ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒-๔ สุตตันตปิฎกที่ ๐๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

[๓๘๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๑ ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ฯลฯ เราระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ
ชีวประวัติอย่างนี้ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๑ นี้ ในปฐมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชา
ได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคล
ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้นก็
ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
[๓๘๕] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ๒ เราได้บรรลุวิชชาที่ ๒ นี้ในมัชฌิมยามแห่งราตรี
กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น
เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิด
ขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
[๓๘๖] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเรารู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นจากกามาสวะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๕ ข้อ ๕๒ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๑ ในเล่มนี้
๒ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๕๓ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้อีกต่อไป’
อัคคิเวสสนะ เราบรรลุวิชชาที่ ๓ นี้ในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว
วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของ
เราอยู่ไม่ได้

บุคคลผู้ไม่หลง

[๓๘๗] อัคคิเวสสนะ เรารู้อยู่ว่า เมื่อเราแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อยบริษัท
ถึงแม้บุคคลหนึ่ง ๆ จะเข้าใจเราอย่างนี้ว่า ‘พระสมณโคดมแสดงธรรมปรารภเรา
เท่านั้น’ ท่านอย่าพึงเห็นอย่างนั้น ตถาคตย่อมแสดงธรรมแก่บุคคลเหล่าอื่นโดยชอบ
เพื่อประโยชน์ให้รู้แจ้งอย่างเดียว และในตอนจบเรื่องหนึ่ง ๆ เราประคองจิตให้สงบ
ตั้งมั่น เป็นสมาธิ ณ ภายใน ดำรงอยู่ในสมาธินิมิตเบื้องต้นนั้นตลอดนิตยกาล”
“ข้อนี้ ควรเชื่อท่านพระโคดมผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ท่าน
พระโคดมทราบดีอยู่หรือว่า ‘พระองค์เป็นผู้จำวัดในเวลากลางวัน”
“อัคคิเวสสนะ เรารู้อยู่ว่า ‘ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน เรากลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ปูสังฆาฏิให้เป็น ๔ ชั้น มีสติสัมปชัญญะ นอน
ตะแคงข้างเบื้องขวา”
“ท่านพระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวว่าการปฏิบัติแบบนั้น
เป็นการอยู่ด้วยความหลง”
“อัคคิเวสสนะ บุคคลเป็นผู้หลงหรือไม่หลงด้วยเหตุเพียงเท่านั้นหามิได้
บุคคลเป็นผู้หลงหรือเป็นผู้ไม่หลงด้วยเหตุใด ท่านจงฟังเหตุนั้น จงใส่ใจให้ดี เรา
จักกล่าว”
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๖. มหาสัจจกสูตร

[๓๘๘] “อัคคิเวสสนะ อาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่
ให้เกิดความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชราและมรณะต่อไป บุคคล
ผู้ใดผู้หนึ่งยังละไม่ได้ เราเรียกบุคคลนั้นว่า ‘ผู้หลง’ บุคคลนั้นเป็นผู้หลงเพราะยังละ
อาสวะทั้งหลายไม่ได้
อาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย
มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชราและมรณะต่อไป บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งละได้แล้ว เราเรียก
บุคคลนั้นว่า ‘ผู้ไม่หลง’ บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่หลงเพราะละอาสวะทั้งหลายได้แล้ว
ตถาคตละอาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความ
กระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชราและมรณะต่อไปได้แล้ว ตัดราก
ถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
อัคคิเวสสนะ ต้นตาลที่ถูกตัดยอดแล้วไม่อาจงอกขึ้นอีกได้ แม้ฉันใด ตถาคต
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ละอาสวะทั้งหลายอันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความ
กระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติชราและมรณะต่อไปได้แล้ว ตัดราก
ถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มีเกิดขึ้น
ต่อไปไม่ได้”

สัจจกะ นิครนถบุตรสรรเสริญพระพุทธเจ้า

[๓๘๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
พระโคดมผู้เจริญ ผู้ที่ข้าพเจ้ามาสนทนากระทบกระทั่ง และไต่ถามด้วยคำที่ปรุงแต่ง
มาอย่างนี้ ก็ยังมีพระฉวีวรรณผ่องใส ทั้งมีพระพักตร์เปล่งปลั่ง เพราะท่าน
เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้าพเจ้าจำได้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้เริ่มโต้วาทะกับ
ท่านปูรณะ กัสสปะ แม้ท่านปูรณะ กัสสปะนั้น เริ่มโต้วาทะกับข้าพเจ้า ก็นำ
เรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อนเสียและชักนำให้พูดออกนอกเรื่อง ทั้งทำความโกรธเคือง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร

และความไม่พอใจให้ปรากฏ ข้าพเจ้าจำได้ว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้เริ่มโต้วาทะกับท่าน
มักขลิ โคสาล ... ท่านอชิตะ เกสกัมพล ... ท่านปกุธะ กัจจายนะ ... ท่านสัญชัย
เวลัฏฐบุตร ... ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร‘๑ แม้ท่านนิครนถ์ นาฏบุตรนั้น เริ่มโต้วาทะ
กับข้าพเจ้า ก็นำเรื่องอื่นมาพูดกลบเกลื่อนเสียและชักนำให้พูดออกนอกเรื่อง ทั้งทำ
ความโกรธเคืองและความไม่พอใจให้ปรากฏ ส่วนพระโคดมผู้เจริญผู้ที่ข้าพเจ้ามา
สนทนากระทบกระทั่งและไต่ถามด้วยถ้อยคำที่ปรุงแต่งมาอย่างนี้ ก็ยังมีพระฉวีวรรณ
ผ่องใส ทั้งมีพระพักตร์เปล่งปลั่ง เพราะท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เอาละ บัดนี้ ข้าพเจ้าขอทูลลากลับ เพราะมีกิจมาก
มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ครั้งนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจาก
อาสนะแล้วจากไป ดังนี้แล

มหาสัจจกสูตรที่ ๖ จบ

๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นตัณหา สูตรเล็ก
ปัญหาธรรมของท้าวสักกะ

[๓๙๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของมิคารมาตา ณ บุพพาราม
เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว ได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ความหมายของชื่อครูทั้ง ๖ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๖ ข้อ ๓๑๒ (จูฬสาโรปมสูตร) หน้า ๓๔๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่า
เป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด๑ มีความเกษม
จากโยคะสูงสุด๒ ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด๓ มีที่สุดอันสูงสุด๔ เป็นผู้ประเสริฐ
กว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ‘ธรรม
ทั้งปวง๕ไม่ควรยึดมั่น’ ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควร
ยึดมั่น’ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้
ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณา
เห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งใน
เวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความคลาย
กำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลาย
นั้นอยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อ
ไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสได้เฉพาะตนและรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป๖’

เชิงอรรถ :
๑ มีความสำเร็จสูงสุด (อัจจันตนิฏฐะ) หมายถึงผ่านที่สุดกล่าวคือความสิ้นไปและเสื่อมไปเพราะไม่มีธรรม
เครื่องกำเริบอีก ได้แก่ ถึงพระนิพพาน (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕, องฺ.เอกาทสก.อ. ๓/๑๐/๓๘๓, ม.มู.ฏีกา
๒/๓๙๐/๒๖๖)
๒ มีความเกษมจากโยคะสูงสุด หมายถึงบรรลุธรรมที่สูงสุดอันปราศจากโยคะ ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา
หมายถึงบรรลุพระนิพพาน ชื่อว่าผู้มีความปลอดโปร่งจากโยคกิเลส (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕ องฺ.จตุกฺก.
(แปล) ๒๑/๑๐/๑๒)
๓ ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด หมายถึงอยู่จบพรหมจรรย์ แล้วมีสภาวะที่ไม่เสื่อมอีก (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕,
ม.มู.ฏีกา ๒/๓๙๐/๒๐๖๖)
๔ มีที่สุดอันสูงสุด หมายถึงมีที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้ว (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕, ม.มู.ฏีกา ๒/๓๙๐/๒๖๖)
และดู องฺ.เอกาทสก. (แปล) ๒๔/๑๐/๔๐๖
๕ ธรรมทั้งปวง หมายถึงขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ เป็นธรรมที่ไม่ควรยึดมั่นด้วยอำนาจตัณหา
และทิฏฐิ เพราะเป็นภาวะไม่ดำรงอยู่โดยอาการที่บุคคลจะยึดถือได้ (ม.มู.อ. ๒/๓๙๐/๒๐๕-๒๐๖)
๖ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๓ ข้อ ๕๔ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร

จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
ด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติ
พรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”
ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วอันตรธานไปจากที่นั้นนั่นเอง

พระมหาโมคคัลลานะทดสอบท้าวสักกะ

[๓๙๑] สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระผู้มี
พระภาค ได้มีความคิดว่า “ท้าวสักกะนั้นทราบเนื้อความแห่งพระภาษิตของพระผู้มี
พระภาคแล้วจึงยินดี หรือว่าไม่ทราบแล้วก็ยินดี ทางที่ดี เราควรรู้เรื่องที่ท้าว
สักกะจอมเทพทรงทราบเนื้อความแห่งพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วยินดี
หรือว่าไม่ทราบแล้วก็ยินดี”
จากนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้อันตรธานจากปราสาทของมิคารมาตา
ในบุพพารามไปปรากฏในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขน
ออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพกำลังเอิบอิ่มพร้อมพรั่งบำเรออยู่ด้วยทิพยดนตรี
๕๐๐ ชนิด ในสวนดอกบุณฑริกล้วน ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นท่านพระมหา-
โมคคัลลานะมาแต่ไกล จึงรับสั่งให้หยุดบรรเลงทิพยดนตรีทั้ง ๕๐๐ ชนิดไว้ เสด็จ
เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้วตรัสว่า “นิมนต์เข้ามาเถิด ท่านพระมหา-
โมคคัลลานะ ผู้นิรทุกข์ ขอต้อนรับ นาน ๆ ท่านจะมีเวลามา ณ ที่นี้ นิมนต์นั่งบน
อาสนะที่ปูลาดไว้เถิด”๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ม. (แปล) ๑๐/๒๔๔/๑๘๔, องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๕๖/๑๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร

ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ส่วนท้าวสักกะจอมเทพ
ได้ทรงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงทูล
ถามท้าวสักกะจอมเทพว่า “ท้าวโกสีย์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงความหลุดพ้นด้วย
ธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่อแก่ท่านอย่างไร ขอโอกาสเถิด แม้อาตมภาพก็จักขอมี
ส่วนในการฟังกถานั้น”
[๓๙๒] ท้าวสักกะตรัสตอบว่า “ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ข้าพเจ้ามีกิจมาก
มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก ทั้งหน้าที่ส่วนตัวและหน้าที่ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์
พระภาษิตใดที่ข้าพเจ้าฟังแล้วก็ลืมเสียเร็วพลัน พระภาษิตนั้น ท่านฟังดี เรียนดี
ใส่ใจดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้ว เรื่องเคยมีมาแล้ว สงครามระหว่างเทวดากับอสูรได้
ประชิดกันแล้ว ในสงครามนั้นพวกเทวดาชนะ พวกอสูรแพ้ ข้าพเจ้าชนะ เทวาสุร-
สงครามเสร็จสิ้นแล้ว กลับจากสงครามนั้นแล้วได้สร้างเวชยันตปราสาท เวชยันต-
ปราสาทมี ๑๐๐ ชั้น ในชั้นหนึ่ง ๆ มีกูฏาคาร(เรือนมียอด) ๗๐๐ หลัง ใน
กูฏาคารหลังหนึ่ง ๆ มีนางอัปสร ๗ องค์ นางอัปสรองค์หนึ่ง ๆ มีเทพธิดาบำเรอ
๗ องค์
ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านปรารถนาเพื่อจะชมสถานที่น่ารื่นรมย์แห่ง
เวชยันตปราสาทหรือไม่”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะรับโดยดุษณีภาพ

พระเถระใช้นิ้วเท้าเขย่าเวชยันตปราสาท

[๓๙๓] ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพและท้าวเวสวัณมหาราช นิมนต์ท่าน
พระมหาโมคคัลลานะให้นำหน้าเข้าไปยังเวชยันตปราสาท พวกเทพธิดาผู้บำเรอ
ของท้าวสักกะเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะมาแต่ไกลก็เกรงกลัวละอายอยู่ จึงเข้า
สู่ห้องเล็กของตน ๆ ดุจหญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้วก็เกรงกลัวละอายอยู่ ฉะนั้น
จากนั้น ท้าวสักกะจอมเทพและท้าวเวสวัณมหาราช เมื่อนิมนต์ให้ท่านพระ
มหาโมคคัลลานะเที่ยวเดินชมไปในเวชยันตปราสาท ได้ตรัสว่า “ท่านพระมหา-
โมคคัลลานะ ขอท่านจงดูสถานที่ที่น่ารื่นรมย์แห่งเวชยันตปราสาทแม้นี้ ขอท่านจง
ดูสถานที่ที่น่ารื่นรมย์แห่งเวชยันตปราสาทแม้นี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร

ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า “สถานที่ที่น่ารื่นรมย์ของท่านท้าวโกสีย์นี้
งดงาม เหมือนสถานที่ของผู้ที่ได้ทำบุญไว้ในปางก่อน แม้มนุษย์ทั้งหลายเห็น
สถานที่ที่น่ารื่นรมย์ใด ๆ แล้ว ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘งามจริง ดุจสถานที่ที่น่า
รื่นรมย์ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์”
ในขณะนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดว่า “ท้าวสักกะนี้เป็นผู้
ประมาทอยู่มากนัก ทางที่ดี เราควรให้ท้าวสักกะนี้สังเวช” จึงบันดาลอิทธา-
ภิสังขาร๑ ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากดเวชยันตปราสาทเขย่าให้สั่นสะท้านหวั่นไหว ทันใดนั้น
ท้าวสักกะจอมเทพ ท้าวเวสวัณมหาราช และพวกเทพชั้นดาวดึงส์ มีความ
ประหลาดมหัศจรรย์ใจ กล่าวกันว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่
เคยปรากฏ พระสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ใช้นิ้วหัวแม่เท้ากดทิพยพิภพ
เขย่าให้สั่นสะท้านหวั่นไหวได้”
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะทราบว่า “ท้าวสักกะจอมเทพทรงมีความ
สลดจิตขนลุกแล้ว” จึงทูลถามว่า “ท้าวโกสีย์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความหลุด
พ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่ออย่างไร ขอโอกาสเถิด แม้อาตมภาพก็จักขอมี
ส่วนเพื่อฟังกถานั้น”

ข้อปฏิบัติเพื่อความสิ้นตัณหา

[๓๙๔] ท้าวสักกะจึงตรัสว่า “ท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้า
จะเล่าถวาย ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายอภิวาทแล้ว จึงได้
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร แล้วได้ทูลถามว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ
ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มี

เชิงอรรถ :
๑ อิทธาภิสังขาร หมายถึงการแสดงฤทธิ์ ในที่นี้พระมหาโมคคัลลานเถระ เข้าอาโปกสิณแล้วอธิษฐานว่า
“ขอให้โอกาส(พื้นที่)อันเป็นที่ตั้งเฉพาะปราสาท จงเป็นน้ำ” แล้วใช้หัวแม่เท้ากดลงที่ช่อฟ้าปราสาท ปราสาทนั้น
สั่นสะท้านหวั่นไหวไปมา เหมือนบาตรวางไว้บนหลังน้ำ เอานิ้วเคาะที่ขอบบาตร ก็หวั่นไหวไปมา อยู่นิ่งไม่
ได้ฉะนั้น (ม.มู.อ. ๒/๓๙๓/๒๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร

ความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มี
ที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ เมื่อข้าพเจ้าทูลถาม
อย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ‘จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า
‘ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น’ ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่
ควรยึดมั่น’ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนด
รู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความ
สลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็น
ความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนา
ทั้งหลายนั้นอยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น
เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตน และรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้
อีกต่อไป’ จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้
หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด
ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย
ท่านพระมหาโมคคัลลานะ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความหลุดพ้นด้วยธรรม
เป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่อแก่ข้าพเจ้าอย่างนี้”
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะชื่นชมยินดีภาษิตของท้าวสักกะแล้ว
อันตรธานจากหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ มาปรากฏที่ปราสาทของมิคารมาตาในบุพพาราม
เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น
ครั้งนั้น พวกเทพธิดาผู้บำเรอท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อท่านพระมหา-
โมคคัลลานะจากไปแล้วไม่นาน ได้ทูลถามท้าวสักกะจอมเทพว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้นิรทุกข์ พระสมณะนั้นเป็นพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระศาสดาของพระองค์หรือ
หนอ”
ท้าวสักกะตรัสตอบว่า “เหล่าเทพธิดาผู้นิรทุกข์ พระสมณะนั้นไม่ใช่พระผู้มี-
พระภาคผู้เป็นพระศาสดาของเรา เป็นท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นเพื่อนพรหมจารี
ของเรา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๗. จูฬตัณหาสัขยสูตร

พวกเทพธิดาเหล่านั้นทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นลาภของพระองค์
พระองค์ได้ดีแล้วที่ได้พระสมณะผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ เป็นเพื่อน
พรหมจารีของพระองค์ พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระศาสดาของพระองค์คงมีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมากเป็นอัศจรรย์เป็นแน่”

ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น

[๓๙๕] ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า ‘พระองค์เป็นผู้ตรัสความหลุดพ้นด้วยธรรม
เป็นที่สิ้นตัณหาโดยย่อแก่จอมเทพผู้มีศักดามากผู้ใดผู้หนึ่งบ้าง หรือหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมคคัลลานะ เรารู้อยู่ จะเล่าให้ฟัง ท้าวสักกะ
จอมเทพเข้ามาหาเรา ถวายอภิวาทแล้วได้ประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร แล้วได้ตรัส
ถามเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุ
จึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษม
จากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ เมื่อท้าวสักกะนั้นถามอย่างนี้แล้ว เราตอบว่า ‘จอมเทพ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น’ ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้ว
อย่างนี้ว่า ‘ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น’ ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่ง
ธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอ
ได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม
เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ
และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
พิจารณาเห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความ
สลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตน
และรู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจ
อื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้
ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความ
เกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐ
กว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
โมคคัลลานะ เรารู้อยู่ว่า ‘เราเป็นผู้กล่าวความหลุดพ้นด้วยธรรมเป็นที่สิ้น
ตัณหาโดยย่อแก่ท้าวสักกะจอมเทพ อย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะมีใจยินดีชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬตัณหาสังขยสูตรที่ ๗ จบ

๘. มหาตัณหาสังขยสูตร
ว่าด้วยความสิ้นตัณหา สูตรใหญ่
ทิฏฐิของสาติภิกษุ

[๓๙๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าสาติบุตรชาวประมง มีทิฏฐิ๑
ชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้
นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป”
ลำดับนั้น ภิกษุเป็นอันมากได้ฟังว่า “สาติภิกษุบุตรชาวประมง มีทิฏฐิชั่ว
เช่นนี้เกิดขึ้นว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงสัสสตทิฏฐิ (ม.มู.อ. ๒/๓๙๖/๒๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป” จึงเข้าไปหาสาติภิกษุแล้วถามว่า “ท่านสาติ
ทราบว่า ท่านมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป’ จริงหรือ”
สาติภิกษุตอบว่า “จริง ท่านทั้งหลาย ผมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป”
ภิกษุเหล่านั้นปรารถนาที่จะปลดเปลื้องสาติภิกษุบุตรชาวประมงจากทิฏฐิชั่ว
นั้นจึงซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนว่า “ท่านสาติ ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ท่านอย่าได้
กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเป็นการไม่ดีเลย เพราะพระผู้มี
พระภาคมิได้ตรัสอย่างนี้เลย ท่านสาติ วิญญาณอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาค
ตรัสแล้วโดยปริยายเป็นอเนกว่า ‘ปราศจากปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ”
สาติภิกษุบุตรชาวประมงถูกภิกษุเหล่านั้นซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนอยู่แม้อย่างนี้
ก็ยังยึดมั่นถือมั่นทิฏฐิชั่วนั้นอย่างรุนแรง กล่าวอยู่ว่า “ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง
ธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป”

เพื่อนภิกษุไม่อาจเปลี่ยนทิฏฐิของท่านสาติ

[๓๙๗] ภิกษุเหล่านั้นเมื่อไม่อาจปลดเปลื้องสาติภิกษุบุตรชาวประมงจาก
ทิฏฐิชั่วนั้นได้ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ
ที่สมควรแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สาติภิกษุมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า
‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น
ท่องเที่ยวไป แล่นไป’ ข้าพระองค์ทั้งหลายได้สดับมาว่า ‘สาติภิกษุมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้
เกิดขึ้นว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า วิญญาณนี้นั่นแล
มิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป’ ครั้งนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายเข้าไปหาสาติภิกษุ
แล้วถามว่า ‘ท่านสาติ ทราบว่า ท่านมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรม
ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป
จริงหรือ’ เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายถามอย่างนี้ สาติภิกษุได้ตอบข้าพระองค์ทั้งหลาย
ว่า ‘จริง ท่านทั้งหลาย ผมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณ
นี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

ลำดับนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายปรารถนาจะปลดเปลื้องสาติภิกษุจากทิฏฐิชั่ว
นั้น จึงซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนว่า ‘ท่านสาติ ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ท่าน
อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเป็นการไม่ดีเลย เพราะ
พระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสอย่างนี้เลย ท่านสาติ วิญญาณอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น พระ
ผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยปริยายเป็นอเนกว่า ‘ปราศจากปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้น
แห่งวิญญาณ’ สาติภิกษุถูกข้าพระองค์ทั้งหลายซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนอยู่แม้
อย่างนี้ ก็ยังยึดมั่นถือมั่นทิฏฐิชั่วนั้นอย่างรุนแรง กล่าวอยู่ว่า ‘จริง ท่านทั้งหลาย
ผมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่อง
เที่ยวไป แล่นไป’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายไม่อาจปลดเปลื้องสาติภิกษุ
จากทิฏฐิชั่วนั้น จึงมากราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค”

พระพุทธเจ้าทรงกำราบท่านสาติ

[๓๙๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า
“มาเถิด ภิกษุ เธอจงไปเรียกสาติภิกษุบุตรชาวประมงมาตามคำของเราว่า ‘ท่าน
สาติ พระศาสดาตรัสเรียกท่าน” ภิกษุรูปนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจึงเข้าไปหา
สาติภิกษุแล้วบอกว่า “ท่านสาติ พระศาสดาตรัสเรียกท่าน”
สาติภิกษุรับคำภิกษุนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคตรัสถามเธอว่า “สาติ ได้ยินว่า เธอมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า
‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น
ท่องเที่ยวไป แล่นไป จริงหรือ”
สาติภิกษุทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมตามที่
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้แลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “สาติ วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

สาติภิกษุทูลตอบว่า “สภาวะที่พูดได้ รับรู้ได้ เสวยวิบากแห่งกรรมทั้งหลาย
ทั้งส่วนดีและส่วนชั่วในที่นั้น ๆ เป็นวิญญาณ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแล้วแก่ใครเล่า
วิญญาณอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น เรากล่าวไว้แล้วโดยปริยายเป็นอเนกว่า ‘ปราศจาก
ปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ’ ก็เมื่อเป็นดังนี้ เธอชื่อว่ากล่าวตู่เรา ขุดตน
เองและจะประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก เพราะทิฏฐิที่ตนถือผิด โมฆบุรุษ ความ
เห็นของเธอนั้นจักเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน”

ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งวิญญาณ

[๓๙๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สาติภิกษุบุตรชาวประมงนี้จะเป็นผู้ทำ
ความเจริญในธรรมวินัยนี้ได้บ้างหรือไม่”
ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “จะพึงมีอย่างไรได้ ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลอย่างนี้ สาติภิกษุบุตรชาวประมงจึงนั่งนิ่ง เก้อเขิน
คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ
จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าสาติภิกษุบุตรชาวประมงเป็นผู้นิ่ง
เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณแล้ว จึงตรัสกับเธอว่า “โมฆบุรุษ
เธอจักปรากฏด้วยทิฏฐิชั่วของตนนั้น เราจักสอบถามภิกษุทั้งหลายในที่นี้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้ว เหมือนที่สาติภิกษุกล่าวตู่เรา ขุดตนเอง
และจะประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก เพราะทิฏฐิที่ตนถือผิดหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า เพราะวิญญาณ
อาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายโดยปริยาย
เป็นอเนกว่า ‘ปราศจากปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ดีละ ดีละ เธอทั้งหลายรู้ทั่วถึง
ธรรมตามที่เราแสดงแล้ว วิญญาณอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น เรากล่าวไว้แล้วโดย
ปริยายเป็นอเนกว่า ‘ปราศจากปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ’ แต่สาติภิกษุ
บุตรชาวประมงนี้กล่าวตู่เรา ขุดตนเองและจะประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมากด้วย
เพราะทิฏฐิที่ตนถือผิด ความเห็นอย่างนั้นของโมฆบุรุษนั้น จักเป็นไปเพื่อ
สิ่งมิใช่ประโยชน์ และเพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน
[๔๐๐] ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยปัจจัยใด ๆ ก็
นับว่า ‘วิญญาณ’ ตามปัจจัยนั้น ๆ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุและรูปารมณ์
ก็นับว่า ‘จักขุวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยโสตะและสัททารมณ์ก็นับว่า
‘โสตวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยฆานะและคันธารมณ์ก็นับว่า ‘ฆาน-
วิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยชิวหาและรสารมณ์ก็นับว่า ‘ชิวหาวิญญาณ’
วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพารมณ์ก็นับว่า ‘กายวิญญาณ’
วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยมโนและธรรมารมณ์ก็นับว่า ‘มโนวิญญาณ’
ภิกษุทั้งหลาย ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยเชื้อใด ๆ ก็นับว่า ‘ไฟ’ ตามเชื้อนั้น ๆ
ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยไม้ก็นับว่า ‘ไฟไม้’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยป่าก็นับว่า
‘ไฟป่า’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยหญ้าก็นับว่า ‘ไฟหญ้า’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยมูลโค
ก็นับว่า ‘ไฟมูลโค’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยแกลบก็นับว่า ‘ไฟแกลบ’ ไฟที่ติดขึ้น
เพราะอาศัยหยากเยื่อก็นับว่า ‘ไฟหยากเยื่อ’ แม้ฉันใด วิญญาณก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยใด ๆ ก็นับว่า ‘วิญญาณ’ ตามปัจจัยนั้น ๆ วิญญาณที่
เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุและรูปารมณ์ก็นับว่า ‘จักขุวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้น
เพราะอาศัยโสตะและสัททารมณ์ก็นับว่า ‘โสตวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะ
อาศัยฆานะและคันธารมณ์ก็นับว่า ‘ฆานวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัย
ชิวหาและรสารมณ์ก็นับว่า ‘ชิวหาวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและ
โผฏฐัพพารมณ์ก็นับว่า ‘กายวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยมโนและ
ธรรมารมณ์ก็นับว่า ‘มโนวิญญาณ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งขันธ์ ๕

[๔๐๑] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นว่า ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นแล้วหรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเห็นว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้นเกิดขึ้นเพราะอาหารหรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเห็นว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้นมีความดับเป็นธรรมดาเพราะความดับ
แห่งอาหารนั้นหรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ความสงสัยเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า ‘ขันธ์ ๕ นี้มีหรือไม่”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ความสงสัยเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นเพราะ
อาหารนั้นมีหรือไม่”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ความสงสัยเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้นมีความดับเป็น
ธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้นมีหรือไม่”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“บุคคลเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ นี้เกิดขึ้นแล้ว
ย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นได้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“บุคคลเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นเพราะ
อาหารนั้น’ ย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นได้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

“บุคคลเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้น มีความ
ดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้นย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นได้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า ‘ขันธ์ ๕ นี้เกิดขึ้นแล้วแม้ดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นเพราะอาหารนั้นแม้
ดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา
เพราะความดับแห่งอาหารนั้นแม้ดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ นี้
เกิดขึ้นแล้วดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕
เกิดขึ้นเพราะอาหารนั้นดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้น
มีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้นดังนี้หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“หากเธอทั้งหลายจะพึงติดอยู่ เพลิดเพลินอยู่ ปรารถนาอยู่ ยึดถืออยู่ซึ่ง
ทิฏฐิอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ว่า เป็นของเรา เธอทั้งหลายจะพึงรู้ทั่วถึงธรรมที่เปรียบ
ด้วยแพ ซึ่งเราแสดงแล้วเพื่อประโยชน์แก่การสลัดออก มิใช่แสดงเพื่อประโยชน์แก่
การยึดถือหรือ”
“ข้อนี้ไม่เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

“หากเธอทั้งหลายไม่ติดอยู่ ไม่เพลิดเพลินอยู่ ไม่ปรารถนาอยู่ ไม่ยึดถืออยู่
ซึ่งทิฏฐิอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ว่า เป็นของเรา เธอทั้งหลายจะพึงรู้ทั่วถึงธรรมที่
เปรียบด้วยแพ ซึ่งเราแสดงแล้วเพื่อประโยชน์แก่การสลัดออก มิใช่แสดงเพื่อ
ประโยชน์แก่การยึดถือหรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

ปฏิจจสมุปบาท : กระบวนการเกิด

[๔๐๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ ชนิดนี้ มี
เพื่อความดำรงอยู่แห่งสัตว์ที่เกิดแล้วบ้าง เพื่อความอนุเคราะห์เหล่าสัตว์ที่แสวงหา
ภพที่เกิดบ้าง
อาหาร ๔ ชนิด อะไรบ้าง คือ
๑. กวฬิงการาหาร(อาหารคือคำข้าว) หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง
๒. ผัสสาหาร(อาหารคือการสัมผัส)
๓. มโนสัญเจตนาหาร(อาหารคือความจงใจ)
๔. วิญญาณาหาร(อาหารคือวิญญาณ)
อาหาร ๔ ชนิดนี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด
อาหาร ๔ ชนิด นี้มีตัณหาเป็นต้นเหตุ มีตัณหาเป็นเหตุเกิด มีตัณหาเป็นที่เกิด
มีตัณหาเป็นแดนเกิด
ตัณหานี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไรเป็น
แดนเกิด
ตัณหานี้มีเวทนาเป็นต้นเหตุ มีเวทนาเป็นเหตุเกิด มีเวทนาเป็นที่เกิด มีเวทนา
เป็นแดนเกิด
เวทนานี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไรเป็น
แดนเกิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

เวทนานี้มีผัสสะเป็นต้นเหตุ มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีผัสสะเป็นที่เกิด มีผัสสะ
เป็นแดนเกิด
ผัสสะนี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไรเป็น
แดนเกิด
ผัสสะนี้มีสฬายตนะเป็นต้นเหตุ มีสฬายตนะเป็นเหตุเกิด มีสฬายตนะเป็นที่
เกิด มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด
สฬายตนะนี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไร
เป็นแดนเกิด
สฬายตนะนี้มีนามรูปเป็นต้นเหตุ มีนามรูปเป็นเหตุเกิด มีนามรูปเป็นที่เกิด
มีนามรูปเป็นแดนเกิด
นามรูปนี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไรเป็น
แดนเกิด
นามรูปนี้มีวิญญาณเป็นต้นเหตุ มีวิญญาณเป็นเหตุเกิด มีวิญญาณเป็นที่เกิด
มีวิญญาณเป็นแดนเกิด
วิญญาณนี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด มีอะไร
เป็นแดนเกิด
วิญญาณนี้มีสังขารเป็นต้นเหตุ มีสังขารเป็นเหตุเกิด มีสังขารเป็นที่เกิด มี
สังขารเป็นแดนเกิด
สังขารทั้งหลายเหล่านี้มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นที่เกิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด
สังขารทั้งหลายเหล่านี้มีอวิชชาเป็นต้นเหตุ มีอวิชชาเป็นเหตุเกิด มีอวิชชา
เป็นที่เกิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสจึงมี

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
[๔๐๓] ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมี’
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้เป็นอย่างไร”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมี ในเรื่องนี้
ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’ เพราะภพเป็นปัจจัย
ชาติจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี’ เพราะอุปาทาน
เป็นปัจจัย ภพจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี’ เพราะตัณหาเป็น
ปัจจัย อุปาทานจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

“เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมี
ความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’ เพราะเวทนา
เป็นปัจจัย ตัณหาจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี’ เพราะผัสสะเป็น
ปัจจัย เวทนาจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี’ เพราะ
สฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลาย
มีความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี’ เพราะนาม-
รูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลาย
มีความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี’ เพราะ
วิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลาย
มีความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี’ เพราะสังขาร
เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

“เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี’ ภิกษุทั้งหลาย
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมีใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
[๔๐๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้นถูกต้องแล้ว
เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนั้น แม้เราก็กล่าวอย่างนั้น เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่ง
นี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น คือ

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสจึงมี

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

ปฏิจจสมุปบาท : กระบวนการดับ

เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ๑ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ
อุปายาสจึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
[๔๐๕] ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ’ เพราะ
ชาติดับ ชราและมรณะจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ ในเรื่องนี้
ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะภพดับ ชาติจึงดับ’ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
ใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะภพดับ ชาติจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเป็นอย่างนี้
พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ’ เพราะอุปาทานดับ
ภพจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”

เชิงอรรถ :
๑ วิราคะ ในที่นี้หมายถึงมรรค (ม.มู.อ. ๒/๔๐๔/๒๑๖, วิ.อ. ๓/๑/๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

“เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ’ เพราะตัณหาดับ
อุปาทานจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ’ เพราะเวทนาดับ
ตัณหาจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ’ เพราะผัสสะดับ เวทนา
จึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ’ เพราะสฬายตนะดับ
ผัสสะจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ’ เพราะนามรูปดับ
สฬายตนะจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ’ เพราะวิญญาณดับ
นามรูปจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

“เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความ
เห็นเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ’ เพราะสังขารดับ
วิญญาณจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า ‘เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ’ ภิกษุทั้งหลาย
เพราะอวิชชาดับสังขารจึงดับใช่หรือไม่ หรือว่าในเรื่องนี้ เป็นอย่างไร”
“เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็น
เป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
[๔๐๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้นถูกต้องแล้ว
เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะ
สิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ

เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
จึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

พระธรรมคุณ

[๔๐๗] “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงกลับระลึกถึง๑ขันธ์
ธาตุ อายตนะ ในอดีตกาลว่า ‘ในอดีตกาลยาวนาน เราได้มีแล้วหรือ หรือมิได้มี
แล้วหนอ เราได้เป็นอะไรมาหนอ เราได้เป็นอย่างไรมาหนอ เราได้เป็นอะไรแล้วจึง
มาเป็นอะไรอีกหนอ’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงกลับระลึกถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะในอนาคต
ว่า ‘ในอนาคตกาลยาวนาน เราจักมีหรือ หรือจักไม่มีหนอ เราจักเป็นอะไรหนอ
เราจักเป็นอย่างไรหนอ เราจักเป็นอะไรแล้วไปเป็นอะไรอีกหนอ’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จะพึงมีความสงสัยภายในตนปรารภปัจจุบันกาล
ในบัดนี้ว่า ‘เราเป็นอยู่หรือ หรือไม่เป็นอยู่หนอ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ
สัตว์นี้มาจากไหนหนอ และเขาจักไปไหนกันหนอ’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระศาสดาเป็นครูของเรา
ทั้งหลาย เราทั้งหลายต้องกล่าวอย่างนี้ด้วยความเคารพต่อพระศาสดา’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณะตรัสอย่างนี้
และเราทั้งหลายผู้ชื่อว่าเป็นสมณะ ก็กล่าวอย่างนี้’ บ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ กลับระลึกถึง หมายถึงการแล่นไปตามอำนาจตัณหาและทิฏฐิด้วยอำนาจวิจิกิจฉา ที่ทรงมุ่งจะตรัสถามว่า
เมื่อรู้เห็นถึงปัจจัยแห่งการเกิดครบองค์ ๑๒ แล้ว มีความสงสัยอยู่อีกหรือไม่ (ม.มู.อ. ๒/๔๐๗/๒๑๖, ม.มู.
ฏีกา ๒/๔๐๗/๒๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จะพึงยกย่องศาสดาอื่นบ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้จะพึงเชื่อถือข้อวัตร การตื่นลัทธิ และการถือ
มงคล๑ของพวกสมณพราหมณ์ปุถุชน โดยเชื่อว่าเป็นแก่นสารบ้างหรือไม่”
“ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“สิ่งใดที่เธอทั้งหลายรู้เอง เห็นเอง ทราบเองแล้ว เธอทั้งหลายจะพึงกล่าว
ถึงเฉพาะสิ่งนั้นมิใช่หรือ”
“เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้นถูกต้องแล้ว เรานำเธอทั้งหลายเข้าไป
(ถึงนิพพาน)แล้วด้วยธรรมนี้ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วย
กาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด
ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน
พึงรู้เฉพาะตน’ เราจึงกล่าวไว้อย่างนี้”

องค์ประกอบแห่งการเกิดในครรภ์

[๔๐๘] ภิกษุทั้งหลาย เพราะปัจจัย ๓ ประการประชุมพร้อมกัน การถือ
กำเนิดในครรภ์จึงมีได้
ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน แต่มารดายังไม่มีระดู และคันธัพพะ๒ยัง
ไม่ปรากฏ การถือกำเนิดในครรภ์ก็ยังมีไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ข้อวัตร ในที่นี้หมายถึงวัตรเป็นคนใบ้ วัตรเยี่ยงช้าง วัตรเยี่ยงม้า วัตรเยี่ยงโค เป็นต้น (ดู ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๒๗/๑๑๑) การตื่นลัทธิ หมายถึงความยึดมั่นความเห็นของตนว่า “นี้จริง อย่างอื่นไม่จริง” การถือ
มงคล หมายถึงการยึดถือรูปหรือเสียง เป็นต้นว่าเป็นมงคล (ม.มู.อ. ๒/๔๐๗/๒๑๖-๒๑๗, ม.มู.ฏีกา
๒/๔๐๗/๒๗๗)
๒ คันธัพพะ ในที่นี้หมายถึงสัตว์ผู้จะมาเกิดในครรภ์นั้น (ปฏิสนธิวิญญาณ) (ม.มู.อ. ๒/๔๐๘/๒๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู แต่คันธัพพะยังไม่ปรากฏ
การถือกำเนิดในครรภ์ก็ยังมีไม่ได้
แต่เมื่อใด มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู และคันธัพพะก็ปรากฏ เมื่อนั้น
เพราะปัจจัย ๓ ประการประชุมพร้อมกันอย่างนี้ การถือกำเนิดในครรภ์จึงมีได้
มารดาย่อมรักษาทารกในครรภ์นั้น ๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้าง จึงคลอด
ทารกผู้เป็นภาระหนักนั้นด้วยความกังวลใจมาก และเลี้ยงทารกผู้เป็นภาระหนักนั้น
ซึ่งเกิดแล้วด้วยโลหิตของตนด้วยความห่วงใยมาก
น้ำนมของมารดานับเป็นโลหิตในอริยวินัย กุมารนั้นอาศัยความเจริญและ
ความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมเล่นด้วยเครื่องเล่นสำหรับกุมาร คือ
ไถเล็ก ๆ ตีไม้หึ่ง หกคะเมน เล่นกังหัน ตวงทราย รถเล็ก ธนูเล็ก
ภิกษุทั้งหลาย กุมารนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์
ทั้งหลาย อิ่มเอิบ พร้อมพรั่ง บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ประการ คือ
๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ...
๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ...
๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ...
๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[๔๐๙] กุมารนั้นเห็นรูปทางตาแล้วกำหนัด๑ในรูปที่น่ารัก ขัดเคืองในรูปที่
ไม่น่ารัก เป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นกามาวจร๒อยู่ ไม่รู้ชัดถึงเจโตวิมุตติ

เชิงอรรถ :
๑ กำหนัด ในที่นี้หมายถึงให้เกิดราคะขึ้น (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘)
๒ จิตเป็นกามาวจร ในที่นี้หมายถึงจิตฝ่ายอกุศล (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้
สมบูรณ์ด้วยความยินดีและความยินร้าย๑อย่างนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง๒ ติดใจเวทนานั้น
เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย เป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
ฟังเสียงทางหู ...
ดมกลิ่นทางจมูก ...
ลิ้มรสทางลิ้น ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วกำหนัดในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ขัดเคืองในธรรมารมณ์
ที่ไม่น่ารัก ย่อมเป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นกามาวจรอยู่ ไม่รู้ชัดถึง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมตามความเป็นจริง
เขาเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความยินดีและความยินร้ายอย่างนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนา
นั้นอยู่ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย เป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์
โทมนัส และอุปายาสจึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ความยินดี (อนุโรธะ) หมายถึงราคะ ความยินร้าย (วิโรธะ) หมายถึงโทสะ (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘)
๒ เพลิดเพลิน หมายถึงมีตัณหาทะยานอยาก บ่นถึง หมายถึงพร่ำเพ้อว่า “สุขหนอ ๆ” (ม.มู.อ. ๒/๔๐๙/๒๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

พระพุทธคุณ

[๔๑๐] ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
ตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่
ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค ตถาคตนั้นรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยตนเองแล้ว
จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชน(คนผู้เกิดภายหลัง)ในตระกูลใด
ตระกูลหนึ่งย่อมฟังธรรมนั้น ฟังธรรมนั้นแล้วได้ศรัทธาในตถาคต เมื่อมีศรัทธา
แล้วย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด เป็นทางแห่งธุลี การบวช
เป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบถ้วนดุจสังข์ขัด มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ ต่อมา เขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อย
ใหญ่ และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิต

สิกขาและสาชีพของภิกษุ

[๔๑๑] เขาเมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพเสมอด้วย
ภิกษุทั้งหลาย คือ
๑. ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความ
ละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของ
ที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

๓. ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์
เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรม๑ อันเป็นกิจของชาวบ้าน
๔. ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มี
ถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
๕. ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไป
บอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มา
บอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริม
คนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่
ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
๖. ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
๗. ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดแต่คำจริง
พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่
อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา
๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคาม๒และภูตคาม๓
๙. ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล๔
๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่น
ที่เป็นข้าศึกแก่กุศล
๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้
ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว
๑๒. เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่
๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ๕

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๒๙๒ (จูฬหัตถิปโทปมสูตร) หน้า ๓๒๓ ในเล่มนี้
๒-๕ ดูเชิงอรรถที่ ๑-๔ ข้อ ๒๙๓ (จูฬหัตถิปโทปมสูตร) หน้า ๓๒๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย
๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
๒๑. เว้นขาดจากการรับเรือกสวน ไร่นา และที่ดิน
๒๒. เว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
๒๓. เว้นขาดจากการซื้อการขาย
๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่องตวงวัด
๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง
๒๖. เว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว
การปล้น และการขู่กรรโชก
ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกาย และบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป
ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที นกมีปีกจะบินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีแต่ปีกของมันเป็นภาระบินไป
แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและ
บิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที ภิกษุนั้นประกอบด้วย
อริยสีลขันธ์นี้แล้ว ย่อมเสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน
ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความสำรวม
จักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู ...
ดมกลิ่นทางจมูก ...
ลิ้มรสทางลิ้น ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความ
สำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุนั้น
ประกอบด้วยอริยอินทรียสังวร ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนกับกิเลสในภายใน
ภิกษุนั้นทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร การฉัน การดื่ม
การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การหลับ
การตื่น การพูด การนิ่ง

การทำจิตให้บริสุทธิ์

[๔๑๒] ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวรและอริยสติ-
สัมปชัญญะนี้แล้วพักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ
ป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหาร
เสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละอภิชฌา (ความ
เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น)ในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละพยาบาทและความมุ่งร้าย มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์
เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากพยาบาทและความมุ่งร้าย ละถีนมิทธะ
(ความหดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่างมีสติสัมปชัญญะอยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและความรำคาญ
ใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๘. มหาตัณหาสัขยสูตร

[๔๑๓] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
และเป็นเหตุทำปัญญาให้อ่อนกำลังได้แล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจาร
สงบระงับไป บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก
ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ๑ บรรลุ
จตุตถฌาน ฯลฯ๒อยู่

ความดับแห่งกองทุกข์

[๔๑๔] ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้วไม่กำหนัดในรูปที่น่ารัก ไม่ขัดเคืองในรูป
ที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้๓อยู่ ทราบชัดถึง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมตามความเป็นจริง
เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์
ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้น เมื่อ
ภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนา
ทั้งหลายจึงดับไป เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ
ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสของภิกษุนั้นจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น
ย่อมมีได้อย่างนี้
ฟังเสียงทางหู ...
ดมกลิ่นทางจมูก ...
ลิ้มรสทางลิ้น ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๕๑ (ภยเภรวสูตร) หน้า ๔๑ ในเล่มนี้
๓ มีจิตหาประมาณมิได้ หมายถึงผู้มีโลกุตตรจิตหาประมาณมิได้ คือผู้พรั่งพร้อมด้วยมรรคจิต (ม.มู.อ.
๒/๔๑๔/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่ยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ไม่ขัดเคือง
ในธรรมารมณ์ที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่
ทราบชัดถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรม
ตามความเป็นจริง เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่าง
หนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่
ติดใจเวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายจึงดับไป เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทาน
จึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสของภิกษุนั้นจึงดับ ความดับ
แห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำตัณหาสังขยวิมุตติ๑โดยย่อของเรานี้
อนึ่ง เธอทั้งหลายจงทรงจำสาติภิกษุบุตรชาวประมงว่า เป็นผู้ติดอยู่ในข่ายคือ
ตัณหาและกองแห่งตัณหาใหญ่”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาตัณหาสังขยสูตรที่ ๘ จบ

๙. มหาอัสสปุรสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในอัสสปุรนิคม สูตรใหญ่
ข้อปฏิบัติของสมณะ

[๔๑๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุรนิคมของพระราชกุมารชาวอังคะ
ในแคว้นอังคะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหาสังขยวิมุตติ หมายถึงเทศนาเป็นเหตุหลุดพ้นเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา (ม.มู.อ. ๒/๔๑๔/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย หมู่ชนรู้จักเธอทั้งหลายว่า ‘สมณะ สมณะ’ เธอทั้งหลาย
เมื่อเขาถามว่า ‘ท่านทั้งหลายเป็นใคร’ ก็ปฏิญญาว่า ‘เราทั้งหลายเป็นสมณะ’
เมื่อเธอทั้งหลายนั้น ผู้มีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้ ก็ควรสำเหนียกว่า ‘เรา
ทั้งหลายจักสมาทานประพฤติธรรม๑ที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ เมื่อเรา
ทั้งหลายปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ชื่อและปฏิญญานี้ของเราทั้งหลายก็จักเป็นความจริงแท้
ใช่แต่เท่านั้น เราทั้งหลายใช้สอยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย-
เภสัชบริขารของทายกเหล่าใด ปัจจัยทั้งหลายของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมาก
มีอานิสงส์มากเพราะเราทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง บรรพชานี้ของเราทั้งหลาย ก็จักไม่
เป็นหมัน จักมีผล มีความเจริญ’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้แล

หิริโอตตัปปะ

[๔๑๖] ธรรมที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ’
บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว พอละ
ด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จาก
ความเป็นสมณะ๒ เราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่ง
ขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย
ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็น
สมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม หมายถึงไตรลักษณ์ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา แต่ในที่นี้ทรงมุ่งแสดงหิริ
และโอตตัปปะ (ม.มู.อ. ๒/๔๑๕/๒๒๐)
๒ ประโยชน์จากความเป็นสมณะ มีหลายนัย ดังนี้ หมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ บ้าง หมายถึงความสิ้นราคะ
ความสิ้นโทสะ และความสิ้นโมหะบ้าง (ดู สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๖/๓๔) แต่ในที่นี้หมายถึงมรรค ๔ และผล ๔
(ม.มู.อ. ๒/๔๑๖/๒๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

กายสมาจารบริสุทธิ์

[๔๑๗] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักมีกายสมาจาร
บริสุทธิ์๑ ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ด้วยความเป็นผู้มีกายสมาจารอันบริสุทธิ์นั้น’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่าง
นี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์แล้ว พอละ
ด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จาก
ความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป
มิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย
ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็น
สมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

วจีสมาจารบริสุทธิ์

[๔๑๘] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักมีวจีสมาจารบริสุทธิ์๒
ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความ
เป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์นั้น’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้ง
หลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารและวจีสมาจารบริสุทธิ์แล้ว พอละ
ด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จาก
ความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ถึงแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป
มิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย
ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็น
สมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

เชิงอรรถ :
๑ มีกายสมาจารบริสุทธิ์ หมายถึงภิกษุไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ใช้ฝ่ามือ ก้อนดิน
ท่อนไม้ หรือศัสตราทุบตีเบียดเบียนผู้อื่น หรือไม่เงื้อมือหรือท่อนไม้ไล่กาที่กำลังดื่มน้ำในหม้อน้ำ หรือจิก
กินข้าวสุกในบาตร (ม.มู.อ. ๒/๔๑๗/๒๒๒)
๒ มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ หมายถึงภิกษุไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่กล่าวดูหมิ่นใครๆ หรือไม่
กล่าวถากถางเยาะเย้ยภิกษุใดๆ (ม.มู.อ. ๒/๔๑๘/๒๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

มโนสมาจารบริสุทธิ์

[๔๑๙] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักมีมโนสมาจาร
บริสุทธิ์๑ ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ด้วยความเป็นผู้มีมโนสมาจารบริสุทธิ์นั้น’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า
‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจาร วจีสมาจาร และมโนสมาจาร
บริสุทธิ์แล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้
ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่
ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอ
บอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่
ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

อาชีวะบริสุทธิ์

[๔๒๐] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักมีอาชีวะบริสุทธิ์๒
ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความ
เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์นั้น’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลาย
เป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจาร และอาชีวะ
บริสุทธิ์แล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้
ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่
ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอก
เธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์
จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

เชิงอรรถ :
๑ มีมโนสมาจารบริสุทธิ์ หมายถึงภิกษุไม่มีอภิชฌา ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีความเห็นผิด ไม่ยินดีทองและเงิน
หรือไม่ตรึกถึงกามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตก (ม.มู.อ. ๒/๔๑๙/๒๒๓)
๒ มีอาชีวะบริสุทธิ์ หมายถึงภิกษุไม่เลี้ยงชีพด้วยกรรมที่ไม่สมควร เช่น การรักษาไข้ การให้น้ำมันทาเท้า
การหุงน้ำมัน พูดเลียบเคียงขอผู้อื่น หรือการสะสมปัญจโครสมีเนยใสเป็นต้น (ม.มู.อ. ๒/๔๒๐/๒๒๓-๒๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

สำรวมอินทรีย์

[๔๒๑] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้คุ้มครองทวาร
แล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ จักปฏิบัติเพื่อ
ความสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรม
คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จักรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู ...
ดมกลิ่นทางจมูก ...
ลิ้มรสทางลิ้น ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ จักปฏิบัติเพื่อความสำรวม
มนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัส
ครอบงำได้ จักรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์’ บางทีเธอทั้งหลายจะ
มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์
วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ อาชีวะบริสุทธิ์แล้ว และเป็นผู้คุ้มครองทวาร
แล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วย
กิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มี’ เธอทั้งหลาย ถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น
เราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่
ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

รู้จักประมาณในโภชนะ

[๔๒๒] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักรู้จักประมาณใน
โภชนะ จักพิจารณาโดยแยบคายแล้วกลืนกินอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อความมัวเมา
ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพียงเพื่อกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตินทรีย์
เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ โดยอุบายนี้ เราจัก
กำจัดเวทนาเก่าเสียได้ และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำรงอยู่แห่งชีวิต
ความไม่มีโทษ และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา‘๑ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์ วจี-
สมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ อาชีวะบริสุทธิ์ เป็นผู้คุ้มครองทวารแล้ว
ในอินทรีย์ทั้งหลาย และจักรู้จักประมาณในโภชนะ พอละ ด้วยกิจเพียงเท่านี้
เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะเรา
ทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มีอีก’ เธอ
ทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอ
ทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอ
ทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

ตื่นบำเพ็ญเพียร

[๔๒๓] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้ประกอบ
ความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็น
เครื่องขัดขวางด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดวัน จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
ธรรมเป็นเครื่องขัดขวางด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี
สำเร็จการนอนดุจราชสีห์โดยตะแคงข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบข้อ ๒๓ หน้า ๒๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

หมายใจว่าจะลุกขึ้นตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรม
เป็นเครื่องขัดขวางด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี’ บางที
เธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกาย-
สมาจารบริสุทธิ์ วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ อาชีวะบริสุทธิ์ เป็นผู้
คุ้มครองทวารแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย และรู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบความ
เพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่องแล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลาย
ทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะ เราทั้งหลายก็ได้
บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มีอีก’ เธอทั้งหลายถึงความ
ยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจ
ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา
อย่าได้เสื่อมไปเลย

เจริญสติสัมปชัญญะ

[๔๒๔] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ
ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า
การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว
การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น
การพูด การนิ่ง’ บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริ-
โอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์ วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์
อาชีวะบริสุทธิ์แล้ว เป็นผู้คุ้มครองทวารแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณ
ในโภชนะ ประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง และมี
สติสัมปชัญญะแล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจ
เพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจ
อะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มีอีก’ เธอทั้งหลายยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เรา
ขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่
ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

การละนิวรณ์ ๕

[๔๒๕] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา
ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉัน
ภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอละอภิชฌา
(ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น)ในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิต
ให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มุ่ง
ประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละ
ถีนมิทธะ(ความหดหู่และความเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มี
สติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความ
ฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว
ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา
[๔๒๖] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนกู้หนี้มาลงทุนจนประสบผลสำเร็จ
ใช้หนี้เก่าที่เป็นต้นทุนจนหมด เก็บกำไรที่เหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา เขาคิดว่า
‘เมื่อก่อน เรากู้หนี้มาลงทุน การงานสำเร็จผลดีได้ใช้หนี้เก่าที่ยืมมาลงทุนหมดแล้ว
และกำไรก็ยังมีเหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา’ เพราะความไม่มีหนี้สินเป็นเหตุ
เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
คนไข้ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง ต่อมาหายป่วย
บริโภคอาหารได้กลับมีกำลัง เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อน เราป่วย ถึงความลำบาก
เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง บัดนี้หายป่วย บริโภคอาหารได้
มีกำลังเป็นปกติ’ เพราะการหายจากโรคเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและ
ความสุขใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

คนต้องโทษถูกคุมขังในเรือนจำ ต่อมาพ้นโทษออกจากเรือนจำโดยสวัสดิภาพ
ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราต้องโทษถูกคุมขังในเรือนจำ บัดนี้
พ้นโทษออกจากเรือนจำโดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ’ เพราะการพ้น
จากเรือนจำเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
คนที่ตกเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้
ต่อมาพ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัวเอง จะไป
ไหนก็ได้ตามใจชอบ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น
จะไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ บัดนี้พ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ’ เพราะความเป็นไทแก่ตนเองเป็นเหตุ
เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
คนมีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร ต่อมาเขาข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้
โดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเรามีทรัพย์สมบัติ
เดินทางไกลกันดาร บัดนี้ ข้ามพ้นทางกันดารโดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้
จ่ายใด ๆ’ เพราะการพบภูมิสถานอันร่มเย็นเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจ
และความสุขใจ แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการนี้
ที่ตนยังละไม่ได้เหมือนหนี้ โรค เรือนจำ ความเป็นทาส และทางไกลกันดาร และ
พิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการนี้ที่ตนละได้แล้วเหมือนความไม่มีหนี้ ความไม่มีโรค
การพ้นโทษจากเรือนจำ ความเป็นไทแก่ตนเอง และภูมิสถานอันสงบร่มเย็น

อุปมาฌาน ๔

[๔๒๗] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
เป็นเครื่องทำปัญญาให้ถอยกำลังได้แล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอทำกายนี้
ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เต็มเปี่ยมด้วยปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มี
ส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง พนักงานสรงสนาน หรือ
ลูกมือพนักงานสรงสนานผู้ชำนาญ เทผงถูตัวลงในภาชนะสำริดแล้วเอาน้ำประพรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

ให้ติดเป็นก้อน พอตกเย็น ก้อนถูตัวที่ยางซึมไปจับก็ติดกันหมดไม่กระจายออก
แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เต็มเปี่ยมด้วยปีติ
และสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอัน
เกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง
[๔๒๘] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป
ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก
ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ
เต็มเปี่ยม ซาบซ่านอยู่ด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วน
ไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึก
เป็นวังวน ไม่มีทางที่กระแสน้ำจะไหลเข้าได้ ทั้งด้านตะวันออก ด้านตะวันตก ด้านเหนือ
และด้านใต้ ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล แต่กระแสน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้วทำ
ห้วงน้ำนั้นให้ชุ่มชื่น เอิบอาบ เต็มเปี่ยม เนืองนองไปด้วยน้ำเย็น ไม่มีส่วนไหน
ของห้วงน้ำนั้นที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้
ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เต็มเปี่ยมด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มี
ส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง
[๔๒๙] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมี
อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลาย
สรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ
เต็มเปี่ยมด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มี
ปีติจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล
ดอกปทุม หรือดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่
ใต้น้ำและมีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่น เอิบอาบ บริบูรณ์ ซึมซาบ
ด้วยน้ำเย็นตั้งแต่ยอดจดถึงเหง้า ไม่มีส่วนไหนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ เต็มเปี่ยมด้วยสุขอันไม่มีปีติ
รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง
[๔๓๐] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะ
โสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติ
บริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เธอมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

ไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง คนนั่งใช้ผ้าขาวคลุมตัวตลอดศีรษะ
ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ผ้าขาวจะไม่ปกคลุม แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์
ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง

อุปมาวิชชา ๓

[๔๓๑] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ฯลฯ๑ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ
ชีวประวัติอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุรุษออกจากบ้านของตนไปสู่บ้านอื่น ออกจาก
บ้านแม้นั้นไปสู่อีกบ้านหนึ่ง ออกจากบ้านแม้นั้นแล้ว กลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม
เขาจะพึงระลึกได้ว่า ‘เราออกจากบ้านของตนไปสู่บ้านโน้น ในบ้านนั้น เราได้ยืน
อย่างนี้ ได้นั่งอย่างนี้ ได้พูดอย่างนี้ ได้นิ่งอย่างนี้ ออกจากบ้านแม้นั้นไปสู่บ้านโน้น
แม้ในบ้านนั้น เราก็ได้ยืนอย่างนี้ ได้นั่งอย่างนี้ ได้พูดอย่างนี้ ได้นิ่งอย่างนี้ ออก
จากบ้านแม้นั้นแล้วกลับมาสู่บ้านของตนตามเดิม’ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือน
กันย่อมระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ เธอ
ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
[๔๓๒] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์
ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ฯลฯ๒ เรือน ๒ หลัง มีประตูอยู่ตรงกัน บุรุษผู้มีตาดี
ยืนอยู่ตรงกลางจะพึงเห็นหมู่มนุษย์ กำลังเข้าสู่เรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง
กำลังเดินไปมาบ้าง กำลังเที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้บ้าง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๖๘ (อากังเขยยสูตร) หน้า ๖๐-๖๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

เหมือนกัน เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ย่อมรู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไป
ตามกรรมว่า ฯลฯ
[๔๓๓] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้
อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้อีกต่อไป’ สระน้ำใส สะอาด ไม่ขุ่นมัว บนยอดภูเขา คนตาดียืนที่ขอบสระ
นั้นจะพึงเห็นหอยโข่ง หอยกาบ ก้อนกรวด และก้อนหิน หรือฝูงปลากำลังแหวก
ว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้างในสระนั้น ก็คิดอย่างนี้ว่า ‘สระน้ำนี้ใส สะอาด ไม่ขุ่นมัว
หอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวด และก้อนหินหรือฝูงปลาเหล่านี้กำลังแหวกว่าย
อยู่ก็มี หยุดอยู่ก็มีในสระนั้น แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’

สมัญญาต่าง ๆ ของภิกษุ

[๔๓๔] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรียกว่า ‘สมณะบ้าง พราหมณ์บ้าง นหาตกะ
บ้าง เวทคูบ้าง โสตติยะบ้าง อริยะบ้าง อรหันต์บ้าง‘๑
ภิกษุชื่อว่าสมณะ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นระงับ
ได้แล้ว ภิกษุชื่อว่าสมณะ เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๘๕-๙๒/๑๘๑-๑๘๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๙. มหาอัสสปุรสูตร

ภิกษุชื่อว่าพราหมณ์ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นลอย
ได้แล้ว ภิกษุชื่อว่าพราหมณ์ เป็นอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่านหาตกะ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นอาบ
ล้างแล้ว ภิกษุชื่อว่านหาตกะ เป็นอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่าเวทคู เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้นรู้แจ้งแล้ว
ภิกษุชื่อว่าเวทคู เป็นอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่าโสตติยะ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้น
ทำให้หลับหมดแล้ว ภิกษุชื่อว่าโสตติยะ เป็นอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่าอริยะ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ภิกษุนั้น
ทำลายได้แล้ว ภิกษุชื่อว่าอริยะ เป็นอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่าอรหันต์ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรม ที่ก่อให้เกิดความเศร้าหมอง นำไปเกิดในภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ ชรา มรณะต่อไป ห่างไกลจาก
ภิกษุนั้น ภิกษุชื่อว่าอรหันต์ เป็นอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาอัสสปุรสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในอัสสปุรนิคม สูตรเล็ก
การบวชเหมือนมีดสองคม

[๔๓๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุรนิคมของพระราชกุมาร
ชาวอังคะ ในแคว้นอังคะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระ
ภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย หมู่ชนย่อมรู้จักเธอทั้งหลายว่า ‘สมณะ สมณะ’ ก็เธอ
ทั้งหลายเมื่อเขาถามว่า ‘ท่านทั้งหลายเป็นอะไร’ ก็ปฏิญญาว่า ‘เราทั้งหลายเป็น
สมณะ’ เมื่อเธอทั้งหลายนั้นผู้มีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้ ก็ควรสำเหนียกว่า
‘เราทั้งหลายจะปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ เมื่อเราทั้งหลายปฏิบัติอยู่อย่างนี้
ชื่อและปฏิญญานี้ของเราทั้งหลายก็จักเป็นความจริงแท้ ใช่แต่เท่านั้น เราทั้งหลาย
ใช้สอยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของทายกเหล่าใด
ปัจจัยทั้งหลายนั้นของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมาก มีอานิสงส์มากเพราะเรา
ทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง บรรพชานี้ของเราทั้งหลายก็จักไม่เป็นหมัน จักมีผล มี
ความเจริญ’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้แล
[๔๓๖] ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ เป็น
อย่างไร
คือ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีอภิชฌามาก ยังละอภิชฌาไม่ได้ มีจิตพยาบาท ยัง
ละพยาบาทไม่ได้ เป็นผู้มักโกรธ ยังละความมักโกรธไม่ได้ มีความผูกโกรธ ยังละ
ความผูกโกรธไม่ได้ มีความลบหลู่ ยังละความลบหลู่ไม่ได้ มีความตีเสมอ ยังละ
ความตีเสมอไม่ได้ มีความริษยา ยังละความริษยาไม่ได้ มีความตระหนี่ ยังละ
ความตระหนี่ไม่ได้ มีความโอ้อวด ยังละความโอ้อวดไม่ได้ มีมารยา ยังละมารยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

ไม่ได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาป ยังละความปรารถนาที่เป็นบาปไม่ได้ มีความ
เห็นผิด ยังละความเห็นผิดไม่ได้
เพราะยังละกิเลสที่เป็นมลทินของสมณะ เป็นโทษของสมณะ เป็นดุจน้ำฝาด
ของสมณะ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดในอบาย และมีวิบากที่จะพึงเสวยในทุคติเหล่านี้ไม่ได้
เราจึงกล่าวว่า ‘ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ’
ภิกษุทั้งหลาย อุปมาเหมือนอาวุธที่ชื่อมตชะ๑มีคม ๒ ข้าง ทั้งชุบและ
ลับดีแล้ว สอดไว้ในฝัก แม้ฉันใด เรากล่าวว่าบรรพชาของภิกษุนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น

มิใช่สมณะด้วยเครื่องแบบและวัตร

[๔๓๗] ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้นุ่งห่มผ้าซ้อน๒มีความเป็นสมณะ๓
ด้วยอาการเพียงการนุ่งห่มผ้าซ้อน
เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้ถือเพศเปลือยกายมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการ
เปลือยกาย
เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้หมักหมมด้วยธุลีมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการ
หมักหมมด้วยธุลี
เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้อาบน้ำมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการลงอาบน้ำ
เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตรมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการ
อยู่โคนไม้เป็นวัตร

เชิงอรรถ :
๑ อาวุธที่ชื่อมตชะ หมายถึงอาวุธที่ทำจากผงตะไบเหล็กกล้าซึ่งช่างเหล็กคลุกเนื้อให้นกกระเรียนกินแล้วถ่าย
ไม่ได้ตายเองหรือฆ่าให้ตายแล้วนำผงนั้นมาล้างน้ำ คลุกเนื้อให้นกกระเรียนอื่น ๆ กินอีกทำอย่างนี้จนครบ
๗ ครั้ง ชื่อว่ามตชะ เพราะเกิดจากนกที่ตายแล้ว อาวุธนั้นเป็นอาวุธคมกล้ายิ่งนัก (ม.มู.อ. ๒/๔๓๖/๒๓๓)
๒ ผ้าซ้อน ในที่นี้แปลจากคำว่า สังฆาฏิ หมายถึงผ้าที่ใช้ผ้าเก่าฉีกเป็นชิ้น ๆ เย็บซ้อนกันใช้เป็นผ้านุ่งและห่ม
เป็นข้อวัตรของลัทธินอกศาสนา มิได้หมายถึงสังฆาฏิที่เป็นเครื่องบริขารของภิกษุในธรรมวินัยนี้ (ม.มู.อ.
๒/๔๓๗/๒๓๓, ม.มู.ฏีกา ๒/๔๓๗/๒๙๓)
๓ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๔๑๖ (มหาอัสสปุรสูตร) หน้า ๔๕๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้อยู่ในที่แจ้งเป็นวัตรมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียง
การอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร
เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้ยืนแหงนหน้ามีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการ
ยืนแหงนหน้า
เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้บริโภคภัตตามวาระมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียง
การบริโภคภัตตามวาระ
เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้ท่องมนตร์มีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการท่องมนตร์
เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้ขมวดผมมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการขมวดผม
หากบุคคลนุ่งห่มผ้าซ้อน มีอภิชฌามาก จะพึงละอภิชฌาได้ด้วยอาการเพียง
การนุ่งห่มผ้าซ้อน มีจิตพยาบาท จะพึงละพยาบาทได้ มีความมักโกรธ จะพึงละ
ความมักโกรธได้ มีความผูกโกรธ จะพึงละความผูกโกรธได้ มีความลบหลู่ จะพึงละ
ความลบหลู่ได้ มีความตีเสมอ จะพึงละความตีเสมอได้ มีความริษยา จะพึงละ
ความริษยาได้ มีความตระหนี่ จะพึงละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวดจะพึงละ
ความโอ้อวดได้ มีมารยา จะพึงละมารยาได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาป จะพึงละ
ความปรารถนาที่เป็นบาปได้ มีความเห็นผิด จะพึงละความเห็นผิดได้ ด้วยอาการ
เพียงการนุ่งห่มผ้าซ้อนไซร้ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตก็จะพึงให้บุคคลนั้นนุ่งห่ม
ผ้าซ้อนตั้งแต่เกิดทีเดียว พึงชักชวนผู้นั้นให้นุ่งห่มผ้าซ้อนอย่างเดียวว่า ‘ท่านผู้มี
หน้าอิ่มเอิบ มาเถิด ท่านจงนุ่งห่มผ้าซ้อน ท่านผู้นุ่งห่มผ้าซ้อนอยู่ มีอภิชฌามาก
ก็จักละอภิชฌาได้ด้วยอาการเพียงนุ่งห่มผ้าซ้อน มีจิตพยาบาทก็จักละพยาบาทได้
มีความมักโกรธก็จักละความมักโกรธได้ มีความผูกโกรธก็จักละความผูกโกรธได้
มีความลบหลู่ก็จักละความลบหลู่ได้ มีความริษยาก็จักละความริษยาได้ มีความตระหนี่
ก็จักละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวดก็จักละความโอ้อวดได้ มีมารยาก็จักละ
มารยาได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาปก็จักละความปรารถนาที่เป็นบาปได้ มีความ
เห็นผิดก็จักละความเห็นผิดได้ ด้วยอาการเพียงการนุ่งห่มผ้าซ้อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเราเห็นบุคคลบางคนในโลกนี้แม้นุ่งห่มผ้าซ้อนอยู่ยังมี
อภิชฌามาก มีจิตพยาบาท มีความมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีความลบหลู่
มีความตีเสมอ มีความริษยา มีความตระหนี่ มีความโอ้อวด มีมารยา มีความ
ปรารถนาที่เป็นบาป มีความเห็นผิด ฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่าบุคคลที่นุ่งห่มผ้าซ้อน
มีความเป็นสมณะด้วยอาการเพียงนุ่งห่มผ้าซ้อน
หากบุคคลถือเพศเปลือยกาย ฯลฯ หากบุคคลหมักหมมด้วยธุลี ... หาก
บุคคลอาบน้ำ ... หากบุคคลอยู่โคนไม้ ... หากบุคคลอยู่ในที่แจ้ง ... หากบุคคล
ยืนแหงนหน้า ... หากบุคคลบริโภคภัตตามวาระ ... หากบุคคลท่องมนตร์ ... หาก
บุคคลขมวดผม มีอภิชฌามาก จะพึงละอภิชฌาได้ด้วยอาการเพียงการขมวดผม
มีจิตพยาบาท จะพึงละพยาบาทได้ มีความมักโกรธ จะพึงละความมักโกรธได้ มี
ความผูกโกรธ จะพึงละความผูกโกรธได้ มีความลบหลู่ จะพึงละความลบหลู่ได้ มี
ความตีเสมอ จะพึงละความตีเสมอได้ มีความริษยา จะพึงละความริษยาได้ มีความ
ตระหนี่ จะพึงละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวด จะพึงละความโอ้อวดได้ มีมารยา
จะพึงละมารยาได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาป จะพึงละความปรารถนาที่เป็นบาปได้
มีความเห็นผิด จะพึงละความเห็นผิดได้ด้วยอาการเพียงการขมวดผมไซร้ มิตรอำมาตย์
ญาติสาโลหิตก็จะพึงให้บุคคลนั้นขมวดผมตั้งแต่เกิดทีเดียว พึงชักชวนผู้นั้นให้ขมวด
ผมอย่างเดียวว่า ‘ท่านผู้มีหน้าอิ่มเอิบ มาเถิด ท่านจงเป็นผู้ขมวดผม ท่านผู้
ขมวดผมอยู่ มีอภิชฌามากก็จักละอภิชฌาได้ด้วยอาการเพียงการขมวดผม มีจิต
พยาบาทก็จักละพยาบาทได้ มีความมักโกรธก็จักละความมักโกรธได้ มีความผูก
โกรธก็จักละความผูกโกรธได้ มีความลบหลู่ก็จักละความลบหลู่ได้ มีความตีเสมอ
ก็จักละความตีเสมอได้ มีความริษยาก็จักละความริษยาได้ มีความตระหนี่ก็จักละ
ความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวดก็จักละความโอ้อวดได้ มีมารยาก็จักละมารยาได้
มีความปรารถนาที่เป็นบาปก็จักละความปรารถนาที่เป็นบาปได้ มีความเห็นผิดก็
จักละความเห็นผิดได้ ด้วยอาการเพียงการขมวดผม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเราเห็นบุคคลบางคนในโลกนี้แม้ขมวดผมอยู่ ก็ยังมี
อภิชฌามาก มีจิตพยาบาท มีความมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีความลบหลู่ มี
ความตีเสมอ มีความริษยา มีความตระหนี่ มีความโอ้อวด มีมารยา มีความ
ปรารถนาที่เป็นบาป มีความเห็นผิด ฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่าบุคคลผู้ขมวดผมมี
ความเป็นสมณะด้วยอาการเพียงการขมวดผม

ข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ

[๔๓๘] ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีอภิชฌามากก็ละอภิชฌาได้ มีจิตพยาบาทก็ละพยาบาทได้
มีความมักโกรธก็ละความมักโกรธได้ มีความผูกโกรธก็ละความผูกโกรธได้ มีความ
ลบหลู่ก็ละความลบหลู่ได้ มีความตีเสมอก็ละความตีเสมอได้ มีความริษยาก็ละความ
ริษยาได้ มีความตระหนี่ก็ละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวดก็ละความโอ้อวดได้ มี
มารยาก็ละมารยาได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาปก็ละความปรารถนาที่เป็นบาปได้
มีความเห็นผิดก็ละความเห็นผิดได้ เพราะละกิเลสที่เป็นมลทิน เป็นโทษ เป็นดุจ
น้ำฝาดของสมณะ เป็นเหตุให้เกิดในอบาย และมีวิบากที่ตนจะพึงเสวยในทุคติ
เหล่านี้ได้ เราจึงกล่าวว่า ‘ภิกษุนั้นเป็นผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ’
ภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ หลุดพ้นแล้วจากบาปอกุศลธรรมทั้งปวงนี้
เมื่อเธอพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ หลุดพ้นแล้วจากบาปอกุศลธรรมทั้งปวงนี้ ความ
ปราโมทย์จึงเกิด เมื่อมีความปราโมทย์ปีติจึงเกิด เมื่อใจมีปีติกายจึงสงบ เมื่อมี
กายสงบเธอจึงเสวยสุข เมื่อเธอมีสุขจิตจึงตั้งมั่น
เธอมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ... มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓
... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร
ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ภิกษุทั้งหลาย สระโบกขรณี มีน้ำใสบริสุทธิ์ เย็นสะอาด มีท่าดี น่ารื่นรมย์
ถ้าบุรุษมาจากทิศตะวันออก ถูกความร้อนแผดเผา ร้อน ลำบาก กระหาย
อยากดื่มน้ำ เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้วก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำ และความ
กระวนกระวายเพราะความร้อนได้ ถ้าบุรุษมาจากทิศตะวันตก ... ถ้าบุรุษมาจาก
ทิศเหนือ ... ถ้าบุรุษมาจากทิศใต้ ... ถ้าบุรุษจะมาจากที่ไหน ๆ ก็ตามถูกความร้อน
แผดเผา ร้อน ลำบาก กระหาย อยากดื่มน้ำ เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้ว
ก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำและความกระวนกระวายเพราะความร้อนได้ แม้ฉันใด
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลกษัตริย์มาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึงธรรมวินัยที่
ตถาคตประกาศแล้วเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้
ความสงบระงับในภายใน เรากล่าวว่า ‘เป็นผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่
สมณะ’ เพราะความสงบระงับในภายในนั้น
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ ...
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ ...
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลศูทร ...
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลไหน ๆ ก็ตามมาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึง
ธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขาอย่างนั้น
ได้ความสงบระงับในภายใน เรากล่าวว่า ‘เป็นผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่
สมณะ’ เพราะความสงบระงับในภายในนั้น
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลกษัตริย์มาบวชเป็นบรรพชิต เธอทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่
ในปัจจุบัน กุลบุตรนี้ชื่อว่าสมณะ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป’
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค] รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ ...
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลศูทร ...
ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลไหน ๆ ก็ตาม มาบวชเป็นบรรพชิต เธอทำให้
แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน กุลบุตรนี้ชื่อว่าสมณะ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ฉันนั้น
เหมือนกันแล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬอัสสปุรสูตรที่ ๑๐ จบ
มหายมกวรรคที่ ๔ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. จูฬโคสิงคสูตร ๒. มหาโคสิงคสูตร
๓. มหาโคปาลสูตร ๔. จูฬโคปาลสูตร
๕. จูฬสัจจกสูตร ๖. มหาสัจจกสูตร
๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร ๘. มหาตัณหาสังขยสูตร
๙. มหาอัสสปุรสูตร ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

๕. จูฬยมกวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่ หมวดเล็ก

๑. สาเลยยกสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อสาลา
เหตุปัจจัยนำไปสุคติและทุคติ

[๔๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศลกับภิกษุหมู่ใหญ่ถึงบ้าน
พราหมณ์ชื่อสาลาของชาวโกศล พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาได้ฟังข่าวว่า๑
“ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริก
ไปในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อสาลาโดย
ลำดับแล้ว ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ
เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้
อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็น
พระผู้มีพระภาค๒’ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรงประกาศ
ให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และ
มีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้เป็นความดีอย่างแท้จริง”
ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
บางพวกถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกได้ทูลสนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.สี. (แปล) ๙/๒๕๕/๘๗
๒ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๖๔/๒๔๗, วิ.อ. ๑/๑/๑๐๓-๑๑๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

ประนมมือต่อพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและโคตร
ในสำนักของพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่สมควร
แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้
หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก๑
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้
หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวก
ในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความประพฤติ
ไม่สม่ำเสมอคือความประพฤติอธรรมเป็นเหตุ๒
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิด
ในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอคือความประพฤติธรรมเป็นเหตุ”
พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นกราบทูลว่า “เนื้อความแห่งธรรมที่ท่านพระโคดม
ตรัสไว้โดยย่อไม่ทรงชี้แจงให้พิสดาร ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ทราบโดยพิสดารได้
ขอท่านพระโคดมโปรดแสดงเนื้อความแห่งธรรมที่พระองค์ตรัสไว้โดยย่อไม่ทรงชี้แจง
ให้พิสดารนี้แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย โดยวิธีที่ข้าพระองค์ทั้งหลายจะพึงทราบโดย
พิสดารเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่าน
ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
พวกพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๖๘ (อากังเขยยสูตร) หน้า ๖๑ ในเล่มนี้
๒ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ(วิสมจริยา) คือ ความประพฤติอธรรม(อธัมมจริยา) หมายถึงอกุศล-
กรรมบถ ๑๐ ประการ (องฺ.ทสก.อ. ๓/๔๗/๓๔๘) (วิสมจริยา + อธัมมจริยา = กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

อกุศลกรรมบถ ๑๐

[๔๔๐] “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ
ความประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ ประการ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ
ความประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ ประการ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ
ความประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ ประการ
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้๑
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนหยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ใน
การฆ่าและการทุบตี ไม่มีความละอาย ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง
๒. เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ เป็นผู้ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจ
ของผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครอง
ของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ในปกครองของมารดา
บิดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ในปกครองของพี่สาว
น้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่อยู่ในปกครองของโคตร ที่
ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่สุด แม้สตรีที่
บุรุษสวมด้วยพวงมาลัยหมายไว้
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ ประการ
อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๑๑/๓๔๖-๓๔๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้พูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ
อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็น
พยานซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น’ บุรุษนั้นไม่รู้ก็กล่าว
ว่า ‘รู้’ หรือรู้ก็กล่าวว่า ‘ไม่รู้’ ไม่เห็นก็กล่าวว่า ‘เห็น’ หรือเห็น
ก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’ กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะ
บุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง
๒. เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลาย
ฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น
ยุยงคนที่สามัคคีกัน ส่งเสริมคนที่แตกแยกกัน ชื่นชมยินดี เพลิดเพลิน
ต่อผู้ที่แตกแยกกัน พูดแต่ถ้อยคำที่ก่อความแตกแยกกัน
๓. เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำหยาบคาย กล้าแข็ง เผ็ดร้อน
หยาบคายร้ายกาจแก่ผู้อื่น กระทบกระทั่งผู้อื่น ใกล้ต่อความโกรธ
ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ
๔. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ พูดไม่ถูกเวลา พูดคำที่ไม่จริง พูดคำที่ไม่
อิงประโยชน์ พูดไม่อิงธรรม พูดไม่อิงวินัย พูดคำที่ไม่มีหลักฐาน
ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่กำหนด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยไม่
เหมาะแก่เวลา
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ ประการ
อย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่อง
ปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’
๒. เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า
จงถูกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศไป หรืออย่าได้มี’
๓. เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล
ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่
ทำดีและทำชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ
บิดาไม่มีคุณ โอปปาติกสัตว์ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี
ปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
สอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ก็ไม่มีในโลก’
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ ประการ
อย่างนี้แล
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติ
อธรรมเป็นเหตุ อย่างนี้

กุศลกรรมบถ ๑๐

[๔๔๑] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความ
ประพฤติธรรมทางกายมี ๓ ประการ ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความ
ประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ ประการ ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความ
ประพฤติธรรมทางใจมี ๓ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางกายมี ๓ ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ
มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ ไม่ถือเอาทรัพย์อันเป็น
อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของมิได้
ให้ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือ ไม่เป็นผู้ประพฤติ
ล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครองของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา
ที่อยู่ในปกครองของมารดาบิดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย
ที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่อยู่
ในปกครองของญาติ ที่ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง
โดยที่สุด แม้สตรีที่บุรุษสวมด้วยพวงมาลัยหมายไว้
ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางกายมี ๓ ประการ
อย่างนี้แล
ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่
ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลาง
ราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยานซักถามว่า ‘ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าว
สิ่งนั้น’ บุรุษนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า ‘ไม่รู้’ หรือรู้ก็กล่าวว่า ‘รู้’ ไม่เห็น
ก็กล่าวว่า ‘ไม่เห็น’ หรือเห็นก็กล่าวว่า ‘เห็น’ ไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้
เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือ
เห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไม่ไป
บอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มา
บอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกแยกกัน ส่งเสริมคน
ที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่
ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ
๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดแต่คำจริง
พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่
อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา
ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ ประการ
อย่างนี้แล
ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางใจมี ๓ ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์
อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อัน
เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’
๒. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือ ไม่มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้ จง
เป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิด’
๓. เป็นสัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล
ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดี
และทำชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

โอปปาติกสัตว์มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้ง
โลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง มีอยู่
ในโลก’
ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางใจมีอยู่ ๓ ประการ
อย่างนี้แล
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ หลังจากตาย
แล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติ
ธรรมเป็นเหตุ อย่างนี้

ผลแห่งความประพฤติสม่ำเสมอ

[๔๔๒] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้
ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในพวก
ขัตติยมหาศาล’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในพวก
ขัตติยมหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือ
เป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในพวกพราหมณมหาศาล ฯลฯ เราพึงเกิดในพวก
คหบดีมหาศาล’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในพวกคหบดี-
มหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอคือเป็นผู้
ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช’ เป็นไปได้ที่หลังจากตาย
แล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคล
นั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอคือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ เทพชั้นยามา ...
เทพชั้นดุสิต ... เทพชั้นนิมมานรดี ... เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ... เทพผู้นับเนื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑. สาเลยยกสูตร

ในหมู่พรหม’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพผู้นับเนื่องใน
หมู่พรหม๑ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็น
ผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นอาภา’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว
บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพชั้นอาภา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้
ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นปริตตาภา ... เทพชั้นอัปปมาณาภา ...
เทพชั้นอาภัสสรา ... เทพชั้นปริตตสุภา ... เทพชั้นอัปปมาณสุภา ... เทพชั้น
สุภกิณหา ... เทพชั้นเวหัปผลา ... เทพชั้นอวิหา ... เทพชั้นอตัปปา ... เทพชั้นสุทัสสา
... เทพชั้นสุทัสสี ... เทพชั้นอกนิฏฐภพ ... เทพผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ ...
เทพผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภพ ... เทพผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ ... เทพผู้
เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิด
ในเทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้น
เป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติ
ธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เป็น
ไปได้ที่บุคคลนั้นจะพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะ
สิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคล
นั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล”

เชิงอรรถ :
๑ เทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหม(เทพชั้นพรหมกายิกา) หมายถึงเทวดาผู้เคยได้บรรลุฌาน มีฌานชั้นปฐมฌาน
เป็นต้น (ม.มู.อ. ๒/๔๔๒/๒๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๒. เวรัญชกสูตร

ชาวบ้านสาลาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

[๔๔๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกพราหมณ์และคหบดี
ชาวบ้านสาลาได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่าน
พระโคดม ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของ
ที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทางหรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า
‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้ง
พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล

สาเลยยกสูตรที่ ๑ จบ

๒. เวรัญชกสูตร
ว่าด้วยชาวเมืองเวรัญชา
เหตุปัจจัยนำไปสุคติและทุคติ

[๔๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พวกพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเวรัญชา
พักอยู่ในกรุงสาวัตถีด้วยกรณียกิจบางอย่าง ได้ฟังข่าวว่า
“ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชแล้วจากศากยตระกูล
ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ท่าน
พระโคดมพระองค์นั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อม
ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๒. เวรัญชกสูตร

พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้ง
สมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม
ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามใน
ที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์
ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์เช่นนี้เป็นความดีอย่างแท้จริง”
ครั้งนั้น พวกพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเวรัญชาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ บางพวกถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก
ได้ทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกประนมมือต่อพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อ
และโคตรในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นั่งนิ่งอยู่ ณ
ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกใน
โลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้
หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวก
ในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความประพฤติ
ไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมเป็นเหตุ
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วจะไป
เกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรม
เป็นเหตุ”
พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นทูลว่า “เนื้อความแห่งธรรมที่ท่านพระโคดมตรัส
ไว้โดยย่อไม่ทรงชี้แจงให้พิสดาร ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ทราบโดยพิสดารได้ ขอท่าน
พระโคดมจงแสดงเนื้อความแห่งธรรมที่พระองค์ตรัสไว้โดยย่อไม่ทรงชี้แจงให้พิสดาร
แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย โดยวิธีที่ข้าพระองค์ทั้งหลายจะพึงทราบโดยพิสดารเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่าน
ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
พวกพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเวรัญชาทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๒. เวรัญชกสูตร

อกุศลกรรมบถ ๑๐

[๔๔๕] “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ
ผู้ประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ จำพวก บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติ
อธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรม
ทางใจมี ๓ จำพวก
บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ จำพวก
ไหนบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนหยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ในการ
ฆ่าและการทุบตี ไม่มีความละอาย ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง
๒. เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ เป็นผู้ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้ม
ใจของผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของมิได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุ
ขโมย
๓. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครอง
ของมารดา ฯลฯ
บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางกายมี ๓ จำพวก
อย่างนี้แล
บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก
ไหนบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้พูดเท็จ คือ อยู่ในสภา ฯลฯ เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้ ฯลฯ
๒. เป็นผู้พูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไปบอกฝ่ายโน้น ฯลฯ
พูดแต่ถ้อยคำที่ก่อความแตกแยกกัน
๓. เป็นผู้พูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำหยาบคาย กล้าแข็ง ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๒. เวรัญชกสูตร

๔. เป็นผู้พูดเพ้อเจ้อ คือ พูดไม่ถูกเวลา พูดคำที่ไม่จริง ฯลฯ ไม่มีที่
กำหนด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยไม่เหมาะแก่เวลา
บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก
อย่างนี้แล
บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ จำพวก
ไหนบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ฯลฯ ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’
๒. เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอให้สัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า
ฯลฯ หรืออย่าได้มี’
๓. เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล
ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ฯลฯ สอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง
ก็ไม่มีในโลก’
บุคคลผู้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติอธรรมทางใจมี ๓ จำพวก
อย่างนี้แล
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้วไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ ความประพฤติ
อธรรมเป็นเหตุ อย่างนี้

กุศลกรรมบถ ๑๐

[๔๔๖] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้
ประพฤติธรรมทางกายมี ๓ จำพวก บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติ
ธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรม
ทางใจมี ๓ จำพวก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๒. เวรัญชกสูตร

บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางกายมี ๓ จำพวก
ไหนบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ
มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากจากการลักทรัพย์ คือ ไม่ถือเอาทรัพย์อันเป็น
อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของมิได้ให้
ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือ ไม่เป็นผู้ประพฤติ
ล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครองของมารดา ฯลฯ
บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางกายมี ๓ จำพวก
อย่างนี้แล
บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก
ไหนบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ อยู่ในสภา ฯลฯ ไม่กล่าว
เท็จทั้งที่รู้อยู่ ฯลฯ
๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด ฯลฯ พูดแต่ถ้อยคำที่
สร้างสรรค์ความสามัคคี
๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ ฯลฯ พูดแต่คำไม่มีโทษ
๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ฯลฯ มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด
ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา
บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ จำพวก
อย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๒. เวรัญชกสูตร

บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางใจ ๓ จำพวก ไหนบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
๑. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็น
อุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ‘ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์
เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา’
๒. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือ ไม่มีจิตคิดร้ายว่า ‘ขอสัตว์เหล่านี้ จง
เป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิด’
๓. เป็นสัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล
ยัญที่บูชาแล้วมีผล ฯลฯ ผู้ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญา
อันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก’
บุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมทางใจมี ๓ จำพวก อย่างนี้แล
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้หลังจากตายแล้ว ไปเกิด
ในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมเป็นเหตุ
อย่างนี้

ผลแห่งความประพฤติสม่ำเสมอ

[๔๔๗] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือ
ผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดใน
พวกขัตติยมหาศาล’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในพวก
ขัตติยมหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือ
เป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในพวกพราหมณมหาศาล ฯลฯ เราพึงเกิดใน
พวกคหบดีมหาศาล’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในคหบดี-
มหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็น
ผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๒. เวรัญชกสูตร

ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช’ เป็นไปได้ที่หลังจาก
ตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
บุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ เทพชั้นยามา ...
เทพชั้นดุสิต ... เทพชั้นนิมมานรดี ... เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ... เทพผู้นับเนื่อง
ในหมู่พรหม’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพผู้นับเนื่อง
ในหมู่พรหม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือ
เป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นอาภา’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว
บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพชั้นอาภา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้น เป็นผู้
ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นปริตตาภา ... เทพชั้นอัปปมาณาภา ...
เทพชั้นอาภัสสรา ... เทพชั้นปริตตสุภา ... เทพชั้นอัปปมาณสุภา ... เทพชั้นสุภกิณหา
... เทพชั้นเวหัปผลา ... เทพชั้นอวิหา ... เทพชั้นอตัปปา ... เทพชั้นสุทัสสา ...
เทพชั้นสุทัสสี ... เทพชั้นอกนิฏฐภพ ... เทพผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ ...
เทพผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภพ ... เทพผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ ... เทพผู้
เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ’ เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึง
เกิดในเทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคล
นั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติ
ธรรมจะพึงหวังว่า ‘ทำอย่างไรหนอ เราพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๒. เวรัญชกสูตร

อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เป็น
ไปได้ที่บุคคลนั้นจะพึงทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะ
อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
บุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล”

ชาวเมืองเวรัญชาถึงพระรัตนตรัย

[๔๔๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกสมณพราหมณ์และ
คหบดีชาวเมืองเวรัญชาได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่าน
พระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงาย
ของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทางหรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า
‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์ทั้งหลายนี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้ง
พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ทั้งหลายว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล

เวรัญชกสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

๓. มหาเวทัลลสูตร
ว่าด้วยการสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปัญญา สูตรใหญ่
ปัญญากับวิญญาณ

[๔๔๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระมหาโกฏฐิกะออกจากที่
หลีกเร้น๑แล้ว เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่
บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระมหาโกฏฐิกะครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงถามเรื่องนี้กับท่านพระสารีบุตรว่า
“ท่านผู้มีอายุ บุคคลที่เรียกว่า ‘ผู้มีปัญญาทราม ผู้มีปัญญาทราม’ เพราะ
เหตุไรหนอแล๒จึงเรียกว่า ‘ผู้มีปัญญาทราม”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ บุคคลไม่รู้ชัด บุคคลไม่รู้ชัด เหตุนั้น
จึงเรียกว่า ‘ผู้มีปัญญาทราม’ บุคคลไม่รู้ชัดอะไร คือ ไม่รู้ชัดว่า ‘นี้ทุกข์
นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ เหตุนั้น บุคคลไม่รู้ชัด
บุคคลไม่รู้ชัด จึงเรียกว่า ‘ผู้มีปัญญาทราม’
ท่านพระมหาโกฏฐิกะชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า “ดีละ ท่านผู้
มีอายุ” แล้วได้ถามปัญหาต่อไปว่า “ท่านผู้มีอายุ บุคคลที่เรียกว่า ‘ผู้มีปัญญา
ผู้มีปัญญา’ เพราะเหตุไรหนอแลจึงเรียกว่า ‘ผู้มีปัญญา’

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ขัอ ๘๑ (สัลเลขสูตร) หน้า ๗๐ ในเล่มนี้
๒ คำว่า เพราะเหตุไรหนอแล แปลจากคำว่า “กิตฺตาวตา นุ โข” เป็นคำถามหาเหตุ แท้จริงการถามนั้นมี
๕ อย่าง คือ (๑) อทิฏฐโชตนาปุจฉา - การถามให้แสดงเรื่องที่ตนไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อน (๒) ทิฏฐ-
สังสันทนาปุจฉา - การถามให้ชี้แจงเรื่องที่เคยทราบมาแล้ว เพื่อเทียบกันดูกับเรื่องที่ตนรู้มา (๓) วิมติ-
เฉทนาปุจฉา - การถามเพื่อให้คลายความสงสัย (๔) อนุมติปุจฉา - การถามเพื่อให้มีความคิดเห็นคล้อยตาม
(๕) กเถตุกามยตาปุจฉา - การถามเพื่อมุ่งจะกล่าวชี้แจงต่อ เป็นลักษณะของการถามเอง ตอบเอง ในที่นี้
พระมหาโกฏฐิกะถามในลักษณะของทิฏฐสังสันทนาปุจฉา (ม.มู.อ. ๒/๔๔๙/๒๔๒-๒๔๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

“บุคคลรู้ชัด บุคคลรู้ชัด เหตุนั้น จึงเรียกว่า ‘ผู้มีปัญญา’ บุคคลรู้ชัดอะไร
คือ รู้ชัดว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ เหตุนั้น
บุคคลรู้ชัด บุคคลรู้ชัด จึงเรียกว่า ‘ผู้มีปัญญา”
“สภาวะที่เรียกว่า ‘วิญญาณ วิญญาณ’ เพราะเหตุไรหนอแล จึงเรียกว่า
‘วิญญาณ”
“สภาวะรู้แจ้ง สภาวะรู้แจ้ง เหตุนั้น จึงเรียกว่า ‘วิญญาณ’ สภาวะรู้แจ้งอะไร
คือ รู้แจ้งสุขบ้าง รู้แจ้งทุกข์บ้าง รู้แจ้งอทุกขมสุขบ้าง เหตุนั้น สภาวะรู้แจ้ง
สภาวะรู้แจ้ง จึงเรียกว่า ‘วิญญาณ”
“ปัญญาและวิญญาณ ๒ ประการนี้ รวมกัน หรือแยกกัน และสามารถ
แยกแยะ บัญญัติหน้าที่ต่างกันได้หรือไม่”
“ปัญญาและวิญญาณ ๒ ประการนี้ รวมกัน ไม่แยกกัน และไม่สามารถ
แยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้ เพราะปัญญารู้ชัดสิ่งใด วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น
วิญญาณรู้แจ้งสิ่งใด ปัญญาก็รู้ชัดสิ่งนั้น เหตุนั้นธรรม ๒ ประการนี้ จึงรวมกัน
ไม่แยกกัน และไม่สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้”
“ท่านผู้มีอายุ ปัญญาและวิญญาณ ๒ ประการนี้ รวมกัน ไม่แยกกัน แต่
มีกิจที่จะพึงทำต่างกันบ้างหรือไม่”
“ท่านผู้มีอายุ ปัญญาและวิญญาณ ๒ ประการนี้ รวมกัน ไม่แยกกัน แต่
ปัญญา๑ควรเจริญ วิญญาณ๒ควรกำหนดรู้ นี้เป็นกิจที่จะพึงทำต่างกันแห่งธรรม ๒
ประการนี้”

เชิงอรรถ :
๑ ปัญญา ในที่นี้หมายถึงมัคคปัญญา (ปัญญาในอริยมรรค)
๒ วิญญาณ ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนาวิญญาณ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๑/๒๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

เวทนา สัญญา และวิญญาณ

[๔๕๐] “ท่านผู้มีอายุ สภาวะที่เรียกว่า ‘เวทนา เวทนา’ เพราะเหตุไรหนอแล
จึงเรียกว่า ‘เวทนา”
“ท่านผู้มีอายุ สภาวะเสวยอารมณ์ สภาวะเสวยอารมณ์ เหตุนั้น จึงเรียกว่า
‘เวทนา’ สภาวะเสวยอารมณ์อะไร คือ เสวยอารมณ์สุขบ้าง เสวยอารมณ์ทุกข์บ้าง
เสวยอารมณ์อทุกขมสุขบ้าง เหตุนั้น สภาวะเสวยอารมณ์ สภาวะเสวยอารมณ์
จึงเรียกว่า ‘เวทนา”
“สภาวะที่เรียกว่า ‘สัญญา สัญญา’ เพราะเหตุไรหนอแลจึงเรียกว่า ‘สัญญา”
“สภาวะกำหนดหมาย สภาวะกำหนดหมาย เหตุนั้น จึงเรียกว่า ‘สัญญา’
สภาวะกำหนดหมายอะไร คือ กำหนดหมายสีเขียวบ้าง กำหนดหมาย
สีเหลืองบ้าง กำหนดหมายสีแดงบ้าง กำหนดหมายสีขาวบ้าง เหตุนั้น สภาวะ
กำหนดหมาย สภาวะกำหนดหมาย จึงเรียกว่า ‘สัญญา”
“เวทนา สัญญา และวิญญาณ ๓ ประการนี้ รวมกัน หรือแยกกัน และ
สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้หรือไม่”
“เวทนา สัญญา และวิญญาณ ๓ ประการนี้ รวมกัน ไม่แยกกัน และไม่
สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้ เพราะเวทนาเสวยอารมณ์สิ่งใด สัญญา
ก็กำหนดหมายสิ่งนั้น สัญญากำหนดหมายสิ่งใด วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น เหตุนั้น
ธรรม ๓ ประการนี้ จึงรวมกัน ไม่แยกกัน และไม่สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่
ต่างกันได้”
[๔๕๑] “ท่านผู้มีอายุ พระโยคาวจรผู้มีมโนวิญญาณ๑อันบริสุทธิ์ สละแล้ว
จากอินทรีย์ ๕ จะพึงรู้อะไร”

เชิงอรรถ :
๑ มโนวิญญาณ ในที่นี้หมายถึงจิตในฌานที่ ๔ อันเป็นไปในรูปาวจรภูมิ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๑/๒๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

“ท่านผู้มีอายุ พระโยคาวจรผู้มีมโนวิญญาณอันบริสุทธิ์สละแล้วจากอินทรีย์ ๕
พึงรู้อากาสานัญจายตนฌานว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ พึงรู้วิญญาณัญจายตนฌานว่า
‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ พึงรู้อากิญจัญญายตนฌานว่า ‘ไม่มีอะไร”๑
“พระโยคาวจรย่อมรู้ธรรมที่ตนจะพึงรู้ด้วยอะไร”
“พระโยคาวจรย่อมรู้ธรรมที่ตนจะพึงรู้ด้วยปัญญาจักษุ”๒
“ปัญญามีไว้เพื่ออะไร”
“ปัญญามีไว้เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อการกำหนดรู้ และเพื่อการละ”

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ

[๔๕๒] “ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิมีเท่าไร”
“ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิมี ๒ ประการ คือ
๑. ปรโตโฆสะ๓(การได้สดับจากบุคคลอื่น)
๒. โยนิโสมนสิการ๔(การมนสิการโดยแยบคาย)
ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิมี ๒ ประการนี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ ข้อความนี้หมายถึงพระโยคาวจรผู้บำเพ็ญเพียรอาศัยมโนวิญญาณ กล่าวคือรูปาวจรฌานจิตในฌานที่ ๔
เป็นพื้นฐาน จึงจะสามารถบำเพ็ญให้อรูปาวจรสมาบัติที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนสมาบัติให้เกิดขึ้นได้
สามารถให้อรูปาวจรสมาบัติอื่นเกิดขึ้นต่อมาตามลำดับ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๑/๒๕๓)
๒ ปัญญาจักษุ ในที่นี้หมายถึงสมาธิปัญญา และวิปัสสนาปัญญา สมาธิปัญญา ทำหน้าที่กำจัดโมหะ
วิปัสสนาปัญญา ทำหน้าที่พิจารณาไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๑/๒๕๔)
๓ ปรโตโฆสะ ในที่นี้หมายถึงการฟังธรรมเป็นที่สบายเหมาะสมแก่ตน เช่นพระสารีบุตรเถระได้ฟังธรรมจาก
พระอัสสชิเถระว่า ‘ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ...’ (ดู วิ.ม. (แปล) ๔/๖๐/๗๓) (ม.มู.อ. ๒/๔๕๒/๒๕๔)
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๑๕ (สัพพาสวสูตร) หน้า ๑๘ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

“สัมมาทิฏฐิ๑ซึ่งมีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีเจโตวิมุตติเป็นผลานิสงส์ มีปัญญา-
วิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ เพราะมีองค์ธรรมเท่าไรสนับสนุน”
“สัมมาทิฏฐิซึ่งมีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีเจโตวิมุตติเป็นผลานิสงส์ มีปัญญา-
วิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ เพราะมีองค์ธรรม ๕ ประการ
สนับสนุน คือ
๑. มีศีล๒สนับสนุน
๒. มีสุตะ๓สนับสนุน
๓. มีสากัจฉา๔สนับสนุน
๔. มีสมถะ๕สนับสนุน
๕. มีวิปัสสนา๖สนับสนุน
สัมมาทิฏฐิซึ่งมีเจโตวิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ มีปัญญา-
วิมุตติเป็นผล และมีปัญญาวิมุตติเป็นผลานิสงส์ เพราะมีองค์ธรรม ๕ ประการ
นี้แลสนับสนุน”

เชิงอรรถ :
๑ สัมมาทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตมัคคสัมมาทิฏฐิ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๒/๒๕๔)
๒ ศีล ในที่นี้หมายถึงปาริสุทธิศีล ๔ เพราะปาริสุทธิศีล ๔ เป็นปทัฏฐานแห่งการบรรลุอริยมรรค (ม.มู.อ.
๒/๔๕๒/๒๕๔, ม.มู.ฏีกา ๒/๔๕๒/๓๒๖)
๓ สุตะ ในที่นี้หมายถึงการฟังธรรมที่เป็นสัปปายะ มีความหมายเท่ากับปรโตโฆสะ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๒/๒๕๔)
๔ สากัจฉา หมายถึงการปรับกัมมัฏฐานให้เกิดความเหมาะสม (ม.มู.อ. ๒/๔๕๒/๒๕๔)
๕ สมถะ หมายถึงสมาบัติที่เป็นพื้นฐานแห่งวิปัสสนา (ม.มู.อ. ๒/๔๕๒/๒๕๔)
๖ วิปัสสนา หมายถึงอนุปัสสนา ๗ ประการ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๒/๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

ภพและฌาน

[๔๕๓] “ท่านผู้มีอายุ ภพมีเท่าไร”
“ท่านผู้มีอายุ ภพมี ๓ คือ (๑) กามภพ (๒) รูปภพ (๓) อรูปภพ”
“การเกิดในภพใหม่ต่อไป มีได้อย่างไร”
“เพราะความยินดียิ่งในอารมณ์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกีดกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องผูกพันไว้ การเกิดในภพใหม่ต่อไป ย่อมมีได้อย่างนี้”
“การเกิดในภพใหม่ต่อไป ไม่มีได้อย่างไร”
“เพราะอวิชชาสิ้นไป เพราะวิชชาเกิดขึ้น และเพราะตัณหาดับไป การเกิด
ขึ้นในภพใหม่ต่อไป ไม่มีได้อย่างนี้”
[๔๕๔] “ท่านผู้มีอายุ ปฐมฌาน เป็นอย่างไร”
“ท่านผู้มีอายุ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ฌานนี้พระผู้มี
พระภาคตรัสว่า ‘ปฐมฌาน”
“ปฐมฌานมีองค์เท่าไร”
“ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ ภิกษุผู้เข้าปฐมฌานย่อมมี (๑) วิตก (๒) วิจาร
(๓) ปีติ (๔) สุข (๕) เอกัคคตา ปฐมฌานมีองค์ ๕ อย่างนี้”
“ปฐมฌานละองค์เท่าไร ประกอบด้วยองค์เท่าไร”
“ปฐมฌานละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
เข้าปฐมฌาน (๑) ละกามฉันทะ (๒) ละพยาบาท (๓) ละถีนมิทธะ (๔) ละอุทธัจจ-
กุกกุจจะ (๕) ละวิจิกิจฉาได้แล้ว ย่อมมี (๑) วิตก (๒) วิจาร (๓) ปีติ (๔) สุข
(๕) เอกัคคตา ปฐมฌานละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

อินทรีย์ ๕

[๔๕๕] “ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ (๑) จักขุนทรีย์
(๒) โสตินทรีย์ (๓) ฆานินทรีย์ (๔) ชิวหินทรีย์ (๕) กายินทรีย์ มีอารมณ์ต่างกัน
มีที่เที่ยวไปต่างกัน ไม่รับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของกันและกัน เมื่ออินทรีย์ ๕
ประการนี้มีอารมณ์ต่างกัน มีที่เที่ยวไปต่างกัน ไม่รับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของ
กันและกัน จะมีอะไรเป็นที่อาศัย และธรรมอะไรรับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปแห่ง
อินทรีย์ ๕ ประการนั้น”
“ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ (๑) จักขุนทรีย์ (๒) โสตินทรีย์
(๓) ฆานินทรีย์ (๔) ชิวหินทรีย์ (๕) กายินทรีย์ มีอารมณ์ต่างกัน มีที่เที่ยวไปต่างกัน
ไม่รับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของกันและกัน เมื่ออินทรีย์เหล่านี้มีอารมณ์ต่างกัน
มีที่เที่ยวไปต่างกัน ไม่รับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของกันและกัน มีใจเป็นที่อาศัย
และใจย่อมรับรู้อารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปแห่งอินทรีย์เหล่านั้น”
[๔๕๖] “ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ (๑) จักขุนทรีย์
(๒) โสตินทรีย์ (๓) ฆานินทรีย์ (๔) ชิวหินทรีย์ (๕) กายินทรีย์ อินทรีย์ ๕
ประการนี้อาศัยอะไรดำรงอยู่”
“ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ ๕ ประการนี้ คือ (๑) จักขุนทรีย์ (๒) โสตินทรีย์
(๓) ฆานินทรีย์ (๔) ชิวหินทรีย์ (๕) กายินทรีย์ อินทรีย์ ๕ ประการนี้อาศัยอายุ๑
ดำรงอยู่”
“อายุอาศัยอะไรดำรงอยู่”
“อายุอาศัยไออุ่น๒ดำรงอยู่”
“ไออุ่นอาศัยอะไรดำรงอยู่”
“ไออุ่นอาศัยอายุดำรงอยู่”
“ผมรู้ทั่วถึงภาษิตของท่านพระสารีบุตรในบัดนี้เองอย่างนี้ว่า ‘อายุอาศัยไออุ่น
ดำรงอยู่และไออุ่นอาศัยอายุดำรงอยู่’ แต่ผมจะพึงเข้าใจความแห่งภาษิตนี้ได้อย่างไร”

เชิงอรรถ :
๑ อายุ ในที่นี้หมายถึงรูปชีวิตินทรีย์ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๖/๒๕๗-๒๕๙)
๒ ไออุ่น หมายถึงเตโชธาตุที่เกิดจากกรรม (ม.มู.อ. ๒/๔๕๖/๒๕๗-๒๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

“ถ้าเช่นนั้น ผมจักอุปมาให้ท่านฟัง เพราะวิญญูชนบางพวกในโลกนี้ย่อมทราบ
ความแห่งภาษิตได้ด้วยอุปมา เมื่อประทีปน้ำมันกำลังติดไฟอยู่ แสงสว่างอาศัย
เปลวไฟจึงปรากฏ เปลวไฟก็อาศัยแสงสว่างจึงปรากฏอยู่แม้ฉันใด อายุอาศัยไออุ่น
ดำรงอยู่ ไออุ่นก็อาศัยอายุดำรงอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน”
[๔๕๗] “ท่านผู้มีอายุ อายุสังขาร๑ กับเวทนียธรรม๒เป็นอันเดียวกัน หรือต่างกัน”
“ท่านผู้มีอายุ อายุสังขารกับเวทนียธรรม ไม่เป็นอันเดียวกัน (ถ้า) อายุสังขาร
กับเวทนียธรรมเป็นอันเดียวกันแล้ว การออกจากสมาบัติของภิกษุผู้เข้าสัญญา-
เวทยิตนิโรธ ก็ไม่พึงปรากฏ แต่เพราะอายุสังขารกับเวทนียธรรมต่างกัน ฉะนั้น
การออกจากสมาบัติของภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ จึงปรากฏ”
“เมื่อธรรมเท่าไรละกายนี้ไป กายนี้จึงถูกทอดทิ้งนอนนิ่งเหมือนท่อนไม้ที่
ปราศจากเจตนา”
“เมื่อธรรม ๓ ประการ คือ (๑) อายุ (๒) ไออุ่น (๓) วิญญาณ๓ ละกายนี้ไป
กายนี้จึงถูกทอดทิ้ง นอนนิ่งเหมือนท่อนไม้ที่ปราศจากเจตนา”
“สัตว์ผู้ตายคือทำกาละไปแล้วกับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธต่างกันอย่างไร”
“สัตว์ผู้ตายคือทำกาละไปแล้วมีกายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขาร๔ดับระงับไป
มีอายุหมดสิ้นไป ไม่มีไออุ่น มีอินทรีย์แตกทำลาย ส่วนภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิต-
นิโรธมีกายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขารดับ ระงับไป แต่อายุยังไม่หมดสิ้น
ยังมีไออุ่นมีอินทรีย์ผ่องใส
สัตว์ผู้ตายคือทำกาละไปแล้วกับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธต่างกันอย่างนี้”

เชิงอรรถ :
๑ อายุสังขาร หมายถึงอายุนั่นเอง (ม.มู.อ. ๒/๔๕๗/๒๕๘)
๒ เวทนียธรรม หมายถึงเวทนาธรรม (ม.มู.อ. ๒/๔๕๗/๒๕๘)
๓ วิญญาณ หมายถึงจิต (ม.มู.อ. ๒/๔๕๗/๒๕๙)
๔ กายสังขาร หมายถึงลมหายใจเข้าออก วจีสังขาร หมายถึงวิตกวิจาร จิตตสังขาร หมายถึงสัญญาเวทนา
(ม.มู.อ. ๒/๔๕๗/๒๕๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

ปัจจัยแห่งเจโตวิมุตติ

[๔๕๘] “ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขมีเท่าไร”
“ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขมี ๔ ประการ
คือ (๑) เพราะละสุขได้ (๒) เพราะละทุกข์ได้ (๓) เพราะโสมนัสดับไปก่อน
(๔) เพราะโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้จึงบรรลุจตุตถฌาน ซึ่งไม่มี
ทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขมี ๔ ประการนี้แล”
“ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิต๑ มีเท่าไร”
“ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๒ ประการ คือ
๑. การไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง๒
๒. การมนสิการถึงนิพพานธาตุ ซึ่งไม่มีนิมิต๓
ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๒ ประการนี้แล”
“ปัจจัยแห่งการตั้งอยู่แห่งเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิต มีเท่าไร”
“ปัจจัยแห่งการตั้งอยู่แห่งเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๓ ประการ คือ
๑. ไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง
๒. มนสิการถึงนิพพานธาตุ ซึ่งไม่มีนิมิต
๓. อภิสังขาร๔ในเบื้องต้น
ปัจจัยแห่งการตั้งอยู่แห่งเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๓ ประการนี้แล”

เชิงอรรถ :
๑ นิมิต ในความหมายนี้หมายถึงการออกจากนิโรธสมาบัติด้วยผลสมาบัติซึ่งเป็นผลเกิดจากวิปัสสนา (ม.มู.อ.
๒/๔๕๘/๒๖๐)
๒ นิมิตทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอารมณ์มีรูปเป็นต้น (ม.มู.อ. ๒/๔๕๘/๒๖๐)
๓ การมนสิการถึงนิพพานซึ่งไม่มีนิมิต หมายถึงการมนสิการถึงธรรมที่เกิดร่วมกับผลสมาบัติ (ม.มู.อ.
๒/๔๕๘/๒๖๐)
๔ อภิสังขาร หมายถึงการกำหนดระยะเวลาอยู่ในสมาธิ (ม.มู.อ. ๒/๔๕๘/๒๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

“ปัจจัยแห่งการออกจากเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิต มีเท่าไร”
“ปัจจัยแห่งการออกจากเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๒ ประการ คือ
๑. การมนสิการถึงนิมิตทั้งปวง
๒. การไม่มนสิการถึงนิพพานธาตุ ซึ่งไม่มีนิมิต
ปัจจัยแห่งการออกจากเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี ๒ ประการนี้แล”
[๔๕๙] “ท่านผู้มีอายุ ธรรมเหล่านี้ คือ อัปปมาณาเจโตวิมุตติ๑
อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ๒ สุญญตาเจโตวิมุตติ๓ อนิมิตตาเจโตวิมุตติ๔ มีอรรถต่างกัน
มีพยัญชนะต่างกัน หรือมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น”
“ท่านผู้มีอายุ เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถต่างกัน และมี
พยัญชนะต่างกัน เหตุนั้นมีอยู่ อนึ่ง เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถ
อย่างเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น เหตุนั้นมีอยู่”
“เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกัน
เหตุนั้นเป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ...
ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลก

เชิงอรรถ :
๑ อัปปมาณาเจโตวิมุตติ ได้แก่ ธรรม ๑๒ ประการ คือ พรหมวิหาร ๔ มรรค ๔ ผล ๔ พรหมวิหาร
ชื่อว่า อัปปมาณะ เพราะแผ่ไปหาประมาณมิได้ ธรรมที่เหลือชื่อว่าอัปปมาณะ เพราะไม่มีกิเลสเป็นเครื่องวัด
(ม.มู.อ. ๒/๔๕๙/๒๖๒, สํ.สฬา.อ. ๓/๓๔๙/๑๖๐)
๒ อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ ได้แก่ ธรรม ๙ ประการ คือ อากิญจัญญายตนะ ๑ มรรค ๔ ผล ๔
อากิญจัญญายตนะ ชื่อว่าอากิญจัญญะ เพราะไม่มีกิเลสเครื่องกังวลเป็นอารมณ์ มรรคและผล ชื่อว่า
อากิญจัญญะ เพราะไม่มีกิเลสเครื่องกังวลคือกิเลสเครื่องย่ำยีและกิเลสเครื่องผูก (ม.มู.อ. ๒/๔๕๙/๒๖๒,
สํ.สฬา.อ. ๓/๓๔๙/๑๖๐)
๓ สุญญตาเจโตวิมุตติ ได้แก่ ความหลุดพ้นโดยว่างจากราคะ โทสะ โมหะ เพราะพิจารณานามรูปโดยความ
เป็นอนัตตา (ม.มู.อ. ๒/๔๕๙/๒๖๓, สํ.สฬา.อ. ๓/๓๔๙/๑๖๑)
๔ อนิมิตตาเจโตวิมุตติ ได้แก่ ธรรม ๑๓ ประการ คือ วิปัสสนา ๑ อรูป ๔ มรรค ๔ ผล ๔ (ม.มู.อ.
๒/๔๕๙/๒๖๓, สํ.สฬา.อ. ๓/๓๔๙/๑๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

ทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิต อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ...
มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
นี้เรียกว่า ‘อัปปมาณาเจโตวิมุตติ’
อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ เป็นอย่างไร
คือ เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุในพระธรรม-
วินัยนี้ บรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’
นี้เรียกว่า ‘อากิญจัญญาเจโตวิมุตติ’
สุญญตาเจโตวิมุตติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี
พิจารณาเห็นว่า ‘สิ่งนี้ว่างจากตนบ้าง จากสิ่งที่เนื่องด้วยตนบ้าง’
นี้เรียกว่า ‘สุญญตาเจโตวิมุตติ’
อนิมิตตาเจโตวิมุตติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้บรรลุอนิมิตตาเจโตสมาธิ เพราะไม่มนสิการถึง
นิมิตทั้งปวงอยู่
นี้เรียกว่า ‘อนิมิตตาเจโตวิมุตติ’
เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกัน
เหตุนั้น เป็นอย่างนี้แล
เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่
พยัญชนะเท่านั้น เหตุนั้น เป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๔๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๓. มหาเวทัลลสูตร

คือ ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องวัด โทสะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องวัด โมหะชื่อว่า
กิเลสเป็นเครื่องวัด กิเลสเหล่านั้นภิกษุผู้ขีณาสพละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป
ไม่ได้
เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘เลิศกว่าอัปปมาณา-
เจโตวิมุตติที่มีอยู่’ เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้น ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ ว่าง
จากโมหะ ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกังวล โทสะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกังวล
โมหะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องกังวล กิเลสเหล่านั้นภิกษุผู้ขีณาสพละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘เลิศกว่าอากิญจัญญาเจโต-
วิมุตติที่มีอยู่’ เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้น ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ ว่างจากโมหะ
ราคะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องทำนิมิต โทสะชื่อว่ากิเลสเป็นเครื่องทำนิมิต โมหะชื่อว่า
กิเลสเป็นเครื่องทำนิมิต กิเลสเหล่านั้นภิกษุผู้ขีณาสพละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
ท่านผู้มีอายุ เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘เลิศกว่า
อนิมิตตาเจโตวิมุตติที่มีอยู่’ เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบนั้น ว่างจากราคะ ว่างจากโทสะ
ว่างจากโมหะ
เพราะอาศัยเหตุใด ธรรมเหล่านี้จึงมีอรรถอย่างเดียวกัน ต่างกันแต่
พยัญชนะเท่านั้น เหตุนั้น เป็นอย่างนี้แล”
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหาโกฏฐิกะมีใจยินดีชื่นชม
ภาษิตของท่านพระสารีบุตร ดังนี้แล

มหาเวทัลลสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๔. จูฬเวทัลลสูตร

๔. จูฬเวทัลลสูตร
ว่าด้วยการสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปัญญา สูตรเล็ก
สักกายทิฏฐิ

[๔๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน๑
เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น อุบาสกชื่อวิสาขะเข้าไปหาภิกษุณีชื่อธัมมทินนาถึงที่อยู่
น้อมไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควร แล้วได้ถามธัมมทินนาภิกษุณีว่า “แม่เจ้าขอรับ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘สักกายะ สักกายะ’ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
‘สักกายะ”
ธัมมทินนาภิกษุณีตอบว่า “ท่านวิสาขะ อุปาทานขันธ์๒ ๕ ประการ คือ

๑. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)
๒. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา)
๓. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
๔. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)

ท่านวิสาขะ อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
‘สักกายะ”
วิสาขอุบาสกชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของธัมมทินนาภิกษุณีว่า “ดีละ แม่เจ้า”
แล้วได้ถามปัญหาต่อไปว่า “แม่เจ้าขอรับ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘สักกายสมุทัย
สักกายสมุทัย’ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายสมุทัย”
“ท่านวิสาขะ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความ
กำหนัด มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
นี้พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายสมุทัย”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๒๕๒ (รถวินีตสูตร) หน้า ๒๗๓ ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๙๑ (สัมมาทิฏฐิสูตร) หน้า ๘๖ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๔. จูฬเวทัลลสูตร

“พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘สักกายนิโรธ สักกายนิโรธ’ ธรรมอะไรที่พระผู้มี
พระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายนิโรธ”
“ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น
ความไม่อาลัยในตัณหานั้น นี้พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายนิโรธ”
“พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ‘สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา สักกายนิโรธคามินี-
ปฏิปทา’ ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา”
“อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

นี้พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ‘สักกายนิโรธคามินีปฏิปทา”
“แม่เจ้าขอรับ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นอันเดียวกัน หรือต่างกัน”
“ท่านวิสาขะ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ ทั้งไม่เป็นอันเดียวกัน ทั้งไม่ต่างกัน
ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ ก็คืออุปาทานนั้นเอง”
[๔๖๑] “แม่เจ้าขอรับ สักกายทิฏฐิมีได้อย่างไร”
“ท่านวิสาขะ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ไม่
ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้พบ
สัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของ
สัตบุรุษ พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง
พิจารณาเห็นรูปในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในรูปบ้าง พิจารณาเห็นเวทนา
ฯลฯ พิจารณาเห็นสัญญา ฯลฯ พิจารณาเห็นสังขารทั้งหลาย ฯลฯ พิจารณา
เห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง
พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง สักกายทิฏฐิ
มีได้ อย่างนี้แล”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๔. จูฬเวทัลลสูตร

“แม่เจ้าขอรับ สักกายทิฏฐิไม่มีได้อย่างไร”
“ท่านวิสาขะ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ผู้ได้สดับแล้ว ได้พบพระอริยะ
ทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ
พบสัตบุรุษทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของ
สัตบุรุษ ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป
บ้าง ไม่พิจารณาเห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง ไม่พิจารณาเห็น
เวทนา ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสัญญา ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสังขารทั้งหลาย ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามี
วิญญาณบ้าง ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาใน
วิญญาณบ้าง สักกายทิฏฐิไม่มีได้ อย่างนี้แล”

มรรคมีองค์ ๘ กับขันธ์ ๓

[๔๖๒] “แม่เจ้าขอรับ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นอย่างไร”
“ท่านวิสาขะ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ”

“อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตธรรม๑หรือเป็นอสังขตธรรม๒”
“อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสังขตธรรม”
“พระผู้มีพระภาคทรงจัดขันธ์ ๓ ประการ เข้าในอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือว่า
ทรงจัดอริยมรรคมีองค์ ๘ เข้าในขันธ์ ๓ ประการ”

เชิงอรรถ :
๑ สังขตธรรม หมายถึงธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ ขันธ์ ๕ (อภิ.สงฺ.(แปล) ๓๔/๑๐๘๙/๒๗๗)
๒ อสังขตธรรม หมายถึงธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ได้แก่ นิพพาน (อภิ.สงฺ.(แปล) ๓๔/๑๐๙๐/๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๔. จูฬเวทัลลสูตร

“พระผู้มีพระภาคไม่ทรงจัดขันธ์ ๓ ประการ เข้าในอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่
ทรงจัดอริยมรรคมีองค์ ๘ เข้าในขันธ์ ๓ ประการ คือ
๑. สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ทรงจัดเข้าในสีลขันธ์
๒. สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ทรงจัดเข้าในสมาธิขันธ์
๓. สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ ทรงจัดเข้าในปัญญาขันธ์”

สมาธิและสังขาร

“แม่เจ้าขอรับ ธรรมชนิดใดเป็นสมาธิ ธรรมเหล่าใดเป็นนิมิตของสมาธิ
ธรรมเหล่าใดเป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ การเจริญสมาธิ เป็นอย่างไร”
“ท่านวิสาขะ ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเป็นสมาธิ สติปัฏฐาน ๔ เป็น
นิมิตของสมาธิ สัมมัปปธาน ๔ เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ การเสพ๑ การเจริญ
การทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้นนั่นแล เป็นการเจริญสมาธิ”
[๔๖๓] “แม่เจ้าขอรับ สังขารมีเท่าไร”
“ท่านวิสาขะ สังขารมี ๓ ประการ คือ (๑) กายสังขาร๒ (๒) วจีสังขาร๓
(๓) จิตตสังขาร๔”
“ก็กายสังขารเป็นอย่างไร วจีสังขารเป็นอย่างไร จิตตสังขารเป็นอย่างไร”
“ลมอัสสาสะ(ลมหายใจเข้า) และลมปัสสาสะ(ลมหายใจออก) เป็นกายสังขาร
วิตกและวิจารเป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนาเป็นจิตตสังขาร”

เชิงอรรถ :
๑ การเสพ ในที่นี้หมายถึงการเสพที่เป็นไปชั่วขณะจิตเดียว (ม.มู.อ. ๒/๔๖๒/๒๗๑)
๒ กายสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางกาย ได้แก่ลมหายใจ (ม.มู.อ. ๒/๔๖๓/๒๗๒, องฺ.ติก.อ.
๒/๒๓/๑๐๑)
๓ วจีสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางวาจา ได้แก่ วิตกและวิจาร หรือวจีสัญเจตนา คือความ
จงใจทางวาจา (ม.มู.อ. ๒/๔๖๓/๒๗๒, องฺ.ติก.อ.�๒/๒๓/๑๐๑)
๔ จิตตสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางใจ ได้แก่ สัญญาและเวทนา หรือมโนสัญเจตนา คือ
ความจงใจทางใจ (ม.มู.อ. ๒/๔๖๓/๒๗๒, องฺ.ติก.อ. ๒/๒๓/๑๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๔. จูฬเวทัลลสูตร

“แม่เจ้าขอรับ เพราะเหตุไร ลมอัสสาสะและลมปัสสาสะจึงเป็นกายสังขาร
วิตกและวิจารจึงเป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนาจึงเป็นจิตตสังขาร”
“ท่านวิสาขะ ลมอัสสาสะและลมปัสสาสะเหล่านี้เป็นธรรมที่มีอยู่คู่กาย เนื่อง
กับกาย ฉะนั้น ลมอัสสาสะและลมปัสสาสะจึงเป็นกายสังขาร บุคคลตรึกและตรอง
ก่อนแล้วจึงเปล่งวาจา ฉะนั้น วิตกและวิจารจึงเป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนา
เป็นธรรมที่มีอยู่คู่จิต เนื่องกับจิต ฉะนั้น สัญญาและเวทนาจึงเป็นจิตตสังขาร”

สัญญาเวทยิตนิโรธ

[๔๖๔] “แม่เจ้าขอรับ การเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นอย่างไร”
“ท่านวิสาขะ ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มิได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เรา
จักเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ เรากำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ หรือเราเข้าสัญญา-
เวทยิตนิโรธแล้ว’ ที่แท้ จิตที่ท่านอบรมไว้ในเบื้องต้นอย่างนั้น ย่อมนำเข้าไปใน
ภาวะนั้นได้เอง”
“เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ธรรมเหล่าไหนที่ดับไปก่อน กายสังขาร
วจีสังขาร หรือจิตตสังขาร”
“เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ วจีสังขารดับไปก่อน จากนั้นกายสังขารจึงดับ
ส่วนจิตตสังขารดับทีหลัง”
“การออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เป็นอย่างไร”
“ภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มิได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เรา
จักออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เรากำลังออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
หรือเราออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว’ ที่แท้ จิตที่ท่านอบรมไว้ในเบื้อง
ต้นอย่างนั้น ย่อมนำเข้าไปในภาวะนั้นได้เอง”
“เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ธรรมเหล่าไหนเกิดขึ้นก่อน
กายสังขาร วจีสังขาร หรือจิตตสังขาร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๔. จูฬเวทัลลสูตร

“เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ จิตตสังขารเกิดขึ้นก่อน จากนั้น
กายสังขารก็เกิดขึ้น ส่วนวจีสังขารเกิดขึ้นทีหลัง”
“ผัสสะเท่าไร ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ”
“ผัสสะ ๓ อย่าง คือ (๑) ผัสสะชื่อสุญญตะ(ว่าง) (๒) ผัสสะชื่อ
อนิมิตตะ(ไม่มีนิมิต) (๓) ผัสสะชื่ออัปปณิหิตะ(ไม่มีที่ตั้ง) ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออก
จากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ”
“แม่เจ้าขอรับ ภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติมีจิตน้อมไปใน
ธรรมอะไร โน้มไปในธรรมอะไร และโอนไปในธรรมอะไร”
“ท่านวิสาขะ ภิกษุผู้ออกแล้วจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มีจิตน้อมไปใน
วิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก”

เวทนา

[๔๖๕] “แม่เจ้าขอรับ เวทนามีเท่าไร”
“ท่านวิสาขะ เวทนามี ๓ ประการ คือ (๑) สุขเวทนา (๒) ทุกขเวทนา
(๓) อทุกขมสุขเวทนา”
“สุขเวทนาเป็นอย่างไร ทุกขเวทนาเป็นอย่างไร อทุกขมสุขเวทนาเป็นอย่างไร”
“การเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข สำราญทางกาย หรือทางใจ นี้เป็นสุขเวทนา
การเสวยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ ไม่สำราญทางกาย หรือทางใจ นี้เป็นทุกขเวทนา
การเสวยอารมณ์ที่มิใช่ความสำราญและที่มิใช่ความไม่สำราญทางกายหรือทางใจ นี้เป็น
อทุกขมสุขเวทนา”
“สุขเวทนาเป็นสุขเพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะอะไร ทุกขเวทนาเป็นสุขเพราะ
อะไร เป็นทุกข์เพราะอะไร อทุกขมสุขเวทนาเป็นสุขเพราะอะไร เป็นทุกข์เพราะอะไร”
“สุขเวทนาเป็นสุขเพราะตั้งอยู่ เป็นทุกข์เพราะแปรไป ทุกขเวทนาเป็นทุกข์
เพราะตั้งอยู่ เป็นสุขเพราะแปรไป อทุกขมสุขเวทนาเป็นสุขเพราะรู้ เป็นทุกข์เพราะไม่รู้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๔. จูฬเวทัลลสูตร

“อนุสัยชนิดไหนนอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนา อนุสัยชนิดไหนนอนเนื่องอยู่ใน
ทุกขเวทนา อนุสัยชนิดไหนนอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา”
“ราคานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือความกำหนัด) นอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนา
ปฏิฆานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือความขัดเคือง) นอนเนื่องอยู่ในทุกขเวทนา
อวิชชานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือความไม่รู้จริง) นอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา”
“ราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมดหรือ ปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ใน
ทุกขเวทนาทั้งหมดหรือ อวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมดหรือ”
“ราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมดหามิได้ ปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่
ในทุกขเวทนาทั้งหมดหามิได้ อวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด
หามิได้”
“ธรรมอะไรจะพึงละได้ในสุขเวทนา ธรรมอะไรจะพึงละได้ในทุกขเวทนา
ธรรมอะไรจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา”
“ราคานุสัยจะพึงละได้ในสุขเวทนา ปฏิฆานุสัยจะพึงละได้ในทุกขเวทนา
อวิชชานุสัยจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา”
“แม่เจ้าขอรับ ราคานุสัยจะพึงละได้ในสุขเวทนาทั้งหมดหรือ ปฏิฆานุสัยจะ
พึงละได้ในทุกขเวทนาทั้งหมดหรือ อวิชชานุสัยจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา
ทั้งหมดหรือ”
“ท่านวิสาขะ ราคานุสัยจะพึงละได้ในสุขเวทนาทั้งหมดหามิได้ ปฏิฆานุสัยจะ
พึงละได้ในทุกขเวทนาทั้งหมดหามิได้ อวิชชานุสัยจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา
ทั้งหมดหามิได้ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ย่อมละราคะได้ด้วย
ปฐมฌานนั้น ราคานุสัยมิได้นอนเนื่องอยู่ในปฐมฌานนั้น
อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นอยู่ว่า ‘เมื่อไร เราจะได้บรรลุ
อายตนะ ที่พระอริยะทั้งหลายบรรลุแล้ว ดำรงอยู่ในบัดนี้’ เมื่อภิกษุนั้นตั้งความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๔. จูฬเวทัลลสูตร

ปรารถนาในวิโมกข์ทั้งหลายอันเป็นอนุตตรธรรม๑อย่างนี้ โทมนัสย่อมเกิดขึ้นเพราะ
ความปรารถนาเป็นปัจจัย ท่านละปฏิฆะได้ด้วยโทมนัสนั้น ปฏิฆานุสัยมิได้นอน
เนื่องอยู่ในโทมนัสนั้น อนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับ
ไปก่อนแล้ว ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้บรรลุจตุตถฌาน ที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติ
บริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ย่อมละอวิชชาได้ด้วยจตุตถฌานนั้น อวิชชานุสัยมิได้
นอนเนื่องอยู่ในจตุตถฌานนั้น”
[๔๖๖] “แม่เจ้าขอรับ อะไรเป็นคู่เปรียบ๒แห่งสุขเวทนา”
“ท่านวิสาขะ ทุกขเวทนาเป็นคู่เปรียบแห่งสุขเวทนา”
“อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งทุกขเวทนา”
“สุขเวทนาเป็นคู่เปรียบแห่งทุกขเวทนา”
“อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา”
“อวิชชาเป็นคู่เปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา”
“อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งอวิชชา”
“วิชชาเป็นคู่เปรียบแห่งอวิชชา”
“อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งวิชชา”
“วิมุตติเป็นคู่เปรียบแห่งวิชชา”
“อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งวิมุตติ”
“นิพพานเป็นคู่เปรียบแห่งวิมุตติ”
“แม่เจ้าขอรับ อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งนิพพาน”
“ท่านวิสาขะ ท่านก้าวเลยปัญหาไปเสียแล้ว ไม่อาจกำหนดที่สุดแห่งปัญหาได้
เพราะพรหมจรรย์มีนิพพานเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นจุดหมาย มีนิพพานเป็นที่สุด
ถ้าท่านยังหวังอยู่ก็ควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามเนื้อความนี้เถิด พระผู้มี-
พระภาคทรงตอบแก่ท่านอย่างไร ท่านควรทรงจำคำตอบไว้อย่างนั้นเถิด”

เชิงอรรถ :
๑ อนุตตรธรรม หมายถึงมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ (อภิ.สงฺ.(แปล) ๓๔/๑๓๐๐/๓๒๘)
๒ คู่เปรียบ ในที่นี้มี ๒ ความหมาย (๑) หมายถึงคู่เปรียบที่ขัดแย้งกัน เช่น สุขกับทุกข์ (๒) หมายถึง
คู่เปรียบที่คล้อยตามกันคือวิมุตติและนิพพานอันเป็นโลกุตตรธรรม (ม.มู.อ. ๒/๔๖๖/๒๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร

ทรงสรรเสริญธัมมทินนาภิกษุณี

[๔๖๗] ลำดับนั้น วิสาขอุบาสกชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของธัมมทินนา-
ภิกษุณีแล้ว ลุกจากอาสนะ น้อมไหว้ธัมมทินนาภิกษุณี กระทำประทักษิณแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้
กราบทูลเรื่องที่ตนสนทนาธรรมีกถากับธัมมทินนาภิกษุณีให้ทรงทราบทุกประการ
เมื่อวิสาขอุบาสกกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า “วิสาขะ
ธัมมทินนาภิกษุณีเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก หากเธอจะพึงสอบถามเนื้อความนั้น
กับเรา แม้เราก็จะพึงตอบเนื้อความนั้นเหมือนอย่างที่ธัมมทินนาภิกษุณีตอบแล้ว
เนื้อความแห่งคำตอบนั้นเป็นดังนั้นนั่นแล ท่านควรทรงจำไว้อย่างนั้นเถิด”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว วิสาขอุบาสกมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬเวทัลลสูตรที่ ๔ จบ

๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร
ว่าด้วยการสมาทานธรรม๑สูตรเล็ก

[๔๖๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรม ๔ ประการนี้

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า การสมาทานธรรม แปลจากคำว่า “ธัมมสมาทาน” แยกอธิบายดังนี้ คือ หมายถึงลัทธิหรือข้อวัตร
ปฏิบัติ ได้แก่ จริยาที่ตนยึดถือ คำว่า สมาทาน หมายถึงถือปฏิบัติ (ม.มู.อ. ๒/๔๖๘/๒๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร

การสมาทานธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
๒. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
๓. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต
๔. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต

การสมาทานธรรมที่มีสุขแต่มีทุกข์เป็นวิบาก

[๔๖๙] การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โทษ
ในกามทั้งหลายไม่มี’ สมณพราหมณ์พวกนั้นย่อมถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกาม
ทั้งหลาย บำเรอกับพวกนางปริพาชิกาที่เกล้ามวยผมและกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ทำไม
ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้นเมื่อเห็นอนาคตภัยในกามทั้งหลาย จึงกล่าวถึงการละ
กามทั้งหลาย บัญญัติการกำหนดรู้กามทั้งหลาย (อันที่จริง) การได้สัมผัสแขนอัน
มีขนอ่อนนุ่มของนางปริพาชิกานี้เป็นความสุข’ แล้วก็ถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกาม
ทั้งหลาย ครั้นถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกามทั้งหลาย หลังจากตายแล้ว ไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าเผ็ดร้อน ในที่ที่ตนเกิดนั้น และ
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้นเมื่อเห็นอนาคตภัยในกามทั้งหลายนี้แล
จึงกล่าวถึงการละกามทั้งหลาย บัญญัติการกำหนดรู้กามทั้งหลาย อันที่จริงพวก
เรานี้ย่อมเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าเผ็ดร้อน เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกาม
เป็นต้นเหตุ’
เปรียบเหมือนผลสุกของเถาย่านทราย จะพึงแตกในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน
พืชแห่งเถาย่านทรายนั้นจะพึงตกลงที่โคนต้นสาละต้นใดต้นหนึ่ง เทวดาที่สิงอยู่ที่
ต้นสาละนั้นกลัว หวาดเสียว และถึงความสะดุ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร

พวกอารามเทวดา๑ วนเทวดา๒ รุกขเทวดา๓ และพวกเทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไม้
อันเป็นโอสถหญ้าและต้นไม้เจ้าป่า ผู้เป็นมิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต๔ ของเทวดาที่
สิงอยู่ที่ต้นสาละนั้นต่างก็พากันมาปลอบโยนอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย
ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย เมล็ดพืชแห่งเถาย่านทรายนั้น บางทีนกยูงอาจกลืนกิน
บ้าง เนื้ออาจเคี้ยวกินบ้าง ไฟป่าอาจไหม้บ้าง พวกคนทำงานในป่าอาจถอนบ้าง
ปลวกอาจกัดกินบ้าง หรือไม่งอกขึ้น’
แต่เมล็ดพืชแห่งเถาย่านทรายนั้นนกยูงก็ไม่กลืนกิน เนื้อก็ไม่เคี้ยวกิน ไฟป่า
ก็ไม่ไหม้ พวกคนทำงานในป่าก็ไม่ถอน ปลวกก็ไม่กัดกิน ยังคงเป็นพืชต่อไป ถูก
เมฆฝนตกรดแล้ว ก็งอกขึ้นด้วยดี เป็นเถาย่านทรายเล็กและอ่อนมีย่านห้อยย้อย
เข้าไปอาศัยต้นสาละ’
เทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นสาละนั้นจึงกล่าวว่า ‘ทำไมพวกท่านอารามเทวดา วนเทวดา
รุกขเทวดา และเทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไม้อันเป็นโอสถหญ้าและต้นไม้เจ้าป่า ผู้เป็นมิตร
อำมาตย์ ญาติสาโลหิตเมื่อเห็นอนาคตภัยในเมล็ดพืชแห่งเถาย่านทรายจึงพากันมา
ปลอบโยนอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย เมล็ด
พืชแห่งเถาย่านทรายนั้น บางทีนกยูงอาจกลืนกินบ้าง เนื้ออาจเคี้ยวกินบ้าง ไฟป่า
อาจไหม้บ้าง พวกคนทำงานในป่าอาจถอนบ้าง ปลวกอาจกัดกินบ้าง หรือไม่
งอกขึ้น’ เถาย่านทรายนี้ เล็กและอ่อนมีย่านห้อยย้อยอยู่ มีสัมผัสอันนำความสุข
มาให้ เถาย่านทรายนั้น เลื้อยพันต้นสาละนั้น ครั้นเลื้อยพันแล้ว ตั้งอยู่ข้างบน
เหมือนร่ม แตกเถาอยู่ข้างล่าง ทำลายลำต้นใหญ่ ๆ ของต้นสาละนั้นเสีย
เทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นสาละนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านอารามเทวดา วนเทวดา
รุกขเทวดา และพวกเทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไม้อันเป็นโอสถหญ้าและต้นไม้เจ้าป่า ผู้เป็น
มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต เมื่อเห็นอนาคตภัย ในเมล็ดพืชแห่งเถาย่านทรายนี้

เชิงอรรถ :
๑ อารามเทวดา หมายถึงเทวดาผู้สถิตอยู่ในสวนไม้ดอกและไม้ผล (ม.มู.อ. ๒/๔๖๙/๒๗๙)
๒ วนเทวดา หมายถึงเทวดาผู้สถิตอยู่ในป่าอันธวันและป่าสุภควันเป็นต้น (ม.มู.อ. ๒/๔๖๙/๒๗๙)
๓ รุกขเทวดา หมายถึงเทวดาผู้สถิตอยู่ที่ต้นสะเดาเป็นต้น ซึ่งเขารักษาไว้อย่างดี (ม.มู.อ. ๒/๔๖๙/๒๗๙)
๔ ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๖๕ (อากังเขยยสูตร) หน้า ๕๗ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร

จึงพากันมาปลอบโยนอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย ท่านผู้เจริญ อย่า
กลัวเลย พืชแห่งเถาย่านทรายนั้น บางทีนกยูงอาจกลืนกินบ้าง เนื้ออาจเคี้ยวกินบ้าง
ไฟป่าอาจไหม้บ้าง พวกคนทำงานในป่าอาจถอนบ้าง ปลวกอาจกัดกินบ้าง หรือ
ไม่งอกขึ้น’ เรานั้นเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน เพราะพืชแห่งเถาย่าน
ทรายเป็นเหตุ’ แม้ฉันใด
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โทษในกามทั้ง
หลายไม่มี’ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกาม
ทั้งหลาย บำเรอกับพวกนางปริพาชิกาที่เกล้ามวยผมและกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ทำไม
ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้น เมื่อเห็นอนาคตภัยในกามทั้งหลาย จึงกล่าวถึงการ
ละกามทั้งหลาย บัญญัติการกำหนดรู้ในกามทั้งหลาย (อันที่จริง) การสัมผัสแขน
อันมีขนอ่อนนุ่มของนางปริพาชิกานี้ เป็นความสุข’ ย่อมถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำใน
กามทั้งหลาย ครั้นถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกามทั้งหลาย หลังจากตายแล้ว จะไป
เกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าเผ็ดร้อนในที่ที่ตน
เกิดนั้น และกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้นเมื่อเห็นอนาคตภัยใน
กามทั้งหลายนี้แล จึงกล่าวถึงการละกามทั้งหลาย บัญญัติความกำหนดรู้กาม
ทั้งหลาย อันที่จริงพวกเรานี้ ย่อมเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าเผ็ดร้อนเพราะกาม
เป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ’
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็น
วิบากในอนาคต

การสมาทานธรรมที่มีทุกข์และมีทุกข์เป็นวิบาก

[๔๗๐] การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ ปริพาชกบางคนในโลกนี้เป็นอเจลก(ประพฤติเปลือยกาย) เป็นผู้ไม่มีมารยาท
เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับ
อาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำเจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร

อาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่
รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่
กำลังบริโภค ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับอาหารของหญิงที่กำลังให้บุตรดื่ม
นม ไม่รับอาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับ
อาหารในที่เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ๆ ไม่กินปลา
ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง เขารับอาหารในเรือนหลังเดียว
ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน ๒ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ ฯลฯ
รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗ คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๑
ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๒ ใบ ฯลฯ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๗ ใบ
กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ วัน ฯลฯ กิน
อาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือการบริโภคอาหารตามวาระ ๑๕ วันต่อมื้อเช่นนี้
อยู่ด้วยประการอย่างนี้
ปริพาชกนั้นเป็นผู้กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือย
เป็นอาหาร กินกากข้าวเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กินรำเป็นอาหาร กิน
ข้าวตังเป็นอาหาร กินกำยานเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กินมูลโคเป็นอาหาร
กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพอยู่ ปริพาชกนั้นนุ่งห่มผ้า
ป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้
นุ่งห่มหนังเสือ นุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ นุ่งห่มผ้าคากรอง นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้กรอง
นุ่งห่มผ้าผลไม้กรอง นุ่งห่มผ้ากัมพลผมมนุษย์ นุ่งห่มผ้ากัมพลขนสัตว์ นุ่งห่มผ้า
ขนปีกนกเค้า เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือถือการถอนผมและหนวด ยืนอย่างเดียว
ไม่ยอมนั่ง เดินกระโหย่งคือถือการเดินกระโหย่ง ถือการนอนบนหนามคือนอนบน
ที่นอนที่ทำด้วยหนาม ถือการลงอาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง๑ ถือการย่างและการอบกาย
หลายรูปแบบเช่นนี้อยู่ ด้วยประการอย่างนี้ หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์
เป็นวิบากในอนาคต

เชิงอรรถ :
๑ ดูข้อ ๑๕๕ (มหาสีหนาทสูตร) หน้า ๑๕๘-๑๕๙ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร

การสมาทานธรรมที่มีทุกข์แต่มีสุขเป็นวิบาก

[๔๗๑] การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีราคะกล้าโดยปกติ เสวยทุกข์โทมนัสอัน
เกิดจากราคะเนือง ๆ เป็นผู้มีโทสะกล้าโดยปกติ เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากโทสะ
เนือง ๆ เป็นผู้มีโมหะกล้าโดยปกติ เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากโมหะเนือง ๆ
บุคคลนั้นมีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง เป็นผู้มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่
ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ หลังจากตายแล้ว เขาไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็น
วิบากในอนาคต

การสมาทานธรรมที่มีสุขและมีสุขเป็นวิบาก

[๔๗๒] การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีราคะกล้าโดยปกติ ไม่เสวยทุกข์โทมนัส
อันเกิดจากราคะเนือง ๆ เป็นผู้ไม่มีโทสะกล้าโดยปกติ ไม่เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิด
จากโทสะเนือง ๆ เป็นผู้ไม่มีโมหะกล้าโดยปกติ ไม่เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจาก
โมหะเนือง ๆ บุคคลนั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มี
วิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุ
ทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร
มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ ... บรรลุตติยฌาน ... บรรลุจตุตถฌาน ... อยู่
หลังจากตายแล้ว เขาไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็น
วิบากในอนาคต
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรม ๔ ประการนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬธัมมสมาทานสูตรที่ ๕ จบ

๖. มหาธัมมสมาทานสูตร
ว่าด้วยการสมาทานธรรม สูตรใหญ่
เหตุที่สิ่งทั้งหลายไม่เป็นไปตามความปรารถนา

[๔๗๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย โดยมากสัตว์ทั้งหลายมีความปรารถนา มีความพอใจ
มีความประสงค์อย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่
น่าพอใจ จะพึงเสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ จะพึงเจริญยิ่งขึ้น’
เมื่อสัตว์เหล่านั้นมีความปรารถนา มีความพอใจ มีความประสงค์อย่างนี้ ธรรมที่
ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ย่อมเจริญยิ่งขึ้น ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ ย่อมเสื่อมไป ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจเหตุในข้อนั้นอย่างไร”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาค
เป็นที่พึ่ง ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอธิบายเนื้อความแห่ง
พระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับแล้วจักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
[๔๗๔] “ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนในโลกนี้ผู้ยังไม่ได้สดับ ไม่ได้พบพระอริยะ
ทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้พบสัตบุรุษทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรม
ของสัตบุรุษ ไม่รู้จักธรรมที่ควรเสพ๑ ไม่รู้จักธรรมที่ไม่ควรเสพ ไม่รู้จักธรรมที่ควร
คบ๒ ไม่รู้จักธรรมที่ไม่ควรคบ เมื่อไม่รู้จักธรรมที่ควรเสพ ไม่รู้จักธรรมที่ไม่ควรเสพ
ไม่รู้จักธรรมที่ควรคบ ไม่รู้จักธรรมที่ไม่ควรคบ ก็เสพ๓ธรรมที่ไม่ควรเสพ ไม่เสพ
ธรรมที่ควรเสพ คบธรรมที่ไม่ควรคบ ไม่คบธรรมที่ควรคบ เมื่อเสพธรรมที่ไม่
ควรเสพ ไม่เสพธรรมที่ควรเสพ คบธรรมที่ไม่ควรคบ ไม่คบธรรมที่ควรคบ
ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น ธรรมที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ ก็เสื่อมไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะปุถุชนรู้ไม่ถูกต้อง
ภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ได้พบพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดใน
ธรรมของพระอริยะ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ พบสัตบุรุษ
ทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ
รู้จักธรรมที่ควรเสพ รู้จักธรรมที่ไม่ควรเสพ รู้จักธรรมที่ควรคบ รู้จักธรรมที่ไม่
ควรคบ เมื่อรู้จักธรรมที่ควรเสพ รู้จักธรรมที่ไม่ควรเสพ รู้จักธรรมที่ควรคบ รู้จัก
ธรรมที่ไม่ควรคบ ก็ไม่เสพธรรมที่ไม่ควรเสพ เสพธรรมที่ควรเสพ ไม่คบธรรมที่
ไม่ควรคบ คบธรรมที่ควรคบ เมื่อไม่เสพธรรมที่ไม่ควรเสพ เสพธรรมที่ควรเสพ
ไม่คบธรรมที่ไม่ควรคบ คบธรรมที่ควรคบ ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่
น่าพอใจ ก็เสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะอริยสาวกรู้ถูกต้อง

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมที่ควรเสพ ในที่นี้หมายถึงธรรมที่ควรให้เกิดขึ้นในสันดานของตน ได้แก่ การคบสัตบุรุษ การฟัง
สัทธรรมและการพิจารณาโดยแยบคาย (ม.มู.อ. ๒/๔๗๔/๒๘๓, ม.มู.ฏีกา ๒/๔๗๔/๓๕๘)
๒ ธรรมที่ควรคบ ในที่นี้หมายถึงธรรมที่บำเพ็ญมีทานเป็นต้น (ม.มู.อ. ๒/๔๗๔/๒๘๓, ม.มู.ฏีกา ๒/๔๗๔/
๓๕๘)
๓ เสพ ในที่นี้หมายถึงการประพฤติ การเจริญให้เกิดขึ้น (ขุ.จู.อ. ๑๖๑/๑๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

การสมาทานธรรม ๔ ประการ

[๔๗๕] ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรม ๔ ประการนี้
การสมาทานธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
๒. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
๓. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต
๔. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต
[๔๗๖] ภิกษุทั้งหลาย
๑. บรรดาการสมาทานธรรมเหล่านั้น บุคคลผู้ไม่รู้จักการสมาทานธรรม
ที่มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต ตกอยู่ในอวิชชา
ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การสมาทานธรรมนี้มีทุกข์ในปัจจุบัน
และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อไม่รู้จักการสมาทานธรรมเหล่านั้น
ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง จึงเสพการสมาทานธรรมนั้น
ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น เมื่อเสพการสมาทานธรรมนั้น ไม่
ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่
ไม่น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ย่อมเสื่อมไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นรู้ไม่ถูกต้อง
๒. บุคคลผู้ไม่รู้จักการสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็นวิบาก
ในอนาคต ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การ
สมาทานธรรมนี้มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อไม่
รู้จักการสมาทานธรรมนั้นแล้วตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความ
เป็นจริง จึงเสพการสมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น
เมื่อเสพการสมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น
ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น ธรรม
ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเสื่อมไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะบุคคลนั้นรู้ไม่ถูกต้อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

๓. บุคคลผู้ไม่รู้จักการสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็น
วิบากในอนาคต ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘การสมาทานธรรมนี้มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต’
เมื่อไม่รู้จักการสมาทานธรรมนั้น ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริง ไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทาน
ธรรมนั้น เมื่อไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทาน
ธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น
ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเสื่อมไป ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นรู้ไม่ถูกต้อง
๔. บุคคลผู้ไม่รู้จักการสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็น
วิบากในอนาคต ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
‘การสมาทานธรรมนี้มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อ
ไม่รู้จักการสมาทานธรรมนั้น ตกอยู่ในอวิชชา ไม่รู้ชัดตามความ
เป็นจริง ไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น
เมื่อไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรม
ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เจริญยิ่งขึ้น ธรรมที่
น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเสื่อมไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะบุคคลนั้นรู้ไม่ถูกต้อง
[๔๗๗] ภิกษุทั้งหลาย
๑. บรรดาการสมาทานธรรมเหล่านั้น บุคคลผู้รู้จักการสมาทานธรรม
ที่มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต มีวิชชา รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘การสมาทานธรรมนี้มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์
เป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อรู้จักการสมาทานธรรมนั้น มีวิชชา รู้ชัด
ตามความเป็นจริง จึงไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการ
สมาทานธรรมนั้น เมื่อไม่เสพการสมาทานธรรมนั้น ละเว้นการ
สมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ
ก็เสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเจริญยิ่งขึ้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นรู้ถูกต้อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

๒. บุคคลผู้รู้จักการสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็น
วิบากในอนาคต มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การสมาทาน
ธรรมนี้มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อรู้จักการ
สมาทานธรรมนั้น มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริง จึงไม่เสพการ
สมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น เมื่อไม่เสพการ
สมาทานธรรมนั้น ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่าปรารถนา
ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ ย่อมเจริญยิ่งขึ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นรู้
ถูกต้อง
๓. บุคคลผู้รู้จักการสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็น
วิบากในอนาคต มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การสมาทาน
ธรรมนี้ มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อรู้จักการ
สมาทานธรรมนั้น มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริง จึงเสพการ
สมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น เมื่อเสพการ
สมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่า
ปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเจริญยิ่งขึ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
บุคคลนั้นรู้ถูกต้อง
๔. บุคคลผู้รู้จักการสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็น
วิบากในอนาคต มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘การสมาทาน
ธรรมนี้มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็นวิบากในอนาคต’ เมื่อรู้จักการ
สมาทานธรรมนั้น มีวิชชา รู้ชัดตามความเป็นจริง จึงเสพการ
สมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น เมื่อเสพการ
สมาทานธรรมนั้น ไม่ละเว้นการสมาทานธรรมนั้น ธรรมที่ไม่น่า
ปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เสื่อมไป ธรรมที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ ย่อมเจริญยิ่งขึ้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะ
บุคคลนั้นรู้ถูกต้อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

การสมาทานธรรมที่มีทุกข์และมีทุกข์เป็นวิบาก

[๔๗๘] การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนฆ่าสัตว์ และ
เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนลักทรัพย์ และเพราะการลักทรัพย์เป็น
ปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนประพฤติผิดในกาม และเพราะการ
ประพฤติผิดในกามเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนพูดเท็จ และเพราะการพูดเท็จเป็นปัจจัย
เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนพูดส่อเสียด และเพราะการพูดส่อเสียด
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนพูดคำหยาบ และเพราะการพูด
คำหยาบเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนพูดเพ้อเจ้อ และเพราะการพูดเพ้อเจ้อ
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่นมาก
และเพราะการเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่นมากเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนมีจิตปองร้ายผู้อื่น และเพราะการมีจิต
ปองร้ายผู้อื่นเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนมีความเห็นผิด และเพราะความเห็นผิด
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์
เป็นวิบากในอนาคต (๑)

การสมาทานธรรมที่มีสุขแต่มีทุกข์เป็นวิบาก

[๔๗๙] การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนฆ่าสัตว์ และ
เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนลักทรัพย์ และเพราะการลักทรัพย์เป็นปัจจัย
เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนประพฤติผิดในกาม และเพราะการ
ประพฤติผิดในกามเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนพูดเท็จ และเพราะการพูดเท็จเป็นปัจจัย
เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนพูดส่อเสียด และเพราะการพูดส่อเสียด
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนพูดคำหยาบ และเพราะการพูดคำหยาบ
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนพูดเพ้อเจ้อ และเพราะการพูดเพ้อเจ้อ
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่นมาก และ
เพราะการเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่นมากเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนมีจิตปองร้ายผู้อื่น และเพราะการมีจิต
ปองร้ายผู้อื่นเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนมีความเห็นผิด และเพราะความเห็นผิด
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็น
วิบากในอนาคต (๒)

การสมาทานธรรมที่มีทุกข์แต่มีสุขเป็นวิบาก

[๔๘๐] การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจาก
การฆ่าสัตว์ และเพราะการเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการลักทรัพย์ และเพราะ
การเว้นขาดจากการลักทรัพย์เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
และเพราะการเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการพูดเท็จ และเพราะการ
เว้นขาดจากการพูดเท็จเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากพูดส่อเสียด และเพราะการ
เว้นขาดจากการพูดส่อเสียดเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากพูดคำหยาบ และเพราะการ
เว้นขาดจากการพูดคำหยาบเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ และเพราะ
การเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนไม่มีความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
และเพราะการไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่นเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนมีจิตไม่ปองร้ายผู้อื่น และเพราะการมี
จิตไม่ปองร้ายผู้อื่นเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
มีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง จึงเป็นคนมีความเห็นชอบ และเพราะมีความเห็น
ชอบเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยทุกข์โทมนัส
หลังจากตายแล้วเขาย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็น
วิบากในอนาคต (๓)

การสมาทานธรรมที่มีสุขและมีสุขเป็นวิบาก

[๔๘๑] การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจาก
การฆ่าสัตว์ และเพราะการเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการลักทรัพย์ และเพราะการ
เว้นขาดจากการลักทรัพย์เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม และ
เพราะการเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการพูดเท็จ และเพราะการ
เว้นขาดจากการพูดเท็จเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากวาจาส่อเสียด และเพราะการ
เว้นขาดจากการพูดส่อเสียดเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ และเพราะ
การเว้นขาดจากการพูดคำหยาบเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ และเพราะการ
เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนไม่มีความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของ
ผู้อื่นมาก และเพราะการเว้นขาดจากการไม่มีความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนมีจิตไม่ปองร้ายผู้อื่น และเพราะการมีจิต
ไม่ปองร้ายผู้อื่นเป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
มีสุขบ้าง มีโสมนัสบ้าง จึงเป็นคนมีความเห็นชอบ และเพราะมีความเห็นชอบ
เป็นปัจจัย เขาจึงเสวยสุขโสมนัส
หลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็น
วิบากในอนาคต (๔)
ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรม ๔ ประการนี้แล

อุปมาของการสมาทานธรรม ๔ ประการ

[๔๘๒] ภิกษุทั้งหลาย
๑. เปรียบเหมือนน้ำเต้าขมผสมด้วยยาพิษ บุรุษที่รักชีวิต ยังไม่อยาก
ตาย รักสุขเกลียดทุกข์ มาถึง พวกชาวบ้านบอกเขาว่า ‘บุรุษผู้เจริญ
น้ำเต้าขมนี้ผสมด้วยยาพิษ ถ้าท่านหวังจะดื่ม ก็ดื่มเถิด น้ำเต้าขม
นั้น จักไม่ทำให้ท่านผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นท่านดื่ม
เข้าไปแล้วก็จักถึงตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย’ บุรุษนั้น ไม่พิจารณา
น้ำเต้าขมนั้นดื่มมิได้วาง น้ำเต้าขมนั้นก็ไม่ทำให้เขาผู้ดื่มพอใจทั้งสี
กลิ่น และรส ครั้นดื่มแล้วพึงถึงตายหรือได้รับทุกข์ปางตาย แม้ฉันใด
เรากล่าวว่า การสมาทานธรรมนี้ที่มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์เป็น
วิบาก ในอนาคต มีอุปมาฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
๖. มหาธัมมสมาทานสูตร

[๔๘๓] ภิกษุทั้งหลาย
๒. เปรียบเหมือนน้ำหวาน ๑ ภาชนะ น่าดื่ม ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น
และรส แต่ผสมด้วยยาพิษ บุรุษที่รักชีวิต ยังไม่อยากตาย รักสุข
เกลียดทุกข์ มาถึง พวกชาวบ้านก็บอกเขาว่า ‘ท่านผู้เจริญ น้ำหวาน
๑ ภาชนะ น่าดื่ม ถึงพร้อมด้วยสี กลิ่นและรส แต่ผสมด้วยยาพิษ
ถ้าท่านหวังจะดื่ม ก็ดื่มเถิด น้ำหวาน ๑ ภาชนะนั้นจักทำให้ท่าน
ผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นท่านดื่มเข้าไปแล้วก็จักถึงตาย
หรือจักได้รับทุกข์ปางตาย’ บุรุษนั้นไม่พิจารณาน้ำหวาน ๑ ภาชนะนั้น
แล้วดื่มมิได้วาง น้ำหวาน ๑ ภาชนะนั้นก็ทำให้เขาผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี
กลิ่น และรส ครั้นดื่มแล้ว พึงถึงตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย
แม้ฉันใด เรากล่าวว่า การสมาทานธรรมนี้ที่มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์
เป็นวิบากใน อนาคต มีอุปมาฉันนั้น
[๔๘๔] ภิกษุทั้งหลาย
๓. เปรียบเหมือนน้ำมูตรเน่าที่ผสมด้วยยาต่าง ๆ บุรุษที่เป็นโรคผอม
เหลือง มาถึง พวกชาวบ้านบอกเขาว่า ‘บุรุษผู้เจริญ น้ำมูตรเน่า
ผสมด้วยยาต่าง ๆ นี้ ถ้าท่านหวังจะดื่ม ก็ดื่มเถิด น้ำมูตรเน่านั้น
จักไม่ทำให้ท่านผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นท่านดื่มเข้าไปแล้ว
ก็จักมีสุข’ บุรุษนั้น พิจารณาแล้วดื่มมิได้วาง น้ำมูตรเน่านั้นก็ไม่ทำ
ให้เขาผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นดื่มแล้วก็มีสุข แม้ฉันใด
เรากล่าวว่า การสมาทานธรรมนี้ที่มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็น
วิบาก ในอนาคต มีอุปมาฉันนั้น
[๔๘๕] ภิกษุทั้งหลาย
๔. เปรียบเหมือนนมส้ม น้ำผึ้ง เนยใส และน้ำอ้อย ที่ผสมเข้าด้วยกัน
บุรุษผู้เป็นโรคลงแดง มาถึง พวกชาวบ้านบอกเขาว่า ‘บุรุษผู้เจริญ
นมส้ม น้ำผึ้ง เนยใส และน้ำอ้อยนี้ เขาผสมเข้าด้วยกัน ถ้าท่าน
หวังจะดื่ม ก็ดื่มเถิด ยานั้นจักทำให้ท่านผู้ดื่มพอใจ ทั้งสี กลิ่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๗. วีมังสกสูตร

และรส ครั้นท่านดื่มเข้าไปแล้วจักมีสุข’ บุรุษนั้น พิจารณายานั้น
แล้วดื่มมิได้วาง ยานั้นก็ทำให้เขาผู้ดื่มพอใจทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นดื่ม
แล้วก็มีความสุข แม้ฉันใด เรากล่าวว่าการสมาทานธรรมนี้ที่มีสุขใน
ปัจจุบันและมีสุขเป็นวิบากในอนาคต มีอุปมาฉันนั้น
[๔๘๖] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนในสารทกาลซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน
อากาศโปร่งปราศจากเมฆฝน ดวงอาทิตย์ลอยอยู่ในท้องฟ้า กำจัดความมืดในอากาศ
ทั้งสิ้น ย่อมส่องแสงสว่างเจิดจ้า แม้ฉันใด การสมาทานธรรมนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็นวิบากในอนาคต กำจัดคำติเตียนของผู้อื่นคือสมณพราหมณ์
เป็นอันมากเหล่าอื่น ย่อมส่องแสงสว่างเจิดจ้า”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาธัมมสมาทานสูตรที่ ๖ จบ

๗. วีมังสกสูตร
ว่าด้วยผู้ตรวจสอบ๑

[๔๘๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ผู้ตรวจสอบ มี ๓ จำพวก คือ (๑) อัตถวีมังสกะ หมายถึงผู้พิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
(๒) สังขารวีมังสกะ หมายถึงผู้พิจารณาสังขารธรรม โดยลักษณะของธรรมนั่น โดยสามัญญลักษณะ และ
โดยวิภาคธรรม (๓) สัตถุวีมังสกะ หมายถึงผู้พิจารณาตรวจสอบพระศาสดา เช่น พิจารณาว่า ขึ้นชื่อว่า
ศาสดาต้องมีคุณเช่นนี้ ๆ ในสูตรนี้ หมายเอาสัตถุวีมังสกะ (ม.มู.อ. ๒/๔๘๗/๒๘๖, ม.มู.ฏีกา ๒/๔๘๗/๓๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๗. วีมังสกสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วาระจิตของผู้อื่น พึงทำการพิจารณา
ตรวจสอบตถาคตเพื่อทราบว่า ‘ตถาคตเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาค
เป็นที่พึ่ง ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอธิบายเนื้อความแห่ง
พระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับแล้วจักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

การตรวจสอบธรรมของพระตถาคต

[๔๘๘] “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วาระจิตของผู้อื่น พึง
พิจารณาตรวจสอบตถาคตในธรรม ๒ ประการ คือ (๑) ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตา
(๒) ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางหูว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอัน
เศร้าหมองหรือไม่’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคต
มิได้มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง’
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึง
รู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า
‘ตถาคต มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน๑หรือไม่’ เมื่อพิจารณา
ตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและ
ทางหูอันเจือกัน’
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึงรู้
แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า
‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้ทางตาและทางหูอันผ่องแผ้วหรือไม่’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบ
ตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว’

เชิงอรรถ :
๑ เจือกัน หมายถึงเป็นสิ่งผสมกัน กล่าวคือบางครั้งเป็นธรรมดำ บางคราวเป็นธรรมขาว (ม.มู.อ. ๒/๔๘๘/๒๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๗. วีมังสกสูตร

เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้ง
ทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า
‘ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาลช้านาน หรือมีชั่วกาลนิดหน่อย’ เมื่อตรวจสอบตถาคต
นั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาลช้านาน มิใช่ว่ามีชั่วกาลนิดหน่อย’
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาล
ช้านาน มิใช่ว่ามีชั่วกาลนิดหน่อย’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า
‘ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศ ท่านมีโทษบางอย่างในโลกนี้บ้างหรือไม่’ เพราะภิกษุ
ยังไม่มีโทษบางอย่างในโลกนี้ชั่วเวลาที่ตนยังไม่มีชื่อเสียง ยังไม่มียศ แต่เมื่อมี
ชื่อเสียง มียศแล้ว ก็จะมีโทษบางอย่างในโลกนี้ ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อพิจารณา
ตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศแล้ว (แต่)มิได้
มีโทษบางอย่างในโลกนี้’
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศแล้ว
(แต่)มิได้มีโทษบางอย่างในโลกนี้’ จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นว่า
‘ท่านผู้นี้ไม่มีภัย มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว เนื่องจาก
สิ้นราคะ’ เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่มีภัย
มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว เนื่องจากสิ้นราคะ’
หากชนเหล่าอื่นจะพึงถามภิกษุนั้นว่า ‘ท่านมีอะไรเป็นเครื่องบ่งชี้ที่เป็นเหตุให้
ท่านกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้ไม่มีภัย มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว
เนื่องจากสิ้นราคะ’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องควรตอบอย่างนี้ว่า ‘จริงอย่างนั้น
ท่านผู้นี้อยู่ในหมู่หรืออยู่ผู้เดียว จะไม่ดูหมิ่นหมู่ชนในที่นั้น ผู้ดำเนินไปดี ดำเนิน
ไปชั่ว สั่งสอนคณะ บางพวกติดอยู่ในอามิสในโลกนี้ และบางพวกไม่ติดอยู่ในอามิส
ในโลกนี้ เราได้สดับรับความข้อนี้มาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ‘เราเป็น
ผู้ไม่มีภัย มิใช่เป็นผู้มีภัย เพราะปราศจากราคะแล้ว ไม่เสพกามเพราะปราศจาก
ราคะแล้ว เนื่องจากสิ้นราคะ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๗. วีมังสกสูตร

ทรงเปิดโอกาสให้สอบถามยิ่งขึ้น

[๔๘๙] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้พิจารณาเหล่านั้น ภิกษุผู้พิจารณา
รูปหนึ่ง ควรสอบถามตถาคตต่อไปว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหู
อันเศร้าหมองหรือไม่’ ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรม
ที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง’
ควรสอบถามตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและ
ทางหูอันเจือกันหรือไม่’ ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมิได้มีธรรม
ที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน’
ควรสอบถามตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและ
ทางหูอันผ่องแผ้วหรือไม่’ ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า ‘ตถาคตมีธรรมที่
จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว’ เราเป็นผู้มีธรรมที่ผ่องแผ้วนั้นเป็นทาง
เป็นที่โคจร เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา’
สาวกควรจะเข้าไปหาศาสดาผู้มีวาทะอย่างนี้เพื่อฟังธรรม ศาสดาก็จะแสดง
ธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนดำและส่วนขาวแก่สาวกนั้น
ศาสดาก็แสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนดำและส่วนขาว
แก่ภิกษุโดยประการใด ภิกษุนั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้นโดยประการนั้น
ถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย ก็จะเลื่อมใสในศาสดาว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้
ปฏิบัติดีแล้ว’
หากชนเหล่าอื่นพึงสอบถามภิกษุนั้นอีกอย่างนี้ว่า ‘ท่านมีอะไรเป็นเครื่องบ่งชี้
ที่เป็นเหตุให้ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็ควรตอบอย่างนี้ว่า ‘ท่าน
ผู้มีอายุทั้งหลาย เราเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับเพื่อฟังธรรม พระผู้มี
พระภาคก็ทรงแสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้นทั้งที่เป็นส่วนดำ และส่วนขาว
แก่เรานั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้นทั้งที่เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๘. โกสัมพิยสูตร

ส่วนดำและส่วนขาวแก่เราโดยประการใด เราก็รู้ยิ่งซึ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้น
โดยประการนั้น ถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย ก็จะเลื่อมใสในพระศาสดาว่า
‘พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีไว้แล้ว
พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
[๔๙๐] ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาของบุคคลใดบุคคลหนึ่งตั้งมั่นแล้วในตถาคต
มีมูล มีที่อาศัย ด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ ศรัทธานี้เรากล่าวว่ามีเหตุ
มีทัสสนะเป็นมูล๑ มั่นคง ซึ่งสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ
ในโลกไม่พึงให้หวั่นไหวได้
ภิกษุทั้งหลาย การตรวจสอบธรรมในตถาคต ย่อมมีอย่างนี้ ตถาคตเป็นผู้ที่
ภิกษุพิจารณาตรวจสอบดีแล้วโดยธรรม อย่างนี้แล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

วีมังสกสูตรที่ ๗ จบ

๘. โกสัมพิยสูตร
ว่าด้วยภิกษุชาวเมืองโกสัมพี
ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีวิวาทกัน

[๔๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้น
พวกภิกษุในกรุงโกสัมพีต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปาก
ทิ่มแทงกันอยู่ ไม่ทำความเข้าใจกัน ไม่ปรารถนาปรับความเข้าใจกัน ไม่ทำความ
ปรองดองกัน ไม่ปรารถนาความปรองดองกัน

เชิงอรรถ :
๑ มีทัสสนะเป็นมูล ในที่นี้หมายถึงมีโสดาปัตติมรรคเป็นมูลเหตุ (ม.มู.อ. ๒/๔๙๐/๒๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๘. โกสัมพิยสูตร

ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควรได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ภิกษุทั้งหลายในกรุงโกสัมพีต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปาก
ทิ่มแทงกันอยู่ ไม่ทำความเข้าใจกัน ไม่ปรารถนาปรับความเข้าใจกัน ไม่ทำความ
ปรองดองกัน ไม่ปรารถนาความปรองดองกัน”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “มาเถิด ภิกษุ
เธอจงเรียกภิกษุเหล่านั้นมาตามคำของเราว่า ‘พระศาสดาตรัสเรียกท่านทั้งหลาย”
ภิกษุรูปนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ แล้วได้
กล่าวว่า “พระศาสดาตรัสเรียกท่านทั้งหลาย”
ภิกษุเหล่านั้นรับคำภิกษุนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เธอ
ทั้งหลายต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ ไม่ทำ
ความเข้าใจกัน ไม่ปรารถนาปรับความเข้าใจกัน ไม่ทำความปรองดองกัน ไม่
ปรารถนาความปรองดองกัน จริงหรือ”
ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่า
อย่างไร สมัยใด เธอทั้งหลายต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปาก
ทิ่มแทงกันอยู่ สมัยนั้น เธอทั้งหลายตั้งมั่นเมตตากายกรรม ตั้งมั่นเมตตาวจีกรรม
และตั้งมั่นเมตตามโนกรรมในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลังบ้าง
หรือไม่”
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้อนี้ไม่เป็นดังนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า สมัยใด เธอทั้งหลายต่าง
บาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ สมัยนั้น เธอ
ทั้งหลายก็ไม่ตั้งมั่นเมตตากายกรรม ไม่ตั้งมั่นเมตตาวจีกรรม และไม่ตั้งมั่นเมตตา
มโนกรรมในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๘. โกสัมพิยสูตร

โมฆบุรุษทั้งหลาย เมื่อเป็นดังนี้ เธอทั้งหลายรู้อะไร เห็นอะไร จึงต่าง
บาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ ไม่ทำความเข้าใจกัน
ไม่ปรารถนาปรับความเข้าใจกัน ไม่ทำความปรองดองกัน ไม่ปรารถนาความ
ปรองดองกันอยู่
โมฆบุรุษทั้งหลาย ข้อนั้นนั่นแลจักมีเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์
แก่เธอทั้งหลายตลอดกาลนาน”

สาราณียธรรม ๖ ประการ

[๔๙๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย สาราณียธรรม(ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน) ๖ ประการนี้ ทำให้เป็นที่รัก
ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อ
ความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน๑
สาราณียธรรม ๖ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. ตั้งมั่นเมตตากายกรรม๒ ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งต่อหน้าและ
ลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้ ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความ
สามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๒. ตั้งมั่นเมตตาวจีกรรม ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งต่อหน้าและ
ลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้ ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความ
สามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน

เชิงอรรถ :
๑ เพื่อความเป็นอันเดียวกัน หมายถึงความเป็นเอกภาพ ไม่ก่อความแตกแยก (ม.มู.อ. ๒/๔๙๒/๓๐๒,
องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๒/๑๐๔)
๒ เมตตากายกรรม หมายถึงกายกรรมที่พึงทำด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา และเมตตาวจีกรรม เมตตา-
มโนกรรม ก็มีอรรถาธิบายเช่นเดียวกันนี้ (ม.มู.อ. ๒/๔๙๒/๓๐๒, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๑/๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๘. โกสัมพิยสูตร

๓. ตั้งมั่นเมตตามโนกรรม ในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายทั้งต่อหน้าและ
ลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้ ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความ
สามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๔. บริโภคโดยไม่แบ่งแยก๑ ลาภทั้งหลายที่ประกอบด้วยธรรม ได้มา
โดยธรรม โดยที่สุดแม้เพียงบิณฑบาต บริโภคร่วมกับเพื่อนพรหม-
จารีทั้งหลายผู้มีศีลทั้งต่อหน้าและลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้ ทำให้
เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อ
ความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๕. เป็นผู้มีศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ
ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ เสมอกันกับเพื่อน
พรหมจารีทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้
ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
๖. เป็นผู้มีทิฏฐิโดยทิฏฐิอันประเสริฐ เป็นนิยยานิกธรรม๒ เพื่อ
ความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ทำตาม เสมอกันกับเพื่อนพรหมจารี
ทั้งหลายทั้งต่อหน้าและลับหลัง สาราณียธรรมแม้นี้ ทำให้เป็นที่รัก
ทำให้เป็นที่เคารพ เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความ
ไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อความเป็นอันเดียวกัน
ภิกษุทั้งหลาย สาราณียธรรม ๖ ประการนี้ ทำให้เป็นที่รัก ทำให้เป็นที่เคารพ
เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความสามัคคีกัน เพื่อ
ความเป็นอันเดียวกัน ทิฏฐิอันไกลจากกิเลสที่เป็นข้าศึก เป็นนิยยานิกธรรมนำ

เชิงอรรถ :
๑ ไม่แบ่งแยก หมายถึงไม่แบ่งแยกอามิสโดยคิดว่า “จะให้เท่านี้ ๆ” และไม่แบ่งแยกบุคคลโดยคิดว่า “จะให้
แก่คนนั้น ไม่ให้แก่คนนี้” (ม.มู.อ. ๒/๔๙๒/๓๐๓, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๑๑/๙๙)
๒ นิยยานิกธรรม หมายถึงธรรมที่ตัดมูลรากแห่งวัฏฏะ ทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ แล้วนำสัตว์ออกจากวัฏฏะ
(อภิ.สงฺ.อ. ๘๓-๑๐๐/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๘. โกสัมพิยสูตร

บุคคลผู้ทำตามนั้นออกไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมชั้นยอดที่ยึดคุม
สาราณียธรรม ๖ ประการนี้ไว้
ภิกษุทั้งหลาย ยอดอันเป็นส่วนสูงสุดเป็นที่ยึดคุมเรือนยอด แม้ฉันใด ทิฏฐิ
อันไกลจากกิเลสที่เป็นข้าศึก เป็นนิยยานิกธรรมนำบุคคลผู้ทำตามนั้นออกไป เพื่อ
ความสิ้นทุกข์โดยชอบนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นธรรมชั้นยอดที่ยึดคุมสาราณียธรรม
๖ ประการนี้ไว้

ทิฏฐิคือญาณของอริยสาวก ๗ ประการ

[๔๙๓] ทิฏฐิอันประเสริฐ เป็นนิยยานิกธรรม เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ
แก่ผู้ทำตามเสมอกัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เรามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลส(กิเลสเป็นเครื่องครอบงำ)
ใดครอบงำแล้ว ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง ปริยุฏฐานกิเลสนั้นที่เรายังละไม่ได้
ในภายในมีอยู่หรือ’
ถ้าภิกษุมีจิตถูกกามราคะครอบงำ ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว
มีจิตถูกพยาบาทครอบงำ ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว มีจิตถูก
ถีนมิทธะครอบงำ ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว มีจิตถูกอุทธัจจ-
กุกกุจจะครอบงำ ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว มีจิตถูกวิจิกิจฉาครอบงำ
ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว มีความขวนขวายในการคิดเรื่องโลกนี้
ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว มีความขวนขวายในการคิดเรื่องโลกหน้า
ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปากทิ่มแทง
กันอยู่ ก็ชื่อว่ามีจิตถูกปริยุฏฐานกิเลสครอบงำแล้ว เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘เรามีจิต
ถูกปริยุฏฐานกิเลสใดครอบงำแล้ว ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง ปริยุฏฐานกิเลส
นั้นที่เรายังละไม่ได้ในภายใน มิได้มีเลย เราตั้งจิตไว้ดีแล้ว เพื่อตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๘. โกสัมพิยสูตร

นี้คือญาณที่ ๑ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่ง
ภิกษุนั้นบรรลุแล้ว
[๔๙๔] อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้
ก็ได้ความสงบเฉพาะตน ก็ได้ความดับกิเลสเฉพาะตนหรือ’ อริยสาวกนั้น ก็รู้ชัด
อย่างนี้ว่า ‘เรา เสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้ ก็ได้ความสงบเฉพาะตน ก็ได้
ความดับกิเลสเฉพาะตน’
นี้คือญาณที่ ๒ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่ง
อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
[๔๙๕] อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เรามีทิฏฐิเช่นใด สมณะหรือ
พราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้ผู้มีทิฏฐิเช่นนั้นมีอยู่หรือ’ อริยสาวกนั้น ก็รู้ชัดอย่างนี้
ว่า ‘เรามีทิฏฐิเช่นใด สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้ ผู้มีทิฏฐิเช่นนั้น
มิได้มี’
นี้คือญาณที่ ๓ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่ง
อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
[๔๙๖] อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพเช่นใด
ถึงเราก็มีสภาพเช่นนั้น’
บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพอย่างนี้ คือ การออกจากอาบัติ
เช่นใดย่อมปรากฏ อริยสาวกต้องอาบัติเช่นนั้นก็รีบแสดง เปิดเผย ทำให้ชัดเจน
อาบัตินั้นในสำนักศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารีที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย ครั้นแสดง
เปิดเผย ทำให้ชัดเจนแล้วก็สำรวมระวังต่อไป เด็กอ่อนที่นอนหงาย มือหรือเท้า
ถูกถ่านไฟแล้วก็ชักมือหรือเท้ากลับทันที แม้ฉันใด บุคคลผู้มีทิฏฐิก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นผู้มีสภาพอย่างนี้ คือการออกจากอาบัติเช่นใดย่อมปรากฏ อริยสาวกต้องอาบัติ
เช่นนั้น ก็รีบแสดง เปิดเผย ทำให้ชัดเจนอาบัตินั้นในสำนักศาสดา หรือเพื่อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๘. โกสัมพิยสูตร

พรหมจารีที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย ครั้นแสดง เปิดเผย ทำให้ชัดเจนแล้วก็สำรวม
ระวังต่อไป อริยสาวกนั้น ก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพเช่นใด
ถึงเราก็มีสภาพเช่นนั้น’
นี้คือญาณที่ ๔ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่ง
อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
[๔๙๗] อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพเช่นใด
ถึงเราก็มีสภาพเช่นนั้น’
บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพอย่างนี้ คือ อริยสาวกมีความ
ขวนขวายในกิจอะไร ทั้งน้อยใหญ่ที่ควรทำของเพื่อนพรหมจารีโดยแท้ ถึงอย่างนั้น
ความปรารถนาอันแรงกล้าในอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
ของอริยสาวกนั้นมีอยู่ โคแม่ลูกอ่อน เล็มหญ้าพลางชำเลืองดูลูกไปพลาง แม้ฉันใด
บุคคลผู้มีทิฏฐิก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีสภาพอย่างนี้ คือ อริยสาวกมีความ
ขวนขวายในกิจอะไร ทั้งน้อยใหญ่ที่ควรทำของเพื่อนพรหมจารีโดยแท้ ถึงอย่างนั้น
ความปรารถนาอันแรงกล้าในอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
ของอริยสาวกนั้นมีอยู่ อริยสาวกนั้น ก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีสภาพ
เช่นใด ถึงเราก็มีสภาพเช่นนั้น’
นี้คือญาณที่ ๕ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่ง
อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
[๔๙๘] อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละเช่นใด
ถึงเราก็มีพละเช่นนั้น’
บุคคลผู้มีทิฏฐินั้น เป็นผู้มีพละอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละอย่างนี้ คือ เมื่อบัณฑิตแสดง
ธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อริยสาวกนั้น สนใจ ใส่ใจ กำหนดด้วยจิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๘. โกสัมพิยสูตร

ทั้งปวงแล้วเงี่ยโสตฟังธรรม อริยสาวกนั้นก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้มี
ทิฏฐิ เป็นผู้มีพละเช่นใด ถึงเราก็มีพละเช่นนั้น’’
นี้คือญาณที่ ๖ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่ง
อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
[๔๙๙] อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละเช่นใด
ถึงเราก็มีพละเช่นนั้น’
บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละอย่างนี้ คือ เมื่อบัณฑิตแสดง
ธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อริยสาวกนั้น ได้ความรู้แจ้งอรรถ ได้ความรู้แจ้ง
ธรรม และได้ความปราโมทย์ในธรรม อริยสาวกนั้นก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้มี
ทิฏฐิ เป็นผู้มีพละเช่นใด ถึงเราก็มีพละเช่นนั้น’
นี้คือญาณที่ ๗ ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่ง
อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
[๕๐๐] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้
ตรวจสอบสภาวธรรมดีแล้ว ด้วยการทำให้แจ้งโสดาปัตติผลอย่างนี้ อริยสาวกผู้
ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยโสดาปัตติผลแล”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

โกสัมพิยสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร

๙. พรหมนิมันตนิกสูตร
ว่าด้วยการเชื้อเชิญของพรหม

[๕๐๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระ
ภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โคนต้นสาละใหญ่ในสุภควัน ใกล้เมือง
อุกกัฏฐา ในสมัยนั้น พกพรหมมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า ‘พรหมสถาน๑นี้เที่ยง
ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนไปเป็นธรรมดา พรหมสถานนี้ ไม่เกิด
ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แลเหตุเครื่องสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่ง นอก
จากพรหมสถานนี้ไม่มี’ ครั้งนั้น เรารู้ความคิดคำนึงของพกพรหมด้วยใจแล้ว จึง
อันตรธานจากโคนต้นสาละใหญ่ในสุภควันใกล้เมืองอุกกัฏฐา ไปปรากฏในพรหมโลกนั้น
เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออก หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น พกพรหมได้เห็น
เราผู้มาแต่ไกล แล้วได้กล่าวกับเราว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ เชิญเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จ
ท่านได้พูดว่า ‘จะมาที่นี้นานมาแล้ว ท่านผู้นิรทุกข์ พรหมสถานนี้ เที่ยง ยั่งยืน
มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนไปเป็นธรรมดา พรหมสถานนี้ ไม่เกิด ไม่แก่
ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แลการสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่ง นอกจากพรหม-
สถานนี้ไม่มี’

เชิงอรรถ :
๑ พรหมสถาน หมายถึงพกพรหมมีความเห็นว่า พรหมสถานพร้อมทั้งร่างกายเป็นภาวะที่เที่ยง (ม.มู.อ.
๒/๕๐๑/๓๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพกพรหมกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกับพกพรหมว่า
‘พกพรหมผู้เจริญตกอยู่ในอำนาจอวิชชาแล้วหนอ พกพรหมผู้เจริญตกอยู่ใน
อำนาจอวิชชาแล้วหนอ เพราะว่าพกพรหมกล่าวสิ่งที่ไม่เที่ยงว่า ‘เที่ยง’ กล่าวสิ่ง
ที่ไม่ยั่งยืนว่า ‘ยั่งยืน’ กล่าวสิ่งที่ไม่มั่นคงว่า ‘มั่นคง’ กล่าวสิ่งที่ไม่แข็งแรงว่า
‘แข็งแรง’ กล่าวสิ่งที่มีความเคลื่อนไปเป็นธรรมดาว่า ‘มีความไม่เคลื่อนไปเป็นธรรมดา’
ก็แลสัตว์เกิด แก่ ตาย จุติ และอุบัติอยู่ในพรหมสถานใด พกพรหมกล่าว
พรหมสถานนั้นว่า ‘พรหมสถานนี้ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ และ
กล่าวการสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นซึ่งมีอยู่ว่า ‘การสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่ง
อื่นไม่มี’

มารเข้าสิงกายพรหม

[๕๐๒] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น มารใจบาปเข้าสิงกายพรหมปาริสัชชะผู้หนึ่ง
แล้วกล่าวกับเราว่า ‘ภิกษุ ภิกษุ อย่ารุกรานพกพรหมนี้เลย อย่ารุกรานพกพรหม
นี้เลย เพราะว่าพรหมผู้นี้เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ คณะพรหมฝ่าฝืนไม่ได้ โดยที่แท้
เป็นผู้รู้ทั่วไป ยังสรรพสัตว์ให้เป็นไปในอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้างโลก นิรมิตโลก
เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้แต่งสัตว์ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นบิดาของเหล่าสัตว์ที่เกิดแล้ว
และที่กำลังจะเกิด สมณพราหมณ์พวกก่อนท่าน เป็นผู้ติเตียนดิน เกลียดดิน เป็นผู้
ติเตียนน้ำ เกลียดน้ำ เป็นผู้ติเตียนไฟ เกลียดไฟ เป็นผู้ติเตียนลม เกลียดลม
เป็นผู้ติเตียนสัตว์ เกลียดสัตว์ เป็นผู้ติเตียนเทวดา เกลียดเทวดา เป็นผู้ติเตียน
ปชาบดี เกลียดปชาบดี เป็นผู้ติเตียนพรหม เกลียดพรหมในโลก หลังจากตายแล้ว
สมณพราหมณ์เหล่านั้นจะไปเกิดในพวกที่เลว
ส่วนสมณพราหมณ์พวกก่อนท่าน เป็นผู้สรรเสริญดิน ชมเชยดิน เป็นผู้
สรรเสริญน้ำ ชมเชยน้ำ เป็นผู้สรรเสริญไฟ ชมเชยไฟ เป็นผู้สรรเสริญลม ชมเชยลม
เป็นผู้สรรเสริญสัตว์ ชมเชยสัตว์ เป็นผู้สรรเสริญเทวดา ชมเชยเทวดา เป็นผู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร

สรรเสริญปชาบดี ชมเชยปชาบดี เป็นผู้สรรเสริญพรหม ชมเชยพรหม หลังจาก
ตายแล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้น จะไปเกิดในพวกที่ดี
เพราะเหตุนั้น เราจึงบอกกับท่านว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ เชิญเถิด ท่านจงทำ
ตามคำที่พรหมบอกแก่ท่านเท่านั้น ท่านจงอย่าฝ่าฝืนคำของพรหมเลย ถ้าท่านจัก
ฝ่าฝืนคำของพรหม โทษจักมีแก่ท่าน เปรียบเหมือนบุรุษเอาท่อนไม้ไล่ตีสิริที่มาหา
หรือเปรียบเหมือนบุรุษผู้ตกเหวลึก ชักมือ และเท้าให้ห่างแผ่นดินเสียฉะนั้น ท่าน
ผู้นิรทุกข์ เชิญเถิด ท่านจงทำตามคำที่พรหมบอกแก่ท่านเท่านั้น ท่านจงอย่าฝ่า
ฝืนคำของพรหมเลย ภิกษุ ท่านเห็นพรหมบริษัทประชุมกันแล้วมิใช่หรือ’ มารใจ
บาปเปรียบเรากับพรหมบริษัทนี้ ดังนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมารกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกับมารผู้ใจบาปนั้นว่า
‘มารผู้ใจบาป เรารู้จักท่าน ท่านอย่าเข้าใจว่า ‘พระสมณะไม่รู้จักเรา’ ท่านเป็นมาร
พรหมก็ดี พรหมบริษัทก็ดี พรหมปาริสัชชะก็ดี ทั้งหมดนั้นอยู่ในมือของท่าน
ตกอยู่ในอำนาจของท่าน และท่านก็มีความดำริว่า ‘แม้พระสมณะก็ต้องอยู่ในมือ
ของเรา ต้องอยู่ในอำนาจของเรา’ แต่ว่า เราไม่ได้อยู่ในมือของท่าน ไม่ได้ตกอยู่
ในอำนาจของท่านเลย’

พกพรหมหายไปจากพระผู้มีพระภาค

[๕๐๓] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว พกพรหมได้กล่าวว่า
‘ท่านผู้นิรทุกข์ เรากล่าวสิ่งที่เที่ยงว่า ‘เที่ยง’ กล่าวสิ่งที่มั่นคงว่า ‘มั่นคง’ กล่าว
สิ่งที่ยั่งยืนว่า ‘ยั่งยืน’ กล่าวสิ่งที่แข็งแรงว่า ‘แข็งแรง’ กล่าวสิ่งที่ไม่มีความเคลื่อน
เป็นธรรมดาว่า ‘ไม่มีความเคลื่อนเป็นธรรมดา’ ก็แลสัตว์ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย
ไม่จุติ ไม่อุบัติในพรหมสถานใด เรากล่าวถึงพรหมสถานนั้นว่า ‘พรหมสถานนี้
ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ และกล่าวการสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่ง
อื่นซึ่งไม่มีว่า ‘การสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นไม่มี’ สมณพราหมณ์พวกก่อนท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร

ได้มีแล้วในโลก อายุของท่านทั้งสิ้นมีประมาณเท่าใด กรรมที่ทำด้วยตบะของสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นก็มีประมาณเท่านั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้น จะพึงรู้การสลัด
ออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นซึ่งมีว่า ‘การสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นมี’ หรือจะพึงรู้
การสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นซึ่งไม่มีว่า ‘การสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นไม่มี’
เพราะเหตุนั้นเราจึงกล่าวกับท่านอย่างนี้ว่า ‘ท่านจักไม่เห็นการสลัดออกจากทุกข์
อย่างยิ่งอื่นเลย แม้ว่าท่านจักเป็นผู้มีความลำบากและความคับแค้นใจก็ตาม ภิกษุ
ถ้าท่านจักกลืนกินแผ่นดิน ท่านก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้เรา นอนในที่อยู่ของเรา
เราพึงทำได้ตามประสงค์ เราพึงห้ามได้ ถ้าท่านกลืนกินน้ำ ... ถ้าท่านกลืนกินไฟ ...
ถ้าท่านกลืนกินลม ... ถ้าท่านกลืนกินเหล่าสัตว์ ... ถ้าท่านกลืนกินเทวดา ... ถ้าท่าน
กลืนกินปชาบดี ... ถ้าท่านกลืนกินพรหม ท่านก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้เรา นอนใน
ที่อยู่ของเรา เราพึงทำได้ตามประสงค์ เราพึงห้ามได้’
เรากล่าวว่า ‘พรหม แม้เราก็รู้อย่างนี้ว่า ‘ถ้าเราจักกลืนกินแผ่นดิน เราก็จัก
ชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้ท่าน นอนในที่อยู่ของท่าน ท่านพึงทำได้ตามประสงค์ ท่านพึง
ห้ามได้ และถ้าเราจักกลืนกินน้ำ ... ถ้าเราจักกลืนกินไฟ ... ถ้าเราจักกลืนกินลม ...
ถ้าเราจักกลืนกินเหล่าสัตว์ ... ถ้าเราจักกลืนกินเทวดา ... ถ้าเราจักกลืนกินปชาบดี ...
ถ้าเราจักกลืนกินพรหม เราก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้ท่าน นอนในที่อยู่ของท่าน
ท่านพึงทำได้ตามประสงค์ ท่านพึงห้ามได้ ใช่แต่เท่านั้น เรารู้คติ และรู้ความ
รุ่งเรืองของท่านว่า ‘พกพรหมมีฤทธิ์มากอย่างนี้ พกพรหมมีอานุภาพมากอย่างนี้
พกพรหมมีศักดิ์มากอย่างนี้’ พกพรหมถามเราว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านรู้คติและรู้
ความรุ่งเรืองของเราว่า ‘พกพรหมมีฤทธิ์มากอย่างนี้ พกพรหมมีอานุภาพมาก
อย่างนี้ พกพรหมมีศักดิ์มากอย่างนี้ได้อย่างไร’ เรากล่าวว่า
‘ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
ย่อมโคจรส่องทิศให้สว่างอยู่เท่าใด
อำนาจของท่านย่อมเป็นไปใน ๑,๐๐๐ จักรวาลเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร

ท่านย่อมรู้จักสัตว์ที่เลวและสัตว์ที่ประณีต
รู้จักสัตว์ที่มีราคะและสัตว์ที่ไม่มีราคะ
รู้จักจักรวาลนี้และจักรวาลอื่น
และรู้จักการมาและการไปของสัตว์ทั้งหลาย’
พรหม เรารู้คติและรู้ความรุ่งเรืองของท่านอย่างนี้ว่า ‘พกพรหมมีฤทธิ์มาก
อย่างนี้ พกพรหมมีอานุภาพมากอย่างนี้ พกพรหมมีศักดิ์มากอย่างนี้’
[๕๐๔] พรหม หมู่พรหมอื่นมีอยู่ ท่านไม่รู้ ไม่เห็นหมู่พรหมนั้น (แต่)เรารู้
เห็นหมู่พรหมนั้น หมู่พรหมชื่ออาภัสสรามีอยู่ ท่านเคลื่อนแล้วจากที่ใด มาอุบัติ
แล้วในที่นี้ ท่านมีสติหลงลืมไปเพราะอยู่อาศัยนานนัก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่รู้
ไม่เห็นหมู่พรหมนั้น (แต่)เรารู้ เห็นหมู่พรหมนั้น เรากับท่านเทียบกันไม่ได้ด้วย
ปัญญาอันรู้ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้ เรา
เท่านั้นเป็นผู้สูงยิ่งกว่าท่าน
หมู่พรหมชื่อสุภกิณหา มีอยู่ ...
หมู่พรหมชื่อเวหัปผลา มีอยู่ ...
หมู่พรหมชื่ออภิภู มีอยู่ ท่านไม่รู้ ไม่เห็นหมู่พรหมนั้น (แต่)เรารู้ เห็นหมู่
พรหมนั้น เรากับท่านเทียบกันไม่ได้ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้
ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้เราเท่านั้นเป็นผู้สูงยิ่งกว่าท่าน
พรหม เรารู้จักดินโดยความเป็นดิน รู้จักนิพพานที่สัตว์เสวยไม่ได้๑ โดยความ
ที่ดินเป็นดิน แล้วไม่เป็นดิน๒ ไม่ได้มีแล้วในดิน ไม่ได้มีแล้วจากดิน ไม่ได้มีแล้วว่า
ดินเป็นของเรา ไม่ได้กล่าวเฉพาะดิน เราเทียบไม่ได้กับท่านด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งแม้
อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้ เราเท่านั้นเป็นผู้สูงยิ่ง

เชิงอรรถ :
๑ ที่สัตว์เสวยไม่ได้ หมายถึงที่สัตว์ครอบครองไม่ได้ บรรลุไม่ได้โดยความที่ดินเป็นดิน (ม.มู.อ.
๒/๕๐๔/๓๒๐)
๒แล้วไม่เป็นดิน หมายถึงไม่ยึดถือดินด้วยอำนาจตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ม.มู.อ. ๒/๕๐๔/๓๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร

กว่าท่าน เรารู้จักน้ำ ... เรารู้จักไฟ ... เรารู้จักลม ... เรารู้จักเหล่าสัตว์ ... เรา
รู้จักเทวดา ... เรารู้จักปชาบดี ... เรารู้จักพรหม ... เรารู้จักอาภัสสรพรหม ...
เรารู้จักสุภกิณหพรหม ... เรารู้จักเวหัปผลพรหม ... เรารู้จักอภิภูพรหม ...
เรารู้จักสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นสิ่งทั้งปวง รู้จักนิพพานที่สัตว์เสวยไม่ได้โดย
ความที่สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งทั้งปวงแล้วไม่เป็นสิ่งทั้งปวง ไม่ได้มีในสิ่งทั้งปวง ไม่ได้มี
จากสิ่งทั้งปวง ไม่ได้มีว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของเรา ไม่ได้กล่าวเฉพาะสิ่งทั้งปวง
พรหม เราเทียบกับท่านไม่ได้ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้
ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้ เราเท่านั้นเป็นผู้สูงยิ่งกว่าท่าน พกพรหม
กล่าวกับเราว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ถ้าเพราะท่านรู้นิพพานที่สัตว์เสวยไม่ได้โดยความที่
สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งทั้งปวง ถ้อยคำของท่าน อย่าได้ว่าง อย่าได้เปล่าเสียเลย’
นิพพานที่ผู้บรรลุจะพึงรู้แจ้งได้ เป็นอนิทัสสนะ๑ เป็นอนันตะ๒(ไม่สิ้นสุด) มี
รัศมีกว่าสิ่งทั้งปวง สัตว์เสวยไม่ได้โดยความที่ดินเป็นดิน โดยความที่น้ำเป็นน้ำ
โดยความที่ไฟเป็นไฟ โดยความที่ลมเป็นลม โดยความที่เหล่าสัตว์เป็นเหล่าสัตว์
โดยความที่เทวดาเป็นเทวดา โดยความที่ปชาบดีเป็นปชาบดี โดยความที่พรหม
เป็นพรหม โดยความที่อาภัสสรพรหมเป็นอาภัสสรพรหม โดยความที่สุภกิณห-
พรหมเป็นสุภกิณหพรหม โดยความที่เวหัปผลพรหมเป็นเวหัปผลพรหม โดย
ความที่อภิภูพรหมเป็นอภิภูพรหม โดยความที่สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งทั้งปวง
พกพรหมกล่าวกับเราว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านจงดู บัดนี้ เราจะอันตรธาน
ไปจากท่าน’ เรากล่าวว่า ‘พรหม หากท่านสามารถ บัดนี้ ก็จงอันตรธานไปจาก
เราเถิด’ ครั้งนั้น พกพรหมกล่าวว่า ‘เราจักอันตรธานไปจากพระสมณโคดม เรา
จักอันตรธานไปจากพระสมณโคดม’ แต่ก็ไม่อาจอันตรธานไปจากเราได้เลย

เชิงอรรถ :
๑ อนิทัสสนะ หมายถึงสภาวะที่มองไม่เห็นเพราะอยู่เหนือจักขุวิญญาณ (ม.มู.อ. ๒/๕๐๔/๓๒๑)
๒ อนันตะ หมายถึงไม่มีที่สุด เพราะไม่มีการเกิดขึ้นและการดับไป (ม.มู.อ. ๒/๕๐๔/๓๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร

เมื่อพกพรหมกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกับพกพรหมว่า ‘พรหม ท่านจงดู
บัดนี้ เราจะอันตรธานไปจากท่าน’ พกพรหมกล่าวว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ หากท่าน
สามารถ บัดนี้ ก็จงอันตรธานไปจากเราเถิด’ ลำดับนั้นเราบันดาลอิทธาภิสังขาร๑
เช่นนั้น ด้วยคิดว่า ‘ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พรหมก็ดี พรหมบริษัทก็ดี พรหม-
ปาริสัชชะก็ดี ย่อมได้ยินเสียงเรา แต่มิได้เห็นตัวเรา’ เราอันตรธานไปแล้ว ได้
กล่าวคาถานี้ว่า
‘เราเห็นภัยในภพและเห็นภพของสัตว์
ผู้แสวงหาความปราศจากภพแล้ว
ไม่กล่าวยกย่องภพอะไรเลย
ทั้งไม่ยึดมั่นนันทิ๒ ด้วย’
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พรหมก็ดี พรหมบริษัทก็ดี พรหมปาริสัชชะก็ดี ได้
เกิดความแปลกประหลาดมหัศจรรย์จิตว่า ‘ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย
ปรากฏ พระสมณโคดมมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ก่อนแต่นี้ เราทั้งหลายไม่ได้เห็น
ไม่ได้ยินสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เหมือนพระสมณโคดม
นี้ ผู้ออกผนวชจากศากยตระกูล ถอนภพพร้อมทั้งรากของหมู่สัตว์ผู้รื่นรมย์ในภพ
ยินดีในภพ เพลิดเพลินในภพ’

มารเข้าสิงกายพรหม

[๕๐๕] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น มารใจบาป เข้าสิงกายพรหมปาริสัชชะ
ผู้หนึ่ง แล้วกล่าวกับเราว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ถ้าท่านรู้อย่างนี้ ตรัสรู้อย่างนี้ ก็อย่า
แนะนำ อย่าแสดงธรรม อย่าทำความยินดีกับพวกสาวกและพวกบรรพชิตเลย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๓๙๓ (จูฬตัณหาสังขยสูตร) หน้า ๔๒๔ ในเล่มนี้
๒ นันทิ ในที่นี้หมายถึงภวตัณหา (ม.มู.อ. ๒/๕๐๔/๓๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร

ภิกษุ ได้มีสมณพราหมณ์พวกก่อนท่านผู้ปฏิญญาว่า เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าในโลก สมณพราหมณ์เหล่านั้นแนะนำ แสดงธรรม ทำความยินดีกับ
พวกสาวกและพวกบรรพชิต หลังจากตายแล้วก็ไปเกิดในพวกที่เลว สมณ-
พราหมณ์พวกก่อนท่านผู้ปฏิญญาว่า เป็นพระอรหันตสัมมาพุทธเจ้าในโลก
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่แนะนำ ไม่แสดงธรรม ไม่ทำความยินดีกับพวกสาวก
และพวกบรรพชิต หลังจากตายแล้วก็ไปเกิดในพวกที่ดี เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าว
กับท่านว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ขอท่านอย่ากังวลไปเลย จงหมั่นประกอบธรรมเป็น
เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันอยู่เถิด เพราะการไม่พูดเป็นความดี ท่านอย่าสั่งสอน
สัตว์อื่น ๆ เลย’
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมารกล่าวอย่างนี้แล้ว เราจึงกล่าวว่า ‘มาร เรารู้จักท่าน
ท่านอย่าเข้าใจว่า ‘พระสมณะไม่รู้จักเรา’ ท่านเป็นมาร ท่านหามีความอนุเคราะห์
ด้วยจิตเกื้อกูลไม่ จึงกล่าวกับเราอย่างนี้ ท่านไม่มีความอนุเคราะห์ด้วยจิตเกื้อกูล
จึงกล่าวกับเราอย่างนี้ ท่านมีความดำริว่า ‘พระสมณโคดม จักแสดงธรรมแก่ชน
เหล่าใด ชนเหล่านั้น จักล่วงวิสัยของเราไป’ สมณพราหมณ์เหล่านั้น มิได้เป็น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิญญาว่า ‘เราทั้งหลาย เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า’ เรา
เป็นสัมมาสัมพุทธะ ย่อมปฏิญญาว่า ‘เราเป็นสัมมาสัมพุทธะ’
มาร ตถาคตแม้เมื่อแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลาย ก็เป็นเช่นนั้น แม้เมื่อไม่
แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น ตถาคตแม้เมื่อแนะนำสาวก ก็เป็นเช่นนั้น
แม้เมื่อไม่ได้แนะนำสาวกก็เป็นเช่นนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตละอาสวะ
อันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มี
ชาติ ชรา มรณะต่อไปได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอน
โคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ต้นตาลที่ถูกตัดยอดแล้ว
ไม่อาจงอกขึ้นอีกได้ แม้ฉันใด ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ละอาสวะทั้งหลายอัน
ทำให้เศร้าหมองให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ ให้มีชาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑๐. มารตัชชนียสูตร

ชรา มรณะต่อไปได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว
เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้”
เวยยากรณภาษิตนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยมารมิได้เรียกร้อง และ
โดยที่พรหมเชื้อเชิญดังนี้ เพราะเหตุนั้น เวยยากรณภาษิตนี้ จึงมีชื่อว่า พรหม-
นิมันตนิกสูตร ดังนี้แล

พรหมนิมันตนิกสูตรที่ ๙ จบ

๑๐. มารตัชชนียสูตร
ว่าด้วยการคุกคามของมาร

[๕๐๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะอยู่ ณ เภสกฬาวันสถานที่ให้อภัยแก่
หมู่เนื้อ เขตกรุงสุงสุมารคิระ ในแคว้นภัคคะ สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเดิน
จงกรมอยู่ในที่แจ้ง ถูกมารใจบาปเข้าสิงในท้องในไส้ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า
“ท้องเราเป็นเหมือนว่ามีก้อนหินหนัก ๆ และเป็นเช่นกระสอบที่บรรจุถั่วเหลืองเต็ม
เพราะเหตุไรหนอ” จึงลงจากที่จงกรมแล้วเข้าไปสู่วิหาร นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว
ได้มนสิการโดยแยบคายเฉพาะตน
ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นมารใจบาป เข้าสิงในท้องในไส้ แล้วจึงได้กล่าว
กับมารใจบาปว่า “มาร ท่านจงออกมา ท่านจงออกมา ท่านอย่าเบียดเบียนพระ-
ตถาคตและสาวกของพระตถาคตเลย การเบียดเบียนนั้นอย่าได้มีเพื่อสิ่งที่ไม่เป็น
ประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่ท่านตลอดกาลนาน”
ลำดับนั้น มารใจบาปมีความดำริอย่างนี้ว่า “สมณะนี้ไม่รู้ ไม่เห็นเรา จึง
กล่าวว่า ‘มาร ท่านจงออกมา ท่านจงออกมา ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคต
และสาวกของพระตถาคตเลย การเบียดเบียนนั้น อย่าได้มีเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑๐. มารตัชชนียสูตร

เพื่อความทุกข์แก่ท่านตลอดกาลนาน’ แล้วจึงดำริว่า ‘แม้สมณะที่เป็นศาสดายังไม่
รู้จักเราได้เร็วไว ไฉนสมณะที่เป็นสาวกจักรู้จักเราได้”
ในขณะนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวว่า “มาร เรารู้จักท่านแม้ด้วย
เหตุนี้ ท่านอย่าเข้าใจว่า ‘สมณะนี้ไม่รู้จักเรา’ ท่านเป็นมาร ท่านมีความดำริว่า
‘สมณะนี้ไม่รู้ ไม่เห็นเรา จึงกล่าวว่า ‘มาร ท่านจงออกมา ท่านจงออกมา ท่าน
อย่าเบียดเบียนพระตถาคตและสาวกของพระตถาคตเลย การเบียดเบียนนั้นอย่าได้มี
เพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่ท่านสิ้นกาลนาน’ แล้วจึงดำริว่า ‘แม้
สมณะที่เป็นศาสดายังไม่รู้จักเราได้เร็วไว ไฉนสมณะที่เป็นสาวกจักรู้จักเราได้”
ลำดับนั้น มารใจบาปมีความดำริว่า “สมณะนี้รู้จักและเห็นเราจึงกล่าวอย่าง
นี้ว่า ‘มาร ท่านจงออกมา ท่านจงออกมา ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตและ
สาวกของพระตถาคตเลย การเบียดเบียนนั้น อย่าได้มีเพื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
เพื่อความทุกข์แก่ท่านตลอดกาลนาน” จึงออกจากปากของท่านพระมหาโมคคัลลานะ
แล้วยืนอยู่ข้างบานประตู
[๕๐๗] ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นมารใจบาปยืนอยู่ข้างบานประตู
แล้วจึงถามว่า “มาร เราเห็นท่านแม้ที่ข้างบานประตูนั้น ท่านอย่าเข้าใจว่า ‘สมณะ
นี้ไม่เห็นเรา’ ท่านนั้นยืนอยู่แล้วที่ข้างบานประตู
เรื่องเคยมีมาแล้ว เราเป็นมารชื่อทูสี มีน้องสาวชื่อกาลี ท่านเป็นบุตรของ
น้องสาวเรา ท่านเป็นหลานชายของเรา ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ
ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ทรงมีคู่
พระอัครสาวกชื่อว่าวิธุระและสัญชีวะ ในบรรดาพระสาวกของพระกกุสันธะผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่าที่มีอยู่ ไม่มีสาวกองค์ใดที่จะเสมอด้วยท่าน
พระวิธุระในการแสดงธรรม ด้วยเหตุนี้ ท่านพระวิธุระจึงมีชื่อว่า ‘วิธุระ วิธุระ’
ส่วนท่านพระสัญชีวะอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี
ย่อมเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติด้วยความลำบากเล็กน้อย เรื่องเคยมีมาแล้ว
ท่านพระสัญชีวะนั่งเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง พวกคนเลี้ยงโค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑๐. มารตัชชนียสูตร

พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์ พวกคนไถนา และพวกคนเดินทาง ได้เห็นท่านพระสัญชีวะนั่ง
เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง แล้วได้ปรึกษากันว่า ‘ท่านผู้เจริญ น่า
อัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระสมณะนี้นั่งมรณภาพแล้ว เอาละ พวกเราช่วย
กันเผาท่านเถิด’ ครั้งนั้น คนเหล่านั้นจึงหาหญ้า ไม้ และมูลโคมากองสุมกาย
ท่านพระสัญชีวะ จุดไฟเผาแล้วจากไป เมื่อราตรีนั้นผ่านพ้นไปแล้ว ท่าน
พระสัญชีวะออกจากสมาบัตินั้นแล้ว ก็สลัดจีวร เวลาเช้า ครองอันตรวาสกแล้ว
ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน พวกคนเลี้ยงโค พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์
พวกคนไถนา และพวกคนเดินทาง ได้เห็นท่านพระสัญชีวะเที่ยวบิณฑบาตแล้ว
ได้ปรึกษากันว่า ‘ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระสมณะนี้
นั่งมรณภาพแล้ว กลับฟื้นชีพคืนได้’ ด้วยเหตุนี้ ท่านพระสัญชีวะจึงมีชื่อว่า ‘สัญชีวะ
สัญชีวะ’
[๕๐๘] มาร ครั้งนั้น ทูสีมารมีความดำริว่า ‘เราไม่รู้จักการมาและการไป
ของภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเหล่านี้ ทางที่ดี เราควรดลใจพวกพราหมณ์และ
คหบดีว่า ‘มาเถิด พวกท่านจงด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนพวกภิกษุผู้มีศีล
มีกัลยาณธรรม ทำอย่างไร ภิกษุเหล่านั้น ผู้ถูกพวกท่านด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด
เบียดเบียนอยู่ จะพึงมีจิตเป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมารพึงได้โอกาส’
ครั้งนั้น ทูสีมารก็ดลใจพวกพราหมณ์และคหบดีว่า ‘มาเถิด พวกท่านจงด่า
บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนพวกภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ทำอย่างไร
ภิกษุเหล่านั้น ผู้ถูกพวกท่านด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนอยู่ จะพึงมีจิต
เป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมารพึงได้โอกาส’ พวกพราหมณ์และคหบดีถูกทูสีมารดลใจ
แล้วก็ด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนพวกภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมว่า
‘ภิกษุพวกนี้เป็นสมณะหัวโล้น เป็นคหบดี เป็นค่าง เป็นผู้เกิดจากหลังเท้าของพรหม
พูดว่า ‘พวกเราเจริญฌาน พวกเราเจริญฌาน’ เป็นผู้คอตก ก้มหน้า เกียจคร้าน
ย่อมรำพึง ซบเซา เหงาหงอย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑๐. มารตัชชนียสูตร

เปรียบเหมือนนกเค้าแมวจ้องหาหนูที่กิ่งต้นไม้ รำพึง ซบเซา เหงาหงอยอยู่
สุนัขจิ้งจอกจ้องหาปลาใกล้ฝั่งน้ำรำพึง ซบเซา เหงาหงอยอยู่ แมวที่จ้องหา
หนูที่รางน้ำ ท่อน้ำครำและกองหยากเยื่อ รำพึง ซบเซา เหงาหงอยอยู่ และลาที่
ปลดต่างแล้ว ก็รำพึง ซบเซา เหงาหงอยอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุพวกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นสมณะหัวโล้น เป็นคหบดี เป็นค่าง เป็นผู้เกิดจากหลังเท้าของพรหมพูดว่า
‘พวกเราเจริญฌาน พวกเราเจริญฌาน’ เป็นผู้คอตก ก้มหน้า เกียจคร้าน ย่อมรำพึง
ซบเซา เหงาหงอย’
มาร สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายที่ตายไป ก็จะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต
และนรกโดยมาก
[๕๐๙] มาร ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะผู้เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย พวกพราหมณ์
และคหบดีถูกทูสีมารดลใจชักชวนว่า ‘มาเถิด พวกท่านจงด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด
เบียดเบียนพวกภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ทำอย่างไร ภิกษุเหล่านั้นถูกพวกท่าน
ด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนอยู่ จะพึงมีจิตเป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมารพึง
ได้โอกาส’ ภิกษุทั้งหลาย มาเถิด พวกเธอจงมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศ
ที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอด
โลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ... มีอุเบกขาจิตแผ่ไป
ตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง
แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ
ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่’
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้ที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ ผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอน ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ อยู่ในป่าก็ดี
อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑๐. มารตัชชนียสูตร

ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลก
ทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ... มีอุเบกขาจิตแผ่ไป
ตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง
แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ
ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
[๕๑๐] มาร ครั้งนั้น ทูสีมารมีความดำริว่า ‘เราทำอยู่แม้ถึงอย่างนี้ ก็มิ
ได้รู้ถึงการมาและการไปของภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเหล่านี้เลย ทางที่ดี เรา
ควรชักชวนพราหมณ์และคหบดีว่า ‘เชิญท่านทั้งหลายมาสักการะ เคารพ นับถือ
บูชาภิกษุทั้งหลายผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมกันเถิด ทำอย่างไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นผู้ซึ่ง
ท่านทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ จะพึงมีจิตเป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมาร
พึงได้โอกาส’ ลำดับนั้น ทูสีมารชักชวนพราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นว่า ‘เชิญท่าน
ทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือบูชาภิกษุทั้งหลายผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมกันเถิด
ทำอย่างไร ภิกษุเหล่านั้นผู้ซึ่งท่านทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ จะพึง
มีจิตเป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมารพึงได้โอกาส’
ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้น ถูกทูสีมารชักชวนแล้ว พากันสักการะ
เคารพ นับถือ บูชาภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม
มาร สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายที่ตายไป ก็ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์โดยมาก
[๕๑๑] มาร ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ ผู้เป็นพระ-
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ‘ภิกษุทั้งหลาย พวก
พราหมณ์และคหบดี ถูกทูสีมารชักชวนว่า ‘เชิญท่านทั้งหลายมาสักการะ เคารพ
นับถือ บูชาภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลมีกัลยาณธรรมกันเถิด ทำอย่างไร เมื่อภิกษุเหล่านั้น
ผู้ซึ่งท่านสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ จะพึงมีจิตเป็นอย่างอื่นทำให้ทูสีมารพึง
ได้โอกาส’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมา จงพิจารณาเห็นกายว่าไม่งาม มีความ
สำคัญในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล มีความสำคัญในโลกทั้งปวงว่าไม่น่ายินดี พิจารณา
เห็นสังขารทั้งปวงว่าเป็นของไม่เที่ยงอยู่เถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑๐. มารตัชชนียสูตร

มาร ภิกษุเหล่านั้นผู้ที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะผู้เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งสอน ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี
อยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็พิจารณาเห็นกายว่าไม่งาม มีความสำคัญในอาหารว่าเป็นของ
ปฏิกูล มีความสำคัญในโลกทั้งปวงว่าไม่น่ายินดี พิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงว่าเป็น
ของไม่เที่ยงอยู่
[๕๑๒] มาร ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะผู้เป็น
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร มีท่านพระ-
วิธุระเป็นปัจฉาสมณะ(ผู้ติดตาม) เสด็จเข้าสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต
ครั้งนั้น ทูสีมารได้เข้าสิงเด็กคนหนึ่งแล้วเอาก้อนหินขว้างที่ศีรษะของท่าน
พระวิธุระแตก ท่านพระวิธุระมีศีรษะแตกเลือดไหลอาบอยู่ เดินตามเสด็จพระผู้มี
พระภาคพระนามว่ากกุสันธะไปข้างหลัง ๆ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงชำเลืองดูเหมือนช้างชำเลืองดู แล้วตรัสว่า ‘ทูสีมารนี้ไม่รู้จักประมาณเลย’ ก็แล
ทูสีมารเคลื่อนแล้วจากที่นั้น ได้ไปเกิดในมหานรก พร้อมกับพระกิริยาที่ทรงชำเลืองดู
มาร มหานรกนั้นมี ๓ ชื่อ คือ (๑) ฉผัสสายตนิกนรก๑ (๒) สังกุสมาหตนรก๒
(๓) ปัจจัตตเวทนียนรก๓ ครั้งนั้น พวกนายนิรยบาลเข้ามาหาเรา(ผู้เป็นทูสีมาร)
แล้วบอกว่า ‘เมื่อใดหลาวเหล็กกับหลาวเหล็กมารวมกันที่กลางหทัยของท่าน เมื่อ
นั้น ท่านจะพึงรู้ว่า ‘เราไหม้อยู่ในนรกพันปีแล้ว เรานั้น หมกไหม้อยู่ในมหานรก
หลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี และหมกไหม้อยู่ในอุสสทนรกซึ่งเป็นบริวารแห่ง
มหานรกนั้น เสวยทุกขเวทนาหนักกว่าก่อนอีกหนึ่งหมื่นปี เรานั้นมีร่างกายเหมือน
มนุษย์ มีศีรษะเป็นปลา’

เชิงอรรถ :
๑ ฉผัสสายตนิกนรก หมายถึงนรกที่มีผัสสายตนะ ๖ เป็นเหตุเกิดทุกขเวทนาอันเผ็ดร้อน (ม.มู.อ.
๒/๕๑๒/๓๒๙)
๒ สังกุสมาหตนรก หมายถึงนรกที่สัตว์นรกต้องถูกแทงด้วยขอเหล็ก (ม.มู.อ. ๒/๕๑๒/๓๒๙)
๓ ปัจจัตตเวทนียนรก หมายถึงนรกที่สัตว์นรกก่อทุกขเวทนาให้เกิดแก่ตนเอง (ม.มู.อ. ๒/๕๑๒/๓๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑๐. มารตัชชนียสูตร

อวสานคาถา

[๕๑๓] ทูสีมารประทุษร้ายพระสาวกชื่อว่าวิธุระ
และพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐพระนามว่ากกุสันธะ
แล้วไหม้อยู่ในนรกใด นรกนั้นเป็นเช่นไร
ทูสีมารประทุษร้ายพระสาวกนามว่าวิธุระ
และพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐพระนามว่ากกุสันธะ
แล้วไหม้อยู่ในนรกใด นรกนั้นเป็นเช่นนี้
คือมีหลาวเหล็ก ๑๐๐ เล่ม ล้วนก่อให้เกิดทุกขเวทนา
ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าย่อมรู้จักนรกนั้น
มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก
วิมานทั้งหลายตั้งอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทรตลอดกัป
มีสีเหมือนแก้วไพฑูรย์ มีความรุ่งเรือง
มีรัศมีโชติช่วง เป็นประภัสสร
มีเหล่านางอัปสรมีผิวพรรณต่าง ๆ เป็นอันมากฟ้อนรำอยู่
ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักวิมานนั้น
มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น
ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก
ภิกษุรูปใด ผู้ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตักเตือนแล้ว
เมื่อภิกษุสงฆ์เห็นอยู่ ทำปราสาทของมิคารมาตา
ให้ไหวด้วยปลายนิ้วหัวแม่เท้า
ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักเหตุนั้น
มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น
ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] ๑๐. มารตัชชนียสูตร

ภิกษุรูปใดมีกำลังเข้มแข็งด้วยกำลังฤทธิ์
ทำเวชยันตปราสาทให้ไหวด้วยปลายนิ้วหัวแม่เท้า
และทำเหล่าเทวดาให้สังเวช
ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักเหตุนั้น
มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น
ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก
ภิกษุรูปใดทูลสอบถามท้าวสักกะในเวชยันตปราสาทว่า
‘ท่านวาสวะ ท่านย่อมรู้ความน้อมจิตไปในธรรมเป็นที่สิ้นไป
แห่งตัณหาบ้างไหม’
ท้าวสักกะถูกถามปัญหาแล้ว
จึงตอบแก่ภิกษุนั้นตามควรแก่กถา
ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักเหตุนั้น
มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น
ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก
ภิกษุรูปใดสอบถามพรหม ณ ที่ใกล้สุธัมมสภาว่า
‘ท่านเห็นทิฏฐิของท่านในวันนี้
และทิฏฐิของท่านที่มีในวันก่อน
ท่านเห็นทิฏฐินั้นล่วงไปแล้ว
และรัศมีเป็นประภัสสรในพรหมโลกบ้างหรือ’
พรหมตอบแก่ภิกษุนั้น ตามลำดับโดยควรแก่กถาว่า
‘ท่านผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้าไม่มีทิฏฐินั้นและทิฏฐิในวันก่อน
ข้าพเจ้าเห็นทิฏฐินั้นล่วงไปแล้ว
และเห็นรัศมีเป็นประภัสสรในพรหมโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า :๕๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค]
รวมวรรคที่มีในมูลปัณณาสก์

(ฉะนั้น) วันนี้ ข้าพเจ้าจะกล่าวว่า
‘เราเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน ได้อย่างไร’
ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักเหตุนั้น
มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น
ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก
ภิกษุรูปใด ได้สัมผัสยอดภูเขาใหญ่ชื่อสิเนรุ
ชมพูทวีป ปุพพวิเทหทวีป
อมรโคยานทวีป และอุตตรกุรุทวีปด้วยวิโมกข์
ภิกษุรูปใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้เหตุนั้น
มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น
ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก
คนพาลมาเข้ากองไฟที่กำลังลุกโชน ย่อมเดือดร้อนอยู่ว่า
‘ไฟย่อมไม่คิดจะเผาเรา แต่เราเผาตนผู้เป็นคนพาลเอง’
มาร ท่านเบียดเบียนพระตถาคตแล้ว จักเผาตัวเอง
ดังคนพาลที่ถูกไฟเผาฉะนั้น
มาร ท่านเบียดเบียนพระตถาคตแล้ว ต้องประสบบาป
ท่านเข้าใจหรือว่า ‘บาปไม่ให้ผลแก่เรา’
ผู้ที่สั่งสมบาป ย่อมโอดครวญตลอดกาลนาน
มาร ท่านเบื่อหน่ายพระพุทธเจ้า
อย่าหวังที่จะทำให้ภิกษุทั้งหลายพินาศเลย
ภิกษุได้คุกคามมารในเภสกฬาวัน ด้วยประการฉะนี้”
ลำดับนั้น มารนั้นเสียใจ ได้อันตรธานไปจากที่นั้น ดังนี้แล

มารตัชชนียสูตรที่ ๑๐ จบ
จูฬยมกวรรคที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๕. จูฬยมกวรรค] รวมวรรคที่มีในมูลปัณณาสก์

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สาเลยยกสูตร ๒. เวรัญชกสูตร
๓. มหาเวทัลลสูตร ๔. จูฬเวทัลลสูตร
๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร ๖. มหาธัมมสมาทานสูตร
๗. วีมังสกสูตร ๘. โกสัมพิยสูตร
๙. พรหมนิมันตนิกสูตร ๑๐. มารตัชชนียสูตร

รวมวรรคที่มีในมูลปัณณาสก์นี้ คือ

๑. มูลปริยายวรรค ๒. สีหนาทวรรค
๓. โอปัมมวรรค ๔. มหายมกวรรค
๕. จูฬยมกวรรค

มูลปัณณาสก์ จบ


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎกที่ ๐๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จบ





eXTReMe Tracker