เขาไถ่ผะ 

เขาไถ่ผะ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  เขาใหญ่  เป็นภูเขาที่สูงที่สุดของป่ามรดกโลก  ทุ่งใหญ่นเรศวร  ซึ่งมีความสูง ๑๘๑๓ เมตร  จากระดับน้ำทะเล  อยู่แถบด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของป่าทุ่งใหญ่  สภาพเป็นป่าดงดิบเพราะอยู่ในแถบที่เป็นผืนป่า  ส่วนทางแถบด้านทิศเหนือของเทือกเขาจะเป็นทุ่งหญ้ากว้าง    

ยอดเขาไถ่ผะเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำห้วยหลายสาย  ด้านทิศเหนือ  เป็นต้นน้ำของแม่น้ำกษัตริย์ใหญ่  ไหลเข้าประเทศพม่าตรงหมู่บ้านทิไรป้า,  ลำห้วยมะกุแด  ไหลไปลงแม่น้ำกษัตริย์ใหญ่,  ลำห้วยทิมุทอง  ไหลไปลงแม่น้ำกษัตริย์น้อย  แล้วไหลลงแม่น้ำกษัตริย์ใหญ่ช่วงก่อนถึงหมู่บ้านทิไรป้า  ทิศตะวันออก  เป็นต้นน้ำลำห้วยใหญ่  ไหลไปลงห้วยดงวี่  แล้วไหลลงแม่น้ำแควใหญ่(แม่กลอง)  ด้านทิศใต้  เป็นต้นน้ำแม่น้ำรันตี  ไหลลงเขื่อนวชิราลงกรณ์ (เขาแหลม)  ซึ่งกั้นแม่น้ำแควน้อย  ด้านทิศตะวันตก  เป็นต้นน้ำลำห้วยโรคี่  ไหลลงเขื่อนวชิราลงกรณ์เช่นกัน  การหาน้ำบนยอดเขาจึงไม่ใช่ของยาก 

เขาไถ่ผะนี้ชาวบ้านรู้จักกันในนาม เขาใหญ่  ไม่ค่อยมีใครขึ้นไป  ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือนักท่องไพร  เนื่องจากเป็นป่าปิดมิได้เปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว  มีเจ้าหน้าที่ ฯ ตรวจตราอยู่ประจำ  และการเดินทางค่อนข้างลำบาก ต้องใช้เวลาเดินทางหลายวัน  อีกทั้งบนยอดเขาไม่มีจุดที่น่าสนใจในการท่องเที่ยว  ตามแนวสันเขารอบ ๆ เขาไถ่ผะ  ยังมีร่องรอยการสำรวจพืชและสัตว์ป่า  คือแผ่นป้ายสังกะสี  เชือกสีผูกตามต้นไม้ 

การเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาไถ่ผะนั้น  มีอยู่หลายเส้นทาง  สำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ฯ จะขึ้นทางหน่วย ฯ มหาราช (ห้วยซ่งไท้)  หรือทางห้วยเซซาโว่  แล้วกลับลงมาทางหมู่บ้านทิไรป้า  ส่วนชาวบ้านใช้เส้นทางจากหมู่บ้านทิไรป้า  หรือจากทางต้นน้ำลำห้วยโรคี่  นักท่องไพรเลือกเส้นทางได้หลายทางตามแต่สะดวก  ถ้าต้องการเดินป่าระยะไกล  ก็เริ่มจากเขาเรด้าร์  ซึ่งอยู่ติดถนนสายกาญจนบุรี สังขละบุรี   ช่วงก่อนถึงตัวอำเภอสังขละบุรี  บนยอดเขาเป็นสถานีเรด้าร์  จากนั้นเดินไปตามแนวสันเขา  จนถึงยอดเขาไถ่ผะ  ระยะทางประมาณ ๓๐ กว่ากิโลเมตร  ใช้เวลาเดินทางหลายวัน  ผ่านยอดเขาที่สูงระดับ ๑๔๐๐ ๑๗๐๐ เมตรหลายยอด  ต้องมีอุปกรณ์นำทางจึงจะสะดวกไม่เสียเวลาเพราะหลงทาง  และปัญหาก็คือน้ำ  เนื่องจากต้องเดินอยู่บนสันเขาเท่านั้น  และทราบว่าทางสถานีเรด้าร์  ไม่ให้ใช้เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเข้าป่าอีกแล้ว

อีกเส้นทางหนึ่งคือทางหมู่บ้านทิไรป้า  ใช้เวลาเดินทางประมาณ  ๓ วัน  และอีกเส้นทางหนึ่งคือทางต้นน้ำลำห้วยโรคี่  ก่อนจะถึงหมู่บ้านทิไรป้า  ก็เป็นเส้นทางคู่ขนานไปบรรจบกับทางที่มาจากบ้านทิไรป้าช่วงก่อนถึงยอดเขาไถ่ผะประมาณ ๕ กิโลเมตร  ใช้เวลาเดินทางพอ ๆ กัน  ตรงรอยเชื่อมต่อแนวสันเขาที่จะไปยังยอดเขาไถ่ผะตรงนี้จะเป็นทางแยก  อาจจะทำให้เดินเลยไปตามสันเขาเป็นทางสำหรับตัดข้ามเขาไปหมู่บ้านกองม่องทะ  จึงยากสำหรับผู้ที่ไม่ชำนาญเส้นทางหรือภูมิประเทศแถบนี้  ถึงแม้ว่าเส้นทางด่านตลอดแนวบนสันเขาจะร้างแต่ก็ไม่รกนัก  เมื่อไม่มีสัตว์ป่าใช้เดินประจำ  จึงหาทางแยกรอยเชื่อมต่อสันเขาตรงนี้ได้ยากเพราะอยู่ต่ำต่างระดับลงไปหลายร้อยเมตร   

ในปัจจุบันนี้(ปี๒๕๕๔)  เส้นทางด่านต่าง ๆ ได้รกร้างไร้สัตว์ป่าใช้เดินมากว่ายี่สิบปี  สัตว์ป่าไม่ได้ใช้เดินติดต่อระหว่างป่าต่อป่าเพื่อหากินเหมือนแต่ก่อน  คงมีแต่รอยที่เดินหากินอยู่บ้าง  ไม่มีช้างอาศัยอยู่หรือเดินผ่าน  ได้อพยพย้ายไปอยู่แถบอื่น  คงมีร่องรอยที่เดินมาหากินช่วงหน้าฝน  เดินมาหากินตัวเดียว  นอกนั้นเป็นกระทิง  เพราะทางด่านนั้นเป็นทางด่านของกระทิงในอดีต  จึงทำให้ยากในการเดินทางเพราะไม่มีร่องรอยของเส้นทางด่าน  ทำให้พลัดหลงเส้นทางเดินเชื่อมแนวสันเขา  โดยเฉพาะขาลงเขาคือเดินทางกลับ   

สัตว์ป่าอื่น ๆ เช่น วัว  หมี  เสือ ยังคงมีอยู่ชุกชุม  พรานล่าสัตว์ยังมีอยู่บ้าง  ซึ่งเป็นคนในเมืองมาล่าโดยมีคนพื้นที่เป็นคนนำทาง  ส่วนคนท้องถิ่นนั้นให้ล่าเพื่อเป็นอาหารเท่านั้น  จำพวกหมูป่า ค่าง หรือสัตว์เล็กอื่น ๆ  คำว่า คนท้องถิ่น นั้น หมายถึงชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร  มีอยู่หลายหมู่บ้าน เช่น  บ้านเสน่ห์พ่อง,  ซาโลวะ(สาละวะ),  ไลโว่,  เกาะสะเดิ่ง,  ทิไรป้า,  พุจือ,   จะแก,  แม่จันทะ,  ซ่องแป๊ะ,  เลตองคุ, หม่องกั๊วะ,  กรูโบ,  เป็นต้น  บางหมู่บ้านอยู่กลางป่าทุ่งใหญ่  บางหมู่บ้านไม่กินเนื้อสัตว์  เช่น หมู่บ้านเลตองคุ

บนยอดภูเขาไถ่ผะตรงจุดสูงสุดนั้น  เป็นพื้นที่ราบแต่ค่อนข้างรก  เนื่องจากไม่มีผู้คนไปพักค้างแรม  ป่าไม้ปกคลุมจนมองไม่เห็นทิวทัศน์  มีกอไม้ไผ่ซางขึ้นอยู่ทั่วไป  อากาศเย็นจัดช่วงกลางคืน  แม้แต่บนยอดเขาอื่น ๆ ที่ก่อนจะถึงเขาไถ่ผะก็เช่นกัน  ช่วงหลังเที่ยงคืนอากาศเย็นจัดจนนอนไม่หลับ  เป็นอากาศที่เย็นไม่ใช่อากาศหนาวเหมือนหน้าหนาว  อากาศหนาวห่มผ้าก็อุ่น  ต้องอาศัยความอุ่นจากกองไฟ  อุ่นด้านหน้าก็เย็นด้านหลัง  ต้องคอยพลิกกลับไปกลับมา  บางครั้งต้องก่อกองไฟไว้สองข้าง 

ส่วนเส้นทางเดินทางกลับนั้นก็แล้วแต่จะตั้งเป้าเอาไว้  ถ้ากลับตามลำน้ำแม่น้ำรันตีจะลำบากมาก  ใช้เวลาเดินทางประมาณอาทิตย์หนึ่งจึงจะถึงหมู่บ้านกองม่องทะ  เพราะไม่มีทางเดิน  เส้นทางเดินป่าอยู่บนเขาสูง  คนใช้เส้นทางนี้ประจำเท่านั้นจึงจะรู้  แทบไม่มีร่อยของเส้นทาง  ตามแม่น้ำจะเป็นโตรกผาและน้ำตกสูงชัน  สายน้ำไหลคดเคี้ยวไปมา  ขนาบด้วยภูเขาสูง  น้ำลึกไหลแรงหินลื่นข้ามลำบากมาก  แม้แต่ช่วงที่มีทางเดินก็ต้องข้ามแม่น้ำรันตีที่กว้างและลึกไหลแรงอีกนับสิบครั้ง   ถ้าเป็นช่วงหน้าฝนไม่มีสิทธิ์ข้ามน้ำได้  ถ้าจะล่องแพก็มีแต่โขดหิน  จึงเดินกลับทางบ้านทิไรป้า  หรือด้านหน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช  ส่วนจะเดินทางกลับไปออกเขาเรด้าร์  ก็คงจะยากเช่นกันถ้าไม่เคยเดินมา  ถ้าพลาดแนวเชื่อมต่อสันเขาช่วงลงมาจากยอดไถ่ผะก็จะลงไปห้วยแม่น้ำรันตี       

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านซาโลวะ เตรียมจะเคารพธงชาติ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เด็กนักเรียน คุณครู และพวกเรา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หลุมดักช้างป่าบนสันเขาสูงระหว่างทางไปเขาไถ่ผะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 ทุกวันจะกินและพักค้างแรมบนภูเขา กลางคืนอากาศเย็นยะเยือก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 ยอดเขาไถ่ผะ สูงเด่นอยู่เบื้องหน้าโน้น ต้องเดินไปอีกเกือบสองวัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บนยอดเขาไถ่ผะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ยอดเขาไถ่ผะหรือเขาใหญ่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผืนป่าดงดิบทุ่งใหญ่ต้นแม่น้ำรันตี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โรงเรียนบ้านไลโว่ เส้นทางหนึ่งเข้าป่าทุ่งใหญ่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คุณครูโรงเรียนบ้านซาโลวะ (สาละวะ) เป็นอีกเส้นทางหนึ่ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โรงเรียนบ้านแม่จันทะอยู่ใจกลางป่าทุ่งใหญ่ห่างจากอำเภออุ้มผางเกือบ 200 กม.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แม่น้ำกษัตริย์ใหญ่ ในเขตพม่าที่หมู่บ้านทิไรป้า

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 หมู่บ้านพุจือ ติดชายแดนพม่า

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมู่บ้านเลตองคุ(หมู่บ้านฤาษี) ติดชายแดนพม่า

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 หมู่บ้านหม่องกั๊ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 หมู่บ้านกรูโบ มีกังหันน้ำตำข้าว จะมีทุกหมู่บ้านที่อยู่ติดลำน้ำ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หน่วยพิทักษ์ป่าไม้ น้ำตกตะเคียนทอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รถยนต์ที่ใช้เดินทางไปทุ่งใหญ่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 นาข้าวหลังหมู่บ้านซาโลวะ