ระบบบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุในเขตเทศบาล อำเภอหาดใหญ่: รายงานเบื้องต้น

สุภาพ ไพศาลศิลป์1

1นายแพทย์ 8 กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
รับต้นฉบับวันที่ 6 มีนาคม 2543 รับลงตีพิมพ์วันที่ 27 ธันวาคม 2543
Abstract:
Pre-hospital care in Hadyai Municipality: preliminary report
Paisansilp S.
Department of Surgery, Hat Yai Hospital, Hat Yai, Songkhla 90110, Thailand
Songkla Med J 2001; 19(1): 3-7

The emergency medical service can save the life of victims and decrease the risk of deformities and disability. To perform such service requires not only good equipment but also capable and experienced pre-hospital care providers. The main objective of this study was to evaluate pre-hospital care providers of Hat Yai Hospital and volunteers from Mitraparb Foundation. Methods : retrospective study of 35 records of service from 16 October 1999–15 January 2000. Results: 1) on average service was provided 10 times per month 2) most cases were accidents 3) average time of transportation from the center to the emergency was less than 5 minutes. 4) most pre-hospital care involved transfer of the victims to hospital and stopping bleeding. Conclusion: this preliminary study suggests that pre-hospital care providers should be monitored to evaluate their performance according to the training standards.

Key words: pre-hospital care providers, Emergency Medical System(ems), Emergency Medical Technician (emt)

บทคัดย่อ:

การช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยในขณะเกิดภาวะฉุกเฉินได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญต่อการรักษาชีวิตรวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงต่อ การเกิดความพิการให้กับผู้ประสบภัยได้ระดับหนึ่ง ซึ่งความสำคัญของการช่วยเหลือมิใช่อยู่แต่เพียงเครื่องมือที่ทันสมัยเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ให้การช่วยเหลือจะต้องมีประสบการณ์และความสามารถในการช่วยเหลือ การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินผล การปฏิบัติงานของหน่วยกู้ชีพโรงพยาบาลหาดใหญ่ร่วมกับมูลนิธิมิตรภาพสามัคคี กลุ่มประชากร เป็นผู้รับบริการของหน่วยกู้ชีพ ที่ขอรับบริการระหว่าง 16 ต.ค 2542 ถึง 15 ม.ค. 2543 จำนวน 35 ราย ผลการศึกษา พบว่า 1) หน่วยกู้ชีพสามารถออกให้บริการ เฉลี่ยเดือนละ 10 ครั้ง 2) ส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 3) ส่วนใหญ่ใช้เวลาในการเดินทางไปถึงสถานที่เกิดเหตุ ไม่เกิน 5 นาที 4) กิจกรรมในการให้ความช่วยเหลือส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และการห้ามเลือด สรุป จากการศึกษานี้ควรได้มีการติดตาม การปฏิบัติงานของหน่วยกู้ชีพให้เป็นไปตามมาตรฐานตามที่ได้รับการอบรม

บทนำ

การให้ความช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยหรือผู้บาดเจ็บอย่างถูกต้อง ณ จุดเกิดเหตุ เป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้เจ็บป่วยหรือผู้บาดเจ็บได้รับ การรักษาพยาบาลเบื้องต้นก่อนมาถึงโรงพยาบาล ในขณะเดียวกัน ถ้าการดูแลนั้นถูกต้องและมีประสิทธิภาพก็สามารถลดโอกาสเสี่ยง ต่อความพิการและการสูญเสียชีวิตได้อย่างมาก ในอำเภอหาดใหญ่ แต่เดิมมาหน่วยกู้ภัยของมูลนิธิมิตรภาพสามัคคีเป็นผู้ออกไปรับ คนเจ็บ จากที่เกิดเหตุนำมาส่งโรงพยาบาล ในปี พ.ศ. 2539 โรงพยาบาลหาดใหญ่ได้จัดอบรมเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิให้มีความรู้ เรื่อง การปฐมพยาบาลที่จุดเกิดเหตุ ซึ่งภายหลังได้มีการจัดร่วม กับโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กู้ภัยอย่างต่อ เนื่องทุกปี

การให้บริการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ ได้ดำเนินการมานาน และมีข้อสรุปว่า สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตในผู้ป่วย cardiac arrest จากโรคหัวใจ หากมีการทำ cardiopulmonary resuscitation (CPR) ในที่เกิดเหตุ และนำส่งโรงพยาบาล1 สำหรับการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุหรือการทำร้ายร่างกาย มีข้อแตกต่าง คือ หากระยะเวลา ในการนำส่งโรงพยาบาลจากที่เกิดเหตุน้อยกว่า 10 นาที การรีบนำผู้บาดเจ็บอาการหนักส่งโรงพยาบาลทันทีจะมีประโยชน์มากกว่า การเสียเวลาพยาบาลช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุ2 ส่วนการ ดูแลทางเดินหายใจ การห้ามเลือดหรือลดการเสียเลือดจาก บาดแผลภายนอกและการขนย้ายผู้บาดเจ็บ โดยไม่ให้เกิดอันตรายต่อกระดูกสันหลังที่จุดเกิดเหตุ และระหว่างนำส่งสามารถทำได้ ซึ่งใช้เวลาไม่นานโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมเป็นสิ่งที่ควรจัดให้มีขึ้นและได้รับการยอมรับว่ามีประโยชน์1, 3, 4 ขณะเดียวกันผู้ให้ ความช่วยเหลือควรได้รับการอบรมให้มีความพร้อมที่จะให้การดูแลผู้ป่วยเจ็บที่อาจขอความช่วยเหลือจากที่พักอาศัยหรือบริเวณที่เกิดเหตุ การตัดสินใจและวินิจฉัยในการให้ความช่วยเหลือของผู้ช่วยเหลือ จำเป็นต้องได้รับการอบรมอย่างถูกต้องจากผู้ประกอบ วิชาชีพแพทย์และพยาบาล และรวมไปถึงการมีเครือข่ายที่จะให้การดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ5 รวมถึงระยะเวลาในการไปถึงสถาน ที่เกิดเหตุ เป็นดัชนีที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยนั้น ๆ6-8 ในปี 2542 โรงพยาบาลหาดใหญ่ ได้จัดหน่วยกู้ชีพ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร EMT basic จากสถาบันการแพทย์ด้าน อุบัติเหตุและสาธารณภัย โรงพยาบาลราชวิถีและเจ้าหน้าที่กู้ภัยของมูลนิธิมิตรภาพสามัคคี โดยใช้รถพยาบาลของมูลนิธิออกให้ บริการในช่วงเวลา 17.00–24.00 น. ทุกวัน เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว และคุณภาพของการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ การศึกษาครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการปฎิบัติงานของหน่วยกู้ชีพ

วัสดุและวิธีการ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาย้อนหลัง (retrospective study) จากบันทึกการปฏิบัติงานในระหว่าง 16 ตุลาคม 2542-15 มกราคม 2543 รวมระยะเวลา 3 เดือน

กลุ่มประชากร ผู้เจ็บป่วยที่มารับบริการระหว่าง 16 ตุลาคม 2542-15 มกราคม 2543 จำนวนทั้งสิ้น 35 ราย

ผลการศึกษา

1. หน่วยกู้ชีพมีการปฏิบัติงานทั้งหมด 34 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 10 ครั้ง (ปฏิบัติงาน 8 ชม./วัน) พบผู้ป่วย 32 ครั้ง มีผู้ป่วยทั้งหมด 35 ราย เมื่อจำแนกตามอวัยวะของร่างกายพบเกิดมากที่สุดที่บริเวณผิวหนัง 19 ราย รองลงมาคือ ผู้บาดเจ็บที่ศีรษะ 3 ราย และ 4 ราย เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ (มีบางรายมีอาการบาดเจ็บมากกว่า 1 แห่ง) (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 จำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จำแนกตามกลุ่มโรค

โรค/การบาดเจ็บ
จำนวน (n=35)
โรคทางศัลยกรรม
บาดเจ็บที่ศีรษะ
บาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง
บาดเจ็บที่ใบหน้า
บาดเจ็บที่ทรวงอก
บาดเจ็บที่ช่องท้อง
กระดูกหักที่แขน
กระดูกหักที่ขา
บาดแผลที่ผิวหนัง
ตายในที่เกิดเหตุ
โรคทางอายุรกรรม
เบาหวาน+ไม่รู้สึกตัว
ผู้ป่วย C.V.A.
HIV+อ่อนเพลีย
ปวดศีรษะ+อาเจียน
หอบ เหนื่อย
อาการทางจิต+คลุ้มคลั่ง
...
3
1
1
1
1
1
1
19
4
...
1
1
1
1
1
1

2. ระยะเวลาตั้งแต่รับทราบข่าวจนรถพยาบาลออกปฏิบัติงาน คือ ส่วนใหญ่ทันทีที่ได้รับรายงาน (ร้อยละ 70.6) (ตารางที่ 2) และเวลาที่ใช้ปฏิบัติงานอยู่ในที่เกิดเหตุ คือ ส่วนใหญ่ไม่เกิน 15 นาที (ตารางที่ 3)

ตารางที่ 2 จำนวนและร้อยละของจำนวนครั้งที่ออกปฏิบัติ งาน จำแนกตามระยะเวลาตั้งแต่ได้รับข่าวถึงเวลา ออกปฏิบัติงาน

ระยะเวลา (นาที)
จำนวนครั้งที่ออกปฏิบัติงาน (n=34)
ร้อยละ
น้อยกว่า 1 นาที
2–5
6–10
ไม่ทราบเวลา 2 5.9
23
7
2
2
70.6
20.6
5.9
5.9

ตารางที่ 3 จำนวนและร้อยละของจำนวนครั้งที่ออกปฏิบัติงาน จำแนกตามระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ณ จุดเกิดเหตุ

ระยะเวลา (นาที)
จำนวนครั้ง (n=34)
ร้อยละ
น้อยกว่า 5 นาที
6–10
11–15
ไม่ทราบเวลา
27
3
1
3
79.4
8.8
2.9
8.8

ตารางที่ 4 จำนวนและร้อยละของจำนวนครั้งที่ออกปฏิบัติ งานจำแนกตามระยะเวลาในการเดินทาง

ระยะเวลา (นาที)
จำนวนครั้ง (n=34)
ร้อยละ
น้อยกว่า 5 นาที
6 – 10
11 – 25
ไม่ทราบเวลา
22
6
4
2
64.7
17.6
11.8
5.9

3. เวลาที่ใช้ในการเดินทางจากสถานีที่ตั้งไปยังสถานที่เกิดเหตุ ส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที มีเพียง 4 ครั้งเท่านั้นที่ใช้ เวลา 11–25 นาที (ตารางที่ 4)

4. กิจกรรมการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนย้ายโดยใช้เปลนอน รองลงมาคือการห้ามเลือดและใช้ เปลตัก (ตารางที่ 5)

ตารางที่ 5 จำนวนครั้งของการให้บริการจำแนกตามกิจกรรม การปฐมพยาบาลในที่เกิดเหตุ

ชนิดของการปฐมพยาบาล
จำนวนครั้ง
การดูดเสมหะ
ให้ oxygen cannula
ใส่ oral airway
ใช้เปลตัก
ใช้เปลนอน
ทำแผล
ดามเฝือก
ใส่ hard collar
ห้ามเลือด
2
7
2
8
17
5
4
3
8

วิจารณ์

การปฏิบัติงานของหน่วยกู้ชีพส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกอาคาร แต่การบริการนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในเขตอำเภอหาดใหญ่ หน่วยกู้ชีพสามารถทำหัตถการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ก่อนนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งใช้เวลาในที่เกิดเหตุไม่เกิน 5 นาที ทั้งนี้ขึ้นกับสถานการณ์และความรุนแรงของอุบัติภัยนั้น ๆ เมื่อเทียบกับ ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของโรงพยาบาลหาดใหญ่ใน ปี 2540 ก่อนที่จะมีการจัดตั้งหน่วยกู้ชีพ การปฐมพยาบาลที่จุดเกิด เหตุของเจ้าหน้าที่มูลนิธิมีค่อนข้างน้อย ซึ่งจะเห็นได้จากข้อมูลการเฝ้าระวังการบาดเจ็บของโรงพยาบาลหาดใหญ่ปี พ.ศ. 2540 ในกลุ่มผู้ป่วยที่ควรได้รับการปฐมพยาบาลซึ่งพบว่า การนำส่งผู้บาดเจ็บ โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิเกือบทั้งหมดไม่มีการปฐมพยาบาล มีผู้ป่วยเพียง 11 ราย (2 รายได้รับการดามเฝือก 9 รายได้รับการห้ามเลือด) จากจำนวนผู้ป่วยภาวะฉุกเฉิน 320 ราย เท่านั้นที่ได้รับ การปฐมพยาบาลก่อนนำส่งโรงพยาบาล

การจัดเจ้าหน้าที่ร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลและมูลนิธิ จึงเป็นการเพิ่มคุณภาพของการทำงาน ความรวดเร็วของการออก ปฏิบัติการทันต่อเหตุการณ์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงไม่เกิน 1 นาที ทำให้อัตราการพบผู้ป่วย/ผู้บาดเจ็บอยู่ในเกณฑ์ที่สูง ระยะเวลา ของการเดินทางไปยังจุดเกิดเหตุที่ไม่นานเกินไปก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อการรอดชีวิตและการลดความรุนแรงของการเกิดความพิการ โดยทั่วไปหน่วยกู้ชีพควรจะไปถึงที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด โดยมีความปลอดภัยในการเดินทางด้วย ดังนั้นหากจำนวนครั้ง ที่ต้องเดินทางนานกว่า 10 นาทีมีมากควรแบ่งซอยพื้นที่รับผิดชอบ ให้เล็กลง

เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย จากรายงานผลการปฏิบัติงานโครงการจัดบริการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุก่อนถึงโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคประจำปีงบประมาณ 2541 ของสถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุและสาธารณภัย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข9 ในเรื่องของรูปแบบการจัดหน่วยกู้ชีพของหาดใหญ่จะคล้ายคลึงกับจังหวัดขอนแก่น และอุตรดิตถ์ ที่มีการจัดเจ้าพนักงานกู้ชีพร่วมอยู่ในทีม ปริมาณงานของหน่วยกู้ชีพในเมืองหาดใหญ่ เฉลี่ยเดือนละ 10 ครั้ง เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ซึ่งอยู่ระหว่าง 1-90 ครั้ง/เดือน ก็เป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับกลางๆ ใกล้เคียงกับหลายจังหวัด เช่น ชลบุรี เพชรบุรี อุดรธานี ภูเก็ต จังหวัดที่มีจำนวนครั้งการทำงานมากกว่า 30 ครั้ง/เดือน ได้แก่ ลำปาง นครสวรรค์ ขอนแก่น สิ่งที่ควรจะพัฒนาในอนาคต คือ การจัดหน่วยกู้ชีพเพิ่ม เพื่อให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และเพิ่มการประชาสัมพันธ์เพื่อให้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้นซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ ในหน่วยกู้ชีพมีความชำนาญในการทำงานเพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาที่พบคือเรื่องการประสานการทำงานของหน่วยกู้ชีพกับเจ้าหน้าที่ กู้ภัยหน่วยอื่นๆ ของมูลนิธิ

สรุป

ผลการทำงานของหน่วยกู้ชีพโรงพยาบาลหาดใหญ่ ร่วมกับมูลนิธิมิตรภาพสามัคคีช่วง 3 เดือนแรกมีการปฏิบัติงาน 34 ครั้ง พบผู้ป่วย 35 ราย ส่วนใหญ่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หน่วยกู้ชีพสามารถให้การปฐมพยาบาลที่จุดเกิดเหตุ เช่น การดามเฝือก ห้ามเลือด และการขนย้ายที่ปลอดภัยมากขึ้น โดยใช้เวลาไม่นานในอนาคตควรเพิ่มปริมาณหน่วยกู้ชีพและพัฒนา ความรู้ของเจ้าหน้าที่กู้ชีพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขยายเครือข่ายในการให้การช่วยเหลือโดยประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วม ในการดูแลคนในชุมชนของตนมากขึ้น นอกจากนี้ควรมีการพิจารณาจัดทำหลักสูตรที่ได้มาตรฐานและติดตามประเมิน ผลการปฏิบัติงานของอาสาสมัครในหน่วยกู้ภัยด้วย เพื่อให้การบริการมีมาตรฐานและสามารถรักษาชีวิตและลดโอกาส ในการสูญเสียอวัยวะและสมรรถภาพของผู้ป่วยได้10

ข้อเสนอแนะในการวิจัย

1. จัดทำแนวทางในปฏิบัติการในการติดตามผลการช่วยเหลือที่ผู้เจ็บป่วยได้รับบริการอย่างต่อเนื่องเพื่อประเมินผลการ ปฏิบัติงานในระยะยาว

2. ตรวจสอบคุณภาพการบริการโดยใช้เวลาในการปฏิบัติงานเป็นดัชนีชี้วัด มีการบันทึกเวลาที่มีประสิทธิภาพ และสามารถ ตรวจสอบได้โดยสังคม

3. ประเมินค่าใช้จ่ายและการลงทุนในการให้ความช่วยเหลือ

เอกสารอ้างอิง

1. M Ward. Prehospital care. In: Skinner D, Swain A. eds. Cambridge Textbook of Accident & Emergency Medicine 1st ed. UK, Cambridge University: 1997; 284-339.
2. Ivatury RR, Nallathambi MN, Roberge RJ, Rohman M, Stahl W. Penetrating thoracic injury: on-field stabilization vs promt transport. J Trauma. 1987; 27: 1066.
3. C Gene Cayten. Prehospital Management, Triage and Transportation. In: Rao R, Ivatury, C Gene Cayten. eds. Penetrating Trauma. 1st ed. Baltimore: William & Wilkins, 1996; 153-169.
4. Norman E. Prehospital Emergency Medical Systems and Cardiopulmonary Resuscitation. In: Ernest E. Moore, Kenneth L. Mattox. eds. Trauma. 2nd ed. Norwalk, Connecticut: Appleton & Lance, 1991; 99-108.
5. Anogianakis G, Maglavera S. Utilising multimedia for training merchamariers as paramedicdics. Stud Health Technol Inform, 2000; 72: 66-72 .
6. Meischke H, Eisenberg M, Schaeffer S, Henwood DF. The Heart Attack Survival Kit project: an intervention designed to increase seniors’ intentions to respond appropiately to symptoms of acute myocardial infarction. Health Educ Res June; 15: 317-326.
7. Spriggs NM, White LJ, Martin SW, Brawley D, Chambers RM. Comparison of two intraosseous infusion techniques in an EMT training program. Acad Emerg Med 7: 1168.
8. Korowsky JM, Gasaway MD, Stephanides SL, Ottataway M, Sayre MR. EMS Transports for difficulty breathing: Is there a potential role for CPAP in the prehospital setting? Acad Emerg Med 7: 1165.
9. เอกสารเผยแพร่. รายงานผลการปฏิบัติงานโครงการจัดบริการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ ก่อนถึงโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ 2541. สถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุและสาธารณภัย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2542.
10. McDonald CC, Bailey B. Out-of–hospital use of neuro-muscular-blocking agents in the United States. Prehos- Emerg-Care 1988, 2: 29-32.
Search:
Keywords:
In Association with Amazon.com

Shop at Amazon.com!
Counter [ Launched : Sep 7, 2003] [ ปรับปรุงล่าสุด : ]
Hosted by www.Geocities.ws

1