ChessSiam เวบในเครือ SiamBoardGames
เกี่ยวกับผู้จัดทำ
Links
SiamGo
ChessSiam
SiamBoardGames
ChessSiam
เกี่ยวกับหมากรุก
พัฒนาฝีมือ
เล่าสู่กันฟัง
กระทู้สนทนา
พัฒนาฝีมือ
   
เครือเวบ สยามบอร์ดเกมส์
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด
3 ธันวาคม 2543
ระยะเปิดเกม
การเปิดหมาก(1) 10 ตุลาคม 2543 • การจำแนกระยะหมาก • หลักเบื้องต้นการเปิดเกม • รูปหมากเบื้องต้น
การเปิดหมาก(2) 3 ธันวาคม 2543 • การจำแนกรูปหมากเปิดเกม • การวิเคราะห์รูปหมาก
 
ระยะกลางเกม
ยุทธศาสตร์(1) • แนะนำหลักยุทธศาสตร์หมากรุก • การวิเคราะห์การเป็นต่อ-เป็นรอง
 
ระยะปิดเกม
การไล่-หนี(1) • การจำแนกประเภทหมากไล่-หนี • การวิเคราะห์โอกาสแพ้-ชนะเบื้องต้น
หมากกล(1) • ศึกษา และประลองปัญญา
 
การเปิดหมาก
เริ่มกระบวนยุทธ
การเปิดหมาก(2)
หน้าก่อน
หน้าถัดไป [ดูหน้า 1 | 2]


การเปิดเกม หรือรูปขึ้นหมากถ้าดูจากลักษณะม้าอาจจำแนกคร่าวได้ดังนี้ครับ

  1. ม้าผูก หรือม้าโยงขวา(ง2, ฉ3)
  2. ม้าเทียม(ง2, จ2)
  3. ม้าซ้าย หรือม้าโยงซ้าย(ค3, จ2)
  4. ม้ามังกร หรือม้าคู่(ค3, ฉ3)
  5. ม้าอุปการซ้าย(ก3, จ2)
  6. ม้าอุปการขวา(ง2, ญ3)

ซึ่งแต่ละรูป จะได้นำมาแจกแจงข้างล่างนี้ต่อไป แต่โดยภาพรวมแล้ว เกิดจากตำแหน่งของม้าทั้งสอง ทั้งนี้เพราะวิถีของม้านับได้ว่าเร็วที่สุด และไกลที่สุดในระยะเปิดเกม ซึ่งเรือจะยังไม่มีบทบาทนักในระยะนี้ จนกว่ากระดานจะเริ่มเปิดโล่ง อาจมีรูปหมากบางรูปที่แหวกตำราออกไป โดยเริ่มต้นที่การเดินซ้อนเรือ อย่างรูปเรือมหศวรของอดีตแชมป์ประเทศไทย สุรการ วงษ์นิล "โคนสุรการ" ใช้ในการแข่งขันศึกขุนทองคำ แต่ก็ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จนัก จึงไม่เป็นที่นิยมครับ

นอกจากตำแหน่งม้าแล้ว องค์ประกอบอื่นที่สำคัญก็คือ ตำแหน่งหมากใหญ่ตัวอื่น อาทิ โคนทั้งซ้าย และขวา, ตำแหน่งเม็ด โดยที่โครงสร้างเบี้ย ก็จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งหมากใหญ่เหล่านี้ และโครงเบี้ยของฝ่ายตรงข้ามประกอบกัน ส่วนตำแหน่งขุน ในหมากรุกยุคปัจจุบันมักจะเคลื่อนตำแหน่งขุนในขั้นตอนแปรขบวน หรือแม้กระทั่งระยะกลางเกมเสียมากกว่า ซึ่งนำมาจากแนวคิดของสุดยอดแชมป์ประเทศไทยผู้ยิ่งใหญ่ สม บรมสุข "อาจารย์เหงี่ยม" ที่ให้ความสำคัญกับตำแหน่ง และการเดินขุนอย่างยิ่ง

ตำแหน่งโคนขวาที่ใช้ในระยะเปิดเกมในยุคปัจจุบัน ที่มีประสิทธิภาพจะมี

  1. โคนผูกเม็ด หรือโคนตั้ง(ฉ2)
  2. โคนไขว้ใน(จ2)
  3. โคนนำเม็ด(จ3)
  4. โคนนายผล(ฉ3)

ส่วนตำแหน่งโคนซ้าย ซึ่งจะสนับสนุนการแปรขบวนชิงเอาเปรียบฝั่งซ้ายนั้น มีตำแหน่งสำคัญคือ

  1. โคนปกติ(ค2)
  2. โคนสุรการ(ข3)
  3. โคนสุชาติ(ค3)
  4. โคนขุนพล(ง3)

และตำแหน่งเม็ดก็มีความสำคัญไม่ได้ยิ่งหย่อนเลยครับ โดยอาจจำแนกเป็น

  1. เม็ดสูง(จ3)
  2. เม็ดต่ำ(ฉ2)
  3. เม็ดไขว้ใน(ง2)

ซึ่งตำแหน่งของหมากสำคัญเหล่านี้ อาจประกอบขึ้นด้วยสูตรประกอบที่ต่างกันเท่าที่เป็นไปได้ ส่วนกรณีที่เป็นไปไม่ได้ยกตัวอย่างเช่นโคนนายผล กับม้าโยงขวา ไม่สามารถใช้ด้วยกันได้ เพราะใช้ตำแหน่ง ฉ3 ทั้งคู่ครับ

1.ม้าผูก หรือม้าโยงขวา(ง2, ฉ3)

จากนิยามคำต่างๆ ที่กล่าวข้างบน เราอาจเรียกรูปม้าผูกบันลือโลก ให้เห็นภาพได้เลย โดยเรียกว่า "ม้าโยงขวา โคนไขว้ใน เม็ดสูง(โคนสุรการ)" โดยในวงเล็บหมายถึงโคนซ้าย บางท่านอาจเรียกตรงๆ ว่าโคน ข3 ซึ่งมักจะเป็นส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการแปรขบวนต่อไปนั่นเอง ซึ่งรูปโคนสุรการนี้ อาจส่งแม่บทแปรขบวนเป็น เบี้ย ก4 หรือโคนก้าวร้าวต่อไป ดังที่กล่าวไปบ้างแล้วในบทก่อน

 

4
3
2
1
ก ข ค ง จ ฉ ช ญ  
ม้าผูกบันลือโลก
4
3
2
1
ก ข ค ง จ ฉ ช ญ  
ม้าเทียมอิทธิฤทธิ์

2.ม้าเทียม(ง2, จ2)

่วนรูปม้าเทียมอิทธิฤทธิ์ ก็อาจเรียกในสไตล์นี้ได้ว่า "ม้าเทียม เม็ดสูง โคนผูกเม็ด(โคนสุรการ)" ในทำนองเดียวกัน ซึ่งการเรียกแบบนี้ทำให้ไม่ต้องไปจดจำชื่อซึ่งมีอยู่มากมายให้ยุ่งยาก และเป็นที่นิยมในหมู่นักหมากรุกระดับเซียนทั้งหลาย เพียงแต่ขาดอรรถรส และลีลาของชื่อกระบวนท่า ที่ครูหมากรุกรุ่นก่อนบรรจงประดิษฐ์ไว้ให้ ก็แล้วแต่ความถนัด และความชอบครับ แต่ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม การเรียกเพียงสั้นๆ ว่า ม้าผูก ม้าเทียม ฯลฯ ไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนากระบวนยุทธขึ้นไปสู่ระดับมาตรฐานแน่นอนครับ สำหรับในคอลัมน์พัฒนาฝีมือของหมากรุกสยาม ก็จะได้นำการเรียกทั้งสองแบบมานำเสนอให้ได้รู้จักกัน

 

3.ม้าซ้าย หรือม้าโยงซ้าย(ค3, จ2)

รูปด้านขวานี้ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นรูปมาตรฐานของม้าซ้าย แต่ก็จะมีเซียนบางท่านพลิกแพลงไปจากนี้บ้าง และถ้าเราจะเรียกกันให้แน่นอนว่าเป็นรูปนี้ ก็อาจใช้ว่า "ม้าซ้าย เม็ดไขว้ใน โคนขุนพล" ซึ่งโคนขุนพลก็อาจใช้เป็นโคน ง3 ตรงๆ ได้เช่นกัน ส่วนโคนขวาขึ้นตรงตามปกติ แต่ไม่ได้ผูกเม็ด เพราะเม็ดไปไขว้ในซะแล้ว เพราะฉะนั้นในกรณีอาจใช้คำเรียกว่า โคนตั้ง รูปม้าซ้ายเป็นรูปบุกที่ถ้ารับไม่เป็นจะอันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะเห็นได้ว่า ถ้าดูจากรูป การใช้โคนแทนเม็ด ทำให้อาวุธหนักทำงานได้รวดเร็วกว่าม้าโยงขวาซะอีก จนต้องมีตำรามากมายว่าด้วยการพิชิตม้าซ้ายโดยเฉพาะ

 

4
3
2
1
ก ข ค ง จ ฉ ช ญ  
ม้าซ้าย
4
3
2
1
ก ข ค ง จ ฉ ช ญ  
ม้ามังกร

4.ม้ามังกร หรือม้าคู่(ค3, ฉ3)

ม้ามังกรเป็นรูปหมากอีกรูปที่มีการบุกรุนแรง มีรูปแบบได้มากมาย เพราะมีที่ว่างแถว 2 ให้เลือกวางหมากตัวอื่นอย่างสบายๆ รูปที่ยกมาเป็นรูปที่อดีตแชมป์ประเทศไทย ปรีชา สินประยูร "ม้าปรีชา" นำมาใช้ตอนเดินหมากขาวกับ อดีตแชมป์ประเทศไทยเช่นกัน วิรัช เลิศมวลมิตร "เซียนซ้ง" ซึ่งตั้งรับด้วยรูปม้าอุปการขวา ในศึกขุนทองคำครั้งที่ 3 โดยรูปด้านซ้ายนี้ อาจเรียกเต็มๆ ว่า "ม้ามังกร เม็ดสูง โคนผูกเม็ด(โคนปกติ)" เนื่องจากรูปม้าซ้าย หรือม้ามังกร และแม้กระทั่งม้าอุปการ จะมาใช้กันแพร่หลายก็ในยุคปัจจุบันแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีชื่อประดิษฐ์ออกมาเหมือนม้าโยงขวา และม้าเทียม

5.ม้าอุปการซ้าย(ก3, จ2)

รูปเปิดรูปนี้มีมาแต่โบราณ แต่สุชาติ ชัยวิชิต "เซียนป่อง"เคยงัดเอาใช้เป็นอาวุธไม้ตายปราบยอดฝีมือทุกคน แม้กระทั่งวีระพล สุนทรพงษาทร "หนูทอง" ในศึกขุนทองคำครั้งที่ 5 จนระบือลือลั่น จากรูปด้านขวานี้เซียนป่องใช้พิชิต สุรศักดิ์ เชื้อชวลิต "สิงห์ร้ายฉะเชิงเทรา" ถ้ามาเรียกตามหลักการที่เราใช้ก็คือ "ม้าอุปการซ้าย เม็ดไขว้ใน โคนตั้ง(โคนปกติ)"

 

4
3
2
1
ก ข ค ง จ ฉ ช ญ  
ม้าอุปการซ้าย
4
3
2
1
ก ข ค ง จ ฉ ช ญ  
ม้าอุปการขวา
 

6.ม้าอุปการขวา(ง2, ญ3)

รูปด้านซ้ายนี้ คือรูปที่เซียนซ้ง ใช้เดินหมากดำ รับรูปเปิดในข้อ 4."ม้ามังกร" ของม้าปรีชาข้างบน ผลของกระดานนี้คือ เสมอ การเรียกชื่อโดยดูจากรูปหมากคือ "ม้าอุปการขวา เม็ดต่ำ โคนไขว้ใน(โคนสุรการ)"


ในการเลือกใช้รูปเปิดเกม จะต้องคำนึงถึง

  1. เป็นหมากขาว(เดินก่อน) หรือหมากดำ(เดินหลัง)
  2. รูปหมากของฝ่ายตรงข้าม

ในขั้นสูงอาจมีเรื่องของรูปเปิดที่เตรียมไว้ก่อนด้วยก็ได้ โดยส่วนใหญ่หมากขาวจะเป็นหมากบุก เพราะมีโอกาสเดินก่อน แทบทุกรูปจะใช้เป็นฝ่ายขาวได้ทั้งสิ้น ยกเว้นม้าอุปการขวาที่ไม่ค่อยพบใช้ในการบุก

แต่ที่เน้นบุก ไม่เน้นรับคือม้ามังกร และม้าซ้าย โดยเฉพาะม้าซ้ายนั้น เท่าที่เซียนแหว่งได้กรุณาวิเคราะห์ ถ้าฝ่ายขาวเปิดม้าซ้าย ฝ่ายดำรับด้วยม้าซ้ายก็จะเสียเปรียบทันที ดังนั้นจึงไม่พบในการแข่งขันที่จะมีฝ่ายดำนำรูปม้ามังกร และม้าซ้ายไปใช้

แต่ทั้งนี้เซียนแหว่งก็ยังคอมเมนท์เพิ่มเติมว่า ถ้ามีการถอดหมาก และใช้การเดินที่แหวกรูปกันมากกว่านี้ เราอาจจะได้ข้อสรุปที่ต่างออกไป และนั่นก็คือพัฒนาการอีกก้าวของหมากรุกไทยครับ

สำหรับรูปตั้งรับที่ดีที่สุด แทบจะไม่มีทางคัดค้านว่า ม้าเทียม รับได้ทุกรูปแม้กระทั่งม้าซ้าย ในขณะที่ถ้าใช้ม้าโยงขวารับม้าซ้าย ก็เสียเปรียบเช่นกัน

ส่วนม้าอุปการซ้ายที่เซียนป่องใช้เป็นไม้ตายในศึกขุนทองคำครั้งที่ 5 นั้น เป็นที่ฮือฮากันไปพักใหญ่ว่าจะเป็นรูปหมากที่ดับรัศมีรูปม้าโยงขวาลงได้เชียวหรือ แต่ในที่สุดหลังจากผ่านวันเวลา มีการถอดหมากวิเคราะห์กันแล้ว การณ์กลับปรากฏว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายรู้รูปหมากแล้ว ม้าโยงขวาก็ยังคงเป็นต่อครับ เพราะเป็นรูปที่ใช้ประสิทธิภาพของม้าได้ดีกว่านั่นเอง ขอขอบคุณเซียนแหว่งที่ได้กรุณาถ่ายทอดความรู้ในส่วนนี้ให้ และจะตามไปขอคำปรึกษาอีกในโอกาสต่อไปครับ : )

 
หน้าก่อนหน้าถัดไป [ดูหน้า 1 | 2]

มีข้อสงสัยหรือคำแนะนำกรุณาติดต่อ [email protected]
Hosted by www.Geocities.ws

1