เหมืองโซน - น้ำตกโตนพันเมตร

 

            เหมืองโซน  เป็นชื่อของเหมืองแร่ร้าง  มีอายุกว่าร้อยปี  เพราะบริเวณนี้มีเฟิร์นโซนขึ้นอยู่มาก  จึงเรียกชื่อว่า  เหมืองโซน  มีการทำเหมืองแร่มาก่อนปี ๒๔๕๙  ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตเมื่อกว่า ๖๐ กว่าปีมาแล้ว  ได้ฉายาว่า  มรกตนคร  เหมืองโซนนี้อยู่ในป่าลึกเขต ๓ จังหวัดติดต่อกัน  คือ ด้านแถบทิศตะวันออก  เป็นจังหวัดสุราษฏร์ธานี   ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นจังหวัดระนอง  ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นจังหวัดพังงา

            การเดินทางไปเหมืองโซน  เริ่มจากหน่วยพิทักษ์ป่ากำพวน  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา  อำเภอสุขสำราญ  จังหวัดระนอง  ซึ่งเป็นเส้นทางเข้า ออกเหมืองโซนในอดีต  ใช้เวลาเดินเท้าเกือบสองวัน

            แต่สำหรับเส้นทางที่ใช้เดินทางในครั้งนี้  เป็นการเดินทางแบบท่องเที่ยวไปในป่า  โดยเริ่มต้นจากตัวอำเภอคุระบุรี  จังหวัดพังงา  ซึ่งเป็นการเดินทางจากทิศใต้ไปยังทิศเหนือ  ไปสิ้นสุดที่เขตอำเภอกะเปอร์  จังหวัดระนอง  ผ่านพื้นที่อำเภอสุขสำราญ  จังหวัดระนอง  และอำเภอวิภาวดี  จังหวัดสุราษฏร์ธานี  ทั้งนี้ได้รับความสะดวกจากนายสถานีขนส่ง บ.ข.ส. อำเภอคุระบุรี  จังหวัดพังงา   ที่ให้ข้อมูลในการเดินทาง  พร้อมทั้งหาผู้พาไปส่งยังจุดเดินทาง  โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก  คุณชูศักดิ์   ถิ่นพังงา  สมาชิกสภาเทศบาลคุระบุรี  พามาส่งที่บ้านของคุณลุง  สหัส  ประกอบแสง  ซึ่งเป็นผู้ชำนาญในป่าแถบนี้  คุณลุงสหัสนี้อายุ ๖๗ ปี  อาชีพทำสวนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ติดกับป่าเชิงเขา  คุณลุงนำพวกเรามาส่งปากทางเข้าป่าซึ่งอยู่หลังบ้านท้ายสวน  มีลำธารสายเล็ก ๆ ไหลผ่านตลอดทั้งปี   เส้นทางเดินเป็นทางชักลากไม้มาก่อน  โดยบอกว่าให้เดินไปตามทางนี้จะผ่านเขาพ่อตาหลวงแก้ว  เหมืองโซน  และน้ำตกโตนพันเมตร  ส่วนเขาหลังคาตึกไม่เคยไป  ฟังดูแล้วเหมือนกับง่ายกับคำพูดของคุณลุงสหัส

            เส้นทางเป็นทางชักลากไม้เมื่อเกือบ ๓๐ ปีมาแล้ว  ตัดขึ้นสันเขาที่ไม่สูงนักแต่ก็ทำเอาเหนื่อยหอบ  เส้นทางอยู่ตามแนวบนสันเขา  ก้าวแรกที่เข้าป่าก็ได้ยินเสียงชะนีกู่ร้องก้องป่า  ต้นไม้ขนาดใหญ่กว่าโคนขาขึ้นกลางถนน  มีทางเดินเท้า  บางช่วงก็รก  บางช่วงเส้นทางขาดหาย  หรือภูเขาพังทลายลงมาทับเส้นทาง  ด้านซ้ายมือจะมองเห็นยอดเขาพระหมี  เป็นแนวเทือกยาวไปทางทิศเหนือ  ยอดเขาพระหมีมี ๒ แห่ง คือ ยอดสูง ๑๑๑๘ เมตรจากระดับน้ำทะเล  อยู่ตรงกันข้ามทางทิศตะวันตกของเขาพ่อตาหลวงแก้ว  ส่วนอีกลูกหนึ่งนี้สูง ๑๑๗๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล  อยู่เทือกเขาแดนเลยยอด ๑๓๔๓ ไปทางทิศเหนือ

            เบื้องล่างด้านซ้ายมือเป็นคลองนางยอน  ตรงก่อนถึงยอดเขาพ่อตาหลวงแก้ว  ดินพังทลายลงมาเป็นแนวยาว  เป็นป่ารกและสูงชัน  เดินลำบากมาก  พอขึ้นมาถึงยอดเขาก็เป็นป่ารก  ไม่มีจุดชมวิวทิวทัศน์  ต้นไม้สูงใหญ่ไม่สามารถปีนป่ายขึ้นไปชมทิวทัศน์ได้  เขาพ่อตาหลวงแก้วสูง ๑๐๐๑ เมตรจากระดับน้ำทะเล  แนวสันเขาทอดลงจากยอดเขาพ่อตาหลวงแก้วมาลงคลองเอ๊ะไหลลงเขื่อนรัชประภา  มีร่องรอยช้างเที่ยวหากินอยู่บ้างเมื่อ ๒ ๓ วันก่อน  คงมีไม่เกิน ๒ ตัว  น้ำในคลองเอ๊ะมีไม่มากนักเพราะเป็นช่วงต้นน้ำ    และเป็นสาขาส่วนหนึ่งเท่านั้น  จากเขาพ่อตาหลวงแก้วคงมีแนวสันเขาเชื่อมต่อ  โดยไม่ต้องลงคลองเอ๊ะ  แต่เราเลยมาทางทิศตะวันออก  ถึงจะเดินตรงกับเส้นทางเดินหรือไม่ก็ไม่หนักใจ  เพราะถือว่ามาเดินป่าแต่อย่าให้เป็นป่ารกหรือสูงชันก็แล้วกัน

            จากคลองเอ๊ะตัดขึ้นสันเขามุ่งไปทางทิศเหนือ  บนสันเขามีทางด่าน  เส้นทางตรงไปทางทิศตะวันออก  จึงเดินตรงไปมาสุดที่เหมืองร้าง  หาทางเดินไม่พบ  เป็นป่ารก  มีแต่ร่องรอยการทำแร่  ในลำห้วยมีการจัดหินเป็นระเบียบเพื่อกันน้ำเซาะ  มีร่องระบายน้ำฉีดล้างแร่มิให้ไหลลงปะปนกับน้ำในลำห้วย  ไม่มีทางด่านหรือทางสัตว์  เดินตัดไปออกคลองเอ๊ะซึ่งเป็นลำคลองใหญ่  น้ำลึกถึงเข่า  เดินเลียบลำคลองทวนน้ำไปก็พบกับทางชักลากไม้อีก  เส้นทางเลียบภูเขาไปกับลำคลอง  ทางวกไปทางทิศใต้  จึงเดินไปทางทิศเหนือ  ไม่มีทางด่านต้องเดินแบบตั้งเข็มทิศ  ยังพบว่ามีเส้นทางชักลากไม้เป็นช่วง ๆ  ถือว่าป่าแถบนี้ได้ถูกสัมปทานไปหมดแล้ว  โดยได้เข้ายังใจกลางป่า  ยังมีตอไม้ที่ตัดโค่นให้เห็นอยู่ตลอดเส้นทาง  ทุก ๆ วันที่เดินมานั้น  จะได้ยินเสียงชะนี้ร้องก้องป่าเริ่มตั้งแต่ออกมาจากบ้านคุณลุงสหัส  และนกเงือกนับร้อยที่พบตลอดทาง  รวมทั้งค่างและลิงเสน

            จนมาพบเส้นทางเดินสำหรับใช้ขนแร่จากเหมืองแห่งนี้ไปยังเหมืองโซน  โดยทำทางเดินเลียบหน้าผาสูงชัน  ความกว้างพอที่คนเดินหลีกกันได้  มีการสกัดหินออกและขนหินมาใส่ทำเป็นทางเดิน  เนื่องจากมีภูเขาแดนเป็นหน้าผาสูงชันกั้นขวางหน้าจึงต้องทำเช่นนี้  มิเช่นนั้นก็ต้องเดินลงไปในหุบเขาเบื้องล่าง  มีช้างบางตัวเดินมาแล้วต้องหันหลังกลับ  แต่ต้องหาที่กลับเพราะถ้าพลาดก็ตกเขาตาย  ช้างจึงใช้สันเขาด้านทิศตะวันออกเป็นทางเดินไปเหมืองโซน  โดยใช้แนวสันเขากั้นแบ่งเขตจังหวัดสุราษฏร์ธานี พังงา  มาบรรจบกับเขาแดนซึ่งมีความสูง ๑๓๔๓ เมตรจากระดับน้ำทะเล  พอพ้นเขาสูงแล้วจะเป็นพื้นที่ราบเดินสบาย 

ตรงจุดข้ามสันเขานี้เป็นช่วงแนวสันเขาแบ่งเขต ๓ จังหวัด คือ ด้านทิศตะวันตกเป็นเขตจังหวัดพังงา  ด้านทิศเหนือเป็นเขตจังหวัดระนอง  ส่วนด้านทิศตะวันออกเป็นเขตจังหวัดสุราษฏร์ธานี  จากจุดนี้ไปเดินไปเหมืองโซนใช้เวลาประมาณชั่วโมงหนึ่ง  ทางเดินยังคงอยู่ในสภาพดี  มีต้นไม้ล้มขวางทางบ้าง  ตลอดทางเต็มไปด้วยรอยหมูป่าขุดคุ้ยดินหากิน  พบหมูป่าตัวใหญ่สูงเกือบถึงเอว  ทางเดินจะไปออกเหมืองโซนตรงลำห้วยตรงกันข้ามกับป้อมกระท่อมหินพอดี

            บริเวณเหมืองโซนอยู่ติดกับคลองแสงไหลลงเขื่อนรัชประภา  เป็นพื้นที่ราบโล่งเป็นป่าเฟิน  เต็มไปด้วยร่องรอยของช้าง วัวแดง เก้ง กวาง และหมูป่า  และยังเต็มไปด้วยขยะต่าง ๆ ที่ไม่ย่อยสลาย  โดยเฉพาะขวดแก้วต่าง ๆ มากมาย   ขวดเหล้ามีมากที่สุด  ขวดที่ทิ้งเกลื่อนกราดถูกช้างและวัวแดงเหยียบแตก  บางชิ้นแหลมคมน่าหวาดเสียว  เท้าช้างที่เหยียบขวดแตกไปนั้นคงมีเศษขวดบาดเท้าติดไปด้วย 

มีซากคล้ายกับป้อมหรือกระท่อมหินก่อด้วยปูนเหมือนป้อมโบราณอยู่สองแห่งใกล้ ๆ กัน  ยังอยู่ในสภาพที่ดี  มีซากรถยนต์อีกคันหนึ่ง  และอื่น ๆ อีกที่ทิ้งไว้  ปัจจุบันนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเดินป่าในการเดินทางไปน้ำตกโตนพันเมตร  การเดินทางก็มาจากหน่วยพิทักษ์กำพวน  พักที่นี่คืนหนึ่งแล้วไปน้ำตกโตนพันเมตร  จากนั้นนั่งเรือกลับทางเขื่อนรัชประภา  หรือย้อนกลับทางเดิม  จึงมีร่องรอยของผู้มาพักอยู่ไม่ขาด  ในลำห้วยคลองแสงมีท่อเหล็กขนาดใหญ่  ฝายทดน้ำยังอยู่สภาพสมบูรณ์

            น้ำตกโตนพันเมตร  เป็นน้ำตกขนาดใหญ่  เดินจากเหมืองโซนไปอีกประมาณหนึ่งชั่วโมง  มีทางเดินขนแร่ที่ยังพอเดินได้  โดยลัดเลาะไปตามเชิงเขาทั้งสองด้าน  บางช่วงต้องเดินตามลำห้วย  น้ำตกยังมีอีก ๒ ๓ แห่งในระหว่างทางช่วงเลยฝายทดน้ำลงมา  แต่ละแห่งสูงกว่า ๒๐ เมตร  ไม่มีใครลงไปดูเพราะสูงชันลงไปลำบาก  และต่างก็มุ่งไปยังโตนพันเมตรกัน  เมื่อถึงโตนพันเมตร  มองจากน้ำตกก็จะเห็นน้ำในเขื่อน  ชั้นบนเป็นหน้าผากว้าง  สายน้ำหน้าแล้งไหลไม่เต็มหน้าผา  จากน้ำตกชั้นบนลงไปจะมีทางเดินลงไปด้านซ้ายมือ  ต้องใช้เวลาเกือบสองวันจึงถึงน้ำเอ่อจุดขึ้นเรือ  ค่าเรือราคา ๔๕๐๐ บาทต่อเที่ยว(ขาเดียว)  แต่ไม่ได้เดินลงไป  เพราะยังต้องไปเขาหลังคาตึกอีก  โดยใช้เส้นทางเดินไปตามแนวสันเขาเส้นแบ่งเขตจังหวัด  จึงได้แต่มายืนอยู่บนหน้าผาชั้นบนของน้ำตกโตนพันเมตร  มองเห็นหุบเบื้องล่างของน้ำตก  และทิวทัศน์ภูเขาสุดสายตา  ก็รู้ว่าเป็นน้ำตกที่สูงใหญ่สมกับชื่อ โตนพันเมตร

 
   
         
         
   

   
   

คุณลุงสหัส  ประกอบแสง

   
   

   
    ก่อนถึงยอดเขาพ่อตาหลวงแก้ว    
       
    เทือกเขาพระหมี    
       
    ดอกบัวผุด    
       
    เป็นดอกไม้มีในภาคใต้    
       
    ทางเดินเป็นทางชักลากไม้มาก่อน เมื่อ 20-30 ปีมาแล้ว    
       
    การ์ตูนโดดเดี่ยวในป่า    
       
    เขากวางที่สลัดทิ้งส่วนปลายเขามีรอยสัตว์แทะกิน    
       
    ร่องรอยของการสัมปทานป่าไม้ในป่าลึก    
       
    ผีเสื้อ    
       
    เห็ด    
       
    ร่องรอยการทำเหมืองแร่เมื่อหลายสิบปีก่อน    
       
    คลองเอ๊ะ ไหลลงเขื่อนรัชประภา    
       
    เส้นทางเดินขนแร่บริเวณเขาแดน    
       
    พื้นที่โล่งบริเวณเหมืองโซน มรกตนครในอดีต    
       
    ที่พักคล้ายป้อมปราการ    
       
    ยังมีร่องรอยคนมาพัก    
       
    ซากรถยังจอดจมอยู่ในป่า    
       
    เศษขวดแก้วแตกกระจายทั่วไป    
       
    ขยะที่ยังย่อยสลายไม่ได้ ยังมีอีกมากมาย    
       
    คันเขื่อนสำหรับกักน้ำไว้ใช้    
       
    ในลำห้วยมีแต่เศษเหล็ก    
       
    ขวดน้ำมันใส่ผมยี่ห้อดังในอดีต    
       
    น้ำตกโตนพันเมตร ยามหน้าแล้ง    
       
    บนหน้าผากว้าง    
       
    มองเห็นผืนน้ำในเขื่อนรัชประภา