ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎกที่ ๐๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. มูลปริยายวรรค
หมวดว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรม
๑. มูลปริยายสูตร
ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรม

[๑] ข้าพเจ้า๑ ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โคนไม้รังใหญ่ในสุภควัน เขตเมือง
อุกกัฏฐา ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า "ภิกษุ
ทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง๒แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว"
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้และพระสูตรอื่น ๆ ในเล่มนี้ หมายถึงพระอานนท์
๒ คำว่า มูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง แปลจากคำว่า สพฺพธมฺมมูลปริยาย มีอธิบายเฉพาะคำดังนี้ คำว่า มูล
ในที่นี้หมายถึงเหตุที่ไม่ทั่วไป คำว่า เหตุ (ปริยาย) หมายถึงเทศนา เหตุ และวาระ แต่ในที่นี้หมายถึงเหตุ
หรือเทศนา คำว่า ธรรมทั้งปวง หมายถึงปริยัติ อริยสัจ สมาธิ ปัญญา ปกติ สภาวะ สุญญตา ปุญญะ
อาบัติ และเญยยะเป็นต้น แต่ในที่นี้หมายถึงสภาวะ ดังนั้นคำว่า มูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง จึงหมายถึง
เทศนาว่าด้วยเหตุให้เกิดสภาวะทั้งปวง (ม.มู.อ. ๑/๑/๑๘-๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๑ ว่าด้วยปุถุชน

[๒] “ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน๑ในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะ๒
ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้พบสัตบุรุษ๓ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำใน
ธรรมของสัตบุรุษ หมายรู้ปฐวี๔(ดิน)โดยความเป็นปฐวี ครั้นหมายรู้ปฐวีโดย
ความเป็นปฐวี๕แล้ว กำหนดหมายซึ่งปฐวี๖ กำหนดหมายในปฐวี กำหนดหมาย
นอกปฐวี๗ กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ยินดีปฐวี๘

เชิงอรรถ :
๑ ปุถุชน หมายถึงคนที่ยังมีกิเลสหนา ที่เรียกเช่นนี้เพราะบุคคลประเภทนี้ยังมีเหตุก่อให้เกิดกิเลสอย่างหนา
นานัปการ ปุถุชนมี ๒ ประเภท คือ (๑) อันธปุถุชน คนที่ไม่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิต (๒) กัลยาณ-
ปุถุชน คนที่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิตแล้ว (ม.มู.อ. ๑/๒/๒๒, ที.สี.อ. ๑/๗/๕๘-๕๙)
๒ พระอริยะ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระพุทธสาวก ที่ชื่อว่าพระอริยะ เพราะเป็นผู้
ไกลจากกิเลส ไม่ดำเนินไปในทางเสื่อม ดำเนินไปแต่ในทางเจริญ เป็นผู้ที่ชาวโลกและเทวโลกควรดำเนินตาม
(ม.มู.อ. ๑/๒/๒๒)
๓ สัตบุรุษ โดยทั่วไป หมายถึงคนกตัญญูกตเวที เป็นนักปราชญ์ เป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้มีความภักดีมั่นคง
กระทำการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ด้วยความเต็มใจ แต่ในที่นี้ หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า
และพระพุทธสาวก (ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๗๘-๗๙/๖๐๘, ม.มู.อ. ๑/๒/๒๒)
๔ ปฐวี มี ๔ ชนิด คือ (๑) ลักขณปฐวี เป็นสิ่งที่แข็งกระด้าง หยาบเฉพาะตนในตัวมันเอง (๒) สสัมภารปฐวี
เป็นส่วนแห่งอวัยวะมีผมเป็นต้น และวัตถุภายนอกมีโลหะเป็นต้น พร้อมทั้งคุณสมบัติมีสีเป็นต้น
(๓) อารัมมณปฐวี เป็นปฐวีธาตุที่นำมากำหนดเป็นอารมณ์ของปฐวีกสิณ นิมิตตปฐวี ก็เรียก
(๔) สัมมติปฐวี เป็นปฐวีธาตุที่ปฐวีเทวดามาเกิดในเทวโลกด้วยอำนาจปฐวีกสิณและฌาน ในที่นี้ ปฐวี
หมายถึงทั้ง ๔ ชนิด (ม.มู.อ. ๑/๒/๒๗)
๕ หมายรู้ปฐวีโดยความเป็นปฐวี ในที่นี้หมายถึงหมายรู้แผ่นดินนั้นด้วยสัญญาที่วิปริต คือกำหนดให้ต่าง
ออกไปจากความเป็นจริงโดยประการต่าง ๆ ด้วยกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ ที่มีกำลัง
(ม.มู.อ. ๑/๒/๒๘)
๖ กำหนดหมายซึ่งปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิว่า 'เราเป็นดิน ดินเป็นของเรา,
คนอื่นเป็นดิน ดินเป็นของคนอื่น หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจตัณหา ให้เกิดฉันทราคะ
ติดใจในผมเป็นต้นจนถึงตั้งความปรารถนาว่า 'ด้วยศีลหรือพรหมจรรย์นี้ ขอให้เรามีผมนุ่มดำสนิทดี,
กำหนดหมายด้วยอำนาจมานะว่า 'เราดีกว่า เราเสมอกัน หรือเราด้อยกว่า' และกำหนดหมายด้วยอำนาจ
ทิฏฐิ คือ ยึดมั่นว่าผมเป็นชีวะ โดยนัยว่า 'ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น' (ม.มู.อ. ๑/๒/๒๘-๓๐)
๗ กำหนดหมายในปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจทิฏฐิว่า "มีเราอยู่ในดิน หรือเรามีปลิโพธิในดิน
มีผู้อื่นอยู่ในดิน หรือผู้อื่นมีปลิโพธในดิน" ตามนัยที่ว่า 'พิจารณาเห็นอัตตาในรูปเป็นต้น (ดู ขุ.ป.
๓๑/๓๑๖/๒๑๐) กำหนดหมายนอกปฐวี หมายถึงกำหนดหมายด้วยอำนาจทิฏฐิว่า ตนหรือคนอื่นพร้อม
ทั้งสรรพสิ่งล้วนแต่เกิดจากดินแต่มิใช่ดินตามลัทธิพรหมัณฑวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าโลกเกิดจากพรหม) ลัทธิ
อณุกวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าโลกประกอบด้วยอณู) หรือลัทธิอิสสรวาท (ลัทธิที่เชื่อว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้างโลก)
แล้วเกิดตัณหา มานะในตน และบุคคลอื่นตลอดถึงสรรพสิ่งนั้น (ม.มู.อ. ๑/๒/๓๐,ม.มู.ฏีกา ๑/๒/๙๒-๙๓)
๘ ยินดีปฐวี หมายถึงเพลิดเพลินยินดีติดใจปฐวีด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ ความยินดีปฐวีนั่นเอง ชื่อว่ายินดี
ทุกข์ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า 'ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า 'ผู้ใดยินดีปฐวีธาตุ ผู้นั้นยินดีทุกข์
ผู้ใดยินดีทุกข์ ผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์' (ม.มู.อ. ๑/๒/๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้๑’
หมายรู้อาโป(น้ำ)โดยความเป็นอาโป ครั้นหมายรู้อาโปโดยความเป็นอาโปแล้ว
กำหนดหมายซึ่งอาโป กำหนดหมายในอาโป กำหนดหมายนอกอาโป กำหนด
หมายอาโปว่าเป็นของเรา ยินดีอาโป
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้เตโช(ไฟ)โดยความเป็นเตโช ครั้นหมายรู้เตโชโดยความเป็นเตโชแล้ว
กำหนดหมายซึ่งเตโช กำหนดหมายในเตโช กำหนดหมายนอกเตโช กำหนด
หมายเตโชว่าเป็นของเรา ยินดีเตโช
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้วาโย(ลม)โดยความเป็นวาโย ครั้นหมายรู้วาโยโดยความเป็นวาโยแล้ว
กำหนดหมายซึ่งวาโย กำหนดหมายในวาโย กำหนดหมายนอกวาโย กำหนด
หมายวาโยว่าเป็นของเรา ยินดีวาโย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

เชิงอรรถ :
๑ไม่ได้กำหนดรู้ หมายถึงไม่ได้กำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ ประการ คือ (๑) ญาตปริญญา ได้แก่ รู้ว่า ‘นี้เป็น
ปฐวีธาตุภายใน นี้เป็นปฐวีธาตุภายนอก นี้เป็นลักษณะ กิจ เหตุเกิด และที่เกิดแห่งปฐวีธาตุ’ หรือได้แก่
กำหนดนามและรูป (๒) ตีรณปริญญา ได้แก่ พิจารณาเห็นว่า ‘ปฐวีธาตุมีอาการ ๔๐ คือ อาการไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นโรค’ เป็นต้น หรือได้แก่ พิจารณากลาปะ (ความเป็นกลุ่มก้อน)เป็นต้น พิจารณาอนุโลมญาณ
เป็นที่สุด (๓) ปหานปริญญา ได้แก่ เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนั้นแล้ว จึงละฉันทราคะ (ความกำหนัดด้วย
อำนาจความพอใจ) ในปฐวีธาตุด้วยอรหัตตผล หรือได้แก่ ญาณในอริยมรรค
เพราะปริญญา ๓ ประการนี้ไม่มีแก่ปุถุชน เขาจึงกำหนดหมายและยินดีปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ
และวาโยธาตุ (ม.มู.อ. ๑/๒/๓๑-๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

[๓] หมายรู้ภูต๑โดยความเป็นภูต ครั้นหมายรู้ภูตโดยความเป็นภูตแล้ว
กำหนดหมายซึ่งภูต กำหนดหมายในภูต กำหนดหมายนอกภูต กำหนดหมายภูต
ว่าเป็นของเรา ยินดีภูต
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้เทวดาโดยความเป็นเทวดา ครั้นหมายรู้เทวดาโดยความเป็นเทวดาแล้ว
กำหนดหมายซึ่งเทวดา กำหนดหมายในเทวดา กำหนดหมายนอกเทวดา กำหนด
หมายเทวดาว่าเป็นของเรา ยินดีเทวดา
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้ปชาบดี๒ โดยความเป็นปชาบดี ครั้นหมายรู้ปชาบดีโดยความเป็น
ปชาบดีแล้ว กำหนดหมายซึ่งปชาบดี กำหนดหมายในปชาบดี กำหนดหมายนอก
ปชาบดี กำหนดหมายปชาบดีว่าเป็นของเรา ยินดีปชาบดี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้พรหมโดยความเป็นพรหม ครั้นหมายรู้พรหมโดยความเป็นพรหมแล้ว
กำหนดหมายซึ่งพรหม กำหนดหมายในพรหม กำหนดหมายนอกพรหม กำหนด
หมายพรหมว่าเป็นของเรา ยินดีพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

เชิงอรรถ :
๑ ภูต หมายถึงขันธ์ ๕ อมนุษย์ ธาตุ สิ่งที่มีอยู่ พระขีณาสพ สัตว์ และต้นไม้เป็นต้น แต่ในที่นี้หมายถึงสัตว์
ทั้งหลายผู้อยู่ต่ำกว่าชั้นจาตุมหาราช (ม.มู.อ. ๑/๓/๓๔)๔)
๒ ปชาบดี หมายถึงผู้ยิ่งใหญ่กว่าปชาคือหมู่สัตว์ ได้แก่ มารชื่อว่า ปชาบดี เพราะปกครองเทวโลกชั้นปรนิม-
มิตวสวัตดี (ม.มู.อ. ๑/๓/๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

หมายรู้อาภัสสรพรหมโดยความเป็นอาภัสสรพรหม ครั้นหมายรู้อาภัสสร-
พรหมโดยความเป็นอาภัสสรพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งอาภัสสรพรหม กำหนด
หมายในอาภัสสรพรหม กำหนดหมายนอกอาภัสสรพรหม กำหนดหมายอาภัสสร-
พรหมว่าเป็นของเรา ยินดีอาภัสสรพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้สุภกิณหพรหมโดยความเป็นสุภกิณหพรหม ครั้นหมายรู้สุภกิณห-
พรหมโดยความเป็นสุภกิณหพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งสุภกิณหพรหม กำหนด
หมายในสุภกิณหพรหม กำหนดหมายนอกสุภกิณหพรหม กำหนดหมายสุภกิณห-
พรหมว่าเป็นของเรา ยินดีสุภกิณหพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้เวหัปผลพรหมโดยความเป็นเวหัปผลพรหม ครั้นหมายรู้เวหัปผล-
พรหมโดยความเป็นเวหัปผลพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งเวหัปผลพรหม กำหนด
หมายในเวหัปผลพรหม กำหนดหมายนอกเวหัปผลพรหม กำหนดหมายเวหัปผล-
พรหมว่าเป็นของเรา ยินดีเวหัปผลพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้อภิภูสัตว์๑ โดยความเป็นอภิภูสัตว์ ครั้นหมายรู้อภิภูสัตว์โดยความ
เป็นอภิภูสัตว์แล้ว กำหนดหมายซึ่งอภิภูสัตว์ กำหนดหมายในอภิภูสัตว์ กำหนด
หมายนอกอภิภูสัตว์ กำหนดหมายอภิภูสัตว์ว่าเป็นของเรา ยินดีอภิภูสัตว์
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้

เชิงอรรถ :
๑ อภิภูสัตว์ กับ อสัญญีสัตว์ เป็นไวพจน์ของกันและกัน หมายถึงสัตว์ผู้ไม่มีสัญญา สถิตอยู่ในชั้นเดียวกับ
เวหัปผลพรหม บังเกิดด้วยอิริยาบถใดก็สถิตอยู่ด้วยอิริยาบถนั้นตราบสิ้นอายุขัย (ม.มู.อ. ๑/๓/๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

[๔] หมายรู้อากาสานัญจายตนพรหมโดยความเป็นอากาสานัญจายตน-
พรหม ครั้นหมายรู้อากาสานัญจายตนพรหมโดยความเป็นอากาสานัญจายตน-
พรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งอากาสานัญจายตนพรหม กำหนดหมายใน
อากาสานัญจายตนพรหม กำหนดหมายนอกอากาสานัญจายตนพรหม กำหนด
หมายอากาสานัญจายตนพรหมว่าเป็นของเรา ยินดีอากาสานัญจายตนพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า 'เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้'
หมายรู้วิญญาณัญจายตนพรหมโดยความเป็นวิญญาณัญจายตนพรหม ครั้น
หมายรู้วิญญาณัญจายตนพรหมโดยความเป็นวิญญาณัญจายตนพรหมแล้ว
กำหนดหมายซึ่งวิญญาณัญจายตนพรหม กำหนดหมายในวิญญาณัญจายตนพรหม
กำหนดหมายนอกวิญญาณัญจายตนพรหม กำหนดหมายวิญญาณัญจายตนพรหม
ว่าเป็นของเรา ยินดีวิญญาณัญจายตนพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า 'เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้'
หมายรู้อากิญจัญญายตนพรหมโดยความเป็นอากิญจัญญายตนพรหม ครั้น
หมายรู้อากิญจัญญายตนพรหมโดยความเป็นอากิญจัญญายตนพรหมแล้ว กำหนด
หมายซึ่งอากิญจัญญายตนพรหม กำหนดหมายในอากิญจัญญายตนพรหม
กำหนดหมายนอกอากิญจัญญายตนพรหม กำหนดหมายอากิญจัญญายตนพรหม
ว่าเป็นของเรา ยินดีอากิญจัญญายตนพรหม
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า 'เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้'
หมายรู้เนวสัญญานาสัญญายตนพรหมโดยความเป็นเนวสัญญานาสัญญายตน-
พรหม ครั้นหมายรู้เนวสัญญานาสัญญายตนพรหมโดยความเป็นเนวสัญญา-
นาสัญญายตนพรหมแล้ว กำหนดหมายซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม กำหนด
หมายในเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม กำหนดหมายนอกเนวสัญญา-
นาสัญญายตนพรหม กำหนดหมายเนวสัญญานาสัญญายตนพรหมว่าเป็นของเรา
ยินดีเนวสัญญานาสัญญายตนพรหม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
[๕] หมายรู้รูปที่ตนเห็น๑โดยความเป็นรูปที่ตนเห็น ครั้นหมายรู้รูปที่ตนเห็น๑
โดยความเป็นรูปที่ตนเห็นแล้ว กำหนดหมายซึ่งรูปที่ตนเห็น กำหนดหมายในรูป
ที่ตนเห็น กำหนดหมายนอกรูปที่ตนเห็น กำหนดหมายรูปที่ตนเห็นว่าเป็นของเรา
ยินดีรูปที่ตนเห็น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้เสียงที่ตนได้ยิน๒โดยความเป็นเสียงที่ตนได้ยิน ครั้นหมายรู้เสียงที่ตน
ได้ยินโดยความเป็นเสียงที่ตนได้ยินแล้ว กำหนดหมายซึ่งเสียงที่ตนได้ยิน กำหนด
หมายในเสียงที่ตนได้ยิน กำหนดหมายนอกเสียงที่ตนได้ยิน กำหนดหมายเสียงที่
ตนได้ยินว่าเป็นของเรา ยินดีเสียงที่ตนได้ยิน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้อารมณ์ที่ตนทราบ๓โดยความเป็นอารมณ์ที่ตนทราบ ครั้นหมายรู้
อารมณ์ที่ตนทราบโดยความเป็นอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว กำหนดหมายซึ่งอารมณ์
ที่ตนทราบ กำหนดหมายในอารมณ์ที่ตนทราบ กำหนดหมายนอกอารมณ์ที่ตน
ทราบ กำหนดหมายอารมณ์ที่ตนทราบว่าเป็นของเรา ยินดีอารมณ์ที่ตนทราบ

เชิงอรรถ :
๑ รูปที่ตนเห็น หมายถึงสิ่งที่ตนเห็นทางมังสจักขุ หรือทิพพจักขุ คำนี้เป็นชื่อแห่งรูปายตนะ (ม.มู.อ. ๑/๕/๔๐)
๒ เสียงที่ตนได้ยิน หมายถึงสิ่งที่ตนฟังทางมังสโสตะ หรือทิพพโสตะ คำนี้เป็นชื่อแห่งสัททายตนะ
(ม.มู.อ. ๑/๕/๔๑)
๓ อารมณ์ที่ตนทราบ หมายถึงอารมณ์ที่ตนทราบแล้ว และรู้แล้วจึงรับเอา คือ เข้าไปกระทบรับเอา มีคำ
อธิบายว่า ที่ตนรู้แจ้งแล้วเพราะการกระทบกันและกันระหว่างอินทรีย์กับอารมณ์ทั้งหลาย คำนี้เป็นชื่อแห่ง
คันธายตนะ รสายตนะ และโผฏฐัพพายตนะ (ม.มู.อ. ๑/๕/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง๑โดยความเป็นอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ครั้นหมายรู้
อารมณ์ที่ตนรู้แจ้งโดยความเป็นอารมณ์ที่ตนรู้แจ้งแล้ว กำหนดหมายซึ่งอารมณ์ที่
ตนรู้แจ้ง กำหนดหมายในอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง กำหนดหมายนอกอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง
กำหนดหมายอารมณ์ที่ตนรู้แจ้งว่าเป็นของเรา ยินดีอารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
[๖] หมายรู้ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกันโดยความเป็นอัน
เดียวกัน ครั้นหมายรู้ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกันโดยความเป็นอัน
เดียวกันแล้ว กำหนดหมายซึ่งความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
กำหนดหมายในความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน กำหนดหมายนอก
ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน กำหนดหมายความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติ
เป็นอันเดียวกันว่าเป็นของเรา ยินดีความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้ความที่กามจิตต่างกันโดยความเป็นของต่างกัน ครั้นหมายรู้ความที่
กามจิตต่างกันโดยความเป็นของต่างกันแล้ว กำหนดหมายซึ่งความที่กามจิตต่างกัน
กำหนดหมายในความที่กามจิตต่างกัน กำหนดหมายนอกความที่กามจิตต่างกัน
กำหนดหมายความที่กามจิตต่างกันว่าเป็นของเรา ยินดีความที่กามจิตต่างกัน

เชิงอรรถ :
๑ อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง หมายถึงอารมณ์ที่ตนรู้แจ้งทางใจ คำนี้เป็นชื่อแห่งอายตนะที่เหลือ อีกอย่างหนึ่ง
เป็นชื่อแห่งธรรมารมณ์ แต่ในที่นี้ได้เฉพาะอารมณ์ที่นับเนื่องในกายของตน (ม.มู.อ. ๑/๕/๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้สักกายะ๑ทั้งปวงโดยความเป็นสักกายะทั้งปวง ครั้นหมายรู้สักกายะ
ทั้งปวงโดยความเป็นสักกายะทั้งปวงแล้ว กำหนดหมายซึ่งสักกายะทั้งปวง กำหนด
หมายในสักกายะทั้งปวง กำหนดหมายนอกสักกายะทั้งปวง กำหนดหมายสักกายะ
ทั้งปวงว่าเป็นของเรา ยินดีสักกายะทั้งปวง
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’
หมายรู้นิพพาน๒โดยความเป็นนิพพาน ครั้นหมายรู้นิพพานโดยความเป็น
นิพพานแล้ว กำหนดหมายซึ่งนิพพาน กำหนดหมายในนิพพาน กำหนดหมาย
นอกนิพพาน กำหนดหมายนิพพานว่าเป็นของเรา ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาไม่ได้กำหนดรู้’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๑ ว่าด้วยปุถุชน จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๒ ว่าด้วยเสขบุคคล

[๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดยังเป็นเสขบุคคล๑ ไม่ได้บรรลุอรหัตตผล
ปรารถนาธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวี
โดยความเป็นปฐวี๒ ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว อย่ากำหนดหมายซึ่งปฐวี
อย่ากำหนดหมายในปฐวี อย่ากำหนดหมายนอกปฐวี อย่ากำหนดหมายปฐวีว่า
เป็นของเรา อย่ายินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาควรกำหนดรู้’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ...
พรหม ... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน ...
ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว อย่ากำหนดหมายซึ่งนิพพาน อย่า
กำหนดหมายในนิพพาน อย่ากำหนดหมายนอกนิพพาน อย่ากำหนดหมาย
นิพพานว่าเป็น ของเรา อย่ายินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาควรกำหนดรู้’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๒ ว่าด้วยเสขบุคคล จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๓ ว่าด้วยพระขีณาสพ

[๘] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้น
ภวสังโยชน์๒แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี
ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี
ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขากำหนดรู้แล้ว’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม ...
อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน ...
ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขากำหนดรู้แล้ว’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๓ ว่าด้วยพระขีณาสพ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๔ ว่าด้วยพระขีณาสพ

[๙] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้น
ภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี
ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี
ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากราคะ เนื่องจากราคะสิ้นไป’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม ...
อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม ...
เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์ที่
ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน ...
ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากราคะ เนื่องจากราคะสิ้นไป’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๔ ว่าด้วยพระขีณาสพ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๕ ว่าด้วยพระขีณาสพ

[๑๐] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้น
ภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี
ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี
ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากโทสะ เนื่องจากโทสะสิ้นไป’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม
... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
... ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากโทสะ เนื่องจากโทสะสิ้นไป’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๕ ว่าด้วยพระขีณาสพ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๖ ว่าด้วยพระขีณาสพ

[๑๑] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้น
ภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ แม้ภิกษุนั้นก็รู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวี
ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี ไม่กำหนดหมายในปฐวี
ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของเรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากโมหะ เนื่องจากโมหะสิ้นไป’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม
... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
... ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะเขาปราศจากโมหะ เนื่องจากโมหะสิ้นไป’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๖ ว่าด้วยพระขีณาสพ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๗ ว่าด้วยพระตถาคต๑

[๑๒] ภิกษุทั้งหลาย แม้ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้ยิ่งปฐวีโดย
ความเป็นปฐวี ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี
ไม่กำหนดหมายในปฐวี ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะตถาคตกำหนดรู้ปฐวีนั้นแล้ว’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม
... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
... ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เรากล่าวว่า ‘เพราะตถาคตกำหนดรู้นิพพานนั้นแล้ว’

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๗ ว่าด้วยพระตถาคต จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๑. มูลปริยายสูตร

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๘ ว่าด้วยพระตถาคต

[๑๓] ภิกษุทั้งหลาย แม้ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้ยิ่งปฐวีโดย
ความเป็นปฐวี ครั้นรู้ยิ่งปฐวีโดยความเป็นปฐวีแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งปฐวี
ไม่กำหนดหมายในปฐวี ไม่กำหนดหมายนอกปฐวี ไม่กำหนดหมายปฐวีว่าเป็นของ
เรา ไม่ยินดีปฐวี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะรู้ว่า ‘ความเพลิดเพลินเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ เพราะมีภพ ชาติจึงมี สัตว์
ผู้เกิดแล้วต้องแก่ ต้องตาย’ เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘ตถาคตตรัสรู้อนุตตร-
สัมมาสัมโพธิญาณ เพราะสิ้นตัณหา คลายตัณหา ดับตัณหา สละตัณหา สลัดทิ้ง
ตัณหาโดยประการทั้งปวง’
ฯลฯ รู้ยิ่งอาโป ... เตโช ... วาโย ... ภูต ... เทวดา ... ปชาบดี ... พรหม
... อาภัสสรพรหม ... สุภกิณหพรหม ... เวหัปผลพรหม ... อภิภูสัตว์ ...
อากาสานัญจายตนพรหม ... วิญญาณัญจายตนพรหม ... อากิญจัญญายตนพรหม
... เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ... รูปที่ตนเห็น ... เสียงที่ตนได้ยิน ... อารมณ์
ที่ตนทราบ ... อารมณ์ที่ตนรู้แจ้ง ... ความที่จิตที่เป็นฌานสมาบัติเป็นอันเดียวกัน
... ความที่กามจิตต่างกัน ... สักกายะทั้งปวง ... รู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน
ครั้นรู้ยิ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว ไม่กำหนดหมายซึ่งนิพพาน ไม่กำหนด
หมายในนิพพาน ไม่กำหนดหมายนอกนิพพาน ไม่กำหนดหมายนิพพานว่าเป็น
ของเรา ไม่ยินดีนิพพาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะรู้ว่า ‘ความเพลิดเพลินเป็นมูลเหตุแห่งทุกข์ เพราะมีภพ ชาติจึงมี
สัตว์ผู้เกิดแล้วต้องแก่ ต้องตาย’ เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘ตถาคตตรัสรู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพราะสิ้นตัณหา คลายตัณหา ดับตัณหา สละตัณหา
สลัดทิ้งตัณหาโดยประการทั้งปวง”

กำหนดภูมิตามนัยที่ ๘ ว่าด้วยพระตถาคต จบ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมิได้มีใจยินดีชื่นชม๑พระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มูลปริยายสูตรที่ ๑ จบ

๒. สัพพาสวสูตร
ว่าด้วยอุบายกำจัดอาสวะทั้งปวง

[๑๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงเหตุแห่งการปิดกั้นอาสวะ๒ทั้งปวงแก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัส
แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ มิได้มีใจยินดีชื่นชม หมายถึงภิกษุเหล่านั้นไม่รู้คือไม่เข้าใจเนื้อความของพระสูตรนี้ เหตุยังมีมานะทิฏฐิ
มาก เพราะมัวเมาในปริยัติ และเพราะพระภาษิตนั้นลึกซึ้งด้วยนัยที่ ๑ คือ ปุถุชน จนถึงนัยที่ ๘ คือ
พระตถาคต ท่านเหล่านั้นจึงไม่รู้แจ้งอรรถแห่งพระพุทธพจน์ จึงมิได้มีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตนั้น ภายหลัง
ได้สดับโคตมกสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสที่โคตมกเจดีย์แล้ว จึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมทั้ง
ปฏิสัมภิทาทั้งหลาย (ม.มู.อ. ๑/๑๓/๖๒-๖๕)
๒ อาสวะ หมายถึงกิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่าง ๆ
มี ๔ อย่าง คือ (๑) กามาสวะ อาสวะคือกาม (๒) ภวาสวะ อาสวะคือภพ (๓) ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ
(๔) อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา (ตามนัย อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๙๓๗/๕๘๖-๕๘๗) แต่พระสูตรจัดเป็น ๓
เพราะสงเคราะห์ทิฏฐาสวะเข้าในภวาสวะ (ม.มู.อ. ๑/๑๔/๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

[๑๕] “ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้รู้ ผู้เห็น เราไม่
กล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้ไม่รู้ ผู้ไม่เห็น เรากล่าวความสิ้นอาสวะของภิกษุผู้รู้
ผู้เห็นอะไร (คือ)ผู้รู้ ผู้เห็นโยนิโสมนสิการ๑ และอโยนิโสมนสิการ๒ เมื่อภิกษุมนสิการ
โดยไม่แยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่
เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เมื่อภิกษุมนสิการโดยแยบคาย อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิด
ย่อมไม่เกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
[๑๖] ภิกษุทั้งหลาย อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยทัสสนะ๓ก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการสังวร๔ก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการใช้สอยก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการอดกลั้นก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการเว้นก็มี อาสวะทั้งหลาย
ที่ต้องละด้วยการบรรเทาก็มี อาสวะทั้งหลายที่ต้องละด้วยการเจริญก็มี

อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ

[๑๗] อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ เป็นอย่างไร
คือ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรม
ของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้พบสัตบุรุษทั้งหลาย
ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่รู้ทั่วถึง
ธรรมที่ควรมนสิการ ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ เขาเมื่อไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ควร
มนสิการ เมื่อไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมมนสิการถึงธรรมที่ไม่ควร
มนสิการ ไม่มนสิการถึงธรรมที่ควรมนสิการ

เชิงอรรถ :
๑ โยนิโสมนสิการ หมายถึงการทำไว้ในใจโดยถูกอุบาย โดยถูกทาง กล่าวคือการนึก การน้อมนึก การผูกใจ
การใฝ่ใจ การทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็น
อนัตตา หรือโดยสัจจานุโลมิกญาณ (ม.มู.อ. ๑/๑๕/๗๑)
๒ อโยนิโสมนสิการ หมายถึงการทำไว้ในใจโดยไม่ถูกอุบาย โดยไม่ถูกทาง กล่าวคือการทำไว้ในใจในสิ่งที่ไม่
เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา หรือการนึก การน้อมนึก การผูกใจ
การใฝ่ใจ การทำไว้ในใจถึงความคิดโดยนัยที่กลับกันกับสัจธรรม (ม.มู.อ. ๑/๑๕/๗๑)
๓ ทัสสนะ หมายถึงโสดาปัตติมรรค (ม.มู.อ. ๑/๒๑/๘๑, ม.มู.ฏีกา ๑/๑๖/๑๙๐)
๔ สังวร เป็นชื่อของสติ หมายถึงการระวังการปิดการกั้น (ม.มู. ฏีกา ๑/๑๖/๑๙๑) และดู องฺ.ฉกฺก. (แปล)
๒๒/๕๘/๕๔๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

ธรรมที่ไม่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนมนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่อปุถุชนมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะ๑ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ ภวาสวะ๒ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดแล้วย่อมเจริญ
และอวิชชาสวะ๓ที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เหล่านี้คือธรรมที่
ไม่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนมนสิการ
ธรรมที่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนไม่มนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่อปุถุชนมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป ภวาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
และอวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป เหล่านี้คือธรรม
ที่ควรมนสิการซึ่งปุถุชนไม่มนสิการ
เพราะปุถุชนนั้นมนสิการถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ไม่มนสิการถึงธรรมที่ควร
มนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมเจริญ
[๑๘] ปุถุชนนั้นมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า ‘ในอดีตกาลยาวนาน
เราได้มีแล้ว หรือมิได้มีแล้วหนอ เราได้เป็นอะไรมาหนอ เราได้เป็นอย่างไรมาหนอ
เราได้เป็นอะไรแล้วจึงมาเป็นอะไรอีกหนอ ในอนาคตกาลยาวนาน เราจักมีหรือจัก
ไม่มีหนอ เราจักเป็นอะไรหนอ เราจักเป็นอย่างไรหนอ เราจักเป็นอะไรแล้วไปเป็น
อะไรอีกหนอ’ หรือว่าบัดนี้ มีความสงสัยภายในตน ปรารภปัจจุบันกาลกล่าวว่า
‘เรามีอยู่หรือไม่หนอ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ สัตว์นี้มาจากไหนหนอ
และเขาจักไปไหนกันหนอ’

เชิงอรรถ :
๑ กามาสวะ หมายถึงความกำหนัดในกามคุณ ๕ (ม.มู.อ. ๑/๑๗/๗๔)
๒ ภวาสวะ หมายถึงความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในรูปภพและอรูปภพ ความติดใจในฌานที่สหรคต
ด้วยสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ รวมทั้งทิฏฐาสวะ (ม.มู.อ. ๑/๑๗/๗๔)
๓ อวิชชาสวะ หมายถึงความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ (ม.มู.อ. ๑/๑๗/๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

[๑๙] เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการโดยไม่แยบคายอย่างนี้ ทิฏฐิ(ความเห็นผิด)
อย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาทิฏฐิ ๖ ก็เกิดขึ้น คือ
๑. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘อัตตาของเรามีอยู่’
๒. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘อัตตาของเราไม่มี’
๓. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘เรารู้จักอัตตาได้ด้วยอัตตา’
๔. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘เรารู้จักสิ่งที่ไม่ใช่อัตตาได้ด้วยอัตตา’
๕. ทิฏฐิเกิดขึ้นแก่ผู้นั้นโดยแน่แท้มั่นคงว่า ‘เรารู้จักอัตตาได้ด้วยสิ่งที่ไม่ใช่อัตตา’
๖. อีกอย่างหนึ่ง ทิฏฐิเกิดมีแก่ผู้นั้น อย่างนี้ว่า ‘อัตตาของเรานี้ใด เป็นผู้กล่าว
เป็นผู้รู้ เสวยผลแห่งกรรมดีและกรรมชั่วในอารมณ์นั้น ๆ อัตตาของเรา
นี้นั้นเป็นสภาวะที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา
จักดำรงอยู่เสมอด้วยสิ่งที่แน่นอน’
ข้อนี้เราเรียกว่า ทิฏฐิ ได้แก่ ป่าทึบคือทิฏฐิ ทางกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนาม
คือทิฏฐิ ความเดือดร้อนคือทิฏฐิ กิเลสเครื่องผูกพันสัตว์คือทิฏฐิ
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ‘ปุถุชนผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์ ผู้ยังไม่ได้สดับ
ย่อมไม่พ้นจากชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความ
เศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ)
และอุปายาส(ความคับแค้นใจ) ย่อมไม่พ้นจากทุกข์’
[๒๐] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดใน
ธรรมของพระอริยะ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ พบสัตบุรุษทั้งหลาย
ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมรู้ทั่วถึง
ธรรมที่ควรมนสิการ รู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ อริยสาวกนั้นเมื่อรู้ทั่วถึงธรรม
ที่ควรมนสิการ เมื่อรู้ทั่วถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ ย่อมไม่มนสิการถึงธรรมที่ไม่ควร
มนสิการ มนสิการถึงแต่ธรรมที่ควรมนสิการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

ธรรมที่ไม่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกไม่มนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิด
ขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ ภวาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ
และอวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเจริญ เหล่านี้คือธรรมที่ไม่
ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกไม่มนสิการ
ธรรมที่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกมนสิการ เป็นอย่างไร
คือ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการถึงธรรมเหล่าใด กามาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่
เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป ภวาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมเสื่อมไป และอวิชชาสวะที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
เหล่านี้คือธรรมที่ควรมนสิการซึ่งอริยสาวกมนสิการ
เพราะอริยสาวกนั้น ไม่มนสิการถึงธรรมที่ไม่ควรมนสิการ มนสิการถึงธรรม
ที่ควรมนสิการ อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และอาสวะทั้งหลายที่
เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป
[๒๑] อริยสาวกนั้นมนสิการโดยแยบคายว่า ‘นี้ทุกข์(สภาวะที่ทนได้ยาก) นี้
ทุกขสมุทัย(เหตุเกิดทุกข์) นี้ทุกขนิโรธ(ความดับทุกข์) นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์)’ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการโดยแยบคายอย่างนี้
สังโยชน์ ๓ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ(ความเห็นว่าเป็นตัวของตน) (๒) วิจิกิจฉา(ความ
ลังเลสงสัย) (๓) สีลัพพตปรามาส(ความถือมั่นศีลและวัตร) ย่อมสิ้นไป
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยทัสสนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

อาสวะที่ต้องละด้วยการสังวร

[๒๒] อาสวะที่ต้องละด้วยการสังวร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคาย เป็นผู้สำรวมด้วยการสังวรใน
จักขุนทรีย์๑อยู่ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อม
ไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วย
การสังวรในโสตินทรีย์อยู่ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวมด้วย
การสังวรในฆานินทรีย์อยู่ ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม
ด้วยการสังวรในชิวหินทรีย์อยู่ ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม
ด้วยการสังวรในกายินทรีย์อยู่ ฯลฯ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้สำรวม
ด้วยการสังวรในมนินทรีย์อยู่ ซึ่งเมื่อเธอไม่สำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่
ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอสำรวมอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการสังวร

อาสวะที่ต้องละด้วยการใช้สอย

[๒๓] อาสวะที่ต้องละด้วยการใช้สอย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยจีวรเพียงเพื่อป้องกัน
ความหนาว ความร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน
เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะที่ก่อให้เกิดความละอาย

เชิงอรรถ :
๑ จักขุนทรีย์ หมายถึงจักขุที่เป็นปสาทรูป อาศัยมหาภูตรูป ๔ นับเนื่องในอัตภาพ ที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้
เคยกระทบ กำลังกระทบ จักกระทบ หรือพึงกระทบ (อภิ.สงฺ.(แปล) ๓๔/๕๙๗/๑๙๑) ที่ชื่อว่า จักขุนทรีย์
เพราะทำหน้าที่เป็นใหญ่ในจักขุทวาร (อภิ.วิ.อ. ๒/๒๑๙/๑๓๔) โสตินทรีย์เป็นต้นก็มีนัยเช่นเดียวกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วฉันบิณฑบาตไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อความ
มัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ๑ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง๒ แต่เพียงเพื่อกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อให้
ชีวิตินทรีย์เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า
'โดยอุบายนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสียได้ และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความ
ดำรงอยู่แห่งชีวิต ความไม่มีโทษ และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา' แล้วจึงบริโภค
อาหาร
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยเสนาสนะเพียงเพื่อป้องกันความหนาว
ความร้อน เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทา
อันตรายที่เกิดจากฤดู และเพื่อความยินดีในการหลีกเร้น
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้วใช้สอยคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร๓ เพียงเพื่อบรรเทา
เวทนาที่เกิดจากอาพาธต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว และเพื่อไม่มีความเบียดเบียนเป็นที่สุด
ซึ่งเมื่อเธอไม่ใช้สอยอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น
เมื่อเธอใช้สอยอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วย
อาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการใช้สอย

เชิงอรรถ :
๑ เพื่อประดับ ในที่นี้หมายถึงเพื่อให้ร่างกายอ้วนพี อวบอิ่มเหมือนหญิงแพศยา (ม.มู.ฏีกา ๑/๒๓/๒๑๑,
องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๘/๑๕๕, วิสุทฺธิ. ๑/๑๘/๓๓)
๒ เพื่อตกแต่ง ในที่นี้หมายถึงเพื่อประเทืองผิวให้งดงาม เหมือนหญิงนักฟ้อน มุ่งถึงความมีผิวพรรณงาม (ม.มู.
ฏีกา ๑/๒๓/๒๑๑, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา ๓/๕๘/๑๕๕, วิสุทฺธิ. ๑/๑๘/๓๓)
๓ คิลานปัจจัยเภสัชบริชาร คือเภสัช ๕ ชนิด ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย (วิ.อ. ๒/๒๙๐/๔๐,
สารตฺถ.ฏีกา ๒/๒๙๐/๓๙๓)
เป็นสิ่งสัปปายะสำหรับภิกษุผู้เจ็บไข้ จัดว่าเป็นบริขาร คือบริวารของชีวิต ดุจกำแพงล้อมพระนคร
เพราะคอยป้องกันรักษาไม่ให้อาพาธที่จะบั่นรอนชีวิตได้ช่องเกิดขึ้น และเป็นสัมภาระของชีวิต คอยประคับ
ประคองชีวิตให้ดำรงอยู่นาน (วิ.อ. ๒/๒๙๐/๔๐-๔๑, ม.มู.อ. ๑/๑๙๑/๓๙๗, ม.มู.ฏีกา ๑/๒๓/๒๑๓)
เป็นเครื่องป้องกันโรค บำบัดโรคที่ให้เกิดทุกขเวทนา เนื่องจากธาตุกำเริบให้หายไป (สารตฺถ.ฏีกา
๒/๒๙๐/๓๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

อาสวะที่ต้องละด้วยการอดกลั้น

[๒๔] อาสวะที่ต้องละด้วยการอดกลั้น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เป็นผู้อดทนต่อความหนาว
ความร้อน ความหิว ความกระหาย เหลือบ ยุง ลม แดด และสัมผัสแห่งสัตว์
เลื้อยคลาน เป็นผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำหยาบ คำส่อเสียด เป็นผู้อดกลั้นต่อเวทนา
ทั้งหลายอันมีในร่างกาย เป็นทุกข์ กล้าแข็ง เผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ
พรากชีวิตได้ ซึ่งเมื่อเธอไม่อดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธออดกลั้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น
ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการอดกลั้น

อาสวะที่ต้องละด้วยการเว้น

[๒๕] อาสวะที่ต้องละด้วยการเว้น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นช้างดุร้าย เว้นม้าดุร้าย
เว้นโคดุร้าย เว้นสุนัขดุร้าย เว้นงู หลัก ตอ สถานที่มีหนาม หลุม เหว บ่อน้ำครำ
บ่อโสโครก และพิจารณาโดยแยบคายแล้วเว้นสถานที่ที่ไม่ควรนั่ง สถานที่ไม่ควร
เที่ยวไป และมิตรชั่วที่เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายลงความเห็นว่าเป็นฐานะที่เป็นบาปเสีย
ซึ่งเมื่อเธอไม่เว้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น
เมื่อเธอเว้นอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วย
อาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่าอาสวะที่ต้องละด้วยการเว้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

อาสวะที่ต้องละด้วยการบรรเทา

[๒๖] อาสวะที่ต้องละด้วยการบรรเทา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ
บรรเทา ทำให้สิ้นสุด และทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป พิจารณาโดยแยบคาย
แล้วไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ฯลฯ ไม่รับ
บาปอกุศลธรรม๑ที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด และทำให้ถึง
ความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งเมื่อเธอไม่บรรเทาอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอบรรเทาอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการบรรเทา

อาสวะที่ต้องละด้วยการเจริญ

[๒๗] อาสวะที่ต้องละด้วยการเจริญ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญสติสัมโพชฌงค์๒ ที่
อาศัยวิเวก๓(ความสงัด) อาศัยวิราคะ(ความคลายกำหนัด) อาศัยนิโรธ(ความดับ)
น้อมไปในการสละ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ฯลฯ
เจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญปีติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

เชิงอรรถ :
๑ บาปอกุศลธรรม หมายถึงสภาวธรรมที่เป็นอกุศล มี ๖ ประการ คือ (๑) ญาติวิตก ความตรึกถึง
ญาติ (๒) ชนบทวิตก ความตรึกถึงบ้านตัวเอง (๓) อมรวิตก ความตรึกที่มีทิฏฐิซัดส่ายไม่แน่นอน
(๔) ปรานุททยตาปฏิสังยุตวิตก ความตรึกเรื่องอนุเคราะห์ผู้อื่น (๕) ลาภสักการสิโลกปฏิสังยุตวิตก
ความตรึกถึงลาภสักการะและสรรเสริญ (๖) อนวิญญัติปฏิสังยุตวิตก ความตรึกเรื่องเกรงผู้อื่นจะดูหมิ่น
(ม.มู.อ. ๑/๒๖/๙๐)
๒ สัมโพชฌงค์ หมายถึงธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ มี ๗ ประการ คือ (๑) สติ ความระลึกได้
(๒) ธัมมวิจยะ ความเลือกเฟ้นธรรม (๓) วิริยะ ความเพียร (๔) ปีติ ความอิ่มใจ (๕) ปัสสัทธิ ความสงบ
กายสงบใจ (๖) สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น (๗) อุเบกขา ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง
แต่ละข้อมีสัมโพชฌงค์ต่อท้ายเช่น สติสัมโพชฌงค์ (ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๑,๓๕๗/๒๕๘, อภิ.วิ.(แปล)
๓๕/๔๖๘/๓๕๙, ม.มู,อ. ๑/๒๗/๙๑-๙๒)
๓ วิเวก ในที่นี้หมายถึงวิเวก ๕ ประการ คือ (๑) วิกขัมภนวิเวก(ความสงัดด้วยการข่มไว้) (๒) ตทังควิเวก
(ความสงัดด้วยองค์นั้น ๆ) (๓) สมุจเฉทวิเวก(ความสงัดด้วยการตัดขาด) (๔) ปัสสัทธิวิเวก(ความสงัด
ด้วยการสงบระงับ) (๕) นิสสรณวิเวก(ความสงัดด้วยการสลัดออกได้) (ม.มู.อ. ๑/๒๗/๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๒. สัพพาสวสูตร

ฯลฯ เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ฯลฯ เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่อาศัยวิเวก อาศัย
วิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ซึ่งเมื่อไม่เจริญอยู่ อาสวะและความเร่าร้อน
ที่ก่อความคับแค้น ก็จะพึงเกิดขึ้น เมื่อเธอเจริญอยู่ อาสวะและความเร่าร้อนที่ก่อ
ความคับแค้น ย่อมไม่มีแก่เธอด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า อาสวะที่ต้องละด้วยการเจริญ
[๒๘] ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วยทัสสนะ อาสวะ
เหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยทัสสนะ อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละ
ด้วยการสังวร อาสวะเหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยการสังวร อาสวะ
เหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วยการใช้สอย อาสวะเหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้ว
ด้วยการใช้สอย อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วยการอดกลั้น อาสวะเหล่านั้น
เป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยการอดกลั้น อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วย
การเว้น อาสวะเหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยการเว้น อาสวะเหล่าใด
ที่ภิกษุใดต้องละด้วยการบรรเทา อาสวะเหล่านั้นเป็นอาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้ว
ด้วยการบรรเทา อาสวะเหล่าใดที่ภิกษุใดต้องละด้วยการเจริญ อาสวะเหล่านั้นเป็น
อาสวะที่ภิกษุนั้นละได้แล้วด้วยการเจริญ
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้สำรวมด้วยการสังวรอาสวะทั้งปวงอยู่
ตัดตัณหาได้แล้ว คลายสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้
โดยชอบ๑”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

สัพพาสวสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร

๓. ธัมมทายาทสูตร
ว่าด้วยทายาทแห่งธรรม

[๒๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้พระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเรา อย่าเป็นอามิส-
ทายาทเลย เรามีความเอ็นดูในพวกเธออยู่ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ สาวกทั้งหลาย
ของเราจะพึงเป็นธรรมทายาท ไม่เป็นอามิสทายาท’ หากเธอทั้งหลายเป็นอามิส-
ทายาทของเรา ไม่เป็นธรรมทายาท เพราะข้อนั้น เธอทั้งหลายจะพึงถูกวิญญูชน
ทั้งหลายติเตียนว่า ‘สาวกของพระศาสดาเป็นอามิสทายาทอยู่ ไม่เป็นธรรมทายาท’
แม้เราก็จะพึงถูกวิญญูชนทั้งหลายติเตียนว่า ‘สาวกของพระศาสดาเป็นอามิสทายาทอยู่
ไม่เป็นธรรมทายาท’ หากเธอทั้งหลายจะพึงเป็นธรรมทายาทของเรา ไม่เป็น
อามิสทายาท เพราะข้อนั้น เธอทั้งหลายจะไม่พึงถูกวิญญูชนทั้งหลายติเตียนว่า
‘สาวกของพระศาสดาเป็นธรรมทายาทอยู่ ไม่เป็นอามิสทายาท’ แม้เราก็จะไม่พึง
ถูกวิญญูชนทั้งหลายติเตียนว่า ‘สาวกของพระศาสดาเป็นอามิสทายาทอยู่ ไม่เป็น
ธรรมทายาท’
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเราเถิด
อย่าเป็นอามิสทายาทเลย เพราะเราก็มีความเอ็นดูในเธอทั้งหลายอยู่ว่า ‘ทำ
อย่างไรหนอ สาวกทั้งหลายของเราจะพึงเป็นธรรมทายาท ไม่เป็นอามิสทายาท’
[๓๐] ภิกษุทั้งหลาย หากเราจะพึงเป็นผู้ฉันเสร็จห้ามภัตเรียบร้อยแล้ว
สิ้นสุดภัตกิจ มีความสุขตามความต้องการแล้ว แต่บิณฑบาตของเรายังมีเหลือ
จะต้องทิ้ง ในเวลานั้น ภิกษุ ๒ รูปถูกความหิวและความอ่อนเพลียครอบงำพากันมา
เราควรกล่าวกับภิกษุทั้ง ๒ รูปนั้นอย่างนี้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นผู้ฉันเสร็จ
ห้ามภัตเรียบร้อยแล้ว สิ้นสุดภัตกิจ มีความสุขตามความต้องการแล้ว แต่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร

บิณฑบาตนี้ของเรายังมีเหลือจะต้องทิ้ง หากเธอทั้งหลายประสงค์ ก็จงฉันเถิด
หากเธอทั้งหลายจะไม่ฉัน บัดนี้ เราจะทิ้งลงบนพื้นที่ปราศจากของสดเขียว หรือ
เทลงในน้ำที่ปราศจากตัวสัตว์’ ภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งมีความคิดอย่างนี้ว่า
‘พระผู้มีพระภาคได้เสวยเสร็จห้ามภัตเรียบร้อยแล้ว สิ้นสุดภัตกิจ มีความสุขตาม
ความต้องการแล้ว แต่บิณฑบาตของพระผู้มีพระภาคนี้ ยังมีเหลือจะต้องทิ้ง หาก
เราจะไม่ฉัน บัดนี้ พระผู้มีพระภาคก็จะทรงทิ้งลงบนพื้นที่ปราศจากของสดเขียว
หรือทรงเทลงในน้ำที่ปราศจากตัวสัตว์ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเรา อย่าเป็นอามิสทายาทเลย’ บิณฑบาตนี้
เป็นอามิสอย่างหนึ่ง ทางที่ดี เราจะไม่ฉันบิณฑบาตนี้แล้วให้วันคืนผ่านพ้นไปอย่างนี้
ด้วยความหิวและความอ่อนเพลียนี้แล’ เธอจึงไม่ฉันบิณฑบาตนั้น แล้วให้วันคืน
นั้นผ่านพ้นไปอย่างนี้ ด้วยความหิวและความอ่อนเพลียนั้นแล
ลำดับนั้น ภิกษุรูปที่ ๒ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้เสวย
เสร็จห้ามภัตเรียบร้อยแล้ว สิ้นสุดภัตกิจ มีความสุขตามความต้องการแล้ว แต่
บิณฑบาตของพระผู้มีพระภาคนี้ยังมีเหลือจะต้องทิ้ง หากเราจะไม่ฉัน บัดนี้ พระผู้มี
พระภาคก็จะทรงทิ้งลงบนพื้นที่ปราศจากของสดเขียว หรือทรงเทลงในน้ำที่ปราศจาก
ตัวสัตว์ ทางที่ดี เราควรฉันบิณฑบาตนี้บรรเทาความหิวและความอ่อนเพลีย
แล้วให้วันคืนผ่านพ้นไปอย่างนี้’ เธอจึงฉันบิณฑบาตนั้นบรรเทาความหิวและความ
อ่อนเพลียแล้วให้วันคืนนั้นผ่านพ้นไปอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ (รูปที่ ๒) นั้นฉันบิณฑบาตนั้นบรรเทาความหิวและความ
อ่อนเพลียแล้วให้วันคืนนั้นผ่านพ้นไปอย่างนี้ แต่ภิกษุรูปแรกนั้นก็ยังเป็นผู้ควรบูชา
และสรรเสริญกว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะการไม่ฉันบิณฑบาตของภิกษุรูปแรกนั้น
จักเป็นไปเพื่อความมักน้อย สันโดษ ขัดเกลา เลี้ยงง่าย ปรารภความเพียร สิ้น
กาลนาน เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเราเถิด อย่าเป็นอามิส-
ทายาทเลย เพราะเราก็มีความเอ็นดูในเธอทั้งหลายอยู่ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ สาวก
ทั้งหลายของเราจะพึงเป็นธรรมทายาท ไม่เป็นอามิสทายาท”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระดำรัสนี้แล้ว พระสุคตครั้นตรัสพระดำรัสนี้แล้ว
ก็เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร

ความไม่สนใจศึกษาวิเวก

[๓๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ท่านพระสารีบุตร ได้เรียก
ภิกษุทั้งหลายในวิหารนั้นมากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้น
รับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุ
เท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก๑ สาวกทั้งหลายไม่สนใจศึกษา
วิเวก ด้วยเหตุเท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลาย
สนใจศึกษาวิเวก”
ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ พวกกระผมมาจากที่ไกลเพื่อจะทราบ
เนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของท่านพระสารีบุตร พวกกระผมขอโอกาส ขอท่าน
พระสารีบุตรได้โปรดแสดงเนื้อความแห่งภาษิตนั้นเถิด เพื่อภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ฟัง
แล้วจะทรงจำไว้ได้”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี กระผมจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวเรื่องนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ด้วยเหตุเท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวก
ทั้งหลายไม่สนใจศึกษาวิเวก เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวก
ทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้สนใจศึกษาวิเวก ไม่ละธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาตรัสว่า
ควรละ เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน๒ เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม๓ ทอดธุระ๔

เชิงอรรถ :
๑ วิเวก(ความสงัด) ในที่นี้หมายถึงวิเวก ๓ ประการ คือ (๑) กายวิเวก สงัดกาย (๒) จิตตวิเวก สงัดจิต
(๓) อุปธิวิเวก สงัดกิเลส (ม.มู.อ. ๑/๓๑/๑๐๙)
๒ ย่อหย่อน หมายถึงยึดถือปฏิบัติตามคำสั่งสอนหย่อนยาน (ม.มู.อ. ๑/๓๑/๑๑๐, องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
๓ โวกกมนธรรม ในที่นี้หมายถึงนิวรณ์ ๕ ประการ คือ (๑) กามฉันทะ(ความพอใจในกาม) (๒) พยาบาท
(ความคิดร้าย) (๓) ถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
(๕) วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) (ม.มู.อ. ๑/๓๑/๑๑๐, องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
๔ ทอดธุระ ในที่นี้หมายถึงไม่บำเพ็ญอุปธิวิเวกให้บริบูรณ์, อนึ่ง หมายถึงทอดทิ้งหน้าที่ในวิเวก ๓ ประการ
คือ กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก (ม.มู.อ. ๑/๓๑/๑๑๐, องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร

ในปวิเวก๑ บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้เป็นเถระเป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะ๒ ๓
ประการ คือ เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะที่ ๑ ว่า ‘เมื่อพระศาสดาประทับ
อยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลายไม่สนใจศึกษาวิเวก’ เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะ
ที่ ๒ ว่า ‘สาวกทั้งหลายไม่ละธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาตรัสว่า ควรละ’ และ
เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะที่ ๓ ว่า ‘สาวกทั้งหลายเป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน
เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ทอดธุระในปวิเวก’ ภิกษุผู้เป็นเถระเป็นผู้ควรถูก
ติเตียนโดยฐานะ ๓ ประการนี้ บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้เป็นมัชฌิมะ ฯลฯ
ภิกษุผู้ป็นนวกะเป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะ ๓ ประการ คือ เป็นผู้ควรถูก
ติเตียนโดยฐานะที่ ๑ ว่า ‘เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลาย
ไม่สนใจศึกษาวิเวก’ เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะที่ ๒ ว่า ‘สาวกทั้งหลายไม่ละ
ธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาตรัสว่า ควรละ’ เป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะที่ ๓ ว่า
‘สาวกทั้งหลายเป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ทอดธุระ
ในปวิเวก’ ภิกษุผู้เป็นนวกะเป็นผู้ควรถูกติเตียนโดยฐานะ ๓ ประการนี้
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุเท่านี้แล เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก
สาวกทั้งหลายชื่อว่าไม่สนใจศึกษาวิเวก

ความสนใจศึกษาวิเวก

[๓๒] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุเท่าไรหนอ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่
อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลายสนใจศึกษาวิเวก เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่าง
มีวิเวก สาวกทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้สนใจศึกษาวิเวก ละธรรมทั้งหลายที่พระศาสดา
ตรัสว่า ควรละ ไม่เป็นผู้มักมาก ไม่เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ปวิเวก หมายถึงอุปธิวิเวก คือสภาวะอันเป็นที่ตั้งที่ทรงไว้แห่งทุกข์ ได้แก่ กาม กิเลส เบญจขันธ์ และ
อภิสังขาร กล่าวคือนิพพาน (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
๒ ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุ แท้จริง คำว่า ‘ฐานะ’ มีความหมาย ๔ นัย คือ (๑) อิสสริยะ (ตำแหน่ง,
ความเป็นใหญ่) (๒) ฐิติ (เป้าหมาย,ที่ตั้ง) (๓) ขณะ(กาล) (๔) การณะ (เหตุ) ในที่นี้หมายถึงเหตุ (ม.มู.อ.
๑/๓๑/๑๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร

ไม่ทอดธุระในปวิเวก บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้เป็นเถระเป็นผู้ควรสรรเสริญโดย
ฐานะ ๓ ประการ คือ เป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะที่ ๑ ว่า ‘เมื่อพระศาสดา
ประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลายสนใจศึกษาวิเวก’ เป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะ
ที่ ๒ ว่า ‘สาวกทั้งหลายละธรรมทั้งหลายที่พระศาสดาตรัสว่า ควรละ’ เป็นผู้
ควรสรรเสริญโดยฐานะที่ ๓ ว่า ‘สาวกทั้งหลายไม่เป็นผู้มักมาก ไม่เป็นผู้ย่อหย่อน
ไม่เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ไม่ทอดธุระในปวิเวก’ บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้เป็น
มัชฌิมะ ฯลฯ ภิกษุผู้เป็นนวกะเป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะ ๓ ประการ คือ
เป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะที่ ๑ ว่า ‘เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวก
ทั้งหลายสนใจศึกษาวิเวก’ เป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะที่ ๒ ว่า ‘สาวกทั้งหลาย
ละธรรมทั้งหลาย ที่พระศาสดาตรัสว่า ควรละ’ เป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะที่ ๓
ว่า ‘สาวกทั้งหลาย ไม่เป็นผู้มักมาก ไม่เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม
ไม่ทอดธุระในปวิเวก’ ภิกษุผู้เป็นนวกะเป็นผู้ควรสรรเสริญโดยฐานะ ๓ ประการนี้
ด้วยเหตุเท่านี้แล เมื่อพระศาสดาประทับอยู่อย่างมีวิเวก สาวกทั้งหลายชื่อว่าสนใจ
ศึกษาวิเวก

มัชฌิมาปฏิปทา

[๓๓] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บรรดาธรรมเหล่านั้น โลภะและโทสะเป็นบาป
มัชฌิมาปฏิปทามีอยู่เพื่อละโลภะและโทสะ เป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้
เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน๑
มัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อ
สงบระคือ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คืออะไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)

เชิงอรรถ :
๑ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๓/๒๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๓. ธัมมทายาทสูตร

๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

นี้แล คือ มัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไป
เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บรรดาธรรมเหล่านั้น โกธะ(ความโกรธ) อุปนาหะ
(ความผูกโกรธ) เป็นบาป มัชฌิมาปฏิปทามีอยู่เพื่อละโกธะและอุปนาหะ เป็น
ปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้
เพื่อนิพพาน
มักขะ(ความลบหลู่คุณท่าน) ปฬาสะ(ความตีเสมอ) ...
อิสสา(ความริษยา) มัจฉริยะ(ความตระหนี่) ...
มายา(มารยา) สาเถยยะ(ความโอ้อวด) ...
ถัมภะ(ความหัวดื้อ) สารัมภะ(ความแข่งดี) ...
มานะ(ความถือตัว) อติมานะ(ความดูหมิ่นเขา) ...
มทะ(ความมัวเมา) และปมาทะ(ความประมาท) เป็นบาป มัชฌิมาปฏิปทา
มีอยู่เพื่อละมทะและปมาทะ เป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไป
เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
มัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อ
สงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คืออะไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แล คือ มัชฌิมาปฏิปทาอันเป็นปฏิปทาก่อให้เกิดจักษุ ก่อให้เกิดญาณ เป็นไป
เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน”
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิต
ของท่านพระสารีบุตร ดังนี้แล

ธัมมทายาทสูตรที่ ๓ จบ

๔. ภยเภรวสูตร
ว่าด้วยความขลาดกลัว

[๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชื่อชาณุสโสณิเข้าไปเฝ้าพระผู้
มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม กุลบุตรทั้งหลายมีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เจาะจงท่านพระโคดม ท่านพระโคดมทรงเป็นหัวหน้าของกุลบุตรเหล่านั้น เป็นผู้มี
อุปการะมาก เป็นผู้แนะนำให้ถือตาม ชุมชนนั้นถือเอาแบบอย่างท่านพระโคดมหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พราหมณ์ ข้อนี้
เป็นอย่างนั้น กุลบุตรทั้งหลายมีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเจาะจงเรา
เราเป็นหัวหน้าของพวกเขา เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้แนะนำให้ถือตาม ชุมชน
นั้นถือเอาแบบอย่างเรา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม เสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ๑ อยู่ลำบาก ทำวิเวก๒ได้ยาก ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์
ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะชักนำจิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิ๓ให้หวาดหวั่น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พราหมณ์ ข้อนี้เป็น
อย่างนั้น เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ อยู่ลำบาก ทำวิเวกได้ยาก
ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะชักนำจิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้
สมาธิให้หวาดหวั่น”

เหตุสะดุ้งกลัวการอยู่ในเสนาสนะป่า ๑๖ ประการ

[๓๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เมื่อก่อน เราเป็นโพธิสัตว์
ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความดำริว่า ‘เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ อยู่
ลำบาก ทำวิเวกได้ยาก ในการอยู่โดดเดี่ยวก็อภิรมย์ได้ยาก ป่าทั้งหลายเห็นจะชักนำ
จิตของภิกษุผู้ยังไม่ได้สมาธิให้หวาดหวั่น’ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัว
และความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือมีกายกรรมไม่บริสุทธิ์
ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีกายกรรมไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ เราเป็นผู้มีกายกรรมบริสุทธิ์ พระอริยะ๔เหล่าใดมีกายกรรมบริสุทธิ์
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดา
พระอริยะเหล่านั้น’

เชิงอรรถ :
๑ ป่าโปร่ง (อรฺ) หมายถึงป่าอยู่นอกเสาเขตเมืองออกไปอย่างน้อยชั่ว ๕๐๐ ลูกธนู ป่าทึบ (วนปตฺถ)
หมายถึงสถานที่ที่ไม่มีคนอยู่อาศัย เลยเขตหมู่บ้านไป (ม.มู.อ. ๑/๓๔/๑๒๑, องฺ.ทุก.อ. ๒/๓๑/๓๐)
๒ วิเวก ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก(สงัดกาย) (ม.มู.อ. ๑/๓๔/๑๒๒, องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๙/๓๗๐)
๓ สมาธิ ในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ (ม.มู.อ. ๑/๓๔/๑๒๒, องฺ.ทสก.อ. ๓/๙๙/๓๗๐)
๔ พระอริยะ ในที่นี้หมายถึงพระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวก (ม.มู.อ. ๑/๓๕/๑๒๓) และดูเทียบเชิงอรรถ
ข้อ ๒ หน้า ๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีกายกรรมบริสุทธิ์นั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้มีความปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑)
[๓๖] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้มีวจีกรรมไม่บริสุทธิ์ ฯลฯ มีมโนกรรมไม่บริสุทธิ์ ฯลฯ มีการ
เลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะ
หรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล
เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือมีการเลี้ยงชีพไม่บริสุทธิ์ ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีการเลี้ยง
ชีพไม่บริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มี
การเลี้ยงชีพบริสุทธิ์ พระอริยะเหล่าใดมีการเลี้ยงชีพบริสุทธิ์ เข้าอาศัยเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีการเลี้ยงชีพบริสุทธิ์นั้นในตน จึงถึง
ความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๒-๓-๔)
[๓๗] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งมีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีความกำหนัดกล้าในกามคุณทั้งหลาย
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญ
เหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษ
ของตนคือมีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น และมีความกำหนัดกล้าในกามคุณ
ทั้งหลาย ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น ไม่มีความกำหนัด
กล้าในกามคุณทั้งหลาย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เรามิใช่เป็นผู้มีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น พระอริยะเหล่าใดไม่มีปกติเพ่ง
เล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ไม่มีปกติเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
นั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๕)
[๓๘] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งมีจิตวิบัติ มีความดำริชั่วร้าย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความ
ขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือมีจิตวิบัติและมีความดำริชั่วร้าย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีจิตวิบัติ มิใช่มีความดำริชั่วร้าย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มีจิตเมตตา พระอริยะเหล่าใดมีจิตเมตตา เข้า
อาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีจิตเมตตานั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้
ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๖)
[๓๙] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งถูกถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) กลุ้มรุมแล้ว เข้าอาศัยเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อม
ประสบความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือการถูก
ถีนมิทธะกลุ้มรุม ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ถูกถีนมิทธะกลุ้มรุม เข้าอาศัยเสนาสนะอัน
เงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ พระอริยะเหล่าใด
เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๗)
[๔๐] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่สงบ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและ
ป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาด
อันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือเป็นผู้ฟุ้งซ่านและมีจิตไม่สงบ ส่วนเรา
มิใช่เป็นผู้ฟุ้งซ่าน มิใช่มีจิตไม่สงบ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ เราเป็นผู้มีจิตสงบแล้ว พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้มีจิตสงบ เข้า
อาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีจิตสงบนั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้
ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

[๔๑] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้เคลือบแคลงสงสัย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญ‘เหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็น
อกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเคลือบแคลงสงสัย ส่วนเรามิใช่เป็นผู้
เคลือบแคลงสงสัย เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้
ข้ามพ้นความเคลือบแคลงสงสัยแล้ว พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัยแล้ว
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัยนั้นในตน จึงถึง
ความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๙)
[๔๒] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาดอันเป็น
อกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือการยกตนข่มผู้อื่น ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ยกตนข่ม
ผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้ไม่ยกตนข่ม
ผู้อื่น พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ไม่ยกตนข่มผู้อื่นนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๐)
[๔๓] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้สะดุ้งกลัวและมักขลาด เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและ
ความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความสะดุ้งกลัวและมักขลาด
ส่วนเรามิใช่เป็นผู้สะดุ้งกลัวและมักขลาด เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่า
โปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้ปราศจากความขนพองสยองเกล้า พระอริยะเหล่าใดเป็น
ผู้ปราศจากความขนพองสยองเกล้า เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและ
ป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ปราศจากความสะดุ้งกลัวนั้นในตน จึงถึง
ความเป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๑)
[๔๔] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งปรารถนาลาภสักการะและความสรรเสริญ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบ
สงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความ
กลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความปรารถนา
ลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ปรารถนาลาภสักการะและความ
สรรเสริญ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มีความ
ปรารถนาน้อย พระอริยะเหล่าใดมีความปรารถนาน้อย เข้าอาศัยเสนาสนะอัน
เงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๒)
[๔๕] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นผู้เกียจคร้าน ปราศจากความเพียร เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัว
และความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นผู้เกียจคร้าน
ปราศจากความเพียร ส่วนเรามิใช่เป็นผู้เกียจคร้าน มิใช่ปราศจากความเพียร
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้ปรารภความเพียร๑
พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้ปรารภความเพียร เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่ง
และป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’

เชิงอรรถ :
๑ ปรารภความพียร ในที่นี้หมายถึงมีความเพียรที่บริบูรณ์ และมีความเพียรที่ประคับประคองไว้สม่ำเสมอ
ไม่หย่อนนัก ไม่ตึงนัก ไม่ให้จิตปรุงแต่งภายใน ไม่ให้ฟุ้งซ่านภายนอก คำว่า ความเพียร ในที่นี้หมายเอา
ทั้ง ความเพียรทางกาย เช่น เพียรพยายามทางกายตลอดคืนและวัน ดุจในประโยคว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน” (อภิ.วิ.(แปล)
๓๕/๕๑๙/๓๙๑) และ ความเพียรทางจิต เช่น เพียรพยายามผูกจิตไว้ด้วยการกำหนดสถานที่เป็นต้น ดุจ
ในประโยคว่า “เราจะไม่ออกจากถ้ำนี้จนกว่าจิตของเราจะหลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน”
(องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๘/๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ปรารภความเพียรนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๓)
[๔๖] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งขาดสติสัมปชัญญะ(ความระลึกได้และความรู้ตัว) เข้าอาศัยเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบ
ความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นผู้
ขาดสติสัมปชัญญะ ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ขาดสติสัมปชัญญะ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบ
สงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มีสติมั่นคง พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้มีสติมั่นคง
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระ
อริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีสติมั่นคงนั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้
ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๔)
[๔๗] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งมีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตดิ้นรนกวัดแกว่ง เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือ
ป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัว
และความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นผู้มีจิตไม่ตั้ง
มั่นและมีจิตดิ้นรนกวัดแกว่ง ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตไม่ดิ้นรนกวัดแกว่ง
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ
พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือ
ป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธินั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๕)
[๔๘] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและ
ป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาด
อันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ส่วนเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

มิใช่เป็นผู้โง่เขลาเบาปัญญา เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา เข้าอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น’
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญานั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (๑๖)

เหตุสะดุ้งกลัวการอยู่ในเสนาสนะป่า ๑๖ ประการ จบ

[๔๙] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรอยู่ในเสนาสนะ
เช่นนี้ คือ อารามเจดีย์ วนเจดีย์ รุกขเจดีย์๑อันน่าสะพรึงกลัว น่าขนพองสยองเกล้า
ในราตรีที่กำหนดรู้กันว่าวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ ด้วยหวังว่า
‘เราจะได้เห็นความน่ากลัวและความขลาด’ ต่อมา เราได้อยู่ในเสนาสนะและราตรี
ดังกล่าวแล้วนั้น เมื่อเราอยู่ในเสนาสนะนั้น สัตว์ป่ามา นกยูงทำไม้ให้ตกลงมา
หรือลมพัดเศษใบไม้ให้ตกลงมา เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ความกลัวและความขลาด
นี้นั้นย่อมเกิดขึ้นแน่นอน’ เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘เพราะเหตุไร เราจึงหวังเฉพาะ
แต่เรื่องความกลัวอยู่อย่างเดียว ทางที่ดี เราควรจะกำจัดความกลัวและความขลาด
ที่เกิดขึ้นแก่เราในอิริยาบถที่เราเป็นอยู่นั้น ๆ เสีย’ เมื่อเรากำลังจงกรมอยู่ ความกลัว
และความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่ยืน ไม่นั่ง ไม่นอน จะจงกรมอยู่ จนกว่า
จะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้ เมื่อเรายืนอยู่ ความกลัวและความขลาด
เกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่จงกรม ไม่นั่ง ไม่นอน จะยืนอยู่จนกว่าจะกำจัดความกลัว
และความขลาดนั้นได้ เมื่อเรานั่งอยู่ ความกลัวและความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะ
ไม่นอน ไม่ยืน ไม่จงกรม จะนั่งอยู่ จนกว่าจะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้
เมื่อเรานอนอยู่ ความกลัวและความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่นั่ง ไม่ยืน ไม่จงกรม
จะนอนอยู่จนกว่าจะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้

เชิงอรรถ :
๑ อารามเจดีย์ หมายถึงสถานที่ที่งดงามด้วยไม้ดอกและไม้ผล ที่เรียกว่า เจดีย์ เพราะเป็นสถานที่กระทำให้
วิจิตร ทำให้น่าบูชา วนเจดีย์ หมายถึงชายป่าที่ต้องนำเครื่องพลีกรรมไปสังเวย ป่าสุภควันและป่าที่ตั้งศาล
เป็นที่สถิตของเทวดาเป็นต้น รุกขเจดีย์ หมายถึงต้นไม้ใหญ่ที่คนเคารพบูชาใกล้ปากทางเข้าหมู่บ้าน
หรือนิคมเป็นต้น โดยเข้าใจว่าเป็นที่อยู่ของเทวดาผู้มีฤทธิ์ (ม.มู.อ. ๑/๔๙/๑๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

สัตว์ผู้ไม่ลุ่มหลง

[๕๐] พราหมณ์ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งเข้าใจกลางคืนแท้ ๆ ว่าเป็น
กลางวัน เข้าใจกลางวันแท้ ๆ ว่าเป็นกลางคืน เรากล่าวการมีความเข้าใจเช่นนี้
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ด้วยความหลง ส่วนเราเข้าใจกลางคืนแท้ ๆ ว่าเป็น
กลางคืน เข้าใจกลางวันแท้ ๆ ว่าเป็นกลางวัน บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องควร
กล่าวกับเราว่า ‘สัตว์ผู้ไม่มีความหลงได้อุบัติแล้วในโลก เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’
[๕๑] พราหมณ์ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน สติก็มั่นคงไม่ฟั่นเฟือน
กายสงบระงับไม่กระสับกระส่าย จิตเป็นสมาธิมีอารมณ์แน่วแน่ เรานั้นสงัดจากกาม
และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจาก
วิเวกอยู่๑ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะ
ที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่๒
เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุ
ตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข‘๓ เพราะ
ละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มี
ทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่๔

วิชชา ๓

[๕๒] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๕ ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นจึง
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง

เชิงอรรถ :
๑-๔ ที.สี.(แปล) ๙/๔๑๓/๑๗๘
๕ กิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) หมายถึงกิเลสเพียงดังเนินคือราคะ โทสะ โมหะ มลทิน หรือเปือกตม ในที่
บางแห่ง หมายถึงพื้นที่เป็นเนินตามที่พูดกันว่า เนินโพธิ์ เนินเจดีย์ เป็นต้น แต่ในที่นี้ ท่านพระสารีบุตร
ประสงค์เอากิเลสอย่างเผ็ดร้อนนานัปการว่า กิเลสเพียงดังเนิน (ม.มู.อ. ๑/๕๗/๑๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง
๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอัน
มากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป๑เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่อ
อย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ
จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้
เราระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เราบรรลุ
วิชชาที่ ๑ นี้ในปฐมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัด
ความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น
[๕๓] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นจึง
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นผิด พวกเขา
หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบ
กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ
และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์’ เราเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ คือ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตาม
กรรมอย่างนี้แล เราบรรลุวิชชาที่ ๒ นี้ ในมัชฌิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชา
ได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคล
ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ สังวัฏฏกัป หมายถึงกัปฝ่ายเสื่อม คือช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังพินาศ วิวัฏฏกัป หมายถึงกัปฝ่ายเจริญ
คือช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังฟื้นขึ้นมาใหม่ (วิ.อ. ๑/๑๒/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๔. ภยเภรวสูตร

[๕๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเรานั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๒ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป‘๓ เราบรรลุวิชชาที่ ๓ นี้ ในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชา
ได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคล
ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น
[๕๕] พราหมณ์ บางคราวท่านอาจมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘แม้วันนี้ พระโคดม
ยังไม่เป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงเข้าอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ’ ท่านไม่ควรเห็นอย่างนั้น เราเห็น
อำนาจประโยชน์ ๒ ประการ คือ (๑) การอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของตน
(๒) การอนุเคราะห์ชุมชนผู้เกิดในภายหลัง จึงเข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ”

เชิงอรรถ :
๑ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว หมายถึงกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อทำลายอาสวกิเลส จบสิ้นสมบูรณ์แล้ว ไม่มีกิจ
ที่จะต้องทำเพื่อตนเอง แต่ยังมีหน้าที่เพื่อผู้อื่นอยู่ ผู้บรรลุถึงขั้นนี้ได้ ชื่อว่า อเสขบุคคล (ม.มู.อ. ๑/๕๔/๑๓๘,
ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓)
๒ กิจที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงกิจในอริยสัจ ๔ คือ การกำหนดรู้ทุกข์, การละเหตุเกิดแห่งทุกข์, การทำให้แจ้ง
ซึ่งความดับทุกข์ และการอบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ (ม.มู.อ. ๑/๕๔/๑๓๘, ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓)
๓ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมรรคญาณเพื่อความหมดสิ้น
แห่งกิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า การบรรลุพระอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ม.มู.อ.
๑/๕๔/๑๓๘, ที.สี.อ. ๑/๒๔๘/๒๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

ชาณุสโสณิเป็นพุทธมามกะ

[๕๖] ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดมได้อนุเคราะห์ชุมชน
ผู้เกิดในภายหลังนี้แล้ว เหมือนอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์ฉะนั้น
ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่าน
พระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรง
ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมี
ตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และ
พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล

ภยเภรวสูตรที่ ๔ จบ

๕. อนังคณสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บุคคล ๔ ประเภท

[๕๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลาย
มากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้
กล่าวเรื่องนี้ว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคล ๔ ประเภทนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล ๔ ประเภท ไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลบางคนเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนิน๑แต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง
ว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน๒’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๕ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๑ ในเล่มนี้
๒ ตน ในที่นี้หมายถึงจิตตสันดาน (ม.มู.อ. ๑/๕๗/๑๕๑,๖๕/๑๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

๒. บุคคลบางคนเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’
๓. บุคคลบางคนเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินแต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง
ว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’
๔. บุคคลบางคนเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตามความเป็นจริง
ว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลใดเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนินแต่ไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ บรรดาบุคคล ๒ ประเภท
ที่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลนี้บัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลใดเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ บรรดาบุคคล ๒ ประเภท
ที่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลนี้บัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ’
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลใดเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินแต่ไม่รู้ชัด
ตามความเป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ บรรดาบุคคล ๒ ประเภท
ที่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลนี้บัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลใดเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ บรรดาบุคคล ๒ ประเภท
ที่ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลนี้บัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ’
[๕๘] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้
ถามท่านพระสารีบุตรอย่างนี้ว่า “ท่านสารีบุตร อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่
บรรดาบุคคล ๒ ประเภทผู้มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลหนึ่งบัณฑิต
กล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’ แต่อีกบุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ’
และอะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่บรรดาบุคคล ๒ ประเภทผู้ไม่มีกิเลสเพียงดัง
เนินเหมือนกันนี้ บุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’ แต่อีกบุคคลหนึ่ง
บัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

[๕๙] ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น
บุคคลผู้มีกิเลสเพียงดังเนินแต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนิน
ภายในตน’ พึงหวังข้อนี้ได้ คือเขาจักไม่ทำความพอใจให้เกิดขึ้น จักไม่พยายาม
จักไม่ปรารภความเพียรเพื่อละกิเลสเพียงดังเนินนั้น เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ
มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตเศร้าหมองตายไป เปรียบเหมือนภาชนะสำริดที่เขานำมา
จากร้านตลาด หรือจากตระกูลช่างทองมีฝุ่นและสนิมจับเกรอะกรัง เจ้าของจะไม่พึง
ใช้สอยและไม่ขัดสีภาชนะสำริดนั้น ซ้ำยังเก็บมันไว้ในที่ที่มีฝุ่นละอองฉะนั้น เมื่อเป็น
เช่นนั้น ต่อมา ภาชนะสำริดนั้นพึงเป็นของเศร้าหมองถูกสนิมจับยิ่งขึ้น”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่า “อย่างนั้นหรือ ท่านผู้มีอายุ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “อย่างนั้นนั่นแล ท่านผู้มีอายุ บุคคลผู้มีกิเลสเพียง
ดังเนินแต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวัง
ข้อนี้ได้ คือเขาจักไม่ทำความพอใจให้เกิดขึ้น จักไม่พยายาม จักไม่ปรารภความเพียร
เพื่อละกิเลสเพียงดังเนินนั้น เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลสเพียงดังเนิน
มีจิตเศร้าหมองตายไป
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลผู้มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวังข้อนี้ได้ คือเขาจักทำความ
พอใจให้เกิดขึ้น จักพยายาม จักปรารภความเพียรเพื่อละกิเลสเพียงดังเนินนั้น
เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตไม่เศร้าหมอง
ตายไป เปรียบเหมือนภาชนะสำริดที่เขานำมาจากร้านตลาด หรือจากตระกูลช่างทอง
มีฝุ่นและสนิมจับเกรอะกรัง เจ้าของจะพึงใช้สอยและขัดสีภาชนะสำริดนั้น ทั้งไม่
เก็บมันไว้ในที่ที่มีฝุ่นละอองฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ต่อมาภาชนะสำริดนั้นพึงเป็นของ
บริสุทธิ์ผ่องใส”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่า “อย่างนั้นหรือ ท่านผู้มีอายุ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “อย่างนั้นนั่นแล ท่านผู้มีอายุ บุคคลผู้มีกิเลสเพียง
ดังเนินและรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวังข้อนี้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

คือเขาจักทำความพอใจให้เกิดขึ้น จักพยายาม จักปรารภความเพียรเพื่อละกิเลส
เพียงดังเนินนั้น เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิต
ไม่เศร้าหมองตายไป
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินและไม่รู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวังข้อนี้ได้ คือเขาจักมนสิการ
สุภนิมิต(เครื่องหมายว่างาม) เพราะมนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักครอบงำจิตได้ เขาจัก
เป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตเศร้าหมองตายไป เปรียบเหมือน
ภาชนะสำริดที่เขานำมาจากร้านตลาด หรือจากตระกูลช่างทอง เป็นของบริสุทธิ์ผ่องใส
แต่เจ้าของไม่ได้ใช้สอย ทั้งไม่ขัดสีภาชนะสำริดนั้น ซ้ำยังเก็บมันไว้ในที่ที่มีฝุ่นละออง
ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ต่อมาภาชนะสำริดนั้นพึงเป็นของเศร้าหมอง สนิมจับได้”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่า “อย่างนั้นหรือ ท่านผู้มีอายุ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “อย่างนั้นนั่นแล ท่านผู้มีอายุ บุคคลผู้ไม่มีกิเลส
เพียงดังเนินและไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’
พึงหวังข้อนี้ได้ คือเขาจักมนสิการสุภนิมิต เพราะมนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจัก
ครอบงำจิตได้ เขาจักเป็นผู้มีราคะ โทสะ โมหะ มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตเศร้า
หมองตายไป
บรรดาบุคคล ๔ ประเภทนั้น บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตามความ
เป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวังข้อนี้ได้ คือเขาจักไม่
มนสิการสุภนิมิต เพราะไม่มนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักไม่ครอบงำจิต เขาจักเป็น
ผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตไม่เศร้าหมองตายไป
เปรียบเหมือนภาชนะสำริดที่เขานำมาจากร้านตลาด หรือจากตระกูลช่างทองเป็นของ
บริสุทธิ์ผ่องใส เจ้าของใช้สอยและขัดสีภาชนะสำริดนั้น ทั้งไม่เก็บมันไว้ในที่ที่มีฝุ่นละออง
ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ต่อมา ภาชนะสำริดนั้นพึงเป็นของบริสุทธิ์ผ่องใสยิ่งนัก”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่า “อย่างนั้นหรือ ท่านผู้มีอายุ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “อย่างนั้นนั่นแล ท่านผู้มีอายุ บุคคลผู้ไม่มีกิเลส
เพียงดังเนินและรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน’ พึงหวัง
ข้อนี้ได้ คือเขาจักไม่มนสิการสุภนิมิต เพราะไม่มนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักไม่
ครอบงำจิต เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตไม่
เศร้าหมองตายไป
ท่านโมคคัลลานะ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่บรรดาบุคคล ๒ ประเภทผู้มี
กิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’ แต่
อีกบุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ’ และนี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ที่บรรดาบุคคล ๒ ประเภทผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลหนึ่งบัณฑิต
กล่าวว่า ‘เป็นบุรุษต่ำทราม’ แต่อีกบุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า ‘เป็นบุรุษประเสริฐ’

กิเลสเพียงดังเนิน

[๖๐] ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่า “ท่านผู้มีอายุ ท่านกล่าวว่า ‘กิเลส
เพียงดังเนิน กิเลสเพียงดังเนิน’ คำว่า ‘กิเลสเพียงดังเนิน’ นั่นเป็นชื่อของอะไรหนอ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ คำว่า ‘กิเลสเพียงดังเนิน’ นี้ เป็น
ชื่อของอิจฉาวจร๑ ที่เป็นบาปอกุศล
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เรา
เป็นผู้ต้องอาบัติหนอ ภิกษุทั้งหลายไม่พึงรู้ว่า เราต้องอาบัติแล้ว’ แต่เป็นไปได้ที่
ภิกษุทั้งหลายพึงรู้ว่า ภิกษุนั้นต้องอาบัติแล้ว ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น
เพราะคิดว่า ‘ภิกษุทั้งหลายรู้ว่า เราเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว’ ความโกรธและความไม่
แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน

เชิงอรรถ :
๑ อิจฉาวจร หมายถึงการประพฤติตนในทางต่ำทรามตามอำนาจความปรารถนา (ม.มู.อ. ๑/๖๐/๑๕๕, ม.มู.
ฏีกา ๑/๖๐/๓๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เรา
เป็นผู้ต้องอาบัติหนอ ภิกษุทั้งหลายพึงโจทเราในที่ลับเฉพาะ ไม่พึงโจทในท่ามกลางสงฆ์
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุทั้งหลายพึงโจทภิกษุนั้นในท่ามกลางสงฆ์ ไม่พึงโจทในที่ลับเฉพาะ
ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุทั้งหลายโจทเราในท่าม
กลางสงฆ์ ไม่โจทในที่ลับเฉพาะ’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่า
กิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘เรา
เป็นผู้ต้องอาบัติหนอ ภิกษุผู้เสมอกัน๑ พึงโจทเรา ภิกษุผู้ไม่เสมอกันไม่พึงโจทเรา’
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ไม่เสมอกันพึงโจทภิกษุนั้น ภิกษุผู้เสมอกันไม่โจทภิกษุนั้น ดังนั้น
ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุผู้ไม่เสมอกันโจทเรา แต่ภิกษุผู้
เสมอกันไม่โจทเรา’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอพระศาสดาทรงซักถามเฉพาะเราบ่อย ๆ แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย ไม่ทรงซักถามภิกษุอื่น แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย’ แต่เป็น
ไปได้ที่พระศาสดา พึงทรงซักถามภิกษุอื่นบ่อย ๆ แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย ไม่ทรงซักถามภิกษุนั้นบ่อย ๆ แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย
ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘พระศาสดาทรงซักถาม
ภิกษุอื่นบ่อย ๆ แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ไม่ทรงซักถามเราบ่อย ๆ
แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้
ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอภิกษุทั้งหลายแวดล้อมเราเท่านั้นอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร
ไม่แวดล้อมภิกษุอื่นอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร’ แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุ
ทั้งหลายพึงแวดล้อมภิกษุอื่นอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร ไม่แวดล้อมภิกษุ

เชิงอรรถ :
๑ ภิกษุผู้เสมอกัน หมายถึงภิกษุผู้ต้องอาบัติโจทภิกษุผู้ต้องอาบัติข้อเดียวกัน (ม.มู.อ. ๑/๖๐/๑๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

นั้นอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น
เพราะคิดว่า ‘ภิกษุทั้งหลายแวดล้อมภิกษุอื่นอย่างหนาแน่นแล้วเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร
ไม่แวดล้อมเราอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่น
ทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่า กิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอเราเท่านั้นพึงได้อาสนะที่ดีเลิศ๑ น้ำที่ดีเลิศ๒ บิณฑบาตที่ดีเลิศ๓ ใน
โรงฉัน ภิกษุอื่นไม่พึงได้อาสนะที่ดีเลิศ น้ำที่ดีเลิศ บิณฑบาตที่ดีเลิศในโรงฉัน’
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุอื่นพึงได้อาสนะที่ดีเลิศ น้ำที่ดีเลิศ บิณฑบาตที่ดีเลิศในโรงฉัน
ภิกษุนั้นไม่ได้อาสนะที่ดีเลิศ น้ำที่ดีเลิศ บิณฑบาตที่ดีเลิศในโรงฉัน ดังนั้น ภิกษุนั้น
ก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุอื่นได้อาสนะที่ดีเลิศ น้ำที่ดีเลิศ
บิณฑบาตที่ดีเลิศในโรงฉัน เราไม่ได้อาสนะที่ดีเลิศ น้ำที่ดีเลิศ บิณฑบาตที่ดีเลิศ
ในโรงฉัน’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอเราเท่านั้นฉันในโรงฉันเสร็จแล้วพึงได้อนุโมทนา ภิกษุอื่นฉันในโรงฉัน
เสร็จแล้วไม่พึงได้อนุโมทนา’ แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุอื่นฉันในโรงฉันเสร็จแล้วพึงได้อนุโมทนา
ภิกษุนั้นฉันในโรงฉันเสร็จแล้วไม่พึงได้อนุโมทนา ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ
ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุอื่นฉันในโรงฉันเสร็จแล้วได้อนุโมทนา เราฉันในโรงฉัน
เสร็จแล้วไม่ได้อนุโมทนา’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลส
เพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอเราเท่านั้นพึงได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม ภิกษุอื่นไม่

เชิงอรรถ :
๑ อาสนะที่ดีเลิศ หมายถึงที่นั่งหัวแถว (ม.มู.อ. ๑/๖๐/๑๕๗)
๒ น้ำที่ดีเลิศ หมายถึงน้ำทักษิณา (ม.มู.อ. ๑/๖๐/๑๕๗)
๓ บิณฑบาตที่ดีเลิศ หมายถึงบิณฑบาตที่ถวายแก่พระเถระผู้เป็นประธานในสงฆ์ (ม.มู.อ. ๑/๖๐/๑๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

พึงได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม’ แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุอื่นพึงได้แสดง
ธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม ภิกษุนั้นไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่
ในอาราม ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุอื่นได้
แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม เราไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย
ผู้อยู่ในอาราม’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอเราเท่านั้นพึงได้แสดงธรรมแก่ภิกษุณีทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม ฯลฯ
พึงได้แสดงธรรมแก่อุบาสกทั้งหลาย ฯลฯ พึงได้แสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลาย
ภิกษุอื่นไม่พึงได้แสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม’ แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุ
อื่นพึงได้แสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม ภิกษุนั้นไม่ได้แสดงธรรม
แก่อุบาสิกาทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น
เพราะคิดว่า ‘ภิกษุอื่นได้แสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลายผู้อยู่ในอาราม เราไม่ได้
แสดงธรรมแก่อุบาสิกาทั้งหลาย ผู้อยู่ในอาราม’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่น
ทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอภิกษุทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราเท่านั้น ไม่พึง
สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุอื่น’ แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุทั้งหลายพึงสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา ภิกษุอื่น ไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น
ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุทั้งหลายสักการะ เคารพ
นับถือ บูชาภิกษุอื่น ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา’ ความโกรธ
และความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่า กิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอภิกษุณีทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราเท่านั้น ฯลฯ
อุบาสกทั้งหลาย ฯลฯ อุบาสิกาทั้งหลายพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาเราเท่านั้น
ไม่พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุอื่น’ แต่เป็นไปได้ที่อุบาสิกาทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุอื่น ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น
ดังนั้น ภิกษุนั้น ก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘อุบาสิกาทั้งหลายสักการะ
เคารพ นับถือ บูชาภิกษุอื่น ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเรา’ ความโกรธ
และความไม่แช่มชื่น ทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘โอหนอ ขอเราเท่านั้นพึงได้จีวรอันประณีต ภิกษุอื่นไม่พึงได้จีวรอันประณีต’ แต่
เป็นไปได้ที่ภิกษุอื่นพึงได้จีวรอันประณีต ภิกษุนั้นไม่ได้จีวรอันประณีต ดังนั้น
ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า ‘ภิกษุอื่นได้จีวรอันประณีต เราไม่ได้
จีวรอันประณีต’ ความโกรธ และความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
“โอหนอ ขอเราเท่านั้นพึงได้บิณฑบาตอันประณีต ฯลฯ เสนาสนะอันประณีต ฯลฯ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอันประณีต ภิกษุอื่นไม่พึงได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอันประณีต’
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุอื่นพึงได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอันประณีต ภิกษุนั้นไม่ได้คิลาน-
ปัจจัยเภสัชบริขารอันประณีต ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า
‘ภิกษุอื่นได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอันประณีต เราไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารอัน
ประณีต’ ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
ท่านผู้มีอายุ คำว่า ‘กิเลสเพียงดังเนิน’ นี้ เป็นชื่อแห่งอิจฉาวจรทั้งหลายที่
เป็นบาปอกุศล

อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศล

[๖๑] ท่านผู้มีอายุ อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านี้ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยังละ
ไม่ได้ ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่ แม้ว่าภิกษุนั้นจะเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร มีเสนาสนะ
อันสงัด ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก นุ่งห่มผ้าบังสุกุล
เป็นวัตร ครองจีวรเศร้าหมองก็ตาม เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายก็ไม่สักการะ เคารพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

นับถือ บูชาภิกษุนั้นเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศล
เหล่านั้นที่ภิกษุนั้นยังละไม่ได้ ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่ ภาชนะสำริดที่เขานำมา
จากร้านตลาดหรือจากตระกูลช่างทอง เป็นของบริสุทธิ์ผ่องใส พวกเจ้าของพึงใส่ซากงู
ซากสุนัข หรือซากศพมนุษย์จนเต็มภาชนะสำริดนั้น ปิดด้วยภาชนะสำริดใบอื่นแล้ว
นำไปยังร้านตลาด คนเห็นภาชนะสำริดนั้นแล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ
สิ่งที่ท่านนำไปนี้คืออะไร ดูเหมือนจะเป็นของที่น่าพอใจอย่างยิ่ง’ เขาลุกขึ้นเปิดภาชนะ
สำริดนั้นดู ความไม่พอใจ ความเป็นของปฏิกูล และความเป็นของน่ารังเกียจจึงเกิดขึ้น
พร้อมกับการเห็นซากงูเป็นต้นนั้น แม้คนที่หิวก็ไม่ต้องการจะบริโภค ไม่ต้องกล่าว
ถึงคนที่บริโภคอิ่มแล้ว แม้ฉันใด อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยังละไม่ได้ ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่ แม้ภิกษุนั้นจะเป็นผู้อยู่ป่า
เป็นวัตร มีเสนาสนะอันสงัด ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก
นุ่มห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ครองจีวรเศร้าหมองก็ตาม เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายก็
ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุรูปนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอิจฉาวจร
ที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่ภิกษุรูปนั้นยังละไม่ได้ ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่
[๖๒] อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านี้ ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งละได้แล้ว
ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่ แม้เธอจะอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน รับนิมนต์ ครองจีวร
ของคหบดีก็ตาม เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายก็สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเธอ ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะอิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นภิกษุรูปนั้นละได้แล้ว ยังปรากฏ
และเล่าขานกันอยู่ ภาชนะสำริดที่เขานำมาจากร้านตลาดหรือจากตระกูลช่างทอง
เป็นของบริสุทธิ์ผ่องใส เจ้าของใส่ข้าวสุกแห่งข้าวสาลีทั้งหลาย ที่เลือกของสกปรก
ออกแล้วใส่แกงและกับข้าวหลายอย่างจนเต็มภาชนะสำริดนั้นปิดด้วยภาชนะสำริด
ใบอื่นแล้วนำไปยังร้านตลาด คนเห็นภาชนะสำริดนั้นแล้วพึงพูดอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้
เจริญ สิ่งที่ท่านนำไปนี้คืออะไร ดูเหมือนจะเป็นของที่น่าพอใจอย่างยิ่ง’ เขาลุกขึ้น
เปิดภาชนะสำริดนั้นดู ความพอใจ ความเป็นของไม่น่าปฏิกูล และความเป็นของ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

ไม่น่ารังเกียจจึงเกิดขึ้นพร้อมกับการเห็นข้าวสุกแห่งข้าวสาลีนั้น แม้คนที่บริโภคอิ่ม
แล้วก็ต้องการบริโภค ไม่ต้องกล่าวถึงคนที่หิวเลย แม้ฉันใด อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศล
เหล่านี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งละได้แล้ว ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่
แม้เธอจะอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน รับนิมนต์ ครองจีวรของคหบดีก็ตาม เพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายก็สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเธอ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอิจฉาวจร
ที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่ภิกษุรูปนั้นละได้แล้ว ยังปรากฏและเล่าขานกันอยู่”

อุปมาด้วยบุตรช่างทำรถ

[๖๓] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าว
กับท่านพระสารีบุตรว่า “ท่านสารีบุตร อุปมาปรากฏขึ้นแก่กระผม”
ท่านพระสารีบุตร จึงกล่าวว่า “ท่านมหาโมคคัลลานะ ขอให้อุปมาปรากฏขึ้น
แก่ท่าน ท่านจงกล่าวอุปมานั้นเถิด๑”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ สมัยหนึ่งกระผมอยู่
ในเขตกรุงราชคฤห์ซึ่งมีภูเขาล้อมดุจคอกวัว ครั้นในเวลาเช้า กระผมครองอันตร-
วาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ สมัยนั้นบุตรช่างทำรถชื่อ
สมีติถากกงล้อรถอยู่ อาชีวกผู้เป็นบุตรของนายปัณฑุ ซึ่งเป็นช่างทำรถคนเก่ายืน
อยู่ใกล้นายสมีติ ครั้งนั้น อาชีวกนั้นได้เกิดความคิดขึ้นในใจอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ
ขอบุตรของช่างทำรถชื่อสมีตินี้พึงถากส่วนโค้ง ส่วนคดและกระพี้แห่งกงล้อนี้ออกเสีย
เมื่อเป็นเช่นนี้ กงล้อนี้ก็จะหมดโค้ง หมดคด หมดกระพี้ มีแต่แก่นล้วน ๆ’ บุตร
ของช่างทำรถชื่อสมีติก็ถากส่วนโค้ง ส่วนคดและกระพี้แห่งกงล้อนั้นได้เหมือนอย่าง
ที่อาชีวกนั้นมีความคิดขึ้นในใจ ครั้งนั้น อาชีวกนั้นได้เปล่งวาจาแสดงความดีใจว่า
‘นายสมีติถากเหมือนรู้ใจ’
อย่างนั้นนั่นแล ท่านผู้มีอายุ บุคคลเหล่าใดไม่มีศรัทธาต้องการที่จะมีชีวิตอยู่
(ในโลกนี้) ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต มิใช่ด้วยศรัทธา เป็นคนโอ้อวด มีมารยา

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๖๙/๒๘๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๕. อนังคณสูตร

หลอกลวง ฟุ้งซ่าน ถือตน กลับกลอก ปากกล้า ไม่สำรวมวาจา ไม่คุ้มครองทวาร
ในอินทรีย์ทั้งหลาย๑ ไม่รู้ประมาณในการบริโภค ไม่ประกอบความเพียรในธรรม
เป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ใส่ใจสมณธรรม ไม่มีความเคารพอย่างหนักแน่นใน
สิกขา เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ทอดธุระในปวิเวก
เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน ขาดสติสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิต
หมุนไปผิด เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ท่านสารีบุตรถาก(กิเลส) ด้วยธรรมบรรยาย
นี้เหมือนรู้ใจของบุคคลเหล่านั้น
อนึ่ง กุลบุตรเหล่าใดมีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่โอ้อวด ไม่มี
มารยา ไม่หลอกลวง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตน ไม่กลับกลอก ไม่ปากกล้า สำรวมวาจา
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียรใน
ธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง ใส่ใจในสมณธรรม มีความเคารพอย่างหนักแน่น
ในสิกขา ไม่เป็นผู้มักมาก ไม่เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ไม่
ทอดธุระในปวิเวก ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจ มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ
มีจิตมั่นคง มีจิตแน่วแน่ ไม่เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา กุลบุตรเหล่านั้นฟังธรรม-
บรรยายนี้ของท่านพระสารีบุตร เหมือนหนึ่งว่าจะดื่มจะกลืนไว้ด้วยวาจาและใจว่า
‘ดีจริงหนอ ท่านผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรผู้เป็นเพื่อนพรหมจารี ทำให้เราทั้งหลาย
ออกจากอกุศลธรรมแล้วให้ดำรงอยู่ในกุศลธรรม สตรีสาวหรือบุรุษหนุ่มชอบแต่งตัว
ชำระสระเกล้าแล้วได้ดอกอุบล ดอกมะลิ หรือดอกลำดวน ประคองไว้ด้วยมือ
ทั้ง ๒ แล้วยกขึ้นวางไว้เหนือเศียรเกล้า แม้ฉันใด กุลบุตรเหล่านั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ไม่หลอกลวง ไม่
ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตน ไม่กลับกลอก ไม่ปากกล้า สำรวมวาจา คุ้มครองทวารใน
อินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในการบริโภค ประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่น

เชิงอรรถ :
๑ ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย หมายถึงไม่สำรวมกรรมทวาร (คือ กาย วาจา ใจ) ในอินทรีย์ ๖
คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (ม.มู.อ. ๑/๖๓/๑๖๔) และดูเทียบ องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๑๖๗/๒๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร

อย่างต่อเนื่อง ใส่ใจในสมณธรรม มีความเคารพอย่างหนักแน่นในสิกขา ไม่เป็น
ผู้มักมาก ไม่เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่เป็นผู้นำในโวกกมนธรรม ไม่ทอดธุระในปวิเวก
ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจ มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตมั่นคง มีจิต
แน่วแน่ ไม่เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ได้ฟังธรรมบรรยายนี้ของท่านพระสารีบุตรแล้ว
เหมือนหนึ่งว่าจะดื่มจะกลืนไว้ด้วยวาจาและใจว่า ‘ดีจริงหนอ ท่านผู้เจริญ ท่าน
พระสารีบุตรผู้เป็นเพื่อนพรหมจารีทำให้เราทั้งหลายออกจากอกุศลธรรมแล้วให้
ดำรงอยู่ในกุศลธรรม”
พระอัครสาวกทั้ง ๒ นั้นต่างชื่นชมภาษิตของกันและกัน ดังนี้แล

อนังคณสูตรที่ ๕ จบ

๖. อากังเขยยสูตร๑
ว่าด้วยความหวัง ๑๗ ประการ

[๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์อยู่ จง
สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร๒อยู่ จงเป็น
ผู้เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๗๑/๑๕๖
๒ คำว่า อาจาระ หมายถึงความไม่ล่วงละเมิดทางกาย ทางวาจา และทางใจ ความสำรวมระวังในศีลทั้งปวง
และความที่ภิกษุไม่เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาอาชีวะที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ คำว่า โคจร หมายถึงการไม่เที่ยว
ไปยังสถานที่ไม่ควรเที่ยวไป เช่น ที่อยู่ของหญิงแพศยา การไม่คลุกคลีกับบุคคลที่ไม่สมควรคลุกคลีด้วย
เช่น พระราชา การไม่คบหากับตระกูลที่ไม่สมควรคบหา เช่น ตระกูลที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส
ภิกษุผู้ประกอบด้วยอาจาระและโคจรดังกล่าวมานี้ ชื่อว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร (อภิ.วิ.
(แปล) ๓๕/๕๑๓-๕๑๔/๓๘๘-๓๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร

[๖๕] ภิกษุทั้งหลาย
๑. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพ
และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย’ ภิกษุนั้นพึงทำศีล
ให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหิน
ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา๑ เพิ่มพูนเรือนว่าง๒
๒. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบ
ธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
๓. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของชนเหล่าใด ขอสักการะของชน
เหล่านั้น พึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์
หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน
ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
๔. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘ญาติสาโลหิต๓เหล่าใดผู้ล่วงลับไปแล้ว มีจิต
เลื่อมใส ระลึกถึงเราอยู่ ขอการระลึกถึงเราของญาติสาโลหิต
เหล่านั้นพึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์
หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน
ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง

เชิงอรรถ :
๑ วิปัสสนา หมายถึงอนุปัสสนา ๗ ประการ คือ (๑) อนิจจานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง)
(๒) ทุกขานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความเป็นทุกข์) (๓) อนัตตานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความไม่มีตัวตน)
(๔) นิพพิทานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความน่าเบื่อหน่าย) (๕) วิราคานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความคลาย
กำหนัด) (๖) นิโรธานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความดับกิเลส) (๗) ปฏินิสสัคคานุปัสสนา (พิจารณาเห็น
ความสลัดทิ้งกิเลส) (ม.มู.อ. ๑/๖๕/๑๖๙)
๒ เพิ่มพูนเรือนว่าง ในที่นี้หมายถึงการเรียนกัมมัฏฐาน คือ สมถะและวิปัสสนา เข้าไปสู่เรือนว่างนั่ง
พิจารณาอยู่ตลอดคืนและวัน แล้วบำเพ็ญอธิจิตตสิกขาด้วยสมถกัมมัฏฐาน บำเพ็ญอธิปัญญาสิกขาด้วย
วิปัสสนากัมมัฏฐาน (ม.มู.อ. ๑/๖๔/๑๖๙-๑๗๐, องฺ.ทสก.อ. ๓/๗๑/๓๕๗)
๓ ญาติ หมายถึงบิดามารดาของสามี หรือบิดามารดาของภรรยาและเครือญาติของทั้ง ๒ ฝ่าย
สาโลหิต หมายถึงผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ ปู่หรือตา เป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๖๕/๑๗๒, ม.มู.ฏีกา
๑/๖๕/๓๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร

[๖๖] ภิกษุทั้งหลาย
๕. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงข่มความไม่ยินดี(ในกุศลธรรม) และ
ความยินดี(ในกามคุณ ๕) อนึ่ง ความไม่ยินดี ไม่พึงครอบงำเรา
เราพึงครอบงำย่ำยีความไม่ยินดีที่เกิดขึ้นอยู่’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้
บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
๖. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเอาชนะความขลาดกลัว อนึ่ง ความ
ขลาดกลัวไม่พึงครอบงำเรา เราพึงเอาชนะ ครอบงำ ย่ำยีความ
ขลาดกลัวที่เกิดขึ้นอยู่’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ
เพิ่มพูนเรือนว่าง
๗. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงได้ฌาน ๔ ซึ่งเป็นอภิเจตสิก๑ เป็น
เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบาก’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูน
เรือนว่าง
๘. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงบรรลุวิโมกข์ที่สงบ เป็นอรูปฌาน
เพราะก้าวล่วงรูปาวจรฌานด้วยนามกาย’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้
บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
[๖๗] ภิกษุทั้งหลาย
๙. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเป็นพระโสดาบัน๒ เพราะสังโยชน์๓ ๓

เชิงอรรถ :
๑ อภิเจตสิก หมายถึงอุปจารสมาธิ (ม.มู.อ. ๑/๖๖/๑๗๓)
๒ โสดาบัน หมายถึงผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะคำว่า โสตะ เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘
(อภิ.ปญฺจ.อ. ๓๑/๕๓ ดูประกอบใน สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๐๐๑/๔๙๕)
๓ สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ ประการ คือ (๑) สักกายทิฏฐิ
(๒) วิจิกิจฉา (๓) สีลัพพตปรามาส (๔) กามฉันทะหรือกามราคะ (๕) พยาบาทหรือปฏิฆะ (๖) รูปราคะ
(๗) อรูปราคะ (๘) มานะ (๙) อุทธัจจะ (๑๐) อวิชชา
๕ ข้อต้นชื่อโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ข้อหลังชื่ออุทธัมภาคิยสังโยชน์ พระโสดาบันละสังโยชน์ ๓
ข้อต้นได้ พระสกทาคามีทำสังโยชน์ที่ ๔ และที่ ๕ ให้เบาบาง พระอนาคามีละสังโยชน์ ๕ ข้อต้นได้หมด
พระอรหันต์ละสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐ ข้อ (องฺ.ทสก.(แปล) ๒๔/๑๓/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร

ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ๑ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จ
สัมโพธิ๒ในวันข้างหน้า’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ
เพิ่มพูนเรือนว่าง
๑๐. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์
๓ ประการสิ้นไป (และ)เพราะทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบาง
กลับมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียว แล้วทำที่สุดแห่งทุกข์ได้’ ภิกษุนั้น
พึงทำศีลให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน
ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
๑๑. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเป็นโอปปาติกะ๓ เพราะโอรัมภาคิย-
สังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในพรหมโลกนั้น ไม่ต้อง
กลับมาจากโลกนั้นอีก’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูน
เรือนว่าง
[๖๘] ภิกษุทั้งหลาย
๑๒. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงบรรลุวิธีแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ
คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้
แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง และภูเขา
ไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดิน
เหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบน
แผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้
ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพ
มากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้’ ภิกษุนั้นพึง
ทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง

เชิงอรรถ :
๑ ไม่มีทางตกต่ำ หมายถึงไม่ตกไปในอบาย ๔ คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน แดนเปรต และพวกอสูร
(องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗/๒๔๒)
๒ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค ๓ เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) (องฺ.ติก.อ.
๒/๘๗/๒๔๒, องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๘๗/๒๓๕)
๓ โอปปาติกะ หมายถึงสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ(ตาย) ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น
เทวดาและสัตว์นรกเป็นต้น (เทียบ ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙) แต่ในที่นี้หมายถึงพระอนาคามีที่เกิดใน
สุทธาวาส (ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์) ๕ ชั้น มีชั้นอวิหาเป็นต้น แล้วดำรงภาวะอยู่ในชั้นนั้น ๆ ปรินิพพานสิ้น
กิเลสในสุทธาวาสนั่นเอง ไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก (องฺ.ติก.อ. ๒/๘๗-๘๘/๒๔๒-๒๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร

๑๓. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ (๑) เสียงทิพย์
(๒) เสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
๑๔. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่นและบุคคลอื่น
คือ จิตมีราคะก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีราคะ’ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ชัด
ว่า ‘จิตปราศจากราคะ’ จิตมีโทสะก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโทสะ’ หรือจิต
ปราศจากโทสะก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโทสะ’ จิตมีโมหะก็รู้ชัดว่า
‘จิตมีโมหะ’ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโมหะ’
จิตหดหู่ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหดหู่’ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ชัดว่า ‘จิตฟุ้งซ่าน’
จิตเป็นมหัคคตะ๑ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นมหัคคตะ’ หรือจิตไม่เป็น
มหัคคตะก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นมหัคคตะ’ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ชัด
ว่า ‘จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า’ หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่มี
จิตอื่นยิ่งกว่า’ จิตเป็นสมาธิก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นสมาธิ’ หรือจิตไม่
เป็นสมาธิก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นสมาธิ’ จิตหลุดพ้นก็รู้ชัดว่า ‘จิต
หลุดพ้น’ หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่หลุดพ้น’ ภิกษุนั้น
พึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
๑๕. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑
ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐
ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง
๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอด
สังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง
ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป๒เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้นเรา
มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และ
มีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น
เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์
และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เราระลึก

เชิงอรรถ :
๑ มหัคคตะ หมายถึงอารมณ์ที่ถึงความเป็นใหญ่ชั้นรูปาวจรและชั้นอรูปาวจร เพราะมีผลที่สามารถข่มกิเลสได้
และหมายถึงฉันทะ วิริยะ จิตตะ และปัญญาอันยิ่งใหญ่ (อภิ.สงฺ.อ. ๑๒/๙๒)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๖. อากังเขยยสูตร

ชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป และชีวประวัติอย่างนี้’
ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
๑๖. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้ง
ชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์
อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า
‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้าย
พระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นผิด
พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก๑
แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าว
ร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความ
เห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
เราเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและ
ไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้
บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่าง
จากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
[๖๙] ภิกษุทั้งหลาย
๑๗. หากภิกษุพึงหวังว่า ‘เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ๒ ปัญญาวิมุตติ๓
อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึง

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อว่า อบาย เพราะปราศจากความงอกงาม คือความเจริญหรือความสุข ชื่อว่า ทุคติ เพราะเป็นคติ
คือเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ชื่อว่า วินิบาต เพราะเป็นสถานที่ตกไปของหมู่สัตว์ที่ทำความชั่ว ชื่อว่า นรก เพราะ
ปราศจากความยินดี เหตุเป็นที่ไม่มีความสบายใจ (ม.มู.อ. ๑/๑๕๓/๓๕๘)
๒ เจโตวิมุตติ หมายถึงสมาธิที่สัมปยุตด้วยอรหัตตผล ที่ชื่อว่า เจโตวิมุตติ เพราะพ้นจากราคะ(ที่เป็น
ปฏิปักขธรรมโดยตรง แต่มิได้หมายความว่าจะระงับบาปธรรมอื่นไม่ได้ ดู ม.มู.ฏีกา ๑/๖๙/๓๓๔) ในที่นี้
หมายถึงความหลุดพ้นด้วยมีสมถกัมมัฏฐานเป็นพื้นฐาน (ม.มู.อ. ๑/๖๙/๑๗๗, เทียบ องฺ.ทุก.อ. ๒/๘๘/๖๒)
๓ ปัญญาวิมุตติ หมายถึงปัญญาที่สหรคตด้วยอรหัตตผลนั้น ที่ชื่อว่า ปัญญาวิมุตติ เพราะหลุดพ้นจาก
อวิชชา(ที่เป็นปฏิปักขธรรมโดยตรง แต่มิได้หมายความว่าจะระงับบาปธรรมอื่นไม่ได้ ดู ม.มู.ฏีกา ๑/๖๙/
๓๓๔) ในที่นี้หมายถึงความหลุดพ้นด้วยมีวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นพื้นฐาน (ม.มู.อ. ๑/๖๙/๑๗๗, เทียบ
องฺ.ทุก.อ. ๒/๘๘/๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

อยู่ในปัจจุบัน’ ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรม
เครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
ภิกษุทั้งหลาย เราเห็นประโยชน์จึงกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลายจงมีศีลสมบูรณ์
มีปาติโมกข์สมบูรณ์อยู่ จงสำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย
อาจาระและโคจรอยู่ จงเป็นผู้เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาใน
สิกขาบททั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

อากังเขยยสูตรที่ ๖ จบ

๗. วัตถูปมสูตร
ว่าด้วยข้ออุปมาด้วยผ้า

[๗๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ช่างย้อมผ้าจะพึงนำผ้าที่สกปรก เปรอะเปื้อน ใส่ลงในน้ำย้อมสี
คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้าผืนนั้นจะพึงเป็นผ้าที่ย้อมได้ไม่ดี มีสี
ไม่สดใส ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผ้าผืนนั้นเป็นผ้าที่ไม่สะอาด แม้ฉันใด เมื่อจิต
เศร้าหมอง ทุคติ๑ก็เป็นอันหวังได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ช่างย้อมผ้า จะพึงนำผ้าที่สะอาด

เชิงอรรถ :
๑ ทุคติ มี ๒ อย่าง คือ (๑) ปฏิปัตติทุคติ หมายถึงคติคือการปฏิบัติชั่วด้วยอำนาจกิเลสแบ่งเป็น ๒ อย่าง
ได้แก่ อาคาริยปฏิปัตติทุคติ คือทุคติของคฤหัสถ์ผู้มีจิตเศร้าหมองฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติอกุศล-
กรรมบถ ๑๐ และอนาคาริยปฏิปัตติทุคติ คือคติของบรรพชิตผู้มีจิตเศร้าหมอง ตะเกียกตะกายทำลายสงฆ์
ทำลายเจดีย์ประพฤติอนาจาร (๒) คติทุคติ หมายถึงคติหรือภูมิเป็นที่ไปอันเป็นทุกข์แบ่งเป็น ๒ อย่าง
ได้แก่ อาคาริยทุคติ คือคติของคฤหัสถ์ผู้ตายแล้วไปเกิดในนรกบ้าง กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานบ้าง เปรตวิสัย
บ้าง และอนาคาริยทุคติ คือทุคติของบรรพชิตผู้มรณภาพแล้ว ไปเกิดในนรกเป็นต้น เป็นสมณยักษ์ เป็น
สมณเปรต มีกายลุกโชติช่วงเพราะผ้าสังฆาฏิเป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๗๐/๑๘๐, ม.มู.ฏีกา ๑/๗๐/๑๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

หมดจด ใส่ลงในน้ำย้อมสี คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง หรือสีชมพู ผ้าผืนนั้น
จะพึงเป็นผ้าที่ย้อมได้ดี มีสีสดใส ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผ้าผืนนั้นเป็นผ้าที่สะอาด
แม้ฉันใด เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติ๑ก็เป็นอันหวังได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

อุปกิเลสแห่งจิต ๑๖ ชนิด

[๗๑] ภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลส๒แห่งจิต อะไรบ้าง คือ
๑. อภิชฌาวิสมโลภะ(ความโลภไม่สม่ำเสมอคือความเพ่งเล็งอยากได้
สิ่งของของผู้อื่น) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต

๒. พยาบาท(ความคิดปองร้ายผู้อื่น) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๓. โกธะ(ความโกรธ) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๔. อุปนาหะ(ความผูกโกรธ) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๕. มักขะ(ความลบหลู่คุณท่าน) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๖. ปฬาสะ(ความตีเสมอ) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๗. อิสสา(ความริษยา) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต

เชิงอรรถ :
๑ สุคติ มี ๒ อย่าง คือ (๑) ปฏิปัตติสุคติ หมายถึงคติ คือการปฏิบัติดีด้วยจิตบริสุทธิ์แบ่งเป็น ๒ อย่าง ได้แก่
อาคาริยปฏิปัตติสุคติ มีจิตบริสุทธิ์งดเว้นจากการฆ่าสัตว์บ้าง จากการลักทรัพย์บ้าง บำเพ็ญกุศลกรรมบถ
๑๐ ให้บริบูรณ์ อนาคาริยปฏิปัตติสุคติ คือสุคติของบรรพชิตผู้มีจิตบริสุทธิ์ รักษาปาริสุทธิศีล ๔ ให้บริสุทธิ์
สมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้อ เรียนกัมมัฏฐานในอารมณ์ ๓๘ ประการ กระทำกสิณบริกรรม ทำฌาณสมาบัติให้
เกิดขึ้น เจริญโสดาปัตติมรรค ฯลฯ อนาคามิมรรค (๒) คติสุคติ หมายถึงคติหรือภูมิเป็นที่ไปอันเป็นสุข
แบ่งเป็น ๒ อย่าง ได้แก่ อาคาริยสุคติ คือสุคติของคฤหัสถ์ผู้ตายแล้วไปเกิดเป็นมนุษย์ที่มีชาติตระกูลสูง
มั่งคั่งด้วยทรัพย์ เพียบพร้อมด้วยเกียรติยศบ้าง เป็นเทวดาที่มีศักดิ์ใหญ่บ้าง และอนาคาริยสุคติ คือคติ
ของบรรพชิตผู้มรณภาพแล้วไปเกิดในตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ และตระกูลคหบดี หรือไปเกิดใน
กามาวจรเทวโลก ๖ ชั้นบ้าง ในพรหมโลก ๑๐ ชั้น ในสุทธาวาสภูมิ ๕ ชั้น หรือในอรูปพรหม ๔ ชั้นบ้าง
(ม.มู.อ. ๑/๗๐/๑๘๐)
๒ อุปกิเลส หมายถึงกิเลสที่จรมาด้วยอำนาจโลภะ โทสะ และโมหะ แล้วทำจิตเดิม(ภวังคจิต)ที่แม้ปกติก็
บริสุทธิ์อยู่แล้วให้ต้องเศร้าหมอง (ม.มู.อ. ๑/๗๑/๑๘๑, อง.เอกก.อ. ๑/๔๙/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

๘. มัจฉริยะ(ความตระหนี่) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๙. มายา(มารยา) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๐. สาเถยยะ(ความโอ้อวด) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๑. ถัมภะ(ความหัวดื้อ) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๒. สารัมภะ(ความแข่งดี) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๓. มานะ(ความถือตัว) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๔. อติมานะ(ความดูหมิ่นเขา) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๕. มทะ(ความมัวเมา) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต
๑๖. ปมาทะ(ความประมาท) เป็นอุปกิเลสแห่งจิต

[๗๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นรู้ชัดดังนี้ว่า
‘อภิชฌาวิสมโลภะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘พยาบาท เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละพยาบาทอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘โกธะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละโกธะอันเป็นอุปกิเลส
แห่งจิตได้ ... ‘อุปนาหะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอุปนาหะอันเป็นอุปกิเลส
แห่งจิตได้ ... ‘มักขะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมักขะอันเป็นอุปกิเลสแห่ง
จิตได้ ... ‘ปฬาสะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละปฬาสะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ...
‘อิสสา เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอิสสาอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มัจฉริยะ
เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมัจฉริยะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มายา เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมายาอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘สาเถยยะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละสาเถยยะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘ถัมภะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละถัมภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘สารัมภะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละสารัมภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มานะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมานะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘อติมานะ เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอติมานะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มทะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมทะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้
ภิกษุนั้นรู้ชัดดังนี้ว่า ‘ปมาทะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละปมาทะอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้
[๗๓] ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใด ภิกษุรู้ชัดดังนี้ว่า
‘อภิชฌาวิสมโลภะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘พยาบาท เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละพยาบาทอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘โกธะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละโกธะอันเป็นอุปกิเลส
แห่งจิตได้ ... ‘อุปนาหะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอุปนาหะอันเป็นอุปกิเลส
แห่งจิตได้ ... ‘มักขะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมักขะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้
... ‘ปฬาสะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละปฬาสะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ...
‘อิสสา เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอิสสาอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มัจฉริยะ
เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมัจฉริยะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มายา เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมายาอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘สาเถยยะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละสาเถยยะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘ถัมภะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละถัมภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘สารัมภะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละสารัมภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มานะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมานะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘อติมานะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละอติมานะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้ ... ‘มทะ เป็น
อุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละมทะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิตได้
ภิกษุผู้รู้ชัดดังนี้ว่า ‘ปมาทะ เป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ แล้วจึงละปมาทะอันเป็น
อุปกิเลสแห่งจิตได้
[๗๔] ในกาลนั้น ภิกษุนั้นจะมีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่
ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค‘๑ จะมีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระธรรมว่า ‘พระธรรมเป็น
ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบ
ด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’ และ
จะมีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระสงฆ์ว่า ‘พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้
ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกทาง ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล ๔ คู่ คือ
๘ บุคคล๒ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญอัน
ยอดเยี่ยมของโลก’
[๗๕] เพราะเหตุที่ภิกษุนั้นสละ คาย ปล่อย ละ สลัดทิ้งส่วนแห่งกิเลสได้แล้ว
เธอย่อมได้ความรู้แจ้งอรรถ ความรู้แจ้งธรรม และความปราโมทย์อันประกอบด้วย
ธรรมว่า ‘เรามีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า’ เมื่อเธอมีปราโมทย์แล้ว ปีติ
ย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข
จิตย่อมตั้งมั่น ...‘เรามีความเลื่อมใสแน่วแน่ในพระธรรม’ เธอย่อมได้ความรู้แจ้งอรรถ
ความรู้แจ้งธรรม และความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรมว่า ‘เรามีความเลื่อมใส
แน่วแน่ในพระสงฆ์’ เมื่อเธอมีปราโมทย์แล้ว ปีติย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ
เธอมีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอรู้ว่า ‘เพราะเราสละ
คาย ปล่อย ละ สลัดทิ้งส่วนแห่งกิเลสได้แล้ว’ จึงได้ความรู้แจ้งอรรถ ความ
รู้แจ้งธรรม และความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม เมื่อเธอมีปราโมทย์แล้ว ปีติ
ย่อมเกิด เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข
จิตย่อมตั้งมั่น

เชิงอรรถ :
๑ วิ.อ. ๑/๑/๑๐๓-๑๑๘, องฺ.ทุก.(แปล) ๒๐/๖๔/๒๔๗
๒ ๘ บุคคล ได้แก่ (๑) บุคคลผู้เป็นพระโสดาบัน (๒) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล
(๓) บุคคลผู้เป็นพระสกทาคามี (๔) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล
(๕) บุคคลผู้เป็นพระอนาคามี (๖) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล
(๗) บุคคลผู้เป็นพระอรหันต์ (๘) บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล
(อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๒๐๗/๒๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

[๗๖] ภิกษุนั้นมีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ แม้ว่าเธอฉัน
อาหารบิณฑบาตข้าวสาลีที่เลือกของสกปรกออกแล้ว มีแกงมีกับข้าวหลายอย่าง
การฉันบิณฑบาตของภิกษุนั้น ไม่เป็นอันตรายแก่มรรคและผลเลย ผ้าที่สกปรก
เปรอะเปื้อน จะเป็นผ้าที่สะอาด หมดจดได้ เพราะอาศัยน้ำใสสะอาด หรือทองคำ
จะเป็นทองคำบริสุทธิ์ผุดผ่องได้เพราะอาศัยเบ้าหลอม แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ แม้ว่าเธอฉันอาหารบิณฑบาตข้าว
สาลีที่เลือกของสกปรกออกแล้ว มีแกงมีกับข้าวหลายอย่าง การฉันบิณฑบาตของ
ภิกษุนั้น ไม่เป็นอันตรายแก่มรรคและผลเลย
[๗๗] ภิกษุนั้นมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ...
ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าใน
ที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ฯลฯ มีมุทิตาจิต ฯลฯ มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑
... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไป
ตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มี
ขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
[๗๘] ภิกษุนั้นรู้ชัดว่า ‘สิ่งนี้มีอยู่ สิ่งที่เลวมีอยู่ สิ่งที่ประณีตมีอยู่ ธรรม
เครื่องสลัดออกจากกิเลส๑ ที่ยิ่งกว่าสัญญานี้๒ก็มีอยู่’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิต
ย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า
‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๓ ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว๔ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป๕’ ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้อาบ
สะอาดแล้วด้วยการอาบสะอาดในภายใน”

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมเครื่องสลัดออกจากกิเลส ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ม.มู.อ. ๑/๗๘/๑๘๙)
๒ สัญญา ในที่นี้หมายถึงพรหมวิหารสัญญา (ม.มู.อ. ๑/๗๘/๑๘๙)
๓-๕ ดูเชิงอรรถที่ ๑ - ๓ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

การอาบน้ำในพระศาสนา

[๗๙] ในสมัยนั้น พราหมณ์ชื่อสุนทริกภารทวาชะนั่งอยู่ไม่ไกลจากพระผู้มี-
พระภาค ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดมเสด็จไปยังแม่น้ำพาหุกาเพื่อ
สรงน้ำหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ แม่น้ำพาหุกาจะมีประโยชน์อะไร
แม่น้ำพาหุกาจักทำอะไรได้”
สุนทริกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม คนจำนวนมากถือ
กันว่า แม่น้ำพาหุกาให้ความบริสุทธิ์ได้ คนจำนวนมากถือกันว่า แม่น้ำพาหุกา
เป็นบุญสถาน อนึ่ง คนจำนวนมากลอยบาปกรรมที่ตนทำแล้วในแม่น้ำพาหุกา”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถาว่า
“คนพาลมีกรรมชั่ว แม้จะไปยังแม่น้ำพาหุกา
ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสสดี
ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี เป็นประจำ ก็ยังบริสุทธิ์ไม่ได้
แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ แม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้
จะพึงชำระคนผู้มีเวร ผู้ทำกรรมหยาบช้า ผู้มีกรรมชั่วนั้น
ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย
ผัคคุณฤกษ์๑ เป็นฤกษ์ดีทุกเมื่อสำหรับผู้บริสุทธิ์
อุโบสถเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ทุกเมื่อสำหรับผู้บริสุทธิ์
วัตรปฏิบัติสมบูรณ์ทุกเมื่อสำหรับผู้บริสุทธิ์ มีกรรมสะอาด

เชิงอรรถ :
๑ ผัคคุณฤกษ์ หมายถึงงานนักขัตฤกษ์ประจำเดือน ๔ ที่พราหมณ์ถือว่าผู้ที่ชำระหรืออาบน้ำวันข้างขึ้น
เดือน ๔ ได้ชื่อว่าชำระบาปที่ทำมาแล้วตลอดปีได้ (ม.มู.อ. ๑/๗๙/๑๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๗. วัตถูปมสูตร

พราหมณ์ ท่านจงอาบน้ำในศาสนาของเรานี้เถิด
ท่านจงทำความปลอดภัยในสัตว์ทั้งปวงเถิด
ถ้าท่านไม่พูดเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์
ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ มีความเชื่อ
ไม่ตระหนี่ ท่านจะไปยังท่าน้ำคยาทำไม
แม้การดื่มน้ำจากท่าน้ำคยาจักมีประโยชน์อะไรแก่ท่าน”

สุนทริกพราหมณ์เป็นพระอรหันต์

[๘๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดม
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะ
ยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคล
หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วย
ตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้ง
พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของ
ท่านพระโคดมเถิด”
สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี-
พระภาคแล้ว ไม่นานก็จากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและ
ใจอยู่ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์
ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
ท่านพระภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ดังนี้แล

วัตถูปมสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

๘. สัลเลขสูตร
ว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส

[๘๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระมหาจุนทะออกจากที่
หลีกเร้น๑ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีทิฏฐิหลายประการในโลกเกี่ยวกับอัตตวาทะ๒บ้าง
เกี่ยวกับโลกวาทะ๓บ้าง เมื่อภิกษุมนสิการเพียงเบื้องต้น ก็ละสลัดทิ้งทิฏฐิเหล่านั้น
ได้อย่างนั้นหรือ”
[๘๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จุนทะ มีทิฏฐิหลายประการในโลกเกี่ยวกับ
อัตตวาทะบ้าง เกี่ยวกับโลกวาทะบ้าง เมื่อภิกษุเห็นอารมณ์เป็นที่เกิดขึ้น เป็นที่
หมักหมม และเป็นที่ท่องเที่ยวแห่งทิฏฐิเหล่านั้นตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
อันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ก็ละ
สลัดทิ้งทิฏฐิเหล่านั้นได้

รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔

จุนทะ เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรม
ทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ที่หลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงผลสมาบัติชั้นสูงสุด (ม.มู.อ. ๑/๘๑/๑๙๔)
๒ อัตตวาทะ หมายถึงมิจฉาทิฏฐิที่ปรารภอัตตา เช่น เห็นว่ารูปเป็นอัตตาเป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๘๑/๑๙๔)
๓ โลกวาทะ หมายถึงมิจฉาทิฏฐิที่ปรารภโลก เช่น เห็นว่า อัตตาและโลกเที่ยงเป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๘๑/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

ภิกษุนั้น พึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือ
ปฐมฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่เรา
กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันในอริยวินัย
เป็นไปได้ที่เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ บรรลุ
ทุติยฌานซึ่งมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร
มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ ภิกษุนั้นพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วย
ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือทุติยฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่อง
ขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันใน
อริยวินัย
เป็นไปได้ที่เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้มีอุเบกขา มี
สติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญ
ว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรม
เครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือตติยฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลา
กิเลสในอริยวินัย แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันในอริยวินัย
เป็นไปได้ที่เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะ
อุเบกขาอยู่ เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส’
ธรรมคือจตุตถฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่
เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันในอริยวินัย
เป็นไปได้ที่เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญา
โดยประการทั้งปวง ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดย
กำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรม
เป็นเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคืออากาสานัญจายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็น
ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่สงบใน
ปัจจุบันในอริยวินัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

เป็นไปได้ที่เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบางรูป
ในธรรมวินัยนี้ บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุด
มิได้’ เธอพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือ
วิญญาณัญจายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย
แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่สงบในอริยวินัย
เป็นไปได้ที่เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบางรูป
ในธรรมวินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ เธอพึง
มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือ
อากิญจัญญายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย
แต่เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่สงบในอริยวินัย
จุนทะ เป็นไปได้ที่เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บางรูปในธรรมวินัยนี้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ เธอพึงมีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘เราอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส’ ธรรมคือเนวสัญญานา-
สัญญายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสในอริยวินัย แต่เรา
กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่สงบในอริยวินัย

ข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส

[๘๓] จุนทะ ในการเบียดเบียนกันเป็นต้นนี้ เธอทั้งหลายควรทำความ
ขัดเกลากิเลส คือ เธอทั้งหลายควรทำความขัดเกลากิเลสโดยคิดว่า ‘ชนเหล่าอื่น
จักเป็นผู้เบียดเบียนกัน ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกัน’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักฆ่าสัตว์ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการฆ่าสัตว์’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักลักทรัพย์ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการลักทรัพย์’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจัก
ประพฤติพรหมจรรย์’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

... ‘ชนเหล่าอื่นจักพูดเท็จ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการพูดเท็จ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักพูดส่อเสียด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการพูด
ส่อเสียด’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักพูดคำหยาบ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการพูด
คำหยาบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักพูดเพ้อเจ้อ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการพูด
เพ้อเจ้อ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจัก
ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีจิตพยาบาท ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีจิตพยาบาท’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความเห็นผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความเห็นชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความดำริผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความดำริชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักเจรจาผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเจรจาชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีการกระทำผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีการกระทำชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีการเลี้ยงชีพผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีการเลี้ยง
ชีพชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความพยายามผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความ
พยายามชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความระลึกผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความ
ระลึกชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีการตั้งจิตมั่นผิด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีการตั้งจิต
มั่นชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีมิจฉาญาณะ(ความรู้ผิด) ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความ
รู้ชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีมิจฉาวิมุตติ(ความหลุดพ้นผิด) ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมี
ความหลุดพ้นชอบ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักถูกความหดหู่และเซื่องซึมครอบงำ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลาย
จักปราศจากความหดหู่และเซื่องซึม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีจิตฟุ้งซ่าน ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีจิตไม่ฟุ้งซ่าน’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความสงสัย ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักข้ามพ้นความสงสัย’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความโกรธ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีความโกรธ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักผูกโกรธ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ผูกโกรธ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักลบหลู่คุณท่าน ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ลบหลู่คุณท่าน’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักตีเสมอ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ตีเสมอ’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความริษยา ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีความริษยา’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีความตระหนี่ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีความตระหนี่’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักโอ้อวด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่โอ้อวด’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีมารยา ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่มีมารยา’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักดื้อรั้น ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ดื้อรั้น’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักถือตัวจัด ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ถือตัวจัด’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักว่ายาก ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักว่าง่าย’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีมิตรชั่ว ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีมิตรดี’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักประมาท ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ประมาท’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักไม่มีศรัทธา ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีศรัทธา’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักไม่มีความละอายบาป ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความ
ละอายบาป’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักไม่มีความเกรงกลัวบาป ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีความ
เกรงกลัวบาป’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีการได้ยินได้ฟังน้อย ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีการได้ยิน
ได้ฟังมาก’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักเกียจคร้าน ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักปรารภความเพียร’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีสติหลงลืม ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักมีสติตั้งมั่น’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักมีปัญญาทราม ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักสมบูรณ์ด้วยปัญญา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

เธอทั้งหลาย ควรทำความขัดเกลากิเลสด้วยความคิดว่า ‘ชนเหล่าอื่นจักยึดติด
ถือมั่นทิฏฐิของตน สลัดทิ้งได้ยาก ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นทิฏฐิ
ของตน สลัดทิ้งได้ง่าย’
[๘๔] จุนทะ เรากล่าวว่า ‘แม้จิตตุปบาทก็มีอุปการะมากในกุศลธรรม
ทั้งหลาย ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการกระทำด้วยกายและพูดด้วยวาจา’ เพราะฉะนั้น
ในเรื่องนี้ เธอทั้งหลายควรมีความคิดว่า ‘ชนเหล่าอื่นจักเบียดเบียนกัน ในเรื่องนี้
เราทั้งหลายจักไม่เบียดเบียนกัน’
... ‘ชนเหล่าอื่นจักฆ่าสัตว์ ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักเว้นจากการฆ่าสัตว์’ ฯลฯ
เธอทั้งหลายควรมีความคิดว่า ‘ชนเหล่าอื่นจักยึดติด ถือมั่นทิฏฐิของตน สลัดทิ้ง
ได้ยาก ในเรื่องนี้ เราทั้งหลายจักไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นทิฏฐิของตน สลัดทิ้งได้ง่าย’

ทางหลีกเลี่ยงความชั่ว

[๘๕] จุนทะ ทางที่ขรุขระจะพึงมีทางที่ราบเรียบอื่นเพื่อใช้เป็นทางหลีกเลี่ยง
อนึ่ง ท่าน้ำที่ขรุขระจะพึงมีท่าน้ำที่ราบเรียบอื่นเพื่อใช้เป็นทางหลีกเลี่ยง แม้ฉันใด
ความไม่เบียดเบียนก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้เบียดเบียน
เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ฆ่าสัตว์
เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ลักทรัพย์
เจตนางดเว้นจากการไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับ
บุคคลผู้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดเท็จ
เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดส่อเสียด
เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดคำหยาบ
เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้พูดเพ้อเจ้อ
ความไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้
เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

ความไม่พยาบาท เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีจิตพยาบาท
สัมมาทิฏฐิ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความเห็นผิด๑
สัมมาสังกัปปะ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความดำริผิด
สัมมาวาจา เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้เจรจาผิด
สัมมากัมมันตะ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีการกระทำผิด
สัมมาอาชีวะ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีการเลี้ยงชีพผิด
สัมมาวายามะ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความพยายามผิด
สัมมาสติ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความระลึกผิด
สัมมาสมาธิ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีการตั้งจิตมั่นผิด
สัมมาญาณะ(ความรู้ชอบ) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความรู้ผิด
สัมมาวิมุตติ(ความหลุดพ้นชอบ) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความ
หลุดพ้นผิด
ความเป็นผู้ปราศจากความหดหู่และเซื่องซึม เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคล
ผู้ถูกความหดหู่และเซื่องซึมครอบงำ
ความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
ความเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัย เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความสงสัย
ความไม่โกรธ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มักโกรธ
ความไม่ผูกโกรธ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ผูกโกรธ
ความไม่ลบหลู่คุณท่าน เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ลบหลู่คุณท่าน
ความไม่ตีเสมอ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ตีเสมอ
ความไม่ริษยา เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีความริษยา
ความไม่ตระหนี่ เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ตระหนี่
ความไม่โอ้อวด เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้โอ้อวด

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๗๕/๓๑๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

ความไม่มีมารยา เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีมารยา
ความไม่ดื้อรั้น เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ดื้อรั้น
ความไม่ถือตัวจัด เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ถือตัวจัด
ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ว่ายาก
ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีมิตรชั่ว
ความไม่ประมาท เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ประมาท
สัทธา (ศรัทธา) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา
หิริ(ความละอายบาป) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ไม่มีความละอายบาป
โอตตัปปะ(ความเกรงกลัวบาป) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ไม่เกรง
กลัวบาป
พาหุสัจจะ(ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก) เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคล
ผู้ได้ยินได้ฟังน้อย
การปรารภความเพียร เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้เกียจคร้าน
ความเป็นผู้มีสติตั้งมั่น เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีสติหลงลืม
ความสมบูรณ์ด้วยปัญญา เป็นทางหลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้มีปัญญาทราม
ความเป็นผู้ไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ง่าย เป็นทาง
หลีกเลี่ยงสำหรับบุคคลผู้ยึดติด ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ยาก
[๘๖] จุนทะ อกุศลธรรมทั้งหมดเป็นธรรมนำบุคคลไปสู่ความเสื่อม (แต่)
กุศลธรรมทั้งหมดเป็นธรรมนำบุคคลไปสู่ความเจริญ แม้ฉันใด ความไม่เบียดเบียน
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นทางเพื่อความเจริญสำหรับบุคคลผู้เบียดเบียน
เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นทางเพื่อความเจริญสำหรับบุคคลผู้ฆ่าสัตว์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นทางเพื่อความเจริญสำหรับบุคคลผู้ลักทรัพย์
ฯลฯ
ความเป็นผู้ไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ง่าย เป็นทางเพื่อ
ความเจริญสำหรับบุคคลผู้ยึดติด ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ยาก

อุบายเพื่อความดับสนิท

[๘๗] จุนทะ เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลนั้นตนเองจมอยู่ในเปือกตมลึก จักยก
บุคคลอื่นผู้จมอยู่ในเปือกตมลึกขึ้นได้
เป็นไปได้ที่บุคคลนั้นตนเองไม่จมอยู่ในเปือกตมลึก จักยกบุคคลอื่นผู้มอยู่ใน
เปือกตมลึกขึ้นได้
เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลนั้นตนเองไม่ฝึกตน ไม่แนะนำตน ไม่ดับสนิท จักฝึก
สอนผู้อื่น แนะนำผู้อื่น ช่วยให้ผู้อื่นดับสนิทได้
เป็นไปได้ที่บุคคลนั้นตนเองฝึกตน แนะนำตน ดับสนิท จักฝึกผู้อื่น แนะนำ
ผู้อื่น ช่วยให้ผู้อื่นดับสนิทได้ แม้ฉันใด ความไม่เบียดเบียนก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้เบียดเบียน
เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ฆ่าสัตว์
เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้
ลักทรัพย์
เจตนางดเว้นจากการไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับ
บุคคลผู้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้พูดเท็จ
เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้
พูดส่อเสียด
เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้
พูดคำหยาบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้
พูดเพ้อเจ้อ
ความไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับ
บุคคลผู้เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
ความไม่พยาบาท เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีจิตพยาบาท
สัมมาทิฏฐิ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความเห็นผิด
สัมมาสังกัปปะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความดำริผิด
สัมมาวาจา เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้เจรจาผิด
สัมมากัมมันตะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีการกระทำผิด
สัมมาอาชีวะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีการเลี้ยงชีพผิด
สัมมาวายามะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความพยายามผิด
สัมมาสติ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความระลึกผิด
สัมมาสมาธิ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีการตั้งจิตมั่นผิด
สัมมาญาณะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความรู้ผิด
สัมมาวิมุตติ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความหลุดพ้นผิด
ความเป็นผู้ปราศจากความหดหู่และเซื่องซึม เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับ
บุคคลผู้ถูกความหดหู่และเซื่องซึมครอบงำ
ความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่าน
ความเป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัย เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มี
ความสงสัย
ความไม่โกรธ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มักโกรธ
ความไม่ผูกโกรธ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ผูกโกรธ
ความไม่ลบหลู่คุณท่าน เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ลบหลู่
คุณท่าน
ความไม่ตีเสมอ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ตีเสมอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๘. สัลเลขสูตร

ความไม่ริษยา เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีความริษยา
ความไม่ตระหนี่ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ตระหนี่
ความไม่โอ้อวด เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้โอ้อวด
ความไม่มีมารยา เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีมารยา
ความไม่ดื้อรั้น เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ดื้อรั้น
ความไม่ถือตัวจัด เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ถือตัวจัด
ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ว่ายาก
ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีมิตรชั่ว
ความไม่ประมาท เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ประมาท
สัทธา เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา
หิริ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ไม่มีความละอายบาป
โอตตัปปะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ไม่เกรงกลัวบาป
พาหุสัจจะ เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ได้ยินได้ฟังน้อย
การปรารภความเพียร เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้เกียจคร้าน
ความเป็นผู้มีสติตั้งมั่น เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีสติหลงลืม
ความสมบูรณ์ด้วยปัญญา เป็นทางเพื่อความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้มีปัญญา
ทราม
ความเป็นผู้ไม่ยึดติด ไม่ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ง่าย เป็นทางเพื่อ
ความดับสนิทสำหรับบุคคลผู้ยึดติด ถือมั่นทิฏฐิของตน และสลัดทิ้งได้ยาก
[๘๘] จุนทะ เราได้แสดงเหตุแห่งธรรมเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส เหตุแห่ง
จิตตุปบาท เหตุแห่งการหลีกเลี่ยง เหตุแห่งการไปสู่ความเจริญ (และ)เหตุแห่ง
ความดับสนิทไว้แล้วด้วยประการอย่างนี้ เราผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล เอื้อเอ็นดู
อนุเคราะห์สาวกทั้งหลาย ได้ทำกิจที่ควรทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

จุนทะ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจเถิด อย่าประมาท
อย่าได้เดือดร้อนในภายหลังเลย นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหาจุนทะมีใจยินดีชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

พระผู้มีพระภาคตรัสบท ๔๔ บท ทรงแสดงสนธิ ๕
พระสูตรนี้ชื่อสัลเลขสูตรลุ่มลึกเปรียบด้วยสาคร
สัลเลขสูตรที่ ๘ จบ

๙. สัมมาทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยความเห็นชอบ

[๘๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลาย
มากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึง
ได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มีคนกล่าวกันว่า ‘สัมมาทิฏฐิ๑ สัมมาทิฏฐิ’ ด้วยเหตุ
อะไรบ้าง พระอริยสาวกจึงชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอัน
แน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ พวกกระผมมาจากที่ไกล ก็เพื่อจะรู้ทั่วถึง
เนื้อความแห่งภาษิตนั้น ในสำนักของท่านพระสารีบุตร พวกกระผมขอโอกาส
ขอท่านพระสารีบุตรจงอธิบายเนื้อความแห่งภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งเถิด ภิกษุทั้งหลาย
ได้ฟังคำอธิบายของท่านแล้วจักทรงจำไว้ได้”

เชิงอรรถ :
๑ สัมมาทิฏฐิ มี ๒ อย่าง คือ (๑) โลกิยสัมมาทิฏฐิ หมายถึงกัมมัสสกตาญาณ (ญาณหยั่งรู้ว่าสัตว์มีกรรม
เป็นของตน) และสัจจานุโลมิกญาณ (ญาณหยั่งรู้โดยสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ) (๒) โลกุตตร-
สัมมาทิฏฐิ หมายถึงปัญญาที่ประกอบด้วยอริยมรรค และอริยผล ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ
(ม.มู.อ. ๑/๘๙/๒๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ท่าน
ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี กระผมจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวเรื่องนี้ว่า

เรื่องอกุศลและกุศล

“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอกุศลและรากเหง้าแห่ง
อกุศล รู้ชัดกุศลและรากเหง้าแห่งกุศล เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวก
ก็ชื่อว่า มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่
พระสัทธรรมนี้
อกุศล เป็นอย่างไร รากเหง้าแห่งอกุศล เป็นอย่างไร กุศล เป็นอย่างไร
รากเหง้าแห่งกุศล เป็นอย่างไร
อกุศล เป็นอย่างไร

คือ การฆ่าสัตว์ เป็นอกุศล
การลักทรัพย์ เป็นอกุศล
การประพฤติผิดในกาม เป็นอกุศล
การพูดเท็จ เป็นอกุศล
การพูดส่อเสียด เป็นอกุศล
การพูดคำหยาบ เป็นอกุศล
การพูดเพ้อเจ้อ เป็นอกุศล
การเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นอกุศล
การคิดปองร้ายผู้อื่น เป็นอกุศล
มิจฉาทิฏฐิ เป็นอกุศล
นี้เรียกว่า อกุศล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

รากเหง้าแห่งอกุศล เป็นอย่างไร
คือ โลภะ(ความโลภ) เป็นรากเหง้าแห่งอกุศล
โทสะ(ความคิดประทุษร้าย) เป็นรากเหง้าแห่งอกุศล
โมหะ(ความหลง) เป็นรากเหง้าแห่งอกุศล
นี้เรียกว่า รากเหง้าแห่งอกุศล
กุศล เป็นอย่างไร

คือ เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นกุศล
การไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นกุศล
การไม่ปองร้ายผู้อื่น เป็นกุศล
สัมมาทิฏฐิ เป็นกุศล
นี้เรียกว่า กุศล

รากเหง้าแห่งกุศล เป็นอย่างไร
คือ อโลภะ(ความไม่โลภ) เป็นรากเหง้าแห่งกุศล
อโทสะ(ความไม่คิดประทุษร้าย) เป็นรากเหง้าแห่งกุศล
อโมหะ(ความไม่หลง) เป็นรากเหง้าแห่งกุศล
นี้เรียกว่า รากเหง้าแห่งกุศล
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอกุศลและรากเหง้าแห่งอกุศลอย่างนี้ รู้ชัดกุศลและ
รากเหง้าแห่งกุศลอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือราคะ)
บรรเทาปฏิฆานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือปฏิฆะ) ถอนทิฏฐานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

คือทิฏฐิ)และมานานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือมานะ)ที่ว่า ‘เป็นเรา’ โดยประการ
ทั้งปวง ละอวิชชาได้แล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้น แล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องอาหาร

[๙๐] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “อธิบายแม้อย่างอื่นเป็นเหตุชี้บอก
ว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอาหาร
เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับแห่งอาหาร๑ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร
เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
อาหาร เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอาหาร เป็นอย่างไร ความดับแห่งอาหาร
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหาร เป็นอย่างไร
คือ อาหาร ๔ ชนิดนี้ ย่อมมีเพื่อความดำรงอยู่ของหมู่สัตว์ผู้เกิดแล้ว
หรือเพื่ออนุเคราะห์เหล่าสัตว์ผู้แสวงหาที่เกิด
อาหาร ๔ ชนิด อะไรบ้าง คือ
๑. กวฬิงการาหาร(อาหารคือคำข้าว) หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง
๒. ผัสสาหาร(อาหารคือการสัมผัส)
๓. มโนสัญเจตนาหาร(อาหารคือความจงใจ)
๔. วิญญาณาหาร(อาหารคือวิญญาณ)

เชิงอรรถ :
๑ ความดับแห่งอาหาร จะปรากฏได้ก็ต่อเมื่อดับตัณหาที่เป็นปัจจัยแห่งอาหารทั้งที่เป็นอุปาทินนกะและ
อนุปาทินนกะได้ กล่าวคือ เมื่อเหตุดับไปโดยประการทั้งปวง แม้ผลก็ย่อมดับไปโดยประการทั้งปวง (ม.มู.อ.
๑/๙๐/๒๒๘, ม.มู.ฏีกา ๑/๙๐/๓๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

เพราะตัณหาเกิด เหตุเกิดแห่งอาหารจึงมี
เพราะตัณหาดับ ความดับแห่งอาหารจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ___๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา___๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ___๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ___๘. สัมมาสมาธิ

นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหารได้
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอาหาร เหตุเกิดแห่งอาหาร ความดับแห่งอาหาร
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาหารอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทา
ปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัยและมานานุสัยที่ว่า ‘เป็นเรา’ โดยประการทั้งปวง
ละอวิชชาได้แล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้น แล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องสัจจะ

[๙๑] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “อธิบายแม้อย่างอื่นเป็นเหตุชี้บอก
ว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดทุกข์(สภาวะที่ทน
ได้ยาก) ทุกขสมุทัย(เหตุเกิดทุกข์) ทุกขนิโรธ(ความดับทุกข์) ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์) เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่า
มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

ทุกข์ เป็นอย่างไร ทุกขสมุทัย เป็นอย่างไร ทุกขนิโรธ เป็นอย่างไร ทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทา เป็นอย่างไร
ทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
อุปายาสเป็นทุกข์ การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพราก
จากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ อุปาทาน-
ขันธ์๑ ๕ เป็นทุกข์ นี้เรียกว่า ทุกข์
ทุกขสมุทัย เป็นอย่างไร
คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด
มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา(ความทะยานอยากในกาม)
ภวตัณหา (ความทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่) วิภวตัณหา(ความทะยานอยากไม่เป็น
นั่นเป็นนี่) นี้เรียกว่า ทุกขสมุทัย
ทุกขนิโรธ เป็นอย่างไร
คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น
ความไม่อาลัยในตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

เชิงอรรถ :
๑ อุปาทานขันธ์ หมายถึงอุปาทาน + ขันธ์ คำว่า อุปาทาน แปลว่า ความถือมั่น (อุป = มั่น + อาทาน = ถือ)
หมายถึงชื่อของราคะที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕ บ้าง (ดู สํ.ข.อ. ๒/๑/๑๖, อภิ.สงฺ.อ. ๑๒๑๙/๔๔๒) หมาย
ถึงความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา มานะ และทิฏฐิบ้าง (ดู สํ.ข.อ. ๒/๖๓/๓๐๘) หมายถึงตัณหาบ้าง (ดู ม.มู.อ.
๑/๑๔๑/๓๓๐) คำว่า ขันธ์ แปลว่า กอง (ตามนัย อภิ.สงฺ.อ. ๕/๑๙๒) ดังนั้น อุปาทานขันธ์ จึงหมายถึง
“กองอันเป็นอารมณ์แห่งความถือมั่น” ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดู ที.ปา. ๑๑/๓๑๑/๒๐๔,
ขุ.ป. ๓๑/๓๓/๔๐-๔๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๐๒/๑๖๖, อภิ.วิ.อ. ๒๐๒/๑๑๗, สํ.ข.ฏีกา ๒๒/๒๕๔, วิสุทฺธิ.
๒/๕๐๕/๑๒๒ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอน
ทิฏฐานุสัยและมานานุสัยที่ว่า ‘เป็นเรา’ โดยประการทั้งปวง ละอวิชชาได้แล้ว ทำ
วิชชาให้เกิดขึ้น แล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องชราและมรณะ

[๙๒] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “อธิบายแม้อย่างอื่นเป็นเหตุชี้บอก
ว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชราและมรณะ
เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับแห่งชราและมรณะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับแห่งชราและมรณะ เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามี
สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ชราและมรณะ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ เป็นอย่างไร ความ
ดับแห่งชราและมรณะ เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ เป็น
อย่างไร
ชรา เป็นอย่างไร
คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมี
หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของ
เหล่าสัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า ชรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

มรณะ เป็นอย่างไร
คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตาย
กล่าวคือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความ
ขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ จากหมู่สัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า มรณะ
ชราและมรณะดังกล่าวมาแล้ว นี้เรียกว่า ชราและมรณะ
เพราะชาติเกิด เหตุเกิดแห่งชราและมรณะจึงมี
เพราะชาติดับ ความดับแห่งชราและมรณะจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชราและมรณะ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับ
แห่งชราและมรณะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะอย่างนี้ เมื่อนั้น
ท่านละราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุ
เพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใส
อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องชาติ

[๙๓] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ๑ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชาติ เหตุเกิด
แห่งชาติ ความดับแห่งชาติ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ เมื่อนั้น แม้ด้วย
เหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใส
อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ชาติ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งชาติ เป็นอย่างไร ความดับแห่งชาติ เป็นอย่างไร
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ เป็นอย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๙๒ (สัมมาทิฏฐิสูตร) หน้า ๘๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิด ความบังเกิดเฉพาะ
ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ นี้
เรียกว่า ชาติ
เพราะภพเกิด เหตุเกิดแห่งชาติจึงมี
เพราะภพดับ ความดับแห่งชาติจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชาติ เหตุเกิดแห่งชาติ ความดับแห่งชาติ และข้อ
ปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชาติอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการทั้งปวง
ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามี
สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องภพ

[๙๔] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดภพ เหตุเกิด
แห่งภพ ความดับแห่งภพ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ เมื่อนั้น แม้ด้วย
เหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใส
อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ภพ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งภพ เป็นอย่างไร ความดับแห่งภพ เป็นอย่างไร
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ เป็นอย่างไร
ภพ ๓ เหล่านี้ คือ
๑. กามภพ (ภพที่เป็นกามาวจร)
๒. รูปภพ (ภพที่เป็นรูปาวจร)
๓. อรูปภพ (ภพที่เป็นอรูปาวจร)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

เพราะอุปาทานเกิด เหตุเกิดแห่งภพจึงมี
เพราะอุปาทานดับ ความดับแห่งภพจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งภพ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดภพ เหตุเกิดแห่งภพ ความดับแห่งภพ และข้อปฏิบัติ
ให้ถึงความดับแห่งภพอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ
เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ
มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องอุปาทาน

[๙๕] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอุปาทาน เหตุ
เกิดแห่งอุปาทาน ความดับแห่งอุปาทาน และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน
เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
อุปาทาน เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอุปาทาน เป็นอย่างไร ความดับแห่ง
อุปาทาน เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน เป็นอย่างไร
อุปาทาน ๔ ประการนี้ คือ
๑. กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม)
๒. ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ)
๓. สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลและวัตร)
๔. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา)
เพราะตัณหาเกิด เหตุเกิดแห่งอุปาทานจึงมี
เพราะตัณหาดับ ความดับแห่งอุปาทานจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทาน
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอุปาทาน เหตุเกิดแห่งอุปาทาน ความดับแห่ง
อุปาทาน และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอุปาทานอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละ
ราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียง
เท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องตัณหา

[๙๖] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดตัณหา เหตุ
เกิดแห่งตัณหา ความดับแห่งตัณหา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา เมื่อนั้น
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ตัณหา เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งตัณหา เป็นอย่างไร ความดับแห่งตัณหา
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา เป็นอย่างไร
ตัณหา ๖ ประการนี้ คือ

๑. รูปตัณหา (ความทะยานอยากในรูป)
๒. สัททตัณหา (ความทะยานอยากในเสียง)
๓. คันธตัณหา (ความทะยานอยากในกลิ่น)
๔. รสตัณหา (ความทะยานอยากในรส)
๕. โผฏฐัพพตัณหา (ความทะยานอยากในโผฏฐัพพะ)
๖. ธัมมตัณหา (ความทะยานอยากในธรรมารมณ์)

เพราะเวทนาเกิด เหตุเกิดแห่งตัณหาจึงมี
เพราะเวทนาดับ ความดับแห่งตัณหาจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหา
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดตัณหา เหตุเกิดแห่งตัณหา ความดับแห่งตัณหา
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งตัณหาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดย
ประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องเวทนา

[๙๗] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดเวทนา เหตุ
เกิดแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา เมื่อนั้น
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
เวทนา เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งเวทนา เป็นอย่างไร ความดับแห่งเวทนา
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา เป็นอย่างไร
เวทนา ๖ ประการนี้ คือ

๑. จักขุสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางตา)
๒. โสตสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางหู)
๓. ฆานสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางจมูก)
๔. ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางลิ้น)
๕. กายสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางกาย)
๖. มโนสัมผัสสชาเวทนา (เวทนาที่เกิดจากสัมผัสทางใจ)

เพราะผัสสะเกิด เหตุเกิดแห่งเวทนาจึงมี
เพราะผัสสะดับ ความดับแห่งเวทนาจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนา
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดย
ประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ใน
ธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องผัสสะ

[๙๘] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดผัสสะ เหตุ
เกิดแห่งผัสสะ ความดับแห่งผัสสะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะ เมื่อนั้น
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ผัสสะ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งผัสสะ เป็นอย่างไร ความดับแห่งผัสสะ เป็น
อย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะ เป็นอย่างไร
ผัสสะ ๖ ประการนี้ คือ

๑. จักขุสัมผัส (สัมผัสทางตา)
๒. โสตสัมผัส (สัมผัสทางหู)
๓. ฆานสัมผัส (สัมผัสทางจมูก)
๔. ชิวหาสัมผัส (สัมผัสทางลิ้น)
๕. กายสัมผัส (สัมผัสทางกาย)
๖. มโนสัมผัส (สัมผัสทางใจ)

เพราะอายตนะ ๖ เกิด เหตุเกิดแห่งผัสสะจึงมี
เพราะอายตนะ ๖ ดับ ความดับแห่งผัสสะจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดผัสสะ เหตุเกิดแห่งผัสสะ ความดับแห่งผัสสะ และ
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งผัสสะอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการ
ทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวก
ก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระ
สัทธรรมนี้”

เรื่องอายตนะ

[๙๙] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง ขอรับ”
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอายตนะ ๖
ประการ เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ประการ ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
อายตนะ ๖ ประการ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ประการ
เป็นอย่างไร ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ เป็นอย่างไร
อายตนะ ๖ ประการนี้ คือ
๑. จักขวายตนะ (อายตนะคือตา)
๒. โสตายตนะ (อายตนะคือหู)
๓. ฆานายตนะ (อายตนะคือจมูก)
๔. ชิวหายตนะ (อายตนะคือลิ้น)
๕. กายายตนะ (อายตนะคือกาย)
๖. มนายตนะ (อายตนะคือใจ)
เพราะนามรูปเกิด เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ ประการจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

เพราะนามรูปดับ ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอายตนะ ๖ ประการ เหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖
ประการ ความดับแห่งอายตนะ ๖ ประการ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่ง
อายตนะ ๖ ประการ อย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัยโดยประการทั้งปวง ฯลฯ
เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ
มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องนามรูป

[๑๐๐] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง
ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดนามรูป
เหตุเกิดแห่งนามรูป ความดับแห่งนามรูป และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป
เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
นามรูป เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งนามรูป เป็นอย่างไร ความดับแห่งนามรูป
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป เป็นอย่างไร
เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นี้เรียกว่า นาม มหาภูตรูป ๔ (ได้แก่
ดิน น้ำ ลม ไฟ) และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ (อุปาทายรูป ๒๔) นี้เรียกว่า รูป
นามและรูปดังกล่าวนี้ เรียกว่า นามรูป
เพราะวิญญาณเกิด เหตุเกิดแห่งนามรูปจึงมี
เพราะวิญญาณดับ ความดับแห่งนามรูปจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดนามรูป เหตุเกิดแห่งนามรูป ความดับแห่งนามรูป
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูปอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย
โดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องวิญญาณ

[๑๐๑] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง
ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดวิญญาณ
เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ
เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
วิญญาณ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งวิญญาณ เป็นอย่างไร ความดับแห่ง
วิญญาณ เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ เป็นอย่างไร
วิญญาณ ๖ ประการนี้ คือ

๑. จักขุวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางตา)
๒. โสตวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางหู)
๓. ฆานวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางจมูก)
๔. ชิวหาวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางลิ้น)
๕. กายวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางกาย)
๖. มโนวิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์ทางใจ)

เพราะสังขารเกิด เหตุเกิดแห่งวิญญาณจึงมี
เพราะสังขารดับ ความดับแห่งวิญญาณจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่ง
วิญญาณ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย
โดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องสังขาร

[๑๐๒] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง
ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดสังขาร เหตุ
เกิดแห่งสังขาร ความดับแห่งสังขาร และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร เมื่อนั้น
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
สังขาร เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งสังขาร เป็นอย่างไร ความดับแห่งสังขาร
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร เป็นอย่างไร
สังขาร ๓ ประการนี้ คือ
๑. กายสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งกาย)
๒. วจีสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งวาจา)
๓. จิตตสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งใจ)
เพราะอวิชชาเกิด เหตุเกิดแห่งสังขารจึงมี
เพราะอวิชชาดับ ความดับแห่งสังขารจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขาร
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดสังขาร เหตุเกิดแห่งสังขาร ความดับแห่งสังขาร
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งสังขารอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย
โดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องอวิชชา

[๑๐๓] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง
ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “ฯลฯ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอวิชชา เหตุ
เกิดแห่งอวิชชา ความดับแห่งอวิชชา และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชา เมื่อนั้น
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
อวิชชา เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอวิชชา เป็นอย่างไร ความดับแห่งอวิชชา
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชา เป็นอย่างไร
ความไม่รู้ในทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึง
ความดับแห่งทุกข์ นี้เรียกว่า อวิชชา
เพราะอาสวะเกิด เหตุเกิดแห่งอวิชชาจึงมี
เพราะอาสวะดับ ความดับแห่งอวิชชาจึงมี
อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
๑. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ๘. สัมมาสมาธิ
นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอวิชชา เหตุเกิดแห่งอวิชชา ความดับแห่งอวิชชา
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอวิชชาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย
โดยประการทั้งปวง ฯลฯ เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”

เรื่องอาสวะ

[๑๐๔] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีจริง
ขอรับ” แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า “อธิบายแม้อย่างอื่นเป็น
เหตุชี้บอกว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใส
อันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอาสวะ๑
เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ
เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง
มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
อาสวะ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร ความดับแห่งอาสวะ
เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ เป็นอย่างไร
อาสวะ ๓ ประการนี้ คือ
๑. กามาสวะ (อาสวะคือกาม)
๒. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ)
๓. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา)
เพราะอวิชชาเกิด เหตุเกิดแห่งอาสวะจึงมี
เพราะอวิชชาดับ ความดับแห่งอาสวะจึงมี

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๔ (สัพพาสวสูตร) หน้า ๑๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] ๙. สัมมาทิฏฐิสูตร

อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ___๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา___๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ___๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ___๘. สัมมาสมาธิ

นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะ
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอาสวะ เหตุเกิดแห่งอาสวะ ความดับแห่งอาสวะ
และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งอาสวะอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทา
ปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัยและมานานุสัยที่ว่า ‘เป็นเรา’ โดยประการทั้งปวง
ละอวิชชาได้แล้ว ทำวิชชาให้เกิดขึ้นแล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง
แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความ
เลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้”
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิต
ของท่านพระสารีบุตร ดังนี้แล

สัมมาทิฏฐิสูตร ที่ ๙ จบ

ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ใน ๖ บทที่กล่าวว่า เป็นอย่างไร
คือ ทุกข์ ชราและมรณะ อุปาทาน อายตนะ ๖ นามรูป วิญญาณ
ใน ๔ บทที่กล่าวว่า เป็นอย่างไร
คือ ชาติ ตัณหา เวทนา อวิชชาเป็นที่ ๔
ใน ๕ บท ที่กล่าวว่า เป็นอย่างไร
คือ อาหาร ภพ ผัสสะ สังขาร อาสวะเป็นที่ ๕
๖ ประการ เป็นอย่างไร ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว
๔ ประการ เป็นอย่างไร ข้าพเจ้าก็กล่าวแล้ว
๕ ประการ เป็นอย่างไร ข้าพเจ้าก็กล่าวแล้ว
และบทแห่งสังขารทั้งปวงมี ๑๕ บท ดังกล่าวมานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร๑
ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน สูตรใหญ่

[๑๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุ ชื่อกัมมาสธัมมะ
แคว้นกุรุ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้
ตรัสเรื่องนี้ว่า

อุทเทส

[๑๐๖] “ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเดียว๒ เพื่อความบริสุทธิ์ของ
เหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม๓
เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน๔ ๔ ประการ
สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูความพิสดารใน ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๗๒-๔๐๕/๓๐๑-๓๔๐
๒ ทางสายเดียว ในที่นี้มีความหมาย ๔ นัย คือ (๑) ทางที่บุคคลผู้ละการเกี่ยวข้องกับหมู่คณะไปประพฤติ
ธรรมอยู่แต่ผู้เดียว (๒) ทางสายเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงทำให้เกิดขึ้น เป็นทางของบุคคลผู้เดียว คือ
พระผู้มีพระภาค (๓) ข้อปฏิบัติในศาสนาเดียว คือพระพุทธศาสนา (๔) ทางดำเนินไปสู่จุดหมายเดียว
คือ พระนิพพาน (ที.ม.อ. ๒/๓๗๓/๓๕๙, ม.มู.อ. ๑/๑๐๖/๒๔๔)
๓ ญายธรรม หมายถึงอริยมรรค (ที.ม.อ. ๒/๒๑๔/๑๙๗, ม.มู.อ. ๑/๑๐๖/๒๕๑)
๔ สติปัฏฐาน แปลว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ หรือการปฏิบัติมีสติเป็นประธาน (ที.ม.อ. ๒/๓๗๓/๓๖๘,
ม.มู.อ. ๑/๑๐๖/๒๕๓, อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๓๕๕-๓๘๙/๓๐๖-๓๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

อุทเทส จบ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
กายานุปัสสนา
(การพิจารณากาย)
หมวดลมหายใจเข้าออก

[๑๐๗] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปอยู่ในป่า ไปอยู่ที่โคนไม้ หรือที่เรือนว่าง๑ นั่งคู้บัลลังก์๒
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า๓ มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’

เชิงอรรถ :
๑ เรือนว่าง หมายถึงที่ที่สงัด คือ เสนาสนะ ๗ อย่าง เว้นป่า และโคนไม้ ได้แก่ (๑) ภูเขา (๒) ซอกเขา
(๓)ถ้ำในภูเขา (๔) ป่าช้า (๕) ป่าละเมาะ (๖) ที่โล่งแจ้ง (๗) ลอมฟาง (ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๒๐/๒๔๘,
อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๕๐๘/๒๙๔)
๒ นั่งคู้บัลลังก์ หมายถึงนั่งพับขาเข้าหากันทั้ง ๒ ข้าง เรียกว่า นั่งขัดสมาธิ (วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๕, วิสุทฺธิ.
๑/๒๙๕)
๓ ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติมุ่งตรงต่อกัมมัฏฐาน (วิ.อ. ๑/๑๖๕/๔๔๕, วิสุทฺธิ. ๑/๒๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร๑ หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’
ภิกษุทั้งหลาย ช่างกลึง หรือลูกมือช่างกลึงผู้มีความชำนาญ
เมื่อชักเชือกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราชักเชือกยาว’
เมื่อชักเชือกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราชักเชือกสั้น’ แม้ฉันใด
ภิกษุ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๒อยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอก๓อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณา
เห็นธรรมเป็นเหตุเกิด (แห่งลมหายใจ) ในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับ

เชิงอรรถ :
๑ ระงับกายสังขาร หมายถึงผ่อนคลายลมหายใจหยาบให้ละเอียดขึ้นไปโดยลำดับจนถึงขั้นที่จะต้องพิสูจน์ว่า
มีลมหายใจอยู่หรือไม่ เปรียบเหมือนเสียงเคาะระฆังครั้งแรกจะมีเสียงดังกังวานแล้วแผ่วลงจนถึงเงียบหาย
ไปในที่สุด (วิสุทฺธิ. ๑/๒๙๙-๓๐๒)
๒ กายภายใน ในที่นี้หมายถึงลมหายใจเข้าออกของตน (ที.ม.อ. ๒/๓๗๔/๓๗๙, ม.มู.อ. ๑/๑๐๗/๒๖๕)
๓ กายภายนอก ในที่นี้หมายถึงลมหายใจเข้าออกของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๒/๓๗๔/๓๗๙, ม.มู.อ. ๑/๑๐๗/๒๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

(แห่งลมหายใจ)ในกายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับ
(แห่งลมหายใจ)ในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดลมหายใจเข้าออก จบ

กายานุปัสสนา
หมวดอิริยาบถ

[๑๐๘] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุ
เมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่า ‘เราเดิน’
เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่า ‘เรายืน’
เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่า ‘เรานั่ง’
เมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า ‘เรานอน’
ภิกษุนั้น เมื่อดำรงกายอยู่โดยอาการใด ๆ ก็รู้ชัดกายที่ดำรงอยู่โดยอาการนั้น ๆ
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๑อยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดอิริยาบถ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

กายานุปัสสนา
หมวดสัมปชัญญะ

[๑๐๙] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุ
ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ
ทำความรู้สึกตัวในการแลดู การเหลียวดู
ทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า การเหยียดออก
ทำความรู้สึกตัวในการครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร
ทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
ทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
ทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด
การนิ่ง
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๑อยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดสัมปชัญญะ จบ

กายานุปัสสนา
หมวดสิ่งปฏิกูล

[๑๑๐] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ ตั้งแต่
ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไป
ด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า

เชิงอรรถ :
๑ พิจารณาเห็นกายภายใน หมายถึงพิจารณาเห็นอิริยาบถย่อยในกายของตนด้วยสัมปชัญญะ ๔ ประการ
คือ (๑) สาตถกสัมปชัญญะ (รู้ชัดว่ามีประโยชน์) (๒) สัปปายสัมปชัญญะ (รู้ชัดว่าเป็นสัปปายะ) (๓) โคจร-
สัมปชัญญะ(รู้ชัดว่าเป็นโคจร) (๔) อสัมโมหสัมปชัญญะ(รู้ชัดโดยไม่หลง) (ที.ม.อ. ๒/๓๗๖/๓๘๓, ม.มู.อ.
๑/๑๐๙/๒๖๙-๒๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

‘ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
ไต๑ หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก
ไขข้อ มูตร’
ภิกษุทั้งหลาย ถุงมีปาก ๒ ข้าง เต็มไปด้วยธัญพืชชนิดต่าง ๆ คือ ข้าวสาลี
ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดงา ข้าวสาร คนตาดีเปิดถุงยาวนั้นออก
พิจารณาเห็นว่า ‘นี้เป็นข้าวสาลี นี้เป็นข้าวเปลือก นี้เป็นถั่วเขียว นี้เป็นถั่วเหลือง
นี้เป็นเมล็ดงา นี้เป็นข้าวสาร แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็น
กายนี้ตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้ มีผม ขน ฯลฯ ไขข้อ มูตร’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่๒ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดสิ่งปฏิกูล จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

กายานุปัสสนา
หมวดธาตุ

[๑๑๑] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่
ตามที่ดำรงอยู่โดยความเป็นธาตุว่า ‘ในกายนี้มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่’
ภิกษุทั้งหลาย คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้มีความชำนาญ ครั้นฆ่าโคแล้ว
แบ่งอวัยวะออกเป็นส่วน ๆ นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น
เหมือนกัน พิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่โดยความเป็นธาตุว่า
‘ในกายนี้มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดธาตุ จบ

กายานุปัสสนา
หมวดป่าช้า ๙ หมวด

[๑๑๒] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
๑. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งตายแล้ว ๑ วัน ตาย
แล้ว ๒ วัน หรือตายแล้ว ๓ วัน เป็นศพขึ้นอืด ศพเขียวคล้ำ
ศพมีน้ำเหลืองเยิ้ม แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบ
ให้เห็นฉันนั้นเหมือนกันว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะ
อย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๒. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าซึ่งถูกกาจิกกิน แร้งทึ้งกิน
นกตะกรุมจิกกิน สุนัขกัดกิน สุนัขจิ้งจอกกัดกิน หรือสัตว์เล็ก ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

หลายชนิดกัดกินอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบ
ให้เห็นฉันนั้นเหมือนกันว่า ‘ถึงกายนี้ ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะ
อย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๓. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก ยังมีเนื้อ
และเลือด มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ฯลฯ
๔. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก ไม่มีเนื้อ
แต่ยังมีเลือดเปื้อนเปรอะ มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ฯลฯ
๕. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก ไม่มีเลือด
และเนื้อแต่ยังมีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ฯลฯ
๖. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูก ไม่มีเอ็น
รึงรัด กระจุยกระจายไปในทิศใหญ่ ทิศเฉียง คือ กระดูกมืออยู่
ทางทิศหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่ทางทิศหนึ่ง
กระดูกขาอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกหลัง
อยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกหน้าอกอยู่
ทางทิศหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกไหล่อยู่ทางทิศหนึ่ง
กระดูกคออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกคางอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกฟัน
อยู่ทางทิศหนึ่ง กะโหลกศีรษะอยู่ทางทิศหนึ่ง แม้ฉันใด ภิกษุนั้น
นำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นฉันนั้นเหมือนกันว่า ‘ถึงกายนี้
ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็น
อย่างนั้นไปได้’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ ฯลฯ ภิกษุจึงชื่อว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๗. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกสีขาว
เหมือนสีสังข์ แม้ฉันใด ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๘. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกกองอยู่
ด้วยกันเกินกว่า ๑ ปี แม้ฉันใด ฯลฯ
๙. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นกระดูกผุป่นเป็นชิ้น
เล็กชิ้นน้อย แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็น
ฉันนั้นเหมือนกันว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะ
อย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือ
พิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดป่าช้า ๙ หมวด จบ
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จบ

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

[๑๑๓] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อเสวยสุขเวทนา(ความรู้สึกสุข) ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนา’
๒. เมื่อเสวยทุกขเวทนา(ความรู้สึกทุกข์) ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนา’
๓. เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา(ความรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข) ก็รู้ชัดว่า
‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๔. เมื่อเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส๑ ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาที่มี
อามิส’
๕. เมื่อเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาที่ไม่
มีอามิส’
๖. เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนาที่มี
อามิส’
๗. เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนา
ที่ไม่มีอามิส’
๘. เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขม-
สุขเวทนาที่มีอามิส’
๙. เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวย
อทุกขมสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายภายใน๒อยู่ พิจารณาเห็น
เวทนาในเวทนาทั้งหลายภายนอก๓อยู่ หรือพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายทั้ง
ภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในเวทนาทั้งหลายอยู่ พิจารณา
เห็นธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิด
ทั้งธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘เวทนามีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างนี้แล

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

[๑๑๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีราคะ’
๒. จิตปราศจากราคะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากราคะ’
๓. จิตมีโทสะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโทสะ’
๔. จิตปราศจากโทสะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโทสะ’
๕. จิตมีโมหะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโมหะ’
๖. จิตปราศจากโมหะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโมหะ’
๗. จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหดหู่’
๘. จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่า ‘จิตฟุ้งซ่าน’
๙. จิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นมหัคคตะ’
๑๐. จิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นมหัคคตะ’
๑๑. จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า’
๑๒. จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า’
๑๓. จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นสมาธิ’
๑๔. จิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นสมาธิ’
๑๕. จิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหลุดพ้นแล้ว’
๑๖. จิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่หลุดพ้น’

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอก
อยู่ หรือพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็น
เหตุเกิดในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรม
เป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘จิตมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างนี้แล

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หมวดนิวรณ์

[๑๑๕] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕
ประการอยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ ประการอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อกามฉันทะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘กามฉันทะภายในของเรามีอยู่’
หรือเมื่อกามฉันทะภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘กามฉันทะภายในของเรา
ไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งกามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น การละกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และกามฉันทะที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๒. เมื่อพยาบาทภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘พยาบาทภายในของเรามีอยู่’
หรือเมื่อพยาบาทภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘พยาบาทภายในของเรา
ไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งพยาบาทที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น การละพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น และพยาบาทที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด
ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๓. เมื่อถีนมิทธะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ถีนมิทธะภายในของเรามีอยู่’
หรือเมื่อถีนมิทธะภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘ถีนมิทธะภายในของเรา
ไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น การละถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น และถีนมิทธะที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด
ก็รู้ชัดเหตุนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๔. เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘อุทธัจจกุกกุจจะภายใน
ของเรามีอยู่’ หรือเมื่ออุทธัจจกุกกุจจะภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘อุทธัจจ-
กุกกุจจะภายในของเราไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่ยัง
ไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละอุทธัจจกุกกุจจะที่
เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และอุทธัจจกุกกุจจะที่
ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๕. เมื่อวิจิกิจฉาภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘วิจิกิจฉาภายในของเรามีอยู่’
หรือเมื่อวิจิกิจฉาภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘วิจิกิจฉาภายในของเรา
ไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่งวิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น การละวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และวิจิกิจฉาที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายใน
ทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม
เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ ประการอยู่
อย่างนี้แล

หมวดนิวรณ์ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

หมวดขันธ์

[๑๑๖] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการอยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการอยู่
อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์
๕ ประการอยู่ว่า
๑. รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็น
อย่างนี้
๒. เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งเวทนาเป็นอย่างนี้
๓. สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งสัญญาเป็นอย่างนี้
๔. สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งสังขารเป็นอย่างนี้
๕. วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความ
ดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายใน๑อยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายใน
ทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็น

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมภายใน หมายถึงขันธ์ ๕ ของตน (ที.ม.อ. ๒/๓๘๓/๓๙๘, ม.มู.อ. ๑/๑๑๖/๓๐๓)
๒ ธรรมภายนอก หมายถึงขันธ์ ๕ ของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๒/๓๘๓/๓๙๘, ม.มู.อ. ๑/๑๑๖/๓๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม
เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์
๕ ประการอยู่ อย่างนี้แล

หมวดขันธ์ จบ

หมวดอายตนะ

[๑๑๗] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ ประการ และอายตนะภายนอก ๖ ประการอยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ ประการ
และอายตนะภายนอก ๖ ประการอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. รู้ชัดตา รู้ชัดรูป และสังโยชน์ใดอาศัยตาและรูปทั้ง ๒ นั้นเกิดขึ้น
ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วย
เหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด
ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกมีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๒. รู้ชัดหู รู้ชัดเสียง ฯลฯ
๓. รู้ชัดจมูก รู้ชัดกลิ่น ฯลฯ
๔. รู้ชัดลิ้น รู้ชัดรส ฯลฯ
๕. รู้ชัดกาย รู้ชัดโผฏฐัพพะ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๖. รู้ชัดใจ รู้ชัดธรรมารมณ์ และสังโยชน์ใดอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้ง
๒ นั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่
เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้น
แล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่
เกิดขึ้นต่อไปอีกมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย
ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่
พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็น
เหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ ประการ
และอายตนะภายนอก ๖ ประการอยู่ อย่างนี้แล

หมวดอายตนะ จบ

หมวดโพชฌงค์

[๑๑๘] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ ประการอยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ ประการอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อสติสัมโพชฌงค์๑ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘สติสัมโพชฌงค์ภายใน
ของเรามีอยู่’ หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ภายในไม่มี ก็รู้ชัดว่า ‘สติ-
สัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มี’ ความเกิดขึ้นแห่งสติสัมโพชฌงค์

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๒๗ (สัพพาสวสูตร) หน้า ๒๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญ
บริบูรณ์แห่งสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๒. เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ฯลฯ
๓. เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ฯลฯ
๔. เมื่อปีติสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ฯลฯ
๕. เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ฯลฯ
๖. เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ฯลฯ
๗. เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘อุเบกขาสัมโพชฌงค์
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในไม่มี ก็
รู้ชัดว่า ‘อุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มี’ การเกิดขึ้นแห่ง
อุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และความเจริญบริบูรณ์แห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้ง
ภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่
พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็น
เหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ ประการอยู่
อย่างนี้แล

หมวดโพชฌงค์ จบ
ภาณวารที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

หมวดสัจจะ

[๑๑๙] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์’
๒. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขสมุทัย’
๓. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ’
๔. รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’

ทุกขสัจจนิทเทส๑

[๑๒๐] ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
อุปายาสเป็นทุกข์ การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพราก
จากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ
อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
[๑๒๑] ชาติ เป็นอย่างไร
คือ ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิด ความบังเกิดเฉพาะ
ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ
นี้เรียกว่า ชาติ
[๑๒๒] ชรา เป็นอย่างไร
คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนัง
เหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่า
สัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า ชรา

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๙๐-๒๐๕/๑๖๓-๑๗๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

[๑๒๓] มรณะ เป็นอย่างไร
คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตาย
กล่าวคือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความ
ขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ จากหมู่สัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า มรณะ
[๑๒๔] โสกะ เป็นอย่างไร
คือ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก ความแห้งผากภายใน
ความแห้งกรอบภายในของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ)ผู้ที่ถูก
เหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า โสกะ
[๑๒๕] ปริเทวะ เป็นอย่างไร
คือ ความร้องไห้ ความคร่ำครวญ กิริยาที่ร้องไห้ กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะ
ที่ร้องไห้ ภาวะที่คร่ำครวญของผู้ที่ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ)
ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า ปริเทวะ
[๑๒๖] ทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ ความทุกข์ทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่
สำราญ เป็นทุกข์ อันเกิดแต่กายสัมผัส นี้เรียกว่า ทุกข์
[๑๒๗] โทมนัส เป็นอย่างไร
คือ ความทุกข์ทางใจ ความไม่สำราญทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญ
เป็นทุกข์ อันเกิดแต่มโนสัมผัส นี้เรียกว่า โทมนัส
[๑๒๘] อุปายาส เป็นอย่างไร
คือ ความแค้น ความคับแค้น ภาวะที่แค้น ภาวะที่คับแค้นของผู้ที่ประกอบ
ด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ
นี้เรียกว่า อุปายาส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

[๑๒๙] การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ การไปร่วม การมาร่วม การประชุมร่วม การอยู่ร่วมกับอารมณ์อันไม่เป็นที่
ปรารถนา ไม่เป็นที่รักใคร่ ไม่เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือจากบุคคลผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ปรารถนา
แต่สิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่ผาสุก ไม่ปรารถนาความเกษมจากโยคะของ
เขา นี้เรียกว่า การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์
[๑๓๐] การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ การไม่ไปร่วม การไม่มาร่วม การไม่ประชุมร่วม การไม่อยู่ร่วมกับอารมณ์
อันเป็นที่ปรารถนา เป็นที่รักใคร่ เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่น
รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือจากบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาความ
เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะของเขา เช่น มารดา
บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว มิตร อำมาตย์หรือญาติสาโลหิต นี้เรียกว่า
การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์
[๑๓๑] การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ เหล่าสัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า
‘ไฉนหนอ ขอเราอย่าได้มีความเกิดเป็นธรรมดา หรือขอความเกิดอย่าได้มาถึงเรา
เลย’ ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการ
เป็นทุกข์
เหล่าสัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอ
ขอเราอย่าได้มีความแก่เป็นธรรมดา หรือขอความแก่อย่าได้มาถึงเราเลย’ ข้อนี้
ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์
เหล่าสัตว์ผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ... เหล่าสัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ...
เหล่าสัตว์ผู้มีความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์ ความโทมนัส
และความคับแค้นเป็นธรรมดา ต่างก็เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอ
ขอเราอย่าได้เป็นผู้มีความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์ ความโทมนัสและ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

ความคับแค้นเป็นธรรมดาเลย และขอความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ความทุกข์
ความโทมนัสและความคับแค้นอย่าได้มาถึงเราเลย’ ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความ
ปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์
[๑๓๒] ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ๑ ๕ ประการเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ รูปูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือรูป) เวทนูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์
คือเวทนา) สัญญูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือสัญญา) สังขารูปาทานขันธ์
(อุปาทานขันธ์คือสังขาร) และวิญญาณูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)
เหล่านี้เรียกว่า ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการเป็นทุกข์
นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ

สมุทยสัจจนิทเทส

[๑๓๓] ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด
มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
ก็ตัณหานี้แหละเมื่อเกิดขึ้น เกิดที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ตั้งอยู่ที่ไหน
คือ ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ปิยรูปสาตรูปนี้
เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ปิยรูปสาตรูปนี้
ก็อะไร เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
คือ จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุนี้ เมื่อตั้งอยู่
ก็ตั้งอยู่ที่จักขุนี้ โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆานะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
ชิวหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... กายเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่มโนนี้
รูปเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เสียงเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... กลิ่น
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพะเป็น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๙๑ (สัมมาทิฏฐิสูตร) หน้า ๘๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

ปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธรรมารมณ์เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิดก็เกิด
ที่ธรรมารมณ์นี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธรรมารมณ์นี้
จักขุวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โสตวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... ฆานวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ชิวหาวิญญาณเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ... กายวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนวิญญาณ
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนวิญญาณนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้ง
อยู่ที่มโนวิญญาณนี้
จักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
... ฆานสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหา
นี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่มโนสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจาก
โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจาก
กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่
ที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้
รูปสัญญา(ความหมายรู้รูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททสัญญา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... คันธสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสสัญญา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมสัญญา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมสัญญานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้ง
อยู่ที่ธัมมสัญญานี้
รูปสัญเจตนา(ความจงใจในรูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททสัญเจตนา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... คันธสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสสัญเจตนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
ธัมมสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมสัญเจตนานี้
เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมสัญเจตนานี้
รูปตัณหา(ความทะยานอยากในรูป)เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททตัณหา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... คันธตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสตัณหาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมตัณหาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมตัณหานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่
ธัมมตัณหานี้
รูปวิตก(ความตรึกถึงรูป)เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททวิตกเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ... คันธวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสวิตกเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... โผฏฐัพพวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก �... ธัมมวิตกเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมวิตกนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมวิตกนี้
รูปวิจาร(ความตรองถึงรูป)เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททวิจารเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ... คันธวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสวิจารเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมวิจารเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมวิจารนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมวิจารนี้
นี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ

นิโรธสัจจนิทเทส

[๑๓๔] ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น
ความไม่อาลัยในตัณหา
ก็ตัณหานี้เมื่อละ ละที่ไหน เมื่อดับ ดับที่ไหน
คือ ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่ปิยรูปสาตรูปนี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่ปิยรูปสาตรูปนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

ก็อะไร เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
คือ จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่จักขุนี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่จักขุนี้ โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆานะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
ชิวหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... กายเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่มโนนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่มโนนี้
รูปเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เสียงเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... กลิ่น
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพะเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ... ธรรมารมณ์เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่
ธรรมารมณ์นี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธรรมารมณ์นี้
จักขุวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โสตวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... ฆานวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ชิวหาวิญญาณเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ... กายวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนวิญญาณเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่มโนวิญญาณนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่มโนวิญญาณนี้
จักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
... ฆานสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... มโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหา
นี้เมื่อละ ก็ละที่มโนสัมผัสนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่มโนสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจาก
โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจาก
กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้ เมื่อดับ ก็ดับ
ที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

รูปสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
... คันธสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
โผฏฐัพพสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่ธัมมสัญญานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมสัญญานี้
รูปสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... คันธสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ... โผฏฐัพพสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมสัญเจตนาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่ธัมมสัญเจตนานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมม-
สัญเจตนานี้
รูปตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
... คันธตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
โผฏฐัพพตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่ธัมมตัณหานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมตัณหานี้
รูปวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
คันธวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
โผฏฐัพพวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้
เมื่อละ ก็ละที่ธัมมวิตกนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมวิตกนี้
รูปวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ สัททวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ...
คันธวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... รสวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... โผฏฐัพพ-
วิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ... ธัมมวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้
เมื่อละ ก็ละที่ธัมมวิจารนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมวิจารนี้
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

มัคคสัจจนิทเทส

[๑๓๕] ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นแล ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ใน
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร
คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริ
ในการไม่เบียดเบียน นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา เป็นอย่างไร
คือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เจตนา
งดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ นี้เรียกว่า สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไร
คือ เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เจตนางด
เว้นจากการประพฤติผิดในกาม นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วย
สัมมาอาชีวะ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต
มุ่งมั่นเพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น สร้างฉันทะ พยายาม
ปรารภ ความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว สร้าง
ฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อทำกุศลธรรมที่ยัง
ไม่เกิดให้เกิดขึ้น สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อ
ความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งกุศลธรรมที่
เกิดขึ้นแล้ว๑ นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ
สัมมาสติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา
และโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ นี้เรียกว่า สัมมาสติ
สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุ
ทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มี

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.เอกก. (แปล) ๒๐/๓๙๔-๓๙๗/๔๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

แต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว
บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ นี้เรียกว่า
สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
[๑๓๖] ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณา
เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้ง
ภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม
เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก ภิกษุจึงชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่ อย่างนี้แล

หมวดสัจจะ จบ
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน จบ

อานิสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน ๔

[๑๓๗] ภิกษุทั้งหลาย
๑. บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ ปี พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน
๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลือ
อยู่ ก็จักเป็นอนาคามี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๒. ๗ ปี จงยกไว้๑ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๖ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือ
เมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๓. ๖ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๕ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๔. ๕ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๔ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๕. ๔ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๓ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๖. ๓ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๒ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๗. ๒ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๑ ปี พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๘. ๑ ปี จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ เดือน พึง
หวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี

เชิงอรรถ :
๑ ๗ ปี จงยกไว้ หมายถึงอย่าว่าแต่จะเจริญสติปัฏฐานใช้ระยะเวลา ๗ ปีเลย แม้เจริญเพียง ๖ ปี ลดลง
มาตามลำดับถึง ๗ วัน ก็สามารถบรรลุอรหัตตผล หรืออนาคามิผลได้ (ที.ม.อ. ๒/๔๐๔/๔๒๒, ม.มู.อ.
๑/๑๓๗/๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

๙. ๗ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๖ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๐. ๖ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๕ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๑. ๕ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๔ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๒. ๔ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๓ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๓. ๓ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๒ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๔. ๒ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๑ เดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๕. ๑ เดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอดครึ่งเดือน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๑๖. ครึ่งเดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ วัน
พึงหวังผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน
หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค]
รวมพระสูตรที่มีในวรรค

[๑๓๘] ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของ
เหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม
เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ เราอาศัยทางสาย
เดียวนี้แล้วจึงกล่าวคำดังพรรณนามาฉะนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาสติปัฏฐานสูตรที่ ๑๐ จบ
มูลปริยายวรรคที่ ๑ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มูลปริยายสูตร___๒. สัพพาสวสูตร
๓. ธัมมทายาทสูตร___๔. ภยเภรวสูตร
๕. อนังคณสูตร___๖. อากังเขยยสูตร
๗. วัตถูปมสูตร___๘. สัลเลขสูตร
๙. สัมมาทิฏฐิสูตร___๑๐. มหาสติปัฏฐานสูตร

ขอท่านทั้งหลายจงฟังพระสูตรอันมีนัยต่าง ๆ
เป็นธรรมชาติไม่แก่ ไม่ตาย ให้บรรลุอมตธรรม
แสดงไขทั้งมรรคและผล อันบรรเทาทุกข์
มีประโยชน์เกื้อกูล ก่อให้เกิดมหารสหลายพันนัย
อันนำมาซึ่งปีติมากมาย ทำความเร่าร้อนเพราะไฟ ๓ ชนิด
(ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ) ให้ดับสูญ
เหมือนวสุธาราหลั่งชโลมดับร้อนแห่งพื้นพสุธาฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๑. มูลปริยายวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค

พระสูตรอันประเสริฐสุดท้าย(แห่งวรรค)
ประดุจโอสถอันกำจัดพยาธิคือกิเลส มีรสหวานละมุน
ก่อให้เกิดความยินดีอันใหญ่หลวงแก่เหล่าเทวดาและหมู่มนุษย์
พระอรรถกถาจารย์ประดิษฐานไว้แล้ว
อนึ่ง พระสูตรที่ชื่อเวยยากรณะ
(องค์คุณหนึ่งของนวังคสัตถุศาสน์)
ท่านก็ประดิษฐานไว้ถึง ๒๕๐ สูตร
เพื่อทดสอบเหล่าสมณศากยบุตร
ขอท่านทั้งหลายเหล่าอื่นจากผู้ที่กล่าวแล้วนั้น
จงมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ชมเชยพระสูตร
อันมีความบันเทิงเป็นส่วนสุด
ในวรรคอันแสดงหนทางปฏิบัติต่าง ๆ โดยลำดับเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร

๒. สีหนาทวรรค
หมวดว่าด้วยการบันลือสีหนาท
๑. จูฬสีหนาทสูตร
ว่าด้วยการบันลือสีหนาท สูตรเล็ก
สมณะ ๔ จำพวก

[๑๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่
ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔๑ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้
ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง เธอทั้งหลายจงบันลือ
สีหนาท๒โดยชอบอย่างนี้แล
[๑๔๐] เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก(เจ้าลัทธิอื่น)ในโลกนี้ จะพึง
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘อะไรเล่าเป็นความมั่นใจของพวกท่าน อะไรเป็นพลังใจของพวกท่าน

เชิงอรรถ :
๑ สมณะที่ ๑ หมายถึงพระโสดาบันผู้หมดสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะ
สำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า สมณะที่ ๒ หมายถึงพระสกทาคามี ผู้หมดสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ประการ
มีราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง กลับมาสู่โลกมนุษย์คราวเดียวแล้วจะตรัสรู้ได้ สมณะที่ ๓ หมายถึงพระ-
อนาคามี ผู้หมดสิ้นสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ เกิดในภูมิชั้นสุทธาวาสแล้ว จะนิพพานในภูมินั้น สมณะ
ที่ ๔ หมายถึงพระอรหันต์ ผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน (ม.มู.อ. ๑/๑๓๙/๓๒๓-๓๒๔)
๒ บันลือสีหนาท ในที่นี้หมายถึงการประกาศอย่างอาจหาญของภิกษุผู้กล่าวว่า “สมณะเหล่านี้มีในธรรมวินัย
นี้เท่านั้น” ชื่อว่าการบันลือที่ประเสริฐคือการบันลือสีหนาทที่ไม่มีความเกรงกลัว ไม่ติดขัด เพราะเจ้าลัทธิ
อื่นไม่สามารถคัดค้านได้ (ม.มู.อ. ๑/๑๓๙/๓๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร

พวกท่านพิจารณาเห็นอย่างไรในตนจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัย
นี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่
๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวตอบพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้น อย่างนี้
ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย มีธรรม ๔ ประการที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้
ทรงเห็น ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบตรัสไว้แล้ว ซึ่งเรา
ทั้งหลายพิจารณาเห็น(ว่ามี)ในตน จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สมณะที่ ๑ มีอยู่ใน
ธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ใน
ธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจาก
สมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง’
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความเลื่อมใสในศาสดา
๒. ความเลื่อมใสในธรรม
๓. ความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล
๔. ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ประพฤติธรรมร่วมกันเป็นที่รักเป็นที่พอใจ
ของเราทั้งหลาย
ธรรม ๔ ประการนี้ ที่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ทรงเห็น ทรงเป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบตรัสไว้แล้ว ซึ่งเราทั้งหลายพิจารณาเห็น
(ว่ามี)ในตนจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สมณะที่ ๑ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น สมณะที่ ๒
มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๓ มีอยู่ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้
ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากสมณะทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึง’
[๑๔๑] เป็นไปได้ที่พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ผู้ใดเป็น
ศาสดาของพวกเรา แม้พวกเราก็มีความเลื่อมใสในศาสดานั้น อะไรเป็นธรรมของ
พวกเรา แม้พวกเราก็มีความเลื่อมใสในธรรมนั้น ข้อใดเป็นศีลของพวกเรา แม้พวก
เราก็เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีลนั้น แม้ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ประพฤติธรรม
ร่วมกัน ก็เป็นที่รักเป็นที่พอใจของพวกเรา ในข้อนี้มีความแปลกกันอย่างไร มีความ
มุ่งหมายอย่างไร และมีการกระทำต่างกันอย่างไร ระหว่างพวกท่านกับพวกเรา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร

เธอทั้งหลายพึงกล่าวตอบพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้น อย่างนี้
ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย จุดมุ่งหมาย๑มีอย่างเดียว หรือมีหลายอย่าง’ พวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายมีอย่างเดียวเท่านั้น
ไม่มีหลายอย่าง’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีราคะ
(ความกำหนัด) หรือผู้ปราศจากราคะ’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจากราคะ
มิใช่สำหรับผู้มีราคะ’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีโทสะ
(ความคิดประทุษร้าย) หรือผู้ปราศจากโทส’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะ
ตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจาก
โทสะ มิใช่สำหรับผู้มีโทสะ’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีโมหะ
(ความหลง) หรือผู้ปราศจากโมหะ’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูก
ต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ปราศจากโมหะ
มิใช่สำหรับผู้มีโมหะ’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มีตัณหา
(ความทะยานอยาก) หรือผู้ปราศจากตัณหา’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะ
ตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้
ปราศจากตัณหา มิใช่สำหรับผู้มีตัณหา’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้มี
อุปาทาน(ความยึดมั่น) หรือผู้ปราศจากอุปาทาน’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อ
จะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้
ปราศจากอุปาทาน มิใช่สำหรับผู้มีอุปาทาน’

เชิงอรรถ :
๑ จุดมุ่งหมาย ในที่นี้หมายถึงจุดหมายของความเลื่อมใส ซึ่งแต่ละลัทธิต่างก็มีจุดหมายที่แตกต่างกันไป
และมีเพียงจุดมุ่งหมายเดียวเท่านั้น เช่น พวกพราหมณ์ก็มีพรหมโลกเป็นจุดมุ่งหมาย พวกดาบสก็มี
อาภัสสรพรหมเป็นจุดมุ่งหมาย แต่ในพุทธศาสนานี้มีจุดมุ่งหมายเดียว คืออรหัตตผล (ม.มู.อ. ๑/๑๔๐/๓๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร

เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้รู้แจ้ง
หรือผู้ไม่รู้แจ้ง’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า
‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้รู้แจ้ง มิใช่สำหรับผู้ไม่รู้แจ้ง’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้
ยินดียินร้าย หรือผู้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย
มิใช่สำหรับผู้ยินดียินร้าย’
เธอทั้งหลายพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้พอใจ
ในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า หรือผู้พอใจ
ในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า’ พวก
อัญเดียรถีย์ปริพาชกเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็จะตอบอย่างนี้ว่า ‘จุดมุ่งหมายนั้น
เป็นจุดมุ่งหมายสำหรับผู้พอใจในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรมอัน
ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า มิใช่สำหรับผู้พอใจในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า ผู้ยินดีในธรรม
อันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า’

ทิฏฐิ ๒

[๑๔๒] ภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิ ๒ ประการนี้ คือ (๑) ภวทิฏฐิ๑ (๒) วิภวทิฏฐิ๒
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งยึดติด เข้าถึง เกาะติดภวทิฏฐิ สมณะ
หรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ยินร้ายต่อวิภวทิฏฐิ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งยึดติด เข้าถึง เกาะติดวิภวทิฏฐิ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า
เป็นผู้ยินร้ายต่อภวทิฏฐิ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่รู้ชัดความเกิด
ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดทิฏฐิ ๒ ประการนี้ตามความเป็นจริง

เชิงอรรถ :
๑ ภวทิฏฐิ หมายถึงสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง (ม.มู.อ. ๑/๑๔๒/๓๓๐)
๒ วิภวทิฏฐิ หมายถึงอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๒/๓๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร

สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีราคะ มีโทสะ มีโมหะ มีตัณหา
มีอุปาทาน เป็นผู้ไม่รู้แจ้ง เป็นผู้ยินดียินร้าย พอใจในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ยินดีในธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้า เรากล่าวว่า ‘พวกเขาไม่พ้นจากชาติ(ความเกิด)
ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ)
ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส(ความคับแค้นใจ) ไม่พ้น
จากทุกข์’ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดความเกิด ความดับ คุณ โทษ
และอุบายเครื่องสลัดทิฏฐิ ๒ ประการนี้ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ปราศจาก
ตัณหา ไม่มีอุปาทาน เป็นผู้รู้แจ้ง เป็นผู้ไม่ยินดีไม่ยินร้าย เป็นผู้พอใจในธรรมอัน
ไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ยินดีในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า เรากล่าวว่า ‘พวกเขา
พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส พ้นจากทุกข์’

อุปาทาน ๔

[๑๔๓] ภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ ประการนี้
อุปาทาน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑. กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม)
๒. ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ)
๓. สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลและวัตร)
๔. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา)

มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง๑ แต่พวกเขา
ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติ
ความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่รู้

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง หมายถึงปฏิญญาว่า ‘เราทั้งหมดกล่าวความรอบรู้ คือความ
ข้ามพ้นอุปาทานทั้งสิ้น’ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๓/๓๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร

ฐานะ ๓ ประการนี้ตามความเป็นจริง เหตุนั้น พวกเขาจึงปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้
อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ
บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติ
ความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวก
เขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้
กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน
ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมณพราหมณ์
เหล่านั้นไม่รู้ฐานะ ๒ ประการนี้ตามความเป็นจริง เหตุนั้น พวกเขาจึงปฏิญญา
ลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่าง
โดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่
บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขา
ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน
บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน บัญญัติความรอบรู้สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติ
ความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่รู้
ฐานะ ๑ ประการนี้ตามความเป็นจริง เหตุนั้น พวกเขาจึงปฏิญญาลัทธิว่ารอบรู้
อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขาไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ
บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน บัญญัติความรอบรู้
สีลัพพตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน
ภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสใดในศาสดา ความเลื่อมใสใดในธรรม ความ
เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ใดในศีลทั้งหลาย ความเป็นที่รักเป็นที่พอใจใดในหมู่สหธรรมิก ข้อนั้น
ทั้งหมดเราไม่กล่าวว่า ดำเนินไปชอบในธรรมวินัยเห็นปานนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะข้อนั้นเป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวไว้ผิดแล้ว ประกาศไว้ไม่
ถูกต้อง ไม่เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ พระสัมมา-
สัมพุทธเจ้ามิได้ประกาศไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร

[๑๔๔] ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิญญาวาทะ
ว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง จึงบัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ
บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน๑ ความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ความรอบรู้สีลัพพตุ-
ปาทาน และความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ความเลื่อมใสใดในศาสดา ความเลื่อมใสใด
ในธรรม ความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ใดในศีลทั้งหลาย ความเป็นที่รักเป็นที่พอใจใด
ในหมู่สหธรรมิก ข้อนั้นทั้งหมดเรากล่าวว่า ดำเนินไปชอบในธรรมวินัยเห็นปานนี้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะข้อนั้นเป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ถูกต้องแล้ว
ประกาศไว้ถูกต้องแล้ว เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้แล้ว

หลักปฏิจจสมุปบาทเริ่มต้นด้วยอุปาทาน

[๑๔๕] ภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ ประการนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไร
เป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด
อุปาทาน ๔ ประการนี้ มีตัณหาเป็นต้นเหตุ มีตัณหาเป็นเหตุเกิด
มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด
ตัณหาเล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไร
เป็นแดนเกิด
ตัณหา มีเวทนาเป็นต้นเหตุ มีเวทนาเป็นเหตุเกิด มีเวทนาเป็นกำเนิด มีเวทนา
เป็นแดนเกิด
เวทนานี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด
เวทนา มีผัสสะเป็นต้นเหตุ มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีผัสสะเป็นกำเนิด มีผัสสะ
เป็นแดนเกิด

เชิงอรรถ :
๑ บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน หมายถึงทรงบัญญัติความรอบรู้การละ การล่วงพ้นกามุปาทานด้วย
อรหัตตมรรค บัญญัติความรอบรู้อุปาทาน ๓ นอกนี้ด้วยโสดาปัตติมรรค (ม.มู.อ. ๑/๑๔๔/๓๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑. จูฬสีหนาทสูตร

ผัสสะนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไร
เป็นแดนเกิด
ผัสสะ มีสฬายตนะเป็นต้นเหตุ มีสฬายตนะเป็นเหตุเกิด มีสฬายตนะเป็น
กำเนิด มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด
สฬายตนะนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด
สฬายตนะ มีนามรูปเป็นต้นเหตุ มีนามรูปเป็นเหตุเกิด มีนามรูปเป็นกำเนิด
มีนามรูปเป็นแดนเกิด
นามรูปนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด
นามรูป มีวิญญาณเป็นต้นเหตุ มีวิญญาณเป็นเหตุเกิด มีวิญญาณเป็นกำเนิด
มีวิญญาณเป็นแดนเกิด
วิญญาณนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด
วิญญาณ มีสังขารเป็นต้นเหตุ มีสังขารเป็นเหตุเกิด มีสังขารเป็นกำเนิด
มีสังขารเป็นแดนเกิด
สังขารนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด
สังขาร มีอวิชชาเป็นต้นเหตุ มีอวิชชาเป็นเหตุเกิด มีอวิชชาเป็นกำเนิด
มีอวิชชาเป็นแดนเกิด
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ภิกษุละอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น เธอไม่
ยึดมั่นกามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน เพราะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาจึงเกิดขึ้น เมื่อไม่ยึดมั่น เธอก็ไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง เธอก็
ปรินิพพานเฉพาะตนนั่นแล เธอรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑ ทำ
กิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๒ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป๓”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬสีหนาทสูตรที่ ๑ จบ

๒. มหาสีหนาทสูตร
ว่าด้วยการบันลือสีหนาท สูตรใหญ่
สุนักขัตตะกล่าวตู่พระพุทธเจ้า

[๑๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าด้านตะวันตกภายนอก
พระนคร เขตกรุงเวสาลี สมัยนั้นแล โอรสเจ้าลิจฉวีพระนามว่าสุนักขัตตะลาสิกขา
จากพระธรรมวินัยนี้ได้ไม่นาน เธอได้กล่าวในชุมชน ณ กรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า
“สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ๔ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของ
มนุษย์๕ สมณโคดมแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึกที่ไตร่ตรองด้วยการ
ค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ธรรมที่สมณโคดมแสดงเพื่อประโยชน์แก่บุคคล ย่อมนำไป
เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบสำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น”
ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงเวสาลี ท่านได้สดับคำของโอรสเจ้าลิจฉวีพระนามว่าสุนักขัตตะผู้

เชิงอรรถ :
๑-๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๓ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้
๔ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ หมายถึงมหัคคตโลกุตตรปัญญา(ปัญญาชั้นโลกุตตระที่ถึงความเป็นใหญ่)
อันประเสริฐ บริสุทธิ์ สูงสุด สามารถกำจัดกิเลสได้ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๖/๓๔๒,องฺ.ทสก.อ. ๓/๔๘/๓๕๐)
๕ ธรรมของมนุษย์ ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๖/๓๔๒, องฺ.เอกก.อ. ๑/๔๕/๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

กล่าวในชุมชน ณ กรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า “สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะที่ประเสริฐอัน
สามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณโคดมแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความ
ตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ธรรมที่สมณโคดมแสดงเพื่อ
ประโยชน์แก่บุคคล ย่อมนำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบสำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตาม
ธรรมนั้น”
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงเวสาลีแล้ว กลับจาก
บิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ โอรสเจ้าลิจฉวีพระนามว่าสุนักขัตตะลาสิกขาจากพระธรรมวินัยนี้ได้
ไม่นาน เธอได้กล่าวในชุมชน ณ กรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า ‘สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะ
ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณโคดมแสดงธรรมที่
ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ธรรมที่
สมณโคดมแสดงเพื่อประโยชน์แก่บุคคล ย่อมนำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ
สำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น”
[๑๔๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร โอรสเจ้าลิจฉวีพระนามว่า
สุนักขัตตะเป็นโมฆบุรุษ มักโกรธ เธอกล่าววาจานั้นเพราะความโกรธ สุนักขัตตะ
โมฆบุรุษคิดว่า ‘จักกล่าวติเตียน’ แต่กลับกล่าวสรรเสริญคุณของตถาคตอยู่นั่นแล
แท้จริงข้อที่บุคคลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ธรรมที่สมณโคดมแสดงเพื่อประโยชน์
แก่บุคคล ย่อมนำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบสำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น’
เป็นการกล่าวสรรเสริญคุณของตถาคต
สุนักขัตตะ โมฆบุรุษจักไม่มีปัญญารู้ธรรมในตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ
เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็น
พระผู้มีพระภาค’
สุนักขัตตะ โมฆบุรุษจักไม่มีปัญญารู้ธรรมในตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระ
ผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลาย
คนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุ
ฝา กำแพง และภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงใน
แผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้
นั่งขัดสมาธิ เหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์และ
ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลก
ก็ได้’
สุนักขัตตะ โมฆบุรุษจักไม่มีปัญญารู้ธรรมในตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นทรงสดับเสียง ๒ ชนิด คือ (๑) เสียงทิพย์ (๒) เสียงมนุษย์
ทั้งที่อยู่ไกลและอยู่ใกล้ ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์’
สุนักขัตตะ โมฆบุรุษจักไม่มีปัญญารู้ธรรมในตถาคตว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงกำหนดรู้ใจของสัตว์และบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมี
ราคะ ก็รู้ว่า ‘จิตมีราคะ’ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่า ‘จิตปราศจากราคะ’ จิตมี
โทสะก็รู้ว่า ‘จิตมีโทสะ’ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่า ‘จิตปราศจากโทสะ’ จิตมีโมหะ
ก็รู้ว่า ‘จิตมีโมหะ’ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่า ‘จิตปราศจากโมหะ’ จิตหดหู่ก็รู้ว่า
‘จิตหดหู่’ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่า ‘จิตฟุ้งซ่าน’ จิตเป็นมหัคคตะก็รู้ว่า ‘จิตเป็นมหัคคตะ’
หรือจิตไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่า ‘จิตไม่เป็นมหัคคตะ’ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า ‘จิตมี
จิตอื่นยิ่งกว่า’ หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่า ‘จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า’ จิตเป็นสมาธิ
ก็รู้ว่า ‘จิตเป็นสมาธิ’ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่า ‘จิตไม่เป็นสมาธิ’ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า
‘จิตหลุดพ้น’ หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่า ‘จิตไม่หลุดพ้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

กำลังของพระตถาคต ๑๐ ประการ

[๑๔๘] สารีบุตร กำลังของตถาคต๑ ๑๐ ประการนี้ที่ตถาคตมีแล้ว เป็น
เหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจ๒ บันลือสีหนาท๓ ประกาศพรหมจักร๔ในบริษัท๕
กำลังของตถาคต ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ตถาคตรู้ชัดฐานะ๖ โดยเป็นฐานะ และอฐานะโดยเป็นอฐานะใน
โลกนี้ตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดฐานะโดยเป็นฐานะ
และอฐานะโดยเป็นอฐานะตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของ
ตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท
ประกาศพรหมจักรในบริษัท

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๖๔/๕๗๙, องฺ.ทสก.(แปล) ๒๔/๒๑/๔๓-๔๗.
๒ ฐานะที่องอาจ (อาสภะ) อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงฐานะที่ประเสริฐที่สุด ที่สูงสุด หรือฐานะของ
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดในปางก่อน
อนึ่ง คำว่า อาสภะ มาจากคำว่า อุสภะ เป็นชื่อโคจ่าฝูงของโคจำนวนมากตั้ง ๑๐๐ ตัว ๑,๐๐๐ ตัว ๑๐๐
คอก ๑,๐๐๐ คอก มีสีขาว น่าดู มีกำลังสามารถนำภาระหนักยิ่งไปได้ ยืนหยัดด้วยเท้าทั้ง ๔ ไม่หวั่นไหว
ต่อเสียงฟ้าร้องตั้ง ๑๐๐ ครั้ง พระตถาคตเปรียบเหมือนโคอุสภะ คือ ประทับยืนข่มบริษัททั้ง ๘ ได้อย่าง
มั่นคงด้วยพระบาท (ฐานะ) คือ เวสารัชชญาณ ๔ ประการ ไม่มีปัจจามิตรใดในโลกและเทวโลกที่สามารถ
ทำให้พระองค์หวั่นไหวได้ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๔๗, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๖)
๓ บันลือสีหนาท ในที่นี้หมายถึงตรัสพระวาจาด้วยท่าทีองอาจดังพญาราชสีห์ ไม่ทรงหวั่นเกรงผู้ใด เพราะ
ทรงมั่นพระทัยในศีล สมาธิ ปัญญาของพระองค์ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๔๘,ที.สี.ฏีกา ๑/๔๐๓/๔๕๔)
๔ พรหมจักร หมายถึงธรรมจักรอันประเสริฐ ยอดเยี่ยม บริสุทธิ์ มี ๒ ประการ คือ (๑) ปฏิเวธญาณ ได้แก่
ญาณระดับโลกุตตระ แสดงถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า (๒) เทสนาญาณ ได้แก่ ญาณระดับโลกิยะ
แสดงถึงพระมหากรุณาคุณของพระพุทธเจ้า ญาณทั้ง ๒ นี้ชื่อว่าโอรสญาณ(ญาณส่วนพระองค์) มีเฉพาะ
พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ไม่มีแก่คนทั่วไป (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๔๘,องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๗)
๕ บริษัท หมายถึงหมู่, คณะ, ที่ประชุม ในที่นี้หมายถึงบริษัท ๘ คือ (๑) ขัตติยบริษัท (๒) พราหมณบริษัท
(๓) คหบดีบริษัท (๔) สมณบริษัท (๕) จาตุมหาราชบริษัท (๖) ดาวดึงสบริษัท (สวรรค์ชั้นที่ ๒ แห่งสวรรค์
๖ ชั้น) (๗) มารบริษัท (๘) พรหมบริษัท (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๔๘, ที.สี.อ. ๔๐๓/๒๙๗, องฺ.ทสก.อ.
๓/๒๑/๓๒๗)
๖ ฐานะ ในที่นี้หมายถึงเหตุและปัจจัย ที่เรียกว่า “ฐานะ” เพราะเป็นแดนตั้งขึ้น เกิดขึ้น และเป็นไปแห่งผล
(ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๔๙, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

๒. ตถาคตรู้ชัดวิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และ
ปัจจุบันโดยฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัด
วิบากแห่งการยึดถือกรรมที่เป็นทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันโดย
ฐานะ โดยเหตุตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคต
อาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศ
พรหมจักร ในบริษัท
๓. ตถาคตรู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวง๑ตามความเป็นจริง การที่
ตถาคตรู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงภูมิทั้งปวงตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลัง
ของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือ
สีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๔. ตถาคตรู้ชัดโลกที่มีธาตุหลายชนิด๒ มีธาตุที่แตกต่างกัน๓ ตามความ
เป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดโลกที่มีธาตุหลายชนิด มีธาตุที่แตกต่าง
กันตามความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว
ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๕. ตถาคตรู้ชัดว่าหมู่สัตว์เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างกันตามความเป็นจริง
การที่ตถาคตรู้ชัดว่าหมู่สัตว์เป็นผู้มีอัธยาศัยต่างกันตามความเป็นจริง
นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ
บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๖. ตถาคตรู้ชัดว่าสัตว์เหล่าอื่น และบุคคลเหล่าอื่นมีอินทรีย์แก่กล้า
และอินทรีย์อ่อนตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดว่าสัตว์
เหล่าอื่น และบุคคลเหล่าอื่นมีอินทรีย์แก่กล้าและอินทรีย์อ่อนตาม

เชิงอรรถ :
๑ ภูมิทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงคติที่ควรไป(คติ) และคติที่ไม่ควรไป(อคติ) (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๐, องฺ.ทสก.อ.
๓/๒๑/๓๒๘)
๒ ธาตุหลายชนิด ในที่นี้หมายถึงธาตุ ๑๘ มีจักขุธาตุเป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๐, องฺ.เอกก.อ. ๑/๕๗๗/๔๗๓)
และดู อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๑๘๕/๑๔๗. วิสุทฺธิ. ๒/๕๑๗/๑๒๙.
๓ ธาตุที่แตกต่างกัน หมายถึงธาตุที่มีลักษณะต่างกัน (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๐, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙,
อภิ.วิ.อ. ๗๖๐/๔๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

ความเป็นจริง นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญา
ฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๗. ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง๑ ความผ่องแผ้ว๒ แห่งฌาน วิโมกข์
สมาธิ และสมาบัติ และการออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และ
สมาบัติ๓ ตามความเป็นจริง การที่ตถาคตรู้ชัดความเศร้าหมอง
ความผ่องแผ้วแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ และการ
ออกจากฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติตามความเป็นจริง นี้
เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ
บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๘. ตถาคตระลึกถึงชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง
๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐
ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัป๔ เป็นอันมากบ้าง
ตลอดวิวัฏฏกัป๕เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป
เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มี

เชิงอรรถ :
๑ ความเศร้าหมอง หมายถึงธรรมฝ่ายเสื่อม ได้แก่ กาม วิตก วิจาร และปีติ เป็นต้น ที่เป็นอุปสรรคต่อการ
เจริญฌานตามลำดับขั้นของผู้ที่มีฌานยังไม่คล่องแคล่ว (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๑, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙,
องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๒๑/๓๙๒) และดู องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๔๑/๕๒๓-๕๓๒ ประกอบ
๒ ความผ่องแผ้ว หมายถึงธรรมฝ่ายเจริญ ได้แก่ การสงัดจากกาม การระงับวิตกวิจาร การจางคลายไปแห่ง
ปีติเป็นต้น ซึ่งเป็นคุณค่าต่อการเจริญฌานให้ยิ่งขึ้นไปของผู้ที่มีฌานคล่องแคล่ว (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๑,
องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙, องฺ.ทสก.ฏีกา ๓/๒๑/๓๙๒) และดู องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๔๑/๕๒๓-๕๓๒ ประกอบ
๓ ในคำว่า “ฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติ” นี้ ฌาน หมายถึงฌาน ๔ (ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน
และจตุตถฌาน) (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) วิโมกข์ หมายถึงวิโมกข์ ๘ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) และดู
องฺ.อฏฺฐก. (แปล) ๒๓/๑๑๙/๔๒๒ ประกอบ สมาธิ หมายถึงสมาธิ ๓ คือ สวิตักกสวิจารสมาธิ (สมาธิที่มี
วิตกและวิจาร) อวิตักกวิจารมัตตสมาธิ (สมาธิที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร) อวิตักกาวิจารสมาธิ (สมาธิที่ไม่มี
ทั้งวิตกและวิจาร) (ขุ.ป. ๓๑/๔๓/๕๐) สมาบัติ หมายถึงอนุปุพพสมาบัติ ๙ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔
และสัญญาเวทยิตนิโรธ ๑ (ม.มู.อ. ๑/๑๔๘/๓๕๑, องฺ.ทสก.อ. ๓/๒๑/๓๒๙) และดู องฺ.นวก. (แปล)
๒๓/๓๒/๔๙๕, อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๘๒๘/๕๒๙-๕๓๒ ประกอบ
๔-๕ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

วรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพ
นั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล
มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจาก
ภพนั้นแล้วจึงมาเกิดในภพนี้’ ตถาคตระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ การที่ตถาคตระลึก
ชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ นี้เป็นกำลังของ
ตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท
ประกาศพรหมจักรในบริษัท
๙. ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ(เคลื่อน) กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและ
ชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบ
กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความ
เห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจาก
ตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่
ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ
มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นชอบ พวก
เขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ตถาคตเห็นหมู่
สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึง
หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล การที่ตถาคตเห็นหมู่สัตว์ ฯลฯ
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม
นี้เป็นกำลังของตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ
บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

๑๐. ตถาคตทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะ
อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน การที่ตถาคต
ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เป็นกำลังของ
ตถาคตที่ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท
ประกาศพรหมจักรในบริษัท
ภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต ๑๐ ประการนี้แล ที่ตถาคตมีแล้ว
เป็นเหตุให้ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
[๑๔๙] สารีบุตร บุคคลใดแลพึงว่ากล่าวเราผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ‘สมณ-
โคดมไม่มีญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณ-
โคดมแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้ง
ได้เอง’ บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรง
อยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้ อุปมาเหมือนภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วย
สมาธิ สมบูรณ์ด้วยปัญญา พึงยินดีอรหัตตผลในปัจจุบันนั่นแล แม้ฉันใด เรากล่าว
ข้ออุปไมยนี้ ฉันนั้น บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น
ย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้

เวสารัชชญาณ๑ ๔

[๑๕๐] สารีบุตร เวสารัชชญาณ(ญาณเป็นเหตุให้แกล้วกล้า) ๔ ประการนี้
ที่ตถาคตมีแล้วเป็นเหตุให้ปฏิญญา(ยืนยัน) ฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศ
พรหมจักรในบริษัท
เวสารัชชญาณของตถาคต ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เราไม่เห็นนิมิต๒นี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหต๓ในธรรมนั้นว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก.(แปล) ๒๑/๘/๑๓-๑๔
๒ นิมิต ในที่นี้หมายถึงทั้งบุคคลและธรรมที่เป็นเหตุสนับสนุนการทักท้วง (ม.มู.อ. ๑/๑๕๐/๓๕๔ , องฺ.จตุกฺก.อ.
๒/๘/๒๘๕, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๘/๒๘๔)
๓ คำพูดที่มีเหตุ หมายถึงคำพูดที่อ้างอิงพยานบุคคล พยานหลักฐานมาเป็นเหตุสนับสนุนให้การทักท้วง
สำเร็จประโยชน์น่าเชื่อถือ (ม.มู.อ. ๑/๑๕๐/๓๕๔, องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๘๒๘๕, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๘/๒๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

‘ท่านผู้ปฏิญญาว่า เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ท่านก็ยัง
ไม่รู้’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นี้ จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว
แกล้วกล้าอยู่
๒. เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุในธรรมนั้นว่า
‘ท่านผู้ปฏิญญาว่า เป็นพระขีณาสพ อาสวะเหล่านี้ของท่านก็ยัง
ไม่สิ้นไป’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นี้ จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว
แกล้วกล้าอยู่
๓. เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุในธรรมนั้นว่า
‘อันตรายิกธรรม๑ที่ท่านกล่าว ไม่อาจก่ออันตรายแก่ผู้เสพได้จริง’
เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นี้ จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้ว
กล้าอยู่
๔. เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม
หรือใคร ๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุในธรรมนั้นว่า
‘ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้นไม่สำเร็จ
เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ทำตามได้จริง’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิต
แม้นี้ จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่
สารีบุตร เวสารัชชญาณ ๔ ประการนี้แล ที่ตถาคตมีแล้วเป็นเหตุให้
ปฏิญญาฐานะที่องอาจ บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักรในบริษัท
บุคคลใดพึงว่ากล่าวเราผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ‘สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะ
ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณโคดมแสดงธรรมที่
ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง’ บุคคลนั้น

เชิงอรรถ :
๑ อันตรายิกธรรม หมายถึงธรรมที่เป็นอันตรายต่อการบรรลุมรรคผล ได้แก่ อาบัติ ๗ กอง ซึ่งเป็นโทษ
สำหรับปรับภิกษุผู้ล่วงละเมิด โดยที่สุดแม้ทุกกฏหรือทุพภาสิต ในที่นี้หมายเอาเมถุนธรรม (ม.ม.ูอ.
๑/๑๕๐/๓๕๔,องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๘/๒๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

ไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือน
ถูกนำไปฝังไว้ อุปมาเหมือนภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยสมาธิ สมบูรณ์
ด้วยปัญญา พึงยินดีอรหัตตผลในปัจจุบันนั่นแล แม้ฉันใด เรากล่าวข้ออุปไมยนี้
ฉันนั้น บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรง
อยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้

บริษัท ๘

[๑๕๑] สารีบุตร บริษัท ๘ จำพวกนี้
บริษัท ๘ จำพวก ไหนบ้าง คือ

๑. ขัตติยบริษัท___๒. พราหมณบริษัท
๓. คหบดีบริษัท___๔. สมณบริษัท
๕. จาตุมหาราชบริษัท___๖. ดาวดึงสบริษัท
๗. มารบริษัท___๘. พรหมบริษัท

บริษัทมี ๘ จำพวกนี้แล
ตถาคตมีเวสารัชชญาณ ๔ ประการนี้จึงเข้าไปคบหาบริษัท ๘ จำพวกนี้
เราเข้าไปยังขัตติยบริษัทหลายร้อยบริษัทย่อมรู้ว่า แม้ในบริษัทนั้น เราก็เคยนั่งใกล้
เคยทักทาย เคยปราศรัย เคยสนทนากัน เราไม่เห็นนิมิตว่า ‘ความกลัวหรือ
ความสะทกสะท้านจักกล้ำกรายเราในบริษัทนั้นได้เลย’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นี้
จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่
อนึ่ง เราเข้าไปยังพราหมณบริษัทหลายร้อยบริษัท ฯลฯ คหบดีบริษัท ...
สมณบริษัท ... จาตุมหาราชบริษัท ... ดาวดึงสบริษัท ... มารบริษัท เข้าไป
ยังพรหมบริษัทหลายร้อยบริษัทย่อมรู้ว่า แม้ในบริษัทนั้น ๆ เราก็เคยนั่งใกล้
เคยทักทาย เคยปราศรัย เคยสนทนากัน เราไม่เห็นนิมิตว่า ‘ความกลัวหรือความ
สะทกสะท้านจักกล้ำกรายเราในบริษัทนั้นได้เลย’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นี้ จึงถึง
ความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

บุคคลใดพึงว่ากล่าวเราผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ‘สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะ
ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณโคดมแสดงธรรมที่
ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง’ บุคคลนั้น
ไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือน
ถูกนำไปฝังไว้ อุปมาเหมือนภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยสมาธิ สมบูรณ์
ด้วยปัญญา พึงยินดีอรหัตตผลในปัจจุบันนั่นแล แม้ฉันใด เรากล่าวข้ออุปไมยนี้
ฉันนั้น บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรง
อยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้

กำเนิด ๔

[๑๕๒] สารีบุตร กำเนิด ๔ ชนิดนี้
กำเนิด ๔ ชนิด ไหนบ้าง คือ

๑. กำเนิดอัณฑชะ (การเกิดในไข่)
๒. กำเนิดชลาพุชะ (การเกิดในครรภ์)
๓. กำเนิดสังเสทชะ (การเกิดในเถ้าไคลหรือที่ชื้นแฉะ)
๔. กำเนิดโอปปาติกะ (การเกิดผุดขึ้น)

กำเนิดอัณฑชะ คืออะไร
คือ เหล่าสัตว์ผู้เจาะทำลายเปลือกไข่แล้วเกิด นี้เราเรียกว่า กำเนิดอัณฑชะ
กำเนิดชลาพุชะ คืออะไร
คือ เหล่าสัตว์ผู้เกิดในครรภ์ นี้เราเรียกว่า กำเนิดชลาพุชะ
กำเนิดสังเสทชะ คืออะไร
คือ เหล่าสัตว์ผู้เกิดในปลาเน่า ซากศพเน่า ขนมบูด น้ำครำ หรือเถ้าไคล
นี้เราเรียกว่า กำเนิดสังเสทชะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

กำเนิดโอปปาติกะ คืออะไร
คือ เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางจำพวก และเปรตบางจำพวก นี้เราเรียกว่า
กำเนิดโอปปาติกะ
สารีบุตร กำเนิดมี ๔ ชนิดนี้แล
บุคคลใดจะพึงว่ากล่าวเราผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ‘สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะ
ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณโคดมแสดงธรรมที่
ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง’ บุคคลนั้น
ไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือน
ถูกนำไปฝังไว้ อุปมาเหมือนภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยสมาธิ สมบูรณ์
ด้วยปัญญา พึงยินดีอรหัตตผลในปัจจุบันนั่นแล แม้ฉันใด เรากล่าวข้ออุปไมยนี้
ฉันนั้น บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ก็ย่อมดำรง
อยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้

คติ ๕

[๑๕๓] สารีบุตร คติ ๕ ประการนี้
คติ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. นรก ๒. กำเนิดดิรัจฉาน
๓. เปตวิสัย ๔. มนุษย์
๕. เทวดา
เรารู้ชัดนรก ทางที่นำสัตว์ให้ถึงนรก ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ให้ถึงนรก และรู้ชัด
ข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้ว เป็นเหตุให้หลังจากตายแล้วย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต นรก๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๖๘ (อากังเขยยสูตร) หน้า ๖๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

เรารู้ชัดกำเนิดดิรัจฉาน ทางที่นำสัตว์ให้ถึงกำเนิดดิรัจฉาน ข้อปฏิบัติที่นำ
สัตว์ให้ถึงกำเนิดดิรัจฉาน และรู้ชัดข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้ว เป็นเหตุให้หลังจาก
ตายแล้วย่อมไปเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน
เรารู้ชัดเปตวิสัย ทางที่นำสัตว์ให้ถึงเปตวิสัย ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ให้ถึงเปตวิสัย
และรู้ชัดข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้ว เป็นเหตุให้หลังจากตายแล้วย่อมไปเกิดในเปตวิสัย
เรารู้ชัดหมู่มนุษย์ ทางที่นำสัตว์ให้ถึงมนุษยโลก ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ให้ถึง
มนุษยโลก และรู้ชัดข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้ว เป็นเหตุให้หลังจากตายแล้วย่อม
ไปเกิดในหมู่มนุษย์
เรารู้ชัดเทวดาทั้งหลาย ทางที่นำสัตว์ให้ถึงเทวโลก ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ให้
ถึงเทวโลก และรู้ชัดข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้ว เป็นเหตุให้หลังจากตายแล้วย่อม
ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
เรารู้ชัดนิพพาน ทางที่นำสัตว์ให้ถึงนิพพาน ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ให้ถึงนิพพาน
และรู้ชัดข้อปฏิบัติที่สัตว์ปฏิบัติแล้วเป็นเหตุทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติที่ไม่มี
อาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน

รู้เห็นการไปทุคติและสุคติของบุคคล

[๑๕๔] เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้
ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไป
เกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาโดยส่วนเดียวอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยตา
ทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
หลุมถ่านเพลิงลึกมากกว่าช่วงตัวบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลว
และควัน ลำดับนั้น บุรุษผู้มีร่างกายถูกความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย
สะทกสะท้าน หิวกระหาย เดินมุ่งมายังหลุมถ่านเพลิงนั้นโดยหนทางสายเดียว
บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

ไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้น จักมาถึงหลุมถ่านเพลิงนี้นั่นแล’ ต่อมา บุรุษผู้มี
ตาดีนั้นจะพึงเห็นเขาผู้ตกลงในหลุมถ่านเพลิงนั้น เสวยทุกขเวทนาโดยส่วนเดียว
อันแรงกล้า เผ็ดร้อน แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน กำหนดรู้ใจของบุคคล
บางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และ
ดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ ต่อมา
เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนา
โดยส่วนเดียวอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ปฏิบัติ
อย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดใน
กำเนิดดิรัจฉาน’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน
เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
หลุมอุจจาระลึกมากกว่าช่วงตัวบุรุษ เต็มไปด้วยอุจจาระ ลำดับนั้น บุรุษผู้มี
ร่างกายถูกความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหาย
เดินมุ่งมายังหลุมอุจจาระนั้นโดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึง
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้น
จักมาถึงหลุมอุจจาระนี้นั่นแล’ ต่อมา บุรุษผู้มีตาดีนั้นจะพึงเห็นเขาผู้ตกลงในหลุม
อุจจาระนั้นแล้ว เสวยทุกขเวทนา อันแรงกล้า เผ็ดร้อน แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้น
เหมือนกัน กำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติ
อย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดใน
กำเนิดดิรัจฉาน’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในกำเนิดดิรัจฉาน
เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ปฏิบัติ
อย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดใน
เปตวิสัย’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในเปตวิสัย เสวยทุกขเวทนา
เป็นอันมากด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

ต้นไม้เกิดบนพื้นที่ไม่เสมอ มีใบอ่อนใบแก่น้อย มีเงาโปร่ง ลำดับนั้น บุรุษ
ผู้มีร่างกายถูกความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหาย
เดินมุ่งมายังต้นไม้นั้นโดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นจักมาถึงต้นไม้
นี้นั่นแล’ ต่อมา บุรุษผู้มีตาดีนั้นจะพึงเห็นเขานั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้นั้น แล้ว
เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน กำหนดรู้ใจของบุคคล
บางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนิน
ทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในเปตวิสัย’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้ว
ไปเกิดในเปตวิสัย เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ปฏิบัติ
อย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดใน
หมู่มนุษย์’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในหมู่มนุษย์ เสวยสุขเวทนา
เป็นอันมาก ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
ต้นไม้เกิดบนพื้นที่ราบเรียบ มีใบอ่อนใบแก่มาก มีร่มเงาทึบ ลำดับนั้น
บุรุษผู้มีร่างกายถูกความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิว
กระหาย เดินมุ่งมายังต้นไม้นั้นโดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึง
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทาง
นั้นจักมาถึงต้นไม้นี้นั่นแล’ ต่อมา บุรุษผู้มีตาดีจะพึงเห็นเขานั่งหรือนอนที่ร่มเงาของ
ต้นไม้นั้น แล้วเสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน กำหนด
รู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไป
อย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว ฯลฯ เกิดในหมู่มนุษย์ เสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก
เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ปฏิบัติ
อย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เสวยสุข
เวทนาโดยส่วนเดียว ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

ปราสาทซึ่งมีเรือนยอดฉาบทาแล้วทั้งภายในและภายนอก ลมเข้าไม่ได้ มีกลอน
แน่น มีประตูและหน้าต่างปิดสนิทดี ในเรือนยอดนั้น มีบัลลังก์ที่ลาดด้วยผ้าพรม
ขนสัตว์ ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนแกะสีขาว ลาดด้วยขนสัตว์ซึ่งทำเป็นรูป
ดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีเพดานกั้นอยู่เบื้องบน มีหมอน
แดงวางไว้ ๒ ข้าง ลำดับนั้น บุรุษผู้มีร่างกายถูกความร้อนแผดเผา ครอบงำ
เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหาย เดินมุ่งมายังปราสาทนั้นแลโดยหนทาง
สายเดียว บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บุรุษผู้เจริญนี้ปฏิบัติ
อย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้วจักมายังปราสาทนี้นั่นแล’ ต่อมา
บุรุษผู้มีตาดีพึงเห็นเขานั่งหรือนอนบนบัลลังก์นั้น ที่เรือนยอดในปราสาทนั้น เสวย
สุขเวทนาโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน กำหนดรู้ใจของบุคคล
บางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และ
ดำเนินทางนั้นหลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ ต่อมา เราเห็นเขาหลังจาก
ตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์
เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ปฏิบัติ
อย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้วจักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา-
วิมุตติ อันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
ต่อมา เราเห็นบุคคลนั้นผู้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเพราะ
อาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เสวยสุขเวทนาโดย
ส่วนเดียว
สระโบกขรณี มีน้ำใส จืดสนิท เย็น สะอาด มีท่าเทียบ น่ารื่นรมย์ และในที่
ไม่ไกลสระโบกขรณีนั้น ก็มีแนวป่าทึบ ลำดับนั้น บุรุษผู้มีร่างกายถูกความร้อน
แผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหาย เดินมุ่งมายังสระ
โบกขรณีนั้นแล โดยหนทางสายเดียว บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้วจักมาถึง
สระโบกขรณีนี้นั่นแล’ ต่อมา บุรุษผู้มีตาดีพึงเห็นเขาลงสู่สระโบกขรณีนั้น แล้วอาบ
และดื่ม ระงับความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อยและความร้อนหมดแล้วขึ้นไปนั่ง
หรือนอนที่แนวป่านั้น เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน
กำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้วจักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มี
อาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ ต่อมา เราเห็น
เขาทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญา
อันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว
คติมี ๕ ประการนี้แล
บุคคลใดพึงว่ากล่าวเราผู้รู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ‘สมณโคดมไม่มีญาณทัสสนะ
ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ สมณโคดมแสดงธรรมที่
ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง’ บุคคลนั้น
ไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรงอยู่ในนรกเหมือน
ถูกนำไปฝังไว้ อุปมาเหมือนภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมบูรณ์ด้วยสมาธิ สมบูรณ์ด้วย
ปัญญา พึงยินดีอรหัตตผลในปัจจุบันนั่นแล ฉันใด เราก็กล่าวอุปไมยนี้ฉันนั้น
บุคคลนั้นไม่ละวาจานั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่สลัดทิ้งทิฏฐินั้น ย่อมดำรงอยู่ใน
นรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้

พรหมจรรย์มีองค์ ๔

[๑๕๕] สารีบุตร เรารู้ยิ่งความประพฤติพรหมจรรย์๑มีองค์ ๔ คือ
๑. เราเป็นผู้บำเพ็ญตบะ และเป็นผู้บำเพ็ญตบะอย่างยอดเยี่ยม
๒. เราเป็นผู้ประพฤติถือสิ่งเศร้าหมอง และเป็นผู้ประพฤติถือสิ่ง
เศร้าหมองอย่างยอดเยี่ยม

เชิงอรรถ :
๑ พรหมจรรย์ หมายถึงความประพฤติประเสริฐ มีนัย ๑๒ ประการ คือ (๑) ทาน การให้ (๒) ไวยาวัจจะ
การขวนขวายช่วยเหลือ (๓) ปัญจสิกขาบท ศีลห้า (๔) พรหมวิหาร การประพฤติพรหมวิหาร (๕)ธรรม-
เทศนา (๖) เมถุนวิรัติ การงดเว้นจากการเสพเมถุน (๗) สทารสันโดษ ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน
(๘) อุโปสถังคะ องค์อุโบสถ (๙) อริยมรรค ทางอันประเสริฐ (๑๐) ศาสนาที่รวมไตรสิกขา (๑๑) อัธยาศัย
(๑๒) วิริยะ ความเพียร แต่ในที่นี้หมายถึงวิริยะ เหตุที่ตรัสพรหมจรรย์นี้ เพราะสุนักขัตตะโอรสเจ้าลิจฉวี
เป็นผู้มีความเชื่อว่า ‘บุคคลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยการประพฤติทุกกรกิริยา’ ทรงมุ่งขจัดความเชื่อนั้น (ม.มู.อ.
๑/๑๕๕/๓๖๒-๓๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

๓. เราเป็นผู้ประพฤติรังเกียจ(บาป) และเป็นผู้ประพฤติรังเกียจบาป
อย่างยอดเยี่ยม
๔. เราเป็นผู้ประพฤติสงัด และเป็นผู้ประพฤติสงัดอย่างยอดเยี่ยม

การบำเพ็ญตบะ

บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น พรหมจรรย์ในการบำเพ็ญตบะของเรา คือ
เราเคยเป็นอเจลก(ประพฤติเปลือยกาย) ไม่มีมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับ
อาหารก็ไม่ไป เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับอาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับ
อาหารที่เขาทำเจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ เรานั้นไม่รับอาหารจากปากหม้อ
ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหารคร่อม
ท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลังบริโภคอยู่
ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับอาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับ
อาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่
เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ
ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง เรานั้นรับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพ
ด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน ๒ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ
รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗ คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย
๑ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๒ ใบ ฯลฯ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย
๗ ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ วัน ฯลฯ
กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือการบริโภคอาหารตามวาระ ๑๕ วันต่อมื้อ
เช่นนี้ อยู่ด้วยประการอย่างนี้
เรานั้นกินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือยเป็นอาหาร
กินกากข้าวเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กินรำเป็นอาหาร กินข้าวตังเป็น
อาหาร กินกำยานเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กินมูลโคเป็นอาหาร กินเหง้า
และผลไม้ป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

เรานั้นนุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล
นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ นุ่งห่มหนังเสือ นุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ นุ่งห่มผ้าคากรอง
นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรอง นุ่งห่มผ้าผลไม้กรอง นุ่งห่มผ้ากัมพลผมมนุษย์ นุ่งห่ม
ผ้ากัมพลขนสัตว์ นุ่งห่มผ้าขนปีกนกเค้า เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือถือการถอน
ผมและหนวด ยืนอย่างเดียวไม่ยอมนั่ง เดินกระโหย่ง คือถือการเดินกระโหย่ง
ถือการนอนบนหนาม คือนอนบนที่นอนที่ทำด้วยหนาม ถือการอาบน้ำวันละ ๓
ครั้ง๑ ถือการย่างและการอบกายหลายรูปแบบเช่นนี้อยู่ด้วยประการอย่างนี้
นี้เป็นพรหมจรรย์ในการบำเพ็ญตบะของเรา

การประพฤติถือสิ่งเศร้าหมอง

[๑๕๖] บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น พรหมจรรย์ในการประพฤติถือสิ่ง
เศร้าหมองของเราดังนี้ คือ มลทินคือธุลีที่หมักหมมอยู่ในกาย(ของเรา)นับหลายปี
จนเป็นสะเก็ด ตอตะโกที่ตั้งอยู่นับหลายปี มีเปลือกแตกแยกจนเป็นสะเก็ด แม้ฉันใด
มลทินคือธุลีที่หมักหมมอยู่ในกายของเรานับหลายปีจนเกิดเป็นสะเก็ด ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน เรานั้นมิได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ถ้าอย่างไร เราควรปัดละอองธุลีนี้
ด้วยฝ่ามือ หรือคนเหล่าอื่นพึงปัดละอองธุลีนี้ของเราด้วยฝ่ามือ’ ความคิดแม้อย่าง
นี้มิได้มีแก่เรา
นี้เป็นพรหมจรรย์ในการประพฤติถือสิ่งเศร้าหมองของเรา

การประพฤติรังเกียจ

บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น พรหมจรรย์ในการประพฤติรังเกียจของเรา
ดังนี้ คือ เรานั้นมีสติก้าวไปข้างหน้า มีสติถอยกลับ ความเอ็นดูของเราปรากฏ
แม้กระทั่งในหยดน้ำว่า ‘เราอย่าได้ล้างผลาญสัตว์เล็ก ๆ ที่อยู่ในที่ต่าง ๆ เลย’
นี้เป็นพรหมจรรย์ในการประพฤติรังเกียจของเรา

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๓๙๔-๓๙๖/๑๖๔-๑๖๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

ความประพฤติเป็นผู้สงัด

บรรดาพรหมจรรย์มีองค์ ๔ นั้น พรหมจรรย์ในการประพฤติสงัดของเราดังนี้
คือ เรานั้นอาศัยชายป่าแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เมื่อใด เราได้พบคนเลี้ยงโค คนเลี้ยง
ปศุสัตว์ คนหาบหญ้า คนหาฟืน หรือคนทำงานในป่า๑ เมื่อนั้น เราเดินหนีจาก
ป่าหนึ่งไปยังป่าอีกแห่งหนึ่ง จากป่าทึบแห่งหนึ่งไปยังป่าทึบอีกแห่งหนึ่ง จากที่ลุ่ม
แห่งหนึ่งไปยังที่ลุ่มอีกแห่งหนึ่ง จากที่ดอนแห่งหนึ่งไปยังที่ดอนอีกแห่งหนึ่ง ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะเราคิดว่า ‘คนเหล่านั้นอย่าได้พบเรา และเราก็อย่าได้พบคน
เหล่านั้นเลย’
สัตว์ป่าเห็นพวกมนุษย์แล้วก็เตลิดหนีจากป่าแห่งหนึ่งไปยังป่าอีกแห่งหนึ่ง
จากป่าทึบแห่งหนึ่งไปยังป่าทึบอีกแห่งหนึ่ง จากที่ลุ่มแห่งหนึ่งไปยังที่ลุ่มอีกแห่งหนึ่ง
จากที่ดอนแห่งหนึ่งไปยังที่ดอนอีกแห่งหนึ่ง แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อใด
เราได้พบคนเลี้ยงโค คนเลี้ยงปศุสัตว์ คนหาบหญ้า คนหาฟืน หรือคนทำงานในป่า
เมื่อนั้น เราเดินหนี จากป่าแห่งหนึ่งไปยังป่าอีกแห่งหนึ่ง จากป่าทึบแห่งหนึ่งไป
ยังป่าทึบอีกแห่งหนึ่ง จากที่ลุ่มแห่งหนึ่งไปยังที่ลุ่มอีกแห่งหนึ่ง จากที่ดอนแห่งหนึ่ง
ไปยังที่ดอนอีกแห่งหนึ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราคิดว่า ‘คนเหล่านั้นอย่าได้
พบเราเลย และเราก็อย่าได้พบคนเหล่านั้นเลย’
นี้เป็นพรหมจรรย์ในการประพฤติเป็นผู้สงัดของเรา
เรานั้นคลานเข้าไปในคอกที่ฝูงโคออกไปแล้ว ไม่มีคนเลี้ยงโคอยู่ กินมูลโคของ
ลูกโคตัวอ่อนที่ยังดื่มนม และกินปัสสาวะ อุจจาระของตนเองนั่นแลตลอดเวลา
ที่ปัสสาวะ และอุจจาระยังไม่สิ้นไป
นี้เป็นพรหมจรรย์ในโภชนมหาวิกัฏ๒ของเรา
[๑๕๗] เรานั้นเข้าอาศัยแนวป่าน่ากลัวแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ ที่ว่าน่ากลัวนั้น
เพราะเป็นแนวป่าที่น่าสะพรึงกลัว ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งยังมีราคะเข้าไปยังแนวป่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ คนทำงานในป่า หมายถึงคนหาฟืน, รากไม้ และผลไม้ในป่าเป็นต้น (ม.มู.อ. ๑/๑๕๖/๓๖๘)
๒ โภชนมหาวิกัฏ หมายถึงอาหารที่สกปรก, ไม่สะอาด คือผิดปกติอย่างมาก (ม.มู.อ. ๑/๑๕๖/๓๖๘,
ม.มู.ฏีกา ๒/๑๕๖/๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

โดยมากย่อมขนพองสยองเกล้า เรานั้นอยู่ที่กลางแจ้งตลอดทั้งคืน ในราตรีที่
หนาวเหน็บ ซึ่งอยู่ระหว่างเดือน ๓ ต่อเดือน ๔ เป็นช่วงเวลาที่หิมะตกเห็นปานนั้น
(แต่) อยู่ในแนวป่าในเวลากลางวัน ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน เราอยู่ในที่แจ้งใน
เวลากลางวัน แต่อยู่ในแนวป่าในเวลากลางคืน คาถาน่าอัศจรรย์นี้เราไม่เคยได้ยิน
มาก่อน ปรากฏแก่เราว่า
‘มุนีผู้เสาะแสวงหาความหมดจด
อาบแดด อาบน้ำค้าง เปลือยกาย
ทั้งมิได้ผิงไฟ อยู่คนเดียว ในป่าที่น่ากลัว’
เรานอนแอบอิงกระดูกผีในป่าช้า พวกเด็กเลี้ยงโค เข้าใกล้เราแล้ว ถ่มน้ำลาย
รดบ้าง ถ่ายปัสสาวะรดบ้าง โปรยฝุ่นลงบ้าง เอาไม้ยอนที่ช่องหูบ้าง แต่เราไม่รู้สึก
เลยว่า มีอกุศลจิตเกิดขึ้นในเด็กเหล่านั้น
นี้เป็นพรหมจรรย์ในการอยู่ด้วยอุเบกขาของเรา

ลัทธิที่ว่าความบริสุทธิ์มีได้เพราะอาหาร

[๑๕๘] มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความ
บริสุทธิ์มีได้เพราะอาหาร’ พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราดำรงชีวิตอยู่ด้วยผล
พุทรา’ พวกเขาเคี้ยวกินพุทราผลหนึ่งบ้าง พุทราป่นบ้าง ดื่มน้ำผลพุทราบ้าง
บริโภคผลพุทราที่แปรรูปเป็นอาหารชนิดต่าง ๆ บ้าง แต่เราก็รู้ตัวว่า ‘กินผล
พุทราผลเดียวเท่านั้นเป็นอาหาร’ เธอคงจะคิดอย่างนี้ว่า ‘สมัยนั้น ผลพุทราคงจะ
ใหญ่เป็นแน่’ แต่เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น แม้ในกาลนั้น ผลพุทราก็มีขนาดเท่าในบัดนี้
เมื่อเรากินพุทราผลเดียวเท่านั้นเป็นอาหาร ร่างกายก็ซูบผอมเป็นอย่างมาก อวัยวะ
น้อยใหญ่ของเราเปรียบเหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมาก หรือมีข้อดำ เพราะมีอาหารน้อย
นั่นเอง ตะโพกของเราเปรียบเหมือนรอยเท้าอูฐ กระดูกสันหลังขึ้นเป็นปุ่ม ๆ เหมือน
เถาสะบ้า กระดูกซี่โครงเหลื่อมขึ้นเหลื่อมลง เหมือนกลอนศาลาเก่าเหลื่อมกันฉะนั้น
ดวงตากลวงลึกเข้าไปในเบ้าตา เหมือนเงาดวงดาวปรากฏในบ่อน้ำที่ลึกฉะนั้น หนังศีรษะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

ซึ่งถูกลมพัดแล้วก็เหี่ยวแห้งไป เปรียบเหมือนผลน้ำเต้าขมที่ถูกตัดแต่ยังอ่อน ถูกลม
และแดดแล้ว ย่อมเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น เพราะเรามีอาหารน้อยนั่นเอง เรานั้นคิดว่า
‘จักลูบหนังท้อง’ แต่คลำถูกกระดูกสันหลัง คิดว่า ‘จักลูบกระดูกสันหลัง’ แต่คลำ
ถูกหนังท้อง หนังท้องของเราติดกระดูกสันหลัง เรานั้นคิดว่า ‘จะถ่ายอุจจาระหรือ
ปัสสาวะ’ ก็ซวนเซล้มลง ณ ที่นั้นนั่นเอง เราเมื่อจะทำร่างกายให้สบายก็ลูบตัว
ด้วยฝ่ามือ เมื่อเราลูบตัวด้วยฝ่ามือ ขนทั้งหลายซึ่งมีรากเน่าก็หลุดร่วงจากกาย
เพราะเรามีอาหารน้อยนั่นเอง
[๑๕๙] สารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘ความบริสุทธิ์มีได้เพราะอาหาร’ พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราดำรงชีวิตอยู่
ด้วยเมล็ดถั่วเขียว ฯลฯ พวกเราดำรงชีวิตอยู่ด้วยเมล็ดงา ฯลฯ พวกเราดำรงชีวิตอยู่
ด้วยข้าวสาร’ พวกเขาเคี้ยวกินข้าวสารบ้าง ปลายข้าวบ้าง ดื่มน้ำข้าวบ้าง บริโภค
ข้าวสารที่แปรรูปเป็นชนิดต่าง ๆ บ้าง แต่เรารู้ตัวว่า ‘กินข้าวสารเมล็ดเดียว
เท่านั้นเป็นอาหาร’ เธอคงจะคิดอย่างนี้ว่า ‘สมัยนั้น เมล็ดข้าวสารคงจะใหญ่เป็นแน่’
แต่เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น แม้ในกาลนั้น เมล็ดข้าวสารก็มีขนาดเท่าในบัดนี้ เมื่อเรา
กินข้าวสารเมล็ดเดียวเท่านั้นเป็นอาหาร ร่างกายก็ซูบผอมเป็นอย่างยิ่ง อวัยวะ
น้อยใหญ่ของเราเปรียบเหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมากและมีข้อดำ เพราะเรามีอาหารน้อย
นั่นเอง ตะโพกของเราเปรียบเหมือนรอยเท้าอูฐ กระดูกสันหลังขึ้นเป็นปุ่ม ๆ
เหมือนเถาสะบ้า กระดูกซี่โครงเหลื่อมขึ้นเหลื่อมลงเหมือนกลอนศาลาเก่าเหลื่อม
กันฉะนั้น ดวงตากลวงลึกเข้าไปในเบ้าตา ฯลฯ เปรียบเหมือนน้ำเต้าขม ฯลฯ’
เรานั้นคิดว่า ‘จักลูบหนังท้อง ฯลฯ จักถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ฯลฯ เราเมื่อ
จะทำร่างกายให้สบายก็ลูบตัวด้วยฝ่ามือ เมื่อเราลูบตัวด้วยฝ่ามือ ขนทั้งหลายซึ่ง
มีรากเน่าก็หลุดร่วงจากกาย เพราะเรามีอาหารน้อยนั่นเอง
เรามิได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์
แม้ด้วยการปฏิบัติอันประเสริฐนั้น ด้วยปฏิปทานั้น และด้วยการทรมานตนที่ทำได้
ยากนั้นเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุยังมิได้บรรลุปัญญาอันประเสริฐนี้ ซึ่งเรา
บรรลุแล้ว เป็นเครื่องนำออกคือนำสัตว์ออกไปจากทุกข์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ
สำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

ลัทธิที่ว่าความบริสุทธิ์มีได้เพราะสังสารวัฏเป็นต้น

[๑๖๐] สารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘ความบริสุทธิ์มีได้เพราะสังสารวัฏ‘(การเวียนว่ายตายเกิด) สังสารวัฏที่เราไม่เคย
ท่องเที่ยวไปโดยกาลช้านานนี้เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่าย นอกจากเทวโลกชั้นสุทธาวาส
หากเราพึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความบริสุทธิ์
มีได้เพราะความเกิด’ ความเกิดที่เราไม่เคยประสบโดยกาลช้านานนี้เป็นสิ่งที่หาได้
ไม่ง่าย นอกจากเทวโลกชั้นสุทธาวาส หากเราพึงเกิดในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เรา
ก็จะไม่พึงมาสู่โลกนี้อีก
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความบริสุทธิ์
มีได้เพราะอาวาส๑’ ที่ที่เราไม่เคยอยู่อาศัยแล้วโดยกาลช้านานนี้เป็นของหาได้ไม่ง่าย
นอกจากเทวโลกชั้นสุทธาวาส หากเราพึงอยู่ในเทวโลกชั้นสุทธาวาส เราก็จะไม่พึง
มาสู่โลกนี้อีก
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความบริสุทธิ์มี
ได้เพราะการบูชายัญ’ ยัญที่เราผู้เป็นขัตติยราชซึ่งได้รับมูรธาภิเษกแล้ว หรือเป็น
พราหมณมหาศาลไม่เคยบูชาแล้วโดยกาลช้านาน นี้เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่าย
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความบริสุทธิ์
มีได้เพราะการบำเรอไฟ’ ไฟที่เราผู้เป็นขัตติยราชซึ่งได้รับมูรธาภิเษกแล้ว หรือเป็น
พราหมณมหาศาล ไม่เคยบำเรอแล้วโดยกาลช้านาน นี้เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่าย

เชิงอรรถ :
๑ อาวาส ในที่นี้หมายถึงขันธ์ทั้งหลาย (ม.มู.อ. ๑/๑๖๐/๓๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๒. มหาสีหนาทสูตร

สัตว์ผู้ไม่ลุ่มหลง

[๑๖๑] มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘บุรุษ
หนุ่มผู้เจริญนี้ มีเกศาดำสนิท มีวัยหนุ่มแน่นเหมาะกับปฐมวัย มีปัญญาเฉลียวฉลาด
อย่างยิ่ง ต่อมา บุรุษหนุ่มผู้เจริญนี้ก็ชรา แก่ เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยไปโดยลำดับ
คือมีอายุ ๘๐ ปีบ้าง ๙๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง หลังจากนั้น เขาเสื่อมจากปัญญา
ความเฉลียวฉลาดนั้น ข้อนี้เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ก็บัดนี้ เราชรา แก่ เฒ่า ล่วงกาล
ผ่านวัยไปโดยลำดับ เรามีอายุ ๘๐ ปี สาวกบริษัท ๔ ของเราในธรรมวินัยนี้มีอายุ
๑๐๐ ปี เป็นอยู่ได้ ๑๐๐ ปี มีสติ มีคติ มีธิติ๑ อันยอดเยี่ยม และมีปัญญา
เฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง
นักแม่นธนูได้รับการฝึกหัด ช่ำชอง ชำนิชำนาญ เคยแสดงฝีมือมาแล้ว
พึงยิงงวงตาลทางด้านขวางให้ตกลงได้โดยไม่ยากด้วยลูกศรขนาดเบา แม้ฉันใด
สาวกบริษัท ๔ ของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีสติ มีคติ มีธิติอันยอดเยี่ยม
อย่างนี้ มีปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง
เธอทั้งหลายพึงถามปัญหาอิงสติปัฏฐาน ๔ กับเรา เราถูกถามแล้วจะพึงตอบ
แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงทรงจำคำที่เราตอบแล้วโดยแจ่มแจ้ง เธอทั้งหลาย
ไม่ควรถามเราเกินกว่า ๒ ครั้ง นอกจากเรื่องการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
การถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ การหลับ และการบรรเทาความเมื่อยล้า ธรรมบรรยาย
ของตถาคตนั้นไม่มีจบสิ้น บทและพยัญชนะของตถาคตนั้นไม่มีจบสิ้น ความแจ่มแจ้ง
แห่งปัญหาของตถาคตนั้นไม่มีจบสิ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น สาวกบริษัท ๔ ของเรานั้น
มีอายุ ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ได้ ๑๐๐ ปี เมื่อล่วง ๑๐๐ ปีไปก็จะพึงตาย แม้ถ้าเธอ

เชิงอรรถ :
๑ ที่ชื่อว่า มีสติ เพราะสามารถเล่าเรียนตั้ง ๑๐๐ บท ๑,๐๐๐ บท
ที่ชื่อว่า มีคติ เพราะสามารถทรงจำและรวบรวมเรียบเรียงไว้ได้
ที่ชื่อว่า มีธิติ เพราะมีความเพียรที่สามารถทำการสาธยายสิ่งที่เล่าเรียนมา ทรงจำมาไว้ได้ (ม.มู.อ.
๑/๑๖๑/๓๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๓. มหาทุกขักขันธสูตร

ทั้งหลายจักหามเราด้วยเตียงเล็ก ปัญญาความเฉลียวฉลาดของตถาคตย่อมไม่เป็น
อย่างอื่นไปได้ บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยถูกต้องจะพึงกล่าวคำนั้นกับเราเท่านั้นว่า ‘สัตว์
ผู้มีความไม่ลุ่มหลงเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วในโลกเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อ
สุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุข
แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

คำนิคม

[๑๖๒] ในสมัยนั้น ท่านพระนาคสมาละยืนถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์
ของพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น ท่านพระนาคสมาละได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ เพราะได้ฟังธรรมบรรยายนี้
ข้าพระองค์จึงเกิดขนลุกชูชันขึ้นแล้ว ธรรมบรรยายนี้ชื่ออะไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นาคสมาละ เพราะเหตุนั้น เธอจงจำไว้ว่า ‘ธรรม
บรรยายนี้ชื่อว่าโลมหังสนบรรยาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระนาคสมาละมีใจยินดีชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาสีหนาทสูตรที่ ๒ จบ

๓. มหาทุกขักขันธสูตร
ว่าด้วยกองทุกข์ สูตรใหญ่
ปัญหาของปริพาชก

[๑๖๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก
ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เวลานั้น ภิกษุเหล่านั้นได้มีความ
คิดว่า “ยังเช้าอยู่ที่จะเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ทางที่ดี พวกเราเข้าไปยัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๓. มหาทุกขักขันธสูตร

อารามของอัญเดียรถีย์ปริพาชกกันเถิด” แล้วพากันเข้าไปยังอารามของอัญเดียรถีย์
ปริพาชก แล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง
ณ ที่สมควร
อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกับหมู่ภิกษุนั้นว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
พระสมณโคดมบัญญัติการละกามทั้งหลาย แม้พวกเราก็บัญญัติการละกามทั้งหลาย
พระสมณโคดมบัญญัติการละรูปทั้งหลาย แม้พวกเราก็บัญญัติการละรูปทั้งหลาย
พระสมณโคดมบัญญัติการละเวทนาทั้งหลาย แม้พวกเราก็บัญญัติการละเวทนา
ทั้งหลาย ในข้อนี้ มีความแปลกกันอย่างไร มีความมุ่งหมายอย่างไร และมีการ
กระทำต่างกันอย่างไร ระหว่างการแสดงธรรมหรือการพร่ำสอนของพระสมณโคดม
กับการแสดงธรรมหรือการพร่ำสอนของพวกเรา”
ภิกษุเหล่านั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านคำที่อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นกล่าวแล้ว
ครั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านแล้วจึงลุกจากที่นั่งจากไปด้วยตั้งใจว่า “เราทั้งหลายจัก
ทราบเนื้อความแห่งคำกล่าวนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค”
[๑๖๔] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี กลับจาก
บิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เช้าวันนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ได้มีความคิดว่า ‘ยังเช้าอยู่ที่จะเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ทางที่ดี พวกเรา
เข้าไปยังอารามของอัญเดียรถีย์ปริพาชกกันเถิด’ จึงพากันเข้าไปยังอารามของ
อัญเดียรถีย์ปริพาชก แล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึง
กันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกับข้าพระองค์
ทั้งหลายว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมบัญญัติการละกามทั้งหลาย
แม้พวกเราก็บัญญัติการละกามทั้งหลาย พระสมณโคดมบัญญัติการละรูปทั้งหลาย
แม้พวกเราก็บัญญัติการละรูปทั้งหลาย พระสมณโคดมบัญญัติการละเวทนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๓. มหาทุกขักขันธสูตร

ทั้งหลาย แม้พวกเราก็บัญญัติการละเวทนาทั้งหลาย ในข้อนี้ มีความแปลกกัน
อย่างไร มีความมุ่งหมายอย่างไร และมีการกระทำต่างกันอย่างไร ระหว่างการ
แสดงธรรมหรือการพร่ำสอนของพระสมณโคดมกับการแสดงธรรมหรือการพร่ำสอน
ของพวกเรา’ ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ยินดี ไม่คัดค้านคำที่อัญเดียรถีย์ปริพาชก
เหล่านั้นกล่าวแล้ว ครั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านแล้วจึงลุกจากที่นั่งจากไปด้วยตั้งใจว่า
‘เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความแห่งคำกล่าวนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค”

คุณ โทษ และการสลัดออกไปจากกาม

[๑๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงกล่าวตอบ
พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้น อย่างนี้ว่า ‘อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ
อะไรเป็นการสลัดออกไปจากกามทั้งหลาย อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็น
การสลัดออกไปจากรูปทั้งหลาย อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการสลัดออกไป
จากเวทนาทั้งหลาย’ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกถูกเธอทั้งหลายถามอย่างนั้นแล้ว
จักไม่พอใจ และจักต้องถึงความคับแค้นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะข้อนั้น
มิใช่วิสัย ภิกษุทั้งหลาย ก็ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เมื่อเว้นตถาคต สาวกของตถาคต
หรือบุคคลฟังคำสั่งสอนของเราตถาคตเสียแล้ว เรายังไม่เห็นผู้ที่จะพึงทำจิตให้ยินดี
ตอบปัญหานี้ได้
[๑๖๖] ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นคุณแห่งกามทั้งหลาย
คือ กามคุณ ๕ ประการนี้
กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ...
๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๓. มหาทุกขักขันธสูตร

๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ...
๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
กามคุณมี ๕ ประการนี้แล
การที่สุข โสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการ นี้ชื่อว่าเป็นคุณแห่ง
กามทั้งหลาย
[๑๖๗] ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย
คือ กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีวิตด้วยการมีศิลปะใด คือ ด้วยการนับคะแนน
การคำนวณ การนับจำนวน การไถ การค้าขาย การเลี้ยงโค การยิงธนู การรับ
ราชการ หรือด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง อดทนต่อความหนาว ตรากตรำต่อ
ความร้อน เดือดร้อนเพราะสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน
(และ)ตายเพราะความหิวกระหาย แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็น
กองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด
เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน พากเพียร พยายามอยู่อย่างนี้ โภคสมบัติเหล่านั้น
ย่อมไม่สัมฤทธิผล เขาเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเพ้อว่า
‘ความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเราก็ไม่มีผลเลยหนอ’ แม้ข้อ
นี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ
มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน พากเพียร พยายามอยู่อย่างนี้ โภคสมบัติเหล่านั้น
ย่อมสัมฤทธิผล เขากลับเสวยทุกข์โทมนัสอันมีเหตุมาจากการรักษาโภคสมบัติเหล่านั้น
ว่า ‘ทำอย่างไร พระราชาจะไม่พึงริบโภคสมบัติทั้งหลายของเรา พวกโจรจะไม่พึง
ลักไป ไฟจะไม่พึงไหม้ น้ำจะไม่พึงพัดไป หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงแย่งไป’
เมื่อกุลบุตรนั้นรักษาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชาริบโภคสมบัตินั้นไปก็ดี พวกโจร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๓. มหาทุกขักขันธสูตร

ปล้นเอาไปก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดไปก็ดี ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักแย่งเอาไปก็ดี
เขาเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเพ้อว่า ‘สิ่งใดเคย
เป็นของเรา แม้สิ่งนั้นก็ไม่เป็นของเรา’
ภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะ
พึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะ
เหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
[๑๖๘] อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะ
กามเป็นเหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล พระราชาทรงวิวาทกับพระราชา
ก็ได้ กษัตริย์วิวาทกับกษัตริย์ก็ได้ พราหมณ์วิวาทกับพราหมณ์ก็ได้ คหบดีวิวาท
กับคหบดีก็ได้ มารดาวิวาทกับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับมารดาก็ได้ บิดาวิวาทกับ
บุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับบิดาก็ได้ พี่ชายน้องชายวิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ พี่ชาย
น้องชายวิวาทกับพี่สาวน้องสาวก็ได้ พี่สาวน้องสาววิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้
สหายวิวาทกับสหายก็ได้ ชนเหล่านั้นก่อการทะเลาะ ก่อการแก่งแย่ง และก่อการ
วิวาทกันในที่นั้น ทำร้ายกันและกันด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง
ด้วยศัสตราบ้าง ชนเหล่านั้นจึงเข้าถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง๑ แม้ข้อนี้
ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ
มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะกามเป็น
เหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายถือดาบและโล่ จับธนูพาดลูกศร
แล้ววิ่งเข้าสู่สงคราม ปะทะกันทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อพวกเขายิงลูกศรไปบ้าง พุ่งหอกไปบ้าง
กวัดแกว่งดาบฟันกันบ้าง ชนเหล่านั้นถูกลูกศรเสียบเอาบ้าง ถูกหอกแทงเอาบ้าง
ถูกดาบตัดศีรษะบ้าง ชนเหล่านั้นจึงเข้าถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อ
นี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ
มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๘๒/๒๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๓. มหาทุกขักขันธสูตร

อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะกามเป็น
เหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายถือดาบและโล่ จับธนูพาดลูกศร
แล้ววิ่งเข้าไปยังเชิงกำแพงที่ฉาบด้วยเปือกตมร้อน เมื่อพวกเขายิงลูกศรไปบ้าง พุ่ง
หอกไปบ้าง กวัดแกว่งดาบฟันกันบ้าง ชนเหล่านั้นถูกลูกศรเสียบเอาบ้าง ถูกหอก
แทงเอาบ้าง ถูกมูลโคร้อนรดบ้าง ถูกคราดสับบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะบ้าง ชน
เหล่านั้นจึงเข้าถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง
ภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะ
พึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะ
เหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
[๑๖๙] อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะ
กามเป็นเหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายตัดช่องย่องเบาบ้าง
ขโมยยกเค้าบ้าง ปล้นบ้านบ้าง ดักจี้ในทางเปลี่ยวบ้าง ละเมิดภรรยาผู้อื่นบ้าง พระ
ราชาก็รับสั่งให้จับเขาลงอาญาด้วยประการต่าง ๆ คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง เฆี่ยน
ด้วยหวายบ้าง ตีด้วยไม้พลองบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง
ตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและจมูกบ้าง วางก้อนเหล็กแดงบนศีรษะบ้าง
ถลกหนังศีรษะแล้วขัดให้ขาวเหมือนสังข์บ้าง เอาไฟยัดปากจนเลือดไหลเหมือน
ปากราหูบ้าง เอาผ้าพันตัวราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาบ้าง พันมือแล้วจุดไฟต่างคบบ้าง
ถลกหนังตั้งแต่คอถึงข้อเท้าให้ลุกเดินเหยียบหนังจนล้มลงบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึง
บั้นเอวทำให้มองดูเหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกและเข่า
แล้วเสียบหลาวทั้งห้าทิศเอาไฟเผาบ้าง ใช้เบ็ดเกี่ยวหนังเนื้อเอ็นออกมาบ้าง เฉือน
เนื้อออกเป็นแว่นๆ เหมือนเหรียญกษาปณ์บ้าง เฉือนหนัง เนื้อ เอ็นออกเหลือไว้
แต่กระดูกบ้าง ใช้หลาวแทงช่องหูให้ทะลุถึงกันบ้าง เสียบให้ติดดินแล้วจับเขาหมุน
ได้รอบบ้าง ทุบกระดูกให้แหลกแล้วถลกหนังออกเหลือไว้แต่กองเนื้อเหมือนตั่งใบไม้บ้าง
รดตัวด้วยน้ำมันที่กำลังเดือดพล่านบ้าง ให้สุนัขกัดกินจนเหลือแต่กระดูกบ้าง ให้นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๓. มหาทุกขักขันธสูตร

บนหลาวทั้งเป็นบ้าง ตัดศีรษะออกด้วยดาบบ้าง๑ ชนเหล่านั้นจึงเข้าถึงความตายบ้าง
ทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึง
เห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุ
แห่งกามทั้งหลายนั่นแล
อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะกามเป็น
เหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต
และมโนทุจริต ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว หลังจากตาย
แล้วย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ใน
สัมปรายภพ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุ
แห่งกามทั้งหลายนั่นแล
[๑๗๐] ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นการสลัดออกไปจากกามทั้งหลาย
คือ การกำจัดฉันทราคะ๒ การละฉันทราคะในกามทั้งหลาย นี้ชื่อว่าการ
สลัดออกไปจากกามทั้งหลาย
สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่รู้ชัดคุณแห่งกามทั้งหลายว่าเป็นคุณ
ไม่รู้ชัดโทษแห่งกามทั้งหลายว่าเป็นโทษ และไม่รู้ชัดการสลัดออกไปจากกาม
ทั้งหลายว่าเป็นการสลัดออกไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่พวก
เขาเหล่านั้นจักรอบรู้กามทั้งหลายเอง หรือจักชักชวนผู้อื่นเพื่อให้รู้อย่างนั้น และผู้
ปฏิบัติแล้วก็จักรอบรู้กามทั้งหลายได้ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งรู้
ชัดคุณแห่งกามทั้งหลายว่าเป็นคุณ รู้ชัดโทษแห่งกามทั้งหลายว่าเป็นโทษ และรู้ชัด
การสลัดออกไปจากกามทั้งหลายว่าเป็นการสลัดออกไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น
เป็นไปได้ที่พวกเขาเหล่านั้นจักรอบรู้กามทั้งหลายได้เอง หรือจักชักชวนผู้อื่นเพื่อให้รู้
อย่างนั้น และผู้ปฏิบัติตามแล้วก็จักรอบรู้กามทั้งหลายได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๕/๑๘๗-๑๘๘
๒ การกำจัดฉันทราคะ หมายถึงนิพพาน (ม.มู.อ. ๑/๑๗๐/๓๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๓. มหาทุกขักขันธสูตร

คุณ โทษ และการสลัดออกไปจากรูป

[๑๗๑] ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นคุณแห่งรูปทั้งหลาย
คือ กษัตริย์สาว พราหมณ์สาว หรือคหบดีสาว มีอายุ ๑๕ ปี หรือ
๑๖ ปี ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป ไม่ผอมเกินไป ไม่อ้วนเกินไป ไม่ดำเกินไป
ไม่ขาวเกินไป แม้ฉันใด ในสมัยนั้น หญิงสาวผู้นั้นย่อมเป็นผู้งดงาม เปล่งปลั่ง
อย่างยิ่ง ฉันนั้นมิใช่หรือ”
ภิกษุทั้งหลายพากันกราบทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การที่สุข โสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัย
ความงาม ความเปล่งปลั่ง นี้ชื่อว่าเป็นคุณแห่งรูปทั้งหลาย
อะไรเล่า เป็นโทษแห่งรูปทั้งหลาย
คือ บุคคลพึงเห็นสาวน้อยคนนั้นในโลกนี้โดยสมัยอื่นว่ามีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี
หรือ ๑๐๐ ปีโดยกำเนิด เป็นคนแก่ มีซี่โครงคดดังกลอนเรือน มีหลังงอ ถือไม้เท้า
เดินงก ๆ เงิ่น ๆ ไป กระสับกระส่าย ผ่านวัยไปแล้ว ฟันหัก ผมหงอก หัวโกร๋น
หัวล้าน หนังเหี่ยว มีตัวตกกระ เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง แต่ก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษก็ปรากฏชัดแล้วมิใช่หรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งรูปทั้งหลาย
อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นสาวน้อยคนนั้นซึ่งมีอาพาธ มีทุกข์ เจ็บหนัก
นอนจมปัสสาวะและอุจจาระของตน ต้องให้ผู้อื่นพยุงลุกขึ้น ต้องให้ผู้อื่นช่วยประคอง
เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่งแต่ก่อนนั้น
หายไปแล้ว โทษก็ปรากฏชัดแล้วมิใช่หรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งรูปทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๓. มหาทุกขักขันธสูตร

[๑๗๒] อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นสาวน้อยคนนั้นซึ่งเป็นซากศพที่เขา
ทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ว ๑ วันบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ที่ขึ้นพอง สีเขียวน่าเกลียด
น้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ความงดงาม
ความเปล่งปลั่งแต่ก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษก็ปรากฏชัดแล้วมิใช่หรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งรูปทั้งหลาย
อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นสาวน้อยคนนั้นซึ่งเป็นซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
ถูกกาจิกกินบ้าง แร้งทึ้งอยู่บ้าง นกตะกรุมจิกกินบ้าง สุนัขกัดกินอยู่บ้าง สุนัข
จิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง สัตว์เล็ก ๆ หลายชนิดกัดกินอยู่บ้าง เธอทั้งหลายเข้าใจ
ความข้อนั้นว่าอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่งแต่ก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษก็
ปรากฏชัดแล้วมิใช่หรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งรูปทั้งหลาย
อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นสาวน้อยคนนั้นซึ่งเป็นซากศพที่เขาทิ้งไว้ใน
ป่าช้า เป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด มีเส้นเอ็นผูกรัด ฯลฯ เป็นร่างกระดูก
ไม่มีเนื้อแต่เปื้อนเลือด มีเส้นเอ็นผูกรัด ฯลฯ เป็นร่างกระดูก ไม่มีเนื้อและเลือด
มีเส้นเอ็นผูกรัด ฯลฯ เป็นร่างกระดูก ไม่มีเส้นเอ็นผูกรัด กระจัดกระจายไปทั่วทุกทิศ
คือ กระดูกมืออยู่ทางหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่ทางหนึ่ง
กระดูกขาอยู่ทางหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางหนึ่ง กระดูกสันหลังอยู่ทางหนึ่ง
กระดูกซี่โครงอยู่ทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางหนึ่ง
กระดูกไหล่อยู่ทางหนึ่ง กระดูกคออยู่ทางหนึ่ง กระดูกคางอยู่ทางหนึ่ง กระดูกฟัน
อยู่ทางหนึ่ง หัวกะโหลกอยู่ทางหนึ่ง เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
ความงดงาม ความเปล่งปลั่งแต่ก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษก็ปรากฏชัดแล้วมิใช่หรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งรูปทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๓. มหาทุกขักขันธสูตร

อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นสาวน้อยคนนั้นซึ่งเป็นซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
เหลือแต่กระดูกสีขาว เปรียบเหมือนสังข์ ฯลฯ เหลือแต่ท่อนกระดูกเป็นกอง ๆ
ตกค้างมาแรมปี ฯลฯ เป็นกระดูกผุป่นเป็นผง เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่า
อย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่งแต่ก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษก็ปรากฏชัดแล้ว
มิใช่หรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งรูปทั้งหลาย
อะไรเล่า เป็นการสลัดออกไปจากรูปทั้งหลาย
คือ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในรูปทั้งหลาย นี้ชื่อว่าการสลัด
ออกไปจากรูปทั้งหลาย
สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ไม่รู้ชัดคุณแห่งรูปทั้งหลายว่าเป็นคุณ
ไม่รู้ชัดโทษแห่งรูปทั้งหลายว่าเป็นโทษ และไม่รู้ชัดการสลัดออกไปจากรูปทั้งหลาย
ว่าเป็นการสลัดออกไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเหล่า
นั้นจักรอบรู้รูปทั้งหลายได้เอง หรือจักชักชวนผู้อื่นเพื่อให้รู้อย่างนั้น และผู้ปฏิบัติ
ตามแล้วก็จักรอบรู้รูปทั้งหลายได้
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งรู้ชัดคุณแห่งรูป
ทั้งหลายว่าเป็นคุณ รู้ชัดโทษแห่งรูปทั้งหลายว่าเป็นโทษ และรู้ชัดการสลัดออกไป
จากรูปทั้งหลายว่าเป็นการสลัดออกไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น เป็นไปได้ที่พวก
เขาเหล่านั้นจักรอบรู้รูปทั้งหลายได้เอง หรือจักชักชวนผู้อื่นเพื่อให้รู้อย่างนั้น และ
ผู้ปฏิบัติตามแล้วก็จักรอบรู้รูปทั้งหลายได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๓. มหาทุกขักขันธสูตร

คุณ โทษ และการสลัดออกไปจากเวทนา

[๑๗๓] ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นคุณแห่งเวทนาทั้งหลาย
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุ
ปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ในสมัยใด ภิกษุสงัดจาก
กามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิด
จากวิเวกอยู่ ในสมัยนั้น เธอไม่คิดมุ่งเบียดเบียนตน ไม่คิดมุ่งเบียดเบียนผู้อื่น
ทั้งไม่คิดมุ่งเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ในสมัยนั้น เธอจึงเสวยเวทนาซึ่งไม่มีการเบียดเบียน
นั่นแล เรากล่าวว่าความไม่มุ่งเบียดเบียนกัน เป็นคุณแห่งเวทนาทั้งหลาย
อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานที่มีความ
ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่ ในสมัยใด เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน
ฯลฯ ในสมัยนั้น เธอย่อมไม่คิดมุ่งเบียดเบียนตน ฯลฯ เรากล่าวว่าความไม่คิด
มุ่งเบียดเบียนกัน เป็นคุณแห่งเวทนาทั้งหลาย
อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข’ ในสมัยใด เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา ฯลฯ ในสมัยนั้น
เธอย่อมไม่คิดมุ่งเบียดเบียนตน ฯลฯ เรากล่าวว่าความไม่คิดมุ่งเบียดเบียนกัน
เป็นคุณแห่งเวทนาทั้งหลาย
อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไป
ก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
ในสมัยใด เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุ
บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ ในสมัยนั้น เธอย่อมไม่คิดมุ่งเบียดเบียนตน ไม่คิดมุ่ง
เบียดเบียนผู้อื่น ทั้งไม่คิดมุ่งเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่าย
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าความไม่คิดมุ่งเบียดเบียนกัน เป็นคุณแห่งเวทนา
ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๓. มหาทุกขักขันธสูตร

[๑๗๔] ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นโทษแห่งเวทนาทั้งหลาย
คือ การที่เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้ชื่อว่า
โทษแห่งเวทนาทั้งหลาย
อะไรเล่า เป็นการสลัดออกไปจากเวทนาทั้งหลาย
คือ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในเวทนาทั้งหลายได้ นี้ชื่อว่าการ
สลัดออกไปจากเวทนาทั้งหลาย
สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่รู้ชัดคุณแห่งเวทนาทั้งหลายว่าเป็นคุณ
ไม่รู้ชัดโทษแห่งเวทนาทั้งหลายว่าเป็นโทษ และไม่รู้ชัดการสลัดออกไปจากเวทนา
ทั้งหลายว่าเป็นการสลัดออกไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่พวก
เขาเหล่านั้นจักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้เอง หรือจักชักชวนผู้อื่นเพื่อให้รู้อย่างนั้น
และผู้ปฏิบัติตามแล้วก็จักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งรู้ชัดคุณแห่งเวทนา
ทั้งหลายว่าเป็นคุณ รู้ชัดโทษแห่งเวทนาทั้งหลายว่าเป็นโทษ และรู้ชัดการสลัดออก
ไปจากเวทนาทั้งหลายว่าเป็นการสลัดออกไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น เป็นไปได้
ที่พวกเขาเหล่านั้นจักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้เอง หรือจักชักชวนผู้อื่นเพื่อให้รู้อย่าง
นั้น และผู้ปฏิบัติตามแล้วก็จักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาทุกขักขันธสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

๔. จูฬทุกขักขันธสูตร
ว่าด้วยกองทุกข์ สูตรเล็ก

[๑๗๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์
ในแคว้นสักกะ ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง
แล้วสิ้นกาลนานอย่างนี้ว่า ‘โลภะเป็นอุปกิเลสแห่งจิต โทสะเป็นอุปกิเลสแห่งจิต
โมหะเป็นอุปกิเลสแห่งจิต’ เมื่อเป็นเช่นนั้น บางคราว โลภธรรมยังครอบงำจิตของ
ข้าพระองค์ไว้ได้บ้าง โทสธรรมยังครอบงำจิตของข้าพระองค์ไว้ได้บ้าง โมหธรรม
ยังครอบงำจิตของข้าพระองค์ไว้ได้บ้าง ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ธรรมอะไร
เล่าที่ข้าพระองค์ยังละไม่ได้ในภายใน ซึ่งเป็นเหตุให้โลภธรรมยังครอบงำจิตของ
ข้าพระองค์ไว้ได้บ้าง โทสธรรมยังครอบงำจิตของข้าพระองค์ไว้ได้บ้าง โมหธรรมยัง
ครอบงำจิตของข้าพระองค์ไว้ได้บ้างเป็นครั้งคราว”
[๑๗๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหานามะ ธรรมในภายในนั้นแล เธอยัง
ละไม่ได้ ซึ่งเป็นเหตุให้โลภธรรมครอบงำจิตของเธอไว้ได้บ้าง โทสธรรมครอบงำจิต
ของเธอไว้ได้บ้าง โมหธรรมครอบงำจิตของเธอไว้ได้บ้างเป็นครั้งคราว ถ้าเธอจักละ
ธรรมในภายในนั้นได้แล้ว เธอก็จะไม่พึงอยู่ครองเรือน ไม่พึงบริโภคกาม แต่เพราะ
เธอละธรรมในภายในนั้นยังไม่ได้ เธอจึงยังอยู่ครองเรือน ยังบริโภคกาม
[๑๗๗] แม้หากอริยสาวกเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘กาม
ทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่’ ก็ตาม แต่
อริยสาวกนั้นก็ยังไม่บรรลุฌานที่มีปีติและสุข๑ที่ปราศจากกามทั้งหลาย ปราศจาก

เชิงอรรถ :
๑ ฌานที่มีปีติและสุข หมายถึงปฐมฌานและทุติยฌาน (ม.มู.อ. ๑/๑๗๗/๓๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

อกุศลธรรมทั้งหลาย หรือยังไม่บรรลุธรรมอื่นที่สงบกว่าฌานทั้ง ๒ นั้น ดังนั้น
เขาจึงชื่อว่า จะไม่เวียนมาหากามทั้งหลายอีกก็หาไม่๑ แต่เมื่อใด อริยสาวกเห็น
ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย
มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่’ อริยสาวกนั้น ย่อมบรรลุฌาน
ที่มีปีติและสุขที่ปราศจากกามทั้งหลาย ปราศจากอกุศลธรรมทั้งหลาย หรือบรรลุ
ธรรมอื่นที่สงบกว่าฌานทั้ง ๒ นั้น เมื่อนั้น เขาจึงชื่อว่าย่อมไม่เวียนมาหากาม
ทั้งหลายอีก
มหานามะ ก่อนการตรัสรู้ แม้เมื่อครั้งเราเป็นโพธิสัตว์ยังไม่ได้ตรัสรู้ เราก็
เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย
มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่’ ก็ตาม แต่เราก็ยังไม่บรรลุฌาน
ที่มีปีติและสุขที่ปราศจากกามทั้งหลาย ปราศจากอกุศลธรรมทั้งหลาย หรือยังไม่
บรรลุธรรมอื่นที่สงบกว่าฌานทั้ง ๒ นั้น ดังนั้นเราจึงปฏิญญาว่าชื่อว่าจะไม่เวียนมา
หากามทั้งหลายก็หาไม่ แต่เมื่อใด เราเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ
อย่างนี้ว่า ‘กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษ
ยิ่งใหญ่’ เราได้บรรลุฌานที่มีปีติและสุขที่ปราศจากกามทั้งหลาย ปราศจากอกุศล-
ธรรมทั้งหลาย หรือบรรลุธรรมอื่นที่สงบกว่าฌานทั้ง ๒ นั้น เมื่อนั้น เราจึง
ปฏิญญาว่า ไม่เวียนมาหากามทั้งหลายอีก

คุณแห่งกาม

[๑๗๘] มหานามะ อะไรเล่า เป็นคุณแห่งกามทั้งหลาย
กามคุณ ๕ ประการนี้
กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด

เชิงอรรถ :
๑ ไม่เวียนมาหากามทั้งหลายอีกก็หาไม่ หมายถึงยังจะต้องกลับมาหากามทั้งหลายได้อีก เพราะไม่มี
สมุจเฉทปหาน (ละได้เด็ดขาด) ด้วยมรรค ๒ (อนาคามิมรรคและอรหัตตมรรค) ทั้งนี้เพราะพระอริยสาวก
แม้จะบรรลุมรรค ๒ (โสดาปัตติมรรคและสกทาคามิมรรค) แล้ว แต่ก็ยังไม่บรรลุญาณหรือมรรคเบื้องสูง
(ม.มู.อ. ๑/๑๗๗/๓๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ...
๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ...
๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
กามคุณมี ๕ ประการนี้แล
การที่สุข โสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการ นี้ชื่อว่าเป็นคุณ
แห่งกามทั้งหลาย

โทษแห่งกาม

อะไรเล่า เป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย
คือ กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีวิตด้วยการประกอบศิลปะใด คือ ด้วยการนับ
คะแนน การคำนวณ การนับจำนวน การไถ การค้าขาย การเลี้ยงโค การยิงธนู
การรับราชการ หรือด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง อดทนต่อความหนาว ตรากตรำ
ต่อความร้อน เดือดร้อนเพราะสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน
(และ)ตายเพราะความหิวกระหาย แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็น
กองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด
เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน พากเพียร พยายามอยู่อย่างนี้ โภคสมบัติเหล่านั้น
ย่อมไม่สัมฤทธิผล เขาเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเพ้อว่า
‘ความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเราก็ไม่มีผลเลยหนอ’ แม้ข้อนี้
ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ
มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน พากเพียร พยายามอยู่อย่างนี้ โภคสมบัติเหล่านั้น
ย่อมไม่สัมฤทธิผล เขากลับเสวยทุกข์โทมนัสอันมีเหตุมาจากการรักษาโภคสมบัติ
เหล่านั้นว่า ‘ทำอย่างไร พระราชาจะไม่พึงริบโภคสมบัติทั้งหลายของเรา พวกโจร
จะไม่พึงลักไป ไฟจะไม่พึงไหม้ น้ำจะไม่พึงพัดไป หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่
พึงแย่งไป’ เมื่อกุลบุตรนั้นรักษาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชาริบโภคสมบัตินั้นไปก็ดี
พวกโจรปล้นเอาไปก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดไปก็ดี ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักแย่งเอาไปก็ดี
เขาเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเพ้อว่า ‘สิ่งใดเคย
เป็นของเรา แม้สิ่งนั้นก็ไม่เป็นของเรา’ แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย
เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด
เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะกามเป็น
เหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล พระราชาทรงวิวาทกับพระราชาก็ได้
กษัตริย์วิวาทกับกษัตริย์ก็ได้ พราหมณ์วิวาทกับพราหมณ์ก็ได้ คหบดีวิวาทกับ
คหบดีก็ได้ มารดาวิวาทกับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับมารดาก็ได้ บิดาวิวาทกับบุตรก็ได้
บุตรวิวาทกับบิดาก็ได้ พี่ชายน้องชายวิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ พี่ชายน้องชาย
วิวาทกับพี่สาวน้องสาวก็ได้ พี่สาวน้องสาววิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ สหายวิวาท
กับสหายก็ได้ ชนเหล่านั้นก่อการทะเลาะ ก่อการแก่งแย่ง และก่อการวิวาทกันใน
ที่นั้น ทำร้ายกันและกันด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วย
ศัสตราบ้าง ชนเหล่านั้นจึงเข้าถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่า
เป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็น
ต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะกามเป็น
เหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายถือดาบและโล่ จับธนูพาดลูกศร
แล้ววิ่งเข้าสู่สงครามปะทะกันทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อพวกเขายิงลูกศรไปบ้าง พุ่งหอกไปบ้าง
กวัดแกว่งดาบฟันกันบ้าง ชนเหล่านั้นถูกลูกศรเสียบเอาบ้าง ถูกหอกแทงเอาบ้าง
ถูกดาบตัดศีรษะบ้าง ชนเหล่านั้นจึงเข้าถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อนี้
ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกาม
เป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะกามเป็น
เหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายถือดาบและโล่ จับธนูพาดลูกศร
แล้ววิ่งเข้าไปยังเชิงกำแพงที่ฉาบด้วยเปือกตมร้อน เมื่อพวกเขายิงลูกศรไปบ้าง
พุ่งหอกไปบ้าง กวัดแกว่งดาบฟันกันบ้าง ชนเหล่านั้นถูกลูกศรเสียบเอาบ้าง ถูก
หอกแทงเอาบ้าง ถูกมูลโคร้อนรดบ้าง ถูกคราดสับบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะบ้าง
ชนเหล่านั้นจึงเข้าถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่ง
กามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ
มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะกามเป็น
เหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายตัดช่องย่องเบาบ้าง ขโมยยก
เค้าบ้าง ปล้นบ้านบ้าง ดักจี้ในทางเปลี่ยวบ้าง ละเมิดภรรยาผู้อื่นบ้าง พระราชา
ก็รับสั่งให้จับเขาลงอาญาด้วยประการต่าง ๆ คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง เฆี่ยนด้วย
หวายบ้าง ตีด้วยไม้พลองบ้าง ฯลฯ๑ เอาผ้าพันตัวราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาบ้าง
พันมือแล้วจุดไฟต่างคบบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงข้อเท้าให้ลุกเดินเหยียบหนังจน
ล้มลงบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงบั้นเอว ทำให้มองดูเหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง
สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกและเข่าแล้วเสียบหลาวทั้งห้าทิศเอาไฟเผาบ้าง ใช้เบ็ดเกี่ยว
หนัง เนื้อ เอ็นออกมาบ้าง เฉือนเนื้อออกเป็นแว่น ๆ เหมือนเหรียญกษาปณ์บ้าง
เฉือนหนัง เนื้อ เอ็นออกเหลือไว้แต่กระดูกบ้าง ใช้หลาวแทงช่องหูให้ทะลุถึงกันบ้าง
เสียบให้ติดดินแล้วจับหมุนได้รอบบ้าง ทุบกระดูกให้แหลกแล้วถลกหนังออกเหลือไว้
แต่กองเนื้อเหมือนตั่งใบไม้บ้าง รดตัวด้วยน้ำมันที่กำลังเดือดพล่านบ้าง ให้สุนัขกัด
กินจนเหลือแต่กระดูกบ้าง ให้นอนบนหลาวเหล็กทั้งเป็นบ้าง ตัดศีรษะออกด้วย
ดาบบ้าง ชนเหล่านั้นจึงถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็น
โทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็น
ต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล

เชิงอรรถ :
๑ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๑๖๙ (มหาทุกขักขันธสูตร) หน้า ๑๗๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะกามเป็น
เหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต
และมโนทุจริต ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว หลังจากตาย
แล้วย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย
เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด
เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล

ลัทธิของนิครนถ์

[๑๗๙] มหานามะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์
สมัยนั้น ณ ตำบลกาฬศิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ นิครนถ์เป็นจำนวนมากถือการยืนเป็น
วัตร ปฏิเสธการนั่ง เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดจากความพยายาม
ครั้งนั้น เราออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหานิครนถ์เหล่านั้นจนถึงตำบล
กาฬศิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ แล้วได้กล่าวกับนิครนถ์เหล่านั้นว่า ‘นิครนถ์ทั้งหลาย
ไฉนเล่า ท่านทั้งหลายจึงถือการยืนเป็นวัตร ปฏิเสธการนั่ง เสวยทุกขเวทนาอัน
แรงกล้า เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดจากความพยายาม’ เมื่อเรากล่าวอย่างนั้นแล้ว นิครนถ์
เหล่านั้นได้กล่าวกับเราว่า ‘ท่านผู้มีอายุ นิครนถ์ นาฏบุตรเป็นสัพพัญญู(ผู้รู้ทุกสิ่ง)
เห็นสิ่งทั้งปวง ปฏิญญาญาณทัสสนะ อย่างเบ็ดเสร็จว่า ‘เมื่อเราเดิน ยืน หลับ
และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะได้ปรากฏต่อเนื่องตลอดไป‘๑ นิครนถ์ นาฏบุตรนั้นกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘นิครนถ์ทั้งหลายผู้เจริญ บาปกรรมที่พวกท่านทำแล้วในกาลก่อนมีอยู่
พวกท่านจงสลัดบาปกรรมนั้นด้วยปฏิปทาที่ทำได้ยากอันเผ็ดร้อนนี้ ข้อที่ท่านทั้งหลาย
สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ ในกาลบัดนี้นั้น เป็นการไม่กระทำบาปกรรม
ต่อไป เพราะกรรมเก่าสิ้นสุดไปเพราะตบะ (การบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก) เพราะไม่ทำ
กรรมใหม่ จึงไม่ตกอยู่ใต้อำนาจ(แห่งกรรม)ต่อไป เพราะไม่เป็นไปตามอำนาจแห่งกรรม
ต่อไป กรรมจึงสิ้นไป เพราะกรรมสิ้นไป ทุกข์จึงสิ้นไป เพราะทุกข์สิ้นไป เวทนาจึง
สิ้นไป เพราะเวทนาสิ้นไป ทุกข์ทั้งปวงจึงจักเป็นอันสลายไป คำที่นิครนถ์ นาฏบุตร
กล่าวแล้วนั้นถูกใจและชอบใจเราทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงมีใจยินดี’

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๓๘/๕๑๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

[๑๘๐] มหานามะ เมื่อพวกนิครนถ์กล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกับนิครนถ์
เหล่านั้นว่า ‘นิครนถ์ทั้งหลาย พวกท่านรู้ไหมว่า ‘เมื่อก่อน เราทั้งหลายได้มีแล้ว
มิใช่ไม่ได้มีแล้ว’
พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘ท่านพระโคดม ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น’
ตถาคตถามว่า ‘พวกท่านรู้ไหมว่า ‘เมื่อก่อน เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรมไว้
มิใช่ไม่ได้ทำไว้’
พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘ท่านพระโคดม ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น’
ตถาคตถามว่า ‘พวกท่านรู้ไหมว่า ‘เมื่อก่อน เราทั้งหลายได้ทำบาปกรรม
เช่นนี้บ้าง ๆ’
พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘ท่านพระโคดม ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น’
ตถาคตถามว่า ‘พวกท่านรู้ไหมว่า ‘เมื่อก่อน ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว
ทุกข์เท่านี้เราพึงสลัดเสีย หรือเมื่อเราสลัดทุกข์เท่านี้ได้แล้ว ก็จักเป็นอันสลัดทุกข์
ได้ทั้งหมด’
พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘ท่านพระโคดม ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น’
ตถาคตถามว่า ‘พวกท่านรู้จักการละอกุศลธรรมทั้งหลาย การบำเพ็ญกุศล-
ธรรมทั้งหลายในปัจจุบันหรือ’
พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘ท่านพระโคดม ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น’
ตถาคตถามว่า ‘ท่านนิครนถ์ทั้งหลาย ได้ยินมาว่า พวกท่านไม่รู้ว่า ‘เมื่อก่อน
เราทั้งหลายได้มีแล้ว มิใช่ไม่ได้มีแล้ว’ ไม่รู้ว่า ‘เมื่อก่อน เราได้ทำบาปกรรมไว้
มิใช่ไม่ได้ทำไว้’ ไม่รู้ว่า ‘เราได้ทำบาปกรรมเช่นนี้บ้าง ๆ’ ไม่รู้ว่า ‘ทุกข์เท่านี้เรา
สลัดได้แล้ว ทุกข์เท่านี้เราพึงสลัดเสีย หรือเมื่อเราสลัดทุกข์เท่านี้ได้แล้ว ก็จักเป็น
อันสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด’ ไม่รู้จักการละอกุศลธรรมทั้งหลาย การบำเพ็ญกุศลธรรม
ทั้งหลายในปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่บวชในพวกนิครนถ์ก็เฉพาะแต่พวกคนโหดร้าย
มีมือเปื้อนเลือด ทำกรรมชั่วช้า กลับมาเกิดในหมู่มนุษย์ในโลก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

บุคคลผู้อยู่เป็นสุข

พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘ท่านพระโคดม บุคคลมิใช่จะพึงประสบความสุขได้
ด้วยความสุข แต่จะพึงประสบความสุขได้ด้วยความทุกข์ ถ้าบุคคลจักประสบความ
สุขได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธก็คงจะประสบความสุข
เพราะพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธจะอยู่เป็นสุขกว่าท่านพระโคดม’
ตถาคตถามว่า ‘นิครนถ์ทั้งหลายกล่าววาจาหุนหันไม่ทันพิจารณาอย่างแน่แท้
ว่า ‘บุคคลมิใช่จะพึงประสบความสุขได้ด้วยความสุข แต่จะพึงประสบความสุขได้
ด้วยความทุกข์ ถ้าบุคคลจักประสบความสุขได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพแคว้นมคธก็คงจะประสบความสุข เพราะพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้น
มคธจะอยู่เป็นสุขยิ่งกว่าท่านพระโคดม’ แต่ว่าเราเท่านั้นที่พวกท่านควรซักถามในเนื้อ
ความนั้นว่า ‘บรรดาท่านทั้งหลาย ใครเล่าหนออยู่เป็นสุขกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพแคว้นมคธ หรือท่านพระโคดมเอง’
พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘พวกข้าพเจ้ากล่าววาจาหุนหันไม่ทันพิจารณาอย่างแน่
แท้ว่า ‘บุคคลมิใช่จะพึงประสบความสุขได้ด้วยความสุข แต่จะพึงประสบความสุข
ได้ด้วยความทุกข์ ถ้าบุคคลจักประสบความสุขได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพแคว้นมคธก็คงจะประสบความสุข เพราะพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้น
มคธจะอยู่เป็นสุขกว่าท่านพระโคดม’ ขอโอกาสหยุดเรื่องนี้ไว้เพียงเท่านี้ แม้บัดนี้
พวกข้าพเจ้าจะถามท่านพระโคดมบ้างว่า ‘บรรดาท่านทั้งหลาย ใครเล่าหนออยู่
เป็นสุขกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธ หรือท่านพระโคดมเอง’
ตถาคตถามว่า ‘ถ้าอย่างนั้น ในเนื้อความข้อนั้น เราจักถามพวกท่านนั่นแลว่า
‘พวกท่านเข้าใจอย่างใด ควรตอบอย่างนั้น พวกท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธไม่ทรงเคลื่อนไหวพระวรกาย ไม่มีพระดำรัส
สามารถเสวยสุขโดยส่วนเดียวอยู่ตลอด ๗ คืน ๗ วันหรือ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘ท่านพระโคดม ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น’
ตถาคตถามว่า ‘พวกท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร พระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพแคว้นมคธไม่ทรงเคลื่อนไหวพระวรกาย ไม่มีพระดำรัส สามารถเสวยสุข
โดยส่วนเดียวอยู่ตลอด ๖ คืน ๖ วัน ... ๕ คืน ๕ วัน ... ๔ คืน ๔ วัน ...
๓ คืน ๓ วัน ... ๒ คืน ๒ วัน พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธไม่ทรง
เคลื่อนไหวพระวรกาย ไม่มีพระดำรัส สามารถเสวยสุขโดยส่วนเดียวอยู่ตลอด ๑
คืน ๑ วันได้หรือ’
พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘ท่านพระโคดม ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น’
ตถาคตถามว่า ‘เราไม่เคลื่อนไหวกาย ไม่พูด สามารถเสวยสุขโดยส่วนเดียว
อยู่ตลอด ๑ คืน ๑ วัน ... ๒ คืน ๒ วัน ... ๓ คืน ๓ วัน ... ๔ คืน ๔
วัน ... ๕ คืน ๕ วัน ... ๖ คืน ๖ วัน เราไม่เคลื่อนไหวกาย ไม่พูด
สามารถเสวยสุขโดยส่วนเดียวอยู่ตลอด ๗ คืน ๗ วัน พวกท่านเข้าใจความข้อ
นั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจะอยู่เป็นสุขกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพแคว้นมคธหรือเราเอง’
พวกนิครนถ์ตอบว่า ‘เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพระโคดมเท่านั้น อยู่เป็นสุขกว่า
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพแคว้นมคธ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะทรงมีใจ
ยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬทุกขักขันธสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๕. อนุมานสูตร

๕. อนุมานสูตร
ว่าด้วยการเปรียบตนกับผู้อื่น
ธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก

[๑๘๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะ พำนักอยู่ ณ เภสกฬาวัน สถานที่
ให้อภัยแก่หมู่เนื้อ เขตกรุงสุงสุมารคิระ ในแคว้นภัคคะ ณ ที่นั้น ท่านพระมหา-
โมคคัลลานะ ได้เรียกภิกษุทั้งหลายมากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย” ภิกษุ
เหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าภิกษุปวารณาว่า ‘ขอท่านจงว่ากล่าวข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านควรว่ากล่าวได้’ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้ว่ายาก มีธรรมที่ทำให้เป็นผู้
ว่ายาก ไม่อดทน ไม่ยอมรับคำพร่ำสอนโดยเคารพ เมื่อเป็นเช่นนั้น เพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายย่อมเข้าใจภิกษุนั้นว่าเป็นผู้ไม่ควรว่ากล่าว ไม่ควรพร่ำสอน
และไม่ควรไว้วางใจ
ธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้มีความปรารถนาที่เป็นบาป ตกอยู่ในอำนาจแห่งความ
ปรารถนาที่เป็นบาป แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาที่เป็นบาป
ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาที่เป็นบาปนี้ ก็เป็นธรรมที่
ทำให้เป็นผู้ว่ายาก
๒. เป็นผู้ยกตน ข่มผู้อื่น แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ยกตน ข่มผู้อื่นนี้ ก็เป็น
ธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก
๓. เป็นผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำแล้ว แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มัก
โกรธ ถูกความโกรธครอบงำแล้วนี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๕. อนุมานสูตร

๔. เป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธเพราะความโกรธเป็นเหตุ แม้ข้อที่ภิกษุ
เป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธเพราะความโกรธเป็นเหตุนี้ ก็เป็นธรรมที่
ทำให้เป็นผู้ว่ายาก
๕. เป็นผู้มักโกรธ ระแวงจัดเพราะความโกรธเป็นเหตุ แม้ข้อที่ภิกษุ
เป็นผู้มักโกรธ ระแวงจัดเพราะความโกรธเป็นเหตุนี้ ก็เป็นธรรม
ที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก
๖. เป็นผู้มักโกรธ เปล่งวาจาใกล้ความโกรธ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มัก
โกรธ เปล่งวาจาใกล้ความโกรธนี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก
๗. ถูกโจทแล้วกลับโต้เถียงโจทก์ แม้ข้อที่ภิกษุถูกโจทแล้วกลับโต้
เถียงโจทก์นี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก
๘. ถูกโจทแล้วกลับรุกรานโจทก์ แม้ข้อที่ภิกษุถูกโจทแล้วกลับรุกราน
โจทก์นี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก
๙. ถูกโจทแล้วกลับปรักปรำโจทก์ แม้ข้อที่ภิกษุถูกโจทแล้วกลับ
ปรักปรำโจทก์นี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก
๑๐. ถูกโจทแล้วกลับพูดกลบเกลื่อน พูดนอกเรื่อง แสดงความโกรธ
ความประสงค์ร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏ แม้ข้อที่ภิกษุ
ถูกโจทแล้วกลับพูดกลบเกลื่อน พูดนอกเรื่อง แสดงความโกรธ
ความประสงค์ร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏนี้ ก็เป็นธรรมที่
ทำให้เป็นผู้ว่ายาก
๑๑. ถูกโจทแล้วไม่ยอมอธิบายพฤติกรรม(ของตน) แม้ข้อที่ภิกษุถูก
โจทแล้วไม่ยอมอธิบายพฤติกรรม(ของตน)นี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้
เป็นผู้ว่ายาก
๑๒. เป็นผู้ลบหลู่คุณท่าน ตีเสมอ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ลบหลู่คุณท่าน
ตีเสมอนี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก
๑๓. เป็นผู้ริษยา ตระหนี่ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ริษยา ตระหนี่นี้ ก็เป็น
ธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๕. อนุมานสูตร

๑๔. เป็นผู้โอ้อวด มีมารยา แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้โอ้อวด มีมารยานี้ ก็
เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก
๑๕. เป็นผู้กระด้าง มักดูหมิ่นผู้อื่น แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้กระด้าง มักดู
หมิ่นผู้อื่นนี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก
๑๖. เป็นผู้ถือความเห็นของตนเป็นใหญ่ ถือรั้น สลัดได้ยาก แม้ข้อที่
ภิกษุเป็นผู้ถือความเห็นของตนเป็นใหญ่ ถือรั้น สลัดได้ยากนี้
ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก
ธรรมเหล่านี้เรียกว่า ธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก

ธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย

[๑๘๒] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าภิกษุไม่ปวารณาไว้ว่า ‘ขอท่านจงว่ากล่าว
ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านควรว่ากล่าวได้’ แต่ภิกษุนั้นเป็นผู้ว่าง่าย มีธรรมที่ทำ
ให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน ยอมรับคำพร่ำสอนโดยเคารพ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายย่อมเข้าใจภิกษุนั้นว่า เป็นผู้ควรว่ากล่าว ควรพร่ำสอน และ
ควรไว้วางใจ
ธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ไม่มีความปรารถนาที่เป็นบาป ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความ
ปรารถนาที่เป็นบาป แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ไม่มีความปรารถนาที่
เป็นบาป ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาที่เป็นบาปนี้ ก็
เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
๒. เป็นผู้ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้
อื่นนี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
๓. เป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่ถูกความโกรธครอบงำ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้
ไม่มักโกรธ ไม่ถูกความโกรธครอบงำนี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้
ว่าง่าย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๕. อนุมานสูตร

๔. เป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธเพราะความโกรธเป็นเหตุ แม้ข้อที่
ภิกษุเป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธเพราะความโกรธเป็นเหตุนี้
ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
๕. เป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่ระแวงจัดเพราะความโกรธเป็นเหตุ แม้ข้อที่
ภิกษุเป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่ระแวงจัดเพราะความโกรธเป็นเหตุนี้
ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
๖. เป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่เปล่งวาจาใกล้ความโกรธ แม้ข้อที่ภิกษุเป็น
ผู้ไม่มักโกรธ ไม่เปล่งวาจาใกล้ความโกรธนี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้
เป็นผู้ว่าง่าย
๗. ถูกโจทแล้วไม่โต้เถียงโจทก์ แม้ข้อที่ภิกษุถูกโจทแล้วไม่โต้เถียงโจทก์นี้
ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
๘. ถูกโจทแล้วไม่รุกรานโจทก์ แม้ข้อที่ภิกษุถูกโจทแล้วไม่รุกรานโจทก์นี้
ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
๙. ถูกโจทแล้วไม่ปรักปรำโจทก์ แม้ข้อที่ภิกษุถูกโจทแล้วไม่ปรักปรำ
โจทก์นี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
๑๐. ถูกโจทแล้วไม่พูดกลบเกลื่อน ไม่พูดนอกเรื่อง ไม่แสดงความโกรธ
ความประสงค์ร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏ แม้ข้อที่ภิกษุ
ถูกโจทแล้วไม่พูดกลบเกลื่อน ไม่พูดนอกเรื่อง ไม่แสดงความโกรธ
ความประสงค์ร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏนี้ ก็เป็นธรรมที่
ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
๑๑. ถูกโจทแล้วยอมอธิบายพฤติกรรม(ของตน) แม้ข้อที่ภิกษุถูกโจท
แล้วยอมอธิบายพฤติกรรม(ของตน)นี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
๑๒. เป็นผู้ไม่ลบหลู่คุณท่าน ไม่ตีเสมอ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ไม่ลบหลู่
คุณท่าน ไม่ตีเสมอนี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
๑๓. เป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่นี้
ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๕. อนุมานสูตร

๑๔. เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มี
มารยานี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
๑๕. เป็นผู้ไม่กระด้าง ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ไม่กระด้าง
ไม่ดูหมิ่นผู้อื่นนี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
๑๖. เป็นผู้ไม่ถือความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่ถือรั้น สลัดได้ง่าย
แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ไม่ถือความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่ถือรั้น
สลัดได้ง่ายนี้ ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย
ธรรมเหล่านี้เรียกว่า ธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย

การอนุมานตนเอง

[๑๘๓] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ในธรรม ๑๖ ประการนั้น ภิกษุควรอนุมาน
ตนเอง๑ อย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีความปรารถนาที่เป็นบาป ตกอยู่ในอำนาจแห่งความ
ปรารถนาที่เป็นบาป ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงมีความ
ปรารถนาที่เป็นบาป ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาที่เป็นบาป เราก็คงไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่พอใจของคนเหล่าอื่น’ ภิกษุเมื่อรู้อย่างนี้ควรคิดว่า ‘เราจักไม่เป็นผู้มีความ
ปรารถนาที่เป็นบาป ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาที่เป็นบาป’
ภิกษุควรอนุมานตนเองอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ยกตนข่มผู้อื่นย่อมไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงเป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น เราก็คงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็น
ที่พอใจของคนเหล่าอื่น’ ภิกษุเมื่อรู้อย่างนี้ควรคิดว่า ‘เราจักไม่ยกตน จักไม่ข่มผู้อื่น’
ภิกษุควรอนุมานตนเองอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้มักโกรธ ถูกความโกรธครอบงำ
ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงเป็นผู้มักโกรธ ถูกความโกรธ
ครอบงำ เราก็คงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนเหล่าอื่น’ ภิกษุเมื่อรู้อย่างนี้
ควรคิดว่า ‘เราจักไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่ถูกความโกรธครอบงำ’

เชิงอรรถ :
๑ ควรอนุมานตนเอง หมายถึงภิกษุควรอนุมาน เปรียบเทียบ พิจารณาตนด้วยตนเองเท่านั้น (ม.มู.อ.
๑/๑๘๓/๓๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๕. อนุมานสูตร

ภิกษุควรอนุมานตนเองอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้มักโกรธ ผูกโกรธ เพราะความ
โกรธเป็นเหตุ ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงเป็นผู้มักโกรธ
ผูกโกรธเพราะความโกรธเป็นเหตุ เราก็คงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนเหล่าอื่น’
ภิกษุเมื่อรู้อย่างนี้ควรคิดว่า ‘เราจักไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ เพราะความโกรธ
เป็นเหตุ’
ภิกษุควรอนุมานตนเองอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้มักโกรธ ระแวงจัดเพราะความ
โกรธเป็นเหตุ ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงเป็นผู้มักโกรธ
ระแวงจัดเพราะความโกรธเป็นเหตุ เราก็คงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนเหล่าอื่น’
ภิกษุเมื่อรู้อย่างนี้ควรคิดว่า ‘เราจักไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่ระแวงจัดเพราะความโกรธ
เป็นเหตุ’
ภิกษุควรอนุมานตนเองอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้มักโกรธ เปล่งวาจาใกล้ความโกรธ
ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงเป็นผู้มักโกรธ เปล่งวาจาใกล้
ความโกรธ เราก็คงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนเหล่าอื่น’ ภิกษุเมื่อรู้อย่างนี้
ควรคิดว่า ‘เราจักไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่เปล่งวาจาใกล้ความโกรธ’
ภิกษุควรอนุมานตนเองอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ถูกโจทแล้วกลับโต้เถียงโจทก์
ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงถูกโจทแล้วกลับโต้เถียงโจทก์
เราก็คงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนเหล่าอื่น’ ภิกษุเมื่อรู้อย่างนี้ควรคิดว่า
‘เราถูกโจทแล้วจักไม่โต้เถียงโจทก์’
ภิกษุควรอนุมานตนเองอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ถูกโจทแล้วกลับรุกรานโจทก์
ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราถูกโจทแล้วกลับรุกรานโจทก์ เราก็
คงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนเหล่าอื่น’ ภิกษุเมื่อรู้อย่างนี้ควรคิดว่า ‘เราถูก
โจทแล้วจักไม่รุกรานโจทก์’
ภิกษุควรอนุมานตนเองอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ถูกโจทแล้วกลับปรักปรำโจทก์
ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงถูกโจทแล้วกลับปรักปรำโจทก์
เราก็คงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนเหล่าอื่น’ ภิกษุเมื่อรู้อย่างนี้ควรคิดว่า
‘เราถูกโจทแล้วจักไม่ปรักปรำโจทก์’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๕. อนุมานสูตร

ภิกษุควรอนุมานตนเองอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ถูกโจทแล้วกลับพูดกลบเกลื่อน
พูดนอกเรื่อง แสดงความโกรธ ความประสงค์ร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏ
ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราถูกโจทแล้วกลับพูดกลบเกลื่อน
พูดนอกเรื่อง แสดงความโกรธ ความประสงค์ร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏ
เราก็คงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนเหล่าอื่น’ ภิกษุเมื่อรู้อย่างนี้ควรคิดว่า
‘เราถูกโจทแล้วจักไม่พูดกลบเกลื่อน ไม่พูดนอกเรื่อง ไม่แสดงความโกรธ
ความประสงค์ร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏ’
ภิกษุควรอนุมานตนเองอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ถูกโจทแล้วไม่ยอมอธิบายพฤติกรรม
(ของตน) ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงถูกโจทแล้วไม่ยอม
อธิบายพฤติกรรม(ของตน) เราก็คงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนเหล่าอื่น’ ภิกษุ
เมื่อรู้อย่างนี้ควรคิดว่า ‘เราถูกโจทแล้วจักยอมอธิบายพฤติกรรม(ของตน)’
ภิกษุควรอนุมานตนเองอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ลบหลู่คุณท่าน ตีเสมอ ย่อมไ่ม่
เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงเป็นผู้ลบหลู่คุณท่าน ตีเสมอ เราก็
คงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนเหล่าอื่น’ ภิกษุเมื่อรู้อย่างนี้ควรคิดว่า ‘เราจัก
ไม่เป็นผู้ลบหลู่คุณท่าน ไม่ตีเสมอ’
ภิกษุควรอนุมานตนเองอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ริษยา ตระหนี่ ย่อมไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงเป็นผู้ริษยา ตระหนี่ เราก็คงไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่พอใจของคนเหล่าอื่น’ ภิกษุเมื่อรู้อย่างนี้ควรคิดว่า ‘เราจักไม่ริษยา
ไม่ตระหนี่’
ภิกษุควรอนุมานตนเองอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้โอ้อวด มีมารยา ย่อมไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงเป็นผู้โอ้อวด มีมารยา เราก็คงไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่พอใจของคนเหล่าอื่น’ ภิกษุเมื่อรู้อย่างนี้ควรคิดว่า ‘เราจักเป็นผู้ไม่โอ้อวด
ไม่มีมารยา’
ภิกษุควรอนุมานตนเองอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้กระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่น ย่อมไม่เป็น
ที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงเป็นผู้กระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่น เราก็คงไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่พอใจของคนเหล่าอื่น’ ภิกษุเมื่อรู้อย่างนี้ควรคิดว่า ‘เราจักเป็นผู้ไม่กระด้าง
ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๕. อนุมานสูตร

ภิกษุควรอนุมานตนเองอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ถือความเห็นของตนเป็นใหญ่
ถือรั้น สลัดได้ยาก ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา ถ้าเราจะพึงถือความ
เห็นของตนเป็นใหญ่ ถือรั้น สลัดได้ยาก เราก็คงไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของ
คนเหล่าอื่น’ ภิกษุเมื่อรู้อย่างนี้ควรคิดว่า ‘เราจักไม่ถือความเห็นของตนเป็นใหญ่
ไม่ถือรั้น จักเป็นผู้สลัดได้ง่าย’

การพิจารณาตนเอง

[๑๘๔] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ในธรรม ๑๖ ประการนั้น ภิกษุควรพิจารณา
ตนเองอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มีความปรารถนาที่เป็นบาป ตกอยู่ในอำนาจแห่งความ
ปรารถนาที่เป็นบาปจริงหรือ’ ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มีความ
ปรารถนาที่เป็นบาป ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาที่เป็นบาปจริง’ ภิกษุนั้น
ควรพยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย แต่ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า
‘เรามิใช่ผู้มีความปรารถนาที่เป็นบาป มิใช่ผู้ตกอยู่ในอำนาจแห่งความปรารถนาที่เป็น
บาป’ ภิกษุนั้นผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน พึงอยู่
ด้วยปีติและปราโมทย์โดยแท้
อีกประการหนึ่ง ภิกษุควรพิจารณาตนเองอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น
จริงหรือ’ ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่นจริง’ ภิกษุนั้นควร
พยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย แต่ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เรา
เป็นผู้ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเลย’ ภิกษุนั้นผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องในกุศลธรรมทั้งหลาย
ทั้งกลางวันกลางคืน พึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์โดยแท้
อีกประการหนึ่ง ภิกษุควรพิจารณาตนเองอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มักโกรธ ถูกความ
โกรธครอบงำจริงหรือ’ ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มักโกรธ ถูกความโกรธ
ครอบงำจริง’ ภิกษุนั้นควรพยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย แต่ถ้า
พิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่ถูกความโกรธครอบงำ’ ภิกษุนั้น
ผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน พึงอยู่ด้วยปีติและ
ปราโมทย์โดยแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๕. อนุมานสูตร

อีกประการหนึ่ง ภิกษุควรพิจารณาตนเองอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มักโกรธ
ผูกโกรธเพราะความโกรธเป็นเหตุจริงหรือ’ ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็น
ผู้มักโกรธ ผูกโกรธเพราะความโกรธเป็นเหตุจริง’ ภิกษุนั้นควรพยายามเพื่อละ
บาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย แต่ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ไม่มักโกรธ
ไม่ผูกโกรธเพราะความโกรธเป็นเหตุ’ ภิกษุนั้นผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องในกุศลธรรม
ทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน พึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์โดยแท้
อีกประการหนึ่ง ภิกษุควรพิจารณาตนเองอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มักโกรธ
ระแวงจัดเพราะความโกรธเป็นเหตุจริงหรือ’ ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้
มักโกรธ ระแวงจัดเพราะความโกรธเป็นเหตุจริง’ ภิกษุนั้นควรพยายามเพื่อละ
บาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย แต่ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ไม่มักโกรธ
ไม่ระแวงจัดเพราะความโกรธเป็นเหตุ’ ภิกษุนั้นผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องในกุศลธรรม
ทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน พึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์โดยแท้
อีกประการหนึ่ง ภิกษุควรพิจารณาตนเองอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มักโกรธ
เปล่งวาจาใกล้ความโกรธจริงหรือ’ ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มักโกรธ
เปล่งวาจาใกล้ความโกรธจริง’ ภิกษุนั้นควรพยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านี้
เสีย แต่ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่เปล่งวาจาใกล้ความโกรธ’
ภิกษุนั้นผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน พึงอยู่ด้วย
ปีติและปราโมทย์โดยแท้
อีกประการหนึ่ง ภิกษุควรพิจารณาตนเองอย่างนี้ว่า ‘เราถูกโจทแล้ว
กลับโต้เถียงโจทก์จริงหรือ’ ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราถูกโจทแล้วกลับโต้เถียง
โจทก์จริง’ ภิกษุนั้นควรพยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย แต่ถ้า
พิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราถูกโจทแล้วไม่โต้เถียงโจทก์’ ภิกษุนั้นผู้ศึกษาอย่างต่อ
เนื่องในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน พึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์โดยแท้
อีกประการหนึ่ง ภิกษุควรพิจารณาตนเองอย่างนี้ว่า ‘เราถูกโจทแล้วกลับ
รุกรานโจทก์จริงหรือ’ ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราถูกโจทแล้วกลับรุกราน
โจทก์จริง’ ภิกษุนั้นควรพยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย แต่ถ้า
พิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราถูกโจทแล้วไม่รุกรานโจทก์’ ภิกษุนั้นผู้ศึกษาอย่างต่อ
เนื่องในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน พึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์โดยแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๕. อนุมานสูตร

อีกประการหนึ่ง ภิกษุควรพิจารณาตนเองอย่างนี้ว่า ‘เราถูกโจทแล้วกลับ
ปรักปรำโจทก์จริงหรือ’ ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราถูกโจทแล้วกลับปรักปรำ
โจทก์จริง’ ภิกษุนั้นควรพยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย แต่ถ้า
พิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราถูกโจทแล้วไม่ปรักปรำโจทก์’ ภิกษุนั้นผู้ศึกษาอย่าง
ต่อเนื่องในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน พึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์
โดยแท้
อีกประการหนึ่ง ภิกษุควรพิจารณาตนเองอย่างนี้ว่า ‘เราถูกโจทแล้วกลับพูด
กลบเกลื่อน พูดนอกเรื่อง แสดงความโกรธ ความประสงค์ร้าย และความไม่เชื่อฟัง
ให้ปรากฏจริงหรือ’ ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราถูกโจทแล้วกลับพูดกลบเกลื่อน
พูดนอกเรื่อง แสดงความโกรธ ความประสงค์ร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏจริง’
ภิกษุนั้นควรพยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย แต่ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่าง
นี้ว่า ‘เราถูกโจทแล้วไม่พูดกลบเกลื่อน ไม่พูดนอกเรื่อง ไม่แสดงความโกรธ
ความประสงค์ร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏ’ ภิกษุนั้นผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องใน
กุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน พึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์โดยแท้
อีกประการหนึ่ง ภิกษุควรพิจารณาตนเองอย่างนี้ว่า ‘เราถูกโจทแล้ว ไม่ยอม
อธิบายพฤติกรรม(ของตน)จริงหรือ’ ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราถูกโจทแล้ว
ไม่ยอมอธิบายพฤติกรรม(ของตน)จริง’ ภิกษุนั้นควรพยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรม
เหล่านั้นเสีย แต่ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราถูกโจทแล้วยอมอธิบายพฤติกรรม
(ของตน)’ ภิกษุนั้นผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน
พึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์โดยแท้
อีกประการหนึ่ง ภิกษุควรพิจารณาตนเองอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ลบหลู่คุณท่าน
ตีเสมอจริงหรือ’ ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ลบหลู่คุณท่าน ตีเสมอจริง’
ภิกษุนั้นควรพยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย แต่ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่าง
นี้ว่า ‘เราเป็นผู้ไม่ลบหลู่คุณท่าน ไม่ตีเสมอ’ ภิกษุนั้นผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องใน
กุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน พึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์โดยแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๕. อนุมานสูตร

อีกประการหนึ่ง ภิกษุควรพิจารณาตนเองอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ริษยา ตระหนี่
จริงหรือ’ ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ริษยา ตระหนี่จริง’ ภิกษุนั้นควร
พยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย แต่ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็น
ผู้ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่’ ภิกษุนั้นผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวัน
กลางคืน พึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์โดยแท้
อีกประการหนึ่ง ภิกษุควรพิจารณาตนเองอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้โอ้อวด มีมารยา
จริงหรือ’ ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้โอ้อวด มีมารยาจริง’ ภิกษุนั้นควร
พยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย แต่ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เรา
เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา’ ภิกษุนั้นผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องในกุศลธรรมทั้งหลาย
ทั้งกลางวันกลางคืน พึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์โดยแท้
อีกประการหนึ่ง ภิกษุควรพิจารณาตนเองอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้กระด้าง ดูหมิ่น
ผู้อื่นจริงหรือ’ ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้กระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่นจริง’
ภิกษุนั้นควรพยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย แต่ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่าง
นี้ว่า ‘เราเป็นผู้ไม่กระด้าง ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น’ ภิกษุนั้นผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องในกุศลธรรม
ทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน พึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์โดยแท้
อีกประการหนึ่ง ภิกษุควรพิจารณาตนเองอย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ถือความเห็น
ของตนเป็นใหญ่ ถือรั้น สลัดได้ยากจริงหรือ’ ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็น
ผู้ถือความเห็นของตนเป็นใหญ่ ถือรั้น สลัดได้ยากจริง’ ภิกษุนั้นควรพยายามเพื่อ
ละบาปอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย แต่ถ้าพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ‘เราเป็นผู้ไม่ถือ
ความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่ถือรั้น สลัดได้ง่าย’ ภิกษุนั้นผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องใน
กุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน พึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์โดยแท้
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมเห็นชัดบาปอกุศลธรรมเหล่านี้แม้ทั้งหมดซึ่งยังละ
ไม่ได้ในตน ภิกษุนั้นควรพยายามเพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านี้ทั้งหมดนั่นแล แต่ถ้า
พิจารณาอยู่ ย่อมเห็นชัดบาปอกุศลธรรมเหล่านี้ทั้งหมดซึ่งละได้แล้วในตน ภิกษุ
นั้นผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่องในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน พึงอยู่ด้วยปีติ
และปราโมทย์โดยแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๖. เจโตขีลสูตร

ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สตรีหรือบุรุษแรกรุ่นชอบแต่งตัว ส่องดูใบหน้าของตน
ในกระจกเงา หรือในภาชนะน้ำใสสะอาดบริสุทธิ์ ถ้าพบไฝหรือฝ้าที่ใบหน้านั้นย่อม
พยายามที่จะกำจัดไฝหรือฝ้านั้นนั่นแล หากไม่พบก็จะพอใจว่า ‘เป็นโชคของเรา
จริง ๆ ใบหน้าของเราหมดจด’ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพิจารณาอยู่
ย่อมเห็นชัดบาปอกุศลธรรมเหล่านี้แม้ทั้งหมดที่ยังละไม่ได้ ภิกษุนั้นควรพยายาม
เพื่อละบาปอกุศลธรรมเหล่านี้แม้ทั้งหมดนั่นแล ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมเห็นชัด
บาปอกุศลธรรมเหล่านี้แม้ทั้งหมดที่ละได้แล้วในตน ภิกษุนั้นผู้ศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ในกุศลธรรมทั้งหลายทั้งกลางวันกลางคืน พึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์โดยแท้”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชม
ภาษิตของท่านพระมหาโมคคัลลานะ ดังนี้แล

อนุมานสูตรที่ ๕ จบ

๖. เจโตขีลสูตร๑
ว่าด้วยกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู

[๑๘๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ
ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยังละไม่ได้ กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
ยังตัดไม่ขาด เธอจักถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดู องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๒๐๕-๒๐๖/๓๔๗-๓๕๐, องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๗๑-๗๒/๕๕๕-๕๕๘, องฺ.ทสก.
(แปล) ๒๔/๑๔/๒๒-๒๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๖. เจโตขีลสูตร

กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นยังละไม่ได้ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในศาสดา๑ จิตของ
ภิกษุผู้เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในศาสดานั้น
ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำ
ต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู
ประการที่ ๑ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อ
ประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังละไม่ได้
๒. เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในธรรม ฯลฯ
นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๒ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่
น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง
เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังละไม่ได้
๓. เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในสงฆ์ ฯลฯ นี้
เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๓ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อม
ไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง
เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังละไม่ได้
๔. เคลือบแคลง สงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในสิกขา(ข้อที่จะ
ต้องศึกษา) ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๔
ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อ
กระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังละไม่ได้
๕. เป็นผู้โกรธ ไม่พอใจ มีจิตถูกโทสะ(ความคิดประทุษร้าย)กระทบ
มีจิตแข็งกระด้างในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้โกรธ
ไม่พอใจ มีจิตถูกโทสะกระทบ มีจิตแข็งกระด้างในเพื่อนพรหมจารี

เชิงอรรถ :
๑ ไม่เลื่อมใสในศาสดา ในที่นี้หมายถึงไม่เชื่อว่าพระสรีระของพระพุทธเจ้าประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒
ประการ ไม่เชื่อพระสัพพัญญุตญาณของพระพุทธเจ้าที่สามารถรู้อดีต อนาคต และปัจจุบัน (องฺ.ปญฺจก.อ.
๓/๒๐๕/๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๖. เจโตขีลสูตร

ทั้งหลายนั้น ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ
เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิต
ดุจตะปูประการที่ ๕ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร
เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังละ
ไม่ได้
เหล่านี้ เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นยังละไม่ได้
[๑๘๖] กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นยังตัดไม่ขาด อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจ ไม่
ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจาก
ความเร่าร้อน ไม่ปราศจากความทะยานอยากในกาม จิตของ
ภิกษุผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจากความพอใจ ไม่
ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจาก
ความเร่าร้อน ไม่ปราศจากความทะยานอยากในกามนั้น ย่อม
ไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อ
เนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจประการที่ ๑ ที่
ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อ
กระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังตัดไม่ขาด
๒. เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในกาย ฯลฯ นี้เป็นกิเลส
เครื่องผูกใจประการที่ ๒ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร
เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังตัด
ไม่ขาด
๓. เป็นผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัดในรูป ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่อง
ผูกใจประการที่ ๓ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อ
ประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังตัด
ไม่ขาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๖. เจโตขีลสูตร

๔. ฉันอาหารตามความต้องการจนอิ่มเกินไป ประกอบความสุขใน
การนอน ความสุขในการนอนเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่
ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจประการที่ ๔ ที่ภิกษุผู้มีจิตไม่น้อม
ไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง
เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังตัดไม่ขาด
๕. ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง
ว่า ‘ด้วยศีล วัตร ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทพหรือ
เทพตนใดตนหนึ่ง’ จิตของภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความ
ปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ‘ด้วยศีล วัตร ตบะ หรือ
พรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทพหรือเทพตนใดตนหนึ่ง’ ย่อมไม่น้อม
ไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อ
บำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจประการที่ ๕ ที่ภิกษุผู้มีจิต
ไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง
เพื่อบำเพ็ญเพียร ยังตัดไม่ขาด
เหล่านี้ เป็นกิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นยังตัดไม่ขาด
ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการนี้
ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยังละไม่ได้ กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการนี้ ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
ยังตัดไม่ขาด เธอจักถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
[๑๘๗] ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ
ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งละได้แล้ว กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
ตัดขาดแล้ว เธอจักถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นละได้แล้ว อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในศาสดา จิตของ
ภิกษุผู้ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในศาสดานั้น
ย่อมน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำ
ต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๖. เจโตขีลสูตร

ประการที่ ๑ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบ
เนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ละได้แล้ว
๒. ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในธรรม ฯลฯ นี้เป็น
กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๒ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อ
ความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อ
บำเพ็ญเพียร ละได้แล้ว
๓. ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในสงฆ์ ฯลฯ นี้เป็น
กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๓ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อ
ความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อ
บำเพ็ญเพียร ละได้แล้ว
๔. ไม่เคลือบแคลงสงสัย น้อมใจเชื่อ เลื่อมใสในสิกขา ฯลฯ นี้เป็น
กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปูประการที่ ๔ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อ
ความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อ
บำเพ็ญเพียร ละได้แล้ว
๕. เป็นผู้ไม่โกรธ พอใจ มีจิตไม่ถูกโทสะกระทบ มีจิตไม่แข็งกระด้าง
ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย จิตของภิกษุผู้ไม่โกรธ พอใจ มีจิต
ไม่ถูกโทสะกระทบ มีจิตไม่แข็งกระด้างในเพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายนั้น ย่อมน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ
เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิต
ดุจตะปูประการที่ ๕ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อ
ประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ละได้แล้ว
เหล่านี้ เป็นกิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นละได้แล้ว
[๑๘๘] กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นตัดขาดแล้ว อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจาก
ความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน
ปราศจากความทะยานอยากในกาม จิตของภิกษุผู้ปราศจากความ
กำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๖. เจโตขีลสูตร

กระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากความทะยาน
อยากในกาม ย่อมน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ
เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจ
ประการที่ ๑ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบ
เนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ตัดขาดแล้ว
๒. เป็นผู้ปราศจากความกำหนัดในกาย ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจ
ประการที่ ๒ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบ
เนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ตัดขาดแล้ว
๓. เป็นผู้ปราศจากความกำหนัดในรูป ฯลฯ นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจ
ประการที่ ๓ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบ
เนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ตัดขาดแล้ว
๔. ฉันอาหารตามต้องการจนอิ่มแล้ว ไม่ประกอบความสุขในการนอน
ความสุขในการนอนเอกเขนก ความสุขในการหลับอยู่ ฯลฯ นี้เป็น
กิเลสเครื่องผูกใจประการที่ ๔ ที่ภิกษุผู้มีจิตน้อมไปเพื่อความเพียร
เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ตัดขาดแล้ว
๕. ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใด
หมู่หนึ่งว่า ‘ด้วยศีล วัตร ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็น
เทพหรือเทพตนใดตนหนึ่ง’ จิตของภิกษุผู้ไม่ประพฤติพรหมจรรย์
ด้วยความปรารถนาเป็นเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ‘ด้วยศีล วัตร
ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทพหรือเทพตนใดตนหนึ่ง’
ย่อมน้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อกระทำ
ต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร นี้เป็นกิเลสเครื่องผูกใจประการที่ ๕
ที่ภิกษุผู้น้อมจิตไปเพื่อความเพียร เพื่อประกอบเนือง ๆ เพื่อ
กระทำต่อเนื่อง เพื่อบำเพ็ญเพียร ตัดขาดแล้ว
เหล่านี้ เป็นกิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการ ที่ภิกษุนั้นตัดขาดแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๖. เจโตขีลสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่กิเลสเครื่องตรึงจิตดุจตะปู ๕ ประการนี้ ที่ภิกษุ
รูปใดรูปหนึ่งละได้แล้ว กิเลสเครื่องผูกใจ ๕ ประการนี้ ที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตัด
ขาดแล้ว เธอจักถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้

อุปมาด้วยแม่ไก่ฟักไข่

[๑๘๙] ภิกษุนั้น เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร๑
เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วย
จิตตสมาธิปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทที่ประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร มี
ความเพียรยิ่งเป็นที่ ๕ ภิกษุผู้มีองค์ ๑๕๒ รวมทั้งความเพียรอันยิ่งอย่างนี้นั้น
ย่อมเป็นผู้ควรแก่ความเบื่อหน่ายยิ่ง๓ ควรแก่การตรัสรู้ และควรแก่การบรรลุธรรม
อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
ไข่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ที่แม่ไก่นอนกกไว้อย่างดี ให้ความ
อบอุ่นอย่างสม่ำเสมอ ฟักแล้วอย่างดี แม้ว่าแม่ไก่นั้นจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘ถ้าอย่างไร ขอลูกไก่เหล่านี้พึงใช้ปลายเล็บหรือจะงอยปาก เจาะทำลายเปลือกไข่
ออกมาโดยสวัสดิภาพ’ ก็ตาม ถึงอย่างนั้นลูกไก่เหล่านั้น ก็ต้องเจาะทำลายเปลือกไข่
ด้วยปลายเล็บหรือจะงอยปากออกมาโดยสวัสดิภาพได้ แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีองค์ ๑๕ รวมทั้งความเพียรอันยิ่งอย่างนี้ ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน ย่อมเป็นผู้ควรแก่ความเบื่อหน่ายยิ่ง ควรแก่การตรัสรู้ และควรแก่การ
บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

เจโตขีลสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๗. วนปัตถสูตร

๗. วนปัตถสูตร
ว่าด้วยการอยู่ป่า

[๑๙๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยายว่าด้วย
การอยู่ป่าแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
[๑๙๑] “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปอยู่อาศัยป่าทึบแห่งใดแห่ง
หนึ่ง เมื่อเธอเข้าไปอยู่อาศัยป่าทึบนั้น สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้ง
มั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะ๑ ที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่สิ้นไป และภิกษุนั้นก็ไม่บรรลุธรรมอันเป็น
แดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ตนยังไม่ได้บรรลุ ส่วนปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต คือ
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร๒ ที่บรรพชิตจำต้องนำมาใช้สอย
ย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก ภิกษุนั้นควรพิจารณาอย่างนี้ว่า ‘เราเข้ามาอยู่อาศัยป่าทึบนี้
เมื่อเราเข้ามาอยู่อาศัยป่าทึบนี้ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่
ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่สิ้นไป และเราก็ไม่ได้บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษม
จากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ ส่วนปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่บรรพชิตจำต้องนำมาใช้สอย ย่อมเกิดขึ้น
ได้โดยยาก’ ภิกษุนั้นควรหลีกไปจากป่าทึบนั้น ไม่ควรอยู่ในเวลากลางคืน หรือใน
เวลากลางวัน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๔ (สัพพาสวสูตร) หน้า ๑๗ ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๒๓ (สัพพาสวสูตร) หน้า ๒๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๗. วนปัตถสูตร

[๑๙๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปอยู่อาศัยป่าทึบแห่งใดแห่งหนึ่ง
เมื่อเธอเข้าไปอยู่อาศัยป่าทึบนั้น สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็
ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่สิ้นไป และภิกษุนั้นก็ไม่ได้บรรลุธรรมอันเป็น
แดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ ส่วนปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต คือ จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่บรรพชิตจำต้องนำมาใช้สอย
ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก ภิกษุนั้นควรพิจารณาอย่างนี้ว่า ‘เราเข้ามาอยู่อาศัยป่า
ทึบนี้ เมื่อเราเข้ามาอยู่อาศัยป่าทึบนี้ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้ง
มั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่สิ้นไป และเราก็ไม่ได้บรรลุธรรมอันเป็นแดน
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ ส่วนปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต คือ จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่บรรพชิตจำต้องนำมาใช้สอย
ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก แต่เราไม่ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพราะเหตุแห่งจีวร
ฯลฯ เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ฯลฯ เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เราไม่ได้ออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตเพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อเรา
เข้าไปอยู่อาศัยป่าทึบนี้ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น
อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่สิ้นไป และเราก็ไม่ได้บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
อันยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ’ ภิกษุนั้นรู้แล้วควรหลีกไปจากป่าทึบนั้น ไม่ควรอยู่

เหตุผลของการอยู่ป่า

[๑๙๓] อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปอยู่อาศัยป่าทึบแห่งใดแห่งหนึ่ง เมื่อ
เธอเข้าไปอยู่อาศัยป่าทึบนั้น สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น
อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็สิ้นไป และภิกษุนั้นก็บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอัน
ยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ ส่วนปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่บรรพชิตจำต้องนำมาใช้สอย ย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก
ภิกษุนั้นควรพิจารณาอย่างนี้ว่า ‘เราเข้ามาอยู่อาศัยป่าทึบนี้ เมื่อเราเข้ามาอยู่อาศัย
ป่าทึบนี้ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๗. วนปัตถสูตร

ก็สิ้นไป และเราก็บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ
ส่วนปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัช-
บริขาร ที่บรรพชิตจำต้องนำมาใช้สอย ย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก แต่เราไม่ได้ออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพราะเหตุแห่งจีวร ฯลฯ เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ฯลฯ
เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เราไม่ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพราะเหตุแห่ง
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อเราเข้าไปอยู่อาศัยป่าทึบนี้ สติที่ยัง
ไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็สิ้นไป และเราก็
บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ’ ภิกษุนั้นรู้แล้ว
ควรอยู่ในป่าทึบนั้น ไม่ควรหลีกไป
[๑๙๔] อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปอยู่อาศัยป่าทึบแห่งใดแห่งหนึ่ง เมื่อเธอ
เข้าไปอยู่อาศัยป่าทึบนั้น สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น
อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็สิ้นไป และภิกษุนั้นก็บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอัน
ยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ ส่วนปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่บรรพชิตจำต้องนำมาใช้สอย ย่อมเกิด
ขึ้นได้โดยไม่ยาก ภิกษุนั้นควรพิจารณาอย่างนี้ว่า ‘เราเข้ามาอยู่อาศัยป่าทึบนี้ เมื่อ
เราเข้ามาอยู่อาศัยป่าทึบนี้ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น
อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็สิ้นไป และเราก็บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอด
เยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ ส่วนปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่บรรพชิตจำต้องนำมาใช้สอย ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก’
ภิกษุนั้นควรอยู่ในป่าทึบนั้นจนตลอดชีวิต ไม่ควรหลีกไป

เหตุผลการอยู่อาศัยบ้านเป็นต้น

[๑๙๕] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปอยู่อาศัยบ้านแห่งใดแห่งหนึ่ง
ฯลฯ เข้าไปอยู่อาศัยนิคมแห่งใดแห่งหนึ่ง ฯลฯ เข้าไปอยู่อาศัยนครแห่งใดแห่งหนึ่ง
ฯลฯ เข้าไปอยู่อาศัยชนบทแห่งใดแห่งหนึ่ง ฯลฯ เข้าไปอยู่อาศัยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
เมื่อเธอเข้าไปอยู่อาศัยบุคคลนั้น สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็
ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่สิ้นไป และภิกษุนั้นก็ไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษม
จากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ ส่วนปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๗. วนปัตถสูตร

เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่บรรพชิตจำต้องนำมาใช้สอย ย่อมเกิดขึ้น
ได้โดยยาก ภิกษุนั้นควรพิจารณาอย่างนี้ว่า ‘เราเข้าไปอยู่อาศัยบุคคลนี้ เมื่อเรา
เข้าไปอยู่อาศัยบุคคลนี้ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น
อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่สิ้นไป และเราก็ไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอัน
ยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ ส่วนปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่บรรพชิตจำต้องนำมาใช้สอย ย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก’
ภิกษุนั้นไม่ต้องบอกลา ควรหลีกไปในเวลากลางคืน หรือในเวลากลางวัน ไม่ควร
ติดตามบุคคลนั้นเลย
[๑๙๖] อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปอยู่อาศัยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เมื่อเธอ
เข้าไปอยู่อาศัยบุคคลนั้น สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น
อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่สิ้นไป และภิกษุนั้นก็ไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจาก
โยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ ส่วนปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่บรรพชิตจำต้องนำมาใช้สอย ย่อมเกิดขึ้น
ได้โดยไม่ยาก ภิกษุนั้นควรพิจารณาอย่างนี้ว่า ‘เราเข้าไปอยู่อาศัยบุคคลนี้ เมื่อเรา
เข้าไปอยู่อาศัยบุคคลนี้ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น
อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่สิ้นไป และเราก็ไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอัน
ยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ ส่วนปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่บรรพชิตจำต้องนำมาใช้สอย ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก
แต่เราไม่ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพราะเหตุแห่งจีวร ฯลฯ เพราะเหตุแห่ง
บิณฑบาต ฯลฯ เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เราไม่ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อเราเข้าไปอยู่อาศัยบุคคลนี้
สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่
สิ้นไปและเราก็ไม่บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ’
ภิกษุนั้นถึงรู้แล้วก็ควรบอกลาก่อนแล้วจึงไป ไม่ควรติดตามบุคคลนั้นเลย
[๑๙๗] อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปอยู่อาศัยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เมื่อ
เธอเข้าไปอยู่อาศัยบุคคลนั้น สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๗. วนปัตถสูตร

ที่ยังไม่สิ้นไปก็สิ้นไป และภิกษุนั้นก็บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม
ที่ยังไม่ได้บรรลุ ส่วนปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่บรรพชิตจำต้องนำมาใช้สอย ย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก ภิกษุ
นั้นควรพิจารณาอย่างนี้ว่า ‘เราเข้าไปอยู่อาศัยบุคคลนี้ เมื่อเราเข้าไปอยู่อาศัย
บุคคลนี้ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป
ก็สิ้นไป และเราก็บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ
ส่วนปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัช-
บริขารที่บรรพชิตจำต้องนำมาใช้สอย ย่อมเกิดขึ้นได้โดยยาก แต่เราไม่ได้ออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิตเพราะเหตุแห่งจีวร ฯลฯ เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ฯลฯ
เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เราไม่ได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพราะเหตุแห่ง
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อเราเข้าไปอยู่อาศัยบุคคลนี้ สติที่ยัง
ไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็สิ้นไป และเราก็
บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ’ ภิกษุนั้นถึงแม้
จะรู้แล้วก็ควรติดตามบุคคลนั้น ยังไม่ควรหลีกไป
[๑๙๘] อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปอยู่อาศัยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เมื่อเธอ
เข้าไปอยู่อาศัยบุคคลนั้น สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะ
ที่ยังไม่สิ้นไปก็สิ้นไป และภิกษุนั้นย่อมบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอัน
ยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ ส่วนปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่บรรพชิตจำต้องนำมาใช้สอย ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก
ภิกษุนั้นควรพิจารณาอย่างนี้ว่า ‘เราเข้าไปอยู่อาศัยบุคคลนี้ เมื่อเราเข้าไปอยู่อาศัย
บุคคลนี้ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป
ก็สิ้นไปและเราก็บรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมที่ยังไม่ได้บรรลุ
ส่วนปัจจัยเครื่องดำรงชีวิต คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัช-
บริขารที่บรรพชิตจำต้องนำมาใช้สอย ย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก’ ภิกษุนั้นควรติดตาม
บุคคลนั้นไปจนตลอดชีวิต ไม่ควรหลีกไปแม้จะถูกขับไล่ก็ตาม”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

วนปัตถสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๘. มธุปิณฑิกสูตร

๘. มธุปิณฑิกสูตร
ว่าด้วยธรรมเทศนาอันไพเราะ

[๑๙๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์
แคว้นสักกะ ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ กลับจากบิณฑบาตภายหลังเสวย
พระกระยาหารเสร็จแล้ว เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวันเพื่อทรงพักผ่อนกลางวัน แล้วจึง
ประทับพักผ่อนกลางวัน ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม ฝ่ายทัณฑปาณิศากยะกำลังเดิน
เที่ยวชมทิวทัศน์ ได้เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวันแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค จนถึง
ต้นมะตูมหนุ่ม แล้วสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว
ยืนขึ้นยันไม้เท้าลง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “พระสมณะ
มีปกติกล่าวอย่างไร บอกอย่างไร”

ตอบปัญหาทัณฑปาณิ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้มีอายุ บุคคลมีปกติกล่าวอย่างใดจึงไม่โต้เถียง
กับใคร ๆ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณ-
พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์แล้วดำรงอยู่ในโลก อนึ่ง สัญญาทั้งหลายย่อมไม่
ครอบงำพราหมณ์ผู้อยู่ปราศจากกามทั้งหลาย ผู้ไม่มีความสงสัย ผู้ตัดความ
คะนองได้ ผู้ปราศจากความทะยานอยากในภพน้อยภพใหญ่ได้โดยประการใด เรา
มีปกติกล่าวอย่างนั้น บอกอย่างนั้น โดยประการนั้น”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว ทัณฑปาณิศากยะสั่นศีรษะ แลบลิ้น
ทำหน้าผากย่นเป็น ๓ รอย ถือไม้เท้ายันขึ้นแล้วจากไป
[๒๐๐] ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นเข้าไปยัง
นิโครธาราม แล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว จึงรับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๘. มธุปิณฑิกสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเช้านี้ เราครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ กลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว จึง
เข้าไปยังป่ามหาวันเพื่อพักผ่อนกลางวัน แล้วนั่งพักผ่อนกลางวัน ณ โคนต้น
มะตูมหนุ่ม แม้ทัณฑปาณิศากยะก็เดินเที่ยวชมทิวทัศน์เข้าไปยังป่ามหาวัน ครั้น
แล้วจึงเข้าไปหาเราจนถึงต้นมะตูมหนุ่ม ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ได้ยืนขึ้นยันไม้เท้าลง ณ ที่สมควร ครั้นแล้วได้ถามเราว่า
‘พระสมณะ มีปกติกล่าวอย่างไร บอกอย่างไร’ เมื่อทัณฑปาณิศากยะกล่าวอย่าง
นั้นแล้ว เราได้ตอบว่า ‘ผู้มีอายุ บุคคลมีปกติกล่าวอย่างใดจึงจะไม่โต้เถียงกับใคร ๆ
ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์แล้วดำรงอยู่ในโลก อนึ่ง สัญญาทั้งหลายย่อมไม่ครอบงำ
พราหมณ์ผู้อยู่ปราศจากกามทั้งหลาย ผู้ไม่มีความสงสัย ผู้ตัดความคะนองได้
ผู้ปราศจากความทะยานอยากในภพน้อยภพใหญ่ได้โดยประการใด เรามีปกติกล่าว
อย่างนั้น บอกอย่างนั้น โดยประการนั้น’ เมื่อเรากล่าวอย่างนั้นแล้ว ทัณฑปาณิ-
ศากยะสั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าผากย่นเป็น ๓ รอย ถือไม้เท้ายันขึ้นแล้ว
จากไป”

ทรงแสดงอุทเทส

[๒๐๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้
มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคมีปกติตรัสอย่างไรจึงจะไม่
โต้เถียงกับใคร ๆ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อม
ทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์แล้วดำรงอยู่ในโลก อนึ่ง สัญญาทั้งหลายจะ
ไม่ครอบงำพราหมณ์นั้นผู้อยู่ปราศจากกามทั้งหลาย ผู้ไม่มีความสงสัย ผู้ตัดความ
คะนองได้ ผู้ปราศจากความทะยานอยากในภพน้อยภพใหญ่ได้อย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ แง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญา๑ ย่อม
ครอบงำบุรุษ เพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคลจะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ

เชิงอรรถ :
๑ แง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญา แปลจากคำว่า ปปญฺจสญฺาสงฺขา แยกอธิบายศัพท์ได้ดังนี้ คำว่า
ปปญฺจสญฺา หมายถึงสัญญาอันประกอบด้วยกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ คำว่า
สงฺขา หมายถึงแง่ต่าง ๆ ดังนั้น ปปญฺจสฺาสงฺขา จึงแปลว่า แง่ต่าง ๆ แห่งสัญญาอันประกอบด้วย
กิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า (ม.มู.อ. ๑/๒๐๑/๔๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๘. มธุปิณฑิกสูตร

ไม่มีในเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย เป็น
ที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย เป็นที่สุดแห่งวิจิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย เป็น
ที่สุดแห่งภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งอวิชชานุสัย และเป็นที่สุดแห่งการถือท่อนไม้
การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การส่อเสียดยุยง และการ
กล่าวเท็จ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือเพราะเหตุนั้น”
ครั้นพระผู้มีพระภาคผู้สุคตเจ้าได้ตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เข้า
ไปยังที่ประทับ
[๒๐๒] ครั้งนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ภิกษุเหล่านั้นได้มี
ความสงสัยว่า “ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสนี้แก่พวกเราโดย
ย่อว่า ‘ภิกษุ แง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่
บุคคลจะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ ไม่มีเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุด
แห่งราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย เป็นที่สุดแห่งทิฏฐานุสัย เป็นที่สุดแห่ง
วิจิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย เป็นที่สุดแห่งภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่ง
อวิชชานุสัย และเป็นที่สุดแห่งการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การ
แก่งแย่ง การวิวาท การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้
ย่อมดับไปโดยไม่เหลือเพราะเหตุนั้น’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร เสด็จลุก
จากพุทธอาสน์เข้าไปยังที่ประทับ ใครเล่าหนอ จะพึงชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทส
ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้”
ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นเกิดความคิดขึ้นว่า “ท่านมหากัจจานะนี้ พระศาสดา
ทรงยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็สรรเสริญแล้ว และท่านมหากัจจานะ
ก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรง
ชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้ ทางที่ดี เราทั้งหลายควรเข้าไปหาท่านมหากัจจานะ
จนถึงที่อยู่ แล้วควรสอบถามเนื้อความนี้กับท่านมหากัจจานะ”
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะจนถึงที่อยู่ ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กล่าวกับท่านพระมหากัจจานะว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๘. มธุปิณฑิกสูตร

“ท่านกัจจานะ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสนี้แก่พวกเราโดยย่อว่า
‘ภิกษุ แง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคล
จะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ ไม่มีเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่ง
ราคานุสัย ฯลฯ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมดับไปโดยไม่เหลือในเพราะเหตุนั้น’
แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร ทรงลุกจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจากไปไม่นาน พวกกระผมได้เกิดความสงสัยว่า ‘พระผู้มี
พระภาคทรงแสดงอุทเทสนี้แก่พวกเราโดยย่อว่า ‘ภิกษุ แง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญา
ย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคลจะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ
ไม่มีเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย ฯลฯ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้
ย่อมดับไปโดยไม่เหลือในเพราะเหตุนั้น’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร ทรง
ลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ ใครเล่าหนอ จะพึงชี้แจงเนื้อความแห่ง
อุทเทส ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้’
ท่านกัจจานะ พวกกระผมคิดว่า ‘ท่านมหากัจจานะนี้เป็นผู้ที่พระศาสดาทรง
ยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็สรรเสริญแล้ว และท่านมหากัจจานะก็
สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรง
ชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้ ทางที่ดี เราทั้งหลายควรเข้าไปหาท่านมหากัจจานะ
จนถึงที่อยู่ แล้วควรสอบถามเนื้อความนี้กับท่านมหากัจจานะ’ ขอท่านมหากัจจานะ
จงชี้แจงเถิด”
[๒๐๓] ท่านพระมหากัจจานะจึงตอบว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อุปมาเหมือน
บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ ผ่านโคนและลำต้นของต้นไม้
ใหญ่ซึ่งมีแก่นไป เขาจะพึงเข้าใจว่าแก่นไม้ต้องแสวงหาที่กิ่งและใบไม้ แม้ฉันใด
ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เมื่อพระศาสดาทรงปรากฏเฉพาะหน้าท่านทั้งหลาย ท่าน
ทั้งหลายก็ผ่านพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นไป และจะพึงเข้าใจเนื้อความนั้นว่าต้อง
สอบถามกับเรา แท้จริง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ ทรงเห็นสิ่งที่
ควรเห็น เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม เป็นพรหม เป็นผู้เผยแผ่ ประกาศ
ขยายเนื้อความ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็นเจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต และเวลา
นี้ก็เป็นเวลาอันสมควรที่พวกท่านจะทูลถามเนื้อความนี้กับพระผู้มีพระภาคพระองค์
นั้นแล้ว พระองค์ทรงตอบอย่างใด ท่านทั้งหลายควรทรงจำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๘. มธุปิณฑิกสูตร

ภิกษุเหล่านั้นได้กล่าวตอบว่า “ท่านกัจจานะ เป็นความจริงที่พระผู้มีพระภาค
ทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ ทรงเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นผู้มีพระจักษุ มีพระญาณ มีธรรม
เป็นพรหม เป็นผู้เผยแผ่ ประกาศ ขยายเนื้อความ เป็นผู้ให้อมตธรรม เป็น
เจ้าของธรรม เป็นพระตถาคต และเวลานี้ก็เป็นเวลาอันสมควรที่พวกกระผมจะทูล
ถามเนื้อความนี้กับพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงตอบอย่างใด พวกกระผมจะทรง
จำเนื้อความนั้นไว้อย่างนั้น อนึ่ง ท่านมหากัจจานะเป็นผู้ที่พระศาสดาทรงยกย่อง
ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็สรรเสริญแล้ว และท่านมหากัจจานะก็สามารถจะ
ชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดย
พิสดารให้พิสดารได้ ขอท่านมหากัจจานะไม่ต้องหนักใจชี้แจงเถิด”

พระมหากัจจานะอธิบายอุทเทส

ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่าน
ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี กระผมจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระ
มหากัจจานะจึงได้กล่าวว่า
[๒๐๔] “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสไว้โดยย่อว่า
‘ภิกษุ แง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคล
จะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ ไม่มีเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่ง
ราคานุสัย ฯลฯ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ย่อมดับไปโดยไม่เหลือในเพราะเหตุนั้น’
แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร ทรงลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ
กระผมรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรง
ชี้แจงไว้โดยพิสดารให้พิสดารได้อย่างนี้
จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุและรูปารมณ์ ความประจวบกันแห่ง
ธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด บุคคลเสวยอารมณ์ใด
ย่อมหมายรู้อารมณ์นั้น บุคคลหมายรู้อารมณ์ใดย่อมตรึกอารมณ์นั้น บุคคลตรึก
อารมณ์ใดย่อมคิดปรุงแต่งอารมณ์นั้น บุคคลคิดปรุงแต่งอารมณ์ใด เพราะความคิด
ปรุงแต่งอารมณ์นั้นเป็นเหตุ แง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษ ในรูป
ทั้งหลายที่จะพึงรู้แจ้งทางตาทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๘. มธุปิณฑิกสูตร

โสตวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยโสตะและสัททารมณ์ ฯลฯ
ฆานวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยฆานะและคันธารมณ์ ฯลฯ
ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยชิวหาและรสารมณ์ ฯลฯ
กายวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพารมณ์ ฯลฯ
มโนวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยมโนและธรรมารมณ์ ความประจวบกันแห่ง
ธรรมทั้ง ๓ เป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงเกิด บุคคลเสวยอารมณ์
ใดย่อมหมายรู้อารมณ์นั้น บุคคลหมายรู้อารมณ์ใดย่อมตรึกอารมณ์นั้น บุคคล
ตรึกอารมณ์ใดย่อมคิดปรุงแต่งอารมณ์นั้น บุคคลคิดปรุงแต่งอารมณ์ใด เพราะความ
คิดปรุงแต่งอารมณ์นั้นเป็นเหตุ แง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษใน
ธรรมารมณ์ทั้งหลายที่จะพึงรู้แจ้งทางใจ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
เมื่อมีจักขุ มีรูปารมณ์ และมีจักขุวิญญาณ เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติผัสสะ
เมื่อมีการบัญญัติผัสสะ เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติเวทนา เมื่อมีการบัญญัติเวทนา
เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติสัญญา เมื่อมีการบัญญัติสัญญา เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติวิตก
เมื่อมีการบัญญัติวิตก เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติการครอบงำโดยแง่ต่าง ๆ แห่ง
ปปัญจสัญญา
เมื่อมีโสตะ มีสัททารมณ์ ฯลฯ
เมื่อมีฆานะ มีคันธารมณ์ ฯลฯ
เมื่อมีชิวหา มีรสารมณ์ ฯลฯ
เมื่อมีกาย มีโผฏฐัพพารมณ์ ฯลฯ
เมื่อมีมโน มีธรรมารมณ์ และมีมโนวิญญาณ เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติผัสสะ
เมื่อมีการบัญญัติผัสสะ เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติเวทนา เมื่อมีการบัญญัติเวทนา
เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติสัญญา เมื่อมีการบัญญัติสัญญา เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติวิตก
เมื่อมีการบัญญัติวิตก เป็นไปได้ที่เขาจักบัญญัติการครอบงำโดยแง่ต่าง ๆ แห่ง
ปปัญจสัญญา
เมื่อไม่มีจักขุ ไม่มีรูปารมณ์ ไม่มีจักขุวิญญาณ เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจัก
บัญญัติผัสสะ เมื่อไม่มีการบัญญัติผัสสะ เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจักบัญญัติเวทนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๘. มธุปิณฑิกสูตร

เมื่อไม่มีการบัญญัติเวทนา เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจักบัญญัติสัญญา เมื่อไม่มีการ
บัญญัติสัญญา เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจักบัญญัติวิตก เมื่อไม่มีการบัญญัติวิตก
เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจักบัญญัติการครอบงำโดยแง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญา
เมื่อไม่มีโสตะ ไม่มีสัททารมณ์ ฯลฯ
เมื่อไม่มีฆานะ ไม่มีคันธารมณ์ ฯลฯ
เมื่อไม่มีชิวหา ไม่มีรสารมณ์ ฯลฯ
เมื่อไม่มีกาย ไม่มีโผฏฐัพพารมณ์ ฯลฯ
เมื่อไม่มีมโน ไม่มีธรรมารมณ์ ไม่มีมโนวิญญาณ เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจัก
บัญญัติผัสสะ เมื่อไม่มีการบัญญัติผัสสะ เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจักบัญญัติเวทนา
เมื่อไม่มีการบัญญัติเวทนา เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจักบัญญัติสัญญา เมื่อไม่มีการบัญญัติ
สัญญา เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจักบัญญัติวิตก เมื่อไม่มีการบัญญัติวิตก เป็นไปไม่
ได้เลยที่เขาจักบัญญัติการครอบงำโดยแง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญา
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสแก่พวกเราโดยย่อว่า
‘ภิกษุ แง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคลจะ
พึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ ไม่มีเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย
ฯลฯ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ย่อมดับไปโดยไม่เหลือเพราะเหตุนั้น’ แล้ว ไม่ทรงชี้แจง
เนื้อความให้พิสดาร ทรงลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ กระผมรู้ทั่วถึง
เนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดาร
ให้พิสดารได้อย่างนี้ เมื่อท่านปรารถนาควรพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูล
ถามเนื้อความนั้นเถิด พระองค์ทรงตอบอย่างใด ท่านทั้งหลายควรทรงจำเนื้อความ
นั้นไว้อย่างนั้น”
[๒๐๕] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระมหากัจจานะ
แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ
ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๘. มธุปิณฑิกสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสแก่ข้าพระองค์
ทั้งหลายโดยย่อว่า ‘ภิกษุ แง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญาย่อมครอบงำบุรุษเพราะ
เหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคลจะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ ไม่มีเพราะเหตุนั้น
ข้อนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย ฯลฯ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ย่อมดับไปโดยไม่เหลือ
เพราะเหตุนั้น’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความให้พิสดาร ทรงลุกขึ้นจากพุทธอาสน์
เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ได้เกิดความสงสัยกันว่า ‘พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอุทเทสแก่พวกเราโดยย่อว่า
‘ภิกษุ แง่ต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญา ย่อมครอบงำบุรุษเพราะเหตุใด ถ้าสิ่งที่บุคคล
จะพึงยินดี จะพึงยอมรับ จะพึงยึดถือ ไม่มีเพราะเหตุนั้น ข้อนี้เป็นที่สุดแห่งราคานุสัย
เป็นที่สุดแห่งปฏิฆานุสัย เป็นที่สุดแห่งวิจิกิจฉานุสัย เป็นที่สุดแห่งมานานุสัย เป็นที่สุด
แห่งภวราคานุสัย เป็นที่สุดแห่งอวิชชานุสัย และเป็นที่สุดแห่งการถือท่อนไม้ การถือ
ศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การส่อเสียดยุยง และการกล่าวเท็จ
บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ย่อมดับไปโดยไม่เหลือเพราะเหตุนั้น’ แล้วไม่ทรงชี้แจงเนื้อความ
โดยพิสดาร ทรงลุกขึ้นจากพุทธอาสน์เสด็จเข้าไปยังที่ประทับ ใครเล่าหนอจะควร
ชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทสที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยย่อนี้ ไม่ทรงชี้แจงไว้
โดยพิสดารให้พิสดารได้ ข้าพระองค์ทั้งหลายได้มีความคิดว่า ‘ท่านพระมหากัจจานะ
นี้พระศาสดาทรงยกย่อง ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายก็สรรเสริญแล้ว และท่าน
พระมหากัจจานะก็สามารถจะชี้แจงเนื้อความแห่งอุทเทส ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง
ไว้โดยย่อ ไม่ทรงชี้แจงโดยพิสดารให้พิสดารได้ ทางที่ดี เราทั้งหลายควรเข้าไปหาท่าน
พระมหากัจจานะจนถึงที่อยู่ แล้วควรสอบถามเนื้อความนี้กับท่านพระมหากัจจานะ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายได้พากันเข้าไปหาท่านพระ
มหากัจจานะถึงที่อยู่ แล้วสอบถามเนื้อความนี้กับท่านพระมหากัจจานะ ท่านพระ
มหากัจจานะ ได้ชี้แจงเนื้อความด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะ
เหล่านี้แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๘. มธุปิณฑิกสูตร

ทรงสรรเสริญพระมหากัจจานะ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย มหากัจจานะเป็นบัณฑิต ภิกษุ
ทั้งหลาย มหากัจจานะเป็นผู้มีปัญญามาก แม้ว่าเธอทั้งหลายจะถามเนื้อความนี้
กับเรา เราก็จะพึงตอบเนื้อความนั้นอย่างนี้ เหมือนกับที่มหากัจจานะตอบ เรื่องนี้
มีเนื้อความดังนี้แล เธอทั้งหลายจงทรงจำเรื่องนั้นไว้อย่างนี้เถิด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษผู้ถูกความหิวและความอ่อนเพลียครอบงำ
ได้ขนมหวาน เขากินในเวลาใด ๆ ก็จะพึงได้รับรสหวานอร่อย ในเวลานั้น ๆ
แม้ฉันใด ภิกษุผู้เป็นนักคิด เป็นบัณฑิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ใคร่ครวญเนื้อความ
แห่งธรรมบรรยายนี้ด้วยปัญญาในเวลาใด ก็จะพึงได้ความพอใจและความเลื่อมใส
แห่งใจในเวลานั้น ๆ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมบรรยายนี้ชื่ออะไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เพราะเหตุนั้น เธอจงทรงจำไว้ว่า
ธรรมบรรยายนี้ชื่อมธุปิณฑิกบรรยาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์มีใจยินดีชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มธุปิณฑิกสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๙. เทฺวธาวิตักกสูตร

๙. เทฺวธาวิตักกสูตร
ว่าด้วยวิตก ๒ ประเภท

[๒๐๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาค จึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อน เราเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘ถ้ากระไร เราควรจัดวิตกออกเป็น ๒ ประเภท๑
ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นจึงได้จัดกามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตก
เป็นประเภทที่ ๑ และจัดเนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก และอวิหิงสาวิตก๒ เป็น
ประเภทที่ ๒

เชิงอรรถ :
๑ จัดวิตกออกเป็น ๒ ประเภท หมายถึงจัดวิตกฝ่ายอกุศลเป็นประเภทที่ ๑ จัดวิตกฝ่ายกุศลเป็นประเภท
ที่ ๒ (ม.มู.อ. ๒/๒๐๖/๔๐๖)
๒ กามวิตก หมายถึงความตรึกในเรื่องกาม
พยาบาทวิตก หมายถึงความตรึกในเรื่องปองร้ายผู้อื่น
วิหิงสาวิตก หมายถึงความตรึกในเรื่องเบียดเบียนผู้อื่น
เนกขัมมวิตก หมายถึงความตรึกในเรื่องออกจากกิเลส
อพยาบาทวิตก หมายถึงความตรึกในเรื่องไม่ปองร้ายผู้อื่น
อวิหิงสาวิตก หมายถึงความตรึกในเรื่องไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตั้งแต่มีเมตตาเป็นส่วนเบื้องต้นจนถึงปฐมฌาน
(ม.มู.อ. ๑/๒๐๖/๔๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๙. เทฺวธาวิตักกสูตร

อกุศลวิตก ๓

[๒๐๗] ภิกษุทั้งหลาย กามวิตกย่อมเกิดขึ้นแก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้ เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า ‘กามวิตกนี้เกิดขึ้นแก่เรา
แล้ว’ แต่กามวิตกนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง
เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง เป็นเหตุดับปัญญา เป็นส่วนแห่งความคับแค้น
ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ‘เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง’ กามวิตก
ก็ดับสูญไป เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ‘เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง’ กามวิตก
ก็ดับสูญไป เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ‘เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง’
กามวิตกก็ดับสูญไป เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ‘เป็นเหตุดับปัญญา เป็นส่วนแห่ง
ความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน’ กามวิตกก็ดับสูญไป
ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นย่อมละ บรรเทา ทำกามวิตกที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ให้
หมดสิ้นไป
[๒๐๘] ภิกษุทั้งหลาย พยาบาทวิตกย่อมเกิดขึ้นแก่เราผู้ไม่ประมาท มี
ความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้ ฯลฯ วิหิงสาวิตกย่อมเกิดขึ้น เรานั้นย่อม
ทราบชัดอย่างนี้ว่า ‘วิหิงสาวิตกนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว’ แต่วิหิงสาวิตกนั้นเป็นไปเพื่อ
เบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง
เป็นเหตุดับปัญญา เป็นส่วนแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เมื่อเรา
พิจารณาเห็นว่า ‘เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง’ วิหิงสาวิตกก็ดับสูญไป เมื่อเรา
พิจารณาเห็นว่า ‘เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง’ วิหิงสาวิตกก็ดับสูญไป เมื่อเรา
พิจารณาเห็นว่า ‘เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง’ วิหิงสาวิตกก็ดับสูญไป
เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ‘เป็นเหตุดับปัญญา เป็นส่วนแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไป
เพื่อนิพพาน’ วิหิงสาวิตกก็ดับสูญไป เรานั้นย่อมละ บรรเทา ทำวิหิงสาวิตกที่
เกิดขึ้นบ่อย ๆ ให้หมดสิ้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๙. เทฺวธาวิตักกสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงวิตกใด ๆ มาก เธอก็มีใจน้อมไปในวิตก
นั้น ๆ ถ้าเธอยิ่งตรึกตรองถึงกามวิตกมาก เธอก็ละทิ้งเนกขัมมวิตก กระทำแต่
กามวิตกให้มาก จิตของเธอนั้นก็น้อมไปเพื่อกามวิตก ถ้าภิกษุยิ่งตรึกตรองถึง
พยาบาทวิตกมาก ฯลฯ ถ้าภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงวิหิงสาวิตกมาก เธอก็ละทิ้ง
อวิหิงสาวิตก กระทำแต่วิหิงสาวิตกให้มาก จิตของเธอนั้นก็น้อมไปเพื่อวิหิงสาวิตก
ในสารทสมัยเดือนท้ายแห่งฤดูฝน คนเลี้ยงโคต้องคอยระวังโคทั้งหลายในที่มี
ข้าวกล้าหนาแน่น เขาต้องตีต้อนโคทั้งหลายไปจากที่นั้น ๆ กั้นไว้ ห้ามไว้ ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะคนเลี้ยงโคมองเห็นการฆ่า การถูกจองจำ การเสียทรัพย์
การถูกติเตียน เพราะโคทั้งหลายเป็นต้นเหตุ แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ได้เห็นโทษ ความเลวทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย และเห็น
อานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย

กุศลวิตก ๓

[๒๐๙] ภิกษุทั้งหลาย เนกขัมมวิตกย่อมเกิดขึ้นแก่เราผู้ไม่ประมาท มีความ
เพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้ เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า ‘เนกขัมมวิตกนี้
เกิดขึ้นแก่เราแล้ว’ แต่เนกขัมมวิตกนั้นไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ไม่เป็นไปเพื่อ
เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น เป็นเหตุทำปัญญาให้เจริญ
ไม่เป็นส่วนแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน ถ้าเราจะพึงตรึกตรองถึง
เนกขัมมวิตกนั้นอยู่ตลอดคืน เราก็จักมองไม่เห็นภัยอันจะเกิดจากเนกขัมมวิตกนั้นได้เลย
หากเราจะพึงตรึกตรองถึงเนกขัมมวิตกนั้นอยู่ตลอดวัน เราก็จักมองไม่เห็นภัยอันจะ
เกิดจากเนกขัมมวิตกนั้นได้เลย หากเราจะตรึกตรองถึงเนกขัมมวิตกนั้นตลอดทั้งคืน
ทั้งวัน เราก็จักมองไม่เห็นภัยอันจะเกิดจากเนกขัมมวิตกนั้นได้เลย แต่เมื่อเราตรึก
ตรองนานเกินไป ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่าน
เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๙. เทฺวธาวิตักกสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นตั้งจิตไว้ในภายใน ทำให้สงบ ทำให้เกิดสมาธิ
ประคองไว้ด้วยดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราปรารถนาไว้ว่า ‘จิตของเรา
อย่าฟุ้งซ่านอีกเลย’
[๒๑๐] ภิกษุทั้งหลาย อพยาบาทวิตกย่อมเกิดขึ้นแก่เราผู้ไม่ประมาท มี
ความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้ ฯลฯ อวิหิงสาวิตกย่อมเกิดขึ้น เรานั้นย่อม
ทราบชัดอย่างนี้ว่า ‘อวิหิงสาวิตกนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว’ แต่อวิหิงสาวิตกนั้นไม่เป็น
ไปเพื่อเบียดเบียนตน ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้ง
ตนและผู้อื่น เป็นเหตุทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นส่วนแห่งความคับแค้น เป็นไป
เพื่อนิพพาน ถ้าเราจะพึงตรึกตรองถึงอวิหิงสาวิตกนั้นอยู่ตลอดคืน เราก็จักมองไม่
เห็นภัยอันจะเกิดจากอวิหิงสาวิตกนั้นได้เลย หากเราจะพึงตรึกตรองถึงอวิหิงสาวิตก
นั้นอยู่ตลอดวัน เราก็จักมองไม่เห็นภัยอันจะเกิดจากอวิหิงสาวิตกนั้นได้เลย หาก
เราจะพึงตรึกตรองถึงอวิหิงสาวิตกนั้นตลอดทั้งคืนทั้งวัน เราก็จักมองไม่เห็นภัยอัน
จะเกิดจากอวิหิงสาวิตกนั้นได้เลย แต่เมื่อเราตรึกตรองอยู่นานเกินไป ร่างกายก็
เหน็ดเหนื่อย เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่าง
จากสมาธิ เรานั้นตั้งจิตไว้ในภายใน ทำให้สงบ ทำให้เกิดสมาธิ ประคองไว้ด้วยดี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราปรารถนาไว้ว่า ‘จิตของเราอย่าฟุ้งซ่านอีกเลย’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงวิตกใด ๆ มาก เธอก็มีใจน้อมไปในวิตก
นั้น ๆ มาก ถ้าภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงเนกขัมมวิตกมาก เธอก็จะละกามวิตกได้
ทำเนกขัมมวิตกอย่างเดียวให้มาก จิตของเธอนั้นก็จะน้อมไปเพื่อเนกขัมมวิตก ถ้า
ภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงอพยาบาทวิตกมาก ฯลฯ ถ้าภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงอวิหิงสาวิตก
มาก เธอก็จะละวิหิงสาวิตกได้ ทำอวิหิงสาวิตกอย่างเดียวให้มาก จิตของเธอนั้น
ก็จะน้อมไปเพื่ออวิหิงสาวิตก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๙. เทฺวธาวิตักกสูตร

ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน คนเลี้ยงโคต้องคอยระวัง โคทั้งหลายในที่ใกล้บ้าน
ทุก ๆ ด้าน เมื่อเขาไปสู่โคนต้นไม้หรือที่แจ้ง จะต้องทำสติอยู่เสมอว่า ‘นั้นฝูงโค’
แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ต้องทำสติอยู่เสมอว่า ‘เหล่านี้เป็นธรรม๑ (คือกุศลวิตก)’
[๒๑๑] ภิกษุทั้งหลาย เราได้ปรารภความเพียร มีความเพียรไม่ย่อหย่อนแล้ว
มีสติมั่นคง ไม่เลอะเลือน มีกายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตตั้งมั่น มีอารมณ์
เป็นหนึ่ง เรานั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก
วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป เราบรรลุทุติยฌาน
ที่มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติ
และสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว
เราบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ และไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

วิชชา ๓

[๒๑๒] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๒ ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ฯลฯ๓ เรานั้นระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ
ชีวประวัติอย่างนี้ เราบรรลุวิชชาที่ ๑ นี้ในปฐมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว
วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงธรรมคือสมถะและวิปัสสนา (ม.มู.อ. ๑/๒๑๐/๔๑๒)
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๕ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๑ ในเล่มนี้
๓ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๑-๔๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๙. เทฺวธาวิตักกสูตร

[๒๑๓] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นน้อม
จิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิดด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์ ฯลฯ๑ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกาย
ทุจริต ฯลฯ เราเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและ
ไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์
ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล เราบรรลุวิชชาที่ ๒ นี้ในมัชฌิมยามแห่งราตรี
กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น
เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น
[๒๑๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นได้
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเรารู้เห็นอย่างนี้ จิตจึงหลุดพ้นจากกามาสวะบ้าง
จิตจึงหลุดพ้นจากภวาสวะบ้าง จิตจึงหลุดพ้นจากอวิชชาสวะบ้าง เมื่อจิตหลุดพ้น
แล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่
ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ เราบรรลุวิชชาที่ ๓ นี้
ในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว
ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
อยู่ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๕๓ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๙. เทฺวธาวิตักกสูตร

ทรงชี้ทางผิดและทางถูก

[๒๑๕] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมีเนื้อฝูงใหญ่พากันเข้าไปอาศัยบึงใหญ่
ในป่าดง มีชายคนหนึ่งผู้ปรารถนาความพินาศ ไม่ต้องการจะเกื้อกูล ไม่ประสงค์
ความปลอดภัยแก่ฝูงเนื้อนั้น เขาปิดทางที่ปลอดภัย มีความสวัสดี ไปได้ตามชอบ
ใจของฝูงเนื้อนั้น เปิดทางที่ไม่สะดวก ผูกเนื้อต่อตัวผู้ ซุ่มนางเนื้อต่อไว้
เมื่อเป็นเช่นนี้ สมัยต่อมา เนื้อฝูงใหญ่ก็ต้องมาตายเหลือจำนวนน้อย แต่ยังมีชาย
คนหนึ่งผู้ปรารถนาประโยชน์ ต้องการจะเกื้อกูล ประสงค์ความปลอดภัยแก่ฝูงเนื้อ
นั้น เขาเปิดทางที่ปลอดภัย มีความสวัสดี ไปได้ตามชอบใจของฝูงเนื้อนั้น ปิด
ทางที่ไม่สะดวก กำจัดเนื้อต่อตัวผู้ ทำลายนางเนื้อต่อแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ สมัยต่อมา
เนื้อฝูงใหญ่ก็ต้องมีจำนวนมากขึ้น คับคั่ง ล้นหลาม แม้ฉันใด ข้ออุปมานี้ก็ฉันนั้น
เราได้ทำขึ้นก็เพื่อจะให้เธอทั้งหลายรู้ความหมายของเนื้อความในอุปมานั้น มีอธิบาย
ดังต่อไปนี้
คำว่า บึงใหญ่ นี้ เป็นชื่อแห่งกามทั้งหลาย
คำว่า เนื้อฝูงใหญ่ นี้ เป็นชื่อของหมู่สัตว์ทั้งหลาย
คำว่า ชายผู้ปรารถนาความพินาศ ไม่ต้องการจะเกื้อกูล ไม่ประสงค์ความ
ปลอดภัย นี้ เป็นชื่อของมารใจบาป
คำว่า ทางที่ไม่สะดวก นี้ เป็นชื่อของมิจฉามรรค(ทางผิด)มีองค์ ๘ คือ

๑. มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด) ๒. มิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด)
๓. มิจฉาวาจา (เจรจาผิด) ๔. มิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด)
๕. มิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด) ๖. มิจฉาวายามะ (พยายามผิด)
๗. มิจฉาสติ (ระลึกผิด) ๘. มิจฉาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นผิด)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๙. เทฺวธาวิตักกสูตร

คำว่า เนื้อต่อตัวผู้ นี้ เป็นชื่อแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน
คำว่า นางเนื้อต่อ นี้ เป็นชื่อของอวิชชา
คำว่า ชายผู้ปรารถนาประโยชน์ ต้องการจะเกื้อกูล ประสงค์ความปลอดภัย
นี้ เป็นชื่อของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
คำว่า ทางที่ปลอดภัย มีความสวัสดี ไปได้ตามชอบใจ นี้ เป็นชื่อของ
อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ

ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมาแล้วนี้ เราได้เปิดทางที่ปลอดภัย
มีความสวัสดีที่พวกเธอควรดำเนินไปได้ตามใจชอบให้แล้ว และปิดทางที่ไม่สะดวก
ให้ด้วย กำจัดเนื้อต่อตัวผู้ให้แล้ว และทำลายนางเนื้อต่อให้แล้ว กิจใดที่ศาสดาผู้
หวังประโยชน์เกื้อกูล เอื้อเฟื้อ อาศัยความอนุเคราะห์จะพึงกระทำแก่สาวกทั้งหลาย
กิจนั้นตถาคตก็ได้กระทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลาย
จงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าได้มีความเดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอน
ของตถาคตสำหรับเธอทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

เทฺวธาวิตักกสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร

๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร
ว่าด้วยสัณฐานแห่งวิตก

[๒๑๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

อุบายกำจัดอกุศลวิตก

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ขวนขวายในอธิจิต๑ ควรมนสิการถึงนิมิต ๕ ประการนี้
ตามเวลาอันสมควร
นิมิต ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้อาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใดอยู่ วิตก
ทั้งหลายอันเป็นบาปอกุศล ซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบ
ด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนั้นควร
มนสิการนิมิตอื่นซึ่งประกอบด้วยกุศลนอกจากนิมิตนั้น เมื่อเธอ
มนสิการนิมิตอื่นซึ่งประกอบด้วยกุศลนอกจากนิมิตนั้น เธอย่อมละ
วิตกอันเป็นบาปอกุศล ซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วย
โทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น
ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อม

เชิงอรรถ :
๑ อธิจิต หมายถึงจิตมีสมาบัติ ๘ อันเป็นพื้นฐานแห่งวิปัสสนา เป็นจิตที่ยิ่งกว่าจิตที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจกุศล-
กรรมบถ ๑๐ ประการ (ม.มู.อ. ๑/๒๑๖/๔๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร

ตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายใน
โดยแท้ ช่างไม้หรือลูกมือของช่างไม้ ผู้ชำนาญ ใช้ลิ่มอันเล็ก ตอก
โยก ถอนลิ่มอันใหญ่ออกได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่ออาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใด วิตกทั้งหลายอันเป็น
บาปอกุศล ซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง
ประกอบด้วยโมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนั้นควรมนสิการนิมิตอื่น
ซึ่งประกอบด้วยกุศลนอกจากนิมิตนั้น เมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่น
ซึ่งประกอบด้วยกุศลนอกจากนิมิตนั้น เธอย่อมละวิตกอันเป็น
บาปอกุศล ซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง
ประกอบด้วยโมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ย่อม
ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อม
ตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้
[๒๑๗] ภิกษุทั้งหลาย
๒. หากเมื่อภิกษุนั้นมนสิการนิมิตอื่นซึ่งประกอบด้วยกุศลนอกจาก
นิมิตนั้น วิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง
ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอีกนั่นแล
ภิกษุนั้นควรพิจารณาโทษแห่งวิตกเหล่านั้นว่า ‘วิตกเหล่านี้ล้วน
แต่เป็นอกุศลแม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มีโทษแม้อย่างนี้
วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มีทุกข์เป็นวิบากแม้อย่างนี้’ เมื่อเธอพิจารณา
โทษแห่งวิตกเหล่านั้นอยู่ เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่ง
ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วย
โมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ไม่ได้
เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ
เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ หญิงสาว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร

หรือชายหนุ่มที่ชอบแต่งตัว มีผู้นำซากงู ซากสุนัข หรือซากศพ
มนุษย์มาผูกไว้ที่คอ ย่อมรู้สึกอึดอัด ระอา และรังเกียจ แม้ฉันใด
ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน หากเมื่อมนสิการนิมิตอื่นซึ่งประกอบ
ด้วยกุศลนอกจากนิมิตนั้น วิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบ
ด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง
ยังเกิดขึ้นอีก ภิกษุนั้นควรพิจารณาโทษแห่งวิตกเหล่านั้นว่า
‘วิตกเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอกุศลแม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มี
โทษแม้อย่างนี้ วิตกเหล่านี้ล้วนแต่มีทุกข์เป็นวิบากแม้อย่างนี้’
เมื่อเธอพิจารณาโทษแห่งวิตกเหล่านั้นอยู่ เธอย่อมละวิตกอันเป็น
บาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง
ประกอบด้วยโมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อมตั้ง
อยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น
สงบ เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้
[๒๑๘] ภิกษุทั้งหลาย
๓. หากเมื่อภิกษุนั้นพิจารณาโทษแห่งวิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็น
บาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง
ประกอบด้วยโมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอีก ภิกษุนั้นไม่ควรระลึกถึง
ไม่ควรมนสิการวิตกเหล่านั้น เมื่อเธอไม่ระลึกถึง ไม่มนสิการ
วิตกเหล่านั้นอยู่ เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบ
ด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้างได้
วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอัน
เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะที่จิต
เป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ คนมีตาดีไม่ต้องการที่
จะเห็นรูปที่ผ่านมา เขาควรหลับตาหรือเหลียวไปทางอื่นเสีย แม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร

ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน หากเมื่อพิจารณาโทษแห่ง
วิตกเหล่านั้นอยู่ วิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง
ยังเกิดขึ้นอีกนั่นแล ฯลฯ เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิ
ในภายในโดยแท้
[๒๑๙] ภิกษุทั้งหลาย
๔. หากเมื่อภิกษุนั้นไม่ระลึกถึง ไม่มนสิการวิตกเหล่านั้น วิตกอัน
เป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง
ประกอบด้วยโมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอีก ภิกษุนั้นควรมนสิการวิตักก-
สังขารสัณฐาน๑ แห่งวิตกเหล่านั้น เมื่อเธอมนสิการวิตักกสังขาร-
สัณฐานแห่งวิตกเหล่านั้น เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่ง
ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วย
โมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ไม่ได้
เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ
เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ คนเดินเร็ว
เขาจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราจะรีบเดินทำไม ถ้ากระไร เราควร
ค่อย ๆ เดิน’ เขาก็ค่อย ๆ เดิน เขาจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า
‘เราจะค่อย ๆ เดินทำไม ถ้ากระไร เราควรยืน’ เขาก็ยืน เขาจะ
พึงมีความคิดอย่างนี้อีกว่า ‘เราจะยืนอยู่ทำไม ถ้ากระไร เราควรนั่ง’
เขาจึงนั่ง เขาจะพึงมีความคิดอย่างนี้อีกว่า ‘เราจะนั่งอยู่ทำไม
ถ้ากระไร เราควรนอน’ เขาก็นอน คนผู้นั้นเว้นอิริยาบถหยาบ ๆ
แล้วพึงใช้อิริยาบถละเอียด ๆ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน
หากเมื่อไม่ระลึกถึง ไม่มนสิการวิตกเหล่านั้น วิตกอันเป็นบาปอกุศล

เชิงอรรถ :
๑ วิตักกสังขารสัณฐาน หมายถึงที่ตั้งแห่งเหตุของวิตก (ม.มู.อ. ๑/๒๑๙/๔๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร

ซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ... ยังเกิดขึ้นอีกนั่นแล ฯลฯ เป็น
ภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้
[๒๒๐] ภิกษุทั้งหลาย
๕. หากเมื่อภิกษุนั้นมนสิการถึงวิตักกสังขารสัณฐานแห่งวิตกแม้เหล่านั้น
วิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วย
โทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอีก ภิกษุนั้นควรกด
ฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้
เร่าร้อน เมื่อเธอกดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิต
ข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่ง
ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วย
โมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้
เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ
เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ คนผู้มีกำลัง
มากจับคนผู้มีกำลังน้อยกว่าได้แล้วบีบ กด เค้น ที่ศีรษะ คอ
หรือก้านคอไว้ให้แน่น แม้ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน
หากเมื่อมนสิการถึงวิตักกสังขารสัณฐานแห่งวิตกแม้เหล่านั้น
วิตกอันเป็นบาปอกุศล ซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วย
โทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้าง ยังเกิดขึ้นอีก ภิกษุนั้นควรกด
ฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้
เร่าร้อน เมื่อเธอกดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิต
ข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่ง
ประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วย
โมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ไม่ได้
เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ
เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร

ผู้ชำนาญวิถีทางแห่งวิตก

[๒๒๑] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใด วิตก
อันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วย
โมหะบ้างย่อมเกิดขึ้น เมื่อเธอมนสิการนิมิตอื่นซึ่งประกอบด้วยกุศลนอกจาก
นิมิตนั้น เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบ
ด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่
ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะ
ที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาโทษแห่งวิตก
เหล่านั้นอยู่ เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบ
ด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่
ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะ
ที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้ เมื่อภิกษุนั้นไม่ระลึกถึง ไม่มนสิการ
วิตกเหล่านั้น เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง
ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น
ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ
เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้
เมื่อภิกษุนั้นมนสิการวิตักกสังขารสัณฐานแห่งวิตกเหล่านั้น เธอย่อมละวิตก
อันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วย
โมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็น
บาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิ
ในภายในโดยแท้ เมื่อภิกษุนั้นกดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต
ทำจิตให้เร่าร้อน เธอย่อมละวิตกอันเป็นบาปอกุศลซึ่งประกอบด้วยฉันทะบ้าง
ประกอบด้วยโทสะบ้าง ประกอบด้วยโมหะบ้างได้ วิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งมั่น สงบ
เป็นภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น มีสมาธิในภายในโดยแท้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า ‘ผู้ชำนาญในวิถีทางแห่งวิตก เธอหวังวิตก
ใดก็จักตรึกถึงวิตกนั้นได้ ไม่หวังวิตกใดก็จักไม่ตรึกถึงวิตกนั้นได้ ตัดตัณหาได้แล้ว
คลายสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

วิตักกสัณฐานสูตรที่ ๑๐ จบ
สีหนาทวรรคที่ ๒ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. จูฬสีหนาทสูตร ๒. มหาสีหนาทสูตร
๓. มหาทุกขักขันธสูตร ๔. จูฬทุกขักขันธสูตร
๕. อนุมานสูตร ๖. เจโตขีลสูตร
๗. วนปัตถสูตร ๘. มธุปิณฑิกสูตร
๙. เทฺวธาวิตักกสูตร ๑๐. วิตักกสัณฐานสูตร


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑. กกจูปมสูตร

๓. โอปัมมวรรค
หมวดว่าด้วยข้ออุปมา
๑. กกจูปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยเลื่อย

[๒๒๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับ
ภิกษุณีทั้งหลายเกินเวลา ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลาย
อย่างนี้ ถ้าภิกษุบางรูปติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าท่านพระโมลิยผัคคุนะ ท่าน
พระโมลิยผัคคุนะก็โกรธไม่พอใจภิกษุรูปนั้นถึงกับก่ออธิกรณ์๑ขึ้นก็มี อนึ่ง ถ้าภิกษุ
บางรูปติเตียนท่านพระโมลิยผัคคุนะต่อหน้าภิกษุณีเหล่านั้น ภิกษุณีเหล่านั้นก็พากัน
โกรธไม่พอใจภิกษุรูปนั้นถึงกับก่ออธิกรณ์ขึ้นก็มี ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับ
ภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีเกิน
เวลา ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีอย่างนี้ ถ้าภิกษุบางรูป
ติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อหน้าท่านพระโมลิยผัคคุนะ ท่านพระโมลิยผัคคุนะก็โกรธ

เชิงอรรถ :
๑ อธิกรณ์ หมายถึงเรื่องที่สงฆ์จะต้องดำเนินการ มี ๔ อย่าง คือ (๑) วิวาทาธิกรณ์ การเถียงกันเกี่ยวกับ
พระธรรมวินัย (๒) อนุวาทาธิกรณ์ การโจทหรือกล่าวหากันด้วยอาบัติ (ละเมิดสิกขาบท) (๓) อาปัตตาธิกรณ์
การต้องอาบัติ การปรับอาบัติ และการแก้ไขตัวให้พ้นจากอาบัติ (๔) กิจจาธิกรณ์ กิจธุระต่าง ๆ ที่สงฆ์จะ
ต้องทำ เช่น ให้อุปสมบท ให้ผ้ากฐิน แต่ในที่นี้หมายถึงอนุวาทาธิกรณ์ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๑๕/๑๒, ม.มู.อ.
๒/๒๒๒/๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑. กกจูปมสูตร

ไม่พอใจภิกษุรูปนั้นถึงกับก่ออธิกรณ์ขึ้นก็มี อนึ่ง ถ้าภิกษุบางรูปติเตียนท่านพระ-
โมลิยผัคคุนะต่อหน้าภิกษุณีเหล่านั้น ภิกษุณีเหล่านั้นก็พากันโกรธไม่พอใจภิกษุรูป
นั้นถึงกับก่ออธิกรณ์ขึ้นก็มี ท่านพระโมลิยผัคคุนะอยู่คลุกคลีกับพวกภิกษุณีอย่างนี้”

ทรงเตือนพระโมลิยผัคคุนะที่โกรธ

[๒๒๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า
“มาเถิด ภิกษุ เธอจงไปเรียกโมลิยผัคคุนภิกษุตามคำของเราว่า ‘ท่านผัคคุนะ
พระศาสดาตรัสเรียกท่าน”
ภิกษุรูปนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเข้าไปหาท่านพระโมลิยผัคคุนะถึงที่อยู่แล้ว
ได้กล่าวกับท่านว่า “ท่านผัคคุนะ พระศาสดาตรัสเรียกท่าน”
ท่านพระโมลิยผัคคุนะรับคำภิกษุรูปนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านโมลิยผัคคุนะว่า
“ผัคคุนะ จริงหรือที่เขาลือกันว่า เธออยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลายเกินเวลา
เธออยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้ ถ้าภิกษุบางรูปติเตียนภิกษุณีเหล่านั้น
ต่อหน้าเธอ เธอก็โกรธไม่พอใจภิกษุรูปนั้นถึงกับก่ออธิกรณ์ขึ้นก็มี อนึ่ง ถ้าภิกษุ
บางรูปติเตียนเธอต่อหน้าภิกษุณีทั้งหลาย ภิกษุณีเหล่านั้นก็พากันโกรธ ไม่พอใจ
ภิกษุรูปนั้นถึงกับก่ออธิกรณ์ขึ้นก็มี จริงหรือที่เธออยู่คลุกคลีกับภิกษุณีทั้งหลายอย่างนี้”
ท่านพระโมลิยผัคคุนะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามต่อไปว่า “เธอเป็นกุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตด้วยศรัทธามิใช่หรือ”
ท่านพระโมลิยผัคคุนะทูลว่า “อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
[๒๒๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผัคคุนะ การที่เธออยู่คลุกคลีกับภิกษุณี
ทั้งหลายเกินเวลานี้ ไม่สมควรแก่เธอผู้เป็นกุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑. กกจูปมสูตร

ด้วยศรัทธาเลย เพราะฉะนั้น แม้ถ้าภิกษุบางรูปจะพึงติเตียนภิกษุณีเหล่านั้นต่อ
หน้าเธอ แม้ในข้อนั้น เธอก็ควรละฉันทะและวิตกอันอาศัยเรือน๑เสีย แม้ในข้อนั้น
เธอควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ
และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะ’ ผัคคุนะ
เธอควรสำเหนียกอย่างนี้แล
เพราะฉะนั้น ถ้าใคร ๆ จะพึงทำร้ายภิกษุณีเหล่านั้นด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน
ท่อนไม้ และศัสตราต่อหน้าเธอ แม้ในข้อนั้น เธอก็ควรละฉันทะและวิตกอันอาศัย
เรือนเสีย เธอควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่ง
วาจาชั่วหยาบ และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มีเมตตาจิต ไม่มี
โทสะ’ เธอควรสำเหนียกอย่างนี้แล
เพราะฉะนั้น ถ้าใคร ๆ ติเตียนต่อหน้าเธอ แม้ในข้อนั้น เธอควรละฉันทะ
และวิตกอันอาศัยเรือนเสีย เธอควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน
เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มี
เมตตาจิต ไม่มีโทสะ’ เธอควรสำเหนียกอย่างนี้แล
ผัคคุนะ เพราะฉะนั้น ถ้าใคร ๆ จะพึงทำร้ายเธอด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้
และศัสตรา แม้ในข้อนั้น เธอควรละฉันทะและวิตกอันอาศัยเรือนเสีย เธอควร
สำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และ
จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะ’ ผัคคุนะ
เธอควรสำเหนียกอย่างนี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ อาศัยเรือน หมายถึงอาศัยกามคุณ ๕ (คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) (ม.มู.อ. ๒/๒๒๔/๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑. กกจูปมสูตร

ประโยชน์ของการฉันอาหารมื้อเดียว

[๒๒๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย สมัยหนึ่ง ภิกษุจำนวนมากได้ทำให้เรามีจิตยินดี เราได้เตือนภิกษุทั้งหลาย
ณ ที่นี้ว่า ‘เราฉันอาหารมื้อเดียว๑ เราเมื่อฉันอาหารมื้อเดียว ย่อมรู้สึกว่ามี
อาพาธน้อย มีความลำบากกายน้อย มีความเบากาย มีกำลัง และอยู่อย่างผาสุก
มาเถิด แม้พวกเธอก็จงฉันอาหารมื้อเดียว แม้เธอทั้งหลายเมื่อฉันอาหารมื้อเดียว
จักรู้สึกว่ามีอาพาธน้อย มีความลำบากกายน้อย มีความเบากาย มีกำลัง และ
อยู่อย่างผาสุก’ เราไม่ต้องพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้นอีก เพียงแต่ทำให้สติเกิดขึ้นใน
ภิกษุเหล่านั้นเท่านั้น รถที่เทียมด้วยม้าอาชาไนย ซึ่งฝึกมาดีแล้ว แล่นไปตาม
ทางใหญ่สี่แพร่ง บนพื้นราบเรียบโดยไม่ต้องใช้แส้ เพียงแต่นายสารถีผู้ฝึกหัดม้าที่
ฉลาดขึ้นรถแล้วจับสายบังเหียนด้วยมือซ้าย จับแส้ด้วยมือขวา เตือนม้าให้วิ่งตรงไป
หรือเลี้ยวกลับไปตามถนนที่ต้องการได้ตามความปรารถนา แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้น
เหมือนกัน ไม่ต้องพร่ำสอนภิกษุเหล่านั้นอีก เพียงแต่ทำให้สติเกิดขึ้นในภิกษุ
เหล่านั้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น แม้เธอทั้งหลายก็จงละอกุศลธรรม จงทำความ
พากเพียรในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เธอทั้งหลายก็จักถึงความเจริญ
งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้
ภิกษุทั้งหลาย ป่าสาละอันกว้าง ใกล้บ้านหรือนิคม ป่านั้นรกไปด้วยต้นละหุ่ง
บุรุษบางคนหวังดี หวังประโยชน์ และหวังความเจริญเติบโตของต้นสาละนั้น เขา
จึงตัดหน่อต้นสาละที่คด ซึ่งคอยแย่งอาหารแล้วนำออกไปทิ้งที่ภายนอก แผ้วถาง
ภายในป่าให้สะอาดเรียบร้อย คอยบำรุงรักษาต้นสาละเล็ก ๆ ซึ่งตรง แข็งแรงดี
ไว้อย่างดี ด้วยการกระทำดังกล่าวมานี้ ต่อมา ป่าไม้สาละนั้นก็เจริญ งอกงาม
ไพบูลย์ขึ้นโดยลำดับ แม้ฉันใด แม้เธอทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงละอกุศลธรรม
จงทำความพากเพียรในกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอทั้งหลายก็จักถึง
ความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้

เชิงอรรถ :
๑ ฉันอาหารมื้อเดียว หมายถึงการฉันอาหารในเวลาเช้า คือตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงเวลาเที่ยงวัน แม้ภิกษุ
ฉันอาหาร ๑๐ ครั้ง ในช่วงเวลานี้ก็ประสงค์ว่า ฉันอาหารมื้อเดียว (ม.มู.อ. ๒/๒๒๕/๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑. กกจูปมสูตร

นางเวเทหิกาบันดาลโทสะ

[๒๒๖] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ในกรุงสาวัตถีนี้แล ได้มีหญิงแม่
เรือนชื่อเวเทหิกา เธอมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า ‘หญิงแม่เรือนชื่อ
เวเทหิกาเป็นคนเรียบร้อย เจียมตน ใจเย็น และเธอมีสาวใช้ชื่อกาลีเป็นคนขยัน
ไม่เกียจคร้าน จัดการงานดี’
ต่อมา สาวใช้ชื่อกาลีได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘กิตติศัพท์อันงามของนายหญิง
ของเราขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า ‘หญิงแม่เรือนชื่อเวเทหิกาเป็นคนเรียบร้อย เจียมตน
ใจเย็น นายหญิงของเราไม่แสดงความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้ปรากฏ หรือว่า
หล่อนไม่มีความโกรธอยู่เลย หรือนายหญิงของเราไม่แสดงความโกรธที่มีอยู่ใน
ภายในให้ปรากฏ เพราะเราจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี ไม่ใช่หล่อนไม่มีความ
โกรธ ทางที่ดี เราจะต้องทดลองนายหญิงดู’ วันรุ่งขึ้น นางกาลีก็แกล้งตื่นสาย
ฝ่ายหญิงแม่เรือนชื่อเวเทหิกาได้ตวาดสาวใช้ชื่อกาลีว่า ‘เฮ้ย นางกาลี’
นางกาลีขานรับว่า ‘อะไรเจ้าค่ะ นายหญิง’
นางเวเทหิกาถามว่า ‘เฮ้ย ทำไมจึงตื่นสาย’
นางกาลีตอบว่า ‘ไม่มีอะไรเจ้าค่ะ’
นางจึงกล่าวอีกว่า ‘เฮ้ย นางชาติชั่ว เมื่อไม่มีอะไร ทำไมจึงตื่นสาย’ แล้วโกรธ
ไม่พอใจ ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด
ลำดับนั้น นางกาลีได้คิดว่า‘นายหญิงของเราไม่แสดงความโกรธที่มีอยู่ใน
ภายในเท่านั้น ไม่ใช่หล่อนไม่มีความโกรธ ที่ไม่แสดงความโกรธที่มีอยู่ในภายใน
ให้ปรากฏ ก็เพราะเราจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี ไม่ใช่หล่อนไม่มีความโกรธ
ทางที่ดี เราจะต้องทดลองนายหญิงให้ยิ่งขึ้นไป’ ต่อมา นางกาลีก็ตื่นสายกว่าทุกวัน
ครั้งนั้น หญิงแม่เรือนชื่อเวเทหิกา ก็ร้องตวาดด่านางกาลีอีกว่า ‘เฮ้ย นางกาลี’
นางกาลีขานรับว่า ‘อะไรเจ้าค่ะ นายหญิง’
นางเวเทหิกาถามว่า ‘เฮ้ย ทำไมจึงตื่นสาย’
นางกาลีตอบว่า ‘ไม่มีอะไรเจ้าค่ะ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑. กกจูปมสูตร

นางจึงกล่าวอีกว่า ‘เฮ้ย นางชาติชั่ว เมื่อไม่มีอะไร ทำไมจึงตื่นสายเล่า’
แล้วโกรธ ไม่พอใจ แผดเสียงด้วยความขุ่นเคือง
ลำดับนั้น นางกาลีได้คิดว่า ‘นายหญิงของเราไม่แสดงความโกรธที่มีอยู่ใน
ภายในเท่านั้น ไม่ใช่หล่อนไม่มีความโกรธ ที่ไม่แสดงความโกรธที่มีอยู่ในภายในให้
ปรากฏ ก็เพราะเราจัดการงานทั้งหลายเรียบร้อยดี ไม่ใช่หล่อนไม่มีความโกรธ ทาง
ที่ดี เราจะต้องทดลองให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก’ ต่อมา นางกาลีก็ตื่นสายยิ่งกว่าทุกวัน
ครั้งนั้น หญิงแม่เรือนชื่อเวเทหิกาก็ร้องตวาดด่านางกาลีว่า ‘เฮ้ย นางกาลี
ชาติชั่ว’
นางกาลีขานรับว่า ‘อะไรเจ้าค่ะ นายหญิง’
นางเวเทหิกาถามว่า ‘เฮ้ย ทำไมจึงตื่นสายนัก’
นางกาลีตอบว่า ‘ไม่มีอะไรเจ้าค่ะ’
นางจึงกล่าวอีกว่า ‘เฮ้ย นางชาติชั่ว เมื่อไม่มีอะไร ทำไมจึงตื่นสายเล่า’
แล้วโกรธจัด คว้าลิ่มประตูขว้างศีรษะ ปากก็ด่าว่า ‘ข้าจะตีหัวเอ็งให้แตก’
คราวนั้น นางกาลีหัวแตกมีเลือดไหลโชก เที่ยวโพนทะนาแก่คนบ้านใกล้
เรือนเคียงว่า ‘พ่อคุณแม่คุณทั้งหลาย ขอเชิญดูการกระทำของคนเรียบร้อย เจียมตน
ใจเย็นเถิด นางโกรธไม่พอใจว่าตื่นสาย จึงคว้าลิ่มประตูขว้างศีรษะของสาวใช้คนหนึ่ง
ปากก็ด่าว่า ‘ข้าจะตีหัวเอ็งให้แตก’
ภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่นั้นมา กิตติศัพท์อันชั่วช้าของหญิงแม่เรือนชื่อเวเทหิกา
ก็ขจรไปอย่างนี้ว่า ‘หญิงแม่เรือนชื่อเวเทหิกา เป็นหญิงดุร้าย ไม่เจียมตน ใจร้อน’
แม้ฉันใด ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้เรียบร้อยนักเรียบร้อยหนา
เจียมตนนักเจียมตนหนา ใจเย็นนักใจเย็นหนา ก็เพียงชั่วเวลาที่ถ้อยคำอันไม่เป็นที่
พอใจไม่มากระทบเท่านั้น แต่เมื่อใด ถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจมากระทบเธอเข้า เมื่อนั้น
ควรทราบว่า ‘เธอเป็นผู้เรียบร้อย เป็นผู้เจียมตน เป็นผู้ใจเย็นจริง‘๑ ภิกษุที่ทำตน

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความนี้มีความหมายว่า เมื่อใด ถ้อยคำที่ไม่น่าพอใจมากระทบโสตประสาทเธอเข้า แล้วเธอสามารถ
ดำรงอยู่ในอธิวาสนขันติ(ความอดทนคือความอดกลั้น)ได้ ไม่โกรธ พึงทราบว่า เธอเป็นผู้เรียบร้อย เจียมตน
และใจเย็น (ม.มู.อ. ๒/๒๒๖/๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑. กกจูปมสูตร

เป็นคนว่าง่าย ถึงความเป็นผู้ว่าง่าย เพราะเหตุแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร๑ เราไม่เรียกว่า ‘เป็นผู้ว่าง่ายเลย’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะภิกษุนั้นเมื่อไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารนั้น
ก็จะไม่เป็นผู้ว่าง่าย ไม่ถึงความเป็นผู้ว่าง่าย แต่ภิกษุผู้สักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อมธรรม เป็นผู้ว่าง่าย ถึงความเป็นผู้ว่าง่าย เราเรียกว่า ‘เป็นผู้ว่าง่าย’
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราจักสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา นอบน้อมธรรม จักเป็นผู้ว่าง่าย จักถึงความเป็นผู้ว่าง่าย’

อุบายระงับความโกรธ

[๒๒๗] ภิกษุทั้งหลาย วิธีพูดที่บุคคลอื่นจะใช้พูดกับเธอทั้งหลาย ๕ ประการนี้
คือ

๑. พูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควร
๒. พูดเรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง
๓. พูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคาย
๔. พูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์
๕. มีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด

บุคคลอื่นเมื่อพูด จะพึงพูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะพึงพูด
เรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ตาม จะพึงพูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม
จะพึงพูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ก็ตาม จะพึงมีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด
ก็ตาม ในข้อนั้น เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน
เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มี
เมตตาจิต ไม่มีโทสะ เราจักแผ่เมตตาจิตไปให้บุคคลนั้นอยู่ และเราจักแผ่เมตตาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ๒ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนไปยังสัตว์โลก
ทุกหมู่เหล่าอันเป็นอารมณ์ของเมตตาจิตนั้นอยู่’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๒๓ (สัพพาสวสูตร) หน้า ๒๓ ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๖๘ (อากังเขยยสูตร) หน้า ๖๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑. กกจูปมสูตร

ทำใจให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน

[๒๒๘] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาจอบและตะกร้ามาแล้วพูด
อย่างนี้ว่า ‘เราจักทำแผ่นดินใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดิน’ เขาขุดลงตรงที่นั้น ๆ โกย
เศษดินทิ้งลงไปในที่นั้น ๆ บ้วนน้ำลายลงในที่นั้น ๆ ถ่ายปัสสาวะรดลงในที่นั้น ๆ
แล้วพูดสำทับว่า ‘เอ็งอย่าเป็นแผ่นดิน เอ็งอย่าเป็นแผ่นดิน’ เธอทั้งหลายเข้าใจ
ความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นพึงทำแผ่นดินใหญ่นี้ไม่ให้เป็นแผ่นดินได้หรือไม่”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะแผ่นดินใหญ่นี้ลึกหาประมาณมิได้ เขาจะทำ
แผ่นดินใหญ่นั้นไม่ให้เป็นแผ่นดินไม่ได้ง่าย บุรุษนั้นจะต้องได้รับความเหน็ดเหนื่อย
และความลำบากใจเป็นแน่แท้”
“ภิกษุทั้งหลาย วิธีพูดที่บุคคลอื่นจะใช้พูดกับเธอทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีอยู่ ๕ ประการนี้ คือ

๑. พูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควร
๒. พูดเรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง
๓. พูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคาย
๔. พูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์
๕. มีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด

บุคคลอื่นเมื่อพูด จะพึงพูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะพึงพูด
เรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ตาม จะพึงพูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม
จะพึงพูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ก็ตาม จะพึงมีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด
ก็ตาม ในข้อนั้น เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน
เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มี
เมตตาจิต ไม่มีโทสะ เราจักแผ่เมตตาจิตไปให้บุคคลนั้นอยู่ และเราจักแผ่เมตตาจิต
อันไพบูลย์ เสมอด้วยแผ่นดิน เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียน ไปยังสัตว์โลกทุกหมู่เหล่าอันเป็นอารมณ์ของเมตตาจิตนั้นอยู่’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑. กกจูปมสูตร

ทำใจให้ว่างเหมือนอากาศ

[๒๒๙] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษถือเอาครั่งสีเหลือง สีเขียว หรือ
สีแดงเลือดนกมาแล้วพูดอย่างนี้ว่า ‘เราจักเขียนรูปในอากาศนี้ ทำให้เป็นรูปปรากฏ’
เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นจะเขียนรูปในอากาศนี้ ทำให้เป็น
รูปปรากฏได้หรือไม่”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะอากาศนี้ไม่มีรูปร่าง ชี้ให้เห็นไม่ได้ เขาจะ
เขียนรูปในอากาศนั้น ทำให้เป็นรูปปรากฏไม่ได้ง่ายเลย บุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อย
ลำบากใจเสียเปล่าเป็นแน่”
“ภิกษุทั้งหลาย วิธีพูดที่บุคคลอื่นจะใช้พูดกับเธอทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีอยู่ ๕ ประการนี้ คือ
๑. พูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควร
ฯลฯ
๕. มีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด
ฯลฯ และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ เสมอด้วยอากาศ เป็นมหัคคตะ
ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไปยังสัตว์โลกทุกหมู่เหล่าอันเป็น
อารมณ์ของเมตตาจิตนั้นอยู่’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้

ทำใจให้เย็นเหมือนแม่น้ำ

[๒๓๐] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษถือคบหญ้าที่ลุกโพลงมาแล้วพูด
อย่างนี้ว่า ‘เราจักเผาแม่น้ำคงคาให้ร้อนจัด เดือดเป็นควันพุ่งด้วยคบหญ้าที่ลุกโพลง
แล้วนี้’ เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นจักเผาแม่น้ำคงคาให้ร้อน
จัด เดือดเป็นควันพุ่งด้วยคบหญ้าที่ลุกโพลงแล้วได้หรือไม่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑. กกจูปมสูตร

“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำที่ลึกสุดประมาณ เขาจะ
ทำแม่น้ำคงคานั้นให้ร้อนจัด เดือดเป็นควันพุ่งด้วยคบหญ้าที่ลุกโพลงแล้วไม่ได้ง่ายเลย
บุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากใจเสียเปล่าเป็นแน่”
“ภิกษุทั้งหลาย วิธีพูดที่บุคคลอื่นจะใช้พูดกับเธอทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีอยู่ ๕ ประการนี้ คือ
๑. พูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควร
ฯลฯ
๕. มีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด
ฯลฯ และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ เสมอด้วยแม่น้ำ เป็นมหัคคตะ ไม่มี
ขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนไปยังสัตว์โลกทุกหมู่เหล่าอันเป็นอารมณ์ของ
เมตตาจิตนั้นอยู่’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้

ทำใจให้อ่อนโยนเหมือนกระสอบหนังแมว

[๒๓๑] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนกระสอบหนังแมวที่ฟอกแล้ว ฟอก
สะอาดแล้ว ฟอกเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่น ตีไม่มีเสียง ตีไม่ดัง ถ้ามีบุรุษ
ถือเอาไม้หรือกระเบื้องมาแล้วพูดอย่างนี้ว่า ‘เราจักทำกระสอบหนังแมวนี้ที่ฟอกแล้ว
ฟอกสะอาดแล้ว ฟอกเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่น ตีไม่มีเสียง ตีไม่ดัง ให้มี
เสียงดังก้องด้วยไม้หรือกระเบื้อง’ เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้น
จะทำกระสอบหนังแมวนี้ที่ฟอกแล้ว ฟอกสะอาดแล้ว ฟอกเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่ม
ดังปุยนุ่น ตีไม่มีเสียง ตีไม่ดัง ให้กลับมีเสียงดังก้องขึ้นด้วยไม้หรือกระเบื้องได้
หรือไม่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑. กกจูปมสูตร

“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกระสอบหนังแมวนี้ที่เขาฟอกแล้ว ฟอกสะอาด
แล้ว ฟอกเรียบร้อยแล้ว อ่อนนุ่มดังปุยนุ่น ตีไม่มีเสียง ตีไม่ดัง เขาจะทำกระสอบ
หนังแมวนั้นให้กลับมีเสียงดังก้องขึ้นด้วยไม้หรือกระเบื้องไม่ได้ง่ายเลย บุรุษนั้นจะ
ต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากใจเสียเปล่าเป็นแน่”
“ภิกษุทั้งหลาย วิธีพูดที่บุคคลอื่นจะใช้พูดกับพวกเธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีอยู่ ๕ ประการนี้ คือ

๑. พูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควร
๒. พูดเรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง
๓. พูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคาย
๔. พูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์
๕. มีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด

บุคคลอื่นเมื่อพูด จะพึงพูดตามกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะพึงพูด
เรื่องที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ตาม จะพึงพูดคำที่อ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม
จะพึงพูดคำที่มีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ก็ตาม จะพึงมีเมตตาจิตพูดหรือมีโทสะพูด
ก็ตาม ในข้อนั้น เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน
เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มี
เมตตาจิต ไม่มีโทสะ เราจักแผ่เมตตาจิตไปให้บุคคลนั้นอยู่ และเราจักแผ่เมตตาจิต
อันไพบูลย์ เสมอด้วยกระสอบหนังแมว เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่
มีความเบียดเบียนไปยังสัตว์โลกทุกหมู่เหล่าอันเป็นอารมณ์ของเมตตาจิตนั้นอยู่’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑. กกจูปมสูตร

โอวาทอุปมาด้วยเลื่อย

[๒๓๒] ภิกษุทั้งหลาย หากพวกโจรผู้ประพฤติต่ำทราม จะพึงใช้เลื่อยที่มี
ที่จับ ๒ ข้างเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้มีใจคิดร้ายแม้ในพวกโจรนั้น ก็ไม่ชื่อว่าทำ
ตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น แม้ในข้อนั้น เธอทั้งหลาย
ควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘จิตของเราจักไม่แปรผัน เราจักไม่เปล่งวาจาชั่วหยาบ และ
จักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่อย่างผู้มีเมตตาจิต ไม่มีโทสะ เราจักแผ่เมตตาจิต
ไปให้บุคคลนั้นอยู่ และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนไปยังสัตว์โลกทุกหมู่เหล่าอันเป็นอารมณ์ของเมตตาจิต
นั้นอยู่’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกด้วยอาการดังกล่าวมานี้
[๒๓๓] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรมนสิการถึงโอวาทซึ่งมีอุปมาด้วยเลื่อย
นี้เนือง ๆ เถิด เธอทั้งหลายเห็นวิธีพูดที่มีโทษน้อยหรือมีโทษมาก ที่เธอทั้งหลาย
อดกลั้นไม่ได้หรือไม่”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจงมนสิการ
ถึงโอวาทซึ่งมีอุปมาด้วยเลื่อยนี้เนือง ๆ เถิด ข้อนั้นจักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อสุขแก่
เธอทั้งหลายสิ้นกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ-
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

กกจูปมสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

๒. อลคัททูปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยอสรพิษ

[๒๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
๑สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นแก่ภิกษุชื่ออริฏฐะ
ผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้ง๒ว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงแล้ว จนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมก่ออันตราย๓
ก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”๔
ภิกษุหลายรูปได้ทราบข่าวว่า “ทิฏฐิชั่วเช่นนี้ได้เกิดขึ้นแก่อริฏฐภิกษุผู้มี
บรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว
จนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมก่ออันตราย ก็หา

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๑๗/๕๒๕-๕๒๘, วิ.จู. (แปล) ๖/๖๕/๑๓๑
๒ คทฺธาธิปุพฺโพ ผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้ง อรรถกถาอธิบายว่า คทฺเธ พาธยึสูติ คทฺธพาธิโน,
คทฺธพาธิโน ปุพฺพปุริสา อสฺสาติ คทฺธพาธิปุพฺโพ. ... คิชฺฌฆาฏกกุลปฺปสูตสฺส (พรานฆ่านกแร้งเป็นบรรพบุรุษ
ของเขา เหตุนั้น เขาจึงชื่อว่าเป็นผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้ง) หมายความว่า เป็นคนเกิดในตระกูล
พรานฆ่านกแร้ง (วิ.อ. ๒/๔๑๗/๔๑๘)
๓ ธรรมก่ออันตราย หมายถึงธรรมก่ออันตราย ๕ อย่าง คือ (๑) กรรม ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ (๒) กิเลส
ได้แก่ นิยตมิจฉาทิฏฐิ (๓) วิบาก ได้แก่ การเกิดเป็นบัณเฑาะก์ สัตว์ดิรัจฉาน และสัตว์ ๒ เพศ
(๔)อริยุปวาท ได้แก่ การว่าร้ายพระอริยเจ้า (๕) อาณาวีติกกมะ ได้แก่ อาบัติ ๗ กองที่ภิกษุจงใจล่วงละเมิด
(ม.มู.อ. ๒/๒๓๔/๙)
๔ พระอริฏฐะ รูปนี้เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก รู้แต่อันตรายิกธรรมบางส่วน แต่ไม่รู้เรื่องอันตรายิกธรรมแห่ง
การล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติ เพราะเหตุที่ท่านไม่ฉลาดเรื่องวินัย ดังนั้น ท่านจึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า
“พวกคฤหัสถ์ที่ยุ่งเกี่ยวอยู่กับกามคุณ ที่เป็นโสดาบันก็มี เป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี แม้พวก
ภิกษุก็ยังเห็นรูปที่น่าชอบใจที่จะพึงรู้ด้วยจักษุ ฯลฯ ยังถูกต้องสิ่งสัมผัสที่จะพึงรู้ด้วยกาย ยังใช้สอยผ้าปู
ผ้าห่มอ่อนนุ่ม สิ่งนั้นทั้งหมดยังถือว่าควร เพราะเหตุไร รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของหญิงจึงจะไม่ควร
สิ่งเหล่านั้นต้องควรแน่นอน” ครั้นเกิดทิฏฐิชั่วขึ้นมาแล้ว ก็โต้แย้งพระสัพพัญญุตญาณคัดค้านเวสารัชช-
ญาณใส่ตอและหนามในอริยมรรคว่า “ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติปฐมปาราชิกอย่างกวดขัน
ประดุจกั้นมหาสมุทร ในข้อนี้ไม่มีโทษ” ประหารอาณาจักรของพระชินเจ้าด้วยกล่าวว่า “เมถุนธรรม ไม่มี
โทษ” (วิ.อ. ๒/๔๑๗/๔๑๘-๔๑๙, ม.มู.อ. ๒/๒๓๔/๙-๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

สามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่” ครั้นแล้วภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปหา
อริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกับอริฏฐภิกษุผู้มี
บรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งดังนี้ว่า “ท่านอริฏฐะ ได้ทราบว่า ทิฏฐิชั่วเช่นนี้ได้
เกิดขึ้นแก่ท่านว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จนกระทั่งว่า
ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมก่ออันตราย ก็หาสามารถก่อ
อันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่’ จริงหรือ”
อริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งกล่าวว่า “เหมือนจะเป็นอย่างนั้น
ท่านทั้งหลาย เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จนกระทั่งว่าธรรม
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมก่ออันตราย ก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้
ซ่องเสพได้จริงไม่”
ลำดับนั้น ภิกษุเหล่านั้นปรารถนาจะปลดเปลื้องอริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็น
พรานฆ่านกแร้งจากทิฏฐิชั่วนี้ จึงซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนด้วยคำพูดว่า “ท่านอริฏฐะ
ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
ไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตรายไว้โดยประการ
ต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายให้แก่ผู้ซ่องเสพได้จริง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
‘กามทั้งหลาย๑มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
มีโทษยิ่งใหญ่
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ฯลฯ
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า ฯลฯ
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ฯลฯ
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนความฝัน ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๑๗/๕๒๖-๕๒๗, องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๗๖/๑๓๔, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓/๗-๘,
ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๗/๔๖๙-๔๗๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

กามทั้งหลายเปรียบเหมือนของที่ขอยืมมา ฯลฯ
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนผลไม้คาต้น๑ ฯลฯ
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนเขียงหั่นเนื้อ ฯลฯ
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหอกหลาว ฯลฯ
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่”
อริฏฐภิกษุถูกภิกษุเหล่านั้น ซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนอยู่อย่างนี้ แต่ก็ยังกล่าว
ด้วยความยึดมั่นถือมั่นทิฏฐิชั่วนั้นอยู่อย่างนั้นว่า “เหมือนจะเป็นอย่างนั้น ท่าน
ทั้งหลาย เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จนกระทั่งว่าธรรมตาม
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมก่ออันตราย ก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่อง
เสพได้จริงไม่”

อริฏฐภิกษุคัดค้านพระธรรม

[๒๓๕] เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถจะปลดเปลื้องอริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็น
พรานฆ่านกแร้งจากทิฏฐิชั่วนั้นได้ จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นแก่อริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็น
พรานฆ่านกแร้งว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จนกระทั่งว่า
ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตราย ก็หาสามารถก่ออันตราย
แก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่’ ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ฟังว่า ‘ได้ยินว่า ทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิด

เชิงอรรถ :
๑ ผลไม้คาต้น หมายถึงกามทั้งหลาย เปรียบเหมือนผลไม้มีพิษ เพราะบั่นทอนร่างกาย [วิสรุกฺขผลูปมา
สพฺพงฺคปจฺจงฺคปลิภญฺชนฏฺเŸน] (ม.มู.อ. ๒/๒๓๔/๑๐)
อีกนัยหนึ่ง คนที่ต้องการผลไม้ เที่ยวแสวงหาผลไม้ เมื่อพบต้นไม้ผลดกจึงปีนขึ้นไปเก็บกิน เก็บใส่ห่อ
อีกคนหนึ่งก็ต้องการผลไม้เช่นกัน เที่ยวแสวงหา พบเห็นต้นไม้ผลดกต้นเดียวกันนั้น แต่แทนที่จะปีนขึ้นไป
เก็บผลไม้กิน กลับเอาขวานตัดต้นไม้ผลดกนั้นในขณะที่คนแรกยังอยู่บนต้นไม้ อันตรายจึงเกิดขึ้นแก่เขา
(ดู. ม.ม. (แปล) ๑๓/๔๘/๔๕-๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

ขึ้นแก่อริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงแสดงแล้ว จนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมก่อ
อันตราย ก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่’
ลำดับนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายเข้าไปหาอริฏฐภิกษุแล้วได้ถามท่านว่า ‘ท่าน
อริฏฐะ ได้ทราบว่า ทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นแก่ท่านว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระ
ภาคทรงแสดงแล้ว จนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมก่อ
อันตราย ก็หาสามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่’ เมื่อข้าพระองค์
ทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ อริฏฐภิกษุได้พูดกับข้าพระองค์ทั้งหลายว่า ‘เหมือนจะเป็น
อย่างนั้น ท่านทั้งหลาย เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จนกระทั่ง
ว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นธรรมก่ออันตราย ก็หาสามารถก่ออันตราย
แก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่’
ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายปรารถนาจะปลดเปลื้องอริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษ
เป็นพรานฆ่านกแร้งจากทิฏฐิชั่วนั้น จึงซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนด้วยคำพูดว่า ‘ท่านอริฏฐะ
ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
ไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสอย่างนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมทั้งหลายที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตรายไว้
โดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
‘กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
มีโทษยิ่งใหญ่ ฯลฯ
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษ
ยิ่งใหญ่’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

อริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษ เป็นพรานฆ่านกแร้งถูกข้าพระองค์ทั้งหลายซักไซ้ ไล่เลียง
สอบสวนอยู่แม้อย่างนี้ ก็ยังกล่าวด้วยความยึดมั่นถือมั่นทิฏฐิชั่วนั้นอยู่อย่างนั้นว่า
‘เหมือนจะเป็นอย่างนั้นท่านทั้งหลาย เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว
จนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตราย ก็หาสามารถ
ก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่’ เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายไม่สามารถจะปลดเปลื้อง
อริฏฐภิกษุจากทิฏฐิชั่วได้ จึงกราบทูลเนื้อความนี้แด่พระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า”

โทษของทิฏฐิชั่ว

[๒๓๖] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า
“มาเถิด ภิกษุ เธอจงไปเรียกอริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งมา
ตามคำของเราว่า ‘ท่านอริฏฐะ พระศาสดาตรัสเรียกท่าน”
ภิกษุนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเข้าไปหาอริฏฐภิกษุถึงที่อยู่แล้วกล่าวกับท่านว่า
“ท่านอริฏฐะ พระศาสดาตรัสเรียกท่าน”
อริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งรับคำแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับอริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งว่า
“อริฏฐะ ได้ยินว่า ทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นแก่เธอว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงแล้ว จนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นธรรมก่ออันตราย
ก็หาสามารถทำอันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่’ จริงหรือ”
อริฏฐภิกษุกราบทูลว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมที่พระ
ผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว จนกระทั่งว่าธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็น
ธรรมก่ออันตราย ก็หาสามารถทำอันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริงไม่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมฆบุรุษ เธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้
แก่ใคร เรากล่าวธรรมที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตรายโดยประการต่าง ๆ
มิใช่หรือ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

เรากล่าวว่า ‘กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก
มีโทษยิ่งใหญ่
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก ...
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ...
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า ...
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง ...
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนความฝัน ...
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนของที่ขอยืมมา ...
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนผลไม้คาต้น ...
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนเขียงหั่นเนื้อ ...
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหอกหลาว ...
กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่’
โมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยทิฏฐิที่ถือไว้ผิด ชื่อว่า
ทำลายตนเองและชื่อว่าประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อความไม่
เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร อริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่า
นกแร้งนี้จะกระทำญาณให้สูงส่งในธรรมวินัยนี้ได้หรือไม่ได้”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความสูงส่งแห่งญาณไร ๆ
ที่จะพึงมีนั้นจักมีไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลอย่างนี้แล้ว อริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่า
นกแร้งก็นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้ง
นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงได้ตรัสกับเธอว่า
“โมฆบุรุษ เธอจักปรากฏด้วยทิฏฐิชั่วของตนเองนี้ เราจักสอบถามภิกษุทั้งหลาย
ในที่นี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

[๒๓๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายก็รู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ เหมือนที่อริฏฐภิกษุ
ผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งนี้กล่าวตู่เราด้วยทิฏฐิที่ยึดถือไว้ผิด ชื่อว่าทำลาย
ตนเองและชื่อว่าประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมากหรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้อนั้นไม่เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า เพราะว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมทั้งหลายที่ก่ออันตรายว่าเป็นธรรมก่ออันตรายแก่ข้าพระองค์
ทั้งหลายโดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตรายแก่ผู้ซ่องเสพ
ได้จริง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความ
คับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ กามทั้งหลายเปรียบเหมือนท่อนกระดูก มีทุกข์มาก
มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ ฯลฯ กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์มาก
มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ชอบแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ที่เธอทั้งหลายรู้ทั่ว
ถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้เหมือนที่เรากล่าวแล้วว่า ธรรมทั้งหลายเป็นธรรมก่อ
อันตรายแก่เธอทั้งหลายโดยประการต่าง ๆ และธรรมเหล่านั้นก็สามารถก่ออันตราย
แก่ผู้ซ่องเสพได้จริง เรากล่าวว่า ‘กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความ
คับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ กามทั้งหลายเปรียบเหมือนท่อนกระดูก มีทุกข์มาก
มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่ ฯลฯ กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์มาก
มีความคับแค้นมาก มีโทษยิ่งใหญ่’
เออก็ อริฏฐภิกษุผู้มีบรรพบุรุษเป็นพรานฆ่านกแร้งนี้กล่าวตู่เรา ด้วยทิฏฐิที่ยึด
ถือไว้ผิด ชื่อว่าทำลายตนเอง และชื่อว่าประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก ข้อนั้นจัก
เป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่อริฏฐโมฆบุรุษนั้นตลอดกาลนาน
ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่อริฏฐภิกษุนั้นจะเสพกามโดยปราศจากกาม
ปราศจากกามสัญญา และปราศจากกามวิตก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

การเล่าเรียนธรรมของโมฆบุรุษ

[๒๓๘] ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม
คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม
และเวทัลละ๑ พวกเขาเล่าเรียนธรรมนั้นแล้วไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้น
ด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นจึงไม่ประจักษ์ชัดแก่พวกเขา ผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วย
ปัญญา โมฆบุรุษเหล่านั้นเล่าเรียนธรรมมุ่งจะข่มขู่ผู้อื่น และมุ่งจะเปลื้องตนจากคำ
นินทาว่าร้าย ย่อมไม่ได้รับประโยชน์แห่งธรรมนั้น เหมือนที่เหล่ากุลบุตรเล่าเรียน
ธรรมได้รับ ธรรมเหล่านั้นที่พวกเขาเรียนไม่ดี ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์
เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะพวกเขาเรียนธรรมทั้งหลายมาไม่ดี
บุรุษผู้ต้องการงูพิษ เที่ยวเสาะแสวงหางูพิษ เขาพบงูพิษตัวใหญ่จึงจับมันที่
ขนดหางหรือที่หาง งูพิษนั้นจะพึงแว้งกัดเขาที่มือ ที่แขน หรือที่อวัยวะน้อยใหญ่
แห่งใดแห่งหนึ่ง เพราะการถูกกัดนั้นเขาก็จะตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย

เชิงอรรถ :
๑สุตตะ ได้แก่ อุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร มงคลสูตร รตนสูตร นาฬกสูตร ตุวัฏฏกสูตร ในสุตตนิบาต
และพุทธวจนะอื่น ๆ ที่มีชื่อว่าสุตตะ
เคยยะ ได้แก่ พระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด โดยเฉพาะสคาถวรรคในสังยุตตนิกาย
เวยยากรณะ ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพุทธพจน์อื่นที่ไม่
จัดเข้าในองค์ ๘ ที่เหลือ
คาถา ได้แก่ ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนในสุตตนิบาตที่ไม่มีชื่อว่าเป็นสูตร
อุทาน ได้แก่ พระสูตร ๘๒ สูตรที่เกี่ยวด้วยคาถาที่ทรงเปล่งด้วยพระหฤทัยสหรคตด้วยโสมนัสญาณ
อิติวุตตกะ ได้แก่ พระสูตร ๑๑๐ สูตร ที่ตรัสโดยนัยว่า วุตฺตมิทํ ภควตา เป็นต้น
ชาตกะ ได้แก่ ชาดก ๕๕๐ เรื่อง มีอปัณณกชาดก เป็นต้น
อัพภูตธรรม ได้แก่ พระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ทั้งหมด ที่ตรัสโดยนัยว่า “ภิกษุทั้งหลาย
ข้ออัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ อย่างนี้ หาได้ในอานนท์” ดังนี้เป็นต้น
เวทัลละ ได้แก่ พระสูตรแบบถาม-ตอบ ซึ่งผู้ถามได้ทั้งความรู้ และความพอใจ เช่น จูฬเวทัลลสูตร
มหาเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร สักกปัญหสูตร สังขารภาชนียสูตร และมหาปุณณมสูตร (ม.มู.อ.
๒/๒๓๘/๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเขาจับงูพิษไม่ดี แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เล่าเรียน
ธรรมคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูต-
ธรรม และเวทัลละ พวกเขาเล่าเรียนธรรมนั้นแล้วไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรม
เหล่านั้นด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นจึงไม่ประจักษ์ชัดแก่พวกเขาผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อ
ความด้วยปัญญา โมฆบุรุษเหล่านั้นเล่าเรียนธรรม มุ่งจะข่มขู่ผู้อื่น และมุ่งจะ
เปลื้องตนจากคำนินทาว่าร้าย ย่อมไม่ได้รับประโยชน์แห่งธรรมนั้น เหมือนที่เหล่า
กุลบุตรเล่าเรียนธรรมได้รับ ธรรมเหล่านั้นที่พวกเขาเรียนไม่ดี ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่ง
มิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะพวกเขาเรียนธรรมทั้งหลายมาไม่ดี

การเล่าเรียนธรรมของกุลบุตร

[๒๓๙] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม๑
คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม
และเวทัลละ พวกเขาเล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้น
ด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นจึงประจักษ์ชัด๒แก่พวกเขาผู้ไตร่ตรองเนื้อความด้วย

เชิงอรรถ :
๑ เล่าเรียนธรรม ในที่นี้หมายถึงเล่าเรียนนิตถรณปริยัติ แท้จริงปริยัติมี ๓ นัย คือ (๑) อลคัททูปริยัตติ
การเล่าเรียนเปรียบด้วยงูพิษ ได้แก่การเล่าเรียนมุ่งลาภสักการะด้วยคิดว่า ‘เราเล่าเรียนแล้วจักได้จีวร
หรือคนอื่นจะรู้จักเราในท่ามกลางบริษัท ๔’ (๒) นิตถรณปริยัตติ การเล่าเรียนมุ่งประโยชน์คือการออกจากวัฏฏะ
ได้แก่การเล่าเรียนด้วยตั้งใจว่า ‘เราเล่าเรียนพุทธพจน์แล้วจักบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ ให้ได้สมาธิ เริ่มเจริญ
วิปัสสนาแล้ว จักอบรมมรรค จักทำผลให้แจ้ง’ (๓) ภัณฑาคาริกปริยัตติ การเล่าเรียนประดุจขุนคลัง ได้แก่
การเล่าเรียนของพระขีณาสพ เพราะท่านกำหนดรู้ขันธ์แล้วละกิเลสได้แล้ว อบรมมรรค ทำให้แจ้งผลแล้ว
เมื่อเล่าเรียนพุทธพจน์ เป็นผู้ทรงแบบแผน รักษาประเพณี ตามรักษาอริยวงศ์ ดังนั้นในที่นี้จึงหมายเอานัย
ที่ ๒ (ม.มู.อ. ๒/๒๓๙/๑๔)
๒ ประจักษ์ชัด (นิชฺฌานํ ขมนฺติ) หมายถึงมาปรากฏว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสศีลในสูตรนี้ ตรัสสมาธิ, วิปัสสนา,
มรรค, ผล, วัฏฏะ และวิวัฏฏะไว้ในสูตรนี้ ๆ’ ในอาคตสถานแห่งศีล เป็นต้น (ม.มู.อ. ๒/๒๓๙/๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

ปัญญา กุลบุตรเหล่านั้นเล่าเรียนธรรมมิใช่มุ่งจะข่มขู่ผู้อื่น และมิใช่มุ่งจะเปลื้องตน
จากคำนินทาว่าร้าย ย่อมได้รับประโยชน์แห่งธรรมนั้น เหมือนที่เหล่ากุลบุตร
เล่าเรียนธรรมได้รับ ธรรมเหล่านั้นที่พวกเขาเรียนดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์
เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะพวกเขาเรียนธรรมทั้งหลายมาดีแล้ว
บุรุษผู้ต้องการงูพิษ เที่ยวเสาะแสวงหางูพิษ เขาพบงูพิษตัวใหญ่ จะพึงใช้ไม้
มีง่ามเหมือนขาแพะกดไว้แน่น ครั้นแล้วจึงจับที่คออย่างมั่นคง ถึงแม้งูพิษนั้นจะพึง
รัดมือ แขน หรือที่อวัยวะน้อยใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่งของบุรุษนั้นด้วยขนดก็จริง ถึง
อย่างนั้น เพราะการรัดนั้น เขาก็ไม่ตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย ข้อนั้นเพราะ
เหตุไร เพราะเขาจับงูพิษไว้มั่นแล้ว แม้ฉันใด กุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ ก็
ฉันนั้นเหมือนกัน เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม และเวทัลละ พวกเขาเหล่านั้นเล่าเรียนธรรมนั้น
แล้วไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นจึงประจักษ์ชัด
แก่พวกเขา ผู้ไตร่ตรองเนื้อความด้วยปัญญา กุลบุตรเหล่านั้นเล่าเรียนธรรมมิใช่
มุ่งจะข่มขู่ผู้อื่น และมิใช่มุ่งจะเปลื้องตนจากคำนินทาว่าร้าย ย่อมได้รับประโยชน์
แห่งธรรมนั้น เหมือนที่เหล่ากุลบุตรเล่าเรียนธรรมได้รับ ธรรมเหล่านั้นที่พวกเขา
เรียนดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะพวกเขาเรียนธรรมทั้งหลายมาดีแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายจะพึงรู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตใด
ของเรา ควรทรงจำภาษิตนั้นไว้อย่างนั้นเถิด เธอทั้งหลาย(หาก)จะไม่พึงรู้ชัดเนื้อ
ความแห่งภาษิตใดของเรา ก็ควรสอบถามเรา หรือถามภิกษุผู้ฉลาดในภาษิตนั้นเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

ธรรมอุปมาด้วยแพ

[๒๔๐] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมซึ่งอุปมาด้วยแพแก่เธอทั้งหลาย
เพื่อการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อการยึดถือแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้เดินทางไกล พบห้วงน้ำใหญ่ ฝั่งนี้น่า
ระแวง มีภัยเฉพาะหน้า ฝั่งโน้นเกษม ไม่มีภัยเฉพาะหน้า เรือหรือสะพานสำหรับ
ข้ามเพื่อจะไปฝั่งโน้นไม่มี เขาจะพึงคิดอย่างนี้ว่า ‘ห้วงน้ำนี้ใหญ่นัก ฝั่งนี้น่าระแวง
มีภัยเฉพาะหน้า ฝั่งโน้นเกษม ไม่มีภัยเฉพาะหน้า เรือหรือสะพานสำหรับข้ามไป
ฝั่งโน้นไม่มี ทางที่ดี เราควรรวบรวมหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้มาผูกเป็นแพ
แล้วอาศัยแพนั้นใช้มือและเท้าพุ้ยน้ำก็จะข้ามฝั่งได้โดยสวัสดี’ ต่อมา เขารวบรวม
หญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้มาผูกเป็นแพ แล้วอาศัยแพนั้นใช้มือและเท้าพุ้ยน้ำข้าม
ฝั่งได้โดยสวัสดี เขาข้ามฝั่งได้แล้ว จะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘แพนี้มีประโยชน์แก่
เรามากนัก เราอาศัยแพนี้ใช้มือและเท้าพุ้ยน้ำข้ามฝั่งได้โดยสวัสดี ทางที่ดี เรา
ควรยกแพนี้ขึ้นเทินศีรษะ หรือยกขึ้นบ่าแบกไปตามความปรารถนา’ เธอทั้งหลาย
เข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นผู้กระทำอย่างนี้ จะชื่อว่าทำหน้าที่ในแพนั้น
ถูกต้องหรือไม่”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้อนั้นชื่อว่าทำไม่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นทำอย่างไร จึงจะชื่อว่าทำ
หน้าที่ในแพนั้นถูกต้อง ในข้อนี้ บุรุษนั้นข้ามฝั่งแล้วจะพึงคิดอย่างนี้ว่า ‘แพนี้มี
ประโยชน์แก่เรามากนัก เราอาศัยแพนี้ใช้มือและเท้าพุ้ยน้ำข้ามฝั่งได้โดยสวัสดี ทางที่ดี
เราควรยกแพนี้ขึ้นวางไว้บนบก หรือให้ลอยอยู่ในน้ำ’ แล้วไปตามความปรารถนา
บุรุษนั้นผู้กระทำอย่างนี้ จึงจะชื่อว่าทำหน้าที่ในแพนั้นถูกต้อง แม้ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน แสดงธรรมมีอุปมาด้วยแพเพื่อ
ต้องการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อต้องการจะยึดถือแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายรู้ทั่วถึง
ธรรมซึ่งเปรียบดุจแพที่เราแสดงแล้ว ควรละแม้ธรรมทั้งหลาย๑ ไม่จำเป็นต้อง
กล่าวถึงอธรรมเลย

ความเห็นของปุถุชนและอริยสาวก

[๒๔๑] ภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิฏฐาน๒ ๖ ประการนี้
ทิฏฐิฏฐาน ๖ ประการ อะไรบ้าง
คือ ปุถุชน๓ในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะ๔ทั้งหลาย ไม่ฉลาดใน
ธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่พบสัตบุรุษทั้งหลาย
ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ

๑. จึงพิจารณาเห็นรูปว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา๕’
๒. จึงพิจารณาเห็นเวทนาว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตา
ของเรา’
๓. จึงพิจารณาเห็นสัญญาว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตา
ของเรา’
๔. จึงพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็น
อัตตาของเรา’
๕. จึงพิจารณาเห็นรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว อารมณ์ที่ทราบแล้ว
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วย
ใจว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงสมถะและวิปัสสนา (ม.มู.อ. ๒/๒๔๐/๑๖)
๒ ทิฏฐิฏฐาน เป็นชื่อของทิฏฐิ เพราะเป็นเหตุแห่งสักกายทิฏฐิที่ยิ่งกว่าทิฏฐิเกิดขึ้นก่อน และเป็นเหตุแห่ง
สัสสตทิฏฐิบ้าง เป็นชื่อของอารมณ์ คือ ขันธ์ ๕ และรูปารมณ์เป็นต้นบ้าง เป็นชื่อของปัจจัย คือ อวิชชา
ผัสสะ สัญญา เป็นต้นบ้าง (ม.มู.อ. ๒/๒๔๑/๑๖, ม.มู.ฏีกา ๒/๒๔๑/๑๑๐)
๓-๔ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๒ ข้อ ๒ (มูลปริยายสูตร) หน้า ๒ ในเล่มนี้
๕ การเห็นว่า “นั่นของเรา” เป็นอาการของตัณหา, การเห็นว่า “เราเป็นนั่น” เป็นอาการของมานะ, การเห็นว่า
“นั่นเป็นอัตตาของเรา” เป็นอาการของทิฏฐิ (ม.มู.อ. ๒/๑๔๑/๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

๖. จึงพิจารณาเห็นทิฏฐิฏฐานที่เป็นไปว่า ‘นั้นโลก นั้นอัตตา เรานั้น
ตายแล้วจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรผันเป็นธรรมดา
จักดำรง อยู่เทียบเท่าสิ่งคงที่อย่างนั้นแลว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น
นั่นเป็นอัตตาของเรา’
ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของ
พระอริยะ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ พบสัตบุรุษทั้งหลาย
ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ

๑. จึงพิจารณาเห็นรูปว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา’
๒. จึงพิจารณาเห็นเวทนาว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่
อัตตาของเรา’
๓. จึงพิจารณาเห็นสัญญาว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่
อัตตาของเรา’
๔. จึงพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น
นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
๕. จึงพิจารณาเห็นรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว อารมณ์ที่ทราบแล้ว
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วย
ใจว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
๖. จึงพิจารณาทิฏฐิฏฐานที่เป็นไปว่า ‘นั้นโลก นั้นอัตตา เรานั้นตายแล้ว
จักเที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรผันเป็นธรรมดา จักดำรงอยู่
เทียบเท่าสิ่งคงที่อย่างนั้นแล’ ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น
นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
อริยสาวกนั้นพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่สะดุ้งในเมื่อไม่มีเหตุน่าสะดุ้ง๑ คือ
ภัยและตัณหา”

เชิงอรรถ :
๑ เหตุน่าสะดุ้ง ในที่นี้หมายถึงภัยและตัณหา (ม.มู.อ. ๒/๒๔๑/๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

ความสะดุ้งและความไม่สะดุ้ง

[๒๔๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้
มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อไม่มีสิ่งภายนอก ความสะดุ้งจะพึงมีได้
หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พึงมีได้ ภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘เราเคยมีสิ่งใด บัดนี้เราไม่มีสิ่งนั้น เราควรมีสิ่งใด เราก็ไม่ได้สิ่งนั้น’
บุคคลนั้นย่อมเศร้าโศก ละเหี่ยใจ พิไรรำพัน ร้องไห้สะอึกสะอื้น ถึงความมืดมน
เมื่อไม่มีสิ่งภายนอก ความสะดุ้งย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้”
“เมื่อไม่มีสิ่งภายนอก ความไม่สะดุ้งจะพึงมีได้หรือ พระพุทธเจ้าข้า”
“พึงมีได้ ภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราเคยมีสิ่งใด
บัดนี้เราไม่มีสิ่งนั้น เราควรมีสิ่งใด เราก็ไม่ได้สิ่งนั้น’ บุคคลนั้นย่อมไม่เศร้าโศก
ไม่ละเหี่ยใจ ไม่พิไรรำพัน ไม่ร้องไห้สะอึกสะอื้น ไม่ถึงความมืดมน เมื่อไม่มีสิ่ง
ภายนอก ความไม่สะดุ้งย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้”
“เมื่อไม่มีสิ่งภายใน ความสะดุ้งจะพึงมีได้หรือ พระพุทธเจ้าข้า”
“พึงมีได้ ภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘นั้นโลก นั้นอัตตา
เรานั้นตายแล้วจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรผันเป็นธรรมดา จักดำรง
อยู่เทียบเท่าสิ่งคงที่อย่างนั้น’ ย่อมได้ยินตถาคตหรือสาวกของตถาคตแสดงธรรม
เพื่อถอนทิฏฐิ ทิฏฐิฏฐาน ความตั้งมั่นแห่งทิฏฐิ ความกลุ้มรุมแห่งทิฏฐิ ความยึดมั่น
และอนุสัยกิเลสทั้งปวง เพื่อระงับสังขารทั้งปวง เพื่อสลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง เพื่อความ
สิ้นตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อความดับสนิท และเพื่อนิพพาน เขามี
ความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราจักขาดสูญแน่แท้ จักพินาศแน่แท้ จักไม่มีแน่แท้’ บุคคล
นั้นย่อมเศร้าโศก ละเหี่ยใจ พิไรรำพัน ร้องไห้สะอึกสะอื้น ถึงความมืดมน เมื่อ
ไม่มีสิ่งภายใน ความสะดุ้งย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้”
ภิกษุนั้นทูลถามว่า “เมื่อไม่มีสิ่งภายใน ความไม่สะดุ้งจะพึงมีได้หรือ
พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พึงมีได้ ภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่มี
ความคิดอย่างนี้ว่า ‘นั้นโลก นั้นอัตตา เรานั้นตายแล้วจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่
ไม่มีความแปรผันเป็นธรรมดา จักดำรงอยู่เทียบเท่าสิ่งคงที่อย่างนั้น’ ย่อมได้ยิน
ตถาคตหรือสาวกของตถาคตแสดงธรรม เพื่อถอนทิฏฐิ ทิฏฐิฏฐาน ความตั้งมั่น
แห่งทิฏฐิ ความกลุ้มรุมแห่งทิฏฐิ ความยึดมั่น และอนุสัยกิเลสทั้งปวง เพื่อระงับ
สังขารทั้งปวง เพื่อสลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง เพื่อความสิ้นตัณหา เพื่อคลายความกำหนัด
เพื่อความดับสนิท และเพื่อนิพพาน เขาไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราจักขาดสูญ
แน่แท้ จักพินาศแน่แท้ จักไม่มีแน่แท้’ บุคคลนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละเหี่ยใจ
ไม่พิไรรำพัน ไม่ร้องไห้สะอึกสะอื้น ไม่ถึงความมืดมน เมื่อไม่มีสิ่งภายใน ความไม่
สะดุ้งย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
[๒๔๓] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะพึงหวงแหนสิ่งที่ควรหวงแหนซึ่งเป็น
ของเที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรผันเป็นธรรมดา พึงดำรงอยู่เทียบเท่าสิ่งคงที่
อย่างนั้น เธอทั้งหลายเห็นสิ่งที่ควรหวงแหนซึ่งเป็นของเที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มี
ความแปรผันเป็นธรรมดา พึงดำรงอยู่เทียบเท่าสิ่งคงที่อย่างนั้นหรือไม่”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่เห็นอย่างนั้นเลย
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ เราก็ยังไม่พิจารณาเห็นสิ่งที่ควรหวงแหนซึ่ง
เป็นของเที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรผันเป็นธรรมดา พึงดำรงอยู่เทียบเท่า
สิ่งคงที่อย่างนั้น
เธอทั้งหลายจะพึงเข้าไปยึดถืออัตตวาทุปาทาน๑ซึ่งเมื่อบุคคลยึดมั่นอยู่ โสกะ
(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส
(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส(ความคับแค้นใจ) จะไม่พึงเกิดขึ้น เธอทั้งหลายเห็น
อัตตวาทุปาทานซึ่งเมื่อบุคคลยึดมั่นอยู่ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
จะไม่พึงเกิดขึ้นหรือไม่”
“ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ อัตตวาทุปาทาน หมายถึงสักกายทิฏฐิ ๒๐ ประการ (ม.มู.อ. ๒/๒๔๓/๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

“ดีละ ถึงเราก็ยังไม่พิจารณาเห็นอัตตวาทุปาทานซึ่งเมื่อบุคคลยึดมั่นอยู่ โสกะ
ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจะไม่พึงเกิดขึ้น
เธอทั้งหลายจะพึงอาศัยทิฏฐินิสสัย๑ซึ่งเมื่อบุคคลอาศัยอยู่ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจะไม่พึงเกิดขึ้น เธอทั้งหลายเห็นทิฏฐินิสสัยซึ่งเมื่อ
บุคคลอาศัยอยู่ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจะไม่พึงเกิดขึ้นหรือไม่”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ดีละ แม้เราก็ยังไม่พิจารณาเห็น
ทิฏฐินิสสัยซึ่งเมื่อบุคคลอาศัยอยู่ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
จะไม่พึงเกิดขึ้น”

อนัตตลักษณะ

[๒๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออัตตามีอยู่
ความยึดถือว่า ‘สิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาของเรา’ ก็จะพึงมีใช่ไหม”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
“เมื่อสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตามีอยู่ ความยึดถือว่า ‘อัตตาของเรา’ จะพึงมีใช่ไหม”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
“เมื่อหาไม่พบอัตตาและสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาโดยความเป็นจริงโดยความแน่แท้
ทิฏฐิที่ว่า ‘นั้นโลก นั้นอัตตา เรานั้นตายแล้วจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มี
ความแปรผันเป็นธรรมดา จักดำรงอยู่เทียบเท่าสิ่งคงที่อย่างนั้น’ นี้มิเป็นพาลธรรม
(ธรรมของคนโง่) สมบูรณ์แบบละหรือ”
“ทำไมจะไม่เป็นอย่างนั้น นั้นเป็นพาลธรรมสมบูรณ์แบบทีเดียว พระพุทธ-
เจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐินิสสัย หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ ประการ (ม.มู.อ. ๒/๒๔๓/๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

“เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณา
เห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ...
วิญญาณเที่ยง หรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณา
เห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น รูปอย่างใดอย่าง
หนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด
เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม เธอทั้งหลายควรเห็นรูปทั้งปวงตามความเป็นจริง
ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา’ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารเหล่าใด
เหล่าหนึ่ง ... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม
เธอทั้งหลายควรเห็นวิญญาณทั้งปวงตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า
‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

การละสังโยชน์

[๒๔๕] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อม
เบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อม
คลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตจึงหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า
‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑ ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว๒ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป‘๓ ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ถอนลิ่ม
ได้แล้วบ้าง เป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้แล้วบ้าง เป็นผู้ถอนเสาระเนียดได้แล้วบ้าง
เป็นผู้ไม่มีบานประตูบ้าง เป็นผู้ประเสริฐ ลดธงคือมานะลงแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
ปราศจากสังโยชน์(กิเลสเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ)แล้วบ้าง
ภิกษุเป็นผู้ถอนลิ่มได้แล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละอวิชชาได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้น
ตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ภิกษุเป็นผู้ถอนลิ่มได้แล้ว เป็นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้แล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละสังขารคือชาติ๔ ซึ่งก่อภพใหม่ได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุเป็นผู้รื้อเครื่องแวดล้อมได้แล้ว เป็นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้ถอนเสาระเนียดได้แล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละตัณหาได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือน
ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ภิกษุเป็นผู้ถอนเสาระเนียดได้แล้ว เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑-๓ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๓ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้
๔ สังขารคือชาติ หมายถึงกัมมาภิสังขาร อันเป็นปัจจัยแห่งขันธ์ที่เกิดในภพใหม่ เพราะเกิดและท่องเที่ยวไป
ในชาติต่าง ๆ (ม.มู.อ. ๒/๒๔๕/๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

ภิกษุเป็นผู้ไม่มีบานประตู เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ๑ ได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุเป็นผู้ไม่มีบานประตู เป็นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้ประเสริฐ ลดธงคือมานะลงแล้ว ปลงภาระได้แล้ว ปราศจาก
สังโยชน์แล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละอัสมิมานะ(การถือตัว) ได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุเป็นผู้ประเสริฐ ลดธงคือมานะลงแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
ปราศจากสังโยชน์แล้ว เป็นอย่างนี้
การไม่ยึดถือ
[๒๔๖] ภิกษุทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายพร้อมทั้งพระอินทร์ พรหม และ
มารเสาะหาภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ ย่อมไม่พบว่า ‘วิญญาณของตถาคต๒
อาศัยสิ่งนี้’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเรากล่าวว่า ‘ในปัจจุบัน ใคร ๆ จะไม่พึง
พบตถาคต’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวตู่เราผู้กล่าวอย่างนี้ ผู้บอกอย่างนี้ด้วย
คำเท็จซึ่งเลื่อนลอย ไม่มีจริง ไม่เป็นจริงว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้กำจัด ย่อมบัญญัติ

เชิงอรรถ :
๑ โอรัมภาคิยสังโยชน์ หมายถึงสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ [คือ (๑) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นอัตตา
(๒) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (๓) สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลและวัตร (๔) กามราคะ ความติดใจ
ในกามคุณ (๕) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ อันเป็นเหตุให้เกิดในกามภพ (ม.มู.อ. ๒/๒๔๕/๒๒)
๒ คำว่า ตถาคต ในข้อนี้มีความหมาย ๒ นัย คือ นัยที่ ๑ ตถาคต ในคำว่า ‘วิญญาณของตถาคตอาศัยสิ่งนี้’
หมายถึงสัตว์ผู้สิ้นอาสวะ ทรงมุ่งใช้เพื่อตรัสเรียกแทนพระขีณาสพผู้ไม่มีปฏิสนธิปรินิพพานแล้ว นัยที่ ๒ ตถาคต
ในคำว่า ‘ถ้าบุคคลเหล่าอื่นด่าบริภาษ ... กระทบกระทั่งตถาคต ...’ หมายถึงพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้า ผู้สิ้นอาสวะ ทรงมุ่งใช้เพื่อตรัสเรียกแทนพระองค์เอง แต่เมื่อว่าโดยสภาวธรรมแล้ว ทั้ง ๒ นัย
นั้นมีความหมายเดียวกัน คือสภาวะที่สิ้นอาสวะ และปรินิพพาน จิตของผู้สิ้นอาสวะปรินิพพานแล้ว
เทวดา มาร พรหม ไม่สามารถจะค้นพบได้ ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ‘อาศัยอารมณ์อะไรเป็นไป’ (ม.มู.ฏีกา
๒/๒๔๖/๑๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

ความขาดสูญ ความพินาศ ความไม่มีภพของสัตว์ผู้มีอยู่’ ถึงเราจะกล่าวหรือ
ไม่กล่าวก็ตาม สมณพราหมณ์เหล่านั้นก็ยังกล่าวตู่เราด้วยคำเท็จซึ่งเลื่อนลอย
ไม่มีจริง ไม่เป็นจริงว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้กำจัด ย่อมบัญญัติความขาดสูญ
ความพินาศ ความไม่มีภพของสัตว์ผู้มีอยู่’ ทั้งในกาลก่อนและในกาลบัดนี้ เรา
บัญญัติทุกข์และความดับทุกข์ ถ้าบุคคลเหล่าอื่นด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด
เบียดเบียน และกระทบ กระทั่งตถาคตในเรื่องการประกาศสัจจะ ๔ ประการนั้น
ตถาคตก็ไม่มีความอาฆาต ไม่เสียใจ ไม่มีจิตคิดร้ายเพราะการด่าเป็นต้นนั้น
ถ้าบุคคลเหล่าอื่นสักการะ เคารพ นับถือ และบูชาตถาคตในเรื่องการประกาศ
สัจจะ ๔ ประการนั้น ตถาคตก็ไม่มีความยินดี ไม่เสียใจ ไม่มีความลำพองใจ
เพราะสักการะเป็นต้นนั้น
ถ้าบุคคลเหล่าอื่นสักการะ เคารพ นับถือ และบูชาตถาคตในเรื่องการประกาศ
สัจจะ ๔ ประการนั้น ตถาคตมีความดำริอย่างนี้เพราะสักการะเป็นต้นนั้นว่า ‘บุคคล
กระทำสักการะเห็นปานนี้ในขันธปัญจก(ขันธ์ ๕) ที่เรากำหนดรู้แล้วในกาลก่อน’
เพราะเหตุนั้น ถ้าบุคคลเหล่าอื่นจะพึงด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียน
และกระทบกระทั่งเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายก็ไม่ควรทำความอาฆาต ไม่ควรทำ
ความเสียใจ ไม่ควรทำจิตคิดร้ายเพราะการด่าเป็นต้นนั้น
เพราะเหตุนั้น ถ้าบุคคลเหล่าอื่นจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ และบูชาเธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายก็ไม่ควรทำความยินดี ไม่ควรทำความดีใจ ไม่ควรทำความ
ลำพองใจเพราะสักการะเป็นต้นนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลเหล่าอื่นจะพึงสักการะ เคารพ นับถือ และบูชาเธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรคิดอย่างนี้เพราะสักการะเป็นต้นนั้นว่า ‘บุคคลกระทำ
สักการะเห็นปานนี้ในขันธปัญจกที่เราทั้งหลายกำหนดรู้แล้วในกาลก่อน’
[๒๔๗] ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายจงละสิ่งนั้น สิ่งนั้นซึ่งเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข
สิ้นกาลนาน อะไรเล่าไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายจงละรูปนั้น รูปนั้นซึ่งเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อ
ความสุขสิ้นกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

เวทนาไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละเวทนานั้น เวทนานั้นซึ่งเธอ
ทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน
สัญญาไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละสัญญานั้น สัญญานั้นซึ่งเธอ
ทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน
สังขารทั้งหลายไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละสังขารเหล่านั้น สังขาร
เหล่านั้นซึ่งเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน
วิญญาณไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละวิญญาณนั้น วิญญาณนั้น
ซึ่งเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ชนจะพึงนำหญ้า ไม้
กิ่งไม้ และใบไม้ในพระเชตวันนี้ไปเผาหรือกระทำตามความปรารถนา เธอทั้งหลาย
จะพึงคิดอย่างนี้บ้างหรือไม่ว่า ‘ชนนำเราทั้งหลายไปเผาหรือกระทำตามความปรารถนา”
“ไม่เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“เพราะว่า นั่นไม่ใช่อัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตาของข้าพระองค์ทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าข้า”
“อย่างนั้นนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงละสิ่งนั้น สิ่งนั้นซึ่งเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้น
กาลนาน
อะไรเล่าไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย รูปไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละรูป
นั้น รูปนั้นซึ่งเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน
เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขารทั้งหลาย ฯลฯ
วิญญาณไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละวิญญาณนั้น วิญญาณนั้น
ซึ่งเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๒. อลคัททูปมสูตร

ลำดับพระอริยบุคคล

[๒๔๘] ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ ซึ่งเป็นธรรมง่าย
เปิดเผย ปรากฏ ไม่มีเงื่อนปมแล้ว๑ ภิกษุเหล่าใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตน
โดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่มี
วัฏฏะเพื่อจะบัญญัติต่อไป ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ ซึ่งเป็นธรรมง่าย
เปิดเผย ปรากฏ ไม่มีเงื่อนปมแล้ว ภิกษุเหล่าใดละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ
ได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดเป็นโอปปาติกะ๒ ปรินิพพานในพรหมโลกนั้น ไม่ต้อง
กลับมาจากโลกนั้นอีก ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ ซึ่งเป็นธรรมง่าย เปิดเผย
ปรากฏ ไม่มีเงื่อนปมแล้ว ภิกษุเหล่าใดละสังโยชน์ ๓ ประการได้แล้ว มีราคะ
โทสะ และโมหะเบาบาง ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดเป็นสกทาคามี มาสู่โลกนี้คราว
เดียวเท่านั้น จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ ซึ่งเป็น
ธรรมง่าย เปิดเผย ปรากฏ ไม่มีเงื่อนปมแล้ว ภิกษุเหล่าใดละสังโยชน์ ๓ ประการ
ได้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดเป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะ
สำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ ซึ่งเป็นธรรมง่าย เปิดเผย
ปรากฏ ไม่มีเงื่อนปมแล้ว ภิกษุเหล่าใดเป็นธัมมานุสารี๓ สัทธานุสารี๔ ภิกษุ
เหล่านั้นทั้งหมดจะตรัสรู้ในภายหน้า ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ ซึ่งเป็น

เชิงอรรถ :
๑ แปลตามนัยอรรถกถา ม.มู.อ. ๒/๒๔๘/๒๖
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๖๗ (อากังเขยยสูตร) หน้า ๕๙ ในเล่มนี้
๓ ธัมมานุสารี ในที่นี้หมายถึงผู้แล่นไปตามธรรม ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล มีปัญญาแก่กล้า
บรรลุผลแล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ (ม.มู.อ. ๒/๒๔๘/๒๖, องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๒)
๔ สัทธานุสารี หมายถึงผู้แล่นไปตามศรัทธา ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล มีศรัทธาแก่กล้า บรรลุผล
แล้วกลายเป็นสัทธาวิมุต (ม.มู.อ. ๒/๒๔๘/๒๖-๗, องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕,องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๓. วัมมิกสูตร

ธรรมง่าย เปิดเผย ปรากฏ ไม่มีเงื่อนปมแล้ว บุคคลเหล่าใดมีเพียงความเชื่อและ
ความรักในเรา บุคคลเหล่านั้นทั้งหมดจะได้ไปสวรรค์ในภายหน้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

อลคัททูปมสูตรที่ ๒ จบ

๓. วัมมิกสูตร
ว่าด้วยจอมปลวกปริศนา

[๒๔๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระกุมารกัสสปะพักอยู่ที่ป่าอันธวัน
ครั้งนั้น เมื่อราตรี๑ผ่านไป เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนักได้เปล่งรัศมี
ให้สว่างทั่วป่าอันธวัน เข้าไปหาท่านพระกุมารกัสสปะถึงที่อยู่ แล้วได้ยืนอยู่ ณ
ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระกุมารกัสสปะว่า
“พระคุณเจ้า จอมปลวกนี้ย่อมพ่นควันในเวลากลางคืน ย่อมลุกโพลงในเวลา
กลางวัน พราหมณ์ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงนำศัสตราไปขุดดู’
สุเมธใช้ศัสตราไปขุดก็ได้เห็นลิ่มสลัก จึงกล่าวว่า ‘ลิ่มสลัก ขอรับ’
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงยกลิ่มสลักขึ้นแล้วใช้ศัสตราขุดต่อไป’
สุเมธใช้ศัสตราขุดลงไปก็ได้เห็นอึ่ง จึงกล่าวว่า ‘อึ่ง ขอรับ’
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงนำอึ่งขึ้นมา แล้วใช้ศัสตราขุดต่อไป’

เชิงอรรถ :
๑ ราตรี ในที่นี้หมายถึงปฐมยาม ความนี้มีความหมายว่า เมื่อสิ้นปฐมยามกำลังอยู่ในช่วงมัชฌิมยาม เทวดา
ก็ปรากฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๓. วัมมิกสูตร

สุเมธใช้ศัสตราขุดต่อไปได้เห็นทางสองแพร่ง จึงกล่าวว่า ‘ทางสองแพร่ง ขอรับ’
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงถากทางสองแพร่งออกเสีย แล้วใช้
ศัสตราขุดต่อไป’
สุเมธใช้ศัสตราขุดต่อไปได้เห็นหม้อกรองน้ำด่าง จึงกล่าวว่า ‘หม้อกรองน้ำด่าง
ขอรับ’
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นมา แล้วใช้
ศัสตราขุดต่อไป’
สุเมธใช้ศัสตราขุดต่อไปได้เห็นเต่า จึงกล่าวว่า ‘เต่า ขอรับ’
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงนำเต่าขึ้นมา แล้วใช้ศัสตราขุดต่อไป’
สุเมธใช้ศัสตราขุดต่อไปได้เห็นเขียงหั่นเนื้อ จึงกล่าวว่า ‘เขียงหั่นเนื้อ ขอรับ’
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงยกเขียงหั่นเนื้อขึ้นมา แล้วใช้ศัสตรา
ขุดต่อไป’
สุเมธใช้ศัสตราขุดต่อไปได้เห็นชิ้นเนื้อ จึงกล่าวว่า ‘ชิ้นเนื้อ ขอรับ’
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงหยิบชิ้นเนื้อขึ้นมา แล้วใช้ศัสตราขุด
ต่อไป’
สุเมธใช้ศัสตราขุดต่อไปได้เห็นนาค จึงกล่าวว่า ‘นาค ขอรับ’
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘นาคจงดำรงอยู่เถิด เธออย่าเบียดเบียนนาคเลย
จงทำความนอบน้อมนาค’
พระคุณเจ้า ท่านควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามปัญหาทั้ง ๑๕ ข้อนี้
ท่านควรทรงจำคำเฉลยปัญหาเหล่านั้นตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเถิด ในโลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา
และมนุษย์ ยกเว้นพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต หรือบุคคลผู้ฟังจากสำนัก
(ของข้าพเจ้า) นี้เสียแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่เห็นบุคคลผู้จะทำจิต(ของข้าพเจ้า) ให้ยินดี
ด้วยการตอบปัญหาเหล่านี้ได้”
เทวดานั้นได้กล่าวคำนี้แล้วก็อันตรธานไปจากที่นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๓. วัมมิกสูตร

พระกุมารกัสสปะทูลถามปริศนาธรรม

[๒๕๐] ครั้นคืนนั้นผ่านไป ท่านพระกุมารกัสสปะก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะ
งดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วป่าอันธวัน เข้ามาหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ ยืน ณ
ที่สมควรแล้วได้กล่าวกับข้าพระองค์ว่า
‘พระคุณเจ้า จอมปลวกนี้พ่นควันในเวลากลางคืน ลุกโพลงในเวลากลางวัน
พราหมณ์ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงนำศัสตราไปขุดดู’
สุเมธใช้ศัสตราขุดลงไปได้เห็นลิ่มสลัก จึงกล่าวว่า ‘ลิ่มสลัก ขอรับ’
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงยกลิ่มสลักขึ้นแล้วใช้ศัสตราขุดต่อไป’
สุเมธใช้ศัสตราขุดต่อไปก็ได้เห็นอึ่ง จึงกล่าวว่า ‘อึ่ง ขอรับ’ ฯลฯ ได้เห็นนาค
จึงกล่าวว่า ‘นาค ขอรับ’
พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘นาคจงดำรงอยู่เถิด เธออย่าเบียดเบียนนาคเลย
จงทำความนอบน้อมนาค’
พระคุณเจ้า ท่านควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามปัญหาทั้ง ๑๕ ข้อนี้
ท่านควรทรงจำคำเฉลยปัญหาเหล่านั้นตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเถิด ในโลก
พร้อมทั้งเทวดาโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา
และมนุษย์ ยกเว้นพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต หรือบุคคลผู้ฟังจากสำนัก
(ของข้าพเจ้า)นี้เสียแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่เห็นบุคคลผู้จะทำจิต(ของข้าพเจ้า)ให้ยินดีด้วย
การตอบปัญหาเหล่านี้’
เทวดานั้นได้กล่าวคำนี้แล้วก็อันตรธานไปจากที่นั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
๑. อะไรหนอ ชื่อว่าจอมปลวก
๒. อย่างไร ชื่อว่าการพ่นควันในเวลากลางคืน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๓. วัมมิกสูตร

๓. อย่างไร ชื่อว่าการลุกโพลงในเวลากลางวัน
๔. ใคร ชื่อว่าพราหมณ์
๕. ใคร ชื่อว่าสุเมธ
๖. อะไร ชื่อว่าศัสตรา
๗. อย่างไร ชื่อว่าการขุด
๘. อะไร ชื่อว่าลิ่มสลัก
๙. อะไร ชื่อว่าอึ่ง
๑๐. อะไร ชื่อว่าทางสองแพร่ง
๑๑. อะไร ชื่อว่าหม้อกรองน้ำด่าง
๑๒. อะไร ชื่อว่าเต่า
๑๓. อะไร ชื่อว่าเขียงหั่นเนื้อ
๑๔. อะไร ชื่อว่าชิ้นเนื้อ
๑๕. อะไร ชื่อว่านาค”

พระผู้มีพระภาคทรงเฉลยปริศนาธรรม
[๒๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ
๑. คำว่า จอมปลวก นั้น เป็นชื่อของร่างกายนี้ ซึ่งประกอบด้วย
มหาภูตรูปทั้ง ๔ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เติบโตด้วยข้าวสุก
และขนมกุมมาส ไม่เที่ยง ต้องบริหาร ต้องนวดฟั้น จะต้องแตก
สลาย และกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา
๒. คำว่า อย่างไร ชื่อว่าการพ่นควันในเวลากลางคืน นั้น ได้แก่
การที่บุคคลทำการงานในเวลากลางวัน แล้วตรึกตรองถึงในเวลา
กลางคืน นี้ชื่อว่าการพ่นควันในเวลากลางคืน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๓. วัมมิกสูตร

๓. คำว่า อย่างไร ชื่อว่าการลุกโพลงในเวลากลางวัน นั้น ได้แก่
การที่บุคคลตรึกตรองถึงบ่อย ๆ ในเวลากลางคืน แล้วประกอบ
การงานในเวลากลางวัน ด้วยกายและวาจา นี้ชื่อว่าการลุกโพลงใน
เวลากลางวัน
๔. คำว่า พราหมณ์ นั้น เป็นชื่อของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๕. คำว่า สุเมธ นั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้เป็นเสขะ
๖. คำว่า ศัสตรา นั้น เป็นชื่อแห่งปัญญาอันประเสริฐ
๗. คำว่า จงขุด นั้น เป็นชื่อของการปรารภความเพียร
๘. คำว่า ลิ่มสลัก นั้น เป็นชื่อแห่งอวิชชา คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ
เธอจงใช้ศัสตรายกลิ่มสลักขึ้น คือ จงละอวิชชา จงขุดขึ้นมา’
๙. คำว่า อึ่ง นั้น เป็นชื่อของความคับแค้นใจเนื่องมาจากความโกรธ
คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตรานำอึ่งขึ้นมา คือ จงละ
ความคับแค้นใจเนื่องมาจากความโกรธ จงขุดขึ้นมา’
๑๐. คำว่า ทางสองแพร่ง นั้น เป็นชื่อแห่งวิจิกิจฉา คำนั้นมีอธิบายว่า
‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตราถากทางสองแพร่ง คือ จงละวิจิกิจฉา จง
ขุดขึ้นมา’
๑๑. คำว่า หม้อกรองน้ำด่าง นั้น เป็นชื่อแห่งนิวรณ์ ๕ ประการ คือ

กามฉันทนิวรณ์ (สิ่งที่กั้นจิตคือความพอใจในกาม)
พยาบาทนิวรณ์ (สิ่งที่กั้นจิตคือความขัดเคืองใจ)
ถีนมิทธนิวรณ์ (สิ่งที่กั้นจิตคือความหดหู่และเซื่องซึม)
อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ (สิ่งที่กั้นจิตคือความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
วิจิกิจฉานิวรณ์ (สิ่งที่กั้นจิตคือความลังเลสงสัย)

คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตรายกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นมา คือ
จงละนิวรณ์ ๕ ประการ จงขุดขึ้นมา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๓. วัมมิกสูตร

๑๒. คำว่า เต่า นั้น เป็นชื่อแห่งอุปาทานขันธ์๑ ๕ ประการ คือ

รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)
เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา)
สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)

คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตรานำเต่าขึ้นมา คือ จงละ
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ จงขุดขึ้นมา’
๑๓. คำว่า เขียงหั่นเนื้อ นั้น เป็นชื่อแห่งกามคุณ ๕ ประการ คือ
รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตรายกเขียงหั่นเนื้อขึ้นมา คือ
จงละกามคุณ ๕ ประการ จงขุดขึ้นมา’
๑๔. คำว่า ชิ้นเนื้อ นั้น เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ(ความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความเพลิดเพลิน) คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตราหยิบ
ชิ้นเนื้อขึ้นมา คือ จงละนันทิราคะ จงขุดขึ้นมา’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๙๑ (สัมมาทิฏฐิสูตร) หน้า ๘๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๔. รถวินีตสูตร

๑๕. คำว่า นาค นั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้เป็นขีณาสพ คำนั้นมีอธิบายว่า
‘นาคจงดำรงอยู่เถิด เธออย่าเบียดเบียนนาคเลย เธอจงทำความ
นอบน้อมนาค”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระกุมารกัสสปะมีใจยินดีชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

วัมมิกสูตรที่ ๓ จบ

๔. รถวินีตสูตร
ว่าด้วยราชรถ ๗ ผลัด

ภิกษุยกย่องพระปุณณมันตานีบุตร

[๒๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน๑
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุผู้มีถิ่นกำเนิดเดียวกันจำนวนมาก จำพรรษาในท้องถิ่น
(ของตน)แล้ว ได้มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ
ที่สมควร พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปไหนหนอที่ภิกษุเพื่อนพรหมจารีในท้องถิ่นยกย่อง
อย่างนี้ว่า
‘ตนเองเป็นผู้มักน้อย๒ และกล่าวอัปปิจฉกถา(เรื่องความมักน้อย)แก่ภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ กลันทกนิวาปสถาน หมายถึงเป็นสถานที่สำหรับพระราชทานเหยื่อแก่กระแต (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๔๑-๔๒)
๒ เป็นผู้มักน้อย หมายถึงความมักน้อย ๔ ประการ คือ (๑) เป็นผู้มักน้อยในปัจจัย ๔ (๒) เป็นผู้มักน้อยใน
ธุดงค์ ได้แก่ ไม่ประสงค์ให้ผู้อื่นรู้ความที่ตนสมาทานธุดงค์ (๓) เป็นผู้มักน้อยในการเล่าเรียน ได้แก่
ไม่ปรารถนาให้ผู้อื่นรู้ความที่ตนเป็นพหูสูต (๔) เป็นผู้มักน้อยในการบรรลุธรรม ได้แก่ ไม่ปรารถนาให้
ผู้อื่นรู้ความที่ตนเป็นพระโสดาบัน เป็นต้น (ม.มู.อ. ๒/๑๕๒/๔๗-๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๔. รถวินีตสูตร

ตนเองเป็นผู้สันโดษ๑ และกล่าวสันตุฏฐิกถา(เรื่องความสันโดษ)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สงัด๒ และกล่าวปวิเวกกถา(เรื่องความสงัด)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี๓ และกล่าวอสังสัคคกถา(เรื่องความไม่คลุกคลี)แก่ภิกษุ
ทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร๔ และกล่าววิริยารัมภกถา(เรื่องการปรารภความ
เพียร)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล๕ และกล่าวสีลสัมปทากถา(เรื่องความสมบูรณ์
ด้วยศีล)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ๖ และกล่าวสมาธิสัมปทากถา(เรื่องความสมบูรณ์
ด้วยสมาธิ)แก่ภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ เป็นผู้สันโดษ หมายถึงความสันโดษ ๓ ประการ คือ (๑) ยถาลาภสันโดษ เป็นผู้สันโดษตามมีตามได้
ทั้งดีและไม่ดี (๒) ยถาพลสันโดษ เป็นผู้สันโดษตามกำลังทั้งกำลังของตนและของทายก (๓) ยถาสารุปป-
สันโดษ เป็นผู้สันโดษตามสมควรแก่สมณภาวะ
สันโดษ ๓ ประการ ในปัจจัย ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงเป็น
สันโดษ ๑๒ (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๔๘-๕๐)
๒ เป็นผู้สงัด หมายถึงมีวิเวก ๓ ประการ คือ (๑) กายวิเวก สงัดกาย ได้แก่ อยู่ผู้เดียวทุกอิริยาบถ
(๒) จิตตวิเวก ได้แก่ ได้สมาบัติ ๘ (๓) อุปธิวิเวก ได้แก่ บรรลุนิพพาน (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๕๐)
๓ เป็นผู้ไม่คลุกคลี หมายถึงไม่คลุกคลีด้วยการคลุกคลี ๕ ประการ คือ (๑) การคลุกคลีด้วยการฟัง
(๒) การคลุกคลีด้วยการเห็น (๓) การคลุกคลีด้วยการสนทนาปราศรัย (๔) การคลุกคลีด้วยการอยู่ร่วมกัน
(๕) การคลุกคลีทางกาย (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๕๑)
๔ เป็นผู้ปรารภความเพียร หมายถึงการทำความเพียรทางกายและทางจิตให้บริบูรณ์ (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๕๔)
๕ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล คำว่า ศีล ในที่นี้หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ ประการ [คือ (๑) ศีลคือการสังวรในพระ
ปาติโมกข์ (๒) ศีลคือการสำรวมอินทรีย์ ๖ (๓) ศีลคือการพิจารณาใช้สอยปัจจัย ๔ (๔) ศีลคือการเลี้ยง
ชีวิตด้วยความบริสุทธิ์] (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๕๔)
๖ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ คำว่า สมาธิ ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ คือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔
อันเป็นบาทแห่งวิปัสสนา (ม.มู.อ. ๒/๒๕๒/๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๔. รถวินีตสูตร

ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา และกล่าวปัญญาสัมปทากถา(เรื่องความสมบูรณ์
ด้วยปัญญา)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และกล่าววิมุตติสัมปทากถา(เรื่องความสมบูรณ์
ด้วยวิมุตติ)แก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าววิมุตติญานทัสสนสัมปทา-
กถา(เรื่องความสมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ)แก่ภิกษุทั้งหลาย
เป็นผู้ให้โอวาท แนะนำ ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง”
ภิกษุท้องถิ่นเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระปุณณ-
มันตานีบุตรเป็นผู้ที่พวกภิกษุเพื่อนพรหมจารีท้องถิ่นยกย่องอย่างนี้ว่า
ตนเองเป็นผู้มักน้อย และกล่าวอัปปิจฉกถาแก่ภิกษุทั้งหลาย
ตนเองเป็นผู้สันโดษ ...
ตนเองเป็นผู้สงัด ...
ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี ...
ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร ...
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ...
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ ...
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ...
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ ...
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าววิมุตติญาณทัสสน-
สัมปทากถาแก่ภิกษุทั้งหลาย
เป็นผู้ให้โอวาท แนะนำ ชี้แจงให้เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๔. รถวินีตสูตร

[๒๕๓] ขณะนั้น ท่านพระสารีบุตรได้นั่งเฝ้าพระผู้มีพระภาคอยู่ ณ ที่ใกล้
ได้มีความคิดว่า “เป็นลาภของท่านพระปุณณมันตานีบุตร ท่านพระปุณณมันตานี-
บุตรได้ดีแล้ว ที่พวกภิกษุเพื่อนพรหมจารีผู้เป็นวิญญูชนเลือกเฟ้น กล่าวยกย่อง
พรรณนาคุณเฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดา และพระศาสดาก็ทรงอนุโมทนาการ
กระทำนั้น บางทีเราคงได้พบกับท่านพระปุณณมันตานีบุตรแล้ว สนทนาปราศรัย
กันสักครั้งหนึ่ง”
[๒๕๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ตามพระอัธยาศัย
แล้วจึงเสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ท่านพระปุณณมันตานีบุตรทราบข่าวว่า
“ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึงกรุงสาวัตถี แล้วประทับอยู่ ณ พระเชตวัน
อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี”

พระปุณณมันตานีบุตรเข้าเฝ้าพระพุทธองค์

[๒๕๕] ครั้งนั้น ท่านพระปุณณมันตานีบุตรจึงเก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรและ
จีวรจาริกไปโดยลำดับตามทางที่จะไปยังกรุงสาวัตถีถึงพระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถีแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงทรงชี้แจงพระปุณณมันตานีบุตรให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ลำดับนั้น
ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้
อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาแล้ว ได้ชื่นชม ยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ
ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณ แล้วเข้าไปสู่ป่าอันธวัน เพื่อพักผ่อนในเวลากลางวัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๔. รถวินีตสูตร

[๒๕๖] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า
“ท่านพระสารีบุตร พระปุณณมันตานีบุตรที่ท่านสรรเสริญอยู่เนือง ๆ นั้น (บัดนี้)
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ท่านก็ชื่นชม ยินดีพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะถวายอภิวาท กระทำประทักษิณ แล้วหลีก
ไปสู่ป่าอันธวันเพื่อพักผ่อนในเวลากลางวัน”
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรรีบถือผ้านิสีทนะ(ผ้ารองนั่ง) แล้วติดตามท่าน
พระปุณณมันตานีบุตรไปข้างหลัง ๆ พอที่จะแลเห็นศีรษะกัน ครั้งนั้น ท่านพระ
ปุณณมันตานีบุตร เข้าไปในป่าอันธวัน แล้วนั่งพักผ่อนในเวลากลางวันอยู่ที่โคนไม้
แห่งหนึ่ง แม้ท่านพระสารีบุตรเข้าไปสู่ป่าอันธวัน แล้วก็นั่งพักผ่อนในเวลากลางวัน
อยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่งเหมือนกัน

เป้าหมายแห่งพรหมจรรย์ตามลำดับวิสุทธิ ๗

ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่หลีกเร้น๑ แล้วเข้าไปหาท่าน
พระปุณณมันตานีบุตรถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระปุณณมันตานีบุตรว่า
[๒๕๗] “ท่านผู้มีอายุ ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคของเราหรือ”
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรตอบว่า “ขอรับ ท่านผู้มีอายุ”
“ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อสีลวิสุทธิ (ความหมดจด
แห่งศีล) หรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๘๑ (สัลเลขสูตร) หน้า ๗๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๔. รถวินีตสูตร

“ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อจิตตวิสุทธิ (ความ
หมดจดแห่งจิต) หรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อทิฏฐิวิสุทธิ (ความ
หมดจดแห่งทิฏฐิ) หรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อกังขาวิตรณวิสุทธิ
(ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย) หรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อมัคคามัคคญาณ-
ทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณที่รู้เห็นว่าเป็นทางหรือมิใช่ทาง) หรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อปฏิปทาญาณทัสสน-
วิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณที่รู้เห็นทางดำเนิน) หรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อญาณทัสสนวิสุทธิ
(ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ) หรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“เมื่อผมถามท่านว่า ‘ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อสีลวิสุทธิ
หรือ’ ท่านก็ตอบผมว่า ‘ข้อนี้ หามิได้’
เมื่อผมถามท่านว่า ‘ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อจิตต-
วิสุทธิหรือ’ ท่านก็ตอบผมว่า ‘ข้อนี้ หามิได้’
เมื่อผมถามท่านว่า ‘ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อทิฏฐิ-
วิสุทธิหรือ’ ท่านก็ตอบผมว่า ‘ข้อนี้ หามิได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๔. รถวินีตสูตร

เมื่อผมถามท่านว่า ‘ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อกังขา-
วิตรณวิสุทธิหรือ’ ท่านก็ตอบผมว่า ‘ข้อนี้หามิได้’
... เพื่อมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิหรือ’ ...
... เพื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิหรือ’ ...
เมื่อผมถามท่านว่า ‘ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อญาณ-
ทัสสนวิสุทธิหรือ’ ท่านก็ตอบผมว่า ‘ข้อนี้ หามิได้’
เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่ออะไรกันเล่า”
“ท่านผู้มีอายุ ผมประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่ออนุปาทา-
ปรินิพพาน๑”
“สีลวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“จิตตวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“กังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”

เชิงอรรถ :
๑ อนุปาทาปรินิพพาน หมายถึงปรินิพพานที่หาปัจจัยปรุงแต่งมิได้ แต่ในที่นี้ พระเถระหมายเอาสภาวะ
เป็นที่สุด เป็นเงื่อนปลาย เป็นที่จบการประพฤติพรหมจรรย์ของท่านผู้ถืออปัจจยปรินิพพาน (ม.มู.อ.
๒/๒๕๘/๖๓-๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๔. รถวินีตสูตร

“ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“ญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ”
“ข้อนี้ หามิได้”
“ธรรมนอกจากธรรมเหล่านี้ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ”
พระปุณณมันตานีบุตรตอบว่า “ข้อนี้ หามิได้ ท่านผู้มีอายุ”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ เมื่อผมถามท่านว่า ‘สีลวิสุทธิ
เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ’ ท่านก็ตอบผมว่า ‘ข้อนี้ หามิได้’
เมื่อผมถามท่านว่า ‘จิตตวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ’ ท่านก็ตอบ
ผมว่า ‘ข้อนี้ หามิได้’
... ‘ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ’ ...
... ‘กังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ’ ...
... ‘มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ’ ...
... ‘ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ’ ...
เมื่อผมถามท่านว่า ‘ญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ’ ท่าน
ก็ตอบว่า ‘ข้อนี้ หามิได้’
เมื่อผมถามท่านว่า ‘ธรรมนอกจากธรรมเหล่านี้ เป็นอนุปาทาปรินิพพานหรือ’
ท่านก็ตอบผมว่า ‘ข้อนี้ หามิได้’
(เมื่อเป็นเช่นนี้) จะพึงเห็นเนื้อความของคำที่ท่านกล่าวแล้วนี้ได้อย่างไร”
[๒๕๘] ท่านพระปุณณมันตานีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ ถ้าพระผู้มี
พระภาคทรงบัญญัติสีลวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ก็ชื่อว่าพึงบัญญัติธรรมที่
ยังมีอุปาทานว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ถ้าทรงบัญญัติจิตตวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ก็ชื่อว่าพึงบัญญัติธรรม
ที่ยังมีอุปาทานว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๔. รถวินีตสูตร

ถ้าทรงบัญญัติทิฏฐิวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ก็ชื่อว่าพึงบัญญัติธรรมที่
ยังมีอุปาทานว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ถ้าทรงบัญญัติกังขาวิตรณวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ก็ชื่อว่าพึงบัญญัติ
ธรรมที่ยังมีอุปาทานว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ถ้าทรงบัญญัติมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ก็ชื่อว่า
พึงบัญญัติธรรมที่ยังมีอุปาทานว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ถ้าทรงบัญญัติปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ก็ชื่อว่า
พึงบัญญัติธรรมที่ยังมีอุปาทานว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ถ้าทรงบัญญัติญาณทัสสนวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน ก็ชื่อว่าพึง
บัญญัติธรรมที่ยังมีอุปาทานว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน
ท่านผู้มีอายุ ถ้าธรรมนอกจากธรรมเหล่านี้ จักเป็นอนุปาทาปรินิพพานแล้ว
ปุถุชนก็จะพึงปรินิพพาน เพราะว่าปุถุชนเว้นจากธรรมเหล่านี้ ผมจะเปรียบเทียบ
ให้ท่านฟัง คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ย่อมเข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วย
อุปมาโวหาร

เปรียบเทียบวิสุทธิด้วยรถ ๗ ผลัด

[๒๕๙] ท่านผู้มีอายุ เปรียบเหมือนพระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังประทับอยู่ที่
กรุงสาวัตถี มีพระราชกรณียกิจด่วนบางประการเกิดขึ้นที่เมืองสาเกต และใน
ระหว่างกรุงสาวัตถีกับเมืองสาเกตนั้นจะต้องต่อรถถึงเจ็ดผลัด
ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จออกจากกรุงสาวัตถี ทรงรถพระที่นั่งผลัด
ที่หนึ่ง ที่ประตูพระราชวัง เสด็จไปถึงรถพระที่นั่งผลัดที่สอง
จึงทรงสละรถพระที่นั่งผลัดที่หนึ่ง ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่สอง เสด็จไปถึงรถ
พระที่นั่งผลัดที่ ๓
จึงทรงสละรถพระที่นั่งผลัดที่สอง ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่สาม เสด็จไปถึงรถ
พระที่นั่งผลัดที่สี่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๔. รถวินีตสูตร

จึงทรงสละรถพระที่นั่งผลัดที่สาม ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่สี่ เสด็จไปถึงรถ
พระที่นั่งผลัดที่ห้า
จึงทรงสละรถพระที่นั่งผลัดที่สี่ ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า เสด็จไปถึงรถ
พระที่นั่งผลัดที่หก
จึงทรงสละรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่หก เสด็จไปถึงรถ
พระที่นั่งผลัดที่เจ็ด
จึงทรงสละรถพระที่นั่งผลัดที่หก ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่เจ็ด เสด็จไปถึงประตู
เมืองสาเกตด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่เจ็ด
ถ้าพวกมิตรอำมาตย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์จะพึงทูลถามพระองค์ว่า ‘ขอเดชะ
มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จจากกรุงสาวัตถีถึงประตูเมืองสาเกตด้วยรถพระที่นั่งผลัด
นี้ผลัดเดียวหรือ’
ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะตรัสตอบอย่างไร จึงจะจัดว่าตรัสตอบ
อย่างถูกต้อง”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะต้องตรัส
ตอบอย่างนี้ จึงจัดว่าตรัสตอบอย่างถูกต้อง คือตรัสว่า ‘เมื่อฉันกำลังอยู่ใน
กรุงสาวัตถีนั้น มีกรณียกิจด่วนบางประการเกิดขึ้นในเมืองสาเกต ระหว่างกรุง
สาวัตถีกับเมืองสาเกตนั้น จะต้องใช้รถถึงเจ็ดผลัด
ครั้งนั้นแล ฉันออกจากกรุงสาวัตถีขึ้นรถผลัดที่หนึ่ง ที่ประตูวัง ไปถึงรถผลัด
ที่สอง สละรถผลัดที่หนึ่ง ขึ้นรถผลัดที่สอง ไปถึงรถผลัดที่สาม สละรถผลัดที่สอง
ขึ้นรถผลัดที่สาม ไปถึงรถผลัดที่สี่ สละรถผลัดที่สาม ขึ้นรถผลัดที่สี่ ไปถึงรถผลัด
ที่ห้า สละรถผลัดที่สี่ ขึ้นรถผลัดที่ห้า ไปถึงรถผลัดที่หก สละรถผลัดที่ห้า ขึ้นรถ
ผลัดที่หก ไปถึงรถผลัดที่เจ็ด สละรถผลัดที่หก ขึ้นรถผลัดที่เจ็ด ไปถึงประตูเมือง
สาเกตด้วยรถผลัดที่เจ็ด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๔. รถวินีตสูตร

ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะต้องตรัสตอบอย่างนี้แล จึงจัดว่าตรัสตอบ
อย่างถูกต้อง”
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
สีลวิสุทธิมีจิตตวิสุทธิเป็นเป้าหมาย จิตตวิสุทธิมีทิฏฐิวิสุทธิเป็นเป้าหมาย ทิฏฐิวิสุทธิ
มีกังขาวิตรณวิสุทธิเป็นเป้าหมาย กังขาวิตรณวิสุทธิมีมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
เป็นเป้าหมาย มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิมีปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นเป้าหมาย
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิมีญาณทัสสนวิสุทธิเป็นเป้าหมาย ญาณทัสสนวิสุทธิมี
อนุปาทาปรินิพพานเป็นเป้าหมาย
ท่านผู้มีอายุ ผมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่ออนุปาทา-
ปรินิพพานโดยแท้”

พระเถระทั้ง ๒ รูปกล่าวสรรเสริญคุณของกันและกัน

[๒๖๐] เมื่อท่านพระปุณณมันตานีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตร
จึงถามว่า “ท่านผู้มีอายุ ท่านชื่ออะไร และเพื่อนพรหมจารีรู้จักท่านว่าอย่างไร”
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ผมชื่อว่าปุณณะ แต่เพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายรู้จักผมว่า มันตานีบุตร”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏปัญหา
อันลึกซึ้งที่ท่านพระปุณณมันตานีบุตรเลือกเฟ้น นำมากล่าวแก้ด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง
ตามเยี่ยงอย่างพระสาวกผู้ได้สดับแล้ว รู้ทั่วถึงคำสอนของพระศาสดาโดยถ่องแท้
จะพึงกล่าวแก้ฉะนั้น เป็นลาภอย่างมากของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย เพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายได้ดีแล้ว ที่ได้พบเห็น ได้นั่งใกล้ท่านปุณณมันตานีบุตร แม้หากเพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายจะเทิดทูนท่านปุณณมันตานีบุตรไว้บนศีรษะเหมือนเทริดผ้า จึงจะ
ได้พบเห็น ได้นั่งใกล้ แม้ข้อนั้นก็นับว่าเป็นลาภมากของท่านเหล่านั้น ท่านเหล่านั้น
ได้ดีแล้ว อนึ่ง นับว่าเป็นลาภอย่างมากของผมด้วย ผมได้ดีแล้วด้วย ที่ได้พบเห็น
ได้นั่งใกล้ท่านปุณณมันตานีบุตร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระปุณณมันตานีบุตรจึงถามว่า
“ท่านผู้มีอายุ ท่านชื่ออะไร และเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายรู้จักท่านว่าอย่างไร”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ ผมชื่อว่าอุปติสสะ แต่เพื่อน
พรหมจารีทั้งหลายรู้จักผมว่า ‘สารีบุตร”
ท่านพระปุณณมันตานีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้เจริญ ผมกำลังพูดอยู่กับท่าน
ผู้เป็นสาวก ผู้ทรงคุณคล้ายกับพระบรมศาสดา มิได้ทราบเลยว่า ‘ท่านชื่อว่า
สารีบุตร’ ถ้าผมทราบว่า ‘ท่านชื่อสารีบุตร’ คำเปรียบเทียบเท่านี้ คงไม่จำเป็น
สำหรับกระผม น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ปัญหาอันลึกซึ้งที่ท่านสารีบุตร
เลือกเฟ้นมาถามแล้วด้วยปัญญาอันลึกซึ้งตามอย่างพระสาวกผู้ได้สดับแล้ว รู้ทั่วถึง
คำสอนของพระบรมศาสดาโดยถ่องแท้จะพึงถามฉะนั้น เป็นลาภอย่างมากของ
เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย เพื่อนพรหมจารีทั้งหลายได้ดีแล้วที่ได้พบเห็น ได้นั่งใกล้
ท่านพระสารีบุตร แม้หากเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายจะเทิดทูนท่านพระสารีบุตรไว้
บนศีรษะเหมือนเทริดผ้า จึงจะได้พบเห็น ได้นั่งใกล้ แม้ข้อนั้นก็เป็นลาภอย่างมาก
ของท่านเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นได้ดีแล้ว อนึ่ง นับว่าเป็นลาภอย่างมากของผมด้วย
ผมได้ดีแล้วด้วย ที่ได้พบเห็น ได้นั่งใกล้ท่านสารีบุตร”
พระมหานาคทั้ง ๒ รูปนั้นต่างชื่นชมภาษิตของกันและกัน ดังนี้แล

รถวินีตสูตรที่ ๔ จบ

๕. นิวาปสูตร
ว่าด้วยเหยื่อล่อเนื้อ

[๒๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย นายพรานเนื้อมิได้ปลูกหญ้าไว้สำหรับฝูงเนื้อด้วยคิดว่า ‘เมื่อ
ฝูงเนื้อกินหญ้าที่เราปลูกไว้นี้จะมีอายุยั่งยืน มีผิวพรรณดี มีชีวิตอยู่ยืนนาน’ ที่แท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

นายพรานเนื้อปลูกหญ้าไว้สำหรับฝูงเนื้อด้วยมีความประสงค์ว่า ‘ฝูงเนื้อที่เข้ามาสู่ทุ่งหญ้า
ที่เราปลูกไว้นี้แล้วจักลืมตัวกินหญ้า เมื่อเข้ามาแล้วลืมตัวกินหญ้าก็จักเผลอตัว เมื่อ
เผลอตัวก็จักเลินเล่อ เมื่อเลินเล่อก็จักถูกเราทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านี้’

ฝูงเนื้อที่ถูกนายพรานจับ

[๒๖๒] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาฝูงเนื้อเหล่านั้น เนื้อฝูงที่ ๑ เข้าไปสู่ทุ่งหญ้า
ที่นายพรานปลูกไว้แล้วลืมตัวกินหญ้าอยู่ เมื่อเข้าไปแล้วลืมตัวกินหญ้าอยู่ก็เผลอตัว
เมื่อเผลอตัวก็เลินเล่อ เมื่อเลินเล่อก็ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบใน
ทุ่งหญ้านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อฝูงที่ ๑ นั้นก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อ
ไปได้
[๒๖๓] ภิกษุทั้งหลาย เนื้อฝูงที่ ๒ คิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า ‘เนื้อฝูงที่ ๑
ที่เข้าไปในทุ่งหญ้าของนายพรานเนื้อ ลืมตัวกินหญ้าอยู่ เมื่อเข้าไปแล้วลืมตัวกิน
หญ้าอยู่ก็เผลอตัว เมื่อเผลอตัวก็เลินเล่อ เมื่อเลินเล่อก็ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ
ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อฝูงที่ ๑ ก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจ
ของนายพรานเนื้อไปได้ ทางที่ดี เราควรงดกินหญ้าโดยสิ้นเชิง เมื่องดกินหญ้า
ที่เป็นภัยแล้ว ควรหลีกไปอยู่ตามราวป่า’ แล้วจึงงดกินหญ้าโดยสิ้นเชิง เมื่องดกิน
หญ้าที่เป็นภัยแล้ว ก็หลีกไปอยู่ตามราวป่า ครั้นถึงเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนซึ่งเป็น
เวลาที่หญ้าและน้ำหมดสิ้นแล้ว ฝูงเนื้อฝูงนั้นก็มีร่างกายซูบผอม เมื่อมีร่างกาย
ซูบผอม กำลังเรี่ยวแรงก็หมดไป เมื่อกำลังเรี่ยวแรงหมดไป จึงพากันกลับมาสู่
ทุ่งหญ้าที่นายพรานนั้นปลูกไว้อีก เนื้อฝูงนั้นพากันเข้าไปในทุ่งหญ้านั้น ลืมตัวกินหญ้าอยู่
เมื่อเข้าไปแล้วลืมตัวกินหญ้าอยู่ก็เผลอตัว เมื่อเผลอตัวก็เลินเล่อ เมื่อเลินเล่อก็ถูก
นายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เนื้อฝูงที่ ๒
ก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้
[๒๖๔] ภิกษุทั้งหลาย เนื้อฝูงที่ ๓ คิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า ‘เนื้อฝูงที่ ๑
เข้าไปในทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อฝูงที่ ๑ ก็ไม่รอด
พ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้ และเนื้อฝูงที่ ๒ คิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

‘เนื้อฝูงที่ ๑ เข้าไปสู่ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อฝูงที่ ๑
ก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้ ทางที่ดี พวกเราควรงดกินหญ้า
โดยสิ้นเชิง เมื่องดกินหญ้าที่เป็นภัยแล้ว ควรหลีกไปอยู่ตามราวป่า’ จึงงดกินหญ้า
โดยสิ้นเชิง เมื่องดกินหญ้าที่เป็นภัยแล้ว ก็หลีกไปอยู่ตามราวป่า ครั้นถึงเดือน
สุดท้ายแห่งฤดูร้อนซึ่งเป็นเวลาที่หญ้าและน้ำหมดสิ้น เนื้อฝูงนั้นมีร่างกายซูบผอม
เมื่อมีร่างกายซูบผอม กำลังเรี่ยวแรงก็หมดไป เมื่อกำลังเรี่ยวแรงหมดไป จึงพากัน
กลับมาสู่ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้นอีก เนื้อฝูงนั้นพากันเข้าไปสู่ทุ่งหญ้านั้น
ลืมตัวกินหญ้าอยู่ เมื่อเข้าไปแล้วลืมตัวกินหญ้าอยู่ก็เผลอตัว เมื่อเผลอตัวก็เลิ่นเล่อ
เมื่อเลินเล่อก็ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้
แม้เนื้อฝูงที่ ๒ นั้นก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานไปได้ ทางที่ดี พวกเรา
ควรซุ่มอาศัยอยู่ใกล้ ๆ ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น ครั้นแล้วเราจะไม่เข้าไป
สู่ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น จักไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ เมื่อไม่เข้าไปแล้วไม่
ลืมตัวกินหญ้าอยู่ก็จักไม่เผลอตัว เมื่อไม่เผลอตัวก็จักไม่เลินเล่อ เมื่อไม่เลินเล่อก็
จักไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น’ แล้วจึงเข้าไปซุ่ม
อาศัยอยู่ใกล้ ๆ ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น ครั้นซุ่มอาศัยอยู่ใกล้ ๆ ทุ่งหญ้า
นั้นแล้วก็ไม่เข้าไปสู่ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น ไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ เมื่อไม่
เข้าไปในทุ่งหญ้านั้นไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ก็ไม่เผลอตัว เมื่อไม่เผลอตัวก็ไม่เลินเล่อ
เมื่อไม่เลินเล่อก็ไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น นายพรานเนื้อกับบริวารมีความคิดว่า ‘เนื้อฝูงที่ ๓
นี้เป็นสัตว์ฉลาดเหมือนมีฤทธิ์ ไม่ใช่สัตว์ธรรมดา จึงกินหญ้าที่ปลูกไว้นี้ได้ เราไม่รู้
ทั้งทางมาและทางไปของพวกมัน ทางที่ดี พวกเราควรเอาไม้มาขัดเป็นตาข่ายล้อม
รอบทุ่งหญ้าที่ปลูกไว้นี้ บางทีเราจะพบที่อยู่ของเนื้อฝูงที่ ๓ ในที่ซึ่งเราจะไปจับพวก
มันได้’ พวกเขาจึงช่วยกันเอาไม้มาขัดเป็นตาข่ายล้อมรอบทุ่งหญ้าที่ปลูกไว้นั้น
นายพรานเนื้อกับบริวารก็ได้พบที่อยู่ของเนื้อฝูงที่ ๓ ในที่ซึ่งเขาไปจับพวกมันได้แล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เนื้อฝูงที่ ๓ นั้นก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

ฝูงเนื้อที่ถูรอดมือนายพราน

[๒๖๕] ภิกษุทั้งหลาย เนื้อฝูงที่ ๔ คิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่าเนื้อฝูงที่ ๑
ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้เนื้อฝูงที่ ๑ ก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้
และเนื้อฝูงที่ ๒ คิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า ‘เนื้อฝูงที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อฝูง
ที่ ๑ นั้นก็ไม่รอกพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้ ทางที่ดี พวกเราควรงด
กินหญ้า โดยสิ้นเชิง เมื่องดกินหญ้าที่เป็นภัยแล้ว ก็หลีกไปอยู่ตามราวป่า’
แล้วจึงงดกินหญ้า โดยสินเชิง ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เนื้อฝูงที่ ๒ นั้นก็ไม่รอด
พ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้
อนึ่ง เนื้อฝูงที่ ๓ คิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า ‘เนื้อฝูงที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็น
เช่นนี้ ‘เนื้อฝูงที่ ๑ นั้นก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานไปได้ และเนื้อฝูงที่ ๒
คิดเห็นร่วมกกันอย่างนี้ว่า ‘เนื้อฝูงที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อฝูงที่ ๑ นั้นก็ไม่รอด
พ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้ ทางที่ดี เราควรงดกินหญ้าโดยสิ้นเชิง เมื่อ
งดกินหญ้าที่เป็นภัยแล้ว ก็หลีกไปอยู่ตามราวป่า’ แล้วจึงงดกินหญ้าโดยสิ้นเชิง ฯลฯ
เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เนื้อฝูงที่ ๒ นั้นก็ไม่รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้
ทางที่ดี พวกเราควรซุ่มอาศัยอยู่ใกล้ ๆ ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น ครั้นแล้ว
เราจะไม่เข้าไปยังทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น จะไม่ลืมตัวกินหญ้า เมื่อไม่เข้าไปแล้ว
ไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ก็จักไม่เผลอตัว เมื่อไม่เผลอตัวก็จักไม่เลินเล่อ เมื่อไม่เลินเล่อ
ก็จักไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น’ แล้วจึงเข้าไปซุ่ม
อาศัยอยู่ใกล้ ๆ ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น ครั้นซุ่มอาศัยอยู่ใกล้ ๆ ทุ่งหญ้า
นั้นแล้วไม่เข้าไปสู่ทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น ไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ เมื่อไม่
เข้าไปยังทุ่งหญ้านั้น ไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ก็ไม่เผลอตัว เมื่อไม่เผลอตัวก็ไม่เลินเล่อ
เมื่อไม่เลินเล่อก็ไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น
ครั้งนั้น นายพรานเนื้อกับบริวารมีความคิดว่า ‘เนื้อฝูงที่ ๓ นี้เป็นสัตว์ฉลาด
เหมือนมีฤทธิ์ ไม่ใช่สัตว์ธรรมดา ฯลฯ นายพรานเนื้อกับบริวารก็ได้พบที่อยู่ของ
เนื้อฝูงที่ ๓ ในที่ซึ่งเขาจะไปจับพวกมันได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เนื้อฝูงที่ ๓ นั้นก็ไม่
รอดพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้ ทางที่ดี พวกเราควรอาศัยอยู่ในที่ซึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

นายพรานเนื้อกับบริวารไปไม่ถึง ครั้นแล้วไม่ควรเข้าไปยังทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อ
ปลูกไว้นั้น เมื่อไม่ลืมตัวกินหญ้าก็จักไม่เผลอตัว เมื่อไม่เผลอตัวก็จักไม่เลินเล่อ
เมื่อไม่เลินเล่อก็จักไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น’ แล้ว
จึงซุ่มอาศัยอยู่ในที่ซึ่งนายพรานเนื้อกับบริวารไปไม่ถึง ครั้นซุ่มอาศัยอยู่ในที่นั้นแล้ว
ก็ไม่เข้าไปยังทุ่งหญ้าที่นายพรานเนื้อปลูกไว้นั้น ไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ เมื่อไม่เข้าไป
ยังทุ่งหญ้านั้นไม่ลืมตัวกินหญ้าอยู่ก็ไม่เผลอตัว เมื่อไม่เผลอตัวก็จักไม่เลินเล่อ เมื่อไม่
เลินเล่อก็จักไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในทุ่งหญ้านั้น
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พรานเนื้อกับบริวารคิดเห็นว่า ‘เนื้อฝูงที่ ๔ นี้เป็นสัตว์
ฉลาดเหมือนมีฤทธิ์ ไม่ใช่สัตว์ธรรมดา จึงกินหญ้าที่ปลูกไว้นี้ได้ อนึ่ง เราไม่ทราบ
ทางมาและทางไปของพวกมันเลย ทางที่ดี พวกเราควรเอาไม้มาขัดเป็นตาข่าย
ล้อมรอบทุ่งหญ้าที่ปลูกไว้โดยรอบ บางทีเราจะพบที่อยู่ของเนื้อฝูงที่ ๔ ในที่ซึ่ง
เราจะไปจับพวกมันได้’ พวกเขาจึงเอาไม้มาขัดเป็นตาข่ายล้อมรอบทุ่งหญ้าที่ปลูกไว้
นั้น แต่ก็ไม่พบที่อยู่ของเนื้อฝูงที่ ๔ ในที่ซึ่งตนจะไปจับเอา ครั้งนั้น นายพรานเนื้อ
กับบริวารจึงคิดตกลงใจว่า ‘ถ้าเราจักขืนรบกวนเนื้อฝูงที่ ๔ ให้ตกใจ เนื้อเหล่านั้น
ที่ถูกเราทำให้ตกใจแล้วก็จะพลอยทำให้เนื้อฝูงอื่น ๆ ตกใจไปด้วย ฝูงเนื้อทั้งหลายคง
จะไปจากทุ่งหญ้าที่ปลูกไว้จนหมดสิ้น ทางที่ดี พวกเราควรวางเฉยในเนื้อฝูงที่ ๔ เสีย
เถิด’ นายพรานเนื้อกับบริวารก็วางเฉยเนื้อฝูงที่ ๔ เสีย เมื่อเป็นเช่นนี้ เนื้อฝูงที่ ๔
จึงรอดพ้นจากอำนาจของนายพรานเนื้อไปได้
[๒๖๖] ภิกษุทั้งหลาย เราจะเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจเนื้อความได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ในคำเปรียบเทียบนั้น มีคำอธิบายดังต่อไปนี้
คำว่า ทุ่งหญ้า นั้นเป็นชื่อแห่งกามคุณ ๕
คำว่า นายพรานเนื้อ นั้นเป็นชื่อของมารผู้มีบาป
คำว่า บริวารของนายพรานเนื้อ นั้นเป็นชื่อของบริวารของมาร
คำว่า ฝูงเนื้อ นั้นเป็นชื่อของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

เปรียบเทียบนักบวชกับฝูงเนื้อ

[๒๖๗] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์พวก
ที่ ๑ เข้าไปหากามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิสแล้วลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕
เมื่อเข้าไปหากามคุณ ๕ นั้น ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ ก็มัวเมา เมื่อมัวเมาก็ประมาท
เมื่อประมาทก็ถูกมารทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณ ๕ นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้
สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ นั้นก็ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสมณพราหมณ์พวกที่ ๑ ว่า เปรียบเหมือนเนื้อฝูง
ที่ ๑ นั้น
[๒๖๘] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่ ๒ คิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า
‘สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ เข้าไปหากามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิสแล้ว
ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ เมื่อเข้าไปหากามคุณ ๕ นั้นแล้วลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕
ก็มัวเมา เมื่อมัวเมาก็ประมาท เมื่อประมาทก็ถูกมารทำอะไร ๆ ตามใจชอบใน
กามคุณ ๕ นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ นั้นก็ไม่พ้นจาก
อำนาจของมารได้ ทางที่ดี พวกเราควรงดบริโภคกามคุณ ๕ อันเป็นโลกามิสโดย
สิ้นเชิง เมื่องดบริโภคที่เป็นภัยแล้ว ควรหลีกไปอยู่ในราวป่า’ แล้วจึงงดบริโภค
กามคุณ ๕ อันเป็นโลกามิสโดยสิ้นเชิง เมื่องดบริโภคที่เป็นภัยแล้วก็หลีกไปอยู่ตาม
ราวป่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีผักดองเป็นอาหารบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นอาหารบ้าง
มีลูกเดือยเป็นอาหารบ้าง มีกากข้าวเป็นอาหารบ้าง มีสาหร่ายเป็นอาหารบ้าง
มีรำเป็นอาหารบ้าง มีข้าวตังเป็นอาหารบ้าง มีกำยานเป็นอาหารบ้าง มีหญ้าเป็น
อาหารบ้าง มีมูลโคเป็นอาหารบ้าง มีเหง้าไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหารบ้าง บริโภค
ผลไม้ที่หล่นเอง ดำรงอัตภาพอยู่ในราวป่านั้น ครั้นถึงเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนซึ่ง
เป็นเวลาที่อาหาร(ป่า)และน้ำหมดสิ้น เธอเหล่านั้นก็มีร่างกายซูบผอม เมื่อมีร่างกาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

ซูบ ผอม กำลังเรี่ยวแรงก็หมดไป เมื่อกำลังเรี่ยวแรงหมดไป เจโตวิมุตติ๑ก็เสื่อม
เมื่อเจโตวิมุตติเสื่อมแล้ว พวกเธอก็กลับหันหน้าเข้าหากามคุณ ๕ อันเป็นโลกามิส
นั้นอีก เมื่อเข้าไปหาแล้วลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ ก็มัวเมา เมื่อมัวเมาก็ประมาท
เมื่อประมาทก็ถูกมารทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณ ๕ นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้
แม้สมณพราหมณ์พวกที่ ๒ นั้น ก็ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสมณพราหมณ์พวกที่ ๒ นี้เปรียบเหมือนเนื้อฝูงที่ ๒ นั้น
[๒๖๙] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่ ๓ คิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า
‘สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ นั้น ก็
ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้ และสมณพราหมณ์พวกที่ ๒ คิดเห็นร่วมกันอย่าง
นี้ว่า ‘สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ นั้น
ก็ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้ ทางที่ดี พวกเราควรงดบริโภคกามคุณ ๕ อันเป็น
โลกามิสโดยสิ้นเชิง เมื่องดบริโภคที่เป็นภัยแล้ว ควรหลีกไปอยู่ตามราวป่า’ แล้ว
จึงงดบริโภคกามคุณ ๕ อันเป็นโลกามิสโดยสิ้นเชิง เมื่องดบริโภคที่เป็นภัยแล้วก็
หลีกไปอยู่ตามราวป่า เธอเหล่านั้นมีผักดองเป็นอาหารบ้าง ฯลฯ บริโภคผลไม้ที่
หล่นเองดำรงอัตภาพอยู่ในราวป่านั้น ครั้นถึงเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนซึ่งเป็นเวลา
ที่อาหารและน้ำหมดสิ้น เธอเหล่านั้นก็มีร่างกายซูบผอม เมื่อมีร่างกายซูบผอม
กำลังเรี่ยวแรงก็หมดไป เมื่อกำลังเรี่ยวแรงหมดไป เจโตวิมุตติก็เสื่อม เมื่อเจโตวิมุตติ
เสื่อมแล้ว พวกเธอก็กลับหันหน้าเข้าหากามคุณ ๕ อันเป็นโลกามิสนั้นอีก เมื่อ
เข้าไปหาแล้วลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ ก็มัวเมา เมื่อมัวเมาก็ประมาท เมื่อประมาท
ก็ถูกมารทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณ ๕ นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้สมณ-
พราหมณ์พวกที่ ๒ นั้นก็ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้ ทางที่ดี พวกเรา ควรจะ
เข้าไปอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กามคุณ ๕ อันเป็นโลกามิสนั้น ครั้นอาศัยอยู่ใกล้ ๆ

เชิงอรรถ :
๑ เจโตวิมุตติ ในที่นี้หมายถึงเพียงอัธยาศัย คือ การสละทรัพย์ ละการครองเรือนแล้วออกมาอยู่ป่า (ม.มู.อ.
๒/๒๖๘/๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

แล้วก็ไม่เข้าไปหากามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิส ไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕
เมื่อไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ ก็จะไม่มัวเมา เมื่อไม่มัวเมาก็จะไม่ประมาท เมื่อ
ไม่ประมาทก็จะไม่ถูกมารทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณ ๕ นั้น’ จึงอาศัยอยู่ใกล้ ๆ
กามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิสนั้น ครั้นอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กามคุณ ๕
แล้วไม่เข้าไปหากามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิส ไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕
เมื่อไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ ก็ไม่มัวเมา เมื่อไม่มัวเมาก็ไม่ประมาท เมื่อไม่
ประมาทก็ไม่ถูกมารทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณนั้น แต่สมณพราหมณ์
เหล่านั้นมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด หรือโลกไม่มีที่สุด
ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตาย
แล้วตถาคตเกิดอีก หรือหลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคต
เกิดอีกและไม่เกิดอีก หรือหลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิด
อีกก็มิใช่’ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณพราหมณ์พวกที่ ๓ นั้นก็ไม่พ้นจากอำนาจของ
มารไปได้
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าสมณพราหมณ์พวกที่ ๓ นี้เปรียบเหมือนเนื้อฝูง
ที่ ๓ นั้น
[๒๗๐] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่ ๔ มีความคิดเห็นร่วมกัน
อย่างนี้ว่า ‘สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณพราหมณ์พวกที่ ๑
นั้น ก็ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้ และสมณพราหมณ์พวกที่ ๒ มีความคิด
เห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า ‘สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณ-
พราหมณ์พวกที่ ๑ นั้น ก็ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้ ทางที่ดี พวกเราควร
งดบริโภคกามคุณ ๕ อันเป็นโลกามิสโดยสิ้นเชิง เมื่องดบริโภคที่เป็นภัยแล้ว
ควรหลีกไปอยู่ตามราวป่า เธอเหล่านั้นงดเว้นจากกามคุณ ๕ ที่เป็นโลกามิส
โดยสิ้นเชิง ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้สมณพราหมณ์พวกที่ ๒ นั้นก็ไม่พ้นจาก
อำนาจของมารไปได้
อนึ่ง สมณพราหมณ์พวกที่ ๓ มีความคิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า ‘สมณพราหมณ์
พวกที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ นั้นก็ไม่พ้นจากอำนาจ
ของมารไปได้ และสมณพราหมณ์พวกที่ ๒ มีความคิดเห็นร่วมกันอย่างนี้ว่า
‘สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณพราหมณ์พวกที่ ๑ นั้นก็ไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

พ้นจากอำนาจของมารไปได้ ทางที่ดี พวกเราควรงดบริโภคกามคุณ ๕ อันเป็น
โลกามิสโดยสิ้นเชิง เมื่องดบริโภคที่เป็นภัยแล้ว ควรหลีกไปอยู่ตามราวป่า เธอ
เหล่านั้นงดบริโภคกามคุณ ๕ อันเป็นโลกามิส ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้
สมณพราหมณ์พวกที่ ๒ นั้นก็ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้ ทางที่ดี พวกเรา
ควรจะเข้าไปอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิส ครั้นอาศัย
อยู่ใกล้ ๆ กามคุณ ๕ แล้วก็ไม่เข้าไปหากามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิส
ไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ เมื่อไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ ก็ไม่มัวเมา เมื่อไม่
มัวเมาก็ไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทก็ไม่ถูกมารทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณ
๕ นั้น’ แล้วจึงอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิสนั้น ครั้นอาศัย
อยู่ใกล้ ๆ กามคุณ ๕ แล้วก็ไม่เข้าไปหากามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิส
ไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ เมื่อไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ ก็ไม่มัวเมา เมื่อไม่
มัวเมาก็ไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทก็ไม่ถูกมารทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณ
๕ นั้น แต่สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกเที่ยง ฯลฯ หรือหลัง
จากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้
สมณพราหมณ์พวกที่ ๓ นั้นก็ไม่พ้นจากอำนาจของมารไปได้ ทางที่ดี พวกเรา
ควรอาศัยอยู่ในที่ซึ่งมารและบริวารของมารไปไม่ถึง ครั้นอาศัยอยู่ในที่นั้นแล้วก็ไม่
เข้าไปหากามคุณ ๕ ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิส ไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ เมื่อ
ไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ ก็ไม่มัวเมา เมื่อไม่มัวเมาก็ไม่ประมาท เมื่อไม่
ประมาทก็ไม่ถูกมารทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณ ๕ นั้น’ แล้วจึงอาศัยอยู่
ในที่ซึ่งมารและบริวารของมารไปไม่ถึง ครั้นอาศัยในที่นั้นแล้วไม่เข้าไปหากามคุณ ๕
ที่มารล่อไว้ซึ่งเป็นโลกามิสนั้น ไม่ลืมตัวบริโภคกามคุณ ๕ เมื่อไม่ลืมตัวบริโภค
กามคุณ ๕ ก็ไม่มัวเมา เมื่อไม่มัวเมาก็ไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทก็ไม่ถูกมารทำ
อะไร ๆ ได้ตามใจชอบในกามคุณ ๕ ซึ่งเป็นโลกามิสนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณ-
พราหมณ์พวกที่ ๔ นั้น จึงพ้นจากอำนาจของมารไปได้
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าสมณพราหมณ์พวกที่ ๔ นี้เปรียบเหมือนเนื้อฝูงที่ ๔ นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๕. นิวาปสูตร

แดนที่มารตามไปไม่ถึง

[๒๗๑] ที่ซึ่งมารและบริวารของมารไปไม่ถึง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้วบรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ได้ทำมารให้
ตาบอด๑ คือ ทำลายดวงตาของมารเสียอย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาป
มองไม่เห็น’
อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความ
ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ฯลฯ ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’
อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข’ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ฯลฯ ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’
อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไป
ก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายดวงตาของมารเสียอย่างไม่มี
ร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตต-
สัญญาโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า
‘อากาศหาที่สุดมิได้’ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายดวงตา
ของมารเสียอย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’

เชิงอรรถ :
๑ ทำมารให้ตาบอด หมายถึงภิกษุนั้นมิได้ทำลายนัยน์ตาของมาร แต่จิตของภิกษุผู้เข้าถึงฌานที่เป็นบาทของ
วิปัสสนาอาศัยอารมณ์นี้เป็นไป (เกิดดับ) เหตุนั้น มารจึงไม่สามารถมองเห็น ทำลายดวงตาของมารเสีย
อย่างไม่มีร่องรอย หมายถึงทำลายโดยที่นัยน์ตาของมารไม่มีทาง หมดหนทาง ไม่มีที่พึ่ง ปราศจาก
อารมณ์โดยปริยายนี้ ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น หมายถึงโดยปริยายนั่นเอง มารจึงไม่สามารถมอง
เห็นร่างคือญาณของภิกษุผู้เข้าฌานซึ่งเป็นบาทของวิปัสสนานั้นด้วยมังสจักษุของตนได้ (ม.มู.อ. ๒/๒๗๑/๗๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ เราเรียกภิกษุนี้ว่า
‘ฯลฯ ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ฯลฯ
ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ฯลฯ ถึงการที่มารใจ
บาปมองไม่เห็น’
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดย
ประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ก็เพราะเห็นด้วยปัญญา เธอ
ย่อมมีอาสวะสิ้นไป เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ได้ทำมารให้ตาบอด คือ ทำลายดวงตา
ของมารเสียอย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น และข้ามพ้นตัณหา
อันเป็นเครื่องข้องอยู่ในโลกได้แล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

นิวาปสูตรที่ ๕ จบ

๖. ปาสราสิสูตร
ว่าด้วยกองบ่วงดักสัตว์

[๒๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครอง
อันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุเป็นจำนวนมากเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวกับ
ท่านพระอานนท์ว่า “ท่านพระอานนท์ เป็นเวลานานมากแล้วที่พวกกระผมไม่ได้
สดับธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ขอโอกาสให้พวกกระผมได้สดับ
ธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงไปที่อาศรมของรัมมก-
พราหมณ์ ก็จักได้สดับธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เสด็จกลับจาก
บิณฑบาตภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ได้รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มา
ตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะไปพักกลางวันที่ปราสาทของมิคารมาตาใน
บุพพาราม”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จพร้อมกับ
ท่านพระอานนท์ไปพักกลางวันที่ปราสาทของมิคารมาตาในบุพพาราม ครั้นในเวลา
เย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นแล้วตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า
“มาเถิด อานนท์ เราจักไปสรงน้ำที่ท่าบุพพโกฏฐกะ”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว

มารยาทในการประชุม

[๒๗๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมกับท่านพระอานนท์ได้ไปสรงน้ำ
ที่ท่าบุพพโกฏฐกะแล้ว เสด็จขึ้น(จากท่า)ทรงครองจีวรผืนเดียวประทับยืนผึ่งพระ
วรกายอยู่ ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อาศรมของรัมมกพราหมณ์อยู่ไม่ไกล ทั้งเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ และน่าเลื่อมใส
ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังอาศรมของรัมมกพราหมณ์ เพื่อทรงอนุเคราะห์เถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพแล้วได้เสด็จเข้าไปยังอาศรมของรัมมก-
พราหมณ์
สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากนั่งสนทนาธรรมีกถาอยู่ในอาศรมของรัมมกพราหมณ์
พระผู้มีพระภาคประทับยืนนอกซุ้มประตู ทรงรอคอยให้ภิกษุสนทนากันจบ
เสียก่อน ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าการสนทนาจบลงแล้ว จึงทรงกระแอม
แล้วเคาะบานประตู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

ภิกษุเหล่านั้นเปิดประตูรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอาศรมของรัมมกพราหมณ์แล้วประทับนั่งบน
พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วจึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้
เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พูดเรื่องอะไรค้างไว้ อะไรที่เธอทั้งหลาย
สนทนากันค้างอยู่”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ปรารภพระผู้มีพระภาคแล้วสนทนาธรรมีกถาค้างอยู่ พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จ
มาถึง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตร
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาประชุมสนทนาธรรมีกถากันนั้นเป็นเรื่อง
สมควร เธอทั้งหลายผู้มาประชุมกันมีกิจที่ควรทำ ๒ ประการ คือ (๑) การ
สนทนาธรรม (๒) การเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ๑

การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ

[๒๗๔] ภิกษุทั้งหลาย การแสวงหามี ๒ อย่าง คือ (๑) การแสวงหาที่
ประเสริฐ (๒) การแสวงหาที่ไม่ประสริฐ
การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ตนเองมีความเกิดเป็นธรรมดายังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิด
เป็นธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความแก่เป็นธรรมดายังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็น
ธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็น
ธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความตายเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็น
ธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความ

เชิงอรรถ :
๑ การสนทนาธรรม หมายถึงสนทนาเรื่องกถาวัตถุ ๑๐ ประการ การเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ หมายถึง
การเข้าฌานสมาบัติ (ม.มู.อ. ๒/๒๗๓/๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

เศร้าโศกเป็นธรรมดาอยู่อีก ตนเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหา
สิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่อีก
ภิกษุทั้งหลาย หากเธอทั้งหลายถามว่า
อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา
คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน
เรียกว่าสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ๑
ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ก็ยัง
แสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่อีก
อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา
คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา
ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาเหล่านั้น
เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความแก่เป็น
ธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่อีก
อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ทอง เงิน
เรียกว่าสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาเหล่านั้น
เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความเจ็บไข้เป็น
ธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่อีก
อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา
คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา
ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาเหล่านั้น
เป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเองมีความตายเป็น
ธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาอยู่อีก

เชิงอรรถ :
๑ อุปธิ ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ ประการ (คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) (ม.มู.อ. ๒/๒๗๔/๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา
คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา
ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็น
ธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเอง
มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดาอยู่อีก
อะไรเล่า เรียกว่าสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา
คือ บุตร ภรรยา ทาสี ทาส แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา
ทอง เงิน เรียกว่าสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา สิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็น
ธรรมดาเหล่านั้นเป็นอุปธิ ผู้ที่ติดพันลุ่มหลงเกี่ยวข้องในอุปธิเหล่านั้น ชื่อว่าตนเอง
มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่อีก
นี้คือการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ

การแสวงหาที่ประเสริฐ

[๒๗๕] การแสวงหาที่ประเสริฐ เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ตนเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษใน
สิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเกิด ไม่มีธรรมอื่น
ยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
ตนเองมีความแก่เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา
ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความแก่ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
ตนเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเจ็บไข้ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
ตนเองมีความตายเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา
ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความตาย ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
ตนเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าโศก
เป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และ
เกษมจากโยคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

ตนเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมอง
เป็นธรรมดา ย่อมแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า
และเกษมจากโยคะ
นี้คือการแสวงหาที่ประเสริฐ
[๒๗๖] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนเราเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ตนเองมี
ความเกิดเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเองมี
ความแก่เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเองมี
ความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเอง
มีความตายเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดาอยู่นั่นแล ตนเอง
มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดาอยู่นั่นแล
ตนเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็น
ธรรมดาอยู่นั่นแล
เราจึงคิดอย่างนี้ว่า ‘เรามีความเกิดเป็นธรรมดา ไฉนยังแสวงหาสิ่งที่มีความ
เกิดเป็นธรรมดาอยู่อีก’ เรามีความแก่เป็นธรรมดา ฯลฯ มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
... มีความตายเป็นธรรมดา ... มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ... มีความเศร้าหมอง
เป็นธรรมดา ไฉนยังแสวงหาสิ่งที่มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดาอยู่อีก’ ทางที่ดี
เราเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาแล้ว
ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเกิด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความแก่เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาแล้ว
ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความแก่ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
แล้ว ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเจ็บไข้ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความตายเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา
แล้ว ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความตาย ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๒๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

เราเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าโศก
เป็นธรรมดาแล้ว ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า
และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมอง
เป็นธรรมดาแล้ว ควรแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า
และเกษมจากโยคะ

พุทธประวัติตอนบำเพ็ญสมาบัติ
ในสำนักอาฬารดาบส๑

[๒๗๗] ภิกษุทั้งหลาย ในกาลต่อมา เรายังหนุ่มแน่น แข็งแรง มีเกศา
ดำสนิท อยู่ในปฐมวัย เมื่อพระราชมารดาและพระราชบิดาไม่ทรงปรารถนาจะให้
ผนวช มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตรทรงกันแสงอยู่ จึงโกนผมและหนวด นุ่งห่ม
ผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อผนวชแล้วก็แสวงหาว่าอะไร
เป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้
เข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วกล่าวว่า ‘ท่านกาลามะ ข้าพเจ้าปรารถนา
จะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’
เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงกล่าวกับเราว่า ‘เชิญท่าน
อยู่ก่อน ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
ตามแบบอาจารย์ของตน เข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน เราก็เรียนรู้
ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณ-
วาทะ๒และเถรวาทะ๓ได้ ทั้งเราและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ เราจึงคิดว่า
‘อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า
‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่อาฬารดาบส กาลามโคตร
ยังรู้ ยังเห็นธรรมนี้อย่างแน่นอน’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๒๗-๓๒๙/๓๙๕-๓๙๙,๔๗๕-๔๗๙/๖๐๐-๖๐๗ และดูข้อ ๓๗๑ หน้า ๔๕๕ ในเล่มนี้
๒ ญาณวาทะ หมายถึงลัทธิที่ว่า ข้าพเจ้ารู้ (ม.มู.อ. ๒/๒๗๗/๗๙)
๓ เถรวาทะ หมายถึงลัทธิที่ว่า ข้าพเจ้าเป็นใหญ่ (ม.มู.อ. ๒/๒๗๗/๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่านกาลามะ
ท่านประกาศธรรมนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุ
เพียงเท่าไร’
เมื่อเราถามอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงประกาศอากิญจัญญายตน-
สมาบัติแก่เรา เราจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีศรัทธา
แม้เราก็มีศรัทธา มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีวิริยะ แม้เราก็มีวิริยะ
มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีสติ แม้เราก็มีสติ มิใช่แต่อาฬารดาบส
กาลามโคตรเท่านั้นที่มีสมาธิ แม้เราก็มีสมาธิ มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตร
เท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญเพียร เพื่อทำให้แจ้ง
ธรรมที่อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง
เองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน เราก็ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่านกาลามะ
ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุ
เพียงเท่านี้หรือ’
อาฬารดาบส กาลามโคตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าประกาศด้วยเหตุ
เพียงเท่านี้แล’
(เราจึงกล่าวว่า) ‘ท่านกาลามะ แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอัน
ยิ่งเองเข้าถึงอยู่ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’
(อาฬารดาบส กาลามโคตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า
พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะข้าพเจ้าประกาศว่า
‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใด ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ข้าพเจ้าก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้า
ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ข้าพเจ้าทราบธรรมใด ท่านก็ทราบ
ธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด ข้าพเจ้าก็ทราบธรรมนั้น เป็นอันว่าข้าพเจ้าเป็นเช่นใด
ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด ข้าพเจ้าก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ เราทั้งสอง
จะอยู่ร่วมกันบริหารคณะนี้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

ภิกษุทั้งหลาย อาฬารดาบส กาลามโคตร ทั้งที่เป็นอาจารย์ของเรา ก็ยกย่อง
เราผู้เป็นศิษย์ให้เสมอกับตน และบูชาเราด้วยการบูชาอย่างดี ด้วยประการอย่างนี้
แต่เราคิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ
เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึง
อากิญจัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป

ในสำนักอุทกดาบส

[๒๗๘] ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทาง
อันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตร
แล้วกล่าวว่า ‘ท่านรามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’
เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงกล่าวกับเราว่า ‘เชิญท่านอยู่ก่อน
ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกันกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
ตามแบบอาจารย์ของตนเข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน เราก็เรียนรู้
ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณ-
วาทะและเถรวาทะได้ ทั้งเราและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ เราจึงคิดว่า
‘อุทกดาบส รามบุตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เราทำให้
แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่อุทกดาบส รามบุตรยังรู้ยังเห็น
ธรรมนี้ด้วยอย่างแน่นอน’
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่าน
ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียง
เท่าไร’
เมื่อเราถามอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงประกาศเนวสัญญานาสัญญายตน-
สมาบัติแก่เรา เราจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีศรัทธา แม้เรา
ก็มีศรัทธา มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีวิริยะ แม้เราก็มีวิริยะ มิใช่แต่
อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีสติ แม้เราก็มีสติ มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้น
ที่มีสมาธิ แม้เราก็มีสมาธิ มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มี
ปัญญา ทางที่ดี เราควรเริ่มบำเพ็ญเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่อุทกดาบส รามบุตร
ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน เราก็
ได้ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่าน
ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้หรือ’
อุทกดาบส รามบุตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าประกาศว่า ‘ข้าพเจ้า
ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’
(เราจึงกล่าวว่า) ‘แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’
(อุทกดาบส รามบุตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า
พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะ(ข้าพเจ้า)รามะประกาศ
ว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ท่านก็ทำให้แจ้งธรรม
นั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
รามะก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้น รามะทราบธรรมใด ท่านก็ทราบ
ธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด รามะก็ทราบธรรมนั้น เป็นอันว่ารามะเป็นเช่นใด ท่านก็
เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด รามะก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ ท่านจงบริหารคณะนี้’
ภิกษุทั้งหลาย อุทกดาบส รามบุตรทั้งที่เป็นเพื่อนพรหมจารีของเรา ก็ยกย่อง
เราไว้ในฐานะอาจารย์ และบูชาเราด้วยการบูชาอย่างดี ด้วยประการอย่างนี้ แต่เรา
คิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบ
ระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงเนวสัญญานา-
สัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป

ตรัสรู้สัจธรรม

[๒๗๙] ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทาง
อันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า เมื่อเที่ยวจาริกไปในแคว้นมคธโดย
ลำดับ ได้ไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่า
น่าเพลิดเพลินใจ มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

อยู่โดยรอบ เราจึงคิดว่า ‘ภูมิประเทศเป็นที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าน่าเพลิดเพลินใจ
มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามอยู่โดยรอบ
เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ปรารถนาจะบำเพ็ญเพียร’ เราจึงนั่ง ณ ที่
นั้นด้วยคิดว่า ‘ที่นี้เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร’
[๒๘๐] ภิกษุทั้งหลาย เราเองมีความเกิดเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษใน
สิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเกิด ไม่มี
ธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความแก่เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา
แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความแก่ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา
แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเจ็บไข้ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษม
จากโยคะ
เราเองมีความตายเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา
แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความตาย ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษม
จากโยคะ
เราเองมีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าโศก
เป็นธรรมดาแล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีธรรมอื่น
ยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
เราเองมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความ
เศร้าหมองเป็นธรรมดา แล้วแสวงหาจนได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง
ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า และเกษมจากโยคะ
ทั้งญาณทัสสนะได้เกิดแก่เราว่า ‘วิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย
บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

ทรงมีความขวนขวายน้อย

[๒๘๑] ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้มีความดำริว่า ‘ธรรม๑ที่เราได้บรรลุแล้วนี้
ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด
บัณฑิต(เท่านั้น)จึงจะรู้ได้ ส่วนหมู่ประชาผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย๒ ยินดีในอาลัย
เพลิดเพลินในอาลัย ฐานะที่หมู่สัตว์ผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย เพลิดเพลิน
ในอาลัยนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือหลักอิทัปปัจจยตา หลักปฏิจจสมุปบาท
ถึงแม้ฐานะอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากนัก กล่าวคือความสงบแห่งสังขารทั้งปวง
ความสลัดทิ้งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึง
แสดงธรรม และผู้อื่นจะไม่เข้าใจซึ้งต่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่า
แก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา’
อนึ่งเล่า คาถาอันน่าอัศจรรย์เหล่านี้ที่ไม่เคยสดับมาก่อน ได้ปรากฏแก่เราว่า
‘บัดนี้ เรายังไม่ควรประกาศธรรมที่เราบรรลุด้วยความลำบาก
เพราะธรรมนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกราคะและโทสะครอบงำจะรู้ได้ง่าย
แต่เป็นสิ่งพาทวนกระแส๓ ละเอียด ลึกซึ้ง รู้เห็นได้ยาก ประณีต
ผู้กำหนัดด้วยราคะ ถูกกองโมหะหุ้มห่อไว้ จักรู้เห็นไม่ได้’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๗/๑๑, ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๓๗/๔๐๗
๒ อาลัย คือกามคุณ ๕ ที่สัตว์พัวพัน ยินดี เพลิดเพลิน (วิ.อ. ๓/๗/๑๓) เป็นชื่อเรียกกิเลส ๒ อย่าง คือ
กามคุณ ๕ และตัณหาวิจริต ๑๐๘ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๑/๘๒, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๗/๑๘๔) ดู อภิ.วิ. (แปล)
๓๕/๙๗๓-๙๗๖/๖๒๒-๖๓๓
๓ พาทวนกระแส ในที่นี้หมายถึง อนิจฺจํ(ไม่เที่ยง) ทุกฺขํ(เป็นทุกข์) อนตฺตา(เป็นอนัตตา) อสุภํ(ไม่งาม)
อันทวนกระแสแห่งธรรมมีความเที่ยง เป็นต้น ในพระวินัยปิฎกหมายถึงพาเข้าถึงนิพพาน (ม.มู.อ.
๒/๒๘๑/๘๔, วิ.อ. ๓/๗/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

สหัมบดีพรหมอาราธนาแสดงธรรม

[๒๘๒] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราพิจารณาดังนี้ จิตก็น้อมไปเพื่อความขวนขวาย
น้อย มิได้น้อมไปเพื่อแสดงธรรม
ครั้งนั้น สหัมบดีพรหมทราบความดำริในใจของเราด้วยใจของตน จึงได้มี
ความรำพึงว่า ‘ท่านผู้เจริญ โลกจะฉิบหายหนอ โลกจะพินาศหนอ เพราะ
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย
มิได้น้อมพระทัยไปเพื่อทรงแสดงธรรม’
ลำดับนั้น สหัมบดีพรหมอันตรธานจากพรหมโลกมาปรากฏ ณ เบื้องหน้าเรา
เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น แล้วห่มอุตตราสงค์
เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือมาทางที่เราอยู่ ได้กล่าวกับเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตเจ้าได้โปรดแสดงธรรม
เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อย๑มีอยู่ สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้
สดับธรรม สัตว์เหล่านั้นจักเป็นผู้รู้ทั่วถึงธรรม‘๒
สหัมบดีพรหมได้ทูลอาราธนาดังนี้ แล้วได้ทูลเป็นคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
พรหมนิคมคาถา
‘ในกาลก่อน ธรรมที่ไม่บริสุทธิ์
อันคนที่มีมลทิน๓คิดค้นไว้ ปรากฏในแคว้นมคธ
พระองค์โปรดเปิดประตูอมตธรรมนั้นเถิด
ขอสัตว์ทั้งหลายจงฟังธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ปราศจากมลทิน ได้ตรัสรู้แล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระปัญญาดี มีพระสมันตจักษุ
บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดเขาศิลาล้วน
พึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ แม้ฉันใด

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีธุลีในดวงตาน้อย หมายถึงมีธุลีคือราคะ โทสะ โมหะเบาบางคือเล็กน้อย ปิดบังดวงตาคือปัญญา
(ม.มู.อ. ๒/๒๘๒/๘๕, วิ.อ. ๓/๘-๙/๑๔-๑๕)
๒ เหตุการณ์นี้เป็นที่มาแห่งพิธีอาราธนาพระสงฆ์แสดงธรรม (ดู ขุ.พุทธ. ๓๓/๑/๔๓๕)
๓ คนที่มีมลทิน ในที่นี้หมายถึงครูทั้ง ๖ (วิ.อ. ๓/๘/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

พระองค์ผู้หมดความเศร้าโศกแล้ว
โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม
จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก
และถูกชาติชราครอบงำได้ชัดเจน ฉันนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
ผู้ชนะสงคราม๑ ผู้นำหมู่๒ ผู้ไม่มีหนี้๓
ขอพระองค์โปรดลุกขึ้นเสด็จจาริกไปในโลก
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดแสดงธรรม
เพราะสัตว์ทั้งหลายจักเป็นผู้รู้ทั่วถึงธรรม’

เวไนยสัตว์เปรียบด้วยดอกบัว๔

[๒๘๓] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น เรารับคำทูลอาราธนาของพรหม และเพราะ
ความมีกรุณาในสัตว์ทั้งหลาย จึงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ๕ เมื่อตรวจดูโลกด้วยพุทธ-
จักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตา๖น้อย มีธุลีในดวงตามาก มีอินทรีย์
แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก
บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัว บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าเป็น
สิ่งไม่น่ากลัว

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ชนะสงคราม หมายถึงชนะเทวบุตรมาร มัจจุมาร และกิเลสมาร (ม.มู.อ. ๒/๒๘๒/๘๗)
๒ ผู้นำหมู่ หมายถึงสามารถนำสัตว์ข้ามที่กันดารคือชาติ(ความเกิด) และสามารถเป็นผู้นำของหมู่สัตว์คือ
เวไนยสัตว์ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๒/๘๗)
๓ ผู้ไม่มีหนี้ หมายถึงไม่มีหนี้คือกามฉันทะ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๒/๘๗)
๔ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๖๙/๓๙-๔๐, วิ.ม. (แปล) ๔/๙/๑๔, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๓๓/๒๐๒, อภิ.ก.
๓๗/๘๕๖/๔๙๐
๕ พุทธจักษุ หมายถึง
(๑) อินทริยปโรปริยัตติญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและความหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือ รู้
ว่าสัตว์นั้น ๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีความ
พร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่
(๒) อาสยานุสยญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัย ความมุ่งหมาย สภาพจิตที่นอนเนื่องอยู่ (ม.มู.อ.
๒/๒๘๓/๘๗, วิ.อ. ๓/๙/๑๕) และดู ขุ.ป. ๓๑/๑๑๑-๑๑๕/๑๒๔-๑๒๘)
๖ ดวงตา ในที่นี้หมายถึงปัญญาจักษุ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๓/๘๗, วิ.อ. ๓/๙/๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

ในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก
บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ และมีน้ำหล่อเลี้ยงไว้
ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่เสมอน้ำ
ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่พ้นน้ำ
ไม่แตะน้ำ แม้ฉันใด
เราเมื่อตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อย
มีธุลีในดวงตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม
สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัว
บางพวกมักเห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งไม่น่ากลัว๑ ฉันนั้น
ลำดับนั้น เราจึงได้กล่าวคาถาตอบสหัมบดีพรหมว่า
‘พรหม สัตว์เหล่าใดมีโสตประสาท
จงปล่อยศรัทธามาเถิด
เรามิได้ปิดประตูอมตธรรมสำหรับสัตว์เหล่านั้น
แต่เรารู้สึกว่าเป็นการยากลำบาก
จึงไม่คิดจะแสดงธรรมอันประณีต
ที่เราคล่องแคล่ว ในหมู่มนุษย์’
ครั้งนั้น สหัมบดีพรหมทราบว่า ‘พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานโอกาสเพื่อจะ
แสดงธรรมแล้ว’ จึงถวายอภิวาทเรา กระทำประทักษิณแล้วได้หายไปจากที่นั้น

เชิงอรรถ :
๑ นอกจากบัวจมอยู่ในน้ำ บัวอยู่เสมอน้ำ บัวพ้นน้ำ ๓ เหล่านี้ อรรถกถาได้กล่าวถึงบัวเหล่าที่ ๔ คือ บัว
ที่มีโรคยังไม่พ้นน้ำเป็นอาหารของปลาและเต่า ซึ่งมิได้ยกขึ้นสู่บาลี แล้วแบ่งบุคคลเป็น ๔ เหล่า (ตามที่
ปรากฏ ใน องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๓๓/๒๐๒, อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๕/๑๔๒,๑๔๘-๑๕๑/๑๘๗) คือ (๑) อุคฆฏิตัญญู
(๒) วิปจิตัญญู (๓) เนยยะ (๔) ปทปรมะ แล้วเปรียบอุคฆฏิตัญญู เป็นเหมือนบัวพ้นน้ำที่พอต้องแสง
อาทิตย์แล้วก็บานในวันนี้ เปรียบวิปจิตัญญู เป็นเหมือนบัวอยู่เสมอน้ำที่จะบานในวันรุ่งขึ้น เปรียบเนยยะ
เป็นเหมือนบัวจมอยู่ในน้ำที่จะขึ้นมาบานในวันที่ ๓ ส่วนปทปรมะ เปรียบเหมือนบัวที่มีโรคยังไม่พ้นน้ำ ไม่
มีโอกาสขึ้นมาบาน เป็นอาหารของปลาและเต่า
พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุอันเป็นเหมือนกออุบลเป็นต้น ได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงว่า
หมู่ประชาผู้มีธุลีในดวงตาเบาบางมีประมาณเท่านี้ หมู่ประชาผู้มีธุลีในดวงตามากมีประมาณเท่านี้ และใน
หมู่ประชาทั้ง ๒ นั้น อุคฆฏิตัญญูบุคคลมีประมาณเท่านี้ (ที.ม.อ. ๖๙/๖๔-๖๕, สารตฺถ.ฏีกา ๓/๙/๑๙๒-
๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

ทรงรำพึงถึงผู้ควรรับธรรมเทศนา

[๒๘๔] ภิกษุทั้งหลาย เราดำริว่า ‘เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ
ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’ แล้วดำริต่อไปว่า ‘อาฬารดาบส กาลามโคตรนี้ เป็น
บัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในดวงตาน้อยมานาน ทางที่ดี เราควร
แสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’
ครั้งนั้น เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อาฬารดาบส กาลามโคตรทำกาละได้ ๗ วันแล้ว’
อนึ่ง เราก็ได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นว่า ‘อาฬารดาบส กาลามโคตร ทำกาละได้ ๗
วันแล้ว’ จึงดำริว่า ‘อาฬารดาบส กาลามโคตร เป็นผู้มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่ง
ใหญ่๑แล้วหนอ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน’
เราจึงดำริว่า ‘เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้
ฉับพลัน’ จึงดำริต่อไปว่า ‘อุทกดาบส รามบุตรนี้ เป็นบัณฑิต ฉลาดเฉียบแหลม
มีปัญญา มีธุลีในดวงตาน้อยมานาน ทางที่ดี เราควรแสดงธรรมแก่อุทกดาบส
รามบุตรก่อน เธอจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’
ลำดับนั้น เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อุทกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละเมื่อวานนี้’
อนึ่ง เราก็ได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นว่า ‘อุทกดาบส รามบุตร ได้ทำกาละ
เมื่อวานนี้’ จึงดำริว่า ‘อุทกดาบส รามบุตร เป็นผู้มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่
แล้วหนอ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ ก็จะพึงรู้ได้ฉับพลัน’
เราจึงดำริว่า ‘เราควรแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ธรรมนี้ได้ฉับพลัน’
จึงดำริว่า ‘ภิกษุปัญจวัคคีย์มีอุปการะแก่เรามาก ที่ได้เฝ้าปรนนิบัติเราผู้มุ่งบำเพ็ญ

เชิงอรรถ :
๑ มีความเสื่อมจากคุณอันยิ่งใหญ่ หมายถึงมีความเสื่อมมาก เพราะเสื่อมจากมรรคและผลที่จะพึงบรรลุ
เพราะเกิดในอักขณะ คือ อาฬารดาบส ตายไปเกิดในอากิญจัญญายตนภพ ส่วนอุทกดาบส ตายไปเกิดใน
เนวสัญญานาสัญญายตนภพ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๔/๙๔, วิ.อ. ๓/๑๐/๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

เพียร ทางที่ดี เราควรแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อน’ แล้วดำริต่อไปว่า ‘บัดนี้
ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ’ ก็ได้เห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เขตกรุงพาราณสี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น เราพักอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาตามความต้องการแล้ว
จึงหลีกจาริกไปทางกรุงพาราณสี

ทรงพบอุปกาชีวก

[๒๘๕] ภิกษุทั้งหลาย อาชีวกชื่ออุปกะได้พบเราผู้กำลังเดินทางไกล ณ ระหว่าง
แม่น้ำคยากับต้นโพธิพฤกษ์ ได้ถามเราว่า ‘อาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก
ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน
หรือท่านชอบใจธรรมของใคร’
เมื่ออุปกาชีวกถามอย่างนี้แล้ว เราจึงได้กล่าวคาถาตอบอุปกาชีวกว่า
‘เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง๑ รู้ธรรมทั้งปวง๒
มิได้แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง๓ ละธรรมทั้งปวง๔ได้สิ้นเชิง
หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา ตรัสรู้ยิ่งเอง
แล้วจะพึงกล่าวอ้างใครเล่า
เราไม่มีอาจารย๕ เราไม่มีผู้เสมอเหมือน
เราไม่มีผู้ทัดเทียมในโลกกับทั้งเทวโลก
เพราะเราเป็นอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม
เราผู้เดียวเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
เป็นผู้เยือกเย็น ดับกิเลสในโลกได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๒ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๓ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๔ ธรรมทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๖)
๕ เราไม่มีอาจารย์ ในที่นี้หมายถึงไม่มีอาจารย์ในระดับโลกุตตรธรรม (ม.มู.อ. ๒/๒๘๕/๙๗, วิ.อ. ๓/๑๑/๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

เราจะไปเมืองหลวงของชาวกาสี ประกาศธรรมจักร
ตีกลองอมตธรรมไปในโลกอันมีความมืดมน‘๑
อุปกาชีวกกล่าวว่า ‘อาวุโส ท่านสมควรเป็นพระอนันตชินะตามที่ท่านประกาศ’
เราจึงกล่าวตอบเป็นคาถาว่า
‘ชนเหล่าใดได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
ชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระชินะเช่นเรา
อุปกะ เราชนะความชั่วได้แล้ว
เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่าพระชินะ’
เมื่อเรากล่าวอย่างนั้นแล้ว อุปกาชีวกจึงกล่าวว่า ‘อาวุโส ควรจะเป็นอย่างนั้น’
โคลงศีรษะแล้วเดินสวนทางหลีกไป

ทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุปัญจวัคคีย์

[๒๘๖] ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น เราจาริกไปโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตน-
มฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ได้เข้าไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์ถึงที่อยู่ ภิกษุปัญจวัคคีย์
เห็นเราเดินมาแต่ไกล จึงนัดหมายกันและกันว่า ‘อาวุโส พระสมณโคดมนี้ เป็น
ผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก กำลังเสด็จมา
พวกเราไม่พึงกราบไหว้ ไม่พึงลุกรับ ไม่พึงรับบาตรและจีวรของพระองค์ แต่จะจัด
อาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง’
เราเข้าไปหาภิกษุปัญจวัคคีย์ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ลืมข้อนัดหมายของตน บางพวก
ต้อนรับเราแล้วรับบาตรและจีวร บางพวกปูลาดอาสนะ บางพวกจัดหาน้ำล้างเท้า
แต่ภิกษุปัญจวัคคีย์เรียกเราโดยออกนามและใช้คำว่า ‘อาวุโส‘๒

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๑/๑๗, ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๔๑/๔๑๒, อภิ.ก. ๓๗/๔๐๕/๒๔๕-๒๔๖
๒ อาวุโส แปลว่า ผู้มีอายุ เดิมใช้เป็นคำเรียกกันเป็นสามัญ คือ ภิกษุผู้แก่กว่าเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่าหรือ
ภิกษุผู้อ่อนกว่าเรียกภิกษุผู้แก่กว่าก็ได้ (ที.ม.อ. ๒/๒๑๖/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราจึงห้ามภิกษุปัญญจวัคคีย์ว่า ‘ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าเรียกตถาคตโดยออกชื่อและใช้คำว่า ‘อาวุโส’ ตถาคต
เป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เธอทั้งหลายจงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอน
อมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรม เธอทั้งหลายเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน
ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่า
กุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้’
เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้กล่าวกับเราว่า ‘อาวุโสโคดม
แม้ด้วยจริยานั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังมิได้บรรลุ
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ บัดนี้ พระองค์
เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุ
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้เล่า’
เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราจึงได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ได้เป็นคนมักมาก ไม่ได้คลายความเพียร ไม่ได้เวียนมา
เพื่อความเป็นคนมักมาก ตถาคตเป็นอรหันต์ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เธอทั้งหลาย
จงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรม เธอทั้งหลาย
เมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็น
ที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ
ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้’
แม้ครั้งที่ ๒ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กล่าวกับเราว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๒ เราก็ได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ฯลฯ
แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุปัญจวัคคีย์ก็ได้กล่าวกับเราว่า ‘อาวุโสโคดม แม้ด้วย
จริยานั้น ด้วยปฏิปทานั้น ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังมิได้บรรลุญาณทัสสนะ
ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้ บัดนี้ พระองค์เป็นผู้มักมาก
คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุญาณทัสสนะที่
ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ได้เล่า’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

เมื่อภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว เราได้กล่าวกับภิกษุปัญจวัคคีย์ว่า ‘ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายยังจำได้หรือไม่ว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้เคยกล่าวในกาลก่อนแต่นี้’
ภิกษุปัญจวัคคีย์กล่าวว่า ‘ถ้อยคำเช่นนี้ไม่เคยได้ฟังมาก่อน พระพุทธเจ้าข้า’
เราจึงกล่าวว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ
เธอทั้งหลายจงเงี่ยโสตสดับ เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราได้บรรลุแล้ว จะแสดงธรรม
เธอทั้งหลายเมื่อปฏิบัติตามที่เราสั่งสอน ไม่นานนักก็จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์
ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
โดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้แน่แท้’
เราสามารถทำให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว เรากล่าวสอนภิกษุ ๒ รูป
ภิกษุ ๓ รูปก็เที่ยวบิณฑบาต เราทั้ง ๖ ฉันบิณฑบาตที่ภิกษุ ๓ รูปนำมา
เรากล่าวสอนภิกษุ ๓ รูป ภิกษุ ๒ รูปก็เที่ยวบิณฑบาต เราทั้ง ๖ ฉันบิณฑบาต
ที่ภิกษุ ๒ รูปนำมา๑
ต่อมา ภิกษุปัญจวัคคีย์ที่เราสั่งสอนและพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ เป็นผู้มีความเกิด
เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเกิดเป็นธรรมดาด้วยตนแล้ว จึงแสวงหา
นิพพานที่ไม่มีความเกิด อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ได้บรรลุนิพพาน
ที่ไม่มีความเกิด อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมแล้ว
เป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา
ด้วยตนแล้ว จึงแสวงหานิพพานที่ไม่มีความแก่ อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอด
เยี่ยม ได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความแก่ อันเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมแล้ว
เป็นผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา ฯลฯ
เป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา ฯลฯ
เป็นผู้มีความเศร้าโศกเป็นธรรมดา ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๒๗-๓๔๒/๓๙๕-๔๑๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

เป็นผู้มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา ทราบชัดถึงโทษในสิ่งที่มีความเศร้าหมอง
เป็นธรรมดาด้วยตนแล้ว จึงแสวงหานิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง อันเป็นแดน
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ได้บรรลุนิพพานที่ไม่มีความเศร้าหมอง อันเป็นแดน
เกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมแล้ว
อนึ่ง ภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้นได้เกิดญาณทัสสนะขึ้นมาว่า ‘วิมุตติของพวกเรา
ไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป’
[๒๘๗] ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้
กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
กามคุณมี ๕ ประการนี้
สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มี
ปัญญาเครื่องสลัดออก บริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ‘สมณ-
พราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ถึงความเสื่อม ความพินาศ ถูกมารใจบาปทำอะไร ๆ ได้
ตามใจชอบ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

เปรียบเทียบนักบวชกับฝูงเนื้อ

ภิกษุทั้งหลาย เนื้อป่าที่ติดบ่วง นอนทับบ่วง พึงทราบว่า ‘เป็นสัตว์ที่ถึง
ความเสื่อม ความพินาศ ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบ’ เมื่อนาย
พรานเนื้อเดินเข้ามา ก็หนีไปไม่ได้ตามปรารถนา แม้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์
พวกใดพวกหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ใฝ่ฝัน ลุ่มหลง ติดพัน ไม่เห็นโทษ ไม่มี
ปัญญาเครื่องสลัดออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า
‘สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ถึงความเสื่อม ความพินาศ ถูกมารใจบาปทำอะไร ๆ
ได้ตามใจชอบ’ แต่สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่ใฝ่ฝัน ไม่ลุ่มหลง ไม่
ติดพัน เห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้
บัณฑิตพึงทราบว่า ‘สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ไม่ถึงความเสื่อม ความพินาศ
ไม่ถูกมารใจบาปทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบ’
เนื้อป่าที่ไม่ติดบ่วง นอนทับบ่วง พึงทราบว่า ‘เป็นสัตว์ไม่ถึงความเสื่อม
ไม่ถึงความพินาศ ไม่ถูกนายพรานเนื้อทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบ’ เมื่อนายพราน
เนื้อเดินเข้ามา ก็หนีไปได้ตามปรารถนา แม้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์พวกใด
พวกหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ใฝ่ฝัน ไม่ลุ่มหลง ไม่ติดพัน เห็นโทษ มีปัญญา
เครื่องสลัดออก๑ ย่อมบริโภคกามคุณ ๕ ประการนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ‘สมณ-
พราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ไม่ถึงความเสื่อม ไม่ถึงความพินาศ ไม่ถูกมารใจบาป
ทำอะไร ๆ ได้ตามใจชอบ’
อนึ่ง เนื้อป่าเมื่อเที่ยวไปตามป่าใหญ่ ย่อมวางใจเดิน ยืน นั่ง นอน ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะไม่ได้พบกับนายพรานเนื้อ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและ
สุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ผู้ทำให้มารตาบอด คือทำลายดวงตาของ
มารอย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ในที่นี้หมายถึงปัจจเวกขณญาณ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๗/๑๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๖. ปาสราสิสูตร

อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความ
ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข’ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไป
ก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ผู้ทำให้มารตาบอด คือ ทำลายดวงตาของมารอย่างไม่มีร่องรอย
ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญา
โดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘อากาศ
หาที่สุดมิได้’ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ผู้ทำให้มารตาบอด คือ ทำลายดวงตาของมาร
อย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น’
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดย
ประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ก็เพราะเห็นด้วยปัญญา เธอ
ย่อมมีอาสวะสิ้นไป เราเรียกภิกษุนี้ว่า ‘ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้ที่มารใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

บาปมองไม่เห็นเพราะทำลายดวงตาของมารอย่างไม่มีร่องรอย’ เป็นผู้ข้ามพ้น
ตัณหาอันข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ ในโลกได้ ย่อมวางใจ เดิน ยืน นั่ง นอน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่ได้ดำเนินอยู่ในทางของมารใจบาป”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

ปาสราสิสูตรที่ ๖ จบ

๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยรอยเท้าช้าง สูตรเล็ก

[๒๘๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พราหมณ์ชื่อชาณุสโสณิออกจาก
กรุงสาวัตถีด้วยรถคันใหญ่ที่เทียมด้วยลาซึ่งมีเครื่องประดับทุกอย่างล้วนเป็นสีขาว
ในเวลาเที่ยงวัน ชาณุสโสณิพราหมณ์ได้เห็นปริพาชกชื่อปิโลติกะเดินมาแต่ไกล
ครั้นเห็นแล้วได้กล่าวกับปิโลติกปริพาชกอย่างนี้ว่า “นี่แน่ะ ท่านวัจฉายนะผู้เจริญ
มาจากไหนแต่ยังวัน๑”
ปิโลติกปริพาชกตอบว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาจากสำนักของพระสมณ-
โคดมนั่นแล”
“ท่านวัจฉายนะ เห็นจะเข้าใจความเฉียบแหลมแห่งปัญญาของพระสมณโคดมว่า
พระองค์เป็นบัณฑิต หรืออย่างไร”
“ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าเป็นใครเล่าจึงจักรู้ความเฉียบแหลมแห่งปัญญาของ
พระสมณโคดมได้ แม้ผู้ที่จะรู้ความเฉียบแหลมแห่งปัญญาของพระสมณโคดมได้ ก็
พึงเป็นเช่นพระสมณโคดมโดยแน่แท้”

เชิงอรรถ :
๑ แต่ยังวัน ในที่นี้หมายถึงเวลาช่วงเช้า (ม.มู.อ. ๒/๒๘๘/๑๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

“ท่านวัจฉายนะสรรเสริญพระสมณโคดมด้วยการสรรเสริญอย่างยิ่ง”
“ข้าพเจ้าจักไม่สรรเสริญพระสมณโคดมอย่างไรเล่า เพราะพระสมณโคดมผู้เจริญ
นั้น ใคร ๆ ก็สรรเสริญเยินยอแล้วทีเดียวว่า ‘เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย”
“ท่านวัจฉายนะเห็นอำนาจประโยชน์อะไรเล่า จึงเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระสมณ-
โคดมถึงเพียงนี้”
ปิโลติกปริพาชกตอบว่า “ท่านผู้เจริญ เหตุไฉนข้าพเจ้าจึงเป็นผู้เลื่อมใสอย่าง
ยิ่งในพระสมณโคดมถึงอย่างนี้ พรานช้างผู้ฉลาดจะพึงเข้าไปในป่าเป็นที่อยู่ของช้าง
และเห็นรอยเท้าช้างขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้าง ในป่าเป็นที่อยู่ของช้างนั้น เขา
ตัดสินใจได้ว่า ‘ช้างตัวนี้ใหญ่จริงหนอ’ แม้ฉันใด ข้าพเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อ
ได้เห็นรอย ๔ รอย ในพระสมณโคดมแล้ว ก็ตัดสินใจได้ว่า ‘พระผู้มีพระภาค
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระ
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’

รอยของพระตถาคต

[๒๘๙] รอย ๔ รอย อะไรบ้าง คือ
๑. ข้าพเจ้าเห็นขัตติยบัณฑิตบางพวกในโลกนี้ เป็นผู้ละเอียดอ่อน
โต้ตอบวาทะของผู้อื่นได้ประหนึ่งยิงขนเนื้อทราย ขัตติยบัณฑิต
เหล่านั้นดูเหมือนว่าเที่ยวทำลายทิฏฐิทั้งหลาย(ของผู้อื่น)ด้วยปัญญา
(ของตน) พอได้สดับมาว่า ‘พระสมณโคดมจักเสด็จเที่ยวไปยังหมู่
บ้าน หรือนิคมชื่อโน้น’ ก็พากันคิดผูกปัญหาด้วยตั้งใจว่า ‘พวกเรา
จักเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหานี้ หากพระสมณโคดมนั้น
ถูกพวกเราถามแล้วอย่างนี้ จักตอบอย่างนี้ พวกเราจักยกวาทะ๑
อย่างนี้ขึ้นแก่พระองค์ แม้หากพระสมณโคดมนั้นถูกพวกเราถาม

เชิงอรรถ :
๑ วาทะ ในที่นี้หมายถึงการกล่าวโทษ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๙/๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

แล้วอย่างนี้ จักตอบอย่างนี้ พวกเราก็จักยกวาทะอย่างนี้ขึ้นถาม
พระองค์’ ขัตติยบัณฑิตเหล่านั้นได้สดับว่า ‘พระสมณโคดมเสด็จเที่ยว
ไปยังหมู่บ้าน หรือนิคมชื่อโน้นแล้ว’ ก็พากันไปเข้าเฝ้าพระสมณ-
โคดมถึงที่ประทับ พระสมณโคดมก็ทรงชี้แจงให้ขัตติยบัณฑิตเหล่านั้น
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ขัตติยบัณฑิตเหล่านั้น
ผู้อันพระสมณโคดมทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาแล้ว ก็ไม่ถามปัญหากับท่านพระสมณโคดมอีกเลย
แล้วจักยกวาทะขึ้นแก่พระสมณโคดมนั้นได้อย่างไรเล่า ที่แท้ย่อมพากัน
ยอมเป็นสาวก๑ของพระสมณโคดมนั่นแล
เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นรอยที่ ๑ นี้ในพระสมณโคดมแล้ว ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจได้ว่า
‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
๒. ข้าพเจ้าเห็นพราหมณบัณฑิตบางพวก ฯลฯ
๓. ข้าพเจ้าเห็นคหบดีบัณฑิตบางพวก ฯลฯ
๔. ข้าพเจ้าเห็นสมณบัณฑิตบางพวกในโลกนี้ เป็นผู้ละเอียดอ่อน
โต้ตอบวาทะของผู้อื่นได้ประหนึ่งว่ายิงขนเนื้อทราย สมณบัณฑิต
เหล่านั้นดูเหมือนว่าเที่ยวทำลายทิฏฐิทั้งหลาย(ของผู้อื่น)ด้วยปัญญา
(ของตน) พอได้สดับว่า ‘พระสมณโคดมจักเสด็จเที่ยวไปยังหมู่บ้าน
หรือนิคมชื่อโน้น’ ก็พากันคิดผูกปัญหาด้วยตั้งใจว่า ‘พวกเราจัก
เข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหานี้ หากพระสมณโคดมนั้น
ถูกพวกเราถามแล้วอย่างนี้ จักตอบอย่างนี้ พวกเราจักยกวาทะ
อย่างนี้ขึ้นแก่พระองค์ แม้หากพระสมณโคดมนั้นถูกพวกเราถามแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ เป็นสาวก ในที่นี้หมายถึงเป็นสาวกด้วยการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ (ม.มู.อ. ๒/๒๘๙/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

อย่างนี้ จักตอบอย่างนี้ พวกเราก็จักยกวาทะอย่างนี้ขึ้นแก่พระองค์’
สมณบัณฑิตเหล่านั้นได้สดับว่า ‘พระสมณโคดมเสด็จเที่ยวไปยัง
หมู่บ้าน หรือนิคมชื่อโน้นแล้ว’ ก็พากันไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
ถึงที่ประทับ พระสมณโคดมก็ทรงชี้แจงให้สมณบัณฑิตเหล่านั้นเห็นชัด
ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ
ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา สมณบัณฑิตเหล่านั้นผู้อัน
พระสมณโคดมทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วย
ธรรมีกถาแล้ว ก็ไม่ถามปัญหากับท่านพระสมณโคดมอีกเลย แล้ว
จักยกวาทะขึ้นแก่พระสมณโคดมนั้นได้อย่างไรเล่า ที่แท้ย่อมพากัน
ทูลขอโอกาสกับพระสมณโคดมนั้น เพื่อออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต พระสมณโคดมก็ทรงประทานบรรพชาแก่สมณบัณฑิต
เหล่านั้น สมณบัณฑิตเหล่านั้นผู้ได้รับบรรพชาจากพระสมณโคดม
ในอนาคาริยวินัยนั้นแล้ว หลีกออก(จากหมู่) ไม่ประมาท มีความ
เพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์
ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน สมณบัณฑิตเหล่านั้นจึงพากันกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ
เราทั้งหลายเป็นผู้ไม่สูญเสียเลยแม้แต่น้อย เราทั้งหลายเป็นผู้ไม่
สูญเสียเลยแม้แต่น้อย เพราะว่าในกาลก่อน เราทั้งหลาย ทั้งที่ไม่
เป็นสมณะเลยก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพราหมณ์เลยก็
ปฏิญญาว่าเป็นพราหมณ์ ไม่เป็นพระอรหันต์เลยก็ปฏิญญาว่าเป็น
พระอรหันต์ บัดนี้ พวกเราเป็นสมณะแล้ว บัดนี้ พวกเราเป็น
พราหมณ์แล้ว บัดนี้ พวกเราเป็นพระอรหันต์แล้ว’
เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นรอยที่ ๔ นี้ในพระสมณโคดมแล้ว ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจได้
ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระ
ผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

ท่านผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นรอยทั้ง ๔ เหล่านี้ในพระสมณโคดมแล้ว
ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจได้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระ
ธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
[๒๙๐] เมื่อปิโลติกปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว ชาณุสโสณิพราหมณ์ทำผ้าห่ม
เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือไปทางทิศที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่แล้วเปล่งวาจา ๓
ครั้งว่า
“ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทำอย่างไรหนอ เราจะได้พบพระสมณโคดมนั้นสักครั้งหนึ่ง ทำอย่างไรจึงจะ
ได้สนทนาปราศรัย(กับพระสมณโคดม)บ้าง”
ครั้งนั้น ชาณุสโสณิพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้
กราบทูลเล่าเรื่องที่สนทนากับปิโลติกปริพาชกตามที่กล่าวมาแล้วทั้งปวงแด่พระผู้มี
พระภาค
เมื่อชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับ
ชาณุสโสณิพราหมณ์ว่า
“พราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ข้อความเปรียบเทียบด้วยรอยเท้าช้างยังมิได้
บริบูรณ์โดยพิสดาร ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวข้อความเปรียบเทียบ
ด้วยรอยเท้าช้างที่บริบูรณ์โดยพิสดาร”
ชาณุสโสณิพราหมณ์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

เกียรติคุณของพระตถาคตเปรียบกับรอยเท้าช้าง

[๒๙๑] “พราหมณ์ อุปมาเหมือนพรานช้างจะพึงเข้าไปสู่ป่าเป็นที่อยู่ของช้าง
และเห็นรอยเท้าช้างขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้างในป่าเป็นที่อยู่ของช้างนั้น พรานช้าง
ผู้ฉลาดย่อมไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘ช้างตัวนี้ใหญ่จริงหนอ’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะยังมีช้างพังทั้งหลายชื่อว่าวามนิกา(พังค่อม)ที่มีรอยเท้าใหญ่ ในป่าเป็นที่อยู่
ของช้าง รอยเท้านี้จะพึงเป็นรอยเท้าช้างพังเหล่านั้น
พรานช้างนั้นตามรอยเท้าช้างนั้นไป เมื่อตามรอยเท้าช้างนั้นไปก็เห็นรอยเท้า
ช้างขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้าง และที่ที่ถูกเสียดสีในที่สูงในป่าเป็นที่อยู่ของช้าง
พรานช้างผู้ฉลาดก็ยังไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘ช้างตัวนี้ใหญ่จริงหนอ’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะยังมีช้างพังทั้งหลายชื่อว่าอุจจากาฬาริกา(พังโย่งมีขนายดำแดง) ที่มีรอยเท้าใหญ่
ในป่าเป็นที่อยู่ของช้าง รอยเท้านี้จะพึงเป็นรอยเท้าช้างพังเหล่านั้น
พรานช้างนั้นตามรอยเท้าช้างนั้นไป เมื่อตามรอยเท้าช้างนั้นไปก็เห็นรอยเท้า
ช้างขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้าง ที่ที่ถูกเสียดสีในที่สูง และที่ที่งาแซะขาดในที่สูงใน
ป่าเป็นที่อยู่ของช้าง พรานช้างผู้ฉลาดก็ยังไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘ช้างตัวนี้ใหญ่จริงหนอ’
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะช้างพังทั้งหลายชื่อว่าอุจจากเณรุกา(พังโย่งมีขนายตูม) ที่มี
รอยเท้าใหญ่ ในป่าเป็นที่อยู่ของช้าง รอยเท้านี้จะพึงเป็นรอยเท้าช้างพังเหล่านั้น
พรานช้างนั้นตามรอยเท้าช้างนั้นไป เมื่อตามรอยเท้านั้นไปก็เห็นรอยเท้าช้าง
ขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้าง ที่ที่ถูกเสียดสีในที่สูง ที่ที่งาแซะขาดในที่สูง และกิ่งไม้
หักในที่สูง และเห็นช้างนั้นที่โคนต้นไม้ ที่กลางแจ้ง เดินอยู่ ยืนอยู่ หมอบ หรือ
นอนอยู่ เขาจึงตัดสินใจว่า ‘ช้างตัวนี้เองเป็นช้างใหญ่ตัวนั้น’ แม้ฉันใด ข้ออุปไมยนี้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเอง
โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึก
ได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค ตถาคตนั้นรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยตนเองแล้วจึงประกาศ
ให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี
ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชน(คนผู้เกิดภายหลัง)ในตระกูลใด
ตระกูลหนึ่งย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นได้ฟังธรรมนั้นแล้วเกิดศรัทธาในตถาคต เมื่อมี
ศรัทธาย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด เป็นทางแห่งธุลี การ
บวชเป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด’ ต่อมา เขาละทิ้งกอง
โภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาว-
พัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

สิกขาและสาชีพของภิกษุ

[๒๙๒] เขาเมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ๑
เสมอด้วยภิกษุทั้งหลาย คือ
๑. ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความ
ละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของ
ที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่
๓. ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์
เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรม๒อันเป็นกิจของชาวบ้าน
๔. ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์
มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
๕. ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไป
บอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มา
บอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคน

เชิงอรรถ :
๑ สิกขา หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา แต่ในที่นี้หมายเอาอธิสีลสิกขา
สาชีพ หมายถึงสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ร่วมกัน ผู้ดำเนินชีวิตร่วมกัน มี
ความประพฤติเสมอกัน (ม.มู.อ. ๒/๒๙๒/๑๑๓) และดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๔๕/๓๓, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๙๙/๒๓๕
๒ เมถุนธรรม หมายถึงการร่วมประเวณี การร่วมสังวาส กล่าวคือการเสพอสัทธรรมอันเป็นประเวณีของ
ชาวบ้านมีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่จะต้องทำในที่ลับ เป็นการกระทำของคนที่เป็นคู่ ๆ (วิ.มหา. ๑/๕๕/๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

ที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดี เพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่
ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
๖. ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
๗. ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง
พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน
มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์เหมาะแก่เวลา
[๒๙๓] ๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคาม๑และภูตคาม๒
๙. ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลา
วิกาล๓
๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการ
ละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล
๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้
ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว
๑๒. เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่
๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ๔
๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี

เชิงอรรถ :
๑ พืชคาม หมายถึงพืชพันธุ์จำพวกที่ถูกพรากจากที่แล้ว ยังสามารถงอกขึ้นได้อีก (ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๖,
ที.สี.อ. ๑/๑๑/๗๘)
๒ ภูตคาม หมายถึงของเขียว หรือพืชพันธุ์อันเกิดอยู่กับที่มี ๕ ชนิด คือ ที่เกิดจากเหง้า เช่นกระชาย,
เกิดจากต้น เช่น โพ, เกิดจากตา เช่น อ้อย, เกิดจากยอด เช่น ผักชี, เกิดจากเมล็ด เช่น ข้าว (ม.มู.อ.
๒/๒๙๓/๑๑๖, ที.สี.อ. ๑/๑๑/๗๘)
๓ ฉันในเวลาวิกาล คือ เวลาที่ห้ามไว้เฉพาะแต่ละเรื่อง เวลาวิกาลในที่นี้หมายถึงผิดเวลาที่กำหนดไว้
คือตั้งแต่หลังเที่ยงวันจนถึงเวลาอรุณขึ้น (ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๖, ที.สี.อ. ๑/๑๐/๗๕)
๔ ธัญญาหารดิบ ในที่นี้หมายถึงธัญชาติ ๗ ชนิด คือ (๑) ข้าวสาลี (๒) ข้าวเปลือก (๓) ข้าวเหนียว
(๔) ข้าวละมาน (๕) ข้าวฟ่าง (๖) ลูกเดือย (๗) หญ้ากับแก้ (ม.มู.อ. ๒/๒๙๓/๑๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย
๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
๒๑. เว้นขาดจากการรับเรือกสวน ไร่นา และที่ดิน
๒๒. เว้นขาดจากการรับทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
๒๓. เว้นขาดจากการซื้อการขาย
๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่อง
ตวงวัด
๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง
๒๖. เว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว
การปล้น และการขู่กรรโชก
[๒๙๔] ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและบิณฑบาตพออิ่มท้อง
เธอไป ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที นกมีปีกจะบินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีแต่ปีกของมันเป็น
ภาระบินไป แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกาย
และบิณฑบาตพออิ่มท้อง เธอจะไป ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที ภิกษุนั้นประกอบ
ด้วยอริยสีลขันธ์นี้แล้ว ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษภายใน
[๒๙๕] ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
ความสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรม
คืออภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น) และโทมนัส(ความทุกข์ใจ)ครอบงำได้
จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทาง
จมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์
ทางใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความสำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวม
แล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษา
มนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์
ภิกษุประกอบด้วยอริยอินทรียสังวรนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสภายใน
ภิกษุนั้นทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร การฉัน การดื่ม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การหลับ
การตื่น การพูด การนิ่ง
[๒๙๖] ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยสันโดษ อริยอินทรีย-
สังวร และอริยสติสัมปชัญญะนี้แล้วพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้
ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์๑ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
ภิกษุนั้นละอภิชฌาในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา
ละพยาบาทและความมุ่งร้าย มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากพยาบาทและความมุ่งร้าย ละถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)
เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์
จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ)ได้แล้ว เป็นผู้
ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบในภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา
(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

รอยพระบาทของพระตถาคต

[๒๙๗] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตและ
เป็นเหตุทำปัญญาให้อ่อนกำลังได้แล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ข้อนี้เราเรียกว่า
‘ตถาคตบท๒‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต๓‘บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต๔‘บ้าง อริยสาวกก็ยังไม่
ด่วนตัดสินใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๐๗ (มหาสติปัฏฐานสูตร) หน้า ๑๐๒ ในเล่มนี้
๒ ตถาคตบท หมายถึงทางแห่งญาณ หรือร่องรอยแห่งญาณของพระตถาคต ได้แก่ ฐานที่ญาณเหยียบแล้ว
กล่าวคือ ฌานทั้งหลายมีปฐมฌานเป็นต้น เป็นพื้นฐานแห่งญาณชั้นสูง ๆ ขึ้นไปของพระตถาคต (ม.มู.อ.
๒/๒๙๗/๑๒๕)
๓ ตถาคตนิเสวิต หมายถึงฐานที่ซี่โครงคือญาณของพระตถาคตเสียดสีแล้ว (ม.มู.อ. ๒/๒๙๗/๑๒๕)
๔ ตถาคตรัญชิต หมายถึงฐานที่พระเขี้ยวแก้วคือญาณของพระตถาคตกระทบแล้ว (ม.มู.อ. ๒/๒๙๗/๑๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติ
ดีแล้ว’
อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานที่มีความ
ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่ ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ฯลฯ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข’ ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ฯลฯ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้
ปฏิบัติดีแล้ว’
อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว
ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ข้อนี้เรา
เรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต‘บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง อริยสาวกก็
ยังไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม
เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้
ปฏิบัติดีแล้ว’
[๒๙๘] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๑ ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ฯลฯ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ แม้ข้อนี้เราเรียกว่า
‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต‘บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง อริยสาวกก็ยังไม่ด่วน
ตัดสินใจว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรม
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม
จิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ฯลฯ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล้ว แม้ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต‘บ้าง
‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง อริยสาวกก็ยังไม่ด่วนตัดสินใจว่า ‘พระผู้มีพระภาค เป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์
สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
[๒๙๙] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุ
นั้นน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ แม้ข้อนี้เราก็เรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต’
บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง อริยสาวกที่ยังไม่ด่วนตัดสินใจก็ตัดสินใจได้เลยว่า ‘พระผู้มี
พระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
เมื่อภิกษุนั้นรู้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และ
อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
แม้ข้อนี้เราเรียกว่า ‘ตถาคตบท‘บ้าง ‘ตถาคตนิเสวิต’บ้าง ‘ตถาคตรัญชิต‘บ้าง
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกจึงตัดสินใจได้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวก
ของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ข้อความเปรียบเทียบ
ด้วยรอยเท้าช้างเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารแล้ว”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ชาณุสโสณิพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระ
โคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของ
ที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า
‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม
และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึง
สรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

จูฬหัตถิปโทปมสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยรอยเท้าช้าง สูตรใหญ่
เปรียบเทียบอริยสัจกับรอยเท้าช้าง

[๓๐๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้ง
หลายมากล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารี-
บุตรได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายผู้เที่ยวไปบนแผ่นดิน รอยเท้า
เหล่านั้นทั้งหมดรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้างชาวโลกกล่าวว่า ‘เป็นยอดของ
รอยเท้าเหล่านั้น เพราะรอยเท้าช้างเป็นรอยเท้าขนาดใหญ่’ แม้ฉันใด กุศลธรรม
ทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน นับเข้าในอริยสัจ ๔
อริยสัจ ๔ อะไรบ้าง คือ
๑. ทุกขอริยสัจ ๒. ทุกขสมุทยอริยสัจ
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
[๓๐๑] ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาสเป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕
ประการ เป็นทุกข์
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปูปาทานขันธ์ ๒. เวทนูปาทานขันธ์
๓. สัญญูปาทานขันธ์ ๔. สังขารูปาทานขันธ์
๕. วิญญาณูปาทานขันธ์
รูปูปาทานขันธ์ อะไรบ้าง คือ
มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

มหาภูตรูป ๔ อะไรบ้าง คือ
๑. ปฐวีธาตุ ๒. อาโปธาตุ
๓. เตโชธาตุ ๔. วาโยธาตุ

ปฐวีธาตุ

[๓๐๒] ปฐวีธาตุ เป็นอย่างไร
คือ ปฐวีธาตุภายในก็มี ปฐวีธาตุภายนอกก็มี
ปฐวีธาตุภายใน เป็นอย่างไร
คือ อุปาทินนกรูป๑ภายในที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ
ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ
พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรืออุปาทินนกรูป
ภายในอื่นใด ที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของหยาบ นี้เรียกว่า
‘ปฐวีธาตุภายใน’
ปฐวีธาตุภายใน และปฐวีธาตุภายนอกนี้ ก็เป็นปฐวีธาตุนั่นเอง บัณฑิตควร
เห็นปฐวีธาตุนั้นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ บัณฑิตครั้นเห็นปฐวีธาตุนั้นตามความเป็น
จริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ และทำจิตให้คลาย
กำหนัดจากปฐวีธาตุ
เวลาที่อาโปธาตุภายนอกกำเริบย่อมจะมีได้ ในเวลานั้น ปฐวีธาตุภายนอก
จะอันตรธานไป ปฐวีธาตุภายนอกซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้นยังปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความ
สิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา

เชิงอรรถ :
๑ อุปาทินนกรูป หมายถึงรูปมีกรรมเป็น สมุฏฐาน คำนี้เป็นชื่อของรูปที่ดำรงอยู่ภายในสรีระ ที่ยึดถือ
จับต้อง ลูบคลำได้ เช่น ผม ขน ฯลฯ อาหารใหม่ อาหารเก่า คำนี้กำหนดจำแนกหมายเอาปฐวีธาตุภายใน
แต่สำหรับอาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน พึงทราบความพิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรค
(ม.มู.อ. ๒/๓๐๒/๑๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

ไฉนกายซึ่งตั้งอยู่ชั่วเวลาเล็กน้อยนี้ที่ถูกตัณหาเข้าไปยึดถือว่า ‘เรา’ ว่า ‘ของเรา’ ว่า
‘เรามีอยู่’ จักไม่ปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไป
เป็นธรรมดา และมีความแปรผันไปเป็นธรรมดาเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุนั้นก็ไม่มี
ความยึดถือในปฐวีธาตุภายในนี้
หากชนเหล่าอื่นจะด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนภิกษุนั้น ภิกษุนั้น
รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ทุกขเวทนาอันเกิดจากโสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ทุกขเวทนา
นั้นอาศัยเหตุจึงเกิดขึ้นได้ ไม่อาศัยเหตุก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไร
จึงเกิดขึ้นได้ ทุกขเวทนาอาศัยผัสสะจึงเกิดขึ้นได้’ ภิกษุนั้นย่อมเห็นว่า ‘ผัสสะ
ไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง’
จิตของภิกษุนั้นย่อมดิ่งไป ย่อมผ่องใส ดำรงมั่นและน้อมไปในอารมณ์คือธาตุนั่นแล
หากชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้นด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่
น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ คือ ด้วยการทำร้ายด้วยฝ่ามือบ้าง การทำร้ายด้วยก้อนดินบ้าง
การทำร้ายด้วยท่อนไม้บ้าง การทำร้ายด้วยศัสตราบ้าง ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กาย
นี้เป็นที่รองรับการทำร้ายด้วยฝ่ามือบ้าง การทำร้ายด้วยก้อนดินบ้าง การทำร้าย
ด้วยท่อนไม้บ้าง การทำร้ายด้วยศัสตราบ้าง’ อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ใน
พระโอวาทที่อุปมาด้วยเลื่อย๑ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย หากพวกโจรผู้ประพฤติต่ำทราม
จะพึงใช้เลื่อยที่มีที่จับ ๒ ข้าง เลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้มีใจคิดร้ายแม้ในพวกโจรนั้น
ก็ไม่ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น’ อนึ่ง ความเพียร
ที่เราเริ่มทำแล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่เราตั้งไว้แล้วจักไม่หลงลืม กายที่เราทำให้สงบ
แล้วจักไม่กระวนกระวาย จิตที่เราทำให้ตั้งมั่นแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่ คราวนี้ต่อให้
มีการทำร้ายด้วยฝ่ามือ การทำร้ายด้วยก้อนดิน การทำร้ายด้วยท่อนไม้ หรือการ
ทำร้ายด้วยศัสตราที่กายนี้ก็ตาม เราก็จะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้
ให้จงได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูข้อ ๒๓๒ (กกจูปมสูตร) หน้า ๒๔๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่
อย่างนี้ ถ้าอุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้ ภิกษุนั้นย่อมสลดหดหู่ใจ
เพราะเหตุนั้นว่า ‘ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ
การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึก
ถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้’ หญิงสะใภ้เห็น
พ่อผัวแล้วย่อมสลดหดหู่ใจ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อระลึกถึง
พระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ ถ้าอุเบกขาอัน
อาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้ ย่อมสลดหดหู่ใจเพราะเหตุนั้นว่า ‘ไม่เป็นลาภ
ของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ
ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้
อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้’
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม
และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ ถ้าอุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมดำรงอยู่ได้ด้วยดี
ภิกษุนั้นย่อมพอใจเพราะเหตุนั้น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุได้ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอน
ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างมากแล้ว

อาโปธาตุ

[๓๐๓] อาโปธาตุ เป็นอย่างไร
คือ อาโปธาตุภายในก็มี อาโปธาตุภายนอกก็มี
อาโปธาตุภายใน เป็นอย่างไร
คือ อุปาทินนกรูปภายในที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของเอิบอาบ มีความ
เอิบอาบ ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน
น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรืออุปาทินนกรูปภายในอื่นใด ที่เป็นของเฉพาะตน
เป็นของเอิบอาบ มีความเอิบอาบ นี้เรียกว่า อาโปธาตุภายใน
อาโปธาตุภายในและอาโปธาตุภายนอกนี้ ก็เป็นอาโปธาตุนั่นเอง บัณฑิตพึงเห็น
อาโปธาตุนั้นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ครั้นเห็นอาโปธาตุนั้นตามความเป็นจริงด้วย
ปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในอาโปธาตุ และทำจิตให้คลายกำหนัด
จากอาโปธาตุ
เวลาที่อาโปธาตุภายนอกกำเริบย่อมจะมีได้ อาโปธาตุภายนอกนั้นย่อมพัดพา
บ้านไปบ้าง นิคมไปบ้าง เมืองไปบ้าง ชนบทไปบ้าง บางส่วนของชนบทไปบ้าง
เวลาที่น้ำในมหาสมุทรลึกลงไป ๑๐๐ โยชน์บ้าง ๒๐๐ โยชน์บ้าง ๓๐๐
โยชน์บ้าง ๔๐๐ โยชน์บ้าง ๕๐๐ โยชน์บ้าง ๖๐๐ โยชน์บ้าง ๗๐๐ โยชน์บ้าง
ย่อมจะมีได้
เวลาที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่ ๗ ชั่วลำตาลบ้าง ๖ ชั่วลำตาลบ้าง ๕ ชั่ว
ลำตาลบ้าง ๔ ชั่วลำตาลบ้าง ๓ ชั่วลำตาลบ้าง ๒ ชั่วลำตาลบ้าง ๑ ชั่วลำตาลบ้าง
ย่อมจะมีได้
เวลาที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่ ๗ ชั่วบุรุษบ้าง ๖ ชั่วบุรุษบ้าง ๕ ชั่วบุรุษบ้าง
๔ ชั่วบุรุษบ้าง ๓ ชั่วบุรุษบ้าง ๒ ชั่วบุรุษบ้าง ๑ ชั่วบุรุษบ้าง ย่อมจะมีได้
เวลาที่น้ำในมหาสมุทรขังอยู่กึ่งชั่วบุรุษบ้าง ประมาณเพียงสะเอวบ้าง ประมาณ
เพียงเข่าบ้าง ประมาณเพียงข้อเท้าบ้าง ย่อมจะมีได้
เวลาที่น้ำในมหาสมุทรไม่มีพอเปียกข้อนิ้วมือ ก็ย่อมจะมีได้
อาโปธาตุภายนอกซึ่งมีมากถึงเพียงนั้น ยังปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความ
สิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา
ไฉนกายซึ่งตั้งอยู่ชั่วเวลาเล็กน้อยที่ถูกตัณหาเข้าไปยึดถือว่า ‘เรา’ ว่า ‘ของเรา’ ว่า
‘เรามีอยู่’ จักไม่ปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไป
เป็นธรรมดา และมีความแปรผันไปเป็นธรรมดาเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุนั้นก็ไม่
มีความยึดถือในอาโปธาตุภายนอกนี้ ฯลฯ เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึก
ถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมดำรงอยู่
ได้ด้วยดี ภิกษุนั้นย่อมพอใจเพราะเหตุนั้น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุได้ชื่อว่าทำ
ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมากแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

เตโชธาตุ

[๓๐๔] เตโชธาตุ เป็นอย่างไร
คือ เตโชธาตุภายในก็มี เตโชธาตุภายนอกก็มี
เตโชธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไร
คือ อุปาทินนกรูปภายใน ที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน มีความ
เร่าร้อน ได้แก่ธรรมชาติที่เป็นเครื่องทำร่างกายให้อบอุ่น ธรรมชาติที่เป็นเครื่องทำ
ร่างกายให้ทรุดโทรม ธรรมชาติที่เป็นเครื่องทำร่างกายให้เร่าร้อน ธรรมชาติที่เป็น
เครื่องย่อยสิ่งที่กินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว และลิ้มรสแล้ว หรืออุปาทินนกรูป
ภายในอื่นใด ที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของเร่าร้อน มีความเร่าร้อน นี้เรียกว่า
เตโชธาตุภายใน
เตโชธาตุภายใน และเตโชธาตุภายนอกนี้ ก็เป็นเตโชธาตุนั่นเอง บัณฑิตพึง
เห็นเตโชธาตุนั้นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ บัณฑิตครั้นเห็นเตโชธาตุนั้นตามความเป็น
จริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในเตโชธาตุ และทำจิตให้คลาย
กำหนัดจากเตโชธาตุ
เวลาที่เตโชธาตุภายนอกกำเริบย่อมจะมีได้ เตโชธาตุภายนอกนั้นย่อมไหม้
บ้านบ้าง นิคมบ้าง นครบ้าง ชนบทบ้าง บางส่วนของชนบทบ้าง เตโชธาตุ
ภายนอกนั้น(ลาม)มาถึงหญ้าสด หนทาง ภูเขา น้ำ หรือภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์แล้ว
เมื่อไม่มีเชื้อ ย่อมดับไปเอง เวลาที่ชนทั้งหลายแสวงหาไฟด้วยขนไก่บ้าง ด้วยการ
ขูดหนังบ้าง ย่อมจะมีได้
เตโชธาตุภายนอกซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้นยังปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความสิ้นไป
เป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา
ไฉนกายซึ่งตั้งอยู่ชั่วเวลาเล็กน้อยที่ถูกตัณหาเข้าไปยึดถือว่า ‘เรา’ ว่า ‘ของเรา’ ว่า
‘เรามีอยู่’ จักไม่ปรากฏ เป็นของไม่เที่ยง มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

เป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดาเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุนั้นก็ไม่มีความ
ยึดถือในเตโชธาตุภายนอกนี้ ฯลฯ เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระ
ธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ ถ้าอุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมดำรงอยู่ได้
ด้วยดี ภิกษุนั้นย่อมพอใจเพราะเหตุนั้น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุได้ชื่อว่าทำตาม
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมากแล้ว

วาโยธาตุ

[๓๐๕] วาโยธาตุ เป็นอย่างไร
คือ วาโยธาตุภายในก็มี วาโยธาตุภายนอกก็มี
วาโยธาตุภายใน เป็นอย่างไร
คือ อุปาทินนกรูปภายใน ที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา มีความ
พัดไปมา ได้แก่ ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้
ลมที่แล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรืออุปาทินนกรูป
ภายในอื่นใด ที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา มีความพัดไปมา นี้เรียกว่า
วาโยธาตุภายใน
วาโยธาตุภายในและวาโยธาตุภายนอกนี้ ก็เป็นวาโยธาตุนั่นเอง บัณฑิตพึง
เห็นวาโยธาตุนั้นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ บัณฑิตครั้นเห็นวาโยธาตุนั้นตามความเป็นจริง
ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ และทำจิตให้คลายกำหนัด
จากวาโยธาตุ
เวลาที่วาโยธาตุภายนอกกำเริบย่อมจะมีได้ วาโยธาตุภายนอกนั้นย่อมพัดพา
บ้านไปบ้าง นิคมไปบ้าง นครไปบ้าง ชนบทไปบ้าง บางส่วนของชนบทไปบ้าง
เวลาที่ชนทั้งหลายแสวงหาลมด้วยพัดใบตาลบ้าง ด้วยพัดสำหรับพัดไฟบ้าง
ในเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อน แม้ในที่ชายคา หญ้าทั้งหลายก็ไม่ไหว ย่อมจะมีได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

วาโยธาตุภายนอกซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้นยังปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความสิ้นไป
เป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา ไฉนกาย
ซึ่งตั้งอยู่ชั่วเวลาเล็กน้อยนี้ที่ถูกตัณหาเข้าไปยึดถือว่า ‘เรา’ ว่า ‘ของเรา’ ว่า ‘เรา
มีอยู่’ จักไม่ปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไป
เป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดาเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุนั้นก็ไม่มีความ
ยึดถือในวาโยธาตุภายนอกนี้
หากชนเหล่าอื่นจะด่า บริภาษ เกี้ยวกราด เบียดเบียนภิกษุนั้น ภิกษุนั้น
รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘ทุกขเวทนาอันเกิดจากโสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ทุกขเวทนา
นั้นอาศัยเหตุจึงเกิดขึ้นได้ ไม่อาศัยเหตุก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไรจึง
เกิดขึ้นได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะจึงเกิดขึ้นได้’ ภิกษุนั้นย่อมเห็นว่า ‘ผัสสะเป็น
ของไม่เที่ยง เวทนาเป็นของไม่เที่ยง สัญญาเป็นของไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็น
ของไม่เที่ยง วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง’ จิตของภิกษุนั้นย่อมดิ่งไป ย่อมผ่องใส
ดำรงมั่นและน้อมไปในอารมณ์คือธาตุนั่นแล

ผู้ทำตามพระโอวาท

หากชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้นด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่
น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ คือ การทำร้ายด้วยฝ่ามือบ้าง การทำร้ายด้วยก้อนดินบ้าง
การทำร้ายด้วยท่อนไม้บ้าง การทำร้ายด้วยศัสตราบ้าง ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
‘กายนี้มีสภาพเป็นที่รองรับการทำร้ายด้วยฝ่ามือบ้าง การทำร้ายด้วยก้อนดินบ้าง
การทำร้ายด้วยท่อนไม้บ้าง การทำร้ายด้วยศัสตราบ้าง’ อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้
ตรัสไว้ในพระโอวาทที่อุปมาด้วยเลื่อย๑ ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย หากพวกโจรผู้ประพฤติ
ต่ำทราม จะพึงใช้เลื่อยที่มีที่จับ ๒ ข้างเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้มีใจคิดร้ายแม้ใน

เชิงอรรถ :
๑ ดูข้อ ๒๓๒ (กกจูปมสูตร) หน้า ๒๔๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

พวกโจรนั้น ก็ไม่ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไม่ได้นั้น’ อนึ่ง
ความเพียรที่เราปรารภแล้วจักไม่ย่อหย่อน สติที่เราตั้งไว้แล้วจักไม่หลงลืม กายที่
เราทำให้สงบแล้วจักไม่กระวนกระวาย จิตที่เราทำให้ตั้งมั่นแล้วจักมีอารมณ์แน่วแน่
คราวนี้ ต่อให้มีการทำร้ายด้วยฝ่ามือ การทำร้ายด้วยก้อนดิน การทำร้ายด้วย
ท่อนไม้ หรือการทำร้ายด้วยศัสตราที่กายนี้ก็ตาม เราก็จะทำตามคำสั่งสอนของ
พระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ให้จงได้
เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์
อยู่อย่างนี้ ถ้าอุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้ ภิกษุนั้นย่อมสลดหดหู่ใจ
เพราะเหตุนั้นว่า ‘ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ
การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และ
ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้’ หญิงสะใภ้
เห็นพ่อผัวแล้วย่อมสลดหดหู่ใจ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อระลึก
ถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ ถ้าอุเบกขา
อันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้ ย่อมสลดหดหู่ใจเพราะเหตุนั้นว่า ‘ไม่เป็นลาภ
ของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ
ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้
อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ไม่ได้’
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม
และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมยังดำรงอยู่ได้ด้วยดี
ภิกษุนั้นย่อมพอใจเพราะเหตุนั้น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุได้ชื่อว่าทำตามคำสั่ง
สอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างมากแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

ปฏิจจสมุปปันนธรรม

[๓๐๖] ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยไม้ เถาวัลย์ หญ้า และดินเหนียว
มาประกอบเข้ากันจึงนับว่า ‘เรือน’ แม้ฉันใด อากาศอาศัยกระดูก เอ็น เนื้อ
และหนังมาประกอบเข้าด้วยกันจึงนับว่า ‘รูป’ ฉันนั้น
หากจักษุที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย รูปที่เป็นอายตนะภายนอกไม่มา
สู่คลองจักษุ ทั้งความใส่ใจอันเกิดจากจักษุและรูปนั้นก็ไม่มี วิญญาณส่วนที่เกิด
จากจักษุและรูปนั้นก็ไม่ปรากฏ
หากจักษุที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย รูปที่เป็นอายตนะภายนอกมาสู่
คลองจักษุ แต่ความใส่ใจอันเกิดจากจักษุและรูปนั้นไม่มี วิญญาณส่วนที่เกิดจาก
จักษุและรูปนั้นก็ไม่ปรากฏ
แต่เมื่อใด จักษุที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย รูปที่เป็นอายตนะภายนอก
มาสู่คลองจักษุ ทั้งความใส่ใจอันเกิดจากจักษุและรูปก็มี เมื่อนั้น วิญญาณส่วนที่
เกิดจากจักษุและรูปนั้น ย่อมปรากฏด้วยอาการอย่างนี้
รูปแห่งสภาพอย่างนั้นจัดเข้าในรูปูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือรูป) เวทนา
แห่งสภาพอย่างนั้นจัดเข้าในเวทนูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือเวทนา) สัญญาแห่ง
สภาพอย่างนั้นจัดเข้าในสัญญูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือสัญญา) สังขารแห่ง
สภาพอย่างนั้นจัดเข้าในสังขารูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือสังขาร) วิญญาณแห่ง
สภาพอย่างนั้นจัดเข้าในวิญญาณูปาทานขันธ์(อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ) ภิกษุนั้น
ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘การรวบรวม การประชุม และหมวดหมู่แห่งอุปาทานขันธ์ ๕
ประการนี้มีได้ด้วยประการอย่างนี้’
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า ‘ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท
ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท’ อุปาทานขันธ์ ๕
ประการนี้ ชื่อว่าปฏิจจสมุปปันนธรรม ความพอใจ ความอาลัย ความยินดี
ความหมกมุ่นฝังใจในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ชื่อว่าทุกขสมุทัย การกำจัด
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจใน
อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ชื่อว่าทุกขนิโรธ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุได้ชื่อว่า
ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมากแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร

หากโสตะที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ...
หากฆานะที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ...
หากชิวหาที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ...
หากกายที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ...
หากมโนที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ธรรมารมณ์ที่เป็นอายตนะ
ภายนอกไม่มาสู่คลองมโน ทั้งความใส่ใจอันเกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้นก็ไม่มี
วิญญาณส่วนที่เกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้นก็ไม่ปรากฏ
หากมโนที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ธรรมารมณ์ที่เป็นอายตนะภาย
นอกมาสู่คลองมโน แต่ความใส่ใจอันเกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้นไม่มี วิญญาณ
ส่วนที่เกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้นก็ไม่ปรากฏ
แต่เมื่อใด มโนที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลายธรรมารมณ์ที่เป็นอายตนะ
ภายนอกมาสู่คลองมโน ทั้งความใส่ใจอันเกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้นก็มี เมื่อนั้น
วิญญาณส่วนที่เกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้น ย่อมปรากฏด้วยอาการอย่างนี้
รูปแห่งสภาพอย่างนั้นจัดเข้าในรูปูปาทานขันธ์ เวทนาแห่งสภาพอย่างนั้นจัด
เข้าในเวทนูปาทานขันธ์ สัญญาแห่งสภาพอย่างนั้นจัดเข้าในสัญญูปาทานขันธ์
สังขารทั้งหลายแห่งสภาพอย่างนั้นจัดเข้าในสังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณแห่งสภาพ
อย่างนั้นจัดเข้าในวิญญาณูปาทานขันธ์ ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘การรวบรวม
การประชุม และหมวดหมู่แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้มีได้ด้วยประการอย่างนี้’
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า ‘ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท
ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท’ อุปาทานขันธ์ ๕
ประการนี้ ชื่อว่าปฏิจจสมุปปันนธรรม ความพอใจ ความอาลัย ความยินดี
หมกมุ่นฝังใจในอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ชื่อว่าทุกขสมุทัย การกำจัดความ
กำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในอุปาทาน-
ขันธ์ ๕ ประการนี้ ชื่อว่าทุกขนิโรธ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุได้ชื่อว่าทำตาม
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างมากแล้ว”
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิต
ของท่านพระสารีบุตร ดังนี้แล

มหาหัตถิปโทปมสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๙. มหาสาโรปมสูตร

๙. มหาสาโรปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยแก่นไม้ สูตรใหญ่
กิ่งและใบแห่งพรหมจรรย์

[๓๐๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ เมื่อ
พระเทวทัตจากไปแล้วไม่นาน ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระเทวทัต
ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว
ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้นทำ
ลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญ
นั้น เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า ‘เรามีลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้
ไม่มีชื่อเสียง มีศักดิ์น้อย’ เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงมัวเมา
ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาทย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้น
ไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ กระพี้ เปลือก และสะเก็ดไป
เข้าใจกิ่งและใบว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ ไม่รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบ แท้จริง
ท่านผู้นี้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่น
ยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ กระพี้ เปลือก และสะเก็ดไป เข้าใจกิ่งและใบว่า
‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป อนึ่ง กิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๙. มหาสาโรปมสูตร

แก่เขา’ แม้ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีศรัทธาออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส อุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว
ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำ
ลาภสักการะและความสรรเสริญนั้นให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า ‘เรามีลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้
ไม่มีชื่อเสียง มีศักดิ์น้อย’ เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงมัวเมา
ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาทย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ตถาคตเรียกว่า ผู้ยึดเอากิ่งและใบแห่งพรหมจรรย์และ
ถึงความพอใจด้วยกิ่งและใบแห่งพรหมจรรย์นั้น

สะเก็ดแห่งพรหมจรรย์

[๓๐๘] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
อุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว
ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภ
สักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ปลื้มใจและมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่
มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้
สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง
เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า ‘เรามีศีล มีกัลยาณธรรม
ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม’ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขา
จึงมัวเมา ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาทย่อมอยู่เป็นทุกข์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๙. มหาสาโรปมสูตร

ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมี
ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ กระพี้ เปลือกไป เข้าใจสะเก็ดว่า
‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้
ไม่รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ต้องการแก่นไม้
เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้าม
แก่นไม้ กระพี้ และเปลือกไป เข้าใจสะเก็ดว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป และกิจที่เขา
จะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา’ แม้ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้
ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสครอบงำแล้ว
ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่ง
กองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะและความสรรเสริญ
ให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ปลื้มใจ และมีความ
รู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่ม
ผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่
ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์
แห่งศีลนั้น เขาจึงมีความปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่ง
ศีลนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า ‘เรามีศีล มีกัลยาณธรรม ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ เป็นผู้
ทุศีล มีบาปธรรม’ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงมัวเมา ลืมตัว และประมาท
เมื่อประมาทแล้วย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ตถาคตเรียกว่า ผู้ยึดเอาสะเก็ดแห่งพรหมจรรย์และถึง
ความพอใจด้วยสะเก็ดแห่งพรหมจรรย์นั้น

เปลือกแห่งพรหมจรรย์

[๓๐๙] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๙. มหาสาโรปมสูตร

ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภ
สักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ปลื้มใจ และมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่
มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีล
ให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง
เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์
แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความ
สมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจและ
มีความรู้สึกสมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า ‘เรา
มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์แน่วแน่ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตแปรผัน’
เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงมัวเมา ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาท
ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมี
ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ และกระพี้ไป เข้าใจเปลือกว่า
‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้
ไม่รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ต้องการแก่นไม้
เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้าม
แก่นไม้และกระพี้ไป เข้าใจเปลือกว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป และกิจที่เขาจะต้อง
ใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา’ แม้ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์
ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น
นี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น
เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ปลื้มใจและมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง
เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภ
สักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่
ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๙. มหาสาโรปมสูตร

เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่
ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว
และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะ
ความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะความ
สมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า ‘เรามีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์
แน่วแน่ ส่วนภิกษุนอกนี้มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตแปรผัน’ เพราะความสมบูรณ์แห่ง
สมาธินั้น เขาจึงมัวเมา ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาทย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ตถาคตเรียกว่า ผู้ยึดเอาเปลือกแห่งพรหมจรรย์และถึง
ความพอใจด้วยเปลือกแห่งพรหมจรรย์นั้น

กระพี้แห่งพรหมจรรย์

[๓๑๐] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว
ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภ
สักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ปลื้มใจและมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่
มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้
สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง
เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์
แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำ
ความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจ
แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่ยกตน
ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๙. มหาสาโรปมสูตร

ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำญาณทัสสนะ๑ ให้สำเร็จ เพราะญาณทัสสนะนั้น
เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า
‘เรารู้ เราเห็นอยู่ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ไม่รู้ ไม่เห็นอยู่’ เพราะญาณทัสสนะนั้น
เขาจึงมัวเมา ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาทย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมี
ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ไป เข้าใจกระพี้ว่า ‘แก่นไม้’
จึงถากนำไป บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่รู้จักแก่นไม้
กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะ
แสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไป เข้าใจ
กระพี้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป และกิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์
แก่เขา’ แม้ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีศรัทธาออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส อุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว
ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น
ทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ปลื้มใจและมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่
มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้
สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง
เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์
แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัวและไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทแล้วย่อมทำ
ความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจ

เชิงอรรถ :
๑ ญาณทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงอภิญญา ๕ ประการ [คือ (๑) อิทธิวิธิ ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
(๒)ทิพพโสต ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์ (๓) เจโตปริยญาณ ญาณที่ทำให้กำหนดใจคนอื่นได้ (๔) ปุพเพนิวาสา-
นุสสติ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ (๕) ทิพพจักขุ ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์] (ม.มู.อ. ๒/๓๑๐/๑๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๙. มหาสาโรปมสูตร

แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่ยกตน
ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่
ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำญาณทัสสนะให้สำเร็จ เพราะญาณทัสสนะนั้น
เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า
‘เรารู้ เราเห็นอยู่ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ไม่รู้ ไม่เห็นอยู่’ เพราะญาณทัสสนะนั้น
เขาจึงมัวเมา ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาทย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ตถาคตเรียกว่า ผู้ยึดเอากระพี้แห่งพรหมจรรย์ และถึง
ความพอใจด้วยกระพี้แห่งพรหมจรรย์นั้น

แก่นแห่งพรหมจรรย์

[๓๑๑] ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำ
อย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภ
สักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ปลื้มใจและมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่มัวเมา
ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ
เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะ
ความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น
เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่ง
สมาธิให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึก
ยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะ
ความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาท
ย่อมทำญาณทัสสนะให้สำเร็จ เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๙. มหาสาโรปมสูตร

ยังไม่สมหวัง เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะญาณ-
ทัสสนะนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำ
อสมยวิโมกข์๑ให้สำเร็จ เป็นไปไม่ได้เลย๒ที่ภิกษุนั้นจะพึงเสื่อมจากอสมยวิมุตตินั้น
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมี
ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ รู้แก่นไม้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป บุรุษผู้มีตาดี
เห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด
กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมี
ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ รู้แก่นไม้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป และกิจที่เขาจะต้อง
ใช้แก่นไม้ทำจักสำเร็จประโยชน์แก่เขา’ แม้ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้น
เหมือนกัน มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความ
ทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์
ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้
เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ปลื้มใจและมีความรู้สึก
ยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท
เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น
เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึง
ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว
และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะความ
สมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความ
สมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น

เชิงอรรถ :
๑ อสมยวิโมกข์ หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ คือ อริยมรรค ๔ สามัญญผล ๔ และนิพพาน ๑ (ม.มู.อ.
๒/๓๑๑/๑๓๙) และดู ขุ.ป. ๓๑/๔๗๘/๓๖๑
๒ เป็นไปไม่ได้เลย หมายถึงปฏิเสธฐานะ(เหตุ) และปฏิเสธโอกาส(ปัจจัย) ที่ให้เป็นไปได้ (องฺ.เอกก.อ.
๑/๒๖๘/๔๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำญาณทัสสนะให้
สำเร็จ เพราะญาณทัสนะนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะญาณ-
ทัสสนะนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงไม่มัวเมา
ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำอสมยวิโมกข์ให้สำเร็จ เป็นไป
ไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นจะพึงเสื่อมจากอสมยวิมุตตินั้น
ภิกษุทั้งหลาย ดังพรรณนามาฉะนี้ พรหมจรรย์นี้จึงมิใช่มีลาภสักการะและความ
สรรเสริญเป็นอานิสงส์(ผลที่มุ่งหมาย) มิใช่มีความสมบูรณ์แห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่
มีความสมบูรณ์แห่งสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ แต่พรหมจรรย์
นี้มีเจโตวิมุตติอันไม่กำเริบเป็นเป้าหมาย เป็นแก่น เป็นที่สุด”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาสาโรปมสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. จูฬสาโรปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยแก่นไม้ สูตรเล็ก

[๓๑๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อปิงคลโกจฉะเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน
แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม สมณพราหมณ์เหล่านี้ เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็น
คณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติว่าเป็นคนดี คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

ปูรณะ กัสสปะ๑ มักขลิ โคสาล๒ อชิตะ เกสกัมพล๓ ปกุธะ กัจจายนะ๔
สัญชัย เวลัฏฐบุตร๕ นิครนถ์ นาฏบุตร๖ สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดรู้อย่าง
ชัดเจนตามปฏิญญาของตน ๆ หรือทุกคนไม่รู้อย่างชัดเจนเลย หรือว่าบางพวกรู้
อย่างชัดเจน บางพวกไม่รู้อย่างชัดเจน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่าเลย พราหมณ์ ข้อที่ว่าสมณพราหมณ์
พวกนั้นทั้งหมดรู้อย่างชัดเจน ตามปฏิญญาของตน ๆ หรือทุกคนไม่รู้อย่างชัดเจน
เลย หรือว่าบางพวกรู้อย่างชัดเจน บางพวกไม่รู้อย่างชัดเจนนั้น จงงดไว้เถิด เรา
จักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ปิงคลโกจฉพราหมณ์ทูลสนองรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ปูรณะ เป็นชื่อของเขา เหตุที่มีชื่ออย่างนั้นเพราะเขาเป็นทาสคนที่ครบร้อยพอดี คำว่า กัสสปะ
เป็นชื่อโคตร รวมทั้งชื่อและโคตรเรียกว่า ปูรณกัสสปะ (ที.สี.อ. ๑/๑๕๑/๑๓๐, ม.มู.อ. ๒/๓๑๒/๑๔๐)
๒ คำว่า มักขลิ เป็นชื่อที่ ๑ ของเขา เหตุที่มีชื่ออย่างนั้นเพราะเขาเป็นคนถือหม้อน้ำมันเดินตามทางที่มี
เปือกตม มักจะได้รับคำเตือนจากนายว่า มา ขลิ (อย่าลื่นนะ) คำว่า โคสาล เป็นชื่อที่ ๒ เพราะเขาเกิด
ในโรงโค (ที.สี.อ. ๑/๑๕๒/๑๓๑, ม.มู.อ. ๒/๓๑๒/๑๔๐)
๓ คำว่า อชิตะ เป็นชื่อของเขา และได้ชื่อว่าเกสกัมพล ก็เพราะนุ่งห่มผ้าที่ทำด้วยผมของมนุษย์ (ที.สี.อ.
๑/๑๕๓/๑๓๑, ม.มู.อ. ๒/๓๑๒/๑๔๑)
๔ คำว่า ปกุธะ เป็นชื่อของเขา คำว่า กัจจายนะ เป็นชื่อโคตรเรียกรวมทั้งชื่อและโคตรว่า ปกุธกัจจายนะ
(ที.สี.อ. ๑/๑๕๔/๑๓๒, ม.มู.อ. ๒/๓๑๒/๑๔๑)
๕ คำว่า สัญชัย เป็นชื่อของเขา คำว่า เวลัฏฐบุตร เป็นชื่อที่ ๒ เพราะเป็นบุตรของช่างสาน (ที.สี.อ.
๑/๑๕๕/๑๓๒, ม.มู.อ. ๒/๓๑๒/๑๔๑)
๖ คำว่า นิครนถ์ เป็นชื่อของเขา ที่มีชื่ออย่างนั้นเพราะเขามักกล่าวว่า ‘เราไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด’ คำว่า นาฏบุตร
เป็นอีกชื่อหนึ่งของเขา เพราะเขาเป็นบุตรของนักฟ้อน (ที.สี.อ. ๑/๑๕๖/๑๓๒, ม.มู.อ. ๒/๓๑๒/๑๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

บุคคลผู้แสวงหาแก่นไม้

[๓๑๓] “พราหมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวง
หาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ กระพี้
เปลือก และสะเก็ดไป เข้าใจกิ่งและใบว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป บุรุษผู้มีตาดี
เห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด
กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมี
ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ กระพี้ เปลือก และสะเก็ดไป
เข้าใจกิ่งและใบว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป และกิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จ
ประโยชน์แก่เขา’
[๓๑๔] อีกอย่างหนึ่ง บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่
เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ กระพี้ และเปลือกไป
เข้าใจสะเก็ดว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ท่านผู้นี้ไม่รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ผู้ต้องการ
แก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมอง
ข้ามแก่นไม้ กระพี้ และเปลือกไป เข้าใจสะเก็ดว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป และกิจ
ที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา’
[๓๑๕] อีกอย่างหนึ่ง บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่
เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ และกระพี้ไป เข้าใจ
เปลือกว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ท่านผู้นี้ไม่รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ผู้
ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่
กลับมองข้ามแก่นไม้ และกระพี้ไป เข้าใจเปลือกว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป และกิจ
ที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา’
[๓๑๖] อีกอย่างหนึ่ง บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่
เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ไป เข้าใจกระพี้ว่า ‘แก่นไม้’
จึงถากนำไป บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่รู้จักแก่นไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะ
แสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ไป
เข้าใจกระพี้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป และกิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จ
ประโยชน์แก่เขา’
[๓๑๗] อีกอย่างหนึ่ง บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่
เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ รู้แก่นไม้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป บุรุษผู้มีตาดี
เห็นเขาแล้วจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่ง
และใบ แท้จริง ท่านผู้นี้ผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้น
ไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ รู้แก่นไม้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป และกิจที่เขาจะต้อง
ใช้แก่นไม้ทำจักสำเร็จประโยชน์แก่เขา’ แม้ฉันใด

กิ่งและใบแห่งพรหมจรรย์

[๓๑๘] พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีศรัทธา
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ
ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์
อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวช
แล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและ
ความสรรเสริญนั้น เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะลาภสักการะและ
ความสรรเสริญนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า ‘เรามีลาภสักการะและความสรรเสริญ
ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ไม่มีชื่อเสียง มีศักดิ์น้อย’ อนึ่ง เขาไม่สร้างฉันทะ ไม่พยายาม
เพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่ง และประณีตกว่าลาภสักการะและความสรรเสริญ
ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อน ท้อถอย อุปมาเหมือนบุรุษนั้นผู้ต้องการแก่นไม้
เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้าม
แก่นไม้ กระพี้ เปลือก และสะเก็ดไป เข้าใจกิ่งและใบว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป
และกิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด บุคคลนี้ตถาคต
เรียกว่า มีอุปมาฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

สะเก็ดแห่งพรหมจรรย์

[๓๑๙] บุคคลบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วย
คิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
ครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำอย่างไร
การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะ
และความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่
ปลื้มใจ และมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขา
จึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่ง
และประณีตกว่าลาภสักการะและความสรรเสริญ ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน
ไม่ท้อถอย เขาย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น
เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงยกตน
ข่มผู้อื่นว่า ‘เรามีศีล มีกัลยาณธรรม ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม’
อนึ่ง เขาไม่สร้างฉันทะ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่า
ความสมบูรณ์แห่งศีล ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อน ท้อถอย อุปมาเหมือน
บุรุษนั้นผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่น
ยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ กระพี้ และเปลือกไป เข้าใจสะเก็ดว่า ‘แก่นไม้’
จึงถากนำไป และกิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด
บุคคลนี้ตถาคตเรียกว่า มีอุปมาฉันนั้น

เปลือกแห่งพรหมจรรย์

[๓๒๐] บุคคลบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า
‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ ... ครอบงำแล้ว ฯลฯ การทำที่สุดแห่งกองทุกข์
ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น
เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ปลื้มใจ และมีความรู้สึกยังไม่
สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง
เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่าลาภสักการะ
และความสรรเสริญ ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อมทำ
ความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

ความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่น อันยิ่งและประณีตกว่า
ความสมบูรณ์แห่งศีล ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อม
ทำความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึง
ปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงยกตน
ข่มผู้อื่นว่า ‘เรามีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์แน่วแน่ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้มีจิตไม่ตั้งมั่น
มีจิตแปรผัน’ เขาไม่สร้างฉันทะ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและ
ประณีตกว่าความสมบูรณ์แห่งสมาธิ ทั้งเป็นผู้ประพฤติย่อหย่อน ท้อถอย อุปมา
เหมือนบุรุษนั้นผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่ง
มีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ และกระพี้ไป เข้าใจเปลือกว่า ‘แก่นไม้’ จึงถาก
นำไป และกิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด บุคคลนี้
ตถาคตเรียกว่า มีอุปมาฉันนั้น

กระพี้แห่งพรหมจรรย์

[๓๒๑] บุคคลบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า
‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ ... ครอบงำแล้ว ฯลฯ การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น
นี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น
เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ปลื้มใจ และมีความรู้สึกยังไม่
สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่ง และประณีตกว่า
ลาภสักการะและความสรรเสริญ ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย
เขาย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึง
ปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน
ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่น อันยิ่งและ
ประณีตกว่าความสมบูรณ์แห่งศีล ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย
เขาย่อมทำความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น
เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่น
อันยิ่งและประณีตกว่าความสมบูรณ์แห่งสมาธิ ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน
ไม่ท้อถอย เขาย่อมทำญาณทัสสนะให้สำเร็จ เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงปลื้ม
ใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า ‘เรารู้
เราเห็นอยู่ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ไม่รู้ ไม่เห็นอยู่’ อนึ่ง เขาไม่สร้างฉันทะ ไม่
พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ ทั้งเป็นผู้มี
ความประพฤติย่อหย่อน ท้อถอย อุปมาเหมือนบุรุษนั้นผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะ
แสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ไป
เข้าใจกระพี้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงถากนำไป และกิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จ
ประโยชน์แก่เขา ฉันใด บุคคลนี้ตถาคตเรียกว่า มีอุปมาฉันนั้น

แก่นแห่งพรหมจรรย์

[๓๒๒] บุคคลบางพวกในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วย
คิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
ครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำอย่างไร
การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะ
และความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่
ปลื้มใจ และมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรม
เหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่าลาภสักการะและความสรรเสริญ ทั้งเป็นผู้มีความ
ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ เพราะ
ความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความ
สมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อ
ทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่าความสมบูรณ์แห่งศีล ทั้งเป็นผู้มีความ
ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อมทำความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ
เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะ
ความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ
พยายาม เพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่าความสมบูรณ์แห่งสมาธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อมทำญาณทัสสนะให้สำเร็จ
เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะญาณ-
ทัสสนะนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้
แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่
ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย
[๓๒๓] ธรรมอันยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุ
ปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ แม้ธรรมข้อนี้ก็ยิ่งและ
ประณีตกว่าญาณทัสสนะ
อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานที่มีความ
ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่ ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ... อยู่ แม้ธรรม
ข้อนี้ก็ยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตต-
สัญญาโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า
‘อากาศหาที่สุดมิได้’ แม้ธรรมข้อนี้ก็ยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ ฯลฯ เพราะล่วง
วิญญาณัญจายตนฌานได้โดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่
โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ ฯลฯ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการ
ทั้งปวง ภิกษุบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ แม้ธรรมข้อนี้ก็ยิ่งและประณีต
กว่าญาณทัสสนะ
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง
ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลายของเธอ
ย่อมสิ้นไป แม้ธรรมข้อนี้ก็ยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ
เหล่านี้เป็นธรรมอันยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๓. โอปัมมวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค

[๓๒๔] อุปมาเหมือนบุรุษนั้นผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่
เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ รู้แก่นไม้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป และกิจ
ที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักสำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด บุคคลนี้ตถาคตเรียกว่า
มีอุปมาฉันนั้น
พราหมณ์ ดังพรรณนามาฉะนี้ พรหมจรรย์นี้จึงมิใช่มีลาภสักการะและความ
สรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความสมบูรณ์แห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความ
สมบูรณ์แห่งสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ พรหมจรรย์นี้มี
เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบเป็นเป้าหมาย เป็นแก่น เป็นที่สุด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปิงคลโกจฉพราหมณ์ได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล

จูฬสาโรปมสูตรที่ ๑๐ จบ
โอปัมมวรรค ที่ ๓ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กกจูปมสูตร ๒. อลคัททูปมสูตร
๓. วัมมิกสูตร ๔. รถวินีตสูตร
๕. นิวาปสูตร ๖. ปาสราสิสูตร
๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร ๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร
๙. มหาสาโรปมสูตร ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

๔. มหายมกวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่ หมวดใหญ่

๑. จูฬโคสิงคสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในโคสิงคสาลวัน สูตรเล็ก

[๓๒๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำหนักอิฐในบ้านชื่อนาทิกะ
สมัยนั้น ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละ อยู่ที่ป่าโคสิงค-
สาลวัน ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปยัง
ป่าโคสิงคสาลวัน
นายทายบาล(ผู้รักษาป่า) ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล แล้วได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระสมณะ ท่านอย่าเข้าไปในป่านี้เลย ในป่านี้มีกุลบุตร
(พระเถระ) ๓ ท่าน ซึ่งเป็นผู้มุ่งประโยชน์ตนอยู่ ท่านอย่าได้รบกวนกุลบุตรทั้ง ๓ นั้นเลย”
เมื่อนายทายบาลกราบทูลพระผู้มีพระภาคอยู่นั้น ท่านพระอนุรุทธะได้ยินแล้ว
จึงได้บอกกับนายทายบาลว่า “นายทายบาล ท่านอย่าได้ห้ามพระผู้มีพระภาคเลย
พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระศาสดาของพวกเราเสด็จมาถึงแล้ว”
ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะได้เข้าไปหาท่านพระนันทิยะและท่านพระกิมิละถึงที่
อยู่ แล้วได้บอกว่า “รีบไปกันเถิดท่าน รีบไปกันเถิดท่าน พระผู้มีพระภาคผู้เป็น
พระศาสดาของพวกเราเสด็จมาถึงแล้ว”
ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละได้ต้อนรับพระผู้มี
พระภาค รูปหนึ่งรับบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่ง
ตั้งน้ำล้างพระบาท พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง ณ พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ครั้นล้าง
พระบาทแล้ว ท่านทั้ง ๓ รูปนั้นได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่าน
พระกิมิละว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

[๓๒๖] “อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ เธอทั้งหลายยังสบายดีหรือ ยัง
พอเป็นอยู่ได้หรือ๑ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ”
ท่านพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ยังสบายดี ยังพอเป็นอยู่ได้ ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต”
“เธอทั้งหลายยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนม
กับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่หรือ”
“ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลายยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่
วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่
พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำ
นมกับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่ได้อย่างไร”
“ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ
เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้อยู่กับเพื่อนพรหมจารีเช่นนี้’ ข้าพระองค์ตั้งมั่นเมตตากายกรรม
ตั้งมั่นเมตตาวจีกรรม และตั้งมั่นเมตตามโนกรรม๒ในท่านเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและ
ลับหลัง ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราควรเก็บความนึกคิดของตน
แล้วประพฤติตามอำนาจความนึกคิดของท่านเหล่านี้’ ข้าพระองค์ก็เก็บความนึกคิด
ของตนแล้วประพฤติตามอำนาจความนึกคิดของท่านเหล่านี้ กายของข้าพระองค์
ทั้งหลายต่างกันก็จริง แต่ความนึกคิดดูเหมือนเป็นอันเดียวกัน พระพุทธเจ้าข้า”
แม้ท่านพระนันทิยะ ฯลฯ แม้ท่านพระกิมิละก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส แม้ข้าพระองค์ก็มีความคิดอย่างนี้ว่า
‘เป็นลาภของเราหนอ เราได้ดีแล้วหนอ ที่ได้อยู่กับเพื่อนพรหมจารีเช่นนี้’
ข้าพระองค์ตั้งมั่นเมตตากายกรรม ตั้งมั่นเมตตาวจีกรรม และตั้งมั่นเมตตามโนกรรม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๗๔/๖๖, องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๕๖/๕๔๐
๒ ดูเทียบ องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๑๑/๔๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

ในท่านเหล่านี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ข้าพระองค์มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี
เราควรเก็บความนึกคิดของตนแล้ว ประพฤติตามอำนาจความนึกคิดของท่าน
เหล่านี้’ ข้าพระองค์ก็เก็บความนึกคิดของตน แล้วประพฤติตามอำนาจความนึกคิด
ของท่านเหล่านี้ กายของข้าพระองค์ทั้งหลายต่างกันก็จริง แต่ความนึกคิดดูเหมือน
เป็นอันเดียวกัน
ข้าพระองค์ทั้งหลายยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน ยังเป็น
เหมือนน้ำนมกับน้ำ มองกันและกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่อย่างนี้แล
พระพุทธเจ้าข้า”
[๓๒๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ
เธอทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่หรือ”
ท่านพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลาย
เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ได้อย่างไร”
“ขอประทานวโรกาส บรรดาข้าพระองค์ทั้งหลาย รูปใดกลับจากบิณฑบาต
จากหมู่บ้านก่อน รูปนั้นก็ปูลาดอาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ ตั้งถาดสำรับไว้ รูปใด
กลับจากบิณฑบาตจากหมู่บ้านทีหลัง ถ้ามีบิณฑบาตที่เหลือจากฉัน หากประสงค์
ก็ฉัน หากไม่ประสงค์ก็เททิ้งบนพื้นที่ปราศจากของเขียว หรือเทลงในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์
รูปนั้นเก็บอาสนะ เก็บน้ำฉันน้ำใช้ เก็บถาดสำรับ กวาดโรงอาหาร รูปใดเห็น
หม้อน้ำฉัน หม้อน้ำใช้ หรือหม้อน้ำชำระว่างเปล่า รูปนั้นก็นำไปตั้งไว้ ถ้าเหลือ
วิสัยของท่าน ก็กวักมือเรียกรูปที่ ๒ มาช่วยกันยกนำไปตั้งไว้ ข้าพระองค์
ทั้งหลายไม่เปล่งวาจาเพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย และทุก ๕ วัน ข้าพระองค์ทั้งหลาย
นั่งสนทนาธรรมีกถาตลอดคืนยังรุ่ง ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท มีความ
เพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้แล พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

ธรรมเครื่องอยู่อย่างผาสุก

[๓๒๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่
อย่างผาสุกที่เธอทั้งหลายผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้
ได้บรรลุแล้ว มีอยู่หรือ”
ท่านพระอนุรุทธะกราบทูลว่า “จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์
ทั้งหลายสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้วบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร
ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง นี้คือญาณทัสสนะที่
ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุก
ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ได้บรรลุแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ
วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่เธอทั้งหลายได้
บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ”
“จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ข้าพระองค์
ทั้งหลายบรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มี
วิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง นี้คือ
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่
อย่างผาสุกอย่างอื่น ที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรม
เป็นเครื่องอยู่นั้น”
“ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ
วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่เธอทั้งหลายได้บรรลุ
เพื่อก้าวล่วง และเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ”
“จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะปีติจางคลายไป ข้าพระองค์
ทั้งหลายมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ นี้คือญาณทัสสนะ
ที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุก
อย่างอื่นที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น
พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ
วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่เธอทั้งหลายได้บรรลุ
เพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ”
“จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัส
และโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข
มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง นี้คือญาณทัสสนะที่ประเสริฐ
อันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่
ข้าพระองค์ทั้งหลาย ได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น
พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ
วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่เธอทั้งหลายได้บรรลุ
เพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ”
“จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา
ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุอากาสานัญ-
จายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวังนี้คือ
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่าง
ผาสุกอย่างอื่นที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่อง
อยู่อย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ
วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่เธอทั้งหลายได้
บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

“จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดย
ประการทั้งปวง ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า
‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง ฯลฯ เพราะล่วงวิญญาณัญจายตน-
ฌานโดยประการทั้งปวง ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่โดย
กำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง ฯลฯ เพราะล่วงอากิญจัญญายตน-
ฌานโดยประการทั้งปวง ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
อยู่ตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง นี้คือญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่ง
กว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่นที่ข้าพระองค์ทั้งหลาย
ได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น พระพุทธเจ้าข้า”
[๓๒๙] “ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ญาณทัสสนะที่
ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่าง
อื่นที่เธอทั้งหลายได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรมเป็นเครื่องอยู่นั้น มีอยู่หรือ”
“จะไม่มีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
โดยประการทั้งปวง ข้าพระองค์ทั้งหลายบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ เพราะเห็นด้วย
ปัญญา อาสวะของข้าพระองค์ทั้งหลายย่อมสิ้นไปตามกำหนดเวลาที่มุ่งหวัง นี้คือ
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นเครื่องอยู่
อย่างผาสุกอย่างอื่นที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้บรรลุเพื่อก้าวล่วงและเพื่อระงับธรรม
เป็นเครื่องอยู่นั้น พระพุทธเจ้าข้า อนึ่ง ข้าพระองค์ทั้งหลายยังไม่พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกอย่างอื่น ที่ยิ่งหรือประณีตกว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่
อย่างผาสุกนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ดีละ ดีละ อนุรุทธะ นันทิยะ และกิมิละ ธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุก
อย่างอื่น ที่ยิ่งหรือประณีตกว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างผาสุกนี้ หามีไม่”
[๓๓๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านพระอนุรุทธะ ท่าน
พระนันทิยะ และท่านพระกิมิละเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้
อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจาก
อาสนะเสด็จจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละตามส่งเสด็จพระ
ผู้มีพระภาค ครั้นกลับจากที่นั้นแล้ว ท่านพระนันทิยะและท่านพระกิมิละได้กล่าว
กับท่านพระอนุรุทธะว่า “ท่านอนุรุทธะประกาศคุณวิเศษใดของพวกกระผม จนถึง
ความสิ้นอาสวะ ในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค พวกกระผมได้บอกคุณวิเศษ
นั้นแก่ท่านอนุรุทธะอย่างนั้นหรือว่า ‘พวกเราได้วิหารสมาบัติเหล่านี้และเหล่านี้๑”
ท่านพระอนุรุทธะกล่าวว่า “พวกท่านมิได้บอกแก่กระผมอย่างนี้ว่า ‘พวกเราได้
วิหารสมาบัติเหล่านี้และเหล่านี้’ แต่กระผมกำหนดจิตของพวกท่านด้วยจิตของ
กระผมแล้วรู้ได้ว่า ‘ท่านเหล่านี้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้และเหล่านี้’ แม้พวกเทวดา
ก็ได้บอกเนื้อความข้อนี้แก่กระผมว่า ‘ท่านเหล่านี้ได้วิหารสมาบัติเหล่านี้และเหล่านี้’
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหา กระผมจึงทูลตอบเนื้อความนั้น”

เทวดาสรรเสริญพระเถระทั้ง ๓ รูป

[๓๓๑] ยักษ์ชื่อทีฆปรชนเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นลาภของชาววัชชี ประชาชนชาววัชชีได้ดีแล้ว
ที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ และกุลบุตร ๓ ท่านนี้
คือ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละก็มาพักอยู่”
เทพชั้นภุมมะได้ฟังเสียงของยักษ์ชื่อทีฆปรชนแล้วได้ประกาศ(ต่อไป)ว่า “ท่าน
ผู้เจริญทั้งหลาย เป็นลาภของชาววัชชี ประชาชนชาววัชชีได้ดีแล้ว ที่พระตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ และกุลบุตร ๓ ท่านนี้ คือ ท่าน
พระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละก็มาพักอยู่”

เชิงอรรถ :
๑ เหล่านี้และเหล่านี้ ในที่นี้หมายถึงโลกิยธรรมมีปฐมฌานเป็นต้น และโลกุตตรธรรม (ม.มู.อ. ๒/๓๓๐/๑๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

เทพชั้นจาตุมหาราชได้ฟังเสียงของเทพชั้นภุมมะแล้ว ... เทพชั้นดาวดึงส์ ...
เทพชั้นยามา ... เทพชั้นดุสิต ... เทพชั้นนิมมานรดี ... เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ...
เทพที่นับเข้าในหมู่พรหมได้ฟังเสียงของเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีแล้ว ได้ประกาศ
(ต่อไป)ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เป็นลาภของชาววัชชี ประชาชนชาววัชชีได้ดีแล้ว
ที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ และกุลบุตร ๓ ท่านนี้
คือ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมิละก็มาพักอยู่”
โดยขณะเพียงครู่หนึ่งนั้น ท่าน(พระเถระ)เหล่านั้นได้เป็นผู้ที่เทพทั้งหลาย
รู้จักกันจนถึงพรหมโลกด้วยประการอย่างนี้

การปฏิบัติดีของพระสงฆ์เป็นประโยชน์แก่มหาชน

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า “ทีฆะ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ทีฆะ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น
กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากตระกูลใด ถ้าตระกูลนั้นมีจิต
เลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข
แก่ตระกูลนั้นตลอดกาลนาน
กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากวงศ์ตระกูลใด ถ้าวงศ์
ตระกูลนั้นเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อ
ความสุขแก่วงศ์ตระกูลนั้นตลอดกาลนาน
กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากหมู่บ้านใด ถ้าหมู่บ้าน
นั้นมีจิตเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อ
ความสุขแก่หมู่บ้านนั้นตลอดกาลนาน
กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากนิคมใด ถ้านิคมนั้นมีจิต
เลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข
แก่นิคมนั้นตลอดกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑. จูฬโคสิงคสูตร

กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากนครใด ถ้านครนั้นมีจิต
เลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข
แก่นครนั้นตลอดกาลนาน
กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจากชนบทใด ถ้าชนบทนั้น
มีจิตเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความ
สุขแก่ชนบทนั้นตลอดกาลนาน
ถ้ากษัตริย์ทั้งมวลมีจิตเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไป
เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่กษัตริย์ทั้งมวลตลอดกาลนาน
ถ้าพราหมณ์ทั้งมวล ...
ถ้าแพศย์ทั้งมวล ...
ถ้าศูทรทั้งมวลมีจิตเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อ
ประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ศูทรทั้งมวลตลอดกาลนาน
ถ้ามนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์ พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์มีจิตเลื่อมใสระลึกถึงกุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ข้อนั้นจะพึง
เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ตลอดกาลนาน
ทีฆะ ท่านจงเห็นเถิด กุลบุตรทั้ง ๓ นี้ ปฏิบัติก็เพียงเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
แก่คนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ยักษ์ชื่อทีฆปรชนมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬโคสิงคสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

๒. มหาโคสิงคสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในโคสิงคสาลวัน สูตรใหญ่
ป่างามด้วยภิกษุมีคุณสมบัติเช่นไร

[๓๓๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่าโคสิงคสาลวัน พร้อมด้วยพระเถระ
ผู้เป็นพระสาวกที่มีชื่อเสียงหลายรูป คือ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหา
โมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระเรวตะ ท่านพระ
อานนท์ และพระเถระผู้เป็นพระสาวกที่มีชื่อเสียงรูปอื่น ๆ
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะออกจากที่หลีกเร้น๑ ในเวลาเย็น เข้าไป
หาท่านพระมหากัสสปะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวกับท่านพระมหากัสสปะว่า “เราไป
กันเถิด ท่านกัสสปะ เราจักเข้าไปหาท่านสารีบุตรถึงที่อยู่เพื่อฟังธรรม”
ท่านพระมหากัสสปะรับคำแล้ว ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่าน
พระมหากัสสปะ และท่านพระอนุรุทธะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม
ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ และ
ท่านพระอนุรุทธะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม จึงเข้าไปหาท่าน
พระเรวตะถึงที่อยู่ แล้วกล่าวกับท่านพระเรวตะว่า “ท่านเรวตะ ท่านสัตบุรุษเหล่า
โน้นกำลังเข้าไปหาท่านสารีบุตรเพื่อฟังธรรม เราไปกันเถิด ท่านเรวตะ เราจัก
เข้าไปหาท่านสารีบุตรเพื่อฟังธรรม”
ท่านพระเรวตะรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะและท่าน
พระอานนท์เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเพื่อฟังธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๘๑ (สัลเลขสูตร) หน้า ๗๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

[๓๓๓] ท่านพระสารีบุตรได้เห็นท่านพระเรวตะและท่านพระอานนท์กำลัง
เดินมาแต่ไกล แล้วได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า “ท่านอานนท์ จงมาเถิด ท่าน
อานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ผู้อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค ได้มาดีแล้ว
ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่ง
ทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วย
ภิกษุเช่นไร”

ทรรศนะของพระอานนท์

ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูต
ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ๑ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงาม
ในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์
บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ และแทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
ภิกษุนั้นแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ด้วยบทและพยัญชนะที่เรียบง่ายและต่อเนื่องไม่
ขาดสายเพื่อถอนอนุสัย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

ทรรศนะของพระเรวตะ

[๓๓๔] เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าว
กับท่านพระเรวตะว่า “ท่านเรวตะ ท่านอานนท์ตอบตามปฏิภาณของตน บัดนี้
เราขอถามท่านเรวตะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรี
แจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านเรวตะ
ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”

เชิงอรรถ :
๑ พหูสูต หมายถึงได้ศึกษาเล่าเรียนนวังคสัตถุศาสน์ (คำสอนของพระศาสดามีองค์ ๙) มาครบถ้วนโดยบาลี
และอนุสนธิ ทรงสุตะ หมายถึงสามารถทรงจำนวังคสัตถุศาสน์นั้นไว้ได้แม่นยำ แม้เวลาผ่านไป ๑๐ ปี ๒๐ ปี
ก็ไม่ลืมเลือน เมื่อถูกถาม ก็สามารถตอบได้ สั่งสมสุตะ หมายถึงจดจำนวังคสัตถุศาสน์นั้นไว้ได้จนขึ้นใจ
ดุจรอยขีดที่หินคงอยู่ไม่ลบเลือน ฉะนั้น (ม.มู.อ. ๒/๓๓๓/๑๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

ท่านพระเรวตะตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความ
หลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับ
ใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา๑ เพิ่มพูนเรือนว่าง ท่าน
สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

ทรรศนะของพระอนุรุทธะ

[๓๓๕] เมื่อท่านพระเรวตะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับ
ท่านพระอนุรุทธะว่า “ท่านอนุรุทธะ ท่านเรวตะตอบตามปฏิภาณของตน บัดนี้
เราขอถามท่านอนุรุทธะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่าน
อนุรุทธะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”
ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ย่อมตรวจดู
โลกธาตุ๒ ๑,๐๐๐ โลกธาตุด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ บุรุษผู้มีตาดีขึ้นปราสาท
อันโอ่อ่าชั้นบน จะพึงมองดูวงกลมแห่งกงล้อจำนวน ๑,๐๐๐ ได้ แม้ฉันใด ภิกษุ
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

ทรรศนะของพระมหากัสสปะ

[๓๓๖] เมื่อท่านพระอนุรุทธะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับ
ท่านพระมหากัสสปะว่า “ท่านกัสสปะ ท่านอนุรุทธะตอบตามปฏิภาณของตน
บัดนี้ เราขอถามท่านกัสสปะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่าน
กัสสปะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๖๕ (อากังเขยยสูตร) หน้า ๕๗ ในเล่มนี้
๒ โลกธาตุ ในที่นี้หมายถึงโลกธาตุขนาดเล็กที่เรียกว่าสหัสสีโลกธาตุ ประกอบด้วยจักรวาล ๑,๐๐๐ จักรวาล
๑,๐๐๐ โลกธาตุ = ๑,๐๐๐,๐๐๐ จักรวาล (๑,๐๐๐ โลกธาตุ x ๑,๐๐๐ จักรวาล) (ม.มู.อ. ๒/๓๓๕/๑๖๑,
องฺ.ติก.อ. ๒/๘๑/๒๓๔) และดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๘/๑๑, องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๘๑/๓๐๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

ท่านพระมหากัสสปะตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ตนเอง
อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ตนเองเที่ยว
บิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุล
เป็นวัตร ตนเองถือไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือ
ไตรจีวรเป็นวัตร ตนเองเป็นผู้มักน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย
ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สันโดษ ตนเองเป็นผู้สงัด
และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สงัด ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ไม่คลุกคลี ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ปรารภความเพียร ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล และ
กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ
และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วย
ปัญญา และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ตนเองเป็นผู้
สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ ตนเอง
เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์
ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

ทรรศนะของพระมหาโมคคัลลานะ

[๓๓๗] เมื่อท่านพระมหากัสสปะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้
กล่าวกับท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า “ท่านโมคคัลลานะ ท่านมหากัสสปะตอบตาม
ปฏิภาณของตน บัดนี้ ผมขอถามท่านมหาโมคคัลลานะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงค-
สาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น
กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุ
เช่นไร”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุ ๒ รูปในพระ
ธรรมวินัยนี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ รูปนั้น ถามปัญหากันและกันแล้ว
ย่อมแก้กันเองไม่หยุดพัก และธรรมีกถาของเธอทั้ง ๒ นั้นก็ดำเนินต่อไป ท่าน
สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

ทรรศนะของพระสารีบุตร

[๓๓๘] ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกับท่านพระสารีบุตรว่า
“ท่านสารีบุตร พวกเราทั้งหมดตอบตามปฏิภาณของตน บัดนี้ ผมขอถามท่าน
สารีบุตรในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง
ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงค-
สาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านโมคคัลลานะ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ทำจิต
ให้อยู่ในอำนาจ(ของตน) และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหาร-
สมาบัติ๑ใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหาร-
สมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วย
วิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น หีบผ้าของพระ
ราชาหรือราชมหาอำมาตย์ซึ่งเต็มด้วยผ้าที่ย้อมแล้วเป็นสีต่าง ๆ พระราชาหรือ
ราชมหาอำมาตย์นั้น หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเช้า ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเช้า หวังจะ
ห่มผ้าคู่ใดในเวลาเที่ยง ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเที่ยง หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเย็น
ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเย็น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำจิตให้อยู่ในอำนาจ
(ของตน) และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า
ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง
ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น
ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันพึงงาม
ด้วยภิกษุเช่นนี้”

เชิงอรรถ :
๑ วิหารสมาบัติ ในที่นี้หมายถึงสมาบัติเป็นเครื่องอยู่อันเป็นโลกียะ หรือเป็นโลกุตตระ (ม.มู.อ. ๒/๓๓๘/๑๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

ทรงรับรองทรรศนะของพระเถระทั้งหมด

[๓๓๙] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับท่านเหล่านั้นว่า “ท่านทั้งหลาย
พวกเราทั้งหมดตอบตามปฏิภาณของตน พวกเราไปกันเถิด พวกเราจักเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วจักกราบทูลเนื้อความนี้แด่พระองค์ พระผู้มี-
พระภาคจักทรงตอบแก่เราทั้งหลายอย่างใด พวกเราก็จักทรงจำข้อความนั้นไว้อย่างนั้น”
ท่านเหล่านั้น รับคำแล้ว จากนั้น ท่านเหล่านั้นก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ท่านเรวตะ ท่านอานนท์ เข้าไป
หาข้าพระองค์ถึงที่อยู่เพื่อฟังธรรม ข้าพระองค์ได้เห็นท่านเรวตะและท่านอานนท์
กำลังเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้กล่าวกับท่านอานนท์ว่า ‘ท่านอานนท์ จงมาเถิด
ท่านอานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ผู้อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค ได้มาดี
แล้ว ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบาน
สะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวันจะ
พึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านอานนท์ได้ตอบ
ข้าพระองค์ว่า ‘ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงสุตะ ฯลฯ
เพื่อถอนอนุสัย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร อานนท์เมื่อจะตอบอย่างถูก
ต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่าอานนท์เป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ฟัง
มากซึ่งธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด
พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน
ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ อานนท์นั้นแสดงธรรมแก่บริษัท
๔ ด้วยบทและพยัญชนะที่เรียบง่ายและต่อเนื่องไม่ขาดสาย เพื่อถอนอนุสัย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

[๓๔๐] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลต่อไปว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่าน
อานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับท่านเรวตะว่า ‘ท่านเรวตะ ท่าน
อานนท์ตอบตามปฏิภาณของตน ผมขอถามท่านเรวตะในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงค-
สาลวันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น
กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านเรวตะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’
เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านเรวตะได้ตอบข้าพระองค์ว่า ‘ท่านสารีบุตร
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น
หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร เรวตะเมื่อจะตอบอย่างถูกต้อง
ก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า เรวตะเป็นผู้มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วใน
ความหลีกเร้น หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน
ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง”
[๓๔๑] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านเรวตะ
กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับท่านอนุรุทธะว่า ‘ท่านอนุรุทธะ ท่าน
เรวตะตอบตามปฏิภาณของตน ฯลฯ ท่านอนุรุทธะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วย
ภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านอนุรุทธะได้ตอบข้าพระองค์ว่า
‘ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ย่อมตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ ด้วย
ตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ บุรุษผู้มีตาดีขึ้นปราสาทอันโออ่าชั้นบน จะพึงมองดู
วงกลมแห่งกงล้อจำนวน ๑,๐๐๐ ได้ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตรวจ
ดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ท่านสารีบุตร
ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร อนุรุทธะเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า อนุรุทธะย่อมตรวจดูโลกธาตุ ๑,๐๐๐ โลกธาตุ
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

[๓๔๒] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านอนุรุทธะ
กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับท่านมหากัสสปะว่า ‘ท่านกัสสปะ ท่าน
อนุรุทธะตอบตามปฏิภาณของตน เราขอถามท่านมหากัสสปะในข้อนั้นว่า ‘ฯลฯ
ท่านกัสสปะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าว
อย่างนี้แล้ว ท่านมหากัสสปะได้ตอบข้าพระองค์ว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระ
ธรรมวินัยนี้ตนเองอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็น
วัตร ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ฯลฯ ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ฯลฯ
ตนเองถือไตรจีวรเป็นวัตร ฯลฯ ตนเองเป็นผู้มักน้อย ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สันโดษ
ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สงัด ฯลฯ ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี ฯลฯ ตนเองเป็นผู้ปรารภ
ความเพียร ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ
ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ฯลฯ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ ฯลฯ
ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็น
ผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุ
เช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร กัสสปะเมื่อจะตอบอย่างถูกต้อง
ก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า กัสสปะนั้น ตนเองอยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญ
คุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ตนเองเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ตนเองถือไตรจีวรเป็น
วัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร ตนเองเป็นผู้มักน้อย
และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สันโดษ ตนเองเป็นผู้สงัด และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง
ความเป็นผู้สงัด ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ไม่
คลุกคลี ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้
ปรารภความเพียร ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่ง
ความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา และกล่าวสรรเสริญ
คุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ-
ญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ”
[๓๔๓] ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อท่านมหากัสสปะ
กล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้กล่าวกับท่านมหาโมคคัลลานะว่า ‘ท่านโมคคัลลานะ
ท่านมหากัสสปะตอบตามปฏิภาณของตน เราขอถามท่านโมคคัลลานะในข้อนั้นว่า
‘ฯลฯ ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระ
องค์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านมหาโมคคัลลานะได้ตอบข้าพระองค์ว่า ‘ท่านสารีบุตร
ภิกษุ ๒ รูปในพระธรรมวินัยนี้กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง ๒ รูปนั้นถามปัญหากัน
และกัน แล้วย่อมแก้กันเองไม่หยุดพัก และธรรมีกถาของเธอทั้ง ๒ นั้นก็ดำเนินต่อไป
ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร โมคคัลลานะเมื่อจะตอบอย่าง
ถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า โมคคัลลานะเป็นธรรมกถึก”
[๓๔๔] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะ
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หลังจากนั้น ข้าพระองค์ได้
กล่าวกับท่านสารีบุตรว่า ‘ท่านสารีบุตร พวกเราทั้งหมดตอบตามปฏิภาณของตน
บัดนี้ ผมขอถามท่านสารีบุตรในข้อนั้นว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่าน
สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้
แล้ว ท่านสารีบุตรได้ตอบข้าพระองค์ว่า ‘ท่านโมคคัลลานะ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
ทำจิตให้อยู่ในอำนาจ(ของตน)และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่
ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๒. มหาโคสิงคสูตร

ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะ
อยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น หีบผ้า
ของพระราชาหรือราชมหาอำมาตย์ซึ่งเต็มด้วยผ้าที่ย้อมเป็นสีต่าง ๆ พระราชาหรือ
ราชมหาอำมาตย์นั้น หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเช้า ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเช้า หวังจะ
ห่มผ้าคู่ใดในเวลาเที่ยง ก็ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเที่ยง หวังจะห่มผ้าคู่ใดในเวลาเย็น ก็
ห่มผ้าคู่นั้นในเวลาเย็น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำจิตให้อยู่ใน
อำนาจ(ของตน)และไม่ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใด
ในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดใน
เวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใด
ในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วยวิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงค-
สาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ โมคคัลลานะ สารีบุตรเมื่อตอบอย่าง
ถูกต้องก็ควรตอบตามนั้น ด้วยว่า สารีบุตรทำจิตให้อยู่ในอำนาจ(ของตน)และไม่
ยอมอยู่ในอำนาจของจิต เธอหวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเช้า ก็อยู่ด้วย
วิหารสมาบัตินั้นในเวลาเช้า หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเที่ยง ก็อยู่ด้วย
วิหารสมาบัตินั้นในเวลาเที่ยง หวังจะอยู่ด้วยวิหารสมาบัติใดในเวลาเย็น ก็อยู่ด้วย
วิหารสมาบัตินั้นในเวลาเย็น”

ป่างามด้วยความเพียร

[๓๔๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “คำของใครหนอเป็นสุภาษิต พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร คำของเธอทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยเหตุ
นั้น ๆ แต่เธอทั้งหลายจงฟังคำของเรา หากมีคำถามว่า ‘ป่าโคสิงคสาลวันจะพึง
งามด้วยภิกษุเช่นไร’ เราจักตอบว่า ‘สารีบุตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้กลับจากบิณฑบาต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร

ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์๑ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า๒ ว่า
‘จิตของเรายังไม่หมดความถือมั่น (และ)ไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพียงใด
เราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เพียงนั้น’ สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาโคสิงคสูตรที่ ๒ จบ

๓. มหาโคปาลสูตร
ว่าด้วยคนเลี้ยงโค สูตรใหญ่
เหตุแห่งความไม่เจริญ๓

[๓๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระ
ผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ เป็นผู้ไม่
สามารถเลี้ยงฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้
องค์ ๑๑ ประการ อะไรบ้าง
คือ นายโคบาลในโลกนี้
๑. ไม่รู้รูปโค ๒. ไม่ฉลาดในลักษณะโค
๓. ไม่กำจัดไข่ขาง ๔. ไม่ปกปิดแผล

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒-๓ ข้อ ๑๐๗ (มหาสติปัฏฐานสูตร) หน้า ๑๐๒ ในเล่มนี้
๓ ดูเทียบ องฺ.เอกาทสก. (แปล) ๒๔/๑๗/๔๓๒-๔๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร

๕. ไม่สุมไฟ ๖. ไม่รู้ท่าน้ำ
๗. ไม่รู้ว่าโคดื่มน้ำแล้ว ๘. ไม่รู้ทาง
๙. ไม่ฉลาดในที่หากิน ๑๐. รีดนมไม่ให้เหลือ
๑๑. ไม่บูชาโคผู้๑ทั้งหลายที่เป็นพ่อโค เป็นจ่าฝูง ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่สามารถจะเลี้ยง
ฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้ ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นผู้ไม่สามารถถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ได้
ธรรม ๑๑ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. ไม่รู้รูป ๒. ไม่ฉลาดในลักษณะ
๓. ไม่กำจัดไข่ขาง ๔. ไม่ปกปิดแผล
๕. ไม่สุมไฟ ๖. ไม่รู้ท่าน้ำ
๗. ไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว ๘. ไม่รู้ทาง
๙. ไม่ฉลาดในโคจร ๑๐. รีดนมไม่ให้เหลือ
๑๑. ไม่บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน
เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

[๓๔๗] ภิกษุไม่รู้รูป เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้ชัดรูปอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเป็นจริงว่า ‘มหา-
ภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔’ ภิกษุเป็นผู้ไม่รู้รูป เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ไม่บูชาโคผู้ หมายถึงไม่ให้อาหารอย่างดี ไม่ประดับด้วยของหอม ไม่คล้องพวงมาลัย ไม่สวมปลอกเงิน
ปลอกทองที่เขาของโคจ่าฝูง และในเวลากลางคืน ก็ไม่ติดไฟแล้วให้นอนใต้เพดานผ้า โคจ่าฝูงเมื่อไม่ได้รับ
การเอาใจใส่เช่นนั้น จึงไม่รักษา ไม่ป้องกันอันตรายให้แก่ฝูงโค (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๗/๓๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุไม่ฉลาดในลักษณะ๑ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘คนพาลมีกรรมเป็น
ลักษณะ บัณฑิตมีกรรมเป็นลักษณะ’ ภิกษุไม่ฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่กำจัดไข่ขาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้สิ้นสุด
ไม่ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ... รับวิหิงสาวิตก
ที่เกิดขึ้น ... รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้
สิ้นสุด ไม่ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ภิกษุไม่กำจัดไข่ขาง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่ปกปิดแผล เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้วรวบถือ๒ แยกถือ๓ ไม่ปฏิบัติเพื่อ
สำรวมในจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ ไม่รักษาจักขุนทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียง
ทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้แจ้ง
ธรรมารมณ์ทางใจแล้วรวบถือ แยกถือ ไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่
สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ไม่รักษา
มนินทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุไม่ปกปิดแผล เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ไม่ฉลาดในลักษณะ หมายถึงคนพาลและบัณฑิตมีกรรมเป็นเครื่องหมายเหมือนกัน แต่ต่างกันที่คนพาลมี
อกุศลกรรมเป็นเครื่องหมาย บัณฑิตมีกุศลกรรมเป็นเครื่องหมาย (ม.มู.อ. ๒/๓๔๗/๑๖๙)
๒ รวบถือ หมายถึงมองภาพด้านเดียว คือมองภาพรวมโดยเห็นเป็นหญิงหรือชาย เห็นว่ารูปสวย เสียง
ไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสที่อ่อนนุ่ม เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา ด้วยอำนาจฉันทราคะ (อภิ.สงฺ.อ.
๑๓๕๒/๔๕๖-๔๕๗)
๓ แยกถือ หมายถึงมองภาพ ๒ ด้าน คือมองแยกแยะเป็นส่วน ๆ ไปด้วยอำนาจกิเลส เช่น เห็นมือเท้า
ว่าสวยหรือไม่สวย เห็นอาการยิ้มแย้ม หัวเราะ การพูด การเหลียวซ้ายแลขวาว่าน่ารักหรือไม่น่ารัก ถ้า
เห็นว่าสวยน่ารักก็เกิดอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) ถ้าเห็นว่าไม่สวย ไม่น่ารัก ก็เกิดอนิฏฐารมณ์
(อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) (อภิ.สงฺ.อ. ๑๓๕๒/๔๕๖-๔๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุไม่สุมไฟ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่แสดงธรรมตามที่ฟังมาแล้ว ตามที่เล่าเรียนมาแล้ว
แก่คนอื่น ๆ โดยพิสดาร ภิกษุไม่สุมไฟ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่รู้ท่าน้ำ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นพหูสูต ผู้เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม
ทรงวินัย ทรงมาติกาตามเวลาสมควร ไม่สอบสวนไต่ถามว่า “พุทธพจน์นี้เป็น
อย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร” ท่านผู้คงแก่เรียนเหล่านั้นไม่เปิด
เผยธรรมที่ยังไม่ได้เปิดเผย ไม่ทำให้ง่ายซึ่งธรรมที่ยังไม่ทำให้ง่าย และไม่บรรเทา
ความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น ภิกษุไม่รู้ท่าน้ำ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่ได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ไม่ได้ความปลาบปลื้ม
อิงธรรม ไม่ได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรมในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วซึ่ง
ผู้อื่นแสดงอยู่ ภิกษุไม่รู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่รู้ทาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้อริยมรรคมีองค์ ๘ ตามความเป็นจริง ภิกษุไม่
รู้ทาง เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่ฉลาดในโคจร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้ชัดสติปัฏฐาน ๔ ประการตามความเป็นจริง๑ ภิกษุ
ไม่ฉลาดในโคจร เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ไม่รู้สติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง ในที่นี้หมายถึงไม่รู้ว่า ‘สติปัฏฐานอย่างไหนเป็นโลกิยะ อย่างไหน
เป็นโลกุตตระ’ เมื่อไม่รู้ก็จะน้อมญาณของตนเข้าไปในฐานที่ละเอียด แล้วปักใจอยู่ในสติปัฏฐานที่เป็น
โลกิยะเท่านั้น จึงไม่สามารถให้สติปัฏฐานส่วนที่เป็นโลกุตตระเกิดขึ้นได้ (องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๗/๓๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุรีดนมไม่ให้เหลือ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รู้จักประมาณเพื่อจะรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่พวกคหบดีผู้มีศรัทธาปวารณานำไปถวายเฉพาะ ภิกษุ
รีดนมไม่ให้เหลือ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุไม่บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็น
สังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตา-
มโนกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลังในเหล่าภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน
เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ภิกษุไม่บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู
เป็นผู้บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็น
อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้ไม่
สามารถถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ได้
[๓๔๘] นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการ เป็นผู้สามารถจะเลี้ยง
ฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้
องค์ ๑๑ ประการ อะไรบ้าง
คือ นายโคบาลในโลกนี้

๑. รู้รูปโค ๒. ฉลาดในลักษณะโค
๓. กำจัดไข่ขาง ๔. ปกปิดแผล
๕. สุมไฟ ๖. รู้ท่าน้ำ
๗. รู้ว่าโคดื่มน้ำแล้ว ๘. รู้ทาง
๙. ฉลาดในที่หากิน ๑๐. รีดนมให้เหลือ
๑๑. บูชาโคผู้ทั้งหลายที่เป็นพ่อโค เป็นจ่าฝูง ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

นายโคบาลประกอบด้วยองค์ ๑๑ ประการนี้แล จึงเป็นผู้สามารถจะเลี้ยง
ฝูงโคให้เจริญ ให้เพิ่มขึ้นได้ ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นผู้สามารถถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ได้
ธรรม ๑๑ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

๑. รู้รูปโค ๒. ฉลาดในลักษณะ
๓. กำจัดไข่ขาง ๔. ปกปิดแผล
๕. สุมไฟ ๖. รู้ท่าน้ำ
๗. รู้ว่ธรรมที่ดื่มแล้ว ๘. รู้ทาง
๙. ฉลาดในโคจร ๑๐. รีดนมให้เหลือ
๑๑. บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน เป็น
สังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง

[๓๔๙] ภิกษุรู้รูป เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดรูปอย่างใดอย่างหนึ่งตามความเป็นจริงว่า
‘มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔’ ภิกษุรู้รูป เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘คนพาลมีกรรมเป็นลักษณะ
บัณฑิตมีกรรมเป็นลักษณะ’ ภิกษุฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุกำจัดไข่ขาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด
ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ... ไม่รับวิหิงสาวิตก
ที่เกิดขึ้น ... ไม่รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้
สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ภิกษุกำจัดไข่ขาง เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุปกปิดแผล เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อ
สำรวมในจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียง
ทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์
ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุปกปิดแผลเป็นอย่างนี้แล
ภิกษุสุมไฟ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้แสดงธรรมที่ฟังมาแล้ว ตามที่เล่าเรียนมาแล้วแก่คน
อื่น ๆ โดยพิสดาร ภิกษุสุมไฟ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุรู้ท่าน้ำ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปหาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต ผู้เรียนจบคัมภีร์
ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาตามเวลาสมควร สอบสวนไต่ถามว่า “พุทธพจน์
นี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร” ท่านผู้คงแก่เรียนเหล่านั้น
ย่อมเปิดเผยธรรมที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้ง่ายซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้ง่าย และ
บรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น ภิกษุรู้ท่าน้ำ เป็น
อย่างนี้แล
ภิกษุรู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้ความปลาบปลื้มอิงอรรถ ได้ความปลาบปลื้ม
อิงธรรม ได้ปราโมทย์ที่ประกอบด้วยธรรมในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วซึ่งผู้
อื่นแสดงอยู่ ภิกษุรู้ธรรมที่ดื่มแล้ว เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๓. มหาโคปาลสูตร

ภิกษุรู้ทาง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้อริยมรรคมีองค์ ๘ ตามความเป็นจริง ภิกษุรู้ทาง
เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุฉลาดในโคจร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดสติปัฏฐาน ๔ ประการ ตามความเป็นจริง
ภิกษุฉลาดในโคจร เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุรีดนมให้เหลือ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้จักประมาณเพื่อจะรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขารที่พวกคหบดีผู้มีศรัทธาปวารณานำไปถวายเฉพาะ ภิกษุ
รีดนมให้เหลือ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้บูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน
เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปตั้งเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตา-
มโนกรรมทั้งต่อหน้าและลับหลังในเหล่าภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู เป็นผู้บวชนาน
เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ภิกษุบูชาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู
เป็นผู้บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง เป็น
อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๑๑ ประการนี้แล เป็นผู้สามารถ
ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาโคปาลสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๔. จูฬโคปาลสูตร

๔. จูฬโคปาลสูตร
ว่าด้วยคนเลี้ยงโค สูตรเล็ก
นายโคบาลผู้ไม่ฉลาด

[๓๕๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เมืองอุกกเจลา
แคว้นวัชชี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว นายโคบาลชาวแคว้นมคธ เป็นคนโง่มา
แต่กำเนิด ในสารทสมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน มิได้พิจารณาฝั่งนี้และฝั่งโน้น
แห่งแม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ สถานที่
ที่มิใช่ท่า ครั้งนั้น ฝูงโคว่ายเข้าไปในวังน้ำวนกลางแม่น้ำคงคา ถึงความพินาศใน
แม่น้ำนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะนายโคบาลชาวแคว้นมคธนั้น เป็นคนโง่มาแต่
กำเนิด ในสารทสมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน มิได้พิจารณาฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่ง
แม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ สถานที่ที่มิใช่ท่า
แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ฉลาด
ในโลกนี้ ไม่ฉลาดในโลกหน้า ไม่ฉลาดในธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร๑ ไม่ฉลาด

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ (ม.มู.อ. ๒/๓๕๐/๑๗๔) อีกนัยหนึ่ง หมายถึง
มาร ๕ จำพวก คือ (๑) กิเลสมาร (๒) ขันธมาร (๓) อภิสังขารมาร (๔) เทวปุตตมาร (๕) มัจจุมาร (ม.มู.ฏีกา
๒/๓๕๐/๒๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๔. จูฬโคปาลสูตร

ในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร๑ ไม่ฉลาดในธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ไม่ฉลาด
ในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ชนเหล่าใดเข้าใจถ้อยคำของสมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นว่าเป็นถ้อยคำที่ตนควรฟัง ควรเชื่อ ความเข้าใจของชนเหล่านั้นจักเป็นไป
เพื่อสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน

นายโคบาลผู้ฉลาด

[๓๕๑] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว นายโคบาลชาวแคว้นมคธ เป็น
คนฉลาดมาแต่กำเนิด ในสารทสมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน พิจารณาฝั่งนี้
และฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ
สถานที่ที่เป็นท่า นายโคบาลนั้นต้อนเหล่าโคที่เป็นจ่าฝูงซึ่งเป็นผู้นำฝูงให้ข้ามไปก่อน
โคเหล่านั้นว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี จากนั้นจึงต้อนเหล่า
โคที่มีกำลังและโคที่ฝึกไว้ให้ข้ามไป โคเหล่านั้นว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึง
ฝั่งได้โดยสวัสดี จากนั้นจึงต้อนเหล่าโคหนุ่มสาวให้ข้ามไป โคเหล่านั้นว่ายตัด
กระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี จากนั้นจึงต้อนเหล่าลูกโคที่มีกำลังน้อย
ให้ข้ามไป โคเหล่านั้นก็ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ลูกโคเล็กที่เกิดในวันนั้นลอยไปตามเสียงโค
ที่เป็นแม่ แม้ลูกโคนั้นก็ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะนายโคบาลชาวแคว้นมคธนั้นเป็นคนฉลาดมาแต่กำเนิด ในสารท-
สมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน พิจารณาฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโค
ให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ สถานที่ที่ใช่ท่า ฉันใด สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฉลาดในโลกนี้ ฉลาดในโลกหน้า

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ [คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑] (ม.มู.อ.
๒/๓๕๐/๑๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๔. จูฬโคปาลสูตร

ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร
ฉลาดในเตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมัจจุ
ชนเหล่าใดเข้าใจถ้อยคำของสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นว่าเป็นถ้อยคำที่ตนควรฟัง
ควรเชื่อ ความเข้าใจของชนเหล่านั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน

ฝูงโคข้ามถึงฝั่งโดยสวัสดี

[๓๕๒] ภิกษุทั้งหลาย เหล่าโคผู้ที่เป็นจ่าฝูง เป็นผู้นำฝูงว่ายตัดกระแสแม่น้ำ
คงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นอรหันตขีณาสพก็ฉันนั้น
เหมือนกัน อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๑ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๒ ปลงภาระได้แล้ว
บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว๓ หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ก็
ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
เหล่าโคที่มีกำลังและโคที่ฝึกไว้ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นโอปปาติกะ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะโอรัมภาคิย-
สังโยชน์ ๕ ประการสิ้นไปจึงปรินิพพานในพรหมโลกนั้น ไม่ต้องกลับมาจากโลก
นั้นอีก ก็ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
เหล่าโคหนุ่มและโคสาวว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นสกทาคามี ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะสังโยชน์ ๓
ประการสิ้นไป (และ) เพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง จึงกลับมาสู่โลกนี้อีก
ครั้งเดียว ก็จะทำให้ดีที่สุดแห่งทุกข์ได้ ก็ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดย
สวัสดี

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๘ (มูลปริยายสูตร) หน้า ๑๑ ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๘ (มูลปริยายสูตร) หน้า ๑๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๔. จูฬโคปาลสูตร

เหล่าลูกโคที่มีกำลังน้อยว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายที่เป็นโสดาบัน๑ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะสังโยชน์๒ ๓
ประการสิ้นไป จึงไม่มีทางตกต่ำ๓มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๔ ในวันข้างหน้า
ก็ชื่อว่า ว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
ลูกโคเล็กที่เกิดในวันนั้นลอยไปตามเสียงโคที่เป็นแม่ ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคา
ข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่เป็น
ธัมมานุสารี๕ และที่เป็นสัทธานุสารี๖ ก็ชื่อว่า จักว่ายตัดกระแสมารข้ามไปถึงฝั่งได้
โดยสวัสดี
ภิกษุทั้งหลาย เราแลเป็นผู้ฉลาดในโลกนี้ ฉลาดในโลกหน้า ฉลาดใน
เตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร ฉลาดใน
เตภูมิกธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ฉลาดในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ชนเหล่าใด
จักเข้าใจถ้อยคำของเรานั้นว่าเป็นถ้อยคำที่ตนควรฟัง ควรเชื่อ ความเข้าใจของชน
เหล่านั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขตลอดกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

เชิงอรรถ :
๑-๔ ดูเชิงอรรถที่ ๒-๓,๑-๒ ข้อ ๖๗ (วัตถูปมสูตร) หน้า ๕๘-๕๙ ในเล่มนี้
๕ ธัมมานุสารี หมายถึงผู้แล่นไปตามธรรม ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล มีปัญญาแก่กล้า บรรลุผล
แล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ(ผู้บรรลุธรรมด้วยความเห็นถูกต้อง) (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ.
๓/๑๔/๑๖๒, ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕)
๖ สัทธานุสารี คือ ผู้แล่นไปตามศรัทธาท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลมีสัทธาแก่กล้า บรรลุผลแล้ว
กลายเป็นสัทธาวิมุต(ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา) เรียกว่า มัคคสมังคีบุคคลชั้นต้น (ปฐมมัคคสมังคี) หรือ
ผู้พรั่งพร้อมด้วยโสดาปัตติมรรค (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, องฺ.สตฺตก.อ. ๓/๑๔/๑๖๒, ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

“โลกนี้และโลกหน้าตถาคตผู้รู้ได้ประกาศไว้ดีแล้ว
ตถาคตผู้ตรัสรู้เอง ทราบชัดโลกทั้งปวงทั้งที่มารไปถึงได้
และที่มัจจุราชไปถึงไม่ได้ ด้วยความรู้ยิ่ง
จึงได้เปิดประตูแห่งอมตะ๑
เพื่อให้ถึงนิพพานอันเป็นแดนเกษม
กระแสแห่งมารผู้มีใจบาปตถาคตตัดได้แล้ว
กำจัดได้แล้ว กำราบได้แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มากด้วยความปราโมทย์
ปรารถนาธรรมอันเป็นแดนเกษม๒เถิด”

จูฬโคปาลสูตรที่ ๔ จบ

๕. จูฬสัจจกสูตร
ว่าด้วยสัจจกะ นิครนถบุตร สูตรเล็ก
อนุสาสนีของพระพุทธเจ้า

[๓๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี
ในสมัยนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรอาศัยอยู่ในกรุงเวสาลี เป็นนักโต้วาทะ พูดยกตน
ว่าเป็นบัณฑิต ชนจำนวนมากยกย่องว่าเป็นผู้มีลัทธิดี เขากล่าวปราศรัยในที่ชุมชน
ในกรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ประตูแห่งอมตะ หมายถึงอริยมรรค (ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕)
๒ ธรรมอันเป็นแดนเกษม หมายถึงอรหัตตผล (ม.มู.อ. ๒/๓๕๒/๑๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

“สมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ ผู้ปฏิญญาตน
ว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อโต้ตอบวาทะกับเรา แล้วจะไม่พึงประหม่า
ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ เราไม่เห็นเลยแม้แต่คนเดียว
หากเราโต้ตอบวาทะกับต้นเสาที่ไม่มีจิตใจ แม้ต้นเสานั้นโต้ตอบวาทะกับเรา ก็ต้อง
ประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงมนุษย์เลย”
ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระอัสสชิครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงเวสาลี สัจจกะ นิครนถบุตรเดินเที่ยวเล่นอยู่ในกรุงเวสาลีได้เห็น
ท่านพระอัสสชิเดินอยู่แต่ไกล จึงเข้าไปหา ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ถามว่า “ท่านพระอัสสชิ พระ
สมณโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระสมณโคดมที่เป็นไปใน
พวกสาวกโดยส่วนมากเป็นอย่างไร”
ท่านพระอัสสชิตอบว่า “อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวก
ทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคที่เป็นไปในสาวกทั้งหลายโดย
ส่วนมากเป็นอย่างนี้ว่า ‘รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลาย
ไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่อัตตา เวทนาไม่ใช่อัตตา สัญญาไม่ใช่อัตตา
สังขารทั้งหลายไม่ใช่อัตตา วิญญาณไม่ใช่อัตตา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตา
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตา’ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้
และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคที่เป็นไปในสาวกทั้งหลาย โดยส่วนมากเป็นอย่างนี้”
สัจจกะ นิครนถบุตรกล่าวว่า “ท่านพระอัสสชิ ข้าพเจ้าได้ฟังว่าพระสมณโคดม
มีวาทะอย่างนี้ ชื่อว่าฟังเรื่องที่ผิด ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจึงจะพบพระสมณโคดมนั้น
และสนทนากันสักครั้ง ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจึงจะปลดเปลื้องพระสมณโคดมจาก
ทิฏฐิชั่วนั้นได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

สัจจกะ นิครนถบุตรชวนเจ้าลิจฉวีไปฟังการโต้วาทะ

[๓๕๔] สมัยนั้น เจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ พระองค์ ทรงประชุมกันอยู่ใน
หอประชุมด้วยกรณียกิจบางอย่าง ครั้งนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรเข้าไปหาเจ้าลิจฉวี
เหล่านั้น แล้วได้กล่าวกับเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นอย่างนี้ว่า
“ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน วันนี้
ข้าพเจ้าจักสนทนากับพระสมณโคดม ถ้าพระสมณโคดมจักยืนยันตามคำที่
พระอัสสชิซึ่งเป็นพระสาวกรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงยืนยันแล้วแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักฉุด
กระชากลากพระสมณโคดมไปมาด้วยคำต่อคำ ให้เป็นเหมือนบุรุษผู้มีกำลังจับแกะ
มีขนยาวที่ขนแล้วฉุดกระชากลากไปมาฉะนั้น หรือให้เป็นเหมือนคนงานในโรงสุรา
ซึ่งกำลังวางเสื่อลำแพนสำหรับรองแป้งสุราผืนใหญ่ในห้วงน้ำลึกแล้วจับที่มุมลาก
ฟาดไปฟาดมาฉะนั้น ข้าพเจ้าจักสลัดฟัดฟาดพระสมณโคดมด้วยคำต่อคำ ให้เป็น
เหมือนบุรุษผู้มีกำลังซึ่งเป็นนักเลงจับถ้วยที่หูแล้วสลัดฟัดฟาดไปมาฉะนั้น ข้าพเจ้า
จักเล่นงานพระสมณโคดมเหมือนนักกีฬาเล่นกีฬาซักป่าน ให้เป็นเหมือนช้างที่มีวัย
ล่วง ๖๐ ปี ลงสู่สระโบกขรณีที่มีน้ำลึกแล้วเล่นกีฬาซักป่านฉะนั้น ขอเจ้าลิจฉวี
ทั้งหลายจงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน วันนี้ ข้าพเจ้าจักสนทนา
กับพระสมณโคดม”
บรรดาเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “พระสมณโคดมจักกล่าว
แย้งถ้อยคำของท่านสัจจกะได้อย่างไร ที่แท้ ท่านสัจจกะกลับจะกล่าวแย้งถ้อยคำของ
พระสมณโคดม”
บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า “ท่านสัจจกะเป็นอะไร จึงกล่าวแย้งพระดำรัสของ
พระผู้มีพระภาคได้ ที่แท้ พระผู้มีพระภาคกลับจะทรงกล่าวแย้งถ้อยคำของท่านสัจจกะ”
ครั้งนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรมีเจ้าลิจฉวีประมาณ ๕๐๐ พระองค์ห้อมล้อม
ได้เข้าไปยังกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

[๓๕๕] สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมากกำลังจงกรมอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง ครั้งนั้น
สัจจกะ นิครนถบุตรเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่จงกรมแล้วถามว่า “ท่านผู้เจริญ
บัดนี้ พระสมณโคดมอยู่ ณ ที่ไหน พวกข้าพเจ้าปรารถนาจะพบพระสมณโคดม
พระองค์นั้น”
ภิกษุเหล่านั้นจึงตอบว่า “อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสด็จเข้าไป
สู่ป่ามหาวันประทับพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง”
ลำดับนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีจำนวนมากเข้าไปสู่ป่ามหาวัน
ถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร แม้เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น บางพวกถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร บางพวกทูลปราศรัยแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประนมมือ
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและโคตรของตน ในสำนักของพระผู้มี
พระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่สมควร

ปัญหาของสัจจกะ นิครนถบุตร

[๓๕๖] สัจจกะ นิครนถบุตรครั้นนั่งแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าพเจ้าขอถามท่านพระโคดมสักหน่อยหนึ่ง ถ้าท่านพระโคดมจะเปิดโอกาสที่จะ
ตอบปัญหาแก่ข้าพเจ้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านประสงค์จะถามปัญหาใด
ก็ถามเถิด”
“ท่านพระโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร คำสั่งสอนของท่านพระโคดมที่เป็น
ไปในพระสาวกทั้งหลาย โดยส่วนมากเป็นอย่างไร”
“เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเราที่เป็นไปในสาวก
ทั้งหลายโดยส่วนมากเป็นอย่างนี้ว่า ‘รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่อัตตา เวทนาไม่ใช่อัตตา
สัญญาไม่ใช่อัตตา สังขารทั้งหลายไม่ใช่อัตตา วิญญาณไม่ใช่อัตตา สังขารทั้งหลาย
ทั้งปวงไม่ใช่อัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตา’ เราแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้
และคำสั่งสอนของเราที่เป็นไปในสาวกทั้งหลายโดยส่วนมากเป็นอย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

“ท่านพระโคดม ขอให้ข้าพเจ้าแสดงอุปมาถวาย”
“ขอเชิญท่านแสดงอุปมาเถิด”
“ท่านพระโคดม พืชพันธุ์ไม้เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์
พืชพันธุ์ไม้เหล่านั้นทั้งหมดต้องอาศัยแผ่นดิน อยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความเจริญ
งอกงามไพบูลย์ได้ หรือการงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่บุคคลต้องทำด้วยกำลัง การ
งานเหล่านั้นทั้งหมดบุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน ต้องอยู่บนแผ่นดินจึงทำได้ แม้ฉันใด
บุรุษบุคคลนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีรูปเป็นอัตตา มีเวทนาเป็นอัตตา มีสัญญาเป็น
อัตตา มีสังขารเป็นอัตตา มีวิญญาณเป็นอัตตา ต้องดำรงอยู่ในรูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ จึงจะประสบบุญหรือบาปได้”
“อัคคิเวสสนะ ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา เวทนาเป็นอัตตา
ของเรา สัญญาเป็นอัตตาของเรา สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา วิญญาณเป็น
อัตตาของเรามิใช่หรือ”
“ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนั้นจริง และหมู่ชนเป็นอันมากก็กล่าว
อย่างนั้นว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา เวทนาเป็นอัตตาของเรา สัญญาเป็นอัตตา
ของเรา สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา วิญญาณเป็นอัตตาของเรามิใช่หรือ”
“อัคคิเวสสนะ หมู่ชนเป็นอันมากจักช่วยอะไรท่านได้ เชิญท่านยืนยันคำของ
ท่านเถิด”
“ท่านพระโคดม เป็นความจริง ข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา
เวทนาเป็นอัตตาของเรา สัญญาเป็นอัตตาของเรา สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา
วิญญาณเป็นอัตตาของเรา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

ทรงย้อนถามสัจจกะ นิครนถบุตรด้วยอุปมา

[๓๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ ถ้าอย่างนั้น เราจักสอบ
ถามท่านในข้อนี้แล ท่านเห็นควรอย่างไร ท่านควรตอบอย่างนั้น ท่านเข้าใจความ
ข้อนั้นว่าอย่างไร พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษก๑แล้ว เช่นพระเจ้าปเสนทิ-
โกศล หรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตรแห่งแคว้นมคธ มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า
ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ ในพระราชอาณาเขตของพระองค์
มิใช่หรือ”
สัจจกะ นิครนถบุตรกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้
รับมูรธาภิเษกแล้ว เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตรแห่ง
แคว้นมคธ มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควร
เนรเทศ ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ แม้แต่คณะผู้ปกครองเหล่านี้ คือ เจ้าวัชชี
เจ้ามัลละก็มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ
ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ทำไมพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตรแห่งแคว้นมคธจะไม่มี
อำนาจเล่า พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วนั้น ต้องมีอำนาจแน่ และ
ควรจะมีอำนาจ”
“อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า
‘รูปเป็นอัตตาของเรา’ นั้น ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า ‘รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด
อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรก็นิ่งเสีย
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับสัจจกะ นิครนถบุตรเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “อัคคิเวสสนะ
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา’ นั้น
ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า ‘รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย’ หรือ”

เชิงอรรถ :
๑ มูรธาภิเษก ในที่นี้หมายถึงพิธีหลั่งน้ำรดพระเศียรในการพระราชพิธีราชาภิเษก (พจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ หน้า ๖๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรก็นิ่งเป็นครั้งที่ ๒
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับสัจจกะ นิครนถบุตรว่า “อัคคิเวสสนะ บัดนี้
ท่านจงตอบ ไม่ใช่เวลาที่ท่านจะนิ่ง ผู้ใดถูกตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุถึง ๓
ครั้งแล้วไม่ตอบ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็น ๗ เสี่ยงในที่นั้นนั่นเอง”
ขณะนั้น ยักษ์วชิรปาณี๑ถือกระบองเพชรมีไฟลุกโชติช่วงยืนอยู่ในอากาศ
เบื้องบนสัจจกะ นิครนถบุตรคิดว่า
“หากสัจจกะ นิครนถบุตรนี้ถูกพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหาอันชอบธรรม
ถึง ๓ ครั้งแต่ไม่ยอมตอบ เราจะทุบศีรษะของเขาให้แตกเป็น ๗ เสี่ยง ณ ที่นี้แล”
พระผู้มีพระภาคกับสัจจกะ นิครนถบุตรเท่านั้นที่มองเห็นยักษ์วชิรปาณีนั้น
ในทันใดนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรตกใจกลัวจนขนพองสยองเกล้า แสวงหาพระผู้มี
พระภาคเป็นที่ต้านทาน เป็นที่ป้องกัน เป็นที่พึ่ง ได้กราบทูลว่า “พระโคดมผู้เจริญ
ขอจงทรงถามเถิด ข้าพเจ้าจะตอบ ณ บัดนี้”

หลักไตรลักษณ์

[๓๕๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้น
ว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘รูปเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า
‘รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลตอบว่า “ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการ๒เถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เวทนาเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในเวทนานั้นว่า
‘เวทนาของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”

เชิงอรรถ :
๑ ยักษ์วชิรปาณี ในที่นี้หมายถึงท้าวสักกเทวราช (ม.มู.อ. ๒/๓๕๗/๑๘๕)
๒ มนสิการ ในที่นี้หมายถึงการพิจารณาไตร่ตรองแล้วทรงจำไว้ในใจ (ม.มู.อ. ๒/๓๕๘/๑๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สัญญาเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในสัญญานั้นว่า
‘สัญญาของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”
“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘สังขารทั้งหลายเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในสังขาร
ทั้งหลายเหล่านั้นว่า ‘สังขารทั้งหลายของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่าง
นี้เลยหรือ”
“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘วิญญาณเป็นอัตตาของเรา’ ท่านมีอำนาจในวิญญาณนั้นว่า
‘วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ”
“ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านจงมนสิการเถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูป
เที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระโคดมผู้เจริญ”
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระโคดมผู้เจริญ”
“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขารทั้งหลาย
ฯลฯ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร วิญญาณ เที่ยง หรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระโคดมผู้เจริญ”
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระโคดมผู้เจริญ”
“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ
พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระโคดมผู้เจริญ”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ผู้ใดติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์แล้ว กล้ำกลืน
ทุกข์แล้ว ยังพิจารณาเห็นทุกข์ว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’
ผู้นั้นกำหนดรู้ทุกข์ได้เอง หรือจะทำทุกข์ให้สิ้นไปแล้วจึงอยู่ มีบ้างหรือ”
“จะพึงมีได้อย่างไร ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ”
“อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านติดทุกข์
เข้าถึงทุกข์แล้ว กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังพิจารณาเห็นทุกข์ว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น
นั่นเป็นอัตตาของเรามิใช่หรือ”
“จะไม่มีอย่างไรได้ ข้อนี้ต้องเป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ”

สัจจกะ นิครนถบุตรยอมจำนน

[๓๕๙] “อัคคิเวสสนะ บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้
ถือเอาผึ่งที่คมเข้าไปสู่ป่า เขาเห็นต้นกล้วยใหญ่ต้นหนึ่งในป่า มีต้นตรง กำลังรุ่น
ยังไม่ออกปลี เขาจึงตัดต้นกล้วยนั้นที่โคนต้น แล้วตัดยอด ลิดใบออก เขาไม่พบ
แม้แต่กระพี้ แล้วจะพบแก่นได้จากที่ไหน แม้ฉันใด ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกเรา
ซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนในถ้อยคำของตนเอง ก็เปล่า ว่าง แพ้ไปเอง ท่านได้กล่าว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

ปราศรัยนี้ในที่ชุมชนในกรุงเวสาลีว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ
เป็นคณาจารย์ ที่ปฏิญญาตนว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โต้ตอบวาทะกับ
เราแล้วจะไม่พึงประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้
เราไม่เห็นเลยแม้แต่คนเดียว หากเราโต้ตอบวาทะกับต้นเสาที่ไม่มีจิตใจ แม้เสานั้น
โต้ตอบวาทะกับเรา ก็ต้องประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง
มนุษย์เลย’
อัคคิเวสสนะ หยาดเหงื่อของท่านบางหยาด หยดจากหน้าผากลงไปยัง
ผ้าห่มแล้วตกลงที่พื้น ส่วนหยาดเหงื่อในกายของเราในบัดนี้ไม่มีเลย”
ดังนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเปิดพระวรกายอันมีพระฉวีวรรณดุจทองคำในที่
ชุมชนนั้น
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรถึงกับนั่งนิ่ง เก้อเขิน
คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ
[๓๖๐] ครั้งนั้น เจ้าลิจฉวีนามว่าทุมมุขะเห็นว่า สัจจกะ นิครนถบุตรนั่งนิ่ง
เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ท่านพระโคดม ขอให้ข้าพเจ้าแสดงอุปมาถวาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ทุมมุขะ ขอเชิญท่านแสดงอุปมาเถิด”
เจ้าลิจฉวีนั้นกราบทูลว่า “ในที่ใกล้บ้านหรือนิคม มีสระโบกขรณีอยู่สระหนึ่ง
ในสระนั้นมีปูอยู่ตัวหนึ่ง พวกเด็กชายหญิงเป็นจำนวนมากออกจากบ้านหรือนิคมนั้น
ไปถึงสระโบกขรณีนั้นแล้วก็ลงไปจับปูขึ้นจากน้ำ วางไว้บนบก ปูนั้นส่ายก้ามไปทางใด
เด็กเหล่านั้นก็คอยต่อย ตี ทุบก้ามปูนั้นด้วยไม้บ้าง ด้วยกระเบื้องบ้าง เมื่อปูนั้น
ก้ามหักหมดแล้ว ก็ไม่อาจลงสู่สระโบกขรณีนั้นเหมือนก่อนได้ แม้ฉันใด ทิฏฐิที่เป็น
เสี้ยนหนาม ที่เข้าใจผิด และที่กวัดแกว่งบางอย่างของสัจจกะ นิครนถบุตร ถูกพระองค์
หัก โค่น ลบ ล้างเสียแล้ว บัดนี้ สัจจกะ นิครนถบุตรก็จะไม่มาใกล้พระองค์เพื่อ
โต้วาทะอีก ฉันนั้นเหมือนกัน”
เมื่อเจ้าลิจฉวีนามว่าทุมมุขะกล่าวอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรจึงพูดว่า
“เจ้าทุมมุขะ ท่านหยุดเถิด หยุดเถิด ท่านพูดมากนัก ข้าพเจ้าไม่ได้พูดกับท่าน
ข้าพเจ้าพูดกับท่านพระโคดมต่างหาก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

พระสาวกผู้ปฏิบัติตามคำสอน

[๓๖๑] (สัจจกะ นิครนถบุตร) ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วก็กราบทูลว่า “ข้าแต่
พระโคดมผู้เจริญ คำพูดนี้เป็นของข้าพเจ้าและของพวกสมณพราหมณ์เหล่าอื่น
หยุดไว้ก่อน ถ้อยคำนั้นอาจเป็นแต่คำเพ้อเจ้อ พูดเพ้อกันไป
ด้วยเหตุเพียงเท่าไร สาวกของท่านพระโคดมจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสอน
ทำถูกตามโอวาท หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้อง
เชื่อใครอีกในคำสอนของศาสดา(ของตน)”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์
นั้นทั้งหมด คือ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความ
เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา’ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารอย่างใด
อย่างหนึ่ง ...
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความ
เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล สาวกของเราจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอน ทำถูก
ตามโอวาท หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใคร
อีกในคำสอนของศาสดา(ของตน)”
“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันตขีณาสพ
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์
ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ”
“อัคคิเวสสนะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์นั้นทั้งหมด คือ รูปอย่าง
ใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือ
ละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอัน
ชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ เห็นเวทนา
อย่างใดอย่างหนึ่ง ... เห็นสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... เห็นสังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

... เห็นวิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความ
เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา’ จึงหลุดพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็น
อรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ
ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ประกอบด้วยคุณอันยอดเยี่ยม ๓ ประการ คือ
๑. ความเห็นอันยอดเยี่ยม
๒. ข้อปฏิบัติอันยอดเยี่ยม
๓. ความหลุดพ้นอันยอดเยี่ยม
เมื่อมีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตว่า
‘พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้ว๑ ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ตรัสรู้ พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นทรงฝึกพระองค์แล้ว๒ ทรงแสดงธรรมเพื่อฝึกตน พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นทรงสงบแล้ว๓ ทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นทรงข้ามพ้นแล้ว๔ ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ข้ามพ้น พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นปรินิพพานแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อปรินิพพาน”

สัจจกะ นิครนถบุตรถวายภัตตาหาร

[๓๖๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรได้กราบ
ทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นคนคอยกำจัดคุณผู้อื่น เป็นคนคะนอง
วาจา ได้เข้าใจพระดำรัสของท่านพระโคดมว่า ‘ตนสามารถรุกรานได้ด้วยถ้อยคำ
ของตน’ บุรุษมาปะทะช้างซับมันเข้าก็ดี พบกองไฟที่กำลังลุกโชนก็ดี พบงูพิษที่มี
พิษร้ายก็ดี ยังพอเอาตัวรอดได้บ้าง แต่พอมาพบท่านพระโคดมเข้าแล้ว ไม่มีใคร
เอาตัวรอดได้เลย ข้าพเจ้าเป็นคนคอยกำจัดคุณผู้อื่น เป็นคนคะนองวาจา ได้เข้าใจ

เชิงอรรถ :
๑ ตรัสรู้ หมายถึงตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการ (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙)
๒ ฝึกพระองค์ หมายถึงปราศจากกิเลส (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙, ม.มู.ฏีกา ๒/๓๖๑/๒๕๕)
๓ สงบ หมายถึงสงบระงับกิเลสทั้งปวงได้ (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙)
๔ ข้ามพ้น หมายถึงข้ามพ้นโอฆะ ๔ (ม.มู.อ. ๒/๓๖๑/๑๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๓๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๕. จูฬสัจจกสูตร

พระดำรัสของท่านพระโคดมว่า ‘ตนสามารถรุกรานได้ด้วยถ้อยคำของตน’ ขอท่าน
พระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงรับนิมนต์เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
[๓๖๓] ลำดับนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรง
รับนิมนต์แล้ว จึงบอกพวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่า “เจ้าลิจฉวีทั้งหลายโปรดฟังข้าพเจ้า
ข้าพเจ้านิมนต์ท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไว้แล้วเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น พวกท่าน
จะนำอาหารใดมาเพื่อข้าพเจ้า จงเลือกอาหารที่ควรแก่ท่านพระโคดมเถิด”
เมื่อล่วงราตรีแล้ว เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นได้นำภัตตาหารประมาณ ๕๐๐ สำรับ
ไปให้แก่สัจจกะ นิครนถบุตร เขาจึงให้จัดของเคี้ยวของฉันอันประณีต ในอาราม
ของตนเสร็จแล้วจึงให้ทูลบอกเวลาแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
เวลานี้เป็นเวลาอันควร ภัตตาหารจัดเตรียมสำเร็จแล้ว”
ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทรงครองอันตรวาสกถือ
บาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังอารามของสัจจกะ นิครนถบุตร แล้วประทับนั่งบน
พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว จากนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรได้นำของขบฉันอันประณีต
ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้อิ่มหนำด้วยมือตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาค
เสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์จากบาตรแล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรจึงเลือกนั่ง ณ ที่
สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่าแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ขอบุญและ
ผลบุญในทานครั้งนี้ จงมีเพื่อความสุขแก่ทายกทั้งหลายเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ บุญและผลบุญในทานนี้อาศัย
ทักขิไณยบุคคลที่ยังไม่สิ้นราคะ โทสะ โมหะเช่นกับท่าน จักมีแก่ทายกทั้งหลาย
บุญและผลบุญในทานนี้อาศัยทักขิไณยบุคคลที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะเช่นกับเรา
จักมีแก่ท่าน”

จูฬสัจจกสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

๖. มหาสัจจกสูตร
ว่าด้วยสัจจกะ นิครนถบุตร สูตรใหญ่

[๓๖๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตกรุง
เวสาลี ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร มีพระพุทธประสงค์จะเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงเวสาลี ขณะนั้น
สัจจกะ นิครนถบุตร เดินเที่ยวเล่นอยู่ ได้เข้าไปที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
ท่านพระอานนท์ได้เห็นสัจจกะ นิครนถบุตรเดินมาแต่ไกล จึงกราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัจจกะ นิครนถบุตรนี้เป็นนักโต้วาทะ พูดยกตน
ว่าเป็นบัณฑิต ชนจำนวนมากยอมยกว่าเป็นผู้มีลัทธิดี เขาปรารถนาจะติเตียน
พระพุทธเจ้า ปรารถนาจะติเตียนพระธรรม และปรารถนาจะติเตียนพระสงฆ์ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคประทับนั่งสักครู่หนึ่งเถิด”
พระผู้มีพระภาคจึงประทับอยู่บนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว
ขณะนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรเข้าไปถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้ว
ทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ปัญหาของสัจจกะ นิครนถบุตร

[๓๖๕] “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งหมั่นประกอบ
กายภาวนา๑อยู่ แต่หาได้หมั่นประกอบจิตตภาวนา๒ไม่ สมณพราหมณ์พวกนั้น

เชิงอรรถ :
๑ กายภาวนา หมายถึงวิปัสสนาภาวนา (ภาวนาข้อที่ ๒ ในภาวนา ๒) คือการฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความ
รู้แจ้งตามความเป็นจริง แต่สัจจกะ นิครนถบุตรกล่าวหมายเอาอัตตกิลมถานุโยคของพวกนิครนถ์ (ม.มู.อ.
๒/๓๖๕/๑๙๒)
๒ จิตตภาวนา หมายถึงสมถภาวนา (ภาวนาข้อที่ ๑ ในภาวนา ๒) คือการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ
(ฝึกสมาธิ) (ม.มู.อ. ๒/๓๖๕/๑๙๒) และดู ที.ปา. ๑๑/๓๕๒/๒๔๒, องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๓๒/๗๖, องฺ.ปญฺจก.
(แปล) ๒๒/๗๙/๑๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

ย่อมประสบทุกขเวทนาทางกาย เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อบุคคลถูกทุกขเวทนาทาง
กายกระทบเข้าแล้ว ความขัดยอกขาจักมีบ้าง หทัยจักแตกบ้าง เลือดอุ่นจักพลุ่ง
ออกจากปากบ้าง จักถึงความมีจิตฟุ้งซ่านจนเป็นบ้าบ้าง จิตอันหมุนไปตามกายของ
ผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจกาย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่ได้อบรมจิต มีสมณ-
พราหมณ์พวกหนึ่ง หมั่นประกอบจิตตภาวนาอยู่ แต่หาได้หมั่นประกอบกายภาวนาไม่
สมณพราหมณ์พวกนั้นย่อมประสบทุกขเวทนาทางจิต เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อ
บุคคลถูกทุกขเวทนาทางจิตกระทบเข้าแล้ว ความขัดยอกขาจักมีบ้าง หทัยจักแตก
บ้าง เลือดอุ่นจักพลุ่งออกจากปากบ้าง จักถึงความมีจิตฟุ้งซ่านจนเป็นบ้าบ้าง
กายที่หมุนไปตามจิตของผู้นั้น ก็เป็นไปตามอำนาจจิต ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
ไม่ได้อบรมกาย
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีความคิดว่า ‘หมู่สาวกของท่านพระโคดม
หมั่นประกอบจิตตภาวนาอยู่โดยแท้ แต่หาหมั่นประกอบกายภาวนาอยู่ไม่”
[๓๖๖] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านได้ฟังกายภาวนา
มาอย่างไร”
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลตอบว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ท่านนันทะ
วัจฉโคตร ท่านกิสะ สังกิจจโคตร ท่านมักขลิ โคสาล ก็ท่านเหล่านี้เป็นอเจลก
(ประพฤติเปลือยกาย) เป็นคนไม่มีมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป
เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับอาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำ
เจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับอาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปาก
ภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหาร
คร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลังบริโภค ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์
ไม่รับอาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับอาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย
ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มี
แมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่ม
ยาดอง เขารับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน ๒
หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗
คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๑ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๒ ใบ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๗ ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน กินอาหาร
ที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ วัน ฯลฯ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือการบริโภค
ภัตตาหารตามวาระ ๑๕ วันต่อมื้อ๑เช่นนี้อยู่ ด้วยประการอย่างนี้บ้าง”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัคคิเวสสนะ บุคคลเหล่านั้นเลี้ยงตนด้วยภัต
เพียงเท่านั้นอย่างเดียวหรือ”
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลตอบว่า “ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ
บางทีท่านเหล่านั้นเคี้ยวของควรเคี้ยวอย่างดี บริโภคโภชนะอย่างดี ลิ้มของลิ้มอย่างดี
ดื่มน้ำอย่างดี ให้ร่างกายนี้มีกำลัง เจริญ อ้วนพีขึ้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ บุคคลเหล่านั้นละทุกกรกิริยาที่
ประพฤติมาก่อนแล้วบำรุงกายนี้ในภายหลัง เมื่อเป็นอย่างนั้น กายนี้ก็มีความ
เจริญและความเสื่อมไป”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามอีกว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านได้ฟังจิตตภาวนามาอย่างไร”
สัจจกะ นิครนถบุตรถูกพระผู้มีพระภาคตรัสถามในจิตตภาวนา ไม่อาจทูล
ตอบได้

กายภาวนาและจิตตภาวนา

[๓๖๗] ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับสัจจกะ นิครนถบุตรว่า “อัคคิ-
เวสสนะ กายภาวนาที่ประพฤติมาก่อนซึ่งท่านอบรมแล้วนั้นไม่ใช่กายภาวนาที่ถูก
ต้องในอริยวินัย ท่านยังไม่รู้จักแม้กายภาวนา จะรู้จักจิตตภาวนาได้อย่างไร
บุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิต และบุคคลผู้ได้อบรมกาย ผู้ได้อบรมจิต
มีได้ด้วยวิธีใด ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าววิธีนั้น”

เชิงอรรถ :
๑ ดูข้อ ๑๕๕ (มหาสีหนาทสูตร) หน้า ๑๕๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

สัจจกะ นิครนถบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
[๓๖๘] “บุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิต เป็นอย่างไร
คือ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ มีสุขเวทนาเกิดขึ้น ถูกสุขเวทนากระทบแล้ว
มีความยินดียิ่งนักในสุขเวทนา และถึงความเป็นผู้ยินดียิ่งนักในสุขเวทนา สุขเวทนา
นั้นของเขาย่อมดับไป เพราะสุขเวทนาดับไป ทุกขเวทนาจึงเกิดขึ้น เขาถูกทุกข-
เวทนากระทบเข้าแล้ว ก็เศร้าโศก เสียใจ รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงใหล
สุขเวทนานั้นแม้ที่เกิดขึ้นแก่เขาแล้ว ก็ครอบงำจิตอยู่ เพราะเหตุที่มิได้อบรมกาย
ทุกขเวทนาแม้ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ครอบงำจิตอยู่ เพราะเหตุที่มิได้อบรมจิต สุขเวทนา
และทุกขเวทนาทั้ง ๒ ฝ่ายที่เกิดขึ้นแก่ปุถุชนคนใดคนหนึ่งอย่างนี้ ก็ครอบงำจิตอยู่
เพราะเหตุที่มิได้อบรมกาย เพราะเหตุที่มิได้อบรมจิต
อัคคิเวสสนะ บุคคลผู้มิได้อบรมกาย มิได้อบรมจิต เป็นอย่างนี้
[๓๖๙] บุคคลผู้ได้อบรมกาย ได้อบรมจิต เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ผู้ได้สดับแล้ว มีสุขเวทนาเกิดขึ้น ถูกสุขเวทนา
กระทบเข้าแล้ว ไม่มีความยินดียิ่งนักในสุขเวทนาและไม่ถึงความเป็นผู้ยินดียิ่งนักใน
สุขเวทนา สุขเวทนานั้นของเขาย่อมดับไป เพราะสุขเวทนาดับไป ทุกขเวทนาจึง
เกิดขึ้น เขาถูกทุกขเวทนากระทบเข้าแล้ว ก็ไม่เศร้าโศก ไม่เสียใจ ไม่รำพัน ไม่ตีอก
คร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล สุขเวทนานั้นแม้ที่เกิดขึ้นแก่อริยสาวกแล้ว ก็ไม่
ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้อบรมกาย ทุกขเวทนาแม้ที่เกิดขึ้นแล้วก็ครอบงำ
จิตอยู่ไม่ได้ เพราะเหตุที่ได้อบรมจิต สุขเวทนาและทุกขเวทนาทั้ง ๒ ฝ่ายที่เกิด
ขึ้นแก่อริยสาวกผู้ใดผู้หนึ่งอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้อบรมกาย
เพราะเหตุที่ได้อบรมจิต
อัคคิเวสสนะ บุคคลผู้ได้อบรมกาย ได้อบรมจิต เป็นอย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

[๓๗๐] สัจจกะ นิครนถบุตรกราบทูลว่า “เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้าพเจ้าเลื่อมใส
ท่านพระสมณโคดม เพราะท่านพระสมณโคดมได้อบรมกายแล้ว ได้อบรมจิตแล้ว”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ ท่านนำวาจานี้มาพูดกระทบกระ
เทียบกับเราโดยแท้ แต่เราจะบอกแก่ท่าน เมื่อใดเราโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ ออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จิตของเรา
นั้นจะถูกสุขเวทนาที่เกิดขึ้นครอบงำอยู่ หรือจะถูกทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นครอบงำอยู่”
สัจจกะ นิครนถบุตรกราบทูลว่า “สุขเวทนาที่เกิดขึ้นซึ่งพอจะครอบงำจิตตั้ง
อยู่ หรือทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นซึ่งพอจะครอบงำจิตตั้งอยู่ ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระสมณ-
โคดมผู้เจริญโดยแท้”
[๓๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ ทำไมเวทนาทั้ง ๒ นั้นจะ
ไม่พึงมีแก่เรา เราจะเล่าให้ฟัง ก่อนการตรัสรู้ เมื่อเราเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้
ได้มีความคิดว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด๑ เป็นทางแห่งธุลี๒ การบวช
เป็นทางปลอดโปร่ง๓ การที่ผู้อยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์
ให้บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเถิด’

เชิงอรรถ :
๑ การอยู่ครองเรือนชื่อว่าเป็นเรื่องอึดอัด เพราะไม่มีเวลาว่างเพื่อจะทำกุศลกรรม แม้เรือนจะมีเนื้อที่
กว้างขวางถึง ๖๐ ศอก มีบริเวณภายในบ้านตั้ง ๑๐๐ โยชน์ มีคนอยู่อาศัยเพียง ๒ คน คือ สามี
ภรรยา ก็ยังถือว่าอึดอัด เพราะมีความห่วงกังวลกันและกัน (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)
๒ ชื่อว่าเป็นทางแห่งธุลี เพราะเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอันทำจิตให้เศร้าหมอง เช่น ราคะ เป็นต้น
(ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)
๓ นักบวชแม้จะอยู่ในเรือนยอด ปราสาทแก้วและเทพวิมาน ซึ่งมีประตูหน้าต่างมิดชิด ก็ยังถือว่าปลอดโปร่ง
เพราะนักบวชไม่มีความยึดติดในสิ่งใด ๆ เลย (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

พุทธประวัติตอนบำเพ็ญสมาบัติ
ในสำนักอาฬารดาบส

อัคคิเวสสนะ ในกาลต่อมา เรายังหนุ่มแน่น แข็งแรง มีเกศาดำสนิท
อยู่ในปฐมวัย เมื่อพระราชมารดาและพระราชบิดาไม่ทรงปรารถนาจะให้ผนวช มี
พระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตรทรงกันแสงอยู่ จึงโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ ออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อผนวชแล้วก็แสวงหาว่าอะไรเป็น
กุศล ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหา
อาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วกล่าวว่า
‘ท่านกาลามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’
เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงกล่าวกับเราว่า ‘เชิญท่าน
อยู่ก่อน ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง
เอง ตามแบบอาจารย์ของตนเข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน เราก็เรียนรู้
ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณ-
วาทะ๑และเถรวาทะ๒ได้ ทั้งเราและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ เราจึงคิดว่า
‘อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เรา
ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่อาฬารดาบส กาลามโคตร
ยังรู้ยังเห็นธรรมนี้ด้วยอย่างแน่นอน’
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่านกาลามะ
ท่านประกาศธรรมนี้ว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุ
เพียงเท่าไร’
เมื่อเราถามอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงประกาศอากิญจัญญายตน-
สมาบัติแก่เรา เราจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีศรัทธา

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูเชิงอรรถที่ ๒-๓ ข้อ ๒๗๗ (ปาสราสิสูตร) หน้า ๓๐๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

แม้เราก็มีศรัทธา มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีวิริยะ แม้เราก็มีวิริยะ
มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีสติ แม้เราก็มีสติ มิใช่แต่อาฬาร-
ดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีสมาธิ แม้เราก็มีสมาธิ มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตร
เท่านั้นที่มีปัญญา แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญเพียร เพื่อทำให้แจ้ง
ธรรมที่อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง
เองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน เราก็ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญายิ่งเองเข้าถึงอยู่
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า ‘ท่านกาลามะ
ท่านประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วย
เหตุเพียงเท่านี้หรือ’
อาฬารดาบส กาลามโคตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ เราประกาศว่า ‘ข้าพเจ้า
ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’
(เราจึงกล่าวว่า) ‘ท่านกาลามะ แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญายิ่ง
เองเข้าถึงอยู่ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’
(อาฬารดาบส กาลามโคตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า
พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะข้าพเจ้าประกาศว่า
‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้น
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ข้าพเจ้าก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเข้าถึงอยู่’
ข้าพเจ้าทราบธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด ข้าพเจ้าก็ทราบ
ธรรมนั้น เป็นอันว่าข้าพเจ้าเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด
ข้าพเจ้าก็เป็นเช่นนั้น มาเถิด บัดนี้ เราทั้ง ๒ จะอยู่ร่วมกันบริหารคณะนี้’
อัคคิเวสสนะ อาฬารดาบส กาลามโคตร ทั้งที่เป็นอาจารย์ของเรา ก็ยกย่อง
เราผู้เป็นศิษย์ให้เสมอกับตน และบูชาเราด้วยการบูชาอย่างดี ด้วยประการอย่างนี้
แต่เราคิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ
เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึง
อากิญจัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

ในสำนักอุทกดาบส

[๓๗๒] อัคคิเวสสนะ เรานั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทาง
อันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตร
แล้วกล่าวว่า ‘ท่านรามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้’
เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงกล่าวกับเราว่า ‘เชิญท่านอยู่ก่อน
ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ตาม
แบบอาจารย์ของตนเข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน’ จากนั้นไม่นาน เราก็เรียนรู้ธรรมนั้น
ได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณวาทะและ
เถรวาทะได้ ทั้งเราและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า ‘เรารู้ เราเห็น’ เราจึงคิดว่า ‘อุทกดาบส
รามบุตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า ‘เราทำให้แจ้งด้วยปัญญา
อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ก็หามิได้ แต่อุทกดาบส รามบุตรยังรู้ยังเห็นธรรมนี้ด้วยอย่าง
แน่นอน’
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่าน
ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร’
เมื่อเราถามอย่างนี้ อุทกดาบส รามบุตรจึงประกาศเนวสัญญานาสัญญายตน-
สมาบัติแก่เรา เราจึงคิดว่า ‘มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีศรัทธา แม้
เราก็มีศรัทธา มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีวิริยะ แม้เราก็มีวิริยะ มิใช่
แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีสติ แม้เราก็มีสติ มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตร
เท่านั้นที่มีสมาธิ แม้เราก็มีสมาธิ มิใช่แต่อุทกดาบส รามบุตรเท่านั้นที่มีปัญญา
แม้เราก็มีปัญญา ทางที่ดี เราควรเริ่มบำเพ็ญเพียรเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่อุทกดาบส
รามบุตรประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ จากนั้นไม่นาน
เราก็ได้ทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอุทกดาบส รามบุตรแล้วถามว่า ‘ท่านรามะ ท่าน
ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียง
เท่านี้หรือ’
อุทกดาบส รามบุตรตอบว่า ‘ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าประกาศว่า ‘ข้าพเจ้า
ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

(เราจึงกล่าวว่า) ‘แม้ข้าพเจ้าก็ทำให้แจ้งธรรมนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้’
(อุทกดาบส รามบุตรกล่าวว่า) ‘ท่านผู้มีอายุ เป็นลาภของพวกข้าพเจ้า
พวกข้าพเจ้าได้ดีแล้วที่ได้พบเพื่อนพรหมจารีเช่นท่าน เพราะ(ข้าพเจ้า)รามะประกาศว่า
‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ ท่านก็ทำให้แจ้งธรรมนั้น
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ ท่านทำให้แจ้งธรรมใดด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
รามะก็ประกาศว่า ‘ข้าพเจ้าทำให้แจ้งธรรมนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่’ รามะ
ทราบธรรมใด ท่านก็ทราบธรรมนั้น ท่านทราบธรรมใด รามะก็ทราบธรรมนั้น
เป็นอันว่ารามะเป็นเช่นใด ท่านก็เป็นเช่นนั้น ท่านเป็นเช่นใด รามะก็เป็นเช่นนั้น
มาเถิด บัดนี้ ท่านจงบริหารคณะนี้’
อัคคิเวสสนะ อุทกดาบส รามบุตรทั้งที่เป็นเพื่อนพรหมจารีของเรา ก็ยังยกย่อง
เราไว้ในฐานะอาจารย์ และบูชาเราด้วยการบูชาอย่างดีด้วยประการอย่างนี้ แต่เรา
คิดว่า ‘ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อ
สงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงเนวสัญญา-
นาสัญญายตนสมาบัติเท่านั้น’ เราไม่พอใจ เบื่อหน่ายธรรมนั้น จึงลาจากไป

ตรัสรู้สัจธรรม

[๓๗๓] อัคคิเวสสนะ เรานั้นแสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทาง
อันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า เมื่อเที่ยวจาริกไปในแคว้นมคธโดย
ลำดับ ได้ไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่า
น่าเพลิดเพลินใจ มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจร-
คามอยู่โดยรอบ เราจึงคิดว่า ‘ภูมิประเทศเป็นที่น่ารื่นรมย์ มีราวป่าน่าเพลิดเพลินใจ
มีแม่น้ำไหลรินไม่ขาดสาย มีท่าน้ำสะอาดดี น่ารื่นรมย์ มีโคจรคามอยู่โดยรอบ
เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ปรารถนาจะบำเพ็ญเพียร’ เราจึงนั่ง ณ ที่
นั้นด้วยคิดว่า ‘ที่นี้เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

อุปมา ๓ ข้อ

[๓๗๔] อัคคิเวสสนะ ครั้งนั้น อุปมา ๓ ข้อ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรา
ยังไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้ปรากฏแก่เรา คือ
เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่แช่อยู่ในน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า
‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’
อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้สดที่มียางซึ่งแช่
อยู่ในน้ำมาทำไม้สีไฟแล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ไม่ได้ พระโคดมผู้เจริญ”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“พระโคดมผู้เจริญ เพราะไม้สดนั้นมียาง ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่
ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า”
“อัคคิเวสสนะ อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งมี
กายและจิตยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง
ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลาย ยังมิได้ละและมิได้ระงับ
อย่างเด็ดขาดในภายใน สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นแม้เสวยทุกขเวทนาที่
กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้
การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ
เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการ
ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม
นี้เป็นอุปมาข้อที่ ๑ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้
ปรากฏแก่เรา
[๓๗๕] เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่วางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมา
ทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’
อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้สดที่มียางซึ่งวาง
อยู่บนบกห่างจากน้ำมาทำเป็นไม้สีไฟแล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ไม่ได้ พระโคดมผู้เจริญ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“พระโคดมผู้เจริญ เพราะไม้ยังสดและมียาง แม้จะวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ
บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า”
“อัคคิเวสสนะ อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
แม้มีกายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง
ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลาย ยังมิได้ละและมิได้ระงับ
อย่างเด็ดขาดในภายใน สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นแม้เสวยทุกขเวทนาที่
กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้
การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ
เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการ
ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม
นี้เป็นอุปมาข้อที่ ๒ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้
ปรากฏแก่เรา
[๓๗๖] เปรียบเหมือนไม้ที่แห้งสนิทซึ่งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำมา
ทำเป็นไม้สีไฟด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’
อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้ที่แห้งสนิทซึ่ง
วางอยู่บนบกห่างจากน้ำมาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ได้ พระโคดมผู้เจริญ”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“พระโคดมผู้เจริญ เพราะไม้แห้งสนิท ทั้งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ”
“อัคคิเวสสนะ อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มี
กายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว ทั้งละและระงับความพอใจ ความรักใคร่
ความหลง ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลายได้อย่างเด็ดขาด
ในภายในแล้ว สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง
หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น และการ
ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิด
ขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

นี้เป็นอุปมาข้อที่ ๓ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้
ปรากฏแก่เรา
อัคคิเวสสนะ นี้คืออุปมา ๓ ข้ออันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยิน
มาก่อน ได้ปรากฏแก่เรา

การบำเพ็ญทุกกรกิริยา

[๓๗๗] อัคคิเวสสนะ เรานั้นมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรกดฟันด้วยฟัน
ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน’ เรานั้นก็กดฟันด้วยฟัน
ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เมื่อเราทำดังนั้น เหงื่อก็
ไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง คนที่แข็งแรงจับคนที่อ่อนแอกว่าที่ศีรษะหรือที่คอแล้ว
บีบคั้นรัดไว้ให้แน่น แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อกดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดัน
เพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เหงื่อก็ไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
[๓๗๘] อัคคิเวสสนะ เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌาน
อันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปากและทางจมูก
เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปากและทางจมูก ลมก็ออกทาง
หูทั้ง ๒ ข้าง มีเสียงดังอู้ ๆ ลมที่ช่างทองสูบอยู่มีเสียงดังอู้ ๆ แม้ฉันใด เมื่อเรา
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปากและทางจมูก ลมก็ออกทางหูทั้ง ๒
ข้าง มีเสียงดังอู้ ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราตั้งอยู่ไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรากลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ลมอันแรงกล้า
ก็เสียดแทงศีรษะ คนที่แข็งแรงใช้เหล็กที่แหลมคมแทงศีรษะ แม้ฉันใด เมื่อเรากลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูกและทางช่องหู ลมอันแรงกล้า
ก็เสียดแทงศีรษะ ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็กลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรากลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีทุกขเวทนา
ในศีรษะอย่างแรงกล้า คนที่แข็งแรงใช้เชือกหนังที่เหนียวขันศีรษะ แม้ฉันใด เมื่อเรา
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหูก็มีทุกขเวทนา
ในศีรษะอย่างแรงกล้า ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็กลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรากลั้น
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ลมอันแรงกล้า
ก็บาดในช่องท้อง คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญพึงใช้มีดแล่เนื้อที่คมกรีดท้อง
แม้ฉันใด เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทาง
ช่องหู ก็มีลมอันแรงกล้าบาดในช่องท้อง ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรา
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีความ
กระวนกระวายในร่างกายอย่างแรงกล้า คนที่แข็งแรง ๒ คนจับแขนคนที่อ่อนแอ
กว่าคนละข้างย่างให้ร้อนบนหลุมถ่านเพลิง แม้ฉันใด๑ เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้า
และลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีความกระวนกระวายใน
ร่างกายอย่างแรงกล้า ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เทวดาทั้งหลายเห็นเราแล้วก็พากันกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมสิ้นพระชนม์
แล้ว’ บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมยังมิได้สิ้นพระชนม์ แต่กำลังจะสิ้น
พระชนม์’ บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมยังไม่สิ้นพระชนม์ ทั้งจะไม่สิ้น
พระชนม์ พระสมณโคดมจะเป็นพระอรหันต์ การอยู่เช่นนี้นั้นเป็นวิหารธรรม๒ ของ
ท่านผู้เป็นพระอรหันต์’
[๓๗๙] อัคคิเวสสนะ เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรปฏิบัติด้วย
การอดอาหารทุกอย่าง’ ขณะนั้น เทวดาทั้งหลายเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า ‘ข้าแต่
ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านอย่าได้ปฏิบัติด้วยการอดอาหารทุกอย่าง ถ้าท่านจักปฏิบัติด้วย
การอดอาหารทุกอย่าง ข้าพเจ้าทั้งหลายจะแทรกโอชาอันเป็นทิพย์เข้าทางขุมขนของท่าน
ท่านจะได้ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชานั้น’ เราจึงมีความดำริว่า ‘เราปฏิญญาว่า
จะต้องอดอาหารทุกอย่าง แต่เทวดาเหล่านี้จะแทรกโอชาอันเป็นทิพย์เข้าทางขุมขน
ของเรา เราจะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชานั้น การปฏิญญานั้นก็จะพึงเป็นมุสาแก่เรา’
เราจึงกล่าวห้ามเทวดาเหล่านั้นว่า ‘อย่าเลย’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๘๗/๘๑
๒ วิหารธรรม ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ กล่าวคือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ อันเป็นโลกิยะ (ดูประกอบ
ใน องฺ.นวก. (แปล) ๒๓/๔๑/๓๖๐-๓๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

[๓๘๐] อัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรกินอาหารให้
น้อยลง ๆ เพียงครั้งละ ๑ ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อใน
เมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง’ เราจึงกินอาหาร
น้อยลง ๆ เพียงครั้งละ ๑ ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อใน
เมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง เมื่อเรากินอาหาร
ให้น้อยลง ๆ เพียงครั้งละ ๑ ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อ
ในเมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง’ กายก็ซูบผอมมาก
อวัยวะน้อยใหญ่ของเราจึงเป็นเหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมากหรือเถาวัลย์ที่มีข้อดำ เนื้อ
สะโพกก็ลีบเหมือนกีบเท้าอูฐ กระดูกสันหลังก็ผุดเป็นหนามเหมือนเถาวัลย์ ซี่โครง
ทั้ง ๒ ข้างขึ้นสะพรั่ง เหมือนกลอนศาลาเก่า ดวงตาทั้ง ๒ ข้างก็ลึกเข้าไปในเบ้าตา
เหมือนดวงดาวปรากฏอยู่ในบ่อน้ำลึก หนังบนศีรษะก็เหี่ยวหดเหมือนลูกน้ำเต้าที่
เขาตัดมาขณะยังดิบต้องลมและแดดเข้าก็เหี่ยวหดไป เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อยนั้น
เราคิดว่า ‘จะลูบพื้นท้อง’ ก็จับถึงกระดูกสันหลัง คิดว่า ‘จะลูบกระดูกสันหลัง’ ก็จับ
ถึงพื้นท้อง เพราะพื้นท้องของเราแนบติดจนถึงกระดูกสันหลัง เราคิดว่า ‘จะถ่าย
อุจจาระหรือถ่ายปัสสาวะ’ ก็ซวนเซล้มลง ณ ที่นั้น เมื่อจะให้กายสบายบ้าง จึงใช้
ฝ่ามือลูบตัว ขนทั้งหลายที่มีรากเน่าก็หลุดร่วงจากกาย เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อย
มนุษย์ทั้งหลายเห็นเราแล้ว ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมดำไป’ บางพวกก็
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมไม่ดำเพียงแต่คล้ำไป’ บางพวกก็กล่าวว่า ‘ไม่ดำ
ไม่คล้ำ เพียงแต่พร้อยไป’ เรามีผิวพรรณบริสุทธิ์ เปล่งปลั่ง เพียงแต่เสียผิวไป
เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อยเท่านั้น
[๓๘๑] อัคคิเวสสนะ เรานั้นมีความดำริว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งในอดีตเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะความ
เพียร ทุกขเวทนานั้นอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่ง ในอนาคตเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะ
ความเพียร ทุกขเวทนานั้นอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป สมณะหรือพราหมณ์
เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้น
เพราะความเพียร ทุกขเวทนานั้นอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป แต่เราก็ยัง
มิได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วย
ทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ จะพึงมีทางอื่นที่จะตรัสรู้บ้างไหม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

เราจึงมีความดำริว่า ‘เราจำได้อยู่ เมื่อคราวงานของท้าวสักกาธิบดีซึ่งเป็น
พระราชบิดา เรานั่งอยู่ใต้ต้นหว้าอันร่มเย็น ได้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ทางนั้นพึงเป็นทางแห่ง
การตรัสรู้หรือหนอ’ เรามีความรู้แจ้งที่ตามระลึกด้วยสติว่า ‘ทางนั้นเป็นทางแห่งการ
ตรัสรู้’ เราจึงมีความดำริว่า ‘เรากลัวความสุขที่เว้นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย
หรือ’ เราก็ดำริว่า ‘เราไม่กลัวความสุขที่เว้นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายเลย’
[๓๘๒] อัคคิเวสสนะ เราจึงมีความดำริต่อไปว่า ‘เราผู้มีกายซูบผอมมาก
อย่างนี้ จะบรรลุความสุขนั้นไม่ใช่ทำได้ง่ายเลย ทางที่ดี เราควรกินอาหารหยาบ
คือข้าวสุกและขนมกุมมาส’ เราก็กินอาหารหยาบคือข้าวสุกและขนมกุมมาส ครั้งนั้น
ภิกษุปัญจวัคคีย์ที่เฝ้าบำรุงเราด้วยหวังว่า ‘พระสมณโคดมบรรลุธรรมใด จักบอก
ธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย’ เมื่อใด เรากินอาหารหยาบ คือข้าวสุกและขนมกุมมาส
เมื่อนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น ก็เบื่อหน่ายจากไปด้วยเข้าใจว่า ‘พระสมณโคดมมักมาก
คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว’

ฌาน ๔ และวิชชา ๓

[๓๘๓] อัคคิเวสสนะ เรากินอาหารหยาบให้ร่างกายมีกำลัง สงัดจากกาม
และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิด
จากวิเวกอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป เราบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มี
ภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เพราะปีติจางคลายไป เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย
บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’
แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้นก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว เราบรรลุ
จตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิด
ขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

[๓๘๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๑ ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ฯลฯ เราระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ
ชีวประวัติอย่างนี้ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๑ นี้ ในปฐมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชา
ได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคล
ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้นก็
ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
[๓๘๕] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ๒ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๒ นี้ในมัชฌิมยามแห่งราตรี
กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น
เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิด
ขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
[๓๘๖] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเรารู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นจากกามาสวะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๕ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๑ ในเล่มนี้
๒ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๕๓ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้อีกต่อไป’
อัคคิเวสสนะ เราบรรลุวิชชาที่ ๓ นี้ในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว
วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของ
เราอยู่ไม่ได้

บุคคลผู้ไม่หลง

[๓๘๗] อัคคิเวสสนะ เรารู้อยู่ว่า เมื่อเราแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อยบริษัท
ถึงแม้บุคคลหนึ่ง ๆ จะเข้าใจเราอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมแสดงธรรมปรารภเรา
เท่านั้น’ ท่านอย่าพึงเห็นอย่างนั้น ตถาคตย่อมแสดงธรรมแก่บุคคลเหล่าอื่นโดยชอบ
เพื่อประโยชน์ให้รู้แจ้งอย่างเดียว และในตอนจบเรื่องหนึ่ง ๆ เราประคองจิตให้สงบ
ตั้งมั่น เป็นสมาธิ ณ ภายใน ดำรงอยู่ในสมาธินิมิตเบื้องต้นนั้นตลอดนิตยกาล”
“ข้อนี้ ควรเชื่อท่านพระโคดมผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ท่าน
พระโคดมทราบดีอยู่หรือว่า ‘พระองค์เป็นผู้จำวัดในเวลากลางวัน”
“อัคคิเวสสนะ เรารู้อยู่ว่า ‘ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน เรากลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ปูสังฆาฏิให้เป็น ๔ ชั้น มีสติสัมปชัญญะ นอน
ตะแคงข้างเบื้องขวา”
“ท่านพระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวว่าการปฏิบัติแบบนั้น
เป็นการอยู่ด้วยความหลง”
“อัคคิเวสสนะ บุคคลเป็นผู้หลงหรือไม่หลงด้วยเหตุเพียงเท่านั้นหามิได้
บุคคลเป็นผู้หลงหรือเป็นผู้ไม่หลงด้วยเหตุใด ท่านจงฟังเหตุนั้น จงใส่ใจให้ดี เรา
จักกล่าว”
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

[๓๘๘] “อัคคิเวสสนะ อาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่
ให้เกิดความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชราและมรณะต่อไป บุคคล
ผู้ใดผู้หนึ่งยังละไม่ได้ เราเรียกบุคคลนั้นว่า ‘ผู้หลง’ บุคคลนั้นเป็นผู้หลงเพราะยังละ
อาสวะทั้งหลายไม่ได้
อาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย
มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชราและมรณะต่อไป บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งละได้แล้ว เราเรียก
บุคคลนั้นว่า ‘ผู้ไม่หลง’ บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่หลงเพราะละอาสวะทั้งหลายได้แล้ว
ตถาคตละอาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความ
กระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชราและมรณะต่อไปได้แล้ว ตัดราก
ถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
อัคคิเวสสนะ ต้นตาลที่ถูกตัดยอดแล้วไม่อาจงอกขึ้นอีกได้ แม้ฉันใด ตถาคต
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ละอาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความ
กระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชราและมรณะต่อไปได้แล้ว ตัดราก
ถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มีเกิดขึ้น
ต่อไปไม่ได้”

สัจจกะ นิครนถบุตรสรรเสริญพระพุทธเจ้า

[๓๘๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
พระโคดมผู้เจริญ ผู้ที่ข้าพเจ้ามาสนทนากระทบกระทั่ง และไต่ถามด้วยคำที่ปรุงแต่ง
มาอย่างนี้ ก็ยังมีพระฉวีวรรณผ่องใส ทั้งมีพระพักตร์เปล่งปลั่ง เพราะท่าน
เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้าพเจ้าจำได้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้เริ่มโต้วาทะกับ
ท่านปูรณะ กัสสปะ แม้ท่านปูรณะ กัสสปะนั้น เริ่มโต้วาทะกับข้าพเจ้า ก็นำ
เรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อนเสียและชักนำให้พูดออกนอกเรื่อง ทั้งทำความโกรธเคือง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร

และความไม่พอใจให้ปรากฏ ข้าพเจ้าจำได้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้เริ่มโต้วาทะกับท่าน
มักขลิ โคสาล ... ท่านอชิตะ เกสกัมพล ... ท่านปกุธะ กัจจายนะ ... ท่านสัญชัย
เวลัฏฐบุตร ... ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร‘๑ แม้ท่านนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น เริ่มโต้วาทะ
กับข้าพเจ้า ก็นำเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อนเสียและชักนำให้พูดออกนอกเรื่อง ทั้งทำ
ความโกรธเคืองและความไม่พอใจให้ปรากฏ ส่วนพระโคดมผู้เจริญผู้ที่ข้าพเจ้ามา
สนทนากระทบกระทั่งและไต่ถามด้วยถ้อยคำที่ปรุงแต่งมาอย่างนี้ ก็ยังมีพระฉวีวรรณ
ผ่องใส ทั้งมีพระพักตร์เปล่งปลั่ง เพราะท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เอาละ บัดนี้ ข้าพเจ้าขอทูลลากลับ เพราะมีกิจมาก
มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ครั้งนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจาก
อาสนะแล้วจากไป ดังนี้แล

มหาสัจจกสูตรที่ ๖ จบ

๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นตัณหา สูตรเล็ก
ปัญหาธรรมของท้าวสักกะ

[๓๙๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของมิคารมาตา ณ บุพพาราม
เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว ได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ความหมายของชื่อครูทั้ง ๖ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๖ ข้อ ๓๑๒ (จูฬสาโรปมสูตร) หน้า ๓๔๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่า
เป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด๑ มีความเกษม
จากโยคะสูงสุด๒ ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด๓ มีที่สุดอันสูงสุด๔ เป็นผู้ประเสริฐ
กว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ‘ธรรม
ทั้งปวง๕ไม่ควรยึดมั่น’ ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควร
ยึดมั่น’ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้
ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณา
เห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งใน
เวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความคลาย
กำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลาย
นั้นอยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อ
ไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสได้เฉพาะตนและรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป๖’

เชิงอรรถ :
๑ มีความสำเร็จสูงสุด (อัจจันตนิฏฐะ) หมายถึงผ่านที่สุดกล่าวคือความสิ้นไปและเสื่อมไปเพราะไม่มีธรรม
เครื่องกำเริบอีก ได้แก่ ถึงพระนิพพาน (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕, องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๐/๓๘๓, ม.มู.ฏีกา
๒/๓๙๐/๒๖๖)
๒ มีความเกษมจากโยคะสูงสุด หมายถึงบรรลุธรรมที่สูงสุดอันปราศจากโยคะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา
หมายถึงบรรลุพระนิพพาน ชื่อว่าผู้มีความปลอดโปร่งจากโยคกิเลส (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕ องฺ.จตุกฺก.
(แปล) ๒๑/๑๐/๑๒)
๓ ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด หมายถึงอยู่จบพรหมจรรย์ แล้วมีสภาวะที่ไม่เสื่อมอีก (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕,
ม.มู.ฏีกา ๒/๓๙๐/๒๐๖๖)
๔ มีที่สุดอันสูงสุด หมายถึงมีที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้ว (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕, ม.มู.ฏีกา ๒/๓๙๐/๒๖๖)
และดู องฺ.เอกาทสก. (แปล) ๒๔/๑๐/๔๐๖
๕ ธรรมทั้งปวง หมายถึงขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ เป็นธรรมที่ไม่ควรยึดมั่นด้วยอำนาจตัณหา
และทิฏฐิ เพราะเป็นภาวะไม่ดำรงอยู่โดยอาการที่บุคคลจะยึดถือได้ (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕-๒๐๖)
๖ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๓ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร

จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
ด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติ
พรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปจากที่นั้นนั่นเอง

พระมหาโมคคัลลานะทดสอบท้าวสักกะ

[๓๙๑] สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มี
พระภาค ได้มีความคิดว่า “ท้าวสักกะนั้นทราบเนื้อความแห่งพระภาษิตของพระผู้มี
พระภาคแล้วจึงยินดี หรือว่าไม่ทราบแล้วก็ยินดี ทางที่ดี เราควรรู้เรื่องที่ท้าว
สักกะจอมเทพทรงทราบเนื้อความแห่งพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วยินดี
หรือว่าไม่ทราบแล้วก็ยินดี”
จากนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้อันตรธานจากปราสาทของมิคารมาตา
ในบุพพารามไปปรากฏในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขน
ออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพกำลังเอิบอิ่มพร้อมพรั่งบำเรออยู่ด้วยทิพยดนตรี
๕๐๐ ชนิด ในสวนดอกบุณฑริกล้วน ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหา-
โมคคัลลานะมาแต่ไกล จึงรับสั่งให้หยุดบรรเลงทิพยดนตรีทั้ง ๕๐๐ ชนิดไว้ เสด็จ
เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้วตรัสว่า “นิมนต์เข้ามาเถิด ท่านพระมหา-
โมคคัลลานะ ผู้นิรทุกข์ ขอต้อนรับ นาน ๆ ท่านจะมีเวลามา ณ ที่นี้ นิมนต์นั่งบน
อาสนะที่ปูลาดไว้เถิด”๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๒๔๔/๑๘๔, องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๕๖/๑๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร

ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ส่วนท้าวสักกะจอมเทพ
ได้ทรงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงทูล
ถามท้าวสักกะจอมเทพว่า “ท้าวโกสีย์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงความหลุดพ้นด้วย
ธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่อแก่ท่านอย่างไร ขอโอกาสเถิด แม้อาตมภาพก็จักขอมี
ส่วนในการฟังกถานั้น”
[๓๙๒] ท้าวสักกะตรัสตอบว่า “ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ข้าพเจ้ามีกิจมาก
มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก ทั้งหน้าที่ส่วนตัวและหน้าที่ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์
พระภาษิตใดที่ข้าพเจ้าฟังแล้วก็ลืมเสียเร็วพลัน พระภาษิตนั้น ท่านฟังดี เรียนดี
ใส่ใจดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้ว เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทวดากับอสูรได้
ประชิดกันแล้ว ในสงครามนั้นพวกเทวดาชนะ พวกอสูรแพ้ ข้าพเจ้าชนะ เทวาสุร-
สงครามเสร็จสิ้นแล้ว กลับจากสงครามนั้นแล้วได้สร้างเวชยันตปราสาท เวชยันต-
ปราสาทมี ๑๐๐ ชั้น ในชั้นหนึ่ง ๆ มีกูฏาคาร(เรือนมียอด) ๗๐๐ หลัง ใน
กูฏาคารหลังหนึ่ง ๆ มีนางอัปสร ๗ องค์ นางอัปสรองค์หนึ่ง ๆ มีเทพธิดาบำเรอ
๗ องค์
ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านปรารถนาเพื่อจะชมสถานที่น่ารื่นรมย์แห่ง
เวชยันตปราสาทหรือไม่”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะรับโดยดุษณีภาพ

พระเถระใช้นิ้วเท้าเขย่าเวชยันตปราสาท

[๓๙๓] ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพและท้าวเวสวัณมหาราช นิมนต์ท่าน
พระมหาโมคคัลลานะให้นำหน้าเข้าไปยังเวชยันตปราสาท พวกเทพธิดาผู้บำเรอ
ของท้าวสักกะเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะมาแต่ไกลก็เกรงกลัวละอายอยู่ จึงเข้า
สู่ห้องเล็กของตน ๆ ดุจหญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้วก็เกรงกลัวละอายอยู่ ฉะนั้น
จากนั้น ท้าวสักกะจอมเทพและท้าวเวสวัณมหาราช เมื่อนิมนต์ให้ท่านพระ
มหาโมคคัลลานะเที่ยวเดินชมไปในเวชยันตปราสาท ได้ตรัสว่า “ท่านพระมหา-
โมคคัลลานะ ขอท่านจงดูสถานที่ที่น่ารื่นรมย์แห่งเวชยันตปราสาทแม้นี้ ขอท่านจง
ดูสถานที่ที่น่ารื่นรมย์แห่งเวชยันตปราสาทแม้นี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร

ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า “สถานที่ที่น่ารื่นรมย์ของท่านท้าวโกสีย์นี้
งดงาม เหมือนสถานที่ของผู้ที่ได้ทำบุญไว้ในปางก่อน แม้มนุษย์ทั้งหลายเห็น
สถานที่ที่น่ารื่นรมย์ใด ๆ แล้ว ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘งามจริง ดุจสถานที่ที่น่า
รื่นรมย์ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์”
ในขณะนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดว่า “ท้าวสักกะนี้เป็นผู้
ประมาทอยู่มากนัก ทางที่ดี เราควรให้ท้าวสักกะนี้สังเวช” จึงบันดาลอิทธา-
ภิสังขาร๑ ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากดเวชยันตปราสาทเขย่าให้สั่นสะท้านหวั่นไหว ทันใดนั้น
ท้าวสักกะจอมเทพ ท้าวเวสวัณมหาราช และพวกเทพชั้นดาวดึงส์ มีความ
ประหลาดมหัศจรรย์ใจ กล่าวกันว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่
เคยปรากฏ พระสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากดทิพยพิภพ
เขย่าให้สั่นสะท้านหวั่นไหวได้”
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะทราบว่า “ท้าวสักกะจอมเทพทรงมีความ
สลดจิตขนลุกแล้ว” จึงทูลถามว่า “ท้าวโกสีย์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความหลุด
พ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่ออย่างไร ขอโอกาสเถิด แม้อาตมภาพก็จักขอมี
ส่วนเพื่อฟังกถานั้น”

ข้อปฏิบัติเพื่อความสิ้นตัณหา

[๓๙๔] ท้าวสักกะจึงตรัสว่า “ท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้า
จะเล่าถวาย ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายอภิวาทแล้ว จึงได้
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร แล้วได้ทูลถามว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ
ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มี

เชิงอรรถ :
๑ อิทธาภิสังขาร หมายถึงการแสดงฤทธิ์ ในที่นี้พระมหาโมคคัลลานเถระ เข้าอาโปกสิณแล้วอธิษฐานว่า
“ขอให้โอกาส(พื้นที่)อันเป็นที่ตั้งเฉพาะปราสาท จงเป็นน้ำ” แล้วใช้หัวแม่เท้ากดลงที่ช่อฟ้าปราสาท ปราสาทนั้น
สั่นสะท้านหวั่นไหวไปมา เหมือนบาตรวางไว้บนหลังน้ำ เอานิ้วเคาะที่ขอบบาตร ก็หวั่นไหวไปมา อยู่นิ่งไม่
ได้ฉะนั้น (ม.มู.อ. ๒/๓๙๓/๒๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร

ความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มี
ที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ เมื่อข้าพเจ้าทูลถาม
อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ‘จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า
‘ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น’ ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่
ควรยึดมั่น’ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนด
รู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความ
สลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็น
ความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนา
ทั้งหลายนั้นอยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น
เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตน และรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
อีกต่อไป’ จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้
หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด
ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย
ท่านพระมหาโมคคัลลานะ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความหลุดพ้นด้วยธรรม
เป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่อแก่ข้าพเจ้าอย่างนี้”
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะชื่นชมยินดีภาษิตของท้าวสักกะแล้ว
อันตรธานจากหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ มาปรากฏที่ปราสาทของมิคารมาตาในบุพพาราม
เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ครั้งนั้น พวกเทพธิดาผู้บำเรอท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อท่านพระมหา-
โมคคัลลานะจากไปแล้วไม่นาน ได้ทูลถามท้าวสักกะจอมเทพว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้นิรทุกข์ พระสมณะนั้นเป็นพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระศาสดาของพระองค์หรือ
หนอ”
ท้าวสักกะตรัสตอบว่า “เหล่าเทพธิดาผู้นิรทุกข์ พระสมณะนั้นไม่ใช่พระผู้มี-
พระภาคผู้เป็นพระศาสดาของเรา เป็นท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นเพื่อนพรหมจารี
ของเรา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร

พวกเทพธิดาเหล่านั้นทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นลาภของพระองค์
พระองค์ได้ดีแล้วที่ได้พระสมณะผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ เป็นเพื่อน
พรหมจารีของพระองค์ พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระศาสดาของพระองค์คงมีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมากเป็นอัศจรรย์เป็นแน่”

ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น

[๓๙๕] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า ‘พระองค์เป็นผู้ตรัสความหลุดพ้นด้วยธรรม
เป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่อแก่จอมเทพผู้มีศักดามากผู้ใดผู้หนึ่งบ้าง หรือหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมคคัลลานะ เรารู้อยู่ จะเล่าให้ฟัง ท้าวสักกะ
จอมเทพเข้ามาหาเรา ถวายอภิวาทแล้วได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร แล้วได้ตรัส
ถามเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุ
จึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษม
จากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ เมื่อท้าวสักกะนั้นถามอย่างนี้แล้ว เราตอบว่า ‘จอมเทพ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น’ ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้ว
อย่างนี้ว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น’ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่ง
ธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอ
ได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม
เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ
และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความ
สลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตน
และรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจ
อื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้
ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความ
เกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐ
กว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
โมคคัลลานะ เรารู้อยู่ว่า ‘เราเป็นผู้กล่าวความหลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้น
ตัณหาโดยย่อแก่ท้าวสักกะจอมเทพ อย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะมีใจยินดีชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬตัณหาสังขยสูตรที่ ๗ จบ

๘. มหาตัณหาสังขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นตัณหา สูตรใหญ่
ทิฏฐิของสาติภิกษุ

[๓๙๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าสาติบุตรชาวประมง มีทิฏฐิ๑
ชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้
นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป”
ลำดับนั้น ภิกษุเป็นอันมากได้ฟังว่า “สาติภิกษุบุตรชาวประมง มีทิฏฐิชั่ว
เช่นนี้เกิดขึ้นว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงสัสสตทิฏฐิ (ม.มู.อ. ๒/๓๙๖/๒๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป” จึงเข้าไปหาสาติภิกษุแล้วถามว่า “ท่านสาติ
ทราบว่า ท่านมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป’ จริงหรือ”
สาติภิกษุตอบว่า “จริง ท่านทั้งหลาย ผมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป”
ภิกษุเหล่านั้นปรารถนาที่จะปลดเปลื้องสาติภิกษุบุตรชาวประมงจากทิฏฐิชั่ว
นั้นจึงซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนว่า “ท่านสาติ ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ท่านอย่าได้
กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเป็นการไม่ดีเลย เพราะพระผู้มี
พระภาคมิได้ตรัสอย่างนี้เลย ท่านสาติ วิญญาณอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาค
ตรัสแล้วโดยปริยายเป็นอเนกว่า ‘ปราศจากปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ”
สาติภิกษุบุตรชาวประมงถูกภิกษุเหล่านั้นซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนอยู่แม้อย่างนี้
ก็ยังยึดมั่นถือมั่นทิฏฐิชั่วนั้นอย่างรุนแรง กล่าวอยู่ว่า “ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง
ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป”

เพื่อนภิกษุไม่อาจเปลี่ยนทิฏฐิของท่านสาติ

[๓๙๗] ภิกษุเหล่านั้นเมื่อไม่อาจปลดเปลื้องสาติภิกษุบุตรชาวประมงจาก
ทิฏฐิชั่วนั้นได้ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ
ที่สมควรแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สาติภิกษุมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า
‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น
ท่องเที่ยวไป แล่นไป’ ข้าพระองค์ทั้งหลายได้สดับมาว่า ‘สาติภิกษุมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้
เกิดขึ้นว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า วิญญาณนี้นั่นแล
มิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป’ ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายเข้าไปหาสาติภิกษุ
แล้วถามว่า ‘ท่านสาติ ทราบว่า ท่านมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรม
ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป
จริงหรือ’ เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายถามอย่างนี้ สาติภิกษุได้ตอบข้าพระองค์ทั้งหลาย
ว่า ‘จริง ท่านทั้งหลาย ผมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณ
นี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

ลำดับนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายปรารถนาจะปลดเปลื้องสาติภิกษุจากทิฏฐิชั่ว
นั้น จึงซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนว่า ‘ท่านสาติ ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ท่าน
อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเป็นการไม่ดีเลย เพราะ
พระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสอย่างนี้เลย ท่านสาติ วิญญาณอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น พระ
ผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยปริยายเป็นอเนกว่า ‘ปราศจากปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้น
แห่งวิญญาณ’ สาติภิกษุถูกข้าพระองค์ทั้งหลายซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนอยู่แม้
อย่างนี้ ก็ยังยึดมั่นถือมั่นทิฏฐิชั่วนั้นอย่างรุนแรง กล่าวอยู่ว่า ‘จริง ท่านทั้งหลาย
ผมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่อง
เที่ยวไป แล่นไป’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายไม่อาจปลดเปลื้องสาติภิกษุ
จากทิฏฐิชั่วนั้น จึงมากราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค”

พระพุทธเจ้าทรงกำราบท่านสาติ

[๓๙๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า
“มาเถิด ภิกษุ เธอจงไปเรียกสาติภิกษุบุตรชาวประมงมาตามคำของเราว่า ‘ท่าน
สาติ พระศาสดาตรัสเรียกท่าน” ภิกษุรูปนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจึงเข้าไปหา
สาติภิกษุแล้วบอกว่า “ท่านสาติ พระศาสดาตรัสเรียกท่าน”
สาติภิกษุรับคำภิกษุนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคตรัสถามเธอว่า “สาติ ได้ยินว่า เธอมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า
‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น
ท่องเที่ยวไป แล่นไป จริงหรือ”
สาติภิกษุทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้แลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “สาติ วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

สาติภิกษุทูลตอบว่า “สภาวะที่พูดได้ รับรู้ได้ เสวยวิบากแห่งกรรมทั้งหลาย
ทั้งส่วนดีและส่วนชั่วในที่นั้น ๆ เป็นวิญญาณ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแล้วแก่ใครเล่า
วิญญาณอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น เรากล่าวไว้แล้วโดยปริยายเป็นอเนกว่า ‘ปราศจาก
ปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ’ ก็เมื่อเป็นดังนี้ เธอชื่อว่ากล่าวตู่เรา ขุดตน
เองและจะประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก เพราะทิฏฐิที่ตนถือผิด โมฆบุรุษ ความ
เห็นของเธอนั้นจักเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน”

ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งวิญญาณ

[๓๙๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สาติภิกษุบุตรชาวประมงนี้จะเป็นผู้ทำ
ความเจริญในธรรมวินัยนี้ได้บ้างหรือไม่”
ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “จะพึงมีอย่างไรได้ ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลอย่างนี้ สาติภิกษุบุตรชาวประมงจึงนั่งนิ่ง เก้อเขิน
คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ
จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าสาติภิกษุบุตรชาวประมงเป็นผู้นิ่ง
เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณแล้ว จึงตรัสกับเธอว่า “โมฆบุรุษ
เธอจักปรากฏด้วยทิฏฐิชั่วของตนนั้น เราจักสอบถามภิกษุทั้งหลายในที่นี้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้ว เหมือนที่สาติภิกษุกล่าวตู่เรา ขุดตนเอง
และจะประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก เพราะทิฏฐิที่ตนถือผิดหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า เพราะวิญญาณ
อาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายโดยปริยาย
เป็นอเนกว่า ‘ปราศจากปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ดีละ ดีละ เธอทั้งหลายรู้ทั่วถึง
ธรรมตามที่เราแสดงแล้ว วิญญาณอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น เรากล่าวไว้แล้วโดย
ปริยายเป็นอเนกว่า ‘ปราศจากปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ’ แต่สาติภิกษุ
บุตรชาวประมงนี้กล่าวตู่เรา ขุดตนเองและจะประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมากด้วย
เพราะทิฏฐิที่ตนถือผิด ความเห็นอย่างนั้นของโมฆบุรุษนั้น จักเป็นไปเพื่อ
สิ่งมิใช่ประโยชน์ และเพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน
[๔๐๐] ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยปัจจัยใด ๆ ก็
นับว่า ‘วิญญาณ’ ตามปัจจัยนั้น ๆ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุและรูปารมณ์
ก็นับว่า ‘จักขุวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยโสตะและสัททารมณ์ก็นับว่า
‘โสตวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยฆานะและคันธารมณ์ก็นับว่า ‘ฆาน-
วิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยชิวหาและรสารมณ์ก็นับว่า ‘ชิวหาวิญญาณ’
วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพารมณ์ก็นับว่า ‘กายวิญญาณ’
วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยมโนและธรรมารมณ์ก็นับว่า ‘มโนวิญญาณ’
ภิกษุทั้งหลาย ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยเชื้อใด ๆ ก็นับว่า ‘ไฟ’ ตามเชื้อนั้น ๆ
ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยไม้ก็นับว่า ‘ไฟไม้’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยป่าก็นับว่า
‘ไฟป่า’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยหญ้าก็นับว่า ‘ไฟหญ้า’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยมูลโค
ก็นับว่า ‘ไฟมูลโค’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยแกลบก็นับว่า ‘ไฟแกลบ’ ไฟที่ติดขึ้น
เพราะอาศัยหยากเยื่อก็นับว่า ‘ไฟหยากเยื่อ’ แม้ฉันใด วิญญาณก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยใด ๆ ก็นับว่า ‘วิญญาณ’ ตามปัจจัยนั้น ๆ วิญญาณที่
เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุและรูปารมณ์ก็นับว่า ‘จักขุวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้น
เพราะอาศัยโสตะและสัททารมณ์ก็นับว่า ‘โสตวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะ
อาศัยฆานะและคันธารมณ์ก็นับว่า ‘ฆานวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัย
ชิวหาและรสารมณ์ก็นับว่า ‘ชิวหาวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและ
โผฏฐัพพารมณ์ก็นับว่า ‘กายวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยมโนและ
ธรรมารมณ์ก็นับว่า ‘มโนวิญญาณ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งขันธ์ ๕

[๔๐๑] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นว่า ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นแล้วหรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเห็นว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้นเกิดขึ้นเพราะอาหารหรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเห็นว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้นมีความดับเป็นธรรมดาเพราะความดับ
แห่งอาหารนั้นหรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ความสงสัยเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า ‘ขันธ์ ๕ นี้มีหรือไม่”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ความสงสัยเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นเพราะ
อาหารนั้นมีหรือไม่”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ความสงสัยเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้นมีความดับเป็น
ธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้นมีหรือไม่”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“บุคคลเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ นี้เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นได้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“บุคคลเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นเพราะ
อาหารนั้น’ ย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นได้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

“บุคคลเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้น มีความ
ดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้นย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นได้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า ‘ขันธ์ ๕ นี้เกิดขึ้นแล้วแม้ดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นเพราะอาหารนั้นแม้
ดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา
เพราะความดับแห่งอาหารนั้นแม้ดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ นี้
เกิดขึ้นแล้วดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕
เกิดขึ้นเพราะอาหารนั้นดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้น
มีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้นดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“หากเธอทั้งหลายจะพึงติดอยู่ เพลิดเพลินอยู่ ปรารถนาอยู่ ยึดถืออยู่ซึ่ง
ทิฏฐิอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ว่า เป็นของเรา เธอทั้งหลายจะพึงรู้ทั่วถึงธรรมที่เปรียบ
ด้วยแพ ซึ่งเราแสดงแล้วเพื่อประโยชน์แก่การสลัดออก มิใช่แสดงเพื่อประโยชน์แก่
การยึดถือหรือ”
“ข้อนี้ไม่เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

“หากเธอทั้งหลายไม่ติดอยู่ ไม่เพลิดเพลินอยู่ ไม่ปรารถนาอยู่ ไม่ยึดถืออยู่
ซึ่งทิฏฐิอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ว่า เป็นของเรา เธอทั้งหลายจะพึงรู้ทั่วถึงธรรมที่
เปรียบด้วยแพ ซึ่งเราแสดงแล้วเพื่อประโยชน์แก่การสลัดออก มิใช่แสดงเพื่อ
ประโยชน์แก่การยึดถือหรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

ปฏิจจสมุปบาท : กระบวนการเกิด

[๔๐๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ ชนิดนี้ มี
เพื่อความดำรงอยู่แห่งสัตว์ที่เกิดแล้วบ้าง เพื่อความอนุเคราะห์เหล่าสัตว์ที่แสวงหา
ภพที่เกิดบ้าง
อาหาร ๔ ชนิด อะไรบ้าง คือ
๑. กวฬิงการาหาร(อาหารคือคำข้าว) หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง
๒. ผัสสาหาร(อาหารคือการสัมผัส)
๓. มโนสัญเจตนาหาร(อาหารคือความจงใจ)
๔. วิญญาณาหาร(อาหารคือวิญญาณ)
อาหาร ๔ ชนิดนี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด
อาหาร ๔ ชนิด นี้มีตัณหาเป็นต้นเหตุ มีตัณหาเป็นเหตุเกิด มีตัณหาเป็นที่เกิด
มีตัณหาเป็นแดนเกิด
ตัณหานี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไรเป็น
แดนเกิด
ตัณหานี้มีเวทนาเป็นต้นเหตุ มีเวทนาเป็นเหตุเกิด มีเวทนาเป็นที่เกิด มีเวทนา
เป็นแดนเกิด
เวทนานี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไรเป็น
แดนเกิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

เวทนานี้มีผัสสะเป็นต้นเหตุ มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีผัสสะเป็นที่เกิด มีผัสสะ
เป็นแดนเกิด
ผัสสะนี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไรเป็น
แดนเกิด
ผัสสะนี้มีสฬายตนะเป็นต้นเหตุ มีสฬายตนะเป็นเหตุเกิด มีสฬายตนะเป็นที่
เกิด มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด
สฬายตนะนี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไร
เป็นแดนเกิด
สฬายตนะนี้มีนามรูปเป็นต้นเหตุ มีนามรูปเป็นเหตุเกิด มีนามรูปเป็นที่เกิด
มีนามรูปเป็นแดนเกิด
นามรูปนี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไรเป็น
แดนเกิด
นามรูปนี้มีวิญญาณเป็นต้นเหตุ มีวิญญาณเป็นเหตุเกิด มีวิญญาณเป็นที่เกิด
มีวิญญาณเป็นแดนเกิด
วิญญาณนี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไร
เป็นแดนเกิด
วิญญาณนี้มีสังขารเป็นต้นเหตุ มีสังขารเป็นเหตุเกิด มีสังขารเป็นที่เกิด มี
สังขารเป็นแดนเกิด
สังขารทั้งหลายเหล่านี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด
สังขารทั้งหลายเหล่านี้มีอวิชชาเป็นต้นเหตุ มีอวิชชาเป็นเหตุเกิด มีอวิชชา
เป็นที่เกิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสจึงมี

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
[๔๐๓] ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมี’
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้เป็นอย่างไร”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมี ในเรื่องนี้
ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’ เพราะภพเป็นปัจจัย
ชาติจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี’ เพราะอุปาทาน
เป็นปัจจัย ภพจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี’ เพราะตัณหาเป็น
ปัจจัย อุปาทานจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

“เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมี
ความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’ เพราะเวทนา
เป็นปัจจัย ตัณหาจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’ เพราะผัสสะเป็น
ปัจจัย เวทนาจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’ เพราะ
สฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลาย
มีความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี’ เพราะนาม-
รูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลาย
มีความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี’ เพราะ
วิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลาย
มีความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี’ เพราะสังขาร
เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

“เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี’ ภิกษุทั้งหลาย
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
[๔๐๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้นถูกต้องแล้ว
เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนั้น แม้เราก็กล่าวอย่างนั้น เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่ง
นี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสจึงมี

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

ปฏิจจสมุปบาท : กระบวนการดับ

เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ๑ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสจึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
[๔๐๕] ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ’ เพราะ
ชาติดับ ชราและมรณะจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ ในเรื่องนี้
ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะภพดับ ชาติจึงดับ’ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
ใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะภพดับ ชาติจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเป็นอย่างนี้
พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ’ เพราะอุปาทานดับ
ภพจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”

เชิงอรรถ :
๑ วิราคะ ในที่นี้หมายถึงมรรค (ม.มู.อ. ๒/๔๐๔/๒๑๖, วิ.อ. ๓/๑/๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

“เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ’ เพราะตัณหาดับ
อุปาทานจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ’ เพราะเวทนาดับ
ตัณหาจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ’ เพราะผัสสะดับ เวทนา
จึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ’ เพราะสฬายตนะดับ
ผัสสะจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ’ เพราะนามรูปดับ
สฬายตนะจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ’ เพราะวิญญาณดับ
นามรูปจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

“เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ’ เพราะสังขารดับ
วิญญาณจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ’ ภิกษุทั้งหลาย
เพราะอวิชชาดับสังขารจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
[๔๐๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้นถูกต้องแล้ว
เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะ
สิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ

เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
จึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

พระธรรมคุณ

[๔๐๗] “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงกลับระลึกถึง๑ขันธ์
ธาตุ อายตนะ ในอดีตกาลว่า ‘ในอดีตกาลยาวนาน เราได้มีแล้วหรือ หรือมิได้มี
แล้วหนอ เราได้เป็นอะไรมาหนอ เราได้เป็นอย่างไรมาหนอ เราได้เป็นอะไรแล้วจึง
มาเป็นอะไรอีกหนอ’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงกลับระลึกถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะในอนาคต
ว่า ‘ในอนาคตกาลยาวนาน เราจักมีหรือ หรือจักไม่มีหนอ เราจักเป็นอะไรหนอ
เราจักเป็นอย่างไรหนอ เราจักเป็นอะไรแล้วไปเป็นอะไรอีกหนอ’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จะพึงมีความสงสัยภายในตนปรารภปัจจุบันกาล
ในบัดนี้ว่า ‘เราเป็นอยู่หรือ หรือไม่เป็นอยู่หนอ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ
สัตว์นี้มาจากไหนหนอ และเขาจักไปไหนกันหนอ’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระศาสดาเป็นครูของเรา
ทั้งหลาย เราทั้งหลายต้องกล่าวอย่างนี้ด้วยความเคารพต่อพระศาสดา’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณะตรัสอย่างนี้
และเราทั้งหลายผู้ชื่อว่าเป็นสมณะ ก็กล่าวอย่างนี้’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ กลับระลึกถึง หมายถึงการแล่นไปตามอำนาจตัณหาและทิฏฐิด้วยอำนาจวิจิกิจฉา ที่ทรงมุ่งจะตรัสถามว่า
เมื่อรู้เห็นถึงปัจจัยแห่งการเกิดครบองค์ ๑๒ แล้ว มีความสงสัยอยู่อีกหรือไม่ (ม.มู.อ. ๒/๔๐๗/๒๑๖, ม.มู.
ฏีกา ๒/๔๐๗/๒๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จะพึงยกย่องศาสดาอื่นบ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงเชื่อถือข้อวัตร การตื่นลัทธิ และการถือ
มงคล๑ของพวกสมณพราหมณ์ปุถุชน โดยเชื่อว่าเป็นแก่นสารบ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“สิ่งใดที่เธอทั้งหลายรู้เอง เห็นเอง ทราบเองแล้ว เธอทั้งหลายจะพึงกล่าว
ถึงเฉพาะสิ่งนั้นมิใช่หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้นถูกต้องแล้ว เรานำเธอทั้งหลายเข้าไป
(ถึงนิพพาน)แล้วด้วยธรรมนี้ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วย
กาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด
ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน
พึงรู้เฉพาะตน’ เราจึงกล่าวไว้อย่างนี้”

องค์ประกอบแห่งการเกิดในครรภ์

[๔๐๘] ภิกษุทั้งหลาย เพราะปัจจัย ๓ ประการประชุมพร้อมกัน การถือ
กำเนิดในครรภ์จึงมีได้
ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน แต่มารดายังไม่มีระดู และคันธัพพะ๒ยัง
ไม่ปรากฏ การถือกำเนิดในครรภ์ก็ยังมีไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ข้อวัตร ในที่นี้หมายถึงวัตรเป็นคนใบ้ วัตรเยี่ยงช้าง วัตรเยี่ยงม้า วัตรเยี่ยงโค เป็นต้น (ดู ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๒๗/๑๑๑) การตื่นลัทธิ หมายถึงความยึดมั่นความเห็นของตนว่า “นี้จริง อย่างอื่นไม่จริง” การถือ
มงคล หมายถึงการยึดถือรูปหรือเสียง เป็นต้นว่าเป็นมงคล (ม.มู.อ. ๒/๔๐๗/๒๑๖-๒๑๗, ม.มู.ฏีกา
๒/๔๐๗/๒๗๗)
๒ คันธัพพะ ในที่นี้หมายถึงสัตว์ผู้จะมาเกิดในครรภ์นั้น (ปฏิสนธิวิญญาณ) (ม.มู.อ. ๒/๔๐๘/๒๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู แต่คันธัพพะยังไม่ปรากฏ
การถือกำเนิดในครรภ์ก็ยังมีไม่ได้
แต่เมื่อใด มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู และคันธัพพะก็ปรากฏ เมื่อนั้น
เพราะปัจจัย ๓ ประการประชุมพร้อมกันอย่างนี้ การถือกำเนิดในครรภ์จึงมีได้
มารดาย่อมรักษาทารกในครรภ์นั้น ๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้าง จึงคลอด
ทารกผู้เป็นภาระหนักนั้นด้วยความกังวลใจมาก และเลี้ยงทารกผู้เป็นภาระหนักนั้น
ซึ่งเกิดแล้วด้วยโลหิตของตนด้วยความห่วงใยมาก
น้ำนมของมารดานับเป็นโลหิตในอริยวินัย กุมารนั้นอาศัยความเจริญและ
ความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมเล่นด้วยเครื่องเล่นสำหรับกุมาร คือ
ไถเล็ก ๆ ตีไม้หึ่ง หกคะเมน เล่นกังหัน ตวงทราย รถเล็ก ธนูเล็ก
ภิกษุทั้งหลาย กุมารนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์
ทั้งหลาย อิ่มเอิบ พร้อมพรั่ง บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ประการ คือ
๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ...
๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ...
๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ...
๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[๔๐๙] กุมารนั้นเห็นรูปทางตาแล้วกำหนัด๑ในรูปที่น่ารัก ขัดเคืองในรูปที่
ไม่น่ารัก เป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นกามาวจร๒อยู่ ไม่รู้ชัดถึงเจโตวิมุตติ

เชิงอรรถ :
๑ กำหนัด ในที่นี้หมายถึงให้เกิดราคะขึ้น (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘)
๒ จิตเป็นกามาวจร ในที่นี้หมายถึงจิตฝ่ายอกุศล (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้
สมบูรณ์ด้วยความยินดีและความยินร้าย๑อย่างนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง๒ ติดใจเวทนานั้น
เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย เป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
ฟังเสียงทางหู ...
ดมกลิ่นทางจมูก ...
ลิ้มรสทางลิ้น ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วกำหนัดในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ขัดเคืองในธรรมารมณ์
ที่ไม่น่ารัก ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นกามาวจรอยู่ ไม่รู้ชัดถึง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมตามความเป็นจริง
เขาเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความยินดีและความยินร้ายอย่างนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนา
นั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย เป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสจึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ความยินดี (อนุโรธะ) หมายถึงราคะ ความยินร้าย (วิโรธะ) หมายถึงโทสะ (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘)
๒ เพลิดเพลิน หมายถึงมีตัณหาทะยานอยาก บ่นถึง หมายถึงพร่ำเพ้อว่า “สุขหนอ ๆ” (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

พระพุทธคุณ

[๔๑๐] ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
ตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่
ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค ตถาคตนั้นรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยตนเองแล้ว
จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชน(คนผู้เกิดภายหลัง)ในตระกูลใด
ตระกูลหนึ่งย่อมฟังธรรมนั้น ฟังธรรมนั้นแล้วได้ศรัทธาในตถาคต เมื่อมีศรัทธา
แล้วย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด เป็นทางแห่งธุลี การบวช
เป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบถ้วนดุจสังข์ขัด มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ ต่อมา เขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อย
ใหญ่ และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิต

สิกขาและสาชีพของภิกษุ

[๔๑๑] เขาเมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพเสมอด้วย
ภิกษุทั้งหลาย คือ
๑. ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความ
ละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของ
ที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

๓. ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์
เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรม๑ อันเป็นกิจของชาวบ้าน
๔. ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มี
ถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
๕. ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไป
บอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มา
บอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริม
คนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่
ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
๖. ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
๗. ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดแต่คำจริง
พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่
อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา
๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคาม๒และภูตคาม๓
๙. ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล๔
๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่น
ที่เป็นข้าศึกแก่กุศล
๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้
ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว
๑๒. เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่
๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ๕

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๒๙๒ (จูฬหัตถิปโทปมสูตร) หน้า ๓๒๓ ในเล่มนี้
๒-๕ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๔ ข้อ ๒๙๓ (จูฬหัตถิปโทปมสูตร) หน้า ๓๒๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย
๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
๒๑. เว้นขาดจากการรับเรือกสวน ไร่นา และที่ดิน
๒๒. เว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
๒๓. เว้นขาดจากการซื้อการขาย
๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่องตวงวัด
๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง
๒๖. เว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว
การปล้น และการขู่กรรโชก
ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกาย และบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป
ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที นกมีปีกจะบินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีแต่ปีกของมันเป็นภาระบินไป
แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและ
บิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที ภิกษุนั้นประกอบด้วย
อริยสีลขันธ์นี้แล้ว ย่อมเสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน
ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความสำรวม
จักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู ...
ดมกลิ่นทางจมูก ...
ลิ้มรสทางลิ้น ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความ
สำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุนั้น
ประกอบด้วยอริยอินทรียสังวร ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนกับกิเลสในภายใน
ภิกษุนั้นทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร การฉัน การดื่ม
การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การหลับ
การตื่น การพูด การนิ่ง

การทำจิตให้บริสุทธิ์

[๔๑๒] ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวรและอริยสติ-
สัมปชัญญะนี้แล้วพักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ
ป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหาร
เสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละอภิชฌา (ความ
เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น)ในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละพยาบาทและความมุ่งร้าย มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์
เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากพยาบาทและความมุ่งร้าย ละถีนมิทธะ
(ความหดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่างมีสติสัมปชัญญะอยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและความรำคาญ
ใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

[๔๑๓] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
และเป็นเหตุทำปัญญาให้อ่อนกำลังได้แล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจาร
สงบระงับไป บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก
ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ๑ บรรลุ
จตุตถฌาน ฯลฯ๒อยู่

ความดับแห่งกองทุกข์

[๔๑๔] ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้วไม่กำหนัดในรูปที่น่ารัก ไม่ขัดเคืองในรูป
ที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้๓อยู่ ทราบชัดถึง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมตามความเป็นจริง
เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์
ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้น เมื่อ
ภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนา
ทั้งหลายจึงดับไป เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ
ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสของภิกษุนั้นจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น
ย่อมมีได้อย่างนี้
ฟังเสียงทางหู ...
ดมกลิ่นทางจมูก ...
ลิ้มรสทางลิ้น ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๕๑ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๑ ในเล่มนี้
๓ มีจิตหาประมาณมิได้ หมายถึงผู้มีโลกุตตรจิตหาประมาณมิได้ คือผู้พรั่งพร้อมด้วยมรรคจิต (ม.มู.อ.
๒/๔๑๔/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่ยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ไม่ขัดเคือง
ในธรรมารมณ์ที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่
ทราบชัดถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรม
ตามความเป็นจริง เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่าง
หนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่
ติดใจเวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายจึงดับไป เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทาน
จึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสของภิกษุนั้นจึงดับ ความดับ
แห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำตัณหาสังขยวิมุตติ๑โดยย่อของเรานี้
อนึ่ง เธอทั้งหลายจงทรงจำสาติภิกษุบุตรชาวประมงว่า เป็นผู้ติดอยู่ในข่ายคือ
ตัณหาและกองแห่งตัณหาใหญ่”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาตัณหาสังขยสูตรที่ ๘ จบ

๙. มหาอัสสปุรสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในอัสสปุรนิคม สูตรใหญ่
ข้อปฏิบัติของสมณะ

[๔๑๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุรนิคมของพระราชกุมารชาวอังคะ
ในแคว้นอังคะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหาสังขยวิมุตติ หมายถึงเทศนาเป็นเหตุหลุดพ้นเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา (ม.มู.อ. ๒/๔๑๔/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย หมู่ชนรู้จักเธอทั้งหลายว่า ‘สมณะ สมณะ’ เธอทั้งหลาย
เมื่อเขาถามว่า ‘ท่านทั้งหลายเป็นใคร’ ก็ปฏิญญาว่า ‘เราทั้งหลายเป็นสมณะ’
เมื่อเธอทั้งหลายนั้น ผู้มีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้ ก็ควรสำเหนียกว่า ‘เรา
ทั้งหลายจักสมาทานประพฤติธรรม๑ที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ เมื่อเรา
ทั้งหลายปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ชื่อและปฏิญญานี้ของเราทั้งหลายก็จักเป็นความจริงแท้
ใช่แต่เท่านั้น เราทั้งหลายใช้สอยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย-
เภสัชบริขารของทายกเหล่าใด ปัจจัยทั้งหลายของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมาก
มีอานิสงส์มากเพราะเราทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง บรรพชานี้ของเราทั้งหลาย ก็จักไม่
เป็นหมัน จักมีผล มีความเจริญ’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้แล

หิริโอตตัปปะ

[๔๑๖] ธรรมที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ’
บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว พอละ
ด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จาก
ความเป็นสมณะ๒ เราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่ง
ขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย
ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็น
สมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม หมายถึงไตรลักษณ์ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา แต่ในที่นี้ทรงมุ่งแสดงหิริ
และโอตตัปปะ (ม.มู.อ. ๒/๔๑๕/๒๒๐)
๒ ประโยชน์จากความเป็นสมณะ มีหลายนัย ดังนี้ หมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ บ้าง หมายถึงความสิ้นราคะ
ความสิ้นโทสะ และความสิ้นโมหะบ้าง (ดู สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๖/๓๔) แต่ในที่นี้หมายถึงมรรค ๔ และผล ๔
(ม.มู.อ. ๒/๔๑๖/๒๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

กายสมาจารบริสุทธิ์

[๔๑๗] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักมีกายสมาจาร
บริสุทธิ์๑ ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ด้วยความเป็นผู้มีกายสมาจารอันบริสุทธิ์นั้น’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่าง
นี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์แล้ว พอละ
ด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จาก
ความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป
มิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย
ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็น
สมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

วจีสมาจารบริสุทธิ์

[๔๑๘] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักมีวจีสมาจารบริสุทธิ์๒
ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความ
เป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์นั้น’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้ง
หลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารและวจีสมาจารบริสุทธิ์แล้ว พอละ
ด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จาก
ความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ถึงแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป
มิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย
ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็น
สมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

เชิงอรรถ :
๑ มีกายสมาจารบริสุทธิ์ หมายถึงภิกษุไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ใช้ฝ่ามือ ก้อนดิน
ท่อนไม้ หรือศัสตราทุบตีเบียดเบียนผู้อื่น หรือไม่เงื้อมือหรือท่อนไม้ไล่กาที่กำลังดื่มน้ำในหม้อน้ำ หรือจิก
กินข้าวสุกในบาตร (ม.มู.อ. ๒/๔๑๗/๒๒๒)
๒ มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ หมายถึงภิกษุไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่กล่าวดูหมิ่นใครๆ หรือไม่
กล่าวถากถางเยาะเย้ยภิกษุใดๆ (ม.มู.อ. ๒/๔๑๘/๒๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

มโนสมาจารบริสุทธิ์

[๔๑๙] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักมีมโนสมาจาร
บริสุทธิ์๑ ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ด้วยความเป็นผู้มีมโนสมาจารบริสุทธิ์นั้น’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า
‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจาร วจีสมาจาร และมโนสมาจาร
บริสุทธิ์แล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้
ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่
ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอ
บอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่
ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

อาชีวะบริสุทธิ์

[๔๒๐] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักมีอาชีวะบริสุทธิ์๒
ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความ
เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์นั้น’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลาย
เป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจาร และอาชีวะ
บริสุทธิ์แล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้
ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่
ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอก
เธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์
จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

เชิงอรรถ :
๑ มีมโนสมาจารบริสุทธิ์ หมายถึงภิกษุไม่มีอภิชฌา ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความเห็นผิด ไม่ยินดีทองและเงิน
หรือไม่ตรึกถึงกามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตก (ม.มู.อ. ๒/๔๑๙/๒๒๓)
๒ มีอาชีวะบริสุทธิ์ หมายถึงภิกษุไม่เลี้ยงชีพด้วยกรรมที่ไม่สมควร เช่น การรักษาไข้ การให้น้ำมันทาเท้า
การหุงน้ำมัน พูดเลียบเคียงขอผู้อื่น หรือการสะสมปัญจโครสมีเนยใสเป็นต้น (ม.มู.อ. ๒/๔๒๐/๒๒๓-๒๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

สำรวมอินทรีย์

[๔๒๑] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้คุ้มครองทวาร
แล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ จักปฏิบัติเพื่อ
ความสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรม
คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จักรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู ...
ดมกลิ่นทางจมูก ...
ลิ้มรสทางลิ้น ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ จักปฏิบัติเพื่อความสำรวม
มนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัส
ครอบงำได้ จักรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์’ บางทีเธอทั้งหลายจะ
มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์
วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ อาชีวะบริสุทธิ์แล้ว และเป็นผู้คุ้มครองทวาร
แล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วย
กิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลาย ถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น
เราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่
ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

รู้จักประมาณในโภชนะ

[๔๒๒] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักรู้จักประมาณใน
โภชนะ จักพิจารณาโดยแยบคายแล้วกลืนกินอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อความมัวเมา
ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพียงเพื่อกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตินทรีย์
เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ โดยอุบายนี้ เราจัก
กำจัดเวทนาเก่าเสียได้ และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำรงอยู่แห่งชีวิต
ความไม่มีโทษ และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา‘๑ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์ วจี-
สมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ อาชีวะบริสุทธิ์ เป็นผู้คุ้มครองทวารแล้ว
ในอินทรีย์ทั้งหลาย และจักรู้จักประมาณในโภชนะ พอละ ด้วยกิจเพียงเท่านี้
เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะเรา
ทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มีอีก’ เธอ
ทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอ
ทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอ
ทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

ตื่นบำเพ็ญเพียร

[๔๒๓] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้ประกอบ
ความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็น
เครื่องขัดขวางด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดวัน จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
ธรรมเป็นเครื่องขัดขวางด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี
สำเร็จการนอนดุจราชสีห์โดยตะแคงข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๒๓ หน้า ๒๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

หมายใจว่าจะลุกขึ้นตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรม
เป็นเครื่องขัดขวางด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี’ บางที
เธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกาย-
สมาจารบริสุทธิ์ วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ อาชีวะบริสุทธิ์ เป็นผู้
คุ้มครองทวารแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย และรู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบความ
เพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่องแล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลาย
ทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะ เราทั้งหลายก็ได้
บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มีอีก’ เธอทั้งหลายถึงความ
ยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจ
ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา
อย่าได้เสื่อมไปเลย

เจริญสติสัมปชัญญะ

[๔๒๔] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ
ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า
การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว
การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น
การพูด การนิ่ง’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริ-
โอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์ วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์
อาชีวะบริสุทธิ์แล้ว เป็นผู้คุ้มครองทวารแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณ
ในโภชนะ ประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง และมี
สติสัมปชัญญะแล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจ
เพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจ
อะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มีอีก’ เธอทั้งหลายยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เรา
ขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่
ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

การละนิวรณ์ ๕

[๔๒๕] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา
ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉัน
ภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอละอภิชฌา
(ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น)ในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิต
ให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มุ่ง
ประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละ
ถีนมิทธะ(ความหดหู่และความเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มี
สติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความ
ฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว
ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา
[๔๒๖] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนกู้หนี้มาลงทุนจนประสบผลสำเร็จ
ใช้หนี้เก่าที่เป็นต้นทุนจนหมด เก็บกำไรที่เหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา เขาคิดว่า
‘เมื่อก่อน เรากู้หนี้มาลงทุน การงานสำเร็จผลดีได้ใช้หนี้เก่าที่ยืมมาลงทุนหมดแล้ว
และกำไรก็ยังมีเหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา’ เพราะความไม่มีหนี้สินเป็นเหตุ
เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
คนไข้ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง ต่อมาหายป่วย
บริโภคอาหารได้กลับมีกำลัง เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อน เราป่วย ถึงความลำบาก
เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง บัดนี้หายป่วย บริโภคอาหารได้
มีกำลังเป็นปกติ’ เพราะการหายจากโรคเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและ
ความสุขใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

คนต้องโทษถูกคุมขังในเรือนจำ ต่อมาพ้นโทษออกจากเรือนจำโดยสวัสดิภาพ
ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราต้องโทษถูกคุมขังในเรือนจำ บัดนี้
พ้นโทษออกจากเรือนจำโดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ’ เพราะการพ้น
จากเรือนจำเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
คนที่ตกเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้
ต่อมาพ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัวเอง จะไป
ไหนก็ได้ตามใจชอบ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น
จะไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ บัดนี้พ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ’ เพราะความเป็นไทแก่ตนเองเป็นเหตุ
เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
คนมีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร ต่อมาเขาข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้
โดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเรามีทรัพย์สมบัติ
เดินทางไกลกันดาร บัดนี้ ข้ามพ้นทางกันดารโดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้
จ่ายใด ๆ’ เพราะการพบภูมิสถานอันร่มเย็นเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจ
และความสุขใจ แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการนี้
ที่ตนยังละไม่ได้เหมือนหนี้ โรค เรือนจำ ความเป็นทาส และทางไกลกันดาร และ
พิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการนี้ที่ตนละได้แล้วเหมือนความไม่มีหนี้ ความไม่มีโรค
การพ้นโทษจากเรือนจำ ความเป็นไทแก่ตนเอง และภูมิสถานอันสงบร่มเย็น

อุปมาฌาน ๔

[๔๒๗] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
เป็นเครื่องทำปัญญาให้ถอยกำลังได้แล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอทำกายนี้
ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เต็มเปี่ยมด้วยปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มี
ส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง พนักงานสรงสนาน หรือ
ลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ชำนาญ เทผงถูตัวลงในภาชนะสำริดแล้วเอาน้ำประพรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

ให้ติดเป็นก้อน พอตกเย็น ก้อนถูตัวที่ยางซึมไปจับก็ติดกันหมดไม่กระจายออก
แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เต็มเปี่ยมด้วยปีติ
และสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอัน
เกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง
[๔๒๘] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป
ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก
ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ
เต็มเปี่ยม ซาบซ่านอยู่ด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วน
ไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึก
เป็นวังวน ไม่มีทางที่กระแสน้ำจะไหลเข้าได้ ทั้งด้านตะวันออก ด้านตะวันตก ด้านเหนือ
และด้านใต้ ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล แต่กระแสน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้วทำ
ห้วงน้ำนั้นให้ชุ่มชื่น เอิบอาบ เต็มเปี่ยม เนืองนองไปด้วยน้ำเย็น ไม่มีส่วนไหน
ของห้วงน้ำนั้นที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้
ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เต็มเปี่ยมด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มี
ส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง
[๔๒๙] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมี
อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลาย
สรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ
เต็มเปี่ยมด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มี
ปีติจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล
ดอกปทุม หรือดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่
ใต้น้ำและมีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่น เอิบอาบ บริบูรณ์ ซึมซาบ
ด้วยน้ำเย็นตั้งแต่ยอดจดถึงเหง้า ไม่มีส่วนไหนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เต็มเปี่ยมด้วยสุขอันไม่มีปีติ
รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง
[๔๓๐] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะ
โสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติ
บริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เธอมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

ไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง คนนั่งใช้ผ้าขาวคลุมตัวตลอดศีรษะ
ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ผ้าขาวจะไม่ปกคลุม แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์
ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง

อุปมาวิชชา ๓

[๔๓๑] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ฯลฯ๑ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ
ชีวประวัติอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุรุษออกจากบ้านของตนไปสู่บ้านอื่น ออกจาก
บ้านแม้นั้นไปสู่อีกบ้านหนึ่ง ออกจากบ้านแม้นั้นแล้ว กลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม
เขาจะพึงระลึกได้ว่า ‘เราออกจากบ้านของตนไปสู่บ้านโน้น ในบ้านนั้น เราได้ยืน
อย่างนี้ ได้นั่งอย่างนี้ ได้พูดอย่างนี้ ได้นิ่งอย่างนี้ ออกจากบ้านแม้นั้นไปสู่บ้านโน้น
แม้ในบ้านนั้น เราก็ได้ยืนอย่างนี้ ได้นั่งอย่างนี้ ได้พูดอย่างนี้ ได้นิ่งอย่างนี้ ออก
จากบ้านแม้นั้นแล้วกลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม’ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือน
กันย่อมระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ เธอ
ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
[๔๓๒] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์
ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ฯลฯ๒ เรือน ๒ หลัง มีประตูอยู่ตรงกัน บุรุษผู้มีตาดี
ยืนอยู่ตรงกลางจะพึงเห็นหมู่มนุษย์ กำลังเข้าสู่เรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง
กำลังเดินไปมาบ้าง กำลังเที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้บ้าง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๖๘ (อากังเขยยสูตร) หน้า ๖๐-๖๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

เหมือนกัน เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ย่อมรู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไป
ตามกรรมว่า ฯลฯ
[๔๓๓] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้
อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้อีกต่อไป’ สระน้ำใส สะอาด ไม่ขุ่นมัว บนยอดภูเขา คนตาดียืนที่ขอบสระ
นั้นจะพึงเห็นหอยโข่ง หอยกาบ ก้อนกรวด และก้อนหิน หรือฝูงปลากำลังแหวก
ว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้างในสระนั้น ก็คิดอย่างนี้ว่า ‘สระน้ำนี้ใส สะอาด ไม่ขุ่นมัว
หอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวด และก้อนหินหรือฝูงปลาเหล่านี้กำลังแหวกว่าย
อยู่ก็มี หยุดอยู่ก็มีในสระนั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’

สมัญญาต่าง ๆ ของภิกษุ

[๔๓๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ‘สมณะบ้าง พราหมณ์บ้าง นหาตกะ
บ้าง เวทคูบ้าง โสตติยะบ้าง อริยะบ้าง อรหันต์บ้าง‘๑
ภิกษุชื่อว่าสมณะ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นระงับ
ได้แล้ว ภิกษุชื่อว่าสมณะ เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๘๕-๙๒/๑๘๑-๑๘๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

ภิกษุชื่อว่าพราหมณ์ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นลอย
ได้แล้ว ภิกษุชื่อว่าพราหมณ์ เป็นอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่านหาตกะ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นอาบ
ล้างแล้ว ภิกษุชื่อว่านหาตกะ เป็นอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่าเวทคู เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นรู้แจ้งแล้ว
ภิกษุชื่อว่าเวทคู เป็นอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่าโสตติยะ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้น
ทำให้หลับหมดแล้ว ภิกษุชื่อว่าโสตติยะ เป็นอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่าอริยะ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้น
ทำลายได้แล้ว ภิกษุชื่อว่าอริยะ เป็นอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่าอรหันต์ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ห่างไกลจาก
ภิกษุนั้น ภิกษุชื่อว่าอรหันต์ เป็นอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาอัสสปุรสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในอัสสปุรนิคม สูตรเล็ก
การบวชเหมือนมีดสองคม

[๔๓๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุรนิคมของพระราชกุมาร
ชาวอังคะ ในแคว้นอังคะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระ
ภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย หมู่ชนย่อมรู้จักเธอทั้งหลายว่า ‘สมณะ สมณะ’ ก็เธอ
ทั้งหลายเมื่อเขาถามว่า ‘ท่านทั้งหลายเป็นอะไร’ ก็ปฏิญญาว่า ‘เราทั้งหลายเป็น
สมณะ’ เมื่อเธอทั้งหลายนั้นผู้มีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้ ก็ควรสำเหนียกว่า
‘เราทั้งหลายจะปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ เมื่อเราทั้งหลายปฏิบัติอยู่อย่างนี้
ชื่อและปฏิญญานี้ของเราทั้งหลายก็จักเป็นความจริงแท้ ใช่แต่เท่านั้น เราทั้งหลาย
ใช้สอยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของทายกเหล่าใด
ปัจจัยทั้งหลายนั้นของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมาก มีอานิสงส์มากเพราะเรา
ทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง บรรพชานี้ของเราทั้งหลายก็จักไม่เป็นหมัน จักมีผล มี
ความเจริญ’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้แล
[๔๓๖] ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ เป็น
อย่างไร
คือ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีอภิชฌามาก ยังละอภิชฌาไม่ได้ มีจิตพยาบาท ยัง
ละพยาบาทไม่ได้ เป็นผู้มักโกรธ ยังละความมักโกรธไม่ได้ มีความผูกโกรธ ยังละ
ความผูกโกรธไม่ได้ มีความลบหลู่ ยังละความลบหลู่ไม่ได้ มีความตีเสมอ ยังละ
ความตีเสมอไม่ได้ มีความริษยา ยังละความริษยาไม่ได้ มีความตระหนี่ ยังละ
ความตระหนี่ไม่ได้ มีความโอ้อวด ยังละความโอ้อวดไม่ได้ มีมารยา ยังละมารยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

ไม่ได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาป ยังละความปรารถนาที่เป็นบาปไม่ได้ มีความ
เห็นผิด ยังละความเห็นผิดไม่ได้
เพราะยังละกิเลสที่เป็นมลทินของสมณะ เป็นโทษของสมณะ เป็นดุจน้ำฝาด
ของสมณะ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดในอบาย และมีวิบากที่จะพึงเสวยในทุคติเหล่านี้ไม่ได้
เราจึงกล่าวว่า ‘ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ’
ภิกษุทั้งหลาย อุปมาเหมือนอาวุธที่ชื่อมตชะ๑มีคม ๒ ข้าง ทั้งชุบและ
ลับดีแล้ว สอดไว้ในฝัก แม้ฉันใด เรากล่าวว่าบรรพชาของภิกษุนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น

มิใช่สมณะด้วยเครื่องแบบและวัตร

[๔๓๗] ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้นุ่งห่มผ้าซ้อน๒มีความเป็นสมณะ๓
ด้วยอาการเพียงการนุ่งห่มผ้าซ้อน
เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้ถือเพศเปลือยกายมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการ
เปลือยกาย
เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้หมักหมมด้วยธุลีมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการ
หมักหมมด้วยธุลี
เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้อาบน้ำมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการลงอาบน้ำ
เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตรมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการ
อยู่โคนไม้เป็นวัตร

เชิงอรรถ :
๑ อาวุธที่ชื่อมตชะ หมายถึงอาวุธที่ทำจากผงตะไบเหล็กกล้าซึ่งช่างเหล็กคลุกเนื้อให้นกกระเรียนกินแล้วถ่าย
ไม่ได้ตายเองหรือฆ่าให้ตายแล้วนำผงนั้นมาล้างน้ำ คลุกเนื้อให้นกกระเรียนอื่น ๆ กินอีกทำอย่างนี้จนครบ
๗ ครั้ง ชื่อว่ามตชะ เพราะเกิดจากนกที่ตายแล้ว อาวุธนั้นเป็นอาวุธคมกล้ายิ่งนัก (ม.มู.อ. ๒/๔๓๖/๒๓๓)
๒ ผ้าซ้อน ในที่นี้แปลจากคำว่า สังฆาฏิ หมายถึงผ้าที่ใช้ผ้าเก่าฉีกเป็นชิ้น ๆ เย็บซ้อนกันใช้เป็นผ้านุ่งและห่ม
เป็นข้อวัตรของลัทธินอกศาสนา มิได้หมายถึงสังฆาฏิที่เป็นเครื่องบริขารของภิกษุในธรรมวินัยนี้ (ม.มู.อ.
๒/๔๓๗/๒๓๓, ม.มู.ฏีกา ๒/๔๓๗/๒๙๓)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๔๑๖ (มหาอัสสปุรสูตร) หน้า ๔๕๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้อยู่ในที่แจ้งเป็นวัตรมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียง
การอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร
เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้ยืนแหงนหน้ามีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการ
ยืนแหงนหน้า
เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้บริโภคภัตตามวาระมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียง
การบริโภคภัตตามวาระ
เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้ท่องมนตร์มีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการท่องมนตร์
เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้ขมวดผมมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการขมวดผม
หากบุคคลนุ่งห่มผ้าซ้อน มีอภิชฌามาก จะพึงละอภิชฌาได้ด้วยอาการเพียง
การนุ่งห่มผ้าซ้อน มีจิตพยาบาท จะพึงละพยาบาทได้ มีความมักโกรธ จะพึงละ
ความมักโกรธได้ มีความผูกโกรธ จะพึงละความผูกโกรธได้ มีความลบหลู่ จะพึงละ
ความลบหลู่ได้ มีความตีเสมอ จะพึงละความตีเสมอได้ มีความริษยา จะพึงละ
ความริษยาได้ มีความตระหนี่ จะพึงละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวดจะพึงละ
ความโอ้อวดได้ มีมารยา จะพึงละมารยาได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาป จะพึงละ
ความปรารถนาที่เป็นบาปได้ มีความเห็นผิด จะพึงละความเห็นผิดได้ ด้วยอาการ
เพียงการนุ่งห่มผ้าซ้อนไซร้ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตก็จะพึงให้บุคคลนั้นนุ่งห่ม
ผ้าซ้อนตั้งแต่เกิดทีเดียว พึงชักชวนผู้นั้นให้นุ่งห่มผ้าซ้อนอย่างเดียวว่า ‘ท่านผู้มี
หน้าอิ่มเอิบ มาเถิด ท่านจงนุ่งห่มผ้าซ้อน ท่านผู้นุ่งห่มผ้าซ้อนอยู่ มีอภิชฌามาก
ก็จักละอภิชฌาได้ด้วยอาการเพียงนุ่งห่มผ้าซ้อน มีจิตพยาบาทก็จักละพยาบาทได้
มีความมักโกรธก็จักละความมักโกรธได้ มีความผูกโกรธก็จักละความผูกโกรธได้
มีความลบหลู่ก็จักละความลบหลู่ได้ มีความริษยาก็จักละความริษยาได้ มีความตระหนี่
ก็จักละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวดก็จักละความโอ้อวดได้ มีมารยาก็จักละ
มารยาได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาปก็จักละความปรารถนาที่เป็นบาปได้ มีความ
เห็นผิดก็จักละความเห็นผิดได้ ด้วยอาการเพียงการนุ่งห่มผ้าซ้อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเราเห็นบุคคลบางคนในโลกนี้แม้นุ่งห่มผ้าซ้อนอยู่ยังมี
อภิชฌามาก มีจิตพยาบาท มีความมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีความลบหลู่
มีความตีเสมอ มีความริษยา มีความตระหนี่ มีความโอ้อวด มีมารยา มีความ
ปรารถนาที่เป็นบาป มีความเห็นผิด ฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่าบุคคลที่นุ่งห่มผ้าซ้อน
มีความเป็นสมณะด้วยอาการเพียงนุ่งห่มผ้าซ้อน
หากบุคคลถือเพศเปลือยกาย ฯลฯ หากบุคคลหมักหมมด้วยธุลี ... หาก
บุคคลอาบน้ำ ... หากบุคคลอยู่โคนไม้ ... หากบุคคลอยู่ในที่แจ้ง ... หากบุคคล
ยืนแหงนหน้า ... หากบุคคลบริโภคภัตตามวาระ ... หากบุคคลท่องมนตร์ ... หาก
บุคคลขมวดผม มีอภิชฌามาก จะพึงละอภิชฌาได้ด้วยอาการเพียงการขมวดผม
มีจิตพยาบาท จะพึงละพยาบาทได้ มีความมักโกรธ จะพึงละความมักโกรธได้ มี
ความผูกโกรธ จะพึงละความผูกโกรธได้ มีความลบหลู่ จะพึงละความลบหลู่ได้ มี
ความตีเสมอ จะพึงละความตีเสมอได้ มีความริษยา จะพึงละความริษยาได้ มีความ
ตระหนี่ จะพึงละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวด จะพึงละความโอ้อวดได้ มีมารยา
จะพึงละมารยาได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาป จะพึงละความปรารถนาที่เป็นบาปได้
มีความเห็นผิด จะพึงละความเห็นผิดได้ด้วยอาการเพียงการขมวดผมไซร้ มิตรอำมาตย์
ญาติสาโลหิตก็จะพึงให้บุคคลนั้นขมวดผมตั้งแต่เกิดทีเดียว พึงชักชวนผู้นั้นให้ขมวด
ผมอย่างเดียวว่า ‘ท่านผู้มีหน้าอิ่มเอิบ มาเถิด ท่านจงเป็นผู้ขมวดผม ท่านผู้
ขมวดผมอยู่ มีอภิชฌามากก็จักละอภิชฌาได้ด้วยอาการเพียงการขมวดผม มีจิต
พยาบาทก็จักละพยาบาทได้ มีความมักโกรธก็จักละความมักโกรธได้ มีความผูก
โกรธก็จักละความผูกโกรธได้ มีความลบหลู่ก็จักละความลบหลู่ได้ มีความตีเสมอ
ก็จักละความตีเสมอได้ มีความริษยาก็จักละความริษยาได้ มีความตระหนี่ก็จักละ
ความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวดก็จักละความโอ้อวดได้ มีมารยาก็จักละมารยาได้
มีความปรารถนาที่เป็นบาปก็จักละความปรารถนาที่เป็นบาปได้ มีความเห็นผิดก็
จักละความเห็นผิดได้ ด้วยอาการเพียงการขมวดผม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเราเห็นบุคคลบางคนในโลกนี้แม้ขมวดผมอยู่ ก็ยังมี
อภิชฌามาก มีจิตพยาบาท มีความมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีความลบหลู่ มี
ความตีเสมอ มีความริษยา มีความตระหนี่ มีความโอ้อวด มีมารยา มีความ
ปรารถนาที่เป็นบาป มีความเห็นผิด ฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่าบุคคลผู้ขมวดผมมี
ความเป็นสมณะด้วยอาการเพียงการขมวดผม

ข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ

[๔๓๘] ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีอภิชฌามากก็ละอภิชฌาได้ มีจิตพยาบาทก็ละพยาบาทได้
มีความมักโกรธก็ละความมักโกรธได้ มีความผูกโกรธก็ละความผูกโกรธได้ มีความ
ลบหลู่ก็ละความลบหลู่ได้ มีความตีเสมอก็ละความตีเสมอได้ มีความริษยาก็ละความ
ริษยาได้ มีความตระหนี่ก็ละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวดก็ละความโอ้อวดได้ มี
มารยาก็ละมารยาได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาปก็ละความปรารถนาที่เป็นบาปได้
มีความเห็นผิดก็ละความเห็นผิดได้ เพราะละกิเลสที่เป็นมลทิน เป็นโทษ เป็นดุจ
น้ำฝาดของสมณะ เป็นเหตุให้เกิดในอบาย และมีวิบากที่ตนจะพึงเสวยในทุคติ
เหล่านี้ได้ เราจึงกล่าวว่า ‘ภิกษุนั้นเป็นผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ’
ภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ หลุดพ้นแล้วจากบาปอกุศลธรรมทั้งปวงนี้
เมื่อเธอพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ หลุดพ้นแล้วจากบาปอกุศลธรรมทั้งปวงนี้ ความ
ปราโมทย์จึงเกิด เมื่อมีความปราโมทย์ปีติจึงเกิด เมื่อใจมีปีติกายจึงสงบ เมื่อมี
กายสงบเธอจึงเสวยสุข เมื่อเธอมีสุขจิตจึงตั้งมั่น
เธอมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ... มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓
... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร
ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ภิกษุทั้งหลาย สระโบกขรณี มีน้ำใสบริสุทธิ์ เย็นสะอาด มีท่าดี น่ารื่นรมย์
ถ้าบุรุษมาจากทิศตะวันออก ถูกความร้อนแผดเผา ร้อน ลำบาก กระหาย
อยากดื่มน้ำ เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้วก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำ และความ
กระวนกระวายเพราะความร้อนได้ ถ้าบุรุษมาจากทิศตะวันตก ... ถ้าบุรุษมาจาก
ทิศเหนือ ... ถ้าบุรุษมาจากทิศใต้ ... ถ้าบุรุษจะมาจากที่ไหน ๆ ก็ตามถูกความร้อน
แผดเผา ร้อน ลำบาก กระหาย อยากดื่มน้ำ เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้ว
ก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำและความกระวนกระวายเพราะความร้อนได้ แม้ฉันใด
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลกษัตริย์มาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึงธรรมวินัยที่
ตถาคตประกาศแล้วเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้
ความสงบระงับในภายใน เรากล่าวว่า ‘เป็นผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่
สมณะ’ เพราะความสงบระงับในภายในนั้น
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ ...
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ ...
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลศูทร ...
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลไหน ๆ ก็ตามมาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึง
ธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขาอย่างนั้น
ได้ความสงบระงับในภายใน เรากล่าวว่า ‘เป็นผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่
สมณะ’ เพราะความสงบระงับในภายในนั้น
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลกษัตริย์มาบวชเป็นบรรพชิต เธอทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่
ในปัจจุบัน กุลบุตรนี้ชื่อว่าสมณะ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป’
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ ...
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลศูทร ...
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลไหน ๆ ก็ตาม มาบวชเป็นบรรพชิต เธอทำให้
แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน กุลบุตรนี้ชื่อว่าสมณะ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ฉันนั้น
เหมือนกันแล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬอัสสปุรสูตรที่ ๑๐ จบ
มหายมกวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. จูฬโคสิงคสูตร ๒. มหาโคสิงคสูตร
๓. มหาโคปาลสูตร ๔. จูฬโคปาลสูตร
๕. จูฬสัจจกสูตร ๖. มหาสัจจกสูตร
๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร ๘. มหาตัณหาสังขยสูตร
๙. มหาอัสสปุรสูตร ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

๕. จูฬยมกวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่ หมวดเล็ก

๑. สาเลยยกสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อสาลา
เหตุปัจจัยนำไปสุคติและทุคติ

[๔๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลกับภิกษุหมู่ใหญ่ถึงบ้าน
พราหมณ์ชื่อสาลาของชาวโกศล พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาได้ฟังข่าวว่า๑
“ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริก
ไปในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อสาลาโดย
ลำดับแล้ว ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ
เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้
อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็น
พระผู้มีพระภาค๒’ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรงประกาศ
ให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และ
มีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้เป็นความดีอย่างแท้จริง”
ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
บางพวกถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกได้ทูลสนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๒๕๕/๘๗
๒ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๖๔/๒๔๗, วิ.อ. ๑/๑/๑๐๓-๑๑๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

ประนมมือต่อพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและโคตร
ในสำนักของพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่สมควร
แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้
หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก๑
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้
หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวก
ในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความประพฤติ
ไม่สม่ำเสมอคือความประพฤติอธรรมเป็นเหตุ๒
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิด
ในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอคือความประพฤติธรรมเป็นเหตุ”
พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นกราบทูลว่า “เนื้อความแห่งธรรมที่ท่านพระโคดม
ตรัสไว้โดยย่อไม่ทรงชี้แจงให้พิสดาร ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ทราบโดยพิสดารได้
ขอท่านพระโคดมโปรดแสดงเนื้อความแห่งธรรมที่พระองค์ตรัสไว้โดยย่อไม่ทรงชี้แจง
ให้พิสดารนี้แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย โดยวิธีที่ข้าพระองค์ทั้งหลายจะพึงทราบโดย
พิสดารเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่าน
ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
พวกพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๖๘ (อากังเขยยสูตร) หน้า ๖๑ ในเล่มนี้
๒ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ(วิสมจริยา) คือ ความประพฤติอธรรม(อธัมมจริยา) หมายถึงอกุศล-
กรรมบถ ๑๐ ประการ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๔๗/๓๔๘) (วิสมจริยา + อธัมมจริยา = กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

อกุศลกรรมบถ ๑๐

[๔๔๐] “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ
ความประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ ประการ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ
ความประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ ประการ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ
ความประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ ประการ
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้๑
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนหยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ใน
การฆ่าและการทุบตี ไม่มีความละอาย ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง
๒. เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ เป็นผู้ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจ
ของผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครอง
ของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ในปกครองของมารดา
บิดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ในปกครองของพี่สาว
น้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่อยู่ในปกครองของโคตร ที่
ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่สุด แม้สตรีที่
บุรุษสวมด้วยพวงมาลัยหมายไว้
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ ประการ
อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๑๑/๓๔๖-๓๔๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้พูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ
อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็น
พยานซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น’ บุรุษนั้นไม่รู้ก็กล่าว
ว่า ‘รู้’ หรือรู้ก็กล่าวว่า ‘ไม่รู้’ ไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘เห็น’ หรือเห็น
ก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’ กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะ
บุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง
๒. เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลาย
ฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น
ยุยงคนที่สามัคคีกัน ส่งเสริมคนที่แตกแยกกัน ชื่นชมยินดี เพลิดเพลิน
ต่อผู้ที่แตกแยกกัน พูดแต่ถ้อยคำที่ก่อความแตกแยกกัน
๓. เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำหยาบคาย กล้าแข็ง เผ็ดร้อน
หยาบคายร้ายกาจแก่ผู้อื่น กระทบกระทั่งผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ
ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ
๔. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ พูดไม่ถูกเวลา พูดคำที่ไม่จริง พูดคำที่ไม่
อิงประโยชน์ พูดไม่อิงธรรม พูดไม่อิงวินัย พูดคำที่ไม่มีหลักฐาน
ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่กำหนด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยไม่
เหมาะแก่เวลา
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ ประการ
อย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่อง
ปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’
๒. เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า
จงถูกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศไป หรืออย่าได้มี’
๓. เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล
ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่
ทำดีและทำชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ
บิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี
ปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
สอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ก็ไม่มีในโลก’
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ ประการ
อย่างนี้แล
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติ
อธรรมเป็นเหตุ อย่างนี้

กุศลกรรมบถ ๑๐

[๔๔๑] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความ
ประพฤติธรรมทางกายมี ๓ ประการ ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความ
ประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ ประการ ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความ
ประพฤติธรรมทางใจมี ๓ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางกายมี ๓ ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ
มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ ไม่ถือเอาทรัพย์อันเป็น
อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของมิได้
ให้ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือ ไม่เป็นผู้ประพฤติ
ล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครองของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา
ที่อยู่ในปกครองของมารดาบิดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย
ที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่อยู่
ในปกครองของญาติ ที่ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง
โดยที่สุด แม้สตรีที่บุรุษสวมด้วยพวงมาลัยหมายไว้
ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางกายมี ๓ ประการ
อย่างนี้แล
ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่
ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลาง
ราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยานซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าว
สิ่งนั้น’ บุรุษนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า ‘ไม่รู้’ หรือรู้ก็กล่าวว่า ‘รู้’ ไม่เห็น
ก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’ หรือเห็นก็กล่าวว่า ‘เห็น’ ไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้
เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือ
เห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไม่ไป
บอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มา
บอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกแยกกัน ส่งเสริมคน
ที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่
ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ
๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดแต่คำจริง
พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่
อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา
ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ ประการ
อย่างนี้แล
ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางใจมี ๓ ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์
อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อัน
เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’
๒. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือ ไม่มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้ จง
เป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิด’
๓. เป็นสัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล
ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดี
และทำชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

โอปปาติกสัตว์มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้ง
โลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง มีอยู่
ในโลก’
ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางใจมีอยู่ ๓ ประการ
อย่างนี้แล
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ หลังจากตาย
แล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติ
ธรรมเป็นเหตุ อย่างนี้

ผลแห่งความประพฤติสม่ำเสมอ

[๔๔๒] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้
ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในพวก
ขัตติยมหาศาล’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในพวก
ขัตติยมหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือ
เป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในพวกพราหมณมหาศาล ฯลฯ เราพึงเกิดในพวก
คหบดีมหาศาล’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในพวกคหบดี-
มหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอคือเป็นผู้
ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช’ เป็นไปได้ที่หลังจากตาย
แล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคล
นั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอคือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ เทพชั้นยามา ...
เทพชั้นดุสิต ... เทพชั้นนิมมานรดี ... เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ... เทพผู้นับเนื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

ในหมู่พรหม’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพผู้นับเนื่องใน
หมู่พรหม๑ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็น
ผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นอาภา’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว
บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพชั้นอาภา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้
ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นปริตตาภา ... เทพชั้นอัปปมาณาภา ...
เทพชั้นอาภัสสรา ... เทพชั้นปริตตสุภา ... เทพชั้นอัปปมาณสุภา ... เทพชั้น
สุภกิณหา ... เทพชั้นเวหัปผลา ... เทพชั้นอวิหา ... เทพชั้นอตัปปา ... เทพชั้นสุทัสสา
... เทพชั้นสุทัสสี ... เทพชั้นอกนิฏฐภพ ... เทพผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ ...
เทพผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภพ ... เทพผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ ... เทพผู้
เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิด
ในเทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้น
เป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติ
ธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เป็น
ไปได้ที่บุคคลนั้นจะพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคล
นั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล”

เชิงอรรถ :
๑ เทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหม(เทพชั้นพรหมกายิกา) หมายถึงเทวดาผู้เคยได้บรรลุฌาน มีฌานชั้นปฐมฌาน
เป็นต้น (ม.มู.อ. ๒/๔๔๒/๒๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๒. เวรัญชกสูตร

ชาวบ้านสาลาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

[๔๔๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกพราหมณ์และคหบดี
ชาวบ้านสาลาได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่าน
พระโคดม ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของ
ที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทางหรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า
‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้ง
พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล

สาเลยยกสูตรที่ ๑ จบ

๒. เวรัญชกสูตร
ว่าด้วยชาวเมืองเวรัญชา
เหตุปัจจัยนำไปสุคติและทุคติ

[๔๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พวกพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเวรัญชา
พักอยู่ในกรุงสาวัตถีด้วยกรณียกิจบางอย่าง ได้ฟังข่าวว่า
“ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชแล้วจากศากยตระกูล
ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ท่าน
พระโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อม
ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๒. เวรัญชกสูตร

พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม
ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามใน
ที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์
ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์เช่นนี้เป็นความดีอย่างแท้จริง”
ครั้งนั้น พวกพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเวรัญชาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ บางพวกถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก
ได้ทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกประนมมือต่อพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อ
และโคตรในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นั่งนิ่งอยู่ ณ
ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกใน
โลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้
หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวก
ในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความประพฤติ
ไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมเป็นเหตุ
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วจะไป
เกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรม
เป็นเหตุ”
พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นทูลว่า “เนื้อความแห่งธรรมที่ท่านพระโคดมตรัส
ไว้โดยย่อไม่ทรงชี้แจงให้พิสดาร ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ทราบโดยพิสดารได้ ขอท่าน
พระโคดมจงแสดงเนื้อความแห่งธรรมที่พระองค์ตรัสไว้โดยย่อไม่ทรงชี้แจงให้พิสดาร
แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย โดยวิธีที่ข้าพระองค์ทั้งหลายจะพึงทราบโดยพิสดารเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่าน
ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
พวกพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเวรัญชาทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๒. เวรัญชกสูตร

อกุศลกรรมบถ ๑๐

[๔๔๕] “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ
ผู้ประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ จำพวก บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติ
อธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรม
ทางใจมี ๓ จำพวก
บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ จำพวก
ไหนบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนหยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ในการ
ฆ่าและการทุบตี ไม่มีความละอาย ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง
๒. เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ เป็นผู้ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้ม
ใจของผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุ
ขโมย
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครอง
ของมารดา ฯลฯ
บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ จำพวก
อย่างนี้แล
บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก
ไหนบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้พูดเท็จ คือ อยู่ในสภา ฯลฯ เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้ ฯลฯ
๒. เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้น ฯลฯ
พูดแต่ถ้อยคำที่ก่อความแตกแยกกัน
๓. เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำหยาบคาย กล้าแข็ง ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๒. เวรัญชกสูตร

๔. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ พูดไม่ถูกเวลา พูดคำที่ไม่จริง ฯลฯ ไม่มีที่
กำหนด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยไม่เหมาะแก่เวลา
บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก
อย่างนี้แล
บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ จำพวก
ไหนบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ฯลฯ ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’
๒. เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอให้สัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า
ฯลฯ หรืออย่าได้มี’
๓. เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล
ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ฯลฯ สอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง
ก็ไม่มีในโลก’
บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ จำพวก
อย่างนี้แล
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ ความประพฤติ
อธรรมเป็นเหตุ อย่างนี้

กุศลกรรมบถ ๑๐

[๔๔๖] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้
ประพฤติธรรมทางกายมี ๓ จำพวก บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติ
ธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรม
ทางใจมี ๓ จำพวก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๒. เวรัญชกสูตร

บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางกายมี ๓ จำพวก
ไหนบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ
มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากจากการลักทรัพย์ คือ ไม่ถือเอาทรัพย์อันเป็น
อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของมิได้ให้
ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือ ไม่เป็นผู้ประพฤติ
ล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครองของมารดา ฯลฯ
บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางกายมี ๓ จำพวก
อย่างนี้แล
บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก
ไหนบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ อยู่ในสภา ฯลฯ ไม่กล่าว
เท็จทั้งที่รู้อยู่ ฯลฯ
๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด ฯลฯ พูดแต่ถ้อยคำที่
สร้างสรรค์ความสามัคคี
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ ฯลฯ พูดแต่คำไม่มีโทษ
๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ฯลฯ มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด
ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา
บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก
อย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๒. เวรัญชกสูตร

บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางใจ ๓ จำพวก ไหนบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็น
อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’
๒. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือ ไม่มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้ จง
เป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิด’
๓. เป็นสัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล
ยัญที่บูชาแล้วมีผล ฯลฯ ผู้ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญา
อันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก’
บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางใจมี ๓ จำพวก อย่างนี้แล
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้ว ไปเกิด
ในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมเป็นเหตุ
อย่างนี้

ผลแห่งความประพฤติสม่ำเสมอ

[๔๔๗] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือ
ผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดใน
พวกขัตติยมหาศาล’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในพวก
ขัตติยมหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือ
เป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในพวกพราหมณมหาศาล ฯลฯ เราพึงเกิดใน
พวกคหบดีมหาศาล’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในคหบดี-
มหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็น
ผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๒. เวรัญชกสูตร

ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช’ เป็นไปได้ที่หลังจาก
ตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
บุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ เทพชั้นยามา ...
เทพชั้นดุสิต ... เทพชั้นนิมมานรดี ... เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ... เทพผู้นับเนื่อง
ในหมู่พรหม’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพผู้นับเนื่อง
ในหมู่พรหม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือ
เป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นอาภา’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว
บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพชั้นอาภา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้น เป็นผู้
ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นปริตตาภา ... เทพชั้นอัปปมาณาภา ...
เทพชั้นอาภัสสรา ... เทพชั้นปริตตสุภา ... เทพชั้นอัปปมาณสุภา ... เทพชั้นสุภกิณหา
... เทพชั้นเวหัปผลา ... เทพชั้นอวิหา ... เทพชั้นอตัปปา ... เทพชั้นสุทัสสา ...
เทพชั้นสุทัสสี ... เทพชั้นอกนิฏฐภพ ... เทพผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ ...
เทพผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภพ ... เทพผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ ... เทพผู้
เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึง
เกิดในเทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคล
นั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติ
ธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๒. เวรัญชกสูตร

อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เป็น
ไปได้ที่บุคคลนั้นจะพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะ
อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
บุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล”

ชาวเมืองเวรัญชาถึงพระรัตนตรัย

[๔๔๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกสมณพราหมณ์และ
คหบดีชาวเมืองเวรัญชาได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่าน
พระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงาย
ของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทางหรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า
‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้ง
พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล

เวรัญชกสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

๓. มหาเวทัลลสูตร
ว่าด้วยการสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปัญญา สูตรใหญ่
ปัญญากับวิญญาณ

[๔๔๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระมหาโกฏฐิกะออกจากที่
หลีกเร้น๑แล้ว เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่
บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระมหาโกฏฐิกะครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงถามเรื่องนี้กับท่านพระสารีบุตรว่า
“ท่านผู้มีอายุ บุคคลที่เรียกว่า ‘ผู้มีปัญญาทราม ผู้มีปัญญาทราม’ เพราะ
เหตุไรหนอแล๒จึงเรียกว่า ‘ผู้มีปัญญาทราม”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ บุคคลไม่รู้ชัด บุคคลไม่รู้ชัด เหตุนั้น
จึงเรียกว่า ‘ผู้มีปัญญาทราม’ บุคคลไม่รู้ชัดอะไร คือ ไม่รู้ชัดว่า ‘นี้ทุกข์
นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ เหตุนั้น บุคคลไม่รู้ชัด
บุคคลไม่รู้ชัด จึงเรียกว่า ‘ผู้มีปัญญาทราม’
ท่านพระมหาโกฏฐิกะชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีละ ท่านผู้
มีอายุ” แล้วได้ถามปัญหาต่อไปว่า “ท่านผู้มีอายุ บุคคลที่เรียกว่า ‘ผู้มีปัญญา
ผู้มีปัญญา’ เพราะเหตุไรหนอแลจึงเรียกว่า ‘ผู้มีปัญญา’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ขัอ ๘๑ (สัลเลขสูตร) หน้า ๗๐ ในเล่มนี้
๒ คำว่า เพราะเหตุไรหนอแล แปลจากคำว่า “กิตฺตาวตา นุ โข” เป็นคำถามหาเหตุ แท้จริงการถามนั้นมี
๕ อย่าง คือ (๑) อทิฏฐโชตนาปุจฉา - การถามให้แสดงเรื่องที่ตนไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อน (๒) ทิฏฐ-
สังสันทนาปุจฉา - การถามให้ชี้แจงเรื่องที่เคยทราบมาแล้ว เพื่อเทียบกันดูกับเรื่องที่ตนรู้มา (๓) วิมติ-
เฉทนาปุจฉา - การถามเพื่อให้คลายความสงสัย (๔) อนุมติปุจฉา - การถามเพื่อให้มีความคิดเห็นคล้อยตาม
(๕) กเถตุกามยตาปุจฉา - การถามเพื่อมุ่งจะกล่าวชี้แจงต่อ เป็นลักษณะของการถามเอง ตอบเอง ในที่นี้
พระมหาโกฏฐิกะถามในลักษณะของทิฏฐสังสันทนาปุจฉา (ม.มู.อ. ๒/๔๔๙/๒๔๒-๒๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

“บุคคลรู้ชัด บุคคลรู้ชัด เหตุนั้น จึงเรียกว่า ‘ผู้มีปัญญา’ บุคคลรู้ชัดอะไร
คือ รู้ชัดว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ เหตุนั้น
บุคคลรู้ชัด บุคคลรู้ชัด จึงเรียกว่า ‘ผู้มีปัญญา”
“สภาวะที่เรียกว่า ‘วิญญาณ วิญญาณ’ เพราะเหตุไรหนอแล จึงเรียกว่า
‘วิญญาณ”
“สภาวะรู้แจ้ง สภาวะรู้แจ้ง เหตุนั้น จึงเรียกว่า ‘วิญญาณ’ สภาวะรู้แจ้งอะไร
คือ รู้แจ้งสุขบ้าง รู้แจ้งทุกข์บ้าง รู้แจ้งอทุกขมสุขบ้าง เหตุนั้น สภาวะรู้แจ้ง
สภาวะรู้แจ้ง จึงเรียกว่า ‘วิญญาณ”
“ปัญญาและวิญญาณ ๒ ประการนี้ รวมกัน หรือแยกกัน และสามารถ
แยกแยะ บัญญัติหน้าที่ต่างกันได้หรือไม่”
“ปัญญาและวิญญาณ ๒ ประการนี้ รวมกัน ไม่แยกกัน และไม่สามารถ
แยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้ เพราะปัญญารู้ชัดสิ่งใด วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น
วิญญาณรู้แจ้งสิ่งใด ปัญญาก็รู้ชัดสิ่งนั้น เหตุนั้นธรรม ๒ ประการนี้ จึงรวมกัน
ไม่แยกกัน และไม่สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้”
“ท่านผู้มีอายุ ปัญญาและวิญญาณ ๒ ประการนี้ รวมกัน ไม่แยกกัน แต่
มีกิจที่จะพึงทำต่างกันบ้างหรือไม่”
“ท่านผู้มีอายุ ปัญญาและวิญญาณ ๒ ประการนี้ รวมกัน ไม่แยกกัน แต่
ปัญญา๑ควรเจริญ วิญญาณ๒ควรกำหนดรู้ นี้เป็นกิจที่จะพึงทำต่างกันแห่งธรรม ๒
ประการนี้”

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญา ในที่นี้หมายถึงมัคคปัญญา (ปัญญาในอริยมรรค)
๒ วิญญาณ ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนาวิญญาณ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๑/๒๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

เวทนา สัญญา และวิญญาณ

[๔๕๐] “ท่านผู้มีอายุ สภาวะที่เรียกว่า ‘เวทนา เวทนา’ เพราะเหตุไรหนอแล
จึงเรียกว่า ‘เวทนา”
“ท่านผู้มีอายุ สภาวะเสวยอารมณ์ สภาวะเสวยอารมณ์ เหตุนั้น จึงเรียกว่า
‘เวทนา’ สภาวะเสวยอารมณ์อะไร คือ เสวยอารมณ์สุขบ้าง เสวยอารมณ์ทุกข์บ้าง
เสวยอารมณ์อทุกขมสุขบ้าง เหตุนั้น สภาวะเสวยอารมณ์ สภาวะเสวยอารมณ์
จึงเรียกว่า ‘เวทนา”
“สภาวะที่เรียกว่า ‘สัญญา สัญญา’ เพราะเหตุไรหนอแลจึงเรียกว่า ‘สัญญา”
“สภาวะกำหนดหมาย สภาวะกำหนดหมาย เหตุนั้น จึงเรียกว่า ‘สัญญา’
สภาวะกำหนดหมายอะไร คือ กำหนดหมายสีเขียวบ้าง กำหนดหมาย
สีเหลืองบ้าง กำหนดหมายสีแดงบ้าง กำหนดหมายสีขาวบ้าง เหตุนั้น สภาวะ
กำหนดหมาย สภาวะกำหนดหมาย จึงเรียกว่า ‘สัญญา”
“เวทนา สัญญา และวิญญาณ ๓ ประการนี้ รวมกัน หรือแยกกัน และ
สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้หรือไม่”
“เวทนา สัญญา และวิญญาณ ๓ ประการนี้ รวมกัน ไม่แยกกัน และไม่
สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้ เพราะเวทนาเสวยอารมณ์สิ่งใด สัญญา
ก็กำหนดหมายสิ่งนั้น สัญญากำหนดหมายสิ่งใด วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น เหตุนั้น
ธรรม ๓ ประการนี้ จึงรวมกัน ไม่แยกกัน และไม่สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่
ต่างกันได้”
[๔๕๑] “ท่านผู้มีอายุ พระโยคาวจรผู้มีมโนวิญญาณ๑อันบริสุทธิ์ สละแล้ว
จากอินทรีย์ ๕ จะพึงรู้อะไร”

เชิงอรรถ :
๑ มโนวิญญาณ ในที่นี้หมายถึงจิตในฌานที่ ๔ อันเป็นไปในรูปาวจรภูมิ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๑/๒๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

“ท่านผู้มีอายุ พระโยคาวจรผู้มีมโนวิญญาณอันบริสุทธิ์สละแล้วจากอินทรีย์ ๕
พึงรู้อากาสานัญจายตนฌานว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ พึงรู้วิญญาณัญจายตนฌานว่า
‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ พึงรู้อากิญจัญญายตนฌานว่า ‘ไม่มีอะไร”๑
“พระโยคาวจรย่อมรู้ธรรมที่ตนจะพึงรู้ด้วยอะไร”
“พระโยคาวจรย่อมรู้ธรรมที่ตนจะพึงรู้ด้วยปัญญาจักษุ”๒
“ปัญญามีไว้เพื่ออะไร”
“ปัญญามีไว้เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อการกำหนดรู้ และเพื่อการละ”

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ

[๔๕๒] “ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิมีเท่าไร”
“ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิมี ๒ ประการ คือ
๑. ปรโตโฆสะ๓(การได้สดับจากบุคคลอื่น)
๒. โยนิโสมนสิการ๔(การมนสิการโดยแยบคาย)
ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิมี ๒ ประการนี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความนี้หมายถึงพระโยคาวจรผู้บำเพ็ญเพียรอาศัยมโนวิญญาณ กล่าวคือรูปาวจรฌานจิตในฌานที่ ๔
เป็นพื้นฐาน จึงจะสามารถบำเพ็ญให้อรูปาวจรสมาบัติที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนสมาบัติให้เกิดขึ้นได้
สามารถให้อรูปาวจรสมาบัติอื่นเกิดขึ้นต่อมาตามลำดับ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๑/๒๕๓)
๒ ปัญญาจักษุ ในที่นี้หมายถึงสมาธิปัญญา และวิปัสสนาปัญญา สมาธิปัญญา ทำหน้าที่กำจัดโมหะ
วิปัสสนาปัญญา ทำหน้าที่พิจารณาไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๑/๒๕๔)
๓ ปรโตโฆสะ ในที่นี้หมายถึงการฟังธรรมเป็นที่สบายเหมาะสมแก่ตน เช่นพระสารีบุตรเถระได้ฟังธรรมจาก
พระอัสสชิเถระว่า ‘ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ...’ (ดู วิ.ม. (แปล) ๔/๖๐/๗๓) (ม.มู.อ. ๒/๔๕๒/๒๕๔)
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๕ (สัพพาสวสูตร) หน้า ๑๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

“สัมมาทิฏฐิ๑ซึ่งมีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีเจโตวิมุตติเป็นผลานิสงส์ มีปัญญา-
วิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ เพราะมีองค์ธรรมเท่าไรสนับสนุน”
“สัมมาทิฏฐิซึ่งมีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีเจโตวิมุตติเป็นผลานิสงส์ มีปัญญา-
วิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ เพราะมีองค์ธรรม ๕ ประการ
สนับสนุน คือ
๑. มีศีล๒สนับสนุน
๒. มีสุตะ๓สนับสนุน
๓. มีสากัจฉา๔สนับสนุน
๔. มีสมถะ๕สนับสนุน
๕. มีวิปัสสนา๖สนับสนุน
สัมมาทิฏฐิซึ่งมีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ มีปัญญา-
วิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ เพราะมีองค์ธรรม ๕ ประการ
นี้แลสนับสนุน”

เชิงอรรถ :
๑ สัมมาทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตมัคคสัมมาทิฏฐิ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๒/๒๕๔)
๒ ศีล ในที่นี้หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ เพราะปาริสุทธิศีล ๔ เป็นปทัฏฐานแห่งการบรรลุอริยมรรค (ม.มู.อ.
๒/๔๕๒/๒๕๔, ม.มู.ฏีกา ๒/๔๕๒/๓๒๖)
๓ สุตะ ในที่นี้หมายถึงการฟังธรรมที่เป็นสัปปายะ มีความหมายเท่ากับปรโตโฆสะ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๒/๒๕๔)
๔ สากัจฉา หมายถึงการปรับกัมมัฏฐานให้เกิดความเหมาะสม (ม.มู.อ. ๒/๔๕๒/๒๕๔)
๕ สมถะ หมายถึงสมาบัติที่เป็นพื้นฐานแห่งวิปัสสนา (ม.มู.อ. ๒/๔๕๒/๒๕๔)
๖ วิปัสสนา หมายถึงอนุปัสสนา ๗ ประการ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๒/๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

ภพและฌาน

[๔๕๓] “ท่านผู้มีอายุ ภพมีเท่าไร”
“ท่านผู้มีอายุ ภพมี ๓ คือ (๑) กามภพ (๒) รูปภพ (๓) อรูปภพ”
“การเกิดในภพใหม่ต่อไป มีได้อย่างไร”
“เพราะความยินดียิ่งในอารมณ์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกีดกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องผูกพันไว้ การเกิดในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้อย่างนี้”
“การเกิดในภพใหม่ต่อไป ไม่มีได้อย่างไร”
“เพราะอวิชชาสิ้นไป เพราะวิชชาเกิดขึ้น และเพราะตัณหาดับไป การเกิด
ขึ้นในภพใหม่ต่อไป ไม่มีได้อย่างนี้”
[๔๕๔] “ท่านผู้มีอายุ ปฐมฌาน เป็นอย่างไร”
“ท่านผู้มีอายุ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ฌานนี้พระผู้มี
พระภาคตรัสว่า ‘ปฐมฌาน”
“ปฐมฌานมีองค์เท่าไร”
“ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ ภิกษุผู้เข้าปฐมฌานย่อมมี (๑) วิตก (๒) วิจาร
(๓) ปีติ (๔) สุข (๕) เอกัคคตา ปฐมฌานมีองค์ ๕ อย่างนี้”
“ปฐมฌานละองค์เท่าไร ประกอบด้วยองค์เท่าไร”
“ปฐมฌานละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
เข้าปฐมฌาน (๑) ละกามฉันทะ (๒) ละพยาบาท (๓) ละถีนมิทธะ (๔) ละอุทธัจจ-
กุกกุจจะ (๕) ละวิจิกิจฉาได้แล้ว ย่อมมี (๑) วิตก (๒) วิจาร (๓) ปีติ (๔) สุข
(๕) เอกัคคตา ปฐมฌานละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

อินทรีย์ ๕

[๔๕๕] “ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ (๑) จักขุนทรีย์
(๒) โสตินทรีย์ (๓) ฆานินทรีย์ (๔) ชิวหินทรีย์ (๕) กายินทรีย์ มีอารมณ์ต่างกัน
มีที่เที่ยวไปต่างกัน ไม่รับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของกันและกัน เมื่ออินทรีย์ ๕
ประการนี้มีอารมณ์ต่างกัน มีที่เที่ยวไปต่างกัน ไม่รับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของ
กันและกัน จะมีอะไรเป็นที่อาศัย และธรรมอะไรรับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปแห่ง
อินทรีย์ ๕ ประการนั้น”
“ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ (๑) จักขุนทรีย์ (๒) โสตินทรีย์
(๓) ฆานินทรีย์ (๔) ชิวหินทรีย์ (๕) กายินทรีย์ มีอารมณ์ต่างกัน มีที่เที่ยวไปต่างกัน
ไม่รับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของกันและกัน เมื่ออินทรีย์เหล่านี้มีอารมณ์ต่างกัน
มีที่เที่ยวไปต่างกัน ไม่รับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของกันและกัน มีใจเป็นที่อาศัย
และใจย่อมรับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปแห่งอินทรีย์เหล่านั้น”
[๔๕๖] “ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ (๑) จักขุนทรีย์
(๒) โสตินทรีย์ (๓) ฆานินทรีย์ (๔) ชิวหินทรีย์ (๕) กายินทรีย์ อินทรีย์ ๕
ประการนี้อาศัยอะไรดำรงอยู่”
“ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ (๑) จักขุนทรีย์ (๒) โสตินทรีย์
(๓) ฆานินทรีย์ (๔) ชิวหินทรีย์ (๕) กายินทรีย์ อินทรีย์ ๕ ประการนี้อาศัยอายุ๑
ดำรงอยู่”
“อายุอาศัยอะไรดำรงอยู่”
“อายุอาศัยไออุ่น๒ดำรงอยู่”
“ไออุ่นอาศัยอะไรดำรงอยู่”
“ไออุ่นอาศัยอายุดำรงอยู่”
“ผมรู้ทั่วถึงภาษิตของท่านพระสารีบุตรในบัดนี้เองอย่างนี้ว่า ‘อายุอาศัยไออุ่น
ดำรงอยู่และไออุ่นอาศัยอายุดำรงอยู่’ แต่ผมจะพึงเข้าใจความแห่งภาษิตนี้ได้อย่างไร”

เชิงอรรถ :
๑ อายุ ในที่นี้หมายถึงรูปชีวิตินทรีย์ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๖/๒๕๗-๒๕๙)
๒ ไออุ่น หมายถึงเตโชธาตุที่เกิดจากกรรม (ม.มู.อ. ๒/๔๕๖/๒๕๗-๒๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

“ถ้าเช่นนั้น ผมจักอุปมาให้ท่านฟัง เพราะวิญญูชนบางพวกในโลกนี้ย่อมทราบ
ความแห่งภาษิตได้ด้วยอุปมา เมื่อประทีปน้ำมันกำลังติดไฟอยู่ แสงสว่างอาศัย
เปลวไฟจึงปรากฏ เปลวไฟก็อาศัยแสงสว่างจึงปรากฏอยู่แม้ฉันใด อายุอาศัยไออุ่น
ดำรงอยู่ ไออุ่นก็อาศัยอายุดำรงอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน”
[๔๕๗] “ท่านผู้มีอายุ อายุสังขาร๑ กับเวทนียธรรม๒เป็นอันเดียวกัน หรือต่างกัน”
“ท่านผู้มีอายุ อายุสังขารกับเวทนียธรรม ไม่เป็นอันเดียวกัน (ถ้า) อายุสังขาร
กับเวทนียธรรมเป็นอันเดียวกันแล้ว การออกจากสมาบัติของภิกษุผู้เข้าสัญญา-
เวทยิตนิโรธ ก็ไม่พึงปรากฏ แต่เพราะอายุสังขารกับเวทนียธรรมต่างกัน ฉะนั้น
การออกจากสมาบัติของภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ จึงปรากฏ”
“เมื่อธรรมเท่าไรละกายนี้ไป กายนี้จึงถูกทอดทิ้งนอนนิ่งเหมือนท่อนไม้ที่
ปราศจากเจตนา”
“เมื่อธรรม ๓ ประการ คือ (๑) อายุ (๒) ไออุ่น (๓) วิญญาณ๓ ละกายนี้ไป
กายนี้จึงถูกทอดทิ้ง นอนนิ่งเหมือนท่อนไม้ที่ปราศจากเจตนา”
“สัตว์ผู้ตายคือทำกาละไปแล้วกับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธต่างกันอย่างไร”
“สัตว์ผู้ตายคือทำกาละไปแล้วมีกายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขาร๔ดับระงับไป
มีอายุหมดสิ้นไป ไม่มีไออุ่น มีอินทรีย์แตกทำลาย ส่วนภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิต-
นิโรธมีกายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขารดับ ระงับไป แต่อายุยังไม่หมดสิ้น
ยังมีไออุ่นมีอินทรีย์ผ่องใส
สัตว์ผู้ตายคือทำกาละไปแล้วกับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธต่างกันอย่างนี้”

เชิงอรรถ :
๑ อายุสังขาร หมายถึงอายุนั่นเอง (ม.มู.อ. ๒/๔๕๗/๒๕๘)
๒ เวทนียธรรม หมายถึงเวทนาธรรม (ม.มู.อ. ๒/๔๕๗/๒๕๘)
๓ วิญญาณ หมายถึงจิต (ม.มู.อ. ๒/๔๕๗/๒๕๙)
๔ กายสังขาร หมายถึงลมหายใจเข้าออก วจีสังขาร หมายถึงวิตกวิจาร จิตตสังขาร หมายถึงสัญญาเวทนา
(ม.มู.อ. ๒/๔๕๗/๒๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

ปัจจัยแห่งเจโตวิมุตติ

[๔๕๘] “ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขมีเท่าไร”
“ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขมี ๔ ประการ
คือ (๑) เพราะละสุขได้ (๒) เพราะละทุกข์ได้ (๓) เพราะโสมนัสดับไปก่อน
(๔) เพราะโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้จึงบรรลุจตุตถฌาน ซึ่งไม่มี
ทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขมี ๔ ประการนี้แล”
“ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิต๑ มีเท่าไร”
“ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๒ ประการ คือ
๑. การไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง๒
๒. การมนสิการถึงนิพพานธาตุ ซึ่งไม่มีนิมิต๓
ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๒ ประการนี้แล”
“ปัจจัยแห่งการตั้งอยู่แห่งเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิต มีเท่าไร”
“ปัจจัยแห่งการตั้งอยู่แห่งเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๓ ประการ คือ
๑. ไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง
๒. มนสิการถึงนิพพานธาตุ ซึ่งไม่มีนิมิต
๓. อภิสังขาร๔ในเบื้องต้น
ปัจจัยแห่งการตั้งอยู่แห่งเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๓ ประการนี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ นิมิต ในความหมายนี้หมายถึงการออกจากนิโรธสมาบัติด้วยผลสมาบัติซึ่งเป็นผลเกิดจากวิปัสสนา (ม.มู.อ.
๒/๔๕๘/๒๖๐)
๒ นิมิตทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอารมณ์มีรูปเป็นต้น (ม.มู.อ. ๒/๔๕๘/๒๖๐)
๓ การมนสิการถึงนิพพานซึ่งไม่มีนิมิต หมายถึงการมนสิการถึงธรรมที่เกิดร่วมกับผลสมาบัติ (ม.มู.อ.
๒/๔๕๘/๒๖๐)
๔ อภิสังขาร หมายถึงการกำหนดระยะเวลาอยู่ในสมาธิ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๘/๒๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

“ปัจจัยแห่งการออกจากเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิต มีเท่าไร”
“ปัจจัยแห่งการออกจากเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๒ ประการ คือ
๑. การมนสิการถึงนิมิตทั้งปวง
๒. การไม่มนสิการถึงนิพพานธาตุ ซึ่งไม่มีนิมิต
ปัจจัยแห่งการออกจากเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๒ ประการนี้แล”
[๔๕๙] “ท่านผู้มีอายุ ธรรมเหล่านี้ คือ อัปปมาณาเจโตวิมุตติ๑
อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ๒ สุญญตาเจโตวิมุตติ๓ อนิมิตตาเจโตวิมุตติ๔ มีอรรถต่างกัน
มีพยัญชนะต่างกัน หรือมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น”
“ท่านผู้มีอายุ เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถต่างกัน และมี
พยัญชนะต่างกัน เหตุนั้นมีอยู่ อนึ่ง เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถ
อย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น เหตุนั้นมีอยู่”
“เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกัน
เหตุนั้นเป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ...
ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลก

เชิงอรรถ :
๑ อัปปมาณาเจโตวิมุตติ ได้แก่ ธรรม ๑๒ ประการ คือ พรหมวิหาร ๔ มรรค ๔ ผล ๔ พรหมวิหาร
ชื่อว่า อัปปมาณะ เพราะแผ่ไปหาประมาณมิได้ ธรรมที่เหลือชื่อว่าอัปปมาณะ เพราะไม่มีกิเลสเป็นเครื่องวัด
(ม.มู.อ. ๒/๔๕๙/๒๖๒, สํ.สฬา.อ. ๓/๓๔๙/๑๖๐)
๒ อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ ได้แก่ ธรรม ๙ ประการ คือ อากิญจัญญายตนะ ๑ มรรค ๔ ผล ๔
อากิญจัญญายตนะ ชื่อว่าอากิญจัญญะ เพราะไม่มีกิเลสเครื่องกังวลเป็นอารมณ์ มรรคและผล ชื่อว่า
อากิญจัญญะ เพราะไม่มีกิเลสเครื่องกังวลคือกิเลสเครื่องย่ำยีและกิเลสเครื่องผูก (ม.มู.อ. ๒/๔๕๙/๒๖๒,
สํ.สฬา.อ. ๓/๓๔๙/๑๖๐)
๓ สุญญตาเจโตวิมุตติ ได้แก่ ความหลุดพ้นโดยว่างจากราคะ โทสะ โมหะ เพราะพิจารณานามรูปโดยความ
เป็นอนัตตา (ม.มู.อ. ๒/๔๕๙/๒๖๓, สํ.สฬา.อ. ๓/๓๔๙/๑๖๑)
๔ อนิมิตตาเจโตวิมุตติ ได้แก่ ธรรม ๑๓ ประการ คือ วิปัสสนา ๑ อรูป ๔ มรรค ๔ ผล ๔ (ม.มู.อ.
๒/๔๕๙/๒๖๓, สํ.สฬา.อ. ๓/๓๔๙/๑๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

ทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิต อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ...
มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
นี้เรียกว่า ‘อัปปมาณาเจโตวิมุตติ’
อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ เป็นอย่างไร
คือ เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุในพระธรรม-
วินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’
นี้เรียกว่า ‘อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ’
สุญญตาเจโตวิมุตติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี
พิจารณาเห็นว่า ‘สิ่งนี้ว่างจากตนบ้าง จากสิ่งที่เนื่องด้วยตนบ้าง’
นี้เรียกว่า ‘สุญญตาเจโตวิมุตติ’
อนิมิตตาเจโตวิมุตติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้บรรลุอนิมิตตาเจโตสมาธิ เพราะไม่มนสิการถึง
นิมิตทั้งปวงอยู่
นี้เรียกว่า ‘อนิมิตตาเจโตวิมุตติ’
เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกัน
เหตุนั้น เป็นอย่างนี้แล
เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่
พยัญชนะเท่านั้น เหตุนั้น เป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

คือ ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องวัด โทสะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องวัด โมหะชื่อว่า
กิเลสเป็นเครื่องวัด กิเลสเหล่านั้นภิกษุผู้ขีณาสพละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป
ไม่ได้
เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘เลิศกว่าอัปปมาณา-
เจโตวิมุตติที่มีอยู่’ เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้น ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ ว่าง
จากโมหะ ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกังวล โทสะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกังวล
โมหะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกังวล กิเลสเหล่านั้นภิกษุผู้ขีณาสพละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘เลิศกว่าอากิญจัญญาเจโต-
วิมุตติที่มีอยู่’ เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้น ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ ว่างจากโมหะ
ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องทำนิมิต โทสะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องทำนิมิต โมหะชื่อว่า
กิเลสเป็นเครื่องทำนิมิต กิเลสเหล่านั้นภิกษุผู้ขีณาสพละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ท่านผู้มีอายุ เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘เลิศกว่า
อนิมิตตาเจโตวิมุตติที่มีอยู่’ เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้น ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ
ว่างจากโมหะ
เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่
พยัญชนะเท่านั้น เหตุนั้น เป็นอย่างนี้แล”
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหาโกฏฐิกะมีใจยินดีชื่นชม
ภาษิตของท่านพระสารีบุตร ดังนี้แล

มหาเวทัลลสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๔. จูฬเวทัลลสูตร

๔. จูฬเวทัลลสูตร
ว่าด้วยการสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปัญญา สูตรเล็ก
สักกายทิฏฐิ

[๔๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน๑
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น อุบาสกชื่อวิสาขะเข้าไปหาภิกษุณีชื่อธัมมทินนาถึงที่อยู่
น้อมไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร แล้วได้ถามธัมมทินนาภิกษุณีว่า “แม่เจ้าขอรับ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘สักกายะ สักกายะ’ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
‘สักกายะ”
ธัมมทินนาภิกษุณีตอบว่า “ท่านวิสาขะ อุปาทานขันธ์๒ ๕ ประการ คือ

๑. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)
๒. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา)
๓. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
๔. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)

ท่านวิสาขะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
‘สักกายะ”
วิสาขอุบาสกชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของธัมมทินนาภิกษุณีว่า “ดีละ แม่เจ้า”
แล้วได้ถามปัญหาต่อไปว่า “แม่เจ้าขอรับ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘สักกายสมุทัย
สักกายสมุทัย’ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายสมุทัย”
“ท่านวิสาขะ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความ
กำหนัด มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
นี้พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายสมุทัย”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๒๕๒ (รถวินีตสูตร) หน้า ๒๗๓ ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๙๑ (สัมมาทิฏฐิสูตร) หน้า ๘๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๔. จูฬเวทัลลสูตร

“พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘สักกายนิโรธ สักกายนิโรธ’ ธรรมอะไรที่พระผู้มี
พระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายนิโรธ”
“ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น
ความไม่อาลัยในตัณหานั้น นี้พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายนิโรธ”
“พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา สักกายนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา”
“อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

นี้พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา”
“แม่เจ้าขอรับ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นอันเดียวกัน หรือต่างกัน”
“ท่านวิสาขะ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ ทั้งไม่เป็นอันเดียวกัน ทั้งไม่ต่างกัน
ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ ก็คืออุปาทานนั้นเอง”
[๔๖๑] “แม่เจ้าขอรับ สักกายทิฏฐิมีได้อย่างไร”
“ท่านวิสาขะ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ไม่
ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้พบ
สัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของ
สัตบุรุษ พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง
พิจารณาเห็นรูปในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในรูปบ้าง พิจารณาเห็นเวทนา
ฯลฯ พิจารณาเห็นสัญญา ฯลฯ พิจารณาเห็นสังขารทั้งหลาย ฯลฯ พิจารณา
เห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง
พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง สักกายทิฏฐิ
มีได้ อย่างนี้แล”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๔. จูฬเวทัลลสูตร

“แม่เจ้าขอรับ สักกายทิฏฐิไม่มีได้อย่างไร”
“ท่านวิสาขะ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ผู้ได้สดับแล้ว ได้พบพระอริยะ
ทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ
พบสัตบุรุษทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของ
สัตบุรุษ ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป
บ้าง ไม่พิจารณาเห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง ไม่พิจารณาเห็น
เวทนา ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสัญญา ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสังขารทั้งหลาย ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามี
วิญญาณบ้าง ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาใน
วิญญาณบ้าง สักกายทิฏฐิไม่มีได้ อย่างนี้แล”

มรรคมีองค์ ๘ กับขันธ์ ๓

[๔๖๒] “แม่เจ้าขอรับ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นอย่างไร”
“ท่านวิสาขะ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ”

“อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตธรรม๑หรือเป็นอสังขตธรรม๒”
“อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตธรรม”
“พระผู้มีพระภาคทรงจัดขันธ์ ๓ ประการ เข้าในอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือว่า
ทรงจัดอริยมรรคมีองค์ ๘ เข้าในขันธ์ ๓ ประการ”

เชิงอรรถ :
๑ สังขตธรรม หมายถึงธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ ขันธ์ ๕ (อภิ.สงฺ.(แปล) ๓๔/๑๐๘๙/๒๗๗)
๒ อสังขตธรรม หมายถึงธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ได้แก่ นิพพาน (อภิ.สงฺ.(แปล) ๓๔/๑๐๙๐/๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๔. จูฬเวทัลลสูตร

“พระผู้มีพระภาคไม่ทรงจัดขันธ์ ๓ ประการ เข้าในอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่
ทรงจัดอริยมรรคมีองค์ ๘ เข้าในขันธ์ ๓ ประการ คือ
๑. สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ทรงจัดเข้าในสีลขันธ์
๒. สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ทรงจัดเข้าในสมาธิขันธ์
๓. สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ ทรงจัดเข้าในปัญญาขันธ์”

สมาธิและสังขาร

“แม่เจ้าขอรับ ธรรมชนิดใดเป็นสมาธิ ธรรมเหล่าใดเป็นนิมิตของสมาธิ
ธรรมเหล่าใดเป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ การเจริญสมาธิ เป็นอย่างไร”
“ท่านวิสาขะ ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเป็นสมาธิ สติปัฏฐาน ๔ เป็น
นิมิตของสมาธิ สัมมัปปธาน ๔ เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ การเสพ๑ การเจริญ
การทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้นนั่นแล เป็นการเจริญสมาธิ”
[๔๖๓] “แม่เจ้าขอรับ สังขารมีเท่าไร”
“ท่านวิสาขะ สังขารมี ๓ ประการ คือ (๑) กายสังขาร๒ (๒) วจีสังขาร๓
(๓) จิตตสังขาร๔”
“ก็กายสังขารเป็นอย่างไร วจีสังขารเป็นอย่างไร จิตตสังขารเป็นอย่างไร”
“ลมอัสสาสะ(ลมหายใจเข้า) และลมปัสสาสะ(ลมหายใจออก) เป็นกายสังขาร
วิตกและวิจารเป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนาเป็นจิตตสังขาร”

เชิงอรรถ :
๑ การเสพ ในที่นี้หมายถึงการเสพที่เป็นไปชั่วขณะจิตเดียว (ม.มู.อ. ๒/๔๖๒/๒๗๑)
๒ กายสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางกาย ได้แก่ลมหายใจ (ม.มู.อ. ๒/๔๖๓/๒๗๒, องฺ.ติก.อ.
๒/๒๓/๑๐๑)
๓ วจีสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางวาจา ได้แก่ วิตกและวิจาร หรือวจีสัญเจตนา คือความ
จงใจทางวาจา (ม.มู.อ. ๒/๔๖๓/๒๗๒, องฺ.ติก.อ.�๒/๒๓/๑๐๑)
๔ จิตตสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางใจ ได้แก่ สัญญาและเวทนา หรือมโนสัญเจตนา คือ
ความจงใจทางใจ (ม.มู.อ. ๒/๔๖๓/๒๗๒, องฺ.ติก.อ. ๒/๒๓/๑๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๔. จูฬเวทัลลสูตร

“แม่เจ้าขอรับ เพราะเหตุไร ลมอัสสาสะและลมปัสสาสะจึงเป็นกายสังขาร
วิตกและวิจารจึงเป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนาจึงเป็นจิตตสังขาร”
“ท่านวิสาขะ ลมอัสสาสะและลมปัสสาสะเหล่านี้เป็นธรรมที่มีอยู่คู่กาย เนื่อง
กับกาย ฉะนั้น ลมอัสสาสะและลมปัสสาสะจึงเป็นกายสังขาร บุคคลตรึกและตรอง
ก่อนแล้วจึงเปล่งวาจา ฉะนั้น วิตกและวิจารจึงเป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนา
เป็นธรรมที่มีอยู่คู่จิต เนื่องกับจิต ฉะนั้น สัญญาและเวทนาจึงเป็นจิตตสังขาร”

สัญญาเวทยิตนิโรธ

[๔๖๔] “แม่เจ้าขอรับ การเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นอย่างไร”
“ท่านวิสาขะ ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มิได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เรา
จักเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ เรากำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ หรือเราเข้าสัญญา-
เวทยิตนิโรธแล้ว’ ที่แท้ จิตที่ท่านอบรมไว้ในเบื้องต้นอย่างนั้น ย่อมนำเข้าไปใน
ภาวะนั้นได้เอง”
“เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ธรรมเหล่าไหนที่ดับไปก่อน กายสังขาร
วจีสังขาร หรือจิตตสังขาร”
“เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ วจีสังขารดับไปก่อน จากนั้นกายสังขารจึงดับ
ส่วนจิตตสังขารดับทีหลัง”
“การออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เป็นอย่างไร”
“ภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มิได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เรา
จักออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เรากำลังออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
หรือเราออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว’ ที่แท้ จิตที่ท่านอบรมไว้ในเบื้อง
ต้นอย่างนั้น ย่อมนำเข้าไปในภาวะนั้นได้เอง”
“เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ธรรมเหล่าไหนเกิดขึ้นก่อน
กายสังขาร วจีสังขาร หรือจิตตสังขาร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๔. จูฬเวทัลลสูตร

“เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ จิตตสังขารเกิดขึ้นก่อน จากนั้น
กายสังขารก็เกิดขึ้น ส่วนวจีสังขารเกิดขึ้นทีหลัง”
“ผัสสะเท่าไร ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ”
“ผัสสะ ๓ อย่าง คือ (๑) ผัสสะชื่อสุญญตะ(ว่าง) (๒) ผัสสะชื่อ
อนิมิตตะ(ไม่มีนิมิต) (๓) ผัสสะชื่ออัปปณิหิตะ(ไม่มีที่ตั้ง) ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออก
จากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ”
“แม่เจ้าขอรับ ภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติมีจิตน้อมไปใน
ธรรมอะไร โน้มไปในธรรมอะไร และโอนไปในธรรมอะไร”
“ท่านวิสาขะ ภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มีจิตน้อมไปใน
วิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก”

เวทนา

[๔๖๕] “แม่เจ้าขอรับ เวทนามีเท่าไร”
“ท่านวิสาขะ เวทนามี ๓ ประการ คือ (๑) สุขเวทนา (๒) ทุกขเวทนา
(๓) อทุกขมสุขเวทนา”
“สุขเวทนาเป็นอย่างไร ทุกขเวทนาเป็นอย่างไร อทุกขมสุขเวทนาเป็นอย่างไร”
“การเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข สำราญทางกาย หรือทางใจ นี้เป็นสุขเวทนา
การเสวยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ ไม่สำราญทางกาย หรือทางใจ นี้เป็นทุกขเวทนา
การเสวยอารมณ์ที่มิใช่ความสำราญและที่มิใช่ความไม่สำราญทางกายหรือทางใจ นี้เป็น
อทุกขมสุขเวทนา”
“สุขเวทนาเป็นสุขเพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะอะไร ทุกขเวทนาเป็นสุขเพราะ
อะไร เป็นทุกข์เพราะอะไร อทุกขมสุขเวทนาเป็นสุขเพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะอะไร”
“สุขเวทนาเป็นสุขเพราะตั้งอยู่ เป็นทุกข์เพราะแปรไป ทุกขเวทนาเป็นทุกข์
เพราะตั้งอยู่ เป็นสุขเพราะแปรไป อทุกขมสุขเวทนาเป็นสุขเพราะรู้ เป็นทุกข์เพราะไม่รู้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๔. จูฬเวทัลลสูตร

“อนุสัยชนิดไหนนอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนา อนุสัยชนิดไหนนอนเนื่องอยู่ใน
ทุกขเวทนา อนุสัยชนิดไหนนอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา”
“ราคานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือความกำหนัด) นอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนา
ปฏิฆานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือความขัดเคือง) นอนเนื่องอยู่ในทุกขเวทนา
อวิชชานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือความไม่รู้จริง) นอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา”
“ราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมดหรือ ปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ใน
ทุกขเวทนาทั้งหมดหรือ อวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมดหรือ”
“ราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมดหามิได้ ปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่
ในทุกขเวทนาทั้งหมดหามิได้ อวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด
หามิได้”
“ธรรมอะไรจะพึงละได้ในสุขเวทนา ธรรมอะไรจะพึงละได้ในทุกขเวทนา
ธรรมอะไรจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา”
“ราคานุสัยจะพึงละได้ในสุขเวทนา ปฏิฆานุสัยจะพึงละได้ในทุกขเวทนา
อวิชชานุสัยจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา”
“แม่เจ้าขอรับ ราคานุสัยจะพึงละได้ในสุขเวทนาทั้งหมดหรือ ปฏิฆานุสัยจะ
พึงละได้ในทุกขเวทนาทั้งหมดหรือ อวิชชานุสัยจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา
ทั้งหมดหรือ”
“ท่านวิสาขะ ราคานุสัยจะพึงละได้ในสุขเวทนาทั้งหมดหามิได้ ปฏิฆานุสัยจะ
พึงละได้ในทุกขเวทนาทั้งหมดหามิได้ อวิชชานุสัยจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา
ทั้งหมดหามิได้ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ย่อมละราคะได้ด้วย
ปฐมฌานนั้น ราคานุสัยมิได้นอนเนื่องอยู่ในปฐมฌานนั้น
อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นอยู่ว่า ‘เมื่อไร เราจะได้บรรลุ
อายตนะ ที่พระอริยะทั้งหลายบรรลุแล้ว ดำรงอยู่ในบัดนี้’ เมื่อภิกษุนั้นตั้งความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๔. จูฬเวทัลลสูตร

ปรารถนาในวิโมกข์ทั้งหลายอันเป็นอนุตตรธรรม๑อย่างนี้ โทมนัสย่อมเกิดขึ้นเพราะ
ความปรารถนาเป็นปัจจัย ท่านละปฏิฆะได้ด้วยโทมนัสนั้น ปฏิฆานุสัยมิได้นอน
เนื่องอยู่ในโทมนัสนั้น อนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับ
ไปก่อนแล้ว ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้บรรลุจตุตถฌาน ที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติ
บริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ย่อมละอวิชชาได้ด้วยจตุตถฌานนั้น อวิชชานุสัยมิได้
นอนเนื่องอยู่ในจตุตถฌานนั้น”
[๔๖๖] “แม่เจ้าขอรับ อะไรเป็นคู่เปรียบ๒แห่งสุขเวทนา”
“ท่านวิสาขะ ทุกขเวทนาเป็นคู่เปรียบแห่งสุขเวทนา”
“อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งทุกขเวทนา”
“สุขเวทนาเป็นคู่เปรียบแห่งทุกขเวทนา”
“อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา”
“อวิชชาเป็นคู่เปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา”
“อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งอวิชชา”
“วิชชาเป็นคู่เปรียบแห่งอวิชชา”
“อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งวิชชา”
“วิมุตติเป็นคู่เปรียบแห่งวิชชา”
“อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งวิมุตติ”
“นิพพานเป็นคู่เปรียบแห่งวิมุตติ”
“แม่เจ้าขอรับ อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งนิพพาน”
“ท่านวิสาขะ ท่านก้าวเลยปัญหาไปเสียแล้ว ไม่อาจกำหนดที่สุดแห่งปัญหาได้
เพราะพรหมจรรย์มีนิพพานเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นจุดหมาย มีนิพพานเป็นที่สุด
ถ้าท่านยังหวังอยู่ก็ควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามเนื้อความนี้เถิด พระผู้มี-
พระภาคทรงตอบแก่ท่านอย่างไร ท่านควรทรงจำคำตอบไว้อย่างนั้นเถิด”

เชิงอรรถ :
๑ อนุตตรธรรม หมายถึงมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ (อภิ.สงฺ.(แปล) ๓๔/๑๓๐๐/๓๒๘)
๒ คู่เปรียบ ในที่นี้มี ๒ ความหมาย (๑) หมายถึงคู่เปรียบที่ขัดแย้งกัน เช่น สุขกับทุกข์ (๒) หมายถึง
คู่เปรียบที่คล้อยตามกันคือวิมุตติและนิพพานอันเป็นโลกุตตรธรรม (ม.มู.อ. ๒/๔๖๖/๒๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร

ทรงสรรเสริญธัมมทินนาภิกษุณี

[๔๖๗] ลำดับนั้น วิสาขอุบาสกชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของธัมมทินนา-
ภิกษุณีแล้ว ลุกจากอาสนะ น้อมไหว้ธัมมทินนาภิกษุณี กระทำประทักษิณแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้
กราบทูลเรื่องที่ตนสนทนาธรรมีกถากับธัมมทินนาภิกษุณีให้ทรงทราบทุกประการ
เมื่อวิสาขอุบาสกกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า “วิสาขะ
ธัมมทินนาภิกษุณีเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก หากเธอจะพึงสอบถามเนื้อความนั้น
กับเรา แม้เราก็จะพึงตอบเนื้อความนั้นเหมือนอย่างที่ธัมมทินนาภิกษุณีตอบแล้ว
เนื้อความแห่งคำตอบนั้นเป็นดังนั้นนั่นแล ท่านควรทรงจำไว้อย่างนั้นเถิด”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว วิสาขอุบาสกมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬเวทัลลสูตรที่ ๔ จบ

๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร
ว่าด้วยการสมาทานธรรม๑สูตรเล็ก

[๔๖๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรม ๔ ประการนี้

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า การสมาทานธรรม แปลจากคำว่า “ธัมมสมาทาน” แยกอธิบายดังนี้ คือ หมายถึงลัทธิหรือข้อวัตร
ปฏิบัติ ได้แก่ จริยาที่ตนยึดถือ คำว่า สมาทาน หมายถึงถือปฏิบัติ (ม.มู.อ. ๒/๔๖๘/๒๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร

การสมาทานธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
๒. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
๓. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต
๔. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต

การสมาทานธรรมที่มีสุขแต่มีทุกข์เป็นวิบาก

[๔๖๙] การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โทษ
ในกามทั้งหลายไม่มี’ สมณพราหมณ์พวกนั้นย่อมถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกาม
ทั้งหลาย บำเรอกับพวกนางปริพาชิกาที่เกล้ามวยผมและกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ทำไม
ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้นเมื่อเห็นอนาคตภัยในกามทั้งหลาย จึงกล่าวถึงการละ
กามทั้งหลาย บัญญัติการกำหนดรู้กามทั้งหลาย (อันที่จริง) การได้สัมผัสแขนอัน
มีขนอ่อนนุ่มของนางปริพาชิกานี้เป็นความสุข’ แล้วก็ถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกาม
ทั้งหลาย ครั้นถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกามทั้งหลาย หลังจากตายแล้ว ไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าเผ็ดร้อน ในที่ที่ตนเกิดนั้น และ
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้นเมื่อเห็นอนาคตภัยในกามทั้งหลายนี้แล
จึงกล่าวถึงการละกามทั้งหลาย บัญญัติการกำหนดรู้กามทั้งหลาย อันที่จริงพวก
เรานี้ย่อมเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าเผ็ดร้อน เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกาม
เป็นต้นเหตุ’
เปรียบเหมือนผลสุกของเถาย่านทราย จะพึงแตกในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน
พืชแห่งเถาย่านทรายนั้นจะพึงตกลงที่โคนต้นสาละต้นใดต้นหนึ่ง เทวดาที่สิงอยู่ที่
ต้นสาละนั้นกลัว หวาดเสียว และถึงความสะดุ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร

พวกอารามเทวดา๑ วนเทวดา๒ รุกขเทวดา๓ และพวกเทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไม้
อันเป็นโอสถหญ้าและต้นไม้เจ้าป่า ผู้เป็นมิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต๔ ของเทวดาที่
สิงอยู่ที่ต้นสาละนั้นต่างก็พากันมาปลอบโยนอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย
ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย เมล็ดพืชแห่งเถาย่านทรายนั้น บางทีนกยูงอาจกลืนกิน
บ้าง เนื้ออาจเคี้ยวกินบ้าง ไฟป่าอาจไหม้บ้าง พวกคนทำงานในป่าอาจถอนบ้าง
ปลวกอาจกัดกินบ้าง หรือไม่งอกขึ้น’
แต่เมล็ดพืชแห่งเถาย่านทรายนั้นนกยูงก็ไม่กลืนกิน เนื้อก็ไม่เคี้ยวกิน ไฟป่า
ก็ไม่ไหม้ พวกคนทำงานในป่าก็ไม่ถอน ปลวกก็ไม่กัดกิน ยังคงเป็นพืชต่อไป ถูก
เมฆฝนตกรดแล้ว ก็งอกขึ้นด้วยดี เป็นเถาย่านทรายเล็กและอ่อนมีย่านห้อยย้อย
เข้าไปอาศัยต้นสาละ’
เทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นสาละนั้นจึงกล่าวว่า ‘ทำไมพวกท่านอารามเทวดา วนเทวดา
รุกขเทวดา และเทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไม้อันเป็นโอสถหญ้าและต้นไม้เจ้าป่า ผู้เป็นมิตร
อำมาตย์ ญาติสาโลหิตเมื่อเห็นอนาคตภัยในเมล็ดพืชแห่งเถาย่านทรายจึงพากันมา
ปลอบโยนอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย เมล็ด
พืชแห่งเถาย่านทรายนั้น บางทีนกยูงอาจกลืนกินบ้าง เนื้ออาจเคี้ยวกินบ้าง ไฟป่า
อาจไหม้บ้าง พวกคนทำงานในป่าอาจถอนบ้าง ปลวกอาจกัดกินบ้าง หรือไม่
งอกขึ้น’ เถาย่านทรายนี้ เล็กและอ่อนมีย่านห้อยย้อยอยู่ มีสัมผัสอันนำความสุข
มาให้ เถาย่านทรายนั้น เลื้อยพันต้นสาละนั้น ครั้นเลื้อยพันแล้ว ตั้งอยู่ข้างบน
เหมือนร่ม แตกเถาอยู่ข้างล่าง ทำลายลำต้นใหญ่ ๆ ของต้นสาละนั้นเสีย
เทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นสาละนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านอารามเทวดา วนเทวดา
รุกขเทวดา และพวกเทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไม้อันเป็นโอสถหญ้าและต้นไม้เจ้าป่า ผู้เป็น
มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต เมื่อเห็นอนาคตภัย ในเมล็ดพืชแห่งเถาย่านทรายนี้

เชิงอรรถ :
๑ อารามเทวดา หมายถึงเทวดาผู้สถิตอยู่ในสวนไม้ดอกและไม้ผล (ม.มู.อ. ๒/๔๖๙/๒๗๙)
๒ วนเทวดา หมายถึงเทวดาผู้สถิตอยู่ในป่าอันธวันและป่าสุภควันเป็นต้น (ม.มู.อ. ๒/๔๖๙/๒๗๙)
๓ รุกขเทวดา หมายถึงเทวดาผู้สถิตอยู่ที่ต้นสะเดาเป็นต้น ซึ่งเขารักษาไว้อย่างดี (ม.มู.อ. ๒/๔๖๙/๒๗๙)
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๖๕ (อากังเขยยสูตร) หน้า ๕๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร

จึงพากันมาปลอบโยนอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย ท่านผู้เจริญ อย่า
กลัวเลย พืชแห่งเถาย่านทรายนั้น บางทีนกยูงอาจกลืนกินบ้าง เนื้ออาจเคี้ยวกินบ้าง
ไฟป่าอาจไหม้บ้าง พวกคนทำงานในป่าอาจถอนบ้าง ปลวกอาจกัดกินบ้าง หรือ
ไม่งอกขึ้น’ เรานั้นเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน เพราะพืชแห่งเถาย่าน
ทรายเป็นเหตุ’ แม้ฉันใด
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โทษในกามทั้ง
หลายไม่มี’ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกาม
ทั้งหลาย บำเรอกับพวกนางปริพาชิกาที่เกล้ามวยผมและกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ทำไม
ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้น เมื่อเห็นอนาคตภัยในกามทั้งหลาย จึงกล่าวถึงการ
ละกามทั้งหลาย บัญญัติการกำหนดรู้ในกามทั้งหลาย (อันที่จริง) การสัมผัสแขน
อันมีขนอ่อนนุ่มของนางปริพาชิกานี้ เป็นความสุข’ ย่อมถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำใน
กามทั้งหลาย ครั้นถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกามทั้งหลาย หลังจากตายแล้ว จะไป
เกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าเผ็ดร้อนในที่ที่ตน
เกิดนั้น และกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้นเมื่อเห็นอนาคตภัยใน
กามทั้งหลายนี้แล จึงกล่าวถึงการละกามทั้งหลาย บัญญัติความกำหนดรู้กาม
ทั้งหลาย อันที่จริงพวกเรานี้ ย่อมเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าเผ็ดร้อนเพราะกาม
เป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ’
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็น
วิบากในอนาคต

การสมาทานธรรมที่มีทุกข์และมีทุกข์เป็นวิบาก

[๔๗๐] การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ ปริพาชกบางคนในโลกนี้เป็นอเจลก(ประพฤติเปลือยกาย) เป็นผู้ไม่มีมารยาท
เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับ
อาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำเจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร

อาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่
รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่
กำลังบริโภค ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับอาหารของหญิงที่กำลังให้บุตรดื่ม
นม ไม่รับอาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับ
อาหารในที่เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ๆ ไม่กินปลา
ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง เขารับอาหารในเรือนหลังเดียว
ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน ๒ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ
รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗ คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๑
ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๒ ใบ ฯลฯ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๗ ใบ
กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ วัน ฯลฯ กิน
อาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือการบริโภคอาหารตามวาระ ๑๕ วันต่อมื้อเช่นนี้
อยู่ด้วยประการอย่างนี้
ปริพาชกนั้นเป็นผู้กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือย
เป็นอาหาร กินกากข้าวเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กินรำเป็นอาหาร กิน
ข้าวตังเป็นอาหาร กินกำยานเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กินมูลโคเป็นอาหาร
กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพอยู่ ปริพาชกนั้นนุ่งห่มผ้า
ป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้
นุ่งห่มหนังเสือ นุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ นุ่งห่มผ้าคากรอง นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้กรอง
นุ่งห่มผ้าผลไม้กรอง นุ่งห่มผ้ากัมพลผมมนุษย์ นุ่งห่มผ้ากัมพลขนสัตว์ นุ่งห่มผ้า
ขนปีกนกเค้า เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือถือการถอนผมและหนวด ยืนอย่างเดียว
ไม่ยอมนั่ง เดินกระโหย่งคือถือการเดินกระโหย่ง ถือการนอนบนหนามคือนอนบน
ที่นอนที่ทำด้วยหนาม ถือการลงอาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง๑ ถือการย่างและการอบกาย
หลายรูปแบบเช่นนี้อยู่ ด้วยประการอย่างนี้ หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์
เป็นวิบากในอนาคต

เชิงอรรถ :
๑ ดูข้อ ๑๕๕ (มหาสีหนาทสูตร) หน้า ๑๕๘-๑๕๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร

การสมาทานธรรมที่มีทุกข์แต่มีสุขเป็นวิบาก

[๔๗๑] การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีราคะกล้าโดยปกติ เสวยทุกข์โทมนัสอัน
เกิดจากราคะเนือง ๆ เป็นผู้มีโทสะกล้าโดยปกติ เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากโทสะ
เนือง ๆ เป็นผู้มีโมหะกล้าโดยปกติ เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากโมหะเนือง ๆ
บุคคลนั้นมีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง เป็นผู้มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่
ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ หลังจากตายแล้ว เขาไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็น
วิบากในอนาคต

การสมาทานธรรมที่มีสุขและมีสุขเป็นวิบาก

[๔๗๒] การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีราคะกล้าโดยปกติ ไม่เสวยทุกข์โทมนัส
อันเกิดจากราคะเนือง ๆ เป็นผู้ไม่มีโทสะกล้าโดยปกติ ไม่เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิด
จากโทสะเนือง ๆ เป็นผู้ไม่มีโมหะกล้าโดยปกติ ไม่เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจาก
โมหะเนือง ๆ บุคคลนั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มี
วิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุ
ทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร
มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ ... บรรลุตติยฌาน ... บรรลุจตุตถฌาน ... อยู่
หลังจากตายแล้ว เขาไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็น
วิบากในอนาคต
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรม ๔ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬธัมมสมาทานสูตรที่ ๕ จบ

๖. มหาธัมมสมาทานสูตร
ว่าด้วยการสมาทานธรรม สูตรใหญ่
เหตุที่สิ่งทั้งหลายไม่เป็นไปตามความปรารถนา

[๔๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย โดยมากสัตว์ทั้งหลายมีความปรารถนา มีความพอใจ
มีความประสงค์อย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่
น่าพอใจ จะพึงเสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ จะพึงเจริญยิ่งขึ้น’
เมื่อสัตว์เหล่านั้นมีความปรารถนา มีความพอใจ มีความประสงค์อย่างนี้ ธรรมที่
ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ย่อมเจริญยิ่งขึ้น ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ ย่อมเสื่อมไป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเหตุในข้อนั้นอย่างไร”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาค
เป็นที่พึ่ง ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอธิบายเนื้อความแห่ง
พระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับแล้วจักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
[๔๗๔] “ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะ
ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้พบสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรม
ของสัตบุรุษ ไม่รู้จักธรรมที่ควรเสพ๑ ไม่รู้จักธรรมที่ไม่ควรเสพ ไม่รู้จักธรรมที่ควร
คบ๒ ไม่รู้จักธรรมที่ไม่ควรคบ เมื่อไม่รู้จักธรรมที่ควรเสพ ไม่รู้จักธรรมที่ไม่ควรเสพ
ไม่รู้จักธรรมที่ควรคบ ไม่รู้จักธรรมที่ไม่ควรคบ ก็เสพ๓ธรรมที่ไม่ควรเสพ ไม่เสพ
ธรรมที่ควรเสพ คบธรรมที่ไม่ควรคบ ไม่คบธรรมที่ควรคบ เมื่อเสพธรรมที่ไม่
ควรเสพ ไม่เสพธรรมที่ควรเสพ คบธรรมที่ไม่ควรคบ ไม่คบธรรมที่ควรคบ
ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น ธรรมที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ ก็เสื่อมไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะปุถุชนรู้ไม่ถูกต้อง
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดใน
ธรรมของพระอริยะ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ พบสัตบุรุษ
ทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ
รู้จักธรรมที่ควรเสพ รู้จักธรรมที่ไม่ควรเสพ รู้จักธรรมที่ควรคบ รู้จักธรรมที่ไม่
ควรคบ เมื่อรู้จักธรรมที่ควรเสพ รู้จักธรรมที่ไม่ควรเสพ รู้จักธรรมที่ควรคบ รู้จัก
ธรรมที่ไม่ควรคบ ก็ไม่เสพธรรมที่ไม่ควรเสพ เสพธรรมที่ควรเสพ ไม่คบธรรมที่
ไม่ควรคบ คบธรรมที่ควรคบ เมื่อไม่เสพธรรมที่ไม่ควรเสพ เสพธรรมที่ควรเสพ
ไม่คบธรรมที่ไม่ควรคบ คบธรรมที่ควรคบ ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่
น่าพอใจ ก็เสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะอริยสาวกรู้ถูกต้อง

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมที่ควรเสพ ในที่นี้หมายถึงธรรมที่ควรให้เกิดขึ้นในสันดานของตน ได้แก่ การคบสัตบุรุษ การฟัง
สัทธรรมและการพิจารณาโดยแยบคาย (ม.มู.อ. ๒/๔๗๔/๒๘๓, ม.มู.ฏีกา ๒/๔๗๔/๓๕๘)
๒ ธรรมที่ควรคบ ในที่นี้หมายถึงธรรมที่บำเพ็ญมีทานเป็นต้น (ม.มู.อ. ๒/๔๗๔/๒๘๓, ม.มู.ฏีกา ๒/๔๗๔/
๓๕๘)
๓ เสพ ในที่นี้หมายถึงการประพฤติ การเจริญให้เกิดขึ้น (ขุ.จู.อ. ๑๖๑/๑๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

การสมาทานธรรม ๔ ประการ

[๔๗๕] ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรม ๔ ประการนี้
การสมาทานธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
๒. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
๓. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต
๔. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต
[๔๗๖] ภิกษุทั้งหลาย
๑. บรรดาการสมาทานธรรมเหล่านั้น บุคคลผู้ไม่รู้จักการสมาทานธรรม
ที่มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต ตกอยู่ในอวิชชา
ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การสมาทานธรรมนี้มีทุกข์ในปัจจุบัน
และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อไม่รู้จักการสมาทานธรรมเหล่านั้น
ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง จึงเสพการสมาทานธรรมนั้น
ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น เมื่อเสพการสมาทานธรรมนั้น ไม่
ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่
ไม่น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ย่อมเสื่อมไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นรู้ไม่ถูกต้อง
๒. บุคคลผู้ไม่รู้จักการสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็นวิบาก
ในอนาคต ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การ
สมาทานธรรมนี้มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อไม่
รู้จักการสมาทานธรรมนั้นแล้วตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความ
เป็นจริง จึงเสพการสมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น
เมื่อเสพการสมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น
ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น ธรรม
ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเสื่อมไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะบุคคลนั้นรู้ไม่ถูกต้อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

๓. บุคคลผู้ไม่รู้จักการสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็น
วิบากในอนาคต ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘การสมาทานธรรมนี้มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต’
เมื่อไม่รู้จักการสมาทานธรรมนั้น ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริง ไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทาน
ธรรมนั้น เมื่อไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทาน
ธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น
ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเสื่อมไป ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นรู้ไม่ถูกต้อง
๔. บุคคลผู้ไม่รู้จักการสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็น
วิบากในอนาคต ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘การสมาทานธรรมนี้มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อ
ไม่รู้จักการสมาทานธรรมนั้น ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความ
เป็นจริง ไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น
เมื่อไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรม
ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น ธรรมที่
น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเสื่อมไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะบุคคลนั้นรู้ไม่ถูกต้อง
[๔๗๗] ภิกษุทั้งหลาย
๑. บรรดาการสมาทานธรรมเหล่านั้น บุคคลผู้รู้จักการสมาทานธรรม
ที่มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต มีวิชชา รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘การสมาทานธรรมนี้มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์
เป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อรู้จักการสมาทานธรรมนั้น มีวิชชา รู้ชัด
ตามความเป็นจริง จึงไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการ
สมาทานธรรมนั้น เมื่อไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการ
สมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ
ก็เสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเจริญยิ่งขึ้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นรู้ถูกต้อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

๒. บุคคลผู้รู้จักการสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็น
วิบากในอนาคต มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การสมาทาน
ธรรมนี้มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อรู้จักการ
สมาทานธรรมนั้น มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริง จึงไม่เสพการ
สมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น เมื่อไม่เสพการ
สมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา
ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ ย่อมเจริญยิ่งขึ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นรู้
ถูกต้อง
๓. บุคคลผู้รู้จักการสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็น
วิบากในอนาคต มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การสมาทาน
ธรรมนี้ มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อรู้จักการ
สมาทานธรรมนั้น มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริง จึงเสพการ
สมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น เมื่อเสพการ
สมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่า
ปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเจริญยิ่งขึ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
บุคคลนั้นรู้ถูกต้อง
๔. บุคคลผู้รู้จักการสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็น
วิบากในอนาคต มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การสมาทาน
ธรรมนี้มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อรู้จักการ
สมาทานธรรมนั้น มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริง จึงเสพการ
สมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น เมื่อเสพการ
สมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่า
ปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเจริญยิ่งขึ้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะ
บุคคลนั้นรู้ถูกต้อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

การสมาทานธรรมที่มีทุกข์และมีทุกข์เป็นวิบาก

[๔๗๘] การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนฆ่าสัตว์ และ
เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนลักทรัพย์ และเพราะการลักทรัพย์เป็น
ปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนประพฤติผิดในกาม และเพราะการ
ประพฤติผิดในกามเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนพูดเท็จ และเพราะการพูดเท็จเป็นปัจจัย
เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนพูดส่อเสียด และเพราะการพูดส่อเสียด
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนพูดคำหยาบ และเพราะการพูด
คำหยาบเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนพูดเพ้อเจ้อ และเพราะการพูดเพ้อเจ้อ
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่นมาก
และเพราะการเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่นมากเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนมีจิตปองร้ายผู้อื่น และเพราะการมีจิต
ปองร้ายผู้อื่นเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนมีความเห็นผิด และเพราะความเห็นผิด
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์
เป็นวิบากในอนาคต (๑)

การสมาทานธรรมที่มีสุขแต่มีทุกข์เป็นวิบาก

[๔๗๙] การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนฆ่าสัตว์ และ
เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนลักทรัพย์ และเพราะการลักทรัพย์เป็นปัจจัย
เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนประพฤติผิดในกาม และเพราะการ
ประพฤติผิดในกามเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนพูดเท็จ และเพราะการพูดเท็จเป็นปัจจัย
เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนพูดส่อเสียด และเพราะการพูดส่อเสียด
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนพูดคำหยาบ และเพราะการพูดคำหยาบ
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนพูดเพ้อเจ้อ และเพราะการพูดเพ้อเจ้อ
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่นมาก และ
เพราะการเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่นมากเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนมีจิตปองร้ายผู้อื่น และเพราะการมีจิต
ปองร้ายผู้อื่นเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนมีความเห็นผิด และเพราะความเห็นผิด
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็น
วิบากในอนาคต (๒)

การสมาทานธรรมที่มีทุกข์แต่มีสุขเป็นวิบาก

[๔๘๐] การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจาก
การฆ่าสัตว์ และเพราะการเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการลักทรัพย์ และเพราะ
การเว้นขาดจากการลักทรัพย์เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
และเพราะการเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการพูดเท็จ และเพราะการ
เว้นขาดจากการพูดเท็จเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากพูดส่อเสียด และเพราะการ
เว้นขาดจากการพูดส่อเสียดเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากพูดคำหยาบ และเพราะการ
เว้นขาดจากการพูดคำหยาบเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ และเพราะ
การเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนไม่มีความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
และเพราะการไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่นเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนมีจิตไม่ปองร้ายผู้อื่น และเพราะการมี
จิตไม่ปองร้ายผู้อื่นเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนมีความเห็นชอบ และเพราะมีความเห็น
ชอบเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
หลังจากตายแล้วเขาย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็น
วิบากในอนาคต (๓)

การสมาทานธรรมที่มีสุขและมีสุขเป็นวิบาก

[๔๘๑] การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจาก
การฆ่าสัตว์ และเพราะการเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการลักทรัพย์ และเพราะการ
เว้นขาดจากการลักทรัพย์เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม และ
เพราะการเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการพูดเท็จ และเพราะการ
เว้นขาดจากการพูดเท็จเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากวาจาส่อเสียด และเพราะการ
เว้นขาดจากการพูดส่อเสียดเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ และเพราะ
การเว้นขาดจากการพูดคำหยาบเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ และเพราะการ
เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนไม่มีความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของ
ผู้อื่นมาก และเพราะการเว้นขาดจากการไม่มีความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนมีจิตไม่ปองร้ายผู้อื่น และเพราะการมีจิต
ไม่ปองร้ายผู้อื่นเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนมีความเห็นชอบ และเพราะมีความเห็นชอบ
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็น
วิบากในอนาคต (๔)
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรม ๔ ประการนี้แล

อุปมาของการสมาทานธรรม ๔ ประการ

[๔๘๒] ภิกษุทั้งหลาย
๑. เปรียบเหมือนน้ำเต้าขมผสมด้วยยาพิษ บุรุษที่รักชีวิต ยังไม่อยาก
ตาย รักสุขเกลียดทุกข์ มาถึง พวกชาวบ้านบอกเขาว่า ‘บุรุษผู้เจริญ
น้ำเต้าขมนี้ผสมด้วยยาพิษ ถ้าท่านหวังจะดื่ม ก็ดื่มเถิด น้ำเต้าขม
นั้น จักไม่ทำให้ท่านผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นท่านดื่ม
เข้าไปแล้วก็จักถึงตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย’ บุรุษนั้น ไม่พิจารณา
น้ำเต้าขมนั้นดื่มมิได้วาง น้ำเต้าขมนั้นก็ไม่ทำให้เขาผู้ดื่มพอใจทั้งสี
กลิ่น และรส ครั้นดื่มแล้วพึงถึงตายหรือได้รับทุกข์ปางตาย แม้ฉันใด
เรากล่าวว่า การสมาทานธรรมนี้ที่มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์เป็น
วิบาก ในอนาคต มีอุปมาฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

[๔๘๓] ภิกษุทั้งหลาย
๒. เปรียบเหมือนน้ำหวาน ๑ ภาชนะ น่าดื่ม ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น
และรส แต่ผสมด้วยยาพิษ บุรุษที่รักชีวิต ยังไม่อยากตาย รักสุข
เกลียดทุกข์ มาถึง พวกชาวบ้านก็บอกเขาว่า ‘ท่านผู้เจริญ น้ำหวาน
๑ ภาชนะ น่าดื่ม ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่นและรส แต่ผสมด้วยยาพิษ
ถ้าท่านหวังจะดื่ม ก็ดื่มเถิด น้ำหวาน ๑ ภาชนะนั้นจักทำให้ท่าน
ผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นท่านดื่มเข้าไปแล้วก็จักถึงตาย
หรือจักได้รับทุกข์ปางตาย’ บุรุษนั้นไม่พิจารณาน้ำหวาน ๑ ภาชนะนั้น
แล้วดื่มมิได้วาง น้ำหวาน ๑ ภาชนะนั้นก็ทำให้เขาผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี
กลิ่น และรส ครั้นดื่มแล้ว พึงถึงตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย
แม้ฉันใด เรากล่าวว่า การสมาทานธรรมนี้ที่มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์
เป็นวิบากใน อนาคต มีอุปมาฉันนั้น
[๔๘๔] ภิกษุทั้งหลาย
๓. เปรียบเหมือนน้ำมูตรเน่าที่ผสมด้วยยาต่าง ๆ บุรุษที่เป็นโรคผอม
เหลือง มาถึง พวกชาวบ้านบอกเขาว่า ‘บุรุษผู้เจริญ น้ำมูตรเน่า
ผสมด้วยยาต่าง ๆ นี้ ถ้าท่านหวังจะดื่ม ก็ดื่มเถิด น้ำมูตรเน่านั้น
จักไม่ทำให้ท่านผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นท่านดื่มเข้าไปแล้ว
ก็จักมีสุข’ บุรุษนั้น พิจารณาแล้วดื่มมิได้วาง น้ำมูตรเน่านั้นก็ไม่ทำ
ให้เขาผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นดื่มแล้วก็มีสุข แม้ฉันใด
เรากล่าวว่า การสมาทานธรรมนี้ที่มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็น
วิบาก ในอนาคต มีอุปมาฉันนั้น
[๔๘๕] ภิกษุทั้งหลาย
๔. เปรียบเหมือนนมส้ม น้ำผึ้ง เนยใส และน้ำอ้อย ที่ผสมเข้าด้วยกัน
บุรุษผู้เป็นโรคลงแดง มาถึง พวกชาวบ้านบอกเขาว่า ‘บุรุษผู้เจริญ
นมส้ม น้ำผึ้ง เนยใส และน้ำอ้อยนี้ เขาผสมเข้าด้วยกัน ถ้าท่าน
หวังจะดื่ม ก็ดื่มเถิด ยานั้นจักทำให้ท่านผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี กลิ่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๗. วีมังสกสูตร

และรส ครั้นท่านดื่มเข้าไปแล้วจักมีสุข’ บุรุษนั้น พิจารณายานั้น
แล้วดื่มมิได้วาง ยานั้นก็ทำให้เขาผู้ดื่มพอใจทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นดื่ม
แล้วก็มีความสุข แม้ฉันใด เรากล่าวว่าการสมาทานธรรมนี้ที่มีสุขใน
ปัจจุบันและมีสุขเป็นวิบากในอนาคต มีอุปมาฉันนั้น
[๔๘๖] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนในสารทกาลซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน
อากาศโปร่งปราศจากเมฆฝน ดวงอาทิตย์ลอยอยู่ในท้องฟ้า กำจัดความมืดในอากาศ
ทั้งสิ้น ย่อมส่องแสงสว่างเจิดจ้า แม้ฉันใด การสมาทานธรรมนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็นวิบากในอนาคต กำจัดคำติเตียนของผู้อื่นคือสมณพราหมณ์
เป็นอันมากเหล่าอื่น ย่อมส่องแสงสว่างเจิดจ้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาธัมมสมาทานสูตรที่ ๖ จบ

๗. วีมังสกสูตร
ว่าด้วยผู้ตรวจสอบ๑

[๔๘๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ตรวจสอบ มี ๓ จำพวก คือ (๑) อัตถวีมังสกะ หมายถึงผู้พิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
(๒) สังขารวีมังสกะ หมายถึงผู้พิจารณาสังขารธรรม โดยลักษณะของธรรมนั่น โดยสามัญญลักษณะ และ
โดยวิภาคธรรม (๓) สัตถุวีมังสกะ หมายถึงผู้พิจารณาตรวจสอบพระศาสดา เช่น พิจารณาว่า ขึ้นชื่อว่า
ศาสดาต้องมีคุณเช่นนี้ ๆ ในสูตรนี้ หมายเอาสัตถุวีมังสกะ (ม.มู.อ. ๒/๔๘๗/๒๘๖, ม.มู.ฏีกา ๒/๔๘๗/๓๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๗. วีมังสกสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วาระจิตของผู้อื่น พึงทำการพิจารณา
ตรวจสอบตถาคตเพื่อทราบว่า ‘ตถาคตเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาค
เป็นที่พึ่ง ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอธิบายเนื้อความแห่ง
พระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับแล้วจักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

การตรวจสอบธรรมของพระตถาคต

[๔๘๘] “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วาระจิตของผู้อื่น พึง
พิจารณาตรวจสอบตถาคตในธรรม ๒ ประการ คือ (๑) ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตา
(๒) ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางหูว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอัน
เศร้าหมองหรือไม่’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคต
มิได้มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง’
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึง
รู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า
‘ตถาคต มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน๑หรือไม่’ เมื่อพิจารณา
ตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและ
ทางหูอันเจือกัน’
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึงรู้
แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า
‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้ทางตาและทางหูอันผ่องแผ้วหรือไม่’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบ
ตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว’

เชิงอรรถ :
๑ เจือกัน หมายถึงเป็นสิ่งผสมกัน กล่าวคือบางครั้งเป็นธรรมดำ บางคราวเป็นธรรมขาว (ม.มู.อ. ๒/๔๘๘/๒๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๗. วีมังสกสูตร

เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้ง
ทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า
‘ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาลช้านาน หรือมีชั่วกาลนิดหน่อย’ เมื่อตรวจสอบตถาคต
นั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาลช้านาน มิใช่ว่ามีชั่วกาลนิดหน่อย’
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาล
ช้านาน มิใช่ว่ามีชั่วกาลนิดหน่อย’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า
‘ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศ ท่านมีโทษบางอย่างในโลกนี้บ้างหรือไม่’ เพราะภิกษุ
ยังไม่มีโทษบางอย่างในโลกนี้ชั่วเวลาที่ตนยังไม่มีชื่อเสียง ยังไม่มียศ แต่เมื่อมี
ชื่อเสียง มียศแล้ว ก็จะมีโทษบางอย่างในโลกนี้ ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อพิจารณา
ตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศแล้ว (แต่)มิได้
มีโทษบางอย่างในโลกนี้’
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศแล้ว
(แต่)มิได้มีโทษบางอย่างในโลกนี้’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นว่า
‘ท่านผู้นี้ไม่มีภัย มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว เนื่องจาก
สิ้นราคะ’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่มีภัย
มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว เนื่องจากสิ้นราคะ’
หากชนเหล่าอื่นจะพึงถามภิกษุนั้นว่า ‘ท่านมีอะไรเป็นเครื่องบ่งชี้ที่เป็นเหตุให้
ท่านกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่มีภัย มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว
เนื่องจากสิ้นราคะ’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องควรตอบอย่างนี้ว่า ‘จริงอย่างนั้น
ท่านผู้นี้อยู่ในหมู่หรืออยู่ผู้เดียว จะไม่ดูหมิ่นหมู่ชนในที่นั้น ผู้ดำเนินไปดี ดำเนิน
ไปชั่ว สั่งสอนคณะ บางพวกติดอยู่ในอามิสในโลกนี้ และบางพวกไม่ติดอยู่ในอามิส
ในโลกนี้ เราได้สดับรับความข้อนี้มาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘เราเป็น
ผู้ไม่มีภัย มิใช่เป็นผู้มีภัย เพราะปราศจากราคะแล้ว ไม่เสพกามเพราะปราศจาก
ราคะแล้ว เนื่องจากสิ้นราคะ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๗. วีมังสกสูตร

ทรงเปิดโอกาสให้สอบถามยิ่งขึ้น

[๔๘๙] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้พิจารณาเหล่านั้น ภิกษุผู้พิจารณา
รูปหนึ่ง ควรสอบถามตถาคตต่อไปว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหู
อันเศร้าหมองหรือไม่’ ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรม
ที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง’
ควรสอบถามตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและ
ทางหูอันเจือกันหรือไม่’ ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรม
ที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน’
ควรสอบถามตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและ
ทางหูอันผ่องแผ้วหรือไม่’ ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่
จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว’ เราเป็นผู้มีธรรมที่ผ่องแผ้วนั้นเป็นทาง
เป็นที่โคจร เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา’
สาวกควรจะเข้าไปหาศาสดาผู้มีวาทะอย่างนี้เพื่อฟังธรรม ศาสดาก็จะแสดง
ธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนดำและส่วนขาวแก่สาวกนั้น
ศาสดาก็แสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนดำและส่วนขาว
แก่ภิกษุโดยประการใด ภิกษุนั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้นโดยประการนั้น
ถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย ก็จะเลื่อมใสในศาสดาว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้
ปฏิบัติดีแล้ว’
หากชนเหล่าอื่นพึงสอบถามภิกษุนั้นอีกอย่างนี้ว่า ‘ท่านมีอะไรเป็นเครื่องบ่งชี้
ที่เป็นเหตุให้ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็ควรตอบอย่างนี้ว่า ‘ท่าน
ผู้มีอายุทั้งหลาย เราเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับเพื่อฟังธรรม พระผู้มี
พระภาคก็ทรงแสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้นทั้งที่เป็นส่วนดำ และส่วนขาว
แก่เรานั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้นทั้งที่เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๘. โกสัมพิยสูตร

ส่วนดำและส่วนขาวแก่เราโดยประการใด เราก็รู้ยิ่งซึ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้น
โดยประการนั้น ถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย ก็จะเลื่อมใสในพระศาสดาว่า
‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีไว้แล้ว
พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
[๔๙๐] ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาของบุคคลใดบุคคลหนึ่งตั้งมั่นแล้วในตถาคต
มีมูล มีที่อาศัย ด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ ศรัทธานี้เรากล่าวว่ามีเหตุ
มีทัสสนะเป็นมูล๑ มั่นคง ซึ่งสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ
ในโลกไม่พึงให้หวั่นไหวได้
ภิกษุทั้งหลาย การตรวจสอบธรรมในตถาคต ย่อมมีอย่างนี้ ตถาคตเป็นผู้ที่
ภิกษุพิจารณาตรวจสอบดีแล้วโดยธรรม อย่างนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

วีมังสกสูตรที่ ๗ จบ

๘. โกสัมพิยสูตร
ว่าด้วยภิกษุชาวเมืองโกสัมพี
ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีวิวาทกัน

[๔๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้น
พวกภิกษุในกรุงโกสัมพีต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปาก
ทิ่มแทงกันอยู่ ไม่ทำความเข้าใจกัน ไม่ปรารถนาปรับความเข้าใจกัน ไม่ทำความ
ปรองดองกัน ไม่ปรารถนาความปรองดองกัน

เชิงอรรถ :
๑ มีทัสสนะเป็นมูล ในที่นี้หมายถึงมีโสดาปัตติมรรคเป็นมูลเหตุ (ม.มู.อ. ๒/๔๙๐/๒๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๘. โกสัมพิยสูตร

ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควรได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ภิกษุทั้งหลายในกรุงโกสัมพีต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปาก
ทิ่มแทงกันอยู่ ไม่ทำความเข้าใจกัน ไม่ปรารถนาปรับความเข้าใจกัน ไม่ทำความ
ปรองดองกัน ไม่ปรารถนาความปรองดองกัน”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “มาเถิด ภิกษุ
เธอจงเรียกภิกษุเหล่านั้นมาตามคำของเราว่า ‘พระศาสดาตรัสเรียกท่านทั้งหลาย”
ภิกษุรูปนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ แล้วได้
กล่าวว่า “พระศาสดาตรัสเรียกท่านทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำภิกษุนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เธอ
ทั้งหลายต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ ไม่ทำ
ความเข้าใจกัน ไม่ปรารถนาปรับความเข้าใจกัน ไม่ทำความปรองดองกัน ไม่
ปรารถนาความปรองดองกัน จริงหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่า
อย่างไร สมัยใด เธอทั้งหลายต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปาก
ทิ่มแทงกันอยู่ สมัยนั้น เธอทั้งหลายตั้งมั่นเมตตากายกรรม ตั้งมั่นเมตตาวจีกรรม
และตั้งมั่นเมตตามโนกรรมในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลังบ้าง
หรือไม่”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า สมัยใด เธอทั้งหลายต่าง
บาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ สมัยนั้น เธอ
ทั้งหลายก็ไม่ตั้งมั่นเมตตากายกรรม ไม่ตั้งมั่นเมตตาวจีกรรม และไม่ตั้งมั่นเมตตา
มโนกรรมในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๘. โกสัมพิยสูตร

โมฆบุรุษทั้งหลาย เมื่อเป็นดังนี้ เธอทั้งหลายรู้อะไร เห็นอะไร จึงต่าง
บาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ ไม่ทำความเข้าใจกัน
ไม่ปรารถนาปรับความเข้าใจกัน ไม่ทำความปรองดองกัน ไม่ปรารถนาความ
ปรองดองกันอยู่
โมฆบุรุษทั้งหลาย ข้อนั้นนั่นแลจักมีเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์
แก่เธอทั้งหลายตลอดกาลนาน”

สาราณียธรรม ๖ ประการ

[๔๙๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย สาราณียธรรม(ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน) ๖ ประการนี้ ทำให้เป็นที่รัก
ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อ
ความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน๑
สาราณียธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ตั้งมั่นเมตตากายกรรม๒ ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งต่อหน้าและ
ลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้ ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความ
สามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๒. ตั้งมั่นเมตตาวจีกรรม ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งต่อหน้าและ
ลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้ ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความ
สามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน

เชิงอรรถ :
๑ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน หมายถึงความเป็นเอกภาพ ไม่ก่อความแตกแยก (ม.มู.อ. ๒/๔๙๒/๓๐๒,
องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๒/๑๐๔)
๒ เมตตากายกรรม หมายถึงกายกรรมที่พึงทำด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา และเมตตาวจีกรรม เมตตา-
มโนกรรม ก็มีอรรถาธิบายเช่นเดียวกันนี้ (ม.มู.อ. ๒/๔๙๒/๓๐๒, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๑/๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๘. โกสัมพิยสูตร

๓. ตั้งมั่นเมตตามโนกรรม ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งต่อหน้าและ
ลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้ ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความ
สามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๔. บริโภคโดยไม่แบ่งแยก๑ ลาภทั้งหลายที่ประกอบด้วยธรรม ได้มา
โดยธรรม โดยที่สุดแม้เพียงบิณฑบาต บริโภคร่วมกับเพื่อนพรหม-
จารีทั้งหลายผู้มีศีลทั้งต่อหน้าและลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้ ทำให้
เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อ
ความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๕. เป็นผู้มีศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ
ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ เสมอกันกับเพื่อน
พรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้
ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๖. เป็นผู้มีทิฏฐิโดยทิฏฐิอันประเสริฐ เป็นนิยยานิกธรรม๒ เพื่อ
ความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ทำตาม เสมอกันกับเพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายทั้งต่อหน้าและลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้ ทำให้เป็นที่รัก
ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความ
ไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
ภิกษุทั้งหลาย สาราณียธรรม ๖ ประการนี้ ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อ
ความเป็นอันเดียวกัน ทิฏฐิอันไกลจากกิเลสที่เป็นข้าศึก เป็นนิยยานิกธรรมนำ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่แบ่งแยก หมายถึงไม่แบ่งแยกอามิสโดยคิดว่า “จะให้เท่านี้ ๆ” และไม่แบ่งแยกบุคคลโดยคิดว่า “จะให้
แก่คนนั้น ไม่ให้แก่คนนี้” (ม.มู.อ. ๒/๔๙๒/๓๐๓, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๑/๙๙)
๒ นิยยานิกธรรม หมายถึงธรรมที่ตัดมูลรากแห่งวัฏฏะ ทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ แล้วนำสัตว์ออกจากวัฏฏะ
(อภิ.สงฺ.อ. ๘๓-๑๐๐/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๘. โกสัมพิยสูตร

บุคคลผู้ทำตามนั้นออกไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมชั้นยอดที่ยึดคุม
สาราณียธรรม ๖ ประการนี้ไว้
ภิกษุทั้งหลาย ยอดอันเป็นส่วนสูงสุดเป็นที่ยึดคุมเรือนยอด แม้ฉันใด ทิฏฐิ
อันไกลจากกิเลสที่เป็นข้าศึก เป็นนิยยานิกธรรมนำบุคคลผู้ทำตามนั้นออกไป เพื่อ
ความสิ้นทุกข์โดยชอบนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นธรรมชั้นยอดที่ยึดคุมสาราณียธรรม
๖ ประการนี้ไว้

ทิฏฐิคือญาณของอริยสาวก ๗ ประการ

[๔๙๓] ทิฏฐิอันประเสริฐ เป็นนิยยานิกธรรม เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ
แก่ผู้ทำตามเสมอกัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เรามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลส(กิเลสเป็นเครื่องครอบงำ)
ใดครอบงำแล้ว ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง ปริยุฏฐานกิเลสนั้นที่เรายังละไม่ได้
ในภายในมีอยู่หรือ’
ถ้าภิกษุมีจิตถูกกามราคะครอบงำ ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว
มีจิตถูกพยาบาทครอบงำ ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว มีจิตถูก
ถีนมิทธะครอบงำ ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว มีจิตถูกอุทธัจจ-
กุกกุจจะครอบงำ ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว มีจิตถูกวิจิกิจฉาครอบงำ
ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว มีความขวนขวายในการคิดเรื่องโลกนี้
ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว มีความขวนขวายในการคิดเรื่องโลกหน้า
ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทง
กันอยู่ ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘เรามีจิต
ถูกปริยุฏฐานกิเลสใดครอบงำแล้ว ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง ปริยุฏฐานกิเลส
นั้นที่เรายังละไม่ได้ในภายใน มิได้มีเลย เราตั้งจิตไว้ดีแล้ว เพื่อตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๘. โกสัมพิยสูตร

นี้คือญาณที่ ๑ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่ง
ภิกษุนั้นบรรลุแล้ว
[๔๙๔] อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้
ก็ได้ความสงบเฉพาะตน ก็ได้ความดับกิเลสเฉพาะตนหรือ’ อริยสาวกนั้น ก็รู้ชัด
อย่างนี้ว่า ‘เรา เสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้ ก็ได้ความสงบเฉพาะตน ก็ได้
ความดับกิเลสเฉพาะตน’
นี้คือญาณที่ ๒ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่ง
อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
[๔๙๕] อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เรามีทิฏฐิเช่นใด สมณะหรือ
พราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้ผู้มีทิฏฐิเช่นนั้นมีอยู่หรือ’ อริยสาวกนั้น ก็รู้ชัดอย่างนี้
ว่า ‘เรามีทิฏฐิเช่นใด สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้ ผู้มีทิฏฐิเช่นนั้น
มิได้มี’
นี้คือญาณที่ ๓ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่ง
อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
[๔๙๖] อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพเช่นใด
ถึงเราก็มีสภาพเช่นนั้น’
บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพอย่างนี้ คือ การออกจากอาบัติ
เช่นใดย่อมปรากฏ อริยสาวกต้องอาบัติเช่นนั้นก็รีบแสดง เปิดเผย ทำให้ชัดเจน
อาบัตินั้นในสำนักศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารีที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย ครั้นแสดง
เปิดเผย ทำให้ชัดเจนแล้วก็สำรวมระวังต่อไป เด็กอ่อนที่นอนหงาย มือหรือเท้า
ถูกถ่านไฟแล้วก็ชักมือหรือเท้ากลับทันที แม้ฉันใด บุคคลผู้มีทิฏฐิก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นผู้มีสภาพอย่างนี้ คือการออกจากอาบัติเช่นใดย่อมปรากฏ อริยสาวกต้องอาบัติ
เช่นนั้น ก็รีบแสดง เปิดเผย ทำให้ชัดเจนอาบัตินั้นในสำนักศาสดา หรือเพื่อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๘. โกสัมพิยสูตร

พรหมจารีที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย ครั้นแสดง เปิดเผย ทำให้ชัดเจนแล้วก็สำรวม
ระวังต่อไป อริยสาวกนั้น ก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพเช่นใด
ถึงเราก็มีสภาพเช่นนั้น’
นี้คือญาณที่ ๔ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่ง
อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
[๔๙๗] อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพเช่นใด
ถึงเราก็มีสภาพเช่นนั้น’
บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพอย่างนี้ คือ อริยสาวกมีความ
ขวนขวายในกิจอะไร ทั้งน้อยใหญ่ที่ควรทำของเพื่อนพรหมจารีโดยแท้ ถึงอย่างนั้น
ความปรารถนาอันแรงกล้าในอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
ของอริยสาวกนั้นมีอยู่ โคแม่ลูกอ่อน เล็มหญ้าพลางชำเลืองดูลูกไปพลาง แม้ฉันใด
บุคคลผู้มีทิฏฐิก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีสภาพอย่างนี้ คือ อริยสาวกมีความ
ขวนขวายในกิจอะไร ทั้งน้อยใหญ่ที่ควรทำของเพื่อนพรหมจารีโดยแท้ ถึงอย่างนั้น
ความปรารถนาอันแรงกล้าในอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
ของอริยสาวกนั้นมีอยู่ อริยสาวกนั้น ก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพ
เช่นใด ถึงเราก็มีสภาพเช่นนั้น’
นี้คือญาณที่ ๕ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่ง
อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
[๔๙๘] อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละเช่นใด
ถึงเราก็มีพละเช่นนั้น’
บุคคลผู้มีทิฏฐินั้น เป็นผู้มีพละอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละอย่างนี้ คือ เมื่อบัณฑิตแสดง
ธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อริยสาวกนั้น สนใจ ใส่ใจ กำหนดด้วยจิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๘. โกสัมพิยสูตร

ทั้งปวงแล้วเงี่ยโสตฟังธรรม อริยสาวกนั้นก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้มี
ทิฏฐิ เป็นผู้มีพละเช่นใด ถึงเราก็มีพละเช่นนั้น’’
นี้คือญาณที่ ๖ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่ง
อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
[๔๙๙] อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละเช่นใด
ถึงเราก็มีพละเช่นนั้น’
บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละอย่างนี้ คือ เมื่อบัณฑิตแสดง
ธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อริยสาวกนั้น ได้ความรู้แจ้งอรรถ ได้ความรู้แจ้ง
ธรรม และได้ความปราโมทย์ในธรรม อริยสาวกนั้นก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้มี
ทิฏฐิ เป็นผู้มีพละเช่นใด ถึงเราก็มีพละเช่นนั้น’
นี้คือญาณที่ ๗ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่ง
อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
[๕๐๐] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้
ตรวจสอบสภาวธรรมดีแล้ว ด้วยการทำให้แจ้งโสดาปัตติผลอย่างนี้ อริยสาวกผู้
ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยโสดาปัตติผลแล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

โกสัมพิยสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร

๙. พรหมนิมันตนิกสูตร
ว่าด้วยการเชื้อเชิญของพรหม

[๕๐๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระ
ภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โคนต้นสาละใหญ่ในสุภควัน ใกล้เมือง
อุกกัฏฐา ในสมัยนั้น พกพรหมมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า ‘พรหมสถาน๑นี้เที่ยง
ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนไปเป็นธรรมดา พรหมสถานนี้ ไม่เกิด
ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แลเหตุเครื่องสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่ง นอก
จากพรหมสถานนี้ไม่มี’ ครั้งนั้น เรารู้ความคิดคำนึงของพกพรหมด้วยใจแล้ว จึง
อันตรธานจากโคนต้นสาละใหญ่ในสุภควันใกล้เมืองอุกกัฏฐา ไปปรากฏในพรหมโลกนั้น
เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออก หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น พกพรหมได้เห็น
เราผู้มาแต่ไกล แล้วได้กล่าวกับเราว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ เชิญเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จ
ท่านได้พูดว่า ‘จะมาที่นี้นานมาแล้ว ท่านผู้นิรทุกข์ พรหมสถานนี้ เที่ยง ยั่งยืน
มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนไปเป็นธรรมดา พรหมสถานนี้ ไม่เกิด ไม่แก่
ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แลการสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่ง นอกจากพรหม-
สถานนี้ไม่มี’

เชิงอรรถ :
๑ พรหมสถาน หมายถึงพกพรหมมีความเห็นว่า พรหมสถานพร้อมทั้งร่างกายเป็นภาวะที่เที่ยง (ม.มู.อ.
๒/๕๐๑/๓๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพกพรหมกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกับพกพรหมว่า
‘พกพรหมผู้เจริญตกอยู่ในอำนาจอวิชชาแล้วหนอ พกพรหมผู้เจริญตกอยู่ใน
อำนาจอวิชชาแล้วหนอ เพราะว่าพกพรหมกล่าวสิ่งที่ไม่เที่ยงว่า ‘เที่ยง’ กล่าวสิ่ง
ที่ไม่ยั่งยืนว่า ‘ยั่งยืน’ กล่าวสิ่งที่ไม่มั่นคงว่า ‘มั่นคง’ กล่าวสิ่งที่ไม่แข็งแรงว่า
‘แข็งแรง’ กล่าวสิ่งที่มีความเคลื่อนไปเป็นธรรมดาว่า ‘มีความไม่เคลื่อนไปเป็นธรรมดา’
ก็แลสัตว์เกิด แก่ ตาย จุติ และอุบัติอยู่ในพรหมสถานใด พกพรหมกล่าว
พรหมสถานนั้นว่า ‘พรหมสถานนี้ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ และ
กล่าวการสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นซึ่งมีอยู่ว่า ‘การสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่ง
อื่นไม่มี’

มารเข้าสิงกายพรหม

[๕๐๒] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น มารใจบาปเข้าสิงกายพรหมปาริสัชชะผู้หนึ่ง
แล้วกล่าวกับเราว่า ‘ภิกษุ ภิกษุ อย่ารุกรานพกพรหมนี้เลย อย่ารุกรานพกพรหม
นี้เลย เพราะว่าพรหมผู้นี้เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ คณะพรหมฝ่าฝืนไม่ได้ โดยที่แท้
เป็นผู้รู้ทั่วไป ยังสรรพสัตว์ให้เป็นไปในอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้างโลก นิรมิตโลก
เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้แต่งสัตว์ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นบิดาของเหล่าสัตว์ที่เกิดแล้ว
และที่กำลังจะเกิด สมณพราหมณ์พวกก่อนท่าน เป็นผู้ติเตียนดิน เกลียดดิน เป็นผู้
ติเตียนน้ำ เกลียดน้ำ เป็นผู้ติเตียนไฟ เกลียดไฟ เป็นผู้ติเตียนลม เกลียดลม
เป็นผู้ติเตียนสัตว์ เกลียดสัตว์ เป็นผู้ติเตียนเทวดา เกลียดเทวดา เป็นผู้ติเตียน
ปชาบดี เกลียดปชาบดี เป็นผู้ติเตียนพรหม เกลียดพรหมในโลก หลังจากตายแล้ว
สมณพราหมณ์เหล่านั้นจะไปเกิดในพวกที่เลว
ส่วนสมณพราหมณ์พวกก่อนท่าน เป็นผู้สรรเสริญดิน ชมเชยดิน เป็นผู้
สรรเสริญน้ำ ชมเชยน้ำ เป็นผู้สรรเสริญไฟ ชมเชยไฟ เป็นผู้สรรเสริญลม ชมเชยลม
เป็นผู้สรรเสริญสัตว์ ชมเชยสัตว์ เป็นผู้สรรเสริญเทวดา ชมเชยเทวดา เป็นผู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร

สรรเสริญปชาบดี ชมเชยปชาบดี เป็นผู้สรรเสริญพรหม ชมเชยพรหม หลังจาก
ตายแล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้น จะไปเกิดในพวกที่ดี
เพราะเหตุนั้น เราจึงบอกกับท่านว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ เชิญเถิด ท่านจงทำ
ตามคำที่พรหมบอกแก่ท่านเท่านั้น ท่านจงอย่าฝ่าฝืนคำของพรหมเลย ถ้าท่านจัก
ฝ่าฝืนคำของพรหม โทษจักมีแก่ท่าน เปรียบเหมือนบุรุษเอาท่อนไม้ไล่ตีสิริที่มาหา
หรือเปรียบเหมือนบุรุษผู้ตกเหวลึก ชักมือ และเท้าให้ห่างแผ่นดินเสียฉะนั้น ท่าน
ผู้นิรทุกข์ เชิญเถิด ท่านจงทำตามคำที่พรหมบอกแก่ท่านเท่านั้น ท่านจงอย่าฝ่า
ฝืนคำของพรหมเลย ภิกษุ ท่านเห็นพรหมบริษัทประชุมกันแล้วมิใช่หรือ’ มารใจ
บาปเปรียบเรากับพรหมบริษัทนี้ ดังนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมารกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกับมารผู้ใจบาปนั้นว่า
‘มารผู้ใจบาป เรารู้จักท่าน ท่านอย่าเข้าใจว่า ‘พระสมณะไม่รู้จักเรา’ ท่านเป็นมาร
พรหมก็ดี พรหมบริษัทก็ดี พรหมปาริสัชชะก็ดี ทั้งหมดนั้นอยู่ในมือของท่าน
ตกอยู่ในอำนาจของท่าน และท่านก็มีความดำริว่า ‘แม้พระสมณะก็ต้องอยู่ในมือ
ของเรา ต้องอยู่ในอำนาจของเรา’ แต่ว่า เราไม่ได้อยู่ในมือของท่าน ไม่ได้ตกอยู่
ในอำนาจของท่านเลย’

พกพรหมหายไปจากพระผู้มีพระภาค

[๕๐๓] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว พกพรหมได้กล่าวว่า
‘ท่านผู้นิรทุกข์ เรากล่าวสิ่งที่เที่ยงว่า ‘เที่ยง’ กล่าวสิ่งที่มั่นคงว่า ‘มั่นคง’ กล่าว
สิ่งที่ยั่งยืนว่า ‘ยั่งยืน’ กล่าวสิ่งที่แข็งแรงว่า ‘แข็งแรง’ กล่าวสิ่งที่ไม่มีความเคลื่อน
เป็นธรรมดาว่า ‘ไม่มีความเคลื่อนเป็นธรรมดา’ ก็แลสัตว์ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย
ไม่จุติ ไม่อุบัติในพรหมสถานใด เรากล่าวถึงพรหมสถานนั้นว่า ‘พรหมสถานนี้
ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ และกล่าวการสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่ง
อื่นซึ่งไม่มีว่า ‘การสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นไม่มี’ สมณพราหมณ์พวกก่อนท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร

ได้มีแล้วในโลก อายุของท่านทั้งสิ้นมีประมาณเท่าใด กรรมที่ทำด้วยตบะของสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นก็มีประมาณเท่านั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้น จะพึงรู้การสลัด
ออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นซึ่งมีว่า ‘การสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นมี’ หรือจะพึงรู้
การสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นซึ่งไม่มีว่า ‘การสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นไม่มี’
เพราะเหตุนั้นเราจึงกล่าวกับท่านอย่างนี้ว่า ‘ท่านจักไม่เห็นการสลัดออกจากทุกข์
อย่างยิ่งอื่นเลย แม้ว่าท่านจักเป็นผู้มีความลำบากและความคับแค้นใจก็ตาม ภิกษุ
ถ้าท่านจักกลืนกินแผ่นดิน ท่านก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้เรา นอนในที่อยู่ของเรา
เราพึงทำได้ตามประสงค์ เราพึงห้ามได้ ถ้าท่านกลืนกินน้ำ ... ถ้าท่านกลืนกินไฟ ...
ถ้าท่านกลืนกินลม ... ถ้าท่านกลืนกินเหล่าสัตว์ ... ถ้าท่านกลืนกินเทวดา ... ถ้าท่าน
กลืนกินปชาบดี ... ถ้าท่านกลืนกินพรหม ท่านก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้เรา นอนใน
ที่อยู่ของเรา เราพึงทำได้ตามประสงค์ เราพึงห้ามได้’
เรากล่าวว่า ‘พรหม แม้เราก็รู้อย่างนี้ว่า ‘ถ้าเราจักกลืนกินแผ่นดิน เราก็จัก
ชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้ท่าน นอนในที่อยู่ของท่าน ท่านพึงทำได้ตามประสงค์ ท่านพึง
ห้ามได้ และถ้าเราจักกลืนกินน้ำ ... ถ้าเราจักกลืนกินไฟ ... ถ้าเราจักกลืนกินลม ...
ถ้าเราจักกลืนกินเหล่าสัตว์ ... ถ้าเราจักกลืนกินเทวดา ... ถ้าเราจักกลืนกินปชาบดี ...
ถ้าเราจักกลืนกินพรหม เราก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้ท่าน นอนในที่อยู่ของท่าน
ท่านพึงทำได้ตามประสงค์ ท่านพึงห้ามได้ ใช่แต่เท่านั้น เรารู้คติ และรู้ความ
รุ่งเรืองของท่านว่า ‘พกพรหมมีฤทธิ์มากอย่างนี้ พกพรหมมีอานุภาพมากอย่างนี้
พกพรหมมีศักดิ์มากอย่างนี้’ พกพรหมถามเราว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านรู้คติและรู้
ความรุ่งเรืองของเราว่า ‘พกพรหมมีฤทธิ์มากอย่างนี้ พกพรหมมีอานุภาพมาก
อย่างนี้ พกพรหมมีศักดิ์มากอย่างนี้ได้อย่างไร’ เรากล่าวว่า
‘ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
ย่อมโคจรส่องทิศให้สว่างอยู่เท่าใด
อำนาจของท่านย่อมเป็นไปใน ๑,๐๐๐ จักรวาลเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร

ท่านย่อมรู้จักสัตว์ที่เลวและสัตว์ที่ประณีต
รู้จักสัตว์ที่มีราคะและสัตว์ที่ไม่มีราคะ
รู้จักจักรวาลนี้และจักรวาลอื่น
และรู้จักการมาและการไปของสัตว์ทั้งหลาย’
พรหม เรารู้คติและรู้ความรุ่งเรืองของท่านอย่างนี้ว่า ‘พกพรหมมีฤทธิ์มาก
อย่างนี้ พกพรหมมีอานุภาพมากอย่างนี้ พกพรหมมีศักดิ์มากอย่างนี้’
[๕๐๔] พรหม หมู่พรหมอื่นมีอยู่ ท่านไม่รู้ ไม่เห็นหมู่พรหมนั้น (แต่)เรารู้
เห็นหมู่พรหมนั้น หมู่พรหมชื่ออาภัสสรามีอยู่ ท่านเคลื่อนแล้วจากที่ใด มาอุบัติ
แล้วในที่นี้ ท่านมีสติหลงลืมไปเพราะอยู่อาศัยนานนัก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่รู้
ไม่เห็นหมู่พรหมนั้น (แต่)เรารู้ เห็นหมู่พรหมนั้น เรากับท่านเทียบกันไม่ได้ด้วย
ปัญญาอันรู้ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้ เรา
เท่านั้นเป็นผู้สูงยิ่งกว่าท่าน
หมู่พรหมชื่อสุภกิณหา มีอยู่ ...
หมู่พรหมชื่อเวหัปผลา มีอยู่ ...
หมู่พรหมชื่ออภิภู มีอยู่ ท่านไม่รู้ ไม่เห็นหมู่พรหมนั้น (แต่)เรารู้ เห็นหมู่
พรหมนั้น เรากับท่านเทียบกันไม่ได้ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้
ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้เราเท่านั้นเป็นผู้สูงยิ่งกว่าท่าน
พรหม เรารู้จักดินโดยความเป็นดิน รู้จักนิพพานที่สัตว์เสวยไม่ได้๑ โดยความ
ที่ดินเป็นดิน แล้วไม่เป็นดิน๒ ไม่ได้มีแล้วในดิน ไม่ได้มีแล้วจากดิน ไม่ได้มีแล้วว่า
ดินเป็นของเรา ไม่ได้กล่าวเฉพาะดิน เราเทียบไม่ได้กับท่านด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งแม้
อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้ เราเท่านั้นเป็นผู้สูงยิ่ง

เชิงอรรถ :
๑ ที่สัตว์เสวยไม่ได้ หมายถึงที่สัตว์ครอบครองไม่ได้ บรรลุไม่ได้โดยความที่ดินเป็นดิน (ม.มู.อ.
๒/๕๐๔/๓๒๐)
๒แล้วไม่เป็นดิน หมายถึงไม่ยึดถือดินด้วยอำนาจตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ม.มู.อ. ๒/๕๐๔/๓๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร

กว่าท่าน เรารู้จักน้ำ ... เรารู้จักไฟ ... เรารู้จักลม ... เรารู้จักเหล่าสัตว์ ... เรา
รู้จักเทวดา ... เรารู้จักปชาบดี ... เรารู้จักพรหม ... เรารู้จักอาภัสสรพรหม ...
เรารู้จักสุภกิณหพรหม ... เรารู้จักเวหัปผลพรหม ... เรารู้จักอภิภูพรหม ...
เรารู้จักสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นสิ่งทั้งปวง รู้จักนิพพานที่สัตว์เสวยไม่ได้โดย
ความที่สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งทั้งปวงแล้วไม่เป็นสิ่งทั้งปวง ไม่ได้มีในสิ่งทั้งปวง ไม่ได้มี
จากสิ่งทั้งปวง ไม่ได้มีว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของเรา ไม่ได้กล่าวเฉพาะสิ่งทั้งปวง
พรหม เราเทียบกับท่านไม่ได้ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้
ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้ เราเท่านั้นเป็นผู้สูงยิ่งกว่าท่าน พกพรหม
กล่าวกับเราว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ถ้าเพราะท่านรู้นิพพานที่สัตว์เสวยไม่ได้โดยความที่
สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งทั้งปวง ถ้อยคำของท่าน อย่าได้ว่าง อย่าได้เปล่าเสียเลย’
นิพพานที่ผู้บรรลุจะพึงรู้แจ้งได้ เป็นอนิทัสสนะ๑ เป็นอนันตะ๒(ไม่สิ้นสุด) มี
รัศมีกว่าสิ่งทั้งปวง สัตว์เสวยไม่ได้โดยความที่ดินเป็นดิน โดยความที่น้ำเป็นน้ำ
โดยความที่ไฟเป็นไฟ โดยความที่ลมเป็นลม โดยความที่เหล่าสัตว์เป็นเหล่าสัตว์
โดยความที่เทวดาเป็นเทวดา โดยความที่ปชาบดีเป็นปชาบดี โดยความที่พรหม
เป็นพรหม โดยความที่อาภัสสรพรหมเป็นอาภัสสรพรหม โดยความที่สุภกิณห-
พรหมเป็นสุภกิณหพรหม โดยความที่เวหัปผลพรหมเป็นเวหัปผลพรหม โดย
ความที่อภิภูพรหมเป็นอภิภูพรหม โดยความที่สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งทั้งปวง
พกพรหมกล่าวกับเราว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านจงดู บัดนี้ เราจะอันตรธาน
ไปจากท่าน’ เรากล่าวว่า ‘พรหม หากท่านสามารถ บัดนี้ ก็จงอันตรธานไปจาก
เราเถิด’ ครั้งนั้น พกพรหมกล่าวว่า ‘เราจักอันตรธานไปจากพระสมณโคดม เรา
จักอันตรธานไปจากพระสมณโคดม’ แต่ก็ไม่อาจอันตรธานไปจากเราได้เลย

เชิงอรรถ :
๑ อนิทัสสนะ หมายถึงสภาวะที่มองไม่เห็นเพราะอยู่เหนือจักขุวิญญาณ (ม.มู.อ. ๒/๕๐๔/๓๒๑)
๒ อนันตะ หมายถึงไม่มีที่สุด เพราะไม่มีการเกิดขึ้นและการดับไป (ม.มู.อ. ๒/๕๐๔/๓๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร

เมื่อพกพรหมกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกับพกพรหมว่า ‘พรหม ท่านจงดู
บัดนี้ เราจะอันตรธานไปจากท่าน’ พกพรหมกล่าวว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ หากท่าน
สามารถ บัดนี้ ก็จงอันตรธานไปจากเราเถิด’ ลำดับนั้นเราบันดาลอิทธาภิสังขาร๑
เช่นนั้น ด้วยคิดว่า ‘ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พรหมก็ดี พรหมบริษัทก็ดี พรหม-
ปาริสัชชะก็ดี ย่อมได้ยินเสียงเรา แต่มิได้เห็นตัวเรา’ เราอันตรธานไปแล้ว ได้
กล่าวคาถานี้ว่า
‘เราเห็นภัยในภพและเห็นภพของสัตว์
ผู้แสวงหาความปราศจากภพแล้ว
ไม่กล่าวยกย่องภพอะไรเลย
ทั้งไม่ยึดมั่นนันทิ๒ ด้วย’
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พรหมก็ดี พรหมบริษัทก็ดี พรหมปาริสัชชะก็ดี ได้
เกิดความแปลกประหลาดมหัศจรรย์จิตว่า ‘ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ พระสมณโคดมมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ก่อนแต่นี้ เราทั้งหลายไม่ได้เห็น
ไม่ได้ยินสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เหมือนพระสมณโคดม
นี้ ผู้ออกผนวชจากศากยตระกูล ถอนภพพร้อมทั้งรากของหมู่สัตว์ผู้รื่นรมย์ในภพ
ยินดีในภพ เพลิดเพลินในภพ’

มารเข้าสิงกายพรหม

[๕๐๕] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น มารใจบาป เข้าสิงกายพรหมปาริสัชชะ
ผู้หนึ่ง แล้วกล่าวกับเราว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ถ้าท่านรู้อย่างนี้ ตรัสรู้อย่างนี้ ก็อย่า
แนะนำ อย่าแสดงธรรม อย่าทำความยินดีกับพวกสาวกและพวกบรรพชิตเลย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๓๙๓ (จูฬตัณหาสังขยสูตร) หน้า ๔๒๔ ในเล่มนี้
๒ นันทิ ในที่นี้หมายถึงภวตัณหา (ม.มู.อ. ๒/๕๐๔/๓๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร

ภิกษุ ได้มีสมณพราหมณ์พวกก่อนท่านผู้ปฏิญญาว่า เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าในโลก สมณพราหมณ์เหล่านั้นแนะนำ แสดงธรรม ทำความยินดีกับ
พวกสาวกและพวกบรรพชิต หลังจากตายแล้วก็ไปเกิดในพวกที่เลว สมณ-
พราหมณ์พวกก่อนท่านผู้ปฏิญญาว่า เป็นพระอรหันตสัมมาพุทธเจ้าในโลก
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่แนะนำ ไม่แสดงธรรม ไม่ทำความยินดีกับพวกสาวก
และพวกบรรพชิต หลังจากตายแล้วก็ไปเกิดในพวกที่ดี เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าว
กับท่านว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ขอท่านอย่ากังวลไปเลย จงหมั่นประกอบธรรมเป็น
เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันอยู่เถิด เพราะการไม่พูดเป็นความดี ท่านอย่าสั่งสอน
สัตว์อื่น ๆ เลย’
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมารกล่าวอย่างนี้แล้ว เราจึงกล่าวว่า ‘มาร เรารู้จักท่าน
ท่านอย่าเข้าใจว่า ‘พระสมณะไม่รู้จักเรา’ ท่านเป็นมาร ท่านหามีความอนุเคราะห์
ด้วยจิตเกื้อกูลไม่ จึงกล่าวกับเราอย่างนี้ ท่านไม่มีความอนุเคราะห์ด้วยจิตเกื้อกูล
จึงกล่าวกับเราอย่างนี้ ท่านมีความดำริว่า ‘พระสมณโคดม จักแสดงธรรมแก่ชน
เหล่าใด ชนเหล่านั้น จักล่วงวิสัยของเราไป’ สมณพราหมณ์เหล่านั้น มิได้เป็น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิญญาว่า ‘เราทั้งหลาย เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า’ เรา
เป็นสัมมาสัมพุทธะ ย่อมปฏิญญาว่า ‘เราเป็นสัมมาสัมพุทธะ’
มาร ตถาคตแม้เมื่อแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย ก็เป็นเช่นนั้น แม้เมื่อไม่
แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น ตถาคตแม้เมื่อแนะนำสาวก ก็เป็นเช่นนั้น
แม้เมื่อไม่ได้แนะนำสาวกก็เป็นเช่นนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตละอาสวะ
อันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มี
ชาติ ชรา มรณะต่อไปได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอน
โคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ต้นตาลที่ถูกตัดยอดแล้ว
ไม่อาจงอกขึ้นอีกได้ แม้ฉันใด ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ละอาสวะทั้งหลายอัน
ทำให้เศร้าหมองให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑๐. มารตัชชนียสูตร

ชรา มรณะต่อไปได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว
เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้”
เวยยากรณภาษิตนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยมารมิได้เรียกร้อง และ
โดยที่พรหมเชื้อเชิญดังนี้ เพราะเหตุนั้น เวยยากรณภาษิตนี้ จึงมีชื่อว่า พรหม-
นิมันตนิกสูตร ดังนี้แล

พรหมนิมันตนิกสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. มารตัชชนียสูตร
ว่าด้วยการคุกคามของมาร

[๕๐๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะอยู่ ณ เภสกฬาวันสถานที่ให้อภัยแก่
หมู่เนื้อ เขตกรุงสุงสุมารคิระ ในแคว้นภัคคะ สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเดิน
จงกรมอยู่ในที่แจ้ง ถูกมารใจบาปเข้าสิงในท้องในไส้ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
“ท้องเราเป็นเหมือนว่ามีก้อนหินหนัก ๆ และเป็นเช่นกระสอบที่บรรจุถั่วเหลืองเต็ม
เพราะเหตุไรหนอ” จึงลงจากที่จงกรมแล้วเข้าไปสู่วิหาร นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว
ได้มนสิการโดยแยบคายเฉพาะตน
ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นมารใจบาป เข้าสิงในท้องในไส้ แล้วจึงได้กล่าว
กับมารใจบาปว่า “มาร ท่านจงออกมา ท่านจงออกมา ท่านอย่าเบียดเบียนพระ-
ตถาคตและสาวกของพระตถาคตเลย การเบียดเบียนนั้นอย่าได้มีเพื่อสิ่งที่ไม่เป็น
ประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่ท่านตลอดกาลนาน”
ลำดับนั้น มารใจบาปมีความดำริอย่างนี้ว่า “สมณะนี้ไม่รู้ ไม่เห็นเรา จึง
กล่าวว่า ‘มาร ท่านจงออกมา ท่านจงออกมา ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคต
และสาวกของพระตถาคตเลย การเบียดเบียนนั้น อย่าได้มีเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑๐. มารตัชชนียสูตร

เพื่อความทุกข์แก่ท่านตลอดกาลนาน’ แล้วจึงดำริว่า ‘แม้สมณะที่เป็นศาสดายังไม่
รู้จักเราได้เร็วไว ไฉนสมณะที่เป็นสาวกจักรู้จักเราได้”
ในขณะนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวว่า “มาร เรารู้จักท่านแม้ด้วย
เหตุนี้ ท่านอย่าเข้าใจว่า ‘สมณะนี้ไม่รู้จักเรา’ ท่านเป็นมาร ท่านมีความดำริว่า
‘สมณะนี้ไม่รู้ ไม่เห็นเรา จึงกล่าวว่า ‘มาร ท่านจงออกมา ท่านจงออกมา ท่าน
อย่าเบียดเบียนพระตถาคตและสาวกของพระตถาคตเลย การเบียดเบียนนั้นอย่าได้มี
เพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่ท่านสิ้นกาลนาน’ แล้วจึงดำริว่า ‘แม้
สมณะที่เป็นศาสดายังไม่รู้จักเราได้เร็วไว ไฉนสมณะที่เป็นสาวกจักรู้จักเราได้”
ลำดับนั้น มารใจบาปมีความดำริว่า “สมณะนี้รู้จักและเห็นเราจึงกล่าวอย่าง
นี้ว่า ‘มาร ท่านจงออกมา ท่านจงออกมา ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตและ
สาวกของพระตถาคตเลย การเบียดเบียนนั้น อย่าได้มีเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
เพื่อความทุกข์แก่ท่านตลอดกาลนาน” จึงออกจากปากของท่านพระมหาโมคคัลลานะ
แล้วยืนอยู่ข้างบานประตู
[๕๐๗] ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นมารใจบาปยืนอยู่ข้างบานประตู
แล้วจึงถามว่า “มาร เราเห็นท่านแม้ที่ข้างบานประตูนั้น ท่านอย่าเข้าใจว่า ‘สมณะ
นี้ไม่เห็นเรา’ ท่านนั้นยืนอยู่แล้วที่ข้างบานประตู
เรื่องเคยมีมาแล้ว เราเป็นมารชื่อทูสี มีน้องสาวชื่อกาลี ท่านเป็นบุตรของ
น้องสาวเรา ท่านเป็นหลานชายของเรา ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ
ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ทรงมีคู่
พระอัครสาวกชื่อว่าวิธุระและสัญชีวะ ในบรรดาพระสาวกของพระกกุสันธะผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่าที่มีอยู่ ไม่มีสาวกองค์ใดที่จะเสมอด้วยท่าน
พระวิธุระในการแสดงธรรม ด้วยเหตุนี้ ท่านพระวิธุระจึงมีชื่อว่า ‘วิธุระ วิธุระ’
ส่วนท่านพระสัญชีวะอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี
ย่อมเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติด้วยความลำบากเล็กน้อย เรื่องเคยมีมาแล้ว
ท่านพระสัญชีวะนั่งเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง พวกคนเลี้ยงโค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑๐. มารตัชชนียสูตร

พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์ พวกคนไถนา และพวกคนเดินทาง ได้เห็นท่านพระสัญชีวะนั่ง
เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง แล้วได้ปรึกษากันว่า ‘ท่านผู้เจริญ น่า
อัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระสมณะนี้นั่งมรณภาพแล้ว เอาละ พวกเราช่วย
กันเผาท่านเถิด’ ครั้งนั้น คนเหล่านั้นจึงหาหญ้า ไม้ และมูลโคมากองสุมกาย
ท่านพระสัญชีวะ จุดไฟเผาแล้วจากไป เมื่อราตรีนั้นผ่านพ้นไปแล้ว ท่าน
พระสัญชีวะออกจากสมาบัตินั้นแล้ว ก็สลัดจีวร เวลาเช้า ครองอันตรวาสกแล้ว
ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน พวกคนเลี้ยงโค พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์
พวกคนไถนา และพวกคนเดินทาง ได้เห็นท่านพระสัญชีวะเที่ยวบิณฑบาตแล้ว
ได้ปรึกษากันว่า ‘ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระสมณะนี้
นั่งมรณภาพแล้ว กลับฟื้นชีพคืนได้’ ด้วยเหตุนี้ ท่านพระสัญชีวะจึงมีชื่อว่า ‘สัญชีวะ
สัญชีวะ’
[๕๐๘] มาร ครั้งนั้น ทูสีมารมีความดำริว่า ‘เราไม่รู้จักการมาและการไป
ของภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเหล่านี้ ทางที่ดี เราควรดลใจพวกพราหมณ์และ
คหบดีว่า ‘มาเถิด พวกท่านจงด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนพวกภิกษุผู้มีศีล
มีกัลยาณธรรม ทำอย่างไร ภิกษุเหล่านั้น ผู้ถูกพวกท่านด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด
เบียดเบียนอยู่ จะพึงมีจิตเป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมารพึงได้โอกาส’
ครั้งนั้น ทูสีมารก็ดลใจพวกพราหมณ์และคหบดีว่า ‘มาเถิด พวกท่านจงด่า
บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนพวกภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ทำอย่างไร
ภิกษุเหล่านั้น ผู้ถูกพวกท่านด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนอยู่ จะพึงมีจิต
เป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมารพึงได้โอกาส’ พวกพราหมณ์และคหบดีถูกทูสีมารดลใจ
แล้วก็ด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนพวกภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมว่า
‘ภิกษุพวกนี้เป็นสมณะหัวโล้น เป็นคหบดี เป็นค่าง เป็นผู้เกิดจากหลังเท้าของพรหม
พูดว่า ‘พวกเราเจริญฌาน พวกเราเจริญฌาน’ เป็นผู้คอตก ก้มหน้า เกียจคร้าน
ย่อมรำพึง ซบเซา เหงาหงอย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑๐. มารตัชชนียสูตร

เปรียบเหมือนนกเค้าแมวจ้องหาหนูที่กิ่งต้นไม้ รำพึง ซบเซา เหงาหงอยอยู่
สุนัขจิ้งจอกจ้องหาปลาใกล้ฝั่งน้ำรำพึง ซบเซา เหงาหงอยอยู่ แมวที่จ้องหา
หนูที่รางน้ำ ท่อน้ำครำและกองหยากเยื่อ รำพึง ซบเซา เหงาหงอยอยู่ และลาที่
ปลดต่างแล้ว ก็รำพึง ซบเซา เหงาหงอยอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุพวกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นสมณะหัวโล้น เป็นคหบดี เป็นค่าง เป็นผู้เกิดจากหลังเท้าของพรหมพูดว่า
‘พวกเราเจริญฌาน พวกเราเจริญฌาน’ เป็นผู้คอตก ก้มหน้า เกียจคร้าน ย่อมรำพึง
ซบเซา เหงาหงอย’
มาร สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายที่ตายไป ก็จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต
และนรกโดยมาก
[๕๐๙] มาร ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะผู้เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย พวกพราหมณ์
และคหบดีถูกทูสีมารดลใจชักชวนว่า ‘มาเถิด พวกท่านจงด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด
เบียดเบียนพวกภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ทำอย่างไร ภิกษุเหล่านั้นถูกพวกท่าน
ด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนอยู่ จะพึงมีจิตเป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมารพึง
ได้โอกาส’ ภิกษุทั้งหลาย มาเถิด พวกเธอจงมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศ
ที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอด
โลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ... มีอุเบกขาจิตแผ่ไป
ตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง
แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ
ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่’
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้ที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ ผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอน ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ อยู่ในป่าก็ดี
อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑๐. มารตัชชนียสูตร

ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลก
ทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ... มีอุเบกขาจิตแผ่ไป
ตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง
แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ
ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
[๕๑๐] มาร ครั้งนั้น ทูสีมารมีความดำริว่า ‘เราทำอยู่แม้ถึงอย่างนี้ ก็มิ
ได้รู้ถึงการมาและการไปของภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเหล่านี้เลย ทางที่ดี เรา
ควรชักชวนพราหมณ์และคหบดีว่า ‘เชิญท่านทั้งหลายมาสักการะ เคารพ นับถือ
บูชาภิกษุทั้งหลายผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมกันเถิด ทำอย่างไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นผู้ซึ่ง
ท่านทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ จะพึงมีจิตเป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมาร
พึงได้โอกาส’ ลำดับนั้น ทูสีมารชักชวนพราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นว่า ‘เชิญท่าน
ทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือบูชาภิกษุทั้งหลายผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมกันเถิด
ทำอย่างไร ภิกษุเหล่านั้นผู้ซึ่งท่านทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ จะพึง
มีจิตเป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมารพึงได้โอกาส’
ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้น ถูกทูสีมารชักชวนแล้ว พากันสักการะ
เคารพ นับถือ บูชาภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม
มาร สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายที่ตายไป ก็ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์โดยมาก
[๕๑๑] มาร ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ ผู้เป็นพระ-
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย พวก
พราหมณ์และคหบดี ถูกทูสีมารชักชวนว่า ‘เชิญท่านทั้งหลายมาสักการะ เคารพ
นับถือ บูชาภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมกันเถิด ทำอย่างไร เมื่อภิกษุเหล่านั้น
ผู้ซึ่งท่านสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ จะพึงมีจิตเป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมารพึง
ได้โอกาส’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมา จงพิจารณาเห็นกายว่าไม่งาม มีความ
สำคัญในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล มีความสำคัญในโลกทั้งปวงว่าไม่น่ายินดี พิจารณา
เห็นสังขารทั้งปวงว่าเป็นของไม่เที่ยงอยู่เถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑๐. มารตัชชนียสูตร

มาร ภิกษุเหล่านั้นผู้ที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะผู้เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอน ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี
อยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็พิจารณาเห็นกายว่าไม่งาม มีความสำคัญในอาหารว่าเป็นของ
ปฏิกูล มีความสำคัญในโลกทั้งปวงว่าไม่น่ายินดี พิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงว่าเป็น
ของไม่เที่ยงอยู่
[๕๑๒] มาร ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร มีท่านพระ-
วิธุระเป็นปัจฉาสมณะ(ผู้ติดตาม) เสด็จเข้าสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต
ครั้งนั้น ทูสีมารได้เข้าสิงเด็กคนหนึ่งแล้วเอาก้อนหินขว้างที่ศีรษะของท่าน
พระวิธุระแตก ท่านพระวิธุระมีศีรษะแตกเลือดไหลอาบอยู่ เดินตามเสด็จพระผู้มี
พระภาคพระนามว่ากกุสันธะไปข้างหลัง ๆ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงชำเลืองดูเหมือนช้างชำเลืองดู แล้วตรัสว่า ‘ทูสีมารนี้ไม่รู้จักประมาณเลย’ ก็แล
ทูสีมารเคลื่อนแล้วจากที่นั้น ได้ไปเกิดในมหานรก พร้อมกับพระกิริยาที่ทรงชำเลืองดู
มาร มหานรกนั้นมี ๓ ชื่อ คือ (๑) ฉผัสสายตนิกนรก๑ (๒) สังกุสมาหตนรก๒
(๓) ปัจจัตตเวทนียนรก๓ ครั้งนั้น พวกนายนิรยบาลเข้ามาหาเรา(ผู้เป็นทูสีมาร)
แล้วบอกว่า ‘เมื่อใดหลาวเหล็กกับหลาวเหล็กมารวมกันที่กลางหทัยของท่าน เมื่อ
นั้น ท่านจะพึงรู้ว่า ‘เราไหม้อยู่ในนรกพันปีแล้ว เรานั้น หมกไหม้อยู่ในมหานรก
หลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี และหมกไหม้อยู่ในอุสสทนรกซึ่งเป็นบริวารแห่ง
มหานรกนั้น เสวยทุกขเวทนาหนักกว่าก่อนอีกหนึ่งหมื่นปี เรานั้นมีร่างกายเหมือน
มนุษย์ มีศีรษะเป็นปลา’

เชิงอรรถ :
๑ ฉผัสสายตนิกนรก หมายถึงนรกที่มีผัสสายตนะ ๖ เป็นเหตุเกิดทุกขเวทนาอันเผ็ดร้อน (ม.มู.อ.
๒/๕๑๒/๓๒๙)
๒ สังกุสมาหตนรก หมายถึงนรกที่สัตว์นรกต้องถูกแทงด้วยขอเหล็ก (ม.มู.อ. ๒/๕๑๒/๓๒๙)
๓ ปัจจัตตเวทนียนรก หมายถึงนรกที่สัตว์นรกก่อทุกขเวทนาให้เกิดแก่ตนเอง (ม.มู.อ. ๒/๕๑๒/๓๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑๐. มารตัชชนียสูตร

อวสานคาถา

[๕๑๓] ทูสีมารประทุษร้ายพระสาวกชื่อว่าวิธุระ
และพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐพระนามว่ากกุสันธะ
แล้วไหม้อยู่ในนรกใด นรกนั้นเป็นเช่นไร
ทูสีมารประทุษร้ายพระสาวกนามว่าวิธุระ
และพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐพระนามว่ากกุสันธะ
แล้วไหม้อยู่ในนรกใด นรกนั้นเป็นเช่นนี้
คือมีหลาวเหล็ก ๑๐๐ เล่ม ล้วนก่อให้เกิดทุกขเวทนา
ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าย่อมรู้จักนรกนั้น
มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก
วิมานทั้งหลายตั้งอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทรตลอดกัป
มีสีเหมือนแก้วไพฑูรย์ มีความรุ่งเรือง
มีรัศมีโชติช่วง เป็นประภัสสร
มีเหล่านางอัปสรมีผิวพรรณต่าง ๆ เป็นอันมากฟ้อนรำอยู่
ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักวิมานนั้น
มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น
ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก
ภิกษุรูปใด ผู้ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตักเตือนแล้ว
เมื่อภิกษุสงฆ์เห็นอยู่ ทำปราสาทของมิคารมาตา
ให้ไหวด้วยปลายนิ้วหัวแม่เท้า
ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักเหตุนั้น
มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น
ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑๐. มารตัชชนียสูตร

ภิกษุรูปใดมีกำลังเข้มแข็งด้วยกำลังฤทธิ์
ทำเวชยันตปราสาทให้ไหวด้วยปลายนิ้วหัวแม่เท้า
และทำเหล่าเทวดาให้สังเวช
ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักเหตุนั้น
มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น
ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก
ภิกษุรูปใดทูลสอบถามท้าวสักกะในเวชยันตปราสาทว่า
‘ท่านวาสวะ ท่านย่อมรู้ความน้อมจิตไปในธรรมเป็นที่สิ้นไป
แห่งตัณหาบ้างไหม’
ท้าวสักกะถูกถามปัญหาแล้ว
จึงตอบแก่ภิกษุนั้นตามควรแก่กถา
ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักเหตุนั้น
มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น
ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก
ภิกษุรูปใดสอบถามพรหม ณ ที่ใกล้สุธัมมสภาว่า
‘ท่านเห็นทิฏฐิของท่านในวันนี้
และทิฏฐิของท่านที่มีในวันก่อน
ท่านเห็นทิฏฐินั้นล่วงไปแล้ว
และรัศมีเป็นประภัสสรในพรหมโลกบ้างหรือ’
พรหมตอบแก่ภิกษุนั้น ตามลำดับโดยควรแก่กถาว่า
‘ท่านผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้าไม่มีทิฏฐินั้นและทิฏฐิในวันก่อน
ข้าพเจ้าเห็นทิฏฐินั้นล่วงไปแล้ว
และเห็นรัศมีเป็นประภัสสรในพรหมโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
รวมวรรคที่มีในมูลปัณณาสก์

(ฉะนั้น) วันนี้ ข้าพเจ้าจะกล่าวว่า
‘เราเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน ได้อย่างไร’
ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักเหตุนั้น
มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น
ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก
ภิกษุรูปใด ได้สัมผัสยอดภูเขาใหญ่ชื่อสิเนรุ
ชมพูทวีป ปุพพวิเทหทวีป
อมรโคยานทวีป และอุตตรกุรุทวีปด้วยวิโมกข์
ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้เหตุนั้น
มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น
ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก
คนพาลมาเข้ากองไฟที่กำลังลุกโชน ย่อมเดือดร้อนอยู่ว่า
‘ไฟย่อมไม่คิดจะเผาเรา แต่เราเผาตนผู้เป็นคนพาลเอง’
มาร ท่านเบียดเบียนพระตถาคตแล้ว จักเผาตัวเอง
ดังคนพาลที่ถูกไฟเผาฉะนั้น
มาร ท่านเบียดเบียนพระตถาคตแล้ว ต้องประสบบาป
ท่านเข้าใจหรือว่า ‘บาปไม่ให้ผลแก่เรา’
ผู้ที่สั่งสมบาป ย่อมโอดครวญตลอดกาลนาน
มาร ท่านเบื่อหน่ายพระพุทธเจ้า
อย่าหวังที่จะทำให้ภิกษุทั้งหลายพินาศเลย
ภิกษุได้คุกคามมารในเภสกฬาวัน ด้วยประการฉะนี้”
ลำดับนั้น มารนั้นเสียใจ ได้อันตรธานไปจากที่นั้น ดังนี้แล

มารตัชชนียสูตรที่ ๑๐ จบ
จูฬยมกวรรคที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] รวมวรรคที่มีในมูลปัณณาสก์

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สาเลยยกสูตร ๒. เวรัญชกสูตร
๓. มหาเวทัลลสูตร ๔. จูฬเวทัลลสูตร
๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร ๖. มหาธัมมสมาทานสูตร
๗. วีมังสกสูตร ๘. โกสัมพิยสูตร
๙. พรหมนิมันตนิกสูตร ๑๐. มารตัชชนียสูตร

รวมวรรคที่มีในมูลปัณณาสก์นี้ คือ

๑. มูลปริยายวรรค ๒. สีหนาทวรรค
๓. โอปัมมวรรค ๔. มหายมกวรรค
๕. จูฬยมกวรรค

มูลปัณณาสก์ จบ


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎกที่ ๐๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จบ





eXTReMe Tracker