ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕-๑ สุตตันตปิฎกที่ ๐๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๑. นฬวรรค ๑. โอฆตรณสูตร

พระสุตตันตปิฎก
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. เทวตาสังยุต
๑. นฬวรรค
หมวดว่าด้วยต้นอ้อ
๑. โอฆตรณสูตร
ว่าด้วยการข้ามโอฆะ

[๑] ข้าพเจ้า๑ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป๒ เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร๓ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระองค์ทรงข้ามโอฆะ๔ ได้อย่างไร”


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๑. นฬวรรค ๑. โอฆตรณสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้มีอายุ เราเองเมื่อไม่พัก๑ ไม่เพียร๒ จึงข้าม
โอฆะได้”
เทวดาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็พระองค์เมื่อไม่พักไม่เพียรทรง
ข้ามโอฆะได้อย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้มีอายุ เมื่อใดเรานั้นยังพักอยู่ เมื่อนั้นเราก็
ยังจมอยู่ เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้นเราก็ยังลอยอยู่แน่นอน เราไม่พักไม่เพียร
อย่างนี้แล จึงข้ามโอฆะได้”
เทวดานั้นได้กล่าวคาถานี้ว่า
นานจริงหนอ ข้าพเจ้าจึงได้พบพราหมณ์
ผู้ดับกิเลสได้สิ้นแล้ว ผู้ไม่พักไม่เพียรอยู่
ก็ข้ามตัณหาอันเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในโลก๓ได้
เทวดานั้นได้กล่าวคาถานี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัยแล้ว ครั้งนั้น เทวดา
คิดว่า “พระศาสดาของเราทรงพอพระทัยแล้ว” จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
กระทำประทักษิณ๔แล้วหายตัวไป๕ ณ ที่นั้นเอง

โอฆตรณสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๑. นฬวรรค ๒. นิโมกขสูตร

๒. นิโมกขสูตร
ว่าด้วยทางหลุดพ้น

[๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้
สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่
ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระองค์
ทรงทราบนิโมกข์(ทางหลุดพ้น) ปโมกข์(ความหลุดพ้น) และวิเวก(ความสงัด)๑ของ
สัตว์ทั้งหลายหรือไม่”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้มีอายุ เราทราบนิโมกข์ ปโมกข์ และวิเวก
ของสัตว์ทั้งหลาย”
เทวดาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระองค์ทรงทราบนิโมกข์ ปโมกข์
และวิเวกของสัตว์ทั้งหลายอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ผู้มีอายุ เพราะความสิ้นไปแห่งภพ
อันมีความเพลิดเพลินเป็นมูล
เพราะความสิ้นไปแห่งสัญญาและวิญญาณ
เพราะความดับ เพราะความสงบแห่งเวทนาทั้งหลาย
เราจึงทราบนิโมกข์ ปโมกข์ และวิเวกของสัตว์ทั้งหลาย อย่างนี้แล

นิโมกขสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๑. นฬวรรค ๓. อุปนียสูตร

๓. อุปนียสูตร
ว่าด้วยชีวิตถูกชรานำเข้าไป

[๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ชีวิตถูกชรานำเข้าไป อายุจึงสั้น
ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปแล้วไม่มีเครื่องต้านทาน
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรทำบุญที่นำความสุขมาให้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชีวิตถูกชรานำเข้าไป อายุจึงสั้น
ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปแล้วไม่มีเครื่องต้านทาน
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรละโลกามิส มุ่งสู่สันติ๑เถิด

อุปนียสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๑. นฬวรรค ๔. อัจเจนติสูตร

๔. อัจเจนติสูตร
ว่าด้วยกาลที่ล่วงเลยไป

[๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
กาล๑ล่วงเลยไป คืนผ่านพ้นไป
ช่วงแห่งวัย๒ละไปตามลำดับ
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรทำบุญที่นำความสุขมาให้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
กาลล่วงเลยไป คืนผ่านพ้นไป
ช่วงแห่งวัยละไปตามลำดับ
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรละโลกามิส มุ่งสู่สันติเถิด๓

อัจเจนติสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๑. นฬวรรค ๕. กติฉินทสูตร

๕. กติฉินทสูตร
ว่าด้วยบุคคลตัดอะไรจึงข้ามโอฆะได้

[๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลควรตัดธรรมเท่าไร
ควรละธรรมเท่าไร
ควรบำเพ็ญธรรมเท่าไรให้ยิ่งขึ้นไป
ภิกษุก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องเท่าไร
พระองค์จึงตรัสว่า ข้ามโอฆะได้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บุคคลควรตัดธรรม ๕ ประการ๑
ควรละธรรม ๕ ประการ๒
ควรเจริญธรรม ๕ ประการ๓ ให้ยิ่งขึ้นไป
ภิกษุก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง ๕ ประการ๔ได้แล้ว
เราจึงกล่าวว่า ข้ามโอฆะได้๕

กติฉินทสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๑. นฬวรรค ๗. อัปปฏิวิทิตสูตร

๖. ชาครสูตร
ว่าด้วยความตื่น

[๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
เมื่อธรรมทั้งหลายตื่นอยู่ ธรรมประเภทไหนชื่อว่าหลับอยู่
เมื่อธรรมทั้งหลายหลับแล้ว ธรรมประเภทไหนชื่อว่าตื่นอยู่
บุคคลหมักหมมธุลีคือกิเลสเพราะธรรมประเภทไหน
บุคคลบริสุทธิ์เพราะธรรมประเภทไหน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เมื่ออินทรีย์ ๕ ตื่นอยู่ นิวรณ์ ๕ ชื่อว่าหลับอยู่
เมื่อนิวรณ์ ๕ หลับแล้ว อินทรีย์ ๕ ชื่อว่าตื่นอยู่
บุคคลหมักหมมธุลีคือกิเลสเพราะนิวรณ์ ๕
บุคคลบริสุทธิ์เพราะอินทรีย์ ๕

ชาครสูตรที่ ๖ จบ

๗. อัปปฏิวิทิตสูตร
ว่าด้วยผู้ไม่รู้แจ้งธรรม

[๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลเหล่าใดยังไม่รู้แจ้งธรรม๑
ย่อมถูกชักนำไปในวาทะของคนเหล่าอื่น๒


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๑. นฬวรรค ๘. สุสัมมุฏฐสูตร

บุคคลเหล่านั้นหลับอยู่ยังไม่ตื่น
บัดนี้เป็นกาลที่บุคคลเหล่านั้นควรจะตื่น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บุคคลเหล่าใดรู้แจ้งธรรมแล้ว
ย่อมไม่ถูกชักนำไปในวาทะของคนเหล่าอื่น
บุคคลเหล่านั้นผู้รู้ดี รู้ชอบ
ย่อมดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอในที่ที่ไม่สม่ำเสมอ๑

อัปปฏิวิทิตสูตรที่ ๗ จบ

๘. สุสัมมุฏฐสูตร
ว่าด้วยผู้ลืมเลือนธรรม

[๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลผู้ลืมเลือนธรรม
ย่อมถูกชักนำไปในวาทะของคนเหล่าอื่น
บุคคลเหล่านั้นหลับอยู่ยังไม่ตื่น
บัดนี้เป็นกาลที่บุคคลเหล่านั้นควรจะตื่น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บุคคลผู้ไม่ลืมเลือนธรรม
ย่อมไม่ถูกชักนำไปในวาทะของคนเหล่าอื่น
บุคคลเหล่านั้นผู้รู้ดี รู้ชอบ
ย่อมดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอในที่ที่ไม่สม่ำเสมอ

สุสัมมุฏฐสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๑. นฬวรรค ๙. มานกามสูตร

๙. มานกามสูตร
ว่าด้วยผู้มีมานะ

[๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลในโลกนี้ผู้มีมานะ(ความถือตัว)
ย่อมไม่มีการฝึกตนเอง
บุคคลผู้มีจิตไม่มั่นคงย่อมไม่มีความรู้๑
บุคคลผู้ไม่ประมาทอยู่ในป่าคนเดียว
ก็ไม่ถึงจุดจบแห่งความตาย๒
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บุคคลละมานะได้แล้ว มีใจมั่นคงดี
มีใจดี หลุดพ้นในธรรมทั้งปวง๓
เขาไม่ประมาท อยู่ในป่าคนเดียว
ก็ถึงจุดจบแห่งความตายได้

มานกามสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๑. นฬวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑๐. อรัญญสูตร
ว่าด้วยป่า

[๑๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในป่า ผู้สงบ
ประพฤติธรรมอันประเสริฐ ฉันอาหารมื้อเดียว
เพราะเหตุอะไร ผิวพรรณจึงผ่องใส
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ภิกษุทั้งหลายไม่เศร้าโศกถึงอดีต
ไม่คิดถึงอนาคต กำหนดอยู่กับปัจจุบัน
เพราะเหตุนั้น ผิวพรรณจึงผ่องใส
เพราะคิดถึงอนาคต เศร้าโศกถึงอดีต
ด้วยเหตุนี้ ภิกษุทั้งหลายผู้เขลาจึงซูบซีด
เหมือนต้นอ้อสดที่ถูกถอนขึ้นแล้ว ฉะนั้น

อรัญญสูตรที่ ๑๐ จบ
นฬวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โอฆตรณสูตร ๒. นิโมกขสูตร
๓. อุปนียสูตร ๔. อัจเจนติสูตร
๕. กติฉินทสูตร ๖. ชาครสูตร
๗. อัปปฏิวิทิตสูตร ๘. สุสัมมุฏฐสูตร
๙. มานกามสูตร ๑๐. อรัญญสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๒. นันทนวรรค ๑. นันทนสูตร

๒. นันทนวรรค
หมวดว่าด้วยสวนนันทนวัน
๑. นันทนสูตร
ว่าด้วยสวนนันทนวัน

[๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว เทวดาชั้นดาวดึงส์องค์หนึ่งมีเหล่านางอัปสร
แวดล้อม เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์ ได้รับการบำรุงบำเรออยู่
ในสวนนันทนวัน ในเวลานั้น ได้กล่าวคาถานี้ว่า
เทวดาเหล่าใดยังไม่เคยเห็นสวนนันทนวัน
อันเป็นที่อยู่ของพวกนรเทพผู้มียศ ชั้นไตรทศ
เทวดาเหล่านั้นยังไม่รู้จักความสุข
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเทวดาองค์หนึ่งกล่าวอย่างนี้แล้ว อีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถา
ตอบเทวดานั้นว่า
เทวดาผู้เขลา ท่านไม่รู้จักถ้อยคำ
ของพระอรหันต์ทั้งหลายว่า สังขาร๑ทั้งปวง ไม่เที่ยง
มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
ความสงบระงับสังขารเหล่านั้นเป็นความสุข

นันทนสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๒. นันทนวรรค ๒. นันทติสูตร

๒. นันทติสูตร
ว่าด้วยความยินดี

[๑๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
คนมีบุตรย่อมยินดีเพราะบุตร
คนมีโคย่อมยินดีเพราะโคเหมือนกัน
เพราะอุปธิ๑ทำให้นรชนยินดี
ฉะนั้นคนที่ไร้อุปธิจึงไม่ยินดี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
คนมีบุตรย่อมเศร้าโศกเพราะบุตร
คนมีโคย่อมเศร้าโศกเพราะโคเหมือนกัน
เพราะอุปธิทำให้นรชนเศร้าโศก
ฉะนั้นคนที่ไร้อุปธิจึงไม่เศร้าโศก

นันทติสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๒. นันทนวรรค ๔. ขัตติยสูตร

๓. นัตถิปุตตสมสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เสมอด้วยบุตรไม่มี

[๑๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ความรักเสมอด้วยบุตรไม่มี
ทรัพย์เสมอด้วยโคไม่มี
แสงสว่างเสมอด้วยดวงอาทิตย์ไม่มี
แหล่งน้ำทั้งหลายมีสมุทรเป็นยอดเยี่ยม
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ความรักเสมอด้วยตนไม่มี
ทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือกไม่มี
แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี
ฝนจัดเป็นแหล่งน้ำอันยอดเยี่ยม

นัตถิปุตตสมสูตรที่ ๓ จบ

๔. ขัตติยสูตร
ว่าด้วยกษัตริย์

[๑๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
บรรดาสัตว์สองเท้า กษัตริย์ประเสริฐที่สุด
บรรดาสัตว์สี่เท้า โคพลิพัทประเสริฐที่สุด
บรรดาภรรยา ภรรยาที่เป็นกุมารีประเสริฐที่สุด
บรรดาบุตร บุตรที่เกิดก่อนประเสริฐที่สุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๒. นันทนวรรค ๕. สณมานสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บรรดาสัตว์สองเท้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด
บรรดาสัตว์สี่เท้า สัตว์อาชาไนยประเสริฐที่สุด
บรรดาภรรยา ภรรยาผู้เชื่อฟังดีประเสริฐที่สุด
บรรดาบุตร บุตรผู้เชื่อฟังประเสริฐที่สุด

ขัตติยสูตรที่ ๔ จบ

๕. สณมานสูตร
ว่าด้วยเสียงป่าครวญ

[๑๕] เทวดากล่าวว่า
เมื่อฝูงนกพากันพักร้อนอยู่ในเวลาเที่ยงวัน
ป่าใหญ่ส่งเสียงประหนึ่งว่าครวญครางอยู่
เสียงครวญครางแห่งป่าใหญ่นั้น
ปรากฏเป็นสิ่งที่น่ากลัวแก่ข้าพเจ้า๑
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เมื่อฝูงนกพากันพักร้อนอยู่ในเวลาเที่ยงวัน
ป่าใหญ่ส่งเสียงประหนึ่งว่าครวญครางอยู่
เสียงครวญครางแห่งป่าใหญ่นั้น
ปรากฏเป็นสิ่งที่น่ายินดีแก่เรา๑

สณมานสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๒. นันทนวรรค ๗. ทุกกรสูตร

๖. นิททาตันทิสูตร
ว่าด้วยความหลับและความเกียจคร้าน

[๑๖] เทวดากล่าวว่า
อริยมรรค๑ ไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ในโลกนี้
เพราะความหลับ ความเกียจคร้าน การบิดกาย
ความไม่ยินดีและความเมาอาหาร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เพราะใช้ความเพียรกำจัดความหลับ
ความเกียจคร้าน การบิดกาย
ความไม่ยินดีและความเมาอาหารนั้น
อริยมรรค๒จึงบริสุทธิ์ได้

นิททาตันทิสูตรที่ ๖ จบ

๗. ทุกกรสูตร
ว่าด้วยสมณธรรมที่ทำได้ยาก
[๑๗] เทวดากล่าวว่า
สมณธรรม คนไม่ฉลาดทำได้ยาก อดทนได้ยาก
เพราะสมณธรรมนั้นมีความคับแคบมาก
สำหรับคนพาลที่อาศัยอยู่


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๒. นันทนวรรค ๘. หิริสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
คนพาลประพฤติสมณธรรมเป็นเวลานาน
หากไม่ห้ามจิต เขาตกอยู่ในอำนาจแห่งความดำริ
ก็จะพึงติดขัดในทุกบท๑
หากภิกษุยับยั้งความวิตกในใจไว้ได้
เหมือนเต่าหดอวัยวะไว้ในกระดองของตน
ก็จะไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น
ดับสนิทแล้ว ไม่พึงว่าร้ายใคร

ทุกกรสูตรที่ ๗ จบ

๘. หิริสูตร
ว่าด้วยหิริ

[๑๘] เทวดากล่าวว่า
คนผู้กีดกัน(อกุศลธรรม)ได้ด้วยหิริ มีอยู่น้อยในโลก
ภิกษุใดหลบหลีกนินทาได้ ตื่นตัวอยู่
เหมือนม้าชั้นดีหลบแส้ได้
ภิกษุเช่นนั้นมีอยู่น้อย๒
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุเหล่าใดผู้กีดกัน(อกุศลธรรม)ได้ด้วยหิริ
มีสติ ประพฤติธรรมอยู่ทุกเมื่อ ถึงที่สุดแห่งทุกข์๓
ย่อมดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอในที่ที่ไม่สม่ำเสมอ
ภิกษุเหล่านั้นมีอยู่น้อย

หิริสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๒. นันทนวรรค ๙. กุฏิกาสูตร

๙. กุฏิกาสูตร
ว่าด้วยกระท่อม

[๑๙] เทวดาทูลถามว่า
ท่านไม่มีกระท่อมหรือ
ท่านไม่มีรังหรือ
ท่านไม่มีผู้สืบสกุลหรือ
ท่านเป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกแล้วหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
แน่นอน เราไม่มีกระท่อม
แน่นอน เราไม่มีรัง
แน่นอน เราไม่มีผู้สืบสกุล
แน่นอน เราเป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกแล้ว
เทวดาทูลถามว่า
กระท่อมที่ข้าพเจ้ากล่าวกับท่าน คืออะไร
รังที่ข้าพเจ้ากล่าวกับท่าน คืออะไร
ผู้สืบสกุลที่ข้าพเจ้ากล่าวกับท่าน คืออะไร
เครื่องผูกที่ข้าพเจ้ากล่าวกับท่าน คืออะไร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
กระท่อมที่ท่านกล่าวกับเรา คือมารดา
รังที่ท่านกล่าวกับเรา คือภรรยา
ผู้สืบสกุลที่ท่านกล่าวกับเรา คือบุตร
เครื่องผูกที่ท่านกล่าวกับเรา คือตัณหา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๒. นันทนวรรค ๑๐. สมิทธิสูตร

เทวดากล่าวว่า
ดีจริง ท่านไม่มีกระท่อม
ดีจริง ท่านไม่มีรัง
ดีจริง ท่านไม่มีผู้สืบสกุล
ดีจริง ท่านเป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกแล้ว

กุฏิกาสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. สมิทธิสูตร
ว่าด้วยพระสมิทธิ

[๒๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตโปทาราม เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น
ท่านพระสมิทธิลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ไปที่แม่น้ำตโปทาเพื่อสรงน้ำ เสร็จแล้วขึ้นมา มีจีวร
ผืนเดียว๑ได้ยืนรอให้ตัวแห้งอยู่ ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงาม
ยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วแม่น้ำตโปทา เข้าไปหาท่านพระสมิทธิถึงที่อยู่แล้วยืนอยู่
ในอากาศได้กล่าวกับท่านพระสมิทธิด้วยคาถาว่า
ภิกษุ ท่านไม่บริโภคแต่ยังขออยู่
ท่านบริโภคแล้วก็ต้องไม่ขอเลย
ภิกษุ ท่านบริโภคแล้วจงขอเถิด
กาล๒อย่าได้ล่วงท่านไปเลย


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๒. นันทนวรรค ๑๐. สมิทธิสูตร

ท่านพระสมิทธิกล่าวว่า
ข้าพเจ้ายังไม่รู้จักกาลเลย
เพราะกาลถูกปกปิดอยู่ยังไม่ปรากฏ
ฉะนั้น ถึงข้าพเจ้าไม่บริโภคแต่ก็ยังขออยู่
กาล๑อย่าได้ล่วงข้าพเจ้าไปเลย
ครั้งนั้น เทวดานั้นลงมายืนอยู่ที่พื้นดินแล้วได้กล่าวกับท่านพระสมิทธิว่า
“ภิกษุ ท่านเป็นนักบวชที่ยังหนุ่มแน่นมีผมดำสนิท อยู่ในวัยแรกรุ่นอันเจริญ
ไม่เพลิดเพลินในกามทั้งหลาย ขอท่านจงบริโภคกามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์เถิด
อย่าละกามที่เห็นเฉพาะหน้าแล้ววิ่งไปหากามอันมีอยู่ตามกาล๒เลย”
ท่านพระสมิทธิกล่าวว่า “เทวดา ข้าพเจ้ามิได้ละกามที่เห็นเฉพาะหน้าแล้ววิ่ง
ไปหากามอันมีอยู่ตามกาลเลย ข้าพเจ้าละกามอันมีอยู่ตามกาลแล้ววิ่งไปหาธรรม
ที่เห็นเฉพาะหน้า กามทั้งหลายอันมีอยู่ตามกาลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีทุกข์มาก
มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษยิ่งนัก ธรรมนี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด
ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน
พึงรู้เฉพาะตน”
เทวดากล่าวว่า “ภิกษุ ก็กามทั้งหลายอันมีอยู่ตามกาลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษยิ่งนัก เป็นอย่างไร ธรรมนี้เป็นธรรม
ที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อม
เข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน เป็นอย่างไร”
ท่านพระสมิทธิกล่าวว่า “เทวดา ข้าพเจ้าเองเป็นพระใหม่ บวชมาไม่นาน
เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้าไม่อาจจะบอกท่านโดยพิสดารได้ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ ตโปทาราม เขต
กรุงราชคฤห์ ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามข้อความนั้นเถิด พึงจำ
ข้อความนั้นตามที่พระองค์ทรงเฉลยเถิด”


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๒. นันทนวรรค ๑๐. สมิทธิสูตร

เทวดากล่าวว่า “ภิกษุ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พวกเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่
ทั้งหลายเหล่าอื่นแวดล้อมอยู่ พวกข้าพเจ้าจะเข้าไปเฝ้าไม่ได้ง่ายนัก หากท่านเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามเนื้อความนี้ แม้พวกข้าพเจ้าก็จะมาฟังธรรมด้วย”
ท่านพระสมิทธิรับคำของเทวดานั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ไปที่แม่น้ำตโปทา
เพื่อสรงน้ำ เสร็จแล้วขึ้นมา มีจีวรผืนเดียวได้ยืนรอให้ตัวแห้งอยู่ ครั้นเมื่อราตรี
ผ่านไป เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วแม่น้ำตโปทา
เข้ามาหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่แล้วยืนอยู่ในอากาศ ได้กล่าวคาถานี้ว่า
ภิกษุ ท่านไม่บริโภคแต่ยังขออยู่
ท่านบริโภคแล้วก็ต้องไม่ขอเลย
ภิกษุ ท่านบริโภคแล้วจงขอเถิด
กาลอย่าได้ล่วงท่านไปเลย
เมื่อเทวดากล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับเทวดานั้นด้วยคาถาว่า
ข้าพเจ้ายังไม่รู้จักกาลเลย
เพราะกาลถูกปกปิดอยู่ยังไม่ปรากฏ
ฉะนั้น ถึงข้าพเจ้าไม่บริโภคแต่ก็ยังขออยู่
กาลอย่าได้ล่วงข้าพเจ้าไปเลย
ครั้งนั้น เทวดานั้นลงมายืนอยู่ที่พื้นดินแล้วได้กล่าวกับข้าพระองค์ดังนี้ว่า
“ภิกษุ ท่านเป็นนักบวชที่ยังหนุ่มแน่นมีผมดำสนิท อยู่ในวัยแรกรุ่นอันเจริญ
ไม่เพลิดเพลินในกามทั้งหลาย ขอท่านจงบริโภคกามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์เถิด
อย่าละกามที่เห็นเฉพาะหน้าแล้ววิ่งไปหากามอันมีอยู่ตามกาลเลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๒. นันทนวรรค ๑๐. สมิทธิสูตร

เมื่อเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์จึงได้กล่าวกับเทวดานั้นดังนี้ว่า
“เทวดา ข้าพเจ้ามิได้ละกามที่เห็นเฉพาะหน้าแล้ววิ่งไปหากามอันมีอยู่ตามกาลเลย
ข้าพเจ้าละกามอันมีอยู่ตามกาลแล้ววิ่งไปหาธรรมที่เห็นเฉพาะหน้า กามทั้งหลาย
อันมีอยู่ตามกาลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้
มีโทษยิ่งนัก ธรรมนี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล
ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว เทวดานั้นได้กล่าวกับข้าพระองค์ดังนี้ว่า
“ภิกษุ ก็กามทั้งหลายอันมีอยู่ตามกาลพระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีทุกข์มาก มีความ
คับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษยิ่งนัก เป็นอย่างไร ธรรมนี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึง
เห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน
อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน เป็นอย่างไร”
เมื่อเทวดากล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับเทวดานั้นดังนี้ว่า “เทวดา
ข้าพเจ้าเองเป็นพระใหม่ บวชมาไม่นาน เพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้าไม่อาจจะ
บอกท่านโดยพิสดารได้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ประทับอยู่ ณ ตโปทาราม เขตกรุงราชคฤห์ ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
แล้วทูลถามข้อความนั้นเถิด พึงจำข้อความนั้นตามที่พระองค์ทรงเฉลยเถิด”
เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว เทวดานั้นได้กล่าวกับข้าพระองค์ดังนี้ว่า
“ภิกษุ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พวกเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ทั้งหลายเหล่าอื่น
แวดล้อมอยู่ พวกข้าพเจ้าจะเข้าไปเฝ้าไม่ได้ง่ายนัก หากท่านเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคแล้วทูลถามข้อความนี้แทน แม้พวกข้าพเจ้าก็จะมาฟังธรรมด้วย ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ถ้าคำของเทวดานั้นเป็นจริง เทวดานั้นก็พึงมาใกล้ตโปทารามนี้”
เมื่อท่านพระสมิทธิกราบทูลอย่างนี้แล้ว เทวดานั้นได้กล่าวกับท่านพระสมิทธิ
ดังนี้ว่า “ทูลถามเถิด ทูลถามเถิด ภิกษุ ข้าพเจ้าตามมาถึงที่นี้แล้ว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๒. นันทนวรรค ๑๐. สมิทธิสูตร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกเทวดานั้น ด้วยคาถาทั้งหลายว่า
สัตว์ทั้งหลายมีความหมายรู้ในสิ่งที่เรียกขาน๑
ติดอยู่ในสิ่งที่เรียกขาน๒
ไม่กำหนดรู้สิ่งที่เรียกขาน
จึงตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความตาย
ส่วนภิกษุกำหนดรู้สิ่งที่เรียกขานแล้ว๓
ไม่กำหนดหมายสิ่งที่เรียกขาน
เพราะสิ่งที่เรียกขานนั้นไม่มีแก่ภิกษุนั้น
ฉะนั้น เหตุที่จะเรียกขานท่านจึงไม่มี
ยักษ์๔ ถ้าท่านรู้ชัดก็จงบอกมาเถิด
เทวดานั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่รู้ทั่วถึงเนื้อความ
แห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างย่อนี้โดยพิสดารได้ ขอประทานวโรกาส
ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดตรัสให้ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระองค์
ตรัสไว้อย่างย่อนี้โดยพิสดารเถิด”


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๒. นันทนวรรค ๑๐. สมิทธิสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสคาถานี้ว่า
บุคคลใดถือตัวว่าเราเสมอเขา
เราเลิศกว่าเขา หรือเราด้อยกว่าเขา
บุคคลนั้นก็พึงทะเลาะกับเขา เพราะความถือตัวนั้น
บุคคลผู้ไม่หวั่นไหวในความถือตัวทั้ง ๓ นั้น
ย่อมไม่มีความถือตัวว่าเราเสมอเขา
เราเลิศกว่าเขา หรือเราด้อยกว่าเขา
ยักข์ ถ้าท่านรู้ชัดก็จงบอกมาเถิด
เทวดานั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่รู้ทั่วถึงเนื้อความ
แห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างย่อนี้โดยพิสดารได้ ขอประทานวโรกาส
ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดตรัสให้ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระดำรัสที่พระองค์
ตรัสไว้อย่างย่อนี้โดยพิสดารเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสคาถานี้ว่า
บุคคลละบัญญัติได้แล้ว ไม่เข้าถึงวิมาน๑
ตัดตัณหาในนามรูปนี้ได้แล้ว
เทวดาและมนุษย์ในโลกนี้ หรือในโลกอื่น
ในสวรรค์ หรือในสถานที่อยู่อาศัยของสัตว์ทุกจำพวก๒
ถึงจะเที่ยวค้นหาก็ไม่พบบุคคลนั้น
ผู้ตัดกิเลสเครื่องผูกได้แล้ว ไร้ทุกข์หมดความกระหาย


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๒. นันทนวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ยักข์ ถ้าท่านรู้ชัดก็จงบอกมาเถิด
เทวดานั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความ
แห่งพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างย่อนี้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า
บุคคลไม่ควรทำบาปทางกาย ทางวาจา
หรือทางใจ ทางใดทางหนึ่งในโลกทั้งปวง
ควรละกามทั้งหลาย มีสติสัมปชัญญะ
ไม่พึงเสวยทุกข์อันประกอบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์”

สมิทธิสูตรที่ ๑๐ จบ
นันทนวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. นันทนสูตร ๒. นันทติสูตร
๓. นัตถิปุตตสมสูตร ๔. ขัตติยสูตร
๕. สณมานสูตร ๖. นิททาตันทิสูตร
๗. ทุกกรสูตร ๘. หิริสูตร
๙. กุฏิกาสูตร ๑๐. สมิทธิสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]๓. สัตติวรรค ๑. สัตติสูตร

๓. สัตติวรรค
หมวดว่าด้วยหอก

๑. สัตติสูตร
ว่าด้วยหอก

[๒๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคว่า
ภิกษุพึงอยู่อย่างมีสติ เพื่อละกามราคะ
เหมือนบุคคลถูกแทงด้วยหอก มุ่งถอนหอกออก
เหมือนบุคคลถูกไฟไหม้อยู่บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุพึงอยู่อย่างมีสติ เพื่อละสักกายทิฏฐิ
เหมือนบุคคลถูกแทงด้วยหอก มุ่งถอนหอกออก
เหมือนบุคคลถูกไฟไหม้อยู่บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น๑

สัตติสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๓. สัตติวรรค ๓. ชฏาสูตร

๒. ผุสติสูตร
ว่าด้วยการถูกต้อง

[๒๒] เทวดากล่าวว่า
วิบากกรรมย่อมไม่ถูกต้องบุคคลผู้ไม่ถูกต้อง๑
แต่ถูกต้องบุคคลผู้ถูกต้องเท่านั้น
เพราะฉะนั้น วิบากกรรมจึงถูกต้องบุคคลผู้ถูกต้อง
ผู้ประทุษร้ายบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ผู้ใดประทุษร้ายบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย
ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๒
บาปย่อมกลับมาถึงผู้นั้น ซึ่งเป็นคนพาลอย่างแน่แท้
ดุจผงธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลมแล้ว ฉะนั้น๓

ผุสติสูตรที่ ๒ จบ

๓. ชฏาสูตร
ว่าด้วยความยุ่ง

[๒๓] เทวดาทูลถามว่า
หมู่สัตว์ยุ่งทั้งภายใน ยุ่งทั้งภายนอก
ถูกความยุ่งพาให้นุงนังแล้ว ข้าแต่พระโคดม
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ว่า
ใครพึงแก้ความยุ่งนี้ได้


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๓. สัตติวรรค ๔. มโนนิวารณสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
นรชนผู้มีปัญญา เห็นภัยในสังสารวัฏ
ดำรงอยู่ในศีลแล้ว เจริญจิตและปัญญา๑
มีความเพียร มีปัญญาเครื่องบริหาร
นั้นพึงแก้ความยุ่งนี้ได้
บุคคลเหล่าใดกำจัดราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้ว
บุคคลเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้ว เป็นพระอรหันต์
พวกเขาแก้ความยุ่งได้แล้ว
นาม๒ก็ดี รูปก็ดี ปฏิฆสัญญาก็ดี
รูปสัญญาก็ดี๓ ดับไม่เหลือในที่ใด
ความยุ่งนั้นก็ย่อมขาดหายไปในที่นั้น๔

ชฏาสูตรที่ ๓ จบ

๔. มโนนิวารณสูตร
ว่าด้วยการห้ามใจ

[๒๔] เทวดากราบทูลว่า
บุคคลห้ามใจจากอารมณ์ใด ๆ ได้
ทุกข์เพราะอารมณ์นั้น ๆ ย่อมไม่มาถึงเขา
เขาห้ามใจจากอารมณ์ทั้งปวงได้
ย่อมพ้นจากทุกข์ เพราะอารมณ์ทั้งปวง


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๓. สัตติวรรค ๕. อรหันตสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บุคคลไม่พึงห้ามใจจากอารมณ์ทั้งปวง
ไม่พึงห้ามใจที่ถึงความสำรวม๑
บาปเกิดขึ้นจากอารมณ์ใด ๆ
พึงห้ามใจจากอารมณ์นั้นๆ

มโนนิวารณสูตรที่ ๔ จบ

๕. อรหันตสูตร
ว่าด้วยพระอรหันต์

[๒๕] เทวดากล่าวว่า
ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ ทำกิจเสร็จแล้ว
สิ้นอาสวะแล้ว เหลือแต่ร่างกายในชาติสุดท้าย
ภิกษุนั้นกล่าวว่า ‘เราพูด’ ดังนี้บ้าง
กล่าวว่า ‘คนทั้งหลายพูดกับเรา’ ดังนี้บ้าง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ ทำกิจเสร็จแล้ว
สิ้นอาสวะแล้ว เหลือแต่ร่างกายในชาติสุดท้าย
ภิกษุนั้นกล่าวว่า ‘เราพูด’ ดังนี้บ้าง
กล่าวว่า ‘คนทั้งหลายพูดกับเรา’ ดังนี้บ้าง


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๓. สัตติวรรค ๕. อรหันตสูตร

ภิกษุนั้นเป็นผู้ฉลาด ทราบคำพูดที่รู้กันในโลก
เธอกล่าวตามสมมติที่เขาพูดกัน
เทวดานั้นทูลถามว่า
ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ ทำกิจเสร็จแล้ว
สิ้นอาสวะแล้ว เหลือแต่ร่างกายในชาติสุดท้าย
ภิกษุนั้นยังติดมานะอยู่หรือหนอ
จึงกล่าวว่า ‘เราพูด’ ดังนี้บ้าง
กล่าวว่า ‘คนทั้งหลายพูดกับเรา’ ดังนี้บ้าง
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
กิเลสเครื่องผูกทั้งหลายไม่มีแก่ภิกษุผู้ละมานะได้แล้ว
มานะและกิเลสเครื่องผูกทั้งปวงอันภิกษุนั้นกำจัดได้แล้ว
ภิกษุผู้มีปัญญาดีล่วงพ้นความถือตัวได้แล้ว
ภิกษุนั้นกล่าวว่า ‘เราพูด’ ดังนี้บ้าง
กล่าวว่า ‘คนทั้งหลายพูดกับเรา’ ดังนี้บ้าง
ภิกษุนั้นเป็นผู้ฉลาด ทราบคำพูดที่รู้กันในโลก
เธอกล่าวตามสมมติที่เขาพูดกัน

อรหันตสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๓. สัตติวรรค ๖. ปัชโชตสูตร

๖. ปัชโชตสูตร
ว่าด้วยแสงสว่าง

[๒๖] เทวดาทูลถามว่า
โลกรุ่งเรืองเพราะแสงสว่างเหล่าใด
แสงสว่างเหล่านั้นมีอยู่เท่าไรในโลก
พวกข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
จะรู้แสงสว่างนั้นได้อย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ในโลกมีแสงสว่างอยู่ ๔ อย่าง
อย่างที่ ๕ ไม่มีในโลกนี้ คือ
(๑) ดวงอาทิตย์ส่องสว่างในกลางวัน
(๒) ดวงจันทร์ส่องสว่างในกลางคืน
(๓) ไฟส่องสว่างทั้งกลางวันและกลางคืนทุกหนทุกแห่ง
(๔) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐกว่าแสงสว่างทั้งหลาย
แสงสว่างนี้๑เป็นแสงสว่างอย่างยอดเยี่ยม

ปัชโชตสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๓. สัตติวรรค ๘. มหัทธนสูตร

๗. สรสูตร
ว่าด้วยความแล่นไป

[๒๗] เทวดาทูลถามว่า
ความแล่นไปจะหยุดที่ไหน
วัฏฏะไม่หมุนวนที่ไหน
นามและรูปดับไม่เหลือที่ไหน
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ดิน น้ำ ไฟ ลม ตั้งอยู่ไม่ได้ที่ใด
ความแล่นไปย่อมหยุดที่นี้
วัฏฏะไม่หมุนวนที่นี้
นามและรูปดับไม่เหลือที่นี้

สรสูตรที่ ๗ จบ

๘. มหัทธนสูตร
ว่าด้วยผู้มีทรัพย์มาก

[๒๘] เทวดาทูลถามว่า
กษัตริย์ทั้งหลายมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
ทั้งมีแว่นแคว้น ไม่รู้จักพอในกามทั้งหลาย
ต่างแข่งขันกันและกัน
เมื่อกษัตริย์เหล่านั้นพากันขวนขวาย
วิ่งไปตามกระแสแห่งภพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๓. สัตติวรรค ๙. จตุจักกสูตร

บุคคลเหล่าไหนเล่าไม่มีความขวนขวาย
ละความโกรธและตัณหาในโลกได้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลทั้งหลายสละเรือน สละลูก
และสละสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รัก บวช
กำจัดราคะ โทสะ และอวิชชาได้
สิ้นอาสวะแล้ว เป็นพระอรหันต์
บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ไม่มีความขวนขวายในโลก

มหัทธนสูตรที่ ๘ จบ

๙. จตุจักกสูตร
ว่าด้วยสรีรยนต์ ๔ ล้อ

[๒๙] เทวดาทูลถามว่า
ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า สรีรยนต์ ๔ ล้อ๑
มีประตู ๙ ประตู๒ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด
ถูกโลภะประกอบไว้ เป็นเหมือนเปือกตม
สรีรยนต์นั้นจักแล่นไปได้อย่างไร๓


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๓. สัตติวรรค ๑๐. เอณิชังฆสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
เพราะตัดชะเนาะ๑ เชือกหนัง๒
ตัดความปรารถนาและความโลภอันเลวทราม
และเพราะถอนตัณหาพร้อมทั้งรากได้
สรีรยนต์นั้นจักแล่นไปได้อย่างนี้๓

จตุจักกสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. เอณิชังฆสูตร
ว่าด้วยพระผู้มีพระชงฆ์เหมือนเนื้อทราย

[๓๐] เทวดากล่าวว่า
พวกข้าพระองค์พากันมาเฝ้า ขอทูลถามพระองค์
ผู้มีพระชงฆ์เหมือนเนื้อทราย มีพระวรกายสมส่วน
มีความเพียร ฉันพระกระยาหารน้อย ไม่มีความโลเล
เป็นเหมือนราชสีห์และช้างเที่ยวไปตามลำพัง
ไม่มีความห่วงในกามทั้งหลาย
ว่า บุคคลหลุดพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๓. สัตติวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
กามคุณ๑ ๕ มีใจเป็นที่ ๖
บัณฑิตประกาศไว้ชัดแล้วในโลก
บุคคลละความพอใจในนามรูป๒นี้
ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ได้อย่างนี้

เอณิชังฆสูตรที่ ๑๐ จบ
สัตติวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สัตติสูตร ๒. ผุสติสูตร
๓. ชฏาสูตร ๔. มโนนิวารณสูตร
๕. อรหันตสูตร ๖. ปัชโชตสูตร
๗. สรสูตร ๘. มหัทธนสูตร
๙. จตุจักกสูตร ๑๐. เอณิชังฆสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๑. สัพภิสูตร

๔. สตุลลปกายิกวรรค
หมวดว่าด้วยพวกเทวดาสตุลลปกายิกา

๑. สัพภิสูตร
ว่าด้วยสัตบุรุษ

[๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป พวกเทวดาสตุลลปกายิกา๑
จำนวนมากมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
เทวดาองค์หนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคว่า
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้แจ้งสัทธรรม๒ของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมเป็นผู้ประเสริฐ ไม่เป็นผู้ตกต่ำ
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้วย่อมได้ปัญญา
หาได้ปัญญาจากคนอันธพาลอื่นไม่


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๑. สัพภิสูตร

ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมไม่เศร้าโศกในท่ามกลางคนผู้เศร้าโศก
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมรุ่งเรืองในท่ามกลางแห่งญาติ
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
สัตว์ทั้งหลายรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อมไปสู่สุคติ
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
สัตว์ทั้งหลายรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมดำรงอยู่ได้ตลอดไป
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระ-
ผู้มีพระภาค คำของใครหนอเป็นสุภาษิต”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คำของพวกท่านทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยอ้อม แต่ขอ
พวกท่านจงฟังคำของเราบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๒. มัจฉริสูตร

บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถานี้แล้ว เทวดาเหล่านั้นมีใจยินดีถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นนั่นเอง

สัพภิสูตรที่ ๑ จบ

๒. มัจฉริสูตร
ว่าด้วยคนตระหนี่

[๓๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป พวกเทวดาสตุลล-
ปกายิกาจำนวนมากมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
เทวดาองค์หนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มี-
พระภาคว่า
เพราะความตระหนี่และความประมาท
บุคคลจึงให้ทานอย่างนี้ไม่ได้
บุคคลผู้หวังบุญรู้แจ้งอยู่จึงให้ทานได้
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
คนตระหนี่กลัวสิ่งใดแล้วไม่ให้ทาน
สิ่งนั้นนั่นเองเป็นภัยแก่เขาผู้ไม่ให้
ความหิวและความกระหายที่คนตระหนี่กลัว
ย่อมถูกต้องเขานั่นเองซึ่งเป็นคนเขลา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๒. มัจฉริสูตร

ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า
ฉะนั้น บุคคลควรกำจัดความตระหนี่
ครอบงำมลทินแล้วให้ทานเถิด
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
คนเหล่าใดเมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้
เหมือนคนเดินทางไกลแบ่งของให้เพื่อนร่วมทาง
เมื่อคนเหล่าอื่นตาย คนเหล่านั้นชื่อว่าไม่ตาย
ธรรมนี้เป็นธรรมเก่าแก่
คนพวกหนึ่งเมื่อมีของน้อยก็แบ่งให้ได้
พวกหนึ่งมีของมากกลับแบ่งให้ไม่ได้
ทักษิณาที่ให้จากของน้อย นับว่าเท่ากับของเป็นพัน
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
พวกคนพาลเมื่อจะให้ทานก็ให้ยาก
เมื่อจะทำงานก็ทำยาก
พวกอสัตบุรุษย่อมไม่ทำตามธรรมของสัตบุรุษ
เพราะธรรมของสัตบุรุษดำเนินตามได้แสนยาก
ฉะนั้น การไปจากโลกนี้ของพวกสัตบุรุษ
และอสัตบุรุษจึงแตกต่างกัน
พวกอสัตบุรุษพากันลงนรก
ส่วนพวกสัตบุรุษพากันขึ้นสวรรค์
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระ-
ผู้มีพระภาค คำของใครหนอเป็นสุภาษิต”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๒. มัจฉริสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คำของพวกท่านทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยอ้อม แต่ขอ
พวกท่านจงฟังคำของเราบ้าง
แม้บุคคลใดประพฤติตนให้ยุ่งยากเลี้ยงดูภรรยา
และเมื่อของมีน้อยก็ให้ได้
บุคคลนั้นชื่อว่าประพฤติธรรม
เมื่อบุรุษ ๑๐๐,๐๐๐ คน บูชาภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป
การบูชาของบุรุษเหล่านั้น
จึงมีค่าไม่เท่าเสี้ยวหนึ่งของบุคคลเช่นนั้น
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
เพราะเหตุไร การบูชาอันใหญ่หลวงนี้
จึงมีค่าไม่เท่าส่วนแห่งทานที่บุคคลให้ด้วยความเหมาะสม
เมื่อบุรุษ ๑๐๐,๐๐๐ คน บูชาภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป
การบูชาของบุรุษเหล่านั้น
จึงมีค่าไม่เท่าเสี้ยวหนึ่งของบุคคลเช่นนั้น ได้อย่างไร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเทวดานั้นด้วยคาถาว่า
บุคคลพวกหนึ่งดำรงอยู่ในความไม่เหมาะสม
ทำร้ายเขา ฆ่าเขา หรือทำให้เขาเศร้าโศกแล้วจึงให้ทาน
ทักษิณานั้นจัดเป็นทักษิณาอันมีหน้านองด้วยน้ำตา
เป็นไปกับด้วยอาชญา จึงมีค่าไม่เท่าส่วนแห่งทาน
ที่ให้ด้วยความเหมาะสม
เมื่อบุรุษ ๑๐๐,๐๐๐ คน บูชาภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป
การบูชาของบุรุษเหล่านั้น
จึงมีค่าไม่เท่าเสี้ยวหนึ่งของบุคคลเช่นนั้น ได้อย่างนี้

มัจฉริสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๓. สาธุสูตร

๓. สาธุสูตร
ว่าด้วยผลสำเร็จแห่งทาน

[๓๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป พวกเทวดาสตุลลปกายิกาจำนวนมากมีวรรณะงดงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
เทวดาองค์หนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ทานให้ประโยชน์สำเร็จได้จริง
แม้เมื่อของมีน้อย ทานก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้
เพราะความตระหนี่และความประมาท
บุคคลจึงให้ทานอย่างนี้ไม่ได้
บุคคลผู้หวังบุญรู้แจ้งอยู่จึงให้ทานได้
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ทานให้ประโยชน์สำเร็จได้จริง
อนึ่ง แม้เมื่อของมีน้อย ทานก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้
คนพวกหนึ่งเมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้ได้
พวกหนึ่งมีของมากกลับแบ่งให้ไม่ได้
ทักษิณาที่ให้จากของน้อย นับว่าเท่ากับของเป็นพัน
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ทานให้ประโยชน์สำเร็จได้จริง
แม้เมื่อของมีน้อย ทานก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้
อนึ่ง ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธาก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ทานกับการรบเสมอกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๓. สาธุสูตร

พวกวีรบุรุษแม้มีน้อยก็เอาชนะคนขี้ขลาดที่มากกว่าได้
ถ้าบุคคลมีศรัทธา ย่อมให้สิ่งของแม้มีน้อยได้
เพราะเหตุนั้น ทายกนี้จึงเป็นผู้มีความสุขในโลกหน้า
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ทานให้ประโยชน์สำเร็จได้จริง
แม้เมื่อของมีน้อย ทานก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้
ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธาก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้
อนึ่ง ทานที่ให้แม้แก่บุคคลผู้ได้ธรรม๑แล้วก็ยิ่งเป็นการดี
บุคคลใดให้ทานแก่บุคคลผู้ได้ธรรมแล้ว
ผู้มีความขยันหมั่นเพียรอันตนบรรลุแล้ว
บุคคลนั้นข้ามพ้นนรกแห่งยมราชได้แล้วเข้าถึงฐานะอันเป็นทิพย์
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ทานให้ประโยชน์สำเร็จได้จริง
แม้เมื่อของมีน้อย ทานก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้
ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธาก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้
ทานที่ให้แก่บุคคลผู้ได้ธรรมแล้วก็ยิ่งเป็นการดี
อนึ่ง แม้ทานที่บุคคลเลือกให้ก็เป็นทานให้ประโยชน์สำเร็จได้
ทานที่บุคคลเลือกให้ พระสุคตทรงสรรเสริญแล้ว
บุคคลเหล่าใด ควรแก่ทักษิณามีอยู่ในโลกคือหมู่สัตว์นี้
ทานทั้งหลายที่บุคคลเลือกให้แล้วในบุคคลเหล่านั้นย่อมมีผลมาก
เหมือนพืชทั้งหลายที่บุคคลหว่านลงในนาชั้นดี ฉะนั้น


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๓. สาธุสูตร

ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ทานให้ประโยชน์สำเร็จได้จริง
แม้เมื่อของมีน้อย ทานก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้
ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธาก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้
ทานที่ให้แก่บุคคลผู้ได้ธรรมแล้วก็ยิ่งเป็นการดี
ทานที่บุคคลเลือกให้ก็ยิ่งเป็นการดี
อนึ่ง ความสำรวมแม้ในสัตว์ทั้งหลายก็ยิ่งเป็นการดี
บุคคลใดไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย
ไม่ทำบาปเพราะคำติเตียนจากผู้อื่น
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลนั้น ซึ่งเป็นคนกลัวบาป
แต่ไม่สรรเสริญบุคคลผู้กล้าในการทำบาปนั้น
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่ทำบาป เพราะกลัวบาปอย่างแท้จริง
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระ-
ผู้มีพระภาค คำของใครหนอเป็นสุภาษิต”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คำพูดของพวกท่านทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยอ้อม แต่ขอ
พวกท่านจงฟังคำของเราบ้าง
ความจริง ทานที่ให้ด้วยศรัทธาบัณฑิตสรรเสริญมาก
แต่บทแห่งธรรม๑ประเสริฐกว่าทาน
เพราะว่าสัตบุรุษทั้งหลายผู้มีปัญญา
ในกาลก่อนก็ดี ในกาลก่อนโน้นก็ดี ได้บรรลุนิพพานนั่นเอง

สาธุสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๔. นสันติสูตร

๔. นสันติสูตร
ว่าด้วยความไม่มี

[๓๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป พวกเทวดาสตุลลปกายิกา
จำนวนมากมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
เทวดาองค์หนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ในหมู่มนุษย์ กามที่น่าใคร่ซึ่งคนเกาะเกี่ยวมัวเมาอยู่
จนไม่บรรลุนิพพานอันเป็นเหตุไม่หวนกลับมาสู่แดนมัจจุอีก
กามนั้นจะชื่อว่าเที่ยงแท้หามีไม่
ความลำบากเกิดจากฉันทะ ทุกข์เกิดจากฉันทะ
เพราะกำจัดฉันทะได้ จึงกำจัดความลำบากได้
เพราะกำจัดความลำบากได้ จึงกำจัดทุกข์ได้
อารมณ์อันงามทั้งหลายในโลก ยังไม่จัดเป็นกาม
ความกำหนัดที่เกิดจากความดำริเป็นกามของบุรุษ
อารมณ์อันงามทั้งหลายมีอยู่ในโลกอย่างนั้นเอง
ฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลายจึงกำจัดฉันทะในอารมณ์เหล่านั้น
บุคคลควรละความโกรธ สละมานะ
ก้าวล่วงสังโยชน์๑ได้หมดทุกอย่าง


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๔. นสันติสูตร

ความทุกข์ย่อมไม่รุมเร้าคนนั้น ผู้ไม่ติดอยู่ในนามรูป
ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล๑
ภิกษุละบัญญัติแล้ว ไม่เข้าถึงวิมาน
ตัดตัณหาในนามรูปนี้ได้แล้ว
เทวดาและมนุษย์ในโลกนี้ก็ดี ในโลกอื่นก็ดี
ในสวรรค์ก็ดี ในสถานที่อันเป็นที่อาศัยแห่งสัตว์ทั้งปวงก็ดี
พากันเที่ยวค้นหาก็ไม่พบภิกษุนั้น
ผู้ตัดเครื่องผูกขาดแล้ว ไม่มีความทุกข์ ไม่มีตัณหา
(ท่านพระโมฆราชทูลถามว่า)
หากเทวดาและมนุษย์เหล่าใดในโลกนี้หรือในโลกอื่น
ไม่ได้เห็นภิกษุนั้นผู้อุดมกว่านรชน
ผู้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อนรชน ผู้หลุดพ้นอย่างนั้น
นอบน้อมภิกษุนั้นอยู่
เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นบัณฑิตควรสรรเสริญหรือ
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุโมฆราช)
เทวดาและมนุษย์แม้เหล่านั้นบัณฑิตควรสรรเสริญ
เทวดาและมนุษย์เหล่าใดนอบน้อมภิกษุผู้หลุดพ้นอย่างนั้น
เทวดาและมนุษย์แม้เหล่านั้นรู้ธรรมแล้ว ละวิจิกิจฉาได้
เป็นผู้ข้ามพ้นธรรมเป็นเครื่องข้องได้

นสันติสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๕. อุชฌานสัญญิสูตร

๕. อุชฌานสัญญิสูตร
ว่าด้วยพวกเทวดาผู้มุ่งหมายจะเพ่งโทษ

[๓๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป พวกเทวดาผู้มุ่งหมาย
จะเพ่งโทษจำนวนมากมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ยืนอยู่ในอากาศ
เทวดาองค์หนึ่งยืนอยู่ในอากาศได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลใด ตนเป็นอย่างหนึ่ง
กลับประกาศให้เขารู้อีกอย่างหนึ่ง
บุคคลนั้นชื่อว่าลวงเขาบริโภคโดยความเป็นขโมย
เหมือนพรานนกลวงจับนก ฉะนั้น
ความจริง บุคคลทำกรรมใด ควรพูดถึงกรรมนั้น
ไม่ทำกรรมใด ก็ไม่ควรพูดถึงกรรมนั้น
บัณฑิตทั้งหลายรู้จักบุคคลผู้ไม่ทำ ดีแต่พูด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ใคร ๆ ไม่อาจดำเนินปฏิปทานี้
ด้วยเหตุสักว่าพูด หรือฟังอย่างเดียว
ผู้มีปัญญาทั้งหลายมีความเพียรเพ่งพินิจ
ย่อมพ้นจากเครื่องผูกของมารด้วยปฏิปทาอันมั่นคงนี้
ผู้มีปัญญาทั้งหลายทราบความเป็นไปของโลก
รู้ชัด ดับกิเลสได้แล้ว ข้ามพ้นตัณหาเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว
ย่อมไม่พูดโดยแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๕. อุชฌานสัญญิสูตร

ครั้งนั้น เทวดาเหล่านั้นลงมายืนอยู่บนพื้นดิน หมอบลงแทบพระยุคลบาท
ของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ได้กระทำความผิดเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา
พวกข้าพระองค์ได้สำคัญผิดว่าพระผู้มีพระภาคอันพวกเราพึงรุกราน ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดอภัยโทษแก่พวกข้าพระองค์ เพื่อสำรวมต่อไปเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแย้มพระโอษฐ์แล้ว
ครั้งนั้น เทวดาเหล่านั้นผู้เพ่งโทษโดยประมาณยิ่ง กลับขึ้นไปบนอากาศ เทวดา
องค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
เมื่อเราขอโทษอยู่ หากบุคคลใดไม่ยอมยกโทษให้
ยังมีความโกรธอยู่ภายใน มีความแค้นเคืองหนัก
บุคคลนั้น ชื่อว่าย่อมผูกเวร
หากว่าในโลกนี้ โทษไม่มี ความผิดไม่มี
และเวรทั้งหลายไม่สงบ
บุคคลในโลกนี้พึงเป็นผู้ฉลาดได้อย่างไร
ใครบ้างไม่มีโทษ ใครบ้างไม่มีความผิด
ใครบ้างไม่ถึงความหลงใหล
ในโลกนี้ ใครเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีสติในกาลทุกเมื่อเล่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
พระตถาคตพระองค์นั้นผู้ตรัสรู้แล้ว
ผู้อนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งปวง ไม่มีโทษ ไม่มีความผิด
พระตถาคตพระองค์นั้น ไม่ถึงความหลงใหล
พระตถาคตพระองค์นั้นเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีสติในกาลทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๖. สัทธาสูตร

เมื่อพวกท่านขอโทษอยู่ หากบุคคลใดไม่ยอมยกโทษให้
ยังมีความโกรธอยู่ภายใน มีความแค้นเคืองหนัก
บุคคลนั้น ชื่อว่าย่อมผูกเวร
เราไม่ชอบใจเวรนั้น จึงยกโทษให้แก่ท่านทั้งหลาย

อุชฌานสัญญิสูตรที่ ๕ จบ

๖. สัทธาสูตร
ว่าด้วยศรัทธา

[๓๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป พวกเทวดาสตุลล-
ปกายิกาจำนวนมากมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
เทวดาองค์หนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคว่า
ศรัทธาเป็นเพื่อนของบุรุษ
หากว่าความไม่มีศรัทธาไม่ตั้งอยู่
เพราะเหตุนั้น ยศและเกียรติย่อมมีแก่เขา
อนึ่ง ผู้นั้นละทิ้งร่างกายแล้วย่อมไปสู่สวรรค์
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลควรละความโกรธ สละมานะ
ก้าวล่วงสังโยชน์ได้หมดทุกอย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๗. สมยสูตร

เพราะว่ากิเลสเป็นเครื่องข้องย่อมไม่รุมเร้าบุคคลนั้น
ผู้ไม่ติดอยู่ในนามรูป ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
คนพาลมีปัญญาทราม
ประกอบความประมาทอยู่เสมอ
ส่วนคนฉลาดรักษาความไม่ประมาทไว้
เหมือนคนรักษาทรัพย์อันประเสริฐ ฉะนั้น
ท่านทั้งหลายอย่าประกอบความประมาท
และอย่าประกอบความเชยชมยินดีในกามเลย
เพราะว่าผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งพินิจอยู่
ย่อมได้รับความสุขอย่างยิ่ง๑

สัทธาสูตรที่ ๖ จบ

๗. สมยสูตร
ว่าด้วยพวกเทวดาประชุมกัน

[๓๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน เขตกรุงกบิลพัสดุ์
แคว้นสักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์
อนึ่ง พวกเทวดาจากโลกธาตุทั้งสิบประชุมกันเป็นอันมากเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค
และภิกษุสงฆ์


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๗. สมยสูตร

ครั้งนั้น เทวดา ๔ องค์ที่เกิดในหมู่พรหมชั้นสุทธาวาสได้มีความดำริอย่างนี้ว่า
“พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้น
สักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ อนึ่ง
พวกเทวดาจากโลกธาตุทั้งสิบประชุมกันเป็นอันมากเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคและ
ภิกษุสงฆ์ ทางที่ดีแม้เราทั้งหลายควรเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ” แล้วกล่าว
คาถาเฉพาะตนในสำนักของพระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้น เทวดาเหล่านั้นหายตัวไปจากหมู่พรหมชั้นสุทธาวาสมาปรากฏอยู่
เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า
ฉะนั้น ครั้งนั้น เทวดาเหล่านั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
เทวดาองค์หนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคว่า
การประชุมใหญ่ได้มีแล้วในป่าใหญ่
พวกเทวดามาประชุมพร้อมกันแล้ว
พวกข้าพระองค์พากันมาสู่ที่ประชุมอันเป็นธรรมนี้
เพื่อจะเยี่ยมเยียนหมู่ภิกษุผู้ที่ใคร ๆ ให้พ่ายแพ้ไม่ได้
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ในที่ประชุมนั้น ภิกษุทั้งหลายตั้งจิตไว้มั่น
ทำจิตตนเองให้ตรง ภิกษุเหล่านั้นเป็นบัณฑิต
ย่อมรักษาอินทรีย์ทั้งหลาย
เหมือนนายสารถีถือบังเหียนม้า บังคับให้วิ่งไปตามทาง ฉะนั้น
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุเหล่านั้นตัดกิเลสดุจตะปูตรึงจิต๑ได้แล้ว
ตัดกิเลสดุจลิ่มสลัก๒ได้แล้ว


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๘. สกลิกสูตร

และถอนกิเลสดุจเสาเขื่อน๑ได้แล้ว
จึงไม่หวั่นไหว เป็นผู้หมดจด ปราศจากมลทิน
มีจักษุ๒ ฝึกตนดีแล้ว เป็นผู้ประเสริฐ ประพฤติธรรมอยู่
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลทั้งหลายผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
จักไม่ไปสู่อบายภูมิ ละร่างกายอันเป็นของมนุษย์แล้ว
จักบังเกิดเป็นเทวดาโดยสมบูรณ์

สมยสูตรที่ ๗ จบ

๘. สกลิกสูตร
ว่าด้วยสะเก็ดหิน

[๓๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มัททกุจฉิ สถานที่พระราชทานอภัย
แก่หมู่เนื้อ เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น สะเก็ดหินกระทบพระบาทของผู้มีพระภาค
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีทุกขเวทนาทางพระวรกายที่กล้าแข็งอย่างหนัก


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๘. สกลิกสูตร

เผ็ดร้อน อันไม่สบายพระทัย ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคมีพระสติสัมปชัญญะ
ทรงอดกลั้นทุกขเวทนานั้นไว้ได้ ไม่ทรงเดือดร้อน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น ทรงสำเร็จสีหไสยา
(การนอนดุจราชสีห์) โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท
มีพระสติสัมปชัญญะ
ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป พวกเทวดาสตุลลปกายิกาประมาณ ๗๐๐ องค์ มีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วมัททกุจฉิ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
เทวดาองค์หนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้วได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มี-
พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสมณโคดมเป็นบุรุษดุจนาค๑จริง ก็แลพระ-
สมณโคดมมีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาทางพระวรกายที่กล้าแข็ง
อย่างหนัก เผ็ดร้อน อันไม่สบายพระทัย ที่เกิดขึ้นแล้วไว้ได้ เพราะความที่พระองค์
เป็นบุรุษดุจนาค ไม่ทรงเดือดร้อน”
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสมณโคดมเป็นบุรุษดุจราชสีห์จริง ก็แลพระสมณโคดม
มีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาทางพระวรกายที่กล้าแข็งอย่างหนัก
เผ็ดร้อน อันไม่สบายพระทัย ที่เกิดขึ้นแล้วไว้ได้ เพราะความที่พระองค์เป็นบุรุษ
ดุจราชสีห์ ไม่ทรงเดือดร้อน”
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสมณโคดมเป็นบุรุษอาชาไนยจริง ก็แลพระสมณโคดม
มีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาทางพระวรกายที่กล้าแข็งอย่างหนัก
เผ็ดร้อนอันไม่สบายพระทัย ที่เกิดขึ้นแล้วไว้ได้ เพราะความที่พระองค์เป็นบุรุษ
อาชาไนยไม่ทรงเดือดร้อน”


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๘. สกลิกสูตร

ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสมณโคดมเป็นบุรุษผู้องอาจจริง ก็แลพระสมณโคดมมี
พระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาทางพระวรกายที่กล้าแข็งอย่างหนัก เผ็ดร้อน
อันไม่สบายพระทัย ที่เกิดขึ้นแล้วไว้ได้ เพราะความที่พระองค์เป็นบุรุษผู้องอาจ ไม่ทรง
เดือดร้อน”
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสมณโคดมเป็นบุรุษผู้ใฝ่ธุระจริง ก็แลพระสมณโคดม
มีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาทางพระวรกายที่กล้าแข็งอย่างหนัก
เผ็ดร้อน อันไม่สบายพระทัย ที่เกิดขึ้นแล้วไว้ได้ เพราะความที่พระองค์เป็นบุรุษผู้
ใฝ่ธุระ ไม่ทรงเดือดร้อน”
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสมณโคดมเป็นบุรุษผู้ฝึกแล้วจริง ก็แลพระสมณโคดม
มีพระสติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาทางพระวรกายที่กล้าแข็งอย่างหนัก
เผ็ดร้อน อันไม่สบายพระทัย ที่เกิดขึ้นแล้วไว้ได้ เพราะความที่พระองค์เป็นบุรุษ
ผู้ฝึกแล้ว ไม่ทรงเดือดร้อน”
ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
“ท่านจงดูสมาธิ๑ที่พระสมณโคดมทรงเจริญดีแล้ว จงดูจิตที่พระสมณโคดมทรงให้
หลุดพ้นดีแล้ว๒ จิตที่เป็นไปตามราคะพระสมณโคดมก็ไม่ให้น้อมไปถึงแล้ว จิตที่
เป็นไปตามโทสะพระสมณโคดมก็ไม่ให้หวนกลับมาแล้ว และจิตของพระสมณโคดม
ไม่ต้องตั้งใจข่มและคอยห้ามปราม บุคคลใดพึงสำคัญพระสมณโคดมเป็นบุรุษดุจนาค


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๘. สกลิกสูตร

เป็นบุรุษดุจราชสีห์ เป็นบุรุษอาชาไนย เป็นบุรุษผู้องอาจ เป็นบุรุษผู้ใฝ่ธุระ และ
เป็นบุรุษผู้ฝึกแล้วเห็นปานนี้ว่า เป็นผู้ที่ตนจะล่วงเกินได้ บุคคลนั้นจะเป็นอะไรเล่า
นอกเสียจากผู้ไม่มีทัสสนะ๑”
(เทวดานั้นครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาทั้งหลายเหล่านี้ว่า)
พราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ทรงเวททั้ง ๕๒ มีตบะ
ประพฤติธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอตั้ง ๑๐๐ ปี
แต่จิตของพราหมณ์เหล่านั้นก็ไม่หลุดพ้นโดยชอบ
เพราะพราหมณ์เหล่านั้นมีสภาพจิตต่ำ
จึงไม่ถึงจุดจบ๓(แห่งความตาย)
พราหมณ์เหล่านั้นถูกตัณหาครอบงำแล้ว
เกี่ยวข้องด้วยศีลพรต ประพฤติตบะอันเศร้าหมองอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี
แต่จิตของพราหมณ์เหล่านั้นก็ไม่หลุดพ้นแล้วโดยชอบ
เพราะพราหมณ์เหล่านั้นมีสภาพจิตต่ำ จึงไม่ถึงจุดจบ
บุคคลผู้มีมานะ ย่อมไม่มีการฝึกตนเอง
บุคคลผู้มีจิตไม่มั่นคง ย่อมไม่มีความรู้
บุคคลผู้ประมาทอยู่ในป่าคนเดียว
ก็ไม่ถึงจุดจบแห่งความตาย


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๙. ปฐมปัชชุนนธีตุสูตร

บุคคลละมานะได้แล้ว มีใจมั่นคงดี
มีใจดี หลุดพ้นในธรรมทั้งปวง
เขาไม่ประมาทอยู่ในป่าคนเดียว
ก็ถึงจุดจบแห่งความตายได้

สกลิกสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปฐมปัชชุนนธีตุสูตร
ว่าด้วยธิดาของท้าวปัชชุนนะ สูตรที่ ๑

[๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุง
เวสาลี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป ธิดาของท้าวปัชชุนนะ ชื่อโกกนทา มีวรรณะงดงาม
ยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วป่ามหาวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคว่า
หม่อมฉัน ชื่อโกกนทา เป็นธิดาของท้าวปัชชุนนะ
ขอถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เลิศกว่าสัตว์
ผู้เสด็จอยู่ในป่า ใกล้กรุงเวสาลี
หม่อมฉันได้ฟังสุนทรพจน์ในกาลก่อนว่า
ธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุตรัสรู้แล้วโดยลำดับ
บัดนี้เมื่อพระสุคตผู้เป็นมุนี ทรงแสดง(ธรรม)อยู่
หม่อมฉันจึงรู้ชัด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค ๑๐. ทุติยปัชชุนนธีตุสูตร

ชนเหล่าใดมีปัญญาทราม
เที่ยวติเตียนธรรมอันประเสริฐ
ชนเหล่านั้นย่อมบังเกิดในนรกชื่อโรรุวะอันทารุณ
เสวยทุกข์ตลอดกาลนาน
ชนเหล่าใดมีความอดทน
และมีความสงบ เข้าถึงธรรมอันประเสริฐ
ชนเหล่านั้นละร่างกายอันเป็นของมนุษย์แล้ว
จักบังเกิดเป็นเทวดาโดยสมบูรณ์

ปฐมปัชชุนนธีตุสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุติยปัชชุนนธีตุสูตร
ว่าด้วยธิดาของท้าวปัชชุนนะ สูตรที่ ๒

[๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุง
เวสาลี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป ธิดาของท้าวปัชชุนนะ ชื่อจูฬโกกนทา มีวรรณะงดงาม
ยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วป่ามหาวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคว่า
ธิดาของท้าวปัชชุนนะ ชื่อโกกนทา
มีวรรณะสว่างดุจสายฟ้า มาแล้วในที่นี้
นอบน้อมพระพุทธเจ้า และพระธรรม
ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ซึ่งมีประโยชน์
หม่อมฉันพึงจำแนกธรรมนั้นโดยปริยายแม้มาก
ธรรมเช่นนี้มีอยู่โดยปริยาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๔. สตุลลปกายิกวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ธรรมมีประมาณเท่าใดที่หม่อมฉันศึกษาแล้วด้วยใจ
หม่อมฉันจักกล่าวอรรถแห่งธรรมประมาณเท่านั้นโดยย่อ
บุคคลไม่ควรทำกรรมชั่วอะไร ๆ
ทางกาย ทางวาจา หรือทางใจในโลกทั้งปวง
บุคคลมีสติสัมปชัญญะ ละกามทั้งหลายได้แล้ว
ไม่พึงประสบทุกข์ ซึ่งประกอบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

ทุติยปัชชุนนธีตุสูตรที่ ๑๐ จบ
สตุลลปกายิกวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สัพภิสูตร ๒. มัจฉริสูตร
๓. สาธุสูตร ๔. นสันติสูตร
๕. อุชฌานสัญญิสูตร ๖. สัทธาสูตร
๗. สมยสูตร ๘. สกลิกสูตร
๙. ปฐมปัชชุนนธีตุสูตร ๑๐. ทุติยปัชชุนนธีตุสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๕. อาทิตตวรรค ๑. อาทิตตสูตร

๕. อาทิตตวรรค
หมวดว่าด้วยสิ่งที่เป็นของร้อน

๑. อาทิตตสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่เป็นของร้อน

[๔๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคว่า
เมื่อเรือนถูกไฟไหม้แล้ว
เจ้าของเรือนขนเอาภาชนะใดออกไปได้
ภาชนะนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เขา
ส่วนสิ่งของที่มิได้ขนออกไปย่อมถูกไฟไหม้ ฉันใด
โลกถูกชราและมรณะเผาแล้ว ก็ฉันนั้น
ควรนำออกด้วยการให้ทาน
เพราะทานที่บุคคลให้แล้ว ชื่อว่านำออกดีแล้ว
ทานที่บุคคลให้แล้วนั้นย่อมมีผลคือความสุข
ที่ยังมิได้ให้ ย่อมไม่มีผลอย่างนั้น
โจรยังปล้นเอาไปได้ พระราชายังริบเอาไปได้
ไฟยังไหม้ได้หรือสูญหายไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๕. อาทิตตวรรค ๒. กินททสูตร

อนึ่ง บุคคลจำต้องละร่างกาย
พร้อมด้วยสิ่งของเครื่องอาศัยเพราะการตายจากไป
ผู้มีปัญญารู้ชัดดังนี้แล้ว ควรใช้สอยและให้ทาน
ครั้นให้ทานและใช้สอยตามควรแล้วจะไม่ถูกติเตียน
ย่อมเข้าถึงสถานที่อันเป็นแดนสวรรค์

อาทิตตสูตรที่ ๑ จบ

๒. กินททสูตร
ว่าด้วยให้อะไร ชื่อว่าให้อะไร

[๔๒] เทวดาทูลถามว่า
บุคคลให้อะไร ชื่อว่าให้กำลัง
ให้อะไร ชื่อว่าให้วรรณะ
ให้อะไร ชื่อว่าให้ความสุข
ให้อะไร ชื่อว่าให้จักษุ
และใคร ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์ได้โปรดตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลให้ข้าว ชื่อว่าให้กำลัง
ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ
ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุข
ให้ประทีป ชื่อว่าให้จักษุ
และผู้ให้ที่พักอาศัย ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ส่วนผู้ที่พร่ำสอนธรรม ชื่อว่าให้อมตะ

กินททสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๕. อาทิตตวรรค ๔. เอกมูลสูตร

๓. อันนสูตร
ว่าด้วยข้าว

[๔๓] เทวดากล่าวว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก
ต่างก็พอใจข้าวด้วยกันทั้งนั้น
ส่วนผู้ที่ไม่พอใจข้าว ชื่อว่ายักษ์โดยแท้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนเหล่าใดมีใจเลื่อมใสให้ข้าวนั้นด้วยศรัทธา
ข้าวนั้นเองย่อมค้ำชูชนเหล่านั้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เพราะเหตุนั้น บุคคลพึงกำจัดความตระหนี่
ครอบงำมลทินแล้วให้ทานเถิด
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า

อันนสูตรที่ ๓ จบ

๔. เอกมูลสูตร
ว่าด้วยบาดาลมีรากอันเดียว

[๔๔] เทวดากล่าวว่า
บาดาลมีรากอันเดียว๑ มีวนเวียน ๒ อย่าง๒
มีมลทิน ๓ ประการ๓ มีเครื่องลาด ๕ ประการ๔
เป็นทะเลหมุนไปได้ทั้ง ๑๒ ด้าน๕ฤาษีข้ามพ้นได้แล้ว

เอกมูลสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๕. อาทิตตวรรค ๖. อัจฉราสูตร

๕. อโนมิยสูตร
ว่าด้วยพระนามไม่ต่ำต้อย

[๔๕] เทวดากล่าวว่า
เชิญท่านทั้งหลายดูพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้มีพระนามไม่ต่ำต้อย๑ ทรงเห็นประโยชน์อันละเอียดอ่อน
ให้ซึ่งปัญญา ไม่ทรงข้องอยู่ในอาลัยคือกาม
ตรัสรู้ธรรมทุกอย่าง มีพระปรีชา ดำเนินไปในทางอันประเสริฐ
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

อโนมิยสูตรที่ ๕ จบ

๖. อัจฉราสูตร
ว่าด้วยนางอัปสร

[๔๖] เทวดาทูลถามว่า
ราวป่าน่าหลงใหล กึกก้องไปด้วยหมู่นางอัปสร
เป็นป่าที่หมู่ปีศาจอาศัยอยู่ จักออกไปได้อย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ทางนั้นชื่อว่าเป็นทางตรง ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย
รถชื่อว่าไม่มีเสียงดัง ประกอบด้วยล้อคือธรรม
หิริเป็นฝาประทุนของรถนั้น สติเป็นเกราะกั้นของรถนั้น
เรากล่าวธรรม มีสัมมาทิฏฐินำหน้าว่าเป็นนายสารถี
ยานชนิดนี้มีอยู่แก่ผู้ใด จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม
ผู้นั้นไปใกล้นิพพานด้วยยานนี้แล

อัจฉราสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๕. อาทิตตวรรค ๘. เชตวนสูตร

๗. วนโรปสูตร
ว่าด้วยการปลูกป่า

[๔๗] เทวดาทูลถามว่า
บุญย่อมเจริญ ทั้งกลางวันและกลางคืน
ตลอดกาลทุกเมื่อ แก่ชนเหล่าไหน
ชนเหล่าไหนดำรงอยู่ในธรรม
สมบูรณ์ด้วยศีลแล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ชนเหล่าใดปลูกสวนอันน่ารื่นรมย์๑
ปลูกป่า สร้างสะพาน ขุดสระน้ำ บ่อน้ำ
และให้ที่พักอาศัย
บุญย่อมเจริญแก่ชนเหล่านั้น
ทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดกาลทุกเมื่อ
ชนเหล่านั้นดำรงอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลแล้ว
ย่อมไปสู่สวรรค์อย่างแน่นอน

วนโรปสูตรที่ ๗ จบ

๘. เชตวนสูตร
ว่าด้วยพระเชตวันวิหาร

[๔๘] อนาถบิณฑิกเทพบุตรได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
พระเชตวันนี้นั้นมีหมู่ฤาษีพำนักอยู่
พระผู้เป็นธรรมราชาก็ประทับอยู่
เป็นสถานที่ให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๕. อาทิตตวรรค ๙. มัจฉริสูตร

การงาน ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันสูงสุด ๑๑
สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕ ประการนี้
หาใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ไม่
เพราะเหตุนั้นแหละ คนฉลาดเมื่อเห็นประโยชน์ตน
ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายเถิด
เพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น
พระสารีบุตรเท่านั้นเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าภิกษุผู้ถึงฝั่ง
ด้วยปัญญา ศีล และความสงบ๒

เชตวนสูตรที่ ๘ จบ

๙. มัจฉริสูตร
ว่าด้วยคนตระหนี่

[๔๙] เทวดาทูลถามว่า
คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น
บริภาษผู้อื่น ทำอันตรายแก่คนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่
วิบากของคนเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร
และภพหน้าจะเป็นเช่นไร
ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค
ว่าจะรู้ข้อความนั้นได้อย่างไร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๕. อาทิตตวรรค ๙. มัจฉริสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น
บริภาษผู้อื่น ทำอันตรายแก่คนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่
คนเหล่านั้นย่อมบังเกิดในนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือยมโลก
ถ้าพวกเขามาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เกิดในตระกูลคนยากจน
ซึ่งจะหาท่อนผ้า อาหาร ความยินดี และความสนุกสนานได้ยาก
คนพาลเหล่านั้น ต้องการสิ่งใดจากผู้อื่น
พวกเขาย่อมไม่ได้แม้สิ่งนั้น
นั่นเป็นวิบากในภพนี้ และภพหน้าก็ยังเป็นทุคติอีกด้วย
เทวดาทูลถามว่า
ข้อนี้ข้าพระองค์เข้าใจอย่างนี้
ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ขอทูลถามข้ออื่น
คนเหล่าใดในโลกนี้ ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว
รู้เจรจาปราศรัย ปราศจากความตระหนี่
เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์
เป็นผู้มีความเคารพอย่างแรงกล้า
วิบากของคนเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร และภพหน้าจะเป็นเช่นไร
ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค
ว่าจะรู้ข้อความนั้นได้อย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
คนเหล่าใดในโลกนี้ ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว
รู้เจรจาปราศรัย ปราศจากความตระหนี่
เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์
เป็นผู้มีความเคารพอย่างแรงกล้า
คนเหล่านั้นย่อมปรากฏในสวรรค์ซึ่งเป็นที่อุบัติของพวกเขา
ถ้าพวกเขามาเกิดเป็นมนุษย์ ก็เกิดในตระกูลที่มั่งคั่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๕. อาทิตตวรรค ๑๐. ฆฏิการสูตร

ซึ่งจะหาท่อนผ้า อาหาร ความยินดี และความสนุกสนานได้ไม่ยาก
บันเทิงใจอยู่ในโภคทรัพย์ที่ผู้อื่นหาสะสมไว้
เหมือนเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
นั่นเป็นวิบากในภพนี้ ทั้งภพหน้าก็เป็นสุคติอีกด้วย

มัจฉริสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ฆฏิการสูตร
ว่าด้วยฆฏิการเทพบุตร

[๕๐] ฆฏิการเทพบุตรกราบทูลว่า
ภิกษุ ๗ รูป ผู้บังเกิดในพรหมโลกชั้นอวิหา
เป็นผู้หลุดพ้น สิ้นราคะและโทสะแล้ว
ข้ามพ้นตัณหาที่ซ่านไปในโลกได้
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ภิกษุเหล่านั้นคือใครบ้าง
ได้ข้ามพ้นเปือกตม คือบ่วงความตาย
ที่ใคร ๆ ข้ามได้แสนยาก
ละทิ้งกายมนุษย์๑แล้วก้าวล่วงโยคะอันเป็นทิพย์๒ได้
ฆฏิการเทพบุตรทูลตอบว่า
ภิกษุ ๓ รูปเหล่านี้ คือ ท่านอุปกะ
ท่านผลคัณฑะ และท่านปุกกุสาติ
ภิกษุอีก ๔ รูป คือ ท่านภัททิยะ ท่านขัณฑเทวะ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๕. อาทิตตวรรค ๑๐. ฆฏิการสูตร

ท่านพหุทันตี และท่านสิงคิยะ
ภิกษุเหล่านั้นละทิ้งกายมนุษย์แล้ว
ก้าวล่วงโยคะอันเป็นทิพย์ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ท่านผู้ฉลาดมักกล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่านั้น
ผู้ละบ่วงแห่งมารได้แล้ว
ภิกษุเหล่านั้นรู้ธรรมของใครเล่า
จึงตัดเครื่องผูกคือภพได้
ฆฏิการเทพบุตรทูลตอบว่า
ท่านเหล่านั้นรู้ธรรมของผู้ใด
จึงตัดเครื่องผูกคือภพได้
ผู้นั้นมิใช่ใครอื่นนอกจากพระผู้มีพระภาค
(และ) นอกจากคำสั่งสอนของพระองค์
ท่านเหล่านั้นรู้ธรรมเป็นที่ดับไม่เหลือ
แห่งนามรูปแล้ว จึงตัดเครื่องผูกคือภพได้
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ท่านกล่าววาจาลึกซึ้ง
ที่รู้ได้ยาก เข้าใจให้ดีได้ยาก
ท่านรู้ธรรมของใคร จึงกล่าววาจาเช่นนี้ได้
ฆฏิการเทพบุตรทูลตอบว่า
เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นช่างหม้อ
ปั้นหม้ออยู่ในแคว้นเวภฬิงคะ เป็นผู้เลี้ยงดูมารดาและบิดา
เป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เว้นขาดจากเมถุนธรรม
ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีอามิส
ได้เคยเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันกับพระองค์
ทั้งเคยเป็นสหายของพระองค์ในกาลก่อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๕. อาทิตตวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ข้าพระองค์รู้จักภิกษุ ๗ รูปเหล่านี้
ผู้หลุดพ้นแล้ว สิ้นราคะและโทสะแล้ว
ข้ามพ้นตัณหาที่ซ่านไปในโลกได้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
นายช่างหม้อ จริงอย่างที่ท่านพูดนั่นแหละ
เมื่อก่อนนั้นท่านเคยเป็นช่างหม้อ
ปั้นหม้ออยู่ในแคว้นเวภฬิงคะ เป็นผู้เลี้ยงดูมารดาและบิดา
เป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เว้นขาดจากเมถุนธรรม
ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีอามิส
ได้เคยเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันกับเรา
ทั้งเคยเป็นสหายของเราในกาลก่อน
พระสังคีติกาจารย์กล่าวว่า
สหายเก่าทั้งสอง ผู้เคยอบรมตนมาแล้ว
เหลือไว้แต่ร่างกายในชาติสุดท้าย
ได้มาพบกันด้วยอาการอย่างนี้๑

ฆฏิการสูตรที่ ๑๐ จบ
อาทิตตวรรคที่ ๕ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อาทิตตสูตร ๒. กินททสูตร
๓. อันนสูตร ๔. เอกมูลสูตร
๕. อโนมิยสูตร ๖. อัจฉราสูตร
๗. วนโรปสูตร ๘. เชตวนสูตร
๙. มัจฉริสูตร ๑๐. ฆฏิการสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๖. ชราวรรค ๒. อชรสาสูตร

๖. ชราวรรค
หมวดว่าด้วยชรา
๑. ชราสูตร
ว่าด้วยชรา

[๕๑] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่ายังประโยชน์ให้สำเร็จตราบเท่าชรา (ความแก่)
อะไรเล่าตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ
อะไรเล่าเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย
อะไรเล่าโจรลักไปไม่ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศีลยังประโยชน์ให้สำเร็จตราบเท่าชรา
ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ
ปัญญาเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย
บุญโจรลักไปไม่ได้

ชราสูตรที่ ๑ จบ

๒. อชรสาสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่ชำรุด

[๕๒] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าที่ไม่ชำรุด๑ยังประโยชน์ให้สำเร็จ
อะไรเล่าตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ
อะไรเล่าเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย
อะไรเล่าโจรลักไปไม่ได้


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๖. ชราวรรค ๓. มิตตสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศีลที่ไม่ชำรุดยังประโยชน์ให้สำเร็จ
ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ
ปัญญาเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย
บุญโจรลักไปไม่ได้

อชรสาสูตรที่ ๒ จบ

๓. มิตตสูตร
ว่าด้วยมิตร

[๕๓] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าเป็นมิตรของคนเดินทาง
อะไรเล่าเป็นมิตรในเรือนของตน
อะไรเล่าเป็นมิตรของคนผู้มีประโยชน์๑เกิดขึ้น
อะไรเล่าเป็นมิตรติดตามตนไปถึงภพหน้า
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
พวกหมู่เกวียนเป็นมิตรของคนเดินทาง
มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน
สหายเป็นมิตรของคนผู้มีประโยชน์เกิดขึ้นเนือง ๆ
บุญที่ตนเองทำไว้แล้วเป็นมิตรติดตามตนไปถึงภพหน้า

มิตตสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๖. ชราวรรค ๕. ปฐมชนสูตร

๔. วัตถุสูตร
ว่าด้วยที่พึ่ง

[๕๔] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าเป็นที่พึ่งของมนุษย์ทั้งหลาย
อะไรเล่าเป็นเพื่อนที่ยอดเยี่ยมในโลกนี้
หมู่สัตว์ที่มีชีวิตอยู่บนพื้นดินอาศัยอะไรเล่าเลี้ยงชีพ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุตรเป็นที่พึ่งของมนุษย์ทั้งหลาย
ภรรยาเป็นเพื่อนที่ยอดเยี่ยมในโลกนี้
หมู่สัตว์ที่มีชีวิตอยู่บนพื้นดินอาศัยฝนเลี้ยงชีพ

วัตถุสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปฐมชนสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ทำคนให้เกิด สูตรที่ ๑

[๕๕] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าทำคนให้เกิด
อะไรเล่าของคนนั้นย่อมพล่านไป
อะไรเล่าเวียนว่ายในสงสาร
อะไรเล่าเป็นภัยใหญ่ของคนนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ตัณหาทำคนให้เกิด
จิตของคนนั้นย่อมพล่านไป
สัตว์เวียนว่ายในสงสาร
ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของคนนั้น

ปฐมชนสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๖. ชราวรรค ๗. ตติยชนสูตร

๖. ทุติยชนสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ทำคนให้เกิด สูตรที่ ๒

[๕๖] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าทำคนให้เกิด
อะไรเล่าของคนนั้นย่อมพล่านไป
อะไรเล่าเวียนว่ายในสงสาร
สัตว์ย่อมไม่หลุดพ้นจากอะไร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ตัณหาทำคนให้เกิด
จิตของคนนั้นย่อมพล่านไป
สัตว์เวียนว่ายในสงสาร
สัตว์ย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์

ทุติยชนสูตรที่ ๖ จบ

๗. ตติยชนสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ทำคนให้เกิด สูตรที่ ๓

[๕๗] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าทำคนให้เกิด
อะไรเล่าของคนนั้นย่อมพล่านไป
อะไรเล่าเวียนว่ายในสงสาร
อะไรเล่าเป็นที่ไปในเบื้องหน้าของคนนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ตัณหาทำคนให้เกิด
จิตของคนนั้นย่อมพล่านไป
สัตว์เวียนว่ายในสงสาร
กรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้าของคนนั้น

ตติยชนสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๖. ชราวรรค ๙. ทุติยสูตร

๘. อุปปถสูตร
ว่าด้วยทางผิด

[๕๘] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าบัณฑิตกล่าวว่า เป็นทางผิด
อะไรเล่าสิ้นไปตามคืนและวัน
อะไรเล่าเป็นมลทินของพรหมจรรย์
อะไรเล่ามิใช่น้ำ แต่เป็นเครื่องชำระล้าง
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ราคะบัณฑิตกล่าวว่า เป็นทางผิด
วัยสิ้นไปตามคืนและวัน
หญิงเป็นมลทินของพรหมจรรย์ หมู่สัตว์นี้ข้องอยู่ในหญิงนั่น
ตบะและพรหมจรรย์นั้นมิใช่น้ำ แต่เป็นเครื่องชำระล้าง

อุปปถสูตรที่ ๘ จบ

๙. ทุติยสูตร
ว่าด้วยเพื่อน

[๕๙] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าเป็นเพื่อนของบุรุษ
อะไรเล่าย่อมปกครองบุรุษนั้น
และสัตว์ยินดีในอะไร จึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศรัทธาเป็นเพื่อนของบุรุษ
ปัญญาย่อมปกครองบุรุษนั้น
สัตว์ยินดีในนิพพาน จึงพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

ทุติยสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๖. ชราวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑๐. กวิสูตร
ว่าด้วยกวี

[๖๐] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าเป็นต้นเหตุของคาถา
อะไรเล่าเป็นเครื่องปรากฏของคาถาเหล่านั้น
คาถาอาศัยอะไรเล่า อะไรเล่าเป็นที่อาศัยของคาถา
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ฉันท์เป็นต้นเหตุของคาถา
อักขระเป็นเครื่องปรากฏของคาถาเหล่านั้น
คาถาอาศัยชื่อ กวีเป็นที่อาศัยของคาถา

กวิสูตรที่ ๑๐ จบ
ชราวรรคที่ ๖ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ชราสูตร ๒. อชรสาสูตร
๓. มิตตสูตร ๔. วัตถุสูตร
๕. ปฐมชนสูตร ๖. ทุติยชนสูตร
๗. ตติยชนสูตร ๘. อุปปถสูตร
๙. ทุติยสูตร ๑๐. กวิสูตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๗. อัทธวรรค ๒. จิตตสูตร

๗. อัทธวรรค
หมวดว่าด้วยสิ่งครอบงำ
๑. นามสูตร
ว่าด้วยชื่อ

[๖๑] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าครอบงำสิ่งทั้งปวง
อะไรเล่าไม่มีสิ่งทั้งปวงยิ่งกว่า
อะไรเล่าเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่สิ่งทั้งปวงตกอยู่ในอำนาจ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ชื่อครอบงำสิ่งทั้งปวง
ชื่อไม่มีสิ่งทั้งปวงยิ่งกว่า
ชื่อเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่สิ่งทั้งปวงตกอยู่ในอำนาจ

นามสูตรที่ ๑ จบ

๒. จิตตสูตร
ว่าด้วยจิต

[๖๒] เทวดาทูลถามว่า
โลก๑ถูกอะไรนำไป ถูกอะไรผลักไสไป
อะไรเล่าเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่โลกทั้งหมดตกอยู่ในอำนาจ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกถูกจิตนำไป ถูกจิตผลักไสไป
จิตเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่โลกทั้งหมดตกอยู่ในอำนาจ

จิตตสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๗. อัทธวรรค ๔. สัญโญชนสูตร

๓. ตัณหาสูตร
ว่าด้วยตัณหา

[๖๓] เทวดาทูลถามว่า
โลกถูกอะไรนำไป ถูกอะไรผลักไสไป
อะไรเล่าเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่โลกทั้งหมดตกอยู่ในอำนาจ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกถูกตัณหานำไป ถูกตัณหาผลักไสไป
ตัณหาเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่โลกทั้งหมดตกอยู่ในอำนาจ

ตัณหาสูตรที่ ๓ จบ

๔. สัญโญชนสูตร
ว่าด้วยเครื่องประกอบไว้

[๖๔] เทวดาทูลถามว่า
โลกมีอะไรเล่าเป็นเครื่องประกอบไว้
อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของโลกนั้น
เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้
วิตกเป็นเหตุเที่ยวไปของโลกนั้น
เพราะละตัณหาได้ เราจึงกล่าวว่า นิพพาน

สัญโญชนสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๗. อัทธวรรค ๖. อัพภาหตสูตร

๕. พันธนสูตร
ว่าด้วยเครื่องผูก

[๖๕] เทวดาทูลถามว่า
โลกมีอะไรเล่าเป็นเครื่องผูกไว้
อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของโลกนั้น
เพราะละอะไรได้เล่า จึงตัดเครื่องผูกได้หมด
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้
วิตกเป็นเหตุเที่ยวไปของโลกนั้น
เพราะละตัณหาได้ จึงตัดเครื่องผูกได้หมด

พันธนสูตรที่ ๕ จบ

๖. อัพภาหตสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ถูกกำจัด

[๖๖] เทวดาทูลถามว่า
โลกถูกอะไรเล่ากำจัด ถูกอะไรเล่าล้อมไว้
ถูกลูกศรคืออะไรเล่าเสียบไว้
ถูกอะไรเล่าเผาให้ร้อนตลอดกาลทุกเมื่อ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกถูกมัจจุกำจัด ถูกชราล้อมไว้
ถูกลูกศรคือตัณหาเสียบไว้
ถูกความอยากเผาให้ร้อนตลอดกาลทุกเมื่อ

อัพภาหตสูตรที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๗. อัทธวรรค ๘. ปิหิตสูตร

๗. อุฑฑิตสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ถูกดัก

[๖๗] เทวดาทูลถามว่า
โลกถูกอะไรเล่าดักไว้ ถูกอะไรเล่าล้อมไว้
ถูกอะไรเล่าปิดไว้ ตั้งอยู่ในอะไรเล่า
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกถูกตัณหาดักไว้ ถูกชราล้อมไว้
ถูกมัจจุปิดไว้ ตั้งอยู่ในความทุกข์

อุฑฑิตสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปิหิตสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ถูกปิดไว้

[๖๘] เทวดาทูลถามว่า
โลกถูกอะไรเล่าปิดไว้ ตั้งอยู่ในอะไรเล่า
ถูกอะไรเล่าดักไว้ ถูกอะไรเล่าล้อมไว้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกถูกมัจจุปิดไว้ ตั้งอยู่ในความทุกข์
ถูกตัณหาดักไว้ ถูกชราล้อมไว้

ปิหิตสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๗. อัทธวรรค ๑๐. โลกสูตร

๙. อิจฉาสูตร
ว่าด้วยความอยาก

[๖๙] เทวดาทูลถามว่า
โลกถูกอะไรเล่าผูกไว้
เพราะกำจัดอะไรออกไป จึงพ้นได้
เพราะละอะไรได้เล่า จึงตัดเครื่องผูกได้ทั้งหมด
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โลกถูกความอยากผูกไว้
เพราะกำจัดความอยากออกไป จึงพ้นได้
เพราะละความอยาก จึงตัดเครื่องผูกได้ทั้งหมด

อิจฉาสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. โลกสูตร
ว่าด้วยโลก

[๗๐] เทวดาทูลถามว่า
เมื่ออะไรเกิด โลกจึงเกิด
โลกทำความเชยชิดในอะไร โลกยึดถืออะไร
โลกเดือดร้อนเพราะอะไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๗. อัทธวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
เมื่ออายตนะ ๖ เกิด โลกจึงเกิด
โลกทำความเชยชิดในอายตนะ ๖
โลกยึดถืออายตนะ ๖ นั่นแล
โลกเดือดร้อนเพราะอายตนะ ๖

โลกสูตรที่ ๑๐ จบ
อัทธวรรคที่ ๗ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. นามสูตร ๒. จิตตสูตร
๓. ตัณหาสูตร ๔. สัญโญชนสูตร
๕. พันธนสูตร ๖. อัพภาหตสูตร
๗. อุฑฑิตสูตร ๘. ปิหิตสูตร
๙. อิจฉาสูตร ๑๐. โลกสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๘. ฆัตวาวรรค ๒. รถสูตร

๘. ฆัตวาวรรค
หมวดว่าด้วยการฆ่า
๑. ฆัตวาสูตร
ว่าด้วยการฆ่า

[๗๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
บุคคลฆ่าอะไรได้จึงอยู่เป็นสุข
ฆ่าอะไรได้จึงไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม
พระองค์ทรงพอพระทัยการฆ่าธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลฆ่าความโกรธได้จึงอยู่เป็นสุข
ฆ่าความโกรธได้จึงไม่เศร้าโศก เทวดา
พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญการฆ่าความโกรธ
ซึ่งมีรากเป็นพิษ๑ มียอดหวาน
เพราะบุคคลฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว จึงไม่เศร้าโศก

ฆัตวาสูตรที่ ๑ จบ

๒. รถสูตร
ว่าด้วยรถ

[๗๒] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าเป็นเครื่องปรากฏของรถ
อะไรเล่าเป็นเครื่องปรากฏของไฟ
อะไรเล่าเป็นเครื่องปรากฏของรัฐ
อะไรเล่าเป็นเครื่องปรากฏของหญิง


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๘. ฆัตวาวรรค ๓. วิตตสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ธงเป็นเครื่องปรากฏของรถ
ควันเป็นเครื่องปรากฏของไฟ
พระราชาเป็นเครื่องปรากฏของรัฐ
ภัสดาเป็นเครื่องปรากฏของหญิง๑

รถสูตรที่ ๒ จบ

๓. วิตตสูตร
ว่าด้วยทรัพย์เครื่องปลื้มใจ

[๗๓] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐของบุรุษในโลกนี้
อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
อะไรเล่าเป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์ทั้งหลาย
จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐของบุรุษในโลกนี้
ธรรม๒ ที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
สัจจะเท่านั้นเป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลาย
จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ

วิตตสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๘. ฆัตวาวรรค ๔. วุฏฐิสูตร

๔. วุฏฐิสูตร
ว่าด้วยฝน

[๗๔] เทวดาทูลถามว่า
บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น อะไรเล่าประเสริฐ
บรรดาสิ่งที่ตกลงไป อะไรเล่าประเสริฐ
บรรดาสัตว์ที่เดินได้ สัตว์ประเภทใดประเสริฐ
บรรดาชนผู้พูด ใครเป็นผู้ประเสริฐ
เทวดาองค์หนึ่งกล่าวแก้ว่า
บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น พืชประเสริฐ
บรรดาสิ่งที่ตกลงไป ฝนประเสริฐ
บรรดาสัตว์ที่เดินได้ โคเป็นสัตว์ประเสริฐ
บรรดาชนผู้พูด บุตรเป็นผู้ประเสริฐ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บรรดาสิ่งที่งอกขึ้น ความรู้ประเสริฐ
บรรดาสิ่งที่ตกลงไป ความไม่รู้ประเสริฐ
บรรดาสัตว์ที่เดินได้ พระสงฆ์เป็นผู้ประเสริฐ
บรรดาชนผู้พูด พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ

วุฏฐิสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต] ๘. ฆัตวาวรรค ๖. นชีรติสูตร

๕. ภีตสูตร
ว่าด้วยผู้กลัว

[๗๕] เทวดาทูลถามว่า
หมู่ชนเป็นอันมากในโลกนี้ยังจะกลัวอะไรอีกเล่า
เพราะพระพุทธเจ้าตรัสบอกทางไว้แล้วด้วยเหตุหลากหลาย๑
ข้าแต่พระโคดมผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ถึงเหตุนั้น
บุคคลตั้งอยู่ในธรรมอะไร จึงไม่กลัวปรโลก
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลผู้ตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ
มิได้ทำบาปทางกาย อยู่ครองเรือนที่มีข้าวและน้ำมาก
เป็นผู้มีศรัทธา ๑ เป็นผู้อ่อนโยน ๑
มีปกติเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ๑ รู้เจรจาปราศรัย ๑
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ๔ ประการนี้ ชื่อว่าผู้ตั้งอยู่ในธรรม
ผู้นั้นจึงจะไม่กลัวปรโลก

ภีตสูตรที่ ๕ จบ

๖. นชีรติสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่ทรุดโทรม

[๗๖] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าย่อมทรุดโทรม
อะไรเล่าย่อมไม่ทรุดโทรม
อะไรเล่าท่านเรียกว่าทางผิด


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๘. ฆัตวาวรรค ๗. อิสสรสูตร

อะไรเล่าเป็นอันตรายต่อธรรม
อะไรเล่าสิ้นไปตามคืนและวัน
อะไรเล่าเป็นมลทินของพรหมจรรย์
อะไรเล่ามิใช่น้ำ แต่เป็นเครื่องชำระล้าง
ในโลกมีช่องกี่ช่อง ที่จิตตั้งอยู่ไม่ได้
ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค
ว่าจะรู้ข้อความนั้นได้อย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
รูปของสัตว์ทั้งหลายย่อมทรุดโทรม
ชื่อและโคตรย่อมไม่ทรุดโทรม
ราคะท่านเรียกว่าทางผิด
ความโลภเป็นอันตรายต่อธรรม
วัยสิ้นไปตามคืนและวัน
หญิงเป็นมลทินของพรหมจรรย์ หมู่สัตว์นี้ข้องอยู่ในหญิงนั่น
ตบะและพรหมจรรย์นั้นมิใช่น้ำ แต่เป็นเครื่องชำระล้าง
ในโลกมีช่องอยู่ ๖ ช่อง ที่จิตตั้งอยู่ไม่ได้ คือ
ความเกียจคร้าน ๑ ความประมาท ๑ ความไม่ขยัน ๑
ความไม่สำรวม ๑ ความมักหลับ ๑ ความอ้างเลสไม่ทำงาน ๑
พึงเว้นช่องทั้ง ๖ เสีย โดยประการทั้งปวงเถิด

นชีรติสูตรที่ ๖ จบ

๗. อิสสรสูตร
ว่าด้วยความเป็นใหญ่

[๗๗] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าเป็นใหญ่ในโลก
อะไรเล่าเป็นสิ่งสูงสุดบรรดาภัณฑะทั้งหลาย
อะไรเล่าเป็นดังสนิมศัสตราในโลก
อะไรเล่าเป็นเสนียดจัญไรในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๘. ฆัตวาวรรค ๙. ปาเถยยสูตร

ใครนำของไปย่อมถูกห้าม แต่ใครนำของไปกลับเป็นที่รัก
ใครมาบ่อย ๆ บัณฑิตย่อมยินดี
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
อำนาจเป็นใหญ่ในโลก
หญิงเป็นสิ่งสูงสุดบรรดาภัณฑะทั้งหลาย
ความโกรธเป็นดังสนิมศัสตราในโลก
พวกโจรเป็นเสนียดจัญไรในโลก
โจรนำของไปย่อมถูกห้าม แต่สมณะนำของไปกลับเป็นที่รัก
สมณะมาบ่อย ๆ บัณฑิตย่อมยินดี

อิสสรสูตรที่ ๗ จบ

๘. กามสูตร
ว่าด้วยผู้ต้องการประโยชน์

[๗๘] เทวดาทูลถามว่า
กุลบุตรผู้ต้องการประโยชน์
ไม่ควรให้อะไรเล่า ไม่ควรสละอะไรเล่า
อะไรเล่าที่ดีควรปล่อย แต่ที่ไม่ดีไม่ควรปล่อย
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุรุษไม่ควรให้ตน ไม่ควรสละตน
วาจาที่ดีควรปล่อย แต่วาจาที่ไม่ดีไม่ควรปล่อย

กามสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปาเถยยสูตร
ว่าด้วยเสบียง

[๗๙] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่ารวบรวมไว้ซึ่งเสบียง
อะไรเล่าเป็นบ่อเกิดแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย
อะไรเล่าผลักไสนรชนไป อะไรเล่าละได้ยากในโลก
สัตว์เป็นอันมากติดอยู่ในอะไรเล่า เหมือนนกติดบ่วง ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๘. ฆัตวาวรรค ๑๐. ปัชโชตสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศรัทธารวบรวมไว้ซึ่งเสบียง
สิริเป็นบ่อเกิดแห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย
ความอยากผลักไสนรชนไป
ความอยากละได้ยากในโลก
สัตว์เป็นอันมากติดอยู่ในความอยาก เหมือนนกติดบ่วง ฉะนั้น

ปาเถยยสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ปัชโชตสูตร
ว่าด้วยแสงสว่าง

[๘๐] เทวดาทูลถามว่า
อะไรเล่าเป็นแสงสว่างในโลก
อะไรเล่าเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก
อะไรเล่าเป็นสหายในการทำงานของผู้เป็นอยู่
อะไรเล่าเป็นเครื่องสืบต่อชีวิตของเขา
อะไรเล่าย่อมเลี้ยงบุคคลผู้เกียจคร้านและไม่เกียจคร้าน
ดุจมารดาเลี้ยงดูบุตร
หมู่สัตว์ที่มีชีวิตอยู่บนแผ่นดิน อาศัยอะไรเลี้ยงชีพ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก
สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก
ฝูงโคเป็นสหายในการทำงานของผู้เป็นอยู่
ไถเป็นเครื่องสืบต่อชีวิตของเขา
ฝนย่อมเลี้ยงบุคคลผู้เกียจคร้านและไม่เกียจคร้าน
ดุจมารดาเลี้ยงดูบุตร
หมู่สัตว์ที่มีชีวิตอยู่บนแผ่นดิน อาศัยฝนเลี้ยงชีพ

ปัชโชตสูตรที่ ๑๐ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๑. เทวดาสังยุต]
๘. ฆัตวาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

๑๑. อรณสูตร
ว่าด้วยข้าศึก

[๘๑] เทวดาทูลถามว่า
คนเหล่าไหนไม่เป็นข้าศึกในโลกนี้
พรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้วของคนเหล่าไหนไม่เสื่อม
คนเหล่าไหนกำหนดรู้ความอยากได้ในโลกนี้
ความเป็นไทย่อมมีแก่คนเหล่าไหนทุกเมื่อ
มารดาและบิดาหรือพี่น้องไหว้บุคคลนั้นผู้ตั้งมั่น(ในศีล) คือใครเล่า
กษัตริย์ทั้งหลายอภิวาทใครในโลกนี้ แม้จะมีชาติต่ำ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
สมณะทั้งหลายในธรรมวินัยไม่เป็นข้าศึกในโลกนี้
พรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้วของสมณะทั้งหลายย่อมไม่เสื่อม
สมณะทั้งหลายย่อมกำหนดรู้ความอยากได้
ความเป็นไทย่อมมีแก่สมณะทั้งหลายทุกเมื่อ
มารดาและบิดาหรือพี่น้องไหว้บุคคลนั้นผู้ตั้งมั่น(ในศีล) คือสมณะ
กษัตริย์ทั้งหลายอภิวาทสมณะในโลกนี้ ผู้มีชาติต่ำ

อรณสูตรที่ ๑๑ จบ
ฆัตวาวรรคที่ ๘ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ฆัตวาสูตร ๒. รถสูตร
๓. วิตตสูตร ๔. วุฏฐิสูตร
๕. ภีตสูตร ๖. นชีรติสูตร
๗. อิสสรสูตร ๘. กามสูตร
๙. ปาเถยยสูตร ๑๐. ปัชโชตสูตร
๑๑. อรณสูตร

เทวตาสังยุต จบบริบูรณ์


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๑. ปฐมกัสสปสูตร

๒. เทวปุตตสังยุต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. ปฐมกัสสปสูตร
ว่าด้วยกัสสปเทพบุตร สูตรที่ ๑

[๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป กัสสปเทพบุตรมีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระผู้มี
พระภาคทรงประกาศภิกษุ แต่ไม่ทรงประกาศคำสั่งสอนสำหรับภิกษุ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปเทพบุตร ถ้าอย่างนั้น การประกาศคำสั่งสอนนั้น
จงปรากฏแก่ท่าน ณ ที่นี้เถิด”
กัสสปเทพบุตรกราบทูลว่า
บุคคลพึงศึกษาคำสุภาษิต๑
ศึกษาการเข้าไปนั่งใกล้สมณะ
ศึกษาการนั่งในที่สงัดแต่ผู้เดียว
และศึกษาการสงบระงับจิต
กัสสปเทพบุตรได้กล่าวดังนี้ พระศาสดาทรงพอพระทัยแล้ว ลำดับนั้น
กัสสปเทพบุตรทราบว่า “พระศาสดาของเราทรงพอพระทัยแล้ว” จึงถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

ปฐมกัสสปสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๓. มาฆสูตร

๒. ทุติยกัสสปสูตร
ว่าด้วยกัสสปเทพบุตร สูตรที่ ๒

[๘๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
กัสสปเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคว่า
ถ้าภิกษุหวังการบรรลุธรรมที่เป็นหัวใจ๑
มีธรรมที่เป็นหัวใจเป็นอานิสงส์
เธอพึงเป็นผู้มีฌาน มีจิตหลุดพ้น
รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งโลก๒
มีใจดี ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย๓

ทุติยกัสสปสูตรที่ ๒ จบ

๓. มาฆสูตร
ว่าด้วยมาฆเทพบุตร

[๘๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป มาฆเทพบุตรมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่าง
ทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่
สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
บุคคลฆ่าอะไรได้จึงอยู่เป็นสุข
ฆ่าอะไรได้จึงไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม
พระองค์ทรงพอพระทัยการฆ่าธรรมอย่างหนึ่ง คืออะไร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๔. มาคธสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บุคคลฆ่าความโกรธได้จึงอยู่เป็นสุข
ฆ่าความโกรธได้จึงไม่เศร้าโศก ท้าววัตรภู๑
พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญการฆ่าความโกรธ
ซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน
เพราะบุคคลฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว จึงไม่เศร้าโศก

มาฆสูตรที่ ๓ จบ

๔. มาคธสูตร
ว่าด้วยมาคธเทพบุตร

[๘๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
มาคธเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วย
คาถาว่า
โลกรุ่งเรืองเพราะแสงสว่างเหล่าใด
แสงสว่างเหล่านั้นมีอยู่เท่าไรในโลก
พวกข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค
ว่าจะรู้แสงสว่างนั้นได้อย่างไร๒
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ในโลกมีแสงสว่างอยู่ ๔ อย่าง
อย่างที่ ๕ ไม่มีในโลกนี้ คือ
(๑) ดวงอาทิตย์ส่องสว่างในกลางวัน
(๒) ดวงจันทร์ส่องสว่างในกลางคืน
(๓) ไฟส่องสว่างทั้งกลางวันและกลางคืนทุกหนทุกแห่ง
(๔) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐกว่าแสงสว่างทั้งหลาย
แสงสว่างนี้เป็นแสงสว่างอย่างยอดเยี่ยม๓

มาคธสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๕. ทามลิสูตร

๕. ทามลิสูตร
ว่าด้วยทามลิเทพบุตร

[๘๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป ทามลิเทพบุตรมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้
สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่
ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
พราหมณ์ผู้ไม่เกียจคร้านพึงทำความเพียรนี้
เพราะละกามทั้งหลายได้ (และ) เพราะความเพียรนั้น
เขาจึงไม่หวังภพ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ทามลิเทพบุตร กิจไม่มีแก่พราหมณ์๑
เพราะพราหมณ์ทำกิจเสร็จแล้ว
ตราบใดบุคคลยังไม่ได้ท่าจอดในแม่น้ำทั้งหลาย
ตราบนั้นเขายังต้องเพียรด้วยตัวเองทุกอย่าง
แต่เมื่อได้ท่าจอดแล้ว ยืนอยู่บนบก
เขาเป็นผู้ถึงฝั่งแล้วจึงไม่ต้องเพียรอีก
ทามลิเทพบุตร นี้เป็นข้ออุปมาสำหรับพราหมณ์
ผู้สิ้นอาสวะแล้ว ผู้มีปัญญาเครื่องบริหาร ผู้มีฌาน
เพราะเขาถึงที่สุดแห่งชาติและมรณะ
เป็นผู้ถึงฝั่งแล้วจึงไม่ต้องเพียร

ทามลิสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๖. กามทสูตร

๖. กามทสูตร
ว่าด้วยกามทเทพบุตร

[๘๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
กามทเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณธรรมบำเพ็ญได้ยาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณธรรม
บำเพ็ญได้ยากยิ่ง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
กามทเทพบุตร ชนทั้งหลายผู้ตั้งมั่นในศีล
ของพระเสขะ ผู้ตั้งตนไว้มั่นคงแล้ว
ย่อมบำเพ็ญสมณธรรมที่บำเพ็ญได้ยาก
ความสันโดษ๑ย่อมนำความสุขมาให้
แก่บุคคลผู้ออกจากเรือนบวช
กามทเทพบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
สิ่งที่ได้ยากนี้ คือ ความสันโดษ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
กามทเทพบุตร ชนเหล่าใด
ยินดีในความสงบทางใจ
มีใจยินดีในการอบรมจิตทั้งกลางวันและกลางคืน
ชนเหล่านั้นย่อมได้แม้สิ่งที่ได้ยาก


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๖. กามทสูตร

กามทเทพบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
สิ่งที่ตั้งมั่นได้ยากนี้ คือ จิต
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
กามทเทพบุตร ชนเหล่าใด
ยินดีในความสงบแห่งอินทรีย์
ชนเหล่านั้นย่อมตั้งจิตที่ตั้งมั่นได้ยากให้ตั้งมั่นได้
กามทเทพบุตร พระอริยะเหล่านั้นตัดข่ายแห่งมัจจุได้แล้ว
กามทเทพบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ทางที่ไปได้ยาก คือ ทางที่ไม่สม่ำเสมอ๑
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
กามทเทพบุตร อริยบุคคลทั้งหลาย
ย่อมไปได้แม้ในทางที่ไปได้ยาก ซึ่งเป็นทางที่ไม่สม่ำเสมอ
ส่วนผู้ไม่ใช่อริยบุคคลย่อมดิ่งศีรษะ
ตกลงไปในทางที่ไม่สม่ำเสมอ
ทางนั้นสม่ำเสมอสำหรับอริยบุคคลทั้งหลาย
เพราะอริยบุคคลทั้งหลาย เป็นผู้สม่ำเสมอในทางที่ไม่สม่ำเสมอ

กามทสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๘. ตายนสูตร

๗. ปัญจาลจัณฑสูตร
ว่าด้วยปัญจาลจัณฑเทพบุตร

[๘๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ปัญจาลจัณฑเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของ
พระผู้มีพระภาคว่า
แม้ในที่คับขัน๑ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดินก็ยังได้โอกาส๒
ผู้ใดบรรลุฌาน ผู้นั้นเป็นผู้ตื่น
เป็นผู้หลีกออกได้อย่างองอาจ เป็นมุนี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า (ปัญจาลจัณฑะ)
ชนเหล่าใดแม้อยู่ในที่คับขัน
แต่กลับได้สติเพื่อการบรรลุธรรม คือ นิพพาน
ชนเหล่านั้นตั้งมั่นดีแล้วโดยชอบ

ปัญจาลจัณฑสูตรที่ ๗ จบ

๘. ตายนสูตร
ว่าด้วยตายนเทพบุตร

[๘๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป ตายนเทพบุตรผู้เคยเป็นเจ้าลัทธิมาก่อน มีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคว่า


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๘. ตายนสูตร

พราหมณ์ ท่านจงพยายามตัดกระแส๑
จงบรรเทากามเสียเถิด
เพราะหากมุนีไม่ละกาม
ย่อมเข้าถึงความมีจิตแน่วแน่๒ไม่ได้
ถ้าบุคคลจะทำความเพียร
พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ
พึงบากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่นคง
เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติย่อหย่อน
ย่อมโปรยธุลีคือกิเลสให้แปดเปื้อนยิ่งขึ้น
ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า
เพราะทำแล้วย่อมเดือดร้อนภายหลัง
ความดีใดทำแล้วไม่เดือดร้อนภายหลัง
ทำความดีนั้นดีกว่า
หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี
ย่อมบาดมือแน่นอน ฉันใด
ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี
ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น
กรรมที่ย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรที่เศร้าหมอง
และพรหมจรรย์ที่พึงระลึกถึงด้วยความระแวงสงสัย
ทั้ง ๓ นั้นไม่มีผลมาก๓
ตายนเทพบุตรครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำ
ประทักษิณแล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๘. ตายนสูตร

ครั้นเมื่อราตรีนั้นล่วงไปแล้ว พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ ตายนเทพบุตรผู้เคยเป็นเจ้าลัทธิมาก่อน มีวรรณะงดงาม
ยิ่งนัก เมื่อราตรีผ่านไป เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาท
แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของเราว่า
พราหมณ์ ท่านจงพยายามตัดกระแส
จงบรรเทากามเสียเถิด
เพราะหากมุนีไม่ละกาม
ย่อมเข้าถึงความมีจิตแน่วแน่ไม่ได้
ถ้าบุคคลจะทำความเพียร
พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ
พึงบากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่นคง
เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติย่อหย่อน
ย่อมโปรยธุลีคือกิเลสให้แปดเปื้อนยิ่งขึ้น
ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า
เพราะทำแล้วย่อมเดือดร้อนภายหลัง
ความดีใดทำแล้วไม่เดือดร้อนภายหลัง
ทำความดีนั้นดีกว่า
หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี
ย่อมบาดมือแน่นอน ฉันใด
ความเป็นสมณะที่บุคคลปฏิบัติไม่ดี
ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น
กรรมที่ย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรที่เศร้าหมอง
และพรหมจรรย์ที่พึงระลึกถึงด้วยความระแวงสงสัย
ทั้ง ๓ นั้นไม่มีผลมาก
ตายนเทพบุตรครั้นกล่าวดังนี้แล้วได้อภิวาทเรา กระทำประทักษิณแล้วหาย
ตัวไป ณ ที่นั้นเอง เธอทั้งหลาย จงศึกษา เล่าเรียน ทรงจำตายนคาถาไว้ ภิกษุ
ทั้งหลาย ตายนคาถาประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์๑”

ตายนสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๙. จันทิมสูตร

๙. จันทิมสูตร
ว่าด้วยจันทิมเทพบุตร

[๙๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น จันทิมเทพบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับตัวไว้ ครั้งนั้น จันทิมเทพบุตร
ระลึกถึงพระผู้มีพระภาค ได้กล่าวคาถานี้ในเวลานั้นว่า
ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้า
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์
พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง
ข้าพระองค์ตกอยู่ในภาวะคับขัน
ขอพระองค์จงเป็นสรณะแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงปรารภจันทิมเทพบุตร ได้ตรัสกับอสุรินทราหู
ด้วยพระคาถาว่า
จันทิมเทพบุตรถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์เป็นสรณะ
ราหู ท่านจงปล่อยจันทิมเทพบุตรเสียเถิด
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้อนุเคราะห์สัตว์โลก
ลำดับนั้น อสุรินทราหูปล่อยจันทิมเทพบุตรแล้ว ก็เร่งรีบเข้าไปหาท้าวเวปจิตติ
จอมอสูรถึงที่อยู่ เป็นผู้เศร้าสลดใจ เกิดขนพองสยองเกล้า ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้กล่าวกับอสุรินทราหูผู้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ด้วยคาถาว่า
ราหู ทำไมท่านจึงรีบปล่อยจันทิมเทพบุตรเสียเล่า
ทำไมท่านจึงเศร้าสลดใจ มายืนกลัวอยู่เล่า
อสุรินทราหูกล่าวว่า
ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า
หากข้าพเจ้าไม่ปล่อยจันทิมเทพบุตร
ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตก ๗ เสี่ยง
มีชีวิตอยู่ก็จะไม่ได้รับความสุขเลย

จันทิมสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๑๐. สุริยสูตร

๑๐. สุริยสูตร
ว่าด้วยสุริยเทพบุตร

[๙๑] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น สุริยเทพบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับตัวไว้ ครั้งนั้น สุริยเทพบุตรระลึกถึง
พระผู้มีพระภาค ได้กล่าวคาถานี้ในเวลานั้นว่า
ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้า
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์
พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง
ข้าพระองค์ตกอยู่ในภาวะคับขัน
ขอพระองค์จงเป็นสรณะแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด๑
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงปรารภสุริยเทพบุตร ได้ตรัสกับอสุรินทราหู
ด้วยพระคาถาว่า
สุริยเทพบุตรถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์เป็นสรณะ
ราหู ท่านจงปล่อยสุริยเทพบุตรเสียเถิด
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้อนุเคราะห์สัตว์โลก
สุริยเทพบุตรเป็นผู้ส่องแสง ทำความสว่างในที่มืดมิด
มีสัณฐานเป็นวงกลม มีเดชสูง
ท่านอย่าอมสุริยเทพบุตรผู้เที่ยวไปในอากาศเลย
ราหู ท่านจงปล่อยสุริยเทพบุตรผู้เป็นบุตรของเราเสียเถิด
ลำดับนั้น อสุรินทราหูปล่อยสุริยเทพบุตรแล้วก็เร่งรีบเข้าไปหาท้าวเวปจิตติ
จอมอสูรถึงที่อยู่ เป็นผู้เศร้าสลดใจ เกิดขนพองสยองเกล้า ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๑. ปฐมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้กล่าวกับอสุรินทราหูผู้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ด้วยคาถาว่า
ราหู ทำไมท่านจึงรีบปล่อยสุริยเทพบุตรเสียเล่า
ทำไมท่านจึงเศร้าสลดใจ มายืนกลัวอยู่เล่า
อสุรินทราหูกล่าวว่า
ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า
หากข้าพเจ้าไม่พึงปล่อยสุริยเทพบุตร
ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตก ๗ เสี่ยง
มีชีวิตอยู่ก็จะไม่ได้รับความสุขเลย๑

สุริยสูตรที่ ๑๐ จบ
วรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปฐมกัสสปสูตร ๒. ทุติยกัสสปสูตร
๓. มาฆสูตร ๔. มาคธสูตร
๕. ทามลิสูตร ๖. กามทสูตร
๗. ปัญจาลจัณฑสูตร ๘. ตายนสูตร
๙. จันทิมสูตร ๑๐. สุริยสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๑. จันทิมสสูตร

๒. อนาถปิณฑิกวรรค
หมวดว่าด้วยอนาถบิณฑิกเทพบุตร
๑. จันทิมสสูตร
ว่าด้วยจันทิมสเทพบุตร

[๙๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป จันทิมสเทพบุตรมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้
สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่
ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
ชนเหล่าใดบรรลุฌาน
มีจิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีปัญญา มีสติ
ชนเหล่านั้นจักถึงความสวัสดี
ดุจเนื้อทรายในซอกเขาที่ปราศจากริ้นและยุง ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนเหล่าใดบรรลุฌาน
ไม่ประมาท ละกิเลสได้
ชนเหล่านั้นจักถึงฝั่ง
ดุจปลาทำลายข่ายได้แล้วว่ายไป ฉะนั้น

จันทิมสสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒.อนาถปิณฑิกวรรค ๓. ทีฆลัฏฐิสูตร

๒. เวณฑุสูตร
ว่าด้วยเวณฑุเทพบุตร

[๙๓] เวณฑุเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของ
พระผู้มีพระภาคว่า
ชนเหล่าใดนั่งใกล้พระสุคต
มอบตนไว้ในศาสนาของพระโคดม
ไม่ประมาท ตามศึกษาอยู่
ชนเหล่านั้นถึงความสุขแล้วจริง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า (เวณฑุ)
ชนเหล่าใดเป็นผู้เพ่งพินิจ
ตามศึกษาในบทคำสอนที่เรากล่าวไว้แล้ว
ชนเหล่านั้นไม่ประมาทตลอดเวลา
ไม่พึงไปสู่อำนาจแห่งมัจจุ

เวณฑุสูตรที่ ๒ จบ

๓. ทีฆลัฏฐิสูตร
ว่าด้วยทีฆลัฏฐิเทพบุตร

[๙๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป ทีฆลัฏฐิเทพบุตรมีวรรณะงดงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเวฬุวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๔. นันทนสูตร

ถ้าภิกษุหวังการบรรลุธรรมที่เป็นหัวใจ
มีธรรมที่เป็นหัวใจเป็นอานิสงส์
เธอพึงเป็นผู้มีฌาน มีจิตหลุดพ้น
รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งโลก
มีใจดี ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย๑

ทีฆลัฏฐิสูตรที่ ๓ จบ

๔. นันทนสูตร
ว่าด้วยนันทนเทพบุตร

[๙๕] นันทนเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ด้วยคาถาว่า
ข้าแต่พระโคดม ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ถึงญาณทัสสนะ๒
อันไม่มีสิ่งใดขวางกั้นของพระผู้มีพระภาค
บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคล
ประเภทใดว่าเป็นผู้มีศีล
ประเภทใดว่าเป็นผู้มีปัญญา
บุคคลประเภทใดล่วงทุกข์ได้
เทวดาทั้งหลายบูชาบุคคลประเภทใด


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๕. จันทนสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บุคคลใดมีศีล มีปัญญา อบรมตนดีแล้ว
มีจิตตั้งมั่น ยินดีในฌาน มีสติ
ละความเศร้าโศกได้หมดสิ้น สิ้นอาสวะแล้ว
เหลือไว้แต่ร่างกายในชาติสุดท้าย
บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุคคลประเภทนั้นว่า
เป็นผู้มีศีล เป็นผู้มีปัญญา
บุคคลประเภทนั้นล่วงทุกข์ได้แล้ว
เทวดาทั้งหลายบูชาบุคคลประเภทนั้น

นันทนสูตรที่ ๔ จบ

๕. จันทนสูตร
ว่าด้วยจันทนเทพบุตร

[๙๖] จันทนเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ด้วยคาถาว่า
บุคคลผู้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
จะข้ามโอฆะได้อย่างไร
ใครไม่จมในห้วงน้ำลึกซึ่งไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่ยึดเหนี่ยว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีปัญญา
มีจิตตั้งมั่นดี ปรารภความเพียร
อุทิศกายและใจตลอดกาลทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๖. วาสุทัตตสูตร

ย่อมข้ามโอฆะที่ข้ามได้ยาก
เขาเว้นขาดแล้วจากกามสัญญา๑ล่วงรูปสังโยชน์ได้๒
มีความกำหนัดด้วยความเพลิดเพลินสิ้นแล้ว
ย่อมไม่จมในห้วงน้ำลึก

จันทนสูตรที่ ๕ จบ

๖. วาสุทัตตสูตร
ว่าด้วยวาสุทัตตเทพบุตร

[๙๗] วาสุทัตตเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก
ของพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุพึงอยู่อย่างมีสติ เพื่อละกามราคะ
เหมือนบุคคลถูกแทงด้วยหอก มุ่งถอนหอกออก
เหมือนบุคคลถูกไฟไหม้อยู่บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุพึงอยู่อย่างมีสติ เพื่อละสักกายทิฏฐิ
เหมือนบุคคลถูกแทงด้วยหอก มุ่งถอนหอกออก
เหมือนบุคคลถูกไฟไหม้อยู่บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น๓

วาสุทัตตสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๘. กกุธสูตร

๗. สุพรหมสูตร
ว่าด้วยสุพรหมเทพบุตร

[๙๘] สุพรหมเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ด้วยคาถานี้ว่า
จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ใจนี้หวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์
เมื่อกิจทั้งหลายยังไม่เกิดขึ้นก็ดี เกิดขึ้นแล้วก็ดี
ถ้าความไม่สะดุ้งกลัวมีอยู่
พระองค์ผู้ที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอจงตรัสบอกข้อความนั้นแก่ข้าพระองค์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
นอกจากปัญญาเครื่องตรัสรู้ ความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความสำรวมอินทรีย์ และการสละทุกสิ่งทุกอย่าง
เรายังไม่เห็นความสวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลายเลย
สุพรหมเทพบุตรได้กราบทูลดังนี้แล้ว ฯลฯ หายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

สุพรหมสูตรที่ ๗ จบ

๘. กกุธสูตร
ว่าด้วยกกุธเทพบุตร

[๙๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระอัญชนวัน สถานที่พระราชทาน
อภัยแก่หมู่เนื้อ เขตเมืองสาเกต ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป กกุธเทพบุตรมีวรรณะงดงาม
ยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระอัญชนวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระสมณะ พระองค์ทรงยินดีอยู่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๘. กกุธสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อาวุโส เราได้อะไรเล่า”
“ข้าแต่พระสมณะ ถ้าอย่างนั้น พระองค์ทรงเศร้าโศกอยู่หรือ”
“อาวุโส เราเสื่อมเสียอะไรเล่า”
“ข้าแต่พระสมณะ ถ้าอย่างนั้น พระองค์ไม่ทรงยินดีเลย ไม่ทรงเศร้าโศกเลยหรือ”
“เป็นเช่นนั้น อาวุโส”
กกุธเทพบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นภิกษุ
พระองค์ไม่ทรงมีความทุกข์บ้างหรือ
ไม่ทรงมีความเพลิดเพลินบ้างหรือ
ความไม่ยินดีไม่ครอบงำพระองค์ผู้อยู่ผู้เดียวหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ยักษ์ เราไม่มีความทุกข์และความเพลิดเพลิน
อนึ่ง ความไม่ยินดีก็ไม่ครอบงำเราผู้อยู่ผู้เดียว
กกุธเทพบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นภิกษุ
ทำไมพระองค์จึงไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเพลิดเพลิน
ทำไมความไม่ยินดีจึงไม่ครอบงำพระองค์ผู้อยู่ผู้เดียว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ผู้มีความทุกข์เท่านั้นจึงมีความเพลิดเพลิน
ผู้มีความเพลิดเพลินเท่านั้นจึงมีความทุกข์
(ส่วน)ภิกษุเป็นผู้ไม่มีความเพลิดเพลิน เป็นผู้ไม่มีความทุกข์
ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด อาวุโส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๙. อุตตรสูตร

กกุธเทพบุตรกราบทูลว่า
นานจริงหนอ ข้าพระองค์จึงจะพบเห็นภิกษุ
ผู้เป็นพราหมณ์ ผู้ดับสนิทแล้ว ไม่มีความเพลิดเพลิน
ไม่มีความทุกข์ ผู้ข้ามพ้นเครื่องข้องในโลกได้แล้ว

กกุธสูตรที่ ๘ จบ

๙. อุตตรสูตร
ว่าด้วยอุตตรเทพบุตร

[๑๐๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงราชคฤห์
อุตตรเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคว่า
ชีวิตถูกชรานำเข้าไป อายุจึงสั้น
ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปแล้ว ไม่มีเครื่องต้านทาน
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรทำบุญที่นำความสุขมาให้๑
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชีวิตถูกชรานำเข้าไป อายุจึงสั้น
ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปแล้ว ไม่มีเครื่องต้านทาน
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรละโลกามิส มุ่งสู่สันติเถิด๒

อุตตรสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค ๑๐. อนาถปิณฑิกสูตร

๑๐. อนาถปิณฑิกสูตร
ว่าด้วยอนาถบิณฑิกเทพบุตร

[๑๐๑] อนาถบิณฑิกเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้
ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
พระเชตวันนี้นั้นมีหมู่ฤาษีพำนักอยู่
พระผู้เป็นธรรมราชาก็ประทับอยู่
เป็นสถานที่ให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์
การงาน ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันสูงสุด ๑
สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕ ประการนี้
หาใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ไม่
เพราะเหตุนั้นแหละ คนฉลาดเมื่อเห็นประโยชน์ตน
ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายเถิด
เพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น
พระสารีบุตรเท่านั้นเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าภิกษุผู้ถึงฝั่ง
ด้วยปัญญา ศีล และความสงบ๑
อนาถบิณฑิกเทพบุตรได้กราบทูลดังนี้แล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
กระทำประทักษิณแล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค เมื่อราตรีนั้นล่วงไปแล้ว รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้เทพบุตรองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เมื่อราตรี
ผ่านไป เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทเราแล้วยืนอยู่
ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของเราว่า
พระเชตวันนี้นั้นมีหมู่ฤาษีพำนักอยู่
พระผู้เป็นธรรมราชาก็ประทับอยู่
เป็นสถานที่ให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๒. อนาถปิณฑิกวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

การงาน ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันสูงสุด ๑
สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕ ประการนี้
หาใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ไม่
เพราะเหตุนั้นแหละ คนฉลาดเมื่อเห็นประโยชน์ตน
ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายเถิด
เพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น
พระสารีบุตรเท่านั้นเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าภิกษุผู้ถึงฝั่ง
ด้วยปัญญา ศีล และความสงบ
ภิกษุทั้งหลาย เทพบุตรนั้นได้กล่าวดังนี้ อภิวาทเรา กระทำประทักษิณแล้ว
หายตัวไป ณ ที่นั้นเอง”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทพบุตรนั้นเห็นจะเป็นอนาถบิณฑิก-
เทพบุตรแน่นอน อนาถบิณฑิกคหบดีได้เลื่อมใสยิ่งนักในท่านพระสารีบุตร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อานนท์ เธอคิดถูกแล้ว เทพบุตรนั้น
คืออนาถบิณฑิกเศรษฐีนั่นเอง”

อนาถปิณฑิกสูตรที่ ๑๐ จบ
อนาถปิณฑิกวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. จันทิมสสูตร ๒. เวณฑุสูตร
๓. ทีฆลัฏฐิสูตร ๔. นันทนสูตร
๕. จันทนสูตร ๖. วาสุทัตตสูตร
๗. สุพรหมสูตร ๘. กกุธสูตร
๙. อุตตรสูตร ๑๐. อนาถปิณฑิกสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๑. สิวสูตร

๓. นานาติตถิยวรรค
หมวดว่าด้วยเทพบุตรผู้เป็นสาวกของเดียรถีย์ต่าง ๆ
๑. สิวสูตร
ว่าด้วยสิวเทพบุตร

[๑๐๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป สิวเทพบุตรมีวรรณะงดงาม
ยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคว่า
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมเป็นผู้ประเสริฐ ไม่เป็นผู้ตกต่ำ
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้วย่อมได้ปัญญา
หาได้ปัญญาจากคนอันธพาลอื่นไม่
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมไม่เศร้าโศกในท่ามกลางคนผู้เศร้าโศก
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมรุ่งเรืองในท่ามกลางแห่งญาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๒. เขมสูตร

บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
สัตว์ทั้งหลายรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อมไปสู่สุคติ
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
สัตว์ทั้งหลายรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมดำรงอยู่ได้ตลอดไป๑
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบสิวเทพบุตรด้วยคาถาว่า
บุคคลควรสมาคมกับพวกสัตบุรุษเท่านั้น
ควรทำความสนิทสนมกับพวกสัตบุรุษ
บุคคลรู้แจ้งสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว
ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง๒

สิวสูตรที่ ๑ จบ

๒. เขมสูตร
ว่าด้วยเขมเทพบุตร

[๑๐๓] เขมเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนัก
ของพระผู้มีพระภาคว่า
คนพาลผู้มีปัญญาทรามประพฤติตนเป็นเหมือนศัตรู
ย่อมทำกรรมอันลามกซึ่งให้ผลเผ็ดร้อน
บุคคลทำกรรมใดแล้วย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
และมีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ ได้รับผลกรรมใด
กรรมที่ทำแล้วนั้นเป็นกรรมไม่ดี


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๓. เสรีสูตร

บุคคลทำกรรมใดแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง
มีจิตใจแช่มชื่นเบิกบานได้รับผลกรรมใด
กรรมที่ทำแล้วนั้นเป็นกรรมดี
บุคคลรู้ว่ากรรมใดเป็นประโยชน์แก่ตน
ควรรีบลงมือกระทำกรรมนั้นทันที
อย่าพยายามเป็นนักปราชญ์เจ้าความคิด
ด้วยความคิดอย่างพ่อค้าเกวียนเลย
พ่อค้าเกวียนเลี่ยงหนทางสายใหญ่ที่ไม่ขรุขระ
ใช้หนทางที่ขรุขระ จนเพลาเกวียนหัก ซบเซาอยู่ ฉันใด
บุคคลหลีกจากธรรม ประพฤติตามอธรรม ก็ฉันนั้น
เป็นคนเขลา ดำเนินไปสู่ทางแห่งความตาย ซบเซาอยู่
เหมือนพ่อค้าเกวียนมีเพลาเกวียนหักแล้ว ฉะนั้น

เขมสูตรที่ ๒ จบ

๓. เสรีสูตร
ว่าด้วยเสรีเทพบุตร

[๑๐๔] เสรีเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระ
ภาคด้วยคาถาว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก
ต่างก็พอใจข้าวด้วยกันทั้งนั้น
ส่วนผู้ที่ไม่พอใจข้าว ชื่อว่ายักษ์โดยแท้๑


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๓. เสรีสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ชนเหล่าใดมีใจเลื่อมใสให้ข้าวนั้นด้วยศรัทธา
ข้าวนั้นเองย่อมค้ำชูชนเหล่านั้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เพราะเหตุนั้น บุคคลพึงกำจัดความตระหนี่
ครอบงำมลทินแล้วให้ทานเถิด
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า
เสรีเทพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า
ชนเหล่าใดมีใจเลื่อมใส ให้ข้าวนั้นด้วยศรัทธา
ข้าวนั้นเองย่อมค้ำชูชนเหล่านั้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เพราะเหตุนั้น บุคคลพึงกำจัดความตระหนี่
ครอบงำมลทินแล้วให้ทานเถิด
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว ข้าพระองค์ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
มีนามว่าเสรี เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมคุณแห่งทาน ข้าพระองค์ได้
ให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจกทั้งหลาย
ที่ประตูทั้ง ๔ ด้าน ครั้นต่อมาพวกฝ่ายในพากันเข้าไปหาข้าพระองค์แล้ว ได้กล่าว
ดังนี้ว่า ‘พระองค์ทรงให้ทาน แต่พวกหม่อมฉันไม่ได้ให้ทานเลย เป็นการชอบที่พวก
หม่อมฉันจะได้อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ให้ทานและทำบุญบ้าง’ ข้าพระองค์
ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เราเองเป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมคุณแห่งทาน
เมื่อมีผู้พูดว่า ‘พวกหม่อมฉันจะให้ทาน’ เราจะว่าอะไรได้’ ข้าพระองค์จึงมอบ
ประตูด้านที่ ๑ ให้พวกฝ่ายในไป พวกฝ่ายในก็พากันให้ทานที่ประตูนั้น ทานของ
ข้าพระองค์จึงลดไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมาพวกกษัตริย์พากันเข้าไปหาข้าพระองค์ได้
ตรัสดังนี้ว่า ‘พระองค์ทรงให้ทาน พวกฝ่ายในก็ให้ทาน พวกหม่อมฉันไม่ได้ให้ทาน
เป็นการชอบที่พวกหม่อมฉันจะได้อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ให้ทานและทำบุญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๓. เสรีสูตร

บ้าง’ ข้าพระองค์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชม
คุณแห่งทาน เมื่อมีผู้พูดว่า ‘พวกหม่อมฉันจะให้ทาน’ เราจะว่าอะไรได้’ ข้าพระองค์
จึงมอบประตูด้านที่ ๒ ให้แก่พวกกษัตริย์ไป พวกกษัตริย์ก็พากันให้ทานที่ประตูนั้น
ทานของข้าพระองค์จึงลดไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมาพวกพลกาย(ข้าราชการฝ่ายทหาร) เข้าไป
หาข้าพระองค์ได้กล่าวดังนี้ว่า ‘พระองค์ก็ทรงให้ทาน พวกฝ่ายในก็ให้ทาน พวก
กษัตริย์ก็ทรงให้ทาน พวกหม่อมฉันมิได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวกหม่อมฉันจะได้
อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ให้ทานและทำบุญบ้าง’ ข้าพระองค์ได้มีความคิด
ดังนี้ว่า ‘เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมคุณแห่งทาน เมื่อมีผู้พูดว่า
‘พวกหม่อมฉันจะให้ทาน’ เราจะว่าอะไรได้’ ข้าพระองค์จึงมอบประตูด้านที่ ๓ ให้พวก
พลกายไป พวกพลกายก็พากันให้ทานที่ประตูนั้น ทานของข้าพระองค์จึงลดไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นต่อมามีพวกพราหมณคหบดีเข้าไปหาข้าพระองค์
ได้กล่าวดังนี้ว่า ‘พระองค์ก็ทรงให้ทาน พวกฝ่ายในก็ให้ทาน พวกกษัตริย์ก็ทรง
ให้ทาน พวกพลกายก็ให้ทาน แต่พวกหม่อมฉันมิได้ให้ทาน เป็นการชอบที่พวก
หม่อมฉันจะได้อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ให้ทานและทำบุญบ้าง’ ข้าพระองค์
ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เราเองก็เป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้กล่าวชมคุณแห่งทาน’
เมื่อมีผู้พูดว่า ‘พวกหม่อมฉันจะให้ทาน’ เราจะว่าอะไรได้’ ข้าพระองค์จึงมอบประตู
ด้านที่ ๔ ให้พวกพราหมณคหบดีไป พวกพราหมณคหบดีก็พากันให้ทานที่ประตูนั้น
ทานของข้าพระองค์จึงลดไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกบุรุษทั้งหลายต่างพากันไปหาข้าพระองค์ ได้กล่าว
ดังนี้ว่า ‘บัดนี้พระองค์จะไม่ทรงให้ทานในที่ไหน ๆ อีกหรือ’ เมื่อเขากล่าวอย่างนี้
ข้าพระองค์ได้กล่าวกับบุรุษเหล่านั้นดังนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ในชนบท
ภายนอก ที่ใดมีรายได้ดีเกิดขึ้น พวกท่านจงรวบรวมส่งเข้าไปในวังกึ่งหนึ่ง อีกกึ่งหนึ่ง
พวกท่านจงให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพก และยาจก
ทั้งหลายในชนบทนั้นเถิด’ ข้าพระองค์จึงยังไม่ถึงที่สุดแห่งบุญที่ได้ทำไว้ตลอดกาลนาน
อย่างนี้ (ที่สุด)แห่งกุศลธรรมที่ได้ทำไว้ตลอดกาลนานอย่างนี้ว่า ‘บุญเท่านี้(พอแล้ว)’
ว่า ‘ผลของบุญเท่านี้(พอแล้ว)’ หรือว่า ‘บุญเท่านี้(พอแล้ว)ที่เราพึงดำรงอยู่ในสวรรค์’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๔. ฆฏิการสูตร

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัส
เรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า
ชนเหล่าใดมีใจเลื่อมใส ให้ข้าวนั้นด้วยศรัทธา
ข้าวนั้นเองย่อมค้ำชูชนเหล่านั้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เพราะเหตุนั้น บุคคลพึงกำจัดความตระหนี่
ครอบงำมลทินแล้วให้ทานเถิด
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า”

เสรีสูตรที่ ๓ จบ

๔. ฆฏิการสูตร
ว่าด้วยฆฏิการเทพบุตร

[๑๐๕] ฆฏิการเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก
ของพระผู้มีพระภาคว่า
ภิกษุ ๗ รูป ผู้บังเกิดในพรหมโลกชั้นอวิหา
เป็นผู้หลุดพ้น สิ้นราคะและโทสะแล้ว
ข้ามพ้นตัณหาที่ซ่านไปในโลกได้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ภิกษุเหล่านั้น คือใครบ้าง
ได้ข้ามพ้นเปือกตม คือบ่วงความตาย
ที่ใคร ๆ ข้ามได้แสนยาก
ละทิ้งกายมนุษย์แล้วก้าวล่วงโยคะอันเป็นทิพย์ได้
ฆฏิการเทพบุตรกราบทูลว่า
ภิกษุ ๓ รูปเหล่านี้ คือ ท่านอุปกะ
ท่านผลคัณฑะ และท่านปุกกุสาติ
ภิกษุอีก ๔ รูป คือ ท่านภัททิยะ ท่านขัณฑเทวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๔. ฆฏิการสูตร

ท่านพหุทันตี และท่านสิงคิยะ
ภิกษุเหล่านั้นละทิ้งกายมนุษย์แล้ว
ก้าวล่วงโยคะอันเป็นทิพย์ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ท่านผู้ฉลาดมักกล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่านั้น
ผู้ละบ่วงมารได้แล้ว
ภิกษุเหล่านั้นรู้ธรรมของใครเล่า
จึงตัดเครื่องผูกคือภพได้
ฆฏิการเทพบุตรทูลตอบว่า
ท่านเหล่านั้นรู้ธรรมของผู้ใด
จึงตัดเครื่องผูกคือภพได้
ผู้นั้นมิใช่ใครอื่นนอกจากพระผู้มีพระภาค
(และ) นอกจากคำสั่งสอนของพระองค์
ท่านเหล่านั้นรู้ธรรมเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งนามรูปแล้ว
จึงตัดเครื่องผูกคือภพได้
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ท่านกล่าววาจาลึกซึ้ง
ที่รู้ได้ยาก เข้าใจให้ดีได้ยาก
ท่านรู้ธรรมของใคร จึงกล่าววาจาเช่นนี้ได้
ฆฏิการเทพบุตรทูลตอบว่า
เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นช่างหม้อ
ปั้นหม้ออยู่ในแคว้นเวภฬิงคะ เป็นผู้เลี้ยงดูมารดาและบิดา
เป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เว้นขาดจากเมถุนธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๔. ฆฏิการสูตร

ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีอามิส
ได้เคยเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันกับพระองค์
ทั้งเคยเป็นสหายของพระองค์ในกาลก่อน
ข้าพระองค์รู้จักภิกษุ ๗ รูปเหล่านี้
ผู้หลุดพ้นแล้ว สิ้นราคะและโทสะแล้ว
ข้ามพ้นตัณหาที่ซ่านไปในโลกได้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
นายช่างหม้อ จริงอย่างที่ท่านพูดนั่นแหละ
เมื่อก่อนนั้นท่านเคยเป็นช่างหม้อ
ปั้นหม้ออยู่ในแคว้นเวภฬิงคะ เป็นผู้เลี้ยงดูมารดาและบิดา
เป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เว้นขาดจากเมถุนธรรม
ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีอามิส
ได้เคยเป็นคนหมู่บ้านเดียวกันกับเรา
ทั้งเคยเป็นสหายของเราในกาลก่อน
พระสังคีติกาจารย์กล่าวว่า
สหายเก่าทั้งสอง ผู้เคยอบรมตนมาแล้ว
เหลือไว้แต่ร่างกายในชาติสุดท้าย
ได้มาพบกันด้วยอาการอย่างนี้๑

ฆฏิการสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๕. ชันตุสูตร

๕. ชันตุสูตร
ว่าด้วยชันตุเทพบุตร

[๑๐๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ภิกษุจำนวนมากอยู่ในกุฎีป่า ข้างภูเขาหิมพานต์ แคว้นโกศล เป็นผู้
ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ
มีจิตกวัดแกว่ง ไม่สำรวมอินทรีย์
ครั้นในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ชันตุเทพบุตรเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้กล่าว
กับภิกษุเหล่านั้นด้วยคาถาทั้งหลายว่า
ในกาลก่อน พวกภิกษุสาวกของพระโคดม
เป็นอยู่เรียบง่าย ไม่มักมากการแสวงหาบิณฑบาต
ไม่มักมากที่นอนที่นั่ง
ท่านรู้ว่าสิ่งทั้งปวงในโลกเป็นของไม่เที่ยง
จึงกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ส่วนท่านเหล่านี้ ทำตนเป็นคนเลี้ยงยาก
กิน ๆ แล้วก็นอนเหมือนคนที่โกงชาวบ้าน
หมกมุ่นอยู่ในเรือนของคนอื่น
ข้าพเจ้าทำอัญชลีต่อสงฆ์แล้ว
ขอพูดกับท่านบางพวกในที่นี้ว่า
พวกท่านถูกเขาทอดทิ้งแล้ว เป็นคนอนาถาเหมือนเปรต
ข้าพเจ้ากล่าวหมายเอาบุคคลพวกที่ประมาทอยู่
ส่วนท่านเหล่าใดไม่ประมาท
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่านเหล่านั้น๑

ชันตุสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๖. โรหิตัสสสูตร

๖. โรหิตัสสสูตร
ว่าด้วยโรหิตัสสเทพบุตร

[๑๐๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
โรหิตัสสเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์สามารถหรือหนอที่จะทรงรู้ ทรงเห็น หรือทรง
ถึงที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติด้วยการไป”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด
ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป”
โรหิตัสสเทพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุด
แห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’
ด้วยการไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีแล้ว ข้าพระองค์เป็นฤาษีชื่อโรหิตัสสะ
เป็นบุตรของผู้ใหญ่บ้านเปรียบได้กับนายขมังธนู มีฤทธิ์ เหาะได้ ความเร็วของ
ข้าพระองค์นั้นเปรียบได้กับนายขมังธนู ผู้ยิงธนูแม่นยำ ศึกษามาดีแล้ว ผู้เชี่ยวชาญ
ช่ำชอง ฝึกซ้อมมาดี พึงยิงลูกศรเบาให้ผ่านเงาตาลด้านขวางไปได้โดยไม่ยาก ฉะนั้น
การย่างเท้าแต่ละก้าวของข้าพระองค์เปรียบได้กับระยะทางจากทะเลด้านตะวันออก
ถึงทะเลด้านตะวันตก ฉะนั้น ความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เราจักถึงที่สุดแห่งโลก
ด้วยการไป’ เกิดแก่ข้าพระองค์นั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นั้นเพียบพร้อม
ด้วยความเร็วและการย่างเท้าอย่างนี้ เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การหลับ และการบรรเทาความเหน็ดเหนื่อย มีอายุ
๑๐๐ ปี ดำรงชีพอยู่ได้ตั้ง ๑๐๐ ปี ดำเนินไปได้ตั้ง ๑๐๐ ปี ยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก
ก็ตายเสียก่อนในระหว่างทาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๖. โรหิตัสสสูตร

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัส
เรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย
ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เทพบุตร เราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด
ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติว่า ‘พึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้’ ด้วยการไป เราไม่
กล่าวว่า การที่บุคคลยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
อนึ่ง เราบัญญัติโลก๑ ความเกิดแห่งโลก๒ ความดับแห่งโลก๓ และข้อปฏิบัติ
ที่ให้ถึงความดับแห่งโลก๔ ในร่างกายที่มีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา มีใจนี้เอง
ไม่ว่าเวลาไหน ที่สุดแห่งโลก
ใครก็ถึงไม่ได้ด้วยการไป
และเมื่อยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก
ย่อมไม่มีการเปลื้องตนจากทุกข์
เพราะเหตุนั้นแล ผู้รู้แจ้งโลก มีปัญญาดี
ถึงที่สุดแห่งโลก อยู่จบพรหมจรรย์
สงบระงับ รู้ที่สุดแห่งโลก
ย่อมไม่หวังทั้งโลกนี้และโลกหน้า๕”

โรหิตัสสสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๘. นันทิวิสาลสูตร

๗. นันทสูตร
ว่าด้วยนันทเทพบุตร

[๑๐๘] นันทเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของ
พระผู้มีพระภาคว่า
กาลล่วงเลยไป คืนผ่านพ้นไป
ช่วงแห่งวัยละไปตามลำดับ
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรทำบุญที่นำความสุขมาให้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
กาลล่วงเลยไป คืนผ่านพ้นไป
ช่วงแห่งวัยละไปตามลำดับ
บุคคลพิจารณาเห็นภัยนี้ในมรณะ
ควรละโลกามิส มุ่งสู่สันติเถิด๑

นันทสูตรที่ ๗ จบ

๘. นันทิวิสาลสูตร
ว่าด้วยนันทิวิสาลเทพบุตร

[๑๐๙] นันทิวิสาลเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคด้วยคาถาว่า
ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า สรีรยนต์ ๔ ล้อ๒
มีประตู ๙ ประตู เต็มไปด้วยของไม่สะอาด


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๙. สุสิมสูตร

ถูกโลภะประกอบไว้ เป็นเหมือนเปือกตม
สรีรยนต์นั้นจักแล่นไปได้อย่างไร๑
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เพราะตัดชะเนาะ เชือกหนัง
ตัดความปรารถนาและความโลภอันเลวทราม
และเพราะถอนตัณหาพร้อมทั้งรากได้
สรีรยนต์นั้นจักแล่นไปได้อย่างนี้๒

นันทิวิสาลสูตรที่ ๘ จบ

๙. สุสิมสูตร
ว่าด้วยสุสิมเทพบุตร

[๑๑๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “อานนท์
เธอชอบสารีบุตรหรือไม่”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล
ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตร เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก มีปัญญา
หนาแน่น มีปัญญาร่าเริง มีปัญญาแล่นไป มีปัญญาเฉียบแหลม มีปัญญาชำแรก
กิเลส มักน้อย สันโดษ เป็นผู้สงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร เข้าใจพูด
อดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้ทักท้วง ตำหนิคนทำชั่ว ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คน
มุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร”


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๙. สุสิมสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น อานนท์ ข้อนี้เป็น
อย่างนั้น ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส
จะไม่ชอบสารีบุตร อานนท์ สารีบุตรเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก มีปัญญาหนาแน่น
มีปัญญาร่าเริง มีปัญญาแล่นไป มีปัญญาเฉียบแหลม มีปัญญาชำแรกกิเลส มักน้อย
สันโดษ เป็นผู้สงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร เข้าใจพูด อดทนต่อถ้อยคำ
เป็นผู้ทักท้วง ตำหนิคนทำชั่ว ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย
ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส จะไม่ชอบสารีบุตร”
ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคและท่านพระอานนท์ กำลังกล่าวสรรเสริญคุณ
ของท่านพระสารีบุตรอยู่ สุสิมเทพบุตรผู้มีเทพบุตรบริษัทจำนวนมากแวดล้อมแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคตเจ้า
ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คน
มีจิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต ฯลฯ ตำหนิ
คนทำชั่ว ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาส
จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร
เพราะว่าข้าพระองค์เข้าไปหาเทพบุตรบริษัทใดๆ ก็ได้ยินเสียง(พูด)อย่างหนาหู
ว่า “ท่านพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก มีปัญญาหนาแน่น มีปัญญาร่าเริง
มีปัญญาแล่นไป มีปัญญาเฉียบแหลม มีปัญญาชำแรกกิเลส มักน้อย สันโดษ เป็นผู้
สงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร เข้าใจพูด อดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้ทักท้วง
ตำหนิคนทำชั่ว ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมี
จิตวิปลาส จะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร”
ครั้งนั้น เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร เมื่อสุสิมเทพบุตรกำลังกล่าว
สรรเสริญคุณของท่านพระสารีบุตรอยู่ ต่างปลื้มปีติเบิกบานใจ เกิดปีติโสมนัส
มีรัศมีวรรณะเปล่งปลั่งปรากฏอยู่ ดุจแก้วมณีและแก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ
ถูกนายช่างเจียระไนดีแล้ว แปดเหลี่ยม วางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง ส่องแสง
แพรวพราวสุกสกาวอยู่ ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๙. สุสิมสูตร

เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร เมื่อสุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณ
ของท่านพระสารีบุตรอยู่ ต่างปลื้มปีติเบิกบานใจ เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีวรรณะ
เปล่งปลั่งปรากฏอยู่ ดุจทองแท่งชมพูนุท๑เป็นของที่บุตรนายช่างทองผู้ขยันใส่เบ้า
หลอมไล่มลทิน จนสิ้นราคีแล้ว วางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง ส่องแสงแพรวพราว
สุกสกาวอยู่ ฉะนั้น
เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร ฯลฯ มีรัศมีวรรณะเปล่งปลั่งปรากฏอยู่
ดุจดาวศุกร์ เมื่ออากาศปลอดโปร่งปราศจากหมู่เมฆในฤดูสารทกาล ส่องแสง
แพรวพราวสุกสกาวอยู่ในเวลาใกล้รุ่ง ฉะนั้น
เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตร เมื่อสุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณ
ของท่านพระสารีบุตรอยู่ ต่างปลื้มปีติเบิกบานใจ เกิดปีติโสมนัส มีรัศมีวรรณะ
เปล่งปลั่งปรากฏอยู่ ดุจดวงอาทิตย์ เมื่ออากาศปลอดโปร่งปราศจากหมู่เมฆในฤดู
สารทกาล พวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ขจัดความมืดที่มีอยู่ในอากาศทั้งปวง ส่องแสง
แพรวพราวสุกสกาวอยู่ ฉะนั้น
ครั้งนั้น สุสิมเทพบุตรได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค ปรารภ
ท่านพระสารีบุตรว่า
ท่านพระสารีบุตร ใคร ๆ ก็รู้จักดีว่าเป็นบัณฑิต
ไม่ใช่คนมักโกรธ มีความมักน้อย สงบเสงี่ยม
ฝึกแล้ว มีคุณงามความดี อันพระศาสดาทรงสรรเสริญ
เป็นผู้แสวงหาคุณอันยิ่ง
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถาตอบสุสิมเทพบุตร ปรารภท่านพระสารีบุตรว่า
สารีบุตร ใคร ๆ ก็รู้จักดีว่าเป็นบัณฑิต
ไม่ใช่คนมักโกรธ มีความมักน้อย สงบเสงี่ยม
ฝึกฝนอบรมดีแล้ว รอเวลาอยู่๒

สุสิมสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๑๐. นานาติตถิยสาวกสูตร

๑๐. นานาติตถิยสาวกสูตร
ว่าด้วยเทพบุตรผู้เป็นสาวกของเดียรถีย์ต่าง ๆ

[๑๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อ
กระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป พวกเทพบุตรผู้เป็นสาวกของ
เดียรถีย์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก คือ อสมเทพบุตร สหลีเทพบุตร นิกเทพบุตร
อาโกฏกเทพบุตร เวฏัมพรีเทพบุตร มาณวคามิยเทพบุตร มีวรรณะงดงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเวฬุวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายอภิวาท
แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
อสมเทพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มี
พระภาค ปรารภปูรณะ กัสสปะว่า
ท่านปูรณะ กัสสปะมองไม่เห็นบาปหรือบุญของตน
ในเพราะการตัด การฆ่า การโบย การเสื่อมทรัพย์
ท่านจึงบอกให้เบาใจเสีย
สมควรที่จะยกย่องท่านว่าเป็นศาสดาในโลกนี้
ลำดับนั้น สหลีเทพบุตรได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค ปรารภ
มักขลิ โคศาลต่อไปว่า
ท่านมักขลิ โคศาล สำรวมตนดีแล้ว
ด้วยการกีดกันบาปด้วยตบะ
ละวาจาที่ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน
เป็นผู้สม่ำเสมอ งดเว้นจากสิ่งที่มีโทษ
พูดจริง เป็นผู้คงที่ ไม่ทำบาปแน่นอน
ลำดับนั้น นิกเทพบุตรได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค ปรารภ
นิครนถ์ นาฏบุตรต่อไปว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค ๑๐. นานาติตถิยสาวกสูตร

ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร เป็นผู้กีดกันบาป
มีปัญญาเครื่องบริหาร เห็นภัยในสังสารวัฏ
เป็นผู้ระมัดระวังทั้ง ๔ ยาม๑
เปิดเผยสิ่งที่ตนเห็นแล้วและฟังแล้ว
เป็นผู้ไม่หยาบช้าแน่นอน
ลำดับนั้น อาโกฏกเทพบุตรได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค
ปรารภพวกเดียรถีย์ต่าง ๆ ต่อไปอีกว่า
ท่านปกุธะ กัจจายนะ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร
ท่านมักขลิ โคศาล และท่านปูรณะ กัสสปะเหล่านี้
ล้วนแต่เป็นครูของหมู่คณะ บรรลุความเป็นสมณะ๒
ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ไกลจากสัตบุรุษแน่นอน
ลำดับนั้น เวฏัมพรีเทพบุตรได้กล่าวตอบอาโกฏกเทพบุตรด้วยคาถาว่า
ในกาลไหน ๆ สุนัขจิ้งจอกสัตว์เล็ก ๆ ชั้นเลว
จะแสดงจริตกริยาให้เสมอราชสีห์ไม่ได้เลย
ครูของหมู่คณะเป็นคนเปลือย มักพูดคำเท็จ
มีพฤติกรรมน่าระแวงสงสัย จะเทียบกับสัตบุรุษไม่ได้เลย
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าสิงเวฏัมพรีเทพบุตรแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนัก
ของพระผู้มีพระภาคว่า
สัตว์เหล่าใดประกอบด้วยการกีดกันบาปด้วยตบะ
รักษาความสงบสงัด ติดอยู่ในรูป เพลิดเพลินในเทวโลก
สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่าสั่งสอนโดยชอบเพื่อปรโลกโดยแท้


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๒. เทวปุตตสังยุต]
๓. นานติตถิยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงได้ตรัสตอบ
มารผู้มีบาปด้วยคาถาว่า
รูปใด ๆ จะอยู่ในโลกนี้หรือโลกหน้า
และแม้จะอยู่ในอากาศ มีรัศมีรุ่งเรืองก็ตามที
นมุจิมาร รูปทั้งหมดนั้นท่านก็สรรเสริญแล้ววางดักไว้
เหมือนบุคคลใช้เหยื่อล่อฆ่าปลา ฉะนั้น
ลำดับนั้น มาณวคามิยเทพบุตรได้กล่าวคาถาเหล่านี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค
ปรารภพระผู้มีพระภาคว่า
คนพูดกันว่า บรรดาภูเขาในกรุงราชคฤห์
ภูเขาวิปุละเยี่ยมที่สุด
บรรดาภูเขาที่ตั้งอยู่ในป่าหิมพานต์ ภูเขาเสตบรรพตเยี่ยมที่สุด
บรรดาสิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศ ดวงอาทิตย์เยี่ยมที่สุด
บรรดาห้วงน้ำทั้งหลาย สมุทรเยี่ยมที่สุด
บรรดาดวงดาวทั้งหลาย ดวงจันทร์เยี่ยมที่สุด
บัณฑิตกล่าวว่า พระพุทธเจ้าเลิศกว่ามนุษย์และเทวดา

นานาติตถิยสาวกสูตรที่ ๑๐ จบ
นานาติตถิยวรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สิวสูตร ๒. เขมสูตร
๓. เสรีสูตร ๔. ฆฏิการสูตร
๕. ชันตุสูตร ๖. โรหิตัสสสูตร
๗. นันทสูตร ๘. นันทิวิสาลสูตร
๙. สุสิมสูตร ๑๐. นานาติตถิยสาวกสูตร

เทวปุตตสังยุต จบบริบูรณ์


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๑. ทหรสูตร

๓. โกสลสังยุต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. ทหรสูตร
ว่าด้วยสิ่งเล็กน้อย

[๑๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระโคดม
ผู้เจริญทรงยืนยันหรือไม่ว่าเป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร ก็บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องก็
พึงกล่าวว่า ‘พระตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว’ เพราะว่าอาตม-
ภาพได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว”
พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
แม้สมณพราหมณ์บางพวก เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียง
มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ คนจำนวนมากยกย่องว่าเป็นคนดี คือ ท่านปูรณะ กัสสปะ
ท่านมักขลิ โคศาล ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร ท่านสัญชัย เวลัฏฐบุตร ท่านปกุธะ
กัจจายนะ ท่านอชิตะ เกสกัมพล สมณพราหมณ์เหล่านั้นเมื่อถูกข้าพระองค์ถามว่า
‘ท่านทั้งหลายยืนยันตนหรือว่า ‘เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ’ ก็ไม่ยืนยัน
ว่า ‘เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ’ ส่วนพระโคดมผู้เจริญยังทรงเป็นหนุ่ม
โดยพระชาติและยังทรงเป็นผู้ใหม่โดยบรรพชา ทำไมจึงกล้ายืนยันตนเล่า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร สิ่ง ๔ อย่างนี้ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น
ว่าเล็กน้อย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๑. ทหรสูตร

สิ่ง ๔ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. กษัตริย์ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่ายังทรงพระเยาว์
๒. งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าตัวเล็ก
๓. ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าเล็กน้อย
๔. ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่ายังหนุ่ม
สิ่ง ๔ อย่างนี้แล ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าเล็กน้อย
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา-
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
นรชนไม่ควรดูถูกดูหมิ่นกษัตริย์ผู้ถึงพร้อมด้วยชาติตระกูล
ผู้เป็นอภิชาติ๑ ผู้มียศ ว่ายังทรงพระเยาว์
เพราะพระองค์ได้เสวยราชสมบัติแล้ว
เป็นกษัตริย์จอมมนุษย์ ทรงพิโรธแล้ว
จะลงพระราชอาชญาอย่างหนักแก่เขาได้
ฉะนั้นบุคคลเมื่อจะรักษาชีวิตของตน
พึงหลีกเลี่ยงการดูถูกดูหมิ่นกษัตริย์นั้น
นรชนเห็นงูที่บ้านหรือที่ป่าก็ตาม
ไม่ควรดูถูกดูหมิ่น ว่าตัวเล็ก
เพราะงูเป็นสัตว์มีพิษไม่ว่าจะมีวรรณะสูงและต่ำ๒
งูนั้นพึงฉกกัดชายหญิงผู้เขลาในกาลบางคราว
ฉะนั้นบุคคลเมื่อจะรักษาชีวิตของตน
พึงหลีกเลี่ยงการดูถูกดูหมิ่นงูนั้น


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๑. ทหรสูตร

นรชนไม่ควรดูถูกดูหมิ่นไฟที่กินเชื้อมาก
ลุกเป็นเปลว ไหม้ดำเป็นทาง ว่าเล็กน้อย
เพราะไฟนั้นได้เชื้อแล้วก็กลายเป็นกองไฟใหญ่
พึงลามไหม้ชายหญิงผู้เขลาในกาลบางคราว
ฉะนั้นบุคคลเมื่อจะรักษาชีวิตของตน
พึงหลีกเลี่ยงการดูถูกดูหมิ่นไฟนั้น
อนึ่ง ป่าใดที่ถูกไฟไหม้จนดำแล้ว
เมื่อวันคืนล่วงไปๆ พันธุ์หญ้าหรือต้นไม้ยังงอกขึ้นที่ป่านั้นได้
ส่วนผู้ใดถูกเดชภิกษุผู้มีศีลแผดเผา
บุตรธิดาและปศุสัตว์ของผู้นั้นย่อมพินาศ
ทายาทของเขาก็ย่อมไม่ได้รับทรัพย์มรดก
เขาเป็นผู้ไม่มีเครือญาติ ไม่มีทายาท
ย่อมเป็นเหมือนตาลยอดด้วน
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เป็นบัณฑิต
เมื่อพิจารณาเห็นกษัตริย์ผู้มียศ งู ไฟ
และภิกษุผู้มีศีลว่าเป็นประโยชน์แก่ตน
พึงประพฤติโดยชอบทีเดียว
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระโคดมผู้เจริญ
ทรงประกาศธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า ‘คนมี
ตาดีจักเห็นรูปได้’ ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค
พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

ทหรสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๒. ปุริสสูตร

๒. ปุริสสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ไม่เกิดประโยชน์แก่บุรุษ

[๑๑๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเหล่าไหนเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้น
เพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร ธรรม ๓ ประการ เมื่อเกิดขึ้น
ภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความ
อยู่ไม่ผาสุก
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โลภธรรม (ธรรมคือโลภะ) เมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อม
เกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
๒. โทสธรรม (ธรรมคือโทสะ) เมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อม
เกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
๓. โมหธรรม (ธรรมคือโมหะ) เมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อม
เกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
ธรรม ๓ ประการนี้แล เมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็น
ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
โลภะ โทสะ และโมหะเกิดขึ้นภายในตน
ย่อมทำร้ายบุรุษผู้มีจิตเลวทราม
เหมือนขุยไผ่กำจัดต้นไผ่ ฉะนั้น๑

ปุริสสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๓. ชรามรณสูตร

๓. ชรามรณสูตร
ว่าด้วยชราและมรณะ

[๑๑๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนเกิดมาแล้วที่พ้นจากชราและมรณะมีบ้างหรือไม่”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร คนเกิดมาแล้วที่จะพ้นจากชราและ
มรณะไม่มีเลย แม้ขัตติยมหาศาลซึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทอง
และเงินมากมาย มีทรัพย์เครื่องปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติมากมาย
ก็ไม่พ้นจากชราและมรณะ
แม้พราหมณมหาศาล ฯลฯ
แม้คหบดีมหาศาลซึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงิน
มากมาย มีทรัพย์เครื่องปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติมากมาย ก็ไม่พ้น
จากชราและมรณะ
แม้ภิกษุทุกรูปซึ่งเป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่
ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์
แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ร่างกายนี้แม้ของพระอรหันต์เหล่านั้น ก็เป็นสภาพ
แตกดับต้องทอดทิ้งเป็นธรรมดา”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ราชรถอันวิจิตรย่อมชำรุด
แม้สรีระก็ย่อมเข้าถึงชรา
แต่ว่าธรรมของสัตบุรุษหาเข้าถึงชราไม่
สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้นจึงรู้กันได้

ชรามรณสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๔. ปิยสูตร

๔. ปิยสูตร
ว่าด้วยผู้รักตน

[๑๑๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความ
คิดคำนึงอย่างนี้ว่า ‘ชนเหล่าไหนหนอชื่อว่ารักตน ชนเหล่าไหนชื่อว่าไม่รักตน’
ข้าพระองค์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ก็ชนเหล่าใดประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารักตน’ ก็ตาม
ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าไม่รักตน’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะชนผู้ไม่รักกันทำความเสียหายใดให้แก่ผู้ไม่รักกันได้ ชนเหล่านั้นก็ทำ
ความเสียหายนั้นให้แก่ตนเองได้ ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน ส่วนชนเหล่าใด
ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักตน แม้ชนเหล่านั้น
จะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราไม่รักตน’ ก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะชนผู้ที่รักกันทำความเจริญใดให้แก่ผู้ที่รักกันได้ ชนเหล่านั้นก็ทำความ
เจริญนั้นให้แก่ตนเองได้ ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น เพราะว่าชนบางพวกประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารักตน’ ก็ตาม
ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าไม่รักตน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะชนผู้ไม่รักกันทำความเสียหายใดให้แก่ผู้ไม่รักกันได้ ชนเหล่านั้นก็ทำ
ความเสียหายนั้นให้แก่ตนเองได้ ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน ส่วนชนบางพวก
ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักตน แม้ชนเหล่านั้นจะกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘เราไม่รักตน’ ก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๔. ปิยสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะชนผู้รักกันทำความเจริญใดให้แก่ผู้ที่ตนรักได้ ชนเหล่านั้นก็ทำความ
เจริญนั้นแก่ตนเองได้ ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ถ้าบุคคลรู้ว่ารักตน ก็ไม่พึงชักนำตนไปในทางชั่ว
เพราะความสุขนั้นบุคคลผู้มักทำชั่วจะไม่ได้โดยง่าย
เมื่อบุคคลถูกความตายครอบงำ
ก็จะต้องละทิ้งภพมนุษย์ไป
ก็อะไรเล่าเป็นสมบัติของเขา
และเขาจะนำอะไรไปได้
อนึ่ง อะไรเล่าจะติดตามเขาไป
ดุจเงาติดตามตัวไป ฉะนั้น
สัตว์ผู้จะต้องตายในโลกนี้
ทำกรรมอันใด คือบุญและบาปทั้ง ๒ ประการ
บุญและบาปนั้นแลเป็นสมบัติของเขา
ทั้งเขาจะนำเอาบุญและบาปนั้นไปได้
อนึ่ง บุญและบาปนั้นย่อมติดตามเขาไป
ดุจเงาติดตามตัวไป ฉะนั้น
เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี
สะสมไว้เป็นสมบัติในโลกหน้า
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า

ปิยสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๕. อัตตรักขิตสูตร

๕. อัตตรักขิตสูตร
ว่าด้วยผู้รักษาตน

[๑๑๖] พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความ
คิดคำนึงอย่างนี้ว่า ‘ชนเหล่าไหนหนอชื่อว่ารักษาตน ชนเหล่าไหนชื่อว่าไม่รักษาตน’
ข้าพระองค์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ก็ชนบางพวกประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักษาตน’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายนอก มิใช่เป็นการรักษาภายใน ฉะนั้น
ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักษาตน ส่วนชนบางพวกประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต
มโนสุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักษาตน แม้ว่าพลช้าง พลม้า พลรถหรือพลเดินเท้า
ไม่รักษาเขาก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักษาตน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายใน มิใช่เป็นการรักษาภายนอก ฉะนั้น
ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักษาตน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น ก็ชนบางพวกประพฤติกายทุจริต ฯลฯ ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักษาตน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายนอก มิใช่เป็นการรักษาภายใน ฉะนั้น
ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักษาตน ส่วนชนบางพวกประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต
มโนสุจริต ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักษาตน แม้ว่าพลช้าง พลม้า พลรถ หรือพลเดินเท้า
ไม่รักษาเขาก็ตาม ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักษาตน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะการรักษาเช่นนั้นเป็นการรักษาภายใน มิใช่เป็นการรักษาภายนอก ฉะนั้น
ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักษาตน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๖. อัปปกสูตร

พระผู้มีพระภาค ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
การสำรวมกายเป็นการดี
การสำรวมวาจาเป็นการดี
การสำรวมใจเป็นการดี
การสำรวมในที่ทั้งปวงเป็นการดี
บุคคลสำรวมในที่ทั้งปวงแล้วมีความละอายต่อบาป
เรากล่าวว่ารักษาตน

อัตตรักขิตสูตรที่ ๕ จบ

๖. อัปปกสูตร
ว่าด้วยสัตว์มีจำนวนน้อย

[๑๑๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความคิดคำนึง
อย่างนี้ว่า ‘สัตว์เหล่าใดได้โภคะมากมายแล้ว ไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่ติดอยู่ในกาม
และไม่ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นมีจำนวนน้อยในโลก ส่วนสัตว์
เหล่าใดได้โภคะมากมายแล้ว มัวเมา ประมาท ติดอยู่ในกามและประพฤติผิด
ในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นมีจำนวนมากในโลก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น สัตว์เหล่าใดได้โภคะมากมายแล้ว ไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่ติดอยู่
ในกามและไม่ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นมีจำนวนน้อยในโลก
ส่วนสัตว์เหล่าใดได้โภคะมากมายแล้ว มัวเมา ประมาท ติดอยู่ในกามและประพฤติ
ผิดในสัตว์ทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้นมีจำนวนมากในโลก”
พระผู้มีพระภาค ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้กำหนัดกล้าในโภคะที่น่าใคร่
มักมาก หมกมุ่นในกาม ไม่รู้สึกตัวว่าละเมิด
เหมือนพวกเนื้อไม่รู้สึกตัวว่ามีบ่วงที่เขาดักไว้
ผลเผ็ดร้อนย่อมมีแก่สัตว์พวกนั้นในภายหลัง
เพราะกรรมนั้นมีวิบากเลวทราม

อัปปกสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๗. อัตถกรณสูตร

๗. อัตถกรณสูตร
ว่าด้วยการกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

[๑๑๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้นั่งพิจารณาคดี เห็นขัตติยมหาศาลบ้าง
พราหมณมหาศาลบ้าง คหบดีมหาศาลบ้าง ซึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
มีทองและเงินมากมาย มีทรัพย์เครื่องปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติมากมาย
กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นเค้ามูล เพราะกามเป็นตัวการณ์
หม่อมฉันได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘บัดนี้ ไม่สมควรที่เราจะพิจารณาคดี (เพราะ)บัดนี้
ราชโอรสนามว่าวิฑูฑภะผู้มีหน้าชื่นบาน จักมาพิจารณาคดี”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น ขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล คหบดีมหาศาล แม้บางพวก
เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมากมาย มีทรัพย์เครื่องปลื้มใจ
มากมาย มีทรัพย์และธัญชาติมากมาย กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ เพราะกามเป็นเหตุ
เพราะกามเป็นเค้ามูล เพราะกามเป็นตัวการณ์ ข้อนั้นจักมีเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่พวกเขาตลอดกาลนาน”
พระผู้มีพระภาค ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้กำหนัดกล้าในโภคะที่น่าใคร่
มักมาก หมกมุ่นในกาม ไม่รู้สึกตัวว่าละเมิด
เหมือนฝูงปลาไม่รู้สึกตัวว่ามีเครื่องดักที่เขาดักไว้ ฉะนั้น
ผลเผ็ดร้อนย่อมมีแก่สัตว์พวกนั้นในภายหลัง
เพราะกรรมนั้นมีวิบากเลวทราม

อัตถกรณสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๘. มัลลิกาสูตร

๘. มัลลิกาสูตร
ว่าด้วยเรื่องพระนางมัลลิกาเทวี

[๑๑๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลกับพระนางมัลลิกาเทวีได้ประทับ ณ ปราสาท
อันประเสริฐชั้นบน ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตรัสถามพระนางมัลลิกาเทวี
ดังนี้ว่า “มัลลิกา ใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของเธอมีบ้างไหม”
พระนางมัลลิกาเทวีได้ทูลสนองว่า “ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ใครอื่นซึ่ง
เป็นที่รักยิ่งกว่าตนของหม่อมฉันไม่มีเลย และใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของ
พระองค์มีอยู่หรือ”
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า “มัลลิกา ใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของเรา
ไม่มีเลย”
ต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลงจากปราสาทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ข้าพระองค์อยู่ที่ปราสาทอันประเสริฐชั้นบนกับ
พระนางมัลลิกาเทวี ได้พูดกับพระนางมัลลิกาเทวีดังนี้ว่า ‘มัลลิกา ใครอื่นซึ่งเป็น
ที่รักยิ่งกว่าตนของเธอมีบ้างไหม’ เมื่อข้าพระองค์ถามแล้วอย่างนี้ พระนางมัลลิกา
เทวีได้ตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ใครอื่นซึ่งเป็นที่รัก
ยิ่งกว่าตนของหม่อมฉันไม่มี และใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของพระองค์มีอยู่หรือ”
เมื่อพระนางมัลลิกาเทวีกล่าวอย่างนี้ ข้าพระองค์ได้พูดกับพระนางมัลลิกาเทวีดังนี้ว่า
“มัลลิกา ใครอื่นซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนของเราไม่มี”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงได้ตรัสคาถานี้ในเวลานั้นว่า
บุคคลตั้งใจค้นหาทั่วทุกทิศ
ก็ไม่พบใครที่ไหนซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตนเลย
สัตว์เหล่าอื่นก็รักตนมากเช่นนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น

มัลลิกาสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๙. ยัญญสูตร

๙. ยัญญสูตร
ว่าด้วยการบูชายัญ

[๑๒๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตระเตรียมการบูชามหายัญ คือ โคตัวผู้ ๕๐๐ ตัว
ลูกโคตัวผู้ ๕๐๐ ตัว ลูกโคตัวเมีย ๕๐๐ ตัว แพะ ๕๐๐ ตัว และแกะ ๕๐๐ ตัว
ถูกนำไปผูกไว้ที่หลักเพื่อบูชายัญ แม้ข้าราชบริพารของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น
ผู้เป็นทาส คนใช้หรือกรรมกรที่มีอยู่ แม้ชนเหล่านั้นก็ถูกอาชญาคุกคาม ถูกภัย
คุกคาม ร้องไห้น้ำตานองหน้า กระทำบริกรรมอยู่
ครั้นเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร๑เข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต ภายหลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควรได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลได้
ตระเตรียมการบูชามหายัญ คือ โคตัวผู้ ๕๐๐ ตัว ลูกโคตัวผู้ ๕๐๐ ตัว ลูกโค
ตัวเมีย ๕๐๐ ตัว แพะ ๕๐๐ ตัว และแกะ ๕๐๐ ตัว ถูกนำไปผูกไว้ที่หลักเพื่อ
บูชายัญ แม้ข้าราชบริพารของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น ผู้เป็นทาส คนใช้หรือ
กรรมกรที่มีอยู่ แม้ชนเหล่านั้นก็ถูกอาชญาคุกคาม ถูกภัยคุกคาม ร้องไห้น้ำตา
นองหน้า กระทำบริกรรมอยู่”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้
ในเวลานั้นว่า
มหายัญที่มีกิริยามากเหล่านั้น คือ
อัสวเมธ บุรุษเมธ สัมมาปาสะ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๑๐. พันธนสูตร

วาชเปยยะ นิรัคคฬะ๑ไม่มีผลมาก
(เพราะ)พระอริยะผู้ปฏิบัติชอบแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับยัญที่มีการฆ่าแพะ
แกะ โค และสัตว์ชนิดต่าง ๆ
ส่วนยัญใด ไม่มีกิริยา เอื้ออำนวยประโยชน์
ประชาชนบูชาตระกูลทุกเมื่อ
คือ ไม่มีการฆ่าแพะ แกะ โค และสัตว์ชนิดต่าง ๆ
พระอริยะผู้ปฏิบัติชอบ แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ย่อมเกี่ยวข้องกับยัญนั้น
นักปราชญ์พึงบูชายัญนั้น ที่มีผลมาก
เพราะเมื่อบูชายัญนั้นนั่นแหละ
ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีความชั่ว
ยัญย่อมแพร่หลาย และเทวดาก็ยังเลื่อมใส๒

ยัญญสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. พันธนสูตร
ว่าด้วยเครื่องจองจำ

[๑๒๑] สมัยนั้น หมู่มหาชนถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลให้จองจำไว้แล้ว บางพวก
ถูกจองจำด้วยเชือก บางพวกถูกจองจำด้วยขื่อคา บางพวกถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน
ครั้นเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาต
ยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต ภายหลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้า


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๑. ปฐมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้หมู่มหาชนถูกพระเจ้าปเสนทิ-
โกศลให้จองจำไว้แล้ว บางพวกถูกจองจำด้วยเชือก บางพวกถูกจองจำด้วยขื่อคา
บางพวกถูกจองจำด้วยโซ่ตรวน”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้
ในเวลานั้นว่า
นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวถึงเครื่องจองจำ
ที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้และทำด้วยหญ้า
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง
แต่กล่าวถึงความกำหนัดยินดีนักในเครื่องประดับแก้วมณี
และความอาลัยในบุตรและภรรยาทั้งหลาย
ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวถึงเครื่องจองจำ
ที่มีความกำหนัดยินดีนักในเครื่องประดับแก้วมณีเป็นต้นนั้น
ที่ต่ำ หย่อน แก้ได้ยาก ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง
ธีรชนตัดเครื่องจองจำแม้เช่นนั้นได้แล้วออกบวช
เป็นผู้ไม่มีความอาลัย ละกามสุขเสียได้๑

พันธนสูตรที่ ๑๐ จบ
วรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ทหรสูตร ๒. ปุริสสูตร
๓. ชรามรณสูตร ๔. ปิยสูตร
๕. อัตตรักขิตสูตร ๖. อัปปกสูตร
๗. อัตถกรณสูตร ๘. มัลลิกาสูตร
๙. ยัญญสูตร ๑๐. พันธนสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๑. สัตตชฎิลสูตร

๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
๑. สัตตชฏิลสูตร
ว่าด้วยชฎิล ๗ คน

[๑๒๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของ
นางวิสาขามิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาค
เสด็จออกจากที่หลีกเร้นแล้ว ประทับนั่งที่นอกซุ้มประตู ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิ-
โกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ
ที่สมควร
สมัยนั้น ชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน
ปริพาชก ๗ คน ผู้มีขนรักแร้ เล็บ และขนยาว ถือเครื่องบริขารต่าง ๆ เดินผ่านไป
ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ทันใดนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลุกจากที่ประทับ
ทรงห่มพระภูษาเฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง ทรงจดพระชานุมณฑลเบื้องขวา ณ
พื้นแผ่นดิน ประนมมือไปทางชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎก
๗ คน ปริพาชก ๗ คน เหล่านั้นแล้วทรงประกาศพระนาม ๓ ครั้งว่า ‘ท่านเจ้าข้า
ข้าพเจ้าคือพระราชาปเสนทิโกศล ฯลฯ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือพระราชาปเสนทิโกศล”
ลำดับนั้น เมื่อชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน
ปริพาชก ๗ คน เหล่านั้นเดินผ่านไปได้ไม่นาน พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้วได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกนักบวชเหล่านั้น คงเป็นพระ-
อรหันต์ หรือท่านผู้บรรลุอรหัตตมรรคเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร พระองค์เป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม
ครอบครองเรือน บรรทมเบียดพระโอรสและพระชายา ทาจุรณจันทน์อันนำมาจาก
แคว้นกาสี ทรงมาลาของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีเงินทอง ยากที่จะรู้เรื่องนี้ว่า
คนพวกนี้เป็นพระอรหันต์ หรือว่าคนพวกนี้บรรลุอรหัตตมรรค’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๑. สัตตชฏิลสูตร

มหาบพิตร ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน ศีลนั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่
ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจรู้ไม่ได้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่มี
ปัญญารู้ไม่ได้
มหาบพิตร ความสะอาดจะพึงรู้ได้ด้วยการเจรจา๑ ความสะอาดนั้นจะพึงรู้ได้
ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจรู้ไม่ได้ ผู้มีปัญญา
จึงจะรู้ได้ ผู้ไม่มีปัญญารู้ไม่ได้
มหาบพิตร กำลัง๒จะพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย กำลังนั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน
ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจรู้ไม่ได้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่มี
ปัญญารู้ไม่ได้
มหาบพิตร ปัญญาจะพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ปัญญานั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน
ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจรู้ไม่ได้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่มี
ปัญญารู้ไม่ได้”
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า มหาบพิตร พระองค์เป็น
คฤหัสถ์ บริโภคกาม ฯลฯ ยากที่จะรู้เรื่องนี้ ฯลฯ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่มี
ปัญญารู้ไม่ได้”
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นักบวชเหล่านั้นเป็นคนของข้าพระองค์ เป็นบุรุษ
สอดแนม เป็นสายลับ เที่ยวสอดแนมไปยังชนบทแล้วพากันกลับมา ข้าพระองค์
จะรู้เรื่องราวหลังจากที่คนเหล่านั้นสืบมา บัดนี้คนเหล่านั้นคงจะชำระล้างละอองธุลี
นั้นแล้ว อาบสะอาดดี ลูบไล้ผิวดีแล้ว โกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้าขาว เอิบอิ่ม
เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอข้าพระองค์อยู่”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้
ในเวลานั้นว่า


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๒. ปัญจราชสูตร

คนผู้รู้ดี ไม่ควรไว้วางใจใครเพราะผิวพรรณและรูปร่าง
ไม่ควรไว้วางใจใครเพราะการเห็นกันชั่วครู่เดียว
เพราะว่านักบวชผู้ไม่สำรวมทั้งหลายย่อมเที่ยวไปในโลกนี้
ด้วยเครื่องบริขารของเหล่านักบวชผู้สำรวมดีแล้ว
นักบวชเหล่านั้นผู้ไม่บริสุทธิ์ในภายใน
งามแต่ภายนอก แวดล้อมด้วยบริวารท่องเที่ยวอยู่ในโลก
ดุจตุ้มหูดินและเหรียญโลหะครึ่งมาสกหุ้มด้วยทองคำปลอมไว้

สัตตชฏิลสูตรที่ ๑ จบ

๒. ปัญจราชสูตร
ว่าด้วยพระราชา ๕ พระองค์

[๑๒๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น พระราชา ๕ พระองค์ มีพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเป็นประมุขผู้
เอิบอิ่มเพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ได้รับบำเรออยู่ มีคำถามเกิดขึ้นในระหว่างการ
สนทนากันว่า “อะไรเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย”
บรรดาพระราชาเหล่านั้น บางพระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า “รูปเป็นยอดแห่งกาม
ทั้งหลาย”
บางพระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า “เสียงเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย”
บางพระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า “กลิ่นเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย”
บางพระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า “รสเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย”
บางพระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า “โผฏฐัพพะเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย”
ในขณะนั้น พระราชาเหล่านั้นไม่อาจจะตกลงกันได้ พระเจ้าปเสนทิโกศล
จึงได้ตรัสกับพระราชาเหล่านั้นดังนี้ว่า “มาเถิดท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พวกเราจัก
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามความข้อนี้กับพระองค์ พระองค์ทรงพยากรณ์
แก่พวกเราอย่างใด พวกเราก็พึงจำคำพยากรณ์นั้นไว้อย่างนั้น” พระราชาเหล่านั้น
ทรงรับพระดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๒. ปัญจราชสูตร

ต่อมา พระราชา ๕ พระองค์นั้น มีพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเป็นประมุข
เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายในที่นี้ เป็นราชาทั้ง ๕ องค์ เอิบอิ่ม
เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ได้รับบำเรออยู่ มีคำถามเกิดขึ้นในระหว่างการสนทนา
กันว่า ‘อะไรเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย’
บางพระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย’
บางพระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า ‘เสียงเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย’
บางพระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า ‘กลิ่นเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย’
บางพระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า ‘รสเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย’
บางพระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า ‘โผฏฐัพพะเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย’ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ที่สุดแห่งความพอใจนั่นแหละ อาตมภาพ
กล่าวว่า เป็นยอดในกามคุณ ๕ รูปเหล่าใดเป็นที่พอใจของคนบางคน รูปเหล่านั้น
ไม่เป็นที่พอใจของคนบางคน เขาพอใจ มีความดำริเต็มรอบด้วยรูปเหล่าใด รูปอื่น
จากรูปเหล่านั้นจะยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า เขาก็ไม่ปรารถนา รูปเหล่านั้นเป็นรูปที่ดี
ยิ่งสำหรับเขา รูปเหล่านั้นเป็นรูปยอดเยี่ยมสำหรับเขา
มหาบพิตร เสียงเหล่าใด...
มหาบพิตร กลิ่นเหล่าใด...
มหาบพิตร รสเหล่าใด...
มหาบพิตร โผฏฐัพพะเหล่าใดเป็นที่พอใจของคนบางคน โผฏฐัพพะเหล่านั้น
ไม่เป็นที่พอใจของคนบางคน เขาพอใจ มีความดำริเต็มรอบด้วยโผฏฐัพพะเหล่าใด
โผฏฐัพพะอื่นจากโผฏฐัพพะเหล่านั้นจะยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า เขาก็ไม่ปรารถนา
โผฏฐัพพะเหล่านั้นเป็นโผฏฐัพพะที่ดียิ่งสำหรับเขา โผฏฐัพพะเหล่านั้นเป็นโผฏฐัพพะ
ยอดเยี่ยมสำหรับเขา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๓. โทณปากสูตร

สมัยนั้น จันทนังคลิกอุบาสกนั่งอยู่ในบริษัทนั้น ลำดับนั้น จันทนังคลิกอุบาสก
ลุกจากที่นั่ง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เหตุอย่างหนึ่งปรากฏ
แก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เหตุอย่างหนึ่งปรากฏแก่ข้าพระองค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จันทนังคลิกะ เหตุนั้นจงปรากฏแก่ท่านเถิด”
ลำดับนั้น จันทนังคลิกอุบาสกได้สรรเสริญพระผู้มีพระภาคเฉพาะพระพักตร์
ด้วยคาถาที่สมควรแก่เหตุนั้นว่า
ดอกปทุมชื่อโกกนุท บานในเวลาเช้า
ยังไม่สิ้นกลิ่น ยังหอมอยู่ ฉันใด
ท่านจงดูพระอังคีรส ผู้ไพโรจน์อยู่
ดุจดวงอาทิตย์รุ่งโรจน์อยู่ในอากาศ ฉันนั้น
ลำดับนั้น พระราชา ๕ พระองค์นั้น ทรงให้จันทนังคลิกอุบาสกห่มผ้า ๕ ผืน
ทันใดนั้น จันทนังคลิกอุบาสกก็ถวายให้พระผู้มีพระภาคทรงห่มผ้า ๕ ผืนเหล่านั้น

ปัญจราชสูตรที่ ๒ จบ

๓. โทณปากสูตร
ว่าด้วยการหุงข้าวสารทะนานหนึ่ง

[๑๒๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยพระกระยาหารที่หุงด้วยข้าวสารทะนานหนึ่ง
ทรงอึดอัด เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง
ณ ที่สมควร
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยแล้วทรงอึดอัด
จึงได้ตรัสคาถานี้ในเวลานั้นว่า
มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ
รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้แล้ว
ย่อมมีเวทนาเบาบาง
เขาย่อมแก่ช้า อายุก็ยั่งยืน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๔. ปฐมสังคามสูตร

สมัยนั้น มาณพชื่อสุทัสสนะ ยืนอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระเจ้าปเสนทิ-
โกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งเรียกสุทัสสนมาณพมาตรัสว่า “มานี่สุทัสสนะ
เจ้าจงเรียนคาถาในสำนักของพระผู้มีพระภาค แล้วจงกล่าวในเวลาที่เราเสวยกระยาหาร
อนึ่ง เราจะให้ค่าอาหารแก่เจ้าวันละ ๑๐๐ กหาปณะ”
สุทัสสนมาณพรับสนองพระดำรัสพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า “เป็นพระมหากรุณา
อย่างยิ่ง พระเจ้าข้า” แล้วเรียนคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วกล่าว
ในเวลาที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยพระกระยาหารว่า
มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ
รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้แล้ว
ย่อมมีเวทนาเบาบาง
เขาย่อมแก่ช้า อายุก็ยั่งยืน
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงดำรงอยู่ได้โดยเสวยพระกระยาหารทะนานหนึ่ง
เป็นอย่างมากเรื่อยมา ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศล มีพระวรกายกระปรี้กระเปร่า
ทรงลูบพระวรกายด้วยฝ่าพระหัตถ์ ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า “พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นทรงอนุเคราะห์เราด้วยประโยชน์ทั้งสอง คือ ประโยชน์ในปัจจุบันและ
ประโยชน์ในภายหน้าอย่างแท้จริง”

โทณปากสูตรที่ ๓ จบ

๔. ปฐมสังคามสูตร
ว่าด้วยสงคราม สูตรที่ ๑

[๑๒๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ ทรงจัดจตุรงคินี-
เสนา๑ ยกไปรุกรานพระเจ้าปเสนทิโกศลทางแคว้นกาสี พระเจ้าปเสนทิโกศลทรง
สดับข่าวว่า “พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ ทรงจัดจตุรงคินี-
เสนายกมารุกรานเราทางแคว้นกาสี” จึงทรงจัดจตุรงคินีเสนา ยกออกไปต่อสู้กับ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๔. ปฐมสังคามสูตร

พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ ป้องกันแคว้นกาสี ครั้งนั้น
พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ กับพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงทำ
สงครามต่อกัน
สงครามครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ ทรงชนะ
พระเจ้าปเสนทิโกศล ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิโกศลผู้พ่ายแพ้ ก็เสด็จล่าทัพกลับกรุง
สาวัตถี ราชธานีของพระองค์
ครั้นเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต ภายหลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ
ทรงจัดจตุรงคินีเสนา ยกมารุกรานพระเจ้าปเสนทิโกศลทางแคว้นกาสี พระเจ้า
ปเสนทิโกศลทรงสดับข่าวว่า ‘พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ
ทรงจัดจตุรงคินีเสนา ยกมารุกรานเราทางแคว้นกาสี จึงทรงจัดจตุรงคินีเสนา
ยกออกไปต่อสู้กับพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ ป้องกันแคว้น
กาสี ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ กับพระเจ้าปเสนทิ-
โกศลทรงทำสงครามต่อกัน
สงครามครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ ทรงชนะ
พระเจ้าปเสนทิโกศล ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิโกศลผู้พ่ายแพ้ ก็เสด็จล่าทัพกลับกรุง
สาวัตถี ราชธานีของพระองค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร
ผู้ครองแคว้นมคธ มีมิตรเลว มีสหายเลว มีเพื่อนเลว ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิโกศล
เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี วันนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพ่ายแพ้มาแล้ว
อย่างนี้ จักบรรทมเป็นทุกข์ตลอดราตรีนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๕. ทุติยสังคามสูตร

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้พ่ายแพ้ย่อมนอนเป็นทุกข์
ผู้ละทั้งความชนะและความพ่ายแพ้ได้แล้ว
มีใจสงบ ย่อมนอนเป็นสุข๑

ปฐมสังคามสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุติยสังคามสูตร
ว่าด้วยสงคราม สูตรที่ ๒

[๑๒๖] ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ ทรงจัด
จตุรงคินีเสนา ยกไปรุกรานพระเจ้าปเสนทิโกศลทางแคว้นกาสี พระเจ้าปเสนทิโกศล
ทรงสดับข่าวว่า “พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ ทรงจัดจตุรงคินี-
เสนา ยกมารุกรานเราทางแคว้นกาสี” จึงทรงจัดจตุรงคินีเสนา ยกออกไปต่อสู้กับ
พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ ป้องกันแคว้นกาสี ครั้งนั้น พระเจ้า
อชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ กับพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทำสงคราม
ต่อกัน
สงครามครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงชนะพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร
ผู้ครองแคว้นมคธ และได้จับเป็นเชลยศึก ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้มี
พระดำริดังนี้ว่า “ถึงแม้พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธนี้ จะ
ประทุษร้ายเราผู้มิได้ประทุษร้าย แต่เธอก็ยังเป็นหลานของเรา ทางที่ดีเราควรยึด
พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้าทั้งหมดของพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร
ผู้ครองแคว้นมคธแล้วปล่อยพระองค์ให้รอดชีวิตไป”
ครั้นเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เที่ยวไป
บิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี กลับจากบิณฑบาต ภายหลังจากฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๕. ทุติยสังคามสูตร

ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ ทรงจัดจตุรงคินีเสนา ยกมา
รุกรานพระเจ้าปเสนทิโกศลทางแคว้นกาสี พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสดับข่าวว่า
‘พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ ทรงจัดจตุรงคินีเสนา ยกมา
รุกรานเราทางแคว้นกาสี’ จึงทรงจัดจตุรงคินีเสนา ยกออกไปต่อสู้กับพระเจ้าอชาต-
ศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ ป้องกันแคว้นกาสี ครั้งนั้น พระเจ้าอชาตศัตรู
เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ กับพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงทำสงครามต่อกัน
สงครามครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงชนะพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร
ผู้ครองแคว้นมคธ และได้จับเป็นเชลยศึก ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้มีพระดำริ
ดังนี้ว่า ‘ถึงแม้พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธนี้ จะประทุษร้ายเรา
ผู้มิได้ประทุษร้าย แต่เธอก็ยังเป็นหลานของเรา ทางที่ดีเราควรยึดพลช้าง พลม้า
พลรถและพลเดินเท้าทั้งหมดของพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ
แล้วปล่อยพระองค์ให้รอดชีวิตไป’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยึดพลช้าง พลม้า
พลรถ และพลเดินเท้าทั้งหมดของพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ผู้ครองแคว้นมคธ
แล้วทรงปล่อยพระองค์ให้รอดชีวิตไป”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้
ในเวลานั้นว่า
คนจะแย่งชิงได้ เท่าที่การแย่งชิงนั้นจะเป็นไปได้
แต่เมื่อใดคนเหล่าอื่นมาแย่งชิงบ้าง
เมื่อนั้นผู้แย่งชิงนั้นก็กลับถูกเขาแย่งชิงไป
เพราะว่าบาปยังไม่ให้ผลเพียงใด
คนพาลย่อมสำคัญบาปว่าเป็นของดีเพียงนั้น
แต่เมื่อใดบาปให้ผล เมื่อนั้นคนพาลย่อมประสบทุกข์
ผู้ฆ่าย่อมได้รับการฆ่าตอบ ผู้ชนะย่อมได้รับการชนะตอบ
ผู้ด่าย่อมได้รับการด่าตอบ และผู้โกรธย่อมได้รับการโกรธตอบ
เพราะเมื่อกรรมให้ผล ผู้แย่งชิงนั้นย่อมถูกเขาแย่งชิงไป

ทุติยสังคามสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๒. ทุติยวรรค ๖. ธีตุสูตร

๖. ธีตุสูตร
ว่าด้วยพระธิดา

[๑๒๗] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระเจ้า
ปเสนทิโกศล ถึงที่ประทับแล้วกราบทูล ณ ที่ใกล้พระกรรณของพระเจ้าปเสนทิโกศล
ว่า “ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระนางมัลลิกาเทวีประสูติพระธิดาแล้ว” เมื่อ
ราชบุรุษกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ไม่ทรงเบิกบานพระทัย
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงเบิกบาน
พระทัย” จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า
มหาบพิตรผู้เป็นใหญ่กว่าปวงชน
แท้จริง แม้หญิงบางคนก็ยังดีกว่า
ขอพระองค์จงชุบเลี้ยงไว้เถิด
หญิงผู้มีปัญญา มีศีล บำรุงแม่ผัวพ่อผัวดุจเทวดา
จงรักภักดีต่อสามี ยังมีอยู่
บุรุษที่เกิดจากหญิงนั้นย่อมแกล้วกล้า เป็นใหญ่ในทิศได้
บุตรของภรรยาดีเช่นนั้น ก็ครองราชสมบัติได้

ธีตุสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๗. ปฐมอัปปมาทสูตร

๗. ปฐมอัปปมาทสูตร
ว่าด้วยความไม่ประมาท สูตรที่ ๑

[๑๒๘] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ คือ
ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในภายหน้า มีอยู่หรือ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดประโยชน์ทั้งสอง
ไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบันนี้ และประโยชน์ในภายหน้า มีอยู่”
พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึด
ประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบันนี้ และประโยชน์ในภายหน้า คืออะไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดประโยชน์ในปัจจุบัน
และประโยชน์ในภายหน้าไว้ได้ คือ ความไม่ประมาท รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายที่
สัญจรไปบนแผ่นดินชนิดใดชนิดหนึ่ง รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมดย่อมรวมลงในรอย
เท้าช้าง บัณฑิตกล่าวว่า รอยเท้าช้างเป็นเลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นรอยใหญ่
ฉันใด มหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ คือประโยชน์ในปัจจุบัน
และประโยชน์ในภายหน้า คือ ความไม่ประมาท ก็ฉันนั้น”
พระผู้มีพระภาค ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
บุคคลเมื่อปรารถนาอายุ ความไม่มีโรค
วรรณะ สวรรค์ ความเกิดในตระกูลสูง
และความยินดีอย่างโอฬารต่อ ๆ ไป
พึงทำความไม่ประมาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๘. ทุติยอัปปมาทสูตร

บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญ
ความไม่ประมาทในการทำบุญ
บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมบรรลุประโยชน์ทั้งสอง
ธีรชนท่านเรียกว่า บัณฑิต
เพราะยึดประโยชน์ทั้งสองไว้ได้ คือ
ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในภายหน้า

ปฐมอัปปมาทสูตรที่ ๗ จบ

๘. ทุติยอัปปมาทสูตร
ว่าด้วยความไม่ประมาท สูตรที่ ๒

[๑๒๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความคิดคำนึงเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ผู้หลีกเร้นอยู่
ในที่สงัดอย่างนี้ว่า “ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วนั่นแล เป็นธรรมสำหรับ
ผู้มีมิตรดี๑ มีสหายดี๒ มีเพื่อนดี๓ ไม่ใช่สำหรับผู้มีมิตรเลว มีสหายเลว มีเพื่อนเลว”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น ธรรมที่อาตมภาพกล่าวไว้ดีแล้วนั่นแล เป็นธรรมสำหรับผู้มีมิตรดี
มีสหายดี มีเพื่อนดี ไม่ใช่สำหรับผู้มีมิตรเลว มีสหายเลว มีเพื่อนเลว มหาบพิตร
ครั้งหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่นิคมของหมู่เจ้าศากยะ ชื่อว่านครกะ ในแคว้นสักกะ
ครั้งนั้น ภิกษุอานนท์เข้าไปหาอาตมภาพถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
มหาบพิตรได้กล่าวกับอาตมภาพว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี
มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์ กึ่งหนึ่ง”


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๘. ทุติยอัปปมาทสูตร

อาตมภาพกล่าวว่า “อย่ากล่าวอย่างนั้น อานนท์ อย่ากล่าวอย่างนั้น อานนท์
ที่จริง ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์๑ทั้งหมดทีเดียว
อานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรค
มีองค์ ๘ ทำอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มาก
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค
มีองค์ ๘ ให้มาก อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก (ความสงัด) อาศัยวิราคะ (ความ
คลายกำหนัด) อาศัยนิโรธ (ความดับ) น้อมไปในโวสสัคคะ (ความ
สละ)
๒. เจริญสัมมาสังกัปปะ ...
๓. เจริญสัมมาวาจา ...
๔. เจริญสัมมากัมมันตะ ...
๕. เจริญสัมมาอาชีวะ ...
๖. เจริญสัมมาวายามะ ...
๗. เจริญสัมมาสติ ...
๘. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไป
ในโวสสัคคะ
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ทำอริยมรรค
มีองค์ ๘ ให้มากอย่างนี้แล
อนึ่ง ข้อที่ว่าความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์
ทั้งหมดทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายนี้ ด้วยว่า เหล่าสัตว์ผู้มีชาติ(ความเกิด)
เป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชาติ ผู้มีชรา(ความแก่)เป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากชรา
ผู้มีมรณะ(ความตาย)เป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ(ความเศร้าโศก)


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๘. ทุติยอัปปมาทสูตร

ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส
(ความคับแค้นใจ)เป็นธรรมดา ย่อมพ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส
เพราะอาศัยเราผู้เป็นมิตรดี
อานนท์ ข้อที่ว่าความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี เป็นพรหมจรรย์
ทั้งหมดทีเดียวนั้น พึงทราบโดยปริยายนี้๑แล’
เพราะเหตุนั้นแล มหาบพิตร พระองค์พึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจักเป็นผู้
มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พระองค์ผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงอาศัย
ธรรมอย่างหนึ่งนี้ คือความไม่ประมาทในกุศลธรรม ทั้งหลายอยู่เถิด
มหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่ นางสนมผู้
ตามเสด็จจักมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่
เอาเถิด แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่’
มหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่ แม้พระบรม-
วงศานุวงศ์ ผู้ตามเสด็จจักมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัย
ความไม่ประมาทอยู่ เอาเถิด แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่
ประมาทอยู่’
มหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่ แม้กองทัพ
ก็จักมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่
เอาเถิด แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่’
มหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่ แม้ชาวนิคม
ชาวชนบทก็จักมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่
ประมาทอยู่ เอาเถิด แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่’


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๙. ปฐมอปุตตกสูตร

มหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทอยู่ แม้พระองค์
เองก็จักเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง รักษาแล้ว แม้ท้องพระคลังก็จักเป็นอันได้รับการ
คุ้มครอง รักษาแล้ว”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
เมื่อปรารถนาโภคะยิ่ง ๆ ขึ้นไป
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในการทำบุญ
บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมบรรลุประโยชน์ทั้งสอง
ธีรชนท่านเรียกว่า บัณฑิต
เพราะบรรลุประโยชน์ทั้งสอง คือ
ประโยชน์ในปัจจุบันและประโยชน์ในภายหน้า

ทุติยอัปปมาทสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปฐมอปุตตกสูตร
ว่าด้วยทรัพย์ที่ไม่มีบุตร สูตรที่ ๑

[๑๓๐] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแต่ยังวัน
ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิ-
โกศลดังนี้ว่า “เชิญเถิด มหาบพิตร พระองค์เสด็จมาจากไหนแต่ยังวัน”
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คหบดีผู้เป็นเศรษฐี
ในกรุงสาวัตถีนี้ ถึงแก่กรรมแล้ว ข้าพระองค์ให้ขนทรัพย์สมบัติที่ไม่มีบุตรนั้นมาไว้
ในพระราชวังแล้วจึงมาเข้าเฝ้า เฉพาะเงินเท่านั้นมี ๘,๐๐๐,๐๐๐ ส่วนเครื่องเงินนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๙. ปฐมอปุตตกสูตร

ไม่ต้องพูดถึง อนึ่ง คหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นได้บริโภคอาหารเช่นนี้ คือ บริโภค
ปลายข้าวกับน้ำผักดอง ได้ใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มเช่นนี้ คือ นุ่งห่มผ้าเนื้อหยาบที่ตัด
เป็นสามชิ้นเย็บติดกัน ได้ใช้ยานพาหนะเช่นนี้ คือ ใช้รถเก่า ๆ กั้นร่มทำด้วยใบไม้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น อสัตบุรุษได้โภคะมากมายแล้ว ไม่ทำตนให้มีความสุขสำราญ ไม่ทำ
มารดาและบิดาให้ได้รับความสุขสำราญ ไม่ทำบุตรและภรรยาให้ได้รับความสุขสำราญ
ไม่ทำทาสและกรรมกรให้ได้รับความสุขสำราญ ไม่ทำมิตรและอำมาตย์๑ให้ได้รับ
ความสุขสำราญ ไม่ตั้งทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน มีผลอันดี มีวิบากเป็นสุข
และเป็นไปเพื่อสวรรค์ไว้ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย โภคะเหล่านั้นของเขาที่มิได้ใช้
สอยโดยชอบอย่างนี้ พระราชาทั้งหลายริบไปบ้าง โจรทั้งหลายปล้นไปบ้าง ไฟ
ไหม้บ้าง น้ำพัดไปบ้าง ทายาททั้งหลายผู้ไม่เป็นที่รักนำไปบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้
โภคะเหล่านั้นของเขาที่มิได้ใช้สอยโดยชอบ ย่อมเสียไปเปล่าโดยไม่มีการใช้สอย
มหาบพิตร ในถิ่นอมนุษย์ มีสระโบกขรณีซึ่งมีน้ำใส เย็น จืดสนิท ใสสะอาด
มีท่าน้ำดี น่ารื่นรมย์ น้ำนั้นคนไม่ตักเอาไป ไม่ดื่ม ไม่อาบ หรือไม่ทำตามที่ต้องการ
เมื่อเป็นเช่นนี้ น้ำที่ไม่ได้ใช้สอยโดยชอบนั้น พึงเสียไปเปล่าโดยไม่มีการใช้สอย
แม้ฉันใด มหาบพิตร อสัตบุรุษได้โภคะมากมายแล้ว ไม่ทำตนให้ได้รับความสุข
สำราญ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะเหล่านั้นของเขาที่มิได้ใช้สอยโดยชอบ ย่อมเสีย
ไปเปล่าโดยไม่มีการใช้สอย ฉันนั้นเหมือนกัน
มหาบพิตร ส่วนสัตบุรุษได้โภคะมากมายแล้ว ทำตนให้ได้รับความสุขสำราญ
ทำมารดาและบิดาให้ได้รับความสุขสำราญ ทำบุตรและภรรยาให้ได้รับความสุขสำราญ
ทำทาสและกรรมกรให้ได้รับความสุขสำราญ ทำมิตรและอำมาตย์ให้ได้รับความสุข
สำราญ ตั้งทักษิณาอันมีผลในเบื้องบน มีผลอันดี มีวิบากเป็นสุข เป็นไปเพื่อสวรรค์


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๙. ปฐมอปุตตกสูตร

ไว้ในสมณพราหมณ์ทั้งหลาย โภคะเหล่านั้นของเขาที่ใช้สอยโดยชอบอยู่อย่างนี้
พระราชาทั้งหลายก็ริบไปไม่ได้ โจรทั้งหลายก็ปล้นเอาไปไม่ได้ ไฟก็ไหม้ไม่ได้
น้ำก็พัดไปไม่ได้ ทายาททั้งหลายผู้ไม่เป็นที่รักก็นำไปไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะ
เหล่านั้นของเขาที่ใช้สอยอยู่โดยชอบ ย่อมมีการใช้สอย ไม่เสียไปเปล่า
มหาบพิตร ในที่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน หรือนิคม มีสระโบกขรณี ซึ่งมีน้ำใส
เย็น จืดสนิท ใสสะอาด มีท่าน้ำดี น่ารื่นรมย์ น้ำนั้นคนตักไปบ้าง ดื่มบ้าง อาบบ้าง
ทำตามที่ต้องการบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ น้ำที่ใช้สอยอยู่โดยชอบนั้น ชื่อว่ามีการใช้สอย
ไม่เสียไปเปล่า แม้ฉันใด มหาบพิตร สัตบุรุษได้โภคะมากมายแล้ว ทำตนให้ได้รับ
ความสุขสำราญ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ โภคะเหล่านั้นของเขาที่ใช้สอยอยู่โดยชอบ
ย่อมมีการใช้สอย ไม่เสียไปเปล่า ฉันนั้นเหมือนกัน”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
น้ำเย็นในถิ่นอมนุษย์ที่ไม่ได้ใช้สอย
ย่อมเหือดแห้งไป ฉันใด
ทรัพย์ที่คนชั่วได้แล้ว ตนเองไม่ได้ใช้
และไม่ให้คนอื่นใช้ ก็เสียไปเปล่า ฉันนั้น
ส่วนวิญญูชนผู้มีปัญญานั้น ได้โภคะแล้ว
ย่อมใช้สอยและประกอบกิจการงาน
เขาเป็นคนอาจหาญ เลี้ยงดูหมู่ญาติ ไม่ถูกติเตียน
ย่อมเข้าถึงแดนสวรรค์

ปฐมอปุตตกสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๑๐. ทุติยอปุตตกสูตร

๑๐. ทุติยอปุตตกสูตร
ว่าด้วยทรัพย์ที่ไม่มีบุตร สูตรที่ ๒

[๑๓๑] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่ยังวัน
ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระเจ้า
ปเสนทิโกศลดังนี้ว่า “เชิญเถิด มหาบพิตร พระองค์เสด็จมาจากไหนแต่ยังวัน”
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คหบดีผู้เป็นเศรษฐี
ในกรุงสาวัตถีนี้ ถึงแก่กรรมแล้ว ข้าพระองค์ให้ขนทรัพย์สมบัติที่ไม่มีบุตรนั้นมาไว้
ในพระราชวังแล้วก็มาเข้าเฝ้า เฉพาะเงินเท่านั้นมี ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ส่วนเครื่องเงินนั้น
ไม่ต้องพูดถึง อนึ่ง คหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ได้บริโภคอาหารเช่นนี้ คือ บริโภคปลายข้าว
กับน้ำผักดอง ได้ใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มเช่นนี้ คือ นุ่งห่มผ้าเนื้อหยาบที่ตัดเป็นสามชิ้น
เย็บติดกัน ได้ใช้ยานพาหนะเช่นนี้ คือ ใช้รถเก่า ๆ กั้นร่มทำด้วยใบไม้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น เรื่องเคยมีมาแล้ว คหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ได้สั่งให้จัดเตรียม
บิณฑบาตถวายพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าพระนามว่าตครสิขีว่า ‘ท่านทั้งหลาย จงถวาย
อาหารบิณฑบาตแก่สมณะ’ แล้วลุกจากอาสนะเดินจากไป ภายหลังได้มีความ
เสียดายว่า ‘อาหารบิณฑบาตนี้ให้ทาสหรือกรรมกรบริโภคยังดีกว่า’ นอกจากนี้
เขายังปลิดชีวิตบุตรน้อยคนเดียวของพี่ชาย เพราะทรัพย์สมบัติเป็นเหตุอีกด้วย
มหาบพิตร ด้วยผลของกรรมที่คหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น สั่งให้จัดเตรียมอาหาร
บิณฑบาตถวายพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าพระนามว่าตครสิขี เขาจึงบังเกิดในสุคติโลก
สวรรค์ ๗ ครั้ง ด้วยเศษผลของกรรมนั้นเหมือนกัน ได้เป็นเศรษฐีในกรุงสาวัตถีนี้
แหละถึง ๗ ครั้ง
มหาบพิตร ด้วยผลของกรรมที่คหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นถวายอาหารบิณฑบาตแล้ว
ภายหลังได้มีความเสียดายว่า ‘อาหารบิณฑบาตนี้ให้ทาสหรือกรรมกรบริโภค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค ๑๐. ทุติยอปุตตกสูตร

ยังดีกว่า’ เขาจึงไม่คิดอยากบริโภคอาหารอันมากมาย ไม่คิดอยากใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่ม
อันมากมาย ไม่คิดอยากใช้ยานพาหนะอย่างโอ่อ่า ไม่คิดอยากบริโภคกาม-
คุณ ๕ ที่ดี ๆ
มหาบพิตร อนึ่ง ด้วยผลของกรรมที่คหบดีผู้เศรษฐีนั้นปลิดชีวิตบุตรน้อย
คนเดียวของพี่ชาย เพราะทรัพย์สมบัติเป็นเหตุ เขาจึงถูกไฟเผาอยู่ในนรกหลายปี
หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี ด้วยเศษผลของกรรมนั้นเหมือนกัน
ทรัพย์สมบัติที่ไม่มีบุตรรับเอา จึงถูกขนเข้าคลังหลวงนี้เป็นครั้งที่ ๗
มหาบพิตร ก็บุญเก่าของคหบดี ผู้เป็นเศรษฐีนั้นหมดสิ้นแล้ว และบุญใหม่ก็
ไม่ได้สะสมไว้ ในวันนี้ คหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นถูกไฟเผาอยู่ในมหาโรรุวนรก”
พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คหบดีผู้เป็นเศรษฐี
บังเกิดในมหาโรรุวนรกอย่างนั้นหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อย่างนั้น มหาบพิตร คหบดีผู้เป็นเศรษฐี
บังเกิดในมหาโรรุวนรกแล้ว”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงินทอง
สิ่งของที่หวงแหนอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือทาส กรรมกร คนรับใช้
และผู้อาศัยที่มีอยู่ ทั้งหมดนั้นเขานำไปไม่ได้
จำต้องละทิ้งไว้ทั้งหมด
อนึ่ง บุคคลทำกรรมใดทางกาย
ทางวาจา หรือทางใจ
กรรมนั้นแลเป็นสมบัติของเขา
ทั้งเขาจะนำกรรมนั้นไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๒. ทุติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

อนึ่งกรรมนั้นย่อมติดตามเขาไป
ดุจเงาติดตามตัวไป ฉะนั้น
เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี
สะสมไว้เป็นสมบัติในโลกหน้า
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า

ทุติยอปุตตกสูตรที่ ๑๐ จบ
วรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้คือ

๑. สัตตชฏิลสูตร ๒. ปัญจราชสูตร
๓. โฑณปากสูตร ๔. ปฐมสังคามสูตร
๕. ทุติยสังคามสูตร ๖. ธีตุสูตร
๗. ปฐมอัปปมาทสูตร ๘. ทุติยอัปปมาทสูตร
๙. ปฐมอปุตตกสูตร ๑๐. ทุติยอปุตตกสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๑. ปุคคลสูตร

๓. ตติยวรรค
หมวดที่ ๓
๑. ปุคคลสูตร
ว่าด้วยบุคคล ๔ ประเภท

[๑๓๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระเจ้า
ประเสนทิโกศลผู้ประทับนั่ง ณ ที่สมควรดังนี้ว่า “มหาบพิตร บุคคล ๔ จำพวก๑นี้
มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้มืดมาและมืดไป
๒. บุคคลผู้มืดมาแต่สว่างไป
๓. บุคคลผู้สว่างมาแต่มืดไป
๔. บุคคลผู้สว่างมาและสว่างไป
บุคคลผู้มืดมาและมืดไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ตระกูล
ช่างสาน ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างรถ หรือตระกูลคนเทขยะ เป็นตระกูล
ยากจน มีข้าว น้ำและสิ่งของเครื่องใช้น้อย เป็นไปอย่างฝืดเคือง เป็นแหล่งที่หา
ของกินและเครื่องนุ่งห่มได้ยาก และเขามีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย
มีความเจ็บป่วยมาก ตาบอด เป็นง่อย เป็นคนกระจอก หรือเป็นโรคอัมพาต
มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่อง
ประทีป และเขายังประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หลังจากตายแล้วจะไป
เกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๑. ปุคคลสูตร

อุปมาเหมือนบุรุษไปจากความมืดสู่ความมืดมิด หรือไปจากความมืดมัว
สู่ความมืดมัว หรือไปจากสายเลือดชั่วสู่สายเลือดชั่ว แม้ฉันใด มหาบพิตร ตถาคต
กล่าวว่า บุคคลนี้มีอุปไมยฉันนั้น บุคคลผู้มืดมาและมืดไป เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้มืดมาแต่สว่างไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ตระกูล
ช่างสาน ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างรถ หรือตระกูลคนเทขยะ เป็นตระกูล
ยากจน มีข้าว น้ำและสิ่งของเครื่องใช้น้อย เป็นไปอย่างฝืดเคือง เป็นแหล่งที่หา
ของกินและเครื่องนุ่งห่มได้ยาก และเขามีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย
มีความเจ็บป่วยมาก ตาบอด เป็นง่อย เป็นคนกระจอก หรือเป็นโรคอัมพาต
มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และ
เครื่องประทีป แต่เขาประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้ว
จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
อุปมาเหมือนบุรุษขึ้นจากแผ่นดินสู่บัลลังก์ หรือขึ้นจากบัลลังก์สู่หลังม้า หรือ
ขึ้นจากหลังม้าสู่คอช้าง หรือขึ้นจากคอช้างสู่ปราสาท แม้ฉันใด มหาบพิตร ตถาคต
กล่าวว่า บุคคลนี้มีอุปไมยฉันนั้น บุคคลผู้มืดมาแต่สว่างไป เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้สว่างมาแต่มืดไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูล
พราหมณมหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาล เป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก
มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติ
มากมาย และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ได้ข้าว น้ำ
ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แต่เขา
ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๑. ปุคคลสูตร

อุปมาเหมือนบุรุษลงจากปราสาทสู่คอช้าง หรือลงจากคอช้างสู่หลังม้า หรือลง
จากหลังม้าสู่บัลลังก์ หรือลงจากบัลลังก์สู่พื้นดิน หรือลงจากพื้นดินเข้าสู่ที่มืด
แม้ฉันใด มหาบพิตร ตถาคตกล่าวว่า บุคคลนี้มีอุปไมยฉันนั้น บุคคลผู้สว่างมา
แต่มืดไป เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้สว่างมาและสว่างไป เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูล
พราหมณมหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาล เป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก
มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติ
มากมาย และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ได้ข้าว น้ำ
ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป และเขาก็
ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรค์
อุปมาเหมือนบุรุษก้าวไปด้วยดีจากบัลลังก์สู่บัลลังก์ หรือก้าวไปด้วยดีจากหลัง
ม้าสู่หลังม้า หรือก้าวไปด้วยดีจากคอช้างสู่คอช้าง หรือก้าวไปด้วยดีจากปราสาทสู่
ปราสาท แม้ฉันใด มหาบพิตร ตถาคตกล่าวว่า บุคคลนี้มีอุปไมยฉันนั้น บุคคล
ผู้สว่างมาและสว่างไป เป็นอย่างนี้แล
มหาบพิตร บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
มหาบพิตร บุรุษเข็ญใจไม่มีศรัทธา
เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น มีความดำริชั่ว
เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
ด่าบริภาษสมณะ หรือพราหมณ์ หรือวณิพกอื่น ๆ
เขาเป็นคนไม่มีประโยชน์ เป็นคนมักโกรธ
ย่อมห้ามคนที่กำลังจะให้สิ่งของเครื่องใช้แก่คนที่กำลังขอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๑. ปุคคลสูตร

มหาบพิตรผู้เป็นใหญ่กว่าปวงชน
คนเช่นนั้นเมื่อตายแล้วย่อมเข้าถึงนรกอันโหดร้าย
บุคคลประเภทนี้ ชื่อว่าผู้มืดมาและมืดไป
มหาบพิตร บุรุษเข็ญใจ แต่มีศรัทธา
ไม่มีความตระหนี่ มีความดำริประเสริฐ
มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมให้ทาน
ย่อมลุกรับสมณะ หรือพราหมณ์ หรือวณิพกอื่น ๆ
ย่อมสำเหนียกในจรรยาอันเรียบร้อย
ไม่ห้ามคนที่กำลังจะให้สิ่งของเครื่องใช้แก่คนที่กำลังขอ
มหาบพิตรผู้เป็นใหญ่กว่าปวงชน
คนเช่นนั้นเมื่อตายแล้ว ย่อมเข้าถึงไตรทิพยสถาน
บุคคลประเภทนี้ ชื่อว่าผู้มืดมาแต่สว่างไป
มหาบพิตร บุรุษมั่งมี แต่ไม่มีศรัทธา
เป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น มีความดำริชั่ว
เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
ด่าบริภาษสมณะ หรือพราหมณ์ หรือวณิพกอื่น ๆ
เขาเป็นคนไม่มีประโยชน์ เป็นคนมักโกรธ
ย่อมห้ามคนที่กำลังจะให้สิ่งของเครื่องใช้แก่คนที่กำลังขอ
มหาบพิตรผู้เป็นใหญ่กว่าปวงชน
คนเช่นนั้นเมื่อตายแล้วย่อมเข้าถึงนรกอันโหดร้าย
บุคคลประเภทนี้ ชื่อว่าผู้สว่างมาและมืดไป
มหาบพิตร บุรุษมั่งมี ทั้งมีศรัทธา
ไม่มีความตระหนี่ มีความดำริประเสริฐ
มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมให้ทาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๒. อัยยิกาสูตร

ย่อมลุกรับสมณะ หรือพราหมณ์ หรือวณิพกอื่น ๆ
ย่อมสำเหนียกในจรรยาอันเรียบร้อย
ไม่ห้ามคนที่กำลังจะให้สิ่งของเครื่องใช้แก่คนที่กำลังขอ
มหาบพิตรผู้เป็นใหญ่กว่าปวงชน
คนเช่นนั้นเมื่อตายแล้ว ย่อมเข้าถึงไตรทิพยสถาน
บุคคลประเภทนี้ ชื่อว่าผู้สว่างมาและสว่างไป

ปุคคลสูตรที่ ๑ จบ

๒. อัยยิกาสูตร
ว่าด้วยพระอัยยิกาของพระเจ้าปเสนทิโกศล

[๑๓๓] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
แต่ยังวัน ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับ
พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้ประทับนั่ง ณ ที่สมควรดังนี้ว่า “เชิญเถิดมหาบพิตร พระองค์
เสด็จมาจากไหนแต่ยังวัน”
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอัยยิกาของ
ข้าพระองค์ ทรงพระชรา แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัย มีพระชนม์ ๑๒๐ ชันษา
ได้ทิวงคตเสียแล้ว พระองค์เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของข้าพระองค์มาก พระพุทธเจ้าข้า
หากข้าพระองค์ใช้ช้างแก้วแลกแล้วจะพึงได้สมหวังว่า ‘ขอพระอัยยิกาของเรา
อย่าได้ทิวงคตเลย’ ข้าพระองค์ก็พึงให้แม้ซึ่งช้างแก้วเพื่อให้ได้สมหวังว่า ‘ขอพระ
อัยยิกาของเราอย่าได้ทิวงคตเลย’
หากข้าพระองค์ใช้ม้าแก้วแลกแล้วจะพึงได้สมหวังว่า ‘ขอพระอัยยิกาของเรา
อย่าได้ทิวงคตเลย’ ข้าพระองค์ก็พึงให้แม้ซึ่งม้าแก้วเพื่อให้ได้สมหวังว่า ‘ขอพระ
อัยยิกาของเราอย่าได้ทิวงคตเลย’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๒. อัยยิกาสูตร

หากข้าพระองค์ใช้บ้านส่วยแลกแล้วจะพึงได้สมหวังว่า ‘ขอพระอัยยิกาของเรา
อย่าได้ทิวงคตเลย’ ข้าพระองค์ก็พึงให้แม้ซึ่งบ้านส่วยเพื่อให้ได้สมหวังว่า ‘ขอพระ
อัยยิกาของเราอย่าได้ทิวงคตเลย’
หากข้าพระองค์ใช้ชนบทแลกแล้วจะพึงได้สมหวังว่า ‘ขอพระอัยยิกาของเรา
อย่าได้ทิวงคตเลย’ ข้าพระองค์ก็พึงให้แม้ซึ่งชนบทเพื่อให้ได้สมหวังว่า ‘ขอพระอัยยิกา
ของเราอย่าได้ทิวงคตเลย’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัส
เรื่องนี้ไว้ดียิ่งนักว่า ‘สัตว์ทั้งปวงมีความตายเป็นธรรมดา มีความตายเป็นที่สุด
ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น สัตว์ทั้งปวงมีความตายเป็นธรรมดา มีความตายเป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้น
ความตายไปได้ มหาบพิตร ภาชนะดินชนิดใดชนิดหนึ่ง ทั้งดิบและสุก ภาชนะดิน
เหล่านั้นทั้งหมด มีความแตกเป็นธรรมดา มีความแตกเป็นที่สุด ไม่พ้นความแตก
ไปได้ แม้ฉันใด มหาบพิตร สัตว์ทั้งปวงก็มีความตายเป็นธรรมดา มีความตาย
เป็นที่สุด ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ฉันนั้นเหมือนกัน”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
สัตว์ทั้งปวงจักตาย เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด
สัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม เข้าถึงผลบุญและบาป
คือ ผู้ทำบาปจักไปนรก ส่วนผู้ทำบุญจักไปสวรรค์
เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี
สะสมไว้เป็นสมบัติในโลกหน้า
เพราะบุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า

อัยยิกาสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต] ๓. ตติยวรรค ๓. โลกสูตร

๓. โลกสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ไม่เกิดประโยชน์แก่ชาวโลก

[๑๓๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมเท่าไรหนอ เมื่อเกิดขึ้นแก่ชาวโลกย่อมเกิดขึ้น
เพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ธรรม ๓ ประการ เมื่อเกิดขึ้นแก่ชาวโลก
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โลภธรรม เมื่อเกิดขึ้นแก่ชาวโลกย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์
เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
๒. โทสธรรม เมื่อเกิดขึ้นแก่ชาวโลกย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์
เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
๓. โมหธรรม เมื่อเกิดขึ้นแก่ชาวโลกย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์
เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
มหาบพิตร ธรรม ๓ ประการนี้แล เมื่อเกิดขึ้นแก่ชาวโลกย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่
เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
โลภะ โทสะ และโมหะเกิดขึ้นภายในตน
ย่อมทำร้ายบุรุษผู้มีจิตเลวทราม
ดุจขุยไผ่กำจัดต้นไผ่ ฉะนั้น๑

โลกสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๓. ตติยวรรค ๔. อิสสัตถสูตร

๔. อิสสัตถสูตร
ว่าด้วยทานที่ประกอบด้วยองค์ ๕ มีผลมาก

[๑๓๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลควรให้ทาน ณ ที่ไหน”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาบพิตร จิตเลื่อมใสในที่ใดล่ะ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานที่ให้ในที่ไหนจึงมีผลมาก”
“มหาบพิตร บุคคลควรให้ทานในที่ไหน นั่นประการหนึ่ง และทานที่ให้ในที่ไหน
จึงมีผลมาก นั่นประการหนึ่ง ทานที่ให้แก่ผู้มีศีลมีผลมาก ทานที่ให้ในผู้ทุศีลไม่มีผลมาก
ด้วยเหตุนั้น อาตมภาพจักย้อนถามพระองค์ในปัญหาข้อนั้นบ้าง พระองค์พอพระทัย
อย่างใดพึงชี้แจงอย่างนั้น พระองค์จะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ณ ที่นี้
การยุทธ์พึงปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ สงครามพึงประชิดกัน ถ้ากษัตริย์
หนุ่มเป็นผู้ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ฝึกปรือ ไม่มีความชำนาญ ไม่ได้ประลองการยิง เป็นคน
ขลาด หวาดสะดุ้ง มักวิ่งหนี มาอาสา พระองค์พึงชุบเลี้ยงคนนั้นหรือ และพระองค์
พึงต้องการคนเช่นนั้นหรือ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่พึงชุบเลี้ยงคนนั้น และข้าพระองค์
ไม่ต้องการคนเช่นนั้นเลย”
“ถ้าพราหมณ์หนุ่มเป็นผู้ไม่ได้ศึกษา ฯลฯ มาอาสา ฯลฯ ถ้าแพศย์หนุ่มเป็น
ผู้ไม่ได้ศึกษา ฯลฯ มาอาสา ฯลฯ ถ้าศูทรหนุ่มเป็นผู้ไม่ได้ศึกษา ฯลฯ มาอาสา
พระองค์พึงชุบเลี้ยงคนนั้นหรือ และพระองค์พึงต้องการคนเช่นนั้นหรือ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่พึงชุบเลี้ยงคนนั้น และข้าพระองค์
ไม่ต้องการคนเช่นนั้นเลย”
“มหาบพิตร พระองค์จะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ณ ที่นี้การยุทธ์
พึงปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ สงครามพึงประชิดกัน ถ้ากษัตริย์หนุ่มเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๓. ตติยวรรค ๔. อิสสัตถสูตร

ผู้ศึกษาดีแล้ว ได้ฝึกปรือแล้ว มีความชำนาญ ได้ฝึกการยิงมาแล้ว ไม่เป็นคน
ขลาด ไม่หวาดสะดุ้ง ไม่หลบหนี มาอาสา พระองค์พึงชุบเลี้ยงคนนั้นหรือ
และพระองค์พึงต้องการคนเช่นนั้นหรือ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงชุบเลี้ยงคนนั้น และข้าพระองค์พึง
ต้องการคนเช่นนั้น”
“ถ้าพราหมณ์หนุ่มเป็นผู้ศึกษาดีแล้ว ฯลฯ มาอาสา ฯลฯ ถ้าแพศย์หนุ่ม
เป็นผู้ศึกษาดีแล้ว ฯลฯ มาอาสา ฯลฯ ถ้าศูทรหนุ่มเป็นผู้ศึกษาดีแล้ว ฯลฯ
มาอาสา พระองค์พึงชุบเลี้ยงคนนั้นหรือ และพระองค์พึงต้องการคนเช่นนั้นหรือ”
“ฉันนั้นนั่นแล มหาบพิตร แม้หากว่ากุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
จากตระกูลใด และกุลบุตรนั้นเป็นผู้ละองค์ ๕ เป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ทานที่ให้
แล้วในกุลบุตรนั้นจากตระกูลนั้น ย่อมมีผลมาก”
องค์ ๕ อะไรบ้างอันกุลบุตรนั้นละได้ คือ
๑. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) อันกุลบุตรนั้นละได้
๒. พยาบาท (ความคิดปองร้าย) อันกุลบุตรนั้นละได้
๓. ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) อันกุลบุตรนั้นละได้
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) อันกุลบุตรนั้นละได้
๕. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) อันกุลบุตรนั้นละได้
องค์ ๕ นี้แลอันกุลบุตรนั้นละได้
กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อะไรบ้าง
คือ กุลบุตรนั้น
๑. เป็นผู้ประกอบด้วยสีลขันธ์ของพระอเสขะ
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยสมาธิขันธ์ของพระอเสขะ
๓. เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาขันธ์ของพระอเสขะ
๔. เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์ของพระอเสขะ
๕. เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ของพระอเสขะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๓. ตติยวรรค ๔. อิสสัตถสูตร

กุลบุตรนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ นี้แล ทานที่ให้แล้วในกุลบุตรผู้ละองค์ ๕
ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมมีผลมาก”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ศิลปะธนู กำลัง และความเพียร๑มีอยู่ในชายใด
พระราชาผู้ทรงการยุทธ์พึงชุบเลี้ยงชายหนุ่มผู้เช่นนั้น
ไม่พึงชุบเลี้ยงชายหนุ่มผู้ไม่กล้าหาญ
เพราะเหตุแห่งชาติ ฉันใด
ธรรมคือขันติและโสรัจจะ๒ตั้งอยู่ในบุคคลใด
บุคคลพึงบูชาบุคคลนั้นผู้มีปัญญา
มีความประพฤติเยี่ยงพระอริยะ
แม้มีชาติตระกูลต่ำ ฉันนั้นเหมือนกัน
บุคคลพึงสร้างอาศรมอันเป็นที่รื่นรมย์
อาราธนาพระพหูสูตทั้งหลายให้อยู่ ณ ที่นั้น
พึงสร้างบ่อน้ำไว้ในป่าที่กันดารน้ำ
และสร้างสะพานในที่เป็นหล่ม
พึงถวายข้าว น้ำ ของเคี้ยว ผ้าและเสนาสนะ
ในท่านผู้ซื่อตรงทั้งหลาย ด้วยใจอันเลื่อมใส
เมฆมีสายฟ้าแลบแปลบปลาบ
มียอดตั้งร้อย คำรามอยู่ ตกรดแผ่นดิน
ทำที่ดอนและที่ลุ่มให้เต็ม แม้ฉันใด


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๓. ตติยวรรค ๕. ปัพพโตปมสูตร

ทายกผู้มีศรัทธา เป็นบัณฑิตได้ฟังแล้ว
ตกแต่งโภชนาหาร เลี้ยงวณิพกด้วยข้าวน้ำให้อิ่มหนำ
เที่ยวไปในโรงทาน สั่งว่า ท่านทั้งหลายจงให้ ท่านทั้งหลายจงให้
และทายกนั้นบันลือเสียงเหมือนเมฆคำราม
เมื่อฝนกำลังตก สายธารแห่งบุญอันไพบูลย์นั้น
ย่อมหลั่งรดทายกผู้ให้ ฉันนั้น

อิสสัตถสูตรที่ ๔ จบ

๕. ปัพพโตปมสูตร
ว่าด้วยชราและมรณะเป็นประดุจภูเขา

[๑๓๖] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแต่
ยังวัน ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระเจ้า
ปเสนทิโกศลผู้ประทับนั่ง ณ ที่สมควรดังนี้ว่า “เชิญเถิดมหาบพิตร พระองค์เสด็จ
มาจากไหนแต่ยังวัน”
พระเจ้าประเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กษัตราธิราชผู้ได้
มูรธาภิเษกแล้ว มัวเมาเพราะความเป็นใหญ่ ถูกความกำหนัดในกามกลุ้มรุมแล้ว
ผู้ถึงซึ่งความมั่นคงในชนบท ชนะปฐพีมณฑลใหญ่แล้วครอบครองอยู่ มีราช-
กรณียกิจอันใด บัดนี้ ข้าพระองค์ก็ขวนขวายในราชกรณียกิจอันนั้น”
“มหาบพิตร พระองค์จะทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ณ ที่นี้ ราชบุรุษ
ของพระองค์ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจาเป็นหลักฐาน มาจากทิศตะวันออก เข้ามาเฝ้า
พระองค์แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระองค์
มาจากทิศตะวันออก ณ ที่นั้นได้เห็นภูเขาใหญ่สูงเทียมเมฆกำลังกลิ้งบดสัตว์ทั้งปวง
พระเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงกระทำสิ่งที่พึงกระทำเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๓. ตติยวรรค ๕. ปัพพโตปมสูตร

ลำดับนั้น บุรุษคนที่ ๒ ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจาเป็นหลักฐาน มาจากทิศ
ตะวันตก ฯลฯ
ต่อจากนั้น บุรุษคนที่ ๓ ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจาเป็นหลักฐาน มาจากทิศเหนือ
ฯลฯ
ต่อจากนั้น บุรุษคนที่ ๔ ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจาเป็นหลักฐาน มาจากทิศใต้
เข้ามาเฝ้าพระองค์แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระองค์
มาจากทิศใต้ ณ ที่นั้น ได้เห็นภูเขาใหญ่สูงเทียมเมฆกำลังกลิ้งบดสัตว์ทั้งปวง
พระเจ้าข้า ขอพระองค์ทรงกระทำสิ่งที่พึงกระทำเถิด’ เมื่อมหาภัยร้ายกาจ ที่จะทำ
ให้มนุษย์สิ้นชีวิต อันใหญ่หลวงเห็นปานนี้ บังเกิดขึ้นแล้วแก่พระองค์ อะไรเล่าจะเป็น
กิจที่พระองค์ควรกระทำในฐานะเป็นมนุษย์ที่หาได้ยาก”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อมหาภัยร้ายกาจ ที่จะทำให้มนุษย์สิ้นชีวิต อันใหญ่
หลวงเห็นปานนี้ บังเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ อะไรเล่าจะเป็นกิจที่ข้าพระองค์ควรกระทำ
ในฐานะเป็นมนุษย์ที่หาได้ยาก นอกจากปฏิบัติธรรมให้เสมอต้นเสมอปลาย สร้างบุญ
กุศลเอาไว้”
“มหาบพิตร อาตมภาพขอถวายพระพรให้ทรงทราบ ชราและมรณะย่อม
ครอบงำพระองค์ เมื่อชราและมรณะครอบงำพระองค์อยู่ อะไรเล่าจะเป็นกิจที่พระองค์
ควรกระทำ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อชราและมรณะครอบงำข้าพระองค์อยู่ อะไรเล่า
จะเป็นกิจที่ข้าพระองค์ควรกระทำ นอกจากปฏิบัติธรรมให้เสมอต้นเสมอปลาย
สร้างบุญกุศลเอาไว้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กษัตราธิราชผู้ได้มูรธาภิเษกแล้ว มัวเมา
เพราะความเป็นใหญ่ ถูกความกำหนัดในกามกลุ้มรุมแล้ว ผู้ถึงความมั่นคงในชนบท
ผู้ชนะปฐพีมณฑลใหญ่แล้วครอบครองอยู่ ทรงทำการรบด้วยพลช้างเหล่าใด เมื่อชรา
และมรณะครอบงำอยู่ ก็ไม่ใช่คติ ไม่ใช่วิสัยที่จะทำการรบด้วยพลช้างแม้เหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๓. ตติยวรรค ๕. ปัพพโตปมสูตร

กษัตราธิราชผู้ได้มูรธาภิเษกแล้ว ฯลฯ ผู้ชนะปฐพีมณฑลใหญ่แล้วครอบครองอยู่
ทรงทำการรบด้วยพลม้าเหล่าใด ฯลฯ รบด้วยพลรถเหล่าใด ฯลฯ รบด้วยพลเดิน
เท้าแม้เหล่าใด เมื่อชราและมรณะครอบงำอยู่ ก็ไม่ใช่คติ ไม่ใช่วิสัยที่จะทำการรบ
ด้วยพลเดินเท้าแม้เหล่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในราชตระกูลนี้ มหาอำมาตย์
ผู้มีมนตร์ ซึ่งสามารถจะใช้มนตร์ทำลายข้าศึกที่ยกทัพมา ก็มีอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อ
ชราและมรณะครอบงำอยู่ ก็ไม่ใช่คติ ไม่ใช่วิสัยที่จะทำการรบด้วยมนตร์แม้เหล่านั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่ง ในราชตระกูลนี้ เงินทองทั้งที่อยู่ในพื้นดิน ทั้งที่อยู่ใน
อากาศซึ่งพวกข้าพระองค์สามารถจะใช้เป็นเครื่องมือยุแหย่ให้ข้าศึกที่ยกทัพมาแตกกัน
ก็มีอยู่เป็นอันมาก แต่เมื่อชราและมรณะครอบงำก็ไม่ใช่คติ ไม่ใช่วิสัยที่จะทำการรบ
ด้วยทรัพย์แม้เหล่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แลเมื่อชราและมรณะครอบงำอยู่
อะไรเล่าจะเป็นกิจที่ข้าพระองค์ควรกระทำ นอกจากปฏิบัติธรรมให้เสมอต้นเสมอปลาย
สร้างบุญกุศลเอาไว้”
“มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ก็เมื่อชราและ
มรณะครอบงำอยู่ อะไรเล่าจะเป็นกิจที่พระองค์ควรกระทำนอกจากปฏิบัติธรรมให้
เสมอต้นเสมอปลาย สร้างบุญกุศลเอาไว้”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ฯลฯ จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ภูเขาใหญ่ล้วนแล้วด้วยศิลา สูงจดท้องฟ้า
กลิ้งบดสัตว์มาโดยรอบทั้ง ๔ ทิศ แม้ฉันใด
ชราและมรณะก็ฉันนั้น
ย่อมครอบงำสัตว์ทั้งหลาย คือ พวกกษัตริย์
พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล และคนเทขยะ
ไม่เว้นใคร ๆ ไว้เลย ย่อมย่ำยีเหล่าสัตว์ทั้งสิ้น
ณ ที่นั้น ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลช้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๓. โกสลสังยุต]
๓. ตติยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

(พลม้า) พลรถ พลเดินเท้า
และไม่อาจจะเอาชนะแม้ด้วยมนตร์หรือด้วยทรัพย์
เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญา
เมื่อเห็นประโยชน์ตน พึงตั้งศรัทธาไว้ในพระพุทธเจ้า
พระธรรม และพระสงฆ์
ผู้ใดมีปกติประพฤติธรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้นในโลกนี้โดยแท้
ผู้นั้นละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์

ปัพพโตปมสูตรที่ ๕ จบ
วรรคที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปุคคลสูตร ๒. อัยยิกาสูตร
๓. โลกสูตร ๔. อิสสัตถสูตร
๕. ปัพพโตปมสูตร

พระสูตรว่าด้วยกุศล ๕ สูตรนี้ พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงแสดงไว้แล้ว

โกสลสังยุต จบบริบูรณ์


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๑. ตโปกัมมสูตร

๔. มารสังยุต
๑. ปฐมวรรค
หมวดที่ ๑
๑. ตโปกัมมสูตร
ว่าด้วยการบำเพ็ญตบะ

[๑๓๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธใกล้ฝั่ง
แม้น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด
เกิดความรำพึงอย่างนี้ว่า “เราเป็นผู้พ้นแล้วหนอจากทุกกรกิริยานั้น เราเป็นผู้
พ้นดีแล้วหนอจากทุกกรกิริยาอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์นั้น เราเป็นผู้บรรลุโพธิ-
ญาณแล้ว”
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้ทราบความรำพึงของพระผู้มีพระภาคด้วยใจ จึงเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
มาณพทั้งหลายบริสุทธิ์ได้
ด้วยการบำเพ็ญตบะใด
ท่านหลีกจากการบำเพ็ญตบะนั้นแล้ว
เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ สำคัญว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
ท่านพลาดจากทางแห่งความบริสุทธิ์แล้ว
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงตรัสกับมาร
ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
เรารู้แล้วว่าตบะอื่นๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔.มารสังยุต] ๑.ปฐมวรรค ๒. นาคสูตร

ตบะทั้งปวงหาอำนวยประโยชน์ให้ไม่
ดุจไม้พายหรือไม้ถ่อ ไม่อำนวยประโยชน์บนบก ฉะนั้น
จึงเจริญมรรค คือ ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อตรัสรู้
เป็นผู้บรรลุความบริสุทธิ์อย่างยอดเยี่ยมแล้ว
มารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

ตโปกัมมสูตรที่ ๑ จบ

๒. นาคสูตร
ว่าด้วยมารแปลงกายเป็นพญาช้าง

[๑๓๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธใกล้ฝั่ง
แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งในที่กลางแจ้ง
ในราตรีอันมืดมิด และฝนกำลังตกประปรายอยู่
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปต้องการจะให้ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพอง
สยองเกล้าเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค จึงแปลงกายเป็นพญาช้างใหญ่ เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พญาช้างนั้นมีศีรษะเหมือนก้อนหินใหญ่สีดำสนิท มีงา
ทั้งสองสีเหมือนเงินยวง มีงวงเหมือนงอนไถใหญ่
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงตรัสกับมาร
ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
ท่านแปลงกายทั้งที่งามและไม่งาม
ท่องเที่ยวอยู่ตลอดกาลอันยาวนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๓. สุภสูตร

มารผู้มีบาปเอ๋ย พอกันทีสำหรับการแปลงกายของท่าน
มารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

นาคสูตรที่ ๒ จบ

๓. สุภสูตร
ว่าด้วยร่างกายที่งาม

[๑๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ประทับอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธใกล้ฝั่ง
แม้น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งในที่กลางแจ้ง
ในราตรีอันมืดมิด และฝนกำลังตกประปรายอยู่
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปต้องการจะให้ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพอง
สยองเกล้าเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว
แสดงเพศต่าง ๆ หลากหลาย ทั้งที่งามและไม่งาม ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงตรัสกับมาร
ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
ท่านแปลงกายทั้งที่งามและไม่งาม
ท่องเที่ยวอยู่ตลอดกาลอันยาวนาน
มารผู้มีบาปเอ๋ย พอกันทีสำหรับการแปลงกายของท่าน
มารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๔. ปฐมมารปาสสูตร

ชนเหล่าใดสำรวมกาย วาจา ใจดีแล้ว
ชนเหล่านั้นย่อมไม่ตกอยู่ในอำนาจของมาร
ชนเหล่านั้นย่อมไม่เดินตามหลังมาร
ครั้งนั้น มารผู้มีบาป ฯลฯ จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

สุภสูตรที่ ๓ จบ

๔. ปฐมมารปาสสูตร
ว่าด้วยบ่วงแห่งมาร สูตรที่ ๑

[๑๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุง
พาราณสี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย วิมุตติ(ความหลุดพ้น) อันยอดเยี่ยมเราบรรลุแล้ว วิมุตติอัน
ยอดเยี่ยมเรากระทำให้แจ้งแล้ว เพราะมนสิการโดยแยบคาย เพราะตั้งความเพียรไว้
ชอบโดยแยบคาย แม้เธอทั้งหลายก็จงบรรลุวิมุตติอันยอดเยี่ยม จงกระทำวิมุตติ
อันยอดเยี่ยมให้แจ้ง เพราะมนสิการโดยแยบคาย เพราะตั้งความเพียรไว้ชอบโดย
แยบคายเถิด”
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ท่านได้ถูกบ่วงแห่งมาร ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ คล้องไว้แล้ว
ท่านได้ถูกเครื่องผูกของมารผูกไว้แล้ว
สมณะ ท่านไม่พ้นจากเราไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๕. ทุติยมารปาสสูตร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงตรัสกับมาร
ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
เราได้พ้นแล้วจากบ่วงแห่งมาร
ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์
เราได้พ้นแล้วจากเครื่องผูกของมาร
มารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว
ครั้งนั้น มารผู้มีบาป ฯลฯ จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

ปฐมมารปาสสูตรที่ ๔ จบ

๕. ทุติยมารปาสสูตร
ว่าด้วยบ่วงแห่งมาร สูตรที่ ๒

[๑๔๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุง
พาราณสี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของ
มนุษย์ แม้พวกเธอก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์
พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พวกเธออย่าได้
ไปโดยทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามใน
ท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๕. ทุติยมารปาสสูตร

พยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีในตาน้อยมีอยู่
ย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม จักมีผู้รู้ธรรม ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบล
อุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม”
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ท่านได้ถูกบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ คล้องไว้แล้ว
ท่านได้ถูกเครื่องพันธนาการมากมายผูกไว้แล้ว
สมณะ ท่านไม่พ้นจากเราไปได้
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงตรัสกับมาร
ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง
ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์
เราได้พ้นแล้วจากเครื่องพันธนาการมากมาย
มารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว๑
ครั้งนั้น มารผู้มีบาป ฯลฯ จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

ทุติยมารปาสสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๖. สัปปสูตร

๖. สัปปสูตร
ว่าด้วยมารแปลงกายเป็นพญางู

[๑๔๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งในที่กลางแจ้ง ในราตรีอัน
มืดมิด และฝนกำลังตกประปรายอยู่
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปต้องการจะให้ความกลัว ความหวาดสะดุ้ง ความขนพอง
สยองเกล้าเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค จึงแปลงกายเป็นพญางูใหญ่ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ พญางูนั้นมีกายเหมือนเรือลำใหญ่ที่ขุดด้วยซุงทั้งต้น มีพังพาน
เหมือนเสื่อลำแพนผืนใหญ่สำหรับปูตากแป้งของช่างทำสุรา มีนัยน์ตาเหมือนถาด
สำริดใบใหญ่ของพระเจ้าโกศล มีลิ้นแลบออกจากปากเหมือนสายฟ้าแลบในขณะที่
เมฆกำลังกระหึ่ม มีเสียงหายใจเข้าหายใจออกเหมือนเสียงสูบของช่างทองที่กำลัง
พ่นลมอยู่ ฉะนั้น
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงตรัสกับมาร
ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
มุนีใดอาศัยเรือนว่างอยู่
มุนีนั้นสำรวมตนได้แล้ว
เขาสละความอาลัยในอัตภาพนั้นเที่ยวไป
เพราะการสละความอาลัยในอัตภาพแล้วเที่ยวไปนั้น
เหมาะสมแก่ผู้เช่นนั้น
สัตว์ที่สัญจรไปมาก็มาก สิ่งที่น่ากลัวก็มาก
อนึ่ง เหลือบและสัตว์เลื้อยคลานก็ชุกชุม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๗. สุปติสูตร

แต่มหามุนีผู้อยู่ในเรือนว่าง
ไม่หวั่นไหวเพราะสิ่งที่น่ากลัวเหล่านั้นแม้เพียงขนลุก
ถึงแม้ท้องฟ้าจะแตก แผ่นดินจะไหว
สัตว์ทั้งหลายจะสะดุ้งกลัวกันก็ตามที
ถึงแม้หอกจะจ่ออยู่ที่อกก็ตามเถิด
พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ไม่ทรงป้องกันตัว
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

สัปปสูตรที่ ๖ จบ

๗. สุปติสูตร
ว่าด้วยการบรรทม

[๑๔๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ในที่กลางแจ้งเกือบตลอด
ราตรี ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ทรงล้างพระบาทแล้วเสด็จเข้าพระวิหาร ทรงสำเร็จ
สีหไสยาโดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ
ทรงทำความหมายรู้ที่จะเสด็จลุกขึ้นไว้ในพระทัย
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ท่านหลับหรือ ทำไมท่านยังหลับอยู่เล่า
ท่านหลับเหมือนตายเชียวหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๘. นันทนสูตร

ท่านหลับโดยคิดว่า ‘เราได้เรือนว่าง’ อย่างนั้นหรือ
เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นสูงแล้ว ทำไมท่านยังหลับอยู่เล่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงตรัสกับมาร
ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
ผู้ไม่มีตัณหาดุจตาข่ายซึ่งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ
ที่จะนำไปสู่ภพไหน ๆ ถึงหลับอยู่ก็ชื่อว่าตื่น
เพราะอุปธิทั้งปวง๑สิ้นไป
เรื่องอะไรของท่านในเรื่องนี้เล่า มาร
ครั้งนั้น มารผู้มีบาป ฯลฯ จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

สุปติสูตรที่ ๗ จบ

๘. นันทนสูตร
ว่าด้วยความยินดี

[๑๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับแล้วได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
คนมีบุตรย่อมยินดีเพราะบุตร
คนมีโคย่อมยินดีเพราะโคเหมือนกัน
เพราะอุปธิทำให้นรชนยินดี
ฉะนั้นคนที่ไร้อุปธิจึงไม่ยินดี


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๑. ปฐมวรรค ๙. ปฐมอายุสูตร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงตรัสกับมาร
ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
คนมีบุตรย่อมเศร้าโศกเพราะบุตร
คนมีโคย่อมเศร้าโศกเพราะโคเหมือนกัน
เพราะอุปธิทำให้นรชนเศร้าโศก
ฉะนั้นคนที่ไร้อุปธิจึงไม่เศร้าโศก๑
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

นันทนสูตรที่ ๘ จบ

๙. ปฐมอายุสูตร
ว่าด้วยอายุ สูตรที่ ๑

[๑๔๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อยนัก จำต้องไปสู่สัมปรายภพ
ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ สัตว์ผู้เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ภิกษุ
ทั้งหลาย คนที่มีชีวิตอยู่ได้นานก็อยู่ได้เพียง ๑๐๐ ปี หรือจะอยู่เกินไปบ้างก็มีน้อย”


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต]
๑. ปฐมวรรค ๑๐. ทุติยอายุสูตร

ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
มนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืนยาว
คนดีไม่ควรดูหมิ่นอายุนั้นเลย
ควรทำตัวเหมือนเด็กอ่อนที่คอยแต่จะดื่มนม ฉะนั้น
ความตายยังมาไม่ถึงหรอก
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงตรัสกับมาร
ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
มนุษย์ทั้งหลายมีอายุน้อย
คนดีควรดูหมิ่นอายุนั้น
ควรทำตัวเหมือนคนที่ถูกไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น
ความตายที่จะมาไม่ถึงไม่มี
ครั้งนั้น มารผู้มีบาป ฯลฯ จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

ปฐมอายุสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. ทุติยอายุสูตร
ว่าด้วยอายุ สูตรที่ ๒

[๑๔๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน ฯลฯ เขตกรุง
ราชคฤห์ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ฯลฯ ได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อยนัก จำต้องไปสู่สัมปรายภพ
ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ สัตว์ผู้เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี ภิกษุ
ทั้งหลาย คนที่มีชีวิตอยู่ได้นานก็อยู่ได้เพียง ๑๐๐ ปี หรือจะอยู่เกินไปบ้างก็มีน้อย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต]
๑. ปฐมวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้ว ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
วันคืนไม่ล่วงไป ชีวิตไม่ดับไป
อายุหมุนตามสัตว์ทั้งหลาย
ดุจกงล้อหมุนตามทูบรถ ฉะนั้น
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงตรัสกับมาร
ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
วันคืนล่วงไป ชีวิตดับไป
อายุของสัตว์ทั้งหลายสิ้นไป
เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อยสิ้นไป ฉะนั้น๑
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

ทุติยอายุสูตรที่ ๑๐ จบ
วรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ตโปกัมมสูตร ๒. นาคสูตร
๓. สุภสูตร ๔. ปฐมมารปาสสูตร
๕. ทุติยมารปาสสูตร ๖. สัปปสูตร
๗. สุปติสูตร ๘. นันทนสูตร
๙. ปฐมอายุสูตร ๑๐. ทุติยอายุสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๒. ทุติยวรรค ๒. สีหสูตร

๒. ทุติยวรรค
หมวดที่ ๒
๑. ปาสาณสูตร
ว่าด้วยมารกลิ้งศิลา

[๑๔๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งในที่กลางแจ้งในราตรีอันมืดมิด
และฝนกำลังตกประปรายอยู่ ครั้งนั้น มารผู้มีบาปต้องการจะให้ความกลัว
ความหวาดสะดุ้ง ความขนพองสยองเกล้าเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค จึงเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วกลิ้งศิลาขนาดใหญ่ลงไปในที่ใกล้พระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงตรัสกับมาร
ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
ถึงแม้ว่าท่านจะกลิ้งภูเขาคิชฌกูฏมาทั้งลูก
พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้หลุดพ้นแล้วโดยชอบ
ก็ไม่มีความหวั่นไหว
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา
พระสุคตทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

ปาสาณสูตรที่ ๑ จบ

๒. สีหสูตร
ว่าด้วยราชสีห์

[๑๔๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีบริษัทหมู่ใหญ่
แวดล้อม ทรงแสดงธรรมอยู่
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระสมณโคดมนี้ มีบริษัทหมู่ใหญ่
แวดล้อม แสดงธรรมอยู่ ทางที่ดีเราพึงเข้าไปหาพระสมณโคดมถึงที่ประทับ เพื่อให้
บริษัทหลงเข้าใจผิดเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๒. ทุติยวรรค ๒. สัหสูตร

ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูล
ผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ทำไมท่านจึงกล้าบันลือดุจราชสีห์
ในท่ามกลางบริษัท
คนที่พอจะต่อสู้กับท่านได้ก็ยังมี
ท่านเข้าใจว่า เป็นผู้ชนะแล้วหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาว่า
พระตถาคตทั้งหลาย
ผู้เป็นมหาวีระ บรรลุทสพลญาณ๑
ข้ามตัณหาอันเป็นเหตุซ่านไปในโลกได้แล้ว
จึงกล้าบันลือในท่ามกลางบริษัท
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

สีหสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๒. ทุติยวรรค ๓. สกลิกสูตร

๓. สกลิกสูตร
ว่าด้วยสะเก็ดหิน

[๑๔๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มัททกุจฉิ สถานที่พระราชทานอภัย
แก่หมู่เนื้อ เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น สะเก็ดหินกระทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีทุกขเวทนาทางพระวรกายที่กล้าแข็งอย่างหนัก
เผ็ดร้อน อันไม่สบายพระทัย ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคมีพระสติสัมปชัญญะ
ทรงอดกลั้นทุกขเวทนานั้นไว้ได้ ไม่ทรงเดือดร้อน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น ทรงสำเร็จสีหไสยา
โดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วทูลถามพระผู้มี
พระภาคด้วยคาถาว่า
ท่านนอนด้วยความซึมเซา
หรือมัวเมาคิดกาพย์กลอนอะไรอยู่
ประโยชน์ของท่านมีไม่มาก
ท่านอยู่ ณ ที่นอนที่นั่งอันสงัดแต่ผู้เดียว
ตั้งหน้าแต่จะหลับ ทำไมท่านยังหลับอยู่เล่า
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
เราไม่ได้นอนด้วยความซึมเซา
ทั้งมิได้มัวเมาคิดกาพย์กลอนอะไรอยู่หรอก
เราบรรลุประโยชน์แล้ว ปราศจากความเศร้าโศก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๒. ทุติยวรรค ๓. สกลิกสูตร

อยู่ ณ ที่นอนที่นั่งอันสงัดแต่ผู้เดียว
นอนคำนึงถึงสัตว์ทั้งปวงด้วยความเอ็นดู
ลูกศรเสียบอกของชนเหล่าใด
ร้อยหทัยให้ลุ่มหลงอยู่ แม้ชนเหล่านั้นในโลกนี้
ทั้ง ๆ ที่มีลูกศรเสียบอกอยู่ ก็ยังหลับได้
ทำไมเราผู้ปราศจากลูกศรแล้ว จะหลับไม่ได้เล่า
เราเดินไป๑ก็ไม่หวาดหวั่น ถึงหลับอยู่ก็มิได้กลัวเกรง
กลางคืนและกลางวันไม่ทำให้เราเดือดร้อน
เราไม่พบเห็นความเสื่อมอะไร ๆ ในโลก
ฉะนั้น เราจึงนอนคำนึงถึงสัตว์ทั้งปวงด้วยความเอ็นดู
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

สกลิกสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๒. ทุติยวรรค ๔. ปฏิรูปสูตร

๔. ปฏิรูปสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่สมควร

[๑๕๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อเอกสาลา
แคว้นโกศล สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีคฤหัสถ์บริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อม ทรงแสดง
ธรรมอยู่
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระสมณโคดมนี้มีคฤหัสถ์บริษัท
หมู่ใหญ่แวดล้อม แสดงธรรมอยู่ ทางที่ดีเราพึงเข้าไปหาพระสมณโคดมถึงที่ประทับ
เพื่อให้บริษัทหลงเข้าใจผิดเถิด”
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ท่านพร่ำสอนธรรมใดแก่ผู้อื่น
ธรรมนั้นไม่สมควรแก่ท่านเลย
เมื่อท่านกล่าวสอนธรรมนั้น
อย่าได้ข้องในความยินดียินร้าย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
พระสัมพุทธเจ้าทรงมีจิตเกื้อกูลอนุเคราะห์
ทรงพร่ำสอนธรรมใดแก่ผู้อื่น
ตถาคตหลุดพ้นจากความยินดียินร้ายในธรรมนั้นแล้ว
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

ปฏิรูปสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๒. ทุติยวรรค ๕. มานสสูตร

๕. มานสสูตร
ว่าด้วยบ่วงใจ

[๑๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
บ่วงนี้เที่ยวไปในอากาศ
มีในใจ สัญจรไปอยู่
เราจักคล้องท่านด้วยบ่วงนั้น
สมณะ ท่านไม่พ้นจากเราไปได้๑
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เราปราศจากความพอใจในอารมณ์เหล่านี้
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ
มารผู้กระทำซึ่งที่สุด เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว๒
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

มานสสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๒. ทุติยวรรค ๖. ปัตตสูตร

๖. ปัตตสูตร
ว่าด้วยเรื่องบาตร

[๑๕๒] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับ
เอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ที่เกี่ยวกับอุปาทานขันธ์ ๕ ภิกษุเหล่านั้นต่างใส่ใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมา
ด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตสดับธรรมอยู่
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระสมณโคดมนี้ทรงชี้แจงให้ภิกษุ
ทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาที่เกี่ยวกับอุปาทานขันธ์ ๕ ภิกษุเหล่านั้น
ต่างใส่ใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตสดับธรรมอยู่ ทางที่
ดีเราพึงเข้าไปหาพระสมณโคดมถึงที่ประทับ เพื่อให้บริษัทหลงเข้าใจผิดเถิด”
สมัยนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้วางบาตรส่วนใหญ่ไว้ในที่กลางแจ้ง ลำดับนั้น มาร
ผู้มีบาปแปลงกายเป็นโคพลิพัทเดินไปยังที่วางบาตร ภิกษุรูปหนึ่งจึงบอกกับภิกษุ
อีกรูปหนึ่งว่า “ภิกษุ ภิกษุ โคพลิพัทนั่นกำลังจะทำบาตรแตก” เมื่อภิกษุนั้นพูด
อย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “นั่นไม่ใช่โคพลิพัท นั่นคือมารผู้มีบาป
มาเพื่อลวงให้เธอหลงเข้าใจผิด”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงตรัสกับมาร
ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
อริยสาวกย่อมเบื่อหน่ายรูป
เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
อย่างนี้ว่า ‘เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ของเรา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๒. ทุติยวรรค ๗. อายตนสูตร

แม้มารและเสนามารแสวงหาอยู่ในที่ทุกแห่ง
ก็ไม่พบอริยสาวกผู้เบื่อหน่ายแล้วอย่างนี้
ผู้มีอัตภาพอันเกษม และล่วงพ้นสังโยชน์ทั้งปวง
ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ฯลฯ จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

ปัตตสูตรที่ ๖ จบ

๗. อายตนสูตร
ว่าด้วยอายตนะ ๖

[๑๕๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถา ที่เกี่ยวกับผัสสายตนะ ๖ ภิกษุเหล่านั้นต่างใส่ใจให้สำเร็จประโยชน์
น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตสดับธรรมอยู่
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระสมณโคดมนี้แลทรงชี้แจงให้
ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาที่เกี่ยวกับผัสสายตนะ ๖ ภิกษุเหล่านั้น
ต่างใส่ใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตสดับธรรมอยู่ ทางที่
ดีเราพึงเข้าไปหาพระสมณโคดมถึงที่ประทับ เพื่อให้บริษัทหลงเข้าใจผิดเถิด”
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วได้ร้องเสียงดัง
น่าสะพรึงกลัว ประดุจแผ่นดินจะถล่มในที่ใกล้พระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น ภิกษุ
รูปหนึ่งจึงกล่าวกับภิกษุอีกรูปหนึ่งอย่างนี้ว่า “ภิกษุ ภิกษุ แผ่นดินนี่จะถล่มทลาย
เสียละกระมัง” เมื่อภิกษุนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับภิกษุนั้นว่า
“ภิกษุ แผ่นดินนี้ไม่ถล่มหรอก ภิกษุทั้งหลาย นั้นคือมารผู้มีบาป มาเพื่อลวงให้
พวกเธอหลงเข้าใจผิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๒. ทุติยวรรค ๘. ปิณฑสูตร

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “นี้คือมารผู้มีบาป” จึงตรัสกับมาร
ผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
และธรรมารมณ์ทั้งสิ้นนี้ เป็นโลกามิสอันแรงกล้า
ชาวโลกพากันหมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เหล่านี้
ส่วนสาวกของพระพุทธเจ้า มีสติ
ข้ามพ้นโลกามิสนั้น ทั้งข้ามพ้นบ่วงแห่งมารได้แล้ว
รุ่งเรืองอยู่ดุจดวงอาทิตย์ ฉะนั้น
ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ฯลฯ จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

อายตนสูตรที่ ๗ จบ

๘. ปิณฑสูตร
ว่าด้วยเรื่องบิณฑบาต

[๑๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อปัญจ-
สาลา แคว้นมคธ สมัยนั้น ที่หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อปัญจสาลา มีงานนักขัตฤกษ์
แจกของแก่พวกเด็ก ๆ ครั้นรุ่งเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อปัญจสาลา สมัยนั้น
พราหมณคหบดีชาวปัญจสาลาถูกมารผู้มีบาปเข้าดลใจ ด้วยประสงค์ว่า “พระ-
สมณโคดมอย่าได้อาหารบิณฑบาตเลย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อปัญจสาลา
เพื่อบิณฑบาตด้วยบาตรเปล่าอย่างใด ก็เสด็จกลับมาด้วยบาตรเปล่าอย่างนั้น ลำดับนั้น
มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “สมณะ ท่านได้อาหารบิณฑบาตบ้างไหม”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มารผู้มีบาป ท่านทำให้เราไม่ได้อาหารบิณฑบาต
มิใช่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๒. ทุติยวรรค ๙. กัสสกสูตร

มารผู้มีบาปกราบทูลว่า “ถ้าอย่างนั้น ขอพระผู้มีพระภาคจงเสด็จเข้าไปยัง
หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อปัญจสาลาเพื่อบิณฑบาตใหม่อีกครั้ง ข้าพระองค์จักกระทำ
พระผู้มีพระภาคให้ได้อาหารบิณฑบาต พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
มารขัดขวางตถาคต ได้ประสบสิ่งมิใช่บุญแล้ว
มารผู้มีบาป ท่านเข้าใจว่า
‘บาปย่อมไม่ให้ผลแก่เรา’ อย่างนั้นหรือ
พวกเราไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
อยู่สุขสบายจริงหนอ พวกเราจักมีปีติเป็นภักษา
ดุจเทพชั้นอาภัสสร ฉะนั้น
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า “พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเรา พระสุคต
ทรงรู้จักเรา” จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

ปิณฑสูตรที่ ๘ จบ

๙. กัสสกสูตร
ว่าด้วยมารแปลงกายเป็นชาวนา

[๑๕๕] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับ
เอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
ที่ประกอบด้วยนิพพาน ภิกษุเหล่านั้นต่างใส่ใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมา
ด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตสดับธรรมอยู่
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้มีความคิดดังนี้ว่า “พระสมณโคดมนี้ทรงชี้แจงให้ภิกษุ
ทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาที่ประกอบด้วยนิพพาน ฯลฯ ทางที่ดีเรา
พึงเข้าไปหาพระสมณโคดมถึงที่ประทับเพื่อลวงบริษัทให้หลงเข้าใจผิดเถิด” ครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต] ๒. ทุติยวรรค ๙. กัสสกสูตร

มารผู้มีบาปจึงแปลงกายเป็นชาวนาแบกไถใหญ่ ถือประตักด้ามยาว ผมยาวรุงรัง
นุ่งผ้าเนื้อหยาบ เท้าทั้งสองเปื้อนโคลน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ทูล
ถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระสมณะ ท่านเห็นโคพลิพัทบ้างไหม”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มารผู้มีบาป ท่านต้องการอะไรเกี่ยวกับโคพลิพัท
ทั้งหลายเล่า”
มารกราบทูลว่า “ข้าแต่พระสมณะ จักขุ(ตา) เป็นของเรา รูปเป็นของเรา
อายตนะคือวิญญาณอันเกิดจากจักขุสัมผัส(ความกระทบทางตา) เป็นของเรา ท่านจะ
หนีเราไปไหนพ้น
โสตะ(หู) เป็นของเรา สัททะ(เสียง) เป็นของเรา ฯลฯ
ฆานะ(จมูก) เป็นของเรา คันธะ(กลิ่น) เป็นของเรา ฯลฯ
ชิวหา(ลิ้น) เป็นของเรา รสเป็นของเรา ฯลฯ
กายเป็นของเรา โผฏฐัพพะ(สัมผัสทางกาย) เป็นของเรา ฯลฯ
มโน(ใจ) เป็นของเรา ธรรมารมณ์เป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณอันเกิดจาก
มโนสัมผัส(ความกระทบทางใจ) เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มารผู้มีบาป จักขุเป็นของท่าน รูปเป็นของท่าน
อายตนะคือวิญญาณอันเกิดจากจักขุสัมผัสเป็นของท่านโดยแท้ แต่ในที่ใดไม่มีจักขุ
ไม่มีรูป ไม่มีอายตนะคือวิญญาณอันเกิดจากจักขุสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน
โสตะเป็นของท่าน สัททะเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิดจาก
โสตสัมผัส(ความกระทบทางหู) เป็นของท่าน แต่ในที่ใดไม่มีโสตะ ไม่มีสัททะ ไม่มี
อายตนะคือวิญญาณอันเกิดจากโสตสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน
ฆานะเป็นของท่าน คันธะเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิดจาก
ฆานสัมผัส(ความกระทบทางจมูก) เป็นของท่าน ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔.มารสังยุต] ๒.ทุติยวรรค ๙. กัสสกสูตร

ชิวหาเป็นของท่าน รสเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิดจากชิวหา-
สัมผัส(ความกระทบทางลิ้น) เป็นของท่าน ฯลฯ
กายเป็นของท่าน โผฏฐัพพะเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิดจาก
กายสัมผัส(ความกระทบทางกาย) เป็นของท่าน ฯลฯ
มโนเป็นของท่าน ธรรมารมณ์ทั้งหลายเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณ
อันเกิดจากมโนสัมผัส(ความกระทบทางใจ) เป็นของท่าน แต่ในที่ใดไม่มีมโน ไม่มี
ธรรมารมณ์ ไม่มีอายตนะคือวิญญาณอันเกิดจากมโนสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนิน
ของท่าน”
มารกราบทูลว่า
ชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใดว่า ‘นี้ของเรา’
ทั้งยังกล่าวว่า ‘ของเรา’
ถ้าใจของท่านยังฝังอยู่ในสิ่งนั้น
สมณะ ท่านก็จะไม่พ้นจากเราไปได้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใด สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา
ชนเหล่าใดกล่าว ชนเหล่านั้นไม่ใช่เรา
มารผู้มีบาป ท่านจงรู้อย่างนี้
ท่านย่อมไม่เห็นแม้ทางของเรา
ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ฯลฯ จึงหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง

กัสสกสูตรที่ ๙ จบ


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker