พระประวัติ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

     พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาวาด ประสูติ ณ วันจันทร์ เดือน 3 ขึ้น 4 ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2424 ทรงพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรเมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) เป็นผู้ถวายพระอักษรในปี พ.ศ.2437 ได้รับพระบรมราชานุญาต ให้เสด็จไปทรงศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ ทรงศึกษาที่โรงเรียนแฮโรว์โดยศึกษาด้านโยธาธิการตามที่มีพระทัยรักและมีความถนัด เมื่อทรงจบการศึกษาจากแฮโรว์แล้วได้เสด็จไปศึกษาวิชา วิศวกรรมที่ตรินิตี้คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และศึกษาวิชาทหารช่างต่อที่โรงเรียนวิศวกรรมทหารที่ชัทแทม เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วเสด็จกลับมารับราชการได้รับพระยศเป็นนายร้อยตรีกองทหารอินยิเนียร์(เปลี่ยนเป็น"กรมทหาร ช่าง"ในปี พ.ศ.2447)
     เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2447 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมรสกับพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิง
ประภาวสิทธนฤมลพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ทรงเป็นต้นราชตระกูล"ฉัตรไชย" และทรงมีพระโอรสและพระธิดารวม 11 พระองค์ คือ
1.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง มยุรฉัตร
2.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า เปรมบุรฉัตร
3.หม่อมเจ้าหญิง ฉัตรสุดา
4.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง วิมลฉัตร
5.หม่อมเจ้าหญิง กาญจนฉัตร ฉัตรไชย
6.หม่อมเจ้าหญิง ภัทรลดา ฉัตรไชย
7.หม่อมเจ้าชาย สุรฉัตร ฉัตรไชย
8.หม่อมเจ้าหญิง เฟื่องฉัตร ฉัตรไชย
9.หม่อมเจ้าหญิง หิรัญฉัตร ฉัตรไชย
10.หม่อมเจ้าชาย ทิพยฉัตร ฉัตรไชย
11.หม่อมเจ้าชาย พิบูลฉัตร ฉัตรไชย
     พระองค์เจ้าชายบุรฉัตรไชยากร นอกจากจะทรงรับราชการทหารแล้ว ยังทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณ และทรงวางรากฐานในกิจการด้านอื่นๆ เป็นต้นว่าการส่งวิทยุกระจายเสียง การออมสิน การโรงแรม การสหกรณ์ การพาณิชย์ การท่องเที่ยว การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ การบินทหารบก และการคมนาคมโดยเฉพาะกิจการรถไฟที่พระองค์ทรงริเริ่ม ขยาย ปรับปรุงให้มีความเจริญรุดหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ อันเป็นผลให้พระองค์ได้รับเลื่อนพระอิสริยยศมาโดย ลำดับ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2479 รวมพระชนมายุได้ 54 ปี 7 เดือน 22 วัน พระคุณูปการต่อกิจการรถไฟ
     ในปีพุทธศักราช 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ นายพลโท
กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการรถไฟเพิ่มขึ้นจากตำแหน่งประจำทางราชการทหาร จึงทรงเป็นคนไทยคนแรก ที่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในกิจการรถไฟ ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งดังกล่าว ได้ทรงริเริ่มงานเกี่ยวกับกิจการรถไฟหลาย ประการ อันเป็นรากฐานแนวทางให้คนรถไฟรุ่นต่อๆมา ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติจนกระทั่งทุกวันนี้
     กิจเบื้องแรกที่นายพลโท กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงกระทำเมื่อทรงเริ่มเข้า รับตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟ คือ การรวมกิจการกรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้เข้าเป็นกรมเดียวกัน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2460 แล้วเตรียมการแก้ไขทางรถไฟสายเหนือขนาดกว้าง 1.435 เมตร ให้เป็นขนาด 1 เมตร เท่ากับทางรถไฟ สายใต้เพื่อสะดวกในการเดินขบวนรถผ่านเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านคือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งใช้ทางขนาด 1 เมตร ตามแบบของอังกฤษ จากแนวพระราชดำริในการแผ่ขยายเครือข่ายทางรถไฟออกไปยังภูมิภาคต่างๆนี้ กระทรวงคมนาคมและการรถไฟ แห่งประเทศไทย จึงกำหนดโครงการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างหนองคายไปยังเวียงจันทน์ โดยผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขง (สะพานมิตรภาพไทย-ลาว) ที่สามารถใช้ร่วมกันทั้งรถไฟและรถยนต์ลักษณะเดียวกับสะพานพระราม 6 ที่พระองค์ทรงสร้างไว้
     โครงการสร้างทางรถไฟหนองคาย-เวียงจันทน์ เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2537 และจะแล้วเสร็จในราวปลายปี 2542 นี้   นอกจากนี้ นายพลเอก กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงสัญญาประแจกล และโทรคมนาคมของกรมรถไฟหลวงใหม่หมด โดยใช้โทรศัพท์ทางไกลและโทรศัพท์อัตโนมัติ ในปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เจริญรอยพระดำริของพระองค์ในการพัฒนาระบบการสื่อสารโทรคมนาคมของการรถไฟฯให้สมบูรณ์แบบและมีประสิทธภาพ ด้วยการร่วมมือกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จัดวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามแนวเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ รวม ระยะทางประมาณ 3,000 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อชุมสายโทรศัพท์นครหลวงกับส่วนภูมิภาค ช่วยให้องค์การโทรศัพท์ฯขยาย เครือข่ายโทรศัพท์ทั่วประเทศได้ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับประโยชน์ในการพัฒนาระบบการสื่อสารโทรคมนาคมให้สมบูรณ์แบบและมีประสิทธิภาพ ทั้งระบบโทรศัพท์ควบคุมการเดินรถ ระบบวิทยุโทรศัพท์ติดต่อระหว่างพนักงานบนขบวนรถกับภาคพื้นดิน ระบบคอมพิวเตอร์ On Line ระบบควบคุมอาณัติสัญญาณจากส่วนกลาง ระบบข้อมูลการโดยสาร ที่สำคัญคือช่วยให้การรถไฟฯจัดทำระบบการขายตั๋วและสำรองที่นั่งด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกสถานที่ทั่วประเทศได้สำเร็จ สามารถเปิดใช้การได้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
     ในปี พ.ศ.2471 นายพลเอก กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน (พระอิสริยยศขณะนั้น) ทรงสร้างสะพานลอย
สำหรับรถยนต์แห่งแรกของประเทศไทย โดยสร้างเชื่อมต่อกับสะพานกษัตริย์ศึก เป็นสะพานลอยข้ามทางรถไฟที่ตัดผ่านถนน พระรามหนึ่ง บริเวณยศเส ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยแก่การจราจรทางถนนที่จะต้องผ่านในบริเวณดังกล่าว และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การเดินขบวนรถไฟไปพร้อมกันด้วย สะพานลอยแห่งนี้เปิดใช้การได้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2472
     ย้อนไปในปี 2471 ได้ทรงสั่งซื้อรถจักรดีเซลกำลัง 180 แรงม้า ส่งผ่านกำลังด้วยวิธีการกลจำนวน 2 คันจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาใช้การเป็นรุ่นแรกในประเทศไทยและเป็นรายแรกในทวีปเอเซีย รถจักรรุ่นต่อมาเป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้า จำนวน 13 คัน (เริ่มใช้การในปี พ.ศ.2474) ดังนั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายแด่พระองค์บรรดารถจักรดีเซลไฟฟ้าที่มีใช้การในปัจจุบันจึงได้รับการขนานนามว่า "รถจักรบุรฉัตร" และได้รับการติดตั้งแผ่นวงกลมจารึกพระนาม "บุรฉัตร" ประกอบ ด้วยเครื่องหมายประจำพระองค์ทุกคัน
     ที่ได้กล่าวมานี้เป็นเพียงพระกรณียกิจบางส่วนของพระองค์เท่านั้น พระกรณียกิจสำคัญที่พระองค์ทรงกระทำไว้เพื่อบ้านเมืองยังมีอีกนับเอนกประการ สุดที่จะนำมากล่าวในโอกาสนี้ได้ทั้งหมด พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ที่ทรงมีต่อกิจการรถไฟและประเทศชาติ กับขอตั้งปณิธานที่จะดำรงรักษาและพัฒนากิจการรถไฟที่พระองค์ทรงวางรากฐานไว้ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนชาวไทยและประเทศชาติสืบไป


ที่มา : การรถไฟแห่งประเทศไทย www.thailandrailway.com

Hosted by www.Geocities.ws

1