ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๙ สุตตันตปิฎกที่ ๐๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
เรื่องสุปปิยปริพาชกกับพรหมทัตมาณพ

พระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. พรหมชาลสูตร
ว่าด้วยข่ายแห่งพระสัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ
เรื่องสุปปิยปริพาชกกับพรหมทัตมาณพ

[๑] ข้าพเจ้า๑ ได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จทางไกลระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา
พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป แม้สุปปิยปริพาชก๒ ก็ได้เดินทางไกล
ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา พร้อมด้วยพรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์เช่นเดียวกัน
ทราบว่า ในการเดินทางครั้งนั้น สุปปิยปริพาชกกล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์หลายอย่าง ส่วนพรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ของเขากลับกล่าวยกย่องพระ
พุทธ พระธรรม พระสงฆ์หลายอย่าง อาจารย์กับศิษย์มีถ้อยคำขัดแย้งในลักษณะ
ตรงกันข้ามอย่างนี้ขณะเดินตามหลังพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไป
[๒] ต่อมา พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าประทับแรม ณ พระตำหนักหลวงใน
พระราชอุทยานอัมพลัฏฐิกาพร้อมกับภิกษุสงฆ์ แม้สุปปิยปริพาชกก็เข้าพักแรม ณ
พระตำหนักหลวงในพระราชอุทยานกับพรหมทัตมาณพเช่นเดียวกัน ณ ที่นั้น
สุปปิยปริพาชกก็กล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หลายอย่าง ส่วน
พรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ของเขากลับกล่าวยกย่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
หลายอย่าง อาจารย์กับศิษย์มีถ้อยคำขัดแย้งในลักษณะตรงกันข้ามอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ข้าพเจ้า ในตอนเริ่มต้นของพระสูตรนี้และพระสูตรอื่น ๆ ในเล่มนี้ หมายถึงพระอานนท์
๒ สาวกของครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร เป็นนักบวชปริพาชกนิกายหนึ่งที่นุ่งผ้าขาว (ที.สี.อ. ๑/๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
วิธีปฏิบัติเมื่อมีคนติเตียนหรือยกย่องพระรัตนตรัย

[๓] ครั้นเวลาใกล้รุ่ง ภิกษุหลายรูปลุกขึ้นนั่งสนทนากันในหอนั่ง๑ ว่า “ท่าน
ผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็นเป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงทราบว่าสัตว์มีอัธยาศัยต่างกัน ดังที่
สุปปิยปริพาชกผู้นี้กล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หลายอย่าง ส่วน
พรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ของเขากลับกล่าวยกย่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
หลายอย่าง อาจารย์กับศิษย์มีถ้อยคำขัดแย้งในลักษณะตรงกันข้ามขณะเดินตามหลัง
พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไป”
[๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบคำสนทนาของภิกษุเหล่านั้น จึง
เสด็จไปที่หอนั่ง ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เวลานี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พูดเรื่องอะไรค้างไว้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ เมื่อพวกข้าพระพุทธเจ้าลุกขึ้นเวลาใกล้รุ่งได้สนทนากันในหอนั่งว่า ‘ท่าน
ผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็นเป็นพระ
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงทราบว่าสัตว์มีอัธยาศัยต่างกัน ดังที่
สุปปิยปริพาชกผู้นี้กล่าวติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หลายอย่าง ส่วน
พรหมทัตมาณพผู้เป็นศิษย์ของเขากลับกล่าวยกย่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
หลายอย่าง อาจารย์กับศิษย์มีถ้อยคำขัดแย้งในลักษณะตรงกันข้ามขณะเดินตามหลัง
พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไป’ เรื่องนี้แลที่พวกข้าพระพุทธเจ้าพูดค้างไว้ ก็พอดี
พระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระพุทธเจ้าข้า”

วิธีปฏิบัติเมื่อมีคนติเตียนหรือยกย่องพระรัตนตรัย

[๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถึงคนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเตียน
เรา กล่าวติเตียนพระธรรมหรือกล่าวติเตียนพระสงฆ์ก็ตาม พวกเธอไม่ควรผูก
อาฆาตแค้นเคืองขุ่นใจคนพวกนั้น ถ้าพวกเธอโกรธเคืองหรือไม่พอใจพวกเขา พวก
เธอก็จะประสบอันตราย๒ เพราะความโกรธเคืองนั้นได้ อนึ่ง พวกเธอจะรู้ได้หรือว่าที่
พวกเขาพูดนั้นถูกหรือผิด”

เชิงอรรถ :
๑ อาคารทรงกลม ใช้เป็นที่พักร้อน โดยปกติจะมีสระน้ำและสวนดอกไม้ล้อมรอบ (ที.สี.อ. ๓/๔๓)
๒ อันตรายในที่นี้หมายถึง อุปสรรคต่อการบรรลุธรรมชั้นสูง (ที.สี.อ. ๖/๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] จูฬศีล

พวกภิกษุกราบทูลว่า “รู้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คำติเตียนนั้น ถ้าเป็นเรื่องไม่จริง พวกเธอควรชี้แจงให้
เห็นชัดว่า ‘เรื่องนี้เป็นเรื่องไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่มี และไม่ปรากฏในพวกเรา’
[๖] ภิกษุทั้งหลาย ถึงคนพวกอื่นจะพึงกล่าวยกย่องเรา กล่าวยกย่องพระธรรม
หรือกล่าวยกย่องพระสงฆ์ก็ตาม พวกเธอไม่ควรทำความรื่นเริงดีใจหรือกระหยิ่มใจ
ต่อคนพวกนั้น ถ้าพวกเธอทำความรื่นเริงดีใจหรือกระหยิ่มใจต่อพวกเขา พวกเธอ
ก็จะประสบอันตรายเพราะความรื่นเริงดีใจนั้นได้เช่นกัน คำยกย่องนั้น ถ้าเป็นเรื่อง
จริง พวกเธอควรยืนยันให้เขารู้ชัดลงไปว่า ‘เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ถูกต้อง มีอยู่
และปรากฏในพวกเรา’

จูฬศีล

[๗] ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน๑ เมื่อกล่าวยกย่องตถาคต ก็พึงกล่าวด้วยเรื่อง
เล็กน้อย ต่ำต้อยเพียงเรื่องระดับศีลเท่านั้น คือ
[๘] ปุถุชนเมื่อกล่าวยกย่องตถาคต ก็จะพึงกล่าวว่า
๑. พระสมณโคดมทรงละทรงเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและ
ศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อ
สรรพสัตว์อยู่
๒. พระสมณโคดมทรงละทรงเว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขา
ไม่ได้ให้ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่ทรงเป็นขโมย
เป็นคนสะอาดอยู่
๓. พระสมณโคดมทรงละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติ
พรหมจรรย์๒ เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรม๓ อันเป็นกิจของชาวบ้าน

เชิงอรรถ :
๑ คนที่ยังมีกิเลสหนา ที่เรียกเช่นนี้ เพราะบุคคลประเภทนี้ยังมีเหตุก่อให้เกิดกิเลสอย่างหนานานัปการ
ปุถุชนมี ๒ ประเภท คือ อันธปุถุชน คนที่ไม่ได้รับการศึกษาอบรมทางจิต และกัลยาณปุถุชน คนที่ได้
รับการศึกษาอบรมทางจิตแล้ว (ที.สี.อ. ๗/๕๘-๕๙)
๒ พรหมจรรย์มีความหมายหลายนัย ในที่นี้หมายถึงเมถุนวิรัติ หรือการงดเว้นจากเมถุนธรรม (ที.สี.อ.
๑๘๙ /๑๖๐)
๓ กิจของคนคู่ หมายถึงการร่วมประเวณีหรือการเสพสังวาสกัน (ที.สี.อ. ๘/๗๐ )

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] จูฬศีล

[๙] ๔. พระสมณโคดมทรงละทรงเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ ตรัสแต่คำสัตย์
ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
๕. พระสมณโคดมทรงละทรงเว้นขาดจากคำส่อเสียด คือ ฟังความจาก
ฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่าย
โน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน
ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน
ตรัสแต่ ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
๖. พระสมณโคดมทรงละทรงเว้นขาดจากคำหยาบ คือ ตรัสแต่คำไม่มี
โทษ ไพเราะ น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมาก
รักใคร่พอใจ
๗. พระสมณโคดมทรงละทรงเว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ คือ ตรัสถูกเวลา
ตรัสคำจริง ตรัสอิงประโยชน์ ตรัสอิงธรรม ตรัสอิงวินัย ตรัสคำที่มี
หลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะ
แก่เวลา
[๑๐] ๘. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม
๙. พระสมณโคดมเสวยมื้อเดียว ไม่เสวยตอนกลางคืน ทรงเว้นขาด
จากการเสวยในเวลาวิกาล๑
๑๐. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี
และดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล
๑๑. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกาย
ด้วยพวงดอกไม้ของหอมและเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่ง
การแต่งตัว
๑๒. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่
๑๓. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับทองและเงิน
๑๔. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ๒

เชิงอรรถ :
๑ เวลาที่ห้ามไว้เฉพาะแต่ละเรื่อง เวลาวิกาลในที่นี้หมายถึง ผิดเวลาที่กำหนดไว้ คือตั้งแต่หลังเที่ยงวันจนถึง
เวลาอรุณขึ้น (ที.สี.อ. ๑๐/๗๕)
๒ หมายถึง ธัญญชาติที่มีเมล็ดมีเปลือกสมบูรณ์ พร้อมที่จะงอกได้ เช่นข้าวเปลือก (ที.สี.อ. ๑๐/๗๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] มัชฌิมศีล

๑๕. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
๑๖. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
๑๗. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย
๑๘. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
๑๙. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
๒๐. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
๒๑. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับเรือกสวนไร่นาและที่ดิน
๒๒. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
๒๓. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการซื้อขาย
๒๔. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม
และด้วยเครื่องตวงวัด
๒๕. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวงและการ
ตลบตะแลง หรือ
๒๖. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ
การตีชิงวิ่งราว การปล้นและการขู่กรรโชก

จูฬศีล จบ

มัชฌิมศีล

[๑๑] ปุถุชนเมื่อกล่าวยกย่องตถาคต ก็จะพึงกล่าวว่า
๑. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่น
ที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพรากพืชคาม๑
และภูตคาม๒ เหล่านี้ คือ พืชเกิดจากเหง้า เกิดจากลำต้น เกิดจากตา เกิดจาก
ยอด เกิดจากเมล็ด

เชิงอรรถ :
๑ พืชพันธุ์จำพวกที่ถูกพรากจากที่แล้ว ยังสามารถงอกขึ้นได้อีก (ที.สี.อ. ๑๑/๗๘)
๒ ของเขียว หรือพืชพันธุ์อันเกิดอยู่กับที่ มี ๕ ชนิด คือ ที่เกิดจากเหง้า เช่นกระชาย, เกิดจากต้น เช่นโพ,
เกิดจากตา เช่นอ้อย, เกิดจากยอด เช่นผักชี, เกิดจากเมล็ด เช่นข้าว (ที.สี.อ. ๑๑/๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] มัชฌิมศีล

[๑๒] ๒. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการบริโภคของที่สะสมไว้ เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังบริโภคของ
ที่สะสมไว้เหล่านี้ คือ สะสมข้าว น้ำ ผ้า ยาน ที่นอน เครื่องประทินผิว ของหอม
และอามิส๑
[๑๓] ๓. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล
เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยัง
ขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศลอย่างนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การ
ประโคมดนตรี การรำ การเล่านิทาน การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่น
ตีกลอง การสร้างฉากบ้านเมืองให้งดงาม การละเล่นของคนจัณฑาล การเล่น
กระดานหก การละเล่นหน้าศพ การแข่งชนช้าง การแข่งม้า การแข่งชนกระบือ การ
แข่งชนโค การแข่งชนแพะ การแข่งชนแกะ การแข่งชนไก่ การแข่งชนนกกระทา การ
รำกระบี่กระบอง การชกมวย มวยปล้ำ การรบ การตรวจพลสวนสนาม การจัด
กระบวนทัพ การตรวจกองทัพ
[๑๔] ๔. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการขวนขวายในการเล่นการพนัน
อันเป็นเหตุแห่งความประมาท เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่
เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังขวนขวายในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความ
ประมาทอย่างนี้ คือ เล่นหมากรุกแถวละ ๘ ตา หรือ ๑๐ ตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด
เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถเล็ก ๆ
เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถเล็ก ๆ เล่นธนูเล็ก ๆ เล่นเขียนทาย เล่นทาย
ใจ เล่นล้อเลียนคนพิการ
[๑๕] ๕. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นที่สมณพราหมณ์
ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังใช้ที่นอนสูงใหญ่อย่างนี้ คือ
เตียงมีเท้าสูงเกินขนาด เตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย พรมขนสัตว์ เครื่องลาดขนแกะ
ลายวิจิตร เครื่องลาดขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีลายรูปดอกไม้ เครื่องลาดยัดนุ่น
เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายเช่นสีหะและเสือ เครื่องลาดขนแกะมีขน ๒
ด้าน เครื่องลาดขนแกะมีขนด้านเดียว เครื่องลาดปักด้วยไหมประดับรัตนะ เครื่อง

เชิงอรรถ :
๑ อามิส คือวัตถุเครื่องล่อใจ เช่นเงินทองเป็นต้น ในที่นี้หมายถึง เครื่องปรุงอาหาร (ที.สี.อ. ๑๒/๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] มัชฌิมศีล

ลาดผ้าไหมประดับรัตนะ เครื่องลาดขนแกะขนาดใหญ่ที่นางฟ้อน ๑๖ คนร่ายรำได้
เครื่องลาดบนหลังช้าง เครื่องลาดบนหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดทำด้วยหนัง
เสือ เครื่องลาดหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอน ๒ ข้าง
[๑๖] ๖. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการขวนขวายในการประดับตกแต่ง
ร่างกาย เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว
ยังขวนขวายในการประดับตกแต่งร่างกายอย่างนี้ คือ อบผิว นวด อาบน้ำหอม
เพาะกาย ส่องกระจก แต้มตา ทัดพวงดอกไม้ ประทินผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับ
ข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้ถือ ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้พระขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้าวิจิตร
ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดและแส้ขนหางจามรี นุ่งห่มผ้าขาวชายยาว
[๑๗] ๗. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากเดรัจฉานกถา๑ เช่นที่สมณพราหมณ์
ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพูดเดรัจฉานกถาอย่างนี้
คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ
เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ
เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมือง เรื่องชนบท๒ เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่อง
คนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก
เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม
[๑๘] ๘. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการพูดทุ่มเถียงแก่งแย่งกัน เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพูดทุ่มเถียง
แก่งแย่งกันอย่างนี้ คือ ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ แต่ผมรู้ทั่วถึง ท่านจะรู้ทั่วถึง
ธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด แต่ผมปฏิบัติถูก คำพูดของผมมีประโยชน์
แต่คำพูดของท่านไม่มีประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อน ท่านกลับพูดภายหลัง คำที่ควร
พูดภายหลัง ท่านกลับพูดเสียก่อน เรื่องที่ท่านเคยชินได้ผันแปรไปแล้ว ผมจับผิด
คำพูดของท่านได้แล้ว ผมข่มท่านได้แล้ว ถ้าท่านมีความสามารถก็จงหาทางแก้
คำพูดหรือเปลื้องตนให้พ้นผิดเถิด

เชิงอรรถ :
๑ เดรัจฉานกถา คือ ถ้อยคำอันขวางทางไปสู่สวรรค์ นิพพาน หมายถึงเรื่องราวที่ภิกษุไม่ควรนำมาเป็นข้อ
ถกเถียงสนทนากัน (ที.สี.อ. ๑๗/๘๔)
๒ ในที่นี้หมายถึง เขตปกครองที่ประกอบด้วย เมือง (นคร) หลาย ๆ เมือง ตรงกับคำว่าแคว้นหรือรัฐในปัจจุบัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] มหาศีล

[๑๙] ๙. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังทำ
หน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสารอย่างนี้ คือ รับเป็นสื่อให้พระราชา ราชมหาอำมาตย์
กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดีและกุมารว่า ‘ท่านจงไปที่นี้หรือที่โน้น จงนำเอาสิ่งนี้ไป
จงเอาสิ่งนี้มาจากที่โน้น’ หรือ
[๒๐] ๑๐. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและการพูด
เลียบเคียง เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธา
แล้วยังพูดหลอกลวง เลียบเคียง หว่านล้อม พูดและเล็ม ใช้ลาภต่อลาภ

มัชฌิมศีล จบ

มหาศีล

[๒๑] ปุถุชนเมื่อกล่าวยกย่องตถาคต ก็จะพึงกล่าวว่า
๑. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉาน-
วิชา๑ เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยัง
เลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ทำนายอวัยวะ ทำนายตำหนิ ทำนาย
โชคลาง ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ พิธีเบิกแว่น
เวียนเทียน พิธีซัดแกลบบูชาไฟ พิธีซัดรำบูชาไฟ พิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ พิธีเติมเนย
บูชาไฟ พิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ พิธีพ่นเครื่องเซ่นบูชาไฟ พิธีพลีกรรมด้วยเลือด วิชาดู
อวัยวะ วิชาดูพื้นที่๒ วิชาการปกครอง วิชาทำเสน่ห์๓ เวทมนตร์ไล่ผี วิชาตั้งศาลพระ
ภูมิ วิชาหมองู วิชาว่าด้วยพิษ วิชาว่าด้วยแมงป่อง วิชาว่าด้วยหนู วิชาว่าด้วยเสียงนก
วิชาว่าด้วยเสียงกา วิชาทายอายุ วิชาป้องกันลูกศร วิชาว่าด้วยเสียงสัตว์ร้อง

เชิงอรรถ :
๑ วิชาที่ขวางทางไปสู่สวรรค์ นิพพาน (ที.สี.อ. ๑๗/๘๔)
๒ ความรู้เรื่องลักษณะอันเป็นคุณเป็นโทษของทำเลที่ตั้งบ้านเรือน และเรือกสวนไร่นาเป็นต้น (ที.สี.อ. ๒๑/๘๘)
๓ อีกนัยหนึ่ง หมายถึง วิชาการรู้เสียงร้องของสุนัขจิ้งจอก (ที.สี.อ. ๒๑/๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] มหาศีล

[๒๒] ๒. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา
เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยง
ชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ทำนายลักษณะแก้วมณี ลักษณะไม้พลอง
ลักษณะผ้า ลักษณะศัสตรา ลักษณะดาบ ลักษณะศร ลักษณะธนู ลักษณะอาวุธ
ลักษณะสตรี ลักษณะบุรุษ ลักษณะเด็กชาย ลักษณะเด็กหญิง ลักษณะทาสชาย
ลักษณะทาสหญิง ลักษณะช้าง ลักษณะม้า ลักษณะกระบือ ลักษณะโคอุสภะ
ลักษณะโคสามัญ ลักษณะแพะ ลักษณะแกะ ลักษณะไก่ ลักษณะนกกระทา ลักษณะ
เหี้ย ลักษณะตุ้มหู๑ ลักษณะเต่า ลักษณะมฤค
[๒๓] ๓. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา
เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยง
ชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักเสด็จหรือ
ไม่เสด็จ พระราชาในอาณาจักรจักทรงยกทัพเข้าประชิด พระราชานอกอาณาจักรจัก
ทรงล่าถอย พระราชานอกอาณาจักรจักทรงยกทัพมาประชิด พระราชาในอาณาจักร
จักทรงล่าถอย ชัยชนะจักตกเป็นของพระราชาในอาณาจักร ความปราชัยจักมีแก่
พระราชานอกอาณาจักร ชัยชนะจักตกเป็นของพระราชานอกอาณาจักร ความ
ปราชัยจักมีแก่พระราชาในอาณาจักร พระราชาองค์นี้จักทรงชนะ พระราชาองค์นี้
จักทรงพ่ายแพ้
[๒๔] ๔. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา
เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยง
ชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ พยากรณ์ว่าจักมีจันทรคราส สุริยคราส นัก
ษัตรคราส ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จักโคจรถูกทางหรือผิดทาง ดาวนักษัตรจักโคจร
ถูกทางหรือผิดทาง จักมีอุกกาบาตและดาวตก แผ่นดินไหว ฟ้าร้อง ดวงจันทร์ ดวง
อาทิตย์ และดาวนักษัตรจักขึ้น ตก มัวหมอง แจ่มกระจ่าง จันทรคราส สุริยคราส
หรือนักษัตรคราสจักมีผลอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือดาวนักษัตรโคจรถูก
ทางจักมีผลอย่างนี้ โคจรผิดทางจักมีผลอย่างนี้ อุกกาบาตและดาวตก แผ่นดินไหว
ฟ้าร้อง จักมีผลอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรขึ้น ตก มัวหมอง
แจ่มกระจ่าง จักมีผลอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ อีกนัยหนึ่ง หมายถึง ยอดเรือน (ที.สี.อ. ๒๒/๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] มหาศีล

[๒๕] ๕. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา
เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยง
ชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ พยากรณ์ว่าฝนจะดี ฝนจะแล้ง จะหา
ภิกษาหารได้ง่าย จะหาภิกษาหารได้ยาก จะมีความสงบร่มเย็น จะมีภัย จะมีโรค จะ
ไม่มีโรค การคำนวณด้วยวิธีนับนิ้ว (มุททา) การคำนวณด้วยวิธีคิดในใจ (คณนา) การ
คำนวณด้วยวิธีอนุมานด้วยสายตา (สังขาน) วิชาฉันทลักษณ์และโลกายตศาสตร์๑
[๒๖] ๖. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา
เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยง
ชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ฤกษ์วิวาหมงคล ฤกษ์
เรียงหมอน ฤกษ์หย่าร้าง ฤกษ์รวบรวมทรัพย์ ฤกษ์ใช้จ่ายทรัพย์ ทำให้โชคดี ทำให้
เคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนตร์ทำให้ลิ้นแข็ง ทำให้คางแข็ง ทำให้มือสั่น
ทำให้คางสั่น ทำให้หูอื้อ เป็นหมอดูลูกแก้ว ใช้หญิงสาวเป็นคนทรง ใช้หญิงประจำ
เทวาลัยเป็นคนทรง บวงสรวงดวงอาทิตย์และท้าวมหาพรหม ร่ายมนตร์พ่นไฟ ทำ
พิธีเรียกขวัญ หรือ
[๒๗] ๗. พระสมณโคดมทรงเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา
เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยง
ชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ทำพิธีบนบาน พิธีแก้บน ร่ายมนตร์ขับผี
ตั้งศาลพระภูมิ ทำกะเทยให้เป็นชาย ทำชายให้เป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน พิธีบวง-
สรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนตร์ รดน้ำมนตร์ พิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ยาถ่าย ยาแก้โรค
ลมตีขึ้นเบื้องบน ยาแก้โรคลมตีลงเบื้องต่ำ ยาแก้ปวดศีรษะ น้ำมันหยอดหู น้ำมัน
หยอดตา ยานัตถุ์ ยาหยอดตา ยาป้ายตา เป็นหมอตา หมอผ่าตัด หมอรักษาเด็ก
(กุมารเวช) การให้สมุนไพรและยา การใส่ยาแล้วล้างออกเมื่อโรคหาย
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ปุถุชนกล่าวยกย่องตถาคต ก็พึงกล่าวด้วยเรื่องเล็กน้อย
ต่ำต้อย เพียงเรื่องระดับศีลเท่านั้น

มหาศีล จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ทิฏฐิ ๖๒ สัสสตวาทะ ๔

ทิฏฐิ ๖๒
ปุพพันตกัปปิกวาทะ ๑๘
ความเห็นกำหนดขันธ์ส่วนอดีต

[๒๘] ภิกษุทั้งหลาย มีธรรมเหล่าอื่นอีกที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก
สงบประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคต๑ รู้
แจ้งได้เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้อง
ตามความเป็นจริง ก็ธรรมที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก ... อันเป็นเหตุให้คน
กล่าวยกย่องตถาคตตามความเป็นจริง คืออะไรบ้าง
[๒๙] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์๒พวกหนึ่งกำหนดขันธ์ส่วนอดีต มี
ความเห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ส่วนอดีต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิ
ต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๑๘ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภ
อะไรจึงกำหนดขันธ์ส่วนอดีต มีความเห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ส่วน
อดีต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๑๘ อย่าง

สัสสตวาทะ ๔
เห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยง

[๓๐] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตา๓
และโลกว่าเที่ยงด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไร
ปรารภอะไรจึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยงด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง

มูลเหตุที่ ๑

[๓๑] ๑. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส
ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิด

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ตถาคต ในที่นี้ เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสหมายถึงพระองค์เอง แทนคำว่า “เรา” (อุตตมบุรุษ)
๒ เป็นคำเรียกพราหมณ์พวกหนึ่งที่เป็นสมณะ ชื่อว่าเป็นสมณะโดยการบวช และชื่อว่าเป็นพราหมณ์โดย
ชาติกำเนิด (ที.สี.อ. ๒๙/๙๕ )
๓ อัตตาในที่นี้หมายถึง วิญญาณอมตะหรืออาตมัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ทิฏฐิ ๖๒ สัสสตวาทะ ๔

อย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิ๑ ที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น (บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มี
กิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง) ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ
๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐
ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง
๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง หลายร้อยชาติบ้าง หลายพันชาติบ้าง หลายแสนชาติบ้าง ว่า
‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุ
อย่างนั้น ๆ จุติ(เคลื่อน)จากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่าง
นั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น
จึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ
ชีวประวัติอย่างนี้
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขาดุจ
เสาระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติและเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยง
อยู่แน่ เพราะเหตุอะไร เพราะว่าเราอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่
ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี
แล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติ
บ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติ
บ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง
๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง หลายร้อยชาติบ้าง หลายพันชาติบ้าง หลายแสนชาติบ้าง ว่า
‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุ
อย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มี
ตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมา
เกิดในภพนี้ เราระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติ
อย่างนี้ เพราะการได้บรรลุคุณวิเศษนี้ เราจึงรู้อาการที่อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน
ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขาดุจเสาระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติ
และเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยงอยู่แน่’

เชิงอรรถ :
๑ สมาธิแห่งจิต คือสมาธิในรูปาวจรจตุตถฌาน (ที.สี.อ. ๓๑/๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ทิฏฐิ ๖๒ สัสสตวาทะ ๔

ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง

มูลเหตุที่ ๒

[๓๒] ๒. อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๒ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไรปรารภอะไร
จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง
สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความ
เพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่าง
ถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ
๑ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัป๑ บ้าง ๒ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๓ สังวัฏฏกัปและ
วิวัฏฏกัปบ้าง ๔ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๕ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง
๑๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ว่า ‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้
ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมี
อายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขาดุจเสา
ระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติและเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยงอยู่
แน่ เพราะเหตุอะไร เพราะว่าเราอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้ง
มั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี
แล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ
๑ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๒ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๓ สังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปบ้าง ๔ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๕ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง
๑๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ว่า ‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงไปเกิดในภพโน้น
แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมี

เชิงอรรถ :
๑ สังวัฏฏกัป คือ กัปฝ่ายเสื่อม, ช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังพินาศ วิวัฏฏกัป คือ กัปฝ่ายเจริญ, ช่วงระยะเวลา
ที่โลกกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ (วิ.อ. ๑/๑๒/๑๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ทิฏฐิ ๖๒ สัสสตวาทะ ๔

อายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เราระลึกถึงชาติก่อนได้หลายชาติ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เพราะการได้บรรลุคุณวิเศษนี้ เราจึงรู้
อาการที่อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขาดุจเสาระเนียด ส่วนสัตว์
เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติและเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยงอยู่แน่’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง

มูลเหตุที่ ๓

[๓๓] ๓. อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๓ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไรปรารภอะไร
จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง
สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความ
เพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่าง
ถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ
๑๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๒๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๓๐ สังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปบ้าง ๔๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ว่า ‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น
มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไป
เกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวย
สุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกถึงชาติก่อน
ได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขาดุจเสา
ระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติและเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยงอยู่
แน่ เพราะเหตุอะไร เพราะว่าเราอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้ง
มั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี
แล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกถึงชาติก่อนได้หลายชาติ คือ
๑๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๒๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ๓๐ สังวัฏฏกัป
และวิวัฏฏกัปบ้าง ๔๐ สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ว่า ‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ทิฏฐิ ๖๒ สัสสตวาทะ ๔

มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น
ก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร
เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เขาระลึกถึง
ชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เพราะการได้
บรรลุคุณวิเศษนี้ เราจึงรู้อาการที่อัตตาและโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขา
ดุจเสาระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติและเกิด แต่มีสิ่งที่
เที่ยงอยู่แน่’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๓ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง

มูลเหตุที่ ๔

[๓๔] ๔. อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๔ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไรปรารภอะไร
จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง
สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้เป็นนักตรรกะ๑ เป็นนักอภิปรัชญา๒
แสดงทรรศนะของตนตามหลักเหตุผลและการคาดคะเนความจริงอย่างนี้ว่า ‘อัตตา
และโลกเที่ยง ยั่งยืน ตั้งมั่นอยู่ดุจยอดภูเขาดุจเสาระเนียด ส่วนสัตว์เหล่านั้นย่อม
แล่นไป ท่องเที่ยวไป จุติและเกิด แต่มีสิ่งที่เที่ยงอยู่แน่’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๔ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง

เชิงอรรถ :
๑ นักตรรกะ(ตกฺกี) ผู้ที่ให้เหตุผลตามแนวของตรรกศาสตร์ (Logic) มี ๔ จำพวก คือ อนุสสติกะ อนุมาน
จากข้อมูลที่เป็นประสบการณ์ ชาติสสระ อนุมานโดยการระลึกชาติ ลาภิตักกิกะ อนุมานจากประสบการณ์
ภายในของตน และ สุทธิตักกิกะ อนุมานโดยใช้เหตุผลล้วน ๆ (ที.สี.อ. ๓๔/๙๘)
๒ นักอภิปรัชญา(วีมํสี) ผู้ที่ให้เหตุผลโดยการคาดคะเนความจริงเอาจากการเทียบเคียงจนพอใจถูกใจแล้วยึด
ถือเป็นทฤษฎี เช่น คาดคะเนในเรื่องที่เกี่ยวกับปฐมเหตุของโลกและจักรวาล (ที.สี.อ. ๓๔/๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ ๖๒ เอกัจจสัสสตวาทะ ๔

สรุปสัสสตวาทะ

[๓๕] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตา
และโลกว่าเที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมี
วาทะว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยมูลเหตุทั้ง ๔ อย่างนี้ หรือด้วย
มูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้
[๓๖] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า มูลเหตุแห่งทิฏฐิเหล่านี้ที่บุคคลยึด
ถืออย่างนี้แล้ว ย่อมมีคติและภพหน้าอย่างนั้น ๆ ตถาคตรู้มูลเหตุนั้นชัด และยังรู้ชัด
ยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกจึงไม่ยึดมั่นเมื่อไม่ยึดมั่นจึงรู้ความดับด้วยตนเองรู้ความเกิดความดับ
คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดเวทนาออกตามความเป็นจริง ตถาคตจึงหลุดพ้น
เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
[๓๗] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ
ประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตรู้แจ้งได้
เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตาม
ความเป็นจริง

ภาณวารที่ ๑ จบ

เอกัจจสัสสตวาทะ ๔
เห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยงเป็นบางอย่าง

[๓๘] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง
บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วย
มูลเหตุ ๔ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไร จึงมีวาทะ
ว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บาง
อย่างไม่เที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง
[๓๙] ภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่งเมื่อล่วงไปนาน ๆ โลกนี้พินาศ เมื่อโลกกำลัง
พินาศเหล่าสัตว์ส่วนมากไปเกิดที่อาภัสสรพรหมโลก นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา
มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมาน
อันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ ๖๒ เอกัจจสัสสตวาทะ ๔

[๔๐] สมัยหนึ่ง เมื่อล่วงไปนาน ๆ โลกนี้กลับฟื้นขึ้น เมื่อโลกกำลังฟื้นขึ้น
วิมานของพรหมปรากฏว่าว่างเปล่า เวลานั้นสัตว์ผู้จุติจากชั้นอาภัสสรพรหมโลก
เพราะสิ้นอายุหรือสิ้นบุญ ย่อมเกิดที่วิมานพรหมอันว่างเปล่า นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้
ตามปรารถนา มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ
อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน
[๔๑] เพราะสัตว์ผู้นั้นอยู่ในวิมานแต่ผู้เดียวเป็นเวลานานจึงเกิดเบื่อหน่ายว่า
โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นพึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง ต่อมา สัตว์เหล่าอื่นจุติจากชั้น
อาภัสสรพรหมโลกเพราะสิ้นอายุหรือสิ้นบุญ ย่อมเกิดที่วิมานพรหมเป็นผู้อยู่ร่วมกับ
สัตว์นั้น แม้สัตว์พวกนั้นนึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมี
ซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นาน
แสนนาน
[๔๒] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์พวกนั้น ผู้เกิดก่อนมีความคิดอย่างนี้ว่า เรา
เป็นพรหม เป็นท้าวมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุม
อำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดา
ของสัตว์ผู้เกิดมาแล้วและกำลังจะเกิด เราบันดาลสัตว์เหล่านี้ขึ้นมา เพราะเหตุไร
เพราะว่าเรามีความคิดมาก่อนว่า โอหนอ แม้สัตว์เหล่าอื่นพึงมาเป็นอย่างนี้บ้าง เรา
มีความตั้งใจอย่างนี้และสัตว์เหล่านี้ก็ได้มาเป็นอย่างนี้แล้ว
แม้พวกสัตว์ที่เกิดภายหลังก็มีความคิดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญนี้เป็นพระพรหม
เป็นท้าวมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ
เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของ
สัตว์ผู้เกิดมาแล้วและกำลังจะเกิด พระพรหมผู้เจริญบันดาลพวกเราขึ้นมา เพราะ
เหตุไร เพราะว่าพวกเราได้เห็นพระพรหมองค์นี้เกิดในที่นี้ก่อน ส่วนพวกเราเกิดมา
ภายหลัง
[๔๓] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์พวกนั้น ผู้เกิดก่อนมีอายุยืน ผิวพรรณ
งดงามและมีศักดิ์มากกว่า ส่วนผู้เกิดภายหลังมีอายุสั้น ผิวพรรณทรามและมีศักดิ์
น้อยกว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ ๖๒ เอกัจจสัสสตวาทะ ๔

มูลเหตุที่ ๑

[๔๔] ๕. (๑) ข้อที่สัตว์ผู้จุติ (เคลื่อน) จากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้๑ เป็น
เรื่องที่เป็นไปได้ เมื่อเขามาเป็นอย่างนี้แล้วออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อ
บวชแล้วอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ
ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็น
เหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ระลึกถึงชาติก่อนนั้นได้ ถัดจากนั้นไประลึกไม่ได้
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เป็นพระพรหมผู้เจริญ เป็นท้าวมหาพรหม ผู้ยิ่งใหญ่
ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้
ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด พระ
พรหมผู้เจริญบันดาลพวกเราขึ้นมา ท่านเป็นผู้เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร จัก
ดำรงอยู่เที่ยงแท้ไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวกเราที่พระพรหมผู้เจริญนั้นบันดาลขึ้น
มากลับเป็นผู้ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน อายุสั้น ต้องจุติมาเป็นอย่างนี้’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้วจึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่าง
เที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง

มูลเหตุที่ ๒

[๔๕] ๖. (๒) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๒ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร
ปรารภอะไรจึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลก
ว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ภิกษุทั้งหลาย มีเทวดาพวกหนึ่งชื่อว่า
ขิฑฑาปโทสิกะ เทวดาพวกนั้นหมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลา
เมื่อหมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลาย่อมหลงลืมสติ เพราะหลง
ลืมสติจึงพากันจุติจากชั้นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ จากพรหมโลกมาเกิดเป็นมนุษย์ (ที.สี.อ. ๔๔/๑๐๔-๑๐๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ ๖๒ เอกัจจสัสสตวาทะ ๔

[๔๖] ข้อที่สัตว์ผู้จุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เมื่อ
เขามาเป็นอย่างนี้แล้วออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วอาศัยความ
เพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท
และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น
ระลึกถึงชาติก่อนนั้นได้ ถัดจากนั้นไประลึกไม่ได้
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘พวกเทวดาผู้เจริญ ผู้ไม่ใช่เหล่าขิฑฑาปโทสิกะย่อมไม่
หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลา เมื่อไม่หมกมุ่นอยู่ในความ
สนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลาย่อมไม่หลงลืมสติ เพราะไม่หลงลืมสติจึงไม่จุติจาก
ชั้นนั้น เป็นผู้เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร จักดำรงอยู่เที่ยงแท้ไปเช่นนั้นทีเดียว
ส่วนพวกเราเหล่าขิฑฑาปโทสิกะมัวแต่หมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮา
เกินเวลา เมื่อหมกมุ่นอยู่ในความสนุกสนานสรวลเสเฮฮาเกินเวลาย่อมหลงลืมสติ
เพราะหลงลืมสติจึงต้องจุติจากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน อายุสั้น ต้องจุติมา
เป็นอย่างนี้’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บาง
อย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง

มูลเหตุที่ ๓

[๔๗] ๗. (๓) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๓ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร
ปรารภอะไร จึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า
บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ภิกษุทั้งหลาย มีเทวดาพวกหนึ่งชื่อว่ามโนปโทสิกะ
เทวดาพวกนั้นมัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควร เมื่อมัวจ้องจับผิดกันและกันเกิน
ควรจึงคิดมุ่งร้ายต่อกัน เมื่อคิดมุ่งร้ายต่อกันจึงเหนื่อยกายเหนื่อยใจพากันจุติจาก
ชั้นนั้น
[๔๘] ข้อที่สัตว์ผู้จุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เมื่อ
เขามาเป็นอย่างนี้แล้วออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วอาศัยความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ ๖๒ อันตานันติกวาทะ ๔

เพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท
และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น
ระลึกถึงชาติก่อนนั้นได้ ถัดจากนั้นไประลึกไม่ได้
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘พวกเทวดาผู้เจริญ ผู้ไม่ใช่เหล่ามโนปโทสิกะ ย่อมไม่มัว
จ้องจับผิดกันและกันเกินควร เมื่อไม่มัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควรก็ไม่คิดมุ่งร้าย
ต่อกัน เมื่อไม่คิดมุ่งร้ายต่อกันก็ไม่เหนื่อยกายเหนื่อยใจจึงไม่จุติจากชั้นนั้น เป็นผู้
เที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร จักดำรงอยู่เที่ยงแท้ไปเช่นนั้นทีเดียว ส่วนพวก
เราเหล่ามโนปโทสิกะมัวจ้องจับผิดกันและกันเกินควร เมื่อมัวจ้องจับผิดกันและกัน
เกินควรจึงคิดมุ่งร้ายต่อกัน เมื่อคิดมุ่งร้ายต่อกัน จึงเหนื่อยกายเหนื่อยใจ พากันจุติ
จากชั้นนั้น เป็นผู้ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน อายุสั้น ต้องจุติมาเป็นอย่างนี้’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๓ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บาง
อย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง

มูลเหตุที่ ๔

[๔๙] ๘. (๔) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๔ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร
ปรารภอะไร จึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า
บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์บางคนในโลกนี้เป็น
นักตรรกะ เป็นนักอภิปรัชญา แสดงทรรศนะของตนตามหลักเหตุผลและการคาด
คะเนความจริงอย่างนี้ว่า ‘สิ่งที่เรียกว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้เรียกว่าอัตตา
เป็นของไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่คงทน ต้องผันแปร ส่วนสิ่งที่เรียกว่าจิต ใจ วิญญาณ
นี้เรียกว่าอัตตา เป็นของเที่ยงแท้ ยั่งยืน คงทน ไม่ผันแปร จักดำรงอยู่เที่ยงแท้ไป
เช่นนั้นทีเดียว’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๔ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บาง
อย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ ๖๒ อันตานันติกวาทะ ๔

สรุปเอกัจจสัสสตวาทะ

[๕๐] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บาง
อย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยมูลเหตุ
๔ อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บาง
อย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยมูลเหตุ
ทั้ง ๔ อย่างนี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้
[๕๑] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า มูลเหตุแห่งทิฏฐิเหล่านี้ที่บุคคล
ยึดถืออย่างนี้แล้วย่อมมีคติและภพหน้าอย่างนั้น ๆ ตถาคตรู้มูลเหตุนั้นชัดและยังรู้
ชัดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกจึงไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นจึงรู้ความดับด้วยตนเอง รู้ความเกิด
ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดเวทนาออกตามความเป็นจริง ตถาคตจึง
หลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
[๕๒] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ
ประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตรู้แจ้งได้
เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตาม
ความเป็นจริง

อันตานันติกวาทะ ๔
เห็นว่าโลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด๑

[๕๓] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลก
ไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ก็
สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไร จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลก
ไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ที่สุด ในที่นี้หมายถึงขอบเขตของโลก ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง และตามขวาง ซึ่งเป็นข้อที่ยกขึ้นโต้แย้งกัน
ว่า โลกมีขอบเขตกำจัด หรือไม่มีขอบเขตจำกัด (ที.สี.อ. ๕๔/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ ๖๒ อันตานันติกวาทะ ๔

มูลเหตุที่ ๑

[๕๔] ๙. (๑) ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้อาศัย
ความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่
ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิต
ให้ตั้งมั่น จึงเข้าใจว่าโลกมีที่สุด
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘โลกนี้มีที่สุด มีสัณฐานกลม เพราะเหตุไร เพราะเราอาศัย
ความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่
ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำ
จิตให้ตั้งมั่น จึงเข้าใจว่าโลกมีที่สุด เพราะการบรรลุคุณวิเศษนี้ เราจึงรู้อาการที่โลก
นี้มีที่สุด และมีสัณฐานกลม’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด

มูลเหตุที่ ๒

[๕๕] ๑๐. (๒) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๒ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร
ปรารภอะไร จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มี
ที่สุด ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้อาศัยความเพียรเครื่อง
เผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัย
การใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น จึงเข้าใจว่า
โลกไม่มีที่สุด
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘โลกนี้ไม่มีที่สุด หาที่สุดไม่ได้ สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่าง
นี้ว่า โลกนี้มีที่สุด มีสัณฐานกลม เป็นผู้กล่าวเท็จ (ที่จริงแล้ว) โลกนี้ไม่มีที่สุด หา
ที่สุดไม่ได้ เพราะเหตุไร เพราะเราอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้ง
มั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้ว
บรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น จึงเข้าใจว่า โลกนี้ไม่มีที่สุด หาที่สุดไม่ได้
เพราะการบรรลุคุณวิเศษนี้ เราจึงรู้อาการที่โลกนี้ไม่มีที่สุด หาที่สุดไม่ได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ ๖๒ อันตานันติกวาทะ ๔

ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด

มูลเหตุที่ ๓

[๕๖] ๑๑. (๓) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๓ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร
ปรารภอะไรจึงมีวาทะว่าโลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มี
ที่สุด ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้อาศัยความเพียรเครื่อง
เผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการ
ใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น จึงเข้าใจโลกว่า
ด้านบนด้านล่างมีที่สุด ด้านขวางไม่มีที่สุด
เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า ‘โลกนี้ทั้งมีที่สุดและไม่มีที่สุด สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่าง
นี้ว่า โลกนี้มีที่สุด มีสัณฐานกลม เป็นผู้กล่าวเท็จ แม้สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่าง
นี้ว่า โลกนี้ไม่มีที่สุด หาที่สุดไม่ได้ ก็เป็นผู้กล่าวเท็จ (ที่จริงแล้ว) โลกนี้ทั้งมีที่สุด
และไม่มีที่สุด เพราะเหตุไร เพราะเราอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่
ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี
แล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น จึงเข้าใจโลกว่า ด้านบนด้านล่างมีที่สุด
ด้านขวางไม่มีที่สุด เพราะการบรรลุคุณวิเศษนี้ เราจึงรู้อาการที่โลกนี้ทั้งมีที่สุดและ
ไม่มีที่สุด’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๓ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด

มูลเหตุที่ ๔

[๕๗] ๑๒. (๔) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๔ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไรปรารภ
อะไร จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด
ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้เป็นนักตรรกะ เป็นนัก
อภิปรัชญา แสดงทรรศนะของตนตามหลักเหตุผลและการคาดคะเนความจริงอย่างนี้
ว่า ‘โลกนี้มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า โลกนี้มีที่สุด
มีสัณฐานกลม เป็นผู้กล่าวเท็จ แม้สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า โลกนี้ไม่มีที่สุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ ๖๒ อมราวิกเขปวาทะ ๔

หาที่สุดไม่ได้ ก็เป็นผู้กล่าวเท็จ แม้สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า โลกนี้ทั้งมีที่สุด
และไม่มีที่สุด ก็เป็นผู้กล่าวเท็จ (ที่จริงแล้ว) โลกนี้มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๔ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด

สรุปอันตานันติกวาทะ

[๕๘] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลก
ไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่างนี้แล ก็
สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวก บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ
ทั้ง ๔ อย่างนี้หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้
[๕๙] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า มูลเหตุแห่งทิฏฐิเหล่านี้ที่บุคคล
ยึดถืออย่างนี้แล้วย่อมมีคติและภพหน้าอย่างนั้น ๆ ตถาคตรู้มูลเหตุนั้นชัด และยังรู้
ชัดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกจึงไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นจึงรู้ความดับด้วยตนเอง รู้ความเกิด
ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดเวทนาออกตามความเป็นจริง ตถาคตจึง
หลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
[๖๐] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ
ประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตรู้แจ้งได้
เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตาม
ความเป็นจริง

อมราวิกเขปวาทะ๑ ๔
ความเห็นหลบเลี่ยง ไม่แน่นอน

[๖๑] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน
พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อมกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนด้วยมูลเหตุ ๔
อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไรจึงมีวาทะหลบเลี่ยง

เชิงอรรถ :
๑ ลัทธิที่มีความเห็นหลบเลี่ยงไม่แน่นอนว่าใช่หรือไม่ใช่ เป็นความเห็นที่ลื่นไหลจับได้ยากเหมือนปลาไหล
(ที.สี.อ. ๖๑/๑๐๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ ๖๒ อมราวิกเขปวาทะ ๔

ไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อมกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนด้วย
มูลเหตุ ๔ อย่าง

มูลเหตุที่ ๑

[๖๒] ๑๓. (๑) ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ไม่รู้ชัด
ตามความเป็นจริงว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล’ เขามีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘เราไม่
รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็ถ้าเราไม่รู้ชัดว่า สิ่งนี้เป็น
กุศลหรือเป็นอกุศล จะพึงตอบว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล คำตอบก็จะเป็นเท็จ
คำเท็จนั้นจะนำความเดือดร้อนซึ่งจะนำอันตรายมาให้แก่เราได้’ ดังนั้น เขาจึงตอบว่า
‘สิ่งนี้เป็นกุศลก็หามิได้ เป็นอกุศลก็หามิได้’ เพราะกลัวและรังเกียจการกล่าวเท็จ เมื่อ
ถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ จึงกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนว่า ‘เรามีความเห็นว่า
อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อมกล่าว
หลบเลี่ยงไม่แน่นอน

มูลเหตุที่ ๒

[๖๓] ๑๔. (๒) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๒ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร
ปรารภอะไร จึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อม
กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ไม่รู้
ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล’ เขามีความเห็นอย่างนี้ว่า
‘เราไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็ถ้าเราไม่รู้ชัดว่า สิ่งนี้
เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล จะพึงตอบว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ฉันทะ (ความพอใจ)
ราคะ (ความกำหนัด) โทสะ (ความขัดเคือง) ปฏิฆะ (ความขัดใจ) จะพึงมีแก่เราได้
เรื่องนี้จะเป็นเหตุให้เรายึดมั่นอันจะนำความเดือดร้อนซึ่งจะนำอันตรายมาให้แก่เราได้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ ๖๒ อมราวิกเขปวาทะ ๔

ดังนั้น เขาจึงตอบว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลก็หามิได้ เป็นอกุศลก็หามิได้’ เพราะกลัวและ
รังเกียจการยึดมั่น เมื่อถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ จึงกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน
ว่า ‘เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่
จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้ว
ปรารภแล้วจึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อม
กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน

มูลเหตุที่ ๓

[๖๔] ๑๕. (๓) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๓ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไรปรารภ
อะไร จึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน เมื่อถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อมกล่าว
หลบเลี่ยงไม่แน่นอน ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล’ เขามีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘เราไม่รู้ชัด
ตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็ถ้าเราไม่รู้ชัดว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็น
อกุศล จะพึงตอบว่า สิ่งนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต มี
ปัญญาลึกซึ้ง ชำนาญการโต้วาทะ แม่นยำดุจขมังธนูมีอยู่แน่แท้ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นจะเที่ยวกล่าวแก้ทิฏฐิด้วยปัญญา พวกเขาจะซักไซ้ไล่เลียง สอบสวนเราใน
เรื่องนี้ เราจะไม่อาจโต้ตอบได้ การโต้ตอบไม่ได้นั้นจะทำให้เราเดือดร้อนซึ่งจะ
นำอันตรายมาให้แก่เราได้’ ดังนั้น เขาจึงตอบว่า ‘สิ่งนี้เป็นกุศลก็หามิได้ เป็นอกุศล
ก็หามิได้’ เพราะกลัวและรังเกียจการซักถาม เมื่อถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ จึง
กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนว่า ‘เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่าง
อื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๓ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อมกล่าว
หลบเลี่ยงไม่แน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ ๖๒ อมราวิกเขปวาทะ ๔

มูลเหตุที่ ๔

[๖๕] ๑๖. (๔) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๔ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร
ปรารภอะไรจึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน เมื่อถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อม
กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้เป็น
คนเขลางมงาย เพราะความเขลางมงาย พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อม
กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนว่า ‘ถ้าท่านถามเราอย่างนี้ว่า โลกหน้ามีจริงหรือ หากเรา
มีความเห็นว่า โลกหน้ามีจริง ก็จะตอบว่า มีจริง แต่เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่
อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ ถ้าท่านถามเรา
ว่า โลกหน้าไม่มีหรือ หากเรามีความเห็นว่า โลกหน้าไม่มี ก็จะตอบว่า ไม่มี ฯลฯ
ถ้าท่านถามเราว่า โลกหน้ามีและไม่มีหรือ ฯลฯ โลกหน้าจะว่ามีก็มิใช่ จะว่าไม่มีก็
มิใช่หรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิด๑ มีจริงหรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิดไม่มีหรือ ฯลฯ สัตว์
ที่ผุดเกิดมีและไม่มีหรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิดจะว่ามีก็มิใช่ จะว่าไม่มีก็มิใช่หรือ ฯลฯ
ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริงหรือ ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มีหรือ
ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีและไม่มีหรือ ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรม
ชั่วจะว่ามีก็มิใช่ จะว่าไม่มีก็มิใช่หรือ ฯลฯ หลังจากตายแล้ว ตถาคต๒ เกิดอีกหรือ
ฯลฯ หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีกหรือ ฯลฯ หลังจากตายแล้วตถาคตเกิด
อีกและไม่เกิดอีกหรือ ฯลฯ หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิด
อีกก็มิใช่หรือ หากเรามีความเห็นว่า หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่
จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ ก็จะตอบว่า หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะ
ว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ แต่เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่
จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๔ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อมกล่าว
หลบเลี่ยงไม่แน่นอน

เชิงอรรถ :
๑ โอปปาติกะ สัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ(ตาย) ก็หายวับไป ไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น เทวดา
และสัตว์นรก เป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙)
๒ ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันมาก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระ
พุทธเจ้า อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึง สัตตะ (ที.สี.อ. ๖๕/๑๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ ๖๒ อธิจจสมุปปันนวาทะ ๒

สรุปอมราวิกเขปวาทะ

[๖๖] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอ
ถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อมกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง
นี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกพอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ ย่อม
กล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ด้วยมูลเหตุทั้ง ๔ อย่างนี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่าง
หนึ่งใน ๔ อย่างนี้ไม่พ้นไปจากนี้ ฯลฯ๑ อันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูก
ต้องตามความเป็นจริง

อธิจจสมุปปันนวาทะ ๒
เห็นว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย

[๖๗] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า อัตตาและโลก
เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติอัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย ด้วย
มูลเหตุ ๒ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไรจึงมีวาทะ
ว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติอัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มี
เหตุปัจจัย ด้วยมูลเหตุ ๒ อย่าง

มูลเหตุที่ ๑

[๖๘] ๑๗. (๑) ภิกษุทั้งหลาย มีทวยเทพชื่ออสัญญีสัตว์จุติ (เคลื่อน) จาก
ชั้นนั้นเพราะเกิดสัญญาขึ้น ข้อที่สัตว์ผู้จุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เป็นสิ่งที่เป็น
ไปได้ เมื่อเขามาเป็นอย่างนี้แล้วออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว
อาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่
ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิต
ให้ตั้งมั่น ตามระลึกถึงความเกิดสัญญา ถัดจากนั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า
‘อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย เพราะเหตุไร เพราะเมื่อก่อนเราไม่ได้มีแล้ว
บัดนี้ก็ไม่มี จึงน้อมไปเพื่อเป็นผู้สงบ’

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนสัสสตทิฏฐิ ข้อ ๓๖ และ ๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ ๖๒ สรุปปพพันตกัปปิกวาทะ ๑๘

ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๑ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติอัตตาและโลก
ว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย

มูลเหตุที่ ๒

[๖๙] ๑๘. (๒) อนึ่ง ในมูลเหตุที่ ๒ สมณพราหมณ์ผู้เจริญอาศัยอะไร
ปรารภอะไร จึงมีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติอัตตาและ
โลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลก
นี้เป็นนักตรรกะ เป็นนักอภิปรัชญา แสดงทรรศนะของตนตามหลักเหตุผลและการ
คาดคะเนความจริงอย่างนี้ว่า ‘อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมูลเหตุที่ ๒ ซึ่งสมณพราหมณ์พวกหนึ่งอาศัยแล้วปรารภ
แล้ว จึงมีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติอัตตาและโลกว่า
เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย

สรุปอธิจจสมุปปันนวาทะ

[๗๐] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้น
เองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติอัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย ด้วยมูลเหตุ ๒
อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่
มีเหตุปัจจัย บัญญัติอัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย ด้วยมูลเหตุทั้ง ๒
อย่างนี้หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ ฯลฯ อัน
เป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตามความเป็นจริง

สรุปปุพพันตกัปปิกวาทะ ๑๘

[๗๑] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นกำหนดขันธ์ (สรรพสิ่ง) ส่วนอดีต
มีความเห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์ส่วนอดีต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิ
ต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๑๘ อย่างนี้แล ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวก กล่าว
ยืนยันด้วยมูลเหตุทั้ง ๑๘ อย่างนี้หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๘ อย่างนี้
ไม่พ้นไปจากนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ทิฏฐิ ๖๒ สัญญีวาทะ ๑๖

[๗๒] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า มูลเหตุแห่งทิฏฐิเหล่านี้ที่บุคคลยึด
ถืออย่างนี้แล้ว ย่อมมีคติและภพหน้าอย่างนั้น ๆ ตถาคตรู้มูลเหตุนั้นชัด และยัง
รู้ชัดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกจึงไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นจึงรู้ความดับด้วยตนเอง รู้ความ
เกิด ความดับ คุณ โทษแห่งเวทนา และอุบายเครื่องสลัดเวทนาออกตามความเป็น
จริง ตถาคตจึงหลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
[๗๓] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ
ประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตรู้แจ้งได้
เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตาม
ความเป็นจริง

อปรันตกัปปิกวาทะ ๔๔
ความเห็นกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต

[๗๔] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งกำหนดขันธ์ (สรรพสิ่ง) ส่วน
อนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะ
แสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๔๔ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัย
อะไรปรารภอะไรจึงกำหนดขันธ์ส่วนอนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภ
ขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๔๔ อย่าง

สัญญีวาทะ๑ ๑๖
เห็นว่าอัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญา

[๗๕] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตาย
แล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๑๖ อย่าง ก็
สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไรจึงมีวาทะว่า อัตตาหลังจาก
ตายแล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๑๖ อย่าง

เชิงอรรถ :
๑ ลัทธิที่ถือว่า หลังจากตายแล้วอัตตายังมีสัญญาเหลืออยู่ คำว่า สัญญา ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความจำได้
หมายรู้ธรรมดา แต่หมายถึงภาวะที่เป็นความรู้สึกรู้ขั้นละเอียด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ทิฏฐิ ๖๒ สัญญีวาทะ ๑๖

[๗๖] สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมบัญญัติว่า
๑๙. (๑) อัตตาที่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา
๒๐. (๒) อัตตาที่ไม่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา
๒๑. (๓) อัตตาทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา
๒๒. (๔) อัตตาที่มีรูปก็มิใช่ ไม่มีรูปก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมี
สัญญา
๒๓. (๕) อัตตาที่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา
๒๔. (๖) อัตตาที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา
๒๕. (๗) อัตตาทั้งที่มีที่สุดและไม่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมี
สัญญา
๒๖. (๘) อัตตาที่มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตาย
แล้วมีสัญญา
๒๗. (๙) อัตตาที่มีสัญญาอย่างเดียวกัน ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมี
สัญญา
๒๘. (๑๐) อัตตาที่มีสัญญาต่างกัน ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา
๒๙. (๑๑) อัตตาที่มีสัญญาเล็กน้อย ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา
๓๐. (๑๒) อัตตาที่มีสัญญาหาประมาณมิได้ ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว
มีสัญญา
๓๑. (๑๓) อัตตาที่มีสุขอย่างเดียว ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา
๓๒. (๑๔) อัตตาที่มีทุกข์อย่างเดียว ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา
๓๓. (๑๕) อัตตาที่มีทั้งสุขและทุกข์ ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมีสัญญา
๓๔. (๑๖) อัตตาที่มีทุกข์ก็มิใช่ มีสุขก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตายแล้วมี
สัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ทิฏฐิ ๖๒ อสัญญีวาทะ ๘

สรุปสัญญีวาทะ ๑๖

[๗๗] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตาย
แล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๑๖ อย่างนี้แล
ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญา
บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่า มีสัญญา ด้วยมูลเหตุทั้ง ๑๖ อย่างนี้ หรือด้วย
มูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๖ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ ฯลฯ อันเป็นเหตุให้คน
กล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตามความเป็นจริง

ภาณวารที่ ๒ จบ

อสัญญีวาทะ ๘
เห็นว่าอัตตาหลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา

[๗๘] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตาย
แล้วไม่มีสัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่าไม่มีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่าง
ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไรจึงมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตาย
แล้วไม่มีสัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่าไม่มีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่าง
[๗๙] สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมบัญญัติว่า
๓๕. (๑) อัตตาที่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา
๓๖. (๒) อัตตาที่ไม่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา
๓๗. (๓) อัตตาทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้วไม่มี
สัญญา
๓๘. (๔) อัตตาที่มีรูปก็มิใช่ ไม่มีรูปก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตายแล้วไม่
มีสัญญา
๓๙. (๕) อัตตาที่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา
๔๐. (๖) อัตตาที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา
๔๑. (๗) อัตตาทั้งที่มีที่สุดและไม่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้วไม่มี
สัญญา
๔๒. (๘) อัตตาที่มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว
ไม่มีสัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ ๖๒ เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ ๘

[๘๐] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตาย
แล้วไม่มีสัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่าไม่มีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่างนี้
แล สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วไม่มี
สัญญา บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่า ไม่มีสัญญา ด้วยมูลเหตุทั้ง ๘ อย่างนี้หรือ
ด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๘ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ ฯลฯ อันเป็นเหตุให้คน
กล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตามความเป็นจริง

เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ ๘
เห็นว่าอัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่

[๘๑] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า อัตตาหลังจาก
ตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญา
ก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัย
อะไรปรารภอะไรจึงมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญา
ก็มิใช่ บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วยมูลเหตุ
๘ อย่าง
[๘๒] สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมบัญญัติว่า
๔๓. (๑) อัตตาที่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มี
สัญญาก็มิใช่
๔๔. (๒) อัตตาที่ไม่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่
มีสัญญาก็มิใช่
๔๕. (๓) อัตตาทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มี
สัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่
๔๖. (๔) อัตตาที่มีรูปก็มิใช่ ไม่มีรูปก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว
มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่
๔๗. (๕) อัตตาที่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มี
สัญญาก็มิใช่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ทิฏฐิ ๖๒ อุจเฉทวาทะ ๗

๔๘. (๖) อัตตาที่ไม่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มีสัญญาก็มิใช่
ไม่มีสัญญาก็มิใช่
๔๙. (๗) อัตตาทั้งที่มีที่สุดและไม่มีที่สุด ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว มี
สัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่
๕๐. (๘) อัตตาที่มีที่สุดก็มิใช่ ไม่มีที่สุดก็มิใช่ ยั่งยืน หลังจากตายแล้ว
มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่
[๘๓] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตาย
แล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่า มีสัญญา
ก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุก
จำพวกมีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ บัญญัติ
อัตตาหลังจากตายแล้วว่า มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วยมูลเหตุทั้ง ๘ อย่าง
นี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๘ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ ฯลฯ อันเป็นเหตุ
ให้คนกล่าวยกย่องตถาคตตามความเป็นจริง

อุจเฉทวาทะ๑ ๗
เห็นว่าหลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ

[๘๔] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่าหลังจากตายแล้ว
อัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์
ด้วยมูลเหตุ ๗ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไรจึงมี
วาทะว่า หลังจากตายแล้ว อัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และ
ความไม่เกิดอีกของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๗ อย่าง
[๘๕] ๕๑. (๑) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้มีวาทะมีทรรศนะอย่างนี้ว่า
‘ท่านผู้เจริญ อัตตานี้มีรูปมาจากมหาภูตรูป ๔ เกิดจากบิดามารดา หลังจากตายแล้ว
อัตตาย่อมขาดสูญพินาศ ไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้อัตตานี้จึงขาดสูญเด็ดขาด’
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของ
สัตว์อย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ลัทธิที่ถือว่าตายแล้วไม่เกิดอีก เป็นแนวคิดเชิงวัตถุนิยม ลัทธินี้ทำให้หมกมุ่นในกามสุข (ที.สี.อ. ๘๔/๑๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ทิฏฐิ ๖๒ อุจเฉทวาทะ ๗

[๘๖] ๕๒. (๒) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน
นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่
อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่เป็นทิพย์ มีรูปเป็น
กามาวจร๑ บริโภคข้าวเป็นอาหาร ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่เรารู้เราเห็น อัตตานั้น
หลังจากตายแล้วจะขาดสูญพินาศ ไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้อัตตาจึงขาดสูญ
เด็ดขาด’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่
เกิดอีกของสัตว์อย่างนี้
[๘๗] ๕๓. (๓) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน
นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่
อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่เป็นทิพย์ มีรูป
สำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่เรารู้
เราเห็น อัตตานั้นหลังจากตายแล้วจะขาดสูญพินาศไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
อัตตาจึงขาดสูญเด็ดขาด’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความ
พินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์อย่างนี้
[๘๘] ๕๔. (๔) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์
คนนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี
แต่อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่ถึงชั้น
อากาสานัญจายตนะ โดยกำหนดว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับ
ปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่
เรารู้เราเห็น อัตตานั้นหลังจากตายแล้วจะขาดสูญพินาศไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่า
นี้อัตตาจึงขาดสูญเด็ดขาด’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความ
พินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์อย่างนี้
[๘๙] ๕๕. (๕) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน
นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่

เชิงอรรถ :
๑ เทวดาชั้นกามาวจร ๖ ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี (ที.สี.อ.
๘๖/๑๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ทิฏฐิ ๖๒ อุจเฉทวาทะ ๗

อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่ถึงชั้นวิญญาณัญ-
จายตนะ โดยกำหนดว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดย
ประการทั้งปวง ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่เรารู้เราเห็น อัตตานั้นหลังจากตายแล้วจะขาด
สูญพินาศไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อัตตาจึงขาดสูญเด็ดขาด’ สมณพราหมณ์
พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์อย่างนี้
[๙๐] ๕๖. (๖) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน
นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่
อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่ถึงชั้น
อากิญจัญญายตนะ โดยกำหนดว่าไม่มีอะไร เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้
โดยประการทั้งปวง ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่เรารู้เราเห็น อัตตานั้นหลังจากตายแล้ว
จะขาดสูญพินาศไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อัตตาจึงขาดสูญเด็ดขาด’
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีก
ของสัตว์อย่างนี้
[๙๑] ๕๗. (๗) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน
นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่
อัตตานี้ไม่ใช่ขาดสูญเด็ดขาดเพราะเหตุเพียงเท่านี้ ยังมีอัตตาอื่นที่ถึงชั้นเนว-
สัญญานาสัญญายตนะ โดยกำหนดว่านั่นละเอียด นั่นประณีต เพราะล่วง
อากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง ท่านยังไม่รู้ไม่เห็น แต่เรารู้เราเห็น อัตตา
นั้นหลังจากตายแล้วจะขาดสูญพินาศไม่เกิดอีก ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อัตตาจึงขาดสูญ
เด็ดขาด’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่
เกิดอีกของสัตว์อย่างนี้
[๙๒] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า หลังจากตายแล้ว
อัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์ด้วย
มูลเหตุ ๗ อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมีวาทะว่าหลังจาก
ตายแล้วอัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีก
ของสัตว์ด้วยมูลเหตุทั้ง ๗ อย่างนี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๗ อย่างนี้
ไม่พ้นไปจากนี้ ฯลฯ อันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตตามความเป็นจริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ทิฏฐิ ๖๒ ทิฏฐธัมมนิพพานวาทะ ๕

ทิฏฐธัมมนิพพานวาทะ๑ ๕
เห็นว่ามีสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน

[๙๓] ภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะว่า มีสภาพบางอย่าง
เป็นนิพพานในปัจจุบัน บัญญัตินิพพานในปัจจุบันว่า เป็นบรมธรรมของสัตว์ ด้วย
มูลเหตุ ๕ อย่าง ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นอาศัยอะไรปรารภอะไรจึงมีวาทะ
ว่า มีสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน บัญญัตินิพพานในปัจจุบันว่า เป็น
บรมธรรมของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๕ อย่าง
[๙๔] ๕๘. (๑) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้มีวาทะมีทรรศนะอย่างนี้
ว่า ‘ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุที่อัตตานี้เอิบอิ่มเพลิดเพลินอยู่ด้วยกามคุณ ๕ จึงชื่อว่า
บรรลุนิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรม’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัตินิพพาน
ในปัจจุบันว่า เป็นบรมธรรมของสัตว์อย่างนี้
[๙๕] ๕๙. (๒) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน
นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่
อัตตานี้ไม่ใช่จะบรรลุนิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรมได้เพราะเหตุเพียงเท่า
นี้ เพราะเหตุไร เพราะกามไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ผันแปรเป็นธรรมดา เพราะกามนั้น
ผันแปรไปเป็นอื่น ความโศกเศร้า ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกาย ความไม่
สบายใจ และความคับแค้นใจจึงเกิดขึ้น เพราะเหตุที่อัตตานี้สงัดจากกามและ
อกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขเกิดจากวิเวกอยู่
จึงชื่อว่าบรรลุนิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรม’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติ
นิพพานในปัจจุบันว่า เป็นบรมธรรมของสัตว์อย่างนี้
[๙๖] ๖๐. (๓) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน
นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่
อัตตานี้ไม่ใช่จะบรรลุนิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรมได้เพราะเหตุเพียงเท่า

เชิงอรรถ :
๑ ลัทธิที่ถือว่า สามารถบรรลุนิพพาน หรือสามารถดับทุกข์ได้โดยง่ายในอัตภาพนี้ เป็นความเข้าใจของ
พวกที่เห็นความเพลิดเพลินจากกามคุณว่าเป็นนิพพาน หรือเห็นความสุขจากฌานว่าเป็นนิพพาน (ที.สี.อ.
๙๗/๑๑๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] สรุปทิฏฐิ ๖๒

นี้ เพราะเหตุไร เพราะปฐมฌานที่มีวิตกมีวิจารนั้นบัณฑิตกล่าวว่า ยังหยาบอยู่
เพราะเหตุที่วิตกวิจารสงบไป อัตตานี้จึงบรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน
มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
จึงชื่อว่าบรรลุนิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรม’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัติ
นิพพานในปัจจุบันว่าเป็นบรมธรรมของสัตว์อย่างนี้
[๙๗] ๖๑. (๔) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน
นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่
อัตตานี้ไม่ใช่จะบรรลุนิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรมได้เพราะเหตุเพียงเท่านี้
เพราะเหตุไร เพราะทุติยฌานที่ยังมีปีติเป็นเหตุให้จิตเบิกบานนั้นบัณฑิตกล่าวว่า
ยังหยาบอยู่ เพราะเหตุที่ปีติจางคลายไป อัตตานี้จึงมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขา
มีสติอยู่เป็นสุข จึงชื่อว่าบรรลุนิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรม’ สมณพราหมณ์
พวกหนึ่งบัญญัตินิพพานในปัจจุบันว่าเป็นบรมธรรมของสัตว์อย่างนี้
[๙๘] ๖๒. (๕) สมณะหรือพราหมณ์คนอื่นกล่าวกับสมณะหรือพราหมณ์คน
นั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นมีจริง เราไม่ปฏิเสธว่าไม่มี แต่
อัตตานี้ไม่ใช่จะบรรลุนิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรมได้เพราะเหตุเพียงเท่า
นี้ เพราะเหตุไร เพราะตติยฌานที่จิตยังคำนึงถึงสุขอยู่นั้นบัณฑิตกล่าวว่า ยังหยาบ
อยู่ เพราะเหตุที่ละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสก่อนดับไปก่อน อัตตานี้
จึงบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ จึงชื่อว่าบรรลุ
นิพพานในปัจจุบันอันเป็นบรมธรรม’ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งบัญญัตินิพพานใน
ปัจจุบันว่าเป็นบรมธรรมของสัตว์อย่างนี้

สรุปทิฏฐธัมมนิพพานวาทะ

[๙๙] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นมีวาทะว่า มีสภาพบางอย่าง
เป็นนิพพานในปัจจุบัน บัญญัตินิพพานในปัจจุบันว่า เป็นบรมธรรมของสัตว์ ด้วย
มูลเหตุ ๕ อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกมีวาทะว่า มีสภาพ
บางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน บัญญัตินิพพานในปัจจุบันว่าเป็นบรมธรรมของ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] สรุปทิฏฐิ ๖๒

สัตว์ ด้วยมูลเหตุทั้ง ๕ อย่างนี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๕ อย่างนี้ ไม่
พ้นไปจากนี้ ฯลฯ อันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตามความเป็นจริง
[๑๐๐] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่านั้นกำหนดขันธ์ (สรรพสิ่ง) ส่วน
อนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะ
แสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๔๔ อย่างนี้แล ก็สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวก
กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต
ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุทั้ง ๔๔ อย่างนี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใด
อย่างหนึ่งใน ๔๔ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้ ฯลฯ อันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่อง
ตถาคตถูกต้องตามความเป็นจริง
[๑๐๑] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่
กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมี
ความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและ
อนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๖๒ อย่างนี้แล
[๑๐๒] ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต ที่
กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต หรือที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมีความ
เห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต
ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุทั้ง ๖๒ อย่างนี้ หรือด้วยมูลเหตุอย่างใด
อย่างหนึ่งใน ๖๒ อย่างนี้ ไม่พ้นไปจากนี้
[๑๐๓] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า มูลเหตุแห่งทิฏฐิเหล่านี้ที่บุคคล
ยึดถืออย่างนี้แล้วย่อมมีคติและภพหน้าอย่างนั้น ๆ ตถาคตรู้มูลเหตุนั้นชัด และยังรู้
ชัดยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีกจึงไม่ยึดมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นจึงรู้ความดับด้วยตนเอง รู้ความเกิด
ความดับ คุณ โทษแห่งเวทนา และอุบายเครื่องสลัดเวทนาออกตามความเป็นจริง
ตถาคตจึงหลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น
[๑๐๔] ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ
ประณีต ใช้เหตุผลคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตรู้แจ้งได้
เองแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามอันเป็นเหตุให้คนกล่าวยกย่องตถาคตถูกต้องตาม
ความเป็นจริง

(ทิฏฐิ ๖๒ จบ)


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ว่าด้วยการบัญญัติอัตตาและโลกเพราะความแส่หา ความดิ้นรน ของคนมีตัณหา

ว่าด้วยการบัญญัติอัตตาและโลกเพราะความแส่หา ความดิ้นรน
ของคนมีตัณหา

[๑๐๕] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกที่มีวาทะว่าเที่ยง
บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของ
พวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเท่านั้น
[๑๐๖] พวกที่มีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและ
โลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้า
ใจของพวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน
[๑๐๗] พวกที่มีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลก
ไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของพวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็น
ความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน
[๑๐๘] พวกที่มีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ
ย่อมกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของพวก
เขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน
[๑๐๙] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติ
อัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย ด้วยมูลเหตุ ๒ อย่าง ข้อนั้นเป็นความ
เข้าใจของพวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน
[๑๑๐] พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภขันธ์
ส่วนอดีต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๑๘ อย่าง ข้อนั้นเป็นความ
เข้าใจของพวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเท่านั้น
[๑๑๑] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตาหลัง
จากตายแล้วว่ามีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๑๖ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของพวกเขา
ผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน
[๑๑๒] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา บัญญัติอัตตา
หลังจากตายแล้วว่าไม่มีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของพวก
เขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ว่าด้วยการบัญญัติอัตตาและโลกเพราะผัสสะเป็นเหตุ

[๑๑๓] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญา
ก็มิใช่ บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วย
มูลเหตุ ๘ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของพวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา
ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเหมือนกัน
[๑๑๔] พวกที่มีวาทะว่า หลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาด
สูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๗ อย่าง ข้อนั้นเป็น
ความเข้าใจของพวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหา
เหมือนกัน
[๑๑๕] พวกที่มีวาทะว่า มีสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน บัญญัติ
นิพพานในปัจจุบันว่าเป็นบรมธรรมของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๕ อย่าง ข้อนั้นเป็น
ความเข้าใจของพวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหา
เหมือนกัน
[๑๑๖] พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต
ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๔๔ อย่าง
ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของพวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของ
คนมีตัณหาเท่านั้น
[๑๑๗] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่
กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมีความ
เห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต
ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๖๒ อย่าง ข้อนั้นเป็นความเข้าใจของ
พวกเขาผู้ไม่รู้ไม่เห็น เป็นความแส่หา ความดิ้นรนของคนมีตัณหาเท่านั้น

ว่าด้วยการบัญญัติอัตตาและโลกเพราะผัสสะเป็นเหตุ

[๑๑๘] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกที่มีวาทะว่าเที่ยง
บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ
[๑๑๙] พวกที่มีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและ
โลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะ
เป็นเหตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร]
ว่าดวยการบัญญัติอัตาและโลกเพราะผัสสะเป็นเหตุ

[๑๒๐] พวกที่มีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด
โลกไม่มีที่สุด ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๑] พวกที่มีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ
ย่อมกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๒] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติ
อัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย ด้วยมูลเหตุ ๒ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะ
เป็นเหตุ
[๑๒๓] พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภ
ขันธ์ส่วนอดีต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๑๘ อย่าง ข้อนั้นก็
เพราะผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๔] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตา
หลังจากตายแล้วว่ามีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๑๖ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๕] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา บัญญัติอัตตา
หลังจากตายแล้วว่าไม่มีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๖] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญา
ก็มิใช่ บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วย
มูลเหตุ ๘ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๗] พวกที่มีวาทะว่า หลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาด
สูญ ความพินาศ และความไม่เกิดอีกของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๗ อย่าง ข้อนั้นเพราะ
ผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๘] พวกที่มีวาทะว่า มีสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน บัญญัติ
นิพพานในปัจจุบันว่าเป็นบรมธรรมของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๕ อย่าง ข้อนั้นเพราะ
ผัสสะเป็นเหตุ
[๑๒๙] พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต
ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๔๔ อย่าง ข้อ
นั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ว่าด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

[๑๓๐] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่
กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมีความ
เห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต
ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๖๒ อย่าง ข้อนั้นเพราะผัสสะเป็นเหตุ

ว่าด้วยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

[๑๓๑] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกที่มีวาทะว่าเที่ยง
บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้น
จากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๓๒] พวกที่มีวาทะว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บัญญัติอัตตาและ
โลกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่
พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๓๓] พวกที่มีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด บัญญัติว่า โลกมีที่สุด โลกไม่
มีที่สุดด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๓๔] พวกที่มีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน พอถูกถามปัญหาในประเด็นนั้น ๆ
ย่อมกล่าวหลบเลี่ยงไม่แน่นอนด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้น
จากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๓๕] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย บัญญัติ
อัตตาและโลกว่า เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย ด้วยมูลเหตุ ๒ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่
พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๓๖] พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอดีต ปรารภ
ขันธ์ส่วนอดีต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๑๘ อย่าง เป็นไปไม่ได้
เลยที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๓๗] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญา บัญญัติอัตตาหลัง
จากตายแล้วว่ามีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๑๖ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้น
จากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ว่าด้วยวัฏฏะที่เจ้าลัทธิตั้งไว้

[๑๓๘] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา บัญญัติอัตตา
หลังจากตายแล้วว่าไม่มีสัญญา ด้วยมูลเหตุ ๘ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้น
จากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๓๙] พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญา
ก็มิใช่ บัญญัติอัตตาหลังจากตายแล้วว่ามีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ด้วย
มูลเหตุ ๘ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๔๐] พวกที่มีวาทะว่า หลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ บัญญัติความขาดสูญ
ความพินาศและความไม่เกิดอีกของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๗ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลย
ที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๔๑] พวกที่มีวาทะว่า มีสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน บัญญัติ
นิพพานในปัจจุบันว่าเป็นบรมธรรมของสัตว์ ด้วยมูลเหตุ ๕ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลย
ที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๔๒] พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต เห็นคล้อยตามขันธ์ส่วนอนาคต
ปรารภขันธ์ส่วนอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๔๔ อย่าง
เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้
[๑๔๓] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่
กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมี
ความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและ
อนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๖๒ อย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่
พวกเขาเว้นจากผัสสะแล้วจะยังรู้สึกได้

ว่าด้วยวัฏฏะที่เจ้าลัทธิตั้งไว้

[๑๔๔] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกที่มีวาทะว่าเที่ยง
บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยมูลเหตุ ๔ อย่าง พวกที่มีวาทะว่า บางอย่าง
เที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ฯลฯ พวก
ที่มีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นเองไม่มี
เหตุปัจจัย ฯลฯ พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ว่าด้วยไม่มีวัฏฏะเป็นต้น

ตายแล้วมีสัญญา ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา ฯลฯ
พวกที่มีวาทะว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ฯลฯ พวก
ที่มีวาทะว่า หลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ ฯลฯ พวกที่มีวาทะว่า มีสภาพ
บางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบัน ฯลฯ พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต ฯลฯ พวก
ที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้ง
ส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมีความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต
ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ด้วยมูลเหตุ ๖๒
อย่าง สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกจำพวกรับสัมผัส (ผัสสะ)๑ ทางผัสสายตนะ ๖ แล้ว
เกิดเวทนา (ความรู้สึก) เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงเกิดมีตัณหา (ความอยาก) เพราะ
ตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดมีอุปาทาน (ความยึดมั่น ถือมั่น) เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึง
เกิดมีภพ (ความมี ความเป็น) เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดมีชาติ (ความเกิด) เพราะ
ชาติเป็นปัจจัยจึงเกิดมีชรา (ความแก่) มรณะ (ความตาย) โสกะ (ความเศร้าโศก)
ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความไม่สบายกาย) โทมนัส (ความไม่สบายใจ)
และอุปายาส (ความคับแค้นใจ)

ว่าด้วยไม่มีวัฏฏะเป็นต้น

[๑๔๕] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดภิกษุรู้ชัดถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษแห่ง
ผัสสายตนะ ๖ และอุบายเครื่องสลัดผัสสายตนะเหล่านั้นออกตามความเป็นจริง
เมื่อนั้นเธอย่อมรู้ชัดยิ่งกว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้น

อุปมาเหมือนชาวประมงทอดแห

[๑๔๖] ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวก
ที่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมี
ความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและ

เชิงอรรถ :
๑ สัมผัส หรือการกระทบกันระหว่างอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก เช่น ตากระทบรูป เป็นต้น
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทิฏฐิ ๖๒ เริ่มต้นจากผัสสะนำไปสู่เวทนา สุดท้ายก็คือความทุกข์ ดังนั้นจึงไม่อาจนำ
ไปสู่ความดับทุกข์ได้แต่อย่างใด (ที.สี.อ. ๑๔๔/๑๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ว่าด้วยไม่มีวัฏฏะเป็นต้น

อนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ทั้งหมดถูกทิฏฐิ ๖๒ นี้ซึ่งเป็นดุจตาข่าย
ปกคลุมเอาไว้ ตกอยู่ในตาข่ายนี้ เมื่อโผล่ขึ้นก็โผล่อยู่ในตาข่ายนี้ ติดอยู่ในตาข่ายนี้
ถูกปกคลุมเอาไว้ เมื่อโผล่ขึ้นก็โผล่อยู่ในตาข่ายนี้เอง
เปรียบเหมือนชาวประมง หรือลูกมือชาวประมง ผู้ชำนาญ ใช้แหตาถี่ทอดลง
หนองน้ำเล็ก ๆ เขาคิดว่า บรรดาสัตว์ตัวใหญ่ในหนองน้ำแห่งนี้ทั้งหมดถูกแหครอบ
เอาไว้ อยู่ในแหนี้ เมื่อผุดขึ้นก็ผุดอยู่ในแหนี้ ติดอยู่ในแหนี้ ถูกครอบเอาไว้ เมื่อผุด
ขึ้นก็ผุดอยู่ในแหนี้ ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์พวกที่กำหนดขันธ์ส่วนอดีต พวกที่
กำหนดขันธ์ส่วนอนาคต และพวกที่กำหนดขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ล้วนมี
ความเห็นคล้อยตามขันธ์ทั้งส่วนอดีตและอนาคต ปรารภขันธ์ทั้งส่วนอดีตและ
อนาคต ประกาศวาทะแสดงทิฏฐิต่าง ๆ ทั้งหมดถูกทิฏฐิ ๖๒ นี้๑ ซึ่งเป็นดุจตาข่าย
ปกคลุมเอาไว้ ตกอยู่ในตาข่ายนี้ เมื่อโผล่ขึ้นก็โผล่อยู่ในตาข่ายนี้ ติดอยู่ในตาข่ายนี้
ถูกปกคลุมเอาไว้ เมื่อโผล่ขึ้นก็โผล่อยู่ในตาข่ายนี้เอง ฉันนั้น

อุปมาร่างกายเหมือนผลมะม่วง

[๑๔๗] ภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคตขาดตัณหาที่พาไปสู่ภพเสียแล้ว๒
เทวดาและมนุษย์จักเห็นกายของตถาคตได้ชั่วเวลายังดำรงอยู่ หลังจากกายแตก
สลายไปเพราะสิ้นชีวิตแล้ว เทวดาและมนุษย์จักไม่เห็นกายนั้นอีก
เปรียบเหมือนเมื่อกลุ่มผลมะม่วงถูกตัดขั้ว ผลมะม่วงทั้งหมดที่ห้อยอยู่กับขั้วก็
ย่อมติดตามขั้วนั้นไป ฉันใด กายของตถาคตขาดตัณหาที่พาไปสู่ภพเสียแล้ว เทวดา
และมนุษย์จักเห็นกายของตถาคตได้ชั่วเวลาที่ยังดำรงอยู่ หลังจากกายแตกสลายไป
เพราะสิ้นชีวิตแล้ว เทวดาและมนุษย์จักไม่เห็นกายนั้นอีก ฉันนั้น”

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิ ๖๒ คือทฤษฎีทางอภิปรัชญาที่มีอยู่ในอินเดีย ทั้งก่อนและร่วมสมัยกับพระพุทธองค์ มีอยู่ทั้งหมด ๖๒
ทฤษฎี พระพุทธองค์ทรงยกมาแสดงเพื่อยืนยันว่า พระองค์ทรงรู้ทฤษฎีดังกล่าวอย่างแจ่มแจ้ง และทรง
แสดงพรหมชาลสูตรครอบคลุมทฤษฎีเหล่านั้นทั้งหมด เปรียบเหมือนชาวประมงใช้แหทอดคลุมปลาไว้ได้
ทั้งหมด ฉะนั้น
๒ ไม่มีตัณหาที่จะเป็นเหตุให้เกิดอีก (ที.สี.อ. ๑๔๗/๑๑๗-๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑.พรหมชาลสูตร] ว่าด้วยไม่มีวัฏฏะเป็นต้น

[๑๔๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ธรรมบรรยายนี้มีชื่อว่าอะไร
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เธอจงจำธรรมบรรยายนี้ว่า ข่ายแห่ง
ประโยชน์ (อรรถชาละ) ก็ได้ ข่ายแห่งธรรม (ธรรมชาละ) ก็ได้ ข่ายแห่ง
สัพพัญญุตญาณอันประเสริฐ (พรหมชาละ) ก็ได้ ข่ายแห่งทิฏฐิ(ทิฏฐิชาละ) ก็ได้
ตำราพิชัยสงคราม (สังคามวิชัย) อันยอดเยี่ยมก็ได้๑”
[๑๔๙] ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็แล
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณภาษิตนี้จบลง โลกธาตุที่ประกอบด้วย ๑๐,๐๐๐
จักรวาลได้หวั่นไหวแล้วแล

พรหมชาลสูตรที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูและราชอำมาตย์

๒. สามัญญผลสูตร
ว่าด้วยผลแห่งความเป็นสมณะ

เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูและราชอำมาตย์

[๑๕๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของหมอชีวก โกมารภัจ๑
เขตกรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป สมัยนั้นแล ใน
คืนวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันอุโบสถของเดือนที่ ๔ ซึ่งเป็นเดือนที่มีดอกโกมุท
บานสะพรั่ง พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร๒ มีอำมาตย์
แวดล้อม ประทับนั่งอยู่บนปราสาทชั้นบน ขณะนั้น ท้าวเธอทรงเปล่งอุทานว่า
“ราตรีสว่างไสวน่ารื่นรมย์ งดงาม น่าชื่นชมยิ่งนัก เป็นฤกษ์งามยามดี วันนี้เราควร
เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดหนอ ที่จะทำให้จิตใจของเราเบิกบานเลื่อมใสได้”
[๑๕๑] เมื่อท้าวเธอทรงเปล่งอุทานอย่างนี้ ราชอำมาตย์ผู้หนึ่งได้กราบทูล
ว่า “ขอเดชะ ครูปูรณะ กัสสปะ๓ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียง
มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ คนจำนวนมากยกย่องกันว่าเป็นคนดี มีประสบการณ์มาก
บวชมานาน มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก พระองค์โปรดเสด็จ
เข้าไปหาท่าน เมื่อเสด็จเข้าไปหา พระทัยของพระองค์จะเบิกบานเลื่อมใส”
เมื่อราชอำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้ ท้าวเธอทรงนิ่ง
[๑๕๒] ราชอำมาตย์อีกคนหนึ่งได้กราบทูลว่า “ขอเดชะ ครูมักขลิ โคศาล๔
เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงมีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ

เชิงอรรถ :
๑ ที่ชื่อว่า ชีวก เพราะเมื่อคลอดออกมาวันแรกถูกแม่นำไปทิ้ง แต่มีชีวิตรอดมาได้ ที่ชื่อว่า โกมารภัจ เพราะ
อภัยราชกุมารทรงนำไปเลี้ยงไว้อย่างราชกุมาร เขาจบการศึกษาทางแพทย์ เป็นคนแรกที่ผ่าตัดสมองเป็น
ผลสำเร็จ นอกจากนี้ ยังเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าอีกด้วย (วิ. มหา. ๕/๓๒๘/๑๒๕)
๒ พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสารกับพระนางเวเทหิ (ที.สี.อ. ๑๕๐/๑๒๗)
๓ เจ้าลัทธิชื่อปูรณะ กัสสปโคตร (ที.สี.อ. ๑๕๑/๑๓๐)
๔ เจ้าลัทธิชื่อมักขลิ ผู้เกิดในโรงโค (ที.สี.อ. ๑๕๒/๑๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูและราชอำมาตย์

คนจำนวนมากยกย่องกันว่าเป็นคนดี มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่
หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก พระองค์โปรดเสด็จเข้าไปหาท่าน เมื่อเสด็จ
เข้าไปหา พระทัยของพระองค์จะเบิกบานเลื่อมใส”
เมื่อราชอำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้ ท้าวเธอก็ทรงนิ่ง
[๑๕๓] ราชอำมาตย์อีกคนหนึ่งได้กราบทูลว่า “ขอเดชะ ครูอชิตะ เกสกัมพล๑
เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงมีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ คน
จำนวนมากยกย่องกันว่าเป็นคนดี มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่หลาย
รัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก พระองค์โปรดเสด็จเข้าไปหาท่าน เมื่อเสด็จเข้า
ไปหา พระทัยของพระองค์จะเบิกบานเลื่อมใส”
เมื่อราชอำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้ ท้าวเธอก็ทรงนิ่ง
[๑๕๔] ราชอำมาตย์อีกคนหนึ่งได้กราบทูลว่า “ขอเดชะ ครูปกุธะ กัจจายนะ๒
เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงมีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ คน
จำนวนมากยกย่องกันว่าเป็นคนดี มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่หลาย
รัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก พระองค์โปรดเสด็จเข้าไปหาท่าน เมื่อเสด็จเข้า
ไปหา พระทัยของพระองค์จะเบิกบานเลื่อมใส”
เมื่อราชอำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้ ท้าวเธอก็ทรงนิ่ง
[๑๕๕] ราชอำมาตย์อีกคนหนึ่งได้กราบทูลว่า “ขอเดชะ ครูสัญชัย เวลัฏฐ-
บุตร๓ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงมีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ
คนจำนวนมากยกย่องกันว่าเป็นคนดี มีประสบการณ์มาก บวชมานาน มีชีวิตอยู่
หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก พระองค์โปรดเสด็จเข้าไปหาท่าน เมื่อเสด็จ
เข้าไปหา พระทัยของพระองค์จะเบิกบานเลื่อมใส”
เมื่อราชอำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้ ท้าวเธอก็ทรงนิ่ง

เชิงอรรถ :
๑ เจ้าลัทธิชื่ออชิตะ ผู้นุ่งห่มผ้าที่ทำด้วยผมของมนุษย์ (ที.สี.อ. ๑๕๓/๑๓๑)
๒ เจ้าลัทธิชื่อปกุธะ กัจจายนโคตร (ที.สี.อ. ๑๕๔/๑๓๒)
๓ เจ้าลัทธิชื่อสัญชัย ผู้เป็นบุตรของช่างสาน (ที.สี.อ. ๑๕๕/๑๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ว่าด้วยหมอชีวก โกมารภัจ

[๑๕๖] ราชอำมาตย์อีกคนหนึ่งได้กราบทูลว่า “ขอเดชะ ครูนิครนถ์
นาฏบุตร๑ เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ เป็นผู้มีชื่อเสียงมีเกียรติยศ เป็น
เจ้าลัทธิ คนจำนวนมากยกย่องกันว่าเป็นคนดี มีประสบการณ์มาก บวชมานาน
มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมามาก พระองค์โปรดเสด็จเข้าไปหาท่าน
เมื่อเสด็จเข้าไปหา พระทัยของพระองค์จะเบิกบานเลื่อมใส”
เมื่อราชอำมาตย์ผู้นั้นกราบทูลอย่างนี้ ท้าวเธอก็ทรงนิ่ง

ว่าด้วยหมอชีวก โกมารภัจ

[๑๕๗] สมัยนั้น หมอชีวก โกมารภัจ นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่ไม่ไกลจากพระเจ้า
อชาตศัตรู เวเทหิบุตร ท้าวเธอตรัสถามหมอชีวก โกมารภัจ ว่า “สหายชีวก ทำไม
ท่านจึงนิ่งอยู่เล่า”
หมอชีวก โกมารภัจ ทูลตอบว่า “ขอเดชะ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นพระ
อรหันต์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ประทับอยู่ที่สวนมะม่วงของข้าพระพุทธเจ้า
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูป พระองค์มีพระกิตติศัพท์อันงามขจร
ไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็น
สารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า๒ เป็นพระผู้มีพระภาค๓ พระองค์โปรดเสด็จเข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เมื่อเสด็จเข้าไปเฝ้า พระทัยของพระองค์จะเบิกบานเลื่อมใส”

เชิงอรรถ :
๑ นิครนถ์ ผู้เป็นบุตรของนักฟ้อน (ที.สี.อ. ๑๕๖/๑๓๒)
๒ ชื่อว่า เป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดด้วยพระองค์เองและทรงสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
๓ ชื่อว่า เป็นพระผู้มีพระภาค เพราะ (๑) ทรงมีโชค (๒) ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส (๓) ทรงประกอบด้วย
ภคธรรม ๖ ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน, โลกุตตรธรรม, ยศ, สิริ, ความสำเร็จประโยชน์
ตามต้องการ และความเพียร) (๔) ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (๕) ทรงเสพอริยธรรม (๖) ทรงคาย
ตัณหาในภพทั้งสาม (๗) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (๘) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (๙) ทรงมีส่วน
แห่งปัจจัย ๔ เป็นต้น (วิ.อ. ๑/๑๐๓-๑๑๘, สารตฺถ.ฏีกา. ๑/๒๗๐)
อนึ่ง พุทธคุณนี้ ท่านแบ่งเป็น ๑๐ ประการ โดยแยกพุทธคุณข้อ ๖ เป็น ๒ ประการ คือ (๑) เป็น
ผู้ยอดเยี่ยม (๒) เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ (วิสุทฺธิ. ๑/๒๖๕, วิ.อ. ๑/๑๑๒-๑๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
พระเจ้าอชาตศัตรูทูลถามเรื่องผลแห่งความเป็นสมณะ

[๑๕๘] ท้าวเธอจึงมีรับสั่งว่า “ถ้าอย่างนั้น ท่านจงสั่งให้จัดเตรียมขบวน
ช้างเถิด สหายชีวก”
หมอชีวก โกมารภัจ กราบทูลรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว สั่งให้เตรียม
ช้างพัง ๕๐๐ เชือกและช้างพระที่นั่ง กราบทูลว่า “ขบวนช้างพร้อมแล้ว ขอเชิญใต้
ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จเถิด พระเจ้าข้า”
[๑๕๙] ต่อมา พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร โปรดให้สตรี ๕๐๐ คนขึ้นช้าง
พังเชือกละ ๑ คน แล้วทรงช้างพระที่นั่ง มีผู้ถือคบเพลิง เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์
ด้วยราชานุภาพอันยิ่งใหญ่สมพระเกียรติไปสวนมะม่วงของหมอชีวก โกมารภัจ
พอใกล้จะถึงสวนมะม่วง ท้าวเธอทรงหวาดระแวง พระโลมชาติชูชัน จึงตรัส
ถามหมอชีวก โกมารภัจ ว่า “สหายชีวก ท่านไม่ได้หลอกเรา ไม่ได้ลวงเรา ไม่ได้นำ
เรามาให้ศัตรูดอกหรือ ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวน ๑,๒๕๐ รูปทำไมจึงไม่มีเสียงจาม
เสียงกระแอมไอ หรือเสียงพูดคุยกันเลย”
หมอชีวก โกมารภัจ ทูลตอบว่า “พระองค์โปรดอย่าได้ทรงหวาดระแวงไปเลย
ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้หลอกพระองค์ ไม่ได้ลวงพระองค์ ไม่ได้นำพระองค์มาให้ศัตรู
หรอก ขอเดชะ พระองค์โปรดเสด็จเข้าไปเถิด นั่นยังมีแสงประทีปตามอยู่ในหอนั่ง”

พระเจ้าอชาตศัตรูทูลถามเรื่องผลแห่งความเป็นสมณะ

[๑๖๐] ท้าวเธอจึงได้เสด็จเข้าไปโดยขบวนช้างพระที่นั่งจนสุดทางช้าง แล้ว
เสด็จลงจากช้างพระที่นั่งเข้าทางประตูหอนั่ง ตรัสถามหมอชีวก โกมารภัจ ว่า
“สหายชีวก พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไหนเล่า”
หมอชีวก โกมารภัจ ทูลตอบว่า “ขอเดชะ ผู้ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระ
พักตร์ไปทางทิศตะวันออกข้างหน้าภิกษุสงฆ์ นั่นแลคือพระผู้มีพระภาค พระเจ้าข้า”
[๑๖๑] ลำดับนั้น พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ
ภาคถึงที่ประทับ ได้ประทับยืน ณ ที่สมควร ทรงชำเลืองเห็นภิกษุสงฆ์สงบนิ่งเหมือน
สระน้ำใส จึงทรงเปล่งอุทานว่า “ขอให้อุทัยภัทรกุมาร๑ ของเราจงมีความสงบอย่าง
ภิกษุสงฆ์ในเวลานี้เถิด”

เชิงอรรถ :
๑ อุทัยภัทรกุมาร คือ พระโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรู (ที.สี.อ. ๑๖๑/๑๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
พระเจ้าอชาตศัตรูทูลถามเรื่องผลแห่งความเป็นสมณะ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร พระองค์เสด็จมาตามความรักบัญชา”
ท้าวเธอกราบทูลว่า “อุทัยภัทรกุมารเป็นที่รักของหม่อมฉัน ขอให้เธอจงมี
ความสงบอย่างภิกษุสงฆ์ในเวลานี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
[๑๖๒] ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงกราบพระผู้มีพระภาค ทรงไหว้ภิกษุสงฆ์แล้ว
ประทับนั่ง ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอวโรกาส
ทูลถามปัญหาบางอย่างกะพระผู้มีพระภาค หากพระผู้มีพระภาคจะประทาน
พระวโรกาสเพื่อทรงตอบปัญหาของหม่อมฉัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เชิญถามตามพระประสงค์เถิด มหาบพิตร”
[๑๖๓] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อาชีพที่อาศัยศิลปะเหล่านี้ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู พนักงานเชิญธง
พนักงานจัดกระบวนทัพ พวกจัดส่งเสบียง ราชนิกุลผู้ทรงเป็นนายทหารระดับสูง
พลอาสา ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะ พวกทาสเรือนเบี้ย พวกทำขนม ช่างกัลบก
พนักงานเครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่างหม้อ
นักคำนวณ นักบัญชี หรืออาชีพที่อาศัยศิลปะอย่างอื่นทำนองนี้ คนเหล่านั้นได้รับ
ผลจากอาชีพที่อาศัยศิลปะที่เห็นประจักษ์มาเลี้ยงชีพในปัจจุบัน จึงบำรุงตนเอง บิดา
มารดา บุตรภรรยา มิตรสหายให้เป็นสุข บำเพ็ญทักษิณาในสมณพราหมณ์ซึ่งมีผล
มากเป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดีมีสุขเป็นผลให้เกิดในสวรรค์ พระองค์จะทรงบัญญัติ
ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่”
[๑๖๔] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรงจำได้หรือไม่ว่า
ปัญหาข้อนี้ได้ตรัสถามสมณพราหมณ์อื่นมาบ้างแล้ว”
“หม่อมฉันจำได้ว่าเคยถามปัญหาข้อนี้กับสมณพราหมณเหล่าอื่นมาแล้ว
พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเหล่านั้นตอบว่าอย่างไร หากไม่หนักพระทัย เชิญพระองค์ตรัสเถิด”
“ณ สถานที่ที่มีพระผู้มีพระภาคหรือผู้เปรียบดังพระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่
หม่อมฉันไม่หนักใจเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“ถ้าอย่างนั้น เชิญพระองค์ตรัสเถิด มหาบพิตร”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ลัทธิของครูปูรณกัสสป

ลัทธิของครูปูรณะ กัสสปะ
อกิริยวาทะ๑ = ลัทธิที่ถือว่าทำแล้วไม่เป็นอันทำ

[๑๖๕] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
คราวหนึ่งในกรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหาครูปูรณะ กัสสปะ ถึงที่อยู่ เจรจาปราศรัย
กันพอคุ้นเคยดี ได้นั่งลงถามครูปูรณะ กัสสปะ ว่า ‘ท่านกัสสปะ อาชีพที่อาศัยศิลปะ
มากมายเหล่านี้ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู พนักงานเชิญธง พนักงาน
จัดกระบวนทัพ พวกจัดส่งเสบียง ราชนิกุลผู้ทรงเป็นนายทหารระดับสูง พลอาสา
ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะ พวกทาสเรือนเบี้ย พวกทำขนม ช่างกัลบก พนักงาน
เครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่างหม้อ นัก
คำนวณ นักบัญชี หรืออาชีพที่อาศัยศิลปะอย่างอื่นทำนองนี้ คนเหล่านั้นได้รับ
ผลจากอาชีพที่อาศัยศิลปะที่เห็นประจักษ์มาเลี้ยงชีพในปัจจุบัน จึงบำรุงตนเอง บิดา
มารดา บุตรภรรยา มิตรสหายให้เป็นสุข บำเพ็ญทักษิณาในสมณพราหมณ์ซึ่งมีผล
มากเป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดีมีสุขเป็นผลให้เกิดในสวรรค์ ท่านกัสสปะจะบัญญัติผล
แห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่’
[๑๖๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ ครูปูรณะ กัสสปะ
ตอบว่า ‘มหาบพิตร เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียน
เอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำให้เศร้าโศกเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เศร้าโศก ทำให้ลำบาก
เอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของ
ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ตัดช่องย่องเบา ปล้น ทำโจรกรรมในบ้านหลังเดียว ดักซุ่มที่
ทางเปลี่ยว เป็นชู้ พูดเท็จ ผู้ทำ(เช่นนั้น) ก็ไม่จัดว่าทำบาป แม้หากบุคคลใช้จักรมี
คมดุจมีดโกนสังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นดุจลานตากเนื้อ ให้เป็นกองเนื้อเดียว
กัน เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หากบุคคลไปฝั่ง
ขวาแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้
อื่นเบียดเบียน เขาย่อมไม่มีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบาปมาถึงเขา แม้หาก

เชิงอรรถ :
๑ ลัทธิที่ถือว่า การกระทำทุกอย่างไม่มีผล ทำดีก็ไม่ได้ดี ทำชั่วก็ไม่ได้ชั่ว เป็นความเห็นที่ปฏิเสธกฎแห่งกรรม
(ที.สี.อ. ๑๖๖/๑๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ลัทธิของครูมักขลิโคศาล

บุคคลไปฝั่งซ้ายแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา เขาย่อมไม่
มีบุญที่เกิดจากกรรมนั้น ไม่มีบุญมาถึงเขา ไม่มีบุญที่เกิดจากการให้ทาน จากการ
ฝึกอินทรีย์ จากการสำรวม จากการพูดคำสัตย์ ไม่มีบุญมาถึงเขา’ หม่อมฉันถามถึง
ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ แต่ครูปูรณะ กัสสปะ กลับตอบเรื่องที่ทำแล้ว
ไม่เป็นอันทำ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์
แต่ครูปูรณะ กัสสปะ กลับตอบเรื่องที่ทำแล้วไม่เป็นอันทำ เปรียบเหมือนเขาถาม
เรื่องมะม่วงกลับตอบเรื่องขนุนสำปะลอ หรือเขาถามเรื่องขนุนสำปะลอกลับตอบเรื่อง
มะม่วง หม่อมฉันจึงคิดว่า คนระดับเราจะรุกรานสมณพราหมณ์ผู้อยู่ในราช-
อาณาเขตได้อย่างไรกัน หม่อมฉันจึงไม่ชื่นชม ไม่ตำหนิคำกล่าวของครูปูรณะ กัสสปะ
ถึงไม่ชื่นชม ไม่ตำหนิ แต่ก็ไม่พอใจ และไม่เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจออกมา
เมื่อไม่ยึดถือ ไม่ใส่ใจคำกล่าวนั้น ก็ได้ลุกจากที่นั่งจากไป

ลัทธิของครูมักขลิ โคศาล
นัตถิกวาทะ๑= ลัทธิที่ถือว่าไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย

[๑๖๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คราวหนึ่งในกรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหา
ครูมักขลิ โคศาล ถึงที่อยู่ เจรจาปราศรัยกันพอคุ้นเคยดี ได้นั่งลงถามครูมักขลิ
โคศาล ว่า ‘ท่านโคศาล อาชีพที่อาศัยศิลปะมากมายเหล่านี้ คือ ฯลฯ๒ ท่านโคศาล
จะบัญญัติผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่’
[๑๖๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ ครูมักขลิ โคศาล
ตอบว่า ‘มหาบพิตร ความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย สัตว์
ทั้งหลายเศร้าหมองเอง ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลายไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย สัตว์
ทั้งหลายบริสุทธิ์เอง ไม่ใช่เพราะการกระทำของตนและไม่ใช่เพราะการกระทำของ
ผู้อื่น ไม่ใช่เพราะการกระทำของมนุษย์ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ไม่มีความ

เชิงอรรถ :
๑ ลัทธิที่ถือว่า ไม่มีเหตุปัจจัยที่ทำให้สัตว์บริสุทธิ์หรือเศร้าหมอ (ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๖)
๒ ความเต็มเหมือนในข้อ ๑๖๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ลัทธิของครูมักขลิโคศาล

สามารถของมนุษย์ ไม่มีความพยายามของมนุษย์ สัตว์ ปาณะ ภูตะ ชีวะ๑ ทั้งปวง
ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ผันแปรไปตามโชคชะตา ตามสถานภาพ
ทางสังคมและตามลักษณะเฉพาะตน ย่อมเสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติ๒ทั้ง ๖ อนึ่ง
กำเนิดที่เป็นประธาน ๑,๔๐๖,๖๐๐ กรรม ๕๐๐ กรรม ๕ กรรม ๓ กรรม ๑
กรรมกึ่ง๓ ปฏิปทา ๖๒ อันตรกัป ๖๒ อภิชาติ ๖ ปุริสภูมิ๔ ๘ อาชีวก ๔,๙๐๐
ปริพาชก ๔,๙๐๐ นาควาส ๔,๙๐๐ อินทรีย์ ๒,๐๐๐ นรก ๓๐๐ รโชธาตุ๕ ๓๖
สัญญีครรภ์ ๗ อสัญญีครรภ์ ๗ นิคัณฐีครรภ์๖ ๗ เทวดา ๗ มนุษย์ ๗ ปีศาจ ๗
สระ ๗ ตาไม้ไผ่ ๗ ตาไม้ไผ่ ๗๐๐ เหวใหญ่ ๗ เหวน้อย ๗๐๐ มหาสุบิน ๗
สุบิน ๗๐๐ มหากัป๗ ๘,๔๐๐,๐๐๐ เหล่านี้ที่คนพาลและบัณฑิตพากันเที่ยวเวียนว่าย
ไปแล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง ไม่มีความสมหวังในความปรารถนาว่า เราจักอบรม
กรรมที่ยังไม่ให้ผลให้ให้ผล หรือสัมผัสกรรมที่ให้ผลแล้วจักทำให้หมดสิ้นไปด้วยศีล พรต
ตบะหรือพรหมจรรย์นี้ ไม่มีสุขทุกข์ที่ทำให้สิ้นสุดลงได้ (จำนวนเท่านั้นเท่านี้)

เชิงอรรถ :
๑ สัตว์ หมายถึง สัตว์ชั้นสูง เช่น อูฐ ม้า ลา ปาณะ หมายถึง สัตว์ที่มี ๑ อินทรีย์ ๒ อินทรีย์เป็นต้น
ภูตะ หมายถึง สัตว์ทุกจำพวกทั้งที่เกิดจากฟองไข่และเกิดในครรภ์มารดา ชีวะ หมายถึง พวกพืชทุกชนิด
(ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๖)
๒ อภิชาติ คือ การกำหนดหมายชนชั้น เช่น โจรเป็นกัณหาภิชาติ (สีดำ) นักบวชเป็นนีลาภิชาติ (สีเขียว)
นิครนถ์เป็นโลหิตาภิชาติ (สีแดง) คฤหัสถ์เป็นหลิททาภิชาติ (สีเหลือง) อาชีวกเป็นสุกกาภิชาติ (สีขาว)
นักบวชที่เคร่งวัตรปฏิบัติเป็นปรมสุกกาภิชาติ (สีขาวยิ่งนัก) [ ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๗]
๓ ตามทัศนะของครูมักขลิ โคศาล กรรม ๕ หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น และกาย กรรม ๓ หมายถึงกายกรรม
วจีกรรม และมโนกรรม กรรม ๑ หมายถึง กายกรรมกับวจีกรรมรวมกัน กรรมกึ่ง หมายถึงมโนกรรม
(ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๗)
๔ ขั้นตอนแห่งการเจริญเติบโตและพัฒนาการของบุคคล นับตั้งแต่คลอดไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แบ่ง
เป็น ๘ ขั้น คือ มันทภูมิ (ระยะไร้เดียงสา) ขิฑฑาภูมิ (ระยะรู้เดียงสา) ปทวีมังสภูมิ (ระยะตั้งไข่)
อุชุคตภูมิ (ระยะเดินตรง) เสขภูมิ (ระยะศึกษา) สมณภูมิ (ระยะสงบ) ชินภูมิ (ระยะมีความรอบรู้)
ปันนภูมิ (ระยะแก่หง่อม) ( ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๗-๑๔๘)
๕ ฝุ่นระออง ในที่นี้หมายถึง ที่ที่ฝุ่นจับเกาะ เช่นหลังฝ่ามือ ฝ่าเท้า เป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๗)
๖ ที่งอกซึ่งอยู่ที่ข้อหรือตา เช่นอ้อย ไม้ไผ่ และไม้อ้อ เป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๘)
๗ กำหนดระยะเวลา ๑ มหากัป ยาวนานมาก อรรถกถาเปรียบว่า มีสระน้ำใหญ่แห่งหนึ่งเต็มด้วยน้ำ บุคคล
เอาปลายใบหญ้าคาจุ่มลงไปนำหยดน้ำออกมา ๑๐๐ ปีต่อ ๑ ครั้ง จนน้ำในสระนั้นแห้ง กระทำเช่นนี้ไปจน
ครบ ๗ ครั้ง นั่นคือระยะเวลา ๑ มหากัป (ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
ลัทธิของครูอชิตะ เกสกัมพล

เหมือนตวงด้วยทะนาน ไม่มีสังสารวัฏที่ทำให้สิ้นสุดไปได้ด้วยอาการอย่างนี้ ไม่มี
ความเสื่อมและความเจริญ ไม่มีการเลื่อนขึ้นสูงและเลื่อนลงต่ำ พวกคนพาลและ
บัณฑิตพากันเที่ยวเวียนว่ายไปแล้วก็จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง เหมือนกลุ่มด้ายที่ถูก
ขว้างไปย่อมคลี่หมดไปได้เองฉะนั้น’
[๑๖๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ แต่ครูมักขลิ โคศาล กลับตอบเรื่องความบริสุทธิ์เพราะเวียนว่ายตาย
เกิด เปรียบเหมือนเขาถามเรื่องมะม่วงกลับตอบเรื่องขนุนสำปะลอ หรือเขาถามเรื่อง
ขนุนสำปะลอกลับตอบเรื่องมะม่วง หม่อมฉันจึงคิดว่า คนระดับเราจะรุกราน
สมณพราหมณ์ผู้อยู่ในราชอาณาเขตได้อย่างไรกัน หม่อมฉันจึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิคำ
กล่าวของครูมักขลิ โคศาล ถึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิ แต่ก็ไม่พอใจ และไม่เปล่งวาจาแสดง
ความไม่พอใจออกมา เมื่อไม่ยึดถือ ไม่ใส่ใจคำกล่าวนั้น ก็ได้ลุกจากที่นั่งจากไป

ลัทธิของครูอชิตะ เกสกัมพล
อุจเฉทวาทะ = ลัทธิที่ถือว่าหลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ

[๑๗๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คราวหนึ่งในกรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหา
ครูอชิตะ เกสกัมพล ถึงที่อยู่ เจรจาปราศรัยกันพอคุ้นเคยดี ได้นั่งลงถามครูอชิตะ
เกสกัมพลว่า ‘ท่านอชิตะ อาชีพที่อาศัยศิลปะมากมายเหล่านี้ คือ ฯลฯ๑ ท่านอชิตะ
จะบัญญัติผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่’
[๑๗๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ ครูอชิตะ เกสกัมพล
ตอบว่า ‘มหาบพิตร ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงก็
ไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วก็ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี บิดาไม่มีคุณ
มารดาไม่มีคุณ สัตว์ที่เกิดผุดขึ้น๒ ก็ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบทำให้
แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในข้อ ๑๖๕
๒ โอปปาติกะ สัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ (ตาย) ก็หายวับไป ไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น เทวดา
และสัตว์นรกเป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ลัทธิของครูปกุธกัจจายนะ

มนุษย์คือที่ประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ เมื่อสิ้นชีวิต ธาตุดินไปตามธาตุดิน ธาตุน้ำ
ไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลม อินทรีย์ทั้งหลายย่อม
ผันแปรไปเป็นอากาศธาตุ มนุษย์มีเตียงนอนเป็นที่ ๕ นำศพไป๑ ร่างกายปรากฏอยู่
แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูกขาวโพลนดุจสีนกพิราบ การเซ่นสรวงสิ้นสุดลงแค่เถ้าถ่าน
คนเขลาบัญญัติทานนี้ไว้ คำที่คนบางพวกย้ำว่ามีผลนั้นว่างเปล่า เท็จ ไร้สาระ เมื่อ
สิ้นชีวิตไม่ว่าคนเขลาหรือคนฉลาดย่อมขาดสูญไม่เกิดอีก’
[๑๗๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ แต่ครูอชิตะ เกสกัมพล กลับตอบเรื่องความขาดสูญ เปรียบเหมือนเขา
ถามเรื่องมะม่วงกลับตอบเรื่องขนุนสำปะลอ หรือเขาถามเรื่องขนุนสำปะลอกลับตอบ
เรื่องมะม่วง หม่อมฉันจึงคิดว่า คนระดับเราจะรุกรานสมณพราหมณ์ผู้อยู่ใน
ราชอาณาเขตได้อย่างไรกัน หม่อมฉันจึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิคำกล่าวของครูอชิตะ
เกสกัมพล ถึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิ แต่ก็ไม่พอใจ และไม่เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจ
ออกมา เมื่อไม่ยึดถือ ไม่ใส่ใจคำกล่าวนั้น ก็ได้ลุกจากที่นั่งจากไป

ลัทธิของครูปกุธะ กัจจายนะ
นัตถิกวาทะ = ลัทธิที่ถือว่าไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย

[๑๗๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คราวหนึ่งในกรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไปหา
ครูปกุธะ กัจจายนะ ถึงที่อยู่ เจรจาปราศรัยกันพอคุ้นเคยดี ได้นั่งลงถามครูปกุธะ
กัจจายนะว่า ‘ท่านกัจจายนะ อาชีพที่อาศัยศิลปะมากมายเหล่านี้ คือ ฯลฯ๒ ท่าน
กัจจายนะจะบัญญัติผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้าง
หรือไม่’
[๑๗๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ ครูปกุธะ กัจจายนะ
ตอบว่า ‘มหาบพิตร สภาวะ ๗ กองนี้ ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีผู้บันดาล ไม่มีผู้เนรมิต
ไม่มีผู้ให้เนรมิต ยั่งยืน มั่นคงดุจยอดภูเขา ดุจเสาระเนียด ไม่หวั่นไหว ไม่ผันแปร
ไม่กระทบกระทั่งกัน ไม่ก่อให้เกิดสุขหรือทุกข์ หรือทั้งสุขและทุกข์แก่กันและกัน

เชิงอรรถ :
๑ เวลาหามศพจะใช้บุรุษ ๔ คนเดินหามเตียงนอนไป ฉะนั้น จึงชื่อว่า มีเตียงเป็นที่ ๕ (ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๕๐)
๒ ความเต็มเหมือนในข้อ ๑๖๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
ลัทธิของครูนิครนถ์ นาฏบุตร

สภาวะ ๗ กองนั้นคืออะไรบ้าง คือ กองแห่งธาตุดิน กองแห่งธาตุน้ำ กองแห่งธาตุไฟ
กองแห่งธาตุลม กองสุข กองทุกข์ กองชีวะ สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีผู้สร้าง ไม่มี
ผู้บันดาล ไม่มีผู้เนรมิต ไม่มีผู้ให้เนรมิต ยั่งยืน มั่นคงดุจยอดภูเขา ดุจเสาระเนียด
ไม่หวั่นไหว ไม่ผันแปร ไม่กระทบกระทั่งกัน ไม่ก่อให้เกิดสุขหรือทุกข์ หรือทั้งสุขและ
ทุกข์แก่กันและกัน ในสภาวะ ๗ กองนั้น ไม่มีผู้ฆ่า ไม่มีผู้ใช้ให้คนอื่นฆ่า ไม่มีผู้ฟัง ไม่
มีผู้ใช้ให้คนอื่นฟัง ไม่มีผู้รู้ ไม่มีผู้ทำให้คนอื่นรู้ ใครก็ตามแม้จะเอาศัสตราคม
ตัดศีรษะใคร ก็ไม่ชื่อว่าปลงชีวิตใครได้ เพราะเป็นเพียงศัสตราแทรกผ่านไประหว่าง
สภาวะ ๗ กองเท่านั้นเอง’
[๑๗๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ แต่ครูปกุธะ กัจจายนะ กลับตอบเรื่องความขาดสูญ เปรียบเหมือนเขาถาม
เรื่องมะม่วงกลับตอบเรื่องขนุนสำปะลอ หรือเขาถามเรื่องขนุนสำปะลอกลับตอบ
เรื่องมะม่วง หม่อมฉันจึงคิดว่า คนระดับเราจะรุกรานสมณพราหมณ์ผู้อยู่ใน
ราชอาณาเขตได้อย่างไรกัน หม่อมฉันจึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิคำกล่าวของครูปกุธะ
กัจจายนะ ถึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิ แต่ก็ไม่พอใจ และไม่เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจ
ออกมา เมื่อไม่ยึดถือ ไม่ใส่ใจคำกล่าวนั้น ก็ได้ลุกจากที่นั่งจากไป

ลัทธิของครูนิครนถ์ นาฏบุตร
อัตตกิลมถานุโยค = ลัทธิที่ถือว่าการทรมานตนเองเป็นการเผากิเลส

[๑๗๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คราวหนึ่งในกรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไป
หาครูนิครนถ์ นาฏบุตร ถึงที่อยู่ เจรจาปราศรัยกันพอคุ้นเคยดี ได้นั่งลงถามครู
นิครนถ์ นาฏบุตร ว่า ‘ท่านอัคคิเวสสนะ อาชีพที่อาศัยศิลปะมากมายเหล่านี้ คือ
ฯลฯ๑ ท่านอัคคิเวสสนะจะบัญญัติผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน
ได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่’
[๑๗๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ ครูนิครนถ์ นาฏบุตร
ตอบว่า ‘มหาบพิตร นิครนถ์ในโลกนี้สำรวมด้วยการสังวร ๔ อย่าง คือ ๑. เว้น

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในข้อ ๑๖๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ลัทธิของครูสัญชัยเวลัฏฐบุตร

น้ำดิบทุกอย่าง ๒. ประกอบกิจที่เว้นจากบาปทุกอย่าง ๓. ล้างบาปทุกอย่าง
๔. รับสัมผัสทุกอย่างโดยไม่ให้เกิดบาป นิครนถ์สำรวมด้วยการสังวร ๔ อย่างนี้
ดังนั้นบัณฑิตจึงเรียกว่า ผู้ถึงที่สุดแล้ว สำรวมแล้ว ตั้งมั่นแล้ว’
[๑๗๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ แต่ครูนิครนถ์ นาฏบุตร กลับตอบเรื่องความสังวร ๔ อย่าง เปรียบเหมือน
เขาถามเรื่องมะม่วงกลับตอบเรื่องขนุนสำปะลอ หรือเขาถามเรื่องขนุนสำปะลอกลับ
ตอบเรื่องมะม่วง หม่อมฉันจึงคิดว่า คนระดับเราจะรุกรานสมณพราหมณ์ผู้อยู่ใน
ราชอาณาเขตได้อย่างไรกัน หม่อมฉันจึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิคำกล่าวของครูนิครนถ์
นาฏบุตร ถึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิ แต่ก็ไม่พอใจ และไม่เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจ
ออกมา เมื่อไม่ยึดถือ ไม่ใส่ใจคำกล่าวนั้น ก็ได้ลุกจากที่นั่งจากไป

ลัทธิของครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร
อมราวิกเขปวาทะ = ลัทธิที่หลบเลี่ยงไม่แน่นอน

[๑๗๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คราวหนึ่งในกรุงราชคฤห์นี้ หม่อมฉันเข้าไป
หาครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร ถึงที่อยู่ เจรจาปราศรัยกันพอคุ้นเคยดี ได้นั่งลงถามครูสัญชัย
เวลัฏฐบุตร ว่า ‘ท่านสัญชัย อาชีพที่อาศัยศิลปะมากมายเหล่านี้ คือ ฯลฯ๑
ท่านสัญชัยจะบัญญัติผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้าง
หรือไม่’
[๑๘๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหม่อมฉันถามอย่างนี้ ครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร
ตอบว่า ‘ถ้ามหาบพิตรตรัสถามอาตมภาพว่า โลกหน้ามีจริงหรือ หากอาตมภาพมี
ความเห็นว่ามีจริง ก็จะทูลตอบว่ามีจริง แต่อาตมภาพมีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่
อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ ถ้ามหาบพิตร
ตรัสถามอาตมภาพว่า โลกหน้าไม่มีหรือ ฯลฯ โลกหน้ามีและไม่มีหรือ ฯลฯ โลก
หน้าจะว่ามีก็มิใช่ จะว่าไม่มีก็มิใช่หรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิดมีจริงหรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุด
เกิดไม่มีหรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิดมีและไม่มีหรือ ฯลฯ สัตว์ที่ผุดเกิดจะว่ามีก็มิใช่
จะว่าไม่มีก็มิใช่หรือ ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริงหรือ ฯลฯ ผลวิบาก

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในข้อ ๑๖๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้ข้อที่ ๑

แห่งกรรมดีกรรมชั่วไม่มีหรือ ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีและไม่มีหรือ
ฯลฯ ผลวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วจะว่ามีก็มิใช่ จะว่าไม่มีก็มิใช่หรือ ฯลฯ หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคต๑ เกิดอีกหรือ ฯลฯ หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีกหรือ ฯลฯ
หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีกหรือ ฯลฯ หลังจากตายแล้ว ตถาคต
จะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่หรือ หากอาตมภาพมีความเห็นว่า หลัง
จากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ ก็จะทูลตอบว่า หลัง
จากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ แต่อาตมภาพมีความ
เห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ จะว่าไม่ใช่ก็มิใช่ จะว่ามิใช่ไม่ใช่
ก็มิใช่ ’
[๑๘๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันถามถึงผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ แต่ครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร กลับตอบหลบเลี่ยง เปรียบเหมือนเขาถามเรื่อง
มะม่วงกลับตอบเรื่องขนุนสำปะลอ หรือเขาถามเรื่องขนุนสำปะลอกลับตอบเรื่อง
มะม่วง หม่อมฉันจึงคิดว่า คนระดับเราจะรุกรานสมณพราหมณ์ผู้อยู่ในราชอาณา-
เขตได้อย่างไรกัน หม่อมฉันจึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิคำกล่าวของครูสัญชัย เวลัฏฐบุตร
ถึงไม่ชื่นชมไม่ตำหนิ แต่ก็ไม่พอใจ และไม่เปล่งวาจาแสดงความไม่พอใจออกมา เมื่อ
ไม่ยึดถือ ไม่ใส่ใจคำกล่าวนั้น ก็ได้ลุกจากที่นั่งจากไป

ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้ข้อที่ ๑

[๑๘๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอทูลถามพระองค์ว่า อาชีพที่อาศัย
ศิลปะมากมายเหล่านี้ คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู พนักงานเชิญธง พนัก
งานจัดกระบวนทัพ พวกจัดส่งเสบียง ราชนิกุลผู้ทรงเป็นนายทหารระดับสูง พล
อาสา ขุนพล พลกล้า พลสวมเกราะ พวกทาสเรือนเบี้ย พวกทำขนม ช่างกัลบก
พนักงานเครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก ช่างจักสาน ช่าง
หม้อ นักคำนวณ นักบัญชี หรืออาชีพที่อาศัยศิลปะอย่างอื่นทำนองนี้ คนเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันมาก่อนพุทธกาล หมายถึง อัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระ
พุทธเจ้า อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึง สัตตะ (ที.สี.อ. ๖๕/๑๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้ข้อที่ ๑

ได้รับผลจากอาชีพที่อาศัยศิลปะที่เห็นประจักษ์มาเลี้ยงชีพในปัจจุบัน จึงบำรุงตนเอง
บิดามารดา บุตรภรรยา มิตรสหายให้เป็นสุข บำเพ็ญทักษิณาในสมณพราหมณ์ซึ่ง
มีผลมากเป็นไปเพื่อให้ได้อารมณ์ดีมีสุขเป็นผลให้เกิดในสวรรค์ พระองค์จะทรง
บัญญัติผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันได้เช่นนั้นบ้างหรือไม่
พระพุทธเจ้าข้า”๑
[๑๘๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “บัญญัติได้ มหาบพิตร แต่ในเรื่องนี้
อาตมภาพขอย้อนถามพระองค์ก่อน โปรดตอบตามพอพระทัย พระองค์ทรงเข้า
พระทัยเรื่องนี้ว่าอย่างไร คือ สมมติว่าพระองค์มีบุรุษทาสกรรมกรผู้ตื่นก่อน นอน
ทีหลัง เฝ้ารับพระบัญชาตามรับสั่ง คอยประพฤติให้ถูกพระทัย ต้องเพ็ดทูลอย่าง
ไพเราะ คอยสังเกตพระพักตร์ เขาคิดว่า น่าอัศจรรย์ผลบุญนัก แท้จริง พระเจ้า
อชาตศัตรู เวเทหิบุตร พระองค์นี้ทรงเป็นมนุษย์ แม้เราก็เป็นมนุษย์ แต่พระองค์ทรง
เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ ดุจเทพเจ้า ส่วนเราเป็นทาสกรรมกรของพระองค์
ต้องตื่นก่อน นอนทีหลัง เฝ้ารับพระบัญชาตามรับสั่ง คอยประพฤติให้ถูกพระทัย
ต้องเพ็ดทูลอย่างไพเราะ คอยสังเกตพระพักตร์ เราควรทำบุญไว้จะได้เป็นเหมือน
พระองค์ท่าน ทางที่ดีเราพึงโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไป
บวชเป็นบรรพชิต
ต่อมา เขาโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็น
บรรพชิต เมื่อบวชแล้วเป็นผู้สำรวมกาย วาจา ใจ อยู่สันโดษด้วยอาหารพอประทัง
ความหิวและผ้าพอคุ้มกาย ยินดียิ่งในความสงัด ถ้าราชบุรุษกราบทูลพฤติการณ์
ของเขาอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ พระองค์ทรงทราบเถิดว่า บุรุษผู้เคยเป็นทาสกรรมกร
ของพระองค์ที่ต้องตื่นก่อน นอนทีหลัง เฝ้ารับพระบัญชาตามรับสั่ง คอยประพฤติให้
ถูกพระทัย ต้องเพ็ดทูลอย่างไพเราะ คอยสังเกตพระพักตร์อยู่นั้น (บัดนี้) เขาโกนผม
และหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว
เป็นผู้สำรวมกาย วาจา ใจ อยู่สันโดษด้วยอาหารพอประทังความหิวและผ้าพอ

เชิงอรรถ :
๑ คำถามประเด็นนี้ คือ ชาวโลกครองชีวิตอยู่เพราะมีวิชาชีพ สมณคุณมีประโยชน์ที่มองเห็นได้ชัดเจนเหมือน
วิชาชีพต่าง ๆ บ้างหรือไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้ข้อที่ ๒

คุ้มกาย ยินดียิ่งในความสงัด’ พระองค์จะตรัสอย่างนี้เชียวหรือว่า เฮ้ย เจ้าคนนั้น
จงมาหาข้า จงเป็นทาสกรรมกรที่ต้องตื่นก่อน นอนทีหลัง คอยรับคำสั่ง คอย
ประพฤติให้ถูกใจ พูดอย่างไพเราะ คอยเฝ้าสังเกตดูหน้าตามเดิม”
[๑๘๔] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร กราบทูลว่า “จะทำอย่างนั้นไม่ได้
พระพุทธเจ้าข้า ที่จริง หม่อมฉันเสียอีกควรจะไหว้ ลุกรับ เชื้อเชิญให้เขานั่ง บำรุง
ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (ยารักษาโรคและเครื่อง
ยา) และจัดการรักษา ปกป้อง คุ้มครองเขาอย่างชอบธรรม”
[๑๘๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยเรื่องนั้น
ว่าอย่างไร หากเมื่อเป็นอย่างนี้ ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์มีอยู่หรือไม่”
พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร กราบทูลว่า “เมื่อเป็นอย่างนี้ ผลแห่งความ
เป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ก็มีอยู่แน่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร นี้คือผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ได้ในปัจจุบันที่อาตมภาพบัญญัติถวายพระองค์เป็นข้อที่ ๑”

ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ได้ข้อที่ ๒

[๑๘๖] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ทูลถามว่า “พระองค์จะทรงบัญญัติผล
แห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันเช่นนี้แม้อย่างอื่นได้อีกหรือไม่
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “บัญญัติได้ มหาบพิตร แต่ในเรื่องนี้อาตมภาพ
ขอย้อนถามพระองค์ก่อน โปรดตอบตามพอพระทัย พระองค์ทรงเข้าพระทัยเรื่องนี้
ว่าอย่างไร คือสมมติว่า พระองค์มีบุรุษเป็นชาวนา เป็นคหบดี ซึ่งต้องเสียภาษีบำรุง
รัฐ เขาคิดว่า น่าอัศจรรย์ผลบุญนัก แท้จริง พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร พระองค์
นี้ทรงเป็นมนุษย์ แม้เราก็เป็นมนุษย์ แต่พระองค์ทรงเอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ
๕ ดุจเทพเจ้า ส่วนเราเป็นชาวนา เป็นคหบดีที่ต้องเสียภาษีบำรุงรัฐของพระองค์
เราควรทำบุญไว้จะได้เป็นเหมือนพระองค์ท่าน ทางที่ดีเราพึงโกนผมและหนวดนุ่งห่ม
ผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ผลแห่งความเป็นสมณะที่ประณีตกว่าที่ผ่านมา

ต่อมา เขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและ
หนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วเป็นผู้
สำรวมกาย วาจา ใจ อยู่สันโดษด้วยอาหารพอประทังความหิวและผ้าพอคุ้มกาย
ยินดียิ่งในความสงัด ถ้าราชบุรุษกราบทูลพฤติการณ์ของเขาอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ
พระองค์ทรงทราบเถิดว่า บุรุษผู้เคยเป็นชาวนา เป็นคหบดีที่เคยเสียภาษีบำรุงรัฐ
ของพระองค์นั้น (บัดนี้) เขาโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไป
บวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วเป็นผู้สำรวมกาย วาจา ใจ อยู่สันโดษด้วยอาหาร
พอประทังความหิวและผ้าพอคุ้มกาย ยินดียิ่งในความสงัด’ พระองค์จะตรัสอย่างนี้
เชียวหรือว่า เฮ้ย เจ้าคนนั้นจงมาหาข้า จงเป็นชาวนา เป็นคหบดีเสียภาษีบำรุงรัฐ
ตามเดิม”
[๑๘๗] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร กราบทูลว่า “จะทำอย่างนั้นไม่ได้
พระพุทธเจ้าข้า ที่จริง หม่อมฉันเสียอีกควรจะไหว้ ลุกรับ เชื้อเชิญให้เขานั่ง บำรุง
ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร (ยารักษาโรคและ
เครื่องยา) และจัดการรักษา ปกป้อง คุ้มครองเขาอย่างชอบธรรม”
[๑๘๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยเรื่องนั้น
ว่าอย่างไร หากเมื่อเป็นอย่างนี้ ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์มีอยู่หรือไม่”
พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร กราบทูลว่า “เมื่อเป็นอย่างนี้ ผลแห่งความเป็น
สมณะที่เห็นประจักษ์ก็มีอยู่แน่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร นี้คือผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ได้ในปัจจุบันที่อาตมภาพบัญญัติถวายพระองค์เป็นข้อที่ ๒”

ผลแห่งความเป็นสมณะที่ประณีตกว่าที่ผ่านมา

[๑๘๙] พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ทูลถามว่า “พระองค์จะทรงบัญญัติผล
แห่งความเป็นสมณะ ที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันแม้อย่างอื่นที่ดีกว่าและประณีตกว่า
ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์เหล่านี้ได้อีกหรือไม่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “บัญญัติได้ มหาบพิตร ขอพระองค์โปรดสดับ
โปรดตั้งพระทัยให้ดี อาตมภาพจักแสดงถวาย”
พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ผลแห่งความเป็นสมณะที่ประณีตกว่าที่ผ่านมา

[๑๙๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้
เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้
แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ตถาคตรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ด้วย
ตนเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น๑ มีความงามใน
ท่ามกลางและมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์๒ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
[๑๙๑] คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชน (คนผู้เกิดภายหลัง) ในตระกูลใด
ตระกูลหนึ่งได้สดับธรรมนั้นแล้วเกิดศรัทธาในตถาคต เมื่อมีศรัทธาย่อมตระหนักว่า
‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด๓ เป็นทางแห่งธุลี๔ การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง๕
การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ขัด ไม่
ใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดีเราควรโกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือน
ไปบวชเป็นบรรพชิต’
[๑๙๒] ต่อมา เขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกน
ผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมมีความงามในเบื้องต้นหมายถึงศีล ธรรมมีความงามในท่ามกลางหมายถึงอริยมรรค และธรรมมี
ความงามในที่สุดหมายถึงพระนิพพาน (ที.สี.อ. ๑๙๐/๑๕๙)
๒ คำว่า พรหมจรรย์หมายถึงความประพฤติประเสริฐ มีนัย ๑๐ ประการ คือ ทาน (การให้) ไวยาวัจจะ
(การขวนขวายช่วยเหลือ) ปัญจสีละ (ศีลห้า) อัปปมัญญา (การประพฤติพรหมวิหารอย่างไม่มีขอบเขต)
เมถุนวิรัติ(การงดเว้นจากการเสพเมถุน)สทารสันโดษ(ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน)วิริยะ(ความ
เพียร)อุโปสถังคะ(องค์อุโบสถ)อริยมรรค(ทางอันประเสริฐ) และศาสนา(พระพุทธศาสนา)ในที่นี้หมาย
ถึงศาสนา (ที. สี.อ. ๑๙๐/๑๖๐-๑๖๒)
๓ การอยู่ครองเรือนชื่อว่าเป็นเรื่องอึดอัด เพราะไม่มีเวลาว่างเพื่อจะทำกุศลกรรม แม้เรือนจะมีเนื้อที่
กว้างขวางถึง ๖๐ ศอก มีบริเวณภายในบ้านตั้ง ๑๐๐ โยชน์ มีคนอยู่อาศัยเพียง ๒ คนคือสามีภรรยา ก็
ยังถือว่าอึดอัด เพราะมีความห่วงกังวลกันและกัน (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)
๔ ชื่อว่าเป็นทางแห่งธุลี เพราะเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอันทำจิตให้เศร้าหมอง เช่นราคะเป็นต้น
(ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)
๕ นักบวชแม้จะอยู่ในเรือนยอด ปราสาทแก้วและเทพวิมาน ซึ่งมีประตูหน้าต่างปิดมิดชิด ก็ยังถือว่าปลอดโปร่ง
เพราะนักบวชไม่มีความยึดติดในสิ่งใด ๆ เลย (ที.สี.อ. ๑๙๑/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] จูฬศีล

[๑๙๓] เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์ เพียบ
พร้อมด้วยมารยาทและโคจร(การเที่ยวไป) เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันเป็นกุศล มี
อาชีวะบริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย๑ สมบูรณ์ด้วย
สติสัมปชัญญะ (และ) เป็นผู้สันโดษ

จูฬศีล

[๑๙๔] มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างไร คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและ
ศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อ
สรรพสัตว์อยู่
๒. ภิกษุละ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ รับ
เอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็น
คนสะอาดอยู่
๓. ภิกษุละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหม-
จรรย์ เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน
๔. ภิกษุละ เว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความ
สัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
๕. ภิกษุละ เว้นขาดจากคำส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่
ไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่
มาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคน
ที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่
ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี

เชิงอรรถ :
๑ อินทรีย์ทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (ที.สี.อ. ๑๙๓/๑๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] จูฬศีล

๖. ภิกษุละ เว้นขาดจากคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
๗. ภิกษุละ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง
พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่
อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา
๘. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม
๙. ภิกษุฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลา
วิกาล
๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการ
ละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล
๑๑. ภิกษุเว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวง
ดอกไม้ของหอมและเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว
๑๒. ภิกษุเว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่
๑๓. ภิกษุเว้นขาดจากการรับทองและเงิน
๑๔. ภิกษุเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ
๑๕. ภิกษุเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
๑๖. ภิกษุเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
๑๗. ภิกษุเว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย
๑๘. ภิกษุเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
๑๙. ภิกษุเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
๒๐. ภิกษุเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
๒๑. ภิกษุเว้นขาดจากการรับเรือกสวนไร่นาและที่ดิน
๒๒. ภิกษุเว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร
๒๓. ภิกษุเว้นขาดจากการซื้อขาย
๒๔. ภิกษุเว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วย
เครื่องตวงวัด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] มัชฌิมศีล

๒๕. ภิกษุเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง
หรือ
๒๖. ภิกษุเว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิง
วิ่งราว การปล้น และการขู่กรรโชก
ทั้งหมดนี้คือศีลของภิกษุ

จูฬศีล จบ

มัชฌิมศีล

[๑๙๕] ๑. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่นที่สมณ-
พราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพรากพืชคามและ
ภูตคามเหล่านี้ คือ พืชเกิดจากเหง้า เกิดจากลำต้น เกิดจากตา เกิดจากยอด เกิด
จากเมล็ด
[๑๙๖] ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่สะสมไว้ เช่นที่สมณพราหมณ์
ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังบริโภคของที่สะสมไว้เหล่านี้
คือ สะสมข้าว น้ำ ผ้า ยาน ที่นอน ของหอมและอามิส
[๑๙๗] ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังดูการ
ละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศลอย่างนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมดนตรี
การรำ การเล่านิทาน การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง การสร้าง
ฉากบ้านเมืองให้สวยงาม การละเล่นของคนจัณฑาล การเล่นกระดานหก การ
ละเล่นหน้าศพ การแข่งชนช้าง การแข่งม้า การแข่งชนกระบือ การแข่งชนโค การ
แข่งชนแพะ การแข่งชนแกะ การแข่งชนไก่ การแข่งชนนกกระทา การรำกระบี่
กระบอง การชกมวย มวยปล้ำ การรบ การตรวจพลสวนสนาม การจัดกระบวน
ทัพ การตรวจกองทัพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] มัชฌิมศีล

[๑๙๘] ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุ
แห่งความประมาท เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วย
ศรัทธาแล้วยังขวนขวายในการเล่นการพนันอันเป็นเหตุแห่งความประมาทอย่างนี้ คือ
เล่นหมากรุกแถวละ ๘ ตา หรือ ๑๐ ตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่น
โยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถเล็ก ๆ เล่นหกคะเมน
เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถเล็ก ๆ เล่นธนูเล็ก ๆ เล่นเขียนทาย เล่นทายใจ
เล่นล้อเลียนคนพิการ
[๑๙๙] ๕. ภิกษุเว้นขาดจากที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ
บางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังใช้ที่นอนสูงใหญ่อย่างนี้ คือ เตียง
มีเท้าสูงเกินขนาด เตียงมีเท้าเป็นรูปสัตว์ร้าย พรมขนสัตว์ เครื่องลาดขนแกะลาย
วิจิตร เครื่องลาดขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีลายรูปดอกไม้ เครื่องลาดยัดนุ่น เครื่อง
ลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายเช่นสีหะและเสือ เครื่องลาดขนแกะมีขน ๒ ด้าน
เครื่องลาดขนแกะมีขนด้านเดียว เครื่องลาดปักด้วยไหมประดับรัตนะ เครื่องลาดผ้า
ไหมประดับรัตนะ เครื่องลาดขนแกะขนาดใหญ่ที่นางฟ้อน ๑๖ คนร่ายรำได้ เครื่อง
ลาดบนหลังช้าง เครื่องลาดบนหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดทำด้วยหนังเสือ
เครื่องลาดหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอน ๒ ข้าง
[๒๐๐] ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายในการประดับตกแต่งร่างกาย
เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยัง
ขวนขวายในการประดับตกแต่งร่างกายอย่างนี้ คือ อบผิว นวด อาบน้ำหอม เพาะกาย
ส่องกระจก แต้มตา ทัดพวงดอกไม้ ประทินผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับข้อมือ
สวมเกี้ยว ใช้ไม้ถือ ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้พระขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้าวิจิตร ติด
กรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดและแส้ขนหางจามรี นุ่งห่มผ้าขาวชายยาว
[๒๐๑] ๗. ภิกษุเว้นขาดจากเดรัจฉานกถา เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบาง
พวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพูดเดรัจฉานกถาอย่างนี้ คือ เรื่อง
พระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว
เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] มหาศีล

เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมืองหลวง เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคน
กล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก
เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม
[๒๐๒] ๘. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดทุ่มเถียงแก่งแย่งกัน เช่นที่สมณพราหมณ์
ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพูดทุ่มเถียงแก่งแย่งกันอย่าง
นี้ คือ ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ แต่ผมรู้ทั่วถึง ท่านจะรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร
ท่านปฏิบัติผิด แต่ผมปฏิบัติถูก คำพูดของผมมีประโยชน์ แต่คำพูดของท่านไม่มี
ประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อน ท่านกลับพูดภายหลัง คำที่ควรพูดภายหลัง ท่านกลับ
พูดเสียก่อน เรื่องที่ท่านเคยชินได้ผันแปรไปแล้ว ผมจับผิดคำพูดของท่านได้แล้ว
ผมข่มท่านได้แล้ว ถ้าท่านมีความสามารถก็จงหาทางแก้คำพูดหรือเปลื้องตนให้พ้น
ผิดเถิด
[๒๐๓] ๙. ภิกษุเว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังทำ
หน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสารอย่างนี้ คือ รับเป็นสื่อให้พระราชา ราชมหาอำมาตย์
กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี และกุมารว่า ‘ท่านจงไปที่นี้หรือที่โน้น จงนำเอาสิ่งนี้ไป
จงเอาสิ่งนี้มาจากที่โน้น’ หรือ
[๒๐๔] ๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและการพูดเลียบเคียง เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังพูดหลอก
ลวง เลียบเคียง หว่านล้อม พูดและเล็ม ใช้ลาภต่อลาภ
ทั้งหมดนี้คือศีลของภิกษุ

มัชฌิมศีล จบ

มหาศีล

[๒๐๕] ๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพผิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] มหาศีล

ทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ทำนายอวัยวะ ทำนายตำหนิ ทำนายโชคลาง ทำนายฝัน
ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ พิธีเบิกแว่นเวียนเทียน พิธีซัด
แกลบบูชาไฟ พิธีซัดรำบูชาไฟ พิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ พิธีเติมเนยบูชาไฟ พิธีเติมน้ำ
มันบูชาไฟ พิธีพ่นเครื่องเซ่นบูชาไฟ พิธีพลีกรรมด้วยเลือด วิชาดูอวัยวะ วิชาดูพื้นที่
วิชาการปกครอง วิชาทำเสน่ห์ เวทมนตร์ไล่ผี วิชาตั้งศาลพระภูมิ วิชาหมองู วิชาว่า
ด้วยพิษ วิชาว่าด้วยแมงป่อง วิชาว่าด้วยหนู วิชาว่าด้วยเสียงนก วิชาว่าด้วยเสียงกา
วิชาทายอายุ วิชาป้องกันลูกศร วิชาว่าด้วยเสียงสัตว์ร้อง
[๒๐๖] ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพผิด
ทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ทำนายลักษณะแก้วมณี ลักษณะผ้า ลักษณะ
ไม้พลอง ลักษณะศัสตรา ลักษณะดาบ ลักษณะศร ลักษณะธนู ลักษณะอาวุธ
ลักษณะสตรี ลักษณะบุรุษ ลักษณะเด็กชาย ลักษณะเด็กหญิง ลักษณะทาสชาย
ลักษณะทาสหญิง ลักษณะช้าง ลักษณะม้า ลักษณะกระบือ ลักษณะโคอุสภะ
ลักษณะโคสามัญ ลักษณะแพะ ลักษณะแกะ ลักษณะไก่ ลักษณะนกกระทา
ลักษณะเหี้ย ลักษณะตุ้มหู๑ ลักษณะเต่า ลักษณะมฤค
[๒๐๗] ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพผิด
ทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักเสด็จหรือไม่
เสด็จ พระราชาในอาณาจักรจักทรงยกทัพเข้าประชิด พระราชานอกอาณาจักรจัก
ทรงล่าถอย พระราชานอกอาณาจักรจักทรงยกทัพมาประชิด พระราชาในอาณาจักร
จักทรงล่าถอย ชัยชนะจักตกเป็นของพระราชาในอาณาจักร ความปราชัยจักมีแก่
พระราชานอกอาณาจักร ชัยชนะจักตกเป็นของพระราชานอกอาณาจักร ความ
ปราชัยจักมีแก่พระราชาในอาณาจักร พระราชาองค์นี้จักทรงชนะ พระราชาองค์นี้จัก
ทรงพ่ายแพ้

เชิงอรรถ :
๑ อีกนัยหนึ่ง หมายถึงยอดเรือน (ที.สี.อ. ๒๒/๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] มหาศีล

[๒๐๘] ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพ
ผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ พยากรณ์ว่าจักมีจันทรคราส สุริยคราส
นักษัตรคราส ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จักโคจรถูกทางหรือผิดทาง ดาวนักษัตรจัก
โคจรถูกทางหรือผิดทาง จักมีอุกกาบาตและดาวตก แผ่นดินไหว ฟ้าร้อง ดวงจันทร์
ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจักขึ้น ตก มัวหมอง แจ่มกระจ่าง จันทรคราส สุริยคราส
หรือนักษัตรคราสจักมีผลอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือดาวนักษัตรโคจรถูก
ทางจักมีผลอย่างนี้ โคจรผิดทางจักมีผลอย่างนี้ อุกกาบาตและดาวตก แผ่นดินไหว
ฟ้าร้องจักมีผลอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรขึ้น ตก มัวหมอง
แจ่มกระจ่างจักมีผลอย่างนี้
[๒๐๙] ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพผิด
ทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ พยากรณ์ว่าฝนจะดี ฝนจะแล้ง จะหาภิกษาหารได้
ง่าย จะหาภิกษาหารได้ยาก จะมีความสงบร่มเย็น จะมีภัย จะมีโรค จะไม่มีโรค การ
คำนวณด้วยการนับนิ้ว (มุททา) การคำนวณด้วยวิธีคิดในใจ (คณนา) การคำนวณ
ด้วยวิธีอนุมานด้วยสายตา (สังขาน) วิชาฉันทลักษณ์และโลกายตศาสตร์
[๒๑๐] ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพผิด
ทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ฤกษ์วิวาหมงคล ฤกษ์
เรียงหมอน ฤกษ์หย่าร้าง ฤกษ์รวบรวมทรัพย์ ฤกษ์ใช้จ่ายทรัพย์ ทำให้โชคดี ทำให้
เคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนตร์ทำให้ลิ้นแข็ง ทำให้คางแข็ง ทำให้มือสั่น
ทำให้คางสั่น ทำให้หูอื้อ เป็นหมอดูลูกแก้ว ใช้หญิงสาวเป็นคนทรง ใช้หญิงประจำ
เทวาลัยเป็นคนทรง บวงสรวงดวงอาทิตย์และท้าวมหาพรหม ร่ายมนตร์พ่นไฟ ทำ
พิธีเรียกขวัญ หรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] อินทรียสังวร

[๒๑๑] ๗. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่
สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพผิด
ทางด้วยเดรัจฉานวิชาอย่างนี้ คือ ทำพิธีบนบาน พิธีแก้บน ร่ายมนตร์ขับผี ตั้ง
ศาลพระภูมิ ทำกะเทยให้เป็นชาย ทำชายให้เป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน พิธี
บวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนตร์ รดน้ำมนตร์ พิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ยาถ่าย ยา
แก้โรคลมตีขึ้นเบื้องบน ยาแก้โรคลมตีลงเบื้องต่ำ ยาแก้ปวดศีรษะ น้ำมันหยอดหู
น้ำมันหยอดตา ยานัตถุ์ ยาหยอดตา ยาป้ายตา เป็นหมอตา หมอผ่าตัด หมอรักษา
เด็ก (กุมารเวช) การให้สมุนไพรและยา การใส่ยาแล้วล้างออกเมื่อโรคหาย
ทั้งหมดนี้คือศีลของภิกษุ

[๒๑๒] มหาบพิตร ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัย
อันตรายจากการสำรวมในศีลเลย เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกเป็นพระ
ราชา กำจัดข้าศึกได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยอันตรายจากข้าศึกเลย ภิกษุผู้สมบูรณ์
ด้วยอริยสีลขันธ์อย่างนี้ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่า
สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล

มหาศีล จบ

อินทรียสังวร

[๒๑๓] มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย๑ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยตาแล้วไม่รวบถือ๒ ไม่แยกถือ๓ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
สำรวมในจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคือ

เชิงอรรถ :
๑ อินทรีย์ทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (ที สี. อ. ๑๙๓/๑๖๔)
๒ คำว่า รวบถือ (นิมิตฺตคฺคาหี) คือมองภาพรวมโดยไม่พิจารณาลงไปในรายละเอียด เช่นมองว่า รูปนั้นสวย
รูปนี้ไม่สวย
๓ คำว่า แยกถือ (อนุพฺยญฺชนคฺคาหี) คือมองแยกพิจารณาเป็นส่วน ๆ ไป เช่น ตาสวย แต่จมูกไม่สวย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] การละนิวรณ์ ๕

อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟัง
เสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะ
ด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
สำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุ
ผู้ประกอบด้วยความสำรวมอินทรีย์อันเป็นอริยะนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนกับกิเลส
ในภายใน มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นอย่างนี้แล

สติสัมปชัญญะ

[๒๑๔] มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นอย่างไร คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิบาตรและจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว
การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การ
พูด การนิ่ง มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นอย่างนี้แล

สันโดษ

[๒๑๕] มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าผู้สันโดษเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้
ทันทีเหมือนนกบินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่า
ผู้สันโดษเป็นอย่างนี้แล

การละนิวรณ์ ๕

[๒๑๖] ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวร อริยสติ-
สัมปชัญญะและอริยสันโดษอย่างนี้แล้ว พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า
โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้ว นั่งขัดสมาธิตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] อุปมานิวรณ์ ๕

[๒๑๗] เธอละอภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา) ในโลก๑ มีใจปราศจาก
อภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่
พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือ
พยาบาท ละถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง
มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้ง
ซ่านและรำคาญใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
อุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉา
ในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

อุปมานิวรณ์ ๕

[๒๑๘] เปรียบเหมือนคนกู้หนี้มาลงทุนจนประสบผลสำเร็จ ใช้หนี้เก่าที่
เป็นต้นทุนจนหมด เก็บกำไรที่เหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อน
เรากู้หนี้มาลงทุน การงานสำเร็จผลดี ได้ใช้หนี้เก่าที่ยืมมาลงทุนหมดแล้ว กำไรก็ยัง
มีเหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา’ เพราะความไม่มีหนี้สินเป็นเหตุ เขาจึงได้รับ
ความเบิกบานใจและความสุขใจ
[๒๑๙] เปรียบเหมือนคนไข้อาการหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง ต่อมา
หายป่วย บริโภคอาหารได้ กลับมีกำลัง เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราป่วยอาการหนัก
บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง เวลานี้หายป่วย บริโภคอาหารได้ มีกำลังเป็นปกติ’
เพราะการหายจากโรคเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
[๒๒๐] เปรียบเหมือนคนต้องโทษถูกคุมขังในเรือนจำ ต่อมา พ้นโทษออก
จากเรือนจำโดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราต้อง
โทษถูกคุมขังในเรือนจำ เวลานี้พ้นโทษออกจากเรือนจำโดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสีย
ค่าใช้จ่ายใด ๆ’ เพราะการพ้นจากเรือนจำเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและ
ความสุขใจ

เชิงอรรถ :
๑ โลก ในที่นี้หมายถึง สภาพที่ต้องแตกสลาย กล่าวคือ อุปาทานขันธ์ ๕ ได้แก่ ความยึดติดว่า รูป เวทนา
สัญญา สังขาร และวิญญาณ มีตัวตนและเป็นของตน อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (ที.สี.อ. ๒๑๗/๑๙๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ปฐมฌาณ

[๒๒๑] เปรียบเหมือนคนที่ตกเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไป
ไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ ต่อมา พ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเอง
ไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ เวลานี้พ้นจากความเป็นทาส พึ่ง
ตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ’ เพราะความ
เป็นไทแก่ตัวเองเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
[๒๒๒] เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้
ยาก มีภัยเฉพาะหน้า ต่อมา ข้ามพ้นทางกันดาร ถึงหมู่บ้านอันสงบร่มเย็นปลอดภัย
โดยสวัสดิภาพ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเรามีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหาร
ได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า เวลานี้ข้ามพ้นทางกันดารถึงหมู่บ้านอันสงบร่มเย็น
ปลอดภัยโดยสวัสดิภาพ’ เพราะการพบภูมิสถานอันร่มเย็นเป็นเหตุ เขาจึงได้รับ
ความเบิกบานใจและความสุขใจ
[๒๒๓] มหาบพิตร ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนยังละไม่ได้ เหมือนหนี้
โรค เรือนจำ ความเป็นทาส และทางไกลกันดาร
[๒๒๔] มหาบพิตร ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนละได้แล้ว เหมือนความ
ไม่มีหนี้ ความไม่มีโรค การพ้นโทษจากเรือนจำ ความเป็นไทแก่ตัวเอง และภูมิสถาน
อันสงบร่มเย็น
[๒๒๕] เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนละได้แล้ว ย่อมเกิดความ
เบิกบานใจ เมื่อเบิกบานใจก็ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบ
ย่อมได้รับความสุข เมื่อมีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ปฐมฌาน

[๒๒๖] ภิกษุนั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่
มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติและ
สุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิด
จากวิเวกจะไม่ถูกต้อง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร] ตติยฌาน

[๒๒๗] เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน หรือลูกมือพนักงานสรงสนาน ผู้
ชำนาญ เทผงถูตัวลงในภาชนะสัมฤทธิ์แล้วเอาน้ำประพรมให้ติดเป็นก้อน พอตกเย็น
ก้อนถูตัวที่ยางซึมไปจับ ก็ติดกันหมด ไม่กระจายออก ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น
เอิบอิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกาย
ที่ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็น
สมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ข้อก่อน ๆ

ทุติยฌาน

[๒๒๘] ยังมีอีก มหาบพิตร เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุ
ทุติยฌานมีความผ่องใสในภายในมีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มี
แต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติและสุขอัน
เกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจาก
สมาธิจะไม่ถูกต้อง
[๒๒๙] เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกเป็นวังวน ไม่มีทางที่กระแสน้ำจะไหลเข้าได้
ทั้งด้านตะวันออก ด้านใต้ ด้านตะวันตก และด้านเหนือ ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล แต่
กระแสน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้วทำห้วงน้ำนั้นให้ชุ่มชื่นเอิบอาบเนืองนองไป
ด้วยน้ำเย็น ไม่มีส่วนไหนของห้วงน้ำนั้นที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุทำกายนี้
ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของ
ร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความ
เป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ข้อก่อน ๆ

ตติยฌาน

[๒๓๐] ยังมีอีก มหาบพิตร เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มี
สติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญ
ว่า ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ
รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๑.วัปัสสนาญาณ

[๒๓๑] เปรียบเหมือนในกอบัวเขียว (อุบล) กอบัวหลวง (ปทุม) หรือกอ
บัวขาว (บุณฑริก) ดอกบัวเขียว ดอกบัวหลวง หรือดอกบัวขาวบางเหล่าที่เกิดเจริญ
เติบโตในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ มีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่น
เอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำเย็นตั้งแต่ยอดถึงเหง้า ไม่มีส่วนไหนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง
ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วน
ไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็น
สมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ข้อก่อน ๆ

จตุตถฌาน

[๒๓๒] ยังมีอีก มหาบพิตร เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและ
โทมนัสดับไปก่อน ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะ
อุเบกขาอยู่ เธอมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่
ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง
[๒๓๓] เปรียบเหมือนคนนั่งใช้ผ้าขาวคลุมตัวตลอดศีรษะ ไม่มีส่วนไหนของ
ร่างกายที่ผ้าขาวจะไม่ปกคลุม ฉันใด ภิกษุมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้
ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผล
แห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะ
ที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ

วิชชา ๘ ประการ
๑. วิปัสสนาญาณ

[๒๓๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๑ ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสมีราคะเป็นต้น ท่านเรียกว่า กิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) เพราะยังจิตให้ลาดต่ำ โน้มเอียงไปสู่ที่ต่ำ
เช่นต้องย้อนกลับไปสู่จตุตถฌานอีก เป็นต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
วิชชา ๘ ประการ วิชชา ๘ ประการ ๒.มโนยิทธิญาณ

น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ๑ รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กายของเรานี้คุมกันเป็นรูปร่าง
ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔ เกิดจากบิดามารดา เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมสด
ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา วิญญาณ
ของเราอาศัยและเนื่องอยู่ในกายนี้’
[๒๓๕] เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่
เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาวหรือ
สีนวลร้อยอยู่ข้างใน คนตาถึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณา รู้ว่า
‘แก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็น
ประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาวหรือสีนวลร้อยอยู่ข้างใน’ ฉันใด
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง
อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อญาณ-
ทัสสนะ รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กายของเรานี้คุมกันเป็นรูปร่าง ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔
เกิดจากบิดามารดา เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวด
เฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา วิญญาณของเราอาศัยและเนื่องอยู่ในกาย
นี้’ ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีต
กว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ

๒. มโนมยิทธิญาณ

[๒๓๖] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อเนรมิตกายที่เกิดแต่ใจ คือ เนรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปที่เกิดแต่ใจ
มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง
[๒๓๗] เปรียบเหมือนคนชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาเห็นว่า ‘นี้คือหญ้าปล้อง
นี้คือไส้ หญ้าปล้องเป็นอย่างหนึ่ง ไส้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ไส้ถูกชักออกมาจาก

เชิงอรรถ :
๑ ความรู้และความเห็นตรงตามเป็นจริง อาจเรียกว่า มรรคญาณ ผลญาณ สัพพัญญุตญาณ ปัจจเวกขณญาณ
หรือวิปัสสนาญาณก็ได้ (ที.สี.อ. ๒๓๔/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๓.อิทธิวิธญาณ

หญ้าปล้องนั่นเอง’ เปรียบเหมือนคนชักดาบออกจากฝัก เขาเห็นว่า ‘นี้คือดาบ นี้คือ
ฝัก ดาบเป็นอย่างหนึ่ง ฝักก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ดาบถูกชักออกมาจากฝักนั่นเอง’
หรือเปรียบเหมือนคนดึงงูออกจากคราบ เขาเห็นว่า ‘นี้คืองู นี้คือคราบ งูเป็นอย่าง
หนึ่ง คราบก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่งูถูกดึงออกจากคราบนั่นเอง’ ฉันใด เมื่อจิตเป็น
สมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน
เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อเนรมิตกายที่เกิด
แต่ใจ คือ เนรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปที่เกิดแต่ใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่
บกพร่อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและ
ประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ

๓. อิทธิวิธญาณ

[๒๓๘] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธญาณ แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคน
ก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง
(และ)ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไป
ในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไป
ในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
[๒๓๙] เปรียบเหมือนช่างหม้อหรือลูกมือช่างหม้อผู้ชำนาญ เมื่อนวดดิน
เหนียวดีแล้ว พึงทำภาชนะที่ต้องการให้สำเร็จได้ เปรียบเหมือนช่างงาหรือลูกมือ
ช่างงาผู้ชำนาญเมื่อแต่งงาดีแล้ว พึงทำเครื่องงาชนิดที่ต้องการให้สำเร็จได้ เปรียบ
เหมือนช่างทองหรือลูกมือช่างทองผู้ชำนาญ เมื่อหลอมทองดีแล้ว พึงทำทองรูป
พรรณชนิดที่ต้องการให้สำเร็จได้ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีกิเลส
เพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่น
ไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธญาณ แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
วิชชา ๘ ประการ วิชชา ๘ ประการ ๕.เจโตปริยญาณ

แสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หาย
ไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง (และ)ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือ
ดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดิน
ก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์
ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลก
ก็ได้ ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีต
กว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ

๔. ทิพพโสตธาตุญาณ

[๒๔๐] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อทิพพโสตธาตุญาณได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์
ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
[๒๔๑] เปรียบเหมือนคนเดินทางไกล (มีประสบการณ์มาก) ได้ยินเสียงกลอง
เสียงตะโพน เสียงสังข์ เสียงบัณเฑาะว์ เสียงเปิงมาง ก็เข้าใจว่า นั่นเสียงกลอง เสียง
ตะโพน เสียงสังข์ เสียงบัณเฑาะว์ เสียงเปิงมาง ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์
ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน
ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อทิพพโสตธาตุญาณได้ยินเสียง ๒ ชนิด
คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีตกว่า
ผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ

๕. เจโตปริยญาณ

[๒๔๒] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิต
ไปเพื่อเจโตปริยญาณ กำหนดรู้จิตของสัตว์และคนอื่นด้วยจิตของตน คือ จิตมีราคะ
ก็รู้ว่ามีราคะ หรือปราศจากราคะก็รู้ว่าปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่ามีโทสะ หรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๖.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

ปราศจากโทสะก็รู้ว่าปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่ามีโมหะ หรือปราศจากโมหะก็รู้
ว่าปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าหดหู่ หรือฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหัคคตะ
ก็รู้ว่าเป็นมหัคคตะ๑ หรือไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าไม่เป็นมหัคคตะ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้
ว่ามีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่า
เป็นสมาธิ หรือไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้น หรือไม่
หลุดพ้นก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น
[๒๔๓] เปรียบเหมือนชายหนุ่มหญิงสาวที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้า
ของตนในกระจกใสสะอาดหรือในภาชนะน้ำใส หน้ามีไฝฝ้าก็รู้ว่ามีไฝฝ้า หรือไม่มี
ไฝฝ้าก็รู้ว่าไม่มีไฝฝ้า ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ กำหนดรู้จิตของสัตว์และคนอื่นด้วยจิตของตน
คือ จิตมีราคะก็รู้ว่ามีราคะ หรือปราศจากราคะก็รู้ว่าปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้
ว่ามีโทสะ หรือปราศจากโทสะก็รู้ว่าปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่ามีโมหะ หรือ
ปราศจากโมหะก็รู้ว่าปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าหดหู่ หรือฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหัคคตะก็รู้ว่าเป็นมหัคคตะ หรือไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าไม่เป็นมหัคคตะ
จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่ามีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าเป็นสมาธิ หรือไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่า
หลุดพ้น หรือไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็น
สมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ข้อก่อน ๆ

๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

[๒๔๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า มหัคคตะ แปลว่า ถึงความเป็นใหญ่ มหัคคตจิต หมายถึงจิตที่ถึงฌานสมาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๗.ทิพยจักษุญาณ

๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง
๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมาก
บ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่า ‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น
มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไป
เกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวย
สุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เธอระลึกชาติก่อน
ได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
[๒๔๕] เปรียบเหมือนคนจากบ้านตนไปบ้านอื่นแล้วจากบ้านนั้นไปยังบ้านอื่นอีก
เขาจากบ้านนั้นกลับมายังบ้านเดิมของตน ระลึกได้อย่างนี้ว่า ‘เราได้จากบ้านตนไป
บ้านโน้น ในบ้านนั้นเราได้ยืน นั่ง พูด นิ่งเฉยอย่างนั้น ๆ เราได้จากแม้บ้านนั้นไปยัง
บ้านโน้น แม้ในบ้านนั้นเราก็ได้ยืน นั่ง พูด นิ่งเฉยอย่างนั้น ๆ แล้วกลับจากบ้านนั้น
มายังบ้านเดิมของตน’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ
๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า
‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุ
อย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มี
ตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึง
มาเกิดในภพนี้’ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมลักษณะทั่วไปและชีวประวัติ
อย่างนี้ ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและ
ประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ

๗. ทิพพจักขุญาณ

[๒๔๖] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๗.ทิพยจักษุญาณ

งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด
พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่
ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ
และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไป
บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล
[๒๔๗] เปรียบเหมือนปราสาทตั้งอยู่ที่ทางสามแพร่งกลางเมืองหลวง คนตาดี
ยืนบนปราสาทนั้นเห็นหมู่ชนกำลังเข้าไปสู่เรือนบ้าง ออกจากเรือนบ้าง สัญจรอยู่
ตามถนนบ้าง นั่งอยู่ที่ทางสามแพร่งกลางเมืองหลวงบ้าง ก็รู้ว่า ‘คนเหล่านี้เข้าไปสู่
เรือน คนเหล่านี้ออกจากเรือน คนเหล่านี้สัญจรอยู่ตามถนน คนเหล่านี้นั่งอยู่ที่ทาง
สามแพร่งกลางเมืองหลวง’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียง
ดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้น
สูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึง
หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด
พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่
ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ
และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไป
บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็น
ประจักษ์ ซึ่งดีกว่าและประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๘.อาสวักขยญาณ

๘. อาสวักขยญาณ

[๒๔๘] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้
ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้
อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้น
แล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๑ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้อีกต่อไป’๒
[๒๔๙] เปรียบเหมือนสระน้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัวบนยอดภูเขา คนตาดียืนที่
อบสระนั้น เห็นหอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวดและก้อนหินหรือฝูงปลากำลัง
แหวกว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระนั้น ก็คิดอย่างนี้ว่า ‘สระน้ำนี้ใสสะอาดไม่
ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวดและก้อนหิน และฝูงปลาเหล่านี้กำลังแหวก
ว่ายอยู่ก็มี หยุดอยู่ก็มี ในสระนั้น’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส
เพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่น
ไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้
ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้
อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจาก
กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า
‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ ซึ่ง
ดีกว่าและประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์ข้อก่อน ๆ
มหาบพิตร ไม่มีผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์อย่างอื่นที่ยอดเยี่ยม
กว่าหรือประณีตกว่าผลแห่งความเป็นสมณะที่เห็นประจักษ์นี้เลย”

เชิงอรรถ :
๑ กิจที่ควรทำในที่นี้ หมายถึง กิจในอริยสัจ ๔ คือ การกำหนดรู้ทุกข์, การละเหตุเกิดแห่งทุกข์, การทำ
ให้แจ้งซึ่งความดับทุกข์ และการอบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓ )
๒ ไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมรรคญาณเพื่อความหมดสิ้นแห่งกิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่าการ
บรรลุพระอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓ )

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๒.สามัญญผลสูตร]
พระเจ้าอชาตศัตรูทรงประกาศพระองค์เป็นอุบาสก

พระเจ้าอชาตศัตรูทรงประกาศพระองค์เป็นอุบาสก

[๒๕๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้
กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระ
ภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่
คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คน
มีตาดีจักเห็นรูปได้ หม่อมฉันนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระ
สงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่
วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความผิดได้ครอบงำหม่อมฉันผู้
โง่เขลาเบาปัญญาซึ่งได้ปลงพระชนม์พระราชบิดาผู้ทรงธรรม เพราะต้องการความ
เป็นใหญ่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดทรงรับทราบความผิดของหม่อม
ฉันตามความเป็นจริงเถิด เพื่อจะได้สำรวมต่อไป”
[๒๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เจริญพร มหาบพิตร ความผิดได้ครอบงำ
พระองค์ผู้โง่เขลาเบาปัญญาซึ่งได้ปลงพระชนม์พระราชบิดาผู้ทรงธรรม เพราะ
ต้องการความเป็นใหญ่ แต่พระองค์ทรงเห็นความผิดว่าเป็นความผิดแล้วทรง
สารภาพตามความเป็นจริง ดังนั้น อาตมภาพขอรับทราบความผิดนั้นของพระองค์
ก็ผู้ที่เห็นความผิดว่าเป็นความผิดแล้วสารภาพออกมาตามความเป็นจริง รับว่าจะ
สำรวมต่อไป วิธีนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า”
[๒๕๒] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้
กราบทูลว่า “ถ้าอย่างนั้น บัดนี้ หม่อมฉันขอทูลลากลับ เพราะมีกิจมีหน้าที่ที่จะ
ต้องทำอีกมาก พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด
มหาบพิตร”
พระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ทรงชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ได้เสด็จลุกจากที่ประทับ ทรงกราบพระผู้มีพระภาค ทรงกระทำประทักษิณแล้ว
เสด็จจากไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

[๒๕๓] ครั้นเมื่อท้าวเธอเสด็จจากไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุ
มารับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระราชาองค์นี้ถูกขจัดเสียแล้ว ถูกทำลายเสียแล้ว
หากท้าวเธอจักไม่ปลงพระชนม์พระราชบิดาผู้ทรงธรรม ธรรมจักษุ๑ อันไร้ธุลีคือ
กิเลส ปราศจากมลทิน จักเกิดขึ้นแก่ท้าวเธอ ณ ที่ประทับนี้ทีเดียว”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณภาษิตนี้จบลง ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่าง
ชื่นชมยินดีพุทธภาษิตนั้นแล

สามัญญผลสูตรที่ ๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องพราหมณ์โปกขรสาติ

๓. อัมพัฏฐสูตร
ว่าด้วยชายหนุ่มชื่ออัมพัฏฐะ

[๒๕๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่
ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชาวโกศลชื่ออิจฉานังคลคาม
ประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคลวัน ใกล้อิจฉานังคลคาม

เรื่องพราหมณ์โปกขรสาติ

[๒๕๕] สมัยนั้น พราหมณ์โปกขรสาติ๑ ปกครองเมืองอุกกัฏฐะซึ่งมีประชากร
และสัตว์เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระ
ราชทรัพย์ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย(ส่วน
พิเศษ) พราหมณ์โปกขรสาติได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จ
ออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่
ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงอิจฉานังคลคามโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ราวป่า
อิจฉานังคลวัน ใกล้อิจฉานังคลคาม ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไป
อย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็น
สารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า๒ เป็นพระผู้มีพระภาค๓ พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก

เชิงอรรถ :
๑ พราหมณ์ผู้นี้มีผิวกายเหมือนดอกบัวขาว งดงามดุจเสาระเนียดเงิน ศีรษะสีดำดุจมรกต หนวดดุจปุยเมฆ
ดำในดวงจันทร์ ลูกตาทั้ง ๒ ข้างเหมือนดอกบัวเขียว จมูกกลมเกลี้ยงเกลา ฝ่ามือฝ่าเท้าและช่องปาก
งดงามดังไล้ทาด้วยสีครั่ง เขาเป็นคนที่มีร่างกายงดงามมาก (ที.สี.อ. ๒๕๕/๒๑๙)
๒ ชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดด้วยพระองค์เองและทรงสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
๓ ชื่อว่า เป็นพระผู้มีพระภาค เพราะ (๑) ทรงมีโชค (๒) ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส (๓) ทรงประกอบด้วย
ภคธรรม ๖ ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน, โลกุตตรธรรม, ยศ, สิริ, ความสำเร็จประโยชน์
ตามต้องการ และความเพียร) (๔) ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (๕) ทรงเสพอริยธรรม (๖) ทรงคาย
ตัณหาในภพทั้งสาม (๗) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (๘) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (๙) ทรงมีส่วน
แห่งปัจจัย ๔ เป็นต้น (วิ.อ. ๑/๑๐๓-๑๑๘, สารตฺถ.ฏีกา. ๑/๒๗๐)
อนึ่ง พุทธคุณนี้ ท่านแบ่งเป็น ๑๐ ประการ โดยแยกพุทธคุณข้อ ๖ เป็น ๒ ประการ คือ (๑) เป็น
ผู้ยอดเยี่ยม (๒) เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ (วิสุทฺธิ. ๑/๒๖๕, วิ.อ. ๑/๑๑๒-๑๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องอัมพัฏฐมาณพ

มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วยพระ
องค์เองแล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มี
ความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้ง
อรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้
เป็นความดีอย่างแท้จริง”

เรื่องอัมพัฏฐมาณพ

[๒๕๖] เวลานั้น อัมพัฏฐมาณพผู้เป็นศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติ เป็น
ผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์๑ จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์
อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์๒ รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์
และการทำนายลักษณะมหาบุรุษ๓ อาจารย์ยกย่องและตัวเขาก็ยอมรับในวิชชา ๓
ประการอันเป็นของอาจารย์ของตนว่ารู้เท่ากันกับที่อาจารย์รู้

เชิงอรรถ :
๑ บทสวด (มันตระ) ในคัมภีร์พระเวท หมายถึงบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า ซึ่งรวบรวมเป็นหมวด ๆ เรียก
ชื่อว่า ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอาถรรพเวท
๒ ไตรเพท หมายถึงคัมภีร์ ๓ ข้างต้น คือ ฤคเวท (อิรุเวท) ยชุรเวท และสามเวท (ส่วนอาถรรพเวท
ปรากฏภายหลังจากการปรากฏของพระสูตรนี้)
นิฆัณฑุศาสตร์ คัมภีร์ประเภทศัพทมูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (Lexicon) หรืออภิธานศัพท์
(Glossary) ที่รวบรวมคำศัพท์ในพระเวทซึ่งเป็นคำยาก หรือคำที่เลิกใช้แล้ว นำมาอธิบายความหมาย
เป็นส่วนหนึ่งของนิรุกติ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า
นิฆัณฏุ
เกฏุภศาสตร์ คัมภีร์ที่ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นส่วน
หนึ่งของกัลปะ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า ไกฏภ
อักษรศาสตร์ คือ คัมภีร์ว่าด้วยสิกขา (การเปล่งเสียง, การออกเสียง) และนิรุตติ (การอธิบายคำศัพท์
โดยอาศัยประวัติและกำเนิดของคำ)
ประวัติศาสตร์ คือพงศาวดารเล่าเรื่องเก่า ๆ มักจะมีคำว่า สิ่งนี้ได้เป็นมาอย่างนี้ [ที.สี.อ. ๒๕๖/ ๒๒๒ และ
ดู Dawson, John.A Classical Dictionary of Hindu Mythology (London: Routledge and
Kegan Paul, 1957) p. 222]
๓ ศาสตร์ว่าด้วยลักษณะของบุคคลสำคัญมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น อันมีอยู่ในคัมภีร์พราหมณ์ ซึ่งเรียกว่า
มนตร์ เฉพาะส่วนที่ว่าด้วยผู้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่าพุทธมนตร์ มีอยู่ ๑๖,๐๐๐ คาถา (ที.สี.อ.
๒๕๖/๒๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องอัมพัฏฐมาณพ

[๒๕๗] ครั้งนั้นพราหมณ์โปกขรสาติเรียกอัมพัฏฐมาณพมาบอกว่า “อัมพัฏฐะ
ท่านพระสมณโคดมพระองค์นี้เป็นศากยบุตร เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล
เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จ
ถึงอิจฉานังคลคามโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคลวัน ใกล้อิจฉานังคล-
คาม ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระ
ผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบ
พร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่าง
ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และ
หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรง
ประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่าง
แท้จริง’ มาเถิด พ่ออัมพัฏฐมาณพ เธอจงไปเฝ้าท่านพระสมณโคดมถึงที่ประทับ
ครั้นแล้วจงรู้จักพระสมณโคดมให้ได้ พวกเราจะได้รู้จักท่านพระโคดมว่า กิตติศัพท์
ของท่านพระโคดมที่ขจรไปเช่นนั้นจริงหรือไม่ ท่านพระโคดมทรงเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่”
[๒๕๘] อัมพัฏฐมาณพเรียนถามว่า “ท่านขอรับ ทำอย่างไรผมจึงจะรู้จักท่าน
พระโคดมว่า กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมที่ขจรไปเช่นนั้นจริงหรือไม่ ท่านพระโคดม
ทรงเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่”
พราหมณ์โปกขรสาติตอบว่า “พ่ออัมพัฏฐะ พระมหาบุรุษผู้ประกอบด้วย
ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการที่ปรากฏในมนตร์ของเรา ย่อมมีคติ ๒ อย่าง ไม่เป็น
อย่างอื่น คือ (๑) ถ้าทรงอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม ครอง
ราชย์โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงได้รับชัยชนะ
แล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว (รัตนะ) ๗ ประการ คือ จักรแก้ว
ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว คหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว มีพระราชบุตร
มากกว่า ๑,๐๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญมีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์สามารถ
ย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรมไม่ต้องใช้อาชญาหรือศัสตรา ครอบครอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
อัมพัฏฐมาณพพูดกตศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้ครั้งที่ ๑

แผ่นดินมีสาครเป็นขอบเขต (๒) ถ้าเสด็จออกจากพระราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิต
จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลก เราเป็นผู้ให้มนตร์ แต่เธอ
เป็นผู้รับมนตร์”
[๒๕๙] อัมพัฏฐมาณพรับคำแล้วลุกจากที่นั่ง ไหว้พราหมณ์โปกขรสาติ
กระทำประทักษิณแล้วขึ้นยานพาหนะเทียมลาไปพร้อมด้วยมาณพหลายคน ตรงไป
ยังราวป่าอิจฉานังคลวันจนสุดทางยานพาหนะ แล้วลงจากยานพาหนะเดินเข้าไปยัง
พระอาราม
เวลานั้น ภิกษุหลายรูปกำลังเดินจงกรมอยู่กลางแจ้ง อัมพัฏฐมาณพเข้าไปหา
ภิกษุเหล่านั้นถึงที่จงกรมแล้วถามว่า “ท่านขอรับ เวลานี้ท่านพระโคดมพระองค์นั้น
ประทับอยู่ที่ไหน พวกเรามาที่นี้ก็เพื่อจะเฝ้าท่านพระโคดมพระองค์นั้น”
[๒๖๐] ภิกษุเหล่านั้นคิดว่า ‘อัมพัฏฐมาณพคนนี้เกิดในตระกูลที่มีชื่อเสียง ทั้ง
เป็นศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติผู้โด่งดัง พระผู้มีพระภาคทรงสนทนากับกุลบุตร
เช่นนี้จะไม่หนักพระทัย’ จึงตอบว่า “อัมพัฏฐะ นั่นพระวิหารปิดประตูอยู่ ท่านจง
เข้าไปทางพระวิหารนั้นเงียบ ๆ ค่อย ๆ เข้าไปที่เฉลียงกระแอมก่อนจึงเคาะบานประตู
พระผู้มีพระภาคจักทรงเปิดประตูให้ท่าน”
[๒๖๑] ต่อมา อัมพัฏฐมาณพเข้าไปทางพระวิหารนั้นเงียบ ๆ ค่อย ๆ เข้า
ไปที่เฉลียงกระแอมก่อนจึงเคาะบานประตู พระผู้มีพระภาคทรงเปิดประตูให้
อัมพัฏฐมาณพจึงเข้าไป ฝ่ายพวกมาณพก็พากันเข้าไปสนทนากับพระผู้มีพระภาค
ครั้นสนทนากันพอคุ้นเคยดีจึงนั่งลง ณ ที่สมควร
แต่อัมพัฏฐมาณพเดินบ้าง ยืนบ้าง สนทนากับพระผู้มีพระภาคผู้ประทับนั่งอยู่
[๒๖๒] พระผู้มีพระภาคตรัสถามอัมพัฏฐมาณพว่า “อัมพัฏฐะ เธอเคย
สนทนากับพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์ เหมือนดังที่เธอเดินบ้าง
ยืนบ้าง สนทนากับเราผู้นั่งอยู่เช่นนี้หรือ”

อัมพัฏฐมาณพพูดกดศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้ครั้งที่ ๑

[๒๖๓] อัมพัฏฐมาณพตอบว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านพระโคดม แท้จริง
พราหมณ์ผู้เดินก็ควรสนทนากับพราหมณ์ผู้เดิน พราหมณ์ผู้ยืนก็ควรสนทนากับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
อัมพัฏฐมาณพพูดกตศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้ครั้งที่ ๒

พราหมณ์ผู้ยืน พราหมณ์ผู้นั่งก็ควรสนทนากับพราหมณ์ผู้นั่ง พราหมณ์ผู้นอนก็ควร
สนทนากับพราหมณ์ผู้นอน แต่ข้าพเจ้ากำลังสนทนากับสมณะศีรษะโล้น ผู้เป็นคน
รับใช้ เป็นคนวรรณะต่ำ(กัณหโคตร) เกิดจากพระบาทของท้าวมหาพรหมเหมือน
ท่านพระโคดมต่างหาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เธอมาที่นี่เพราะมีธุระก็ควรตระหนักถึงธุระ
นั้นไว้ให้ดี ท่านทั้งหลาย อัมพัฏฐมาณพนี้ไม่ได้รับการอบรมแต่สำคัญตนว่าได้รับ
การอบรมมาดี ไม่มีอะไรเลยนอกจากมารยาทของคนที่ไม่ได้รับการอบรม”
[๒๖๔] ทันทีที่ถูกพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นคนไม่ได้รับการอบรม อัมพัฏฐ-
มาณพก็โกรธเคืองไม่พอใจ เมื่อจะข่มขู่พระผู้มีพระภาค เมื่อจะว่าร้ายพระผู้มีพระ
ภาค คิดว่า ‘เราจะทำให้พระสมณโคดมเสียหาย’ จึงได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคว่า
“ท่านพระโคดม คนชาติศากยะดุร้าย หยาบช้า วู่วาม พูดพล่าม เป็นคนรับใช้ ไม่
ยอมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อมพวกพราหมณ์ การที่คนชาติศากยะ
ซึ่งเป็นคนดุร้าย หยาบช้า วู่วาม พูดพล่าม เป็นคนรับใช้ ไม่ยอมสักการะ เคารพ
นับถือ บูชานอบน้อมพวกพราหมณ์ เป็นการไม่เหมาะไม่ควรเลย”
นี้เป็นครั้งที่ ๑ ที่อัมพัฏฐมาณพพูดกดศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้

อัมพัฏฐมาณพพูดกดศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้ครั้งที่ ๒

[๒๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัมพัฏฐะ พวกเจ้าศากยะได้ทำผิดอะไร
ต่อเธอ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าเดินทางไปกรุงกบิลพัสดุ์ด้วย
ธุระของพราหมณ์โปกขรสาติผู้เป็นอาจารย์ เข้าไปที่ท้องพระโรงของพวกศากยะ
เวลานั้น พวกศากยะและศากยกุมารจำนวนมาก กำลังนั่งใช้นิ้วมือสะกิดหยอกล้อ
กันอยู่บนอาสนะสูง ในท้องพระโรง เห็นจะหัวเราะเยาะข้าพเจ้าเป็นแน่ ไม่มีใคร
เชื้อเชิญให้ข้าพเจ้านั่งเลย ท่านพระโคดม การที่คนชาติศากยะซึ่งเป็นคนดุร้าย
หยาบช้า วู่วาม พูดพล่าม เป็นคนรับใช้ ไม่ยอมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อมพวกพราหมณ์ เป็นการไม่เหมาะไม่ควรเลย”
นี้เป็นครั้งที่ ๒ ที่อัมพัฏฐมาณพพูดกดศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
พระพุทธดำรัสว่าอัมพัฏฐมาณพเป็นลูกของหญิงรับใช้

อัมพัฏฐมาณพพูดกดศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้ครั้งที่ ๓

[๒๖๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ แม้นางนกไส้ยังพูดได้ตาม
ปรารถนาในรังของตน ก็นั่นกรุงกบิลพัสดุ์เป็นถิ่นของพวกศากยะ ท่านอัมพัฏฐะ
ไม่น่าจะกินแหนงแคลงใจเพราะเรื่องเล็กน้อยเพียงเท่านี้”
เขากล่าวว่า “ท่านพระโคดม วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์
แพศย์ และศูทร ในวรรณะทั้ง ๔ นี้ แท้จริงแล้ว ๓ วรรณะ คือ กษัตริย์ แพศย์
ศูทร เป็นคนบำเรอของพราหมณ์ การที่คนชาติศากยะซึ่งเป็นคนดุร้าย หยาบช้า
วู่วาม พูดพล่าม เป็นคนรับใช้ ไม่ยอมสักการะ เคารพ นับถือ บูชานอบน้อมพวก
พราหมณ์ เป็นการไม่เหมาะไม่ควรเลย”
นี้เป็นครั้งที่ ๓ ที่อัมพัฏฐมาณพพูดกดศากยวงศ์ว่าเป็นคนรับใช้

พระพุทธดำรัสว่าอัมพัฏฐมาณพเป็นลูกของหญิงรับใช้

[๒๖๗] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า ‘อัมพัฏฐมาณพนี้ชอบ
เหยียดหยามพวกศากยะรุนแรงว่าเป็นคนรับใช้ ทางที่ดี เราควรถามถึงตระกูลดูบ้าง’
จึงตรัสถามว่า “อัมพัฏฐะ เธอมีตระกูล(โคตร)อย่างไร”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าคือกัณหายนตระกูล(กัณหายนโคตร)”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เมื่อเธอระลึกถึงตระกูลเก่าแก่ของบิดา
มารดาของเธอดู (จะรู้ว่า) พวกศากยะเป็นลูกเจ้า แต่เธอเป็นลูกของหญิงรับใช้ของ
พวกศากยะ ก็พวกศากยะพากันอ้างถึงพระเจ้าโอกกากราชว่าเป็นบรรพบุรุษของตน
อัมพัฏฐะ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าโอกกากราชมีพระประสงค์จะพระราชทาน
ราชสมบัติแก่พระโอรสของพระมเหสีผู้เป็นที่โปรดปราน จึงรับสั่งให้เนรเทศพระ
ราชกุมารทั้ง ๔ พระองค์ คือ พระอุกกามุขราชกุมาร พระกรกัณฑุราชกุมาร พระ
หัตถินิกราชกุมาร พระสินีปุรราชกุมาร ออกจากราชอาณาเขต พระราชกุมาร
เหล่านั้นถูกเนรเทศออกจากราชอาณาเขตแล้ว ก็เสด็จออกไปอาศัยอยู่ ณ ราวป่าไม้
สากะใหญ่ ริมฝั่งสระโบกขรณี เชิงภูเขาหิมพานต์ ทรงอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยากับ
พระภคินีของพระองค์เอง เพราะเกรงพระชาติจะปนกับผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
พระพุทธดำรัสว่าอัมพัฏฐมาณพเป็นลูกของหญิงรับใช้

ต่อมา พระเจ้าโอกกากราชตรัสถามหมู่อำมาตย์ราชบริพารว่า ‘เวลานี้พวก
กุมารอยู่ที่ไหน’
พวกอำมาตย์ราชบริพารกราบทูลว่า ‘ขอเดชะ เวลานี้พระราชกุมารพำนักอยู่
ณ ราวป่าไม้สากะใหญ่ ริมฝั่งสระโบกขรณี เชิงภูเขาหิมพานต์ ทรงอยู่ร่วมเป็นสามี
ภรรยากับพระภคินีของพระองค์เอง เพราะเกรงพระชาติจะปนกับผู้อื่น’
พระเจ้าโอกกากราชจึงทรงเปล่งพระอุทานว่า ‘ท่านทั้งหลาย พวกกุมารมี
ความสามารถ (ศากยะ) พวกกุมารมีความสามารถยอดเยี่ยม (บรมศากยะ)’
พวกที่ชื่อว่า ศากยะ ได้เกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และพระเจ้าโอกกากราช
พระองค์นั้นก็คือบรรพบุรุษของพวกศากยะ
พระเจ้าโอกกากราชมีหญิงรับใช้คนหนึ่งชื่อทิสา นางคลอดลูกชายคนหนึ่งชื่อ
กัณหะ กัณหะพอเกิดมาก็พูดว่า ‘แม่จงล้างฉัน จงให้ฉันอาบน้ำ จงปลดเปลื้องฉัน
จากสิ่งโสโครกนี้ ฉันเกิดมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่แม่’ มนุษย์สมัยนั้นเรียกปีศาจว่า
‘กัณหะ (พวกดำ) เหมือนกับที่มนุษย์สมัยนี้เรียกผีว่า ‘ปีศาจ’ มนุษย์เหล่านั้นกล่าว
กันว่า ‘เด็กคนนี้พอเกิดมาก็พูดได้เลย กัณหะเกิดแล้ว ปีศาจเกิดแล้ว’ พวกที่ชื่อว่า
กัณหายนะได้เกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และเด็กกัณหะนั้นก็คือบรรพบุรุษของ
พวกกัณหายนะ
อัมพัฏฐะ เมื่อเธอระลึกถึงตระกูลเก่าแก่ของบิดามารดาของเธอ (จะรู้ว่า) พวก
ศากยะเป็นลูกเจ้า แต่เธอเป็นลูกของหญิงรับใช้ของพวกศากยะ”
[๒๖๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ มาณพเหล่านั้นได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดมอย่าเหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพรุนแรงว่าเป็นลูก
ของหญิงรับใช้เลย อัมพัฏฐมาณพ มีชาติตระกูลดี เป็นลูกผู้มีตระกูล ศึกษามามาก
พูดเพราะ ฉลาด และสามารถเจรจาโต้ตอบกับท่านพระโคดมได้”
[๒๖๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะพวกมาณพเหล่านั้นว่า “มาณพ
ถ้าพวกเธอคิดว่า ‘อัมพัฏฐมาณพมีชาติตระกูลต่ำ ไม่ใช่ลูกผู้มีตระกูล ศึกษามาน้อย
พูดไม่เพราะ โง่เขลา และไม่สามารถเจรจาโต้ตอบกับเราได้’ อัมพัฏฐมาณพจง
หยุด พวกเธอจงเจรจาโต้ตอบกับเราแทน แต่หากพวกเธอคิดว่า ‘อัมพัฏฐมาณพมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
พระพุทธดำรัสว่าอัมพัฏฐมาณพเป็นลูกของหญิงรับใช้

ชาติตระกูลดี เป็นลูกผู้มีตระกูล ศึกษามามาก พูดเพราะ ฉลาด และสามารถเจรจา
โต้ตอบกับท่านพระโคดมได้’ พวกเธอก็จงหยุด อัมพัฏฐมาณพก็จงเจรจาโต้ตอบกับ
เรา(ต่อไป)”
มาณพเหล่านั้นกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม อัมพัฏฐมาณพมีชาติตระกูลดี
เป็นลูกผู้มีตระกูล ศึกษามามาก พูดเพราะ ฉลาด และสามารถเจรจาโต้ตอบกับท่าน
พระโคดมได้ พวกข้าพเจ้าจักหยุดนิ่ง อัมพัฏฐมาณพจงเจรจาโต้ตอบกับท่านพระ
โคดม(ต่อไป)”
[๒๗๐] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะอัมพัฏฐมาณพว่า “อัมพัฏฐะ
ปัญหาอันชอบธรรมข้อนี้ย่อมมาถึงเธอ เธอแม้ไม่ต้องการก็จะต้องตอบ (เพราะ)
ถ้าไม่ตอบ ขืนพูดกลบเกลื่อน นิ่งเสียหรือจากไปเสีย ศีรษะของเธอจะแตกเป็น ๗
เสี่ยง ณ ที่นี้แหละ อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอเคยได้ฟังพวก
พราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์เล่ากันมาอย่างไร พวกกัณหายนะ
เกิดจากใครก่อน ใครคือบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้ อัมพัฏฐมาณพได้นิ่งเฉย พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสถามอีกเป็นครั้งที่ ๒ ว่า “อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอเคย
ได้ฟังพวกพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์เล่ากันมาอย่างไร พวก
กัณหายนะเกิดจากใครก่อน ใครคือบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ”
แม้ครั้งที่ ๒ อัมพัฏฐมาณพก็ยังคงนิ่งเฉย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เธอจงตอบเดี๋ยวนี้ เวลานี้
ไม่ใช่เวลาที่เธอจะนิ่งเฉย (เพราะ) ผู้ที่ถูกตถาคตถามปัญหาอันชอบธรรมถึง ๓ ครั้ง
แต่ไม่ยอมตอบ ศีรษะของเขาจะแตกเป็น ๗ เสี่ยง ณ ที่นี้แหละ”
[๒๗๑] ขณะนั้น ยักษ์วชิรปาณีถือค้อนเหล็กใหญ่มีไฟลุกโชติช่วงยืนอยู่ใน
อากาศเบื้องบนอัมพัฏฐมาณพ คิดว่า ‘หากอัมพัฏฐมาณพนี้ถูกพระผู้มีพระภาคตรัส
ถามปัญหาอันชอบธรรมถึง ๓ ครั้ง แต่ไม่ยอมตอบ เราจะทุบศีรษะของเขาให้แตก
เป็น ๗ เสี่ยง ณ ที่นี้แหละ’
พระผู้มีพระภาคและอัมพัฏฐมาณพเท่านั้นที่มองเห็นยักษ์วชิรปาณีตนนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องอัมพัฏฐวงศ์

[๒๗๒] เวลานั้น อัมพัฏฐมาณพตกใจกลัวจนขนพองสยองเกล้าจึงเข้าไป
ใกล้ มุ่งหมายให้พระผู้มีพระภาคเป็นที่ปกป้อง เป็นที่คุ้มครอง และเป็นที่ยึดเหนี่ยว
ทูลถามว่า “ท่านพระโคดมตรัสอะไร โปรดตรัสอีกครั้งเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอเคยได้
ฟังพวกพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์เล่ากันมาอย่างไร พวก
กัณหายนะเกิดจากใครก่อน ใครคือบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ”
อัมพัฏฐมาณพกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ฟังมาเหมือนกับที่ท่าน
พระโคดมตรัสนั่นแหละ พวกกัณหายนะเกิดมาจากนายกัณหะนั้นก่อน นายกัณหะ
นั้นคือบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ”

เรื่องอัมพัฏฐวงศ์

[๒๗๓] เมื่ออัมพัฏฐมาณพกราบทูลอย่างนี้ พวกมาณพได้ส่งเสียงอื้ออึง
เซ็งแซ่ว่า “ได้ทราบว่า อัมพัฏฐมาณพมีชาติตระกูลต่ำ ไม่ใช่ลูกผู้มีตระกูล เป็นลูก
ของหญิงรับใช้ของพวกศากยะ ได้ทราบว่า พวกศากยะเป็นโอรสของเจ้านายของ
อัมพัฏฐมาณพ พวกเรากลับเข้าใจท่านพระสมณโคดมผู้เป็นธรรมวาทีว่าควรถูก
รุกราน”
[๒๗๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริอย่างนี้ว่า ‘มาณพเหล่านี้
เหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพรุนแรงว่า เป็นลูกของหญิงรับใช้ ทางที่ดีเราควรช่วย
ปลดเปลื้อง’ จึงตรัสกะมาณพเหล่านั้นว่า “มาณพ พวกเธออย่าเหยียดหยาม
อัมพัฏฐมาณพรุนแรงว่าเป็นลูกของหญิงรับใช้เลย เพราะนายกัณหะนั้น (ต่อมา) ได้
เป็นฤๅษีคนสำคัญเดินทางไปยังทักขิณาชนบท เรียนพรหมมันตระ แล้วเข้าเฝ้า
พระเจ้าโอกกากราช กราบทูลขอพระราชธิดาพระนามว่ามัททรูปี พระเจ้าโอกกาก-
ราชทรงกริ้วไม่พอพระทัยตรัสว่า ‘เหวย ๆ เจ้าคนนี้มันใครกัน ก็แค่ลูกของหญิง
รับใช้ จะมาขอมัททรูปีธิดาของข้าได้’ จึงทรงขึ้นพระแสงศร แต่ไม่อาจจะทรงแผลงศร
ทั้งไม่อาจลดศรลงได้
ทันใดนั้น หมู่อำมาตย์ราชบริพารเข้าไปหากัณหฤๅษีกล่าวว่า ‘ข้าแต่ท่าน
ผู้เจริญ ขอพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระเจริญ ๆ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] ความเป็นกษัตริย์ประเสริฐที่สุด

ฤๅษีกล่าวว่า ‘พระราชาจะทรงพระเจริญ แต่ถ้าพระราชาจะทรงแผลงศรลงไป
เบื้องต่ำ แผ่นดินจะทรุดทั่วพระราชอาณาเขต’
หมู่อำมาตย์ราชบริพารกล่าวว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระเจ้าอยู่หัวจงทรง
พระเจริญ ขอให้บ้านเมืองจงมีความปลอดภัย’
ฤๅษีกล่าวว่า ‘พระราชาจะทรงพระเจริญ บ้านเมืองก็จะมีความปลอดภัย แต่
ถ้าพระราชาจะทรงแผลงศรขึ้นไปข้างบน ฝนจะไม่ตกทั่วพระราชอาณาเขตตลอด
๗ ปี’
หมู่อำมาตย์ราชบริพารกล่าวว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระเจ้าอยู่หัวจงทรง
พระเจริญ ขอให้บ้านเมืองจงมีความปลอดภัย ขอให้ฝนจงตกตามฤดูกาล’
ฤๅษีกล่าวว่า ‘พระราชาจะทรงพระเจริญ บ้านเมืองจะมีความปลอดภัย ฝนก็
จะตกตามฤดูกาล ก็ต่อเมื่อพระราชาจะทรงวางพระแสงศรไว้ที่พระราชกุมารพระองค์
ใหญ่ด้วยมุ่งพระทัย ว่า พระราชกุมารจักมีความเจริญ จักหายจากความหวาดผวา’
หมู่อำมาตย์ราชบริพารกราบทูลพระเจ้าโอกกากราชว่า ‘ขอพระเจ้าอยู่หัวทรง
วางพระแสงศรไว้ที่พระราชกุมารพระองค์ใหญ่ด้วยมุ่งพระทัยว่า พระราชกุมารจักมี
ความเจริญ จักหายจากความหวาดผวา’
พระเจ้าโอกกากราชจึงทรงวางพระแสงศรไว้ที่พระราชกุมารพระองค์ใหญ่ พระ
ราชกุมารก็ทรงเป็นผู้มีความเจริญ หายจากความหวาดผวา พระเจ้าโอกกากราชทรง
ตกพระทัยหวาดกลัว พระโลมชาติชูชัน ถูกข่มขู่ด้วยพรหมทัณฑ์ จึงได้พระราชทาน
พระนางมัททรูปีราชธิดาแก่ฤๅษีนั้นไป
มาณพ พวกเธออย่าเหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพรุนแรงว่าเป็นลูกของหญิงรับ
ใช้เลย เพราะนายกัณหะนั้นได้เป็นฤๅษีคนสำคัญมาแล้ว”

ความเป็นกษัตริย์ประเสริฐที่สุด

[๒๗๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะอัมพัฏฐมาณพว่า “อัมพัฏฐะ เธอ
เข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ขัตติยกุมารในโลกนี้อยู่ร่วมกับนางพราหมณกัญญา จนมี
บุตร บุตรที่เกิดจากนางพราหมณกัญญากับขัตติยกุมาร ควรจะได้นั่งร่วมกันหรือ
กินดื่มร่วมกันกับพวกพราหมณ์บ้างหรือไม่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] ความเป็นกษัตริย์ประเสริฐที่สุด

เขากราบทูลว่า “ควรจะได้ ท่านพระโคดม”
“พราหมณ์ควรจะเชิญเขาให้มาบริโภคในงานเลี้ยงเพื่อผู้ตาย งานมงคล งาน
ยัญพิธีหรืองานเลี้ยงแขกเหรื่อบ้างหรือไม่”
“ควรเชิญให้มาบริโภค”
“พราหมณ์ควรจะบอกมนตร์ให้เขาหรือไม่”
“ควรจะบอก”
“เขาควรถูกห้ามเกี่ยวข้องกับสตรีหรือไม่”
“ไม่ควรถูกห้าม”
“เขาควรจะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์หรือไม่”
“ไม่ควรจะได้รับ”
“ข้อนั้น เพราะเหตุไร”
“เพราะเขาไม่บริสุทธิ์ข้างมารดา”
“อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พราหมณกุมารในโลกนี้อยู่ร่วมกับ
นางขัตติยกัญญา จนมีบุตร บุตรที่เกิดจากนางขัตติยกัญญากับพราหมณกุมาร
ควรจะได้นั่งร่วมกันหรือกินดื่มร่วมกันกับพวกพราหมณ์บ้างหรือไม่”
“ควรจะได้ ท่านพระโคดม”
“พราหมณ์ควรจะเชิญเขาให้มาบริโภคในงานเลี้ยงเพื่อผู้ตาย งานมงคล งาน
ยัญพิธี หรืองานเลี้ยงแขกเหรื่อบ้างหรือไม่”
“ควรเชิญให้มาบริโภค”
“พราหมณ์ควรจะบอกมนตร์ให้เขาหรือไม่”
“ควรจะบอก”
“เขาควรถูกห้ามเกี่ยวข้องกับสตรีหรือไม่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] ความเป็นกษัตริย์ประเสริฐที่สุด

“ไม่ควรถูกห้าม”
“เขาควรจะได้รับอภิเษกเป็นกษัตริย์หรือไม่”
“ไม่ควรจะได้รับ”
“ข้อนั้น เพราะเหตุไร”
“เพราะเขาไม่บริสุทธิ์ข้างบิดา”
[๒๗๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เมื่อเทียบหญิงกับหญิง เทียบ
ชายกับชาย กษัตริย์พวกเดียวเท่านั้นที่จัดว่าประเสริฐ พราหมณ์จัดว่าต่ำกว่า เธอ
เข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พวกพราหมณ์ในโลกนี้โกนศีรษะพราหมณ์คนหนึ่งแล้ว
มอมด้วยเถ้า เนรเทศออกจากแว่นแคว้นหรือจากเมืองเพราะความผิดบางอย่าง
พราหมณ์คนนั้นควรจะได้นั่งร่วมกันหรือกินดื่มร่วมกันกับพวกพราหมณ์บ้างหรือไม่”
“ไม่ควรได้ ท่านพระโคดม”
“พราหมณ์ควรจะเชิญเขาให้มาบริโภคในงานเลี้ยงเพื่อผู้ตาย งานมงคล งาน
ยัญพิธี หรืองานเลี้ยงแขกเหรื่อบ้างหรือไม่”
“ไม่ควรเชิญให้มาบริโภค”
“พราหมณ์ควรจะบอกมนตร์ให้เขาหรือไม่”
“ไม่ควรบอก”
“เขาควรถูกห้ามเกี่ยวข้องกับสตรีหรือไม่”
“ควรถูกห้าม”
“อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พวกกษัตริย์ในโลกนี้ปลงพระเกศา
กษัตริย์องค์หนึ่งแล้วมอมด้วยเถ้า เนรเทศออกจากแว่นแคว้นหรือจากเมืองเพราะ
ความผิดบางอย่าง กษัตริย์องค์นั้นควรจะได้นั่งร่วมกันหรือกินดื่มร่วมกันกับพวก
พราหมณ์บ้างหรือไม่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] ความเป็นกษัตริย์ประเสริฐที่สุด

“ควรจะได้ ท่านพระโคดม”
“พราหมณ์ควรจะเชิญเขาให้มาบริโภคในงานเลี้ยงเพื่อผู้ตาย งานมงคล งาน
ยัญพิธีหรืองานเลี้ยงแขกเหรื่อบ้างหรือไม่”
“ควรเชิญให้มาบริโภค”
“พราหมณ์ควรจะบอกมนตร์ให้เขาหรือไม่”
“ควรจะบอก”
“เขาควรถูกห้ามเกี่ยวข้องกับสตรีหรือไม่”
“ไม่ควรถูกห้าม”
[๒๗๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ กษัตริย์ที่ถูกกษัตริย์ด้วยกัน
ปลงพระเกศา มอมด้วยเถ้าแล้วเนรเทศออกจากแว่นแคว้นหรือจากเมือง ชื่อว่าเป็น
ผู้ถึงความตกต่ำอย่างยิ่ง กษัตริย์เมื่อถึงความตกต่ำอย่างยิ่งเช่นนี้ ก็ยังจัดว่าประเสริฐ
อยู่ พราหมณ์ต่างหากที่ยังต่ำกว่า สมดังคาถาที่สนังกุมารพรหมกล่าวไว้ว่า
‘ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่ กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด
ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะจัดว่าเป็นผู้
ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์’๑
อัมพัฏฐะ สนังกุมารพรหมกล่าวคาถานั้นไว้ชอบ ไม่ใช่ไม่ชอบ กล่าวไว้ถูกต้อง
ไม่ใช่ไม่ถูกต้อง มีประโยชน์ ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ เราเห็นด้วยทีเดียว แม้เราก็กล่าว
อย่างเดียวกันนี้ว่า
ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่ กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด
ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ จัดว่าเป็นผู้
ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์”

ภาณวารที่ ๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] เรื่องวิชาและจรณะ

เรื่องวิชชาและจรณะ

[๒๗๘] อัมพัฏฐมาณพทูลถามว่า “่ท่านพระโคดม ก็จรณะนั้นเป็นอย่างไร
วิชชานั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อัมพัฏฐะ ในวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็น
คุณยอดเยี่ยม เขาไม่อ้างชาติ ไม่อ้างตระกูล หรือไม่อ้างความถือตัวว่า ท่านคู่ควรกับ
เราหรือท่านไม่คู่ควรกับเรา แต่ในที่ที่มีอาวาหมงคล วิวาหมงคล หรืออาวาหมงคล
และวิวาหมงคล เขาจึงอ้างชาติ อ้างตระกูล หรืออ้างความถือตัวว่า ท่านคู่ควรกับเรา
หรือท่านไม่คู่ควรกับเรา อัมพัฏฐะ ชนที่ยึดติดเพราะอ้างชาติ ยึดติดเพราะอ้างตระกูล
ยึดติดเพราะอ้างความถือตัวหรือยึดติดอยู่กับอาวาหมงคลและวิวาหมงคล ชื่อว่ายัง
อยู่ห่างไกลจากวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม อัมพัฏฐะ การ
ทำให้แจ้งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยมย่อมมีได้เพราะละการ
ยึดติดเพราะอ้างชาติ การยึดติดเพราะอ้างตระกูล การยึดติดเพราะอ้างความถือตัว
และการยึดติดอยู่กับอาวาหมงคลและวิวาหมงคลแล้วเท่านั้น”
[๒๗๙] อัมพัฏฐมาณพทูลถามว่า “ท่านพระโคดม จรณะนั้นเป็นอย่างไร
วิชชานั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ๑ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ใน
ที่นี้)
ภิกษุนั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตกวิจาร
ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
ยังมีอีก อัมพัฏฐะ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความ
ผ่องใสในภายในมีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอัน
เกิดจากสมาธิอยู่ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตรข้อ ๑๙๐-๒๒๕ คือ เพิ่มจูฬศีล มัชฌิมศีล มหาศีล อินทรียสังวร
สติสัมปชัญญะ สันโดษ การละนิวรณ์ อุปมานิวรณ์ ๕ เข้ามา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
ทางเสื่อม ๔ ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ

ยังมีอีก อัมพัฏฐะ เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
ยังมีอีก อัมพัฏฐะ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน
แล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ฯลฯ
ข้อนี้จัดเป็นจรณะอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้า
หมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อ
ญาณทัสสนะ ฯลฯ ข้อนี้จัดเป็นวิชชาอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น
ฯลฯ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่
มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ข้อนี้จัดเป็นวิชชาอย่างหนึ่งของภิกษุนั้น๑
อัมพัฏฐะ ที่แสดงมาทั้งหมดนี้ จัดเป็นวิชชา
อัมพัฏฐะ ภิกษุผู้ปฏิบัติเช่นนี้เรียกว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาบ้าง ว่า ผู้
เพียบพร้อมด้วยจรณะบ้าง ว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะบ้าง อัมพัฏฐะ
วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอย่างอื่นซึ่งเหนือกว่าและประณีตกว่าวิชชาสมบัติและ
จรณสมบัตินี้ไม่มีอีกแล้ว

ทางเสื่อม ๔ ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ

[๒๘๐] อัมพัฏฐะ วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้มีทางเสื่อมอยู่
๔ ประการ ๔ ประการอะไรบ้าง คือ
(๑) สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติ
และจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ จึงหาบหิ้วบริขารดาบสเข้าไปสู่
ราวป่าด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคผลไม้หล่น เขาต้องเป็นคนรับใช้
ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ ข้อนี้เป็นทาง
เสื่อมประการที่ ๑ แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตรข้อ ๒๒๖-๓๔๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
ทางเสื่อม ๔ ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ

(๒) อีกอย่างหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่
บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ทั้งไม่สามารถจะ
หาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ จึงถือเสียมและตะกร้าเข้าไปสู่ราวป่า
ด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคเหง้า ราก และผลไม้ เขาต้องเป็นคนรับใช้
ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ ข้อนี้เป็นทาง
เสื่อมประการที่ ๒ แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม
(๓) อีกอย่างหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่
บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะ
หาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะหาเหง้า ราก และผลไม้
บริโภคได้ จึงสร้างเรือนไฟไว้ใกล้บ้านหรือนิคมแล้วบูชาไฟอยู่
เขาต้องเป็นคนรับใช้ของท่านที่เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
โดยแท้ ข้อนี้เป็นทางเสื่อมประการที่ ๓ แห่งวิชชาสมบัติและ
จรณสมบัติอันยอดเยี่ยม
(๔) อีกอย่างหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ เมื่อยังไม่
บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะ
หาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ไม่สามารถหาเหง้า ราก และผลไม้
บริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะบูชาไฟได้ จึงสร้างเรือนมีประตู ๔
ด้านไว้ที่หนทางใหญ่สี่แพร่งแล้วพักอยู่ด้วยตั้งใจว่า เราจะบูชา
ท่านผู้ที่เดินทางมาจากทิศทั้ง ๔ ตามสติกำลัง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น
สมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม เขาต้องเป็นคนรับใช้ของท่านที่เพียบ
พร้อมด้วยวิชชาและจรณะโดยแท้ ข้อนี้เป็นทางเสื่อมประการที่
๔ แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม
อัมพัฏฐะ วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมมีทางเสื่อมอยู่ ๔ ประการ
นี้แล
[๒๘๑] อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอกับอาจารย์ย่อมปรากฏมี
ในวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้บ้างหรือไม่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
ทางเสื่อม ๔ ประการแห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติ

เขากราบทูลว่า “ไม่ปรากฏมีเลย ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากับอาจารย์ปฏิบัติไป
ทางหนึ่ง วิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนั้นอยู่อีกทางหนึ่ง ข้าพเจ้ากับ
อาจารย์ยังอยู่ห่างไกลจากวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอกับ
อาจารย์เมื่อยังไม่บรรลุวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ก็หาบหิ้วบริขาร
ดาบสเข้าไปสู่ราวป่าด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคผลไม้หล่น อย่างนั้นหรือ”
“ไม่เป็นอย่างนั้นเลย ท่านพระโคดม”
“อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอกับอาจารย์เมื่อยังไม่บรรลุวิชชา-
สมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ทั้งไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ก็
ถือเสียมและตะกร้าเข้าไปสู่ราวป่าด้วยตั้งใจว่า จักบริโภคเหง้า ราก และผลไม้ อย่าง
นั้นหรือ”
“ไม่เป็นอย่างนั้นเลย ท่านพระโคดม”
“อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอกับอาจารย์เมื่อยังไม่บรรลุวิชชา
สมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ทั้งไม่
สามารถจะหาเหง้า ราก และผลไม้บริโภคได้ ก็สร้างเรือนไฟไว้ใกล้บ้านหรือนิคม
แล้วบูชาไฟ อย่างนั้นหรือ”
“ไม่เป็นอย่างนั้นเลย ท่านพระโคดม”
“อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอกับอาจารย์เมื่อยังไม่บรรลุวิชชา
สมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ ไม่สามารถจะหาผลไม้ที่หล่นบริโภคได้ ไม่
สามารถจะหาเหง้า ราก และผลไม้บริโภคได้ ทั้งไม่สามารถจะบูชาไฟได้ ก็สร้างเรือน
มีประตู ๔ ด้านไว้ที่หนทางใหญ่สี่แพร่งแล้วพักอยู่ด้วยตั้งใจว่า เราจะบูชาท่านผู้ที่
เดินทางมาจากทิศทั้ง ๔ ตามสติกำลัง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม
อย่างนั้นหรือ”
“ไม่เป็นอย่างนั้นเลย ท่านพระโคดม”
[๒๘๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เธอกับอาจารย์เสื่อมจากวิชชา-
สมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้แล้ว และยังเสื่อมเพราะมีทางเสื่อม ๔ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] ฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์

แห่งวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้ด้วย ก็พราหมณ์โปกขรสาติผู้
เป็นอาจารย์ของเธอได้พูดว่า ‘สมณะโล้นบางเหล่าเป็นคนรับใช้ เป็นคนวรรณะ
ต่ำ(กัณหโคตร) เกิดจากพระบาทของท้าวมหาพรหม ไม่มีประโยชน์เลยที่พวก
พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทจะสนทนาด้วย ๋ ตนเองก็ตกอยู่ในความเสื่อม บำเพ็ญวิชชา-
สมบัติและจรณสมบัติให้บริบูรณ์ไม่ได้ อัมพัฏฐะ เธอจงดูความผิดของพราหมณ์
โปกขรสาติผู้เป็นอาจารย์ของเธอว่ามีเพียงไร

ฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์

[๒๘๓] อัมพัฏฐะ ถึงพราหมณ์โปกขรสาติปกครองเมืองที่พระเจ้าปเสนทิ-
โกศลพระราชทานให้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ยังไม่โปรดให้เขาเข้าเฝ้าเฉพาะพระพักตร์
เวลาจะทรงปรึกษาก็ทรงปรึกษานอกพระวิสูตร ทำไม ท้าวเธอจึงไม่โปรดให้เขาเข้า
เฝ้าเฉพาะพระพักตร์ ทั้ง ๆ ที่เขาได้รับพระราชทานภิกษาหารอันชอบธรรมเล่า อัมพัฏฐะ
เธอจงดูความผิดของพราหมณ์โปกขรสาติผู้เป็นอาจารย์ของเธอว่ามีเพียงไร
[๒๘๔] อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงช้าง
ทรงม้าหรือประทับอยู่บนรถพระที่นั่ง จะทรงปรึกษาราชกิจบางเรื่องกับมหาอำมาตย์
หรือพระบรมวงศานุวงศ์แล้วเสด็จจากที่นั้นไปประทับ ณ ที่แห่งหนึ่ง ต่อมา ศูทร
หรือจัณฑาลพึงมายืนปรึกษาอย่างเดียวกัน ณ ที่นั้นว่า ‘พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสอย่าง
นี้ ๆ’ เขาเพียงพูดได้เหมือนที่พระราชาตรัสหรือปรึกษาได้เหมือนอย่างที่พระราชาทรง
ปรึกษา ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จะจัดว่าเขาเป็นพระราชาหรือราชอำมาตย์ได้หรือไม่”
เขากราบทูลว่า “ไม่ได้เลย ท่านพระโคดม”
[๒๘๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัมพัฏฐะ เธอก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน
พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ คือ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษี
วามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ
ฤๅษีกัสสปะ ฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ในเวลานี้ขับ
ตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้ รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตาม
ที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ เพียงคิดว่า ‘เรากับอาจารย์เรียน
มนตร์ของท่านเหล่านั้น’ เธอจักได้ชื่อว่าเป็นฤๅษีหรือผู้ปฏิบัติเพื่อเป็นฤๅษีเพราะเหตุ
เพียงเท่านั้น นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร] ฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์

[๒๘๖] อัมพัฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เธอได้ฟังพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่า
ผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์เล่ากันมาอย่างไร พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์
คือ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส
ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ ฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์
ที่พวกพราหมณ์ในเวลานี้ขับตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้
รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้
ฤๅษีเหล่านั้นอาบน้ำทาตัวเรียบร้อย แต่งผมและหนวด ประดับพวงดอกไม้ นุ่งห่มผ้า
ขาว บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ เหมือนเธอกับอาจารย์ในเวลานี้หรือไม่”
เขากราบทูลว่า “ไม่เหมือนเลย ท่านพระโคดม”
“ฯลฯ ฤๅษีเหล่านั้นบริโภคข้าวสาลีที่เก็บกากแล้ว มีแกงและกับหลายอย่าง
เหมือนเธอกับอาจารย์ในเวลานี้หรือไม่”
“ไม่เหมือนเลย ท่านพระโคดม”
“ฯลฯ ฤๅษีเหล่านั้นบำเรออยู่ด้วยนางงามผู้มีรูปร่างอ่อนช้อย ตกแต่งด้วยผ้า
โพกศีรษะ เหมือนเธอกับอาจารย์ในเวลานี้หรือไม่”
“ไม่เหมือนเลย ท่านพระโคดม”
“ฯลฯ ฤๅษีเหล่านั้นใช้รถเทียมม้าหางตัด ใช้ปฏักด้ามยาวแทงสัตว์พาหนะห้อ
ไป เหมือนเธอกับอาจารย์ในเวลานี้หรือไม่”
“ไม่เหมือนเลย ท่านพระโคดม”
“ฯลฯ ฤๅษีเหล่านั้นใช้บุรุษขัดกระบี่ รักษาเชิงเทินแห่งนครมีคูล้อมรอบ ลงลิ่ม
เหมือนเธอกับอาจารย์ในเวลานี้หรือไม่”
“ไม่เหมือนเลย ท่านพระโคดม”
“ฯลฯ อัมพัฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า เธอกับอาจารย์ไม่ใช่ฤๅษี ไม่ใช่ผู้
ปฏิบัติเพื่อเป็นฤๅษี อัมพัฏฐะ ผู้มีความเคลือบแคลงสงสัยในเราก็จงถาม เราจัก
อธิบายให้ฟัง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
อัมพัฏมาณพกลับไปรายงานพราหมณ์โปกขรสาติ

ทรงแสดงลักษณะมหาบุรุษ ๒ ประการ

[๒๘๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหารทรงจงกรมอยู่ แม้
อัมพัฏฐมาณพก็ออกจากพระวิหารเดินจงกรมอยู่เหมือนกัน ขณะที่เขาเดินตามพระ
ผู้มีพระภาคอยู่ ได้สังเกตดูลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ในพระวรกายของพระ
ผู้มีพระภาค ได้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการโดยส่วนมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ
คือ พระคุยหฐานซึ่งเร้นอยู่ในฝัก กับพระชิวหาใหญ่ จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อ
สนิทใจ
[๒๘๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า ‘อัมพัฏฐมาณพนี้เห็น
ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการของเราโดยส่วนมาก เว้นอยู่ ๒ ประการคือ คุยหฐาน
ซึ่งเร้นอยู่ในฝัก กับชิวหาใหญ่ จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อสนิทใจ’ ทันใดนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้เขามองเห็นพระคุยหฐานซึ่งเร้นอยู่ในฝัก
และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้ง ๒ ข้างกลับไปมา สอดเข้าช่องพระ
นาสิกทั้ง ๒ ข้างกลับไปมาแผ่ปิดจนมิดมณฑลพระนลาฏ
อัมพัฏฐมาณพคิดว่า ‘พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒
ประการครบถ้วน ไม่ใช่ไม่ครบถ้วน’ จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระ
โคดม บัดนี้ ข้าพเจ้าขอลากลับ เพราะมีกิจมีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ขอเธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด อัมพัฏฐะ”
ทีนั้น อัมพัฏฐมาณพได้ขึ้นรถเทียมม้าจากไป

อัมพัฏฐมาณพกลับไปรายงานพราหมณ์โปกขรสาติ

[๒๘๙] สมัยนั้น พราหมณ์โปกขรสาติลุกออกมานั่งคอยอัมพัฏฐมาณพอยู่ ณ
อารามของตนพร้อมกับคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่ ฝ่ายอัมพัฏฐมาณพขับยานพาหนะ
ไปทางอารามของตนจนสุดทางที่ยานพาหนะจะเข้าไปได้ จึงลงเดินเข้าไปหา
พราหมณ์โปกขรสาติ กราบแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร
[๒๙๐] พราหมณ์โปกขรสาติถามอัมพัฏฐมาณพว่า “พ่ออัมพัฏฐะ เธอได้เห็น
ท่านพระโคดมพระองค์นั้นแล้วหรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
พราหมณ์โปกขรสาติเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค

เขาตอบว่า “ได้เห็นแล้ว ขอรับ”
“กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมที่ขจรไปเป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่นเลยหรือ
ท่านพระโคดมทรงเป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่นเลยหรือ”
“ขอรับ กิตติศัพท์ของท่านพระโคดมที่ขจรไปเป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่น
เลย ท่านพระโคดมทรงเป็นเช่นนั้นจริง ไม่เป็นอย่างอื่นเลย ทั้งยังทรงประกอบด้วย
ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการครบถ้วน ไม่ใช่ไม่ครบถ้วน”
“เธอได้สนทนากับพระสมณโคดมบ้างหรือไม่”
“ได้สนทนา ขอรับ”
พราหมณ์โปกขรสาติถามว่า “เธอได้สนทนากับพระสมณโคดมว่าอย่างไรบ้าง”
อัมพัฏฐมาณพจึงได้เล่าเรื่องเท่าที่ตนสนทนากับพระผู้มีพระภาคให้พราหมณ์
โปกขรสาติทราบทุกประการ
[๒๙๑] เมื่ออัมพัฏฐมาณพเล่าให้ฟังอย่างนี้ พราหมณ์โปกขรสาติกล่าวว่า
“โธ่เอ๋ย พ่อบัณฑิตผู้พหูสูตทรงไตรเพทของเรา หลังจากตายแล้วคนจะไปบังเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็เพราะคนผู้ประพฤติประโยชน์เช่นนี้ เธอพูดกระทบ
ท่านพระโคดมอย่างนี้ ๆ แต่กลับถูกท่านพระโคดมยกเอาพวกเราเป็นตัวอย่าง
เปรียบเทียบอย่างนี้ ๆ โธ่เอ๋ย พ่อบัณฑิตผู้พหูสูตทรงไตรเพทของเรา หลังจากตาย
แล้วคนจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็เพราะคนผู้ประพฤติประโยชน์
เช่นนี้” โกรธเคือง ไม่พอใจ จึงเตะอัมพัฏฐมาณพจนล้มกลิ้ง ทั้งอยากเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคในเวลานั้นทีเดียว

พราหมณ์โปกขรสาติเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค

[๒๙๒] พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวกับพราหมณ์โปกขรสาติว่า “วันนี้เกินเวลา
ที่จะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมเสียแล้ว รอพรุ่งนี้ค่อยไปเถิดท่านโปกขรสาติ”
ต่อมา พราหมณ์โปกขรสาติสั่งให้จัดเตรียมของขบฉันอันประณีตไว้ในนิเวศน์
ของตน แล้วขึ้นยานพาหนะเดินทางออกจากเมืองอุกกัฏฐะ เมื่อยังตามคบเพลิงอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
พราหมณ์โปกขรสาติเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ขับยานพาหนะตรงไปยังราวป่าอิจฉานังคลวัน เมื่อเข้าไปจนสุดทางยานพาหนะจึง
ลงเดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ สนทนากับพระผู้มีพระภาคพอคุ้นเคย
แล้ว จึงนั่งลง ณ ที่สมควร
[๒๙๓] พราหมณ์โปกขรสาตินั่งเรียบร้อยแล้วได้ทูลถามว่า “ท่านพระโคดม
อัมพัฏฐมาณพศิษย์ของข้าพเจ้าได้มาที่นี่หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เขามาที่นี่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “พระองค์ได้สนทนากับเขาบ้างหรือไม่”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เราได้สนทนากับเขา พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “พระองค์ได้สนทนากับเขาว่าอย่างไรบ้าง”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเล่าเรื่องเท่าที่พระองค์ทรงสนทนากับอัมพัฏฐมาณพให้
พราหมณ์โปกขรสาติทราบทุกประการ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พราหมณ์โปกขรสาติได้กราบทูลว่า “ท่าน
พระโคดม อัมพัฏฐมาณพเป็นคนโง่ โปรดยกโทษให้เขาเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ขอให้อัมพัฏฐมาณพจงมีความสุขเถิด พราหมณ์”
[๒๙๔] ครั้งนั้น พราหมณ์โปกขรสาติได้สังเกตดูลักษณะมหาบุรุษ ๓๒
ประการในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค ได้เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ
โดยส่วนมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ พระคุยหฐานซึ่งเร้นอยู่ในฝักกับพระชิวหาใหญ่
จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อสนิทใจ
[๒๙๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า ‘พราหมณ์โปกขรสาตินี้
เห็นลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการของเราโดยส่วนมาก เว้นอยู่ ๒ ประการ คือ
คุยหฐานซึ่งเร้นอยู่ในฝักกับชิวหาใหญ่ จึงยังเคลือบแคลงสงสัย ไม่เชื่อสนิทใจ’ ทันใด
นั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธาภิสังขารให้เขามองเห็นพระคุยหฐานซึ่งเร้นอยู่
ในฝัก และทรงแลบพระชิวหาสอดเข้าช่องพระกรรณทั้ง ๒ ข้างกลับไปมา สอดเข้า
ช่องพระนาสิกทั้ง ๒ ข้างกลับไปมาแผ่ปิดจนมิดมณฑลพระนลาฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
พราหมณ์โปกขรสาติประกาศตนเป็นอุบาสก

[๒๙๖] พราหมณ์โปกขรสาติคิดว่า ‘พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะ
มหาบุรุษ ๓๒ ประการครบถ้วน ไม่ใช่ไม่ครบถ้วน’ จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ขอท่านพระโคดมพร้อมกับภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพเจ้าในวันนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
[๒๙๗] ทีนั้น พราหมณ์โปกขรสาติทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับ
นิมนต์แล้วจึงกราบทูลภัตกาลว่า “ท่านพระโคดม ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไป
ยังนิเวศน์ของพราหมณ์โปกขรสาติพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้
พราหมณ์โปกขรสาติได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนพระผู้มีพระภาคให้ทรง
อิ่มหนำด้วยตนเอง และพวกมาณพก็ได้ประเคนภิกษุสงฆ์เช่นกัน เมื่อพระผู้มีพระ
ภาคเสวยเสร็จทรงวางพระหัตถ์ พราหมณ์โปกขรสาติจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใด
ที่หนึ่ง ซึ่งต่ำกว่า
[๒๙๘] พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพีกถา คือ ทรงประกาศเรื่องทาน เรื่องศีล
เรื่องสวรรค์ เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม และอานิสงส์ใน
การออกบวช แก่พราหมณ์โปกขรสาติซึ่งนั่งอยู่ ณ ที่สมควร เมื่อทรงทราบว่า
พราหมณ์โปกขรสาติมีจิตควรบรรลุธรรม สงบ อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบาน
ผ่องใส จึงทรงประกาศสามุกกังสิกเทศนา๑ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุ
อันไร้ธุลีคือกิเลส ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่พราหมณ์โปกขรสาติบนที่นั่งนั่นเองว่า
‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนดับไปเป็นธรรมดา’
เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี

พราหมณ์โปกขรสาติประกาศตนเป็นอุบาสก

[๒๙๙] ลำดับนั้น พราหมณ์โปกขรสาติเห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลง
สู่ธรรม หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกใน

เชิงอรรถ :
๑ พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่มีผู้ทูลอาราธนา หรือทูลถาม (ที.สี.อ. ๒๙๘/
๒๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๓.อัมพัฏฐสูตร]
พราหมณ์โปกขรสาติประกาศตนเป็นอุบาสก

หลัก คำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม
ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระ
โคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการ
ต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้พร้อมด้วย
บุตรภรรยา บริวาร และมิตรสหาย ขอถึงท่านพระโคดมพร้อมทั้งพระธรรมและ
พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึง
สรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต ขอท่านพระโคดมจงเสด็จเข้าไปสู่โปกขร-
สาติตระกูล เหมือนดังที่เสด็จเข้าไปสู่ตระกูลอุบาสกอื่น ๆ ในเมืองอุกกัฏฐะ เหล่า
มาณพหรือมาณวิกาในโปกขรสาติตระกูลจักไหว้ ลุกรับ ถวายอาสนะและน้ำ จักทำ
จิตให้เลื่อมใส ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเขาตลอดกาลนาน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ท่านกล่าวดีแล้ว”

อัมพัฏฐสูตรที่ ๓ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา

๔. โสณทัณฑสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโสณทัณฑะ

เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา

[๓๐๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นอังคะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่
ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงกรุงจัมปา ประทับอยู่ใกล้สระโบกขรณีคัคครา
สมัยนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะปกครองกรุงจัมปา ซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยง
มากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่พระ
เจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย (ส่วนพิเศษ)
[๓๐๑] พราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปาได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณโคดม
เป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นอังคะ
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงกรุงจัมปาโดยลำดับ
ประทับอยู่ใกล้สระโบกขรณีคัคคราในกรุงจัมปา ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อัน
งามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วย
พระองค์เองแล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มี
ความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้ง
อรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้
เป็นความดีอย่างแท้จริง”
ต่อมา พราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา ออกจากกรุงจัมปาเดินรวมกันเป็น
หมู่ไปยังสระโบกขรณีคัคครา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์โสณทัณฑะ

[๓๐๒] สมัยนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะพักผ่อนกลางวันอยู่ ณ ปราสาทชั้น
บน มองเห็นพราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปาซึ่งล้วนออกจากกรุงจัมปาเดินรวม
กันเป็นหมู่ไปยังสระโบกขรณีคัคครา จึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาถามว่า “พ่อ
อำมาตย์ พราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา ออกจากกรุงจัมปาเดินรวมกันเป็นหมู่
ไปยังสระโบกขรณีคัคคราทำไมกัน”
อำมาตย์ที่ปรึกษาตอบว่า “ท่านขอรับ พระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จ
ออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นอังคะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่
ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงกรุงจัมปาโดยลำดับ ประทับอยู่ใกล้สระโบกขรณี
คัคคราในกรุงจัมปา ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ
เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้
อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็น
พระผู้มีพระภาค’ คนเหล่านั้นพากันไปเข้าเฝ้าท่านพระโคดมนั้น”
พราหมณ์โสณทัณฑะกล่าวว่า “พ่ออำมาตย์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงไปหาพวก
พราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา ครั้นแล้วจงบอกอย่างนี้ว่า ท่านขอรับ พราหมณ์
โสณทัณฑะพูดว่า ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน พราหมณ์โสณทัณฑะจะไป
เข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย”
อำมาตย์ที่ปรึกษารับคำของพราหมณ์โสณทัณฑะแล้ว เข้าไปหาพวกพราหมณ์
และคหบดีชาวกรุงจัมปา ครั้นแล้วก็บอกว่า “ท่านขอรับ พราหมณ์โสณทัณฑะ
พูดว่า ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน พราหมณ์โสณทัณฑะจะไปเข้าเฝ้าพระ
สมณโคดมด้วย”

ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์โสณทัณฑะ

[๓๐๓] เวลานั้น พราหมณ์ต่างถิ่น ๕๐๐ คน มีธุระเดินทางมาพักอยู่ใน
กรุงจัมปา พอได้ฟังว่า ‘พราหมณ์โสณทัณฑะจักไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย’ จึงพา
กันเข้าไปหาพราหมณ์โสณทัณฑะแล้วถามว่า “ท่านโสณทัณฑะจักไปเข้าเฝ้า
พระสมณโคดมจริงหรือ”
พราหมณ์โสณทัณฑะตอบว่า “ใช่ เราคิดจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์โสณทัณฑะ

พวกพราหมณ์ห้ามว่า “ท่านโสณทัณฑะอย่าได้ไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
เลย ท่านโสณทัณฑะไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม ถ้าไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
เกียรติยศของท่านโสณทัณฑะจะเสื่อมเสีย เกียรติยศของพระสมณโคดมจะเจริญ
รุ่งเรืองยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ท่านโสณทัณฑะจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระ
สมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่านโสณทัณฑะ เพราะว่า ท่านโสณทัณฑะ
เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่ว
บรรพบุรุษ๑ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุนี้ ท่าน
โสณทัณฑะจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จ
มาหาท่านโสณทัณฑะ
อนึ่ง ท่านโสณทัณฑะเป็นคนมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ฯลฯ เป็นผู้คง
แก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์
อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และ
ลักษณะมหาบุรุษ ฯลฯ เป็นผู้มีรูปงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจ
พรหม มีกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก ฯลฯ เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ
ประกอบด้วยศีลที่เจริญ ฯลฯ เป็นผู้มีวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำ
อ่อนหวานอย่างชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ เป็นอาจารย์และปาจารย์ของ
หมู่ชน สอนมนตร์แก่มาณพ ๓๐๐ คน เหล่ามาณพผู้ต้องการมนตร์จำนวนมาก
จากทิศทางต่างชนบทพากันมาเรียนมนตร์ในสำนักของท่านโสณทัณฑะ ฯลฯ ท่าน
โสณทัณฑะเป็นคนแก่คนเฒ่าเป็นผู้ใหญ่ มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัย
มามาก ส่วนพระสมณโคดมเป็นคนหนุ่ม บวชแต่ยังหนุ่ม ฯลฯ ท่านโสณทัณฑะ
เป็นผู้ที่พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธและพราหมณ์โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา นอบน้อม ฯลฯ
ท่านโสณทัณฑะปกครองกรุงจัมปา ซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยงมากมาย มี
พืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่พระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพมคธพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย ด้วยเหตุนี้ ท่านโสณทัณฑะ
จึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่าน
โสณทัณฑะ”

เชิงอรรถ :
๑ วิธีนับลำดับบรรพบุรุษแบบหนึ่ง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของวงศ์สกุล โดยนับจากปัจจุบันขึ้นไป ๗ ชั้น
(ที.สี.อ. ๓๐๓/๒๕๒-๒๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
พราหมณ์โสณทัณฑะแสดงพระพุทธคุณ

พราหมณ์โสณทัณฑะแสดงพระพุทธคุณ

[๓๐๔] เมื่อพวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ พราหมณ์โสณทัณฑะได้กล่าวว่า
“ท่านทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น พวกท่านโปรดฟังเราบ้าง เรานี่แหละควรไปเข้าเฝ้าท่าน
พระโคดม ท่านพระโคดมไม่ควรเสด็จมาหาเรา ได้ทราบว่า พระสมณโคดมทรงเป็น
ผู้มีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดี
ตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุ
นี้ ท่านพระโคดมจึงไม่ควรเสด็จมาหาเรา เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าท่านพระโคดม
ท่านทั้งหลาย ข่าวว่า พระสมณโคดมทรงละพระประยูรญาติผนวชแล้ว ฯลฯ
ทรงสละทรัพย์สินเงินทองมากมายทั้งที่ฝังอยู่ในพื้นดินและในอากาศผนวชแล้ว ฯลฯ
พระสมณโคดมกำลังหนุ่มแน่นมีพระเกศาดำสนิท ทรงพระเจริญอยู่ในปฐมวัยเสด็จ
ออกจากพระราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ เมื่อพระชนกพระชนนีไม่ทรง
ปรารถนา(จะให้เสด็จออกผนวช) มีน้ำพระเนตรชุ่มพระพักตร์ทรงกันแสงอยู่ พระ
สมณโคดมทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุแล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์เสด็จออกจาก
พระราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ พระสมณโคดมมีพระรูปงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส
มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็น
ยากนัก ฯลฯ พระสมณโคดมทรงมีอริยศีล มีศีลที่เป็นกุศล ประกอบด้วยศีลที่เป็น
กุศล ฯลฯ มีพระวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน อย่างชาว
เมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ ทรงเป็นอาจารย์และปาจารย์ของหมู่ชนมากมาย ฯลฯ
ทรงสิ้นกามราคะไม่ประดับตกแต่ง ฯลฯ ทรงเป็นกรรมวาที กิริยวาที ไม่ทรง
มุ่งร้ายต่อพราหมณ์ ฯลฯ ผนวชแล้วจากตระกูลสูงคือขัตติยตระกูลอันบริสุทธิ์ ฯลฯ
ผนวชแล้วจากตระกูลมั่งคั่งมีทรัพย์มากมีโภคะมาก ฯลฯ ประชาชนต่างบ้านต่าง
เมืองพากันมาทูลถามปัญหาพระสมณโคดม ฯลฯ ทวยเทพหลายพันองค์ถวายชีวิต
ขอถึงพระสมณโคดมเป็นที่พึ่ง ฯลฯ พระสมณโคดมทรงมีพระกิตติศัพท์อันงามขจร
ไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้
ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็น
สารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ฯลฯ พระสมณโคดมทรงประกอบด้วย
ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ฯลฯ ทรงมีปกติตรัสเชื้อเชิญ ตรัสผูกมิตรไมตรี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
พราหมณ์โสณทัณฑะแสดงพระพุทธคุณ

อ่อนหวาน ไม่ทรงสยิ้วพระพักตร์ ทรงเบิกบาน มักตรัสทักทายก่อน ฯลฯ ทรงเป็น
ผู้ที่บริษัท ๔๑ สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ เทวดาและมนุษย์
มากมายเลื่อมใสพระสมณโคดม ฯลฯ พวกอมนุษย์ย่อมไม่เบียดเบียนมนุษย์ในหมู่
บ้านหรือนิคมที่พระสมณโคดมทรงพำนักอยู่ ฯลฯ พระสมณโคดมทรงเป็นหัวหน้า
ทรงเป็นคณาจารย์ ได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าเจ้าลัทธิอื่น ๆ ไม่
ทรงรุ่งเรืองพระยศเหมือนพวกสมณพราหมณ์ที่รุ่งเรืองยศ ที่แท้ทรงรุ่งเรืองพระยศ
เพราะทรงมีวิชชาและจรณะอันยอดเยี่ยม ฯลฯ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ
พร้อมทั้งพระราชโอรส พระมเหสี ข้าราชบริพารและหมู่อำมาตย์ต่างมอบชีวิตถึงพระ
สมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ พระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งพระราชโอรส พระมเหสี
ข้าราชบริพารและหมู่อำมาตย์ต่างมอบชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ
พราหมณ์โปกขรสาติ พร้อมทั้งบุตร ภรรยา ข้าราชการ และหมู่อำมาตย์ต่างมอบ
ชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ พระสมณโคดมทรงเป็นผู้ที่พระเจ้าพิมพิสาร
จอมทัพมคธทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ ทรงเป็นผู้ที่พระเจ้า
ปเสนทิโกศลทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ ทรงเป็นผู้ที่พราหมณ์
โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ
พระสมณโคดมเสด็จถึงกรุงจัมปาโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ริมสระโบกขรณี-
คัคครา ในกรุงจัมปา ท่านทั้งหลาย สมณพราหมณ์ที่มาสู่เขตหมู่บ้านของเราจัดว่า
เป็นแขกของเรา ซึ่งพวกเราควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา และนอบน้อม พระ
สมณโคดมเสด็จมาถึงกรุงจัมปาโดยลำดับ ประทับอยู่ ณ ริมสระโบกขรณีคัคครา
ในกรุงจัมปา พระสมณโคดมจึงจัดเป็นแขกของเราที่พวกเราควรสักการะ เคารพ
นับถือ บูชา และนอบน้อม ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ พระสมณโคดมจึงไม่ควรเสด็จมาหา
เรา เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม เราทราบพระคุณของพระสมณโคดม
เพียงเท่านี้ แต่พระสมณโคดมไม่ใช่ว่าจะมีพระคุณเพียงเท่านี้ แท้จริงแล้ว พระ
สมณโคดมมีพระคุณนับประมาณมิได้”

เชิงอรรถ :
๑ ในที่นี้หมายถึง ผู้เข้าเฝ้าโดยทั่วไป มีอยู่ ๔ จำพวก คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัทและ
สมณบริษัท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
ความคำนึงของพราหมณ์โสณทัณฑะ

[๓๐๕] เมื่อพราหมณ์โสณทัณฑะกล่าวอย่างนี้ พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวว่า
“ท่านโสณทัณฑะกล่าวยกย่องพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ ถึงหากท่านพระโคดม
พระองค์นั้นจะประทับอยู่ไกลจากที่นี่ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ ก็สมควรอยู่ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธา
จะไปเข้าเฝ้า แม้จะต้องขนเสบียงไปก็ควร”
พราหมณ์โสณทัณฑะกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น พวกเราทั้งหมดจักไปเข้าเฝ้าพระ
สมณโคดมด้วยกัน”

ความคิดคำนึงของพราหมณ์โสณทัณฑะ

[๓๐๖] ต่อมา พราหมณ์โสณทัณฑะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่เข้าไป
ถึงสระโบกขรณีคัคครา เมื่อผ่านราวป่าไป เขาเกิดความคิดคำนึงว่า ‘ถ้าเราจะถาม
ปัญหากับพระสมณโคดม หากพระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้
ท่านไม่ควรถามอย่างนี้ ที่ถูก ควรจะถามอย่างนี้ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุนั้น
ว่า พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ไม่อาจแยกแยะตั้งคำถามกับพระสมณโคดมได้ ผู้
ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศเราจึงมี
โภคสมบัติ ถ้าพระสมณโคดมจะถามปัญหากับเรา และเราตอบไม่ถูกพระทัยของ
พระสมณโคดม หากพระสมณโคดมจะตรัสอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ท่านไม่
ควรตอบอย่างนี้ ที่ถูก ควรตอบอย่างนี้ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุนั้นว่า
พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ไม่อาจตอบปัญหาให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้
ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศเราจึงมี
โภคสมบัติ อนึ่ง เราเข้ามาใกล้ถึงเพียงนี้แล้ว ยังไม่ทันได้เฝ้าเลย แต่คิดจะกลับ
บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุนั้นว่า พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ถือตัวมาก
ขลาดกลัว ไม่อาจเข้าเฝ้าพระสมณโคดมได้ เข้ามาใกล้ถึงเพียงนี้แล้ว ยังไม่ทันได้เฝ้า
เลย ไฉนจึงกลับเสียเล่า ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อม
โภคสมบัติ เพราะมียศ เราจึงมีโภคสมบัติ’
[๓๐๗] ลำดับนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนากับพระผู้มีพระภาค ครั้นสนทนาพอคุ้นเคยกันดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร] ข้อบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์

ฝ่ายพราหมณ์และคหบดีชาวกรุงจัมปา บางพวกกราบพระผู้มีพระภาค บางพวก
สนทนา บางพวกไหว้ไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกประกาศชื่อและตระกูล บาง
พวกนิ่งเฉยแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[๓๐๘] ขณะนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะนั่งวิตกถึงแต่เรื่องนี้ว่า ‘ถ้าเราจะถาม
ปัญหากับพระสมณโคดม หากพระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อ
นี้ท่านไม่ควรถามอย่างนี้ ที่ถูก ควรจะถามอย่างนี้ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุ
นั้นว่า พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ไม่อาจแยกแยะตั้งคำถามกับพระสมณโคดมได้
ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศเราจึงมี
โภคสมบัติ ถ้าพระสมณโคดมจะถามปัญหากับเรา และเราตอบไม่ถูกพระทัยของ
พระสมณโคดม หากพระสมณโคดมจะตรัสอย่างนี้ว่า พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ท่าน
ไม่ควรตอบอย่างนี้ ที่ถูก ควรตอบอย่างนี้ บริษัทก็จะดูหมิ่นเราเพราะเหตุนั้นว่า
พราหมณ์โสณทัณฑะโง่เขลา ไม่อาจตอบปัญหาให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้
ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศก็จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศเราจึงมี
โภคสมบัติ โอหนอ ขอให้พระสมณโคดมตรัสถามปัญหากับเราเรื่องไตรเพทอันเป็น
ความรู้ของอาจารย์เรา เราจะตอบให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้’

ข้อบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์

[๓๐๙] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงของเขาด้วยพระทัย
ทรงพระดำริว่า ‘พราหมณ์โสณทัณฑะนี้กำลังอึดอัดใจ เราควรถามปัญหากับเขาใน
เรื่องไตรเพทอันเป็นความรู้ของอาจารย์เขา’ จึงได้ตรัสถามเขาว่า “พราหมณ์ พวก
พราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเท่าไรว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะพูด
ว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
[๓๑๐] พราหมณ์โสณทัณฑะคิดว่า ‘เราปรารถนา มุ่งหวัง ตั้งใจ ต้องการว่า
โอหนอ ขอให้พระสมณโคดมตรัสถามปัญหากับเราในเรื่องไตรเพทอันเป็นความ
รู้ของอาจารย์เรา เราจะตอบให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้ เผอิญที่พระ
สมณโคดมตรัสถามปัญหากับเราในเรื่องไตรเพท อันเป็นความรู้ของอาจารย์เรา เรา
จะตอบให้ถูกพระทัยของพระสมณโคดมได้แน่’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
คุณสมบัติของผู้เป็นพราหมณ์

คุณสมบัติของผู้เป็นพราหมณ์

[๓๑๑] ทันใดนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะยืดกายขึ้นเหลียวดูบริษัทแล้ว
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วย
คุณสมบัติ ๕ อย่างว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็
พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย คุณสมบัติ ๕ อย่าง อะไรบ้าง คือ
๑. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิ
บริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้
เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
๒. เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์
เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและ
ไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ๑
๓. เป็นผู้มีรูปงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม
มีกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก
๔. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
๕. เป็นบัณฑิตมีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้
รับการบูชา
พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๕ อย่างนี้แลว่าเป็นพราหมณ์
และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บรรดาคุณสมบัติ ๕ อย่างนี้ (หาก)เว้นเสีย
๑ อย่าง พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเพียง ๔ อย่างว่าเป็น
พราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้ง
ไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
พราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลว่า “ได้ ท่านพระโคดม บรรดาคุณสมบัติ ๕
อย่าง เว้นผิวพรรณเสียอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะผิวพรรณจักทำอะไรได้ บุคคลชื่อว่าเป็น
พราหมณ์เพราะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถ ๒ และ ๓ ในหน้า ๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
คุณสมบัติของผู้เป็นพราหมณ์

๑. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิ
บริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้
เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
๒. เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์
เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและ
ไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ
๓. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
๔. เป็นบัณฑิตมีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้
รับการบูชา
พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๔ อย่างนี้แลว่าเป็นพราหมณ์
และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
[๓๑๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บรรดาคุณสมบัติ ๔ อย่างนี้
(หาก)เว้นเสีย ๑ อย่าง พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเพียง ๓
อย่างว่าเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดย
ชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
พราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลว่า “ได้ ท่านพระโคดม บรรดาคุณสมบัติ ๔
อย่าง เว้นมนตร์เสียอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะมนตร์จักทำอะไรได้ บุคคลชื่อว่าเป็น
พราหมณ์เพราะ
๑. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิ
บริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้
เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
๒. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
๓. เป็นบัณฑิตมีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้
รับการบูชา
พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๓ อย่างนี้แลว่าเป็นพราหมณ์
และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
คุณสมบัติของผู้เป็นพราหมณ์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บรรดาคุณสมบัติ ๓ อย่างนี้ (หาก)
เว้นเสีย ๑ อย่าง พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเพียง ๒ อย่างว่า
เป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ
ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย ”
พราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลว่า “ได้ ท่านพระโคดม บรรดาคุณสมบัติ ๓
อย่าง เว้นชาติกำเนิดเสียอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะชาติกำเนิดจักทำอะไรได้ บุคคลชื่อว่า
เป็นพราหมณ์เพราะ
๑. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
๒. เป็นบัณฑิตมีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้
รับการบูชา
พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๒ อย่างนี้แลว่าเป็นพราหมณ์
และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”
[๓๑๓] เมื่อพราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลอย่างนี้ พวกพราหมณ์เหล่านั้น
กล่าวว่า “ท่านโสณทัณฑะอย่าพูดอย่างนั้นเลย ท่านโสณทัณฑะอย่าพูดอย่างนั้น
เลย ท่านโสณทัณฑะลบหลู่ผิวพรรณ ลบหลู่มนตร์ ลบหลู่ชาติกำเนิด พูดคล้อย
ตามวาทะของพระสมณโคดมถ่ายเดียวเท่านั้น”
[๓๑๔] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าพวกท่านคิดว่า ‘พราหมณ์
โสณทัณฑะศึกษามาน้อย พูดไม่เพราะ โง่เขลา และไม่สามารถเจรจาโต้ตอบกับพระ
สมณโคดมได้’ พราหมณ์โสณทัณฑะจงหยุด พวกท่านจงเจรจาโต้ตอบกับเราแทน
แต่หากพวกท่านคิดว่า ‘พราหมณ์โสณทัณฑะศึกษามามาก พูดเพราะ ฉลาด และ
สามารถเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมได้’ พวกท่านก็จงหยุด พราหมณ์
โสณทัณฑะจงเจรจาโต้ตอบกับเรา (ต่อไป)”
[๓๑๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พราหมณ์โสณทัณฑะได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ขอท่านพระโคดมทรงหยุดทรงนิ่งเถิด ข้าพระองค์เองจักตอบ
พวกเขาโดยชอบแก่เหตุ” แล้วกล่าวกะพวกพราหมณ์เหล่านั้นว่า “ท่านผู้เจริญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร] เรื่องศีลและปัญญา

ทั้งหลายอย่าได้พูดอย่าได้กล่าวอย่างนี้เลยว่า ‘ท่านโสณทัณฑะลบหลู่ผิวพรรณ
ลบหลู่มนตร์ ลบหลู่ชาติกำเนิด พูดคล้อยตามวาทะของพระสมณโคดมถ่ายเดียว
เท่านั้น’ แท้จริง เราไม่ได้ลบหลู่ผิวพรรณ มนตร์ หรือชาติกำเนิดเลย”
[๓๑๖] เวลานั้น อังคกมาณพผู้เป็นหลานของพราหมณ์โสณทัณฑะนั่งอยู่ใน
บริษัทนั้นด้วย ทีนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะได้กล่าวกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า “ท่าน
ผู้เจริญทั้งหลายเห็นอังคกมาณพหลานของเรานี้หรือไม่” “เห็น ขอรับ” “อังคกมาณพ
เป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม มีกายดุจพรหม
โอกาสที่จะได้เห็นยากนัก ในที่ประชุมนี้นอกจากพระสมณโคดมแล้วไม่มีใครมี
ผิวพรรณเสมอกับอังคกมาณพเลย อังคกมาณพเป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้
จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์
เข้าใจตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ เราเป็นผู้
บอกมนตร์แก่เขา อังคกมาณพเป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือ
ปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึง
ชาติตระกูล เรารู้จักบิดามารดาของเขา แต่อังคกมาณพยังฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่
เจ้าของเขาไม่ให้ ล่วงละเมิดภรรยาของผู้อื่น กล่าวเท็จ ดื่มน้ำเมา ในกรณีอย่างนี้
ผิวพรรณ มนตร์ และชาติกำเนิดจักทำอะไรได้เล่า เพราะบุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์
เพราะเป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ และเป็นบัณฑิต มีปัญญา
ลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์ผู้รับการบูชา พวกพราหมณ์เรียกผู้
ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๒ อย่างนี้แลว่าเป็นพราหมณ์ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เรา
เป็นพราหมณ์’ ก็พูดได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”

เรื่องศีลและปัญญา

[๓๑๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ บรรดาคุณสมบัติ ๒ อย่างนี้
(หาก)เว้นเสีย ๑ อย่าง พวกพราหมณ์จะเรียกผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติเพียง
อย่างเดียวว่าเป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ และเมื่อเขาจะพูดว่า ‘เราเป็นพราหมณ์’ ก็พูด
ได้โดยชอบ ทั้งไม่เป็นผู้พูดเท็จด้วย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร] เรื่องศีลและปัญญา

พราหมณ์โสณทัณฑะกราบทูลว่า “ข้อนี้ไม่ได้ ท่านพระโคดม เพราะปัญญา
ต้องมีศีลช่วยชำระให้บริสุทธิ์ ศีลก็ต้องมีปัญญาช่วยชำระให้บริสุทธิ์ ปัญญาย่อมมีใน
ที่ที่มีศีล ศีลย่อมมีในที่ที่มีปัญญา ปัญญาย่อมมีแก่ผู้มีศีล ศีลย่อมมีแก่ผู้มีปัญญา
นักปราชญ์ยกย่องศีลและปัญญาว่า เป็นสิ่งล้ำเลิศในโลก เปรียบเหมือนบุคคลใช้มือ
ล้างมือ หรือใช้เท้าล้างเท้า ฉันใด ปัญญาต้องมีศีลช่วยชำระให้บริสุทธิ์ ศีลก็ต้องมี
ปัญญาช่วยชำระให้บริสุทธิ์ ปัญญาย่อมมีในที่ที่มีศีล ศีลย่อมมีในที่ที่มีปัญญา
ปัญญาย่อมมีแก่ผู้มีศีล ศีลย่อมมีแก่ผู้มีปัญญา นักปราชญ์ยกย่องศีลและปัญญาว่า
เป็นสิ่งล้ำเลิศในโลก ฉันนั้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นแล พราหมณ์ อย่างนั้นแล พราหมณ์
ปัญญาต้องมีศีลช่วยชำระให้บริสุทธิ์ ศีลก็ต้องมีปัญญาช่วยชำระให้บริสุทธิ์ ปัญญา
ย่อมมีในที่ที่มีศีล ศีลย่อมมีในที่ที่มีปัญญา ปัญญาย่อมมีแก่ผู้มีศีล ศีลย่อมมีแก่ผู้มี
ปัญญา นักปราชญ์ยกย่องศีลและปัญญาว่า เป็นสิ่งล้ำเลิศในโลก เปรียบเหมือน
บุคคลใช้มือล้างมือ หรือใช้เท้าล้างเท้า ฉันใด ปัญญาต้องมีศีลช่วยชำระให้บริสุทธิ์
ศีลก็ต้องมีปัญญาช่วยชำระให้บริสุทธิ์ ปัญญาย่อมมีในที่ที่มีศีล ศีลย่อมมีในที่ที่มี
ปัญญา ปัญญาย่อมมีแก่ผู้มีศีล ศีลย่อมมีแก่ผู้มีปัญญา นักปราชญ์ยกย่องศีลและ
ปัญญาว่า เป็นสิ่งล้ำเลิศในโลก ฉันนั้น”
[๓๑๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “พราหมณ์ ศีลนั้นเป็นอย่างไร
ปัญญานั้นเป็นอย่างไร”
พราหมณ์โสณทัณฑะทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม ในเรื่องนี้พวกข้าพระองค์
มีความรู้เพียงเท่านี้ ขอประทานวโรกาส ขอท่านพระโคดมโปรดขยายความให้ชัดเจน
ด้วย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจักบอก”
เขาทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระ
อรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
พราหมณ์โสณทัณฑะประกาศตนเป็นอุบาสก

ใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่
บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ ฯลฯ น้อมจิตไปเพื่อ
ญาณทัสสนะ ฯลฯ นี้เป็นปัญญาของภิกษุนั้น ฯลฯ รู้ชัดว่า‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์ แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
นี้เป็นปัญญาของภิกษุนั้น พราหมณ์ ปัญญานั้นเป็นอย่างนี้แล๑”

พราหมณ์โสณทัณฑะประกาศตนเป็นอุบาสก

[๓๑๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พราหมณ์โสณทัณฑะได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระ
โคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้
ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่าน
พระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจน
ตลอดชีวิต ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์
ในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
[๓๒๐] ทีนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับ
นิมนต์แล้ว จึงได้ลุกจากอาสนะ กราบพระผู้มีพระภาคแล้วกระทำประทักษิณจากไป
ครั้นผ่านคืนนั้นไป พราหมณ์โสณทัณฑะสั่งให้จัดของขบฉันอย่างประณีตไว้
ในนิเวศน์ของตน แล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลว่า “ท่านพระโคดม ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว” ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของพราหมณ์โสณทัณฑะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ประทับนั่ง
บนอาสนะที่ปูไว้ พราหมณ์โสณทัณฑะได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้อิ่มหนำด้วยตนเอง

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๐-๒๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๔.โสณทัณฑสูตร]
พราหมณ์โสณทัณฑะประกาศตนเป็นอุบาสก

[๓๒๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จทรงวางพระหัตถ์แล้ว พราหมณ์
โสณทัณฑะจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า แล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่
ท่านพระโคดม ถ้าข้าพระองค์อยู่ในท่ามกลางบริษัทจะลุกจากที่นั่งไปกราบท่านพระ
โคดม ก็จะถูกบริษัทดูหมิ่นเพราะเหตุนั้นได้ ผู้ถูกบริษัทดูหมิ่นจะเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศ
จะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศข้าพระองค์จึงมีโภคสมบัติ ถ้าข้าพระองค์อยู่ใน
ท่ามกลางบริษัทจะประนมมือ ขอท่านพระโคดมทรงทราบว่านั่นแทนการลุกจาก
ที่นั่ง(ไปต้อนรับ) ถ้าข้าพระองค์อยู่ในท่ามกลางบริษัทจะแก้ผ้าโพกศีรษะออก ขอ
ท่านพระโคดมทรงทราบว่านั่นแทนการกราบด้วยเศียรเกล้า ถ้าข้าพระองค์อยู่ใน
ยานพาหนะจะลงไปกราบท่านพระโคดม บริษัทก็จะดูหมิ่นเพราะเหตุนั้นได้ ผู้ถูก
บริษัทดูหมิ่นจะเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศจะเสื่อมโภคสมบัติ เพราะมียศข้าพระองค์จึงมี
โภคสมบัติ ถ้าข้าพระองค์อยู่ในยานพาหนะจะยกปฏักขึ้น ขอท่านพระโคดมทรง
ทราบว่านั่นแทนการลงจากยานพาหนะ(ไปต้อนรับ) ถ้าข้าพระองค์อยู่ในยานพาหนะ
จะลดร่มลง ขอท่านพระโคดมทรงทราบว่านั่นแทนการกราบด้วยเศียรเกล้า”
[๓๒๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้พราหมณ์โสณทัณฑะเห็น
ชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้
สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จจากไป

โสณทัณฑสูตรที่ ๔ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต

๕. กูฏทันตสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อกูฏทันตะ

เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต

[๓๒๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นมคธพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่
ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ชาวมคธชื่อขาณุมัต ประทับอยู่ใน
สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต สมัยนั้น พราหมณ์กูฏทันตะปกครองหมู่บ้าน
ขาณุมัต ซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดม
สมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธพระราชทานปูนบำเหน็จ
ให้เป็นพรหมไทย (ส่วนพิเศษ)
ในเวลานั้น พราหมณ์กูฏทันตะกำลังเตรียมพิธีบูชามหายัญ โคเพศผู้ ลูกโค
เพศผู้ ลูกโคเพศเมีย แพะ และแกะอย่างละ ๗๐๐ ตัว ถูกนำเข้าไปผูกที่หลักเพื่อ
ฆ่าบูชายัญ
[๓๒๔] พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัตได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณ-
โคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นมคธ
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ
ประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อัน
งามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลกและหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เอง
แล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามใน
ท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและ
พยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความ
ดีอย่างแท้จริง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
เรื่องพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต

[๓๒๕] ต่อมา พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต ออกจากหมู่บ้าน
ขาณุมัตเดินรวมกันเป็นหมู่ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา
[๓๒๖] ขณะนั้น พราหมณ์กูฏทันตะพักผ่อนกลางวันอยู่ ณ ปราสาทชั้นบน
มองเห็นพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัตออกจากหมู่บ้านขาณุมัต เดินรวมกัน
เป็นหมู่ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา จึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาถามว่า “พ่ออำมาตย์
พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต ออกจากหมู่บ้านขาณุมัต เดินรวมกันเป็นหมู่
ไปยังสวนอัมพลัฏฐิกาทำไมกัน”
[๓๒๗] อำมาตย์ที่ปรึกษาตอบว่า “ท่านขอรับ พระสมณโคดมเป็นศากยบุตร
เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นมคธพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ ประทับอยู่ในสวน
อัมพลัฏฐิกาใกล้หมู่บ้านขาณุมัต ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่าง
นี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระ
องค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถี
ฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ คนเหล่านั้นพากันไปเข้าเฝ้าท่านพระโคดมนั้น”
[๓๒๘] ลำดับนั้น พราหมณ์กูฏทันตะคิดว่า ‘เราได้ยินมาว่า พระสมณโคดม
ทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ ส่วนเราไม่รู้เลย แต่ปรารถนา
จะบูชามหายัญ ทางที่ดี เราควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมแล้วทูลถามยัญสมบัติ ๓
ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖’
[๓๒๙] พราหมณ์กูฏทันตะจึงเรียกอำมาตย์ที่ปรึกษามาสั่งว่า “พ่ออำมาตย์
ถ้าอย่างนั้นท่านจงไปหาพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านขาณุมัต ครั้นแล้วจงบอกอย่าง
นี้ว่า ท่านขอรับ พราหมณ์กูฏทันตะพูดว่า ขอท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน
พราหมณ์กูฏทันตะจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย”
อำมาตย์ที่ปรึกษารับคำของพราหมณ์กูฏทันตะแล้วเข้าไปหาพราหมณ์และ
คหบดีชาวบ้านขาณุมัต ครั้นแล้วก็บอกว่า “ท่านขอรับ พราหมณ์กูฏทันตะพูดว่า ขอ
ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงรอก่อน พราหมณ์กูฏทันตะจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์กูฏทันตะ

ความเป็นผู้ดีของพราหมณ์กูฏทันตะ

[๓๓๐] เวลานั้น พราหมณ์หลายร้อยคนพักอยู่ในหมู่บ้านขาณุมัต เพราะตั้ง
ใจจะบริโภคมหายัญของพราหมณ์กูฏทันตะ พอได้ฟังว่า ‘พราหมณ์กูฏทันตะจักไป
เข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วย’ จึงพากันไปหาพราหมณ์กูฏทันตะ
[๓๓๑] ครั้นเข้าไปหาแล้วถามว่า “ท่านกูฏทันตะจักไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
จริงหรือ”
พราหมณ์กูฏทันตะตอบว่า “ใช่ เราคิดจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม”
พวกพราหมณ์ห้ามว่า “ท่านกูฏทันตะอย่าได้ไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
เลย ท่านกูฏทันตะไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม ถ้าไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม
เกียรติยศของท่านกูฏทันตะจะเสื่อมเสีย เกียรติยศของพระสมณโคดมจะเจริญ
รุ่งเรืองยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ท่านกูฏทันตะจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระ
สมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่านกูฏทันตะ เพราะว่า ท่านกูฏทันตะเป็นผู้มี
ชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ
ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุนี้ ท่านกูฏทันตะจึง
ไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะเสด็จมาหาท่าน
กูฏทันตะ
อนึ่ง ท่านกูฏทันตะเป็นคนมั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ฯลฯ เป็นผู้คงแก่
เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์
และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะ
มหาบุรุษ ฯลฯ เป็นผู้มีรูปงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม
มีกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก ฯลฯ เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ
ประกอบด้วยศีลที่เจริญ ฯลฯ เป็นผู้มีวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำ
อ่อนหวานอย่างชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ เป็นอาจารย์และปาจารย์ของหมู่
ชน สอนมนตร์แก่มาณพ ๓๐๐ คน เหล่ามาณพผู้ต้องการมนตร์จำนวนมากจาก
ทิศทางต่างชนบท พากันมาเรียนมนตร์ในสำนักของท่านกูฏทันตะ ฯลฯ ท่าน
กูฏทันตะเป็นคนแก่คนเฒ่าเป็นผู้ใหญ่ มีชีวิตอยู่หลายรัชสมัย ล่วงกาลผ่านวัยมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์กูฏทันตะแสดงพระพุทธคุณ

มาก ส่วนพระสมณโคดมเป็นคนหนุ่ม บวชแต่ยังหนุ่ม ฯลฯ ท่านกูฏทันตะเป็นผู้ที่
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธและพราหมณ์โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อม ฯลฯ ท่านกูฏทันตะปกครองหมู่บ้านขาณุมัต ซึ่งมีประชากรและสัตว์
เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่
พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย ด้วยเหตุนี้
ท่านกูฏทันตะจึงไม่ควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมต่างหากควรจะ
เสด็จมาหาท่านกูฏทันตะ”

พราหมณ์กูฏทันตะแสดงพระพุทธคุณ

[๓๓๒] เมื่อพวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ พราหมณ์กูฏทันตะได้กล่าวว่า “ท่าน
ทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นพวกท่านโปรดฟังเราบ้าง เรานี่แหละควรไปเข้าเฝ้าท่านพระ
โคดม ท่านพระโคดมไม่ควรเสด็จมาหาเรา ได้ทราบว่า พระสมณโคดมทรงเป็นผู้มี
พระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอด
เจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ด้วยเหตุนี้
ท่านพระโคดมไม่ควรเสด็จมาหาเรา เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าท่านพระโคดม
ท่านทั้งหลาย ข่าวว่า พระสมณโคดมทรงละพระประยูรญาติผนวชแล้ว ฯลฯ
ทรงสละทรัพย์สินเงินทองมากมายทั้งที่ฝังอยู่ในพื้นดินและในอากาศผนวชเแล้ว ฯลฯ
พระสมณโคดมกำลังหนุ่มแน่นมีพระเกศาดำสนิท ทรงพระเจริญอยู่ในปฐมวัยเสด็จ
ออกจากพระราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ เมื่อพระชนกพระชนนีไม่ทรง
ปรารถนา(จะให้เสด็จออกผนวช) มีน้ำพระเนตรชุ่มพระพักตร์ทรงกันแสงอยู่ พระ
สมณโคดมทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุแล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากพระ
ราชวังไปผนวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ พระสมณโคดมมีพระรูปงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส มี
พระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็น
ยากนัก ฯลฯ พระสมณโคดมทรงมีอริยศีล มีศีลที่เป็นกุศล ประกอบด้วยศีลที่เป็น
กุศล ฯลฯ มีพระวาจาไพเราะสุภาพ ประกอบด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน อย่าง
ชาวเมือง นุ่มนวล เข้าใจง่าย ฯลฯ ทรงเป็นอาจารย์และปาจารย์ของหมู่ชนมากมาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์กูฏทันตะแสดงพระพุทธคุณ

ฯลฯ ทรงสิ้นกามราคะไม่ประดับตกแต่ง ฯลฯ ทรงเป็นกรรมวาที กิริยวาที ไม่ทรง
มุ่งร้ายต่อพราหมณ์ ฯลฯ ผนวชแล้วจากตระกูลสูงคือขัตติยตระกูลอันบริสุทธิ์ ฯลฯ
ผนวชแล้วจากตระกูลมั่งคั่งมีทรัพย์มากมีโภคะมาก ฯลฯ ประชาชนต่างบ้านต่าง
เมืองพากันมาทูลถามปัญหาพระสมณโคดม ฯลฯ ทวยเทพหลายพันองค์ถวายชีวิต
ถึงพระสมณโคดมเป็นที่พึ่ง ฯลฯ พระสมณโคดมทรงมีพระกิตติศัพท์อันงามขจรไป
อย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถี
ฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค ฯลฯ พระสมณโคดมทรงประกอบด้วยลักษณะ
มหาบุรุษ ๓๒ ประการ ฯลฯ ทรงมีปกติตรัสเชื้อเชิญ ตรัสผูกมิตรไมตรีอ่อนหวาน
ไม่ทรงสยิ้วพระพักตร์ ทรงเบิกบาน มักตรัสทักทายก่อน ฯลฯ ทรงเป็นผู้ที่
บริษัท ๔๑ สักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ เทวดาและมนุษย์มาก
มายเลื่อมใสพระสมณโคดม ฯลฯ พวกอมนุษย์ย่อมไม่เบียดเบียนมนุษย์ในหมู่บ้าน
หรือนิคมที่พระสมณโคดมทรงพำนักอยู่ ฯลฯ พระสมณโคดมทรงเป็นหัวหน้า ทรง
เป็นคณาจารย์ ได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าเจ้าลัทธิอื่น ๆ ไม่ทรง
รุ่งเรืองพระยศเหมือนพวกสมณพราหมณ์ที่รุ่งเรืองยศ ที่แท้ทรงรุ่งเรืองพระยศ
เพราะทรงมีวิชชาและจรณะอันยอดเยี่ยม ฯลฯ พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพมคธ
พร้อมทั้งพระราชโอรส พระมเหสี ข้าราชบริพารและหมู่อำมาตย์ต่างมอบชีวิตถึง
พระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ พระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งพระราชโอรส พระ
มเหสี ข้าราชบริพารและหมู่อำมาตย์ต่างมอบชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ ฯลฯ
พราหมณ์โปกขรสาติ พร้อมทั้งบุตร ภรรยา ข้าราชการ และหมู่อำมาตย์ต่างมอบ
ชีวิตถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ พระสมณโคดมทรงเป็นผู้ที่พระเจ้าพิมพิสารจอม
ทัพมคธทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ ทรงเป็นผู้ที่พระเจ้า
ปเสนทิโกศลทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ ทรงเป็นผู้ที่
พราหมณ์โปกขรสาติสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ในที่นี้หมายถึง ผู้เข้าเฝ้าโดยทั่วไป มีอยู่ ๔ จำพวก คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัทและ
สมณบริษัท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช

พระสมณโคดมเสด็จถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกา
ใกล้หมู่บ้านขาณุมัต ท่านทั้งหลาย สมณพราหมณ์ที่มาสู่เขตหมู่บ้านของเราจัดว่า
เป็นแขกของเรา ซึ่งพวกเราควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา และนอบน้อม พระ
สมณโคดมเสด็จมาถึงหมู่บ้านขาณุมัตโดยลำดับ ประทับอยู่ที่สวนอัมพลัฏฐิกา ใกล้
หมู่บ้านขาณุมัต พระสมณโคดมจึงจัดเป็นแขกของเราที่พวกเราควรสักการะ เคารพ
นับถือ บูชา และนอบน้อม ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ พระสมณโคดมจึงไม่ควรเสด็จมาหาเรา
เราต่างหากควรไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม เราทราบพระคุณของพระสมณโคดมเพียง
เท่านี้ แต่พระสมณโคดมไม่ใช่ว่าจะมีพระคุณเพียงเท่านี้ แท้จริงแล้ว พระสมณโคดม
มีพระคุณนับประมาณมิได้”
[๓๓๓] เมื่อพราหมณ์กูฏทันตะกล่าวอย่างนี้ พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าวว่า
“ท่านกูฏทันตะกล่าวยกย่องพระสมณโคดมถึงเพียงนี้ ถึงหากท่านพระโคดมพระองค์
นั้นจะประทับอยู่ไกลจากที่นี่ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ ก็สมควรอยู่ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาจะไปเข้า
เฝ้า แม้จะต้องขนเสบียงไปก็ควร”
พราหมณ์กูฏทันตะกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น พวกเราทั้งหมดจักไปเข้าเฝ้าพระ
สมณโคดมด้วยกัน”

เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช

[๓๓๔] ต่อมา พราหมณ์กูฏทันตะพร้อมด้วยคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่พากัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่สวนอัมพลัฏฐิกา ได้สนทนากับพระผู้มีพระภาค ครั้น
สนทนาพอคุ้นเคยดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควร ฝ่ายพราหมณ์และคหบดีชาวบ้าน
ขาณุมัต บางพวกกราบพระผู้มีพระภาค บางพวกสนทนา บางพวกไหว้ไปทางพระ
ผู้มีพระภาค บางพวกประกาศชื่อและตระกูล บางพวกนิ่งเฉย แล้วนั่ง ณ ที่สมควร
[๓๓๕] พราหมณ์กูฏทันตะนั่งลงกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าได้ยิน
มาว่า พระสมณโคดมทรงทราบยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖ ส่วน
ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอประทานวโรกาส ขอท่านพระโคดม
โปรดแสดงยัญสมบัติ ๓ ประการ ซึ่งมีองค์ประกอบ ๑๖ แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช

[๓๓๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง จงตั้งใจ
ให้ดี เราจะแสดง” พราหมณ์กูฏทันตะทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “พราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาวิชิตราชทรง
เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง ต่อมา
ท้าวเธอประทับอยู่ตามลำพังทรงคิดคำนึงว่า ‘เราได้ถือครองโภคสมบัติที่เป็นของ
มนุษย์อย่างมากมาย ได้เอาชนะแล้วครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ทางที่ดีเราพึง
บูชามหายัญที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’
[๓๓๗] ท้าวเธอจึงรับสั่งให้เรียกพราหมณ์ปุโรหิตมารับสั่งว่า ‘พราหมณ์ วันนี้
เราพักอยู่ตามลำพังเกิดความคิดคำนึงขึ้นว่า เราได้ถือครองโภคสมบัติที่เป็นของ
มนุษย์อย่างมากมาย ได้เอาชนะแล้วครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ทางที่ดี เราพึง
บูชามหายัญที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน พราหมณ์ เรา
ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านผู้เจริญโปรดแนะนำวิธีบูชายัญที่จะอำนวย
ประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’
[๓๓๘] เมื่อท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า ‘บ้านเมือง
ของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม มีการเบียดเบียน โจรยังปล้นบ้าน ปล้นนิคม ปล้น
เมืองหลวง ดักจี้ในทางเปลี่ยว เมื่อบ้านเมืองยังมีเสี้ยนหนาม พระองค์จะโปรดให้
ฟื้นฟูพลีกรรมขึ้นก็จะชื่อว่าทรงกระทำสิ่งที่ไม่สมควร พระองค์มีพระราชดำริอย่าง
นี้ว่า ‘เราจักปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจร ด้วยการประหาร จองจำ ปรับไหม
ตำหนิโทษ หรือเนรเทศ’ อย่างนี้ไม่ใช่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้อง เพราะ
ว่า โจรที่เหลือจากที่กำจัดไปแล้วจักมาเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ในภายหลังได้
แต่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้อง ต้องอาศัยวิธีการต่อไปนี้ คือ
๑. ขอให้พระองค์พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารให้แก่พลเมืองผู้
ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์ในบ้านเมืองของ
พระองค์
๒. ขอให้พระองค์พระราชทานต้นทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นใน
พาณิชยกรรมในบ้านเมืองของพระองค์
๓. ขอให้พระองค์พระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการที่
ขยันขันแข็งในบ้านเมืองของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
เรื่องยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช

พลเมืองเหล่านั้นจักขวนขวายในหน้าที่การงานของตน ไม่พากันเบียดเบียน
บ้านเมืองของพระองค์ และจักมีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองก็จะอยู่
ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนจะชื่นชมยินดีต่อกัน มีความ
สุขกับครอบครัว๑ อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน’
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำของพราหมณ์ปุโรหิตแล้ว ได้พระราชทาน
พันธุ์พืชและอาหารแก่พลเมืองที่ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์
พระราชทานต้นทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม พระราชทานอาหาร
และเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็งในบ้านเมืองของพระองค์ พลเมืองเหล่านั้น
ขวนขวายในหน้าที่การงานของตน ไม่พากันเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ และ
ได้มีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการ
เบียดเบียน ประชาชนต่างชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้อง
ปิดประตูบ้าน
ต่อมา ท้าวเธอรับสั่งให้พราหมณ์ปุโรหิตเข้าเฝ้าแล้วตรัสว่า ‘ท่านผู้เจริญ เรา
ได้กำจัดเสี้ยนหนามคือโจรจนหมดสิ้นด้วยวิธีการของท่าน และได้มีกองราชทรัพย์
อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชน
ต่างชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัว อยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน เรา
ปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอท่านผู้เจริญโปรดแนะนำวิธีบูชายัญที่จะอำนวย
ประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’
[๓๓๙] พราหมณ์ปุโรหิตจึงกราบทูลว่า ‘ถ้าเช่นนั้น ขอพระองค์โปรดรับสั่งให้
เชิญเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์
โปรดรับสั่งให้เชิญอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราช-
อาณาเขตของพระองค์ โปรดรับสั่งให้เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ใน
ชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ และโปรดรับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ใน
นิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์มาปรึกษาว่า ท่านผู้เจริญ
ทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอพวกท่านผู้เจริญจงร่วมมือกับเราเพื่อ
อำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’

เชิงอรรถ :
๑ ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก (อุเร ปุตฺเต นจฺเจนฺตา)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
คุณลักษณะของพระเจ้ามหาวิชิตราช ๘ อย่าง

พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงรับคำพราหมณ์ปุโรหิตแล้วรับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครองเมือง
ที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ รับสั่งให้เชิญอำมาตย์
ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์ รับสั่งให้
เชิญพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของพระองค์
และรับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบททั่วพระราชอาณาเขตของ
พระองค์มาปรึกษาว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราปรารถนาจะบูชามหายัญ ขอพวก
ท่านผู้เจริญจงร่วมมือกับเราเพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน’ คนเหล่า
นั้นกราบทูลว่า ‘ขอพระองค์จงทรงบูชายัญเถิด ตอนนี้เป็นเวลาบูชายัญ’ บุคคล ๔
พวกนี้ที่เห็นชอบตามพระราชดำริ จัดเป็นองค์ประกอบของยัญนั้น

คุณลักษณะของพระเจ้ามหาวิชิตราช ๘ อย่าง

[๓๔๐] พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยคุณลักษณะ ๘ อย่าง คือ
๑. ทรงมีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ถือ
ปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้าน
ตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
๒. ทรงมีพระรูปงดงามน่าดูน่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก
ดุจพรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก
๓. ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร
เต็มท้องพระคลัง
๔. ทรงมีกองทหารที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า๑ อยู่ใน
ระเบียบวินัย คอยรับพระบัญชา มีพระบรมเดชานุภาพดังจะ
เผาผลาญข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ
๕. ทรงมีพระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก๒ ทรงเป็นทานบดี๓ มิได้ทรง
ปิดประตู๔ ทรงเป็นดุจโรงทานของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า
คนเดินทาง วณิพก และยาจก ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เนือง ๆ

เชิงอรรถ :
๑ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า
๒ ผู้ที่ไม่ใช่มีเพียงศรัทธาอย่างเดียว แต่เป็นผู้ที่สามารถบริจาคได้ด้วย (ที.สี.อ. ๓๔๐/๒๖๗)
๓ ผู้เป็นนายแห่งทาน ไม่ใช่เป็นทาสหรือเป็นสหายของทาน กล่าวคือ ตนเองใช้สอยตามมีตามเกิด แต่
บริจาคของดีของประณีตให้แก่คนอื่น (ที.สี.อ. ๓๔๐/๒๖๗)
๔ มิได้ปิดประตู (อนาวฏทฺวาโร) หมายถึง ไม่ทรงตระหนี่ แต่ยินดีต้อนรับคนอนาถาตลอดเวลา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร] ยัญพิธี ๓ ประการ

๖. ทรงรู้เรื่องราวที่ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมานั้น ๆ ไว้มาก
๗. ทรงทราบความหมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่า นี้คือจุดมุ่ง
หมายแห่งภาษิตนี้ ๆ
๘. ทรงเป็นบัณฑิตมีพระปรีชาสามารถดำริเรื่องราวในอดีต อนาคต
และปัจจุบันได้
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยคุณลักษณะ ๘ อย่างดังกล่าวนี้ ซึ่งถือ
เป็นองค์ประกอบแห่งยัญนั้นโดยแท้

คุณลักษณะของพราหมณ์ปุโรหิต ๔ อย่าง

[๓๔๑] พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ อย่าง คือ
๑. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิ
บริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้
เพราะอ้างถึงชาติตระกูล
๒. เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์
เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและ
ไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ๑
๓. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
๔. เป็นบัณฑิตมีปัญญาเฉียบแหลมลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดา
พราหมณ์ผู้รับการบูชา
พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณลักษณะ ๔ อย่างดังกล่าวนี้ ซึ่งถือเป็นองค์
ประกอบแห่งยัญนั้นโดยแท้

ยัญพิธี ๓ ประการ

[๓๔๒] ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิตแสดงยัญพิธี ๓ ประการถวายแด่พระเจ้า
มหาวิชิตราชก่อนจะทรงบูชายัญว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถ ๒ และ ๓ ในหน้า ๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลถวายคำแนะนำ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ

๑. เมื่อพระองค์ปรารถนาจะทรงบูชามหายัญก็ไม่ควรทำความเดือด
ร้อนพระทัยว่า กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเราจักสิ้นเปลือง
๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญอยู่ก็ไม่ควรทำความเดือดร้อน
พระทัยว่า กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเรากำลังสิ้นเปลืองไป
๓. เมื่อพระองค์ทรงบูชามหายัญแล้วก็ไม่ควรทำความเดือดร้อนพระ
ทัยว่า กองโภคสมบัติอันยิ่งใหญ่ของเราได้สิ้นเปลืองไปแล้ว
พราหมณ์ปุโรหิตแสดงยัญพิธี ๓ ประการดังกล่าวนี้ถวายแด่พระเจ้ามหา-
วิชิตราชก่อนจะทรงบูชายัญ

พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลถวายคำแนะนำ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ

[๓๔๓] ลำดับนั้น พราหมณ์ปุโรหิตขจัดความเดือดร้อนพระทัยของพระเจ้า
มหาวิชิตราชเพราะผู้รับทานด้วยอาการ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ คือ
๑. ทั้งพวกที่ฆ่าสัตว์ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ จักพากันมา
สู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ฆ่าสัตว์
จักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวก
ที่เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรง
อนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๒. ทั้งพวกที่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ทั้งพวกที่เว้นขาด
จากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จักพากันมาสู่พิธี
บูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ถือเอา
สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระ
องค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของ
ที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้เท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรง
อนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๓. ทั้งพวกที่ประพฤติผิดในกาม ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการ
ประพฤติผิดในกาม จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลถวายคำแนะนำ ๑๐ อย่างก่อนจะทรงบูชายัญ

บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่ประพฤติผิดในกามจักได้รับผล
กรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาด
จากการประพฤติผิดในกามเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๔. ทั้งพวกที่กล่าวคำเท็จ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเท็จ
จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น
พวกที่กล่าวคำเท็จจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรง
เจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเท็จเท่านั้นแล้ว
ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้
เลื่อมใสในภายในเถิด
๕. ทั้งพวกที่กล่าวคำส่อเสียด ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำ
ส่อเสียด จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒
พวกนั้น พวกที่กล่าวคำส่อเสียดจักได้รับผลกรรมของเขาเอง
ขอพระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำ
ส่อเสียดเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และ
ทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๖. ทั้งพวกที่กล่าวคำหยาบ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบ
จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น
พวกที่กล่าวคำหยาบจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์
ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบเท่านั้น
แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้
เลื่อมใสในภายในเถิด
๗. ทั้งพวกที่กล่าวคำเพ้อเจ้อ ทั้งพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำ
เพ้อเจ้อจักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒
พวกนั้น พวกที่กล่าวคำเพ้อเจ้อจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอ
พระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่เว้นขาดจากการกล่าวคำเพ้อ
เจ้อเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรง
ทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

๘. ทั้งพวกที่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ทั้งพวกที่ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
จักพากันมาสู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น
พวกที่เพ่งเล็งอยากได้ของเขาจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอ
พระองค์ทรงเจาะจงเฉพาะพวกที่ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
เท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระ
ทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๙. ทั้งพวกที่มีจิตพยาบาท ทั้งพวกที่ไม่มีจิตพยาบาท จักพากันมา
สู่พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่มีจิต
พยาบาทจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจง
เฉพาะพวกที่ไม่มีจิตพยาบาทเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๐. ทั้งพวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ทั้งพวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จักพากันมาสู่
พิธีบูชายัญของพระองค์ บรรดาชน ๒ พวกนั้น พวกที่เป็น
มิจฉาทิฏฐิจักได้รับผลกรรมของเขาเอง ขอพระองค์ทรงเจาะจง
เฉพาะพวกที่เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้นแล้วทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
พราหมณ์ปุโรหิตขจัดความเดือดร้อนพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชเพราะ
ผู้รับทาน ด้วยอาการ ๑๐ อย่างนี้ก่อนจะทรงบูชายัญ

พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

[๓๔๔] ต่อมา พราหมณ์ปุโรหิตได้กราบทูลชี้แจงให้เห็นชัด ชักชวนให้อยาก
รับเอาไปปฏิบัติ เร้าพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้จะทรงบูชามหายัญให้อาจหาญ
แกล้วกล้า ปลอบชโลมพระทัยให้สดชื่นร่าเริงด้วยอาการ ๑๖ อย่าง คือ
๑. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครอง
เมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชามหายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

เห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญเจ้าผู้ครอง
เมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว โปรดทรงทราบ
ตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา
และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญอำมาตย์
ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชา
มหายัญเห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มี
ใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญ
อำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว
โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๓. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญพราหมณ์
มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชา
มหายัญเห็นปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มี
ใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญ
พราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว
โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๔. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยไม่รับสั่งให้เชิญคหบดีผู้มั่งคั่ง
ที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษา ทรงบูชามหายัญเห็น
ปานนั้นเป็นส่วนพระองค์ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ได้รับสั่งให้เชิญคหบดีผู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทมาปรึกษาแล้ว โปรดทรง
ทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรง
อนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๕. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นกษัตริย์
ผู้มีพระชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ไม่ทรง
ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้ที่จะถูก
คัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูลว่า ถึงกระนั้น ก็ยังทรง
บูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้มีพระชาติกำเนิด
ดีทั้งฝ่ายพระชนกและฝ่ายพระชนนี ทรงถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดี
ตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้าง
ถึงชาติตระกูล โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรง
บูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใส
ในภายในเถิด
๖. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์มีพระรูปไม่งดงาม
ไม่น่าดู ไม่น่าเลื่อมใส พระฉวีวรรณไม่ผุดผ่องดุจพรหม ไม่มี
พระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นไม่ยากเลย ถึง
กระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะ
เหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์มี
พระรูปงดงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนักดุจ
พรหม มีพระวรกายดุจพรหม โอกาสที่จะได้พบเห็นยากนัก
โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค
ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

๗. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นกษัตริย์
ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้อง
พระคลัง ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้น
อยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะ
พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มี
พืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง โปรดทรงทราบตามนี้เถิด
ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ
พระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๘. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงมีกองทหาร
ที่เข้มแข็งประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า อยู่ในระเบียบวินัย
คอยรับพระบัญชา ไม่ทรงมีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผา
ผลาญข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยัง
ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใคร
ตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงมีกองทหารที่
เข้มแข็ง ประกอบด้วยกองทัพ ๔ เหล่า อยู่ในระเบียบวินัย คอย
รับพระบัญชา ทรงมีพระบรมเดชานุภาพดังว่าจะเผาผลาญ
ข้าศึกได้ด้วยพระราชอิสริยยศ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด
ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ
พระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๙. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงมีพระราช
ศรัทธา ไม่ทรงเป็นทายก ไม่ทรงเป็นทานบดี ทรงปิดประตูไว้
ไม่ทรงเป็นดุจโรงทานของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง
วณิพก และยาจก ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

เห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดย
ธรรม เพราะพระองค์ทรงมีพระราชศรัทธา ทรงเป็นทายก ทรง
เป็นทานบดี มิได้ทรงปิดประตู ทรงเป็นดุจโรงทานของ
สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก ทรง
บำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เนือง ๆ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอ
พระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ
พระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๐. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงรู้เรื่องราวที่
ถ่ายทอดสืบต่อกันมานั้น ๆ ไว้มาก ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยัง
ทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงรู้เรื่องราวที่ถ่ายทอด
สืบต่อกันมานั้น ๆ ไว้มากโปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระ
องค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัย
ให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๑. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงทราบความ
หมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่า นี้คือจุดมุ่งหมายแห่งภาษิต
นี้ ๆ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่
แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะ
พระองค์ทรงทราบความหมายแห่งภาษิตที่ได้ทรงศึกษานั้นว่า นี้
คือจุดมุ่งหมายแห่งภาษิตนี้ ๆ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด
ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ
พระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๒. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ โดยที่พระองค์ไม่ทรงเป็นบัณฑิต
ไม่ทรงเฉียบแหลม ไม่ทรงมีพระปรีชาสามารถ ไม่สามารถจะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

ทรงดำริอรรถที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ ถึงกระนั้น
พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็
ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพระองค์ทรงเป็น
บัณฑิตเฉียบแหลม ทรงมีพระปรีชาสามารถ ทรงสามารถที่จะ
ดำริ อรรถที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้ โปรดทรงทราบ
ตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา
และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๓. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์
ไม่ใช่เป็นผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ไม่ใช่ผู้ถือ
ปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ เป็นผู้ที่จะถูกคัดค้าน
ตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรง
บูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็น
ผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์
ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้าง
ถึงชาติตระกูล โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา
ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสใน
ภายในเถิด
๑๔. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์
ไม่ใช่ผู้คงแก่เรียน ไม่ทรงจำมนตร์ ไม่รู้จบไตรเพท พร้อมทั้ง
นิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์
ไม่ใช่ผู้รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ไม่ใช่ผู้ชำนาญโลกายตศาสตร์และ
ลักษณะมหาบุรุษ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็น
ปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม
เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษร-
ศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญ
โลกายตศาสตร์และลักษณะมหาบุรุษ โปรดทรงทราบตามนี้เถิด
ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำ
พระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๕. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์
ไม่ใช่ผู้มีศีล ไม่มีศีลที่เจริญ ไม่ประกอบด้วยศีลที่เจริญ ถึงกระนั้น
พระองค์ก็ยังทรงบูชามหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็
ไม่มีใครตำหนิพระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของ
พระองค์เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ โปรด
ทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา ทรงบริจาค ทรง
อนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใสในภายในเถิด
๑๖. เมื่อพระองค์กำลังทรงบูชามหายัญ ใคร ๆ จะกล่าวว่า พระเจ้า
มหาวิชิตราชทรงบูชามหายัญ แต่พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์
ไม่ใช่บัณฑิตผู้เฉลียวฉลาดมีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ใน
บรรดาพราหมณ์ผู้รับการบูชา ถึงกระนั้น พระองค์ก็ยังทรงบูชา
มหายัญเห็นปานนั้นอยู่ แม้เพราะเหตุนี้ ก็ไม่มีใครตำหนิ
พระองค์ได้โดยธรรม เพราะพราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์เป็นผู้
เฉลียวฉลาด มีปัญญาลำดับที่ ๑ หรือที่ ๒ ในบรรดาพราหมณ์
ผู้รับการบูชา โปรดทรงทราบตามนี้เถิด ขอพระองค์ได้ทรงบูชา
ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระทัยให้เลื่อมใส
ในภายในเถิด
พราหมณ์ปุโรหิตได้กราบทูลชี้แจงให้เห็นชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชผู้จะทรงบูชามหายัญให้อาจหาญแกล้วกล้า
ปลอบชโลมพระทัยให้สดชื่นร่าเริงด้วยอาการ ๑๖ อย่างเหล่านี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

[๓๔๕] ในยัญนั้นไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด ไม่
ต้องตัดต้นไม้มาทำหลักบูชายัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคาเพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น แม้
เหล่าชนที่เป็นทาส คนรับใช้ กรรมกรของพระเจ้ามหาวิชิตราชก็ไม่ถูกลงอาชญา ไม่
มีภัยคุกคาม ไม่ต้องร้องไห้ฟูมฟายทำบริกรรม แท้จริง คนที่ปรารถนาจะทำจึงได้
ทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ ทำแต่สิ่งที่ปรารถนาเท่านั้น สิ่งที่ไม่ปรารถนาไม่ต้อง
ทำ ยัญพิธีนั้นสำเร็จลงเพียงเพราะเนยใส น้ำมัน เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และ
น้ำอ้อยเท่านั้น
[๓๔๖] ต่อมา พวกเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พวก
อำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พวกพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ใน
นิคมและอยู่ในชนบท พวกคหบดีผู้มั่งคั่งที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบท พากันนำ
ทรัพย์จำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระเจ้ามหาวิชิตราช กราบทูลว่า ‘ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้นำทรัพย์จำนวนมากนี้มาเพื่อพระองค์ ขอพระองค์ทรง
รับไว้เถิด’
ท้าวเธอตรัสว่า ‘อย่าเลย ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เราเองได้รวบรวมทรัพย์
สินจำนวนมากมาจากภาษีอากรอันชอบธรรม ทรัพย์ที่พวกท่านนำมาก็จงเป็น
ของพวกท่านเถิด และพวกท่านจงนำทรัพย์จากที่นี่ไปเพิ่มอีก’
คนเหล่านั้นเมื่อถูกปฏิเสธ จึงจากไปปรึกษาหารือกันว่า ‘การที่พวกเราจะ
รับทรัพย์สินเหล่านี้กลับคืนไปยังบ้านเมืองของตนอีกนั้นไม่เป็นการสมควรเลย พระ
เจ้ามหาวิชิตราชกำลังทรงบูชามหายัญ เอาเถอะพวกเรามาร่วมบูชายัญโดยเสด็จ
พระราชกุศลกันเถิด’
[๓๔๗] ต่อมา พวกเจ้าผู้ครองเมืองที่อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญ
ทานทางทิศตะวันออกแห่งหลุมยัญ พวกอำมาตย์ราชบริพารที่อยู่ในนิคมและอยู่ใน
ชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศใต้แห่งหลุมยัญ พวกพราหมณ์มหาศาลที่อยู่ในนิคม
และอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศตะวันตกแห่งหลุมยัญ พวกคหบดีผู้มั่งคั่งที่
อยู่ในนิคมและอยู่ในชนบทเริ่มบำเพ็ญทานทางทิศเหนือแห่งหลุมยัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงบูชายัญด้วยอาการ ๑๖ อย่าง

แม้ในยัญของเจ้าผู้ครองเมืองเป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร
และสัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำหลักบูชายัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคาเพื่อ
เบียดเบียนสัตว์อื่น แม้เหล่าชนที่เป็นทาส คนรับใช้ กรรมกรของเจ้าผู้ครองเมือง
เป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่ถูกลงอาชญา ไม่มีภัยคุกคาม ไม่ต้องร้องไห้ฟูมฟายทำบริกรรม
แท้จริง คนที่ปรารถนาจะทำจึงได้ทำ ที่ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ ทำแต่สิ่งที่ปรารถนา
เท่านั้น สิ่งที่ไม่ปรารถนาไม่ต้องทำ ยัญพิธีนั้นสำเร็จลงเพียงเพราะเนยใส น้ำมัน
เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเท่านั้น
บุคคล ๔ พวกเห็นชอบตามพระราชดำริ พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบ
ด้วยคุณลักษณะ ๘ อย่าง พราหมณ์ปุโรหิตประกอบด้วยคุณสมบัติ ๔ อย่าง และ
ยัญพิธีอีก ๓ ประการ จึงรวมเรียกว่า ยัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖”
[๓๔๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พวกพราหมณ์ได้ส่งเสียงอื้ออึงว่า
“โอ ! ยัญ โอ ! ยัญสมบัติ” ส่วนพราหมณ์กูฏทันตะนั่งนิ่ง
ทันใดนั้น พวกพราหมณ์ได้ถามพราหมณ์กูฏทันตะว่า “เหตุใด ท่านกูฏทันตะ
จึงไม่ชื่นชมสุภาษิตของพระสมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้องเล่า”
พราหมณ์กูฏทันตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะไม่ชื่นชมสุภาษิต
ของพระสมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้องก็หาไม่ แม้ผู้ไม่ชื่นชมสุภาษิตของพระ
สมณโคดมว่าเป็นคำกล่าวถูกต้อง ศีรษะของเขาจะแตก ถึงกระนั้น ข้าพเจ้าก็ยังรู้สึก
อย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่ได้ตรัสอย่างนี้ว่า เราได้สดับมาอย่างนี้ หรือว่า เรื่องนี้
ควรเป็นอย่างนี้ แต่พระองค์ตรัสว่า เหตุอย่างนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในกาลนั้น เรื่องเช่น
นี้ได้มีแล้วในกาลนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า พระสมณโคดมทรงเป็นพระเจ้ามหาวิชิตราช
ผู้เป็นเจ้าของแห่งยัญในครั้งโน้นเสียเอง หรือพระองค์ทรงเป็นพราหมณ์ปุโรหิต
ผู้อำนวยการบูชายัญนั้นแน่นอน” ทูลถามว่า “ท่านพระโคดมย่อมทรงทราบแจ้งชัด
หรือว่า ผู้บูชายัญหรือผู้อำนวยการบูชายัญเห็นปานนั้น หลังจากตายแล้วไปบังเกิด
ในสุคติโลกสวรรค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ เรารู้แจ้งชัดว่า ผู้บูชายัญหรือผู้
อำนวยการบูชายัญเห็นปานนั้น หลังจากตายแล้วไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ สมัย
นั้นเราได้(เกิด)เป็นพราหมณ์ปุโรหิตผู้อำนวยการบูชายัญนั้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร] ยัญที่สืบตระกูลกันมาคือนิตยทาน

ยัญที่สืบตระกูลกันมาคือนิตยทาน

[๓๔๙] พราหมณ์กูฏทันตะทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีก
หรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่า
ยัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ นิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะ
จงบรรพชิตผู้มีศีล นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มี
ผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม อะไรคือเหตุ อะไรคือปัจจัย ให้นิตยทานที่ทำ
สืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่
มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ พระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุ
อรหัตตมรรคย่อมไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น เพราะในยัญนั้นยังปรากฏว่ามีการประหาร
ด้วยท่อนไม้บ้าง จับคอลากไปบ้าง ฉะนั้นพระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรค
จึงไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น ส่วนนิตยทานที่ทำสืบกันมาถวายเจาะจงบรรพชิตผู้มีศีล
นั้น พระอรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรคจึงเข้าไปสู่ยัญเช่นนี้ได้ เพราะใน
ยัญนั้นไม่ปรากฏว่ามีการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง จับคอลากไปบ้าง ฉะนั้นพระ
อรหันต์หรือท่านที่บรรลุอรหัตตมรรคจึงเข้าไปสู่ยัญเช่นนี้ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้
นิตยทานที่ทำสืบกันมานั้น ใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มี
ผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ นี้”
[๓๕๐] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้
ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ
มีองค์ประกอบ ๑๖ และกว่านิตยทานที่ทำสืบกันมานี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
ยัญที่สืบตระกูลกันมาคือนิตยทาน

เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยัญของบุคคลผู้สร้างวิหารอุทิศพระสงฆ์ผู้มา
จากทิศทั้ง ๔ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์
มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ ๑๖ และกว่านิตยทานที่ทำสืบกัน
มานี้”
[๓๕๑] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้
ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ
มีองค์ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมาและกว่าวิหารทานนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ยัญของบุคคลผู้มีจิตเลื่อมใส ถึงพระพุทธเจ้า
พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการ
ตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์ประกอบ
๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมา และกว่าวิหารทานนี้”
[๓๕๒] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์
และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์
ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมา กว่าวิหารทาน และกว่าสรณคมน์นี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “การที่บุคคลผู้มีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท
ทั้งหลาย คือ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการถือเอา
สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เจตนา
เป็นเหตุเว้นจากการพูดเท็จ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและ
เมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียม
น้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการมี องค์ประกอบ ๑๖ กว่า
นิตยทานที่ทำสืบกันมา กว่าวิหารทาน และกว่าสรณคมน์นี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์กูฏทันตะประกาศตนเป็นอุบาสก

[๓๕๓] เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม มียัญอย่างอื่นอีกหรือไม่ ที่ใช้ทุนทรัพย์
และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญสมบัติ ๓ ประการ มีองค์
ประกอบ ๑๖ กว่านิตยทานที่ทำสืบกันมา กว่าวิหารทาน กว่าสรณคมน์ และกว่า
สิกขาบทเหล่านี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มีอยู่ พราหมณ์”
เขาทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ยัญนั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตร
มาใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่
นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญ
ที่กล่าวมาแล้วก่อน ๆ ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌาน
อยู่ นี้เป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่า
ยัญที่กล่าวมาแล้วก่อน ๆ ฯลฯ น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ นี้เป็นยัญซึ่งใช้
ทุนทรัพย์และมีการตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้ว
ก่อน ๆ ฯลฯ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป๑’ นี้แลเป็นยัญซึ่งใช้ทุนทรัพย์และมีการ
ตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลานิสงส์มากกว่ายัญที่กล่าวมาแล้วก่อน ๆ พราหมณ์
ไม่มียัญสมบัติอื่น ๆ ที่จะดียิ่งกว่าหรือประณีตกว่ายัญสมบัตินี้อีกแล้ว”

พราหมณ์กูฏทันตะประกาศตนเป็นอุบาสก

[๓๕๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พราหมณ์กูฏทันตะได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม
ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่ม
แจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทาง

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๐-๒๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์กูฏทันตะบรรลุโสดาปัตติผล

แก่ผู้หลงทางหรือตามประทีบในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์
นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดม
จงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต
ข้าพระองค์ได้ปล่อยโคเพศผู้ ลูกโคเพศผู้ ลูกโคเพศเมีย แพะ แกะ อย่างละ ๗๐๐
ตัว ได้ให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น ขอสัตว์เหล่านั้นจงได้กินหญ้าเขียวสด ได้ดื่มน้ำเย็น
กระแสลมอ่อน ๆ จงพัดถูกตัวสัตว์เหล่านั้นเถิด”

พราหมณ์กูฏทันตะบรรลุโสดาปัตติผล

[๓๕๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพีกถา คือ ทรงประกาศเรื่อง
ทาน เรื่องศีล เรื่องสวรรค์ เรื่องโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกาม และ
อานิสงส์ในการออกบวชแก่พราหมณ์กูฏทันตะ เมื่อทรงทราบว่าพราหมณ์กูฏทันตะ
มีจิตควรบรรลุธรรม สงบ อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เบิกบานผ่องใส จึงทรงประกาศ
สามุกกังสิกเทศนา๑ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุอันไร้ธุลีคือกิเลส
ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่พราหมณ์กูฏทันตะบนที่นั่งนั่นเองว่า ‘สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี
ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนดับไปเป็นธรรมดา’ เปรียบเหมือนผ้า
ขาวสะอาดปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมได้เป็นอย่างดี
[๓๕๖] ครั้นพราหมณ์กูฏทันตะเห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม
หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีก ในหลัก
คำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ขอท่านพระโคดมพร้อมกับ
ภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี
[๓๕๗] ทีนั้น พราหมณ์กูฏทันตะทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์
แล้ว จึงลุกจากที่นั่ง กราบพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป ครั้นล่วง
ราตรีนั้น เขาได้สั่งให้จัดของขบฉันอย่างประณีตไว้ในโรงพิธีบูชายัญของตน แล้ว
ให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”

เชิงอรรถ :
๑ พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่มีผู้ทูลอาราธนาหรือทูลถาม (ที.สี.อ. ๒๙๘/๒๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๕.กูฏทันตสูตร]
พราหมณ์กูฏทันตะบรรลุโสดาปัตติผล

[๓๕๘] ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เสด็จไปยังโรงพิธีบูชายัญของพราหมณ์กูฏทันตะพร้อมกับภิกษุสงฆ์แล้วประทับนั่ง
บนอาสนะที่ปูไว้
จากนั้น พราหมณ์กูฏทันตะได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มี
พระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานให้อิ่มหนำด้วยตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ
ทรงวางพระหัตถ์ พราหมณ์กูฏทันตะจึงเลือกนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พราหมณ์กูฏทันตะเห็นชัด ชักชวนให้อยากรับเอาไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา
แล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จจากไป

กูฏทันตสูตรที่ ๕ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร] เรื่องพราหมณทูต

๖. มหาลิสูตร
ว่าด้วยเจ้าลิจฉวีชื่อมหาลิ

เรื่องพราหมณทูต

[๓๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตกรุง
เวสาลี เวลานั้น พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธจำนวนมากมีธุระพักอยู่ในกรุง
เวสาลี พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธเหล่านั้นได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณ-
โคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา
ในป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า
ฯลฯ๑ การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”
[๓๖๐] ต่อมา พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธเหล่านั้น เข้าไปยัง
กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน สมัยนั้นท่านพระนาคิตะเป็นพระพุทธอุปัฏฐาก๒
พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธเหล่านั้น เข้าไปหาท่านพระนาคิตะแล้วเรียนถาม
ว่า “ท่านพระนาคิตะ เวลานี้ท่านพระโคดมนั้นประทับอยู่ที่ไหน พวกเราต้องการ
เข้าเฝ้าท่านพระโคดมนั้น”
ท่านพระนาคิตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานี้ไม่ใช่เวลาเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาค เพราะพระผู้มีพระภาคประทับหลีกเร้นอยู่”
พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธเหล่านั้นจึงนั่ง(รอ) ณ ที่สมควรที่พระวิหาร
นั้นเองด้วยหวังว่า ‘พวกเราได้เข้าเฝ้าท่านพระโคดมก่อนจึงจะไป’

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในอัมพัฏฐสูตร ข้อ ๒๕๕
๒ ครั้งปฐมโพธิกาลไม่มีพระพุทธอุปัฏฐากประจำ ฉะนั้น บางคราวท่านพระนาคสมาละทำหน้าที่ บางคราว
ท่านพระนาคิตะทำหน้าที่ บางคราวท่านพระอุปวาณะทำหน้าที่ บางคราวท่านพระสุนักขัตตะทำหน้าที่
บางคราว สามเณรจุนทะทำหน้าที่ บางคราวท่านพระสาคตะทำหน้าที่ บางคราวท่านพระเมฆิยะทำ
หน้าที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร] เรื่องเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวี

เรื่องเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวี

[๓๖๑] ฝ่ายเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีผู้เป็นบริวารหมู่ใหญ่เสด็จ
เข้าไปหาท่านพระนาคิตะที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน ทรงกราบท่านพระนาคิตะ
แล้วประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร ทรงถามว่า “ท่านพระนาคิตะ เวลานี้พระผู้มี
พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน โยมต้องการเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”
ท่านพระนาคิตะตอบว่า “ถวายพระพร มหาลิ เวลานี้ไม่ใช่เวลาเข้าเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาค เพราะพระผู้มีพระภาคประทับหลีกเร้นอยู่”
เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีจึงประทับนั่ง(รอ) ณ ที่สมควรที่พระวิหารนั้นเองด้วยหวังว่า
‘เราได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนจึงจะไป’
[๓๖๒] ต่อมา สามเณรสีหะ๑ เข้าไปหาท่านพระนาคิตะ กราบท่านพระ
นาคิตะแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควรเรียนถามว่า “ข้าแต่ท่านพระกัสสปะผู้เจริญ พวก
พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธจำนวนมากเข้ามาที่นี่เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาค แม้เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีผู้เป็นบริวารหมู่ใหญ่ก็เสด็จมา
ที่นี่เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอโอกาสเถิด ขอรับ ขอให้หมู่ชนนั้นได้เข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคบ้าง”
ท่านพระนาคิตะตอบว่า “สีหะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบ”
สามเณรสีหะรับคำของท่านพระนาคิตะแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
กราบพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธจำนวนมากเข้ามาที่นี่เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระผู้มี
พระภาค แม้เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีผู้เป็นบริวารหมู่ใหญ่ก็เสด็จมา
ที่นี่เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอ
ให้หมู่ชนนั้นได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเถิด”

เชิงอรรถ :
๑ สามเณรสีหะเป็นหลานชายของท่านพระนาคิตะ (ที.สี.อ. ๓๖๒/๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร]
สมาธิที่ภิกษุเจริญ(บำเพ็ญ)เฉพาะส่วน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีหะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงปูอาสนะไว้ในร่มเงาวิหาร”
สามเณรสีหะทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วไปจัดอาสนะใน
ร่มเงาพระวิหาร
[๓๖๓] ต่อมา พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหาร ไปประทับนั่งบน
อาสนะที่สามเณรสีหะจัดไว้ในร่มเงาพระวิหาร ลำดับนั้น พราหมณทูตชาวโกศลและ
ชาวมคธเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้สนทนากับพระผู้มีพระภาคพอ
คุ้นเคยดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควร
[๓๖๔] ฝ่ายเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีผู้เป็นบริวารหมู่ใหญ่
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทรงกราบพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่งอยู่ ณ ที่สมควร
กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหลายวันมาแล้ว เจ้าสุนักขัตตะลิจฉวีบุตร
เข้าไปพบข้าพระองค์แล้วบอกว่า ‘มหาลิ ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่ใกล้ชิดพระผู้มี
พระภาคไม่นานเพียง ๓ ปี ได้เห็นรูปทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
แต่ไม่ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดที่เจ้าสุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้
ยินนั้นมีจริงหรือไม่มีจริง”

สมาธิที่ภิกษุเจริญเฉพาะส่วน

[๓๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ เสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้
ใคร่ พาใจให้กำหนัดที่เจ้าสุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้ยินนั้นมีอยู่จริง ไม่ใช่ไม่มี”
เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรที่เป็นเหตุเป็นปัจจัย
ทำให้เจ้าสุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้
กำหนัด ซึ่งมีอยู่จริง ไม่ใช่ไม่มีนั้น”
[๓๖๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิ
เฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก
แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
เมื่อเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์ ... ในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิ
เพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์ ... เธอจึงเห็นแต่รูปทิพย์ ... ในทิศตะวันออก แต่ไม่ได้ยินเสียงทิพย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร]
สมาธิที่ภิกษุเจริญ(บำเพ็ญ) ๒ ส่วน

... ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวน
ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้
ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[๓๖๗] ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวน
ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศใต้ ฯลฯ ในทิศตะวันตก ฯลฯ ในทิศเหนือ ฯลฯ
ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อัน
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด เมื่อเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์ ...
ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์ ...
เธอจึงเห็นแต่รูปทิพย์ ... ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่ได้ยินเสียง
ทิพย์ ... ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวน
ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่
เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[๓๖๘] มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียง
ทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูป
ทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด เมื่อเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อให้ได้
ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์ ... เธอจึง
ได้ยินแต่เสียงทิพย์ ... ในทิศตะวันออก แต่ไม่ได้เห็นรูปทิพย์ ... ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พา
ใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้
ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[๓๖๙] ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อให้ได้
ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศใต้ ฯลฯ ในทิศตะวันตก
ฯลฯ ในทิศเหนือ ฯลฯ ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิ
เพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด เมื่อเจริญสมาธิ
เฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่
เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์ ... เธอจึงได้ยินแต่เสียงทิพย์ ... ในทิศเบื้องบน ทิศ
เบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เห็นรูปทิพย์ ... ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร]
สมาธิที่ภิกษุเจริญ(บำเพ็ญ) ๒ ส่วน

เฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศ
เบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์อันชวน
ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
[๓๗๐] มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูป
ทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ในทิศตะวันออก
เมื่อเจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศ
ตะวันออก เธอจึงได้เห็นรูปทิพย์และได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศตะวันออก ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์และให้ได้
ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก
[๓๗๑] ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้
เห็นรูปทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ในทิศใต้
ฯลฯ ในทิศตะวันตก ฯลฯ ในทิศเหนือ ฯลฯ ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง
เมื่อเจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นทั้งรูปทิพย์และได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศ
เบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง เธอจึงได้เห็นรูปทิพย์และได้ยินเสียงทิพย์ ... ใน
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิทั้ง ๒
ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้
กำหนัด ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง
มหาลิ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้ยินเสียงทิพย์อัน
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ซึ่งมีอยู่จริง ไม่ใช่ไม่มีนั้น”
[๓๗๒] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประพฤติ
พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค๑ คงจะมุ่งบรรลุสมาธิภาวนาทั้งสองนั้นเป็นแน่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาลิ ไม่ใช่ภิกษุจะประพฤติพรหมจรรย์ในเราเพียง
เพื่อบรรลุสมาธิภาวนาทั้งสองนี้เท่านั้น แท้จริง ยังมีธรรมอื่นที่ดีกว่าและประณีต
กว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค หมายถึง การบวชประพฤติธรรมในศาสนาของ
พระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร] อริยมรรคมีองค์ ๘

อริยผล ๔

[๓๗๓] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมที่ดีกว่า
และประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคมุ่งจะบรรลุนั้นคือ
อะไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นโสดาบัน เพราะ
ละสังโยชน์๑ได้ ๓ อย่าง ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๒ ในวันข้าง
หน้า ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ
ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุเป็นสกทาคามี เพราะละสังโยชน์ได้ ๓ อย่าง บรรเทา
ราคะโทสะและโมหะให้เบาบางได้ มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์
ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ
ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุไปบังเกิดเป็นโอปปาติกะ๓ เพราะละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ ๕
อย่าง ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก ธรรมนี้แลดีกว่าและ
ประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ
ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุทำให้แจ้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ธรรมนี้แลดีกว่าและ
ประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ
มหาลิ ธรรมเหล่านี้แลทั้งดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ใน
เรามุ่งจะบรรลุ”

อริยมรรคมีองค์ ๘

[๓๗๔] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีทาง มีข้อ
ปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมเหล่านั้นอยู่หรือ”

เชิงอรรถ :
๑ สังโยชน์หมายถึง กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ อย่างคือ สักกายทิฏฐิ , วิจิกิจฉา,
สีลัพพตปรามาส,กามฉันทะหรือกามราคะ, พยาบาทหรือปฏิฆะ, รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจะ,
อวิชชา [องฺ.ทสก. ๒๔/๑๓/๑๔]
๒ สัมโพธิ ในที่นี้หมายเอา มรรค ๓ เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) [ที.สี.อ.
๓๗๓/๒๘๑]
๓ เป็นโอปปาติกะ ในที่นี้หมายถึงไปเกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร] เรื่องนักบวช ๒ รูป

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ มีทาง มีข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม
เหล่านั้นอยู่”
[๓๗๕] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทางเป็นอย่างไร
ข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมเหล่านั้นเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐเหล่านี้คือ สัมมา
ทิฏฐิ(เห็นชอบ), สัมมาสังกัปปะ(ดำริชอบ), สัมมาวาจา(เจรจาชอบ), สัมมา
กัมมันตะ(กระทำชอบ), สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ), สัมมาวายามะ(พยายามชอบ),
สัมมาสติ(ระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ(ตั้งจิตมั่นชอบ) นี้แลคือทาง นี้คือข้อปฏิบัติ
เพื่อบรรลุธรรมเหล่านั้น

เรื่องนักบวช ๒ รูป

[๓๗๖] มหาลิ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี มีนักบวช ๒
รูป คือ มัณฑิยปริพาชกและชาลิยปริพาชก ซึ่งเป็นศิษย์ของพวกทารุปัตติกะ
(นักบวชผู้นิยมใช้บาตรไม้)เข้าไปหาเรา สนทนากับเราพอคุ้นเคยดีแล้วยืนอยู่ ณ ที่
สมควร ถามเราว่า ‘ท่านพระโคดม ชีวะ๑ กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะ
กับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
[๓๗๗] เราตอบว่า ‘ผู้มีอายุ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจะบอก’
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นรับคำของเราแล้ว เราจึงกล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ ตถาคตอุบัติขึ้นมา
ในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ๒ (พึงนำข้อความเต็มใน
สามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ในที่นี้) ผู้มีอายุ ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล
ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะ
กล่าวว่า ‘ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นตอบว่า ‘ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’

เชิงอรรถ :
๑ ชีวะ ในที่นี้หมายถึง วิญญาณอมตะหรือ อาตมัน (Soul) [อภิ.ปจ.อ.๑/๑/๑๒๙]
๒ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๒ และควรดูเทียบต่อไปจนถึงข้อ ๒๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖.มหาลิสูตร] เรื่องนักบวช ๒ รูป

เรากล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็น
อย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน
ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ ผู้มีอายุ
ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือ
ว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นตอบว่า ‘ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
เรากล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็น
อย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน
ฯลฯ น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือ
ที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นตอบว่า ‘ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ไม่ควรที่จะกล่าวว่า ชีวะกับ
สรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’๑
เรากล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็น
อย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน
ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้
ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะ
กับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นตอบว่า ‘ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ไม่ควรที่จะกล่าวว่า ชีวะกับ
สรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’
เรากล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ จึงไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่าง
เดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’ดังนี้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีมีใจยินดีชื่นชมภาษิตของ
พระผู้มีพระภาคแล้วแล

มหาลิสูตรที่ ๖ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๗. ชาลิยสูตร] เรื่องนักบวช ๒ รูป

๗. ชาลิยสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อชาลิยะ

เรื่องนักบวช ๒ รูป

[๓๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี มี
นักบวช ๒ รูป คือ มัณฑิยปริพาชกและชาลิยปริพาชก ซึ่งเป็นศิษย์ของพวก
ทารุปัตติกะ(นักบวชผู้นิยมใช้บาตรไม้) เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค สนทนากับพระ
ผู้มีพระภาคพอคุ้นเคยแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ท่าน
พระโคดม ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
[๓๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ผู้มีอายุ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจ
ให้ดี เราจะบอก”
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ๑ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ใน
ที่นี้) ผู้มีอายุ ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล
ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าว
ว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นทูลตอบว่า “ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า
ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๒ อนึ่ง ชาลิยสูตรนี้มีเนื้อความเกี่ยวเนื่องกับมหาลิ
สูตรตอนปลาย (ข้อ ๓๗๖-๓๗๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๗. ชาลิยสูตร] เรื่องนักบวช ๒ รูป

ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ ผู้มีอายุ
ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือ
ว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นทูลตอบว่า “ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน
ฯลฯ น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละ
หรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละ
อย่างกัน”
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นทูลตอบว่า “ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า
ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
[๓๘๐] ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ผู้มีอายุ
ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือ
ว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นทูลตอบว่า “ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ไม่ควรที่จะกล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ จึงไม่กล่าวว่า ชีวะ
กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้น มีใจยินดีต่างชื่นชม
ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

ชาลิยสูตรที่ ๗ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร] เรื่องอเจลกัสสปะ

๘. มหาสีหนาทสูตร
ว่าด้วยการบันลืออย่างองอาจดังพญาราชสีห์

เรื่องอเจลกัสสปะ

[๓๘๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กัณณกถล มฤคทายวัน เขตเมือง
อุชุญญา ครั้งนั้น อเจลกัสสปะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค สนทนากับพระองค์พอคุ้น
เคยแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควรแล้ว ทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ได้ยินมาว่า
‘พระสมณโคดมทรงตำหนิตบะทุกชนิด ทรงคัดค้านและชี้โทษผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่า
เป็นผู้มีอาชีวะเศร้าหมองโดยส่วนเดียว’ สมณพราหมณ์ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระ
สมณโคดมทรงตำหนิตบะทุกชนิด ทรงคัดค้านและชี้โทษผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่าเป็น
ผู้มีอาชีวะเศร้าหมองโดยส่วนเดียว’ ชื่อว่าพูดตรงตามที่ท่านพระโคดมตรัสไว้ ไม่
ชื่อว่ากล่าวตู่ท่านพระโคดมด้วยคำเท็จหรือ ชื่อว่าเป็นผู้พูดอย่างสมเหตุสมผลหรือ
ไม่มีบ้างหรือที่คำเล่าลืออันชอบธรรมนั้นจะเป็นเหตุที่ควรตำหนิได้ เพราะพวก
ข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่ท่านพระโคดมเลย”
[๓๘๒] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “กัสสปะ สมณพราหมณ์ที่กล่าวว่า
‘พระสมณโคดมทรงตำหนิตบะทุกชนิด ทรงคัดค้านและชี้โทษผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่า
เป็นผู้มีอาชีวะเศร้าหมองโดยส่วนเดียว’ ไม่ถือว่าพูดตรงตามที่เราพูด ทั้งไม่ถือว่า
กล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ ด้วยอาศัยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เราจึงเห็นบุคคลผู้
บำเพ็ญตบะบางคนในโลกนี้มีอาชีวะเศร้าหมอง หลังจากตายแล้ว ไปบังเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรกก็มี ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ก็มี
[๓๘๓] ด้วยอาศัยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ เราเห็นบุคคลผู้บำเพ็ญ
ตบะบางคนในโลกนี้อยู่เป็นทุกข์เพราะบุญน้อย หลังจากตายแล้วไปบังเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรกก็มี ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ก็มี เรารู้การมา การไป การจุติ
และการบังเกิดของคนเหล่านั้นตามความเป็นจริงอย่างนี้ ไฉนเราจักตำหนิตบะ
ทุกชนิด หรือคัดค้านและชี้โทษผู้บำเพ็ญตบะทั้งปวงว่า เป็นผู้มีอาชีวะเศร้าหมองโดย
ส่วนเดียวเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการไล่เลียงสอบสวน

[๓๘๔] กัสสปะ มีสมณพราหมณ์บางพวกเป็นบัณฑิต ทรงภูมิปัญญา มักโต้
แย้ง มีท่าทางดังขมังธนู พวกเขาดูเหมือนจะกำจัดทิฏฐิได้ด้วยปัญญา สมณพราหมณ์
เหล่านั้นมีทรรศนะตรงกับเราในบางเรื่อง ไม่ตรงกันกับเราในบางเรื่อง บางประเด็นที่
พวกเขาว่าดี แม้เราก็ว่าดี บางประเด็นที่พวกเขาว่าไม่ดี แม้เราก็ว่าไม่ดี บางประเด็น
ที่พวกเขาว่าดี แต่เราว่าไม่ดี บางประเด็นที่พวกเขาว่าไม่ดี แต่เราว่าดี
บางประเด็นที่เราว่าดี สมณพราหมณ์พวกอื่นก็ว่าดี บางประเด็นที่เราว่าไม่ดี
สมณพราหมณ์พวกอื่นก็ว่าไม่ดี บางประเด็นที่เราว่าดี สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับ
ว่าไม่ดี บางประเด็นที่เราว่าไม่ดี สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับว่าดี

ว่าด้วยการไล่เลียงสอบสวน

[๓๘๕] กัสสปะ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า
‘ผู้มีอายุ เรื่องที่ทำให้พวกเรามีวัตรปฏิบัติไม่ตรงกันจงงดไว้ แต่ในเรื่องที่ตรงกัน
วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวน เปรียบเทียบศาสดากับศาสดา หมู่สาวกกับหมู่สาวก
ว่า ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็นอกุศลก็จัดว่าเป็นอกุศล ที่มีโทษก็จัดว่ามีโทษ
ที่ไม่ควรเสพก็จัดว่าไม่ควรเสพ ที่ไม่ประเสริฐก็จัดว่าไม่ประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายชั่วก็
จัดว่าเป็นฝ่ายชั่ว ใครเล่าที่ละธรรมเหล่านี้ได้เด็ดขาด พระสมณโคดมหรือว่า
คณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’
[๓๘๖] กัสสปะ เป็นไปได้ที่วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนจะพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็นอกุศลก็จัดว่าเป็นอกุศล ที่มีโทษก็จัดว่า
มีโทษ ที่ไม่ควรเสพก็จัดว่าไม่ควรเสพ ที่ไม่ประเสริฐก็จัดว่าไม่ประเสริฐ และที่เป็น
ฝ่ายชั่วก็จัดว่าเป็นฝ่ายชั่ว พระสมณโคดมละธรรมเหล่านี้ได้เด็ดขาด หรือว่า
คณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’ ในเรื่องนั้นวิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวน
อย่างนี้ โดยมากจะสรรเสริญพวกเราฝ่ายเดียวเท่านั้น
[๓๘๗] ยังมีอีก กัสสปะ วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนพวกเรา เปรียบ
เทียบศาสดากับศาสดา หมู่สาวกกับหมู่สาวกว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็น
กุศลก็จัดว่าเป็นกุศล ที่ไม่มีโทษก็จัดว่าไม่มีโทษ ที่ควรเสพก็จัดว่าควรเสพ ที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการไล่เลียงสอบสวน

ประเสริฐก็จัดว่าประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายดีก็จัดว่าเป็นฝ่ายดี ใครเล่าที่สมาทาน
ประพฤติธรรมเหล่านี้ได้ครบถ้วน พระสมณโคดมหรือว่าคณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่น
กันแน่’
[๓๘๘] กัสสปะ เป็นไปได้ที่วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนจะพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็นกุศลก็จัดว่าเป็นกุศล ที่ไม่มีโทษก็จัดว่า
ไม่มีโทษ ที่ควรเสพก็จัดว่าควรเสพ ที่ประเสริฐก็จัดว่าประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายดีก็จัด
ว่าเป็นฝ่ายดี พระสมณโคดมสมาทานประพฤติธรรมเหล่านี้ได้ครบถ้วน หรือว่า
คณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’ ในเรื่องนั้น วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวน
อย่างนี้ โดยมากจะสรรเสริญพวกเราฝ่ายเดียวเท่านั้น
[๓๘๙] ยังมีอีก กัสสปะ วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนพวกเรา เปรียบ
เทียบศาสดากับศาสดา หมู่สาวกกับหมู่สาวกว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็น
อกุศลก็จัดว่าเป็นอกุศล ที่มีโทษก็จัดว่ามีโทษ ที่ไม่ควรเสพก็จัดว่าไม่ควรเสพ ที่ไม่
ประเสริฐ ก็จัดว่าไม่ประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายชั่วก็จัดว่าเป็นฝ่ายชั่ว ใครเล่าที่ละธรรม
เหล่านี้ได้เด็ดขาด หมู่สาวกของพระสมณโคดมหรือว่าหมู่สาวกของคณาจารย์ผู้
เจริญเหล่าอื่นกันแน่’
[๓๙๐] กัสสปะ เป็นไปได้ที่วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนจะพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็นอกุศลก็จัดว่าเป็นอกุศล ที่มีโทษก็จัดว่า
มีโทษ ที่ไม่ควรเสพก็จัดว่าไม่ควรเสพ ที่ไม่ประเสริฐก็จัดว่าไม่ประเสริฐ และที่เป็น
ฝ่ายชั่วก็จัดว่าเป็นฝ่ายชั่ว หมู่สาวกของพระสมณโคดมละธรรมเหล่านี้ได้เด็ดขาด
หรือว่าหมู่สาวกของคณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’ ในเรื่องนั้น วิญญูชนเมื่อซักไซ้
ไล่เลียงสอบสวนอย่างนี้ โดยมากจะสรรเสริญพวกเราฝ่ายเดียวเท่านั้น
[๓๙๑] ยังมีอีก กัสสปะ วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนพวกเรา เปรียบ
เทียบศาสดากับศาสดา หมู่สาวกกับหมู่สาวกว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็น
กุศลก็จัดว่าเป็นกุศล ที่ไม่มีโทษก็จัดว่าไม่มีโทษ ที่ควรเสพก็จัดว่าควรเสพ ที่
ประเสริฐก็จัดว่าประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายดีก็จัดว่าเป็นฝ่ายดี ใครเล่าที่สมาทาน
ประพฤติธรรมเหล่านี้ได้ครบถ้วน หมู่สาวกของพระสมณโคดมหรือว่าหมู่สาวกของ
คณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะ

[๓๙๒] กัสสปะ เป็นไปได้ที่วิญญูชนเมื่อซักไซ้ไล่เลียงสอบสวนจะพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ธรรมของท่านเหล่านี้ส่วนใดที่เป็นกุศลก็จัดว่าเป็นกุศล ที่ไม่มีโทษก็จัดว่า
ไม่มีโทษ ที่ควรเสพก็จัดว่าควรเสพ ที่ประเสริฐก็จัดว่าประเสริฐ และที่เป็นฝ่ายดีก็จัด
ว่าเป็นฝ่ายดี หมู่สาวกของพระสมณโคดมสมาทานประพฤติธรรมเหล่านี้ได้ครบถ้วน
หรือว่าหมู่สาวกของคณาจารย์ผู้เจริญเหล่าอื่นกันแน่’ ในเรื่องนั้น วิญญูชนเมื่อซักไซ้
ไล่เลียงสอบสวนอย่างนี้ โดยมากจะสรรเสริญพวกเราฝ่ายเดียวเท่านั้น

อริยมรรคมีองค์ ๘

[๓๙๓] กัสสปะ มีทาง มีข้อปฏิบัติ ที่ผู้ปฏิบัติตามจะรู้เองเห็นเองว่า ‘พระ
สมณโคดมตรัสถูกเวลา ตรัสคำจริง ตรัสอิงประโยชน์ ตรัสอิงธรรม ตรัสอิงวินัย’
กัสสปะ อะไรคือทาง อะไรคือข้อปฏิบัติ ที่ผู้ปฏิบัติตามจะรู้เองเห็นเองว่า ‘พระ
สมณโคดมตรัสถูกเวลา ตรัสคำจริง ตรัสอิงประโยชน์ ตรัสอิงธรรม ตรัสอิงวินัย’
มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐเหล่านี้คือ สัมมาทิฏฐิ(เห็นชอบ), สัมมาสังกัปปะ(ดำริ
ชอบ), สัมมาวาจา(เจรจาชอบ), สัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ), สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพ
ชอบ), สัมมาวายามะ(พยายามชอบ), สัมมาสติ(ระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ(ตั้งจิต
มั่นชอบ) กัสสปะ นี้แลคือทาง คือข้อปฏิบัติที่ผู้ปฏิบัติตามจะรู้เองเห็นเองว่า พระ
สมณโคดมตรัสถูกเวลา ตรัสคำจริง ตรัสอิงประโยชน์ ตรัสอิงธรรม ตรัสอิงวินัย”

ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะ

[๓๙๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ อเจลกัสสปะกราบทูลว่า “ท่านพระ
โคดม การบำเพ็ญตบะที่นับว่าเป็นสามัญคุณ๑ และเป็นพรหมัญคุณ๒ ของ
สมณพราหมณ์แม้เหล่านี้ คือ เป็นอเจลก(ประพฤติเปลือยกาย) ไม่มีมารยาท
เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับ
อาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำเจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับ

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึง สมณกรรม ได้แก่การบำเพ็ญตบะ อันเป็นสิ่งที่ทำให้ความเป็นสมณะสมบูรณ์ ตามความเข้าใจ
ของคนยุคนั้น (ที.สี.อ. ๓๙๔/๒๙๒)
๒ หมายถึง พราหมณกรรม ได้แก่ข้อปฏิบัติที่ทำให้เป็นพราหมณ์โดยสมบูรณ์ ตามความเข้าใจของคนยุค
นั้น (ที.สี.อ. ๓๙๔/๒๙๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะ

อาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่
รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลัง
บริโภค ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับอาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่
รับอาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่
เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่
ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง รับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว
รับอาหารในเรือน ๒ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยัง
ชีพด้วยข้าว ๗ คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๑ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาด
น้อย ๒ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๗ ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน
กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ วัน กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือ๑การบริโภค
อาหาร ๑๕ วันต่อ ๑ มื้อ
[๓๙๕] การบำเพ็ญตบะที่นับว่าเป็นสามัญคุณและพรหมัญคุณของสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้น คือ กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือย
เป็นอาหาร กินกากข้าวเป็นอาหาร กินยางเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กิน
รำเป็นอาหาร กินข้าวตังเป็นอาหาร กินกำยานเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กิน
โคมัยเป็นอาหาร กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพ
[๓๙๖] การบำเพ็ญตบะที่นับว่าเป็นสามัญคุณและพรหมัญคุณของสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้น คือ นุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่ม
ผ้าบังสุกุล นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ นุ่งห่มหนังเสือ นุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ นุ่งห่มผ้า
คากรอง๒ นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรอง นุ่งห่มผ้าผลไม้กรอง นุ่งห่มผ้ากัมพลผมมนุษย์
นุ่งห่มผ้ากัมพลขนสัตว์ นุ่งห่มผ้าขนปีกนกเค้า ถอนผมและหนวด คือ ถือการถอน
ผมและหนวด ยืนอย่างเดียวไม่ยอมนั่ง เดินกระโหย่ง คือ ถือการเดินกระโหย่ง
(เหยียบพื้นไม่เต็มเท้า) นอนบนหนาม นอนบนแผ่นกระดาน นอนบนเนินดิน นอน
ตะแคงข้างเดียว เอาฝุ่นคลุกตัว อยู่กลางแจ้ง นั่งบนอาสนะตามที่ปูไว้ บริโภคคูถ
คือ ถือการบริโภคคูถ ไม่ดื่มน้ำเย็น คือถือการไม่ดื่มน้ำเย็น อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง
คือถือการลงอาบน้ำ”

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ถือ ในที่นี้ แปลจากบาลีว่า อนุโยคมนุยุตฺต ซึ่งหมายถึง การยึดมั่นในวัตรปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง
๒ ผ้าที่ถักทอด้วยหญ้าคา เป็นผ้าที่พวกฤๅษีใช้นุ่งห่ม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะที่ไร้ประโยชน์

ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะที่ไร้ประโยชน์

[๓๙๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นอเจลก
ไม่มีมารยาท เลียมือ ฯลฯ ถือการบริโภคอาหาร ๑๕ วันต่อ ๑ มื้อเช่นนี้ สีล-
สัมปทา จิตสัมปทา หรือปัญญาสัมปทาก็ยังไม่เป็นอันสมณพราหมณ์นั้นอบรมทำ
ให้แจ้ง ที่แท้ เขายังห่างไกลจากสามัญคุณและพรหมัญคุณ ต่อเมื่อภิกษุเจริญเมตตา
จิตอันไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียน ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุนี้เราเรียกว่า
สมณะบ้าง ว่าพราหมณ์๑ บ้าง
แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นผู้กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร
ฯลฯ กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินผลไม้หล่นยังชีพ สีลสัมปทา จิตสัมปทา
หรือปัญญาสัมปทาก็ยังไม่เป็นอันสมณพราหมณ์นั้นอบรมทำให้แจ้ง ที่แท้ เขายัง
ห่างไกลจากสามัญคุณและพรหมัญคุณ ต่อเมื่อภิกษุเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวรไม่มี
ความเบียดเบียน ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้น
ไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุนี้เราเรียกว่าสมณะบ้าง ว่า
พราหมณ์บ้าง
แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นผู้นุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน ฯลฯ อาบน้ำวัน
ละ ๓ ครั้ง คือถือการลงอาบน้ำ สีลสัมปทา จิตสัมปทา หรือปัญญาสัมปทาก็ยังไม่
เป็นอันสมณพราหมณ์นั้นอบรมทำให้แจ้ง ที่แท้ เขายังห่างไกลจากสามัญคุณและ
พรหมัญคุณ ต่อเมื่อภิกษุเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียน ทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุนี้เราเรียกว่าสมณะบ้าง ว่าพราหมณ์บ้าง”
[๓๙๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ อเจลกัสสปะกราบทูลว่า “ท่าน
พระโคดม สามัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก พรหมัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ข้อที่สามัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก พรหมัญคุณเป็น
กิจที่ทำได้ยากเป็นเรื่องปกติในโลก แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นอเจลก ไม่มีมารยาท

เชิงอรรถ :
๑ พราหมณ์ ในที่นี้ หมายถึงพระอรหันต์ผู้สิ้นอาสวกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะที่ไร้ประโยชน์

เลียมือ ฯลฯ ถือการบริโภคอาหาร ๑๕ วันต่อ ๑ มื้อเช่นนี้ ถ้าสามัญคุณหรือ
พรหมัญคุณ ซึ่งถือว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากแสนยากจักมีได้ด้วยการปฏิบัติเล็ก ๆ
น้อย ๆ และด้วยการบำเพ็ญตบะดังกล่าวนี้แล้ว ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า ‘สามัญคุณเป็น
กิจที่ทำได้ยาก พรหมัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก’
เพราะคหบดีหรือบุตรคหบดีแม้กระทั่งนางกุมภทาสีก็อาจจะทำสามัญคุณ
และพรหมัญคุณนั้นได้ด้วยกล่าวว่า ‘เอาเถอะ เราจะเป็นอเจลก ไม่มีมารยาท เลีย
มือ ฯลฯ ถือการบริโภคอาหาร ๑๕ วันต่อ ๑ มื้อเช่นนี้’
เพราะสามัญคุณหรือพรหมัญคุณจักได้ชื่อว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากแสนยาก ก็ต่อ
เมื่อได้เว้นจากการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และจากการบำเพ็ญตบะเช่นนี้ ฉะนั้นจึง
ควรกล่าวว่า ‘สามัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก พรหมัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก’ หาก
ภิกษุเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียน ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา
วิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุนี้เราเรียกว่าสมณะบ้าง ว่าพราหมณ์บ้าง
แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นผู้กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร
ฯลฯ กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินผลไม้หล่นยังชีพ ถ้าสามัญคุณหรือ
พรหมัญคุณ ซึ่งถือว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากแสนยาก จักมีได้ด้วยการปฏิบัติเล็ก ๆ
น้อย ๆ และด้วยการบำเพ็ญตบะดังกล่าวนี้แล้ว ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า ‘สามัญคุณเป็น
กิจที่ทำได้ยาก พรหมัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก’
เพราะคหบดีหรือบุตรคหบดี แม้กระทั่งนางกุมภทาสีก็อาจจะทำสามัญคุณ
และพรหมัญคุณนั้นได้ด้วยกล่าวว่า ‘เอาเถอะ เราจะกินผักดองเป็นอาหาร กิน
ข้าวฟ่างเป็นอาหาร ฯลฯ กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินผลไม้หล่นยังชีพ’
เพราะสามัญคุณหรือพรหมัญคุณจักได้ชื่อว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากแสนยาก ก็ต่อ
เมื่อได้เว้นจากการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และจากการบำเพ็ญตบะเช่นนี้ ฉะนั้นจึง
ควรกล่าวว่า ‘สามัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก พรหมัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก’ หาก
ภิกษุเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียน ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา
วิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุนี้เราเรียกว่าสมณะบ้าง ว่าพราหมณ์บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะที่ไร้ประโยชน์

แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นผู้นุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน ฯลฯ อาบน้ำวัน
ละ ๓ ครั้ง คือถือการลงอาบน้ำ ถ้าสามัญคุณหรือพรหมัญคุณซึ่งถือว่าเป็นกิจที่ทำ
ได้ยากแสนยาก จักมีได้ด้วยการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และด้วยการบำเพ็ญตบะ
ดังกล่าวนี้แล้ว ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า ‘สามัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก พรหมัญคุณเป็น
กิจที่ทำได้ยาก’
เพราะคหบดีหรือบุตรคหบดี แม้กระทั่งนางกุมภทาสี ก็อาจจะทำสามัญคุณ
และพรหมัญคุณนั้นได้ด้วยกล่าวว่า ‘เอาเถอะ เราจะนุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้า
แกมกัน ฯลฯ อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง คือถือการลงอาบน้ำ’
เพราะสามัญคุณหรือพรหมัญคุณจักได้ชื่อว่าเป็นกิจที่ทำได้ยากแสนยาก ก็ต่อ
เมื่อได้เว้นจากการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และจากการบำเพ็ญตบะเช่นนี้ ฉะนั้นจึง
ควรกล่าวว่า ‘สามัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก พรหมัญคุณเป็นกิจที่ทำได้ยาก’ หาก
ภิกษุเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา
วิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ภิกษุนี้เราเรียกว่าสมณะบ้าง ว่าพราหมณ์บ้าง”
[๓๙๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ อเจลกัสสปะกราบทูลว่า “ท่าน
พระโคดม สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ข้อที่สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์เป็นผู้ที่รู้ได้
ยากเป็นเรื่องปกติในโลก แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นอเจลก ไม่มีมารยาท เลียมือ
ฯลฯ ถือการบริโภคอาหาร ๑๕ วันต่อ ๑ มื้อเช่นนี้ ถ้าสมณะหรือพราหมณ์ซึ่งถือ
ว่าเป็นผู้ที่รู้ได้ยากแสนยากจักมีได้ด้วยการปฏิบัติเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ และด้วยการ
บำเพ็ญตบะดังกล่าวนี้แล้ว ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า ‘สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์
เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก’
เพราะคหบดีหรือบุตรคหบดีแม้กระทั่งนางกุมภทาสีก็อาจรู้จักสมณะและ
พราหมณ์นั้นได้ด้วยกล่าวว่า ‘ผู้นี้เป็นอเจลก ไม่มีมารยาท เลียมือ ฯลฯ ถือการ
บริโภคอาหาร ๑๕ วันต่อ ๑ มื้อเช่นนี้’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการหลีกบาปด้วยตบะที่ไร้ประโยชน์

เพราะสมณะหรือพราหมณ์จักได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รู้ได้ยากแสนยาก ก็ต่อเมื่อได้เว้น
จากการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และจากการบำเพ็ญตบะเช่นนี้ ฉะนั้นจึงควรกล่าวว่า
‘สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก’ หากภิกษุเจริญเมตตาจิตอันไม่
มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะ
อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุนี้เราเรียกว่า สมณะ
บ้าง ว่าพราหมณ์บ้าง
แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นผู้กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร
ฯลฯ กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินผลไม้หล่นยังชีพ ถ้าสมณะหรือพราหมณ์
ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่รู้ได้ยากแสนยากจักมีได้ด้วยการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และด้วยการ
บำเพ็ญตบะดังกล่าวนี้แล้ว ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า ‘สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์
เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก’
เพราะคหบดีหรือบุตรคหบดีแม้กระทั่งนางกุมภทาสีก็อาจรู้จักสมณะและ
พราหมณ์นั้นได้ด้วยกล่าวว่า ‘ผู้นี้กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร
ฯลฯ กินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินผลไม้หล่นยังชีพ’
เพราะสมณะหรือพราหมณ์จักได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รู้ได้ยากแสนยาก ก็ต่อเมื่อได้เว้น
จากการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และจากการบำเพ็ญตบะเช่นนี้ ฉะนั้นจึงควรกล่าวว่า
‘สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก’ หากภิกษุเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร
ไม่มีความเบียดเบียน ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะ
อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุนี้เราเรียกว่าสมณะ
บ้าง ว่าพราหมณ์บ้าง
แม้ถ้าสมณพราหมณ์เป็นผู้นุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน ฯลฯ อาบน้ำ
วันละ ๓ ครั้ง คือถือการลงอาบน้ำ ถ้าสมณะหรือพราหมณ์ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก
แสนยาก จักมีได้ด้วยการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และด้วยการบำเพ็ญตบะดังกล่าวนี้
แล้ว ก็ไม่ควรจะกล่าวว่า ‘สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ความสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นต้น

เพราะคหบดีหรือบุตรคหบดีแม้กระทั่งนางกุมภทาสีก็อาจรู้จักสมณะและ
พราหมณ์นั้นได้ด้วยกล่าวว่า ‘ผู้นี้นุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน ฯลฯ อาบน้ำ
วันละ ๓ ครั้ง คือถือการลงอาบน้ำ’
เพราะสมณะหรือพราหมณ์จักได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รู้ได้ยากแสนยาก ก็ต่อเมื่อได้เว้น
จากการปฏิบัติเล็ก ๆ น้อย ๆ และจากการบำเพ็ญตบะเช่นนี้ ฉะนั้นจึงควรกล่าวว่า
‘สมณะเป็นผู้ที่รู้ได้ยาก พราหมณ์เป็นผู้ที่รู้ได้ยาก’ หากภิกษุเจริญเมตตาจิตอัน
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ทำให้รู้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุนี้เราเรียกว่า
สมณะบ้าง ว่าพราหมณ์บ้าง”

ความสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นต้น

[๔๐๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ อเจลกัสสปะทูลถามว่า “ท่านพระ
โคดม สีลสัมปทานั้นเป็นอย่างไร จิตสัมปทานั้นเป็นอย่างไร ปัญญาสัมปทานั้นเป็น
อย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “กัสสปะ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันเป็นกุศล มี
อาชีวะบริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย สมบูรณ์ด้วย
สติสัมปชัญญะ(และ)เป็นผู้สันโดษ
[๔๐๑] ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละ
เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู
มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ข้อนี้จัดเป็นสีลสัมปทาของภิกษุอย่างหนึ่ง ฯลฯ
ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยอันตรายจากการสำรวมในศีล
เลย เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกเป็นพระราชา กำจัดข้าศึกได้แล้ว ย่อม
ไม่ประสบภัยอันตรายจากข้าศึกเลย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยอริยสีลขันธ์อย่างนี้ ย่อม
เสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน กัสสปะ ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล นี้
แลเป็นสีลสัมปทา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยทรงบันลืออย่างองอาจดังพญาราชสีห์

ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุ
จตุตถฌานอยู่ นี้แลเป็นจิตสัมปทา
เมื่อมีจิตเป็นสมาธิอย่างนี้ ฯลฯ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ๑ รู้ชัด
ว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป นี้แลเป็นปัญญาสัมปทา
กัสสปะ สีลสัมปทา จิตสัมปทา และปัญญาสัมปทาอย่างอื่นที่ยอดเยี่ยม
กว่าและประณีตกว่าสีลสัมปทา จิตสัมปทา และปัญญาสัมปทานี้ไม่มีอีกแล้ว

ว่าด้วยทรงบันลืออย่างองอาจดังพญาราชสีห์

[๔๐๒] กัสสปะ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งพูดเรื่องศีล กล่าวสรรเสริญศีล
มากมาย ศีลอันยอดเยี่ยมมีเท่าไร เรายังไม่เห็นผู้จะทัดเทียมเราได้ในเรื่องนั้น จะไป
หาผู้ที่ยิ่งกว่าเราจากไหนเล่า ที่แท้ เราผู้เดียวเป็นผู้ล้ำเลิศในศีลอันยอดเยี่ยม คือ
อธิศีล
กัสสปะ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งพูดเรื่องตบะที่กีดกันกิเลส กล่าวสรรเสริญ
ตบะที่กีดกันกิเลสมากมาย ตบะที่กีดกันกิเลสอย่างยอดเยี่ยมมีเท่าไร เรายังไม่เห็น
ผู้จะทัดเทียมเราได้ในเรื่องนั้น จะไปหาผู้ที่ยิ่งกว่าเราจากไหนเล่า ที่แท้ เราผู้เดียว
เป็นผู้ล้ำเลิศในตบะที่กีดกันกิเลสอันยอดเยี่ยม คืออธิเชคุจฉะ
กัสสปะ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งพูดเรื่องปัญญา กล่าวสรรเสริญปัญญาไว้
มากมาย ปัญญาอันยอดเยี่ยมมีเท่าไร เรายังไม่เห็นผู้จะทัดเทียมเราได้ในเรื่องนั้น
จะไปหาผู้ที่ยิ่งกว่าเราจากไหนเล่า ที่แท้ เราผู้เดียวเป็นผู้ล้ำเลิศในปัญญาอันยอด
เยี่ยม คืออธิปัญญา
กัสสปะ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งพูดเรื่องความหลุดพ้น กล่าวสรรเสริญ
ความหลุดพ้นไว้มากมาย ความหลุดพ้นอันยอดเยี่ยมมีเท่าไร เรายังไม่เห็นผู้จะ
ทัดเทียมเราได้ในเรื่องนั้น จะไปหาผู้ที่ยิ่งกว่าเราจากไหนเล่า ที่แท้ เราผู้เดียวเป็นผู้
ล้ำเลิศในเรื่องความหลุดพ้น คืออธิวิมุตติ

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๔๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยทรงบันลืออย่างองอาจดังพญาราชสีห์

[๔๐๓] กัสสปะ เป็นไปได้ที่พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์จะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระ
สมณโคดมทรงบันลือสีหนาท๑ แต่ทรงบันลือในเรือนว่างเท่านั้น ไม่ทรงบันลือใน
บริษัท๒เลย’ ท่านพึงบอกพวกเขาว่า ‘พวกท่านอย่ากล่าวอย่างนั้น พระสมณโคดม
ทรงบันลือสีหนาทและทรงบันลือในบริษัทด้วย’
กัสสปะ เป็นไปได้ที่พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์จะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณ-
โคดมทรงบันลือสีหนาทและทรงบันลือในบริษัท แต่ไม่ทรงบันลืออย่างองอาจ’ ท่าน
พึงบอกพวกเขาว่า ‘พวกท่านอย่ากล่าวอย่างนั้น พระสมณโคดมทรงบันลือสีหนาท
และทรงบันลือในบริษัท พร้อมทั้งทรงบันลืออย่างองอาจด้วย’
กัสสปะ เป็นไปได้ที่พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์จะกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณ-
โคดมทรงบันลือสีหนาทและทรงบันลือในบริษัท พร้อมทั้งทรงบันลืออย่างองอาจ
แต่เทวดาและมนุษย์ไม่ได้ทูลถามปัญหา ฯลฯ และเทวดาและมนุษย์ทูลถามปัญหา
แต่พระองค์ก็ทรงตอบไม่ได้ ฯลฯ และพระองค์ทรงตอบได้ แต่ก็ทำให้ผู้ถามพอใจไม่ได้
ฯลฯ และพระองค์ทรงทำให้ผู้ถามพอใจได้ แต่พวกเขาก็ไม่สนใจฟัง ฯลฯ และพวก
เขาสนใจฟัง แต่ก็ไม่เลื่อมใส ฯลฯ และพวกเขาเลื่อมใสแต่ก็ไม่แสดงออก ฯลฯ และ
พวกเขาแสดงออก แต่ก็ไม่ปฏิบัติตาม ฯลฯ และพวกเขาปฏิบัติตาม แต่ก็ไม่ชื่นชม
ยินดี’ ท่านพึงบอกพวกเขาว่า ‘พวกท่านอย่ากล่าวอย่างนั้น พระสมณโคดมทรง
บันลือสีหนาท ทรงบันลือในบริษัทและทรงบันลืออย่างองอาจ เทวดาและมนุษย์พา
กันทูลถามปัญหา พระองค์ทรงตอบได้ พระองค์ทรงทำให้ผู้ถามพอใจได้ พวกเขาก็
สนใจฟัง ฟังแล้วก็เลื่อมใส เลื่อมใสแล้วก็แสดงออก แสดงออกแล้วก็ปฏิบัติตาม
เมื่อปฏิบัติตามต่างก็ชื่นชมยินดี’

เชิงอรรถ :
๑ ทรงบันลือสีหนาท หมายถึง คำพูดที่ตรัสด้วยท่าทีองอาจดังพญาราชสีห์ ไม่ทรงหวั่นเกรงผู้ใด เพราะทรง
มั่นพระทัยในศีล สมาธิ ปัญญาของพระองค์ (ที.สี.ฏีกา ๑/๔๐๓/๔๓๒)
๒ บริษัท ในที่นี้หมายถึง กลุ่มของบุคคลหลายสถานะที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อต้องการจะฟังพระธรรม-
เทศนา มี ๘ กลุ่มคือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัท สมณบริษัท จาตุมหาราชิกาบริษัท
ตาวติงสบริษัท มารบริษัท และพรหมบริษัท (ม.มู. ๑๒/๑๕๑/๑๑๒, ที.สี.อ. ๔๐๓/๒๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการอยู่ปริวาสของเดียรถีย์

ว่าด้วยการอยู่ปริวาสของเดียรถีย์

[๔๐๔] กัสสปะ ครั้งหนึ่งเราอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ เพื่อน
พรหมจารีคนหนึ่งของท่านในกรุงราชคฤห์ชื่อนิโครธปริพาชก ได้ถามปัญหาเรื่อง
ตบะที่กีดกันกิเลสอย่างยอดเยี่ยม เมื่อเราตอบคำถาม เขาก็ปลื้มใจเป็นอย่างมาก”
อเจลกัสสปะทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีใครเล่าที่ฟังธรรมของพระผู้มี
พระภาคแล้วจะไม่ปลื้มใจ แม้ข้าพระองค์ได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเองแล้วก็ยัง
ปลื้มใจเป็นอย่างมาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคล
หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดย
ตั้งใจว่า ผู้มีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม
และพระสงฆ์เป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้
อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”
[๔๐๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “กัสสปะ ผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ประสงค์จะ
บรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาส๑ ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือน
ล่วงไปแล้ว เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ อนึ่ง ในเรื่องนี้เรา
คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย”
เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากผู้เคยเป็นอัญเดียรถีย์ประสงค์จะ
บรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน หลังจาก ๔ เดือน
ล่วงไปแล้ว เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุ ข้าพระองค์จักขออยู่
ปริวาส ๔ ปี หลังจาก ๔ ปีล่วงไปแล้ว เมื่อภิกษุพอใจก็จะให้บรรพชาอุปสมบทเป็น
ภิกษุ”

เชิงอรรถ :
๑ ปริวาสในพระสูตรนี้เรียกว่า ติตถิยปริวาส ได้แก่ ข้อบังคับนักบวชนอกพระพุทธศาสนาที่หันมาเลื่อมใส
พระธรรมวินัยแล้วประสงค์จะบวชเป็นภิกษุ ให้ขอปริวาสต่อสงฆ์ แล้วดำรงตนอย่างสามเณรครบ ๔ เดือน
จนสงฆ์พอใจจึงจะขออุปสมบทเป็นภิกษุได้ (ที.สี.อ. ๔๐๕/๒๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๘.มหาสีหนาทสูตร]
ว่าด้วยการอยู่ปริวาสของเดียรถีย์

อเจลกัสสปะได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค เมื่อบวชแล้ว
ไม่นาน จากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มุ่งมั่นพระนิพพานอยู่ ไม่นาน
นักก็ทำให้แจ้งที่สุดแห่งพรหมจรรย์๑ อันยอดเยี่ยม ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือน
ไปบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า
‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๒ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
จึงเป็นอันว่า ท่านพระกัสสปะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระ
อรหันต์ทั้งหลาย

มหาสีหนาทสูตรที่ ๘ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
เรื่องโปฏฐปาทปริพาชก

๙. โปฏฐปาทสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อโปฏฐปาทะ

เรื่องโปฏฐปาทปริพาชก

[๔๐๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ในสมัยนั้น โปฏฐปาทปริพาชกพร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่
ใหญ่ประมาณ ๓,๐๐๐ รูป พักอยู่ในพระราชอุทยานของพระนางมัลลิกา ชื่อเอกสาลกะ
ที่จัดไว้เพื่อเป็นที่ประกาศลัทธิ รายล้อมด้วยต้นมะพลับ เช้าวันนั้น พระผู้มีพระภาค
ทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปกรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต
[๔๐๗] พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า ‘ยังเช้าเกินไปที่จะเที่ยวบิณฑบาตในกรุง
สาวัตถี ทางที่ดี เราควรเข้าไปหาโปฏฐปาทปริพาชกในพระราชอุทยานของพระ
นางมัลลิกา ชื่อเอกสาลกะ ที่จัดไว้เพื่อเป็นที่ประกาศลัทธิ’ จึงเสด็จเข้าไปที่พระ
ราชอุทยานของพระนางมัลลิกาชื่อเอกสาลกะ ที่จัดไว้เพื่อเป็นที่ประกาศลัทธิ๑
[๔๐๘] เวลานั้น โปฏฐปาทปริพาชกกำลังนั่งสนทนาด้วยเสียงดังอื้ออึงอยู่กับ
ปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ถึงเดรัจฉานกถาต่าง ๆ คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่อง
มหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่อง
ที่นอน เรื่องพวงดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม
เรื่องเมืองหลวง เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่อง
ท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญ
และความเสื่อม

เชิงอรรถ :
๑ เหตุการณ์ในพระสูตรนี้บอกให้ทราบถึงสภาพทางสังคมในสมัยพุทธกาลอย่างหนึ่ง คือ สมัยนั้นคนชอบ
แสวงหาความรู้ ใครต้องการแสดงทรรศนะของตนก็สามารถไปแสดงในศาลาถกแถลงที่จัดไว้ อีกทั้ง
ยืนยันว่า การประกาศธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า มิใช่ว่าพระองค์จะทรงวางท่าทีเป็นปรปักษ์กับนักบวช
ต่างลัทธิ (ที.สี.อ. ๔๐๖/๓๐๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] ว่าด้วยอภิญญานิโรธ

[๔๐๙] โปฏฐปาทปริพาชกเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลจึงห้ามบริษัท
ของตนว่า “ท่านทั้งหลายโปรดเงียบหน่อย อย่าส่งเสียงอื้ออึง พระสมณโคดมกำลัง
เสด็จมา พระองค์โปรดเสียงเบา ตรัสสรรเสริญเสียงเบา บางทีเมื่อพระองค์ทรง
ทราบว่าบริษัทเสียงเบา อาจจะเสด็จเข้ามาก็ได้” เมื่อเขากล่าวอย่างนี้ ปริพาชก
เหล่านั้นจึงได้เงียบ
[๔๑๐] ทีนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาโปฏฐปาทปริพาชก โปฏฐปาท-
ปริพาชกจึงทูลเชิญว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้ามาเถิด
ขอรับเสด็จพระผู้มีพระภาค นาน ๆ พระองค์จะมีเวลาเสด็จมาที่นี่ ขอพระผู้มี
พระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ ส่วนโปฏฐปาทปริพาชกก็เลือกนั่ง
ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า “โปฏฐปาทะ เวลา
นี้พวกท่านนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พูดเรื่องอะไรค้างไว้”

ว่าด้วยอภิสัญญานิโรธ๑

[๔๑๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ โปฏฐปาทปริพาชกกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องที่พวกข้าพระองค์สนทนากันในวลานี้ของดไว้ก่อน เรื่อง
นี้พระองค์จะทรงสดับเมื่อใดก็ได้ในภายหลัง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อน ๆ พวก
สมณพราหมณ์ผู้มีลัทธิต่างกันได้มาชุมนุมกันที่ศาลาถกแถลง๒ ตั้งประเด็นสนทนา
กันเรื่องอภิสัญญานิโรธว่า ‘ท่านทั้งหลาย อภิสัญญานิโรธ คืออะไร’ ในบรรดา
สมณพราหมณ์เหล่านั้น บางพวกเสนอว่า ‘สัญญาของคนไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย เกิดดับ
ไปเอง เวลาที่เกิดสัญญา คนก็มีความจำ เมื่อสัญญาดับ คนก็จำอะไรไม่ได้’ พวก
หนึ่งเสนอประเด็นเรื่องอภิสัญญานิโรธไว้อย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ หัวข้อสนทนาว่าด้วยการดับของสัญญา ซึ่งในอรรถกถาแก้เป็นจิตตนิโรธหรือความดับจิต อันเป็นการดับ
ชั่วคราว (ที.สี.อ. ๔๑๑/๓๐๔-๓๐๕)
๒ ศัพท์บาลีว่า โกตุหลศาลา อรรถกถาแก้ว่า ไม่มีศาลาที่มีชื่ออย่างนี้โดยเฉพาะ แต่เป็นสถานที่
ที่สมณพราหมณ์ผู้เป็นเดียรถีย์ต่างพวกมาแสดงทรรศนะตามลัทธิของตน (ที.สี.อ. ๔๑๑/๓๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
ว่าด้วยสัญญามีเหตุมีปัจจัยเกิดดับ

สมณพราหมณ์อีกคนหนึ่งเสนอว่า ‘ท่านทั้งหลาย เรื่องนั้นไม่ถูก เพราะสัญญา
เป็นอัตตา(ตัวตน)ของคนที่เวียนเข้าเวียนออก เวลาที่สัญญาเป็นอัตตาเวียนเข้า คนก็
มีความจำ เมื่อสัญญาเป็นอัตตาเวียนออก คนก็จำอะไรไม่ได้’ พวกหนึ่งเสนอ
ประเด็นเรื่องอภิสัญญานิโรธไว้อย่างนี้
สมณพราหมณ์อีกคนหนึ่งเสนอว่า ‘ท่านทั้งหลาย เรื่องนั้นก็ไม่ถูก เพราะมี
สมณพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก สามารถบันดาลสัญญาของคนให้เข้าไป
หรือให้ออกไปก็ได้ เวลาที่บันดาลให้สัญญาเข้าไป คนก็มีความจำ เมื่อบันดาลให้สัญญา
ออกไป คนก็จำอะไรไม่ได้’ พวกหนึ่งเสนอประเด็นเรื่องอภิสัญญานิโรธไว้อย่างนี้
สมณพราหมณ์อีกคนหนึ่งเสนอว่า ‘ท่านทั้งหลาย เรื่องนั้นก็ไม่ถูก เพราะมี
เทวดาผู้มีฤทธิ์มากมีอานุภาพมาก สามารถบันดาลสัญญาของคนให้เข้าไปหรือให้ออก
ไปก็ได้ เวลาที่บันดาลให้สัญญาเข้าไป คนก็มีความจำ เมื่อบันดาลให้สัญญาออกไป
คนก็จำอะไรไม่ได้’ พวกหนึ่งเสนอประเด็นเรื่องอภิสัญญานิโรธไว้อย่างนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคว่า ‘ผู้ฉลาดในธรรม
เหล่านี้ ต้องเป็นพระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตเท่านั้น’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระ
ผู้มีพระภาคทรงฉลาดรอบรู้ในเรื่องอภิสัญญานิโรธนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อภิสัญญานิโรธเป็นอย่างไรหนอแล”

ว่าด้วยสัญญามีเหตุมีปัจจัยเกิดดับ

[๔๑๒] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ บรรดาสมณพราหมณ์
เหล่านั้น ความเห็นของพวกที่กล่าวว่า ‘สัญญาของคนไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยเกิดดับ
ไปเอง’ นั้นผิดตั้งแต่แรกทีเดียว เพราะเหตุไร เพราะสัญญาของคนมีเหตุมีปัจจัย
เกิดก็มี ดับก็มี สัญญาอย่างหนึ่งเกิดเพราะการศึกษา๑ก็มี สัญญาอีกอย่างหนึ่ง
ดับเพราะการศึกษาก็มี

เชิงอรรถ :
๑ สิกขา การศึกษา การสำเหนียก หรือข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรม มี ๓ อย่างคือ อธิสีลสิกขา (การ
ศึกษาอบรมในเรื่องศีล) อธิจิตตสิกขา (การศึกษาอบรมในเรื่องจิต เรียกง่าย ๆ ว่าสมาธิ) และอธิปัญญา-
สิกขา (การศึกษาอบรมในเรื่องปัญญา) เป็นเหตุใหัสัญญาดับและเกิดได้ เช่น พอจิตบรรลุปฐมฌาน
กามสัญญาก็ดับไป สัจสัญญาอันละเอียดมีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกก็เกิดขึ้นมาแทน (ที.สี.อ. ๔๑๓/๓๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
ว่าด้วยสัญญามีเหตุมีปัจจัยเกิดดับ

[๔๑๓] การศึกษาเป็นอย่างไร โปฏฐปาทะ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตร
มาใส่ไว้ที่นี้) ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ เมื่อภิกษุนั้นพิจารณา
เห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนละได้แล้ว ย่อมเกิดความเบิกบานใจ เมื่อเบิกบานใจก็ย่อมเกิดปีติ
เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบย่อมได้รับความสุข เมื่อมีความสุข จิตย่อม
ตั้งมั่น ภิกษุนั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก
วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ กามสัญญา (ความจำได้หมายรู้เรื่องกาม) ของ
เธอ ที่มีอยู่ก่อนจะดับไป สัจสัญญา๑อันละเอียดมีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกจะเกิด
ขึ้นแทน สัญญาอย่างหนึ่งเกิดเพราะการศึกษา สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการ
ศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง
ยังมีอีก โปฏฐปาทะ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความ
ผ่องใสในภายในมีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอัน
เกิดจากสมาธิอยู่ สัจสัญญาอันละเอียดมีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกที่มีอยู่ก่อนจะดับไป
สัจสัญญาอันละเอียดมีปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะเกิดขึ้นแทน สัญญาอย่างหนึ่ง
เกิดเพราะการศึกษา สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการ
ศึกษาอย่างหนึ่ง
ยังมีอีก โปฏฐปาทะ เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขามีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขามี
สติ อยู่เป็นสุข สัจสัญญาอันละเอียดมีปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิที่มีอยู่ก่อนจะดับไป
สัจสัญญาอันละเอียดมีสุขอันเกิดจากอุเบกขาจะเกิดขึ้นแทน สัญญาอย่างหนึ่งเกิด
เพราะการศึกษา สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการศึกษา
อย่างหนึ่ง
ยังมีอีก โปฏฐปาทะ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไป
ก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

เชิงอรรถ :
๑ สัจสัญญา คือความสำคัญหรือความรู้สึกว่ามีปีติและสุขเป็นต้น ที่ชื่อว่าสัจสัญญา เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
(ที.สี.อ. ๔๑๓/๓๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
ว่าด้วยสัญญามีเหตุมีปัจจัยเกิดดับ

สัจสัญญาอันละเอียดมีสุขอันเกิดจากอุเบกขาที่มีอยู่ก่อนจะดับไป สัจสัญญาอัน
ละเอียดที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขจะเกิดขึ้นแทน สัญญาอย่างหนึ่งเกิดเพราะการศึกษา
สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง
ยังมีอีก โปฏฐปาทะ ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน๑ โดยกำหนดว่า
อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญา
โดยประการทั้งปวง รูปสัญญาที่มีอยู่ก่อนจะดับไป สัจสัญญาอันละเอียดประกอบ
ด้วยอากาสานัญจายตนฌานจะเกิดขึ้นแทน ภิกษุนั้นมีสัจสัญญาอันละเอียดประกอบ
ด้วยอากาสานัญจายตนฌานในตอนนั้น สัญญาอย่างหนึ่งเกิดเพราะการศึกษา
สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง
ยังมีอีก โปฏฐปาทะ ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน๒ โดยกำหนดว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ สัจสัญญาอัน
ละเอียดประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌานที่มีอยู่ก่อนจะดับไป สัจสัญญา
อันละเอียดประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานจะเกิดขึ้นแทน ภิกษุนั้นมีสัจสัญญา
อันละเอียดประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานในตอนนั้น สัญญาอย่างหนึ่งเกิด
เพราะการศึกษา สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการศึกษา
อย่างหนึ่ง
ยังมีอีก โปฏฐปาทะ ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน๓ โดยกำหนดว่า ไม่มีอะไร สัจสัญญาอันละเอียด
ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌานที่มีอยู่ก่อนจะดับไป สัจสัญญาอันละเอียด
ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌานจะเกิดขึ้นแทน ภิกษุนั้นมีสัจสัญญาอันละเอียด
ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌานในตอนนั้น สัญญาอย่างหนึ่งเกิดเพราะการศึกษา
สัญญาอีกอย่างหนึ่งดับเพราะการศึกษาอย่างนี้ นี้จัดเป็นการศึกษาอย่างหนึ่ง

เชิงอรรถ :
๑ ฌานที่กำหนดอากาศคือช่องว่างอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นขั้นที่ ๑ ของอรูปฌา ๔
๒ ฌานที่กำหนดวิญญาณอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นขั้นที่ ๒ ของอรูปฌาน ๔
๓ ฌานที่กำหนดภาวะอันไม่มีอะไร (ความว่าง) เป็นอารมณ์ อากิญจัญญายตนฌาน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
สัญญัคคะ (ที่สุดแห่งสัญญา) เพราะเป็นภาวะสุดท้ายของการมีสัญญา กล่าวคือ ผู้บรรลุอากิญจัญ-
ญายตนฌานแล้ว ขั้นต่อไปจะเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ้าง เข้าถึงสัญญานิโรธบ้าง (ที.สี.อ.
๔๑๔/๓๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
ว่าด้วยสัญญามีเหตุมีปัจจัยเกิดดับ

[๔๑๔] โปฏฐปาทะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ที่ยังมีสกสัญญา๑ เธอออกจาก
ปฐมฌานเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานเข้าตติยฌาน จนถึงอากิญจัญญายตน-
ฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญาโดยลำดับ เมื่อเธออยู่ในอากิญจัญญายตนฌานอันเป็น
ที่สุดแห่งสัญญา เกิดความคิดขึ้นมาอย่างนี้ว่า ‘เมื่อเรายังคิดอยู่ไม่ดีเลย ไม่คิดเสียจะ
ดีกว่า ถ้าเรายังคิดยังคำนึง สัญญาเหล่านี้ (ที่เราได้มาแล้ว)จะพึงดับ สัญญาอื่นที่
หยาบจะเกิดขึ้นแทน ทางที่ดีเราไม่ควรคิดและไม่ควรคำนึง’ เธอจึงไม่คิดไม่คำนึง
เมื่อเธอไม่คิดไม่คำนึง สัญญานั้นจึงดับไป สัญญาอื่นที่หยาบก็ไม่เกิดขึ้น เธอจึงบรรลุ
นิโรธ โปฏฐปาทะ การเข้าถึงความดับสัญญาของภิกษุผู้มีความรู้ตัวโดยลำดับ ย่อมมี
ได้ด้วยอาการอย่างนี้
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร การเข้าถึงความดับสัญญาของภิกษุ
ผู้มีความรู้สึกตัวโดยลำดับเช่นนี้ ท่านเคยได้ยินมาก่อนบ้างหรือไม่”
เขากราบทูลว่า “ไม่เคยได้ยินเลย พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เพิ่งรู้ทั่วถึง
ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วเดี๋ยวนี้เองว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ที่ยังมี
สกสัญญา เธอออกจากปฐมฌานเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานเข้าตติยฌาน
จนถึงอากิญจัญญายตนฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญาโดยลำดับ เมื่อเธออยู่ใน
อากิญจัญญายตนฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญา เกิดความคิดขึ้นมาอย่างนี้ว่า ‘เมื่อ
เรายังคิดอยู่ไม่ดีเลย ไม่คิดเสียจะดีกว่า ถ้าเรายังคิดยังคำนึง สัญญาเหล่านี้ (ที่เรา
ได้มาแล้ว)จะพึงดับ สัญญาอื่นที่หยาบจะเกิดขึ้นแทน ทางที่ดีเราไม่ควรคิดและไม่
ควรคำนึง’ เธอจึงไม่คิดไม่คำนึง เมื่อเธอไม่คิดไม่คำนึง สัญญานั้นจึงดับไป สัญญา
อื่นที่หยาบก็ไม่เกิดขึ้น เธอจึงบรรลุนิโรธ การเข้าถึงความดับสัญญาของภิกษุผู้มี
ความรู้สึกตัวโดยลำดับ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เป็นอย่างนั้น โปฏฐปาทะ”
[๔๑๕] เขาทูลถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติอากิญจัญญายตนฌาน
อันเป็นที่สุดแห่งสัญญาไว้อย่างเดียวหรือบัญญัติไว้หลายอย่าง พระพุทธเจ้าข้า”

เชิงอรรถ :
๑ ความสำคัญว่าเป็นของตน, นึกว่าเป็นของตนเอง (ที.สี.อ. ๔๑๔/๓๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] ว่าด้วยสัญญาและอัตตา

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ เราบัญญัติอากิญจัญญายตนฌาน
อันเป็นที่สุดแห่งสัญญาไว้อย่างเดียวก็มี หลายอย่างก็มี”
เขาทูลถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติอากิญจัญญายตนฌานอันเป็น
ที่สุดแห่งสัญญาไว้อย่างเดียวก็มี หลายอย่างก็มี โดยวิธีใดบ้าง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ เราบัญญัติอากิญจัญญายตนฌาน
อันเป็นที่สุดแห่งสัญญาไว้โดยวิธีที่พระโยคาวจรจะบรรลุนิโรธได้ ดังนั้นเราจึงบัญญัติ
อากิญจัญญายตนฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญาอย่างเดียวก็มี หลายอย่างก็มี”
[๔๑๖] เขาทูลถามว่า “สัญญาเกิดขึ้นก่อนญาณ หรือว่าญาณเกิดขึ้นก่อน
สัญญา๑ หรือว่าทั้งสัญญาและญาณเกิดขึ้นพร้อมกัน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ สัญญาเกิดขึ้นก่อนญาณ เพราะมี
สัญญาเกิดขึ้นจึงมีญาณเกิดขึ้น ภิกษุย่อมรู้อย่างนี้ว่า ‘เพราะสัญญาเป็นปัจจัย ญาณ
จึงเกิดขึ้นแก่เรา’ โปฏฐปาทะ ท่านพึงทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญาเกิดขึ้นก่อน
ญาณ เพราะมีสัญญาเกิดขึ้นจึงมีญาณเกิดขึ้น”

ว่าด้วยสัญญากับอัตตา

[๔๑๗] โปฏฐปาทปริพาชกทูลถามว่า “สัญญาเป็นอัตตาของคนหรือว่า
สัญญากับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โปฏฐปาทะ ท่านหมายถึงอัตตาเช่นไร”
เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์หมายถึงอัตตาหยาบซึ่ง
มีรูปที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ บริโภคอาหารเป็นคำ ๆ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นเป็นอัตตา
หยาบซึ่งมีรูปที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ บริโภคอาหารเป็นคำ ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้

เชิงอรรถ :
๑ เป็นคำถามในทำนองว่า ระหว่างสัญญากับญาณ ฝ่ายไหนเกิดก่อนกัน อนึ่ง คู่ของสัญญาและญาณมี
ฝ่ายละ ๓ คือ ญาณสัญญา กับ วิปัสสนาญาณ, วิปัสสนาสัญญา กับ มัคคญาณ และมัคคสัญญา กับ
ผลญาณ (ที.สี.อ. ๔๑๖/๓๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] ว่าด้วยสัญญาและอัตตา

สัญญากับอัตตาก็เป็นคนละอย่างกัน ตามข้อนี้ท่านพึงทราบโดยปริยายว่า สัญญา
กับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน อัตตาหยาบซึ่งมีรูปที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔
บริโภคอาหารเป็นคำ ๆ นี้ จงยกไว้ก่อน ถ้าสัญญาของคนที่พูดถึงนี้อย่างหนึ่งเกิด
และอีกอย่างหนึ่งดับ ท่านก็พึงทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญากับอัตตาเป็นคนละ
อย่างกัน”
[๔๑๘] เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์หมายถึงอัตตา
ที่สำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นเป็นอัตตาที่สำเร็จ
ด้วยใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง เมื่อเป็นเช่นนี้ สัญญากับอัตตา
ก็เป็นคนละอย่างกัน ตามข้อนี้ ท่านก็พึงทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญากับอัตตาเป็น
คนละอย่างกัน อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง จงยก
ไว้ก่อน ถ้าสัญญาของคนที่พูดถึงนี้อย่างหนึ่งเกิดและอีกอย่างหนึ่งดับ ท่านก็พึง
ทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญากับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน”
[๔๑๙] เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์หมายถึงอัตตาที่
ไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ อัตตาที่ท่านพูดถึงนั้นเป็นอัตตาที่ไม่มี
รูป สำเร็จด้วยสัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ สัญญากับอัตตาก็เป็นคนละอย่างกัน ตามข้อ
นี้ ท่านก็พึงทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญากับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน อัตตาที่ไม่มี
รูปสำเร็จด้วยสัญญา จงยกไว้ก่อน ถ้าสัญญาของคนที่พูดถึงนี้อย่างหนึ่งเกิดและ
อีกอย่างหนึ่งดับ ท่านก็พึงทราบโดยปริยายนี้ว่า สัญญากับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน”
[๔๒๐] เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อาจรู้ได้ไหมว่า
สัญญาเป็นอัตตาของคน หรือว่าสัญญากับอัตตาเป็นคนละอย่างกัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โปฏฐปาทะ ท่านมีทิฏฐิแตกต่างกัน มีความถูก
ใจแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความมุ่งหมายแตกต่างกัน มีอาจารย์
แตกต่างกัน จึงเข้าใจได้ยากว่า สัญญาเป็นอัตตาของคน หรือว่าสัญญากับอัตตา
เป็นคนละอย่างกัน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] ว่าด้วยสัญญาและอัตตา

เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์มีทิฏฐิแตกต่างกันมี
ความถูกใจแตกต่างกัน มีความพอใจแตกต่างกัน มีความมุ่งหมายแตกต่างกัน
มีอาจารย์แตกต่างกันจึงเข้าใจได้ยากว่า สัญญาเป็นอัตตาของคน หรือว่าสัญญากับ
อัตตาเป็นคนละอย่างกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
เป็นโมฆะกระนั้นหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เรื่องนี้เราไม่ตอบ”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็น
โมฆะกระนั้นหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เรื่องนี้เราไม่ตอบ”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกมีที่สุด ฯลฯ โลกไม่มีที่สุด ชีวะกับ
สรีระเป็นอย่างเดียวกัน ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตายแล้ว ตถาคต๑
เกิดอีก หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและ
ไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้
เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะกระนั้นหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เรื่องนี้เราไม่ตอบ”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่ทรงตอบ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เพราะเรื่องนั้นไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระ ไม่ใช่จุด
เริ่มต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัดยินดี
ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่
เป็นไปเพื่อนิพพาน ฉะนั้นเราจึงไม่ตอบ”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงตอบเรื่องอะไรเล่า”

เชิงอรรถ :
๑ ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันมาก่อนพุทธกาล หมายถึง อัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระ
พุทธเจ้า อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึง สัตตะ (ที.สี.อ. ๖๕/๑๐๘ )

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] ว่าด้วยสัญญาและอัตตา

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เราตอบเรื่องทุกข์ เรื่องทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์)
เรื่องทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) เรื่องทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเครื่อง
ดำเนินไปสู่ความดับทุกข์)”
เขาทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไรพระองค์จึงทรงตอบเรื่อง
นั้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เพราะเรื่องนั้นมีประโยชน์ มีสาระ เป็นจุดเริ่ม
ต้นของพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัดยินดี เพื่อดับ เพื่อ
สงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฉะนั้นเราจึงตอบ”
เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต
ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด
พระพุทธเจ้าข้า”
ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงลุกขึ้นจากอาสนะเสด็จจากไปแล้ว
[๔๒๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไปไม่นาน พวกปริพาชกได้ตัดพ้อ
ต่อว่าโปฏฐปาทปริพาชกด้วยคำตัดพ้อ ต่อว่า ทิ่มแทงว่า “ท่านโปฏฐปาทะเป็นคน
อย่างนี้นี่เอง ท่านโปฏฐปาทะพลอยชื่นชมคำพูดของพระสมณโคดมทุกคำว่า ‘ข้าแต่
พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่างนั้น’ แต่พวกเรา
กลับไม่เข้าใจความหมายที่พระสมณโคดมตรัสแม้แต่นิดเดียวว่า โลกเที่ยง หรือโลก
ไม่เที่ยง โลกมีที่สุด หรือโลกไม่มีที่สุด ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือชีวะกับ
สรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก หรือหลังจากตายแล้ว
ตถาคตไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก หรือหลังจากตาย
แล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่”
เมื่อพวกปริพาชกกล่าวอย่างนี้ โปฏฐปาทปริพาชกได้บอกพวกเขาว่า “ท่าน
ทั้งหลาย ข้าพเจ้าเองก็ไม่เข้าใจความหมายที่พระสมณโคดมตรัสไว้แม้แต่นิดเดียวว่า
‘โลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง ฯลฯ หรือหลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่
จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ แต่ว่า พระสมณโคดมทรงบัญญัติข้อปฏิบัติที่จริง แท้ แน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
เรื่องจิตตหัตถิ สารีบุตร และโปฏฐปาทปริพาชก

เป็นธรรมฐิติ๑ เป็นธรรมนิยาม๒ ไว้ ก็เมื่อทรงบัญญัติเช่นนี้ ไฉนวิญญูชนอย่าง
ข้าพเจ้าจะไม่พลอยชื่นชมสุภาษิตของพระสมณโคดมโดยเป็นคำสุภาษิตเล่า”

เรื่องจิตตะ หัตถิสารีบุตร และโปฏฐปาทปริพาชก

[๔๒๒] ครั้นผ่านไป ๒-๓ วัน จิตตะ หัตถิสารีบุตร๓ กับโปฏฐปาทปริพาชกพา
กันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค จิตตะ หัตถิสารีบุตร กราบพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ
ที่สมควร ฝ่ายโปฏฐปาทปริพาชกสนทนากับพระผู้มีพระภาคพอคุ้นเคยแล้วจึงนั่ง ณ
ที่สมควร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คราวเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากไป
ไม่นาน พวกปริพาชกได้ตัดพ้อต่อว่าข้าพระองค์ด้วยคำตัดพ้อ ต่อว่า ทิ่มแทงว่า
‘ท่านโปฏฐปาทะเป็นคนอย่างนี้นี่เอง ท่านโปฏฐปาทะพลอยชื่นชมคำพูดของ
พระสมณโคดมทุกคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต
ข้อนี้เป็นอย่างนั้น แต่พวกเรากลับไม่เข้าใจความหมายที่พระสมณโคดมตรัสแม้
แต่นิดเดียวว่า โลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง ฯลฯ หรือหลังจากตายแล้วตถาคตจะว่า
เกิดอีกก็ไม่ใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่’ เมื่อพวกปริพาชกกล่าวอย่างนี้ ข้าพระองค์
ได้บอกพวกเขาว่า ‘ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าเองก็ไม่เข้าใจความหมายที่พระสมณโคดม
ตรัสแม้แต่นิดเดียวว่า โลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง ฯลฯ หรือหลังจากตายแล้ว
ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ แต่ว่าพระสมณโคดมทรงบัญญัติข้อ
ปฏิบัติที่จริง แท้ แน่นอน เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยามไว้ ก็เมื่อทรงบัญญัติเช่น
นี้ ไฉนวิญญูชนอย่างข้าพเจ้าจะไม่พลอยชื่นชมสุภาษิตของพระสมณโคดมโดยเป็น
คำสุภาษิตเล่า”
[๔๒๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ ปริพาชกทั้งหมดเหล่านี้เป็น
คนตาบอดไม่มีจักษุ ในชุมนุมชนนั้นมีแต่ท่านเท่านั้นที่มีจักษุ ธรรมที่เป็นเอกังสิก

เชิงอรรถ :
๑ สภาวะที่ดำรงอยู่เอง เป็นอยู่เองตามธรรมดา อรรถกถาหมายเอา สภาวะที่ดำรงอยู่ในโลกุตตรธรรม ๙
(ที.สี.อ. ๔๒๑/๓๑๓)
๒ กฏที่แน่นอนแห่งสภาวะอันมีอยู่จริง แท้ และแน่นอนหลบเลี่ยงไม่ได้ ต้องเป็นไปตามที่มันเป็น หรืออาจเรียก
ว่า กฏธรรมชาติก็ได้ อรรถกถาหมายเอา กฏที่แน่นอนแห่งโลกุตตรธรรม (ที.สี.อ. ๔๒๑/๓๑๓)
๓ จิตตะ หัตถิสารีบุตร เป็นบุตรนายควาญช้างกรุงสาวัตถี บวชๆ สึกๆ จนครบ ๗ ครั้งในตอนเกิดพระสูตรนี้
(ที.สี.อ. ๔๒๒/๓๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
เรื่องจิตตหัตถิ สารีบุตร และโปฏฐปาทปริพาชก

ธรรม๑ เราได้แสดงและบัญญัติไว้แล้ว ธรรมที่เป็นอเนกังสิกธรรม๒ เราก็ได้แสดงและ
บัญญัติไว้แล้ว
โปฏฐปาทะ เราแสดงและบัญญัติธรรมเหล่าไหนว่าเป็นอเนกังสิกธรรม คือ
ธรรมที่ว่า โลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด หรือโลกไม่มีที่สุด ชีวะกับสรีระเป็น
อย่างเดียวกัน หรือชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคตเกิด
อีก หรือหลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่
เกิดอีก หรือหลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ เรา
แสดงและบัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็นอเนกังสิกธรรม
โปฏฐปาทะ เพราะเหตุไร เราจึงแสดงและบัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็นอเนกังสิก-
ธรรมเล่า เพราะว่าธรรมเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นแห่ง
พรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัดยินดี ไม่เป็น
ไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไป
เพื่อนิพพาน ฉะนั้น เราจึงแสดงและบัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็นอเนกังสิกธรรม
[๔๒๔] โปฏฐปาทะ เราแสดงและบัญญัติธรรมเหล่าไหนว่าเป็นเอกังสิกธรรม
คือธรรมที่ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์) นี้ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) นี้
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินไปสู่ความดับทุกข์) เราแสดงและ
บัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็นเอกังสิกธรรม
โปฏฐปาทะ เพราะเหตุไร เราจึงแสดงและบัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็นเอกังสิก-
ธรรมเล่า เพราะว่าธรรมเหล่านี้มีประโยชน์ มีสาระ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์
เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัดยินดี เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อ
รู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฉะนั้น เราจึงแสดงและบัญญัติธรรมเหล่านี้ว่าเป็น
เอกังสิกธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมที่เป็นได้อย่างเดียว ได้แก่ ธรรมที่มีความชัดเจน แน่นอน สามารถบอกได้ว่าเป็นอย่างนั้น ไม่เป็น
อย่างอื่น เช่นเหตุของทุกข์คือตัณหาเท่านั้น (ที.สี.อ. ๔๒๓/๓๑๔)
๒ ธรรมที่เป็นได้หลายอย่าง ได้แก่สิ่งที่ไม่อาจตอบได้ว่า ใช่หรือไม่ใช่ เพียงอย่างเดียว เช่น ไม่อาจตอบว่า
โลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง (ที.สี.อ. ๔๒๓/๓๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
เปรียบด้วยชายหลงรักหญิงงามแห่งชนบท

[๔๒๕] โปฏฐปาทะ มีสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว ปลอดภัย’ เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
แล้วถามว่า ‘ท่านมีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า หลังจากตายแล้ว อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว
ปลอดภัยจริงหรือ’
ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกถามอย่างนี้ยังยืนยันว่า ‘จริง’ เราจะถามว่า ‘ก็
ท่านรู้ท่านเห็นโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า
‘ไม่รู้ไม่เห็น’
เราจะถามว่า ‘ท่านรู้อัตตาที่มีสุขโดยส่วนเดียว ตลอด ๑ วัน ตลอด ๑ คืน
หรือตลอดครึ่งวันตลอดครึ่งคืนหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้’
เราจะถามว่า ‘ก็ท่านรู้ว่า นี้เป็นทาง นี้เป็นข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุโลกที่มีสุขโดย
ส่วนเดียวหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้’
เราจะถามว่า ‘ก็ท่านได้ยินเสียงพวกเทวดาผู้บังเกิดในโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว
ซึ่งกล่าวอยู่ว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบเพื่อบรรลุโลกที่มีสุขโดย
ส่วนเดียว ถึงข้าพเจ้าก็ปฏิบัติอย่างนี้จึงบังเกิดในโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวหรือ’ เมื่อ
ถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่ได้ยิน’
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นถือว่าเลื่อนลอย๑ มิใช่หรือ”
เขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของสมณพราหมณ์
เหล่านั้นถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”

เปรียบด้วยชายหลงรักหญิงงามแห่งชนบท๒

[๔๒๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนชายคนหนึ่ง
ปรารภถึงหญิงสาวอย่างนี้ว่า ‘เราปรารถนารักใคร่หญิงงามแห่งชนบทนี้’ คนจะถาม
เขาว่า ‘พ่อคุณ เธอรู้จักหญิงคนนั้นหรือว่าเป็นนางกษัตริย์ นางพราหมณี นางแพศย์

เชิงอรรถ :
๑ เลื่อนลอย (อปฺปาฏิหีรกตํ) หมายถึง เป็นคำที่ไม่มีปาฏิหาริย์ ขาดเหตุผลที่จะจูงใจฝ่ายตรงข้ามให้เชื่อถือ
หรือยินยอมได้ [ที.สี.ฎีกา(อภินว.) ๒/๔๒๕/๔๙๓]
๒ หญิงที่มีผิวพรรณ ทรวดทรง และกิริยามารยาทงดงามกว่าหญิงทั่วไปในชนบทนั้น (ที.สี.อ. ๔๒๖/๓๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
เปรียบด้วยชายหลงรักหญิงงามแห่งชนบท

หรือนางศูทร’ เมื่อถูกถามอย่างนี้เขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอ
รู้จักหญิงคนนั้นหรือว่ามีชื่อ ตระกูล สูง ต่ำ สันทัด ดำ คล้ำ หรือผิวเหลือง อยู่ใน
หมู่บ้าน นิคม หรือเมืองโน้น’ เมื่อถูกถามอย่างนี้เขาจะตอบว่า ‘ยังไม่รู้จัก’ จะถูก
ถามต่อไปว่า ‘เธอปรารถนารักใคร่หญิงที่ยังไม่เคยรู้จักทั้งไม่เคยเห็นอย่างนั้นหรือ’
เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้น
ถือว่าเลื่อนลอย มิใช่หรือ”
เขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่า
เลื่อนลอยแน่นอน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ แม้สมณพราหมณ์ผู้มีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้
ว่า ‘หลังจากตายแล้ว อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว ปลอดภัย’ ก็เช่นกัน เราเข้าไปหา
สมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้วถามว่า ‘ท่านมีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า หลังจากตายแล้ว
อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว ปลอดภัย จริงหรือ’ ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกถามอย่าง
นี้ ยังยืนยันว่า ‘จริง’ เราจะถามว่า ‘ก็ท่านรู้ท่านเห็นโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวหรือ’
เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้ไม่เห็น’
เราจะถามว่า ‘ท่านรู้อัตตาที่มีสุขโดยส่วนเดียวตลอด ๑ วัน ตลอด ๑ คืน
หรือตลอดครึ่งวันตลอดครึ่งคืนหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้’
เราจะถามว่า ‘ก็ท่านรู้ว่า นี้เป็นทาง นี้เป็นข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุโลกที่มีสุขโดยส่วน
เดียวหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้’
เราจะถามว่า ‘ก็ท่านได้ยินเสียงพวกเทวดาผู้บังเกิดในโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว
ซึ่งกล่าวอยู่ว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อบรรลุโลกที่มีสุขโดย
ส่วนเดียว ถึงข้าพเจ้าก็ปฏิบัติอย่างนี้จึงบังเกิดในโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว หรือ’ เมื่อ
ถูกถามอยู่อย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่ได้ยิน’
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
ถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร]
เปรียบด้วยคนสร้างบันได

เปรียบด้วยคนสร้างบันได

[๔๒๗] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษทำบันไดที่
หนทางใหญ่สี่แพร่งเพื่อขึ้นปราสาท คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอจะทำบันไดขึ้น
ปราสาท เธอรู้จักปราสาทนั้นหรือว่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก
หรือทิศเหนือ มีขนาดสูง ต่ำ หรือปานกลาง’ เมื่อถูกถามอย่างนี้เขาจะตอบว่า
‘ยังไม่รู้’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอจะทำบันไดขึ้นปราสาทที่ยังไม่เคยรู้จักไม่เคยเห็น
อย่างนั้นหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของบุรุษนั้น
ถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของบุรุษนั้นถือว่า
เลื่อนลอยแน่นอน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ แม้สมณพราหมณ์ผู้มีวาทะมีทิฏฐิอย่าง
นี้ว่า ‘หลังจากตายแล้วอัตตามีสุขโดยส่วนเดียว ปลอดภัย’ ก็เช่นกัน เราเข้าไปหา
สมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้วถามว่า ‘ท่านมีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า หลังจากตายแล้ว
อัตตามีสุขโดยส่วนเดียว ปลอดภัย จริงหรือ’ ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกถามอย่าง
นี้ ยังยืนยันว่า ‘จริง’ เราจะถามว่า ‘ก็ท่านรู้ ท่านเห็นโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวหรือ’
เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้ไม่เห็น’
เราจะถามว่า ‘ท่านรู้อัตตาที่มีสุขโดยส่วนเดียวตลอด ๑ วัน ตลอด ๑ คืน
หรือตลอดครึ่งวันตลอดครึ่งคืนหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้’
เราจะถามว่า ‘ก็ท่านรู้ว่า นี้เป็นทาง นี้เป็นข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียว
หรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้’
เราจะถามว่า ‘ก็ท่านได้ยินเสียงพวกเทวดาผู้บังเกิดในโลกที่มีสุขโดยส่วน
เดียว ซึ่งกล่าวอยู่ว่า ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อบรรลุโลกที่มีสุขโดย
ส่วนเดียว ถึงข้าพเจ้าก็ปฏิบัติอย่างนี้จึงบังเกิดในโลกที่มีสุขโดยส่วนเดียวหรือ’ เมื่อ
ถูกถามอย่างนี้ พวกเขาจะตอบว่า ‘ไม่ได้ยิน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] การได้อัตตภาพ ๓ อย่าง

โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของสมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นถือว่าเลื่อนลอย มิใช่หรือ”
เขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของสมณพราหมณ์
เหล่านั้นถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”

การได้อัตตภาพ๑ ๓ อย่าง

[๔๒๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ การได้อัตตภาพมี ๓ อย่าง คือ
การได้อัตตภาพที่หยาบ การได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ และการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป
โปฏฐปาทะ การได้อัตตภาพที่หยาบเป็นอย่างไร คืออัตตภาพที่มีรูปประกอบด้วย
มหาภูตรูป ๔ บริโภคอาหารเป็นคำ ๆ นี้จัดเป็นการได้อัตตภาพที่หยาบ การได้
อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจเป็นอย่างไร คืออัตตภาพที่มีรูปสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะครบ
ถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง นี้จัดเป็นการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ การได้อัตตภาพ
ที่ไม่มีรูปเป็นอย่างไร คืออัตตภาพที่ไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา นี้จัดเป็นการได้
อัตตภาพที่ไม่มีรูป
[๔๒๙] โปฏฐปาทะ เราแสดงธรรมเพื่อละการได้อัตตภาพที่หยาบว่า ‘พวก
ท่านปฏิบัติตามนั้นแล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรม๒ ได้ และโวทานิยธรรม๓ จะเพิ่มพูนยิ่ง
ขึ้น จะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึง
อยู่ในปัจจุบัน’ บางคราวท่านมีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘เราพอจะละสังกิเลสิกธรรมได้
และโวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น บุคคลจะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์
แห่งปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน แต่ว่าจะมีความเป็นอยู่ลำบาก’
ก็เรื่องนี้ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น แท้จริง ท่านจะละสังกิเลสิกธรรมได้ และโวทานิย

เชิงอรรถ :
๑ อตฺตปฏิลาภ อรรถกถาหมายถึงการได้อัตตภาพ ในที่นี้พระพุทธองค์ตรัสถึงการได้อัตตภาพ ๓ อย่าง คือ
การได้อัตตภาพที่หยาบ ได้แก่ กามภพ, การได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ ได้แก่ รูปภพ, การได้อัตตภาพที่
ไม่มีรูป ได้แก่ อรูปภพ (ที.สี.อ. ๔๒๘/๓๑๕)
๒ ธรรมที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ (โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และโมหมูลจิต ๒) [ที.สี.อ.
๔๒๙/๓๑๕]
๓ ธรรมที่ทำให้จิตผ่องแผ้ว ได้แก่ สมถวิปัสสนา (ที.สี.อ. ๔๒๙/๓๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] การได้อัตตภาพ ๓ อย่าง

ธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น บุคคลจะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วย
ปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ทั้งจะมีความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติ
สัมปชัญญะ และอยู่เป็นสุข
[๔๓๐] โปฏฐปาทะ เราแสดงธรรมเพื่อละการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจว่า
‘พวกท่านปฏิบัติตามนั้นแล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรมได้และโวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น
จะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่
ในปัจจุบัน’ บางคราวท่านมีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘เราพอจะละสังกิเลสิกธรรมได้ และ
โวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น บุคคลจะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่ง
ปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน แต่ว่าจะมีความเป็นอยู่ลำบาก’ ก็
เรื่องนี้ท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น แท้จริง ท่านจะละสังกิเลสิกธรรมได้และโวทานิยธรรม
จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น บุคคลจะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วย
ปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ทั้งจะมีความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติ
สัมปชัญญะ และอยู่เป็นสุข
[๔๓๑] โปฏฐปาทะ เราแสดงธรรมเพื่อละการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปว่า ‘พวก
ท่านปฏิบัติตามนั้นแล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรมได้และโวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น
จะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน’ ฯลฯ ทั้งจะมีความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติ สัมปชัญญะ และอยู่เป็นสุข
[๔๓๒] โปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่นจะถามเราอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ อะไรคือ
การได้อัตตภาพที่หยาบซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียว่า พวกท่านปฏิบัติตามนั้น
แล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรมได้และโวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น จะทำให้แจ้งความ
บริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เมื่อถูก
ถามอย่างนี้ เราจะตอบว่า ‘ผู้มีอายุ นี้แลจัดเป็นการได้อัตตภาพที่หยาบซึ่งเราแสดง
ธรรมเพื่อให้ละเสียว่า พวกท่านปฏิบัติตามนั้นแล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรมได้และ
โวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น จะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญา
ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] การได้อัตตภาพ ๓ อย่าง

[๔๓๓] โปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่นจะถามเราอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ อะไรคือ
การได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียว่า พวกท่านปฏิบัติ
ตามนั้นแล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรมได้และโวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น จะทำให้แจ้ง
ความบริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
เมื่อถูกถามอย่างนี้ เราจะตอบว่า ‘ผู้มีอายุ นี้แลจัดเป็นการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ
ซึ่งเราแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียว่า ฯลฯ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
[๔๓๔] โปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่นจะถามเราอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ อะไรคือ
การได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียว่า พวกท่านปฏิบัติตามนั้น
แล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรมได้และโวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น จะทำให้แจ้งความ
บริบูรณ์ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เมื่อถูก
ถามอย่างนี้ เราจะตอบว่า ‘ผู้มีอายุ นี้แลจัดเป็นการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป ซึ่งเรา
แสดงธรรมเพื่อให้ละเสียว่า ฯลฯ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดนั้นถือว่าไม่
เลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดนั้นถือว่าไม่เลื่อน
ลอยแน่นอน”

เปรียบด้วยคนสร้างบันได

[๔๓๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษทำบันได
เพื่อขึ้นปราสาท ที่ใต้ปราสาทนั้นเอง คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอจะทำบันไดขึ้น
ปราสาท เธอรู้จักปราสาทนั้นหรือว่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก
หรือทิศเหนือ มีขนาดสูง ต่ำ หรือปานกลาง’ ถ้าเขาตอบว่า ‘นี้แลคือปราสาทที่เรา
กำลังทำบันไดเพื่อจะขึ้นไปที่ใต้ปราสาทนั้นเอง’
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของบุรุษนั้น
ถือว่าไม่เลื่อนลอยมิใช่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] การได้อัตตภาพ ๓ อย่าง

เขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของบุรุษนั้นถือว่าไม่
เลื่อนลอยแน่นอน”
[๔๓๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เช่นเดียวกัน โปฏฐปาทะ หากคนเหล่าอื่น
จะถามเราอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ อะไรคือการได้อัตตภาพที่หยาบ ฯลฯ อะไรคือการได้
อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ ฯลฯ อะไรคือการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปซึ่งท่านแสดงธรรม
เพื่อให้ละเสียว่า พวกท่านปฏิบัติตามนั้นแล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรมได้และโวทานิย
ธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น จะทำให้แจ้งความบริบูรณ์ ความไพบูลย์แห่งปัญญาด้วย
ปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ เราจะตอบว่า ‘ฯลฯ ผู้มีอายุ
นี้แลจัดเป็นการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปซึ่งเราแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียว่า พวกท่าน
ปฏิบัติตามนั้นแล้วก็จะละสังกิเลสิกธรรมได้และโวทานิยธรรมจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น จะ
ทำให้แจ้งความบริบูรณ์ ความไพบูลย์แห่งปัญญา ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน’
โปฏฐปาทะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดนั้นถือว่าไม่
เลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขากราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดนั้นถือว่าไม่เลื่อนลอย
แน่นอน”
[๔๓๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ จิตตะ หัตถิสารีบุตร ได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่หยาบ การได้อัตตภาพที่สำเร็จ
ด้วยใจและการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปก็เปล่าไป(เป็นโมฆะ) มีแต่การได้อัตตภาพที่
หยาบเป็นเรื่องจริงกระนั้นหรือ ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ การได้
อัตตภาพที่หยาบและการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปก็เปล่าไป มีแต่การได้อัตตภาพที่
สำเร็จด้วยใจเป็นเรื่องจริงกระนั้นหรือ ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป การได้
อัตตภาพที่หยาบและการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจก็เปล่าไป มีแต่การได้อัตตภาพ
ที่ไม่มีรูปเป็นเรื่องจริงกระนั้นหรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จิตตะ ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่หยาบ ก็ไม่นับว่า
มีการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจและการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป มีเพียงการได้อัตตภาพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] การได้อัตตภาพ ๓ อย่าง

ที่หยาบเท่านั้น ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ ก็ไม่นับว่ามีการได้
อัตตภาพที่หยาบและการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป มีเพียงการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วย
ใจเท่านั้น ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป ก็ไม่นับว่ามีการได้อัตตภาพที่หยาบ
และการอัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ มีเพียงการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปเท่านั้น
[๔๓๘] จิตตะ ถ้าคนจะถามท่านว่า ‘ในอดีตกาล ท่านได้มีแล้ว ไม่ใช่ว่า
ไม่มี ในอนาคตกาลท่านจักมี ไม่ใช่ว่าจักไม่มี เวลานี้ท่านมีอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่มีอยู่
กระนั้นหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ ท่านจะตอบว่าอย่างไร”
จิตตะ หัตถิสารีบุตร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าคนจะถามข้าพระ
องค์ว่า ‘ในอดีตกาล ... กระนั้นหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้าพระองค์ก็จะตอบว่า ‘ใน
อดีตกาล เราได้มีแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่มี ในอนาคตกาลเราจักมี ไม่ใช่ว่าจักไม่มี เวลานี้
เรามีอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่มีอยู่’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้าพระองค์ก็จะตอบอย่างนี้ พระ
พุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “จิตตะ ถ้าคนจะถามท่านว่า ‘ท่านมีการได้อัตต-
ภาพที่เป็นอดีต การได้อัตตภาพเช่นนั้นเป็นเรื่องจริง การได้อัตตภาพที่เป็นอนาคต
และการได้อัตตภาพที่เป็นปัจจุบันก็เปล่าไป ท่านจักมีการได้อัตตภาพที่เป็นอนาคต
การได้อัตตภาพเช่นนั้นเป็นเรื่องจริง การได้อัตตภาพที่เป็นอดีตและการได้อัตตภาพ
ที่เป็นปัจจุบันก็เปล่าไป ท่านกำลังได้อัตตภาพที่เป็นปัจจุบัน การได้อัตตภาพเช่นนั้น
เป็นเรื่องจริง การได้อัตตภาพที่เป็นอดีตและการได้อัตตภาพที่เป็นอนาคตก็เปล่า
ไปกระนั้นหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ ท่านจะตอบว่าอย่างไร”
จิตตะ หัตถิสารีบุตร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าคนจะถามข้าพระ
องค์ว่า ‘ท่านมีการได้อัตตภาพที่เป็นอดีต ... กระนั้นหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ ข้า
พระองค์ก็จะตอบว่า ‘เรามีการได้อัตตภาพที่เป็นอดีต การได้อัตตภาพเช่นนั้นเป็น
เรื่องจริงในสมัยนั้น การได้อัตตภาพที่เป็นอนาคตและการได้อัตตภาพที่เป็นปัจจุบัน
ก็เปล่าไป เราจักมีการได้อัตตภาพที่เป็นอนาคต การได้อัตตภาพเช่นนั้นเป็นเรื่องจริง
ในสมัยนั้น การได้อัตภาพที่เป็นอดีตและการได้อัตภาพที่เป็นปัจจุบันก็เปล่าไป
เรากำลังได้อัตภาพที่เป็นปัจจุบันในเวลานี้ และการได้อัตภาพเช่นนี้พึ่งเป็นเรื่องจริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙.โปฏฐปาทสูตร] การได้อัตตภาพ ๓ อย่าง

การได้อัตตภาพที่เป็นอดีตและการได้อัตตภาพที่เป็นอนาคตก็เปล่าไป’ เมื่อถูกถาม
อย่างนี้ ข้าพระองค์ก็จะตอบอย่างนี้ พระพุทธเจ้าข้า”
[๔๓๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เป็นอย่างนั้นแล จิตตะ ในเวลาที่มีการได้
อัตตภาพที่หยาบ ก็ไม่นับว่ามีการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจและการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป
มีเพียงการได้อัตตภาพที่หยาบเท่านั้น ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ ฯลฯ
ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป ก็ไม่นับว่ามีการได้อัตตภาพที่หยาบและการได้
อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ มีเพียงการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูปเท่านั้น
[๔๔๐] จิตตะ เปรียบเหมือนนมสดมาจากแม่โค นมส้มมาจากนมสด เนยข้น
มาจากนมส้ม เนยใสมาจากเนยข้น หัวเนยใสมาจากเนยใส ในเวลาที่ยังเป็นนมสด
ก็ไม่นับว่าเป็นนมส้ม ไม่นับว่าเป็นเนยข้น ไม่นับว่าเป็นเนยใส ไม่นับว่าเป็นหัวเนยใส
ยังเป็นนมสดเท่านั้น ในเวลาที่เป็นนมส้ม ฯลฯ ในเวลาที่เป็นเนยข้น ฯลฯ ในเวลาที่เป็น
เนยใส ฯลฯ ในเวลาที่เป็นหัวเนยใส ไม่นับว่าเป็นนมสด ไม่นับว่าเป็นนมส้ม ไม่นับ
ว่าเป็นเนยข้น ไม่นับว่าเป็นเนยใส ยังเป็นหัวเนยใสเท่านั้น ฉันใด จิตตะ เรื่องนี้ก็เช่น
กัน ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่หยาบ ก็ไม่นับว่ามีการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ
และการได้อัตตภาพที่มีรูป มีเพียงการได้อัตตภาพหยาบเท่านั้น ในเวลาที่มีการได้
อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ ฯลฯ ในเวลาที่มีการได้อัตตภาพที่ไม่มีรูป ก็ไม่นับว่ามีการ
ได้อัตตภาพหยาบและการได้อัตตภาพที่สำเร็จด้วยใจ มีเพียงการได้อัตตภาพที่ไม่มี
รูปเท่านั้น
จิตตะ เหล่านี้แลเป็นโลกสมัญญา (ชื่อที่ชาวโลกใช้เรียก) เป็นโลกนิรุตติ
(ภาษาของชาวโลก) เป็นโลกโวหาร (โวหารของชาวโลก) เป็นโลกบัญญัติ (บัญญัติ
ของชาวโลก) ซึ่งตถาคตก็ใช้อยู่แต่ไม่ยึดถือ”
[๔๔๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ โปฏฐปาทปริพาชกได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระ
องค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรง
ประกาศธรรม แจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทางหรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๙. โปฏฐปาทสูตร]
จิตตะ หัตถิสารีบุตร ทูลขออุปสมบท

จักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์
เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่
วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

จิตตะ หัตถิสารีบุตร ทูลขออุปสมบท

[๔๔๒] ฝ่ายจิตตะ หัตถิสารีบุตร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิต
ของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระผู้มี
พระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการ
ต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้ขอถึง
พระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาพึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด”
[๔๔๓] จิตตะ หัตถิสารีบุตร ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระ
ภาคแล้วแล เมื่อท่านหัตถิสารีบุตรได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน จากไปอยู่ผู้
เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มุ่งมั่นพระนิพพานอยู่ ไม่นานนักทำให้แจ้งที่สุดแห่ง
พรหมจรรย์อันยอดเยี่ยมที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ
ต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
จึงเป็นอันว่าท่านพระหัตถิสารีบุตรได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระ
อรหันต์ทั้งหลาย

โปฏฐปาทสูตรที่ ๙ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร] เรื่องมาณพชื่อสุภะ

๑๐. สุภสูตร
ว่าด้วยสุภมาณพ

เรื่องมาณพชื่อสุภะ

[๔๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานไปไม่นาน ท่านพระ
อานนท์พำนักอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี
สมัยนั้น สุภมาณพโตเทยยบุตร๑ มีกิจธุระพำนักอยู่ในกรุงสาวัตถี
[๔๔๕] ครั้งนั้น สุภมาณพโตเทยยบุตรเรียกมาณพคนหนึ่งมาสั่งว่า “มานี่แน่ะ
พ่อหนุ่ม เธอจงเข้าไปหาพระสมณะชื่ออานนท์ แล้วเรียนถามพระสมณะชื่ออานนท์
ถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ
ตามคำของเราว่า สุภมาณพโตเทยยบุตรถามท่านพระอานนท์ถึงสุขภาพ ความมี
โรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ และเธอจงเรียนว่า
ขอท่านพระอานนท์โปรดอนุเคราะห์สละเวลาเข้าไปเยี่ยมสุภมาณพโตเทยยบุตรบ้าง”
[๔๔๖] มาณพนั้นรับคำของสุภมาณพโตเทยยบุตรแล้วเข้าไปหาท่านพระอานนท์
สนทนากันพอคุ้นเคยดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควรแล้วกล่าวว่า “สุภมาณพโตเทยย
บุตรถามท่านพระอานนท์ถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มี
พลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ และสั่งมาว่า ขอท่านพระอานนท์โปรดอนุเคราะห์
สละเวลาเข้าไปเยี่ยมสุภมาณพโตเทยยบุตรบ้าง”
[๔๔๗] เมื่อมาณพนั้นกล่าวอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ตอบว่า “เวลานี้ไม่
เหมาะ วันนี้อาตมาดื่มยาถ่ายเข้าไปแล้ว เอาไว้พรุ่งนี้ เมื่อมีเวลาอาตมาจะเข้าไป
เยี่ยม”
เขารับคำของท่านพระอานนท์แล้วลุกจากที่นั่งกลับไปหาสุภมาณพโตเทยยบุตร
บอกว่า “ข้าพเจ้าได้บอกท่านพระอานนท์ตามคำของท่านว่า ‘สุภมาณพ ... ไปเยี่ยม

เชิงอรรถ :
๑ สุภมาณพเป็นบุตรของโตเทยยพราหมณ์ผู้ตระหนี่ อยู่ที่หมู่บ้านตุทิ เขตกรุงสาวัตถี (ที.สี.อ. ๔๔๔/๓๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร] สีลขันธ์

สุภมาณพโตเทยยบุตรบ้าง’ เมื่อข้าพเจ้ากล่าวอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ตอบว่า ‘วันนี้
ไม่เหมาะ ... เมื่อมีเวลาอาตมาจะเข้าไปเยี่ยม’ ข้าพเจ้าได้ดำเนินการให้ท่านพระ
อานนท์สละเวลามาฉันในวันพรุ่งนี้ด้วยเหตุดังว่ามานี้”
[๔๔๘] ครั้นล่วงราตรีนั้น ยามเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือ
บาตรและจีวร มีพระเจตกะเป็นปัจฉาสมณะ๑ เข้าไปยังนิเวศน์ของสุภมาณพ-
โตเทยยบุตรแล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้
สุภมาณพโตเทยยบุตรเข้าไปหาท่านพระอานนท์ สนทนากันพอคุ้นเคยดีแล้ว
นั่งลง ณ ที่สมควรแล้วถามว่า “ท่านอานนท์เป็นพระอุปัฏฐาก อยู่เฝ้าใกล้ชิดเบื้อง
พระยุคลบาทของท่านพระโคดมมานาน ท่านอานนท์คงจะทราบธรรมที่ท่านพระโค
ดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่ ท่านอานนท์ ธรรมเหล่า
ไหนหนอแลที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่”
[๔๔๙] ท่านพระอานนท์ตอบว่า “มาณพ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและ
ทรงให้ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่ในขันธ์ ๓ แล ขันธ์ ๓ อะไรบ้าง คือ อริยสีลขันธ์
อริยสมาธิขันธ์ และอริยปัญญาขันธ์ พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้
ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่ในขันธ์ ๓ นี้แล”

สีลขันธ์

[๔๕๐] เขาถามว่า “อริยสีลขันธ์ที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญและทรงให้
ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างไร ท่านอานนท์”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “มาณพ พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็น
พระอรหันต์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ฯลฯ
พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก ฯลฯ ทรงประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดี บุตรคหบดีหรือ
อนุชน(คนผู้เกิดภายหลัง)ในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ได้สดับธรรมนั้นแล้วเกิดศรัทธาใน

เชิงอรรถ :
๑ ปัจฉาสมณะ คือพระผู้ติดตาม พระอานนท์ก็เคยเป็นปัจฉาสมณะของพระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร] สีลขันธ์

พระตถาคต เมื่อมีศรัทธาย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด เป็น
ทางแห่งธุลี การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์
ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิงดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและ
หนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต’ ต่อมาเขาละทิ้งกอง
โภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาว-
พัสตร์ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วอย่างนี้ สำรวมด้วยการสังวร
ในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยมารยาทและโคจร(การเที่ยวไป) เห็นภัยในโทษแม้
เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรม
อันเป็นกุศล มีอาชีวะบริสุทธิ์ สมบูรณ์ด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ(และ) เป็นผู้สันโดษ
[๔๕๑] ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ละ
เว้นขาดการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่ง
ประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ข้อนี้จัดเป็นศีลของภิกษุอย่างหนึ่ง (ต่อจากนี้พึง
ขยายศีลทุกข้อให้พิสดาร)๑
ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉานวิชา เช่นที่สมณพราหมณ์ผู้
เจริญบางพวกฉันโภชนาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้วยังเลี้ยงชีพผิดทางด้วยเดรัจฉาน-
วิชาอย่างนี้ คือ ทำพิธีบนบาน พิธีแก้บน ร่ายมนตร์ขับผี ตั้งศาลพระภูมิ ทำกะเทย
ให้เป็นชาย ทำชายให้เป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน พิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนตร์
รดน้ำมนตร์ พิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ยาถ่าย ยาแก้โรคลมตีขึ้นเบื้องบน
ยาแก้โรคลมตีลงเบื้องต่ำ ยาแก้ปวดศีรษะ น้ำมันหยอดหู น้ำมันหยอดตา ยานัตถุ์
ยาหยอดตา ยาป้ายตา เป็นหมอตา หมอผ่าตัด หมอรักษาเด็ก(กุมารเวช) การให้
สมุนไพรและยา การใส่ยาแล้วล้างออกเมื่อโรคหาย ข้อนี้จัดเป็นศีลของภิกษุอย่างหนึ่ง
[๔๕๒] ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยอันตรายจากการ
สำรวมในศีลเลย เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกเป็นพระราชา กำจัดข้าศึก
ได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยอันตรายจากข้าศึกเลย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยอริยสีลขันธ์

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร] สมาธิขันธ์

อย่างนี้ ย่อมเสวยสุขอันไม่มีโทษในภายใน มาณพ ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็น
อย่างนี้แล
[๔๕๓] มาณพ อริยสีลขันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้
ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างนี้ แต่ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้อง
ปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสีลขันธ์นี้อีก”
เขากล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ อริยสีลขันธ์บริบูรณ์แล้ว ไม่ใช่ไม่
บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นอริยสีลขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ ในสมณพราหมณ์เหล่าอื่น
นอกพระศาสนานี้เลย สมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้ เห็นอริยสีลขันธ์ที่
บริบูรณ์อย่างนี้ในตน ก็จะพอใจว่า ‘เพียงแค่นี้พอแล้ว เพียงแค่นี้สำเร็จแล้ว เราได้
บรรลุสามัญคุณแล้ว ไม่มีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นนี้อีก’ แต่ท่านยังบอก
ว่า ‘ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสีลขันธ์นี้อีก’

สมาธิขันธ์

[๔๕๔] อริยสมาธิขันธ์ที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ประชาชน
สมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างไร ท่านอานนท์”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “มาณพ ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เห็นรูปด้วยตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมในจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาป
อกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมใน
จักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้อง
โผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติ
เพื่อสำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุ
ผู้ประกอบด้วยความสำรวมอินทรีย์อันเป็นอริยะนี้ ย่อมเสวยสุขที่ไม่ระคนกับกิเลส
ในภายใน มาณพ ภิกษุชื่อว่าคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร] อุปมานิวรณ์ ๕

[๔๕๕] มาณพ ภิกษุชื่อว่าประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นอย่างไร คือ ภิกษุ
ในพระธรรมวินัยนี้ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิบาตรและจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว
การลิ้ม การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น
การพูด การนิ่ง มาณพ ภิกษุชื่อว่าประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นอย่างนี้แล
[๔๕๖] มาณพ ภิกษุชื่อว่าผู้สันโดษเป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไป ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้
ทันทีเหมือนนกบินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ มาณพ ภิกษุชื่อว่าผู้สันโดษ
เป็นอย่างนี้แล
[๔๕๗] ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวร อริยสติ-
สัมปชัญญะ และอริยสันโดษอย่างนี้แล้ว พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า
โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้ว นั่งขัดสมาธิตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า
[๔๕๘] เธอละอภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา)ในโลก มีใจปราศจาก
อภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท
มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท
ละถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มี
สติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความ
ฟุ้งซ่านและรำคาญใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
อุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉา
ในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

อุปมานิวรณ์ ๕

[๔๕๙] เปรียบเหมือนคนกู้หนี้มาลงทุนจนประสบผลสำเร็จ ใช้หนี้เก่าที่
เป็นต้นทุนจนหมด เก็บกำไรที่เหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อน
เรากู้หนี้มาลงทุน การงานสำเร็จผลดี ได้ใช้หนี้เก่าที่ยืมมาลงทุนหมดแล้ว กำไรก็ยัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร] อุปมานิวรณ์ ๕

มีเหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา’ เพราะความไม่มีหนี้สินเป็นเหตุ เขาจึงได้รับ
ความเบิกบานใจและความสุขใจ
[๔๖๐] เปรียบเหมือนคนไข้อาการหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง ต่อมา
หายป่วยบริโภคอาหารได้ กลับมีกำลัง เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราป่วยอาการหนัก
บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง เวลานี้หายป่วย บริโภคอาหารได้ มีกำลังเป็นปกติ’
เพราะการหายจากโรคเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
[๔๖๑] เปรียบเหมือนคนต้องโทษถูกคุมขังในเรือนจำ ต่อมา พ้นโทษออก
จากเรือนจำโดยสวัสดิภาพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราต้อง
โทษถูกคุมขังในเรือนจำ เวลานี้พ้นโทษออกจากเรือนจำโดยสวัสดิภาพไม่ต้องเสียค่า
ใช้จ่ายใด ๆ’ เพราะการพ้นจากเรือนจำเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและ
ความสุขใจ
[๔๖๒] เปรียบเหมือนคนที่ตกเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไป
ไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ ต่อมา พ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเอง
ไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น จะไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ เวลานี้พ้นจากความเป็นทาส พึ่งตัว
เองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทแก่ตัวเอง จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ’ เพราะความเป็น
ไทแก่ตัวเองเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
[๔๖๓] เปรียบเหมือนคนมีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร หาอาหาร
ได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า ต่อมา ข้ามพ้นทางกันดารถึงหมู่บ้านอันสงบร่มเย็น
ปลอดภัยโดยสวัสดิภาพ เขาคิดว่า ‘เมื่อก่อนเรามีทรัพย์สมบัติ เดินทางไกลกันดาร
หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า เวลานี้ข้ามพ้นทางกันดารถึงหมู่บ้านอันสงบ
ร่มเย็นปลอดภัยโดยสวัสดิภาพ’ เพราะการพบภูมิสถานอันร่มเย็นเป็นเหตุ เขาจึงได้
รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
[๔๖๔] มาณพ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนยังละไม่ได้ เหมือนหนี้
โรค เรือนจำ ความเป็นทาส และทางไกลกันดาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร] ทุติยฌาน

[๔๖๕] มาณพ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนละได้แล้ว เหมือนความ
ไม่มีหนี้ ความไม่มีโรค การพ้นโทษจากเรือนจำ ความเป็นไทแก่ตัวเอง และภูมิสถาน
อันสงบร่มเย็น
[๔๖๖] เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนละได้แล้ว ย่อมเกิดความ
เบิกบานใจ เมื่อเบิกบานใจก็ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบ
ย่อมได้รับความสุข เมื่อมีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น

ปฐมฌาน

[๔๖๗] ภิกษุนั้น สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติ
และสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอัน
เกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง
เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนานหรือลูกมือพนักงานสรงสนาน ผู้ชำนาญ
เทผงถูตัวลงในภาชนะสัมฤทธิ์แล้วเอาน้ำประพรมให้ติดเป็นก้อน พอตกเย็น ก้อนถู
ตัวที่ยางซึมไปจับก็ติดกันหมด ไม่กระจายออก ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่ม
ด้วยปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและ
สุขอันเกิดจากวิเวกจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิอย่างหนึ่งของภิกษุ

ทุติยฌาน

[๔๖๘] ยังมีอีก มาณพ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมี
ความผ่องใสในภายในมีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและ
สุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจาก
สมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่
ถูกต้อง
เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึกเป็นวังวน ไม่มีทางที่กระแสน้ำจะไหลเข้าได้ ทั้งด้าน
ตะวันออก ด้านใต้ ด้านตะวันตก และด้านเหนือ ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล แต่กระแส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร] จตุตถฌาน

น้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้วทำห้วงน้ำนั้นให้ชุ่มชื่นเอิบอาบเนืองนองไปด้วยน้ำเย็น
ไม่มีส่วนไหนของห้วงน้ำนั้นที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบ
อิ่มด้วยปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ปีติ
และสุขอันเกิดจากสมาธิจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิอย่างหนึ่งของภิกษุ

ตติยฌาน

[๔๖๙] ยังมีอีก มาณพ เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ-
สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า
ผู้มีอุเบกขามีสติ อยู่เป็นสุข เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึก
ซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มีปีติจะไม่ถูกต้อง
เปรียบเหมือนในกอบัวเขียว(อุบล) กอบัวหลวง(ปทุม)หรือกอบัวขาว(บุณฑริก)
ดอกบัวเขียว ดอกบัวหลวงหรือดอกบัวขาวบางเหล่าที่เกิดเจริญเติบโตในน้ำ ยังไม่
พ้นน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ มีน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเหล่านั้นชุ่มชื่นเอิบอาบซาบซึมด้วยน้ำ
เย็นตั้งแต่ยอดถึงเหง้า ไม่มีส่วนไหนที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉันใด ภิกษุทำกายนี้ให้ชุ่ม
ชื่นเอิบอิ่มด้วยสุขอันไม่มีปีติ รู้สึกซาบซ่านอยู่ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่สุขอันไม่มี
ปีติจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิอย่างหนึ่งของภิกษุ

จตุตถฌาน

[๔๗๐] ยังมีอีก มาณพ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัส
ดับไปก่อน ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
เธอมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์
ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง
เปรียบเหมือนคนนั่งใช้ผ้าขาวคลุมตัวตลอดศีรษะ ไม่มีส่วนไหนของร่างกาย
ที่ผ้าขาวจะไม่ปกคลุม ฉันใด ภิกษุมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มี
ส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นสมาธิ
อย่างหนึ่งของภิกษุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๑.วิปัสสนาญาณ

[๔๗๑] มาณพ สมาธิขันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้
ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างนี้ แต่ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้อง
ปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยสมาธินี้อีก”
เขากล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ อริยสมาธิขันธ์บริบูรณ์แล้ว ไม่ใช่
ไม่บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นอริยสมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ในสมณพราหมณ์
เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้เลย สมณพราหมณ์เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้ เห็น
อริยสมาธิขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ในตน ก็จะพอใจว่า ‘เพียงแค่นี้พอแล้ว เพียงแค่นี้
สำเร็จแล้ว เราได้บรรลุสามัญคุณแล้ว ไม่มีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นนี้
อีก’ แต่ท่านยังบอกว่า ‘ในพระธรรมวินัยนี้ยังมีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้น
อริยสมาธิขันธ์นี้อีก’

ปัญญาขันธ์

[๔๗๒] อริยปัญญาขันธ์ ที่ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญและทรงให้ประชาชน
สมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างไร ท่านอานนท์”

วิชชา ๘ ประการ
๑. วิปัสสนาญาณ

ท่านพระอานนท์ตอบว่า “เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดัง
เนิน๑ ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
อย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ๒ รู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กายของเรานี้คุมกัน
เป็นรูปร่าง ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔ เกิดจากบิดามารดา เจริญวัยเพราะข้าว
สุกและขนมสด ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็น
ธรรมดา วิญญาณของเราอาศัยและเนื่องอยู่ในกายนี้’

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสมีราคะเป็นต้น ท่านเรียกว่า กิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) เพราะยังจิตให้ลาดต่ำ โน้มเอียงไปสู่ที่ต่ำ
เช่น ต้องย้อนกลับไปสู่จตุตถฌานอีก เป็นต้น
๒ ความรู้และความเห็นตรงตามความเป็นจริง อาจเรียกว่า มรรคญาณ ผลญาณ สัพพัญญุตญาณ
ปัจจเวกขณญาณ หรือวิปัสสนาญาณก็ได้ (ที.สี.อ. ๒๓๔/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๒.มโนมยิทธิญาณ

เปรียบเหมือนแก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดี
แล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาวหรือสีนวลร้อยอยู่
ข้างใน คนตาถึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณารู้ว่า ‘แก้วไพฑูรย์อัน
งดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน
มีด้ายสีเขียว เหลือง แดง ขาวหรือสีนวลร้อยอยู่ข้างใน’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิ
บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่
การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ รู้ชัดอย่างนี้ว่า
‘กายของเรานี้คุมกันเป็นรูปร่าง ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป ๔ เกิดจากบิดามารดา
เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตก
กระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา วิญญาณของเราอาศัยและเนื่องอยู่ในกายนี้’ ฉันนั้น
ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

๒. มโนมยิทธิญาณ

[๔๗๓] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อเนรมิตกายที่เกิดแต่ใจ คือ เนรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปที่เกิดแต่ใจ
มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง
เปรียบเหมือนคนชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง เขาเห็นว่า ‘นี้คือหญ้าปล้อง นี้คือ
ไส้ หญ้าปล้องเป็นอย่างหนึ่ง ไส้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ไส้ถูกชักออกมาจากหญ้า
ปล้องนั่นเอง’ เปรียบเหมือนคนชักดาบออกจากฝัก เขาเห็นว่า ‘นี้คือดาบ นี้คือฝัก
ดาบเป็นอย่างหนึ่ง ฝักก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ดาบถูกชักออกมาจากฝักนั่นเอง’ หรือ
เปรียบเหมือนคนดึงงูออกจากคราบ เขาเห็นว่า ‘นี้คืองู นี้คือคราบ งูเป็นอย่างหนึ่ง
คราบก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่งูถูกดึงออกจากคราบนั่นเอง’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิ
บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่
การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อเนรมิตกายที่เกิดแต่ใจ คือ
เนรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปที่เกิดแต่ใจ มีอวัยวะครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง
ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๔.ทิพยโสตธาตุญาณ

๓. อิทธิวิธญาณ

[๔๗๔] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธญาณ แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลาย
คนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา
กำแพง(และ)ภูเขาไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดิน
เหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัด
สมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์
อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
เปรียบเหมือนช่างหม้อหรือลูกมือช่างหม้อผู้ชำนาญ เมื่อนวดดินเหนียวดีแล้ว
พึงทำภาชนะที่ต้องการให้สำเร็จได้ เปรียบเหมือนช่างงาหรือลูกมือช่างงาผู้ชำนาญ
เมื่อแต่งงาดีแล้ว พึงทำเครื่องงาชนิดที่ต้องการให้สำเร็จได้ เปรียบเหมือนช่างทอง
หรือลูกมือช่างทองผู้ชำนาญ เมื่อหลอมทองดีแล้ว พึงทำทองรูปพรรณชนิดที่
ต้องการให้สำเร็จได้ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ภิกษุน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธญาณ แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็น
หลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา
กำแพง(และ)ภูเขาไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดิน
เหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัด
สมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์
อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ ฉันนั้น
ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

๔. ทิพพโสตธาตุญาณ

[๔๗๕] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๕.เจโตปริยญาณ

จิตไปเพื่อทิพพโสตธาตุญาณได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่
อยู่ไกลและใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
เปรียบเหมือนคนเดินทางไกล (มีประสบการณ์มาก) ได้ยินเสียงกลอง เสียง
ตะโพน เสียงสังข์ เสียงบัณเฑาะว์ เสียงเปิงมาง ก็เข้าใจว่า นั่นเสียงกลอง เสียง
ตะโพน เสียงสังข์ เสียงบัณเฑาะว์ เสียงเปิงมาง ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์
ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน
ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อทิพพโสตธาตุญาณได้ยินเสียง ๒
ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือ
มนุษย์ ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

๕. เจโตปริยญาณ

[๔๗๖] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิต
ไปเพื่อเจโตปริยญาณ กำหนดรู้จิตของสัตว์และคนอื่นด้วยจิตของตน คือ จิตมีราคะ
ก็รู้ว่ามีราคะ หรือปราศจากราคะก็รู้ว่าปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่ามีโทสะ หรือ
ปราศจากโทสะก็รู้ว่าปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่ามีโมหะ หรือปราศจากโมหะก็รู้
ว่าปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าหดหู่ หรือฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหัคคตะ๑
ก็รู้ว่าเป็นมหัคคตะ หรือไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าไม่เป็นมหัคคตะ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้
ว่ามีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่า
เป็นสมาธิ หรือไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้น หรือไม่
หลุดพ้นก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น
เปรียบเหมือนชายหนุ่มหญิงสาวที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตน
ในกระจกใสสะอาดหรือในภาชนะน้ำใส หน้ามีไฝฝ้าก็รู้ว่ามีไฝฝ้า หรือไม่มีไฝฝ้าก็รู้ว่า
ไม่มีไฝฝ้า ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า มหัคคตะ แปลว่า ถึงความเป็นใหญ่ มหัคคตจิต หมายถึงจิตที่ถึงฌานสมาบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๖.ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ

ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อม
จิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ กำหนดรู้จิตของสัตว์และคนอื่นด้วยจิตของตน คือ จิตมี
ราคะก็รู้ว่ามีราคะ หรือปราศจากราคะก็รู้ว่าปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่ามีโทสะ
หรือปราศจากโทสะก็รู้ว่าปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่ามีโมหะ หรือปราศจาก
โมหะก็รู้ว่าปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าหดหู่ หรือฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตเป็น
มหัคคตะก็รู้ว่าเป็นมหัคคตะ หรือไม่เป็นมหัคคตะก็รู้ว่าไม่เป็นมหัคคตะ จิตมีจิตอื่น
ยิ่งกว่าก็รู้ว่ามีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็น
สมาธิก็รู้ว่าเป็นสมาธิ หรือไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้น
หรือไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าไม่หลุดพ้น ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

[๔๗๗] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติ
บ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง
๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐
ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอด
สังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่า ‘ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล
มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพ
โน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และ
มีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
เปรียบเหมือนคนจากบ้านตนไปบ้านอื่นแล้วจากบ้านนั้นไปยังบ้านอื่นอีก เขา
จากบ้านนั้นกลับมายังบ้านเดิมของตน ระลึกได้อย่างนี้ว่า ‘เราได้จากบ้านตนไปบ้าน
โน้น ในบ้านนั้นเราได้ยืน นั่ง พูด นิ่งเฉยอย่างนั้น ๆ เราได้จากแม้บ้านนั้นไปยังบ้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๗.ทิพพจักขุญาณ

โน้น แม้ในบ้านนั้นเราก็ได้ยืน นั่ง พูด นิ่งเฉยอย่างนั้น ๆ แล้วกลับจากบ้านนั้นมา
ยังบ้านเดิมของตน’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติ
บ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ว่า ‘ในภพโน้น
เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ
จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้’ เธอ
ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ ฉันนั้น ข้อนี้
จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

๗. ทิพพจักขุญาณ

[๔๗๘] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้น
สูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึง
หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต
กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด
พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่
ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ
และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไป
บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล
เปรียบเหมือนปราสาทตั้งอยู่ที่ทางสามแพร่งกลางเมืองหลวง คนตาดียืนบน
ปราสาทนั้นเห็นหมู่ชนกำลังเข้าไปสู่เรือนบ้าง ออกจากเรือนบ้าง สัญจรอยู่ตามถนน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร]
วิชชา ๘ ประการ ๘.อาสวักขยญาณ

บ้าง นั่งอยู่ที่ทางสามแพร่งกลางเมืองหลวงบ้าง ก็รู้ว่า ‘คนเหล่านี้เข้าไปสู่เรือน คน
เหล่านี้ออกจากเรือน คนเหล่านี้สัญจรอยู่ตามถนน คนเหล่านี้นั่งอยู่ที่ทางสามแพร่ง
กลางเมืองหลวง’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้
ภิกษุน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและ
ชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้
ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และ
มโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตาม
ความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปบังเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่
หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความ
เห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้วจะ
ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

๘. อาสวักขยญาณ

[๔๗๙] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้
ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้
อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว๑ ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก
ต่อไป’๒

เชิงอรรถ :
๑ กิจที่ควรทำในที่นี้ หมายถึง กิจในอริยสัจ ๔ คือ การกำหนดรู้ทุกข์, การละเหตุเกิดแห่งทุกข์, การทำให้
แจ้งซึ่งความดับทุกข์ และการอบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้เจริญ (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓ )
๒ ไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมรรคญาณเพื่อความหมดสิ้นแห่งกิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า
การบรรลุพระอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ที.สี.อ. ๒๔๘/๒๐๓ )

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๐.สุภสูตร]
วิชชา ๘ ประการ สุภมาณพประกาศตนเป็นอุบาสก

เปรียบเหมือนสระน้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัวบนยอดภูเขา คนตาดียืนที่ขอบสระนั้น
เห็นหอยโข่งและหอยกาบ ก้อนกรวดและก้อนหินหรือฝูงปลากำลังแหวกว่ายอยู่บ้าง
หยุดอยู่บ้าง ในสระนั้น ก็คิดอย่างนี้ว่า ‘สระน้ำนี้ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอย
กาบ ก้อนกรวดและก้อนหิน และฝูงปลาเหล่านี้กำลังแหวกว่ายอยู่ก็มี หยุดอยู่ก็มี
ในสระนั้น’ ฉันใด เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุน้อมจิต
ไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธ-
คามินีปฏิปทา’ เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ
และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ฉันนั้น ข้อนี้จัดเป็นปัญญาอย่างหนึ่งของภิกษุ

สุภมาณพประกาศตนเป็นอุบาสก

[๔๘๐] มาณพ อริยปัญญาขันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญและทรงให้
ประชาชนสมาทานตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างนี้ ในพระธรรมวินัยนี้ ไม่มีกรณียกิจที่ต้อง
ปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยปัญญาขันธ์นี้อีกแล้ว”
เขากล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ อริยปัญญาขันธ์บริบูรณ์แล้ว ไม่
ใช่ไม่บริบูรณ์ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นอริยปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์อย่างนี้ในสมณพราหมณ์
เหล่าอื่นนอกพระศาสนานี้เลย ไม่มีกรณียกิจที่ต้องปฏิบัติยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นอริยปัญญา
ขันธ์นี้อีกแล้ว ท่านอานนท์ ภาษิตของท่านอานนท์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านอานนท์
ภาษิตของท่านอานนท์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านอานนท์ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดย
ประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้
หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพเจ้านี้ขอถึง
ท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านอานนท์โปรดจำ
ข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

สุภสูตรที่ ๑๐ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑.เกวัฏฏสูตร] เรื่องบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะ

๑๑. เกวัฏฏสูตร
ว่าด้วยบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะ

เรื่องบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะ

[๔๘๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี เขต
เมืองนาลันทา ครั้งนั้นบุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
กราบพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เมืองนาลันทามั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่นที่ล้วนเลื่อมใส
ในพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาสเถิด ขอพระผู้มี
พระภาคโปรดมีพระบัญชาให้ภิกษุสักรูปหนึ่งที่พอจะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์โดย
อุตตริมนุสสธรรม๑ ได้ ซึ่งจะทำให้ชาวเมืองนาลันทาพากันเลื่อมใสในพระผู้มีพระ
ภาคมากขึ้นสุดจะประมาณ”
เมื่อเขากราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกวัฏฏะ เราไม่ได้แสดง
ธรรมแก่ภิกษุอย่างนี้ว่า มาเถิด พวกเธอจงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ด้วยอุตตริมนุสส-
ธรรมแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาว”
[๔๘๒] แม้ครั้งที่ ๒ บุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์ไม่ได้คาดคั้นพระผู้มีพระภาคเลย แต่ข้าพระองค์ขอกราบทูลอย่างนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมืองนาลันทามั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมือง
หนาแน่นที่ล้วนเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
เถิด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดมีพระบัญญัติให้ภิกษุสักรูปหนึ่งที่พอจะแสดง
อิทธิปาฏิหาริย์โดยอุตตริมนุสสธรรมได้ ซึ่งจะทำให้ชาวเมืองนาลันทาพากันเลื่อมใส
ในพระผู้มีพระภาคมากขึ้นสุดจะประมาณ”

เชิงอรรถ :
๑ อุตตริมนุสสธรรม คือธรรมยวดยิ่งของมนุษย์, ธรรมของมนุษย์ผู้ยอดยิ่ง ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ สมาธิ
สมาบัติ ญาณทัสสนะ มรรคภาวนา การทำผลให้แจ้ง การละกิเลส ความที่จิตปลอดจากนิวรณ์ ความ
ยินดีในเรือนว่าง (วิ.มหา. ๑/๑๙๘/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑.เกวัฏฏสูตร]
ปาฏิหารย์ ๓ อย่าง ๑.อิทธิปาฏิหาริย์

แม้ครั้งที่ ๓ บุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้า
พระองค์ไม่ได้คาดคั้นพระผู้มีพระภาคเลย ฯลฯ พากันเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค
มากขึ้นสุดจะประมาณ”

ปาฏิหาริย์ ๓ อย่าง

[๔๘๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกวัฏฏะ เราทำให้แจ้งปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึงได้ประกาศให้รู้กัน ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างคืออะไรบ้าง คือ
อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์

๑. อิทธิปาฏิหาริย์

[๔๘๔] เกวัฏฏะ ก็อิทธิปาฏิหาริย์เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคน
เดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏหรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง(และ)ภูเขาไปได ้ไม่ติด
ขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำ
โดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนก
บินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้
ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
เพราะเหตุนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีศรัทธาเลื่อมใสเห็นภิกษุนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลาย
อย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึง
พรหมโลกก็ได้ ผู้นั้นจะบอกแก่บุคคลผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสว่า ‘น่าอัศจรรย์
จริง ไม่เคยปรากฏ สมณะมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากเหลือเกิน ข้าพเจ้าเพิ่งเคยเห็น
ท่านนี้ที่แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้
อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้’
เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูดกับผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใส
ว่า ‘ท่าน มีวิชาประเภทหนึ่งเรียกว่าคันธาริ๑ ภิกษุรูปนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ

เชิงอรรถ :
๑ วิชาคันธาริ หมายถึง วิชาที่ฤๅษีคันธาระเป็นผู้ทำ อีกนัยหนึ่ง หมายถึง วิชาที่เกิดขึ้นในแคว้นคันธาระ
ซึ่งมีฤๅษีพำนักอยู่มาก (ที.สี.อ. ๔๘๔/๓๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑.เกวัฏฏสูตร]
ปาฏิหารย์ ๓ อย่าง ๒.อาเทสนาปาฏิหารย์

คนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้
เพราะมีวิชานั้น’
เกวัฏฏะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูด
กับผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนั้นหรือไม่”
เขากราบทูลว่า “ต้องพูดแน่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เกวัฏฏะ เราเล็งเห็นโทษในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้
จึงเหนื่อยหน่าย ระอา รังเกียจเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์

๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์

[๔๘๕] เกวัฏฏะ ก็อาเทสนาปาฏิหาริย์เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ทายจิต ทายเจตสิก ทายความวิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่าน
เป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการอย่างนี้ เป็นดังนี้
เพราะเหตุนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีศรัทธาเลื่อมใสเห็นภิกษุนั้นทายจิต ทายเจตสิก
ทายความวิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไป
โดยอาการอย่างนี้ เป็นดังนี้ ผู้นั้นจะบอกแก่บุคคลผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสว่า
‘น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ สมณะมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากเหลือเกิน ข้าพเจ้า
เพิ่งเคยเห็นท่านนี้ที่ทายจิต ทายเจตสิก ทายความวิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคล
อื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการอย่างนี้ เป็นดังนี้’
เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ที่ยังไม่มีศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูดกับผู้มีศรัทธาเลื่อมใสว่า
‘ท่าน มีวิชาประเภทหนึ่งเรียกว่ามณิกา๑ ภิกษุรูปนั้นทายจิต ทายเจตสิก ทายความ
วิตกวิจารของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นได้ว่า จิตของท่านเป็นอย่างนี้ เป็นไปโดยอาการ
อย่างนี้ เป็นดังนี้ เพราะมีวิชานั้น’

เชิงอรรถ :
๑ วิชามณิกา ได้แก่ วิชาจินดามณี ผู้รู้วิชาจินดามณี สามารถรู้ใจคนอื่นได้ (ที.สี.อ. ๔๘๕/๓๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑.เกวัฏฏสูตร]
เรื่องภิกษุแสวงหาความดับของมหาภูตรูป

เกวัฏฏะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ผู้ที่ยังไม่ศรัทธายังไม่เลื่อมใสจะพูดกับ
ผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนั้นหรือไม่”
เขากราบทูลว่า “ต้องพูดแน่ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เราเล็งเห็นโทษในอาเทสนาปาฏิหาริย์อย่างนี้ จึง
เหนื่อยหน่าย ระอา รังเกียจเรื่องอาเทสนาปาฏิหาริย์

๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์

[๔๘๖] เกวัฏฏะ ก็อนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมพร่ำสอนอย่างนี้ว่า ‘ท่านจงตรึกตรองอย่างนี้ อย่าตรึกตรองอย่างนั้น จงใส่ใจ
อย่างนี้ อย่าใส่ใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่เถิด’ นี้จัดเป็นอนุสาสนี-
ปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง
ยังมีอีก เกวัฏฏะ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเอง
โดยชอบ ฯลฯ๑ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่า
สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ นี้จัดเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์
อย่างหนึ่ง
ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ ฯลฯ น้อม
จิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ฯลฯ นี้จัดเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง ฯลฯ รู้ชัดว่า ...
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป นี้จัดเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง
เกวัฏฏะ เราทำให้แจ้งปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึง
ประกาศให้รู้กัน

เรื่องภิกษุแสวงหาความดับของมหาภูตรูป

[๔๘๗] เกวัฏฏะ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปหนึ่งในหมู่ภิกษุเกิดความคิดคำนึง
ว่า มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่
ไหนหนอ

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๒ และควรดูเทียบจนถึงข้อ ๒๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑.เกวัฏฏสูตร]
เรื่องภิกษุแสวงหาความดับของมหาภูตรูป

[๔๘๘] ทีนั้นแล ภิกษุจึงเข้าสมาธิถึงขั้นที่จิตตั้งมั่นจนเห็นทางไปเทวโลก ครั้น
แล้วเธอเข้าไปหาพวกเทพชั้นจาตุมหาราชิกา แล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ มหาภูต-
รูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’
เมื่อเธอถามอย่างนี้ พวกเทพชั้นจาตุมหาราชิกาตอบว่า ‘พวกเราไม่ทราบที่
ที่มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิทไปเหมือน
กัน แต่ท้าวมหาราช ๔ องค์ซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพวกเราคงจะทราบ’
[๔๘๙] ทีนั้น เธอจึงเข้าไปหาท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ แล้วถามว่า ‘ท่าน
ผู้มีอายุ มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับ
สนิทที่ไหน’ เมื่อเธอถามอย่างนี้ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ตอบว่า ‘แม้พวกเรา
ก็ไม่ทราบที่ที่มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิท
ไปเหมือนกัน แต่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพวกเราคงจะทราบ’
[๔๙๐] ทีนั้น เธอจึงเข้าไปหาพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ
มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่
ไหน’ เมื่อเธอถามอย่างนี้ พวกเทพชั้นดาวดึงส์ตอบว่า ‘แม้พวกเราก็ไม่ทราบที่ที่
มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิทไปเหมือนกัน
แต่ท้าวสักกเทวราชผู้ยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพวกเราคงจะทราบ’
[๔๙๑] ทีนั้น เธอจึงเข้าไปหาท้าวสักกเทวราชแล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ
มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่
ไหน’ เมื่อเธอถามอย่างนี้ ท้าวสักกเทวราชตอบว่า ‘แม้เราก็ไม่ทราบที่ที่มหาภูตรูป
๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิทไปเหมือนกัน แต่
พวกเทพชั้นยามา ฯลฯ เทพบุตรชื่อสุยาม ฯลฯ พวกเทพชั้นดุสิต ฯลฯ เทพบุตร
ชื่อสันดุสิต ฯลฯ พวกเทพชั้นนิมมานรดี ฯลฯ เทพบุตรชื่อสุนิมมิต ฯลฯ พวก
เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ฯลฯ เทพบุตรชื่อวสวัตดีซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพวกเรา
คงจะทราบ’
[๔๙๒] ทีนั้น เธอจึงเข้าไปหาเทพบุตรชื่อวสวัตดีแล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ
มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑.เกวัฏฏสูตร]
เรื่องภิกษุแสวงหาความดับของมหาภูตรูป

เมื่อเธอถามอย่างนี้ เทพบุตรชื่อวสวัตดีตอบว่า ‘แม้เราก็ไม่ทราบที่ที่มหาภูตรูป ๔
คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิทไปเหมือนกัน แต่พวก
เทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหม ซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าเราคงจะทราบ’
[๔๙๓] ทีนั้นแล ภิกษุจึงเข้าสมาธิถึงขั้นที่จิตตั้งมั่นจนเห็นทางไปพรหมโลก
ครั้นแล้วเธอเข้าไปหาพวกเทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหมแล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ
มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’
เมื่อเธอถามอย่างนี้ พวกเทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหมตอบว่า ‘แม้พวกเราก็ไม่ทราบที่
ที่มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ดับสนิทไปเหมือนกัน
แต่พระพรหมผู้เป็นท้าวมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้
กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็น
บิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิดซึ่งยิ่งใหญ่และสำคัญกว่าพวกเราคงจะทราบ’
เธอถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ เวลานี้ท้าวมหาพรหมอยู่ที่ไหน’
พวกเทพเหล่านั้นตอบว่า ‘แม้พวกเราก็ไม่รู้ที่อยู่ของท้าวมหาพรหมหรือ
ทิศทางที่ท้าวมหาพรหมอยู่ แต่มีนิมิตที่สังเกตได้ (คือ) แสงสว่างเกิดขึ้น โอภาส
ปรากฏขึ้น ท้าวมหาพรหมก็จะปรากฏพระองค์ด้วย การที่แสงสว่างเกิดขึ้น โอภาส
ปรากฏขึ้นนี้ จัดเป็นบุรพนิมิตแห่งการปรากฏของท้าวมหาพรหม’ ต่อมาไม่นาน
ท้าวมหาพรหมได้ปรากฏพระองค์ขึ้น
[๔๙๔] ลำดับนั้น ภิกษุนั้นเข้าไปหาท้าวมหาพรหมแล้วถามว่า ‘ท่านผู้มีอายุ
มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’
เมื่อเธอถามอย่างนี้ ท้าวมหาพรหมตอบว่า ‘เราเป็นพรหมผู้เป็นท้าวมหาพรหมผู้ยิ่ง
ใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล
ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด’
แม้ครั้งที่ ๒ ภิกษุนั้นกล่าวกะท้าวมหาพรหมว่า ‘ท่านผู้มีอายุ อาตมาไม่ได้
ถามท่านว่า ท่านเป็นพระพรหมผู้เป็นมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้
เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ
เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิดหรือ แต่อาตมาถามท่านอย่างนี้ว่า มหา
ภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑.เกวัฏฏสูตร] อุปมาด้วยนกบินดูฝั่ง

แม้ครั้งที่ ๒ ท้าวมหาพรหมก็คงตอบว่า ‘เราเป็นพรหมผู้เป็นท้าวมหาพรหมผู้
ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็นถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล
ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด’
แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุนั้นกล่าวกะท้าวมหาพรหมว่า ‘ท่านผู้มีอายุ อาตมาไม่ได้
ถามท่านว่า ท่านเป็นพระพรหมผู้เป็นมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครข่มเหงได้ เห็น
ถ่องแท้ เป็นผู้กุมอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้าง ผู้บันดาล ผู้ประเสริฐ ผู้บงการ ผู้
ทรงอำนาจ เป็นบิดาของสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิดหรือ แต่อาตมาถามท่าน
อย่างนี้ว่า มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อม
ดับสนิทที่ไหน’
[๔๙๕] ทันใดนั้น ท้าวมหาพรหมนั้นจับแขนภิกษุนั้นพาไป ณ ที่สมควรแล้ว
กล่าวว่า ‘ภิกษุ พวกเทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหมเข้าใจว่า ไม่มีอะไรที่พระพรหมไม่ได้
รู้ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ทราบ ไม่ได้ประจักษ์แจ้ง ดังนั้น เราจึงไม่ตอบต่อหน้าพวกเทพ
เหล่านั้นว่า แม้เราก็ไม่ทราบที่ที่มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ
และวาโยธาตุดับสนิทเหมือนกัน ฉะนั้น การที่ท่านละเลยพระผู้มีพระภาคแล้วมาหา
คำตอบเรื่องนี้ภายนอก นับว่าทำผิด นับว่าทำพลาด ไปเถิด ภิกษุ ท่านจงไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคแล้วทูลถามปัญหานี้ และพึงจำไว้ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ’
[๔๙๖] ลำดับนั้น ภิกษุได้หายไปจากพรหมโลกมาปรากฏต่อหน้าเรา เปรียบ
เหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออกหรือพับแขนเข้าฉะนั้น เธอกราบเราแล้วนั่งลง ณ
ที่สมควร ถามเราว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ
เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่ไหนหนอแล’

อุปมาด้วยนกบินดูฝั่ง

[๔๙๗] เมื่อเธอถามอย่างนี้ เราได้ตอบว่า ภิกษุ เรื่องเคยมีมาแล้ว พวก
พ่อค้าเดินเรือทะเลนำนกตีรทัสสีลงเรือไป เมื่อมองไม่เห็นฝั่ง พวกเขาจึงปล่อยนก
ตีรทัสสีไป นกนั้นบินไปยังทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศเบื้องบน
และทิศเฉียง ถ้ามันยังแลเห็นชายฝั่งรอบ ๆ ก็จะบินเลยไป ถ้ามันแลไม่เห็นฝั่งโดย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๑.เกวัฏฏสูตร] อุปมาด้วยนกบินดูฝั่ง

รอบก็จะบินกลับมาที่เรือนั้นอีก ภิกษุ เธอก็เช่นกัน เที่ยวเสาะหาไปจนถึงพรหมโลก
ก็ยังไม่ได้คำตอบของปัญหานี้ ในที่สุดต้องกลับมาหาเรา ปัญหานี้เธอไม่ควรถามว่า
มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมดับสนิทที่
ไหนหนอแล
[๔๙๘] แต่ควรถามอย่างนี้ว่า
ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ย่อมตั้ง
อยู่ไม่ได้ในที่ไหน อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น ละเอียด
และหยาบ งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน
นามและรูปย่อมดับสนิทในที่ไหน
[๔๙๙] ในปัญหานั้น มีคำตอบดังนี้
ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ย่อมตั้ง
อยู่ไม่ได้ในวิญญาณ๑ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่มีที่สุด
แต่มีท่าข้าม๒โดยรอบด้าน อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น
ละเอียด และหยาบ งามและไม่งาม ก็ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้
ในวิญญาณ๑นี้เช่นเดียวกัน นามและรูปย่อมดับสนิท
ในวิญญาณ๑นี้เช่นเดียวกัน เพราะวิญญาณ๓ดับไป
นามและรูปนั้นก็ย่อมดับสนิทในที่นั้น”
[๕๐๐] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว บุตรคหบดีชื่อเกวัฏฏะมีใจยินดี
ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

เกวัฏฏสูตรที่ ๑๑ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร] ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโลหิจจะ

๑๒. โลหิจจสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโลหิจจะ

[๕๐๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่
ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านสาลวติกา สมัยนั้น โลหิจจพราหมณ์
ปกครองหมู่บ้านสาลวติกา ซึ่งมีประชากรและสัตว์เลี้ยงมากมาย มีพืชพันธุ์
ธัญญาหารและน้ำหญ้าอุดมสมบูรณ์ เป็นพระราชทรัพย์ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระ
ราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นพรหมไทย (ส่วนพิเศษ)
[๕๐๒] สมัยนั้น โลหิจจพราหมณ์มีความคิดเห็นชั่วร้ายเกิดขึ้นว่า ‘สมณะ
หรือพราหมณ์ในโลกนี้จะพึงบรรลุกุศลธรรม เมื่อบรรลุแล้วไม่ควรสอนคนอื่น เพราะ
ไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตัดเครื่องจองจำเก่าออก
แล้ว สร้างเครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เราเรียกข้อเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า เป็นความ
โลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้’
[๕๐๓] โลหิจจพราหมณ์ได้ฟังข่าวว่า “พระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จ
ผนวชจากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่
ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านสาลวติกาโดยลำดับ ท่านพระโคดมนั้นมี
กิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จ
ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและ
มนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลก
นี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เองแล้วทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศ
พรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระ
อรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร] ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อโลหิจจะ

[๕๐๔] ทีนั้น โลหิจจพราหมณ์เรียกช่างกัลบกชื่อโรสิกะมาสั่งว่า “มานี่แน่ะ
เพื่อนโรสิกะ ท่านจงไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดม แล้วทูลถามพระสมณโคดมถึงสุขภาพ
ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญตาม
คำของเราว่า โลหิจจพราหมณ์ทูลถามท่านพระโคดมถึงสุขภาพ ความมีโรคาพาธ
น้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ และท่านจงกราบทูลว่า
ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับภัตตาหารของโลหิจจพราหมณ์
ในวันพรุ่งนี้เถิด”
[๕๐๕] โรสิกกัลบกรับคำแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบ
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “โลหิจจพราหมณ์ทูลถามพระผู้มีพระภาคถึง
สุขภาพ ความมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ
และกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดทรงรับภัตตาหารของ
โลหิจจพราหมณ์ในวันพรุ่งนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยอาการดุษณี
[๕๐๖] ทีนั้น โรสิกกัลบกทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึง
ลุกจากที่นั่ง กราบพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปหาโลหิจจพราหมณ์
แล้วบอกว่า “ข้าพเจ้าได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคตามคำของท่านว่า ‘โลหิจจ-
พราหมณ์ทูลถามพระผู้มีพระภาค ... ในวันพรุ่งนี้เถิด’ และพระผู้มีพระภาคนั้นก็ทรง
รับนิมนต์แล้ว”
[๕๐๗] ครั้นล่วงราตรีนั้น โลหิจจพราหมณ์ได้จัดของขบฉันอย่างดีไว้ใน
นิเวศน์ของตน เรียบร้อยแล้ว เรียกโรสิกกัลบกมาสั่งว่า “มานี่แน่ะ เพื่อนโรสิกะ ท่าน
จงไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมแล้วกราบทูลภัตกาลว่า ท่านพระโคดม ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”
โรสิกกัลบกรับคำของโลหิจจพราหมณ์แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
กราบแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร]
ความขวนขวายของโลหิจจพราหมณ์

[๕๐๘] ตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเสด็จ
เข้าไปยังหมู่บ้านสาลวติกาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โรสิกกัลบกตามเสด็จไปเบื้องพระ
ปฤษฎางค์ กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลหิจจพราหมณ์มีความคิดเห็น
ชั่วร้ายเกิดขึ้นว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้จะพึงบรรลุกุศลธรรม เมื่อบรรลุแล้ว
ไม่ควรสอนคนอื่น เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้
ตัดเครื่องจองจำเก่าออกแล้ว สร้างเครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เราเรียกข้อเปรียบเทียบ
อย่างนี้ว่า เป็นความโลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาสเถิด ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงปลด
เปลื้องโลหิจจพราหมณ์ออกจากความคิดเห็นอันชั่วร้ายนั้นด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โรสิกะ นั่นเป็นหน้าที่ของเรา”
ทีนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของโลหิจจพราหมณ์แล้ว
ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ โลหิจจพราหมณ์ประเคนของขบฉันอย่างดีแด่ภิกษุสงฆ์ที่
มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธานด้วยตนเองจนอิ่มหนำ

ความขวนขวายของโลหิจจพราหมณ์

[๕๐๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จทรงวางพระหัตถ์ โลหิจจพราหมณ์
จึงนั่ง ณ ที่สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสถามโลหิจจพราหมณ์ว่า “โลหิจจะ ทราบว่า ท่านมีความ
คิดเห็นชั่วร้ายเกิดขึ้นว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้จะพึงบรรลุกุศลธรรม เมื่อ
บรรลุแล้วไม่ควรสอนคนอื่น เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้ เปรียบ
เหมือนบุคคลผู้ตัดเครื่องจองจำเก่าออกแล้ว สร้างเครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เรา
เรียกข้อเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า เป็นความโลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใด
จะช่วยผู้สอนได้’ ดังนี้ เป็นความจริงหรือ”
เขาทูลตอบว่า “จริงอย่างนั้น ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “โลหิจจะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ท่าน
ปกครองหมู่บ้านสาลวติกามิใช่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร]
ความขวนขวายของโลหิจจพราหมณ์

เขาทูลตอบว่า “เป็นอย่างนั้น ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “โลหิจจะ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘โลหิจจ-
พราหมณ์ปกครองหมู่บ้านสาลวติกาก็ควรได้รับผลประโยชน์ที่เกิดในหมู่บ้าน
สาลวติกาแต่เพียงผู้เดียว ไม่ควรแบ่งให้ผู้อื่น’ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้จะชื่อว่าทำความ
เดือดร้อนให้แก่คนที่อาศัยท่านเลี้ยงชีพใช่หรือไม่”
เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าทำความเดือดร้อนให้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “เมื่อทำความเดือดร้อนให้ จะชื่อว่าหวัง
ประโยชน์หรือไม่หวังประโยชน์ต่อคนเหล่านั้น”
เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “ผู้ไม่หวังประโยชน์ จะชื่อว่ามีเมตตาจิต
หรือชื่อว่าคิดเป็นศัตรูกับคนเหล่านั้นเล่า”
เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าคิดเป็นศัตรู ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “เมื่อคิดเป็นศัตรู จะชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ
หรือสัมมาทิฏฐิเล่า”
เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มีคติอย่าง ๑ ใน ๒
อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดเดรัจฉาน”
[๕๑๐] พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “โลหิจจะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่า
อย่างไร พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงปกครองแคว้นกาสีกับแคว้นโกศลมิใช่หรือ”
เขาทูลตอบว่า “เป็นอย่างนั้น ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “โลหิจจะ ผู้ที่กล่าวว่า ‘พระเจ้าปเสนทิโกศล
ทรงปกครองแคว้นกาสีกับแคว้นโกศล พระองค์ก็ควรได้รับผลประโยชน์ที่เกิดใน
แคว้นทั้งสองแต่เพียงลำพัง ไม่ควรพระราชทานให้แก่ผู้อื่น’ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้จะ
ชื่อว่าทำความเดือดร้อนให้แก่ท่านและแก่คนอื่นซึ่งอาศัยพระบรมโพธิสมภารของ
พระองค์เลี้ยงชีพใช่หรือไม่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร]
ความขวนขวายของโลหิจจพราหมณ์

เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าทำความเดือดร้อนให้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “เมื่อทำความเดือดร้อนให้ จะชื่อว่า หวัง
ประโยชน์หรือไม่หวังประโยชน์ต่อคนเหล่านั้น”
เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “ผู้ไม่หวังประโยชน์ จะชื่อว่ามีเมตตาจิต
หรือชื่อว่าคิดเป็นศัตรูกับคนเหล่านั้นเล่า”
เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าคิดเป็นศัตรู ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามต่อไปว่า “เมื่อคิดเป็นศัตรู จะชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ
หรือสัมมาทิฏฐิเล่า”
เขาทูลตอบว่า “ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มีคติอย่าง ๑ ใน ๒
อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดเดรัจฉาน
[๕๑๑] โลหิจจะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า ผู้กล่าวว่า ‘โลหิจจพราหมณ์ปกครอง
หมู่บ้านสาลวติกาก็ควรได้รับผลประโยชน์ที่เกิดในหมู่บ้านสาลวติกาแต่เพียงผู้เดียว
ไม่ควรแบ่งให้ผู้อื่น’ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ชื่อว่าทำความเดือดร้อนให้แก่คนที่อาศัยท่าน
เลี้ยงชีพ เมื่อทำความเดือดร้อนให้ก็ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ ผู้ไม่หวังประโยชน์ก็ชื่อ
ว่าคิดเป็นศัตรู เมื่อคิดเป็นศัตรูก็ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ข้ออุปไมยนี้ก็เช่นกัน ผู้ที่กล่าว
ว่า ‘สมณะหรือพราหมณ์ในโลกนี้จะพึงบรรลุกุศลธรรม เมื่อบรรลุแล้วไม่ควรสอน
คนผู้อื่น เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตัดเครื่อง
จองจำเก่าออกแล้ว สร้างเครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เราเรียกข้อเปรียบเทียบอย่าง
นี้ว่าเป็นความโลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้’ ผู้ที่กล่าว
อย่างนี้ชื่อว่า ทำความเดือดร้อนให้แก่เหล่ากุลบุตรผู้อาศัยธรรมวินัยที่เราแสดง
แล้วบรรลุคุณวิเศษ คือ ทำให้แจ้งโสดาปัตติผลบ้าง ทำให้แจ้งสกทาคามิผลบ้าง
ทำให้แจ้งอนาคามิผลบ้าง ทำให้แจ้งอรหัตตผลบ้าง และชื่อว่าทำความเดือดร้อนให้
แก่เหล่ากุลบุตรผู้อบรมคุณธรรมให้แก่กล้าเพื่อบังเกิดในภพอันเป็นทิพย์ยิ่งขึ้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร]
ศาสดาที่สมควรถูกทักท้วง ๓ ประเภท

เมื่อทำความเดือดร้อนให้ก็ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ ผู้ไม่หวังประโยชน์ก็ชื่อว่าคิดเป็น
ศัตรู เมื่อคิดเป็นศัตรูก็ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มีคติ
อย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดเดรัจฉาน
[๕๑๒] โลหิจจะ คนที่กล่าวว่า ‘พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงปกครองแคว้นกาสี
กับแคว้นโกศล พระองค์ก็ควรได้รับผลประโยชน์ที่เกิดในแคว้นทั้งสองแต่เพียง
ลำพัง ไม่ควรพระราชทานให้แก่ผู้อื่น’ ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ชื่อว่า ทำความเดือดร้อนให้
แก่ท่านและแก่คนอื่นซึ่งอาศัยพระบรมโพธิสมภารของพระองค์เลี้ยงชีพ เมื่อทำ
ความเดือดร้อนให้ก็ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ ผู้ไม่หวังประโยชน์ก็ชื่อว่าคิดเป็นศัตรู เมื่อ
คิดเป็นศัตรูก็ชื่อว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ข้ออุปไมยนี้ก็เช่นกัน ผู้ที่กล่าวว่า ‘สมณะหรือ
พราหมณ์ในโลกนี้จะพึงบรรลุกุศลธรรม เมื่อบรรลุแล้วไม่ควรสอนคนอื่น เพราะไม่มี
ผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตัดเครื่องจองจำเก่าออกแล้ว
สร้างเครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เราเรียกข้อเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า เป็นความโลภ
อันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้’ ผู้กล่าวอย่างนี้ชื่อว่าทำความ
เดือดร้อนให้แก่เหล่ากุลบุตรผู้อาศัยธรรมวินัยที่เราแสดงแล้วบรรลุคุณวิเศษ คือ
ทำให้แจ้งโสดาปัตติผลบ้าง ทำให้แจ้งสกทาคามิผลบ้าง ทำให้แจ้งอนาคามิผลบ้าง
ทำให้แจ้งอรหัตตผลบ้าง และชื่อว่าทำความเดือดร้อนให้แก่เหล่ากุลบุตรผู้อบรม
คุณธรรมให้แก่กล้าเพื่อบังเกิดในภพอันเป็นทิพย์ยิ่งขึ้นไป เมื่อทำความเดือดร้อนให้
ก็ชื่อว่าไม่หวังประโยชน์ ผู้ไม่หวังประโยชน์ก็ชื่อว่าคิดเป็นศัตรู เมื่อคิดเป็นศัตรูก็ชื่อว่า
เป็นมิจฉาทิฏฐิ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิเรากล่าวว่า มีคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรก
หรือกำเนิดเดรัจฉาน

ศาสดาที่สมควรถูกทักท้วง ๓ ประเภท

[๕๑๓] โลหิจจะ ศาสดา ๓ ประเภทต่อไปนี้ สมควรถูกทักท้วง ทั้งการ
ทักท้วงของผู้ทักท้วงศาสดาเห็นปานนั้นก็จัดว่าจริง แท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ ศาสดา
๓ ประเภทเป็นเช่นไร คือ
(๑) โลหิจจะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต
ยังไม่บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะ ทั้งที่ยังไม่ได้บรรลุจุดมุ่งหมายแห่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร]
ศาสดาที่สมควรถูกทักท้วง ๓ ประเภท

ความเป็นสมณะแต่กลับแสดงธรรมสอนสาวกว่า ‘เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์และเพื่อ
ความสุขแก่พวกท่าน’ สาวกของเขาจึงไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจเพื่อจะรู้ และหลีกเลี่ยงที่
จะประพฤติตามคำสั่งสอน เขาสมควรถูกทักท้วงว่า ‘ท่านออกจากเรือนไปบวชเป็น
บรรพชิตยังไม่บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะ ทั้งที่ยังไม่ได้บรรลุจุดมุ่งหมาย
แห่งความเป็นสมณะแต่กลับแสดงธรรมสอนสาวกว่า เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์และเพื่อ
ความสุขแก่พวกท่าน สาวกของท่านจึงไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจเพื่อจะรู้ และหลีกเลี่ยงที่
จะประพฤติตามคำสั่งสอน เปรียบเหมือนบุรุษที่ประชิดตัวสตรีผู้กำลังถอยหนี หรือ
เปรียบเหมือนบุรุษสวมกอดสตรีที่หันหลังให้ ข้ออุปไมยนี้ก็เช่นกัน เราเรียกข้อ
เปรียบเทียบอย่างนี้ว่า เป็นความโลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้
สอนได้’ นี้คือศาสดาประเภทที่ ๑ ซึ่งสมควรถูกทักท้วง ทั้งการทักท้วงของผู้ทักท้วง
ศาสดาประเภทนี้ก็จัดว่าจริง แท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ
[๕๑๔] (๒) ยังมีอีก โลหิจจะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ออกจากเรือนไปบวช
เป็นบรรพชิตยังไม่บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะ ทั้งที่ยังไม่ได้บรรลุจุดมุ่ง
หมายแห่งความเป็นสมณะแต่กลับแสดงธรรมสอนสาวกว่า ‘เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์
และเพื่อความสุขแก่พวกท่าน’ สาวกของเขาก็ตั้งใจฟัง ตั้งใจเพื่อจะรู้ และไม่หลีก
เลี่ยงที่จะประพฤติตามคำสั่งสอน เขาสมควรถูกทักท้วงว่า ‘ท่านออกจากเรือนไป
บวชเป็นบรรพชิตยังไม่บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะ ทั้งที่ยังไม่ได้บรรลุจุด
มุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะแต่กลับแสดงธรรมสอนสาวกว่า เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์
และเพื่อความสุขแก่พวกท่าน สาวกของท่านก็ตั้งใจฟัง ตั้งใจเพื่อจะรู้ และไม่หลีก
เลี่ยงที่จะประพฤติตามคำสั่งสอน เปรียบเหมือนคนผู้ละเลยนาของตน เข้าใจนาของ
ผู้อื่นว่าเป็นที่อันตนควรบำรุง ข้ออุปไมยนี้ก็เช่นเดียวกัน เราเรียกข้อเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า
เป็นความโลภอันชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้’ นี้คือศาสดาประเภท
ที่ ๒ ซึ่งสมควรถูกทักท้วง ทั้งการทักท้วงของผู้ทักท้วงศาสดาประเภทนี้ก็จัดว่าจริง
แท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ
[๕๑๕] (๓) ยังมีอีก โลหิจจะ ศาสดาบางคนในโลกนี้ออกจากเรือนไปบวช
เป็นบรรพชิตได้บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะ ครั้นบรรลุจุดมุ่งหมายแห่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร] ศาสดาที่ไม่สมควรถูกทักท้วง

ความเป็นสมณะแล้วก็แสดงธรรมสอนสาวกว่า ‘เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์และเพื่อความ
สุขแก่พวกท่าน’ แต่สาวกของเขากลับไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจเพื่อจะรู้ และยังหลีกเลี่ยง
ที่จะประพฤติตามคำสั่งสอน เขาสมควรถูกทักท้วงว่า ‘ท่านออกจากเรือนไปบวชเป็น
บรรพชิตได้บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความเป็นสมณะ ครั้นบรรลุจุดมุ่งหมายแห่งความ
เป็นสมณะแล้วก็แสดงธรรมสอนสาวกว่า เรื่องนี้มีเพื่อประโยชน์และเพื่อความสุขแก่
พวกท่าน แต่สาวกของท่านกลับไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจเพื่อจะรู้ และยังหลีกเลี่ยงที่จะ
ประพฤติตามคำสั่งสอน เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตัดเครื่องจองจำเก่าออกแล้ว สร้าง
เครื่องจองจำใหม่ขึ้นมาแทน เราเรียกข้อเปรียบเทียบอย่างนี้ว่า เป็นความโลภอัน
ชั่วร้าย เพราะไม่มีผู้รับคำสอนใดจะช่วยผู้สอนได้’ นี้คือศาสดาประเภทที่ ๓ ซึ่ง
สมควรถูกทักท้วง ทั้งการทักท้วงของผู้ทักท้วงศาสดาประเภทนี้ก็จัดว่าจริง แท้
เป็นธรรม ไม่มีโทษ
โลหิจจะ ศาสดา ๓ ประเภทเหล่านี้แล สมควรถูกทักท้วง ทั้งการทักท้วงของ
ผู้ทักท้วงศาสดาเห็นปานนี้ก็จัดว่าจริง แท้ เป็นธรรม ไม่มีโทษ”

ศาสดาที่ไม่สมควรถูกทักท้วง

[๕๑๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ โลหิจจพราหมณ์ทูลถามว่า “ท่าน
พระโคดม ศาสดาซึ่งไม่สมควรถูกทักท้วงมีบ้างไหม”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โลหิจจะ ศาสดาซึ่งไม่สมควรถูกทักท้วงมีอยู่”
เขาทูลถามว่า “ศาสดาประเภทนี้เป็นเช่นไร ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โลหิจจะ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นพระ
อรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ๑ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตรมา
ใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่
โลหิจจะ ศาสดาที่สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันยอดเยี่ยมเห็นปานนี้ไม่สมควรถูกทัก
ท้วง การทักท้วงของผู้ทักท้วงศาสดาเห็นปานนี้ก็จัดว่าไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๒ และควรดูเทียบจนถึงข้อ ๒๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๒.โลหิจจสูตร]
โลหิจจพราหมณ์ประกาศตนเป็นอุบาสก

มีโทษ ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ โลหิจจะ
ศาสดาที่สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันยอดเยี่ยมเห็นปานนี้ไม่สมควรถูกทักท้วง การ
ทักท้วงของผู้ทักท้วงศาสดาเห็นปานนี้ก็จัดว่าไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม มีโทษ
ฯลฯ น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ โลหิจจะ ศาสดาที่สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันยอด
เยี่ยมเห็นปานนี้ไม่สมควรถูกทักท้วง การทักท้วงของผู้ทักท้วงศาสดาเห็นปานนี้ก็จัด
ว่าไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม มีโทษ ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่าง
นี้อีกต่อไป โลหิจจะ ศาสดาที่สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันยอดเยี่ยมเห็นปานนี้ไม่
สมควรถูกทักท้วง การทักท้วงของผู้ทักท้วงศาสดาเห็นปานนี้ก็จัดว่าไม่จริง ไม่แท้
ไม่เป็นธรรม มีโทษ”

โลหิจจพราหมณ์ประกาศตนเป็นอุบาสก

[๕๑๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ โลหิจจพราหมณ์ได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์กำลังจะตกเหวคือนรก แต่ท่านพระโคดมช่วยฉุดให้
กลับขึ้นมายืนอยู่บนที่มั่น เปรียบเหมือนคนผู้หนึ่งคว้าผมของอีกคนหนึ่งซึ่งกำลังจะ
ตกเหวแล้วฉุดให้กลับขึ้นมายืนอยู่บนที่มั่น ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระ
โคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบ
เหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีป
ในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดีจักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อม
ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็น
อุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

โลหิจจสูตรที่ ๑๒ จบ


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] ว่าด้วยเรื่องไตรเพท

๑๓. เตวิชชสูตร
ว่าด้วยเรื่องไตรเพท

[๕๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นโกศล พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จถึงหมู่บ้านพราหมณ์ของชาวโกศลชื่อมนสากฏะ
ประทับอยู่ ณ อัมพวัน ใกล้ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ด้านเหนือหมู่บ้านมนสากฏะ
[๕๑๙] สมัยนั้น ในหมู่บ้านมนสากฏะ มีพราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียง
มาพักอาศัยอยู่หลายคน คือ ๑จังกีพราหมณ์ ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์
ชาณุสโสณิพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์๑ และยังมีพราหมณ์มหาศาลผู้มีชื่อเสียง
คนอื่น ๆ อีก
[๕๒๐] ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพกับภารัทวาชมาณพไปเดินเล่น สนทนากันใน
เรื่องทางและไม่ใช่ทาง วาเสฏฐมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “ทางที่โปกขรสาติพราหมณ์
บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่
ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้”
ฝ่ายภารัทวาชมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “ทางที่ตารุกขพราหมณ์บอกไว้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหมได้”
วาเสฏฐมาณพไม่อาจให้ภารัทวาชมาณพยินยอมได้ ฝ่ายภารัทวาชมาณพก็ไม่
อาจให้วาเสฏฐมาณพยินยอมได้เช่นกัน
[๕๒๑] วาเสฏฐมาณพจึงบอกภารัทวาชมาณพว่า “ภารัทวาชะ ก็พระสมณ-
โคดมพระองค์นี้เป็นศากยบุตร ผนวชแล้วจากศากยตระกูล ประทับอยู่ที่อัมพวัน
ใกล้ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ด้านเหนือหมู่บ้านมนสากฏะ ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อัน

เชิงอรรถ :
๑-๑ จังกีพราหมณ์อยู่ที่หมู่บ้านโอปาสาทะ ตารุกขพราหมณ์อยู่ที่หมู่บ้านอิจฉานังคละ โปกขรสาติพราหมณ์
อยู่ที่เมืองอุกกัฏฐะ ชาณุสโสณิพราหมณ์อยู่ที่กรุงสาวัตถี โตเทยยพราหมณ์อยู่ที่หมู่บ้านตุทิ (ที.สี.อ.
๕๑๙/๓๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] ว่าด้วยเรื่องทางและไม่ใช่ทาง

งามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ฯลฯ๑ เป็นพระผู้มีพระภาค’ ภารัทวาชะ มาเถิด
พวกเราจะไปเข้าเฝ้าพระสมณโคดมด้วยกัน ทูลถามเรื่องนี้แล้วทรงจำข้อความตามที่
พระสมณโคดมตรัสตอบแก่พวกเรา”
ภารัทวาชมาณพรับคำของวาเสฏฐมาณพแล้ว

ว่าด้วยเรื่องทางและไม่ใช่ทาง

[๕๒๒] วาเสฏฐมาณพและภารัทวาชมาณพ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ สนทนากับพระผู้มีพระภาคพอคุ้นเคยดีแล้ว นั่งลง ณ ที่สมควร
วาเสฏฐมาณพได้ทูลถามว่า “ท่านพระโคดม ขอประทานวโรกาสเถิด เมื่อข้า
พระองค์ทั้งสองไปเดินเล่น ได้สนทนากันในเรื่องทางและไม่ใช่ทาง ข้าพระองค์กล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ทางที่โปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป
เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’ ภารัทวาชมาณพ
กลับกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ตารุกขพราหมณ์บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดิน
ตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’ ท่าน
พระโคดม ในเรื่องนี้ยังมีการถือผิดกัน กล่าวผิดกัน กล่าวต่างกันอยู่”
[๕๒๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ เธอกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ทางที่
โปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก
นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’ ภารัทวาชมาณพกลับกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ทางที่ตารุกขพราหมณ์บอกไว้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป
เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’ พวกเธอถือ
ผิดกันในเรื่องไหน กล่าวผิดกันในเรื่องไหน กล่าวต่างกันในเรื่องไหน”
[๕๒๔] วาเสฏฐมาณพกราบทูลว่า “ในเรื่องทางและไม่ใช่ทาง ท่านพระโคดม
พวกพราหมณ์ทั้งหลาย คือ พวกอัทธริยพราหมณ์ พวกติตติริยพราหมณ์ พวก
ฉันโทกพราหมณ์ พวกพวหาริชฌพราหมณ์บัญญัติทางไว้ต่างกันก็จริง ถึงกระนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในข้อ ๒๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
ความขวนขวายของวาเสฏฐมาณพ

ทางทั้งปวงก็ล้วนเป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้
เปรียบเหมือนในที่ใกล้หมู่บ้านหรือนิคม ถึงจะมีทางอยู่หลายเส้นทางก็จริง ถึงกระนั้น
ทุกเส้นทางก็มาบรรจบกันที่กลางหมู่บ้านนั่นเอง ฉันใด พวกพราหมณ์ทั้งหลาย
คือ พวกอัทธริยพราหมณ์ พวกติตติริยพราหมณ์ พวกฉันโทกพราหมณ์ พวก
พวหาริชฌพราหมณ์บัญญัติทางไว้ต่างกันก็จริง ถึงกระนั้น ทางทั้งปวงก็ล้วนเป็นทาง
นำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้ ฉันนั้น”

ความขวนขวายของวาเสฏฐมาณพ

[๕๒๕] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอกล่าวว่า ทางเหล่านั้น
นำออกได้หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์กล่าวว่านำออกได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอกล่าวว่า ทางเหล่านั้นนำออกได้หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์กล่าวว่านำออกได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอกล่าวว่า ทางเหล่านั้นนำออกได้หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม ข้าพระองค์กล่าวว่านำออกได้”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ บรรดาพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท มี
พราหมณ์แม้สักคนหนึ่งไหมที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้”
เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
แม้สักคนหนึ่งไหมที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้”
เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ มีปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้
ได้ไตรเพทแม้สักคนหนึ่งไหมที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้”
เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
ความขวนขวายของวาเสฏฐมาณพ

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
สักคนหนึ่งไหมที่เป็นอาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนซึ่งเคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็น
พยานได้”
เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”
[๕๒๖] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์
ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท ได้แก่ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษี
เวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ
และฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทในเวลานี้
ขับตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้ รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้อง
ตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ แม้ฤๅษีเหล่านั้นมีไหมที่กล่าว
อย่างนี้ว่า พวกเรารู้ พวกเราเห็นพระพรหมนั้นว่าอยู่ที่ใด โดยที่ใด หรืออยู่ภพใด”
เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”
[๕๒๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า บรรดา
พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทไม่มีเลยแม้สักคนเดียวที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยาน
ได้ แม้อาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทก็ไม่มีเลยแม้สักคนเดียวที่เคยเห็นพรหม
พอจะอ้างเป็นพยานได้ แม้ปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทก็ไม่มีเลย
แม้สักคนเดียวที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ อาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพทที่เป็นอาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนก็ไม่มีเลยแม้สักคนเดียวที่เคยเห็น
พรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
ได้แก่ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษี
อังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ และฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์
บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทในเวลานี้ขับตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่า
ที่ท่านขับไว้กล่อมไว้รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้อง
ตามที่ท่านบอกไว้ แม้ฤๅษีเหล่านั้นก็ไม่มีเลยที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเรารู้ พวกเรา
เห็นพระพรหมนั้นว่าอยู่ที่ใด โดยที่ใด หรืออยู่ภพใด’ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้น
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็น แต่พวกเราแสดงทางเพื่อความเป็นผู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
ความขวนขวายของวาเสฏฐมาณพ

อยู่ร่วมกับพระพรหมว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก
นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’
[๕๒๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอย๑ มิใช่หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทซึ่งไม่รู้
ไม่เห็นพรหม แต่กลับแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมว่า ‘ทางนี้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหมได้’ นั่นไม่ใช่ฐานะที่เป็นไปได้”
[๕๒๙] วาเสฏฐะ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหมือนคนตาบอดเข้าแถว
เกาะหลังกัน คนอยู่หัวแถว คนอยู่กลางแถว และคนอยู่ปลายแถวต่างก็มองไม่เห็น
ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นช่างน่าขบขัน ต่ำต้อย เหลวไหล ไร้สาระ
[๕๓๐] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทมองเห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นลงเหมือนคนเหล่าอื่น
แต่ก็ยังอ้อนวอนชื่นชมประนมมือนอบน้อมเดินเวียนอยู่”
เขาทูลตอบว่า “เป็นเช่นนั้น ท่านพระโคดม พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทมองเห็นดวง
จันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นลงเหมือนคนเหล่าอื่น แต่ก็ยังอ้อนวอนชื่นชมประนมมือ
นอบน้อมเดินเวียนอยู่”
[๕๓๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทมองเห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นลงเหมือนคนเหล่าอื่น
แต่ก็ยังอ้อนวอนชื่นชมประนมมือนอบน้อมเดินเวียนอยู่ พราหมณ์เหล่านั้นจะ
สามารถแสดงทางไปอยู่ร่วมกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทาง

เชิงอรรถ :
๑ เลื่อนลอย (อปฺปาฏิหีรกตํ) หมายถึง เป็นคำที่ไม่มีปาฏิหาริย์ ขาดเหตุผลที่จะจูงใจฝ่ายตรงข้ามให้เชื่อถือ
หรือยินยอมได้ [ที.สี.ฎีกา(อภินว.) ๒/๔๒๕/๔๙๓]

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
ความขวนขวายของวาเสฏฐมาณพ

ตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับ
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ได้ละหรือ”
เขาทูลตอบว่า “หามิได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า พราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพทมองเห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นลงเหมือนคนเหล่าอื่น แต่ก็ยังอ้อนวอน
ชื่นชมประนมมือนอบน้อมเดินเวียนอยู่ พราหมณ์เหล่านั้นไม่สามารถแสดงทาง
ไปอยู่ร่วมกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ได้ว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดิน
ตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับดวงจันทร์และ
ดวงอาทิตย์ได้
[๕๓๒] วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า ไม่มีพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็น
พรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็น
พรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มีปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่
เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เป็น
อาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนซึ่งเคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ พวกฤๅษี
ผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท ได้แก่ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษี
วามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ
ฤๅษีกัสสปะ และฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
ในเวลานี้ขับตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้รวบรวมไว้ กล่าว
ได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ แม้ฤๅษีเหล่านั้นก็ไม่
มีเลยที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเรารู้ พวกเราเห็นพระพรหมนั้นว่าอยู่ที่ใด โดยที่ใด
หรืออยู่ภพใด’ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราไม่รู้ พวกเรา
ไม่เห็น แต่พวกเราแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมว่า ทางนี้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหมได้’
[๕๓๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
เปรียบด้วยชายหลงรักหญิงงามแห่งชนบท

เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทซึ่งไม่รู้
ไม่เห็นพรหม แต่กลับแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมว่า ‘ทางนี้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหมได้’ นั่นมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้

เปรียบด้วยชายหลงรักหญิงงามแห่งชนบท

[๕๓๔] วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนชายคนหนึ่งปรารภถึงหญิงสาวอย่างนี้ว่า
‘เราปรารถนารักใคร่หญิงงามแห่งชนบทนี้’ คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอรู้จักหญิง
คนนั้นหรือว่าเป็นนางกษัตริย์ นางพราหมณี นางแพศย์ หรือนางศูทร’ เมื่อถูกถาม
อย่างนี้เขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอรู้จักหญิงคนนั้นหรือว่ามีชื่อ ตระกูล
สูง ต่ำ สันทัด ดำ คล้ำ หรือผิวเหลือง อยู่ในบ้าน นิคม หรือเมืองโน้น’ เมื่อถูกถาม
อย่างนี้เขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอปรารถนารักใคร่หญิงที่ไม่
รู้จักทั้งไม่เคยเห็นอย่างนั้นหรือ’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’
[๕๓๕] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่า
เลื่อนลอยแน่นอน”
[๕๓๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้
สรุปได้ว่า ไม่มีพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มี
อาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มี
ปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้
ไม่มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เป็นอาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนที่เคย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] เปรียบด้วยคนสร้างบันได

เห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ฯลฯ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้
ว่า ‘พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็น แต่พวกเราแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับ
พระพรหมว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้
เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’
[๕๓๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทซึ่งไม่รู้
ไม่เห็นพรหม แต่กลับแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมว่า ‘ทางนี้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหมได้’ นั่นมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้”

เปรียบด้วยคนสร้างบันได

[๕๓๘] วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนบุรุษทำบันไดที่หนทางใหญ่สี่แพร่งเพื่อขึ้น
ปราสาท คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอจะทำบันไดขึ้นปราสาท เธอรู้จักปราสาทนั้น
หรือว่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก หรือทิศเหนือ มีขนาดสูง ต่ำ
หรือปานกลาง’ เมื่อถูกถามอย่างนี้เขาจะตอบว่า ‘ยังไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า
‘เธอจะทำบันไดขึ้นปราสาทที่ยังไม่เคยรู้จักทั้งไม่เคยเห็นอย่างนั้นหรือ’ เมื่อถูกถาม
อย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’
[๕๓๙] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่า
เลื่อนลอยแน่นอน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] เปรียบด้วยแม่น้ำอจิรวดี

[๕๔๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้
สรุปได้ว่า ไม่มีพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มี
อาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ ไม่มี
ปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้
ไม่มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่เป็นอาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนซึ่งเคย
เห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพท ได้แก่ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษี
ยมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ และฤๅษีภคุ ซึ่ง
เป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทในเวลานี้ขับตามกล่อมตาม
ซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้
บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ แม้ฤๅษีเหล่านั้นก็ไม่มีเลยที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวก
เรารู้ พวกเราเห็นพรหมนั้นว่าอยู่ที่ใด โดยที่ใด หรืออยู่ภพใด’ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
เหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็น แต่พวกเราแสดงทางเพื่อ
ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป
เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’
[๕๔๑] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทก็ถือว่าเลื่อนลอยมิใช่หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพทก็ถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทซึ่งไม่รู้
ไม่เห็นพรหม แต่กลับแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมว่า ‘ทางนี้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหมได้’ นั่นมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้

เปรียบด้วยแม่น้ำอจิรวดี

[๕๔๒] วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีมีน้ำเต็มเสมอฝั่ง นกกา(ก้ม)
ดื่มกินได้ ชายคนหนึ่งต้องการจะข้ามฝั่ง แสวงหาฝั่ง ไปถึงฝั่ง ประสงค์จะข้าม เขา
ยืนอยู่ที่ฝั่งนี้ตะโกนเรียกฝั่งโน้นว่า ‘ฝั่งโน้นจงเลื่อนมาฝั่งนี้ ๆ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] เปรียบด้วยแม่น้ำอจิรวดี

[๕๔๓] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เพราะเหตุที่ชายผู้นั้นร้องเรียก อ้อนวอน ปรารถนา หรือสรรเสริญ ฝั่งโน้นของแม่น้ำ
อจิรวดีจะเลื่อนมายังฝั่งนี้ได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “ไม่ได้ ท่านพระโคดม”
[๕๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ การที่
พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทละธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์๑ กลับไปถือเอาธรรมที่ไม่ทำให้
เป็นพราหมณ์มาประพฤติ กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราร้องเรียกพระอินทร์ ร้องเรียก
พระจันทร์ ร้องเรียกพระพิรุณ ร้องเรียกพระอีสาน ร้องเรียกพระปชาบดี ร้องเรียก
พระพรหม ร้องเรียกพระมหิทธิ์’ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้น
ละธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์ กลับไปถือเอาธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์มา
ประพฤติ หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม เพราะการเรียกร้อง
การอ้อนวอน การปรารถนา หรือการสรรเสริญ นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้
[๕๔๕] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีมี
น้ำเต็มเสมอฝั่ง นกกา(ก้ม)ดื่มกินได้ ชายคนหนึ่งต้องการข้ามไปฝั่งโน้น แต่กลับเอา
เชือกเหนียวมัดแขนไพล่หลังแน่นหนาอยู่ที่ฝั่งนี้ วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
ชายคนนั้นจะข้ามแม่น้ำอจิรวดีได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “ไม่ได้ ท่านพระโคดม”
[๕๔๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ กามคุณ๒ ๕
ต่อไปนี้ ในวินัยของพระอริยะเรียกว่า ขื่อคาบ้าง เครื่องจองจำบ้าง กามคุณ ๕
อะไรบ้าง คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยตา อันน่าปรารถนารักใคร่พอใจ ชวนให้รัก ชักให้
ใคร่ พาใจให้กำหนัด เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู อันน่าปรารถนารักใคร่พอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูก อันน่าปรารถนารักใคร่พอใจ

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์ (พฺราหฺมณการกา) ในที่นี้หมายถึง ศีล ๕ ศีล ๑๐ และกุศลกรรมบถ ๑๐ (ที.สี.อ.
๕๔๔-๕๔๕/๓๓๕)
๒ กาม (สิ่งที่ทำให้เกิดความใคร่) และ คุณ (เครื่องผูกพันหรือพันธนาการ) [ที.สี.อ. ๕๔๖/๓๓๕] ฉะนั้น
กามคุณ จึงหมายถึงสิ่งที่ผูกพันสัตว์ไว้คือกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] เปรียบด้วยแม่น้ำอจิรวดี

ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น อันน่าปรารถนารักใคร่
พอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่า
ปรารถนารักใคร่พอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทผู้กำหนัด สยบ หมกมุ่น มองไม่เห็นโทษ ไม่มี
ปัญญาที่จะสลัดออก บริโภคกามคุณ ๕ อย่างนี้อยู่ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
ละธรรมที่ทำให้เป็นพราหมณ์ กลับไปถือเอาธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์มา
ประพฤติ กำหนัด สยบ หมกมุ่น มองไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาที่จะสลัดออก บริโภค
กามคุณ ๕ อยู่ ติดตรวนคือกาม หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม
นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้
[๕๔๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีมี
น้ำเต็มเสมอฝั่ง นกกา(ก้ม)ดื่มกินได้ ชายคนหนึ่งต้องการข้ามไปฝั่งโน้น แต่กลับนอน
คลุมโปงอยู่ที่ฝั่งนี้ วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร ชายคนนั้นจะข้ามแม่น้ำ
อจิรวดีได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “ไม่ได้ ท่านพระโคดม”
[๕๔๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน วาเสฏฐะ นิวรณ์ ๕
ต่อไปนี้ ในวินัยของพระอริยะเรียกว่า เครื่องหน่วงเหนี่ยวบ้าง เครื่องกางกั้นบ้าง
เครื่องรัดรึงบ้าง เครื่องตรึงตราบ้าง นิวรณ์ ๕ อะไรบ้าง คือ กามฉันทะ พยาบาท
ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา วาเสฏฐะ นิวรณ์ ๕ เหล่านี้แล ในวินัย
ของพระอริยะเรียกว่า เครื่องหน่วงเหนี่ยวบ้าง เครื่องกางกั้นบ้าง เครื่องรัดรึงบ้าง
เครื่องตราตรึงบ้าง”
[๕๔๙] วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถูกนิวรณ์ ๕ เหล่านี้แลหน่วงเหนี่ยว
กางกั้น รัดรึง ตรึงเอาไว้แล้ว การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทละธรรมที่ทำให้เป็น
พราหมณ์ กลับไปถือเอาธรรมที่ไม่ทำให้เป็นพราหมณ์มาประพฤติ ถูกนิวรณ์ ๕
หน่วงเหนี่ยว กางกั้น รัดรึง ตรึงเอาไว้ หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วม
กับพรหม นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
เรื่องที่ตรัสเทียบเคียงระหว่างพรหมกับพราหมณ์

เรื่องที่ตรัสเทียบเคียงระหว่างพรหมกับพราหมณ์

[๕๕๐] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เธอเคยได้ยินพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่าผู้เป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวว่าอย่างไร พรหม
มีเครื่องเกาะเกี่ยว(ภรรยา) หรือไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว”
เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พรหมคิดจองเวรหรือไม่คิดจองเวร”
เขาทูลตอบว่า “ไม่คิดจองเวร ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พรหมคิดเบียดเบียนหรือไม่คิดเบียดเบียน”
เขาทูลตอบว่า “ไม่คิดเบียดเบียน ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พรหมมีจิตเศร้าหมองหรือมีจิตไม่เศร้าหมอง”
เขาทูลตอบว่า “มีจิตไม่เศร้าหมอง ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พรหมบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้หรือบังคับจิต
ให้อยู่ในอำนาจไม่ได้”
เขาทูลตอบว่า “บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร พราหมณ์
ผู้ได้ไตรเพทมีเครื่องเกาะเกี่ยวหรือไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว”
เขาทูลตอบว่า “มีเครื่องเกาะเกี่ยว ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์คิดจองเวรหรือไม่คิดจองเวร”
เขาทูลตอบว่า “คิดจองเวร ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์คิดเบียดเบียนหรือไม่คิดเบียดเบียน”
เขาทูลตอบว่า “คิดเบียดเบียน ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์มีจิตเศร้าหมองหรือมีจิตไม่เศร้า
หมอง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
เรื่องที่ตรัสเทียบเคียงระหว่างพรหมกับพราหมณ์

เขาทูลตอบว่า “มีจิตเศร้าหมอง ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้หรือบังคับ
จิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้”
เขาทูลตอบว่า “บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ ท่านพระโคดม”
[๕๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า พราหมณ์ผู้
ได้ไตรเพทยังมีเครื่องเกาะเกี่ยว แต่พรหมไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว ดังนั้น จะเปรียบ
เทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่ยังมีเครื่องเกาะเกี่ยวกับพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยวได้
ละหรือ”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันไม่ได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
เหล่านั้นซึ่งยังมีเครื่องเกาะเกี่ยว หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม
ผู้ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว นั่นมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทยังคิด
จองเวร แต่พรหมไม่คิดจองเวร ดังนั้น จะเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่ยังคิด
จองเวรกับพรหมผู้ไม่คิดจองเวรได้ละหรือ”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันไม่ได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทยังคิดเบียดเบียน แต่
พรหมไม่คิดเบียดเบียน ดังนั้น จะเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่ยังคิด
เบียดเบียนกับพรหมผู้ไม่คิดเบียดเบียนได้ละหรือ”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันไม่ได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทยังมีจิตเศร้าหมอง แต่
พรหมมีจิตไม่เศร้าหมอง ดังนั้น จะเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่ยังมีจิต
เศร้าหมองกับพรหมผู้มีจิตไม่เศร้าหมองได้ละหรือ”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันไม่ได้ ท่านพระโคดม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
เรื่องที่ตรัสเทียบเคียงระหว่างพรหมกับพราหมณ์

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทยังบังคับจิตให้อยู่ใน
อำนาจไม่ได้ แต่พรหมบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ดังนั้น จะเปรียบเทียบพราหมณ์ผู้
ได้ไตรเพทที่ยังบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้กับพรหมผู้บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้
ละหรือ”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันไม่ได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทที่ยัง
บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจไม่ได้ หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมผู้
บังคับจิตอยู่ในอำนาจได้ นั่นมิใช่ฐานะที่เป็นไปได้
[๕๕๒] วาเสฏฐะ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นจมลงแล้วก็ยังจะจมอยู่ต่อไป
ในโลกนี้ เมื่อจมแล้ว ก็ถึงความย่อยยับ แต่ก็ยังเข้าใจว่า ตนข้ามไปได้ง่าย ๆ ดังนั้น
เราจึงเรียกไตรเพทของพราหณ์ผู้ได้ไตรเพทว่า ป่าใหญ่คือไตรเพทบ้าง ดงกันดารคือ
ไตรเพทบ้าง ความพินาศคือไตรเพทบ้าง”
[๕๕๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ วาเสฏฐมาณพกราบทูลว่า “ท่าน
พระโคดม ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า พระสมณโคดมทรงทราบทางไปเพื่อความเป็นผู้
อยู่ร่วมกับพระพรหม”
พระผู้มีพระภาคตรัสย้อนถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร หมู่
บ้านมนสากฏะอยู่ใกล้แค่นี้ ไม่ไกลไปจากนี้ใช่ไหม”
เขาทูลตอบว่า “เป็นเช่นนั้น ท่านพระโคดม”
[๕๕๔] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คน
ที่เติบโตมาในหมู่บ้านมนสากฏะนี้ เมื่อถูกถามถึงทางไปหมู่บ้านมนสากฏะที่เขาเพิ่ง
จะออกมา มีหรือที่เขาจะชักช้าหรือรีรออยู่”
เขาทูลตอบว่า “ไม่ชักช้าหรือรีรอเลย ท่านพระโคดม เพราะเขาเติบโตมาในหมู่
บ้านมนสากฏะ จึงรู้หนทางในหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ ผู้ที่เติบโตมาในหมู่บ้านมนสากฏะถูกถาม
ถึงทางไปหมู่บ้านนั้นก็ยังอาจจะชักช้าหรือรีรออยู่บ้าง แต่(เรา)ตถาคตถูกถามถึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] ทรงแสดงทางไปพรหมโลก

พรหมโลกหรือข้อปฏิบัติที่พาไปพรหมโลก จะไม่ชักช้าหรือรีรอเลย เพราะเรารู้จัก
พรหมโลกและข้อปฏิบัติที่พาไปพรหมโลก อีกทั้งรู้ว่า พรหมปฏิบัติอย่างไรจึงได้เข้า
ถึงพรหมโลก”
[๕๕๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ วาเสฏฐมาณพกราบทูลว่า “ท่าน
พระโคดม ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า พระสมณโคดมทรงแสดงทางไปเพื่อความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหม ข้าพระองค์ขอวโรกาส ขอท่านพระโคดมโปรดแสดงทางไปเพื่อ
ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหม โปรดอนุเคราะห์ชุมชนพราหมณ์ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจะ
กล่าว”
เขาทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว

ทรงแสดงทางไปพรหมโลก

[๕๕๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “วาเสฏฐะ ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็น
พระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ๑ (พึงนำข้อความเต็มในสามัญญผลสูตร
มาใส่ไว้ในที่นี้) ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ เมื่อภิกษุนั้นพิจารณา
เห็นนิวรณ์ ๕ ที่ตนละได้แล้วย่อมเกิดความเบิกบานใจ เมื่อเบิกบานใจก็ย่อมเกิดปีติ
เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบย่อมได้รับความสุข เมื่อมีความสุข จิตย่อม
ตั้งมั่น
ภิกษุนั้นมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ทิศเบื้องบน
ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
วาเสฏฐะ กรรมที่ทำพอประมาณในเมตตาเจโตวิมุตติที่บุคคลอบรมแล้ว
อย่างนี้จะไม่เหลืออยู่ในรูปาวจรและอรูปาวจร เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้แข็งแรงพึง

เชิงอรรถ :
๑ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] ทรงแสดงทางไปพรหมโลก

ให้ผู้อื่นได้ยินตลอดทั้ง ๔ ทิศได้โดยไม่ยาก วาเสฏฐะ นี้แลเป็นทางไปเพื่อความเป็น
ผู้อยู่ร่วมกับพรหม
ยังมีอีก วาเสฏฐะ ภิกษุมีกรุณาจิต ฯลฯ มีมุทิตาจิต ฯลฯ มีอุเบกขาจิตแผ่ไป
ตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ทิศเบื้องบน เบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไป
ตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่
มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
วาเสฏฐะ กรรมที่ทำพอประมาณในอุเบกขาเจโตวิมุตติที่บุคคลอบรมแล้วอย่าง
นี้ จะไม่เหลืออยู่ในรูปาวจรและอรูปาวจร เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ผู้แข็งแรงพึงให้
ผู้อื่นได้ยินตลอดทั้ง ๔ ทิศได้โดยไม่ยาก วาเสฏฐะ นี้แลเป็นทางไปเพื่อความเป็นผู้
อยู่ร่วมกับพรหม
[๕๕๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้จะมีเครื่องเกาะเกี่ยวหรือไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว”
เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “คิดจองเวรหรือไม่คิดจองเวร”
เขาทูลตอบว่า “ไม่คิดจองเวร ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “คิดเบียดเบียนหรือไม่คิดเบียดเบียน”
เขาทูลตอบว่า “ไม่คิดเบียดเบียน ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “มีจิตเศร้าหมองหรือมีจิตไม่เศร้าหมอง”
เขาทูลตอบว่า “มีจิตไม่เศร้าหมอง ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้หรือบังคับจิตให้อยู่
ในอำนาจไม่ได้”
เขาทูลตอบว่า “บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ท่านพระโคดม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร] ทรงแสดงทางไปพรหมโลก

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า ภิกษุไม่มีเครื่อง
เกาะเกี่ยว พรหมก็ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว ดังนั้น จะเปรียบเทียบภิกษุผู้ไม่มีเครื่อง
เกาะเกี่ยวกับพรหมผู้ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยวได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่ภิกษุนั้นผู้ไม่มีเครื่องเกาะเกี่ยว
หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมผู้ไม่มีเป็นเครื่องเกาะเกี่ยว นั่น
เป็นฐานะที่เป็นไปได้
[๕๕๘] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ ภิกษุไม่คิดจองเวร พรหมก็ไม่
คิดจองเวร ดังนั้น จะเปรียบเทียบภิกษุผู้ไม่คิดจองเวรกับพรหมผู้ไม่คิดจองเวรได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุไม่คิดเบียดเบียน พรหมก็ไม่คิดเบียดเบียน
ดังนั้น จะเปรียบเทียบภิกษุผู้ไม่คิดเบียดเบียนกับพรหมผู้ไม่คิดเบียดเบียนได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุมีจิตไม่เศร้าหมอง พรหมก็มีจิตไม่เศร้า
หมอง ดังนั้น จะเปรียบเทียบภิกษุผู้มีจิตไม่เศร้าหมองกับพรหมผู้มีจิตไม่เศร้าหมอง
ได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ พรหมก็บังคับ
จิตให้อยู่ในอำนาจได้ ดังนั้น จะเปรียบเทียบภิกษุผู้บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้กับ
พรหมผู้บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้ ได้ไหม”
เขาทูลตอบว่า “เปรียบเทียบกันได้ ท่านพระโคดม”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่ภิกษุนั้นผู้บังคับจิตให้อยู่ใน
อำนาจได้ หลังจากตายแล้วจะถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมผู้บังคับจิตให้อยู่ใน
อำนาจได้ นั่นเป็นฐานะที่เป็นไปได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๑๓.เตวิชชสูตร]
มาณพทั้งสองประกาศตนเป็นอุบาสก

มาณพทั้งสองประกาศตนเป็นอุบาสก

[๕๕๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ วาเสฏฐมาณพกับภารัทวาชมาณพ
ได้กราบทูลว่า“ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดม
ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า คนมีตาดี
จักเห็นรูปได้ ข้าพระองค์ทั้งสองนี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและ
พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

เตวิชชสูตรที่ ๑๓ จบ
สีลขันธวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พรหมชาลสูตร___๒. สามัญญผลสูตร
๓. อัมพัฏฐสูตร___๔. โสณทัณฑสูตร
๕. กูฏทันตสูตร___๖. มหาลิสูตร
๗. ชาลิยสูตร___๘. มหาสีหนาทสูตร
๙. โปฏฐปาทสูตร___๑๐. สุภสูตร.
๑๑. เกวัฏฏสูตร___๑๒. โลหิจจสูตร
๑๓. เตวิชชสูตร

สีลขันธวรรค จบบริบูรณ์


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๐๙ สุตตันตปิฎกที่ ๐๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค จบ





eXTReMe Tracker