ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐-๓ สุตตันตปิฎกที่ ๐๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย มหาวรรค
____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] ถวายบังคมลาพระเจ้าเรณุ

มทะ (ความมัวเมา) โมหะ (ความหลง)
สัตว์ผู้ประกอบด้วยกิเลสเหล่านี้
จัดว่าเป็นผู้มีกลิ่นชั่วร้าย
ต้องไปอบาย ปิดพรหมโลกแล้ว’
มหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘เมื่อท่านผู้เจริญตรัสบอกกลิ่นชั่วร้าย
ข้าพเจ้าจึงรู้จัก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ สนังกุมารพรหมตรัสว่า
‘โควินทะ ขอท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด’

ถวายบังคมลาพระเจ้าเรณุ

[๓๒๑] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้า
พระเจ้าเรณุถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘บัดนี้ ขอได้โปรดแสวงหาปุโรหิตคนอื่น
ผู้จะถวายคำปรึกษาราชกิจแด่พระองค์เถิด พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ปรารถนาจะ
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่าข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหม
ตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ข้าพระองค์
จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’
(ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลด้วยคาถาว่า)
‘ข้าพระองค์ขอถวายบังคมลา
พระเจ้าเรณุผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ขอพระองค์ทรงทราบพระราชกิจ
ข้าพระองค์ไม่ยินดีในตำแหน่งปุโรหิต’
(พระเจ้าเรณุตรัสตอบด้วยคาถาว่า)
‘ถ้าท่านยังพร่องด้วยสิ่งที่น่าปรารถนา
เราจะเพิ่มให้เต็ม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] ถวายบังคมลาพระเจ้าเรณุ

ผู้ใดเบียดเบียนท่าน
เราผู้เป็นเจ้าแผ่นดินจะห้ามผู้นั้นเอง
(ท่านมหาโควินทพราหมณ์ทูลตอบว่า)
‘ข้าพระองค์ไม่พร่องด้วยสิ่งที่น่าปรารถนา
ไม่มีใครเบียดเบียนข้าพระองค์
แต่เพราะได้ฟังคำของผู้ไม่ใช่มนุษย์
ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีการอยู่ครองเรือน’
(พระเจ้าเรณุตรัสถามว่า)
‘ท่านผู้ไม่ใช่มนุษย์มีวรรณะอย่างไร
บอกอะไรซึ่งท่านฟังแล้ว
ยอมทอดทิ้งทั้งเหย้าเรือนของพวกเรา
ทั้งพวกเราและชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น’
(ท่านมหาโควินทพราหมณ์ทูลตอบว่า)
‘เมื่อข้าพระองค์อยู่เพียงลำพัง
เมื่อก่อนต้องการจะเซ่นสรวงบูชา
จึงสุมไฟให้ลุกโพลงด้วยใบหญ้าคา
ทันใดนั้น สนังกุมารพรหมผู้เป็นพรหมตลอดกาล
มาจากพรหมโลกปรากฏแก่ข้าพระองค์
พระพรหมตอบปัญหาแก่ข้าพระองค์
เพราะได้ฟังคำตอบ
ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในการอยู่ครองเรือน’
(พระเจ้าเรณุตรัสถามว่า)
‘ท่านโควินทะ ข้าพเจ้าเชื่อคำที่ท่านบอก
ท่านฟังคำของผู้ไม่ใช่มนุษย์แล้ว
จะประพฤติเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
ถวายบังคมลากษัตริย์ ๖ พระองค์

เราจะประพฤติตามท่าน ท่านโควินทะเป็นครูของเรา
พวกเราจักประพฤติให้บริสุทธิ์
ตามคำสั่งสอนของท่านโควินทะ
เหมือนแก้วไพฑูรย์ไม่มีฝ้า ไร้ราคี งดงาม ฉะนั้น’
(พระเจ้าเรณุตรัสว่า) ‘ถ้าท่านโควินทะจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เราก็
จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตบ้าง ท่านมีคติใด เราก็จะมีคตินั้นด้วย’

ถวายบังคมลากษัตริย์ ๖ พระองค์

[๓๒๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปเฝ้า
กษัตริย์ ๖ พระองค์ถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ‘บัดนี้ ขอได้โปรดแสวงหา
ปุโรหิตคนอื่นผู้จะถวายคำปรึกษาราชกิจแด่พระองค์เถิด พระเจ้าข้า ข้าพระองค์
ปรารถนาจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่าข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่ว
ร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้
ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’
ลำดับนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ ทรงเลี่ยงไปด้านหนึ่ง ทรงคิดกันว่า
‘ธรรมดาพราหมณ์เหล่านี้มักอยากได้ทรัพย์ ทางที่ดี เราควรเกลี้ยกล่อมมหาโควินท-
พราหมณ์ด้วยทรัพย์’ แล้วเสด็จเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ ตรัสอย่างนี้ว่า
‘ในราชอาณาจักรทั้ง ๗ นี้ มีทรัพย์สมบัติมากพอ เราจะขนมาให้ตามที่ท่าน
ต้องการ’
ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘อย่าเลย พระเจ้าข้า ทรัพย์ของ
ข้าพระองค์นี้มีมากพอกับทรัพย์ของพระองค์ ข้าพระองค์จะทอดทิ้งทรัพย์ทั้งสิ้นออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่า ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหม
ตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ข้าพระองค์
จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’
ลำดับนั้น กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ ทรงเลี่ยงไปด้านหนึ่ง ทรงคิดกันว่า ‘ธรรมดา
พราหมณ์เหล่านี้มักอยากได้สตรี ทางที่ดี เราควรเกลี้ยกล่อมมหาโควินทพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
ถวายบังคมลากษัตริย์ ๖ พระองค์

ด้วยสตรี’ แล้วเสด็จเข้าไปหามหาโควินทพราหมณ์ ตรัสอย่างนี้ว่า ‘ในราชอาณาจักร
ทั้ง ๗ นี้ มีสตรีมากมาย เราจะนำสตรีมาให้ตามที่ท่านต้องการ’
ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘อย่าเลย พระเจ้าข้า ข้าพระองค์มี
ภรรยาฐานะเท่ากันถึง ๔๐ คน ข้าพระองค์จะทอดทิ้งภรรยาทุก ๆ คน ออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยว่าข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก
กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’
[๓๒๓] กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าท่านโควินทะจะออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิต พวกเราก็จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตบ้าง ท่านมีคติใด
พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’
ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า
‘หากพระองค์จะทรงละสิ่งที่น่าปรารถนา
อันเป็นที่ข้องอยู่ของปุถุชน
ขอจงปรารภความเพียร
ทรงประกอบด้วยกำลังขันติ เจริญให้มั่นอยู่
ทางนี้เป็นทางตรง ไม่มีทางอื่นดีกว่า
นี้เป็นพระสัทธรรมที่สัตบุรุษรักษาไว้
เพื่อไปเกิดในพรหมโลก’
กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านมหาโควินทะขอจงรอคอยสัก
๗ ปีเมื่อเวลาล่วง ๗ ปี พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด
พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’
ท่านมหาโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา
๗ ปี นานเกินไป ข้าพระองค์ไม่อาจรอคอยพระองค์อยู่ได้ถึง ๗ ปี ก็ใครจะ
รู้(ชะตา)ชีวิตได้เล่า บุคคลต้องไปปรโลก บัณฑิตจึงควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา ควรทำ
กุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่น
ชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัด
ได้ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
ถวายบังคมลากษัตริย์ ๖ พระองค์

กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินทะขอจงรอคอยสัก
๖ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๕ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๔ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอย
สัก ๓ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๒ ปี ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๑ ปี เมื่อเวลาล่วงไป
๑ ปี พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคติ
นั้นด้วย’
ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา
๑ ปีนานเกินไป ข้าพระองค์ไม่อาจรอคอยพระองค์อยู่ได้ถึง ๑ ปี ก็ใครจะรู้ชีวิต
ได้เล่า บุคคลต้องไปปรโลก บัณฑิตจึงควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา ควรทำกุศล
ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้าย
ที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้
ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’
กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินทะขอจงรอคอยสัก
๗ เดือน เมื่อเวลาล่วง ๗ เดือน พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมี
คติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’
ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา ๗ เดือน
นานเกินไป ข้าพระองค์ไม่อาจรอคอยพระองค์อยู่ได้ถึง ๗ เดือน ก็ใครจะรู้ชีวิต
ได้เล่า บุคคลต้องไปปรโลก บัณฑิตจึงควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา ควรทำกุศล
ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่น
ชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัด
ได้ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’
กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินทะขอจงรอคอยสัก
๖ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๕ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๔ เดือน ฯลฯ
ขอจงรอคอยสัก ๓ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก ๒ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสัก
๑ เดือน ฯลฯ ขอจงรอคอยสักกึ่งเดือน เมื่อเวลาล่วงไปกึ่งเดือน พวกเราจะออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
บอกลาพราหมณมหาศาลเป็นต้น

ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา
กึ่งเดือนนานเกินไป ข้าพระองค์ไม่อาจรอคอยพระองค์อยู่ได้ถึงกึ่งเดือน ก็ใครจะรู้
ชีวิตได้เล่า บุคคลต้องไปปรโลก บัณฑิตจึงควรกำหนดรู้ด้วยปัญญา ควรทำกุศล
ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ข้าพระองค์ได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้าย
ที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้
ง่ายนัก ข้าพระองค์จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต พระเจ้าข้า’
กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ตรัสว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ท่านโควินทะขอจงรอคอยสัก ๗ วัน
พอให้พวกเราสั่งสอนเรื่องราชกิจกับบุตรและพี่ชายน้องชายของตน ๆ เสียก่อน เมื่อ
เวลาล่วงไป ๗ วัน พวกเราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านมีคติใด พวกเรา
ก็จะมีคตินั้นด้วย’
ท่านโควินทพราหมณ์กราบทูลว่า ‘ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เวลา ๗ วัน
ไม่นานเกินไป ข้าพระองค์จักรอคอยสัก ๗ วัน’

บอกลาพราหมณมหาศาลเป็นต้น

[๓๒๔] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไปหา
พราหมณมหาศาล ๗ คน และพราหมณ์นหาดก ๗๐๐ คน ถึงที่อยู่ แล้วบอกว่า
‘บัดนี้ พวกท่านจงแสวงหาอาจารย์อื่นผู้จะสอนมนตร์แก่พวกท่าน เราปรารถนา
จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เราได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก
กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก เราจะออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิต’
พวกพราหมณมหาศาลและพราหมณ์นหาดกกล่าวว่า ‘ท่านโควินทะ อย่าออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเลย บรรพชามีศักดิ์น้อยและมีลาภน้อย ความเป็น
พราหมณ์มีศักดิ์ใหญ่และมีลาภมาก’ ท่านมหาโควินทพราหมณ์ตอบว่า ‘พวกท่าน
อย่าพูดอย่างนี้ว่า ‘บรรพชามีศักดิ์น้อยและมีลาภน้อย ความเป็นพราหมณ์มีศักดิ์
ใหญ่และมีลาภมาก’ ใครกันเล่าที่มีศักดิ์ใหญ่กว่าหรือมีลาภมากกว่าเรา เวลานี้เรา
เป็นเหมือนพระราชาของพระราชาทั้งหลาย เป็นเหมือนพระพรหมของพวกพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร]
มหาโควินทพราหมณ์ออกบวช

เป็นเหมือนเทวดาของพวกคหบดี เราจะทอดทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต ด้วยว่าเราได้ฟังเรื่องกลิ่นชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้น
ไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัดได้ง่ายนัก เราจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’
พวกพราหมณมหาศาลและพราหมณ์นหาดกกล่าวว่า ‘ถ้าท่านโควินทะจะ
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แม้พวกเราก็จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ท่านมีคติใด พวกเราก็จะมีคตินั้นด้วย’

บอกลาภรรยา

[๓๒๕] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ต่อมา ท่านมหาโควินทพราหมณ์เข้าไป
หาภรรยาผู้มีฐานะเท่ากันทั้ง ๔๐ คนถึงที่อยู่ แล้วบอกว่า ‘น้องหญิงทั้งหลาย
น้องหญิงคนใดปรารถนาจะกลับไปยังตระกูลแห่งญาติของตนก็กลับได้ หรือจะหาสามี
ใหม่ก็ได้ ฉันปรารถนาจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เพราะว่าฉันได้ฟังเรื่องกลิ่น
ชั่วร้ายที่พระพรหมตรัสบอก กลิ่นชั่วร้ายเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อยู่ครองเรือนจะกำจัด
ได้ง่ายนัก ฉันจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’
ภรรยาเหล่านั้นกล่าวว่า ‘ท่านเท่านั้นที่เป็นญาติของพวกดิฉันผู้ต้องการญาติ
เป็นสามีของพวกดิฉันผู้ต้องการสามี ถ้าท่านจะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
พวกดิฉันก็จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วย ท่านมีคติใด พวกดิฉันก็จะมีคติ
นั้นด้วย’

มหาโควินทพราหมณ์ออกบวช

[๓๒๖] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เมื่อเวลาล่วงไป ๗ วัน ท่านมหาโควินท-
พราหมณ์โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เมื่อท่านบวชแล้ว ได้มีผู้โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตตามอีกจำนวนมาก ได้แก่ กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ๗
พระองค์ พราหมณมหาศาล ๗ คน พราหมณ์นหาดก ๗๐๐ คน ภรรยาผู้มีฐานะ
เท่ากันทั้ง ๔๐ คน กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดีและหญิงรับใช้อีกหลายพันคน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ

ได้ทราบว่า ท่านมหาโควินทพราหมณ์มีบริษัทนั้นแวดล้อม จาริกไปในหมู่บ้าน
นิคมและราชธานีทั้งหลาย เมื่อท่านเข้าไปยังหมู่บ้านหรือนิคมใด ก็เป็นเหมือน
พระราชาของพระราชาทั้งหลาย เป็นเหมือนพระพรหมของพวกพราหมณ์ เป็น
เหมือนเทวดาของพวกคหบดีในหมู่บ้านหรือนิคมนั้น เวลานั้น ชาวบ้านผู้พลาดพลั้ง
หรือลื่นหกล้มพากันพูดอย่างนี้ว่า ‘ขอนอบน้อมแด่ท่านมหาโควินทพราหมณ์
ขอนอบน้อมแด่ท่านปุโรหิตของพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๗ พระองค์’

เจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ

[๓๒๗] มหาโควินทพราหมณ์มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ...
ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุก
หมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร
ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีกรุณาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยกรุณาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีมุทิตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยมุทิตาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มหาโควินทพราหมณ์แสดงหนทางแห่งความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมใน
พรหมโลกแก่เหล่าสาวก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ

[๓๒๘] สมัยนั้น เหล่าสาวกของมหาโควินทพราหมณ์ผู้รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด๑
หลังจากตายไป ไปเกิดในสุคติพรหมโลก ส่วนเหล่าสาวกผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด๒
หลังจากตายไป บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นนิมมานรดี บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้
อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นดุสิต บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นยามา
บางพวกเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์ บางพวกเข้าถึงความเป็น
ผู้อยู่ร่วมกับเหล่าเทพชั้นจาตุมหาราช ผู้ที่ได้รับผลอย่างต่ำกว่าเขาทั้งหมด ได้เป็น
หมู่คนธรรพ์
การบวชของกุลบุตรเหล่านั้นทั้งหมด จึงไม่เป็นโมฆะ ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร
ด้วยประการฉะนี้แล”
[๓๒๙] ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรทูลถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงระลึกถึง
เรื่องนั้นได้อยู่หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ปัญจสิขะ เรายังระลึกได้ สมัยนั้น เราเป็น
มหาโควินทพราหมณ์ ได้แสดงทางแห่งความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมในพรหมโลกแก่
สาวกเหล่านั้น แต่พรหมจรรย์นั้นไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อไปเกิด
ในพรหมโลกเท่านั้น
ส่วนพรหมจรรย์ของเรานี้ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อ
คลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
พรหมจรรย์ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น คืออะไร

เชิงอรรถ :
๑ ผู้รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด หมายถึงผู้ได้สมาบัติ ๘ และอภิญญา ๖ (ที.ม.อ. ๓๒๘/๒๘๕)
๒ ผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด หมายถึงผู้ไม่รู้สมาบัติแม้เพียงอย่างเดียว (ที.ม.อ. ๓๒๘/๒๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๖. มหาโควินทสูตร] เจริญพรหมวิหาร ๔ ประการ

คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)___๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)___๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ___๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)___๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

ปัญจสิขะ นี้แลคือพรหมจรรย์ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
[๓๓๐] ปัญจสิขะ เหล่าสาวกของเราผู้รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด ทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน เหล่าสาวกผู้ไม่รู้คำสั่งสอนทั่วทั้งหมด บางพวกเป็นโอปปาติกะ
เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจาก
โลกนั้นอีก บางพวกเป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป และ
เพราะราคะ โทสะ โมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
บางพวกเป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความ
แน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า การบวชของกุลบุตรเหล่านี้ทั้งหมด จึงไม่
เป็นโมฆะ ไม่เป็นหมัน มีผล มีกำไร ด้วยประการฉะนี้แล”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรมีใจยินดี ชื่นชม
อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำ
ประทักษิณแล้วหายไปจากที่นั้นเอง

มหาโควินทสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]
ว่าด้วยการประชุมครั้งใหญ่ของเทวดา

๗. มหาสมยสูตร
ว่าด้วยการประชุมครั้งใหญ่ของเทวดา

[๓๓๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน๑ เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้น
สักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์
มีเหล่าเทวดาจำนวนมากจาก ๑๐ โลกธาตุมาประชุมกันเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค
และเยี่ยมภิกษุสงฆ์
เทพชั้นสุทธาวาส ๔ องค์ ได้มีความดำริดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้
ประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
ประมาณ ๕๐๐ รูป ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ มีเหล่าเทวดาจำนวนมากจาก ๑๐
โลกธาตุมาประชุมกัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคและเยี่ยมภิกษุสงฆ์ ทางที่ดี เราก็ควร
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกล่าวคาถาองค์ละคาถาในสำนักพระผู้มีพระภาค”
[๓๓๒] ลำดับนั้น เทพเหล่านั้นหายไปจากเทวโลกชั้นสุทธาวาสมาปรากฏ
ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า
ฉะนั้น ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร เทพองค์หนึ่งได้กล่าว
คาถานี้ว่า
“การประชุมครั้งใหญ่ในป่าใหญ่
มีหมู่เทพมาประชุมกัน
พวกเราพากันมายังธรรมสมัย๒นี้
ก็เพื่อได้เยี่ยมสงฆ์ผู้ไม่พ่ายแพ้”

เชิงอรรถ :
๑ ป่ามหาวัน เป็นป่าที่เกิดเองตามธรรมชาติ อยู่ติดกับเทือกเขาหิมาลัย (ที.ม.อ. ๓๓๑/๒๘๗)
๒ ธรรมสมัย ในที่นี้หมายถึงสถานที่ที่ประชุมเพื่อฟังธรรม (ที.ม.อ. ๓๓๒/๒๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร]
ว่าด้วยการประชุมครั้งใหญ่ของเทวดา

จากนั้น เทพอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลายในที่ประชุมนั้น
มีจิตมั่นคง ทำจิตของตน ๆ ให้ตรง
ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตย่อมรักษาอินทรีย์ไว้
เหมือนสารถีผู้กุมบังเหียนขับรถม้าไป”
เทพอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ว่า
“ภิกษุเหล่านั้นตัดกิเลสดังตะปู๑
ตัดกิเลสดังลิ่มสลัก ถอนกิเลสดังเสาเขื่อนได้แล้ว
เป็นผู้ไม่หวั่นไหว บริสุทธิ์
เป็นผู้ปราศจากมลทิน เที่ยวไป
เป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ๒ทรงฝึกดีแล้ว
เหมือนช้างหนุ่ม ฉะนั้น”
เทพอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ว่า
“เหล่าชนผู้นับถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
จักไม่ไปสู่อบายภูมิ ครั้นละกายมนุษย์แล้ว
จักทำให้หมู่เทพเจริญเต็มที่”๓

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสดังตะปู ในที่นี้หมายถึงราคะ โทสะ และโมหะ กิเลสดังลิ่มสลัก และกิเลสดังเสาเขื่อน ก็มีนัยเช่น
เดียวกัน (ที.ม.อ. ๓๓๒/๒๙๖)
๒ มีพระจักษุ หมายถึงมีพระจักษุ ๕ คือ ๑. มังสจักขุ (ตาเนื้อ) ๒. ทิพพจักขุ (ตาทิพย์) ๓. ปัญญาจักขุ
(ตาปัญญา) ๔. พุทธจักขุ (ตาพระพุทธเจ้า) ๕. สมันตจักขุ (ตาเห็นรอบ) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๑/๕๕, ที.ม.อ.
๑๘๖/๑๖๙, ๓๓๔/๓๐๐)
๓ ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๓๗/๔๙-๕๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

การประชุมของเทวดา

[๓๓๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย พวกเทวดาจำนวนมากใน ๑๐ โลกธาตุประชุมกันเพื่อเยี่ยมตถาคตและ
ภิกษุสงฆ์ ภิกษุทั้งหลาย พวกเทวดาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทั้งหลายในอดีตกาล ที่มาประชุมกัน ครั้งที่มีจำนวนสูงสุดก็เท่ากับพวกเทวดาของ
เรานี้เองที่มาประชุมกันในบัดนี้ พวกเทวดาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอนาคตกาลที่มาประชุมกัน ครั้งที่มีจำนวนสูงสุดก็เท่ากับ
พวกเทวดาของเรานี้เองที่มาประชุมกันในบัดนี้ เราจักบอกชื่อของหมู่เทพ จักระบุ
ชื่อของหมู่เทพ จักแสดงชื่อของหมู่เทพ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุ
เหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
[๓๓๔] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“เรา๑จะกล่าวเป็นคาถา
เหล่าภุมมเทวดาอาศัยอยู่ในที่ใด
เหล่าภิกษุก็อาศัยอยู่ในที่นั้น
ภิกษุเหล่าใดอาศัยซอกเขา
มีจิตมุ่งมั่น มีจิตตั้งมั่น
พวกเธอมีจำนวนมากเร้นอยู่ เหมือนราชสีห์
ข่มความขนพองสยองเกล้าได้
มีจิตสะอาด หมดจดผ่องใส ไม่ขุ่นมัว
พระศาสดาทรงทราบว่ามีภิกษุกว่า ๕๐๐ รูป
ผู้อยู่ในป่า ในเขตกรุงกบิลพัสดุ์

เชิงอรรถ :
๑ เรา ในที่นี้หมายถึงพระผู้มีพระภาค (ที.ม.อ. ๓๓๔/๒๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

จึงรับสั่งเรียกพระสาวกผู้ยินดีในศาสนามาตรัสว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย หมู่เทพมุ่งมากันแล้ว
พวกเธอจงรู้จักเทพเหล่านั้น’
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พากันทำความเพียร๑’
จึงมีญาณอันเป็นเหตุให้เห็นพวกอมนุษย์ปรากฏขึ้น
ภิกษุบางพวก เห็นอมนุษย์ ๑๐๐ ตน
บางพวกเห็น ๑,๐๐๐ ตน
บางพวกเห็น ๗๐,๐๐๐ ตน
บางพวกเห็น ๑๐๐,๐๐๐ ตน
บางพวกเห็นมากมายไม่มีที่สิ้นสุด
อมนุษย์อยู่กระจายไปทั่วทุกทิศ
พระศาสดาผู้มีพระจักษุ
ทรงทราบเหตุทั้งหมด ทรงกำหนดแล้ว
จึงรับสั่งเรียกพระสาวกผู้ยินดีในศาสนามาตรัสว่า
‘ภิกษุทั้งหลาย หมู่เทพมุ่งมากันแล้ว
เธอทั้งหลายจงรู้จักหมู่เทพเหล่านั้น
เราจะบอกเธอทั้งหลายด้วยวาจาตามลำดับ
[๓๓๕] ยักษ์ ๗,๐๐๐ ตน ที่เป็นภุมมเทวดาอยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง๒
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ทำความเพียร ในที่นี้หมายถึงการเข้าผลสมาบัติ (ที.ม.อ. ๓๔๓/๓๐๙)
๒ มีความรุ่งเรือง หมายถึงประกอบด้วยอานุภาพ (ที.ม.อ. ๓๔๑/๓๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

ยักษ์ ๖,๐๐๐ ตนอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
มีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
ยักษ์ ๓,๐๐๐ ตนอยู่ที่ภูเขาสาตาคีรี
มีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
ยักษ์เหล่านั้นรวมเป็น ๑๖,๐๐๐ ตน
มีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
ยักษ์ ๕๐๐ ตนอยู่ที่ภูเขาเวสสามิต
มีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
กุมภีรยักษ์ผู้รักษากรุงราชคฤห์อยู่ที่ภูเขาเวปุลละ
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

[๓๓๖] ท้าวธตรฐปกครองทิศตะวันออก
เป็นหัวหน้าของพวกคนธรรพ์
เป็นมหาราชผู้มียศ
แม้บุตรของเธอมีจำนวนมาก
ต่างมีพลังมาก(และ)มีชื่อว่าอินทะ
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
ท้าววิรุฬหกปกครองทิศใต้
เป็นหัวหน้าของพวกกุมภัณฑ์
เป็นมหาราชผู้มียศ
แม้บุตรของเธอมีจำนวนมาก
ต่างมีพลังมาก(และ)มีชื่อว่าอินทะ
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
ท้าววิรูปักษ์ปกครองทิศตะวันตก
เป็นหัวหน้าของพวกนาค
เป็นมหาราชผู้มียศ
แม้บุตรของเธอมีจำนวนมาก
ต่างมีพลังมาก(และ)มีชื่อว่าอินทะ
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

ท้าวกุเวรปกครองทิศเหนือ
เป็นหัวหน้าของพวกยักษ์
เป็นมหาราชผู้มียศ
แม้บุตรของเธอมีจำนวนมาก
ต่างมีพลังมาก (และ)มีชื่อว่าอินทะ
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
ท้าวธตรฐอยู่ทางทิศตะวันออก
ท้าววิรุฬหกอยู่ทางทิศใต้
ท้าววิรูปักษ์อยู่ทางทิศตะวันตก
ท้าวกุเวรอยู่ทางทิศเหนือ
ท้าวจาตุมหาราชนั้น
มีแสงสว่างส่องไปโดยรอบทั่วทั้ง ๔ ทิศ
สถิตอยู่ในป่า เขตกรุงกบิลพัสดุ์
[๓๓๗] พวกผู้รับใช้ของท้าวจาตุมหาราชเหล่านั้น
เป็นพวกมีมายา หลอกลวง โอ้อวดก็มาด้วย
พวกผู้รับใช้ที่มีมายา คือ
กุเฏณฑุ เวเฏณฑุ วิฏู วิฏุฏะ
จันทนะ กามเสฏฐะ กินนุฆัณฑุ และ นิฆัณฑุก็มาด้วย
ปนาทะ โอปมัญญะ มาตลิผู้เป็นเทพสารถี
จิตตเสนะ๑ นโฬราชะ ชโนสภะ ปัญจสิขะ

เชิงอรรถ :
๑ จิตตเสนะ เป็นชื่อเทวบุตรพวกคนธรรพ์ ๓ องค์ คือ (๑) จิตตะ (๒) เสนะ (๓) จิตตเสนะ (ที.ม.ฏีกา
๓๓๗/๓๐๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

ติมพรุ (คันธรรพเทวราชา)
และสุริยวัจฉสา (คันธรรพเทวธิดา) ก็มาด้วย
เทวราชเหล่านั้นและคนธรรพ์อื่น ๆ ที่มาพร้อมเทวราช
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
[๓๓๘] อนึ่ง หมู่นาคที่อยู่ในสระนาภสะ
และที่อยู่ในกรุงเวสาลีมาพร้อมด้วยพวกนาคตัจฉกะ
นาคกัมพลและนาคอัสดรก็มาด้วย
และนาคที่อยู่ในท่าปายาคะก็มาพร้อมด้วยหมู่ญาติ
นาคผู้อยู่ในแม่น้ำยมุนา
และนาคที่เกิดในตระกูลธตรฐผู้มียศก็มา
พญาช้างเอราวัณก็มายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
เหล่าครุฑผู้เป็นทิพย์ มีนัยน์ตาบริสุทธิ์
ผู้สามารถจับนาคราชได้ฉับพลัน
ผู้บินมาทางอากาศถึงท่ามกลางป่า
มีชื่อว่าจิตรสุบรรณ
เวลานั้น พวกนาคราชไม่มีความหวาดกลัว
(เพราะ) พระพุทธเจ้าทรงกระทำให้ปลอดภัยจากครุฑ
นาคกับครุฑเจรจากันด้วยวาจาอันไพเราะ
ต่างมีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
[๓๓๙] อสูรพวกที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร
เป็นผู้พ่ายแพ้ต่อพระอินทร์ผู้ถือวชิราวุธ
อสูรเหล่านั้นมีฤทธิ์ มียศ
เป็นพี่น้องของท้าววาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

พวกอสูรกาลกัญชะมีร่างน่ากลัวมาก
พวกอสูรทานเวฆสะ อสูรเวปจิตติ
อสูรสุจิตติ อสูรปหาราทะ
และพญามารนมุจีก็มาด้วย
บุตรของพลิอสูร ๑๐๐ ตนที่ชื่อว่าเวโรจนะ
ทุกตนต่างสวมเกราะเข้มแข็งเข้าไปใกล้ราหูจอมอสูร
แล้วกล่าวว่า ‘ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน
บัดนี้ ถึงเวลาที่ท่านควรเข้าไป
สู่ป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย’
[๓๔๐] เวลานั้น เทพ (๑๐ หมู่) คือ
อาโป ปฐวี เตโช วาโย
วรุณะ วารุณะ โสมะ ยสสะ
เมตตาและกรุณา๑ เป็นผู้มียศก็มาด้วย
เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก
ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
เทพ (๑๐ หมู่) คือ
เวณฑู สหลี และเทพ ๒ หมู่ คือ อสมะ และยมะก็มา
เทพผู้อาศัยพระจันทร์ มีพระจันทร์นำหน้ามา

เชิงอรรถ :
๑ เมตตาและกรุณา หมายถึงเหล่าเทพที่เกิดด้วยอำนาจเมตตาฌานและกรุณาฌานที่เคยบำเพ็ญมา (ที.ม.อ.
๓๔๐/๓๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

เทพผู้อาศัยพระอาทิตย์ มีพระอาทิตย์นำหน้ามา
เทพพวกมันทวลาหกะ๑ มีพระนักษัตรนำหน้ามา
พระอินทร์ผู้เป็นท้าวสักกะ
ผู้เป็นท้าวปุรินททะ๒ ท้าววาสวะ
ประเสริฐกว่าเหล่าเทพวสุ๓ก็มา
เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก
ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
เทพอีก (๑๐ หมู่) คือ
สหภู ผู้รุ่งเรืองดังเปลวไฟ
อริฏฐกะ โรชะ ผู้มีรัศมีดังสีดอกผักตบ
วรุณะ สหธรรม อัจจุตะ อเนชกะ
สุเลยยะ รุจิระ และวาสวเนสีก็มา
เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก
ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง

เชิงอรรถ :
๑ เทพพวกมันทวลาหกะ ในที่นี้หมายถึงเทพ ๓ องค์ คือ (๑) วาตวลาหกเทพบุตร (๒) อัพภวลาหกเทพบุตร
(๓) อุณหวลาหกเทพบุตร (ที.ม.อ. ๓๓๙/๓๐๕)
๒ ปุรินททะ ตามคติของฮินดูเป็นชื่อหนึ่งของพระอินทร์ แปลว่า ผู้ทำลายเมือง (ปุรททะ) ตามคติพุทธศาสนา
เป็นชื่อหนึ่งของพระอินทร์ แปลว่า ผู้ให้ทานในกาลก่อน (ปุเร ทานํ ททาตีติ ปุรินฺทโท) (T.W. Rhys Davids
and William Stede P. 469)
๓ เทพวสุ หมายถึงเทพเจ้าแห่งทรัพย์ (T.W.Rhys Davids and William Stede P. 605)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
เทพอีก (๑๐ หมู่) คือ
สมานะ มหาสมานะ มานุสะ
มานุสุตตมะ ขิฑฑาปทูสิกะ มโนปทูสิกะ
หริ โลหิตวาสี ปารคะ และมหาปารคะผู้มียศก็มา
เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก
ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
เทพอีก (๑๐ หมู่) คือ
สุกกะ กรุมหะ อรุณะ เวฆนสะ
โอทาตคัยหะผู้เป็นหัวหน้า วิจักขณะ
สทามัตตะ หารคชะ มิสสกะผู้มียศ
และปชุนนเทวราชผู้บันดาลฝนให้ตกทั่วทุกทิศก็มา
เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก
ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
เทพอีก (๑๐ หมู่) คือ
เทพพวกเขมิยะ เทพชั้นดุสิต เทพชั้นยามา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

เทพพวกกัฏฐกะ๑ผู้มียศ เทพพวกลัมพีตกะ
เทพพวกลามเสฏฐะ เทพพวกโชติ อาสวะ๒
เทพชั้นนิมมานรดี และเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีก็มา
เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก
ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก
มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง
มีผิวพรรณงดงาม มียศ
ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย
เทพทั้งหมด ๖๐ หมู่
ล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก มาแล้วตามกำหนด
ชื่อหมู่เทพและเทพพวกอื่น
ผู้มีผิวพรรณและชื่อเช่นนั้นก็มา (ด้วยคิด)ว่า
‘พวกเราจะเข้าพบพระนาคะ๓
ผู้ไม่มีการเกิด ไม่มีกิเลสดังตะปู
ผู้ข้ามโอฆะ๔ได้แล้ว ไม่มีอาสวะ
ผู้พ้นโอฆะได้แล้ว ล่วงพ้นธรรมดำ
ดังดวงจันทร์พ้นจากเมฆฉะนั้น
[๓๔๑] สุพรหมและปรมัตตพรหม
ผู้เป็นบุตร๕ของพระผู้ทรงฤทธิ์๖ก็มาด้วย
สนังกุมารพรหมและติสสพรหมก็มายังป่าที่ประชุม

เชิงอรรถ :
๑ กัฏฐกะ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กถกะ (ที.ม.อ. ๓๔๐/๓๐๗)
๒ อาสวะ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อาสา (ที.ม.อ. ๓๔๐/๓๐๗)
๓ พระนาคะ เป็นพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า เพราะไม่ทำความชั่ว (ที.ม.อ. ๓๔๐/๓๐๗)
๔ โอฆะ หมายถึงโอฆะ ๔ คือ (๑) กาม (๒) ภพ (๓) ทิฏฐิ (๔) อวิชชา (ที.ม.อ. ๓๔๐/๓๐๗)
๕ บุตร ในที่นี้หมายถึงพุทธบุตรผู้ที่เป็นอริยสาวกผู้เป็นพรหม (ที.ม.อ. ๓๔๑/๓๐๘)
๖ พระผู้ทรงฤทธิ์ หมายถึงพระพุทธเจ้า (ที.ม.อ. ๓๔๑/๓๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

ท้าวมหาพรหม ๑,๐๐๐ องค์ ปกครองพรหมโลก
ท้าวมหาพรหมนั้น อุบัติขึ้นในพรหมโลก
มีความรุ่งเรือง มีกายใหญ่ มียศก็มา
มีพรหม ๑๐ องค์ ผู้เป็นใหญ่กว่าพรหม ๑,๐๐๐ องค์
มีอำนาจเฉพาะองค์ละอย่างก็มา
มหาพรหมชื่อหาริตะ มีบริวารห้อมล้อม
มาอยู่ท่ามกลางพรหม ๑,๐๐๐ องค์นั้น’
[๓๔๒] เมื่อเสนามารมาถึง
พระศาสดาได้ตรัสกับพวกเทพทั้งหมดเหล่านั้น
พร้อมทั้งพระอินทร์และพระพรหมผู้ประชุมกันอยู่
จงดูความโง่เขลาของกัณหมาร
มหาเสนามารได้ส่งเสนามารไป
ในที่ประชุมใหญ่ของเหล่าเทพด้วยคำว่า
“พวกท่านจงไปจับหมู่เทพผูกไว้
พวกท่านจงผูกไว้ด้วยราคะเถิด
จงล้อมไว้ทุกด้าน
ใคร ๆ อย่าได้ปล่อยให้ผู้ใดหลุดพ้นไป”
แล้วก็เอาฝ่ามือตบแผ่นดินทำเสียงน่ากลัว
(แต่) ในเวลานั้น ไม่อาจ ทำให้ใครตกอยู่ในอำนาจได้
จึงกลับไปทั้งที่เกรี้ยวโกรธ
เหมือนเมฆฝนที่บันดาลให้ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฉะนั้น
[๓๔๓] พระศาสดาผู้มีพระจักษุ
ทรงทราบเหตุทั้งหมด ทรงกำหนดแล้ว
จึงรับสั่งเรียกพระสาวกผู้ยินดีในศาสนามาตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๗. มหาสมยสูตร] การประชุมของเทวดา

‘ภิกษุทั้งหลาย เสนามารมุ่งมากันแล้ว
พวกเธอจงรู้จักพวกเขา’
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พากันทำความเพียร
เสนามารหลีกไปจากเหล่าภิกษุผู้ปราศจากราคะ
ไม่อาจแม้ทำขนของภิกษุเหล่านั้นให้ไหวได้
(พญามารกล่าวสรรเสริญว่า)
‘หมู่พระสาวกของพระพุทธเจ้า
ชนะสงครามแล้วทั้งสิ้น ล่วงพ้นความหวาดกลัว
มียศปรากฏอยู่ในหมู่ชน
บันเทิงอยู่กับภูต๑ทั้งหลาย”

มหาสมยสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ว่าด้วยปัญญาของท้าวสักกะ

๘. สักกปัญหสูตร
ว่าด้วยปัญหาของท้าวสักกะ

[๓๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละที่ภูเขาเวทิยกะ ทางทิศเหนือ
ของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งกรุงราชคฤห์
แคว้นมคธ
เวลานั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงเกิดความขวนขวายเพื่อจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ทรงมีความดำริดังนี้ว่า “บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่
ณ ที่ไหนหนอ” ทอดพระเนตรเห็นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละ ที่ภูเขา
เวทิยกะ ทางทิศเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก
แห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ จึงรับสั่งเรียกพวกเทพชั้นดาวดึงส์มาตรัสว่า “ท่านผู้
นิรทุกข์ทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละที่ภูเขาเวทิยกะ ทางทิศเหนือ
ของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งกรุงราชคฤห์
แคว้นมคธ ทางที่ดี ชาวเราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้น”
พวกเทพชั้นดาวดึงส์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
[๓๔๕] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งเรียกปัญจสิขะ คันธรรพบุตร๑มา
ตรัสว่า “พ่อปัญจสิขะ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทสาละที่ภูเขาเวทิยกะ
ทางทิศเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งกรุง
ราชคฤห์ แคว้นมคธ ทางที่ดี ชาวเราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”

เชิงอรรถ :
๑ ปัญจสิขะ คันธรรพบุตร เป็นเทพบุตรองค์หนึ่งในพวกคนธรรพ์ ซึ่งเป็นบริวารของท้าวธตรฐมหาราช และ
เป็นผู้รับใช้พระทศพล สามารถเข้าเฝ้าทูลถามปัญหา ขอสดับพระธรรมเทศนาได้ทุกขณะที่ต้องการ ท้าวสักกะ
จอมเทพจึงชวนท่านไปพร้อมกันเพื่อจะได้ทูลขอพระวโรกาสกะพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามปัญหาต่อไป
(ที.ม.อ. ๓๔๕/๓๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ว่าด้วยปัญญาของท้าวสักกะ

ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้วถือพิณสีเหลืองดังผลมะตูม
ตามเสด็จท้าวสักกะจอมเทพมา
[๓๔๖] ต่อมา ท้าวสักกะจอมเทพ ผู้มีเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์แวดล้อม มีปัญจสิขะ
คันธรรพบุตรนำเสด็จ ได้ทรงหายตัวจาก(ภพ)ชั้นดาวดึงส์ไปปรากฏอยู่ที่ภูเขาเวทิยกะ
ทางทิศเหนือของหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์ เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขน
ออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้น
เวลานั้น ภูเขาเวทิยกะและหมู่บ้านพราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์สว่างไสวยิ่งนัก ด้วย
เทวานุภาพของเหล่าเทพ ชาวบ้านใกล้เรือนเคียงรอบ ๆ กล่าวกันอย่างนี้ว่า “วันนี้
ภูเขาเวทิยกะถูกไฟเผาไหม้ลุกโชติช่วง ทำไมหนอ วันนี้ ภูเขาเวทิยกะและหมู่บ้าน
พราหมณ์ชื่ออัมพสัณฑ์จึงสว่างไสวยิ่งนักเล่า” พากันตกใจขนพองสยองเกล้า
[๓๔๗] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งเรียกปัญจสิขะ คันธรรพบุตรมา
ตรัสว่า “ปัญจสิขะ ตถาคตทรงเข้าฌาน๑ ทรงพอพระทัยในฌาน ระหว่างที่พระองค์
ประทับหลีกเร้นอยู่ คนเช่นเรายากที่จะเข้าไปเฝ้าได้ ทางที่ดี พ่อควรทำให้พระองค์
ทรงพอพระทัยก่อน หลังจากนั้น พวกเราจึงควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้วจึงถือพิณสีเหลืองดังผลมะ-
ตูมเข้าไปจนถึงถ้ำอินทสาละแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร คะเนดูว่า “ระยะเท่านี้พระผู้
มีพระภาคประทับอยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นักจากเรา และทรงได้ยินเสียงของเรา”

เชิงอรรถ :
๑ เข้าฌาน หมายถึงการเพ่งพินิจด้วยจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่ ในที่นี้มุ่งถึงฌาน ๒ คือ (๑) อารัมมณูปนิชฌาน
(การเพ่งอารมณ์ ได้แก่ สมาบัติ ๘ คือ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔) (๒) ลักขณูปนิชฌาน(การเพ่งลักษณะ
ได้แก่ วิปัสสนา มรรค และผล) (ที.ม.อ. ๓๔๗/๓๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร]
เพลงขับกล่อมของปัญจสิขะ คันธรรพบุตร

เพลงขับกล่อมของปัญจสิขะ คันธรรพบุตร

[๓๔๘] ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้บรรเลงพิณสีเหลือง
ดังผลมะตูมและกล่าวคาถาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธ เกี่ยวเนื่องด้วยพระธรรม
เกี่ยวเนื่องด้วยพระสงฆ์ เกี่ยวเนื่องด้วยพระอรหันต์ และเกี่ยวเนื่องด้วยกามเหล่านี้ว่า
“แม่ภัททาสุริยวัจฉสา๑
ฉันขอกราบท่านติมพรุบิดาของเธอ
โดยเหตุที่เธอเกิดมางดงาม ทำให้ฉันปลื้มใจ
เหมือนสายลมย่อมเป็นที่ปรารถนาของผู้มีเหงื่อ
หรือเหมือนน้ำเป็นที่ปรารถนาของผู้กระหาย
เธอผู้ไฉไลเป็นที่รักของฉัน
ดุจธรรมเป็นที่รักของพระอรหันต์
เธอจงช่วยดับความเร่าร้อน๒
เหมือนช่วยวางยาคนไข้ผู้กระสับกระส่าย
เหมือนให้อาหารแก่ผู้หิว
หรือเหมือนใช้น้ำดับไฟที่กำลังลุกอยู่
ขอให้ฉันได้ซบลงจดถันและอุทรของเธอ
เหมือนช้างที่ร้อนจัดในคราวร้อน
หยั่งลงสู่สระโบกขรณีมีน้ำเย็น
ระคนด้วยละอองเกสรดอกปทุม
ฉันมึนงงเพราะ(เห็น)ช่วงขาที่งามสมส่วน
ไม่รับรู้เหตุการณ์ (อะไรๆ)
เหมือนช้างเหลือขอเพราะถือว่าเราชนะได้แล้ว๓

เชิงอรรถ :
๑สุริยวัจฉสา เป็นชื่อของเทพธิดา ผู้มีสิริโฉมงดงามทั่วสรรพางค์ มีรัศมีอ่อน ๆ เปล่งออกจากร่างกายดุจ
แสงอ่อนของดวงอาทิตย์ยามทอแสง (ที.ม.อ. ๓๔๘/๓๑๖)
๒ความเร่าร้อน ในที่นี้หมายถึงความเร่าร้อนเพราะไฟคือราคะ (ที.ม.อ. ๓๔๘/๓๑๖)
๓เราชนะได้แล้ว หมายถึงไม่อยู่ในอำนาจของแหลนและหอกซัด (ที.ม.อ. ๓๔๘/๓๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร]
เพลงขับกล่อมของปัญจสิขะ คันธรรพบุตร

ฉันมีใจจดจ่อที่เธอ ไม่อาจกลับใจที่แปรผันไป
เหมือนปลาที่กลืนเบ็ดเข้าไป
นางผู้เจริญ เธอจงเอาขาซ้ายกระหวัดฉันไว้
เธอผู้มีดวงตาหยาดเยิ้มจงกระหวัดฉันไว้เถิด
เธอผู้งดงามจงสวมกอดฉันไว้
สิ่งนี้คือสิ่งที่ฉันปรารถนายิ่งนัก
ความใคร่ของฉันต่อเธอผู้มีผมงามสลวย
ถึงมีน้อยก็เกิดผลมาก
เหมือนทักษิณาที่ถวายแด่พระอรหันต์
นางผู้งดงามทั่วสรรพางค์
บุญที่ฉันได้ทำไว้ในพระอรหันต์ผู้คงที่นั้น
จงอำนวยผลแก่ฉันพร้อมกับเธอ
นางผู้งดงามทั่วสรรพางค์
บุญที่ฉันได้ทำไว้ในปฐพีมณฑลนี้
จงอำนวยผลแก่ฉันพร้อมกับเธอ
แม่(ภัททา)สุริยวัจฉสา ฉันใฝ่ฝันหาเธอ
เหมือนพระสมณศากยบุตรผู้ทรงเข้าฌานอยู่ผู้เดียว
ผู้มีปัญญาครองตน มีสติ
เป็นมุนี แสวงหาอมตธรรม
แม่คุณคนงาม ถ้าฉันได้อยู่ร่วมกับเธอ ก็จะพึงชื่นชม
เหมือนพระมุนีบรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุดพึงชื่นชมฉะนั้น
หากท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่แห่งดาวดึงส์
จะประทานพรแก่ฉัน
ฉันก็จะต้องเลือกเอาเธอเป็นแน่
ความปรารถนาของฉันมั่นคงอยู่อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร]
เพลงขับกล่อมของปัญจสิขะ คันธรรพบุตร

แม่คุณผู้เฉลียวฉลาด
ฉันขอน้อมไหว้บิดาของเธอผู้มีธิดางามเช่นนี้
ดุจต้นสาละที่ผลิดอกใหม่ ๆ ฉะนั้น”
[๓๔๙] เมื่อปัญจสิขะ คันธรรพบุตรกราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้
ตรัสกับปัญจสิขะ คันธรรพบุตรดังนี้ว่า “ปัญจสิขะ เสียงสายพิณของท่านเทียบได้กับ
เสียงขับร้อง และเสียงขับร้องเทียบได้กับเสียงสายพิณ เสียงสายพิณของท่านไม่เกิน
เสียงขับร้อง และเสียงขับร้องก็ไม่เกินเสียงสายพิณ คาถาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธ
เกี่ยวเนื่องด้วยพระธรรม เกี่ยวเนื่องด้วยพระสงฆ์ เกี่ยวเนื่องด้วยพระอรหันต์ และ
เกี่ยวเนื่องด้วยกามเหล่านี้ ท่านประพันธ์ไว้เมื่อไร”
ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้
ประพันธ์คาถาเหล่านี้ไว้ เมื่อสมัยที่พระผู้มีพระภาคแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ใต้ต้น
อชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น ข้าพระองค์หลงรัก
ภัททาสุริยวัจฉสา ธิดาของท้าวติมพรุคันธรรพราช แต่นางรักผู้อื่นคือหลงรักสิขัณฑี
บุตรของมาตลีสังคาหกเทพบุตร เมื่อข้าพระองค์ไม่ได้นางด้วยวิธีหนึ่งจึงถือเอาพิณสี
เหลืองดังผลมะตูมเข้าไปยังนิเวศน์ของท้าวติมพรุคันธรรพราช แล้วบรรเลงพิณขึ้น
กล่าวคาถาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธ เกี่ยวเนื่องด้วยพระธรรม เกี่ยวเนื่องด้วย
พระสงฆ์ เกี่ยวเนื่องด้วยพระอรหันต์ และเกี่ยวเนื่องด้วยกามเหล่านี้ว่า
‘แม่ภัททาสุริยวัจฉสา
ฉันขอกราบท่านติมพรุบิดาของเธอ
โดยเหตุที่เธอเกิดมางดงาม ทำให้ฉันปลื้มใจ
ฯลฯ
แม่คุณผู้เฉลียวฉลาด
ฉันขอน้อมไหว้บิดาของเธอผู้มีธิดางามเช่นนี้
ดุจต้นสาละที่ผลิตดอกใหม่ ๆ ฉะนั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ท้าวสักกะจอมเทพเข้าเฝ้า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้ นางภัททาสุริยวัจฉสา
กล่าวตอบว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ฉันไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะพระพักตร์
เป็นแต่เคยได้ยินเมื่อเข้าไปฟ้อนในสุธัมมาเทวสภาของเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์เท่านั้น
เนื่องจากท่านได้กล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นได้ ก็จงมาสมาคมกับพวกเรา
ณ บัดนี้’ ข้าพระองค์จึงได้ร่วมสมาคมกับนางและไม่ใช่ครั้งนี้เท่านั้น หลังจากนั้นมา
ข้าพระองค์ก็ได้สมาคมกันอีก”

ท้าวสักกะจอมเทพเข้าเฝ้า

[๓๕๐] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงมีความดำริดังนี้ว่า “ปัญจสิขะ
คันธรรพบุตร ได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค และพระผู้มีพระภาคก็ทรงปราศรัย
กับปัญจสิขะ” จึงรับสั่งเรียกปัญจสิขะ คันธรรพบุตรมาตรัสว่า “ปัญจสิขะ พ่อจง
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคตามคำของเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะ
จอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์ พร้อมด้วยบริษัท ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของ
พระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร”
ปัญจสิขะ คันธรรพบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
ตามรับสั่งว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท้าวสักกะ จอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์ พร้อมด้วย
บริษัท ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร’
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ปัญจสิขะ ขอให้ท้าวสักกะ จอมเทพพร้อมด้วย
อำมาตย์ พร้อมด้วยบริษัทจงมีความสุขเถิด เพราะว่ามีพวกเทวดา มนุษย์ อสูร
นาค คนธรรพ์ และสัตว์เหล่าอื่นอีกจำนวนมากต่างก็ปรารถนาความสุข”
[๓๕๑] พระตถาคตทั้งหลายย่อมประทานพรแก่เทพผู้มีศักดิ์ใหญ่เช่นนี้อย่าง
นี้แล ท้าวสักกะ จอมเทพผู้อันพระผู้มีพระภาคได้ประทานพรแล้ว เสด็จเข้าไปยังถ้ำ
อินทสาละของพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร แม้พวกเทพ
ชั้นดาวดึงส์ก็เข้าไปยังถ้ำอินทสาละ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่
สมควร แม้ปัญจสิขะ คันธรรพบุตร ก็เข้าไปยังถ้ำอินทสาละ ถวายอภิวาทพระผู้มี
พระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ท้าวสักกะจอมเทพเข้าเฝ้า

เวลานั้น ถ้ำอินทสาละซึ่งมีพื้นไม่สม่ำเสมอก็สม่ำเสมอ ที่คับแคบก็กลับ
กว้างขวาง ความมืดในถ้ำหายไป เกิดความสว่างขึ้นเพราะเทวานุภาพของเหล่าเทพ
[๓๕๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท้าวสักกะ จอมเทพดังนี้ว่า “นี้เป็น
เหตุน่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏที่ท้าวโกสีย์ มีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก
เสด็จมาถึงที่นี้ได้”
ท้าวสักกะ จอมเทพกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนา
จะมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคตั้งนานแล้ว แต่มัวสาละวนด้วยกิจหน้าที่ของพวกเทพชั้น
ดาวดึงส์ จึงไม่สามารถมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้ ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาค
ประทับอยู่ที่สลฬาคาร เขตกรุงสาวัตถี ข้าพระองค์ได้ไปยังกรุงสาวัตถีเพื่อจะเฝ้า
พระองค์ แต่ขณะนั้นพระองค์ประทับเข้าสมาธิอยู่ มีนางปริจาริกาของท้าวเวสวัณ
มหาราชชื่อว่าภุชคีคอยอุปัฏฐาก นางยืนประนมมือถวายนมัสการอยู่ ขณะนั้น
ข้าพระองค์กล่าวกับนางว่า ‘น้องหญิง เธอจงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคตามคำ
ของเราว่า ‘ท้าวสักกะจอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์พร้อมด้วยบริษัท ขอถวาย
อภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้
นางตอบข้าพระองค์ดังนี้ว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค
พระองค์ท่านทรงหลีกเร้นเพียงลำพัง’ ข้าพระองค์จึงสั่งว่า ‘น้องหญิง ถ้าอย่างนั้น
คราวที่พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธิ เธอจงถวายอภิวาทพระองค์ตามคำของ
เราว่า ‘ท้าวสักกะ จอมเทพพร้อมด้วยอำมาตย์พร้อมด้วยบริษัท ขอถวายอภิวาท
พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระเศียร’ นางได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
หรือไม่ พระองค์ทรงระลึกถึงคำของนางได้อยู่หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เธอไหว้เราแล้ว เราระลึกถึงคำของเธอได้ และเรา
ออกจากสมาธิเพราะเสียงล้อรถของพระองค์”
ท้าวสักกะจอมเทพกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพวกเทพ
ผู้เกิดในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ก่อนกว่าพวกข้าพระองค์ว่า ‘คราวที่พระตถาคตอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก หมู่เทพเจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง’
ข้อนี้ข้าพระองค์ได้เห็นประจักษ์แล้วว่า เมื่อพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เสด็จอุบัติขึ้นในโลก หมู่เทพเจริญเต็มที่ หมู่อสูรเสื่อมถอยลง’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

เรื่องโคปกเทพบุตร

[๓๕๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกรุงกบิลพัสดุ์นี้ ได้มีศากยธิดานามว่าโคปิกา
ผู้เลื่อมใสในพระพุทธ เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์ ผู้รักษาศีล๑ให้
บริบูรณ์ หน่ายความรู้สึกเป็นหญิง อบรมความรู้สึกเป็นชาย๒ หลังจากตายแล้วไป
เกิดในสุคติโลกสวรรค์ ได้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์ ได้เป็นบุตรของข้าพระองค์
ในที่นั้นพวกเทพรู้จักเธออย่างนี้ว่า ‘โคปกเทพบุตร’ ภิกษุอื่นอีก ๓ รูปประพฤติ
พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ไปเกิดในหมู่คนธรรพ์ซึ่งเป็นชั้นต่ำ พวกคนธรรพ์นั้น
เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ มาสู่ที่บำรุงบำเรอของข้า
พระองค์ โคปกเทพบุตรกล่าวเตือนพวกคนธรรพ์ผู้มายังที่บำรุงบำเรอของข้าพระองค์ว่า
‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พวกท่านหันหน้าไปทางไหน๓ ทั้งที่ได้ฟังพระธรรมของพระ
ผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล้ว เราเป็นหญิงเลื่อมใสในพระพุทธ เลื่อมใสในพระธรรม
เลื่อมใสในพระสงฆ์ รักษาศีลให้บริบูรณ์ หน่ายความรู้สึกเป็นหญิง อบรมความรู้สึก
เป็นชาย หลังจากตายแล้วมาเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ได้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์
เป็นบุตรของท้าวสักกะจอมเทพ ในที่นี้พวกเทพรู้จักเราอย่างนี้ว่า ‘โคปกเทพบุตร’
ส่วนพวกท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค มาเกิดในหมู่คนธรรพ์ซึ่งเป็น
ชั้นต่ำ พวกเราได้เห็นผู้ร่วมประพฤติธรรมที่มาเกิดในหมู่คนธรรพ์ซึ่งเป็นชั้นต่ำ
นับว่าได้เห็นรูปที่ไม่น่าดูเลย’ เมื่อพวกคนธรรพ์ ๓ ตน ถูกโคปกเทพบุตรตักเตือน
มีเทพ๔ ๒ องค์ กลับได้สติในปัจจุบันทันทีแล้วไปเกิดในพรหมโลกชั้นพรหมปุโรหิตา
ส่วนเทพอีกองค์หนึ่งยังคงอยู่ในกามภพ

เชิงอรรถ :
๑ ศีล ในที่นี้หมายถึงศีล ๕ (ที.ม.อ. ๓๕๓/๓๒๑)
๒ หน่ายความรู้สึกเป็นหญิง อบรมความรู้สึกเป็นชาย หมายถึงอาการที่ไม่ได้เกิดจากภาวะผิดปกติด้าน
ความรู้สึก แต่เกิดจากความปรารถนาจะบำเพ็ญบารมีให้สูงขึ้น เนื่องจากเพศหญิงไม่อาจบรรลุปัจเจกโพธิ-
ญาณและสัมมาสัมโพธิญาณได้ (ที.ม.อ. ๓๕๓/๓๒๑)
๓ หันหน้าไปทางไหน หมายถึงใจลอยหรือนอนหลับในขณะที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเฉพาะหน้า (ที.ม.อ.
๓๕๓/ ๓๒๒)
๔ เทพ ในที่นี้หมายถึงคนธรรพ์ (ที.ม.อ. ๓๕๓/๓๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

[๓๕๔] โคปกเทพบุตรกล่าวว่า
‘เรามีนามว่า ‘โคปิกา’
เป็นอุบาสิกาของพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
เราเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระพุทธ พระธรรม
และมีจิตเลื่อมใสบำรุงพระสงฆ์
เพราะความดีของพระธรรมของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทีเดียว
เราได้เป็นบุตรของท้าวสักกะ มีอานุภาพมาก
มีความรุ่งเรืองมาก มาเกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์
แม้ในที่นี้พวกเทพรู้จักเราว่า ‘โคปกเทพบุตร’
เราได้มาเห็นพวกภิกษุผู้เป็นสาวกของพระโคดม
ผู้เกิดอยู่ในหมู่คนธรรพ์
ซึ่งเราเคยเห็นมาแล้ว เมื่อครั้งเป็นมนุษย์
ยังได้เคยปรนนิบัติเท้า๑ ในเรือนของตน
แล้วอุปัฏฐากด้วยข้าวและน้ำ
ท่านเหล่านี้หันหน้าไปทางไหน
จึงไม่ได้รับพระธรรมของพระพุทธเจ้า
พระธรรมที่วิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงไว้ดีแล้ว
แม้เราก็เข้าไปหาพวกท่านได้ฟังสุภาษิตของพระอริยเจ้า
ได้เป็นบุตรของท้าวสักกะ มีอานุภาพมาก
มีความรุ่งเรืองมาก มาเกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์
ส่วนพวกท่านเข้าไปนั่งใกล้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม

เชิงอรรถ :
๑ ปรนนิบัติเท้า หมายถึงการอุปัฏฐาก เช่น การล้างเท้า การนวดเท้า และการทาเท้า (ที.ม.อ. ๓๕๔/๓๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

แต่กลับมาเกิดในหมู่เทพชั้นต่ำ
การเกิดของพวกท่านไม่สมควร
เราได้มาเห็นผู้ร่วมประพฤติธรรม
มาเกิดในหมู่เทพชั้นต่ำนับว่าได้เห็นรูปที่ไม่น่าดูเลย
พวกท่านมาเกิดในหมู่คนธรรพ์
ยังต้องมาสู่ที่บำรุงบำเรอของพวกเทพ
ขอให้ท่านจงดูความวิเศษอันนี้ของเราผู้อยู่ครองเรือนเถิด
เราเป็นหญิง แต่วันนี้เป็นเทพบุตร
ผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์’
คนธรรพ์พวกนั้นพร้อมกันมาพบโคปกเทพบุตร
ถูกเทพบุตรผู้เป็นสาวกของพระโคดมตักเตือนแล้ว
จึงเกิดความสังเวชว่า
‘เอาเถิด พวกเราจะเพียรพยายาม
อย่าได้เป็นคนรับใช้ของผู้อื่นอีกเลย’
บรรดาคนธรรพ์เหล่านั้น
คนธรรพ์ ๒ ตนระลึกถึงคำสอนของพระโคดมได้
จึงได้เริ่มตั้งความเพียร หน่ายความคิดในภพนี้
เห็นโทษในกาม ตัดกามสังโยชน์๑และกามพันธน์๒
อันเป็นโยคะที่ละได้ยากของมารผู้มีบาป
ก้าวล่วงเหล่าเทพชั้นดาวดึงส์
เพราะตัดกามคุณอันมีอยู่เสียได้
ประดุจช้างตัดบ่วงบาศได้

เชิงอรรถ :
๑ กามสังโยชน์ หมายถึงกามราคะ ซึ่งมีชื่อต่าง ๆ เช่น ฉันทะ ราคะ ฉันทราคะ (ที.ม.ฏีกา ๓๕๔/๓๑๔)
๒ กามพันธน์ หมายถึงกามราคะ ซึ่งมีชื่อต่าง ๆ เช่น โยคะ คันถะ (ที.ม.อ. ๓๕๔/๓๒๔) และดูเทียบ ขุ.ม.
(แปล) ๒๙/๒/๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

เทพทั้งหมดพร้อมทั้งพระอินทร์และพระปชาบดี
เข้าไปนั่งประชุมกันในสุธัมมาเทวสภา
ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้กล้า ปราศจากราคะ
กำลังบำเพ็ญธรรมที่ปราศจากความกำหนัด๑
ได้ก้าวล่วงเทพพวกนั้นที่นั่งอยู่
ท้าววาสวะผู้เป็นใหญ่กว่าเทพ
ทอดพระเนตรเทพเหล่านั้น
ท่ามกลางหมู่เทพแล้วทรงสังเวชว่า
‘เทพเหล่านั้นมาเกิดในหมู่เทพชั้นต่ำกว่า
เวลานี้กลับก้าวล่วงพวกเทพชั้นดาวดึงส์ได้’
โคปกเทพบุตรนั้นพิจารณาถ้อยคำของท้าวสักกะ
ผู้ทรงเกิดความสังเวชแล้วกราบทูลท้าววาสวะว่า
‘มีพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นจอมคนอยู่ในมนุษยโลก
ทรงครอบงำกามเสียได้ พระนามว่าพระศากยมุนี
เทพพวกนั้นเป็นบุตรของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เป็นผู้เสื่อมจากสติ๒ถูกข้าพระองค์ตักเตือนแล้วจึงกลับได้สติ’
บรรดาท่านทั้ง ๓ เหล่านั้น
ผู้หนึ่งคงเกิดในหมู่คนธรรพ์อยู่ในภพนี้
อีก ๒ ท่านดำเนินตามทางสัมโพธิ๓
เพราะเป็นผู้มีจิตมั่นคง ย่อมเย้ยเทวโลก๔ได้

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมที่ปราศจากความกำหนัด ในที่นี้หมายถึงอนาคามิมรรค (ที.ม.อ. ๓๕๔/๓๒๔)
๒ สติ ในที่นี้ได้แก่ฌาน (ที.ม.อ. ๓๕๔/๓๒๔)
๓ ทางสัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงอนาคามิมรรค (ที.ม.อ. ๓๕๔/๓๒๔)
๔ เย้ยเทวโลก หมายถึงคนธรรพ์ ๒ ตนพอได้อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิแล้วก็ทำให้เป็นบาท เพื่อให้
บรรลุสัมโพธิ แล้วจักไม่เวียนกลับมาในภพภูมิที่ต่ำอีกต่อไป (ที.ม.อ.๓๕๔/ ๓๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

การประกาศธรรมในศาสนานี้เป็นเช่นนี้
ไม่มีพระสาวกรูปไหนจะสงสัยอะไร
ในการประกาศธรรมนั้นเลย
พวกข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระชินพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นจอมคน ทรงข้ามโอฆะได้
ทรงตัดความสงสัยได้แล้ว
บรรดาคนธรรพ์ ๓ ตนนั้น
๒ ตนรู้ธรรมอันใดของพระองค์แล้ว
ถึงความเป็นผู้วิเศษไปเกิดในหมู่พรหมชั้นพรหมปุโรหิตา
บรรลุคุณวิเศษแล้ว
ท่านผู้นิรทุกข์ ขอประทานวโรกาส
ถึงพวกข้าพระองค์ก็มาเพื่อบรรลุธรรมนั้น
หากพระผู้มีพระภาคทรงประทานวโรกาส
ก็จะขอทูลถามปัญหา”
[๓๕๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า “ท้าวสักกะทรงเป็นผู้
บริสุทธิ์มาช้านาน จะตรัสถามปัญหากับเรา ก็จะตรัสถามทุกอย่างที่ประกอบด้วย
ประโยชน์ จะไม่ตรัสถามปัญหาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และท้าวเธอจะทรงเข้า
ใจที่เราตอบได้ฉับพลันเทียว”
[๓๕๖] จากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท้าวสักกะจอมเทพเป็นพระคาถาว่า
“วาสวะ พระองค์ทรงปรารถนาสิ่งใดไว้ในพระทัย
ก็โปรดถามปัญหานั้นกับอาตมภาพเถิด
อาตมภาพจะแก้ปัญหานั้นให้ถึงที่สุดแด่พระองค์”

ภาณวารที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

[๓๕๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานพระวโรกาสแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพ
ได้ทูลถามปัญหาข้อที่ ๑ นี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พวกเทพ มนุษย์ อสูร
นาค คนธรรพ์ และสัตว์เหล่าอื่นอีกจำนวนมากต่างก็มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
‘ขอพวกเราจงเป็นผู้ไม่มีเวร จงเป็นผู้ไม่ถูกลงโทษ จงเป็นผู้ไม่มีศัตรู จงเป็นผู้ไม่ถูก
เบียดเบียน จงเป็นผู้ไม่จองเวรกันอยู่เถิด’ แต่เพราะมีอะไรเป็นเครื่องผูกมัดเล่า
พวกเขาจึงยังคงมีเวร ถูกลงโทษ มีศัตรู ถูกเบียดเบียน ยังจองเวรกันอยู่” ท้าวเธอ
ได้ทูลถามปัญหาอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ พวกเทพ มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์
และสัตว์เหล่าอื่นอีกจำนวนมาก ต่างมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘ขอพวกเราจงเป็น
ผู้ไม่มีเวร จงเป็นผู้ไม่ถูกลงโทษ จงเป็นผู้ไม่มีศัตรู จงเป็นผู้ไม่ถูกเบียดเบียน จงเป็น
ผู้ไม่จองเวรกันอยู่เถิด’ แต่เพราะมีอิสสา(ความริษยา) และมัจฉริยะ(ความตระหนี่)
เป็นเครื่องผูกมัด พวกเขาจึงยังคงมีเวร ถูกลงโทษ มีศัตรู ถูกเบียดเบียน จองเวร
กันอยู่”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามอย่างนี้แล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพมีพระทัยยินดีชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น
ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้วเพราะได้ฟังการตรัส
ตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”
[๓๕๘] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้ทูลถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ อิสสาและมัจฉริยะ
มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมี
อะไร จึงมีอิสสาและมัจฉริยะ เมื่อไม่มีอะไร จึงไม่มีอิสสาและมัจฉริยะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ อิสสาและมัจฉริยะ มีอารมณ์อันเป็น
ที่รักและไม่เป็นที่รักเป็นต้นเหตุ มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักเป็นเหตุเกิด
มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักเป็นกำเนิด มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่
รักเป็นแดนเกิด เมื่อมีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก จึงมีอิสสาและมัจฉริยะ
เมื่อไม่มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก จึงไม่มีอิสสาและมัจฉริยะ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องโคปกเทพบุตร

ท้าวเธอทูลถามว่า “อารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก มีอะไรเป็นต้นเหตุ
มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไรจึงมีอารมณ์
อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก เมื่อไม่มีอะไรจึงไม่มีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รักมีฉันทะ๑
เป็นต้นเหตุ มีฉันทะเป็นเหตุเกิด มีฉันทะเป็นกำเนิด มีฉันทะเป็นแดนเกิด เมื่อมี
ฉันทะจึงมีอารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก เมื่อไม่มีฉันทะจึงไม่มีอารมณ์อันเป็นที่
รักและไม่เป็นที่รัก”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ฉันทะมีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็น
กำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไรจึงมีฉันทะ เมื่อไม่มีอะไรจึงไม่มีฉันทะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ฉันทะมีวิตก๒เป็นต้นเหตุ มีวิตกเป็นเหตุเกิด
มีวิตกเป็นกำเนิด มีวิตกเป็นแดนเกิด เมื่อมีวิตกจึงมีฉันทะ เมื่อไม่มีวิตกจึงไม่
มีฉันทะ”
ท้าวเธอทูลถามว่า “วิตกมีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็น
กำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่อมีอะไรจึงมีวิตก เมื่อไม่มีอะไรจึงไม่มีวิตก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “วิตกมีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา๓เป็นต้นเหตุ
มีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาเป็นเหตุเกิด มีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาเป็นกำเนิด มีแง่

เชิงอรรถ :
๑ ฉันทะ แปลว่าความพอใจ แต่ในที่นี้หมายถึงความไม่รู้จักอิ่มคือตัณหา มี ๕ อย่างคือ (๑) ปริเยสนฉันทะ
(ความไม่อิ่มในการแสวงหา) (๒) ปฏิลาภฉันทะ (ความไม่อิ่มในการได้มา) (๓) ปริโภคฉันทะ (ความไม่อิ่ม
ในการใช้สอย) (๔) สันนิธิฉันทะ (ความไม่อิ่มในการกักตุน) (๕) วิสัชชนฉันทะ (ความไม่อิ่มในการจ่ายทรัพย์)
(ที.ม.อ. ๓๓๘/๓๓๕-๓๓๖)
๒ วิตก แปลว่าการตรึก การไตร่ตรอง ในที่นี้หมายถึงการตรึกเพื่อการตัดสิน ๒ อย่าง คือ (๑) ตัณหาวินิจฉัย
(การตัดสินด้วยอำนาจตัณหา) (๒) ทิฏฐิวินิจฉัย (การตัดสินด้วยอำนาจทิฏฐิ) (ที.ม.อ. ๓๕๘/๓๓๖)
๓ แง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา แยกอธิบายตามศัพท์ได้ดังนี้ แง่ต่าง แปลจากคำว่า สงฺขา คือส่วนต่าง ๆ
หมายถึงส่วนต่าง ๆ แห่งปปัญจสัญญา ปปัญจะ หมายถึงปปัญจธรรม ซึ่งแปลว่า ธรรมเครื่องเนิ่นช้า
ได้แก่ ตัณหาวิจริต ๑๐๘ มานะ ๙ และทิฏฐิ ๖๒ ซึ่งเป็นเหตุให้มีความประมาทมัวเมา มีความประมาท
มัวเมาในความเป็นหนุ่มสาว ในความไม่มีโรค และในชีวิต ปปัญจสัญญา หมายถึงสัญญา(ความกำหนดหมาย)
ที่ประกอบด้วยปปัญจธรรม คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ แต่ในที่นี้หมายเอาเพียงตัณหาเท่านั้น
ดังนั้น คำว่า “แง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา” จึงหมายถึงการคิดปรุงแต่งอารมณ์ต่าง ๆ ด้วยอำนาจตัณหา
มานะ และทิฏฐิของตน ๆ จึงเกิดแง่ต่าง ๆ หรือมุมมองที่แตกต่างกันทั้ง ๆ ที่คิดเรื่องเดียวกัน (ที.ม.อ. ๓๕๘/
๓๓๖, ที.ม.ฏีกา ๓๕๘/๓๒๑-๓๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องเวทนากัมมัฏฐาน

ต่างแห่งปปัญจสัญญาเป็นแดนเกิด เมื่อมีแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาจึงมีวิตก เมื่อไม่มี
แง่ต่างแห่งปปัญจสัญญาจึงไม่มีวิตก”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่า
ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติอันสมควรและดำเนินไปสู่ความดับแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา”

เรื่องเวทนากัมมัฏฐาน

[๓๕๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ เรากล่าวโสมนัสไว้ ๒ อย่าง
คือ โสมนัสที่ควรเสพและโสมนัสที่ไม่ควรเสพ กล่าวโทมนัสไว้ ๒ อย่าง คือ โทมนัส
ที่ควรเสพและโทมนัสที่ไม่ควรเสพ และกล่าวอุเบกขาไว้ ๒ อย่าง คือ อุเบกขาที่ควร
เสพและอุเบกขาที่ไม่ควรเสพ
[๓๖๐] เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวโสมนัสไว้ ๒ อย่าง คือ
โสมนัสที่ควรเสพและโสมนัสที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้
เช่นนั้น
บรรดาโสมนัส ๒ อย่างนั้น โสมนัสใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพโสมนัสนี้แล
อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’ โสมนัสเช่นนี้เป็น
โสมนัสที่ไม่ควรเสพ๑
บรรดาโสมนัส ๒ อย่างนั้น โสมนัสใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพโสมนัสนี้แล
อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’ โสมนัสเช่นนี้เป็น
โสมนัสที่ควรเสพ๒
ในโสมนัส๓นั้น โสมนัสใดมีวิตก มีวิจาร๔ และโสมนัสใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร๕
บรรดาโสมนัส ๒ อย่างนั้น โสมนัสที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า’

เชิงอรรถ :
๑ โสมนัสที่ไม่ควรเสพ หมายถึงโสมนัสที่อาศัยกามคุณ เป็นไปทางทวาร ๖ (ที.ม.อ. ๓๖๐/๓๔๐)
๒ โสมนัสที่ควรเสพ หมายถึงโสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจเนกขัมมะ วิปัสสนา อนุสสติ และปฐมฌานเป็นต้น
(ที.ม.อ. ๓๖๐/๓๔๐)
๓ โสมนัส ในที่นี้หมายถึงโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ (ที.ม.อ. ๓๖๐/๓๔๐)
๔ โสมนัสมีวิตกมีวิจาร ในที่นี้หมายถึงโสมนัสที่เกิดขึ้นอำนาจปฐมฌาน (ที.ม.อ. ๓๖๐/๓๔๐)
๕ โสมนัสไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ในที่นี้หมายถึงโสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจทุติยฌานและตติยฌาน (ที.ม.อ.
๓๖๐/๓๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องเวทนากัมมัฏฐาน

ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวโสมนัสไว้ ๒ อย่าง คือ โสมนัสที่ควรเสพ
และโสมนัสที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
[๓๖๑] เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวโทมนัสไว้ ๒ อย่าง คือ
โทมนัสที่ควรเสพและโทมนัสที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้
เช่นนั้น
บรรดาโทมนัส ๒ อย่างนั้น โทมนัสใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพโทมนัสนี้แล
อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’ โทมนัสเช่นนี้เป็น
โทมนัสที่ไม่ควรเสพ
บรรดาโทมนัส ๒ อย่างนั้น โทมนัสใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพโทมนัสนี้แล
อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’ โทมนัสเช่นนี้เป็น
โทมนัสที่ควรเสพ
ในโทมนัสนั้น โทมนัสใดมีวิตก มีวิจาร๑ และโทมนัสใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร๒
บรรดาโทมนัส ๒ อย่างนั้น โทมนัสที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า
ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวโทมนัสไว้ ๒ อย่าง คือ โทมนัสที่ควรเสพ
และโทมนัสที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
[๓๖๒] เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวอุเบกขาไว้ ๒ อย่าง คือ
อุเบกขาที่ควรเสพและอุเบกขาที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้
เช่นนั้น
บรรดาอุเบกขา ๒ อย่างนั้น อุเบกขาใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพอุเบกขานี้แล
อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’ อุเบกขาเช่นนี้เป็น
อุเบกขาที่ไม่ควรเสพ

เชิงอรรถ :
๑ โทมนัสมีวิตกมีวิจาร ในที่นี้หมายถึงโทมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจปฐมฌานและทุติยฌาน (ที.ม.อ. ๓๖๑/๓๔๒)
๒ โทมนัสไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ในที่นี้หมายถึงโทมนัสที่เกิดขึ้นโดยตรง (ที.ม.อ. ๓๖๑/๓๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ปาติโมกขสังวร

บรรดาอุเบกขา ๒ อย่างนั้น อุเบกขาใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพอุเบกขานี้แล
อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’ อุเบกขาเช่นนี้เป็น
อุเบกขาที่ควรเสพ
ในอุเบกขานั้น อุเบกขาใดมีวิตก มีวิจาร๑ และอุเบกขาใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร๒
บรรดาอุเบกขา ๒ อย่างนั้น อุเบกขาที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า’
ข้อที่เรากล่าวไว้ว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวอุเบกขาไว้ ๒ อย่าง คือ อุเบกขาที่
ควรเสพและอุเบกขาที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
[๓๖๓] จอมเทพ ภิกษุปฏิบัติอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่าปฏิบัติตามข้อปฏิบัติ
อันสมควร และดำเนินไปสู่ความดับแง่ต่างแห่งปปัญจสัญญา”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามอย่างนี้แล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพมีพระทัยยินดีชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น
ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการ
ตรัสตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”

ปาติโมกขสังวร๓
(สำรวมในปาติโมกข์)

[๓๖๔] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้ทูลถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุปฏิบัติ
อย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมในปาติโมกข์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ เรากล่าวกายสมาจาร(ความประพฤติ
ทางกาย) ไว้ ๒ อย่าง คือ กายสมาจารที่ควรเสพและกายสมาจารที่ไม่ควรเสพ

เชิงอรรถ :
๑ อุเบกขามีวิตกมีวิจาร ในที่นี้หมายถึงอุเบกขาที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจปฐมฌาน (ที.ม.อ. ๓๖๒/๓๔๗)
๒ อุเบกขาไม่มีวิตกไม่มีวิจาร ในที่นี้หมายถึงอุเบกขาที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจทุติยฌานและตติยฌานเป็นต้น
(ที.ม.อ. ๓๖๒/๓๔๗)
๓ ดูเทียบ ม.อุ. ๑๔/๑๑๐-๑๑๑/๙๖-๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ปาติโมกขสังวร

กล่าววจีสมาจาร(ความประพฤติทางวาจา)ไว้ ๒ อย่างคือ วจีสมาจารที่ควรเสพ
และวจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ และกล่าวปริเยสนา(การแสวงหา)ไว้ ๒ อย่างคือ
ปริเยสนาที่ควรเสพและปริเยสนาที่ไม่ควรเสพ
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวกายสมาจารไว้ ๒ อย่างคือ
กายสมาจารที่ควรเสพ และกายสมาจารที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึง
กล่าวไว้เช่นนั้น
บรรดากายสมาจาร ๒ อย่างนั้น กายสมาจารใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพ
กายสมาจารนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’
กายสมาจารเช่นนี้เป็นกายสมาจารที่ไม่ควรเสพ
บรรดากายสมาจาร ๒ อย่างนั้น กายสมาจารใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพ
กายสมาจารนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’
กายสมาจารเช่นนี้เป็นกายสมาจารที่ควรเสพ
ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวกายสมาจารไว้ ๒ อย่าง คือ กาย-
สมาจารที่ควรเสพและกายสมาจารที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าววจีสมาจารไว้ ๒ อย่าง คือ วจี-
สมาจารที่ควรเสพและวจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้
เช่นนั้น
บรรดาวจีสมาจาร ๒ อย่างนั้น วจีสมาจารใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพ
วจีสมาจารนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’
วจีสมาจารเช่นนี้เป็นวจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ
บรรดาวจีสมาจาร ๒ อย่างนั้น วจีสมาจารใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพวจี-
สมาจารนี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’
วจีสมาจารเช่นนี้เป็นวจีสมาจารที่ควรเสพ
ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าววจีสมาจารไว้ ๒ อย่าง คือ วจีสมาจาร
ที่ควรเสพและวจีสมาจารที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวปริเยสนาไว้ ๒ อย่าง คือ ปริเยสนา
ที่ควรเสพและปริเยสนาที่ไม่ควรเสพ’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] อินทริยสังวร

บรรดาปริเยสนา ๒ อย่างนั้น ปริเยสนาใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพปริเยสนา
นี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง’ ปริเยสนานี้เป็น
ปริเยสนาที่ไม่ควรเสพ
บรรดาปริเยสนา ๒ อย่างนั้น ปริเยสนาใดบุคคลรู้ว่า ‘เมื่อเราเสพปริเยสนา
นี้แล อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น’ ปริเยสนาเช่นนี้
เป็นปริเยสนาที่ควรเสพ
ข้อที่เรากล่าวว่า ‘จอมเทพ เรากล่าวปริเยสนาไว้ ๒ อย่าง คือ ปริเยสนาที่
ควรเสพและปริเยสนาที่ไม่ควรเสพ’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
จอมเทพ ภิกษุปฏิบัติอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมในปาติโมกข์”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามอย่างนี้แล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพมีพระทัยยินดีชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น’
ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการตรัส
ตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”

อินทริยสังวร๑
(สำรวมอินทรีย์)

[๓๖๕] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้ทูลถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ภิกษุปฏิบัติ
อย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ เรากล่าวรูปที่พึงรู้แจ้งทางตาไว้
๒ อย่าง คือ รูปที่ควรเสพ๒และรูปที่ไม่ควรเสพ กล่าวเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูไว้
๒ อย่าง คือ เสียงที่ควรเสพและเสียงที่ไม่ควรเสพ กล่าวกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ม.อุ. ๑๔/๑๑๙/๑๐๕-๑๐๖
๒ คำว่า เสพ มีความหมายตามบริบท เช่น เสพรูป หมายถึงเห็นรูป เสพเสียง หมายถึงฟังเสียง เสพกลิ่น
หมายถึงดมกลิ่น เสพรส หมายถึงลิ้มรส เสพโผฏฐัพพะ หมายถึงถูกต้องโผฏฐัพพะ เสพธรรมารมณ์
หมายถึงนึกถึงธรรมารมณ์ (ที.ม.อ. ๓๖๕/๓๕๑-๓๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] อินทริยสังวร

ไว้ ๒ อย่างคือ กลิ่นที่ควรเสพและกลิ่นที่ไม่ควรเสพ กล่าวรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น
ไว้ ๒ อย่างคือ รสที่ควรเสพและรสที่ไม่ควรเสพ กล่าวโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย
ไว้ ๒ อย่างคือ โผฏฐัพพะที่ควรเสพและโผฏฐัพพะที่ไม่ควรเสพ กล่าวธรรมารมณ์
ที่พึงรู้แจ้งทางใจไว้ ๒ อย่างคือ ธรรมารมณ์ที่ควรเสพและธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท้าวสักกะจอมเทพได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ชัดเนื้อความแห่งพระภาษิตที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า ‘เมื่อบุคคลเสพรูปที่พึงรู้
แจ้งทางตาเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง
รูปที่พึงรู้แจ้งทางตาเช่นนี้เป็นรูปที่ไม่ควรเสพ เมื่อบุคคลเสพรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา
เช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น รูปที่พึงรู้แจ้ง
ทางตาเช่นนี้เป็นรูปที่ควรเสพ เมื่อบุคคลเสพเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูเช่นใด ฯลฯ เมื่อ
บุคคลเสพกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูกเช่นใด ฯลฯ เมื่อบุคคลเสพรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น
เช่นใด ฯลฯ เมื่อบุคคลเสพโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกายเช่นใด ฯลฯ เมื่อบุคคลเสพ
ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นใด’ อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรม
ทั้งหลายเสื่อมลง ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นนี้ เป็นธรรมารมณ์ที่ไม่ควรเสพ
เมื่อบุคคลเสพธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมลง
กุศลธรรมทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเช่นนี้ เป็นธรรมารมณ์ที่
ควรเสพ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ชัดเนื้อความแห่งพระภาษิตที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้แล จึงไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้
หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการตรัสตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”
[๓๖๖] ท้าวสักกะจอมเทพชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้ทูลถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์
ทั้งหมด มีวาทะ(หลักการ)อย่างเดียวกัน มีศีล(ข้อปฏิบัติ)อย่างเดียวกัน มีฉันทะ
(ลัทธิ) อย่างเดียวกัน มีอัชโฌสานะ๑(จุดหมาย)อย่างเดียวกัน หรือหนอ”

เชิงอรรถ :
๑ อัชโฌสานะ ในที่นี้หมายถึงมีที่สุดอย่างเดียวกัน(เอกปริโยสานา) มีข้อตกลงร่วมกัน(สมานนิฏฐานา) (ที.ม.อ.
๓๖๖/๓๕๓, ที.ม.ฏีกา ๓๖๖/๓๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] อินทริยสังวร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ สมณพราหมณ์ทั้งหมด ไม่มีวาทะ
อย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน ไม่มีอัชโฌสานะ
อย่างเดียวกัน”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เพราะเหตุไร สมณพราหมณ์
ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะอย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่างเดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน
ไม่มีอัชโฌสานะอย่างเดียวกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ โลกมีธาตุหลากหลาย๑ มีธาตุต่างกัน
ในโลกที่มีธาตุหลากหลายมีธาตุต่างกันนั้น เหล่าสัตว์ยึดมั่นธาตุใด ๆ อยู่ ก็ย่อมยึด
มั่นธาตุนั้น ๆ ด้วยเรี่ยวแรงและความยึดมั่นอยู่ว่า ‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’
เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะอย่างเดียวกัน ไม่มีศีลอย่าง
เดียวกัน ไม่มีฉันทะอย่างเดียวกัน ไม่มีอัชโฌสานะอย่างเดียวกัน”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ สมณพราหมณ์ทั้งหมด มีความ
สำเร็จสูงสุด๒มีความเกษมจากโยคะสูงสุด๓ ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด๔ มีที่สุด
อันสูงสุด๕หรือหนอ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ สมณพราหมณ์ทั้งหมด ไม่มีความ
สำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด ไม่มี
ที่สุดอันสูงสุด”
ท้าวเธอทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เพราะเหตุไร สมณพราหมณ์
ทั้งหมด จึงไม่มีความสำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติ
พรหมจรรย์ถึงที่สุด ไม่มีที่สุดอันสูงสุด”

เชิงอรรถ :
๑ มีธาตุหลากหลาย ได้แก่ มีอัชฌาสัย คือนิสัยใจคอความนิยมต่างกัน เช่น เมื่อคนหนึ่งอยากเดิน อีกคนหนึ่ง
อยากยืน เมื่อคนหนึ่งอยากยืน อีกคนหนึ่งอยากนอน (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
๒ มีความสำเร็จสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพ้นความพินาศคือกิเลส (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
๓ ความเกษมจากโยคะสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
๔ ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด ในที่นี้หมายถึงอริยมรรค (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)
๕ ที่สุดอันสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ที.ม.อ. ๓๖๖/๓๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] อินทริยสังวร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จอมเทพ ภิกษุทั้งหลายผู้หลุดพ้นเพราะสิ้น
ตัณหาเท่านั้นจึงจะมีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติ
พรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมดจึงไม่มี
ความสำเร็จสูงสุด ไม่มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด
ไม่มีที่สุดอันสูงสุด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพทูลถามอย่างนี้แล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพมีพระทัยยินดีชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต เรื่องนี้เป็นอย่างนั้น
ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในเรื่องนี้ หมดความแคลงใจแล้ว เพราะได้ฟังการตรัส
ตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาค”
[๓๖๗] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชมอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ดังนี้แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ความหวั่นไหวเป็นโรค ความหวั่นไหว
เป็นหัวฝี ความหวั่นไหวเป็นลูกศร ความหวั่นไหวฉุดคร่าบุรุษนี้ไปเพื่อบังเกิดใน
ภพนั้น ๆ ฉะนั้น บุรุษนี้จึงถึงฐานะสูงบ้างต่ำบ้าง๑
ปัญหาที่ข้าพระองค์ไม่ได้แม้โอกาสจะถามในสมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอก
พระธรรมวินัยนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบแก่ข้าพระองค์แล้ว และได้ทรงถอน
ลูกศรคือความสงสัยและความเคลือบแคลงที่นอนเนื่องมานานของข้าพระองค์ด้วย”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ทรงจำได้หรือไม่ว่าปัญหา
ข้อนี้ได้ตรัสถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นมาบ้างแล้ว”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ยังจำได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ท่านเหล่านั้นตอบว่าอย่างไร หากไม่หนักพระทัย
เชิญพระองค์ตรัสเถิด”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ณ สถานที่ที่มีพระผู้มีพระภาค หรือผู้เปรียบดังพระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ หม่อมฉันไม่หนักใจเลย พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ฐานะสูงบ้างต่ำบ้าง ในที่นี้หมายถึงภพภูมิต่าง ๆ เช่น พรหมโลกสูงกว่าเทวโลก เทวโลกสูงกว่า
มนุษยโลก และมนุษยโลกสูงกว่าอบายภูมิ (ที.ม.อ. ๓๖๗/๓๕๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เชิญพระองค์ตรัสเถิด จอมเทพ”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์เข้าไปหาสมณพราหมณ์ ที่เข้าใจว่า ‘เป็นผู้
อยู่ป่า อยู่ในเสนาสนะอันสงัด’ แล้วถามปัญหาเหล่านี้ ท่านเหล่านั้น เมื่อถูกถาม
ก็ตอบไม่ได้กลับย้อนถามข้าพระองค์ว่า ‘ท่านชื่ออะไร’ เมื่อถูกย้อนถาม ข้าพระองค์
จึงตอบว่า ‘เราชื่อท้าวสักกะจอมเทพ’ ท่านเหล่านั้นก็ยังถามต่อไปอีกว่า ‘ท่านทำ
กรรมอะไรจึงถึงฐานะอันนี้เล่า’ ข้าพระองค์จึงแสดงธรรม๑ตามที่ได้ฟังที่ได้เรียนมา
ท่านเหล่านั้นมีใจยินดีด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า ‘พวกเราได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ
และท้าวเธอได้ตรัสตอบปัญหาที่พวกเราถาม’ ท่านเหล่านั้นยอมเป็นสาวกของ
ข้าพระองค์ ส่วนข้าพระองค์ไม่ยอมเป็นสาวกของท่านเหล่านั้น แต่(บัดนี้)ข้าพระองค์
เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะ
สำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า๒”

เรื่องการได้โสมนัส

[๓๖๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ยังทรงจำการได้
ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้ก่อนแต่นี้ได้หรือไม่”
ท้าวเธอทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ยังจำการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ก่อนแต่นี้ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พระองค์ยังทรงจำการได้ความยินดี การได้โสมนัส
เช่นนี้ก่อนแต่นี้ได้ว่าอย่างไร”

เชิงอรรถ :
๑ ธรรม ในที่นี้หมายถึงวัตตบท ได้แก่ ข้อที่ถือปฏิบัติประจำที่ทำให้มฆมาณพได้เป็นท้าวสักกะจอมเทพ
มี ๗ อย่าง คือ (๑) มาตาเปติภโร (เลี้ยงมารดาบิดา) (๒) กุเลเชฏฺฐาปจายี (เคารพผู้ใหญ่ในตระกูล)
(๓) สณฺหวาโจ (พูดคำสุภาพอ่อนหวาน) (๔) อปิสุณวาโจ หรือ เปสุเณยฺยปฺปหายี (ไม่พูดส่อเสียด
พูดสมานสามัคคี) (๕) ทานสํวิภาครโต หรือ มจฺเฉรวินโย (ยินดีในการแจกทาน ปราศจากความตระหนี่)
(๖) สจฺจวาโจ (มีวาจาสัตย์) (๗) อโกธโน หรือ โกธาภิภู (ไม่โกรธ ระงับความโกรธได้) (ที.ม.อ. ๓๖๓/๓๔๘)
๒ ดูคำอธิบายใน สกฺกวตฺถุ ธมฺมปทฏฺฐกถา ฉฏฺโฐ ภาโค สุขวคฺควณฺณนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส

ท้าวเธอกราบทูลว่า“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องเคยมีมาแล้ว เมื่อครั้งเกิด
สงครามระหว่างเทพกับอสูรถึงขั้นรบประชิด ในสงครามนั้นพวกเทพชนะ พวกอสูร
พ่ายแพ้ เมื่อข้าพระองค์ชนะสงครามจึงมีความคิดว่า ‘บัดนี้พวกเทพในเทวโลกจะ
บริโภคโอชา (รส) ๒ ประการ คือ ทิพยโอชาและอสูรโอชา’ การได้ความยินดี
การได้โสมนัสของข้าพระองค์นั้นเป็นทางมาแห่งทัณฑาวุธ เป็นทางมาแห่งศัสตราวุธ
ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็น
ไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
ส่วนการได้ความยินดี การได้โสมนัสของข้าพระองค์ เพราะได้ฟังธรรมของพระผู้มี
พระภาคนั้น ไม่เป็นทางมาแห่งทัณฑาวุธ ไม่เป็นทางมาแห่งศัสตราวุธ เป็นไปเพื่อ
ความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง
เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน”
[๓๖๙] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จอมเทพ พระองค์ทรงพิจารณาเห็น
อำนาจประโยชน์๑อะไร จึงทรงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้”
ท้าวเธอกราบทูลว่า “ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ ๖ ประการ
จึงได้ประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๑ นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์เกิดเป็นเทพดำรงอยู่ในที่นี้๒
ข้าพระองค์กลับได้อายุเพิ่มขึ้นอีก
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๒ นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์จุติจากกายทิพย์
ละอายุของอมนุษย์ เป็นผู้ไม่หลง
จะเข้าสู่ครรภ์ในตระกูลที่ข้าพระองค์มีใจยินดี’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้

เชิงอรรถ :
๑ อำนาจประโยชน์ หมายถึงเหตุ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๒๐๑/๗๔)
๒ ในที่นี หมายถึงในถ้ำอินทสาละ (ที.ม.ฏีกา ๓๖๙/๓๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส

ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๓ นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์นั้นยินดีในศาสนา
ของพระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาไม่ลุ่มหลง
ข้าพระองค์มีสัมปชัญญะ
มีสติอยู่โดยชอบธรรม๑’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๔ นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์ประพฤติโดยชอบธรรมก็จักมีสัมโพธิ๒
ข้าพระองค์จะรู้ทั่วถึง๓อยู่
นั่นแหละจะเป็นที่สุดของข้าพระองค์๔’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๕ นี้แลว่า
‘เมื่อข้าพระองค์จุติจากกายมนุษย์
ละอายุของมนุษย์แล้ว จักเกิดเป็นเทพอีก
ข้าพระองค์จะเป็นผู้สูงสุดในเทวโลก’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ประการที่ ๖ นี้แลว่า
‘เทพเหล่านั้นชั้นอกนิฏฐภพ
เป็นผู้ประณีตกว่า เป็นผู้มียศ

เชิงอรรถ :
๑ โดยชอบธรรม หมายถึงโดยสมควรแก่ความเป็นพระอริยสาวก (ที.ม.ฏีกา ๓๖๙/๑๔๔)
๒ สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงสกทาคามิมรรค (ที.ม.อ. ๓๖๙/๓๕๕)
๓ จะรู้ทั่วถึง หมายถึงปรารถนาจะบรรลุคุณวิเศษที่ยังไม่บรรลุ (ที.ม.ฏีกา ๓๖๙/๓๔๔)
๔ นั่นแหละจะเป็นที่สุดของข้าพระองค์ หมายถึงไม่มีการเกิดในมนุษยโลกอีกต่อไป (ที.ม.ฏีกา ๓๖๙/๓๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส

ในภพสุดท้ายที่ดำเนินไปอยู่
อกนิฏฐภพนั้นจะเป็นที่อยู่ของข้าพระองค์’
จึงประกาศการได้ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
ข้าพระองค์พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ ๖ ประการนี้แล จึงประกาศการได้
ความยินดี การได้โสมนัสเช่นนี้
[๓๗๐] ข้าพระองค์มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด
มีความสงสัยเคลือบแคลง
เที่ยวแสวงหาพระตถาคตอยู่สิ้นกาลนาน
ข้าพระองค์เข้าไปหาสมณะ
ที่เข้าใจว่าเป็นผู้อยู่เงียบสงบ
สำคัญว่า ‘เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า’
ท่านเหล่านั้นเมื่อถูกถามว่า
ความสำเร็จเป็นอย่างไร
ความไม่สำเร็จเป็นอย่างไร
ก็ไม่สามารถตอบในเรื่องมรรคและปฏิปทาได้
เมื่อท่านเหล่านั้นรู้ว่า
ข้าพระองค์เป็นท้าวสักกะมาจากเทวโลก
ก็พากันถามข้าพระองค์ว่า
‘ท่านทำกรรมอะไรจึงถึงฐานะนี้เล่า’
ข้าพระองค์จึงแสดงธรรมแก่ท่านเหล่านั้น
ตามที่ได้ฟังมาในหมู่ชน
ท่านเหล่านั้นมีใจยินดีด้วยเหตุเพียงเท่านั้นว่า
พวกเราได้เห็นท้าววาสวะแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] เรื่องการได้โสมนัส

เมื่อข้าพระองค์นั้นได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ข้ามความสงสัยแล้ว
ข้าพระองค์นั้นหมดความหวาดกลัว
ในวันนี้ ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ข้าพระองค์ขอถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงกำจัดลูกศรคือตัณหาได้
ไม่มีบุคคลเปรียบเทียบได้ ทรงเป็นพระมหาวีระ
ทรงเป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์กับพวกเทพ
กระทำความนอบน้อมอันใดแก่พระพรหม
ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าพระองค์
จักถวายความนอบน้อมอันนั้นแด่พระองค์
ขอพระวโรกาสทำการนอบน้อมแด่พระองค์
พระองค์ผู้เดียวเท่านั้นที่ตรัสรู้
ทรงเป็นพระศาสดาที่ยอดเยี่ยม
ไม่มีบุคคลใดทั้งในโลกและเทวโลก
มาเปรียบเทียบกับพระองค์ได้”
[๓๗๑] ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งเรียกปัญจสิขะ คันธรรพบุตร
มาตรัสว่า “พ่อปัญจสิขะ เธอมีคุณมากแก่เรา ที่ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงพอ
พระทัยก่อน เธอทำให้พระองค์ทรงพอพระทัยก่อนแล้ว ภายหลัง พวกเราจึงได้
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะตั้งเธอไว้ในตำแหน่งของบิดา
เธอจะเป็นเจ้าแห่งคนธรรพ์ เราจะยกนางภัททาสุริยวัจฉสาให้เธอ เพราะว่านางเป็น
ผู้ที่เธอปรารถนาอย่างยิ่ง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๒๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๘. สักกปัญหสูตร] ท้าวสักกะจอมเทพได้ธรรมจักษุ

ท้าวสักกะจอมเทพได้ธรรมจักษุ

ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงใช้พระหัตถ์ตบปฐพี ทรงเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า
“ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
อนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว ธรรมจักษุอันปราศจาก
ธุลีคือกิเลสปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพและแก่เทวดาอื่นอีก
๘๐,๐๐๐ องค์ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับ
ไปเป็นธรรมดา” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาที่ท้าวสักกะจอมเทพอัญเชิญมาทูล
ถามแล้ว ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น เวยยากรณภาษิตนี้จึงมีชื่อว่า “สักกปัญหา”

สักกปัญหสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] อุทเทส

๙. มหาสติปัฏฐานสูตร
การเจริญสติปัฏฐาน๑สูตรใหญ่

[๓๗๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุ ชื่อกัมมาสธัมมะ
แคว้นกุรุ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

อุทเทส

[๓๗๓] “ภิกษุทั้งหลาย ทาง๒นี้เป็นทางเดียว๓ เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์
เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม๔ เพื่อทำให้
แจ้งนิพพาน ทางนี้คือสติปัฏฐาน๕ ๔ ประการ
สติปัฏฐาน ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ

เชิงอรรถ :
๑ ม.มู. (แปล) ๑๒/๑๐๕/๑๐๑, สํ.ม. (แปล) ๑๙/๓๖๗/๒๑๐-๒๑๑, อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๓๕๕-๓๘๙/๓๐๖-๓๒๗
๒ ทาง หมายถึงทางดำเนินไปสู่พระนิพพาน หรือ ทางที่ผู้ต้องการพระนิพพานควรดำเนินไป (ที.ม.อ.
๓๗๑/๓๖๑)
๓ ทางเดียว หมายถึง (๑) เป็นทางที่บุคคลผู้ละการเกี่ยวข้องกับหมู่คณะ ไปประพฤติธรรมอยู่แต่ผู้เดียว
(๒) เป็นทางสายเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงทำให้เกิดขึ้น เป็นทางของบุคคลผู้เดียว คือ พระผู้มีพระภาค
เพราะทรงทำให้เกิดขึ้น (๓) เป็นทางปฏิบัติในศาสนาเดียวคือพระพุทธศาสนา (๔) เป็นทางดำเนินไปสู่จุด
หมายเดียว คือพระนิพพาน (ที.ม.อ. ๓๗๓/๓๕๙)
๔ ญายธรรม หมายถึงอริยมรรค (ที.ม.อ. ๒๑๔/๑๙๗)
๕ สติปัฏฐานแปลว่า ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ หรือการปฏิบัติมีสติเป็นประธาน (ที.ม.อ. ๓๗๓/๓๖๘, ม.มู.อ.
๑/๑๐๖/๒๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มี
สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้

อุทเทส จบ

กายานุปัสสนา
(การพิจารณากาย)
หมวดลมหายใจเข้าออก

[๓๗๔] ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่าง๑ก็ดี นั่งคู้บัลลังก์๒
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า๓ มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’

เชิงอรรถ :
๑ เรือนว่าง หมายถึงที่ที่สงัด คือเสนาสนะ ๗ อย่าง เว้นป่า และโคนไม้ ได้แก่ (๑) ภูเขา (๒) ซอกเขา
(๓) ถ้ำ (๔) ป่าช้า (๕) ป่าชัฏ (๖) ที่แจ้ง (๗) ลอมฟาง ดูข้อ ๓๒๐ หน้า ๒๔๘ ในเล่มนี้
๒ นั่งคู้บัลลังก์ หมายถึงนั่งขัดสมาธิ (วิสุทฺธิ. ๑/๒๑๘/๒๙๕)
๓ ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติมุ่งตรงต่อกัมมัฏฐาน (วิสุทฺธิ. ๑/๒๑๘/๒๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร๑ หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก’
ภิกษุทั้งหลาย ช่างกลึง หรือลูกมือช่างกลึงผู้มีความชำนาญ เมื่อชักเชือกยาว
ก็รู้ชัดว่า ‘เราชักเชือกยาว’ เมื่อชักเชือกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราชักเชือกสั้น’ แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้าสั้น’
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกสั้น’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เรากำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจเข้า’
สำเหนียกว่า ‘เราระงับกายสังขาร หายใจออก‘๒
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๓อยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอก๔อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิด (แห่งลมหายใจ) ในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับ (แห่ง
ลมหายใจ) ในกายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับ
(แห่งลมหายใจ) ในกายอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ระงับการสังขาร หมายถึงผ่อนคลายลมหายใจหยาบให้ละเอียดขึ้นไปโดยลำดับจนถึงขั้นที่จะต้องพิสูจน์ว่า
มีลมหายใจอยู่หรือไม่ เปรียบเหมือนเสียงเคาะระฆังครั้งแรกจะมีเสียงดังกังวานแล้วแผ่วลงจนถึงเงียบหาย
ไปในที่สุด (วิสุทฺธิ. ๑/๒๒๐/๒๙๙-๓๐๒)
๒ ดูเทียบ ม.อุ. ๑๔/๑๕๕-๑๕๙/๑๓๘
๓ กายภายใน ในที่นี้หมายถึงลมหายใจเข้าออกของตน (ที.ม.อ. ๓๗๔/๓๗๙)
๔ กายภายนอก ในที่นี้หมายถึงลมหายใจเข้าออกของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๓๘๔/๓๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดลมหายใจเข้าออก จบ

กายานุปัสสนา
หมวดอิริยาบถ

[๓๗๕] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
ภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่า ‘เราเดิน’
เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่า ‘เรายืน’
เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่า ‘เรานั่ง’
หรือเมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า ‘เรานอน’
ภิกษุนั้น เมื่อดำรงกายอยู่โดยอาการใด ๆ ก็รู้ชัดกายที่ดำรงอยู่โดยอาการนั้น ๆ
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๑อยู่ พิจารณาเห็นกายใน
กายภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณา
เห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือ
พิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดอิริยาบถ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

กายานุปัสสนา
หมวดสัมปชัญญะ

[๓๗๖] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ
ทำความรู้สึกตัวในการแลดู การเหลียวดู
ทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า การเหยียดออก
ทำความรู้สึกตัวในการครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร
ทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม
ทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
ทำความรู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด การนิ่ง
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๑ อยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘การมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดสัมปชัญญะ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

กายานุปัสสนา
หมวดมนสิการสิ่งปฏิกูล

[๓๗๗] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ ตั้งแต่
ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไป
ด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต๑
หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด
ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น
น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร’
ภิกษุทั้งหลาย ถุงมีปาก ๒ ข้าง เต็มไปด้วยธัญพืชชนิดต่าง ๆ คือ ข้าวสาลี
ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดงา ข้าวสาร คนตาดีเปิดถุงยาวนั้นออก
พิจารณาเห็นว่า ‘นี้เป็นข้าวสาลี นี้เป็นข้าวเปลือก นี้เป็นถั่วเขียว นี้เป็นถั่วเหลือง
นี้เป็นเมล็ดงา นี้เป็นข้าวสาร’ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็นกายนี้
ตั้งแต่ฝ่าเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องล่าง มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาดชนิดต่าง ๆ ว่า

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า วักกะ โบราณแปลว่า “ม้าม” และแปล คำว่า ปิหกะ ว่า “ไต” แต่ในที่นี้ แปลคำวักกะ ว่า “ไต”
และแปลคำปิหกะ ว่า “ม้าม” อธิบายว่า ไต ได้แก่ ก้อนเนื้อ ๒ ก้อนมีขั้วเดียวกัน รูปร่างคล้ายลูกสะบ้า
ของเด็ก ๆ หรือคล้ายผลมะม่วง ๒ ผลที่ติดอยู่ในขั้วเดียวกัน มีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัวใจ
แล้วแยกออกห้อยอยู่ทั้ง ๒ ข้าง (ขุ.ขุ.อ. ๔๓-๔๔) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ แปล
“วักกะ” ว่า “ไต” และให้บทนิยามของ“ไต” ไว้ว่า “อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูก
สันหลัง ทำหน้าที่ขับของเสียออกมากับน้ำปัสสาวะ” แปล “ปิหกะ” ว่า “ม้าม” และให้บทนิยามไว้ว่า
“อวัยวะภายในร่างกายริมกระเพาะอาหารข้างซ้าย มีหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดแดง สร้างเม็ดน้ำเหลืองและ
สร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย”, Buddhadatta Mahathera, A. Concise Pali-English Dictionary; Rhys
Davids. T.W. Pali-English Dictionary, ให้ความหมายของคำว่า “วักกะ” ตรงกันว่า หมายถึง “ไต”
(Kidney)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

‘ในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต
หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด
ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า
ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น
น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน๑อยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้น มีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดมนสิการสิ่งปฏิกูล จบ

กายานุปัสสนา
หมวดมนสิการธาตุ

[๓๗๘] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่
ตามที่ดำรงอยู่โดยความเป็นธาตุว่า ‘ในกายนี้ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่’
ภิกษุทั้งหลาย คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้มีความชำนาญ ครั้นฆ่าโคแล้ว
แบ่งอวัยวะออกเป็นส่วน ๆ นั่งอยู่ที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น
เหมือนกัน พิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่ ตามที่ดำรงอยู่ โดยความเป็นธาตุว่า
‘ในกายนี้ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่’

เชิงอรรถ :
๑ กายภายใน ในที่นี้หมายถึงอาการ ๓๒ มีผมเป็นต้นในกายของตน (ที.ม.อ. ๓๗๗/๓๘๔)
๒ กายภายนอก ในที่นี้หมายถึงอาการ ๓๒ มีผมเป็นต้นในกายของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๓๗๗/๓๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกายภาย
นอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรม
เป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณาเห็น
ทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดมนสิการธาตุ จบ

กายานุปัสสนา
หมวดป่าช้า ๙ หมวด

[๓๗๙] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง
๑. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าซึ่งตายแล้ว ๑ วัน ตายแล้ว
๒ วัน หรือตายแล้ว ๓ วัน เป็นศพขึ้นอืด ศพเขียวคล้ำ ศพมี
น้ำเหลืองเยิ้ม แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้
เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วง
พ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๒. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าซึ่งถูกกาจิกกิน นกตะกรุม
จิกกิน แร้งทึ้งกิน สุนัขกัดกิน สุนัขจิ้งจอกกัดกิน หรือสัตว์เล็ก ๆ
หลายชนิดกัดกินอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบ
เทียบให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น
ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย(ตัณหาและทิฏฐิ)อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๓. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูกยังมีเนื้อ
และเลือด มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไป
เปรียบเทียบให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะ
อย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๔. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูกไม่มีเนื้อ
แต่ยังมีเลือดเปื้อนเปรอะ มีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำ
กายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น
มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๕. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูกไม่มี
เลือดและเนื้อ แต่ยังมีเอ็นรึงรัดอยู่ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำ
กายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น
มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๖. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นโครงกระดูกไม่มีเอ็น
รึงรัดแล้ว กระจุยกระจายไปในทิศใหญ่ ทิศเฉียง คือ กระดูก
มืออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่
ทางทิศหนึ่ง กระดูกขาอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางทิศ
หนึ่ง กระดูกหลังอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางทิศหนึ่ง
กระดูกหน้าอกอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางทิศหนึ่ง
กระดูกไหล่อยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกคออยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูก
คางอยู่ทางทิศหนึ่ง กระดูกฟันอยู่ทางทิศหนึ่ง กะโหลกศีรษะ
อยู่ทางทิศหนึ่ง แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบ
ให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น
ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๗. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกสีขาว
เหมือนสีสังข์ แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้
เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วง
พ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] กายานุปัสสนา

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกายภาย
นอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรม
เป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณาเห็น
ทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๘. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นท่อนกระดูกกอง
อยู่ด้วยกันเกินกว่า ๑ ปี แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไป
เปรียบเทียบให้เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะ
อย่างนั้น ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล
๙. ภิกษุเห็นซากศพอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งเป็นกระดูกผุป่นเป็นชิ้น
เล็กชิ้นน้อย แม้ฉันใด ภิกษุนั้นนำกายนี้เข้าไปเปรียบเทียบให้
เห็นว่า ‘ถึงกายนี้ก็มีสภาพอย่างนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ไม่ล่วง
พ้นความเป็นอย่างนั้นไปได้’ ฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] เวทนานุปัสสนา

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ พิจารณาเห็นกายในกาย
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุเกิดในกายอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่ หรือพิจารณา
เห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในกายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘กายมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ อย่างนี้แล

หมวดป่าช้า ๙ หมวด จบ
กายานุปัสสนา จบ

เวทนานุปัสสนา
(การพิจารณาเวทนา)

[๓๘๐] ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เมื่อเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนา’
เมื่อเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนา’
เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา’
เมื่อเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส’
เมื่อเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส’
เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส’
เมื่อเสวยทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิส’
เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่
มีอามิส’
เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่า ‘เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา
ที่ไม่มีอามิส’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] จิตตานุปัสสนา

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายภายใน๑อยู่ พิจารณาเห็น
เวทนาในเวทนาทั้งหลายภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในเวทนาทั้งหลายอยู่
พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็น
เหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในเวทนาทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘เวทนามีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ อย่างนี้แล

เวทนานุปัสสนา จบ

จิตตานุปัสสนา
(การพิจารณาจิต)

[๓๘๑] ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

จิตมีราคะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีราคะ’
จิตปราศจากราคะ ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากราคะ’
จิตมีโทสะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโทสะ’
จิตปราศจากโทสะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโทสะ’
จิตมีโมหะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีโมหะ’
จิตปราศจากโมหะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตปราศจากโมหะ’

เชิงอรรถ :
๑ เวทนาทั้งหลายภายใน หมายถึงสุขเวทนาเป็นต้นของตน (ที.ม.อ. ๓๘๐/๓๙๐, ม.มู.อ. ๑/๑๑๓/๒๙๖)
๒ เวทนาทั้งหลายภายนอก หมายถึงสุขเวทนาเป็นต้นของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๓๘๐/๓๙๐, ม.มู.อ. ๑/๑๑๓/๒๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] จิตตานุปัสสนา

จิตหดหู่___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหดหู่’
จิตฟุ้งซ่าน___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตฟุ้งซ่าน’
จิตเป็นมหัคคตะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นมหัคคตะ’
จิตไม่เป็นมหัคคตะ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นมหัคคตะ’
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า’
จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า’
จิตเป็นสมาธิ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตเป็นสมาธิ’
จิตไม่เป็นสมาธิ___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่เป็นสมาธิ’
จิตหลุดพ้นแล้ว___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตหลุดพ้นแล้ว’
จิตไม่หลุดพ้น___ก็รู้ชัดว่า ‘จิตไม่หลุดพ้น’

ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิต
ภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรม
เป็นเหตุเกิดในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่ หรือพิจารณาเห็น
ทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในจิตอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘จิตมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ อย่างนี้แล

จิตตานุปัสสนา จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ธัมมานุปัสสนา
(การพิจารณาธรรม)
หมวดนิวรณ์

[๓๘๒] ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อกามฉันทะ (ความพอใจในกาม) ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า
‘กามฉันทะภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อกามฉันทะภายใน
ไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘กามฉันทะภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้น
แห่งกามฉันทะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
การละกามฉันทะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และกามฉันทะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น
๒. เมื่อพยาบาท (ความคิดร้าย) ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘พยาบาท
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อพยาบาทภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า
‘พยาบาทภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่งพยาบาทที่ยัง
ไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละพยาบาทที่
เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และพยาบาทที่ละ
ได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๓. เมื่อถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า
‘ถีนมิทธะภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อถีนมิทธะภายในไม่มีอยู่
ก็รู้ชัดว่า ‘ถีนมิทธะภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่ง
ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละ
ถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ถีนมิทธะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น
๔. เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า
‘อุทธัจจกุกกุจจะภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่ออุทธัจจกุกกุจจะ
ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘อุทธัจจกุกกุจจะภายในของเราไม่มีอยู่’
การเกิดขึ้นแห่งอุทธัจจกุกกุจจะที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด
ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วย
เหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และอุทธัจจกุกกุจจะที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้น
ต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๕. เมื่อวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘วิจิกิจฉา
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อวิจิกิจฉาภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า
‘วิจิกิจฉาภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่งวิจิกิจฉาที่ยังไม่
เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้น
แล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และวิจิกิจฉาที่ละได้แล้ว
จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีกด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายใน
ทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม
เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ นิวรณ์ ๕ อยู่
อย่างนี้แล

หมวดนิวรณ์ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ธัมมานุปัสสนา
หมวดขันธ์

[๓๘๓] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์๑ ๕ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕
อยู่ว่า
๑. ‘รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูป
เป็นอย่างนี้
๒. เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งเวทนาเป็นอย่างนี้
๓. สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งสัญญาเป็นอย่างนี้
๔. สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งสังขารเป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ อุปาทานขันธ์ มาจากอุปาทาน + ขันธ์ แยกอธิบายความหมายได้ดังนี้ (๑) อุปาทาน แปลว่า ความถือมั่น
(อุป=มั่น+อาทาน=ถือ) มีความหมายหลายนัย เช่น หมายถึงชื่อของราคะที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕
(ปญฺจกามคุณิกราคสฺเสตํ อธิวจนํ -สํ.ข.อ. ๒/๑/๑๖, อภิ.สงฺ.อ. ๑๒๑๙/๔๔๒) บ้าง หมายถึงความถือมั่น
ด้วยอำนาจตัณหามานะและทิฏฐิ (ตามนัย สํ.ข.อ. ๒/๖๓/๓๐๘) บ้าง (๒) ขันธ์ แปลว่า กอง (ตสฺส ขนฺธสฺส)
ราสิอาทิวเสน อตฺโถ เวทิตพฺโพ -อภิ. สงฺ.อ. ๕/๑๙๒) ดังนั้น อุปาทานขันธ์ จึงหมายถึง กองอันเป็น
อารมณ์แห่งความถือมั่น (อุปาทานานํ อารมฺมณภูตา ขนฺธา = อุปาทานกฺขนฺธา) (สํ.ข. ฏีกา ๒๒/๒๕๔)
และดู ที.ปา. ๑๑/๓๑๑/๒๐๔,๓๑๕/๒๐๘, สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๓๒๘/๓๔๖, สํ.ม. (แปล) ๑๙/๑๗๙/๑๐๕
เมื่อนำองค์ธรรม คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มารวมกับอุปาทานขันธ์ เช่น วิญฺญาณู-
ปาทานกฺขนฺโธ จึงแปลได้ว่า “กองอันเป็นอารมณ์แห่งความถือมั่นคือวิญญาณ” ตามนัย อภิ.สงฺ.อ.
๕/๑๙๒ ว่า วิญฺญาณเมว ขนฺโธ = วิญฺญาณกฺขนฺโธ (กองวิญญาณ)
อนึ่ง เมื่อกล่าวโดยสรุป อุปาทานขันธ์ หมายถึงทุกข์ ตามบาลีว่า “สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา
ทุกฺขา” แปลว่า ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ (ม.อุ.๑๔/๓๗๓/๓๑๙,ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๓,
อภิ.วิ.อ. ๒๐๒/๑๗๗, วิสุทฺธิ. ๒/๕๐๕/๑๒๒) และดู อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๐๒/๑๖๖ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

๕. วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้ ความ
ดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้’
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายใน๑อยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอก๒อยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้ง
ภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณา
เห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้ง
ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อุปาทานขันธ์ ๕
อยู่ อย่างนี้แล

หมวดขันธ์ จบ

ธัมมานุปัสสนา
หมวดอายตนะ

[๓๘๔] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖ และ
อายตนะภายนอก ๖ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. รู้ชัดตา รู้ชัดรูป สังโยชน์ใดอาศัยตาและรูปทั้งสองนั้นเกิดขึ้น
ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งหลายภายใน หมายถึงขันธ์ ๕ ของตน (ที.ม.อ. ๓๘๓/๓๙๘)
๒ ธรรมทั้งหลายภายนอก หมายถึงขันธ์ ๕ ของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๓๘๓/๓๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วย
เหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไป
อีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๒. รู้ชัดหู รู้ชัดเสียง สังโยชน์ใดอาศัยหูและเสียงทั้งสองนั้นเกิดขึ้น
ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วย
เหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไป
อีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๓. รู้ชัดจมูก รู้ชัดกลิ่น สังโยชน์ใดอาศัยจมูกและกลิ่นทั้งสองนั้น
เกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่
เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิด
ขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้ว
จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๔. รู้ชัดลิ้น รู้ชัดรส สังโยชน์ใดอาศัยลิ้นและรสทั้งสองนั้นเกิดขึ้น
ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วย
เหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไป
อีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๕. รู้ชัดกาย รู้ชัดโผฏฐัพพะ สังโยชน์ใดอาศัยกายและโผฏฐัพพะ
ทั้งสองนั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่
ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่เกิด
ขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละได้แล้ว
จะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๖. รู้ชัดใจ รู้ชัดธรรมารมณ์ สังโยชน์ใดอาศัยใจและธรรมารมณ์
ทั้งสองนั้นเกิดขึ้น ก็รู้ชัดสังโยชน์นั้น การเกิดขึ้นแห่งสังโยชน์ที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ยังไม่เกิดขึ้นมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น การละสังโยชน์ที่
เกิดขึ้นแล้วมีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และสังโยชน์ที่ละ
ได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปอีก มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย
ทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่
พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็น
เหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อายตนะภายใน ๖
และอายตนะภายนอก ๖ อยู่ อย่างนี้แล

หมวดอายตนะ จบ

ธัมมานุปัสสนา
หมวดโพชฌงค์

[๓๘๕] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. เมื่อสติสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘สติสัมโพชฌงค์
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อสติสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้
ชัดว่า ‘สติสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

สติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และความเจริญบริบูรณ์แห่งสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๒. เมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ธัมมวิจย-
สัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ภายในของเรา
ไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น
มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่ง
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น
๓. เมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘วิริยสัมโพชฌงค์
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อวิริยสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้
ชัดว่า ‘วิริยสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่ง
วิริยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และความเจริญบริบูรณ์แห่งวิริยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๔. เมื่อปีติสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ปีติสัมโพชฌงค์
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อปีติสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่
ก็รู้ชัดว่า ‘ปีติสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้น
แห่งปีติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
และความเจริญบริบูรณ์แห่งปีติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๕. เมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ปัสสัทธิ-
สัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ภายในของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่งปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งปัสสัทธิ-
สัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๖. เมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘สมาธิสัมโพชฌงค์
ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่อสมาธิสัมโพชฌงค์ภายในไม่มีอยู่
ก็รู้ชัดว่า ‘สมาธิสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่มีอยู่’ การเกิดขึ้น
แห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัด
เหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว
มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
๗. เมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในมีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘อุเบกขา-
สัมโพชฌงค์ภายในของเรามีอยู่’ หรือเมื่ออุเบกขาสัมโพชฌงค์
ภายในไม่มีอยู่ ก็รู้ชัดว่า ‘อุเบกขาสัมโพชฌงค์ภายในของเราไม่
มีอยู่’ การเกิดขึ้นแห่งอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น มีได้
ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น และความเจริญบริบูรณ์แห่งอุเบกขา-
สัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว มีได้ด้วยเหตุใด ก็รู้ชัดเหตุนั้น
ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายในอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอกอยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายทั้งภายใน
ทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่ พิจารณาเห็น
ธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็นเหตุเกิดทั้งธรรม
เป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่
หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ๆ
ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ โพชฌงค์ ๗ อยู่
อย่างนี้แล

หมวดโพชฌงค์ จบ
ภาณวารที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ธัมมานุปัสสนา
หมวดสัจจะ

[๓๘๖] ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่
ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์’
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขสมุทัย’
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขนิโรธ’
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’

ทุกขสัจจนิทเทส

[๓๘๗] ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ชาติ (ความเกิด) เป็นทุกข์ ชรา (ความแก่) เป็นทุกข์ มรณะ (ความตาย)
เป็นทุกข์ โสกะ (ความโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความทุกข์กาย)
โทมนัส (ความทุกข์ใจ) อุปายาส (ความคับแค้นใจ) เป็นทุกข์ การประสบกับ
อารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์
การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์๑ ๕ เป็นทุกข์๒

เชิงอรรถ :
๑ อภิ.วิ.อ. ๒๐๒/๑๗๗
๒ วิ.ม. (แปล) ๔/๑๔/๑๔, ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๑/๘๖, ม.อุ.๑๔/๓๗๓/๓๑๗, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์๑ ๕ เป็นทุกข์๒
[๓๘๘] ชาติ เป็นอย่างไร
คือ ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิด ความบังเกิด
เฉพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ชาติ๑
[๓๘๙] ชรา เป็นอย่างไร
คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนัง
เหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่า
สัตว์นั้น ๆ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ชรา๒
[๓๙๐] มรณะ เป็นอย่างไร
คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตาย
กล่าวคือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความ
ขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า มรณะ๓
[๓๙๑] โสกะ เป็นอย่างไร
คือ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก ความแห้งผากภายใน
ความแห้งกรอบภายใน ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่
ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ

เชิงอรรถ :
๑ ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๓/๘๘, ม.อุ. ๑๔/๓๗๓/๓๑๗, สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๒/๔, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๐, อภิ.วิ. (แปล)
๓๕/๒๓๕/๒๒๑
๒ ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๒/๘๗, ม.อุ. ๑๔/๓๗๓/๓๑๗, สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๒/๔,๒๗/๕๓,๒๘/๕๕,๓๓/๗๐, ขุ.ป.
(แปล) ๓๑/๓๓/๕๐, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๓๖/๒๒๒
๓ ม.มู. (แปล) ๑๒/๙๒/๘๘, ม.อุ. ๑๔/๓๗๓/๓๑๘, สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๒/๔,๒๗/๕๓,๒๘/๕๕,๓๓/๗๐, ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๔๑/๑๕๐, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๐, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๓๖/๒๒๒
๔ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๔/๑๕๕,๙๗/๒๙๘, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๖, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๐, อภิ.วิ. (แปล)
๓๕/๒๓๗/๑๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

[๓๙๒] ปริเทวะ เป็นอย่างไร
คือ ความร้องไห้ ความคร่ำครวญ กิริยาที่ร้องไห้ กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะที่
ร้องไห้ ภาวะที่คร่ำครวญ ของผู้ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ)
ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ปริเทวะ๑
[๓๙๓] ทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ ความทุกข์ทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่
สำราญ เป็นทุกข์ อันเกิดจากกายสัมผัส
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกข์๒
[๓๙๔] โทมนัส เป็นอย่างไร
คือ ความทุกข์ทางใจ ความไม่สำราญทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญ
เป็นทุกข์อันเกิดจากมโนสัมผัส
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า โทมนัส๓
[๓๙๕] อุปายาส เป็นอย่างไร
คือ ความแค้น ความคับแค้น ภาวะที่แค้น ภาวะที่คับแค้น ของผู้ประกอบ
ด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง(หรือ)ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อุปายาส๔

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๔๔/๑๕๕,๙๗/๒๙๘, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒๑/๑๒๖, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/
๒๓๘/๒๒๓
๒ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๑, อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๕๕๙/๑๖๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๓๙/๒๒๓
๓ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๑, อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๔๑๗/๑๒๐, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๔๐/๒๒๓
๔ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๑, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๒๔๑/๒๒๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

[๓๙๖] การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ การไปร่วม การมาร่วม การประชุมร่วม การอยู่ร่วมกับอารมณ์อันไม่
เป็นที่ปรารถนา ไม่เป็นที่รักใคร่ ไม่เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือจากบุคคลผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์
ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่ผาสุก ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่มีความเกษม
จากโยคะของเขา
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์๑
[๓๙๗] การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ การไม่ไปร่วม การไม่มาร่วม การไม่ประชุมร่วม การไม่อยู่ร่วมกับอารมณ์
อันเป็นที่ปรารถนา เป็นที่รักใคร่ เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่น
รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ หรือกับบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาความ
เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษมจากโยคะของเขา เช่น มารดา
บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว มิตร อำมาตย์หรือญาติสาโลหิต
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์๒
[๓๙๘] การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ เหล่าสัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า
‘ไฉนหนอ ขอเราอย่าได้มีความเกิดเป็นธรรมดา หรือขอความเกิดอย่าได้มาถึง
เราเลย’ ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๑
๒ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์
เหล่าสัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ฯลฯ
เหล่าสัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา ฯลฯ
เหล่าสัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ฯลฯ
เหล่าสัตว์ผู้มีความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและ
ความคับแค้นใจเป็นธรรมดา ต่างก็เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า ‘ไฉนหนอ
ขอเราอย่าได้เป็นผู้มีความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ
และความคับแค้นใจเป็นธรรมดาเลย และขอความโศก ความคร่ำครวญ ความ
ทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ อย่าได้มาถึงเราเลย’ ข้อนี้ไม่พึง
สำเร็จได้ตามความปรารถนา
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์๑
[๓๙๙] โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป) เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือ
เวทนา) สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา) สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์
คือสังขาร) วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)
ภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ

เชิงอรรถ :
๑ ม.อุ. ๑๔/๓๗๓/๓๑๘, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๓/๕๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

สมุทยสัจจนิทเทส

[๔๐๐] ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ตัณหานี้เป็นเหตุเกิดขึ้นในภพใหม่ สหรคตด้วยความกำหนัดยินดี เป็นเหตุ
เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
ก็ตัณหานี้แหละเมื่อเกิดขึ้น เกิดที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ตั้งอยู่ที่ไหน
คือ ปิยรูปสาตรูป๑ใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ปิยรูปสาตรูปนี้
เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ปิยรูปสาตรูปนี้
อะไรเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
คือ จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุนี้ เมื่อตั้งอยู่
ก็ตั้งอยู่ที่จักขุนี้ โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆานะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ฯลฯ ชิวหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ กายเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ มโน
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่มโนนี้
รูปเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่รูปนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่
ที่รูปนี้ เสียงเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ กลิ่นเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รส
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธรรมารมณ์
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธรรมารมณ์นี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่
ที่ธรรมารมณ์นี้
จักขุวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุวิญญาณนี้
เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่จักขุวิญญาณนี้ โสตวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ฆานวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ชิวหาวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูป

เชิงอรรถ :
๑ ปิยรูปสาตรูป หมายถึงสภาวะที่น่ารักน่าชื่นใจ เป็นส่วนอิฏฐารมณ์ที่เป็นเหตุให้เกิดตัณหา (อภิ.วิ.อ. ๒๐๓/
๑๑๙-๑๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ในโลก ฯลฯ กายวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ มโนวิญญาณเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนวิญญาณนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่
ที่มโนวิญญาณนี้
จักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุสัมผัสนี้
เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่จักขุสัมผัสนี้ โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆาน-
สัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
กายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ มโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหา
นี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่มโนสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่
เวทนาซึ่งเกิดจากจักขุสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่เวทนาซึ่งเกิดจากจักขุสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจากฆาน-
สัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิด
จากมโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่เวทนาซึ่งเกิดจาก
มโนสัมผัสนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่เวทนาซึ่งเกิดจากมโนสัมผัสนี้
รูปสัญญา (ความกำหนดหมายรู้รูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด
ก็เกิดที่รูปสัญญานี้ เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่รูปสัญญานี้ สัททสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ คันธสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมสัญญาเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมสัญญานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมม-
สัญญานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

รูปสัญเจตนา (ความจำนงในรูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด
ก็เกิดที่รูปสัญเจตนานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่รูปสัญเจตนานี้ สัททสัญเจตนาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ คันธสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสสัญเจตนา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ธัมมสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมสัญเจตนานี้
เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมสัญเจตนานี้
รูปตัณหา(ความอยากได้รูป)เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิด
ที่รูปตัณหานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่รูปตัณหานี้ สัททตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ฯลฯ คันธตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ฯลฯ โผฏฐัพพตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมตัณหานี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมตัณหานี้
รูปวิตก(ความตรึกถึงรูป)เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิดก็เกิดที่
รูปวิตกนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่รูปวิตกนี้ สัททวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
คันธวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
โผฏฐัพพวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมวิตกนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมวิตกนี้
รูปวิจาร (ความตรองถึงรูป) เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิดก็เกิดที่
รูปวิจารนี้ เมื่อตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่รูปวิจารนี้ สัททวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
คันธวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
โผฏฐัพพวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ตัณหานี้ เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมวิจารนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมวิจารนี้๑
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๔/๕๓-๕๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

นิโรธสัจจนิทเทส

[๔๐๑] ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ ความดับกิเลสไม่เหลือด้วยวิราคะ ความปล่อยวาง ความสละคืน ความพ้น
ความไม่ติด
ก็ตัณหานี้เมื่อละ ละที่ไหน เมื่อดับ ดับที่ไหน
คือ ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่ปิยรูปสาตรูปนี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่ปิยรูปสาตรูปนี้
อะไรเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
คือ จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่จักขุนี้ เมื่อดับก็ดับที่
จักขุนี้ โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆานะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
ชิวหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ กายเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ มโนเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่มโนนี้ เมื่อดับก็ดับที่มโนนี้
รูปเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่รูปนี้
เสียงเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ กลิ่นเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธรรมารมณ์เป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่ธรรมารมณ์นี้ เมื่อดับก็ดับที่ธรรมารมณ์นี้
จักขุวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่จักขุวิญญาณนี้
เมื่อดับ ก็ดับที่จักขุวิญญาณนี้ โสตวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆาน-
วิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ชิวหาวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ฯลฯ กายวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ มโนวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่มโนวิญญาณนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่มโนวิญญาณนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

จักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่จักขุสัมผัสนี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่จักขุสัมผัสนี้ โสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆานสัมผัสเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ฯลฯ ชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ กายสัมผัสเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ฯลฯ มโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อละก็ละที่
มโนสัมผัสนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่มโนสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่
เวทนาอันเกิดจากจักขุสัมผัสนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่เวทนาอันเกิดจากจักขุสัมผัสนี้
เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัส
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ เวทนาที่
เกิดจากมโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่เวทนาอันเกิดจาก
มโนสัมผัสนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่เวทนาอันเกิดจากมโนสัมผัสนี้
รูปสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปสัญญานี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่รูปสัญญานี้ สัททสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ คันธสัญญาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพสัญญา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ
ก็ละที่ธัมมสัญญานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมสัญญานี้
รูปสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปสัญเจตนานี้
เมื่อดับ ก็ดับที่รูปสัญเจตนานี้ สัททสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ
คันธสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก
ฯลฯ โผฏฐัพพสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมสัญเจตนาเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

ปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่ธัมมสัญเจตนานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่
ธัมมสัญเจตนานี้
รูปตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปตัณหานี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่รูปตัณหานี้ สัททตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ คันธตัณหาเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รสตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพตัณหา
เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ
ก็ละที่ธัมมตัณหานี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมตัณหานี้
รูปวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปวิตกนี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่รูปวิตกนี้ สัททวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ คันธวิตกเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ รสวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพวิตกเป็นปิยรูปสาตรูป
ในโลก ฯลฯ ธัมมวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่ธัมมวิตกนี้
เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมวิตกนี้
รูปวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่รูปวิจารนี้ เมื่อดับ
ก็ดับที่รูปวิจารนี้ สัททวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ คันธวิจารเป็นปิยรูป-
สาตรูปในโลก ฯลฯ รสวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ โผฏฐัพพวิจารเป็น
ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อละ
ก็ละที่ธัมมวิจารนี้ เมื่อดับก็ดับที่ธัมมวิจารนี้๑
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๕/๕๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

มัคคสัจจนิทเทส

[๔๐๒] ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นแล ได้แก่

๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)___๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)___๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ___๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)___๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ ความรู้ในทุกข์ (ความทุกข์) ความรู้ในทุกขสมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์)
ความรู้ในทุกขนิโรธ (ความดับแห่งทุกข์) ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ
ให้ถึงความดับแห่งทุกข์)
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร
คือ ความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท ความดำริใน
การไม่เบียดเบียน
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา เป็นอย่างไร
คือ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูด
ส่อเสียด เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการ
พูดเพ้อเจ้อ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไร
คือ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการถือเอา
สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยสัมมา-
อาชีวะ
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
๒. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น
๔. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่
แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ
สัมมาสติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาสติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร] ธัมมานุปัสสนา

สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก
มีวิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่
๒. เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใส
ภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติ
และสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
๓. เพราะปีติจางคลายไป มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่
และเสวยสุขด้วยกาย (นามกาย) บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลาย
กล่าวสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’
๔. เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว
บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ๑
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
[๔๐๓] ด้วยวิธีนี้ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายใน๒อยู่
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายภายนอก๓อยู่ หรือพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
ทั้งหลายทั้งภายในทั้งภายนอกอยู่ พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุเกิดในธรรมทั้งหลายอยู่
พิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่ หรือพิจารณาเห็นทั้งธรรมเป็น
เหตุเกิดทั้งธรรมเป็นเหตุดับในธรรมทั้งหลายอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ม.อุ. ๑๔/๓๗๕/๓๑๙-๓๒๑, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๖/๕๕-๕๖, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๔๘๗/๓๗๑-๓๗๒
๒ ธรรมทั้งหลายภายใน หมายถึงอริยสัจ ๔ ของตน (ที.ม.อ. ๔๐๓/๔๒๑)
๓ ธรรมทั้งหลายภายนอก หมายถึงอริยสัจ ๔ ของผู้อื่น (ที.ม.อ. ๔๐๓/๔๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร]
อานิสสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ

หรือว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏอยู่เฉพาะหน้าว่า ‘ธรรมมีอยู่’ ก็เพียงเพื่ออาศัย
เจริญญาณ เจริญสติเท่านั้น ไม่อาศัย (ตัณหาและทิฏฐิ) อยู่ และไม่ยึดมั่นถือมั่น
อะไร ๆ ในโลก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย คือ อริยสัจ ๔ อยู่
อย่างนี้แล

หมวดสัจจะ จบ
ธัมมานุปัสสนา จบ

อานิสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ

[๔๐๔] ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ ปี พึงหวัง
ได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทาน
เหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
๗ ปีจงยกไว้๑บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๖ ปี พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๖ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๕ ปี พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๕ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๔ ปี พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี

เชิงอรรถ :
๑ ๗ ปีจงยกไว้ หมายถึงอย่าว่าแต่จะเจริญสติปัฏฐาน ๗ ปีเลย แม้เจริญเพียง ๖ ปี ... ๕ ปี ... ๗ วัน
ก็สามารถบรรลุอรหัตตผล หรือ อนาคามิผลได้ (ที.ม.อ. ๔๐๔/๔๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร]
อานิสสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ

๔ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๓ ปี พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๓ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๒ ปี พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๒ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๑ ปี พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๑ ปีจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ เดือน พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๗ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๖ เดือน พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๖ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๕ เดือน พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๔ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๓ เดือน พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๓ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๒ เดือน พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๙. มหาสติปัฏฐานสูตร]
อานิสสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ

๒ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๑ เดือน พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
๑ เดือนจงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอดครึ่งเดือน พึงหวังได้ผล
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่
ก็จักเป็นอนาคามี
ภิกษุทั้งหลาย ครึ่งเดือน จงยกไว้ บุคคลผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ตลอด ๗ วัน
พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมี
อุปาทานเหลืออยู่ ก็จักเป็นอนาคามี
[๔๐๕] ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์
เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำ
ให้แจ้งนิพพาน ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ เราอาศัยทางเดียวนี้แล้ว
จึงกล่าวคำดังพรรณนามาฉะนี้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

มหาสติปัฏฐานสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] เรื่องเจ้าปายาสิ

๑๐. ปายาสิสูตร
ว่าด้วยเจ้าปายาสิ

[๔๐๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระกุมารกัสสปะกำลังจาริกอยู่ในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ถึงเมืองเสตัพยะของชาวโกศล พักอยู่ ณ ป่าไม้สีเสียด
ทางทิศเหนือเมืองเสตัพยะ สมัยนั้น เจ้าปายาสิปกครองเมืองเสตัพยะ ซึ่งมีประชากร
และสัตว์เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร และน้ำ หญ้าอุดมสมบูรณ์ มีพระราชทรัพย์
ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย๑

เรื่องเจ้าปายาสิ

[๔๐๗] สมัยนั้น เจ้าปายาสิมีความเห็นชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า “แม้เพราะเหตุนี้
โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์๒ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี” พราหมณ์
และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะได้ฟังข่าวว่า “ท่านสมณกุมารกัสสปะ ผู้เป็นสาวกของ
พระสมณโคดมกำลังจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ
๕๐๐ รูป ถึงเมืองเสตัพยะโดยลำดับ กำลังพักอยู่ ณ ป่าไม้สีเสียดทางทิศเหนือเมือง
เสตัพยะ ท่านสมณกุมารกัสสปะนั้น มีชื่อเสียงดีงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘เป็นผู้ฉลาด
เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นพหูสูต กล่าวถ้อยคำไพเราะ ปฏิภาณดี เป็นผู้เจริญและ
เป็นพระอรหันต์ การได้เห็นพระอรหันต์เช่นนั้นเป็นการดีแท้’ จากนั้น พราหมณ์และ
คหบดีชาวเมืองเสตัพยะออกจากเมืองเสตัพยะ เดินรวมกันเป็นหมู่เป็นคณะมุ่งหน้า
ไปทางทิศเหนือสู่ป่าไม้สีเสียด

เชิงอรรถ :
๑ พรหมไทย ในที่นี้หมายถึงการให้อันประเสริฐ คือ สิ่งที่พระราชทานแล้ว จักไม่ยึดกลับคืนมาอีก (ที.สี.อ.
๒๒๙/๒๒๑)
๒ โอปปาติกสัตว์ หมายถึงสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ (ตาย) ก็หายวับไป ไม่ทิ้งซากศพไว้
เช่น เทวดาและสัตว์นรก (ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] เรื่องเจ้าปายาสิ

[๔๐๘] ขณะนั้น เจ้าปายาสิทรงพักผ่อนกลางวันอยู่ ณ ปราสาทชั้นบน
ทรงเห็นพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะ ซึ่งออกจากเมืองเสตัพยะเดินรวมกัน
เป็นหมู่เป็นคณะมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือสู่ป่าไม้สีเสียด จึงทรงเรียกมหาดเล็กมาตรัส
ถามว่า “มหาดเล็ก เหตุใด พราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะจึงออกจากเมือง
เสตัพยะเดินรวมกันเป็นหมู่เป็นคณะมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือสู่ป่าไม้สีเสียด”
มหาดเล็กทูลตอบว่า “ฝ่าพระบาท ท่านสมณกุมารกัสสปะ ผู้เป็นสาวกของ
พระสมณโคดมกำลังจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ
๕๐๐ รูป ถึงเมืองเสตัพยะโดยลำดับ พักอยู่ ณ ป่าไม้สีเสียดทางทิศเหนือเมือง
เสตัพยะ ท่านสมณกุมารกัสสปะนั้น มีชื่อเสียงดีงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘เป็นผู้ฉลาด
เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นพหูสูต กล่าวถ้อยคำไพเราะ ปฏิภาณดี เป็นผู้เจริญ
และเป็นพระอรหันต์ พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นจักเข้าไปหาท่านสมณกุมารกัสสปะ
รูปนั้น”
เจ้าปายาสิรับสั่งว่า “มหาดเล็ก ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเข้าไปหาพราหมณ์
และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะถึงที่อยู่ บอกกับพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะ
อย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย เจ้าปายาสิรับสั่งว่า ‘ให้พวกท่านรอ เจ้าปายาสิจะเสด็จ
เข้าไปหาท่านสมณกุมารกัสสปะด้วย’ ครั้งก่อน ท่านสมณกุมารกัสสปะชี้แจงให้
พราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะผู้โง่ ไม่ฉลาดได้รู้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี
โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี มหาดเล็ก แท้จริง โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”
มหาดเล็กทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาพราหมณ์และคหบดีชาวเมือง
เสตัพยะถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะดังนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย
เจ้าปายาสิรับสั่งว่า ‘ให้พวกท่านรอ เจ้าปายาสิจะเสด็จเข้าไปหาท่านสมณกุมาร-
กัสสปะด้วย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร]
อุปมาด้วยดวงจันทร์และดวงอาทิตย์

[๔๐๙] ลำดับนั้น เจ้าปายาสิแวดล้อมด้วยพราหมณ์และคหบดีชาวเมือง
เสตัพยะ เสด็จเข้าไปหาท่านพระกุมารกัสสปะถึงที่อยู่ ณ ป่าไม้สีเสียด ได้ทรงสนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร
ฝ่ายพราหมณ์และคหบดีชาวเมืองเสตัพยะ บางพวกกราบท่านพระกุมารกัสสปะแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร บางพวกสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน
กับท่านพระกุมารกัสสปะแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประนมมือไปทางที่ท่าน
พระกุมารกัสสปะอยู่แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและตระกูลแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร บางพวกนั่งนิ่งเฉย ณ ที่สมควร

นัตถิกวาทะ
ความเห็นว่าไม่มี

[๔๑๐] ลำดับนั้น เจ้าปายาสิครั้นประทับ ณ ที่สมควรแล้วจึงตรัสกับท่าน
พระกุมารกัสสปะดังนี้ว่า “ท่านกัสสปะ โยมมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
ท่านพระกุมารกัสสปะถวายพระพรว่า “บพิตร อาตมภาพ ไม่เคยเห็น หรือได้
ยินบุคคลผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ ทำไมพระองค์จึงตรัสอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’

อุปมาด้วยดวงจันทร์และดวงอาทิตย์

[๔๑๑] บพิตร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพขอถวายพระพรถามพระองค์ใน
เรื่องนี้ โปรดตรัสตอบตามที่พอพระทัย พระองค์เข้าพระทัยเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ
“ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์มีในโลกนี้หรือโลกอื่น เป็นเทพหรือเป็นมนุษย์”
“ท่านกัสสปะ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์มีในโลกอื่น มิใช่มีในโลกนี้ เป็นเทพ
มิใช่เป็นมนุษย์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร]
อุปมาด้วยดวงจันทร์และดวงอาทิตย์

“บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของพระองค์นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”
[๔๑๒] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตของโยมในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอา
สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ
พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด) ต่อมา
พวกเขาป่วย ได้รับทุกขเวทนา เป็นไข้หนัก เมื่อโยมรู้ว่า ‘เวลานี้ พวกเขายัง
ไม่หายป่วย’ จึงเข้าไปเยี่ยมแล้วสั่งอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์
พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
เขาไม่ได้ให้ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วจะไป
เกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต (หรือ)นรก’ พวกท่านเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ
พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตพยาบาท เป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าหาก
คำของสมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นจริง พวกท่านหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต (หรือ)นรก ถ้าพวกท่านหลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในอบาย ทุคติ
วินิบาต (หรือ)นรกจริง ก็ขอให้กลับมาบอกเราบ้างว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี
โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี’ พวกท่านเท่านั้นพอเป็นที่
เชื่อถือไว้วางใจของเรา สิ่งที่พวกท่านเห็นก็เช่นเดียวกับสิ่งที่เราเห็นเอง’ คนเหล่านั้น
รับคำของโยมแล้ว แต่ไม่กลับมาบอก ไม่ส่งข่าวมาบอก ท่านกัสสปะ นี้แลเป็นเหตุ
ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยโจร

อุปมาด้วยโจร๑

[๔๑๓] “บพิตร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพขอถวายพระพรถามพระองค์ในเรื่องนี้
โปรดตรัสตอบตามที่พอพระทัย พระองค์เข้าพระทัยเรื่องนั้นว่าอย่างไร พวกราชบุรุษ
ของพระองค์ในโลกนี้จับโจรผู้ก่อกรรมชั่วมาแสดงแก่พระองค์ว่า ‘ฝ่าพระบาท นี้เป็น
โจรผู้ก่อกรรมชั่วต่อพระองค์ พระองค์โปรดลงพระอาชญาแก่โจรนี้ตามพระประสงค์เถิด’
ถ้าพระองค์จะพึงรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงใช้เชือกเหนียวมัดบุรุษนี้
เอาแขนไพล่หลังอย่างแน่นหนาแล้วโกนศีรษะ นำตระเวนจากถนนหนึ่งไปสู่ถนนหนึ่ง
จากสี่แยกหนึ่งไปสู่สี่แยกหนึ่ง พร้อมกับแกว่งบัณเฑาะว์เสียงดัง น่ากลัวนำออกทาง
ประตูด้านทิศใต้ตัดศีรษะที่ตะแลงแกงทางทิศใต้แห่งเมือง’ ราชบุรุษทูลรับสนอง
พระดำรัสแล้ว ใช้เชือกเหนียวมัดบุรุษนั้นเอาแขนไพล่หลังอย่างแน่นหนาแล้วโกนศีรษะ
นำตระเวนจากถนนหนึ่งไปสู่ถนนหนึ่ง จากสี่แยกหนึ่งไปสู่สี่แยกหนึ่ง พร้อมกับ
แกว่งบัณเฑาะว์เสียงดังน่ากลัว นำออกไปทางประตูด้านทิศใต้แล้วให้นั่งที่ตะแลงแกง
ทางทิศใต้แห่งเมือง โจรจะได้รับการผ่อนผันจากเพชฌฆาตตามคำขอที่ว่า ‘ขอให้
ท่านเพชฌฆาตโปรดรอจนกว่าข้าพเจ้าจะได้ไปแจ้งแก่มิตรอำมาตย์ หรือญาติสาโลหิตใน
บ้านโน้นหรือนิคมโน้น แล้วจะกลับมา’ กระนั้นหรือ หรือว่าเพชฌฆาตจะพึงตัดศีรษะ
โจรผู้กำลังอ้อนวอนอยู่เล่า”
“ท่านกัสสปะ โจรไม่ควรได้รับการผ่อนผันจากเพชฌฆาตตามคำขอที่ว่า ‘ขอให้
ท่านเพชฌฆาตโปรดรอจนกว่าข้าพเจ้าจะได้ไปแจ้งแก่มิตรอำมาตย์ หรือญาติสาโลหิต
ในบ้านโน้นหรือนิคมโน้นแล้วจะกลับมา’ ที่แท้ เพชฌฆาตพึงตัดศีรษะโจรผู้กำลังอ้อนวอน
อยู่นั่นแหละ”
“บพิตร โจรนั้นเป็นมนุษย์ยังไม่ได้รับการผ่อนผันจากเพชฌฆาตที่เป็นมนุษย์
ตามคำขอที่ว่า ‘ขอให้ท่านเพชฌฆาตโปรดรอจนกว่าข้าพเจ้าจะได้ไปแจ้งแก่มิตรอำมาตย์
หรือญาติสาโลหิตในบ้านโน้นหรือนิคมโน้นแล้วจะกลับมา’ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต
ของพระองค์ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ประพฤติผิดในกาม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ สํ.นิ. (แปล) ๑๖/๗๐/๑๕๓, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๒๔๔/๓๖๑-๓๖๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยโจร

พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตพยาบาท
เป็นมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต (หรือ)นรก จะได้รับ
ผ่อนผันจากนายนิรยบาลตามคำขอที่ว่า ‘ขอให้นายนิรยบาลโปรดรอจนกว่าข้าพเจ้า
จะได้ไปแจ้งแก่เจ้าปายาสิว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี’ หรือ บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของพระองค์นี้แล
จึงแสดงอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรม
ที่ทำดีและทำชั่วมี”
[๔๑๔] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตของโยมในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจาก
การฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการ
ประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาด
จากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา มีจิต
ไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ต่อมาพวกเขาป่วย ได้รับทุกขเวทนา
เป็นไข้หนัก เมื่อโยมรู้ว่า ‘เวลานี้ พวกเขายังไม่หายป่วย’ จึงเข้าไปเยี่ยมแล้วสั่ง
อย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ
อย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของ
เขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาด
จากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็ง
อยากได้ของของเขา มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดใน
สุคติโลกสวรรค์’ พวกท่านเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยบุรุษในหลุมอุจจาระ

เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาด
จากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็ง
อยากได้ของของเขา มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าหากคำของสมณพราหมณ์
พวกนั้นเป็นจริง พวกท่านหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ถ้าพวกท่าน
หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์จริง ก็ขอให้กลับมาบอกเราบ้างว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี’ พวกท่าน
เท่านั้นพอเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของเรา สิ่งที่พวกท่านเห็นก็เช่นเดียวกับสิ่งที่เรา
เห็นเอง’ คนเหล่านั้นรับคำของโยมแล้ว แต่ไม่กลับมาบอก ไม่ส่งข่าวมาบอกท่าน
กัสสปะ นี้แลเป็นเหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

อุปมาด้วยบุรุษในหลุมอุจจาระ

[๔๑๕] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เปรียบ
เหมือนบุรุษจมลงในหลุมอุจจาระมิดศีรษะ เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าพระองค์จะพึงรับสั่ง
ราชบุรุษว่า ‘พวกท่านจงช่วยกันยกบุรุษนั้นขึ้นจากหลุมอุจจาระ’ พวกราชบุรุษทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พึงช่วยกันยกบุรุษนั้นขึ้นมาจากหลุมอุจจาระ ถ้าพระองค์จะพึง
รับสั่งอีกว่า ‘พวกท่านจงเอาซี่ไม้ไผ่ขูดอุจจาระออกจากร่างกายของบุรุษนั้นให้หมด’
พวกราชบุรุษทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พึงเอาซี่ไม้ไผ่ขูดอุจจาระออกจากร่างกาย
ของบุรุษนั้นให้หมด ถ้าพระองค์จะพึงรับสั่งอีกว่า ‘พวกท่านจงเอาดินสีเหลืองขัด
สีร่างกายของบุรุษนั้นสัก ๓ ครั้ง’ พวกราชบุรุษทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เอาดิน
สีเหลืองขัดสีร่างกายของบุรุษนั้น ๓ ครั้ง ถ้าพระองค์จะพึงรับสั่งอีกว่า ‘พวกท่านจง
เอาน้ำมันชโลมบุรุษนั้นแล้วลูบไล้ด้วยจุรณ๑อย่างดีให้ผุดผ่องสัก ๓ ครั้ง’ พวกราชบุรุษ
พึงเอาน้ำมันชโลมบุรุษนั้นแล้วลูบไล้ด้วยจุรณอย่างดีให้ผุดผ่อง ๓ ครั้ง ถ้าพระองค์
จะพึงรับสั่งอีกว่า ‘พวกท่านจงตัดผมและโกนหนวดบุรุษนั้น’ พวกราชบุรุษพึงตัดผม

เชิงอรรถ :
๑ จุรณ ในที่นี้หมายถึงเครื่องหอมที่เป็นผงละเอียดอาจทำเป็นก้อนเก็บไว้ใช้ได้ทุกเวลา (ที.ม.อ. ๓๗๙/๓๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยบุรุษในหลุมอุจจาระ

และโกนหนวดของบุรุษนั้น ถ้าพระองค์จะพึงรับสั่งอีกว่า ‘พวกท่านจงนำพวงดอกไม้
เครื่องลูบไล้และผ้าราคาแพงไปให้บุรุษนั้น’ พวกราชบุรุษพึงนำพวงดอกไม้ เครื่อง
ลูบไล้ และผ้าราคาแพงไปให้บุรุษนั้น ถ้าพระองค์จะพึงรับสั่งอีกว่า ‘พวกท่านจงเชิญ
บุรุษนั้นขึ้นปราสาทบำรุงบำเรอด้วยกามคุณ ๕’ พวกราชบุรุษพึงเชิญบุรุษนั้นขึ้น
ปราสาทบำรุงบำเรอด้วยกามคุณ ๕
บพิตร พระองค์เข้าพระทัยเรื่องนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้น อาบน้ำ ลูบไล้ดีแล้ว
ตัดผมและโกนหนวดอย่างดี สวมพวงดอกไม้และเครื่องประดับแล้ว นุ่งผ้าขาว
อยู่ปราสาทชั้นดี เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรอด้วยกามคุณ ๕ ยังต้องการ
จะดำลงในหลุมอุจจาระนั้นอีกหรือ”
“ไม่เป็นเช่นนั้น ท่านกัสสปะ”
“เพราะเหตุไร จึงไม่เป็นเช่นนั้น”
“ท่านกัสสปะ เพราะหลุมอุจจาระไม่สะอาด คือ พึงเป็นสิ่งทั้งไม่สะอาด ทั้งนับว่า
ไม่สะอาด ทั้งมีกลิ่นเหม็น ทั้งนับว่ามีกลิ่นเหม็น ทั้งน่ารังเกียจ ทั้งนับว่าน่ารังเกียจ
ทั้งน่าเกลียด ทั้งนับว่าน่าเกลียด”
“บพิตร มนุษย์ก็เช่นเดียวกันนั่นแหละ คือสำหรับพวกเทพ พวกมนุษย์ เป็นผู้
ไม่สะอาด ทั้งนับว่าไม่สะอาด เป็นผู้มีกลิ่นเหม็น ทั้งนับว่ามีกลิ่นเหม็น เป็นผู้น่า
รังเกียจ ทั้งนับว่าน่ารังเกียจ เป็นผู้น่าเกลียด ทั้งนับว่าน่าเกลียด กลิ่นมนุษย์ย่อม
ฟุ้งไปในหมู่เทพตลอด ๑๐๐ โยชน์ ก็(ถ้า)มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตของพระองค์
ผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาด
จากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด
เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของ
ของเขา มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ พวกเขาหลังจากตายแล้วก็ไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์ แล้วจะกลับมาทูลพระองค์ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์
มีผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี’ หรือ บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของ
พระองค์แม้นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยบุรุษในหลุมอุจจาระ

[๔๑๖] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตของโยมในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจาก
การฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการ
ประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุรา
และเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท ต่อมา พวกเขาป่วย ได้รับทุกขเวทนา
เป็นไข้หนัก เมื่อโยมรู้ว่า ‘เวลานี้พวกเขายังไม่หายป่วย’ จึงเข้าไปเยี่ยมแล้วสั่งอย่างนี้ว่า
‘ท่านทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘บุคคลผู้
เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาด
จากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการเสพของมึนเมา
คือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท หลังจากตายไปแล้วจะไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์อยู่ร่วมกับเทพชั้นดาวดึงส์’ ท่านทั้งหลาย เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการประพฤติผิด
ในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอัน
เป็นเหตุแห่งความประมาท ถ้าหากคำของสมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นจริง พวกท่าน
หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์อยู่ร่วมกับเทพชั้นดาวดึงส์ ถ้าพวกท่าน
หลังจากตายแล้วได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์จริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยเทพชั้นดาวดึงส์

ก็ขอให้กลับมาบอกเราบ้างว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี’ พวกท่านเท่านั้นพอเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของเรา สิ่งที่
พวกท่านเห็นก็เช่นเดียวกับสิ่งที่เราเห็นเอง’ คนเหล่านั้นรับคำของโยมแล้ว แต่ไม่
กลับมาบอก ไม่ส่งข่าวมาบอก ท่านกัสสปะ นี้แลเป็นเหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”

อุปมาด้วยเทพชั้นดาวดึงส์

[๔๑๗] “บพิตร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพขอถวายพระพรถามพระองค์
ในเรื่องนี้ โปรดตรัสตอบตามที่พอพระทัย ๑๐๐ ปีของมนุษย์เท่ากับคืนและวันหนึ่ง
ของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ ๓๐ ราตรีโดยราตรีนั้นเป็น ๑ เดือน ๑๒ เดือนโดยเดือนนั้น
เป็น ๑ ปี ๑,๐๐๐ ปีทิพย์โดยปีนั้น เป็นประมาณอายุของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ มิตร
อำมาตย์ ญาติสาโลหิตของพระองค์ ผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือ
เอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการ
พูดเท็จ เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์ หากพวก
เขาคิดอย่างนี้ว่า ‘รอเวลาให้พวกเราเอิบอิ่ม พรั่งพร้อม ได้รับการบำเรอด้วยกามคุณ
๕ ที่เป็นทิพย์สัก ๒-๓ วันก่อน จึงค่อยไปกราบทูลเจ้าปายาสิว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้
โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี’ พวกเขาพึงกลับ
มากราบทูลพระองค์ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่ง
กรรมที่ทำดีและทำชั่วมี‘ หรือ บพิตร”
“ไม่เป็นเช่นนั้น ท่านกัสสปะ ที่จริง พวกเราคงตายไปนานแล้ว แต่ใครเล่า
บอกท่านกัสสปะว่า ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีอยู่’ หรือว่า ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีอายุ
ยืนเท่านี้’ พวกเราไม่เชื่อท่านกัสสปะว่า ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีอยู่’ หรือว่า ‘พวกเทพ
ชั้นดาวดึงส์มีอายุยืนเท่านี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยคนตาบอดแต่กำเนิด

อุปมาด้วยคนตาบอดแต่กำเนิด๑

[๔๑๘] “บพิตร เปรียบเหมือนคนตาบอดแต่กำเนิดไม่อาจเห็นรูปสีดำและ
รูปสีขาว ไม่อาจเห็นรูปสีเขียว ไม่อาจเห็นรูปสีเหลือง ไม่อาจเห็นรูปสีแดง ไม่อาจ
เห็นรูปสีแดงฝาง ไม่อาจเห็นรูปที่เรียบและรูปที่ขรุขระ ไม่อาจเห็นรูปดวงดาว
ไม่อาจเห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เขาจะพึงพูดอย่างนี้ว่า
‘รูปสีดำและรูปสีขาวไม่มี คนที่เห็นรูปสีดำและรูปสีขาวก็ไม่มี
รูปสีเขียวไม่มี คนที่เห็นรูปสีเขียวก็ไม่มี
รูปสีเหลืองไม่มี คนที่เห็นรูปสีเหลืองก็ไม่มี
รูปสีแดงไม่มี คนที่เห็นรูปสีแดงก็ไม่มี
รูปสีแดงฝางไม่มี คนที่เห็นรูปสีแดงฝางก็ไม่มี
รูปที่เรียบและรูปที่ขรุขระไม่มี คนที่เห็นรูปที่เรียบและรูปที่ขรุขระก็ไม่มี
รูปดวงดาวไม่มี คนที่เห็นรูปดวงดาวก็ไม่มี
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ไม่มี คนที่เห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ไม่มี
บพิตร คนนั้นเมื่อจะพูดว่า ‘เราไม่รู้สิ่งนั้น ไม่เห็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งนั้น
จึงไม่มี’ ชื่อว่าพูดถูกหรือไม่”
“ไม่ถูก ท่านกัสสปะ เพราะ
รูปสีดำและรูปสีขาวมี คนที่เห็นรูปสีดำและรูปสีขาวก็มี
รูปสีเขียวมี คนที่เห็นรูปสีเขียวก็มี
รูปสีเหลืองมี คนที่เห็นรูปสีเหลืองก็มี
รูปสีแดงมี คนที่เห็นรูปสีแดงก็มี
รูปสีแดงฝางมี คนที่เห็นรูปสีแดงฝางก็มี
รูปที่เรียบและรูปที่ขรุขระมี คนที่เห็นรูปที่เรียบและรูปที่ขรุขระก็มี
รูปดวงดาวมี คนที่เห็นรูปดวงดาวก็มี
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์มี คนที่เห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็มี

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ม.ม. ๑๓/๔๖๖/๔๕๘-๔๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] ปมาด้วยคนตาบอดแต่กำเนิด

ท่านกัสสปะ คนนั้นเมื่อจะพูดว่า ‘เราไม่รู้สิ่งนั้น ไม่เห็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น
สิ่งนั้นจึงไม่มี’ ชื่อว่าพูดไม่ถูก”
“บพิตร พระองค์ก็เช่นเดียวกับคนที่ตาบอดแต่กำเนิดนั่นแหละ ที่ตรัสกับ
อาตมภาพอย่างนี้ว่า ‘ก็ใครเล่า บอกท่านกัสสปะว่า ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์มี’ หรือว่า
‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีอายุยืนเท่านี้’ พวกเราไม่เชื่อท่านกัสสปะว่า ‘พวกเทพชั้น
ดาวดึงส์มี’ หรือว่า ‘พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีอายุยืนเท่านี้’ บพิตร คนจะเห็นโลกอื่นได้
ด้วยตาเนื้อดังที่พระองค์ทรงเข้าพระทัยไม่ได้ สมณพราหมณ์ผู้อยู่ในเสนาสนะอันสงัด
ในป่าใหญ่ ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ทำตาทิพย์ให้บริสุทธิ์
ย่อมเห็นโลกนี้โลกอื่น ตลอดถึงเหล่าโอปปาติกสัตว์ได้ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เกิน
กว่าตาของมนุษย์ คนไม่อาจจะเห็นโลกอื่นได้ด้วยตาเนื้อดังที่พระองค์ทรงเข้าพระทัย
บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของพระองค์แม้นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”
[๔๑๙] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ โยมเห็นสมณพราหมณ์ในโลกนี้ ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม
อยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักความสุข เกลียดความทุกข์ จึงคิดอย่างนี้ว่า
‘ถ้าท่านสมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเหล่านี้พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘เมื่อพวกเรา
ตายจากโลกนี้แล้ว คุณความดีจะปรากฏ’ ท่านเหล่านี้คงดื่มยาพิษ ใช้ศัสตรา
ฆ่าตัวตาย ผูกคอตาย หรือกระโดดเหวตาย แต่เพราะท่านเหล่านั้นไม่ทราบ
อย่างนี้ว่า ‘เมื่อพวกเราตายจากโลกนี้แล้ว คุณความดีจะปรากฏ’ ฉะนั้น ท่านเหล่านั้น
จึงอยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักความสุข เกลียดความทุกข์ ท่านกัสสปะ นี้แล
เป็นเหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี
ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยสตรีมีครรภ์

อุปมาด้วยสตรีมีครรภ์

[๔๒๐] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคย
มีมาแล้ว พราหมณ์คนหนึ่งมีภรรยา ๒ คน บุตรของภรรยาคนหนึ่งมีอายุ ๑๐ ปี
หรือ ๑๒ ปี ภรรยาอีกคนหนึ่ง มีครรภ์ใกล้จะคลอด ต่อมาพราหมณ์เสียชีวิตลง
ชายหนุ่มพูดกับแม่เลี้ยงดังนี้ว่า ‘คุณแม่ ทรัพย์ ธัญชาติ เงินหรือทอง ทั้งหมดล้วน
เป็นของฉัน แม่ไม่มีส่วนแบ่งในทรัพย์สมบัตินี้ โปรดมอบมรดกของพ่อแก่ฉัน’
เมื่อชายหนุ่มกล่าวอย่างนี้ นางพราหมณีนั้นกล่าวกับชายหนุ่มนั้นดังนี้ว่า
‘ลูกเอ๋ย เจ้าจงรอจนกว่าแม่จะคลอด ถ้าเด็กที่เกิดมาเป็นชาย เขาจะได้รับส่วนแบ่ง
ครึ่งหนึ่ง ถ้าเด็กที่เกิดมาเป็นหญิง เขาจะเป็นผู้รับใช้ของเจ้า’
แม้ครั้งที่ ๒ ชายหนุ่มก็พูดกับแม่เลี้ยงอีกว่า ‘คุณแม่ ทรัพย์ ธัญชาติ เงิน
หรือทอง ทั้งหมดล้วนเป็นของฉัน แม่ไม่มีส่วนแบ่งในทรัพย์สมบัตินี้ โปรดมอบ
มรดกของพ่อแก่ฉัน’ แม้ครั้งที่ ๒ นางพราหมณีก็กล่าวกับชายหนุ่มนั้นอีกว่า ‘ลูกเอ๋ย
เจ้าจงรอจนกว่าแม่จะคลอด ถ้าเด็กที่เกิดมาเป็นชาย เขาจะได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่ง
ถ้าเด็กที่เกิดมาเป็นหญิง เขาจะเป็นผู้รับใช้ของเจ้า’
แม้ครั้งที่ ๓ ชายหนุ่มก็พูดกับแม่เลี้ยงอีกว่า ‘คุณแม่ ทรัพย์ ธัญชาติ เงิน
หรือทอง ทั้งหมดล้วนเป็นของฉัน แม่ไม่มีส่วนแบ่งในทรัพย์สมบัตินี้ โปรดมอบ
มรดกของพ่อแก่ฉัน’
ลำดับนั้น นางพราหมณีถือมีดเข้าไปในห้องแล้วแหวะท้องด้วยคิดว่า ‘เราอยากรู้
ว่าลูกในครรภ์เป็นชายหรือเป็นหญิง’ ได้ทำลายตนเอง ชีวิตลูกในครรภ์ และทรัพย์
สมบัติ (ที่จะพึงได้)จนพินาศ บพิตร นางพราหมณีผู้โง่ ไม่ฉลาด เมื่อแสวงหามรดก
โดยวิธีที่ไม่แยบคาย ได้ถึงความพินาศไปแล้ว ฉันใด พระองค์ผู้โง่ ไม่ฉลาด
เมื่อแสวงหาโลกอื่นโดยวิธีที่ไม่แยบคายจักถึงความพินาศ ฉันนั้น
บพิตร สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ไม่เหมือนนางพราหมณีผู้โง่
ไม่ฉลาด เมื่อแสวงหามรดกโดยวิธีที่ไม่แยบคายได้ถึงความพินาศแล้ว คือ เขาไม่เร่ง
อายุที่ยังไม่สิ้นให้สิ้นไป แต่รอให้อายุสิ้นไปเอง เพราะว่าชีวิตของสมณพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยสตรีมีครรภ์

ผู้ฉลาด มีศีล มีกัลยาณธรรม เป็นชีวิตที่มีประโยชน์ สมณพราหมณ์ผู้มีศีล
มีกัลยาณธรรม ดำรงชีวิตอยู่นานเพียงใด ก็ย่อมประสบบุญมาก และปฏิบัติเพื่อ
เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์
เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพียงนั้น บพิตร ด้วยเหตุแห่ง
พระดำรัสของพระองค์แม้นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี
โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”
[๔๒๑] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ พวกราชบุรุษของโยมในโลกนี้ จับโจรผู้ก่อกรรมชั่วมาแสดงแก่
โยมว่า ‘ฝ่าพระบาท นี้เป็นโจรผู้ก่อกรรมชั่วต่อพระองค์ พระองค์โปรดลงพระอาชญา
แก่โจรนี้ตามพระประสงค์เถิด’ โยมสั่งพวกราชบุรุษอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเช่นนั้น พวกท่าน
จงจับบุรุษนี้ใส่หม้อทั้งเป็นแล้วปิดปากหม้อ รัดด้วยหนังสด พอกด้วยดินเหนียว
ให้หนา ยกขึ้นตั้งเตาแล้วติดไฟ’ พวกราชบุรุษรับคำของโยมแล้วจึงจับบุรุษนั้น
ใส่หม้อทั้งเป็นแล้วปิดปากหม้อ รัดด้วยหนังสด พอกด้วยดินเหนียวให้หนา ยกขึ้น
ตั้งเตาแล้วติดไฟ เมื่อโยมรู้ว่า ‘บุรุษนั้นเสียชีวิตแล้ว’ จึงให้ยกหม้อนั้นลง กะเทาะ
ดินเหนียวออกแล้วค่อย ๆ เปิดปากหม้อ ตรวจดูว่า ‘บางทีพวกเราจะได้เห็นชีวะ
(วิญญาณ)ของบุรุษนั้นออกมาบ้าง’ แต่พวกเราไม่เห็นชีวะของเขาออกมาเลย ท่าน
กัสสปะ นี้แลเป็นเหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยคนหลับฝัน

อุปมาด้วยคนหลับฝัน

[๔๒๒] “บพิตร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพขอถวายพระพรถามพระองค์
ในเรื่องนี้ โปรดตรัสตอบตามที่พอพระทัย พระองค์ทรงเคยบรรทมกลางวัน ทรงสุบิน
เห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าอันน่ารื่นรมย์ พื้นที่อันน่ารื่นรมย์ และสระโบกขรณีอันน่า
รื่นรมย์บ้างไหม”
“ท่านกัสสปะ โยมเคยหลับกลางวัน ฝันเห็นสวนอันน่ารื่นรมย์ ป่าอันน่า
รื่นรมย์ พื้นที่อันน่ารื่นรมย์ และสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์”
“ในขณะที่ทรงสุบินนั้น มีหญิงค่อม หญิงเตี้ย นางภูษามาลาหรือเด็กสาว
คอยดูแลพระองค์อยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ ในขณะที่ฝันนั้น มีหญิงค่อม หญิงเตี้ย นางภูษามาลาหรือเด็ก
สาวคอยดูแลโยมอยู่”
“หญิงเหล่านั้นเห็นชีวะของพระองค์เข้า-ออกอยู่ หรือไม่”
“ท่านกัสสปะ หญิงเหล่านั้นไม่เห็นชีวะของโยมเข้า-ออกอยู่เลย”
“บพิตร หญิงเหล่านั้นมีชีวิตอยู่แท้ ๆ ยังไม่เห็นชีวะเข้า-ออกของพระองค์ผู้ยังทรง
พระชนม์อยู่ พระองค์จะทรงเห็นชีวะเข้า-ออกของคนผู้สิ้นชีวิตไปแล้วได้อย่างไรเล่า
บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของพระองค์แม้นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”
[๔๒๓] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยก้อนเหล็กร้อน

“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ พวกราชบุรุษของโยมในโลกนี้จับโจรผู้ก่อกรรมชั่วมาแสดงแก่
โยมว่า ‘ฝ่าพระบาท นี้เป็นโจรผู้ก่อกรรมชั่วต่อพระองค์ พระองค์โปรดลงพระอาชญา
แก่โจรนี้ตามพระประสงค์เถิด’ โยมสั่งพวกราชบุรุษอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเช่นนั้น พวกท่าน
จงเอาตาชั่งมาชั่งบุรุษนี้ทั้งเป็นแล้ว ใช้เชือกมัดให้ขาดใจตาย เอาตาชั่งชั่งอีกครั้งหนึ่ง’
พวกราชบุรุษรับคำของโยมแล้วจึงเอาตาชั่งไปชั่งบุรุษนั้นทั้งเป็นแล้ว ใช้เชือกมัดให้
ขาดใจตาย เอาตาชั่งชั่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อบุรุษนั้นยังมีชีวิตอยู่ ร่างกายนี้มีน้ำหนักเบา
อ่อนนุ่ม และปรับตัวได้ง่ายกว่า แต่เมื่อบุรุษนั้นสิ้นชีวิตแล้ว ร่างกายมีน้ำหนักมาก
แข็งกระด้าง และปรับตัวได้ยากกว่า ท่านกัสสปะ นี้แลเป็นเหตุที่ทำให้โยมเข้าใจ
อย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำ
ดีและทำชั่วไม่มี”

อุปมาด้วยก้อนเหล็กร้อน

[๔๒๔] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เปรียบ
เหมือนคนเอาตาชั่งชั่งก้อนเหล็กที่เผาไว้ตลอดวัน ติดไฟลุกโพลง ต่อมาใช้ตาชั่ง
ชั่งก้อนเหล็กนั้นขณะเย็นสนิท เมื่อไรก้อนเหล็กนั้นจะมีน้ำหนักเบากว่า อ่อนกว่า
และดัดง่ายกว่า คือเมื่อติดไฟลุกโพลงอยู่หรือว่าเมื่อเย็นสนิทแล้ว”
“ท่านกัสสปะ เมื่อก้อนเหล็กนั้นมีไฟ มีลม ติดไฟลุกโพลงอยู่จะมีน้ำหนัก
เบากว่า อ่อนกว่าและดัดได้ง่ายกว่า แต่เมื่อก้อนเหล็กนั้นไม่มีไฟ ไม่มีลม เย็นสนิท
จะมีน้ำหนักมากกว่า แข็งกระด้างกว่าและดัดได้ยากกว่า”
“บพิตร เช่นเดียวกันนั่นแหละ เมื่อร่างกายนี้ยังมีอายุ มีไออุ่นและมีวิญญาณ
จะมีน้ำหนักเบากว่า อ่อนนุ่มกว่า และปรับตัวได้ง่ายกว่า แต่เมื่อร่างกายนี้ไม่มีอายุ
ไม่มีไออุ่นและไม่มีวิญญาณ จะมีน้ำหนักมากกว่า แข็งกระด้างกว่า และปรับตัวได้
ยากกว่า บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของพระองค์แม้นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยก้อนเหล็กร้อน

[๔๒๕] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี”
“บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ พวกราชบุรุษของโยมในโลกนี้ จับโจรผู้ก่อกรรมชั่วมาแสดงแก่
โยมว่า ‘ฝ่าพระบาท นี้เป็นโจรผู้ก่อกรรมชั่วต่อพระองค์ พระองค์โปรดลงพระอาชญา
แก่โจรนี้ ตามพระประสงค์เถิด’ โยมสั่งพวกราชบุรุษอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเช่นนั้น พวกท่าน
จงฆ่าบุรุษนี้ อย่าให้ผิว หนัง เอ็น กระดูก และเยื่อในกระดูกช้ำ บางทีพวกเราจะได้
เห็นชีวะของบุรุษนั้นออกมาบ้าง’ พวกราชบุรุษรับคำของโยมแล้วจึงฆ่าบุรุษนั้น
ไม่ให้ผิว หนัง เอ็น กระดูก และเยื่อในกระดูกช้ำ เมื่อบุรุษนั้นใกล้ตาย โยมสั่งว่า
‘พวกท่านจงผลักให้เขานอนหงาย บางทีพวกเราจะได้เห็นชีวะของบุรุษนั้นออกมาบ้าง’
เมื่อราชบุรุษผลักให้เขานอนหงาย พวกเราก็ไม่ได้เห็นชีวะของเขาออกมาเลย โยมจึง
สั่งอีกว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงพลิกให้เขานอนคว่ำ...’ ‘...ให้เขานอนตะแคงข้างหนึ่ง...’
‘...ให้นอนตะแคงอีกข้างหนึ่ง...’ ‘...จงพยุงให้ลุกขึ้น...’ ‘...จับศีรษะกดลง...’ ‘...ใช้ฝ่า
มือทุบ...’ ‘...ใช้ก้อนดินทุบ...’ ‘...ใช้ท่อนไม้ทุบ...’ ‘...ใช้ศัสตราทุบ..’ ‘...ลากมาลากไป
ลากไปลากมา บางทีพวกเราจะได้เห็นชีวะของบุรุษนั้นออกมาบ้าง’ พวกราชบุรุษ
ลากบุรุษนั้นมาลากบุรุษนั้นไป ลากไปลากมา พวกเราก็ไม่เห็นชีวะของเขาเลย
ตาของเขาก็เหมือนเดิม รูปก็รูปเดิม ๆ แต่ตานั้นไม่รับรู้รูปนั้น หูของเขาก็หูเดิม
เสียงก็เสียงเดิม ๆ แต่หูนั้นไม่รับรู้เสียงนั้น จมูกของเขาก็จมูกเดิม กลิ่นก็กลิ่นเดิม ๆ
แต่จมูกนั้นไม่รับรู้กลิ่นนั้น ลิ้นของเขาก็ลิ้นเดิม รสก็รสเดิม ๆ แต่ลิ้นนั้นไม่รับรู้รสนั้น
กายของเขาก็กายเดิม โผฏฐัพพะก็โผฏฐัพพะเดิม ๆ แต่กายนั้นไม่รับรู้โผฏฐัพพะนั้น
ท่านกัสสปะ นี้แลเป็นเหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยการเป่าสังข์

อุปมาด้วยการเป่าสังข์

[๔๒๖] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมี
มาแล้ว คนเป่าสังข์คนหนึ่งนำสังข์ไปยังปัจจันตชนบท เข้าไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
ยืนอยู่กลางหมู่บ้านเป่าสังข์ขึ้น ๓ ครั้ง วางสังข์ไว้ที่พื้นดินแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ลำดับนั้น ชาวปัจจันตชนบทแตกตื่นว่า ‘ท่านทั้งหลาย นั้นเสียงใครกัน
น่าพอใจ น่ารักใคร่ น่าหลงใหล น่าติดใจ ไพเราะอย่างนี้’ จึงพากันล้อมคนเป่าสังข์
ถามว่า ‘พ่อคุณ นั่นเสียงใครกัน น่าพอใจ น่ารักใคร่ น่าหลงใหล น่าติดใจ ไพเราะ
อย่างนี้’
คนเป่าสังข์ตอบว่า ‘ท่านทั้งหลาย นี้เป็นเสียงสังข์ น่าพอใจ น่ารักใคร่
น่าหลงใหล น่าติดใจ ไพเราะอย่างนี้’
ชาวปัจจันตชนบทเหล่านั้นจับสังข์นั้นให้หงายขึ้นแล้วสั่งว่า ‘พูดซิพ่อสังข์ พูดซิ
พ่อสังข์’ สังข์นั้นก็ไม่ส่งเสียง พวกเขาจับสังข์ให้คว่ำหน้าลง ... จับสังข์ให้ตะแคงข้าง
หนึ่ง ... จับสังข์ให้ตะแคงอีกข้างหนึ่ง ... ยกสังข์ให้สูงขึ้น ... วางสังข์ให้ต่ำลง ... ใช้ฝ่ามือ
เคาะ ... ใช้ก้อนดินเคาะ .... ใช้ท่อนไม้เคาะ ... ใช้ศัสตราเคาะ ... ลากมาลากไป
ลากไปลากมา แล้วสั่งว่า ‘พูดซิพ่อสังข์ พูดซิพ่อสังข์’ สังข์นั้นก็ไม่ส่งเสียง
คนเป่าสังข์ได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘ชาวปัจจันตชนบทเหล่านี้ช่างโง่เขลาจริง
ไฉนจึงแสวงหาเสียงสังข์โดยไม่ถูกวิธีอย่างนี้เล่า’ ขณะที่ชาวปัจจันตชนบทเหล่านั้น
กำลังมุงดูอยู่ เขาจึงหยิบสังข์ขึ้นมาเป่า ๓ ครั้งแล้วถือสังข์เดินไป
ชาวปัจจันตชนบทเหล่านั้นพูดกันว่า ‘ท่านทั้งหลาย เมื่อสังข์นี้มีคน มีความ
พยายาม และมีลมจึงส่งเสียงได้ เมื่อสังข์นี้ไม่มีคน ไม่มีความพยายาม และไม่มีลม
ก็ส่งเสียงไม่ได้’
บพิตร เช่นเดียวกันนั่นแหละ เมื่อกายนี้ยังมีอายุ มีไออุ่นและมีวิญญาณ จึงก้าว
ไปได้ ถอยกลับได้ ยืนได้ นั่งได้ นอนได้ เห็นรูปทางตาได้ ฟังเสียงทางหูได้ ดมกลิ่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยการเป่าสังข์

ทางจมูกได้ ลิ้มรสทางลิ้นได้ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายได้ รู้ธรรมารมณ์ทางใจได้
แต่เมื่อกายนี้ไม่มีอายุ ไม่มีไออุ่น และไม่มีวิญญาณ กายนี้จึงก้าวไปไม่ได้ ถอยกลับ
ไม่ได้ ยืนไม่ได้ นั่งไม่ได้ นอนไม่ได้ เห็นรูปทางตาไม่ได้ ฟังเสียงทางหูไม่ได้ ดมกลิ่น
ทางจมูกไม่ได้ ลิ้มรสทางลิ้นไม่ได้ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายไม่ได้ หรือรู้ธรรมารมณ์
ทางใจไม่ได้ บพิตร ด้วยเหตุแห่งพระดำรัสของพระองค์แม้นี้แล จึงแสดงอย่างนี้ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นมี โอปปาติกสัตว์มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี”

ภาณวารที่ ๑ จบ

[๔๒๗] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมก็ยังคงเชื่อในเรื่องนี้อยู่ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและ
ทำชั่วไม่มี’
บพิตร เหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่หรือ”
“ท่านกัสสปะ เหตุที่ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี
โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ มีอยู่”
“บพิตร อุปมาด้วยอะไร”
“ท่านกัสสปะ พวกราชบุรุษของโยมในโลกนี้ จับโจรผู้ก่อกรรมชั่วมาแสดงแก่
โยมว่า ‘ฝ่าพระบาท นี้เป็นโจรผู้ก่อกรรมชั่วต่อพระองค์ พระองค์โปรดลงพระอาชญา
แก่โจรนี้ตามพระประสงค์เถิด’ โยมสั่งพวกราชบุรุษอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเช่นนั้น พวกท่าน
จงเชือดผิวของบุรุษนี้ บางทีพวกเราจะได้เห็นชีวะของเขาบ้าง’ พวกเขาจึงเชือดผิว
ของบุรุษนั้น พวกเราก็ไม่ได้ไม่เห็นชีวะของเขาเลย โยมจึงสั่งอีกว่า ‘ถ้าเช่นนั้น
พวกท่านจงเถือหนัง ...’ ... ‘... แล่เนื้อ ...’ ... ‘... ตัดเอ็น ...’ ... ‘... ตัดกระดูก ...’ ...
‘ตัดเยื่อในกระดูกของเขา บางทีพวกเราจะได้เห็นชีวะของเขาบ้าง’ พวกเขาตัดเยื่อใน
กระดูกของบุรุษนั้น พวกเราก็ไม่ได้เห็นชีวะของเขาเลย ท่านกัสสปะ นี้แลเป็นเหตุที่
ทำให้โยมเข้าใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยชฏิลผู้บูชาไฟ

อุปมาด้วยชฎิลผู้บูชาไฟ

[๔๒๘] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมี
มาแล้ว มีชฎิลผู้บูชาไฟคนหนึ่งอาศัยอยู่ในกุฎีใบไม้ ณ ชายป่า เวลานั้น หมู่เกวียน
หมู่หนึ่งพักอยู่ในที่ใกล้อาศรมของชฎิลนั้น ๑ คืนแล้วจากไป ต่อมาชฎิลผู้บูชาไฟมี
ความคิดดังนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราควรเข้าไปในสถานที่ที่หมู่เกวียนนั้นพักอยู่ บางทีจะได้
อุปกรณ์ใช้สอยในที่นั้นบ้าง จึงลุกขึ้นแต่เช้าตรงเข้าไปที่ที่หมู่เกวียนพำนัก พบเด็ก
อ่อนถูกทิ้งนอนหงายอยู่ที่นั้น คิดว่า ‘การที่เราผู้เป็นมนุษย์มาพบเด็ก แล้วจะปล่อย
ให้เด็กเสียชีวิตไปก็ไม่เหมาะ ทางที่ดี เราควรพาเขาไปอาศรมแล้วชุบเลี้ยงให้เจริญเติบโต’
จึงพาเด็กนั้นไปชุบเลี้ยงจนเจริญเติบโต เมื่อเด็กนั้นอายุได้ ๑๐ ปี หรือ ๑๒ ปี
ชฎิลบูชาไฟคนนั้นมีธุระอย่างหนึ่งในเมืองจึงสั่งเด็กนั้นว่า ‘ลูก พ่อจะไปในเมือง
เจ้าพึงบูชาไฟอย่าให้ไฟดับ ถ้าไฟดับ นี้มีด นี้ฟืน นี้ไม้สีไฟ เจ้าพึงก่อไฟบูชา’
เมื่อสั่งเด็กแล้วได้ไปในเมือง ขณะที่เด็กกำลังเล่นอยู่ไฟเกิดดับ เด็กนึกขึ้นได้ว่า
‘พ่อสั่งเราไว้ว่า ‘เจ้าพึงบูชาไฟ อย่าให้ไฟดับ ถ้าไฟดับ นี้มีด นี้ฟืน นี้ไม้สีไฟ เจ้าพึง
ก่อไฟบูชา’ ทางที่ดี เราควรก่อไฟบูชา’ จึงเอามีดถากไม้สีไฟด้วยเข้าใจว่า ‘บางทีจะได้
ไฟบ้าง’ แต่ไม่ได้ไฟเลย จึงผ่าไม้สีไฟออกเป็น ๒ ซีก ... ๓ ซีก... ๔ ซีก ... ๕ ซีก ...
๑๐ ซีก ... ๒๐ ซีก ... แล้วสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ครั้นสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วก็นำ
มาโขลกในครก ครั้นโขลกในครกแล้วก็โปรยในที่มีลมแรงด้วยเข้าใจว่า ‘บางทีจะได้
ไฟบ้าง’ แต่เขาก็ไม่ได้ไฟเลย
ต่อมา ชฎิลผู้บูชาไฟทำธุระในเมืองเสร็จแล้วจึงกลับมาอาศรมของตน ได้ถาม
เด็กนั้นว่า ‘ลูกเอ๋ย ไฟของเจ้าไม่ดับบ้างเลยหรือ’
เด็กนั้นตอบว่า ‘พ่อครับ ผมมัวเล่นอยู่ตรงนี้ ไฟก็ดับเสีย’ พอนึกขึ้นได้ว่า
‘พ่อสั่งไว้ว่า ‘เจ้าพึงบูชาไฟ อย่าให้ไฟดับ ถ้าไฟดับ นี้มีด นี้ฟืน นี้ไม้สีไฟ เจ้าพึง
ก่อไฟบูชา’ ทางที่ดี เราควรก่อไฟบูชา ผมจึงเอามีดถากไม้สีไฟด้วยคิดว่า ‘บางทีจะ
ได้ไฟบ้าง’ แต่ไม่ได้ไฟเลย จึงผ่าไม้สีไฟออกเป็น ๒ ซีก ... ๓ ซีก ... ๔ ซีก ... ๕ ซีก
... ๑๐ ซีก ... ๒๐ ซีก ... แล้วสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ครั้นสับให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วก็
นำมาโขลกในครก ครั้นโขลกในครกแล้วก็โปรยในที่มีลมแรงด้วยเข้าใจว่า ‘บางทีจะได้
ไฟบ้าง’ แต่ไม่ได้ไฟเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยนายกองเกวียน ๒ คน

ลำดับนั้น ชฎิลผู้บูชาไฟคนนั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เด็กคนนี้ช่างโง่ไม่ฉลาดเอา
เสียเลย หาไฟโดยไม่ถูกวิธีจะได้อย่างไรเล่า’ เมื่อเด็กนั้นกำลังดูอยู่ จึงหยิบไม้สีไฟมา
สีให้เกิดไฟแล้วบอกกับเด็กนั้นดังนี้ว่า ‘ลูกเอ๋ย เขาติดไฟกันอย่างนี้ ไม่เหมือนเจ้าที่โง่
ไม่ฉลาดหาไฟโดยไม่ถูกวิธี’
บพิตร พระองค์ก็เช่นเดียวกันทรงโง่เขลา ไม่ฉลาดนั่นแหละ แสวงหาโลกหน้า
โดยไม่ถูกวิธี พระองค์โปรดสละทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ปล่อยวางทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ทิฏฐิชั่วเช่น
นั้นอย่าได้เกิดมีแก่พระองค์เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนานเลย”
[๔๒๙] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมไม่อาจสละทิฏฐิชั่วนี้ได้
พระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระราชานอกอาณาจักร ทรงรู้จักโยมอย่างนี้ว่า ‘เจ้าปายาสิ
มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี
ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ หากโยมสละทิฏฐิชั่วนี้ จะมีคนว่าโยมได้ว่า
‘เจ้าปายาสินี้ช่างโง่ ไม่ฉลาด ยึดถือแต่สิ่งผิด ๆ’ โยมจะถือทิฏฐินั้นต่อไปเพราะความ
โกรธ เพราะความลบหลู่ เพราะความแข่งดี”

อุปมาด้วยนายกองเกวียน ๒ คน

[๔๓๐] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมี
มาแล้ว มีพ่อค้าเกวียนหมู่ใหญ่มีเกวียนประมาณ ๑,๐๐๐ เล่ม เดินทางจากแคว้น
ทางทิศตะวันออกไปยังแคว้นทางทิศตะวันตก ขณะเมื่อเดินทางไป หญ้า ฟืน น้ำ ใบ
ไม้สดได้หมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว ในหมู่เกวียนนั้นมีนายกองเกวียน ๒ คน คุมเกวียน
คนละ ๕๐๐ เล่ม นายกองเกวียนทั้ง ๒ คนนั้นได้ปรึกษากันว่า ‘กองเกวียนนี้เป็น
หมู่ใหญ่มีเกวียน ๑,๐๐๐ เล่ม เวลาที่พวกเราเดินทางรวมกันไป หญ้า ฟืน น้ำ ใบไม้
สดหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว ทางที่ดีพวกเราควรแยกกองเกวียนนี้ออกเป็น ๒ กลุ่ม
คือ แยกเป็นกลุ่มละ ๕๐๐ เล่ม’ จึงตกลงแยกกันเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มละ ๕๐๐ เล่ม
นายกองเกวียนคนหนึ่งบรรทุกหญ้า ฟืน และน้ำเป็นอันมากขับเกวียนล่วงหน้าไปก่อน
เมื่อไปได้ ๒-๓ วันได้พบบุรุษผิวดำนัยน์ตาแดงสะพายแล่งธนู ทัดดอกโกมุท มีผ้า
และผมเปียกปอน ขับรถคันงามมีล้อเปื้อนตมสวนทางมา จึงถามว่า ‘ท่านมาจากไหน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยนายกองเกวียน ๒ คน

บุรุษนั้นตอบว่า ‘เรามาจากที่โน้น’
นายกองเกวียนถามว่า ‘ท่านจะไปไหน’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘เราจะไปที่โน้น’
นายกองเกวียนถามว่า ‘หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมากใช่ไหม’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘ใช่ครับ หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมาก หนทางมีน้ำ
ชุ่มฉ่ำ มีหญ้า ฟืนและน้ำมากมาย พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่าเสียเถิด
เกวียนเบาท่านจะเดินทางได้เร็วขึ้น วัวก็ไม่ต้องลำบาก’
ลำดับนั้น นายกองเกวียนเรียกพวกขับเกวียนมาบอกว่า ‘บุรุษนี้บอกว่า
‘หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมาก หนทางมีน้ำชุ่มฉ่ำ มีหญ้า ฟืน และน้ำ
มากมาย พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่าเสียเถิด เกวียนเบาท่านจะเดินทาง
ได้เร็วขึ้น วัวก็ไม่ต้องลำบาก’ พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่า จงขับเกวียนเบา
ไปเถิด’
พวกขับเกวียนรับคำของนายกองเกวียนแล้วทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่า ขับเกวียน
เบาไป แต่ก็มิได้พบเห็นหญ้า ฟืนหรือน้ำแม้ในที่พักกองเกวียนแห่งแรก แห่งที่ ๒
แห่งที่ ๓ แห่งที่ ๔ แห่งที่ ๕ แห่งที่ ๖ แห่งที่ ๗ ก็ไม่พบ จึงถึงความวอดวายด้วยกัน
มนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในกองเกวียนนั้นถูกอมนุษย์คือยักษ์จับกินเสียทั้งหมดเหลือแต่
กระดูก
ต่อมา เมื่อนายกองเกวียนคณะที่ ๒ รู้สึกว่า เวลานี้กองเกวียนคณะแรกได้
ออกเดินทางไปนานแล้ว จึงบรรทุกหญ้า ฟืน และน้ำเป็นอันมากแล้วขับเกวียนไป
เมื่อไปได้ ๒-๓ วันได้พบบุรุษผิวดำนัยน์ตาแดงสะพายแล่งธนู ทัดดอกโกมุท มีผ้า
และผมเปียกปอน ขับรถคันงามมีล้อเปื้อนตมสวนทางมา จึงถามว่า ‘ท่านมา
จากไหน’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘เรามาจากที่โน้น’
นายกองเกวียนถามว่า ‘ท่านจะไปไหน’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘เราจะไปที่โน้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยนายกองเกวียน ๒ คน

นายกองเกวียนถามว่า ‘หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมากใช่ไหม’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘ใช่ครับ หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมาก หนทางมีน้ำ
ชุ่มฉ่ำ มีหญ้า ฟืนและน้ำมากมาย พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่าเสียเถิด
เกวียนเบาท่านจะเดินทางได้เร็วขึ้น วัวก็ไม่ต้องลำบาก’
ลำดับนั้น นายกองเกวียนเรียกพวกขับเกวียนมาบอกว่า ‘บุรุษนี้บอกว่า
‘หนทางกันดารข้างหน้ามีฝนตกมาก หนทางมีน้ำชุ่มฉ่ำ มีหญ้า ฟืน และน้ำ
มากมาย พวกท่านจงทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่าเสียเถิด เกวียนเบาท่านจะเดินทางได้
เร็วขึ้น วัวก็ไม่ต้องลำบาก’ ท่านทั้งหลาย บุรุษผู้นี้ไม่ใช่มิตรหรือญาติสาโลหิตของ
พวกเรา พวกเราจะเชื่อเขาได้อย่างไร พวกท่านไม่ควรทิ้งหญ้า ฟืน และน้ำเก่า จงขับ
กองเกวียนไปพร้อมกับสิ่งของตามที่นำมาเถิด พวกเราจะไม่ทิ้งของเก่า’
พวกขับเกวียนรับคำของนายกองเกวียนแล้ว ขับเกวียนไปพร้อมกับสิ่งของตาม
ที่นำมา พวกเขาไม่พบเห็นหญ้า ฟืน หรือน้ำในที่พักกองเกวียนแห่งแรก แห่งที่ ๒
แห่งที่ ๓ แห่งที่ ๔ แห่งที่ ๕ แห่งที่ ๖ แห่งที่ ๗ ก็ไม่พบเลย เห็นแต่กอง
เกวียน(คณะแรก)ที่ถึงความวอดวาย และเห็นมนุษย์และสัตว์เลี้ยงในกองเกวียนนั้น
ซึ่งถูกอมนุษย์คือยักษ์จับกินเสียทั้งหมดเหลือแต่กระดูก
ลำดับนั้น นายกองเกวียนจึงเรียกพวกขับเกวียนมาบอกว่า ‘นี้คือหมู่เกวียน
(คณะแรก)นั้นได้ถึงความวอดวาย ทั้งนี้เพราะนายกองเกวียนผู้นำเป็นคนโง่เขลา
ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงทิ้งสิ่งของที่มีประโยชน์น้อยในกองเกวียนของเราแล้ว จงขนเอา
สิ่งของที่มีประโยชน์มากในกองเกวียนนี้ไป’
พวกขับเกวียนรับคำของนายกองเกวียนแล้ว ทิ้งสิ่งของที่มีประโยชน์น้อยในเกวียน
ของตน ขนเอาสิ่งของที่มีประโยชน์มากในหมู่เกวียนนั้น เดินทางข้ามทางกันดารไป
ได้โดยสวัสดิภาพ ทั้งนี้เพราะนายกองเกวียนผู้นำเป็นคนฉลาด
บพิตร พระองค์ทรงโง่เขลา ไม่ฉลาด ทรงแสวงหาโลกอื่นโดยไม่ถูกวิธี จะถึง
ความพินาศ ก็เช่นเดียวกับนายกองเกวียนคนแรกนั้นแหละ พวกคนที่เข้าใจว่าทิฏฐิ
ของพระองค์ควรฟัง ควรเชื่อถือเหล่านั้น ก็จะถึงความพินาศเหมือนกัน ฉะนั้น
พระองค์โปรดสละทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ปล่อยวางทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ทิฏฐิชั่วเช่นนั้นอย่าได้เกิด
มีแก่พระองค์เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานเลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยคนทูนห่ออุจจาระ

[๔๓๑] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมไม่อาจสละทิฏฐิชั่วนี้ได้
พระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระราชานอกอาณาจักรทรงรู้จักโยมอย่างนี้ว่า ‘เจ้าปายาสิ
ทรงมีวาทะอย่างนี้ ทรงมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์
ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ หากโยมสละทิฏฐิชั่วนี้ จะมีคนว่า
โยมได้ว่า ‘เจ้าปายาสินี้ช่างโง่เขลา ไม่ฉลาด ยึดถือแต่สิ่งผิด ๆ’ โยมจะถือทิฏฐินั้น
ต่อไป เพราะความโกรธ เพราะความลบหลู่ เพราะความแข่งดี”
อุปมาด้วยคนทูนห่ออุจจาระ
[๔๓๒] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมี
มาแล้ว มีบุรุษผู้เลี้ยงสุกรคนหนึ่งออกจากหมู่บ้านของตนไปยังหมู่บ้านอื่น เห็น
อุจจาระแห้งจำนวนมากที่เขาทิ้งไว้ในบ้านนั้น จึงมีความคิดดังนี้ว่า ‘อุจจาระแห้ง
มากมายที่เขาทิ้งนี้เป็นอาหารของสุกรของเรา ทางที่ดี เราควรนำอุจจาระแห้ง
ไปจากที่นี้’ จึงปูผ้าห่มลงแล้วโกยเอาอุจจาระแห้งจำนวนมาก ผูกเป็นห่อทูนเดินไป
ในระหว่างทาง เขาถูกฝนห่าใหญ่นอกฤดูกาล ตกรดเปรอะเปื้อนไปด้วยอุจจาระ
ตั้งแต่ศีรษะจดปลายเล็บ(เท้า) ทูนเอาห่ออุจจาระที่ล้นไหลเดินไป
ชาวบ้านเห็นเขาจึงถามว่า ‘ท่านบ้าหรือเปล่า เสียจริตหรือเปล่า ทำไมจึง
เปรอะเปื้อนด้วยอุจจาระตั้งแต่ศีรษะจดปลายเล็บ ทูนห่ออุจจาระที่ล้นไหลอยู่เล่า’
บุรุษนั้นตอบว่า ‘พวกท่านต่างหากที่บ้า พวกท่านต่างหากที่เสียจริต ความจริง
อุจจาระเป็นอาหารของสุกรของเรา’
บพิตร พระองค์ก็เช่นเดียวกับบุรุษผู้ทูนห่ออุจจาระเดินไปนั่นแหละ พระองค์
โปรดสละทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ปล่อยวางทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ทิฏฐิชั่วเช่นนั้นอย่าได้เกิดมีแก่
พระองค์เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ ตลอดกาลนานเลย”
[๔๓๓] “ท่านกัสสปะพูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมไม่อาจสละทิฏฐิชั่วนี้ได้ พระเจ้า
ปเสนทิโกศลหรือพระราชานอกอาณาจักรรู้จักโยมอย่างนี้ว่า ‘เจ้าปายาสิทรงมีวาทะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยนักเลงสกา

อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบาก
แห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ หากโยมสละทิฏฐิชั่วนี้จะมีคนว่าโยมได้ว่า ‘เจ้าปายาสิ
นี้ช่างโง่เขลาไม่ฉลาด ยึดถือแต่สิ่งผิด ๆ’ โยมจะถือทิฏฐินั้นต่อไป เพราะความโกรธ
เพราะความลบหลู่ เพราะความแข่งดี”

อุปมาด้วยนักเลงสกา

[๔๓๔] “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ
คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่งถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมี
มาแล้ว มีนักเลงสกา ๒ คนกำลังเล่นสกา คนหนึ่งกลืนเบี้ยที่จะทำให้แพ้ลูกแล้ว
ลูกเล่า อีกคนหนึ่งเห็นเช่นนั้นจึงพูดว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ท่านชนะอยู่ฝ่ายเดียว จงคืนลูกสกา
แก่เราบ้าง เราจะเซ่นบูชา’ นักเลงสกาคนนั้นรับคำแล้วมอบลูกสกาคืน ต่อมานัก
เลงสกาคนที่ ๒ เอายาพิษทาลูกสกาแล้วบอกว่า ‘มาเถิด เพื่อน เราจักเล่นสกา
กันต่อ’ นักเลงสกาคนแรกรับคำแล้ว
แม้ครั้งที่ ๒ นักเลงสกาทั้ง ๒ ก็เล่นสกากันต่อ แม้ครั้งที่ ๒ นักเลงสกาคนแรก
ก็ยังกลืนเบี้ยที่จะทำให้แพ้ลูกแล้วลูกเล่า นักเลงสกาคนที่ ๒ เห็นนักเลงคนแรก
กลืนเบี้ยที่จะทำให้แพ้ลูกแล้วลูกเล่า แม้ครั้งที่ ๒ จึงได้พูดกับนักเลงสกาดังนี้ว่า
‘คนกลืนลูกสกาเคลือบยาพิษ
อย่างแรงกล้าก็ยังไม่รู้ตัว
เฮ้ย เจ้านักเลงชั่ว เจ้าจงกลืนเข้าไป
พิษร้ายแรงจักออกฤทธิ์แก่เจ้าภายหลัง‘๑
บพิตร พระองค์ก็เช่นเดียวกับนักเลงสกานั่นแหละ โปรดสละทิฏฐิชั่วนั้นเถิด
ปล่อยวางทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ทิฏฐิชั่วเช่นนั้นอย่าได้เกิดมีแก่พระองค์เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์
ตลอดกาลนานเลย”

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๙๑/๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยคนหอบเปลือกป่าน

[๔๓๕] “ท่านกัสสปะ พูดอย่างนั้นก็จริง แต่โยมไม่อาจสละทิฏฐิชั่วนี้ได้
พระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระราชานอกอาณาจักรรู้จักโยมอย่างนี้ว่า ‘เจ้าปายาสิมี
วาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี
ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ หากโยมสละทิฏฐิชั่วนี้ จะมีคนว่าโยมได้ว่า
‘เจ้าปายาสินี้ช่างโง่เขลา ไม่ฉลาด ยึดถือแต่สิ่งผิด ๆ’ โยมจะยึดถือทิฏฐินั้นต่อไป
เพราะความโกรธ เพราะความลบหลู่ เพราะความแข่งดี”

อุปมาด้วยคนหอบเปลือกป่าน

[๔๓๖] ท่านพระกุมารกัสสปะถวายพระพรว่า “บพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพ
จะยกอุปมาถวายพระองค์ให้สดับ คนฉลาดบางพวกในโลกนี้ เข้าใจความหมายแห่ง
ถ้อยคำได้ด้วยอุปมาโวหาร เรื่องเคยมีมาแล้ว ณ เมืองแห่งหนึ่ง สหายผู้หนึ่งเรียก
สหายมาบอกว่า ‘มาเถิด เพื่อน เราจะเข้าไปยังเมืองนั้น บางทีจะได้ทรัพย์ในเมืองนั้น
บ้าง’ สหายคนที่ ๒ รับคำของเพื่อนแล้ว พากันเข้าไปยังชนบทถึงถนนในหมู่บ้าน
แห่งหนึ่ง เห็นเปลือกป่านที่เขาทิ้งไว้มากมายในที่นั้น สหายคนแรกบอกสหายคน
ที่ ๒ ว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เขาทิ้งเปลือกป่านไว้มากมาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงผูกเปลือก
ป่านไป ๑ มัด เราจะผูกอีก ๑ มัด เรา ๒ คนจะช่วยกันขนเปลือกป่านไป’ สหาย
คนที่ ๒ รับคำแล้วผูกเปลือกป่าน ๑ มัด แล้ว ต่างช่วยกันหอบเปลือกป่านเข้าไป
ยังถนนในหมู่บ้านอีกสายหนึ่ง ได้เห็นด้ายป่านที่เขาทิ้งไว้มากมายในที่นั้น สหาย
คนแรกจึงบอกสหายอีกคนหนึ่งว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เราจะปรารถนาเปลือกป่านไปเพื่อ
อะไร นี้ด้ายป่านที่เขาทิ้งไว้มากมาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงทิ้งมัดเปลือกป่านเสียเถิด
เราก็จะทิ้งเหมือนกัน เรามาช่วยกันนำมัดด้ายป่านไปเถิด’ สหายคนที่ ๒ ตอบว่า
‘เพื่อนเอ๋ย เราหอบมัดเปลือกป่านนี้มาตั้งไกล อีกทั้งมัดไว้เรียบร้อยดีแล้ว เราจะไม่
ทิ้งล่ะ ท่านจงทราบเถิด’
ลำดับนั้น สหายคนแรกทิ้งมัดเปลือกป่านแล้วนำมัดด้ายป่าน
สหายทั้งสองพากันเข้าไปยังถนนในหมู่บ้านอีกสายหนึ่ง ได้เห็นผ้าป่านที่เขา
ทิ้งไว้มากมายในที่นั้น สหายคนแรกจึงบอกสหายอีกคนหนึ่งว่า ‘เราจะปรารถนา
เปลือกป่านและด้ายป่านไปเพื่ออะไร นี้ผ้าป่านที่เขาทิ้งไว้มากมาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] อุปมาด้วยคนหอบเปลือกป่าน

ทิ้งมัดเปลือกป่านเสีย เราก็จะทิ้งมัดด้ายป่านเหมือนกัน พวกเรามาช่วยกันนำมัดผ้า
ป่านไปเถิด’ สหายคนที่ ๒ ตอบว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เราหอบมัดเปลือกป่านนี้มาตั้งไกล
อีกทั้งมัดไว้เรียบร้อยดีแล้ว เราจะไม่ทิ้งล่ะ ท่านจงทราบเถิด’
ลำดับนั้น สหายคนแรกทิ้งมัดด้ายป่านแล้วนำมัดผ้าป่านไป
สหายทั้งสองพากันเข้าไปยังถนนในหมู่บ้านอีกสายหนึ่ง ได้เห็นเปลือกไม้โขมะ
ที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ด้ายเปลือกไม้โขมะที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ผ้าเปลือกไม้
โขมะ ที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ลูกฝ้ายที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ด้ายฝ้ายที่เขาทิ้งไว้
มากมาย ฯลฯ ผ้าฝ้ายที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ เหล็กที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ
โลหะ๑ที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ดีบุกที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ สำริดที่เขาทิ้งไว้
มากมาย ฯลฯ เงินที่เขาทิ้งไว้มากมาย ฯลฯ ทองที่เขาทิ้งไว้มากมายในที่นั้น สหาย
คนแรกจึงบอกสหายอีกคนหนึ่งว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เราจะปรารถนาเปลือกป่าน ด้ายป่าน
ผ้าป่าน เปลือกไม้โขมะ ด้ายเปลือกไม้โขมะ ผ้าเปลือกไม้โขมะ ลูกฝ้าย ด้ายฝ้าย
ผ้าฝ้าย เหล็ก โลหะ ดีบุก สำริด หรือเงินไปเพื่ออะไรกัน นี้ทองที่เขาทิ้งไว้มากมาย
ท่านจงทิ้งมัดเปลือกป่านเสียเถิด เราก็จะทิ้งห่อเงินเหมือนกัน พวกเรามาช่วยกัน
นำห่อทองไปเถิด’ สหายคนที่ ๒ ตอบว่า ‘เพื่อนเอ๋ย เราหอบมัดเปลือกป่านนี้มา
ตั้งไกล อีกทั้งมัดไว้เรียบร้อยดีแล้ว เราจะไม่ทิ้งล่ะ ท่านจงทราบเถิด’
ลำดับนั้น สหายคนแรกทิ้งห่อเงินแล้วนำห่อทองไป
สหายทั้งสองพากันเข้าไปยังหมู่บ้านของตน ๆ ในบรรดาสหายทั้ง ๒ คนนั้น
คนที่หอบมัดเปลือกป่านไป ไม่ได้รับความชื่นชมยินดีจากมารดาบิดา ไม่ได้รับความ
ชื่นชมยินดีจากบุตรภรรยา ไม่ได้รับความชื่นชมยินดีจากมิตรอำมาตย์ อีกทั้งไม่ได้
รับความสุขโสมนัสที่เกิดจากการหอบเปลือกป่านนั้น ส่วนสหายอีกคนหนึ่งที่นำห่อ
ทองไป ได้รับความชื่นชมยินดีจากมารดาบิดา ได้รับความชื่นชมยินดีจากบุตรภรรยา
ได้รับความชื่นชมยินดีจากมิตรอำมาตย์ อีกทั้งได้รับความสุขโสมนัสที่เกิดจากการนำ
ห่อทองนั้น

เชิงอรรถ :
๑ โลหะ ในที่นี้หมายถึงทองแดง (ที.ม.อ. ๔๓๖/๔๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] ว่าด้วยยัญพิธี

บพิตร พระองค์ก็เช่นเดียวกับบุรุษผู้ขนมัดเปลือกป่านไม่เกื้อกูลนั่นแหละ พระองค์
โปรดสละทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ปล่อยวางทิฏฐิชั่วนั้นเถิด ทิฏฐิชั่วเช่นนั้นอย่าได้เกิดมีแก่พระองค์
เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานเลย”

เจ้าปายาสิทรงรับสรณคมน์

[๔๓๗] เจ้าปายาสิตรัสว่า “เพียงอุปมาโวหารข้อแรกของท่านกัสสปะเท่านั้น
โยมก็พอใจอย่างยิ่งแล้ว แต่อยากจะฟังปฏิภาณในการตอบปัญหาที่วิจิตรเหล่านี้
จึงทำทีโต้แย้งท่านกัสสปะไปเท่านั้นเอง ภาษิตของท่านกัสสปะชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ภาษิตของท่านกัสสปะชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านกัสสปะประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดย
ประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ โยมขอถึงพระผู้มี
พระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านกัสสปะโปรดจำโยมว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต โยมปรารถนาจะบูชา
มหายัญ ขอท่านกัสสปะโปรดชี้แจงวิธีบูชามหายัญอันเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่
่โยมตลอดกาลนานเถิด”

ว่าด้วยยัญพิธี

[๔๓๘] ท่านพระกุมารกัสสปะถวายพระพรว่า “บพิตร ยัญที่มีการฆ่าโค ๑
ยัญที่มีการฆ่าแพะ แกะ ๑ ยัญที่มีการฆ่าไก่ สุกร ๑ ยัญที่ทำให้สัตว์ต่าง ๆ ได้รับ
ความเดือดร้อน ๑ และผู้รับ(ยัญ) ก็เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ มีมิจฉาสังกัปปะ มี
มิจฉาวาจา มีมิจฉากัมมันตะ มีมิจฉาอาชีวะ มีมิจฉาสติ มีมิจฉาสมาธิ เช่นนี้ ไม่มี
ผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ไม่มีความแพร่หลายมาก
เปรียบเหมือนชาวนาถือเมล็ดพืชและไถไปป่าแล้วหว่านเมล็ดพืชที่หัก เน่า ถูกลม
แดดแผดเผาแล้ว ลีบ ยังไม่สุกดีลงในนาไร่ที่ไม่ดี มีพื้นที่ไม่เหมาะ ไม่แผ้วถางตอและ
หนามให้หมดไป ทั้งฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล เมล็ดพืชเหล่านั้นจะเจริญงอกงามไพบูลย์
หรือ ชาวนาจะได้รับผลอันไพบูลย์หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] เรื่องอุตตรมาณพ

เจ้าปายาสิตรัสตอบว่า “ไม่เป็นอย่างนั้นเลย ท่านกัสสปะ”
ท่านพระกุมารกัสสปะถวายพระพรว่า “บพิตร ยัญที่มีการฆ่าโค ๑ ยัญที่
มีการฆ่าแพะ แกะ ๑ ยัญที่มีการฆ่าไก่ สุกร ๑ ยัญที่ทำให้สัตว์ต่าง ๆ ได้รับ
ความเดือดร้อน ๑ และผู้รับ(ยัญ)ก็เป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ มีมิจฉาสังกัปปะ มีมิจฉาวาจา
มีมิจฉากัมมันตะ มีมิจฉาอาชีวะ มีมิจฉาวายามะ มีมิจฉาสติ มีมิจฉาสมาธิเช่นนี้
ย่อมไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่มีความเจริญรุ่งเรืองมากไม่มีความแพร่หลาย
มาก” ส่วนยัญที่ไม่มีการฆ่าโค ๑ ยัญที่ไม่มีการฆ่าแพะ แกะ ๑ ยัญที่ไม่มีการฆ่าไก่
สุกร ๑ ยัญที่ไม่ทำให้สัตว์ต่าง ๆ ได้รับความเดือดร้อน ๑ และผู้รับก็เป็นผู้มี
สัมมาทิฏฐิ มีสัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวาจา มีสัมมากัมมันตะ มีสัมมาอาชีวะ
มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิเช่นนี้ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
มีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก เปรียบเหมือนชาวนาถือเมล็ดพืชและ
ไถไปป่าแล้วหว่านเมล็ดพืชที่ไม่หัก ไม่เน่า ไม่ถูกลมแดดแผดเผา มีเมล็ดสุกดีลงใน
นาไร่ที่ดีมีพื้นที่เหมาะ แผ้วถางตอและหนามให้หมดไป ทั้งฝนก็ตกตามฤดูกาล
พืชเหล่านั้นจะเจริญงอกงามไพบูลย์ หรือชาวนาจะได้รับผลอันไพบูลย์หรือ”
เจ้าปายาสิตรัสตอบว่า “เป็นอย่างนั้น ท่านกัสสปะ”
ท่านพระกุมารกัสสปะถวายพระพรว่า “ยัญที่ไม่มีการฆ่าโค ๑ ยัญที่ไม่มีการ
ฆ่าแพะ แกะ ๑ ยัญที่ไม่มีการฆ่าไก่ สุกร ๑ ยัญที่ไม่ทำให้สัตว์ต่าง ๆ ได้รับความ
เดือนร้อน ๑ และผู้รับก็เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ มีสัมมาสังกัปปะ มีสัมมาวาจา
มีสัมมากัมมันตะ มีสัมมาอาชีวะ มีสัมมาวายามะ มีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิเช่นนี้
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความเจริญรุ่งเรืองมากมีความแพร่หลายมาก”

เรื่องอุตตรมาณพ

[๔๓๙] ต่อมา เจ้าปายาสิทรงเริ่มให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า
คนเดินทาง วณิพก และพวกยาจก แต่ในทานนั้นท้าวเธอประทานโภชนะเห็นปานนี้
คือ ปลายข้าวมีน้ำผักดองเป็นกับ ได้ประทานผ้าเนื้อหยาบมีชายขอดเป็นปม ๆ ในการ
ให้ทานนั้น มีอุตตรมาณพเป็นเจ้าหน้าที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] เรื่องอุตตรมาณพ

อุตตรมาณพให้ทานแล้วอุทิศอย่างนี้ว่า “ด้วยผลทานนี้ ข้าพเจ้าขออยู่ร่วมกับ
เจ้าปายาสิในโลกนี้เท่านั้น อย่าได้อยู่ร่วมกันอีกในโลกหน้าเลย”
เจ้าปายาสิทรงสดับว่า “ทราบว่า อุตตรมาณพให้ทานแล้วอุทิศอย่างนี้ว่า
‘ด้วยผลทานนี้ ข้าพเจ้าขออยู่ร่วมกับเจ้าปายาสิในโลกนี้เท่านั้น อย่าได้อยู่ร่วมกัน
อีกในโลกหน้าเลย’ ต่อมาพระองค์ จึงรับสั่งให้เรียกอุตตรมาณพมาตรัสถามว่า
“พ่ออุตตระ เธอให้ทานแล้วอุทิศอย่างนี้ว่า ‘ด้วยผลทานนี้ ข้าพเจ้าขออยู่ร่วมกับ
เจ้าปายาสิในโลกนี้เท่านั้น อย่าได้อยู่ร่วมกันอีกในโลกหน้าเลย’ จริงหรือ”
อุตตรมาณพกราบทูลว่า “จริงอย่างนั้น กระหม่อม”
เจ้าปายาสิตรัสถามว่า “พ่ออุตตระ ก็เพราะเหตุใด เธอให้ทานแล้วจึงอุทิศ
อย่างนี้ว่า ‘ด้วยผลทานนี้ ฯลฯ อย่าได้อยู่ร่วมกันอีกในโลกหน้าเลย’ พวกเรา
ต้องการบุญ หวังผลทานจริง ๆ มิใช่หรือ”
อุตตรมาณพกราบทูลว่า “ในทานของพระองค์ยังมีการประทานโภชนะเห็น
ปานนี้ คือปลายข้าวมีน้ำผักดองเป็นกับ ซึ่งพระองค์ไม่ทรงปรารถนาจะถูกต้องแม้
ด้วยพระบาท ไฉนจะเสวยเล่า อนึ่ง ผ้าก็เนื้อหยาบมีชายขอดเป็นปม ๆ ซึ่งพระองค์
ไม่ทรงปรารถนาจะถูกต้องแม้ด้วยพระบาท ไฉนจะทรงนุ่งห่มเล่า พระองค์ทรงเป็น
ที่รัก เป็นที่พอใจของพวกข้าพระองค์ พวกข้าพระองค์จะชักจูงผู้ซึ่งเป็นที่รักเป็นที่
พอใจไป ด้วยสิ่งที่ไม่น่าพอใจได้อย่างไรเล่า”
เจ้าปายาสิตรัสว่า “พ่ออุตตระ ถ้าอย่างนั้น เธอจงจัดเตรียมโภชนะชนิดเดียว
กับที่เราบริโภค จงจัดเตรียมผ้าชนิดเดียวกับที่เรานุ่งห่ม”
อุตตรมาณพทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จัดเตรียมโภชนะชนิดเดียวกับที่เจ้า
ปายาสิเสวย และจัดเตรียมผ้าชนิดเดียวกับที่เจ้าปายาสิทรงนุ่งห่ม
[๔๔๐] ต่อมา เพราะเหตุที่เจ้าปายาสิทรงให้ทานโดยไม่เคารพ ไม่ทรง
ให้ทานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ ทรงให้ทานโดยความไม่นอบน้อม แต่ทรงให้ทาน
อย่างโยนทิ้ง หลังจากถึงชีพิตักษัยแล้วจึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้น
จาตุมหาราช๑ คือ ได้วิมานว่างเปล่าชื่อเสรีสกวิมาน’ ส่วนอุตตรมาณพผู้เป็น

เชิงอรรถ :
๑ เข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นจาตุมหาราช ในที่นี้หมายถึงไปเกิดเป็นบริวารของท้าวเวสวัณ-
มหาราช (ขุ.วิ. (แปล) ๒๖/๑๒๔๘/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] ปายาสิเทพบุตร

เจ้าหน้าที่ในการให้ทานของเจ้าปายาสินั้น ให้ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือของตน
เอง ให้ทานโดยความนอบน้อม ไม่ใช่ให้ทานอย่างโยนทิ้ง หลังจากตายแล้ว
ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์

ปายาสิเทพบุตร

[๔๔๑] สมัยต่อมา ท่านพระควัมปติไปพักกลางวัน ณ เสรีสกวิมานที่ว่าง
เปล่าอยู่เนือง ๆ ลำดับนั้น ปายาสิเทพบุตรเข้าไปหาท่านพระควัมปติถึงที่อยู่ไหว้
แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ท่านพระควัมปติถามปายาสิเทพบุตรว่า “ท่านเป็นใคร”
ปายาสิเทพบุตรตอบว่า “ข้าพเจ้าคือเจ้าปายาสิ ขอรับ”
ท่านพระควัมปติถามว่า “ท่านเป็นผู้มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ โลกอื่น
ไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’ จริงหรือ”
ปายาสิเทพบุตรตอบว่า “จริงขอรับ ข้าพเจ้าเคยมีทิฏฐิอย่างนั้นว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ โลกอื่นไม่มี โอปปาติกสัตว์ไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี’
แต่พระผู้เป็นเจ้ากุมารกัสสปะได้ชี้นำให้ข้าพเจ้าออกจากทิฏฐิชั่วนั้นแล้ว”
ท่านพระควัมปติถามว่า “ก็อุตตรมาณพผู้เป็นเจ้าหน้าที่ในการให้ทานของท่าน
ไปเกิดที่ไหน”
ปายาสิเทพบุตรตอบว่า “อุตตรมาณพผู้เป็นเจ้าหน้าที่ในการให้ทานของข้าพเจ้า
ให้ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือของตน ให้ทานโดยความนอบน้อม ไม่ใช่ให้ทาน
อย่างโยนทิ้ง หลังจากตายแล้ว ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้น
ดาวดึงส์ ส่วนข้าพเจ้าให้ทานโดยไม่เคารพ ไม่ให้ทานด้วยมือของตน ให้ทานโดย
ความไม่นอบน้อม ให้ทานอย่างโยนทิ้ง หลังจากตายแล้วเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วม
กับพวกเทพชั้นจาตุมหาราช คือ ได้วิมานว่างเปล่าชื่อเสรีสกวิมาน ท่านควัมปติ
ขอรับ ขอท่านจงไปมนุษยโลกประกาศอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย จงให้ทานโดยเคารพ
ให้ทานด้วยมือของตนเอง ให้ทานโดยความนอบน้อม อย่าให้ทานอย่างโยนทิ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า :๓๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค [๑๐. ปายาสิสูตร] รวมพระสูตรที่มีในวรรค

เจ้าปายาสิทรงให้ทานโดยไม่เคารพ ไม่ทรงให้ทานด้วยมือของพระองค์เอง ทรงให้
ทานโดยความไม่นอบน้อม ทรงให้ทานอย่างโยนทิ้ง หลังจากถึงชีพิตักษัยแล้วได้เข้า
ถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นจาตุมหาราช คือ ได้วิมานว่างเปล่าชื่อ
เสรีสกวิมาน ส่วนอุตตรมาณพผู้เป็นเจ้าหน้าที่ในการให้ทานของเจ้าปายาสินั้นให้
ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือของตน ให้ทานโดยความนอบน้อม ไม่ใช่ให้ทาน
อย่างโยนทิ้ง หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้น
ดาวดึงส์”
ต่อมา เมื่อท่านพระควัมปติกลับมาสู่มนุษยโลกแล้วได้ประกาศอย่างนี้ว่า
‘ท่านทั้งหลาย จงให้ทานโดยเคารพ ให้ทานด้วยมือของตน ให้ทานโดยความ
นอบน้อม อย่าให้ทานอย่างโยนทิ้ง เจ้าปายาสิทรงให้ทานโดยไม่เคารพ ไม่ทรงให้
ทานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ ทรงให้ทานโดยไม่นอบน้อม ทรงให้ทานอย่างโยนทิ้ง
หลังจากถึงชีพิตักษัยแล้วเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทพชั้นจาตุมหาราช
คือ ได้วิมานว่างเปล่าชื่อเสรีสกวิมาน ส่วนอุตตรมาณพผู้เป็นเจ้าหน้าที่ในการให้ทาน
ของเจ้าปายาสิให้ทานโดยความเคารพ ให้ทานด้วยมือของตน ให้ทานโดยความ
นอบน้อม ไม่ใช่ให้ทานอย่างโยนทิ้ง หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ได้อยู่
ร่วมกับพวกเทพชั้นดาวดึงส์”

ปายาสิสูตรที่ ๑๐ จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มหาปทานสูตร___๒. มหานิทานสูตร
๓. มหาปรินิพพานสูตร ___๔. มหาสุทัสสนสูตร
๕. ชนวสภสูตร___๖. มหาโควินทสูตร
๗. มหาสมยสูตร___๘. สักกปัญหสูตร
๙. มหาสติปัฏฐานสูตร___๑๐. ปายาสิสูตร

เรียกว่ามหาวรรค

มหาวรรค จบ


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ สุตตันตปิฎกที่ ๐๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค จบ





eXTReMe Tracker