้มรุมอยู่โดยมาก’ ก็การถูก
ความโกรธกลุ้มรุมนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคต
ทรงประกาศแล้ว
๒. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มักผูกโกรธ มีใจถูกความผูกโกรธกลุ้มรุมอยู่โดยมาก’ ก็
การถูกความผูกโกรธกลุ้มรุมนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่
พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๓. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มักลบหลู่ มีใจถูกความลบหลู่กลุ้มรุมอยู่โดยมาก’ ก็
การถูกความลบหลู่กลุ้มรุมนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระ
ตถาคตทรงประกาศแล้ว
๔. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มักตีเสมอ มีใจถูกความตีเสมอกลุ้มรุมอยู่โดยมาก’ ก็
การถูกความตีเสมอกลุ้มรุมนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระ
ตถาคตทรงประกาศแล้ว
๕. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มีความริษยา มีใจถูกความริษยากลุ้มรุมอยู่โดยมาก’ ก็
การถูกความริษยากลุ้มรุมนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระ
ตถาคตทรงประกาศแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๔. พยากรณสูตร
๖. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มักตระหนี่ มีใจถูกความตระหนี่กลุ้มรุมอยู่โดยมาก’ ก็การ
ถูกความตระหนี่กลุ้มรุมนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระ
ตถาคตทรงประกาศแล้ว
๗. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มักโอ้อวด มีใจถูกความโอ้อวดกลุ้มรุมอยู่โดยมาก’ ก็การ
ถูกความโอ้อวดกลุ้มรุมนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระ
ตถาคตทรงประกาศแล้ว
๘. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มีมายา มีใจถูกมายากลุ้มรุมอยู่โดยมาก’ ก็การถูกมายา
กลุ้มรุมนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๙. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มีความปรารถนาชั่ว มีใจถูกความปรารถนาชั่วกลุ้มรุมอยู่
โดยมาก‘ก็การถูกความปรารถนาชั่วกลุ้มรุมนี้แล เป็นความเสื่อมใน
พระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๑๐. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้หลงลืมสติ ถึงความหยุดชงักเสียในระหว่างที่จะบรรลุคุณ
วิเศษชั้นสูง เพราะได้บรรลุคุณวิเศษชั้นต่ำ’ ก็การถึงความหยุดชงักเสีย
ในระหว่างนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรง
ประกาศแล้ว
ผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นแล ละธรรม ๑๐ ประการนี้ไม่ได้แล้ว
จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุนั้นแล ละธรรม ๑๐ ประการนี้ได้แล้ว จักถึงความเจริญงอก
งามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้
พยากรณสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๕. กัตถีสูตร
๕. กัตถีสูตร
ว่าด้วยการกล่าวโอ้อวดว่าได้บรรลุคุณวิเศษ
[๘๕] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหาจุนทะอยู่ที่สหชาติวัน แคว้นเจตี ณ ที่นั้นแล
ท่านพระมหาจุนทะได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ภิกษุผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุ
เหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระมหาจุนทะจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้ชอบกล่าวโอ้อวดในการได้
บรรลุคุณวิเศษว่า ‘เราเข้าปฐมฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าทุติยฌานก็ได้ ออกก็ได้
เข้าตติยฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าจตุตถฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าอากาสานัญจายตนฌานก็ได้
ออกก็ได้ เข้าวิญญาณัญจายตนฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าอากิญจัญญายตนฌานก็ได้
ออกก็ได้ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธก็ได้
ออกก็ได้’
พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิต
ของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น ย่อมซักถาม สอบถาม ไล่เลียงภิกษุนั้น
ภิกษุนั้นถูกพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาด
ในจิตของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น ซักถาม สอบถาม ไล่เลียงอยู่ ย่อม
ถึงความเป็นคนเปล่า ความไม่มีคุณ ความไม่เจริญ ความพินาศ ทั้งความไม่เจริญ
และความพินาศ
พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิต
ของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น กำหนดรู้ใจด้วยใจแล้ว ใส่ใจถึงภิกษุนั้น
อย่างนี้ว่า
‘เพราะเหตุไรหนอ ท่านผู้นี้จึงเป็นผู้ชอบกล่าวโอ้อวดในการบรรลุคุณวิเศษว่า
‘เราเข้าปฐมฌานก็ได้ ออกก็ได้ ฯลฯ เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธก็ได้ ออกก็ได้’
พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิต
ของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น กำหนดรู้ใจด้วยใจแล้ว ย่อมรู้ชัดซึ่งภิกษุ
นั้นอย่างนี้ว่า
๑. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้ทำศีลให้ขาด ให้ทะลุ ให้ด่าง ให้พร้อย ไม่ชอบทำต่อเนื่อง
ไม่ประพฤติต่อเนื่องในศีลทั้งหลาย ท่านผู้นี้เป็นผู้ทุศีลตลอดกาลนาน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๕. กัตถีสูตร
ก็ความเป็นผู้ทุศีลนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคต
ทรงประกาศแล้ว
๒. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้ไม่มีศรัทธา มีความประพฤติไม่สมควร’ ก็ความเป็นผู้ไม่มี
ศรัทธานี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศ
แล้ว
๓. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มีสุตะน้อย มีความประพฤติไม่สมควร’ ก็ความเป็นผู้มี
สุตะน้อยนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรง
ประกาศแล้ว
๔. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้ว่ายาก มีความประพฤติไม่สมควร’ ก็ความเป็นผู้ว่ายาก
นี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๕. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มีปาปมิตร’ ก็ความเป็นผู้มีปาปมิตรนี้แล เป็นความเสื่อม
ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๖. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้เกียจคร้าน’ ก็ความเป็นผู้เกียจคร้านนี้แล เป็นความเสื่อม
ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๗. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้หลงลืมสติ’ ก็ความเป็นผู้หลงลืมสตินี้แล เป็นความเสื่อม
ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๘. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้หลอกลวงโลก’ ก็ความเป็นผู้หลอกลวงโลกนี้แล เป็น
ความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๙. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้เลี้ยงยาก’ ก็ความเป็นผู้เลี้ยงยากนี้แล เป็นความเสื่อมใน
พระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๑๐. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มีปัญญาทราม’ ก็ความเป็นผู้มีปัญญาทรามนี้แล เป็น
ความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
ผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนสหายพึงกล่าวกับสหายอย่างนี้ว่า ‘สหาย
เมื่อใด ท่านมีกิจจำเป็นที่ต้องใช้ทรัพย์ ท่านควรบอกให้เราทราบ เราจะให้ทรัพย์แก่
ท่าน’ สหายอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เมื่อมีกิจบางอย่างที่จำเป็นต้องใช้ทรัพย์เกิดขึ้น จึงบอก
กับสหายอย่างนี้ว่า ‘สหาย เราต้องการใช้ทรัพย์ ขอท่านจงให้ทรัพย์แก่เรา’ สหาย
นั้นก็ตอบอย่างนี้ว่า ‘สหาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงขุดลงไป ณ ที่ตรงนี้‘สหายอีกฝ่ายหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๕. กัตถีสูตร
นั้นเมื่อขุดลงไป ณ ที่ตรงนั้น ก็ไม่พบทรัพย์ เขาจึงกล่าวขึ้นอย่างนี้ว่า ‘สหาย ท่านได้
พูดเหลาะแหละไร้สาระกับเราว่า’ ‘ท่านจงขุดลงไป ณ ที่ตรงนี้’ สหายนั้นจึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘สหาย เราหาได้พูดเหลาะแหละไร้สาระกับท่านไม่ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงขุด
ลงไป ณ ที่ตรงนี้เถิด’ สหายอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเมื่อขุดลงไป ณ ที่ตรงนั้น ก็ยังไม่
พบทรัพย์ จึงกล่าวขึ้นอย่างนี้ว่า ‘สหาย ท่านได้พูดเหลาะแหละไร้สาระกับเราว่า
‘ท่านจงขุดลงไป ณ ที่ตรงนี้’ เขาจึงกล่าวขึ้นอย่างนี้ว่า ‘สหาย เราหาได้พูดเหลาะแหละ
ไร้สาระกับท่านไม่ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงขุดลงไป ณ ที่ตรงนี้’ สหายอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเมื่อ
ขุดลงไป ณ ที่ตรงนั้น ก็ไม่พบทรัพย์อีก จึงพูดขึ้นอย่างนี้ว่า ‘สหาย ท่านได้พูดเหลาะ
แหละไร้สาระกับเราว่า ‘ท่านจงขุดลงไป ณ ที่ตรงนี้’ สหายนั้นก็พูดตอบอย่างนี้ว่า
‘สหาย เราหาได้พูดเหลาะแหละไร้สาระกับท่านไม่ แต่เราเองนี้แล ถึงความ เป็นผู้มี
สติฟั่นเฟือน ที่มิได้กำหนดรู้ด้วยใจ’ แม้ฉันใด
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ชอบกล่าวโอ้อวดในการบรรลุ
คุณวิเศษว่า ‘เราเข้าปฐมฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าทุติยฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าตติยฌานก็ได้
ออกก็ได้ เข้าจตุตถฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าอากาสานัญจายตนฌานก็ได้ ออกก็ได้
เข้าวิญญาณัญจายตนฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าอากิญจัญญายตนฌานก็ได้ ออกก็ได้
เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็ได้ ออกก็ได้ เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธก็ได้ ออกก็ได้’
พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิต
ของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น ย่อมซักถาม สอบถาม ไล่เลียงภิกษุนั้น
ภิกษุนั้นถูกพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาด
ในจิตของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่นซักถาม สอบถาม ไล่เลียงอยู่ ย่อม
ถึงความเป็นคนเปล่า ความไม่มีคุณ ความไม่เจริญ ความพินาศ ทั้งความไม่เจริญ
และความพินาศ
พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิต
ของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น กำหนดใจด้วยใจแล้ว ใส่ใจถึงภิกษุนั้น
อย่างนี้ว่า ‘เพราะเหตุไรหนอ ท่านผู้นี้จึงเป็นผู้ชอบกล่าวโอ้อวดในการบรรลุคุณ
วิเศษว่า ‘เราเข้าปฐมฌานก็ได้ ออกก็ได้ ฯลฯ เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธก็ได้ ออกก็ได้’
พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิต
ของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น กำหนดใจด้วยใจแล้ว ย่อมรู้ชัดซึ่งภิกษุ
นั้นอย่างนี้ว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๕. กัตถีสูตร
๑. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้ทำศีลให้ขาด ให้ทะลุ ให้ด่าง ให้พร้อย ไม่ชอบทำต่อเนื่อง
ไม่ประพฤติต่อเนื่องในศีลทั้งหลาย ท่านผู้นี้เป็นผู้ทุศีลตลอดกาลนาน’
ก็ความเป็นผู้ทุศีลนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคต
ทรงประกาศแล้ว
๒. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้ไม่มีศรัทธา’ ก็ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธานี้แล เป็นความ
เสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๓. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มีสุตะน้อย มีความประพฤติไม่สมควร’ ก็ความเป็นผู้มีสุตะ
น้อยนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๔. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้ว่ายาก’ ก็ความเป็นผู้ว่ายากนี้แล เป็นความเสื่อมใน
พระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๕. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มีปาปมิตร’ ก็ความเป็นผู้มีปาปมิตรนี้แล เป็นความเสื่อม
ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๖. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้เกียจคร้าน’ ก็ความเป็นผู้เกียจคร้านนี้แล เป็นความเสื่อม
ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๗. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้หลงลืมสติ’ ก็ความเป็นผู้หลงลืมสตินี้แล เป็นความเสื่อม
ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๘. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้หลอกลวงโลก’ ก็ความเป็นผู้หลอกลวงโลกนี้แล เป็น
ความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๙. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้เลี้ยงยาก’ ก็ความเป็นผู้เลี้ยงยากนี้แล เป็นความเสื่อม
ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๑๐. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มีปัญญาทราม’ ก็ความเป็นผู้มีปัญญาทรามนี้แล เป็น
ความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
ผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นแล ละธรรม ๑๐ ประการนี้ไม่ได้แล้ว
จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุนั้นแล ละธรรม ๑๐ ประการนี้ได้แล้ว จักถึงความเจริญงอกงาม
ไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้
กัตถีสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๖. อธิมานสูตร
๖. อธิมานสูตร
ว่าด้วยความสำคัญผิด
[๘๖] สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปะอยู่ที่พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
เขตกรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล ท่านพระมหากัสสปะได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า
ภิกษุผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระมหากัสสปะจึงได้กล่าวเรื่อง
นี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลว่า ‘เรา
รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้ได้ฌาน
ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิตของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่นซักถาม
สอบถาม ไล่เลียงภิกษุนั้น ภิกษุนั้นถูกพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตผู้
ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิตของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น
ซักถาม สอบถาม ไล่เลียงอยู่ ย่อมถึงความเป็นคนเปล่า ความไม่มีคุณ ความ
ไม่เจริญ ความพินาศ ทั้งความไม่เจริญและความพินาศ
พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต ผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิต
ของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น กำหนดรู้ใจด้วยใจแล้ว ใส่ใจถึงภิกษุนั้น
อย่างนี้ว่า ‘เพราะเหตุไรหนอ ท่านผู้นี้จึงพยากรณ์อรหัตตผลว่า เรารู้ชัดว่า ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้อีกต่อไป’
พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต ผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิต
ของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น กำหนดรู้ใจด้วยใจแล้ว ย่อมรู้ชัดซึ่งภิกษุ
นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีความสำคัญผิด สำคัญผิดโดยสัตย์จริง มีความสำคัญในสิ่ง
ที่ยังไม่ได้ถึงว่าได้ถึง มีความสำคัญในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำว่าได้ทำ มีความสำคัญในสิ่งที่ยัง
ไม่ได้บรรลุว่าได้บรรลุ ย่อมพยากรณ์อรหัตตผลด้วยความสำคัญผิดว่า เรารู้ชัดว่า
ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป’


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๖. อธิมานสูตร
พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต ผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิต
ของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น กำหนดรู้ใจด้วยใจแล้ว ใส่ใจถึงภิกษุนั้น
อย่างนี้ว่า ‘เพราะเหตุไรหนอ ท่านผู้นี้จึงมีความสำคัญผิด สำคัญผิดโดยสัตย์จริง
เพราะอาศัยสิ่งที่ยังไม่ได้บรรลุ มีความสำคัญในสิ่งที่ยังไม่ได้ถึงว่าได้ถึง มีความ
สำคัญในสิ่งยังไม่ได้ทำว่าได้ทำ มีความสำคัญในสิ่งที่ยังไม่ได้บรรลุว่าได้บรรลุ ย่อม
พยากรณ์อรหัตตผลด้วยความสำคัญผิดว่า เรารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์
แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต ผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิต
ของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น กำหนดรู้ใจด้วยใจแล้ว ใส่ใจถึงภิกษุนั้น
อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลาย
ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด ประกาศ
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ทรงจำได้ คล่อง
ปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ เพราะฉะนั้น ท่านผู้นี้จึงมีความสำคัญผิด สำคัญ
ผิดโดยสัตย์จริง มีความสำคัญในสิ่งที่ยังไม่ได้ถึงว่าได้ถึง มีความสำคัญในสิ่งที่ยังไม่
ได้ทำว่าได้ทำ มีความสำคัญในสิ่งที่ยังไม่ได้บรรลุว่าได้บรรลุ ย่อมพยากรณ์อรหัตตผล
ด้วยความสำคัญผิดว่า เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควร
ทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
พระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต ผู้ได้ฌาน ฉลาดในสมาบัติ ฉลาดในจิต
ของผู้อื่น ฉลาดในการกำหนดรู้จิตของผู้อื่น กำหนดรู้ใจด้วยใจแล้ว ย่อมรู้ชัดซึ่งภิกษุ
นั้นอย่างนี้ว่า
๑. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มีอภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา) มีใจถูกอภิชฌา
กลุ้มรุมอยู่โดยมาก’ ก็การถูกอภิชฌากลุ้มรุมนี้แล เป็นความเสื่อมใน
พระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๒. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มีพยาบาท(ความคิดร้าย) มีใจถูกพยาบาทกลุ้มรุมอยู่โดย
มาก’ ก็การถูกพยาบาทกลุ้มรุมนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่
พระตถาคตทรงประกาศแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๖. อธิมานสูตร
๓. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มีถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) มีใจถูกถีนมิทธะกลุ้ม
รุมอยู่โดยมาก’ ก็การถูกถีนมิทธะกลุ้มรุมนี้แล เป็นความเสื่อมในพระ
ธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๔. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มีอุทธัจจะ(ความฟุ้งซ่าน) มีใจถูกอุทธัจจะกลุ้มรุมอยู่โดย
มาก’ ก็การถูกอุทธัจจะกลุ้มรุมนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่
พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๕. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้มีวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) มีใจถูกวิจิกิจฉากลุ้มรุมอยู่
โดยมาก’ ก็การถูกวิจิกิจฉากลุ้มรุมนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรม
วินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๖. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้ชอบการงาน๑ ยินดีในการงาน หมั่นประกอบความเป็นผู้
ชอบการงาน’ ก็ความเป็นผู้ชอบการงานนี้แล เป็นความเสื่อมในพระ
ธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๗. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้ชอบการพูดคุย ยินดีในการพูดคุย หมั่นประกอบความ
เป็นผู้ชอบการพูดคุย’ ก็ความเป็นผู้ชอบการพูดคุยนี้แล เป็นความเสื่อม
ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๘. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้ชอบการนอนหลับ ยินดีในการนอนหลับ หมั่นประกอบ
ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับ’ ก็ความเป็นผู้ชอบการนอนหลับนี้แล
เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว
๙. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่ หมั่น
ประกอบความเป็นผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่’ ก็ความเป็นผู้ชอบการ
คลุกคลีด้วยหมู่นี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรง
ประกาศแล้ว
๑๐. ‘ท่านผู้นี้เป็นผู้หลงลืมสติ ถึงความหยุดชงักเสียในระหว่างที่จะบรรลุคุณ
วิเศษชั้นสูง เพราะได้บรรลุคุณวิเศษชั้นต่ำ’ ก็การถึงความหยุดชงักเสีย

เชิงอรรถ :
๑ การงาน ในที่นี้หมายถึงงานนวกรรม คือ การก่อสร้างต่าง ๆ เช่น การก่อสร้างวิหารเป็นต้น ความเป็นผู้ยินดี
แต่การก่อสร้างที่ถือว่าเป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยนี้ เพราะทำให้ละเลยต่อการบำเพ็ญคันถธุระ และ
วิปัสสนาธุระ (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๔/๑๐๕, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๑๔-๑๕/๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๗. นัปปิยสูตร
ในระหว่างนี้แล เป็นความเสื่อมในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรง
ประกาศแล้ว
ผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นแล ละธรรม ๑๐ ประการนี้ไม่ได้แล้ว
จักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุนั้นแล ละธรรม ๑๐ ประการนี้ได้แล้ว จักถึงความเจริญงอก
งามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้
อธิมานสูตรที่ ๖ จบ

๗. นัปปิยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความรัก
[๘๗] ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงปรารภกาฬกภิกษุ รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ชอบก่ออธิกรณ์๑ไม่สรรเสริญการระงับอธิกรณ์
แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ชอบก่ออธิกรณ์ ไม่สรรเสริญการระงับอธิกรณ์ นี้
เป็นธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ เพื่อ
ความยกย่อง เพื่อความเป็นสมณะ๒ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน

เชิงอรรถ :
๑ อธิกรณ์ ในที่นี้หมายถึงเรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ ๔ อย่าง คือ (๑) วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเรื่องวินัย
(๒) อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ (๓) อาปัตตาธิกรณ์ การต้องอาบัติ การปรับ
อาบัติและการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ (๔) กิจจาธิกรณ์ กิจสงฆ์ต่าง ๆ เช่น ให้อุปสมบท หรือให้ผ้ากฐิน
เป็นต้น (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๕/๑๒)
๒ ความเป็นสมณะ ในที่นี้หมายถึงการบำเพ็ญสมณธรรม (องฺ.ทสก.อ. ๓/๘๗/๓๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๗. นัปปิยสูตร
๒. ภิกษุไม่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา ไม่สรรเสริญการสมาทานการศึกษา แม้
การที่ภิกษุไม่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา ไม่สรรเสริญการสมาทานการศึกษา
นี้เป็นธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ เพื่อ
ความยกย่อง เพื่อความเป็นสมณะ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๓. ภิกษุเป็นผู้ปรารถนาชั่ว ไม่สรรเสริญการกำจัดความปรารถนาชั่ว แม้
การที่ภิกษุเป็นผู้ปรารถนาชั่ว ไม่สรรเสริญการกำจัดความปรารถนาชั่ว
นี้เป็นธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ เพื่อ
ความยกย่อง เพื่อความเป็นสมณะ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๔. ภิกษุเป็นผู้มักโกรธ ไม่สรรเสริญการกำจัดความโกรธ แม้การที่ภิกษุเป็น
ผู้มักโกรธ ไม่สรรเสริญการกำจัดความโกรธ นี้เป็นธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อ
ความเป็นที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ เพื่อความยกย่อง เพื่อความเป็นสมณะ
เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๕. ภิกษุเป็นผู้มักลบหลู่ ไม่สรรเสริญการกำจัดความลบหลู่ แม้การที่ภิกษุ
เป็นผู้มักลบหลู่ ไม่สรรเสริญการกำจัดความลบหลู่ นี้เป็นธรรมที่ไม่เป็น
ไปเพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ เพื่อความยกย่อง เพื่อ
ความเป็นสมณะ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๖. ภิกษุเป็นผู้มักโอ้อวด ไม่สรรเสริญการกำจัดความโอ้อวด แม้การที่ภิกษุ
เป็นผู้มักโอ้อวด ไม่สรรเสริญการกำจัดความโอ้อวด นี้เป็นธรรมที่ไม่เป็น
ไปเพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ เพื่อความยกย่อง เพื่อ
ความเป็นสมณะ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๗. ภิกษุเป็นผู้มีมายา ไม่สรรเสริญการกำจัดมายา แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มี
มายา ไม่สรรเสริญการกำจัดมายา นี้เป็นธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความเป็น
ที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ เพื่อความยกย่อง เพื่อความเป็นสมณะ
เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๘. ภิกษุเป็นผู้ไม่พิจารณาธรรม ไม่สรรเสริญการพิจารณาธรรม แม้การที่
ภิกษุเป็นผู้ไม่พิจารณาธรรม ไม่สรรเสริญการพิจารณาธรรม นี้เป็นธรรม
ที่ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ เพื่อความยกย่อง
เพื่อความเป็นสมณะ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๗. นัปปิยสูตร
๙. ภิกษุเป็นผู้ไม่หลีกเร้น๑ ไม่สรรเสริญการหลีกเร้น แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ไม่
หลีกเร้น ไม่สรรเสริญการหลีกเร้น นี้เป็นธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความเป็น
ที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ เพื่อความยกย่อง เพื่อความเป็นสมณะ
เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๑๐. ภิกษุไม่เป็นผู้ปฏิสันถารเพื่อนพรหมจารี ไม่สรรเสริญผู้ปฏิสันถาร แม้
การที่ภิกษุไม่เป็นผู้ปฏิสันถารเพื่อนพรหมจารี ไม่สรรเสริญผู้ปฏิสันถาร
นี้เป็นธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ เพื่อ
ความยกย่อง เพื่อความเป็นสมณะ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
ความปรารถนาพึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุเช่นนี้อย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไร เพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายจะสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา’ ก็จริง ถึงอย่างนั้น เพื่อนพรหมจารีทั้ง
หลายก็ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเพื่อน
พรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายพิจารณาเห็นบาปอกุศลธรรมที่ภิกษุนั้นยังละไม่ได้
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนความปรารถนาพึงเกิดขึ้นแก่ม้าโง่อย่างนี้ว่า
‘ทำอย่างไร มนุษย์ทั้งหลายจะตั้งเราไว้ในตำแหน่งม้าอาชาไนย ให้กินอาหารสำหรับ
ม้าอาชาไนย และปฏิบัติต่อเราเหมือนอย่างม้าอาชาไนย’ ก็จริง ถึงอย่างนั้น มนุษย์
ทั้งหลายก็ไม่ตั้งม้านั้นไว้ในตำแหน่งม้าอาชาไนย ไม่ให้กินอาหารสำหรับม้าอาชาไนย
และไม่ปฏิบัติอย่างที่ปฏิบัติต่อม้าอาชาไนย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมนุษย์ผู้รู้
ทั้งหลายพิจารณา เห็นความโอ้อวด ความโกง ความไม่ซื่อตรง ความคดที่ม้านั้นยังละ
ไม่ได้ ฉันใด ความปรารถนาพึงเกิดขึ้นแก่ภิกษุเช่นนี้อย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไร เพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายจะสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา’ ก็จริง ถึงอย่างนั้น เพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายก็ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น ข้อนั้นเพระเหตุไร
เพราะเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายพิจารณาเห็นบาปอกุศลธรรมที่ภิกษุนั้นยังละไม่ได้
ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๕๐ (ภัณฑนสูตร) หน้า ๑๐๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๗. นัปปิยสูตร
ว่าด้วยการไม่ก่ออธิกรณ์
๑. ส่วนภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้ชอบก่ออธิกรณ์ สรรเสริญการระงับ
อธิกรณ์ แม้การที่ภิกษุไม่เป็นผู้ชอบก่ออธิกรณ์ สรรเสริญการระงับ
อธิกรณ์ นี้เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ
เพื่อความยกย่อง เพื่อความเป็นสมณะ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๒. ภิกษุเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา สรรเสริญการสมาทานการศึกษา แม้การที่
ภิกษุเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา สรรเสริญการสมาทานการศึกษา นี้เป็น
ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ เพื่อความยกย่อง
เพื่อความเป็นสมณะ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๓. ภิกษุเป็นผู้มักน้อย สรรเสริญการกำจัดความปรารถนา แม้การที่ภิกษุ
เป็นผู้มักน้อย สรรเสริญการกำจัดความปรารถนา นี้เป็นธรรมที่เป็นไป ฯลฯ
เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๔. ภิกษุเป็นผู้ไม่มักโกรธ สรรเสริญการกำจัดความโกรธ แม้การที่ภิกษุเป็น
ผู้ไม่มักโกรธ สรรเสริญการกำจัดความโกรธ นี้เป็นธรรมที่เป็นไป ฯลฯ
เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๕. ภิกษุเป็นผู้ไม่ลบหลู่ สรรเสริญการกำจัดความลบหลู่ แม้การที่ภิกษุเป็น
ผู้ไม่ลบหลู่ สรรเสริญการกำจัดความลบหลู่ นี้เป็นธรรมที่เป็นไป ฯลฯ
เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๖. ภิกษุเป็นผู้ไม่โอ้อวด สรรเสริญการกำจัดความโอ้อวด แม้การที่ภิกษุเป็น
ผู้ไม่โอ้อวด สรรเสริญการกำจัดความโอ้อวด นี้เป็นธรรมที่เป็นไป ฯลฯ
เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๗. ภิกษุเป็นผู้ไม่มีมายา สรรเสริญการกำจัดมายา แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ไม่มี
มายา สรรเสริญการกำจัดมายา นี้เป็นธรรมที่เป็นไป ฯลฯ เพื่อความ
เป็นอันเดียวกัน
๘. ภิกษุเป็นผู้พิจารณาธรรม สรรเสริญการพิจารณาธรรม แม้การที่ภิกษุ
เป็นผู้พิจารณาธรรม สรรเสริญการพิจารณาธรรม นี้เป็นธรรมที่เป็นไป
ฯลฯ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๗. นัปปิยสูตร
๙. ภิกษุเป็นผู้หลีกเร้น สรรเสริญการหลีกเร้น แม้การที่ภิกษุเป็นผู้หลีกเร้น
สรรเสริญการหลีกเร้น นี้เป็นธรรมที่เป็นไป ฯลฯ เพื่อความเป็นอัน
เดียวกัน
๑๐. ภิกษุเป็นผู้ปฏิสันถารเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย สรรเสริญผู้ปฏิสันถาร
แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ปฏิสันถาร สรรเสริญผู้ปฏิสันถารนี้ เป็นธรรมที่เป็น
ไปเพื่อความเป็นที่รัก เพื่อความเป็นที่เคารพ เพื่อความยกย่อง เพื่อ
ความเป็นสมณะ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
ความปรารถนาจะไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุเช่นนี้อย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไร เพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายจะสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา’ ก็จริง ถึงอย่างนั้น เพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายก็ยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายพิจารณาเห็นบาปอกุศลธรรมที่ภิกษุนั้นละได้แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนความปรารถนาไม่เกิดขึ้นแก่ม้าอาชาไนยตัวเจริญ
อย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไร มนุษย์ทั้งหลาย จะตั้งเราไว้ในตำแหน่งม้าอาชาไนย ให้เรากิน
อาหารสำหรับม้าอาชาไนย และปฏิบัติต่อเราอย่างที่ปฏิบัติต่อม้าอาชาไนย’ ก็จริง
ถึงอย่างนั้น มนุษย์ทั้งหลายก็ตั้งม้านั้นไว้ในตำแหน่งม้าอาชาไนย ให้กินอาหาร
สำหรับม้าอาชาไนย และปฏิบัติอย่างที่ปฏิบัติต่อม้าอาชาไนย ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะมนุษย์ผู้รู้ทั้งหลายพิจารณาเห็นความโอ้อวด ความโกง ความไม่ซื่อตรง
ความคดที่ม้านั้นละได้แล้ว ฉันใด ความปรารถนาไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุเช่นนี้อย่างนี้ว่า
‘ทำอย่างไร เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายจะสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา’ ก็จริง
ถึงอย่างนั้น เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายก็ยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายพิจารณาเห็นบาปอกุศลธรรมที่ภิกษุ
นั้นละได้แล้ว ฉันนั้น
นัปปิยสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๘. อักโกสกสูตร
๘. อักโกสกสูตร
ว่าด้วยโทษของการด่า
[๘๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดด่าบริภาษเพื่อนพรหมจารี กล่าวโทษพระอริยะ
เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นจะไม่ถึงความพินาศอย่าง ๑ ใน ๑๐ อย่าง
ความพินาศ ๑๐ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ
๒. เสื่อมจากธรรมที่บรรลุแล้ว
๓. สัทธรรม๑ย่อมไม่ผ่องแผ้ว
๔. มีความสำคัญว่าได้บรรลุสัทธรรม
๕. ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์
๖. ต้องอาบัติเศร้าหมองกองใดกองหนึ่ง
๗. เป็นโรคเรื้อรัง
๘. ถึงความวิกลจริตมีจิตฟุ้งซ่าน
๙. หลงลืมสติมรณภาพ
๑๐. หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดด่าบริภาษเพื่อนพรหมจารี กล่าวโทษพระอริยะ เป็นไป
ไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นจะไม่ถึงความพินาศอย่าง ๑ ใน ๑๐ อย่าง
อักโกสกสูตรที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สัทธรรม ในที่นี้หมายถึงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา (องฺ.ทสก.อ. ๓/๘๘/๓๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๙. โกกาลิกสูตร
๙. โกกาลิกสูตร
ว่าด้วยภิกษุชื่อว่าโกกาลิกะ
[๘๙] ครั้งนั้นแล โกกาลิกภิกษุเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความ
ปรารถนาชั่ว ลุอำนาจความปรารถนาชั่ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธออย่ากล่าว
อย่างนั้น เธอจงทำจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เพราะสารีบุตร
และโมคคัลลานะ เป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
แม้ครั้งที่ ๒ โกกาลิกภิกษุก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของข้าพระองค์ ทรงมีพระ-
พุทธพจน์ที่ข้าพระองค์เชื่อถือได้ก็จริง ถึงอย่างนั้น พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ
ก็ยังเป็นผู้ปรารถนาชั่ว ลุอำนาจความปรารถนาชั่ว พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธออย่ากล่าว
อย่างนั้น เธอจงทำจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เพราะสารีบุตรและ
โมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
แม้ครั้งที่ ๓ โกกาลิกภิกษุก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
แม้พระผู้มีพระภาคทรงเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของข้าพระองค์ ทรงมีพระพุทธพจน์ที่ข้า
พระองค์เชื่อถือได้ก็จริง ถึงอย่างนั้น พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะก็ยังเป็นผู้มี
ความปรารถนาชั่ว ลุอำนาจความปรารถนาชั่ว พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น เธออย่ากล่าวอย่าง
นั้น เธอจงทำจิตให้เลื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เพราะสารีบุตรและ
โมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
ครั้งนั้น โกกาลิกภิกษุลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำ
ประทักษิณแล้วหลีกไป เมื่อโกกาลิกภิกษุหลีกไปไม่นาน ร่างกายก็มีตุ่มขนาดเท่า
เมล็ดพันธุ์ผักกาดเกิดขึ้นทั่วร่าง ตุ่มเหล่านั้นโตเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด แล้วก็โตเท่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๙. โกกาลิกสูตร
เมล็ดถั่วเขียว โตเท่าเมล็ดถั่วดำ โตเท่าเมล็ดพุทรา โตเท่าเมล็ดกระเบา โตเท่าผล
มะขามป้อม โตเท่าผลมะตูมอ่อน โตเท่าผลมะตูมแก่ แล้วก็แตกเยิ้ม หนองและเลือด
หลั่งไหลออกมา ได้ทราบว่าโกกาลิกภิกษุนั้นนอนบนใบตอง เหมือนปลากินยาพิษ
ครั้งนั้นแล ตุทิปัจเจกพรหม๑เข้าไปหาโกกาลิกภิกษุถึงที่อยู่ ยืนอยู่กลาง
อากาศกล่าวกับโกกาลิกภิกษุว่า “ท่านโกกาลิกะ ท่านจงทำจิตให้เลื่อมใสในท่าน
พระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเถิด เพราะท่านพระสารีบุตรและท่านพระ
โมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
โกกาลิกภิกษุถามว่า “ผู้มีอายุ ท่านเป็นใคร”
ตุทิปัจเจกพรหมตอบว่า “เราเป็นตุทิปัจเจกพรหม”
โกกาลิกภิกษุถามว่า “ผู้มีอายุ ท่านได้รับพยากรณ์จากพระผู้มีพระภาคว่า
เป็นอนาคามีแล้วมิใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนท่านจึงมาที่นี้อีก ท่านจงเห็นว่าความ
ผิดนี้ของท่านมีอยู่เถิด”
ลำดับนั้น ตุทิปัจเจกพรหม จึงได้กล่าวกับโกกาลิกภิกษุด้วยคาถาว่า
ผรุสวาจา(คำหยาบ)เป็นเหมือนผึ่ง
เครื่องตัดตนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว
ย่อมเกิดที่ปากของคนพาล
ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรติเตียน
หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าสั่งสมความผิดไว้ด้วยปาก
ย่อมไม่ประสบความสุข เพราะความผิดนั้น
การปราชัยด้วยทรัพย์
ในการเล่นการพนันจนหมดตัวนี้
เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย

เชิงอรรถ :
๑ ตุทิปัจเจกพรหม คือ พระตุทิเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์ของพระโกกาลิกะ ซึ่งบรรลุอนาคามิผลแล้วไปบังเกิดใน
พรหมโลก (องฺ.ทสก.อ. ๓/๘๙/๓๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๙. โกกาลิกสูตร
แต่การที่บุคคลมีใจประทุษร้าย
ในบุคคลผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้เท่านั้น
เป็นความผิดมากกว่า
บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจอันชั่วติเตียนพระอริยะ
ย่อมเข้าถึงนรกสิ้น ๑๓๖,๐๐๐ นิรัพพุทกัป๑
กับอีก ๕ อัพพุทกัป
ครั้งนั้น โกกาลิกภิกษุได้มรณภาพด้วยอาพาธนั้นเองแล้วไปเกิดในปทุมนรก
เพราะมีจิตผูกอาฆาตในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ
ครั้นปฐมยามผ่านไปแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหมมีวรรณะงามยิ่ง ทำพระเชตวัน
วิหารทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืน
อยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
โกกาลิกภิกษุมรณภาพแล้วไปเกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในท่านพระ
สารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะ พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้นท้าวสหัมบดีพรหมกราบทูลดังนี้แล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำ
ประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้นเอง
ครั้นราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย คืนนี้เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหมมีวรรณะงามยิ่ง ทำ
พระเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้
กล่าวกับเราดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โกกาลิกภิกษุมรณภาพแล้วไปเกิดใน
ปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะ”
ภิกษุทั้งหลาย ครั้นท้าวสหัมบดีพรหมกล่าวดังนี้แล้ว ไหว้เรา ทำประทักษิณแล้ว
หายไป ณ ที่นั้นเอง
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ประมาณอายุในปทุมนรกนานเท่าไรหนอ”

เชิงอรรถ :
๑ นิรัพพุทกัป เป็นจำนวนกัปที่ใช้สังขยา(การกำหนดนับ)จำนวนสูง (ตามนัย องฺ.ทสก.อ. ๓/๘๙/๓๖๖)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า เท่ากับ ๑ มี ๐ ตามหลัง ๖๓ ตัว บ้างว่า ๑๐๐ ล้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๙. โกกาลิกสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ประมาณอายุในปทุมนรกนานนัก
ประมาณอายุในปทุมนรกนั้นยากที่จะนับได้ว่า ‘ประมาณเท่านี้ปี ประมาณ ๑๐๐ ปี
เท่านี้ ประมาณ ๑,๐๐๐ ปีเท่านี้ ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปีเท่านี้”
ภิกษุทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์พอจะยกอุปมาได้หรือไม่
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ได้ ภิกษุ” แล้วตรัสว่า “ภิกษุ หนึ่งเกวียนเมล็ดงา
ของชาวโกศลมีอัตรา ๒๐ ขารี๑ ล่วงไปแล้ว ๑๐๐,๐๐๐ ปี บุรุษจึงนำเมล็ดงาออก
จากเกวียนนั้นหนึ่งเมล็ด เมล็ดงาหนึ่งเกวียนของชาวโกศลซึ่งมีอัตรา ๒๐ ขารี
นั้นจะพึงหมดไปโดยทำนองนี้เร็วกว่า แต่ว่า ๑ อัพพุทนรก๒หาหมดไปไม่ ๒๐
อัพพุทนรก เป็น ๑ นิรัพพุทนรก ๒๐ นิรัพพุทนรก เป็น ๑ อพัพพนรก ๒๐
อพัพพนรก เป็น ๑ อุหหนรก ๒๐ อุหหนรก เป็น ๑ อัฏฏนรก ๒๐ อัฏฏนรก
เป็น ๑ กุมุทนรก ๒๐ กุมุทนรก เป็น ๑ โสคันธิกนรก ๒๐ โสคันธิกนรก เป็น ๑
อุปปลนรก ๒๐ อุปปลนรก เป็น ๑ ปุณฑริกนรก ๒๐ ปุณฑริกนรก เป็น ๑
ปทุมนรก ภิกษุ โกกาลิกภิกษุไปเกิดในปทุมนรก เพราะมีจิตผูกอาฆาตในสารีบุตร
และโมคคัลลานะ”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า

เชิงอรรถ :
๑ ๔ กุฑุวะ หรือ ปสตะ (ฟายมือ) เป็น ๑ ปัตถะ (กอบ)
๔ ปัตถะ เป็น ๑ อาฬหกะ
๔ อาฬหกะ เป็น ๑ โทณะ
๔ โทณะ เป็น ๑ มาณิกา
๔ มาณิกา เป็น ๑ ขารี
๒๐ ขารี เป็น ๑ วาหะ
๒๐ วาหะ เป็น ๑ ธารณะ
๑๐ ธารณะ เป็น ๑ ปละ
๑๐๐ ปละ เป็น ๑๒ ตุลา
๒๐ ตุลา เป็น ๑ ภาระ
(อภิธา.ฏี. คาถา ๔๘๐-๔๘๔)
๒ อัพพุทนรก นิรัพพุทนรก อพัพพนรก อุหหนรก อัฏฏนรก กุมุทนรก โสคันธิกนรก อุปปลนรก ปุณฑริกนรก
ปทุมนรก ทั้งหมดนี้ อยู่ในอเวจีมหานรก เป็นนรกเล็กอยู่ในนรกใหญ่ ไม่มีภูมิเป็นของตนเอง แต่เป็นที่ซึ่ง
สัตว์จะต้องรับกรรม เช่น อัพพุทนรก เป็นสถานที่ทรมานสัตว์โดยการนับชิ้นเนื้อเป็นเครื่องบอกระยะเวลา
ในการทรมานสัตว์ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๘๙/๓๖๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๑๐. ขีณาสวพลสูตร
ผรุสวาจาเป็นเหมือนผึ่ง
เครื่องตัดตนของคนพาลผู้กล่าวคำชั่ว
ย่อมเกิดที่ปากของคนพาล
ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรติเตียน
หรือติเตียนคนที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าสั่งสมความผิดไว้ด้วยปาก
ย่อมไม่ประสบความสุข เพราะความผิดนั้น
การปราชัยด้วยทรัพย์
ในการเล่นการพนันจนหมดตัวนี้
เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย
แต่การที่บุคคลมีใจประทุษร้าย
ในบุคคลผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้เท่านั้น
เป็นความผิดมากกว่า
บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจอันชั่วติเตียนพระอริยะ
ย่อมเข้าถึงนรกสิ้น ๑๓๖,๐๐๐ นิรัพพุทกัป
กับอีก ๕ อัพพุทกัป
โกกาลิกสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ขีณาสวพลสูตร๑
ว่าด้วยกำลังของพระขีณาสพ
[๙๐] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“สารีบุตร ภิกษุขีณาสพมีกำลังเท่าไร จึงปฏิญญาความสิ้นอาสวะทั้งหลายว่า
‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว”

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.อฏฐก. ๒๓/๒๘/๑๘๓-๑๘๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค ๑๐. ขีณาสวพลสูตร
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุขีณาสพมีกำลัง ๑๐
ประการ จึงปฏิญญาความสิ้นอาสวะทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว’
กำลัง ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพในพระธรรมวินัยนี้เห็นว่าเป็น
สภาวะไม่เที่ยงด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แม้ข้อที่สังขาร
ทั้งปวงเป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเห็นว่าเป็นสภาวะไม่เที่ยงด้วยปัญญาอัน
ชอบตามความเป็นจริง นี้ก็เป็นกำลังของภิกษุขีณาสพที่ภิกษุขีณาสพ
อาศัยปฏิญญาความสิ้นอาสวะทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว’
๒. กามทั้งหลายเป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเห็นว่าเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง
ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง แม้ข้อที่กามทั้งหลายเป็นธรรมที่
ภิกษุขีณาสพเห็นว่าเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิงด้วยปัญญาอันชอบตาม
ความเป็นจริง นี้ก็เป็นกำลังของภิกษุขีณาสพที่ภิกษุขีณาสพอาศัย
ปฏิญญาความสิ้นอาสวะทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว’
๓. จิตของภิกษุขีณาสพเป็นธรรมชาติน้อมไป โน้มไป โอนไป ตั้งอยู่ในวิเวก
ยินดียิ่งในเนกขัมมะ ปราศจากเงื่อนธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดย
ประการทั้งปวง แม้ข้อที่จิตของภิกษุขีณาสพเป็นธรรมชาติน้อมไป โน้มไป
โอนไป ตั้งอยู่ในวิเวก ยินดียิ่งในเนกขัมมะ ปราศจากเงื่อนธรรมอันเป็นที่
ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง นี้ก็เป็นกำลังของภิกษุขีณาสพ ที่
ภิกษุขีณาสพอาศัยปฏิญญาความสิ้นอาสวะทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเรา
สิ้นแล้ว’
๔. สติปัฏฐาน ๔ เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว แม้ข้อที่
สติปัฏฐาน ๔ เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว นี้ก็เป็นกำลัง
ของภิกษุขีณาสพ ที่ภิกษุขีณาสพอาศัยปฏิญญาความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๔. เถรวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๕. สัมมัปปธาน ๔ เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว ...
๖. อิทธิบาท ๔ เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว ...
๗. อินทรีย์ ๕ เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว ...
๘. พละ ๕ เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว ...
๙. โพชฌงค์ ๗ เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว ...
๑๐. มรรคมีองค์ ๘ เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว [แม้ข้อที่
มรรคมีองค์ ๘ เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว นี้ก็เป็นกำลัง
ของภิกษุขีณาสพ ที่ภิกษุขีณาสพอาศัยปฏิญญาความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว‘]
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุขีณาสพมีกำลัง ๑๐ ประการนี้แล จึงปฏิญญา
ความสิ้นอาสวะทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว’
ขีณาสวพลสูตรที่ ๑๐ จบ
เถรวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. วาหุนสูตร ๒. อานันทสูตร
๓. ปุณณิยสูตร ๔. พยากรณสูตร
๕. กัตถีสูตร ๖. อธิมานสูตร
๗. นัปปิยสูตร ๘. อักโกสกสูตร
๙. โกกาลิกสูตร ๑๐. ขีณาสวพลสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๑. กามโภคีสูตร
๕. อุปาสกวรรค
หมวดว่าด้วยอุบาสก
๑. กามโภคีสูตร
ว่าด้วยกามโภคีบุคคล๑
[๙๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดี ได้เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึง
ได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกคหบดีดังนี้ว่า
คหบดี กามโภคีบุคคล ๑๐ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
กามโภคีบุคคล ๑๐ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ด้วย
การงานที่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่บำรุงตนให้เป็นสุข และไม่แจกจ่าย
ไม่ทำบุญ
๒. กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ด้วย
การงานที่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว บำรุงตนให้เป็นสุข แต่ไม่แจกจ่าย ไม่
ทำบุญ
๓. กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ด้วย
การงานที่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว บำรุงตนให้เป็นสุข และแจกจ่าย
ทำบุญ
๔. กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์ทั้งโดยชอบธรรม และ
ไม่ชอบธรรม ด้วยการงานที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว
ไม่บำรุงตนให้เป็นสุข และไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ

เชิงอรรถ :
๑ กามโภคีบุคคล หมายถึงผู้บริโภคกาม, ผู้ครองเรือน, คฤหัสถ์ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕/๒๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๑. กามโภคีสูตร
๕. กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์ทั้งโดยชอบธรรมและ
ไม่ชอบธรรม ด้วยการงานที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว
บำรุงตนให้เป็นสุข แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ
๖. กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์ทั้งโดยชอบธรรมและ
ไม่ชอบธรรม ด้วยการงานที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว
บำรุงตนให้เป็นสุข และแจกจ่าย ทำบุญ
๗. กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วย
การงานที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่บำรุงตนให้เป็นสุข และไม่
แจกจ่าย ไม่ทำบุญ
๘. กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วย
การงานที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว บำรุงตนให้เป็นสุข แต่ไม่แจกจ่าย
ไม่ทำบุญ
๙. กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วย
การงานที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว บำรุงตนให้เป็นสุข และแจกจ่าย
ทำบุญ แต่เป็นผู้มัวเมา หมกมุ่น จดจ่อ ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็น
เครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้น
๑๐. กามโภคีบุคคลบางคนในโลกนี้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการ
งานที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว บำรุงตนให้เป็นสุข และแจกจ่าย
ทำบุญ ทั้งเป็นผู้ไม่มัวเมา ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญา
เป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้น
บรรดากามโภคีบุคคล ๑๐ จำพวกนั้น กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์
โดยไม่ชอบธรรม ด้วยการงานที่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่บำรุงตนให้เป็นสุข
ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญนี้ ควรติเตียนโดย ๓ สถาน คือ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑
นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ด้วยการงานที่ผิด’ ควรติเตียนโดย
สถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่บำรุงตนให้เป็นสุข’ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๓ นี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย
ไม่ทำบุญ’ คหบดี กามโภคีบุคคลนี้ ควรติเตียนโดย ๓ สถานนี้ (๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๑. กามโภคีสูตร
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ด้วยการงานที่ผิด ครั้น
แสวงหาได้แล้ว บำรุงตนให้เป็นสุข แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญนี้ ควรติเตียนโดย
๒ สถาน ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว คือ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า
‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ด้วยการงานที่ผิด’ ควรสรรเสริญโดยสถาน
เดียวนี้ว่า ‘บำรุงตนให้เป็นสุข’ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย
ไม่ทำบุญ’ คหบดี กามโภคีบุคคลนี้ ควรติเตียนโดย ๒ สถานนี้ แต่ควรสรรเสริญ
โดยสถานเดียวนี้ (๒)
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ด้วยการงานที่ผิด ครั้น
แสวงหาได้แล้ว บำรุงตนให้เป็นสุข และแจกจ่าย ทำบุญนี้ ควรติเตียนโดย
สถานเดียว ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน คือ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ว่า
‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ด้วยการงานที่ผิด’ ควรสรรเสริญโดยสถาน
ที่ ๑ นี้ว่า ‘บำรุงตนให้เป็นสุข’ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘แจกจ่าย
ทำบุญ’ คหบดี กามโภคีบุคคลนี้ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ ควรสรรเสริญโดย
๒ สถานนี้ (๓)
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์ทั้งโดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรม ด้วย
การงานที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว ไม่บำรุงตนให้เป็นสุข และไม่
แจกจ่าย ไม่ทำบุญนี้ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียว ควรติเตียนโดย ๓ สถาน คือ
ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่
ไม่ผิด’ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ด้วย
การงานที่ผิด’ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่บำรุงตนให้เป็นสุข’ ควร
ติเตียนโดยสถานที่ ๓ นี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ’ คหบดี กามโภคีบุคคลนี้ ควร
สรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ ควรติเตียนโดย ๓ สถานนี้ (๔)
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์ทั้งโดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรม ด้วย
การงานที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว บำรุงตนให้เป็นสุข แต่ไม่
แจกจ่าย ไม่ทำบุญนี้ ควรสรรเสริญโดย ๒ สถาน ควรติเตียนโดย ๒ สถาน
คือ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๑. กามโภคีสูตร
งานที่ผิด’ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม
ด้วยการงานที่ผิด’ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘บำรุงตนให้เป็นสุข’ ควร
ติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญ’ คหบดี กามโภคีบุคคลนี้ควร
สรรเสริญโดย ๒ สถานนี้ ควรติเตียนโดย ๒ สถานนี้ (๕)
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์ทั้งโดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรม ด้วย
การงานที่ผิดบ้าง ไม่ผิดบ้าง ครั้นแสวงหาได้แล้ว บำรุงตนให้เป็นสุข และแจกจ่าย
ทำบุญนี้ ควรสรรเสริญโดย ๓ สถาน ควรติเตียนโดยสถานเดียว คือ ควรสรรเสริญ
โดยสถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด’ ควร
ติเตียนโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ด้วยการงานที่ผิด’
ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘บำรุงตนให้เป็นสุข’ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๓
นี้ว่า ‘แจกจ่าย ทำบุญ’ คหบดี กามโภคีบุคคลผู้บริโภคกามคุณนี้ ควรสรรเสริญ
โดย ๓ สถานนี้ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ (๖)
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้น
แสวงหาได้แล้ว ไม่บำรุงตนให้เป็นสุข และไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญนี้ ควรสรรเสริญ
โดยสถานเดียว ควรติเตียนโดย ๒ สถาน คือ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ว่า
‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด’ ควรติเตียนโดยสถาน
ที่ ๑ นี้ว่า ‘ไม่บำรุงตนให้เป็นสุข’ ควรติเตียนโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย
ไม่ทำบุญ’ คหบดี กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดยสถานเดียวนี้ ควรติเตียน
โดย ๒ สถานนี้ (๗)
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้น
แสวงหาได้แล้ว บำรุงตนให้เป็นสุข แต่ไม่แจกจ่าย ไม่ทำบุญนี้ ควรสรรเสริญ
โดย ๒ สถาน ควรติเตียนโดยสถานเดียว คือ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า
‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด’ ควรสรรเสริญโดยสถาน
ที่ ๒ นี้ว่า ‘บำรุงตนให้เป็นสุข’ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘ไม่แจกจ่าย
ไม่ทำบุญ’ คหบดี กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๒ สถานนี้ ควรติเตียน
โดยสถานเดียวนี้ (๘)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๑. กามโภคีสูตร
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้น
แสวงหาได้แล้ว บำรุงตนให้เป็นสุข และแจกจ่าย ทำบุญ ทั้งเป็นผู้มัวเมา
หมกมุ่น จดจ่อ ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่า
นั้นนี้ ควรสรรเสริญโดย ๓ สถาน ควรติเตียนโดยสถานเดียว คือ ควรสรรเสริญโดย
สถานที่ ๑ นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด’ ควร
สรรเสริญโดยสถานที่ ๒ นี้ว่า ‘บำรุงตนให้เป็นสุข’ ควรสรรเสริญโดยสถาน
ที่ ๓ นี้ว่า ‘แจกจ่าย ทำบุญ’ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘เป็นผู้มัวเมา
หมกมุ่น จดจ่อ ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์
เหล่านั้น’ คหบดี กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๓ สถานนี้ ควรติเตียนโดย
สถานเดียวนี้ (๙)
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้น
แสวงหาได้แล้ว บำรุงตนให้เป็นสุข และแจกจ่าย ทำบุญ ทั้งเป็นผู้ไม่มัวเมา
ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครี่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์
เหล่านั้นนี้ ควรสรรเสริญโดย ๔ สถาน คือ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๑ นี้ว่า
‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด’ ควรสรรเสริญโดย
สถานที่ ๒ นี้ว่า ‘บำรุงตนให้เป็นสุข’ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๓ นี้ว่า
‘แจกจ่าย ทำบุญ’ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ ๔ นี้ว่า ‘ไม่มัวเมา ไม่หมกมุ่น
ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้น’ คหบดี
กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย ๔ สถานนี้ (๑๐)
คหบดี กามโภคีบุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
บรรดากามโภคีบุคคล ๑๐ จำพวกนี้ กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดย
ชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว บำรุงตนให้เป็นสุข และ
แจกจ่าย ทำบุญ ทั้งเป็นผู้ไม่มัวเมา ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเป็น
เครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้นนี้ เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นหัวหน้า
สูงส่ง ล้ำเลิศ เปรียบเหมือนนมสดที่เกิดจากแม่โค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิด
จากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใสเกิดจากเนยใส ชาวโลกเรียกว่า เลิศกว่า
นมส้มเป็นต้น เหล่านั้น ฉันใด บรรดากามโภคีบุคคล ๑๐ จำพวกนี้ กามโภคีบุคคลที่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๒. ภยสูตร
แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว บำรุง
ตนให้เป็นสุข และแจกจ่าย ทำบุญ ทั้งเป็นผู้ไม่มัวเมา ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ
เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้นนี้ เป็นผู้เลิศ
ประเสริฐ เป็นหัวหน้า สูงส่ง ล้ำเลิศ ฉันนั้นเหมือนกัน
กามโภคีสูตรที่ ๑ จบ

๒. ภยสูตร
ว่าด้วยภัยเวร
[๙๒] ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกคหบดี
ดังนี้ว่า
คหบดี เมื่อใด อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการได้แล้ว ประกอบด้วยองค์
เครื่องบรรลุโสดา๑ ๔ ประการ และเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรม๒ด้วยปัญญาแล้ว
เมื่อนั้น อริยสาวกนั้น เมื่อหวังอยู่พึงพยากรณ์ตนเองว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิด
สัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาต๓สิ้นแล้ว เป็น
โสดาบัน๔ ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๕ ในวันข้างหน้า’
อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย จึงประสพภัยเวรที่เป็นไป
ในปัจจุบันบ้าง ในสัมปรายภพบ้าง เสวยทุกขโทมนัสทางใจบ้าง บุคคลผู้

เชิงอรรถ :
๑ องค์เครื่องบรรลุโสดา ในที่นี้หมายถึงคุณสมบัติของพระโสดาบัน (สํ.ม.อ. ๓/๔๗๘/๓๐๗)
๒ อริยญายธรรม หมายถึงมรรคพร้อมทั้งวิปัสสนา (องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๑-๙๒/๓๖๗)
๓ อบาย ทุคติ วินิบาต ทั้ง ๓ คำนี้เป็นไวพจน์ของนรก (องฺ.เอกก.อ. ๑/๔๓/๕๐)
๔ โสดาบัน หมายถึงผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะคำว่า โสตะ เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘
(อภิ.ปญฺจ.อ. ๓๑/๕๓๐)
๕ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๓ เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) (องฺ.ติก.อ.
๒/๘๗/๒๔๒, องฺ.ติก.ฏีกา. ๒/๘๗/๒๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๒. ภยสูตร
เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ย่อมไม่ประสพภัยเวรที่เป็นไปในปัจจุบัน ที่เป็น
ไปในสัมปรายภพ ทั้งไม่ต้องเสวยทุกขโทมนัสทางใจ บุคคลผู้เว้นขาด
จากการฆ่าสัตว์แล้ว ย่อมระงับภัยเวรนั้นได้ อย่างนี้
๒. บุคคลผู้ลักทรัพย์ ...
๓. บุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม ...
๔. บุคคลผู้พูดเท็จ ...
๕. บุคคลผู้เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย๑อันเป็นเหตุแห่งความประมาท
เพราะการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
เป็นปัจจัย จึงประสพภัยเวรที่เป็นไปในปัจจุบันบ้าง ในสัมปรายภพบ้าง
ต้องเสวยทุกขโทมนัสทางใจบ้าง บุคคลผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมา
คือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทแล้ว ย่อมไม่ประสพภัย
เวรที่เป็นไปในปัจจุบัน ที่เป็นไปในสัมปรายภพ ทั้งไม่ต้องเสวยทุกข-
โทมนัสทางใจ บุคคลผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย
อันเป็นเหตุแห่งความประมาทแล้ว ย่อมระงับภัยเวรนั้นได้ อย่างนี้
อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการ เป็นอย่างนี้แล
อริยสาวกประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า “แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์
เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็น
สารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค”

เชิงอรรถ :
๑ สุราและเมรัย หมายถึง สุรา ๕ อย่าง คือ (๑) สุราแป้ง (๒) สุราขนม (๓) สุราข้าวสุก (๔) สุราใส่เชื้อ
(๕) สุราผสมเครื่องปรุง และเมรัย ๕ อย่าง คือ (๑) เครื่องดองดอกไม้ (๒) เครื่องดองผลไม้ (๓) เครื่อง
ดองน้ำอ้อย (๔) เครื่องดองน้ำผึ้ง (๕) เครื่องดองผสมเครื่องปรุง (ขุ.ขุ.อ. หน้า ๑๗-๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๒. ภยสูตร
๒. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า “พระธรรม
เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง
ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน
พึงรู้เฉพาะตน”
๓. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า “พระสงฆ์สาวก
ของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง ปฏิบัติ
สมควร ได้แก่ อริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล พระสงฆ์สาวกของพระผู้มี
พระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควร
แก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก”
๔. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะใคร่ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท
ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ
อริยสาวกประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ เป็นอย่างนี้แล
อริยสาวกนั้นเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญา เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้พิจาณาเห็นอย่างนี้ว่า “เพราะเหตุนี้ เมื่อสิ่งนี้มี
สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป
สิ่งนี้จึงดับไป๑ คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี


เชิงอรรถ :
๑ สํ.ม. ๑๙/๑๐๒๔/๓๓๗, ขุ.อุ. ๒๕/๑/๙๓, ขุ.ม. ๒๙/๑๘๖/๓๗๐, ขุ.จู. ๓๐/๘๘/๑๙๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๒. ภยสูตร

เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
อุปายาสจึงมี

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีความเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้

เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
อุปายาสจึงดับ

กองทุกข์ทั้งมวลนี้มีความดับด้วยอาการอย่างนี้”
อริยสาวกนั้นเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญา เป็นอย่างนี้แล
เมื่อใด อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการนี้ ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา
๔ ประการนี้ และเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมนี้แลด้วยปัญญาแล้ว เมื่อนั้น
อริยสาวกนั้น เมื่อหวังอยู่พึงพยากรณ์ตนเองว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์
ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาตสิ้นแล้ว เป็น
โสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า’
ภยสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๓. กิงทิฏฐิกสูตร
๓. กิงทิฏฐิกสูตร
ว่าด้วยคำถามเกี่ยวกับทิฏฐิ๑
[๙๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี ได้ออกจาก
กรุงสาวัตถีแต่ยังวัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขณะนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดีได้มี
ความคิดว่า “ยังไม่ใช่เวลาที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์ยังทรงหลีกเร้น๒
อยู่ ยังไม่ใช่เวลาที่จะเยี่ยมเยือนภิกษุทั้งหลายผู้อบรมจิต เพราะภิกษุเหล่านั้น
ยังหลีกเร้นอยู่ ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของอัญเดียรถีย์ปริพาชก”
ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก
สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก กำลังร่วมประชุมกัน ส่งเสียงเอ็ดอึง นั่ง
สนทนากันถึงติรัจฉานกถามีประการต่าง ๆ ได้เห็นท่านอนาถบิณฑิกคหบดีผู้กำลัง เดิน
มาจากที่ไกล จึงชวนกันให้หยุดว่า “จงเงียบเสียงเถิด ท่านทั้งหลายอย่าได้ส่งเสียง
เลย อนาถบิณฑิกคหบดีคนนี้เป็นสาวกของพระสมณโคดมกำลังเดินมายังอาราม
อนาถบิณฑิกคหบดีนี้เป็นสาวกคนหนึ่งบรรดาคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาวของพระสมณ-
โคดม ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี พวกเขาชอบเสียงเบา ถูกฝึกให้มีเสียงเบา กล่าว
ชมผู้พูดเสียงเบา ทำอย่างไร เขาทราบว่าบริษัท๓ เงียบเสียง ก็จะสำคัญว่าควรเข้าหา”
ครั้นแล้ว อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นจึงพากันนิ่งเงียบ ลำดับนั้น อนาถบิณฑิก-
คหบดีเข้าไปหาอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่
บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นจึง
ถามว่า “คหบดี ขอท่านจงบอกเถิด พระสมณโคดมมีทิฏฐิอย่างไร”

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงลัทธิ คือ คติความเชื่อถือหรือความคิดเห็น (องฺ.ติก.อ. ๒/๖๖/๒๐๒)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๕๐ (ภัณฑนสูตร) หน้า ๑๐๖ ในเล่มนี้
๓ บริษัท คือ หมู่, คณะ, ที่ประชุม, ประชุมชน เช่น พุทธบริษัท ๔ แต่ในที่นี้หมายถึงหมู่คณะของพวก
อัญเดียรถีย์ปริพาชก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๓. กิงทิฏฐิกสูตร
อนาถบิณฑิกคหบดีตอบว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่ทราบทิฏฐิทั้งหมดของ
พระผู้มีพระภาคเลย”
“เอาเถิดท่านคหบดี ตามที่ท่านว่า ท่านไม่ทราบทิฏฐิทั้งหมดของพระสมณ-
โคดม ขอท่านจงบอกเถิด พวกภิกษุมีทิฏฐิอย่างไร”
“ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่ทราบทิฏฐิทั้งหมดของภิกษุทั้งหลายเลย”
“เอาเถิดท่านคหบดี ตามที่ท่านว่า ท่านไม่ทราบทิฏฐิทั้งหมดของพระสมณ-
โคดม ทั้งไม่ทราบทิฏฐิทั้งหมดของพวกภิกษุอย่างนี้ ท่านจงบอกเถิด ท่านมีทิฏฐิ
อย่างไร”
“ท่านผู้เจริญ ไม่ยากที่ข้าพเจ้าจะบอกทิฏฐิของข้าพเจ้าว่ามีทิฏฐิอย่างใด เชิญ
ท่านทั้งหลายบอกทิฏฐิของตนก่อนเถิด ไม่ยากที่ข้าพเจ้าจักบอกทิฏฐิของข้าพเจ้าว่า
มีทิฏฐิอย่างใดในภายหลัง”
เมื่ออนาถบิณฑิกคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกคนหนึ่งได้กล่าวกับอนาถ-
บิณฑิกคหบดีว่า “คหบดี เรามีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
ปริพาชกคนหนึ่งกล่าวกับอนาถบิณฑิกคหบดีว่า “คหบดี เรามีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
แม้ปริพาชกอีกคนหนึ่งก็กล่าวกับอนาถบิณฑิกคหบดีว่า “โลกมีที่สุด....” อีก
คนหนึ่งกล่าวว่า “โลกไม่มีที่สุด...” อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “ชีวะ๑กับสรีระเป็นอย่าง
เดียวกัน...” อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน....” อีกคนหนึ่งกล่าวว่า
“หลังจากตายแล้วตถาคต๒เกิดอีก...” อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “หลังจากตายแล้ว
ตถาคตไม่เกิดอีก...” อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็มี ไม่
เกิดอีกก็มี...” อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “คหบดี เรามีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว
ตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”

เชิงอรรถ :
๑ ชีวะ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณอมตะหรืออาตมัน (ตามนัย อภิ.ปญฺจ.อ. ๑/๑/๑๒๙)
๒ ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่นใช้มาก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า
อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงสัตว์ (เทียบ ที.สี.อ. ๖๕/๑๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๓. กิงทิฏฐิกสูตร
เมื่อปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว อนาถบิณฑิกคหบดีจึงได้กล่าวว่า “ข้าแต่พระ
คุณเจ้าผู้เจริญ ท่านผู้ใดกล่าวยืนยันอย่างนี้ว่า ‘คหบดี เรามีทิฏฐิอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ทิฏฐิของท่านผู้นี้เกิดขึ้นเพราะการมนสิการโดยไม่
แยบคายของตนเป็นเหตุ หรือเพราะคำพูดของผู้อื่นเป็นเหตุ ก็ทิฏฐินี้แล เกิดขึ้น
ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ก่อขึ้น อิงอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น ถูกปัจจัย
ปรุงแต่งขึ้น ก่อขึ้น อิงอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเท่านั้นที่ท่านผู้นี้ติดแล้ว เข้าถึงแล้ว
แม้ท่านผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘คหบดี เรามีทิฏฐิอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้น
จริง อย่างอื่นไม่จริง’ ทิฏฐิของท่านผู้นี้เกิดขึ้นเพราะการมนสิการโดยไม่แยบคายของ
ตนเป็นเหตุ หรือเพราะคำพูดของผู้อื่นเป็นเหตุ ก็ทิฏฐินี้แล เกิดขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่ง
ขึ้น ก่อขึ้น อิงอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ก่อขึ้น
อิงอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์
สิ่งนั้นเท่านั้นที่ท่านผู้นี้ติดแล้ว เข้าถึงแล้ว
แม้ท่านผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘คหบดี เรามีทิฏฐิอย่างนี้ว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มี
ที่สุด ... ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ... ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ... หลังจาก
ตายแล้วตถาคตเกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้ว
ตถาคตเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีก
ก็ไม่ใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ทิฏฐิของท่านผู้นี้เกิดขึ้นเพราะการมนสิการ
โดยไม่แยบคายเป็นเหตุ หรือเพราะคำพูดของผู้อื่นเป็นเหตุ ก็ทิฏฐินี้แล เกิดขึ้น
ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ก่อขึ้น อิงอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ถูกปัจจัย
ปรุงแต่งขึ้น ก่อขึ้น อิงอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเท่านั้นที่ท่านผู้นี้ติดแล้ว เข้าถึงแล้ว”
เมื่ออนาถบิณฑิกคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้วปริพาชกเหล่านั้นจึงได้กล่าวว่า “คหบดี
เราทั้งหมดบอกทิฏฐิของตนแล้ว ขอท่านจงบอกเถิด ท่านมีทิฏฐิอย่างไร”
“ท่านผู้เจริญ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ก่อขึ้น อิงอาศัยปัจจัย
เกิดขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นข้าพเจ้า
มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๓. กิงทิฏฐิกสูตร
“คหบดี สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ก่อขึ้น อิงอาศัยปัจจัย
เกิดขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเท่านั้น ที่
ท่านเองติดแล้ว เข้าถึงแล้ว”
“ท่านผู้เจริญ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ก่อขึ้น อิงอาศัย
ปัจจัยเกิดขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้น
ข้าพเจ้าได้เห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ และรู้ชัดอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งสิ่งนั้น
อย่างยอดเยี่ยม ตามความเป็นจริง”
เมื่ออนาถบิณฑิกคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นพากันนั่งนิ่ง
เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ อนาถบิณฑิกคหบดีทราบว่าปริพาชก
เหล่านั้นพากันนั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ จึงลุกจากที่นั่ง
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบ
ทูลเรื่องที่สนทนาปราศรัยกับอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นแด่พระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบทุกประการ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อย่างนั้นแหละ คหบดี ท่านสามารถข่ม
โมฆบุรุษเหล่านั้นได้อย่างแนบเนียนตามกาลอันควร โดยชอบธรรม”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้อนาถบิณฑิกคหบดีเห็นชัด ชวนใจ
ให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาแล้ว อนาถบิณฑิกคหบดีก็ลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
ทำประทักษิณแล้วหลีกไป
เมื่ออนาถบิณฑิกคหบดีหลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งเรียกภิกษุทั้ง
หลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดบวชได้ ๑๐๐ พรรษา ในธรรมวินัยนี้ แม้
ภิกษุนั้นก็พึงข่มพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกได้อย่างแนบเนียน โดยชอบธรรมอย่างนี้
เหมือนอนาถบิณฑิกคหบดีข่มได้แล้ว”
กิงทิฏฐิกสูตรที่ ๓ จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๔. วัชชิยมาหิตสูตร
๔. วัชชิยมาหิตสูตร
ว่าด้วยวัชชิยมาหิตคหบดี
[๙๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ริมฝั่งสระคัคคราโบกขรณี
เขตกรุงจำปา ครั้งนั้น วัชชิยมาหิตคหบดีออกจากกรุงจำปาแต่ยังวัน เพื่อเฝ้า
พระผู้มีพระภาค ได้มีความคิดว่า “ยังไม่ใช่เวลาที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพราะ
พระองค์ยังทรงหลีกเร้นอยู่ ยังไม่ใช่เวลาที่จะเยี่ยมเยือนภิกษุทั้งหลายผู้อบรมจิต
เพราะภิกษุเหล่านั้นยังหลีกเร้นอยู่ ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของอัญเดียรถีย์
ปริพาชก”
ครั้งนั้นแล วัชชิยมาหิตคหบดีเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก
สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังร่วมประชุมกัน ส่งเสียงเอ็ดอึง นั่งสนทนา
กันถึงติรัจฉานกถา๑มีประการต่าง ๆ ได้เห็นวัชชิยมาหิตคหบดีผู้กำลังเดินมาจากที่ไกล
จึงชวนกันให้หยุดว่า “จงเงียบเสียงเถิด ท่านทั้งหลายอย่าได้ส่งเสียงเลย วัชชิย-
มาหิตคหบดีคนนี้เป็นสาวกของพระสมณโคดมกำลังเดินมายังอาราม วัชชิยมาหิต-
คหบดีนี้ เป็นสาวกคนหนึ่งบรรดาคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาวของพระสมณโคดม ซึ่ง
อาศัยอยู่ในกรุงจำปา พวกเขาชอบเสียงเบา ถูกฝึกให้มีเสียงเบา กล่าวชมผู้พูดเสียง
เบา ทำอย่างไร เขาทราบว่าบริษัท๒ เงียบเสียง ก็จะสำคัญว่าควรเข้าหา”
ครั้นแล้ว อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นจึงพากันนิ่งเงียบ ลำดับนั้น วัชชิยมาหิต-
คหบดีเข้าไปหาอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศัยพอเป็นที่
บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
จึงถามว่า
“คหบดี นัยว่า พระสมณโคดมทรงติเตียนตบะทั้งหมด กล่าวโทษผู้มีตบะ
เลี้ยงชีพเศร้าหมอง๓โดยส่วนเดียว จริงหรือ”

เชิงอรรถ :
๑ ติรัจฉานกถา ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๖๙ (ปฐมกถาวัตถุสูตร) หน้า ๑๕๐ ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๙๓ (กิงทิฏฐิกสูตร) หน้า ๒๑๖ ในเล่มนี้
๓ เลี้ยงชีพเศร้าหมอง ในที่นี้หมายถึงประกอบทุกกรกิริยา ดำรงชีวิตอย่างฝืดเคือง ทรมานตนให้ลำบาก
(องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๔/๓๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๔. วัชชิยมาหิตสูตร
วัชชิยมาหิตคหบดีตอบว่า “ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคจะได้ทรงติเตียนตบะ
ทั้งหมดก็หามิได้ จะได้กล่าวโทษผู้มีตบะทุกคนผู้เลี้ยงชีพเศร้าหมองโดยส่วนเดียวก็
หามิได้ พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนตบะที่ควรติเตียน สรรเสริญตบะที่ควรสรรเสริญ
เมื่อทรงติเตียนสิ่งที่ควรติเตียน สรรเสริญสิ่งที่ควรสรรเสริญ จึงชื่อว่าวิภัชชวาที(มีปกติ
ตรัสจำแนก) ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคมิใช่เอกังสวาที(มีปกติตรัสโดยส่วนเดียว)”
เมื่อวัชชิยมาหิตคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกคนหนึ่งจึงได้กล่าวกับวัชชิย-
มาหิตคหบดีดังนี้ว่า “ประเดี๋ยวก่อน คหบดี พระสมณโคดมผู้ที่ท่านสรรเสริญ เป็นผู้
แนะนำในทางฉิบหาย๑ เป็นผู้ไม่มีบัญญัติ๒”
“ท่านผู้เจริญ แม้ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้ากล่าวกับท่านทั้งหลายโดยชอบธรรม พระผู้
มีพระภาคทรงบัญญัติว่า ‘นี้กุศล นี้อกุศล’ พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงบัญญัติกุศลและ
อกุศลอย่างนี้ จึงชื่อว่าทรงมีบัญญัติ มิใช่ผู้ทรงแนะนำในทางฉิบหาย ไม่ใช่ผู้ไม่มี
บัญญัติ”
เมื่อวัชชิยมาหิตคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกทั้งหลายพากันนั่งนิ่ง เก้อเขิน
คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ วัชชิยมาหิตคหบดีทราบว่าปริพาชกเหล่านั้น
นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ จึงลุกจากที่นั่ง เข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลเรื่องที่สนทนา
ปราศัยกับอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นแด่พระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบทุกประการ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อย่างนั้นแหละ คหบดี ท่านสามารถข่ม
โมฆบุรุษเหล่านั้นได้อย่างแนบเนียนตามกาลอันควร โดยชอบธรรม เราไม่กล่าวตบะ
ทั้งหมดว่า ‘ควรบำเพ็ญ หรือไม่ควรบำเพ็ญ’ เราไม่กล่าวการสมาทานทั้งหมดว่า
‘ควรสมาทาน หรือไม่ควรสมาทาน’ เราไม่กล่าวความมุ่งมั่น๓ทั้งหมดว่า ‘ควรมุ่งมั่น

เชิงอรรถ :
๑ เป็นผู้แนะนำในทางฉิบหาย ในที่นี้หมายถึงให้สัตว์ถึงความพินาศ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๔/๓๖๗)
๒ เป็นผู้ไม่มีบัญญัติ หมายถึงไม่สามารถบัญญัติอะไร หรือบัญญัตินิพพานที่ไม่สามารถจะเห็นประจักษ์ได้
(องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๔/๓๖๗)
๓ มุ่งมั่น หมายถึงทำความเพียรเป็นหลักใหญ่ (องฺ.เอกก.อ. ๔/๓๙๔/๔๔๐) ได้แก่สัมมัปปธาน ๔ (องฺ.
จตุกฺก. ๒๑/๖๙/๘๔-๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๔. วัชชิยมาหิตสูตร
หรือไม่ควรมุ่งมั่น’ เราไม่กล่าวการสละคืนทั้งหมดว่า ‘ควรสละคืน หรือไม่ควร
สละคืน’ เราไม่กล่าวความหลุดพ้นทั้งหมดว่า ‘‘ควรหลุดพ้น หรือไม่ควรหลุดพ้น’
ตบะใด เมื่อบุคคลบำเพ็ญอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรม
ทั้งหลาย เสื่อมไป ตบะเช่นนั้น เรากล่าวว่า ‘ไม่ควรบำเพ็ญ’ ส่วนตบะใด เมื่อบุคคล
บำเพ็ญอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมไป กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น ตบะเช่นนั้น
เรากล่าวว่า ‘ควรบำเพ็ญ’
การสมาทานใด เมื่อบุคคลสมาทานอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศล
ธรรมทั้งหลายเสื่อมไป การสมาทานเช่นนั้น เรากล่าวว่า ‘ไม่ควรสมาทาน’ ส่วน
การสมาทานใด เมื่อบุคคลสมาทานอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมไป กุศลธรรม
ทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น การสมาทานเช่นนั้น เรากล่าวว่า ‘ควรสมาทาน’
ความมุ่งมั่นใด เมื่อบุคคลมุ่งมั่นอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศล
ธรรมทั้งหลายเสื่อมไป ความมุ่งมั่นเช่นนั้น เรากล่าวว่า ‘ไม่ควรมุ่งมั่น’ ส่วนความมุ่ง
มั่นใด เมื่อบุคคลมุ่งมั่นอยู่ อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น ความมุ่งมั่น
เช่นนั้น เรากล่าวว่า ‘ควรมุ่งมั่น’
การสละคืนใด เมื่อบุคคลสละคืนอยู่ อกุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป
การสละคืนเช่นนั้น เรากล่าวว่า ‘ไม่ควรสละคืน’ ส่วนการสละคืนใด เมื่อบุคคลสละ
คืนอยู่ อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น การสละคืนเช่นนั้น เรากล่าวว่า
‘ควรสละคืน’
ความหลุดพ้นใด เมื่อบุคคลหลุดพ้นอยู่ อกุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรม
เสื่อมไป ความหลุดพ้นเช่นนั้น เรากล่าวว่า ‘ไม่ควรหลุดพ้น’ ส่วนความหลุดพ้นใด
เมื่อบุคคลหลุดพ้นอยู่ อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น ความหลุดพ้นเช่น
นั้น เรากล่าวว่า ‘ควรหลุดพ้น’
ลำดับนั้นแล วัชชิยมาหิตคหบดีผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่น
ร่าเริงด้วยธรรมมีกถาแล้วจึงลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ
แล้วหลีกไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๕. อุตติยสูตร
เมื่อวัชชิยมาหิตคหบดีหลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีธุลีคือกิเลสใน
นัยน์ตาน้อยตลอดกาลนาน แม้ภิกษุนั้นก็พึงข่มอัญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายได้
อย่างแนบเนียน โดยชอบธรรมอย่างนี้เหมือนวัชชิยมาหิตคหบดีข่มได้แล้ว”
วัชชิยมาหิตสูตรที่ ๔ จบ

๕. อุตติยสูตร
ว่าด้วยอุตติยปริพาชกทูลถามพระผู้มีพระภาค
[๙๕] ครั้งนั้นแล อุตติยปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจพอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้
ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง
หรือหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อุตติยะ ข้อว่า ‘โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่าง
อื่นไม่จริง’ นี้เราไม่ตอบ”
“ท่านพระโคดม โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริงหรือ”
“อุตติยะ แม้ข้อว่า ‘โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ นี้เราก็ไม่ตอบ”
“ท่านพระโคดม โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน...
ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก ... หลังจากตาย
แล้วตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี ... หลังจาก
ตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริงหรือ๑”
“อุตติยะ แม้ข้อว่า ‘โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีวะกับสรีระเป็นอย่าง
เดียวกัน ... ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก ...
หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีก

เชิงอรรถ :
๑ เทียบดูเนื้อความนี้พร้อมทั้งเชิงอรรถในข้อ ๙๓ (กิงทิฏฐิกสูตร) หน้า ๒๑๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๕. อุตติยสูตร
ก็มี ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’ นี้เราก็ไม่ตอบ”
“ท่านถูกข้าพเจ้าถามว่า ‘ท่านพระโคดม โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่
จริงหรือหนอ’ ก็กล่าวว่า ‘อุตติยะ ข้อว่า ‘โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
นี้เราไม่ตอบ’
เมื่อถูกถามว่า ‘ท่านพระโคดม โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่
จริงหรือ’ ก็กล่าวว่า ‘อุตติยะ แม้ข้อว่า ‘โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
นี้เราก็ไม่ตอบ’
เมื่อถูกถามว่า ‘ท่านพระโคดม โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีวะกับสรีระ
เป็นอย่างเดียวกัน ... ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ... หลังจากตายแล้วตถาคต
เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็มี
ไม่เกิดอีกก็มี ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริงหรือ’ ก็กล่าวว่า ‘อุตติยะ แม้ข้อว่า ‘โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ...
ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ... ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ... หลังจากตาย
แล้วตถาคตเกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้ว
ตถาคตเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีก
ก็ไม่ใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ นี้เราก็ไม่ตอบ’ ท่านพระโคดมจะตอบใน
ทางไหน”
“อุตติยะ เราแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความหมดจด
แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะ และปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุ
ญายธรรม เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง”
“ข้อที่ท่านพระโคดมได้ทรงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อ
ความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และ
โทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำนิพพานให้แจ้งนั้น ก็จักเป็นเหตุให้สัตว์โลก
ทั้งหมดหรือกึ่งหนึ่ง หรือสามส่วนออกไปจากทุกข์ได้หรือ”
เมื่ออุตติยปริพาชกทูลถามอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงนิ่งเสีย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๕. อุตติยสูตร
ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์มีความคิดอย่างนี้ว่า “อุตติยปริพาชกอย่าได้มี
มิจฉาทิฏฐิอย่างนี้เลยว่า ‘พระสมณโคดมถูกเราถามปัญหาเฉพาะหน้าทั้งหมด ย่อม
เลี่ยง ไม่ทรงวิสัชนา หรือไม่สามารถวิสัชนาแน่นอน’ เพราะมิจฉาทิฏฐินั้น จะพึง
เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานแก่เธอ”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์จึงกล่าวกับอุตติยปริพาชกว่า “อุตติยะผู้มีอายุ
ถ้าเช่นนั้น เราจักอุปมาแก่ท่าน บุคคลผู้รู้บางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้อรรถแห่งภาษิตได้
ด้วยอุปมา เปรียบเหมือนนครของพระราชาที่ตั้งอยู่ชายแดน นครนั้นมีป้อมมั่นคง
มีกำแพงและประตูมั่นคง มีประตูเดียว นายประตูในนครนั้น เป็นบัณฑิต ฉลาด
มีปัญญา ห้ามคนที่ไม่รู้จัก ให้คนที่รู้จักเข้าไปได้ เขาเดินเลียบไปตามทางเลียบ
กำแพงโดยรอบนครนั้น ไม่เห็นที่ต่อกำแพงหรือช่องกำแพงโดยที่สุดแม้เพียงช่องที่แมว
ออกได้ และเขาก็ไม่มีความรู้อย่างนี้ว่า ‘สัตว์มีจำนวนเท่านี้เข้ามายังนครนี้ หรือออก
ไปจากนครนี้’ โดยที่แท้ เขามีความรู้ในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘สัตว์ใหญ่ ๆ บางเหล่า
ที่เข้ามายังนครนี้ หรือออกไปจากนครนี้ทั้งหมด เข้ามาหรือออกไปทางประตูนี้’ แม้ฉันใด
พระตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกันแล มิได้ทรงมีความขวนขวายอย่างนี้ว่า ‘สัตว์โลก
ทั้งหมด หรือกึ่งหนึ่ง หรือสามส่วนจักออกจากทุกข์ได้’ โดยที่แท้ พระตถาคตทรงมี
พระญาณในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ออกไปแล้ว กำลังออกไป
หรือจักออกไปจากโลก สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดละนิวรณ์ ๕ ประการที่เป็นเครื่องเศร้า
หมองแห่งใจ เป็นเครื่องทอนกำลังปัญญา เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน ๔ เจริญ
โพชฌงค์ ๗ ตามความเป็นจริงแล้วจึงออกไป กำลังออกไป หรือจักออกไปจากโลก
อย่างนี้’ ท่านอุตติยะ ก็เพราะท่านได้ทูลถามปัญหานั้นกับพระผู้มีพระภาคด้วยเหตุ
อย่างอื่น ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรงตอบปัญหานั้นแก่ท่าน”
อุตติยสูตรที่ ๕ จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๖. โกกนุทสูตร
๖. โกกนุทสูตร
ว่าด้วยโกกนุทปริพาชกถามพระอานนท์
[๙๖] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ ตโปทาราม เขตกรุงราชคฤห์
ได้ลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง เข้าไปยังแม่น้ำตโปทาเพื่อเอาน้ำลูบตัว เสร็จแล้วกลับขึ้นมา
ครองผ้าผืนเดียว ยืนผึ่งตัวอยู่ แม้โกกนุทปริพาชกก็ลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง ได้ไปยัง
แม่น้ำตโปทาเพื่อเอาน้ำลูบตัว เห็นท่านพระอานนท์เดินมาแต่ที่ไกลจึงถามว่า “ท่าน
เป็นใคร อยู่ที่นี้”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ผู้มีอายุ เราเป็นภิกษุ”
“เป็นภิกษุพวกไหน”
“พวกสมณศากยบุตร”
“หากท่านจะให้โอกาสแก้ปัญหา ข้าพเจ้าจะขอถามข้อข้องใจบางอย่างกับท่าน”
“เชิญถามเถิด เราฟังแล้วจักแก้”
“ท่านมีทิฏฐิ๑อย่างนี้หรือว่า ‘โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
“ผู้มีอายุ เรามิได้มีทิฏฐิอย่างนั้นเลย ว่า ‘โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
“ท่านมีทิฏฐิอย่างนี้หรือว่า ‘โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
“เรามิได้มีทิฏฐิอย่างนั้นเลยว่า ‘โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
“ท่านมีทิฏฐิอย่างนี้หรือว่า ‘โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีวะกับสรีระเป็น
อย่างเดียวกัน ... ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิด
อีก... หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็มี ไม่
เกิดอีก ก็มี ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง”
“ผู้มีอายุ เรามิได้มีทิฏฐิอย่างนั้นเลยว่า ‘โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีวะกับ
สรีระเป็นอย่างเดียวกัน ... ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ... หลังจากตายแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๙๓ (กิงทิฏฐิกสูตร) หน้า ๒๑๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๖. โกกนุทสูตร
ตถาคตเกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคต
เกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
“ถ้าเช่นนั้น ท่านก็ไม่รู้ ไม่เห็นละซิ”
“ผู้มีอายุ เราไม่รู้ ไม่เห็น ก็หามิได้ เรารู้อยู่ เห็นอยู่”
“ท่านเมื่อถูกข้าพเจ้าถามว่า ‘ท่านมีทิฏฐิอย่างนี้หรือว่า ‘โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’ ก็กล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรามิได้มีทิฏฐิอย่างนั้นเลยว่า ‘โลกเที่ยง นี้
เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
เมื่อถูกถามว่า ‘ท่านมีทิฏฐิอย่างนี้หรือว่า ‘โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’ ก็กล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรามิได้มีทิฏฐิอย่างนั้นเลยว่า ‘โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นไม่จริง’
เมื่อถูกถามว่า ‘ท่านมีทิฏฐิอย่างนี้หรือว่า ‘โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ... ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ... หลังจากตายแล้ว
ตถาคตเกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคต
เกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ก็กล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรามิได้มีทิฏฐิอย่างนั้นเลย
‘โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ... ชีวะกับสรีระเป็นคน
ละอย่างกัน ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก
... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิด
อีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
เมื่อถูกถามว่า ‘ถ้าอย่างนั้น ท่านก็ไม่รู้ไม่เห็นละซิ’ ก็กล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เราไม่รู้
ไม่เห็น ก็หามิได้ เรารู้อยู่ เห็นอยู่’ ผู้มีอายุ ก็เนื้อความแห่งภาษิตนี้ จะพึงเข้าใจได้
อย่างไร”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ผู้มีอายุ ข้อว่า ‘โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
ไม่จริง’ นี้เป็นทิฏฐิอย่างหนึ่ง ข้อว่า ‘โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ นี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๖. โกกนุทสูตร
เป็นทิฏฐิอย่างหนึ่ง ข้อว่า ‘โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน
... ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก ... หลังจาก
ตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี ...
หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
นี้เป็นทิฏฐิอย่างหนึ่ง ผู้มีอายุ ทิฏฐิ๑ มูลเหตุแห่งทิฏฐิ๒ ทิฏฐิที่ยึดมั่น๓ ทิฏฐิที่กลุ้มรุม๔
ความเพิกถอนทิฏฐิ๕ มีประมาณเท่าใด เรารู้ เราเห็นทิฏฐิเป็นต้นนั้นประมาณเท่านั้น
เรารู้ทิฏฐิเป็นต้นนั้นจึงกล่าวว่า ‘รู้อยู่’ เราเห็นทิฏฐิเป็นต้นนั้นจึงกล่าวว่า ‘เห็นอยู่’
เราจะกล่าวว่า ‘ไม่รู้ ไม่เห็น’ ได้อย่างไร ผู้มีอายุ เรารู้อยู่ เห็นอยู่”
“ท่านชื่ออะไร และเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายเรียกท่านว่าอย่างไร”
“ผู้มีอายุ เราชื่อ ‘อานนท์’ และเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายก็เรียกเราว่า ‘อานนท์’
“ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าสนทนาอยู่กับอาจารย์ใหญ่ แต่ไม่รู้เลยว่าเป็น ‘ท่าน
อานนท์’ ถ้าข้าพเจ้าจะพึงรู้ว่า ‘ท่านผู้นี้คือท่านอานนท์’ ข้าพเจ้าก็จะไม่กล่าวตอบโต้
ถึงเพียงนี้ ขอท่านอานนท์จงยกโทษให้ข้าพเจ้าเถิด”
โกกนุทสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ ประการ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๖/๓๖๙)
๒ มูลเหตุแห่งทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงมูลเหตุทิฏฐิ ๘ ประการ คือ ขันธ์ อวิชชา ผัสสะ สัญญา วิตก อโยนิโส
มนสิการ ปาปมิตร และปรโตโฆสะ(การฟังอสัทธรรมจากผู้อื่น) (องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๖/๓๖๙)
๓ ทิฏฐิที่ยึดมั่น นี้เป็นชื่อของทิฏฐิที่ครอบงำสัตว์ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๖/๓๖๙)
๔ ทิฏฐิที่กลุ้มรุม ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๑๘ ประการ คือ (๑) ทิฏฐิ(ความเห็นที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง)
(๒) การตกอยู่ในทิฏฐิ (๓) ความรกชัฏคือทิฏฐิ (๔) ความกันดารคือทิฏฐิ (๕) เสี้ยนหนามคือทิฏฐิ
(๖) ความดิ้นรนคือทิฏฐิ (๗) เครื่องผูกคือทิฏฐิ (๘) ลูกศรคือทิฏฐิ (๙) ความคับแค้นคือทิฏฐิ (๑๐)
ความกังวลคือทิฏฐิ (๑๑) เครื่องจองจำคือทิฏฐิ (๑๒) เหวคือทิฏฐิ (๑๓) อนุสัยคือทิฏฐิ (๑๔) ความ
เดือดร้อนคือทิฏฐิ (๑๕) ความเร่าร้อนคือทิฏฐิ (๑๖) เครื่องร้อยรัดคือทิฏฐิ (๑๗) อุปาทานคือทิฏฐิ, ความ
ยึดมั่นคือทิฏฐิ (๑๘) ความยึดมั่นถือมั่นคือทิฏฐิ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๖/๓๖๙, ขุ.ป.อ. ๑๒๗-๑๒๘/๕๓) และ
ดู ขุ.ป. ๒๙/๑๒/๔๐
๕ ความเพิกถอนทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงโสดาปัตติมรรค ที่ชื่อว่า ทิฏฐิสมุคฆาตะ เพราะถอนทิฏฐิได้ทั้งหมด
(องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๖/๓๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๗. อาหุเนยยสูตร
๗. อาหุเนยยสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
[๙๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระ
และโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขา-
บททั้งหลาย
๒. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลายที่มี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบ
ถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
๓. เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
๔. เป็นสัมมาทิฏฐิ ประกอบด้วยความเห็นชอบ
๕. แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคน
แสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง
และภูเขา ไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่น
ดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดิน
ก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจ
ทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
๖. ได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้
ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๗. อาหุเนยยสูตร
๗. กำหนดรู้จิตของสัตว์และบุคคลอื่นได้ด้วยจิตของตน คือ จิตมีราคะก็รู้ว่า
มีราคะ หรือปราศจากราคะก็รู้ว่าปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ... หรือ
ปราศจากโทสะ ... จิตมีโมหะ ... หรือปราศจากโมหะ ... จิตหดหู่ ... หรือ
ฟุ้งซ่าน ... จิตเป็นมหัคคตะ๑ ... หรือไม่เป็นมหัคคตะ ... จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า
... หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ... จิตเป็นสมาธิ ... หรือไม่เป็นสมาธิ ... จิต
หลุดพ้น ... หรือไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น
๘. ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง
๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐
ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐
ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอัน
มากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น
เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุ
อย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่อ
อย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และมีอายุอย่างนั้น ๆ
จุติจากภพนั้นแล้วจึงมาเกิดในภพนี้’ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อม
ทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
๙. เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิด
ดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไป
ตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตาม
ความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต
นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าว
ร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เห็นหมู่

เชิงอรรถ :
๑ มหัคคตะ แปลว่า ถึงความเป็นใหญ่ หมายถึงรูปาวจรกุศลจิต และอรูปาวจรกุศลจิต (ขุ.ป.อ. ๑/๑๐๔/๓๖๖)
และดูอภิธรรมปิฎก แปล เล่ม ๓๔ ข้อ ๑๖๐-๒๖๘ หน้า ๕๗-๘๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๘. เถรสูตร
สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิดทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและ
เกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม
กรรมอย่างนี้แล
๑๐. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล จึงเป็นผู้ควรแก่ของ
ที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนา
บุญอันยอดเยี่ยมของโลก
อาหุเนยยสูตรที่ ๗ จบ

๘. เถรสูตร
ว่าด้วยคุณธรรมของพระเถระ
[๙๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเถระประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ จะอยู่ใน
ทิศใด ๆ ย่อมอยู่สำราญโดยแท้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุเถระ
๑. เป็นรัตตัญญู๑ บวชมานาน
๒. เป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
๓. เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลายที่มี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์
ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
๔. ทรงจำปาติโมกข์ทั้งสองได้๒ดี จำแนกได้ดี ให้เป็นไปได้ดีโดยพิสดาร
วินิจฉัยได้ดีโดยสูตร โดยอนุพยัญชนะ

เชิงอรรถ :
๑ รัตตัญญู ในที่นี้หมายถึงรู้ราตรีนาน คือ บวช รู้แจ้งธรรม และเป็นพระขีณาสพ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๘๘/๑๒๒)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๓๓ (อุพพหิกาสูตร) หน้า ๘๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๙. อุปาลิสูตร
๕. เป็นผู้ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น
๖. เป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้ฟังและแสดงธรรมเป็นที่พอใจ มีปราโมทย์อย่างยิ่ง
ในอภิธรรม และอภิวินัย
๗. เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชช-
บริขารตามแต่จะได้
๘. เป็นผู้น่าเลื่อมใสในการก้าวไปและถอยกลับ เป็นผู้สำรวมดีในการนั่งใน
ละแวกบ้าน
๙. เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตาม
ความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
๑๐. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเถระประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล จะอยู่ในทิศใด ๆ
ย่อมอยู่สำราญโดยแท้
เถรสูตรที่ ๘ จบ

๙. อุปาลิสูตร
ว่าด้วยพระอุบาลีขออนุญาตอยู่ป่า
[๙๙] ครั้งนั้น ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ปรารถนาจะอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่๑”

เชิงอรรถ :
๑ ป่าโปร่ง หมายถึงป่าอยู่นอกเสาหลักเขตเมืองออกไปอย่างน้อยชั่ว ๕๐๐ ธนู
ป่าทึบ หมายถึงที่ไม่มีคนอยู่อาศัยเลยเขตหมู่บ้านไป (องฺ.ทุก.อ. ๒/๓๑/๓๐, องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๙/๓๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๙. อุปาลิสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบาลี เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
อยู่ลำบาก ทำวิเวก๑ได้ยาก ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะ
ชักนำจิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิ๒ให้หวาดหวั่น อุบาลี ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรา
ยังไม่ได้สมาธิ จักอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่’ ผู้นั้นพึงหวัง
ข้อนี้ได้ว่า ‘จักจมลง๓หรือจักฟุ้งซ่าน๔’
เปรียบเหมือนมีห้วงน้ำใหญ่ ถ้ามีช้างใหญ่สูง ๗ ศอก หรือ ๗ ศอกครึ่งมาถึงเข้า
ช้างนั้นพึงคิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราควรจะลงสู่ห้วงน้ำนี้แล้วล้างหูเล่นบ้าง ล้างหลัง
เล่นบ้าง อาบ ดื่ม ขึ้นมาแล้วหลีกไปตามปรารถนา’ ช้างนั้นลงสู่ห้วงน้ำนั้นแล้ว
พึงล้างหูเล่นบ้าง ล้างหลังเล่นบ้าง อาบ ดื่ม ขึ้นมาแล้วหลีกไปตามปรารถนา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะช้างนั้นมีร่างกายใหญ่ จึงต้องลงน้ำลึก
ครั้นกระต่ายหรือเสือปลามาถึงห้วงน้ำนั้นเข้า กระต่ายหรือเสือปลานั้นพึงคิด
อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นอะไรและช้างใหญ่เป็นอะไร ทางที่ดี เราควรจะลงสู่ห้วงน้ำนี้แล้ว
ล้างหูเล่นบ้าง ล้างหลังเล่นบ้าง อาบ ดื่ม ขึ้นมาแล้วหลีกไปตามปรารถนา’ กระต่าย
หรือเสือปลานั้นลงสู่ห้วงน้ำนั้นโดยฉับพลัน ไม่ทันได้พิจารณา จำต้องหวังข้อนี้ได้ว่า
‘จักจมลงหรือจักลอยขึ้น’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกระต่ายหรือเสือปลานั้น มีร่าง
กายเล็ก ลงในห้วงน้ำลึกไม่ได้ ฉันใด
ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราเมื่อยังไม่ได้สมาธิ จักอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่ ผู้นั้นจำต้องหวังข้อนี้ได้ว่า ‘จักจมลงหรือจักฟุ้งซ่าน’ ฉันนั้น
เหมือนกัน
เปรียบเหมือนเด็กอ่อนยังนอนหงาย เล่นมูตรและคูถของตน เธอเข้าใจเรื่องนั้น
อย่างไร การเล่นนี้เป็นการเล่นของเด็กอ่อนโดยทั่วไปหรือ”
พระอุบาลีกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ วิเวก ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก(สงัดกาย) (องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๙/๓๗๐)
๒ สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๙/๓๗๐)
๓ จมลง หมายถึงจมลงเพราะกามวิตก (องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๙/๓๗๐)
๔ ฟุ้งซ่าน หมายถึงฟุ้งซ่านเพราะพยาบาทวิตกและวิหิงสาวิตก (องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๙/๓๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๙. อุปาลิสูตร
“อุบาลี สมัยต่อมา เด็กคนนั้นเองเจริญเติบโตขึ้น มีอินทรีย์แก่กล้าขึ้น เล่น
เครื่องเล่นสำหรับเด็ก คือเล่นไถน้อย ๆ เล่นตีไม้หึ่ง เล่นกังหันไม้ เล่นกังหันใบไม้
เล่นตวงทราย เล่นรถน้อย ๆ เล่นธนูน้อย ๆ เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การเล่นนี้
ยิ่งกว่า ประณีตกว่าการเล่นที่มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาลี สมัยต่อมา เด็กคนนั้นเองเจริญเติบโตขึ้นอีก มีอินทรีย์แก่กล้าเต็มที่
อิ่มเอิบพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ด้วยรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา อันน่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ ชวนใจให้กำหนัด ด้วยเสียงที่พึงรู้
แจ้งทางหู ... ด้วยกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ... ด้วยรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ... ด้วย
โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
ชวนใจให้กำหนัด เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การเล่นนี้ยิ่งกว่า ประณีตกว่าการเล่นที่
มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาลี ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ
เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอด
เยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า๑ เป็นพระผู้มี
พระภาค๒ ตถาคตรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยตนเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม
แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น๓ มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด
ประกาศ พรหมจรรย์๔พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์๕ครบถ้วน”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๑ (เสนาสนสูตร) หน้า ๑๗ ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๑๑ (เสนาสนสูตร) หน้า ๑๗ ในเล่มนี้
๓ มีความงามในเบื้องต้น หมายถึงศีล มีความงามในท่ามกลาง หมายถึงอริยมรรค มีความงามในที่สุด
หมายถึงพระนิพพาน (ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๕๙)
๔ พรหมจรรย์ หมายถึงความประพฤติประเสริฐ มีนัย ๑๐ ประการ คือ ทาน (การให้) ไวยาวัจจะ (การ
ขวนขวายช่วยเหลือ) ปัญจสีละ (ศีลห้า) อัปปมัญญา (การประพฤติพรหมวิหารอย่างไม่มีขอบเขต) เมถุน-
วิรัติ (การงดเว้นจากการเสพเมถุน) สทารสันโดษ (ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน) วิริยะ (ความเพียร
อุโปสถังคะ (องค์อุโบสถ) อริยมรรค (ทางอันประเสริฐ) และศาสนา (พระพุทธศาสนา) ในที่นี้หมายถึงศาสนา
(ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๖๐-๑๖๒)
๕ บริสุทธิ์ หมายถึงไม่มีสิ่งเป็นโทษที่จะต้องนำออก บริบูรณ์ หมายถึงเต็มที่แล้ว โดยไม่ต้องนำไปเพิ่มอีก
(ตามนัย วิ.อ. ๑/๑/๑๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๙. อุปาลิสูตร
คหบดี หรือบุตรคหบดีผู้เกิดภายหลังในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ฟังธรรมนั้นแล้ว
ได้ศรัทธาในตถาคต ได้ศรัทธาแล้วพิจารณาเห็นว่า ‘ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมา
แห่งธุลี บรรพชาปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้อยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้
บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ที่ขัดแล้วนี้ มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรจะ
ปลงผม และหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’
สมัยต่อมา เขาได้ละกองโภคทรัพย์น้อยใหญ่ เครือญาติน้อยใหญ่แล้ว ปลงผม
และหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เมื่อบวชแล้ว เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ๑เสมอด้วยภิกษุทั้งหลาย
ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความละอาย มีความ
เอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่
เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่
เป็นผู้ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ เว้นห่าง
ไกลจากเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำ
เป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอก
ฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลาย
ฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้
ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ น่ารัก
จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิงประโยชน์
พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วย
ประโยชน์เหมาะแก่เวลา

เชิงอรรถ :
๑ สิกขา หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา สาชีพ หมายถึงสิกขาบท
ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ ดูวินัยปิฎกแปล เล่มที่ ๑ หน้า ๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๙. อุปาลิสูตร
ภิกษุนั้นเป็นผู้เว้นขาดจากการพรากพีชคามและภูตคาม ฉันมื้อเดียว ไม่ฉัน
ตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล๑ เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง
ประโคมดนตรี และดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ
ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่ง
การแต่งตัว เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่ เว้นขาดจากการรับทองและเงิน เว้นขาด
จากการรับธัญญาหารดิบ๒ เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ เว้นขาดจากการรับสตรีและ
กุมารี เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา เว้นขาดจาก
การรับเรือกสวนไร่นาและที่ดิน เว้นขาดจากการรับทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
เว้นขาดจากการซื้อขาย เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วย
เครื่องตวงวัด เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบแตลง เว้นขาด
จากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และการขู่กรรโชก
ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกาย และบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป
ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันทีเหมือนนกบินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ ภิกษุนั้นผู้
ประกอบด้วยอริยสีลขันธ์อย่างนี้ ชื่อว่าเสวยสุขอันไม่มีโทษภายใน
ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ๓ ไม่แยกถือ๔ ปฏิบัติเพื่อสำรวมในจักขุนทรีย์
ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยาก

เชิงอรรถ :
๑ เวลาวิกาล หมายถึงเวลาที่ห้ามไว้เฉพาะแต่ละเรื่อง ในที่นี้หมายถึงผิดเวลาที่กำหนดไว้ คือตั้งแต่หลังเที่ยง
วันจนถึงเวลาอรุณขึ้น (ที.สี.อ. ๑๐/๗๕)
๒ ธัญญาหารดิบ หมายถึงธัญชาติที่มีเมล็ดมีเปลือกสมบูรณ์พร้อมที่จะงอกได้ (ที.สี.อ. ๑๐/๗๕) ในคัมภีร์
อภิธานัปปทีปิกา ว่ามี ๗ อย่าง คือ (๑) ข้าวไม่มีแกลบ (๒) ข้าวเปลือก (๓) หญ้ากับแก้ (๔) ข้าวละมาน
(๕) ลูกเดือย (๖) ข้าวแดง (๗) ข้าวฟ่าง
๓ รวบถือ หมายถึงมองภาพด้านเดียว คือมองภาพรวมโดยเห็นเป็นหญิงหรือชาย เห็นว่ารูปสวย เสียงไพเราะ
กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสที่อ่อนนุ่ม เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา ด้วยอำนาจฉันทราคะ (อภิ.สงฺ.อ. ๑๓๕๒/
๔๕๖-๗)
๔ แยกถือ หมายถึงมองภาพ ๒ ด้าน คือมองแยกแยะเป็นส่วน ๆ ไปด้วยอำนาจกิเลส เช่น เห็นมือเท้าว่า
สวยหรือไม่สวย เห็นอาการยิ้มแย้ม หัวเราะ การพูด การเหลียวซ้าย แลขวา ว่าน่ารักหรือไม่น่ารัก ถ้า
เห็นว่าสวยน่ารักก็เกิดอิฏฐารมณ์(อารมณ์ที่น่าปรารถนา) ถ้าเห็นว่าไม่สวย ไม่น่ารัก ก็เกิดอนิฏฐารมณ์
(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) (อภิ.สงฺ.อ. ๑๓๕๒/๔๕๖-๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๙. อุปาลิสูตร
ได้ของเขา)และโทมนัส(ความทุกข์ใจ)ครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวม
ในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะ
ทางกาย ... รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อสำรวมใน
มนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุนั้นผู้ประกอบ
ด้วยอริยอินทรียสังวรอย่างนี้ จึงชื่อว่าเสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสภายใน
ภิกษุนั้นเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การ
เหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร การฉัน การดื่ม
การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน
การตื่น การพูด การนิ่ง
ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวร และอริยสติสัมปชัญญะ
อย่างนี้แล้ว พักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ
ป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง ภิกษุนั้นไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี
ก็นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
ภิกษุนั้นละอภิชฌาในโลก๑แล้วมีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์
จากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูล
สรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ(ความ
หดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระ
จิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) เป็นผู้ไม่
ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจะกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา
(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

เชิงอรรถ :
๑ โลก ในที่นี้หมายถึงสภาพที่ต้องแตกสลาย กล่าวคืออุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่ ความยึดติดว่า รูป เวทนา สัญญา
สังขาร และวิญญาณ มีตัวตนและเป็นของตนอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (ที.สี.อ. ๒๑๗/๑๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๙. อุปาลิสูตร
ภิกษุนั้นครั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ที่เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ เป็นเครื่องทอน
กำลังปัญญาแล้ว สงัดจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มี
วิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ อุบาลี เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การอยู่นี้
ยิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่ทั้งหลายที่มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาลี สาวกทั้งหลายของเราเมื่อพิจารณาเห็นธรรมแม้นี้แลในตน จึงอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัด คือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่ แต่สาวกของเราเหล่านั้นยังไม่บรรลุ
ประโยชน์ของตนก่อน
อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ... อยู่
อุบาลี เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การอยู่นี้ยิ่งกว่า และประณีตกว่าการอยู่ทั้งหลายที่
มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาลี สาวกทั้งหลายของเราเมื่อพิจารณาเห็นธรรมแม้นี้ในตน จึงอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัด คือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่ แต่สาวกของเราเหล่านั้นยังไม่บรรลุ
ประโยชน์ของตนก่อน
อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวย
สุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ... อยู่ อุบาลี เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การอยู่นี้
ยิ่งกว่า และประณีตกว่าการอยู่ทั้งหลายที่มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาลี สาวกทั้งหลายของเราเมื่อพิจารณาเห็นธรรมแม้นี้ในตน จึงอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัด คือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่ แต่สาวกของเราเหล่านั้นยังไม่บรรลุ
ประโยชน์ของตนก่อน
อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน
ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ... อยู่ อุบาลี เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การอยู่นี้ยิ่งกว่าและ
ประณีตกว่าการอยู่ทั้งหลายที่มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๙. อุปาลิสูตร
“อุบาลี สาวกทั้งหลายของเราเมื่อพิจารณาเห็นธรรมแม้นี้ในตน จึงอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัด คือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่ แต่สาวกของเราเหล่านั้นยังไม่บรรลุ
ประโยชน์ของตนก่อน
อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุอากาสาสนัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘อากาศ
หาที่สุดมิได้’ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดย
ประการทั้งปวง อุบาลี เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การอยู่นี้ยิ่งกว่าและประณีตกว่า
การอยู่ทั้งหลายที่มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาลี สาวกทั้งหลายของเราเมื่อพิจารณาเห็นธรรมแม้นี้ในตน จึงอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัด คือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่ แต่สาวกของเราเหล่านั้นยังไม่บรรลุ
ประโยชน์ของตนก่อน
อีกประการหนึ่ง ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวงบรรลุ
วิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่ ... ภิกษุล่วง
วิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวงบรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนด
ว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ ... ภิกษุล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ธรรมชาตินี้สงบ ธรรมชาตินี้ประณีต’
อยู่ อุบาลี เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การอยู่นี้ยิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่
ทั้งหลายที่มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“อุบาลี อีกประการหนึ่ง สาวกทั้งหลายของเราเมื่อพิจารณาเห็นธรรมแม้นี้
ในตน จึงอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่ แต่สาวกของเราเหล่า
นั้นยังไม่บรรลุประโยชน์ของตนก่อน
อีกประการหนึ่ง ภิกษุล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ และอาสวะทั้งหลายของภิกษุนั้นเป็นอันสิ้นไปแล้ว
เพราะเห็นด้วยปัญญา อุบาลี เธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร การอยู่นี้ยิ่งกว่าและประณีต
กว่าการอยู่ทั้งหลายที่มีมาก่อนหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค ๑๐. อภัพพสูตร
“อุบาลี สาวกทั้งหลายของเราเมื่อพิจารณาเห็นธรรมแม้นี้ในตน จึงอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบอยู่ แต่สาวกของเราเหล่านั้นยังไม่บรรลุ
ประโยชน์ของตนก่อน อุบาลี เธอจงอยู่ในสงฆ์เถิด เมื่อเธออยู่ในสงฆ์ ความสำราญ
จักมี๑’
อุปาลิสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. อภัพพสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ไม่อาจทำให้แจ้งอรหัตตผล
[๑๐๐] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลยังละธรรม ๑๐ ประการนี้ไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลได้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ราคะ (ความกำหนัด) ๒. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
๓. โมหะ (ความหลง) ๔. โกธะ (ความโกรธ)
๕. อุปนาหะ (ความผูกโกรธ) ๖. มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน)
๗. ปฬาสะ (ความตีเสมอ) ๘. อิสสา (ความริษยา)
๙. มัจฉริยะ (ความตระหนี่) ๑๐. มานะ (ความถือตัว)

บุคคลยังละธรรม ๑๐ ประการนี้แลไม่ได้ ก็ไม่อาจทำให้แจ้งอรหัตตผลได้
บุคคลละธรรม ๑๐ ประการนี้ได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้งอรหัตตผลได้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

เชิงอรรถ :
๑ อรรถกถาอธิบายว่า การที่พระผู้มีพระภาคทรงเตือนให้พระอุบาลีอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ ไม่ทรงอนุญาตให้
ท่านอยู่ป่า เพราะทรงเห็นว่าการอยู่ป่าจะทำให้ท่านบำเพ็ญวิปัสสนาธุระคือการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ได้เพียงด้านเดียว ไม่สามารถบำเพ็ญคันถธุระคือการเรียนพระคัมภีร์ให้สำเร็จได้ แต่การอยู่ในท่ามกลาง
สงฆ์ จะทำให้ท่านบำเพ็ญธุระได้ทั้ง ๒ ด้าน และบรรลุพระอรหัตตผลได้ด้วย ทั้งจักเป็นหัวหน้าในการ
สังคายนาพระวินัยปิฎก (องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๙/๓๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๒. ทุติยปัณณาสก์] ๕. อุปาสกวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑. ราคะ ๒. โทสะ
๓. โมหะ ๔. โกธะ
๕. อุปนาหะ ๖. มักขะ
๗. ปฬาสะ ๘. อิสสา
๙. มัจฉริยะ ๑๐. มานะ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลละธรรม ๑๐ ประการนี้แลได้แล้ว จึงอาจทำให้แจ้ง
อรหัตตผลได้
อภัพพสูตรที่ ๑๐ จบ
อุปาสกวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กามโภคีสูตร ๒. ภยสูตร
๓. กิงทิฏฐิกสูตร ๔. วัชชิยมาหิตสูตร
๕. อุตติยสูตร ๖. โกกนุทสูตร
๗. อาหุเนยยสูตร ๘. เถรสูตร
๙. อุปาลิสูตร ๑๐. อภัพพสูตร

ทุติยปัณณาสก์ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. สมณสัญญาวรรค ๑. สมณสัญญาสูตร
๓. ตติยปัณณาสก์
๑. สมณสัญญาวรรค
หมวดว่าด้วยสมณสัญญา๑
๑. สมณสัญญาสูตร
ว่าด้วยสมณสัญญา
[๑๐๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย สมณสัญญา ๓ ประการนี้
ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้วย่อมให้ธรรม ๗ ประการบริบูรณ์
สมณสัญญา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
สมณสัญญาว่า
๑. เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์
๒. ชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น
๓. มารยาทอย่างอื่นที่เราควรทำมีอยู่
สมณสัญญา ๓ ประการนี้แล ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมให้ธรรม ๗
ประการบริบูรณ์
ธรรม ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีปกติทำต่อเนื่อง ประพฤติต่อเนื่องเป็นนิตย์ในศีลทั้งหลาย
๒. เป็นผู้ไม่มีอภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา)
๓. เป็นผู้ไม่มีพยาบาท (ความคิดร้าย)
๔. เป็นผู้ไม่มีมานะ (ความถือตัว)
๕. เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา

เชิงอรรถ :
๑ สมณสัญญา คือความกำหนดหมายรู้ที่เกิดขึ้นแก่สมณะ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๐๑/๓๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. สมณสัญญาวรรค ๒. โพชฌังคสูตร
๖. เป็นผู้มีการพิจารณาปัจจัยทั้งหลายอันเป็นบริขารแห่งชีวิตว่า ‘ปัจจัย
เหล่านี้มีประโยชน์เช่นนี้’ แล้วจึงบริโภค
๗. เป็นผู้ปรารภความเพียร
ภิกษุทั้งหลาย สมณสัญญา ๓ ประการนี้แล ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อม
ให้ธรรม ๗ ประการนี้บริบูรณ์
สมณสัญญาสูตรที่ ๑ จบ

๒. โพชฌังคสูตร๑
ว่าด้วยโพชฌงค์
[๑๐๒] ภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้) ๗ ประการนี้
ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมให้วิชชา ๓ ประการบริบูรณ์
โพชฌงค์ ๗ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สติสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความระลึกได้)
๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือการเฟ้นธรรม)
๓. วิริยสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความเพียร)
๔. ปีติสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความอิ่มใจ)
๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความสงบกายสงบใจ)
๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความตั้งจิตมั่น)
๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้คือความมีใจเป็นกลาง
เพราะเห็นตามเป็นจริง)
ภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ ประการนี้แล ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมให้
วิชชา ๓ ประการบริบูรณ์
วิชชา ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๑, ๓๕๗/๒๕๘, องฺ.สตฺตก. ๒๓/๒๖/๒๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. สมณสัญญาวรรค ๓. มิจฉัตตสูตร
๑. ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ฯลฯ
เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
๒. เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดหมู่สัตว์ผู้
เป็นไปตามกรรมว่า ฯลฯ อย่างนี้แล๑
๓. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ ประการนี้แล ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมให้
วิชชา ๓ ประการนี้บริบูรณ์
โพชฌังคสูตรที่ ๒ จบ

๓. มิจฉัตตสูตร
ว่าด้วยมิจฉัตตธรรม
[๑๐๓] ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉัตตธรรม(ธรรมที่ผิด) จึงมีการพลาด
จากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล
เพราะอาศัยมิจฉัตตธรรมอย่างไร จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มี
การบรรลุสวรรค์และมรรคผล
คือ ผู้มีมิจฉาทิฏฐิ(เห็นผิด) ย่อมมีมิจฉาสังกัปปะ(ดำริผิด)
ผู้มีมิจฉาสังกัปปะ ย่อมมีมิจฉาวาจา(เจรจาผิด)
ผู้มีมิจฉาวาจา ย่อมมีมิจฉากัมมันตะ(กระทำผิด)
ผู้มีมิจฉากัมมันตะ ย่อมมีมิจฉาอาชีวะ(เลี้ยงชีพผิด)
ผู้มีมิจฉาอาชีวะ ย่อมมีมิจฉาวายามะ(พยายามผิด)
ผู้มีมิจฉาวายามะ ย่อมมีมิจฉาสติ(ระลึกผิด)

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในข้อ ๙๗ (อาหุเนยยสูตร) หน้า ๒๒๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. สมณสัญญาวรรค ๓. มิจฉัตตสูตร
ผู้มีมิจฉาสติ ย่อมมีมิจฉาสมาธิ(ตั้งจิตมั่นผิด)
ผู้มีมิจฉาสมาธิ ย่อมมีมิจฉาญาณะ(รู้ผิด)
ผู้มีมิจฉาญาณะ ย่อมมีมิจฉาวิมุตติ(หลุดพ้นผิด)
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉัตตธรรมอย่างนี้แล จึงมีการพลาดจากสวรรค์
และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยสัมมัตตธรรม(ธรรมที่ถูก) จึงมีการบรรลุสวรรค์
และมรรคผล ไม่มีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล
เพราะอาศัยสัมมัตตธรรมอย่างไร จึงมีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการ
พลาดจากสวรรค์และมรรคผล
คือ ผู้มีสัมมาทิฏฐิ(เห็นชอบ) ย่อมมีสัมมาสังกัปปะ(ดำริชอบ)
ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมมีสัมมาวาจา(เจรจาชอบ)
ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมมีสัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ)
ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมมีสัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ)
ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมมีสัมมาวายามะ(พยายามชอบ)
ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมมีสัมมาสติ(ระลึกชอบ)
ผู้มีสัมมาสติ ย่อมมีสัมมาสมาธิ(ตั้งจิตมั่นชอบ)
ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมมีสัมมาญาณะ(รู้ชอบ)
ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมมีสัมมาวิมุตติ(หลุดพ้นชอบ)
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยสัมมัตตธรรมอย่างนี้แล จึงมีการบรรลุสวรรค์และ
มรรคผล ไม่มีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล
มิจฉัตตสูตรที่ ๓ จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. สมณสัญญาวรรค ๔. พีชสูตร
๔. พีชสูตร
ว่าด้วยบุคคลเปรียบเหมือนเมล็ดพืช
[๑๐๔] ภิกษุทั้งหลาย กายกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่
ทิฏฐิ(ความเห็น) วจีกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ มโนกรรมที่ถือ
ปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ และ
สังขารทั้งหลายของบุคคลผู้มีมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ
มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ มิจฉาญาณะ และมิจฉาวิมุตติ
ธรรมทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ
ไม่เกื้อกูล เป็นทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฏฐิเลวทราม
กายกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ ... ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะทิฏฐิเลวทราม เปรียบเหมือนเมล็ดสะเดา เมล็ดบวบขม หรือเมล็ดน้ำเต้าขมที่
บุคคลเพาะไว้ในดินชุ่มชื้น รสดินและรสน้ำที่มันดูดซับเอาไว้ทั้งหมดย่อมเป็นไปเพื่อ
ความเป็นของขม เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเมล็ดสะเดาเป็นต้น
นั้นเลว
กายกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ วจีกรรมที่ถือปฏิบัติให้
บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ มโนกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ
เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ และสังขารทั้งหลายของบุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ
สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ และสัมมาวิมุตติ ธรรมทั้งหมดนั้นย่อมเป็นไปเพื่อผลที่
น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เกื้อกูล เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฏฐิดี
กายกรรมที่ถือปฏิบัติให้บริบูรณ์ตามสมควรแก่ทิฏฐิ ... ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะทิฏฐิดี เปรียบเหมือนพันธุ์อ้อย พันธุ์ข้าวสาลี หรือเมล็ดจันทน์ที่บุคคลเพาะไว้
ในดินชุ่มชื้น รสดินและรสน้ำที่มันดูดซับเอาไว้ทั้งหมดย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของ
หวาน น่าอร่อย น่าชื่นใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพันธุ์อ้อยเป็นต้นนั้นดี
พีชสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. สมณสัญญาวรรค ๕. วิชชาสูตร
๕. วิชชาสูตร
ว่าด้วยวิชชา
[๑๐๕] ภิกษุทั้งหลาย อวิชชา(ความไม่รู้แจ้ง)เป็นประธานแห่งการเข้าถึง
อกุศลธรรม อหิริ(ความไม่อายบาป) อโนตตัปปะ(ความไม่กลัวบาป) ก็มีตามมาด้วย
๑. ผู้มีอวิชชาไม่เห็นแจ้ง ย่อมมีมิจฉาทิฏฐิ
๒. ผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ย่อมมีมิจฉาสังกัปปะ
๓. ผู้มีมิจฉาสังกัปปะ ย่อมมีมิจฉาวาจา
๔. ผู้มีมิจฉาวาจา ย่อมมีมิจฉากัมมันตะ
๕. ผู้มีมิจฉากัมมันตะ ย่อมมีมิจฉาอาชีวะ
๖. ผู้มีมิจฉาอาชีวะ ย่อมมีมิจฉาวายามะ
๗. ผู้มีมิจฉาวายามะ ย่อมมีมิจฉาสติ
๘. ผู้มีมิจฉาสติ ย่อมมีมิจฉาสมาธิ
๙. ผู้มีมิจฉาสมาธิ ย่อมมีมิจฉาญาณะ
๑๐. ผู้มีมิจฉาญาณะ ย่อมมีมิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย วิชชา(ความรู้แจ้ง)เป็นประธานแห่งการเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลาย
หิริ(ความอายบาป)และโอตตัปปะ(ความกลัวบาป) ก็มีตามมาด้วย
๑. ผู้มีวิชชาเห็นแจ้ง ย่อมมีสัมมาทิฏฐิ
๒. ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมมีสัมมาสังกัปปะ
๓. ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมมีสัมมาวาจา
๔. ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมมีสัมมากัมมันตะ
๕. ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมมีสัมมาอาชีวะ
๖. ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมมีสัมมาวายามะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. สมณสัญญาวรรค ๖. นิชชรสูตร
๗. ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมมีสัมมาสติ
๘. ผู้มีสัมมาสติ ย่อมมีสัมมาสมาธิ
๙. ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมมีสัมมาญาณะ
๑๐. ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมมีสัมมาวิมุตติ
วิชชาสูตรที่ ๕ จบ

๖. นิชชรสูตร
ว่าด้วยเหตุแห่งความเสื่อม
[๑๐๖] ภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งความเสื่อม ๑๐ ประการนี้
เหตุแห่งความเสื่อม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิย่อมเสื่อมไป บาปอกุศลธรรมเป็นอันมากที่
เกิดขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัยย่อมเสื่อมไป และกุศลธรรมเป็นอันมาก
ย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย
๒. เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ มิจฉาสังกัปปะย่อมเสื่อมไป บาปอกุศลธรรมเป็น
อันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาสังกัปปะเป็นปัจจัยย่อมเสื่อมไป และกุศล-
ธรรมเป็นอันมากย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาสังกัปปะเป็นปัจจัย
๓. เมื่อมีสัมมาวาจา มิจฉาวาจาย่อมเสื่อมไป บาปอกุศลธรรมเป็นอันมาก
ที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาวาจาเป็นปัจจัยย่อมเสื่อมไป และกุศลธรรมเป็นอัน
มากย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาวาจาเป็นปัจจัย
๔. เมื่อมีสัมมากัมมันตะ มิจฉากัมมันตะย่อมเสื่อมไป บาปอกุศลธรรมเป็น
อันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉากัมมันตะเป็นปัจจัยย่อมเสื่อมไป และกุศล-
ธรรมเป็นอันมากย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมากัมมันตะเป็น
ปัจจัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. สมณสัญญาวรรค ๖. นิชชรสูตร
๕. เมื่อมีสัมมาอาชีวะเป็นปัจจัย มิจฉาอาชีวะย่อมเสื่อมไป บาปอกุศลธรรม
เป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาอาชีวะเป็นปัจจัยย่อมเสื่อมไป และ
กุศลธรรมเป็นอันมากย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาอาชีวะเป็น
ปัจจัย
๖. เมื่อมีสัมมาวายามะ มิจฉาวายามะย่อมเสื่อมไป บาปอกุศลธรรมเป็นอัน
มากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาวายามะเป็นปัจจัยย่อมเสื่อมไป และกุศลธรรม
เป็นอันมากย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาวายามะเป็นปัจจัย
๗. เมื่อมีสัมมาสติ มิจฉาสติย่อมเสื่อมไป บาปอกุศลธรรมเป็นอันมาก ที่
เกิดขึ้นเพราะมิจฉาสติเป็นปัจจัยย่อมเสื่อมไป และกุศลธรรมเป็นอันมาก
ย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาสติเป็นปัจจัย
๘. เมื่อมีสัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิย่อมเสื่อมไป บาปอกุศลธรรมเป็นอันมาก
ที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาสมาธิเป็นปัจจัยย่อมเสื่อมไป และกุศลธรรมเป็นอัน
มากย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาสมาธิเป็นปัจจัย
๙. เมื่อมีสัมมาญาณะ มิจฉาญาณะย่อมเสื่อมไป บาปอกุศลธรรมเป็นอัน
มากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาญาณะเป็นปัจจัยย่อมเสื่อมไป และกุศลธรรม
เป็นอันมากย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาญาณะเป็นปัจจัย
๑๐. เมื่อมีสัมมาวิมุตติ มิจฉาวิมุตติย่อมเสื่อมไป บาปอกุศลธรรมเป็นอันมาก
ที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัยย่อมเสื่อมไป และกุศลธรรมเป็นอัน
มากย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งความเสื่อม ๑๐ ประการนี้แล
นิชชรสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. สมณสัญญาวรรค ๗. โธวนสูตร
๗. โธวนสูตร
ว่าด้วยธรรมเนียมการล้างกระดูกผู้ตาย
[๑๐๗] ภิกษุทั้งหลาย ในทักขิณาชนบท มีธรรมเนียมการล้างกระดูกของ
ญาติผู้ตาย ในธรรมเนียมการล้างกระดูกนั้น มีข้าวบ้าง น้ำบ้าง ของเคี้ยวบ้าง ของ
บริโภคบ้าง เครื่องลิ้มบ้าง เครื่องดื่มบ้าง การฟ้อนรำบ้าง เพลงขับบ้าง การประโคม
บ้าง ธรรมเนียมการล้างนี้มีอยู่ เรามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่การล้างนั้นแลเป็นของเลว
เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่เป็นของพระอริยะ ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อ
ความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน
เราจักแสดงการล้างอันเป็นของพระอริยะที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายอย่างที่สุด
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ซึ่งสัตว์
ทั้งหลายผู้มีชาติ(ความเกิด)เป็นธรรมดาอาศัยแล้วย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชรา(ความ
แก่)เป็นธรรมดาย่อมพ้นจากชรา ผู้มีมรณะ(ความตาย)เป็นธรรมดาย่อมพ้นจากมรณะ
ผู้มีโสกะ(ความโศก) ปริเทวะ(ความร่ำไร) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ)
และอุปายาส(ความคับแค้นใจ)เป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาส เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
การล้างอันเป็นของพระอริยะที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายอย่างที่สุด เพื่อคลาย
กำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานซึ่งสัตว์ทั้งหลาย
ผู้มีชาติเป็นธรรมดาอาศัยแล้วย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากชรา
ผู้มีมรณะเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เป็น
อย่างไร คือ
๑. ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมล้างมิจฉาทิฏฐิได้ ล้างบาปอกุศลธรรมเป็นอันมากที่
เกิดขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัยได้ และกุศลธรรมเป็นอันมากย่อมถึง
ความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. สมณสัญญาวรรค ๘. ติกิจฉกสูตร
๒. ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมล้างมิจฉาสังกัปปะได้ ...
๓. ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมล้างมิจฉาวาจาได้ ...
๔. ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมล้างมิจฉากัมมันตะได้ ...
๕. ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมล้างมิจฉาอาชีวะได้ ...
๖. ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมล้างมิจฉาวายามะได้ ...
๗. ผู้มีสัมมาสติ ย่อมล้างมิจฉาสติได้ ...
๘. ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมล้างมิจฉาสมาธิได้ ...
๙. ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมล้างมิจฉาญาณะได้ ...
๑๐. ผู้มีสัมมาวิมุตติ ย่อมล้างมิจฉาวิมุตติได้ ล้างบาปอกุศลธรรมเป็นอัน
มากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัยได้ และกุศลธรรมเป็นอันมาก
ย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย การล้างอันเป็นของพระอริยะนี้แล ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย
อย่างที่สุด เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ซึ่งสัตว์ทั้งหลายผู้มีชาติเป็นธรรมดาอาศัยแล้วย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา
ย่อมพ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาส
โธวนสูตรที่ ๗ จบ

๘. ติกิจฉกสูตร
ว่าด้วยแพทย์ให้ยาระบาย
[๑๐๘] ภิกษุทั้งหลาย แพทย์ทั้งหลายย่อมให้ยาระบาย เพื่อบำบัดอาพาธอัน
มีดีเป็นสมุฏฐานบ้าง มีเสลดเป็นสมุฏฐานบ้าง มีลมเป็นสมุฏฐานบ้าง ยาระบายนี้มีอยู่
เรามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่ยาระบายนี้แล ใช้ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง
เราจักแสดงยาระบายอันเป็นของพระอริยะที่ใช้ได้ผลแน่นอน มิใช่ไร้ผล ซึ่ง
สัตว์ทั้งหลายผู้มีชาติเป็นธรรมดาอาศัยแล้วย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. สมณสัญญาวรรค ๘. ติกิจฉกสูตร
ย่อมพ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสได้ เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ยาระบายอันเป็นของพระอริยะที่ใช้ได้ผลแน่นอน มิใช่ไร้ผล ซึ่งสัตว์ทั้งหลายผู้
มีชาติเป็นธรรมดาอาศัยแล้วย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชรา
ผู้มีมรณะเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสได้ เป็น
อย่างไร คือ
๑. ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมระบายมิจฉาทิฏฐิได้ ระบายบาปอกุศลธรรมเป็นอัน
มากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัยได้ และกุศลธรรมเป็นอันมาก
ย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย
๒. ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมระบายมิจฉาสังกัปปะได้ ...
๓. ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมระบายมิจฉาวาจาได้ ...
๔. ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมระบายมิจฉากัมมันตะได้ ...
๕. ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมระบายมิจฉาอาชีวะได้ ...
๖. ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมระบายมิจฉาวายามะได้ ...
๗. ผู้มีสัมมาสติ ย่อมระบายมิจฉาสติได้ ...
๘. ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมระบายมิจฉาสมาธิได้ ...
๙. ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมระบายมิจฉาญาณะได้ ...
๑๐. ผู้มีสัมมาวิมุตติ ย่อมระบายมิจฉาวิมุตติได้ ระบายบาปอกุศลธรรมเป็น
อันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัยได้ และกุศลธรรมเป็นอัน
มากย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. สมณสัญญาวรรค ๙. วมนสูตร
ภิกษุทั้งหลาย ยาระบายอันเป็นของพระอริยะนี้แลที่ใช้ได้ผลแน่นอน มิใช่ไร้ผล
ซึ่งสัตว์ทั้งหลายผู้มีชาติเป็นธรรมดาอาศัยแล้วย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา
ย่อมพ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและ
อุปายาสได้
ติกิจฉกสูตรที่ ๘ จบ

๙. วมนสูตร
ว่าด้วยแพทย์ให้ยาสำรอก
[๑๐๙] ภิกษุทั้งหลาย แพทย์ทั้งหลายย่อมให้ยาสำรอก เพื่อบำบัดอาพาธอัน
มีดีเป็นสมุฏฐานบ้าง มีเสลดเป็นสมุฏฐานบ้าง มีลมเป็นสมุฏฐานบ้าง ยาสำรอกนี้มีอยู่
เรามิได้กล่าวว่าไม่มี แต่ยาสำรอกนี้แล ใช้ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง
เราจักแสดงยาสำรอกอันเป็นของพระอริยะที่ใช้ได้ผลแน่นอน มิใช่ไร้ผล ซึ่ง
สัตว์ทั้งหลายผู้มีชาติเป็นธรรมดาอาศัยแล้วย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา
ย่อมพ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสได้ เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ๑
ยาสำรอกอันเป็นของพระอริยะที่ใช้ได้ผลแน่นอน มิใช่ไร้ผล ซึ่งสัตว์ทั้งหลายผู้
มีชาติเป็นธรรมดาอาศัยแล้วย่อมพ้นจากชาติ ฯลฯ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาสเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสได้
เป็นอย่างไร คือ

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในข้อ ๑๐๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. สมณสัญญาวรรค ๙. วมนสูตร
๑. ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมสำรอกมิจฉาทิฏฐิได้ สำรอกบาปอกุศลธรรมเป็น
อันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัยได้ และกุศลธรรมเป็นอันมาก
ย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย
๒. ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมสำรอกมิจฉาสังกัปปะได้ ...
๓. ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมสำรอกมิจฉาวาจาได้ ...
๔. ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมสำรอกมิจฉากัมมันตะได้ ...
๕. ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมสำรอกมิจฉาอาชีวะได้ ...
๖. ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมสำรอกมิจฉาวายามะได้ ...
๗. ผู้มีสัมมาสติ ย่อมสำรอกมิจฉาสติได้ ...
๘. ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมสำรอกมิจฉาสมาธิได้ ...
๙. ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมสำรอกมิจฉาญาณะได้ ฯลฯ
๑๐. ผู้มีสัมมาวิมุตติ ย่อมสำรอกมิจฉาวิมุตติได้ สำรอกบาปอกุศลธรรมเป็น
อันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัยได้ และกุศลธรรมเป็นอัน
มากย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย ยาสำรอกอันเป็นของพระอริยะนี้แล ที่ใช้ได้ผลแน่นอน มิใช่ไร้ผล
ซึ่งสัตว์ทั้งหลายผู้มีชาติเป็นธรรมดาอาศัยแล้วย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา
ย่อมพ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดาย่อมพ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสได้
วมนสูตรที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. สมณสัญญาวรรค ๑๐. นิทธมนิยสูตร
๑๐. นิทธมนิยสูตร
ว่าด้วยธรรมอันบุคคลพึงกำจัด
[๑๑๐] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันบุคคลพึงกำจัด ๑๐ ประการนี้
ธรรมอันบุคคลพึงกำจัด ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมกำจัดมิจฉาทิฏฐิได้ กำจัดบาปอกุศลธรรมเป็น
อันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัยได้ และกุศลธรรมเป็นอันมาก
ย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย
๒. ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมกำจัดมิจฉาสังกัปปะได้ ...
๓. ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมกำจัดมิจฉาวาจาได้ ...
๔. ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมกำจัดมิจฉากัมมันตะได้ ...
๕. ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมกำจัดมิจฉาอาชีวะได้ ...
๖. ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมกำจัดมิจฉาวายามะได้ ...
๗. ผู้มีสัมมาสติ ย่อมกำจัดมิจฉาสติได้ ...
๘. ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมกำจัดมิจฉาสมาธิได้ ...
๙. ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมกำจัดมิจฉาญาณะได้ ...
๑๐. ผู้มีสัมมาวิมุตติ ย่อมกำจัดมิจฉาวิมุตติได้ กำจัดบาปอกุศลธรรมเป็น
อันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัยเสียได้ และกุศลธรรม เป็น
อันมากย่อมถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันบุคคลพึงกำจัด ๑๐ ประการนี้แล
นิทธมนิยสูตรที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. สมณสัญญาวรรค ๑๑. ปฐมอเสขสูตร
๑๑. ปฐมอเสขสูตร
ว่าด้วยพระอเสขะ สูตรที่ ๑
[๑๑๑] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า ‘อเสขะ อเสขะ’ นี้ ภิกษุเป็นพระอเสขะด้วย
เหตุเพียงเท่าไรหนอ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิที่เป็นอเสขะ
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาสังกัปปะที่เป็นอเสขะ
๓. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาวาจาที่เป็นอเสขะ
๔. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมากัมมันตะที่เป็นอเสขะ
๕. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาอาชีวะที่เป็นอเสขะ
๖. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาวายามะที่เป็นอเสขะ
๗. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาสติที่เป็นอเสขะ
๘. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาสมาธิที่เป็นอเสขะ
๙. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาญาณะ๑ที่เป็นอเสขะ
๑๐. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาวิมุตติที่เป็นอเสขะ
ภิกษุ ภิกษุเป็นพระอเสขะ อย่างนี้แล”
ปฐมอเสขสูตรที่ ๑๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สัมมาญาณะ ในสูตรนี้หมายถึงสัมมาทิฏฐินั่นเอง ท่านตรัสไว้เพื่อให้องค์ธรรมครบบริบูรณ์ และธรรม
ทั้งหมดนี้ เป็นธรรมชั้นอรหัตตผล (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๑/๓๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๑. สมณสัญญาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๑๒. ทุติยอเสขสูตร
ว่าด้วยพระอเสขะ สูตรที่ ๒
[๑๑๒] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นอเสขะ๑ ๑๐ ประการนี้
ธรรมที่เป็นอเสขะ ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัมมาทิฏฐิที่เป็นอเสขะ ๒. สัมมาสังกัปปะที่เป็นอเสขะ
๓. สัมมาวาจาที่เป็นอเสขะ ๔. สัมมากัมมันตะที่เป็นอเสขะ
๕. สัมมาอาชีวะที่เป็นอเสขะ ๖. สัมมาวายามะที่เป็นอเสขะ
๗. สัมมาสติที่เป็นอเสขะ ๘. สัมมาสมาธิที่เป็นอเสขะ
๙. สัมมาญาณะที่เป็นอเสขะ ๑๐. สัมมาวิมุตติที่เป็นอเสขะ

ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นของพระอเสขะ ๑๐ ประการนี้แล
ทุติยอเสขสูตรที่ ๑๒ จบ
สมณสัญญาวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สมณสัญญาสูตร ๒. โพชฌังคสูตร
๓. มิจฉัตตสูตร ๔. พีชสูตร
๕. วิชชาสูตร ๖. นิชชรสูตร
๗. โธวนสูตร ๘. ติกิจฉกสูตร
๙. วมนสูตร ๑๐. นิทธมนิยสูตร
๑๑. ปฐมอเสขสูตร ๑๒. ทุติยอเสขสูตร


เชิงอรรถ :
๑ อเสขะ หมายถึงธรรมระดับโลกุตตระของพระอเสขะ คือพระอรหันตขีณาสพ ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาค
ตรัสธรรมนี้สำหรับพระขีณาสพเท่านั้น (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๒/๓๒๐,๓/๑๑๒/๓๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๑. ปฐมอธัมมสูตร
๒. ปัจโจโรหณิวรรค
หมวดว่าด้วยพิธีลอยบาป
๑. ปฐมอธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สูตรที่ ๑
[๑๑๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็น
ธรรมและไม่เป็นประโยชน์ ควรทราบทั้งสิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ ครั้นทราบ
แล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์
สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประโยชน์ อะไรบ้าง คือ

๑. มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด) ๒. มิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด)
๓. มิจฉาวาจา (เจรจาผิด) ๔. มิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด)
๕. มิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด) ๖. มิจฉาวายามะ (พยายามผิด)
๗. มิจฉาสติ (ระลึกผิด) ๘. มิจฉาสมาธิ(ตั้งจิตมั่นผิด)
๙. มิจฉาญาณะ (รู้ผิด) ๑๐. มิจฉาวิมุตติ (หลุดพ้นผิด)

ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประโยชน์
สิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ อะไรบ้าง คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)
๙. สัมมาญาณะ (รู้ชอบ) ๑๐. สัมมาวิมุตติ (หลุดพ้นชอบ)

ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็น
ธรรมและไม่เป็นประโยชน์ ควรทราบทั้งสิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ ครั้น
ทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ปฐมอเสขสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๒. ทุติยอธัมมสูตร
๒. ทุติยอธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สูตรที่ ๒
[๑๑๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม
ควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติ
ตามสิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์
สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็น
ประโยชน์ อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาทิฏฐิเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาป
อกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่
ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่เพราะ
สัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
๒. มิจฉาสังกัปปะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาสังกัปปะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม
บาปอกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาสังกัปปะเป็นปัจจัย นี้
เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญ
เต็มที่เพราะสัมมาสังกัปปะเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
๓. มิจฉาวาจาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาวาจาเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาป
อกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาวาจาเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่
ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่
เพราะสัมมาวาจาเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
๔. มิจฉากัมมันตะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมากัมมันตะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม
บาปอกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉากัมมันตะเป็นปัจจัย นี้
เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญ
เต็มที่เพราะสัมมากัมมันตะเป็นปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
๕. มิจฉาอาชีวะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาอาชีวะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาป
อกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาอาชีวะเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่ง
ที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่
เพราะสัมมาอาชีวะเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๒. ทุติยอธัมมสูตร
๖. มิจฉาวายามะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาวายามะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม
บาปอกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาวายามะเป็นปัจจัย นี้
เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญ
เต็มที่เพราะสัมมาวายามะเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
๗. มิจฉาสติเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาสติเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาปอกุศล-
ธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาสติเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็น
ประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมา-
สติเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
๘. มิจฉาสมาธิเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาสมาธิเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาป
อกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาสมาธิเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่
ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่เพราะ
สัมมาสมาธิเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
๙. มิจฉาญาณะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาญาณะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาป
อกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาญาณะเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่ง
ที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่
เพราะสัมมาญาณะเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
๑๐. มิจฉาวิมุตติเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาวิมุตติเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาป
อกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่
ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่เพราะ
สัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็น
ธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์
ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ทุติยอธัมมสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๓. ตติยอธัมมสูตร
๓. ตติยอธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สูตรที่ ๓
[๑๑๕] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม
ควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติ
ตามสิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตครั้นตรัสพระพุทธพจน์นี้
แล้วจึงเสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร
ลำดับนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหลีกไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นจึงได้ปรึกษา
กันว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทส๑นี้โดยย่อว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบ
ทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้วควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็น
ธรรมและเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจาก
พุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร ใครหนอ จะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้”
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นมีความเห็นร่วมกันว่า “ท่านอานนท์นี้แล พระศาสดา
ทรงสรรเสริญแล้ว และเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็ยกย่อง ท่านสามารถจะจำแนก
เนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดย
พิสดารนี้ให้พิสดารได้ ทางที่ดี พวกเราควรจะเข้าไปหาท่านอานนท์ถึงที่อยู่แล้วเรียน
ถามเนื้อความนี้กับท่าน และจักทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตามที่ท่านตอบแก่พวกเรา”
ครั้นแล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัย
พอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควรได้เรียนว่า
“ท่านอานนท์ พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทสนี้โดยย่อว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้ง
สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็น
ธรรมและเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจาก
พุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร

เชิงอรรถ :
๑ อุทเทส ในที่นี้หมายถึง บทมาติกา-หัวข้อธรรม (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๕/๓๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๓. ตติยอธัมมสูตร
ผู้มีอายุ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหลีกไปไม่นาน พวกกระผมได้ปรึกษากันว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทสนี้โดยย่อว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้ง
สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็น
ธรรมและเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจาก
พุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร ใครหนอจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้
ผู้มีอายุ พวกกระผมได้มีความเห็นร่วมกันว่า ‘ท่านอานนท์นี้แล พระศาสดา
ทรงสรรเสริญแล้ว และเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็ยกย่อง ท่านสามารถจะจำแนก
เนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดย
พิสดารนี้ให้พิสดารได้ ทางที่ดี พวกเราควรจะเข้าไปหาท่านอานนท์ถึงที่อยู่แล้ว
เรียนถามเนื้อความนี้กับท่าน และจักทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตามที่ท่านตอบแก่
พวกเรา’ ขอท่านอานนท์จงจำแนกเถิด”
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อพระศาสดาประทับอยู่เฉพาะ
หน้าผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายละเลยพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสีย สำคัญ
เนื้อความนี้ว่าควรถามข้าพเจ้า เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้
เที่ยวแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นมีอยู่ ก็มองข้ามรากและลำต้นไปเสีย
สำคัญกิ่งและใบว่าเป็นแก่นไม้ที่ตนพึงแสวงหา พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้มี
พระจักษุ๑ มีพระญาณ มีพระธรรม๒ เป็นผู้ประเสริฐ๓ ตรัสบอกได้๔ ทรงให้เป็นไปได้๕

เชิงอรรถ :
๑ มีพระจักษุ หมายถึงมีพระปัญญาจักษุโดยทรงเป็นผู้นำของชาวโลกในการเห็นธรรมด้วยพระสยัมภูญาณ
๒ มีพระธรรม หมายถึงทรงแสดงธรรมให้ปริยัติธรรมเป็นไปได้ หรือทรงให้โพธิปักขิยธรรม (ธรรมอันเป็น
ฝ่ายแห่งการตรัสรู้) ๓๗ ประการ ได้แก่ (๑) สติปัฏฐาน ๔ (๒) สัมมัปปธาน ๔ (๓) อิทธิบาท ๔ (๔) อินทรีย์
๕ (๕) พละ ๕ (๖) โพชฌงค์ ๗ (๗) มรรคมีองค์ ๘ (องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๑๓๓-๑๑๖/๔๓๘)
๓ เป็นผู้ประเสริฐ หมายถึงทรงบรรลุพระสยัมภูญาณแล้วแสดงอริยมรรคแก่ชาวโลก (องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๑๓๓-
๑๑๖/๔๓๙)
๔ ตรัสบอกได้ ในที่นี้หมายถึงตรัสบอกอริยสัจ ๔ ได้ (องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๑๑๓-๑๑๖/๔๓๙)
๕ ทรงให้เป็นไปได้ หมายถึงตรัสบอกให้รู้แจ้งอริยสัจ ๔ (องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๑๑๓-๑๑๖/๔๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๓. ตติยอธัมมสูตร
ทรงแสดงประโยชน์๑ ประทานอมตธรรม๒ เป็นเจ้าของธรรม๓ เป็นพระตถาคต ทรงรู้
ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ก็เวลานี้แล เป็นเวลาสมควรที่ท่าน
ทั้งหลายพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามเนื้อความนี้ พึงทรงจำเนื้อความ
นั้นไว้ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตอบแก่ท่านทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นเรียนว่า “ท่านอานนท์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงเป็นผู้มี
พระจักษุ มีพระญาณ มีพระธรรม เป็นผู้ประเสริฐ ตรัสบอกได้ ทรงให้เป็นไปได้ ทรง
แสดงประโยชน์ ประทานอมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต ทรงรู้ธรรมที่
ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ก็เวลานี้แล เป็นเวลาสมควรที่กระผมทั้งหลายพึง
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามเนื้อความนี้ และทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตามที่
พระผู้มีพระภาคทรงตอบแก่พวกกระผมอย่างแน่นอน ท่านอานนท์เอง พระศาสดา
ทรงสรรเสริญ และเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็ยกย่อง ย่อมสามารถจะจำแนก
เนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดย
พิสดารนี้ให้พิสดารได้ ถ้าท่านอานนท์ไม่มีความหนักใจแล้ว ขอจงจำแนกเถิด”
พระอานนท์กล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ขอท่านทั้งหลายจงฟัง จง
ใส่ใจให้ดี ข้าพเจ้าจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระอานนท์จึงได้กล่าว
เรื่องนี้ว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทสโดยย่อว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้ง
สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็น
ธรรมและเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจาก
พุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร

เชิงอรรถ :
๑ ทรงแสดงประโยชน์ หมายถึงทรงให้สรรพสัตว์พ้นจากความทุกข์ ความบีบคั้นโดยให้บรรลุพระนิพพาน
อันเป็นประโยชน์ยอดเยี่ยม (องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๑๑๓-๑๑๖/๔๓๙)
๒ ประทานอมตธรรม หมายถึงทรงแสดงข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุ เพื่อรู้แจ้งอมตธรรมแก่สรรพสัตว์ (องฺ.ทสก.ฏีกา
๓/๑๑๓-๑๑๖/๔๓๙)
๓ เป็นเจ้าของธรรม หมายถึงเป็นเจ้าของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๑๑๓-๑๑๖/๔๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๓. ตติยอธัมมสูตร
สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็น
ประโยชน์ อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาทิฏฐิเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาป
อกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่
ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่เพราะ
สัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
๒. มิจฉาสังกัปปะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาสังกัปปะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...
๓. มิจฉาวาจาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาวาจาเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...
๔. มิจฉากัมมันตะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมากัมมันตะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...
๕. มิจฉาอาชีวะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาอาชีวะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...
๖. มิจฉาวายามะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาวายามะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...
๗. มิจฉาสติเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาสติเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...
๘. มิจฉาสมาธิเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาสมาธิเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...
๙. มิจฉาญาณะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาญาณะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...๑
๑๐. มิจฉาวิมุตติเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาวิมุตติเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาป
อกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่
ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่เพราะ
สัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทสโดยย่อว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย
บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็น
ประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรมและ
เป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะเข้าไป
ยังพระวิหาร ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมรู้เนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดยพิสดารนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้ ก็ท่านทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในข้อ ๑๑๔ (ทุติยอธัมมสูตร)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๓. ตติยอธัมมสูตร
เมื่อหวังอยู่ พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามเนื้อความนี้เถิด ขอท่าน
ทั้งหลายพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตอบแก่ท่านทั้งหลายเถิด”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของท่าน
พระอานนท์แล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสไว้โดยย่อว่า ‘ภิกษุ
ทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้งสิ่งที่
ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม
และเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์
เข้าไปยังพระวิหาร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหลีกไปไม่นาน ข้าพระองค์
ทั้งหลายได้ปรึกษากันว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสไว้โดยย่อ
ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบ
ทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่
เป็นธรรมและเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจาก
พุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร ใครหนอจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านั้นได้มีความเห็นร่วมกันว่า ‘ท่าน
อานนท์นี้แล พระศาสดาทรงสรรเสริญแล้ว และเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็ยกย่อง
ท่านสามารถจะจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่
ทรงจำแนกไว้โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้ ทางที่ดี พวกเราควรจะเข้าไปหาท่าน
อานนท์ถึงที่อยู่แล้วเรียนถามเนื้อความนี้กับท่าน และจักทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตาม
ที่ท่านตอบแก่พวกเรา’ ครั้นแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงเข้าไปหาท่านอานนท์ถึง
ที่อยู่แล้วเรียนถามเนื้อความนี้ ท่านอานนท์ได้จำแนกเนื้อความอย่างชัดเจนแก่ข้า
พระองค์ทั้งหลายด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๔. อชิตสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ดีละ ดีละ อานนท์เป็นบัณฑิต มี
ปัญญามาก แม้หากเธอทั้งหลายพึงเข้ามาหาเราแล้วถามเนื้อความนี้ ถึงเราเองก็พึง
ตอบเนื้อความนี้อย่างที่อานนท์ได้ตอบแล้วนั่นเอง นี้แลเป็นเนื้อความแห่งอุทเทสนั้น
และเธอทั้งหลายพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้นเถิด”
ตติยอธัมมสูตรที่ ๓ จบ

๔. อชิตสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อว่าอชิตะ
[๑๑๖] ครั้งนั้น อชิตปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้สนทนาปราศรัยพอ
เป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า
“ท่านพระโคดม เพื่อนพรหมจารีของข้าพเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นบัณฑิต
เพราะมีจิตตุปบาท ๕๐๐ ดวง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้อัญเดียรถีย์ทั้งหลายผู้ถูกข่มขี่แล้ว
รู้ตัวว่าถูกข่มขี่”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังทรงจำเหตุแห่งความเป็นบัณฑิตได้หรือไม่”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เวลานี้เป็นเวลาสมควร
ข้าแต่พระสุคต เวลานี้เป็นเวลาสมควรที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดง ภิกษุทั้งหลาย
ได้ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจ
ให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้
ตรัสเรื่องนี้ว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๔. อชิตสูตร
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมข่มขี่บีบคั้นวาทะ๑ที่ไม่เป็นธรรมด้วย
วาทะที่ไม่เป็นธรรม และย่อมชักนำบริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมให้ยินดีด้วยวาทะที่
ไม่เป็นธรรมนั้น เพราะวาทะที่ไม่เป็นธรรมนั้น บริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมนั้น
จึงสรรเสริญขึ้นพร้อมกันว่า ‘ท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ท่านผู้นี้เป็น
บัณฑิตหนอ’
บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมข่มขี่บีบคั้นวาทะที่เป็นธรรมด้วยวาทะที่ไม่เป็นธรรม
และย่อมชักนำบริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมให้ยินดีด้วยวาทะที่ไม่เป็นธรรมนั้น เพราะ
วาทะที่ไม่เป็นธรรมนั้น บริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมนั้นจึงสรรเสริญขึ้นพร้อมกันว่า
‘ท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ’
บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมข่มขี่บีบคั้นวาทะทั้งที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรม
ด้วยวาทะที่ไม่เป็นธรรม และย่อมชักนำบริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมให้ยินดีด้วย
วาทะที่ไม่เป็นธรรมนั้น เพราะวาทะที่ไม่เป็นธรรมนั้น บริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรม
นั้นจึงสรรเสริญขึ้นพร้อมกันว่า ‘ท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ท่านผู้นี้เป็น
บัณฑิตหนอ’
บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมข่มขี่บีบคั้นวาทะที่ไม่เป็นธรรม ด้วยวาทะที่เป็นธรรม
และย่อมชักนำบริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมให้ยินดีด้วยวาทะที่เป็นธรรมนั้น เพราะ
วาทะที่เป็นธรรมนั้น บริษัทผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมนั้นจึงสรรเสริญขึ้นพร้อมกันว่า
‘ท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ’
บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมข่มขี่บีบคั้นวาทะที่เป็นธรรมด้วยวาทะที่เป็นธรรม
และย่อมชักนำบริษัทผู้ประกอบด้วยธรรมให้ยินดีด้วยวาทะที่เป็นธรรมนั้น เพราะ
วาทะที่เป็นธรรมนั้น บริษัทผู้ประกอบด้วยธรรมนั้นจึงสรรเสริญขึ้นพร้อมกันว่า
‘ท่านผู้เจริญ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ ท่านผู้นี้เป็นบัณฑิตหนอ’

เชิงอรรถ :
๑ วาทะ ในที่นี้หมายถึงลัทธิ(ความเชื่อถือ)หรือแนวคิดความเห็น (องฺ.ติก.อ. ๒/๖๖/๒๐๒) เช่น อุจเฉทวาทะ
คือลัทธิที่ถือว่าตายแล้วไม่เกิดอีก เป็นแนวคิดเชิงวัตถุนิยม ลัทธินี้ทำให้มนุษย์หมกมุ่นในกามสุข (ที.สี.อ.
๘๔/๑๑๐) หรือ อมราวิกเขปวาทะ คือลัทธิที่มีความเห็นหลบเลี่ยงไม่แน่นอนว่าใช่หรือไม่ใช่ เป็นความเห็น
ที่ลื่นไหลจับได้ยากเหมือนปลาไหล (ที.สี.อ. ๖๑/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๔. อชิตสูตร
บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่
เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม
และเป็นประโยชน์
สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็น
ประโยชน์ อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาทิฏฐิเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาป
อกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่
ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่เพราะ
สัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
๒. มิจฉาสังกัปปะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาสังกัปปะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...
๓. มิจฉาวาจาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาวาจาเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...
๔. มิจฉากัมมันตะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมากัมมันตะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...
๕. มิจฉาอาชีวะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาอาชีวะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...
๖. มิจฉาวายามะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาอาชีวะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...
๗. มิจฉาสติเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาสติเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...
๘. สัมมาสมาธิเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาสมาธิเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...
๙. มิจฉาญาณะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาญาณะเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ...
๑๐. มิจฉาวิมุตติเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาวิมุตติเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาป
อกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่
ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่เพราะ
สัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็น
ธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์
ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
อชิตสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๕. สคารวสูตร
๕. สคารวสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อว่าสคารวะ
[๑๑๗] ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อว่าสคารวะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ท่านพระโคดม อะไรหนอเป็นฝั่งนี้๑ อะไรเป็นฝั่งโน้น๒”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พราหมณ์

๑. มิจฉาทิฏฐิเป็นฝั่งนี้ สัมมาทิฏฐิเป็นฝั่งโน้น
๒. มิจฉาสังกัปปะเป็นฝั่งนี้ สัมมาสังกัปปะเป็นฝั่งโน้น
๓. มิจฉาวาจาเป็นฝั่งนี้ สัมมาวาจาเป็นฝั่งโน้น
๔. มิจฉากัมมันตะเป็นฝั่งนี้ สัมมากัมมันตะเป็นฝั่งโน้น
๕. มิจฉาอาชีวะเป็นฝั่งนี้ สัมมาอาชีวะเป็นฝั่งโน้น
๖. มิจฉาวายามะเป็นฝั่งนี้ สัมมาวายามะเป็นฝั่งโน้น
๗. มิจฉาสติเป็นฝั่งนี้ สัมมาสติเป็นฝั่งโน้น
๘. มิจฉาสมาธิเป็นฝั่งนี้ สัมมาสมาธิเป็นฝั่งโน้น
๙. มิจฉาญาณะเป็นฝั่งนี้ สัมมาญาณะเป็นฝั่งโน้น
๑๐. มิจฉาวิมุตติเป็นฝั่งนี้ สัมมาวิมุตติเป็นฝั่งโน้น

พราหมณ์ นี้แลเป็นฝั่งนี้ นี้แลเป็นฝั่งโน้น
ในหมู่มนุษย์ เหล่าชนผู้ไปถึงฝั่งโน้น๓มีจำนวนน้อย
ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้เลาะไปตามฝั่งนี้๔ทั้งนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ฝั่งนี้ ในที่นี้หมายถึงโลกิยธรรม (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕)
๒ ฝั่งโน้น ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรธรรม (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕)
๓ ฝั่งโน้น ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕)
๔ ฝั่งนี้ ในที่นี้หมายถึงสักกายทิฏฐิ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๕. สคารวสูตร
ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามธรรม
ในธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ๑
ชนเหล่านั้นจักข้ามพ้นวัฏฏะ๒
อันเป็นบ่วงมารที่ข้ามได้แสนยาก จักถึงฝั่งโน้น
บัณฑิตละธรรมดำ แล้วพึงเจริญธรรมขาว๓
ออกจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ๔
ละกามทั้งหลายแล้วเป็นผู้หมดความกังวล
พึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวก๕ที่ยินดีได้ยากยิ่ง
บัณฑิตพึงชำระตนให้ผ่องแผ้ว
จากเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งหลาย
บัณฑิตเหล่าใดอบรมจิตโดยชอบ
ในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย
ไม่ถือมั่น ยินดีในนิพพานเป็นที่สละความถือมั่น
บัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้ว
มีความรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก๖
สคารวสูตรที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน
๑ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕)
๒ วัฏฏะ ในที่นี้หมายถึงวัฏฏะ ๓ คือ (๑) กิเลสวัฏฏ์ วงจรกิเลสประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน
(๒) กัมมวัฏฏ์ วงจรกรรมประกอบด้วยสังขารและกรรมภพ (๓) วิปากวัฏฏ์ วงจรวิบาก ประกอบด้วย
วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ซึ่งแสดงออกในรูปอุปปัตติภพ ชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น
(องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕)
๓ ธรรมดำ หมายถึงอกุศลธรรม ได้แก่ กายทุจริต เป็นต้น ธรรมขาว หมายถึงกุศลธรรม ได้แก่ กายสุจริต
เป็นต้น (สํ.ม.อ. ๓/๓๑-๓๔/๑๙๖, ขุ.ธ.อ. ๔/๔๕-๔๗)
๔ วิวัฏฏะ หมายถึงนิพพาน (สํ.ม.อ. ๓/๓๑-๓๔/๑๙๖, องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕)
๕ วิเวก หมายถึงกายวิเวก(ความสงัดกาย) จิตตวิเวก(ความสงัดจิต) และอุปธิวิเวก(ความสงัดจากกิเลส)
(องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๑๗-๑๑๘/๓๗๕)
๖ ดู สํ.ม. ๑๙/๓๔/๑๙, ขุ.ธ. ๒๕/๘๕-๘๙/๓๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๖. โอริมตีรสูตร
๖. โอริมตีรสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นฝั่งนี้และธรรมที่เป็นฝั่งโน้น๑
[๑๑๘] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงฝั่งนี้และฝั่งโน้นแก่เธอทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ฝั่งนี้และฝั่งโน้น อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิเป็นฝั่งนี้ สัมมาทิฏฐิเป็นฝั่งโน้น ฯลฯ๒
๑๐. มิจฉาวิมุตติเป็นฝั่งนี้ สัมมาวิมุตติเป็นฝั่งโน้น
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นฝั่งนี้ นี้แลเป็นฝั่งโน้น
ในหมู่มนุษย์ เหล่าชนผู้ไปถึงฝั่งโน้นมีจำนวนน้อย
ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้เลาะไปตามฝั่งนี้ทั้งนั้น
ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามธรรม
ในธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ
ชนเหล่านั้นจักข้ามพ้นวัฏฏะ
อันเป็นบ่วงมารที่ข้ามได้แสนยาก จักถึงฝั่งโน้น
บัณฑิตละธรรมดำแล้วพึงเจริญธรรมขาว
ออกจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ
ละกามทั้งหลายแล้วเป็นผู้หมดความกังวล
พึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวกที่ยินดีได้ยากยิ่ง
บัณฑิตพึงชำระตนให้ผ่องแผ้ว
จากเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑,๒ (สคารวสูตร) หน้า ๒๖๙ ในเล่มนี้
๒ ดูความเต็มในข้อ ๑๑๗ (สคารวสูตร)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๗. ปฐมปัจโจโรหณีสูตร
บัณฑิตเหล่าใดอบรมจิตโดยชอบ
ในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย
ไม่ถือมั่น ยินดีในนิพพานเป็นที่สละความถือมั่น
บัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้ว
มีความรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก
โอริมตีรสูตรที่ ๖ จบ

๗. ปฐมปัจโจโรหณีสูตร
ว่าด้วยพิธีลอยบาป สูตรที่ ๑
[๑๑๙] สมัยนั้น พราหมณ์ชื่อว่าชาณุสโสณิสรงน้ำดำหัวในวันอุโบสถ นุ่งห่ม
ผ้าไหมคู่ใหม่ ยืนถือกำหญ้าคาสดอยู่ ณ ที่สมควร ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นแล้วได้ตรัสถามชาณุสโสณิพราหมณ์ดังนี้ว่า
“พราหมณ์ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงสรงน้ำดำหัวในวันอุโบสถ นุ่งห่มผ้าไหม
คู่ใหม่ ยืนถือกำหญ้าคาสดอยู่ ณ ที่สมควร วันนี้เป็นวันอะไรของตระกูลพราหมณ์”
ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม วันนี้เป็นวันลอยบาปของ
ตระกูลพราหมณ์”
“พราหมณ์ พิธีลอยบาปของพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นอย่างไร”
“ท่านพระโคดม ในวันอุโบสถ พราหมณ์ทั้งหลายในโลกนี้ พากันสรงน้ำดำหัว
นุ่งห่มผ้าไหมคู่ใหม่ ทาแผ่นดินด้วยโคมัยสด ลาดด้วยหญ้าคาที่เขียวสดแล้วนอนใน
ระหว่างกองทรายและเรือนไฟ ในราตรีนั้น พราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแล้วประคอง
อัญชลีนอบน้อมไฟ ๓ ครั้งด้วยกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าทั้งหลายขอลอยบาปต่อท่านผู้
เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอลอยบาปต่อท่านผู้เจริญ’ และบำเรอไฟให้อิ่มหนำด้วย
เนยใส น้ำมัน และเนยข้นจำนวนมาก พอล่วงราตรีนั้นไปจึงเลี้ยงพราหมณ์ทั้งหลาย
ให้อิ่มหนำด้วยของเคี้ยวของบริโภคอันประณีต ท่านพระโคดม พิธีลอยบาปของ
พราหมณ์ทั้งหลาย เป็นอย่างนี้แล”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๗. ปฐมปัจโจโรหณีสูตร
“พราหมณ์ พิธีลอยบาปของพราหมณ์ทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง พิธีลอยบาปใน
อริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง”
“ท่านพระโคดม พิธีลอยบาปในอริยวินัยเป็นอย่างไร ขอประทานวโรกาส
ขอท่านพระโคดมโปรดแสดงธรรมที่เป็นพิธีลอยบาปในอริยวินัยแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”
“พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ชาณุสโสณิพราหมณ์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า
พราหมณ์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาทิฏฐิมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาทิฏฐิ ลอยมิจฉาทิฏฐิ
๒. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาสังกัปปะมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาสังกัปปะ ลอยมิจฉาสังกัปปะ
๓. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาวาจามีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาวาจา ลอยมิจฉาวาจา
๔. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉากัมมันตะมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉากัมมันตะ ลอยมิจฉากัมมันตะ
๕. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาอาชีวะมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาอาชีวะ ลอยมิจฉาอาชีวะ
๖. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาวายามะมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาวายามะ ลอยมิจฉาวายามะ
๗. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาสติมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาสติ ลอยมิจฉาสติ
๘. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาสมาธิมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาสมาธิ ลอยมิจฉาสมาธิ
๙. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาญาณะมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาญาณะ ลอยมิจฉาญาณะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๘. ทุติยปัจโจโรหณีสูตร
๑๐. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาวิมุตติมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาวิมุตติ ลอยมิจฉาวิมุตติ
พราหมณ์ พิธีลอยบาปในอริยวินัย เป็นอย่างนี้แล
ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม พิธีลอยบาปของพราหมณ์
ทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง พิธีลอยบาปในอริยวินัยก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง พิธีลอยบาป
ของพราหมณ์ทั้งหลายย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งพิธีลอยบาปในอริยวินัยนี้ ท่าน
พระโคดม ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำ
ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ปฐมปัจโจโรหณีสูตรที่ ๗ จบ

๘. ทุติยปัจโจโรหณีสูตร
ว่าด้วยพิธีลอยบาป สูตรที่ ๒
[๑๒๐] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงพิธีลอยบาปอันเป็นของพระอริยะแก่เธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง
พิธีลอยบาปอันเป็นของพระอริยะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาทิฏฐิมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาทิฏฐิ ลอยมิจฉาทิฏฐิ
๒. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาสังกัปปะมีผลชั่ว ...
๓. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาวาจามีผลชั่ว ...
๔. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉากัมมันตะมีผลชั่ว ...
๕. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาอาชีวะมีผลชั่ว ...
๖. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาวายามะมีผลชั่ว ...
๗. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาสติมีผลชั่ว ...
๘. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาสมาธิมีผลชั่ว ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค ๙. ปุพพังคมสูตร
๙. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาญาณะมีผลชั่ว ...๑
๑๐. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาวิมุตติมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาวิมุตติ ลอยมิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า พิธีลอยบาปอันเป็นของพระอริยะ
ทุติยปัจโจโรหณีสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปุพพังคมสูตร
ว่าด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรม
[๑๒๑] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็น
บุพนิมิต ฉันใด สัมมาทิฏฐิก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย
ฉันนั้น
ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมมีสัมมาสังกัปปะ
ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมมีสัมมาวาจา
ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมมีสัมมากัมมันตะ
ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมมีสัมมาอาชีวะ
ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมมีสัมมาวายามะ
ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมมีสัมมาสติ
ผู้มีสัมมาสติ ย่อมมีสัมมาสมาธิ
ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมมีสัมมาญาณะ
ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมมีสัมมาวิมุตติ๒
ปุพพังคมสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในข้อ ๑๑๙ (ปฐมปัจโจโรหณีสูตร)
๒ เป็น ๑๐ ประการ โดยนับจำนวนองค์ธรรมตามข้อ ๑๒๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๒. ปัจโจโรหณิวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๑๐. อาสวักขยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ
[๑๒๒] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ
๙. สัมมาญาณะ ๑๐. สัมมาวิมุตติ

ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย
อาสวักขยสูตรที่ ๑๐ จบ
ปัจโจโรหณิวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมอธัมมสูตร ๒. ทุติยอธัมมสูตร
๓. ตติยอธัมมสูตร ๔. อชิตสูตร
๕. สคารวสูตร ๖. โอริมตีรสูตร
๗. ปฐมปัจโจโรหณิสูตร ๘. ทุติยปัจโจโรหณิสูตร
๙. ปุพพังคมสูตร ๑๐. อาสวักขยสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๓. ปริสุทธวรรค ๑. ปฐมสูตร
๓. ปริสุทธวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมที่บริสุทธิ์
๑. ปฐมสูตร
สูตรที่ ๑ ว่าด้วยธรรมที่บริสุทธิ์
[๑๒๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ เป็น
ธรรมที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เว้นวินัยของพระสุคต๑แล้วย่อมไม่มี
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)
๙. สัมมาญาณะ (รู้ชอบ) ๑๐. สัมมาวิมุตติ (หลุดพ้นชอบ)

ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นธรรมที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เว้นวินัย
ของพระสุคตแล้วย่อมไม่มี
ปฐมสูตรที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ วินัยของพระสุคต หมายถึงธรรมที่พระสุคตแสดง ซึ่งมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน คำว่า
สุคต เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า มีความหมายหลายนัยดังนี้คือ (๑) เสด็จไปงาม คือบริสุทธิ์ ได้แก่
ดำเนินไปด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ (๒) เสด็จไปยังสถานที่ดี คืออมตนิพพาน (๓) เสด็จไปโดยธรรม คือไม่กลับ
มาหากิเลสที่ทรงละได้แล้ว (๔) ทรงตรัสไว้โดยธรรม คือตรัสพระวาจาที่ควรในฐานะที่ควรเท่านั้น (วิ.อ.
๑/๑/๑๐๘ และดู องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๖๐/๑๖๗-๑๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๓. ปริสุทธวรรค ๓. ตติยสูตร
๒. ทุติยสูตร
สูตรที่ ๒ ว่าด้วยธรรมที่ให้เกิดธรรม
[๑๒๔] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ ที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น เว้น
วินัยของพระสุคตแล้วย่อมไม่เกิดขึ้น
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ๑ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล ที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น เว้นวินัยของ
พระสุคตแล้วย่อมไม่เกิดขึ้น
ทุติยสูตรที่ ๒ จบ

๓. ตติยสูตร
สูตรที่ ๓ ว่าด้วยธรรมมีผลมาก
[๑๒๕] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ เป็นธรรมมีผลมาก มีอานิสงส์
มาก เว้นวินัยของพระสุคตแล้วย่อมไม่มี
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นธรรมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
เว้นวินัยของพระสุคตแล้วย่อมไม่มี
ตติยสูตรที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ “ฯลฯ” ที่ปรากฏในข้อ ๑๒๔ ถึงข้อ ๑๓๑ นี้ ดูความเต็มในข้อ ๑๒๓ (ปฐมสูตร)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๓. ปริสุทธวรรค ๕. ปัญจมสูตร
๔. จตุตถสูตร
สูตรที่ ๔ ว่าด้วยธรรมที่กำจัดราคะ โทสะและโมหะ
[๑๒๖] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ เป็นธรรมมีการกำจัดราคะ
โทสะ และโมหะเป็นที่สุด เว้นวินัยของพระสุคตแล้วย่อมไม่มี
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ และ
โมหะเป็นที่สุด เว้นวินัยของพระสุคตแล้วย่อมไม่มี
จตุตถสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปัญจมสูตร
สูตรที่ ๕ ว่าด้วยธรรมเพื่อความเบื่อหน่าย
[๑๒๗] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย
อย่างที่สุด เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
เว้นวินัยของพระสุคตแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายอย่าง
ที่สุด เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
เว้นวินัยของพระสุคตแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้
ปัญจมสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๓. ปริสุทธวรรค ๗. สัตตมสูตร
๖. ฉัฏฐสูตร
สูตรที่ ๖ ว่าด้วยธรรมที่ให้เกิดธรรม
[๑๒๘] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ที่
ยังไม่เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น เว้นวินัยของพระสุคตแล้วย่อมไม่เกิดขึ้น
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ที่ยังไม่
เกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้น เว้นวินัยของพระสุคตแล้วย่อมไม่เกิดขึ้น
ฉัฏฐสูตรที่ ๖ จบ

๗. สัตตมสูตร
สูตรที่ ๗ ว่าด้วยธรรมมีผลมาก
[๑๒๙] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก เว้นวินัยของพระสุคตแล้วย่อมไม่มี
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผล
มาก มีอานิสงส์มาก เว้นวินัยของพระสุคตแล้วย่อมไม่มี
สัตตมสูตรที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๓. ปริสุทธวรรค ๙. นวมสูตร
๘. อัฏฐมสูตร
สูตรที่ ๘ ว่าด้วยธรรมที่กำจัดราคะ โทสะ และโมหะ
[๑๓๐] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว เป็น
ธรรมมีการกำจัดราคะ โทสะ และโมหะเป็นที่สุด เว้นวินัยของพระสุคตแล้วย่อมไม่มี
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว เป็นธรรม
มีการกำจัดราคะ โทสะ และโมหะเป็นที่สุด เว้นวินัยของพระสุคตแล้วย่อมไม่มี
อัฏฐมสูตรที่ ๘ จบ

๙. นวมสูตร
สูตรที่ ๙ ว่าด้วยธรรมเพื่อความเบื่อหน่าย
[๑๓๑] ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อม
เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายอย่างที่สุด เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อ
รู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เว้นวินัยของพระสุคตแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมเป็น
ไปเพื่อความเบื่อหน่ายอย่างที่สุด เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง
เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เว้นวินัยของพระสุคตแล้วย่อมเป็นไปไม่ได้
นวมสูตรที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๓. ปริสุทธวรรค ๑๑. เอกาทสมสูตร
๑๐. ทสมสูตร
สูตรที่ ๑๐ ว่าด้วยมิจฉัตตธรรม
[๑๓๒] ภิกษุทั้งหลาย มิจฉัตตธรรม (ธรรมที่ผิด) ๑๐ ประการนี้
มิจฉัตตธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. มิจฉาทิฏฐิ ๒. มิจฉาสังกัปปะ
๓. มิจฉาวาจา ๔. มิจฉากัมมันตะ
๕. มิจฉาอาชีวะ ๖. มิจฉาวายามะ
๗. มิจฉาสติ ๘. มิจฉาสมาธิ
๙. มิจฉาญาณะ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ

ภิกษุทั้งหลาย มิจฉัตตธรรม ๑๐ ประการนี้แล
ทสมสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. เอกาทสมสูตร
สูตรที่ ๑๑ ว่าด้วยสัมมัตตธรรม
[๑๓๓] ภิกษุทั้งหลาย สัมมัตตธรรม (ธรรมที่ถูก) ๑๐ ประการนี้
สัมมัตตธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๓. ปริสุทธวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ
๙. สัมมาญาณะ ๑๐. สัมมาวิมุตติ

ภิกษุทั้งหลาย สัมมัตตธรรม ๑๐ ประการนี้แล
เอกาทสมสูตรที่ ๑๑ จบ
ปริสุทธวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมสูตร ๒. ทุติยสูตร
๓. ตติยสูตร ๔. จตุตถสูตร
๕. ปัญจมสูตร ๖. ฉัฏฐสูตร
๗. สัตตมสูตร ๘. อัฏฐมสูตร
๙. นวมสูตร ๑๐. ทสมสูตร
๑๑. เอกาทสมสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. สาธุวรรค ๑. สาธุสูตร
๔. สาธุวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมที่ดี และธรรมที่ไม่ดี
๑. สาธุสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ดี และธรรมที่ไม่ดี
[๑๓๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ดีและธรรม
ที่ไม่ดีแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูล
รับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่ไม่ดี อะไรบ้าง คือ

๑. มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด) ๒. มิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด)
๓. มิจฉาวาจา (เจรจาผิด) ๔. มิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด)
๕. มิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด) ๖. มิจฉาวายามะ (พยายามผิด)
๗. มิจฉาสติ (ระลึกผิด) ๘. มิจฉาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นผิด)
๙. มิจฉาญาณะ (รู้ผิด) ๑๐. มิจฉาวิมุตติ (หลุดพ้นผิด)

ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ดี
ธรรมที่ดี อะไรบ้าง คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)
๙. สัมมาญาณะ (รู้ชอบ) ๑๐. สัมมาวิมุตติ (หลุดพ้นชอบ)

ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ดี
สาธุสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. สาธุวรรค ๓. อกุสลสูตร
๒. อริยธัมมสูตร
ว่าด้วยอริยธรรม และอนริยธรรม
[๑๓๕] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอริยธรรมและอนริยธรรมแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
อนริยธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ๑ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อนริยธรรม
อริยธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อริยธรรม
อริยธัมมสูตรที่ ๒ จบ

๓. อกุสลสูตร
ว่าด้วยอกุศลธรรม และกุศลธรรม
[๑๓๖] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอกุศลธรรมและกุศลธรรมแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
อกุศลธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อกุศลธรรม

เชิงอรรถ :
๑ “ฯลฯ” ที่ปรากฏในข้อ ๑๓๕ ถึงข้อ ๑๕๔ นี้ ดูความเต็มในข้อ ๑๓๔ (สาธุสูตร)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. สาธุวรรค ๕. ธัมมสูตร
กุศลธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า กุศลธรรม
อกุสลสูตรที่ ๓ จบ

๔. อัตถสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นประโยชน์ และที่ไม่เป็นประโยชน์
[๑๓๗] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่เป็นประโยชน์และธรรมที่ไม่เป็น
ประโยชน์แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์
ธรรมที่เป็นประโยชน์ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่เป็นประโยชน์
อัตถสูตรที่ ๔ จบ

๕. ธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรม และอธรรม
[๑๓๘] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมและอธรรมแก่เธอทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. สาธุวรรค ๗. สาวัชชสูตร
อธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อธรรม
ธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรม
ธัมมสูตรที่ ๕ จบ

๖. สาสวสูตร
ว่าด้วยธรรมที่มีอาสวะ และที่ไม่มีอาสวะ
[๑๓๙] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่มีอาสวะและธรรมที่ไม่มีอาสวะแก่
เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่มีอาสวะ อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่มีอาสวะ
ธรรมที่ไม่มีอาสวะ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่มีอาสวะ
สาสวสูตรที่ ๖ จบ

๗. สาวัชชสูตร
ว่าด้วยธรรมที่มีโทษ และที่ไม่มีโทษ
[๑๔๐] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่มีโทษและธรรมที่ไม่มีโทษแก่เธอทั้ง
หลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระ
ดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. สาธุวรรค ๙. อาจยคามิสูตร
ธรรมที่มีโทษ อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่มีโทษ
ธรรมที่ไม่มีโทษ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่มีโทษ
สาวัชชสูตรที่ ๗ จบ

๘. ตปนียสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุ และไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน
[๑๔๑] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่เป็นเหตุให้เดือดร้อนและธรรมที่ไม่
เป็นเหตุให้เดือดร้อนแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่เป็นเหตุให้เดือดร้อน อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่เป็นเหตุให้เดือดร้อน
ธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน
ตปนียสูตรที่ ๘ จบ

๙. อาจยคามิสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงจุติ ปฏิสนธิ และนิพพาน
[๑๔๒] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงจุติและปฏิสนธิ และ
ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงนิพพานแก่เธอทั้หลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจัก
กล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. สาธุวรรค ๑๑. ทุกขวิปากสูตร
ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงจุติและปฏิสนธิ อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงจุติและปฏิสนธิ
ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน
อาจยคามิสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุกขุทรยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่มีทุกข์ และที่มีสุขเป็นกำไร
[๑๔๓] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่มีทุกข์เป็นกำไร และธรรมที่มีสุข
เป็นกำไรแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่มีทุกข์เป็นกำไร อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่มีทุกข์เป็นกำไร
ธรรมที่มีสุขเป็นกำไร อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่มีสุขเป็นกำไร
ทุกขุทรยสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. ทุกขวิปากสูตร
ว่าด้วยธรรมที่มีทุกข์ และที่มีสุขเป็นวิบาก
[๑๔๔] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่มีทุกข์เป็นวิบาก และธรรมที่มีสุข
เป็นวิบากแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่า
นั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๔. สาธุวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ธรรมที่มีทุกข์เป็นวิบาก อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่มีทุกข์เป็นวิบาก
ธรรมที่มีสุขเป็นวิบาก อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่มีสุขเป็นวิบาก
ทุกขวิปากสูตรที่ ๑๑ จบ
สาธุวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สาธุสูตร ๒. อริยธัมมสูตร
๓. อกุสลสูตร ๔. อัตถสูตร
๕. ธัมมสูตร ๖. สาสวสูตร
๗. สาวัชชสูตร ๘. ตปนียสูตร
๙. อาจยคามิสูตร ๑๐. ทุกขุทรยสูตร
๑๑. ทุกขวิปากสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. อริยมัคควรรค ๒. กัณหมัคคสูตร
๕. อริยมัคควรรค
หมวดว่าด้วยธรรมที่เป็นอริยมรรค
๑. อริยมัคคสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นอริยมรรค และที่ไม่ใช่อริยมรรค
[๑๔๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่เป็น
อริยมรรคและธรรมที่ไม่ใช่อริยมรรคแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่อง
นี้ว่า
ธรรมที่ไม่ใช่อริยมรรค อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด)ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ (หลุดพ้นผิด)
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ใช่อริยมรรค
ธรรมที่เป็นอริยมรรค อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ (หลุดพ้นชอบ)
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่เป็นอริยมรรค
อริยมัคคสูตรที่ ๑ จบ

๒. กัณหมัคคสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นฝ่ายดำ และที่เป็นฝ่ายขาว
[๑๔๖] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่เป็นฝ่ายดำและธรรมที่เป็นฝ่ายขาว
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่เป็นฝ่ายดำ อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่เป็นฝ่ายดำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. อริยมัคควรรค ๔. สัปปุริสธัมมสูตร
ธรรมที่เป็นฝ่ายขาว อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่เป็นฝ่ายขาว
กัณหมัคคสูตรที่ ๒ จบ

๓. สัทธัมมสูตร
ว่าด้วยสัทธรรม และอสัทธรรม
[๑๔๗] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัทธรรมและอสัทธรรมแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
อสัทธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อสัทธรรม
สัทธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัทธรรม
สัทธัมมสูตรที่ ๓ จบ

๔. สัปปุริสธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมของสัตบุรุษ และธรรมของอสัตบุรุษ
[๑๔๘] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษ
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. อริยมัคควรรค ๕. อุปปาเทตัพพสูตร
ธรรมของอสัตบุรุษ อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมของอสัตบุรุษ
ธรรมของสัตบุรุษ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมของสัตบุรุษ
สัปปุริสธัมมสูตรที่ ๔ จบ

๕. อุปปาเทตัพพสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรให้เกิดขึ้น และที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น
[๑๔๙] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรให้เกิดขึ้นและธรรมที่ไม่ควรให้
เกิดขึ้นแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น
ธรรมที่ควรให้เกิดขึ้น อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ควรให้เกิดขึ้น
อุปปาเทตัพพสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. อริยมัคควรรค ๗. ภาเวตัพพสูตร
๖. อาเสวิตัพพสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรเสพ๑และที่ไม่ควรเสพ
[๑๕๐] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรเสพและธรรมที่ไม่ควรเสพแก่
เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่ไม่ควรเสพ อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ควรเสพ
ธรรมที่ควรเสพ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ควรเสพ
อาเสวิตัพพสูตรที่ ๖ จบ

๗. ภาเวตัพพสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรเจริญ และที่ไม่ควรเจริญ
[๑๕๑] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรเจริญและธรรมที่ไม่ควรเจริญ
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่ไม่ควรเจริญ อะไรบ้าง คือ

เชิงอรรถ :
๑ เสพ ในที่นี้หมายถึงการนึกหน่วง รู้ เห็น พิจารณา อธิษฐานจิต น้อมใจเชื่อ ประคองความเพียร ตั้งสติไว้
ตั้งจิตไว้ กำหนดรู้ด้วยปัญญา รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ละธรรมที่ควรละ เจริญ
ธรรมที่ควรเจริญ ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง (องฺ.เอกก.อ. ๑/๕๓/๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. อริยมัคควรรค ๘. พหุลีกาตัพพสูตร
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ควรเจริญ
ธรรมที่ควรเจริญ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ควรเจริญ
ภาเวตัพพสูตรที่ ๗ จบ

๘. พหุลีกาตัพพสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรทำให้มาก และที่ไม่ควรทำให้มาก
[๑๕๒] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรทำให้มากและธรรมที่ไม่ควร
ทำให้มากแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่ไม่ควรทำให้มาก อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ควรทำให้มาก
ธรรมที่ควรทำให้มาก อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ควรทำให้มาก
พหุลีกาตัพพสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. อริยมัคควรรค ๑๐. สัจฉิกาตัพพสูตร
๙. อนุสสริตัพพสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรระลึก และที่ไม่ควรระลึก
[๑๕๓] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรระลึกและธรรมที่ไม่ควรระลึก
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่ไม่ควรระลึก อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ควรระลึก
ธรรมที่ควรระลึก อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ควรระลึก
อนุสสริตัพพสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. สัจฉิกาตัพพสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรทำให้แจ้ง และที่ไม่ควรทำให้แจ้ง
[๑๕๔] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรทำให้แจ้งและธรรมที่ไม่ควร
ทำให้แจ้งแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่า
นั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่ไม่ควรทำให้แจ้ง อะไรบ้าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ควรทำให้แจ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๓. ตติยปัณณาสก์] ๕. อริยมัคควรรค ๑๐. สัจฉิกาตัพพสูตร
ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๑๐. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง
สัจฉิกาตัพพสูตรที่ ๑๐ จบ
อริยมัคควรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อริยมัคคสูตร ๒. กัณหมัคคสูตร
๓. สัทธัมมสูตร ๔. สัปปุริสธัมมสูตร
๕. อุปปาเทตัพพสูตร ๖. อาเสวิตัพพสูตร
๗. ภาเวตัพพสูตร ๘. พหุลีกาตัพพสูตร
๙. อนุสสริตัพพสูตร ๑๐. สัจฉิกาตัพพสูตร

ตติยปัณณาสก์ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. ปุคคลวรรค ๑. เสวิตัพพสูตร
๔. จตุตถปัณณาสก์
๑.ปุคคลวรรค
หมวดว่าด้วยบุคคล
๑. เสวิตัพพสูตร
ว่าด้วยบุคคลที่ควรเสพ๑
[๑๕๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐
ประการ เป็นผู้ไม่ควรเสพ
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด) ๒. มิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด)
๓. มิจฉาวาจา (เจรจาผิด) ๔. มิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด)
๕. มิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด) ๖. มิจฉาวายามะ (พยายามผิด)
๗. มิจฉาสติ (ระลึกผิด) ๘. มิจฉาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นผิด)
๙. มิจฉาญาณะ (รู้ผิด) ๑๐. มิจฉาวิมุตติ (หลุดพ้นผิด)

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐. ประการนี้แล เป็นผู้ไม่ควรเสพ
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรเสพ
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)


เชิงอรรถ :
๑ เสพ ในที่นี้หมายถึงเข้าไปหา (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๖/๑๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. ปุคคลวรรค ๒-๑๒. ภชิตัพพาทิสูตร

๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)
๙. สัมมาญาณะ (รู้ชอบ) ๑๐. สัมมาวิมุตติ (หลุดพ้นชอบ)

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นผู้ควรเสพ
เสวิตัพพสูตรที่ ๑ จบ

๒-๑๒. ภชิตัพพาทิสูตร
ว่าด้วยบุคคลที่ควรคบ๑เป็นต้น
[๑๕๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรคบ ...
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรคบ ...
[๑๕๗] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้๒ ...
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรเข้าไปนั่งใกล้ ...
[๑๕๘] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรบูชา ... บุคคล
ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรบูชา ...
[๑๕๙] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรสรรเสริญ ...
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรสรรเสริญ ...
[๑๖๐] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรเคารพ ... บุคคล
ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรเคารพ ...
[๑๖๑] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรยำเกรง ... บุคคล
ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรยำเกรง ...
[๑๖๒] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรให้ยินดี ... บุคคล
ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรให้ยินดี ...
[๑๖๓] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมไม่บริสุทธิ์ ... บุคคล
ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมบริสุทธิ์ ...

เชิงอรรถ :
๑ คบ ในที่นี้หมายถึงให้ความสนิทสนม (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๖/๑๐๔)
๒ เข้าไปนั่งใกล้ หมายถึงเข้าไปนั่งใกล้แล้วสักการะ เคารพอยู่เสมอ ๆ (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๖/๑๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๒๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๑. ปุคคลวรรค ๒-๑๒. ภชิตัพพาทิสูตร
[๑๖๔] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมครอบงำมานะไม่ได้ ...
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมครอบงำมานะได้ ...
[๑๖๕] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมไม่เจริญด้วยปัญญา ...
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมเจริญด้วยปัญญา ...
[๑๖๖] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมประสพ๑สิ่งไม่ใช่บุญเป็น
อันมาก
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. มิจฉาทิฏฐิ ๒. มิจฉาสังกัปปะ
๓. มิจฉาวาจา ๔. มิจฉากัมมันตะ
๕. มิจฉาอาชีวะ ๖. มิจฉาวายามะ
๗. มิจฉาสติ ๘. มิจฉาสมาธิ
๙. มิจฉาญาณะ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมประสพสิ่งไม่
ใช่บุญเป็นอันมาก
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมประสพบุญเป็นอันมาก
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ
๙. สัมมาญาณะ ๑๐. สัมมาวิมุตติ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมประสพบุญ
เป็นอันมาก
ภชิตัพพาทิสูตรที่ ๒-๑๒ จบ
ปุคคลวรรคที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ประสพ (ปสวติ) หมายถึงได้รับผลตอบ (ปฏิลภติ) (องฺ.ติก.อ. ๒/๔๖/๑๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑. พราหมณปัจโจโรหณิสูตร
๒. ชาณุสโสณิวรรค
หมวดว่าด้วยพราหมณ์ชื่อว่าชาณุสโสณิ
๑. พราหมณปัจโจโรหณิสูตร
ว่าด้วยพิธีลอยบาปของพราหมณ์
[๑๖๗] สมัยนั้น พราหมณ์ชื่อว่าชาณุสโสณิสรงน้ำดำหัวในวันอุโบสถ นุ่งห่ม
ผ้าไหมคู่ใหม่ ยืนถือกำหญ้าคาสดอยู่ ณ ที่สมควร ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นแล้วได้ตรัสถามชาณุสโสณิพราหมณ์ดังนี้ว่า
“พราหมณ์ เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงสรงน้ำดำหัวในวันอุโบสถ นุ่งห่มผ้าไหม
คู่ใหม่ ยืนถือกำหญ้าคาสดอยู่ ณ ที่สมควร วันนี้เป็นวันอะไรของตระกูลพราหมณ์”
ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม วันนี้เป็นวันลอยบาปของ
ตระกูลพราหมณ์”
“พราหมณ์ พิธีลอยบาปของพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นอย่างไร”
“ท่านพระโคดม ในวันอุโบสถ พราหมณ์ทั้งหลายในโลกนี้ พากันสรงน้ำดำหัว
นุ่งห่มผ้าไหมคู่ใหม่ ทาแผ่นดินด้วยโคมัยสด ลาดด้วยหญ้าคาที่เขียวสดแล้วนอนใน
ระหว่างกองทรายและเรือนไฟ ในราตรีนั้น พราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแล้วประคอง
อัญชลีนอบน้อมไฟ ๓ ครั้งด้วยกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้าทั้งหลายขอลอยบาปต่อท่านผู้เจริญ
ข้าพเจ้าทั้งหลายขอลอยบาปต่อท่านผู้เจริญ’ และบำเรอไฟให้อิ่มหนำด้วยเนยใส น้ำ
มัน และเนยข้นจำนวนมาก พอล่วงราตรีนั้นไปจึงเลี้ยงพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำ
ด้วยของเคี้ยวของบริโภคอันประณีต ท่านพระโคดม พิธีลอยบาปของพราหมณ์
ทั้งหลาย เป็นอย่างนี้แล”
“พราหมณ์ พิธีลอยบาปของพราหมณ์ทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง พิธีลอยบาปใน
อริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง”
“ท่านพระโคดม พิธีลอยบาปในอริยวินัยเป็นอย่างไร ขอประทานวโรกาส ขอ
ท่านพระโคดมโปรดแสดงธรรมที่เป็นพิธีลอยบาปในอริยวินัยแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑. พราหมณปัจโจโรหณิสูตร
“พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ชาณุสโสณิพราหมณ์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า
พราหมณ์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์)มีผลชั่วทั้งในภพนี้และ
ภพหน้า ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละปาณาติบาต ลอยปาณาติบาต
๒. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า อทินนาทาน(การลักทรัพย์)มีผลชั่วทั้งในภพนี้และ
ภพหน้า ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละอทินนาทาน ลอยอทินนาทาน
๓. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า กาเมสุมิจฉาจาร(การประพฤติผิดในกาม)มีผลชั่ว
ทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละกาเมสุมิจฉาจาร
ลอยกาเมสุมิจฉาจาร
๔. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มุสาวาท(พูดเท็จ)มีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมุสาวาท ลอยมุสาวาท
๕. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ปิสุณาวาจา(คำส่อเสียด)มีผลชั่วทั้งในภพนี้และ
ภพหน้า ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละปิสุณาวาจา ลอยปิสุณาวาจา
๖. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผรุสวาจา(คำหยาบ)มีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละผรุสวาจา ลอยผรุสวาจา
๗. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า สัมผัปปลาปะ(คำเพ้อเจ้อ)มีผลชั่วทั้งในภพนี้
และภพหน้า ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละสัมผัปปลาปะ ลอย
สัมผัปปลาปะ
๘. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า อภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา)มีผลชั่วทั้งใน
ภพนี้และภพหน้า ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละอภิชฌา ลอยอภิชฌา
๙. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า พยาบาท(ความคิดร้าย)มีผลชั่วทั้งในภพนี้และ
ภพหน้า ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละพยาบาท ลอยพยาบาท
๑๐. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาทิฏฐิ(เห็นผิด) มีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาทิฏฐิ ลอยมิจฉาทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๒. อริยปัจโจโรหณิสูตร
พราหมณ์ พิธีลอยบาปในอริยวินัย เป็นอย่างนี้แล
ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม พิธีลอยบาปของพราหมณ์
ทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง พิธีลอยบาปในอริยวินัยก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง พิธีลอยบาปของ
พราหมณ์ทั้งหลายย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งพิธีลอยบาปในอริยวินัยนี้ ท่านพระ
โคดม ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้า
พระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
พราหมณปัจโจโรหณิสูตรที่ ๑ จบ

๒. อริยปัจโจโรหณิสูตร
ว่าด้วยพิธีลอยบาปของพระอริยะ
[๑๖๘] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงพิธีลอยบาปอันเป็นของพระอริยะแก่เธอทั้ง
หลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
พิธีลอยบาปอันเป็นของพระอริยะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ปาณาติบาตมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละปาณาติบาต ลอยปาณาติบาต
๒. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า อทินนาทานมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละอทินนาทาน ลอยอทินนาทาน
๓. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า กาเมสุมิจฉาจารมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า
ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละกาเมสุมิจฉาจาร ลอยกาเมสุมิจฉาจาร
๔. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มุสาวาทมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมุสาวาท ลอยมุสาวาท
๕. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ปิสุณาวาจามีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละปิสุณาวาจา ลอยปิสุณาวาจา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๓. สคารวสูตร
๖. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ผรุสวาจามีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละผรุสวาจา ลอยผรุสวาจา
๗. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า สัมผัปปลาปะมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละสัมผัปปลาปะ ลอยสัมผัปปลาปะ
๘. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า อภิชฌามีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละอภิชฌา ลอยอภิชฌา
๙. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า พยาบาทมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละพยาบาท ลอยพยาบาท
๑๐. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า มิจฉาทิฏฐิมีผลชั่วทั้งในภพนี้และภพหน้า ครั้น
พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว จึงละมิจฉาทิฏฐิ ลอยมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า พิธีลอยบาปอันเป็นของพระอริยะ
อริยปัจโจโรหณิสูตรที่ ๒ จบ

๓. สคารวสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อว่าสคารวะ
[๑๖๙] ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อว่าสคารวะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร๑ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ท่านพระโคดม อะไรหนอเป็นฝั่งนี้ อะไรเป็นฝั่งโน้น๒”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า พราหมณ์
๑. ปาณาติบาตเป็นฝั่งนี้ เจตนางดเว้นจากปาณาติบาตเป็นฝั่งโน้น
๒. อทินนาทานเป็นฝั่งนี้ เจตนางดเว้นจากอทินนาทานเป็นฝั่งโน้น

เชิงอรรถ :
๑ ที่สมควร (เอกมนฺตํ) ในที่นี้หมายถึงที่อันเหมาะสมเว้นโทษ ๖ ประการ คือ (๑) ไกลเกินไป (๒) ใกล้เกินไป
(๓) อยู่เหนือลม (๔) สูงเกินไป (๕) อยู่ตรงหน้าเกินไป (๖) อยู่ข้างหลังเกินไป (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๖/๑๕)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑,๒ ข้อ ๑๑๗ (สคารวสูตร) หน้า ๒๖๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๓. สคารวสูตร
๓. กาเมสุมิจฉาจารเป็นฝั่งนี้ เจตนางดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารเป็นฝั่งโน้น
๔. มุสาวาทเป็นฝั่งนี้ เจตนางดเว้นจากมุสาวาทเป็นฝั่งโน้น
๕. ปิสุณาวาจาเป็นฝั่งนี้ เจตนางดเว้นจากปิสุณาวาจาเป็นฝั่งโน้น
๖. ผรุสวาจาเป็นฝั่งนี้ เจตนางดเว้นจากผรุสวาจาเป็นฝั่งโน้น
๗. สัมผัปปลาปะเป็นฝั่งนี้ เจตนางดเว้นจากสัมผัปปลาปะเป็นฝั่งโน้น
๘. อภิชฌาเป็นฝั่งนี้ อนภิชฌา(ความไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา) เป็นฝั่งโน้น
๙. พยาบาทเป็นฝั่งนี้ อพยาบาท(ความไม่คิดร้าย) เป็นฝั่งโน้น
๑๐. มิจฉาทิฏฐิเป็นฝั่งนี้ สัมมาทิฏฐิ(เห็นชอบ) เป็นฝั่งโน้น
พราหมณ์ นี้แลเป็นฝั่งนี้ นี้แลเป็นฝั่งโน้น
ในหมู่มนุษย์ เหล่าชนผู้ไปถึงฝั่งโน้นมีจำนวนน้อย
ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้เลาะไปตามฝั่งนี้ทั้งนั้น
ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามธรรม
ในธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ
ชนเหล่านั้นจักข้ามพ้นวัฏฏะ
อันเป็นบ่วงมารที่ข้ามได้แสนยาก จักถึงฝั่งโน้น
บัณฑิตละธรรมดำ แล้วพึงเจริญธรรมขาว
ออกจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ
ละกามทั้งหลายแล้ว เป็นผู้หมดความกังวล
พึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวกที่ยินดีได้ยากยิ่ง
บัณฑิตพึงชำระตนให้ผ่องแผ้ว
จากเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งหลาย
บัณฑิตเหล่าใดอบรมจิตโดยชอบ
ในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๔. โอริมสูตร
ไม่ถือมั่น ยินดีในนิพพานเป็นที่สละความถือมั่น
บัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้ว
มีความรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก๑
สคารวสูตรที่ ๓ จบ

๔. โอริมสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นฝั่งนี้และธรรมที่เป็นฝั่งโน้น
[๑๗๐] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงฝั่งนี้และฝั่งโน้นแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้ง
หลายจงฟัง ฯลฯ
ฝั่งนี้และฝั่งโน้น อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาตเป็นฝั่งนี้ เจตนางดเว้นจากปาณาติบาตเป็นฝั่งโน้น
๒. อทินนาทานเป็นฝั่งนี้ เจตนางดเว้นจากอทินนาทานเป็นฝั่งโน้น
๓. กาเมสุมิจฉาจารเป็นฝั่งนี้ เจตนางดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารเป็นฝั่งโน้น
๔. มุสาวาทเป็นฝั่งนี้ เจตนางดเว้นจากมุสาวาทเป็นฝั่งโน้น
๕. ปิสุณาวาจาเป็นฝั่งนี้ เจตนางดเว้นจากปิสุณาวาจาเป็นฝั่งโน้น
๖. ผรุสวาจาเป็นฝั่งนี้ เจตนางดเว้นจากผรุสวาจาเป็นฝั่งโน้น
๗. สัมผัปปลาปะเป็นฝั่งนี้ เจตนางดเว้นจากสัมผัปปลาปะเป็นฝั่งโน้น
๘. อภิชฌาเป็นฝั่งนี้ อนภิชฌาเป็นฝั่งโน้น
๙. พยาบาทเป็นฝั่งนี้ อพยาบาทเป็นฝั่งโน้น
๑๐. มิจฉาทิฏฐิเป็นฝั่งนี้ สัมมาทิฏฐิเป็นฝั่งโน้น
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นฝั่งนี้ นี้แลเป็นฝั่งโน้น

เชิงอรรถ :
๑ คาถาข้อ ๑๖๙ และข้อ ๑๗๐ นี้ เทียบดูในข้อ ๑๑๗ พร้อมทั้งเชิงอรรถ หน้า ๒๖๙-๒๗๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๕. ปฐมอธัมมสูตร
ในหมู่มนุษย์ เหล่าชนผู้ไปถึงฝั่งโน้นมีจำนวนน้อย
ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้เลาะไปตามฝั่งนี้ทั้งนั้น
ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามธรรม
ในธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยชอบ
ชนเหล่านั้นจักข้ามพ้นวัฏฏะ
อันเป็นบ่วงมารที่ข้ามได้แสนยาก จักถึงฝั่งโน้น
บัณฑิตละธรรมดำแล้วพึงเจริญธรรมขาว
ออกจากวัฏฏะมาสู่วิวัฏฏะ
ละกามทั้งหลายแล้วเป็นผู้หมดความกังวล
พึงปรารถนาความยินดียิ่งในวิเวกที่ยินดีได้ยากยิ่ง
บัณฑิตพึงชำระตนให้ผ่องแผ้ว
จากเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตทั้งหลาย
บัณฑิตเหล่าใดอบรมจิตโดยชอบ
ในองค์ธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ทั้งหลาย
ไม่ถือมั่น ยินดีในนิพพานเป็นที่สละความถือมั่น
บัณฑิตเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้ว
มีความรุ่งเรือง ดับสนิทแล้วในโลก
โอริมสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฐมอธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สูตรที่ ๑
[๑๗๑] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประโยชน์
ควรทราบทั้งสิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่
เป็นธรรมและเป็นประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๖. ทุติยอธัมมสูตร
สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประโยชน์ อะไรบ้าง คือ

๑. ปาณาติบาต ๒. อทินนาทาน
๓. กาเมสุมิจฉาจาร ๔. มุสาวาท
๕. ปิสุณาวาจา ๖. ผรุสวาจา
๗. สัมผัปปลาปะ ๘. อภิชฌา
๙. พยาบาท ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ

ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประโยชน์
สิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ อะไรบ้าง คือ

คือ ๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ๒. เจตนางดเว้นจากอทินนาทาน
๓. เจตนางดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ๔. เจตนางดเว้นจากมุสาวาท
๕. เจตนางดเว้นจากปิสุณาวาจา ๖. เจตนางดเว้นจากผรุสวาจา
๗. เจตนางดเว้นจากสัมผัปปลาปะ ๘. อนภิชฌา
๙. อพยาบาท ๑๐. สัมมาทิฏฐิ

ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็น
ธรรมและไม่เป็นประโยชน์ ควรทราบทั้งสิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ ครั้นทราบ
แล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ปฐมอธัมมสูตร ที่ ๕ จบ

๖. ทุติยอธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สูตรที่ ๒
[๑๗๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม
ควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติ
ตามสิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตครั้นตรัสพระพุทธพจน์นี้
แล้วเสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๖. ทุติยอธัมมสูตร
ลำดับนั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหลีกไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นจึงได้ปรึกษากันว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทส๑โดยย่อว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบ
ทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่
เป็นธรรมและเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจาก
พุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร ใครหนอจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้”
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นมีความเห็นร่วมกันว่า “ท่านมหากัจจานะนี้แล พระ
ศาสดาทรงสรรเสริญแล้ว และเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็ยกย่อง ท่านสามารถ
จะจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้
โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้ ทางที่ดี พวกเราควรจะเข้าไปหาท่านมหากัจจานะถึงที่อยู่
แล้วเรียนถามเนื้อความนี้กับท่าน และจักทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตามที่ท่านตอบแก่
พวกเรา”
ครั้นแล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้เรียนว่า
“ท่านมหากัจจานะ พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทสนี้โดยย่อ
ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบ
ทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่ง
ที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจาก
พุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร
ผู้มีอายุ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหลีกไปไม่นาน พวกกระผมได้ปรึกษากันว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทสโดยย่อว่า ‘ภิกษุ
ทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้งสิ่งที่
ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๑๕ หน้า ๒๖๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๖. ทุติยอธัมมสูตร
และเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์
เข้าไปยังพระวิหาร ใครหนอจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้
ผู้มีอายุ พวกกระผมได้มีความเห็นร่วมกันว่า ‘ท่านมหากัจจานะนี้แล พระ
ศาสดาทรงสรรเสริญแล้ว และเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็ยกย่อง ท่านสามารถ
จะจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้
โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้ ทางที่ดี พวกเราควรจะเข้าไปหาท่านมหากัจจานะถึงที่อยู่
แล้วเรียนถามเนื้อความนี้กับท่าน และจักทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตามที่ท่านตอบแก่
พวกเรา’ ขอท่านมหากัจจานะจงจำแนกเถิด”
ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อพระศาสดาประทับอยู่
เฉพาะหน้าผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายละเลยพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสีย
สำคัญเนื้อความนี้ว่าควรถามข้าพเจ้า เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหา
แก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นมีอยู่ ก็มองข้ามรากและลำต้น
ไปเสีย สำคัญกิ่งและใบว่าเป็นแก่นไม้ที่ตนพึงแสวงหา พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
เป็นผู้มีพระจักษุ๑ มีพระญาณ มีพระธรรม เป็นผู้ประเสริฐ ตรัสบอกได้ ทรงให้เป็นไปได้
ทรงแสดงประโยชน์ ประทานอมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต ทรงรู้
ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ก็เวลานั้นแล เป็นเวลาสมควรที่ท่านทั้งหลาย
พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามเนื้อความนี้ พึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตามที่
พระผู้มีพระภาคทรงตอบแก่ท่านทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นเรียนว่า “ท่านมหากัจจานะ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นผู้มี
พระจักษุ มีพระญาณ มีพระธรรม เป็นผู้ประเสริฐ ตรัสบอกได้ ทรงให้เป็นไปได้ ทรง
แสดงประโยชน์ ประทานอมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต ทรงรู้ธรรมที่
ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น ก็เวลานั้นแล เป็นเวลาสมควรที่กระผมทั้งหลายพึง
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามเนื้อความนี้ และทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตามที่
พระผู้มีพระภาคทรงตอบแก่พวกกระผมอย่างแน่นอน ท่านมหากัจจานะเอง พระ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๕ หน้า ๒๖๒ และเชิงอรรถที่ ๑-๓ หน้า ๒๖๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๖. ทุติยอธัมมสูตร
ศาสดาทรงสรรเสริญ และเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็ยกย่อง ย่อมสามารถจะ
จำแนกเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้
โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้ ถ้าท่านมหากัจจานะไม่มีความหนักใจแล้ว ขอจงจำแนกเถิด”
พระมหากัจจานะกล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ขอท่านทั้งหลายจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี ข้าพเจ้าจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระมหากัจจานะจึงได้
กล่าวเรื่องนี้ว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทสโดยย่อว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบ
ทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่
เป็นธรรมและเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจาก
พุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร
สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็น
ประโยชน์ อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาตเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนางดเว้นจากปาณาติบาตเป็นสิ่ง
ที่เป็นธรรม บาปอกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะปาณาติบาตเป็น
ปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความ
เจริญเต็มที่เพราะเจตนางดเว้นจากปาณาติบาตเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่
เป็นประโยชน์
๒. อทินนาทานเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนางดเว้นจากอทินนาทานเป็นสิ่งที่
เป็นธรรม บาปอกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะอทินนาทานเป็นปัจจัย
นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญ
เต็มที่เพราะเจตนางดเว้นจากอทินนาทานเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
๓. กาเมสุมิจฉาจารเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนางดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
เป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาปอกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะกาเมสุ
มิจฉาจารเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอัน
มากที่ถึงความเจริญเต็มที่เพราะเจตนางดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารเป็นปัจจัย
นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๖. ทุติยอธัมมสูตร
๔. มุสาวาทเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนางดเว้นจากมุสาวาทเป็นสิ่งที่เป็นธรรม
บาปอกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมุสาวาทเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่ง
ที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่
เพราะเจตนางดเว้นจากมุสาวาทเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
๕. ปิสุณาวาจาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนางดเว้นจากปิสุณาวาจาเป็นสิ่งที่
เป็นธรรม บาปอกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะปิสุณาวาจาเป็นปัจจัย
นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญ
เต็มที่เพราะเจตนางดเว้นจากปิสุณาวาจาเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็น
ประโยชน์
๖. ผรุสวาจาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนางดเว้นจากผรุสวาจาเป็นสิ่งที่เป็นธรรม
บาปอกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะผรุสวาจาเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่ง
ที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่
เพราะเจตนางดเว้นจากผรุสวาจาเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
๗. สัมผัปปลาปะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนางดเว้นจากสัมผัปปลาปะเป็น
สิ่งที่เป็นธรรม บาปอกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะสัมผัปปลาปะ
เป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึง
ความเจริญเต็มที่เพราะเจตนางดเว้นจากสัมผัปปลาปะเป็นปัจจัย นี้เป็น
สิ่งที่เป็นประโยชน์
๘. อภิชฌาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม อนภิชฌาเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาปอกุศล-
ธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะอภิชฌาเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็น
ประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่เพราะอนภิชฌา
เป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
๙. พยาบาทเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม อพยาบาทเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาปอกุศล-
ธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะพยาบาทเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็น
ประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่เพราะอพยาบาท
เป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๖. ทุติยอธัมมสูตร
๑๐. มิจฉาทิฏฐิเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาทิฏฐิเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาปอกุศล
ธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็น
ประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่เพราะสัมมา
ทิฏฐิเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
พระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายทรงแสดงอุทเทสไว้โดยย่อว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย
บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็น
ประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรมและ
เป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์
เข้าไปยังพระวิหาร ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้าพเจ้าย่อมรู้เนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดารอย่างนี้ ก็ท่าน
ทั้งหลาย เมื่อหวังอยู่ พึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามเนื้อความนี้เถิด
ขอท่านทั้งหลายพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตอบแก่ท่าน
ทั้งหลายเถิด”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวรับคำท่านพระมหากัจจานะแล้ว ชื่นชมอนุโมทนาภาษิต
ของท่านพระมหากัจจานะแล้วลุกขึ้นจากอาสนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสไว้โดยย่อว่า ‘ภิกษุ
ทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้งสิ่งที่
ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรม
และเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์
เข้าไปยังพระวิหาร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหลีกไปไม่นาน ข้าพระองค์
ทั้งหลายได้ปรึกษากันว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสไว้โดย
ย่อว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควร
ทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตาม
สิ่งที่เป็นธรรมแเละเป็นประโยชน์’ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความไว้โดยพิสดาร เสด็จลุกขึ้น
จากพุทธอาสน์เข้าไปยังพระวิหาร ใครหนอจะพึงจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่ทรงจำแนกไว้โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๗. ตติยอธัมมสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายได้มีความเห็นร่วมกันว่า ‘ท่านมหา
กัจจานะนี้แล พระศาสดาทรงสรรเสริญแล้ว และเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็ยกย่อง
ท่านสามารถจะจำแนกเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อไม่
ทรงจำแนกไว้โดยพิสดารนี้ให้พิสดารได้ ทางที่ดี พวกเราควรจะเข้าไปหาท่านมหา
กัจจานะถึงที่อยู่แล้วเรียนถามเนื้อความนี้กับท่าน และจักทรงจำเนื้อความนั้นไว้ตาม
ที่ท่านตอบแก่พวกเรา’
ครั้นแล้วข้าพระองค์ทั้งหลายจึงเข้าไปหาท่านมหากัจจานะถึงที่อยู่แล้วเรียน
ถามเนื้อความนี้ ท่านมหากัจจานะได้จำแนกเนื้อความอย่างชัดเจนแก่ข้าพระองค์
ทั้งหลายด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ดีละ ดีละ มหากัจจานะเป็นบัณฑิต มี
ปัญญามาก แม้หากเธอทั้งหลายพึงเข้ามาหาเราแล้วถามเนื้อความนี้ ถึงเราเอง
ก็พึงตอบเนื้อความนี้อย่างที่มหากัจจานะตอบแล้วนั่นเอง นี้แลเป็นเนื้อความแห่ง
อุทเทสนั้น และเธอทั้งหลายพึงทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้นเถิด”
ทุติยอธัมมสูตรที่ ๖ จบ

๗. ตติยอธัมมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สูตรที่ ๓
[๑๗๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม
ควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติ
ตามสิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์
สิ่งที่ไม่เป็นธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็น
ประโยชน์ อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาตเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนางดเว้นจากปาณาติบาตเป็นสิ่ง
ที่เป็นธรรม บาปอกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะปาณาติบาตเป็น
ปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๗. ตติยอธัมมสูตร
เจริญเต็มที่เพราะเจตนางดเว้นจากปาณาติบาตเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็น
ประโยชน์
๒. อทินนาทานเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนางดเว้นจากอทินนาทานเป็นสิ่งที่
เป็นธรรม บาปอกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะอทินนาทานเป็นปัจจัย
นี้เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญ
เต็มที่เพราะเจตนางดเว้นจากอทินนาทานเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
๓. กาเมสุมิจฉาจารเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนางดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
เป็นสิ่งที่เป็นธรรม ฯลฯ๑
๔. มุสาวาทเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนางดเว้นจากมุสาวาทเป็นสิ่งที่เป็น
ธรรม ฯลฯ
๕. ปิสุณาวาจาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนางดเว้นจากปิสุณาวาจาเป็นสิ่งที่
เป็นธรรม ฯลฯ
๖. ผรุสวาจาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนางดเว้นจากผรุสวาจาเป็นสิ่งที่เป็น
ธรรม ฯลฯ
๗. สัมผัปปลาปะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เจตนางดเว้นจากสัมผัปปลาปะเป็น
สิ่งที่เป็นธรรม ฯลฯ
๘. อภิชฌาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม อนภิชฌาเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ฯลฯ
๙. พยาบาทเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม อพยาบาทเป็นสิ่งที่เป็นธรรม ฯลฯ
๑๐. มิจฉาทิฏฐิเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม สัมมาทิฏฐิเป็นสิ่งที่เป็นธรรม บาป
อกุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่
ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนกุศลธรรมเป็นอันมากที่ถึงความเจริญเต็มที่เพราะ
สัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย นี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์
ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘บุคคลควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็น
ธรรมและสิ่งที่เป็นธรรม ควรทราบทั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นประโยชน์
ครั้นทราบแล้ว ควรปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
ตติยอธัมมสูตรที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
๑ “ฯลฯ” ที่ปรากฏในสูตรนี้ ดูความเต็มในข้อ ๑๗๒ (ทุติยอธัมมสูตร)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๘. กัมมนิทานสูตร
๘. กัมมนิทานสูตร
ว่าด้วยต้นเหตุแห่งกรรม
[๑๗๔] ภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาต เรากล่าวว่า มี ๓ อย่างคือ
๑. ปาณาติบาตมีโลภะเป็นเหตุ
๒. ปาณาติบาตมีโทสะเป็นเหตุ
๓. ปาณาติบาตมีโมหะเป็นเหตุ
อทินนาทาน เรากล่าวว่า มี ๓ อย่าง คือ
๑. อทินนาทานมีโลภะเป็นเหตุ
๒. อทินนาทานมีโทสะเป็นเหตุ
๓. อทินนาทานมีโมหะเป็นเหตุ
กาเมสุมิจฉาจาร เรากล่าวว่า มี ๓ อย่าง คือ
๑. กาเมสุมิจฉาจารมีโลภะเป็นเหตุ
๒. กาเมสุมิจฉาจารมีโทสะเป็นเหตุ
๓. กาเมสุมิจฉาจารมีโมหะเป็นเหตุ
มุสาวาท เรากล่าวว่า มี ๓ อย่าง คือ
๑. มุสาวาทมีโลภะเป็นเหตุ
๒. มุสาวาทมีโทสะเป็นเหตุ
๓. มุสาวาทมีโมหะเป็นเหตุ
ปิสุณาวาจา เรากล่าวว่า มี ๓ อย่าง คือ
๑. ปิสุณาวาจามีโลภะเป็นเหตุ
๒. ปิสุณาวาจามีโทสะเป็นเหตุ
๓. ปิสุณาวาจามีโมหะเป็นเหตุ
ผรุสวาจา เรากล่าวว่า มี ๓ อย่าง คือ
๑. ผรุสวาจามีโลภะเป็นเหตุ
๒. ผรุสวาจามีโทสะเป็นเหตุ
๓. ผรุสวาจามีโมหะเป็นเหตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๘. กัมมนิทานสูตร
สัมผัปปลาปะ เรากล่าวว่า มี ๓ อย่าง คือ
๑. สัมผัปปลาปะมีโลภะเป็นเหตุ
๒. สัมผัปปลาปะมีโทสะเป็นเหตุ
๓. สัมผัปปลาปะมีโมหะเป็นเหตุ
อภิชฌา เรากล่าวว่า มี ๓ อย่าง คือ
๑. อภิชฌามีโลภะเป็นเหตุ
๒. อภิชฌามีโทสะเป็นเหตุ
๓. อภิชฌามีโมหะเป็นเหตุ
พยาบาท เรากล่าวว่า มี ๓ อย่าง คือ
๑. พยาบาทมีโลภะเป็นเหตุ
๒. พยาบาทมีโทสะเป็นเหตุ
๓. พยาบาทมีโมหะเป็นเหตุ
มิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มี ๓ อย่าง คือ
๑. มิจฉาทิฏฐิมีโลภะเป็นเหตุ
๒. มิจฉาทิฏฐิมีโทสะเป็นเหตุ
๓. มิจฉาทิฏฐิมีโมหะเป็นเหตุ
ภิกษุทั้งหลาย โลภะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม โทสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม โมหะ
เป็นเหตุเกิดแห่งกรรม เพราะโลภะสิ้นไป เหตุเกิดแห่งกรรมจึงสิ้นไป เพราะโทสะสิ้นไป
เหตุเกิดแห่งกรรมจึงสิ้นไป เพราะโมหะสิ้นไป เหตุเกิดแห่งกรรมจึงสิ้นไป
กัมมนิทานสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๙. ปริกกมนสูตร
๙. ปริกกมนสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นทางหลีกเลี่ยง๑
[๑๗๕] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้เป็นทางหลีกเลี่ยง มิใช่ธรรมไม่เป็นทางหลีก
เลี่ยง
ธรรมนี้เป็นทางหลีกเลี่ยง มิใช่ธรรมไม่เป็นทางหลีกเลี่ยง อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาตเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ฆ่าสัตว์
๒. เจตนางดเว้นจากอทินนาทานเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ลักทรัพย์
๓. เจตนางดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้
ประพฤติผิดในกาม
๔. เจตนางดเว้นจากมุสาวาทเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดเท็จ
๕. เจตนางดเว้นจากปิสุณาวาจาเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดส่อเสียด
๖. เจตนางดเว้นจากผรุสวาจาเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดคำหยาบ
๗. เจตนางดเว้นจากสัมผัปปลาปะเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดเพ้อเจ้อ
๘. อนภิชฌาเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๙. อพยาบาทเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีจิตพยาบาท
๑๐. สัมมาทิฏฐิเป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้เห็นผิด
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้เป็นทางหลีกเลี่ยง มิใช่ธรรมไม่เป็นทางหลีกเลี่ยง เป็น
อย่างนี้แล
ปริกกมนสูตรที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ทางหลีกเลี่ยง ในที่นี้หมายถึงทางเว้นจากความชั่ว (ดูเทียบ สัลเลขสูตร ม.มู. ๑๒/๘๕/๕๘, องฺ.ทสก.อ.
๓/๑๗๕/๓๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑๐. จุนทสูตร
๑๐. จุนทสูตร
ว่าด้วยนายจุนทกัมมารบุตร
[๑๗๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร๑
เขตกรุงปาวา ครั้งนั้น นายจุนทกัมมารบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถามว่า
“จุนทะ เธอชอบใจความสะอาดของใคร”
นายจุนทกัมมารบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ชาว
ปัจฉาภูมิ ผู้ถือน้ำเต้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร บัญญัติ
ความสะอาดไว้ ข้าพระองค์ชอบใจความสะอาดของพราหมณ์เหล่านั้น”
“จุนทะ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือน้ำเต้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ
ลงน้ำเป็นวัตร บัญญัติความสะอาดไว้อย่างไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือ
น้ำเต้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร ย่อมชักชวนสาวกทั้งหลาย
อย่างนี้ว่า ‘มาเถิดบุรุษผู้เจริญ ท่านควรลุกขึ้นจากที่นอนแต่เช้า จับต้องแผ่นดิน ถ้า
ไม่จับต้องแผ่นดิน ต้องจับต้องโคมัยสด ถ้าไม่จับต้องโคมัยสด ต้องจับต้องหญ้าเขียวสด
ถ้าไม่จับต้องหญ้าเขียวสด ต้องบำเรอไฟ ถ้าไม่บำเรอไฟต้องประคองอัญชลีนอบน้อม
ดวงอาทิตย์ ถ้าไม่ประคองอัญชลีนอบน้อมดวงอาทิตย์ ต้องลงน้ำวันละ ๓ ครั้ง’ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือน้ำเต้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย
บำเรอไฟ ลงน้ำเป็นวัตร บัญญัติความสะอาดไว้อย่างนี้ ข้าพระองค์ชอบใจความ
สะอาดของพราหมณ์เหล่านั้น”
“จุนทะ พวกพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือน้ำเต้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย บำเรอ
ไฟ ลงน้ำเป็นวัตร บัญญัติความสะอาดไว้เป็นอย่างหนึ่ง ส่วนความสะอาดใน
อริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง”

เชิงอรรถ :
๑ กัมมารบุตร หมายถึงบุตรของช่างทอง (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗๖/๓๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑๐. จุนทสูตร
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความสะอาดในอริยวินัยเป็นอย่างไร ขอประทานวโรกาส
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมที่เป็นความสะอาดในอริยวินัยแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จุนทะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
นายจุนทกัมมารบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า
จุนทะ ความไม่สะอาดทางกาย ๓ อย่าง ความไม่สะอาดทางวาจา ๔ อย่าง
ความไม่สะอาดทางใจ ๓ อย่าง
ความไม่สะอาดทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ในการฆ่าและการทุบตี
ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง
๒. เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ เป็นผู้ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของ
ผู้อื่นซึ่งอยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครอง
ของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย
ที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่ประพฤติ
ธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่สุด แม้แต่สตรีที่บุรุษสวมด้วย
พวงมาลัยหมายไว้
จุนทะ ความไม่สะอาดทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล
ความไม่สะอาดทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้พูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่
ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยาน
ซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น’ บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า ‘รู้’ หรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑๐. จุนทสูตร
รู้ก็กล่าวว่า ‘ไม่รู้’ ไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘เห็น’ หรือเห็นก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’
กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง
เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง
๒. เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้
หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น ยุยงคนที่
สามัคคีกัน ส่งเสริมคนที่แตกแยกกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่แตก
แยกกัน พูดแต่ถ้อยคำที่ก่อความแตกแยกกัน
๓. เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ กล่าวแต่คำที่หยาบคาย กล้าแข็ง เผ็ดร้อน
หยาบคายร้ายกาจแก่ผู้อื่น กระทบกระทั่งผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่
เป็นไปเพื่อสมาธิ
๔. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ พูดไม่ถูกเวลา พูดคำไม่จริง พูดไม่อิงประโยชน์
พูดไม่อิงธรรม พูดไม่อิงวินัย พูดคำที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่
กำหนด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
จุนทะ ความไม่สะอาดทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างนี้แล
ความไม่สะอาดทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้ม
ใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’
๒. เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูก
ทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศไป หรืออย่าได้มี’
๓. เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชา
แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วก็ไม่มี
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์ไม่มี
สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก’
จุนทะ ความไม่สะอาดทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑๐. จุนทสูตร
อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้แลที่บุคคลประกอบแล้ว เมื่อลุกขึ้นจากที่นอน
แต่เช้าตรู่ แม้จะจับต้องแผ่นดินก็ตาม ไม่จับต้องแผ่นดินก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดไม่
ได้เลย แม้จะจับต้องโคมัยสดก็ตาม ไม่จับต้องโคมัยสดก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดไม่ได้
แม้จะจับต้องหญ้าเขียวสดก็ตาม ไม่จับต้องหญ้าเขียวสดก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดไม่ได้
แม้จะบำเรอไฟก็ตาม ไม่บำเรอไฟก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดไม่ได้ แม้จะประคองอัญชลี
นอบน้อมดวงอาทิตย์ก็ตาม ไม่ประคองอัญชลีนอบน้อมดวงอาทิตย์ก็ตาม ก็เป็นผู้
สะอาดไม่ได้ แม้จะลงน้ำวันละ ๓ ครั้งก็ตาม ไม่ลงน้ำวันละ ๓ ครั้งก็ตาม ก็เป็น
ผู้สะอาดไม่ได้อยู่นั่นเอง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้เป็น
ธรรมไม่สะอาด และเป็นเหตุก่อให้เกิดความไม่สะอาด
จุนทะ เพราะเหตุที่ประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ จึงปรากฏมี
ทั้งนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต หรือทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น
จุนทะ ความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง ความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง ความ
สะอาดทางใจ ๓ อย่าง
ความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความ
ละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ ไม่ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นซึ่งอยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วย
จิตเป็นเหตุขโมย
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือ ไม่เป็นผู้ประพฤติล่วง
ในสตรีที่อยู่ในปกครองของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ใน
ปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว ที่อยู่ใน
ปกครองของญาติ ที่ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดย
ที่สุดแม้สตรีที่บุรุษสวมด้วยพวงมาลัยหมายไว้
ความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑๐. จุนทสูตร
ความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลาง
หมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้าง
เป็นพยานซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใดจงกล่าวสิ่งนั้น’ บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า
‘ไม่รู้’ หรือรู้ก็กล่าวว่า ‘รู้’ ไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’ หรือเห็นก็กล่าวว่า
‘เห็น’ ไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง
เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง
๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอก
ฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้
เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกแยกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน
ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์
ความสามัคคี
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิง
ประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่
กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์
ความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง เป็นอย่างนี้แล
ความสะอาดทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็น
อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’
๒. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือ ไม่มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่
มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑๐. จุนทสูตร
๓. เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชา
แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วมี โลกนี้มี
โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ โอปปาติกสัตว์มี สมณพราหมณ์ผู้
ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก’
จุนทะ ความสะอาดทางใจ ๓ อย่าง เป็นอย่างนี้แล
กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ที่บุคคลประกอบแล้ว เมื่อลุกขึ้นจากที่นอนแต่
เช้าตรู่ แม้จะจับต้องแผ่นดินก็ตาม ไม่จับต้องแผ่นดินก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
แม้จะจับต้องโคมัยสดก็ตาม ไม่จับต้องโคมัยสดก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง
แม้จะจับต้องหญ้าเขียวสดก็ตาม ไม่จับต้องหญ้าเขียวสดก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่
นั่นเอง แม้จะบำเรอไฟก็ตาม ไม่บำเรอไฟก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง แม้จะ
ประคองอัญชลีนอบน้อมดวงอาทิตย์ก็ตาม ไม่ประคองอัญชลีนอบน้อมดวงอาทิตย์
ก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง แม้จะลงน้ำวันละ ๓ ครั้งก็ตาม ไม่ลงน้ำวันละ ๓
ครั้งก็ตาม ก็เป็นผู้สะอาดอยู่นั่นเอง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกุศลกรรมบถ ๑๐
ประการนี้เป็นธรรมสะอาด และเป็นเหตุก่อให้เกิดความสะอาด
จุนทะ เพราะเหตุที่ประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ จึงปรากฏมีทั้ง
เทวดาและมนุษย์ หรือสุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น’
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว นายจุนทกัมมารบุตรได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
จุนทสูตรที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑๑. ชาณุสโสณิสูตร
๑๑. ชาณุสโสณิสูตร
ว่าด้วยชาณุสโสณิพราหมณ์ทูลถามเรื่องทาน
[๑๗๗] ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อว่าชาณุสโสณิเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ท่านพระโคดม พวกข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ย่อมให้ทาน เชื่อว่าทานนี้
ต้องสำเร็จแก่ญาติสาโลหิต๑ผู้ล่วงลับไปแล้ว ขอญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วจง
บริโภคทานนี้ ท่านพระโคดม ทานนั้นย่อมสำเร็จแก่ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วบ้าง
หรือ ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วเหล่านั้นจะได้บริโภคทานนั้นบ้างหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ทานนั้นย่อมสำเร็จในฐานะเท่านั้น ไม่
สำเร็จในอัฏฐานะ”๒

เรื่องฐานะและอัฏฐานะ
ชาณุสโสณิพราหมณ์ทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ฐานะเป็นอย่างไร อัฏฐานะ
เป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์
ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่ง
เล็งอยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิด
ในนรก เลี้ยงอัตภาพในนรกนั้น ดำรงอยู่ในนรกนั้นด้วยอาหารของสัตว์นรก๓
พราหมณ์ ภูมิที่ทานไม่สำเร็จแก่สัตว์ผู้ดำรงอยู่ นี้แลเป็นอัฏฐานะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๗๑ (อากังขสูตร) หน้า ๑๕๗ ในเล่มนี้
๒ ฐานะ ในที่นี้หมายถึงโอกาสที่เป็นไปได้หรือที่เหมาะสม อัฏฐานะ หมายถึงโอกาสที่เป็นไปไม่ได้ หรือที่ไม่
เหมาะสม (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗๗/๓๗๗)
๓ อาหารของสัตว์นรก คือ กรรมที่สัตว์เสวยในนรกนั้น (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗๗/๓๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑๑. ชาณุสโสณิสูตร
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว
เขาย่อมไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เลี้ยงอัตภาพในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนั้น ดำรงอยู่
ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนั้นด้วยอาหารของเหล่าสัตว์ผู้เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน๑
พราหมณ์ ภูมิที่ทานไม่สำเร็จแก่สัตว์ผู้ดำรงอยู่ นี้แลเป็นอัฏฐานะ
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติ
ผิดในกาม การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ และการพูดเพ้อเจ้อ ไม่
เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว เขาย่อม
เข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกมนุษย์ เลี้ยงอัตภาพในมนุษยโลกนั้น ดำรงอยู่ใน
มนุษยโลกนั้นด้วยอาหารของพวกมนุษย์๒
พราหมณ์ ภูมิที่ทานไม่สำเร็จแก่สัตว์ผู้ดำรงอยู่ นี้แลเป็นอัฏฐานะ
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฏฐิ
หลังจากตายแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทวดา เลี้ยงอัตภาพในเทวโลกนั้น
ดำรงอยู่ในเทวโลกนั้นด้วยอาหารของหมู่เทวดา๓
พราหมณ์ ภูมิที่ทานไม่สำเร็จแก่สัตว์ผู้ดำรงอยู่ นี้แลเป็นอัฏฐานะ
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว
เขาย่อมไปเกิดในภูมิแห่งเปรต เลี้ยงอัตภาพอยู่ในภูมิแห่งเปรตนั้น ดำรงอยู่ในภูมิ
แห่งเปรตนั้นด้วยอาหารของเหล่าสัตว์ผู้เกิดในภูมิแห่งเปรต หรือเลี้ยงอัตภาพอยู่ใน
ภูมิแห่งเปรตนั้น ดำรงอยู่ในภูมิแห่งเปรตนั้นด้วยปัตติทานมัยกุศล๔จากมนุษยโลกนี้
ที่มิตร อำมาตย์ หรือญาติสาโลหิตของตนอุทิศให้
พราหมณ์ ภูมิที่ทานสำเร็จแก่สัตว์ผู้ดำรงอยู่ นี้แลเป็นฐานะ”
“ท่านพระโคดม ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วนั้นจะไม่เข้าถึงฐานะนั้น
ใครเล่าจะบริโภคทานนั้น”

เชิงอรรถ :
๑ อาหารของสัตว์ดิรัจฉาน คือ หญ้า ใบไม้เป็นต้น
๒ อาหารของมนุษย์ คือ ข้าวสุก เป็นต้น
๓ อาหารของหมู่เทวดา คือ สุทธาโภชนะ (ของกินอันเป็นทิพย์, อาหารทิพย์) เป็นต้น
๔ อาหารของเปรต(จำพวกหนึ่ง) คือ น้ำลาย น้ำมูก เป็นต้น หรือเปรตอีกจำพวกหนึ่งเรียกว่าปรทัตตูปชีวีเปรต
ที่ต้องอาศัยผู้อื่นให้ เรียกว่า ปัตติทานมัยกุศล หมายถึงบุญกุศลที่สำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ เป็นวิธีทำบุญ
ด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น (ข้อ ๖ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐) (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๗๗/๓๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑๑. ชาณุสโสณิสูตร
“พราหมณ์ ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วเหล่าอื่นของตน ผู้เข้าถึงฐานะนั้นมีอยู่
ญาติสาโลหิตเหล่านั้นย่อมบริโภคทานนั้น”
“ท่านพระโคดม ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น และญาติสาโลหิตผู้ล่วง
ลับไปแล้วแม้เหล่าอื่นของตนไม่เข้าถึงฐานะนั้น ใครเล่าจะบริโภคทานนั้น”
“พราหมณ์ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะว่างจากญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วโดยกาล
ช้านาน ถึงอย่างไร ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล”
“ท่านพระโคดม ย่อมตรัสข้อกำหนดแม้ในอัฏฐานะหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เรากล่าวข้อกำหนดแม้ในอัฏฐานะ คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด
พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ
บุคคลนั้นให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และ
เครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในกำเนิดแห่ง
ช้างทั้งหลาย ได้อาหาร น้ำ ดอกไม้ และเครื่องประดับต่าง ๆ ในกำเนิดแห่งช้างนั้น
เพราะกรรมที่บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท
เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในกำเนิดแห่งช้างทั้งหลาย และ
เพราะกรรมที่บุคคลนั้นให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน
ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาจึงได้อาหาร น้ำ ดอกไม้ และ
เครื่องประดับต่าง ๆ ในกำเนิดแห่งช้างนั้น
พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท
เป็นมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนั้นให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน
ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดใน
กำเนิดแห่งม้า ... หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในกำเนิดแห่งโค ... หลังจากตายแล้ว
เขาย่อมไปเกิดในกำเนิดแห่งสุนัข ... ได้อาหาร น้ำ ดอกไม้ และเครื่องประดับต่าง ๆ
ในกำเนิดแห่งสุนัขนั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค ๑๑. ชาณุสโสณิสูตร
เพราะกรรมที่บุคคลในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท
เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในกำเนิดแห่งสุนัข และเพราะกรรม
ที่บุคคลนั้นเป็นผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก
และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาจึงได้อาหาร น้ำ ดอกไม้ และเครื่อง
ประดับต่าง ๆ ในกำเนิดแห่งสุนัขนั้น
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์
เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูด
ส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยาก
ได้ของเขา มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ บุคคลนั้นให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์
หลังจากตายแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับหมู่มนุษย์ และได้กามคุณ ๕
ที่เป็นของมนุษย์
เพราะกรรมที่บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจาก
การลักทรัพย์ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาด
จากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่
เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว เขาย่อม
เข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับหมู่มนุษย์ และเพราะกรรมที่บุคคลนั้นให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน
ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์
เขาจึงเป็นผู้ได้กามคุณ ๕ ที่เป็นของมนุษย์
อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นสัมมาทิฏฐิ
บุคคลนั้นให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และ
เครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ หลังจากตายแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็นผู้
อยู่ร่วมกับเทวดา และได้กามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์ในเทวโลกนั้น
เพราะกรรมที่บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็น
สัมมาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทวดา และเพราะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๒. ชาณุสโสณิวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
กรรมที่บุคคลนั้นให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน
ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาจึงได้กามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์ใน
เทวโลกนั้น พราหมณ์ ถึงอย่างไร ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล”
“ท่านพระโคดม น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ข้อที่ทายกเป็นผู้ไม่ไร้ผลนี้
ควรที่จะให้ทาน ควรที่จะศรัทธาโดยแท้”
“พราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนี้ ข้อนี้เป็นอย่างนี้ ถึงอย่างไร ทายกก็เป็นผู้ไม่ไร้ผล”
“ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดม
จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
ชาณุสโสณิสูตรที่ ๑๑ จบ
ชาณุสโสณิวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พราหมณปัจโจโรหณิสูตร ๒. อริยปัจโจโรหณิสูตร
๓. สคารวสูตร ๔. โอริมสูตร
๕. ปฐมอธัมมสูตร ๖. ทุติยอธัมมสูตร
๗. ตติยอธัมมสูตร ๘. กัมมนิทานสูตร
๙. ปริกกมนสูตร ๑๐. จุนทสูตร
๑๑. ชาณุสโสณิสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๓. สาธุวรรค ๑. สาธุสูตร
๓. สาธุวรรค
ว่าด้วยธรรมที่ดี และธรรมที่ไม่ดี
๑. สาธุสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ดี และธรรมที่ไม่ดี
[๑๗๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ดีและธรรม
ที่ไม่ดีแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูล
รับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่ไม่ดี อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์)
๒. อทินนาทาน (การลักทรัพย์)
๓. กาเมสุมิจฉาจาร (การประพฤติผิดในกาม)
๔. มุสาวาท (การพูดเท็จ)
๕. ปิสุณาวาจา (การพูดส่อเสียด)
๖. ผรุสวาจา (การพูดคำหยาบ)
๗. สัมผัปปลาปะ (การพูดเพ้อเจ้อ)
๘. อภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา)
๙. พยาบาท (ความคิดร้าย)
๑๐. มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด)
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ดี
ธรรมที่ดี อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต
๒. เจตนางดเว้นจากอทินนาทาน
๓. เจตนางดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๓. สาธุวรรค ๒. อริยธัมมสูตร
๔. เจตนางดเว้นจากมุสาวาท
๕. เจตนางดเว้นจากปิสุณาวาจา
๖. เจตนางดเว้นจากผรุสวาจา
๗. เจตนางดเว้นจากสัมผัปปลาปะ
๘. อนภิชฌา (ความไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา)
๙. อพยาบาท (ความไม่คิดร้าย)
๑๐. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ดี
สาธุสูตรที่ ๑ จบ

๒. อริยธัมมสูตร
ว่าด้วยอริยธรรม และอนริยธรรม
[๑๗๙] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอริยธรรมและอนริยธรรมแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
อนริยธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อนริยธรรม
อริยธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อริยธรรม
อริยธัมมสูตรที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๓. สาธุวรรค ๔. อัตถสูตร
๓. กุสลสูตร
ว่าด้วยกุศลธรรม และอกุศลธรรม
[๑๘๐] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงกุศลธรรมและอกุศลธรรมแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
อกุศลธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อกุศลธรรม
กุศลธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า กุศลธรรม
กุสลสูตรที่ ๓ จบ

๔. อัตถสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นประโยชน์ และที่ไม่เป็นประโยชน์
[๑๘๑] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่เป็นประโยชน์และธรรมที่ไม่เป็น
ประโยชน์แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์
ธรรมที่เป็นประโยชน์ อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่เป็นประโยชน์
อัตถสูตรที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๓. สาธุวรรค ๖. สาสวสูตร
๕. ธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรม และอธรรม
[๑๘๒] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมและอธรรมแก่เธอทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
อธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อธรรม
ธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรม
ธัมมสูตรที่ ๕ จบ

๖. สาสวสูตร
ว่าด้วยธรรมที่มีอาสวะ และที่ไม่มีอาสวะ
[๑๘๓] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่มีอาสวะและธรรมที่ไม่มีอาสวะแก่
เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่มีอาสวะ อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่มีอาสวะ
ธรรมที่ไม่มีอาสวะ อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่มีอาสวะ
สาสวสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๓. สาธุวรรค ๘. ตปนียสูตร
๗. วัชชสูตร
ว่าด้วยธรรมที่มีโทษ และที่ไม่มีโทษ
[๑๘๔] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่มีโทษและธรรมที่ไม่มีโทษแก่เธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่มีโทษ อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่มีโทษ
ธรรมที่ไม่มีโทษ อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่มีโทษ
วัชชสูตรที่ ๗ จบ

๘. ตปนียสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุ และไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน
[๑๘๕] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่เป็นเหตุให้เดือดร้อนและธรรมที่ไม่
เป็นเหตุให้เดือดร้อนแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่เป็นเหตุให้เดือดร้อน อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่เป็นเหตุให้เดือดร้อน
ธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อน
ตปนียสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๓. สาธุวรรค ๑๐. ทุกขุทรยสูตร
๙. อาจยคามิสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงจุติ ปฏิสนธิ และนิพพาน
[๑๘๖] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงจุติและปฏิสนธิ และ
ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงนิพพานแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจัก
กล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงจุติและปฏิสนธิ อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงจุติและปฏิสนธิ
ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน
อาจยคามิสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุกขุทรยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่มีทุกข์ และที่มีสุขเป็นกำไร
[๑๘๗] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่มีทุกข์เป็นกำไรและธรรมที่มีสุขเป็น
กำไรแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูล
รับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่มีทุกข์เป็นกำไร อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่มีทุกข์เป็นกำไร
ธรรมที่สุขเป็นกำไร อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่มีสุขเป็นกำไร
ทุกขุทรยสูตรที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๓. สาธุวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
๑๑. วิปากสูตร
ว่าด้วยธรรมที่มีทุกข์ และที่มีสุขเป็นวิบาก
[๑๘๘] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่มีทุกข์เป็นวิบากและธรรมที่มีสุข
เป็นวิบากแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่า
นั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมที่มีทุกข์เป็นวิบาก อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่มีทุกข์เป็นวิบาก
ธรรมที่สุขเป็นวิบาก อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่มีสุขเป็นวิบาก
วิปากสูตรที่ ๑๑ จบ
สาธุวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สาธุสูตร ๒. อริยธัมมสูตร
๓. กุสลสูตร ๔. อัตถสูตร
๕. ธัมมสูตร ๖. สาสวสูตร
๗. วัชชสูตร ๘. ตปนียสูตร
๙. อาจยคามิสูตร ๑๐. ทุกขุทรยสูตร
๑๑. วิปากสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๔. อริยมัคควรรค ๒. กัณหมัคคสูตร
๔. อริยมัคควรรค
หมวดว่าด้วยธรรมที่เป็นอริยมรรค
๑. อริยมัคคสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นอริยมรรค และที่ไม่ใช่อริยมรรค
[๑๘๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่เป็น
อริยมรรคและธรรมที่ไม่ใช่อริยมรรคแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ๑
ธรรมที่ไม่ใช่อริยมรรค อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ใช่อริยมรรค
ธรรมที่เป็นอริยมรรค อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่เป็นอริยมรรค
อริยมัคคสูตรที่ ๑ จบ

๒. กัณหมัคคสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นฝ่ายดำ และที่เป็นฝ่ายขาว
[๑๙๐] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่เป็นฝ่ายดำและธรรมที่เป็นฝ่ายขาว
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ
ธรรมที่เป็นฝ่ายดำ อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่เป็นฝ่ายดำ

เชิงอรรถ :
๑ ข้อ ๑๘๙-๑๙๘ ดูความเต็มในข้อ ๑๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๔. อริยมัคควรรค ๔. สัปปุริสธัมมสูตร
ธรรมที่เป็นฝ่ายขาว อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่เป็นฝ่ายขาว
กัณหมัคคสูตรที่ ๒ จบ

๓. สัทธัมมสูตร
ว่าด้วยสัทธรรม และอสัทธรรม
[๑๙๑] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัทธรรมและอสัทธรรมแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ
อสัทธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อสัทธรรม
สัทธรรม อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัทธรรม
สัทธัมมสูตรที่ ๓ จบ

๔. สัปปุริสธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมของสัตบุรุษ และธรรมของอสัตบุรุษ
[๑๙๒] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษ
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ
ธรรมของอสัตบุรุษ อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมของอสัตบุรุษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๔. อริยมัคควรรค ๖. อาเสวิตัพพธัมมสูตร
ธรรมของสัตบุรุษ อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมของสัตบุรุษ
สัปปุริสธัมมสูตรที่ ๔ จบ

๕. อุปปาเทตัพพธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรให้เกิดขึ้น และที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น
[๑๙๓] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรให้เกิดขึ้นและธรรมที่ไม่ควรให้
เกิดขึ้นแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ
ธรรมที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น
ธรรมที่ควรให้เกิดขึ้น อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ควรให้เกิดขึ้น
อุปปาเทตัพพธัมมสูตร ที่ ๕ จบ

๖. อาเสวิตัพพธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรเสพ และที่ไม่ควรเสพ๑
[๑๙๔] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรเสพและธรรมที่ไม่ควรเสพแก่
เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ
ธรรมที่ไม่ควรเสพ อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ควรเสพ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๕๐ (อาเสวิตัพพสูตร) หน้า ๒๙๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๔. อริยมัคควรรค ๘. พหุลีกาตัพพสูตร
ธรรมที่ควรเสพ อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ควรเสพ
อาเสวิตัพพธัมมสูตรที่ ๖ จบ

๗. ภาเวตัพพธัมมสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรเจริญ และที่ไม่ควรเจริญ
[๑๙๕] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรเจริญและธรรมที่ไม่ควรเจริญ
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ
ธรรมที่ไม่ควรเจริญ อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ควรเจริญ
ธรรมที่ควรเจริญ อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ควรเจริญ
ภาเวตัพพธัมมสูตรที่ ๗ จบ

๘. พหุลีกาตัพพสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรทำให้มาก และที่ไม่ควรทำให้มาก
[๑๙๖] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรทำให้มากและธรรมที่ไม่ควร
ทำให้มากแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ
ธรรมที่ไม่ควรทำให้มาก อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ควรทำให้มาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๔. อริยมัคควรรค ๑๐. สัจฉิกาตัพพสูตร
ธรรมที่ควรทำให้มาก อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ควรทำให้มาก
พหุลีกาตัพพสูตรที่ ๘ จบ

๙. อนุสสริตัพพสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรระลึก และที่ไม่ควรระลึก
[๑๙๗] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรระลึกและธรรมที่ไม่ควรระลึก
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ
ธรรมที่ไม่ควรระลึก อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ควรระลึก
ธรรมที่ควรระลึก อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ควรระลึก
อนุสสริตัพพสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. สัจฉิกาตัพพสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ควรทำให้แจ้ง และที่ไม่ควรทำให้แจ้ง
[๑๙๘] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรทำให้แจ้งและธรรมที่ไม่ควร
ทำให้แจ้งแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ
ธรรมที่ไม่ควรทำให้แจ้ง อะไรบ้าง คือ
๑. ปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ไม่ควรทำให้แจ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๔. อริยมัคควรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง อะไรบ้าง คือ
๑. เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ ๑๐. สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง
สัจฉิกาตัพพสูตรที่ ๑๐ จบ
อริยมัคควรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อริยมัคคสูตร ๒. กัณหมัคคสูตร
๓. สัทธัมมสูตร ๔. สัปปุริสธัมมสูตร
๕. อุปปาเทตัพพธัมมสูตร ๖. อาเสวิตัพพธัมมสูตร
๗. ภาเวตัพพธัมมสูตร ๘. พหุลีกาตัพพสูตร
๙. อนุสสริตัพพสูตร ๑๐. สัจฉิกาตัพพสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๕. อปรปุคควรรค ๑. นเสวิตัพพาทิสูตร
๕. อปรปุคคลวรรค
หมวดว่าด้วยบุคคล อีกหมวดหนึ่ง
๑. นเสวิตัพพาทิสูตร
ว่าด้วยบุคคลที่ไม่ควรเสพ๑เป็นต้น
[๑๙๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม
๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรเสพ
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ บุคคล

๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ๒. เป็นผู้ลักทรัพย์
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม ๔. เป็นผู้พูดเท็จ
๕. เป็นผู้พูดส่อเสียด ๖. เป็นผู้พูดคำหยาบ
๗. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ ๘. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๙. เป็นผู้มีจิตพยาบาท ๑๐. เป็นมิจฉาทิฏฐิ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่ควรเสพ
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรเสพ
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ บุคคล
๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
๒. เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
๓. เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
๕. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
๖. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๕๕ (เสวิตัพพสูตร) หน้า ๒๙๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๕. อปรปุคควรรค ๑. นเสวิตัพพาทิสูตร
๗. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
๘. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๙. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท
๑๐. เป็นสัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้ เป็นผู้ควรเสพ (๑)
(ในที่นี้ ควรนับสูตรที่ ๒๐๐ เป็นต้นไปตามที่ ฯลฯ ไว้)
[๒๐๐] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรคบ ... ภิกษุทั้งหลาย
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรคบ ...
[๒๐๑] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรนั่งใกล้ ... ภิกษุ
ทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรเข้าไปนั่งใกล้ ...
[๒๐๒] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรบูชา ... ภิกษุ
ทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรบูชา ...
[๒๐๓] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรสรรเสริญ ... ภิกษุ
ทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรสรรเสริญ ...
[๒๐๔] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรเคารพ ... ภิกษุ
ทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรเคารพ ...
[๒๐๕] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรยำเกรง ... ภิกษุ
ทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรยำเกรง ...
[๒๐๖] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่ควรให้ยินดี ... ภิกษุ
ทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ควรให้ยินดี ...
[๒๐๗] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมไม่บริสุทธิ์ ... ภิกษุทั้งหลาย
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมบริสุทธิ์ ...
[๒๐๘] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมครอบงำมานะไม่ได้ ... ภิกษุ
ทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมครอบงำมานะได้ ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๔. จตุตถปัณณาสก์] ๕. อปรปุคควรรค ๑. นเสวิตัพพาทิสูตร
[๒๐๙] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมไม่เจริญด้วยปัญญา ...
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมเจริญด้วยปัญญา ...
(๒-๑๑)
[๒๑๐] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมประสพสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็น
อันมาก ... ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมประสพบุญ
เป็นอันมาก
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ บุคคล
๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
๒. เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
๓. เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
๕. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
๖. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
๗. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
๘. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๙. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท
๑๐. เป็นสัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมประสพบุญ
เป็นอันมาก (๑๒)
นเสวิตัพพาทิสูตร จบ
อปรปุคคลวรรคที่ ๕ จบ
จตุตถปัณณาสก์ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๑. ปฐมนิรยสัคคสูตร
๕. ปัญจมปัณณาสก์
๑. กรชกายวรรค
หมวดว่าด้วยกรชกาย๑
๑. ปฐมนิรยสัคคสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดในนรกและสวรรค์ สูตรที่ ๑
[๒๑๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐
ประการ ย่อมดำรงอยู่ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ในการฆ่าและการทุบตี
ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง
๒. เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ เป็นผู้ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของ
ผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบ้าน หรืออยู่ในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครอง
ของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ในปกครองของบิดามารดา
ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว
ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่อยู่ในปกครองของโคตร ที่ประพฤติธรรม มี
สามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่สุด แม้สตรีที่บุรุษสวมด้วยพวงมาลัย
หมายไว้
๔. เป็นผู้พูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่
ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยาน
ซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใดจงกล่าวสิ่งนั้น’ บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า ‘รู้’ หรือ

เชิงอรรถ :
๑ กรชกาย หมายถึงร่างกายที่เกิดจากธุลีคือราคะ (เทียบ ขุ.ม. ๒๙/๒๐๙/๔๓๑, ขุ.จู. ๓๐/๗๔/๑๖๒, ที.สี.ฏีกา
(อภินว) ๔๕/๕๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๑. ปฐมนิรยสัคคสูตร
รู้ก็กล่าวว่า ‘ไม่รู้’ ไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘เห็น’ หรือเห็นก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’
กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะ
เหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง
๕. เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลาย
ฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น ยุยง
คนที่สามัคคีกัน ส่งเสริมคนที่แตกแยกกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่
แตกแยกกัน พูดแต่ถ้อยคำที่ก่อความแตกแยกกัน
๖. เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ กล่าวแต่คำที่หยาบคาย กล้าแข็ง เผ็ดร้อน
หยาบคายร้ายกาจแก่ผู้อื่น กระทบกระทั่งผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่
เป็นไปเพื่อสมาธิ
๗. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ พูดไม่ถูกเวลา พูดคำไม่จริง พูดไม่อิงประโยชน์
พูดไม่อิงธรรม พูดไม่อิงวินัย พูดคำที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่
กำหนด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
๘. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้ม
ใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’
๙. เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูก
ทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศไป หรืออย่าได้มี’
๑๐. เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชา
แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วก็ไม่มี
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์
ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้า
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก’
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์ เหมือนได้รับ
อัญเชิญไปประดิษฐานไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๑. ปฐมนิรยสัคคสูตร
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ บุคคล
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความ
ละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ ไม่ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นซึ่งอยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วย
จิตเป็นเหตุขโมย
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือ ไม่เป็นผู้ประพฤติล่วง
ในสตรีที่อยู่ในปกครองของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ใน
ปกครองของบิดามารดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ใน
ปกครองของพี่สาวน้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่อยู่ในปกครอง
ของโคตร ที่ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่สุดแม้แต่
สตรีที่บุรุษสวมด้วยพวงมาลัยหมายไว้
๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลาง
หมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้าง
เป็นพยานซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใดจงกล่าวสิ่งนั้น’ บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า
‘ไม่รู้’ หรือรู้ก็กล่าวว่า ‘รู้’ ไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’ หรือเห็นก็กล่าวว่า
‘เห็น’ ไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็น
เหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง
๕. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอก
ฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้
เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกแยกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน
ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์
ความสามัคคี
๖. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๒. ทุติยนิรยสัคคสูตร
๗. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิง
ประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่
กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์
๘. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็น
อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’
๙. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือ ไม่มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่
มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิด’
๑๐. เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชา
แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วมี โลกนี้มี
โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ โอปปาติกสัตว์มี สมณพราหมณ์ผู้
ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก’
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ปฐมนิรยสัคคสูตรที่ ๑ จบ

๒. ทุติยนิรยสัคคสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้เกิดในนรกและสวรรค์ สูตรที่ ๒
[๒๑๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมดำรงอยู่
ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ในการฆ่าและการทุบตี
ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๒. ทุติยนิรยสัคคสูตร
๒. เป็นผู้ลักทรัพย์ ...
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม ...
๔. เป็นผู้พูดเท็จ ...
๕. เป็นผู้พูดส่อเสียด ...
๖. เป็นผู้พูดคำหยาบ ...
๗. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ ...
๘. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ...
๙. เป็นผู้มีจิตพยาบาท ...
๑๐. เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ฯลฯ ทำให้
แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มี
ในโลก’
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ในนรก เหมือนถูก
นำไปฝังไว้
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์ เหมือนได้รับ
อัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความ
ละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ ...
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ...
๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ ...
๕. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด ...
๖. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๓. มาตุคามสูตร
๗. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ...
๘. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ...
๙. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท ...
๑๐. เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล ฯลฯ ทำให้
แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่
ในโลก’
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ทุติยนิรยสัคคสูตรที่ ๒ จบ

๓. มาตุคามสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้มาตุคามเกิดในนรกและสวรรค์
[๒๑๓] ภิกษุทั้งหลาย มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมดำรง
อยู่ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๑๐. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้
มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์ เหมือนได้รับ
อัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๑๐. เป็นสัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
มาตุคามสูตรที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๕. วิวารทสูตร
๔. อุปาสิกาสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้อุบาสิกาเกิดในนรกและสวรรค์
[๒๑๔] ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมดำรง
อยู่ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๑๐. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
นรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๑๐. เป็นสัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
อุปาสิกาสูตรที่ ๔ จบ

๕. วิสารทสูตร
ว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้อุบาสิกาเป็นผู้ไม่แกล้วกล้าและผู้แกล้วกล้า
[๒๑๕] ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้ไม่
แกล้วกล้าอยู่ครองเรือน
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๑๐. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่แกล้วกล้า
อยู่ครองเรือน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๖. สังสัปปติปริยายสูตร
อุบาสิกาประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ เป็นผู้แกล้วกล้าอยู่ครองเรือน
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๑๐. เป็นสัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นผู้แกล้วกล้า
อยู่ครองเรือน
วิสารทสูตรที่ ๕ จบ

๖. สังสัปปติปริยายสูตร
ว่าด้วยเหตุแห่งความกระเสือกกระสน
[๒๑๖] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยาย๑ที่แสดงเหตุแห่งความ
กระเสือกกระสนแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุ
เหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ธรรมบรรยายที่แสดงเหตุแห่งความกระเสือกกระสน เป็นอย่างไร
คือ สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็น
กำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดี
หรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่
ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง บุคคลนั้นย่อม
กระเสือกกระสนด้วยกาย วาจา และใจ กายกรรม วจีกรรม และมโน-
กรรมของเขาคดเคี้ยว คติของเขาก็คดเคี้ยว การอุบัติของเขาก็คดเคี้ยว
สำหรับผู้มีคติคดเคี้ยว มีอุบัติคดเคี้ยว เรากล่าวว่ามีคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง
คือ นรกมีทุกข์โดยส่วนเดียว หรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานที่มีปกติกระเสือกกระสน
กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานที่มีปกติกระเสือกกระสน เป็นอย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมบรรยาย หมายถึงพระธรรมเทศนา (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑๖/๓๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๖. สังสัปปติปริยายสูตร
คือ งู แมงป่อง ตะขาบ พังพอน แมว หนู นกเค้าแมว หรือสัตว์ผู้เข้าถึง
กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเหล่าใดเหล่าหนึ่งแม้อื่น ๆ เห็นมนุษย์แล้ว ย่อมกระเสือกกระสน
การอุบัติของสัตว์ทั้งหลายย่อมมีได้เพราะกรรมที่มีแล้วอย่างนี้ คือ สัตว์นั้นย่อมอุบัติ
ด้วยกรรมที่ตนทำไว้ ผัสสะอันเป็นวิบากทั้งหลายย่อมถูกต้องสัตว์นี้ผู้อุบัติแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรมอย่างนี้
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ลักทรัพย์ ...
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม ...
๔. เป็นผู้พูดเท็จ ...
๕. เป็นผู้พูดส่อเสียด ...
๖. เป็นผู้พูดคำหยาบ ...
๗. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ ...
๘. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ...
๙. เป็นผู้มีจิตพยาบาท ...
๑๐. เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชา
แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วก็ไม่มี
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์
ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้า
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก’ บุคคลนั้น ย่อม
กระเสือกกระสนด้วยกาย วาจา และใจ กายกรรม วจีกรรม และมโน-
กรรมของเขาคดเคี้ยว คติของเขาก็คดเคี้ยว การอุบัติของเขาก็คดเคี้ยว
สำหรับบุคคลผู้มีคติคดเคี้ยว มีอุบัติคดเคี้ยว เรากล่าวว่ามีคติอย่าง ๑ ใน ๒
อย่าง คือ นรกมีทุกข์โดยส่วนเดียว หรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานที่มีปกติกระเสือก
กระสน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๖. สังสัปปติปริยายสูตร
กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานที่มีปกติกระเสือกกระสน เป็นอย่างไร
คือ งู แมงป่อง ตะขาบ พังพอน แมว หนู นกเค้าแมว หรือสัตว์ผู้เข้าถึง
กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเหล่าใดเหล่าหนึ่งแม้อื่น ๆ เห็นมนุษย์แล้ว ย่อมกระเสือกกระสน
การอุบัติของสัตว์ทั้งหลายย่อมมีได้เพราะกรรมที่มีแล้วอย่างนี้ คือ สัตว์นั้นย่อมอุบัติ
ด้วยกรรมที่ตนทำไว้ ผัสสะอันเป็นวิบากทั้งหลายย่อมถูกต้องสัตว์นี้ผู้อุบัติแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรมอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มี
กรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ จะเป็น
กรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
๑. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและ
ศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อ
สรรพสัตว์อยู่ บุคคลนั้นย่อมไม่กระเสือกกระสนด้วยกาย วาจา และใจ
กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมของเขาตรง คติของเขาก็ตรง การ
อุบัติของเขาก็ตรง
สำหรับบุคคลผู้มีคติตรง มีอุบัติตรง เรากล่าวว่ามีคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง
คือ เป็นคนมีสุขโดยส่วนเดียว หรือเป็นคนมีตระกูลสูง เช่น ตระกูลกษัตริย์มหาศาล
ตระกูลพราหมณ์มหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาลที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะ
มาก มีเงินทองมาก มีทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจมาก มีทรัพย์และ
ข้าวเปลือกมาก การอุบัติของสัตว์ทั้งหลายย่อมมีได้เพราะกรรมที่มีแล้วอย่างนี้ คือ
สัตว์นั้นย่อมอุบัติด้วยกรรมที่ตนทำไว้ ผัสสะอันเป็นวิบากย่อมถูกต้องสัตว์นี้ผู้อุบัติแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรมอย่างนี้
๒. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ ...
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ...
๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ ...
๕. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๖. สังสัปปติปริยายาสูตร
๖. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ ...
๗. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ...
๘. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ...
๙. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท ...
๑๐. เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชา
แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วมี โลกนี้มี
โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ โอปปาติกสัตว์มี สมณพราหมณ์ผู้
ประพฤติดีปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก’ บุคคลนั้นย่อมไม่กระเสือกกระสน
ด้วยกาย วาจา และใจ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมของเขาตรง
คติของเขาก็ตรง การอุบัติของเขาก็ตรง
สำหรับบุคคลผู้มีคติตรง มีอุบัติตรง เรากล่าวว่ามีคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง
คือ เป็นคนมีสุขโดยส่วนเดียว หรือเป็นคนมีตระกูลสูง เช่น ตระกูลกษัตริย์มหาศาล
ตระกูลพราหมณ์มหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาลที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะ
มาก มีเงินทองมาก มีทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือก
มาก การอุบัติของสัตว์ทั้งหลายย่อมมีได้เพราะกรรมที่มีแล้วอย่างนี้ คือ สัตว์นั้น
ย่อมอุบัติด้วยกรรมที่ตนทำไว้ ผัสสะอันเป็นวิบากย่อมถูกต้องสัตว์นี้ผู้อุบัติแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรมอย่างนี้
สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด
มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว
ก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นธรรมบรรยายที่แสดงเหตุแห่งความกระเสือกกระสน
สังสัปปติปริยายสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปํญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๗. ปฐมสัญเจตนิกสูตร
๗. ปฐมสัญเจตนิกสูตร
ว่าด้วยกรรมที่สัตว์เจตนาสั่งสม สูตรที่ ๑
[๒๑๗] ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้วิบากกรรม จะไม่กล่าวถึงความสิ้นสุดแห่ง
กรรมที่สัตว์เจตนาทำขึ้น สั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้นเองที่สัตว์พึงเสวยในปัจจุบันก็มี ใน
อัตภาพถัดไปก็มี หรือในอัตภาพต่อ ๆ ไปก็มี ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้วิบากกรรม
จะไม่กล่าวถึงการทำที่สุดแห่งทุกข์ของกรรมที่สัตว์เจตนาทำขึ้น สั่งสมขึ้น ในข้อ
นั้นแล วิบัติคือโทษแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก
๓ ประการ วิบัติคือโทษแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์
เป็นวิบาก ๔ ประการ วิบัติคือโทษแห่งมโนกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็น
กำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ๓ ประการ
วิบัติคือโทษแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์
เป็นวิบาก ๓ ประการ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ หยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ในการฆ่าและการทุบตี
ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง
๒. เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ เป็นผู้ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของ
ผู้อื่นซึ่งอยู่ในบ้าน หรืออยู่ในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครอง
ของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย
ที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่ประพฤติ
ธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่สุด แม้สตรีที่บุรุษสวมด้วยพวง
มาลัยหมายไว้
วิบัติคือโทษแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็น
วิบาก ๓ ประการ เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปํญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๗. ปฐมสัญเจตนิกสูตร
วิบัติคือโทษแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็น
วิบาก ๔ ประการ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้พูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่
ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยาน
ซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใดจงกล่าวสิ่งนั้น’ บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า ‘รู้’ หรือรู้
ก็กล่าวว่า ‘ไม่รู้’ ไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘เห็น’ หรือเห็นก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’
กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะ
เหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง
๒. เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้
หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น ยุยงคนที่
สามัคคีกัน ส่งเสริมคนที่แตกแยกกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่แตก
แยกกัน พูดแต่ถ้อยคำที่ก่อความแตกแยกกัน
๓. เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ กล่าวแต่คำที่หยาบคาย กล้าแข็ง เผ็ดร้อน
หยาบคายร้ายกาจแก่ผู้อื่น กระทบกระทั่งผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ ไม่
เป็นไปเพื่อสมาธิ
๔. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ พูดไม่ถูกเวลา พูดคำไม่จริง พูดไม่อิงประโยชน์
พูดไม่อิงธรรม พูดไม่อิงวินัย พูดคำที่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่
กำหนด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
วิบัติคือโทษแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก
๔ ประการ เป็นอย่างนี้แล
วิบัติคือโทษแห่งมโนกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์
เป็นวิบาก ๓ ประการ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้ม
ใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๗. ปฐมสัญเจตนิกสูตร
๒. เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า จงถูก
ทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศไป หรืออย่าได้มี’
๓. เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชา
แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วก็ไม่มี
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์
ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และ
โลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก’
วิบัติคือโทษแห่งมโนกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็น
วิบาก ๓ ประการ เป็นอย่างนี้แล
เพราะวิบัติคือโทษแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล ๓ ประการ เพราะวิบัติ
คือโทษแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล ๔ ประการ หรือเพราะวิบัติคือโทษแห่ง
มโนกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล ๓ ประการ สัตว์ทั้งหลายหลังจากตายแล้วจึงไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ภิกษุทั้งหลาย เพราะวิบัติคือโทษแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล ๓ ประการ
เพราะวิบัติคือโทษแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล ๔ ประการ หรือเพราะวิบัติคือ
โทษแห่งมโนกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล ๓ ประการ สัตว์ทั้งหลายหลังจากตายแล้ว
จึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เปรียบเหมือนแก้วมณีหกเหลี่ยมถูกโยนขึ้นสูง
ก็กลับลงมาตั้งอยู่ด้วยดีตามปกติ ฉะนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้วิบากกรรม จะไม่กล่าวถึงความสิ้นสุดแห่งกรรมที่
สัตว์เจตนาทำขึ้น สั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้นเองที่สัตว์พึงเสวยในปัจจุบันก็มี ในอัตภาพ
ถัดไปก็มี หรือในอัตภาพต่อ ๆ ไปก็มี ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้วิบากกรรม จะไม่
กล่าวถึงการทำที่สุดแห่งทุกข์ของกรรมที่สัตว์เจตนาทำขึ้น สั่งสมขึ้น ในข้อนั้นแล
สมบัติแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ๓ ประการ
สมบัติแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ๔ ประการ
สมบัติแห่งมโนกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ๓ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๗. ปฐมสัญเจตนิกสูตร
สมบัติแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ๓
ประการ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มีความ
ละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ ไม่ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรืออยู่ในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วย
จิตเป็นเหตุขโมย
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือ ไม่เป็นผู้ประพฤติล่วง
ในสตรีทั้งหลายที่อยู่ในปกครองของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่
อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว ที่
อยู่ในปกครองของญาติ ที่ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง
โดยที่สุดแม้แต่สตรีที่บุรุษสวมด้วยพวงมาลัยหมายไว้
สมบัติแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ๓
ประการ เป็นอย่างนี้แล
สมบัติแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ๔
ประการ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลก
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คืออยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่
ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก
ถูกเขาอ้างเป็นพยานซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใดจงกล่าวสิ่งนั้น’ บุคคลนั้นไม่
รู้ก็กล่าวว่า ‘ไม่รู้’ หรือรู้ก็กล่าวว่า ‘รู้’ ไม่เห็นกล่าวว่า ‘ไม่เห็น’ หรือเห็น
ก็กล่าวว่า ‘เห็น’ ไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคล
อื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง
๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอก
ฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๗. ปฐมสัญเจตนิกสูตร
เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกแยกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน
ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์
ความสามัคคี
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือกล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูด
อิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่
กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์
สมบัติแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ๔ ประการ
เป็นอย่างนี้แล
สมบัติแห่งมโนกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ๓
ประการ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็น
อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’
๒. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือ ไม่มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงเป็นผู้ไม่
มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิด’
๓. เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้ว
มีผล การเซ่นสรวงมีผล ฯลฯ สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ
ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง
มีอยู่ในโลก’
สมบัติแห่งมโนกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ๓ ประการ
เป็นอย่างนี้แล
เพราะสมบัติแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล ๓ ประการ เพราะสมบัติแห่ง
วจีกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล ๔ ประการ หรือเพราะสมบัติแห่งมโนกรรมที่มีเจตนา
เป็นกุศล ๓ ประการ สัตว์ทั้งหลาย หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๘. ทุติยสัญเจตนิกสูตร
ภิกษุทั้งหลาย เพราะสมบัติแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล ๓ ประการ
เพราะสมบัติแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล ๔ ประการ หรือเพราะสมบัติแห่ง
มโนกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล ๓ ประการ สัตว์ทั้งหลายหลังจากตายแล้วจึงไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์ เปรียบเหมือนแก้วมณี ๔ เหลี่ยมที่บุคคลโยนขึ้นข้างบน ตกลงมา
ทางเหลี่ยมใด ๆ ก็ตั้งอยู่ได้ตามเหลี่ยมที่ตกลงนั้น ๆ
ปฐมสัญเจตนิกสูตรที่ ๗ จบ

๘. ทุติยสัญเจตนิกสูตร
ว่าด้วยกรรมที่สัตว์เจตนาสั่งสม สูตรที่ ๒
[๒๑๘] ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้วิบากกรรม จะไม่กล่าวถึงความสิ้นสุดแห่ง
กรรมที่สัตว์เจตนาทำขึ้น สั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้นที่สัตว์พึงเสวยในปัจจุบันก็มี ใน
อัตภาพถัดไปก็มี หรือในอัตภาพต่อ ๆ ไปก็มี ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้วิบากกรรม
จะไม่กล่าวถึงการทำที่สุดแห่งทุกข์ของกรรมที่สัตว์เจตนาทำขึ้น สั่งสมขึ้น ในข้อนั้นแล
วิบัติคือโทษแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ๓
ประการ วิบัติคือโทษแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็น
วิบาก ๔ ประการ วิบัติคือโทษแห่งมโนกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร
มีทุกข์เป็นวิบาก ๓ ประการ
วิบัติคือโทษแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก
๓ ประการ เป็นอย่างไร ฯลฯ๑ วิบัติคือโทษแห่งกายกรรม ที่มีเจตนาเป็นอกุศล มี
ทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ๓ ประการ เป็นอย่างนี้แล
วิบัติคือโทษแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็น
วิบาก ๔ ประการ เป็นอย่างไร ฯลฯ วิบัติคือโทษแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล
มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ๔ ประการ เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ “ฯลฯ” ที่ปรากฏในสูตรนี้ ดูความเต็มในข้อ ๒๑๗ (ปฐมสัญเจตนิกสูตร)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๘. ทุติยสัญเจตนิกสูตร
วิบัติคือโทษแห่งมโนกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็น
วิบาก ๓ ประการ เป็นอย่างไร ฯลฯ วิบัติคือโทษแห่งมโนกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล
มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก ๔ ประการ เป็นอย่างนี้แล
เพราะวิบัติคือโทษแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล ๓ ประการ เพราะวิบัติ
คือโทษแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล ๔ ประการ หรือเพราะวิบัติคือโทษแห่ง
มโนกรรมที่มีเจตนาเป็นอกุศล ๓ ประการ สัตว์ทั้งหลายหลังจากตายแล้วจึงไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้วิบากกรรม จะไม่กล่าวถึงความสิ้นสุดแห่งกรรมที่
สัตว์เจตนาทำขึ้น สั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้นเองที่สัตว์พึงเสวยในปัจจุบันก็มี ในอัตภาพ
ถัดไปก็มี หรือในอัตภาพต่อ ๆ ไปก็มี ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้วิบากกรรม จะไม่
กล่าวถึงการทำที่สุดแห่งทุกข์ของกรรมที่สัตว์เจตนาทำขึ้น สั่งสมขึ้น ในข้อนั้นแล
สมบัติแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ๓ ประการ
สมบัติแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ๔ ประการ
สมบัติแห่งมโนกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ๓ ประการ
สมบัติแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ๓
ประการ เป็นอย่างไร ฯลฯ สมบัติแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร
มีสุขเป็นวิบาก ๓ ประการ เป็นอย่างนี้แล
สมบัติแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ๔
ประการ เป็นอย่างไร ฯลฯ สมบัติแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร
มีสุขเป็นวิบาก ๔ ประการ เป็นอย่างนี้แล
สมบัติแห่งมโนกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก ๓
ประการ เป็นอย่างไร ฯลฯ สมบัติแห่งมโนกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร
มีสุขเป็นวิบาก ๓ ประการ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เพราะสมบัติแห่งกายกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล ๓ ประการ
เพราะสมบัติแห่งวจีกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล ๔ ประการ หรือเพราะสมบัติแห่ง
มโนกรรมที่มีเจตนาเป็นกุศล ๓ ประการ สัตว์ทั้งหลายหลังจากตายแล้วจึงไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์
ทุติยสัญเจตนิกสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปํญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๙. กรชกายสูตร
๙. กรชกายสูตร
ว่าด้วยบาปกรรมที่กรชกายเคยทำ
[๒๑๙] ภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้วิบากกรรม จะไม่กล่าวถึงความสิ้นสุดแห่ง
กรรมที่สัตว์เจตนาทำขึ้น สั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้นเองที่สัตว์พึงเสวยในปัจจุบันก็มี ใน
อัตภาพถัดไปก็มี หรือในอัตภาพต่อ ๆ ไปก็มี เรายังไม่รู้วิบากกรรม จะไม่กล่าวถึง
การทำที่สุดแห่งทุกข์ของกรรมที่สัตว์เจตนาทำขึ้น สั่งสมขึ้น อริยสาวกนั้นนั่นแล
ปราศจากอภิชฌา ปราศจากพยาบาท ไม่ลุ่มหลง มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มี
เมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ทิศเบื้องบน๑ ทิศเบื้องล่าง๒
ทิศเฉียง๓ แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์
เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ อริยสาวกนั้นย่อม
รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘เมื่อก่อน จิตของเรานี้เป็นปริตตจิต๔ยังไม่ได้อบรม แต่บัดนี้ เป็น
อัปปมาณจิต๕ ได้อบรมดีแล้ว กามาวจรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ย่อมไม่เหลืออยู่
ไม่ตั้งอยู่ในจิตของเรา’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ หาก
เด็กนี้พึงเจริญเมตตาเจโตวิมุตติตั้งแต่เวลายังเป็นเด็กอยู่ เขาจะพึงทำบาปกรรมได้
หรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ทุกข์พึงถูกต้องบุคคลผู้ไม่ทำบาปกรรมเลยหรือ”
“เป็นไปไม่ได้เลยที่ทุกข์จักถูกต้องบุคคลผู้ไม่ทำบาปกรรม พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ เบื้องบน หมายถึงเทวโลก (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา. ๑/๒๕๔/๔๓๕)
๒ เบื้องล่าง หมายถึงนรกและนาคภพ (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา. ๑/๒๕๔/๔๓๕)
๓ ทิศเฉียง หมายถึงทิศย่อยของทิศใหญ่หรือทิศรอบ ๆ (วิสุทฺธิ.มหาฏีกา. ๑/๒๕๔/๔๓๕)
๔ ปริตตจิต ในที่นี้หมายถึงจิตที่มีพลังน้อย เป็นจิตที่ยังไม่ได้รับการฝึกฝนจนชำนาญ
๕ อัปปมาณจิต ในที่นี้หมายถึงจิตที่มีพลังมากโดยมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา แผ่ไปในสัตว์ทั้งหลาย
ไม่จำกัด และเป็นจิตที่ถูกฝึกจนชำนาญ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑๙/๓๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๙. กรชกายสูตร
“ภิกษุทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุตตินี้ สตรีหรือบุรุษควรเจริญแท้ สตรีหรือบุรุษ
จะพาเอากายนี้ไปไม่ได้ สัตว์ผู้จะต้องตายนี้เป็นผู้มีจิตเป็นเหตุ สัตว์นั้นย่อมรู้ชัดอย่าง
นี้ว่า ‘บาปกรรมอะไร ๆ ของเรานี้ที่กรชกายนี้เคยทำมาแล้ว บาปกรรมนั้นทั้งหมด
เราพึงเสวยในอัตภาพนี้ จักไม่ติดตามไป’ ภิกษุทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุตติที่ภิกษุผู้มี
ปัญญาในธรรมวินัยนี้ยังไม่แทงตลอดวิมุตติอันยิ่ง อบรมแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อ
ความเป็นอนาคามี อริยสาวกมีกรุณาจิต ... มุทิตาจิต ... อุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่
๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลก
ทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘เมื่อก่อน จิต
ของเรานี้เป็นปริตตจิต ยังไม่ได้อบรม แต่บัดนี้ จิตของเรานี้เป็นอัปปมาณจิตได้อบรม
ดีแล้ว กามาวจรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นย่อมไม่เหลืออยู่ ไม่ตั้งอยู่ในจิตของเรา’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ หากเด็กนี้จะพึงเจริญอุเบกขา
เจโตวิมุตติตั้งแต่เวลายังเป็นเด็ก เขาพึงทำบาปกรรมได้หรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ทุกข์พึงถูกต้องบุคคลผู้ไม่ทำบาปกรรมเลยหรือ”
“เป็นไปไม่ได้เลยที่ทุกข์จักถูกต้องบุคคลผู้ไม่ทำบาปกรรม พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อุเบกขาเจโตวิมุตตินี้ สตรีหรือบุรุษควรเจริญแท้ สตรีหรือ
บุรุษจะพาเอากายนี้ไปไม่ได้ สัตว์ผู้จะต้องตายนี้เป็นผู้มีจิตเป็นเหตุ สัตว์นั้นย่อมรู้ชัด
อย่างนี้ว่า ‘บาปกรรมอะไร ๆ ของเรานี้ ที่กรชกายนี้เคยทำมาแล้ว บาปกรรมนั้น
ทั้งหมดเราพึงเสวยในอัตภาพนี้ จักไม่ติดตามไป’ ภิกษุทั้งหลาย อุเบกขาเจโตวิมุตติ
ที่ภิกษุผู้มีปัญญาในธรรมวินัยนี้ยังไม่แทงตลอดวิมุตติอันยิ่ง อบรมแล้วอย่างนี้ ย่อม
เป็นไปเพื่อความเป็นอนาคามี”
กรชกายสูตรที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๑๐. อธัมมจริยาสูตร
๑๐. อธัมมจริยาสูตร
ว่าด้วยความประพฤติอธรรม
[๒๒๐] ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ท่านพระโคดม อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลัง
จากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เพราะความประพฤติอธรรมและ
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอเป็นเหตุ สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วจึงไป
เกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”
“ท่านพระโคดม อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจาก
ตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
“พราหมณ์ เพราะความประพฤติธรรมและความประพฤติสม่ำเสมอเป็นเหตุ
สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้ว จึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
“ข้าพเจ้ายังไม่รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่ท่านพระโคดมตรัสไว้โดยย่อ
นี้โดยพิสดาร ขอประทานวโรกาส ขอท่านพระโคดมโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า
อย่างที่ข้าพเจ้าจะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่ท่านพระโคดมตรัสไว้โดยย่อ
นี้โดยพิสดารเถิด”
“พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
พราหมณ์นั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“พราหมณ์ ความประพฤติอธรรมและความประพฤติไม่สม่ำเสมอทางกาย ๓
ประการ ความประพฤติอธรรมและความประพฤติไม่สม่ำเสมอทางวาจา ๔ ประการ
ความประพฤติอธรรมและความประพฤติไม่สม่ำเสมอทางใจ ๓ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปํญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค ๑๐. อธัมมจริยาสูตร
ความประพฤติอธรรม และความประพฤติไม่สม่ำเสมอทางกาย ๓ ประการ
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ๑ ความประพฤติอธรรมและความ
ประพฤติไม่สม่ำเสมอทางกาย ๓ ประการ เป็นอย่างนี้แล
ความประพฤติอธรรมและความประพฤติไม่สม่ำเสมอทางวาจา ๔ ประการ
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พูดเท็จ ฯลฯ ความประพฤติอธรรมและความ
ประพฤติไม่สม่ำเสมอทางวาจา ๔ ประการ เป็นอย่างนี้แล
ความประพฤติอธรรมและความประพฤติไม่สม่ำเสมอทางใจ ๓ ประการ
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ฯลฯ ความประพฤติ
อธรรมและความประพฤติไม่สม่ำเสมอทางใจ ๓ ประการ เป็นอย่างนี้แล
เพราะความประพฤติอธรรมและความประพฤติไม่สม่ำเสมอเป็นเหตุอย่างนี้แล
สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
พราหมณ์ ความประพฤติธรรม และความประพฤติสม่ำเสมอทางกาย ๓
ประการ ความประพฤติธรรมและความประพฤติสม่ำเสมอทางวาจา ๔ ประการ
ความประพฤติธรรม และความประพฤติสม่ำเสมอทางใจ ๓ ประการ
ความประพฤติธรรมและความประพฤติสม่ำเสมอทางกาย ๓ ประการ
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ความ
ประพฤติธรรมและความประพฤติสม่ำเสมอทางกาย ๓ ประการ เป็นอย่างนี้แล
ความประพฤติธรรมและความประพฤติสม่ำเสมอทางวาจา ๔ ประการ
เป็นอย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ ฯลฯ ที่ปรากฏในสูตรนี้ ดูความเต็มในข้อ ๒๑๗ (ปฐมสัญเจตนิกสูตร) หน้า ๓๕๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปํญจมปัณณาสก์] ๑. กรชกายวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ ฯลฯ ความ
ประพฤติธรรมและความประพฤติสม่ำเสมอทางวาจา ๔ ประการ เป็นอย่างนี้แล
ความประพฤติธรรมและความประพฤติสม่ำเสมอทางใจ ๓ ประการ
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ฯลฯ ความ
ประพฤติธรรมและความประพฤติสม่ำเสมอทางใจ ๓ ประการ เป็นอย่างนี้แล
พราหมณ์ เพราะความประพฤติธรรมและความประพฤติสม่ำเสมอเป็นเหตุ
อย่างนี้แล สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วจึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
พราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะ
ยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่
วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
อธัมมจริยาสูตรที่ ๑๐ จบ
กรชกายวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมนิรยสัคคสูตร ๒. ทุติยนิรยสัคคสูตร
๓. มาตุคามสูตร ๔. อุปาสิกาสูตร
๕. วิสารทสูตร ๖. สังสัปปติปริยายสูตร
๗. ปฐมสัญเจตนิกสูตร ๘. ทุติยสัญเจตนิกสูตร
๙. กรชกายสูตร ๑๐. อธัมมจริยาสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปํญจมปัณณาสก์] ๒. สามัญญวรรค
๒. สามัญญวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมทั่วไป
ธรรมที่ให้สัตว์เกิดในนรก ๑๐ ประการ
[๒๒๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐
ประการ ย่อมดำรงอยู่ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ๒. เป็นผู้ลักทรัพย์
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม ๔. เป็นผู้พูดเท็จ
๕. เป็นผู้พูดส่อเสียด ๖. เป็นผู้พูดคำหยาบ
๗. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ ๘. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๙. เป็นผู้มีจิตพยาบาท ๑๐. เป็นมิจฉาทิฏฐิ

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ในนรก
เหมือนถูกนำไปฝังไว้

ธรรมที่ให้สัตว์เกิดในสวรรค์ ๑๐ ประการ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
๒. เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
๓. เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
๔. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
๕. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๒. สามัญญวรรค
๖. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
๗. เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
๘. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๙. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท
๑๐. เป็นสัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ (๑)

ธรรมที่ให้สัตว์เกิดในนรก ๒๐ ประการ
[๒๒๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการ ย่อมดำรงอยู่
ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๒๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์
๒. ชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์
๓. ตนเองเป็นผู้ลักทรัพย์
๔. ชักชวนผู้อื่นให้ลักทรัพย์
๕. ตนเองเป็นผู้ประพฤติผิดในกาม
๖. ชักชวนผู้อื่นให้ประพฤติผิดในกาม
๗. ตนเองเป็นผู้พูดเท็จ
๘. ชักชวนผู้อื่นให้พูดเท็จ
๙. ตนเองเป็นผู้พูดส่อเสียด
๑๐. ชักชวนผู้อื่นให้พูดส่อเสียด
๑๑. ตนเองเป็นผู้พูดคำหยาบ
๑๒. ชักชวนผู้อื่นให้พูดคำหยาบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๒. สามัญญวรรค
๑๓. ตนเองเป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ
๑๔. ชักชวนผู้อื่นให้พูดเพ้อเจ้อ
๑๕. ตนเองเป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๑๖. ชักชวนผู้อื่นให้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๑๗. ตนเองเป็นผู้มีจิตพยาบาท
๑๘. ชักชวนผู้อื่นให้มีจิตพยาบาท
๑๙. ตนเองเป็นมิจฉาทิฏฐิ
๒๐. ชักชวนผู้อื่นให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
นรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้

ธรรมที่ให้สัตว์เกิดในสวรรค์ ๒๐ ประการ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๒๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
๒. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๓. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
๔. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการลักทรัพย์
๕. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
๖. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๗. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
๘. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเท็จ
๙. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
๑๐. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดส่อเสียด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปํญจมปัณณาสก์] ๒. สามัญญวรรค
๑๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
๑๒. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดคำหยาบ
๑๓. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
๑๔. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๑๕. ตนเองเป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๑๖. ชักชวนผู้อื่นให้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๑๗. ตนเองเป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท
๑๘. ชักชวนผู้อื่นให้มีจิตไม่พยาบาท
๑๙. ตนเองเป็นสัมมาทิฏฐิ
๒๐. ชักชวนผู้อื่นให้เป็นสัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ (๒)

ธรรมที่ให้สัตว์เกิดในนรก ๓๐ ประการ
[๒๒๓] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการ ย่อมดำรงอยู่
ในนรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้
ธรรม ๓๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์
๒. ชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์
๓. เป็นผู้พอใจการฆ่าสัตว์
๔. ตนเองเป็นผู้ลักทรัพย์
๕. ชักชวนผู้อื่นให้ลักทรัพย์
๖. เป็นผู้พอใจการลักทรัพย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๒. สามัญญวรรค
๗. ตนเองเป็นผู้ประพฤติผิดในกาม
๘. ชักชวนผู้อื่นให้ประพฤติผิดในกาม
๙. เป็นผู้พอใจการประพฤติผิดในกาม
๑๐. ตนเองเป็นผู้พูดเท็จ
๑๑. ชักชวนผู้อื่นให้พูดเท็จ
๑๒. เป็นผู้พอใจการพูดเท็จ
๑๓. ตนเองเป็นผู้พูดส่อเสียด
๑๔. ชักชวนผู้อื่นให้พูดส่อเสียด
๑๕. เป็นผู้พอใจการพูดส่อเสียด
๑๖. ตนเองเป็นผู้พูดคำหยาบ
๑๗. ชักชวนผู้อื่นให้พูดคำหยาบ
๑๘. เป็นผู้พอใจการพูดคำหยาบ
๑๙. ตนเองเป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ
๒๐. ชักชวนผู้อื่นให้พูดเพ้อเจ้อ
๒๑. เป็นผู้พอใจการพูดเพ้อเจ้อ
๒๒. ตนเองเป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๒๓. ชักชวนผู้อื่นให้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๒๔. เป็นผู้พอใจความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๒๕. ตนเองเป็นผู้มีจิตพยาบาท
๒๖. ชักชวนผู้อื่นให้มีจิตพยาบาท
๒๗. เป็นผู้พอใจความมีจิตพยาบาท
๒๘. ตนเองเป็นมิจฉาทิฏฐิ
๒๙. ชักชวนผู้อื่นให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ
๓๐. เป็นผู้พอใจความเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
นรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๒. สามัญญวรรค
ธรรมที่ให้สัตว์เกิดในสวรรค์ ๓๐ ประการ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๓๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
๒. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๓. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๔. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
๕. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการลักทรัพย์
๖. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการลักทรัพย์
๗. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
๘. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๙. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๑๐. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ
๑๑. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเท็จ
๑๒. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการพูดเท็จ
๑๓. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
๑๔. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดส่อเสียด
๑๕. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการพูดส่อเสียด
๑๖. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
๑๗. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดคำหยาบ
๑๘. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการพูดคำหยาบ
๑๙. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
๒๐. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๒๑. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๒๒. ตนเองเป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๒. สามัญญวรรค
๒๓. ชักชวนผู้อื่นให้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๒๔. เป็นผู้พอใจความไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๒๕. ตนเองเป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท
๒๖. ชักชวนผู้อื่นให้มีจิตไม่พยาบาท
๒๗. เป็นผู้พอใจความมีจิตไม่พยาบาท
๒๘. ตนเองเป็นสัมมาทิฏฐิ
๒๙. ชักชวนผู้อื่นให้เป็นสัมมาทิฏฐิ
๓๐. เป็นผู้พอใจความเป็นสัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ (๓)

ธรรมที่ให้สัตว์เกิดในนรก ๔๐ ประการ
[๒๒๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการ ย่อมดำรงอยู่ใน
นรก เหมือนถูกนำไปฝังไว้ ธรรม ๔๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์
๒. ชักชวนผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์
๓. เป็นผู้พอใจการฆ่าสัตว์
๔. สรรเสริญการฆ่าสัตว์
๕. ตนเองเป็นผู้ลักทรัพย์
๖. ชักชวนผู้อื่นให้ลักทรัพย์
๗. เป็นผู้พอใจการลักทรัพย์
๘. สรรเสริญการลักทรัพย์
๙. ตนเองเป็นผู้ประพฤติผิดในกาม
๑๐. ชักชวนผู้อื่นให้ประพฤติผิดในกาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๒. สามัญญวรรค
๑๑. เป็นผู้พอใจการประพฤติผิดในกาม
๑๒. สรรเสริญการประพฤติผิดในกาม
๑๓. ตนเองเป็นผู้พูดเท็จ
๑๔. ชักชวนผู้อื่นให้พูดเท็จ
๑๕. เป็นผู้พอใจการพูดเท็จ
๑๖. สรรเสริญการพูดเท็จ
๑๗. ตนเองเป็นผู้พูดส่อเสียด
๑๘. ชักชวนผู้อื่นให้พูดส่อเสียด
๑๙. เป็นผู้พอใจการพูดส่อเสียด
๒๐. สรรเสริญการพูดส่อเสียด
๒๑. ตนเองเป็นผู้พูดคำหยาบ
๒๒. ชักชวนผู้อื่นให้พูดคำหยาบ
๒๓. เป็นผู้พอใจการพูดคำหยาบ
๒๔. สรรเสริญการพูดคำหยาบ
๒๕. ตนเองเป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ
๒๖. ชักชวนผู้อื่นให้พูดเพ้อเจ้อ
๒๗. เป็นผู้พอใจการพูดเพ้อเจ้อ
๒๘. สรรเสริญการพูดเพ้อเจ้อ
๒๙. ตนเองเป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๓๐. ชักชวนผู้อื่นให้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๓๑. เป็นผู้พอใจความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๓๒. สรรเสริญความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๓๓. ตนเองเป็นผู้มีจิตพยาบาท
๓๔. ชักชวนผู้อื่นให้มีจิตพยาบาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๒. สามัญญวรรค
๓๕. เป็นผู้พอใจความมีจิตพยาบาท
๓๖. สรรเสริญความมีจิตพยาบาท
๓๗. ตนเองเป็นมิจฉาทิฏฐิ
๓๘. ชักชวนผู้อื่นให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ
๓๙. เป็นผู้พอใจความเป็นมิจฉาทิฏฐิ
๔๐. สรรเสริญความเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้

ธรรมที่ให้สัตว์เกิดในสวรรค์ ๔๐ ประการ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการ ย่อมดำรงอยู่ในสวรรค์
เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้
ธรรม ๔๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
๒. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๓. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๔. สรรเสริญการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๕. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์
๖. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการลักทรัพย์
๗. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการลักทรัพย์
๘. สรรเสริญการงดเว้นจากการลักทรัพย์
๙. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
๑๐. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๑๑. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๑๒. สรรเสริญการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๑๓. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๒. สามัญญวรรค
๑๔. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเท็จ
๑๕. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการพูดเท็จ
๑๖. สรรเสริญการงดเว้นจากการพูดเท็จ
๑๗. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
๑๘. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดส่อเสียด
๑๙. เป็นผู้พอใจในการงดเว้นจากการพูดส่อเสียด
๒๐. สรรเสริญการงดเว้นจากการพูดส่อเสียด
๒๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ
๒๒. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดคำหยาบ
๒๓. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการพูดคำหยาบ
๒๔. สรรเสริญการงดเว้นจากการพูดคำหยาบ
๒๕. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ
๒๖. ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๒๗. เป็นผู้พอใจการงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๒๘. สรรเสริญการงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๒๙. ตนเองเป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๓๐. ชักชวนผู้อื่นให้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๓๑. เป็นผู้พอใจความไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๓๒. สรรเสริญความไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๓๓. ตนเองเป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท
๓๔. ชักชวนผู้อื่นให้มีจิตไม่พยาบาท
๓๕. เป็นผู้พอใจความมีจิตไม่พยาบาท
๓๖. สรรเสริญความมีจิตไม่พยาบาท
๓๗. ตนเองเป็นสัมมาทิฏฐิ
๓๘. ชักชวนผู้อื่นให้เป็นสัมมาทิฏฐิ
๓๙. เป็นผู้พอใจความเป็นสัมมาทิฏฐิ
๔๐. สรรเสริญความเป็นสัมมาทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๒. สามัญญวรรค
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการนี้แล ย่อมดำรงอยู่ใน
สวรรค์ เหมือนได้รับอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ (๔)

ธรรมที่ให้ถูกกำจัด และที่ไม่ให้ถูกกำจัด
[๒๒๕-๒๒๘] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมบริหารตนให้ถูก
กำจัด ถูกทำลาย
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๑๐. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนให้
ถูกกำจัด ถูกทำลาย
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูก
ทำลาย
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๑๐. เป็นสัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนไม่
ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการ ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย
ธรรม ๒๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๒๐. ชักชวนผู้อื่นให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนให้
ถูกกำจัด ถูกทำลาย
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการ ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้
ถูกทำลาย
ธรรม ๒๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๒๐. ชักชวนผู้อื่นให้เป็นสัมมา-
ทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๒. สามัญญวรรค
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนไม่
ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการ ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย
ธรรม ๓๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๓๐. เป็นผู้พอใจความเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนให้
ถูกกำจัด ถูกทำลาย
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการ ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้
ถูกทำลาย
ธรรม ๓๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๓๐. เป็นผู้พอใจความเป็น
สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนไม่
ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการ ย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย
ธรรม ๔๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๔๐. สรรเสริญความเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนให้
ถูกกำจัด ถูกทำลาย
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการ ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูก
ทำลาย
ธรรม ๔๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๔๐. สรรเสริญความเป็น
สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนไม่
ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย (๕-๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปํญจมปัณณาสก์] ๒. สามัญญวรรค
ธรรมที่ให้เกิดในอบาย และที่ให้เกิดในสวรรค์
[๒๒๙-๒๓๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยธรรม ๑๐
ประการ หลังจากตายแล้ว เขาจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๑๐. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล หลังจากตายแล้ว
เขาจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ หลังจากตายแล้ว เขา
จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๑๐. เป็นสัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล หลังจากตายแล้ว
เขาจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการ หลังจากตายแล้ว เขา
จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ธรรม ๒๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๒๐. ชักชวนผู้อื่นให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการนี้แล หลังจากตายแล้ว
เขาจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการ หลังจากตายแล้ว เขา
จะไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ธรรม ๒๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๒๐. ชักชวนผู้อื่นให้เป็นสัมมา-
ทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการนี้แล หลังจากตายแล้ว
เขาจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปํญจมปัณณาสก์] ๒. สามัญญวรรค
บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการ หลังจากตายแล้ว
เขาจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ธรรม ๓๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๓๐. เป็นผู้พอใจความเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการนี้แล หลังจากตายแล้ว
เขาจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการ หลังจากตายแล้ว
เขาจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ธรรม ๓๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๓๐. เป็นผู้พอใจความเป็น
สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการนี้แล หลังจากตายแล้ว
เขาจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
บุคคลบางคนในโลกนี้ประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการ หลังจากตายแล้ว
เขาจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ธรรม ๔๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๔๐. สรรเสริญความเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการนี้แล หลังจากตายแล้ว
เขาจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
บุคคลบางคนในโลกนี้ ประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการ หลังจากตายแล้ว
เขาจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ธรรม ๔๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๔๐. สรรเสริญความเป็น
สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการนี้แล หลังจากตายแล้ว
เขาจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ (๙-๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปํญจมปัณณาสก์] ๒. สามัญญวรรค
ธรรมที่ให้ทราบว่าเป็นพาล และที่ให้ทราบว่าเป็นบัณฑิต
[๒๓๓-๒๓๖] บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ พึงทราบว่าเป็นพาล
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๑๐. เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล พึงทราบว่าเป็นพาล
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ พึงทราบว่าเป็นบัณฑิต
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๑๐. เป็นสัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล พึงทราบว่าเป็นบัณฑิต
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการ พึงทราบว่าเป็นพาล
ธรรม ๒๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๒๐. ชักชวนผู้อื่นให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการนี้แล พึงทราบว่า
เป็นพาล
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการ พึงทราบว่าเป็นบัณฑิต
ธรรม ๒๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๒๐. ชักชวนผู้อื่นให้เป็นสัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการนี้แล พึงทราบว่าเป็น
บัณฑิต
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการ พึงทราบว่าเป็นพาล
ธรรม ๓๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๓๐. เป็นผู้พอใจความเป็นมิจฉาทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ๒. สามัญญวรรค
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๒๐ ประการนี้แล พึงทราบว่า
เป็นพาล
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการ พึงทราบว่าเป็นบัณฑิต
ธรรม ๓๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๓๐. เป็นผู้พอใจความเป็น
สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓๐ ประการนี้แล พึงทราบว่าเป็น
บัณฑิต
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการ พึงทราบว่าเป็นพาล
ธรรม ๔๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๔๐. สรรเสริญความเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการนี้แล พึงทราบว่า
เป็นพาล
บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการ พึงทราบว่าเป็นบัณฑิต
ธรรม ๔๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ๔๐. สรรเสริญความเป็น
สัมมาทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการนี้แล พึงทราบว่าเป็น
บัณฑิต (๑๓-๑๖)
สามัญญวรรคที่ ๒ จบ
(พึงทราบการนับสูตรในวรรคที่ ๔ และที่ ๕ นี้ ตามที่ ฯลฯ ไว้)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ราคเปยยาล
ราคเปยยาล
[๒๓๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๑๐
ประการ เพื่อรู้ยิ่งราคะ(ความกำหนัด)
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อสุภสัญญา (กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย)
๒. มรณสัญญา (กำหนดหมายความตายที่จะต้องมาถึงเป็นธรรมดา)
๓. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา (กำหนดหมายความปฏิกูลในอาหาร)
๔. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา (กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลก
ทั้งปวง)
๕. อนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร)
๖. อนิจเจ ทุกขสัญญา (กำหนดหมายความทุกข์ในความไม่เที่ยงแห่งสังขาร)
๗. ทุกเข อนัตตสัญญา (กำหนดหมายความเป็นอนัตตาในความเป็นทุกข์)
๘. ปหานสัญญา (กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตกและบาปธรรมทั้งหลาย)
๙. วิราคสัญญา (กำหนดหมายวิราคะว่าเป็นธรรมละเอียดประณีต)
๑๐. นิโรธสัญญา (กำหนดหมายนิโรธว่าเป็นธรรมละเอียดประณีต)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๑๐ ประการนี้ เพื่อรู้ยิ่งราคะ (๑)
[๒๓๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๑๐ ประการ เพื่อรู้ยิ่งราคะ
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อนิจจสัญญา
๒. อนัตตสัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ราคเปยยาล
๓. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา
๔. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา
๕. อัฏฐิกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูกหรือ
กระดูกท่อน)
๖. ปุฬุวกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด)
๗. วินีลกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่มีสีเขียวคล้ำคละด้วยสีต่าง ๆ)
๘. วิปุพพกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ตามที่
แตกปริออก)
๙. วิจฉิททกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่ขาดจากกันเป็น ๒ ท่อน)
๑๐. อุทธุมาตกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่เน่าพองขึ้นอืด)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๑๐ ประการนี้ เพื่อรู้ยิ่งราคะ (๒)
[๒๓๙] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๑๐ ประการ เพื่อรู้ยิ่งราคะ
ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)
๙. สัมมาญาณะ (รู้ชอบ) ๑๐. สัมมาวิมุตติ (หลุดพ้นชอบ)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๑๐ ประการนี้ เพื่อรู้ยิ่งราคะ (๓)
[๒๔๐-๒๖๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๑๐ ประการ เพื่อกำหนด
รู้ราคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปํญจมปัณณาสก์] ราคเปยยาล
... เพื่อความสิ้นราคะ
... เพื่อละราคะ
... เพื่อความสิ้นไปแห่งราคะ
... เพื่อความเสื่อมไปแห่งราคะ
... เพื่อความคลายไปแห่งราคะ
... เพื่อความดับไปแห่งราคะ
... เพื่อความสละราคะ
... เพื่อความสละคืนราคะ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๑๐ ประการนี้ เพื่อความสละคืนราคะ
(๔-๓๐)
[๒๖๗-๗๔๖] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๑๐ ประการ เพื่อรู้ยิ่ง
โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
... เพื่อกำหนดรู้โทสะ
... เพื่อความสิ้นโทสะ
... เพื่อละโทสะ
... เพื่อความสิ้นไปแห่งโทสะ
... เพื่อความเสื่อมไปแห่งโทสะ
... เพื่อความคลายไปแห่งโทสะ
... เพื่อความดับไปแห่งโทสะ
... เพื่อความสละโทสะ
... เพื่อความสละคืนโทสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์] ราคเปยยาล
... โมหะ(ความหลง) ... โกธะ(ความโกรธ) ... อุปนาหะ(ความผูกโกรธ) ... มักขะ
(ความลบหลู่คุณท่าน) ... ปฬาสะ(ความตีเสมอ) ... อิสสา(ความริษยา) ... มัจฉริยะ
(ความตระหนี่) ... มายา(มารยา) ... สาเฐยยะ(ความโอ้อวด) ... ถัมภะ(ความหัวดื้อ) ...
สารัมภะ(ความแข่งดี) ... มานะ (ความถือตัว) ... อติมานะ(ความดูหมิ่นเขา) ... มทะ
(ความมัวเมา) ... ปมาทะ (ความประมาท)
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๑๐ ประการนี้ เพื่อความสละคืนปมาทะ ...
(๓๑-๕๑๐)
ราคเปยยาล จบ
ปัญจมปัณณาสก์ จบ
ทสกนิบาต จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๑. กิมัตถิยสูตร
พระสุตตันตปิฎก
อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต
__________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. นิสสยวรรค
หมวดว่าด้วยนิสสัย
๑. กิมัตถิยสูตร๑
ว่าด้วยคำถามเกี่ยวกับผลแห่งศีล
[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ศีลที่เป็นกุศลมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ศีลที่เป็นกุศลมีอวิปปฏิสาร(ความไม่ร้อนใจ)
เป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์”
“อวิปปฏิสารมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ อวิปปฏิสารมีปราโมทย์(ความบันเทิงใจ)เป็นผล มีปราโมทย์เป็น
อานิสงส์”
“ปราโมทย์มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ สูตรที่ ๑-๕ ในวรรคนี้เหมือนกับสูตรที่ ๑-๕ ในวรรคแรกของทสกนิบาต ต่างแต่ในทสกนิบาต นิพพิทา
และวิราคะรวมเป็นข้อธรรมเดียวกันในหมวดธรรม ๑๐ ประการ ส่วนในเอกาทสกนิบาต นิพพิทาและวิราคะ
แยกเป็นข้อธรรมคนละข้อกันในหมวดธรรม ๑๑ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๑. กิมัตถิยสูตร
“อานนท์ ปราโมทย์มีปีติ(ความอิ่มใจ)เป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์”
“ปีติมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ ปีติมีปัสสัทธิ(ความสงบกายสงบใจ)เป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์”
“ปัสสัทธิมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์”
“สุขมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์”
“สมาธิมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะ(ความรู้ความเห็นตามความเป็นจริง)
เป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์”
“ยถาภูตญาณทัสสนะมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ ยถาภูตญาณทัสสนะมีนิพพิทา(ความเบื่อหน่าย)เป็นผล มีนิพพิทา
เป็นอานิสงส์”
“นิพพิทามีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ นิพพิทามีวิราคะ(ความคลายกำหนัด)เป็นผล มีวิราคะเป็นอานิสงส์”
“วิราคะมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าข้า”
“อานนท์ วิราคะมีวิมุตติญาณทัสสนะ(ความรู้ความเห็นในวิมุตติ)เป็นผล มี
วิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์
อานนท์ ศีลที่เป็นกุศลมีอวิปปฏิสารเป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์
อวิปปฏิสารมีปราโมทย์เป็นผล มีปราโมทย์เป็นอานิสงส์ ปราโมทย์มีปีติเป็นผล
มีปีติเป็นอานิสงส์ ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล
มีสุขเป็นอานิสงส์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ สมาธิมียถาภูตญาณ-
ทัสสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ ยถาภูตญาณทัสสนะมีนิพพิทา
เป็นผล มีนิพพิทาเป็นอานิสงส์ นิพพิทามีวิราคะเป็นผล มีวิราคะเป็นอานิสงส์
วิราคะมีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ อานนท์ ศีลที่
เป็นกุศล ย่อมทำอรหัตตผลให้บริบูรณ์โดยลำดับ อย่างนี้แล”
กิมัตถิยสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๒. เจตนากรณียสูตร
๒. เจตนากรณียสูตร
ว่าด้วยกรรมที่ไม่ต้องทำด้วยความตั้งใจ
[๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล
ไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขออวิปปฏิสารจงเกิดขึ้นแก่เรา’ การที่อวิปปฏิสารเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้
มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลนี้ เป็นธรรมดา๑
บุคคลผู้มีอวิปปฏิสารไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอปราโมทย์จงเกิดขึ้นแก่เรา’ การที่
ปราโมทย์เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีอวิปปฏิสารนี้ เป็นธรรมดา
บุคคลผู้มีปราโมทย์ไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอปีติจงเกิดขึ้นแก่เรา’ การที่ปีติเกิดขึ้นแก่
บุคคลผู้มีปราโมทย์นี้ เป็นธรรมดา
บุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีติไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอกายของเราจงสงบ’ การที่
บุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีติมีกายสงบนี้ เป็นธรรมดา
บุคคลผู้มีกายสงบไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอเราจงเสวยสุข’ การที่บุคคลผู้มีกายสงบ
เสวยสุขนี้ เป็นธรรมดา
บุคคลผู้มีสุขไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอจิตของเราจงเป็นสมาธิ’ การที่บุคคลผู้มีสุขมีจิต
เป็นสมาธินี้ เป็นธรรมดา
บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอเราจงรู้เห็นตามความเป็นจริง’ การที่
บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิรู้เห็นตามความเป็นจริงนี้ เป็นธรรมดา
บุคคลผู้รู้เห็นตามความเป็นจริงไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอเราจงเบื่อหน่าย’ การที่
บุคคลผู้รู้เห็นตามความเป็นจริงเบื่อหน่ายนี้ เป็นธรรมดา
บุคคลผู้เบื่อหน่ายไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอเราจงคลายกำหนัด’ การที่บุคคลผู้เบื่อ
หน่ายคลายกำหนัดนี้ เป็นธรรมดา
บุคคลผู้คลายกำหนัดไม่ต้องตั้งใจว่า ‘ขอเราจงทำให้แจ้งวิมุตติญาณทัสสนะ’
การที่บุคคลผู้คลายกำหนัดแล้วทำให้แจ้งวิมุตติญาณทัสสนะนี้ เป็นธรรมดา

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๒ (เจตนากรณียสูตร) ทสกนิบาต หน้า ๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๓. ปฐมอุปนิสาสูตร
วิราคะมีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ นิพพิทา
มีวิราคะเป็นผล มีวิราคะเป็นอานิสงส์ ยถาภูตญาณทัสสนะมีนิพพิทาเป็นผล มี
นิพพิทาเป็นอานิสงส์ สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะ
เป็นอานิสงส์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็น
อานิสงส์ ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ ปราโมทย์มีปีติเป็นผล มีปีติ
เป็นอานิสงส์ อวิปปฏิสารมีปราโมทย์เป็นผล มีปราโมทย์เป็นอานิสงส์ ศีลที่เป็น
กุศลมีอวิปปฏิสารเป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายย่อมหลั่งไหลไปสู่ธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย
ย่อมให้ธรรมทั้งหลายบริบูรณ์เพื่อออกจากฝั่งนี้สู่ฝั่งโน้น๑ อย่างนี้แล
เจตนากรณียสูตรที่ ๒ จบ

๓. ปฐมอุปนิสาสูตร
ว่าด้วยธรรมมีเหตุให้ถูกขจัด สูตรที่ ๑
[๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย อวิปปฏิสารของบุคคลผู้ทุศีล
มีศีลวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่ออวิปปฏิสารไม่มี ปราโมทย์ของบุคคลผู้มี
อวิปปฏิสารวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อปราโมทย์ไม่มี ปีติของบุคคลผู้มี
ปราโมทย์วิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อปีติไม่มี ปัสสัทธิของบุคคลผู้มีปีติวิบัติ
ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อปัสสัทธิไม่มี สุขของบุคคลผู้มีปัสสัทธิวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูก
ขจัดแล้ว เมื่อสุขไม่มี สัมมาสมาธิของบุคคลผู้มีสุขวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อ
สัมมาสมาธิไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูก
ขจัดแล้ว เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี นิพพิทาของบุคคลผู้มียถาภูตญาณทัสสนะ
วิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อนิพพิทาไม่มี วิราคะของบุคคลผู้มีนิพพิทาวิบัติ
ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีวิราคะวิบัติ
ชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๒ (เจตนากรณียสูตร) หน้า ๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๓. ปฐมอุปนิสาสูตร
อวิปปฏิสารของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่ออวิปปฏิสาร
ไม่มี ปราโมทย์ของบุคคลผู้มีอวิปปฏิสารวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว ฯลฯ เมื่อวิราคะ
ไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีวิราคะวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เปรียบ
เหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบวิบัติแล้ว สะเก็ด เปลือก กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้น
ย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ ฉะนั้น
อวิปปฏิสารของบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อ
อวิปปฏิสารมี ปราโมทย์ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอวิปปฏิสารชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
เมื่อปราโมทย์มี ปีติของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยปราโมทย์ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อปีติมี
ปัสสัทธิของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยปีติชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อปัสสัทธิมี สุขของบุคคล
ผู้สมบูรณ์ด้วยปัสสัทธิชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อสุขมี สัมมาสมาธิของบุคคลผู้
สมบูรณ์ด้วยสุขชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อสัมมาสมาธิมี ยถาภูตญาณทัสสนะของ
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสัมมาสมาธิชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมี
นิพพิทาของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อ
นิพพิทามี วิราคะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อวิราคะมี
วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยวิราคะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
ภิกษุทั้งหลาย อวิปปฏิสารของบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ชื่อว่ามีเหตุ
สมบูรณ์ เมื่ออวิปปฏิสารมี ปราโมทย์ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอวิปปฏิสารชื่อว่า
มีเหตุสมบูรณ์ ฯลฯ เมื่อวิราคะมี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วย
อวิปปฏิสารชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์ สะเก็ด
เปลือก กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้นย่อมถึงความบริบูรณ์ ฉะนั้น
ปฐมอุปนิสาสูตรที่ ๓ จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๔. ทุติยอุปนิสาสูตร
๔. ทุติยอุปนิสาสูตร
ว่าด้วยธรรมมีเหตุให้ถูกขจัด สูตรที่ ๒
[๔] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย อวิปปฏิสารของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัด
แล้ว เมื่ออวิปปฏิสารไม่มี ปราโมทย์ของบุคคลผู้มีอวิปปฏิสารวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูก
ขจัดแล้ว เมื่อปราโมทย์ไม่มี ปีติของบุคคลผู้มีปราโมทย์วิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว
เมื่อปีติไม่มี ปัสสัทธิของบุคคลผู้มีปีติวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อปัสสัทธิไม่มี
สุขของบุคคลผู้มีปัสสัทธิวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อสุขไม่มี สัมมาสมาธิของ
บุคคลผู้มีสุขวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อสัมมาสมาธิไม่มี ยถาภูตญาณทัสสนะ
ของบุคคลผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี
นิพพิทาของบุคคลผู้มียถาภูตญาณทัสสนะวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อนิพพิทา
ไม่มี วิราคะของบุคคลผู้มีนิพพิทาวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อวิราคะไม่มี วิมุตติ
ญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีวิราคะวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว
อวิปปฏิสารของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่ออวิปปฏิสาร
ไม่มี ปราโมทย์ของบุคคลผู้มีอวิปปฏิสารวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว ฯลฯ เมื่อวิราคะ
ไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีวิราคะวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เปรียบ
เหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบวิบัติแล้ว สะเก็ด เปลือก กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้น
ย่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ ฉะนั้น
อวิปปฏิสารของบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อ
อวิปปฏิสารมี ปราโมทย์ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอวิปปฏิสารชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
เมื่อปราโมทย์มี ปีติของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยปราโมทย์ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อปีติมี
ปัสสัทธิของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยปีติชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อปัสสัทธิมี สุขของบุคคล
ผู้สมบูรณ์ด้วยปัสสัทธิชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อสุขมีสัมมาสมาธิของบุคคลผู้สมบูรณ์
ด้วยสุขชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อสัมมาสมาธิมี ยถาภูตญาณทัสสนะของบุคคลผู้
สมบูรณ์ด้วยสัมมาสมาธิชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมี นิพพิทาของ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๕. ตติยอุปนิสาสูตร
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อนิพพิทามี
วิราคะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อวิราคะมี วิมุตติ-
ญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยวิราคะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
ผู้มีอายุทั้งหลาย อวิปปฏิสารของบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลชื่อว่ามีเหตุ
สมบูรณ์ เมื่ออวิปปฏิสารมี ปราโมทย์ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอวิปปฏิสารชื่อว่ามี
เหตุสมบูรณ์ ฯลฯ เมื่อวิราคะมี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยวิราคะ
ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์ สะเก็ด เปลือก กระพี้
แม้แก่นของต้นไม้นั้นย่อมถึงความบริบูรณ์ ฉะนั้น
ทุติยอุปนิสาสูตรที่ ๔ จบ

๕. ตติยอุปนิสาสูตร
ว่าด้วยธรรมมีเหตุให้ถูกขจัด สูตรที่ ๓
[๕] ณ ที่นั้นแล ท่านพระอานนท์ เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า ฯลฯ ท่าน
พระอานนท์จึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย อวิปปฏิสารของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูก
ขจัดแล้ว เมื่ออวิปปฏิสารไม่มี ปราโมทย์ของบุคคลผู้มีอวิปปฏิสารวิบัติชื่อว่ามีเหตุ
ถูกขจัดแล้ว เมื่อปราโมทย์ไม่มี ปีติของบุคคลผู้มีปราโมทย์วิบัติชื่อว่ามีเหตุถูก
ขจัดแล้ว เมื่อปีติไม่มี ปัสสัทธิของบุคคลผู้มีปีติวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อ
ปัสสัทธิไม่มี สุขของบุคคลผู้มีปัสสัทธิวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อสุขไม่มี
สัมมาสมาธิของบุคคลผู้มีสุขวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อสัมมาสมาธิไม่มี
ยถาภูตญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีสัมมาสมาธิวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่อ
ยถาภูตญาณทัสสนะไม่มี นิพพิทาของบุคคลผู้มียถาภูตญาณทัสสนะวิบัติชื่อว่ามีเหตุ
ถูกขจัดแล้ว เมื่อนิพพิทาไม่มี วิราคะของบุคคลผู้มีนิพพิทาวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูก
ขจัดแล้ว เมื่อวิราคะไม่มี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีวิราคะวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูก
ขจัดแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๕. ตติยอุปนิสาสูตร
อวิปปฏิสารของบุคคลผู้ทุศีล มีศีลวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เมื่ออวิปปฏิสาร
ไม่มี ปราโมทย์ของบุคคลผู้มีอวิปปฏิสารวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว ฯลฯ วิมุตติ-
ญาณทัสสนะของบุคคลผู้มีวิราคะวิบัติชื่อว่ามีเหตุถูกขจัดแล้ว เปรียบเหมือนต้นไม้ที่
มีกิ่งและใบวิบัติแล้ว สะเก็ด เปลือก กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้นย่อมไม่ถึงความ
บริบูรณ์ ฉะนั้น
อวิปปฏิสารของบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อ
อวิปปฏิสารมี ปราโมทย์ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอวิปปฏิสารชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
เมื่อปราโมทย์มี ปีติของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยปราโมทย์ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อ
ปีติมี ปัสสัทธิของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยปีติชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อปัสสัทธิมี สุขของ
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยปัสสัทธิชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อสุขมี สัมมาสมาธิของบุคคลผู้
สมบูรณ์ด้วยสุขชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อสัมมาสมาธิมี ยถาภูตญาณทัสสนะของ
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสัมมาสมาธิชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อยถาภูตญาณทัสสนะมี
นิพพิทาของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยยถาภูตญาณทัสสนะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อ
นิพพิทามี วิราคะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เมื่อวิราคะมี
วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยวิราคะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์
ผู้มีอายุทั้งหลาย อวิปปฏิสารของบุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลชื่อว่ามีเหตุ
สมบูรณ์ เมื่ออวิปปฏิสารมี ปราโมทย์ของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอวิปปฏิสารชื่อว่ามี
เหตุสมบูรณ์ ฯลฯ เมื่อวิราคะมี วิมุตติญาณทัสสนะของบุคคลผู้สมบูรณ์ด้วย
วิราคะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์ สะเก็ด เปลือก
กระพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้น ย่อมถึงความบริบูรณ์ ฉะนั้น
ตติยอุปนิสาสูตรที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๖. พยสนสูตร
๖. พยสนสูตร
ว่าด้วยความพินาศ
[๖] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดก็ตามด่าบริภาษ๑เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ว่า
ร้ายพระอริยะ เป็นไปได้๒ที่ภิกษุนั้นจะถึงความพินาศอย่าง ๑ ใน ๑๑ อย่าง
ความพินาศ ๑๑ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่บรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ
๒. เสื่อมจากธรรมที่ได้บรรลุแล้ว
๓. สัทธรรมของภิกษุนั้นย่อมไม่ผ่องแผ้ว
๔. เป็นผู้เข้าใจผิดว่าได้บรรลุสัทธรรม
๕. เป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์
๖. ต้องอาบัติที่เศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง
๗. บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์
๘. เป็นโรคร้ายแรง
๙. ถึงความวิกลจริต หรือจิตฟุ้งซ่าน
๑๐. หลงลืมสติมรณภาพ
๑๑. หลังจากมรณภาพแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดก็ตามด่าบริภาษเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ว่าร้ายพระ
อริยะ เป็นไปได้ที่ภิกษุนั้นจะถึงความพินาศอย่าง ๑ ใน ๑๑ อย่าง
ภิกษุใดก็ตามด่าบริภาษเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ว่าร้ายพระอริยะ เป็นไปไม่
ได้เลยที่ภิกษุนั้นจะไม่ถึงความพินาศอย่าง ๑ ใน ๑๑ อย่าง
ความพินาศ ๑๑ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. ไม่บรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ
๒. เสื่อมจากธรรมที่ได้บรรลุแล้ว
๓. สัทธรรมของภิกษุนั้นย่อมไม่ผ่องแผ้ว

เชิงอรรถ :
๑ บริภาษ ในที่นี้หมายถึงกล่าวโทษว่า “ท่านเป็นโจร ท่านเป็นคนพาล ท่านเป็นคนหลง ท่านเป็นขโมย”
(วิ.มหา. ๑/๙๒/๖๒)
๒ เป็นไปได้ ในที่นี้หมายถึงยอมรับฐานะ(เหตุ)ที่ให้เป็นไปได้ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๒๖๘/๔๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๗. ปฐมสัญญาสูตร
๔. เป็นผู้เข้าใจผิดว่าได้บรรลุสัทธรรม
๕. เป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์
๖. ต้องอาบัติที่เศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง
๗. บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์
๘. เป็นโรคร้ายแรง
๙. ถึงความวิกลจริต หรือจิตฟุ้งซ่าน
๑๐. หลงลืมสติมรณภาพ
๑๑. หลังจากมรณภาพแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดก็ตามด่าบริภาษเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ว่าร้าย
พระอริยะ เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นจะไม่ถึงความพินาศอย่าง ๑ ใน ๑๑ อย่าง
พยสนสูตรที่ ๖ จบ

๗. ปฐมสัญญาสูตร
ว่าด้วยสัญญา สูตรที่ ๑
[๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีได้หรือหนอ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมี
สัญญา(ความจำได้หมายรู้)ในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน๑ ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ใน
ธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลมว่าเป็นธาตุลม ในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็น
อากาสานัญจายตนฌาน ในวิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน
ในอากิญจัญญายตนฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตนฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตน-
ฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็น
โลกหน้า ไม่ต้องมีสัญญาแม้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ๒
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑,๒,๓,๔ ข้อ ๖ (สมาธิสูตร) หน้า ๙ ในเล่มนี้
๒ อารมณ์ที่ได้ทราบ ในที่นี้หมายถึงอารมณ์ ๓ คือ คันธารมณ์(กลิ่น) รสารมณ์(รส) โผฏฐัพพารมณ์
(การสัมผัส) (อภิ.สงฺ.อ. ๙๖๖/๓๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๗. ปฐมสัญญาสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ มีได้ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมี
สัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ
ในธาตุลมว่าเป็นธาตุลม ในอากาสานัญจายตนฌาน ว่าเป็นอากาสานัญจายตน-
ฌาน ในวิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตน-
ฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตนฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็น
เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า ไม่
ต้องมีสัญญาแม้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง
ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”
ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีได้อย่างไร การที่ภิกษุได้
สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ใน
ธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลมว่าเป็นธาตุลม ในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็น
อากาสานัญจายตนฌาน ในวิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ใน
อากิญจัญญายตนฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตนฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตน-
ฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่า
เป็นโลกหน้า ไม่ต้องมีสัญญาแม้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีสัญญาอย่าง
นี้ว่า ภาวะที่สงบ ประณีต คือความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิกิเลส
ทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน๑ อานนท์
มีได้อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ใน
ธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลมว่าเป็นธาตุลม ใน
อากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน ในวิญญาณัญจายตนฌาน
ว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตน-
ฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ใน
โลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า ไม่ต้องมีสัญญาแม้ในรูปที่ได้เห็น เสียง


เชิงอรรถ :
๑ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๖ (สมาธิสูตร) หน้า ๑๐ ในเล่มนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๓๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๗. ปฐมสัญญาสูตร
ที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ
แต่ต้องมีสัญญา”
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วเข้าไปหาท่าน
พระสารีบุตรถึงที่อยู่ สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“ท่านสารีบุตร มีได้หรือหนอ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดิน
ว่าเป็นธาตุดิน ฯลฯ ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่
รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านอานนท์ มีได้ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมี
สัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ฯลฯ ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”
“ท่านสารีบุตร มีได้อย่างไร การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดิน
ว่าเป็นธาตุดิน ฯลฯ ไม่ต้องมีสัญญาแม้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่
ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”
“ท่านอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีสัญญาอย่างนี้ว่า ภาวะที่สงบ
ประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิกิเลสทั้งปวง ความ
สิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน ท่านอานนท์ มีได้
อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาแม้ในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ฯลฯ
ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา
ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”
“ผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ การที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับ
พยัญชนะของพระศาสดาและพระสาวก เปรียบเทียบกันได้ เสมอกัน ไม่ผิดกัน ใน
บทอันเลิศ๑ ท่านผู้มีอายุ เมื่อสักครู่นี้ ผมเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ทูลถามเนื้อ

เชิงอรรถ :
๑ บทอันเลิศ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๗-๘/๓๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๘. มนสิการสูตร
ความนี้แล้ว แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงตอบเนื้อความนี้แก่ผม ด้วยบทเหล่านี้ ด้วย
พยัญชนะเหล่านี้ เหมือนที่ท่านสารีบุตรตอบ ผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
การที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะของพระศาสดาและพระสาวก เปรียบ
เทียบกันได้ เสมอกัน ไม่ผิดกัน ในบทอันเลิศนี้”
ปฐมสัญญาสูตรที่ ๗ จบ

๘. มนสิการสูตร
ว่าด้วยมนสิการ
[๘] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีได้หรือหนอ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมนสิการ
ตา รูป หู เสียง จมูก กลิ่น ลิ้น รส กาย โผฏฐัพพะ(การสัมผัสทางกาย) ธาตุดิน
ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน
อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โลกนี้ โลกหน้า ไม่ต้อง
มนสิการแม้รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง
ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมนสิการ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ มีได้ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้อง
มนสิการตา รูป หู เสียง จมูก กลิ่น ลิ้น รส กาย โผฏฐัพพะ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ
ธาตุลม อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน
เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โลกนี้ โลกหน้า ไม่ต้องมนสิการแม้รูปที่ได้เห็น เสียง
ที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ
แต่ต้องมนสิการ”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๙. สันธสูตร
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีได้อย่างไร การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมนสิการ
ตา ฯลฯ ไม่ต้องมนสิการแม้รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์
ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมนสิการ”
“อานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมมนสิการอย่างนี้ว่า ภาวะที่สงบ ประณีต คือ
ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา
ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน อานนท์ มีได้อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิ
โดยไม่ต้องมนสิการ ตา รูป หู เสียง จมูก กลิ่น ลิ้น รส กาย โผฏฐัพพะ
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน
อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โลกนี้ โลกหน้า ไม่ต้อง
มนสิการแม้รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง
ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมนสิการ”
มนสิการสูตรที่ ๘ จบ

๙. สันธสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงแก่พระสันธะ
[๙] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ คิญชกาวสถาราม ในนาทิกคาม
ครั้งนั้นแล ท่านพระสันธะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับท่านดังนี้ว่า
สันธะ เธอจงเพ่ง๑ อย่างการเพ่งของม้าอาชาไนย๒เท่านั้น อย่าเพ่งอย่างการ
เพ่งของม้ากระจอก
การเพ่งของม้ากระจอก เป็นอย่างไร
คือ ธรรมดาม้ากระจอกถูกเขาผูกไว้ใกล้รางข้าวเหนียว ย่อมเพ่งว่า ‘ข้าว
เหนียว ข้าวเหนียว’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะม้ากระจอกที่ถูกเขาผูกไว้ใกล้ราง

เชิงอรรถ :
๑ เพ่ง ในที่นี้หมายถึงคิด (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๙/๓๘๒)
๒ ม้าอาชาไนย หมายถึงม้าที่รู้เหตุที่ควรและไม่ควร (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๔๓/๒๗๓) อีกนัยหนึ่ง หมายถึงม้าที่
สามารถรู้สิ่งที่คนฝึกม้าฝึกให้ทำได้เร็ว (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๙. สันธสูตร
ข้าวเหนียวไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘วันนี้ สารถีผู้ฝึกม้าจะให้เราทำเหตุอะไรหนอ
เราจะทำอะไรตอบแทนเขา’ ม้ากระจอกนั้นถูกเขาผูกไว้ใกล้รางข้าวเหนียวจึงเพ่งว่า
‘ข้าวเหนียว ข้าวเหนียว’ ฉันใด
บุรุษกระจอกบางคนในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้
ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี มีจิตถูกกามราคะ(ความกำหนัดในกาม)กลุ้มรุม ถูกกามราคะ
ครอบงำอยู่ ไม่รู้วิธีสลัดกามราคะที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เขาจึงทำกามราคะ
เท่านั้นไว้ภายในแล้วเพ่ง เพ่งทั่วถึง เพ่งเป็นนิตย์๑ เพ่งลงต่ำ มีจิตถูกพยาบาท(ความ
คิดร้าย)กลุ้มรุม ถูกพยาบาทครอบงำอยู่ ... มีจิตถูกถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)
กลุ้มรุม ... มีจิตถูกอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)กลุ้มรุม ... มีจิตถูก
วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)กลุ้มรุม ถูกวิจิกิจฉาครอบงำอยู่ และไม่รู้วิธีสลัดวิจิกิจฉา
ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เขาจึงทำวิจิกิจฉาเท่านั้นไว้ภายในแล้วเพ่ง เพ่งอย่างทั่วถึง
เพ่งเป็นนิตย์ เพ่งลงต่ำ เขาอาศัยธาตุดินเพ่งบ้าง อาศัยธาตุน้ำเพ่งบ้าง อาศัยธาตุไฟ
เพ่งบ้าง อาศัยธาตุลมเพ่งบ้าง อาศัยอากาสานัญจายตนฌานเพ่งบ้าง อาศัย
วิญญาณัญจายตนฌานเพ่งบ้าง อาศัยอากิญจัญญายตนฌานเพ่งบ้าง อาศัย
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานเพ่งบ้าง อาศัยโลกนี้เพ่งบ้าง อาศัยโลกหน้าเพ่งบ้าง
อาศัยแม้รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง
ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจบ้าง
สันธะ การเพ่งของบุรุษผู้กระจอกย่อมเป็นไปได้ อย่างนี้แล
การเพ่งของม้าอาชาไนย เป็นอย่างไร
คือ ธรรมดาว่าม้าอาชาไนยที่ดีที่ถูกเขาผูกไว้ใกล้รางข้าวเหนียวย่อมไม่เพ่งว่า
‘ข้าวเหนียว ข้าวเหนียว’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะม้าอาชาไนยที่ดีที่ถูกเขาผูกไว้
ใกล้รางข้าวเหนียวมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘วันนี้ สารถีผู้ฝึกม้าจะให้เราทำอะไรหนอ
เราจะทำอะไรตอบแทนเขา’ ม้าอาชาไนยนั้นถูกเขาผูกไว้ใกล้รางข้าวเหนียวไม่เพ่งว่า

เชิงอรรถ :
๑ เพ่งทั่วถึง เพ่งเป็นนิตย์ หมายถึงเพ่งฌานต่าง ๆ อย่างทั่วถึง หรือเพ่งต่อเนื่องไม่ขาดตอน (องฺ.เอกาทสก.
อ. ๓/๙/๓๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๙. สันธสูตร
‘ข้าวเหนียว ข้าวเหนียว’ เพราะม้าอาชาไนยที่ดีย่อมพิจารณาเห็นการถูกประตักแทง
เหมือนคนเป็นหนี้คิดถึงหนี้ เหมือนคนถูกจองจำมองเห็นการจองจำ เหมือนคน
เสื่อมทรัพย์นึกถึงความเสื่อมทรัพย์ เหมือนคนมีความผิดเล็งเห็นความผิด ฉันใด
บุรุษอาชาไนยผู้เจริญก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่าง
ก็ดี ไม่มีจิตถูกกามราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกกามราคะครอบงำอยู่ รู้วิธีที่จะสลัดกามราคะ
ที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ไม่มีจิตถูกพยาบาทกลุ้มรุม ... ไม่มีจิตถูกถีนมิทธะ
กลุ้มรุม ... ไม่มีจิตถูกอุทธัจจกุกกุจจะกลุ้มรุม ... ไม่มีจิตถูกวิจิกิจฉากลุ้มรุม ถูก
วิจิกิจฉาครอบงำอยู่ และรู้วิธีที่จะสลัดวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง
บุรุษอาชาไนยนั้นย่อมไม่อาศัยธาตุดินเพ่ง ไม่อาศัยธาตุน้ำเพ่ง ไม่อาศัยธาตุไฟเพ่ง
ไม่อาศัยธาตุลมเพ่ง ไม่อาศัยอากาสานัญจายตนฌานเพ่ง ไม่อาศัยวิญญาณัญจายตน-
ฌานเพ่ง ไม่อาศัยอากิญจัญญายตนฌานเพ่ง ไม่อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
เพ่ง ไม่อาศัยโลกนี้เพ่ง ไม่อาศัยโลกหน้าเพ่ง ไม่อาศัยแม้รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง
อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจเพ่ง
แต่ย่อมเพ่ง๑
สันธะ อนึ่ง เทวดาทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์ พรหม มนุษย์ย่อมนอบน้อม
บุรุษอาชาไนยผู้เจริญซึ่งมีปกติเพ่งอย่างนี้แต่ที่ไกลทีเดียวว่า
ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
ข้าแต่ท่านบุรุษผู้สูงสุด
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
ข้าพเจ้าทั้งหลายรู้ชัดเหตุนั้น ๆ ได้
เพราะอาศัยการเพ่งของท่าน”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสันธะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษอาชาไนยผู้เจริญซึ่งมีปกติเพ่งย่อมเพ่งอย่างไร คือ
บุรุษอาชาไนยนั้น ไม่อาศัยธาตุดินเพ่ง ไม่อาศัยธาตุน้ำเพ่ง ไม่อาศัยธาตุไฟเพ่ง ไม่

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงเพ่งด้วยผลสมาบัติ มีนิพพานเป็นอารมณ์ (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๙/๓๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๙. สันธสูตร
อาศัยธาตุลมเพ่ง ไม่อาศัยอากาสานัญจายตนฌานเพ่ง ไม่อาศัยวิญญาณัญจายตน-
ฌานเพ่ง ไม่อาศัยอากิญจัญญายตนฌานเพ่ง ไม่อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
เพ่ง ไม่อาศัยโลกนี้เพ่ง ไม่อาศัยโลกหน้าเพ่ง ไม่อาศัยรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง
อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจเพ่ง แต่
ย่อมเพ่ง
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง เทวดาทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์ พรหม มนุษย์
ย่อมนอบน้อมบุรุษอาชาไนยผู้เจริญซึ่งมีปกติเพ่งอย่างนี้แต่ที่ไกลทีเดียวว่า
ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
ข้าแต่ท่านบุรุษผู้สูงสุด
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
ข้าพเจ้าทั้งหลายรู้ชัดเหตุนั้น ๆ ได้
เพราะอาศัยการเพ่งของท่าน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สันธะ บุรุษอาชาไนยผู้เจริญมีสัญญาในธาตุดินว่า
เป็นธาตุดินแจ่มแจ้งแล้ว มีสัญญาในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำแจ่มแจ้งแล้ว มีสัญญาใน
ธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟแจ่มแจ้งแล้ว มีสัญญาในธาตุลมว่าเป็นธาตุลมแจ่มแจ้งแล้ว มี
สัญญาในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌานแจ่มแจ้งแล้ว มี
สัญญาในวิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌานแจ่มแจ้งแล้ว มี
สัญญาในอากิญจัญญายตนฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตนฌานแจ่มแจ้งแล้ว มี
สัญญาในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
แจ่มแจ้งแล้ว มีสัญญาในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้แจ่มแจ้งแล้ว มีสัญญาในโลกหน้าว่าเป็น
โลกหน้าแจ่มแจ้งแล้ว มีสัญญาในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจแจ่มแจ้งแล้ว
สันธะ บุรุษอาชาไนยผู้เจริญมีปกติเพ่งอย่างนี้แล ไม่อาศัยธาตุดินเพ่ง ไม่อาศัย
ธาตุน้ำเพ่ง ไม่อาศัยธาตุไฟเพ่ง ไม่อาศัยธาตุลมเพ่ง ไม่อาศัยอากาสานัญจายตนฌาน
เพ่ง ไม่อาศัยวิญญาณัญจายตนฌานเพ่ง ไม่อาศัยอากิญจัญญายตนฌานเพ่ง ไม่
อาศัยเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเพ่ง ไม่อาศัยโลกนี้เพ่ง ไม่อาศัยโลกหน้าเพ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๑๐. โมรนิวาปสูตร
ไม่อาศัยแม้รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่
แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจเพ่ง แต่ย่อมเพ่ง
สันธะ อนึ่ง เทวดาทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์ พรหม มนุษย์ย่อมนอบน้อม
บุรุษอาชาไนยผู้เจริญซึ่งมีปกติเพ่งอย่างนี้แต่ที่ไกลทีเดียวว่า
ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
ข้าแต่ท่านบุรุษผู้สูงสุด
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
ข้าพเจ้าทั้งหลายรู้ชัดเหตุนั้น ๆ ได้
เพราะอาศัยการเพ่งของท่าน”
สันธสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. โมรนิวาปสูตร
ว่าด้วยปริพพาชการามชื่อโมรนิวาปะ
[๑๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปริพพาชการามอันเป็นที่ให้
เหยื่อแก่นกยูง เขตกรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ เป็นผู้มีความสำเร็จสูงสุด๑
มีความเกษมสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐ
กว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ

เชิงอรรถ :
๑ มีความสำเร็จสูงสุด(อัจจันตนิฏฐะ) หมายถึงนิพพาน (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๐/๓๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๑๐. โมรนิวาปสูตร
๑. สีลขันธ์(กองศีล)ที่เป็นอเสขะ๑
๒. สมาธิขันธ์(กองสมาธิ)ที่เป็นอเสขะ
๓. ปัญญาขันธ์(กองปัญญา)ที่เป็นอเสขะ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นผู้มีความสำเร็จ
สูงสุด มีความเกษมสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้
ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการแม้อื่นอีก เป็นผู้มีความสำเร็จสูงสุด มี
ความเกษมสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อิทธิปาฏิหาริย์๒ (ปาฏิหาริย์คือฤทธิ์)
๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์๓ (ปาฏิหาริย์คือการทายใจ)
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์๔ (ปาฏิหาริย์คืออนุสาสนี)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้ เป็นผู้มีความสำเร็จสูงสุด
มีความเกษมสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการแม้อื่นอีก เป็นผู้มีความสำเร็จสูงสุด มีความ
เกษมสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดา
และมนุษย์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ อเสขะ ในที่นี้หมายถึงธรรมระดับโลกุตตระของพระอเสขะ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๑๒/๓๒๐)
๒ อิทธิปาฏิหาริย์ หมายถึงการแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคน
เดียวก็ได้ ปรากฏตัวได้ หายตัวได้ เดินทะลุฝา กำแพง ภูเขาได้ ดำดินได้ เดินบนน้ำได้ นั่งขัดสมาธิในอากาศได้
เป็นต้น ดูอังคุตตรนิกายแปลเล่มที่ ๒๐ ข้อ ๖๑ ติกนิบาต หน้า ๒๓๔
๓ อาเทสนาปาฏิหาริย์ หมายถึงการกล่าวดักใจบุคคลได้ว่า ใจของบุคคลแต่ละคนเป็นอย่างไร มีสุข มีทุกข์
หรือมีวิตกเรื่องอะไร กำลังคิดอะไรอยู่เป็นต้น และคำกล่าวดักใจนั้นก็เป็นอย่างนั้น ไม่ผิดเพี้ยนกลับกลาย
เป็นอย่างอื่นไปได้ ดูอังคุตรนิกายแปล เล่มที่ ๒๐ ข้อ ๖๑ ติกนิบาต หน้า ๒๓๔
๔ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ หมายถึงการพร่ำสอนว่า “จงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนี้ จงมนสิการอย่างนี้
อย่าได้มนสิการอย่างนี้ จงละธรรมนี้ จงบรรลุธรรมนี้” ดูอังคุตรนิกายแปล เล่มที่ ๒๐ ข้อ ๖๑ ติกนิบาต
หน้า ๒๓๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค ๑๐. โมรนิวาปสูตร
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาญาณะ
๓. สัมมาวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นผู้มีความสำเร็จ
สูงสุด มีความเกษมสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้
ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๒ ประการ เป็นผู้มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษม
สูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลาย
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. วิชชา (ความรู้แจ้ง)
๒. จรณะ (ความประพฤติ)
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๒ ประการนี้แล เป็นผู้มีความสำเร็จ
สูงสุด มีความเกษมสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้
ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย แม้สนังกุมารพรหมก็ได้กล่าวคาถานี้ไว้ว่า
ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่๑
กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด
ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงหมู่ชนผู้ชอบคิดว่าตนมีตระกูลสูง ตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมากกว่าผู้อื่น เช่น คิดว่า “เราเป็น
โคตมโคตร เราเป็นกัสสปโคตร” เป็นต้น (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๐/๓๘๓) และดูพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย
สีลขันธวรรค แปล เล่มที่ ๙ ข้อ ๒๗๗ หน้า ๙๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๑. นิสสยวรรค รวมพระสูตรที่มัในวรรค
ภิกษุทั้งหลาย ก็คาถานี้สนังกุมารพรหมได้กล่าวร้อยกรองไว้ถูกต้องดีแล้ว ไม่
ใช่ร้อยกรองไว้ผิด ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ใช่ประกอบด้วยสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ เรา
ยอมรับ ภิกษุทั้งหลาย ถึงเราเองก็กล่าวไว้อย่างนี้ว่า
ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่
กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด
ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
โมรนิวาปสูตรที่ ๑๐ จบ
นิสสยวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กิมัตถิยสูตร ๒. เจตนากรณียสูตร
๓. ปฐมอุปนิสาสูตร ๔. ทุติยอุปนิสาสูตร
๕. ตติยอุปนิสาสูตร ๖. พยสนสูตร
๗. ปฐมสัญญาสูตร ๘. มนสิการสูตร
๙. สันธสูตร ๑๐. โมรนิวาปสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๑. ปฐมมหานามสูตร
๒. อนุสสติวรรค
หมวดว่าด้วยอนุสสติ
๑. ปฐมมหานามสูตร๑
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ สูตรที่ ๑
[๑๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์
แคว้นสักกะ สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากทำจีวรกรรมเพื่อถวายพระผู้มีพระภาคด้วย
หวังว่า “พระผู้มีพระภาคมีจีวรสำเร็จแล้ว ล่วงไป ๓ เดือนก็จักเสด็จจาริกไป”
เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะได้ทรงทราบข่าวอย่างนั้นเหมือนกัน ลำดับนั้น
พระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง
ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทราบข่าวอย่างนี้ว่า ‘ได้ทราบว่า ภิกษุจำนวน
มากทำจีวรกรรมเพื่อถวายพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคมีจีวรสำเร็จแล้ว
ล่วงไป ๓ เดือนก็จักเสด็จจาริกไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเมื่อจะอยู่ด้วยธรรม
เป็นเครื่องอยู่ต่าง ๆ จะต้องอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อะไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ มหานามะ การที่พระองค์เสด็จมาหา
ตถาคตแล้วตรัสถามว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเมื่อจะอยู่ด้วยธรรมเป็น
เครื่องอยู่ต่าง ๆ จะต้องอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อะไร” นี้เป็นการสมควรแก่พระ
องค์ผู้เป็นกุลบุตร มหานามะ กุลบุตรผู้มีศรัทธาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้ไม่มี
ศรัทธาไม่ประสบความสำเร็จ๒ ๑ ผู้ปรารภความเพียรเป็นผู้ประสบความสำเร็จ
ผู้เกียจคร้านไม่ประสบความสำเร็จ ๑ ผู้มีสติตั้งมั่นเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้หลง
ลืมสติไม่ประสบความสำเร็จ ๑ ผู้มีจิตตั้งมั่นเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้มีจิตไม่ตั้ง

เชิงอรรถ :
๑ ดู มหานามสูตรที่ ๑๐ (องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๑๐/๒๗๕)
๒ ไม่ประสบความสำเร็จ(อาราธกะ) หมายถึงไม่ให้ถึงพร้อม ไม่ให้บริบูรณ์ (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๑-๑๒/
๓๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๑. ปฐมมหานามสูตร
มั่นไม่ประสบความสำเร็จ ๑ ผู้มีปัญญาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้มีปัญญาทราม
ไม่ประสบความสำเร็จ ๑
มหานามะ พระองค์พึงตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้ แล้วเจริญธรรม ๖ ประการ
ให้ยิ่งขึ้นไปเถิด
ธรรม ๖ ประการนี้ คือ
๑. พระองค์พึงระลึกถึงตถาคตว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อม
ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้
อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค” มหานามะ สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงตถาคตแล้ว
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม
ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมปรารภตถาคต
ดำเนินไปตรงทีเดียว มหานามะ ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงแล้ว
ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ๑ ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงธรรม๒ ย่อม
ได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรม เมื่อมีปราโมทย์ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจ
มีปีติกายย่อมสงบ เธอมีกายสงบย่อมได้รับสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น
มหานามะ อริยสาวกนี้ ตถาคตกล่าวว่าเป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์
ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีพยาบาท เป็นผู้
ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม เจริญพุทธานุสสติอยู่
๒. พระองค์พึงระลึกถึงธรรมว่า “พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัส
ไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล๓ ควรเรียก

เชิงอรรถ :
๑ ความปลาบปลื้มอิงอรรถ(อตฺถเวท) ในที่นี้หมายถึงปีติและปราโมทย์ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยอรรถกถา
(องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๐/๙๖)
๒ ความปลาบปลื้มอิงธรรม (ธมฺมเวท) ในที่นี้หมายถึงปีติและปราโมทย์ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยพระบาลี
(องฺ.ฉกฺก.อ.๓/๑๐/๙๖)
๓ ไม่ประกอบด้วยกาล หมายถึงให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลา ทุก
โอกาส บรรลุเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๔/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๑. ปฐมมหานามสูตร
ให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน๑ อันวิญญูชน๒พึงรู้เฉพาะตน” มหานามะ
สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงธรรม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่
ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิต
ของอริยสาวกนั้นย่อมปรารภธรรม ดำเนินไปตรงทีเดียว มหานามะ ก็
อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงแล้ว ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ย่อม
ได้ความปลาบปลื้มอิงธรรม ย่อมได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรม เมื่อ
มีปราโมทย์ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติกายย่อมสงบ เธอมีกายสงบย่อมได้
รับสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น มหานามะ อริยสาวกนี้ ตถาคตกล่าวว่า เป็น
ผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีพยาบาทอยู่ใน
หมู่สัตว์ผู้มีพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม เจริญธัมมา-
นุสสติอยู่
๓. พระองค์พึงระลึกถึงสงฆ์ว่า “พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็น
ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล
๔ คู่ คือ ๘ บุคคล พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่
ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำ
อัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก” มหานามะ สมัยใด อริยสาวก
ระลึกถึงพระสงฆ์ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม
ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น
ย่อมปรารภพระสงฆ์ดำเนินไปตรงทีเดียว มหานามะ ก็อริยสาวกผู้มี
จิตดำเนินไปตรงแล้ว ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ย่อมได้ความ
ปลาบปลื้มอิงธรรม ย่อมได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรม เมื่อมี
ปราโมทย์ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติกายย่อมสงบ เธอมีกายสงบย่อมได้
รับสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น มหานามะ อริยสาวกนี้ ตถาคตกล่าวว่า

เชิงอรรถ :
๑ ควรน้อมเข้ามาในตน หมายถึงควรน้อมเข้ามาสู่จิตของตน หรือควรน้อมเข้ามาเพื่อการปฏิบัติ (องฺ.ติก.อ.
๒/๕๔/๑๕๘)
๒ วิญญูชน หมายถึงบัณฑิต (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๔/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๑. ปฐมมหานามสูตร
เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีพยาบาท
อยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม เจริญ
สังฆานุสสติอยู่
๔. พระองค์พึงระลึกถึงศีลของพระองค์ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย
เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ
มหานามะ สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศีล สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น
ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น
จิตของอริยสาวกนั้นย่อมปรารภศีลดำเนินไปตรงทีเดียว มหานามะ ก็
อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงแล้ว ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ
ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงธรรม ย่อมได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรม
เมื่อมีปราโมทย์ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติกายย่อมสงบ เธอมีกายสงบ
ย่อมได้รับสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น มหานามะ อริยสาวกนี้ ตถาคต
กล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มี
พยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม
เจริญสีลานุสสติอยู่
๕. พระองค์พึงระลึกถึงจาคะของพระองค์ว่า “เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดี
แล้วหนอ ที่เรามีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว
มีฝ่ามือชุ่ม๑ ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกทาน อยู่
ครองเรือน” มหานามะ สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงจาคะ สมัยนั้น จิต
ของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะ
กลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมปรารภจาคะดำเนินไปตรง
ทีเดียว มหานามะ ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงแล้ว ย่อมได้ความ
ปลาบปลื้มอิงอรรถ ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงธรรม ย่อมได้ปราโมทย์ที่

เชิงอรรถ :
๑ มีฝ่ามือชุ่มอรรถกถาอธิบายว่า คนที่ไม่มีศรัทธา แม้จะล้างมือถึง ๗ ครั้ง ก็ชื่อว่ามีมือยังไม่ล้าง มีมือสกปรก
อยู่นั่นเอง แต่คนที่มีศรัทธา แม้จะมีมือสกปรก ก็ชื่อว่ามีมือที่ได้ล้างสะอาดแล้ว (องฺ.ติก.อ. ๒/๔๒/๑๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๑. ปฐมมหานามสูตร
ประกอบด้วยธรรม เมื่อมีปราโมทย์ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติกายย่อม
สงบ เธอมีกายสงบย่อมได้รับสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น มหานามะ
อริยสาวกนี้ ตถาคตกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความ
ไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อม
ด้วยกระแสธรรม เจริญจาคานุสสติอยู่
๖. พระองค์พึงระลึกถึงเทวดาทั้งหลายว่า “มีเทวดาชั้นจาตุมหาราช เทวดา
ชั้นดาวดึงส์ เทวดาชั้นยามา เทวดาชั้นดุสิต เทวดาชั้นนิมมานรดี เทวดา
ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เทวดาชั้นพรหมกาย เทวดาชั้นสูงขึ้นไปกว่านั้น
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปเกิดใน
เทวโลกนั้น แม้เราเองก็มีศรัทธาเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีล
เช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปเกิดในเทวโลกนั้น แม้เราเองก็มีศีลเช่นนั้น
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยสุตะเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปเกิดในเทวโลกนั้น
แม้เราเองก็มีสุตะเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยจาคะเช่นใด จุติ
จากโลกนี้แล้วไปเกิดในเทวโลกนั้น แม้เราเองก็มีจาคะเช่นนั้น เทวดา
เหล่านั้นประกอบด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปเกิดในเทวโลกนั้น
แม้เราเองก็มีปัญญาเช่นนั้น” มหานามะ สมัยใด อริยสาวกระลึกถึง
ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของตนและของเทวดาเหล่านั้น
สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะ
กลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมปรารภ
เทวดาทั้งหลายดำเนินไปตรงทีเดียว มหานามะ ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนิน
ไปตรงแล้ว ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ย่อมได้ความปลาบปลื้ม
อิงธรรม ย่อมได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรม เมื่อมีปราโมทย์ย่อม
เกิดปีติ เมื่อใจมีปีติกายย่อมสงบ เธอผู้มีกายสงบย่อมได้รับสุข เมื่อมีสุข
จิตย่อมตั้งมั่น มหานามะ อริยสาวกนี้ ตถาคตกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความ
สงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มี
พยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม เจริญเทวตานุสสติอยู่
ปฐมมหานามสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๒. ทุติยมหานามสูตร
๒. ทุติยมหานามสูตร
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ สูตรที่ ๒
[๑๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุง
กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ สมัยนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะทรงหายจาก
พระประชวรได้ไม่นาน สมัยนั้นแล ภิกษุจำนวนมากทำจีวรกรรมเพื่อถวายพระผู้มี
พระภาคด้วยหวังว่า “พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว ล่วงไป ๓ เดือนก็จักเสด็จ
จาริกไป”
เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะได้ทรงทราบข่าวอย่างนั้นเหมือนกัน ลำดับนั้น
เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทราบข่าวอย่างนี้ว่า ‘ได้ทราบว่า ภิกษุ
จำนวนมากทำจีวรกรรมเพื่อถวายพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคมี
จีวรสำเร็จแล้ว ล่วงไป ๓ เดือนก็จักเสด็จจาริกไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน
เมื่อจะอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่ต่าง ๆ จะต้องอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อะไร
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ มหานามะ การที่พระองค์เสด็จมาหา
ตถาคตแล้วตรัสถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเมื่อจะอยู่ด้วยธรรมเป็น
เครื่องอยู่ต่าง ๆ จะต้องอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อะไร” นี้เป็นการสมควรแก่พระองค์
ผู้เป็นกุลบุตร มหานามะ กุลบุตรผู้มีศรัทธาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้ไม่มีศรัทธา
ไม่ประสบความสำเร็จ ๑ ผู้ปรารภความเพียรเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้เกียจคร้าน
ไม่ประสบความสำเร็จ ๑ ผู้มีสติตั้งมั่นเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้หลงลืมสติไม่
ประสบความสำเร็จ ๑ ผู้มีจิตตั้งมั่นเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นไม่
ประสบความสำเร็จ ๑ ผู้มีปัญญาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้มีปัญญาทรามไม่
ประสบความสำเร็จ ๑
มหานามะ พระองค์พึงตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้ แล้วเจริญธรรม ๖ ประการ
ให้ยิ่งขึ้นไปเถิด


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๒. ทุติยมหานามสูตร
ธรรม ๖ ประการนี้ คือ
๑. พระองค์พึงระลึกถึงตถาคตว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระ
องค์นั้น ฯลฯ๑ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระ
พุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค” มหานามะ สมัยใด อริยสาวกระลึกถึง
ตถาคตแล้ว สมัยนั้น จิตของพระอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม
ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น
ย่อมปรารภตถาคตดำเนินไปตรงทีเดียว มหานามะ ก็อริยสาวกผู้มีจิต
ดำเนินไปตรงแล้ว ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ๒ ย่อมได้ความ
ปลาบปลื้มอิงธรรม ย่อมได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรม เมื่อมี
ปราโมทย์ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติกายย่อมสงบ เธอผู้มีกายสงบย่อมได้
รับสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น มหานามะ พุทธานุสสตินี้แล พระองค์
แม้กำลังเสด็จดำเนินก็เจริญได้ กำลังประทับยืนก็เจริญได้ กำลังประทับ
นั่งก็เจริญได้ กำลังบรรทมก็เจริญได้ กำลังประกอบการงานก็เจริญได้
กำลังประทับบนที่บรรทมซึ่งเบียดเสียดด้วยพระโอรสและพระธิดาก็เจริญได้
๒. พระองค์พึงระลึกถึงพระธรรม ...
๓. พระองค์พึงระลึกถึงพระสงฆ์ ...
๔. พระองค์พึงระลึกถึงศีลของพระองค์ ...
๕. พระองค์พึงระลึกถึงจาคะของพระองค์ ...
๖. พระองค์พึงระลึกถึงเทวดาทั้งหลายว่า “มีเทวดาชั้นจาตุมหาราช ...
เทวดาชั้นสูงขึ้นไปกว่านั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติ
จากโลกนี้แล้วไปเกิดในเทวโลกนั้น แม้เราเองก็มีศรัทธาเช่นนั้น เทวดา
เหล่านั้นประกอบด้วยศีล ... สุตะ ... จาคะ ... ปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในข้อ ๑๑ (ปฐมมหานามสูตร) ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑,๒ ข้อ ๑๑ หน้า ๔๑๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๓. นันทิยสูตร
แล้วไปเกิดในเทวโลกนั้น แม้เราเองก็มีปัญญาเช่นนั้น” มหานามะ สมัยใด
อริยสาวกระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะและปัญญาของตนและของ
เทวดาเหล่านั้น สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม
ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น
ย่อมปรารภเทวดาทั้งหลายดำเนินไปตรงทีเดียว มหานามะ ก็อริยสาวก
ผู้มีจิตดำเนินไปตรงแล้ว ย่อมได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ย่อมได้ความ
ปลาบปลื้มอิงธรรม ย่อมได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรม เมื่อมี
ปราโมทย์ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติกายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อม
ได้รับสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น มหานามะ เทวตานุสสตินี้แล พระองค์
แม้กำลังเสด็จดำเนินก็เจริญได้ กำลังประทับยืนก็เจริญได้ กำลังประทับ
นั่งก็เจริญได้ กำลังบรรทมก็เจริญได้ กำลังประกอบการงานก็เจริญได้
กำลังประทับบนที่บรรทมซึ่งเบียดเสียดด้วยพระโอรสและพระธิดาก็เจริญได้
ทุติยมหานามสูตรที่ ๒ จบ

๓. นันทิยสูตร
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่านันทิยะ
[๑๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุง
กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์จะเสด็จไปจำพรรษา
ณ กรุงสาวัตถี เจ้าศากยะพระนามว่านันทิยะได้ทราบข่าวอย่างนี้ว่า ได้ทราบว่า
พระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์จะเสด็จไปจำพรรษา ณ กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น เจ้า
ศากยะพระนามว่านันทิยะได้ทรงมีพระดำริดังนี้ว่า “ทางที่ดี แม้เราก็ควรจะพักอยู่
ตลอดพรรษาในกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น เราจักประกอบการงานและจักเข้าเฝ้าพระผู้มี
พระภาคตามเวลาอันสมควร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๓. นันทิยสูตร
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงเข้าจำพรรษา ณ กรุงสาวัตถี แม้เจ้าศากยะ
พระนามว่านันทิยะก็ได้พักอยู่ตลอดพรรษา ณ กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระองค์ได้ทรง
ประกอบการงาน และได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคตามกาลอันสมควร สมัยนั้น ภิกษุ
จำนวนมากทำจีวรกรรมเพื่อถวายพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า “พระผู้มีพระภาคผู้มี
จีวรสำเร็จแล้ว ล่วงไป ๓ เดือนก็จักเสด็จจาริกไป”
เจ้าศากยะพระนามว่านันทิยะได้ทรงทราบข่าวอย่างนี้ว่า ได้ทราบว่า ภิกษุ
จำนวนมากทำจีวรกรรมเพื่อถวายพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า “พระผู้มีพระภาคผู้มี
จีวรสำเร็จแล้ว ล่วงไป ๓ เดือนก็จักเสด็จจาริกไป” ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่า
นันทิยะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับ ณ ที่
สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทราบ
ข่าวว่า ภิกษุจำนวนมากทำจีวรกรรมเพื่อถวายพระผู้มีพระภาคด้วยหวังว่า ‘พระ
ผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว ล่วงไป ๓ เดือนก็จักเสด็จจาริกไป’ หม่อมฉันเมื่อ
จะอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่ต่าง ๆ จะต้องอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อะไร พระพุทธ-
เจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละ ดีละ นันทิยะ การที่พระองค์เสด็จมาหาตถาคต
แล้วตรัสถามว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเมื่อจะอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่
ต่าง ๆ จะต้องอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อะไร’ นี้เป็นการสมควรแก่พระองค์ผู้เป็น
กุลบุตร นันทิยะ กุลบุตรผู้มีศรัทธาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้ไม่มีศรัทธาไม่
ประสบความสำเร็จ ๑ ผู้มีศีลเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้ทุศีลไม่ประสบความ
สำเร็จ ๑ ผู้ปรารภความเพียรเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้เกียจคร้านไม่ประสบ
ความสำเร็จ ๑ ผู้มีสติตั้งมั่นเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้หลงลืมสติไม่ประสบความ
สำเร็จ ๑ ผู้มีจิตตั้งมั่นเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นไม่ประสบความ
สำเร็จ ๑ ผู้มีปัญญาเป็นผู้ประสบความสำเร็จ ผู้มีปัญญาทรามไม่ประสบความ
สำเร็จ ๑
นันทิยะ พระองค์พึงตั้งอยู่ในธรรม ๖ ประการนี้ แล้วตั้งสติมั่นไว้ภายในตนใน
ธรรม ๕ ประการเถิด


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๓. นันทิยสูตร
ธรรม ๕ ประการนี้ คือ
๑. พระองค์พึงระลึกถึงตถาคตว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระ
องค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อม
ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้
อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระ
พุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค นันทิยะ พระองค์พึงตั้งสติมั่นไว้ภายในตน
ปรารภตถาคตอย่างนี้เถิด
๒. พระองค์พึงระลึกถึงพระธรรมว่า “พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล
ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
นันทิยะ พระองค์พึงตั้งสติมั่นไว้ภายในตนปรารภธรรมอย่างนี้เถิด
๓. พระองค์พึงระลึกถึงเหล่ากัลยาณมิตรว่า “เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดี
แล้วหนอ ที่เรามีกัลยาณมิตรผู้เอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์ กล่าวแนะนำ
พร่ำสอน” นันทิยะ พระองค์พึงตั้งสติมั่นไว้ภายในตนปรารภเหล่า
กัลยาณมิตรอย่างนี้เถิด
๔. พระองค์พึงระลึกถึงจาคะของพระองค์ว่า “เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดี
แล้วหนอ ที่เรามีจิตปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละ
แล้ว มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกทาน
อยู่ครองเรือนในหมู่สัตว์ผู้ถูกความตระหนี่อันเป็นมลทินกลุ้มรุม” นันทิยะ
พระองค์พึงตั้งสติมั่นไว้ภายในปรารภจาคะอย่างนี้เถิด
๕. พระองค์พึงระลึกถึงเทวดาทั้งหลายว่า “เทวดาเหล่าใดล่วงความเป็น
สหายแห่งเหล่าเทวดาผู้มีคำข้าวเป็นภักษา๑แล้ว เข้าถึงกายมโนมัย๒
อย่างใดอย่างหนึ่ง เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่พิจารณาเห็นกิจที่ควรทำของตน
หรือการสั่งสมกิจที่ตนทำแล้ว” นันทิยะ เทวดาเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ล่วง

เชิงอรรถ :
๑ เหล่าเทวดาผู้มีคำข้าวเป็นภักษา หมายถึงเทวดาชั้นกามาวจร (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๓/๓๘๔)
๒ กายมโนมัยในที่นี้หมายถึงเทพกายหรือพรหมกายของผู้บำเพ็ญฌานสมาบัติแล้วบังเกิดขึ้นในพรหมโลก
ชั้นสุทธาวาสด้วยอำนาจฌาน (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๔๔/๒๖,๑๖๖/๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๔. สุภูติสูตร
ความเป็นสหายแห่งเหล่าเทวดาผู้มีคำข้าวเป็นภักษาแล้วจึงเข้าถึง
กายมโนมัยอย่างใดอย่างหนึ่ง เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่พิจารณาเห็นกิจที่
ควรทำของตน หรือการสั่งสมกิจที่ตนทำแล้ว เปรียบเหมือนภิกษุผู้เป็น
อสมยวิมุต๑ไม่พิจารณาเห็นกิจที่ควรทำของตนหรือการสั่งสมกิจที่ตน
ทำแล้ว นันทิยะ พระองค์พึงตั้งสติมั่นภายในปรารภเทวดาอย่างนี้เถิด
นันทิยะ อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้แล ย่อมละ ไม่ยึดมั่น
บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย
อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้ ย่อมละ ไม่ยึดมั่นบาปอกุศล-
ธรรมทั้งหลาย เปรียบเหมือนหม้อที่คว่ำ ย่อมไม่กลับมาบรรจุของที่หกแล้ว และ
เปรียบเหมือนไฟที่ลามพ้นไปจากหญ้าแล้ว ย่อมไหม้ของที่ควรไหม้เท่านั้น ย่อมไม่
กลับมาไหม้ของที่ไหม้แล้ว
นันทิยสูตรที่ ๓ จบ

๔. สุภูติสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงแก่พระสุภูติ
[๑๔] ครั้งนั้น ท่านพระสุภูติกับภิกษุผู้มีศรัทธาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระสุภูติ
ดังนี้ว่า “สุภูติ ภิกษุนี้๒ชื่อไร”

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุผู้เป็นอสมยวิมุต หมายถึงพระขีณาสพผู้หลุดพ้นด้วยอสมยวิมุตติ (ความหลุดพ้นที่ไม่ขึ้นต่อสมัย
หรือชั่วคราวคือยั่งยืนเรื่อยไป) หมายถึงอริยผลโดยเฉพาะอรหัตตผลเป็นโลกุตตรวิมุตติ บางแห่งใช้คำว่า
อสมยวิโมกข์ ตรงกันข้ามกับสมยวิมุตติ หรือสมยวิโมกข์ ซึ่งหมายถึงสมาบัติ ๘ เป็นโลกิยวิมุตติ (องฺ.
เอกาทสก.อ. ๓/๑๓/๓๘๔) และดู ม.มู. ๑๒/๓๑๑/๒๗๘-๒๘๐
๒ หมายถึงภิกษุผู้เป็นบุตรของอนาถบิณฑิกคหบดี ซึ่งมีศรัทธาออกบวชในสำนักของท่านพระสุภูติเถระผู้เป็นอาว์
ต่อมาพระเถระนำเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค แม้พระองค์จะทรงทราบดีว่า ภิกษุนี้เป็นใคร ชื่ออะไร แต่ก็ทรง
ตรัสถามเพื่อปรารภเหตุที่จะแสดงพระธรรมเทศนา (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๔/๓๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๔. สุภูติสูตร
ท่านพระสุภูติกราบทูลว่า “ภิกษุนี้มีศรัทธา เป็นบุตรของอุบาสกผู้มีศรัทธา
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา พระพุทธเจ้าข้า”
“สุภูติ ภิกษุนี้มีศรัทธา เป็นบุตรของอุบาสกผู้มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตด้วยศรัทธา เห็นลักษณะของผู้มีศรัทธาทั้งหลายหรือ”
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้ เป็นกาลสมควรแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น
ข้าแต่พระสุคต บัดนี้ เป็นกาลสมควรแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น ขอพระผู้มีพระ
ภาคโปรดตรัสลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาเถิด ข้าพระองค์ก็จักทราบ ณ บัดนี้
ว่า ภิกษุนี้จะเห็นลักษณะของผู้มีศรัทธาหรือไม่”
“สุภูติ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ท่านพระสุภูติทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
สุภูติ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบ
พร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทาน
ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทาน
ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายนี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา
๒. ภิกษุเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลาย
ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ และพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ
ถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ แม้การที่ภิกษุ
เป็นพหูสูต ฯลฯ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐินี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้
มีศรัทธา
๓. ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มี
สหายดี มีเพื่อนดีนี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา
๔. ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อดทน
รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วย
ธรรมเป็นเครื่องที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อดทน รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ
นี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๔. สุภูติสูตร
๕. ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำทั้งงานสูง
และงานต่ำ๑ของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็น
เครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถ
ทำได้ สามารถจัดได้ แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในกิจที่จะ
ต้องช่วยกันทำทั้งงานสูงและงานต่ำของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ฯลฯ
สามารถทำได้ สามารถจัดได้นี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา
๖. ภิกษุเป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้ฟังและผู้แสดงธรรมอันเป็นที่พอใจ มี
ปราโมทย์(ความบันเทิงใจ)อย่างยิ่งในอภิธรรม ในอภิวินัย แม้การที่ภิกษุ
เป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้ฟังและผู้แสดงธรรมอันเป็นที่พอใจ มีปราโมทย์
อย่างยิ่งในอภิธรรม ในอภิวินัยนี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา
๗. ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด
มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
แม้การที่ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร ฯลฯ นี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธา
ของผู้มีศรัทธา
๘. ภิกษุเป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก แม้การที่ภิกษุเป็นผู้
ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความ
ปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากนี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธา
ของผู้มีศรัทธา
๙. ภิกษุระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง
๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง
๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐
ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมาก
บ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามี
ชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๕ ข้อ ๑๗ (ปฐมนาถสูตร) หน้า ๓๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๔. สุภูติสูตร
อย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่อ
อย่างนั้น มีตะกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และมีอายุอย่างนั้น ๆ
จุติจากภพนั้นแล้วจึงมาเกิดในภพนี้’ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ แม้การที่ภิกษุระลึกชาติ
ก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ พร้อมทั้งลักษณะ
ทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ นี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา
๑๐. ภิกษุเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ(เคลื่อน) กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งาม
และไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัด
ถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต
และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้
ทำตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต
ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความ
เห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็น
หมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดี
และเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไป
ตามกรรมอย่างนี้แล แม้การที่ภิกษุเห็นหมู่สัตว์ ฯลฯ ด้วยตาทิพย์อัน
บริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมนี้ก็เป็นลักษณะ
แห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา
๑๑. ภิกษุทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน แม้การที่ภิกษุทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ฯลฯ เข้าถึง
อยู่ในปัจจุบันนี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสุภูติได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาที่พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสแล้วนี้ มีอยู่พร้อมแก่ภิกษุนี้ และภิกษุนี้ก็เห็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มี
ศรัทธาเหล่านี้ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๔. สุภูติสูตร
๑. ภิกษุนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย
อาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย
๒. ภิกษุนี้เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลาย
ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
๓. ภิกษุนี้เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี
๔. ภิกษุนี้เป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็น
ผู้อดทน รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ
๕. ภิกษุนี้เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำทั้งงานสูง
และงานต่ำของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่อง
พิจารณาอันเป็นอุบายในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถทำได้
สามารถจัดได้
๖. ภิกษุนี้เป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้ฟังและผู้แสดงธรรมอันเป็นที่พอใจ มี
ปราโมทย์อย่างยิ่งในอภิธรรม ในอภิวินัยอยู่
๗. ภิกษุนี้เป็นผู้ปรารภความเพียร ฯลฯ มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่น
มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
๘. ภิกษุนี้เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
๙. ภิกษุนี้ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
๑๐. ภิกษุนี้เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่
งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ รู้ชัด
ถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๕. เมตตาสูตร
๑๑. ภิกษุนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไป ฯลฯ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาที่
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้เหล่านี้ มีอยู่พร้อมแก่ภิกษุนี้และภิกษุนี้ก็เห็น
ลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาเหล่านี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ๆ สุภูติ ถ้าเช่นนั้น เธอพึงอยู่กับภิกษุชื่อว่ามี
ศรัทธานี้เถิด สุภูติ แต่เมื่อใด เธอหวังจะมาเยี่ยมเยือนตถาคต เมื่อนั้น เธอกับภิกษุ
ชื่อว่ามีศรัทธานี้พึงมาเยี่ยมเยือนตถาคตเถิด”
สุภูติสูตรที่ ๔ จบ

๕. เมตตาสูตร
ว่าด้วยอานิสงส์ของเมตตา
[๑๕] ภิกษุทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุตติที่บุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มาก
แล้ว ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว
พึงหวังได้อานิสงส์ ๑๑ ประการ
อานิสงส์ ๑๑ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. หลับเป็นสุข
๒. ตื่นเป็นสุข
๓. ไม่ฝันร้าย
๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
๖. เทวดาทั้งหลายรักษา
๗. ไฟ ยาพิษ หรือศัสตรา กล้ำกรายไม่ได้
๘. จิตตั้งมั่นได้เร็ว
๙. สีหน้าสดใส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๖. อัฏฐกนาครสูตร
๑๐. ไม่หลงลืมสติตาย
๑๑. เมื่อยังไม่แทงตลอดคุณวิเศษอันยอดยิ่ง๑ ย่อมเข้าถึงพรหมโลก
ภิกษุทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุตติที่บุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ทำให้เป็นดุจยานแล้ว ทำให้เป็นที่ตั้งแล้ว ให้ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว
พึงหวังได้อานิสงส์ ๑๑ ประการนี้
เมตตาสูตรที่ ๕ จบ

๖. อัฏฐกนาครสูตร
ว่าด้วยคหบดีชาวอัฏฐกนคร
[๑๖] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ เวฬุวคาม เขตกรุงเวสาลี สมัยนั้นแล
คหบดีชาวอัฏฐกนครชื่อว่าทสมะ๒ ได้เดินทางไปถึงเมืองปาตลีบุตร ด้วยกิจที่ต้องทำ
บางอย่าง
ครั้งนั้นแล ทสมคหบดีชาวอัฏฐกนคร ได้เข้าไปพบภิกษุรูปหนึ่งที่กุกกุฏาราม
จึงถามภิกษุนั้นว่า
“ท่านขอรับ เดี๋ยวนี้ ท่านพระอานนท์อยู่ที่ไหน ข้าพเจ้าต้องการจะพบท่าน”
ภิกษุตอบว่า “คหบดี ท่านพระอานนท์นี้อยู่ที่เวฬุวคาม เขตกรุงเวสาลี”
ครั้งนั้น ทสมคหบดีชาวอัฏฐกนคร ทำกิจที่ควรทำในเมืองปาตลีบุตรเสร็จแล้ว
ได้เข้าไปพบท่านพระอานนท์ที่เวฬุวคาม เขตกรุงเวสาลี อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ถามท่านพระอานนท์ว่า
“ท่านอานนท์ผู้เจริญ ธรรมอันเป็นเอกซึ่งเป็นที่หลุดพ้นแห่งจิตที่ยังไม่หลุดพ้น
เป็นที่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นไป หรือเป็นที่บรรลุธรรมเป็นแดน

เชิงอรรถ :
๑ คุณวิเศษอันยอดยิ่ง ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๕/๓๘๕)
๒ คหบดีที่มีชื่อว่า ทสมะ (ที่ ๑๐) เพราะถูกจัดลำดับให้อยู่ในตำแหน่งที่ ๑๐ โดยกำหนดชาติ โคตร และตระกูล
ที่มั่งคั่งเป็นเกณฑ์ (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๖/๓๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๖. อัฏฐกนาครสูตร
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่บรรลุโดยลำดับของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว มีอยู่หรือไม่หนอ”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “คหบดี ธรรมอันเป็นเอกซึ่งเป็นที่หลุดพ้นแห่งจิตที่ยัง
ไม่หลุดพ้น เป็นที่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นไป หรือเป็นที่บรรลุ
ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่บรรลุโดยลำดับของภิกษุผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว มีอยู่”
ทสมคหบดีถามว่า “ท่านอานนท์ผู้เจริญ ธรรมอันเป็นเอกซึ่งเป็นที่หลุดพ้น
แห่งจิตที่ยังไม่หลุดพ้น เป็นที่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นไป หรือ
เป็นที่บรรลุธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมโดยลำดับของภิกษุผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น
เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว เป็นอย่างไร”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า คหบดี
๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุ
ปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ภิกษุนั้นพิจารณา
เห็นดังนี้ ย่อมรู้ชัดว่า ‘แม้แต่ปฐมฌานนี้แล ก็ถูกปรุงแต่งแล้ว สิ่งใด
สิ่งหนึ่งที่ถูกปรุงแต่งแล้ว สิ่งนั้นไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา’
ภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรมคือสมถะและวิปัสสนานั้นแล้ว ย่อมบรรลุความ
สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย หากยังไม่บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
ก็จะเป็นโอปปาติกะ๑ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ๒ สิ้นไป ด้วย

เชิงอรรถ :
๑ โอปปาติกะ คือสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ(ตาย)ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่นเทวดา
และสัตว์นรกเป็นต้น (ที.สี.อ. ๑/๑๗๑/๑๔๙) แต่ในที่นี้หมายถึงโอปปาติกะที่ละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ
ได้ เป็นพระอริยบุคคลชั้นอนาคามีไปเกิดในสุทธาวาส ๕ ชั้นมีชั้นอวิหาเป็นต้น แล้วดำรงภาวะอยู่ในชั้น
นั้น ๆ ปรินิพพานสิ้นกิเลสในสุทธาวาสนั่นเอง ไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๖/๓๘๖)
๒ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ หรือกามราคะ และ
พยาบาท หรือปฏิฆะ (องฺ.นวก.๒๓/๖๗/๓๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๖. อัฏฐกนาครสูตร
ความยินดีเพลิดเพลินในธรรม๑นั้น ๆ จักปรินิพพานในภพนั้น๒ ไม่หวน
กลับมาจากโลกนั้นอีก
คหบดี ธรรมอันเป็นเอกแม้นี้แล ซึ่งเป็นที่หลุดพ้นแห่งจิตที่ยังไม่หลุดพ้น เป็น
ที่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นไป หรือเป็นที่บรรลุธรรมเป็นแดน
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่บรรลุโดยลำดับ ของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว
๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสใน
ภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น๓ ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่ ...
๓. เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วย
นามกาย บรรลุตติยฌาน ...
๔. เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุ
บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ภิกษุ
นั้นพิจารณาเห็นดังนี้ย่อมรู้ชัดว่า ‘แม้แต่จตุตถฌานนี้แลก็ถูกปรุงแต่งแล้ว
สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ถูกปรุงแต่งแล้ว สิ่งนั้นไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา’
ภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรมคือสมถะและวิปัสสนานั้นแล้ว ย่อมบรรลุความสิ้น
ไปแห่งอาสวะทั้งหลาย หากยังไม่บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
ก็จะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ด้วยความ
ยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้น ๆ จักปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมา
จากโลกนั้นอีก
คหบดี ธรรมอันเป็นเอกแม้นี้แล ซึ่งเป็นที่หลุดพ้นแห่งจิตที่ยังไม่หลุดพ้น เป็น
ที่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นไป หรือเป็นที่บรรลุธรรมเป็นแดน

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงสมถะและวิปัสสนา (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๖/๓๘๖)
๒ ภพนั้น ในที่นี้หมายถึงพรหมชั้นสุทธาวาส (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๖/๓๘๖)
๓ ภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น แปลจากบาลีว่า “เจตโส เอโกทิภาวํ” คำว่า เอโกทิ เป็นชื่อของสมาธิ ทุติย-
ฌานชื่อว่า เอโกทิภาวะ เพราะทำสมาธิที่ชื่อว่าเอโกทินี้ให้เจริญขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มีภาวะที่จิต
เป็นหนึ่งผุดขึ้น” เพราะสมาธิชื่อเอโกทินี้มีแก่จิตเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ ไม่มีแก่ชีวะ (วิ.อ. ๑/๑๑/๑๔๓-๑๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๖. อัฏฐกนาครสูตร
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่บรรลุโดยลำดับของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว
๕. ภิกษุมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ทิศ
เบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุก
สถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่
มีความเบียดเบียนอยู่ ภิกษุนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ย่อมรู้ชัดว่า ‘แม้เมตตา
เจโตวิมุตตินี้แลก็ถูกปรุงแต่งแล้ว ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ถูกปรุงแต่งแล้ว สิ่งนั้น
ไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา’ ภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรมคือสมถะและ
วิปัสสนานั้นแล้ว ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย หากยังไม่
บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ก็จะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์
อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินใน
ธรรมนั้น ๆ จักปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
คหบดี ธรรมอันเป็นเอกแม้นี้แล ซึ่งเป็นที่หลุดพ้นแห่งจิตที่ยังไม่หลุดพ้น เป็น
ที่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นไป หรือเป็นที่บรรลุธรรมเป็นแดน
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่บรรลุโดยลำดับของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความ
เพียร อุทิศกายและใจอยู่ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว
๖. ภิกษุมีกรุณาจิต ...
๗. ภิกษุมีมุทิตาจิต ...
๘. ภิกษุมีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ทิศ
เบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่
ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร
ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ภิกษุนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ย่อมรู้ชัดว่า ‘แม้
อุเบกขาเจโตวิมุตตินี้ ก็ถูกปรุงแต่งแล้ว ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ถูกปรุงแต่งแล้ว
สิ่งนั้นไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา’ ภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรมคือสมถะ
และวิปัสสนานั้นแล้ว ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย หากยัง
ไม่บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ก็จะเป็นโอปปาติกะเพราะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๖. อัฏฐกนาครสูตร
สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรม
นั้น ๆ จักปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
คหบดี ธรรมอันเป็นเอกแม้นี้แล ซึ่งเป็นที่หลุดพ้นแห่งจิตที่ยังไม่หลุดพ้น เป็น
ที่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งที่ยังไม่หมดสิ้นไป หรือเป็นที่บรรลุธรรมเป็นแดน
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่บรรลุโดยลำดับของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความ
เพียร อุทิศกายและใจอยู่ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว
๙. ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า “อากาศหาที่สุดมิได้”
อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญา
โดยประการทั้งปวง ภิกษุนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ย่อมรู้ชัดว่า ‘แม้อากาสา-
นัญจายตนฌานนี้แลก็ถูกปรุงแต่งแล้ว สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ถูกปรุงแต่งแล้ว
สิ่งนั้นไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา’ ภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรมนั้นแล้ว
ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย หากยังไม่บรรลุความสิ้นไป
แห่งอาสวะทั้งหลาย ก็จะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕
ประการสิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้น ๆ จักปรินิพพาน
ในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
คหบดี ธรรมอันเป็นเอกแม้นี้แล ซึ่งเป็นที่หลุดพ้นแห่งจิตที่ยังไม่หลุดพ้น เป็น
ที่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นไป หรือเป็นที่บรรลุธรรมเป็นแดน
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่บรรลุโดยลำดับของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว
๑๐. ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
วิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า “วิญญาณหาที่สุดมิได้” อยู่ ฯลฯ
๑๑. ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวงบรรลุอากิญจัญญาย
ตนฌานโดยกำหนดว่า “ไม่มีอะไร” อยู่ ภิกษุนั้นพิจารณาเห็นดังนี้ย่อมรู้
ชัดว่า ‘แม้อากิญจัญญายตนฌานนี้แลก็ถูกปรุงแต่งแล้ว ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่
ถูกปรุงแต่งแล้ว สิ่งนั้นไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา’ ภิกษุนั้นตั้งอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๖. อัฏฐกนาครสูตร
ในธรรมนั้นแล้ว ย่อมบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย หากยังไม่
บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ก็จะเป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์
เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้น ๆ จัก
ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก
คหบดี ธรรมอันเป็นเอกแม้นี้แล ซึ่งเป็นที่หลุดพ้นแห่งจิตที่ยังไม่หลุดพ้น เป็น
ที่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นไป หรือเป็นที่บรรลุธรรมเป็นแดน
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่บรรลุโดยลำดับของภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว
เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว ทสมคหบดีชาวอัฏฐกนครจึงกล่าวว่า
“ท่านอานนท์ผู้เจริญ ข้าพเจ้า เมื่อแสวงหาประตูอมตธรรมประตูเดียว ได้รับ
ประตูอมตธรรม ๑๑ ประตูคราวเดียวกัน เปรียบเหมือนบุรุษแสวงหาแหล่งขุมทรัพย์
ขุมเดียว พึงพบขุมทรัพย์ ๑๑ ขุมคราวเดียวกัน
ข้าพเจ้า จักสามารถทำตนให้ปลอดภัยได้โดยประตูอมตธรรม ๑๑ ประตูนี้
ประตูใดประตูหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษมีเรือน ๑๑ ประตู เมื่อเรือนนั้นถูกไฟไหม้
บุรุษนั้นสามารถทำตนให้ปลอดภัยได้โดยประตูใดประตูหนึ่ง
ท่านผู้เจริญ ธรรมดาอัญเดียรถีย์เหล่านี้ จักแสวงหาทรัพย์บูชาอาจารย์เพื่อ
อาจารย์ ส่วนข้าพเจ้าจักไม่ทำการบูชาท่านอานนท์ได้อย่างไร”
ครั้งนั้นแล ทสมคหบดีชาวอัฏฐกนครนิมนต์ภิกษุสงฆ์ชาวกรุงเวสาลีและกรุง
ปาตลีบุตรให้ประชุมกันแล้ว อังคาส๑ภิกษุสงฆ์นั้นให้อิ่มหนำสำราญด้วยของเคี้ยว
ของฉันอันประณีต ด้วยมือตนเอง นิมนต์ภิกษุให้ครองผ้ารูปละคู่ ให้ท่านพระอานนท์
ครองไตรจีวร และได้สร้างวิหาร ๕๐๐ หลังถวายท่านพระอานนท์
อัฏฐกนาครสูตรที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อังคาส เป็นคำภาษาเขมรที่นำมาใช้เป็นคำกริยาในภาษาไทย หมายถึง ถวายอาหารพระ, เลี้ยงพระ
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๗. โคปาลสูตร
๗. โคปาลสูตร
ว่าด้วยองค์ประกอบของผู้เลี้ยงโค
[๑๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลประกอบด้วยองค์
๑๑ ประการ เป็นผู้ไม่สามารถเลี้ยงฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้
องค์ ๑๑ ประการ อะไรบ้าง คือ
นายโคบาลในโลกนี้

๑. ไม่รู้รูปโค ๒. ไม่ฉลาดในลักษณะโค
๓. ไม่กำจัดไข่ขาง ๔. ไม่ปกปิดแผล
๕. ไม่สุมไฟ ๖. ไม่รู้ท่าน้ำ
๗. ไม่รู้ว่าโคดื่มน้ำแล้ว ๘. ไม่รู้ทาง
๙. ไม่ฉลาดในที่หากิน ๑๐. รีดนมไม่ให้เหลือ

๑๑. ไม่บูชาโคผู้๑ทั้งหลายที่เป็นพ่อโค เป็นจ่าฝูง ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง
ภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่
สามารถจะเลี้ยงฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้
ไม่สามารถถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยได้
ธรรม ๑๑ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. ไม่รู้รูป ๒. ไม่ฉลาดในลักษณะ
๓. ไม่กำจัดไข่ขาง ๔. ไม่ปกปิดแผล
๕. ไม่สุมไฟ ๖. ไม่รู้ท่าน้ำ
๗. ไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว ๘. ไม่รู้ทาง


เชิงอรรถ :
๑ ไม่บูชาโคผู้ หมายถึงไม่ให้อาหารอย่างดี ไม่ประดับด้วยของหอม ไม่คล้องพวงมาลัย ไม่สวมปลอกเงิน
ปลอกทองที่เขาของโคจ่าฝูง และในเวลากลางคืน ก็ไม่ติดไฟแล้วให้นอนใต้เพดานผ้า โคจ่าฝูงเมื่อไม่ได้รับ
การเอาใจใส่เช่นนั้น จึงไม่รักษา ไม่ป้องกันอันตรายให้แก่ฝูงโค (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๗/๓๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๗. โคปาลสูตร
๙. ไม่ฉลาดในโคจร ๑๐. รีดนมไม่ให้เหลือ
๑๑. ไม่บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็น
สังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง
ภิกษุไม่รู้รูป เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้ชัดรูปอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเป็นจริงว่า ‘มหา-
ภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๔’ ภิกษุเป็นผู้ไม่รู้รูป เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่ฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘คนพาลมีกรรมเป็น
ลักษณะ บัณฑิตมีกรรมเป็นลักษณะ’ ภิกษุไม่ฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่กำจัดไข่ขาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด
ไม่ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ... รับวิหิงสาวิตกที่
เกิดขึ้น ... รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้
สิ้นสุด ไม่ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ภิกษุไม่กำจัดไข่ขาง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่ปกปิดแผล เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้วรวบถือ แยกถือ๑ ไม่ปฏิบัติเพื่อ
สำรวมในจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ ไม่รักษาจักขุนทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียง
ทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้ง
ธรรมารมณ์ทางใจแล้วรวบถือ แยกถือ ไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่
สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ไม่
รักษามนินทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุไม่ปกปิดแผล เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่สุมไฟ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่แสดงธรรมตามที่ฟังมาแล้ว ตามที่เล่าเรียนมาแล้ว
แก่คนอื่น ๆ โดยพิสดาร ภิกษุไม่สุมไฟ เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑,๒ ข้อ ๙๙ (อุปาลิสูตร) หน้า ๒๓๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๗. โคปาลสูตร
ภิกษุไม่รู้ท่าน้ำ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นพหูสูต ผู้เรียนจบคัมภีร์๑ ทรงธรรม
ทรงวินัย ทรงมาติกาตามเวลาสมควร ไม่สอบสวนไต่ถามว่า “พุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร
เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร” ท่านผู้คงแก่เรียนเหล่านั้นไม่เปิดเผยธรรมที่
ยังไม่ได้เปิดเผย ไม่ทำให้ง่ายซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้ง่าย และไม่บรรเทาความสงสัยใน
ธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น ภิกษุไม่รู้ท่าน้ำ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ไม่ได้ความปลาบปลื้ม
อิงธรรม ไม่ได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรมในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วซึ่งผู้
อื่นแสดงอยู่ ภิกษุไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่รู้ทาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้อริยมรรคมีองค์ ๘ ตามความเป็นจริง ภิกษุไม่
รู้ทาง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่ฉลาดในโคจร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้สติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง๒ ภิกษุไม่ฉลาด
ในโคจร เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุรีดนมไม่ให้เหลือ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้จักประมาณเพื่อจะรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชชบริขารที่พวกคหบดีผู้มีศรัทธาปวารณานำไปถวายเฉพาะ ภิกษุ
รีดนมไม่ให้เหลือ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่บูชาเหล่าภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็น
สังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็นอย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ ข้อ ๑๑ (เสนาสนสูตร) ทสกนิบาต หน้า ๑๘ ในเล่มนี้
๒ ไม่รู้สติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ในที่นี้หมายถึงไม่รู้ว่า ‘สติปัฏฐานอย่างไหนเป็นโลกิยะ อย่างไหน
เป็นโลกุตตระ’ เมื่อไม่รู้ก็จะน้อมญาณของตนเข้าไปในฐานที่ละเอียด แล้วปักใจอยู่ในสติปัฏฐานที่เป็น
โลกิยะเท่านั้น จึงไม่สามารถให้สติปัฏฐานส่วนที่เป็นโลกุตตระเกิดขึ้นได้ (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๗/๓๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๗. โคปาลสูตร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตา
มโนกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลังในเหล่าภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน
เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ภิกษุไม่บูชาเหล่าภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็น
ผู้บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่สามารถ
ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยได้
นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ เป็นผู้สามารถจะเลี้ยงฝูงโคให้เจริญ
ให้เพิ่มขึ้นได้
องค์ ๑๑ ประการ อะไรบ้าง คือ
นายโคบาลในโลกนี้

๑. รู้รูปโค ๒. ฉลาดในลักษณะโค
๓. กำจัดไข่ขาง ๔. ปกปิดแผล
๕. สุมไฟ ๖. รู้ท่าน้ำ
๗. รู้ว่าโคดื่มน้ำแล้ว ๘. รู้ทาง
๙. ฉลาดในที่หากิน ๑๐. รีดนมให้เหลือ

๑๑. บูชาโคผู้ทั้งหลายที่เป็นพ่อโค เป็นจ่าฝูง ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง
ภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล จึงเป็นผู้
สามารถจะเลี้ยงฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้ ฉันใด
ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้สามารถถึง
ความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ได้
ธรรม ๑๑ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. รู้รูป ๒. ฉลาดในลักษณะ
๓. กำจัดไข่ขาง ๔. ปกปิดแผล
๕. สุมไฟ ๖. รู้ท่าน้ำ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๗. โคปาลสูตร
๗. รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว ๘. รู้ทาง
๙. ฉลาดในโคจร ๑๐. รีดนมให้เหลือ
๑๑. บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็น
สังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง
ภิกษุรู้รูป เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดรูปอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเป็นจริงว่า ‘มหา-
ภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป ๔’ ภิกษุรู้รูปเป็นอย่างนี้แล
ภิกษุฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘คนพาลมีกรรมเป็นลักษณะ
บัณฑิตมีกรรมเป็นลักษณะ’ ภิกษุฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุกำจัดไข่ขาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด
ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ... ไม่รับวิหิงสาวิตก
ที่เกิดขึ้น ... ไม่รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด
ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ภิกษุกำจัดไข่ขาง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุปกปิดแผล เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อ
สำรวมในจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์ซึ่ง
เมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุปกปิดแผล เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุสุมไฟ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้แสดงธรรมตามที่ฟังมาแล้ว ตามที่เล่าเรียนมาแล้วแก่
คนอื่น ๆ โดยพิสดาร ภิกษุสุมไฟ เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๗. โคปาลสูตร
ภิกษุรู้ท่าน้ำ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต ผู้เรียนจบคัมภีร์
ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาตามเวลาสมควร สอบสวนไต่ถามว่า “พุทธพจน์นี้
เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร” ท่านผู้คงแก่เรียนเหล่านั้นย่อม
เปิดเผยธรรมที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้ง่ายซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้ง่าย และบรรเทา
ความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น ภิกษุรู้ท่าน้ำ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุรู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ได้ความปลาบปลื้มอิงธรรม
ได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรมในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วซึ่งผู้อื่นแสดงอยู่
ภิกษุรู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุรู้ทาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้อริยมรรคมีองค์ ๘ ตามความเป็นจริง ภิกษุรู้ทาง
เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุฉลาดในโคจร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้สติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ภิกษุฉลาดในโคจร
เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุรีดนมให้เหลือ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักประมาณเพื่อจะรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชชบริขารที่พวกคหบดีผู้มีศรัทธาปวารณานำไปถวายเฉพาะ ภิกษุ
รีดนมให้เหลือ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็น
สังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโน-
กรรมทั้งต่อหน้าและลับหลังในเหล่าภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๘. ปฐมสมาธิสูตร
เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ภิกษุบูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู
เป็นผู้บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็น
อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้สามารถถึง
ความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
โคปาลสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปฐมสมาธิสูตร
ว่าด้วยการได้สมาธิของภิกษุ สูตรที่ ๑
[๑๘] ครั้งนั้นแล ภิกษุหลายรูปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีได้หรือหนอ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญา
ในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลม
ว่าเป็นธาตุลม ในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน ใน
วิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌานว่า
เป็นอากิญจัญญายตนฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า ไม่ต้องมีสัญญา
แม้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา
ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุทั้งหลาย มีได้ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่
ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ฯลฯ ไม่ต้องมีสัญญา แม้ในรูปที่ได้เห็น เสียง
ที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ
แต่ต้องมีสัญญา”
ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีได้อย่างไร การที่ภิกษุได้
สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ฯลฯ ไม่ต้องมีสัญญาแม้ในรูป
ที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา
ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๙. ทุติยสมาธิสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มี
สัญญาอย่างนี้ว่า ‘ภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความ
สละคืนอุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ
นิพพาน ภิกษุทั้งหลาย มีได้อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญา
ในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ใน
ธาตุลมว่าเป็นธาตุลม ในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน
ในวิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌาน
ว่าเป็นอากิญจัญญายตนฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่า เป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า ไม่ต้องมีสัญญา
แม้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา
ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”
ปฐมสมาธิสูตรที่ ๘ จบ

๙. ทุติยสมาธิสูตร
ว่าด้วยการได้สมาธิของภิกษุ สูตรที่ ๒
[๑๙] ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย มีได้หรือหนอ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญา
ในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลม
ว่าเป็นธาตุลม ในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน ใน
วิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌานว่า
เป็นอากิญจัญญายตนฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า ไม่ต้องมีสัญญา
แม้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา
ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของข้าพระ
องค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก เป็นผู้นำ เป็นที่พึ่ง ขอประทานวโรกาส


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๙. ทุติยสมาธิสูตร
เฉพาะพระผู้มีพระภาคเท่านั้นที่จะทรงอธิบายเนื้อความแห่งภาษิตนี้ให้แจ่มแจ้งได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจ
ให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้
ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย มีได้ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็น
ธาตุดิน ฯลฯ ไม่ต้องมีสัญญาแม้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”
ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีได้อย่างไร การที่ภิกษุได้
สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ฯลฯ ไม่ต้องมีสัญญาแม้ในรูปที่
ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรอง
ตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มี
สัญญาอย่างนี้ว่า ภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืน
อุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน
ภิกษุทั้งหลาย มีได้อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่า
เป็นธาตุดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลมว่าเป็นธาตุลม
ในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน ในวิญญาณัญจายตน-
ฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตน-
ฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ในโลก
นี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า ไม่ต้องมีสัญญา แม้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่
ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ
แต่ต้องมีสัญญา”
ทุติยสมาธิสูตรที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๑๐. ตติยสมาธิสูตร
๑๐. ตติยสมาธิสูตร
ว่าด้วยการได้สมาธิของภิกษุ สูตรที่ ๓
[๒๐] ครั้งนั้น ภิกษุหลายรูปเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้เรียนถาม
ท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“ท่านสารีบุตร มีได้หรือหนอ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุ
ดินว่าเป็นธาตุดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลมว่า
เป็นธาตุลม ในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน ใน
วิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌานว่า
เป็นอากิญจัญญายตนฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า ไม่ต้องมีสัญญา
แม้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง
ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย มีได้ การที่ภิกษุได้สมาธิโดย
ไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ฯลฯ ไม่ต้องมีสัญญาแม้ในรูปที่ได้เห็น
เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตาม
ด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”
ภิกษุทั้งหลายเรียนถามว่า “ท่านสารีบุตร มีได้อย่างไร การที่ภิกษุได้สมาธิโดย
ไม่ต้องสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ฯลฯ ไม่ต้องมีสัญญา แม้ในรูปที่ได้เห็น เสียง
ที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ
แต่ต้องมีสัญญา”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีสัญญา
อย่างนี้ว่า ภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิกิเลส


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๑๑. จตุตถสมาธิสูตร
ทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย มีได้อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็น
ธาตุดิน ในน้ำธาตุว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลมว่าเป็นธาตุลม
ในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน ในวิญญาณัญจายตนฌาน
ว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตน-
ฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ในโลก
นี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า ไม่ต้องมีสัญญาแม้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่
ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ
แต่ต้องมีสัญญา”
ตติยสมาธิสูตรที่ ๑๐ จบ

๑๑. จตุตถสมาธิสูตร
ว่าด้วยการได้สมาธิของภิกษุ สูตรที่ ๔
[๒๑] ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า “ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย มีได้หรือหนอ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุ
ดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลมว่าเป็นธาตุลม ใน
อากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน ในวิญญาณัญจายตนฌาน
ว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตน-
ฌาน ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ในโลก
นี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า ไม่ต้องมีสัญญาแม้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่
ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ
แต่ต้องมีสัญญา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค ๑๑. จตุตถสมาธิสูตร
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ กระผมทั้งหลายมาแต่ที่ไกลเพื่อจะรู้เนื้อ
ความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของท่านสารีบุตร เฉพาะท่านสารีบุตรเท่านั้นที่จะอธิบาย
เนื้อความแห่งภาษิตนี้ให้แจ่มแจ้งได้ ภิกษุทั้งหลายได้ฟังจากท่านสารีบุตรแล้วจัก
ทรงจำไว้”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ขอท่านทั้งหลายจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี ผมจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย มีได้ การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่า
เป็นธาตุดิน ฯลฯ ไม่ต้องมีสัญญาแม้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมีสัญญา”
ภิกษุทั้งหลายเรียนถามว่า “ท่านสารีบุตร มีได้อย่างไร การที่ภิกษุได้สมาธิโดย
ไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่าเป็นธาตุดิน ฯลฯ ไม่ต้องมีสัญญา แม้ในรูปที่ได้เห็น
เสียงที่ได้ฟัง อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ
แต่ต้องมีสัญญา”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีสัญญา
อย่างนี้ว่า ภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืน
อุปธิกิเลสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน
ผู้มีอายุทั้งหลาย มีได้อย่างนี้แล การที่ภิกษุได้สมาธิโดยไม่ต้องมีสัญญาในธาตุดินว่า
เป็นธาตุดิน ในธาตุน้ำว่าเป็นธาตุน้ำ ในธาตุไฟว่าเป็นธาตุไฟ ในธาตุลมว่าเป็นธาตุลม
ในอากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน ในวิญญาณัญจายตนฌาน
ว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตนฌาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๒. อนุสสติวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่า
เป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า ไม่ต้องมีสัญญาแม้ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง
อารมณ์ที่ได้ทราบ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ที่ถึง ที่แสวงหา ที่ตรองตามด้วยใจ แต่ต้องมี
สัญญา”
จตุตถสมาธิสูตรที่ ๑๑ จบ
อนุสสติวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมมหานามสูตร ๒. ทุติยมหานามสูตร
๓. นันทิยสูตร ๔. สุภูติสูตร
๕. เมตตาสูตร ๖. อัฏฐกนาครสูตร
๗. โคปาลสูตร ๘. ปฐมสมาธิสูตร
๙. ทุติยสมาธิสูตร ๑๐. ตติยสมาธิสูตร
๑๑. จตุตถสมาธิสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๓. สามัญญวรรค
๓. สามัญญวรรค
หมวดว่าด้วยสามัญญลักษณะ
[๒๒-๒๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลประกอบด้วย
องค์ ๑๑ ประการ เป็นผู้ไม่สามารถเลี้ยงฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้
องค์ ๑๑ ประการ อะไรบ้าง คือ
นายโคบาลในโลกนี้

๑. ไม่รู้รูปโค ๒. ไม่ฉลาดในลักษณะโค
๓. ไม่กำจัดไข่ขาง ๔. ไม่ปกปิดแผล
๕. ไม่สุมไฟ ๖. ไม่รู้ท่าน้ำ
๗. ไม่รู้ว่าโคดื่มน้ำแล้ว ๘. ไม่รู้ทาง
๙. ไม่ฉลาดในที่หากิน ๑๐. รีดนมไม่ให้เหลือ

๑๑. ไม่บูชาโคผู้ทั้งหลายที่เป็นพ่อโค เป็นจ่าฝูง ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง
ภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่
สามารถเลี้ยงฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้
ไม่สามารถพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในจักษุ
ธรรม ๑๑ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. ไม่รู้รูป ๒. ไม่ฉลาดในลักษณะ
๓. ไม่กำจัดไข่ขาง ๔. ไม่ปกปิดแผล
๕. ไม่สุมไฟ ๖. ไม่รู้ท่าน้ำ
๗. ไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว ๘. ไม่รู้ทาง
๙. ไม่ฉลาดในโคจร ๑๐. รีดนมไม่ให้เหลือ

๑๑. ไม่บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็น
สังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๔. ราคเปยยาล
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความเป็นทุกข์ในจักษุ
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความเป็นอนัตตาในจักษุ
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความสิ้นไปในจักษุ
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความเสื่อมไปในจักษุ
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความคลายไปในจักษุ
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความดับไปในจักษุ
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความสละคืนในจักษุ (๑-๘)
[๓๐ - ๖๙] ... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในโสตะ
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในฆานะ
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในชิวหา
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในกาย
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในใจ ... (๙-๔๘)
[๗๐-๑๑๗] ... ในรูป ... ในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ... ในโผฏฐัพพะ ...
ในธรรมารมณ์ ... (๔๙-๙๖)
[๑๑๘-๑๖๕] ... ในจักขุวิญญาณ .... ในโสตวิญญาณ ... ในฆานวิญญาณ ...
ในชิวหาวิญญาณ ... ในกายวิญญาณ ... ในมโนวิญญาณ ... (๙๗-๑๔๔)
[๑๖๖-๒๑๓] ... ในจักขุสัมผัส ... ในโสตสัมผัส ... ในฆานสัมผัส ... ในชิวหา-
สัมผัส ... ในกายสัมผัส ... ในมโนสัมผัส ... (๑๔๕-๑๙๒)
[๒๑๔-๒๖๑] ... ในเวทนาที่เกิดแต่จักขุสัมผัส ... ในเวทนาที่เกิดแต่โสต-
สัมผัส ... ในเวทนาที่เกิดแต่ฆานสัมผัส ... ในเวทนาที่เกิดแต่ชิวหาสัมผัส ... ในเวทนา
ที่เกิดแต่กายสัมผัส ... ในเวทนาที่เกิดแต่มโนสัมผัส ... (๑๙๓-๒๔๐)
[๒๖๒-๓๐๙] ... ในรูปสัญญา ... ในสัททสัญญา ... ในคันธสัญญา ... ใน
รสสัญญา ... ในโผฏฐัพพสัญญา ... ในธัมมสัญญา ... (๒๔๑-๒๘๘)
[๓๑๐-๓๕๗] ... ในรูปสัญเจตนา ... ในสัททสัญเจตนา ... ในคันธสัญเจตนา ...
ในรสสัญเจตนา ... ในโผฏฐัพพสัญเจตนา ... ในธัมมสัญเจตนา ... (๒๘๙-๓๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๔. ราคเปยยาล
[๓๕๘-๔๐๕] ... ในรูปตัณหา ... ในสัททตัณหา ... ในคันธตัณหา ... ใน
รสตัณหา ... ในโผฏฐัพพตัณหา ... ในธัมมตัณหา ... (๓๓๗-๓๘๔)
[๔๐๖-๔๕๓] ... ในรูปวิตก ... ในสัททวิตก ... ในคันธวิตก ... ในรสวิตก ... ใน
โผฏฐัพพวิตก ... ในธัมมวิตก ... (๓๘๕-๔๓๒)
[๔๕๔-๕๐๑] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการก็ฉันนั้น
เหมือนกัน เป็นผู้ไม่สามารถพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในรูปวิจาร
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความเป็นทุกข์ในรูปวิจาร
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความเป็นอนัตตาในรูปวิจาร
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความสิ้นไปในรูปวิจาร
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความเสื่อมไปในรูปวิจาร
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความคลายไปในรูปวิจาร
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความดับไปในรูปวิจาร
... ไม่สามารถพิจารณาเห็นความสละคืนในรูปวิจาร
... ในสัททวิจาร ... ในคันธวิจาร ... ในรสวิจาร ... ในโผฏฐัพพวิจาร ... ใน
ธัมมวิจาร ... (๔๓๓-๔๘๐)
สามัญญวรรค จบ

๔. ราคเปยยาล
[๕๐๒] ภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ เป็นผู้
สามารถเลี้ยงฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้
องค์ ๑๑ ประการ อะไรบ้าง คือ
นายโคบาลในโลกนี้
๑. รู้รูป ฯลฯ ฉันใด
ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้สามารถ
พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในจักษุ ฯลฯ พิจารณาเห็นความสละคืนในจักษุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๔. ราคเปยยาล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๑๑ ประการ เพื่อรู้ยิ่งราคะ(ความกำหนัด)
ธรรม ๑๑ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. ปฐมฌาน ๒. ทุติยฌาน
๓. ตติยฌาน ๔. จตุตถฌาน
๕. เมตตาเจโตวิมุตติ ๖. กรุณาเจโตวิมุตติ
๗. มุทิตาเจโตวิมุตติ ๘. อุเบกขาเจโตวิมุตติ
๙. อากาสานัญจายตนฌาน ๑๐. วิญญาณัญจายตนฌาน
๑๑. อากิญจัญญายตนฌาน

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๑๑ ประการนี้ เพื่อรู้ยิ่งราคะ (๑)
[๕๐๓-๕๑๑] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๑๑ ประการ เพื่อกำหนด
รู้ราคะ
... เพื่อความสิ้นราคะ
... เพื่อละราคะ
... เพื่อความสิ้นไปแห่งราคะ
... เพื่อความเสื่อมไปแห่งราคะ
... เพื่อความคลายไปแห่งราคะ
... เพื่อความดับไปแห่งราคะ
... เพื่อความสละราคะ
... เพื่อความสละคืนราคะ
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๑๑ ประการนี้ เพื่อความสลละคืนราคะ
(๒-๑๐)
[๕๑๒-๖๘๑] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๑๑ ประการ เพื่อรู้ยิ่ง
โทสะ(ความคิดประทุษร้าย)
... เพื่อกำหนดรู้โทสะ
... เพื่อความสิ้นโทสะ
... เพื่อละโทสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ๔. ราคเปยยาล
... เพื่อความสิ้นไปแห่งโทสะ
... เพื่อความเสื่อมไปแห่งโทสะ
... เพื่อความคลายไปแห่งโทสะ
... เพื่อความดับไปแห่งโทสะ
... เพื่อความสละโทสะ
... เพื่อความสละคืนโทสะ ... โมหะ(ความหลง) ... โกธะ(ความโกรธ) ... อุปนาหะ
(ความผูกโกรธ) ... มักขะ(ความลบหลู่คุณท่าน) ... ปฬาสะ(ความตีเสมอ) ... อิสสา
(ความริษยา) ... มัจฉริยะ(ความตระหนี่) ... มายา(มารยา) ... สาเถยยะ(ความโอ้อวด)
... ถัมภะ(ความหัวดื้อ ) ... สารัมภะ(ความแข่งดี) ... มานะ(ความถือตัว) ... อติมานะ
(ความดูหมิ่น) ... มทะ(ความมัวเมา) ... ปมาทะ(ความประมาท )...
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลควรเจริญธรรม ๑๑ ประการนี้ เพื่อความสละคืนปมาทะ
(๑๑-๑๗๐)
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิตของ
พระผู้มีพระภาค
ราคเปยยาล จบ
อังคุตตรนิกายประกอบด้วยพระสูตร ๙,๕๕๗ สูตร
เอกาทสกนิบาต จบ
อังคุตตรนิกาย จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๔ หน้า :๔๔๙ }


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๔ สุตตันตปิฎกที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก เอกาทสกนิบาต จบ





eXTReMe Tracker