การกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้

 

Wichai Chucherd

 

ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

จากสถานการณ์การปล้นอาวุธปืนและสังหารทหารเสียชีวิตไปสี่นาย ในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ. เจาะไอร้อง   และการลอบวางเพลิงโรงเรียน ๒๐ โรงในพื้นที่ อ. แว้ง, อ. จะแนะ, อ. รือเสาะ, อ. ตากใบ, อ. สุไหงโกลก, อ. สุไหงปาดี, อ. ศรีสาคร และ อ. ระแงะ ในจังหวัดนราธิวาส   และการลอบเผายางรถยนต์บนถนนใน อ. รามัน จ. ยะลา   เมื่อก่อนรุ่งสางของวันอาทิตย์ที่ ๔ ม.ค. ๒๕๔๗   ติดตามด้วยการลอบวางระเบิดในพื้นที่ อ. เมือง จ. ปัตตานีในวันต่อมา   และการเข้าโจมตีสถานีตำรวจภูธรตำบลอัยเยอร์เวง จ. ยะลา เมื่อวันพุธที่ ๗ ม.ค. ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า   และตั้งคณะทำงานขึ้นมาหลายคณะเพื่อทบทวนยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้   นอกจากนี้แล้ว ยังได้เกิดการถกแถลงกันอย่างแพร่หลายในสังคมไทยในประเด็นที่ว่า   เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร   กลุ่มใดเป็นผู้ก่อการ   และจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป   รวมทั้งเราควรจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร   บางฝ่ายมองว่าเป็นการขัดแย้งกันเองของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่   บางฝ่ายมองว่าเป็นปัญหาทางด้านการเมืองในระดับประเทศ   บางฝ่ายมองว่าเป็นเพียงโจรหรืออาชญากรรมข้ามชาติที่มีเครือข่ายอยู่ในภูมิภาคนี้   และแน่นอนบางท่านมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเดิม ๆ ที่ยังมิได้ถูกขจัดให้หมดไปอย่างแท้จริง   ซึ่งก็คือปัญหาของความพยายามในการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มขบวนการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐบาลได้ลดระดับความสำคัญลงไปเป็นแค่โจรก่อการร้าย

 

เพื่อตอบคำถามในการถกแถลงดังกล่าวนี้   สมควรที่จะได้มีการตรวจสอบสภาพโดยทั่วไปของปัญหา   ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงปัจจุบัน   สภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ทั้งในระดับพื้นที่   ในระดับประเทศ   ในระดับภูมิภาค   และในระดับโลก   เพื่อกำหนดให้ได้ว่าอะไรคือปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติไทย   อันมีผลประโยชน์ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ   ซึ่งรวมถึงคนไทยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ปัตตานี, นราธิวาส และ ยะลา ) เป็นพื้นฐาน   และจากการวิเคราะห์กำหนดปัญหาดังกล่าวนี้   จะได้ส่งผลต่อการกำหนดวัตถุประสงค์และแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป   ยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะได้นำเสนอเพื่อเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับการนำไปปฏิบัติในบทความนี้   เป็นยุทธศาสตร์ที่มองความมั่นคงในรูปแบบของความมั่นคงสมบูรณ์แบบ (Comprehensive Security)[1] ที่เสนอแนวความคิดในการแก้ปัญหาโดยการผสมผสานเครื่องมือของรัฐ   ในอันที่จะสร้างสภาวการณ์ของความร่วมมือแบบมีบูรณาการระหว่างภาครัฐ   ภาคเอกชน   ภาคประชาชน   และองค์กรอิสระต่าง ๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้   จังหวัดใกล้เคียง   รวมทั้งจังหวัดในพื้นที่อื่น   หรือแม้กระทั่งการแสวงหาความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านและสังคมโลก   ซึ่งเป็นกระบวนการในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่ใช้กันในยุคหลังสงครามเย็น   หรือในยุคโลกาภิวัฒน์นี้

 

จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเขตแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซียนี้ประกอบไปด้วย จ. สงขลา, จ. สตูล, จ. ยะลา, จ. นราธิวาส และ จ. ปัตตานี รวม ๕ จังหวัด   อย่างไรก็ตามจังหวัดที่เราจะต้องให้ความสนใจและมุ่งเน้นที่จะทำการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น   คือสามจังหวัดหลัง   สำหรับ จ. สงขลา และ จ. สตูลนั้น   มีสภาพการณ์ที่แตกต่างไปจากอีกสามจังหวัด   ทั้งในด้านประวัติศาสตร์  การเมือง เศรษฐกิจ และ สังคมจิตวิทยา และถึงแม้ว่า จ. สตูลที่ในอดีตนั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของหัวเมืองประเทศราชไทรบุรี  ที่ในปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ของหัวเมืองนี้คือส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย อันเป็นผลมาจากยุคล่าอาณานิคมและการกู้เอกราชในภายหลังก็ตาม[2]  ทั้งสงขลาและสตูลก็มิได้มีเงื่อนไขและแนวโน้มที่จะนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรง  เช่นที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้   นอกเสียจากการได้รับผลกระทบ   อันเนื่องมาจากการดำเนินงานของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

จังหวัดยะลา, นราธิวาส และปัตตานี   มีประวัติศาสตร์ร่วมกันของการเป็นเมืองตานีหรือปัตตานีที่ก่อตั้งขึ้นมาหลังการล่มสลายของอาณาจักรเก่าแก่ที่เรียกว่าอาณาจักรลังกาสุกะ[3]ในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึง ๑๙ ในพื้นที่ที่เป็นจังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน   ในห้วงนี้เองที่เมืองตานีได้ตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรสุโขทัย   อย่างไรก็ตามในห้วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๐ อาณาจักรมะละกาได้เข้ามามีอิทธิพลต่อเมืองปัตตานี   ก่อนที่อาณาจักรมะละกาจะได้ตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส[4]   ซึ่งส่งผลให้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๕๔ เป็นต้นมาเมืองปัตตานีก็ได้ตกมาอยู่ในอาณัติของกรุงศรีอยุธยา   กรุงธนบุรี   และกรุงรัตนโกสินทร์มาโดยตลอด   ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ไทยเสียกรุงต่อพม่าในครั้งที่ ๒ ( พ.ศ. ๒๓๑๐ )   เมืองปัตตานีก็ได้มีความพยายามในการแยกตัวเช่นเดียวกับหลายหัวเมืองในพื้นที่ภาคใต้   ( เช่น นครศรีธรรมราช   สงขลา  และพัทลุง )     ซึ่งหลังจากที่ไทยได้มีการกู้เอกราชจากพม่าแล้ว    เมืองปัตตานีก็ได้กลับมาเป็นประเทศราชและเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยเหมือนเดิม   และในที่สุดก็ได้แปรสภาพมาเป็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นในปัจจุบัน  

 

วิวัฒนาการของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้   ส่งผลให้ประชาชนของทั้งสามจังหวัดประกอบไปด้วยกลุ่มชนที่มีเชื้อสายคนมาเลย์ที่นับถือศาสนาอิสลามเสียเป็นส่วนใหญ่ (๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์)   และยังใช้อักษรยาวีและภาษามลายูที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น   นอกจากนี้แล้วอาณาเขตของสามจังหวัดติดต่อกับประเทศมาเลเซียซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม   และมีการไปมาหาสู่กับประชาชนที่อยู่ในเขตไทยอย่างสม่ำเสมอ      นอกจากนี้แล้วพื้นที่บางส่วนก็ติดทะเล   และมีภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาที่ ธุรกันดาร ได้ส่งผลให้เกิดความยากลำบากต่อฝ่ายรัฐบาลที่จะเข้ามาดำเนินการพัฒนาพื้นที่   และจัดระเบียบการปกครองที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่   อีกทั้งยังมีแนวความคิดในการแยกตัวเป็นรัฐอิสระปกครองตนเองมาตั้งแต่อดีต  ตั้งแต่กบฏตนกูลัมมิเด็นในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ จนถึงกบฏตนกูอับดุลกาเดร์ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕   ซึ่งต่อมาก็ได้มีการปรับกระบวนการในการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนในทิศทางที่รุนแรงขึ้นด้วยขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายขบวนการไม่ว่าจะเป็น   ขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี (Barisan National Pembebasan Pattani : B.N.P.P., ก่อตั้ง พ.ศ. ๒๔๙๐), ขบวนการปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi National Pattani : B.R.N., ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓), องค์กรแนวร่วมปลดปล่อยสหพันธ์ปัตตานี (Pattani United Liberation Organization : P.U.L.O., ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑)[5], ขบวนการมูจาฮีดีนปัตตานี (Barisan Bersatu Mujahidin Pattani : B.B.M.P., ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖)[6]   และขบวนการสหแนวร่วมกู้ชาติปัตตานี (Barisan Bersatu Kemerdekaan Pattani : BBKP., ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒)[7]  

 

ในปัจจุบัน   หลังการต่อสู้กันของทั้งฝ่ายผู้ต้องการแบ่งแยกดินแดน   และฝ่ายรัฐบาลที่มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเป็นผู้ดำเนินงานหลัก   ในสนามการต่อสู้ทั้งทางด้านการเมืองและการทหาร   กองกำลังติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ได้ลดบทบาทลงไปเป็นอย่างมาก   ดังเห็นได้ว่ารัฐบาลได้ลดความสำคัญของขบวนการแบ่งแยกดินแดนลงเป็นขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก.) และโจรก่อการร้าย (จกร.) ในที่สุด   ในขณะเดียวกันหน่วยงานของฝ่ายรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้ยุบตัวลงเช่นกันไม่ว่าจะเป็น พตท. ๔๓ หรือ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)   อย่างไรก็ตามเหตุการณ์การก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมื่อต้นเดือนมกราคมนี้   ส่งผลให้เราจะต้องมาทำการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์กันใหม่ถึงสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

เมื่อมองในภาพรวมแล้ว   สภาพทางด้านการเมืองการปกครองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มิได้ต่างไปจากจังหวัดอื่นของไทย   แต่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างจะแตกต่างกันออกไป   ส่งผลให้เกิดความเครียดและความขัดแย้งระหว่างตัวแทนทางฝ่ายปกครองของรัฐ   ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองในระดับจังหวัด และอำเภอ หรือข้าราชการทหารตำรวจที่ส่วนใหญ่เป็นไทยพุทธขึ้นมาได้   ในขณะเดียวกันในสังคมของประชาชนในพื้นที่เอง ผูกพันอยู่กับความเชื่อทางศาสนาและผู้นำทางศาสนาอย่างใกล้ชิด   ผู้นำต่าง ๆ ดังกล่าวมีส่วนหนึ่งที่เข้ามามีบทบาททางด้านการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น   ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล และจังหวัด   ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ผู้นำต่าง ๆ เหล่านี้มีแนวทาง   แนวความคิด  หรือความรู้สึกที่สวนทางกับการดำเนินงานของรัฐบาลแล้ว   ก็จะยิ่งส่งผลต่อความเครียดและความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่   และระบบของรัฐมากขึ้น   นอกจากนี้แล้วการบริหารของรัฐในพื้นที่ยังคงมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอต่อ   การป้องกันการกระทำของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่   ระบบพรรคพวกในวงการข้าราชการ  และการกระทำของเจ้าหน้าที่ส่วนน้อยที่ใช้อำนาจอันมิชอบกลั่นแกล้งประชาชน   ซึ่งส่งผลเสียต่อความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ต่อรัฐบาลและประเทศชาติ  

 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางด้านเศรษฐกิจที่มีทุนนิยมเป็นกระแสหลัก   ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อทางศาสนาของคนรุ่นใหม่บางกลุ่ม   อันสร้างความกังวลและความระแวงแคลงใจให้เกิดขึ้นกับผู้อาวุโสและผู้นำทางศาสนาว่า   คนรุ่นใหม่จะละทิ้งวิถีชีวิตแบบเดิม   และถูกกลืนไปในสังคมทุนนิยมโดยนโยบายการกลืนทางวัฒนธรรม   การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยังคงไปไม่ถึงในทุกพื้นที่และความเห็นแก่ตัวของคนบางพวกได้สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นในพื้นที่   อันนำไปสู่ความรู้สึกว่ามีช่องว่างทางด้านเศรษฐกิจ   และยิ่งสื่อสารมวลชนที่มีประสิทธิภาพในปัจจุบันได้ทำให้ความรู้สึกแตกต่างอาจนำไปสู่แนวความคิดที่ว่า   ที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นชนกลุ่มน้อย   ต่างเชื้อชาติ   ศาสนา   และวัฒนธรรมประเพณี

 

รัฐชาติไทยกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติไทยมาก่อนที่จะเกิดประเทศมาเลเซีย   อินโดนีเซีย   และประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งเคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกมาก่อน   โดยทั้งนี้สังคมไทยก็มีการผสมผสานคนไทยที่มีเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน   อย่างไรก็ตามด้วยสภาพแวดล้อมของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เอง   และการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองการปกครองของประเทศในแต่ละยุคสมัย   ได้ส่งผลให้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นมาได้อย่างสม่ำเสมอ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสความเป็นเชื้อชาตินิยมในห้วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง   ที่หลายชาติในภูมิภาคได้ก่อตั้งขบวนการต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อกู้ชาติจากเจ้าอาณานิคม   ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้จัดตั้งขึ้นมาในห้วงดังกล่าวนี้   และต่อมาในยุคสงครามเย็นที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ   ขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็ได้ถือโอกาสยกระดับการปฏิบัติจนถึงขึ้นการทำสงครามกองโจรกับฝ่ายรัฐบาล   โดยมีฐานที่มั่นอยู่ทั้งในพื้นที่ภายในประเทศและภายนอกประเทศ   มีพื้นที่ปฏิบัติการครอบคลุมทั้งห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้   อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายได้ถูกต้อง   และสภาพแวดล้อมในสังคมโลกได้เปลี่ยนไปส่งผลให้ปัญหาการต่อสู้ทั้งทางด้านการทหารและการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้จบสิ้นไป   รัฐบาลก็ได้ทุ่มเททรัพยากรลงไปในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้   จนสามารถจำกัดการต่อสู้ทางด้านการทหารของขบวนการแบ่งแยกดินแดนลงไปได้   ถึงกระนั้นก็ตามรัฐบาลยังไม่ได้ชัยในการต่อสู้ทางด้านการเมืองและด้านสังคมจิตวิทยา

 

การยุบ พตท. ๔๓ และ ศอ.บต. เพื่อส่งมอบความรับผิดชอบและอำนาจคืนสู่ระบบการปกครองในยามปกติ   ที่มีเจ้าหน้าที่ในสายงานการปกครอง   และเจ้าหน้าที่ตำรวจในสายงานการรักษาความสงบเรียบร้อยของกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ปฏิบัติหลัก   เป็นการลดบทบาทการดำเนินงานของทหาร   และหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานซึ่งในอดีตทำหน้าที่ประสานการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ   ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์ในห้วงก่อนเกิดเหตุการณ์ร้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้   อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน   เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า   รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ   ยังไม่สามารถยุติปัญหาการแบ่งแยกดินแดนได้เช่นเดียวกับการยุติปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย   ทั้งนี้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และเขตติดต่อยังคงมีกลุ่มคนที่ต้องการดำเนินการในการแบ่งแยกดินแดนอยู่[8] แนวร่วมของขบวนการต่าง ๆ ยังคงให้การสนับสนุนหรืออย่างน้อยที่สุดปล่อยให้กลุ่มดังกล่าวปฏิบัติการโดยสะดวก   ประชาชนในพื้นที่ยังคงไม่แน่ใจในประสิทธิภาพและความจริงใจของเจ้าหน้าที่[9]   นอกจากนี้แล้วการแก่งแย่ชิงดีทางการเมืองของนักการเมืองไทยยิ่งส่งผลให้การแก้ปัญหาประสบความยากลำบากยิ่งขึ้น   การเป็นฝ่ายค้านในระบบการเมืองไทยเป็นการทำหน้าที่ค้านทุกสิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลดำเนินการแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่จะส่งผลดีต่อสังคมไทยหรือไม่ก็ตาม   นอกจากนี้ฝ่ายค้านมักรอโอกาสหาความผิดพลาดของฝ่ายรัฐบาลเพื่อออกมาโจมตีทั้งนี้เพื่อหวังผลด้านคะแนนเสียงในสมัยเลือกตั้งต่อไปมากกว่าเป็นความสำคัญของปัญหาของชาติ   ดังเห็นได้ว่าหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้   ฝ่ายค้านส่วนใหญ่ออกมาโจมตีและตำหนิการทำงานของรัฐบาลอย่างมากโดยที่มิได้ตำหนิกลุ่มบุคคลที่ปล้นฆ่าทหารตำรวจ  และเผาโรงเรียน

 

การเปิดเสรีทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่เป็นนโยบายของรัฐบาล  เป็นสิ่งที่เหมาะสมและเป็นไปตามกระแสหลักของสังคมโลกปัจจุบัน   อย่างไรก็ตามผลกระทบข้างเคียงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้   คือการเปิดมิติในการต่อสู้ทางการเมืองให้กับกลุ่มบุคคลที่มีแนวความคิดใกล้เคียงกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน   ในขณะเดียวกันเสรีทางด้านการค้าได้ส่งผลกระทบต่อสังคมประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม   ซึ่งมีวิถีชีวิตที่อาจไม่สอดคล้องกับเสรีทางด้านเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม   สิ่งนี้ทำให้เกิดความเครียดขึ้นในสังคม   และทำให้เกิดความคาดหวังในชีวิตที่ดีขึ้นหรือเท่าเทียมส่วนอื่นในสังคมไทย   นักการเมือง  นักวิชาการ และผู้นำต่าง ๆ ในท้องถิ่น   ที่มีการศึกษาที่ดีขึ้น   เริ่มคาดหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ตนคาดหวังให้เกิดกับสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้   อย่างไรก็ตามด้วยปัญหาผู้มีอิทธิพลในพื้นที่  ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ   และด้วยความไม่เข้าใจในปัญหาอย่างแท้จริง   ได้ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่และผู้นำต่าง ๆ ยังมิได้เข้ามาร่วมมือในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยส่วนมากวางตัวให้อยู่ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ   ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยกับตนเอง  และเพื่อรอคอยการตัดสินใจในการที่จะพัฒนาพื้นที่ของตนไปในทิศทางใดดี               

                  

ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับประเทศในภูมิภาค

 

มาเลเซียเป็นประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้เป็นอย่างมาก   ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่ามีอาณาเขตติดต่อกับทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย   อีกทั้งประชาชนในพื้นที่มีการไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอ   มีวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกัน  อีกทั้งยังมีศาสนาและภาษาเป็นเครื่องเชื่อมสังคมในพื้นที่ของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน   สิ่งนี้ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของทั้งสองประเทศ  อย่างไรก็ตามผู้ที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับแนวทางการดำเนินงานของประเทศใดประเทศหนึ่งมักอาศัยช่องว่างของอำนาจอธิปไตยในแต่ละประเทศ   และสภาพภูมิประเทศที่ธุรกันดารในการซ่องสุมกำลัง   และเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่ของอีกประเทศหนึ่ง   เช่นการปฏิบัติการของโจรจีนคอมมิวนิสต์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในบางพื้นที่ของมาเลเซีย   และขบวนการโจรก่อการร้ายที่ปฏิบัติการในไทย   ไทยและมาเลเซียได้ร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว   และในที่สุดปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์ก็ได้จบลงไปสำหรับมาเลเซีย   แต่ปัญหาโจรก่อการร้ายที่ปฏิบัติการในไทยยังคงมีให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้   ทั้งนี้ด้วยระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐของมาเลเซียที่แตกต่างไปจากไทย[10]  ด้วยประชาชนของมาเลเซียที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม   ด้วยสภาพทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ตอนบนของมาเลเซียที่มีรายได้ของประชากรเหนือกว่าไทยเล็กน้อย   และด้วยการแก้ปัญหาของมาเลเซียที่ค่อนข้างสวนทิศทางของกระแสจากตะวันตกมิได้ตามกระแสเช่นรัฐบาลไทย   ได้ส่งผลให้การแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปด้วยความยากลำบาก   ด้วยความคาดหวังของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการให้สภาพความเป็นอยู่ของตนไม่ด้อยไปกว่าในมาเลเซีย   ต้องการให้รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญของศาสนาอิสลามและประชากรโลกที่นับถือศาสนาอิสลาม   มิใช่ตามแต่กระแสโลกตะวันตกแต่เพียงอย่างเดียว   นอกจากนี้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ก็ได้อาศัยโอกาสนี้หลบซ่อนตัว  และซ่องสุมกำลังเพื่อปฏิบัติการในไทยได้อย่างง่ายดาย

 

สภาพภายในประเทศ   และสถานการณ์ที่ผ่านมาของประเทศอินโดนีเซียได้จุดประกายความพยายามในการดำเนินงานของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พยายามแบ่งแยกดินแดนเช่นกัน   กระแสของสิทธิมนุษยชนในสังคมโลก   สิทธิในการเรียกร้องเพื่อปกครองตนเอง และการแยกตัวของติมอร์ตะวันออก   ได้เป็นกำลังใจต่อความพยายามในการแยกตัวของอาเจห์   และขบวนการแบ่งแยกดินแดนอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการติดต่อกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอาเจห์  ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้   และผู้มีอิทธิพลบางกลุ่มในพื้นที่ซึ่งมีการติดต่อกับกลุ่มอาเจห์ก็เช่นกัน   ได้อาศัยสถานการณ์ในการยกระดับการปฏิบัติของตน   และได้มีการประสานประโยชน์ในการปฏิบัติการในเรื่องของการสนับสนุนทางด้านอาวุธ   การฝึก   และการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน   นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งองค์กรและสมาคมขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น   และถ่ายทอดความเป็นอกเห็นใจกันในหมู่นักศึกษา   ซึ่งเนื้อหามักมุ่งไปสู่ความพยายามในการเรียกร้องสิทธิ   และการแยกตัวในการปกครองตนเอง   สำหรับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนนั้นประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือประเทศฟิลิปปินส์ที่ยังคงมีปัญหาการแบ่งแยกดินแดนในเกาะมินดาเนาว์ในตอนใต้ของประเทศ   ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ฝึกของกลุ่มก่อการร้ายและขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งหลายแหล่   ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาและมีเกาะแก่งมากมายในพื้นที่   ทำให้ยากลำบากต่อฝ่ายรัฐบาลในการดำเนินการปราบปราม  

 

กระแสโลกาภิวัตน์กับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

    

แนวความคิดในเรื่องสิทธิมนุษยชน   และการเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองกำลังเป็นแนวความคิดที่แทรกเข้าไปในทุกสังคมหลังโลกเสรีประชาธิปไตยมีชัยต่อโลกคอมมิวนิสต์   ในสังคมของประเทศที่ประกอบไปด้วยชนชาติหลายเผ่าพันธุ์   เชื้อชาติ  ศาสนา  และวิถีชีวิตความเป็นอยู่  โดยเฉพาะที่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตกมาก่อนมักจะเกิดปัญหาของการเรียกร้องดังกล่าวนี้เสมอ   นอกจากนี้แล้ว   ทั้งองค์กรเอกชน   และองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ส่วนมากแล้วผู้ที่ดำเนินการก็คือกลุ่มคนที่มาจากประเทศตะวันตกได้เข้ามาในท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงสิทธิมนุษยชน   และได้สร้างเครือข่ายเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันของมนุษยชาติทั้งโลก   อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวได้ส่งผลต่อแนวความคิดในการแบ่งแยกดินแดนเพื่อการปกครองตนเองขึ้นในหลายประเทศ   สำหรับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีต้นเหตุของปัญหาในส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเช่นที่กล่าวไว้ด้วย   นอกจากนี้แล้ว   ยังได้มีองค์กรอิสลามในบางประเทศที่มีความเชื่อว่าประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม   เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ  และถูกเอาเปรียบจากคนไทยส่วนใหญ่   ดังนั้นองค์กรดังกล่าวได้สนับสนุนทรัพยากรในการดำเนินการเพื่อแบ่งแยกดินแดนต่อกลุ่มโจรก่อการร้ายในพื้นที่   และยิ่งรัฐบาลไทยตัดสินใจส่งทหารไทยไปอิรัก   ก็ได้ยิ่งทำให้ความคิดดังกล่าวนี้ขยายตัวมากขึ้น

 

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เอื้อประโยชน์กลุ่มนอกกฎหมายในพื้นที่   ร่วมมือกันปฏิบัติการเพื่อความมุ่งหมายร่วมของแต่ละกลุ่ม   กลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ร่วมกับโจรก่อการร้ายซึ่งบางคนมีฐานการฝึกมาจากกลุ่มก่อการร้ายในปากีสถาน  และอาฟกานิสถาน   บางคนได้รับการฝึกมาจากหมู่เกาะห่างไกลในรอยต่อระหว่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย   กลุ่มดังกล่าวนี้อาศัยโจรสลัดที่ปฏิบัติการในน่านน้ำนานาชาติ   และน่านน้ำไทย  มาเลเซีย  อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์   ในการลักลอบเคลื่อนย้ายกำลังพล  อาวุธยุทโธปกรณ์และเงินตรา   ปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้   ความพยายามแบ่งแยกดินแดนในอาเจห์  สถิติการปฏิบัติการโจรสลัดบ่งชี้ให้เห็นถึงความร่วมมือกันของเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าวนี้

 

ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

 

จากปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่   รวมทั้งความยืดเยื้อยาวนานในการแก้ปัญหา   ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องควรได้พิจารณากันอย่างถ่องแท้ด้วยความละเอียดรอบคอบว่า   ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาด้านใดบ้าง   อะไรคือปัญหาหลัก  ความสำคัญและความรุนแรงในแต่ละปัญหาเป็นเช่นไร  และผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาต่าง ๆ นั้นเป็นเช่นไรบ้าง     ทั้งนี้การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาที่จะส่งผลต่อผลประโยชน์ชาติอันมีประชาชนคนไทยทั้งประเทศ   ซึ่งก็รวมทั้งประชาชนคนไทยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นฐาน   จะทำให้การกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหานั้น   สามารถที่จะกำหนดความเร่งด่วนในการใช้เครื่องมือในการแก้ปัญหาเป็นไปได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น   ทั้งนี้จากการประเมินสถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ในทุกระดับที่ได้กล่าวไปแล้ว   เราสามารถที่จะกำหนดปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ตามลำดับความสำคัญดังนี้

 

ประการแรกคือ  ปัญหาของความรู้สึก   และความสำนึกร่วมในการเป็นรัฐชาติและประชาชนคนไทยที่เท่าเทียมกันของประชาชนบางส่วนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้    ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากปัญหาทางด้านประวัติศาสตร์   เชื้อชาติ   ศาสนา  และภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดในพื้นที่   ที่ได้ส่งผลให้ประชาชนเกิดความรู้สึกของความแปลกแยกและความรู้สึกของการเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกเอาเปรียบ

 

ปัญหาที่สองคือ ปัญหาการดำเนินงานของกลุ่มคนที่คอยสร้างสภาพแวดล้อมที่จะนำไปสู่การยกระดับความรู้สึกของประชาชน   ให้รุนแรงจนถึงขั้นการแบ่งแยกดินแดน   ทั้งนี้ระดับของความพยายามของกลุ่มดังกล่าวนี้มีตั้งแต่การเรียกร้องอย่างถูกต้องตามกฎหมาย   ไปจนถึงการใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อดำเนินการตามเป้าหมายตน   ในปัญหานี้เราสามารถแบ่งกลุ่มคนที่ดำเนินงานในด้านนี้ออกได้เป็นสองพวก   พวกแรกคือ   องค์กรเอกชน   นักวิชาการ   นักการเมืองท้องถิ่น   และผู้นำทางศาสนาที่มีแนวความคิดในเรื่องของสิทธิมนุษยชน   และความเป็นเอกลักษณ์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้   กลุ่มคนในพวกแรกนี้มีความมุ่งหวังที่จะได้เห็นสภาพที่ดีขึ้นของประชาชนในพื้นที่ตามแนวความคิดและแนวทางของพวกตน   ซึ่งพวกแรกนี้มองว่าสามจังหวัดในพื้นที่ควรได้มีลักษณะในการปกครองที่แตกต่างจากจังหวัดอื่นโดยทั่วไป   ซึ่งอาจเป็นเขตปกครองพิเศษหรืออาจจนถึงขั้นการแบ่งแยกดินแดน   ในขณะที่พวกที่สองเป็นพวกหัวรุนแรงที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนอย่างรวดเร็ว  ซึ่งพวกที่สองนี้มีประวัติศาสตร์การต่อสู้มาเป็นเวลานานในนามของกบฏและขบวนการแบ่งแยกดินแดนตามที่ได้ทราบกัน   บางส่วนของพวกที่สองนี้มักจะมีความสัมพันธ์อยู่กับฐานอำนาจเดิมในเมืองปัตตานี (พื้นที่ที่เป็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน)  ซึ่งสูญเสียอำนาจของกลุ่มตนลงไปหลังการจัดระเบียบทางด้านการปกครองในสมัยรัชการที่ห้าของกรุงรัตนโกสินทร์   ทั้งสองพวกนี้อาจมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น   หรืออย่างน้อยก็ได้มีการประสานประโยชน์หรือมีผลประโยชน์ร่วมซึ่งกันและกัน

 

ปัญหาที่สามคือ   ปัญหาในการดำเนินการของรัฐ   กลไกในการดำเนินการของรัฐยังคงไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการยุติปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างเด็ดขาด   ในระดับประเทศนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมิได้แก้ปัญหาในพื้นที่ที่เกิดขึ้นโดยคำนึงถึงประโยชน์ชาติเป็นประเด็นสำคัญสูงสุด   แต่ได้มองถึงคะแนนเสียงและการได้มาซึ่งการเป็นรัฐบาลในสมัยต่อไปเป็นปัจจัยสำคัญ   นอกจากนี้การเรียนรู้ซึ่งกันและกันของประชาชนคนไทยทั้งประเทศกับประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมิถึงระดับที่จะคลุกเคล้าสังคมให้มีบูรณาการได้   สำหรับในระดับพื้นที่แล้วปัญหาความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมานานและยังมิได้รับการแก้ไขให้หมดสิ้นไป   ข้าราชการของรัฐบางส่วนยังคงเห็นแก่ตัวและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าการแก้ปัญหาในพื้นที่   ส่งผลให้เกิดผู้มีอิทธิพลทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนทั่วไป   ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ส่วนมากมิได้เข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ในการเข้าไปแก้ปัญหา   อันเนื่องมาจากพื้นฐานที่มีความเฉพาะออกไปของพื้นที่   นอกจากนี้แล้วการดำเนินของเจ้าหน้าที่ของรัฐขาดการแบ่งมอบความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานที่ชัดเจน   และขาดการทำงานที่ประสานสอดคล้องกันไปของหน่วยงานในพื้นที่

 

ปัญหาหลักประเด็นสุดท้ายก็คือ   ปัญหาผลกระทบของสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของสังคมโลก   กระแสโลกาภิวัตน์   ขบวนการก่อการร้ายสากล   องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ  กระแสแนวความคิดสิทธิมนุษยชน   เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร  สิทธิในการเรียกร้องเพื่อการปกครองตนเอง   ความสำเร็จในการแบ่งแยกดินแดนและความพยายามในการแบ่งแยกดินแดนในหลายพื้นที่   ได้ส่งผลต่อปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแยกกันไม่ออก

 

นอกจากประเด็นปัญหาทั้งสี่ประการแล้ว   ยังคงมีปัญหาอื่นที่เป็นปัญหาแฝงและปัญหาที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องของปัญหาที่ได้กล่าวไปแล้ว   การทุ่มเทความพยายามเพื่อแก้ปัญหาที่มีความสำคัญในสี่ประการนี้จะส่งผลต่อการลดทอนปัญหาทั่วไปอื่น ๆ ไปด้วยจนปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทั่ว ๆ ไปเท่านั้น    

 

นโยบายยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

เป้าหมายในการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้   มุ่งเน้นไปที่การดำรงรักษาไว้ซึ่งความมั่นคง  ความสงบเรียบร้อย  และความมีเสถียรภาพของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่   และเพื่อที่จะได้มาซึ่งเป้าหมายดังกล่าว   รัฐชาติไทยจะต้องสามารถสร้างและดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพและต้องสามารถที่จะป้องกันภัยคุกคามใด ๆ ที่จะมาทำลายความมั่นคงในพื้นที่ได้   อย่างไรก็ตามประเทศไทยมิได้เป็นประเทศมหาอำนาจ  และมิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวในสังคมโลก   ดังนั้นเราอาจจะต้องแสวงหาความร่วมมือและความช่วยเหลือจากประเทศในภูมิภาค   และจากนานาชาติ   ทั้งนี้ก็เพื่อให้เราสามารถดำเนินการในการแก้ปัญหาได้มากขึ้นกว่าการดำเนินการแต่ผู้เดียว   อีกทั้งรัฐบาลจะต้องเข้าใจในความจำกัดของทรัพยากร ขีดความสามารถ อำนาจ และอิทธิพล  รวมทั้งการดำเนินการเพื่อให้มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการเข้าไปแก้ปัญหา   ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดความเร่งด่วนของวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ในการเข้าไปแก้ปัญหาดังนี้

 

ความเร่งด่วนลำดับแรกคือ   การสร้างและดำรงรักษาไว้ซึ่งความเป็นเอกภาพของรัฐชาติ   อันประกอบไปด้วยผืนแผ่นดิน ประชาชน อำนาจอธิปไตย และระบบการปกครอง ซึ่งรัฐบาลจะต้องสร้างและดำรงไว้ซึ่งสำนึกของความเป็นรัฐชาติไทยร่วมกันของคนไทยทั้งประเทศ   โดยเฉพาะคนไทยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันมากมายอย่างไรก็ตามทุกคนก็คือคนไทยที่เท่าเทียมกันและมีเสรีในการดำเนินวิถีชีวิตของตนเอง

 

ลำดับสอง  การสร้างความเข้าใจ   แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน  และเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ   กลุ่มนักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำทางศาสนา และองค์กรเอกชนในพื้นที่ที่มีแนวความคิดในการพัฒนา   และเปลี่ยนแปลงสังคมในพื้นที่สามจังหวัดที่แตกต่างไปจากฝ่ายรัฐบาล   รวมทั้งการนำกลุ่มหัวรุนแรงที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนโดยใช้กองกำลังติดอาวุธเข้ามาร่วมกันในการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี

 

ลำดับที่สามคือ การปรับเปลี่ยนระบบการบริหารราชการของรัฐในพื้นที่ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้   โดยพิจารณาถึงความพิเศษเฉพาะของพื้นที่เป็นรากฐาน

 

ลำดับที่สี่คือ  การส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคและในสังคมโลก   ในการแก้ปัญหาปัญหาข้ามชาติ  

 

ยุทธศาสตร์ในการสร้างและดำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกภาพของรัฐชาติไทย

 

สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้   คือการสร้างและดำรงไว้ซึ่งความรู้สึก   และความสำนึกร่วมในการเป็นรัฐชาติไทยของประชาชนคนไทยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้   เพื่อให้ไม่เกิดความรู้สึกของความแปลกแยกและความรู้สึกของการเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ   ในการดำเนินการดังกล่าวนี้ต้องการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานของรัฐ   รวมทั้งประชาชน   

 

ในระดับประเทศ   รัฐบาลจะต้องพยายามสร้างที่ว่างให้กับวัฒนธรรมและสังคมอิสลามให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยโดยส่วนรวม   ควรได้มีการเผยแพร่การเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณี   ศาสนา  และภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของสามจังหวัดนี้ออกไปสู่สังคมไทยโดยทั่วไป   ซึ่งทั้งนี้อาจรวมถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ของประเทศด้วย   การดำเนินการดังกล่าวนี้ก็เพื่อให้ประชาชนและสังคมไทยมีการยอมรับความแตกต่างของสังคมในพื้นที่สามจังหวัดมากขึ้น   และมีความรู้สึกว่าประชาชนในพื้นที่สามจังหวัด   และชาวไทยมุสลิมโดยทั่วไปมีความเท่าเทียม  และเป็นคนไทยเช่นเดียวกับตน  

 

ในระดับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้   รัฐบาลจะต้องส่งเสริมการดำเนินตามวิถีชีวิตที่เป็นไปตามวัฒนธรรมประเพณีศาสนา  ภาษา  ที่เป็นเอกลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง     การดำเนินงานของฝ่ายรัฐบาลจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น   และเข้าไปสร้างความเข้าใจในความเป็นรัฐชาติไทยที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมานาน   นอกจากนี้ยังจะต้องชี้ให้เห็นถึงปัญหาและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากความแตกแยกของคนไทยกันเอง   อีกทั้งยังจะต้องชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นของประเทศเกิดใหม่ในสังคมโลกเช่น  ติมอร์ตะวันออก เป็นต้น  

 

เจ้าหน้าที่ของรัฐในสายงานการเมืองการปกครอง   จะต้องเปิดโอกาสการเข้ามามีส่วนร่วมทางด้านการเมืองและการปกครองในท้องถิ่นของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้   ควรจะได้มีการการผสมผสานวิถีชีวิตตามหลักศาสนากับการจัดระเบียบการปกครองในท้องถิ่นระดับตำบลและหมู่บ้านให้มีความสอดคล้องกัน   และจะต้องสร้างความเป็นมิตรที่ดีต่อกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนให้ได้

 

เจ้าหน้าที่ของรัฐในสายงานการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในพื้นที่   ควรจะได้มีการคัดเลือกผู้ที่มีพื้นเพอยู่ในพื้นที่  มีความเข้าใจในวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของคนไทยในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี   โดยในการดำเนินงานของฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยจะต้องมุ่งเน้นไปที่การปราบปรามผู้มีอิทธิพล   ปกป้องประชาชนจากการข่มขู่และการกระทำที่ผิดกฎหมายของอาชญากรรม   โจร  และโจรก่อการร้ายหรือขบวนการที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนให้ได้   ทั้งนี้การปฏิบัติหน้าที่จะต้องเป็นไปด้วยความยุติธรรม  และเข้าใจในวัฒนธรรมของประชาชน  นอกจากนี้ยังจะต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย  เช่น  มีนักหนังสือพิมพ์  และนักวิชาการ  คอยทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าดู

 

เจ้าหน้าที่ของรัฐในสายงานด้านการศึกษา  วัฒนธรรม  ประเพณี  ศาสนา และการประชาสัมพันธ์  จะต้องออกมากำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางในการจัดกระบวนการในการศึกษาให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่   ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงในทางประวัติศาสตร์   ความเข้าใจในการเป็นรัฐชาติไทย  การอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่าง   การดำเนินการโดยผ่านกรรมวิธีที่นักวิชาการ  ผู้นำ  และประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้เข้ามากำหนดวิถีทาง  ร่วมถกแถลงเพื่อให้ได้มาซึ่งบทสรุป  ซึ่งอาจใช้การประชาพิจารณ์เป็นสิ่งที่จำเป็นเป็นอย่างยิ่ง   ตัวอย่างเช่น  อาจจะต้องมีความจำเป็นในการบรรจุการสอนภาษายาวีร่วมด้วยในโรงเรียนของรัฐที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการใช้ภาษายาวีและที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง  ทั้งนี้ก็เพื่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีซึ่งกันและกันและการเพิ่มช่องทางในการสื่อสารให้มีมากขึ้น[11]

 

เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาในพื้นที่   จะต้องมีความเข้าใจในหลักศาสนาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้เพียงพอต่อการกำหนดวัตถุประสงค์และแนวทางในการพัฒนา   นอกจากนี้แล้วการยกระดับความเท่าเทียมกันของประชาชนทุกหมู่เหล่าในพื้นที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง   ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในพื้นที่จะช่วยผ่อนคลายความเครียดและความขัดแย้งที่นำมาสู่ปัญหาในพื้นที่ได้  

 

นักการเมืองในทุกระดับ  ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล   รวมทั้งประชาชนในพื้นที่จะต้องถูกชักชวนออกมาให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา   จนได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับ  หรือให้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ยอมรับในกระบวนการแก้ปัญหา   เพื่อดำเนินการตามเสียงส่วนใหญ่และโน้มน้าวเสียงส่วนน้อยให้เข้ามาร่วมกันในการแก้ปัญหาต่อไป

 

ทหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐในด้านอื่น ๆ อาจเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างและดำรงไว้ซึ่งความเป็นรัฐชาติไทยร่วมกันของประชาชนในพื้นที่    โดยการสร้างความกลมกลืนสมัครสมานสามัคคีกับประชาชนคนไทยในพื้นที่ที่ได้เข้าไปสัมพัทธ์   หรือติดต่อด้วย   นอกจากนี้แล้วอาจต้องเข้าไปสนับสนุนหน่วยงานอื่นของรัฐเมื่อได้รับการร้องขอ

 

ยุทธศาสตร์ในการสร้างความเข้าใจ  แลกเปลี่ยนความคิดเห็น  และโน้มน้าวทุกกลุ่มให้มีเอกภาพในความพยายามในการแก้ปัญหา

 

ในโลกของเสรีประชาธิปไตยเช่นปัจจุบัน  การแก้ปัญหาด้วยแนวความคิดและกระบวนการของรัฐแต่ฝ่ายเดียวจะไม่สามารถกำจัดปัญหาให้หมดสิ้นไปได้   ถึงแม้ว่าจะมีแนวทางปฏิบัติที่ดีเพียงใดก็ตาม   ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากเสรีทางความคิดและการกระทำของผู้คนในแต่ละกลุ่มซึ่งจะมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย   ดังนั้นการกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้   ควรจะต้องมีการและเปลี่ยนความคิดเห็น  สร้างความเข้าใจและกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกันกับกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกันอยู่กับปัญหานี้

 

กลุ่มนักวิชาการ   เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีอิทธิพลทางด้านความคิดเป็นอย่างมากต่อสังคมในพื้นที่   จากการที่เครื่องมือในการเรียนการสอน  และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสะดวกขึ้น   และคนในพื้นที่มีการเรียนรู้และการศึกษามากขึ้น   ประวัติศาสตร์  รูปแบบการปกครอง  และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ที่ควรจะเป็นจะต้องมีการถกแถลงอย่างแพร่หลายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องมีความสามารถเพียงพอที่จะร่วมกับนักวิชาการในการพิจารณา   ตัวอย่างของประเด็นในการถกแถลงเช่น  ประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานี  หรืออาณาจักรลังกาสุกะ  และความเป็นเมืองประเทศราชหรือรัฐอิสระ  เป็นต้น  ซึ่งประเด็นจะมุ่งไปที่ระดับในการปกครองตนเองของสามจังหวัดภาคใต้  ทั้งนี้ถ้าเรายึดอาณาจักรเก่าแก่มาเป็นตัวตั้ง  ประเทศอินโดนีเซีย  อาจต้องแยกออกเป็นประเทศเล็ก ๆ มากมาย  ในขณะที่มาเลเซียเองก็ต้องแบ่งแยกออกไป  หรือถ้ายึดเอารัฐชาติที่จะต้องมีเพียงเชื้อชาติเดียวนับถือศาสนาเดียวเป็นหลัก  ประเทศสหรัฐอเมริกา  และออสเตรเลียก็คงต้องแบ่งออกไปได้หลายประเทศเช่นกัน   ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันในลักษณะนี้จะต้องได้รับการแลกเปลี่ยนและถกแถลงเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาต่อไป

 

การสร้างความเข้าใจ  และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  รวมทั้งการโน้มน้าวกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น  และผู้นำทางศาสนาเพื่อเข้ามาร่วมมือกันในการแก้ปัญหาเป็นส่วนสำคัญยิ่งในเชิงของการปฏิบัติ   ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่ากลุ่มคนดังกล่าวนี้มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น  ความคิดเห็นของประชาชนมักถ่ายทอดออกมาทางผู้นำทางการเมือง  และผู้นำทางศาสนาเสมอ   และผู้นำเหล่านี้มักมีอิทธิพลต่อความเชื่อและสามารถที่จะโน้มน้าวให้ประชาชนไปในทิศทางใดก็ได้   เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องเข้าใจในความสำคัญของบุคคลต่าง ๆ เหล่านี้รวมทั้งจะต้องให้ความเสมอภาคในการเข้าไปติดต่อและมีปฏิสัมพันธ์ด้วย  เจ้าหน้าที่ของรัฐควรจะได้เชิญบุคคลเหล่านี้ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดปัญหา  วางแผน  และดำเนินการในการแก้ไขปัญหาทั้งนี้ทุกฝ่ายจะต้องเข้าใจถึงพื้นฐาน  และสภาพแวดล้อมของปัญหาในทิศทางเดียวกับที่ได้ถกแถลงกับนักวิชาการในพื้นที่

 

องค์กรเอกชนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการแก้ปัญหา  เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องเข้าไปทำงานร่วมกันกับองค์กรเอกชนทั้งหลายด้วย   โดยมีเป้าหมายร่วมในการแก้ปัญหาในพื้นที่   สำหรับปัญหาในเรื่องของสิทธิมนุษยชน  สิทธิในการปกครองตนเอง  และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จะต้องมีการหยิบยกขึ้นมาถกแถลงและหาข้อสรุปในการแก้ปัญหา   การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของรัฐและขององค์กรเอกชนควรจะได้มีการประสานความร่วมมือกันเพื่อให้สอดคล้อง   ในส่วนของความขัดแย้งที่อาจมีได้   จะต้องอาศัยกฎหมายนานาชาติและกฎหมายของไทยเป็นกรอบในการแก้ไขความขัดแย้ง

 

ในการสร้างความเข้าใจกับกลุ่มหัวรุนแรงที่อาศัยกองกำลังติดอาวุธเข้ามาแก้ปัญหา   จะต้องนำกฎหมายมาเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหา   อย่างไรก็ตามในกลุ่มขบวนการที่มิใช่โจรที่แอบแฝงเข้าไปเป็นสมาชิกของขบวนการ  รัฐบาลอาจใช้กฎหมายอภัยโทษเช่นคอมมิวนิสต์กลับใจมาเป็นเครื่องต่อรองให้เข้ามาต่อสู้ทางด้านการเมือง   และเข้ามาแลกเปลี่ยนแนวทางในการแก้ปัญหาและร่วมกันในการแก้ปัญหาต่อไป  สำหรับผู้ที่ทำผิดกฎหมายและใช้ข้ออ้างของการแบ่งแยกดินแดนจะต้องได้รับการปฏิบัติเช่นโจรหรืออาชญากรรมทั่วไป

 

สื่อสารมวลชนก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องเข้าไปทำความเข้าใจ  และร่วมกันในการแก้ปัญหา  ทั้งนี้การดำเนินการใด ๆ ของรัฐควรที่จะได้มีสื่อมวลชนทุกฝ่ายเข้าไปร่วมเป็นพยาน  และเผยแพร่ข่าวสารที่ชัดเจนถูกต้องและเป็นความจริง

 

ในการดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้าใจ และมีเอกภาพในความพยายามในการแก้ปัญหานี้ต้องการความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ  เอกชน  และประชาชนทุกหมู่เหล่า  ทหารและตำรวจอาจจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการรักษาความสงบเรียบร้อย  และปกป้องประชาชนมิให้ถูกข่มขู่คุกคามจากทั้งผู้มีอิทธิพล  โจรก่อการร้าย  และอาชญากรรมต่าง ๆ         

 

ยุทธศาสตร์ในการปรับเปลี่ยนระบบบริหารในพื้นที่

 

ความอ่อนแอในการบริหารงานของรัฐ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อปัญหาความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้  ทั้งนี้ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีขีดความสามารถที่เพียงพอแล้ว  ถึงแม้จะมีประเด็นปัญหาในพื้นที่มากเพียงใด  เจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นก็จะสามารถแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยดี   อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้มิได้เป็นไปตามที่ต้องการอันเนื่องมาจากระบบการบริหารงานของรัฐที่ยังคงไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่เท่าที่ควร   โดยในการปรับเปลี่ยนระบบการเมืองการปกครองต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งนี้มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้นักการเมืองในฝ่ายรัฐบาล  และฝ่ายค้าน, เจ้าหน้าที่ของรัฐ, องค์กรเอกชน, องค์กรอิสระ  และประชาชนโดยทั่วไปได้มีความรู้และความเข้าใจถึงปัญหาในด้านการเมืองการปกครองในพื้นที่และร่วมกันปรับเปลี่ยนระบบการบริหารในพื้นที่

 

ในระดับประเทศ   จะต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดตัวบุคคลที่จะไปดำรงตำแหน่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ   โดยเฉพาะในการแต่งตั้ง  นายอำเภอ,  ผู้ว่าราชการจังหวัด,  ผู้บังคับหน่วยในสายงานตำรวจหรือทหารที่มีที่ตั้งและความรับผิดชอบอยู่ในพื้นที่  ควรจะได้มีการพิจารณาถึงประวัติส่วนตัวในด้าน  พื้นเพหรือถิ่นกำเนิด, ศาสนา, ความรู้ความสามารถ และความเข้าใจของปัญหาในพื้นที่   ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการยอมรับของประชาชนในระบบการเมืองการปกครองที่ได้นำมาใช้ในสามจังหวัด   นอกจากนี้แล้ว  ก็เพื่อให้ผู้ที่จะมาบริหารมีความเข้าใจปัญหา  สามารถแก้ปัญหาและทำงานได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน   นอกจากนี้แล้วรัฐบาลควรได้มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น   และการส่งเสริมประชาชนให้มีส่วนร่วมทางด้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้มากขึ้น   สำหรับในส่วนของนักการเมืองในระดับประเทศ   ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล  ฝ่ายค้าน  สมาชิกสภาผู้แทน  และสมาชิกวุฒิสภา   จะต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิดของตนโดยมุ่งที่จะทำงานเพื่อการช่วยเหลือประเทศชาติ   เห็นแก่ประโยชน์โดยส่วนรวมของชาติ   มากกว่าความพยายามหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

 

ในการจัดการและการบริหารด้านการเมืองการปกครองในพื้นที่   จะต้องให้ความสำคัญกับผู้นำท้องถิ่น  นักการเมืองท้องถิ่น  และผู้นำทางศาสนามากขึ้น   ทั้งนี้ก็ด้วยการผสมผสานวิถีทางการเมืองในลักษณะทางการของรัฐบาล  กับวิถีทางทางการเมืองในทางธรรมชาติซึ่งก็คือวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ผูกพันอยู่กับผู้นำทางศาสนา  รวมทั้งการปฏิบัติทางศาสนา  ผู้นำและนักการเมืองในพื้นที่    ถ้าวิถีทางทางการเมืองทั้งสองลักษณะนี้รวมกันจนเป็นระบบเดียวกัน  หรืออย่างน้อยที่สุดไปด้วยกันได้   ก็จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งและความไม่เข้าใจของประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐลดลงและหมดไปในที่สุด   สำหรับในการดำเนินการนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องเชิญผู้นำทางศาสนาในพื้นที่เข้ามารับผิดชอบในการปกครองท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น  การเป็นสมัครเข้าเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล  เป็นต้น  ในขณะเดียวกันในระดับอำเภอและจังหวัด   รัฐบาลจะต้องจัดตั้งระบบเชื่อมต่อเพื่อให้ผู้ทางศาสนาต่าง ๆ เหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารในอำเภอและจังหวัดด้วย       

 

ยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในการแก้ปัญหาข้ามชาติ

 

พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย   และยังมีช่องทางในการออกทะเลซึ่งสามารถไปได้ถึงประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ ในภูมิภาค  ดังนั้นในการแก้ปัญหาจึงควรจะได้มีการคำนึงถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาข้ามชาติอันเนื่องมาจากอาชญากรรมข้ามชาติ  ไม่ว่าจะเป็น   ผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ  โจรก่อการร้ายข้ามชาติ  โจรสลัดในทะเลนานาชาติ  หรือแม้แต่กลุ่มคนสองสัญชาติหรือผู้อพยพข้ามชาติก็ตาม

 

ในระดับนานาชาติ   รัฐบาลจะต้องทำความเข้าใจต่อประชาคมโลกในปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการใช้เครื่องมือที่มี  นั่นก็คือ  เจ้าหน้าที่ทางการทูตไม่ว่าจะเป็นในส่วนของกระทรวงต่างประเทศ  กระทรวงกลาโหม  หรือตัวแทนจากกระทรวงทบวงกรมอื่น ๆ นอกจากนี้แล้วสื่อมวลชนของไทยเองก็จะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสื่อสารกับประชาคมโลกในความเข้าใจที่ถูกต้อง   ทั้งนี้ประเด็นที่ต้องเน้นย้ำในการสร้างความเข้าใจก็คือ  รากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่  ความพยายามในการแก้ปัญหาในพื้นที่  สิทธิเสรีภาพและความเสมอเท่าเทียมกันของประชาชนทุกหมู่เหล่า   เชื้อชาติ  ศาสนาในสังคมไทย  นอกจากนี้แล้วควรจะได้มีการเผยแพร่ความเป็นอยู่  และความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ต้องการเป็นคนไทยภายใต้ระบบการปกครองในปัจจุบันที่ให้สิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมเสมอกัน  

 

การสนับสนุนการแก้ปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชน   ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งในที่ต่าง ๆ ในสังคม   หรือการช่วยเหลือประชาชนทุกเผ่าพันธุ์  ทุกชาติ  ศาสนา  ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติภารกิจเพื่อสันติภาพ  ภารกิจเพื่อมนุษยธรรม  หรือด้วยการส่งความช่วยเหลือต่าง ๆ ไปเท่าที่ประเทศไทยจะได้มีความสามารถเพียงพอ   โดยทั้งนี้กลุ่มประเทศที่ไทยควรได้เข้าไปสร้างความเข้าใจ  และการช่วยเหลือควรเน้นไปที่ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม  และประเทศที่เคยให้การสนับสนุนกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นความเร่งด่วนแรก ๆ

 

การดำเนินงานด้านการทูตกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศมาเลเซียที่มีอาณาเขตติดต่อกันนั้น   ควรจะได้มีการจัดทำข้อตกลงร่วมกันในอันที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติต่าง ๆ   และจัดระเบียบตามแนวชายแดนซึ่งยังคงมีปัญหา  เช่นในเรื่องของบุคคลสองสัญชาติ   การอพยพและลักลอบกระทำสิ่งผิดกฎหมายโดยอาศัยช่องว่างของอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ   ควรได้มีการช่วยกันป้องกันและปราบปรามผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ   โจรก่อการร้ายข้ามชาติ  โจรสลัดที่อาศัยประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นฐานปฏิบัติการหรือที่พักพิง   และเข้าปฏิบัติการอันผิดกฎหมายในอีกประเทศหนึ่ง   นอกจากนี้แล้วงานด้านการทูตกับประเทศอื่น ๆ นั้นก็ควรที่จะได้มีความร่วมมือกันทั้งในด้านการข่าวและการปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาข้ามชาติที่เกิดขึ้นในภูมิภาค   ในการดำเนินการดังกล่าวนี้   เราควรจะได้อาศัยความร่วมมือทั้งทางด้านพลเรือน  และทางด้านการทหาร   ผ่าน  ASEAN  และ ARF  และความร่วมมือทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างแท้จริง 

 

การนำยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่การปฏิบัติ

 

นโยบายยุทธศาสตร์ที่ได้นำเสนอไปทั้งสี่ประการนั้น มีพื้นฐานมาจากการกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาระยะยาวเป็นหลัก   ทั้งนี้ในการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นของรัฐบาลที่ได้กระทำอยู่ในปัจจุบันสามารถที่จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้การแก้ปัญหาในระยะยาวมีความง่ายมากขึ้น  หรืออาจทำให้เกิดปัญหายุ่งยากในระยะยาวก็เป็นได้   เช่น  ในการเข้าไปล่วงละเมิดต่อข้อห้ามทางศาสนา  หรือสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่เคารพบูชาหรือยึดถือปฏิบัติ[12]  อาจทำให้เกิดผลเสียต่อการแก้ปัญหาในการสร้างและทำความเข้าใจต่อกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความคิดเห็นไม่สอดคล้องกับรัฐบาล  และอาจเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกแปลกแยกต่อสังคมไทยและมีผลเสียต่อความเป็นเอกภาพและการเป็นรัฐชาติไทยร่วมกัน   ดังนั้นในการนำยุทธศาสตร์ในใช้ในการแก้ปัญหานั้น  ต้องการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานของรัฐ  ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน  เจ้าหน้าที่ของรัฐ  ภาคเอกชน  และภาคประชาชนในการเข้าไปร่วมกันแก้ปัญหาตั้งแต่เนิ่น   โดยรับยุทธศาสตร์ในการสร้างและดำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกภาพของรัฐชาติไทย, ยุทธศาสตร์ในการในการสร้าง  แลกเปลี่ยนความเข้าใจ  และโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายมีความเป็นเอกภาพในความพยายามในการแก้ปัญหา, ยุทธศาสตร์ในการปรับเปลี่ยนระบบบริหารในพื้นที่  และยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือกัน  ไปจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงาน   ทั้งนี้หน่วยงานของรัฐจะต้องเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันให้เกิดการดำเนินงานในการแก้ปัญหาตามยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง

 

การแก้ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้   โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส  ได้กระทำต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน   ในห้วงเวลาใดก็ตามที่ฝ่ายรัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศสามารถดำเนินนโยบายได้อย่างถูกต้องเหมาะสม    ปัญหาต่าง ๆ ก็จะทุเลาเบาบางลงไป  หรืออย่างน้อยที่สุดการต่อสู้ทางการทหารก็ยุติลงไปหลงเหลือไว้แต่การต่อสู้ทางการเมือง  และการซ่อนเร้นความพยายามในการแบ่งแยกดินแดนไว้   ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากศักยภาพของฝ่ายที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนยังมีไม่เพียงพอที่จะดำเนินการได้อย่างเปิดเผย     เมื่อใดที่สถานการณ์เอื้ออำนวยและการบริหารของรัฐไม่สอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่   ความคิดในการแบ่งแยกดินแดนก็จะประทุขึ้นมาอีก  ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากปัญหาพื้นฐานซึ่งเป็นเงื่อนไขในการแบ่งแยกดินแดนที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเด็ดขาด  นั่นก็คือ  ความรู้สึกร่วมในการเป็นรัฐชาติไทยของคนบางกลุ่ม  และความต่อเนื่องของแนวความคิดและกลุ่มคนที่พยายามในการแบ่งแยกออกไป  

 

ณ เวลานี้ปัญหาในพื้นที่ได้ลดบรรเทาไปจนถึงจุดที่การต่อสู้ทางการทหารนั้นยุติลงไปแล้ว   ที่เกิดขึ้นมาก็เป็นเพียงแค่ความพยายามในการที่จะสร้างสถานการณ์ขึ้นมา   เพื่อให้สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปสามารถบ่มเพาะความแตกแยกของคนไทยในพื้นที่กับรัฐบาลได้  และสามารถดำเนินการด้านการเมืองเพื่อยกระดับความชอบธรรมในการปกครองตนเอง  และการเรียกร้องสิทธิในการแยกตัวออกไปเมื่อมีโอกาส   ในสถานการณ์เช่นนี้  ผู้ที่มีแนวความคิดในการแบ่งแยกดินแดนที่ดำเนินการด้านการเมือง  จะยังคงปกปิดตนเองอยู่  แต่จะพยายามชี้นำให้เห็นว่าปัญหาทั้งหลายแหล่ที่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากความไม่ดีของรัฐบาล  และการข่มเหงรังแกของคนไทยที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ  ซึ่งก็จะกลมกลืนไปกับผู้ที่หวังดีต่อประเทศและพยายามชี้ให้รัฐบาลเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อการแก้ไข   ในขณะเดียวกันกลุ่มติดอาวุธก็จะพยายามใช้ยุทธวิธีในการก่อการร้าย  การลอบวางระเบิด  จับตัวเรียกค่าไถ่  เพื่อความอยู่รอดของตน  และเพื่อฟื้นคืนและดำรงอิทธิพลของตนในพื้นที่  อย่างไรก็ตามกลุ่มดังกล่าวนี้ก็จะยังคงไม่เปิดเผยตัวเนื่องจากยังคงอ่อนแออยู่  ทั้งนี้เมื่อมั่นใจแล้วกลุ่มนี้จึงจะประกาศตัวและปฏิบัติอย่างเปิดเผยในลักษณะของสงครามกองโจร  

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ถ้าได้พิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่งนั้น   ก็เปรียบเสมือนการเตือนให้รัฐบาลได้มีการพิจารณาถึงความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้   มิใช่ว่าเมื่อการต่อสู้ด้วยอาวุธเกือบเรียกได้ว่ายุติไปแล้วรัฐบาลก็พิจารณาว่าไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ต่อ   ซึ่งในความเป็นจริงนั้น  การดำเนินการแก้ปัญหาในระยะยาวจะต้องมีการดำเนินการต่อไป  แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่เข้ามารับผิดชอบและดำเนินการนั้นอาจต้องเปลี่ยนไป   โดยจากเดิมทหารอาจเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมากในห้วงที่มีการต่อสู้ทางการทหาร  จำเป็นต้องเปลี่ยนไปเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ด้านการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อยในการเข้ามาดำเนินการทางด้านการเมือง  และการแก้ปัญหาด้านสังคมจิตวิทยาต่อไป   สำหรับยุทธศาสตร์ทั้งสี่ประการที่ได้นำเสนอไปนั้นอาจถือได้ว่าเป็นแนวนโยบายในระดับประเทศที่กระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องอาจนำไปพิจารณากำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ในส่วนที่หน่วยงานของตนรับผิดชอบต่อไป[13]

วิชัย      ชูเชิด

๒๔๒๐๐๐  ม.ค. ๔๗

 



[1] ความมั่นคงสมบูรณ์แบบ (comprehensive security)  เป็นการมองประเด็นของความมั่นคงที่ครอบคลุมปัจจัยทางด้านการเมือง  การทูต เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา และด้านการทหาร  รวมทั้งแนวทางในการกำหนดนโยบายในการแก้ปัญหาจะมุ่งไปสู่การใช้พลังอำนาจของชาติในทุก ๆ ด้านอย่างสมดุล 

[2] หัวเมืองประเทศราชไทรบุรีประกอบไปด้วยสี่หัวเมืองคือ ไทรบุรี, กบังปาสู, ปะลิส และสตูล ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒    หัวเมืองต่าง ๆ ของไทรบุรียกเว้นหัวเมืองสตูลตกเป็นของอังกฤษ   และต่อมาเมืองในอาณัติของอังกฤษในตอนใต้ของไทยได้ร่วมกันประกาศเอกราชและเป็นประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน

[3] อาณาจักรลังกาสุกะก่อตั้งในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๘   โดยมีศาสนาฮินดูเป็นศาสนาประจำอาณาจักร   ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ อาณาจักรศรีวิชัยที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เกาะสุมาตรา   ในประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบันมีความเข้มแข็ง   ลังกาสุกะได้ตกเป็นเมืองประเทศราช   และได้รับวัฒนธรรมในรูปแบบของศาสนาพุทธเข้ามา   จนกระทั่งในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘   ลังกาสุกะได้ล่มสลาย   พร้อมกับการก่อตั้งเมืองตานีหรือปัตตานีขึ้นแทน   และเจ้าผู้ปกครองเมืองได้รับศาสนาอิสลามเข้ามาเป็นศาสนาประจำเมือง   ต่อมาในห้วงต้นของพุทธศตวรรษที่ ๒๐   อาณาจักรมะละกาได้เข้ามามีอิทธิพลแทนที่สุโขทัย

[4] ในเวลาต่อมาอังกฤษได้เข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาค   ซึ่งส่งผลให้มะละกาตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ   นอกจากนี้แล้วอังกฤษก็ได้พยายามที่จะขยายอิทธิพลมาสู่แผ่นดินสยามหรือประเทศไทย   ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ไทยต้องยอมยกไทรบุรียกเว้นสตูลให้อยู่ในอาณัติของอังกฤษ

[5] P.U.L.O.   เกิดจากการรวมตัวกันของสมาคมนักศึกษาหนุ่มและสมาคมปัตตานีร่วมซาอุดิอาระเบีย   ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕   โดยสองสมาคมนี้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อความมุ่งหมายในการแบ่งแยกดินแดนสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตูล, ยะลา, ปัตตานี และนราธิวาส)    

[6] ตามความคิดเห็นของผู้เขียน   ชื่อของขบวนการเมื่อแปรเป็นไทยควรใช้คำว่า   “ ขบวนการบูรณาการมูจาฮีดีนปัตตานี”   จากคำว่า “ Bersatu ”  ซึ่งมีความหมายว่า  “ ทำให้เป็นหนึ่งเดียว ”   เป็นการสื่อให้เห็นถึงความพยายามของขบวนการดังกล่าวนี้ในการรวบรวมขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่าง ๆ ให้มีความเป็นเอกภาพและมีบูรณาการในการดำเนินงาน   ดังเห็นได้ว่า   ขบวนการนี้เกิดจากความร่วมมือกันของ B.R.N., P.U.L.O., และ B.N.P.P.      

[7] B.B.K.P. เกิดจากการรวมกลุ่มกันของสมาชิกที่มาจาก B.R.N., P.U.L.O., B.N.P.P. และ B.B.M.P.   ขบวนการนี้มักถูกเรียกว่าขบวนการเบอร์ซาตู (Bersatu)   ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการรวมตัวกันของขบวนการต่อสู้เพื่อการแบ่งแยกดินแดนหลังจากขบวนการเหล่านี้ต้องลดระดับการปฏิบัติลงไปอันเนื่องมาจากการดำเนินงานของฝ่ายรัฐบาล 

[8] ในบรรดาขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งหลายซึ่งถูกลดระดับเป็นเพียงแค่โจรก่อการร้าย    P.U.L.O. ได้ประกาศความมุ่งหมายของขบวนการไว้ในเวบไซต์อย่างเป็นทางการที่  http://www.pulo.org/   (เป็นที่น่าเสียดายที่เวบไซต์ดังกล่าวนี้ได้ถูกปิดลงไปโดยหน่วยงานของรัฐ (สันติบาล) ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง   ซึ่งในความคิดเห็นผู้เขียนนั้น  มิได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรมากนัก  ทั้งนี้ในยุคข้อมูลข่าวสาร    การปิดข้อมูลในลักษณะนี้คือการดำเนินการตามแนวความคิดในเรื่อง need to know  ซึ่งเป็นแนวความคิดในการแก้ปัญหาในยุคสงครามเย็น  ในขณะที่ปัจจุบันการแก้ปัญหาในยุคเสรีประชาธิปไตย  และยุคข้อมูลข่าวสารนี้   จะมองไปที่แนวความคิดในเรื่องของการแบ่งปันความรู้และร่วมกันแก้ปัญหา  อีกทั้งถ้าได้มีการพิจารณากันโดยถ่องแท้แล้ว    การปิดเวบไซต์นั้นสามารถดำเนินการได้เฉพาะเวบไซต์ที่มีฐานอยู่ในประเทศ  ดังนั้นถ้า P.U.L.O ต้องการใช้เวบไซต์ในการดำเนินงานแล้วก็ยากที่จะปิดช่องทางนี้ได้   นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้คำนึงไปถึงสมัยที่มีการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์   ซึ่งฝ่ายรัฐบาลได้ประกาศมิให้คนไทยศึกษาความเป็นไปและหลักการของคอมมิวนิสต์  ผลที่ตามมาก็คือกระบวนการในการแก้ปัญหาต้องใช้เวลาที่ยาวนานและความสูญเสียที่มากมายจากการที่เจ้าหน้าที่ของฝ่ายรัฐและประชาชนที่เป็นฝ่ายรัฐเองก็มิรู้เขาหรือฝ่ายตรงข้ามแม้แต่น้อย)

[9] การปฏิบัติการของกลุ่มที่ก่อความไม่สงบด้วยการวางเพลิง และปล้นปืนในค่ายทหารเมื่อต้นเดือนมกราคม ๔๗   เป็นการเคลื่อนย้ายกำลังกองโจรจำนวนมาก   มีการประสานงานกันอย่างกว้างขวาง   อีกทั้งยังจะต้องมีการเตรียมการล่วงเป็นเวลานาน   ดังนั้นกลุ่มดังกล่าวนี้จะไม่สามารถดำเนินการได้ถ้าไม่มีแนวร่วม   และประชาชนที่ต้องนิ่งเฉยด้วยความเกรงกลัว   หรือความไม่แน่ใจในประสิทธิภาพของรัฐบาลในการเข้ามาแก้ปัญหาในภายหลัง

[10] การเมืองท้องถิ่นในรัฐตอนเหนือของมาเลเซียส่งผลต่อความร่วมมือกันของทั้งสองประเทศในการแก้ปัญหาข้ามชาติ   ดังเห็นได้ว่า   เมื่อใดที่พรรคการเมืองซึ่งเน้นการใช้หลักศาสนาในการปกครองได้รับการเลือกตั้ง   ก็จะทำให้ความพยายามในการติดตามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่พยายามแบ่งแยกดินแดนและสร้างรัฐอิสลามในปัตตานีเป็นไปด้วยความยากลำบาก

[11] ในสังคมพหุภาคี   การเรียนรู้ภาษา  ศาสนา  วัฒนธรรม  ประเพณี  เป็นเครื่องมือในการคลุกเคล้าสังคมให้มีความเป็นเอกภาพและมีบูรณาการ

[12] การเข้าตรวจค้น  และดำเนินการต่อสถานที่ที่เกี่ยวพันกับศาสนา  ประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อ  เช่น  มัสยิด   สถานที่ที่ใช้ในการปฏิบัติศาสนากิจ  โรงเรียนปอเนาะ  ฝ่ายรัฐบาลควรจะได้มีการศึกษาถึงผลกระทบ  ผลดี ผลเสีย  และขั้นตอนในการดำเนินงานที่รอบคอบ  มิฉะนั้นแล้วจะส่งผลต่อความรู้สึกที่ไม่ดีของประชาชนในพื้นที่  และประชาชนที่เป็นมุสลิมทั่วโลกที่ทราบข่าว  ทั้งนี้ความเชื่อประการหนึ่งของมุสลิมก็คือมุสลิมทั้งโลกคือพี่น้องกันจะต้องให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน

[13] ในการนำยุทธศาสตร์ไปใช้ของแต่ละกระทรวงนั้นจะได้นำเสนอในบทความต่อ ๆ ไป    

Hosted by www.Geocities.ws

1