ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓-๓ สุตตันตปิฎกที่ ๒๕ ขุททกนิกาย
อปทาน ภาค ๒ พุทธวงศ์ จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๒. สลฬปุปผิกาเถริยาปทาน
[๒๓] หม่อมฉันได้เลือกเก็บดอกสน
มาถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
พระมหาวีระทรงสูดดมกลิ่นดอกสน
ซึ่งมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นทิพย์
[๒๔] พระมหาวีรสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพระนามว่าวิปัสสี ทรงรับแล้ว
ได้สูดกลิ่นในขณะที่หม่อมฉันยังมองดูอยู่นั่นเอง
[๒๕] หม่อมฉันประนมมือไหว้พระพุทธองค์
ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์
ทำจิตของตนให้เลื่อมใสแล้ว จากนั้นจึงขึ้นเขาไป
[๒๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ถวายดอกไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๗] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๘] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระสลฬปุปผิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สลฬปุปผิกาเถริยาปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๓. โมทกทายิกาเถริยาปทาน
๓. โมทกทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโมทกทายิกาเถรี
(พระโมทกทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๐] หม่อมฉันได้เป็นนางกุมภทาสีอยู่ในกรุงพันธุมดี
หม่อมฉันถือขนมต้มที่เป็นส่วนของหม่อมฉันไปยังท่าน้ำ
[๓๑] ได้เห็นพระสมณะผู้มีจิตสงบ มีใจตั้งมั่น ที่หนทาง
ก็เป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี จึงได้ถวายขนมต้ม ๓ มัด
[๓๒] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันจึงไม่ตกวินิบาตนรกเลยตลอด ๒๙ กัป
[๓๓] หม่อมฉันสร้างสมบัติไว้แล้วได้เสวยสมบัติทุกอย่าง
หม่อมฉันได้บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว เพราะถวายขนมต้ม ๓ มัด
[๓๔] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๕] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระโมทกทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โมทกทายิกาเถริยาปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๔. เอกาสนทายิกาเถริยาปทาน
๔. เอกาสนทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกาสนทายิกาเถรี
(พระเอกาสนทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๗] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้เป็นหญิงร้อยพวงมาลัยอยู่ในกรุงหงสวดี
มารดาบิดาของหม่อมฉันไปทำงาน
[๓๘] หม่อมฉันได้เห็นพระสมณะกำลังเดินไปตามถนน
ในเวลาเที่ยงวัน จึงได้ปูลาดอาสนะถวาย
[๓๙] ครั้นปูลาดอาสนะด้วยผ้าโกเชาว์อันวิจิตรเป็นต้นแล้ว
เป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดีกล่าวดังนี้ว่า
[๔๐] ‘ภูมิภาคร้อนระอุ เวลาเที่ยงวัน
ลมก็ไม่รำเพยพัด และเวลาก็จะล่วงเลยแล้ว
[๔๑] ข้าแต่พระมหามุนี อาสนะนี้หม่อมฉันปูลาดไว้เพื่อพระองค์
ขอพระองค์ได้โปรดอนุเคราะห์ นั่งบนอาสนะของหม่อมฉันเถิด’
[๔๒] พระสมณะผู้ฝึกตนดีแล้ว มีใจบริสุทธิ์ ได้นั่งบนอาสนะนั้น
หม่อมฉันรับบาตรของท่านแล้ว ได้ถวายบิณฑบาตตามที่ตนหุงต้มไว้
[๔๓] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๔๔] ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
วิมานสูง ๖๐ โยชน์ กว้าง ๓๐ โยชน์
ซึ่งบุญกรรมเนรมิตสร้างขึ้นอย่างสวยงาม
เพื่อหม่อมฉันเพราะ(การปูลาด)อาสนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๔. เอกาสนทายิกาเถริยาปทาน
[๔๕] บัลลังก์ของหม่อมฉันมีหลายชนิด
คือบัลลังก์ทองคำ บัลลังก์แก้วมณี
บัลลังก์แก้วผลึก และบัลลังก์แก้วทับทิม
[๔๖] บัลลังก์ของหม่อมฉันปูลาดด้วยเครื่องลาดที่ยัดด้วยนุ่น
ด้วยเครื่องลาดอันวิจิตรด้วยรูปราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้น๑ก็มี
ด้วยเครื่องลาดแกมไหมประดับด้วยเพชรพลอยก็มี
ด้วยเครื่องลาดมีขนตั้งขึ้นด้านเดียวก็มี
[๔๗] หม่อมฉันเพียบพร้อมด้วยความร่าเริงสนุกสนาน
ไปได้ตามที่หม่อมฉันปรารถนา
พร้อมกับบัลลังก์อันประเสริฐในคราวที่หม่อมฉันต้องการจะไป
[๔๘] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช ๘๐ พระองค์
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๐ พระองค์
[๔๙] เมื่อหม่อมฉันยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ได้โภคสมบัติมากมาย
หม่อมฉันไม่มีความบกพร่องด้วยโภคสมบัติเลย
นี้เป็นผลแห่งการปูลาดอาสนะที่เดียวถวาย
[๕๐] หม่อมฉันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ๒ ภพ
คือ (๑) ภพเทวดา (๒) ภพมนุษย์
ภพอื่นหม่อมฉันไม่รู้จักเลย
นี้เป็นผลแห่งการปูลาดอาสนะที่เดียวถวาย
[๕๑] หม่อมฉันเกิดเฉพาะใน ๒ ตระกูล
คือ (๑) ตระกูลกษัตริย์ (๒) ตระกูลพราหมณ์
หม่อมฉันเกิดในตระกูลสูงทุก ๆ ภพ
นี้เป็นผลแห่งการปูลาดอาสนะที่เดียวถวาย

เชิงอรรถ :
๑ ด้วยเครื่องลาดอันวิจิตรด้วยรูปราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้น แปลมาจากศัพท์ว่า วิกติกา (ตามนัยอภิธานัป-
ปทีปิกา ๓๑๔/๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๔. เอกาสนทายิกาเถริยาปทาน
[๕๒] ความโทมนัสที่ทำจิตของหม่อมฉันให้เร่าร้อนหม่อมฉันก็ไม่รู้จัก
ความเป็นผู้มีผิวพรรณทรามหม่อมฉันก็ไม่รู้จัก
นี้เป็นผลแห่งการปูลาดอาสนะที่เดียวถวาย
[๕๓] พี่เลี้ยงนางนม หญิงค่อม และหญิงรับใช้จำนวนมาก
ต่างก็ปรนนิบัติหม่อมฉัน หม่อมฉันถูกพี่เลี้ยงต่างผลัดกันอุ้ม
นี้เป็นผลแห่งการปูลาดอาสนะที่เดียวถวาย
[๕๔] พี่เลี้ยงพวกหนึ่งอาบน้ำให้หม่อมฉัน
พวกหนึ่งคอยป้อนข้าวหม่อมฉัน
พวกหนึ่งประดับตกแต่งหม่อมฉัน
พวกหนึ่งชวนหม่อมฉันให้รื่นรมย์ทุกเวลา
พวกหนึ่งลูบไล้ของหอมให้
นี้เป็นผลแห่งการปูอาสนะที่เดียวถวาย
[๕๕] บัลลังก์ดังจะรู้ความดำริของหม่อมฉันผู้อยู่ที่มณฑป
โคนไม้ หรือที่เรือนว่าง ย่อมปรากฏขึ้น
[๕๖] ภพนี้เป็นภพสุดท้ายของหม่อมฉัน
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
แม้ในวันนี้หม่อมฉันก็สละราชสมบัติออกบวชเป็นบรรพชิต
[๕๗] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการปูอาสนะที่เดียวถวาย
[๕๘] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๕. ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทาน
[๕๙] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๖๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระเอกาสนทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกาสนทายิกาเถริยาปทานที่ ๔ จบ

๕. ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัญจทีปทายิกาเถรี
(พระปัญจทีปทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๑] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นผู้ประพฤติธรรมอยู่ในกรุงหงสวดี
มีความต้องการกุศล จึงท่องเที่ยวไปตามวัดวาอาราม
[๖๒] ได้เห็นต้นโพธิ์ที่ประเสริฐ ในกาฬปักข์(ข้างแรม)
จึงทำจิตให้เลื่อมใสในต้นโพธิ์นั้นแล้วนั่งที่โคนต้นโพธิ์
[๖๓] หม่อมฉันตั้งจิตคารวะประนมมือเหนือศีรษะ
ประกาศถึงความโสมนัสแล้วคิดอย่างนี้ในขณะนั้นว่า
[๖๔] ‘ถ้าพระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณหาประมาณมิได้
ไม่มีบุคคลเปรียบเสมอเหมือน
โปรดแสดงปาฏิหาริย์แก่เราเถิด
คือขอให้ต้นโพธิ์นี้จงเปล่งรัศมีเถิด’
[๖๕] ทันใดนั้นเอง พร้อมกับที่หม่อมฉันรำพึง
ต้นโพธิ์มีรัศมีดั่งทองคำล้วน โชติช่วงสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๕. ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทาน
[๖๖] หม่อมฉันนั่งอยู่ที่โคนต้นโพธิ์นั้นตลอด ๗ คืน ๗ วัน
เมื่อถึงวันที่ ๗ หม่อมฉันได้ทำการบูชาด้วยประทีป
[๖๗] ประทีป ๕ ดวง โชติช่วงล้อมรอบอาสนะ
ครั้งนั้น ประทีปของหม่อมฉันโชติช่วงอยู่จนอาทิตย์อุทัย
[๖๘] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๖๙] วิมานที่บุญกรรมสร้างขึ้นอย่างสวยงามเพื่อหม่อมฉัน
ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น เรียกว่าปัญจทีปวิมาน
สูง ๖๐ โยชน์ กว้าง ๓๐ โยชน์
[๗๐] ประทีปนับไม่ถ้วนส่องสว่างล้อมรอบหม่อมฉันอยู่
ทั่วทั้งเทววิมานโชติช่วงด้วยแสงประทีป
[๗๑] หม่อมฉันนั่งหันหน้าไปทางทิศบูรพา
ถ้าปรารถนาจะดู ก็จะเห็นได้ทุกอย่างด้วยจักษุ
ทั้งในเบื้องบน เบื้องล่าง และเบื้องขวาง
[๗๒] หม่อมฉันปรารถนาจะเห็นกรรมดีและกรรมชั่ว
ที่คนทำแล้วในที่มีประมาณเท่าใด ที่มีประมาณเท่านั้น
ย่อมไม่มีต้นไม้หรือภูเขามากางกั้นได้
[๗๓] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช ๘๐ พระองค์
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐๐ พระองค์
[๗๔] หม่อมฉันเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ประทีปนับแสนดวงส่องแสงล้อมรอบหม่อมฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๕. ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทาน
[๗๕] หม่อมฉันจุติจากเทวโลกแล้ว เกิดในครรภ์มารดา
เมื่อหม่อมฉันอยู่ในครรภ์มารดา นัยน์ตาของหม่อมฉันมิได้หลับ
[๗๖] ประทีปนับแสนดวงส่องแสงสว่างอยู่ที่เรือนคลอดของหม่อมฉัน
ผู้เพียบพร้อมด้วยบุญกรรม
นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง
[๗๗] เมื่อถึงภพสุดท้าย หม่อมฉันกลับใจให้วิเศษ
จึงเห็นพระนิพพานอันเป็นสภาวะเยือกเย็น
ไม่มีชราและมรณะ
[๗๘] พอหม่อมฉันอายุได้ ๗ ขวบก็ได้บรรลุอรหัตตผล
พระพุทธเจ้าจึงให้หม่อมฉันอุปสมบท
นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง
[๗๙] ประทีปลุกโพลงส่องสว่างให้หม่อมฉัน
ผู้อยู่ที่มณฑป โคนไม้ หรือที่เรือนว่าง ทุกเมื่อ
นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง
[๘๐] ทิพยจักษุของหม่อมฉันบริสุทธิ์
หม่อมฉันฉลาดในสมาธิ ถึงความสำเร็จอภิญญา
นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง
[๘๑] หม่อมฉันเป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์ทั้งปวง
ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระจักษุ
หม่อมฉันชื่อว่าปัญจทีปา ขอกราบพระยุคลบาทของพระองค์
[๘๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งประทีป ๕ ดวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๖. นฬมาลิกาเถริยาปทาน
[๘๓] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๘๔] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๘๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระปัญจทีปทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทานที่ ๕ จบ

๖. นฬมาลิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนฬมาลิกาเถรี
(พระนฬมาลิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๖] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้เกิดเป็นนางกินนรี
อาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
หม่อมฉันได้เห็นพระสยัมภูพุทธเจ้า
ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
[๘๗] หม่อมฉันเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี เกิดโสมนัส
ประนมมือแล้ว ถือพวงมาลัยดอกอ้อมาบูชาพระสยัมภู
[๘๘] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๖. นฬมาลิกาเถริยาปทาน
หม่อมฉันละกายกินนรีแล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๘๙] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช ๓๖ พระองค์
สิ่งที่หม่อมฉันปรารถนาด้วยใจย่อมบังเกิดตามความปรารถนา
[๙๐] หม่อมฉันได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐ พระองค์
เป็นสตรีมีบุญกุศลสั่งสมไว้แล้ว เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ
[๙๑] กุศลของหม่อมฉันมี หม่อมฉันได้บวชเป็นบรรพชิต
วันนี้ หม่อมฉันเป็นบุคคลผู้ควรแก่การบูชา
ในศาสนาของพระศากยบุตร
[๙๒] วันนี้ หม่อมฉันมีใจบริสุทธิ์ ปราศจากจิตที่หยาบช้า
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๙๓] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายพวงมาลัยดอกอ้อ
[๙๔] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๙๕] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๙๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระนฬมาลิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นฬมาลิกาเถริยาปทานที่ ๖ จบ

๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
(พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙๗] คราวหนึ่ง พระพุทธเจ้าผู้ทรงส่องโลกให้สว่าง
ทรงเป็นสารถีฝึกนรชน
ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี
[๙๘] ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณีพระมาตุจฉา(น้าสาว)
ของพระชินเจ้า อยู่ในสำนักของภิกษุณี
ในกรุงที่น่ารื่นรมย์นั้น
[๙๙] พร้อมด้วยภิกษุณีอีก ๕๐๐ รูป
ซึ่งล้วนแต่พ้นจากกิเลสแล้ว
เมื่อพระมหาปชาบดีโคตมีนั้น
อยู่ในที่สงัดได้ตรึก(คิด)อย่างนี้ว่า
[๑๐๐] “การปรินิพพานของพระพุทธเจ้าก็ดี
ของพระอัครสาวกทั้งคู่ก็ดี ของพระราหุลก็ดี
ของพระอานนท์ และของพระนันทะก็ดี เราจะไม่ได้เห็น
[๑๐๑] ก่อนแต่การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
ของพระอัครสาวกทั้งคู่ ของพระมหากัสสปะ
ของพระนันทะ ของพระอานนท์ และของพระราหุล
เราก็จะไม่ได้เห็นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๓๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๐๒] เราผู้ที่พระโลกนาถ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทรงอนุญาตแล้ว
พึงปลงอายุสังขารแล้วนิพพาน”
[๑๐๓] ภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ รูป ก็ได้ตรึกอย่างนั้น
แม้พระเขมาภิกษุณีเป็นต้นก็ได้ตรึกเช่นนี้เหมือนกัน
[๑๐๔] ครั้งนั้น เกิดแผ่นดินไหว กลองทิพย์บันลือลั่น
เทพที่สถิตอยู่ในสำนักภิกษุณี
ถูกความเศร้าโศกบีบคั้น
[๑๐๕] บ่นเพ้ออยู่อย่างน่าสงสาร หลั่งน้ำตาในที่นั้น
ภิกษุณีทุกรูปพร้อมด้วยเทพเหล่านั้น
ได้เข้าไปหาพระโคตมีภิกษุณี
[๑๐๖] ซบศีรษะลงแทบเท้าแล้วกล่าวคำนี้ว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า
เพราะหม่อมฉันมีปกติอยู่ด้วยการเทียบเคียงในธรรมเหล่านั้น
หม่อมฉันจึงได้อยู่ในที่สงัด
[๑๐๗] แผ่นดินไหวสะเทือนเลื่อนลั่น กลองทิพย์บันลือลั่น
และหม่อมฉันได้ยินเสียงคร่ำครวญ
ข้าแต่พระโคตมี จะต้องมีเหตุอะไรเกิดขึ้นแน่”
[๑๐๘] ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีนั้น
ได้บอกถึงเหตุทุกอย่างตามที่ตนได้ตรึกแล้ว
ลำดับนั้น ภิกษุณีทุกรูปก็ได้บอกถึงเหตุที่ตนตรึกแล้วกล่าวว่า
[๑๐๙] “ข้าแต่พระแม่เจ้า ถ้าพระแม่เจ้าชอบใจการนิพพาน
ที่เกษมอย่างยิ่งไซร้ ถึงหม่อมฉันทั้งหลายก็จักนิพพานทั้งหมด
ในกาลที่พระพุทธเจ้าจะทรงอนุญาตก่อน
[๑๑๐] แม้หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ออกจากเรือน
และจากภพพร้อมกับพระแม่เจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
หม่อมฉันทั้งหลายก็จักไปสู่เมืองอันยอดเยี่ยมคือพระนิพพาน
พร้อมกับพระแม่เจ้าเหมือนกัน”
[๑๑๑] พระมหาปชาบดีโคตมีกล่าวว่า
“เมื่อท่านทั้งหลายจะไปนิพพาน ฉันจักว่าอะไรได้เล่า”
แล้วได้ออกจากสำนักภิกษุณีไป
พร้อมกับภิกษุณีทั้งหมดในครั้งนั้น
[๑๑๒] พระมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณี
ได้กล่าวกับทวยเทพทั้งหลายว่า
“ขอเทพทั้งหลายที่สถิตอยู่ ณ สำนักภิกษุณี
จงยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด
การเห็นสำนักภิกษุณีของข้าพเจ้านี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย
[๑๑๓] ในที่ใดไม่มีความแก่และความตาย
ไม่มีการสมาคมกับสัตว์และสังขารซึ่งไม่เป็นที่รัก
ไม่มีการพลัดพรากจากสัตว์และสังขารซึ่งเป็นที่รัก
ที่นั้นนักปราชญ์กล่าวว่าเป็นอสังขตสถาน
(สถานที่ที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง)”
[๑๑๔] พระโอรสของพระสุคตทั้งหลายที่ยังไม่ปราศจากราคะ
ได้สดับคำนั้น เป็นผู้อัดอั้นตันใจด้วยความเศร้าโศกคร่ำครวญว่า
“น่าสังเวชหนอ เราทั้งหลายช่างมีบุญน้อย
[๑๑๕] สำนักภิกษุณีนี้จักว่างเปล่า
เพราะเว้นจากภิกษุณีเหล่านั้น
ภิกษุณีผู้เป็นชิโนรสจะไม่ปรากฏ
เหมือนดวงดาวทั้งหลายไม่ปรากฏในเวลาสว่าง
[๑๑๖] พระมหาปชาบดีโคตมีจะนิพพาน
พร้อมด้วยภิกษุณีอีก ๕๐๐ รูป
เหมือนกับแม่น้ำคงคาไหลไปสู่สาคร
พร้อมกับแม่น้ำ ๕๐๐ สาย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๑๗] อุบาสิกาทั้งหลายผู้มีศรัทธา
เห็นภิกษุณีทั้งหลายกำลังเดินไปตามถนน
ได้พากันออกจากเรือนไปหมอบลงแทบเท้า
แล้วกล่าวคำนี้กับพระโคตมีนั้นว่า
[๑๑๘] “การที่พระแม่เจ้าละทิ้งหม่อมฉันทั้งหลาย
ผู้จมอยู่ในโภคะเป็นอันมาก ไม่มีที่พึ่งแล้วนิพพานไม่สมควร”
อุบาสิกาเหล่านั้นมีความต้องการบีบคั้นจึงพร่ำเพ้อ
[๑๑๙] เพื่อจะให้อุบาสิกาเหล่านั้นละความเศร้าโศก
พระนางจึงได้ตรัสอย่างไพเราะว่า
“อย่าร้องไห้ไปเลย ลูกทั้งหลาย
วันนี้เป็นเวลารื่นเริงของท่านทั้งหลาย
[๑๒๐] ทุกข์ฉันกำหนดรู้แล้ว
เหตุแห่งทุกข์(สมุทัย)ฉันเว้นขาดแล้ว
นิโรธฉันได้ทำให้แจ้งแล้ว
และมรรคฉันก็ได้อบรมดีแล้ว
ภาณวารที่ ๑ จบ

[๑๒๑] พระศาสดาฉันก็ได้บำรุงแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
ภาระหนัก๑ฉันก็ปลงลงได้แล้ว
ตัณหาที่เป็นเหตุนำไปสู่ภพฉันก็ถอนได้แล้ว
[๑๒๒] กุลบุตรกุลธิดาออกบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง
ฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ

เชิงอรรถ :
๑ ภาระหนัก หมายถึงขันธภาระ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ (ขุ.เถร.อ.
๒/๖๐๔/๒๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๒๓] พระพุทธเจ้าและพระสัทธรรมของพระองค์
มิได้ย่อหย่อนยังดำรงอยู่ตราบใด ตราบนั้นเป็นเวลาสมควรแล้ว
ที่ฉันจะนิพพาน ลูกเอ๋ย อย่าได้เศร้าโศกถึงแม่เลย
[๑๒๔] พระชินเจ้า พระราหุล พระอัญญาโกณฑัญญะ
พระอานนท์ และพระนันทะเป็นต้น ก็ยังดำรงอยู่
ขอพระสงฆ์จงมีประโยชน์สุขร่วมกัน
ขอให้เดียรถีย์จงเป็นผู้มีความโง่เขลาถูกกำจัดเสียเถิด
[๑๒๕] ยศคือการย่ำยีมารแห่งวงศ์พระเจ้าโอกกากราช
ฉันก็ให้รุ่งเรืองแล้ว
ลูก ๆ ถึงเวลาที่แม่จะนิพพานแล้วมิใช่หรือ
[๑๒๖] ความปรารถนาที่แม่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นมาช้านาน
จะสำเร็จแก่แม่ในวันนี้
เวลานี้เป็นเวลาที่กลองอานันทเภรีบันลือเสียง
ลูกเอ๋ย น้ำตาจะมีประโยชน์อะไรแก่พวกลูก
[๑๒๗] ถ้าลูกทั้งหลายจะมีความเอ็นดู
หรือมีความกตัญญูในมารดา
ก็ขอให้ลูกทุกคนจงทำความเพียรให้มั่น
เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรมเถิด
[๑๒๘] พระสัมมาพุทธเจ้า ซึ่งแม่ทูลอ้อนวอน
จึงได้ทรงประทานการบรรพชาแก่สตรีทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น แม่ยินดี ฉันใด
ลูกทั้งหลายก็จงเจริญรอยตามความยินดีนั้น ฉันนั้นเถิด”
[๑๒๙] ครั้นพระนางพร่ำสอนอุบาสิกาเหล่านั้นอย่างนี้แล้ว
มีภิกษุณีทั้งหลายห้อมล้อมเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ไหว้แล้วได้กราบทูลคำนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๓๐] “ข้าแต่พระสุคต หม่อมฉันเคยเป็นมารดาเลี้ยงของพระองค์
ข้าแต่พระธีรเจ้า ส่วนพระองค์เป็นบิดาของหม่อมฉัน
ข้าแต่พระโลกนาถ พระองค์ทรงเป็นผู้ประทานความสุข
ที่เกิดจากพระสัทธรรม
ข้าแต่พระโคดม หม่อมฉันเป็นผู้ที่พระองค์ทรงให้เกิดแล้ว
[๑๓๑] ข้าแต่พระสุคต พระรูปกายของพระองค์นี้
อันหม่อมฉันเคยฟูมฟักให้เจริญเติบใหญ่แล้ว
ส่วนพระธรรมกายที่น่าเพลิดเพลินของหม่อมฉัน
อันพระองค์ทรงฟูมฟักให้เจริญแล้ว
[๑๓๒] พระองค์หม่อมฉันให้ดื่มน้ำนม
อันระงับความหิวได้เพียงชั่วครู่
ส่วนหม่อมฉันพระองค์ทรงให้ดื่มแม้น้ำนม
คือพระธรรมซึ่งสงบระงับได้แท้จริง
[๑๓๓] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ชื่อว่ามิได้เป็นหนี้หม่อมฉัน
ในเพราะการเลี้ยงดูด้วยความผูกพัน
หม่อมฉันได้ฟังมาว่า สตรีทั้งหลายผู้ปรารถนาบุตรขออยู่
ก็ย่อมได้บุตรเช่นนั้น
[๑๓๔] มารดาใดของจอมนรชน มีพระเจ้ามันธาตุเป็นต้น
มารดานั้นชื่อว่ายังบุตรให้จมอยู่ในห้วงมหรรณพคือภพ
ข้าแต่พระปิโยรส ส่วนหม่อมฉันผู้จมอยู่แล้ว
พระองค์ทรงช่วยให้ข้ามพ้นจากสาครคือภพได้
[๑๓๕] พระนามว่า พระพันปีหลวง
สตรีทั้งหลายได้มาโดยง่าย
(แต่)พระนามว่า พุทธมารดา นี้
สตรีทั้งหลายได้มาโดยยากอย่างยิ่ง
[๑๓๖] ข้าแต่พระมหาวีระ ก็พระนามว่า
พุทธมารดานั้นอันหม่อมฉันได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
ปณิธานน้อยใหญ่ของหม่อมฉันพระองค์ก็ทรงให้สำเร็จแล้ว
ทั้งหมดนั้นพระองค์ทรงให้บริบูรณ์แล้ว
[๑๓๗] หม่อมฉันปรารถนาที่จะละร่างนี้ปรินิพพาน
ข้าแต่พระวีรเจ้า ผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ ทรงเป็นผู้นำ
ขอพระองค์ทรงโปรดอนุญาตให้หม่อมฉันเถิด
[๑๓๘] ขอพระองค์โปรดทรงเหยียดพระยุคลบาท
ที่วิจิตรด้วยลายจักร (ลายจักรก้นหอย)
และธงอันละเอียดอ่อนเหมือนดอกบัวออกเถิด
หม่อมฉันจะนอบน้อมพระยุคลบาทนั้น
จักขอทำความรักในบุตร
[๑๓๙] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ
หม่อมฉันจะทำสรีระคือร่างกายของพระองค์
เหมือนกองทอง อันปรากฏเหมือนทับทิม
ให้เป็นอันหม่อมฉันเห็นดีแล้วจึงจะนิพพาน”
[๑๔๐] พระชินเจ้าทรงแสดงให้พระมาตุจฉาเห็นพระวรกาย
ที่ประกอบด้วยพระลักษณะ ๓๒ ประการ
ประดับด้วยพระรัศมีอย่างงดงาม
ซึ่งเป็นเหมือนดึงดูดดวงตาของคนพาล
[๑๔๑] ลำดับนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีนั้น
ได้ซบพระเศียรลงแทบพื้นพระยุคลบาท
ซึ่งเป็นลายจักรคล้ายดอกบัวบาน
มีพระรัศมีดังดวงอาทิตย์แรกทอแสง แล้วได้กราบทูลว่า
[๑๔๒] “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นดุจดวงอาทิตย์ของนรชน
หม่อมฉันนอบน้อมพระองค์ ผู้เป็นธงแห่งวงศ์พระอาทิตย์
ขอพระองค์ทรงโปรดเป็นที่พึ่งของหม่อมฉันในกาลสุดท้ายด้วยเถิด
หม่อมฉันจะไม่ได้เห็นพระองค์อีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๔๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เลิศในโลก ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งพระกรุณา
ธรรมดาสตรีทั้งหลายรู้กันว่ามีแต่จะก่อโทษทุกประการ
ถ้าโทษอย่างใดอย่างหนึ่งของหม่อมฉันมีอยู่
ก็ขอพระองค์ได้โปรดยกโทษแก่หม่อมฉันด้วยเถิด
[๑๔๔] อนึ่ง หม่อมฉันได้ทูลขอบ่อย ๆ
ให้สตรีทั้งหลายได้บวช
ข้าแต่พระองค์ผู้องอาจกว่านรชน
ถ้าโทษในข้อนั้นจะมีแก่หม่อมฉัน
ขอได้โปรดยกโทษนั้นด้วยเถิด
[๑๔๕] ข้าแต่พระวีรเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งการยกโทษ
ภิกษุณีทั้งหลาย อันหม่อมฉันสั่งสอนแล้ว
ตามที่พระองค์ทรงอนุญาต
ถ้าข้อนั้นจะมีการแนะนำผิด
ขอได้โปรดยกโทษในข้อนั้นด้วยเถิด”
[๑๔๖] (พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า)
“โคตมีผู้ประดับไปด้วยคุณ
ชื่อว่านิพพานก็สมควรแก่เธอ จะมีโทษอะไร
เมื่อเธอบอกว่าจะลานิพพาน
ตถาคตจักไปว่าอะไรเธอให้มากเล่า
[๑๔๗] เมื่อภิกษุสงฆ์ของตถาคตบริสุทธิ์
ไม่บกพร่อง เธอจะออกไปเสียจากโลกนี้ก็ควร
เพราะในเวลาสว่าง เมื่อดวงดาวหมดแสง
จันทเลขาก็เห็นเลือนไป”
[๑๔๘] ภิกษุณีทั้งหลายนอกจากพระมหาปชาบดีโคตมี
พากันทำประทักษิณพระชินเจ้าผู้เลิศ
เหมือนกลุ่มดาวที่ติดตามดวงจันทร์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
ทำประทักษิณภูเขาพระสุเมรุ หมอบลงแทบพระยุคลบาทแล้ว
ยืนเพ่งดูพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า
[๑๔๙] “จักษุของหม่อมฉัน
ไม่เคยอิ่มด้วยการเห็นพระองค์
โสตของหม่อมฉันก็ไม่เคยอิ่มด้วยภาษิตของพระองค์
จิตของหม่อมฉันดวงเดียวเท่านั้น
บรรลุธรรมจึงอิ่มด้วยรสแห่งธรรม
[๑๕๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นนระผู้ประเสริฐ
เมื่อพระองค์บันลืออยู่ในท่ามกลางบริษัท กำจัดทิฏฐิมานะ
ชนเหล่าใดเห็นพระพักตร์ของพระองค์
ชนเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้มีโชคดี
[๑๕๑] ข้าแต่พระองค์ผู้ถึงที่สุดแห่งสงคราม
ชนเหล่าใดประณตน้อมพระยุคลบาทของพระองค์
ซึ่งมีพระองคุลียาว มีพระนขาแดงงดงาม มีส้นพระยุคลบาทยาว
แม้ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้มีโชคดี
[๑๕๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นนระผู้สูงสุด
ชนเหล่าใดได้สดับพระดำรัสของพระองค์
ซึ่งไพเราะน่าปลื้มใจ เผาเสียซึ่งโทษ เป็นประโยชน์เกื้อกูล
แม้ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้มีโชคดี
[๑๕๓] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉัน
อิ่มไปด้วยการบูชาพระยุคลบาทของพระองค์
ข้ามพ้นทางกันดารคือสงสารได้
ด้วยพระสุนทรกถาของพระองค์ผู้มีพระสิริ
ฉะนั้น หม่อมฉันจึงชื่อว่าเป็นผู้มีโชคดี”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๕๔] ลำดับนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีผู้มีวัตรงาม
ประกาศในหมู่ภิกษุสงฆ์แล้วไหว้พระราหุล
พระอานนท์ และพระนันทะแล้วได้ตรัสดังนี้ว่า
[๑๕๕] “ดิฉันเบื่อหน่ายร่างกายซึ่งเสมอด้วยที่อยู่ของอสรพิษ
เป็นรังแห่งโรค เป็นสถานที่เกิดทุกข์
มีชราและมรณะเป็นโคจร
[๑๕๖] เกลื่อนกล่นไปด้วยมลทินคือซากศพต่าง ๆ
ต้องพึ่งพาผู้อื่น ปราศจากความน่าใฝ่ใจ
ฉะนั้น ดิฉันจึงปรารถนาจะนิพพานเสีย
ขอลูก ๆ ทั้งหลายจงเข้าใจตามสมควรเถิด”
[๑๕๗] พระนันทเถระและพระภัททราหุล
เป็นผู้ปราศจากความเศร้าโศก หมดอาสวะ ตั้งมั่น
ไม่หวั่นไหว มีปัญญา มีความเพียร ได้คิดตามธรรมดาว่า
[๑๕๘] “น่าติเตียน ร่างกายที่ปัจจัยปรุงแต่ง
มีภาวะหวั่นไหว ปราศจากแก่นสาร เปรียบได้กับต้นกล้วย
เช่นเดียวกับพยับแดดซึ่งเป็นมายา ต่ำช้าไม่มั่นคง
[๑๕๙] พระโคตมีเถรีพระมาตุจฉาของพระชินเจ้านี้
ซึ่งได้เคยเลี้ยงดูพระพุทธเจ้าก็ยังต้องเสด็จนิพพาน
สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งล้วนไม่เที่ยง”
[๑๖๐] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์พุทธอนุชา
ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากของพระชินเจ้า
ยังเป็นพระเสขบุคคลอยู่ ท่านหลั่งน้ำตา
คร่ำครวญอย่างน่าเวทนาในที่นั้นว่า
[๑๖๑] “พระโคตมีเถรีตรัสอยู่หลัด ๆ ก็จะเสด็จนิพพานเสียแล้ว
คงอีกไม่นานเลย แม้พระพุทธเจ้าก็จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
เหมือนไฟที่หมดเชื้อแล้ว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๖๒] พระโคตมีเถรีได้ตรัสกับพระอานนท์
ผู้เชี่ยวชาญพระปริยัติธรรมที่ลึกล้ำปานสาคร
ฝักใฝ่ในการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าซึ่งพร่ำรำพันอยู่ดังกล่าวมาว่า
[๑๖๓] “ลูกเอ๋ย เมื่อกาลเป็นที่ร่าเริงปรากฏแล้ว
พ่อไม่ควรที่จะเศร้าโศกถึงการตายของแม่
การนิพพานของแม่นั้นใกล้เข้ามาแล้ว
[๑๖๔] ลูกเอ๋ย พระศาสดาลูกได้ทูลให้ทรงยินยอม
จึงได้ทรงอนุญาตให้แม่บวช
ลูกเอ๋ย พ่ออย่าเสียใจไปเลย
ความพยายามของพ่อต้องมีผล
[๑๖๕] ก็บทใด ที่เจ้าลัทธิทั้งหลายผู้เก่าก่อนไม่เห็น
บทนั้นอันเด็กหญิงซึ่งมีอายุ ๗ ขวบรู้แจ้งประจักษ์แล้ว
[๑๖๖] พ่อจงรักษาพุทธศาสนาไว้
การเห็นลูกเป็นการเห็นครั้งสุดท้าย
ลูกเอ๋ย แม่จะไปสถานที่ที่บุคคลไปแล้วไม่ปรากฏ
[๑๖๗] ในกาลบางคราว พระผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ทรงเปล่งวาจาแสดงธรรม
ครั้งนั้น แม่ผู้มีความอนุเคราะห์จึงกล่าววาจาที่มีความหวังว่า
[๑๖๘] “ข้าแต่พระมหาวีระ ขอพระองค์จงทรงพระชนม์อยู่นาน ๆ
ข้าแต่พระมหามุนี ขอพระองค์จงดำรงพระชนม์อยู่ตลอดกัป
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งปวงเถิด
ขอพระองค์ทรงอย่าชราและปรินิพพานเลย”
[๑๖๙] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ได้ตรัสกับแม่ผู้กราบทูลอยู่
เช่นนั้นว่า “พระนางโคตมี พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เป็นผู้อันใคร ๆ ไม่ควรวิงวอน เหมือนอย่างที่เธอวิงวอนอยู่เลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๗๐] “ก็อย่างไร พระตถาคตผู้สัพพัญญู
จึงชื่อว่าอันบุคคลพึงวิงวอน
และอย่างไรพระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าอันบุคคลไม่พึงวิงวอน
พระองค์อันหม่อมฉันทูลถามถึงเหตุนั้นแล้ว
ขอได้โปรดตรัสบอกเหตุนั้นแก่หม่อมฉันด้วยเถิด”
[๑๗๑] “ท่านจงดูสาวกทั้งหลายผู้ปรารภความเพียร
มีใจเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์
เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน
นี้เป็นการวิงวอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”
[๑๗๒] ต่อแต่นั้น ดิฉันไปสู่สำนักของภิกษุณี
อยู่คนเดียวคิดได้อย่างแจ้งชัดว่า
“พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นที่พึ่ง ผู้ถึงที่สุดแห่งไตรภพ๑
ทรงพอพระทัยบริษัทที่สามัคคีกัน
[๑๗๓] เอาเถิด เราจะนิพพาน
อย่าได้พบเห็นความวิบัตินั้นเลย”
ครั้นดิฉันคิดดังนี้แล้ว
ได้เข้าเฝ้าพระฤาษีผู้ประเสริฐ๒(พระพุทธเจ้า)
[๑๗๔] แล้วได้กราบทูลกาลเป็นที่ปรินิพพาน
กับพระผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ลำดับนั้น พระองค์ได้ทรงอนุญาตว่า
“จงรู้กาลเองเถิด พระนางโคตมี”
[๑๗๕] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ไตรภพ หมายถึงกามภพ รูปภพ อรูปภพ (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๕/๒๖๕)
๒ สตฺตโม=ประเสริฐ (อภิธานัปปทีปิกา คาถาที่ ๖๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๗๖] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๗๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
[๑๗๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
“โคตมี คนพาลเหล่าใดมีความสงสัย
ในการตรัสรู้ธรรมของสตรีทั้งหลาย
ท่านจงแสดงฤทธิ์เพื่อการละทิฏฐิของคนพาลเหล่านั้น”
[๑๗๙] ครั้งนั้น พระโคตมีเถรีหมอบกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
เหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า แสดงฤทธิ์เป็นอเนกประการ
ตามพุทธานุญาต
[๑๘๐] คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้
หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้
ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาก็ได้
[๑๘๑] ไปได้ไม่ติดขัด ดำลงไปในแผ่นดินเหมือนดำลงไปในน้ำก็ได้
เดินไปบนน้ำโดยที่น้ำไม่แตกกระจายเหมือนเดินไปบนแผ่นดินก็ได้
[๑๘๒] นั่งขัดสมาธิลอยไปในอากาศเหมือนนางนกก็ได้
ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้
[๑๘๓] ทำสิเนรุบรรพตให้เป็นคันร่ม
ทำแผ่นดินใหญ่ให้เป็นตัวร่ม
พลิกเอาเบื้องล่างขึ้น เดินกั้นร่มไปมาในอากาศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๘๔] ได้ทำโลกให้สวยงามประหนึ่งเวลาอาทิตย์ ๖ ดวง
อุทัยเหนือภูเขายุคันธร
และได้ทำโลกให้เป็นเหมือนกลุ่มตาข่ายดอกไม้ที่ยอดภูเขายุคันธร
[๑๘๕] ใช้พระหัตถ์ข้างหนึ่งกำภูเขามุจลินท์
ภูเขาสิเนรุ ภูเขามันทาระ
และภูเขาทัททระไว้ได้ทั้งหมด
เหมือนกำเมล็ดพันธุ์ผักกาด
[๑๘๖] ใช้ปลายนิ้วพระหัตถ์บังดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไว้
ทัดทรงดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไว้เป็นพัน ๆ ดวง
เหมือนทัดทรงพวงมาลัย
[๑๘๗] ใช้ฝ่าพระหัตถ์ข้างหนึ่งธารน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไว้ได้
ทำฝนห่าใหญ่ให้ตกมีอาการดังสายน้ำที่ตกจากภูเขายุคันธร
[๑๘๘] พระนางนั้นได้เนรมิตองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
พร้อมด้วยบริวารในท้องฟ้า แสดงเป็นครุฑ
คชสาร ราชสีห์ ต่างบันลือร้องอยู่
[๑๘๙] พระองค์เดียวทรงเนรมิตเป็นคณะภิกษุณีนับไม่ถ้วน
แล้วก็อันตรธานกลับเป็นองค์เดียวกราบทูลพระมุนีว่า
[๑๙๐] “ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระจักษุ
หม่อมฉันผู้เป็นพระมาตุจฉาของพระองค์
เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์
บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว
ขอกราบพระยุคลบาท”
[๑๙๑] พระนาง ครั้นแสดงฤทธิ์อย่างต่าง ๆ แล้วลงจากท้องฟ้า
ทรงไหว้พระพุทธองค์ผู้ทรงส่องโลกให้สว่างแล้ว
ประทับนั่ง ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง (กราบทูลว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๙๒] “ข้าแต่พระมหามุนีวีรเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำ หม่อมฉันนั้นมีอายุได้ ๑๒๐ ปี
เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว หม่อมฉันจักนิพพาน”
[๑๙๓] ครั้งนั้น บริษัททั้งหมดนั้น
ถึงความพิศวงยิ่งนักจึงได้พากันประนมมือถามว่า
“ข้าแต่พระแม่เจ้า ผู้มีความบากบั่น พระแม่เจ้าได้ทำบุญอะไรไว้
จึงเป็นผู้มีฤทธิ์หาที่เปรียบมิได้”
[๑๙๔] (พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีได้กล่าวบุพจริยาของท่านดังต่อไปนี้ว่า)
พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๑๙๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลอำมาตย์
ซึ่งสมบูรณ์ด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่าง
เจริญรุ่งเรือง ร่ำรวย มีทรัพย์มาก ในกรุงหงสวดี
[๑๙๖] ในกาลบางคราว ข้าพเจ้าพร้อมด้วยบิดา
มีหมู่ทาสีห้อมล้อมเข้าไปเฝ้าพระองค์ผู้องอาจกว่านรชน
พร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก
[๑๙๗] พระชินเจ้าผู้ไม่มีอาสวะ
ทำฝนคือธรรมให้ตกลงอยู่ เหมือนท้าววาสวะ
มีกลุ่มแห่งพระรัศมีโชติช่วง
เช่นกับดวงอาทิตย์ในสารทกาล
[๑๙๘] ข้าพเจ้าเห็นแล้วทำจิตให้เลื่อมใส
และได้สดับสุภาษิตของพระองค์
ได้สดับพระผู้ทรงเป็นผู้นำของนรชน
ทรงตั้งภิกษุณีผู้เป็นพระมาตุจฉาไว้ในตำแหน่งที่เลิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๑๙๙] จึงได้ถวายมหาทานและปัจจัยจำนวนมาก
แด่พระผู้เลิศกว่านรชน ผู้คงที่พระองค์นั้น
พร้อมทั้งพระสงฆ์ตลอด ๗ วัน
[๒๐๐] แล้วจึงหมอบลงแทบพระยุคลบาทได้ปรารถนาตำแหน่งนั้น
ลำดับนั้น พระฤาษีผู้ประเสริฐ(พระพุทธเจ้า)
ได้ตรัสในที่ประชุมใหญ่นั้นว่า
[๒๐๑] “เราจักพยากรณ์สตรีผู้ที่นิมนต์พระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ให้เสวยและฉันตลอด ๗ วัน
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๒๐๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๒๐๓] สตรีผู้นี้จักมีนามปรากฏว่าโคตมี
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น
[๒๐๔] จักเป็นพระมาตุจฉาบำรุงเลี้ยงชีวิต
ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ได้ความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายรู้ราตรีนาน”
[๒๐๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว
เป็นผู้มีใจปราโมทย์ บำรุงพระชินเจ้า
ด้วยปัจจัยทั้งหลายจนตลอดชีวิต
ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ตายไป
[๒๐๖] ข้าพเจ้าบังเกิดในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์
ซึ่งให้สำเร็จสิ่งที่น่าใคร่ทุกประการ
ครอบงำพวกเทพเหล่าอื่นด้วยองค์ ๑๐ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๒๐๗] คือ ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ(ธรรมารมณ์)
อายุ วรรณะ สุข และยศ
[๒๐๘] อนึ่ง รุ่งเรืองครอบงำเทพเหล่าอื่นด้วยความเป็นใหญ่
ข้าพเจ้าได้เป็นพระมเหสีผู้เป็นที่รัก
ของท้าวอัมรินทราธิราชชั้นดาวดึงส์นั้น
[๒๐๙] เมื่อข้าพเจ้ายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสาร
เป็นผู้หวั่นไหวเพราะพายุคือกรรม
จึงเกิดในหมู่บ้านทาสในอาณาเขตของพระเจ้ากาสี
[๒๑๐] ครั้งนั้น ทาส ๕๐๐ คนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น
ข้าพเจ้าได้เป็นภรรยาของหัวหน้าทาสทั้งหมดในหมู่บ้านนั้น
[๒๑๑] พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์
ได้เข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต
ข้าพเจ้ากับญาติทุกคนเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
จึงมีความยินดี
[๒๑๒] ข้าพเจ้าทั้งหลายพร้อมด้วยสามี เลื่อมใสแล้ว
จึงช่วยกันสร้างกุฎี ๕๐๐ หลังถวาย
อุปัฏฐากตลอด ๔ เดือนแล้วถวายไตรจีวร
[๒๑๓] จากนั้น ข้าพเจ้าทั้งหลายพร้อมด้วยสามีตายไป
ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย ข้าพเจ้าได้เกิดในกรุงเทวทหะ
[๒๑๔] พระชนกของข้าพเจ้าทรงพระนามว่าอัญชนศากยะ
พระชนนีของข้าพเจ้าทรงพระนามว่าสุลักขณา
ต่อมา ข้าพเจ้าได้ไปสู่พระราชวังของพระเจ้าสุทโธทนะ
ในกรุงกบิลพัสดุ์
[๒๑๕] สตรีทุกคนเกิดในตระกูลศากยะแล้ว
ได้ไปสู่พระราชวังของเจ้าศากยะทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
ข้าพเจ้าประเสริฐกว่าสตรีทุกคน
ได้เป็นผู้บำรุงเลี้ยงพระชินเจ้า
[๒๑๖] พระโอรสของข้าพเจ้าพระองค์นั้น
เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์แล้ว
ได้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ภายหลังข้าพเจ้าพร้อมด้วยนางศากิยานี ๕๐๐ นางจึงได้บวช
[๒๑๗] แล้วได้ประสบสันติสุขพร้อมด้วยนางศากิยานีผู้มีความเพียร
ในครั้งนั้น ชนเหล่าใดผู้เคยเป็นสามีของพวกข้าพเจ้าในชาติก่อน
[๒๑๘] ชนเหล่านั้น เคยทำบุญร่วมกันมา
ประพฤติตามคำสอนที่ควรบูชา
พระสุคตทรงอนุเคราะห์แล้ว ได้บรรลุอรหัตตผล
[๒๑๙] ภิกษุณีทั้งหลายผู้มีฤทธิ์มาก
นอกจากพระมหาปชาบดีโคตมีเถรีนั้น
ได้พากันเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้า รุ่งโรจน์
เหมือนดวงดาวทั้งหลายที่โคจรเกาะกลุ่มกันไป
[๒๒๐] ภิกษุณีเหล่านั้น เป็นผู้ศึกษาแล้วในบุญกรรม
จึงแสดงฤทธิ์ได้เป็นอเนกประการ
เหมือนนายช่างทองที่ได้รับการศึกษาแล้ว
แสดงเครื่องประดับทองคำชนิดต่าง ๆ
[๒๒๑] ครั้งนั้น ภิกษุณีเหล่านั้น
ครั้นแสดงปาฏิหาริย์มากมายหลายอย่างแล้ว
ทำพระมุนีผู้ประเสริฐกว่าดวงอาทิตย์
พร้อมทั้งบริษัทให้ทรงพอพระทัยยินดีแล้ว
[๒๒๒] ได้พากันลงจากท้องฟ้า
ไหว้พระฤๅษีผู้ประเสริฐ(พระพุทธเจ้า)
ผู้อันพระศาสดาผู้เป็นนระผู้เลิศ
ทรงอนุญาตแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๒๒๓] (ได้กราบทูลว่า) “ข้าแต่พระวีรเจ้า
น่าชมเชย พระโคตมีเถรี
เป็นผู้อนุเคราะห์หม่อมฉันทั้งปวง
หม่อมฉันทั้งหลายถูกพระนางอบรมด้วยบุญ
จึงได้บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ
[๒๒๔] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันทั้งหลายก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันทั้งหลายก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันทั้งหลายตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๒๕] การที่หม่อมฉันทั้งหลายมาในสำนัก
ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันทั้งหลายได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๒๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
[๒๒๗] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลาย
เป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุ๑
และในเจโตปริยญาณ๒
[๒๒๘] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ๓
ทิพยจักษุหม่อมฉันทั้งหลายก็ชำระให้หมดจดแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงหูทิพย์, ญาณพิเศษที่ทำให้ฟังอะไรได้ยินหมดตามปรารถนา (ที.สี. (แปล) ๙/๒๔๐-๑/๘๐)
๒ หมายถึงญาณกำหนดรู้ใจผู้อื่นได้, อ่านความคิดของเขาได้ เช่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ เป็นต้น (ที.สี.
(แปล) ๙/๒๔๒-๓/๘๐-๘๑)
๓ หมายถึงความรู้เป็นเครื่องระลึกได้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน,ระลึกชาติได้ (ที.สี. (แปล) ๙/๒๔๔-๕/๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๒๒๙] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ
ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณของหม่อมฉันทั้งหลายที่มีอยู่
ล้วนเกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์
[๒๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ ทรงเป็นมหามุนี
พระองค์ทรงเป็นผู้ที่หม่อมฉันทั้งหลายมีจิตเมตตา ปฏิบัติ
ขอพระองค์โปรดทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหมดนิพพานเถิด”
[๒๓๑] พระชินเจ้าได้ตรัสว่า “เมื่อเธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ว่า
‘จักนิพพาน’ เราตถาคตจะไปกล่าวอะไรได้
ก็บัดนี้เธอทั้งหลายจงสำคัญกาลอันสมควรเถิด
[๒๓๒] ครั้งนั้น ภิกษุณีเหล่านั้นมีพระโคตมีเถรีเป็นอาทิ
ไหว้พระชินเจ้าแล้ว ได้พากันลุกจากที่นั่งนั้นไป
[๒๓๓] พระธีรเจ้า ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
พร้อมด้วยหมู่ชนจำนวนมาก
ได้เสด็จไปส่งพระมาตุจฉาจนถึงซุ้มประตู
[๒๓๔] ครั้งนั้น พระโคตมีเถรีพร้อมด้วยภิกษุณีทุกรูปนอกนี้
ได้พากันหมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระศาสดา
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลกแล้วกราบทูลว่า
“นี้เป็นการกราบพระยุคลบาทครั้งสุดท้าย
[๒๓๕] นี้เป็นการเห็นพระโลกนาถครั้งสุดท้ายของหม่อมฉัน
หม่อมฉันจักไม่ได้เห็นพระพักตร์
ซึ่งมีอาการดังน้ำอมฤตของพระองค์อีก
[๒๓๖] ข้าแต่พระวีระผู้เลิศในโลก
การกราบไหว้ของหม่อมฉัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
จักไม่สัมผัสพระยุคลบาทอันละเอียดอ่อนของพระองค์(อีก)
วันนี้ หม่อมฉันจะนิพพาน”
[๒๓๗] พระศาสดาตรัสว่า “จะมีประโยชน์อะไรแก่เธอด้วยรูปนี้
เมื่อธรรมที่เธอเห็นแล้วตามความเป็นจริง
สังขตธรรมทั้งปวงนั้นถูกปัจจัยปรุงแต่ง
ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ายินดี และเป็นของเลวทราม”
[๒๓๘] พระมหาปชาบดีเถรีพร้อมด้วยภิกษุณีเหล่านั้น
กลับไปยังสำนักของตนแล้ว
นั่งขัดสมาธิชั้นเดียวบนอาสนะที่ประเสริฐ
[๒๓๙] ครั้งนั้น อุบาสิกาทั้งหลายในที่นั้น
ผู้มีความเคารพรักในพุทธศาสนา
ได้สดับความเป็นไปของพระนาง ต่างก็เข้าไปนมัสการพระยุคลบาท
[๒๔๐] ใช้มือตบอก ร้องไห้ คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร
อัดอั้นตันใจด้วยความเศร้าโศก ล้มลงที่ภาคพื้น
ดุจเถาวัลย์ที่มีรากขาดแล้วกองลง รำพันด้วยวาจาว่า
[๒๔๑] “ข้าแต่พระแม่เจ้าผู้ประทานที่พึ่งแก่หม่อมฉันทั้งหลาย
พระแม่เจ้า อย่าได้ละทิ้งหม่อมฉันทั้งหลายนิพพานเลย
หม่อมฉันทุกคนขอซบเศียรอ้อนวอน”
[๒๔๒] พระมหาปชาบดีเถรีลูบศีรษะของอุบาสิกาผู้มีศรัทธา
มีปัญญา ซึ่งเป็นหัวหน้าของอุบาสิกาเหล่านั้น ได้กล่าวคำนี้ว่า
[๒๔๓] “ลูกทั้งหลายเอ๋ย
อย่าเลย การพร่ำเพ้อซึ่งเป็นไปในบ่วงแห่งมาร
สังขตธรรมทั้งปวงล้วนไม่เที่ยง
มีแต่จะหวั่นไหวพลัดพรากจากกันไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๒๔๔] ต่อจากนั้น พระนางก็ละอุบาสิกาเหล่านั้นแล้ว
เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน
และจตุตถฌาน อันยอดเยี่ยม
[๒๔๕] แล้วเข้าอากาสานัญจายตนฌาน
วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน
และเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ตามลำดับ
[๒๔๖] แล้วพระโคตมีเถรี ก็เข้าฌานทั้งหลายโดยปฏิโลม
จนถึงปฐมฌาน เข้าฌานทั้ง ๓ จนถึงจตุตถฌาน
[๒๔๗] ครั้นออกจากจตุตถฌานแล้วไม่มีอาสวะนิพพาน
เหมือนดวงประทีปหมดเชื้อดับไป
ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ สายฟ้าก็ผ่าลงมาจากนภากาศ
[๒๔๘] กลองทิพย์ก็บันลือลั่นขึ้นเอง เทพทั้งหลายพากันคร่ำครวญ
และฝนดอกไม้ก็โปรยปรายจากอากาศลงสู่พื้นดิน
[๒๔๙] แม้ภูเขาเมรุราชก็กัมปนาทหวั่นไหว
เหมือนคนเต้นรำท่ามกลางโรงเต้นรำ
ทะเลก็ปั่นป่วนครวญครางเพราะความเศร้าโศก
[๒๕๐] เทพ นาค อสูร และพรหมต่างก็พากันสลดใจ
กล่าวขึ้นในขณะนั้นเองว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
เหมือนอย่างพระมหาปชาบดีเถรีนี้
ถึงความย่อยยับไปแล้ว”
[๒๕๑] และพระเถรีทั้งหลายผู้ทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
ซึ่งห้อมล้อมพระมหาปชาบดีเถรีนี้ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น
พากันนิพพานไปแล้ว
เหมือนดวงประทีปหมดเชื้อดับไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๒๕๒] โอ ! ความประจวบกันมีความพลัดพรากเป็นที่สุด
โอ ! สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งล้วนไม่เที่ยง
โอ ! ชีวิตมีความพินาศเป็นที่สุด
การคร่ำครวญได้มีแล้ว ด้วยประการฉะนี้
[๒๕๓] ลำดับนั้น เทวดาและพรหมต่างก็เข้าไปเฝ้าพระฤาษีผู้ประเสริฐ
จึงทำความประพฤติตามโลกธรรมสมควรแก่กาล
[๒๕๔] ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสเรียกพระอานนท์
ผู้เป็นพหูสูต มีปัญญาดุจห้วงน้ำมาสั่งว่า
“อานนท์ เธอจงไปประกาศให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ถึงการปรินิพพานของพระมารดา”
[๒๕๕] ในกาลนั้น ท่านพระอานนท์หมดความแช่มชื่น
มีน้ำตานองนัยนา ประกาศด้วยเสียงสั่นเครือว่า
“ขอภิกษุทั้งหลายจงมาประชุมกัน
[๒๕๖] คือภิกษุทั้งหลายที่เป็นโอรสของพระสุคตทั้งที่อยู่ในทิศตะวันออก
ทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ
ภิกษุณีนั้นเป็นมารดาของเรา
[๒๕๗] ผู้ประคบประหงมสรีระสุดท้ายของพระมุนีให้เจริญ
ด้วยน้ำนมของตน ภิกษุณีนั้น คือพระโคตมีเถรี
ดับสนิทแล้วเหมือนดวงดาวดับแสงในเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น
[๒๕๘] พระนางทรงประกาศให้รู้ว่า ‘เป็นพุทธมารดา’
แล้วนิพพาน ซึ่งเป็นที่ที่คนแม้มีดวงตา ๕ ดวงก็มองไม่เห็น
แต่พระผู้มีพระภาคผู้เป็นผู้นำทรงเห็นได้
[๒๕๙] ขอพระโอรสของพระสุคต ผู้มีศรัทธาในพระสุคต
หรือเป็นศิษย์ของพระมหามุนี
จงทำสักการะพุทธมารดาเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๒๖๐] ภิกษุทั้งหลายถึงอยู่ในที่ไกลแสนไกล
ได้สดับคำประกาศนั้นแล้ว ก็รีบมา
บางพวกมาด้วยพุทธานุภาพ
บางพวกที่ชำนาญในฤทธิ์ก็มาด้วยฤทธิ์ของตน
[๒๖๑] ต่างช่วยกันยกเตียงที่พระโคตมีเถรีนอนสงบนิ่ง
ขึ้นตั้งบนเรือนยอดที่ประเสริฐ
สำเร็จด้วยทองคำล้วน งดงามน่ายินดี
[๒๖๒] ท้าวโลกบาลทั้ง ๔๑ ต่างก็ใช้บ่ารองรับเรือนยอดไว้
เทวดาที่เหลือมีท้าวสักกเทวราชเป็นต้น
ก็เข้าช่วยรับเรือนยอดด้วย
[๒๖๓] ก็เรือนยอดทั้งหมดมี ๕๐๐ หลัง
วิสสุกรรมเทพบุตรได้เนรมิตขึ้น
มีสีเหมือนดวงอาทิตย์ในสารทกาล
[๒๖๔] ภิกษุณีทั้งหมด ผู้นอนสงบนิ่งอยู่บนเตียง
ในที่นั้น ก็ถูกเทพทั้งหลายแบกนำออกไปตามลำดับ
[๒๖๕] พื้นนภากาศถูกเพดานบังไว้ทั่ว
ที่เพดานนั้นมีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์
พร้อมทั้งดวงดาวที่ทำด้วยทองคำประดับติดไว้
[๒๖๖] ธงปฏาก (ธงผ้า) ได้ถูกยกขึ้นประดับไว้เป็นอันมาก
เครื่องคลุมดอกไม้ที่สวยงาม
ดอกบัวในอากาศมีปลายห้อยลง
ส่วนดอกไม้ที่พื้นดินมีปลายชี้ขึ้น

เชิงอรรถ :
๑ ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ คือ (๑) ท้าวธตรฐ (๒) ท้าววิรุฬหก (๓) ท้าววิรูปักษ์ (๔) ท้าวกุเวร (ที.สี.
(แปล) ๙/๓๓๖/๒๑๙-๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๒๖๗] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ
และดวงดาวทั้งหลายก็ส่องแสง
อนึ่ง ดวงอาทิตย์แม้อยู่ในเวลาเที่ยงวัน
ก็เหมือนดวงจันทร์ไม่ส่องแสงให้เร่าร้อน
[๒๖๘] เทพทั้งหลายพากันบูชาด้วยของหอม
และดอกไม้มีกลิ่นหอม
ด้วยการประโคมดนตรี ฟ้อนรำ และขับร้องอันเป็นทิพย์
[๒๖๙] นาค อสูร และพรหม
ต่างก็พากันบูชาพุทธมารดาผู้นิพพานซึ่งถูกเขานำออกไปแล้ว
ตามความสามารถตามกำลัง
[๒๗๐] ภิกษุณีผู้เป็นโอรสของพระสุคต
ซึ่งนิพพานแล้วทั้งหมดถูกอัญเชิญไปข้างหน้า
พระโคตมีเถรีผู้เลี้ยงดูพระพุทธเจ้า
ผู้อันเทวดาและมนุษย์สักการะแล้วถูกอัญเชิญไปข้างหลัง
[๒๗๑] เทวดา มนุษย์ พร้อมด้วยนาค อสูร
และพรหมไปข้างหน้า
พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสาวกเสด็จไปข้างหลัง
เพื่อบูชาพุทธมารดา
[๒๗๒] การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
หาได้เป็นเช่นการปรินิพพานของพระโคตมีเถรีไม่
การปรินิพพานของพระโคตมีเถรีอัศจรรย์ยิ่งนัก
[๒๗๓] ในเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ไม่มีพระพุทธเจ้าและภิกษุทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น
เหมือนในเวลาที่พระโคตมีเถรีนิพพาน
ซึ่งมีทั้งพระพุทธเจ้าและภิกษุทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๒๗๔] ชนทั้งหลายช่วยกันทำจิตกาธาน
ซึ่งสำเร็จด้วยไม้มีกลิ่นหอมล้วนและโปรยจุรณเครื่องหอม
แล้วฌาปนกิจภิกษุณีเหล่านั้นบนจิตกาธานนั้น ๆ
[๒๗๕] ส่วนที่เหลือถูกไฟไหม้ไปสิ้นเหลือไว้เพียงอัฐิ
ก็เวลานั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าววาจา
ให้เกิดความสังเวชว่า
[๒๗๖] “พระโคตมีเถรีนิพพานแล้ว
พระสรีระของพระนางก็ถูกเผาแล้ว
กำหนดได้ว่า การปรินิพพานของพระพุทธเจ้านี้
คงจักมีโดยกาลไม่นาน
[๒๗๗] จากนั้น ท่านพระอานนท์ถูกพระพุทธเจ้าทรงตักเตือน
จึงได้น้อมนำอัฐิธาตุของพระโคตมีเถรี
ซึ่งอยู่ในบาตรของพระนางเข้ามาถวายพระโลกนาถ
[๒๗๘] พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นฤๅษีผู้ประเสริฐ
ทรงใช้พระหัตถ์ประคองอัฐิเหล่านั้น
ได้ตรัสว่า “ต้นไม้ใหญ่มีแก่นยืนต้น
[๒๗๙] ถึงจะมีลำต้นใหญ่โต ก็พึงหักทำลายไปได้
เพราะความไม่เที่ยง พระโคตมีเถรีก็เหมือนกัน
ถึงจะเป็นใหญ่กว่าภิกษุณีสงฆ์ก็ปรินิพพานไปแล้ว
[๒๘๐] ดูเถิดอานนท์ พุทธมารดาแม้ปรินิพพานแล้ว
เหลือเพียงสรีรธาตุ เธอไม่ควรเศร้าโศกคร่ำครวญถึง
[๒๘๑] คนอื่น ๆ ก็ไม่ควรเศร้าโศกถึง
พระนางผู้ข้ามห้วงน้ำคือสังสารวัฏไปแล้ว
ละเว้นเหตุที่ทำให้เดือดร้อนได้แล้ว เป็นผู้เย็นดับสนิทแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๗. มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทาน
[๒๘๒] พระนางเป็นบัณฑิต มีปัญญามากและมีปัญญากว้างขวาง
ทั้งเป็นรัตตัญญูกว่าภิกษุณีทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงทราบอย่างนี้เถิด
[๒๘๓] พระโคตมีเถรีเป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ ในทิพพโสตธาตุ
และในเจโตปริยญาณ
[๒๘๔] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุพระโคตมีเถรีก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๒๘๕] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ
นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณก็บริสุทธิ์แล้ว
เพราะฉะนั้น พระโคตมีเถรีนั้นอันใคร ๆ ไม่ควรเศร้าโศกถึง
[๒๘๖] ความเป็นไปของไฟที่ลุกโพลงขึ้น
ที่ถูกแผ่นเหล็กหนาทับไว้แล้ว
ดับสนิทไปตามลำดับ ใคร ๆ ก็รู้ไม่ได้ ฉันใด
[๒๘๗] คติของผู้หลุดพ้นโดยชอบแล้ว
ซึ่งข้ามเครื่องผูกพันคือกามและโอฆะได้
บรรลุบทอันไม่หวั่นไหว ย่อมไม่มี
เพื่อจะให้ใคร ๆ รู้ได้ ก็ฉันนั้น
[๒๘๘] เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นที่พึ่ง
มีสติปัฏฐานเป็นโคจร
เธอทั้งหลายเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการแล้ว
จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”
ได้ทราบว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
มหาปชาปตีโคตมีเถริยาปทานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
๘. เขมาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเขมาเถรี
(พระเขมาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๘๙] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๒๙๐] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี
มีความรุ่งเรืองด้วยรัตนะต่าง ๆ ในกรุงหงสวดี
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขมาก
[๒๙๑] หม่อมฉันเข้าไปเฝ้าพระมหาวีระพระองค์นั้นแล้ว
ได้ฟังพระธรรมเทศนา
แต่นั้นหม่อมฉันเกิดความเลื่อมใส
ได้ถึงพระชินเจ้าเป็นสรณะ
[๒๙๒] หม่อมฉันได้วิงวอนมารดาบิดาแล้ว
จึงทูลนิมนต์พระชินเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
พร้อมทั้งสาวกให้เสวยและฉันตลอด ๗ วัน
[๒๙๓] เมื่อ ๗ วันล่วงไปแล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นสารถีฝึกนรชน
ทรงตั้งภิกษุณีรูปหนึ่ง
ซึ่งสูงสุดฝ่ายภิกษุณีผู้มีปัญญามากในเอตทัคคะ
[๒๙๔] หม่อมฉันได้ฟังเรื่องนั้นแล้ว มีความยินดี
ทำสักการะพระพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พระองค์นั้นอีก
แล้วหมอบลงปรารถนาตำแหน่งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๒๙๕] แต่นั้น พระชินเจ้าพระองค์นั้นตรัสกะหม่อมฉันว่า
“ความปรารถนาของเธอจักสำเร็จ
สักการะที่เธอทำแล้วแก่เรา
พร้อมทั้งพระสงฆ์นี้มีผลประมาณไม่ได้
[๒๙๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๒๙๗] สตรีผู้นี้จักเป็นภิกษุณีมีนามว่าเขมา
เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักได้ตำแหน่งอันเลิศนี้”
[๒๙๘] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๒๙๙] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นยามา
จุติจากสวรรค์ชั้นยามานั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
จุติจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
[๓๐๐] เพราะอำนาจแห่งกรรมนั้น หม่อมฉันเกิดในภพใด ๆ
ในภพนั้น ๆ ก็ได้เป็นพระมเหสีของพระราชา
[๓๐๑] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้นแล้ว
มาเกิดในหมู่มนุษย์ ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน
[๓๐๒] เสวยสมบัติทั้งในเทวโลกและในมนุษยโลก
มีความสุขทุกชาติ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกัปเป็นอันมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๐๓] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก งดงามน่าทัศนายิ่งนัก
ทรงเห็นแจ้งในธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๓๐๔] หม่อมฉันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงเป็นสารถีฝึกนรชน
ได้ฟังธรรมที่ประณีตแล้วจึงออกบวชเป็นบรรพชิต
[๓๐๕] ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ในศาสนา
ของพระวีรเจ้าพระองค์นั้นตลอด ๑๐,๐๐๐ ปี
ประกอบความเพียร เป็นพหูสูต
[๓๐๖] ฉลาดในปัจจยาการ ชำนาญในสัจจะ ๔
มีปัญญาละเอียด แสดงธรรมไพเราะ
ปฏิบัติตามสัตถุศาสน์๑
[๓๐๗] ด้วยผลแห่งการประพฤติพรหมจรรย์
หม่อมฉันจุติจากภพนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
เป็นผู้มียศ เสวยสมบัติอยู่ในภพนั้นและภพอื่น
[๓๐๘] หม่อมฉันเกิดในภพใด ๆ ก็เป็นผู้มีโภคะมาก
มีทรัพย์มาก มีปัญญา มีรูปงาม มีบริวารชนที่เชื่อฟัง
[๓๐๙] ด้วยกรรมและความเพียรในศาสนาของพระชินเจ้านั้น
หม่อมฉันเป็นที่รักดังดวงใจ(ของสามี)
สมบัติทุกอย่างหม่อมฉันได้โดยง่าย
[๓๑๐] ด้วยผลแห่งการปฏิบัติของหม่อมฉัน
เมื่อหม่อมฉันอยู่ ณ ที่ใด ๆ
ผู้ที่เป็นสามีหม่อมฉันก็ไม่ดูหมิ่น ทั้งใครอื่น ๆ ก็ไม่ดูหมิ่นหม่อมฉัน

เชิงอรรถ :
๑ สัตถุศาสน์ ในที่นี้หมายถึง สัจจะ ๔ กัมมัฏฐาน และภาวนา (ขุ.เถรี.อ. ๑๑๓/๑๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๑๑] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่าโกนาคมนะ
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๓๑๒] ครั้งนั้นเอง ชน ๓ คน คือนางธนัญชานีพราหมณี
พระนางสุเมธาเถรี และหม่อมฉัน
เป็นคนของตระกูลที่สำเร็จความประสงค์ทุกอย่างในกรุงพาราณสี
[๓๑๓] หม่อมฉันทั้งหลายได้ถวายสังฆารามแก่พระมุนีหลายพันองค์
และได้สร้างวิหารอุทิศถวายพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งสงฆ์สาวก
[๓๑๔] หม่อมฉันทั้งหลายทั้งหมดพากันจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ
และเมื่อเกิดในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน
[๓๑๕] ในกัปนี้เอง พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์ มีพระยศยิ่งใหญ่
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๓๑๖] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี
เป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด
ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๓๑๗] หม่อมฉันเป็นธิดาคนโตของพระองค์มีนามปรากฏว่าสมณี
ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้วพอใจการบรรพชา
[๓๑๘] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช
ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้าน ครองเรือนอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี
[๓๑๙] พระราชกัญญาทั้ง ๗ พระองค์
มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี
เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๒๐] คือ (๑) พระนางสมณี (๒) พระนางสมณคุตตา
(๓) พระนางภิกษุณี (๔) พระนางภิกขุทาสิกา
(๕) พระนางธรรมา (๖) พระนางสุธรรมา
(๗) พระนางสังฆทาสิกา
[๓๒๑] (พระราชธิดาทั้ง ๗ นั้นได้กลับชาติมาเกิด)
คือ หม่อมฉัน ๑ พระอุบลวรรณาเถรี ๑
พระปฏาจาราเถรี ๑ พระกุณฑลเกสีเถรี ๑
พระกีสาโคตมีเถรี ๑ พระธรรมทินนาเถรี ๑
และคนที่ ๗ เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา
[๓๒๒] บางครั้งพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้เป็นดังดวงอาทิตย์ของนรชน
ทรงแสดงธรรมเป็นอัศจรรย์
หม่อมฉันได้ฟังมหานิทานสูตร๑แล้วนำมาศึกษาปฏิบัติอยู่
[๓๒๓] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้วจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๓๒๔] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเป็นพระธิดาที่พอพระทัย
รักใคร่ โปรดปรานของพระเจ้ามัททราช
ในสากลนครที่อุดมสมบูรณ์
[๓๒๕] พร้อมกับในกาลที่หม่อมฉันพอเกิดมา
นครนั้นได้มีแต่ความเกษมสำราญ
เพราะฉะนั้น นามว่าเขมา จึงเกิดขึ้นแก่หม่อมฉันโดยคุณ
[๓๒๖] เมื่อหม่อมฉันเจริญวัยเป็นสาว
มีรูปร่างและผิวพรรณงดงาม
พระราชบิดาก็โปรดประทานหม่อมฉันแก่พระเจ้าพิมพิสาร

เชิงอรรถ :
๑ ที.ม. (แปล) ๑๐/๙๕/๕๗-๗๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๒๗] หม่อมฉันเป็นที่โปรดปรานของพระราชสวามีนั้น
ยินดีแต่ในการบำรุงรูปโฉม
ไม่เอื้อเฟื้ออย่างมากด้วยคิดว่า
พระพุทธเจ้ามีปกติกล่าวโทษของรูป
[๓๒๘] ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารทรงโปรดให้นักขับ
ขับร้องเพลงพรรณนาพระเวฬุวันเจาะจงหม่อมฉัน
เพื่ออนุเคราะห์หม่อมฉันให้มีความรู้สึก
[๓๒๙] หม่อมฉันสำคัญว่าพระเวฬุวัน
ซึ่งเป็นที่ประทับของพระสุคต
เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ผู้ใดยังมิได้เห็น
ผู้นั้นก็จัดว่ายังไม่ได้เห็นสวนนันทวัน
[๓๓๐] พระเวฬุวัน ซึ่งเป็นสถานที่น่าเพลิดเพลินยินดีของนรชน
ผู้ใดได้เห็นแล้ว ผู้นั้นเหมือนได้เห็นสวนนันทวัน
ซึ่งเป็นสถานที่เพลิดเพลินของท้าวอัมรินทราธิราช
[๓๓๑] ท้าวสักกเทวราชและเทพทั้งหลายละสวนนันทวันแล้ว
ลงมาที่พื้นปฐพี เห็นพระเวฬุวันที่น่ารื่นรมย์แล้ว
ก็อัศจรรย์ใจ มิรู้เบื่อ
[๓๓๒] พระเวฬุวันเกิดขึ้นเพราะบุญของพระราชา
อันบุญญานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าประดับแล้ว
ใครเล่าจะประมวลคุณแห่งพระเวฬุวันมากล่าวให้หมดสิ้นได้
[๓๓๓] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ฟังความสำเร็จแห่งสมบัติของพระเวฬุวัน
ที่เสนาะโสตไพเราะจับใจหม่อมฉัน
ใคร่จะได้ชมอุทยานนั้นจึงกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ
[๓๓๔] ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินจึงโปรดส่งหม่อมฉัน
ผู้มุ่งจะชมอุทยานนั้น
ไปพร้อมด้วยบริวารเป็นจำนวนมาก ด้วยพระดำรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๓๕] “พระนางผู้มีโภคะเป็นอันมาก
เชิญไปชมพระเวฬุวันซึ่งเป็นที่สบายตา
ซึ่งเปล่งปลั่งด้วยพระรัศมีของพระสุคต
สว่างไสวด้วยพระสิริตลอดเวลา”
[๓๓๖] (หม่อมฉันทูลว่า)
“เมื่อใดพระมุนีเสด็จเข้ามาทรงรับบิณฑบาต
ยังกรุงราชคฤห์อันยอดเยี่ยม
เมื่อนั้น หม่อมฉันจะเข้าไปชมพระเวฬุวันมหาวิหาร”
[๓๓๗] ขณะนั้น พระเวฬุวันมหาวิหาร
มีสวนดอกไม้ที่แย้มบาน มีเสียงหึ่งด้วยหมู่ภมรนานาชนิด
มีเสียงนกดุเหว่าร่ำร้อง ทั้งหมู่นกยูงก็รำแพน
[๓๓๘] สงัดจากเสียงอย่างอื่น ไม่พลุกพล่าน
ประดับไปด้วยที่จงกรมต่าง ๆ
สะพรั่งไปด้วยแถวแห่งกุฎีและมณฑป
เรียงรายไปด้วยพระโยคีผู้บำเพ็ญเพียร
[๓๓๙] หม่อมฉันเมื่อเดินเที่ยวไปได้รู้สึกว่า “นัยน์ตาของเรามีประโยชน์”
ครั้งนั้น หม่อมฉันเห็นภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งประกอบกิจอยู่ แล้วคิดไปว่า
[๓๔๐] ‘ภิกษุนี้ยังอยู่ในวัยรุ่นหนุ่ม มีรูปงาม น่าปรารถนา
ปฏิบัติดีอยู่ในป่าที่น่ารื่นรมย์เช่นนี้ เหมือนคนอยู่ในที่มืด
[๓๔๑] ภิกษุนี้มีศีรษะโล้น ห่มผ้าสังฆาฏินั่งอยู่ที่โคนไม้
ละความยินดีที่เกิดจากอารมณ์เข้าฌานอยู่หนอ
[๓๔๒] ธรรมดาคฤหัสถ์บริโภคกามอย่างมีความสุข
แก่แล้วจึงควรประพฤติธรรมอันดีงามนี้ในภายหลังมิใช่หรือ’
[๓๔๓] หม่อมฉันเข้าใจว่า ‘พระคันธกุฎีที่ประทับแห่งพระชินเจ้าว่างเปล่า’
จึงเดินเข้าไป ได้เห็นพระชินเจ้าผู้งดงามดังดวงอาทิตย์อุทัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๔๔] ประทับสำราญอยู่พระองค์เดียว มีสตรีสาวสวยพัดวีอยู่
ครั้นแล้วจึงมีความคิดผิดอย่างนี้ว่า ‘พระผู้มีพระภาค
ผู้องอาจกว่านรชนพระองค์นี้มิได้เศร้าหมองเลย
[๓๔๕] หญิงสาวนั้นก็มีรัศมีเปล่งปลั่งดังทองธรรมชาติ
มีหน้าตางดงามดังปทุมชาติ ริมฝีปากก็แดงดังผลตำลึงสุก
ชำเลืองมองแต่น้อย เป็นที่ติดตาตรึงใจยิ่งนัก
[๓๔๖] มีลำแขนงามเหมือนทองคำ วงหน้าสวย
ถันทั้งคู่ก็เต่งตึงดังดอกบัวตูม มีเอวคอดกลมกลึง
สะโพกผึ่งผาย ลำขาน่ายินดี มีเครื่องประดับสวยงาม
[๓๔๗] ผ้าสไบมีสีแดงแวววาว นุ่งห่มผ้าเนื้อเกลี้ยงสีเขียว
มีรูปสมบัติที่ชวนชมโดยไม่รู้เบื่อ
ประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทุกชนิด’
[๓๔๘] หม่อมฉันเห็นสตรีสาวนั้นแล้วจึงคิดว่า
‘โอ ! สตรีสาวคนนี้มีรูปงามเหลือเกิน
เราไม่เคยเห็นด้วยนัยน์ตาดวงนี้ในที่ไหน ๆ มาก่อนเลย’
[๓๔๙] ขณะนั้น สตรีสาวคนนั้นถูกชราย่ำยี
มีผิวพรรณแปลกไป ปากอ้า ฟันหัก ผมหงอก
น้ำลายไหล หน้าไม่สะอาด
[๓๕๐] หูตึง นัยน์ตาฝ้าฟาง ถันหย่อนยาน ไม่งาม
เหี่ยวย่นทั่วกาย มีศีรษะและร่างกายสั่นงันงก
[๓๕๑] หลังงอ มีไม้เท้าเป็นเพื่อนเดิน
ร่างกายซูบผอมซีดไป สั่นงันงก ล้มลงแล้วหายใจถี่ ๆ
[๓๕๒] จากนั้น ความสังเวชที่ก่อให้เกิดขนพองสยองเกล้า
ซึ่งไม่เคยมีก็ได้มีแก่หม่อมฉันว่า
‘น่าติเตียน รูปไม่สะอาดที่พวกคนเขลายินดีกัน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๕๓] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
มีจิตเบิกบานโสมนัส ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉัน
ผู้มีใจสังเวชแล้ว จึงตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๕๔] “เขมา เธอจงดูรูปกายที่กระสับกระส่าย
ไม่สะอาด เปื่อยเน่า (มีของเหลว)
ไหลเข้าและไหลออก ที่พวกคนเขลาพากันยินดียิ่งนัก
[๓๕๕] เธอจงอบรมจิตให้เป็นสมาธิมีอารมณ์เดียว
ด้วยอารมณ์ที่ไม่งามเถิด
เธอจงเจริญกายคตาสติมากไปด้วยความเบื่อหน่ายเถิด
[๓๕๖] รูปของหญิงนี้เป็นฉันใด
รูปกายของเธอนั้นก็เป็นฉันนั้น
รูปกายของเธอนั้นเป็นฉันใด
รูปของหญิงนี้ก็เป็นฉันนั้น
เธอจงคลายความยินดีพอใจในกาย
ทั้งภายในและภายนอกเถิด
[๓๕๗] จงอบรมอนิมิตตวิโมกข์๑ จงละมานานุสัยเสีย
แต่นั้นเธอจักเป็นผู้อยู่อย่างสงบ
เพราะมานานุสัยสงบระงับไป
[๓๕๘] ชนเหล่าใดกำหนัดเพราะราคะเกาะติดกระแสอยู่
เหมือนแมลงมุมเกาะใยอยู่ตรงกลางที่ทำไว้เอง
ชนเหล่านั้นตัดกระแสราคะนั้นแล้ว ไม่มีความอาลัย
ละกามสุข หลีกไป”
[๓๕๙] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้เป็นสารถีฝึกนรชน
ทรงทราบว่า หม่อมฉันมีจิตควรแล้ว
จึงทรงแสดงมหานิทานสูตรเพื่อทรงแนะนำหม่อมฉัน

เชิงอรรถ :
๑ อนิมิตตวิโมกข์ หมายถึงความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญาพิจารณาเห็นนามรูป โดยความเป็นอนิจจัง คือ
หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจตาแล้วถอนนิมิตเสียได้ (ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๒๒๙/๒๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๖๐] หม่อมฉันได้ฟังพระสูตรอันประเสริฐนั้นแล้ว
จึงระลึกถึงสัญญาในกาลก่อนได้
ตั้งมั่นอยู่ในสัญญานั้นแล้ว ชำระธรรมจักษุ๑ให้หมดจด
[๓๖๑] ขณะนั้น หม่อมฉันหมอบลงแทบพระยุคลบาท
ของพระพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เพื่อประสงค์จะแสดงโทษ จึงได้กราบทูลคำนี้ว่า
[๓๖๒] “ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเห็นแจ้งในธรรมทั้งปวง
หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งพระมหากรุณา
หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เสด็จข้ามวัฏฏสงสารได้แล้ว
หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงประทานอมตธรรม
หม่อมฉันขอนอบน้อมพระองค์
[๓๖๓] หม่อมฉันจมอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ
หลงใหลเพราะกามราคะ
พระองค์ทรงแนะนำด้วยอุบายที่ชอบ
เป็นผู้ยินดีในธรรมที่ทรงแนะนำ
[๓๖๔] สัตว์ทั้งหลายพลัดพรากจากประโยชน์
เพราะไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่เช่นพระองค์
จึงประสบมหันตทุกข์อยู่ในสงสารสาคร
[๓๖๕] ในกาลใดหม่อมฉันยังมิได้มาเข้าเฝ้าพระองค์
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ผู้ไม่มีข้าศึกคือกิเลส

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมจักษุ หมายถึงปัญญาในมรรค ๓ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค (ที.สี.อ.
๑/๒๑๓/๑๖๕,๒๑๔,๒๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
ทรงถึงที่สุดแห่งมรณธรรม
ทรงมีธรรมที่เป็นประโยชน์อย่างดี
หม่อมฉันขอแสดงโทษนั้น
[๓๖๖] หม่อมฉันมัวแต่ยินดีในรูป
ระแวงว่าพระองค์จะไม่เป็นประโยชน์จึงมิได้เข้าเฝ้า
พระองค์ผู้ทรงมีความเกื้อกูลมาก
ทรงประทานพระธรรมที่ประเสริฐ
หม่อมฉันขอแสดงโทษนั้น”
[๓๖๗] ครั้งนั้น พระชินเจ้าผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
มีพระสุรเสียงไพเราะและก้องกังวาน
เมื่อจะทรงใช้น้ำอมฤตรดหม่อมฉันจึงตรัสว่า “ลุกขึ้นเถิดเขมา”
[๓๖๘] ครั้งนั้น หม่อมฉันประณตน้อมนมัสการด้วยเศียรเกล้า
ทำประทักษิณพระองค์แล้ว กลับไปเฝ้าพระราชา
ผู้เป็นใหญ่กว่านรชนแล้วกราบทูลคำนี้ว่า
[๓๖๙] “ข้าแต่พระองค์ผู้ย่ำยีข้าศึก
อุบายที่พระองค์ทรงดำริแล้วโดยชอบนี้ น่าอัศจรรย์
หม่อมฉันผู้ปรารถนาจะเที่ยวชมพระเวฬุวันมหาวิหาร
ได้เฝ้าพระมุนีผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังป่าแล้ว
[๓๗๐] ข้าแต่พระราชา ถ้าพระองค์ทรงพอพระทัย
หม่อมฉันผู้เบื่อหน่ายในรูปตามที่พระมุนีทรงตรัสสอนแล้ว
จักบวชในศาสนาของพระมุนีผู้คงที่พระองค์นั้น”
ภาณวารที่ ๒ จบ

[๓๗๑] ครั้งนั้น พระเจ้าแผ่นดินพระนามว่าพิมพิสาร พระองค์นั้น
ทรงประคองอัญชลีตรัสว่า “พระน้องนาง
พี่อนุญาตแก่เธอ ขอการบรรพชาจงสำเร็จแก่เธอเถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๘. เขมาเถริยาปทาน
[๓๗๒] ครั้งนั้น หม่อมฉันบวชมาแล้วผ่านไป ๗ เดือน
เห็นประทีปสว่างขึ้นและดับไป จึงมีใจสังเวช
[๓๗๓] มีความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง ฉลาดในปัจจยาการ
ข้ามพ้นโอฆะ๑ ๔ แล้ว ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๓๗๔] หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ
[๓๗๕] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๓๗๖] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ
นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณที่บริสุทธิ์ของหม่อมฉัน
ล้วนเกิดขึ้นแล้วในศาสนาของพระพุทธเจ้า
[๓๗๗] หม่อมฉันเป็นผู้ฉลาดในวิสุทธิทั้งหลาย๒
คล่องแคล่วในกถาวัตถุ
รู้แจ้งนัยแห่งพระอภิธรรม เชี่ยวชาญในศาสนา
[๓๗๘] จากนั้น พระราชสวามีผู้ฉลาด
ตรัสถามปัญหาที่ละเอียดลึกซึ้งในโตรณวัตถุ
หม่อมฉันได้วิสัชนาโดยควรแก่กถา
[๓๗๙] ครั้งนั้น พระราชาเสด็จเข้าเฝ้าพระสุคตแล้ว
ทูลถามปัญหาเหล่านั้น
พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ปัญหาเหล่านั้น
เหมือนอย่างที่หม่อมฉันพยากรณ์

เชิงอรรถ :
๑ โอฆะ หมายถึงสังกิเลสท่วมทับใจสัตว์มี ๔ คือ (๑) กาโมฆะ (๒) ภโวฆะ (๓) ทิฏโฐฆะ (๔) อวิชโชฆะ
๒ วิสุทธิทั้งหลาย หมายถึงสีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ และทิฏฐิวิสุทธิ (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๔/๒๕๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๓๘๐] พระชินเจ้าผู้สูงสุดแห่งนระ
ทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น
จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะว่า
เป็นผู้เลิศกว่าบรรดาภิกษุณีผู้มีปัญญามาก
[๓๘๑] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๘๒] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๘๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระเขมาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เขมาเถริยาปทานที่ ๘ จบ

๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุบลวรรณาเถรี
(พระอุบลวรรณาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๘๔] พระอุบลวรรณาภิกษุณีถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์
กราบไหว้พระยุคลบาทของพระศาสดาแล้วกราบทูลคำนี้ว่า
[๓๘๕] “ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันข้ามพ้นชาติสงสารได้แล้ว
บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว ทุกข์ทั้งปวงหม่อมฉันให้สิ้นไปแล้วจึงขอบอกว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๓๘๖] “ขอประชุมชนผู้เลื่อมใสในศาสนาของพระชินเจ้า
และชนที่ข้าพเจ้าได้ทำความผิดให้เท่าที่มีอยู่
จงยกโทษให้ข้าพเจ้า เฉพาะพระพักตร์ของพระชินเจ้า
[๓๘๗] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันขอกราบทูลว่า
เมื่อหม่อมฉันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสาร
ถ้าหม่อมฉันมีความผิดพลาด
ขอพระองค์จงยกโทษให้หม่อมฉันด้วยเถิด”
[๓๘๘] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุบลวรรณา
ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเรา เธอจงแสดงฤทธิ์
และตัดความสงสัยของบริษัท ๔ เท่าที่มีอยู่ ในวันนี้เถิด”
[๓๘๙] พระอุบลวรรณาเถรีกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระปัญญา ผู้ทรงพระรัศมีรุ่งเรือง
หม่อมฉันเป็นธิดาของพระองค์
กรรมที่ทำได้ยาก ทำได้แสนลำบากจำนวนมาก
หม่อมฉันได้ทำแล้ว
[๓๙๐] ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระจักษุ๑
หม่อมฉันมีผิวพรรณเหมือนสีดอกอุบล
จึงมีนามว่าอุบลวรรณา
เป็นธิดาของพระองค์ ขอกราบพระยุคลบาท

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีพระจักษุ ในที่นี้หมายถึงจักษุ ๕ คือ (๑) มังสจักษุ (ตาเนื้อ คือ ทรงมีพระเนตรงาม มีอำนาจ
เห็นแจ่มใสไว และเห็นได้ไกล) (๒) ทิพยจักษุ (ตาทิพย์ คือ ทรงมีพระญาณเห็นหมู่สัตว์ผู้เป็นต่าง ๆ กัน
ด้วยอำนาจกรรม) (๓) ปัญญาจักษุ (ตาปัญญา คือ ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นเหตุ
ให้สามารถตรัสรู้อริยสัจจธรรมเป็นต้น) (๔) พุทธจักษุ (ตาพระพุทธเจ้า คือ ทรงประกอบด้วยอินทริย-
ปโรปริยัตตญาณและอาสยานุสยญาณเป็นเหตุให้ทรงทราบอัธยาศัยและอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์แล้วทรงสั่งสอน
แนะนำให้บรรลุคุณวิเศษต่าง ๆ (ยังพุทธกิจให้บริบูรณ์) (๕) สมันตจักษุ (ตาเห็นรอบ คือ ทรงประกอบ
ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ อันหยั่งรู้ธรรมทุกประการ) (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๑/๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๓๙๑] พระราหุลเถระและหม่อมฉัน
เกิดร่วมภพเดียวกันหลายร้อยชาติ
เป็นผู้มีจิตสมานฉันท์กัน
[๓๙๒] บังเกิดพร้อมกันร่วมชาติเดียวกัน
เมื่อถึงภพสุดท้าย แม้เราทั้ง ๒ ก็ชื่อว่าเกิดร่วมภพเดียวกัน
[๓๙๓] พระเถระนามว่าราหุลเป็นพระโอรส
หม่อมฉันผู้มีนามว่าอุบลวรรณาเป็นธิดา
ข้าแต่พระวีระ ขอเชิญทอดพระเนตรฤทธิ์ของหม่อมฉันเถิด
หม่อมฉันจักแสดงพลังถวายพระศาสดา”
[๓๙๔] พระอุบลวรรณาเถรียกมหาสมุทรทั้ง ๔
วางไว้ที่ฝ่ามือเหมือนเด็กเล่นน้ำมันที่อยู่บนฝ่ามือ
[๓๙๕] ยกแผ่นดินแล้ว วางไว้ที่ฝ่ามือ
เหมือนเด็กหนุ่มดึงไส้หญ้าป้อง
[๓๙๖] ใช้ฝ่ามือปิดครอบจักรวาลแล้ว
บันดาลหยาดฝนสีต่าง ๆ ให้ตกลงที่ศีรษะบ่อย ๆ
[๓๙๗] ทำพื้นพสุธาให้เป็นครก ทำก้อนกรวดให้เป็นข้าวเปลือก
ทำภูเขาสิเนรุให้เป็นสาก
แล้วตำอยู่เหมือนนางกุมาริกาซ้อมข้าว
[๓๙๘] หม่อมฉันมีนามว่าอุบลวรรณา
เป็นธิดาของพระพุทธองค์ผู้ประเสริฐที่สุด
มีความชำนาญในอภิญญาทั้งหลาย
เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์
[๓๙๙] หม่อมฉันผู้มีจักษุแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ
ถวายพระองค์ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ประกาศนามและโคตรแล้วขอกราบพระยุคลบาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๔๐๐] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ
[๔๐๑] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๔๐๒] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ
นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณของหม่อมฉัน
บริสุทธิ์ไพบูลย์ตามสภาวะแห่งพระองค์
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๔๐๓] ข้าแต่พระมหามุนี อธิการเป็นอันมากของหม่อมฉัน
อันหม่อมฉันผู้เสร็จสงครามแสดงแล้ว(กระทำแล้ว)
แด่พระชินเจ้าผู้ประเสริฐทั้งหลายในปางก่อน
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๔๐๔] ข้าแต่พระมหามุนี
ขอพระองค์ทรงระลึกถึงกุศลกรรมของหม่อมฉัน
ที่หม่อมฉันกระทำแล้วในปางก่อน
ข้าแต่พระมหาวีระ
หม่อมฉันสั่งสมบุญไว้แล้วเพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๔๐๕] ข้าแต่พระมหาวีระ พระองค์ทรงเว้นอนาจาร
ในสถานที่ไม่ควร อบรมพระญาณให้แก่กล้าอยู่
หม่อมฉันได้สละชีวิตที่สูงสุดเพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๔๐๖] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันได้ถวายชีวิต
ของหม่อมฉันหลายหมื่นโกฏิกัป
แม้ตัวหม่อมฉัน หม่อมฉันก็ได้สละแล้ว
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๔๐๗] ครั้งนั้น บริษัททั้งหมดมีความพิศวงยิ่งนัก
จึงได้พากันประนมมือเหนือศีรษะ พูดว่า
‘ข้าแต่พระแม่เจ้า อย่างไร พระแม่เจ้าจึงมีความบากบั่น มีฤทธิ์
หาสิ่งใดเปรียบปานมิได้’
[๔๐๘] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นนางนาคกัญญามีนามว่าวิมลา
หมู่นาคยกย่องว่า เป็นผู้ประเสริฐกว่าพวกนางนาคกัญญา
[๔๐๙] พญานาคชื่อมโหรคะ
เลื่อมใสในศาสนาของพระชินเจ้า
ทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงมีเดชานุภาพมาก พร้อมทั้งพระสาวก
[๔๑๐] ตกแต่งมณฑปแก้ว บัลลังก์แก้ว
โปรยทรายแก้ว เครื่องอุปโภคแก้ว
[๔๑๑] และตกแต่งหนทางประดับด้วยธงแก้ว
พญานาคนั้นบรรเลงดนตรี
ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๔๑๒] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงแผ่ขยายบริษัท ๔ ประทับนั่งบนอาสนะ
อันประเสริฐในภพของพญานาคชื่อมโหรคะ
[๔๑๓] พญานาคได้ถวายข้าวน้ำ
ขาทนียะและโภชนียาหารอย่างดี ๆ มีราคามาก
แด่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระยศใหญ่
[๔๑๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ครั้นเสวยเสร็จแล้วทรงล้างบาตร
ได้ทรงทำการอนุโมทนาอันสมควร
โดยอุบายอันแยบคายว่า ‘นางนาคกัญญาจงเป็นผู้มีฤทธิ์มาก’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๔๑๕] นางนาคกัญญา เห็นพระสัพพัญญู
ผู้เบิกบาน มีพระยศมาก
จึงทำจิตให้เลื่อมใส ทำใจให้มั่นคงต่อพระศาสดา
[๔๑๖] ครั้งนั้น พระมหาวีระพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงทราบวาระจิตของหม่อมฉันแล้ว
ทรงแสดงภิกษุณีรูปหนึ่งด้วยฤทธิ์
[๔๑๗] ภิกษุณีรูปนั้นมีความแกล้วกล้าแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง
หม่อมฉันเกิดปีติปราโมทย์ได้กราบทูลพระศาสดาว่า
[๔๑๘] ‘หม่อมฉันได้เห็นฤทธิ์ทั้งหลายที่ภิกษุณีรูปนี้แสดงแล้ว
ข้าแต่พระธีรเจ้า อย่างไร ภิกษุณีรูปนั้นจึงเป็นผู้แกล้วกล้าดีในฤทธิ์’
[๔๑๙] (พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสตอบว่า)
‘ภิกษุณีรูปนั้นเป็นธิดาที่เกิดจากโอษฐ์ของเรา
ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเรา มีฤทธิ์มาก มีความแกล้วกล้าดีในฤทธิ์’
[๔๒๐] หม่อมฉันได้ฟังพระพุทธพจน์แล้ว
มีความยินดีได้กราบทูลอย่างนี้ว่า
‘แม้หม่อมฉันก็ขอเป็นผู้มีความแกล้วกล้าในฤทธิ์เช่นนั้น
[๔๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
หม่อมฉันเบิกบานโสมนัส มีใจสูงสุดถึงที่แล้ว
ขอให้ได้เป็นเช่นภิกษุณีรูปนี้ในอนาคตกาลเถิด’
[๔๒๒] หม่อมฉันตกแต่งบัลลังก์แก้วมณี
และมณฑปที่ผุดผ่องแล้ว
ทูลนิมนต์พระผู้นำสัตว์โลกพร้อมทั้งพระสงฆ์
ให้เสวยและฉันข้าวน้ำจนอิ่มหนำ
[๔๒๓] แล้วได้ใช้ดอกอุบลที่มีชื่อว่าอรุณ
ซึ่งเป็นดอกไม้อันประเสริฐของพวกนาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
บูชาพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
โดยตั้งความปรารถนาไว้ว่า
‘ขอให้ผิวพรรณของข้าพเจ้าจงเป็นเช่นนี้เถิด’
[๔๒๔] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายนาคแล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๔๒๕] จุติจากภพนั้นแล้วก็มาเกิดในหมู่มนุษย์
ได้ถวายบิณฑบาตที่ใช้ดอกอุบลปิดแด่พระสยัมภู
[๔๒๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้ทรงเป็นผู้นำ ผู้มีพระเนตรงาม
มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๔๒๗] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นธิดาของเศรษฐี
ในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด
ได้ทูลนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพร้อมทั้งพระสงฆ์
[๔๒๘] ถวายมหาทานและบูชาพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ด้วยดอกอุบลเป็นอันมากแล้ว
ได้ปรารถนาให้มีผิวพรรณงามเหมือนดอกอุบลเหล่านั้น
[๔๒๙] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๔๓๐] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี
เป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด
ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๔๓๑] หม่อมฉันเป็นธิดาคนที่ ๒ ของพระองค์ มีนามปรากฏว่า
สมณีคุตตา ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้ว
พอใจการบรรพชา
[๔๓๒] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช
ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้านครองเรือนอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี
[๔๓๓] พระราชกัญญาทั้ง ๗ พระองค์
มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี
เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า
[๔๓๔] คือ (๑) พระนางสมณี (๒) พระนางสมณคุตตา
(๓) พระนางภิกษุณี (๔) พระนางภิกขุทาสิกา
(๕) พระนางธรรมา (๖) พระนางสุธรรมา
(๗) พระนางสังฆทาสิกา
[๔๓๕] (พระราชธิดาทั้ง ๗ นั้น ได้กลับชาติมาเกิด)
คือ หม่อมฉัน ๑ พระเขมาเถรีผู้มีปัญญา ๑
พระปฏาจาราเถรี ๑ พระกุณฑลเกสีเถรี ๑
พระกีสาโคตมีเถรี ๑ พระธรรมทินนาเถรี ๑
และคนที่ ๗ เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา
[๔๓๖] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้วจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๔๓๗] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้ว
มาเกิดในตระกูลใหญ่ในหมู่มนุษย์
ได้ถวายผ้าอย่างดีมีสีเหลือง เนื้อเกลี้ยงแก่พระอรหันต์องค์หนึ่ง
[๔๓๘] จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดในตระกูลพราหมณมหาศาลในอริฏฐบุรี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
เป็นธิดาของพราหมณ์ชื่อติริฏิวัจฉะ
มีชื่อว่าอุมมาทันตี มีสิริโฉมงดงามเป็นที่จูงใจให้หลงใหล
[๔๓๙] จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในตระกูลหนึ่ง
ที่ไม่ค่อยมีความอุดมสมบูรณ์มากนักในชนบท
รักษาข้าวสาลีในครั้งนั้น
[๔๔๐] หม่อมฉันเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง
ได้ถวายข้าวตอก ๕๐๐ ดอก ห่อด้วยดอกปทุม
ปรารถนามีบุตร ๕๐๐ คน
[๔๔๑] เมื่อหม่อมฉันปรารถนาบุตรจำนวนเท่านั้นแล้ว
ได้ถวายน้ำผึ้งแด่พระสยัมภู
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้เกิดภายในดอกบัวในป่า
[๔๔๒] ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้ากาสี เป็นผู้ที่ประชาชนสักการบูชา
ได้ให้กำเนิดพระราชบุตรครบ ๕๐๐ องค์
[๔๔๓] เมื่อพระราชบุตรเหล่านั้นทรงเจริญวัยแล้ว
ทรงเล่นน้ำ ได้เห็นดอกบัวที่ร่วงโรยไป
ก็ได้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
[๔๔๔] หม่อมฉันนั้น เมื่อต้องพลัดพรากจากบุตรผู้ประเสริฐเหล่านั้น
ก็มีความเศร้าโศก จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดในหมู่บ้านข้างภูเขาอิสิคิลิ
[๔๔๕] เมื่อหม่อมฉันทราบว่า บุตรเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
ได้ถือข้าวยาคูไปเพื่อบุตรและเพื่อตนเอง
ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์
[๔๔๖] เข้าไปสู่บ้านเพื่อภิกษาหาร ก็ระลึกถึงบุตรขึ้นมา
ธารน้ำนมของหม่อมฉันก็หลั่งไหลออกเพราะความรักบุตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๔๔๗] หม่อมฉันมีความเลื่อมใส ได้ถวายข้าวยาคูด้วยมือของตน
แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
หม่อมฉันจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ไปเกิดในสวนนันทวันบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๔๔๘] ข้าแต่พระมหาวีระ
หม่อมฉันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ได้เสวยสุขและทุกข์และได้สละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๔๔๙] หม่อมฉันมีทุกข์ก็มาก มีสมบัติก็หลายชนิด
ดังที่กราบทูลมานี้ เมื่อถึงภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในกรุงสาวัตถี
[๔๕๐] ในตระกูลเศรษฐีมีทรัพย์มาก
ประกอบด้วยสุขสมบัติ มีความรุ่งเรืองด้วยรัตนะต่าง ๆ
ให้สำเร็จสิ่งที่ปรารถนาทุกอย่าง
[๔๕๑] เป็นผู้ที่ประชุมชนสักการบูชา
นับถือและยำเกรง ประกอบด้วยสิริรูป
อันชนในตระกูลทั้งหลายสักการะอย่างยิ่ง
[๔๕๒] หม่อมฉันเป็นหญิงที่น่าปรารถนายิ่งนัก
ด้วยสิริคือรูปสมบัติและโภคสมบัติ
บุตรเศรษฐีทั้งหลายและบริวารของตนจำนวนมากต่างปรารถนา
[๔๕๓] หม่อมฉันละเรือน ออกบวชเป็นบรรพชิต
ยังไม่ถึงกึ่งเดือนก็ได้บรรลุสัจจะ ๔
[๔๕๔] หม่อมฉันเนรมิตรถเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสได้ด้วยฤทธิ์
ขอกราบพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของโลกผู้มีพระสิริ
[๔๕๕] (พญามารมากล่าวกับหม่อมฉันว่า)
‘ท่านเข้ามายังต้นไม้ชั้นเลิศที่มีดอกแย้มบานดีแล้ว
ยืนอยู่เพียงผู้เดียวที่โคนต้นสาละ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
ไม่มีใครเป็นเพื่อน ท่านผู้โง่เขลา
ท่านไม่กลัวพวกนักเลงดอกหรือ’
[๔๕๖] หม่อมฉันกล่าวว่า ‘ถึงพวกนักเลงตั้ง ๑๐๐,๐๐๐ คนมาในที่นี้
พึงเป็นเหมือนกับท่านนี้ ก็ทำขนของเราให้เอนให้ไหวไม่ได้
พญามาร ท่านเพียงผู้เดียวจักทำอะไรเราได้
[๔๕๗] เรานี้จักหายตัวไปก็ได้ หรือว่าเข้าไปในท้องของท่านก็ได้
ท่านจักมองไม่เห็นเราผู้ยืนอยู่ที่ระหว่างคิ้วของท่าน
[๔๕๘] เรามีความชำนาญในเรื่องจิต อิทธิบาทเราก็เจริญดีแล้ว
พ้นจากสรรพกิเลสเครื่องผูกทั้งปวง
พญามาร เรามิได้เกรงกลัวท่าน
[๔๕๙] กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว
แม้ขันธ์ทั้งหลาย๑ก็คล้ายกองไฟ
ท่านกล่าวถึงความยินดีในกาม
บัดนี้ เราไม่มีความยินดีในกาม
[๔๖๐] ความเพลิดเพลินในอารมณ์ทั้งปวงเรากำจัดได้หมดแล้ว
กองแห่งความมืด๒เราก็ทำลายได้แล้ว
มารผู้มีบาป ท่านจงรู้อย่างนี้ ท่านถูกเรากำจัดแล้ว’
[๔๖๑] พระชินเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น
จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะในบริษัททั้งหลายว่า
‘อุบลวรรณาภิกษุณีเป็นผู้ประเสริฐสุด
แห่งภิกษุณีทั้งหลายผู้มีฤทธิ์’

เชิงอรรถ :
๑ ขันธ์ทั้งหลาย หมายถึงขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์
(ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๑๕/๒๙๙-๓๐๐)
๒ กองแห่งความมืด ในที่นี้หมายถึงโมหะ (ความหลง) (ขุ.เถรี.อ. ๓/๑๒,๔๓,๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน
[๔๖๒] พระศาสดาหม่อมฉันก็ปรนนิบัติแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
ภาระอันหนักหม่อมฉันก็ปลงลงได้แล้ว
ตัณหาที่นำไปสู่ภพหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
[๔๖๓] กุลบุตรกุลธิดาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง
หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
[๔๖๔] ทายกทั้งหลายน้อมปัจจัย คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เข้ามาครั้งละหลายพันโดยรอบ
[๔๖๕] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๖๖] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๖๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระอุบลวรรณาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปปลวัณณาเถริยาปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน
๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปฏาจาราเถรี
(พระปฏาจาราเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๖๘] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๔๖๙] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี
มีความรุ่งเรืองด้วยรัตนะต่าง ๆ ในกรุงหงสวดี
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขมาก
[๔๗๐] หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระมหาวีระพระองค์นั้นแล้ว
ได้ฟังพระธรรมเทศนา แต่นั้นหม่อมฉันเกิดความเลื่อมใส
ได้ถึงพระชินเจ้าเป็นสรณะ
[๔๗๑] ครั้งนั้น พระชินเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ
ทรงสรรเสริญภิกษุณีรูปหนึ่งผู้มีหิริ ผู้คงที่
คล่องแคล่วในกิจที่ควรและไม่ควรว่า
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ทรงวินัย
[๔๗๒] ครั้งนั้น หม่อมฉันมีจิตเบิกบาน หวังตำแหน่งนั้น
จึงทูลนิมนต์พระทศพลผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
พร้อมทั้งพระสงฆ์
[๔๗๓] ให้เสวยและฉันตลอด ๗ วัน ถวายบาตรและจีวรแล้ว
ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาท แล้วได้กราบทูลคำนี้ว่า
[๔๗๔] ‘ข้าแต่พระธีรมุนี ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ภิกษุณีรูปใด ที่พระองค์ทรงสรรเสริญในตำแหน่งที่เลิศ
ในวันที่ ๘ แต่นี้ ถ้าตำแหน่งนั้นจะสำเร็จแก่หม่อมฉัน
หม่อมฉันจักเป็นเช่นนั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน
[๔๗๕] ครั้งนั้น พระศาสดาได้ตรัสกับหม่อมฉันว่า
‘นางผู้เจริญ อย่ากลัวเลย จงเบาใจเถิด
เธอจักได้ตำแหน่งนั้นสมความปรารถนาในอนาคตกาล
[๔๗๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๔๗๗] สตรีผู้นี้จักมีนามว่าปฏาจารา
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองคนั้น’
[๔๗๘] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นผู้เบิกบาน มีจิตประกอบด้วยเมตตา
ปรนนิบัติพระชินเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
พร้อมทั้งพระสงฆ์จนตลอดชีวิต
[๔๗๙] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๔๘๐] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๔๘๑] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี
เป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด
ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๔๘๒] หม่อมฉันเป็นธิดาคนที่ ๓ ของพระองค์
มีนามปรากฏว่าภิกษุณี
ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้วพอใจการบรรพชา
[๔๘๓] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช
ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้านครองเรือนอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน
[๔๘๔] พระราชกัญญาทั้ง ๗ พระองค์
มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี
เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า
[๔๘๕] คือ (๑) พระนางสมณี (๒) พระนางสมณคุตตา
(๓) พระนางภิกษุณี (๔) พระนางภิกขุทาสิกา
(๕) พระนางธรรมา (๖) พระนางสุธรรมา
(๗) พระนางสังฆทาสิกา
[๔๘๖] (พระราชธิดาทั้ง ๗ นั้นได้กลับชาติมาเกิด)
คือ หม่อมฉัน ๑ พระอุบลวรรณาเถรี ๑
พระเขมาเถรี ๑ พระภัทราภิกษุณีเถรี ๑
พระกีสาโคตมีเถรี ๑ พระธรรมทินนาเถรี ๑
และคนที่ ๗ เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา
[๔๘๗] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๔๘๘] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี
ในกรุงสาวัตถีที่เจริญมั่งคั่ง กว้างขวาง มีทรัพย์มาก
[๔๘๙] เมื่อหม่อมฉันเจริญวัยเป็นสาว
ได้ตกอยู่ในอำนาจของวิตก
พบบุรุษชาวชนบทผู้หนึ่งแล้วได้ตามไปอยู่กับเขา
[๔๙๐] หม่อมฉันคลอดบุตรคนที่หนึ่ง ตั้งครรภ์บุตรคนที่ ๒
เมื่อนั้น หม่อมฉันปรารถนาว่าจะไปเยี่ยมมารดาบิดา
[๔๙๑] ครั้งนั้น หม่อมฉันมิได้บอกสามี เมื่อสามีของหม่อมฉันไม่อยู่
หม่อมฉันคนเดียวออกจากเรือน
จะเดินทางไปยังกรุงสาวัตถีที่ประเสริฐสุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน
[๔๙๒] ภายหลังสามีของหม่อมฉันตามมาทันที่หนทาง
ขณะนั้น ลมกรรมชวาต๑แสนจะทารุณเกิดขึ้นแก่หม่อมฉัน
[๔๙๓] ครั้งนั้น มหาเมฆก็เกิดขึ้นในเวลาที่หม่อมฉันจะคลอด
สามีไปหาเครื่องกำบังแต่ถูกงูกัดตาย
[๔๙๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันมีทุกข์เพราะการคลอด หมดที่พึ่ง
เป็นคนกำพร้า เดินไปเห็นแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่ง
ซึ่งมีน้ำเต็มเปี่ยม เป็นที่อยู่อาศัยของนกเหยี่ยว
[๔๙๕] หม่อมฉันอุ้มลูกคนเล็ก ข้ามไปที่ฝั่งโน้นคนเดียว
ให้ลูกคนเล็กดื่มนมจนอิ่มแล้ว
ประสงค์ที่จะนำบุตรอีกคนหนึ่ง (คนโต) ให้ข้ามมา
[๔๙๖] จึงย้อนกลับมา เหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบลูกคนเล็กที่ร้องไห้จ้าไป
บุตรคนโตกระแสน้ำก็พัดไป
หม่อมฉันนั้นเปี่ยมไปด้วยความเศร้าโศกเหลือประมาณ
[๔๙๗] จึงเดินทางต่อไปยังกรุงสาวัตถี ได้ฟังข่าวว่า
ญาติของตน (มารดา บิดาและพี่ชาย) ตายแล้ว
เวลานั้น หม่อมฉันอัดอั้นตันใจด้วยความเศร้าโศก
เปี่ยมด้วยความโสกาดูรอย่างใหญ่หลวง ได้กล่าวว่า
[๔๙๘] ‘ลูก ๒ คนก็ตายเสียแล้ว สามีของเราก็ตายในป่า
มารดาบิดาและพี่ชายของเรา
ก็ถูกเผาอยู่ที่เชิงตะกอนเดียวกัน’
[๔๙๙] ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งซูบผอม ทั้งเหลืองซีด
ไม่มีที่พึ่ง ตรอมใจอยู่ทุกวัน เมื่อหม่อมฉันกระเซอะกระเซิงไป
ได้พบพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นสารถีฝึกนรชน

เชิงอรรถ :
๑ ลมกรรมชวาต หมายถึงลมเกิดแต่กรรมคือลมเกิดในครรภ์เวลาคลอดบุตร ได้แก่ ลมเบ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] ๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน
[๕๐๐] ลำดับนั้น พระศาสดาได้ตรัสกับหม่อมฉันว่า
‘เธออย่าเศร้าโศกถึงบุตรเลย
จงผ่อนคลายบ้างเถิด จงแสวงหาตนเองเถิด
จะเดือดร้อนอย่างไร้ประโยชน์ไปทำไม
[๕๐๑] บุตร ธิดา ญาติและพวกพ้อง
มีไว้เพื่อต้านทานคนผู้ถึงที่ตายไม่ได้เลย
บรรดาหมู่ญาติ ผู้ที่จะต้านทานได้ก็ไม่มี’
[๕๐๒] หม่อมฉันได้ฟังพระดำรัสของพระมุนีนั้นแล้ว
ได้บรรลุโสดาปัตติผล
บวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๕๐๓] หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุและเจโตปริยญาณ
เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
[๕๐๔] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
หม่อมฉันทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไปแล้ว
เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทิน
[๕๐๕] ครั้งนั้น หม่อมฉันเรียนวินัยทั้งปวง
ในสำนักของพระผู้ทรงรู้เห็นธรรมทั้งปวง
และกล่าวอธิบายพระวินัยทั้งปวงได้อย่างพิสดารตามเป็นจริง
[๕๐๖] พระชินเจ้าทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น
จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า
‘ปฏาจาราภิกษุณีเพียงผู้เดียวเลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ทรงวินัย’
[๕๐๗] พระศาสดาหม่อมฉันก็ปรนนิบัติแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ทำสำเร็จแล้ว
ภาระอันหนักหม่อมฉันก็ปลงลงได้แล้ว
ตัณหาที่นำไปสู่ภพหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. เอกูโปสถิกวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรคนี้
[๕๐๘] กุลบุตรกุลธิดาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง
หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
[๕๐๙] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๕๑๐] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๕๑๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ปฏาจาราภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปฏาจาราเถริยาปทานที่ ๑๐ จบ
เอกูโปสถิกวรรคที่ ๒ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เอกูโปสถิกาเถริยาปทาน ๒. สลฬปุปผิกาเถริยาปทาน
๓. โมทกทายิกาเถริยาปทาน ๔. เอกาสนทายิกาเถริยาปทาน
๕. ปัญจทีปทายิกาเถริยาปทาน ๖. นฬมาลิกาเถริยาปทาน
๗. มหาปชาบดีโคตมีเถริยาปทาน ๘. เขมาเถริยาปทาน
๙. อุปปลวัณณาเถริยาปทาน ๑๐. ปฏาจาราเถริยาปทาน

ในวรรคนี้ บัณฑิตนับจำนวนคาถาได้ ๕๐๙ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน
๓. กุณฑลเกสีวรรค
หมวดว่าด้วยพระเถรีชื่อกุณฑลเกสีเป็นต้น
๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกุณฑลเกสีเถรี
(พระกุณฑลเกสีเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๒] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี
ที่มีความรุ่งเรืองด้วยรัตนะต่าง ๆ ในกรุงหงสวดี
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขมาก
[๓] หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระมหาวีระพระองค์นั้นแล้วได้ฟังธรรมที่สูงสุด
แต่นั้นหม่อมฉันเกิดความเลื่อมใส
ได้ถึงพระชินเจ้าเป็นสรณะ
[๔] ครั้งนั้น พระชินเจ้าทรงเป็นผู้นำ พระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
ทรงตั้งภิกษุณีรูปหนึ่งผู้มีปัญญาดีไว้ในเอตทัคคะว่า
‘เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ขิปปาภิญญา(รู้ฉับพลัน)’
[๕] หม่อมฉันได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว เป็นผู้เบิกบาน
ได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาท ปรารถนาตำแหน่งนั้น
[๖] พระมหาวีรพุทธเจ้าตรัสอนุโมทนาว่า
‘นางผู้เจริญ ตำแหน่งใดที่เธอปรารถนาแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน
ตำแหน่งนั้นทั้งปวงจักสำเร็จแก่เธอ
เธอจงเป็นผู้มีสุขนิพพานเถิด
[๗] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๘] สตรีผู้นี้จักมีนามว่ากุณฑลเกสี ผู้เจริญ
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น’
[๙] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๐] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นยามา
จุติจากสวรรค์ชั้นยามานั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
จุติจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้นแล้วไปเกิดในสวรรคชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
[๑๑] เพราะอำนาจแห่งกรรมนั้น หม่อมฉันเกิดในภพใด ๆ
ในภพนั้น ๆ ก็ได้เป็นพระมเหสีของพระราชา
[๑๒] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้นแล้ว
มาเกิดในหมู่มนุษย์ ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน
[๑๓] เสวยสมบัติทั้งในเทวโลกและในมนุษยโลก
มีความสุขทุกชาติ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกัปเป็นอันมาก
[๑๔] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน
[๑๕] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี
เป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด
ทรงเป็นผู้อุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๑๖] หม่อมฉันเป็นธิดาคนที่ ๔ ของพระองค์
มีนามปรากฏว่าภิกขุทาสี
ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้วพอใจการบรรพชา
[๑๗] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช
ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้านครองเรือนอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี
[๑๘] พระราชกัญญาทั้ง ๗ พระองค์
มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี
เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า
[๑๙] คือ (๑) พระนางสมณี (๒) พระนางสมณคุตตา
(๓) พระนางภิกษุณี (๔) พระนางภิกขุทาสิกา
(๕) พระนางธรรมา (๖) พระนางสุธรรมา
(๗) พระนางสังฆทาสิกา
[๒๐] (พระราชธิดาทั้ง ๗ นั้น ได้กลับชาติมาเกิด)
คือ หม่อมฉัน ๑ พระเขมาเถรี ๑
พระอุบลวรรณาเถรี ๑ พระปฏาจาราเถรี ๑
พระกีสาโคตมีเถรี ๑ พระธรรมทินนาเถรี ๑
และคนที่ ๗ เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา
[๒๑] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๒๒] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี
ที่มีความเจริญในกรุงราชคฤห์ที่อุดมสมบูรณ์
เมื่อครั้งหม่อมฉันยังเป็นสาว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน
[๒๓] ได้เห็นราชบุรุษนำโจรไปเพื่อประหาร มีความรักในโจรคนนั้น
บิดาของหม่อมฉันใช้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ ปลดเปลื้องโจรนั้น
ให้หลุดพ้นจากการถูกประหาร
[๒๔] บิดาทราบจิตใจของหม่อมฉันแล้ว จึงยกหม่อมฉันให้โจรนั้น
หม่อมฉันไว้วางใจ เอ็นดู เกื้อกูลโจรคนนั้นยิ่งนัก
[๒๕] โจรนั้น มีความโลภในเครื่องประดับของหม่อมฉัน
แล้วคิดจะฆ่าหม่อมฉันผู้ช่วยนำเครื่องบวงสรวง
ไปยังเหวทิ้งโจรบนภูเขา
[๒๖] เวลานั้น หม่อมฉันเมื่อจะรักษาชีวิตของตนไว้
จึงประนมมือไหว้โจรผู้เป็นศัตรูที่ร้ายกาจแล้วกล่าวว่า
[๒๗] ‘นายผู้เจริญ สร้อยคอทองคำ แก้วมุกดา
และแก้วไพฑูรย์เป็นจำนวนมาก
ทั้งหมดนี้ นายเอาไปเถิด จงปล่อยดิฉันไป
และจงประกาศดิฉันให้ทราบว่าเป็นทาสีเถิด’
[๒๘] (โจรกล่าวว่า) ‘นี่แม่นาง จงเปลื้องออกมา
อย่ามัวรำพันนักเลย เรารู้เพียงว่า
ไม่ฆ่าเจ้าผู้มาถึงป่าแล้วไม่ได้’
[๒๙] (หม่อมฉันกล่าวว่า) ‘ตั้งแต่ดิฉันรู้เดียงสา จำความได้
ยังไม่รู้จักรักชายอื่นยิ่งไปกว่าท่านเลย
[๓๐] มาเถิด ดิฉันจักกอดท่าน
ขอทำประทักษิณท่าน ไหว้ท่าน
เพราะดิฉันกับท่านจะไม่มีโอกาสอยู่ร่วมกันอีก’
[๓๑] (เทวดาซึ่งสถิตอยู่ในที่นั้นได้กล่าวว่า)
‘บุรุษเท่านั้นจะเป็นคนฉลาดในฐานะทั้งปวง ก็หาไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน
แม้สตรีผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ในฐานะนั้น ๆ
ก็เป็นคนฉลาดได้
[๓๒] บุรุษเท่านั้นจะเป็นคนฉลาดในฐานะทั้งปวง ก็หาไม่
แม้สตรีผู้คิดเนื้อความได้ฉับไว ก็เป็นคนฉลาดได้’
[๓๓] ครั้งนั้น หม่อมฉันคิดได้หลาย ๆ เรื่องอย่างรวดเร็วและฉับไว
ดุจบ่อเกิดแห่งปัญญาที่เต็มด้วยความคิดจึงได้ฆ่าศัตรูที่ร้ายกาจ
[๓๔] ผู้ใดไม่รู้จักเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างฉับพลัน
ผู้นั้นเป็นคนเขลา ย่อมถูกเขาฆ่าตาย
เหมือนโจรซึ่งถูกฆ่าที่ปากเหว
[๓๕] ผู้ใดรู้จักเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างฉับพลัน
ผู้นั้นก็พ้นจากพวกศัตรูเบียดเบียน
เหมือนที่หม่อมฉันพ้นจากโจรซึ่งเป็นศัตรูในครั้งนั้น
[๓๖] เมื่อหม่อมฉันผลักศัตรูตกเหวไปแล้ว
ได้เข้าไปบวชยังสำนักของปริพาชกที่ครองผ้าขาว
[๓๗] ครั้งนั้น พวกปริพาชกใช้แหนบถอนผมของหม่อมฉัน
จนหมดแล้วให้บวช สอนลัทธิให้เนือง ๆ
[๓๘] หม่อมฉันเรียนลัทธินั้นแล้ว นั่งคนเดียวคิดถึงลัทธิ
ซึ่งทำมนุษย์ให้เป็นเยี่ยงสุนัขนั้น
[๓๙] ปริพาชกถือผมที่ถอนแล้วโยนไว้ใกล้หม่อมฉันแล้วก็หลีกไป
หม่อมฉันเห็นแล้วได้นิมิตเหมือนหมู่หนอนตั้งอยู่
[๔๐] แต่นั้น หม่อมฉันมีความสลดใจลุกขึ้น
ได้สอบถามพวกปริพาชกที่มีลัทธิเดียวกัน
พวกนั้นบอกว่า
‘ภิกษุศากยบุตรทั้งหลายย่อมรู้เรื่องนั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน
[๔๑] หม่อมฉันเข้าไปหาพุทธสาวกแล้วถามเรื่องนั้น
พุทธสาวกเหล่านั้นพาหม่อมฉัน
ไปยังสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๔๒] พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ
ทรงแสดงธรรมแก่หม่อมฉันว่า ‘ขันธ์ อายตนะ
และธาตุทั้งหลาย ไม่งาม ไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา’
[๔๓] หม่อมฉันได้ฟังพระธรรมของพระองค์แล้ว
ชำระธรรมจักษุให้หมดจดโดยวิเศษ
รู้แจ้งพระสัทธรรมแล้วได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท
[๔๔] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าอันหม่อมฉันทูลขอแล้วได้ตรัสว่า
‘เธอจงเป็นภิกษุณีมาเถิด นางผู้เจริญ’
หม่อมฉันอุปสมบทแล้ว ได้เห็นน้ำ
[๔๕] รู้จักสังขารที่มีความเกิดและความดับไปด้วยน้ำล้างเท้า
คิดว่า ‘สังขารแม้ทั้งปวง ก็เป็นอย่างนั้น’
[๔๖] จากนั้นจิตของหม่อมฉันหลุดพ้นแล้ว
เพราะไม่ถือมั่นโดยประการทั้งปวง
ในครั้งนั้น พระชินเจ้าทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะว่า
‘เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ผู้ขิปปาภิญญา’
[๔๗] หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ
เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
[๔๘] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
หม่อมฉันทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไปแล้ว
เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน
[๔๙] พระศาสดาหม่อมฉันก็ปรนนิบัติแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
ภาระอันหนักหม่อมฉันก็ปลงลงได้แล้ว
ตัณหาที่นำไปสู่ภพหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
[๕๐] กุลบุตรกุลธิดาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง
หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
[๕๑] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาญ
นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ
ของหม่อมฉัน บริสุทธิ์ไพบูลย์
ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๕๒] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๕๓] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๕๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระภัททากุณฑลเกสีภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
กุณฑลเกสีเถริยาปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๒. กีสาโคตมีเถริยาปทาน
๒. กีสาโคตมีเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกีสาโคตมีเถรี
(พระกีสาโคตมีเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๕] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๕๖] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลหนึ่งในกรุงหงสวดี
ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่านรชนพระองค์นั้น
แล้วได้ถึงพระองค์เป็นสรณะ
[๕๗] หม่อมฉันได้ฟังธรรมของพระองค์
ซึ่งประกอบด้วยสัจจะ ๔ ที่ไพเราะจับใจอย่างยิ่ง
นำมาซึ่งสันติสุขแห่งจิต
[๕๘] แม้ครั้งนั้น พระธีรเจ้าผู้สูงสุดแห่งบุรุษ
ทรงยกย่องตั้งภิกษุณีรูปหนึ่ง ผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง
ไว้ในเอตทัคคะ
[๕๙] หม่อมฉันได้ฟังคุณของภิกษุณีนั้นแล้ว เกิดปีติมิใช่น้อย
ทำสักการะพระพุทธเจ้าตามกำลังความสามารถ
[๖๐] หมอบลงใกล้พระธีรมุนีแล้ว ปรารถนาตำแหน่งนั้น
ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำ
ตรัสอนุโมทนาเพื่อการได้ตำแหน่งว่า
[๖๑] ‘ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๖๒] สตรีผู้นี้ จักมีนามปรากฏว่ากีสาโคตมี
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๒. กีสาโคตมีเถริยาปทาน
[๖๓] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว
เป็นผู้มีความยินดี มีจิตประกอบด้วยเมตตา
บำรุงพระชินเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ด้วยปัจจัยทั้งหลายจนตลอดชีวิต
[๖๔] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๖๕] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๖๖] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี
ทรงเป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด
ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๖๗] หม่อมฉันเป็นธิดาคนที่ ๕ ของพระองค์
มีนามปรากฏว่าธรรมา ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้ว
พอใจการบรรพชา
[๖๘] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช
ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้าน ครองเรือนอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี
[๖๙] พระราชกัญญาทั้ง ๗ พระองค์
มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี
เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า
[๗๐] คือ (๑) พระนางสมณี (๒) พระนางสมณคุตตา
(๓) พระนางภิกษุณี (๔) พระนางภิกขุทาสิกา
(๕) พระนางธรรมา (๖) พระนางสุธรรมา
(๗) พระนางสังฆทาสิกา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๒. กีสาโคตมีเถริยาปทาน
[๗๑] (พระราชธิดาทั้ง ๗ นั้นได้กลับชาติมาเกิด)
คือพระเขมาเถรี ๑ พระอุบลวรรณาเถรี ๑
พระปฏาจาราเถรี ๑ พระกุณฑลเกสีเถรี ๑
หม่อมฉัน ๑ พระธรรมทินนาเถรี ๑
และคนที่ ๗ เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา
[๗๒] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๗๓] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี
ที่ตกยาก จนทรัพย์ เป็นตระกูลที่ต่ำต้อย
ได้(แต่งงาน)ไปยังตระกูลที่มีทรัพย์
[๗๔] ชนทั้งหลายที่เหลือเว้นสามีของหม่อมฉัน
เกลียดชังว่าเป็นหญิงไม่มีทรัพย์
เมื่อหม่อมฉันคลอดบุตรแล้ว ก็เป็นที่ชื่นชอบของชนทั้งปวง
[๗๕] ในคราวที่บุตรยังเป็นเด็กอ่อน มีความสุข
เป็นที่รักใคร่ของหม่อมฉันเหมือนดังชีวิตของตน
ก็ตกไปยังอำนาจของพญายม(ตายไป)
[๗๖] หม่อมฉันอัดอั้นตันใจด้วยความเศร้าโศก
มีหน้าเศร้าหมอง ร้องไห้น้ำตานองหน้า
อุ้มศพลูกที่ตายแล้วเที่ยวพูดบ่นเพ้อไป
[๗๗] ครั้งนั้น หม่อมฉันอันบุรุษคนหนึ่งเห็นแล้ว
พาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นนายแพทย์ที่ประเสริฐที่สุด
จึงได้ทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอพระองค์โปรดประทานยาให้บุตรคืนชีพด้วยเถิด’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๒. กีสาโคตมีเถริยาปทาน
[๗๘] พระชินเจ้าผู้ทรงฉลาดในอุบายแนะนำรับสั่งว่า
‘ในเรือนหลังใดไม่มีคนตาย
เธอจงไปนำเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากเรือนหลังนั้นมา’
[๗๙] ครั้งนั้น หม่อมฉันไปจนทั่วกรุงสาวัตถี
ไม่ได้พบเรือนเช่นนั้นเลย
เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงกลับได้สติว่า
จักได้เมล็ดพันธุ์ผักกาดแต่ที่ไหน
[๘๐] จึงทิ้งศพแล้วเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พระองค์ผู้มีพระสุรเสียงอันไพเราะ
ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉันแต่ที่ไกล แล้วตรัสว่า
[๘๑] ‘ก็ความเป็นอยู่เพียงวันเดียวของบุคคลผู้เห็นความเกิดขึ้น
และความเสื่อมไป ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี
ของบุคคลผู้มิได้เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป
[๘๒] ธรรมนี้ ไม่ใช่ธรรมสำหรับชาวบ้าน
ไม่ใช่ธรรมสำหรับชาวนิคม ไม่ใช่ธรรมสำหรับสกุลเดียว
แต่เป็นธรรมสำหรับชาวโลกทั้งปวงพร้อมทั้งเทวโลก
ธรรมนั่นคืออนิจจตา (ความไม่เที่ยง)’
[๘๓] หม่อมฉันได้ฟังคาถาเหล่านี้แล้ว
ได้ชำระธรรมจักษุให้หมดจดโดยพิเศษ
แต่นั้น รู้แจ้งพระสัทธรรมแล้วได้บวชเป็นบรรพชิต
[๘๔] แม้เมื่อบวชแล้วอย่างนั้น
ประกอบความเพียรในศาสนาของพระชินเจ้า
ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๘๕] หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ
เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๒. กีสาโคตมีเถริยาปทาน
[๘๖] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
หม่อมฉันทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นแล้ว
เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทิน
[๘๗] พระศาสดาหม่อมฉันก็ปรนนิบัติแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
ภาระอันหนักหม่อมฉันก็ปลงลงได้แล้ว
ตัณหาที่นำไปสู่ภพหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
[๘๘] กุลบุตรกุลธิดาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง
หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
[๘๙] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ
นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ
ของหม่อมฉันบริสุทธิ์ไพบูลย์
เพราะอำนาจของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๙๐] หม่อมฉันเก็บผ้ามาจากกองขยะ ป่าช้า ทางรถและทางเกวียน
แล้วทำเป็นผ้าสังฆาฏิจากผ้านั้น
ทรงจีวรที่เศร้าหมอง
[๙๑] พระชินเจ้า ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ทรงพอพระทัยในคุณสมบัติคือการทรงจีวรเศร้าหมองนั้น
จึงทรงแต่งตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะในบริษัททั้งหลาย
[๙๒] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็ได้เผาแล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๙๓] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๓. ธัมมทินนาเถริยาปทาน
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๙๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระกีสาโคตมีภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กีสาโคตมีเถริยาปทานที่ ๒ จบ

๓. ธัมมทินนาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระธรรมทินนาเถรี
(พระธรรมทินนาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙๕] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๙๖] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลหนึ่งในกรุงหงสวดี
เป็นผู้มีปัญญา สำรวมอยู่ในศีล รับจ้างทำงานของคนอื่น
[๙๗] พระเถระนามว่าสุชาตะ
อัครสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ออกจากวิหารไปบิณฑบาต
[๙๘] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นคนหาบน้ำ ถือหม้อน้ำเดินไปอยู่
เห็นท่านแล้วเลื่อมใส ได้ถวายขนมด้วยมือของตน
[๙๙] ท่านรับแล้วนั่งฉัน ณ ที่นั้นเอง
แต่นั้นหม่อมฉันนิมนต์ท่านไปยังเรือน
ได้ถวายโภชนาหารแก่ท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๓. ธัมมทินนาเถริยาปทาน
[๑๐๐] จากนั้น เจ้านายของหม่อมฉันมีความยินดีแล้ว
ได้แต่งหม่อมฉันเป็นลูกสะใภ้ของตน
หม่อมฉันได้ไปถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมกับแม่ผัว
[๑๐๑] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทรงประกาศแต่งตั้งภิกษุณีรูปหนึ่ง
ผู้เป็นธรรมกถึกไว้ในเอตทัคคะ
หม่อมฉันได้ฟังพุทธดำรัสนั้นแล้วมีความเบิกบาน
[๑๐๒] ได้ทูลนิมนต์พระสุคตทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พร้อมทั้งพระสงฆ์
ถวายมหาทานแล้ว ปรารถนาตำแหน่งนั้น
[๑๐๓] ลำดับนั้น พระสุคตผู้มีพระสุระเสียงไพเราะดุจเมฆคำรน
ได้ตรัสกับหม่อมฉันว่า ‘เธอจงยินดีบำรุง อังคาสเราพร้อมทั้งพระสงฆ์
[๑๐๔] ขวนขวายในการสดับพระสัทธรรม
มีใจเจริญด้วยคุณธรรม เธอผู้เจริญ
เธอจงเป็นผู้เบิกบานเถิด เธอจักได้ตำแหน่งนั้น
ซึ่งเป็นผลแห่งความปรารถนา
[๑๐๕] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๑๐๖] สตรีผู้นี้จักมีนามปรากฏว่าธรรมทินนา
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น’
[๑๐๗] หม่อมฉันได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้วเป็นผู้มีความยินดี
มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระมหามุนี
ผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษด้วยปัจจัยทั้งหลายจนตลอดชีวิต
[๑๐๘] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๓. ธัมมทินนาเถริยาปทาน
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๐๙] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๑๑๐] ครั้งนั้น พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี
ทรงเป็นใหญ่กว่านรชนในกรุงพาราณสีที่ประเสริฐสุด
ทรงเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๑๑๑] หม่อมฉันเป็นธิดาคนที่ ๖ ของพระองค์
มีนามปรากฏว่าสุธรรมา ได้ฟังธรรมของพระชินเจ้าผู้เลิศแล้ว
พอใจการบรรพชา
[๑๑๒] แต่พระชนกนาถมิได้ทรงอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวช
ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายไม่เกียจคร้าน ครองเรือนอยู่ ๒๐,๐๐๐ ปี
ภาณวารที่ ๓ จบ

[๑๑๓] พระราชกัญญาทั้ง ๗ องค์
มีความสุข ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่ยังเป็นกุมารี
เพลิดเพลินยินดีอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า
[๑๑๔] คือ (๑) พระนางสมณี (๒) พระนางสมณคุตตา
(๓) พระนางภิกษุณี (๔) พระนางภิกขุทาสิกา
(๕) พระนางธรรมา (๖) พระนางสุธรรมา
(๗) พระนางสังฆทาสิกา
[๑๑๕] (พระราชธิดาทั้ง ๗ นั้นได้กลับชาติมาเกิด)
คือ พระเขมาเถรี ๑ พระอุบลวรรณาเถรี ๑
พระปฏาจาราเถรี ๑ พระกุณฑลเกสีเถรี ๑
หม่อมฉัน ๑ พระกีสาโคตมีเถรี ๑
และคนที่ ๗ เป็นวิสาขามหาอุบาสิกา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๓. ธัมมทินนาเถริยาปทาน
[๑๑๖] ด้วยกรรมทั้งหลายที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๑๗] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี
ที่มีความเจริญมั่งคั่งให้สำเร็จความประสงค์ทั้งปวง
ในกรุงราชคฤห์ที่ประเสริฐสุด
[๑๑๘] ในคราวที่หม่อมฉันดำรงอยู่ในปฐมวัยรุ่นสาว
ประกอบด้วยรูปสมบัติ ได้ไปสู่ตระกูลอื่น (แต่งงาน)
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขอยู่
[๑๑๙] สามีของหม่อมฉันเป็นผู้มีความรู้ดี
เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
สดับพระธรรมเทศนาแล้วได้บรรลุอนาคามิผล
[๑๒๐] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ขออนุญาตสามีนั้นแล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต โดยกาลไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๑๒๑] ครั้งนั้น สามีผู้เป็นอุบาสกนั้นได้เข้าไปหาหม่อมฉันแล้ว
ได้ถามปัญหาที่ละเอียดลึกซึ้งมาก
หม่อมฉันแก้ปัญหาทั้งหมดนั้นได้
[๑๒๒] พระชินเจ้าทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น
จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะด้วยพระดำรัสว่า
‘เรามิได้เห็นภิกษุณีรูปอื่น ผู้เป็นพระธรรมกถึก
เหมือนภิกษุณีธัมมทินนานี้เลย
[๑๒๓] ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำ
ภิกษุณีธรรมทินนาว่าเป็นนักปราชญ์’
หม่อมฉันอันพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำทรงอนุเคราะห์แล้ว
ชื่อว่าเป็นบัณฑิตอย่างนี้
[๑๒๔] พระศาสดาหม่อมฉันก็ปรนนิบัติแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันได้ทำแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๓. ธัมมทินนาเถริยาปทาน
ภาระอันหนักหม่อมฉันก็ปลงลงได้แล้ว
ตัณหาที่นำไปสู่ภพหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
[๑๒๕] กุลบุตรกุลธิดาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง
หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
[๑๒๖] หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ
เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
[๑๒๗] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
หม่อมฉันทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นแล้ว
เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทิน
[๑๒๘] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็ได้เผาแล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๒๙] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๓๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระธรรมทินนาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ธัมมทินนาเถริยาปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๔. สกุลาเถริยาปทาน
๔. สกุลาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสกุลาเถรี
(พระสกุลาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓๑] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๑๓๒] พระองค์เป็นผู้ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย
เป็นบุรุษอาชาไนย
ทรงปฏิบัติเพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข
เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
[๑๓๓] พระชินเจ้า ผู้มีพระยศอันเลิศ มีพระสิริ
มีพระเกียรติคุณฟุ้งขจรไป อันชาวโลกทั้งปวงบูชาแล้ว
มีพระคุณปรากฏไปทั่วทิศ
[๑๓๔] พระองค์ทรงข้ามพ้นความสงสัยแล้ว
ทรงล่วงความเคลือบแคลงแล้ว
มีความดำริในพระหทัยบริบูรณ์เต็มที่
ทรงบรรลุสัมโพธิญาณที่ประเสริฐสุด
[๑๓๕] พระองค์ทรงเป็นผู้สูงสุดแห่งนระ
ทรงทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก
ทรงทำธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดพร้อม
[๑๓๖] พระองค์ทรงรู้มรรค รู้แจ้งมรรค
ตรัสบอกมรรค เป็นผู้องอาจกว่านรชน
เป็นพระศาสดาผู้ฉลาดในมรรค
ผู้ประเสริฐสูงสุด ในบรรดาสารถีทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๔. สกุลาเถริยาปทาน
[๑๓๗] ผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา ผู้เป็นที่พึ่ง ทรงเป็นผู้นำ
ทรงแสดงธรรมถอนเหล่าสัตว์ผู้จมอยู่ในเปือกตมคือกาม
[๑๓๘] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดเป็นนางกษัตริย์ในกรุงหงสวดี
มีนามว่านันทนา
มีรูปสวย รวยทรัพย์ น่าเอ็นดู มีสิริ
[๑๓๙] เป็นธิดาของมหาราชพระนามว่าอานันทะ งดงามอย่างยิ่ง
เป็นภคินีต่างมารดาของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
[๑๔๐] ห้อมล้อมด้วยราชกัญญาทั้งหลาย
ประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทุกชนิด
เข้าไปเฝ้าพระมหาวีระ ได้ฟังพระธรรมเทศนา
[๑๔๑] ครั้งนั้น พระมหาวีรเจ้าพระองค์นั้นผู้ทรงรู้แจ้งโลก
ทรงตั้งภิกษุณีรูปหนึ่ง ผู้มีทิพยจักษุไว้ในเอตทัคคะ
ในท่ามกลางบริษัท ๔
[๑๔๒] หม่อมฉันได้ฟังพุทธดำรัสนั้นแล้ว มีความร่าเริง
ถวายทานแด่พระศาสดาและบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ได้ปรารถนาทิพยจักษุ
[๑๔๓] จากนั้น พระศาสดาได้ตรัสกับหม่อมฉันว่า
‘นันทนา เธอจักได้ตำแหน่งตามที่เธอปรารถนา
ตำแหน่งที่เธอปรารถนานี้เป็นผลแห่งประทีปธรรมและทาน
[๑๔๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๑๔๕] สตรีผู้นี้จักมีนามว่าสกุลา
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๔. สกุลาเถริยาปทาน
[๑๔๖] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๔๗] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๑๔๘] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นปริพาชิกา ประพฤติอยู่ผู้เดียว
เที่ยวภิกขาจารได้เพียงน้ำมัน
[๑๔๙] มีใจผ่องใส ใช้น้ำมันนั้นตามประทีปบูชา
พระเจดีย์ชื่อว่าสัพพสังวร
ของพระพุทธเจ้าผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์
[๑๕๐] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๕๑] เพราะอำนาจแห่งกรรมนั้น หม่อมฉันเกิดในที่ใด ๆ
ประทีปเป็นอันมากส่องแสงสว่างเพื่อหม่อมฉันผู้อยู่ในที่นั้น ๆ
[๑๕๒] หม่อมฉันเห็นสิ่งที่อยู่นอกฝาหรือสิ่งที่อยู่นอกกำแพง
และเห็นทะลุภูเขาตามที่ปรารถนา
นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป
[๑๕๓] หม่อมฉันมีนัยน์ตาแจ่มใส รุ่งเรืองด้วยยศ
มีศรัทธา มีปัญญา
นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป
[๑๕๔] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในตระกูลมหาศาล
มีทรัพย์และข้าวเปลือกมากมาย
ที่มหาชนยินดี พระราชาทรงบูชา (ยกย่อง)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๔. สกุลาเถริยาปทาน
[๑๕๕] หม่อมฉันผู้สมบูรณ์ด้วยอวัยวะทั้งปวง
ประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทุกชนิด ยืนอยู่ที่หน้าต่าง
ได้เห็นพระสุคตเสด็จเข้าไปในเมือง
[๑๕๖] พระองค์ทรงรุ่งเรืองด้วยพระยศ
อันเทวดาและมนุษย์สักการบูชา
ทรงสมบูรณ์ด้วยอนุพยัญชนะ
ประดับด้วยพระลักษณะทั้งหลาย
[๑๕๗] หม่อมฉันมีจิตเบิกบาน มีใจยินดี
บวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๑๕๘] หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ
เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
[๑๕๙] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
หม่อมฉันทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นแล้ว
เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากมลทิน
[๑๖๐] พระศาสดาหม่อมฉันก็ปรนนิบัติแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันได้ทำแล้ว
ภาระอันหนักหม่อมฉันก็ปลงลงได้แล้ว
ตัณหาที่นำไปสู่ภพหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
[๑๖๑] กุลบุตรกุลธิดาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นคือความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง
หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
[๑๖๒] จากนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
ผู้สูงสุดแห่งนรชน ทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะว่า
‘สกุลาภิกษุณีเป็นผู้เลิศกว่าบรรดาภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายผู้มีทิพยจักษุ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๕. นันทาเถริยาปทาน
[๑๖๓] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๖๔] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๖๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระสกุลาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สกุลาเถริยาปทานที่ ๔ จบ

๕. นันทาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนันทาเถรี
(พระนันทาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๖๖] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๑๖๗] พระองค์เป็นผู้ตรัสสอน ทรงแสดงธรรมให้สัตว์รู้ชัดได้
ทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้น(วัฏฏสงสาร)
ทรงฉลาดในเทศนา เป็นพระพุทธเจ้า
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๕. นันทาเถริยาปทาน
[๑๖๘] พระองค์เป็นผู้อนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา
ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสรรพสัตว์
ทรงทำเดียรถีย์ที่มาเฝ้าทั้งหมดให้ดำรงอยู่ในเบญจศีล
[๑๖๙] เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาจึงหมดความอากูล(หมดเสี้ยนหนาม)
ว่างจากพวกเดียรถีย์และงดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย
ผู้ได้วสี ผู้คงที่
[๑๗๐] พระมหามุนีพระองค์นั้นทรงมีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก
มีพระฉวีเปล่งปลั่งดังทองคำที่ล้ำค่า
มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ
[๑๗๑] ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
พระชินสีห์พระองค์นั้น
ก็ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[๑๗๒] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี
ที่มีความรุ่งเรืองด้วยรัตนะต่าง ๆ ในกรุงหงสวดี
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขมาก
[๑๗๓] หม่อมฉันได้เข้าเฝ้าพระมหาวีระพระองค์นั้นแล้ว
ได้ฟังพระธรรมเทศนาอันประกาศถึงปรมัตถธรรม
ที่ไพเราะอย่างจับใจยิ่งนัก ซึ่งเป็นอมตธรรม
[๑๗๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันมีความเลื่อมใส
ได้ทูลนิมนต์พระพุทธผู้เจ้าทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพร้อมทั้งพระสงฆ์
ได้ถวายมหาทานแด่พระองค์ด้วยมือของตน
[๑๗๕] ได้ซบศีรษะลงใกล้พระวีรเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พร้อมทั้งพระสงฆ์
ปรารถนาตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้เข้าฌาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๕. นันทาเถริยาปทาน
[๑๗๖] ครั้งนั้น พระสุคตผู้ฝึกนรชนที่ยังไม่ได้ฝึก
เป็นที่พึ่งของโลกทั้ง ๓ ทรงเป็นใหญ่
ทรงพยุงนรชนไว้เป็นอย่างดีตรัสพยากรณ์ว่า
‘เธอจักได้ตำแหน่งที่เธอปรารถนาไว้ดีแล้วนั้น
[๑๗๗] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๑๗๘] สตรีผู้นี้จักมีนามปรากฏว่านันทา
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น’
[๑๗๙] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้วเป็นผู้มีความยินดี
มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระชินเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ด้วยปัจจัยทั้งหลายจนตลอดชีวิต
[๑๘๐] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๘๑] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นยามา
จุติจากสวรรค์ชั้นยามานั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
จุติจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดีนั้นแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
[๑๘๒] เพราะอำนาจแห่งกรรมนั้น หม่อมฉันเกิดในภพใด ๆ
ในภพนั้น ๆ ก็ได้เป็นพระมเหสีของพระราชา
[๑๘๓] หม่อมฉันจุติจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้นแล้ว
มาเกิดในหมู่มนุษย์ ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ
และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินหลายชาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๕. นันทาเถริยาปทาน
[๑๘๔] เสวยสมบัติทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก
มีความสุขทุกชาติ
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกัปเป็นอันมาก
[๑๘๕] เมื่อถึงภพสุดท้าย
หม่อมฉันเกิดเป็นธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะ
ในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นผู้มีรูปสมบัติอันใคร ๆ ไม่นินทา
[๑๘๖] ราชสกุลนั้นเห็นหม่อมฉันมีรูปงามดังดวงอาทิตย์
จึงพากันชื่นชม เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงมีนามว่านันทา
เป็นผู้มีรูปลักษณ์ที่งดงามประเสริฐ
[๑๘๗] ในกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นราชธานีที่รื่นรมย์นั้น
นอกจากพระนางยโสธราแล้ว
ปรากฏว่าหม่อมฉันมีความงามกว่ายุวนารีทุกคน
[๑๘๘] พระเชฏฐภาดาก็เป็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศในโลก ๓
พระภาดาองค์สุดท้ายก็เป็นพระอรหันต์
หม่อมฉันเป็นสตรีเพียงผู้เดียวที่เป็นคฤหัสถ์
พระมารดาทรงตักเตือนว่า
[๑๘๙] ‘ลูกรัก เจ้าเกิดในศากยสกุล
เป็นน้องของพระพุทธเจ้า เมื่อเว้นจากนันทกุมารแล้ว
จักได้ประโยชน์อะไรในวังเล่า’
[๑๙๐] ความเป็นหนุ่มสาว ก็มีความแก่เป็นที่สุด
รูปบัณฑิตรู้กันว่าเป็นของไม่สะอาด
แม้ไม่มีโรค ก็มีโรคเป็นที่สุด
ชีวิตมีความตายเป็นที่สุด
[๑๙๑] รูปที่สวยงามของเธอแม้นี้ น่าใคร่ดังดวงจันทร์
จูงใจให้นิยม อลังการด้วยเครื่องประดับทั้งหลาย
คล้ายกำหนดรู้ได้ด้วยสิริ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๕. นันทาเถริยาปทาน
[๑๙๒] ดุจเป็นสิ่งสำคัญของชาวโลกที่เขาบูชากัน
เป็นที่ดึงดูดแห่งนัยนา
เป็นที่ก่อเกิดการสรรเสริญบุญ
เป็นที่ชื่นชมแห่งวงศ์โอกกากราช
[๑๙๓] โดยกาลไม่นานนัก ความแก่ก็จักมาครอบงำลูกรัก
ผู้มีรูปอันใคร ๆ ไม่นินทา จงละพระราชฐานและรูปกาย
ที่บัณฑิตตำหนิแล้วประพฤติธรรมเถิด
[๑๙๔] หม่อมฉันผู้ยังโลเลในรูปที่ยังเป็นสาว
ได้ฟังพระดำรัสของพระมารดาแล้ว
ก็ออกบวชเป็นบรรพชิตแต่เพียงกาย
แต่หาออกบวชด้วยจิตใจไม่
[๑๙๕] หม่อมฉันระลึกถึงตนด้วยความขวนขวายตรวจตราอย่างมาก
พระมารดาตรัสตักเตือนเพื่อให้ประพฤติธรรม
แต่หม่อมฉันมิได้สนใจขวนขวายในการประพฤติธรรมนั้นเลย
[๑๙๖] ครั้งนั้น พระชินเจ้าผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉันผู้มีผิวหน้าดังดอกบัว
เพื่อให้หม่อมฉันเกิดความเบื่อหน่ายในรูปกาย
[๑๙๗] จึงทรงเนรมิตหญิงคนหนึ่งมีความงามน่าชม น่าชอบใจยิ่งนัก
ซึ่งมีรูปงามกว่าหม่อมฉัน ให้อยู่ในคลองแห่งจักษุของหม่อมฉัน
ด้วยอานุภาพของพระองค์
[๑๙๘] หม่อมฉันอัศจรรย์ใจ เพราะเห็นหญิงที่มีเรือนร่าง
อันน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ก็คิดว่า ‘เราเห็นหญิงมนุษย์ดังกล่าว
นี้มีผลดีและเป็นลาภแก่นัยน์ตาของเรา
[๑๙๙] เชิญเถิดแม่คนงาม แม่จงบอกสิ่งที่ต้องประสงค์แก่ฉัน
ฉันจะให้ แม่จงบอกสกุล นาม
โคตรของเธอแก่ฉัน ถ้าเธอพอใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๕. นันทาเถริยาปทาน
[๒๐๐] แม่คนงาม เวลานี้ยังไม่ใช่เวลาแห่งปัญหา
แม่จงนอนหนุนตักเรา
ทับซ้อนร่างกายเราหลับสักครู่หนึ่งเถิด’
[๒๐๑] จากนั้นแม่คนแสนสวยก็นอนพาดศีรษะบนตักหม่อมฉัน
ของแข็งขนาดใหญ่ตกไปที่หน้าผากของนาง
[๒๐๒] พร้อมกับของแข็งที่ตกมากระทบ รอยโปนก็ปรากฏขึ้น
และทั้งหนองทั้งเลือดก็ไหลออกจากซากศพที่แตก
[๒๐๓] แม้ใบหน้าที่แตกแล้วนั้น ก็มีกลิ่นคล้ายซากศพเน่าโชยออกมา
ทั่วทั้งสรีระพองขึ้นเขียวคล้ำ
[๒๐๔] แม่คนสวยมีสรรพางค์กายสั่น หายใจหอบถี่ ๆ
เสวยทุกข์ของตนอยู่ รำพันอย่างน่าสงสาร
[๒๐๕] หม่อมฉันเป็นทุกข์เพราะทุกข์นั้น ต้องเวทนาจมอยู่ในทุกข์ใหญ่
ขอพระองค์ทรงเป็นที่พึ่ง แม่นางเป็นเพื่อนของหม่อมฉัน
[๒๐๖] ใบหน้าที่งามของแม่หายไปไหน
จมูกที่โด่งงามของแม่หายไปไหน
ริมฝีปากที่สวยเหมือนสีลูกมะพลับสุกของแม่หายไปไหน
วงหน้าที่งดงามของแม่หายไปไหน
[๒๐๗] วรรณะที่เปล่งปลั่งดังดวงจันทร์หายไปไหน
และลำคอที่คล้ายปล้องทองคำของแม่หายไปไหน
ใบหูของแม่ดังพวงดอกไม้ก็หมดสีสันวรรณะไปเสียแล้ว
[๒๐๘] ถันที่กลมกลึงคล้ายดอกบัวตูมทั้งคู่ของแม่แตกแล้ว
มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไปคล้ายซากศพเน่า
[๒๐๙] นางมีเอวคอดกลม มีตะโพกผึ่งผาย
นำสิ่งชั่วร้ายมาให้เหมือนเขียง
เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สะอาด โอ ! รูปไม่เที่ยง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๕. นันทาเถริยาปทาน
[๒๑๐] อวัยวะที่เกิดจากสรีระทั้งหมดมีกลิ่นเหม็นเน่า
น่ากลัว น่าเกลียดเหมือนซากศพในป่าช้า
ที่พวกคนเขลาพากันยินดี
[๒๑๑] ครั้งนั้น พระภาดาของหม่อมฉันผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
ทอดพระเนตรเห็นหม่อมฉันผู้มีจิตสังเวช
จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า
[๒๑๒] ‘นันทา เธอจงดูรูปกายที่กระสับกระส่าย
เปื่อยเน่าดังซากศพ จงอบรมจิตให้ตั้งมั่นด้วยดี
มีอารมณ์เดียว ด้วยอารมณ์อันไม่งาม
[๒๑๓] รูปนี้เป็นฉันใด รูปของเธอนั้นก็เป็นฉันนั้น
รูปของเธอนั้นเป็นฉันใด รูปนี้ก็เป็นฉันนั้น
มีกลิ่นเหม็นเน่าฟุ้งไป
ที่พวกคนเขลาพากันยินดียิ่งนัก
[๒๑๔] เธอไม่เกียจคร้าน
พิจารณาเห็นรูปเป็นอย่างนั้น ทั้งกลางคืนกลางวัน
แต่นั้นจะเบื่อหน่ายยิ่งนักเห็นด้วยปัญญาของตน’
[๒๑๕] จากนั้น หม่อมฉันมีจิตสลด เพราะฟังคาถาสุภาษิต
ยืนอยู่ ณ ที่นั้น ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๒๑๖] หม่อมฉันเข้าฌานตลอดเวลา ไม่ว่าจะนั่งอยู่ ณ ที่ใด ๆ
พระชินเจ้าทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น
จึงทรงตั้งหม่อมฉันไว้ในเอตทัคคะ
[๒๑๗] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๖. โสณาเถริยาปทาน
[๒๑๘] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระนันทาภิกษุณีผู้เป็นชนบทกัลยาณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วย
ประการฉะนี้
นันทาเถริยาปทานที่ ๕ จบ

๖. โสณาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโสณาเถรี
(พระโสณาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๒๐] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๒๒๑] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี เป็นผู้มีความสุข
ถูกประดับตกแต่ง เป็นที่รัก
เข้าไปเฝ้าพระมุนีผู้ประเสริฐพระองค์นั้น
ได้ฟังพระดำรัสที่ไพเราะ
[๒๒๒] พระชินเจ้าทรงสรรเสริญภิกษุณีรูปหนึ่งว่า
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ปรารภความเพียร
หม่อมฉันได้ฟังพุทธดำรัสนั้นแล้วเป็นผู้มีความยินดี
ทำสักการะพระศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๖. โสณาเถริยาปทาน
[๒๒๓] หม่อมฉันไหว้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ได้ปรารถนาตำแหน่งนั้นในกาลนั้น
พระมหาวีรพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาว่า
‘ความตั้งใจปรารถนาของเธอจักสำเร็จ
[๒๒๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๒๒๕] สตรีผู้นี้จักมีนามปรากฏว่าโสณา
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น’
[๒๒๖] หม่อมฉันได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว
เป็นผู้มีความยินดี มีจิตประกอบด้วยเมตตา
บำรุงพระชินเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ด้วยปัจจัยทั้งหลายโดยประการเช่นนั้นจนตลอดชีวิต
[๒๒๗] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๒๒๘] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย
หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี เจริญมั่งคั่งด้วยทรัพย์มาก
ในกรุงสาวัตถีที่ประเสริฐ
[๒๒๙] เมื่อหม่อมฉันเจริญวัยเป็นสาวแล้ว
ได้ไปสู่ตระกูลสามี คลอดบุตรชาย ๑๐ คน
ล้วนแต่มีรูปงามยิ่งนัก
[๒๓๐] บุตรทุกคนนั้นดำรงอยู่ในความสุข
ติดตาตรึงใจผู้คนให้นิยม แม้แต่พวกศัตรูก็ชอบใจ
สำหรับหม่อมฉันไม่ต้องพูดถึง พวกเขาเป็นที่รัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๖. โสณาเถริยาปทาน
[๒๓๑] ครั้งนั้น โดยที่หม่อมฉันไม่ต้องการ
สามีหม่อมฉันพร้อมด้วยบุตรทั้ง ๑๐ คน
พากันไปบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
[๒๓๒] ในกาลนั้น หม่อมฉันอยู่แต่ผู้เดียวคิดว่า ‘พอละด้วยชีวิตของเรา
ผู้พลัดพรากจากสามีและบุตร เป็นคนแก่ น่าสงสาร
[๒๓๓] แม้เราก็จักไปยังอารามที่สามีเราไปถึง’
ครั้นคิดอย่างนี้แล้วจึงบวชเป็นบรรพชิต
[๒๓๔] ครั้งนั้น พวกภิกษุณีปล่อยหม่อมฉันไว้ในสำนักแต่เพียงผู้เดียว
สั่งหม่อมฉันว่า ‘เธอจงต้มน้ำไว้’ แล้วก็พากันจากไป
[๒๓๕] ขณะนั้น หม่อมฉันนำน้ำมาแล้ว ใส่ลงไปในหม้อ
ตั้งบนก้อนเส้าแล้วนั่ง จากนั้นก็ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ
[๒๓๖] ได้พิจารณาเห็นขันธ์โดยความเป็นของไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
ทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไปแล้ว ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๒๓๗] เมื่อภิกษุณีกลับมาได้ถามถึงน้ำร้อน
หม่อมฉันอธิษฐานเตโชธาตุให้น้ำร้อนเร็วพลัน
[๒๓๘] ภิกษุณีเหล่านั้นพากันอัศจรรย์ใจ
ไปกราบทูลพระชินเจ้าผู้ประเสริฐให้ทรงทราบเรื่องนั้น
พระผู้เป็นนาถะทรงสดับเรื่องนั้นแล้วทรงชื่นชม ได้ตรัสคาถานี้ว่า
[๒๓๙] ‘แท้จริง บุคคลผู้ปรารภความเพียรอย่างหนัก
มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ก็ประเสริฐกว่าคนเกียจคร้าน
และละทิ้งความเพียรมีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี’
[๒๔๐] พระมหาวีรเจ้า หม่อมฉันให้ทรงพอพระทัยแล้ว
เพราะการปฏิบัติดี พระมหามุนีพระองค์นั้น
ตรัสสรรเสริญหม่อมฉันว่าเป็นผู้เลิศกว่าบรรดาภิกษุณีทั้งหลาย
ผู้ปรารภความเพียร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน
[๒๔๑] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๔๒] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๔๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระโสณาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โสณาเถริยาปทานที่ ๖ จบ

๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระภัททกาปิลานีเถรี
(พระภัททกาปิลานีเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๔๔] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๒๔๕] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นภริยาของเศรษฐีชื่อว่าวิเทหะ
มีรัตนะมาก ในกรุงหงสวดี
[๒๔๖] บางคราวเศรษฐีนั้นพร้อมด้วยชนที่เป็นบริวาร
เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นดังสุริยเทพบุตร
ได้ฟังพระธรรมอันนำความสิ้นทุกข์ทั้งปวงมาให้
ของพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน
[๒๔๗] พระองค์ทรงเป็นผู้นำประกาศสรรเสริญภิกษุ
ผู้เป็นสาวกรูปหนึ่งว่า เป็นผู้เลิศกว่าบรรดาภิกษุทั้งหลายผู้ถือธุดงค์
หม่อมฉันได้ฟังแล้ว ได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าผู้คงที่ตลอด ๗ วัน
[๒๔๘] แล้วซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาทปรารถนาตำแหน่งนั้น
ก็ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐแห่งนระ
เมื่อจะทรงให้บริษัทร่าเริง
[๒๔๙] ได้ตรัสคาถาเหล่านี้ เพื่อทรงอนุเคราะห์เศรษฐีว่า
‘ดูก่อนบุตร เธอจักได้ตำแหน่งที่เธอปรารถนา
จงเป็นผู้เย็นใจเถิด
[๒๕๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๒๕๑] เธอจักมีนามปรากฏว่ากัสสปะ ตามโคตร
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
[๒๕๒] เศรษฐีได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว
เป็นผู้มีความยินดี มีจิตประกอบด้วยเมตตา
บำรุงพระชินเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ด้วยปัจจัยทั้งหลายจนตลอดชีวิต
[๒๕๓] พระองค์ทรงประกาศศาสนาให้รุ่งเรืองแล้ว
ย่ำยีเดียรถีย์ผู้หลอกลวงได้แล้ว
ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ (คือผู้ที่ควรแนะนำได้)
พระองค์พร้อมทั้งพระสาวกปรินิพพานแล้ว
[๒๕๔] เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้เลิศในโลกนั้นปรินิพพานแล้ว
เพื่อจะบูชาพระศาสดา เศรษฐีนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน
จึงเชิญญาติและมิตรมาประชุมแล้ว
พร้อมกับญาติและมิตรเหล่านั้นได้สร้าง
[๒๕๕] พระสถูปรัตนะสูงได้ ๗ โยชน์
ซึ่งมีความรุ่งเรืองเหมือนดวงอาทิตย์
และเหมือนต้นพญาไม้สาละที่กำลังมีดอกบานสะพรั่ง
[๒๕๖] หม่อมฉันได้ให้ช่าง ๗ คนใช้รัตนะ ๗ ประการ
ทำตุม ๗๐๐,๐๐๐ ใบ ซึ่งโชติช่วงเหมือนไฟไหม้ไม้อ้อ
[๒๕๗] หม่อมฉันบรรจุน้ำมันหอมจนเต็ม
ตามประทีปไว้ ณ พระสถูปนั้น
เพื่อบูชาพระศาสดา ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ผู้ทรงอนุเคราะห์สรรพสัตว์
[๒๕๘] หม่อมฉันให้ช่างทำหม้อ ๗๐๐,๐๐๐ ใบ
ใส่รัตนะต่าง ๆ จนเต็มครบทุกใบ
เพื่อบูชาพระศาสดา ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๒๕๙] ในระหว่างกลางหม้อทุก ๘ ใบ ยกพวงทองตั้งประดับไว้
ซึ่งมีรัศมีรุ่งโรจน์เหมือนดวงอาทิตย์ในสารทกาล
[๒๖๐] ที่ประตูทั้ง ๔ มีเสาระเนียดซึ่งทำด้วยรัตนะ
ทั้งมีแผ่นกระดานที่ทำด้วยรัตนะน่ารื่นรมย์
ยกขึ้นไว้ย่อมงดงาม
[๒๖๑] คูและปล่องที่สร้างไว้อย่างดี ก็รุ่งโรจน์
ธงรัตนะที่ยกขึ้นไว้ล้วนงามไพโรจน์
[๒๖๒] พระเจดีย์ที่สร้างด้วยรัตนะนั้น
สร้างไว้อย่างสวยงาม มีสีสุก
มีรัศมีรุ่งโรจน์ดุจดวงจันทร์และดวงอาทิตย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน
[๒๖๓] พระสถูปของหม่อมฉันมี ๓ ด้าน ด้านหนึ่งบรรจุหรดาล
ด้านหนึ่งบรรจุมโนศิลา ด้านหนึ่งบรรจุแร่พลวงไว้จนเต็ม
[๒๖๔] หม่อมฉันให้ช่างทำเครื่องบูชาที่น่ายินดีเช่นนี้แล้ว
ได้ถวายทานแก่พระสงฆ์ผู้กล่าวธรรมที่ประเสริฐ
ตามกำลัง จนตลอดชีวิต
[๒๖๕] หม่อมฉันกับเศรษฐีนั้น ทำบุญเหล่านั้น
โดยประการทั้งปวงจนตลอดชีวิต
แล้วได้ไปเกิดในสุคติภพร่วมกัน
[๒๖๖] เสวยสมบัติทั้งหลายทั้งในเทวดาและในมนุษย์
เวียนว่ายตายเกิดร่วมกับเศรษฐีนั้น
ปานประหนึ่งว่าเงาติดตามตัว
[๒๖๗] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงเป็นผู้นำ
ทรงมีพระเนตรงาม ทรงเห็นแจ้งธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๒๖๘] ครั้งนั้น ท่านเศรษฐีได้เกิดเป็นพราหมณ์ ในกรุงพันธุมดี
เป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นผู้มั่งคั่งด้วยคุณธรรม
แต่เป็นคนจนแสนจนด้วยทรัพย์
[๒๖๙] แม้ครั้งนั้น หม่อมฉันก็เป็นพราหมณีของพราหมณ์นั้น
มีความคิดอย่างเดียวกัน
บางครั้งพราหมณ์นั้นเข้าเฝ้าพระมหามุนี
[๒๗๐] ซึ่งประทับนั่งทรงแสดงอมตบทอยู่ในหมู่ชน
ได้ฟังธรรมแล้วเบิกบานใจ ได้ถวายผ้าสาฎกผืนหนึ่ง
[๒๗๑] มีผ้านุ่งผืนเดียวกลับไปเรือน แล้วได้บอกหม่อมฉันว่า
‘น้องหญิง เชิญอนุโมทนามหาบุญเถิด
ผ้าสาฎกพี่ได้ถวายพระพุทธเจ้าไปแล้ว’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน
[๒๗๒] ขณะนั้น หม่อมฉันมีความเอิบอิ่มประนมมือ
อนุโมทนาว่า ‘ข้าแต่สามี ผ้าสาฎกท่านถวายดีแล้ว
แด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ผู้คงที่’
[๒๗๓] พราหมณ์มีความสุข ประดับตกแต่งแล้ว
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในกรุงพาราณสีที่น่ารื่นรมย์
[๒๗๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นพระมเหสีผู้ประเสริฐกว่าพวกนางสนม
เป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่งของท้าวเธอ เพราะความรักที่มีในกาลก่อน
[๒๗๕] พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น
ทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ พระองค์
ผู้เที่ยวบิณฑบาต ทรงเบิกบานพระทัย
ได้ถวายอาหารบิณฑบาตที่มีราคามาก
[๒๗๖] นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไว้
ทรงสร้างรัตนมณฑปซึ่งประดับด้วยทองมีรัศมีเปล่งปลั่ง
ที่พวกช่างทองได้ทำไว้ซึ่งสูงประมาณ ๑๐๐ ศอก
[๒๗๗] ท้าวเธอทรงเลื่อมใส รับสั่งให้นิมนต์
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมด
แล้วได้ทรงถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
ซึ่งเข้ามาในพระราชนิเวศน์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง
[๒๗๘] แม้ครั้งนั้น หม่อมฉันก็ได้ร่วมถวายทานนั้นกับพระเจ้ากาสี
ได้เกิดในกาสิกคามในกรุงพาราณสีอีก
[๒๗๙] พระเจ้ากาสีกับพระภาดามีความสุขอยู่ในตระกูลกุฎุมพีที่เจริญ
หม่อมฉันเป็นภรรยาของพี่ชายคนโต ปรนนิบัติสามีอย่างดี
[๒๘๐] น้องชายของสามีหม่อมฉัน เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว
นำอาหารของพี่ชายไปถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น
เมื่อพี่ชายผู้ซึ่งเป็นสามีของหม่อมฉันมาถึงแล้ว จึงได้บอก(สามี)ให้ทราบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน
[๒๘๑] เขาไม่ยินดีทาน จากนั้น หม่อมฉันก็ได้ให้อาหาร
ที่ตนนำมาเพื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแก่สามีนั้น
สามีนั้นได้ถวายอาหารนั้น
แก่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นอีก
[๒๘๒] ขณะนั้น หม่อมฉันโกรธจึงเทอาหาร
ที่ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นทิ้งเสีย
ได้ถวายบาตรที่เต็มด้วยเปือกตม
แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้คงที่นั้น
[๒๘๓] ครั้งนั้น หม่อมฉันเห็นใบหน้า มีจิตสงบของท่าน
ทั้งในการให้ การรับ การเคารพ
และการประทุษร้าย จึงสลดใจมาก
[๒๘๔] หม่อมฉันมีจิตเลื่อมใสรับบาตรมาแล้ว
ใช้น้ำหอมอย่างดีล้างจนสะอาด
บรรจุน้ำตาลกรวดกับเปรียงจนเต็มบาตรแล้วถวายคืน
[๒๘๕] หม่อมฉันเกิดในภพใด ๆ ก็มีรูปงาม
เพราะถวายทาน แต่มีกลิ่นตัวเหม็น
เพราะการย่ำยีที่กระทำไม่สมควรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
[๒๘๖] เมื่อพระเจดีย์ของพระธีรเจ้าพระนามว่ากัสสปะ
ซึ่งสามีหม่อมฉันได้ให้สร้างสำเร็จแล้ว
หม่อมฉันมีความยินดี ได้ถวายแผ่นอิฐทองคำอย่างดีอีก
[๒๘๗] ชุบอิฐนั้นให้ชุ่มด้วยของหอม ๔ ชนิด
จึงพ้นจากโทษที่มีกลิ่นตัวเหม็น
กลายเป็นผู้มีรูปทรงสมส่วนไปทั่วสรรพางค์กาย
[๒๘๘] ให้ช่างใช้รัตนะ ๗ ประการทำถาด ๗,๐๐๐ ถาด
เต็มไปด้วยเปรียง และไส้เป็นพัน ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน
[๒๘๙] ใส่ไปแล้วตามประทีปตั้งไว้ ๗ แถว
เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ด้วยจิตที่เลื่อมใส
[๒๙๐] แม้ครั้งนั้น หม่อมฉันมีส่วนในบุญนั้นโดยพิเศษ
สามีของหม่อมฉันไปเกิดในแคว้นกาสี
มีนามปรากฏว่าสุมิตตะ
[๒๙๑] หม่อมฉันเป็นภรรยาของเขา
มีความสุขอันเขาประดับตกแต่งแล้ว เป็นที่รัก
ครั้งนั้น สามีของหม่อมฉันได้ถวายผ้าโพกศีรษะเนื้อดี
แก่พระปัจเจกมุนี
[๒๙๒] แม้หม่อมฉันก็มีส่วนแห่งทานนั้น อนุโมทนาทานที่ประเสริฐ
สามีได้ไปเกิดในกำเนิดแห่งชาวโกลิยะในแคว้นกาสีอีก
[๒๙๓] ครั้งนั้น สามีของหม่อมฉันพร้อมด้วยบุตร
ของชาวโกลิยะ ๕๐๐ คน
ได้บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์
[๒๙๔] นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
ให้อยู่จำพรรษาตลอดไตรมาสแล้วได้ถวายไตรจีวร
ครั้งนั้น หม่อมฉันเป็นภรรยาของเขา
เป็นผู้ปฏิบัติกุศลกรรมบถ
[๒๙๕] สามีจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้เป็นพระราชาพระนามว่านันทะ มียศมาก
แม้หม่อมฉันก็ได้เป็นพระมเหสีของท้าวเธอ
เป็นผู้มีสมบัติให้สำเร็จสิ่งที่ต้องประสงค์ทุกประการ
[๒๙๖] พระเจ้านันทะนั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินนามว่าพรหมทัต
ครั้งนั้น พระปัจเจกมุนี ๕๐๐ องค์ถ้วน
ผู้เป็นพระโอรสของนางปทุมวดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน
[๒๙๗] หม่อมฉันได้บำรุงจนตลอดชีวิต
นิมนต์ให้พักอยู่ในพระราชอุทยานแล้ว
และบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ผู้นิพพานแล้ว
[๒๙๘] หม่อมฉันทั้ง ๒ ได้สร้างเจดีย์หลายองค์
แล้วก็พากันออกบวช เจริญอัปปมัญญา
แล้วได้ไปเกิดในพรหมโลก
[๒๙๙] จุติจากพรหมโลกแล้ว สามีของหม่อมฉัน
เกิดเป็นพราหมณ์ชื่อปิปผลายนะ
ที่ประเทศมหาติตถะ มารดาชื่อสุมนเทวี
บิดาเป็นพราหมณ์โกสิยโคตร
[๓๐๐] หม่อมฉันเป็นธิดาของกบิลพราหมณ์
มารดาชื่อสุจิมตี ในมัททชนบท นครสากละที่ประเสริฐสุด
[๓๐๑] บิดาหล่อรูปของหม่อมฉันด้วยทองคำแท่งแล้ว
ถวายรูปหล่อแก่พระกัสสปธีรเจ้า ผู้เว้นจากกามทั้งหลาย
[๓๐๒] พราหมณ์ปิปผลายนะนั้นเป็นหนุ่ม
ไปตรวจดูงานในกาลบางคราว
เห็นสัตว์ทั้งหลายที่ถูกกาเป็นต้นจิกกินแล้ว เกิดความสลดใจ
[๓๐๓] ครั้งนั้น หม่อมฉันเห็นเมล็ดงาที่มีอยู่ในเรือน
ซึ่งนำออกผึ่งแดด เห็นกาจิกกินหนอนอยู่ ได้ความสลดใจ
[๓๐๔] ครั้งนั้น พราหมณ์ปิปผลายนะผู้เป็นปราชญ์ออกบวช
หม่อมฉันก็ออกบวชตาม อยู่บำเพ็ญศีลพรตของปริพาชก ๕ ปี
[๓๐๕] เมื่อพระนางโคตมีผู้บำรุงเลี้ยงพระชินเจ้าทรงผนวชแล้ว
หม่อมฉันได้เข้าไปหาพระนาง และเป็นผู้อันพระพุทธเจ้าสั่งสอนแล้ว
[๓๐๖] โดยกาลไม่นานนัก หม่อมฉันก็ได้บรรลุอรหัตตผล
โอ ! เรามีพระมหากัสสปเถระผู้มีสิริ เป็นกัลยาณมิตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน
[๓๐๗] พระกัสสปเถระเป็นพุทธบุตร
เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า
มีจิตตั้งมั่นดี รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
เห็นสวรรค์และอบาย
[๓๐๘] อนึ่ง ท่านถึงความสิ้นชาติ เป็นมุนีอยู่จบอภิญญา
ด้วยวิชชา ๓ เหล่านี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ผู้มีวิชชา ๓
[๓๐๙] ภัททกาปิลานีก็เหมือนกัน
ได้วิชชา ๓ ละมัจจุราชเสียได้ ทรงร่างกายนี้เป็นที่สุด
ชนะมารพร้อมทั้งเสนามารแล้ว
[๓๑๐] หม่อมฉันทั้ง ๒ เห็นโทษในโลกแล้วพากันบวช
เป็นผู้สิ้นอาสวะ ฝึกตนแล้ว มีความเย็น ดับสนิทแล้ว
[๓๑๑] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๑๒] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
[๓๑๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระภัททกาปิลานีภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ภัททกาปิลานีเถริยาปทานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๘. ยโสธราเถริยาปทาน
๘. ยโสธราเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระยโสธราเถรี
(พระยโสธราเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๑๔] สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้ทรงเป็นผู้นำแห่งนรชน
ประทับอยู่ ณ เงื้อมภูเขาที่ประเสริฐแห่งหนึ่ง
ใกล้กรุงราชคฤห์ ที่น่ารื่นรมย์ มั่งคั่ง
[๓๑๕] ยโสธราภิกษุณี ผู้อยู่ในสำนักของภิกษุณี
ในนครที่น่ารื่นรมย์นั้น ได้มีความรำพึงอย่างนี้ว่า
[๓๑๖] ‘พระเจ้าสุทโธทนมหาราช
และพระนางมหาปชาบดีโคตมี
พระมหาเถระผู้มีชื่อเสียง และพระเถรีผู้มีฤทธิ์มาก
[๓๑๗] ท่านเหล่านั้น ล้วนนิพพานไปแล้ว
เหมือนเปลวประทีปหมดเชื้อดับไปฉะนั้น
เมื่อพระโลกนาถยังทรงพระชนม์อยู่
แม้เราก็จักบรรลุถึงสิวบท(นิพพาน)’
[๓๑๘] ยโสธราภิกษุณีนั้นครั้นคิดแล้ว
จึงพิจารณาดูอายุของตน เห็นอายุสังขาร
จะถึงความสิ้นไปในวันนั้นเอง
[๓๑๙] จึงถือบาตรและจีวรออกจากที่อยู่ของตน
มีภิกษุณี ๑๐๐,๐๐๐ รูปห้อมล้อม
[๓๒๐] มีฤทธิ์มาก มีปัญญามาก
เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถวายอภิวาท
ที่ลายลักษณ์กงจักรของพระศาสดาแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลคำนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๘. ยโสธราเถริยาปทาน
[๓๒๑] ‘หม่อมฉันมีอายุได้ ๗๘ ปี ล่วงเข้าปัจฉิมวัยแล้ว
ถึงความเป็นผู้มีกายค้อมลงโดยลำดับ ขอกราบทูลลาพระมหามุนี
[๓๒๒] หม่อมฉันมีวัยแก่หง่อม ชีวิตของหม่อมฉันมีอยู่นิดหน่อย
หม่อมฉันจักละพระองค์ไป ที่พึ่งของตนหม่อมฉันทำไว้แล้ว
[๓๒๓] ในกาลปัจฉิมวัยนี้ ความตายเข้ามาปิดล้อมไว้แล้ว
ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันจักนิพพานในคืนวันนี้
[๓๒๔] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันไม่มีชาติ
ชรา พยาธิ และมรณะ
หม่อมฉันจักเข้าถึงนิพพานที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง
เป็นบุรีที่ไม่มีความแก่ ความตาย และไม่มีภัย
[๓๒๕] บริษัทที่เข้าเฝ้าพระองค์อยู่ รู้จักความผิด
จึงขอประทานโทษ เฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดา
[๓๒๖] ข้าแต่พระมหาวีระ
เมื่อหม่อมฉันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสงสาร
หากมีความผิดพลาดในพระองค์ หม่อมฉันกราบทูลว่า
ขอพระองค์โปรดยกโทษให้แก่หม่อมฉันด้วยเถิด’
[๓๒๗] พระจอมมุนีทรงสดับคำของพระยโสธราภิกษุณีแล้ว
จึงตรัสดังนี้ว่า ‘เมื่อเธอบอกว่าจะลานิพพาน
ตถาคตจะไปว่าอะไรเธอให้มากเล่า
[๓๒๘] เธอผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเรา จงแสดงฤทธิ์
และตัดความสงสัยของบริษัททั้งปวงในศาสนาเถิด’
[๓๒๙] พระยโสธราภิกษุณีนั้น
ได้ฟังพระดำรัสของพระมุนีพระองค์นั้นแล้ว
จึงไหว้พระราชมุนีนั้นกราบทูลคำนี้ว่า
[๓๓๐] ‘ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันชื่อยโสธรา
เมื่อสมัยที่ยังทรงครองฆราวาสวิสัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๘. ยโสธราเถริยาปทาน
เป็นปชาบดีของพระองค์
เกิดในตระกูลศากยะ ตั้งอยู่ในองค์สมบัติของผู้หญิง
[๓๓๑] ข้าแต่พระมหาวีระ บรรดาหญิงจำนวน ๑๙๖,๐๐๐ นาง
หม่อมฉันเป็นประธาน เป็นใหญ่กว่าหญิงทั้งปวง
ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์
[๓๓๒] สตรีทั้งหมดประกอบด้วยรูปสมบัติและอาจารสมบัติ
แม้ดำรงอยู่ในวัยสาว ก็ยำเกรงหม่อมฉันทุกเมื่อ
เหมือนมนุษย์ทั้งหลายยำเกรงเทวดา
[๓๓๓] หญิงเหล่านั้นมีนางกษัตริย์ ๑,๐๐๐ นาง เป็นประธาน
ร่วมสุขร่วมทุกข์กันอยู่ในพระราชนิเวศน์ของศากยบุตร
ปานประหนึ่งเทวดาทั้งหลายในสวนนันทวัน
[๓๓๔] เว้นพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกแล้ว
เหล่าสตรีผู้ฉลาดล่วงเลยกามภูมิ ตั้งอยู่ในรูปภูมิ
มีรูปเช่นกับหม่อมฉันไม่มี’
[๓๓๕] พระยโสธราเถรี ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
แสดงฤทธิ์ถวายพระศาสดา แล้วแสดงฤทธิ์มากมายหลายอย่าง
[๓๓๖] คือ แสดงกายเท่าภูเขาจักรวาล ศีรษะเท่าอุตตรกุรุทวีป
ทวีปทั้ง ๒ ให้เป็นปีกทั้ง ๒ ข้าง
ชมพูทวีปให้เป็นลำตัว
[๓๓๗] แสดงมหาสมุทรด้านทิศใต้ให้เป็นกำหาง
กิ่งไม้ต่าง ๆ ให้เป็นขนปีก
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ให้เป็นนัยน์ตา
ภูเขาพระสุเมรุให้เป็นหงอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๘. ยโสธราเถริยาปทาน
[๓๓๘] แสดงภูเขาจักรวาลให้เป็นจะงอยปาก นำต้นหว้า
พร้อมทั้งรากเข้ามาใกล้แล้วไหว้และพัดวีพระผู้เป็นผู้นำสัตว์โลก
[๓๓๙] แสดงเป็นช้าง ม้า ภูเขา ทะเล ดวงจันทร์
ดวงอาทิตย์ ภูเขาพระสุเมรุ และเป็นท้าวสักกะจอมเทพ
[๓๔๐] กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระจักษุ
หม่อมฉันชื่อว่ายโสธรา ขอกราบพระยุคลบาท’
แล้วใช้ดอกบัวบานปิด ๑,๐๐๐ โลกธาตุไว้
[๓๔๑] เนรมิตเป็นพรหมแสดงสุญญตธรรมอยู่
กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระวีระ ผู้มีพระจักษุ
หม่อมฉันชื่อว่ายโสธรา ขอกราบพระยุคลบาท’
[๓๔๒] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และมีความชำนาญในเจโตปริยญาณ
[๓๔๓] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี
[๓๔๔] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ
ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณของหม่อมฉัน
เกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์
[๓๔๕] ความพร้อมเพรียงแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก พระองค์ทรงแสดงแล้ว
ข้าแต่พระมหามุนี อธิการเป็นอันมากของหม่อมฉัน
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๓๔๖] ข้าแต่พระมหาวีระผู้เป็นพระมุนี
ขอพระองค์พึงหวนระลึกถึงกุศลกรรมเก่าของหม่อมฉันเถิด
หม่อมฉันสั่งสมบุญไว้ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๔๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๘. ยโสธราเถริยาปทาน
[๓๔๗] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันงดเว้นอนาจารในสถานที่ไม่สมควร
แม้ชีวิตก็ยอมสละได้เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๓๔๘] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ประทานหม่อมฉัน
เพื่อต้องการให้เป็นภรรยาของผู้อื่นหลายพันโกฏิกัป
ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
หม่อมฉันไม่เคยเสียใจในเรื่องนั้นเลย
[๓๔๙] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ประทานหม่อมฉัน
เพื่ออุดหนุนผู้อื่นหลายพันโกฏิกัป
ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
หม่อมฉันไม่เคยเสียใจในเรื่องนั้นเลย
[๓๕๐] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ประทานหม่อมฉัน
เพื่อประโยชน์เป็นอาหารหลายพันโกฏิกัป
ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
หม่อมฉันไม่เคยเสียใจในเรื่องนั้นเลย
[๓๕๑] หม่อมฉันยอมสละชีวิตหลายพันโกฏิกัป
ด้วยคิดว่าจักกระทำความพ้นภัย
จึงยอมสละชีวิตตนเอง
[๓๕๒] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันไม่เคยหวงเครื่องประดับ
มีผ้านานาชนิดที่ติดตัวอยู่และภัณฑะของหญิง
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๓๕๓] ข้าแต่พระมหามุนี ทรัพย์ ข้าวเปลือก
ปัจจัยเครื่องบริจาค บ้าน นิคม ไร่ นา
บุตร ธิดา หม่อมฉันก็บริจาคแล้ว
[๓๕๔] ช้าง ม้า โค ทาสี นางบำเรอ มากมายนับไม่ถ้วน
หม่อมฉันก็บริจาคแล้ว เพื่อประโยชน์แก่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๘. ยโสธราเถริยาปทาน
[๓๕๕] พระองค์ทรงปรึกษาหม่อมฉันว่า
‘เราจะให้ทานแก่พวกยาจก’
เมื่อพระองค์ให้ทานที่ประเสริฐอยู่ หม่อมฉันก็ไม่เคยเสียใจ
[๓๕๖] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันยอมรับทุกข์ทรมาน
มากมายหลายอย่างจนนับไม่ถ้วน ในสงสารเป็นอเนก
ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๓๕๗] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันได้รับสุขก็อนุโมทนา
และคราวที่ได้รับทุกข์ก็ไม่เสียใจ เป็นผู้ยินดีแล้วทุกอย่าง
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๓๕๘] ข้าแต่พระมหามุนี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญธรรม
โดยมรรคที่สมควร เสวยสุขและทุกข์แล้ว
ได้บรรลุพระโพธิญาณ
[๓๕๙] การที่พระองค์และหม่อมฉันพบพระสัมพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพระนามว่าพรหมเทพ
และพระนามว่าโคดม แล้วพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งสัตว์โลกเหล่าอื่นอีกก็มาก
[๓๖๐] ข้าแต่พระมหามุนี อธิการของหม่อมฉันมีมาก
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ หม่อมฉันเมื่อแสวงหาพุทธธรรมอยู่
ก็ได้เป็นบาทบริจาริกาของพระองค์
[๓๖๑] ใน ๔ อสงไขยและอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัป
พระมหาวีระพระนามว่าทีปังกร
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๓๖๒] ประชาชนในปัจจันตประเทศ
ต่างมีใจยินดีทูลนิมนต์พระตถาคตแล้ว
ช่วยกันแผ้วถางทางซึ่งเป็นที่เสด็จพุทธดำเนิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๘. ยโสธราเถริยาปทาน
[๓๖๓] ครั้งนั้น พระองค์เกิดเป็นพราหมณ์นามว่าสุเมธะ
กำลังตกแต่งหนทางเพื่อพระสุคต
ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงกำลังเสด็จมา
[๓๖๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้เกิดในตระกูลพราหมณ์
เป็นหญิงสาวมีนามว่าสุมิตตา เข้าไปสู่สมาคม
[๓๖๕] ถือดอกอุบลไป ๘ กำเพื่อบูชาพระศาสดา
ได้เห็นพระองค์ผู้เป็นฤาษีผู้ประเสริฐ ในท่ามกลางหมู่ชน
[๓๖๖] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้เห็นพระองค์ผู้น่าพอใจ
ผู้มีความเอ็นดูประทับอยู่นาน ดำเนินผ่านไป
จึงได้สำคัญว่าชีวิตของเรามีผล
[๓๖๗] ครั้งนั้น หม่อมฉันเห็นความพยายามที่มีผล
ของพระองค์ผู้เป็นพระฤาษี ด้วยบุพกรรม
แม้จิตของหม่อมฉันก็เลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๓๖๘] หม่อมฉันทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง
ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระฤๅษี มีพระทัยเบิกบาน
ข้าแต่พระฤาษี หม่อมฉันมิได้เห็นสิ่งอื่นที่ควรถวาย
จึงถวายดอกอุบลแด่พระองค์ พร้อมกับกล่าวว่า
[๓๖๙] ‘ข้าแต่พระฤๅษี ดอกอุบล ๕ กำ จงเป็นของท่าน
ดอกอุบล ๓ กำ จงเป็นของหม่อมฉัน
ข้าแต่พระฤๅษี ดอกบัว ๓ กำของหม่อมฉัน
กับดอกบัว ๕ กำของท่านนั้น จงมีผลเสมอกัน
เพื่อประโยชน์แก่พระโพธิญาณของท่าน’
ภาณวารที่ ๔ จบ

[๓๗๐] สุเมธมหาฤาษีรับดอกอุบลแล้วบูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ มีบริวารยศมากมาย
เสด็จดำเนินมาท่ามกลางชุมชน เพื่อประโยชน์แก่พระโพธิญาณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๘. ยโสธราเถริยาปทาน
[๓๗๑] พระมหามุนีผู้มีความเพียรมากพระนามว่าวีรทีปังกร
ทอดพระเนตรเห็นพระฤาษี ผู้มีใจสูงแล้ว
จึงตรัสพยากรณ์ในท่ามกลางชุมชน
[๓๗๒] ข้าแต่พระมหามุนี ในกัปที่หาประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป
พระมหามุนีพระนามว่าทีปังกร ทรงพยากรณ์กรรม
คือความเป็นผู้ซื่อตรงของหม่อมฉันไว้ว่า
[๓๗๓] ‘ท่านฤาษีผู้เป็นใหญ่ อุบาสิกาผู้นี้จักเป็นผู้มีจิตเสมอกัน
มีการกระทำเสมอกัน มีปกติทำร่วมกัน
จักเป็นที่น่ารักเพราะการกระทำเพื่อประโยชน์แก่ท่าน
[๓๗๔] จักเป็นหญิงมีรูปร่างน่าดู น่าชม น่ารักยิ่ง
น่าชอบใจ มีวาจาอ่อนหวาน มีฤทธิ์
เป็นธรรมทายาทของท่าน
[๓๗๕] อุบาสิกาผู้นี้ จักรักษากุศลธรรมทั้งหลาย
เหมือนพวกเจ้าของรักษาเครื่องสมุก
[๓๗๖] จะอนุเคราะห์ท่าน จักบำเพ็ญบารมีเพื่อท่าน
ละกิเลสได้ดังพญาราชสีห์ละกรงแล้ว จักบรรลุพระโพธิญาณ’
[๓๗๗] ในกัปที่หาประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป
พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ดำรัสใดกับหม่อมฉัน
หม่อมฉันเมื่ออนุโมทนาพระดำรัสนั้น เป็นผู้ทำอย่างนี้
[๓๗๘] หม่อมฉันทำจิตให้เลื่อมใสในกุศลกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
ได้บังเกิดในกำเนิดเทวดาและมนุษย์มากมาย
[๓๗๙] ได้เสวยสุขและทุกข์ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เมื่อถึงภพสุดท้ายได้เกิดในศากยตระกูล
[๓๘๐] หม่อมฉันมีรูปสมบัติ มีโภคสมบัติ มียศ มีศีล
สมบูรณ์ด้วยองค์สมบัติทั้งปวง
แต่นั้นได้รับความยำเกรงจากเจ้านายในตระกูลทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๘. ยโสธราเถริยาปทาน
[๓๘๑] พรั่งพร้อมด้วยโลกธรรม คือ ลาภ สักการะ สรรเสริญ
มีจิตไม่ประกอบด้วยทุกข์ อยู่อย่างผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
[๓๘๒] สมจริงตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
‘ข้าแต่พระพระองค์ผู้แกล้วกล้า ในครั้งนั้น
พระองค์ทรงแสดงอุปการะของนารีทั้งหลาย
ไว้ภายในพระราชมณเฑียรและในขัตติยบุรีว่า
[๓๘๓] นารีผู้มีอุปการะ ๑ นารีผู้เป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑
นารีผู้แนะนำประโยชน์ให้ ๑ นารีผู้ทำความอนุเคราะห์ให้ ๑’
[๓๘๔] พระพุทธเจ้ามีจำนวนถึง ๕๐๐ โกฏิ และ ๙๐๐ โกฏิ
หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
[๓๘๕] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงสดับอธิการ
ของหม่อมฉันมีมากมาย
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของชาวโลก
มีจำนวนถึง ๑,๑๐๐ โกฏิ
[๓๘๖] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงสดับ
อธิการของหม่อมฉันมีมากมาย
[๓๘๗] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแก่พระพุทธเจ้า ๒,๐๐๐ โกฏิ
และแก่พระพุทธเจ้า ๓,๐๐๐ โกฏิ ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
[๓๘๘] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงสดับอธิการ
ของหม่อมฉันมีมากมาย
พระพุทธเจ้ามีจำนวนถึง ๔,๐๐๐ โกฏิ และ ๕,๐๐๐ โกฏิ
[๓๘๙] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแก่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงสดับ
อธิการของหม่อมฉันมีมากมาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๘. ยโสธราเถริยาปทาน
[๓๙๐] พระพุทธเจ้ามีจำนวนถึง ๖,๐๐๐ โกฏิ และ ๗,๐๐๐ โกฏิ
หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
[๓๙๑] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงสดับอธิการ
ของหม่อมฉันมีมากมาย
พระพุทธเจ้ามีจำนวนถึง ๘,๐๐๐ โกฏิ และ ๙,๐๐๐ โกฏิ
[๓๙๒] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงสดับอธิการของหม่อมฉันมีมากมาย
[๓๙๓] พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของชาวโลก
มีจำนวนถึง ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
[๓๙๔] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงสดับอธิการ
ของหม่อมฉันมีมากมาย
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำอื่น ๆ มีจำนวนถึง ๙,๐๐๐ โกฏิ
[๓๙๕] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงสดับอธิการของหม่อมฉันมีมากมาย
[๓๙๖] พระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
๘๕ องค์ ๘,๕๐๐ โกฏิ ๓๐ โกฏิ
[๓๙๗] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ข้าแต่มหาราช
ขอพระองค์จงสดับอธิการของหม่อมฉันมีมากมาย
[๓๙๘] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า
ผู้ปราศจากราคะจำนวน ๘๘ โกฏิ
ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงสดับอธิการของหม่อมฉันมีมากมาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๘. ยโสธราเถริยาปทาน
[๓๙๙] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแก่พระขีณาสพ
ผู้ปราศจากมลทิน ซึ่งเป็นพุทธสาวกมากมายนับไม่ถ้วน
ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทรงสดับอธิการหม่อมฉันมีมากมาย
[๔๐๐] หม่อมฉันจัดถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้สั่งสมไว้ดีแล้วในธรรมทั้งหลาย
และแด่พระอริยสงฆ์ทั้งหลายผู้ประพฤติพระสัทธรรมทุกเมื่อ
ด้วยประการฉะนี้
บุคคลผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๔๐๑] บุคคลควรประพฤติธรรมให้สุจริต
ไม่ควรประพฤติธรรมให้ทุจริต
เพราะบุคคลผู้ประพฤติธรรม
ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[๔๐๒] ข้าพระองค์เบื่อหน่ายในสังสารวัฏ
จึงออกบวชเป็นบรรพชิตพร้อมด้วยบริวาร ๑,๐๐๐
ครั้นบวชแล้วก็หมดกังวล๑
[๔๐๓] หม่อมฉันละการครองเรือนแล้วบวชเป็นบรรพชิต
ยังไม่ทันถึงกึ่งเดือน ก็ได้บรรลุสัจจะ ๔
[๔๐๔] ‘คนเป็นอันมากนำจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และปัจจัยเข้ามาถวายมากมายมิใช่น้อย
เหมือนคลื่นในมหาสมุทร
[๔๐๕] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

เชิงอรรถ :
๑ กังวล หมายถึงกังวล ๓ คือ (๑) กังวลคือราคะ (๒) กังวลคือโทสะ (๓) กังวลคือโมหะ (ดูเทียบ ที.ปา.
(แปล) ๑๑/๓๐๕/๒๖๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๙. ทสสหัสสเถริยาปทาน
[๔๐๖] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๐๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
[๔๐๘] หม่อมฉันได้รับทุกข์หลายอย่าง และสุขสมบัติหลายอย่าง
ถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์ ได้สมบัติทุกอย่างด้วยประการฉะนี้
[๔๐๙] บุคคลผู้ถวายตนของตนแด่พระพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เพื่อต้องการบุญก็ย่อมพรั่งพร้อมด้วยสหาย
บรรลุพระนิพพานซึ่งเป็นอสังขตะ
[๔๑๐] กรรมทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคตสิ้นไปแล้ว
กรรมทั้งปวงของหม่อมฉันสิ้นไปแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ หม่อมฉันขอกราบไหว้พระยุคลบาท
ได้ทราบว่า พระยโสธราภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ เฉพาะพระพักตร์พระผู้
มีพระภาค ด้วยประการฉะนี้
ยโสธราเถริยาปทานที่ ๘ จบ

๙. ทสสหัสสเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเถรี ๑๐,๐๐๐ รูป
(พระเถรี ๑๐,๐๐๐ รูป เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๑๑] ใน ๔ อสงไขย และอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัป
พระชินเจ้าพระนามว่าทีปังกร
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๙. ทสสหัสสเถริยาปทาน
[๔๑๒] พระมหาวีรพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกรทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ทรงพยากรณ์ว่า ‘สุเมธบัณฑิตกับนางสุมิตตา
มีสุขและทุกข์ร่วมกัน’
[๔๑๓] เมื่อเสด็จเที่ยวไปยังมนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลก
ทอดพระเนตรเห็นมนุษย์พร้อมทั้งเทวดา
ได้เสด็จเข้ามาสู่สมาคม
ในเมื่อเรากล่าวสรรเสริญสุเมธบัณฑิตและนางสุมิตตานั้นอยู่
[๔๑๔] สุเมธบัณฑิตจะเป็นสามีของหม่อมฉันทั้งปวง
ในการพบกันในอนาคตแห่งหม่อมฉันทั้งหลาย
หม่อมฉันผู้เป็นภรรยาทั้งหมดของท่าน เป็นคนน่ารัก พูดจาไพเราะ
[๔๑๕] ข้าแต่พระมหามุนี ทานมัย ศีลมัย
ภาวนามัยทั้งปวงหม่อมฉันทั้งหลายบำเพ็ญดีแล้ว
หม่อมฉันทั้งหลายเสียสละวัตถุทานทุกอย่างนี้ตลอดกาลนาน
[๔๑๖] คือ ของหอม ระเบียบดอกไม้ เครื่องลูบไล้
และประทีปที่สำเร็จด้วยรัตนะ ข้าแต่พระมหามุนี
สิ่งที่ปรารถนาทุกอย่าง หม่อมฉันทั้งหลายก็สละแล้ว
[๔๑๗] ข้าแต่พระมหามุนี กรรมอย่างอื่น
และวัตถุเครื่องบริโภคที่เป็นของมนุษย์
หม่อมฉันทั้งหลายทำไว้แล้วทุกอย่าง
หม่อมฉันทั้งหลายได้สละตลอดกาลนาน
[๔๑๘] เพราะบุญเป็นอันมาก หม่อมฉันทั้งหลายได้ความเป็นใหญ่
เวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่
ตลอดสงสารเป็นอเนกชาติได้กระทำไว้แล้ว
[๔๑๙] เมื่อถึงภพสุดท้าย หม่อมฉันทั้งหลายเกิดในตระกูลต่าง ๆ
ในนิเวศน์ของศากยบุตร มีวรรณะงดงามน่าใคร่ ดุจนางอัปสร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๙. ทสสหัสสเถริยาปทาน
[๔๒๐] หม่อมฉันทั้งหลายมีลาภอย่างเลิศ ได้รับยศแล้ว
ได้รับการบูชาสักการะจากชนทั้งปวง
ได้ข้าวและน้ำ ได้รับการยอมรับนับถือทุกเมื่อ
[๔๒๑] หม่อมฉันทั้งหลายละการครองเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ยังไม่ทันถึงกึ่งเดือนก็ได้บรรลุความดับทุกข์ทั้งหมด
[๔๒๒] หม่อมฉันทั้งหลายได้ข้าว น้ำ ได้รับสักการะบูชาด้วยผ้า
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ที่เหล่าชนนำเข้ามาถวาย
[๔๒๓] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันทั้งหลายก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันทั้งหลายก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันทั้งหลายตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๒๔] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันทั้งหลายได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๒๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
ดังนี้แล
ทราบว่า ภิกษุณี ๑๐,๐๐๐ รูปมีพระยโสธราเถรีเป็นประธานได้ภาษิตคาถา
เหล่านี้ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ด้วยประการฉะนี้
ทสสหัสสเถริยาปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน
๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเถรี ๑๘,๐๐๐ รูป
(พระเถรี ๑๘,๐๐๐ รูป เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๒๖] ภิกษุณีที่สมภพในศากยตระกูล ๑๘,๐๐๐ รูป
มีพระยโสธราเถรีเป็นประธาน
เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๔๒๗] ภิกษุณีทั้ง ๑๘,๐๐๐ รูป ล้วนเป็นผู้มีฤทธิ์มาก
กราบพระยุคลบาทของพระมุนีแล้ว
ได้กราบทูลตามกำลังว่า
[๔๒๘] ‘ข้าแต่พระมหามุนี ผู้ทรงเป็นผู้นำ
หม่อมฉันทั้งหลายมีชาติ ชรา พยาธิ และมรณะสิ้นแล้ว
ถึงอมตบทที่สงบ ไม่มีอาสวะ
[๔๒๙] ข้าแต่พระมหามุนีผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ในกาลก่อนความพลั้งพลาดของหม่อมฉันแม้ทั้งหมดก็มีอยู่
ชนทั้งหลายย่อมรู้ว่าเป็นความผิด
ขอพระองค์โปรดยกโทษแก่หม่อมฉันทั้งหลายด้วยเถิด’
[๔๓๐] (พระบรมศาสดาตรัสว่า) ‘เธอทั้งหลาย
ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเรา
จงแสดงฤทธิ์และตัดความสงสัยของบริษัททั้งมวลเท่าที่มีอยู่เถิด’
[๔๓๑] ข้าแต่พระมหาวีระ
พระยโสธราเถรีเป็นหญิงที่น่าพอพระทัยน่ารักน่าชม
ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันทั้งปวงเป็นปชาบดีของพระองค์
เมื่อสมัยที่ยังครองฆราวาสวิสัย
[๔๓๒] ข้าแต่พระมหาวีระ บรรดาหญิงจำนวน ๑๙๖,๐๐๐ นาง
หม่อมฉันทั้งหลายเป็นประธาน เป็นใหญ่กว่าหญิงทั้งปวง
ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน
[๔๓๓] สตรีทั้งหมดประกอบด้วยรูปสมบัติและอาจารสมบัติ
ดำรงอยู่ในวัยสาว พูดจาไพเราะ
ยำเกรงต่อหม่อมฉันทั้งหลาย
เหมือนพวกมนุษย์ยำเกรงเทวดา
[๔๓๔] ในกาลนั้น หม่อมฉันจำนวน ๑๘,๐๐๐ นาง
ทั้งหมด เป็นผู้สมภพในศากยตระกูล
พระยโสธราเถรีและหม่อมฉัน ๑,๐๐๐ นาง เป็นประธาน เป็นใหญ่
[๔๓๕] ข้าแต่พระมหามุนี บรรดาหม่อมฉัน ๑,๐๐๐ นาง
หม่อมฉันทั้งหลายผู้ก้าวล่วงกามธาตุ
ดำรงอยู่ในรูปธาตุ มีรูป(มีฤทธิ์)ไม่เหมือนกัน๑
[๔๓๖] พระเถรีเหล่านั้น ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
แสดงฤทธิ์ถวายพระศาสดา
แสดงฤทธิ์มากมายหลายอย่างต่าง ๆ กัน
[๔๓๗] คือแสดงกายเท่าภูเขาจักรวาล ศีรษะเท่าอุตตรกุรุทวีป
ทวีปทั้ง ๒ ให้เป็นปีกทั้ง ๒ ข้าง
ชมพูทวีปให้เป็นลำตัว
[๔๓๘] แสดงมหาสมุทรด้านทิศใต้ให้เป็นกำหาง
กิ่งไม้ต่าง ๆ ให้เป็นขนปีก
ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ให้เป็นนัยน์ตา
ภูเขาพระสุเมรุให้เป็นหงอน
[๔๓๙] แสดงภูเขาจักรวาลให้เป็นจะงอยปาก
นำต้นหว้าพร้อมทั้งราก
เข้ามาใกล้แล้วไหว้และพัดวีพระผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๕/๒๖๒, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๐๐๗-๑๐๑๖/๕๐๑-๕๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน
[๔๔๐] แสดงเป็นช้าง ม้า ภูเขา ทะเล ดวงจันทร์
ดวงอาทิตย์ ภูเขาพระสุเมรุและเป็นท้าวสักกจอมเทพ
[๔๔๑] กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระวีรเจ้า
ผู้มีพระจักษุ ทรงเป็นผู้นำของนรชน
หม่อมฉันทั้งหลายผู้ทรงไว้ซึ่งยศ
ซึ่งสำเร็จแล้วด้วยกุศลธรรมที่อบรมมานานเพื่อพระองค์
ขอกราบพระยุคลบาท
[๔๔๒] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลาย
เป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และมีความชำนาญในเจโตปริยญาณ
[๔๔๓] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันทั้งหลายก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๔๔๔] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ
ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ของหม่อมฉันทั้งหลาย
เกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์
[๔๔๕] การพบพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของโลก พระองค์ก็ได้แสดงแล้วแก่หม่อมฉันทั้งหลาย
ข้าแต่พระมหามุนี อธิการจำนวนมากของหม่อมฉันทั้งหลาย
ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๔๔๖] ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้เป็นพระมุนี
ขอพระองค์พึงหวนระลึกถึงกุศลกรรมเก่า
ของหม่อมฉันทั้งหลายเถิด
หม่อมฉันทั้งหลายสั่งสมบุญไว้ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน
[๔๔๗] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันทั้งหลาย
งดเว้นอนาจารในสถานที่ไม่สมควร
แม้ชีวิตก็ยอมสละแล้วเพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๔๔๘] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ประทานหม่อมฉันทั้งหลาย
เพื่อต้องการให้เป็นภรรยาของผู้อื่นหลายพันโกฏิกัป
ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
หม่อมฉันทั้งหลายไม่เคยเสียใจในเรื่องนั้นเลย
[๔๔๙] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ประทานหม่อมฉันทั้งหลาย
เพื่ออุดหนุนผู้อื่นหลายพันโกฏิกัป
ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
หม่อมฉันทั้งหลายไม่เคยเสียใจในเรื่องนั้นเลย
[๔๕๐] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ประทานหม่อมฉันทั้งหลาย
เพื่อประโยชน์เป็นอาหารหลายพันโกฏิกัป
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
หม่อมฉันทั้งหลายไม่เคยเสียใจในเรื่องนั้นเลย
[๔๕๑] หม่อมฉันทั้งหลายยอมสละชีวิตหลายพันโกฏิกัป
ด้วยคิดว่าจักทำความพ้นภัย จึงยอมสละชีวิต
[๔๕๒] ข้าแต่พระมหามุนี
หม่อมฉันทั้งหลายไม่เคยหวงเครื่องประดับ
ผ้านานาชนิดที่ติดตัวอยู่ และภัณฑะของหญิง
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๔๕๓] ข้าแต่พระมหามุนี ทรัพย์ ข้าวเปลือก
ปัจจัยเครื่องบริจาค บ้าน นิคม ไร่ นา
บุตร ธิดา หม่อมฉันทั้งหลายก็บริจาคแล้ว
[๔๕๔] ช้าง ม้า โค ทาสี นางบำเรอ มากมายนับไม่ถ้วน
หม่อมฉันทั้งหลายก็บริจาคแล้ว เพื่อประโยชน์แก่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน
[๔๕๕] พระองค์ทรงปรึกษาหม่อมฉันทั้งหลายว่า
‘เราทั้งหลายจะให้ทานแก่พวกยาจก’
เมื่อพระองค์ให้ทานที่ประเสริฐอยู่
หม่อมฉันทั้งหลายก็ไม่เคยเสียใจ
[๔๕๖] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันทั้งหลาย
ยอมรับทุกข์ทรมานมากมายหลายอย่างจนนับไม่ถ้วน
ในสงสารเป็นอเนก ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๔๕๗] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลายได้รับความสุข
ย่อมอนุโมทนา และคราวที่ได้รับทุกข์ก็ไม่เสียใจ
เป็นผู้ยินดีแล้วทุกอย่าง เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๔๕๘] ข้าแต่พระมหามุนี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญธรรม
โดยมรรคที่สมควร เสวยสุขและทุกข์แล้ว
ได้บรรลุซึ่งพระโพธิญาณ
[๔๕๙] การที่พระองค์และหม่อมฉันทั้งหลายพบพระสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกพระนามว่าพรหมเทพ
และพระนามว่าโคดมแล้วพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งสัตว์โลกเหล่าอื่นอีกก็มาก
[๔๖๐] ข้าแต่พระมหามุนี อธิการของหม่อมฉันทั้งหลายมีมาก
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
เมื่อพระองค์ทรงแสวงหาพุทธธรรมอยู่
หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้เป็นบาทบริจาริกาของพระองค์
[๔๖๑] ใน ๔ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป
พระมหาวีระพระนามว่าทีปังกร
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน
[๔๖๒] ประชาชนในปัจจันตประเทศต่างมีใจยินดี
ทูลนิมนต์พระตถาคตแล้ว
ช่วยกันแผ้วถางทางซึ่งเป็นที่เสด็จพุทธดำเนิน
[๔๖๓] ครั้งนั้น พระองค์เกิดเป็นพราหมณ์นามว่าสุเมธะ
กำลังตกแต่งหนทางเพื่อพระสุคต
ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงกำลังเสด็จมา
[๔๖๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันทั้งหลายทั้งหมด
ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์
ถือดอกไม้ที่เกิดจากข้อไปสู่สมาคม
[๔๖๕] สมัยนั้น พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร
ผู้มีบริวารยศมาก เป็นพระมหาวีระ
ทรงพยากรณ์สุเมธดาบสผู้มีใจสูง
[๔๖๖] พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกรกำลังทรงประกาศกรรม
ของสุเมธดาบส ยกย่องฤาษีผู้มีใจสูงอยู่
แผ่นดินก็ไหวสะเทือนเลื่อนลั่นไปในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
[๔๖๗] เทพกัญญา มนุษย์ และหม่อมฉันทั้งหลาย
พร้อมทั้งเทวดา พากันใช้สิ่งของที่ควรบูชาต่าง ๆ
บูชาแล้วปรารถนา
[๔๖๘] พระพุทธเจ้าผู้มีพระนามว่าทีปังกร
ทรงพยากรณ์เขาเหล่านั้นว่า
‘ในวันนี้ ชนเหล่าใดมีความปรารถนา
ชนเหล่านั้นจักสำเร็จพร้อมหน้ากัน
[๔๖๙] ในกัปซึ่งหาประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป
พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์พระดำรัสใดแก่หม่อมฉันทั้งหลาย
หม่อมฉันทั้งหลายเมื่ออนุโมทนาพระดำรัสนั้น
จึงเป็นผู้ทำอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน
[๔๗๐] หญิงทั้งหลายทำจิตให้เลื่อมใสในกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
จึงได้บังเกิดในกำเนิดเทวดาและมนุษย์นับชาติไม่ถ้วน
[๔๗๑] ครั้นเสวยสุขและทุกข์ในเทวดาและมนุษย์แล้ว
เมื่อถึงภพสุดท้าย จึงมาเกิดในศากยตระกูล
[๔๗๒] มีรูปสมบัติ โภคสมบัติ ยศ และศีล
สมบูรณ์ด้วยองค์สมบัติทั้งปวง
ได้รับสักการะอย่างยิ่งในตระกูลทั้งหลาย
[๔๗๓] พรั่งพร้อมไปด้วยโลกธรรม คือ ลาภ สรรเสริญ สักการะ
มีจิตไม่ประกอบด้วยทุกข์ อยู่อย่างผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ
[๔๗๔] สมจริงตามพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
‘ในครั้งนั้น พระองค์ทรงแสดงอุปการะของนารีทั้งหลาย
ไว้ภายในพระราชมณเฑียรและในขัตติยบุรีว่า
[๔๗๕] นารีผู้มีอุปการะ ๑ นารีผู้เป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑
นารีผู้แนะนำประโยชน์ให้ ๑ นารีผู้ทำความอนุเคราะห์ให้ ๑
[๔๗๖] บุคคลควรประพฤติธรรมให้สุจริต
ไม่ควรประพฤติธรรมให้ทุจริต
เพราะบุคคลผู้ประพฤติธรรม
ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า’
[๔๗๗] หม่อมฉันทั้งหลายละการครองเรือนแล้วบวชเป็นบรรพชิต
ยังไม่ทันถึงกึ่งเดือนก็ได้บรรลุสัจจะ ๔
[๔๗๘] คนเป็นอันมากนำจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และปัจจัยมากมาย เข้ามาถวายหม่อมฉันทั้งหลาย
เหมือนคลื่นในมหาสมุทร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] ๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน
[๔๗๙] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันทั้งหลายก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันทั้งหลายก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันทั้งหลายตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๘๐] การที่หม่อมฉันทั้งหลายมาในสำนัก
ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันทั้งหลายได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๘๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๘๒] หม่อมฉันทั้งหลายได้รับทุกข์หลายอย่าง
และสุขสมบัติหลายอย่าง
ถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์
ได้สมบัติทุกอย่าง ด้วยประการฉะนี้
[๔๘๓] บุคคลผู้ถวายตนของตนแด่พระพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เพื่อต้องการบุญก็ย่อมพรั่งพร้อมด้วยสหาย
บรรลุพระนิพพานซึ่งเป็นอสังขตะ
[๔๘๔] กรรมทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคตสิ้นไปแล้ว
กรรมทั้งปวงของหม่อมฉันทั้งหลายสิ้นแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
หม่อมฉันทั้งหลายขอกราบไหว้พระยุคลบาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. กุณฑลเกสีวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๔๘๕] พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘เมื่อเธอทั้งหลายบอกลาเพื่อจะนิพพาน
เราจะกล่าวอะไรให้มากเล่า
บุคคลที่เป็นทาสที่นับว่าสัตว์ก็บรรลุถึงอมตบทแล้ว’
ได้ทราบว่า ภิกษุณี ๑๘,๐๐๐ รูปมีพระยโสธราเถรีเป็นประธาน ได้ภาษิตคาถา
เหล่านี้ เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ด้วยประการฉะนี้
อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทานที่ ๑๐ จบ
กุณฑลเกสีวรรคที่ ๓ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กุณฑลเกสีเถริยาปทาน ๒. กีสาโคตมีเถริยาปทาน
๓. ธัมมทินนาเถริยาปทาน ๔. สกุลาเถริยาปทาน
๕. นันทาเถริยาปทาน ๖. โสณาเถริยาปทาน
๗. ภัททกาปิลานีเถริยาปทาน ๘. ยโสธราเถริยาปทาน
๙. ทสสหัสสเถริยาปทาน ๑๐. อัฏฐารสเถรีสหัสสานมปทาน

ในวรรคนี้ บัณฑิตนับจำนวนคาถาได้ ๔๗๘ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๑. อัฏฐารสสหัสสขัตติยกัญญาเถรีนมปทาน
๔. ขัตติยกัญญาวรรค
หมวดว่าด้วยพระเถรีผู้เคยเป็นขัตติยกัญญาเป็นต้น
๑. อัฏฐารสสหัสสขัตติยกัญญาเถรีนมปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเถรี
ผู้เคยเป็นพระขัตติยกัญญา ๑๘,๐๐๐ รูป
(พระเถรีผู้เคยเป็นขัตติยกัญญา ๑๘,๐๐๐ รูป เมื่อจะประกาศประวัติในอดีต
ชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลายมีภพทั้งปวงสิ้นแล้ว
ปลดเปลื้องที่ต่อแห่งภพแล้ว
ไม่มีอาสวะทั้งปวงเลยขอกราบทูลว่า
[๒] ‘ข้าแต่พระมหามุนี บริกรรมที่เป็นกุศล
ความดีอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนปรารถนาไว้
และวัตถุที่เป็นเครื่องบริโภคหม่อมฉันทั้งหลายถวายแล้ว
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๓] ข้าแต่พระมหามุนี ความดีที่ปรารถนาแล้ว
และวัตถุที่เป็นเครื่องบริโภคหม่อมฉันทั้งหลายถวายแล้วแด่พระพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย
ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๔] ข้าแต่พระมหามุนี กรรมที่สูงและต่ำหม่อมฉันทั้งหลายก็กระทำแล้ว
ความดีหม่อมฉันทั้งหลายก็ปรารถนาแล้ว
การบริกรรมในตระกูลสูงหม่อมฉันทั้งหลาย
ทำไว้แล้วเพื่อภิกษุทั้งหลาย’
[๕] หญิงเหล่านั้นถูกกุศลมูลนั้นนั่นแหละตักเตือนแล้ว
เป็นผู้พรั่งพร้อมไปด้วยกุศลกรรม
ล่วงสมบัติของมนุษย์แล้ว มาเกิดในตระกูลกษัตริย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๑. อัฏฐารสสหัสสขัตติยกัญญาเถรีนมปทาน
[๖] เมื่อกรรมที่หม่อมฉันทั้งหลายได้ร่วมกันสั่งสมสร้างไว้ในชาติเดียวกัน
ในภพสุดท้าย หม่อมฉันทั้งหลายสมภพในตระกูลกษัตริย์เกิดร่วมกัน
[๗] ข้าแต่พระมหาวีระ หม่อมฉันทั้งหลายเป็นผู้มีรูปสมบัติ
มีโภคสมบัติ มีลาภสักการะ
อันมหาชนในภายในบุรีบูชาแล้ว
เหมือนนันทนวันอุทยานแห่งหมู่เทพอันมหาชนบูชาแล้ว
[๘] หม่อมฉันทั้งหลายพากันเบื่อหน่ายออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตสิ้นไป ๒-๓ วัน
ก็บรรลุถึงความดับทุกข์ทั้งหมดด้วยกัน
[๙] คนเป็นอันมากนำจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมากมาย
มาสักการบูชาหม่อมฉันทั้งหลายตลอดเวลา
[๑๐] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันทั้งหลายก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันทั้งหลายก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันทั้งหลายตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๑] การที่หม่อมฉันทั้งหลายมาในสำนัก
ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันทั้งหลายได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
ดังนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๒. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
ได้ทราบว่า ภิกษุณีที่เคยเป็นขัตติยกัญญา ๑๘,๐๐๐ มีพระยสวดีเถรีเป็น
ประธาน ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ด้วยประการฉะนี้
อัฏฐารสสหัสสขัตติยกัญญาเถริยาปทานที่ ๑ จบ

๒. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเถรีพราหมณกัญญา ๘๔,๐๐๐ รูป
(พระเถรีพราหมณกัญญา ๘๔,๐๐๐ รูป เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของ
ตน จึงกล่าว่า)
[๑๓] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉัน ๘๔,๐๐๐ นาง
ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์
มีมือและเท้าละเอียดอ่อน เกิดในนคร(ศาสนา)ของพระองค์
[๑๔] เกิดในตระกูลแพศย์และตระกูลศูทร
ข้าแต่พระมหามุนี เหล่าเทพ นาค กินนร
และกัญญาจำนวนมากอยู่ในทวีปทั้ง ๔
เกิดในนคร(ศาสนา)ของพระองค์
[๑๕] หญิงบางพวกบวชแล้ว ได้เห็นธรรมทั้งปวงก็มีมาก
เหล่าเทพ กินนร นาค ก็จักตรัสรู้ในอนาคตกาล
[๑๖] ชนทั้งหลายได้เสวยเกียรติยศทั้งปวง ได้สมบัติทั้งปวง
ได้ความเลื่อมใสในพระองค์ ก็จักตรัสรู้ในอนาคต
[๑๗] ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้มีพระจักษุ
ส่วนหม่อมฉันทั้งหลายเกิดในตระกูลพราหมณ์
เป็นธิดาของพราหมณ์ เป็นผู้มีลักษณะดี
ขอกราบพระยุคลบาท
[๑๘] ภพทั้งปวงหม่อมฉันทั้งหลายก็ขจัดได้แล้ว
ตัณหาที่เป็นรากเหง้า(แห่งอกุศล) หม่อมฉันทั้งหลายก็ถอนได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๒. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
อนุสัย๑หม่อมฉันทั้งหลายก็ตัดได้แล้ว
ปุญญาภิสังขาร หม่อมฉันทั้งหลายก็ทำลายได้แล้ว
[๑๙] หม่อมฉันทั้งปวงมีสมาธิเป็นอารมณ์
ชำนาญในสมาบัติเช่นกัน จักอยู่ด้วยฌาน
และความยินดีในธรรมทุกเมื่อ
[๒๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ
หม่อมฉันทั้งหลายได้ทำตัณหาที่นำไปสู่ภพ
อวิชชา และแม้สังขารให้สิ้นไปแล้ว
ตามไปรู้แจ้งซึ่งบทที่รู้ได้แสนยาก
[๒๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ‘เธอทั้งหลายมีอุปการะแก่เรา
ผู้เดินทางไกลมาตลอดกาลนาน
จงตัดความสงสัยของบริษัท ๔ แล้วทั้งหมดจงนิพพานเถิด’
[๒๒] พระเถรีเหล่านั้น กราบพระยุคลบาทของพระมุนีแล้ว
แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ บางพวกแสดงแสงสว่าง
บางพวกแสดงความมืด บางพวกแสดงอย่างอื่น
[๒๓] บางพวกแสดงดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์
และทะเลพร้อมด้วยปลา บางพวกแสดงภูเขาสิเนรุ
ภูเขาสัตตบริภัณฑ์และต้นปาริฉัตตกะ
[๒๔] บางพวกแสดงภพดาวดึงส์
ยามาเทวโลกด้วยฤทธิ์
บางพวกเนรมิตตนเป็นเทวดาชั้นดุสิต
เป็นเทวดาชั้นนิมมานรดี
เป็นเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีผู้เป็นใหญ่ยิ่ง

เชิงอรรถ :
๑ อนุสัย ในที่นี้หมายถึงปุญญาภิสังขาร ได้แก่ สภาพที่ปรุงแต่งคือบุญ (ดูเทียบ ที.ปา. (แปล)
๑๑/๓๐๕/๒๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๒. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
[๒๕] บางพวกแสดงตนเป็นพรหม
บางพวกเนรมิตที่จงกรมมีค่ามาก
และเพศพระพรหม แสดงสุญญตธรรม๑อยู่
[๒๖] พระเถรีทั้งปวง ครั้นแสดงอิทธิฤทธิ์มีประการต่าง ๆ
แล้วก็แสดงพลังถวายพระศาสดา
ได้กราบพระยุคลบาทของพระศาสดา พลางกราบทูลว่า
[๒๗] ‘ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลาย
เป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และมีความชำนาญในเจโตปริยญาณ
[๒๘] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันทั้งหลายก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๒๙] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ
ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณของหม่อมฉันทั้งหลาย
เกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์
[๓๐] ความพร้อมเพรียงแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
พระองค์ทรงแสดงแล้ว
ข้าแต่พระมหามุนี อธิการเป็นอันมากของหม่อมฉันทั้งหลาย
เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
[๓๑] ข้าแต่พระมหาวีระผู้เป็นพระมุนี
ขอพระองค์ทรงหวนระลึกถึงกุศลกรรมเก่าของหม่อมฉันทั้งหลายเถิด
หม่อมฉันทั้งหลายสั่งสมบุญไว้ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์

เชิงอรรถ :
๑ สุญญตธรรม ในที่นี้หมายถึงฌาน (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๓๒๓/๒๑๔,๓๘๕,๒๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๒. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
[๓๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
มีกรุงชื่อว่าหงสวดี เป็นที่อยู่อาศัยแห่งตระกูล
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ
[๓๓] มีแม่น้ำคงคาไหลผ่านที่หน้าประตูกรุงหงสวดีอยู่ตลอดเวลา
ภิกษุทั้งหลายเดือดร้อนไปไม่ได้เพราะแม่น้ำ
[๓๔] น้ำเต็มตลิ่งอยู่ ๑ วันบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง
๑ สัปดาห์บ้าง ๑ เดือนบ้าง ๔ เดือนบ้าง
ภิกษุเหล่านั้นจึงไปไม่ได้
[๓๕] ครั้งนั้น ชาวแว่นแคว้นผู้หนึ่งมีนามว่าชัชชิยะ
มีทรัพย์เป็นสาระเพื่อประโยชน์แก่ตน เห็นภิกษุทั้งหลาย
จึงได้สั่งให้นายช่างจัดสร้างสะพานข้ามแม่น้ำขึ้นที่ฝั่งด้านหน้าเมือง
[๓๖] ครั้งนั้น เขาได้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำคงคา
ด้วยทรัพย์หลายแสน
และได้ให้สร้างวิหารถวายสงฆ์ที่ฝั่งด้านตรงกันข้าม
[๓๗] ทั้งสตรี บุรุษ ตระกูลสูง และตระกูลต่ำเหล่านั้น
ได้ร่วมกันสร้างสะพานและวิหารเท่า ๆ กันกับนายชัชชิยะนั้น
[๓๘] หม่อมฉันทั้งหลายและหมู่มนุษย์เหล่าอื่น
ในนครและในชนบทล้วนมีจิตเลื่อมใส
เป็นธรรมทายาทของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[๓๙] ทั้งสตรี บุรุษ เด็กชาย และเด็กหญิงจำนวนมากด้วยกัน
ต่างก็ช่วยกันเกลี่ยทรายลงที่สะพานและที่วิหาร
[๔๐] กวาดถนน แล้วตั้งต้นกล้วย
หม้อน้ำซึ่งมีน้ำเต็มเปี่ยมและปักธงขึ้น
จัดธูป จุรณและดอกไม้สักการะพระศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๒. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
[๔๑] หม่อมฉันทั้งหลายครั้นสร้างสะพานและวิหารเสร็จแล้ว
ได้ทูลนิมนต์พระผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ถวายมหาทาน แล้วปรารถนาสัมโพธิญาณ
[๔๒] ข้าแต่พระมหามุนี พระมหาวีระพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงเป็นที่เคารพของสรรพสัตว์
ทรงทำอนุโมทนาแล้ว ตรัสพยากรณ์ว่า
[๔๓] ‘เมื่อ ๑๐๐,๐๐๐ กัปล่วงไปแล้ว จักมีภัทรกัป
บุรุษนี้ได้ความสุขในภพน้อยภพใหญ่แล้ว จักบรรลุพระโพธิญาณ
[๔๔] บุรุษและสตรีที่ช่วยกันทำหัตถกรรมทั้งหมด
จักมีพร้อมหน้ากันในอนาคตกาล’
[๔๕] ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
ชนเหล่านั้นเกิดในเทวโลกแล้ว จักเป็นคนรับใช้พระองค์
[๔๖] เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ เสวยสุขเป็นทิพย์
และเป็นของมนุษย์นับไม่ถ้วน ตลอดกาลนาน
[๔๗] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
กรรมสมบัติหม่อมฉันทั้งหลายก็ทำไว้ดีแล้ว
ในหมู่มนุษย์สุขุมาลชาติ และในเทวโลกที่ประเสริฐ
[๔๘] หม่อมฉันทั้งหลายย่อมได้รูปสมบัติ
โภคสมบัติ ยศ ความสรรเสริญ
และความสุขอันเป็นที่รัก ทั้งหมดเป็นกรรมสมบัติ
ที่หม่อมฉันทั้งหลายกระทำไว้ดีแล้ว อย่างต่อเนื่อง
[๔๙] เมื่อถึงภพสุดท้าย
หม่อมฉันทั้งหลายเกิดในตระกูลพราหมณ์
ในนิเวศน์ของเจ้าศากยบุตร เป็นผู้มีมือและเท้าละเอียดอ่อน
[๕๐] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันทั้งหลาย
ไม่เห็นแผ่นดินที่เขายังไม่ตกแต่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๒. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทาน
และไม่เห็นภาคพื้นที่เป็นทางเดินลื่น ๆ
แม้ตลอดกาลทั้งปวง
[๕๑] เมื่อหม่อมฉันยังครองเรือนอยู่
ชนทั้งหลายก็นำสักการะทุกอย่างที่เกิดขึ้นทุกฤดูกาลมาให้ทุกเมื่อ
เพราะผลแห่งบุพกรรมของหม่อมฉันทั้งหลาย
[๕๒] หม่อมฉันทั้งหลายละการครองเรือนแล้ว
บวชเป็นบรรพชิต ข้ามทางสังสารวัฏได้แล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๕๓] ทายกทายิกาหลายพันจากที่นั้น ๆ นำจีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
มาถวายหม่อมฉันทั้งหลายตลอดเวลา
[๕๔] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันทั้งหลายก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันทั้งหลายก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันทั้งหลายตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๕๕] การที่หม่อมฉันทั้งหลายมาในสำนัก
ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันทั้งหลายได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๕๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันทั้งหลายก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ภิกษุณีบุตรีพราหมณ์ ๘๔,๐๐๐ รูปได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ เฉพาะ
พระพักตร์พระผู้มีพระภาค ด้วยประการฉะนี้
จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญาเถรีนมปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๓. อุปปลทายิกาเถริยาปทาน
๓. อุปปลทายิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุปปลทายิกาเถรี
(พระอุปปลทายิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๗] ในกรุงอรุณวดี มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งพระนามว่าอรุณ
หม่อมฉันเป็นพระมเหสีของท้าวเธอ
ย่อมสนทนากันเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น
[๕๘] ครั้งนั้น หม่อมฉันนั่งอยู่ในที่สงัด คิดอย่างนี้ว่า
‘กุศลที่จะนำติดตัวไปซึ่งเราทำไว้ไม่มีเลย
[๕๙] เราต้องตกนรกที่มีความเร่าร้อนมาก
ทั้งเผ็ดร้อนร้ายกาจแสนจะทารุณอย่างแน่นอน
เราไม่มีความสงสัยในข้อนี้เลย’
[๖๐] ครั้นหม่อมฉันคิดอย่างนี้แล้ว
ทำจิตให้ร่าเริงเข้าเฝ้าพระราชาแล้ว กราบทูลดังนี้ว่า
[๖๑] ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์
หม่อมฉันทั้งหลายชื่อว่าเป็นสตรี หม่อมฉันทั้งหลายไม่ใช่บุรุษ
ขอพระองค์ทรงพระราชทานพระสมณะ
แก่หม่อมฉันทั้งหลายสักองค์หนึ่งเถิด
หม่อมฉันทั้งหลายจักนิมนต์ท่านให้ฉัน”
[๖๒] ครั้งนั้น พระราชาได้พระราชทานพระสมณะ
ผู้มีอินทรีย์อันอบรมแล้วให้หม่อมฉัน
หม่อมฉันรับบาตรของท่านมาแล้ว
ใส่ภัตตาหารอย่างประณีตจนเต็ม
[๖๓] แล้วบรรจุอาหารอันประณีตของหอมและเครื่องลูบไล้
ไปพร้อมกัน มีใจยินดีได้ถวายให้ครองผ้าผืนใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๓. อุปปลทายิกาเถริยาปทาน
[๖๔] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้วจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๖๕] ได้เป็นพระมเหสีของท้าวเทวราช ๑,๐๐๐ ชาติ
ได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๖๖] และได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าประเทศราช
อันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
แต่นั้น ผลอื่นอีกมากมายหลายชนิด
เป็นผลกรรมแห่งทานนั้น
[๖๗] หม่อมฉันมีผิวพรรณเหมือนดอกอุบล
เป็นสตรีมีรูปงาม น่าดูน่าชม
มีองค์สมบัติทั้งปวงสมบูรณ์๑
เป็นอภิชาตบุตร ทรงไว้ซึ่งความเปล่งปลั่ง
[๖๘] เมื่อถึงภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในศากยตระกูล
เป็นหัวหน้าของนารี ๑,๐๐๐ นาง
ของพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ
[๖๙] หม่อมฉันเบื่อหน่ายการครองเรือน
จึงออกบวชเป็นบรรพชิต เพียง ๗ ราตรี ก็ได้บรรลุสัจจะ ๔
[๗๐] หม่อมฉันไม่สามารถจะประมาณจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารได้
นี้เป็นผลแห่งการถวายบิณฑบาต
[๗๑] ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้เป็นพระมุนี
ขอพระองค์พึงหวนระลึกถึงกุศลกรรมเก่าของหม่อมฉันเถิด
หม่อมฉันได้สละวัตถุเป็นอันมาก ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์

เชิงอรรถ :
๑ องค์สมบัติทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงมีอวัยวะทุกส่วนสมบูรณ์ได้สัดส่วน (ขุ.อป.อ. ๑/๑๗๓/๒๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๓. อุปปลทายิกาเถริยาปทาน
[๗๒] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
หม่อมฉันได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายบิณฑบาต
[๗๓] หม่อมฉันรู้จักเพียง ๒ คติ
คือ (๑) คติเทวดา (๒) คติมนุษย์ คติอื่นหม่อมฉันไม่รู้จักเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายบิณฑบาต
[๗๔] หม่อมฉันรู้จักแต่ตระกูลสูงซึ่งเป็นตระกูลมหาศาลมีทรัพย์มาก
ตระกูลอื่น ๆ หม่อมฉันไม่รู้จักเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายบิณฑบาต
[๗๕] หม่อมฉันเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่
ถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว ไม่เห็นสิ่งที่ไม่พอใจเลย
นี้เป็นผลแห่งโสมนัส
[๗๖] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และในเจโตปริยญาณ
[๗๗] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๗๘] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ
ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณของหม่อมฉันที่มีอยู่
ล้วนเกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์
[๗๙] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๔. สิงคาลมาตุเถริยาปทาน
[๘๐] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๘๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระอุปปลทายิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปปลทายิกาเถริยาปทานที่ ๓ จบ

๔. สิงคาลมาตุเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสิงคาลมาตาเถรี
(พระสิงคาลมาตาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๒] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
[๘๓] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลอำมาตย์
ที่รุ่งเรืองด้วยรัตนะต่าง ๆ
เป็นตระกูลมั่งคั่ง เจริญ มีทรัพย์มาก ในกรุงหงสวดี
[๘๔] หม่อมฉันมีมหาชนห้อมล้อมไปกับบิดา
ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว บวชเป็นบรรพชิต
[๘๕] ครั้นบวชแล้ว เว้นบาปกรรมทางกาย
ละวจีทุจริต ชำระอาชีวะให้บริสุทธิ์
[๘๖] มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า และพระธรรม
และมีความเคารพอย่างแรงกล้าในพระสงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๔. สิงคาลมาตุเถริยาปทาน
ขวนขวายในการฟังพระสัทธรรม
มีการได้เห็นพระพุทธเจ้าเป็นปกติ
[๘๗] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ฟังภิกษุณีรูปหนึ่ง
ซึ่งเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ฝ่ายสัทธาธิมุต
จึงปรารถนาตำแหน่งนั้นแล้วบำเพ็ญไตรสิกขา๑ให้บริบูรณ์
[๘๘] ครั้งนั้น พระสุคตผู้มีพระอัธยาศัย
ประกอบด้วยพระกรุณา ตรัสกับหม่อมฉันว่า
‘บุคคลผู้มีศรัทธาไม่หวั่นไหวตั้งมั่นดีในพระตถาคต
มีศีลดีงามที่พระอริยเจ้าใคร่และสรรเสริญ
[๘๙] มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ มีความเห็นตรง
นักปราชญ์เรียกผู้นั้นว่า
เป็นผู้ไม่ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์’
[๙๐] เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา
เมื่อมาระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พึงหมั่นประกอบศรัทธา ศีล ปสาทะ(ความเลื่อมใส)
และความเห็นที่ชอบธรรม
[๙๑] หม่อมฉันได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว มีความเบิกบานใจ
ได้ทูลถามถึงความปรารถนาของหม่อมฉัน
ในครั้งนั้น พระสุคตผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นวิเศษ
ทรงมีปัญญาไม่ต่ำต้อย มีพระคุณนับไม่ถ้วน
ทรงพยากรณ์ว่า ‘เธอเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้มีธรรมอันงาม
จักได้ตำแหน่งนั้นที่เธอปรารถนาไว้แล้ว
[๙๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชตระกูลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก

เชิงอรรถ :
๑ ไตรสิกขา หมายถึงศีล สมาธิ และปัญญา (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๕/๒๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๔. สิงคาลมาตุเถริยาปทาน
[๙๓] สตรีผู้นี้จักมีนามว่าสิงคาลมาตา
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นสาวิกาของพระศาสดาพระองค์นั้น’
[๙๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว
เป็นผู้มีความยินดี มีจิตประกอบด้วยเมตตา
ปรนนิบัติพระชินเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำ
ด้วยการปฏิบัติทั้งหลายจนตลอดชีวิต
[๙๕] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๙๖] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐี
มีความเจริญรุ่งเรือง สั่งสมรัตนะไว้เป็นอันมาก
ในกรุงราชคฤห์ ที่ประเสริฐสุด
[๙๗] บุตรของหม่อมฉันชื่อสิงคาลมาณพ มีความเห็นผิด
แล่นไปสู่มิจฉาทิฏฐิ มุ่งแต่การบูชาทิศ
[๙๘] นอบน้อมทิศต่าง ๆ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำวิเศษ
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนคร
ทอดพระเนตรเห็นเขาแล้ว ประทับยืนโอวาทที่หนทาง
[๙๙] เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรม บุตรของหม่อมฉัน
ส่งเสียงร้อง น่าประหลาดใจ
บุรุษสตรี ๒ โกฏิได้บรรลุธรรม
[๑๐๐] ครั้งนั้น หม่อมฉันได้เข้าไปยังที่ประชุมนั้น
ฟังภาษิตของพระสุคตแล้ว
ได้บรรลุโสดาปัตติผล ออกบวชเป็นบรรพชิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๔. สิงคาลมาตุเถริยาปทาน
[๑๐๑] ได้เห็นพระพุทธเจ้าเป็นปกติ
เจริญพุทธานุสสติอยู่ไม่นาน ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๑๐๒] หม่อมฉันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นประจำ
เห็นพระรูปซึ่งเป็นที่เพลิดเพลินนัยนาก็ยังไม่เบื่อ
[๑๐๓] หม่อมฉันไม่เบื่อพระรูปที่เกิดจากบารมีทั้งปวง
เป็นที่อยู่อาศัยแห่งสิริที่ประเสริฐ
พรั่งพร้อมด้วยความงามทุกอย่าง
[๑๐๔] พระชินเจ้าทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น
จึงทรงตั้งหม่อมฉันผู้เป็นมารดาของสิงคาลมาณพไว้
ในเอตทัคคะว่า ‘เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายสัทธาธิมุต’
[๑๐๕] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และในเจโตปริยญาณ
[๑๐๖] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี
[๑๐๗] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ
ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ของหม่อมฉันที่มีอยู่
ล้วนเกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์
[๑๐๘] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๕. สุกกาเถริยาปทาน
[๑๐๙] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๑๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ทราบว่า ท่านพระภิกษุณีมารดาสิงคาลมาณพได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สิงคาลมาตาเถริยาปทานที่ ๔ จบ

๕. สุกกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุกกาเถรี
(พระสุกกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๑๑] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำพระนามว่าวิปัสสี
มีพระวรกายงดงาม ทรงเห็นแจ้งธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๑๑๒] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลหนึ่งในกรุงพันธุมดี
ได้ฟังธรรมของพระมุนีแล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๑๑๓] เป็นพหูสูต ทรงธรรม มีปฏิภาณ
กล่าวธรรมีกถาอย่างไพเราะ
ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระชินเจ้า
[๑๑๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันกล่าวธรรมเพื่อประโยชน์แก่หมู่ชนทุกสมัย
หม่อมฉันจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาผู้มียศในสวรรค์ชั้นดุสิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๕. สุกกาเถริยาปทาน
[๑๑๕] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
พระชินเจ้าพระนามว่าสิขี มีพระรัศมีเปรียบด้วยเปลวเพลิง
ส่องโลกให้รุ่งเรืองด้วยยศ
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๑๑๖] แม้ในครั้งนั้น หม่อมฉันบวชแล้ว เป็นผู้ฉลาดในพุทธศาสนา
ทำพระพุทธพจน์ให้กระจ่างแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๑๗] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำพระนามว่าเวสสภู
มีพระปรีชาญาณมาก เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
แม้ในครั้งนั้น หม่อมฉันก็เป็นเหมือนอย่างในภพก่อน
[๑๑๘] ออกบวชแล้วเป็นผู้ทรงธรรม
ช่วยประกาศคำสั่งสอนของพระชินเจ้าให้รุ่งเรืองแล้ว
ไปเกิดในเมืองแห่งเทพที่น่ายินดี ได้เสวยความสุขมาก
[๑๑๙] ในภัทรกัปนี้ พระชินเจ้าผู้สูงสุดพระนามว่ากกุสันธะ
ทรงเป็นผู้สูงสุดแห่งนระ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
แม้ในครั้งนั้น หม่อมฉันก็เป็นเหมือนอย่างในภพก่อน
[๑๒๐] ออกบวชแล้ว ช่วยประกาศคำสั่งสอน
ของพระชินเจ้าให้รุ่งเรืองอยู่จนตลอดชีวิต
จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เหมือนไปสู่ที่อยู่ของตน
[๑๒๑] ในกัปนี้เอง พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ
พระนามว่าโกนาคมนะ ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย
เป็นผู้สูงสุดแห่งสรรพสัตว์ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๑๒๒] แม้ครั้งนั้น หม่อมฉันก็ออกบวชในศาสนาของพระองค์
ผู้คงที่ เป็นพหูสูต ทรงธรรม
ช่วยประกาศคำสั่งสอนของพระชินเจ้าให้รุ่งเรือง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๕. สุกกาเถริยาปทาน
[๑๒๓] ในกัปนี้เอง พระมุนีพระนามว่ากัสสปะ
เป็นศาสดาผู้ประเสริฐ เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ไม่มีข้าศึกคือกิเลส ถึงที่สุดแห่งมรณธรรม เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๑๒๔] หม่อมฉันบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้า
ทรงเป็นนระ ผู้เป็นปราชญ์พระองค์นั้น
ศึกษาพระสัทธรรมอย่างคล่องแคล่ว
มีความแกล้วกล้าในปริปุจฉา๑
[๑๒๕] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันมีศีลงาม มีความละอาย
ฉลาดในไตรสิกขา กล่าวธรรมเป็นอันมากจนตลอดชีวิต
[๑๒๖] ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้นและด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๒๗] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย
หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐีที่เจริญมั่งคั่ง
สั่งสมรัตนะมากมาย ในกรุงราชคฤห์ที่ประเสริฐสุด
[๑๒๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำ
มีภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปห้อมล้อม
ท้าวสหัสสนัยน์สรรเสริญแล้ว เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์
[๑๒๙] พระผู้มีพระภาคทรงฝึกอินทรีย์แล้ว
พ้นขาดจากสรรพกิเลส มีวรรณะเปล่งปลั่งดั่งแท่งทอง
เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์ พร้อมทั้งพระขีณาสพ
ผู้เป็นปุราณชฎิล ผู้มีอินทรีย์อันอบรมแล้ว
พ้นเด็ดขาดจากสรรพกิเลส

เชิงอรรถ :
๑ ปริปุจฉา หมายถึงการถาม การไต่สวน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๕. สุกกาเถริยาปทาน
[๑๓๐] หม่อมฉันได้เห็นพุทธานุภาพ
และได้ฟังธรรมซึ่งเป็นที่สั่งสมคุณแล้ว
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
บูชาพระองค์ผู้มีพลธรรมมาก๑
[๑๓๑] ต่อมา หม่อมฉันได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
ในสำนักของพระธรรมทินนาเถรี
[๑๓๒] หม่อมฉันเผากิเลสทั้งหลายได้ในขณะที่กำลังปลงผม
บวชแล้วไม่นาน ก็ศึกษาศาสนธรรมได้อย่างทั่วถึง
[๑๓๓] ต่อจากนั้น ได้แสดงธรรมในสมาคมแห่งมหาชน
เมื่อหม่อมฉันกำลังแสดงธรรมอยู่
การบรรลุธรรมก็ได้มี
[๑๓๔] มียักษ์ตนหนึ่ง ได้ทราบการตรัสรู้ธรรมนั้น
ของสัตว์หลายพันแล้ว เกิดอัศจรรย์ใจ
เลื่อมใสต่อหม่อมฉันได้ไปยังกรุงราชคฤห์
[๑๓๕] มนุษย์ทั้งหลายในกรุงราชคฤห์ที่ไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้
พระเถรีชื่อว่าสุกกา ผู้แสดงอมตบทอยู่
หม่อมฉันจะให้ดื่มอมตบทเหมือนดื่มน้ำผึ้งได้อย่างไร
[๑๓๖] ก็แลพวกเขาผู้มีปัญญา คงจะดื่มอมตบทนั้น
อันมีสภาพไม่ถอยกลับ ให้เกิดความชื่นใจมีโอชาได้
เหมือนคนเดินทางไกลแสวงหาน้ำดื่ม
[๑๓๗] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และในเจโตปริยญาณ

เชิงอรรถ :
๑ พลธรรม หมายถึงธรรมอันเป็นกำลัง มี ๕ อย่าง (๑) สัทธา(ความเชื่อ) (๒) วิริยะ(ความเพียร)
(๓) สติ(ความระลึกได้) (๔) สมาธิ(ความตั้งจิตมั่น) (๕) ปัญญา(ความรู้แจ้ง) (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๓๑/๓๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๕. สุกกาเถริยาปทาน
[๑๓๘] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๑๓๙] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ
ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ของหม่อมฉันที่มีอยู่
ล้วนเกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์
[๑๔๐] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๔๑] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระสุกกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้
สุกกาเถริยาปทานที่ ๕ จบ
ภาณวารที่ ๕ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๖. อภิรูปนันทาเถริยาปทาน
๖. อภิรูปนันทาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอภิรูปนันทาเถรี
(พระอภิรูปนันทาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๔๓] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำพระนามว่าวิปัสสี
ทรงมีพระวรกายงดงาม
มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๑๔๔] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลใหญ่ที่มั่งคั่ง
มีความเจริญในกรุงพันธุมดี เป็นสตรี มีรูปงาม
น่าเอ็นดู และน่าบูชาของหมู่ชน
[๑๔๕] ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงมีความเพียรมาก
ได้สดับพระธรรมแล้ว
ถึงพระองค์ทรงเป็นผู้นำของนรชน เป็นที่พึ่งที่ระลึก
[๑๔๖] หม่อมฉันสำรวมอยู่ในศีล เมื่อพระผู้มีพระภาค
เป็นผู้สูงสุดแห่งนระ เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ได้ใช้ฉัตรทองบูชาไว้ ณ เบื้องบน
แห่งพระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
[๑๔๗] หม่อมฉันเป็นผู้สละได้ขาดแล้ว
มีศีลจนตลอดชีวิต จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว
ละกายมนุษย์จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๔๘] ครั้งนั้น หม่อมฉันครอบงำ(เทพธิดา)ได้ทั้งหมด
ด้วยฐานะ ๑๐ ประการ คือ (๑) รูป
(๒) เสียง (๓) กลิ่น (๔) รส (๕) โผฏฐัพพะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๖. อภิรูปนันทาเถริยาปทาน
[๑๔๙] (๖) อายุ (๗) วรรณะ (๘) สุข (๙) ยศ
(๑๐) ความเป็นอธิบดี รุ่งโรจน์อยู่
[๑๕๐] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในกรุงกบิลพัสดุ์
เป็นธิดาแห่งเจ้าศากยะพระนามว่าเขมกะ
มีนามปรากฏว่านันทา
[๑๕๑] หมู่ชนกล่าวว่า หม่อมฉันเป็นผู้หนึ่ง
ซึ่งมีความถึงพร้อมด้วยรูปงาม น่าชม
ในคราวที่หม่อมฉันเติบโตเป็นสาว(รู้จัก)
มีรูปและผิวพรรณงดงาม
[๑๕๒] พวกเจ้าศากยะเกิดการวิวาทกันใหญ่โต
เพราะเรื่องแย่งตัวหม่อมฉันนี้
ครั้งนั้น พระบิดาของหม่อมฉันดำริว่า
‘พวกเจ้าศากยะ จงอย่าพินาศเลย’ จึงให้หม่อมฉันบวช
[๑๕๓] ครั้นหม่อมฉันบวชแล้ว ได้ฟังว่า
พระตถาคตเป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน ทรงติเตียนรูป
จึงไม่ยอมเข้าเฝ้า เพราะหม่อมฉันมีความหลงใหลรูป
[๑๕๔] หม่อมฉันขลาดต่อการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จึงไม่ยอมไปรับโอวาท
ครั้งนั้น พระชินเจ้าทรงให้หม่อมฉัน
เข้าไปสู่สำนักของพระองค์ด้วยอุบาย
[๑๕๕] พระองค์ผู้ทรงฉลาดในมรรค
ทรงเนรมิตหญิง ๓ คน ด้วยฤทธิ์
คือ (๑) หญิงสาวที่สวยเหมือนเทพอัปสร
(๒) หญิงชรา (๓) หญิงที่ตายแล้ว
[๑๕๖] หม่อมฉันเห็นหญิงทั้ง ๓ แล้วเกิดความสลดใจ
ไม่ยินดีในซากศพของหญิงที่ตายแล้ว
มีความเบื่อหน่ายในภพ ยืนเฉยอยู่
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้นำ ตรัสกับหม่อมฉันว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๖. อภิรูปนันทาเถริยาปทาน
[๑๕๗] ‘นันทา เธอจงดูรูปกายที่กระสับกระส่าย
ไม่สะอาด เปื่อยเน่า ไหลเข้าไหลออกอยู่
ที่พวกคนเขลาพากันปรารถนายิ่งนัก
[๑๕๘] เธอจงอบรมจิตให้เป็นสมาธิมีอารมณ์เดียวด้วยอสุภารมณ์เถิด
รูปนี้เป็นฉันใด รูปของเธอนั้นก็เป็นฉันนั้น
รูปของเธอนั้นเป็นฉันใด รูปนี้ก็เป็นฉันนั้น
[๑๕๙] เมื่อเธอพิจารณาเห็นรูปอยู่อย่างนี้
มิได้เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน
แต่นั้น ก็จะเบื่อหน่ายอยู่ด้วยปัญญาของตน’
[๑๖๐] เมื่อหม่อมฉันไม่ประมาทแล้ว
พิจารณาในกายนี้อยู่โดยแยบคายว่า
กายนี้ทั้งภายในและภายนอก
เราได้เห็นแล้วตามความเป็นจริง
[๑๖๑] เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงเบื่อหน่ายในกาย
และคลายกำหนัดในภายใน ไม่ประมาท
ไม่เกาะเกี่ยว เป็นผู้สงบเย็นแล้ว
[๑๖๒] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และในเจโตปริยญาณ
[๑๖๓] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๑๖๔] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ
ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ของหม่อมฉันที่มีอยู่
ล้วนเกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๗. อัฑฒกาสีเถริยาปทาน
[๑๖๕] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๖๖] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๖๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระอภิรูปนันทาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อภิรูปนันทาเถริยาปทานที่ ๖ จบ

๗. อัฑฒกาสีเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัฑฒกาสีเถรี
(พระอัฑฒกาสีเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๖๘] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์
พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร มีพระยศยิ่งใหญ่
ทรงเป็นผู้ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๑๖๙] ครั้งนั้น หม่อมฉันบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สำรวมในพระปาฏิโมกข์ และอินทรีย์ ๕๑

เชิงอรรถ :
๑ ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๒๐/๓๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๗. อัฑฒกาสีเถริยาปทาน
[๑๗๐] หม่อมฉันรู้จักประมาณในอาสนะต่ำ
ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เสมอ บำเพ็ญเพียรอยู่
[๑๗๑] ในกาลนั้น หม่อมฉันมีความคิดชั่ว
ได้ด่าภิกษุณีผู้ปราศจากอาสวะรูปหนึ่งครั้งเดียวว่า ‘นางแพศยา’
ต้องหมกไหม้อยู่ในนรก เพราะบาปกรรมนั้นนั่นเอง
[๑๗๒] เพราะเศษกรรมนั้นแล
หม่อมฉันเกิดในตระกูลหญิงแพศยา
อยู่อาศัยชายอื่นโดยมาก ในชาติสุดท้าย
[๑๗๓] หม่อมฉันเกิดในตระกูลเศรษฐีในแคว้นกาสี
มีความงาม ดุจนางเทพอัปสรในหมู่เทวดา
ด้วยผลแห่งการประพฤติพรหมจรรย์
[๑๗๔] หมู่ชนเห็นหม่อมฉันมีรูปน่าชม
จึงตั้งหม่อมฉันในฐานะเป็นหญิงคณิกา
ในกรุงราชคฤห์ที่ประเสริฐสุด
เพราะผลกรรมที่ด่าภิกษุณีนั้นของหม่อมฉัน
[๑๗๕] หม่อมฉัน ได้ฟังพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้า
ผู้ประเสริฐที่สุดตรัสแล้ว
ผู้สมบูรณ์ด้วยบุพวาสนา(บาปบุญที่ได้อบรมมาในกาลก่อน)
จึงได้บวชเป็นบรรพชิต
[๑๗๖] แต่เมื่อเดินทางไปสู่สำนักของพระชินเจ้าเพื่อจะอุปสมบท
พบพวกนักเลงดักอยู่ที่หนทาง จึงได้รับการอุปสมบทโดยทูต
[๑๗๗] กรรมทั้งหมดสิ้นไปแล้ว บุญ และบาปก็สิ้นไปแล้วเหมือนกัน
หม่อมฉันข้ามพ้นสังสารวัฏทั้งปวงได้แล้ว
และความเป็นหญิงคณิกาหม่อมฉันก็ให้สิ้นไปแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๘. ปุณณิกาเถริยาปทาน
[๑๗๘] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และในเจโตปริยญาณ
[๑๗๙] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๑๘๐] ข้าแต่พระมหาวีระ อัตถปฏิสัมภิทาญาณ
ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ
และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ ของหม่อมฉันที่มีอยู่
ล้วนเกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์
[๑๘๑] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๘๒] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๘๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระอัฑฒกาสีภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อัฑฒกาสีเถริยาปทานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๘. ปุณณิกาเถริยาปทาน
๘. ปุณณิกาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุณณิกาเถรี
(พระปุณณิกาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๘๔] พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผู้เป็นพระมุนี ผู้คงที่
ทรงพระนามว่าพระวิปัสสี ๑ พระสิขี ๑ พระเวสสภู ๑
พระกกุสันธะ ๑ พระโกนาคมนะ ๑ พระกัสสปะ ๑
[๑๘๕] หม่อมฉันบวชเป็นภิกษุณีในศาสนา
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ
เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีปัญญารักษาตน สำรวมอินทรีย์
[๑๘๖] เป็นพหูสูต ทรงธรรม สอบถามเหตุและผล
เล่าเรียน สดับธรรม เป็นผู้นั่งใกล้
[๑๘๗] หม่อมฉันแสดงคำสอนของพระชินเจ้าในท่ามกลางหมู่ชน
ได้เป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก ดูหมิ่นเพราะความเป็นพหูสูตนั้น
[๑๘๘] บัดนี้ เป็นภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดในเรือนแห่งนางกุมภทาสี
ของอนาถบิณฑิกเศรษฐีในกรุงสาวัตถีที่ประเสริฐสุด
[๑๘๙] หม่อมฉันไปตักน้ำ ได้เห็นโสตถิยพราหมณ์
นั่งหนาวสั่นอยู่ท่ามกลางน้ำ
ครั้นเห็นแล้วได้กล่าวดังนี้ว่า ‘ฉันเป็นคนตักน้ำ
[๑๙๐] กลัวภัยต่ออาชญาของเจ้านาย
และถูกภัยคือวาจาที่เกรี้ยวกราดของเจ้านายเบียดเบียน
จึงต้องลงน้ำเป็นประจำในฤดูหนาว
[๑๙๑] พราหมณ์เอ๋ย ท่านกลัวใคร จึงต้องลงน้ำเป็นประจำ
มีร่างกายสั่นเทา รู้สึกหนาวรุนแรงใช่ไหม’
[๑๙๒] (พรามหณ์ได้กล่าวว่า) ‘นางปุณณิกาผู้เจริญ
เธอทั้งที่รู้อยู่ยังสอบถามเราผู้ทำกุศลกรรม
เพื่อกำจัดบาปกรรมอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๘. ปุณณิกาเถริยาปทาน
[๑๙๓] บุคคลใดเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม เป็นเด็กก็ตาม ทำบาปกรรมไว้
บุคคลนั้น ๆ จะพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบน้ำ’
[๑๙๔] เมื่อพราหมณ์นั้นขึ้นจากน้ำมา
หม่อมฉันได้บอกบทที่ประกอบด้วยเหตุและผล
พราหมณ์ได้ฟังบทแห่งธรรมนั้นแล้ว
มีความสลดใจ ออกบวชแล้วได้เป็นพระอรหันต์
[๑๙๕] เพราะหม่อมฉันเกิดในตระกูลทาสี
ครบจำนวนทาสี ๑๐๐ คนพอดี
เจ้านายจึงตั้งชื่อให้หม่อมฉันว่า ปุณณา
และปลดหม่อมฉัน(จากทาส)ให้เป็นไท
[๑๙๖] แต่นั้นหม่อมฉันอนุโมทนาเศรษฐีแล้ว
บวชเป็นบรรพชิต โดยกาลไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๑๙๗] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุและในเจโตปริยญาณ
[๑๙๘] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๑๙๙] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ
นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ
ของหม่อมฉัน บริสุทธิ์ ไม่มีมลทิน
เพราะอำนาจของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด
[๒๐๐] หม่อมฉันมีปัญญามากเพราะการเจริญภาวนา
มีสุตะมากเพราะการเรียนรู้
เกิดในตระกูลต่ำเพราะมีมานะจัด
แต่กุศลกรรมมิได้วิบัติไปเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๙. อัมพปาลีเถริยาปทาน
[๒๐๑] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๐๒] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๐๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระปุณณิกาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุณณิกาเถริยาปทานที่ ๘ จบ

๙. อัมพปาลีเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัมพปาลีเถรี
(พระอัมพปาลีเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๐๔] หม่อมฉันเกิดในตระกูลกษัตริย์
เป็นพระภคินีของพระมหามุนีพระนามว่าผุสสะ
ผู้มีพระรัศมีงาม รุ่งเรืองดุจเทริด
[๒๐๕] หม่อมฉันได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว
มีจิตผ่องใส ได้ถวายมหาทานแล้ว ปรารถนารูปสมบัติ
[๒๐๖] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
พระชินเจ้าพระนามว่าสิขี ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ทรงส่องโลกให้สว่างไสว ทรงเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกในไตรโลก
เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๙. อัมพปาลีเถริยาปทาน
[๒๐๗] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลพราหมณ์
ในกรุงอรุณที่น่ารื่นรมย์ โกรธแล้ว
สาปแช่งภิกษุณีรูปหนึ่งผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วว่า
[๒๐๘] ‘ท่านเป็นหญิงแพศยา ประพฤติอนาจาร
ประทุษร้ายพระศาสนาของพระชินเจ้า’
ครั้นด่าอย่างนี้แล้ว เพราะกรรมชั่วที่ทำไว้นั้น
[๒๐๙] หม่อมฉันต้องตกนรกที่ร้ายกาจ
เพียบด้วยมหันตทุกข์ เคลื่อนจากนรกนั้นแล้ว
มาเกิดในหมู่มนุษย์ ก็มีความเดือดร้อนเป็นประจำ
[๒๑๐] ครองตำแหน่งหญิงแพศยาอยู่ถึง ๑๐,๐๐๐ ชาติ
ก็ยังไม่พ้นจากบาปกรรมนั้น
เปรียบเหมือนคนที่กลืนกินยาพิษอย่างร้ายแรง
[๒๑๑] หม่อมฉันได้ออกบวชเป็นภิกษุณี
มีเพศประเสริฐในศาสนาของพระชินเจ้าพระนามว่ากัสสปะ
ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะผลแห่งกรรมนั้น
[๒๑๒] เมื่อถึงภพสุดท้าย หม่อมฉันเกิดเป็นโอปปาติกะ๑
ที่ระหว่างกิ่งต้นมะม่วง
จึงมีชื่อว่าอัมพปาลี ตามนิมิตหมายนั้น
[๒๑๓] หม่อมฉันมีประชาชนหลายโกฏิ
แห่ห้อมล้อมมาบวชในศาสนาของพระชินเจ้า
เป็นลูกหญิงแห่งพระพุทธเจ้า
บรรลุถึงฐานะที่ไม่หวั่นไหว

เชิงอรรถ :
๑ โอปปาติกะ หมายถึงสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ (ตาย) ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น
เทวดา และสัตว์นรกเป็นต้น (ที.สี.อ. ๑/๑๗๑/๑๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๙. อัมพปาลีเถริยาปทาน
[๒๑๔] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และมีความชำนาญในเจโตปริยญาณ
[๒๑๕] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุ หม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๒๑๖] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ
นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ
ของหม่อมฉัน บริสุทธิ์ ไม่มีมลทิน
เพราะอำนาจของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๒๑๗] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๑๘] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาที่ดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระอัมพปาลีภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อัมพปาลีเถริยาปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๑๐. เสลาเถริยาปทาน
๑๐. เสลาเถริยาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเสลาเถรี
(พระเสลาเถรี เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๒๐] ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพราหมณ์
มีพระยศยิ่งใหญ่ พระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๒๒๑] ครั้งนั้น หม่อมฉันเกิดในตระกูลอุบาสก
ในกรุงสาวัตถีซึ่งเป็นเมืองประเสริฐ
เห็นพระชินเจ้าผู้ประเสริฐพระองค์นั้น
และฟังพระธรรมเทศนาแล้ว
[๒๒๒] ถึงพระวีระพระองค์นั้นเป็นที่พึ่งที่ระลึกและสมาทานศีล
ครั้งหนึ่งในสมาคมแห่งมหาชน
พระมหาวีระพระองค์นั้น
[๒๒๓] ผู้องอาจกว่านรชน ทรงประกาศอภิสัมโพธิญาณของพระองค์
ในธรรมที่ไม่เคยฟังมาในกาลก่อน
และในอริยสัจมีทุกข์เป็นต้นว่า
[๒๒๔] ‘เรามีจักษุ ญาณ ปัญญา วิชชา
และแสงสว่าง’ แก่หม่อมฉัน
หม่อมฉันสดับ เล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว
จึงสอบถามภิกษุทั้งหลาย
[๒๒๕] ด้วยกรรมที่หม่อมฉันได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยเจตนาที่ตั้งไว้มั่น
หม่อมฉันละกายมนุษย์แล้ว
จึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] ๑๐. เสลาเถริยาปทาน
[๒๒๖] บัดนี้ ภพนี้เป็นภพสุดท้าย
หม่อมฉันเกิดในตระกูลมหาเศรษฐี
ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระสัทธรรมอันประกอบด้วยมัจจุ
[๒๒๗] บวชแล้ว ค้นคว้าอรรถธรรมทั้งปวง
ทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไปแล้ว
ได้บรรลุอรหัตตผลโดยกาลไม่นานเลย
[๒๒๘] ข้าแต่พระมหามุนี หม่อมฉันเป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์
ในทิพพโสตธาตุ และมีความชำนาญในเจโตปริยญาณ
[๒๒๙] รู้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ทิพยจักษุหม่อมฉันก็ชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๒๓๐] อัตถปฏิสัมภิทาญาณ ธัมมปฏิสัมภิทาญาณ
นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ และปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ
ของหม่อมฉัน บริสุทธิ์ไม่มีมลทิน
เพราะอำนาจของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๒๓๑] กิเลสทั้งหลายหม่อมฉันก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงหม่อมฉันก็ถอนได้แล้ว
หม่อมฉันตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๓๒] การที่หม่อมฉันมาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ หม่อมฉันได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. ขัตติยกัญญาวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๒๓๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ หม่อมฉันก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หม่อมฉันก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเสลาภิกษุณีได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เสลาเถริยาปทานที่ ๑๐ จบ
ขัตติยกัญญาวรรคที่ ๔ จบ

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัฏฐารสสหัสสขัตติย- ๒. จตุราสีติสหัสสพราหมณกัญญา-
กัญญาเถริยาปทาน เถริยาปทาน
๓. อุปปลทายิกาเถริยาปทาน ๔. สิงคาลมาตุเถริยาปทาน
๕. สุกกาเถริยาปทาน ๖. อภิรูปนันทาเถริยาปทาน
๗. อัฑฒกาสีเถริยาปทาน ๘. ปุณณิกาเถริยาปทาน
๙. อัมพปาลีเถริยาปทาน ๑๐. เสลาเถริยาปทาน

รวมวรรคได้ ๔ วรรค คือ

๑. สุเมธาวรรค ๒. เอกูโปสถิกวรรค
๓. กุณฑลเกสีวรรค ๔. ขัตติยกัญญาวรรค

ในวรรคนี้ บัณฑิตประมวลคาถาไว้ได้ ๑,๓๔๗ คาถา พร้อมทั้งอุทานคาถา
นับได้ ๑,๓๕๗ คาถา
เถรีอปทาน จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์
พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
__________________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. รตนจังกมนกัณฑ์
ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงเนรมิตที่จงกรมแก้ว
[๑] ท้าวสหัมบดีพรหม ผู้เป็นใหญ่แห่งชาวโลก
ได้ประนมมือทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาค
ผู้ไม่มีใครประเสริฐยิ่งไปกว่า
สัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในดวงตาน้อย๑มีอยู่ในโลกนี้
ขอพระองค์โปรดอนุเคราะห์หมู่สัตว์นี้แสดงธรรมเถิด
พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นใหญ่แห่งชาวโลก เป็นผู้สูงสุดแห่งนระ
อันหมู่พรหมประนมมือทูลอาราธนาว่า
‘สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นปราชญ์ มีธุลีในดวงตาน้อยมีอยู่ในโลกนี้
ขอพระองค์โปรดอนุเคราะห์หมู่สัตว์นี้แสดงธรรมเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำ
ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรม ขอพระองค์โปรดแสดงอมตบท
ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกเถิด’
[๒] พระตถาคต ผู้หาบุคคลเปรียบมิได้
ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ๒ ผู้คงที่

เชิงอรรถ :
๑ ธุลีในดวงตาน้อย หมายถึงมีธุลีคือราคะ โทสะ โมหะ ปิดบังดวงตาคือปัญญาเบาบาง (ขุ.พุทฺธ.อ. ๑/๑๘)
๒ วิชชา หมายถึงวิชชา ๓ และวิชชา ๘, จรณะ หมายถึงจรณะ ๑๕ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒/๒๐-๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์
ผู้ทรงความรุ่งเรือง ทรงไว้ซึ่งพระวรกายครั้งสุดท้าย
ทรงเกิดความกรุณาในสรรพสัตว์
พระผู้มีพระภาค ผู้ศาสดา
ทรงสดับดังนั้นแล้วจึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า
‘พรหม สัตว์เหล่าใดผู้มีโสตประสาท
จงปล่อยศรัทธามาเถิด
เรามิได้ปิดประตูอมตธรรมแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น
เพราะเรารู้สำคัญว่าจะลำบาก
จึงมิได้แสดงธรรมที่ประณีต
คล่องแคล่วในหมู่มนุษย์‘๑
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐกว่ามุนี
เมื่อจะทรงอนุเคราะห์เหล่าเวไนยสัตว์๒
จึงเสด็จออกจากโคนต้นอชปาลนิโครธ
เสด็จถึงกรุงพาราณสี โดยการเสด็จดำเนินไปตามลำดับ
ก็ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนบัลลังก์ที่ประเสริฐนั้น
และทรงประกาศพระธรรมจักร
คือทุกขสัจ สมุทยสัจ นิโรธสัจ
และมรรคสัจ อันสูงสุด แก่ปัญจวัคคีย์
ในกาลนั้น พระผู้พระภาคทรงประกาศพระธรรมจักรนั้นแล้ว
ฤาษีปัญจวัคคีย์เหล่านั้น พร้อมด้วยหมู่พรหม
และเทวดาประมาณ ๑๘ โกฏิ
ได้บรรลุธรรมในการประชุมครั้งแรก
สมัยต่อมาฤาษีปัญจวัคคีย์ทั้งหมด
คือโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ

เชิงอรรถ :
๑ ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๘๓/๓๐๘ และดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๙/๑๕, ที.ม. (แปล) ๑๐/๗๑/๔๑, สํ.ส. (แปล)
๑๕/๑๗๒/๒๓๒.
๒ เวไนยสัตว์ หมายถึงเหล่าสัตว์ที่จะแนะนำให้บรรลุอรหัตตมรรคได้ (ขุ.อป.อ. ๒/๙๙/๓๑๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์
พร้อมด้วยหมู่พรหมและเทวดาประมาณ ๑๘ โกฏิ
อันพระผู้มีพระภาคทรงแนะนำให้วิเศษโดยลำดับ ในกาลนั้น
โสดาปัตติผลได้มี(แก่เหล่าเทวดา)ในการประชุมครั้งแรก
ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงกรุงราชคฤห์
โดยการเสด็จดำเนินไปตามลำดับ
พระพุทธองค์ผู้ประเสริฐกว่ามุนี
ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร
ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสดับความนั้น
ได้เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
มีบริวารเป็นจำนวนมากถึง ๑๑ นหุต
พระองค์ทรงใช้ประทีป ของหอม ธูป
และดอกไม้เป็นต้นบูชาพระผู้มีพระภาค
ในสมาคมนั้น พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงกามาทีนวกถา(ว่าด้วยโทษของกาม)
ในเวลาจบพระธรรมเทศนาครั้งนั้น
สัตว์ประมาณ ๘๔,๐๐๐ มีพระราชาเป็นประมุขได้บรรลุธรรม
พระราชบิดาได้ทรงสดับความนั้น จึงทรงส่งทูตไป ๙ นาย
ทูตเหล่านั้นพร้อมด้วยบริวาร ๙,๐๐๐
ทูลขอบรรพชากับพระมุนี ทูตเหล่านั้น
พร้อมด้วยบริวารทั้ง ๙,๐๐๐ ได้บรรลุอรหัตตผล
ครั้งสุดท้าย กาฬุทายีอำมาตย์กับบริวาร ๑,๐๐๐
ถือเพศภิกษุแล้ว นิมนต์พระผู้มีพระภาค
พระศากยมุนีผู้ประเสริฐ ทรงรับนิมนต์แล้ว
เสด็จดำเนินไปตามทางใหญ่
เสด็จพร้อมด้วยภิกษุ ๒๐,๐๐๐ รูป
พระพุทธองค์เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์
โดยการเสด็จดำเนินไปตามลำดับ
ได้ทรงทำปาฏิหาริย์ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำโรหิณี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์
พระผู้มีพระภาคผู้ศากยมุนี ผู้ประเสริฐ
ประทับนั่งท่ามกลางบัลลังก์นั้น
แสดงมหาเวสสันดรชาดก แก่พระราชบิดาท่ามกลางบัลลังก์นั้น
สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรม
[๓] (พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า)
มนุษย์พร้อมทั้งเทวดาเหล่านี้ไม่รู้ว่า
พระพุทธเจ้าผู้เป็นผู้สูงสุดแห่งนรชนนี้เป็นเช่นไร
พระพุทธเจ้าผู้ทรงประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก
ทรงมีกำลังฤทธิ์ และกำลังปัญญาเช่นไร มีพุทธพลัง๑เช่นไร
[๔] มนุษย์พร้อมทั้งเทวดาเหล่านี้ไม่รู้ว่า
พระพุทธเจ้าผู้สูงสุดแห่งนรชนนี้เป็นเช่นนี้
พระพุทธเจ้าผู้ทรงประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก
ทรงมีกำลังฤทธิ์และกำลังปัญญาเช่นนี้ มีพุทธพลังเช่นนี้
[๕] เอาละ เราจักแสดงพุทธพลังอันยอดเยี่ยม
จักเนรมิตที่จงกรมซึ่งประดับด้วยรัตนะในนภากาศ”
[๖] เทวดาประจำภาคพื้น เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา
ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี
ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี และเทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม
ต่างก็ยินดี ได้พากันส่งเสียงอื้ออึงกึกก้อง
[๗] พื้นแผ่นดินพร้อมทั้งเทวโลกสว่างไสว
โลกันตนรกจำนวนมากที่ไม่เชื่อมติดกัน
และความมืดอันหนาทึบถูกขจัดไปในกาลนั้น
เพราะเห็นปาฏิหาริย์อันน่าอัศจรรย์

เชิงอรรถ :
๑ พุทธพลัง หมายถึงพุทธานุภาพ ทศพลญาณ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๓-๕/๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์
[๘] แสงสว่างเจิดจ้าอย่างโอฬาร ได้เกิดแผ่ซ่านไปในโลกทั้ง ๒
คือในโลกนี้และโลกอื่นพร้อมด้วยเทวดา
คนธรรพ์ มนุษย์ และรากษส
แผ่ไปตลอดพื้นที่กว้างขวางทั้งเบื้องล่าง เบื้องบน และเบื้องขวาง
[๙] พระศาสดาผู้ประเสริฐกว่าเหล่าสัตว์ ไม่มีใครประเสริฐยิ่งไปกว่า
ทรงเป็นผู้นำวิเศษ อันเทวดาและมนุษย์บูชา
ทรงมีอานุภาพมาก มีบุญลักษณะนับร้อย
ทรงแสดงปาฏิหาริย์๑ ที่น่าอัศจรรย์
ในสมาคมนั้น พระชินเจ้าผู้พระศาสดา
เสด็จเหาะขึ้นในนภากาศแล้ว
ทรงเนรมิตภูเขาสิเนรุราชให้เป็นที่จงกรมที่รื่นรมย์
ทวยเทพในโลกธาตุมีหมื่นจักรวาลนมัสการพระตถาคตแล้ว
กระทำการบูชาพุทธเจ้าในสำนักของพระชินเจ้า
[๑๐] ครั้งนั้น พระศาสดาผู้มีพระจักษุ
เป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
อันท้าวสหัมบดีพรหมผู้ประเสริฐกว่าเทวดาทูลอาราธนาแล้ว
ทรงพิจารณาเห็นประโยชน์
ทรงเนรมิตที่จงกรมอันสำเร็จด้วยรัตนะทุกชนิดสำเร็จดีแล้ว
[๑๑] พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงมีความชำนาญในปาฏิหาริย์ ๓ อย่างคือ
อิทธิปาฏิหาริย์๒ อาเทสนาปาฏิหาริย์๓

เชิงอรรถ :
๑ ปาฏิหาริย์ หมายถึงการกระทำที่กำจัดหรือทำให้ปฏิปักษ์ยอมได้ การกระทำที่ให้เห็นเป็นอัศจรรย์ หรือ
การกระทำที่ให้บังเกิดผลเป็นอัศจรรย์
๒ อิทธิปาฏิหาริย์ หมายถึงปาฏิหาริย์คือฤทธิ์, แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ (ที.สี. (แปล) ๙/๔๘๔/๒๑๔, ขุ.ปฏิ.
(แปล) ๓๑/๓๐/๔๓๖)
๓ อาเทสนาปาฏิหาริย์ หมายถึงปาฏิหาริย์คือการทายใจ, รอบรู้กระบวนการของจิตจนสามารถกำหนด
อาการที่หมายเล็กน้อยแล้วบอกสภาพจิต ความคิด อุปนิสัยได้ถูกต้อง เป็นอัศจรรย์ (ที.สี. (แปล) ๙/๔๘๕/
๒๑๕, ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๕/๒๗๕ ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๓๐/๔๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์
และอนุสาสนีปาฏิหาริย์๑
ทรงเนรมิตที่จงกรมอันสำเร็จด้วยรัตนะทุกชนิดสำเร็จดีแล้ว
[๑๒] ทรงแสดงภูเขาสิเนรุซึ่งสูงสุดในโลกธาตุมีหมื่นจักรวาล
เป็นดุจเสาเรียงกันไปตามลำดับในที่จงกรมซึ่งทำด้วยรัตนะ
[๑๓] พระชินเจ้าทรงเนรมิตที่จงกรมเลยขอบปากหมื่นจักรวาล
ชานทั้ง ๒ ด้าน ที่จงกรมที่สำเร็จด้วยรัตนะ สำเร็จด้วยทองคำล้วน
[๑๔] ทรงเนรมิตไพที๒ทองคำล้วน ลาดด้วยแผ่นทองคำ
อันเหมาะสมแก่ขื่อและเต้าไว้ทั้ง ๒ ข้าง
[๑๕] รัตนจงกรมที่ทรงเนรมิต เกลื่อนไปด้วยทรายแก้วมณี
ทรายแก้วมุกดา สว่างไปทั่วทิศ เหมือนดวงอาทิตย์อุทัย
[๑๖] พระชินสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์
มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๓
ทรงเปล่งปลั่งด้วยพระรัศมีที่รุ่งเรือง
เสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่จงกรมนั้น
[๑๗] เทพทั้งปวงที่มาประชุมกัน
ต่างก็โปรยปรายดอกมณฑารพ ดอกปทุม
และดอกปาริฉัตตกะอันเป็นทิพย์ลงบนที่จงกรม
[๑๘] เทพทั้งหลายในหมื่นจักรวาล
ได้เห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจึงได้มาประชุมกัน
ต่างก็ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ หมอบลงกราบ
[๑๙] เทวดาทั้งหลายชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต
ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี

เชิงอรรถ :
๑ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ หมายถึงคำสอนเป็นอัศจรรย์
๒ ดูเชิงอรรถหน้า ๘๖ ในเล่มนี้
๓ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์
ต่างก็มีจิตเบิกบาน มีใจดี
พากันมองดูพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๒๐] นาค ครุฑ หรือแม้กินนร พร้อมด้วยเหล่าเทวดา
คนธรรพ์ มนุษย์ และรากษส ต่างก็ได้เห็นพระศาสดา
ผู้ทรงเกื้อกูล อนุเคราะห์สัตว์โลก
เหมือนดวงจันทร์ลอยเด่นอยู่ในนภากาศ
[๒๑] เหล่าอาภัสสรพรหม สุภกิณหพรหม เวหัปผลพรหม
และอกนิฏฐพรหม ต่างองค์ก็นุ่งผ้าขาวล้วนยืนประนมมือ
[๒๒] ต่างก็โปรยปรายดอกไม้ ๕ สี และดอกมณฑารพ๑
ที่เจือด้วยกระแจะจันทน์ และพากันโบกผ้าอยู่บนท้องฟ้า
ครั้งนั้น ทั้งหมดต่างก็เปล่งเสียงว่า
น่าอัศจรรย์ พระชินเจ้าผู้ทรงเกื้อกูล อนุเคราะห์สัตว์โลก
[๒๓] พระองค์ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์
ทรงเป็นพระศาสดา ปรากฏดังเสาธง
เป็นหลักชัย เป็นที่พึ่งอาศัย และเป็นประทีปของปวงสัตว์
[๒๔] เทวดาทั้งหลายผู้มีฤทธิ์มากในหมื่นจักรวาล๒
ต่างก็ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ พากันแวดล้อมถวายบังคม
[๒๕] เทพบุตรและเทพกัญญา ต่างก็เลื่อมใส
มีใจยินดี พากันบูชาพระผู้องอาจกว่านรชน ด้วยดอกไม้ ๕ สี
[๒๖] เทวดาทั้งหลาย ได้เห็นพระศาสดาพระองค์นั้น
ต่างก็เลื่อมใส มีใจยินดี
พากันบูชาพระองค์ผู้องอาจกว่านรชน
ด้วยดอกไม้ ๕ สี แล้วเปล่งเสียงว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดอกมณฑารพ หมายถึงดอกไม้ทิพย์ (ที.ม. (แปล) ๑๐/๑๙๙/๑๔๘)
๒ ในหมื่นจักรวาล แปลมาจากศัพท์ว่า ทสสหสฺสีโลกธาตุยา (ขุ.พุทฺธ.อ. ๑๘/๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์
[๒๗] ‘โอ ! น่าอัศจรรย์ ขนพองสยองเกล้า
ไม่เคยปรากฏในโลก ความอัศจรรย์
ขนพองสยองเกล้าเช่นนี้ ไม่เคยปรากฏ’
[๒๘] เทวดาเหล่านั้นนั่งอยู่ในภพของตน ๆ
ได้เห็นความอัศจรรย์ในนภากาศแล้ว
พากันหัวเราะดังลั่น
[๒๙] เหล่าภุมมเทวดาที่ประจำอยู่ตามต้นไม้
และอากาสัฏฐเทวดาที่ประจำอยู่ตามดวงดาว
ต่างก็มีความยินดีร่าเริงบันเทิงใจ พากันประนมมือนมัสการ
[๓๐] แม้พวกนาคที่มีอายุยืน มีบุญญาธิการ มีฤทธิ์มาก
ต่างก็มีความบันเทิงใจ นมัสการ
บูชาพระศาสดาเป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน
[๓๑] บรรเลงสังคีต ตีกลองกันอยู่ในอากาศกลางเวหา
เพราะเห็นเหตุอัศจรรย์ในนภากาศ
[๓๒] เทวดาจำนวนมาก เป่าสังข์ แกว่งบัณเฑาะว์
เคาะมโหระทึก บรรเลงอยู่ในนภากาศ
เพราะเห็นความมหัศจรรย์ในนภากาศ
[๓๓] เป็นความอัศจรรย์หนอไม่เคยปรากฏ
วันนี้เกิดขนพองสยองเกล้าขึ้นแล้ว
เราทั้งหลายได้ความสำเร็จประโยชน์ที่ยั่งยืน
ขณะเราทั้งหลายให้สำเร็จเฉพาะแล้ว’
[๓๔] เพราะได้สดับคำว่า “พุทโธ”
เทวดาเหล่านั้นเกิดปีติในขณะนั้น
ต่างก็ยืนประนมมือกล่าวว่า ‘พุทโธ พุทโธ‘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์
[๓๕] สัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในฟากฟ้า
ต่างก็ประนมมือเปล่งเสียงสาธุการดังกระหึ่ม
และเสียงโห่ร้องบันลือลั่น
[๓๖] นาคทั้งหลายต่างก็ขับร้อง ประสานเสียง
ประโคม ปรบขนด ฟ้อนรำ
และต่างก็โปรยปรายดอกไม้ ๕ สี และดอกมณฑารพ
ที่เจือด้วยกระแจะจันทน์
[๓๗] กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระมหาวีระ
ที่พระยุคลบาทของพระองค์มีจักรลักษณะเป็นรูปธงชัย
รูปธงปฏาก รูปวชิราวุธ รูปแว่นแก้ว และรูปขอ
[๓๘] ไม่มีใครเทียบกับพระองค์ได้ในเพราะรูปกาย
ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ
อนึ่ง ไม่มีใครเสมอเหมือนกับพระองค์ได้
ในเพราะการประกาศพระธรรมจักร
[๓๙] กำลังกายของพญาช้าง ๑๐ เชือก
เท่ากับกำลังกายตามปกติของพระองค์
ไม่มีใครเสมอกับพระองค์ด้วยกำลังฤทธิ์
ทั้งไม่มีใครเสมอเหมือนกับพระองค์ได้
ในเพราะการประกาศพระธรรมจักร
[๔๐] ท่านทั้งหลายจงนมัสการพระมหามุนี
ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติทุกประการ
ทรงประกอบด้วยองค์คุณทั้งปวง
ทรงมีพระกรุณา ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกอย่างนี้
[๔๑] พระองค์ย่อมควรแก่การอภิวาท การสดุดี
การไหว้ การสรรเสริญ การนมัสการ
และการบูชาทุกอย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์
[๔๒] ข้าแต่พระมหาวีระ บุคคลผู้ประเสริฐที่สุด
ในบรรดาบุคคลผู้ที่ต้องไหว้
และบุคคลที่ควรไหว้ทั้งหมดในโลกเช่นกับพระองค์ไม่มี
[๔๓] พระสารีบุตรผู้มีปัญญามาก
เป็นผู้ฉลาดในสมาธิและในฌาน ยืนอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ
ได้เห็นพระองค์ ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๔๔] มองดูพระองค์ผู้องอาจกว่านรชน
ผู้งามเหมือนต้นพญาไม้สาละที่มีดอกบานสะพรั่ง
เหมือนดวงจันทร์ในท้องฟ้า
และเหมือนดวงอาทิตย์ในยามเที่ยงวัน
[๔๕] เห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ผู้เป็นนักปราชญ์
ซึ่งมีพระรัศมีแวดล้อมอยู่ด้านละวา
รุ่งเรืองเหมือนต้นพฤกษาประทีป
งามเด่นเหมือนดวงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ
[๔๖] พระสารีบุตรได้นิมนต์ภิกษุ ๕๐๐ รูป
มีกิจอันกระทำแล้ว ผู้คงที่ ผู้เป็นพระขีณาสพ
ผู้ปราศจากมลทินให้มาประชุมกันในขณะนั้น
[๔๗] แล้วกล่าวว่า พระชินเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์
อันทำสัตว์โลกทั้งผองให้เลื่อมใส
แม้เราทั้งหลายก็จักไปกราบไหว้พระชินเจ้า ณ ที่นั้น
[๔๘] มาเถิด เราทั้งปวงจักไปเฝ้าพระชินเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก จักทูลถามให้บรรเทาความสงสัย
[๔๙] ภิกษุผู้มีปัญญารักษาตน สำรวมอินทรีย์เหล่านั้น
รับคำว่า “สาธุ” แล้วต่างก็ถือบาตรและจีวร
พากันเข้าไปหา(พระสารีบุตร)อย่างรีบเร่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์
[๕๐] พระสารีบุตรผู้มีปัญญามาก
พร้อมด้วยพระขีณาสพผู้ปราศจากมลทิน
ผู้ฝึกตนในการฝึกอันยอดเยี่ยม๑ พากันไปเฝ้าด้วยฤทธิ์
[๕๑] พระสารีบุตรผู้เป็นเจ้าคณะใหญ่อันภิกษุเหล่านั้นแวดล้อม
เข้าเฝ้าด้วยฤทธิ์ ดังเทวดาลอยมาในฟากฟ้า
[๕๒] ภิกษุเหล่านั้น ผู้มีวัตรงาม มีความเคารพยำเกรง
ไม่ไอ ไม่จาม พากันเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๕๓] ครั้นเข้าเฝ้าแล้ว เห็นพระสยัมภูวีรเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ลอยเด่นอยู่ในนภากาศเหมือนดวงจันทร์ในฟากฟ้า
[๕๔] เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ผู้รุ่งเรืองดังต้นพฤกษาประทีป
เหมือนสายฟ้าในท้องฟ้า
และเหมือนดวงอาทิตย์ในยามเที่ยงวัน
[๕๕] ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ดังห้วงน้ำใสแจ๋ว
และดังปทุมชาติที่กำลังบาน
[๕๖] ต่างก็ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ
ประนมมือหมอบลงนอบน้อม
แทบพระยุคลบาทที่มีจักรลักษณะของพระศาสดา
[๕๗] พระสารีบุตรผู้มีปัญญามาก
มีผิวพรรณเสมอเหมือนดอกหงอนไก่
เป็นผู้ฉลาดในสมาธิและในฌาน
ไหว้พระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๕๘] พระมหาโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์มาก
ไม่มีใครเสมอได้ด้วยกำลังฤทธิ์

เชิงอรรถ :
๑ อันยอดเยี่ยม หมายถึงพระอรหัตตผล (ขุ.พุทธ.อ. ๕๐-๕๑/๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์
มีผิวพรรณเสมอเหมือนดอกอุบลเขียว
ได้บันลือมา(ด้วยวิสัยแห่งฤทธิ์)
เหมือนเมฆในฤดูฝนคำรนอยู่
[๕๙] แม้พระมหากัสสปเถระผู้ผิวพรรณดั่งทองที่หลอมอยู่ในเบ้า
พระศาสดาทรงสรรเสริญตั้งไว้ว่า
เป็นผู้เลิศในฝ่ายธุดงค์คุณ
[๖๐] พระอนุรุทธเถระผู้เป็นเจ้าคณะใหญ่
เลิศกว่าบรรดาภิกษุทั้งหลายฝ่ายทิพยจักษุ
เป็นพระญาติผู้ประเสริฐของพระผู้มีพระภาค ยืนอยู่ในที่ไม่ไกล
[๖๑] พระอุบาลีเถระผู้ฉลาดในอาบัติ อนาบัติ และสเตกิจฉา
พระศาสดาทรงสรรเสริญตั้งไว้ว่า
เป็นผู้เลิศในฝ่ายพระวินัย
[๖๒] พระเถระผู้ฤาษีปรากฏชื่อว่าปุณณมันตานีบุตร
ผู้รู้แจ้งในอรรถอันละเอียดสุขุม๑
ประเสริฐกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายพระธรรมกถึก เป็นหัวหน้าคณะ
[๖๓] พระมุนีมหาวีระผู้ทรงฉลาดในอุปมา ตัดความสงสัย
ทรงทราบจิตของท่านเหล่านั้นแล้ว
จึงตรัสถึงพระคุณของพระองค์ว่า
[๖๔] สิ่งที่นับไม่ได้ มีที่สุด
ที่บุคคลรู้ไม่ได้ ๔ อย่าง
คือ (๑) หมู่สัตว์ (๒) อากาศ (๓) อนันตจักรวาล
(๔) พระพุทธญาณที่หาประมาณมิได้
สิ่งเหล่านี้อันใคร ๆ ไม่อาจรู้แจ้งได้

เชิงอรรถ :
๑ รู้แจ้งในอรรถอันสุขุม หมายถึงญาณหยั่งรู้สัจจะ ๔ และนิพพาน ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ของตน (ขุ.เถร.อ.
๑/๔/๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์
[๖๕] การที่เราจะแสดงฤทธิ์นี้ จะอัศจรรย์อะไรในโลกเล่า
เพราะความอัศจรรย์ที่ทำให้เกิดขนพองสยองเกล้าอย่างอื่น
ยังมีอยู่อีกมากมาย
[๖๖] ในกาลใด เราเป็นเทพอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต
ในกาลนั้น เรามีชื่อว่าสันดุสิตเทพบุตร
เทวดาในหมื่นจักรวาล ได้มาประชุมกันแล้ว
ประนมมือกล่าวอัญเชิญเราว่า
[๖๗] ข้าแต่พระมหาวีระ
บัดนี้ ถึงเวลาสมควรของพระองค์แล้ว
ขอเชิญพระองค์เสด็จอุบัติในพระครรภ์มารดา
ตรัสรู้อมตบทช่วยสัตว์โลกพร้อมทั้งเทวโลก
ให้ข้ามพ้น(สังสารวัฏ)เถิด
[๖๘] ขณะเมื่อเราจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงสู่ครรภ์นั้น
โลกธาตุมีหมื่นจักรวาล แผ่นดินก็ไหว
[๖๙] ขณะเมื่อเรามีความรู้สึกตัว ประสูติจากพระครรภ์มารดานั้น
ทวยเทพก็พากันสาธุการ หมื่นจักรวาลก็ไหว
[๗๐] ในการก้าวลงสู่พระครรภ์มารดา
และในการประสูติ ไม่มีใครเสมอด้วยเรา
เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในการตรัสรู้
และในการประกาศพระธรรมจักร
[๗๑] โอ ! ความอัศจรรย์ได้มีในโลก
เพราะพระพุทธเจ้าทรงพระคุณมาก
โลกธาตุมีหมื่นจักรวาลไหว ๖ ครั้ง
มีรัศมีสว่างจ้า น่าอัศจรรย์ขนพองสยองเกล้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑. รตนจังกมนกัณฑ์
[๗๒] ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคชินเจ้า
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
เสด็จจงกรมด้วยพระฤทธิ์ แสดงให้มนุษย์พร้อมทั้งเทวโลกเห็น
[๗๓] พระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จจงกรมอยู่ ในที่จงกรมนั่นเอง
ตรัสธรรมีกถา ไม่เสด็จกลับในระหว่าง
เหมือนเสด็จจงกรมอยู่ในที่จงกรมเพียง ๔ ศอก
[๗๔] พระสารีบุตรผู้มีปัญญามาก
เป็นผู้ฉลาดในสมาธิและฌาน
ถึงความบริบูรณ์ด้วยปัญญา
ได้ทูลถามพระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[๗๕] ข้าแต่พระมหาวีระ เป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน
อภินิหารของพระองค์เป็นเช่นไร
ข้าแต่พระวีรเจ้า พระองค์ทรงปรารถนา
พระโพธิญาณอันสูงสุดในกาลไร
[๗๖] ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ
สัจจะ และอธิษฐานเป็นเช่นไร เมตตาและอุเบกขาเป็นเช่นไร
[๗๗] ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
บารมี ๑๐ เป็นอย่างไร อุปบารมี ๑๐ เต็มได้อย่างไร
และปรมัตถบารมี ๑๐ เต็มได้อย่างไร
เพราะทรงอธิษฐานกรรมอะไร เป็นอธิบดีได้อย่างไร
มีบารมีได้อย่างไร นักปราชญ์เป็นเช่นไร ในโลก
เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาเป็นเช่นไร
พระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธการกธรรม
(ธรรมที่กระทำความเป็นพระพุทธเจ้า)
ให้บริบูรณ์สิ้นเชิงได้อย่างไร’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
[๗๘] พระศาสดา ผู้มีพระสุรเสียงไพเราะดังเสียงนกการเวก
อันพระสารีบุตรนั้นทูลถามแล้ว ทรงพยากรณ์ให้เย็นใจ
และทรงทำมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ร่าเริง
[๗๙] พระศาสดาทรงประกาศประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก
ที่พระพุทธชินเจ้าในอดีตทรงแสดงไว้ ทรงชมเชย
ที่นำสืบ ๆ กันมาของพระพุทธเจ้า
ด้วยพระพุทธญาณที่ไปตามปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ในโลกพร้อมทั้งเทวโลกว่า
[๘๐] ท่านทั้งหลายจงทำจิตให้เกิดปีติปราโมทย์
ให้บรรเทาลูกศรคือความเศร้าโศก ให้ได้สมบัติทั้งปวงแล้วจงฟังเรา
[๘๑] ท่านทั้งหลายจงดำเนินไปตามมรรคที่ย่ำยีความเมา
บรรเทาความเศร้าโศก เปลื้องตนจากสงสาร
เป็นที่สิ้นทุกข์ทั้งปวง โดยความเคารพเถิด
รตนจังกมนกัณฑ์ จบ

๒. สุเมธกถา
ว่าด้วยสุเมธพุทธเจ้า
[๑] ใน ๔ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป
มีนครหนึ่งชื่อว่าอมระ เป็นนครที่น่าชม น่ารื่นรมย์ใจ
[๒] เป็นนครที่สมบูรณ์ด้วยข้าว น้ำ
ไม่ว่างเว้นจากเสียง ๑๐ ประการ
คือ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงกลอง เสียงสังข์
เสียงรถ(เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงเพลงขับ เสียงฉิ่ง)
และเสียงเชื้อเชิญด้วยของกินและเครื่องดื่มว่า
เชิญท่านเคี้ยวกิน เชิญท่านดื่ม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
[๓] เป็นนครที่สมบูรณ์ด้วยองค์คุณทั้งปวง
ประกอบด้วยการงานทุกอย่าง
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
คับคั่งไปด้วยหมู่ชนต่าง ๆ
เป็นนครที่อุดมสมบูรณ์เหมือนเทพนคร
เป็นที่อยู่ของผู้มีบุญ
[๔] เราเป็นพราหมณ์นามว่าสุเมธะ
อยู่ในกรุงอมรวดี สั่งสมทรัพย์ไว้หลายโกฏิ
มีทรัพย์สมบัติและธัญญาหารมากมาย
[๕] เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ จบไตรเพท
ถึงความสำเร็จในคัมภีร์ทำนายลักษณะ๑
และอิติหาสะ๒และในธรรมของตน
[๖] นั่งอยู่ในที่สงัด คิดอย่างนี้ว่า
การเกิดในภพใหม่ และการแตกไปแห่งสรีระเป็นทุกข์
ความหลงตายเป็นทุกข์ ชีวิตถูกชราย่ำยี
[๗] ก็ครั้งนั้น เรามีความเกิด ความแก่
ความป่วยไข้เป็นธรรมดา
เราจักแสวงหาพระนิพพาน
ที่ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นแดนเกษม
[๘] เอาเถิด เราควรเป็นผู้ไม่มีความห่วงใย
ไม่มีความต้องการ ละทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่า
เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ นี้ไปเสีย
[๙] มรรคนั้นไม่อาจจะไม่เป็นเหตุ มรรคนั้นที่มีอยู่ก็จักมี
เราจักแสวงหามรรคนั้น เพื่อหลุดพ้นไปจากภพ

เชิงอรรถ :
๑ ทำนายลักษณะ หมายถึงทำนายลักษณะหญิง ลักษณะชาย ลักษณะมหาบุรุษ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๕/๑๐๘)
๒ อิติหาสะ หมายถึงคัมภีร์พิเศษ ซึ่งเป็นคัมภีร์เก่าแก่ของพราหมณ์ว่าด้วยคำพูดว่าเป็นเช่นนี้ (ขุ.พุทฺธ.อ
๕/๑๐๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
[๑๐] เมื่อความทุกข์มี ชื่อว่าความสุขก็ต้องมีฉันใด
เมื่อภพมีอยู่ วิภพ๑ก็จำต้องปรารถนา ฉันนั้น
[๑๑] เมื่อความร้อนมี ความเย็นอย่างอื่นก็ต้องมีฉันใด
เมื่อไฟ ๓๒ อย่างมีอยู่
นิพพาน(ความดับ)ก็จำต้องปรารถนา ฉันนั้น
[๑๒] เมื่อความชั่วมี แม้ความดีก็ต้องมี ฉันใด
เมื่อความเกิดมีอยู่ ความไม่เกิดก็จำต้องปรารถนา ฉันนั้น
[๑๓] บุรุษผู้ตกไปในหลุมคูถเห็นสระน้ำเต็ม
ไม่เข้าไปยังสระน้ำนั้น นั้นไม่ใช่ความผิดของสระน้ำ ฉันใด
[๑๔] เมื่อสระน้ำอมฤต๓มีอยู่ บุคคลไม่แสวงหาสระน้ำนั้น
อันเป็นที่ชำระมลทินคือกิเลส
นั้นก็ไม่ใช่ความผิดของสระน้ำอมฤต ฉันนั้น
[๑๕] เมื่อทางไปมีอยู่ บุรุษนั้นถูกข้าศึกปิดล้อมไม่ยอมหนีไป
นั้นไม่ใช่ความผิดของหนทาง ฉันใด
[๑๖] เมื่อทางเกษมมีอยู่ บุคคลถูกกิเลสปิดล้อม
ไม่แสวงหาทางนั้น นั้นก็ไม่ใช่ความผิดของทางอันเกษม ฉันนั้น
[๑๗] คนป่วย เมื่อหมอมีอยู่ ก็ไม่ให้หมอเยียวยา
ความป่วยไข้นั้น นั้นไม่ใช่ความผิดของหมอ ฉันใด
[๑๘] คนมีทุกข์ถูกความป่วยไข้คือกิเลสเบียดเบียน
ไม่แสวงหาอาจารย์ นั้นก็ไม่ใช่ความผิดของอาจารย์ผู้แนะนำ

เชิงอรรถ :
๑ วิภพ หมายถึงธรรมที่ไม่ให้เกิด (ขุ.พุทธ.อ. ๑๐/๑๑๐)
๒ ไฟ ๓ หมายถึงไฟคือราคะ โทสะ และโมหะ (ที.ปา. (แปล) ๑๑/๓๐๕/๒๖๘)
๓ สระน้ำอมฤต ในที่นี้หมายถึงนิพพาน ( ขุ.พุทฺธ.อ. ๑๔/๑๑๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
เอาเถิดเราควรเป็นผู้ไม่มีความห่วงใย
ไม่มีความต้องการ ละทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่า
เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ นี้ไปเสีย ฉันนั้น
[๑๙] คนปลดเปลื้องซากศพที่น่ารังเกียจที่ผูกไว้ที่คอแล้ว
ไปอยู่เป็นสุขอย่างเสรีตามลำพังตน ฉันใด
[๒๐] เราไม่มีความห่วงใย ไม่มีความต้องการ
ละทิ้งร่างกายที่เปื่อยเน่าเป็นที่รวมซากศพต่าง ๆ นี้ไปเสีย ฉันนั้น
[๒๑] คนชายหญิงถ่ายอุจจาระลงในส้วม
แล้วละทิ้งส้วมไปไม่มีความห่วงใย ไม่มีความต้องการ ฉันใด
[๒๒] เราจักละทิ้งร่างกายที่เต็มไปด้วยซากศพต่าง ๆ นี้ไปเสีย
ดุจคนถ่ายอุจจาระ(ลงในส้วม) แล้วละทิ้งส้วมไป ฉันนั้น
[๒๓] เจ้าของเรือทิ้งเรือที่คร่ำคร่า ชำรุด น้ำไหลเข้าได้ไป
อย่างไม่มีความห่วงใย ไม่มีความต้องการ ฉันใด
[๒๔] เราจักละทิ้งร่างกายนี้ที่มีทวาร ๙
มีของไม่สะอาดไหลออกอยู่เป็นนิตย์ไปเสีย
ดุจเจ้าของเรือละทิ้งเรือที่คร่ำคร่าไป ฉันนั้น
[๒๕] บุรุษนำสิ่งของมีค่าไปกับพวกโจร
เห็นภัยคือการถูกปล้นสิ่งของจึงละทิ้ง(โจร)ไปเสีย ฉันใด
[๒๖] กายนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เปรียบเสมอด้วยมหาโจร
เราจักละกายนี้ไปเพราะกลัวแต่การปล้นกุศลธรรม ฉันนั้น
[๒๗] ครั้นเราคิดอย่างนี้แล้ว ได้ให้ทรัพย์หลายร้อยโกฏิ
แก่คนมีที่พึ่งและไม่มีที่พึ่งแล้วเข้าไปยังภูเขาหิมพานต์
[๒๘] ในที่ไม่ไกลจากภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อธรรมิกะ
เราสร้างอาศรมอย่างดี สร้างบรรณศาลาอย่างดีไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
[๒๙] ในที่นั้น เราสร้างที่จงกรมซึ่งเว้นโทษ ๕ ประการ๑
เป็นที่นำมาซึ่งอภิญญาพละประกอบด้วยคุณ ๘ ประการ ๒
[๓๐] ละทิ้งผ้าสาฎกซึ่งประกอบด้วยโทษ ๙ ประการ๓เสีย
แล้วนุ่งผ้าคากรอง(ผ้าเปลือกไม้) ซึ่งประกอบด้วยคุณ ๑๒ ประการ
[๓๑] เราละทิ้งบรรณศาลาที่ประกอบไปด้วยโทษ ๘ ประการ๔เสีย
เข้าไปอาศัยโคนต้นไม้ซึ่งประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ๕
[๓๒] เราละทิ้งข้าวเปลือกที่หว่านไว้ ปลูกไว้เสียโดยไม่เหลือ
บริโภคผลไม้ที่หล่นเองซึ่งประกอบด้วยคุณหลายอย่าง
[๓๓] ในที่นั้น เราบำเพ็ญความเพียรอยู่ในที่นั่งที่ยืนและที่จงกรม
ภายในเวลา ๗ วัน ก็ได้บรรลุอภิญญาพละ
[๓๔] เมื่อเราบรรลุถึงความสำเร็จ
มีความชำนาญในศาสนาอย่างนี้แล้ว
พระชินเจ้าพระนามว่าทีปังกร ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
[๓๕] ในขณะที่พระชินเจ้าทรงปฏิสนธิ ประสูติ ตรัสรู้
และแสดงธรรม เราเป็นผู้เปี่ยมด้วยความยินดีในฌาน
จึงไม่ได้เห็นนิมิต ๔ ประการ

เชิงอรรถ :
๑ โทษ ๕ ประการ คือ (๑) ที่แข็งกระด้างขรุขระ (๒) มีต้นไม้อยู่ภายใน (๓) มีกอไม้ปกคลุม (๔) แคบเกินไป
(๕) กว้างเกินไป (ขุ.พุทธ.อ. ๒๙/๑๑๗)
๒ ประกอบด้วยคุณ ๘ ประการ หมายถึงประกอบด้วยสุขของสมณะ ๘ ประการ (๑) มีจิตเป็นสมาธิ
(๒) บริสุทธิ์ (๓) ผุดผ่อง (๔) ไม่มีกิเลสยียวน (๕) ปราศจากกิเลส ที่เป็นเหตุให้เศร้าหมอง (๖) อ่อนโยน
(๗) ควรแก่การงาน (๘) ตั้งขึ้นไม่หวั่นไหว (ขุ.พุทฺธ.อ. ๒๙/๑๑๗)
๓ ขุ.พุทฺธ.อ. ๓๐/๑๑๘
๔ ขุ.พุทฺธ.อ. ๓๐/๑๑๘
๕ ขุ.พุทฺธ.อ. ๓๑/๑๑๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
[๓๖] ในแคว้นปัจจันตประเทศ ชนทั้งหลาย
ทูลนิมนต์พระตถาคตแล้ว มีใจยินดี
ช่วยกันแผ้วถางทางสำหรับพระตถาคตเสด็จดำเนินมา
[๓๗] ครั้งนั้น เราออกจากอาศรมของตนแล้ว
สลัดผ้าคากรอง เหาะไปในท้องฟ้า
[๓๘] เห็นหมู่ชนผู้มีจิตโสมนัส ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ
จึงลงจากท้องฟ้ามาถามมนุษย์ทั้งหลายในขณะนั้นว่า
[๓๙] มหาชนผู้มีจิตโสมนัส ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ
ช่วยกันแผ้วถางทางสำหรับเดินเพื่อใคร
[๔๐] ชนเหล่านั้นถูกเราถามแล้วบอกว่า
‘พระพุทธชินเจ้าผู้ยอดเยี่ยม พระนามว่าทีปังกร
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว
ชนทั้งหลายช่วยกันแผ้วถางทางสำหรับเสด็จดำเนินเพื่อพระองค์’
[๔๑] เดี๋ยวนั้น ปีติเกิดแก่เราเพราะได้ฟังคำว่า ‘พุทโธ‘
เราจึงกล่าวประกาศความโสมนัสว่า ‘พุทโธ พุทโธ‘
[๔๒] เราทั้งยินดี ทั้งตื้นตันใจ ยืนคิดอยู่ ณ ที่นั้นว่า
‘เราจักปลูกพืชคือบุญลงในที่นี้ ขณะอย่าได้ล่วงเลยไป’
[๔๓] แล้วกล่าวว่า ‘ถ้าท่านทั้งหลายช่วยกันแผ้วถางทางเพื่อพระพุทธเจ้า
ขอจงให้โอกาสหนึ่งแก่ข้าพเจ้า
แม้ข้าพเจ้าก็จะช่วยแผ้วถางทางสำหรับเสด็จดำเนิน’
[๔๔] ครั้งนั้น ชนเหล่านั้นได้ให้โอกาสแก่เราเพื่อการแผ้วถางทาง
เราแผ้วถางทางไปพลางคิดไปพลางว่า ‘พุทโธ พุทโธ‘
[๔๕] เมื่อโอกาสของเรายังไม่ทันเสร็จ
พระชินมหามุนีพระนามว่าทีปังกร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
กับพระขีณาสพ ๔๐๐,๐๐๐ รูป
ผู้ได้อภิญญา ๖ ผู้คงที่ ปราศจากมลทินก็เสด็จมาถึงทาง
[๔๖] การต้อนรับย่อมเป็นไป คนเป็นอันมากประโคมกลองเภรี
เทวดาและมนุษย์ต่างก็มีความชื่นชม เปล่งเสียงสาธุการ
[๔๗] เทวดาก็เห็นมนุษย์ มนุษย์ก็เห็นเทวดา
ทั้ง ๒ พวกนั้น พากันประนมมือเดินตามพระตถาคต
[๔๘] เทวดาทั้งหลายนำดนตรีทิพย์มาประโคม
มนุษย์ทั้งหลายนำดนตรีมนุษย์มาประโคม
ทั้ง ๒ พวกนั้นพากันประโคม
[๔๙] เทพผู้อยู่ในนภากาศ
ต่างก็โปรยปรายดอกมณฑารพ ดอกปทุม
ดอกปาริฉัตตกะอันเป็นทิพย์ลงมายังทิศน้อยทิศใหญ่
[๕๐] และโปรยปรายกระแจะจันทน์ และของหอมอย่างดี
ล้วนแต่เป็นของทิพย์ลงมายังทิศน้อยทิศใหญ่
[๕๑] มนุษย์ทั้งหลายผู้อยู่บนพื้นดิน ต่างก็โปรยปรายดอกจำปา
ดอกสน กระทุ่ม ดอกกากะทิง
ดอกบุนนาค ดอกการะเกดลงมายังทิศน้อยทิศใหญ่
[๕๒] เราสยายผมแล้วลาดผ้าคากรอง
และหนังสัตว์ลงบนเปือกตม
แล้วนอนคว่ำหน้าลงที่นั้น
[๕๓] ด้วยคิดว่า ‘พระพุทธเจ้าพร้อมทั้ง(สาวก)ผู้เป็นศิษย์
จงเหยียบเราเสด็จไปเถิด อย่าทรงเหยียบเปือกตมนั้นเลย
ข้อนั้นจักเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
[๕๔] เมื่อเรานอนอยู่ที่พื้นดิน มีความคิดอย่างนี้ว่า
เราเมื่อต้องการอยู่ ก็พึงเผากิเลสเราได้ ในวันนี้
[๕๕] (แต่)จะมีประโยชน์อะไรแก่เรา
ที่จะรู้แจ้งพระธรรมในศาสนานี้ โดยเพศที่คนอื่นไม่รู้จัก
เราจักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ พ้นแล้ว
พึงปลดเปลื้องมนุษย์พร้อมทั้งเทวดา
[๕๖] จะมีประโยชน์อะไรแก่เรา
ที่เป็นผู้ชายเห็นกำลังความสามารถ
จะข้ามพ้นแต่เพียงผู้เดียว
เราจักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
ช่วยมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามพ้นด้วย
[๕๗] ด้วยอธิการ(คือกุศลอันยิ่งใหญ่) นี้
ที่เราได้ทำแล้วในพระพุทธเจ้า ทรงเป็นสูงสุดแห่งบุรุษ
เราจะบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
จะช่วยหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามพ้น
[๕๘] เราจักตัดกระแสสังสารวัฏ๑ ทำลายภพทั้ง ๓๒
แล้วขึ้นสู่ธรรมนาวา๓(เรือคือธรรม)
ช่วยมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามพ้น
[๕๙] อภินิหารย่อมสำเร็จได้เพราะธรรม ๘ ประการ
ประชุมพร้อมกัน คือ ความเป็นมนุษย์ ๑
ความสมบูรณ์ด้วยบุรุษเพศ ๑

เชิงอรรถ :
๑ กระแสสังสารวัฏ ในที่นี้หมายถึง กำเนิด คติ วิญญาณฐิติ สัตตาวาส ๙ หรือกระแสตัณหา (ขุ.พุทฺธ.อ.
๕๘/๑๓๙)
๒ ภพทั้ง ๓ ได้แก่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๕๘/๑๓๙)
๓ ธรรมนาวา ได้แก่ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ (ขุ.พุทฺธ.อ. ๕๘/๑๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
เหตุที่จะทำให้สำเร็จพระอรหันต์ได้ในชาตินั้น ๑
การได้เห็นพระศาสดา ๑ การบรรพชา ๑
ความถึงพร้อมแห่งคุณ(คือสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕) ๑
อธิการคือการทำให้ยิ่ง ๑ ความเป็นผู้มีฉันทะ ๑
[๖๐] พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก สมควรรับเครื่องบูชา
ประทับยืนอยู่เหนือศีรษะเรา ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๖๑] ‘เธอทั้งหลายจงดูชฎิลดาบสนี้ ผู้มีตบะแก่กล้า
ในกัปอันประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป
เขาจักเป็นพระพุทธเจ้าในโลก
[๖๒] พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์
ทรงเริ่มตั้งความเพียรบำเพ็ญทุกรกิริยา
[๖๓] พระตถาคตจักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ
ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้นแล้ว
เสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา
[๖๔] พระชินเจ้าพระองค์นั้น จักเสวยข้าวปายาส
ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์
ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว
[๖๕] จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว
ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์
[๖๖] พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้
จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ
พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม
[๖๗] พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก
พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก
บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้
[๖๘] พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี
ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ
ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา
ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์
[๖๙] จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก
ชาวเมืองอาฬวี จักเป็นอัครอุปัฏฐาก
นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา
จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา
พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้นจักมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี’
[๗๐] เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้
ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า
ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’
[๗๑] สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา
ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง
ประนมมือนมัสการว่า
[๗๒] ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้
เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล
[๗๓] มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว
ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
[๗๔] เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้
ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล
[๗๕] พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ผู้ทรงรู้แจ้งโลก
สมควรรับเครื่องบูชา
ทรงประกาศกรรมของเราแล้ว
ทรงยกพระบาทเบื้องขวาขึ้น
[๗๖] สาวกของพระชินเจ้าที่อยู่ในที่นั้น
ได้ทำประทักษิณเราทุก ๆ องค์
เทวดา มนุษย์ อสูร ยักษ์ อภิวาทเราแล้ว พากันหลีกไป
[๗๗] ครั้งนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พร้อมทั้งพระสงฆ์ล่วงคลองจักษุเราไป
เราลุกขึ้นจากการนอนแล้ว นั่งขัดสมาธิอยู่
[๗๘] เราสำราญใจด้วยความสุข บันเทิงใจด้วยความปราโมทย์
และดื่มด่ำด้วยปีติ นั่งขัดสมาธิอยู่ในกาลนั้น
[๗๙] ครั้งนั้น เรานั่งขัดสมาธิแล้วคิดอย่างนี้ว่า
‘เราเป็นผู้มีความชำนาญในฌาน ถึงความสำเร็จอภิญญา
[๘๐] ในโลกธาตุมีหมื่นจักรวาล ไม่มีฤาษีผู้เสมอกับเรา
ในธรรมคือฤทธิ์ ก็ไม่มีใครเสมอกับเรา เราได้สุขเช่นนี้’
[๘๑] ขณะที่เรานั่งขัดสมาธิอยู่
เทวดาผู้สถิตอยู่ในโลกธาตุมีหมื่นจักรวาล
พากันเปล่งเสียงอย่างกึกก้องว่า
‘ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๘๒] นิมิตเหล่าใดที่เคยปรากฏ
ในขณะที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
นั่งขัดสมาธิอย่างประเสริฐ
นิมิตเหล่านั้นก็ปรากฏในวันนี้
[๘๓] ความหนาวก็บำราศไป และความร้อนก็สงบ
นิมิตเหล่านั้นปรากฏในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๘๔] โลกธาตุมีหมื่นจักรวาล ปราศจากเสียง
หมดความวุ่นวาย นิมิตเหล่านั้นปรากฏในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๘๕] ลมพายุไม่พัด แม่น้ำทั้งหลายก็ไม่ไหล
นิมิตเหล่านั้นปรากฏในวันนี้
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๘๖] ดอกไม้ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นพันธุ์ไม้บก
และพันธุ์ไม้น้ำทุกชนิดต่างก็ผลิดอกในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ดอกไม้เหล่านั้นก็บานหมดทุกดอก
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๘๗] ไม้เถาหรือไม้ต้นต่างก็เผล็ดผลแล้วในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ ไม้ผลเหล่านั้นก็เผล็ดผลแล้วทุกต้น
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๘๘] รัตนะทั้งหลายที่อยู่ในอากาศ
และที่อยู่บนพื้นดินสว่างไสวแล้วในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ รัตนะเหล่านั้นก็สว่างไสว
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๘๙] ดนตรีทั้งหลาย ทั้งที่เป็นของมนุษย์
และเป็นของทิพย์ ต่างก็บรรเลงขึ้นแล้วในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ ดนตรีทั้ง ๒ อย่างนั้นก็บรรเลง
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
[๙๐] ทิพยบุปผชาติอันวิจิตร ต่างก็ตกลงจากท้องฟ้าในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ ทิพยบุปผชาติเหล่านั้นก็ปรากฏ
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๙๑] มหาสมุทรย่อมกระฉ่อน โลกธาตุมีหมื่นจักรวาลก็ไหว
แม้ในวันนี้ ทั้ง ๒ นั้น(มหาสมุทรและโลกธาตุ)ก็บันลือลั่น
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๙๒] ไฟนรกนับหมื่นดวงก็ดับลงในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ ไฟนรกนั้นก็ดับแล้ว
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๙๓] ดวงอาทิตย์ปราศจากมลทิน
ดาวทุกดวงต่างก็สุกสกาว
แม้ในวันนี้ ดวงอาทิตย์และดวงดาวต่างก็ผ่องแผ้วสุกใส
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๙๔] ทั้งที่ฝนไม่ตกเลย (แต่)น้ำในแม่น้ำ
กลับเอ่อขึ้นจากแผ่นดินในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ น้ำในแม่น้ำนั้นก็เอ่อขึ้นจากแผ่นดิน
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๙๕] หมู่ดาวนพเคราะห์และหมู่ดาวนักษัตร
เปล่งประกายสว่างทั่วท้องฟ้า
ดวงจันทร์ประกอบด้วยวิสาขฤกษ์แจ่มจรัส
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๙๖] สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่อยู่ในรู
และจำพวกที่อาศัยอยู่ตามซอก
ต่างก็พากันออกจากที่อยู่ของตน
แม้ในวันนี้ สัตว์เหล่านั้นละทิ้งที่อยู่อาศัย
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
[๙๗] ความไม่พอใจมิได้มีแก่สัตว์ทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายต่างพากันยินดีอยู่ทั่วกันในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ สัตว์ทั้งหลายก็ยินดีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๙๘] โรคทั้งหลายต่างก็สงบระงับลง
และความหิวโหยก็หายไปในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ ภาวะทั้ง ๒ อย่างนั้นก็ปรากฏเหมือนกัน
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๙๙] ราคะก็เบาบางลงไป โทสะ และโมหะ
ต่างก็ถดถอยไปในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ กิเลสเหล่านั้นก็ปราศจากไปจนหมดสิ้น
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๑๐๐] ภัยมิได้มีในขณะนั้น แม้ในวันนี้ ก็ปรากฏอย่างนั้น
เพราะเหตุนั้นเราทั้งหลายจึงรู้ได้ว่า
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๑๐๑] ขณะนั้น ธุลีมิได้ฟุ้งขึ้นไปในอากาศ
แม้ในวันนี้ ก็ปรากฏอย่างนั้น
เพราะเครื่องหมายนั้น เราทั้งหลายจึงรู้ได้ว่า
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๑๐๒] กลิ่นที่ไม่น่าปรารถนาก็ปราศไปหมดสิ้น
กลิ่นทิพย์ก็หอมฟุ้งตลบไป(ในขณะนั้น)
แม้ในวันนี้ กลิ่นหอมก็ฟุ้งตลบไป
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๑๐๓] เทวดาทั้งปวงก็ได้พากันปรากฏกาย(ในขณะนั้น)
เว้นแต่อรูปพรหม แม้ในวันนี้ ก็ปรากฏอย่างนั้นทั้งหมด
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
[๑๐๔] นรกทั้งหลายมีประมาณเท่าใด
ก็ได้ปรากฏทั้งหมดเท่านั้น ในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ ก็ปรากฏทั้งหมด
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๑๐๕] กำแพง ประตู และภูเขา
ก็มิได้เป็นสิ่งที่ปิดกั้นได้ในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ ทั้งหมดก็เปิดโล่ง
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๑๐๖] การจุติและการอุบัติ๑ก็มิได้มีในขณะนั้น
แม้ในวันนี้ การจุติและการอุบัติเหล่านั้นก็ปรากฏ
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
นิมิตเหล่านี้ย่อมปรากฏ
เพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้ของสัตว์ทั้งหลาย
[๑๐๗] ท่านจงบำเพ็ญความเพียรให้มั่นคง
อย่าถอยกลับ จงก้าวไปข้างหน้าเถิด
แม้เราทั้งหลายก็รู้ความเพียรนั้นอย่างแจ่มแจ้งว่า
ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน’
[๑๐๘] เราได้สดับพระพุทธดำรัสและคำ
ของเทวดาในหมื่นจักรวาลทั้ง ๒ แล้ว
ก็ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ ได้คิดอย่างนี้ในกาลนั้นว่า
[๑๐๙] ‘พระพุทธชินเจ้าทั้งหลาย มีพระดำรัสไม่เป็นสอง
มีพระดำรัสไม่เป็นโมฆะ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ไม่มีพระดำรัสไม่จริง เราคงจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน

เชิงอรรถ :
๑ การจุติ หมายถึงการตาย การอุบัติ หมายถึงเกิด (ขุ.พุทฺธ.อ. ๑๐๖/๑๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
[๑๑๐] พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ย่อมเที่ยงแท้แน่นอน เหมือนก้อนดินที่โยนขึ้นไปบนท้องฟ้า
ย่อมตกลงมาที่พื้นดินเป็นแน่
พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีพระดำรัสไม่จริง
เราคงจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๑๑๑] พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ย่อมเที่ยงแท้แน่นอน เหมือนสัตว์ทั้งปวง
ต้องมีความตายเที่ยงแท้แน่นอน
พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีพระดำรัสไม่จริง
เราคงจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๑๑๒] พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ย่อมเที่ยงแท้แน่นอน
เหมือนสิ้นราตรีแล้ว อาทิตย์ต้องอุทัยแน่
พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีพระดำรัสไม่จริง
เราคงจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๑๑๓] พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ย่อมเที่ยงแท้แน่นอน เหมือนราชสีห์ลุกออกจากที่นอน
ต้องมีการบันลือสีหนาทแน่
พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีพระดำรัสไม่จริง
เราคงจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
[๑๑๔] พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ย่อมเที่ยงแท้แน่นอน เหมือนสตรีมีครรภ์แก่
จะต้องมีการคลอดบุตรในครรภ์เป็นแน่
พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีพระดำรัสไม่จริง
เราคงจะเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. สุเมธกถา
[๑๑๕] เอาเถิด เราจักค้นหาพุทธการกธรรม๑จากสิบทิศ
คือข้างนี้ ๆ เบื้องบน เบื้องล่าง ตลอดทั่วธรรมธาตุ
[๑๑๖] ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ได้เห็นทานบารมีเป็นข้อที่ ๑
ซึ่งเป็นทางใหญ่ที่ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในปางก่อน
ได้อบรมสั่งสมมา จึงเตือนตนเองว่า
[๑๑๗] ‘ท่านจงยึดทานบารมีข้อที่ ๑ นี้ บำเพ็ญให้มั่นคงก่อน
ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ
ท่านก็จงบำเพ็ญทานบารมีเถิด
[๑๑๘] หม้อที่เต็มด้วยน้ำซึ่งผู้ใดผู้หนึ่งจับคว่ำลง
น้ำย่อมไหลออกหมด ไม่ขังอยู่ในหม้อนั้น ฉันใด
[๑๑๙] ท่านเห็นผู้ขอทั้งชั้นต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูงแล้ว
จงให้ทานอย่าให้เหลือ ดุจหม้อน้ำที่เขาคว่ำลง ฉันนั้น
[๑๒๐] แต่พุทธธรรมเหล่านี้จักมีเพียงเท่านี้ก็หามิได้
เราจักค้นหาธรรมที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณอย่างอื่นต่อไป
[๑๒๑] ครั้งนั้น เมื่อเราค้นหาอยู่ ได้เห็นศีลบารมีเป็นข้อที่ ๒
ที่ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในปางก่อน
ได้อบรมสั่งสมมา จึงเตือนตนเองว่า
[๑๒๒] ‘ท่านจงยึดศีลบารมีข้อที่ ๒ นี้ บำเพ็ญให้มั่นคงก่อน
ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ
ท่านก็จงบำเพ็ญศีลบารมีเถิด
[๑๒๓] จามรีย่อมรักษาขนหาง(ของตน)ที่ติดข้องอยู่ในที่ไร ๆ
ก็ยอมตายในที่นั้น ไม่ยอมให้ขนหางเสียไป ฉันใด

เชิงอรรถ :
๑ พุทธการกธรรม ได้แก่ ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้ามี ๑๐ ประการ คือ (๑) ทาน (๒) ศีล (๓) เนกขัมมะ
(๔) ปัญญา (๕) วิริยะ (๖) ขันติ (๗) สัจจะ (๘) อธิษฐาน (๙) เมตตา (๑๐) อุเบกขา (ขุ.พุทฺธ.อ. ๑๑๕/๑๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า :๕๘๓ }


>>>>> หน้าต่อไป >>>>>





eXTReMe Tracker