ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ สุตตันตปิฎกที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. พุทธวรรค
หมวดว่าด้วยพระพุทธเจ้าเป็นต้น
๑. พุทธาปทาน
พระประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า

[๑] พระอานนทเถระ ผู้เป็นมุนีชาวแคว้นวิเทหะ
น้อมกายลงทูลถามพระตถาคตผู้ประทับอยู่
ณ พระเชตวันมหาวิหารว่า
ได้ทราบว่า พระสัพพัญญูพุทธเจ้ามีอยู่
พระสัพพัญญูพุทธเจ้าเหล่านั้นผู้เป็นนักปราชญ์
ทรงอุบัติขึ้นเพราะเหตุอะไร
[๒] ลำดับนั้น พระสัพพัญญูผู้ประเสริฐ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้ตรัสกับพระอานนท์ผู้เจริญด้วยพระสุรเสียงที่ไพเราะว่า
ธีรชนเหล่าใดได้สั่งสมกุศลสมภารไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ
ยังไม่ได้ความหลุดพ้นจากกิเลสในศาสนาของพระชินเจ้าทั้งหลาย
[๓] เพราะมุ่งหน้าต่อสัมโพธิญาณนั้นแล
ธีรชนผู้มีปัญญาแก่กล้าดี
จึงได้บรรลุความเป็นพระสัพพัญญู
ด้วยอัธยาศัยที่เข้มแข็งและด้วยอำนาจแห่งปัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๔] ถึงเราก็ได้เป็นผู้มีใจปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า
ในสำนักของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ หลายพระองค์
พระพุทธเจ้าเหล่านั้นทรงเป็นพระธรรมราชา นับไม่ถ้วน
[๕] ต่อไปนี้ ขอให้เธอทั้งหลายผู้มีใจหมดจด
จงฟังประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระธรรมราชา
สมบูรณ์ด้วยบารมี ๓๐ ประการ๑นับไม่ถ้วน
[๖] เรายกนิ้วมือทั้ง ๑๐ นิ้วขึ้น
นอบน้อมพระโพธิญาณของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด
อภิวาทพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
พร้อมด้วยพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า
[๗] ในพุทธเขต๒ มีรัตนะที่อยู่ในอากาศ
ที่อยู่บนภาคพื้นดิน นับจำนวนไม่ถ้วนอยู่เท่าใด
เราพึงนึกนำรัตนะเท่านั้นทั้งหมดมาได้
[๘] ณ พื้นที่อันเป็นเงินนั้น
เราได้เนรมิตปราสาทแก้วหลายร้อยชั้น
สูงตระหง่านโชติช่วงในท้องฟ้า

เชิงอรรถ :
๑ บารมี ๓๐ ประการ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา,
ทานอุปบารมี ฯลฯ อุเบกขาอุปบารมี, ทานปรมัตถบารมี ฯลฯ อุเบกขาปรมัตถบารมี ทานบารมี การ
บำเพ็ญทานตามปกติ ทานอุปบารมี การบำเพ็ญทานยิ่งกว่าปกติ ทานปรมัตถบารมี การบำเพ็ญทาน
ระดับสูงสุด เช่น สละทรัพย์ภายนอกเป็นทานบารมี สละอวัยวะเป็นทานอุปบารมี สละชีวิตเป็นทาน
เป็นปรมัตถบารมี (ขุ.พุทธ. ๓๓/๗๖/๔๔๖, ขุ.จริยา. (แปล) ๓๓/๗๗๖-๗๗๗)
๒ พุทธเขต (เขตแดนของพระพุทธเจ้า) มี ๓ คือ ชาติเขต อาณาเขต วิสัยเขต ชาติเขตมีขอบเขตหนึ่ง
หมื่นจักรวาลจะเกิดการหวั่นไหวทั่วถึงกันในคราวพระพุทธเจ้าถือปฏิสนธิเป็นต้น อาณาเขตมีขอบเขตถึง
หนึ่งแสนโกฏิจักรวาล เป็นสถานที่ที่อานุภาพแห่งพระปริตรแผ่ไปถึง วิสัยเขตไม่มีขอบเขตที่จะกำหนดได้
(วิสุทธิ. ๒/๔๙-๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๙] มีเสาวิจิตรงดงาม มีค่ามาก
ตั้งอยู่เรียงราย มีขื่อทำด้วยทองคำ
(ติดคู่ห่วงทองคำที่ขื่อหรือจันทัน)
ประดับด้วยนกกระเรียนและฉัตร
[๑๐] พื้นชั้นแรกทำด้วยแก้วไพฑูรย์
งดงามดังก้อนเมฆปราศจากมลทิน
มีภาพฝูงปลาและดอกบัวอยู่เกลื่อนกลาด
ย่อมงามด้วยพื้นทองคำอย่างดี
[๑๑] (ที่ปราสาทนั้น) พื้นบางชั้นมีภาพกิ่งไม้อ่อนช้อย
มีสีเหมือนสีแก้วประพาฬ
บางชั้นมีสีแดงสด บางชั้นงดงามเปล่งรัศมีดังสีแมลงค่อมทอง๑
บางชั้นสว่างไสวไปทั่วทิศ
[๑๒] (ที่ปราสาทนั้น) แบ่งพื้นที่เป็นหน้ามุข
ระเบียง หน้าต่าง ไว้อย่างดี
มีพวงอุบะหอม๒ที่น่ารื่นรมย์ใจ
ห้อยย้อยจากวลัยไพที๓และบานประตูข่ายทั้ง ๔ ด้าน
[๑๓] (ที่ปราสาทนั้น) ประกอบด้วยเรือนยอดชั้นเยี่ยม
ประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการ
มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว สีดำล้วน
[๑๔] (ที่ปราสาทนั้น) มีดอกปทุมชูก้านบานสะพรั่ง
งดงามด้วยภาพหมู่เนื้อร้ายและฝูงนก

เชิงอรรถ :
๑ แมลงค่อมทอง หมายถึงแมลงปีกแข็ง ตัวเล็กกว่าแมลงทับปีกสีเขียวเหลืองทอง
๒ พวงอุบะหอม ในที่นี้หมายถึงพวงของหอม (ดอกไม้ร้อยเป็นพวงอย่างพู่สำหรับห้อยระหว่างเฟื่องเป็นต้น
(ขุ.อป.อ ๑/๑๒/๑๒๕)
๓ ไพที ในที่นี้หมายถึงแท่นที่รองเครื่องบูชา (ขุ.อป.อ. ๑/๑๒/๑๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
ดารดาษด้วยดวงดาวพราวพรายระยิบระยับ
ประดับด้วยรูปดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
[๑๕] (ปราสาทนั้น) ใช้ตาข่ายทองคำปกคลุม
ติดข่ายกระดิ่งทองคำ พวงดอกไม้ทองคำ น่ารื่นรมย์ใจ
ลมพัดมากระทบเข้าก็เกิดเสียงดังกังวาน
[๑๖] (ที่ปราสาทนั้น) ขึงธงทิวซึ่งย้อมด้วยสีนานาชนิด
คือ ธงสีหงสบาท สีแดง สีเหลือง สีทองชมพูนุท
[๑๗] (ที่ปราสาทนั้น) มีที่นอนต่างๆ งดงาม มากมายหลายร้อยชนิด
ทำด้วยแก้วผลึก เงิน แก้วมณี ทับทิม แก้วลาย
ปูด้วยผ้าแคว้นกาสีเนื้อละเอียดอ่อน
[๑๘] ผ้าห่มสีเหลือง ทอด้วยด้ายขนสัตว์
ทอด้วยผ้าเปลือกไม้ ทอด้วยฝ้ายเมืองจีน
ทอด้วยฝ้ายเมืองปัตตุณณะ
เครื่องปูลาดต่าง ๆ ทั้งหมดเราอธิษฐานใจปูลาดไว้
[๑๙] แต่ละชั้นประดับด้วยช่อฟ้าซึ่งทำด้วยรัตนะ
มีคนยืนถือประทีปดวงแก้วสว่างไสวอยู่เรียงราย
[๒๐] มีเสาระเนียด (เสาปักเรียงรายตลอดรั้ว)
และเสาค่ายทองคำ เสาค่ายทองชมพูนุท เสาค่ายไม้แก่น
(และ)เสาค่ายเงินที่งดงาม ย่อมทำปราสาทนั้นให้งดงาม
[๒๑] (ที่ปราสาทนั้น) มีที่ต่อ(ช่อง)หลายแห่งจัดไว้เรียบร้อยดี
มีบานประตูและลูกดาลงดงาม มีกระถางบัวหลวง
บัวขาบเรียงรายอยู่ทั้ง ๒ ด้าน
[๒๒] เราเนรมิตพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกในอดีตทุกพระองค์
พร้อมทั้งพระสงฆ์สาวกด้วยวรรณะและรูปตามปกติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๒๓] พระพุทธเจ้าทุกพระองค์พร้อมด้วยสาวก
เป็นหมู่พระอริยะ เสด็จเข้าไปทางประตูนั้น
ประทับนั่งบนตั่งทองคำล้วน
[๒๔] พระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ทั้งที่เป็นอดีตและปัจจุบันทุกพระองค์
ได้เสด็จขึ้นสู่ปราสาทของเราแล้ว
[๒๕] พระปัจเจกพุทธเจ้าหลายร้อยพระองค์
ผู้เป็นพระสยัมภู ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้๑
ทั้งที่เป็นอดีตและปัจจุบันทั้งหมด
ได้เสด็จขึ้นสู่ปราสาทของเราแล้ว
[๒๖] ต้นกัลปพฤกษ์ทิพย์๒และต้นกัลปพฤกษ์มนุษย์ มีมากมาย
เราได้นำผ้าทุกอย่างมาจากต้นกัลปพฤกษ์เหล่านั้น
ตัดเย็บเป็นไตรจีวรถวายให้นุ่งห่ม
[๒๗] ของเคี้ยว ของฉัน ของลิ้ม น้ำปานะ
รวมทั้งอาหารมีอยู่อย่างเพียบพร้อม
เราถวายบรรจุจนเต็มบาตรแก้วมณีลูกงามทุกลูก
[๒๘- หมู่พระอริยะเหล่านั้น เป็นผู้หมดจดจากกิเลส
ครองจีวรผ้าทิพย์เสมอกัน
อันข้าพเจ้านิมนต์ฉันจนอิ่มหนำ ด้วยน้ำตาลกรวด
น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และข้าวอย่างดี
๒๙-] ทั้งหมดได้เข้าไปสู่ห้องแก้ว
เหมือนไกรสรราชสีห์เข้าไปสู่ถ้ำ

เชิงอรรถ :
๑ พระสยัมภู ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้ หมายถึง ไม่พ่ายแพ้แก่มาร คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร
และเทวปุตตมาร (ขุ.อป.ป. ๑/๒๕/๑๒๗)
๒ ต้นกัลปพฤกษ์ทิพย์ หมายถึงต้นไม้ที่เกิดในเทวโลก (ขุ.อป.อ. ๑/๒๖/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๓๐] สำเร็จสีหไสยาสน์บนที่นอนมีค่ามาก
มีสติสัมปชัญญะ ลุกขึ้นแล้ว นั่งขัดสมาธิบนที่นอน
[๓๑] ซึ่งเป็นอารมณ์ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์
แนบแน่นด้วยความยินดีในฌาน
หมู่หนึ่งแสดงธรรม หมู่หนึ่งยินดีด้วยฤทธิ์
[๓๒] หมู่หนึ่งเข้าอัปปนาฌาน
หมู่หนึ่งเจริญอภิญญาวสี๑
แสดงฤทธิ์ได้หลายร้อยหลายพันประการ
[๓๓] ฝ่ายพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ถามพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ถึงปัญหาอันเป็นวิสัยแห่งพระสัพพัญญุตญาณ
พระพุทธเจ้าเหล่านั้นก็ทรงรู้แจ้งเหตุอันลึกซึ้งละเอียดอ่อนด้วยปัญญา
[๓๔] สาวกทั้งหลายก็ทูลถามพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ตรัสถามสาวกทั้งหลาย
ทั้งพระพุทธเจ้าและสาวกเหล่านั้นต่างก็ถามตอบกันและกัน
[๓๕] พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกผู้ปรนนิบัติเหล่านั้น
ต่างรื่นรมย์ยินดีในปราสาทด้วยความยินดีด้วยประการฉะนี้
[๓๖] (พระเจ้าติโลกวิชัยทรงดำริว่า) ฉัตรตั้งซ้อนกัน
มีรัศมีเปล่งปลั่งดังแก้วไพฑูรย์
ขอให้ทุกคนจงกั้นฉัตร มีตาข่ายทองคำห้อยระย้า
ประดับด้วยตาข่ายเงิน
แวดล้อมด้วยตาข่ายแก้วมุกดาไว้เหนือศีรษะข้าพเจ้า
[๓๗] มีเพดานผ้าติดดวงดาวทองมีแสงแวววาว
มีพวงมาลัยห้อยอยู่ทั่วงดงามตระการตา
เพดานผ้าทั้งหมด จงดาดอยู่เหนือศีรษะ

เชิงอรรถ :
๑ อภิญญาวสี หมายถึงความชำนาญในอภิญญา ๕ ประการ คือ (๑) อาวัชชนวสี ชำนาญในการคำนึงถึง
(๒) สมาปัชชนวสี ชำนาญในการเข้า (๓) วุฏฐานวสี ชำนาญในการออก (๔) อธิฏฐานวสี ชำนาญ
ในการอธิษฐาน (๕) ปัจจเวกขณวสี ชำนาญในการ พิจารณา (ขุ.อป.อ. ๑/๓๒/๑๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๓๘] สระที่ดารดาษด้วยพวงมาลัย
งดงามด้วยพวงของหอม๑ มีพวงผ้าห้อยระย้า
ประดับประดาด้วยพวงรัตนะ
[๓๙] มีดอกไม้เรียงราย งดงามนัก
อบด้วยของหอมกลิ่นฟุ้งขจายไป
ใช้นิ้วมือทั้ง ๕ เจิมด้วยของหอม
มุงด้วยหลังคาทองคำ
[๔๐] ทั้ง ๔ ทิศ (แห่งปราสาท) ดารดาษด้วยดอกปทุมและดอกอุบล
ปรากฏเป็นสีทอง หอมฟุ้งด้วยละอองเกสรดอกปทุม
[๔๑] รอบ ๆ ปราสาท ต้นไม้ทุกต้นจงออกดอกบานสะพรั่ง
ดอกไม้หล่นเอง ปลิวไปโปรยปราสาท
[๔๒] ใกล้ ๆ ปราสาทนั้น ขอฝูงนกยูงจงรำแพน (หาง)
ฝูงหงส์ทิพย์จงส่งเสียงร้อง ฝูงนกการเวกจงร้องขับขาน
วิหคก็จงส่งเสียงขับขานอยู่รอบ ๆ ปราสาท
[๔๓] กลองทุกชนิดจงดังขึ้น พิณทุกชนิดจงบรรเลง
เครื่องสังคีตทุกชนิดจงบรรเลงขับกล่อมอยู่รอบ ๆ ปราสาท
[๔๔-๔๕] ตลอดพุทธเขตและในจักรวาล
ต่อจากนั้นจงมีบัลลังก์ทองขนาดใหญ่ เรืองรองด้วยรัศมี
ไม่มีช่องว่าง ขลิบด้วยรัตนะ ตั้งอยู่ (รอบ ๆ ปราสาท)
ขอต้นพฤกษาประทีป๒ จงส่องสว่าง
มีแสงโชติช่วงติดต่อเป็นอันเดียวกันทั้ง ๑๐,๐๐๐ ดวง

เชิงอรรถ :
๑ พวงของหอม หมายถึงจันทน์ ดอกบัวบก หรือหญ้าฝรั่นและกฤษณา เป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๓๘/๑๓๐)
๒ พฤกษาประทีป หมายถึงต้นไม้ที่แขวนตะเกียง, โคมไฟ (ขุ.อป.อ. ๑/๔๕/๒๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๔๖] หญิงนักฟ้อนก็จงฟ้อน หญิงนักร้องก็จงขับร้อง
หมู่นางอัปสรก็จงร่ายรำ สนามเต้นรำต่าง ๆ
จงปรากฏอยู่รอบ ๆ ปราสาท
[๔๗] เรา(ผู้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีนามว่าติโลกวิชัยในครั้งนั้น)
สั่งให้ยกธงทุกชนิด วิจิตรงดงาม ๕ สี๑
ไว้บนยอดไม้ บนยอดภูเขา และบนยอดภูเขาสิเนรุ
[๔๘] หมู่มนุษย์ หมู่นาค หมู่คนธรรพ์ และหมู่เทวดา ทั้งหมดนั้น
จงเข้ามาประนมมือนอบน้อมแวดล้อมปราสาทของเรา
[๔๙] กุศลกรรมใด ๆ ควรเพื่อบังเกิดในสวรรค์ชั้นไตรทิพย์
ที่ข้าพเจ้าพึงกระทำด้วยกาย วาจา ใจ
กุศลกรรมนั้นทั้งหมด ข้าพเจ้าได้กระทำแล้ว
[๕๐] สัตว์เหล่าใดมีสัญญาก็ตาม
และสัตว์เหล่าใดไม่มีสัญญาก็ตามมีอยู่
ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงเป็นผู้มีส่วนเสวยผลบุญที่เราทำแล้ว
[๕๑] สัตว์เหล่าใดรู้ว่าเราทำบุญ
ขอสัตว์เหล่านั้น จงมีส่วนเสวยผลบุญที่เราให้แล้ว
ก็ในบรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดไม่รู้
ขอเทวดาจงไปประกาศให้สัตว์เหล่านั้นทราบ
[๕๒] เหล่าสัตว์ในโลกผู้อาศัยอาหารเลี้ยงชีวิตทุกจำพวก
ขอจงได้โภชนาหารที่น่าพอใจ ตามเจตนาของเรา

เชิงอรรถ :
๑ วิจิตรงดงาม ๕ สี หมายถึงสีมีสีเขียวและสีแดงเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๔๗/๑๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๕๓] เราให้ทานด้วยใจ ยึดถือความเลื่อมใสด้วยใจ
เรา๑ได้บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
พร้อมทั้งพระปัจเจกพุทธเจ้าและสาวกของพระชินเจ้าแล้ว
[๕๔] ด้วยกรรมที่เราทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
เราละร่างกายมนุษย์แล้วจึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๕๕] เรารู้จักแต่ภพทั้ง ๒
คือความเป็นเทวดาหรือความเป็นมนุษย์
มิได้รู้จักคติอื่นเลย
นี้เป็นผลแห่งความปรารถนาด้วยใจ
[๕๖] (เมื่อเราเกิดเป็นเทวดา) เราก็ยิ่งใหญ่กว่าพวกเทวดา
(เมื่อเราเกิดเป็นมนุษย์) เราก็ยิ่งใหญ่กว่าพวกมนุษย์
เราสมบูรณ์ด้วยรูปลักษณะ ไม่มีใครเสมอด้วยปัญญา
[๕๗] โภชนะมีรสอร่อยหลายชนิด รัตนะมิใช่น้อย
ผ้าชนิดต่าง ๆ จากฟากฟ้า ย่อมเข้ามาหาเราเร็วพลัน
[๕๘] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
ภักษาหารอันเป็นทิพย์ (อาหารทิพย์)
จากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[๕๙] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
รัตนะทุกอย่างจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[๖๐] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
ของหอมทุกอย่างจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา

เชิงอรรถ :
๑ เรา ในที่นี้หมายถึงพระเจ้าจักรพรรดิ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๓/๑๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๖๑] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
ยานพาหนะทุกอย่างจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[๖๒] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
ดอกไม้ทุกอย่างจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[๖๓] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
เครื่องประดับทุกอย่างจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[๖๔] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
หญิงสาวทั้งมวลจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[๖๕] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[๖๖] เราเหยียดมือไปในที่ใด ๆ จะเป็นบนพื้นดิน
ภูเขา อากาศ ในน้ำ และในป่า ก็ตาม
ของขบเคี้ยวทุกอย่างจากที่นั้น ๆ ย่อมเข้ามาหาเรา
[๖๗] เราให้ทานอย่างดีแก่คนไร้ทรัพย์
คนเดินทางไกล คนขอทาน และคนหลงทาง
เพื่อต้องการจะบรรลุสัมโพธิญาณอันประเสริฐ
[๖๘] เราทำให้ภูเขาศิลาล้วนบันลือ
ทำให้ภูเขาหนาทึบกระหึ่ม
ทำให้มนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลกร่าเริง
จะเป็นพระพุทธเจ้าในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
[๖๙] ทิศทั้ง ๑๐ ในโลก เมื่อคนเดินไป
ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ในส่วนแห่งทิศนั้น
พุทธเขตก็นับจำนวนไม่ถ้วน(เหมือนกัน)
[๗๐] แสงสว่างตามปกติของเรา(ในสมัยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ)
ปรากฏเปล่งรังสีออกมาเป็นคู่ ๆ
ข่ายรัศมีมีอยู่ในระหว่างนี้ แสงสว่างมีอย่างไพบูลย์
[๗๑] ขอประชาชนทั้งหมดในโลกธาตุประมาณเท่านี้
จงมองเห็นเรา ทั้งหมดจงดีใจ ทั้งหมดจงคล้อยตามเรา
[๗๒] เราตีกลองอมฤต๑ มีเสียงไพเราะกังวาน
ขอประชาชนในระหว่างนี้ จงฟังเสียงที่ไพเราะ(ของเรา)
[๗๓] เมื่อตถาคตบันดาลเมฆฝนคือพระธรรมให้ตกลง
ขอชนทั้งหมดจงเป็นผู้ไม่มีอาสวะ
บรรดาผู้ที่ประชุมกันอยู่ในที่นี้
ผู้มีคุณต่ำสุด จงเป็นพระโสดาบัน
[๗๔] เราให้ทานที่ควรให้แล้ว บำเพ็ญศีลบารมีอย่างเต็มเปี่ยม
สำเร็จเนกขัมมบารมีแล้วบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด๒
[๗๕] เราสอบถามบัณฑิตทั้งหลาย (บำเพ็ญปัญญาบารมีแล้ว)
บำเพ็ญวิริยบารมีแล้ว
สำเร็จขันติบารมีแล้วบรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด
[๗๖] เราบำเพ็ญอธิษฐานบารมีแล้ว
บำเพ็ญสัจจบารมีแล้ว สำเร็จเมตตาบารมีแล้ว
บรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด
[๗๗] เรามีใจสม่ำเสมอในอารมณ์ทั้งปวง
คือทั้งในลาภ ในความเสื่อมลาภ ในความสุข ในความทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ กลองอมฤต หมายถึงกลองสวรรค์ (ขุ.อป.อ. ๑/๗๒/๑๓๔)
๒ สัมโพธิญาณอันสูงสุด หมายถึงมรรคญาณ ๔ (ขุ.อป.อ. ๑/๗๔/๑๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๑. พุทธาปทาน
ในการนับถือและในการถูกดูหมิ่น (บำเพ็ญอุเบกขาบารมีแล้ว)
บรรลุสัมโพธิญาณอันสูงสุด
[๗๘] ท่านทั้งหลาย จงเห็นความเกียจคร้านเป็นสิ่งน่ากลัว
แต่จงเห็นความเพียรเป็นสิ่งปลอดภัย
จงบำเพ็ญเพียรกันเถิด
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
[๗๙] ท่านทั้งหลาย จงเห็นการวิวาทกันเป็นสิ่งน่ากลัว
แต่จงเห็นการไม่วิวาทกันเป็นสิ่งปลอดภัย
จงสมัครสมานสามัคคีกัน พูดจาไพเราะกันเถิด
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
[๘๐] ท่านทั้งหลาย จงเห็นความประมาทเป็นสิ่งน่ากลัว
แต่จงเห็นความไม่ประมาทเป็นสิ่งปลอดภัย
จงเจริญมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เถิด๑
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
[๘๑] พระพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์จำนวนมากมาประชุมพร้อมกัน
ท่านทั้งหลายจงกราบไหว้พระพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์เถิด
[๘๒] ตามที่กล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอจินไตย๒
ธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นอจินไตย
สำหรับผู้ที่เลื่อมใสในอจินไตย ย่อมมีวิบากเป็นอจินไตย ดังนี้แล
ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงให้พระอานนทเถระทราบพุทธจริตของ
พระองค์จึงได้ตรัสธรรมบรรยายชื่อว่าพุทธาปทานิยะ (การประกาศประวัติในอดีต-
ชาติของพระพุทธเจ้า) ด้วยประการฉะนี้
พุทธาปทานจบ

เชิงอรรถ :
๑ มรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (ขุ.อป.อ. ๑/๘๐/๑๓๕)
๒ อจินไตย หมายถึงสภาวะที่พ้นความคิดของตนที่จะคิดได้ คือไม่อยู่ในวิสัยที่จะคิดได้ (ขุ.อป.อ. ๑/๘๒/๑๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัจเจกพุทธเจ้า
(ต่อไปนี้ ขอให้ท่านทั้งหลาย จงฟังประวัติในอดีตชาติของพระปัจเจกพุทธเจ้า)
[๘๓] พระอานนทเถระ ผู้เป็นมุนีชาวแคว้นวิเทหะ
น้อมกายลง ทูลถามพระตถาคตผู้ประทับอยู่
ณ พระเชตวันมหาวิหารว่า ข้าแต่พระธีรเจ้า
ได้ทราบว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ามีอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
ผู้เป็นนักปราชญ์ อุบัติขึ้นเพราะเหตุอะไร
[๘๔] ลำดับนั้น พระสัพพัญญูผู้ประเสริฐ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้ตรัสกับพระอานนท์ผู้เจริญด้วยพระสุรเสียงที่ไพเราะว่า
ธีรชนเหล่าใดได้สั่งสมกุศลสมภารไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ
ยังไม่ได้ความหลุดพ้นจากกิเลสในศาสนาของพระชินเจ้าทั้งหลาย
[๘๕] เพราะมีความสลดใจนั้นแลเป็นตัวนำ
ธีรชนเหล่านั้นผู้มีปัญญาแก่กล้าดี ถึงจะเว้นจากพระพุทธเจ้า๑
ก็ย่อมบรรลุปัจเจกโพธิญาณได้ แม้ด้วยอารมณ์เพียงนิดหน่อย
[๘๖] ในโลกทั้งปวง๒ ยกเว้นเราเสียแล้ว
ไม่มีใครเสมอกับพระปัจเจกพุทธเจ้าได้เลย
เราจักบอกคุณเพียงสังเขปนี้ของพระปัจเจกพุทธเจ้า
ผู้เป็นมหามุนีเหล่านั้นอย่างชัดเจน
[๘๗] เธอทุกรูปเมื่อปรารถนาพระนิพพานอันเป็นโอสถวิเศษ
มีใจผ่องใสดีแล้ว ก็จงตั้งใจฟังถ้อยคำที่ไพเราะ
ดุจน้ำผึ้งหยาดน้อย ๆ (เกี่ยวกับประวัติ)

เชิงอรรถ :
๑ เว้นจากพระพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึงเว้นจากคำกล่าวสอนและคำพร่ำสอนของพระพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ.
๑/๘๕/๑๕๒)
๒ โลกทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงโลกทั้ง ๓ คือมนุษยโลก เทวโลก และ พรหมโลก (ขุ.อป.อ. ๑/๘๖/๑๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
ของพระปัจเจกพุทธเจ้า
ผู้เป็นมหาฤๅษี ผู้ตรัสรู้ได้เองเถิด
[๘๘] ประวัติในอดีต การพยากรณ์ โทษ
เหตุปราศจากความกำหนัดอันใด
ของพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้อุบัติขึ้นแต่ละองค์ ๆ
และพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายได้บรรลุพระโพธิญาณด้วยเหตุอันใด
[๘๙] พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมีการกำหนดหมาย
ในวัตถุที่น่ารักใคร่๑ว่าปราศจากความน่ารักใคร่
มีจิตคลายกำหนัดในโลกที่มีสภาวะน่ากำหนัด
ละกิเลสที่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ชนะทิฏฐิ๒ที่เป็นเหตุให้ดิ้นรนแล้ว
ได้บรรลุพระโพธิญาณเพราะเหตุอันนั้นนั่นเอง
[๙๐] บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น
มีจิตเมตตา หวังประโยชน์เกื้อกูล
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๙๑] (พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น
ก็ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า
พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๙๒] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ความรักย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง
ทุกข์นี้ย่อมเป็นไปตามความรัก

เชิงอรรถ :
๑ วัตถุที่น่าใคร่ ในที่นี้หมายถึงวัตถุกามและกิเลสกาม (ขุ.อป.อ. ๑/๘๙/๑๕๓)
๒ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.อป.อ. ๑/๘๙/๑๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๙๓] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี
มีใจผูกพัน ย่อมทำประโยชน์ให้เสื่อมประโยชน์ไปได้
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยในความเชยชิด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๙๔] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
กอไผ่กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวกันไว้ฉันใด
ความห่วงใยในบุตรและทาระ
ก็กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวกันไว้ฉันนั้น
บุคคลเมื่อไม่เกี่ยวข้องเหมือนหน่อไผ่
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๙๕] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
เนื้อในป่า มิได้ถูกผูกมัดไว้ย่อมเที่ยวหาอาหารได้
ตามความพอใจฉันใด
วิญญูชนเมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๙๖] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากัน
ในเรื่องที่อยู่ เรื่องการดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก
บุคคลเมื่อเพ่งการบวชที่ให้ถึงความเสรี๑ที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ การบวชที่ให้ถึงความเสรี ในที่นี้หมายถึงเจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุปัจเจกโพธิญาณ (ขุ.อป.อ. ๑/๙๖/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
[๙๗] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ในท่ามกลางสหายย่อมมีการเล่น มีความยินดี
และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์
บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๙๘] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งเปล่งอุทานว่า)
พระปัจเจกพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง ๔ ทิศ ไม่ขัดเคือง
ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
ครอบงำอันตรายทั้งหลายและไม่หวาดเสียว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๙๙] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
แม้บรรพชิตพวกหนึ่งและคฤหัสถ์ที่กำลังครองเรือน
ก็สงเคราะห์ยาก
บุคคลพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยทั้งในผู้อื่นและในบุตร
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๐๐] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้กล้าหาญ
ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๐๑] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกัน เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
[๑๐๒] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกัน เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว
เหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น
[๑๐๓] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
เราสรรเสริญสหายสัมปทาโดยแท้
บุคคลควรคบหาสหายผู้ประเสริฐสุด (หรือ) ผู้เสมอกัน
ถ้าบุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้
พึงเป็นผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๐๔] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลเห็นกำไลทอง ๒ วง อันสุกปลั่ง
ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี กระทบกันอยู่ที่ข้อมือแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๐๕] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งเปล่งอุทานว่า)
ด้วยอาการอย่างนี้ การกล่าววาจา
หรือความเกี่ยวข้องกับเพื่อน พึงมีแก่เรา
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยนี้ต่อไป
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๐๖] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
เพราะกามทั้งหลาย๑ สวยงาม มีรสอร่อย
น่ารื่นเริงใจ ยั่วยวนจิตด่วยอารมณ์หลายรูปแบบ

เชิงอรรถ :
๑ กามทั้งหลาย หมายถึงกาม ๒ อย่าง คือ วัตถุกามและกิเลสกาม วัตถุกาม ได้แก่ วัตถุภายนอกที่
มองเห็นได้มีรูปสวย ๆ งาม ๆ เป็นต้น กิเลสกาม ได้แก่ ความปรารถนาแห่งกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.อป.อ.
๑/๑๐๖/๒๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
บุคคลเห็นโทษในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๐๗] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
คำว่า กาม นี้ เป็นอันตราย เป็นดุจฝี
เป็นอุปัททวะ เป็นโรค เป็นดุจลูกศร เป็นภัย๑
บุคคลเห็นภัยในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๐๘] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลพึงครอบงำภัยทั้งปวงแม้เหล่านี้ คือ
ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
ลม แดด เหลือบ และสัตว์เลื้อยคลาน
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๐๙] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
พระปัจเจกพุทธเจ้าละทิ้งหมู่ มีขันธ์เกิดดีแล้ว
มีดอกบัว (คือธรรม) เป็นผู้ยิ่งใหญ่อยู่ในป่าตามความชอบใจได้
เหมือนนาคะละทิ้งโขลงแล้วอยู่ในป่าได้ตามความชอบใจ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๐] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลใคร่ครวญถ้อยคำของพระปัจเจกพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ว่า

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า กาม ชื่อว่าเป็นอันตราย เพราะนำมาซึ่งความฉิบหาย ชื่อว่าเป็นดุจฝี เพราะหลั่งกิเลสออกมา ชื่อ
ว่าเป็นอุปัททวะ เพราะรบกวน ชื่อว่าเป็นโรค เพราะปล้นเอาความไม่มีโรคไป ชื่อว่าเป็นดุจลูกศร เพราะเสียดแทง
จิตใจและถอนยาก ชื่อว่าเป็นภัย เพราะนำมาซึ่งภัยในภพนี้และภพหน้า (ขุ.อป.อ.๑/๑๐๗/๒๑๔.)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
บุคคลสัมผัสวิมุตติใด ซึ่งกิดขึ้นตามสมัย ๑
วิมุตตินั้น เป็นไปไม่ได้สำหรับบุคคล
ผ้ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ดังนี้แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๑] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ประพฤติล่วงทิฎฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม๒
ถึงนิยาม๓ ได้เฉพาะมรรคแล้ว๔
เป็นผู้มีญาณอันเกิดขึ้นแล้ว
ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๒] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเกจพุทธเจ้า) เป็นผู้ไม่โลภ ไม่หลอกลวง ไม่กระหาย
ไม่มีความลบหลู่ กำจัดสภาวะ (กิเลสดุจนำย้อม) และโมหะได้แล้ว
เป็นผู้ไม่มีความหวังในโลกทั้งปวง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึง สามยิกวิมุตติ ความหลุดพ้นเฉพาะสมัยที่จิตแน่วแน่ สา หิ (โลกิยสมาปตฺติ) เอว ปจฺจตฺถิเกหิ
วิมุจฺจนโต สามยิกา วิมุตฺตีติ วุจฺจติ ขุ.อป.อ. ๑/๑๑๐/๒๑๘-๒๑๑๙, สามยิกํ เจโตวิมุตฺตินฺติ
อปฺปิตปฺปิตกฺขเณ ปจฺจนีกธมฺเมหิ วิมุจฺจติ.... โลกิยสมาปตฺติ สามยิกา เจโตวิมุตฺติ นาม สํ.ส.อ. ๑๑/๕๙/
๑๗๔, ลทฺธตฺตา สามยิกํ ชื่อว่าสามยิกะ เพราะได้เฉพาะสมัย), เป็นคุณที่เสื่อมได้ (อายสฺมา โคธิโก
อปฺปมตฺโต อาตาปี ปหิตตฺโต วิหรนฺโต สามยิกํ เจโตวิมุตฺตึ ผุสิ... สามยิกาย เจโตวิมุตฺติยา หริหายิ
ท่านโคธิกะ ไม่ประมาท มีความเพียรในความหลุดพ้น ๖๘ อย่าง (ดู ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๒๐๙/๓๔๖)
เป็นโลกิยสมาบัติ พระอรรถกถาจารย์กล่าวตามภาษิตของพระสารีบุตรเถระ (กตโม สามยิโก วิโมกฺโข
จตฺตาริ จ ฌานานิ จตสฺโส จ อรูปสมาปตฺติโย อยฺ สามยิโก วิโมกฺโข) ความหลุดพ้นเฉพาะสมัย คือ
รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ (สามบัติ ๘ ก็เรียก)
๒ ทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๑๑/๒๑๙)
๓ ถึงนิยาม ในที่นี้หมายถึงบรรลุโสดาปัตติมรรค (ขุ.อป.อ. ๑/๑๑๑/๒๑๙)
๔ ได้มรรคแล้ว หมายถึงได้มรรคที่เหลือ (คือ สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) (ขุ.อป.อ.
๑/๑๑๑/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
[๑๑๓] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลพึงละเว้นสหายชั่ว
ผู้ไม่เห็นประโยชน์ ผู้ตั้งอยู่ในธรรมที่ผิด
ไม่พึงคบผู้ขวนขวาย และผู้ประมาทด้วยตนเอง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๔] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
บุคคลพึงคบมิตรผู้ได้ศึกษามาก๑ ทรงธรรม
ผู้ยิ่งใหญ่ มีปฏิภาณ รู้จักประโยชน์แล้ว
พึงกำจัดความสงสัยได้
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๕] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้าฉ ไม่ชื่นชมการเล่น
ความยินดีแลัะความสุขในโลก ไม่ใส่ใจ
งดเว้นจากฐานะแห่งการประดับตกแต่ง พูดคำจริง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๖] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละทิ้งบุตร ภรรยา
บิดา มารดา ทรัพย์ ธัญชาติ
พวกพ้องและกามตามส่วนแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๗] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
กามนี้เป็นเครื่องข้อง
มีความสุขน้อย

เชิงอรรถ :
๑ ศึกษามาก หมายถึงศึกษา ๒ อย่าง คือ ศึกษาในปริยัติอันมั่นคงคือพระไตรปิฎก และศึกษาในปฏิเวธ
อันเป็นเครื่องรู้แจ้งมรรค ผล วิชชา และอภิญญา (ขุ.อป.อ. ๑/๑๑๔/๒๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
ในกามนี้ มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก
ผู้มีปัญญารู้ว่า กามนี้เป็นดุจขอเหล็กแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๘] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ทำลายสังโยชน์แล้ว
เหมือนสัตว์นำทำลายข่าย
และเหมือนไฟไหม้เชื้อมอดหนดไปไม่กลับมา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๑๙] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ภิกษุเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
คุ้มครองอินทรีย์ ๑ รักษาใจได้แล้ว
ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ไฟกิเลสมิได้เผา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๐] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
ครองผ้ากาสาวะออกบวช
เหมือนต้นทองหลางมีใบทึบ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๑] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ไม่ทำความยินดีในรส ไม่โลเล
ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น เที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก
มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่าง ๆ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ อินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ ๖ (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) (ขุ.อป.อ. ๑/๑๑๙/๒๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
[๑๒๒] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละเครื่องกั้นทางใจ ๕ ประการ๑
ขจัดอุปกิเลส๒ แห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว
ไม่อิงอาศัยเครื่องอาศัยคือทิฏฐิ
ตัดความรักและความชังด้แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๓] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละสุข และทุกข์
โสมนัส โทมนัส ก่อน ๆ ได้แล้ว
ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๔] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ตั้งความเพียรเพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง
มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
มีความบากบั่นมั่นคง เข้าถึงเรี่ยวแรงยและกำลังแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๕] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ผู้ไม่ละการหลีกเร้น๓ และฌาน๔
ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิตย์
พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ เครื่องกั้นทางใจ ๕ ประการ ในที่นี้หมายถึงนิวรณ์ ๕ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๒๒/๒๓๒)
๒ อุปกิเลส หมายถึงอกุศลธรรมที่เข้าไปเบียดเบียนจิต (มี ๑๖ คือ อภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท โกธะ
อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ)
(ขุ.อป.อ. ๑/๑๒๒/๒๓๒)
๓ การหลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก สงัดกาย (ขุ.อป.อ. ๑/๑๒๕/๒๓๖)
๔ ฌาน ในที่นี้หมายถึงจิตตวิเวก สงัดจิต (ขุ.อป.อ. ๑/๑๒๕/๒๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
[๑๒๖] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเกจพุทธเจ้า) เมื่อปรารถนาความสิ้นตัณหา
ไม่ประมาท ไม่โง่เขลา
คงแก่เรียน มีสติ ผู้มีสังขตธรรม
ผู้แน่นอน มีความมุ่งมั่น
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๗] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ไม่สะดุ้งในเพราะเสียงเหมือนราชสีห์
ไม่ติดข่ายเหมือนลม
ไม่เปียกนำเหมือนบัว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๘] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
พญาสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง ข่มขี่
ครอบงำเนื้อทั้งหลายเที่ยวไป ฉันใด
พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มีปัญญาเป็นกำลัง
ครอบงำบุคคลทั้งหลายด้วยปัญญา
ใช้สอยเสนาสนะอันสงัด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๙] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเกจพุทธเจ้า) เสพอาศัยเมตตา
กรุณา มุทิตา และอุเบกขา อันเป็นวิมุตติตามกาล
สัตว์โลกทั้งปวงมิได้เกลียดชัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๓๐] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
(พระปัจเจกพุทธเจ้า) ละราคะ โทสะ
และโมหะ ทำลายสังโยชน์ได้เสีย
ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
[๑๓๑] (พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งกล่าวว่า)
ทุกวันนี้ มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ
จงคบและเสพด้วย มิตรที่ไม่มุ่งประโยชน์หาได้ยาก
มนุษย์ทั้งหลายมีปํญญามุ่งประโยชน์ตน ไม่สะอาด ๑
พระปัจเกจพุทธเจ้า จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๓๒] พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย๒ มีศีลบริสุทธิ์ (ด้วยปาริสุทธิศีล ๔)
มีปัญญาหมดจดดี มีจิตตั้งมั่น
หมั่นประกอบธรรมเป็นเครื่องตื่น
เห็นแจ้ง(ไตรลักษณ์) เห็นธรรมวิเศษ๓
รู้อยู่โดยพิเศษซึ่งอริยธรรมที่ประกอบด้วยองค์มรรคและโพชฌงค์
[๑๓๓] ธีรชนเหล่าใดเจริญสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์
และอัปปณิหิตวิโมกข์แล้ว
ยังไม่บรรลุความเป็นสาวกในศาสนาพระชินเจ้า
ธีรชนเหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกชินเจ้า
[๑๓๔] พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมีธรรมยิ่งใหญ่
มีธรรมกายมาก๔ มีจิตเป็นอิสระ
ข้ามห้วงแห่งทุกข์ทั้งมวลได้แล้ว มีจิตเบิกบาน
มีปกติเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง เหมือนราชสีห์ เหมือนนอแรด
[๑๓๕] พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้มีอินทรีย์สงบแล้ว มีจิตสงบแล้ว
มีจิตเป็นสมาธิ ประพฤติตอบแทน(ด้วยความเอ็นดูและความกรุณา)

เชิงอรรถ :
๑ ไม่สะอาด ในที่นี้หมายถึงประกอบด้วยการกระทำทางกาย วาจา และใจ ในทางไม่ดี (ขุ.อป.อ.
๑/๑๓๑/๒๔๔)
๒ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวคาถาเฉพาะคาถาที่ ๙๑-๑๓๑ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๕๘-๑๖๕) ตั้งแต่คาถาที่
๑๓๒ นี้เป็นต้นไป พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้าให้พระอานนทเถระฟังต่อ
๓ เห็นธรรมวิเศษ หมายถึงมีปกติเห็นกุศลธรรม ๑๐ สัจจธรรม ๔ หรือโลกุตตรธรรม ๙ (คือ มรรค ๔
ผล ๔ นิพพาน ๑) โดยวิเศษ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๓๒/๒๔๔)
๔ มีธรรมกายมาก ในที่นี้หมายถึงมีกายคือสภาวธรรมมาก (ขุ.อป.อ. ๑/๑๓๔/๒๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
ในเหล่าสัตว์ที่อยู่ตามชายแดน
เหมือนดวงประทีปส่องสว่างอยู่ในโลกนี้
และในโลกหน้า เกื้อกูลสัตว์โลกเป็นนิตย์
[๑๓๖] พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้เป็นผู้สูงสุดในหมู่ชน
ละเครื่องกั้นทั้งปวงได้แล้ว เป็นดวงประทีปของโลก
มีรัศมีเช่นกับประกายแสงแห่งทองแท่ง
เป็นผู้สมควรรับทักษิณาอย่างดีของชาวโลกอย่างแน่นอน
พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้เป็นผู้แนบแน่นอยู่เป็นนิตย์๑
[๑๓๗] ถ้อยคำที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวไว้ดีแล้ว
ย่อมแผ่ไปในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ชนพาลเหล่าใดได้ฟังแล้ว
ไม่ใส่ใจถึงคำที่พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนั้น
ชนพาลเหล่านั้นย่อมแล่นไปในกองทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำอีก
[๑๓๘] ถ้อยคำที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวไว้ดีแล้ว
เป็นถ้อยคำไพเราะ ดุจน้ำผึ้งหยาดน้อย ๆ ไหลหยดลงฉะนั้น
ชนเหล่าใดได้ฟังแล้วปฏิบัติตามอย่างนั้น
ชนเหล่านั้น เป็นผู้เห็นสัจจะ มีปัญญา
[๑๓๙] คาถาที่พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวไว้แล้ว เป็นคาถาที่โอฬาร
ถ้อยคำเหล่านั้นเป็นคำที่พระศากยสีหะผู้สูงสุดในนรชน
เสด็จออกผนวชประกาศไว้แล้วเพื่อให้เวไนยสัตว์ได้รู้ธรรม
[๑๔๐] ถ้อยคำเหล่านี้ ที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น
กล่าวไว้แล้วเพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก ซึ่งพระสยัมภูผู้สีหะ(นำมา)
ประกาศไว้เพื่อเพิ่มพูนความสลดสังเวช
ความไม่คลุกคลี และปัญญา
ปัจเจกพุทธาปทาน จบ

เชิงอรรถ :
๑ แนบแน่นอยู่ป็นนิตย์ ในที่นี้หมายถึงอิ่มหนำบริบูรณ์เป็นนิตย์ แม้ต้องอดอาหารถึง ๗ วัน ก็บริบูรณ์
อยู่ได้ด้วยอำนาจสมาบัติ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๓๖/๒๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
๓. เถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเถระ
๑. สารีปุตตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสารีบุตรเถระ
(พระอานนทเถระกล่าวว่า)๑ ต่อไปนี้ ขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังประวัติ ในอดีต
ชาติของพระเถระทั้งหลาย (ต่อไป)
(พระสารีบุตรเถระบรรลุสาวกบารมีญาณแล้วได้อุทานขึ้นว่า)
[๑๔๑] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อลัมพกะ
(ใกล้ ๆ ภูเขาลัมพกะนั้น) เขาสร้างอาศรม
และสร้างบรรณศาลาไว้อย่างดีเพื่อข้าพเจ้า
[๑๔๒] ในที่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้า มีแม่น้ำสายหนึ่งมีฝั่งตื้น
ท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ
มีทรายสะอาดเรี่ยรายกระจายอยู่ทั่ว
[๑๔๓] ในที่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้านั้น
มีแม่น้ำไม่มีก้อนกรวด ไม่มีเงื้อมยื่นง้ำออกมา
น้ำมีรสดี ไม่มีกลิ่น ไหลไป
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๑๔๔] ในแม่น้ำ มีฝูงจระเข้ ฝูงมังกร
ฝูงตะโขง และฝูงเต่า แหวกว่ายไปมา
ในแม่น้ำสายนั้น ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๑๔๕] ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก
ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า ฝูงปลาตะเพียน
ฝูงปลานกกระจอก ว่ายเวียนไปมา
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม

เชิงอรรถ :
๑ พระอานนทเถระบอกให้พระเถระทั้งหลายผู้ร่วมทำปฐมสังคายนาตั้งใจฟัง (แปลเพิ่มตาม ขุ.อป.อ. ๑/๑๔๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๑๔๖] ที่ฝั่งทั้ง ๒ ของแม่น้ำ หมู่ไม้ดอก ไม้ผล
ห้อยระย้าอยู่ทั้ง ๒ ฝั่ง
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๑๔๗] ต้นมะม่วง ต้นสาละ ต้นหมากเม่า
ต้นแคฝอย ต้นย่านทราย มีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์อยู่รอบ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๔๘] ต้นจำปา ต้นช้างน้าว ต้นกระทุ่ม ต้นกากะทิง
ต้นบุนนาค และต้นการะเกด มีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์อยู่รอบ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๔๙] ต้นลำดวน ต้นอโศก ต้นกุหลาบ
มีดอกบานสะพรั่ง ต้นปรู และต้นมะกล่ำหลวง
ก็มีดอกบานสะพรั่งอยู่รอบ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๕๐] ต้นลำเจียก ต้นกล้วย ต้นพิกุล และต้นมะลิซ้อน
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๑๕๑] ต้นกรรณิการ์ ต้นกรรณิการ์เขา
ต้นประดู่ ต้นอัญชัน มากมาย
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๑๕๒] ต้นบุนนาค ต้นบุนนาคเขา ต้นแคฝอย
มีดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๑๕๓] ต้นราชพฤกษ์ ต้นอัญชันเขียว
ต้นกระทุ่ม และต้นพิกุล มากมาย
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๑๕๔] ถั่วดำ ถั่วเหลือง ต้นกล้วย
ต้นมะงั่ว งอกงามด้วยน้ำหอม
ออกฝัก ออกผล(เป็นทองคำ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม)
[๑๕๕] (ในบึงใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า) ปทุมบางกอกำลังมีดอกตูม
บางกอมีเกสรกำลังแย้ม บางกอมีเกสร(ในกลีบ)ร่วงหล่น
บางกอมีดอกบานสะพรั่งอยู่ในบึง ในครั้งนั้น
[๑๕๖] ปทุมบางกอกำลังมีดอกตูม
เหง้าบัวเลื้อยไปทั่ว กอกระจับมีใบดารดาษ
งดงามอยู่ในบึง ในครั้งนั้น
[๑๕๗] ต้นตาเสือ ต้นจงกลนี ต้นอุตตลี และต้นชบา
มีดอกบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
อยู่ใกล้ ๆ บึง ในครั้งนั้น
[๑๕๘] ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก
ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า ฝูงปลาตะเพียน
ฝูงปลาสังกุลา(ปลาลูกดอก) และฝูงปลาทอง
อาศัยอยู่ในบึง ในครั้งนั้น
[๑๕๙] (ใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า) มีฝูงจระเข้ ฝูงตะโขง๑
ฝูงปลาฉนาก๒ ฝูงผีเสื้อน้ำ(ยักษ์ร้าย)ฝูงงูหลาม
ฝูงงูเหลือมอาศัยอยู่ในบึง ในครั้งนั้น
[๑๖๐] (ใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า) มีฝูงนกพิราบ ฝูงนกเป็ดน้ำ
ฝูงนกจักรพาก๓ ฝูงนกกาน้ำ ฝูงนกดุเหว่า
ฝูงนกแก้ว และนกสาลิกา อาศัยสระนั้นหากิน

เชิงอรรถ :
๑ ตะโขง มีลักษณะคล้ายจระเข้แต่ปากเรียวและยาวกว่า อีกอย่างหนึ่ง แปลว่า ปลาร้าย
๒ ปลาฉนาก ได้แก่ปลามีปากมีลักษณะเป็นกระดูกแข็งยื่นออกไปเป็นก้านยาวมีฟันทั้ง ๒ ข้างคล้ายฟันเลื่อย
๓ จักรพาก หรือ จักรวาก คู่ของนกนี้ต้องพรากจากกันครวญถึงกัน ในเวลากลางคืน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๑๖๑] ฝูงนกกวัก (ไก่เถื่อน ไก่ป่า) ฝูงไก่ป่า
ฝูงนกนางนวล ฝูงนกต้อยตีวิด
ฝูงนกแขกเต้า อาศัยสระนั้นหากิน (ใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า)
[๑๖๒] ฝูงหงส์ ฝูงนกกระเรียน ฝูงนกยูง
ฝูงนกดุเหว่า ฝูงไก่งวง ฝูงนกช้อนหอย๑
ฝูงนกโพระดก (นกกระจอก นกออก) อาศัยสระนั้นหากิน
[๑๖๓] ฝูงนกแสก (นกเค้าแมว นกทึดทือ) ฝูงนกหัวขวาน
ฝูงนกออกขาว (นกเขา) ฝูงนกเหยี่ยวดำ
ฝูงนกกาน้ำ มากมาย อาศัยสระนั้นหากิน
[๑๖๔] ฝูงเนื้อฟาน (อีเก้ง) ฝูงหมูป่า ฝูงสุนัขจิ้งจอก
(หมาป่า หมาใน) ฝูงแรด ฝูงละมั่ง
ฝูงเนื้อทราย อาศัยสระนั้นหากิน
[๑๖๕] ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง
หมี หมาใน เสือดาว
ช้างตระกูลมาตังคะตกมัน ๓ แห่ง๒(ไม่ทำอันตราย)
อาศัยสระนั้นหากิน
[๑๖๖] เหล่ากินนร (สัตว์ครึ่งคนครึ่งนก) ฝูงวานร
คนทำงานในป่า สุนัขไล่เนื้อ
นายพราน อาศัยสระนั้นหากิน
[๑๖๗] ต้นมะพลับ ต้นมะหาด๓ ต้นมะซาง
ต้นหมากเม่า เผล็ดผลทุกฤดูกาล
อยู่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้า

เชิงอรรถ :
๑ นกช้อนหอย นกกินปลา ปมฺปกา ลิงลม ก็แปล
๒ ตกมัน ๓ แห่ง คือ นัยน์ตา ใบหู และลูกอัณฑะ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๖๐/๒๖๐,๖๕๗/๓๗๗
๓ ต้นไม้ขนาดใหญ่ มีผลคล้ายมะปราง รสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๖๕/๒๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๑๖๘] ต้นคำ๑ ต้นสน ต้นกระทุ่ม
สะพรั่งด้วยผลมีรสหวาน เผล็ดผลเป็นประจำ
อยู่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้า
[๑๖๙] ต้นสมอไทย ต้นมะขามป้อม ต้นมะม่วง ต้นหว้า
ต้นสมอพิเภก ต้นกระเบา ต้นรกฟ้า
ต้นมะตูม เหล่านั้น เผล็ดผลเป็นนิตย์
[๑๗๐] มันเทศ มันอ้อน มันมือเสือ หัวหอม หัวกระเทียม๒
ต้นกะเม็ง๓ ต้นขัดมอน๔
มีอยู่มากมายใกล้ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๗๑] ใกล้ ๆ อาศรม(ของข้าพเจ้า)มีบึงน้ำที่บุญกรรมเนรมิตไว้อย่างดี
มีน้ำใสเย็นสนิท มีท่าน้ำราบเรียบ เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
[๑๗๒] (สระน้ำเหล่านั้น) ดารดาษด้วยดอกบัวหลวง ดอกบัวขาบ๕
สะพรั่งด้วยบัวขาว ดารดาษด้วยบัวเฝื่อน
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
[๑๗๓] ครั้งนั้น๖ ข้าพเจ้าอยู่ในอาศรม
ซึ่งสร้างไว้อย่างดี น่ารื่นรมย์ ในป่ามีไม้ดอกไม้ผล
สมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบทุกอย่าง ดังกล่าวมานี้
[๑๗๔] ข้าพเจ้าเป็นดาบสชื่อสุรุจิ มีศีล๗
สมบูรณ์ด้วยข้อวัตร มีปกติเพ่งฌาน

เชิงอรรถ :
๑ ไม้พุ่มชนิดหนึ่ง ต้นแสด หรือต้นคำแสด ก็เรียก
๒ ต้นดอกซ่อนกลิ่น
๓ ต้นไม้ขนาดเล็ก ต้นสีม่วง ใบเขียวขนคาย ดอกขาว ใช้ทำยารักษาโรคเด็ก
๔ ต้นข้าวต้ม ต้นขัดมอน ก็เรียก เปลือกเหนียว ดอกเหลือง เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่ง ใช้ทำไม้กวาดได้
๕ บัวสีน้ำเงินแก่อมม่วง
๖ ครั้งนั้น ในที่นี้หมายถึงในครั้งที่ข้าพเจ้าเป็นดาบส (ขุ.อป.อ. ๑/๑๗๓/๒๖๒)
๗ มีศีล ในที่นี้หมายถึงศีล ๕ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๗๔/๒๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
ยินดีในฌานในกาลทุกเมื่อ
สำเร็จอภิญญาพละ ๕๑ ประการ
[๑๗๕] ข้าพเจ้ามีศิษย์ ๑,๐๒๔ คน ทั้งหมดนั้น
เป็นพราหมณ์ มีชาติตระกูล มียศ
ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่
[๑๗๖] ศิษย์ของข้าพเจ้าเข้าใจตัวบท(หลักไวยากรณ์)
ฉลาดในการพยากรณ์ สำเร็จวิชาทำนายลักษณะ
วิชาอิติหาสศาสตร์ และไตรเพทอันเป็นธรรมของตน
พร้อมทั้งวิชานิฆัณฑุศาสตร์ และวิชาเกฏุภศาสตร์๒
[๑๗๗] ศิษย์ของข้าพเจ้าฉลาดในลางบอกเหตุ
ในนิมิตร และในลักษณะ
เป็นผู้ศึกษาดีแล้วในเรื่องดิน
ในภาคพื้นดิน และในอากาศ
[๑๗๘] ศิษย์เหล่านั้นเป็นผู้มักน้อย
มีปัญญารักษาตน บริโภคแต่น้อย ไม่โลภ
สันโดษตามมีตามได้ ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
[๑๗๙] ศิษย์ของข้าพเจ้ามีปกติเพ่งฌาน ยินดีในฌาน
เป็นนักปราชญ์ มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น
ปรารถนาความหมดกังวล ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
๑ อภิญญาพละ ๕ คือ แสดงฤทธิ์ได้ หูทิพย์ รู้ใจผู้อื่น ระลึกชาติได้ และตาทิพย์ (ขุ.อป.อ. ๑/๑๗๔/๒๖๓)
๒ วิชาทำนายลักษณะ หมายถึงคัมภีร์ประกาศลักษณะของหญิงและบุรุษชาวโลกทั้งหมดมีทุกข์และสุข
อิติหาสศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ชี้แจงคำพูดที่ท่านกล่าวว่า อิติห อาสา
นิฆัณฑุศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ประกาศชื่อต้นไม้และภูเขาเป็นต้น
เกฏุภศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ว่าด้วยวิชาการกวี (ขุ.อป.อ. ๑/๑๗๖/๒๖๓, ดูเชิงอรรถเล่ม ๙ ข้อ ๒๕๖)
ไตรเพท หมายถึงพระเวท ๓ คือ ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๑๘๐] ศิษย์ของข้าพเจ้าสำเร็จอภิญญา
ยินดีในอาหารซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของบิดา๑
เหาะไปมาทางอากาศได้
เป็นนักปราชญ์ ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
[๑๘๑] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น สำรวมทวารทั้ง ๖
ไม่หวั่นไหว๒ รักษาอินทรีย์ และไม่คลุกคลี
เป็นนักปราชญ์๓ หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
[๑๘๒] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้นหาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
ให้เวลาผ่านไปด้วยการนั่งขัดสมาธิ
การยืน และการจงกรม ตลอดคืน
[๑๘๓] ศิษย์ของข้าพเจ้าไม่กำหนัดในวัตถุที่น่ากำหนัด
ไม่ขัดเคืองในวัตถุที่น่าขัดเคือง
ไม่ลุ่มหลงในวัตถุที่น่าลุ่มหลง หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
[๑๘๔] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
ด้วยการแข่งดีทดลองแสดงฤทธิ์อยู่เป็นนิตย์
บันดาลให้แผ่นดินไหวได้
[๑๘๕] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
เมื่อจะเล่น ก็เล่นฌาน(เข้าฌาน)
ไปนำผลหว้ามาได้
[๑๘๖] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น พวกหนึ่งไปอปรโคยานทวีป
พวกหนึ่งไปปุพพวิเทหทวีป พวกหนึ่งไปอุตตรกุรุทวีป

เชิงอรรถ :
๑ บาลี เปตฺติเก โคจเร รตา ยินดีในอาหารซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของบิดา หมายถึงยินดีในอาหารที่ได้ไม่ใช่ออกปากขอ
(ขุ.อป.อ. ๑/๑๘๐/๒๖๔)
๒ ไม่หวั่นไหว ในที่นี้หมายถึงไม่มีตัณหาเป็นเหตุให้หวั่นไหว (ขุ.อป.อ. ๑/๑๘๑/๒๖๕)
๓ เป็นนักปราชญ์ ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้มั่นคง ไม่สะทกสะท้านถึงอันตรายที่เกิดจากสัตว์มีราชสีห์และเสือ
เป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๑๘๐/๒๖๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๑๘๗] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น ส่งหาบ(บริขารดาบส)
ไปข้างหน้า ส่วนตนเองไปทีหลัง
ท้องฟ้าถูกดาบส ๑,๐๒๔ รูป ปิดบังไว้แล้ว
[๑๘๘] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น พวกหนึ่งเผา(ผลไม้น้อยใหญ่และผัก)ไฟฉัน
พวกหนึ่งไม่เผาไฟฉันดิบ ๆ พวกหนึ่งกระแทะเปลือกออกฉัน
พวกหนึ่งตำฉัน พวกหนึ่งเอาหินทุบฉัน
พวกหนึ่งฉันผลไม้ที่หล่นเอง
[๑๘๙] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
พวกหนึ่งรักความสะอาดลงอาบน้ำทั้งเช้าทั้งเย็น
พวกหนึ่งตักน้ำอาบ
[๑๙๐] ศิษย์ของข้าพเจ้า(ประพฤติวัตร)
ปล่อยเล็บมือเล็บเท้าและขนรักแร้ยาว
ขี้ฟันเขลอะ ศีรษะเปื้อนธุลี
แต่หอมด้วยกลิ่นศีล หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
[๑๙๑] ดาบสทั้งหลายผู้ทรงชฎา
มีตบะแก่กล้า ประชุมกันแต่เช้าแล้ว
ประกาศลาภน้อย ลาภใหญ่ให้ทราบแล้ว เหาะไปในท้องฟ้า
[๑๙๒] เมื่อดาบสเหล่านั้นเหาะไป เสียงดังย่อมสะพัดไป
ทวยเทพย่อมยินดีเพราะได้ยินเสียงหนังสัตว์
[๑๙๓] ฤๅษีผู้เหาะไปทางอากาศไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่
ฤๅษีเหล่านั้นมีกำลังของตนอุปถัมภ์ จึงไปได้ตามปรารถนา
[๑๙๔] ฤๅษีเหล่านั้นทั้งหมดทำแผ่นดินให้ไหว
เที่ยวไปในอากาศ มีเดชแผ่ไป
ใคร ๆ ไม่อาจข่มได้ ผู้อื่นไม่อาจให้หวั่นไหวได้
ดังสมุทรสาครที่ใครอื่นให้กระเพื่อมไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๑๙๕] ฤๅษีผู้เป็นศิษย์ของข้าพเจ้า
บางพวกยืนและเดินจงกรม บางพวกถือการนั่งเป็นวัตร
บางพวกฉันใบไม้ที่หล่นเอง หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
[๑๙๖] ศิษย์ของข้าพเจ้าเหล่านั้นมีปกติอยู่ด้วยการแผ่เมตตา
แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์
ไม่ยกตน ไม่ข่มใคร ๆ
[๑๙๗] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้นไม่สะดุ้งกลัวอะไร
เหมือนราชสีห์ มีกำลังเหมือนพญาคชสาร
หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
เหมือนพญาเสือโคร่ง ย่อมมาอยู่ใกล้ข้าพเจ้า
[๑๙๘] พวกวิทยาธร พวกเทวดา นาค
คนธรรพ์ ผีเสื้อน้ำ กุมภัณฑ์ ทานพ(อสูร)
ครุฑ อาศัยสระนั้นหากิน
[๑๙๙] ศิษย์ของข้าพเจ้าเหล่านั้นเกล้าชฎา
คอนบริขาร นุ่งห่มหนังสัตว์
เที่ยวไปในอากาศได้ทุกตน อาศัยสระนั้นหากิน
[๒๐๐] ครั้งนั้น ศิษย์เหล่านั้นเป็นผู้เหมาะสมกันและกัน
มีความเคารพต่อกันและกัน
ศิษย์ ๑,๐๒๔ คน ไม่มีเสียงไอเสียงจามเลย
[๒๐๑] ศิษย์เหล่านั้นเดินเข้าแถวกัน เงียบเสียง
สำรวมดี ทั้งหมดเข้ามากราบข้าพเจ้าด้วยเศียรเกล้า
[๒๐๒] ข้าพเจ้ามีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน
อยู่ในอาศรมแห่งนั้นมีศิษย์เหล่านั้นแวดล้อม
ซึ่งเป็นผู้สงบ มีตบะ
[๒๐๓] อาศรมของข้าพเจ้าหอมด้วยกลิ่น ๒ อย่าง
คือกลิ่นศีลของเหล่าฤๅษีและกลิ่นดอกไม้
ผลไม้ของต้นไม้ที่ผลิดอกออกผล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๐๔] ข้าพเจ้าไม่รู้คืนและวัน
ความไม่พอใจมิได้มีแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าสั่งสอนศิษย์ของตนได้ความร่าเริงอย่างยิ่ง
[๒๐๕] เมื่อดอกไม้บานและผลไม้สุก
มีกลิ่นทิพย์หอมฟุ้งไป
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๒๐๖] ข้าพเจ้าออกจากสมาธิแล้ว
มีความเพียรเผากิเลส มีปัญญารักษาตน
คอนหาบบริขาร(ดาบส)เข้าป่าไป
[๒๐๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ศึกษาจนชำนาญ
ในลางบอกเหตุ ในความฝันและในลักษณะทั้งหลาย
ทรงจำบทแห่งมนตร์ที่แพร่หลายอยู่
[๒๐๘] พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ทรงประสงค์วิเวก ตรัสรู้เองโดยชอบ
จึงเสด็จเข้าไปยังป่าหิมพานต์
[๒๐๙] พระองค์ผู้เป็นมุนีผู้เลิศ
ทรงประกอบด้วยพระกรุณา ผู้สูงสุดแห่งบุรุษ
เสด็จถึงป่าหิมพานต์แล้วประทับนั่งขัดสมาธิ
[๒๑๐] ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทรงมีแสงสว่างเจิดจ้า น่ารื่นรมย์ใจ
ทรงรุ่งเรืองดังดอกบัวเขียว
เป็นดุจแท่นบูชาไฟ สว่างเจิดจ้า
[๒๑๑] ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงรุ่งเรืองดุจต้นพฤกษาประทีป๑

เชิงอรรถ :
๑ ต้นพฤกษาประทีป หมายถึงดอกไม้ไฟ โคมไฟ (ขุ.อป.อ. ๑/๔๔-๕๕/๑๓๑, ขุ.พุทฺธ.อ. ๔๕/๗๙,๓๐/๑๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
ดุจสายฟ้าสว่างจ้ากลางอากาศ
ดุจต้นพญาไม้สาละ มีดอกบานสะพรั่งอยู่
[๒๑๒] พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ทรงเป็นผู้ประเสริฐ
มีความเพียรมาก เป็นพระมุนีผู้กระทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว
เวไนยสัตว์ได้อาศัยการพบเห็นนี้แล้ว
ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
[๒๑๓] ครั้นข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพแล้ว
จึงได้ตรวจดูลักษณะว่า เป็นพระพุทธเจ้าหรือมิใช่
เอาละ เราจะดูพระชินเจ้าผู้มีพระจักษุ๑
[๒๑๔] ที่พื้นฝ่าพระบาทอันยอดเยี่ยมปรากฏมีจักรมีกำตั้งพัน
ข้าพเจ้าได้เห็นลักษณะทั้งหลายของพระองค์แล้ว
จึงถึงความแน่ใจในพระตถาคต
[๒๑๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้หยิบไม้กวาดมากวาดสถานที่นั้นแล้ว
ได้นำดอกไม้มา ๘ ดอก บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๒๑๖] ครั้นข้าพเจ้าบูชาพระพุทธเจ้า ผู้ข้ามพ้นโอฆะได้แล้ว
ไม่มีอาสวะ พระองค์นั้นแล้ว
จึงห่มหนังสัตว์เฉวียงบ่า
นมัสการพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๒๑๗] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีอาสวะ
ประทับอยู่ด้วยพระญาณอันใด
ข้าพเจ้าจักประกาศพระญาณอันนั้น
ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้ากล่าวเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ผู้มีพระจักษุ หมายถึงทรงมีจักษุ ๕ (คือ มังสจักษุ ตาเนื้อ มีพระเนตรงาม มีอำนาจ เห็นแจ่มใส ไว
และเห็นไกล ทิพยจักษุ ตาทิพย์ ปัญญาจักษุ ตาปัญญา พุทธจักษุ ตาพระพุทธเจ้า คือทรงทราบ
อัธยาศัยและอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์แล้วทรงสั่งสอนแนะนำให้บรรลุคุณวิเศษต่าง ๆ สมันตจักษุ ตาเห็นรอบ
ทรงมีพระสัพพัญญุตญาณหยั่งรู้ธรรมทุกประการ) (ขุ.อป.อ. ๑/๒๑๓/๒๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๑๘] (ดาบสสุรุจิกล่าวชมเชยพระผู้มีพระภาคอโนมทัสสีว่า)๑
ข้าแต่พระสยัมภู ผู้มีพระคุณหาประมาณมิได้
ขอพระองค์จงทรงช่วยสัตว์โลกนี้ให้พ้นจากสังสารวัฏเถิด๒
สัตว์เหล่านั้นอาศัยการพบเห็นพระองค์แล้ว
จะข้ามกระแสแห่งความสงสัยได้
[๒๑๙] พระองค์ทรงเป็นศาสดา เป็นยอด
เป็นธงชัย เป็นเสาหลัก เป็นจุดมุ่งหมาย เป็นที่พึ่ง
เป็นดุจดวงประทีปของเหล่าสัตว์
เป็นผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๒๒๐] ข้าแต่พระสัพพัญญู
น้ำในมหาสมุทรสามารถที่จะประมาณได้ด้วยมาตราตวง
แต่พระญาณของพระองค์ไม่มีใครสามารถจะประมาณได้เลย
[๒๒๑] ข้าแต่พระสัพพัญญู
แผ่นดินยังสามารถที่จะนำมาวางไว้บนตราชั่งแล้วชั่งดูได้
แต่พระญาณของพระองค์ ไม่มีใครสามารถจะชั่งดูได้
[๒๒๒] ข้าแต่พระสัพพัญญู
อากาศยังสามารถที่จะใช้เชือกหรือนิ้วมือวัดดูได้
แต่พระญาณของพระองค์ ไม่มีใครสามารถจะวัดดูได้
[๒๒๓] น้ำในมหาสมุทรทั้งหมดและแผ่นดินทั้งสิ้น
บุคคลก็ยังข้ามได้ แต่พระพุทธญาณ
ไม่ควรโดยการนำมาเปรียบเทียบ

เชิงอรรถ :
๑ พระดาบสสุรุจิเป็นอดีตชาติของพระสารีบุตรเถระได้พบพระพุทธเจ้าอโนมทัสสี ตามข้อความในคาถาข้างต้น
ได้กล่าวชมเชยพระองค์
๒ พ้นจากสังสารวัฏ หมายถึงให้สิ้นจากสงสารแล้วให้ถึงฝั่งคือพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๒๑๘/๒๗๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๒๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ๑
จิตของสัตว์เหล่าใดแล่นไปในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
สัตว์ผู้มีจิตเหล่านั้นได้อยู่ในข่ายคือญาณของพระองค์
[๒๒๕] ข้าแต่พระสัพพัญญู
พระองค์ทรงบรรลุพระโพธิญาณ๒อย่างสูงสุดทั้งสิ้นด้วยพระญาณใด
พระองค์ทรงย่ำยีอัญเดียรถีย์ทั้งหลายด้วยพระญาณนั้น
[๒๒๖] (พระเถระทั้งหลายผู้ทำสังคายนากล่าวว่า)
ท่านสุรุจิดาบสนั้น ครั้นกล่าวคาถาเหล่านี้แล้ว
จึงปูลาดหนังสัตว์นั่งลงบนแผ่นดิน
[๒๒๗] (ดาบสสุรุจินั่งอยู่ ณ ที่นั้นแล้วกล่าวว่า)
ผู้คนกล่าวกันในบัดนี้ว่า
ขุนเขา๓หยั่งลงในห้วงมหรรณพ ๘๔,๐๐๐ โยชน์
สูงขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์เช่นกัน
[๒๒๘] ภูเขาสิเนรุก็สูงสุดเท่านั้น ภูเขาสิเนรุนั้น
ทั้งด้านยาว ทั้งด้านกว้างถึงเพียงนั้น
ก็ยังถูกบดให้ละเอียดเป็นแสนโกฏิด้วยการนับ
[๒๒๙] ข้าแต่พระสัพพัญญู เมื่อตั้งคะแนนไว้๔
ผงแห่งภูเขาสิเนรุก็จะพึงหมดสิ้นไปก่อน
แต่พระญาณของพระองค์ ไม่มีใครสามารถจะนับได้
[๒๓๐] ผู้ใดพึงเอาข่ายตาถี่ ๆ ขึงล้อมน้ำไว้
สัตว์น้ำทั้งหมดที่มีอยู่ก็จะพึงเข้าไปอยู่ภายในข่าย ฉันใด

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถ หน้าที่ ๓๖ ในเล่มนี้
๒ พระโพธิญาณ หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๒๒๕/๒๗๑)
๓ ขุนเขา หมายถึงขุนเขาพระสุเมรุ (ชื่อภูเขากลางจักรวาล มียอดเป็นที่ตั้งแผ่นดินของสวรรค์ดาวดึงส์ซึ่งมี
พระอินทร์อยู่) (ขุ.อป.อ. ๑/๒๒๗/๒๗๑)
๔ ตั้งคะแนน หมายถึงนับพระญาณของพระองค์ (ขุ.อป.อ. ๑/๒๒๙/๒๗๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๓๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
เดียรถีย์มากมายบางพวกก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมเข้าไปสู่ป่าทึบคือทิฏฐิ ถูกความยึดถือทำให้ลุ่มหลง
[๒๓๒] เดียรถีย์เหล่านั้นเข้าไปภายในข่าย๑
เพราะพระญาณอันบริสุทธิ์ของพระองค์
ซึ่งมีปกติเห็นสรรพสิ่ง ไม่มีอะไรขัดขวาง
เดียรถีย์เหล่านั้นหาล่วงเลยพระญาณของพระองค์ไปไม่
[๒๓๓] ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคชินเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ ออกจากสมาธิแล้วตรวจดูทิศ
[๒๓๔] พระสาวกนามว่านิสภะ ของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้เป็นมุนี มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป
เป็นผู้มีจิตสงบ ผู้คงที่ แวดล้อมแล้ว๒
[๒๓๕] ผู้สิ้นอาสวะแล้ว ผู้บริสุทธิ์ ผู้ได้อภิญญา ๖๓
ผู้คงที่ ทราบพระดำริของพระพุทธเจ้าแล้ว
จึงเข้าเฝ้าพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๒๓๖] สาวกเหล่านั้นยืนกลางอากาศ ณ ที่ใกล้พระผู้มีพระภาคนั้น
ได้กระทำประทักษิณ ประนมมือ
นมัสการแล้วลงมาเฝ้า ณ สำนักพระพุทธเจ้า
[๒๓๗] พระผู้มีพระภาคชินเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้วทรงแย้มพระโอษฐ์ให้ปรากฏ

เชิงอรรถ :
๑ ข่าย ในที่นี้หมายถึงข่ายคือพระญาณของพระพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ. ๑/๒๓๒/๒๗๓)
๒ ผู้คงที่ หมายถึงผู้ไม่หวั่นไหวในอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา (ขุ.อป.อ. ๑/๒๓๔/๓๗๓)
๓ อภิญญา ๖ หมายถึงความรู้ยิ่งคือ อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้, ทิพพโสต หูทิพย์, เจโตปริยญาณ
ทายใจคนอื่นได้, ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้, ทิพพจักขุ ตาทิพย์, อาสวักขยญาณ ญาณ
ที่ทำให้อาสวะสิ้นไป (องฺ.ฉกฺก. (แปล) ๒๒/๒/๔๑๒-๔๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑.พุทธวรรค] ๓.เถราปทาน ๑.สารีปุตตเถราปทาน
[๒๓๘] พระสาวกนามว่าวรุณะ
ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสี
ห่มผ้าเฉวียงบ่า แล้วทูลถามพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[๒๓๙] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อะไรหนอ
เป็นเหตุให้พระศาสดาทรงแย้มพระโอษฐ์
ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นจะไม่ทรงแย้มพระโอษฐ์ โดยไม่มีเหตุ
[๒๔๐] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
[๒๔๑] เราจักพยากรณ์ดาบสผู้ที่ใช้ดอกไม้บูชาเรา
และชมเชยญาณของเราเนือง ๆ
ขอท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๒๔๒] เทวดาทั้งปวง ทราบพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแล้วมาประชุมกัน
เทวดาเหล่านั้น ประสงค์จะฟังพระสัทธรรม
จึงเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๒๔๓] หมู่เทวดาผู้มีฤทธิ์มากทั้ง ๑๐ โลกธาตุ๑เหล่านั้น
ประสงค์จะฟังพระสัทธรรมจึงเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๒๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) กองทัพ ๔ เหล่า
คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า
จักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๔๕] เครื่องดนตรี ๑,๐๖๐ ชิ้น
กลองที่ประดับตกแต่งสวยงาม
จักบำรุงบำเรอผู้นี้เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

เชิงอรรถ :
๑ ๑๐ โลกธาตุ หมายถึง หมื่นจักรวาล (ที.ม.อ. ๒/๓๓๑/๒๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๔๖] สตรีสาวล้วน ๑๖,๐๐๐ นาง ประดับตกแต่งสวยงาม
สวมใส่ผ้าอาภรณ์อย่างงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี
[๒๔๗] มีหน้ากลมโต มีปกติร่าเริง รูปร่างงาม
เอวเล็กเอวบาง จักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๔๘] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในแว่นแคว้น ๑,๐๐๐ ชาติ
[๒๔๙] จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๑,๐๐๐ ชาติ
จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๒๕๐] เมื่อภพสุดท้ายมาถึง ผู้นี้จักไปเกิดเป็นมนุษย์
นางพราหมณีชื่อสารี จักตั้งครรภ์
[๒๕๑] ผู้นี้จักปรากฏนามว่าสารีบุตร
ตามชื่อและโคตรของมารดา จักเป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม
[๒๕๒] จักเป็นผู้ไม่มีความกังวล
ละทิ้งทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิแล้วออกบวช
เที่ยวแสวงหาทางแห่งความสงบทั่วแผ่นดินนี้
[๒๕๓] ในกัปที่นับมิได้นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๒๕๔] ดาบสนี้จักมีนามว่าสารีบุตร
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นอัครสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
[๒๕๕] แม่น้ำภาคีรถีนี้ไหลมาจากภูเขาหิมพานต์
ไหลลงสู่มหาสมุทร ทำมหาสมุทรให้เต็ม ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๕๖] สารีบุตรนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
จักเป็นผู้สามารถแกล้วกล้าในไตรเพท
จักสำเร็จปัญญาบารมี แล้วให้หมู่สัตว์อิ่มเอิบได้
[๒๕๗] ตั้งแต่ป่าหิมพานต์จนถึงทะเลมีห้วงน้ำกว้างใหญ่
ในช่วงระหว่างนี้ มีกองทรายอยู่ขนาดเท่าใด
คำนวณนับไม่ได้
[๒๕๘] แม้กองทรายขนาดเท่านั้นสามารถจะคำนวณนับได้
โดยไม่มีเหลือด้วยการนับวิธีใด
แต่ปัญญาของสารีบุตรจะมีที่สุดโดยวิธีนับนั้น ๆ ก็หามิได้
[๒๕๙] เมื่อตั้งคะแนนไว้
บรรดาทรายในแม่น้ำคงคาก็จะพึงหมดสิ้นไป
แต่ปัญญาของสารีบุตรหาหมดสิ้นไปไม่
[๒๖๐] คลื่นในมหาสมุทรคำนวณนับไม่ได้
ปัญญาของสารีบุตร จักไม่มีที่สุดอย่างนั้นเหมือนกัน
[๒๖๑] สารีบุตรนั้นจักทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โคดมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงโปรดปรานแล้ว
สำเร็จปัญญาบารมีเป็นอัครสาวก(ของพระองค์)
[๒๖๒] สารีบุตรนั้น จักประพฤติตามพระธรรมจักร
ที่พระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตร
ผู้คงที่ ทรงประกาศไว้แล้ว
บันดาลเม็ดฝนคือธรรมให้ตกลงโดยชอบ
[๒๖๓] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ
ทรงทราบความนั้นทั้งหมดแล้ว
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
จักทรงตั้ง(สารีบุตร)ไว้ในตำแหน่งอัครสาวก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๖๔] โอ ! กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำบุญญาธิการ
แด่พระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสีแล้ว
สำเร็จบารมีในจำนวนคุณทั้งสิ้น
ชื่อว่าเป็นกรรมที่ทำไว้ดีแล้วหนอ
[๒๖๕] กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ในกาลที่จะกำหนดจำนวนมิได้
แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพสุดท้ายนี้
ข้าพเจ้าหลุดพ้นดีแล้ว ดุจความเร็วแห่งลูกศรพ้นไปจากแล่ง
เผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว
[๒๖๖] ข้าพเจ้านั้น เมื่อเที่ยวแสวงหาทาง
ที่ไม่หวั่นไหวคือนิพพาน อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้
เลือกเฟ้นเจ้าลัทธิทั้งปวงจึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ
[๒๖๗] คนเป็นไข้พึงแสวงหายารักษา
พึงสะสมทรัพย์ทั้งปวงไว้เพื่อพ้นจากความเจ็บไข้ ฉันใด
[๒๖๘] ข้าพเจ้าก็ฉันนั้น เมื่อเที่ยวแสวงหาทาง
คืออมตนิพพานอันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้
จึงได้บวชเป็นฤๅษี ๕๐๐ ชาติ ติดต่อกัน
[๒๖๙] ข้าพเจ้าเพียบพร้อมด้วยชฎาและภาระ(บริขาร)
นุ่งห่มหนังสัตว์ สำเร็จอภิญญา ได้ไป(เกิด)ยังพรหมโลก
[๒๗๐] เว้นศาสนาของพระชินเจ้าเสียแล้ว
ก็หาความบริสุทธิ์ในลัทธิภายนอกไม่ได้
เหล่าสัตว์ผู้มีปัญญาย่อมบริสุทธิ์ได้ในศาสนาของพระชินเจ้า
[๒๗๑] สิ่งที่สำเร็จด้วยการทำของตนนั้น
ไม่เป็นดังที่ได้ยินกันต่อ ๆ มาว่า เป็นอย่างนี้ ๆ
ข้าพเจ้าเมื่อแสวงหาทางที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้
จึงเที่ยวไปในลัทธิที่ผิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๗๒] คนที่ต้องการแก่นไม้ตัดต้นกล้วยแล้วผ่า
ก็จะไม่พึงได้แก่นไม้ในต้นกล้วยนั้น
เขาย่อมเป็นผู้ไร้แก่นไม้ ฉันใด
[๒๗๓] เหล่าเดียรถีย์ทั้งหลายในโลกก็ฉันนั้น
มีทิฏฐิต่างกัน ถึงจะมีจำนวนมาก
ก็เป็นผู้ว่างเปล่าจากนิพพานอันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้
ดุจต้นกล้วยว่างเปล่าจากแก่นไม้ ฉะนั้น
[๒๗๔] เมื่อภพสุดท้ายมาถึง ข้าพเจ้าเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์
ได้ละทิ้งโภคสมบัติมากมายแล้วออกบวชเป็นบรรพชิต
ภาณวารที่ ๑ จบ

[๒๗๕] (พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า)๑
ข้าพระองค์อยู่ในสำนักของพราหมณ์นามว่าสัญชัย
ซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์ จบไตรเพท
[๒๗๖] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พราหมณ์นามว่าอัสสชิ
สาวกของพระองค์ ซึ่งหาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
มีเดชแผ่ไป เที่ยวบิณฑบาตในครั้งนั้น
[๒๗๗] ข้าพระองค์ได้เห็นท่านผู้ประเสริฐนั้น ผู้มีปัญญา
เป็นมุนี มีจิตตั้งมั่นในความเป็นมุนี
มีจิตสงบ เบิกบานดุจดอกปทุมที่แย้มบาน
[๒๗๘] เพราะเห็นท่านผู้ฝึกฝนดีแล้ว
มีจิตบริสุทธิ์ องอาจ ประเสริฐ มีความเพียร
ความคิดของข้าพเจ้าจึงเกิดขึ้นว่า
ท่านผู้นี้คงจะเป็นพระอรหันต์

เชิงอรรถ :
๑ ตั้งแต่คาถานี้ไปพระเถระได้กราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทราบเรื่องราวของท่าน สมตามข้อความในธรรม
บทอรรถกถาด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๗๙] ท่านผู้นี้ เคลื่อนไหวกิริยาท่าทางน่าเลื่อมใส
รูปงาม สำรวมดี ฝึกฝนแล้วในอุบายเครื่องฝึกอย่างสูงสุด
คงจะเป็นผู้เห็นทางอมตะ
[๒๘๐] ทางที่ดี เราควรจะถามท่านผู้มีประโยชน์อย่างสูงสุด
ผู้มีจิตยินดี หากท่านถูกเราถามแล้วจักตอบ
เราก็จะย้อนถามท่านอีก ในครั้งนั้น
[๒๘๑] ข้าพระองค์ได้เดินตามไปข้างหลังท่านผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาต
รอคอยโอกาสอยู่เพื่อจะสอบถามทางอมตะ
[๒๘๒] จึงเข้าไปหาท่านซึ่งอยู่ในระหว่างถนนแล้วถามว่า
ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ผู้มีความเพียร
ท่านมีโคตรตระกูลอย่างไร เป็นศิษย์ของใคร
[๒๘๓] ท่านถูกข้าพระองค์ถามแล้วก็ไม่ครั่นคร้าม
เป็นดังพญาไกรสรราชสีห์ตอบว่า
ท่านผู้มีอายุ พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก
อาตมาเป็นศิษย์ของพระองค์
[๒๘๔] (ข้าพระองค์ได้ถามต่อไปว่า)
ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ท่านผู้มียศยิ่งใหญ่เกิดตามมา
ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าของท่านเป็นเช่นไร
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอโอกาส
ขอท่านโปรดบอกแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
[๒๘๕] ท่านถูกข้าพระองค์ถามแล้ว
จึงแสดงบททุกบทที่ลึกซึ้งละเอียด
สำหรับกำจัดลูกศรคือตัณหา
สำหรับเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงว่า
[๒๘๖] ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ
พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
พระมหาสมณะมีปกติตรัสสอนอย่างนี้
[๒๘๗] เมื่อพระอัสสชิเถระแก้ปัญหาแล้ว
ข้าพระองค์นั้นได้บรรลุผลที่หนึ่ง(โสดาปัตติผล)
เป็นผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
ปราศจากมลทินคือกิเลส เพราะได้ฟังคำสอนของพระชินเจ้า
[๒๘๘] ข้าพระองค์ได้ฟังคำของพระมุนีแล้ว
ได้เห็นธรรมอันสูงสุด หยั่งรู้พระสัทธรรมจึงได้กล่าวคาถานี้ว่า
[๒๘๙] ถ้ามีเพียงเท่านั้น ธรรมนี้นั่นแหละ(ที่ข้าพเจ้าพึงบรรลุ)
ท่านรู้แจ้งทางที่ไม่เศร้าโศก๑
ซึ่งข้าพเจ้าไม่เห็นแล้ว ล่วงเลยมาหลายหมื่นกัป
[๒๙๐] ข้าพเจ้าเมื่อแสวงหาธรรม ได้เที่ยวไปในลัทธิที่ผิด
(บัดนี้)ได้บรรลุความประสงค์นั้นแล้ว
จึงมิใช่เวลาที่ข้าพเจ้าจะประมาท
[๒๙๑] ข้าพระองค์ที่พระอัสสชิเถระให้ยินดีแล้ว
บรรลุทางที่ไม่หวั่นไหว๒ เมื่อจะไปเสาะหาสหาย
จึงได้ไปยังอาศรม
[๒๙๒] สหายของข้าพระองค์ ผู้ได้ศึกษามาดี
เพียบพร้อมด้วยอิริยาบถ เห็นข้าพระองค์แต่ไกลเทียว
จึงได้กล่าวคำนี้ว่า
[๒๙๓] ท่านมีหน้าตาผ่องใส ปรากฏประหนึ่งว่าจะเป็นมุนี
ท่านได้บรรลุอมตนิพพานหรือได้บรรลุบทคือพระนิพพานอันไม่จุติ

เชิงอรรถ :
๑ ทางที่ไม่เศร้าโศก หมายถึงนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๒๘๙/๒๗๘)
๒ ทางที่ไม่หวั่นไหว หมายถึงการถึงนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๒๙๑/๒๗๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๒๙๔] ท่านเป็นผู้สมควรแก่ความงาม เป็นเหมือนผู้ฝึกฝนตนมาแล้ว
เหมือนช้างถูกแทงด้วยหอก ไม่หวั่นไหว
พราหมณ์ ท่านเป็นผู้มีการฝึกฝนมาดี
จึงสงบระงับแล้ว ในทางเป็นที่ฝึก
[๒๙๕] ข้าพระองค์ตอบว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุอมตธรรม
ซึ่งเป็นเครื่องบรรเทาลูกศรคือความเศร้าโศกแล้ว
ถึงตัวท่านก็จะบรรลุอมตธรรมนั้นได้
พวกเราไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันเถิด
[๒๙๖] สหายนั้นอันข้าพระองค์ให้ศึกษาอย่างดีแล้ว
จึงรับคำว่า ดีละ แล้วได้จูงมือกันมายังสำนักของพระองค์
[๒๙๗] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร ข้าพระองค์ทั้ง ๒
จักบวชในสำนักของพระองค์
อาศัยคำสอนของพระองค์อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๒๙๘] ท่านโกลิตะเป็นผู้เลิศด้วยฤทธิ์ ข้าพระองค์เลิศด้วยปัญญา
ข้าพระองค์ทั้ง ๒ จะร่วมมือกันทำศาสนาให้งดงาม
[๒๙๙] (เมื่อก่อน) ข้าพระองค์มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด
จึงได้เที่ยวไปในลัทธิที่ผิด
(แต่บัดนี้)เพราะได้อาศัยทัศนะของพระองค์
ความดำริของข้าพระองค์จึงเต็ม
[๓๐๐] หมู่ไม้เกิดบนแผ่นดินย่อมแย้มบานในฤดูกาล
กลิ่นทิพย์หอมอบอวลไปทำให้สรรพสัตว์ยินดี (ฉันใด)
[๓๐๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ผู้เป็นศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ดำรงอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว
ย่อมแสวงหากาลเวลาเพื่อจะแย้มบาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๐๒] ข้าพระองค์แสวงหาดอกไม้คือวิมุตติ๑
ซึ่งเป็นเหตุหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ
ให้สรรพสัตว์ยินดีด้วยการได้ดอกไม้คือวิมุตติ
[๓๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ตลอดพุทธเขต๒
ยกเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นมหามุนีเสีย
ก็ไม่มีใครจะมีปัญญาเหมือนกับข้าพระองค์ผู้เป็นบุตรของพระองค์เลย
[๓๐๔] ศิษย์และชุมนุมชนของพระองค์ที่พระองค์ทรงแนะนำดีแล้ว
ให้ศึกษาดีแล้ว ฝึกฝนในอุบายเครื่องฝึกอันสูงสุด
แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๐๕] ท่านเหล่านั้นมีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน
เป็นนักปราชญ์ มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น เป็นมุนี
สมบูรณ์ด้วยความเป็นมุนี แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๐๖] ท่านเหล่านั้นมักน้อย มีปัญญารักษาตน
เป็นนักปราชญ์ ฉันอาหารแต่น้อย ไม่โลภ
สันโดษตามมีตามได้ แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๐๗] ท่านเหล่านั้นถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ยินดีในธุดงค์
เข้าฌาน ใช้จีวรเศร้าหมอง ยินดียิ่งในความสงัด
เป็นนักปราชญ์ แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๐๘] ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติ(พรั่งพร้อมด้วยมรรค)
ดำรงอยู่ในผล และเป็นพระเสขะพรั่งพร้อมด้วยผล๓
มุ่งหวังประโยชน์อย่างสูงสุด(คือพระนิพพาน)
แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
๑ ดอกไม้คือวิมุตติ หมายถึงอรหัตตผลวิมุตติ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๐๒/๒๗๙)
๒ พุทธเขต หมายถึงมีแสนโกฏิจักรวาล (ขุ.อป.อ. ๑/๓๐๓/๒๘๐)
๓ ผล ในที่นี้หมายถึงผลเบื้องต่ำ ๓ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล (ขุ.อป.อ. ๑/๓๐๘/๒๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๐๙] ท่านเหล่านั้นทั้งที่เป็นพระโสดาบัน ทั้งที่เป็นพระสกทาคามี
ทั้งที่เป็นพระอนาคามี และที่เป็นพระอรหันต์
เป็นผู้ปราศจากมลทิน(คือกิเลส) แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๑๐] สาวกของพระองค์จำนวนมาก
ฉลาดในสติปัฏฐาน๑ ยินดีในการเจริญโพชฌงค์
ทุกท่านแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๑๑] ท่านเหล่านั้นฉลาดในอิทธิบาท ยินดีในการเจริญสมาธิ
หมั่นประกอบสัมมัปปธาน แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๑๒] ท่านเหล่านั้นได้วิชชา ๓๒ ได้อภิญญา ๖
ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์
ถึงความสำเร็จแห่งปัญญา
แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๑๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ศิษย์ของพระองค์เป็นเช่นนี้
เป็นผู้ศึกษาดีแล้ว หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
มีเดชแผ่ไป แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๓๑๔] พระองค์มีศิษย์เหล่านั้นแวดล้อม
ผู้สำรวมแล้ว ผู้มีตบะ เป็นผู้ไม่ครั่นคร้ามดังราชสีห์
ย่อมทรงงดงามดังดวงจันทร์
[๓๑๕] ต้นไม้เกิดบนแผ่นดินย่อมงอกงามไพบูลย์บนแผ่นดิน
ต้นไม้เหล่านั้นย่อมเผล็ดผล (โดยลำดับ)

เชิงอรรถ :
๑ สติปัฏฐาน หมายถึงสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุ-
ปัสสนา (ขุ.อป.อ. ๑/๓๑๐/๒๘๐)
๒ วิชชา ๓ หมายถึง (๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อนได้ ระลึกชาติได้
(๒) จุตูปปาตญาณ ญาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม (๓) อาสวักขยญาณ
ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ความตรัสรู้ (ที.ปา. ๑๑/๓๐๕,๓๕๓/๑๙๗,๒๔๕, องฺ.ทสก.
(แปล) ๒๔/๑๐๒/๒๔๓-๒๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๑๖] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่
พระองค์ทรงเป็นเช่นกับแผ่นดิน ศิษย์ (เป็นเช่นกับต้นไม้)
ดำรงอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว ย่อมได้ผลเป็นอมตะ
[๓๑๗] แม่น้ำสินธุ แม่น้ำสรัสวดี แม่น้ำจันทภาคา
แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำสรภู และแม่น้ำมหี
[๓๑๘] เมื่อแม่น้ำหลายสายนั้นไหลไป(ถึงทะเล)ทะเลย่อมรองรับไว้
แม่น้ำเหล่านั้นย่อมละชื่อเดิม ปรากฏชื่อว่าทะเล ฉันใด
[๓๑๙] วรรณะทั้ง ๔๑ เหล่านี้ก็ฉันนั้น
มาบวชในสำนักของพระองค์แล้ว
ก็ย่อมละชื่อเดิม ปรากฏชื่อว่าพุทธบุตร
[๓๒๐] ดวงจันทร์ปราศจากมลทินโคจรอยู่ในอากาศ
มีแสงรุ่งโรจน์ยิ่งกว่าหมู่ดาวในโลกทั้งหมด ฉันใด
[๓๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีศิษย์แวดล้อม
ก็ย่อมรุ่งเรืองยิ่งกว่าเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นทั้งหมดในกาลทุกเมื่อ
[๓๒๒] คลื่นเกิดขึ้นในน้ำลึกย่อมไม่ล่วงเลยล้นฝั่งไปได้
คลื่นเหล่านั้นกระทบฝั่งเป็นระลอก
กระจายหายไปหมด ฉันใด
[๓๒๓] เดียรถีย์ทั้งหลายในโลกก็ฉันนั้น
มีทิฏฐิต่างกัน เป็นชนจำนวนมาก
พวกเขาต้องการจะกล่าวธรรม
แต่ก็ไม่ล่วงเลยพระองค์ผู้เป็นมุนีไปได้
[๓๒๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ก็ถ้าเดียรถีย์เหล่านั้น
เข้ามาหาพระองค์ด้วยความประสงค์จะคัดค้าน
ครั้นมาถึงสำนักของพระองค์แล้ว ก็จะกลายเป็นจุรณไป

เชิงอรรถ :
๑ วรรณะทั้ง ๔ หมายถึงตระกูล ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร (ขุ.อป.อ. ๑/๓๑๗-๙/๒๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๒๕] ดอกโกมุท ดอกบัวเผื่อน จำนวนมาก
เกิดในน้ำแล้วติดอยู่กับน้ำและเปือกตม ฉันใด
[๓๒๖] เหล่าสัตว์จำนวนมากก็ฉันนั้น เกิดมาในโลกแล้ว
ถูกราคะและโทสะเบียดเบียน ย่อมงอกงาม(ในวัฏฏสงสาร)
ดุจดอกโกมุทงอกงามในเปือกตม ฉะนั้น
[๓๒๗] ดอกบัวหลวงเกิดในน้ำ งดงามอยู่กลางน้ำ
(แต่)ดอกบัวหลวงนั้นยังคงบริสุทธิ์ ไม่ติดอยู่กับน้ำ ฉันใด
[๓๒๘] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ทรงเป็นฉันนั้น
เป็นมหามุนี เกิดมาแล้วในโลก (แต่)ไม่ทรงติดอยู่กับโลก
ดุจดอกบัวหลวงไม่ติดอยู่กับน้ำ ฉะนั้น
[๓๒๙] ดอกไม้หลายชนิดที่เกิดในน้ำ
ย่อมแย้มบานในเดือน ๑๒ ไม่ล่วงเลยเดือน ๑๒ นั้นไป
เพราะเดือน ๑๒ นั้นเป็นกาลสมัยที่ดอกไม้จะบาน ฉันใด
[๓๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร พระองค์ก็เป็นผู้แย้มบานแล้ว ฉันนั้น
เหล่าศิษย์ของพระองค์ก็เป็นผู้แย้มบานแล้วด้วยวิมุตติ
ไม่ล่วงเลยคำสั่งสอนของพระองค์ไปได้
ดุจดอกบัวหลวงซึ่งแย้มบานด้วยน้ำ
ไม่ล่วงเลยกาลสมัยเป็นที่แย้มบานไปได้ ฉะนั้น
[๓๓๑] ต้นพญาไม้สาละออกดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปคล้ายกลิ่นทิพย์
แวดล้อมด้วยไม้สาละชนิดอื่น ย่อมงดงาม ฉันใด
[๓๓๒] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ทรงแย้มบานด้วยพระพุทธญาณ มีหมู่ภิกษุแวดล้อม
ย่อมงดงาม ดุจพญาไม้สาละ ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๓๓] เปรียบเหมือนภูเขาศิลาล้วนชื่อหิมวา
เป็นภูเขาที่มีโอสถสำหรับสรรพสัตว์
เป็นที่อยู่ของพวกนาค อสูร และเทวดาทั้งหลาย
[๓๓๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ทรงเป็นฉันนั้น
ทรงเป็นดุจโอสถของสรรพสัตว์๑ ทรงได้วิชชา ๓
ได้อภิญญา ๖ ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์
[๓๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ผู้ที่พระองค์ทรงพระกรุณาพร่ำสอนแล้วนั้น
ย่อมยินดีในธรรม อยู่ในศาสนาของพระองค์
[๓๓๖] ราชสีห์ผู้เป็นพญาเนื้อพอออกจากถ้ำที่อาศัยแล้ว
เหลียวดูทิศทั้ง ๔ จึงบันลือสีหนาท ๓ ครั้ง
[๓๓๗] เมื่อราชสีห์ผู้พญาเนื้อคำราม
สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งกลัว อันที่จริง ชาติราชสีห์นี้
ย่อมทำให้เหล่าสัตว์สะดุ้งกลัวทุกเมื่อ ฉันใด
[๓๓๘] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่
พื้นพสุธานี้ย่อมหวั่นไหว เหล่าสัตว์ผู้ควรตรัสรู้ก็ย่อมตรัสรู้
เหล่าสัตว์ผู้อยู่ในหมู่มารย่อมสะดุ้ง ฉันนั้น
[๓๓๙] ข้าแต่พระมหามุนี เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่
เหล่าเดียรถีย์ทั้งปวงย่อมสะดุ้ง ดุจฝูงกา ฝูงเหยี่ยวบินกระเจิงไป
ดุจฝูงสัตว์แตกกระเจิงไปเพราะราชสีห์ผู้เป็นพญาเนื้อ ฉะนั้น
[๓๔๐] เหล่าคณาจารย์บางพวกประชาชนเรียกกันว่า เป็นศาสดาในโลก
ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมที่สืบ ๆ กันมาแก่ชุมนุมชน
[๓๔๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แต่พระองค์หาเป็นอย่างนั้นไม่
ครั้นทรงตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยพระองค์เองแล้ว
จึงทรงแสดงโพธิปักขิยธรรมทั้งมวลแก่เหล่าสัตว์

เชิงอรรถ :
๑ เพราะทรงปลดเปลื้องสรรพสัตว์ให้พ้นจากชรา พยาธิ และมรณะ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๓๓-๔/๒๘๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๔๒] พระองค์ทรงทราบอัธยาศัยและอนุสัย
ทรงทราบว่าอินทรีย์มีกำลังแก่กล้าและไม่แก่กล้า
ทรงทราบบุคคลสมควรและไม่สมควร๑
จึงทรงบันลือดุจมหาเมฆ
[๓๔๓] เพื่อจะทรงตัดความสงสัยของชุมนุมชนที่จะพึงนั่งรอบจักรวาล
ผู้มีทิฏฐิต่างกัน มีความคิดคิดต่างกัน
[๓๔๔] พระองค์ผู้เป็นมุนีทรงรู้จิตของเหล่าสัตว์ทั้งปวง
ทรงฉลาดในข้ออุปมา ตรัสแก้ปัญหาข้อเดียวเท่านั้น
ก็ทรงตัดความสงสัยของเหล่าสัตว์เสียได้
[๓๔๕] พื้นแผ่นดินพึงเต็มด้วยมนุษย์ผู้เช่นกับจอกแหน
พวกเขาทั้งหมดพึงประคองอัญชลี
ประกาศคุณของพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๓๔๖] อีกอย่างหนึ่งเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น
เมื่อประกาศคุณอยู่ตลอดกัปหนึ่ง๒
พึงประกาศคุณโดยประการต่าง ๆ
ก็ยังไม่สามารถจะประกาศคุณให้สิ้นสุดได้
พระตถาคตมีพระคุณหาประมาณมิได้
[๓๔๗] ก็ข้าพระองค์สรรเสริญพระชินเจ้าด้วยกำลังของตนอย่างไร
เหล่าเทวดาและมนุษย์เมื่อสรรเสริญอยู่ตลอดโกฏิกัป
ก็พึงสรรเสริญอย่างนั้นเหมือนกัน

เชิงอรรถ :
๑ สมควรและไม่สมควร ในที่นี้หมายถึงผู้สามารถบรรลุธรรมและไม่สามารถบรรลุธรรม (ขุ.อป.อ.
๑/๓๔๒/๒๘๒)
๒ กัปหนึ่ง ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน กำหนดกันว่าโลกคือสากลจักรวาลประลัยครั้งหนึ่ง ท่านเปรียบด้วย
อุปมาว่า เหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง ด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๆ ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อบาง
ละเอียดอย่างดีมาลูบเขานั้นครั้งหนึ่ง ๆ จนกว่าภูเขาลูกนั้น จะสึกหรอหมดสิ้นไป กัปหนึ่งยังยาวนานกว่า
นั้นอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๔๘] ก็ถ้าใคร ๆ จะเป็นเทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม
ได้ศึกษามาเป็นอย่างดีแล้ว จะพึงกำหนดเพื่อจะประมาณ(คุณ)
ผู้นั้นจะพึงได้รับความลำบากเปล่า
[๓๔๙] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ดำรงอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว
สำเร็จปัญญาบารมีอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๓๕๐] ข้าพระองค์จะย่ำยีเหล่าเดียรถีย์
วันนี้ ข้าพระองค์เป็นจอมทัพธรรมในศาสนาของพระศากยบุตร
ประกาศศาสนาของพระชินเจ้า
[๓๕๑] กรรมที่ข้าพระองค์ได้ทำไว้ในกาลที่จะกำหนดจำนวนมิได้
แสดงผลแก่ข้าพระองค์แล้วในอัตภาพสุดท้ายนี้
ข้าพระองค์หลุดพ้นดีแล้ว ดุจกำลังลูกศรหลุดพ้นไปจากแล่ง
เผากิเลสของข้าพระองค์ได้แล้ว
[๓๕๒] มนุษย์คนใดคนหนึ่งพึงทูนของหนักไว้บนศีรษะตลอดเวลา
เขาต้องลำบากเพราะของหนัก
เป็นผู้เต็มไปด้วยของหนักทั้งหลาย
[๓๕๓] ข้าพระองค์ถูกไฟ ๓ กอง๑ เผาไหม้อยู่
เป็นผู้เต็มไปด้วยของหนักคือภพ๒ โดยประการนั้น
ท่องเที่ยวไปแล้วในภพทั้งหลาย
ภูเขาสิเนรุอันบุคคลถอนขึ้นแล้วฉันใด
[๓๕๔] ก็ภาระอันหนักข้าพระองค์ยกลงแล้ว
ภพทั้งหลายข้าพระองค์ก็เพิกได้แล้ว ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ไฟ ๓ กอง หมายถึงไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๕๒/๒๘๓, ๔๘๙-๙๐/๓๓๖)
๒ ของหนักคือภพ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดในภพ (ขุ.อป.อ. ๑/๓๕๒-๓/๒๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
กิจที่ควรทำทั้งหมด๑ในศาสนาของพระองค์ผู้ศากยบุตร
ข้าพระองค์ก็ได้กระทำสำเร็จแล้ว
[๓๕๕] ตลอดพุทธเขตยกเว้นพระผู้มีพระภาคผู้ศากยะ ผู้ประเสริฐ
ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา ไม่มีผู้เช่นกับข้าพระองค์
[๓๕๖] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาธิ ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์
วันนี้ เมื่อต้องการจะเนรมิตคน ๑,๐๐๐ คนก็ได้
[๓๕๗] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมหามุนี
เป็นผู้ชำนาญในอนุปุพพวิหารธรรม
ตรัสสอนแก่ข้าพระองค์ นิโรธสมาบัติเป็นที่นอนของข้าพระองค์
[๓๕๘] ข้าพระองค์มีทิพยจักษุบริสุทธิ์หมดจด
ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาธิ หมั่นประกอบในสัมมัปปธาน๒
ยินดีในการเจริญโพชฌงค์
[๓๕๙] ข้าพระองค์ได้ทำกิจทุกอย่างที่สาวกจะพึงบรรลุแล้ว
ยกเว้นพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกเสียแล้ว
ไม่มีผู้เช่นกับข้าพระองค์
[๓๖๐] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาบัติ
ได้ฌานและวิโมกข์๓ เร็วพลัน ยินดีในการเจริญโพชฌงค์
เป็นผู้บรรลุสาวกบารมีญาณ

เชิงอรรถ :
๑ กิจที่ควรทำทั้งหมด ในที่นี้หมายถึงกรรมเป็นเครื่องกำจัดกิเลสโดยลำดับแห่งมรรค (ขุ.อป.อ.
๑/๓๕๔/๒๘๔)
๒ สัมมัปปธานมี ๔ คือ (๑) เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น (๒) เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
(๓) เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น (๔) เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว (ที.ปา. ๑๑/๓๑๐/๒๐๑)
๓ วิโมกข์ คือ ภาวะที่จิตปลอดพ้นจากสิ่งรบกวนและน้อมดิ่งเข้าไปในอารมณ์นั้น ๆ อย่างปล่อยตัวเต็มที่
ในอรรถกถาหมายเอาโลกุตตรวิโมกข์ ๘ (อฏฺฐนฺนํ โลกุตฺตรวิโมกฺขานญฺจ ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๐/๒๘๔) คือ
๑-๒-๓. ผู้เจริญกสิณต่าง ๆ แล้วได้รูปฌาน ๔;๔-๖-๗. ผู้ได้อรูปฌาน ๔ ; ๘. ผู้ได้สัญญาเวทยิตนิโรธ
ดูอีก (สํ.นิ.อ. ๒/๗๐/๑๔๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๖๑] ข้าพระองค์เป็นคนมีคารวะอย่างสูงสุด๑
เพราะได้บรรลุสาวกบารมีญาณด้วยความรู้
ข้าพระองค์มีจิตอนุเคราะห์เพื่อนสพรหมจารี๒ด้วยศรัทธาทุกเมื่อ
[๓๖๒] ข้าพระองค์ละทิ้งความถือตัวและความเย่อหยิ่งแล้ว
ดุจงูถูกถอนเขี้ยวเสียแล้ว๓ (หรือ) ดุจโคอุสภะตัวเขาหักเสียแล้ว
เข้าหาหมู่คณะด้วยความเคารพหนักแน่น
[๓๖๓] หากปัญญาของข้าพระองค์จะพึงมีรูปร่าง
ปัญญาของข้าพระองค์ก็จะต้องเสมอกับพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย
นี้เป็นผลของการชมเชยพระญาณของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าอโนมทัสสี
[๓๖๔] ข้าพระองค์ประพฤติตามโดยชอบซึ่งพระธรรมจักร๔
นี้เป็นผลของการชมเชยพระญาณ
[๓๖๕] บุคคลผู้มีความปรารถนาเลวทราม เป็นคนเกียจคร้าน
ละความเพียร มีการศึกษาน้อย ไม่มีมารยาท๕
อย่าได้มาสมาคมกับข้าพระองค์ในที่ไหน ๆ สักคราวเลย

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ปุริสุตฺตมคารวา ในฉบับพม่า และ ขุ. เถร. อ. ๒/๔๓๓ (ซึ่งท่านยกคาถาจากอปทานไปกล่าวไว้)เป็น
ปุริสุตฺตมภารวา จึงแปลตามนั้น ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่า เพราะคำว่า ปุริสุตฺตมคารวา เป็นพหูพจน์ ดูไม่สม
กับข้อความข้างต้นและข้างท้าย ซึ่งท่านกล่าวเป็นเอกพจน์ ส่วน ปุริสุตฺตมภารวา เป็นเอกพจน์ สมกับ
ข้างต้นและข้างท้าย ในอปทานอรรถกถาท่านมิได้แก้ไว้
๒ เพื่อนสพรหมจารี หมายถึงผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน เพื่อนบรรพชิต
๓ คำว่า อุทฺธฏทาโฒ ฉบับพม่าและอรรถกถาเป็น อุทฺธตวิโส ถูกรีดพิษออกแล้ว (ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๒/๒๘๔)
๔ ธรรมจักร ในที่นี้หมายถึงพระไตรปิฎก (พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม) (ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๔/๒๘๕)
๕ หีน ใช้ในอรรถว่าละ หา จาเค อิโน ทีฆาทิ หีโน = หา ธาตุใช้ในอรรถว่าละ อินปัจจัย ทีฆะต้นธาตุ
สำเร็จรูปเป็นหีโน (อภิธา.ฏีกา ข้อ ๗๕๔), มีความปรารถนาเลวทราม หมายถึงมีความปรารถนาลามกแล้ว
ประพฤติชั่ว,
เป็นคนเกียจคร้าน หมายถึงเกียจคร้านในการทำวัตรปฏิบัติในอิริยาบถมีการยืนและนั่งเป็นต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
[๓๖๖] ส่วนบุคคลผู้มีการศึกษามาก มีปัญญา
มีจิตตั้งมั่นดีในศีลทั้งหลาย หมั่นประกอบความสงบทางใจ
ขอจงมาดำรงอยู่บนศีรษะของข้าพระองค์เถิด
[๓๖๗] (เมื่อพระสารีบุตรเถระจะชักชวนภิกษุอื่น ๆ
ในคุณสมบัตินั้น จึงกล่าวว่า)
เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวกับท่านทั้งหลาย
ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย
ตามจำนวนที่มาประชุมกัน ณ ที่นี้
ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มักน้อย สันโดษ
ยินดีให้ทานทุกเมื่อเถิด
[๓๖๘] ข้าพเจ้าพบสาวกรูปใดก่อนแล้ว
ได้เป็นผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส ปราศจากมลทินคือกิเลส
สาวกรูปนั้นมีนามว่าอัสสชิ เป็นนักปราชญ์ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า
[๓๖๙] ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระอัสสชิเถระนั้น
วันนี้ ข้าพเจ้าได้เป็นธรรมเสนาบดีถึงความสำเร็จในคุณทั้งปวง
จึงอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๓๗๐] พระสาวกรูปใดชื่อว่าอัสสชิ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า
อยู่ ณ ทิศใด ข้าพเจ้าจะนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น
[๓๗๑] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ
ทรงระลึกถึงกรรมของข้าพเจ้าแล้ว
ประทับนั่งท่ามกลางหมู่ภิกษุ
ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอัครสาวก
[๓๗๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าเผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว

เชิงอรรถ :
ละความเพียร หมายถึงละความเพียรในการเจริญฌาณ สมาธิและมรรคเป็นต้น
มีการศึกษาน้อย หมายถึงเว้นจากคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ
ไม่มีมารยาท หมายถึงไม่มีมารยาทในบุคคลมีอาจารย์และอุปัชฌาย์เป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๓๖๕/๒๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑. สารีปุตตเถราปทาน
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้อยู่อย่างอิสระ
[๓๗๓] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วหนอ
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๗๔] คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔๑ วิโมกข์ ๘๒
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว๓ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสารีบุตรเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สารีปุตตเถราปทานที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ปฏิสัมภิทา ๔ คือ (๑) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ, ปรีชาแจ้งในความหมาย (๒) ธัมมปฏิ-
สัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม, ปรีชาแจ้งในหลัก (๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ
ปรีชาแจ้งในภาษา (๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ, ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ มี
ไหวพริบ (องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๗๒/๒๔๒-๒๔๓, ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑๑๐/๑๗๐, อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๗๒๕/
๔๖๑)
๒ วิโมกข์ ๘ คือ (๑) ผู้มีรูป มองเห็นรูปทั้งหลาย (ได้แก่รูปฌาน ๔ ของผู้ได้ฌาน โดยเจริญกสิณที่กำหนด
วัตถุในกายของตน เช่น สีผม) (๒) ผู้มีอรูปสัญญาภายใน มองเห็นรูปทั้งหลายภายนอก (ได้แก่ อรูปฌาน
๔ ของผู้ได้ฌาน โดยเจริญกสิณกำหนดอารมณ์ภายนอก) (๓) ผู้น้อมใจดิ่งไปว่า “งาม” (ได้แก่ ฌานของ
ผู้เจริญวรรณกสิณกำหนดสีที่งาม หรือเจริญอัปปมัญญา) (๔) เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดย
ประการทั้งปวงเพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพระไม่ใส่ใจนานัตตสัญญา จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ โดย
มนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ (๕) เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึง
วิญญาณัญจายตนะโดยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ (๖) เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดย
ประการทั้งปวง จึงเข้าถึงอากิญจัญญายตนะโดยมนสิการว่าไม่มีอะไรเลย (๗) เพราะล่วงเสียซึ่ง
อากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวงจึงเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่ (๘) เพราะล่วงเสียซึ่งเนว-
สัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวงจึงเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ (ที.ปา. ๑๑/๓๓๙/๒๓๑, องฺ.อฏฺฐก.
(แปล) ๒๓/๖๖/๒๕๓) หรือ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ หรือ รูปฌาน และอรูปฌาน (ขุ.อป.อ. ๑/๓๗๑/๒๘๖)
๓ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้ทำให้สำเร็จแล้ว หมายถึงคำสั่งสอนเป็นอนุศาสนีและโอวาท
ของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าให้สำเร็จด้วยอรหัตตมรรคญาณ (ขุ.อป.อ. ๑/๗๔๑/๒๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๒. มหาโมคคัลลานเถราปทาน
๒. มหาโมคคัลลานเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหาโมคคัลลานเถระ
(พระมหาโมคคัลลานเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าว
ว่า)
[๓๗๕] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน
มีหมู่เทวดาห้อมล้อมประทับอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
[๓๗๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดเป็นพญานาคมีนามว่าวรุณ
เนรมิตรูปได้ตามที่ต้องการ แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ
อาศัยอยู่ในทะเลใหญ่
[๓๗๗] ข้าพเจ้าละหมู่นาคซึ่งเป็นบริวารประจำ ให้เริ่มบรรเลงดนตรี
ในครั้งนั้น หมู่นางนาคแวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
พากันประโคมดนตรี
[๓๗๘] เมื่อดนตรีประโคมอยู่ เหล่าเทวดาก็ประโคมดนตรี
พระพุทธเจ้าได้ทรงสดับเสียงดนตรีของทั้ง ๒ ฝ่ายแล้วก็ทรงทราบ
[๓๗๙] ข้าพเจ้านิมนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า๑ แล้วเข้าไปยังภพของตน
ปูลาดอาสนะ แล้วจึงกราบทูลเวลา
[๓๘๐] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
มีพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ รูป แวดล้อม (ทรงเปล่งรัศมี)
ทำทิศทั้งปวงให้สว่างไสว เสด็จเข้าไปยังภพของข้าพเจ้า
[๓๘๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าอังคาสพระผู้มีพระภาค
ผู้มีความเพียรมาก ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ผู้องอาจกว่านรชน
และหมู่ภิกษุให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ

เชิงอรรถ :
๑ หมายรวมถึงหมู่พระสาวกด้วย เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น (ขุ.อป.อ. ๑/๓๗๙/๒๘๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๒. มหาโมคคัลลานเถราปทาน
[๓๘๒] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีความเพียรมาก
ผู้เป็นพระสยัมภู เป็นบุคคลผู้เลิศ ทรงอนุโมทนาแล้ว
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๘๓] บุคคลใดได้บูชาพระสงฆ์ และได้บูชาพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
บุคคลนั้นจักไปเกิดยังเทวโลก
[๓๘๔] จักครองเทวสมบัติ ๗๗ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน ๑๐๘ ชาติ
[๓๘๕] และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๕ ชาติ
โภคสมบัตินับจำนวนไม่ถ้วนจักเกิดขึ้นแก่เขาในขณะนั้น
[๓๘๖] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๓๘๗] เขาจุติจากนรกแล้วจักมาเกิดเป็นมนุษย์
เป็นบุตรของพราหมณ์มีนามว่าโกลิตะ
[๓๘๘] ภายหลัง เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จักบวชเป็นสาวกองค์ที่ ๒ ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๓๘๙] เป็นผู้บำเพ็ญเพียร๑ มีใจเด็ดเดี่ยว(เพื่อนิพพาน)
ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๓๙๐] (พระเถระครั้นกล่าวคำพยากรณ์ที่ตนได้รับแล้ว
เมื่อจะประกาศความประพฤติชั่วจึงกล่าวว่า)
ข้าพเจ้าคลุกคลีมิตรชั่ว ตกอยู่ในอำนาจกามราคะ
มีใจโกรธเคือง ได้ฆ่ามารดาและบิดาเสียแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ผู้บำเพ็ญเพียร หมายถึงมีความเพียรในอิริยาบถทั้งหลายมีการยืนการนั่งเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๓๘๙/๒๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๒. มหาโมคคัลลานเถราปทาน
[๓๙๑] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ คือ จะเป็นนรกหรือมนุษย์ก็ตาม
เพราะเป็นผู้มากด้วยความชั่ว ข้าพเจ้าจึงถูกทุบศีรษะตาย
[๓๙๒] นี้เป็นกรรมครั้งสุดท้ายของข้าพเจ้า
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
กรรมเช่นนี้จักปรากฏแก่ข้าพเจ้าในเวลาจะตายแม้ในชาตินี้
[๓๙๓] ข้าพเจ้าหมั่นประกอบความสงัด ยินดีในการเจริญสมาธิ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๓๙๔] (เมื่อพระเถระจะประกาศผลแห่งความประพฤติในก่อน จึงกล่าวว่า)
ข้าพเจ้าถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ พึงใช้นิ้วหัวแม่เท้าข้างซ้าย
เขี่ยแผ่นดินซึ่งทั้งลึกทั้งหนาที่อะไร ๆ กำจัดได้ยาก ให้ไหวได้
[๓๙๕] ข้าพเจ้าไม่เห็นอัสมิมานะ(ถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่)
ข้าพเจ้าไม่มีความถือตัว
ข้าพเจ้ากระทำจิตให้มีความเคารพ แม้กระทั่งสามเณร
[๓๙๖] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญกรรมใดไว้
ข้าพเจ้าได้บรรลุถึงภูมินั้น๑ แล้วบรรลุความสิ้นอาสวะ
[๓๙๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
มหาโมคคัลลานเถราปทานที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ภูมินั้น หมายถึงสาวกภูมิ ซึ่งหมายถึงบรรลุพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๓๙๖/๓๐๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๓. มหากัสสปเถราปทาน
๓. มหากัสสปเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหากัสสปเถระ
(พระมหากัสสปเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๙๘] ประชาชนพากันทำการบูชาพระผู้มีพระภาค
ผู้ศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
ในเมื่อพระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
[๓๙๙] หมู่ชนมีจิตร่าเริง บันเทิงเบิกบาน ทำการบูชา
เมื่อหมู่ชนนั้นเกิดความสังเวช แต่ข้าพเจ้าเกิดความปีติยินดี
[๔๐๐] ข้าพเจ้าได้เชิญญาติมิตรมาประชุมกันแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคผู้มีความเพียรมากได้ปรินิพพานแล้ว
ขอเชิญพวกเรามาทำการบูชาเถิด
[๔๐๑] ญาติมิตรของข้าพเจ้าเหล่านั้นรับคำแล้ว
ก็ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความร่าเริงเป็นอย่างยิ่งว่า
พวกเราจักทำการสั่งสมบุญ
ในพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
[๔๐๒] ข้าพเจ้าได้ช่วยกันสร้างอัคฆิยเจดีย์
เป็นเจดีย์ที่สร้างอย่างดี สูง ๑๐๐ ศอก กว้าง ๑๕๐ ศอก
เป็นดังวิมานสูงเสียดฟ้า สั่งสมบุญไว้แล้ว
[๔๐๓] ข้าพเจ้าครั้นสร้างอัคฆิยเจดีย์ ซึ่งงดงามด้วยแนวแห่งต้นตาล
ไว้ใกล้สถานที่ที่ทำการบูชาเจดีย์นั้นแล้ว
ทำจิตของตนให้เลื่อมใส บูชาเจดีย์อันสูงสุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๓. มหากัสสปเถราปทาน
[๔๐๔] พระเจดีย์นั้นรุ่งเรืองอยู่(ด้วยรัตนะทั้ง ๗)
ดุจกองไฟลุกโพลงอยู่ ส่องสว่างทั่วทั้ง ๔ ทิศ
ดุจต้นพญาไม้สาละออกดอกบานสะพรั่ง และดุจสายรุ้งในอากาศ
[๔๐๕] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในห้องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้น
สร้างกุศลเป็นอันมากแล้วระลึกถึงบุพกรรมแล้ว
จึงไปเกิดยังสวรรค์ชั้นไตรทิพย์
[๔๐๖] ข้าพเจ้าอธิษฐานยานทิพย์เทียมด้วยม้าสินธพ ๑,๐๐๐ ตัว
วิมานของข้าพเจ้า สูงตระหง่าน ๗ ชั้น
[๔๐๗] (ในวิมานนั้น) มีเรือนยอด ๑,๐๐๐ หลัง ทำด้วยทองคำล้วน
รุ่งเรืองด้วยเดชของตน ส่องสว่างทั่วทุกทิศ
[๔๐๘] ครั้งนั้น มีศาลาหน้ามุขทำด้วยแก้วทับทิมแม้เหล่าอื่นอยู่
ศาลาหน้ามุขแม้เหล่านั้นมีรัศมีโชติช่วงรอบ ๆ ทั้ง ๔ ทิศ
[๔๐๙] เรือนยอดซึ่งเกิดขึ้นด้วยบุญกรรม
ที่บุญกรรมเนรมิตไว้อย่างดี
ทำด้วยแก้วมณี โชติช่วงโดยรอบทั่วทุกทิศ
[๔๑๐] แสงสว่างแห่งเรือนยอดซึ่งโชติช่วงอยู่เหล่านั้นได้สว่างเจิดจ้า
ข้าพเจ้าปกครองเทวดาทั้งปวง นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๔๑๑] ในกัปที่ ๖๐,๐๐๐ (นับแต่กัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์นามว่าอุพพิทธะ มีชัยชนะ
มีทวีปทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ครองแผ่นดิน
[๔๑๒] ในภัทรกัปก็อย่างนั้นเหมือนกัน
ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้มีพลานุภาพมาก
ยินดีพอใจในกรรมของตน๑ ถึง ๓๐ ชาติ

เชิงอรรถ :
๑ กรรมของตน ในที่นี้หมายถึงทศพิธราชธรรม ธรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน ๑๐ ประการ คือ ทาน (การ
ให้สิ่งของ) ศีล (ประพฤติดีงาม) ปริจจาคะ (ความเสียสละ) อาชชวะ (ความซื่อตรง) มัททวะ (ความอ่อนโยน)
ตบะ (ไม่หมกมุ่นในความสุขสำราญ) อักโกธะ (ความไม่โกรธ) อวิหิงสา (ความไม่ข่มเหงเบียดเบียน)
ขันติ (ความอดทน) อวิโรธนะ (ความไม่คลาดธรรม) (ขุ.อป.อ. ๑/๔๑๒-๓/๓๒๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๓. มหากัสสปเถราปทาน
[๔๑๓] ข้าพเจ้าเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
ในคราวเป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้น
ปราสาทของข้าพเจ้าสูงตระหง่านดังสายรุ้ง
[๔๑๔] ปราสาทนั้นยาว ๒๔ โยชน์ กว้าง ๑๒ โยชน์
มีกรุงชื่อว่ารัมมกะ มีกำแพงและค่ายมั่นคง
[๔๑๕] นครนั้น มีกำแพงและค่ายยาว ๕๐๐ โยชน์
กว้าง ๒๕๐ โยชน์ มีหมู่ชนพลุกพล่านขวักไขว่
ดังเมืองสวรรค์ชั้นไตรทิพย์
[๔๑๖] เข็ม ๒๕ เล่มที่ใส่ไว้ในกล่องเข็มแล้ว
ย่อมกระทบกันและกัน เบียดเสียดกันเป็นนิตย์ ฉันใด
[๔๑๗] แม้กรุงของข้าพเจ้าก็ฉันนั้น
พลุกพล่านขวักไขว่ไปด้วยช้าง ม้า และรถ
มีมนุษย์ ขวักไขว่น่ารื่นรมย์ เป็นกรุงอันอุดม
[๔๑๘] ข้าพเจ้า ดื่ม กิน อยู่ในกรุงนั้น แล้วกลับไปเกิดเป็นเทวดาอีก
ในภพสุดท้าย กุศลสมบัติได้มีแก่ข้าพเจ้า
[๔๑๙] ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลพราหมณ์ สะสมรัตนะไว้เป็นอันมาก
สละทรัพย์ ๘๐ โกฏิ แล้วออกบวช
[๔๒๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมหากัสสปเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มหากัสสปเถราปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๔. อนุรุทธเถราปทาน
๔ อนุรุทธเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอนุรุทธเถระ
(พระอนุรุทธเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๒๑] ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสุเมธะ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จหลีกเร้นอยู่
[๔๒๒] ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ได้ประคองอัญชลี
ทูลอ้อนวอนพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดว่า
[๔๒๓] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงมีความเพียรมาก ผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน ขอพระองค์ทรงอนุเคราะห์ด้วยเถิด
ข้าพระองค์จะถวายประทีปแด่พระองค์ ผู้เข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้
[๔๒๔] พระสยัมภูธีรเจ้า ทรงเป็นผู้ประเสริฐ
กว่าเจ้าลัทธิทั้งหลายพระองค์นั้นทรงรับแล้ว
ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เจาะต้นไม้ประกอบประทีปยนต์
[๔๒๕] ข้าพเจ้าได้มอบถวายไส้ตะเกียง ๑,๐๐๐ ไส้
แด่พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
ดวงประทีปทั้งหลายลุกโพลงอยู่ตลอด ๗ วันแล้วก็ดับไปเอง
[๔๒๖] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้นและด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้วได้ไปเกิดยังวิมาน
[๔๒๗] เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นเทวดา
วิมานที่กรรมเนรมิตไว้ดีแล้ว ย่อมรุ่งเรืองรอบด้าน
นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๔. อนุรุทธเถราปทาน
[๔๒๘] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ารุ่งเรืองทั่วตลอดหนึ่งโยชน์โดยรอบ
ย่อมปกครองเทวดาทั้งปวง
นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป
[๔๒๙] ข้าพเจ้าได้เป็นจอมเทพครองเทวสมบัติอยู่ถึง ๓๐ กัป
ไม่ว่าจะเป็นใครก็ดูหมิ่นข้าพเจ้าไม่ได้
นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป
[๔๓๐] ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๘ ชาติ
และในครั้งนั้น ข้าพเจ้ามองเห็นได้ตลอดหนึ่งโยชน์
โดยรอบทั้งกลางวันและกลางคืน
[๔๓๑] ข้าพเจ้าได้ตาทิพย์ ย่อมมองเห็นได้ตลอด ๑,๐๐๐ จักรวาล
ด้วยญาณในศาสนาของพระศาสดา
นี้เป็นผลแห่งการถวายดวงประทีป
[๔๓๒] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใส ได้ถวายดวงประทีปแด่พระองค์
[๔๓๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอนุรุทธเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อนุรุทธเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๕. ปุณณมันตานีปุตตาเถราปทาน
๕. ปุณณมันตานีปุตตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุณณมันตานีบุตรเถระ
(พระปุณณมันตานีบุตรเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึง
กล่าวว่า)
[๔๓๔] ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์
จบไตรเพท ห้อมล้อมด้วยศิษย์ทั้งหลายแล้ว
ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้สูงสุดแห่งนรชน
[๔๓๕] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ทรงเป็นมหามุนี ได้ประกาศกรรมของข้าพเจ้าโดยย่อ
[๔๓๖] ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมนั้นแล้ว จึงถวายอภิวาทพระศาสดา
ประคองอัญชลี บ่ายหน้าหลีกไปทางทิศใต้
[๔๓๗] ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมมาโดยย่อแล้วแสดงได้โดยพิสดาร
ศิษย์ทุกคนต่างพอใจฟังข้าพเจ้ากล่าวอยู่
แล้วบรรเทาทิฏฐิของตน
ต่างทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
[๔๓๘] แม้โดยย่อข้าพเจ้าก็แสดงได้ โดยพิสดารก็แสดงได้เหมือนกัน
เป็นผู้มีความรู้ในนัยแห่งพระอภิธรรม
เป็นผู้ฉลาดในกถาวัตถุปกรณ์อย่างหมดจด
ให้ปวงชนได้รู้แจ่มแจ้งแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๔๓๙] ในกัปที่ ๕๐๐ นับจากภัทรกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีชื่อเสียงถึง ๔ ชาติ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ ทรงเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๔๔๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้
ได้ทราบว่า ท่านพระปุณณมันตานีบุตรเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ปุณณมันตานีปุตตเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. อุปาลิเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุบาลีเถระ
(พระอุบาลีเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๔๑] ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์มีนามว่าสุชาตะ
ในกรุงหงสวดี มีกองทรัพย์ ๘๐ โกฏิ
มีทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นอันมาก
[๔๔๒] เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์
จบไตรเพท สำเร็จในคัมภีร์พยากรณ์ลักษณะ
คัมภีร์อิติหาสะ และไตรเพท อันเป็นธรรมของตน
[๔๔๓] ครั้งนั้น เหล่าปริพาชกผู้มีผมปอยเดียว
สาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเชื้อสายพระอาทิตย์
และเหล่าดาบสผู้เที่ยวสัญจร
พากันท่องเที่ยวไปบนพื้นแผ่นดิน
[๔๔๔] แม้พวกเขาก็พากันห้อมล้อมข้าพเจ้า
ด้วยสำคัญว่า เป็นพราหมณ์ มีชื่อเสียง
ชนจำนวนมากพากันบูชาข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าไม่บูชาใคร ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๔๔๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นใครว่าเป็นผู้ที่ควรบูชา จึงถือตัวจัด
พระชินเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้นมาตราบใด
คำว่า พุทธะ ก็ยังไม่มีตราบนั้น
[๔๔๖] เมื่อวันคืนล่วงไป พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงเป็นผู้นำ ผู้มีพระจักษุ
เสด็จอุบัติขึ้นมาบรรเทาความมืดทั้งปวงในโลก
[๔๔๗] เมื่อศาสนาแผ่ไปกว้างขวาง มีท่านผู้รู้มากและเป็นปึกแผ่น
ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้าไปยังกรุงหงสวดี
[๔๔๘] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุพระองค์นั้น
ได้ทรงแสดงธรรมเป็นประโยชน์แก่พระบิดา
มีชุมนุมชนอยู่โดยรอบตลอดหนึ่งโยชน์ ตามเวลานั้น
[๔๔๙] ครั้งนั้น สุนันทดาบสได้รับสมมติจากหมู่ชน(ว่าเป็นเลิศ)
ได้ใช้ดอกไม้บังแดดทั่วพุทธบริษัท
[๔๕๐] เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศสัจจะ ๔
ณ มณฑปดอกไม้ที่งดงาม
เหล่าสัตว์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิได้บรรลุธรรม
[๔๕๑] พระพุทธเจ้าทรงบันดาลหยาดฝนคือพระธรรม
ให้ตกลงตลอดทั้ง ๗ คืน ๗ วัน
พอถึงวันที่ ๘ พระชินเจ้าก็ได้ทรงพยากรณ์สุนันทดาบสว่า
[๔๕๒] ท่านผู้นี้ เมื่อเวียนว่ายตายเกิดในเทวโลกหรือมนุษยโลก
ก็จักเป็นผู้ประเสริฐกว่าใครทั้งหมด
จักเวียนว่ายตายเกิดในภพทั้งหลาย
[๔๕๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาทรงพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๔๕๔] ท่านผู้นี้จักเป็นบุตรของนางมันตานี มีนามว่าปุณณะ
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
[๔๕๕] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า๑
ทรงพยากรณ์สุนันทดาบสอย่างนี้แล้ว
ทำให้ประชาชนทั้งปวงร่าเริง ทรงแสดงกำลังของพระองค์
[๔๕๖] ครั้งนั้น๒ ประชาชนประนมมือไหว้สุนันทดาบส
แต่สุนันทดาบสครั้นทำสักการะในพระพุทธเจ้าแล้ว
ก็ได้ชำระคติ(กำเนิด)ของตนให้บริสุทธิ์หมดจด
[๔๕๗] เพราะข้าพเจ้าได้ฟังพระดำรัสของพระมุนี ณ ที่นั้น
จึงได้มีความดำริว่า เราจักสั่งสมบุญ
โดยประการที่จะได้พบพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๔๕๘] ครั้นข้าพเจ้าคิดอย่างนี้แล้ว ก็คิดถึงกิจที่เราควรทำว่า
เราจะบำเพ็ญบุญกรรมเช่นไร ในเนื้อนาบุญที่ยอดเยี่ยม
[๔๕๙] บรรดาภิกษุผู้เป็นนักสวดทั้งหมดในศาสนา
ภิกษุรูปนี้เป็นนักสวดรูปหนึ่ง
ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้เลิศในทางวินัย
ตำแหน่งนั้นข้าพเจ้าปรารถนา๓แล้ว
[๔๖๐] โภคสมบัติของข้าพเจ้านี้นับประมาณมิได้
เปรียบดังห้วงน้ำที่ไม่มีอะไร ๆ ทำให้กระเพื่อมได้ (นับไม่ได้)
ข้าพเจ้าได้จ่ายโภคสมบัตินั้นสร้างอารามถวายพระพุทธเจ้า

เชิงอรรถ :
๑ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึงพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ (ขุ.อป.อ. ๑/๔๕๕/๓๓๓)
๒ ครั้งนั้น ในที่นี้หมายถึงก่อนที่พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระจะเสด็จอุบัติขึ้นมา (ขุ.อป.อ. ๑/๕๖/๓๓๓)
๓ ท่านได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งพระวินัยธรผู้เลิศกว่าพระ
วินัยธรทุกรูป จึงได้สักการะพระศาสดาแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้นบ้าง (ขุ.อป.อ. ๑/๔๕๙/๓๓๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๔๖๑] ข้าพเจ้าจ่ายทรัพย์หนึ่งแสนซื้อสวนชื่อว่าโสภณะ
ด้านทิศตะวันออกนคร สร้างให้เป็นสังฆาราม
[๔๖๒] ข้าพเจ้าได้สร้างเรือนยอด ปราสาท มณฑป
เรือนโล้น ถ้ำ และที่จงกรมไว้ในสังฆารามอย่างดี
[๔๖๓] ข้าพเจ้าได้สร้างเรือนไฟ โรงไฟ
โรงน้ำ และห้องอาบน้ำ ถวายแด่หมู่ภิกษุ
[๔๖๔] ข้าพเจ้าได้ถวายเก้าอี้นอน ตั่ง
ภาชนะสำหรับใช้สอย คนวัด และเภสัชนั้นครบทุกอย่าง
[๔๖๕] ข้าพเจ้าได้จัดตั้งอารักขาไว้ ให้สร้างกำแพงอย่างมั่นคง
ด้วยหวังว่า ใคร ๆ อย่าได้รบกวนอารามแห่งนั้น
ของท่านผู้มีจิตสงบ ผู้คงที่เลย
[๔๖๖] ข้าพเจ้าได้จ่ายทรัพย์หนึ่งแสนสร้างที่อยู่ไว้ในสังฆาราม
ครั้นให้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงน้อมถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
[๔๖๗] ข้าแต่พระมุนี ข้าพระองค์สร้างอารามเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ขอพระองค์ทรงรับเถิด ข้าแต่พระธีรเจ้าผู้มีพระจักษุ
ข้าพระองค์ขอมอบถวายแด่พระองค์ ขอพระองค์ทรงรับเถิด
[๔๖๘] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ทรงเป็นผู้นำ
ทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว จึงทรงรับไว้
[๔๖๙] ข้าพเจ้าทราบการรับของพระสัพพัญญู
ผู้แสวงหาพระคุณอันยิ่งใหญ่
จึงตระเตรียมโภชนาหารแล้ว ไปกราบทูลภัตตกาล
[๔๗๐] เมื่อข้าพเจ้ากราบทูลภัตตกาลแล้ว
พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงเป็นผู้นำ
พร้อมด้วยพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ รูป
ได้เสด็จมาสู่อารามของข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๔๗๑] ข้าพเจ้าทราบเวลาที่พระองค์ประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว
จึงอังคาสให้อิ่มหนำ
ทราบเวลาที่เสวยเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบทูลคำนี้ว่า
[๔๗๒] อารามชื่อโสภณะข้าพระองค์จ่ายทรัพย์หนึ่งแสนซื้อมา
ได้สร้างจนเสร็จเรียบร้อยด้วยทรัพย์จำนวนเท่านั้นเช่นกัน
ข้าแต่พระมุนี ขอพระองค์ทรงรับเถิด
[๔๗๓] ด้วยการถวายพระอารามแห่งนี้และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
เมื่อข้าพระองค์บังเกิดในภพ
ขอจงได้สิ่งที่ข้าพระองค์ปรารถนาเถิด
[๔๗๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับสังฆาราม
ที่ข้าพเจ้าสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ประทับนั่งท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๔๗๕] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายสังฆาราม
ซึ่งสร้าง(กุฏิ ที่เร้น มณฑป ปราสาท เรือนโล้น และกำแพงเป็นต้น)
เสร็จเรียบร้อยแล้วแด่พระพุทธเจ้า
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๔๗๖] กองทัพ ๔ เหล่า คือ พลช้าง พลม้า
พลรถ และพลเดินเท้า จะแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม
[๔๗๗] เครื่องดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้น
กลองที่ประดับตกแต่งสวยงาม จะแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม
[๔๗๘] สาวรุ่น ๘๖,๐๐๐ นาง ผู้ประดับตกแต่งสวยงาม
สวมใส่ผ้าอาภรณ์อย่างงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๔๗๙] มีหน้ากลมโต๑ มีปกติร่าเริง รูปร่างงาม
เอวเล็กเอวบาง จักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม
[๔๘๐] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๔๘๑] จักได้สิ่งของทุกอย่างที่ท้าวเทวราชจะพึงได้
เป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่รู้จักพร่อง ครองเทวสมบัติ
[๔๘๒] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในแว่นแคว้น ๑,๐๐๐ ชาติ
เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๔๘๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ กัป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๔๘๔] ท่านผู้นี้จักมีนามว่าอุบาลี
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
[๔๘๕] จักถึงความสำเร็จในวินัย เป็นผู้ฉลาดในฐานะและมิใช่ฐานะ๒
ดำรงศาสนาของพระชินเจ้าไว้ได้ อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๔๘๖] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ
ทรงทราบความนั้นทั้งหมดแล้ว
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
จักทรงตั้ง(อุบาลี)ไว้ในเอตทัคคะ

เชิงอรรถ :
๑ มีหน้ากลมโต ในที่นี้แปลตามบาลี อาฬารมุขา แต่อรรถกถาเป็น อาฬารปมฺหา (ขุ.อป.อ. ๑/๔๗๙/๓๓๕)
และข้ออื่น ๆ ในเล่มเดียวกัน เช่นข้อ ๙๕/๑๐๕,๗๖/๔๒๙ เป็น อาฬารปมฺหา เหมือนกันแปลว่า มีตา
กลมโต
๒ ฐานะและมิใช่ฐานะ หมายถึงเหตุและมิใช่เหตุ (ขุ.อป.อ. ๑/๔๘๕/๓๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๔๘๗] ข้าพระองค์ปรารถนาศาสนาของพระองค์๑
เริ่มต้นตั้งแต่(หลายแสน)กัปที่นับมิได้
ข้าพระองค์ได้บรรลุประโยชน์นั้น
ทั้งได้บรรลุความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงตามลำดับ
[๔๘๘] คนถูกคุกคามด้วยพระราชอาญา
ถูกเสียบไว้ที่หลาวแล้ว ไม่ได้ความสำราญที่หลาว
ต้องการแต่จะหลุดพ้นไปอย่างเดียว ฉันใด
[๔๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ถูกคุกคามด้วยอาชญาคือภพ ถูกเสียบไว้ที่หลาวคือกรรม
ถูกเวทนาคือความกระหายบีบคั้นแล้ว
[๔๙๐] ไม่ประสบความสำราญในภพ
ถูกไฟ ๓ กอง๒ แผดเผาอยู่ แสวงหาอุบายรอดพ้น
ดุจคนแสวงหาอุบายรอดพ้นจากพระราชอาญา ฉะนั้น
[๔๙๑] คนดื่มยาพิษ ถูกยาพิษบีบคั้น
เขาจึงแสวงหายากำจัดยาพิษ
[๔๙๒] เมื่อแสวงหา จึงได้พบยากำจัดยาพิษ
ดื่มยานั้นแล้วก็มีความสุข เพราะรอดพ้นจากยาพิษ ฉันใด
[๔๙๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ข้าพระองค์ก็เป็นเหมือนคนถูกยาพิษทำร้าย
ถูกอวิชชาบีบคั้น จึงแสวงหายาคือพระสัทธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ข้าพระองค์ปรารถนาศาสนาของพระองค์ คือข้าพเจ้าปรารถนาจะเป็นผู้เลิศกว่าใคร ๆ ในทางทรงจำวินัย
ในศาสนาของพระโคดมผู้มีพระภาค (ขุ.อป.อ. ๑/๔๘๗/๓๓๖)
๒ ไฟ ๓ กอง ได้แก่ ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ หรือไฟในนรก ไฟที่เกิดขึ้นในกัป ไฟคือทุกข์
(ขุ.อป.อ. ๑/๔๘๙-๙๐/๓๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๔๙๔] เมื่อแสวงหายาคือพระธรรมก็ได้พบศาสนาของพระศากยะ
ศาสนานั้นเป็นยาชั้นเลิศกว่ายาทุกขนาน
สำหรับบรรเทาลูกศรทุกชนิด๑
[๔๙๕] ข้าพระองค์ดื่มธรรมโอสถแล้วก็ถอนพิษได้ทั้งหมด
ข้าพระองค์ได้สัมผัสพระนิพพาน ซึ่งไม่แก่ ไม่ตาย
เป็นภาวะเย็นสนิท
[๔๙๖] คนถูกผีคุกคาม ถูกผีสิงบีบคั้น
พึงแสวงหาหมอผี เพื่อรอดพ้นจากผี
[๔๙๗] เมื่อแสวงหา ก็ได้พบหมอผีผู้ฉลาดในวิชาไล่ผี
หมอผีนั้นจึงขับไล่ผีให้คนนั้น
และทำผีพร้อมทั้งต้นเหตุให้พินาศ ฉันใด
[๔๙๘] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ถูกผีคือความมืด(คือกิเลส)เบียดเบียน
จึงแสวงหาแสงสว่างคือญาณเพื่อรอดพ้นจากความมืด
[๔๙๙] ต่อมา ข้าพระองค์ได้พบพระศากยมุนีผู้ชำระความมืดคือกิเลส
พระศากยมุนีนั้น ทรงบรรเทาความมืดให้ข้าพระองค์
ดุจหมอผีขับไล่ผีไป ฉะนั้น
[๕๐๐] ข้าพระองค์ได้ตัดกระแสการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว
ห้ามกระแสแห่งตัณหาได้ ถอนภพขึ้นได้หมดสิ้น
ดุจหมอผีขับไล่ผีไปพร้อมทั้งต้นเหตุ ฉะนั้น
[๕๐๑] พญาครุฑโฉบลงจับนาคซึ่งเป็นภักษาของตน
ย่อมทำน้ำในสระใหญ่ให้กระเพื่อมถึง ๑๐๐ โยชน์ โดยรอบ

เชิงอรรถ :
๑ ลูกศรทุกชนิด ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๔๙๔/๓๓๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๐๒] ครั้นพญาครุฑนั้นจับนาคได้แล้ว เบียดเบียนนาค ให้ห้อยหัวลง
มันจับนาคพาบินไปได้ตามความปรารถนา ฉันใด
[๕๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ข้าพระองค์ก็เหมือนพญาครุฑที่มีพลัง
แสวงหาอสังขตธรรม๑ ได้ชำระโทษทั้งหลายแล้ว
[๕๐๔] ข้าพระองค์ได้เห็นธรรมอันประเสริฐ
จึงยึดถือเอาสันติบท๒ อันยอดเยี่ยมนี้อยู่
ดุจพญาครุฑจับนาคไป ฉะนั้น
[๕๐๕] เถาวัลย์ชื่ออาสาวดี๓ เกิดในสวนจิตรลดาแล้ว
ล่วงไป ๑,๐๐๐ ปี เถาวัลย์นั้นจึงจะเกิดผลผลหนึ่ง
[๕๐๖] เทพทั้งหลาย เข้าไปนั่งเฝ้าเถาวัลย์ชื่ออาสาวดีนั้น
เมื่อกาลนาน ๆ จะมีผลสักคราว
เถาวัลย์ชื่ออาสาวดีนั้นเป็นเถาวัลย์ชั้นสูงสุด
เป็นที่รักใคร่ของเหล่าเทวดาอย่างนี้
[๕๐๗] นับได้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพระองค์จึงจะได้ปรนนิบัติพระมุนีนั้นนอบน้อมทั้งเช้าเย็น
ดุจเหล่าเทวดาได้เข้าไปเฝ้าเถาวัลย์ชื่ออาสาวดีทั้งเช้าเย็น ฉะนั้น
[๕๐๘] การปรนนิบัติ(พระพุทธเจ้า)ไม่เป็นหมัน(เปล่าประโยชน์)
และการนอบน้อมก็ไม่เปล่าประโยชน์
ถึงข้าพระองค์จะมาจากที่ไกล
ขณะ๔ก็มิได้ล่วงเลยข้าพระองค์ไป

เชิงอรรถ :
๑ อสังขตธรรม หมายถึงธรรมที่ปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง ธรรมที่ไม่ได้เกิดจากปัจจัย ได้แก่ พระนิพพาน (ขุ.อป.อ.
๑/๕๐๓/๓๓๘)
๒ สันติบท หมายถึงนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๕๐๔/๓๓๘)
๓ อาสาวดี เป็นชื่อของผิวพรรณที่ได้ยาก ท่านก็กล่าวถึงเถาวัลย์อาสาวดีที่หายากมากในหมู่เทพยดา
เป็นเถาวัลย์ที่เหล่าเทวดาต้องการ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๐๕/๓๓๙)
๔ ขณะ ในที่นี้หมายถึงขณะการเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ. ๑/๕๐๘/๓๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๐๙] ข้าพระองค์ค้นหาการถือปฏิสนธิในภพก็ไม่เห็น
เพราะข้าพระองค์ไม่มีอุปธิ หลุดพ้นแล้ว(จากกิเลสทั้งปวง)
มีจิตสงบระงับเที่ยวไป
[๕๑๐] ธรรมดาดอกปทุมพอได้สัมผัสแสงดวงอาทิตย์
ก็แย้มบานทุกเมื่อ ฉันใด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงมีความเพียรมาก
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นบานแล้ว(คือสำเร็จมรรคผลนิพพาน)
เพราะรัศมีแห่งพระพุทธเจ้า
[๕๑๑] ในกำเนิดนกยาง ย่อมไม่มีนกยางตัวผู้ในกาลทุกเมื่อ
เมื่อเมฆฝนคำรน(เมื่อฟ้าร้อง)
นกยางตัวเมียจึงจะตั้งครรภ์ได้ ในกาลทั้งปวง
[๕๑๒] นกยางตัวเมียเหล่านั้นจะตั้งครรภ์อยู่นาน
ตราบเท่าที่เมฆฝนยังไม่คำราม
พวกมันจะพ้นจากภาระ(จะออกไข่)
ได้ก็ต่อเมื่อเมฆฝนตกลงมา ฉันใด
[๕๑๓] ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงคำรนด้วยเมฆฝนคือพระธรรม
ก็ได้ตั้งครรภ์คือธรรม ด้วยเสียงแห่งเมฆฝนคือธรรม
[๕๑๔] ใช้เวลาตั้ง ๑๐๐,๐๐๐ กัป
ข้าพระองค์ จึงจะได้ตั้งครรภ์คือบุญ
ข้าพระองค์ยังไม่พ้นจากภาระ๑
ตราบเท่าที่เมฆฝนคือพระธรรมยังไม่คำรน
[๕๑๕] ข้าแต่พระศากยมุนี พระองค์ทรงคำรน
ด้วยเมฆฝนคือพระธรรมในกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ในกาลใด
ในกาลนั้นข้าพระองค์ก็จะพ้นจากภาระ

เชิงอรรถ :
๑ ภาระ ในที่นี้หมายถึงภาระคือการเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๑๕/๓๔๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๑๖] ธรรมแม้นั้น คือ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์
อัปปณิหิตวิโมกข์ และผล ๔ ทั้งปวง
ข้าพระองค์ก็ได้บรรลุแล้ว
ภาณวารที่ ๒ จบ

[๕๑๗] ข้าพระองค์ปรารถนาคำสอนของพระองค์นานจนนับกัปไม่ได้
ข้าพระองค์ได้บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว
ทั้งได้สันติบท๑ อันยอดเยี่ยมตามลำดับ
[๕๑๘] ข้าพระองค์ถึงความสำเร็จในวินัย
เป็นเหมือนภิกษุผู้แสวงคุณผู้มีชื่อเสียง
ไม่มีภิกษุรูปอื่นจะเสมอเหมือนข้าพระองค์
ข้าพระองค์ทรงจำคำสั่งสอนไว้ได้
[๕๑๙] ในวินัยปิฎกทั้งสิ้นนี้ คือ ในวินัย ในขันธกะ๒
ในปริจเฉท ๓ (คือ ในสังฆาทิเสส ๓ หมวด
และปาจิตตีย์ ๓ หมวด)๓

เชิงอรรถ :
๑ สันติบท หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๕๑๗/๓๔๑)
๒ วินัย หมายถึงอุภโตวิภังค์, ขันธกะ หมายถึงมหาวรรคและจุลวรรค (ขุ.อป.อ. ๑/๕๑๙/๓๔๑)
๓ ติกสังฆาทิเสส อาบัติสังฆาทิเสส ๓ หมวด เป็นข้อกำหนด ๓ ประการของพระวินัยธร ผู้จะตัดสินอธิกรณ์
จะต้องตรวจดูว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสส ในข้อกำหนดไหน ใน ๓ ประการนั้น เช่น นางภิกษุณี เรียกนาง
ภิกษุณีอื่นที่ถูกภิกษุณีสงฆ์ยกออกจากหมู่โดยชอบธรรม ชอบด้วยวินัย ชอบด้วยสัตถุศาสน์ กลับเข้าหมู่
เช่นนี้ เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส โดยสถานใดสถานหนึ่ง ในข้อกำหนด ๓ ประการ คือ (๑) มีความเข้าใจ
กรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบธรรมว่าเป็นกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบธรรมเรียกนางภิกษุณี ที่ถูกลงโทษ
กลับเข้าหมู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (๒) มีความสงสัยในกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบธรรม เรียกนาง
ภิกษุณีที่ถูกลงโทษกลับเข้าหมู่ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (๓) มีความเข้าใจกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยชอบ
ธรรมว่า เป็นกรรมที่ภิกษุณีสงฆ์ทำโดยไม่ชอบธรรม เรียกนางภิกษุณีที่ถูกลงโทษกลับเข้าหมู่ ต้องอาบัติ
สังฆาทิเสส ติกปาจิตตีย์ อาบัติปาจิตตีย์ ๓ หมวด คือภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ โดยสถานใดสถานหนึ่ง
ในข้อกำหนด ๓ ประการ เช่น ภิกษุเก็บอดิเรกจีวรไว้เกิน ๑๐ วันแล้ว (๑) มีความสำคัญว่าเกิน ๑๐
วันแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (๒) มีความสงสัยว่าเกิน ๑๐ วันแล้ว ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (๓) มีความสำคัญ
ว่า ยังไม่เกิน ๑๐ วัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (ดู วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๖๘/๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
ในหมวดที่ ๕๑ ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยอักขระ(คือสระ)
หรือแม้ในพยัญชนะเลย
[๕๒๐] ข้าพระองค์ฉลาดในวิธีข่ม ในการกระทำคืน
ในฐานะที่ควรและฐานะที่ไม่ควร
ในการเรียกภิกษุผู้ถูกลงโทษกลับเข้าหมู่
และในการช่วยให้ภิกษุออกจากอาบัติ
ถึงความสำเร็จในการกระทำทางวินัยกรรมทุกอย่าง
[๕๒๑] ข้าพระองค์ตั้งบทไว้ในวินัยและขันธกะ และขยายอุภโตวิภังค์
เรียก(ภิกษุผู้ถูกลงโทษ)กลับเข้าหมู่โดยกิจ(หน้าที่)
[๕๒๒] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในนิรุตติศาสตร์
และฉลาดในประโยชน์และสิ่งมิใช่ประโยชน์
สิ่งที่ข้าพระองค์ไม่รู้ไม่มี
ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศผู้หนึ่งในศาสนาของพระศาสดา
[๕๒๓] ในวันนี้ ข้าพระองค์มองเห็นรูปคดี๒
บรรเทาความสงสัยได้ทุกอย่าง ในศาสนาของพระศากยบุตร
ตัดความลังเลได้หมดสิ้น
[๕๒๔] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในฐานะทั้งปวง คือ บทหน้า
บทหลัง อักขระ พยัญชนะ คำเริ่มต้น และคำลงท้าย
[๕๒๕] เหมือนอย่างพระราชาผู้มีพลัง
ทรงจับไพร่พลของพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์
ให้เดือดร้อน ชนะสงครามแล้ว รับสั่งให้สร้างนครไว้ในที่นั้น
[๕๒๖] พึงรับสั่งให้สร้างกำแพง รับสั่งให้ขุดคูรอบ ตั้งเสาระเนียด
สร้างซุ้มประตู สร้างป้อมต่าง ๆ ไว้ในนคร เป็นอันมาก

เชิงอรรถ :
๑ ในหมวดที่ ๕ ในที่นี้ หมายถึงปริวาร (ชื่อคัมภีร์พระวินัยปิฎก หมวดสุดท้ายใน ๕ หมวด คือ อาทิกัมมิกะ
ปาจิตตีย์ มหาวรรค จูฬวรรค ปริวาร) (ขุ.อป.อ. ๑/๕๑๙/๓๔๑)
๒ ข้าพระองค์มองเห็นรูปคดี ในอรรถกถาเป็น รูปทกฺเข แก้ว่า ในคราวมองเห็นรูปก็คือในการวินิจฉัยวินัย
(ขุ.อป.อ. ๑/๕๒๓/๓๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๒๗] พึงรับสั่งให้สร้างถนนสี่แยก ทางแยก
ร้านตลาด จัดสรรไว้เป็นอย่างดี
สร้างศาลสถิตยุติธรรมเป็นที่ตัดสินคดีความไว้ในนครนั้น
[๕๒๘] เพื่อป้องกันอริราชศัตรู เพื่อจะรู้ช่องทาง(ดีร้าย)
เพื่อดูแลรักษากำลังพล พระราชาเจ้านครนั้น
จึงทรงแต่งตั้งแม่ทัพไว้
[๕๒๙] เพื่อรักษาสิ่งของ พระองค์จึงทรงแต่งตั้งคนที่ฉลาด
ในการเก็บรักษาสิ่งของ ให้เป็นผู้รักษาสิ่งของ
ด้วยตั้งพระทัยว่า สิ่งของของเราอย่าเสียหายไปเลย
[๕๓๐] ผู้ใดสมัครสมานกับพระราชา
และปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองแก่พระราชา
พระราชาย่อมมอบหน้าที่แก่ผู้นั้น๑
เพื่อปฏิบัติตอบแทนต่อมิตร
[๕๓๑] พระราชาพระองค์นั้น ย่อมทรงแต่งตั้งผู้ที่ฉลาดในลางบอกเหตุ
ในนิมิตและในลักษณะ
ผู้คงแก่เรียน ผู้ทรงมนตร์๒ ไว้ในตำแหน่งปุโรหิต

เชิงอรรถ :
๑ บาทคาถาว่า สมคฺโค โหติ โส รญฺโ ฉบับพม่าและอรรถกถาเป็น มมตฺโต โหติ โย รญฺโ เดิมแปลว่า
เขาเป็นผู้พร้อมเพรียงกับพระราชา ปรารถนาความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ใด ย่อมมอบหน้าที่ คือความเป็นใหญ่
ในการวินิจฉัยแก่ผู้นั้นเพื่อปฏิบัติเพื่อความเป็นมิตร โส เขาสามัคคีกับพระราชาพอฟังได้ แต่ถ้าจะตั้งคน
ที่ตนชอบพอให้เป็นคนตัดสินคดีความ คงไม่ได้ เพราะ โส คงแทนนามนามที่กล่าวชื่อมาแล้ว คือ คนที่ดูแล
รักษาสิ่งของ ถ้าจะว่า โส แทนบทว่า ราชา ก็ฟังไม่ขึ้น ราชาที่ไหนมาสามัคคีกับราชานี้ จึงแปลตามแนว
ฉบับพม่าและอรรถกถา (มมตฺโต โหติ โย รญฺโติ โย ปณฺฑิโต รญฺโ มมตฺโต มามโก ปกฺขปาโต
โหติ. วุทฺธึ ยสฺส จ อิจฺฉตีติ อสฺส รญฺโ วุฑฺฒึ จ วิรุฬฺหึ โย อิจฺฉติ กาเมติ, ตสฺส อิตฺถมฺภูตสฺส ราชา
อธิกรณํ วินิจฺฉยาธิปจฺจํ เทติ มิตฺตสฺส มิตฺตภาวสฺส ปฏิปชฺชิตุนฺติ สมฺพนฺโธ ขุ.อป.อ. ๑/๕๓๐/๓๔๔)
๒ ผู้ที่ฉลาดลางบอกเหตุ หมายถึงผู้บอกคัมภีร์ไวยากรณ์แก่ศิษย์จำนวนมาก ผู้ทรงจำมนต์ ได้แก่ ผู้ทรง
จำไตรเพท (พระเวท ๓ เป็นคัมภีร์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ (๑) ฤคเวท ประมวลบทความ
สรรเสริญ เทพเจ้า (๒) ยชุรเวท ประกอบด้วยบทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่าง ๆ (๓) สามเวท
ประมวลบทเพลงขับ สำหรับสวดแล้วร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ
ต่อมาเพิ่มอาถรรพเวท ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์เข้ามาอีกเป็น ๔ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๓๑/๓๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๓๒] พระราชาพระองค์นั้นทรงสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้
พสกนิกรจึงขนานพระนามว่ากษัตริย์
เหล่าอำมาตย์จึงถวายการอารักขาพระราชาทุกเมื่อ
ดุจนกจักรพากเฝ้ารักษานกผู้ประสบทุกข์
[๕๓๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นดุจกษัตริย์ ผู้ขจัดข้าศึกศัตรูได้แล้ว
ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกจึงขนานพระนามว่าธรรมราชา
[๕๓๔] พระองค์ทรงปราบเหล่าเดียรถีย์
ทรงกำจัดมารพร้อมทั้งเสนามาร
ทรงขจัดความมืดมนอนธการแล้ว ได้ทรงสร้างนครคือพระธรรมไว้
[๕๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร ในนครคือพระธรรมนั้น
พระองค์มีศีลเป็นปราการ มีพระญาณเป็นซุ้มประตู
มีศรัทธาเป็นเสาระเนียด และมีความสังวรเป็นนายประตู
[๕๓๖] ข้าแต่พระมุนี พระองค์มีสติปัฏฐานเป็นป้อม
มีพระปัญญาเป็นชุมทาง
มีอิทธิบาทเป็นถนนสี่แยก
ธรรมวิถี พระองค์ก็ทรงสร้างไว้ดีแล้ว
[๕๓๗] พระองค์มีพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม
และพระพุทธพจน์มีองค์ ๙๑ แม้ทั้งมวล
นี้เป็นธรรมสภา

เชิงอรรถ :
๑ พระพุทธพจน์มีองค์ ๙ คือ (๑) สุตตะ พระสูตรทั้งหลาย รวมทั้งพระวินัยปิฎกและนิทเทส (๒) เคยยะ
ข้อความ ที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน คือพระสูตรที่มีคาถารวมอยู่ด้วยทั้งหมด (๓) เวยยากรณะ
ไวยากรณ์ คือความร้อยแก้วล้วน ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด และพระสูตรที่ไม่มีคาถา (๔) คาถา
ความร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรีคาถา (๕) อุทาน พระคาถาพุทธอุทาน (๖) อิติวุตตกะ พระสูตร
ที่เรียกว่าอิติวุตตกะ มี ๑๑๒ สูตร (๗) ชาตกะ ชาดก ๕๐๐ เรื่อง (๘) อัพภูตธรรม เรื่องอัศจรรย์
คือ พระสูตรที่กล่าวถึง ข้ออัศจรรย์ต่าง ๆ (๙) เวทัลละ พระสูตรแบบถามตอบ เช่นจูฬเวทัลลสูตร
มหาเวทัลลสูตร) (ขุ.อป.อ. ๑/๕๓๗/๓๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๓๘] พระองค์มีสุญญตวิหารธรรม(ธรรมเป็นเครื่องอยู่อันว่าง)
อนิมิตตวิหารธรรม(ธรรมเป็นเครื่องอยู่ไม่มีนิมิต)
อัปปณิหิตวิหารธรรม(ธรรมเป็นเครื่องอยู่ไม่มีความตั้งปรารถนา)
อาเนญชวิหารธรรม๑(ธรรมเป็นเครื่องอยู่ไม่หวั่นไหว)
นิโรธวิหารธรรม๒(ธรรมเป็นเครื่องอยู่คือความดับ) นี้เป็นธรรมกุฎี
[๕๓๙] พระเถระผู้เลิศด้วยปัญญา ที่ทรงแต่งตั้งไว้
ฉลาดในปฏิภาณ มีนามว่าสารีบุตร
เป็นจอมทัพธรรมของพระองค์
[๕๔๐] ข้าแต่พระมุนี พระเถระผู้ฉลาดในจุติและปฏิสนธิ
ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ มีนามว่าโกลิตะ (โมคคัลลานะ)
เป็นปุโรหิตของพระองค์
[๕๔๑] ข้าแต่พระมุนี พระเถระผู้ดำรงวงศ์เก่าแก่
มีเดชแผ่ไป หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
เป็นผู้เลิศด้วยธุดงค์คุณ(มีนามว่ากัสสปะ)เป็นผู้พิพากษาของพระองค์
[๕๔๒] ข้าแต่พระมุนี พระเถระผู้เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรม
เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้สวดสาธยายทุกรูป๓ ในศาสนา
มีนามว่าอานนท์ เป็นผู้รักษาธรรมของพระองค์
[๕๔๓] พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ทรงละพระเถระเหล่านี้ทุกรูป
ทรงมุ่งเฉพาะข้าพระองค์ แล้วทรงประทานการวินิจฉัยวินัย
ซึ่งบัณฑิตผู้รู้แสดงไว้แล้วแก่ข้าพระองค์

เชิงอรรถ :
๑ อาเนญชวิหารธรรม หมายถึงสามัญผล (ผลแห่งความเป็นสมณะ) ๔ ที่ไม่เปลี่ยนแปลง (คือโสดาปัตติ-
ผล สกทาคามิผล อนาคามิผล และอรหัตตผล (ขุ.อป.อ. ๑/๕๓๘/๓๔๖), ที.ปา. ๑๑/๓๕๔/๒๔๖
๒ นิโรธ ในที่นี้หมายถึงพระนิพพานเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวง (ขุ.อป.อ. ๑๕๓๘/๓๔๖)
๓ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้สวดสาธยายทุกรูป แปลมาจากศัพท์ สพฺพปาฐิ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๔๒/๓๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๔๔] สาวกของพระพุทธองค์ บางรูปไต่ถามปัญหาในวินัย
ในปัญหาที่ถามมานั้น ข้าพระองค์ไม่ต้องคิด(ลังเล)
ย่อมอธิบายปัญหานั้นได้เลย
[๕๔๕] ข้าแต่พระมหามุนีตลอดพุทธเขต ยกเว้นพระองค์
ในพระวินัยไม่มีใครผู้เช่นกับข้าพระองค์
ผู้ที่ยิ่งกว่าจักมีแต่ที่ไหน
[๕๔๖] พระผู้มีพระภาคผู้โคดม ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว
บันลืออย่างนี้ว่า ผู้เสมอกับอุบาลีในพระวินัย๑
และในขันธกะ(คือในมหาวรรค จูฬวรรคและปริวาร)ไม่มี
[๕๔๗] สำหรับท่านผู้เห็นพระวินัยเป็นหลักสำคัญ
นวังคสัตถุศาสตร์ เท่าที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
ทั้งหมดพระศาสดาตรัสไว้ในวินัย๒
๕๔๘] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ
ทรงระลึกถึงกรรมของข้าพระองค์
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ทรงแต่งตั้งข้าพระองค์ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
[๕๔๙] ข้าพระองค์ได้ปรารถนาตำแหน่งนี้นานนับได้ ๑๐๐,๐๐๐ กัป
ข้าพระองค์ได้บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว ถึงความสำเร็จในวินัย

เชิงอรรถ :
๑ วินัย หมายถึงอุภโตวิภังค์ วินัยทั้งฝ่ายภิกษุและฝ่ายภิกษุณี
๒ คำว่า วินเย กถิตํ สพฺพํ ฉบับพม่าเป็น วินโยคธํ ตํ สพฺพํ ในอรรถกถาก็มีนัยเช่นนี้ โดยพระอรรถ-
กถาจารย์แก้เป็น สพฺพํ วินโยคธํ ตํ วินเย อนฺโตปวิฏฺŸํ วินยมูลกํ อิจฺเจวํ ปสฺสิโน ปสฺสนฺตสฺส (ขุ.อป.อ.
๑/๕๔๗/๓๔๗)
คาถานี้ เดิมแปลว่า เรากล่าวสัตถุศาสน์มีองค์ ๙ ตลอดถึงที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วทั้งหมดไว้ใน
พระวินัยแก่บุคคลผู้เห็นมูลพระวินัย (ฉบับสังคายนา)
ข้อความตามนัยเดิมนั้น ดูกระไรอยู่ เพราะทำให้สงสัยว่าพระอุบาลีจะเป็นผู้จัดนวังคสัตถุศาสน์ไว้
ในพระวินัยหรือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๕๐] เมื่อก่อน ข้าพระองค์เป็นช่างกัลบก (ช่างตัดผม)
เป็นผู้ทำให้เจ้าศากยะทั้งหลายเกิดความเพลิดเพลิน
ได้ละชาติกำเนิดนั้นแล้วมาเป็นบุตร
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๕๕๑] ในกัปที่ ๒ นับจากภัทรกัปนี้ไป
ได้มีกษัตริย์พระนามว่าอัญชสะ
ทรงเดชานุภาพหาที่สุดมิได้
ทรงยศหาประมาณมิได้
เป็นพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชทรัพย์มาก
[๕๕๒] ข้าพระองค์ได้เป็นขัตติยกุมารมีนามว่าจันทนะ
เป็นโอรสของพระราชาพระองค์นั้น
เป็นคนมีกิริยาแข็งกระด้าง
เพราะความมัวเมาในชาติตระกูล ในยศ และในโภคะ
[๕๕๓] ช้างตระกูลมาตังคะ ๑๐๐,๐๐๐ เชือก
ตกมัน ๓ แห่งประดับด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง
แวดล้อมข้าพระองค์อยู่ทุกเมื่อ
[๕๕๔] ครั้งนั้น ข้าพระองค์มีกำลังพลของตนห้อมล้อม
ต้องการจะประพาสอุทยาน
จึงทรงช้างชื่อสิริกะออกจากนครไป
[๕๕๕] พระสัมพุทธเจ้า๑ พระนามว่าเทวละ
ผู้เพียบพร้อมด้วยจรณะ๒ คุ้มครองทวาร
สำรวมด้วยดี เสด็จมาข้างหน้าของข้าพระองค์

เชิงอรรถ :
๑ พระสัมพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ. ๑/๕๕๕/๓๔๙)
๒ จรณะ หมายถึงจรณธรรม ๑๕ มีสีลสังวรเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๕๕๕/๓๔๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๕๖] ครั้งนั้น ข้าพระองค์ได้ไสช้างสิริกะไป
จะให้ทำร้ายพระพุทธเจ้า
เพราะเหตุนั้น ช้างนั้นเหมือนเกิดความโกรธยกเท้าไม่ขึ้น
[๕๕๗] ข้าพระองค์เห็นช้างเสียใจ จึงโกรธพระพุทธเจ้า
เบียดเบียนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้ไปอุทยาน
[๕๕๘] เพราะการจะให้ช้างทำร้ายนั้นเป็นเหตุ
ข้าพระองค์จึงมิได้ประสบความสำราญ
ศีรษะเป็นเหมือนมีไฟลุกโพลงอยู่
ข้าพระองค์ถูกความเร่าร้อนเผาไหม้อยู่ เหมือนปลาติดเบ็ด
[๕๕๙] แผ่นดินซึ่งมีสมุทรสาครเป็นที่สุด
ย่อมปรากฏแก่ข้าพระองค์เป็นดุจไฟลุกท่วม
ข้าพระองค์ได้เข้าเฝ้าพระราชบิดาแล้วกราบทูลคำนี้ว่า
[๕๖๐] หม่อมฉันได้ทำร้ายพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นพระสยัมภูพระองค์ใด
ผู้เป็นดังอสรพิษที่ถูกทำให้โกรธ
ดังกองไฟที่ลามมา ดังช้างพลายตัวตกมัน๑
[๕๖๑] พระพุทธชินเจ้า ผู้มีตบะแก่กล้า ถูกข้าพระองค์รุกราน
พวกเราชาวเมืองทั้งปวงจักพินาศ
พวกเราจักขอขมาพระมุนีนั้น

เชิงอรรถ :
๑ แปลตามอรรถกถา (ขุ.อป.อ. ๑/๕๖๐/๓๕๐) ท่านเปรียบพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าว่าเป็นดัง
อสรพิษร้ายบ้าง ดังกองไฟบ้าง ดังราชสีห์ชาติไกรสรบ้าง ดังช้างตกมันบ้าง คนที่เข้าใกล้อสรพิษ กอง
ไฟลุกโชติช่วง ราชสีห์ดุร้าย ช้างตกมัน ย่อมได้รับอันตราย ฉันใด ผู้ที่ทำร้ายพระพุทธเจ้า พระ
ปัจเจกพุทธเจ้า ก็ย่อม ประสบบาปกรรมใหญ่หลวง ก็ฉันนั้น
ดังบาลีว่า
อาสีวิโส ยถา โฆโร มิคราชาว เกสรี
มตฺโตว กุญฺชโร ทนฺโต เอวํ พุทฺธา ทุราสทา.
(ขุ.อป. ๓๒/๒๗๐/๔๔๙ )
คาถาที่ ๕๖๐ นี้ เดิมแปลอสรพิษร้าย และกองไฟเป็นอุปมาของช้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๖๒] หากพวกเราจักไม่ขอขมาพระองค์(พระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
ผู้ฝึกตนแล้ว ผู้มีจิตตั้งมั่น
แว่นแคว้นของเราจักพินาศภายในวันที่ ๗
[๕๖๓] พระเจ้าสุเมขลราช พระเจ้าโกสิยราช
พระเจ้าสิคควราช พระเจ้าสัตตกราชเหล่านั้นพร้อมเสนา
ได้รุกรานท่านฤๅษีทั้งหลายแล้ว ได้ถึงความทุกข์ยาก
[๕๖๔] ท่านฤๅษีทั้งหลาย ผู้สำรวมแล้ว
ประพฤติประเสริฐ ย่อมโกรธในกาลใด
ในกาลนั้นย่อมทำมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ท้องทะเล และภูเขา ให้พินาศไป
[๕๖๕] ข้าพระองค์จึงสั่งให้ประชาชนมาประชุมกันในพื้นที่
ประมาณ ๓,๐๐๐ โยชน์ เพื่อต้องการจะแสดงโทษ
จึงเข้าไปหาพระสยัมภูพุทธเจ้า
[๕๖๖] ประชาชน(พร้อมทั้งข้าพระองค์)ทั้งหมด
มีผ้าเปียก ศีรษะเปียก ประนมมือ
พากันหมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระสยัมภูพุทธเจ้า
แล้วได้กราบเรียนคำนี้ว่า
[๕๖๗] ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ขอพระคุณเจ้าโปรดยกโทษเถิด
ประชาชนอ้อนวอนพระคุณเจ้า
ขอพระคุณเจ้าโปรดช่วยบรรเทาความเร่าร้อน
และขอพระคุณเจ้าอย่าได้ทำแว่นแคว้นให้พินาศเลย
[๕๖๘] มวลมนุษย์พร้อมทั้งเทวดา ทานพ และรากษส๑
จะพึงเอาฆ้อนเหล็กทุบศีรษะของข้าพระองค์ ในกาลทุกเมื่อ

เชิงอรรถ :
๑ ทานพ หมายถึงอสูรจำพวกหนึ่ง รากษส หมายถึงยักษ์ร้าย, ผีเสื้อน้ำ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๖๘/๓๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๖๙] (พระพุทธเจ้าตรัสว่า)
ไฟย่อมไม่เกิดในน้ำ พืชย่อมไม่งอกบนแผ่นหิน
กิมิชาติ๑ ย่อมไม่เกิดในยาพิษ ฉันใด
ความโกรธย่อมไม่เกิดในพระพุทธเจ้า ฉันนั้น
[๕๗๐] แผ่นดินไม่หวั่นไหว ฉันใด
พระพุทธเจ้าใคร ๆ ก็ให้กำเริบไม่ได้ ฉันนั้น
ทะเลประมาณมิได้ ฉันใด
พระพุทธเจ้ามีพระคุณประมาณมิได้ ฉันนั้น
และอากาศไม่มีที่สุด ฉันใด
พระพุทธเจ้ามีพระคุณไม่มีที่สุด ฉันนั้น
[๕๗๑] พระพุทธเจ้าทั้งหลายฝึกฝนตนแล้ว
มีความเพียรมาก มีการงดโทษให้แก่ผู้อื่นและมีตบะ
ท่านผู้มีความอดทนและมีการอดโทษให้ แก่ผู้อื่น
จะไม่มีการลุอำนาจอคติ
[๕๗๒] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้นกล่าวดังนี้แล้วได้บรรเทาความเร่าร้อน
เหาะขึ้นไปบนท้องฟ้าต่อหน้ามหาชน ในครั้งนั้น
[๕๗๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร๒
เพราะกรรมนั้น ข้าพระองค์จึงได้เข้าถึงภาวะที่เลวทราม
ล่วงเลยชาตินั้นมาเข้าสู่นคร(คือนิพพาน)ซึ่งไม่มีภัย
[๕๗๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แม้ในครั้งนั้น
พระสยัมภูพุทธเจ้าเห็นข้าพระองค์ถูกไฟแผดเผาอยู่

เชิงอรรถ :
๑ กิมิชาติ หมายถึงสัตว์จำพวกหนอน
๒ อรรถกถาเป็น ธีราติ ธีร ธิติสมฺปนฺน (ขุ.อป.อ. ๑/๕๗๓/๓๕๒) ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นปราชญ์ (เป็นคำร้อง
เรียกที่พระอุบาลีเรียกพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้เล่าประวัติในอดีตของตนมาแล้ว)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
(แต่)ดำรงอยู่ด้วยดี จึงทรงบรรเทาความเร่าร้อนให้
ข้าพเจ้าจึงทูลขอพระสยัมภูงดโทษให้๑
[๕๗๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แม้ในวันนี้
พระผู้มีพระภาคทรงช่วยข้าพระองค์ผู้ถูกไฟ ๓ กอง๒แผดเผาอยู่
ให้ถึงภาวะสงบเย็น และทรงช่วยดับไฟ ๓ กองให้แล้ว
[๕๗๖] ขอให้ท่านทั้งหลายผู้เงี่ยโสตสดับ จงตั้งใจฟังข้าพเจ้ากล่าว
ข้าพเจ้าจะบอกประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย
โดยประการที่ข้าพเจ้าได้เห็นบท๓แล้ว
[๕๗๗] ข้าพเจ้าดูหมิ่นพระสยัมภูพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น
เพราะกรรมนั้น ในปัจจุบันนี้
จึงมาเกิดในชาติตระกูลต่ำ
[๕๗๘] ท่านทั้งหลายอย่าได้พลาดขณะ๔ไปเลย
เพราะเหล่าสัตว์ผู้ล่วงเลยขณะไปย่อมเศร้าโศก
ขอท่านทั้งหลายพึงพยายามในประโยชน์ตนเถิด
ขณะท่านทั้งหลายให้สำเร็จแล้ว
[๕๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสบอกยาสำรอกแก่บุคคลบางพวก
ยาถ่ายแก่บุคคลบางพวก ยาพิษร้ายแรงแก่บุคคลบางพวก
และยารักษาแก่บุคคลบางพวก

เชิงอรรถ :
๑ ฉบับเก่าประธานของประโยคคือ ตฺวํ (คือ สัพพนาม แทน คำว่า ภควา ซึ่งพระอุบาลี กำลังกราบทูลอยู่)
ดูตามความแล้ว หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าในอดีต และอรรถกถาก็ขึ้น ปจฺเจกพุทฺโธ เป็นประธาน
๒ ไฟ ๓ กอง หมายถึงไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ หรือไฟนรก ไฟในเปรตวิสัยและไฟในสังสารวัฏ
(ขุ.อป.อ. ๑/๕๗๕/๓๕๓)
๓ บท ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๕๗๖/๓๕๓)
๔ ขณะในที่นี้ หมายถึงขณะเป็นที่พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น (ขุ.อป.อ. ๑/๕๗๘/๓๕๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๘๐] คือพระผู้มีพระภาค ตรัสบอกยาสำรอกแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ
ตรัสบอกยาถ่ายแก่บุคคลผู้ดำรงอยู่ในผล
ตรัสบอกยารักษาโรคแก่บุคคลผู้ได้ผลแล้ว
ตรัสบอกบุญเขตแก่บุคคลผู้แสวงบุญ
[๕๘๑] ตรัสบอกยาพิษร้ายแรง(คือบาปอกุศล)
แก่บุคคลผู้เป็นข้าศึกต่อศาสนา
ยาพิษร้ายแรงย่อมแผดเผานรชนนั้น
เหมือนอสรพิษร้าย ฉะนั้น
[๕๘๒] ยาพิษร้ายแรงที่บุคคลดื่มแล้วเพียงครั้งเดียว
ก็ย่อมทำให้เสียชีวิตได้ บุคคลทำผิดต่อศาสนาแล้ว
ย่อมถูกแผดเผานับเป็นโกฏิกัป
[๕๘๓] พระองค์ทรงช่วยสัตว์โลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามพ้น(สังสารวัฏ)
ด้วยขันติ ด้วยความไม่เบียดเบียน
และด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา
เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
เป็นผู้อันท่านทั้งหลายให้พิโรธไม่ได้
[๕๘๔] พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเป็นเช่นพื้นปฐพี
ไม่ทรงติดข้องในลาภ ในความเสื่อมลาภ
ในความสรรเสริญ ในความถูกดูหมิ่น
เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
เป็นผู้อันท่านทั้งหลายให้พิโรธไม่ได้
[๕๘๕] พระมุนีทรงมีพระทัยสม่ำเสมอในสัตว์ทั้งปวง คือ ในพระเทวทัต
นายขมังธนู โจรองคุลีมาล พระราหุล และช้างธนบาล
[๕๘๖] พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น
ไม่มีความแค้นเคือง ไม่มีความกำหนัด
เหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระทัยสม่ำเสมอในชนทั้งหมด
คือในนายขมังธนู และในพระโอรส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๖. อุปาลิเถราปทาน
[๕๘๗] ท่านทั้งหลายได้พบผ้ากาสาวะอันเป็นธงชัยของพระฤๅษี
ซึ่งเปื้อนคูถ ถูกทิ้งไว้ที่หนทาง
ก็พึงประนมมือเหนือศีรษะแล้วไหว้เถิด
[๕๘๘] พระพุทธเจ้าเหล่าใดทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยธงชัยนี้
เพราะเหตุนั้น จึงควรนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้น
[๕๘๙] ข้าพเจ้าทรงจำวินัยที่ดีงาม
เช่นกับองค์แทนพระศาสดาไว้ด้วยหทัย
ข้าพเจ้านมัสการวินัยอยู่ในกาลทั้งปวง
[๕๙๐] วินัยเป็นที่อาศัยของข้าพเจ้า เป็นที่ยืนเดินของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าสำเร็จการอยู่ในวินัย วินัยเป็นอารมณ์ของข้าพเจ้า
[๕๙๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ภิกษุชื่ออุบาลีถึงความสำเร็จในวินัย
เป็นผู้ฉลาดในวิธีระงับอธิกรณ์
ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดา
[๕๙๒] ข้าพเจ้านั้น เที่ยวไปจากหมู่บ้านสู่หมู่บ้าน จากเมืองสู่เมือง
นมัสการอยู่ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระธรรมซึ่งเป็นธรรมดี
[๕๙๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๕๙๔] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๗. อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน
[๕๙๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุบาลีเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปาลิเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัญญาโกณฑัญญเถระ
(พระอัญญาโกณฑัญญเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๙๖] ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ๑
ผู้ถึงพุทธภูมิแล้ว๒ เป็นครั้งแรก
[๕๙๗] ยักษ์จำนวนเท่าที่มีทั้งหมด มาประชุมที่ต้นโพธิ์
ประนมมือไหว้แวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๕๙๘] เทวดาทั้งหมดนั้นมีใจยินดีเที่ยวไปในอากาศ
ป่าวประกาศว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นี้
ทรงบรรเทาความมืดมนอนธการ
บรรลุ(อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ)
[๕๙๙] เทวดาเหล่านั้นมีความร่าเริง ป่าวประกาศบันลือลั่นไปว่า
พวกเราจักเผากิเลสทั้งหลายให้ได้
ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เชิงอรรถ :
๑ นำโดยวิเศษ หมายถึงนำเวไนยสัตว์ให้ถึงฝั่งนอกแห่งสงสารสาคร ได้แก่ อมตมหานิพพาน (ขุ.อป.อ.
๑/๕๙๖/๓๖๐)
๒ พุทธภูมิ หมายถึงภูมิของพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระสัพพัญญุตญาณ (ขุ.อป.อ. ๑/๕๙๖/๓๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๗. อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน
[๖๐๐] ข้าพเจ้ารู้จากคำพูดของเหล่าเทวดาที่เปล่งออกมาด้วยวาจา
แล้วมีจิตร่าเริง เบิกบาน ได้ถวายภิกษาครั้งแรก
[๖๐๑] พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้า
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่เทวดา ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๖๐๒] เราออกบวชได้ ๗ วันแล้ว จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ
ภัตตาหารที่ถวายเป็นครั้งแรกนี้
เป็นสิ่งที่ช่วยอัตภาพของเราผู้ประพฤติพรหมจรรย์ให้เป็นไปได้
[๖๐๓] เราจักพยากรณ์เทพบุตรที่จากสวรรค์ชั้นดุสิตมาในที่นี้
น้อมภิกษาหารเข้ามาถวายแก่เรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๖๐๔] เทพบุตรนั้นจักครองเทวสมบัติประมาณ ๓๐,๐๐๐ กัป
ครองสวรรค์ชั้นไตรทิพย์ ปกครองเทวดาทั้งปวง
[๖๐๕] ครั้นจุติจากเทวโลกแล้ว
จักไปเกิดเป็นมนุษย์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ครองราชสมบัติในโลกมนุษย์นั้น ๑,๐๐๐ ชาติ
[๖๐๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๖๐๗] เทพบุตรนั้น ครั้นจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว
ไปเกิดเป็นมนุษย์ ออกบวชปฏิบัติอยู่ ๖ ปี
[๖๐๘] ในปีที่ ๗ พระพุทธเจ้าจักทรงประกาศสัจจะ
ภิกษุมีนามว่าโกณฑัญญะ ทำให้แจ้งเป็นองค์แรก
[๖๐๙] พระโพธิสัตว์ออกผนวช
ข้าพเจ้าก็ออกบวชตามบำเพ็ญความเพียรอย่างดี
ข้าพเจ้าบวชเป็นบรรพชิต เพื่อต้องการจะเผากิเลสทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๘. ปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน
[๖๑๐] พระพุทธเจ้าผู้ทรงรู้สิ่งทั้งปวง๑ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ได้เสด็จไปยังป่าใหญ่
ทรงลั่นอมตเภรี๒ด้วยโสดาปัตติมรรคญาณ
ที่ข้าพเจ้าทำให้แจ้งแล้วนี้
[๖๑๑] บัดนี้ ข้าพเจ้านั้นได้บรรลุอมตบท สงบ ยอดเยี่ยม
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๖๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอัญญาโกณฑัญญเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
อัญญาโกณฑัญญเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. ปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปิณโฑลภารทวาชเถระ
(พระปิณโฑลภารทวาชเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึง
กล่าวว่า)
[๖๑๓] ครั้งนั้น พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เป็นพระสยัมภู ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ
ประทับอยู่บนภูเขาจิตรกูฏ เบื้องหน้าภูเขาหิมพานต์

เชิงอรรถ :
๑ สิ่งทั้งปวง หมายถึงอดีต อนาคต และปัจจุบัน อีกอย่างหนึ่ง หมายถึงเญยยธรรม คือสังขาร วิการ
ลักษณะ นิพพาน และบัญญัติ (ขุ.อป.อ. ๑/๖๑๐/๓๖๑)
๒ อมตเภรี หมายถึงกลองคืออมตมหานิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๖๑๐/๓๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๘. ปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน
[๖๑๔] ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นพญาเนื้อ ไม่มีความกลัวเกรง
สามารถวิ่งไปได้ทั้ง ๔ ทิศ อยู่ ณ ที่นั้น
ซึ่งสัตว์จำนวนมากได้ฟังเสียงแล้วย่อมครั่นคร้าม
[๖๑๕] ข้าพเจ้าได้คาบดอกปทุมที่บานดีแล้ว
เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้องอาจกว่านรชน
ได้บูชาพระพุทธเจ้าผู้เสด็จออกจากสมาธิ
[๖๑๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้นมัสการพระพุทธเจ้า
ผู้ประเสริฐที่สุด ผู้สูงสุดแห่งนรชน ในทิศทั้ง ๔
ทำจิตของตนให้เลื่อมใส ได้บันลือสีหนาท
[๖๑๗] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ประทับนั่งบนอาสนะของพระองค์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๖๑๘] เทวดาทั้งปวง พอทราบพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแล้ว
ก็มาประชุมกันด้วยคิดว่า
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลายเสด็จมาแล้ว
พวกเราจักฟังธรรมของพระองค์
[๖๑๙] พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระมหามุนี
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงเห็นกาลไกล
ทรงประกาศเสียงของข้าพเจ้าข้างหน้าของเทวดา
และมนุษย์เหล่านั้นผู้มีความร่าเริงว่า
[๖๒๐] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายดอกปทุมนี้และได้บันลือสีหนาท
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๖๒๑] ในกัปที่ ๘ นับจากกัปนี้ไป
ผู้นั้นจักเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๘. ปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน
[๖๒๒] จักครองความเป็นใหญ่ในแผ่นดินถึง ๖๔ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าปทุม ตามโคตร
มีพลานุภาพมาก
[๖๒๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๖๒๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดมพระองค์นั้น
ทรงประกาศธรรมวินัย ผู้นี้จักเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์
ออกจากตระกูลพราหมณ์แล้วบวชในขณะนั้น
[๖๒๕] เขามีจิตเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร
เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๖๒๖] ณ เสนาสนะที่สงัด เว้นจากผู้คน พลุกพล่านด้วยเนื้อร้าย
เขากำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๖๒๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วประการฉะนี้
ปิณโฑลภารทวาชเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๙. ขทิรวนิยเรวตเถราปทาน
๙. ขทิรวนิยเรวตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระขทิรวนิยเรวตเถระ
(พระขทิรวนิยเรวตเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๒๘] แม่น้ำภาคีรถี ไหลมาจากภูเขาหิมพานต์
ข้าพเจ้าเกิดเป็นนายเรือ อยู่ที่ท่าน้ำไม่ราบเรียบ
พาคนส่งข้ามฟากจากฝั่งโน้นมาฝั่งนี้
[๖๒๙] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงเป็นผู้นำ ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พร้อมกับพระขีณาสพ ๑๐๐,๐๐๐ รูป
ผู้ได้วสี จักข้ามกระแสแม่น้ำคงคา
[๖๓๐] ข้าพเจ้าได้นำเรือมาจอดรวมกันไว้จำนวนมาก
แล้วจัดประทุนที่นายช่างประกอบอย่างดีไว้บนเรือ
ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้องอาจกว่านรชน
[๖๓๑] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ศาสดาได้เสด็จมาขึ้นเรือนั้นแล้ว
ประทับอยู่ท่ามกลางน้ำ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๖๓๒] นายเรือที่ได้พาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และพระสงฆ์ผู้ไม่มีอาสวะส่งข้ามฟาก
จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
[๖๓๓] วิมานที่บุญกรรมตกแต่งไว้อย่างดี
มีสัณฐานดุจเรือ จักเกิดขึ้นแก่ท่าน
จักมีหลังคาดอกไม้กั้นอยู่ในอากาศทุกเมื่อ
[๖๓๔] ในกัปที่ ๕๘ นายเรือผู้นี้
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าตารณะ
เป็นใหญ่ มีชัยชนะในทวีปทั้ง ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๙. ขทิรวนิยเรวตเถราปทาน
[๖๓๕] ในกัปที่ ๕๗ (นับจากกัปนี้ไป)
จักเกิดเป็นกษัตริย์พระนามว่าจัมพกะ
มีพลานุภาพมาก จักรุ่งเรืองดังดวงอาทิตย์อุทัย
[๖๓๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๖๓๗] นายเรือผู้นี้จุติจากสวรรค์ชั้นไตรทิพย์แล้วจักไปเกิดเป็นมนุษย์
เป็นบุตรของพราหมณ์มีนามว่าเรวตะ ตามโคตร
[๖๓๘] เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จักออกจากเรือนไปบวชในศาสนา
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๖๓๙] หลังจากบวชแล้ว เขาจักประกอบความเพียร เจริญวิปัสสนา
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๖๔๐] ข้าพเจ้ามีความเพียรสำหรับนำพาธุระ
เป็นความเพียรที่นำมาซึ่งธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ข้าพเจ้าทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๖๔๑] กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ใน ๑๐๐,๐๐๐ กัป
แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพสุดท้ายนี้
ข้าพเจ้าหลุดพ้นดีแล้วดุจความเร็วแห่งลูกศรพ้นไปจากแล่ง
เผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว
[๖๔๒] แต่นั้น พระมุนีผู้มีพระปัญญามาก
ทรงถึงที่สุดแห่งโลก(คือถึงความสิ้นทุกข์)
ได้ทอดพระเนตรเห็นข้าพเจ้าผู้ยินดีในป่า
จึงทรงตั้งข้าพเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑๐. อานันทเถราปทาน
[๖๔๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระขทิรวนิยเรวตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ขทิรวนิยเรวตเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. อานันทเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอานนทเถระ
(พระอานนทเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๔๔] พระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ
เสด็จออกจากประตูอารามแล้ว
ทรงบันดาลฝนคืออมตธรรมให้ตก ให้มหาชนสงบเย็นแล้ว
[๖๔๕] พระขีณาสพ ๑๐๐,๐๐๐ รูปเหล่านั้น
ผู้เป็นนักปราชญ์ สำเร็จอภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก
แวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดุจเงาติดตามพระองค์
[๖๔๖] ข้าพเจ้าได้นั่งกั้นเศวตฉัตรอันประเสริฐเลิศอยู่บนคอช้าง
เพราะได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระรูปงดงาม
ข้าพเจ้าจึงเกิดความปีติยินดี
[๖๔๗] ข้าพเจ้าจึงลงจากคอช้างแล้วเข้าเฝ้า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้องอาจกว่านรชน
ข้าพเจ้าได้กั้นฉัตรแก้วของข้าพเจ้าถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๖๔๘] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงแสวงหาคุณยิ่งใหญ่ ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้า
จึงทรงพักการแสดงธรรมกถาไว้แล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑๐. อานันทเถราปทาน
[๖๔๙] เราจักพยากรณ์ราชกุมาร
ผู้ที่ได้กั้นฉัตรอันประดับด้วยเครื่องอลังการทองนั้น
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๖๕๐] ราชกุมารนี้จุติจากมนุษยโลกนี้แล้ว
จักไปครองสวรรค์ชั้นดุสิต
มีเหล่านางเทพอัปสรห้อมล้อมเสวยสมบัติ
[๖๕๑] จักครองเทวสมบัติ ๓๔ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน ๑๐๘ ชาติ
[๖๕๒] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๘ ชาติ
จักครองความเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ในแผ่นดิน
[๖๕๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติในโลก
[๖๕๔] ราชกุมารนี้จักเป็นพระญาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นธงชัยแห่งศากยะตระกูล มีนามว่าอานนท์
เป็นอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๖๕๕] มีความเพียร มีปัญญารักษาตน เฉลียวฉลาดในพาหุสัจจะ
ประพฤติถ่อมตน ไม่แข็งกระด้าง
เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งปาฐะทั้งปวง
[๖๕๖] พระอานนท์นั้นมีจิตเด็ดเดี่ยวบำเพ็ญเพียร
เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] ๓. เถราปทาน ๑๐. อานันทเถราปทาน
[๖๕๗] ช้างกุญชรเกิดในป่า เป็นช้างตระกูลมาตังคะ
เสื่อมกำลังเมื่ออายุ ๖๐ ปี ตกมัน ๓ แห่ง
มีงางอนงาม๑ ควรเป็นราชพาหนะ๒ ฉันใด
[๖๕๘] แม้บัณฑิตหลายแสนรูปก็ฉันนั้น มีฤทธิ์มาก
ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ประเสริฐของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
ท่านเหล่านั้นไม่เป็นเช่นนั้น ในการตัดสินใจ
[๖๕๙] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสมีใจยินดีนอบน้อม
ทั้งในปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม
เป็นอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๖๖๐] ข้าพเจ้ามีความเพียร มีปัญญารักษาตน มีสติสัมปชัญญะ
บรรลุโสดาปัตติผล เฉลียวฉลาดในเสขภูมิ
[๖๖๑] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้สร้างกรรมใดไว้
ข้าพเจ้าได้บรรลุถึงภูมิแห่งกรรมนั้นแล้ว
ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้วมีผลมาก
[๖๖๒] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๖๖๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอานนทเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อานนทเถราปทานที่ ๑๐ จบ
อปทาน พุทธวรรคที่ ๑ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑. พุทธวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พุทธาปทาน ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
๓. สารีปุตตเถราปทาน ๔. มหาโมคคัลลานเถราปทาน
๕. มหากัสสปเถราปทาน ๖. อนุรุทธเถราปทาน
๗. ปุณณมันตาณีปุตตเถราปทาน ๘. อุปาลิเถราปทาน
๙. อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน ๑๐. ปิณโฑลภารทวาชเถราปทาน
๑๑. ขทิรวนิยเรวตเถราปทาน ๑๒. อานันทเถราปทาน

รวบรวมคาถาไว้ทั้งหมดได้ ๖๕๐ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๑. สีหาสนทายกเถราปทาน
๒. สีหาสนิยวรรค
หมวดว่าด้วยการถวายแท่นสีหาสน์เป็นต้น
๑. สีหาสนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสีหาสนทายกเถระ
(พระสีหาสนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
เมื่อปาพจน์๑ แผ่กว้างออกไป
เมื่อศาสนาอันมหาชนรู้กันแล้ว
[๒] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดีได้ทำพระแท่นสีหาสน์๒
ครั้นทำเสร็จแล้วได้ทำตั่งสำหรับรองพระบาทถวาย
[๓] ในฤดูฝน ข้าพเจ้าได้สร้างเรือนคลุมบนพระแท่นสีหาสน์นั้น
ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ไปบังเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต
[๔] บุญกรรมได้สร้างวิมานยาว ๒๔ โยชน์
กว้าง ๑๔ โยชน์ไว้อย่างดีในขณะนั้นเพื่อข้าพเจ้า
[๕] นางเทพกัญญา ๗,๐๐๐ นาง แวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
บุญกรรมได้เนรมิตบัลลังก์ทองไว้อย่างดีในวิมาน
[๖] ยานคือช้าง ยานคือม้า ซึ่งเป็นยานทิพย์
ได้รับการจัดเตรียมไว้แล้ว
ปราสาทและวอก็บังเกิดขึ้นตามต้องการ

เชิงอรรถ :
๑ ปาพจน์ หมายถึงปิฎก ๓ (คือวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก) (ขุ.อป.อ. ๒/๑/๒)
๒ พระแท่นสีหาสน์ หมายถึงอาสนะอย่างดี (ขุ.อป.อ. ๒/๑๒๙/๓๕) เป็นอาสนะของพระผู้มีพระภาคผู้องอาจ
ดุจสีหะ เป็นอาสนะที่ประดับด้วยของมีค่า เช่น เงิน และทองเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๒/๒๑/๒๑๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๑. สีหาสนทายกเถราปทาน
[๗] บัลลังก์แก้วมณีและบัลลังก์ไม้แก่นชนิดอื่นอีกจำนวนมาก
ทั้งหมดบังเกิดขึ้นเพื่อข้าพเจ้า
นี้เป็นผลของการถวายพระแท่นสีหาสน์
[๘] ข้าพเจ้าสวมเขียงเท้าซึ่งทำด้วยทองคำ
เงิน แก้วผลึก และแก้วไพฑูรย์
นี้เป็นผลของการถวายตั่งสำหรับรองพระบาท
[๙] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๑๐] ในกัปที่ ๗๓ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ
มีพระนามว่าอินทะ
ในกัปที่ ๗๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ
มีพระนามว่าสุมนะ
[๑๑] ในกัปที่ ๗๐ ถ้วนนับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ
มีพระนามว่าวรุณะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ ทรงเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔
[๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านสีหาสนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้
สีหาสนทายกเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๒. เอกถัมภิกเถราปทาน
๒. เอกถัมภิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกถัมภิกเถระ
(พระเอกถัมภิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
มีคณะอุบาสกหมู่ใหญ่ และอุบาสกเหล่านั้น
ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง เชื่อฟังพระตถาคต
[๑๔] อุบาสกทั้งหมดมาประชุมปรึกษาหารือกัน
จะสร้างศาลาโรงฉันถวายพระศาสดา
แต่ยังหาเสาอีกหนึ่งต้นไม่ได้
จึงเที่ยวแสวงหาในป่าใหญ่
[๑๕] ข้าพเจ้าได้พบอุบาสกเหล่านั้นในป่า
จึงเข้าไปหาคณะอุบาสกแล้วยกมือไหว้
ได้สอบถามคณะอุบาสกในครั้งนั้น
[๑๖] หมู่อุบาสกผู้มีศีลที่ข้าพเจ้าถามได้ชี้แจงให้ข้าพเจ้าทราบว่า
พวกเราต้องการจะสร้างศาลาโรงฉัน
แต่ยังหาเสาอีกหนึ่งต้นไม่ได้
[๑๗] (ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า) ท่านทั้งหลาย
จงให้เสาต้นหนึ่ง(เป็นภาระ)ของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจักถวายพระศาสดา ข้าพเจ้าจักนำเสามาให้
ท่านทั้งหลายไม่ต้องขวนขวายหรอก
[๑๘] อุบาสกเหล่านั้นเลื่อมใส พอใจ
ให้เสาแก่ข้าพเจ้า แล้วกลับจากที่นั้นไปเรือนของตน
[๑๙] เมื่อคณะอุบาสกไปได้ไม่นาน
ข้าพเจ้าจึงได้ถวายเสา มีจิตร่าเริง เบิกบาน
ได้ยกเสานั้น เป็นต้นที่หนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๒. เอกถัมภิกเถราปทาน
[๒๐] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ข้าพเจ้าได้เกิดยังวิมาน
วิมานของข้าพเจ้าสูงตระหง่านถึง ๗ ชั้น
[๒๑] เมื่อกลองตีดังกระหึ่มอยู่
ข้าพเจ้าได้รับการบำเรออยู่ทุกเมื่อ
ในกัปที่ ๕๕ ข้าพเจ้าได้เป็นพระราชามีนามว่ายโสธระ
[๒๒] แม้ในสถานที่นั้น วิมานของข้าพเจ้าก็สูงตระหง่านถึง ๗ ชั้น
ประกอบด้วยเรือนยอดอย่างดี มีเสาต้นเดียวน่ารื่นรมย์ใจ
[๒๓] ในกัปที่ ๒๑ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นกษัตริย์มีนามว่าอุเทน
แม้ในสถานที่นั้น วิมานของข้าพเจ้าก็สูงตระหง่านถึง ๗ ชั้น
[๒๔] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ข้าพเจ้าก็ได้เสวยความสุขนั้นทั้งหมด
นี้เป็นผลแห่งการถวายเสาต้นหนึ่ง
[๒๕] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายเสาไว้ ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเสาต้นหนึ่ง
[๒๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกถัมภิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกถัมภิกเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๓. นันทเถราปทาน
๓. นันทเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนันทเถระ
(พระนันทเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๗] ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าเปลือกไม้แด่พระผู้มีพระภาค
พระนามว่าปทุมุตตระ ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
ผู้เป็นพระสยัมภู ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๒๘] พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำซึ่งรุ่งเรืองสูงสุด
ทรงพยากรณ์ข้าพเจ้านั้นว่า
ด้วยการถวายผ้านี้ ท่านจักเป็นผู้มีผิวพรรณดังทอง
[๒๙] ท่านจักได้เสวยสมบัติทั้ง ๒
ถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จักไปเกิดเป็นพระอนุชา
ของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าโคดม
[๓๐] ท่านมีปกติสุขสบายถูกราคะทำให้กำหนัด
ประกอบด้วยความกำหนัดในกามคุณ
ถูกพระพุทธเจ้าทรงตักเตือนแล้วว่า
เพราะเหตุนั้นเธอจักบวชหรือ
[๓๑] ท่านครั้นออกบวชในศาสนา
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดมนั้น
ถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๓๒] ในกัปที่ ๑,๑๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ
มีพระนามว่าเจฬะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๔. จูฬปันถกเถราปทาน
ในกัปที่ ๖๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ
มีพระนามว่าอุปเจละ
[๓๓] ในกัปที่ ๑,๐๐๕ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ มีพระนามว่าเจฬะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ ทรงเป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔
[๓๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนันทเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นันทเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. จูฬปันถกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจูฬปันถกเถระ
(พระจูฬปันถกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๕] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา พระองค์เสด็จหลีกออกจากหมู่คณะ
ไปอาศัยอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์ ในครั้งนั้น
[๓๖] ครั้งนั้น แม้ข้าพเจ้าก็อยู่ในอาศรมใกล้ภูเขาหิมพานต์
ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ผู้มีความเพียรมาก
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ซึ่งเสด็จมาไม่นาน
[๓๗] ข้าพเจ้าถือร่มดอกไม้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ผู้องอาจกว่านรชน ข้าพเจ้าได้ทำอันตราย(รบกวนสมาธิ)
ต่อพระผู้มีพระภาคผู้กำลังเข้าสมาธิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๔. จูฬปันถกเถราปทาน
[๓๘] ข้าพเจ้าใช้มือทั้ง ๒ ประคองร่มดอกไม้แล้ว
ได้ถวายพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระทรงรับแล้ว
[๓๙] เทวดาเหล่านั้นทั้งหมดมีใจยินดี
พากันเข้าไปยังป่าหิมพานต์ ส่งเสียงสาธุการว่า
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ จักทรงอนุโมทนา
[๔๐] ครั้นแล้ว เทวดาเหล่านั้น
ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ผู้สูงสุดแห่งนรชน
ขณะเมื่อข้าพเจ้ากั้นร่มดอกบัวชั้นดีเยี่ยมอยู่ในอากาศ
[๔๑] (พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระตรัสว่า)
เราจักพยากรณ์ดาบสผู้ที่ประคองร่มดอกบัวร้อยกลีบถวายเรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว
[๔๒] ดาบสนี้จักครองเทวสมบัติ ๒๕ กัป
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๔ ชาติ
[๔๓] เขาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้นดอกบัวก็จักกั้นอยู่เบื้องบนเขาผู้นั่งหรือยืนอยู่กลางแจ้ง
[๔๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๔๕] เมื่อพระศาสดาทรงประกาศธรรมวินัยแล้ว
ดาบสนี้จักเกิดเป็นมนุษย์
เป็นผู้สูงสุดในการแปลงกายได้ดังใจนึก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๔. จูฬปันถกเถราปทาน
[๔๖] จักมีชายหนุ่มสองพี่น้องชื่อว่าปันถกะ ทั้ง ๒ คน
ครั้นได้บรรลุประโยชน์อย่างสูงสุดแล้ว๑
จักทำให้ศาสนารุ่งเรือง
[๔๗] ข้าพเจ้านั้นอายุได้ ๑๘ ปี บวชเป็นบรรพชิต
ยังไม่สำเร็จคุณวิเศษในศาสนาของพระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตร
[๔๘] ข้าพเจ้าโง่เขลา เพราะเคยดูหมิ่นผู้อื่น
พระพี่ชายจึงขับไล่ข้าพเจ้าว่าจงกลับไปบ้านของตนเดี๋ยวนี้
[๔๙] ข้าพเจ้านั้นถูกขับไล่แล้วเสียใจ
ยืนอยู่ที่ซุ้มประตูสังฆาราม
หมดอาลัยในความเป็นสมณะ
[๕๐] ลำดับนั้น พระศาสดาได้เสด็จมายังสถานที่นั้น
ทรงลูบศีรษะข้าพเจ้า ทรงจูงแขนข้าพเจ้าพาเข้าสู่สังฆาราม
[๕๑] พระศาสดาได้ประทานผ้าสำหรับเช็ดเท้าให้ข้าพเจ้า
ด้วยความอนุเคราะห์แล้วตรัสว่า
เธอจงอธิษฐานผ้าสะอาดอย่างนี้
ข้าพเจ้าได้อธิษฐาน ณ ที่สมควร
[๕๒] ข้าพเจ้าใช้มือทั้ง ๒ จับผ้าผืนนั้นแล้วระลึกถึงดอกบัว
จิตของข้าพเจ้าก็น้อมไปในดอกบัวนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้บรรลุอรหัตตผล
[๕๓] ข้าพเจ้าถึงความสำเร็จในการแปลงกายทั้งหลาย
ได้ดังใจนึกในที่ทุกสถาน
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์อย่างสูงสุด ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๓๐๘/๒๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๕. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๕๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจูฬปันถกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จูฬปันถกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปิลินทวัจฉเถระ
(พระปิลินทวัจฉเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดีได้ทำการบูชาพระสถูป
[๕๖] ในสมาคมนั้น พระขีณาสพเหล่าใดผู้ได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก
ข้าพเจ้าได้นิมนต์พระขีณาสพเหล่านั้นมา
แล้วทำสังฆภัตถวาย ณ สมาคมนั้น
[๕๗] ครั้งนั้น มีภิกษุอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าสุเมธะ ภิกษุนั้นก็มีนามว่าสุเมธะ
ได้อนุโมทนา ในครั้งนั้น
[๕๘] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ข้าพเจ้าได้เกิดในวิมาน
นางอัปสร ๘๖,๐๐๐ นาง รื่นรมย์กับข้าพเจ้า
[๕๙] นางอัปสรเหล่านั้น ประพฤติตามความต้องการ
ของข้าพเจ้าทุกอย่าง
ในทุกสมัย ข้าพเจ้าก็ได้ปกครองเทวดาเหล่าอื่น
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๕. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๖๐] ในกัปที่ ๒๕ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าวรุณะ
มีโภชนาหารสะอาดในครั้งนั้น
[๖๑] มนุษย์เหล่านั้นไม่ต้องหว่านพืช ไม่ต้องนำไถไปนา
บริโภคข้าวสาลีที่ไม่ต้องหุงด้วยฟืน
[๖๒] ข้าพเจ้าครั้นครองราชสมบัติในอัตภาพนั้น
ได้ไปเกิดเป็นเทวดาอีก
แม้ในครั้งนั้น โภคสมบัติเช่นนี้ก็ได้บังเกิดแก่ข้าพเจ้า
[๖๓] สัตว์ทั้งปวงทั้งที่เป็นมิตรหรือมิใช่มิตร
ย่อมไม่เบียดเบียนข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าเป็นที่รักของสัตว์ทั้งปวง
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๖๔] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการไล้ทาของหอม
[๖๕] ในภัทรกัปนี้ ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑ ชาติ
เป็นใหญ่กว่าชน เป็นผู้มีพลานุภาพมาก
[๖๖] ข้าพเจ้านั้น ตั้งมั่นในศีล ๕
ได้พาหมู่ชนจำนวนมากให้ถึงสุคติ
ได้เป็นที่รักของเทวดาทั้งหลาย
[๖๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปิลินทวัจฉเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปิลินทวัจฉเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๖. ราหุลเถราปทาน
๖. ราหุลเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระราหุลเถระ
(พระราหุลเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๘] ข้าพเจ้าได้ปูลาดกระจกบนปราสาท ๗ ชั้น
ถวายแด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
[๖๙] พระผู้มีพระภาคมหามุนี
ผู้เป็นใหญ่แห่งเทวดาและมนุษย์ ทรงองอาจกว่านรชน
คับคั่งไปด้วยพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ รูป
ได้เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี
[๗๐] พระศาสดาผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
ทรงองอาจกว่านรชน ทรงยังพระคันธกุฎีให้รุ่งเรือง
ประทับยืนในท่ามกลางหมู่ภิกษุได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๗๑] เราจักพยากรณ์อุบาสกผู้ทำที่นอนนี้ให้โชติช่วงแล้ว
ดุจกระจกเงาที่ปูลาดไว้อย่างดี
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๗๒] ปราสาททอง ปราสาทเงิน หรือปราสาทแก้วไพฑูรย์
อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่น่าชอบใจ
จักบังเกิดแก่อุบาสกนั้น
[๗๓] อุบาสกนั้นจักเป็นจอมเทพ ครองเทวสมบัติ ๖๔ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิติดต่อกัน ๑,๐๐๐ ชาติ
[๗๔] ในกัปที่ ๒๑ (นับจากกัปนี้ไป)
อุบาสกนั้นจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าวิมละ
เป็นใหญ่มีชัยชนะในทวีปทั้ง ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๖. ราหุลเถราปทาน
[๗๕] มีกรุงนามว่าเรณุวดี
ยาว ๓๐๐ โยชน์ สี่เหลี่ยมจตุรัส
[๗๖] มีปราสาทชื่อว่าสุทัสสนะ วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตให้
ประกอบด้วยเรือนยอดอย่างดี
ประดับประดาด้วยรัตนะ ๗ ประการ
[๗๗] กรุงนั้นไม่สงัดจากเสียง ๑๐ ประการ๑
พลุกพล่านด้วยพวกวิทยาธร
จักเป็นดุจเมืองสุทัสสนะของเหล่าเทวดา
[๗๘] พอเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น กรุงนั้นก็เปล่งรัศมี
นครนั้นรุ่งเรืองเป็นนิตย์ แผ่ออกไป ๘ โยชน์ โดยรอบ
[๗๙] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๘๐] อุบาสกนั้นถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจักจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต
เกิดเป็นพระโอรสของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๘๑] ถ้าหากเขาจะพึงอยู่ครองเรือนก็จะพึงได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
แต่ข้อที่เขาผู้คงที่ จะยินดีในการอยู่ครองเรือนนั้น
ไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นได้ (เป็นไปไม่ได้)
[๘๒] เขาจักต้องออกจากเรือนไปบวช มีข้อวัตรอันดี
จักสำเร็จเป็นพระอรหันต์โดยนามว่าราหุล
[๘๓] พระราหุลเป็นผู้มีปัญญารักษาตน สมบูรณ์ด้วยศีล
ดุจนกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ ดุจจามรีรักษาขนหาง
พระมหามุนีได้ทรงเห็นเราแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ เสียง ๑๐ ประการ ได้แก่ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับร้อง
เสียงกังสดาล เสียงประโคมดนตรี และเสียงว่า ‘ท่านทั้งหลายโปรดบริโภค ดื่ม เคี้ยวกิน’ (ที.ม. (แปล)
๑๐/๒๔๑/๒๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๗. อุปเสนวังคันตปุตตเถราปทาน
[๘๔] ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ยินดีอยู่ในศาสนา
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๘๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระราหุลเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ราหุลเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. อุปเสนวังคันตปุตตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ
(พระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึง
กล่าวว่า)
[๘๖] ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน
ผู้สูงสุดแห่งนรชนพระองค์นั้น
ประทับนั่งอยู่ ณ เงื้อมเขา
[๘๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นดอกกรรณิการ์กำลังบาน
จึงเด็ดขั้วดอกกรรณิการ์นั้นมาประดับฉัตรแล้ว
บูชาพระพุทธเจ้า
[๘๘] ข้าพเจ้าได้ถวายอาหารบิณฑบาต เป็นข้าวสุกชั้นพิเศษ
จัดว่าเป็นโภชนะชั้นดี ได้นิมนต์สมณะ ๘ รูป
เป็น ๙ รูปรวมทั้งพระพุทธเจ้า ให้ฉัน ณ สถานที่วิเวกนั้น
[๘๙] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีความเพียรมาก
ผู้เป็นพระสยัมภู ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ ทรงอนุโมทนาว่า
ด้วยการถวายฉัตรและการถวายข้าวสุกชั้นดีนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๗. อุปเสนวังคันตปุตตเถราปทาน
[๙๐] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ท่านจักได้เสวยสมบัติ
เขาจักเป็นจอมเทพ ครองเทวสมบัติ ๓๖ ชาติ
[๙๑] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๑ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๙๒] เหล่าบัณฑิต เรียกผู้มีปัญญาเหมือนแผ่นดิน
มีปัญญาดีว่าสุเมธะ
ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ผู้นั้นจักสมภพในราชตระกูลโอกกากราช
[๙๓] ผู้นั้นจักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
เมื่อศาสนารุ่งเรืองอยู่ เขาจักไปเกิดเป็นมนุษย์๑
[๙๔] จักมีนามว่าอุปเสนะ เป็นสาวกของพระศาสดา
จักดำรงอยู่ในตำแหน่งอันเลิศ
เพราะเป็นผู้ทำให้ประชาชนรอบด้านเลื่อมใส
[๙๕] อัตภาพสุดท้ายของข้าพเจ้ายังเป็นไปอยู่
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าชนะมารพร้อมทั้งพาหนะ(คือเสนามาร)แล้ว
ทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้ายอยู่
[๙๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
อุปเสนวังคันตปุตตเถราปทานที่ ๗ จบ
ภาณวารที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ คาถาที่ ๙๒-๙๓ แปลตามฉบับพม่าและ ขุ.เถร.อ. ๒/๒๒๕, ดูข้อ ๑๐๕ ถัดไปด้วย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๘. รัฏฐปาลเถราปทาน
๘. รัฏฐปาลเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระรัฏฐบาลเถระ
(พระรัฏฐบาลเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙๗] ช้างเชือกประเสริฐ
มีงางอนงาม ควรเป็นพระราชพาหนะ
ข้าพเจ้าถวายแด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
[๙๘] ช้างนั้น เขากั้นเศวตฉัตรให้งดงาม
พร้อมทั้งหมอขมังเวท พร้อมทั้งนายควาญช้าง
ข้าพเจ้าให้ตีราคาช้างพร้อมทั้งสิ่งของนั้นทั้งหมดแล้ว
ได้ให้สร้างสังฆารามถวาย
[๙๙] ข้าพเจ้าได้ให้สร้างปราสาท ๕๔,๐๐๐ หลัง(ไว้ภายในวัด)
ได้บำเพ็ญทานดังห้วงน้ำใหญ่แล้วมอบถวายแด่พระผู้มีพระภาค
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๑๐๐] พระผู้มีพระภาคผู้มีความเพียรมาก ผู้เป็นพระสยัมภู
ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ ทรงอนุโมทนา
แสดงอมตบทให้ชนทั้งปวงร่าเริงอยู่
[๑๐๑] พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำซึ่งรุ่งเรืองสูงสุด
ทรงประกาศผลบุญที่ข้าพเจ้าทำแล้วนั้นให้ปรากฏโดยพิเศษ
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๐๒] ท่านผู้นี้ได้ให้สร้างปราสาท ๕๔,๐๐๐ หลัง
เราจักกล่าววิบาก ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๑๐๓] ผู้นี้จักมีเรือนยอด ๑๘,๐๐๐ หลัง และเรือนยอดเหล่านั้น
สร้างด้วยทองคำล้วน บังเกิดในวิมานสูงสุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๘. รัฏฐปาลเถราปทาน
[๑๐๔] ผู้นี้จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๕๐ ชาติ
และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๘ ชาติ
[๑๐๕] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๑๐๖] ผู้นี้ถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจักจุติจากเทวโลก
ไปบังเกิดในตระกูลที่เจริญ มีโภคสมบัติมาก ในขณะนั้น
[๑๐๗] ภายหลัง เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจักบวช
มีนามว่ารัฏฐบาล เป็นสาวกของพระศาสดา
[๑๐๘] เขามีจิตเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร
เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๑๐๙] ข้าพเจ้าลุกขึ้นแล้วสละโภคสมบัติออกบวช
ข้าพเจ้าไม่มีความรักในโภคสมบัติ ดุจในก้อนเขฬะ
[๑๑๐] ข้าพเจ้ามีความเพียรสำหรับนำพาธุระ
เป็นความเพียรที่นำมาซึ่งธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ข้าพเจ้าทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๑๑๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระรัฏฐบาลเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
รัฏฐปาลเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๙. โสปากเถราปทาน
๙. โสปากเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโสปากเถระ
(พระโสปากเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๑๒] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ได้เสด็จมายังสำนักของข้าพเจ้า
ผู้กำลังทำความสะอาดเงื้อมเขาอยู่ที่ภูเขาสูงเทือกประเสริฐ
[๑๑๓] ข้าพเจ้าเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามา
ปูลาดเครื่องปูลาด
ถวายอาสนะดอกไม้แด่พระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
[๑๑๔] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ได้ประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้แล้ว
ทรงทราบคติของข้าพเจ้าแล้วตรัสถึงสภาวะไม่เที่ยงว่า
[๑๑๕] สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้น
และความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
ความเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้น๑เป็นความสุข
[๑๑๖] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้สิ่งทั้งปวง๒
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน ทรงเป็นนักปราชญ์
ครั้นตรัสดังนี้แล้วได้เสด็จเหาะขึ้นไปบนท้องฟ้าดังพญาหงส์
[๑๑๗] ข้าพเจ้าละทิฏฐิของตนแล้ว เจริญอนิจจสัญญา
(กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร)
ครั้นเจริญอนิจจสัญญาได้วันเดียว ก็สิ้นชีวิต ณ ที่นั้นเอง

เชิงอรรถ :
๑ ความเข้าไปสงบสังขารเหล่านั้น ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๒/๑๑๕/๓๓)
๒ สิ่งทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงธรรมทั้งหมด (ขุ.อป.อ. ๒/๑๑๖/๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๑๐. สุมังคลเถราปทาน
[๑๑๘] ข้าพเจ้าเสวยสมบัติทั้ง ๒ แล้ว ถูกกุศลมูลตักเตือน
มาถึงภพสุดท้ายได้เกิดในตระกูลพ่อครัว
[๑๑๙] ข้าพเจ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
มีอายุ ๗ ขวบก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๑๒๐] ข้าพเจ้าบำเพ็ญเพียรมีจิตเด็ดเดี่ยว ตั้งมั่นอยู่ในศีลด้วยดี
ให้พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐยิ่งทรงพอพระทัยแล้วได้อุปสมบท
[๑๒๑] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายอาสนะดอกไม้
[๑๒๒] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เจริญสัญญาไว้ครั้งนั้น เมื่อเจริญสัญญานั้นอยู่
ข้าพเจ้าได้บรรลุความสิ้นอาสวะแล้ว
[๑๒๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโสปากเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โสปากเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. สุมังคลเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุมังคลเถระ
(พระสุมังคลเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๒๔] ข้าพเจ้าประสงค์จะถวายเครื่องบูชาสักการะ
จึงให้จัดเตรียมโภชนาหาร
ยืนต้อนรับพราหมณ์ทั้งหลายอยู่ที่โรงกว้างใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๑๐. สุมังคลเถราปทาน
[๑๒๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระนามว่าปิยทัสสี ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
ผู้ทรงแนะนำสัตว์โลกทั้งปวงโดยวิเศษ
ผู้เป็นพระสยัมภู ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ
[๑๒๖] ผู้โชติช่วง มีหมู่สาวกห้อมล้อม
รุ่งเรืองดังดวงอาทิตย์เสด็จพุทธดำเนินไปที่ถนน
[๑๒๗] ข้าพเจ้าจึงประคองอัญชลี ทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ทูลนิมนต์ด้วยใจเท่านั้นว่า
ขอเชิญพระมหามุนีเสด็จมาเถิด
[๑๒๘] พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว
ได้เสด็จมายังประตูเรือนของข้าพเจ้า
พร้อมกับพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ รูป
[๑๒๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดแห่งบุรุษ
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ขอเชิญเสด็จขึ้นปราสาท
ประทับนั่งบนอาสนะสูงสุดเถิด พระพุทธเจ้าข้า
[๑๓๐] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงฝึกพระองค์แล้ว มีบริวารที่ฝึกแล้ว
ทรงข้ามพ้นแล้ว ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย
เสด็จขึ้นปราสาทแล้ว ประทับนั่งบนอาสนะที่ประเสริฐ
[๑๓๑] อามิสใดที่ข้าพเจ้าจัดเตรียมไว้ มีอยู่ในเรือนตน
ข้าพเจ้าเป็นผู้เลื่อมใสได้ถวายอามิสนั้น
แด่พระพุทธเจ้าด้วยมือทั้ง ๒ ของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] ๑๐. สุมังคลเถราปทาน
[๑๓๒] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี เกิดโสมนัส
จึงประนมมือ นอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดว่า
โอหนอ พระพุทธเจ้ายิ่งใหญ่จริงหนอ
[๑๓๓] บรรดาพระอริยบุคคล ๘ ผู้นั่งฉันอยู่
มีพระขีณาสพจำนวนมาก นี้คืออานุภาพของพระองค์
ข้าพระองค์ขอถึงพระองค์ว่าเป็นสรณะ
[๑๓๔] และพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปิยทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๓๕] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้นิมนต์พระสงฆ์ผู้ซื่อตรง
มีจิตมั่นคงและพระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ฉัน
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๑๓๖] ผู้นั้นจักครองเทวสมบัติ ๒๗ ชาติ
เขาจักพอใจกรรมของตน รื่นรมย์อยู่ในเทวโลก
[๑๓๗] ผู้นั้นจักเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๘ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน ๕๐๐ ชาติ
[๑๓๘] กิเลสทั้งหลายอันข้าพเจ้าเข้าไปยังป่าดงทึบ
ที่เสือโคร่งอาศัยอยู่ ตั้งความเพียร เผาได้แล้ว
[๑๓๙] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายภัตตาหาร
[๑๔๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุมังคลเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุมังคลเถราปทานที่ ๑๐ จบ
สีหาสนิยวรรคที่ ๒ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒. สีหาสนิยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สีหาสนทายกเถราปทาน ๒. เอกถัมภิกเถราปทาน
๓. นันทเถราปทาน ๔. จูฬปันถกเถราปทาน
๕. ปิลินทวัจฉเถราปทาน ๖. ราหุลเถราปทาน
๗. อุปเสนวังคันตปุตตเถราปทาน ๘. รัฏฐปาลเถราปทาน
๙. โสปากเถราปทาน ๑๐. สุมังคลเถราปทาน

ในวรรคที่ ๒ มี ๑๐ เรื่องเท่านั้น
ในวรรคนี้ท่านประกาศคาถาไว้ ๑๓๘ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๑. สุภูติเถราปทาน
๓. สุภูติวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องพระสุภูติเป็นต้น
๑. สุภูติเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุภูติเถระ
(พระสุภูติเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่านิสภะ
เขาสร้างอาศรมและบรรณศาลาไว้อย่างดีเพื่อข้าพเจ้า
[๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นชฎิลมีนามว่าโกสิยะ
มีตบะแก่กล้า ผู้เดียว ไม่มีเพื่อน อยู่ที่ภูเขานิสภะ
[๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามิได้เก็บผลไม้ เหง้า และใบไม้ มากิน
ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าอาศัยใบไม้เป็นต้นที่หล่นเองเท่านั้นเลี้ยงชีวิต
[๔] ข้าพเจ้าแม้ถึงจะสละชีวิตก็ไม่ทำอาชีวะให้กำเริบ
ย่อมทำจิตของตนให้ยินดี งดเว้นการแสวงหาที่ไม่สมควรเสีย๑
[๕] เมื่อใดจิตของข้าพเจ้าเกิดความกำหนัด
เมื่อนั้นข้าพเจ้าย่อมพิจารณาด้วยตนเอง
ข้าพเจ้ามีใจเด็ดเดี่ยวข่มจิตนั้นเสียว่า
[๖] เจ้ากำหนัดในอารมณ์ที่ชวนให้กำหนัด
ขัดเคืองในอารมณ์ที่ชวนให้ขัดเคือง
และหลงในอารมณ์ที่ชวนให้หลง
เพราะฉะนั้น เจ้าจงออกจากป่าไปเสียเถิด
[๗] ที่อยู่แห่งนี้เป็นที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน มีตบะ
เจ้าอย่าประทุษร้ายผู้บริสุทธิ์เลย จงออกจากป่าไปเสียเถิด

เชิงอรรถ :
๑ การแสวงหาที่ไม่สมควร หมายถึงการแสวงหาที่ไม่สมควรมีเวชกรรมและทูตกรรมเป็นต้น (ขุ.อป.อ.
๒/๔/๔๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๑. สุภูติเถราปทาน
[๘] เจ้าจักเป็นผู้ครองเรือนได้บุตรในกาลใด
ในกาลนั้นเจ้าอย่าให้ล้มเหลวแม้ทั้ง ๒ อย่างนั้นเลย
จงออกจากป่าไปเสียเถิด
[๙] ฟืนเผาศพ ใช้ทำกิจอะไรในที่ไหน ๆ ก็ไม่ได้
ไม้นั้นเขาไม่ได้ถือกันว่า เป็นไม้ในบ้านหรือเป็นไม้ในป่า
และไม่ได้ถือกันว่า เป็นไม้ตามปกติ ฉันใด
[๑๐] เจ้าก็ฉันนั้น เปรียบเหมือนฟืนเผาศพ
ไม่ใช่คฤหัสถ์ ทั้งไม่ใช่สมณะ
วันนี้ เจ้าพ้นจากภาวะทั้ง ๒ จงออกจากป่าไปเสียเถิด
[๑๑] ข้อนี้พึงมีแก่เจ้าหรือหนอ
ใครจะรู้ข้อนี้ของเจ้า ใครจะนำธุระของเจ้าไปโดยเร็ว
เพราะเจ้ามากไปด้วยความเกียจคร้าน
[๑๒] วิญญูชนจักรังเกียจเจ้า
เหมือนชาวเมืองรังเกียจของไม่สะอาดฉะนั้น
ฤๅษีทั้งหลายจักฉุดเจ้ามาตักเตือนทุกเมื่อ
[๑๓] วิญญูชนจักประจานเจ้าว่า ล่วงละเมิดศาสนา
ก็เจ้าเมื่อไม่ได้การอยู่ร่วม จักเป็นอยู่อย่างไร
[๑๔] ช้างมีกำลัง เข้าไปหาช้างกุญชรซึ่งตกมัน ๓ แห่ง
เกิดในตระกูลช้างมาตังคะ เสื่อมกำลังในเวลามีอายุ ๖๐ ปีแล้ว
ขับออกจากโขลง
[๑๕] มันถูกขับออกจากโขลงแล้ว หาความสุขสำราญไม่ได้
เป็นสัตว์มีทุกข์ เศร้าใจ ซบเซา สั่นเทาอยู่ ฉันใด
[๑๖] ชฎิลทั้งหลายจักขับเจ้าผู้มีปัญญาทรามออก
เจ้าถูกชฎิลเหล่านั้นขับออกแล้ว
จักหาความสุขสำราญไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๑. สุภูติเถราปทาน
[๑๗] เจ้าถูกลูกศรคือความเศร้าโศกเสียบแล้ว
ทั้งกลางวันและกลางคืน จักถูกความเร่าร้อนแผดเผา
เหมือนช้างถูกขับออกจากโขลง ฉะนั้น
[๑๘] ทองเก๊ ย่อมใช้ไม่ได้ในที่ไหน ๆ ฉันใด
เจ้าเสื่อมแล้วจากศีลก็จักใช้ในที่ไหน ๆ ไม่ได้ ฉันนั้น
[๑๙] แม้เจ้าอยู่ครองเรือน จักเป็นอยู่ได้อย่างไร
ทรัพย์ทั้งที่เป็นของมารดาและบิดาของเจ้าที่เก็บไว้ก็ไม่มี
[๒๐] เจ้าจักต้องทำการงานของตน ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ
จักเป็นอยู่ในเรือนอย่างนี้ เป็นการดีแก่เจ้าที่จะไม่ชอบมัน
[๒๑] ข้าพเจ้าห้ามใจที่หมักหมมด้วยสังกิเลสอย่างนี้ในที่นั้น
ได้กล่าวธรรมกถาต่าง ๆ ห้ามจิตจากความชั่ว
[๒๒] เมื่อข้าพเจ้าเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาทอย่างนี้
ข้าพเจ้าอยู่ในป่าใหญ่ล่วงเลยมา ๓๐,๐๐๐ ปี
[๒๓] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงเห็นข้าพเจ้าผู้ยินดีในความไม่ประมาท
ผู้แสวงหาประโยชน์อย่างสูงสุด
จึงเสด็จมายังสำนักของข้าพเจ้า
[๒๔] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระรัศมีดังสีทองชมพูนุท๑
ประมาณมิได้ ไม่มีใครเปรียบได้ ไม่มีใครเสมอด้วยพระรูป
เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ
[๒๕] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าไม่มีใครเสมอด้วยพระญาณ
เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ ดังต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง
เหมือนสายฟ้าในกลีบเมฆ

เชิงอรรถ :
๑ ทองชมพูนุท หมายถึงทองคำเนื้อบริสุทธิ์ (องฺ.ติก.อ. ๒/๖๔/๑๙๑) ที่เรียกว่า ชมพูนุท เพราะเป็นทอง
ที่เกิดขึ้นในแควของแม่น้ำมหาชมพู (องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๖๔/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๑. สุภูติเถราปทาน
[๒๖] ครั้งนั้น พระองค์เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ
ดังพญาราชสีห์ผู้ไม่กลัว
ดุจพญาช้างคึกคะนอง
เหมือนพญาเสือโคร่งผู้ไม่ครั่นคร้าม ฉะนั้น
[๒๗] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระรัศมีดังแท่งทองสีสุก
เหมือนถ่านเพลิงไม้ตะเคียน
มีพระรัศมีโชติช่วงดังแก้วมณี
เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ
[๒๘] ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าผู้มีพระรัศมี
เหมือนภูเขาไกรลาสที่บริสุทธิ์
เหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญ
เหมือนดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงวัน เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ
[๒๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์
เสด็จจงกรมอยู่ในท้องฟ้า
จึงคิดอย่างนี้ว่า ผู้นี้เป็นเทวดาหรือมนุษย์
[๓๐] นรชนเช่นนี้เราไม่เคยได้ฟังหรือได้เห็นในแผ่นดิน
เออ บทมนต์ก็มีอยู่ ผู้นี้จักเป็นพระศาสดา
[๓๑] ครั้นข้าพเจ้าคิดอย่างนี้แล้วได้ทำจิตของตนให้เลื่อมใส
รวบรวมดอกไม้และของหอมต่าง ๆ ไว้ในครั้งนั้น
[๓๒] ข้าพเจ้าได้ปูลาดอาสนะดอกไม้
ซึ่งวิจิตรดีเป็นที่รื่นรมย์ใจแล้ว
ได้กล่าวคำนี้กับพระพุทธเจ้าผู้เลิศกว่าสารถีผู้ฝึกนรชนว่า
[๓๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
อาสนะนี้สมควรแก่พระองค์ ข้าพระองค์จัดถวายไว้แล้ว
ขอพระองค์เมื่อจะทำจิตของข้าพระองค์ให้ร่าเริง
โปรดประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้เถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๑. สุภูติเถราปทาน
[๓๔] พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เป็นดุจพญาไกรสร ผู้ไม่ครั่นคร้าม
ประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้อันประเสริฐนั้นตลอด ๗ คืน ๗ วัน
[๓๕] ข้าพเจ้าได้ยืนนมัสการพระองค์อยู่ตลอด ๗ คืน ๗ วัน
พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก เสด็จออกจากสมาธิแล้ว
เมื่อจะทรงพยากรณ์กรรมของข้าพเจ้าได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๓๖] บรรดาภาวนาทั้งหลาย เธอจงเจริญพุทธานุสสติที่ยอดเยี่ยม
ครั้นเจริญพุทธานุสสตินี้แล้ว จักทำใจให้บริบูรณ์ได้
[๓๗] เธอจักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
จักเป็นจอมเทพ ครองเทวสมบัติ ๘๐ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในแว่นแคว้น ๑,๐๐๐ ชาติ
[๓๘] จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
จักได้เสวยสมบัตินั้นทั้งหมด
นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ
[๓๙] เธอเมื่อเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
จักได้โภคสมบัติเป็นอันมาก ความพร่องในโภคะของท่านจะไม่มี
นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ
[๔๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๔๑] เธอจักสละทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิ
รวมทั้งทาสและกรรมกรจำนวนมากแล้ว
บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๔๒] ท่านจักให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐ ทรงพอพระทัยแล้ว
เป็นสาวกมีนามว่าสุภูติ ของพระศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๑. สุภูติเถราปทาน
[๔๓] พระศาสดาพระนามว่าโคดม
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
จักทรงแต่งตั้งท่านว่าเป็นผู้เลิศใน ๒ ตำแหน่ง
คือในพระทักขิไณยบุคคลผู้มีคุณ
และในความเป็นผู้มีธรรมเครื่องอยู่ซึ่งไม่มีข้าศึก
[๔๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นผู้นำซึ่งรุ่งเรืองสูงสุด
ผู้เป็นนักปราชญ์ ครั้นตรัสดังนี้แล้ว
ได้เสด็จเหาะขึ้นไปยังนภากาศดุจพญาหงส์ในท้องฟ้า ฉะนั้น
[๔๕] ข้าพเจ้าซึ่งพระผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ทรงพร่ำสอนแล้ว
นอบน้อมพระตถาคตแล้วมีจิตเบิกบาน
เจริญพุทธานุสสติอันยอดเยี่ยมทุกเมื่อ
[๔๖] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้วได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๔๗] ข้าพเจ้าได้เป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๘๐ ชาติ
และได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๔๘] ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
ข้าพเจ้าได้เสวยสมบัติอย่างดีนับไม่ถ้วน
นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ
[๔๙] ข้าพเจ้าเมื่อเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
จะได้โภคสมบัติเป็นอันมาก
ความบกพร่องในโภคะของข้าพเจ้าไม่มีเลย
นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ
[๕๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๒. อุปวาณเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการเจริญพุทธานุสสติ
[๕๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุภูติเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุภูติเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. อุปวาณเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุปวาณเถระ
(พระอุปวาณเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๒] พระสัมพุทธชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงถึงความสำเร็จ๑แห่งธรรมทั้งปวง
รุ่งเรืองดังกองไฟ เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
[๕๓] มหาชนมาประชุมกันบูชาพระตถาคต
สร้างจิตกาธานอย่างงดงามแล้วช่วยกันยกสรีระขึ้นวางไว้
[๕๔] ชนเหล่านั้นทั้งหมดพร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์
ทำพระสรีรกิจแล้วได้รวบรวมพระธาตุ
พากันสร้างพระพุทธสถูปไว้ ณ ที่นั้น
[๕๕] สถูปชั้นที่ ๑ ทำด้วยทองคำ
ชั้นที่ ๒ ทำด้วยแก้วมณี ชั้นที่ ๓ ทำด้วยเงิน
ชั้นที่ ๔ ทำด้วยแก้วผลึก

เชิงอรรถ :
๑ ถึงความสำเร็จ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๒/๕๒/๔๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๒. อุปวาณเถราปทาน
[๕๖] ที่พระสถูปนั้น ชั้นที่ ๕ ทำด้วยแก้วทับทิม
ชั้นที่ ๖ ทำด้วยแก้วลาย ชั้นบนทำด้วยรัตนะทุกอย่าง
[๕๗] ร่างร้านทำด้วยแก้วมณี แท่นไพทีทำด้วยรัตนะ
พระสถูปทำด้วยทองคำล้วนสูง ๑ โยชน์
[๕๘] ครั้งนั้น หมู่เทวดาได้มาร่วมประชุมปรึกษากัน ณ ที่นั้นว่า
แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปถวายพระโลกนาถผู้คงที่บ้าง
[๕๙] พระสารีริกธาตุ ไม่แยกกัน คือรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน
พวกเราจักสร้างพระสถูปครอบไว้ที่พระพุทธสถูปนี้
[๖๐] หมู่เทวดาได้ขยายพระสถูป
ให้สูงขึ้นไปอีกหนึ่งโยชน์ด้วยแก้ว ๗ ประการ
พระสถูปนั้นจึงมีความสูง ๒ โยชน์
ซึ่งส่องแสงสว่างขจัดความมืดได้
[๖๑] พวกนาคได้มาร่วมประชุมปรึกษากัน ณ ที่นี้ว่า
มนุษย์และเทวดาเหล่านั้นได้สร้างพระพุทธสถูปแล้ว
[๖๒] พวกเราอย่าได้ประมาทเลย
พวกมนุษย์กับเทวดาไม่ประมาทกันแล้ว
แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปถวายพระโลกนาถผู้คงที่บ้าง
[๖๓] พวกนาคเหล่านั้นพากันรวบรวมแก้วอินทนิล
แก้วมหานิล และแก้วมณีโชติ ช่วยกันประดับพระพุทธสถูปไว้
[๖๔] พระพุทธเจดีย์ประมาณเท่านั้น
สร้างด้วยแก้วมณีล้วนสูง ๓ โยชน์ ส่องแสงสว่างไสวในเวลานั้น
[๖๕] ฝูงครุฑได้มาร่วมประชุมปรึกษากันในครั้งนั้นว่า
มนุษย์ เทวดา และนาคเหล่านั้นได้สร้างพระพุทธสถูปแล้ว
[๖๖] พวกเราอย่าได้ประมาทเลย
พวกมนุษย์พร้อมเทวดาไม่ประมาทกันแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๒. อุปวาณเถราปทาน
แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปถวายพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ผู้คงที่บ้าง
[๖๗] ฝูงครุฑแม้เหล่านั้นได้สร้างพระสถูป
สำเร็จด้วยแก้วมณีล้วน และผ้าคลุมก็เหมือนกัน
ได้สร้างพระพุทธเจดีย์ต่อขึ้นไปให้สูงอีก ๑ โยชน์
[๖๘] พระพุทธสถูปสูงขึ้นไป ๔ โยชน์
รุ่งเรืองอยู่ ส่องทิศทั้งปวงให้สว่างไสว
เหมือนดวงอาทิตย์อุทัย ฉะนั้น
[๖๙] ครั้งนั้น พวกกุมภัณฑ์ได้มาร่วมประชุมปรึกษากันว่า
พวกมนุษย์ เทวดา นาค และครุฑก็เป็นเหมือนกันหมด
ต่างก็ได้พากันสร้างพระสถูปที่อุดม
บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๗๐] พวกเราอย่าได้ประมาทเลย
พวกมนุษย์พร้อมเทวดาไม่ประมาทกันแล้ว
ถึงพวกเราก็จักสร้างพระสถูปบูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่บ้าง
จักใช้รัตนะทั้งหลายประดับพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไป
[๗๑] พวกกุมภัณฑ์แม้เหล่านั้น
ได้ขยายพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไปอีก ๑ โยชน์
ในครั้งนั้น พระสถูปสูงขึ้นไปเป็น ๕ โยชน์ สว่างไสวอยู่
[๗๒] ครั้งนั้น พวกยักษ์ได้มาร่วมประชุมปรึกษากัน ณ ที่นั้นว่า
พวกมนุษย์ เทวดา นาค กุมภัณฑ์ และครุฑ
[๗๓] ต่างได้พากันสร้างสถูปที่ประเสริฐที่สุด
บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
พวกเราอย่าได้ประมาทเลย
พวกมนุษย์พร้อมเทวดาไม่ประมาทกันแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๒. อุปวาณเถราปทาน
[๗๔] แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปบูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่บ้าง
นำแก้วผลึกมาประดับพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไปอีก
[๗๕] ยักษ์แม้เหล่านั้นได้ขยายพระพุทธเจดีย์ให้กว้างออกไปอีก ๑ โยชน์
ครั้งนั้น พระสถูปสูงขึ้นไปเป็น ๖ โยชน์ สว่างไสวอยู่
[๗๖] ครั้งนั้น พวกคนธรรพ์มาร่วมประชุมปรึกษากันว่า
พวกมนุษย์ เทวดา นาค ครุฑ กุมภัณฑ์ และยักษ์ก็เหมือนกัน
[๗๗] พวกเขาทั้งหมดได้พากันสร้างพระพุทธสถูปแล้ว
ในเรื่องพระสถูปนี้ พวกเรายังไม่ได้สร้างเลย
แม้พวกเราก็จักสร้างพระสถูปบูชาพระโลกนาถ ผู้คงที่บ้าง
[๗๘] ครั้งนั้น พวกคนธรรพ์เหล่านั้น
ได้สร้างแท่นไพที ๗ แห่ง จนถึงทางเดิน
พวกคนธรรพ์สร้างพระสถูปด้วยทองคำล้วน
[๗๙] ในครั้งนั้น พระสถูปสูงขึ้นไปเป็น ๗ โยชน์
ส่องแสงสว่างไสว จนไม่รู้กลางคืนหรือกลางวัน
เพราะมีแสงสว่างตลอดเวลา
[๘๐] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์พร้อมทั้งดวงดาว
ครอบงำรัศมีของพระสถูปนั้นไม่ได้
ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ แม้ประทีปก็ไม่โชติช่วง
[๘๑] โดยกาลนั้น มนุษย์พวกใดพวกหนึ่งจะบูชาพระสถูป
พวกเขาไม่ต้องขึ้นพระสถูป เพียงโยนเครื่องสักการะขึ้นไปบนอากาศ
[๘๒] ยักษ์ตนหนึ่งชื่อว่าอภิสัมมตะ ที่พวกเทวดาแต่งตั้งไว้
คอยรับธงหรือพวงดอกไม้ไปบูชาให้ยิ่งขึ้น
[๘๓] ชนเหล่านั้นมองไม่เห็นยักษ์ตนนั้น
เห็นแต่พวงดอกไม้ของยักษ์ที่ลอยไปอยู่
ครั้นเห็นเช่นนี้แล้วจึงไป มนุษย์ทั้งหมดย่อมไปเกิดยังสุคติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๒. อุปวาณเถราปทาน
[๘๔] พวกมนุษย์ที่ไม่เฃื่อในคำสอน
และพวกที่เลื่อมใสในศาสนา
มีความต้องการจะเห็นปาฏิหาริย์ จึงพากันบูชาพระสถูป
[๘๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นลูกจ้างอยู่ในกรุงหงสวดี
เห็นชนพากันรื่นเริงบันเทิงใจ จึงคิดอย่างนี้ในครั้งนั้นว่า
[๘๖] ชุมชนเหล่านี้ พากันดีใจ ไม่อิ่มถึงสักการะที่ควรทำ
ซึ่งปรากฏที่เรือนแห่งพระธาตุของพระผู้มีพระภาคผู้ยิ่งใหญ่
[๘๗] แม้เราก็จักทำสักการะแด่พระโลกนาถ ผู้คงที่
จักเป็นธรรมทายาทของพระองค์ในอนาคต
[๘๘] ข้าพเจ้าจึงเอาผ้าห่มของข้าพเจ้าที่ช่างย้อมซักไว้อย่างดี
คล้องไว้ที่ปลายไม้ไผ่ แล้วยกเป็นธงไว้ในท้องฟ้า
[๘๙] ยักษ์อภิสัมมตะจับธงของข้าพเจ้านำไปในท้องฟ้า
ข้าพเจ้าเห็นแต่ธงถูกลมสะบัดได้ทำให้เกิดความร่าเริงอย่างยิ่ง
[๙๐] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในธงนั้นแล้ว
เข้าไปหาภิกษุผู้เป็นสมณะรูปหนึ่ง
อภิวาทท่านแล้วได้สอบถามถึงผลในการถวายธง
[๙๑] ภิกษุรูปนั้นกล่าวถึงการที่ข้าพเจ้า
เกิดความเอิบอิ่มใจในการถวายธงให้ข้าพเจ้าฟังว่า
ท่านจักได้เสวยวิบากแห่งการถวายธงนั้นในกาลทุกเมื่อ
[๙๒] กองทัพ ๔ เหล่า
คือพลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า
จักแวดล้อมท่านเป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายธง
[๙๓] เครื่องดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้น
กลองที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม แวดล้อมท่านเป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายธง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๒. อุปวาณเถราปทาน
[๙๔] สาวรุ่น ๘๖,๐๐๐ นาง
ล้วนประดับตกแต่งอย่างสวยงาม
สวมใส่ผ้าอาภรณ์อันงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี
[๙๕] มีตากลมโต มีปกติร่าเริง รูปร่างงาม เอวเล็กเอวบาง
จักแวดล้อมท่านเป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายธง
[๙๖] ท่านจักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
จักเกิดเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๘๐ ชาติ
[๙๗] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๙๘] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๙๙] ท่านจุติจากเทวโลกแล้ว ถูกกุศลมูลตักเตือน
ประกอบด้วยบุญกรรม
จักเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์
[๑๐๐] ท่านจักละสมบัติประมาณ ๘๐ โกฏิ
ทั้งทาสและกรรมกรจำนวนมาก
บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๑๐๑] ท่านจักให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐ ทรงพอพระทัยแล้ว
เป็นสาวกมีนามว่าอุปวาณะ ของพระศาสดา
[๑๐๒] กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐
ได้แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพนี้
ข้าพเจ้าพ้นดีแล้ว (จากกิเลส)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน
ดุจความเร็วแห่งลูกศรที่หลุดจากแล่งไปดีแล้ว ฉะนั้น
เผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว
[๑๐๓] เมื่อข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔
ธงทั้งหลายจักตั้งขึ้นรอบ ๆ ตลอด ๓ โยชน์ ในกาลทุกเมื่อ
[๑๐๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายธง
[๑๐๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุปวาณเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปวาณเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติสรณคมนิยเถระ
(พระติสรณคมนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐๖] ข้าพเจ้าเป็นคนเลี้ยงดูมารดาและบิดาอยู่ในกรุงจันทวดี
มารดาและบิดาของข้าพเจ้าเป็นคนตาบอด
ข้าพเจ้าเลี้ยงดูท่านทั้ง ๒ อยู่ในครั้งนั้น
[๑๐๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้านั่งอยู่ในที่สงัดจึงคิดอย่างนี้ว่า
เราเลี้ยงดูมารดาและบิดาอยู่ จึงไม่ได้บวช
[๑๐๘] มวลมนุษย์ถูกความมืดมนอนธการปิดบังไว้แล้ว
ถูกไฟ ๓ กองแผดเผาอยู่
เมื่อเกิดความเป็นเช่นนี้ขึ้นแล้ว ไม่มีใครจะเป็นผู้แนะนำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน
[๑๐๙] บัดนี้ พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก
ประกาศคำสั่งสอนให้รุ่งเรือง
สัตว์ผู้ใคร่บุญอาจเพื่อจะถอนตนขึ้นได้
[๑๑๐] ข้าพเจ้ารับสรณะ ๓ แล้ว รักษาให้บริบูรณ์
ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
ข้าพเจ้าจึงพ้นทุคติได้
[๑๑๑] ข้าพเจ้าได้เข้าไปหาสมณะนามว่านิสภะ
ผู้เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้าแล้วรับสรณคมน์
[๑๑๒] ครั้งนั้น เหล่าสัตว์มีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
ข้าพเจ้าได้รักษาสรณคมน์ให้บริบูรณ์ตลอดระยะเวลาเท่านั้น
[๑๑๓] เมื่อจิตดวงสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
ข้าพเจ้าระลึกถึงสรณคมน์นั้นได้แล้ว
ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๑๔] เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในเทวโลกได้ประกอบแต่บุญกรรม
ไปถึงภูมิประเทศใด ๆ
ย่อมได้เหตุ ๘ ประการ ในภูมิประเทศนั้น ๆ
[๑๑๕] คือ (๑) ข้าพเจ้าได้รับการบูชาทุกทิศ
(๒) เป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม
(๓) เทวดาทั้งปวงย่อมประพฤติตาม
(๔) ได้โภคสมบัตินับไม่ถ้วน
[๑๑๖] (๕) เป็นผู้มีผิวพรรณดังทองคำ
(๖) เป็นผู้มีไหวพริบในทุกเรื่อง
(๗) เป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อมิตร
(๘) มียศฟุ้งขจรไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน
[๑๑๗] ข้าพเจ้าเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๘๐ ชาติ
มีเหล่านางเทพอัปสรห้อมล้อม ได้เสวยทิพยสุข
[๑๑๘] ข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ
ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๑๑๙] เมื่อถึงภพสุดท้าย ข้าพเจ้าประกอบแต่บุญกรรม
ได้เกิดในตระกูลพราหมณมหาศาลมั่งคั่งที่สุดในกรุงสาวัตถี
[๑๒๐] เวลาเย็น (วันหนึ่ง) ข้าพเจ้าต้องการจะเล่น
จึงออกจากนคร มีพวกเด็ก ๆ ห้อมล้อม เข้าไปยังสังฆาราม
[๑๒๑] ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าได้พบสมณะรูปหนึ่งผู้หลุดพ้น ไม่มีอุปธิ
ท่านแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า และได้ให้สรณะแก่ข้าพเจ้า
[๑๒๒] ข้าพเจ้านั้นฟังสรณะแล้ว ระลึกถึงสรณะของข้าพเจ้าได้
นั่งอยู่บนอาสนะเดียวได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว
[๑๒๓] ข้าพเจ้าเกิดได้ ๗ ขวบ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
ทรงรู้คุณสมบัติของข้าพเจ้าแล้ว จึงประทานอุปสมบทให้
[๑๒๔] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถึงสรณะทั้งหลาย
กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วเพียงนั้น
แสดงผลแก่ข้าพเจ้าในอัตภาพสุดท้ายนี้
[๑๒๕] สรณะข้าพเจ้า ก็รักษาไว้ดีแล้ว
ใจข้าพเจ้า ก็ได้ตั้งไว้มั่นแล้ว
ข้าพเจ้าจึงเสวยยศทุกอย่างแล้ว
ได้บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว(คือนิพพาน)
[๑๒๖] บรรดาท่านที่ต้องการจะฟังจงฟังข้าพเจ้ากล่าว
ข้าพเจ้าจักบอกบทอันเป็นประโยชน์ที่ข้าพเจ้าเห็นเองแก่ท่านทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน
[๑๒๗] พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก
ศาสนาของพระชินเจ้าแผ่ไปอยู่
พระองค์ทรงลั่นอมตเภรีบรรเทาลูกศรคือความเศร้าโศกได้
[๑๒๘] ท่านทั้งหลายควรทำอธิการ๑
ในนาบุญที่ยอดเยี่ยมตามกำลังของตน
ท่านทั้งหลายจักพบพระนิพพาน
[๑๒๙] ท่านทั้งหลายจงรับสรณะ ๓ จงรักษาศีล ๕
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าแล้วจักทำที่สุดทุกข์ได้
[๑๓๐] พวกท่านทุกคนจงถือข้าพเจ้าเป็นตัวอย่าง
รักษาศีลแล้วก็จักบรรลุอรหัตตผลได้โดยไม่นานเลย
[๑๓๑] (พระติสรณคมนิยเถระกราบทูลว่า)
ข้าพระองค์เป็นผู้ได้วิชชา ๓ มีฤทธิ์
ฉลาดในเจโตปริยญาณ ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระองค์
ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระศาสดา
[๑๓๒] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพระองค์ได้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถึงสรณะ
[๑๓๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพระองค์ได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติสรณคมนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติสรณคมนิยเถราปทานที่ ๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ อธิการ หมายถึงการสะสมบุญอันเป็นการทำที่ยิ่ง (ขุ.อป.อ. ๒/๕/๒๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๔. ปัญจสีลสมาทานิยเถราปทาน
๔. ปัญจสีลสมาทานิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัญจสีลสมาทานิยเถระ
(พระปัญจสีลสมาทานิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึง
กล่าวว่า)
[๑๓๔] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นลูกจ้างอยู่ในกรุงจันทวดี
มัวขวนขวายในการงานของผู้อื่น จึงไม่ได้บวช
[๑๓๕] (ข้าพเจ้าคิดว่า) มวลมนุษย์ถูกความมืดมนอนธการปิดบังไว้แล้ว
ถูกไฟ ๓๑ กองแผดเผาอยู่
เราจะพรากจากไปได้ด้วยอุบายอย่างไรหนอ
[๑๓๖] ไทยธรรม๒ของเราก็ไม่มี
เราช่างเป็นคนน่าสงสาร เป็นลูกจ้างอยู่
ทางที่ดี เราพึงรักษาศีล ๕ ให้บริบูรณ์
[๑๓๗] ข้าพเจ้าจึงเข้าไปหาภิกษุชื่อว่านิสภะ
ผู้เป็นสาวกของพระมุนีพระนามว่าอโนมทัสสี
แล้วรับสิกขาบท ๕ ข้อ
[๑๓๘] ครั้งนั้น หมู่สัตว์มีอายุประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี
ข้าพเจ้าได้รักษาศีล ๕ ให้บริบูรณ์ตลอดระยะเวลาเท่านั้น
[๑๓๙] เมื่อเวลาใกล้ตายมาถึงเข้า เหล่าเทวดาย่อมให้ข้าพเจ้าดีใจว่า
ท่านผู้นิรทุกข์ รถเทียมม้า ๑,๐๐๐ ตัวคันนี้ปรากฏแล้วเพื่อท่าน
[๑๔๐] เมื่อจิตดวงสุดท้ายยังเป็นไปอยู่
ข้าพเจ้าหวนระลึกถึงศีลของตนเอง

เชิงอรรถ :
๑ ไฟ ๓ กอง ในที่นี้หมายถึงไฟในนรก ไฟในเปรตวิสัย และ ไฟในวัฏสงสาร (ขุ.อป.อ. ๒/๑๓๕/๔๘)
๒ ไทยธรรม หมายถึงวัตถุที่ควรให้มีข้าวและน้ำเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๒/๑๓๖/๔๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๔. ปัญจสีลสมาทานิยเถราปทาน
ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๔๑] และข้าพเจ้าได้เป็นจอมเทพ
ครองเทวสมบัติถึง ๓๐ ชาติ
มีเหล่านางเทพอัปสรห้อมล้อม ได้เสวยทิพยสุข
[๑๔๒] อนึ่ง ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ
ได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๑๔๓] ข้าพเจ้าถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วได้จุติจากเทวโลก
มาเกิดในตระกูลพราหมณมหาศาลมั่งคั่งที่สุดในกรุงเวสาลี
[๑๔๔] เมื่อศาสนาของพระชินเจ้ายังรุ่งเรืองอยู่
มารดาและบิดาของข้าพเจ้าได้รับสิกขาบท ๕ ข้อ
ในเวลาใกล้เข้าพรรษา
[๑๔๕] ข้าพเจ้าร่วมรับศีลกับมารดาและบิดา
หวนระลึกถึงศีลของตนเอง
นั่งบนอาสนะเดียว ได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว
[๑๔๖] ข้าพเจ้ามีอายุ ๕ ขวบ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระจักษุ
ทรงทราบคุณสมบัติของข้าพเจ้าแล้ว
ได้ประทานอุปสมบทให้
[๑๔๗] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้ารักษาสิกขาบท ๕ ข้อให้บริบูรณ์แล้ว
จึงไม่ตกวินิบาตนรกเลย
[๑๔๘] ข้าพเจ้านั้นได้เสวยยศเพราะอานุภาพแห่งศีลเหล่านั้น
ข้าพเจ้าเมื่อจะประกาศผลของศีล
ตลอดทั้งโกฏิกัปก็คงจะประกาศได้เพียงส่วนเดียวเท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๔. ปัญจสีลสมาทานิยเถราปทาน
[๑๔๙] ข้าพเจ้ารักษาศีล ๕ แล้ว ย่อมได้เหตุ ๓ ประการ
คือเป็นผู้มีอายุยืน มีโภคสมบัติมาก และมีปัญญาเฉียบแหลม
[๑๕๐] เมื่อข้าพเจ้าท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่
ประกาศคุณของศีลทั้งปวง
และความเพียรเยี่ยงบุรุษที่มีประมาณยิ่ง
ข้าพเจ้าจึงได้ฐานะเหล่านี้
[๑๕๑] สาวกของพระชินเจ้า
ประพฤติอยู่ในศีลมีอานิสงส์นับมิได้
ถ้าจะพึงยินดีในภพ พึงมีผลเช่นไร
[๑๕๒] ศีล ๕ ข้าพเจ้าผู้เป็นลูกจ้าง
มีความเพียรบำเพ็ญดีแล้ว
ข้าพเจ้าจึงพ้นจากเครื่องผูกทั้งปวงได้ในวันนี้เพราะศีลนั้น
[๑๕๓] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้ารักษาศีล ๕ แล้ว
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลของศีล ๕
[๑๕๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัญจสีลสมาทานิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วย
ประการฉะนี้
ปัญจสีลสมาทานิยเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๕. อันนสังสาวกเถราปทาน
๕. อันนสังสาวกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอันนสังสาวกเถระ
(พระอันนสังสาวกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๕๕] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
กำลังเสด็จไปในระหว่างร้านตลาด
มีลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑ คล้ายแท่งทองคำ
[๑๕๖] พระนามว่าสิทธัตถะ ดังดวงประทีปส่องโลกให้สว่างโชติช่วง
ผู้มีพระคุณหาประมาณมิได้
หาใครเปรียบเทียบมิได้ ทรงฝึกฝนพระองค์แล้ว
ทรงไว้ซึ่งความรุ่งเรือง
ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว ได้ปีติอย่างยิ่ง

เชิงอรรถ :
๑ ลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ คือ (๑) มีพระบาทราบเสมอกัน (๒) พื้นใต้พระบาททั้ง ๒ มีจักร
ปรากฏข้างละ ๑,๐๐๐ ซี่ มีกงและดุม มีส่วนประกอบครบบริบูรณ์ทุกอย่าง (๓) ทรงมีส้นพระบาทยาว
(๔) มีองคุลียาว (๕) ทรงมีฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม (๖) ทรงมีลายดุจตาข่ายที่ฝ่าพระหัตถ์
และฝ่าพระบาท (๗) ทรงมีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ (๘) ทรงมีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย (๙) เมื่อ
ประทับยืน ไม่ต้องทรงก้มก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุได้ด้วยพระหัตถ์ทั้ง ๒ ได้ (๑๐) ทรงมีพระคุยหฐาน
เร้นอยู่ในฝัก (๑๑) ทรงมีพระฉวีรรณงดงามดุจหุ้มด้วยทองคำ (๑๒) ทรงมีพระฉวีวรรณละเอียดจน
ละอองธุลีไม่เกาะติดพระวรกาย (๑๓) ทรงมีพระโลมชาติงอกเส้นเดียวในแต่ละขุม (๑๔) ทรงมีพระโลม
ชาติสีเข้มเหมือนดอกอัญชันขดเป็นลอนเวียนขวามีปลายตั้งขึ้น (๑๕) ทรงมีพระวรกายตรงดุจกายพรหม
(๑๖) ทรง มีพระมังสะพูนเต็มในที่ ๗ แห่ง (คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ หลังพระบาททั้ง ๒ พระอังสะทั้ง
๒ และ ลำพระศอ) (๑๗) ทรงมีส่วนพระวรกายบริบูรณ์ดุจกึ่งกายท่อนหน้าของพญาราชสีห์ (๑๘) ทรงมี
พระปฤษฎางค์เต็มเรียบเสมอกัน (๑๙) ทรงมีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลต้นไทร พระกายสูง
เท่ากับวาของพระองค์ (๒๐) ทรงมีพระศอกลมงามเต็มเสมอ (๒๑) ทรงมีเส้นประสาทสำหรับรับรสพระ
กระยาหารได้อย่างดี (๒๒) ทรงมีพระหนุดุจคางราชสีห์ (๒๓) ทรงมีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (๒๔) ทรงมีพระทนต์
เรียบเสมอกัน (๒๕) ทรงมีพระทนต์ไม่ห่างกัน (๒๖) ทรงมีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม (๒๗) ทรงมีพระทนต์
เรียบเสมอกัน (๒๘) ทรงมีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก (๒๙) ทรงมีพระเนตร
ดำสนิท (๓๐) ทรงมีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจลูกโคเพิ่งคลอด (๓๑) ทรงมีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนง
สีขาวอ่อนเหมือนนุ่น (๓๒) ทรงมีพระเศียรงดงามดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ (ที.ปา. ๑๑/๑๙๙/
๑๒๓-๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๖. ธูปทายกเถราปทาน
[๑๕๗] ข้าพเจ้าถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
นิมนต์พระองค์ผู้เป็นมหามุนีให้เสวยแล้ว
พระมุนีทรงประกอบด้วยพระกรุณาในโลก
ทรงอนุโมทนาแก่ข้าพเจ้าในครั้งนั้น
[๑๕๘] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
ผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา
ผู้ทรงก่อให้เกิดความชื่นชมอย่างยิ่ง
บันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอดกัปหนึ่ง
[๑๕๙] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายภิกษา
[๑๖๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอันนสังสาวกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อันนสังสาวกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. ธูปทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระธูปทายกเถระ
(พระธูปทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๖๑] ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใสได้ถวายธูปประจำพระกุฎี
แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๗. อุตติยเถราปทาน
[๑๖๒] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ข้าพเจ้าย่อมเป็นที่รักของพวกเขาแม้ทั้งหมด
นี้เป็นผลแห่งการถวายธูป
[๑๖๓] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายธูปไว้ครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายธูป
[๑๖๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระธูปทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ธูปทายกเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. ปุฬินปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุฬินปูชกเถระ
(พระปุฬินปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๖๕] ข้าพเจ้าขนทรายเก่าที่ลานโพธิ์อันประเสริฐ
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ทิ้งแล้วขนทรายสะอาดมาเกลี่ยไว้แทน
[๑๖๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทรายไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายทราย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๘. อุตติยเถราปทาน
[๑๖๗] ในกัปที่ ๕๓ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่ามหาปุฬินะ
ปกครองคน มีพลานุภาพมาก
[๑๖๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุฬินปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุฬินปูชกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. อุตติยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุตติยเถระ
(พระอุตติยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๖๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดเป็นจระเข้อาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
ข้าพเจ้าขวนขวายหาเหยื่อของตนจึงได้ไปยังท่าน้ำ
[๑๗๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระสยัมภู
ผู้ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ พระนามว่าสิทธัตถะ
พระองค์ประสงค์จะเสด็จข้ามแม่น้ำ จึงเสด็จเข้ามายังท่าน้ำ
[๑๗๑] เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึงแล้ว
แม้ข้าพเจ้าก็เข้าไปถึงที่ท่าน้ำนั้น
ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วกราบทูลคำนี้ว่า
[๑๗๒] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ขอเชิญพระองค์เสด็จขึ้น(หลังข้าพระองค์)เถิด
ข้าพระองค์จักพาพระองค์ข้าม
นั้นเป็นวิสัยของบิดาและปู่ของข้าพระองค์
ข้าแต่พระมหามุนี ขอพระองค์ทรงอนุเคราะห์ด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๘. อุตติยเถราปทาน
[๑๗๓] พระผู้มีพระภาคผู้มหามุนี
ทรงสดับคำทูลเชิญของข้าพเจ้าแล้วเสด็จขึ้น(หลัง)
ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริงเบิกบาน
จึงพาพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกข้ามไป
[๑๗๔] ที่ฝั่งแม่น้ำฝั่งโน้น พระผู้มีพระภาค
พระนามว่าสิทธัตถะ ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงทำให้ข้าพเจ้าพอใจ ณ ที่นั้นว่า
ท่านจักได้บรรลุอมตธรรม
[๑๗๕] ข้าพเจ้าจุติจากกายนั้นแล้วได้ไปเกิดยังเทวโลก
มีเหล่านางเทพอัปสรห้อมล้อม ได้เสวยทิพยสุข
[๑๗๖] ข้าพเจ้าได้เป็นจอมเทพ ได้ครองเทวสมบัติ ๗ ชาติ
และได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ๓ ชาติ
[๑๗๗] ข้าพเจ้าประกอบวิเวกอยู่เนือง ๆ
มีปัญญารักษาตนและสำรวมดีแล้ว
ทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้ายอยู่ในศาสนา
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๑๗๘] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้พาพระผู้มีพระภาคผู้องอาจกว่านรชนข้ามแล้ว
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการพาพระผู้มีพระภาคข้าม
[๑๗๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุตติยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุตติยเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๙. เอกัญชลิกเถราปทาน
๙. เอกัญชลิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกัญชลิกเถระ
(พระเอกัญชลิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๘๐] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
พระนามว่าวิปัสสี ทรงเปรียบด้วยนายเกวียนผู้เลิศ
ผู้เป็นนรชนผู้ประเสริฐ ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ
กำลังเสด็จไปในระหว่างร้านตลาด
[๑๘๑] ทรงฝึกผู้ที่ยังไม่ได้รับการฝึก ผู้คงที่
เป็นเจ้าลัทธิใหญ่ มีปัญญามาก
ข้าพระองค์ได้เห็นแล้วจึงเป็นผู้เลื่อมใส
มีใจยินดีแล้วได้ประคองอัญชลี
[๑๘๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ประคองอัญชลีไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการประคองอัญชลี
[๑๘๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกัญชลิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกัญชลิกเถราปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] ๑๐. โขมทายกเถราปทาน
๑๐. โขมทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโขมทายกเถระ
(พระโขมทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๘๔] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพ่อค้าอาศัยอยู่ในกรุงพันธุมดี
ได้เลี้ยงดูภรรยาด้วยการค้าขายนั้น และปลูกพืชสมบัติ๑
[๑๘๕] ข้าพเจ้าต้องการบุญกุศล
จึงได้ถวายผ้าเปลือกไม้ผืนหนึ่ง
แด่พระศาสดาทรงพระนามว่าวิปัสสี
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเสด็จดำเนินอยู่ที่ถนน
[๑๘๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าเปลือกไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้าเปลือกไม้
[๑๘๗] ในกัปที่ ๒๗ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่ง
พระนามว่าสินธวสันทนะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔
[๑๘๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโขมทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โขมทายกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
สุภูติวรรคที่ ๓ จบบริบูรณ์
ภาณวารที่ ๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ พืชสมบัติ หมายถึงบุญมีทานและศีลเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๒/๑๘๔/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓. สุภูติวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สุภูติเถราปทาน ๒. อุปวาณเถราปทาน
๓. ติสรณคมนิยเถราปทาน ๔. ปัญจสีลสมาทานิยเถราปทาน
๕. อันนสังสาวกเถราปทาน ๖. ธูปทายกเถราปทาน
๗. ปุฬินปูชกเถราปทาน ๘. อุตติยเถราปทาน
๙. เอกัญชลิกเถราปทาน ๑๐. โขมทายกเถราปทาน

ในวรรคที่ ๓ มี ๑๐ เรื่องดังว่ามานี้
รวมคาถาทั้งหมดที่ท่านกล่าวไว้มี ๑๘๕ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๑. กุณฑธานเถราปทาน
๔. กุณฑธานวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องพระกุณฑธานะเป็นต้น
๑. กุณฑธานเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกุณฑธานเถระ
(พระกุณฑธานเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส
มีใจยินดีได้บำรุงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ทรงเป็นพระสยัมภู เป็นบุคคลผู้เลิศ
เสด็จหลีกเร้น๑อยู่ ๗ วัน
[๒] ข้าพเจ้ารู้เวลาที่พระองค์จะเสด็จออกจากสมาบัติ
จึงได้ถือกล้วยหวีใหญ่เข้าไปถวาย
แด่พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ
[๓] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นสัพพัญญู
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เป็นมหามุนี
เมื่อจะทำจิตของข้าพเจ้าให้เลื่อมใส จึงทรงรับแล้วเสวย
[๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบด้วยนายเกวียนผู้ยอดเยี่ยม
เสวยแล้วประทับนั่งบนอาสนะของพระองค์
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๕] เหล่ายักษ์ที่ประชุมกันอยู่ที่ภูเขานี้
และคณะภูตในป่าทั้งหมดจงฟังคำของเรา
[๖] เราจักพยากรณ์ผู้ที่บำรุงพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นดังพญาเนื้อชาติไกรสร
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

เชิงอรรถ :
๑ เสด็จหลีกเล้น หมายถึงอยู่โดยการเข้านิโรธสมาบัติ (ขุ.อป.อ. ๒/๑/๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๑. กุณฑธานเถราปทาน
[๗] ผู้นั้นจักเป็นเทวราช ๑๑ ชาติ
และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๔ ชาติ
[๘] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๙] ผู้นั้นจักด่าสมณะทั้งหลายผู้มีศีล ผู้ไม่มีอาสวะ
จักได้การขนานนามเพราะวิบากแห่งบาปกรรม
[๑๐] เขาจักมีนามว่ากุณฑธานะ
เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
[๑๑] ข้าพเจ้าขวนขวายวิเวกอยู่เนือง ๆ
มีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน
ให้พระศาสดาทรงพอพระทัยแล้ว
อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๑๒] พระผู้มีพระภาคชินเจ้ามีเหล่าสาวกแวดล้อม
มีหมู่ภิกษุห้อมล้อม ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ทรงให้ข้าพเจ้าจับสลาก
[๑๓] ข้าพเจ้าห่มผ้าเฉวียงบ่า
อภิวาทพระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวอยู่ได้จับสลากเป็นครั้งแรก
ต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ
[๑๔] ด้วยกรรมนั้น พระผู้มีพระภาค
ทรงทำหมื่นจักรวาลให้หวั่นไหว
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอันเลิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๒. สาคตเถราปทาน
[๑๕] ข้าพเจ้ามีความเพียรสำหรับนำพาธุระ
เป็นความเพียรที่นำมาซึ่งธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ข้าพเจ้าทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๑๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกุณฑธานเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กุณฑธานเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. สาคตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสาคตเถระ
(พระสาคตเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เป็นพราหมณ์มีนามว่าโสภิตะ
ห้อมล้อมด้วยศิษย์ของตนได้ไปยังอาราม
[๑๘] ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้สูงสุดแห่งบุรุษ
มีหมู่ภิกษุห้อมล้อม เสด็จออกจากประตูอารามแล้วประทับยืนอยู่
[๑๙] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ฝึกพระองค์แล้วมีหมู่ภิกษุผู้ฝึกตนห้อมล้อมแล้ว
จึงทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ชมเชยพระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[๒๐] ต้นไม้ทุกชนิดนั้นขึ้นงอกงามบนแผ่นดินได้ ฉันใด
สัตว์ทั้งหลายผู้มีความรู้ ก็ฉันนั้น
ย่อมงอกงามในศาสนาของพระชินเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๒. สาคตเถราปทาน
[๒๑] แม้พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญู
เปรียบด้วยนายเกวียนทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ทรงชักนำชนจำนวนมากออกจากทางผิดแล้วตรัสบอกทางถูก๑
[๒๒] ทรงฝึกพระองค์แล้ว มีหมู่ภิกษุผู้ฝึกตนห้อมล้อมแล้ว
มีปกติเข้าฌาน มีหมู่ภิกษุห้อมล้อมผู้ยินดีในฌาน
มีความเพียร ห้อมล้อมด้วยผู้มีจิตเด็ดเดี่ยว
สงบระงับ ผู้คงที่
[๒๓] พระองค์ประดับด้วยสาวกบริษัท
ทรงงดงามด้วยพระญาณที่เกิดจากบุญ
พระองค์มีพระรัศมีพวยพุ่งดังดวงอาทิตย์อุทัย ฉะนั้น
[๒๔] พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ทอดพระเนตรเห็นข้าพเจ้าผู้มีจิตเลื่อมใสแล้ว
ประทับยืนอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๒๕] พราหมณ์ใดเกิดความร่าเริงแล้วสรรเสริญเรา
พราหมณ์นั้นจักรื่นรมย์ในเทวโลก ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๒๖] เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต
จักบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๒๗] ครั้นบวชในศาสนาแล้วจักได้ความยินดีและความร่าเริง
มีนามว่าสาคตะ เป็นสาวกของพระศาสดา”
[๒๘] ข้าพเจ้าครั้นบวชแล้ว เว้นกายทุจริต
ละวจีทุจริต ชำระอาชีวะให้บริสุทธิ์
[๒๙] ข้าพเจ้าอยู่อย่างนี้ เป็นผู้ฉลาดในเตโชธาตุ (ธาตุไฟ)
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ

เชิงอรรถ :
๑ ทางถูก ในที่นี้หมายถึงอุบายเครื่องบรรลุนิพพานซึ่งเป็นทางของสัตบุรุษ (ขุ.อป.อ. ๒/๒๑/๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๓. มหากัจจายนเถราปทาน
[๓๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสาคตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สาคตเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. มหากัจจายนเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหากัจจายนเถระ
(พระมหากัจจายนเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๑] พระเจดีย์(วิหารที่ประทับ)ชื่อว่าปทุมะ
ของพระผู้มีพระภาคผู้เป็นที่พึ่งพระนามว่าปทุมุตตระ
ข้าพเจ้าให้ทำแผ่นศิลาไว้ภายใต้แล้วใช้ทองคำไล้ทาแผ่นศิลานั้น
[๓๒] และได้กั้นฉัตรซึ่งทำด้วยรัตนะแล้ว
ถือพัดวาลวีชนีพัดถวายพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของสัตว์โลก ผู้คงที่
[๓๓] ภุมมเทวดา(เทวดาผู้อาศัยอยู่บนแผ่นดิน)
มาประชุมกันทั้งหมดเท่าที่มีในครั้งนั้น
ด้วยหวังว่า พระศาสดาจักตรัสผลแห่งการกั้นฉัตรซึ่งทำด้วยรัตนะ
[๓๔] พวกเราจักฟังพระศาสดาตรัสเรื่องทั้งหมดนั้น
จะพึงเกิดความร่าเริงอย่างยิ่งในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๓๕] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระสยัมภู
เป็นบุคคลผู้เลิศประทับนั่งบนอาสนะทองแล้ว
มีหมู่ภิกษุห้อมล้อม ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๖] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายอาสนะซึ่งทำด้วยทอง
และกั้นฉัตรซึ่งทำด้วยรัตนะนี้
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๓. มหากัจจายนเถราปทาน
[๓๗] ผู้นั้นจักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๓๐ กัป
จักแผ่รัศมีไป ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ
[๓๘] ผู้นั้นจักมาเกิดยังมนุษยโลก เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
มีพระนามว่าปภัสสระ จักเป็นผู้มีเดชแผ่ไป
[๓๙] ผู้นั้นจักได้เป็นกษัตริย์
ส่องสว่างไป ๘ ศอก โดยรอบทั้งกลางวันกลางคืน
เหมือนดวงอาทิตย์อุทัย ฉะนั้น
[๔๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๔๑] ผู้นั้นถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จักจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต
มาเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์มีนามว่ากัจจานะ ตามโคตร
[๔๒] ภายหลังเขาออกบวชแล้วจักสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ไม่มีอาสวะ
พระโคดมผู้ส่องโลกให้โชติช่วงจักตั้งเขาไว้ในอตทัคคะ
[๔๓] เขาจักตอบปัญหาที่ถูกถามอย่างย่อได้โดยพิสดาร
และเมื่อตอบปัญหานั้น จักทำอัธยาศัยให้เต็มได้
[๔๔] ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ผู้อภิชาตบุตรในตระกูลที่มั่งคั่ง
จบมนตร์ สละทรัพย์และข้าวเปลือกแล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๔๕] เมื่อถูกถามปัญหาแม้โดยย่อ
ข้าพเจ้าก็กล่าวแก้ได้โดยพิสดาร
ทำอัธยาศัยของชนเหล่านั้นให้เต็ม
ให้พระผู้มีพระภาคผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ทรงพอพระทัยได้
[๔๖] พระมหาวีระผู้เป็นพระสยัมภู เป็นบุคคลผู้เลิศ
ข้าพเจ้าทำให้ทรงพอพระทัยแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๔. กาฬุทายีเถราปทาน
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในเอตทัคคะ
[๔๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมหากัจจายนเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มหากัจจายนเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. กาฬุทายีเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกาฬุทายีเถระ
(พระกาฬุทายีเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๘] เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
เสด็จดำเนินทางไกลเที่ยวจาริกไปในครั้งนั้น
[๔๙] ข้าพเจ้าได้ถือดอกปทุม ดอกอุบล
และดอกมะลิซ้อน ที่บานสะพรั่ง
และถือข้าว(สุก)ชั้นดีมาถวายพระศาสดา
[๕๐] พระมหาวีระเสวยข้าวสุกชั้นดี โภชนะอย่างดี
อนึ่ง กาฬุทายีรับดอกไม้นั้นแล้ว มอบถวายแก่พระชินเจ้า
[๕๑] ผู้ที่ได้ถวายดอกปทุมชั้นดีเยี่ยม
ที่น่าปรารถนา น่าใคร่นี้แก่เรา ชื่อว่าทำสิ่งที่ทำได้ยาก
[๕๒] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ใช้ดอกไม้บูชา
และได้ถวายข้าวสุกชั้นดีแก่เรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๔. กาฬุทายีเถราปทาน
[๕๓] ผู้นั้นจักครองเทวสมบัติ ๑๘ ชาติ
ดอกอุบล ดอกปทุม และดอกมะลิซ้อน จะมีในเบื้องบนผู้นั้น
[๕๔] ด้วยผลบุญของเขา ผู้คนจักสร้างหลังคา
ประกอบด้วยของหอมที่เป็นทิพย์กั้นไว้ในอากาศ ในเวลานั้น
[๕๕] เขาจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๕ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน ๕๐๐ ชาติ
[๕๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๕๗] เขายินดียิ่งในกรรมของตน
ถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจักเกิดเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระญาติ
ที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินแก่พวกเจ้าศากยะ
[๕๘] และภายหลังเขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วบวช
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงจักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๕๙] พระโคดมผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
จักทรงตั้งเขา ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะไว้ในเอตทัคคะ
[๖๐] เขามีจิตเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร
เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ มีนามว่าอุทายี ตามโคตร
จักเป็นสาวกของพระศาสดา
[๖๑] ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และมักขะอันข้าพเจ้ากำจัดได้แล้ว
ข้าพเจ้ากำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๖๒] ข้าพเจ้ามีความเพียร มีปัญญารักษาตน
ทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพอพระทัยแล้ว
และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงยินดี
ได้ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอันเลิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๕. โมฆราชเถราปทาน
[๖๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกาฬุทายีเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กาฬุทายีเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. โมฆราชเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโมฆราชเถระ
(พระโมฆราชเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๔] พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระสยัมภูพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้มีหมู่ภิกษุห้อมล้อม
เสด็จดำเนินไปที่ถนน
[๖๕] ข้าพเจ้าก็มีศิษย์ทั้งหลายแวดล้อม ออกจากเรือนไป
ครั้นออกไปแล้วได้พบพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกที่ถนนนั้น
[๖๖] ข้าพเจ้าประคองอัญชลีเหนือเศียรเกล้า
ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทำจิตของตนให้เลื่อมใสแล้ว
ชมเชยพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[๖๗] สัตว์ทั้งที่มีรูปก็ตาม ไม่มีรูปก็ตาม ที่มีสัญญาก็ตาม
ไม่มีสัญญาก็ตาม มีจำนวนเท่าใด สัตว์จำนวนเท่านั้นทั้งหมด
ย่อมเข้าไปปรากฏภายในพระญาณของพระองค์
[๖๘] เปรียบเหมือนสัตว์น้ำเหล่าใดเหล่าหนึ่งบรรดามี
สัตว์เหล่านั้นย่อมตกอยู่ภายในแหของคนที่เอาแหตาถี่ ๆ
เหวี่ยงคลุมน้ำ ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๕. โมฆราชเถราปทาน
[๖๙] อนึ่ง สัตว์เหล่าใดมีเจตนา
สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด ทั้งที่มีรูป และไม่มีรูป
ย่อมเข้าไปปรากฏภายในพระญาณของพระองค์
[๗๐] พระองค์ทรงช่วยเหลือสัตว์โลกที่อากูลด้วยความมืดนี้ได้
สัตว์เหล่านั้นได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว
ย่อมข้ามกระแสความสงสัยได้
[๗๑] สัตว์โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้แล้ว
ถูกความมืดปกคลุมแล้ว
เมื่อพระญาณของพระองค์โชติช่วงอยู่ ความมืดก็ถูกขจัดแล้ว
[๗๒] พระองค์เป็นผู้มีพระจักษุ
บรรเทาความมืดที่ใหญ่หลวงของสัตว์ทั้งปวงได้
ชนจำนวนมากฟังธรรมของพระองค์แล้วจักนิพพาน
[๗๓] ข้าพเจ้านำน้ำผึ้งรวงที่ไม่มีโทษ
ใส่เต็มหม้อแล้ว ใช้มือทั้ง ๒ ข้างประคอง
น้อมถวายพระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๗๔] พระผู้มีพระภาคผู้มีความเพียรมาก
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ทรงรับด้วยพระหัตถ์ของพระองค์
พระผู้มีพระภาคผู้สัพพัญญู ครั้นเสวยน้ำผึ้งนั้นแล้ว
เสด็จเหาะขึ้นสู่นภากาศ
[๗๕] พระศาสดาพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้องอาจกว่านรชน ประทับยืนอยู่ในอากาศ
เมื่อจะทรงทำจิตของข้าพเจ้าให้เลื่อมใสได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๗๖] ผู้ใดชมเชยพระญาณนี้และชมเชยพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ผู้นั้นจะไม่ไปเกิดยังทุคติเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๕. โมฆราชเถราปทาน
[๗๗] และผู้นั้นจักครองเทวสมบัติ ๖๔ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชครองแผ่นดิน ๑๐๘ ชาติ
[๗๘] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๐๕ ชาติ
จักครองประเทศราชในแผ่นดินนับชาติไม่ถ้วน
[๗๙] เขาจักเป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์ จบไตรเพท
จักบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๘๐] เขาจักพิจารณาเนื้อความที่ลึกซึ้งละเอียดได้ด้วยญาณ
จักมีนามว่าโมฆราช เป็นสาวกของพระศาสดา
[๘๑] เขาจักสมบูรณ์ด้วยวิชชา ๓
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม
ทรงเปรียบด้วยนายเกวียนผู้เลิศ
จักทรงตั้งเขาไว้ในเอตทัคคะ
[๘๒] ข้าพเจ้าละโยคะที่เป็นของมนุษย์ได้แล้ว
ตัดกิเลสเครื่องผูกพันคือภพได้แล้ว
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๘๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโมฆราชเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โมฆราชเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๖. อธิมุตตเถราปทาน
๖. อธิมุตตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอธิมุตตเถระ
(พระอธิมุตตเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นที่พึ่ง
ของสัตว์โลกพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้สูงสุดแห่งนรชน เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใส ได้บำรุงภิกษุสงฆ์
[๘๕] ครั้นนิมนต์พระสังฆรัตนะ ผู้ซื่อตรง ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว
ข้าพเจ้าจึงใช้ต้นอ้อยทำมณฑป
นิมนต์สงฆ์ผู้สูงสุดให้ฉันแล้ว
[๘๖] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ข้าพเจ้าย่อมปกครองสัตว์ทั้งปวง
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๘๗] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายอ้อย
[๘๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอธิมุตตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อธิมุตตเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๗. ลสุณทายกเถราปทาน
๗. ลสุณทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระลสุณทายกเถระ
(พระลสุณทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าบวชเป็นดาบส
อาศัยอยู่ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
ข้าพเจ้าอาศัยกระเทียมเลี้ยงชีวิต
กระเทียมเป็นอาหารของข้าพเจ้า
[๙๐] ข้าพเจ้าใส่กระเทียมเต็มหาบแล้วหาบไปยังสังฆาราม
ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริงเบิกบานได้ถวายกระเทียมแด่พระสงฆ์
[๙๑] เพราะถวายกระเทียมแด่พระสงฆ์
ผู้ยินดีในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ผู้เลิศกว่านรชน
ข้าพเจ้าจึงบันเทิงในสวรรค์ตลอดกัปหนึ่ง
[๙๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายกระเทียมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายกระเทียม
[๙๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระลสุณทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ลสุณทายกเถราปทานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๘. อายาคทายกเถราปทาน
๘. อายาคทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอายาคทายกเถระ
(พระอายาคทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกพระนามว่าสิขี
ผู้ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริงเบิกบานได้ไหว้พระสถูปที่ประเสริฐ
[๙๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริงเบิกบาน
ได้ให้นายช่างประเมินราคาแล้วจึงจ่ายทรัพย์
จ้างก่อสร้างศาลาโรงฉัน
[๙๖] ข้าพเจ้าอยู่ในเทวโลกถึง ๘ กัป โดยไม่สับสนกันเลย
ในกัปที่เหลือ ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดสับสนกันไป
[๙๗] ยาพิษย่อมไม่กล้ำกรายในกายข้าพเจ้า
และศัสตราก็ไม่ทำร้ายข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าย่อมไม่ตายในน้ำ
นี้เป็นผลแห่งการสร้างศาลาโรงฉัน
[๙๘] ข้าพเจ้าปรารถนาฝนเมื่อใด
มหาเมฆย่อมโปรยปรายฝนตกลงเมื่อนั้น
แม้เทวดาทั้งหลายก็อยู่ในอำนาจของข้าพเจ้า
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๙๙] ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ ๓๐ ชาติ
ใคร ๆ ก็ดูหมิ่นข้าพเจ้าไม่ได้
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๑๐๐] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ให้สร้างศาลาโรงฉันไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๙. ธัมมจักกิกเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสร้างศาลาโรงฉัน
[๑๐๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอายาคทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อายาคทายกเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. ธัมมจักกิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระธัมมจักกิกเถระ
(พระธัมมจักกิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐๒] ข้าพเจ้าได้ตั้งธรรมจักร ที่ทำอย่างสวยงามอันวิญญูชนชมเชยไว้
ข้างหน้าพุทธอาสน์ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
[๑๐๓] ข้าพเจ้ามียวดยาน กำลังพล และพาหนะ
ย่อมงดงามด้วยวรรณะทั้ง ๔๑
คนจำนวนมากย่อมติดตามแวดล้อมข้าพเจ้าเป็นนิตย์
[๑๐๔] ข้าพเจ้ามีดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้น
บำรุงบำเรออยู่ทุกเมื่อ ย่อมงดงามด้วยบริวาร
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๑๐๕] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ตั้งธรรมจักรไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการตั้งธรรมจักร

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถหน้า ๕๐ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] ๑๐. กัปปรุกขิยเถราปทาน
[๑๐๖] ในกัปที่ ๑๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ
มีพระนามว่าสหัสสราชา
ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๑๐๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระธัมมจักกิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ธัมมจักกิกเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. กัปปรุกขิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกัปปรุกขิยเถระ
(พระกัปปรุกขิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐๘] ข้าพเจ้าได้ประดิษฐานต้นกัลปพฤกษ์คล้องผ้างดงามวิจิตรหลายผืน
ไว้ตรงหน้าพระสถูปอันประเสริฐที่สุดของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าสิทธัตถะ
[๑๐๙] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือ จะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ต้นกัลปพฤกษ์ประดิษฐาน
ส่องแสงงดงามที่ประตูของข้าพเจ้า
[๑๑๐] พวกข้าพเจ้า คือ ข้าพเจ้าเอง ชุมนุมชน
และคนบางเหล่าที่มีอายุเท่ากัน (เพื่อน)
ได้นำผ้าจากต้นกัลปพฤกษ์นั้นมานุ่งห่ม
[๑๑๑] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าประดิษฐานต้นกัลปพฤกษ์ไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔. กุณฑธานวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการประดิษฐานต้นกัลปพฤกษ์ไว้
[๑๑๒] และในกัปที่ ๗ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิ ๘ ชาติ
มีพระนามว่าสุเจละ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๑๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกัปปรุกขิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กัปปรุกขิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
กุณฑธานวรรคที่ ๔ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กุณฑธานเถราปทาน ๒. สาคตเถราปทาน
๓. มหากัจจายนเถราปทาน ๔. กาฬุทายีเถราปทาน
๕. โมฆราชเถราปทาน ๖. อธิมุตตเถราปทาน
๗. ลสุณทายกเถราปทาน ๘. อายาคทายกเถราปทาน
๙. ธัมมจักกิกเถราปทาน ๑๐. กัปปรุกขิยเถราปทาน

และมีคาถา ๑๑๒ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๑. อุปาลิเถราปทาน
๕. อุปาลิวรรค
หมวดว่าด้วยพระอุบาลีเป็นต้น
๑. อุปาลิเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุบาลีเถระ
(พระอุบาลีเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
มีพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ องค์แวดล้อม
พระองค์ผู้ขวนขวายวิเวก จึงเสด็จไปเพื่อหลีกเร้น
[๒] ข้าพเจ้านุ่งห่มหนังสัตว์
ถือไม้เท้า ๓ ง่ามเที่ยวไป ได้พบพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก มีหมู่ภิกษุห้อมล้อม
[๓] ข้าพเจ้าจึงทำหนังสัตว์เฉวียงบ่า
ประคองอัญชลีไว้เหนือเศียรเกล้า
ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วชมเชยพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[๔] สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในไข่ เกิดในเถ้าไคล
เกิดผุดขึ้น เกิดในครรภ์ และนกมีกาเป็นต้นทั้งหมด
ได้เที่ยวไปในอากาศทุกเมื่อ ฉันใด
[๕] สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีสัญญาก็ตาม
ไม่มีสัญญาก็ตาม สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดก็ฉันนั้น
ย่อมเข้าไปปรากฏภายในพระญาณของพระองค์
[๖] อนึ่ง กลิ่นหอมเหล่าใดมีอยู่ที่ภูเขา
ณ ภูเขาหิมพานต์ซึ่งเป็นภูเขาสูงสุด
กลิ่นหอมเหล่านั้นทั้งหมด
ย่อมไม่ควรแม้ส่วนเสี้ยวในศีลของพระองค์เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๑. อุปาลิเถราปทาน
[๗] โลกนี้พร้อมทั้งเทวโลกแล่นเข้าไปสู่ความมืดคือโมหะ
เมื่อพระญาณของพระองค์ส่องแสงโชติช่วงอยู่ ความมืดก็ถูกกำจัดไป
[๘] เมื่อดวงอาทิตย์อัสดงคตแล้ว
สัตว์ทั้งหลายก็ตกอยู่ในความมืด ฉันใด
เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จอุบัติขึ้น
สัตว์โลกก็ตกอยู่ในความมืด ฉันนั้น
[๙] ดวงอาทิตย์เมื่ออุทัยขึ้น
ย่อมขจัดความมืดได้ทุกเมื่อ ฉันใด
ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
พระองค์ก็ทรงขจัดความมืดได้ทุกเมื่อ ฉันนั้น
[๑๐] พระองค์ทรงมีพระทัยเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร
ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ทรงทำหมู่ชนจำนวนมากให้ยินดี
ด้วยการปรารภการกระทำของพระองค์
[๑๑] พระผู้มีพระภาคผู้มหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เป็นนักปราชญ์ ทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงอนุโมทนาแล้ว
เสด็จเหาะไปในท้องฟ้า
เหมือนพญาหงส์โผบินไปในท้องฟ้า ฉะนั้น
[๑๒] พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พระนามว่าปทุมุตตระ
เสด็จเหาะขึ้นไปประทับอยู่ในอากาศได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๓] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ชมเชยญาณ
ซึ่งประกอบด้วยข้ออุปมาทั้งหลายนี้
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๑๔] เขาจักเป็นเทวราช ๑๘ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน ๓๐๐ ชาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๑. อุปาลิเถราปทาน
[๑๕] เขาจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๕ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ นับชาติไม่ถ้วน
[๑๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๑๗] เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว
จักเป็นคนต่ำต้อยโดยชาติกำเนิด ชื่อว่าอุบาลี
[๑๘] ภายหลัง เขาบวชแล้ว คลายบาปได้
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๑๙] อนึ่ง พระโคดมพุทธเจ้าผู้ศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่
ทรงยินดีแล้ว จักตั้งเขาไว้ในเอตทัคคะว่า
เป็นผู้เชี่ยวชาญทางพระวินัย
[๒๐] ข้าพเจ้าบวชด้วยศรัทธา
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๒๑] อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าก็เป็นผู้เชี่ยวชาญในทางพระวินัย
และปรารภกรรมของตนอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๒๒] ข้าพเจ้าสำรวมในพระปาติโมกข์และในอินทรีย์ ๕
ทรงพระวินัยทั้งหมด ซึ่งเป็นบ่อเกิดรัตนะทั้งมวลไว้
[๒๓] พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ทรงทราบคุณสมบัติของข้าพเจ้า
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ทรงแต่งตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๒. โสณโกฬิวิสเถราปทาน
[๒๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุบาลีเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปาลิเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. โสณโกฬิวิสเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโสณโกฬิวิสเถระ
(พระโสณโกฬิวิสเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๕] ข้าพเจ้าได้ให้ก่อสร้างที่จงกรมฉาบทาด้วยปูนขาว
ถวายพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระมุนีพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
[๒๖] ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้สีต่าง ๆ ลาดที่จงกรม
และทำให้เป็นเพดานไว้ในอากาศ
แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดให้ทรงใช้สอย
[๒๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าประคองอัญชลีถวายอภิวาทพระองค์
ผู้มีวัตรดีงาม แล้วมอบถวายศาลายาวแด่พระผู้มีพระภาค
[๒๘] พระผู้มีพระภาคผู้ศาสดา ผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ผู้มีพระจักษุ ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้า
แล้วทรงรับไว้ด้วยความอนุเคราะห์
[๒๙] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลในโลก
พร้อมทั้งเทวโลก ครั้นทรงรับแล้ว
จึงประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๐] เราจักพยากรณ์ผู้ที่มีจิตเบิกบาน ซึ่งได้ถวายศาลายาวแก่เรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๒. โสณโกฬิวิสเถราปทาน
[๓๑] รถเทียมด้วยม้า ๑,๐๐๐ ตัว จักปรากฏสำหรับผู้นี้
ซึ่งเพียบพร้อมด้วยบุญกรรม ในเวลาใกล้จะตาย
[๓๒] ผู้นี้จักไปยังเทวโลกโดยยานนั้น
เทวดาทั้งหลายจักพลอยบันเทิง ในเมื่อผู้นี้ถึงภพที่ดีแล้ว
[๓๓] เขาจักครองวิมานซึ่งมีค่ามาก ประเสริฐที่สุด
ฉาบทาด้วยดินคือแก้ว ประกอบด้วยเรือนยอดที่ล้ำเลิศ
[๓๔] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกถึง ๓๐,๐๐๐ กัป
จักเป็นเทวราชตลอด ๒๕ กัป
[๓๕] และจักเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๗ ชาติ
พระเจ้าจักรพรรดิเหล่านั้นแม้ทั้งหมด
มีพระนามว่ายโสธระ๑
[๓๖] ผู้นี้ได้เสวยสมบัติทั้ง ๒ แล้ว สร้างสั่งสมบุญ
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในกัปที่ ๒๘
[๓๗] แม้ในภพนั้นจักมีวิมานอย่างประเสริฐ
ที่วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตให้
ผู้นี้จักครองบุรีนั้น ซึ่งไม่ว่างเว้นจากเสียง ๑๐ ประการ๒
[๓๘] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
เขาจักเป็นพระเจ้าแผ่นดินในแว่นแคว้น
มีฤทธิ์มาก มีพระนามว่าโอกกากราช โดยพระโคตร
[๓๙] นางกษัตริย์ ผู้มีวัยประเสริฐ๓
สูงชาติกว่าหญิงทั้งหมด ๑๖,๐๐๐ คน
จักประสูติพระราชบุตรและพระราชบุตรี ๙ พระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อว่า ยโสธระ เพราะทรงไว้ซึ่งยศคือบริวารสมบัติและทรัพย์สมบัติ (ขุ.อป.อ. ๒/๓๕/๘๑)
๒ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๑๓ ในเล่มนี้
๓ ฉบับพม่าและเถรคาถาอรรถกถาภาค ๒/๒๕๖ เป็น ปวรา จ สา นางนั้นประเสริฐ (ขุ.เถร.อ. ๒/๕๒๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๒. โสณโกฬิวิสเถราปทาน
[๔๐] นางกษัตริย์ ครั้นประสูติพระราชบุตร
และพระราชบุตรี ๙ พระองค์แล้วจักสวรรคต
และพระเจ้าโอกกากราชจักทรงอภิเษกนางกัญญา
ผู้เป็นที่รักแรกรุ่นดรุณีเป็นพระมเหสี
[๔๑] พระนางกัญญาจักทำให้พระเจ้าโอกกากราช
ทรงพอพระทัยแล้วได้พร
พระนางได้พรแล้วจักให้เนรเทศ
พระราชบุตรและพระราชบุตรี
[๔๒] พระราชบุตรและพระราชบุตรีทั้งหมดนั้น
ถูกเนรเทศแล้วจักไปยังภูเขาสูงสุด
พระราชบุตรทั้งหมดจักสมสู่กับพระกนิษฐภคินี
เพราะกลัวว่าชาติตระกูลจะระคนกัน
[๔๓] ส่วนพระเชษฐกัญญาพระองค์หนึ่งจักถูกพยาธิกลุ้มรุม
กษัตริย์ทั้งหลายจักซ่อนไว้ด้วยคิดว่า
ชาติตระกูลของพวกเราอย่าแตกสลายเลย
[๔๔] กษัตริย์องค์หนึ่งจึงนำพระเชษฐกัญญานั้นมาสมสู่อยู่ด้วยกัน
ความเกิดแห่งวงศ์โอกกากราชจักแยกกันในครั้งนั้น
[๔๕] โอรสของกษัตริย์เหล่านั้นจักมีพระนามว่าโกลิยะ โดยพระชาติ
จักได้เสวยโภคสมบัติ อันเป็นของมนุษย์มิใช่น้อยในภพนั้น
[๔๖] ผู้นี้จุติจากกายนั้นแล้วจักไปเกิดยังเทวโลก
แม้ในเทวโลกนั้นจักได้วิมานอย่างประเสริฐ น่ารื่นรมย์ใจ
[๔๗] เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจักจุติจากเทวโลก
มาเกิดเป็นมนุษย์ มีชื่อว่าโสณะ
[๔๘] จักบำเพ็ญเพียร มีจิตเด็ดเดี่ยว
บำเพ็ญเพียรในศาสนาของพระศาสดา
จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๒. โสณโกฬิวิสเถราปทาน
[๔๙] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐ ทรงรู้วิเศษ มีความเพียรมาก ทรงเห็นคุณไม่มีที่สุด
จักทรงตั้งเขาไว้ในตำแหน่งอันเลิศ
[๕๐] เมื่อฝนตกแล้ว หญ้ายาวประมาณ ๔ องคุลี
ยืนต้นอยู่ที่พื้นถูกลมพัดโชย
สำหรับพระโยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ผู้คงที่
ไม่มีอะไรจะยอดเยี่ยมยิ่งไปกว่าต้นหญ้านั้น๑
[๕๑] ข้าพเจ้าได้ฝึกฝนตน ในการฝึกอย่างสูงสุด
จิตข้าพเจ้าก็ตั้งไว้ดีแล้ว
ภาระทั้งหมดข้าพเจ้าก็ปลงลงแล้ว
ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีอาสวะ นิพพานแล้ว
[๕๒] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอังคีรสมหานาค๒
ทรงเป็นอภิชาตบุตร ผู้ดุจพญาราชสีห์
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ทรงแต่งตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอันเลิศ
[๕๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโสณโกฬิวิสเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โสณโกฬิวิสเถราปทานที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ เดิมแปลว่า “เมื่อฝนตกในที่ประชุม ๔ นิ้ว หญ้าประมาณหนึ่งองคุลีถูกซัดแล้ว พระผู้มีพระภาคผู้คงที่
ซึ่งประกอบความเพียร ความถึงที่สุด ไม่มียิ่งขึ้นไปกว่านั้น” คำว่า ...องฺคลุมฺห ประมาณหนึ่งองคุลี”
ฉบับพม่าและ ขุ.เถร.อ. ๒/๒๕๗ เป็น “...องฺคณมฺหิ ที่พื้น (เนิน)” คำว่า “ปารมตา เดิมแปลว่า
ความถึงที่สุด” แปลใหม่ว่า “ยอดเยี่ยม”
๒ ชื่อว่าอังคีรส เพราะมีรัศมีเปล่งออกจากพระสรีระ ชื่อว่านาค เพราะไม่ไปยังอบาย ๔ เพราะฉันทาคติ
โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ หรือเพราะประพฤติชั่ว ชื่อว่ามหานาค เพราะเป็นใหญ่อันบุคคลบูชา
แล้วและเป็นผู้ประเสริฐ (อังคีรสมหานาค จึงหมายถึงผู้มีรัศมีเปล่งออกจากพระสรีระเป็นผู้ไม่ไปในอบาย ๔
และเป็นผู้ประเสริฐ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๓. ภัททิยกาฬิโคธายปุตตเถราปทาน
๓. ภัททิยกาฬิโคธายปุตตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระภัททิยกาฬิโคธายบุตรเถระ
(พระภัททิยกาฬิโคธายบุตรเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึง
กล่าวว่า)
[๕๔] ประชุมชนทั้งปวงเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระนามว่าปทุมุตตระ ผู้มีพระทัยประกอบด้วยเมตตา
เป็นพระมหามุนี ผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของสัตว์โลกทั้งปวง
[๕๕] ชนทั้งปวงย่อมถวายอามิส
คือสัตตุก้อน สัตตุผง น้ำ และข้าวแด่พระศาสดา
และในสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยม
[๕๖] แม้ข้าพเจ้าก็จะนิมนต์พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
และสงฆ์ผู้ยอดเยี่ยม ถวายทานแด่พระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ๑ ผู้คงที่
[๕๗] และข้าพเจ้าส่งคนไปให้นิมนต์พระตถาคต
และภิกษุสงฆ์ทั้งสิ้นผู้เป็นนาบุญอย่างยอดเยี่ยม
[๕๘] ข้าพเจ้าจัดตั้งบัลลังก์ทอง ๑๐๐,๐๐๐ ตัว
ลาดด้วยเครื่องลาดผ้าโกเชาว์ผืนใหญ่
มีขนยาว ด้วยเครื่องลาดลายดอกไม้ยัดด้วยนุ่น
และด้วยผ้าเปลือกไม้และผ้าฝ้าย
เป็นอาสนะที่ควรค่ามากสมควรแด่พระพุทธเจ้า
[๕๙] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ

เชิงอรรถ :
๑ เทพมีอยู่ ๓ จำพวก คือ สมมติเทพ อุปปัตติเทพ และวิสุทธิเทพ ในที่นี้มีนัยว่า พระผู้มีพระภาคเป็น
ผู้ยิ่งใหญ่กว่าเทพทุกจำพวก (วิสุทฺธิ.ฏีกา. ๑/๑/๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๓. ภัททิยกาฬิโคธายปุตตเถราปทาน
ผู้องอาจกว่านรชน มีหมู่ภิกษุห้อมล้อม
เสด็จเข้ามาใกล้ประตู(บ้าน)ของข้าพเจ้า
[๖๐] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส
มีใจยินดีได้ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
มีพระยศแล้วนำเสด็จมาเรือนของตน
[๖๑] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้อังคาสภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป
และพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก จนอิ่มหนำด้วยข้าวชั้นดี
[๖๒] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๖๓] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ถวายอาสนะทองคำ
ลาดด้วยผ้าขนสัตว์๑
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๖๔] เขาจักครองเทวสมบัติ มีเหล่านางเทพอัปสรห้อมล้อม
เสวยสมบัติอยู่ ๗๔ ชาติ
[๖๕] เขาจักเป็นเจ้าประเทศราชครองแผ่นดิน ๑,๐๐๐ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๑ ชาติ
[๖๖] เขาจักเป็นผู้มีตระกูลสูง ในภพกำเนิดทั้งปวง
ภายหลังเขาถูกกุศลมูลตักเตือนจึงบวช
มีนามว่าภัททิยะ เป็นสาวกของพระศาสดา

เชิงอรรถ :
๑ โคนกตฺถตํ ปูผ้าโกเชาว์สีดำขนยาว ๔ องคุลี (โคนกตฺถโตติ จตุรงฺคุลาธิกโลเมน กาฬโกชเวน อตฺถโต.
องฺ.ติก.อ. ๒/๓๕/๑๓๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕.อุปาลิวรรค] ๔. สันนิฏฐาปกเถราปทาน
[๖๗] ข้าพเจ้าเป็นผู้หมั่นประกอบวิเวก
อาศัยอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
ผลทั้งปวง ข้าพเจ้าก็บรรลุแล้ว
วันนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้สละกิเลสได้แล้ว
[๖๘] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นสัพพัญญูผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงทราบคุณสมบัติทั้งปวงของข้าพเจ้าแล้ว
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ทรงแต่งตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
[๖๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระภัททิยกาฬิโคธายปุตตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วย
ประการ ฉะนี้
ภัททิยกาฬิโคธายปุตตเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. สันนิฏฐาปกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสันนิฏฐาปกเถระ
(พระสันนิฏฐาปกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗๐] ข้าพเจ้าสร้างกระท่อมอยู่ในป่า ในระหว่างภูเขา
สันโดษตามมีตามได้ด้วยยศและความเสื่อมยศ
[๗๑] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
เสด็จมายังสำนักของข้าพเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป
[๗๒] พระผู้มีพระภาคผู้มหานาคพระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จเข้ามา
ข้าพเจ้าเห็นแล้วให้ปูลาดเครื่องลาดหญ้าถวายพระศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๕. ปัญจหัตถิยเถราปทาน
[๗๓] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ถวายผลแฟงและน้ำฉันแด่พระผู้มีพระภาค
ผู้ซื่อตรงด้วยทั้งจิตที่ผ่องใส
[๗๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลแฟง
[๗๕] ในกัปที่ ๔๑ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าอรินทมะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๗๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสันนิฏฐาปกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สันนิฏฐาปกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. ปัญจหัตถิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัญจหัตถิยเถระ
(พระปัญจหัตถิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗๗] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้มีจักษุทอดลง ตรัสพอประมาณ มีสติ
ทรงสำรวมอินทรีย์ เสด็จไปในระหว่างร้านตลาด
[๗๘] ชนทั้งหลายได้ใช้ดอกบัว ๕ กำ ทำเป็นพวงมาลัยให้แก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าเลื่อมใสจึงได้ใช้ดอกบัวนั้นบูชาพระพุทธเจ้าด้วยมือของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๖. ปทุมฉทนิยเถราปทาน
[๗๙] ข้าพเจ้ายกดอกไม้เหล่านั้นขึ้นเป็นหลังคา
เพื่อพระศาสดาพระองค์นั้น
ดอกไม้ทั้งหลายตั้งแวดล้อมพระผู้มีพระภาคผู้มหานาค
ดังศิษย์ทั้งหลายแวดล้อมอาจารย์ ฉะนั้น
[๘๐] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๘๑] ในกัปที่ ๒,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕ ชาติ
มีพระนามว่าหัตถิยะ มีพลานุภาพมาก
[๘๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัญจหัตถิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัญจหัตถิยเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. ปทุมฉทนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปทุมฉทนิยเถระ
(พระปทุมฉทนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกพระนามว่าวิปัสสี
เป็นบุคคลผู้เลิศ เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้าถือดอกปทุมที่บานดีแล้ว บูชาที่จิตกาธาน
[๘๔] เมื่อมหาชนยกพระพุทธสรีระขึ้นบนจิตกาธาน
จิตกาธานสูงขึ้นไปจรดนภากาศ
ข้าพเจ้าได้ทำหลังคากั้นไว้ในอากาศเหนือจิตกาธาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๗. สยนทายกเถราปทาน
[๘๕] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๘๖] ในกัปที่ ๔๗ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าปทุมิสสระ
ทรงเป็นใหญ่มีชัยชนะในทวีปทั้ง ๔ มีพลานุภาพมาก
[๘๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปทุมฉทนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปทุมฉทนิยเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. สยนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสยนทายกเถระ
(พระสยนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๘] ข้าพเจ้าได้ถวายที่นอนอันเลิศ
ปูลาดด้วยผ้าแด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้มีพระทัยประกอบด้วยเมตตา ผู้คงที่
[๘๙] พระผู้มีพระภาคชินเจ้า ทรงรับที่นอน
และที่นั่งอันเป็นกัปปิยะแล้ว
เสด็จลุกจากที่นอนนั้น เหาะขึ้นสู่เวหาส
[๙๐] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายที่นอนไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายที่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๘. จังกมทายกเถราปทาน
[๙๑] ในกัปที่ ๕๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าวรุณเทพ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๙๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสยนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สยนทายกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. จังกมทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจังกมทายกเถระ
(พระจังกมทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙๓] ข้าพเจ้าให้สร้างที่จงกรมก่อด้วยอิฐ
ถวายพระมุนีพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
[๙๔] ที่จงกรมสร้างสำเร็จดีแล้ว สูง ๕ ศอก ยาว ๑๐๐ ศอก
ควรเป็นที่เจริญภาวนา น่ารื่นรมย์ใจ
[๙๕] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
ทรงเป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน ทรงรับแล้ว
ทรงใช้พระหัตถ์กอบทรายแล้วได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๙๖] ด้วยการถวายทรายนี้ และด้วยการสร้างที่จงกรมถวายดีแล้ว
ผู้นั้นจักได้ครองทรายที่สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
[๙๗] เขาจักครองเทวสมบัติ มีเหล่านางเทพอัปสรแวดล้อม
เสวยสมบัติในเทวดาทั้งหลายถึง ๓ กัป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๙. สุภัททเถราปทาน
[๙๘] เขามาเกิดยังมนุษยโลกแล้ว
จักเป็นพระราชาในแว่นแคว้น
และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในแผ่นดิน ๓ ชาติ
[๙๙] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายที่จงกรม
[๑๐๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจังกมทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จังกมทายกเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. สุภัททเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุภัททเถระ
(พระสุภัททเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐๑] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ทรงพระยศยิ่งใหญ่
รื้อถอนหมู่ชน(ออกจากสังสารวัฏ) แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน
[๑๐๒] ก็เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพาน
โลกธาตุมีหมื่นจักรวาลหวั่นไหวแล้ว
หมู่ชนและเทวดาจำนวนมากประชุมกันแล้ว ในครั้งนั้น
[๑๐๓] ข้าพเจ้าบรรจุกฤษณาและดอกมะลิ
จนเต็มผอบไม้จันทน์ แล้วมีจิตร่าเริงเบิกบาน
บูชาพระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๙. สุภัททเถราปทาน
[๑๐๔] พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว
บรรทมอยู่นั่นแลได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๐๕] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ใช้มาลัยของหอม
บังร่มให้เราในกาลสุดท้าย
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๑๐๖] บุคคลผู้นี้จุติจากโลกนี้แล้ว จักไปเกิดยังหมู่เทวดาชั้นดุสิต
ได้ครองราชสมบัติในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้ว
จักไปเกิดยังสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
[๑๐๗] เขาถวายมาลัยที่ประเสริฐด้วยอุบายนี้นั่นเอง
จักพอใจกรรมของตน เสวยสมบัติ
[๑๐๘] บุคคลผู้นี้จักเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นอีก
จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตนั้นแล้วจักไปเกิดเป็นมนุษย์
[๑๐๙] พระผู้มีพระภาคผู้มหานาคศากยบุตร
ผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ทรงมีพระจักษุ
ทรงให้หมู่สัตว์จำนวนมากตรัสรู้แล้วจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน
[๑๑๐] ครั้งนั้น เขาถูกกุศลมูลตักเตือนแล้วจักเข้าเฝ้า
ครั้นเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจักทูลถามปัญหาในครั้งนั้น
[๑๑๑] พระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงให้เขาร่าเริงแล้ว ทรงทราบบุพกรรม
จักทรงเปิดเผยสัจจะทั้งหลาย
[๑๑๒] ปัญหานี้เขาพอใจแล้ว เขายินดี มีใจแน่วแน่
จักถวายอภิวาทพระศาสดาแล้วทูลขอบวช
[๑๑๓] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทรงฉลาดในธรรมอันเลิศ ทรงเห็นเขามีใจเลื่อมใส
ยินดีด้วยกรรมของตน จึงยอมให้บวช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๙. สุภัททเถราปทาน
[๑๑๔] บุคคลผู้นี้เพียรพยายามในศาสนา
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
ภาณวารที่ ๕ จบ

[๑๑๕] เราประกอบด้วยบุพกรรม
มีใจแน่วแน่ มีจิตตั้งมั่น เป็นโอรสของพระพุทธเจ้า
เป็นบุตรผู้เกิดแต่ธรรมซึ่งธรรมเนรมิตไว้ดีแล้ว
[๑๑๖] ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นธรรมราชาแล้วได้ทูลถามปัญหาสูงสุด
และพระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงพยากรณ์ปัญหาของข้าพเจ้า
จึงทรงนำเข้าไปสู่กระแสธรรม
[๑๑๗] ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์แล้ว
ยินดีในศาสนาอยู่
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๑๑๘] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำซึ่งรุ่งเรืองสูงสุด
ผู้ไม่มีอุปาทาน เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ดังประทีปดับไปเพราะหมดน้ำมัน ฉะนั้น
[๑๑๙] พระสถูปแก้วของพระผู้มีพระภาค สูงประมาณ ๗ โยชน์
ข้าพเจ้าได้นำธงที่สวยงามกว่าธงทั้งปวง
น่ารื่นรมย์ใจ บูชาไว้ที่พระสถูปนั้น
[๑๒๐] อัครสาวกชื่อว่าติสสะ ของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ
เป็นบุตรเป็นโอรสของข้าพเจ้า เป็นทายาทในศาสนาของพระชินเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๑๐. จุนทเถราปทาน
[๑๒๑] ข้าพเจ้ามีใจเลวทราม กล่าววาจาไม่ไพเราะแก่อัครสาวกนั้น
ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น
ความเจริญจึงได้มีแก่ข้าพเจ้าในภายหลัง
[๑๒๒] พระชินมุนีผู้ทรงมีความเพียรมาก
ทรงเกื้อกูลประกอบด้วยพระกรุณา
ทรงประทานบรรพชาแก่ข้าพเจ้าบนที่บรรทมครั้งสุดท้าย ณ สาลวัน
ซึ่งเป็นที่แวะเวียนมาแห่งมัลลกษัตริย์ทั้งหลาย
[๑๒๓] บัดนี้ การบรรพชาอุปสมบท มีแก่ข้าพเจ้า ในวันนี้
การปรินิพพานของพระพุทธชินเจ้าผู้สูงสุด
กว่าเทวดาและมนุษย์ได้มีเฉพาะหน้า
[๑๒๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุภัททเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุภัททเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. จุนทเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจุนทเถระ
(พระจุนทเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๒๕] ข้าพเจ้าให้ทำวัตถุควรบูชา
แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่ แล้วใช้ดอกมะลิปกปิดไว้
[๑๒๖] ข้าพเจ้าให้ทำดอกไม้นั้นเสร็จแล้ว
น้อมเข้าไปถวายพระพุทธเจ้า
และได้ประคองดอกไม้ที่เหลือบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๑๐. จุนทเถราปทาน
[๑๒๗] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
นำดอกไม้ซึ่งเป็นวัตถุควรบูชา
ไปบูชาพระพุทธเจ้าผู้เช่นกับทองคำมีค่า
ผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
[๑๒๘] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงข้ามความสงสัยได้แล้ว
มีพระขีณาสพแวดล้อม
ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว๑ ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๒๙] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ถวายดอกไม้ซึ่งเป็นวัตถุควรบูชา
ส่งกลิ่นทิพย์หอมฟุ้งแก่เรา ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๑๓๐] บุคคลผู้นี้จุติจากโลกนี้แล้วจักไปเกิดยังเทวโลก
มีหมู่เทวดาแวดล้อม มีดอกมะลิโปรยปราย
[๑๓๑] เขาจักมีภพที่สูงและวิมาน
ที่สำเร็จด้วยทองคำและแก้วมณี
ที่เกิดด้วยบุญกรรมปรากฏขึ้น
[๑๓๒] เขาจักครองเทวสมบัติ มีเหล่านางเทพอัปสรแวดล้อม
ได้เสวยสมบัติอยู่ ๗๔ ชาติ
[๑๓๓] เขาจักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน ๓๐๐ ชาติ
และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ
[๑๓๔] จักเป็นใหญ่กว่ามนุษย์มีนามว่าทุชชัย
เสวยบุญนั้น ประกอบด้วยกรรมของตน

เชิงอรรถ :
๑ โอฆะ หมายถึงกิเลสดุจห้วงน้ำท่วมทับสัตว์ให้พินาศมี ๔ คือ กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา (ขุ.อป.อ.
๒/๑๒๘/๙๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] ๑๐. จุนทเถราปทาน
[๑๓๕] จักไม่ตกวินิบาตนรก ไปเกิดเป็นมนุษย์
เขามีเงินที่สั่งสมไว้ตั้งร้อยโกฏิมิใช่น้อย
[๑๓๖] เขาจักบังเกิดในกำเนิด(มนุษย์)เป็นพราหมณ์
มีการศึกษามีปัญญาเป็นบุตรสุดที่รักของวังคันตพราหมณ์
กับนางสารีพราหมณี
[๑๓๗] และภายหลังเขาจักบวช
ในศาสนาของพระอังคีรสพุทธเจ้า
มีนามว่าจุนทะ เป็นสาวกของพระศาสดา
[๑๓๘] เขาจักได้เป็นพระขีณาสพ(สิ้นอาสวกิเลส)
ขณะเป็นสามเณรทีเดียว
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๑๓๙] ข้าพเจ้าได้บำรุงพระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีความเพียรมาก
และสาวกอื่น ๆ ผู้มีศีลเป็นที่รักจำนวนมาก
และบำรุงพระเถระ(สารีบุตร)ผู้เป็นพี่ชายของข้าพเจ้า
เพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุด
[๑๔๐] ข้าพเจ้าครั้นบำรุงพี่ชายของข้าพเจ้าแล้ว
ได้เก็บพระธาตุใส่ไว้ในบาตร
น้อมเข้าไปถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน
[๑๔๑] พระพุทธเจ้าทรงประคองพระธาตุด้วยพระหัตถ์ทั้ง ๒
เมื่อจะทรงทำพระธาตุนั้นให้ปรากฏในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
จึงทรงประกาศว่าเป็นพระธาตุอัครสาวก(พระสารีบุตรเถระ)
[๑๔๒] จิตของข้าพเจ้าหลุดพ้นอย่างวิเศษแล้ว
และศรัทธาของข้าพเจ้าก็มั่นคงแล้ว
ข้าพเจ้ากำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๕. อุปาลิวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๑๔๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจุนทเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จุนทเถราปทานที่ ๑๐ จบ
อุปาลิวรรคที่ ๕ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อุปาลีเถราปทาน ๒. โสณโกฬิวิสเถราปทาน
๓. ภัททิยกาฬิโคธายปุตตเถราปทาน ๔. สันนิฏฐาปกเถราปทาน
๕. ปัญจหัตถิยเถราปทาน ๖. ปทุมฉทนิยเถราปทาน
๗. สยนทายกเถราปทาน ๘. จังกมทายกเถราปทาน
๙. สุภัททเถราปทาน ๑๐. จุนทเถราปทาน

และมีคาถา ๑๔๔ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๑. วิธูปนทายกเถราปทาน
๖. วีชนีวรรค
หมวดว่าด้วยพัดวีชนีเป็นต้น
๑. วิธูปนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวิธูปนทายกเถระ
(พระวิธูปนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าได้ถวายพัดวีชนีเล่มหนึ่งแด่พระพุทธเจ้า
พระนามว่าปทุมุตตระ ผู้เจริญที่สุดในโลก
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่เช่นนั้น
[๒] ข้าพเจ้าทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ประนมมืออภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
มุ่งหน้าหลีกไปทางทิศเหนือ
[๓] พระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ทรงจับพัดวีชนีแล้ว ประทับยืนอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๔] ด้วยการถวายพัดวีชนีเล่มนี้และด้วยการตั้งจิตไว้มั่น
ผู้นี้จักไม่ตกวินิบาตนรกถึง ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๕] ข้าพเจ้าบำเพ็ญเพียร มีจิตเด็ดเดี่ยว
มีใจตั้งมั่นในเจโตคุณ มีอายุ ๗ ขวบ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๖] ในกัปที่ ๖๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
มีพระนามว่าพีชมานะ มีพลานุภาพมาก
[๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวิธูปนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วิธูปนทายกเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๒. สตรังสิยเถราปทาน
๒. สตรังสิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสตรังสิยเถระ
(พระสตรังสิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นผู้สูงสุดแห่งบุรุษ
เสด็จขึ้นภูเขาสูงแล้วประทับนั่งอยู่
ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ผู้จบมนตร์
อยู่ในที่ไม่ไกลจากภูเขา
[๙] ข้าพเจ้าได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ผู้มีความเพียรมาก ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
ผู้องอาจกว่านรชน ประนมมือแล้ว
ชมเชยพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[๑๐] พระมหาวีรพุทธเจ้าพระองค์นี้
ทรงประกาศธรรมอันประเสริฐ
มีหมู่ภิกษุแวดล้อม รุ่งเรืองดังกองไฟ
[๑๑] พระผู้มีพระภาคทรงเป็นดุจมหาสมุทรที่หวั่นไหวได้ยาก
ทรงเป็นดุจห้วงน้ำที่ข้ามได้ยาก
ทรงเป็นดุจราชสีห์ที่ไม่ครั่นคร้าม
มีพระจักษุแสดงธรรมอยู่
[๑๒] พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงเป็นผู้นำ
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว
ประทับยืนอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๓] ผู้ใดได้ถวายอัญชลีและชมเชยพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ผู้นั้นจักได้ครองเทวสมบัติ ๓๐,๐๐๐ กัป
[๑๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าอังคีรส
ผู้ทรงทำลายกิเลสเครื่องห่อหุ้มได้แล้ว
จักเสด็จอุบัติขึ้นในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๓. สยนทายกเถราปทาน
[๑๕] ผู้นั้นจักเป็นธรรมทายาทของพระองค์
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักเป็นพระอรหันต์มีนามว่าสตรังสี
[๑๖] ข้าพเจ้ามีอายุ ๗ ขวบ ก็ได้บวชเป็นบรรพชิต
มีนามว่าสตรังสี ข้าพเจ้ามีรัศมีแผ่ออกไป
[๑๗] ข้าพเจ้ามีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน
อยู่ที่มณฑปหรือโคนต้นไม้
ทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๑๘] ตลอด ๖๐,๐๐๐ กัป ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ
มีนามเหมือนกันว่าราม
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสตรังสิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สตรังสิยเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. สยนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสยนทายกเถระ
(พระสยนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๐] ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใส
ได้ถวายที่นอนแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งปวงพระองค์นั้น
[๒๑] ด้วยผลแห่งการถวายที่นอนนั้น
โภคสมบัติจึงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๔. คันโธทกทายกเถราปทาน
เปรียบเหมือนพืชที่มีความสมบูรณ์ในนาดี
นี้เป็นผลแห่งการถวายที่นอนนั้น
[๒๒] ข้าพเจ้านอนในอากาศได้
ทรงแผ่นดินนี้ไว้ได้ เป็นใหญ่ในสัตว์ทั้งหลาย
นี้เป็นผลแห่งการถวายที่นอน
[๒๓] ในกัปที่ ๕,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ มีความเพียรมาก
ในกัปที่ ๓,๔๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ มีพลานุภาพมาก
[๒๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสยนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สยนทายกเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. คันโธทกทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระคันโธทกทายกเถระ
(พระคันโธทกทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๕] ครั้งนั้น ได้มีการฉลองต้นมหาโพธิ์ของพระพุทธเจ้า
พระนามว่าปทุมุตตระ ข้าพเจ้าได้ถือหม้อน้ำอันวิจิตร
ได้ถวายน้ำหอมรดต้นมหาโพธิ์
[๒๖] ก็ในเวลาที่รดต้นมหาโพธิ์
เมฆฝนเป็นอันมากได้ตกลงมาและได้มีเสียงบันลือดังลั่น
ในเมื่อสายฟ้าฟาดลงมา
[๒๗] ด้วยกำลังแห่งสายฟ้าฟาดลงมานั้นแล
ข้าพเจ้าได้สิ้นชีวิต ณ ที่นั้น
ไปเกิดบนเทวโลก ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๕. โอปวุยหเถราปทาน
[๒๘] ช่างน่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้า
ช่างน่าอัศจรรย์ พระธรรม
ช่างน่าอัศจรรย์ การที่ข้าพเจ้าได้ประจวบกับพระศาสดา
ร่างกายของข้าพเจ้าล้มตายลงไปแล้ว
ข้าพเจ้าได้รื่นรมย์ในเทวโลก
[๒๙] วิมานของข้าพเจ้ามี ๗ ชั้น สูงตระหง่าน
นางเทพกัญญา ๑๐๐,๐๐๐ นาง แวดล้อมข้าพเจ้าทุกเมื่อ
[๓๐] ข้าพเจ้าไม่มีความเจ็บไข้
ไม่มีความเศร้าโศก ไม่ประสบความเร่าร้อนเลย
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๓๑] ในกัปที่ ๒,๘๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสังวสิตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระคันโธทกทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
คันโธทกทายกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. โอปวุยหเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโอปวุยหเถระ
(พระโอปวุยหเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๓] ข้าพเจ้าได้ถวายม้าอาชาไนยแด่พระพุทธเจ้า
พระนามว่าปทุมุตตระ ครั้นมอบถวายแด่พระสัมพุทธเจ้าแล้ว
ได้กลับไปยังเรือนของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๕. โอปวุยหเถราปทาน
[๓๔] พระอัครสาวกมีนามว่าเทวิละ ของพระศาสดา
ผู้เป็นธรรมทายาทที่ล้ำเลิศ ได้มายังสำนักของข้าพเจ้า(กล่าวว่า)
[๓๕] พระผู้มีพระภาค ผู้นำประโยชน์ทั้งปวง
ม้าอาชาไนยไม่สมควรแก่พระองค์ พระองค์ผู้มีพระจักษุ
ทรงทราบความดำริของท่านแล้ว จึงทรงรับไว้แล้ว
[๓๖] ข้าพเจ้าจึงตีราคาม้าสินธพ ซึ่งมีกำลังวิ่งเร็วดังลม
เป็นพาหนะที่รวดเร็วแล้วได้ถวายของที่ควร
แด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
[๓๗] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ม้าอาชาไนยมีกำลังวิ่งเร็วดังลม
เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจ ย่อมบังเกิดแก่ข้าพเจ้า
[๓๘] ชนเหล่าใดได้อุปสมบท ชนเหล่านั้นได้ลาภดีแล้ว
ถ้าว่าพระพุทธเจ้าจะพึงมีในโลก ข้าพเจ้าก็จะพึงเข้าไปเฝ้าบ่อย ๆ
[๓๙] ข้าพเจ้าได้เป็นพระราชาผู้มีพลานุภาพมาก
เป็นใหญ่มีชัยชนะในทวีปทั้ง ๔
เป็นใหญ่แห่งชนชาวชมพูทวีป ๒๘ ชาติ
[๔๐] อัตภาพนี้เป็นอัตภาพสุดท้ายของข้าพเจ้า
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
ข้าพเจ้าละความชนะและความแพ้ได้แล้ว๑
บรรลุฐานะที่ไม่หวั่นไหว๒
[๔๑] ในกัปที่ ๓๔,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีเดชมาก
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๙ หน้า ๒๐๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๖. สปริวาราสนเถราปทาน
[๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโอปวุยหเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โอปวุยหเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. สปริวาราสนเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสปริวาราสนเถระ
(พระสปริวาราสนเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๓] ข้าพเจ้าไปยังสถานที่ทรุดโทรมแห่งหนึ่ง
ที่ข้าพเจ้าประดับด้วยดอกมะลิซ้อน
ได้ถวายบิณฑบาตแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
[๔๔] พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ทรงเป็นผู้ตรง มีพระหฤทัยตั้งมั่น
ประทับนั่งบนอาสนะนั้นแล้ว
ได้ทรงประกาศอานิสงส์บิณฑบาตว่า
[๔๕] พืชแม้จะมีประมาณน้อยที่ชาวนาปลูกลงในนาดี
เมฆฝนเป็นอันมากโปรยลงมาอย่างพอเหมาะ
ผลย่อมให้ชาวนายินดีได้ ฉันใด
[๔๖] บิณฑบาตนี้ก็ฉันนั้น ท่านปลูกแล้วในนาดี
ผลจักให้ท่านยินดีในภพที่ท่านเกิด
[๔๗] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงรับบิณฑบาต
บ่ายพระพักตร์เสด็จหลีกไปทางทิศเหนือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๗. ปัญจทีปกเถราปทาน
[๔๘] ข้าพเจ้าสำรวมในพระปาติโมกข์และในอินทรีย์ ๕
หมั่นประกอบวิเวกอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๔๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสปริวาราสนเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สปริวาราสนเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. ปัญจทีปกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัญจทีปกเถระ
(พระปัญจทีปกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๐] ข้าพเจ้าเชื่อสนิทในพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้า
พระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงอนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวง
จึงได้เป็นผู้มีความเห็นตรง
[๕๑] ข้าพเจ้าได้ถวายประทีป แวดล้อมไว้ที่ต้นโพธิ์
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเชื่ออยู่ จึงทำการบูชาด้วยประทีปไว้
[๕๒] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ เทวดาย่อมถือดวงไฟไว้ในอากาศ
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยประทีป
[๕๓] ข้าพเจ้าสามารถมองเห็นได้ทะลุฝา ทะลุกำแพงศิลา
ทะลุภูเขาได้ร้อยโยชน์โดยรอบ
[๕๔] ด้วยผลกรรมที่เหลืออยู่นั้น
ข้าพเจ้าเป็นผู้บรรลุความสิ้นอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๘. ธชทายกเถราปทาน
ข้าพเจ้าทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
[๕๕] ในกัปที่ ๓,๔๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าสตจักษุ
มีเดชมาก มีพลานุภาพมาก
[๕๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัญจทีปกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัญจทีปกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. ธชทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระธชทายกเถระ
(พระธชทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๗] ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริง เบิกบาน
ได้ยกธงขึ้นปักไว้ที่โคนต้นโพธิ์
ซึ่งเป็นต้นไม้ประเสริฐของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
[๕๘] ข้าพเจ้าเก็บใบโพธิ์ที่หล่นนำไปทิ้งภายนอก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้หมดจดทั้งภายในทั้งภายนอก
ผู้หลุดพ้นดีแล้ว หาอาสวะมิได้
[๕๙] ข้าพเจ้าได้ไหว้ต้นโพธิ์ที่ประเสริฐ
เหมือนได้อภิวาท พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา เฉพาะพระพักตร์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๘. ธชทายกเถราปทาน
[๖๐] ผู้เป็นพระศาสดาประทับยืนในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
ด้วยการถวายธงและด้วยการบำรุงทั้ง ๒ อย่างนี้
[๖๑] เขาจะไม่ไปเกิดยังทุคติตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
จักเสวยทิพยสมบัติมิใช่น้อยในหมู่เทวดา
[๖๒] และเขาจักได้เป็นพระราชาในแว่นแคว้นหลายร้อยชาติ
จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าอุคคตะ
[๖๓] เขาครั้นเสวยสมบัติแล้ว ถูกกุศลมูลตักเตือน
จักยินดียิ่งในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๖๔] ข้าพเจ้ามีจิตเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร
สงบระงับ ไม่มีอุปธิ ทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๖๕] ในกัปที่ ๑,๐๕๑ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นกษัตริย์หลายพระองค์ มีพระนามว่าอุคคตะ
ในกัปที่ ๑,๑๕๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นกษัตริย์หลายชาติมีพระนามว่าเขมะ
[๖๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระธชทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ธชทายกเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๙. ปทุมเถราปทาน
๙. ปทุมเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปทุมเถระ
(พระปทุมเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๗] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงประกาศสัจจะ ๔ ทรงประกาศธรรมอันประเสริฐให้เป็นไป
ทรงโปรยปรายหยาดฝนคืออมตธรรม ให้มหาชนสงบเย็น
[๖๘] ข้าพเจ้ายืนถือดอกปทุมพร้อมทั้งธงอยู่ในที่ไกล ๒๕๐ ชั่วคันธนู
มีใจร่าเริง ได้โยนดอกปทุมพร้อมด้วยธงขึ้นไปในอากาศ
เพื่อบูชาพระมุนีพระนามว่าปทุมุตตระ
[๖๙] และเมื่อดอกปทุมกำลังลอยมา
ความอัศจรรย์ก็เกิดมีในขณะนั้น
พระผู้มีพระภาค ผู้ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้า ทรงรับไว้แล้ว
[๗๐] พระศาสดาทรงรับดอกปทุมชั้นดีเยี่ยมไว้
ด้วยพระหัตถ์ที่ประเสริฐ
ประทับยืนอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๗๑] เราจักพยากรณ์ผู้ที่โยนดอกปทุมนี้
มาใกล้พระสัพพัญญูซึ่งเป็นผู้นำสูงสุด
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๗๒] เขาจักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๓๐ กัป
จักเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองแผ่นดิน ๗๐๐ กัป
[๗๓] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เพราะถือเอากลีบบัวในดอกบัวนั้น
สายฝนดอกไม้จักตกลงมาจากอากาศในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๑๐. อสนโพธิยเถราปทาน
[๗๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๗๕] ผู้นั้นจักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๗๖] ข้าพเจ้าคลอดจากครรภ์แล้ว มีสติสัมปชัญญะ
มีอายุได้ ๕ ขวบ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๗๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปทุมเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปทุมเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. อสนโพธิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอสนโพธิยเถระ
(พระอสนโพธิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗๘] ข้าพเจ้ามีอายุ ๗ ขวบ ก็ได้พบพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส
มีใจยินดี ได้เข้าไปเฝ้าพระองค์ผู้เป็นนรผู้สูงสุด
[๗๙] ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริง เบิกบาน ได้ปลูกต้นโพธิ์อันอุดม
ถวายพระผู้มีพระภาคพระนามว่าติสสะ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] ๑๐. อสนโพธิยเถราปทาน
[๘๐] ต้นไม้งอกขึ้นบนแผ่นดิน โดยนามบัญญัติว่าอสนะ
ข้าพเจ้าบำรุงต้นโพธิ์ชื่ออสนะอันอุดมนี้ตลอด ๕ ปี
[๘๑] ข้าพเจ้าได้เห็นต้นไม้มีดอกบานสะพรั่งน่าอัศจรรย์
เป็นเหตุให้ขนพองสยองเกล้า เมื่อจะประกาศกรรมของตน
จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๘๒] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ พระองค์นั้น
ทรงเป็นพระสยัมภู ผู้เป็นบุคคลผู้เลิศ
ประทับนั่งอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๘๓] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ปลูกต้นโพธิ์นี้
และทำการบูชาพระพุทธเจ้าโดยเคารพ
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๘๔] เขาจักครองเทวสมบัติในหมู่เทวดา ๓๐ กัป
และจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๖๔ ชาติ
[๘๕] เขาถูกกุศลมูลตักเตือนจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว
เสวยสมบัติทั้ง ๒ จักรื่นรมย์อยู่ในความเป็นมนุษย์
[๘๖] เขามีจิตเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร
สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงจักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๘๗] ข้าพเจ้าหมั่นประกอบวิเวก เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
ตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๘๘] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ปลูกต้นโพธิ์ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการปลูกต้นโพธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๖. วีชนีวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๘๙] ในกัปที่ ๗๔ นับจากกัปนี้ไป
ในครั้งนั้น ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ปรากฏพระนามว่าทัณฑเสน
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
[๙๐] ในกัปที่ ๗๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ๗ ชาติ
มีพระนามว่าสมันตเนมิ
[๙๑] ในกัปที่ ๒๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าปุณณกะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๙๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอสนโพธิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อสนโพธิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
วีชนีวรรคที่ ๖ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. วิธูปนทายกเถราปทาน ๒. สตรังสิยเถราปทาน
๓. สยนทายกเถราปทาน ๔. คันโธทกทายกเถราปทาน
๕. โอปวุยหเถราปทาน ๖. สปริวาราสนเถราปทาน
๗. ปัญจทีปกเถราปทาน ๘. ธชทายกเถราปทาน
๙. ปทุมเถราปทาน ๑๐. อาสนโพธิยเถราปทาน

และมีคาถา ๙๒ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๑. สกจิตตนิยเถราปทาน
๗. สกจิตตนิยวรรค
หมวดว่าด้วยพระสกจิตตนิยะเป็นต้น
๑. สกจิตตนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสกจิตตนิยเถระ
(พระสกจิตตนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าได้เห็นป่าใหญ่ดงทึบ
สงัดเงียบปราศจากอันตราย
เป็นที่อยู่ของพวกฤๅษี ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
[๒] ข้าพเจ้าจึงนำไม้ไผ่มาทำเป็นสถูปแล้ว
โปรยดอกไม้ต่าง ๆ ลง
ได้ไหว้พระสถูปที่ข้าพเจ้าสร้างแล้ว
เหมือนได้อภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์
[๓] ข้าพเจ้าได้เป็นพระราชาสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
เป็นใหญ่ในแว่นแคว้น พอใจกรรมของตน
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[๔] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๕] ในกัปที่ ๘๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าอนันตยสะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๒. อาโปปุปผิยเถราปทาน
[๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสกจิตตนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สกจิตตนิยเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. อาโปปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอาโปปุปผิยเถระ
(พระอาโปปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิขี
เสด็จออกจากวิหาร แล้วเสด็จขึ้นที่จงกรม
เมื่อประกาศสัจจะ ๔ ทรงแสดงอมตบท
[๘] ข้าพเจ้ารู้พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
พระนามว่าสิขี ผู้คงที่แล้ว
จึงจับดอกไม้ต่าง ๆ โยนขึ้นไปในอากาศ
[๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ด้วยผลกรรมนั้น ข้าพระองค์ละความชนะและความแพ้ได้แล้ว๑
บรรลุฐานะที่ไม่หวั่นไหว๒
[๑๐] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้

เชิงอรรถ :
๑ ความชนะ ในที่นี้หมายถึงทิพยสมบัติและมนุษยสมบัติ (ขุ.อป.อ. ๒/๙/๑๐๗)
ความแพ้ ในที่นี้หมายถึงทุกข์ในอบาย ๔ (ขุ.อป.อ. ๒/๙/๑๐๗)
๒ ฐานะที่ไม่หวั่นไหว ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๒/๙/๑๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๓. ปัจจาคมนิยเถราปทาน
[๑๑] ในกัปที่ ๒๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าสุเมธะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอาโปปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อาโปปุปผิยเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. ปัจจาคมนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัจจาคมนิยเถระ
(พระปัจจาคมนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นนกจักรพาก อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสินธุ
ข้าพเจ้ากินสาหร่ายล้วน ๆ
และระมัดระวังอย่างดีในกรรมชั่วทั้งหลาย
[๑๔] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
เสด็จไปในอากาศ จึงคาบดอกสาละ
บูชาพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
[๑๕] ผู้มีศรัทธาตั้งมั่นด้วยดีไม่หวั่นไหวไว้ในพระตถาคต
จะไม่ไปเกิดยังทุคติเลย ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
[๑๖] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
ข้าพเจ้าเป็นนกได้ปลูกพืช(กุศล)ที่ดีไว้แล้ว
[๑๗] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๔. ปรัปปสาทกเถราปทาน
[๑๘] ในกัปที่ ๑๗ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ
พระนามว่าสุจารุทัสสนะ มีพลานุภาพมาก
[๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัจจาคมนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัจจาคมนิยเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. ปรัปปสาทกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปรัปปสาทกเถระ
(พระปรัปปสาทกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๐] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้องอาจ ประเสริฐที่สุด
มีความเพียร แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงชนะวิเศษ
มีพระฉวีวรรณดังทอง ใครเล่าเห็นแล้ว จะไม่เลื่อมใส
[๒๑] พระพุทธเจ้า ทรงมีพระคุณหาผู้เปรียบมิได้
เปรียบดังภูเขาหิมพานต์ (และ) เปรียบดังสาครที่ข้ามได้ยาก
ฌานของพระพุทธเจ้า ก็ฉันนั้น
ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส
[๒๒] แผ่นดินที่หาประมาณมิได้
มาลัยประดับศีรษะอย่างวิจิตรฉันใด
ศีลของพระพุทธเจ้า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส
[๒๓] ลมที่ใคร ๆ ทำให้ปั่นป่วนไม่ได้
อากาศที่ใคร ๆ นับไม่ได้ ฉันใด
พระญาณของพระพุทธเจ้าก็ฉันนั้น
ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๕. ภิสทายกเถราปทาน
[๒๔] พราหมณ์ชื่อว่าโสณะ ได้สรรเสริญพระพุทธเจ้า
ผู้ประเสริฐที่สุด พระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้ ด้วย ๔ คาถาเหล่านี้
[๒๕] ข้าพเจ้าไม่ไปเกิดยังทุคติ ๙๔ กัป
ได้เสวยสมบัติที่ดีงามมิใช่น้อย ในสุคติทั้งหลาย
[๒๖] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้สรรเสริญพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสรรเสริญ
[๒๗] ในกัปที่ ๑๔ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ ผู้สูงศักดิ์
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปรัปปสาทกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปรัปปสาทกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. ภิสทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระภิสทายกเถระ
(พระภิสทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๙] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเวสสภู
เป็นองค์ที่ ๓ แห่งพระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระองค์เป็นผู้สูงสุดแห่งบุรุษ เสด็จเข้าป่าดงทึบ แล้วประทับอยู่
[๓๐] ข้าพเจ้าได้ถือเหง้าบัวและรากบัวไปในสำนักของพระพุทธเจ้า
ข้าพเจ้าเลื่อมใสแล้วได้ถวายเหง้าบัวและรากบัวนั้น
แด่พระพุทธเจ้า ด้วยมือของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๖. สุจินติตเถราปทาน
[๓๑] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเวสสภู ผู้มีปัญญาประเสริฐ
ทรงแตะเหง้าบัวและรากบัวด้วยพระหัตถ์
ข้าพเจ้าไม่รู้จักความสุขที่เสมอด้วยความสุขนั้น
และความสุขที่ยิ่งไปกว่าความสุขนั้น แต่ที่ไหนเลย
[๓๒] อัตภาพสุดท้ายของข้าพเจ้ากำลังเป็นไปอยู่
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๓] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเหง้าบัวและรากบัว
[๓๔] ในกัปที่ ๑๓ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์ มีพลานุภาพมาก
[๓๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระภิสทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ภิสทายกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. สุจินติตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุจินติตเถระ
(พระสุจินติตเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๖] ข้าพเจ้าเป็นนายพรานผู้ท่องเที่ยวอยู่ที่ซอกภูเขา
ดุจพญาไกรสรมีชาติสูง
ฆ่าหมู่เนื้อเลี้ยงชีวิตอยู่ในระหว่างภูเขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๖. สุจินติตเถราปทาน
[๓๗] ส่วนพระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
ทรงเป็นสัพพัญญู ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย
พระองค์ประสงค์จะช่วยเหลือข้าพเจ้า จึงเสด็จมายังภูเขาที่อุดม
[๓๘] ข้าพเจ้าฆ่าเนื้อฟานแล้วนำมากิน
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จภิกขาจารใกล้เข้ามา
[๓๙] ข้าพเจ้าได้เลือกหยิบเนื้ออย่างดีถวายพระศาสดาพระองค์นั้น
ในครั้งนั้น พระมหาวีรเจ้าทรงอนุโมทนาช่วยทำให้ข้าพเจ้าสงบเย็น
[๔๐] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ข้าพเจ้าเข้าไปในซอกเขา
ยังปีติให้เกิดขึ้นแล้ว ได้สิ้นชีวิต ณ ที่นั้น
[๔๑] ด้วยการถวายเนื้อนั้นและด้วยการตั้งจิตไว้มั่น
ข้าพเจ้าได้รื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ๑๑๕ กัป
[๔๒] ในกัปทั้งหลายที่เหลือ
ข้าพเจ้าทำกุศลไว้ ด้วยการถวายเนื้อนั่นเอง
และด้วยการระลึกถึงพระพุทธเจ้า
[๔๓] ในกัปที่ ๓๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ มีพระนามว่าทีฆายุ
ในกัปที่ ๑๖๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒ ชาติ มีพระนามว่าสรณะ
[๔๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุจินติตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุจินติตเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๗. วัตถทายกเถราปทาน
๗. วัตถทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวัตถทายกเถระ
(พระวัตถทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดเป็นพญาครุฑชาติปักษี มีปีกงาม
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
เสด็จไปยังภูเขาคันธมาทน์
[๔๖] ข้าพเจ้าละเพศครุฑแล้ว แปลงร่างเป็นมาณพ
ถวายผ้าผืนหนึ่งแด่พระพุทธเจ้า
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[๔๗] พระพุทธเจ้าผู้ศาสดาทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ทรงรับผ้าผืนนั้นแล้ว ประทับยืนอยู่ในอากาศ
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๔๘] ด้วยการถวายผ้านี้และด้วยการตั้งจิตไว้มั่น
ผู้นี้ละกำเนิดครุฑแล้ว จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลก
[๔๙] ส่วนพระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ทรงสรรเสริญการถวายผ้าเป็นทานแล้ว
บ่ายพระพักตร์เสด็จหลีกไปทางทิศเหนือ
[๕๐] ในภพที่ข้าพเจ้าเกิด ข้าพเจ้ามีผ้าสมบูรณ์
ผ้าเป็นหลังคาอยู่ในอากาศ
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้า
[๕๑] ในกัปที่ ๓๖ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ พระนามว่าอรุณสะ
มีพลานุภาพมาก เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๘. อัมพทายกเถราปทาน
[๕๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวัตถทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วัตถทายกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. อัมพทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัมพทายกเถระ
(พระอัมพทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๓] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้ไม่มีอุปธิ ประทับนั่งอยู่ระหว่างภูเขา
ได้ทรงแผ่เมตตาไปในสัตว์โลกหาประมาณมิได้
[๕๔] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นวานร อยู่ที่ภูเขาหิมพานต์ที่สูงสุด
ได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้มีพระคุณอันยิ่งไม่ต่ำทราม
จึงทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
[๕๕] เวลานั้น ต้นมะม่วงกำลังเผล็ดผล
มีอยู่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
ข้าพเจ้าได้ไปเก็บผลมะม่วงสุกจากต้นมะม่วงนั้นมาถวายพร้อมน้ำผึ้ง
[๕๖] พระพุทธเจ้าผู้มหามุนีพระนามว่าอโนมทัสสี
ทรงพยากรณ์การถวายนั้นของข้าพเจ้าว่า
ด้วยการถวายน้ำผึ้งและน้ำมะม่วงทั้ง ๒ นี้
[๕๗] ผู้นี้จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ๕๗ กัป
ในกัปทั้งหลายที่เหลือ จักเวียนว่ายตายเกิดสลับกันไป
[๕๘] เมื่อความเจริญเต็มที่แล้ว เขาทำบาปกรรมให้สิ้นไปแล้ว
จักไม่ไปตกวินิบาตนรก เผากิเลสให้มอดไหม้ไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๙. สุมนเถราปทาน
[๕๙] ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่พระผู้มีพระภาค
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทรงฝึกแล้ว
ด้วยการฝึกอย่างสูงสุด ข้าพเจ้าผู้ละความชนะ๑
และความแพ้ได้แล้ว๒บรรลุฐานะที่ไม่หวั่นไหว
[๖๐] ในกัปที่ ๑๗๗ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๔ ชาติ
มีพระนามว่าอัมพัฏฐชัย มีพลานุภาพมาก
[๖๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอัมพทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อัมพทายกเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. สุมนเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุมนเถระ
(พระสุมนเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นช่างดอกไม้ มีนามว่าสุมนะ
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
ผู้สมควรรับเครื่องบูชาของชาวโลก
[๖๓] จึงใช้มือทั้ง ๒ ประคองดอกมะลิชั้นดี
บูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
[๖๔] ด้วยการบูชาด้วยดอกไม้นี้
และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๙ หน้า ๒๐๓ ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๙ หน้า ๒๐๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๑๐. ปุปผจังโกฏิยเถราปทาน
ข้าพเจ้าจึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๖๕] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๖๖] ในกัปที่ ๒๖ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ
มียศยิ่งใหญ่สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
[๖๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุมนเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุมนเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. ปุปผจังโกฏิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุปผจังโกฏิยเถระ
(พระปุปผจังโกฏิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๘] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ผู้ประเสริฐ
ทรงเป็นดุจราชสีห์ ตัวไม่ครั่นคร้าม
ดุจพญาครุฑเลิศกว่านกทั้งหลาย
ดุจพญาเสือโคร่งตัวองอาจ ดุจพญาไกรสรมีชาติสูง
[๖๙] พระองค์ผู้เป็นที่พึ่งของทั้ง ๓ โลก ไม่ทรงหวั่นไหว
ไม่ทรงพ่ายแพ้เลิศกว่าบรรดาสมณะ
ประทับนั่งมีหมู่ภิกษุห้อมล้อม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] ๑๐. ปุปผจังโกฏิยเถราปทาน
[๗๐] ข้าพระองค์นำดอกอังกาบชั้นดีใส่ไว้ในผอบ
ได้บูชาพระพุทธเจ้าประเสริฐที่สุดด้วยทั้งผอบใหญ่นั่นเอง
[๗๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ทรงองอาจกว่านรชน
ข้าพระองค์ละความชนะและความแพ้ได้แล้ว๑
บรรลุฐานะที่ไม่หวั่นไหว๒ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
[๗๒] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๗๓] ในกัปที่ ๓๐ ถ้วน (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕ ชาติ
มีพระนามว่าเทวภูติ สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
[๗๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุปผจังโกฏิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุปผจังโกฏิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
สกจิตตนิยวรรคที่ ๗ จบบริบูรณ์

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๙ หน้า ๒๐๓ ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๙ หน้า ๒๐๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๗. สกจิตตนิยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สกจิตตนิยเถราปทาน ๒. อาโปปุปผิยเถราปทาน
๓. ปัจจาคมนิยเถราปทาน ๔. ปรัปปสาทกเถราปทาน
๕. ภิสทายกเถราปทาน ๖. สุจินติตเถราปทาน
๗. วัตถทายกเถราปทาน ๘. อัมพทายกเถราปทาน
๙. สุมนเถราปทาน ๑๐. ปุปผจังโกฏิยเถราปทาน

คาถาอันแสดงอรรถที่ท่านกล่าวไว้แล้วนับได้ ๗๑ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๑. นาคสมาลเถราปทาน
๘. นาคสมาลวรรค
หมวดว่าด้วยพระนาคสมาละเป็นต้น
๑. นาคสมาลเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนาคสมาลเถระ
(พระนาคสมาลเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าเก็บดอกแคฝอยไปบูชาที่พระสถูป
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิขี
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
ซึ่งมหาชนสร้างไว้ที่หนทางใหญ่ โดยเอื้อเฟื้อ
[๒] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระสถูป
[๓] ในกัปที่ ๑๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าปุปผิยะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนาคสมาลเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นาคสมาลเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๓. สุสัญญกเถราปทาน
๒. ปทสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปทสัญญกเถระ
(พระปทสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕] ข้าพเจ้าได้เห็นรอยพระบาทที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าติสสะ
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงประทับไว้แล้ว
จึงเป็นผู้มีจิตร่าเริงเบิกบาน ทำจิตให้เลื่อมใสในรอยพระบาท
[๖] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำในรอยพระบาทในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในรอยพระบาท
[๗] ในกัปที่ ๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าสุเมธะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปทสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปทสัญญกเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. สุสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุสัญญกเถระ
(พระสุสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙] ข้าพเจ้าได้เห็นผ้าบังสุกุลจีวรของพระศาสดา
แขวนอยู่บนยอดไม้ จึงได้ประนมมือไปทางนั้น
ไหว้ผ้าบังสุกุลจีวร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๔. ภิสาลุวทายกเถราปทาน
[๑๐] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในผ้าบังสุกุลจีวร
[๑๑] ในกัปที่ ๔ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์จักรพรรดิพระนามว่าทุมหระ
ทรงเป็นใหญ่ มีชัยชนะในทวีปทั้ง ๔ มีพลานุภาพมาก
[๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุสัญญกเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. ภิสาลุวทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระภิสาลุวทายกเถระ
(พระภิสาลุวทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓] ข้าพเจ้าเข้าไปยังป่าใหญ่ดงทึบ อยู่ในป่า
ได้พบพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
[๑๔] ข้าพเจ้าจึงได้ถวายเหง้าบัว หัวมัน
และน้ำสำหรับล้างพระหัตถ์
ถวายอภิวาทพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้าแล้ว
บ่ายหน้าหลีกไปทางทิศเหนือ
[๑๕] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายเหง้าบัวและหัวมันไว้ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๕. เอกสัญญกเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๑๖] และในกัปที่ ๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าภิสสัมมตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระภิสาลุวทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ภิสาลุวทายกเถราปทานที่ ๔ จบ
ภาณวาร ที่ ๖ จบ

๕. เอกสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกสัญญกเถระ
(พระเอกสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๘] ได้มีอัครสาวกนามว่าขัณฑะ ของพระวิปัสสีพุทธเจ้า
ผู้สมควรรับเครื่องบูชาของชาวโลก
ข้าพเจ้าถวายภิกษาทัพพีหนึ่งแก่ท่าน
[๑๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้องอาจกว่านรชน ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง
[๒๐] ในกัปที่ ๔๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าวรุณ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๖. ติณสันถารทายกเถราปทาน
[๒๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกสัญญกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. ติณสันถารทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติณสันถารทายกเถระ
(พระติณสันถารทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๒] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
มีสระธรรมชาติสระใหญ่อยู่สระหนึ่ง
ดารดาษไปด้วยดอกบัวสตบงกช
เป็นที่อาศัยของนกต่าง ๆ
[๒๓] ข้าพเจ้าอาบและดื่มน้ำในสระนั้นแล้ว พักอยู่ไม่ไกล
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศกว่าสมณะ เสด็จเหาะไปในอากาศ
[๒๔] พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว เสด็จลงจากอากาศ
ประทับยืนอยู่บนแผ่นดินในขณะนั้น
[๒๕] ข้าพเจ้าได้ใช้เคียวเกี่ยวหญ้ามาถวายทำเป็นที่ประทับนั่ง
พระผู้มีพระภาคผู้เป็นใหญ่ในโลกทั้ง ๓
ทรงเป็นผู้นำ ได้ประทับนั่ง ณ ที่นั้น
[๒๖] ข้าพเจ้าทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ได้กราบไหว้พระองค์ ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ย่อลงนั่งกระโหย่งเพ่งดูพระมหามุนี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๗. สูจิทายกเถราปทาน
[๒๗] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเครื่องลาดหญ้า
[๒๘] ในกัปที่ ๒ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่ามิตตสัมมตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติณสันถารทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติณสันถารทายกเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. สูจิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสูจิทายกเถระ
(พระสูจิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๐] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
พระนามว่าสุเมธะ ตามพระโคตร
มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ๑
[๓๑] ข้าพเจ้าได้ถวายเข็ม ๕ เล่ม เพื่อประโยชน์แก่การเย็บจีวร
แด่พระองค์ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถหน้า ๑๔๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๘. ปาฏลิปุปผิยเถราปทาน
[๓๒] ด้วยการถวายเข็มนั้นนั่นแล
ญาณเป็นเครื่องเห็นแจ้งอรรถที่ละเอียดคมกล้า
เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ารวดเร็วและโดยง่าย
[๓๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้ายอยู่
ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๓๔] ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ
พระนามว่าทิปทาธิบดี
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสูจิทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สูจิทายกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. ปาฏลิปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปาฏลิปุปผิยเถระ
(พระปาฏลิปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๖] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
ผู้เช่นกับทองคำมีค่า มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ
ซึ่งกำลังเสด็จไปในระหว่างร้านตลาด
[๓๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นบุตรเศรษฐีสุขุมาลชาติ
ดำรงอยู่ในความสุข ได้นำดอกแคฝอยที่ห่อใส่พก
ออกบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๙. ฐิตัญชลิยเถราปทาน
[๓๘] ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริงเบิกบาน บูชาพระองค์ด้วยดอกไม้
นอบน้อมพระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ ผู้รู้แจ้งโลก
ทรงเป็นที่พึ่ง เป็นเทพของนรชน
[๓๙] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[๔๐] ในกัปที่ ๖๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าอภิสัมมตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปาฏลิปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปาฏลิปุปผิยเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. ฐิตัญชลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระฐิตัญชลิยเถระ
(พระฐิตัญชลิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๒] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นพรานเนื้ออยู่ในป่าดงทึบ
ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ ในป่านั้น
[๔๓] ณ ที่นั้น ข้าพเจ้ากระทำอัญชลีแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ประทับนั่งอยู่บนเครื่องลาดใบไม้ประจำ ในที่ไม่ไกล
แล้วบ่ายหน้าหลีกไปทางทิศตะวันออก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน
[๔๔] ลำดับนั้น อสนีบาตได้ตกลงบนกระหม่อมของข้าพเจ้า
ในครั้งนั้น เวลาใกล้ตาย ข้าพเจ้านั้นได้กระทำอัญชลีอีกครั้งหนึ่ง
[๔๕] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้กระทำอัญชลีไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการกระทำอัญชลี
[๔๖] ในกัปที่ ๕๔ (นัปจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่ามิคเกตุ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระฐิตัญชลียเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ฐิตัญชลิยเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติปทุมิยเถระ
(พระติปทุมิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๘] ครั้งนั้น พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง๑ ทรงฝึกพระองค์แล้ว
มีสาวกผู้ฝึกตนแวดล้อมแล้ว เสด็จออกจากนคร
[๔๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เป็นช่างดอกไม้ อยู่ในกรุงหงสวดี
ได้ถือดอกปทุม ๓ ดอก ซึ่งเป็นดอกไม้ชั้นดีเยี่ยมในกรุงนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ธรรมทั้งปวง หมายถึงโลกุตตรธรรม ๙ (ขุ.อป.อ. ๒/๔๘/๑๒๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน
[๕๐] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
กำลังเสด็จสวนทางมาในระหว่างร้านตลาด
พร้อมกับการได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงคิดอย่างนี้ในเวลานั้นว่า
[๕๑] ประโยชน์อะไรของเรากับดอกไม้เหล่านี้
ที่เราใช้บำรุงพระราชา
เราพึงได้บ้าน คามเขต หรือทรัพย์พันหนึ่งเท่านั้น
[๕๒] เราบูชาพระพุทธเจ้า ผู้ฝึกคนที่มิได้ฝึกตน
ผู้มีความเพียร ทรงนำสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งปวง
ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกแล้ว จักได้ทรัพย์อันเป็นอมตะ
[๕๓] ข้าพเจ้าครั้นคิดอย่างนี้แล้ว จึงทำจิตของตนให้เลื่อมใส
จับดอกบัวแดง ๓ ดอกโยนขึ้นไปในอากาศ ในครั้งนั้น
[๕๔] พอข้าพเจ้าโยนขึ้นไป
ดอกบัวแดงเหล่านั้นก็แผ่(ขยายกลีบ)อยู่ในอากาศ
ขั้วชี้ขึ้นข้างบน ดอกย้อยลงข้างล่าง
กั้นอยู่เหนือพระเศียรในอากาศ
[๕๕] หมู่มนุษย์ที่เห็นแล้วพากันโห่ร้องเกรียวกราว
ทั้งเทวดาในอากาศก็พากันแซ่ซ้องสาธุการว่า
[๕๖] ความอัศจรรย์เกิดขึ้นแล้วในโลก
เพราะอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
เราทั้งหมดจักฟังธรรม อานุภาพแห่งดอกไม้
[๕๗] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ประทับยืนอยู่ที่ถนนนั่นเอง ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๕๘] เราจักพยากรณ์มาณพผู้ที่ได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกบัวแดง
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน
[๕๙] มาณพนั้น จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
และจักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๓๐ ชาติ
[๖๐] ครั้งนั้น จักมีวิมานชื่อมหาวิตถาริกะ
สูง ๓๐๐ โยชน์ กว้าง ๑๕๐ โยชน์
[๖๑] ป้อม ๔๐๐,๐๐๐ ป้อม ประกอบด้วยเรือนยอดชั้นดี
ประดับด้วยที่นอนใหญ่ ที่บุญกรรมสร้างไว้ดีแล้ว
[๖๒] นางเทพอัปสร ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
ฉลาดในการฟ้อนรำ การขับร้อง
และชำนาญในการประโคม จักแวดล้อมเขา
[๖๓] ครั้งนั้น ฝนดอกไม้ทิพย์สีแดง จักตกลงในวิมานที่ประเสริฐ
ซึ่งคับคั่งด้วยหมู่เทพนารี เช่นนั้น
[๖๔] ดอกบัวแดงโตประมาณเท่าล้อ จักแขวนอยู่
ที่ตะปูฝา ที่ไม้ฟันนาค ที่บานประตู
และที่เสาระเนียด ในครั้งนั้น
[๖๕] นางเทพอัปสรทั้งหลายใช้กลีบบัวปูลาดวิมานนี้แล้ว
จักนุ่งห่มกลีบบัว
นอนกลิ้งเกลือกอยู่ภายในวิมานที่ประเสริฐซึ่งลาดด้วยกลีบบัว
[๖๖] ดอกบัวแดงล้วนเหล่านั้น แวดล้อมวิมาน
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ฟุ้งไป
ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ
[๖๗] มาณพนี้ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๖๘] เขาได้เสวยสมบัติทั้ง ๒ แล้ว มีความสวัสดี ไม่มีอุปัทวะ
เมื่อภพสุดท้ายมาถึงแล้วจักบรรลุนิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] ๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน
[๖๙] พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้เห็นดีแล้วหนอ
พาณิชยกรรม ข้าพเจ้าก็ประกอบแล้ว
ข้าพเจ้าใช้ดอกบัว ๓ ดอกบูชาแล้ว ได้เสวยสมบัติ ๓ ประการ
[๗๐] ดอกบัวแดงบานงดงาม จักกั้นอยู่เหนือศีรษะของข้าพเจ้า
ผู้ได้บรรลุธรรมแล้ว หลุดพ้นแล้วโดยประการทั้งปวง ในวันนี้
[๗๑] เมื่อพระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงแสดงผลกรรมของข้าพเจ้า
เหล่าสัตว์หลายร้อย หลายพันได้บรรลุธรรมแล้ว
[๗๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกบัว ๓ ดอก
[๗๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
อาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๗๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติปทุมิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติปทุมิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
นาคสมาลวรรคที่ ๘ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๘. นาคสมาลวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. นาคสมาลเถราปทาน ๒. ปทสัญญกเถราปทาน
๓. สุสัญญกเถราปทาน ๔. ภิสาลุวทายกเถราปทาน
๕. เอกสัญญกเถราปทาน ๖. ติณสันถารทายกเถราปทาน
๗. สูจิทายกเถราปทาน ๘. ปาฏลิปุปผิยเถราปทาน
๙. ฐิตัญชลิยเถราปทาน ๑๐. ติปทุมิยเถราปทาน

และมีคาถา ๗๕ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๑. ติมิรปุปผิยเถราปทาน
๙. ติมิรปุปผิยวรรค
หมวดว่าด้วยพระติมิรปุปผิยะเป็นต้น
๑. ติมิรปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติมิรปุปผิยเถระ
(พระติมิรปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าเที่ยวไปตามกระแสน้ำ ใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
ได้เห็นพระสมณะ ผู้ผ่องใสไม่ขุ่นมัว ประทับนั่งอยู่
[๒] ข้าพเจ้าจึงทำจิตให้เลื่อมใสในพระสมณะนั้นแล้ว
จึงได้คิดอย่างนี้ในครั้งนั้นว่า พระผู้มีพระภาคนี้
ทรงข้ามเองแล้ว จักช่วยสรรพสัตว์ให้ข้าม(วัฏสงสาร)
ทรงฝึกตนเองแล้ว จักทรงฝึกสรรพสัตว์
[๓] ทรงเบาพระทัยเองแล้ว จักทรงช่วยสรรพสัตว์ให้เบาใจ
ทรงสงบเองแล้ว จักทรงช่วยสรรพสัตว์ให้สงบ
ทรงพ้นเองแล้ว จักทรงช่วยสรรพสัตว์ให้พ้น
ทรงสงบเย็นเองแล้ว จักทรงช่วยสรรพสัตว์ให้สงบเย็น
[๔] ข้าพเจ้าครั้นคิดอย่างนี้แล้ว ได้ถือดอกดีหมี
มาโปรยเหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พระนามว่าสิทธัตถะ ในครั้งนั้น
[๕] ข้าพเจ้าประคองอัญชลีและทำประทักษิณพระองค์
กราบพระยุคลบาทของพระศาสดาแล้ว จึงหลีกไปยังทิศอื่น
[๖] พญาเนื้อได้เบียดเบียนข้าพเจ้า ผู้พอไปแล้วไม่นาน
ข้าพเจ้าเดินไปตามริมเหว ได้ตกลงไป(ตาย)ในเหวนั้นนั่นเอง
[๗] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๒. คตสัญญกเถราปทาน
[๘] ในกัปที่ ๕๖ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ พระนามว่ามหายสะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติมิรปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติมิรปุปผิยเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. คตสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระคตสัญญกเถระ
(พระคตสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐] ข้าพเจ้ามีอายุไว้ ๗ ขวบ ก็ได้ออกบวชเป็นบรรพชิต
มีจิตผ่องใส ได้กราบพระยุคลบาทของพระศาสดา
[๑๑] ข้าพเจ้าได้โยนดอกดิน๑ ๗ ดอกไปในอากาศ
อุทิศเฉพาะพระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ
ผู้ทรงพระคุณหาที่สุดมิได้ดังสาคร
[๑๒] ข้าพเจ้ามีใจร่าเริง เลื่อมใสแล้ว
บูชาหนทางที่พระสุคตเสด็จดำเนินไป
ได้ประนมมือทั้ง ๒ ของตนไหว้พระสุคต
[๑๓] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

เชิงอรรถ :
๑ ดอกดิน หมายถึงดอกไม้ที่เกิดในพื้นที่นา (ขุ.อป.อ. ๒/๑๐/๑๒๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๓. นิปันนัญชลิกเถราปทาน
[๑๔] ในกัปที่ ๘ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ พระนามว่าอัคคิสิขะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระคตสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
คตสัญญกเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. นิปันนัญชลิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนิปันนัญชลิกเถระ
(พระนิปันนัญชลิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๖] ข้าพเจ้าเป็นไข้หนัก นั่งพักอยู่ที่โคนต้นไม้
ถึงอาการน่าสงสารอย่างยิ่ง อยู่ในป่าใหญ่ดงทึบ
[๑๗] พระศาสดาพระนามว่าติสสะ ทรงอาศัยความอนุเคราะห์
จึงเสด็จมาหาข้าพเจ้า ข้าพเจ้านั้นนอนอยู่
ได้ประนมมือไว้เหนือเศียรเกล้า
[๑๘] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สูงสุดแห่งสรรพสัตว์
แล้วได้สิ้นชีวิตในที่นั้น
[๑๙] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้กราบไหว้พระพุทธเจ้า ทรงเป็นบุรุษผู้สูงสุด
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการกราบไหว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๔. อโธปุปผิยเถราปทาน
[๒๐] ในกัปที่ ๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕ ชาติ พระนามว่ามหาสิขะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนิปันนัญชลิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นิปันนัญชลิกเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. อโธปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอโธปุปผิยเถระ
(พระอโธปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๒] ภิกษุชื่ออภิภูนั้น ได้วิชชา ๓ มีอานุภาพมาก
เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี
เข้าไปยังภูเขาหิมพานต์
[๒๓] ครั้งนั้น แม้ข้าพเจ้าก็บวชเป็นฤๅษี
เป็นผู้ชำนาญในอัปปมัญญาและฤทธิ์
อาศัยอยู่ในอาศรมที่น่ารื่นรมย์ ใกล้ภูเขาหิมพานต์
[๒๔] ข้าพเจ้าปรารถนาภูเขาอย่างยิ่ง
เปรียบเหมือนนกในอากาศปรารถนาอากาศฉะนั้น
ข้าพเจ้าเก็บดอกไม้ที่เชิงภูเขาแล้วจึงมายังภูเขา
[๒๕] ข้าพเจ้าหยิบดอกไม้ ๗ ดอก
มาโปรยลงเหนือศีรษะ(ของพระเถระ)
ผู้อันพระภิกษุผู้มีความแกล้วกล้าแลดู
ก็บ่ายหน้าหลีกไปทางทิศตะวันออก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๕. รังสิสัญญกเถราปทาน
[๒๖] ข้าพเจ้าถึงอาศรมแล้ว จัดแจงที่อยู่
คอนสาแหรกบริขาร เดินไปตามระหว่างภูเขา
[๒๗] งูเหลือมเป็นสัตว์ร้ายกาจ มีกำลังมาก ได้รัดข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าระลึกถึงบุพกรรม แล้วได้สิ้นชีวิตในที่นั้นเอง
[๒๘] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอโธปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อโธปุปผิยเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. รังสิสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระรังสิสัญญกเถระ
(พระรังสิสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๐] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
นุ่งห่มหนังสัตว์อยู่ในซอกภูเขา
[๓๑] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
มีพระรัศมีรุ่งเรืองดุจดวงอาทิตย์ เสด็จเข้าแนวป่า
งดงามเหมือนต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๖. ทุติยรังสิสัญญกเถราปทาน
[๓๒] ข้าพเจ้าจึงทำจิตให้เลื่อมใสในพระรัศมี
ของพระวิปัสสีพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
นั่งกระโหย่งประคองอัญชลีเหนือศีรษะไหว้แล้ว
[๓๓] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในรัศมี
[๓๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระรังสิสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
รังสิสัญญกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. ทุติยรังสิสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระทุติยรังสิสัญญกเถระ
(พระทุติยรังสิสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๕] ข้าพเจ้านุ่งผ้าเปลือกไม้ อาศัยอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
ขึ้นสู่ที่จงกรมแล้ว นั่งผินหน้าไปทางทิศตะวันออก
[๓๖] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสุคตพระนามว่าผุสสะ
ผู้ยินดีในฌานทุกเมื่อ บนภูเขา
จึงประนมมือแล้วทำจิตให้เลื่อมใสในพระรัศมี
[๓๗] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในรัศมี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๗. ผลทายกเถราปทาน
[๓๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระทุติยรังสิสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ทุติยรังสิสัญญกเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. ผลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระผลทายกเถระ
(พระผลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๙] ข้าพเจ้านุ่งห่มหนังสัตว์ขรุขระ อาศัยอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
ได้เห็นพระชินเจ้าผู้ประเสริฐพระนามว่าผุสสะ
จึงได้ถือผลไม้ไปถวาย
[๔๐] ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใส ได้ถวายผลไม้ใดไว้
ผลไม้นั้นก็บังเกิดแก่ข้าพเจ้า ในภพที่ข้าพเจ้าบังเกิดแล้ว
[๔๑] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระผลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ผลทายกเถราปทานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๙. โพธิสิญจกเถราปทาน
๘. สัททสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัททสัญญกเถระ
(พระสัททสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๓] ข้าพเจ้าอยู่ ณ ที่ลาดด้วยใบไม้ ที่ภูเขาหิมพานต์
ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าผุสสะ ซึ่งกำลังตรัสธรรมอยู่
[๔๔] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๔๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัททสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัททสัญญกเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. โพธิสิญจกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโพธิสิญจกเถระ
(พระโพธิสิญจกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๖] ได้มีการฉลองต้นมหาโพธิ์
แห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าบวชอยู่ จึงเข้าไปใกล้ ๆ
[๔๗] ข้าพเจ้าได้ถือดอกโกสุมและน้ำไปโปรยและรดที่ต้นโพธิ์
ด้วยกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงหลุดพ้นแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] ๑๐. ปทุมปุปผิยเถราปทาน
จักทรงช่วยพวกเราให้หลุดพ้น
ทรงสงบเย็นแล้ว จักทรงช่วยพวกเราให้สงบเย็น
[๔๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้รดน้ำต้นโพธิ์ไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการรดน้ำต้นโพธิ์
[๔๙] เมื่อกัปที่ ๓๓ กำลังเป็นไปอยู่
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ
พระนามว่าอุทกเสจนะ ทรงเป็นใหญ่ในหมู่ชน
[๕๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโพธิสิญจกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โพธิสิญจกเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. ปทุมปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปทุมปุปผิยเถระ
(พระปทุมปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๑] ข้าพเจ้าเข้าไปยังสระบัว หักดอกบัวอยู่
ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ
ผู้มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ
[๕๒] ข้าพเจ้าจับดอกปทุมโยนขึ้นไปในอากาศ (เพื่อบูชา)
ข้าพเจ้าระลึกถึงกรรมชั่วแล้ว จึงบวชเป็นบรรพชิต
[๕๓] ข้าพเจ้าครั้นบวชแล้ว มีกายและใจอันสำรวมดี
ละวจีทุจริต ชำระอาชีวะให้หมดจด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๙. ติมิรปุปผิยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๕๔] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๕๕] ในกัปที่ ๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๘ ชาติ
พระนามว่าปทุมาภาส
และได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ๔๘ ชาติ
[๕๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปทุมปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปทุมปุปผิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
ติมิรปุปผิยวรรคที่ ๙ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ติมิรปุปผิยเถราปทาน ๒. คตสัญญกเถราปทาน
๓. นิปันนัญชลิกเถราปทาน ๔. อโธปุปผิยเถราปทาน
๕. รังสิสัญญกเถราปทาน ๖. ทุติยรังสิสัญญกเถราปทาน
๗. ผลทายกเถราปทาน ๘. สัททสัญญกเถราปทาน
๙. โพธิสิญจกเถราปทาน ๑๐. ปทุมปุปผิยเถราปทาน

และท่านประกาศคาถาไว้ ๕๖ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๐. สุธาวรรค] ๑. สุธาปิณฑิยเถราปทาน
๑๐. สุธาวรรค
หมวดว่าด้วยพระสุธาปิณฑิยะเป็นต้น
๑. สุธาปิณฑิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุธาปิณฑิยเถระ
(พระสุธาปิณฑิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] สำหรับบุคคลผู้บูชาพระพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ควรบูชา
ผู้ล่วงพ้นกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า๑
ข้ามความเศร้าโศกและความร่ำไรได้แล้ว
[๒] (และ)สำหรับบุคคลผู้บูชาผู้ควรบูชาเหล่านั้น ผู้เช่นนั้น
ผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ๆ ซึ่งนิพพานแล้ว
ใคร ๆ ไม่อาจนับบุญได้ว่า บุญนี้มีประมาณเท่านี้
[๓] การที่บุคคลในโลกนี้ พึงครองความเป็นใหญ่แห่งทวีปทั้ง ๔๒
นั้นก็ยังไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งการบูชานี้เลย
[๔] ข้าพเจ้ามีใจผ่องใส
ได้ใส่ก้อนปูนขาวไว้ในระหว่างแผ่นอิฐที่พระเจดีย์
แห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ ผู้เป็นนระผู้เลิศ
[๕] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการปฏิสังขรณ์

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้าหมายถึง ตัณหา มานะ ทิฏฐิ (ที.ม.อ. ๒/๓๓๖)
๒ ทวีปทั้ง ๔ หมายถึง ชมพูทวีป อปรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป ปุพพวิเทหทวีป (ขุ.อป.อ. ๒/๓/๑๓๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๐. สุธาวรรค] ๒. สุปีฐิยเถราปทาน
[๖] ในกัปที่ ๓๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๓ ชาติ
พระนามว่าปฏิสังขาระ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
[๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุธาปิณฑิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุธาปิณฑิยเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. สุปีฐิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุปีฐิยเถระ
(พระสุปีฐิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘] ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริง เบิกบานได้ถวายตั่งที่สะอาดหมดจด
แด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ ผู้โลกนาถ
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งดวงอาทิตย์
[๙] ในกัปที่ ๓๘ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระราชาพระนามว่ามหารุจิ
มีโภคะไพบูลย์ และที่นอนมีค่ามิใช่น้อย
[๑๐] ข้าพเจ้ามีใจผ่องใส ได้ถวายตั่งแด่พระพุทธเจ้าแล้ว
เสวยผลกรรมของตน ที่ตนได้ทำไว้ดีแล้ว ในครั้งก่อน
[๑๑] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายตั่งไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๐. สุธาวรรค] ๓. อัฑฒเจลกเถราปทาน
[๑๒] ในกัปที่ ๓๘ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ
ชาติที่ ๑ พระนามว่ารุจิ ชาติที่ ๒ พระนามว่าอุปรุจิ
และชาติที่ ๓ พระนามว่ามหารุจิ
[๑๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุปีฐิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุปีฐิยเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. อัฑฒเจลกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัฑฒเจลกเถระ
(พระอัฑฒเจลกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๔] ข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจ ถึงอาการน่าสงสารอย่างยิ่ง
ได้ถวายผ้าครึ่งผืนแด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าติสสะ
[๑๕] ข้าพเจ้าครั้นถวายผ้าครึ่งผืนแล้ว
บันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอด ๑ กัป
และในกัปทั้งหลายที่เหลือ ข้าพเจ้าได้ทำกุศลไว้แล้ว
[๑๖] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้า
[๑๗] ในกัปที่ ๕๑ (นัปจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิ
พระนามว่าสมันตาโอทนะ เป็นใหญ่ในหมู่ชน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๐. สุธาวรรค] ๔. สูจิทายกเถราปทาน
[๑๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอัฑฒเจลกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อัฑฒเจลกเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. สูจิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสูจิทายกเถระ
(พระสูจิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๙] เมื่อก่อนข้าพเจ้าได้เป็นช่างทองอยู่ในกรุงพันธุมา
ซึ่งเป็นกรุงที่ล้ำเลิศ ข้าพเจ้าได้ถวายเข็ม
แด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๒๐] ญาณของข้าพเจ้าเสมอด้วยเพชรล้ำค่า เป็นเช่นนั้นเพราะกรรม
ข้าพเจ้าเป็นผู้ปราศจากราคะ
หลุดพ้นอย่างวิเศษ บรรลุความสิ้นอาสวะ
[๒๑] ข้าพเจ้าค้นคว้าภพทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน
และอนาคตทั้งปวงได้ด้วยญาณ
นี้เป็นผลแห่งการถวายเข็ม
[๒๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ พระนามว่าวชิระ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสูจิทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สูจิทายกเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๐. สุธาวรรค] ๕. คันธมาลิยเถราปทาน
๕. คันธมาลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระคันธมาลิยเถระ
(พระคันธมาลิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๔] ข้าพเจ้าได้ทำสถูปไม้หอมปกคลุมด้วยดอกมะลิ
ทำให้สมควรแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
[๒๕] พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
เช่นกับทองคำที่ล้ำค่า ทรงรุ่งเรืองดุจต้นราชพฤกษ์
ดุจแท่นบูชาไฟอันสว่างเจิดจ้า
[๒๖] ผู้ประเสริฐดุจพญาเสือโคร่งตัวองอาจ
ดุจพญาไกรสรผู้มีชาติสูง
ผู้เลิศกว่าสมณะทั้งหลาย ผู้ประทับนั่งมีหมู่ภิกษุห้อมล้อม
[๒๗] ข้าพเจ้ากราบพระยุคลบาทของพระศาสดาแล้ว
บ่ายหน้าหลีกไปทางทิศเหนือ
ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายของหอมและดอกไม้ไว้
[๒๘] ด้วยผลแห่งสักการะที่ทำไว้ในพระพุทธเจ้าโดยพิเศษ
ข้าพเจ้าจึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๙] ในกัปที่ ๓๙ (นัปจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
มีนามเหมือนกันว่าเทพคันธะ
[๓๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระคันธมาลิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
คันธมาลิยเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๐. สุธาวรรค] ๖. ติปุปผิยเถราปทาน
๖. ติปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติปุปผิยเถระ
(พระติปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๑] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นพรานเนื้ออาศัยอยู่ในป่าใหญ่ดงทึบ
เห็นต้นแคฝอยมีใบเขียวสด จึงโปรยดอกไม้ ๓ ดอกบูชา
(ซึ่งเป็นต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี)
[๓๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเก็บใบแคฝอยแห้งไปทิ้งในภายนอกแล้ว
อภิวาทต้นแคฝอย เหมือนอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้หมดจดทั้งภายในและภายนอก ผู้หลุดพ้นแล้วไม่มีอาสวะ
[๓๓] ทรงเป็นผู้นำของโลกพระนามว่าวิปัสสี
เฉพาะพระพักตร์แล้ว ก็สิ้นชีวิต ณ ที่นั้น
[๓๔] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บูชาต้นโพธิ์ไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาต้นโพธิ์
[๓๕] ในกัปที่ ๓๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๓ ชาติ
พระนามว่าสมันตปาสาทิกะ มีพลานุภาพมาก
[๓๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติปุปผิยเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๐. สุธาวรรค] ๗. มธุปิณฑิกเถราปทาน
๗. มธุปิณฑิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมธุปิณฑิกเถระ
(พระมธุปิณฑิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๗] ในป่าใหญ่ดงทึบที่เงียบสงัดไม่มีเสียงอื้ออึง
ข้าพเจ้าเห็นพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ประเสริฐกว่าฤๅษีทั้งหลาย ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
[๓๘] ผู้ดับกิเลสแล้ว ทรงเป็นมหานาค องอาจดุจม้าอาชาไนย
รุ่งโรจน์ดังดาวประกายพรึก ซึ่งหมู่เทวดาและมนุษย์นมัสการแล้ว
[๓๙] ข้าพเจ้ามีความปลื้มใจเป็นอันมาก
ญาณได้เกิดขึ้นในขณะนั้น ข้าพเจ้าได้ถวายน้ำผึ้ง
แด่พระศาสดาผู้เสด็จออกจากสมาธิแล้ว
[๔๐] มีจิตผ่องใสจึงหมอบกราบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าสิทธัตถะแล้ว บ่ายหน้าหลีกไปทางทิศตะวันออก
ในกัปที่ ๓๔ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้เป็นพระราชามีนามว่าสุทัสสนะ
[๔๑] ครั้งนั้น น้ำผึ้งไหลออกจากเหง้าบัวลงในโภชนาหารของข้าพเจ้า
ฝนน้ำผึ้งตกลงแล้ว
นี้เป็นผลแห่งบุพกรรม
[๔๒] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายน้ำผึ้งไว้ครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายน้ำผึ้ง
[๔๓] ในกัปที่ ๓๔ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ
มีนามเหมือนกันว่าสุทัสสนะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๐. สุธาวรรค] ๘. เสนาสนทายกเถราปทาน
[๔๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมธุปิณฑิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มธุปิณฑิกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. เสนาสนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเสนาสนทายกเถระ
(พระเสนาสนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๕] ข้าพเจ้าได้ถวายเครื่องลาดใบไม้
แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
และได้โปรยดอกโกสุมกระทำให้เป็นอุปการะ(ฝา)โดยรอบ
[๔๖] ข้าพเจ้าได้ใช้สอยห้องที่น่ารื่นรมย์มีค่ามากในปราสาท
ดอกไม้มีค่ามากได้ตกลงบนที่นอนของข้าพเจ้า
[๔๗] ข้าพเจ้านอนบนที่นอนอันวิจิตรซึ่งลาดด้วยดอกไม้
และฝนดอกไม้ตกลงบนที่นอนของข้าพเจ้าในขณะนั้น
[๔๘] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายเครื่องลาดใบไม้ไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเครื่องลาด
[๔๙] ในกัปที่ ๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ พระองค์
พระนามว่าฐิตาสันถารกะ
ทรงเป็นใหญ่ในหมู่ชน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๐. สุธาวรรค] ๙. เวยยาวัจจกเถราปทาน
[๕๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเสนาสนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
เสนาสนทายกเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. เวยยาวัจจกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเวยยาวัจจกเถระ
(พระเวยยาวัจจกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๑] ได้มีการประชุมใหญ่แห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ข้าพเจ้าได้เป็นไวยาวัจกร ขวนขวายในกิจทุกอย่าง
[๕๒] ข้าพเจ้าไม่มีไทยธรรมที่จะถวาย
แด่พระสุคตผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
มีจิตผ่องใส ได้อภิวาทพระยุคลบาทของพระศาสดา
[๕๓] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำความขวนขวายไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความขวนขวาย
[๕๔] ในกัปที่ ๘ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสุจินติยะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเวยยาวัจจกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เวยยาวัจจกเถราปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๐. สุธาวรรค] ๑๐. พุทธุปัฏฐากเถราปทาน
๑๐. พุทธุปัฏฐากเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระพุทธุปัฏฐากเถระ
(พระพุทธุปัฏฐากเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๖] ข้าพเจ้าได้เป่าสังข์บูชาพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
เป็นผู้ขวนขวายบำรุงพระสุคต
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นนิตย์
[๕๗] ท่านจงดูผลการบำรุงพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ผู้คงที่
เครื่องดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้นแวดล้อมข้าพเจ้าทุกเมื่อ
[๕๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บำรุงพระผู้มีพระภาค
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบำรุง
[๕๙] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
มีพระนามว่ามหานิโฆษ มีพลานุภาพมาก
[๖๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระพุทธุปัฏฐากเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
พุทธุปัฏฐากเถราปทานที่ ๑๐ จบ
สุธาวรรคที่ ๑๐ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๐. สุธาวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค รวมวรรคได้ ๑๐ วรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สุธาปิณฑิยเถราปทาน ๒. สุปีฐิยเถราปทาน
๓. อัฑฒเจลกเถราปทาน ๔. สูจิทายกเถราปทาน
๕. คันธมาลิยเถราปทาน ๖. ติปุปผิยเถราปทาน
๗. มธุปิณฑิกเถราปทาน ๘. เสนาสนทายกเถราปทาน
๙. เวยยาวัจจกเถราปทาน ๑๐. พุทธุปัฏฐากเถราปทาน

ในวรรคนี้ท่านประกาศคาถาไว้ ๖๐ คาถาบริบูรณ์

อนึ่ง รวมวรรคได้ ๑๐ วรรค คือ

๑. พุทธวรรค ๒. สีหาสนิยวรรค
๓. สุภูติวรรค ๔. กุณฑธานวรรค
๕. อุปาลิวรรค ๖. วีชนีวรรค
๗. สกจิตตนิยวรรค ๘. นาคสมาลวรรค
๙. ติมิรปุปผิยวรรค ๑๐. สุธาวรรค

รวมคาถาได้ ๑,๔๕๕ คาถา
หมวด ๑๐ แห่งวรรคมีพุทธวรรคเป็นต้น จบ
๑๐๐ เรื่อง หมวดที่ ๑ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๑. ภิกขทายิวรรค] ๑. ภิกขทายกเถราปทาน
๑๑. ภิกขทายิวรรค
หมวดว่าด้วยพระภิกขทายิเป็นต้น
๑. ภิกขทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระภิกขทายกเถระ
(พระภิกขทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา เสด็จออกจากป่าใหญ่
คือตัณหาเครื่องร้อยรัดมาสู่ความดับ(นิพพาน)
[๒] ข้าพเจ้าได้เห็นแล้วจึงได้มอบถวายภิกษาทัพพีหนึ่ง
แด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
สงบระงับด้วยปัญญา มีความเพียรมาก เป็นผู้คงที่
[๓] ข้าพเจ้าเกิดความปลื้มใจเป็นอย่างมากในพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
ทรงช่วยมหาชนผู้ตามเสด็จพระยุคลบาทให้สงบเย็น
[๔] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายภิกษา
[๕] ในกัปที่ ๘๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ
มีพระนามว่ามหาเรณุ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๑. ภิกขทายิวรรค] ๒. ญาณสัญญิกเถราปทาน
[๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระภิกขทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ภิกขทายกเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. ญาณสัญญิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระญาณสัญญิกเถระ
(พระญาณสัญญิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
ดุจม้าอาชาไนยตัวองอาจ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ดุจช้างมาตังคะตกมัน ๓ แห่ง
[๘] ทรงทำทิศทั้งปวงให้สว่างไสว ดุจดวงจันทร์ในวันเพ็ญ
เป็นผู้เจริญที่สุดในโลก กำลังเสด็จดำเนินอยู่บนถนน
[๙] ข้าพเจ้าได้เห็นแล้วจึงทำจิตให้เลื่อมใสในพระญาณแล้ว
ประคองอัญชลี มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
[๑๐] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในพระญาณ
[๑๑] ในกัปที่ ๗๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ พระนามว่านรุตตมะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๑. ภิกขทายิวรรค] ๓. อุปปลหัตถิยเถราปทาน
[๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระญาณสัญญิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ญาณสัญญิกเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. อุปปลหัตถิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุปปลหัตถิยเถระ
(พระอุปปลหัตถิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นช่างดอกไม้อาศัยอยู่ในติวรานคร
ได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส ที่ชาวโลกบูชาแล้ว
[๑๔] จึงมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ถวายดอกไม้(ดอกอุบล)กำหนึ่ง
เพราะอำนาจแห่งกรรมนั้น ข้าพเจ้าอุบัติในภพใด ๆ
[๑๕] ในภพนั้น ๆ ข้าพเจ้าเสวยผลที่น่าปรารถนา
ที่ตนทำไว้ดีแล้วในปางก่อน แวดล้อมด้วยดอกไม้อย่างดี
นี้เป็นผลแห่งการถวายดอกไม้
[๑๖] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๗] เว้นกัปปัจจุบัน นับถอยหลังไป ๙๔ กัป ในครั้งนั้น
ได้เป็นพระราชา ๕๐๐ ชาติ มีพระนามว่านัชชุปมะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๑. ภิกขทายิวรรค] ๔. ปทปูชกเถราปทาน
[๑๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุปปลหัตถิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปปลหัตถิยเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. ปทปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปทปูชกเถระ
(พระปทปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๙] ข้าพเจ้าได้ถวายดอกมะลิแด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
และข้าพเจ้ามีจิตร่าเริง จึงโปรยดอกมะลิ ๗ ดอก
ลงที่พระยุคลบาท ด้วยความยินดี
[๒๐] ด้วยผลกรรมนั้น ในวันนี้
ข้าพเจ้าจึงใหญ่เหนือนรชนและเทวดา
ทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้ายอยู่
ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๒๑] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[๒๒] ในกัปที่ ๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๓ ชาติ
มีพระนามว่าสมันตคันธะ
ครองแผ่นดิน มีทวีปทั้ง ๔ เป็นขอบเขต เป็นใหญ่ในหมู่ชน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๑. ภิกขทายิวรรค] ๕. มุฏฐิปุปผิยเถราปทาน
[๒๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปทปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปทปูชกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. มุฏฐิปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมุฏฐิปุปผิยเถระ
(พระมุฏฐิปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๔] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นช่างดอกไม้ มีชื่อว่าสุทัสสนะ
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
[๒๕] ข้าพเจ้ามีใจยินดี ถือดอกมะลิไปบูชา
พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้มีพระจักษุบริสุทธิ์ ทรงบรรลุทิพยจักษุ
[๒๖] ด้วยการบูชาพระพุทธเจ้านี้ และด้วยการตั้งจิตไว้มั่น
ข้าพเจ้าจึงไม่ไปเกิดยังทุคติเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๒๗] ในกัปที่ ๓๖ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
มีพระนามว่าเทพอุตตระ มีพลานุภาพมาก
[๒๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมุฏฐิปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มุฏฐิปุปผิยเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๑. ภิกขทายิวรรค] ๖. อุทกปูชกเถราปทาน
๖. อุทกปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุทกปูชกเถระ
(พระอุทกปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๙] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
รุ่งเรืองดังเปลวไฟ
ดังถ่านบูชาไฟอันสว่างเจิดจ้า
กำลังเสด็จเหาะไปในอากาศ
[๓๐] ข้าพเจ้าได้เห็นแล้วจึงใช้ฝ่ามือกอบน้ำ แล้วซัดขึ้นไปในอากาศ
พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีความเพียรมาก
มีพระกรุณาในข้าพเจ้า ทรงรับไว้แล้ว
[๓๑] พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ ประทับยืนอยู่ในอากาศ
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๒] ด้วยผลแห่งการถวายน้ำ และด้วยการเกิดปีตินี้
ใน ๑๐๐,๐๐๐ กัป เขาจะไม่ไปเกิดยังทุคติเลย
[๓๓] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ด้วยผลกรรมนั้น ข้าพระองค์ละความชนะและความแพ้ได้แล้ว๑
บรรลุฐานะที่ไม่หวั่นไหว๒
[๓๔] ในกัปที่ ๑๖๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ มีพระนามว่าสหัสสราช
ครอบครองแผ่นดิน มีทวีปทั้ง ๔ เป็นขอบเขต เป็นใหญ่ในหมู่ชน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๙ หน้า ๒๐๓ ในเล่มนี้
๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๙ หน้า ๒๐๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๑. ภิกขทายิวรรค] ๗. นฬมาลิยเถราปทาน
[๓๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุทกปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุทกปูชกเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. นฬมาลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนฬมาลิยเถระ
(พระนฬมาลิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๖] เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้เจริญที่สุดในโลก
ผู้คงที่ ผู้สงบระงับ ประทับนั่งบนเครื่องลาดหญ้า
[๓๗] ข้าพเจ้านำดอกอ้อมาผูกเป็นพัดแล้ว
เข้าไปถวายงานพัดพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[๓๘] พระสัพพัญญูพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงรับพัดแล้ว ทรงทราบความคิดของข้าพเจ้า
ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
[๓๙] กายของเราสงบเย็น ความเร่าร้อนก็ไม่มี ฉันใด
จิตของท่านจงหลุดพ้นจากไฟทั้ง ๓ กอง ฉันนั้น
[๔๐] เทวดาบางเหล่าที่อาศัยต้นไม้อยู่
ก็มาประชุมกันทั้งหมด ด้วยหวังว่า
พวกเราจักได้ฟังพระพุทธพจน์ที่จะทำผู้ถวายงานพัดให้ร่าเริง
[๔๑] พระผู้มีพระภาค ประทับนั่งอยู่ ณ ที่นั้น
มีหมู่เทวดาห้อมล้อม เมื่อจะให้ผู้ถวายงานพัดร่าเริง
จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๑. ภิกขทายิวรรค] ๘. อาสนุปัฏฐายกเถราปทาน
[๔๒] ด้วยการถวายงานพัดนี้และด้วยการตั้งจิตไว้มั่น
ผู้นี้จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าสุพพตะ ตามพระโคตร
[๔๓] ด้วยผลกรรมที่เหลือนั้น ผู้นี้ถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่ามาลุตะ ตามพระโคตร
[๔๔] ด้วยการถวายงานพัดนี้และด้วยความยกย่องนับถืออย่างไพบูลย์
ใน ๑๐๐,๐๐๐ กัป ผู้นี้จะไม่ไปเกิดยังทุคติเลย
[๔๕] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๘ ชาติ พระนามว่าสุพพตะ
ในกัปที่ ๑,๐๒๙ (นับจากกัปนี้ไป)
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ พระองค์ พระนามว่ามาลุตะ
[๔๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนฬมาลิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นฬมาลิยเถราปทานที่ ๗ จบ
ภาณวารที่ ๗ จบ

๘. อาสนุปัฏฐายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอาสนุปัฏฐายกเถระ
(พระอาสนุปัฏฐายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๗] ข้าพเจ้าเข้าป่าดงทึบที่เงียบสงัดไม่มีเสียงอื้ออึง
ได้ถวายพระแท่นสีหาสน์
แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้คงที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๑. ภิกขทายิวรรค] ๙. พิฬาลิทายกเถราปทาน
[๔๘] ข้าพเจ้าถือดอกไม้กำหนึ่ง แล้วทำประทักษิณพระองค์
เข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้ว บ่ายหน้าหลีกไปทางทิศเหนือ
[๔๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ด้วยผลกรรมนั้น ข้าพระองค์ทำตนให้ดับสนิทได้
ภพทั้งปวงข้าพระองค์ก็ถอนได้แล้ว
[๕๐] ในกัป ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพระองค์ได้ถวายทานไว้ครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายพระแท่นสีหาสน์
[๕๑] ในกัปที่ ๑๐๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าสันนิพพาปกะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอาสนุปัฏฐายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
อาสนุปัฏฐายกเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. พิฬาลิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระพิฬาลิทายกเถระ
(พระพิฬาลิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าอยู่ ณ ที่อยู่ซึ่งมุงบังด้วยใบไม้
ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
ข้าพเจ้าหิวอาหารแต่ก็นอนเสีย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๑. ภิกขทายิวรรค] ๙. พิฬาลิทายกเถราปทาน
[๕๔] ข้าพเจ้าขุดหัวมัน มันอ้อน มันมือเสือ หอม กระเทียม
เก็บผลกระเบา ผลรกฟ้า มะตูม นำมาตระเตรียมไว้
[๕๕] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้า
จึงเสด็จมายังสำนักของข้าพเจ้า
[๕๖] ข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้มหานาค ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
ทรงองอาจกว่านรชน เสด็จมาใกล้แล้ว
จึงหยิบมันมือเสือมาใส่ลงในบาตร
[๕๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคผู้สัพพัญญู ทรงมีความเพียรมาก
เมื่อจะทรงให้ข้าพเจ้ายินดี จึงเสวยมันมือเสือนั้น
ครั้นเสวยเสร็จแล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
[๕๘] ท่านทำจิตของตนให้เลื่อมใสแล้ว ได้ถวายมันมือเสือแก่เรา
ท่านจะไม่ไปเกิดยังทุคติเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๕๙] จิตดวงสุดท้ายของข้าพเจ้ากำลังเป็นไป
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้ายอยู่
ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๖๐] ในกัปที่ ๕๔ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสุเมขลิมะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๖๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระพิฬาลิทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
พิฬาลิทายกเถราปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๑. ภิกขทายิวรรค] ๑๐. เรณุปูชกเถราปทาน
๑๐. เรณุปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเรณุปูชกเถระ
(พระเรณุปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๒] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
มีพระรัศมีรุ่งเรือง ดุจดวงอาทิตย์ทำทิศทั้งปวงให้สว่างไสว
ดุจดวงจันทร์วันเพ็ญ
[๖๓] มีสาวกทั้งหลายห้อมล้อม ดุจแผ่นดินมีสาครห้อมล้อม
ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว จึงถือดอกกากะทิง
พร้อมทั้งเกสรไปบูชาพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
[๖๔] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกกากะทิงพร้อมเกสรบูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๖๕] ในกัปที่ ๔๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าเรณุ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๖๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเรณุปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เรณุปูชกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
ภิกขทายิวรรคที่ ๑๑ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๑. ภิกขทายิวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ภิกขทายกเถราปทาน ๒. ญาณสัญญิกเถราปทาน
๓. อุปปลหัตถิยเถราปทาน ๔. ปทปูชกเถราปทาน
๕. มุฏฐิปุปผิยเถราปทาน ๖. อุทกปูชกเถราปทาน
๗. นฬมาลิยเถราปทาน ๘. อาสนุปัฏฐายกเถราปทาน
๙. พิฬาลิทายกเถราปทาน ๑๐. เรณุปูชกเถราปทาน

มีคาถา ๖๖ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๒. มหาปริวารวรรค] ๑. มหาปริวารเถราปทาน
๑๒. มหาปริวารวรรค
หมวดว่าด้วยพระมหาปริวาระเป็นต้น
๑. มหาปริวารเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมหาปริวารเถระ
(พระมหาปริวารเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
กับภิกษุสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป เสด็จเข้าไปยังพันธุมวิหาร
[๒] ข้าพเจ้าออกจากนครแล้วได้ไปที่ทีปเจดีย์
ได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
[๓] พวกยักษ์ในสำนักของข้าพเจ้า มีประมาณ ๘๔,๐๐๐ ตน
บำรุงข้าพเจ้าโดยเคารพ ดังหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์
บำรุงพระอินทร์โดยเคารพฉะนั้น
[๔] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าถือผ้าทิพย์ออกจากที่อยู่ไป
ถวายอภิวาทด้วยเศียรเกล้า
และได้ถวายผ้าทิพย์นั้นแด่พระพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๕] ช่างน่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ช่างน่าอัศจรรย์ พระธรรมทั้งหลาย
ช่างน่าอัศจรรย์ การที่ข้าพเจ้าได้มาประจวบพระศาสดา
ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า แผ่นดินนี้จึงไหว
[๖] ข้าพเจ้าได้เห็นความอัศจรรย์ซึ่งไม่เคยมี
น่าขนพองสยองเกล้านั้นแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๒. มหาปริวารวรรค] ๒. สุมังคลเถราปทาน
จึงทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[๗] ข้าพเจ้านั้นครั้นทำจิตให้เลื่อมใสแล้ว
ได้ถวายผ้าทิพย์แด่พระศาสดา
จึงพร้อมทั้งอำมาตย์และบริวารชน
ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ อย่างมั่นคง
[๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๙] ในกัปที่ ๑๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ พระนามว่าวาหนะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมหาปริวารเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วย
ประการฉะนี้
มหาปริวารเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. สุมังคลเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุมังคลเถระ
(พระสุมังคลเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๑] พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงชนะอย่างประเสริฐ
พระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
เสด็จออกจากพระวิหารแล้วเสด็จเข้าไปยังสระน้ำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๒. มหาปริวารวรรค] ๒. สุมังคลเถราปทาน
[๑๒] พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงสรงสนานและดื่มแล้ว เสด็จขึ้นทรงผ้าผืนเดียว
ประทับยืนเหลียวดูทิศน้อยใหญ่อยู่ ณ ที่นั้น
[๑๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเข้าไปในที่อยู่
ได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
มีจิตร่าเริงเบิกบาน ได้ปรบมือ
[๑๔] ข้าพเจ้าประกอบการฟ้อนรำ
การขับร้องและการประโคมดนตรีมีองค์ ๕
ถวายพระองค์ ผู้รุ่งเรืองดุจดวงอาทิตย์
ส่องแสงเรืองรองดังทองคำ
[๑๕] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ข้าพเจ้าเป็นใหญ่เหนือสัตว์ทั้งปวง
ยศของข้าพเจ้าก็ไพบูลย์
[๑๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ข้าพระองค์
ขอนอบน้อมพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดแห่งบุรุษ
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ พระองค์ผู้เป็นพระมุนี
ทรงทำพระองค์ให้ยินดีแล้ว จึงทรงทำผู้อื่นให้ยินดีตาม
[๑๗] ข้าพเจ้าผู้มีวัตรดีงามกำหนดแล้ว นั่งลง ทำความร่าเริง
เข้าไปบำรุงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต
[๑๘] ในกัปที่ ๑๑๖ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๘ ชาติ พระนามว่าเอกจินติตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๒. มหาปริวารวรรค] ๓. สรณคมนิยเถราปทาน
[๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุมังคลเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุมังคลเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. สรณคมนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสรณคมนิยเถระ
(พระสรณคมนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๐] สงครามของท้าวเทวราชทั้ง ๒ ฝ่าย
ได้ปรากฏประชิดติดกัน เสียงดังกึกก้องได้เป็นไป
[๒๑] พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ประทับยืนอยู่ในอากาศ
ทรงทำมหาชนให้สังเวชแล้ว
[๒๒] เทวดาทั้งปวงมีใจเบิกบาน ต่างวางเกราะและอาวุธ
พร้อมใจกันถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะนั้น
[๒๓] พระศาสดาผู้ทรงอนุเคราะห์ ทรงรู้แจ้งโลก
ทรงทราบความคิดของข้าพเจ้าแล้ว
ทรงเปล่งอาสภิวาจา๑ ทำมหาชนให้เย็นใจว่า
[๒๔] บุคคลผู้เกิดเป็นมนุษย์ มีจิตประทุษร้าย
เบียดเบียนสัตว์เพียงตัวเดียว
จะต้องเกิดยังอบายภูมิ เพราะจิตประทุษร้ายนั้น

เชิงอรรถ :
๑ อาสภิวาจา หมายถึงวาจาแสดงความเป็นผู้องอาจ วาขาองอาจคือคำประกาศพระองค์ว่าเป็นเอกในโลก
(ที.ม. (แปล) ๑๐/๓๑/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๒. มหาปริวารวรรค] ๓. สรณคมนิยเถราปทาน
[๒๕] เปรียบเหมือนช้างในสนามรบ
เบียดเบียนสัตว์จำนวนมาก
ท่านทั้งหลายจงทำจิตของตนให้เย็นเถิด
อย่าเบียดเบียนกันนักเลย
[๒๖] แม้พวกเสนาของพญายักษ์ทั้ง ๒ ได้สงบสงคราม
และพากันถึงพระผู้มีพระภาคผู้เจริญที่สุดในโลก
ผู้คงที่เป็นอันดี ว่าเป็นสรณะ อย่างมั่นคง
[๒๗] ส่วนพระศาสดา ผู้มีพระจักษุ ทรงให้หมู่ชนยินยอมแล้ว
อันหมู่เทวดาเพ่งดูอยู่ ทรงก้าวย่างพระบาท
ทรงบ่ายพระพักตร์เสด็จหลีกไปทางทิศเหนือ
[๒๘] ข้าพเจ้าได้ถึงพระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้คงที่ ว่าเป็นสรณะเป็นคนแรก
ข้าพเจ้าไม่ไปเกิดยังทุคติเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๒๙] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
มีพระนามว่ามหาทุนทุภิและพระนามว่ารเถสภะ
[๓๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสรณคมนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สรณคมนิยเถราปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๒. มหาปริวารวรรค] ๔. เอกาสนิยเถราปทาน
๔. เอกาสนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกาสนิยเถระ
(พระเอกาสนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นท้าวเทวราชมีนามว่าวรุณ
พร้อมด้วยยาน พลทหารและพาหนะ
เข้าไปบำรุงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๓๒] เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นที่พึ่ง
ของสัตว์โลก พระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้าได้นำดนตรีทั้งปวงไปยังต้นโพธิ์อันอุดม
[๓๓] ข้าพเจ้าประกอบการประโคม
การฟ้อนรำและกังสดาลทุกอย่าง บำรุงต้นโพธิ์อันอุดม
ดุจบำรุงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์
[๓๔] ข้าพเจ้าครั้นบำรุงต้นโพธิ์ซึ่งงอกขึ้นบนพื้นดินนั้นแล้ว
จึงนั่งขัดสมาธิ แล้วได้สิ้นชีวิตลง ณ ที่นั้นเอง
[๓๕] ข้าพเจ้าปรารภกรรมของตน เลื่อมใสในต้นโพธิ์อันอุดม
ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ข้าพเจ้าจึงไปเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
[๓๖] เครื่องดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้น แวดล้อมข้าพเจ้า
ผู้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ทั้งในเทวดาและมนุษย์ อยู่ทุกเมื่อ
[๓๗] ไฟ ๓ กอง ข้าพเจ้าดับได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๒. มหาปริวารวรรค] ๕. สุวัณณปุปผิยเถราปทาน
[๓๘] ในกัปที่ ๑๐๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๔ ชาติ
มีพระนามว่าสุพาหุ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
[๓๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกาสนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกาสนิยเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. สุวัณณปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุวรรณปุปผิยเถระ
(พระสุวรรณปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๐] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี ผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน ประทับนั่งแสดงอมตบทแก่หมู่ชน
[๔๑] ข้าพเจ้าฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
ได้ใช้ดอกไม้ทองคำ ๔ ดอก บูชาพระพุทธเจ้า
[๔๒] ดอกไม้ทองคำนั้นกลายเป็นหลังคาทองคำ มุงบังตลอดชุมชน
ในครั้งนั้น รัศมีของพระพุทธเจ้าและรัศมีของทองคำ
รวมกันเป็นแสงสว่างอย่างเจิดจ้า
[๔๓] ข้าพเจ้ามีจิตเบิกบาน มีใจยินดี เกิดโสมนัส
ประนมมือให้ชนเหล่านั้นเกิดปีติ
นำความสุขในปัจจุบันมาให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๒. มหาปริวารวรรค] ๖. จิตกปูชกเถราปทาน
[๔๔] ข้าพเจ้าทูลวิงวอนและถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีวัตรดีงาม ทำความปราโมทย์ให้เกิดขึ้นแล้ว
กลับเข้าสู่ที่อยู่ของตน
[๔๕] ข้าพเจ้ากลับเข้าสู่ที่อยู่แล้ว
ยังระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดอยู่
ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต
[๔๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๔๗] ในกัปที่ ๔๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
มีพระนามว่าเนมิสัมมตะ มีพลานุภาพมาก
[๔๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุวรรณปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุวัณณปุปผิยเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. จิตกปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจิตกปูชกเถระ
(พระจิตกปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๙] ข้าพเจ้า๑พร้อมทั้งอำมาตย์และบริวารชนสิงสถิตอยู่ที่ต้นเกด
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ เกิดเป็นรุกขเทวดา (ขุ.อป.อ. ๒/๔๙/๑๖๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๒. มหาปริวารวรรค] ๖. จิตกปูชกเถราปทาน
[๕๐] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ได้ไปยังจิตกาธาน
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิขี ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
ประโคมดนตรี ณ ที่นั้น
โปรยของหอมและดอกไม้ให้ทั่วถึง
[๕๑] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ทำการบูชาที่จิตกาธาน
ไหว้จิตกาธานแล้ว กลับมาวิมานของตน
[๕๒] ข้าพเจ้าเข้าไปในวิมานแล้ว ยังระลึกถึงการบูชาจิตกาธานอยู่
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน ด้วยผลกรรมนั้น
[๕๓] ข้าพเจ้าจึงเสวยสมบัติทั้งในเทวดาและในมนุษย์แล้ว
ละความชนะและความพ่ายแพ้ได้แล้ว๑ บรรลุฐานะที่ไม่หวั่นไหว๒
[๕๔] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาจิตกาธาน
[๕๕] ในกัปที่ ๒๙ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
มีพระนามว่าอุคคตะ มีพลานุภาพมาก
[๕๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจิตกปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จิตกปูชกเถราปทานที่ ๖ จบ

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๙ หน้า ๒๐๕ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๒. มหาปริวารวรรค] ๗. พุทธสัญญกเถราปทาน
๗. พุทธสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระพุทธสัญญกเถระ
(พระพุทธสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๗] เมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ผู้เลิศในโลก ทรงปลงพระชนมายุสังขาร
แผ่นดินหมื่นจักรวาลทั้งสมุทรสาครก็ไหวแล้ว
[๕๘] แม้วิมานของข้าพเจ้า๑ สูง กว้าง ยาว
สะอาดและงดงาม มีพวงมาลัยเป็นที่ ๕ ก็ยังไหว
เพราะการที่พระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขาร
[๕๙] เมื่อวิมานไหวแล้ว ข้าพเจ้าเกิดความสะดุ้งว่า
เกิดเหตุอะไรหนอ แสงสว่างเจิดจ้าได้มีแล้วเพื่อประโยชน์อะไร
[๖๐] ท้าวเวสวัณมา ณ ที่นี้แล้ว ทำมหาชนให้เย็นใจว่า
ภัยที่จะเกิดแก่สัตว์ไม่มี
ท่านทั้งหลายจงมีความตั้งใจเคารพเถิด
[๖๑] ช่างน่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้า
ช่างน่าอัศจรรย์ พระธรรม
ช่างน่าอัศจรรย์ การที่ข้าพเจ้าได้มาประจวบกับพระศาสดา
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น แผ่นดินก็ไหว
[๖๒] ข้าพเจ้าประกาศพุทธานุภาพแล้ว
จึงบันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอดหนึ่งกัป
ในกัปที่เหลือ ข้าพเจ้าได้ทำกุศลไว้แล้ว
[๖๓] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำไว้ในครั้งนั้น

เชิงอรรถ :
๑ เกิดเป็นภุมมเทวดา (ขุ.อป.อ. ๒/๕๗/๑๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๒. มหาปริวารวรรค] ๘. มัคคสัญญกเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในพระพุทธเจ้า
[๖๔] ในกัปที่ ๑๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าสมิตะ
ผู้มีความเพียร มีพลานุภาพมาก
[๖๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระพุทธสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
พุทธสัญญกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. มัคคสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมัคคสัญญกเถระ
(พระมัคคสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๖] สาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
เที่ยวไปในป่า หลงทางจึงเที่ยวไปในป่าใหญ่เหมือนคนตาบอด
[๖๗] บุตรของพระมุนีเหล่านั้นระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระนามว่าปทุมุตตระ ทรงเป็นผู้นำ หลงทางอยู่ในป่าใหญ่
[๖๘] ข้าพเจ้า๑ ลงจากวิมานแล้ว ได้ไปยังสำนักของภิกษุ
บอกทางให้และได้ถวายโภชนาหารแก่ภิกษุเหล่านั้น
[๖๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ด้วยกรรมนั้น ข้าพระองค์มีอายุ ๗ ขวบ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล

เชิงอรรถ :
๑ เกิดเป็นปัพพตเทวดา (ขุ.อป.อ. ๒/๖๖/๑๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๒. มหาปริวารวรรค] ๙. ปัจจุปัฏฐานสัญญกเถราปทาน
[๗๐] ในกัปที่ ๑๐๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๒ ชาติ
มีพระนามว่าสจักขุ สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
[๗๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมัคคสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มัคคสัญญกเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. ปัจจุปัฏฐานสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัจจุปัฏฐานสัญญกเถระ
(พระปัจจุปัฏฐานสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึง
กล่าวว่า)
[๗๒] เมื่อพระสุคตพระนามว่าอัตถทัสสี
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เกิดยังกำเนิดยักษ์และได้รับยศตามลำดับ
[๗๓] (ข้าพเจ้าคิดว่า)ยศที่เราได้แล้ว เป็นของได้ยากหนอ
เป็นของที่รุ่งเรืองยาก เกิดขึ้นได้ยาก เมื่อโภคะของเรามีอยู่
พระสุคต ผู้มีพระจักษุก็เสด็จดับขันธปรินิพพานเสียแล้ว
[๗๔] สาวกนามว่าสาคร รู้ความดำริของข้าพเจ้าแล้ว
ท่านประสงค์จะช่วยเหลือข้าพเจ้า
จึงมายังสำนักของข้าพเจ้า
[๗๕] ท่านกล่าวว่า ท่านจะเศร้าโศกไปทำไมหนอ
อย่ากลัวเลย ท่านจงประพฤติธรรมเถิด ท่านผู้มีปัญญาดี
พระพุทธเจ้าทรงประทานวิชชาสมบัติแก่ชนทั้งปวงเนือง ๆ ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๒. มหาปริวารวรรค] ๙. ปัจจุปัฏฐานสัญญกเถราปทาน
[๗๖] หากผู้ใด พึงบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ยังดำรงพระชนม์อยู่ก็ดี
พึงบูชาพระธาตุแม้ประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดของพระพุทธเจ้า
แม้เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วก็ดี
[๗๗] เมื่อจิตที่เลื่อมใสของผู้นั้นเสมอกัน
บุญก็มีผลมากเสมอกัน
เพราะฉะนั้น ท่านจงสร้างสถูป
บูชาพระธาตุของพระชินเจ้าเถิด
[๗๘] ข้าพเจ้าได้ฟังคำพูดของท่านสาครแล้ว
ได้สร้างพุทธสถูป บำรุงพระสถูปชั้นเลิศของพระมุนีอยู่ ๕ ปี
[๗๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ด้วยผลกรรมนั้น ข้าพระองค์จึงเสวยสมบัติ
ได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว
[๘๐] ในกัปที่ ๑๐๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ พระนามว่าภูริปัญญา
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๘๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัจจุปัฏฐานสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วย
ประการฉะนี้
ปัจจุปัฏฐานสัญญกเถราปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๒. มหาปริวารวรรค] ๑๐. ชาติปูชกเถราปทาน
๑๐. ชาติปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระชาติปูชกเถระ
(พระชาติปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๒] เมื่อพระวิปัสสีโพธิสัตว์ประสูติ ได้มีแสงสว่างเจิดจ้า
แผ่นดินพร้อมทั้งสมุทรสาครและภูเขาก็ไหวแล้ว
[๘๓] อนึ่ง พวกโหราจารย์พยากรณ์ว่า
ผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้าในโลก
จักเป็นผู้เลิศกว่าสรรพสัตว์ จักรื้อถอนหมู่ชน
[๘๔] ข้าพเจ้าได้ฟังคำของพวกโหราจารย์แล้ว
ได้ทำการบูชาพระชาติกำเนิด๑
ด้วยความดำริว่า การบูชาเช่นกับการบูชาพระชาติกำเนิดไม่มี
[๘๕] ข้าพเจ้าสร้างกุศลแล้ว จึงทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ครั้นทำการบูชาพระชาติกำเนิดแล้ว ก็สิ้นชีวิตลง ณ ที่นั้น
[๘๖] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ข้าพเจ้าเป็นใหญ่เหนือสรรพสัตว์
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระชาติกำเนิด
[๘๗] แม่นมทั้งหลายย่อมบำรุงข้าพเจ้า
อยู่ในอำนาจจิตของข้าพเจ้า
แม่นมเหล่านั้นไม่อาจเพื่อทำข้าพเจ้าให้โกรธเคือง
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระชาติกำเนิด
[๘๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำการบูชาไว้ในครั้งนั้น

เชิงอรรถ :
๑ พระชาติกำเนิด หมายถึงพระชาติของพระพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ. ๒/๑๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๒. มหาปริวารวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระชาติกำเนิด
[๘๙] ในกัปที่ ๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๔ ชาติ
พระนามว่าสุปาริจริยะ
เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๙๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระชาติปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ชาติปูชกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
มหาปริวารวรรคที่ ๑๒ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มหาปริวารเถราปทาน ๒. สุมังคลเถราปทาน
๓. สรณคมนิยเถราปทาน ๔. เอกาสนิยเถราปทาน
๕. สุวัณณปุปผิยเถราปทาน ๖. จิตกปูชกเถราปทาน
๗. พุทธสัญญกเถราปทาน ๘. มัคคสัญญกเถราปทาน
๙. ปัจจุปัฏฐานสัญญกเถราปทาน ๑๐. ชาติปูชกเถราปทาน

ท่านกล่าวรวมคาถาไว้ ๙๐ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] ๑. เสเรยยกเถราปทาน
๑๓. เสเรยยกวรรค
หมวดว่าด้วยพระเสเรยยกะเป็นต้น
๑. เสเรยยกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเสเรยยกเถระ
(พระเสเรยยกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าเป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์
จบไตรเพท ยืนอยู่ในที่กลางแจ้ง
ได้เห็นพระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๒] เสด็จเที่ยวอยู่ในป่าดุจราชสีห์
ไม่สะดุ้งกลัวดุจพญาเสือโคร่ง ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ดุจช้างมาตังคะตกมัน ๓ แห่ง
[๓] ข้าพเจ้าหยิบดอกไม้ซึก
โยนขึ้นไป(บูชา)ในอากาศ ด้วยพุทธานุภาพ
ดอกไม้ซึกทั้งหลายห้อมล้อมอยู่โดยประการทั้งปวง
[๔] พระผู้มีพระภาคผู้สัพพัญญู ทรงมีความเพียรมาก
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงอธิษฐานแล้ว
ดอกไม้ทั้งหลายก็กระจายเป็นเครื่องมุงบังดอกไม้
บูชาพระนราสภะโดยรอบ
[๕] ลำดับนั้น แผ่นดอกไม้นั้นมีขั้วอยู่ข้างใน มีหน้าอยู่ข้างนอก
ทำการมุงบังตลอด ๗ วัน
ต่อแต่นั้นก็อันตรธานไป
[๖] ข้าพเจ้าได้เห็นความอัศจรรย์ซึ่งไม่เคยมี
น่าขนพองสยองเกล้านั้นแล้ว
จึงทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้สุคต ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] ๒. ปุปผถูปิยเถราปทาน
[๗] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ข้าพเจ้าถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จึงไม่ไปเกิดยังทุคติเลย ตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๘] ในกัปที่ ๑,๐๑๕ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๕ ชาติ
มีพระนามว่าวิลามาลา มีพลานุภาพมาก
[๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเสเรยยกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เสเรยยกเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. ปุปผถูปิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุปผถูปิยเถระ
(พระปุปผถูปิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อกุกกุระ
พราหมณ์ผู้จบมนตร์ อยู่ในท่ามกลางภูเขานั้น
[๑๑] ศิษย์ ๑,๐๑๕ คน แวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
และศิษย์เหล่านั้นเป็นผู้ลุกขึ้นก่อน(ตื่นก่อน) (และนอนทีหลัง)
แกล้วกล้าในมนตร์ทั้งหลาย(มาแจ้งแก่ข้าพเจ้าว่า)
[๑๒] พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก
ขอท่านจงทราบเถิดว่า
พระองค์ทรงเจริญกว่าพวกเรา
พระองค์มีอนุพยัญชนะ ๘๐
มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ
[๑๓] พระชินวร มีพระรัศมีแผ่ไปข้างละหนึ่งวา
รุ่งโรจน์ดังดวงอาทิตย์
พราหมณ์ผู้จบมนตร์ ฟังคำของพวกศิษย์ดังนี้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] ๓. ปายาสทายกเถราปทาน
[๑๔] จึงออกจากอาศรม ถามถึงทิศกับศิษย์ทั้งหลายว่า
พระผู้มีพระภาคผู้มีความเพียรมาก
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ประทับอยู่ ณ ภูมิภาคใด
[๑๕] ข้าพเจ้าเห็นภูมิภาคนั้นแล้ว
จักนมัสการพระชินเจ้า ผู้ที่หาบุคคลเปรียบมิได้
ข้าพเจ้ามีจิตเบิกบาน มีใจยินดี
จึงบูชาพระตถาคตนั้น
[๑๖] มาเถิดศิษย์ทั้งหลาย พวกเราจักไปเฝ้าพระตถาคต
จักกราบไหว้พระยุคลบาทของพระศาสดาแล้ว
จักฟังคำสั่งสอนของพระชินเจ้า
[๑๗] ข้าพเจ้า ออกไปได้วันเดียวก็เกิดเจ็บไข้
ถูกความเจ็บไข้เบียดเบียน จึงเข้าไปนอนที่ศาลา
[๑๘] ข้าพเจ้าประชุมศิษย์ทั้งหมดแล้ว
ได้ถามพวกเขาถึงพระตถาคตว่า
พระคุณของพระผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ผู้มีปัญญาเครื่องตรัสรู้อย่างยอดเยี่ยม เป็นเช่นไร
[๑๙] ศิษย์เหล่านั้นถูกข้าพเจ้าถามแล้วได้ตอบตามที่ตนเห็นมา
แสดงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดนั้น
เฉพาะหน้าของข้าพเจ้าโดยเคารพ
[๒๐] ข้าพเจ้าฟังคำของศิษย์เหล่านั้นแล้ว
จึงทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ใช้ดอกไม้สร้างเป็นพระสถูปแล้ว ได้สิ้นชีวิตลง ณ ที่นั้น
[๒๑] ศิษย์เหล่านั้น เผาร่างกายของข้าพเจ้าแล้ว
ได้ไปในสำนักของพระพุทธเจ้า
ประคองอัญชลี ถวายอภิวาทพระศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] ๓. ปายาสทายกเถราปทาน
[๒๒] ข้าพเจ้าใช้ดอกไม้สร้างเป็นพระสถูปเพื่อพระสุคต
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
จึงไม่ไปเกิดยังทุคติเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๒๓] ในกัปที่ ๔๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
มีพระนามว่าอัคคิสมะ มีพลานุภาพมาก
[๒๔] ในกับที่ ๒๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๘ ชาติ
มีพระนามว่าฆฏาสนะ ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
[๒๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุปผถูปิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุปผถูปิยเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. ปายาสทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปายาสทายกเถระ
(พระปายาสทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๖] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ
กำลังเสด็จออกจากป่า มีหมู่ภิกษุห้อมล้อม
[๒๗] ข้าพเจ้าประสงค์จะบูชายัญ
จึงคดข้าวปายาสใส่ถาดสำริด
แล้วน้อมนำเครื่องพลีกรรมเข้าไปด้วยมือตนเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] ๓. ปายาสทายกเถราปทาน
[๒๘] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาค ผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน เสด็จขึ้นสู่ที่จงกรมในอากาศซึ่งเป็นทางลม
[๒๙] ข้าพเจ้าได้เห็นความอัศจรรย์ซึ่งไม่เคยมี
น่าขนพองสยองเกล้านั้นแล้ว จึงวางถาดสำริดลง
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
[๓๐] กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหามุนี
พระองค์เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าในโลก
พร้อมทั้งเทวโลกและมนุษยโลก
ขอจงทรงอนุเคราะห์รับข้าวปายาสของข้าพระองค์เถิด
[๓๑] พระผู้มีพระภาคผู้สัพพัญญู ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว จึงทรงรับไว้
[๓๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวปายาส
[๓๓] ในกัปที่ ๔๑ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าพุทธะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปายาสทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปายาสทายกเถราปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] ๔. คันโธทกิยเถราปทาน
๔. คันโธทกิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระคันโธทกิยเถระ
(พระคันโธทกิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๕] ข้าพเจ้านั่งอยู่ในปราสาทที่ประเสริฐ
ได้เห็นพระชินเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ทรงเหมือนต้นรกฟ้าที่งดงาม
เป็นพระสัพพัญญู ทรงเป็นผู้นำสูงสุด
[๓๖] พระองค์ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จดำเนินไปในที่ไม่ไกลปราสาท
รัศมีของพระองค์สว่างไสว ในเมื่อดวงอาทิตย์อัสดงคตแล้ว
[๓๗] ข้าพเจ้าประคองน้ำหอม
ประพรม(บูชา)พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
แล้วสิ้นชีวิตลง ณ ที่นั้น ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
[๓๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ประพรมน้ำหอมไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๓๙] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าสุคันธะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระคันโธทกิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
คันโธทกิยเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] ๕. สัมมุขาถวิกเถราปทาน
๕. สัมมุขาถวิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัมมุขาถวิกเถระ
(พระสัมมุขาถวิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๑] เมื่อพระวิปัสสีโพธิสัตว์ประสูติ
ข้าพเจ้าพยากรณ์นิมิตและทำหมู่ชนให้เย็นใจว่า
พระโพธิสัตว์นี้จักเป็นพระพุทธเจ้าในโลก
[๔๒] อนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคพระองค์ใดประสูติ
หมื่นจักรวาลย่อมหวั่นไหว
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นศาสดา
ผู้มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรมอยู่
[๔๓] อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดประสูติ
ได้มีแสงสว่างเจิดจ้า
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นศาสดา
ผู้มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรมอยู่
[๔๔] อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดประสูติ
แม่น้ำทั้งหลายไม่ไหล
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นศาสดา
ผู้มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรมอยู่
[๔๕] อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดประสูติ
ไฟในอเวจีนรกไม่ลุกโพลง
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นศาสดา
ผู้มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรมอยู่
[๔๖] อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดประสูติ
หมู่นกไม่สัญจรไปมา
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นศาสดา
ผู้มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรมอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] ๕. สัมมุขาถวิกเถราปทาน
[๔๗] อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดประสูติ
กองลมไม่พัด
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นศาสดา
ผู้มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรมอยู่
[๔๘] อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดประสูติ
รัตนะทุกชนิดส่องแสงโชติช่วง
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นศาสดา
ผู้มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรมอยู่
[๔๙] อนึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดประสูติ
ทรงย่างพระบาทไปได้ ๗ ก้าว
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นศาสดา
ผู้มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรมอยู่
[๕๐] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพอประสูติแล้วเท่านั้น
ก็ทรงเหลียวดูทิศทั้งปวง แล้วทรงเปล่งอาสภิวาจา๑
นี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
[๕๑] ข้าพเจ้าทำหมู่ชนให้เกิดสังเวชแล้ว ชมเชย
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วบ่ายหน้าหลีกไปทางทิศตะวันออก
[๕๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าชมเชยพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการชมเชย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๒๓ หน้า ๒๖๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] ๕. สัมมุขาถวิกเถราปทาน
[๕๓] ในกัปที่ ๙๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าสัมมุขาถวิกะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๔] ในกัปที่ ๘๙ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าปฐวีทุนทุภิ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๕] ในกัปที่ ๘๘ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าโอภาส
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๖] ในกัปที่ ๘๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสริตัจเฉทนะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๗] ในกัปที่ ๘๖ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าอัคคินิพพาปนะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๘] ในกัปที่ ๘๕ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าวาตสมะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๙] ในกัปที่ ๘๔ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าคติปัจเฉทนะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๖๐] ในกัปที่ ๘๓ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่ารัตนปัชชละ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] ๖. กุสุมาสนิยเถราปทาน
[๖๑] ในกัปที่ ๘๒ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าปทวิกกมนะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๖๒] ในกัปที่ ๘๑ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าวิโลกนะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๖๓] ในกัปที่ ๘๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าคิริสาระ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๖๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัมมุขาถวิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัมมุขาถวิกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. กุสุมาสนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกุสุมาสนิยเถระ
(พระกุสุมาสนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดเป็นพราหมณ์อยู่ในกรุงธัญญวดี
เป็นผู้เชี่ยวชาญในคัมภีร์พยากรณ์ลักษณะ
คัมภีร์อิติหาสะ และไตรเพทพร้อมด้วยคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์
และคัมภีร์เกฏุภศาสตร์๑
[๖๖] ข้าพเจ้าเป็นผู้เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ฉลาดในนิมิต
จบไตรเพทบอกมนตร์ให้ศิษย์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๗๖ หน้า ๓๑ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] ๗. ผลทายกเถราปทาน
[๖๗] ข้าพเจ้าวางดอกอุบล ๕ กำไว้บนหลังของข้าพเจ้า
ประสงค์จะบูชายัญ ในสมาคมบิดามารดา
[๖๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ทรงองอาจกว่านรชน
มีหมู่ภิกษุห้อมล้อมเสด็จมาทำทิศทั้งปวงให้สว่างไสว
[๖๙] ข้าพเจ้าปูลาดอาสนะแล้วลาดดอกอุบลนั้น
นิมนต์พระมหามุนี นำเสด็จไปยังเรือนของตน
[๗๐] อามิสใดที่ข้าพเจ้าตระเตรียมไว้ มีอยู่ในเรือนของตน
ข้าพเจ้าเลื่อมใสได้ถวายอามิสนั้นแด่พระพุทธเจ้า
ด้วยมือทั้ง ๒ ของตน
[๗๑] ข้าพเจ้าทราบเวลาว่า พระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว
จึงได้ถวายดอกอุบลกำหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคผู้สัพพัญญูทรงอนุโมทนาแล้ว
บ่ายพระพักตร์เสด็จหลีกไปทางทิศเหนือ
[๗๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายดอกไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายดอกไม้
[๗๓] ในกัปที่ต่อจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าวรทัสสนะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๗๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกุสุมาสนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กุสุมาสนิยเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] ๗. ผลทายกเถราปทาน
๗. ผลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระผลทายกเถระ
(พระผลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗๕] ข้าพเจ้าเป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์ จบไตรเพท
อยู่ในอาศรมที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
[๗๖] เครื่องบูชาไฟและเมล็ดบัวขาวของข้าพเจ้ามีอยู่
ของทั้งหมดข้าพเจ้าใส่ไว้ในกระจาดแล้ว คล้องไว้ที่ยอดไม้
[๗๗] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา พระองค์ประสงค์จะช่วยข้าพเจ้า
เมื่อจะเสด็จเที่ยวบิณฑบาต จึงเสด็จเข้ามาหาข้าพเจ้า
[๗๘] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ถวายเมล็ดบัวแด่พระพุทธเจ้า
พระองค์ทรงทำปีติให้เกิดแก่ข้าพเจ้า
ทรงนำความสุขมาให้ในปัจจุบัน
[๗๙] พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ประทับยืนอยู่ในอากาศ ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
[๘๐] ด้วยการถวายเมล็ดบัวนี้ และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
ผู้นี้จะไม่ไปเกิดยังทุคติเลย ตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๘๑] ด้วยกุศลมูลนั้นนั่นแล ข้าพเจ้าได้เสวยสมบัติแล้ว
ละความชนะและความแพ้ได้แล้ว๑ บรรลุฐานะที่ไม่หวั่นไหว๒

เชิงอรรถ :
๑-๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๙ หน้า ๒๐๓ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] ๘. ญาณสัญญิกเถราปทาน
[๘๒] ในกัปที่ ๑๐๗ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสุมังคละ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๘๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระผลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ผลทายกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. ญาณสัญญิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระญาณสัญญิกเถระ
(พระญาณสัญญิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘๔] ข้าพเจ้าอยู่ในระหว่างภูเขา ที่ภูเขาหิมพานต์
ได้เห็นกองทรายงดงามแล้ว
หวนระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๘๕] การเปรียบเทียบในพระญาณไม่มี
สงคราม(คือการปรุงแต่ง)ไม่มีแก่พระศาสดา
พระศาสดาทรงรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว ตัดสินใจด้วยพระญาณ
[๘๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ทรงเป็นผู้สูงสุดแห่งบุรุษ ขอนอบน้อมพระองค์
ผู้ที่จะเสมอด้วยพระญาณของพระองค์ไม่มี
ตราบเท่าที่พระญาณสูงสุดของพระองค์ยังมีอยู่
[๘๗] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในพระญาณแล้ว
บันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอดกัปหนึ่ง
ในกัปทั้งหลายที่เหลือ ข้าพเจ้าทำกุศลไว้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] ๙. คัณฐิปุปผิยเถราปทาน
[๘๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในพระญาณ
[๘๙] ในกัปที่ ๗๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าปุฬินปุปผิยะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๙๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระญาณสัญญิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ญาณสัญญิกเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. คัณฐิปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระคัณฐิปุปผิยเถระ
(พระคัณฐิปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙๑] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ ผู้สมควรแก่ทักษิณา
มีหมู่สาวกห้อมล้อม เสด็จออกจากอาราม
[๙๒] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า
ผู้ประเสริฐที่สุด หาอาสวะมิได้
จึงมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ได้ใช้พวงดอกไม้บูชา
[๙๓] ด้วยจิตที่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริง เบิกบาน ถวายอภิวาทพระตถาคตอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] ๑๐. ปทุมปูชกเถราปทาน
[๙๔] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๙๕] ในกัปที่ ๔๑ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าวรุณะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๙๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระคัณฐิปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
คัณฐิปุปผิยเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. ปทุมปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปทุมปูชกเถระ
(พระปทุมปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙๗] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่าโคตมะ
ดาษดื่นไปด้วยต้นไม้นานาชนิด
เป็นที่อยู่ของหมู่มหาภูต (คือยักษ์)
[๙๘] อาศรมได้สร้างไว้ในท่ามกลางภูเขานั้น
ข้าพเจ้ามีศิษย์ของตนห้อมล้อม
อยู่ในอาศรม (ได้กล่าวกับศิษย์ว่า)
[๙๙] มาเถิดคณะศิษย์ของเรา จงนำดอกปทุมมาให้เรา
เราจักทำการบูชาพระพุทธเจ้า แด่พระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] ๑๐. ปทุมปูชกเถราปทาน
[๑๐๐] ศิษย์เหล่านั้นรับคำที่ข้าพเจ้าสั่งอย่างนี้แล้ว
จึงนำดอกปทุมมาให้ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าทำเครื่องหมายอย่างนั้นแล้ว จึงบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๐๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าประชุมศิษย์ทั้งหลายแล้ว
พร่ำสอนเป็นอย่างดีว่า
เธอทั้งหลายอย่าได้ประมาทเลย
ความไม่ประมาทเป็นเหตุนำความสุขมาให้
[๑๐๒] ข้าพเจ้าครั้นพร่ำสอนศิษย์ทั้งหลายของตน
ผู้อดทนต่อคำสอนอย่างนี้
ประกอบตนในคุณคือความไม่ประมาท
แล้วได้สิ้นชีวิตลงในครั้งนั้น
[๑๐๓] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๐๔] ในกัปที่ ๕๑ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าชลุตตมะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๐๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปทุมปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปทุมปูชกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
เสเรยยวรรคที่ ๑๓ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๓. เสเรยยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เสเรยยกเถราปทาน ๒. ปุปผถูปิยเถราปทาน
๓. ปายาสทายกเถราปทาน ๔. คันโธทกิยเถราปทาน
๕. สัมมุขาถวิกเถราปทาน ๖. กุสุมาสนิยเถราปทาน
๗. ผลทายกเถราปทาน ๘. ญาณสัญญิกเถราปทาน
๙. คัณฐิปุปผิยเถราปทาน ๑๐. ปทุมปูชกเถราปทาน

บัณฑิตผู้เห็นแจ้งอรรถรวบรวมคาถาไว้ ๑๐๕ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๔. โสภิตวรรค] ๑. โสภิตเถราปทาน
๑๔. โสภิตวรรค
หมวดว่าด้วยพระโสภิตะเป็นต้น
๑. โสภิตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโสภิตเถระ
(พระโสภิตเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน ทรงแสดงอมตบทแก่หมู่ชนจำนวนมากอยู่
[๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังพระดำรัสของพระองค์
ที่เปล่งออกด้วยอาสภิวาจา๑ แล้วจึงประคองอัญชลี
เป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เดียว (กล่าวว่า)
[๓] สมุทรล้ำเลิศกว่าทะเลทั้งหลาย
ภูเขาสิเนรุประเสริฐกว่าภูเขาทั้งหลาย ฉันใด
ชนเหล่าใดเป็นไปตามอำนาจจิต
ชนเหล่านั้นไม่ถึงเสี้ยวหนึ่งแห่งพุทธญาณ ฉันนั้น
[๔] พระพุทธเจ้าทรงเป็นฤๅษี
ทรงประกอบด้วยพระกรุณา ทรงพักการแสดงธรรมแล้ว
ประทับนั่งอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๕] ผู้ใดสรรเสริญพระญาณในพระพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ผู้นั้นจะไม่ไปเกิดยังทุคติเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๖] ผู้นั้นจักเผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว
เป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เดียว มีใจตั้งมั่น มีนามว่าโสภิตะ
เป็นสาวกของพระศาสดา

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๒๓ หน้า ๒๖๔ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๔. โสภิตวรรค] ๒. สุทัสสนเถราปทาน
[๗] ในกัปที่ ๑,๐๕๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ
พระนามว่าสมุคคตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๘] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้ว โดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโสภิตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โสภิตเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. สุทัสสนเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุทัสสนเถระ
(พระสุทัสสนเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐] ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำอันกว้างใหญ่
มีต้นเลียบกำลังผลิผลอยู่มากมาย
เมื่อข้าพเจ้าแสวงหาต้นไม้นั้น
จึงได้เห็นพระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๑๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเห็นต้นการะเกดมีดอกบานสะพรั่ง
จึงตัดที่ขั้วแล้ว บูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก (ด้วยกราบทูลว่า)
[๑๒] ข้าแต่พระมหามุนีพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐที่สุด
พระองค์ทรงบรรลุอมตบทที่ไม่จุติด้วยพระญาณใด
ข้าพระองค์ขอบูชาพระญาณนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๔. โสภิตวรรค] ๓. จันทนปูชกเถราปทาน
[๑๓] ครั้นข้าพเจ้าบูชาพระญาณแล้ว
จึงได้เห็นต้นเลียบ ข้าพเจ้าได้ปัญญานั้น
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระญาณ
[๑๔] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระญาณ
[๑๕] ในกัปที่ ๑๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๒ ชาติ
มีนามเหมือนกันว่าพลุคคตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุทัสสนเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุทัสสนเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. จันทนปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจันทนปูชกเถระ
(พระจันทนปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นกินนร
อาศัยอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
มีดอกไม้เป็นภักษา นุ่งห่มดอกไม้
[๑๘] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
เสด็จเหาะไปตามชายป่า ดังพญาหงส์ในท้องฟ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๔. โสภิตวรรค] ๓. จันทนปูชกเถราปทาน
[๑๙] (ข้าพเจ้ากราบทูลว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ข้าพระองค์ขอนอบน้อมพระองค์ จิตพระองค์บริสุทธิ์ดี
พระองค์มีสีพระพักตร์ผ่องใส มีพระทัยผ่องแผ้ว
[๒๐] พระผู้มีพระภาค ผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน มีปัญญาดี
เสด็จลงจากอากาศ ทรงปูลาดผ้าสังฆาฏิแล้ว ประทับนั่งขัดสมาธิ
[๒๑] ข้าพเจ้าถือแก่นจันทน์หอมอย่างละเอียด
ได้ไปยังสำนักพระชินเจ้า
ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ได้บูชาพระพุทธเจ้า
[๒๒] ข้าพเจ้าถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ทำความปราโมทย์ให้เกิดขึ้นแล้ว
บ่ายหน้าหลีกไปทางทิศเหนือ
[๒๓] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ใช้แก่นจันทน์บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๔] ในกัปที่ ๑๑๔ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ
พระนามว่าโรหิณี มีพลานุภาพมาก
[๒๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจันทนปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จันทนปูชกเถราปทานที่ ๓ จบ
ภาณวารที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๔. โสภิตวรรค] ๔. ปุปผฉทนิยเถราปทาน
๔. ปุปผฉทนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุปผฉทนิยเถระ
(พระปุปผฉทนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๖] พราหมณ์มีนามว่าสุนันทะ
เป็นผู้คงแก่เรียน จบมนตร์ เป็นผู้ควรแก่การขอ
ได้บูชายัญชื่อว่าวาชเปยยะ (กล่าวคำอ่อนหวาน)
[๒๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นผู้เลิศ ทรงเป็นฤๅษี
ประกอบด้วยพระกรุณา ทรงอนุเคราะห์หมู่ชน
เสด็จจงกรมในอากาศ
[๒๘] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สัพพัญญู
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ไม่มีอุปธิ
ครั้นเสด็จจงกรมแล้ว
ทรงแผ่เมตตาไปในหมู่สัตว์หาประมาณมิได้
[๒๙] พราหมณ์ผู้จบมนตร์ เด็ดดอกไม้ที่ขั้วแล้ว
ประชุมศิษย์ทั้งหมด ให้ช่วยกันโยนดอกไม้ขึ้นไปในอากาศ
[๓๐] ครั้งนั้น หลังคาดอกไม้ได้มีทั่วนคร
ไม่หายไปตลอด ๗ วัน ด้วยพุทธานุภาพ
[๓๑] ด้วยกุศลมูลนั้นนั่นเอง (ข้าพเจ้า) ได้เสวยสมบัติ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว
ข้ามกระแสตัณหาที่ซ่านไปในโลกได้แล้ว
[๓๒] ในกัปที่ ๑๑๑ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิ ๓๕ ชาติ
มีพระนามว่าอัมพรังสะ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๔. โสภิตวรรค] ๕. รโหสัญญิกเถราปทาน
[๓๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุปผฉทนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุปผฉทนิยเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. รโหสัญญิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระรโหสัญญิกเถระ
(พระรโหสัญญิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๔] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่าวสภะ
เขาได้สร้างอาศรมไว้สำหรับข้าพเจ้าที่เชิงภูเขานั้น
[๓๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์
บอกมนตร์แก่ศิษย์ ๓๐,๐๐๐ คน
รวบรวมศิษย์เหล่านั้นแล้ว เข้าไปอยู่ ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง
[๓๖] ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ผู้จบมนตร์ นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว
แสวงหาพุทธเวท ทำจิตให้เลื่อมใสในพระญาณ
[๓๗] ข้าพเจ้าครั้นทำจิตให้เลื่อมใสในพระญาณนั้นแล้ว
นั่งขัดสมาธิอยู่บนเครื่องลาดใบไม้ ได้สิ้นชีวิตลง ณ ที่นั้น
[๓๘] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในพระญาณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๔. โสภิตวรรค] ๖. จัมปกปุปผิยเถราปทาน
[๓๙] ในกัปที่ ๒๗ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดินามว่าสิรีธระ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระรโหสัญญิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
รโหสัญญิกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. จัมปกปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจัมปกปุปผิยเถระ
(พระจัมปกปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๑] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเวสสภู
ผู้โชติช่วงดังดอกกรรณิการ์ ประทับนั่งอยู่ระหว่างภูเขา
ทรงทำทิศทั้งปวงให้สว่าง ดังดาวประกายพรึก
[๔๒] ได้มีมาณพ ๓ คน เป็นผู้ศึกษาดีแล้วในศิลปะของตน
คอนสาแหรกบริขารเดินตามหลังข้าพเจ้าไป
[๔๓] ข้าพเจ้าผู้มีตบะ ได้เก็บดอกจำปา ๗ ดอกใส่ไว้ในกระจาด
ข้าพเจ้าถือดอกไม้เหล่านั้นไปบูชาพระญาณ
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าเวสสภู
[๔๔] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระญาณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๒๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๔. โสภิตวรรค] ๗. อัตถสันทัสสกเถราปทาน
[๔๕] ในกัปที่ ๒๙ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดินามว่าวิหตาภาส
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจัมปกปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จัมปกปุปผิยเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. อัตถสันทัสสกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัตถสันทัสสกเถระ
(พระอัตถสันทัสสกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๗] ข้าพเจ้านั่งอยู่ในโรงกว้างใหญ่
ได้เห็นพระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
สิ้นอาสวะแล้ว บรรลุพลธรรม๑ มีหมู่ภิกษุห้อมล้อม
[๔๘] ภิกษุสงฆ์ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ รูป
บรรลุวิชชา ๓ ได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก
แวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส
[๔๙] การเปรียบเทียบในพระญาณ
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด
ไม่มีในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีพระญาณไม่สิ้นสุด
ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส

เชิงอรรถ :
๑ พลธรรม ได้แก่ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ (ที.ปา. ๑๑/๓๑๑/๒๐๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๔. โสภิตวรรค] ๘. เอกรังสนิยเถราปทาน
[๕๐] อนึ่ง พระพุทธเจ้า ผู้ทรงแสดงธรรมกาย
ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งสิ้น
ชนทั้งหลายไม่สามารถจะให้กำเริบได้
ใครเล่าเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใส
[๕๑] นารทพราหมณ์นั้น ชมเชยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
ด้วย ๓ คาถาเหล่านี้แล้ว ได้เดินไปข้างหน้า
[๕๒] ด้วยจิตที่เลื่อมใสและด้วยการชมเชยพระพุทธเจ้านั้น
ข้าพเจ้าจึงไม่ไปเกิดในทุคติเลย ตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๕๓] ในกัปที่ ๑๓๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสุมิตตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอัตถสันทัสสกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อัตถสันทัสสกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. เอกรังสนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกรังสนิยเถระ
(พระเอกรังสนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๕] ชนทั้งหลายรู้จักข้าพเจ้าว่าเกสวะ โดยชื่อว่านารทะ
ข้าพเจ้าแสวงหากุศลและอกุศลอยู่
ได้ไปยังสำนักของพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๔. โสภิตวรรค] ๙. สาลทายกเถราปทาน
[๕๖] พระมหามุนีพระนามว่าอัตถทัสสี
มีพระทัยประกอบด้วยเมตตา
ประกอบด้วยพระกรุณามีพระจักษุพระองค์นั้น
เมื่อจะทรงปลอบโยนสัตว์ทั้งหลายให้เบาใจ จึงทรงแสดงธรรม
[๕๗] ข้าพเจ้าทำจิตของตนให้เลื่อมใสแล้ว
ประนมมือไว้เหนือเศียรเกล้า
ถวายอภิวาทพระศาสดาแล้ว
บ่ายหน้าหลีกไปทางทิศตะวันออก
[๕๘] ในกัปที่ ๑๑๗ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าอมิตตตาปนะ
ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีพลานุภาพมาก
[๕๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกรังสนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกรังสนิยเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. สาลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสาลทายกเถระ
(พระสาลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดเป็นพญาไกรสรพญาเนื้อมีชาติสูง
แสวงหาบ่อน้ำบนภูเขาอยู่
ได้เห็นพระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๖๑] ข้าพเจ้าจึงคิดว่า พระมหาวีรเจ้าพระองค์นี้
ย่อมทำมหาชนให้สงบเย็นได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๔. โสภิตวรรค] ๑๐. ผลทายกเถราปทาน
ทางที่ดีเราพึงเข้าไปเฝ้าพระองค์
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ทรงองอาจกว่านรชน
[๖๒] ข้าพเจ้าจึงหักกิ่งไม้สาละแล้วนำดอกมาพร้อมทั้งช่อ
เข้าไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ถวายดอกไม้ชั้นดีเยี่ยม
[๖๓] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายดอกไม้
[๖๔] และในกัปที่ ๙ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ
มีพระนามว่าวิโรจนะ มีพลานุภาพมาก
[๖๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสาลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สาลทายกเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. ผลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระผลทายกเถระ
(พระผลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นนายพรานเที่ยวฆ่าสัตว์อื่นมากมาย
นอนอยู่ที่เงื้อมเขา ไม่ไกลพระศาสดาพระนามว่าสิขี
[๖๗] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๔. โสภิตวรรค] ๑๐. ผลทายกเถราปทาน
ทั้งเวลาเย็น และเวลาเช้า
แต่ข้าพเจ้าไม่มีไทยธรรมที่จะถวาย
พระศาสดาผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[๖๘] จึงได้ถือผลมะหาด ไปยังสำนักพระพุทธเจ้า
พระผู้มีพระภาค ผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน ทรงรับ (ผลมะหาด) ไว้แล้ว
[๖๙] ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าได้ถือผลมะหาด
ไปปรนนิบัติพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ข้าพเจ้าได้สิ้นชีวิตลง ณ ที่นั้นเอง ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
[๗๐] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลมะหาดไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๗๑] ในกัปที่ ๑๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ พระนามว่าปิยาลินะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๗๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระผลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ผลทายกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
โสภิตวรรคที่ ๑๔ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๔. โสภิตวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โสภิตเถราปทาน ๒. สุทัสสนเถราปทาน
๓. จันทนปูชกเถราปทาน ๔. ปุปผฉทนิยเถราปทาน
๕. รโหสัญญิกเถราปทาน ๖. จัมปกปุปผิยเถราปทาน
๗. อัตถสันทัสสกเถราปทาน ๘. เอกรังสนิยเถราปทาน
๙. สาลทายกเถราปทาน ๑๐. ผลทายกเถราปทาน

บัณฑิตทั้งหลายรวบรวมคาถาไว้ ๗๒ คาถา ดังนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๕.ฉัตตวรรค] ๑. อธิฉัตติยเถราปทาน
๑๕. ฉัตตวรรค
หมวดว่าด้วยพระฉัตตะเป็นต้น
๑. อธิฉัตติยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอธิฉัตติยเถระ
(พระอธิฉัตติยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้สูงสุดแห่งนรชน เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้าให้ช่างทำฉัตรเป็นชั้น ๆ บูชาไว้ที่พระสถูป
[๒] ข้าพเจ้าได้มานมัสการพระพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ตามกาลอันสมควร
ได้ทำหลังคาดอกไม้บูชาไว้เหนือฉัตร
[๓] ในกัปที่ ๑๑๗ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ครอบครองเทวสมบัติ
ไม่ไปเกิดเป็นมนุษย์เลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระสถูป
[๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอธิฉัตติยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อธิฉัตติยเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๕. ฉัตตวรรค] ๒. ถัมภาโรปกเถราปทาน
๒. ถัมภาโรปกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระถัมภาโรปกเถระ
(พระถัมภาโรปกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นที่พึ่ง
ของสัตว์โลกพระนามว่าธัมมทัสสี
ทรงองอาจกว่านรชน เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้าได้ยกเสาธงขึ้นไว้
ที่เจดีย์ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๖] ข้าพเจ้าให้นายช่างสร้างบันได
แล้วขึ้นสู่พระสถูปที่ประเสริฐ
ได้ถือดอกมะลิไปบูชาที่พระสถูป
[๗] ช่างน่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ช่างน่าอัศจรรย์ พระธรรมทั้งหลาย
ช่างน่าอัศจรรย์ การที่ข้าพเจ้าได้มาประจวบพระศาสดา
ข้าพเจ้าจึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระสถูป
[๘] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
มีพระนามว่าถูปสิขะ มีพลานุภาพมาก
[๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระถัมภาโรปกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ถัมภาโรปกเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๕. ฉัตตวรรค] ๓. เวทิการกเถราปทาน
๓. เวทิการกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเวทิการกเถระ
(พระเวทิการกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐] เมื่อพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
พระนามว่าปิยทัสสี ทรงเป็นผู้สูงสุดแห่งนรชน
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้กระทำแท่นสำหรับบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๑] ข้าพเจ้าให้ประดับล้อมไว้ด้วยแก้วมณีแล้ว
ได้กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้าผู้สูงสุด
ทำการฉลองแท่นสำหรับบูชาแล้ว
ก็ได้สิ้นชีวิตลง ณ ที่นั้นเอง
[๑๒] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ เทวดาทั้งหลายย่อมทรงแก้วมณีไว้ในอากาศ
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๑๓] ในกัปที่ ๑๑๖ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๒ ชาติ
มีพระนามว่ามณีปภา มีพลานุภาพมาก
[๑๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเวทิการกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เวทิการกเถราปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๕. ฉัตตวรรค] ๔. สปริวาริยเถราปทาน
๔. สปริวาริยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสปริวาริยเถระ
(พระสปริวาริยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๕] พระชินสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
รุ่งเรืองดังกองไฟ เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
[๑๖] ก็เมื่อพระมหาวีรเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ได้มีพระสถูปที่กว้างใหญ่
ชนทั้งหลายบำรุงรักษาสิ่งของที่จะพึงถวายพระสถูป
ในห้องพระธาตุซึ่งประเสริฐที่สุด
[๑๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ทำแท่นบูชาด้วยไม้จันทน์
ถวายธูปและของหอมที่สมควรแก่พระสถูป
[๑๘] ข้าพเจ้าเมื่อเกิดในภพใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในภพนั้น ๆ ไม่เห็นความต่ำต้อยของตนเลย
นี้เป็นผลแห่งบุพกรรม
[๑๙] ในกัปที่ ๑๑๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ
มีพระนามว่าสมัตตะ มีพลานุภาพมาก
[๒๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสปริวาริยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สปริวาริยเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๕. ฉัตตวรรค] ๕. อุมาปุปผิยเถราปทาน
๕. อุมาปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุมาปุปผิยเถระ
(พระอุมาปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้อันชาวโลกบูชา ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ได้มีการฉลองพระมหาสถูป
[๒๒] เมื่องานฉลองพระสถูป
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ กำลังดำเนินไปอยู่
ข้าพเจ้าได้ถือดอกฝ้ายไปบูชาที่พระสถูป
[๒๓] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[๒๔] ในกัปที่ ๙ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘๕ ชาติ
มีพระนามว่าโสมเทพ มีพลานุภาพมาก
[๒๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุมาปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุมาปุปผิยเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๕. ฉัตตวรรค] ๖. อนุโลมทายกเถราปทาน
๖. อนุโลมทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอนุโลมทายกเถระ
(พระอนุโลมทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๖] ข้าพเจ้าได้ทำแท่นบูชาที่ต้นโพธิ์ของพระมุนีพระนามว่าอโนมทัสสี
ข้าพเจ้าใส่ก้อนปูนขาวแล้ว ปาดให้เกลี้ยงด้วยเกรียง (ของตนเอง)
[๒๗] พระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสีผู้สูงสุดแห่งนรชน
ทอดพระเนตรเห็นกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีนั้น
ประทับยืนอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุ ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
[๒๘] ด้วยผลกรรมคือการฉาบด้วยปูนขาวนี้
และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
ผู้นี้จักได้เสวยสมบัติแล้วทำที่สุดทุกข์ได้
[๒๙] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีสีหน้าผ่องใส
เป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เดียว มีใจตั้งมั่นด้วยดี
ทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้ายอยู่
ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๓๐] ในกัปที่ ๑๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสัมปัสสนะ
บริบูรณ์ ไม่บกพร่อง มีพลานุภาพมาก
[๓๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอนุโลมทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อนุโลมทายกเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๕. ฉัตตวรรค] ๗. มัคคทายกเถราปทาน
๗. มัคคทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมัคคทายกเถระ
(พระมัคคทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๒] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระจักษุ
เสด็จข้ามแม่น้ำแล้วดำเนินไปสู่ป่า
ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
มีพระลักษณะอันประเสริฐพระองค์นั้น
[๓๓] ข้าพเจ้าจึงถือจอบและปุ้งกี๋มา
ปรับหนทางนั้นให้ราบเรียบ
ถวายอภิวาทพระศาสดาแล้ว ทำจิตของตนให้เลื่อมใส
[๓๔] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการทำทางถวาย
[๓๕] ในกัปที่ ๕๗ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งมีพระนามว่าสุปปพุทธะ
ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชน เป็นผู้นำ
[๓๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมัคคทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มัคคทายกเถราปทานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๕. ฉัตตวรรค] ๘. ผลกทายกเถราปทาน
๘. ผลกทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระผลกทายกเถระ
(พระผลกทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๗] เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นนายช่างทำยานพาหนะ
เป็นผู้ศึกษาดีในการงานของช่างไม้
ได้ใช้ไม้จันทน์ทำเป็นแผ่นกระดาน
แล้วถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
[๓๘] วิมานทองคำที่บุญกรรมเนรมิตดีแล้วนี้ ส่องแสงสว่างไสว
ยานคือช้าง ยานคือม้า ซึ่งเป็นยานทิพย์ ได้ปรากฏแก่ข้าพเจ้า
[๓๙] ปราสาท วอ และแก้ว ประมาณมิได้
บังเกิดแก่ข้าพเจ้าตามปรารถนา
นี้เป็นผลแห่งการถวายแผ่นกระดาน
[๔๐] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายแผ่นกระดานไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายแผ่นกระดาน
[๔๑] ในกัปที่ ๕๗ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ
พระนามว่าภวนิมมิตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระผลกทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ผลกทายกเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๕. ฉัตตวรรค] ๙. วฏังสกิยเถราปทาน
๙. วฏังสกิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวฏังสกิยเถระ
(พระวฏังสกิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๓] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระสยัมภู
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้ พระนามว่าสุเมธะ
เมื่อจะทรงพอกพูนวิเวก๑จึงเสด็จเข้าป่าใหญ่
[๔๔] ข้าพเจ้าเห็นดอกช้างน้าวบานสะพรั่ง
จึงนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย
บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เฉพาะพระพักตร์ของพุทธเจ้า
[๔๕] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๔๖] ในกัปที่ ๑๑๙ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
พระนามว่านิมมิตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวฏังสกิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วฏังสกิยเถราปทานที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ วิเวก หมายถึงกายวิเวกและจิตตวิเวก (ขุ.อป.อ. ๒/๔๓/๑๙๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๕. ฉัตตวรรค] ๑๐. ปัลลังกทายกเถราปทาน
๑๐. ปัลลังกทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัลลังกทายกเถระ
(พระปัลลังกทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๘] ข้าพเจ้าได้ถวายบัลลังก์พร้อมทั้งเพดานและผ้าคลุมอาสน์
แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสุเมธะ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
[๔๙] ครั้งนั้น บัลลังก์นั้นสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
ดังจะรู้ความคิดของข้าพเจ้า
จึงได้บังเกิดแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ
[๕๐] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ถวายบัลลังก์ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายบัลลังก์
[๕๑] ในกัปที่ ๒๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ
พระนามว่าสุวรรณาภะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัลลังกทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัลลังกทายกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
ฉัตตวรรคที่ ๑๕ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๕. ฉัตตวรรค] รวมอปาทานที่มีในวรรค
รวมอปาทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อธิฉัตติยเถราปทาน ๒. ถัมภาโรปกเถราปทาน
๓. เวทิการกเถราปทาน ๔. สปริวาริยเถราปทาน
๕. อุมาปุปผิยเถราปทาน ๖. อนุโลมทายกเถราปทาน
๗. มัคคทายกเถราปทาน ๘. ผลกทายกเถราปทาน
๙. วฏังสกิยเถราปทาน ๑๐. ปัลลังกทายกเถราปทาน

บัณฑิตประกาศคาถาไว้ ๕๒ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๖. พันธุชีวกวรรค] ๑. พันธุชีวกเถราปทาน
๑๖. พันธุชีวกวรรค
หมวดว่าด้วยพระพันธุชีวกะเป็นต้น
๑. พันธุชีวกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระพันธุชีวกเถระ
(พระพันธุชีวกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ปราศจากมลทิน
บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่ขุ่นมัวดังดวงจันทร์
สิ้นความเพลิดเพลินในภพแล้ว
ทรงข้ามตัณหาที่ซ่านไปในโลกได้แล้ว
[๒] ทรงช่วยหมู่ชนให้สงบเย็น ทรงข้ามเองแล้ว
พาหมู่ชนให้ข้าม ทรงเป็นพระมุนี เข้าฌานอยู่ในป่า
เป็นผู้ มีจิตมีอารมณ์เดียว
มีพระหฤทัยตั้งมั่นด้วยดี
[๓] ข้าพเจ้าใช้ด้ายร้อยดอกชบาแล้วบูชา
พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี พระองค์นั้น
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
[๔] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๕] ในกัปที่ ๗ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสมันตจักษุ
เป็นจอมมนุษย์ มียศใหญ่ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๖. พันธุชีวกวรรค] ๒. ตัมพปุปผิยเถราปทาน
[๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระพันธุชีวกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
พันธุชีวกเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. ตัมพปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระตัมพปุปผิยเถระ
(พระตัมพปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗] ข้าพเจ้าเป็นผู้ขวนขวายในการงานของบุคคลอื่น
ได้ทำความผิดไว้แล้ว ประสบภัยเวร จึงวิ่งหนีไปตามราวป่า
[๘] ข้าพเจ้าได้เห็นต้นไม้มีดอกเป็นพวง
บานสะพรั่งที่ธรรมชาติสร้างไว้
จึงถือดอกแดง ๆ ไปเกลี่ยลงที่ต้นโพธิ์
[๙] ข้าพเจ้าได้กวาดต้นแคฝอย
ซึ่งเป็นต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ที่ประเสริฐนั้นแล้ว
เข้าไปนั่งขัดสมาธิที่โคนต้นโพธิ์
[๑๐] ชนทั้งหลายแสวงหาทางไปอยู่ ได้มายังสำนักของข้าพเจ้า
และข้าพเจ้าเห็นชนเหล่านั้น ณ ที่นั้นแล้ว
ระลึกถึงต้นโพธิ์ที่ประเสริฐ
[๑๑] ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใส ไหว้ต้นโพธิ์แล้ว
ตกลงไปในเหวที่น่ากลัว ลึกหลายชั่วลำตาล
[๑๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๖. พันธุชีวกวรรค] ๓. วีถิสัมมัชชกเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาต้นโพธิ์
[๑๓] ในกัปที่ ๓ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสุสัญญตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระตัมพปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ตัมพปุปผิยเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. วีถิสัมมัชชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวีถิสัมมัชชกเถระ
(พระวีถิสัมมัชชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๕] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
มีพระรัศมีรุ่งเรืองดังดวงอาทิตย์อุทัย และดุจดวงจันทร์
เสด็จดำเนินไปดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ
[๑๖] ภิกษุสงฆ์ประมาณ ๖๘,๐๐๐ รูป
ล้วนเป็นพระขีณาสพ แวดล้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้นผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ทรงองอาจกว่านรชน
[๑๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จดำเนินไป
ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใส จึงกวาดถนนนั้น
แล้วได้ยกธงขึ้นที่ถนนนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๖. พันธุชีวกวรรค] ๔. กักการุปุปผปูชกเถราปทาน
[๑๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ธงบูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการยกธง(ถวายบูชา)
[๑๙] ในกัปที่ ๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระราชาปรากฏพระนามว่าสุธชะ
สมบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง มีพลานุภาพมาก
[๒๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวีถิสัมมัชชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วีถิสัมมัชชกเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. กักการุปุปผปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกักการุปุปผปูชกเถระ
(พระกักการุปุปผปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๑] ข้าพเจ้าเป็นเทพบุตร บูชาพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิขี
ผู้ทรงเป็นผู้นำ ได้ประคองดอกฟักทิพย์
บูชาพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[๒๒] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๖. พันธุชีวกวรรค] ๕. มันทารวปุปผปูชกเถราปทาน
[๒๓] และในกัปที่ ๙ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสัตตุตตมะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกักการุปุปผปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กักการุปุปผปูชกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. มันทารวปุปผปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมันทารวปุปผปูชกเถระ
(พระมันทารวปุปผปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๕] ข้าพเจ้าเป็นเทพบุตร บูชาพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิขี
ผู้ทรงเป็นผู้นำ ได้บูชาพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ด้วยดอกมณฑารพ
[๒๖] พวงมาลัยทิพย์ได้เป็นหลังคา
อยู่เหนือพระตถาคตตลอด ๗ วัน
ประชาชนทั้งปวงมาประชุมกันนมัสการพระตถาคต
[๒๗] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๘] และในกัปที่ ๑๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าชุตินธระ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๖. พันธุชีวกวรรค] ๗. ติณสูลกเถราปทาน
[๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมันทารวปุปผปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วย
ประการฉะนี้
มันทารวปุปผปูชกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. กทัมพปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกทัมพปุปผิยเถระ
(พระกทัมพปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๐] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่ากุกกุฏะ
มีพุทธะ๑ ๗ พระองค์อาศัยอยู่ที่เชิงภูเขานั้น
[๓๑] ข้าพเจ้าเห็นต้นกระทุ่มมีดอกบานสะพรั่ง
ดังดวงจันทร์ลอยเด่น (ในท้องฟ้า)
จึงใช้มือทั้ง ๒ ประคอง โปรยบูชาพุทธะทั้ง ๗ องค์
[๓๒] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพุทธะ
[๓๓] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ พระองค์
มีนามเหมือนกันว่าปุปผะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

เชิงอรรถ :
๑ พุทธะ ในที่นี้หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ. ๒/๓๐/๑๙๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๖. พันธุชีวกวรรค] ๗. ติณสูลกเถราปทาน
[๓๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกทัมพปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กทัมพปุปผิยเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. ติณสูลกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติณสูลกเถระ
(พระติณสูลกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๕] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่าภูตคณะ
พระสยัมภูชินเจ้าองค์หนึ่ง
ผู้สละโลกแล้ว อาศัยอยู่ที่ภูเขานั้น
[๓๖] ข้าพเจ้าถือดอกมะลิซ้อนไปบูชาพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้าพเจ้าจึงไม่ตกวินิบาตนรกตลอด ๙๐,๐๐๐ กัป
[๓๗] ในกัปที่ ๑๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าธรณีรุหะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติณสูลกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติณสูลกเถราปทานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๖. พันธุชีวกวรรค] ๘. นาคปุปผิยเถราปทาน
๘. นาคปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนาคปุปผิยเถระ
(พระนาคปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๙] (ข้าพเจ้าเป็น) พราหมณ์มีนามว่าสุวัจฉะ ผู้จบมนตร์
มีพวกศิษย์ของตนห้อมล้อม อาศัยอยู่ระหว่างภูเขา
[๔๐] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
พระองค์ทรงประสงค์จะช่วยข้าพเจ้า(จากสังสารวัฏ)
จึงเสด็จมายังสำนักของข้าพเจ้า
[๔๑] พระองค์เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ
เหมือนประทีปที่กำลังลุกโพลง
ทรงทราบความร่าเริงของข้าพเจ้าแล้ว
บ่ายพระพักตร์เสด็จหลีกไปทางทิศตะวันออก
[๔๒] ข้าพเจ้าได้เห็นความอัศจรรย์ซึ่งไม่เคยมี
น่าขนพองสยองเกล้านั้นแล้ว
จึงเก็บเอาดอกกากะทิงไปโปรยลงที่ทางเสด็จไป
[๔๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้โปรยดอกไม้ไว้ ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
ข้าพเจ้าจึงไม่ไปเกิดยังทุคติเลย
[๔๔] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่ามหารถ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนาคปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นาคปุปผิยเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๖. พันธุชีวกวรรค] ๙. ปุนนาคปุปผิยเถราปทาน
๙. ปุนนาคปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุนนาคปุปผิยเถระ
(พระปุนนาคปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๖] ข้าพเจ้าเป็นนายพราน เข้าไปยังป่าดงทึบอาศัยอยู่
ได้เห็นดอกบุนนาคบานสะพรั่ง
จึงหวนระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๔๗] จึงเลือกเก็บดอกบุนนาคนั้น ซึ่งมีกลิ่นหอมยิ่งนักแล้ว
ก่อสถูปที่กองทราย บูชาพระพุทธเจ้า
[๔๘] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๔๙] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าตโมนุทะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุนนาคปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ปุนนาคปุปผิยเถราปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๖. พันธุชีวกวรรค] ๑๐. กุมุททายกเถราปทาน
๑๐. กุมุททายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกุมุททายกเถระ
(พระกุมุททายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๑] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
ได้มีสระธรรมชาติ (สระเกิดเอง) สระใหญ่
ดารดาษด้วยดอกปทุมและดอกอุบล
สะพรั่งไปด้วยดอกบุณฑริก
[๕๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดเป็นนกมีนามว่ากุกกุฏะ เป็นสัตว์มีศีล
สมบูรณ์ด้วยวัตร ฉลาดในบุญและมิใช่บุญอาศัยอยู่ใกล้สระนั้น
[๕๓] พระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงรู้แจ้งโลก
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา เสด็จจาริกไปในที่ไม่ไกลสระนั้น
[๕๔] ข้าพเจ้าหักดอกโกมุทซึ่งเกิดในน้ำแล้ว น้อมเข้าไปถวาย
พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ผู้พระมหามุนี ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว จึงทรงรับไว้
[๕๕] ข้าพเจ้าครั้นถวายทานนั้นแล้ว ถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จึงไม่ไปเกิดยังทุคติเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๕๖] ในกัปที่ ๑๑๖ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ
มีพระนามว่าวรุณ มีพลานุภาพมาก
[๕๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกุมุททายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กุมุททายกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
พันธุชีวกวรรคที่ ๑๖ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๖. พันธุชีวกวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. พันธุชีวกเถราปทาน ๒. ตัมพปุปผิยเถราปทาน
๓. วีถิสัมมัชชกเถราปทาน ๔. กักการุปุปผปูชกเถราปทาน
๕. มันทารวปุปผปูชกเถราปทาน ๖. กทัมพปุปผิยเถราปทาน
๗. ติณสูลกเถราปทาน ๘. นาคปุปผิยเถราปทาน
๙. ปุนนาคปุปผิยเถราปทาน ๑๐. กุมุททายกเถราปทาน

บัณฑิตกล่าวคาถาไว้ ๕๖ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๗. สุปาริจริยวรรค] ๑. สุปาริจริยเถราปทาน
๑๗. สุปาริจริยวรรค
หมวดว่าด้วยพระสุปาริจริยะเป็นต้น
๑. สุปาริจริยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุปาริจริยเถระ
(พระสุปาริจริยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมะ
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ทรงองอาจกว่านรชน
ทรงมีพระจักษุ เสด็จออกจากป่าใหญ่แล้ว ทรงแสดงธรรมอยู่
[๒] เทวดาได้ประชุมกันในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ในขณะนั้น เทวดาทั้งหลายมาประชุมกัน
ด้วยกิจบางอย่าง ได้เพ่งมองดู
[๓] ก็ข้าพเจ้าได้ทราบพระดำรัส ที่แสดงอมตธรรมของพระพุทธเจ้า
ก็มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ปรบมือแล้วจึงเข้าไปบำรุง
[๔] ข้าพเจ้าเห็นผลแห่งการบำรุงพระศาสดา
ที่ข้าพเจ้าประพฤติดีแล้ว ใน ๓๐,๐๐๐ กัป
ข้าพเจ้าจึงไม่ไปเกิดในทุคติเลย
[๕] ในกัปที่ ๑๒๙ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าสมลังกตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุปาริจริยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุปาริจริยเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๗. สุปาริจริยวรรค] ๒. กณเวรปุปผิยเถราปทาน
๒. กณเวรปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกณเวรปุปผิยเถระ
(พระกณเวรปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ ผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน มีหมู่สาวกห้อมล้อม
เสด็จดำเนินไปยังนคร
[๘] ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้คุ้มครองภายในพระราชวัง
จึงเข้าไปในปราสาท ได้เห็นพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๙] ข้าพเจ้าจึงถือดอกยี่โถไปโปรยลงในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
แบ่งโปรยลงสำหรับพระพุทธเจ้ายิ่งกว่านั้น
[๑๐] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๑] ในกัปที่ ๘๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ พระนามว่ามหิทธิกะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกณเวรปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กณเวรปุปผิยเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๗. สุปาริจริยวรรค] ๓. ขัชชกทายกเถราปทาน
๓. ขัชชกทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระขัชชกทายกเถระ
(พระขัชชกทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้
แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าติสสะ
และได้ถวายผลมะพร้าวและของควรเคี้ยวที่รู้กันดี
[๑๔] ข้าพเจ้าครั้นถวายผลไม้นั้นแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
ย่อมบันเทิง มีความประสงค์สิ่งที่น่าปรารถนา
ก็บรรลุได้ตามปรารถนา
[๑๕] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๑๖] ในกัปที่ ๑๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าอินทสมะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระขัชชกทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ขัชชกทายกเถราปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๗. สุปาริจริยวรรค] ๕. กณิการฉัตติยเถราปทาน
๔. เทสปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเทสปูชกเถระ
(พระเทสปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๘] ก็พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
เสด็จเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้าไปในอากาศ
[๑๙] พระศาสดามหามุนี ประทับอยู่ในภูมิภาคใดแล้วเสด็จเหาะขึ้นไป
ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส ได้บูชาภูมิภาคนั้นด้วยมือทั้งสองของตน
[๒๐] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้เห็นพระมหามุนี
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาภูมิภาค(ที่พระองค์ประทับ)
[๒๑] ในกัปที่ ๑๑๑ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าโคสุชาตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเทสปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เทสปูชกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. กณิการฉัตติยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกณิการฉัตติยเถระ
(พระกณิการฉัตติยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๓] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าเวสสภู
ผู้เจริญที่สุดในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๗. สุปาริจริยวรรค] ๖. สัปปิทายกเถราปทาน
ทรงองอาจกว่านรชน เป็นมุนี
เสด็จเข้าป่าใหญ่ เพื่อทรงพักกลางวัน
[๒๔] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เก็บดอกกรรณิการ์มาทำเป็นร่ม
ได้ทำเพดานดอกไม้บูชาพระพุทธเจ้า
[๒๕] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๖] ในกัปที่ ๒๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ พระนามว่าโสณณาภะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกณิการฉัตติยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กณิการฉัตติยเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. สัปปิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัปปิทายกเถระ
(พระสัปปิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๘] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าผุสสะ
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ผู้แกล้วกล้า
ทรงช่วยมหาชนให้สงบเย็น เสด็จดำเนินไปตามถนน
[๒๙] พระผู้มีพระภาค เสด็จมาถึงสำนักของข้าพเจ้าโดยลำดับ
ขณะนั้น ข้าพเจ้ารับบาตรแล้ว ได้ถวายเนยใสและน้ำมัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๗. สุปาริจริยวรรค] ๗. ยุธิกปุปผิยเถราปทาน
[๓๐] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายเนยใสและน้ำมันไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเนยใสและน้ำมัน
[๓๑] ในกัปที่ ๕๖ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าสโมทกะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัปปิทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัปปิทายกเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. ยุธิกปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระยุธิกปุปผิยเถระ
(พระยุธิกปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๓] ข้าพเจ้าเที่ยวไปตามกระแสน้ำ ใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระสยัมภูพุทธเจ้า
ผู้ดังต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง
[๓๔] ข้าพเจ้าได้ถือดอกเข็มเข้าเฝ้าพระมหามุนี
มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ได้บูชาพระพุทธเจ้า
[๓๕] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๗. สุปาริจริยวรรค] ๘. ทุสสทายกเถราปทาน
[๓๖] ในกัปที่ ๖๗ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าสามุทธระ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระยุธิกปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ยุธิกปุปผิยเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. ทุสสทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระทุสสทายกเถระ
(พระทุสสทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๘] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นราชโอรสอยู่ในติวรานครที่น่ารื่นรมย์
ได้เครื่องบรรณาการแล้ว จึงได้ถวายพระผู้มีพระภาค ผู้สงบระงับ
[๓๙] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ทรงรับ(เครื่องบรรณาการ)แล้วใช้พระหัตถ์ลูบผ้า
ครั้นทรงรับแล้ว ได้เสด็จเหาะขึ้นสู่นภากาศ
[๔๐] เมื่อพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จไป
ผ้าปลิวตามไปเบื้องพระปฤษฎางค์
ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในพระองค์ว่า
พระพุทธเจ้าของพวกเราทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ
[๔๑] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๗. สุปาริจริยวรรค] ๙. สมาทปกเถราปทาน
[๔๒] ในกัปที่ ๖๗ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าปริสุทธะ
เป็นจอมมนุษย์ มีพลานุภาพมาก
[๔๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระทุสสทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ทุสสทายกเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. สมาทปกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสมาทปกเถระ
(พระสมาทปกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๔] ได้มีการประชุมอุบาสกจำนวนมากในกรุงพันธุมดี
ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าอุบาสกเหล่านั้น
อุบาสกเหล่านั้นเป็นคนรับใช้ข้าพเจ้า
[๔๕] ข้าพเจ้าเรียกประชุมอุบาสกเหล่านั้นทั้งหมด
แล้วชักชวนในการทำบุญว่า
เราทั้งหลายจักทำปะรำถวายแด่พระสงฆ์
ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม
[๔๖] อุบาสกเหล่านั้นรับคำว่า ดีละ
แล้วดำเนินไปตามความพอใจของข้าพเจ้า
พวกเราทั้งหลายสร้างปะรำให้เสร็จแล้ว
ได้ถวายพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
[๔๗] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้สร้างปะรำถวายไว้ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๗. สุปาริจริยวรรค] ๑๐. ปัญจังคุลิยเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสร้างปะรำถวาย
[๔๘] ในกัปที่ ๕๙ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าอาเทยยะ
ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๔๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสมาทปกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สมาทปกเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. ปัญจังคุลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัญจังคุลิยเถระ
(พระปัญจังคุลิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๐] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าติสสะ
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ทรงองอาจกว่านรชน
เป็นพระมุนี ทรงฉลาดในวิหารธรรม
กำลังเสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี
[๕๑] ข้าพเจ้าได้ถือของหอมและพวงมาลัยไปยังสำนักพระชินเจ้า
แต่ข้าพเจ้ามีศรัทธาน้อยในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงได้ถวายเครื่องลูบไล้ด้วยนิ้วทั้ง ๕๑
[๕๒] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ของหอมบูชาไว้

เชิงอรรถ :
๑ หมายถึงแตะด้วยนิ้วมือทั้ง ๕ นิ้ว เป็นการแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง (ขุ.อป.อ. ๒/๔๙/๒๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๗. สุปาริจริยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งเครื่องลูบไล้ด้วยนิ้วทั้ง ๕
[๕๓] ในกัปที่ ๗๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสยัมปภะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัญจังคุลิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัญจังคุลิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
สุปาริจริยวรรคที่ ๑๗ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สุปาริจริยเถราปทาน ๒. กณเวรปุปผิยเถราปทาน
๓. ขัชชกทายกเถราปทาน ๔. เทสปูชกเถราปทาน
๕. กณิการฉัตติยเถราปทาน ๖. สัปปิทายกเถราปทาน
๗. ยุธิกปุปผิยเถราปทาน ๘. ทุสสทายกเถราปทาน
๙. สมาทปกเถราปทาน ๑๐. ปัญจังคุลิยเถราปทาน

มีคาถา ๕๔ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๘. กุมุทวรรค] ๑. กุมุทมาลิยเถราปทาน
๑๘. กุมุทวรรค
หมวดว่าด้วยพระกุมุทะเป็นต้น
๑. กุมุทมาลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกุมุทมาลิยเถระ
(พระกุมุทมาลิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
ได้มีสระธรรมชาติสระใหญ่
ข้าพเจ้าเป็นผีเสื้อน้ำดุร้าย มีกำลังมาก เกิดอยู่ใกล้สระนั้น
[๒] ดอกโกมุทบานโตประมาณเท่าล้อ เกิดอยู่ในสระนั้น
และในครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เก็บดอกโกมุทที่มีฝักไว้
[๓] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ องอาจกว่านรชน
ทอดพระเนตรเห็นดอกโกมุทที่หุบแล้ว
จึงเสด็จมายังสำนักของข้าพเจ้า
[๔] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
ทรงองอาจกว่านรชน เสด็จเข้ามา
จึงหยิบดอกโกมุททั้งหมดบูชาพระพุทธเจ้า
[๕] ครั้งนั้น ดอกไม้ที่ภูเขาหิมพานต์มีอยู่ประมาณเท่าใด
พระตถาคตมีดอกไม้ประมาณเท่านั้นเป็นหลังคาเสด็จไป
[๖] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๗] ในกัปที่ ๑๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๘. กุมุทวรรค] ๒. นิสเสณิทายกเถราปทาน
มีพระนามว่าสหัสสรถ
ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกุมุทมาลิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กุมุทมาลิยเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. นิสเสณิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนิสเสณิทายกเถระ
(พระนิสเสณิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙] ข้าพเจ้าให้สร้างบันไดสำหรับเสด็จขึ้นปราสาท
ถวายพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโกณฑัญญะ
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ผู้คงที่
[๑๐] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ข้าพเจ้าเสวยสมบัติแล้ว
ทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้ายอยู่
ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๑๑] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ
พระนามว่าสัมพหุละ มีพลานุภาพมาก
[๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนิสเสณิทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นิสเสณิทายกเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๘. กุมุทวรรค] ๓. รัตติปุปผิยเถราปทาน
๓. รัตติปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระรัตติปุปผิยเถระ
(พระรัตติปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นพรานเนื้ออยู่ในป่าดงทึบ
ได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ทรงองอาจกว่านรชน
[๑๔] ข้าพเจ้าเห็นต้นมวกเหล็กขึ้นบนแผ่นดิน
มีดอกบานสะพรั่งอยู่กลางคืนจึงเก็บมาพร้อมทั้งขั้ว
น้อมเข้าไปถวายแด่พระพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๑๕] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายดอกไม้
[๑๖] และในกัปที่ ๘ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าสุปปสันนะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระรัตติปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
รัตติปุปผิยเถราปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๘. กุมุทวรรค] ๕. สีหาสนทายกเถราปทาน
๔. อุทปานทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุทปานทายกเถระ
(พระอุทปานทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๘] ข้าพเจ้าได้ขุดบ่อน้ำ ถวายพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
และในครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้นำบิณฑบาตไปถวาย
[๑๙] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการขุดบ่อน้ำถวาย
[๒๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุทปานทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุทปานทายกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. สีหาสนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสีหาสนทายกเถระ
(พระสีหาสนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ทรงเป็นผู้นำ
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ได้ถวายพระแท่นสีหาสน์
[๒๒] ชนจำนวนมาก ทำการบูชาด้วยของหอมและดอกไม้มากมาย
ที่พระแท่นสีหาสน์อันนำความสุขมาให้ในปัจจุบัน แล้วสงบเย็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๘. กุมุทวรรค] ๖. มัคคทัตติกเถราปทาน
[๒๓] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ไหว้ต้นโพธิ์ที่ประเสริฐแล้ว
ไม่ไปเกิดในทุคติเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๒๔] ในกัปที่ ๑,๐๑๕ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ
มีพระนามว่าสิลุจจยะ
[๒๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสีหาสนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สีหาสนทายกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. มัคคทัตติกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมัคคทัตติกเถระ
(พระมัคคทัตติกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๖] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ทรงองอาจกว่านรชน เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง
เพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบัน
[๒๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคยกพระบาทขึ้น
ดอกไม้งดงามลอยอยู่เหนือพระเศียร
ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ถวายอภิวาทแล้ว จึงโปรยดอกไม้
[๒๘] ในกัปที่ ๒๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕ ชาติ
พระนามว่าปุปผฉทนิยะ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๘. กุมุทวรรค] ๗. เอกทีปิยเถราปทาน
[๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมัคคทัตติกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มัคคทัตติกเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. เอกทีปิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกทีปิยเถระ
(พระเอกทีปิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๐] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ถวายประทีปดวงหนึ่งไว้ที่ต้นช้างน้าว
ซึ่งเป็นต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ที่ประเสริฐ
ของพระมุนีพระนามว่าปทุมุตตระ
[๓๑] เมื่อข้าพเจ้าเกิดอยู่ในภพ ที่มีการสั่งสมบุญเกิดขึ้น
ข้าพเจ้าจึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป
[๓๒] ในกัปที่ ๑๖,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ
มีพระนามว่าจันทาภะ มีพลานุภาพมาก
[๓๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกทีปิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกทีปิยเถราปทานที่ ๗ จบ
ภาณวารที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๘. กุมุทวรรค] ๙. ติกิจฉกเถราปทาน
๘. มณิปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมณิปูชกเถระ
(พระมณิปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๔] แม่น้ำสายหนึ่งไหลผ่านไปภายในภูเขาหิมพานต์
ครั้งนั้น พระสยัมภูพุทธเจ้าประทับอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนั้น
[๓๕] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ประคองบัลลังก์แก้วอันวิจิตรด้วยดี
เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ บูชาพระพุทธเจ้า
[๓๖] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้แก้วมณีบูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๓๗] และในกัปที่ ๑๒ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ
มีพระนามว่าสตรังสี มีพลานุภาพมาก
[๓๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมณิปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มณิปูชกเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. ติกิจฉกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติกิจฉกเถระ
(พระติกิจฉกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๙] ข้าพเจ้าเป็นหมอ ศึกษาดีแล้ว อยู่ในกรุงพันธุมดี
เป็นผู้นำความสุขมาให้แก่มหาชนผู้มีโรคภัย มีทุกข์สาหัส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๘. กุมุทวรรค] ๑๐. สังฆุปัฏฐากเถราปทาน
[๔๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเห็นพระสมณะผู้มีศีล รุ่งเรืองมาก เจ็บไข้
มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี จึงได้ถวายยา (บำบัดไข้)
[๔๑] พระสมณะผู้สำรวมอินทรีย์มีนามว่าอโศก
ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
หายจากโรคด้วยยานั้นนั่นแล
[๔๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายยาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายยา
[๔๓] ในกัปที่ ๘ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีนามว่าสัพโพสธะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติกิจฉกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติกิจฉกเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. สังฆุปัฏฐากเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสังฆุปัฏฐากเถระ
(พระสังฆุปัฏฐากเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๕] ในสมัยพระผู้มีพระภาคนามว่าเวสสภู
ข้าพเจ้าเป็นคนวัดมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้อุปัฏฐากพระสงฆ์ผู้ประเสริฐสุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๘. กุมุทวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๔๖] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการอุปัฏฐาก
[๔๗] ในกัปที่ ๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ พระนามว่าสโมตถกะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสังฆุปัฏฐากเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สังฆุปัฏฐากเถราปทานที่ ๑๐ จบ
กุมุทวรรคที่ ๑๘ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กุมุทมาลิยเถราปทาน ๒. นิสเสณิทายกเถราปทาน
๓. รัตติปุปผิยเถราปทาน ๔. อุทปานทายกเถราปทาน
๕. สีหาสนทายกเถราปทาน ๖. มัคคทัตติกเถราปทาน
๗. เอกทีปิยเถราปทาน ๘. มณิปูชกเถราปทาน
๙. ติกิจฉกเถราปทาน ๑๐. สังฆุปัฏฐากเถราปทาน

มีคาถา ๔๙ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๙. กุฏชปุปผิยวรรค] ๑. กุฏชปุปผิยเถราปทาน
๑๙. กุฏชปุปผิยวรรค
หมวดว่าด้วยพระกุฏชปุปผิยะเป็นต้น
๑. กุฏชปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกุฏชปุปผิยเถระ
(พระกุฏชปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
ดังดวงอาทิตย์อุทัย ทรงเหลียวดูทิศ เสด็จเหาะไปในอากาศ
[๒] ข้าพเจ้าเห็นดอกโมกมันบานสะพรั่ง
ทั้งดอกใหญ่และดอกเล็ก จึงเก็บมาจากต้น
แล้วบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ
[๓] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๔] ในกัปที่ ๑๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ พระนามว่าสุปุปผิตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกุฏชปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กุฏชปุปผิยเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๙. กุฏชปุปผิยวรรค] ๒. พันธุชีวกเถราปทาน
๒. พันธุชีวกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระพันธุชีวกเถระ
(พระพันธุชีวกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโสภิตะ
ผู้ซึ่งสัตบุรุษสรรเสริญแล้ว
พระองค์ประทับนั่งเข้าสมาธิอยู่ในระหว่างภูเขา
[๗] ข้าพเจ้าแสวงหาดอกบัวงามในสระธรรมชาติ
แต่ได้เห็นดอกชบาในที่ใกล้
[๘] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ใช้มือทั้ง ๒ ประคองแล้ว
เข้าเฝ้าพระมหามุนี แล้วบูชาพระโสภิตพุทธเจ้า
[๙] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๐] ในกัปที่ ๑๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งมีพระนามว่าสมุททกัปปะ
ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๑๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระพันธุชีวกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
พันธุชีวกเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๙. กุฏชปุปผิยวรรค] ๓. โกฏุมพริยเถราปทาน
๓. โกฏุมพริยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโกฏุมพริยเถระ
(พระโกฏุมพริยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๒] พระผู้มีพระภาค ผู้รุ่งเรืองดังดอกกรรณิการ์
มีพระคุณหาประมาณมิได้ดุจทะเล แผ่กว้างดังแผ่นดิน
ประทับนั่งอยู่ในระหว่างภูเขา
[๑๓] อันหมู่เทวดาบูชาแล้ว ดุจม้าอาชาไนยตัวองอาจ
ผู้สูงสุดแห่งนรชน
ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริง เบิกบาน จึงเข้าเฝ้าพระองค์
[๑๔] ข้าพเจ้าได้ประคองดอกไม้ และผ้าขนสัตว์เนื้อดี
บูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
[๑๕] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๖] ในกัปที่ ๒๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งมีพระนามว่ามหาเนละ
มีเดชมาก มีพลานุภาพมาก
[๑๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโกฏุมพริยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โกฏุมพริยเถราปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๙. กุฏชปุปผิยวรรค] ๔. ปัญจหัตถิยเถราปทาน
๔. ปัญจหัตถิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัญจหัตถิยเถระ
(พระปัญจหัตถิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๘] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าติสสะ ผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน มีหมู่สาวกห้อมล้อม
เสด็จดำเนินไปตามถนน
[๑๙] ข้าพเจ้าเป็นบุตร
ประสงค์จะถวายเครื่องบูชาเพื่อให้สำเร็จประโยชน์
จึงวางดอกอุบล ๕ กำ และ ๔ กำ (ไว้ที่ใกล้เท้า)
[๒๐] ข้าพเจ้าสัมผัสพระพุทธรัศมีแล้ว
จึงบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
กำลังเสด็จดำเนินอยู่ในระหว่างร้านตลาด
[๒๑] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๒] ในกัปที่ ๑๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕ ชาติ
พระนามว่าสุลภสัมมตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัญจหัตถิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัญจหัตถิยเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๙. กุฏชปุปผิยวรรค] ๕. อิสิมุคคทายกเถราปทาน
๕. อิสิมุคคทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอิสิมุคคทายกเถระ
(พระอิสิมุคคทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๔] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงเป็นผู้นำ มีพระรัศมีรุ่งเรืองดุจดวงอาทิตย์อุทัย
ดุจดวงจันทร์ ดุจต้นรกฟ้าที่งดงาม
[๒๕] ข้าพเจ้าแม้ยืนอยู่ในปราสาท
ก็นิมนต์พระฤๅษีผู้ยิ่งใหญ่
แล้วได้ถวายรวงผึ้งเล็กที่ไม่มีตัวอ่อนแด่พระองค์
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
[๒๖] ข้าพเจ้าได้ถวายน้ำผึ้งจนเต็มบาตรสาวกของพระพุทธเจ้า
ประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ รูป หรือมากกว่านั้น
[๒๗] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
ข้าพเจ้าถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จึงไม่ไปเกิดในทุคติเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๒๘] ในกัปที่ ๔๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๘ ชาติ
มีพระนามว่ามหิสมันตะ มีพลานุภาพมาก
[๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔
วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอิสิมุคคทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อิสิมุคคทายกเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๙. กุฏชปุปผิยวรรค] ๗. เอกจินติกเถราปทาน
๖. โพธิอุปัฏฐายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโพธิอุปัฏฐายกเถระ
(พระโพธิอุปัฏฐายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๐] ข้าพเจ้าเป็นคนตีตะโพนอยู่ในกรุงรัมมวดี
จึงไปยังต้นโพธิ์ที่ประเสริฐ
ประกอบทำการบำรุงเป็นนิตย์
[๓๑] ข้าพเจ้าบำรุงทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้า
ถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จึงไม่ไปเกิดในทุคติเลยตลอด ๑๑๘ กัป
[๓๒] ในกัปที่ ๑๑๕ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าทมถะ
เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๓๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโพธิอุปัฏฐายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
โพธิอุปัฏฐายกเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. เอกจินติกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกจินติกเถระ
(พระเอกจินติกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๔] ในกาลใด เทวดาจะจุติจากหมู่เทวดาเพราะสิ้นอายุ
ในกาลนั้น เทวดาผู้พลอยยินดีย่อมเปล่งเสียง ๓ ประการว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๙. กุฏชปุปผิยวรรค] ๗. เอกจินติกเถราปทาน
[๓๕] ท่านผู้เจริญ ท่านจากที่นี้ จงไปสู่สุคติ
อยู่ร่วมกับมนุษย์ เป็นมนุษย์แล้ว
จงได้ศรัทธาที่ยอดเยี่ยมในพระสัทธรรม
[๓๖] ศรัทธาของท่านผู้ตั้งมั่น
เป็นศรัทธาที่หยั่งรากลงลึกดำรงมั่น
ไม่คลอนแคลนในพระสัทธรรม
ที่พระอริยะประกาศดีแล้วจนตลอดชีวิต
[๓๗] ท่านจงทำกุศลที่ไม่เบียดเบียน ไม่มีอุปธิ
ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ให้มากเถิด
[๓๘] แต่นั้น ท่านสั่งสมบุญแล้ว
จงทำบุญนั้นให้มากด้วยการให้ทาน
จงแนะนำแม้สัตว์เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่
ในพรหมจรรย์ ในพระสัทธรรมเถิด
[๓๙] ด้วยความอนุเคราะห์นี้ ในกาลใด เหล่าเทวดาผู้รู้
จึงพลอยยินดีกับเทวดา ผู้ซึ่งกำลังจุติว่า
นี่แน่ะเทวะ ขอท่านจงมาบ่อย ๆ นะ
[๔๐] ในกาลนั้น เมื่อหมู่เทวดามาประชุมกัน
ข้าพเจ้าเกิดความสลดใจว่า ข้าพเจ้าจุติจากที่นี้แล้ว
จักไปสู่กำเนิดอะไรหนอ
[๔๑] ท่านสมณะผู้อบรมอินทรีย์แล้ว
รู้ความสลดใจของข้าพเจ้า
ประสงค์จะช่วยเหลือข้าพเจ้า
จึงมายังสำนักของข้าพเจ้า
[๔๒] ท่านมีนามว่าสุมนะเป็นสาวก
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
พร่ำสอนอรรถธรรม ให้ข้าพเจ้าสลดใจ ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๙. กุฏชปุปผิยวรรค] ๘. ติกัณณิปุปผิยเถราปทาน
[๔๓] ข้าพเจ้าได้ฟังคำของท่านแล้ว
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
ได้ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้สิ้นชีวิตลง ณ ที่นั้น
[๔๔] ข้าพเจ้านั้น ถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
ได้อุบัติในเทวโลกนั้นเอง
ไม่ไปเกิดในทุคติเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๔๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกจินติกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกจินติกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. ติกัณณิปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติกัณณิปุปผิยเถระ
(พระติกัณณิปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๖] ข้าพเจ้าเป็นเทวดา มีเหล่านางเทพอัปสรห้อมล้อม
ระลึกถึงบุพกรรมแล้ว
จึงหวนระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๔๗] ข้าพเจ้าทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ได้ประคองดอกอัญชัน ๓ ดอก
บูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ผู้องอาจกว่านรชน
[๔๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๙. กุฏชปุปผิยวรรค] ๙. เอกจาริยเถราปทาน
[๔๙] ในกัปที่ ๗๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ พระนามว่ารมุตตมะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติกัณณิปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติกัณณิปุปผิยเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. เอกจาริยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกจาริยเถระ
(พระเอกจาริยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๑] ครั้งนั้น ได้มีเสียงประกาศกึกก้องในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า
พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานในโลก
แต่พวกเรายังมีราคะอยู่
[๕๒] บรรดาเทวดาผู้เกิดความสังเวช
ผู้มากไปด้วยความเศร้าโศกเหล่านั้น
ข้าพเจ้าถูกกำลังของตนอุปถัมภ์แล้ว
ได้ไปในสำนักของพระพุทธเจ้า
[๕๓] ข้าพเจ้าถือดอกมณฑารพที่เนรมิต
รวบรวมไว้ไปบูชาพระพุทธเจ้า
ในเวลาใกล้จะปรินิพพาน
[๕๔] ครั้งนั้น เทวดาและนางเทพอัปสรทั้งปวง
อนุโมทนาต่อข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจึงไม่ไปเกิดในทุคติเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๙. กุฏชปุปผิยวรรค] ๑๐. ติวัณฏิปุปผิยเถราปทาน
[๕๕] ในกัปที่ ๖๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
พระนามว่ามหามัลลชนะ มีพลานุภาพมาก
[๕๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกจาริยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกจาริยเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. ติวัณฏิปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติวัณฏิปุปผิยเถระ
(พระติวัณฏิปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๗] พวกข้าพเจ้าทุกคนนั้นมาประชุมกัน
เพ่งโทษพระเถระชื่อว่าอภิภู
ความเร่าร้อนได้เกิดขึ้นแก่พวกข้าพเจ้า ผู้เพ่งโทษ
[๕๘] ครั้งนั้น พระเถระมีนามว่าสุนันทะ
เป็นสาวกของพระมุนีพุทธเจ้าพระนามว่าธัมมทัสสี
มาในสำนักของข้าพเจ้า
[๕๙] ครั้งนั้น ชนทั้งหลายที่เป็นคนรับใช้ของข้าพเจ้า
ได้ให้ดอกไม้แก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าได้ถือดอกไม้นั้นไปบูชาสาวก
[๖๐] ข้าพเจ้า ได้สิ้นชีวิตลง ณ ที่นั้นแล้ว ก็กลับมาเกิดอีก
ไม่ตกวินิบาตนรกเลยตลอด ๑๑๘ กัป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๑๙. กุฏชปุปผิยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๖๑] ในกัปที่ ๑๑๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ
พระนามว่าธูมเกตุ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๖๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติวัณฏิปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติวัณฏิปุปผิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
กุฏชปุปผิยวรรคที่ ๑๙ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กุฏชปุปผิยเถราปทาน ๒. พันธุชีวกเถราปทาน
๒. โกฏุมพริยเถราปทาน ๔. ปัญจหัตถิยเถราปทาน
๕. อิสิมุคคทายกเถราปทาน ๖. โพธิอุปัฏฐายกเถราปทาน
๗. เอกจินติกเถราปทาน ๘. ติกัณณิปุปผิยเถราปทาน
๙. เอกจาริยเถราปทาน ๑๐. ติวัณฏิปุปผิยเถราปทาน

ท่านประกาศคาถาไว้ ๖๒ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๐. ตมาลปุปผิยวรรค] ๑. ตมาลปุปผิยเถราปทาน
๒๐. ตมาลปุปผิยวรรค
หมวดว่าด้วยพระตมาลปุปผิยะเป็นต้น
๑. ตมาลปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระตมาลปุปผิยเถระ
(พระตมาลปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] วิมานของข้าพเจ้ามีเสาทองคำ ๘๔,๐๐๐ ต้น
เปรียบได้กับไม้เท้าเทวดา
บุญกรรมเนรมิตไว้ดีแล้ว
[๒] ข้าพเจ้ามีใจผ่องใส
ได้ประคองดอกคูนบูชาพระพุทธเจ้า พระนามว่าสิขี
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
[๓] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๔] ในกัปที่ ๒๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าจันทติตตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระตมาลปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ตมาลปุปผิยเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๐. ตมาลปุปผิยวรรค] ๒. ติณสันถารทายกเถราปทาน
๒. ติณสันถารทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติณสันถารทายกเถระ
(พระติณสันถารทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖] ในกาลที่ข้าพเจ้าเป็นฤๅษีอยู่ในป่า
เกี่ยวหญ้าถวายพระศาสดา
หญ้าทั้งหมดนั้นเวียนไปทางขวาแล้วตกลงที่แผ่นดิน
[๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าถือหญ้านั้นมาลาดที่เนินดิน
และนำใบตาลมา ๓ ใบ
[๘] มาทำเป็นหลังคาบนไม้ ๓ อัน
ได้ถวายพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในที่นั้น
ถือทรงไว้เพื่อพระศาสดาตลอด ๗ วัน
[๙] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายหญ้าไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายหญ้า
[๑๐] ในกัปที่ ๖๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ พระนามว่ามหัทธนะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติณสันถารทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติณสันถารทายกเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๐. ตมาลปุปผิยวรรค] ๓. ขัณฑผุลลิยเถราปทาน
๓. ขัณฑผุลลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระขัณฑผุลลิยเถระ
(พระขัณฑผุลลิยเถระ เมื่อประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๒] พระสถูปของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าผุสสะ
ได้มีอยู่ในป่ามหาวัน
ในครั้งนั้น ต้นไม้ก็งอกขึ้น
โขลงช้างพากันมาหักราน
[๑๓] ข้าพเจ้าทำที่ขรุขระให้ราบเรียบแล้วได้ใส่ก้อนปูนขาว
ยินดีด้วยคุณของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้เป็นที่เคารพของโลกทั้ง ๓
[๑๔] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการใส่ก้อนปูนขาว
[๑๕] ในกัปที่ ๗๗ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ พระนามว่าชิตเสนะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระขัณฑผุลลิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ขัณฑผุลลิยเถราปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๐. ตมาลปุปผิยวรรค] ๔. อโสกปูชกเถราปทาน
๔. อโสกปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอโสกปูชกเถระ
(พระอโสกปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๗] ครั้งนั้น ได้มีพระราชอุทยานอยู่ในนครติปุระ น่ารื่นรมย์
ข้าพเจ้าเป็นคนรักษาพระราชอุทยานอยู่ในนครนั้น
เป็นคนรับใช้ของพระราชา
[๑๘] ได้มีพระสยัมภูพุทธเจ้า ผู้มีพระรัศมี พระนามว่าปทุมะ
พระฉายาไม่ละพระองค์ผู้เป็นมุนี
ผู้ประทับนั่งอยู่บนดอกบัวขาว
[๑๙] ข้าพเจ้าเห็นต้นอโศกมีดอกบานเป็นพวง น่าดูนัก
จึงบูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ประเสริฐ
[๒๐] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๑] ในกัปที่ ๗๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ พระนามว่าอรณัญชหะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอโสกปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อโสกปูชกเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๐. ตมาลปุปผิยวรรค] ๖. กิสลยปูชกเถราปทาน
๕. อังโกลกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอังโกลกเถระ
(พระอังโกลกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๓] ข้าพเจ้าเห็นต้นปรู มีดอกบานสะพรั่ง
มีดอกสวยงามเป็นพวง
จึงได้เก็บดอกไม้นั้นไปยังสำนักของพระพุทธเจ้า
[๒๔] สมัยนั้น พระมหามุนีพระนามว่าสิทธัตถะ ทรงหลีกเร้นอยู่
ข้าพเจ้าจึงรอคอยชั่วครู่หนึ่งแล้ว โปรยดอกไม้ลงในถ้ำ
[๒๕] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๖] ในกัปที่ ๓๖ นับแต่ภัทรกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าเทวคัชชิตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอังโกลกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อังโกลกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. กิสลยปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกิสลยปูชกเถระ
(พระกิสลยปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๘] สวนดอกไม้ของข้าพเจ้าได้มีอยู่ในกรุงทวารวดี
ในสวนดอกไม้นั้นเอง มีบ่อน้ำและต้นไม้ขึ้นงอกงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๐. ตมาลปุปผิยวรรค] ๖. กิสลยปูชกเถราปทาน
[๒๙] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้กล้าแข็งด้วยกำลังของพระองค์ ไม่ทรงพ่ายแพ้
พระองค์เมื่อจะทรงอนุเคราะห์ข้าพเจ้า จึงเสด็จไปในอากาศ
[๓๐] ข้าพเจ้าไม่เห็นอะไร ๆ อื่นที่ควรจะบูชาพระองค์
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เห็นแต่ใบอ่อนของต้นอโศก
จึงจับโยนขึ้นไปบนอากาศ
[๓๑] ใบอ่อนเหล่านั้น ตามไปเบื้องพระปฤษฎางค์
ของพระพุทธเจ้า ซึ่งกำลังเสด็จไป
ข้าพเจ้าเห็นดังนั้นแล้ว จึงตื่นเต้นว่า
ช่างน่าอัศจรรย์ ความโอฬารของพระพุทธเจ้า
[๓๒] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ใบไม้อ่อนบูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๓๓] ในกัปที่ ๒๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าเอกิสสระ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกิสลยปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กิสลยปูชกเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๐. ตมาลปุปผิยวรรค] ๗. ตินทุกทายกเถราปทาน
๗. ตินทุกทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระตินทุกทายกเถระ
(พระตินทุกทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๕] ข้าพเจ้าเป็นลิง มีกำลังแข็งแรง
เที่ยวไปตามซอกภูเขาและลำธาร
ได้เห็นต้นมะพลับออกผล
จึงหวนระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐที่สุด
[๓๖] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ออกค้นหาพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงถึงที่สุดภพทั้ง ๓ ตลอด ๒-๓ วัน
[๓๗] พระศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก
ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว
จึงเสด็จมายังสำนักของข้าพเจ้า
พร้อมด้วยพระขีณาสพหลายพันรูป
[๓๘] ข้าพเจ้าเกิดความปราโมทย์แล้ว
ถือผลไม้เข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคผู้สัพพัญญู
ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย ทรงรับไว้แล้ว
[๓๙] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๔๐] ในกัปที่ ๕๗ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าอุปนันทะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๐. ตมาลปุปผิยวรรค] ๘. คิริเนลมุฏฐิปูชกเถราปทาน
[๔๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระตินทุกทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ตินทุกทายกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. คิริเนลมุฏฐิปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระคิริเนลมุฏฐิปูชกเถระ
(พระคิริเนลมุฏฐิปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๒] พระผู้มีพระภาคชินเจ้าพระนามว่าสุเมธะ ผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน ทรงตั้งความเพียร
เพื่อทรงอนุเคราะห์หมู่ชนผู้เกิดในภายหลัง
[๔๓] ข้าพเจ้าจึงใช้ดอกอัญชันเขียวกำมือหนึ่ง
บูชาพระพุทธเจ้า พระองค์นั้น
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
ซึ่งกำลังเสด็จจงกรมอยู่
[๔๔] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ข้าพเจ้าถูกกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จึงไม่ไปเกิดในทุคติเลยตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
[๔๕] ในกัปที่ ๑๒๓ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าสุเนละ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระคิริเนลมุฏฐิปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
คิริเนลมุฏฐิปูชกเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๐. ตมาลปุปผิยวรรค] ๙. ติกัณฑิปุปผิยเถราปทาน
๙. ติกัณฑิปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติกัณฑิปุปผิยเถระ
(พระติกัณฑิปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๗] พระผู้มีพระภาคผู้สยัมภูชินเจ้า
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้ พระนามว่าสุมังคละ
เสด็จออกจากป่าใหญ่ เข้าไปยังนคร
[๔๘] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นมุนีพระองค์นั้น
เสด็จเที่ยวบิณฑบาตแล้ว
เสด็จออกจากนคร ทรงทำภัตกิจเสร็จ
แล้วประทับอยู่ในราวป่า
[๔๙] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ประคองดอกคล้า ๓ ดอก บูชาพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นสยัมภู ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๕๐] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๕๑] ในกัปที่ ๘๖ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าอปเสลา
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติกัณฑิปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติกัณฑิปุปผิยเถราปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๐. ตมาลปุปผิยวรรค] ๑๐. ยูถิกปุปผิยเถราปทาน
๑๐. ยูถิกปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระยูถิกปุปผิยเถระ
(พระยูถิกปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๓] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ควรรับเครื่องบูชา ทรงมีจักษุ
เสด็จออกจากป่าใหญ่ ดำเนินไปยังวิหาร
[๕๔] ข้าพเจ้าใช้มือทั้ง ๒ ประคองดอกคัดเค้าชั้นดี
บูชาพระพุทธเจ้า
ผู้มีพระหทัยประกอบด้วยเมตตา ผู้คงที่
[๕๕] ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
ข้าพเจ้าเสวยสมบัติแล้ว
ไม่ไปเกิดในทุคติเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๕๖] ในกัปที่ ๕๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าสมิตนันทนะ
เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๕๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระยูถิกปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ยูถิกปุปผิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
ตมาลปุปผิยวรรคที่ ๒๐ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๐. ตมาลปุปผิยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค รวมวรรคได้ ๑๐ วรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ตมาลปุปผิยเถราปทาน ๒. ติณสันถารทายกเถราปทาน
๓. ขัณฑผุลลิยเถราปทาน ๔. อโสกปูชกเถราปทาน
๕. อังโกลกเถราปทาน ๖. กิสลยปูชกเถราปทาน
๗. ตินทุกทายกเถราปทาน ๘. คิริเนลมุฏฐิปูชกเถราปทาน
๙. ติกัณฑิปุปผิยเถราปทาน ๑๐. ยูถิกปุปผิยเถราปทาน

และมีคาถา ๕๘ คาถา
อนึ่ง รวมวรรคได้ ๑๐ วรรค คือ

๑. ภิกขทายิวรรค ๒. มหาปริวารวรรค
๓. เสเรยยวรรค ๔. โสภิตวรรค
๕. ฉัตตวรรค ๖. พันธุชีวกวรรค
๗. สุปาริจริยวรรค ๘. กุมุทวรรค
๙. กุฏชปุปผิยวรรค ๑๐. ตมาลปุปผิยวรรค

ท่านทำไว้ใน ๑๐ วรรคนี้มีคาถา ๖๖๖ คาถา
หมวด ๑๐ แห่งวรรคมีภิกขทายิวรรคเป็นต้น จบ
๑๐๐ เรื่อง หมวดที่ ๒ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๑. กณิการปุปผิยวรรค] ๑. กณิการปุปผิยเถราปทาน
๒๑. กณิการปุปผิยวรรค
หมวดว่าด้วยพระกณิการปุปผิยะเป็นต้น
๑. กณิการปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกณิการปุปผิยเถระ
(พระกณิการปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเห็นต้นกรรณิการ์
มีดอกบานสะพรั่ง
จึงเก็บมาบูชาพระผู้มีพระภาคพระนามว่าติสสะ
ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว ผู้คงที่
[๒] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๓] ในกัปที่ ๓๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิปรากฏพระนามว่าอรุณปาละ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกณิการปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
กณิการปุปผิยเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๑. กณิการปุปผิยวรรค] ๒. มิเนลปุปผิยเถราปทาน
๒. มิเนลปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมิเนลปุปผิยเถระ
(พระมิเนลปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิขี
มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
มีพระรัศมีเฉิดฉายดังดวงอาทิตย์
มีพระทัยประกอบด้วยเมตตา มีพระสติ เสด็จขึ้นที่จงกรม
[๖] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ชมเชยพระญาณที่ล้ำเลิศแล้ว
จึงได้ประคองดอกเทียนขาวบูชาพระพุทธเจ้า
[๗] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๘] ในกัปที่ ๒๙ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีพระนามว่าสุเมฆฆนะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมิเนลปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
มิเนลปุปผิยเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๑. กณิการปุปผิยวรรค] ๓. กิงกณิกปุปผิยเถราปทาน
๓. กิงกณิกปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกิงกณิกปุปผิยเถระ
(พระกิงกณิกปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐] พระผู้มีพระภาคผู้สัพพัญญู ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ผู้เช่นกับทองคำมีค่า ทรงร้อนพระวรกาย
จึงเสด็จลงน้ำ สรงสนานอยู่
[๑๑] ข้าพเจ้ามีจิตเบิกบาน มีใจยินดี
จึงได้ประคองดอกกระดิ่งทองบูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[๑๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๓] ในกัปที่ ๒๗ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าภีมรถ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกิงกณิกปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
กิงกณิกปุปผิยเถราปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๑. กณิการปุปผิยวรรค] ๔. ตรณิยเถราปทาน
๔. ตรณิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระตรณิยเถระ
(พระตรณิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๕] ก็พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ทรงองอาจกว่านรชน
มีหมู่พระสาวกแวดล้อม เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำคงคา
[๑๖] แม่น้ำคงคามีน้ำเต็มเปี่ยมเสมอขอบฝั่ง
กาดื่มกินได้ ข้ามได้ยาก
ข้าพเจ้าพาพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์
และหมู่ภิกษุส่งข้าม
[๑๗] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการพาพระพุทธเจ้าส่งข้าม(แม่น้ำ)
[๑๘] ในกัปที่ ๑๑๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕ ชาติ
พระนามว่าสัพโพภวะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๙] ในภพสุดท้าย ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลพราหมณ์
ได้ออกบวชในศาสนาของพระศาสดา พร้อมกับสหาย ๓ คน
[๒๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระตรณิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ตรณิยเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๑. กณิการปุปผิยวรรค] ๖. อุทกทายกเถราปทาน
๕. นิคคุณฑิปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนิคคุณฑิปุปผิยเถระ
(พระนิคคุณฑิปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๑] ข้าพเจ้าเป็นคนวัดได้ประคองดอกย่านทรายบูชา
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
[๒๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๓] ในกัปที่ ๓๕ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่ง มีพระนามว่ามหาปตาปะ
เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๒๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนิคคุณฑิปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นิคคุณฑิปุปผิยเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. อุทกทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุทกทายกเถระ
(พระอุทกทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๕] ข้าพเจ้าได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้สงบ ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เสวยอยู่
จึงได้ใช้หม้อตักน้ำถวายแด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๑. กณิการปุปผิยวรรค] ๗. สลฬมาลิยเถราปทาน
[๒๖] วันนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่เศร้าหมอง
ปราศจากมลทิน สิ้นความสงสัย
ผลย่อมเกิดแก่ข้าพเจ้าในภพที่เกิดอยู่
[๒๗] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายน้ำไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายน้ำ
[๒๘] ในกัปที่ ๖๑ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าวิมล
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุทกทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุทกทายกเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. สลฬมาลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสลฬมาลิยเถระ
(พระสลฬมาลิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๐] ข้าพเจ้าได้เห็นพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้เป็นสารถีฝึกนรชน โชติช่วงดังดอกกรรณิการ์
ประทับนั่งในระหว่างภูเขา ทรงทำทิศทั้งปวงให้สว่างไสวอยู่
[๓๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้โก่งธนู พาดลูกศร
ยิงดอกไม้ตัดขั้วแล้วนำไปบูชาพระพุทธเจ้า
[๓๒] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๑. กณิการปุปผิยวรรค] ๘. โกรัณฑปุปผิยเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๓๓] ในกัปที่ ๕๑ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าชุตินธระ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสลฬมาลิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สลฬมาลิยเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. โกรัณฑปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโกรัณฑปุปผิยเถระ
(พระโกรัณฑปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๕] ข้าพเจ้าได้เห็นรอยพระบาท
ซึ่งประดับด้วยเครื่องประดับคือจักร
ที่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทรงเหยียบไว้
จึงเดินตามรอยพระบาทไป
[๓๖] ข้าพเจ้าได้เห็นต้นหงอนไก่ มีดอกบาน
จึงนำไปบูชาพร้อมทั้งราก มีจิตร่าเริงเบิกบาน
จึงได้ไหว้รอยพระบาทที่ล้ำเลิศ
[๓๗] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๑. กณิการปุปผิยวรรค] ๙. อาธารทายกเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๓๘] ในกัปที่ ๕๗ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าวีตมละ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโกรัณฑปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โกรัณฑปุปผิยเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. อาธารทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอาธารทายกเถระ
(พระอาธารทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๐] ข้าพเจ้าถวายเชิงบาตรแด่พระผู้มีพระภาค
พระนามว่าสิขี ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
ข้าพเจ้าได้ครองพื้นแผ่นดินนี้ไว้หมดทั้งสิ้น
[๔๑] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๔๒] ในกัปที่ ๒๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ
พระนามว่าสมันตวรณะ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๑. กณิการปุปผิยวรรค] ๑๐. ปาปนิวาริยเถราปทาน
[๔๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอาธารทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อาธารทายกเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. ปาปนิวาริยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปาปนิวาริยเถระ
(พระปาปนิวาริยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๔] ก็ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใส ได้ถวายร่มคันหนึ่ง
แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าติสสะ
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ผู้คงที่
[๔๕] ข้าพเจ้ากั้นบาปแล้ว สร้างกุศลให้ถึงพร้อมแล้ว
เทวดาทั้งหลายก็ได้กั้นร่มไว้ในอากาศ
นี้เป็นผลแห่งบุพกรรม
[๔๖] จิตดวงสุดท้ายของข้าพเจ้าย่อมแล่นไป
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๔๗] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายร่มไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายร่ม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๑. กณิการปุปผิยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๔๘] ในกัปที่ ๗๒ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ
มีพระนามว่ามหานิทาน
ทรงเป็นใหญ่ในหมู่ชน
[๔๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปาปนิวาริยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปาปนิวาริยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
กณิการปุปผิยวรรคที่ ๒๑ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กณิการปุปผิยเถราปทาน ๒. มิเนลปุปผิยเถราปทาน
๓. กิงกณิกปุปผิยเถราปทาน ๔. ตรณิยเถราปทาน
๕. นิคคุณฑิปุปผิยเถราปทาน ๖. อุทกทายกเถราปทาน
๗. สลฬมาลิยเถราปทาน ๘. โกรัณฑปุปผิยเถราปทาน
๙. อาธารทายกเถราปทาน ๑๐. ปาปนิวาริยเถราปทาน

มีคาถา ๔๘ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๒. หัตถิวรรค] ๑. หัตถิทายกเถราปทาน
๒๒. หัตถิวรรค
หมวดว่าด้วยพระหัตถิเป็นต้น
๑. หัตถิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระหัตถิทายกเถระ
(พระหัตถิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าได้ถวายช้างเชือกซึ่งประเสริฐ มีงางอนงาม
ควรเป็นราชพาหนะแด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[๒] ข้าพเจ้าบรรลุสันติบทอันเป็นประโยชน์สูงสุดซึ่งยอดเยี่ยม
เพราะข้าพเจ้าได้ถวายช้างแด่พระผู้มีพระภาค
ผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งปวง
[๓] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายช้างไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายช้าง
[๔] ในกัปที่ ๗๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
พระนามว่าสมันตปาสาทิกะ มีพลานุภาพมาก
[๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระหัตถิทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
หัตถิทายกเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๒. หัตถิวรรค] ๒. ปานธิทายกเถราปทาน
๒. ปานธิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปานธิทายกเถระ
(พระปานธิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖] ข้าพระองค์ได้ถวายรองเท้าแด่พระผู้มีพระภาค
ผู้ประทับอยู่ในป่า ทรงเข้าฌาน มีพระทัยประกอบด้วยเมตตา
มีเดช ทรงธรรม ทรงอบรมพระองค์แล้ว
[๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ด้วยผลกรรมนั้น ข้าพระองค์จึงได้ใช้สอยยานทิพย์
นี้เป็นผลแห่งบุพกรรม
[๘] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพระองค์ได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายรองเท้าคู่หนึ่ง
[๙] ในกัปที่ ๗๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิ ๘ ชาติ
พระนามว่าสุยานะ มีพลานุภาพมาก
[๑๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปานธิทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปานธิทายกเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๒. หัตถิวรรค] ๓. สัจจสัญญกเถราปทาน
๓. สัจจสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัจจสัญญกเถระ
(พระสัจจสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๑] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเวสสภู
มีหมู่ภิกษุแวดล้อม ทรงแสดงอริยสัจช่วยมหาชนให้สงบเย็น
[๑๒] ข้าพเจ้าถึงความเป็นคนน่าสงสารอย่างยิ่ง
ได้ไปสู่ที่ประชุม นั่งฟังธรรมของพระศาสดา
[๑๓] ข้าพเจ้าครั้นฟังธรรมของพระศาสดานั้นแล้ว
(ตายแล้ว)ได้ไปเกิดยังเทวโลก อยู่ในเทพบุรีนั้นตลอด ๓๐ กัป
[๑๔] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งสัจจสัญญา(การได้ความทรงจำในสัจจะ)
[๑๕] ในกัปที่ ๒๖ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่ง มีพระนามว่าเอกผุสสิตะ
ทรงเป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๑๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัจจสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัจจสัญญกเถราปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๒. หัตถิวรรค] ๕. รังสิสัญญกเถราปทาน
๔. เอกสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกสัญญกเถระ
(พระเอกสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๗] ข้าพเจ้าได้เห็นผ้าบังสุกุลของพระศาสดา
คล้องอยู่บนยอดไม้ จึงได้ประคองอัญชลีไหว้ผ้าบังสุกุล
[๑๘] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๙] ในกัปที่ ๒๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่ง มีพระนามว่าอมิตาภะ
เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๒๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกสัญญกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. รังสิสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระรังสิสัญญกเถระ
(พระรังสิสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๑] พระพุทธเจ้าผู้มีพระรัศมีรุ่งเรืองดุจดวงอาทิตย์อุทัยและดวงจันทร์
องอาจดังเสือโคร่ง มีชาติตระกูลประเสริฐ
ประทับอยู่ในระหว่างภูเขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๒. หัตถิวรรค] ๖. สันธิตเถราปทาน
[๒๒] อานุภาพของพระพุทธเจ้านั้น
รุ่งเรืองอยู่ในระหว่างภูเขา
ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในพระรัศมีแล้ว
บันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอดหนึ่งกัป
[๒๓] ในกัปที่เหลือ ข้าพเจ้าบำเพ็ญกุศลด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
และด้วยการระลึกถึงพระพุทธเจ้า
[๒๔] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการได้ความทรงจำในพระพุทธเจ้า
[๒๕] ในกัปที่ ๕๗ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่ง มีพระนามว่าสุชาตะ
เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๒๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระรังสิสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
รังสิสัญญกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. สันธิตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสันธิตเถระ
(พระสันธิตเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๗] ข้าพเจ้าหวนระลึกขึ้น
ได้ความทรงจำอย่างหนึ่งซึ่งเป็นไปในพระพุทธเจ้า
ที่ต้นอัสสัตถพฤกษ์ มีประกายเขียวสด งอกงามดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๒. หัตถิวรรค] ๗. ตาลวัณฏทายกเถราปทาน
[๒๘] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำไว้ในครั้งนั้น
เพราะอำนาจแห่งความทรงจำนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้บรรลุความสิ้นอาสวะ
[๒๙] ในกัปที่ ๑๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าวนิทธะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสันธิตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สันธิตเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. ตาลวัณฏทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระตาลวัณฏทายกเถระ
(พระตาลวัณฏทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๑] ข้าพเจ้าได้ถวายพัดใบตาลแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ
ผู้ทรงมีทิพยจักษุ เพื่อต้องการให้ดับความร้อนในฤดูร้อน
เพื่อให้ความเร่าร้อนสงบไป
[๓๒] ข้าพเจ้าได้ดับไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ และไฟคือโมหะ
ที่ยิ่งกว่าความร้อนนั้นอย่างสนิท
นี้เป็นผลแห่งการถวายพัดใบตาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๒. หัตถิวรรค] ๘. อักกันตสัญญกเถราปทาน
[๓๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๓๔] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายพัดใบตาล
[๓๕] ในกัปที่ ๖๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีพระนามว่ามหาราม
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระตาลวัณฏทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ตาลวัณฏทายกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. อักกันตสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอักกันตสัญญกเถระ
(พระอักกันตสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๗] ข้าพเจ้าหยิบผ้าสาฎกผืนน้อย(ผ้าปิดแผล)
ในผ้าห่มของพระอุปัชฌาย์
กำลังพร่ำศึกษามนตร์ เพื่อบรรลุวิชาสูญฝี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๒. หัตถิวรรค] ๘. อักกันตสัญญกเถราปทาน
[๓๘] ได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้ล้ำเลิศ
ผู้ตรัสรู้ดีแล้ว ดุจพญาคชสารตัวประเสริฐ
[๓๙] ผู้เป็นนรชนสูงสุด ผู้ล้ำเลิศ ทรงมีความเพียรมาก
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ทรงเหยียบผ้าสาฎกผืนน้อยที่ข้าพเจ้าลาดไว้
[๔๐] ครั้นข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้ส่องแสงสว่างในโลก
ปราศจากมลทิน ดังดวงจันทร์(ในวันเพ็ญ)
จึงได้ถวายอภิวาทพระบาทของพระศาสดาด้วยจิตที่ผ่องใส
[๔๑] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าสาฎกผืนน้อยไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้าสาฎกผืนน้อย
[๔๒] ในกัปที่ ๓๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่ง มีพระนามว่าสุนันทะ
เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๔๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอักกันตสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อักกันตสัญญกเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๒. หัตถิวรรค] ๙. สัปปิทายกเถราปทาน
๙. สัปปิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัปปิทายกเถระ
(พระสัปปิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๔] ข้าพเจ้านั่งอยู่ในปราสาทหลังประเสริฐ มีหมู่นารีแวดล้อม
ได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้สงบ ทรงพระประชวร จึงนิมนต์เข้าบ้าน
[๔๕] พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
ทรงองอาจกว่านรชน เสด็จเข้าไปแล้ว
ข้าพเจ้าได้ถวายเนยใสและน้ำมันแด่พระพุทธเจ้า
พระนามว่าสิทธัตถะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๔๖] ข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์มีความกระวนกระวายสงบระงับ
มีอินทรีย์คือพระพักตร์ผ่องใส
จึงถวายอภิวาทพระบาทของพระศาสดา แล้วให้ประกาศไปในนคร
[๔๗] พระวีรเจ้าผู้ถึงที่สุดแห่งฤทธิ์ ทรงเห็นข้าพเจ้าผู้เลื่อมใส
จึงเสด็จเหาะขึ้นสู่นภากาศ ดังพญาหงส์ในท้องฟ้า
[๔๘] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเนยใสและน้ำมัน
[๔๙] ในกัปที่ ๑๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีพระนามว่าทุติเทพ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัปปิทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัปปิทายกเถราปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๒. หัตถิวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
๑๐. ปาปนิวาริยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปาปนิวาริยเถระ
(พระปาปนิวาริยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๑] ข้าพเจ้าแผ้วถางสถานที่จงกรมของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าปิยทัสสี มุงบังด้วยไม้อ้อ ป้องกันลมและแดด
[๕๒] ข้าพเจ้าบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมเพื่อต้องการเว้นบาป
ตั้งความเพียรในศาสนาของพระศาสดาเพื่อละกิเลสทั้งหลาย
[๕๓] ในกัปที่ ๑๑ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ปรากฏนามว่าอัคคิเตชะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปาปนิวาริยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปาปนิวาริยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
หัตถิวรรคที่ ๒๒ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. หัตถิทายกเถราปทาน ๒. ปานธิทายกเถราปทาน
๓. สัจจสัญญกเถราปทาน ๔. เอกสัญญกเถราปทาน
๕. รังสิสัญญกเถราปทาน ๖. สันธิตเถราปทาน
๗. ตาลวัณฏทายกเถราปทาน ๘. อักกันตสัญญกเถราปทาน
๙. สัปปิทายกเถราปทาน ๑๐. ปาปนิวาริยเถราปทาน

มีคาถา ๕๔ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๓. อาลัมพนทายกวรรค] ๑. อาลัมพนทายกเถราปทาน
๒๓. อาลัมพนทายกวรรค
หมวดว่าด้วยพระอาลัมพนทายกะเป็นต้น
๑. อาลัมพนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอาลัมพนทายกเถระ
(พระอาลัมพนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าได้ถวายราวสะพานแด่พระผู้มีพระภาค
พระนามว่าอัตถทัสสี ผู้เจริญที่สุดในโลก
ผู้คงที่ ทรงเป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
[๒] ข้าพเจ้าปกครองแผ่นดินอันกว้างขวางจรดฝั่งสาคร
แผ่ความยิ่งใหญ่ไปในสัตว์ทั้งหลายและในแผ่นดิน
[๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔] ในกัปที่ ๖๒ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ
พระนามว่าเอกาทัสสิตะ มีพลานุภาพมาก
[๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอาลัมพนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อาลัมพนทายกเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๓. อาลัมพนทายกวรรค] ๒. อชินทายกเถราปทาน
๒. อชินทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอชินทายกเถระ
(พระอชินทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าเป็นคนคอยต้อนรับหมู่คณะ ได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
[๗] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ข้าพระองค์ได้ถวายแผ่นหนังแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก ด้วยผลกรรมนั้น
[๘] ข้าพเจ้าจึงได้เสวยสมบัติ เผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว
ทรงร่างกายอันมีในภพสุดท้าย
อยู่ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๙] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายหนังสัตว์ไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายหนังสัตว์
[๑๐] ในกัปที่ ๕๐ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่าสุทายกะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอชินทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อชินทายกเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๓. อาลัมพนทายกวรรค] ๓. ทเวรตนิยเถราปทาน
๓. ทเวรตนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระทเวรตนิยเถระ
(พระทเวรตนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๒] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นนายพรานเนื้อ
ได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ในป่าดงทึบ
[๑๓] ข้าพเจ้าจึงถวายชิ้นเนื้อแด่พระพุทธเจ้า
พระนามว่าวิปัสสี ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพเจ้าได้เสวยอิสริยยศในโลก(นี้) พร้อมทั้งเทวโลก
[๑๔] ด้วยผลแห่งการถวายเนื้อนี้ รัตนะจึงบังเกิดแก่ข้าพเจ้า
รัตนะ ๒ ประการในโลกเกิดแก่ข้าพเจ้า เพื่อบรรลุธรรมในปัจจุบัน
[๑๕] เพราะผลแห่งการถวายเนื้อ ข้าพเจ้าเสวยรัตนะทั้งหมดนั้น
คือตัวของข้าพเจ้าอ่อนนุ่มและปัญญาของข้าพเจ้าก็ละเอียดลึกซึ้ง
[๑๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายเนื้อไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเนื้อ
[๑๗] ในกัปที่ ๔ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่ง มีพระนามว่ามหาโรหิต
เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๑๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระทเวรตนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ทเวรตนิยเถราปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๓. อาลัมพนทายกวรรค] ๔. อารักขทายกเถราปทาน
๔. อารักขทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอารักขทายกเถระ
(พระอารักขทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๙] ข้าพเจ้าได้ให้สร้างแท่นไพที (ที่วางเครื่องสักการบูชา)
ถวายแด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
และได้ถวายอารักขาแด่พระสุคต ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๒๐] ด้วยผลกรรมพิเศษนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เห็นภัยที่น่าหวาดเสียวเลย
ความสะดุ้งกลัวก็ไม่มีแก่ข้าพเจ้าผู้เกิดแล้วในภพไหน ๆ
[๒๑] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าให้สร้างแท่นไพทีไว้ในกาลก่อน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสร้างแท่นไพทีถวาย
[๒๒] ในกัปที่ ๖ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีพระนามว่าอปัสเสน
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอารักขทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อารักขทายกเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๓. อาลัมพนทายกวรรค] ๕. อัพยาธิกเถราปทาน
๕. อัพยาธิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัพยาธิกเถระ
(พระอัพยาธิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๔] ข้าพเจ้าได้ถวายโรงไฟแด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ได้ถวายที่อยู่และเครื่องรองรับน้ำร้อนแก่ภิกษุผู้อาพาธ
[๒๕] ผลกรรมนั้นได้เนรมิตอัตภาพของข้าพเจ้าไว้ดีแล้ว
ข้าพเจ้าจึงไม่รู้จักความเจ็บไข้เลย
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๒๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายโรงไฟไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายโรงไฟ
[๒๗] ในกัปที่ ๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่ง ทรงเป็นใหญ่ในหมู่ชน
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอัพยาธิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อัพยาธิกเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๓. อาลัมพนทายกวรรค] ๖. วกุลปุปผิยเถราปทาน
๖. วกุลปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวกุลปุปผิยเถระ
(พระวกุลปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๙] ชนทั้งหลายรู้จักชื่อข้าพเจ้าว่านารทะ
รู้จักข้าพเจ้าว่ากัสสปะ โดยโคตร
ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้เลิศกว่าสมณะทั้งหลาย ซึ่งเทวดาสักการะแล้ว
[๓๐] ทรงไว้ซึ่งอนุพยัญชนะ ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ข้าพเจ้าจึงยกประคองดอกพิกุลขึ้นบูชาพระพุทธเจ้า
[๓๑] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๓๒] ในกัปที่ ๗๔ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์พระนามว่าโรมสะ
ทรงเครื่องประดอกไม้
มียาน กำลังพล และพาหนะพรั่งพร้อม
[๓๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวกุลปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วกุลปุปผิยเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๓. อาลัมพนทายกวรรค] ๗. โสวัณณวฏังสกิยเถราปทาน
๗. โสวัณณวฏังสกิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโสวัณณวฏังสกิยเถระ
(พระโสวัณณวฏังสกิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าว
ว่า)
[๓๔] ข้าพเจ้าเดินอยู่ที่สวน ได้เห็นพระพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก จึงได้ถือมาลัยประดับศีรษะ
ที่ทำด้วยทองคำ ซึ่งประดิษฐ์อย่างงดงาม
[๓๕] ขึ้นขี่ช้างรีบไปบูชาพระพุทธเจ้า
พระนามว่าสิขี ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
[๓๖] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๓๗] ในกัปที่ ๒๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่ง มีพระนามว่ามหาปตาปะ
เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๓๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโสวัณณวฏังสกิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โสวัณณวฏังสกิยเถราปทานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๓. อาลัมพนทายกวรรค] ๙. สุกตาเวฬิยเถราปทาน
๘. มิญชวฏังสกิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมิญชวฏังสกิยเถระ
(พระมิญชวฏังสกิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๙] เมื่อพระผู้มีพระภาคผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกพระนามว่าสิขี
ผู้ประเสริฐกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลาย เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้าได้ทำการบูชาต้นโพธิ์ที่ห้อยระย้าด้วยมาลัยประดับศีรษะ
[๔๐] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำการบูชาไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาต้นโพธิ์
[๔๑] ในกัปที่ ๒๖ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีพระนามว่าเมฆัพภะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมิญชวฏังสกิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มิญชวฏังสกิยเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. สุกตาเวฬิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุกตาเวฬิยเถระ
(พระสุกตาเวฬิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นช่างดอกไม้มีนามว่าอสิตะ
ได้ถือพวงมาลัยไปเพื่อน้อมเกล้าถวายแด่พระราชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๓. อาลัมพนทายกวรรค] ๑๐. เอกวันทนิยเถราปทาน
[๔๔] ยังไม่ทันถึงพระราชา ก็ได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี
ผู้ทรงเป็นผู้นำ ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริง เบิกบาน
ได้ยกขึ้นบูชาพระพุทธเจ้า
[๔๕] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๔๖] ในกัปที่ ๒๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าเวภาระ
มีกำลังมาก มีพลานุภาพมาก
[๔๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุกตาเวฬิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุกตาเวฬิยเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. เอกวันทนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกวันทนิยเถระ
(พระเอกวันทนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๘] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ไหว้พระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐที่สุดพระนามว่าเวสสภู
ผู้องอาจ สามารถ มีความเพียร ทรงชำนะวิเศษ
[๔๙] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๓. อาลัมพนทายกวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายอภิวาท
[๕๐] ในกัปที่ ๒๔ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีพระนามว่าวิกตานันทะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกวันทนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกวันทนิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
อาลัมพนทายกวรรคที่ ๒๓ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อาลัมพนทายกเถราปทาน ๒. อชินทายกเถราปทาน
๓. ทเวรัตนิยเถราปทาน ๔. อารักขทายกเถราปทาน
๕. อัพยาธิกเถราปทาน ๖. วกุลปุปผิยเถราปทาน
๗. โสวัณณวฏังสกิยเถราปทาน ๘. มิญชวฏังสกิยเถราปทาน
๙. สุกตาเวฬิยเถราปทาน ๑๐. เอกวันทนิยเถราปทาน

ท่านผู้เห็นประโยชน์ทั้งหลายคำนวณคาถาได้ ๕๕ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๔. อุทกาสนทายกวรรค] ๑. อุทกาสนทายกเถราปทาน
๒๔. อุทกาสนทายกวรรค
หมวดว่าด้วยพระอุทกาสนทายกะเป็นต้น
๑. อุทกาสนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุทกาสนทายกเถระ
(พระอุทกาสนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าออกจากประตูอารามแล้ว
ได้ลาดแผ่นกระดานสำหรับนั่งไว้
และได้ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ เพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุด
[๒] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการลาดอาสนะและตั้งน้ำไว้
[๓] ในกัปที่ ๑๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าอภิสามะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุทกาสนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุทกาสนทายกเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๓๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๔. อุทกาสนทายกวรรค] ๓. สาลปุปผิยเถราปทาน
๒. ภาชนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระภาชนทายกเถระ
(พระภาชนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นช่างหม้ออยู่ในกรุงพันธุมดี
ข้าพเจ้าได้แบ่งภาชนะถวายแด่ภิกษุสงฆ์ในกรุงนั้นเสมอ ๆ
[๖] ในกัปที่ ๙๑ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้แบ่งภาชนะถวายภิกษุสงฆ์ไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายภาชนะ
[๗] ในกัปที่ ๕๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีพระนามว่าอนันตชลิ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระภาชนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ภาชนทายกเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. สาลปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสาลปุปผิยเถระ
(พระสาลปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นคนทำขนมขายอยู่ในกรุงอรุณวดี
ข้าพเจ้าได้เห็นพระชินเจ้าพระนามว่าสิขี
กำลังเสด็จไปทางประตู(เรือน)ของข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๔. อุทกาสนทายกวรรค] ๔. กิลัญชทายกเถราปทาน
[๑๐] ข้าพเจ้ามีใจผ่องใสจึงรับบาตรของพระพุทธเจ้า
ซึ่งเสด็จมาถึงพอดีแล้วได้ถวายดอกสาละแด่พระองค์
[๑๑] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายดอกไม้ไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายดอกสาละ
[๑๒] ในกัปที่ ๑๔ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าอมิตัญชละ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสาลปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สาลปุปผิยเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. กิลัญชทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกิลัญชทายกเถระ
(พระกิลัญชทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๔] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นช่างจักสานอยู่ในติวรานคร น่ารื่นรมย์
หมู่ชนในนครนั้นเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ส่องโลกให้สว่าง
[๑๕] หมู่ชนเที่ยวแสวงหาเสื่อลำแพน
เพื่อบูชาพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ข้าพเจ้าได้ให้เสื่อลำแพนแก่หมู่ชนนั้นผู้ทำการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๔. อุทกาสนทายกวรรค] ๕. เวทิทายกเถราปทาน
[๑๖] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเสื่อลำแพน
[๑๗] ในกัปที่ ๗๗ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าชลันธระ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกิลัญชทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กิลัญชทายกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. เวทิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเวทิทายกเถระ
(พระเวทิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๙] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ให้ช่างสร้างแท่นไพทีไว้ที่ต้นโพธิ์
ซึ่งเป็นต้นไม้ประเสริฐของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
[๒๐] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ให้ช่างสร้างแท่นไพทีไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสร้างแท่นไพที
[๒๑] ในกัปที่ ๑๑ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสูริยสมะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๔. อุทกาสนทายกวรรค] ๖. วัณณการกเถราปทาน
[๒๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเวทิทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เวทิทายกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. วัณณการกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวัณณการกเถระ
(พระวัณณการกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นช่างทาสีอยู่ในกรุงอรุณวดี
ได้ระบายสีผ้าที่พระเจดีย์ให้มีสีต่าง ๆ
[๒๔] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ระบายสีผ้าไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการระบายสี
[๒๕] ในกัปที่ ๒๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าจันทสมะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวัณณการกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วัณณการกเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๔. อุทกาสนทายกวรรค] ๘. อัมพยาคทายกเถราปทาน
๗. ปิยาลปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปิยาลปุปผิยเถระ
(พระปิยาลปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๗] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นนายพรานเนื้อ
เที่ยวอยู่ในป่าดงทึบ เห็นต้นมะหาด
มีดอกบานสะพรั่ง จึงเก็บมาโปรยลงที่ทางเดิน
ข้าพเจ้ามีใจผ่องใส รับบาตรของพระพุทธเจ้า
ซึ่งกำลังเสด็จดำเนินอยู่ที่หนทาง
แล้วได้ถวายดอกมะหาดแด่พระองค์
[๒๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปิยาลปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปิยาลปุปผิยเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. อัมพยาคทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัมพยาคทายกเถระ
(พระอัมพยาคทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๐] ข้าพเจ้าเป็นผู้ฉลาดในศิลปะของตน ได้เข้าไปยังป่าดงทึบ
ได้เห็นพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จดำเนินอยู่ จึงถวายผลมะม่วง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๔. อุทกาสนทายกวรรค] ๙. ชคติการกเถราปทาน
[๓๑] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลมะม่วง
[๓๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอัมพยาคทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อัมพยาคทายกเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. ชคติการกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระชคติการกเถระ
(พระชคติการกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคผู้เป็นที่พึ่งของโลก
พระนามว่าอัตถทัสสี ทรงเป็นนรชนผู้สูงสุด
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้าได้ให้สร้างชานรอบพระสถูป
อันประเสริฐของพระพุทธเจ้า
[๓๔] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสร้างชานรอบ
[๓๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระชคติการกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ชคติการกเถราปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๔. อุทกาสนทายกวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
๑๐. วาสิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวาสิทายกเถระ
(พระวาสิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๖] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นช่างทองอยู่ในติวรานครที่ล้ำเลิศ
ข้าพเจ้าได้ถวายมีดเล่มหนึ่งแด่พระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นพระสยัมภู ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
[๓๗] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายมีดไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายมีด
[๓๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวาสิทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วาสิทายกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
อุทกาสนทายกวรรคที่ ๒๔ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อุทกาสนทายกเถราปทาน ๒. ภาชนทายกเถราปทาน
๓. สาลปุปผิยเถราปทาน ๔. กิลัญชทายกเถราปทาน
๕. เวทิทายกเถราปทาน ๖. วัณณการกเถราปทาน
๗. ปิยาลปุปผิยเถราปทาน ๘. อัมพยาคทายกเถราปทาน
๙. ชคติการกเถราปทาน ๑๐. วาสิทายกเถราปทาน

และมีคาถา ๓๘ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๕. ตุวรทายิวรรค] ๒. นาคเกสริยเถราปทาน
๒๕. ตุวรทายิวรรค
หมวดว่าด้วยพระตุวรทายิเป็นต้น
๑. ตุวรัฏฐิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระตุวรัฏฐิทายกเถระ
(พระตุวรัฏฐิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นนายพรานเนื้อ
อาศัยอยู่ในป่าดงทึบ ข้าพเจ้าเห็นถั่วแดงนั้นแล้ว
จึงได้นำมาถวายแด่พระสงฆ์
[๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายก้อนถั่วแดง
[๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระตุวรัฏฐิทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ตุวรัฏฐิทายกเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. นาคเกสริยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนาคเกสริยเถระ
(พระนาคเกสริยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔] ข้าพเจ้าโก่งสายธนูแล้ว เข้าไปยังท่ามกลางป่า
ได้เห็นต้นบุนนาคมีดอกเป็นพวง ขึ้นอยู่ใกล้ทางเดิน
[๕] จึงใช้มือทั้ง ๒ ประคอง
กระทำอัญชลีไว้เหนือเศียรเกล้าแล้ว
ได้บูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๕. ตุวรทายิวรรค] ๓. นฬินเกสริยเถราปทาน
[๖] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๗] ในกัปที่ ๗๗ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีพระนามว่าสโมกขรณะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนาคเกสริยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นาคเกสริยเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. นฬินเกสริยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนฬินเกสริยเถระ
(พระนฬินเกสริยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙] ข้าพเจ้าเป็นนกกาน้ำ เที่ยวอยู่ในท่ามกลางสระธรรมชาติ
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
เสด็จเหาะไปในอากาศ
[๑๐] ข้าพเจ้ามีใจผ่องใส จึงใช้จะงอยปาก
คาบดอกบัวมาบูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
[๑๑] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๕. ตุวรทายิวรรค] ๔. วิรวิปุปผิยเถราปทาน
[๑๒] ในกัปที่ ๗๓ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าสัตตปัตตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนฬินเกสริยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นฬินเกสริยเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. วิรวิปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวิรวิปุปผิยเถระ
(พระวิรวิปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๔] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จดำเนินไปพร้อมด้วยพระขีณาสพหลายพันรูป
ข้าพเจ้าได้ประคองดอกท้าวยายม่อมบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๕] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวิรวิปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วิรวิปุปผิยเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๕. ตุวรทายิวรรค] ๖. ปัตตทายกเถราปทาน
๕. กุฏิธูปกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกุฏิธูปกเถระ
(พระกุฏิธูปกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๗] ข้าพเจ้าเป็นคนรักษาพระคันธกุฎีของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าสิทธัตถะ ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส
อบพระคันธกุฎีให้หอมด้วยมือทั้ง ๒ ของตน ตามกาลอันสมควร
[๑๘] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการอบพระกุฎี
[๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกุฏิธูปกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กุฏิธูปกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. ปัตตทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัตตทายกเถระ
(พระปัตตทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๐] ข้าพเจ้ามีการฝึกอย่างดีเยี่ยม
ได้ถวายบาตรแด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ซื่อตรง ผู้คงที่
[๒๑] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๕. ตุวรทายิวรรค] ๗. ธาตุปูชกเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายบาตร
[๒๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัตตทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัตตทายกเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. ธาตุปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระธาตุปูชกเถระ
(พระธาตุปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นที่พึ่งของโลก พระนามว่าสิทธัตถะ
ทรงเป็นนรชนผู้สูงสุด เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้าได้พระธาตุองค์หนึ่งของพระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[๒๔] ข้าพเจ้าได้เก็บพระธาตุของพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งดวงอาทิตย์นั้นไว้บูชาตลอด ๕ ปี
เหมือนบำรุงพระองค์ผู้ทรงเป็นนรชนผู้สูงสุดซึ่งยังทรงพระชนม์อยู่
[๒๕] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บูชาพระธาตุไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบำรุงพระธาตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๕. ตุวรทายิวรรค] ๘. สัตตสัตตลิปุปผปูชกเถราปทาน
[๒๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระธาตุปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ธาตุปูชกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. สัตตสัตตลิปุปผปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัตตสัตตลิปุปผปูชกเถระ
(พระสัตตสัตตลิปุปผปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึง
กล่าวว่า)
[๒๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้วางดอกมะลิซ้อน ๗ ดอกไว้บนศีรษะแล้ว
บูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าเวสสภู ทรงเป็นนรชนผู้สูงสุด
[๒๘] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัตตสัตตลิปุปผปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
สัตตสัตตลิปุปผปูชกเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๕. ตุวรทายิวรรค] ๑๐. อุททาลทายกเถราปทาน
๙. พิมพิชาลิปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระพิมพิชาลิปุปผิยเถระ
(พระพิมพิชาลิปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๐] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เป็นพระสยัมภู เป็นบุคคลผู้เลิศ
ทรงประกาศสัจจะ ๔ แสดงอมตบท
[๓๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ารวบรวมดอกมะกล่ำหลวงไว้มากมายแล้ว
บูชาพระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[๓๒] ในกัปที่ ๖๘ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติพระนามเหมือนกันว่ากิญชเกสระ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระพิมพิชาลิปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
พิมพิชาลิปุปผิยเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. อุททาลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุททาลทายกเถระ
(พระอุททาลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๔] พระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่ากุกกุธะ
ทรงเป็นพระสยัมภู ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
เสด็จออกจากป่าใหญ่แล้ว ถึงแม่น้ำใหญ่ตามลำดับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๕. ตุวรทายิวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๓๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีใจเลื่อมใส
ได้ถือดอกราชพฤกษ์(คูน)มาถวายพระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นพระสยัมภู ผู้สำรวมอินทรีย์เป็นอย่างดี ผู้ซื่อตรง
[๓๖] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายดอกไม้
[๓๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุททาลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุททาลทายกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
ตุวรทายิวรรคที่ ๒๕ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ตุวรัฏฐิทายกเถราปทาน ๒. นาคเกสริยเถราปทาน
๓. นฬินเกสริยเถราปทาน ๔. วิรวิปุปผิยเถราปทาน
๕. กุฏิธูปกเถราปทาน ๖. ปัตตทายกเถราปทาน
๗. ธาตุปูชกเถราปทาน ๘. สัตตสัตตลิปุปผปูชกเถราปทาน
๙. พิมพิชาลิปุปผิยเถราปทาน ๑๐. อุททาลทายกเถราปทาน

บัณฑิตทั้งหลายนับคาถาได้ ๓๗ คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๖. โถมกวรรค] ๑. โถมกเถราปทาน
๒๖. โถมกวรรค
หมวดว่าด้วยพระโถมกะเป็นต้น
๑. โถมกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโถมกเถระ
(พระโถมกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าอยู่ในเทวโลก
ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ แล้วเบิกบานใจ ได้กล่าวคำนี้ว่า
[๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ขอนอบน้อมแด่พระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษสูงสุด ขอนอบน้อมแด่พระองค์
พระองค์ทรงแสดงอมตบท
ทรงช่วยชนจำนวนมากให้ข้าม(วัฏสงสาร)ได้
[๓] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้กล่าววาจาไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสรรเสริญ
[๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโถมกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โถมกเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๖. โถมกวรรค] ๓. จิตกปูชกเถราปทาน
๒. เอกาสนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกาสนทายกเถระ
(พระเอกาสนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕] ข้าพเจ้ากับภรรยาต้องการจะสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ไว้
ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
จึงละเพศเทวดามาในมนุษยโลกนี้
[๖] ข้าพเจ้ามีใจผ่องใส ได้ถวายภิกษาแก่พระเถระนามว่าเทวละ
ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
[๗] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายบิณฑบาต
[๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกาสนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกาสนทายกเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. จิตกปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจิตกปูชกเถระ
(พระจิตกปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙] พระสัมพุทธเจ้า๑พระนามว่าอานันทะ
ผู้เป็นพระสยัมภู ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วในป่าดงทึบที่ปราศจากมนุษย์

เชิงอรรถ :
๑ พระสัมพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ. ๒/๙/๒๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๖. โถมกวรรค] ๔. จัมปกปุปผิยเถราปทาน
[๑๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าจากเทวโลกมาในมนุษยโลกนี้
ได้ทำจิตกาธานแล้วถวายเพลิงพระสรีระ ณ ที่นั้น และได้ทำสักการะ
[๑๑] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจิตกปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จิตกปูชกเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. จัมปกปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจัมปกปุปผิยเถระ
(พระจัมปกปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อวิกนะ
ณ ท่ามกลางภูเขาลูกนั้น
มีพระสมณะผู้อบรมอินทรีย์ดีแล้ว อาศัยอยู่
[๑๔] ข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้สงบระงับ
จึงมีใจผ่องใส ได้ถือดอกจำปา ๓ ดอก โปรยลงบูชา
[๑๕] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๖. โถมกวรรค] ๕. สัตตปาฏลิยเถราปทาน
[๑๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจัมปกปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จัมปกปุปผิยเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. สัตตปาฏลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัตตปาฏลิยเถระ
(พระสัตตปาฏลิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๗] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้รุ่งเรืองดังดอกกรรณิการ์
ประทับนั่งอยู่ระหว่างภูเขา
จึงได้เก็บดอกแคฝอย ๗ ดอกมาบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๘] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัตตปาฏลิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัตตปาฏลิยเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๖. โถมกวรรค] ๗. มัญชริปูชกเถราปทาน
๖. อุปาหนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุปาหนทายกเถระ
(พระอุปาหนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีชื่อว่าจันทนะ เป็นบุตรของพระสัมพุทธเจ้า๑
ข้าพเจ้าได้ถวายรองเท้าคู่หนึ่ง ด้วยปรารถนาว่า
ขอท่านจงช่วยให้ข้าพเจ้าบรรลุพระโพธิญาณด้วยเถิด
[๒๑] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายรองเท้าไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายรองเท้า
[๒๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุปาหนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปาหนทายกเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. มัญชริปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมัญชริปูชกเถระ
(พระมัญชริปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๓] ข้าพเจ้าทำพุ่มดอกไม้แล้ว เดินไปบนถนน
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เลิศกว่าสมณะทั้งหลาย มีหมู่ภิกษุแวดล้อม
[๒๔] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี และมีปีติอย่างยิ่ง
จึงประคองดอกไม้ด้วยมือทั้ง ๒ ยกขึ้นบูชาพระพุทธเจ้า

เชิงอรรถ :
๑ พระสัมพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า (ขุ.อป.อ. ๒/๙/๒๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๖. โถมกวรรค] ๘. ปัณณทายกเถราปทาน
[๒๕] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[๒๖] ในกัปที่ ๗๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าโชติยะ
เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีพลานุภาพมาก
[๒๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมัญชริปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มัญชริปูชกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. ปัณณทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัณณทายกเถระ
(พระปัณณทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๘] ข้าพเจ้านุ่งห่มผ้าเปลือกไม้
มีใบไม้ที่ไม่มีรสเค็มเป็นอาหาร
และสำรวมในพรตที่ประพฤติตามกาลนิยม๑
อาศัยอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
[๒๙] เมื่อถึงเวลาอาหารเช้า พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
เสด็จมาหาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเลื่อมใส
จึงได้ถวายอาหารนั้นแด่พระพุทธเจ้าด้วยมือทั้ง ๒ ของตน

เชิงอรรถ :
๑ นิยม หมายถึงพรตที่ประพฤติตามกาลนิยม คือศีล ๘ (อภิธานัปปทีปิกา หน้า ๑๒๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๖. โถมกวรรค] ๙. กุฏิทายกเถราปทาน
[๓๐] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายใบไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายใบไม้
[๓๑] ในกัปที่ ๒๗ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่ายทัตถิยะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัณณทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัณณทายกเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. กุฏิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกุฏิทายกเถระ
(พระกุฏิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๓] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเที่ยวไปตามราวป่า
ประทับอยู่ที่โคนไม้
ข้าพเจ้าได้สร้างบรรณศาลา
ถวายแด่พระองค์ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
[๓๔] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายกุฎีใบไม้ไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายกุฎี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๖. โถมกวรรค] ๑๐. อัคคปุปผิยเถราปทาน
[๓๕] ในกัปที่ ๓๘ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
มหาชนพากันขนานพระนามว่าอภิวัสสี ทุก ๆ ชาติ
[๓๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกุฏิทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กุฏิทายกเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. อัคคปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัคคปุปผิยเถระ
(พระอัคคปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๗] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี
ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ ประทับนั่งอยู่ระหว่างภูเขา
ทรงรุ่งเรืองด้วยพระรัศมีดุจกองเพลิง
[๓๘] ข้าพเจ้าถือดอกบัว
เข้าไปเฝ้าพระองค์ผู้เป็นนรชนผู้สูงสุด
มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ได้บูชาพระพุทธเจ้า
[๓๙] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๔๐] ในกัปที่ ๒๕ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่ามิตตฆาตกะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๖. โถมกวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๔๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอัคคปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อัคคปุปผิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
โถมกวรรคที่ ๒๖ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โถมกเถราปทาน ๒. เอกาสนทายกเถราปทาน
๓. จิตกปูชกเถราปทาน ๔. จัมปกปุปผิยเถราปทาน
๕. สัตตปาฏลิยเถราปทาน ๖. อุปาหนทายกเถราปทาน
๗. มัญชริปูชกเถราปทาน ๘. ปัณณทายกเถราปทาน
๙. กุฏิทายกเถราปทาน ๑๐. อัคคปุปผิยเถราปทาน

และในวรรคนี้ นับคาถาได้ ๔๑ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๗. ปทุมุกเขปวรรค] ๑. อากาสุกขิปิยเถราปทาน
๒๗. ปทุมุกเขปวรรค
หมวดว่าด้วยการวางดอกปทุมถวายเป็นต้น
๑. อากาสุกขิปิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอากาสุกขิปิยเถระ
(พระอากาสุกขิปิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าถือดอกบัว ๒ ดอก เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระนามว่าสิทธัตถะ ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
ผู้องอาจกว่านรชน กำลังเสด็จไประหว่างร้านตลาด
[๒] ข้าพเจ้าวางดอกบัวดอกหนึ่งไว้
แทบพระบาทของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
อีกดอกหนึ่งข้าพเจ้าหยิบโยนขึ้นไปในอากาศ
[๓] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายดอกไม้
[๔] ในกัปที่ ๓๒ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าอันตลิกขกร
เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีพลานุภาพมาก
[๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอากาสุกขิปิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อากาสุกขิปิยเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๗. ปทุมุกเขปวรรค] ๓. อัฑฒจันทิยเถราปทาน
๒. เตลมักขิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเตลมักขิยเถระ
(พระเตลมักขิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้องอาจกว่านรชน เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าใช้น้ำมันทาที่แท่นไพทีแห่งต้นโพธิ์
[๗] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทาน้ำมันไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการทาน้ำมัน
[๘] ในกัปที่ ๒๔ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าสุจฉวิ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเตลมักขิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เตลมักขิยเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. อัฑฒจันทิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัฑฒจันทิยเถระ
(พระอัฑฒจันทิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐] ข้าพเจ้าได้ถวายอัฒจันทร์ไว้ที่ต้นโพธิ์อันประเสริฐ
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าติสสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๗. ปทุมุกเขปวรรค] ๔. ทีปทายกเถราปทาน
[๑๑] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บูชาด้วยอัฒจันทร์ไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาต้นโพธิ์
[๑๒] ในกัปที่ ๒๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าเทวละ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอัฑฒจันทิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อัฑฒจันทิยเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. ทีปทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระทีปทายกเถระ
(พระทีปทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๔] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นเทพบุตร ลงมายังแผ่นดิน มีใจเลื่อมใส
ได้ถวายประทีป ๕ ดวง ด้วยมือทั้ง ๒ ของตน
[๑๕] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายประทีปไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป
[๑๖] ในกัปที่ ๕๕ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งมีนามว่าสมันตจักษุ
เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๗. ปทุมุกเขปวรรค] ๕. วิฬาลิทายกเถราปทาน
[๑๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระทีปทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ทีปทายกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. วิฬาลิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวิฬาลิทายกเถระ
(พระวิฬาลิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๘] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อโรมสะ
พระผู้มีพระภาคผู้สงบ ผู้อบรมอินทรีย์แล้วประทับอยู่ที่เชิงภูเขานั้น
[๑๙] ข้าพเจ้าได้ถือมันมือเสือไปถวายแด่พระสมณะ
พระผู้มีพระภาค ทรงมีความเพียรมาก ทรงเป็นพระสยัมภู
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้ ตรัสอนุโมทนาว่า
[๒๐] ท่านมีใจผ่องใส ถวายมันมือเสือแก่เรา
ผลจะบังเกิดแก่ท่านในภพที่ท่านเกิด
[๒๑] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายมันมือเสือไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายมันมือเสือ
[๒๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวิฬาลิทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วิฬาลิทายกเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๗. ปทุมุกเขปวรรค] ๗. ชวหังสกเถราปทาน
๖. มัจฉทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมัจฉทายกเถระ
(พระมัจฉทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นนกออก๑
อาศัยอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
ข้าพเจ้าได้คาบปลาตัวใหญ่มาถวาย
แด่พระมุนีพระนามว่าสิทธัตถะ
[๒๔] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายปลาไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายปลา
[๒๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมัจฉทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มัจฉทายกเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. ชวหังสกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระชวหังสกเถระ
(พระชวหังสกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพรานป่าอาศัยอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
เสด็จเหาะไปในอากาศ

เชิงอรรถ :
๑ กุกฺกุห = นกออก, นกเขา. กุกฺกุส = เหยี่ยวดำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๗. ปทุมุกเขปวรรค] ๘. สลฬปุปผิยเถราปทาน
[๒๗] ข้าพเจ้าประคองอัญชลีแลดูพระมหามุนีอยู่
ทำจิตของตนให้เลื่อมใสแล้ว
ได้ถวายอภิวาทพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๒๘] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายอภิวาทพระผู้องอาจกว่านรชน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายอภิวาท
[๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระชวหังสกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ชวหังสกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. สลฬปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสลฬปุปผิยเถระ
(พระสลฬปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นกินนรอาศัยอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
ได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้รุ่งเรืองผ่องใสด้วยพระรัศมี
[๓๑] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี และมีปีติอย่างยิ่ง
จึงถือดอกช้างน้าวมาโปรยลงบูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
[๓๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๗. ปทุมุกเขปวรรค] ๙. อุปาคตหาสนิยเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๓๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสลฬปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สลฬปุปผิยเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. อุปาคตหาสนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุปาคตหาสนิยเถระ
(พระอุปาคตหาสนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๔] มีสระที่สร้างอย่างดีอยู่ท่ามกลางภูเขาหิมพานต์
ข้าพเจ้าเป็นผีเสื้อน้ำ มีนิสัยชอบอยู่ใต้(น้ำ) น่ากลัว อาศัยอยู่ในสระนั้น
[๓๕] พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ผู้ทรงอนุเคราะห์
ประกอบด้วยพระกรุณา เป็นผู้นำสัตว์โลก
พระองค์ประสงค์จะช่วยเหลือข้าพเจ้า
จึงเสด็จมาในสำนักของข้าพเจ้า
[๓๖] ข้าพเจ้าได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้มีความเพียรมาก
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ องอาจกว่านรชน เสด็จมาใกล้
จึงออกจากที่อยู่อาศัยแล้วได้ไหว้พระศาสดา
[๓๗] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ไหว้พระศาสดาผู้สูงสุดแห่งมนุษยชาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๗. ปทุมุกเขปวรรค] ๑๐. ตรณิยเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการไหว้
[๓๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุปาคตหาสนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
อุปาคตหาสนิยเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. ตรณิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระตรณิยเถระ
(พระตรณิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๙] พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ ทรงเป็นผู้นำ
มีหมู่ภิกษุแวดล้อมประทับยืนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำ
[๔๐] เรือสำหรับข้ามในห้วงมหรรณพนั้นไม่มี
ข้าพเจ้าจึงขึ้นจากแม่น้ำ
พาพระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกส่งข้าม
[๔๑] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าพาพระศาสดาผู้สูงสุดกว่านรชนส่งข้าม
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการพาส่งข้าม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๗. ปทุมุกเขปวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระตรณิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ตรณิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
ปทุมุกเขปวรรคที่ ๒๗ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อากาสุกขิปิยเถราปทาน ๒. เตลมักขิยเถราปทาน
๓. อัฑฒจันทิยเถราปทาน ๔. ทีปทายกเถราปทาน
๕. วิฬาลิทายกเถราปทาน ๖. มัจฉทายกเถราปทาน
๗. ชวหังสกเถราปทาน ๘. สลฬปุปผิยเถราปทาน
๙. อุปาคตหาสนิยเถราปทาน ๑๐. ตรณิยเถราปทาน

และในวรรคนี้นับคาถาได้ ๔๒ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๘. สุวัณณพิพโพหนวรรค] ๑. สุวัณณพิพโพหนิยเถราปทาน
๒๘. สุวัณณพิพโพหนวรรค
หมวดว่าด้วยการถวายหมอนทองเป็นต้น
๑. สุวัณณพิพโพหนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุวัณณพิพโพหนิยเถระ
(พระสุวัณณพิพโพหนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าเลื่อมใส ได้ถวายอาสนะผืนหนึ่ง
และได้ถวายหมอนด้วยมือทั้ง ๒ ของตน
เพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุด
[๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายหมอนไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายหมอน
[๓] ในกัปที่ ๖๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าอสมะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุวัณณพิพโพหนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วย
ประการฉะนี้
สุวัณณพิพโพหนิยเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๘. สุวัณณพิพโพหนวรรค] ๒. ติลมุฏฐิยเถราปทาน
๒. ติลมุฏฐิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติลมุฏฐิยเถระ
(พระติลมุฏฐิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕] พระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ทรงทราบความคิดของข้าพเจ้า
บันดาลกายเข้าไปด้วยมโนมยิทธิ
[๖] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ไหว้พระศาสดาผู้เป็นบุรุษผู้สูงสุด
ซึ่งเสด็จเข้ามา แล้วได้ถวายงากำมือหนึ่ง
[๗] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายงากำมือหนึ่ง
[๘] ในกัปที่ ๑๖ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าคันธิยะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติลมุฏฐิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติลมุฏฐิยเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๘. สุวัณณพิพโพหนวรรค] ๔. อัพภัญชนทายกเถราปทาน
๓. จังโกฏกิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจังโกฏกิยเถระ
(พระจังโกฏกิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐] พระศาสดาพระนามว่าสิทธัตถะ
ประทับอยู่ระหว่างภูเขาใกล้มหาสมุทร ข้าพเจ้าได้เข้าไปเฝ้าแล้ว
ทำบุญมีการกราบไหว้เป็นต้น ได้ถวายผอบดอกไม้
[๑๑] ครั้นข้าพเจ้าถวายผอบดอกไม้แด่พระผู้มีพระภาค
พระนามว่าสิทธัตถะ ผู้เป็นพระสยัมภู
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงอนุเคราะห์แล้ว
จึงบันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอดหนึ่งกัป
[๑๒] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผอบดอกไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผอบดอกไม้
[๑๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจังโกฏกิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จังโกฏกิยเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. อัพภัญชนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัพภัญชนทายกเถระ
(พระอัพภัญชนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๔] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าโกณฑัญญะ
ผู้ปราศจากราคะ ผู้คงที่ มีพระหฤทัยไม่หยาบ
ไม่มีธรรมเครื่องเนิ่นช้า มีปกติเพ่งฌาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๘. สุวัณณพิพโพหนวรรค] ๕. เอกัญชลิยเถราปทาน
[๑๕] ข้าพเจ้าได้ถวายยาหยอดตาแด่พระองค์ผู้ล่วงเลยโมหะทั้งปวง
ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งมวล
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[๑๖] ในกัปที่หาประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายยาหยอดตาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายยาหยอดตา
[๑๗] ในกัปที่ ๑๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าจิรัปปะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอัพภัญชนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อัพภัญชนทายกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. เอกัญชลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกัญชลิยเถระ
(พระเอกัญชลิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๙] ข้าพเจ้าได้ถวายโอกาสที่อยู่
แด่พระสมณะผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ผู้ประทับนั่งบนเครื่องลาดใบไม้ที่ติดกันใกล้ต้นมะเดื่อ
[๒๐] ข้าพเจ้าประคองอัญชลีแล้ว
ลาดเครื่องลาดดอกไม้ถวายพระผู้มีพระภาคนามว่าติสสะ
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้เป็นที่พึ่งของโลก ผู้คงที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๘. สุวัณณพิพโพหนวรรค] ๖. โปตถทายกเถราปทาน
[๒๑] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำเครื่องลาดดอกไม้ไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเครื่องลาด
[๒๒] ในกัปที่ ๑๔ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าเอกอัญชลิกะ
เป็นใหญ่ในมนุษย์ มีพลานุภาพมาก
[๒๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกัญชลิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกัญชลิยเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. โปตถทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโปตถทายกเถระ
(พระโปตถทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๔] ข้าพเจ้าปรารภพระศาสดา ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระธรรม และพระสงฆ์
ได้ถวายผ้าเปลือกไม้ไว้ในพระรัตนตรัย
ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ
[๒๕] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้าเปลือกไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๘. สุวัณณพิพโพหนวรรค] ๗. จิตกปูชกเถราปทาน
[๒๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโปตถทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โปตถทายกเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. จิตกปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจิตกปูชกเถระ
(พระจิตกปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๗] ข้าพเจ้าเที่ยวไปตามกระแสน้ำ ใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
เก็บดอกย่านทราย ๗ ดอก มาบูชาจิตกาธาน
[๒๘] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บูชาจิตกาธานไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาจิตกาธาน
[๒๙] ในกัปที่ ๖๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าปฏิชัคคะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจิตกปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จิตกปูชกเถราปทานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๘. สุวัณณพิพโพหนวรรค] ๙. ปุณฑรีกเถราปทาน
๘. อาลุวทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอาลุวทายกเถระ
(พระอาลุวทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๑] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์มีแม่น้ำสายใหญ่น่าดู
ณ ที่ใกล้แม่น้ำนั้นข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ปราศจากราคะ มีพระรัศมีสุกใสน่าดู
ผู้ประกอบในความสงบอย่างยิ่ง
[๓๒] ครั้นเห็นแล้ว ข้าพเจ้ามีความประหลาดใจ
เลื่อมใส จึงได้ถวายหัวมันแก่พระองค์ด้วยมือทั้ง ๒ ของตน
[๓๓] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายหัวมันไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายหัวมัน
[๓๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอาลุวทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อาลุวทายกเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. ปุณฑรีกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุณฑรีกเถระ
(พระปุณฑรีกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๕] ครั้งนั้น ได้มีพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโรมสะ
ผู้เป็นพระสยัมภู มีพระรัศมีสุกใส
ข้าพเจ้ามีใจผ่องใส ได้ถวายดอกบัวขาวแด่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๘. สุวัณณพิพโพหนวรรค] ๑๐. ตรณียเถราปทาน
[๓๖] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายดอกบัวขาวไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายดอกบัวขาว
[๓๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุณฑรีกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุณฑรีกเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. ตรณียเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระตรณียเถระ
(พระตรณียเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๘] ข้าพเจ้ามีใจเลื่อมใส ได้ร่วมมือช่วยกันสร้างสะพาน
ที่ทางใหญ่ซึ่งไม่ราบเรียบ เพื่อต้องการให้ชาวโลกข้าม
[๓๙] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ร่วมสร้างสะพานไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการให้ร่วม(สร้าง)สะพาน
[๔๐] ในกัปที่ ๕๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าสโมคตะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๘. สุวัณณพิพโพหนวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๔๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระตรณียเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ตรณียเถราปทานที่ ๑๐ จบ
สุวัณณพิพโพหนวรรคที่ ๒๘ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สุวัณณพิพโพหนิยเถราปทาน ๒. ติลมุฏฐิยเถราปทาน
๓. จังโกฏกิยเถราปทาน ๔. อัพภัญชนทายกเถราปทาน
๕. เอกัญชลิยเถราปทาน ๖. โปตถทายกเถราปทาน
๗. จิตกปูชกเถราปทาน ๘. อาลุวทายกเถราปทาน
๙. ปุณฑรีกเถราปทาน ๑๐. ตรณียเถราปทาน

และในวรรคนี้นับคาถาได้ ๔๒ คาถา
ภาณวารที่ ๑๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๙. ปัณณทายกวรรค] ๑. ปัณณทายกเถราปทาน
๒๙. ปัณณทายกวรรค
หมวดว่าด้วยผู้ถวายใบไม้เป็นต้น
๑. ปัณณทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัณณทายกเถระ
(พระปัณณทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้านั่งอยู่ในบรรณศาลา บริโภคผักเป็นอาหาร
พระผู้มีพระภาค ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้เสด็จเข้ามายังบรรณศาลา ใกล้ข้าพเจ้า
[๒] ข้าพเจ้าได้ถวายใบไม้แด่พระองค์มีนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ส่องโลกให้สว่างไสว ทรงเยียวยาสัตว์โลกทั้งปวง
ประทับนั่งอยู่บนเครื่องลาดใบไม้
[๓] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายใบไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายใบไม้
[๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัณณทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัณณทายกเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๙. ปัณณทายกวรรค] ๒. ผลทายกเถราปทาน
๒. ผลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระผลทายกเถระ
(พระผลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ทรงสันโดษเสมอด้วยภูเขาสิเนรุ ทรงไว้เช่นกับธรณี
เสด็จออกจากสมาธิแล้วเข้ามาหาข้าพเจ้าเพื่อภิกษา
[๖] ผลสมอ ผลมะขามป้อม
ผลมะม่วง ผลหว้า ผลสมอพิเภก ผลกระเบา
ผลกระบาก (รกฟ้า) ผลมะตูม และผลมะปราง
[๗] ข้าพเจ้ามีใจผ่องใสได้ถวายผลไม้นั้นทุกชนิด
แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งปวง
[๘] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๙] ในกัปที่ ๕๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าเอกัชฌะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระผลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ผลทายกเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๙. ปัณณทายกวรรค] ๓. ปัจจุคคมนิยเถราปทาน
๓. ปัจจุคคมนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัจจุคคมนิยเถระ
(พระปัจจุคคมนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๑] พระผู้มีพระภาค ผู้องอาจกว่านรชน
กำลังเสด็จมาเหมือนพญาราชสีห์ท่องเที่ยวไปในป่า
เหมือนม้าอาชาไนยตัวองอาจ เหมือนต้นรกฟ้าที่งอกงาม
[๑๒] ข้าพเจ้ามีใจผ่องใสได้กระทำการต้อนรับ
พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ ผู้ส่องโลกให้สว่างไสว
ทรงเยียวยาสัตว์โลกทั้งปวง
[๑๓] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ต้อนรับพระผู้มีพระภาค ผู้องอาจกว่านรชน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการต้อนรับ
[๑๔] ในกัปที่ ๒๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งมีพระนามว่าปริวาระ
เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๑๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัจจุคคมนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัจจุคคมนิยเถราปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๙. ปัณณทายกวรรค] ๔. เอกปุปผิยเถราปทาน
๔. เอกปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกปุปผิยเถระ
(พระเอกปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นปีศาจอยู่ที่ประตูเมืองด้านทิศใต้
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
มีพระรัศมีรุ่งเรืองดังดวงจันทร์
[๑๗] ข้าพเจ้าจึงได้ถวายดอกไม้ดอกหนึ่งแด่พระพุทธเจ้า
พระนามว่าวิปัสสี ผู้เป็นนรชนผู้เลิศ
ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งปวง
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[๑๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายดอกไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกปุปผิยเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๙. ปัณณทายกวรรค] ๖. อุปัฏฐายิกเถราปทาน
๕. มฆวปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมฆวปุปผิยเถระ
(พระมฆวปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๐] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระสยัมภู ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
พระองค์มีอินทรีย์ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว
เข้าสมาธิอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำนัมมทา
[๒๑] ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นพระสยัมภู ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้แล้ว เลื่อมใส มีใจยินดี
ได้บูชาพระองค์ด้วยดอกมฆวะ (ดอกแซ่ม้าพระอินทร์)
[๒๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมฆวปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มฆวปุปผิยเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. อุปัฏฐายิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุปัฏฐายิกเถระ
(พระอุปัฏฐายิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๔] พระพุทธเจ้าผู้มหานาค ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๙. ปัณณทายกวรรค] ๖. อุปัฏฐายิกเถราปทาน
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
กำลังเสด็จดำเนินอยู่ที่ถนน
[๒๕] ข้าพเจ้าได้มอบให้ทูลนิมนต์แล้ว
จึงได้ถวายคนอุปัฏฐากแด่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระนามว่าสิทธัตถะ ผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งปวง
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๒๖] พระมหามุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับแล้วทรงส่งมอบคืน
ได้เสด็จลุกจากอาสนะนั้นแล้ว
บ่ายพระพักตร์เสด็จหลีกไปทางทิศตะวันออก
[๒๗] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายคนอุปัฏฐากไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายคนอุปัฏฐาก
[๒๘] ในกัปที่ ๕๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าพลเสน
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุปัฏฐายิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปัฏฐายิกเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๙. ปัณณทายกวรรค] ๘. สัตตาหปัพพชิตเถราปทาน
๗. อปทานิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอปทานิยเถระ
(พระอปทานิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๐] ข้าพเจ้าเลื่อมใสแล้ว
ได้สรรเสริญประวัติในอดีตชาติของพระสุคตทั้งหลาย
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
และได้กราบพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้าด้วยมือทั้ง ๒ ของตน
[๓๑] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้สรรเสริญประวัติในอดีตชาติของพระสุคตไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสรรเสริญ
[๓๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอปทานิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อปทานิยเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. สัตตาหปัพพชิตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัตตาหปัพพชิตเถระ
(พระสัตตาหปัพพชิตเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๓] สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ผู้ที่มหาชนสักการะนับถือแล้ว เมื่อก่อน
ข้าพเจ้าได้ถึงความวิบัติแตกจากญาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๙. ปัณณทายกวรรค] ๙. พุทธุปัฏฐายิกเถราปทาน
[๓๔] ข้าพเจ้าเข้าบวช ก็เพื่อความสงบระงับความพินาศ
ยินดีในการบวชนั้นได้เพียง ๗ วัน
ก็เพราะความเป็นผู้ใคร่ในสัตถุศาสตร์
[๓๕] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บวชไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบวช
[๓๖] ในกัปที่ ๖๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ
ปรากฏนามว่าสุเนกขัมมะ
ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีพลานุภาพมาก
[๓๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัตตาหปัพพชิตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัตตาหปัพพชิตเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. พุทธุปัฏฐายิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระพุทธุปัฏฐายิกเถระ
(พระพุทธุปัฏฐายิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๘] ครั้งนั้น ข้าพเจ้า (และ)
บิดาของข้าพเจ้า (ก็มีชื่อว่าเวธัมภินีด้วย)
บิดาจูงมือข้าพเจ้าพาไปมอบถวายแด่พระมหามุนี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๙. ปัณณทายกวรรค] ๑๐. ปุพพังคมนิยเถราปทาน
[๓๙] พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลกเหล่านี้
ทรงมุ่งหมายข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเลื่อมใส
ได้บำรุงพระพุทธเจ้าเหล่านั้นโดยเคารพด้วยมือทั้ง ๒ ของตน
[๔๐] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บำรุงพระพุทธเจ้าทั้งหลายไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบำรุง
[๔๑] ในกัปที่ ๒๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิ ๔ ชาติ
พระนามว่าสมณุปัฏฐาก มีพลานุภาพมาก
[๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระพุทธุปัฏฐายิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
พุทธุปัฏฐายิกเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. ปุพพังคมนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุพพังคมนิยเถระ
(พระปุพพังคมนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๓] พวกข้าพเจ้า ๘๔,๐๐๐ คน
ไม่มีความกังวลได้ออกบวชเพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุด
ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าของคนเหล่านั้น
[๔๔] คนเหล่านั้นยังมีราคะ(โทสะ)และโมหะ
เลื่อมใส ไม่ขุ่นมัว บำรุงข้าพเจ้าผู้ผ่องใส โดยเคารพ
ด้วยมือทั้ง ๒ ของตน ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๒๙. ปัณณทายกวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๔๕] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระสยัมภู ผู้ขีณาสพ
ทรงคลายโทสะได้แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
ไม่ทรงพ่ายแพ้ ทรงแผ่เมตตาจิตไป
[๔๖] พวกข้าพเจ้าบำรุงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น
เป็นผู้มีสติ สิ้นชีวิตแล้ว ได้ไปเกิดเป็นเทวดา
[๔๗] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้รักษาศีลไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสำรวม
[๔๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุพพังคมนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุพพังคมนิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
ปัณณทายกวรรคที่ ๒๙ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปัณณทายกเถราปทาน ๒. ผลทายกเถราปทาน
๓. ปัจจุคคมนิยเถราปทาน ๔. เอกปุปผิยเถราปทาน
๕. มฆวปุปผิยเถราปทาน ๖. อุปัฏฐายิกเถราปทาน
๗. อปทานิยเถราปทาน ๘. สัตตาหปัพพชิตเถราปทาน
๙. พุทธุปัฏฐายิกเถราปทาน ๑๐. ปุพพังคมนิยเถราปทาน

และท่านได้กล่าวคาถาไว้ ๔๘ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๐. จิตกปูชกวรรค] ๑. จิตกปูชกเถราปทาน
๓๐. จิตกปูชกวรรค
หมวดว่าด้วยพระจิตกปูชกะเป็นต้น
๑. จิตกปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจิตกปูชกเถระ
(พระจิตกปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์มีนามว่าอชิตะ
ประสงค์จะทำการบูชา จึงรวบรวมดอกไม้ต่าง ๆ ไว้
[๒] ข้าพเจ้าได้เห็นจิตกาธานของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก ที่กำลังลุกโพลงอยู่
จึงนำดอกไม้นั้นมาโปรยลงที่จิตกาธาน
[๓] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๔] ในกัปที่ ๒๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ มีพระนามว่าสุปัชชลิตะ
เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์ มีพลานุภาพมาก
[๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจิตกปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จิตกปูชกเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๐. จิตกปูชกวรรค] ๒. ปุปผธารกเถราปทาน
๒. ปุปผธารกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุปผธารกเถระ
(พระปุปผธารกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖] ข้าพเจ้านุ่งผ้าเปลือกไม้ ห่มหนังสัตว์
อภิญญา ๕ บังเกิดแล้ว ลูบคลำดวงจันทร์ได้
[๗] ข้าพเจ้าได้เห็นพระศาสดาพระนามว่าวิปัสสี
ผู้ส่องโลกให้สว่าง ซึ่งเสด็จมาถึงสำนักข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจึงยกดอกแคฝอยขึ้นบูชาพระองค์
[๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการยกดอกไม้ขึ้นบูชา
[๙] ในกัปที่ ๘๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าสมันตธรณะ
เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีพลานุภาพมาก
[๑๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุปผธารกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุปผธารกเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๐. จิตกปูชกวรรค] ๓. ฉัตตทายกเถราปทาน
๓. ฉัตตทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระฉัตตทายกเถระ
(พระฉัตตทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๑] ครั้งนั้น บุตรของข้าพเจ้าออกบวชแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสายะ
เขาบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า อันชาวโลกบูชา
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
[๑๒] ข้าพเจ้าค้นหาบุตรของตนไปทางเบื้องหลัง
ไปถึงจิตกาธานแห่งบุตรผู้ยิ่งใหญ่ปรินิพพานแล้ว
[๑๓] ข้าพเจ้าประคองอัญชลีไหว้จิตกาธานที่ป่าช้านั้น
และยกฉัตรขาวขึ้นบูชาในครั้งนั้น
[๑๔] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายฉัตร
[๑๕] ในกัปที่ ๒๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ มีพระนามว่ามหารหะ
เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีพลานุภาพมาก
[๑๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระฉัตตทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ฉัตตทายกเถราปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๐. จิตกปูชกวรรค] ๕. โคสีสนิกเขปกเถราปทาน
๔. สัททสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัททสัญญกเถระ
(พระสัททสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๗] เมื่อดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น
ข้าพเจ้าได้มีความเลื่อมใสอย่างเหลือล้นว่า
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ มีปรากฏในโลก
[๑๘] ข้าพเจ้าได้ฟังแต่เสียงในความปรากฏนั้น
แต่ไม่ได้เห็นพระชินเจ้าพระองค์นั้น ถึงคราวจะสิ้นชีวิต
ได้ระลึกถึงความทรงจำในพระพุทธเจ้า
[๑๙] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัททสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัททสัญญกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. โคสีสนิกเขปกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโคสีสนิกเขปกเถระ
(พระโคสีสนิกเขปกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๑] ข้าพเจ้าออกจากประตูอารามแล้ว
ได้ลาด(ทอด)ไม้จันทน์เหลืองไว้ (เพื่อให้สงฆ์เดิน)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๐. จิตกปูชกวรรค] ๕. โคสีสนิกเขปกเถราปทาน
ข้าพเจ้าได้เสวยกรรมของตน
นี้เป็นผลแห่งบุพกรรม
[๒๒] ม้าสินธพอาชาไนย เป็นพาหนะวิ่งเร็วไวปานลม
ข้าพเจ้าได้เสวยผลนั้นทั้งหมด
นี้เป็นผลแห่งการลาดไม้จันทน์เหลือง
[๒๓] โอ ! กุศลสมภารเล็กน้อยที่ข้าพเจ้าทำไว้ในบุญเขตที่ดี
(กลับ) ให้ผลมาก
กุศลสมภารอื่นไม่ถึงเสี้ยวแห่งกุศลสมภาร
ที่ข้าพเจ้าทำไว้ในพระสงฆ์เลย
[๒๔] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ลาดไม้จันทน์เหลืองไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการลาดไม้จันทน์เหลือง
[๒๕] ในกัปที่ ๗๕ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามว่าสุปติฏฐิตะ
มีเดชมาก มีพลานุภาพมาก
[๒๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโคสีสนิกเขปกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โคสีสนิกเขปกเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๐. จิตกปูชกวรรค] ๗. เทสกิตตกเถราปทาน
๖. ปทปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปทปูชกเถระ
(พระปทปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นกินนรอาศัยอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
มีพระรัศมีรุ่งเรืองดุจดวงจันทร์
[๒๘] เวลานั้น ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกแล้วได้ใช้(น้ำ)
แก่นจันทน์และกฤษณารดลงที่พระบาท
[๒๙] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บูชาพระบาทไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระบาท
[๓๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปทปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปทปูชกเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. เทสกิตตกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเทสกิตตกเถระ
(พระเทสกิตตกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์มีนามว่าอุปสาลหกะ
เข้าไปยังป่าดงทึบ ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ทรงองอาจกว่านรชน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๐. จิตกปูชกวรรค] ๘. สรณคมนิยเถราปทาน
[๓๒] ผู้สมควรรับเครื่องบูชาของชาวโลก
แล้วจึงกราบแทบพระยุคลบาท
พระพุทธเจ้าทรงทราบว่า ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใสแล้ว ก็ทรงหายไป
[๓๓] ข้าพเจ้าออกจากป่าดงทึบแล้ว
หวนระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
สรรเสริญภูมิภาคนั้นแล้ว
บันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอดหนึ่งกัป
[๓๔] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้สรรเสริญภูมิภาคไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสรรเสริญ
[๓๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเทสกิตตกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เทสกิตตกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. สรณคมนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสรณคมนิยเถระ
(พระสรณคมนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นนายพรานเนื้ออาศัยอยู่ใกล้ภูเขาหิมพานต์
ได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๐. จิตกปูชกวรรค] ๙. อัมพปิณฑิยเถราปทาน
[๓๗] เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ทำการขวนขวายช่วยเหลือ
ได้ถึงพระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้คงที่ว่า เป็นสรณะ
[๓๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งสรณะ
[๓๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสรณคมนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สรณคมนิยเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. อัมพปิณฑิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัมพปิณฑิยเถระ
(พระอัมพปิณฑิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๐] ข้าพเจ้าเป็นทานพ(อสูร) มีนามปรากฏว่าโรมสะ
ข้าพเจ้าได้ถวายผลมะม่วงแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๔๑] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลมะม่วงไว้ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๐. จิตกปูชกวรรค] ๑๐. อนุสังสาวกเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลมะม่วง
[๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอัมพปิณฑิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อัมพปิณฑิยเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. อนุสังสาวกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอนุสังสาวกเถระ
(พระอนุสังสาวกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๓] ข้าพเจ้าได้เห็นพระผู้มีพระภาคชินเจ้า
พระนามว่าวิปัสสี กำลังเสด็จเที่ยวบิณฑบาต
จึงได้ถวายภิกษาทัพพีหนึ่งแด่พระองค์
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[๔๔] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ได้ถวายอภิวาท
(และ) ได้ประกาศพระพุทธเจ้าให้มหาชนทราบ
เพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุด
[๔๕] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ประกาศให้มหาชนทราบไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการประกาศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๐. จิตกปูชกวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค รวมวรรคได้ ๑๐ วรรค
[๔๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอนุสังสาวกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อนุสังสาวกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
จิตกปูชกวรรคที่ ๓๐ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. จิตกปูชกเถราปทาน ๒. ปุปผธารกเถราปทาน
๓. ฉัตตทายกเถราปทาน ๔. สัททสัญญกเถราปทาน
๕. โคสีสนิกเขปกเถราปทาน ๖. ปทปูชกเถราปทาน
๗. เทสกิตติกเถราปทาน ๘. สรณคมนิยเถราปทาน
๙. อัมพปิณฑิยเถราปทาน ๑๐. อนุสังสาวกเถราปทาน

บัณฑิตคำนวณคาถาได้ ๔๗ คาถา

อนึ่ง รวมวรรคได้ ๑๐ วรรค คือ

๑. กณิการปุปผิยวรรค ๒. หัตถิวรรค
๓. อาลัมพนทายกวรรค ๔. อุทกาสนทายกวรรค
๕. ตุวรทายิวรรค ๖. โถมกวรรค
๗. ปทุมุกเขปวรรค ๘. สุวัณณพิพโพหนวรรค
๙. ปัณณทายกวรรค ๑๐. จิตกปูชกวรรค

คาถาทั้งหมดมี ๔๕๑ คาถา
บัณฑิตผู้แสดงอรรถ คำนวณบททั้งหมดได้ ๕,๕๗๒ บท
หมวด ๑๐ แห่งวรรคมีกณิการปุปผิยวรรคเป็นต้น จบ
๑๐๐ เรื่อง หมวดที่ ๓ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๑. ปทุมเกสริยวรรค] ๑. ปทุมเกสริยเถราปทาน
๓๑. ปทุมเกสริยวรรค
หมวดว่าด้วยพระปทุมเกสริยะเป็นต้น
๑. ปทุมเกสริยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปทุมเกสริยเถระ
(พระปทุมเกสริยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นช้างพลายตระกูลมาตังคะ
อาศัยอยู่ใกล้ที่พักหมู่ฤๅษี(คือพระปัจเจกพุทธเจ้า)
ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในพระปัจเจกพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ จึงได้โปรยเกสรดอกบัวลงบูชา
[๒] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในพระปัจเจกชินเจ้า
ผู้ประเสริฐที่สุด ผู้กำจัดราคะแล้ว ผู้คงที่เหล่านั้น
แล้วบันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอดกัปหนึ่ง
[๓] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้โปรยเกสรดอกบัวบูชาพระพุทธเจ้าไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปทุมเกสริยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปทุมเกสริยเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๑. ปทุมเกสริยวรรค] ๓. ปรมันนทายกเถราปทาน
๒. สัพพคันธิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัพพคันธิยเถระเป็นต้น
(พระสัพพคันธิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕] ข้าพเจ้าได้ถวายของหอมและดอกไม้แด่พระพุทธเจ้า
พระนามว่าวิปัสสี ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ได้ถวายผ้าไหมอย่างดีแด่พระองค์ผู้ซื่อตรง
[๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายของหอมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายของหอม
[๗] ในกัปที่ ๑๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าสุเจฬะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัพพคันธิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัพพคันธิยเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. ปรมันนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปรมันนทายกเถระ
(พระปรมันนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้โชติช่วงดังดอกกรรณิการ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๑. ปทุมเกสริยวรรค] ๔. ธัมมสัญญกเถราปทาน
มีพระรัศมีรุ่งเรืองดังดวงอาทิตย์อุทัย
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
[๑๐] ข้าพเจ้าประนมมือ นำเสด็จมายังเรือนของตน
ครั้นนำเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาถึงแล้ว ได้ถวายข้าวอย่างดีเยี่ยม
[๑๑] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายข้าวอย่างดีเยี่ยมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวอย่างดีเยี่ยม
[๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปรมันนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ปรมันนทายกเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. ธัมมสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระธรรมสัญญกเถระ
(พระธรรมสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓] ได้มีการฉลองต้นมหาโพธิ์แห่งพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าวิปัสสี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน ปรากฏเหมือนว่าประทับอยู่ที่ต้นโพธิ์
[๑๔] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีหมู่ภิกษุแวดล้อม
ทรงเปล่งอาสภิวาจา ประกาศสัจจะ ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๑. ปทุมเกสริยวรรค] ๕. ผลทายกเถราปทาน
[๑๕] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทำลายกิเลสดุจหลังคาได้แล้ว
ทรงแสดงโดยย่อ และทรงแสดงโดยพิสดาร
ทรงช่วยมหาชนให้สงบเย็น
[๑๖] ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมของพระองค์ ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
ถวายอภิวาทแทบพระบาทของพระศาสดาแล้ว
บ่ายหน้าหลีกไปทางทิศเหนือ
[๑๗] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการฟังธรรม
[๑๘] ในกัปที่ ๓๓ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งมีพระนามว่าสุตวา
เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีพลานุภาพมาก
[๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระธรรมสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ธัมมสัญญกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. ผลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระผลทายกเถระ
(พระผลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๐] ครั้งนั้น มีอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำภาคีรถี
ข้าพเจ้าถือผลไม้เดินมาสู่อาศรมนั้นช้า ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๑. ปทุมเกสริยวรรค] ๖. สัมปสาทิกเถราปทาน
[๒๑] ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าได้พบพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้มีพระรัศมีรุ่งเรืองดังดวงจันทร์
จึงได้ถวายผลไม้ของข้าพเจ้าที่มีอยู่ทั้งหมดแด่พระศาสดา
[๒๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๒๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระผลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ผลทายกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. สัมปสาทิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัมปสาทิกเถระ
(พระสัมปสาทิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๔] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพุทธวีรเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระองค์
พระองค์หลุดพ้นแล้วในที่ทั้งปวง
ข้าพระองค์เป็นผู้ถึงความวิบัติ
ขอพระองค์ได้โปรดเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๒๕] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
หาบุคคลเปรียบมิได้ในโลก
ทรงพยากรณ์ข้าพระองค์ว่า
พระสงฆ์ผู้เสมอด้วยมหาสมุทร ผู้ยอดเยี่ยม หาประมาณมิได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๑. ปทุมเกสริยวรรค] ๖. สัมปสาทิกเถราปทาน
[๒๖] ท่านจงทำจิตให้เลื่อมใสในพระสงฆ์แล้ว
จงหว่านปลูกพืชชนิดดีไว้ในพระสงฆ์นั้น
ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
เป็นเนื้อนาบุญที่ให้ผลไม่สิ้นสุด
[๒๗] พระองค์เป็นพระสัพพัญญูผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน ครั้นตรัสดังนี้
ทรงพร่ำสอนข้าพเจ้าอย่างนี้แล้ว เสด็จเหาะขึ้นสู่อากาศ
[๒๘] เมื่อพระสัพพัญญูผู้องอาจกว่านรชน
พอเสด็จไปได้ไม่นาน ข้าพเจ้าก็สิ้นชีวิต
แล้วได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต
[๒๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใส
ในพระสงฆ์ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
เป็นเนื้อนาบุญที่ให้ผลไม่สิ้นสุด
แล้วบันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอดกัปหนึ่ง
[๓๐] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความเลื่อมใสในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความเลื่อมใส
[๓๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัมปสาทิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัมปสาทิกเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๑. ปทุมเกสริยวรรค] ๗. อารามทายกเถราปทาน
๗. อารามทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอารามทายกเถระ
(พระอารามทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๒] ข้าพเจ้าได้สร้างอารามถวาย
แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ใกล้หมู่ไม้มีเงาร่มเย็น มีฝูงนกเข้าอยู่อาศัย
[๓๓] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา จึงน้อมถวายอารามแด่พระองค์
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
[๓๔] ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริง เบิกบาน
ได้ถวายผลไม้และดอกไม้
ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าก็เกิดความเลื่อมใสน้อมถวายทานนั้น
[๓๕] ข้าพเจ้ามีใจผ่องใสได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้า
ผลทานนั้นบังเกิดแก่ข้าพเจ้าในเมื่อข้าพเจ้าเกิดอยู่ในภพ
[๓๖] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายอารามไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายอาราม
[๓๗] ในกัปที่ ๓๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ มีพระนามว่ามุทุสีตละ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๑. ปทุมเกสริยวรรค] ๘. อนุเลปทายกเถราปทาน
[๓๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอารามทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อารามทายกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. อนุเลปทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอนุเลปทายกเถระ
(พระอนุเลปทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๙] ข้าพเจ้าได้เห็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้เป็นมุนี จึงได้เข้าไปหาท่าน
ซึ่งกำลังทำการก่อสร้างอยู่ที่สีมา
[๔๐] และเมื่อการก่อสร้างสำเร็จแล้ว
ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดีในหมู่พระสาวก
ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม จึงได้ถวายการฉาบทา
[๔๑] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการฉาบทา
[๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอนุเลปทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อนุเลปทายกเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๑. ปทุมเกสริยวรรค] ๑๐. ปัพภารทายกเถราปทาน
๙. พุทธสัญญิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระพุทธสัญญิกเถระ
(พระพุทธสัญญิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๓] พระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก
ผู้องอาจกว่านรชน
ผู้มีพระรัศมีรุ่งเรืองดังดวงอาทิตย์อุทัย
และดังดวงจันทร์ เสด็จไปตามราวป่า
[๔๔] ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พระนามว่าสิทธัตถะ
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ข้าพเจ้าได้ฝันเห็นจึงทำจิตให้เลื่อมใส
ในพระองค์แล้ว(หลังจากตายไป)ได้เข้าถึงสุคติภพ
[๔๕] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในพระพุทธเจ้า
[๔๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระพุทธสัญญิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
พุทธสัญญิกเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. ปัพภารทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัพภารทายกเถระ
(พระปัพภารทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๗] ข้าพเจ้าได้ชำระ(กวาด ล้าง ถู) ถ้ำ
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปิยทัสสี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๑. ปทุมเกสริยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
และได้ตั้งหม้อน้ำสำหรับฉันไว้ถวายแด่พระองค์ผู้คงที่
[๔๘] พระพุทธเจ้าผู้มหามุนีพระนามว่าปิยทัสสี
ทรงพยากรณ์เรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้าว่า
จักมีปราสาท ๗ ชั้น สูงพันชั่วลูกธนู
สะพรั่งไปด้วยธง พราวไปด้วยแก้วมณีสีเขียว
[๔๙] ปราสาทและแก้วนับประมาณมิได้ จักบังเกิดขึ้น
ครั้นข้าพเจ้าถวายทานคือการชำระถ้ำแล้ว
บันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอด ๑ กัป
[๕๐] ในกัปที่ ๓๒ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าสุพุทธะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๕๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัพภารทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัพภารทายกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
ปทุมเกสริยวรรคที่ ๓๑ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปทุมเกสริยเถราปทาน ๒. สัพพคันธิยเถราปทาน
๓. ปรมันนทายกเถราปทาน ๔. ธัมมสัญญกเถราปทาน
๕. ผลทายกเถราปทาน ๖. สัมปสาทิกเถราปทาน
๗. อารามทายกเถราปทาน ๘. อนุเลปทายกเถราปทาน
๙. พุทธสัญญิกเถราปทาน ๑๐. ปัพภารทายกเถราปทาน

และท่านกล่าวคาถาไว้ ๕๑ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๒. อารักขาทายกวรรค] ๒. โภชนทายกเถราปทาน
๓๒. อารักขทายกวรรค
หมวดว่าด้วยพระอารักขทายกะเป็นต้น
๑. อารักขทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอารักขทายกเถระ
(พระอารักขทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าให้สร้างรั้ว และได้ถวายอารักขา
แด่พระมุนีพระนามว่าธัมมทัสสี
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[๒] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงได้บรรลุความสิ้นอาสวะ เพราะผลกรรมวิเศษนั้น
[๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอารักขทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อารักขทายกเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. โภชนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโภชนทายกเถระ
(พระโภชนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔] พระชินเจ้าย่อมรุ่งโรจน์ทุกเมื่อ ดังหน่อต้นรังที่เกิดดี
ดุจไม้อัญชันที่กำลังขึ้นงาม (และ) เหมือนสายรุ้งในอากาศ
[๕] ข้าพเจ้ามีใจผ่องใส
ได้ถวายโภชนะแด่พระองค์ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
พระนามว่าเวสสภู ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๒. อารักขาทายกวรรค] ๓. คตสัญญกเถราปทาน
[๖] พระสยัมภูพุทธเจ้าผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
ทรงอนุโมทนาทานของข้าพเจ้านั้นว่า
ผลจงบังเกิดแก่ท่านในภพที่เกิดเถิด
[๗] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายโภชนะ
[๘] ในกัปที่ ๒๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าอมิตตกะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโภชนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โภชนทายกเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. คตสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระคตสัญญกเถระ
(พระคตสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐] ในอากาศไม่ปรากฏรอยเท้า ข้าพเจ้าได้เห็นพระชินเจ้า
พระนามว่าสิทธัตถะเสด็จเหาะไป
ยังหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ทางอากาศในท้องฟ้า
[๑๑] ขณะนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นชายจีวร
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สะบัดพลิ้วไปตามลม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๒. อารักขาทายกวรรค] ๔. สัตตปทุมิยเถราปทาน
จึงมีความปลาบปลื้มใจเป็นอย่างมาก
เพราะได้เห็นพระมุนีเสด็จไป
[๑๒] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในพระพุทธเจ้า
[๑๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระคตสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
คตสัญญกเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. สัตตปทุมิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัตตปทุมิยเถระ
(พระสัตตปทุมิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๔] ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์มีนามว่าเนสาทะ
ใช้ดอกไม้ร้อยกลีบกวาดอาศรม อาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำ
[๑๕] ความชื่นชมเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า
เพราะได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก กำลังเสด็จไปทางป่า
[๑๖] ข้าพเจ้าต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน
จึงนำเสด็จพระองค์มายังอาศรมแล้ว
บูชาด้วยดอกบัวงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๒. อารักขาทายกวรรค] ๕. ปุปผาสนทายกเถราปทาน
[๑๗] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๘] ในกัปที่ ๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ ชาติ พระนามว่าปาทปาวระ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัตตปทุมิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัตตปทุมิยเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. ปุปผาสนทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุปผาสนทายกเถระ
(พระปุปผาสนทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๐] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้ ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
มีพระรัศมีรุ่งเรืองดังดวงอาทิตย์
เสด็จดำเนินอยู่ในที่ไม่ไกล
[๒๑] ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใสต้อนรับพระองค์แล้ว
ทูลนิมนต์เสด็จเข้ามายังอาศรมแล้ว
ได้ถวายอาสนะดอกไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๒. อารักขาทายกวรรค] ๖. อาสนสันถวิกเถราปทาน
[๒๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าประนมมือแล้ว
เกิดความปลื้มใจ ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
น้อมนึกถึงกรรมนั้นด้วยความปรารถนาว่า
[๒๓] บุญกุศลใด ที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ในพระสยัมภู
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
ด้วยบุญกุศลทั้งปวงนั้น
ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้ปราศจากมลทินในศาสนาเถิด
[๒๔] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายอาสนะดอกไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายอาสนะดอกไม้
[๒๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุปผาสนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ปุปผาสนทายกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. อาสนสันถวิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอาสนสันถวิกเถระ
(พระอาสนสันถวิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้บอด เที่ยวค้นหาพระเจดีย์ชื่อว่าอุตตมะ
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก ในไพรวันซึ่งเป็นป่าใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๒. อารักขาทายกวรรค] ๖. อาสนสันถวิกเถราปทาน
[๒๗] ข้าพเจ้าออกจากป่าใหญ่ ได้พบพระแท่นสีหาสน์
จึงทำหนังสัตว์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
ประนมมือสรรเสริญพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๒๘] ครั้นสรรเสริญพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ในส่วนกลางวันแล้ว ก็มีจิตร่าเริง เบิกบาน ได้เปล่งวาจานี้ว่า
[๒๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ขอนอบน้อมแด่พระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษผู้สูงสุด ขอนอบน้อมแด่พระองค์
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีความเพียรมาก
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
พระองค์เป็นพระสัพพัญญู
[๓๐] ข้าพเจ้าได้สรรเสริญพระพุทธเจ้า
พระนามว่าสิขี ด้วยการทำนิมิตอภิวาทอาสนะแล้ว
บ่ายหน้าหลีกไปทางทิศเหนือ
[๓๑] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้สรรเสริญพระพุทธเจ้า
ผู้ประเสริญกว่าเจ้าลัทธิทั้งหลายไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสรรเสริญ
[๓๒] ในกัปที่ ๒๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ ชาติ พระนามว่าอตุลยะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๓๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอาสนสันถวิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อาสนสันถวิกเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๒. อารักขาทายกวรรค] ๗. สัททสัญญกเถราปทาน
๗. สัททสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัททสัญญกเถระ
(พระสัททสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๔] พระผู้มีพระภาคมหาวีรเจ้าผู้มีพระรูปงาม
น่าดู ทรงแสดงอมตบทอยู่
มีหมู่สาวกแวดล้อม ประทับอยู่ในวิหารชั้นเลิศ
[๓๕] ทรงสงเคราะห์มหาชนด้วยพระวาจาที่ไพเราะ
ได้มีเสียงกังวานแผ่ไปกว้างขวาง ทั่วทั้งเทวดาและมนุษย์
[๓๖] ข้าพเจ้าได้ฟังเสียงกึกก้องแล้ว
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระสุรเสียง
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
แล้วได้ไหว้พระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๓๗] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในพระพุทธเจ้า
[๓๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัททสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัททสัญญกเถราปทานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๒. อารักขาทายกวรรค] ๘. ติรังสิยเถราปทาน
๘. ติรังสิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติรังสิยเถระ
(พระติรังสิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๙] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ประทับนั่งอยู่ระหว่างภูเขา ดุจราชสีห์ผู้มีชาติสูง
ทรงทำทิศให้สว่างไสวดังกองไฟบนภูเขา
[๔๐] และได้เห็นแสงสว่างของดวงอาทิตย์
แสงสว่างของดวงจันทร์
และแสงสว่างของพระพุทธเจ้า จึงเกิดปีติซาบซ่าน
[๔๑] ครั้นข้าพเจ้าได้เห็นแสงสว่าง ๓ ประการแล้ว
จึงทำหนังสัตว์เฉวียงบ่า
กล่าวสรรเสริญพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[๔๒] ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์
และพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
สิ่งทั้ง ๓ นี้แล ส่องแสงสว่างในโลก
บรรเทาความมืดในโลก
[๔๓] ข้าพเจ้ายกข้ออุปมาขึ้นสรรเสริญพระมหามุนี
ครั้นข้าพเจ้าสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าแล้ว
ไปบันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอดกัปหนึ่ง
[๔๔] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้สรรเสริญพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสรรเสริญ
[๔๕] ในกัปที่ ๖๑ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าญาณธระ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๒. อารักขาทายกวรรค] ๙. นาลิปุปผิยเถราปทาน
[๔๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติรังสิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติรังสิยเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. นาลิปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนาลิปุปผิยเถระ
(พระนาลิปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นชาวนาอาศัยอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำสินธุ
ขวนขวายในการงานของผู้อื่น
อาศัยอาหารของผู้อื่นเลี้ยงชีวิต
[๔๘] ข้าพเจ้าเที่ยวไปตามแม่น้ำสินธุ
ได้เห็นพระผู้มีพระภาคชินเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
กำลังประทับนั่งเข้าสมาธิอยู่ ดังดอกบัวบาน
[๔๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เด็ดดอกบัวพร้อมทั้งก้าน ๗ ดอกที่ขั้ว
โปรยบูชาเหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของพระอาทิตย์
[๕๐] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
มีพระหฤทัยมั่นคงในการเกื้อกูล
กระทบกระทั่งได้ยาก
ดุจช้างมาตังคะตกมัน ๓ แห่ง
[๕๑] มีปัญญารักษาพระองค์ ทรงอบรมอินทรีย์แล้ว
ข้าพเจ้าได้ประคองอัญชลีกราบไหว้พระศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๒. อารักขาทายกวรรค] ๑๐. กุมุทมาลิยเถราปทาน
[๕๒] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๕๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนาลิปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นาลิปุปผิยเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. กุมุทมาลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกุมุทมาลิยเถระ
(พระกุมุทมาลิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๔] พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีความเพียรมาก
พระนามว่าวิปัสสี ผู้องอาจ ประเสริฐ แกล้วกล้า
ทรงชนะวิเศษ แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ดุจพญาราชสีห์ผู้มีชาติสูง
[๕๕] ผู้สมควรรับเครื่องบูชา กำลังเสด็จดำเนินอยู่ที่ถนน
จึงถือพวงดอกโกมุทไปโปรยลงบูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๕๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๒. อารักขาทายกวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๕๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกุมุทมาลิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กุมุทมาลิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
อารักขทายกวรรคที่ ๓๒ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อารักขทายกเถราปทาน ๒. โภชนทายกเถราปทาน
๓. คตสัญญกเถราปทาน ๔. สัตตปทุมิยเถราปทาน
๕. ปุปผาสนทายกเถราปทาน ๖. อาสนสันถวิกเถราปทาน
๗. สัททสัญญกเถราปทาน ๘. ติรังสิยเถราปทาน
๙. นาลิปุปผิยเถราปทาน ๑๐. กุมุทมาลิยเถราปทาน

มีคาถา ๕๗ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] ๑. อุมาปุปผิยเถราปทาน
๓๓. อุมาปุปผิยวรรค
หมวดว่าด้วยพระอุมาปุปผิยะเป็นต้น
๑. อุมาปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุมาปุปผิยเถระ
(พระอุมาปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้ ผู้เป็นนรชนผู้สูงสุด
มีพระหฤทัยมั่นคง ไม่หวั่นไหว กำลังเข้าสมาธิแล้ว
[๒] จึงได้ถือดอกสามหาวไปบูชาพระพุทธเจ้า
ดอกสามหาวทั้งหมดมียอดรวมกัน
ขั้วชี้ขึ้นข้างบน ดอกย้อยลงข้างล่าง
[๓] เป็นเครื่องลาดดอกไม้ประดิษฐานอยู่ในอากาศ
เป็นเหมือนมีจิตดี ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต
[๔] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๕] ในกัปที่ ๕๕ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งพระนามว่าสมันตฉทนะ
ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีพลานุภาพมาก
[๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุมาปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุมาปุปผิยเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] ๒. ปุฬินปูชกเถราปทาน
๒. ปุฬินปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุฬินปูชกเถระ
(พระปุฬินปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗] พระศาสดาผู้องอาจกว่านรชน สว่างไสวเหมือนดอกรกฟ้า
สง่างามอยู่เหมือนม้าอาชาไนย ผู้องอาจ
ดุจดาวประกายพรึกรุ่งโรจน์อยู่
[๘] ข้าพเจ้าจึงได้ประคองอัญชลี กราบไหว้พระศาสดา
สรรเสริญพระศาสดา พอใจการกระทำของตน
[๙] ข้าพเจ้าหยิบทรายขาวบริสุทธิ์กำมือหนึ่ง
ใส่ห่อพกมาโปรยลงที่ทางเสด็จดำเนิน
ของพระศาสดาพระนามว่าวิปัสสี
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๑๐] แต่นั้น ข้าพเจ้ามีใจผ่องใสแบ่งทรายครึ่งหนึ่ง
โปรยลงในที่พักกลางวันของพระองค์
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[๑๑] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้โปรยทรายไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการโปรยทราย
[๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุฬินปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุฬินปูชกเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] ๔. ยัญญสามิกเถราปทาน
๓. หาสชนกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระหาสชนกเถระ
(พระหาสชนกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓] ข้าพเจ้าได้เห็นผ้าบังสุกุลของพระศาสดาคล้องอยู่ที่ยอดไม้
จึงประนมมือ แล้วเปล่งวาจาขึ้นอย่างดัง
[๑๔] ความยินดีเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าเพราะได้เห็นแต่ไกล
ข้าพเจ้าประนมมือแล้ว ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง
[๑๕] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในพระพุทธเจ้า
[๑๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระหาสชนกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
หาสชนกเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. ยัญญสามิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระยัญญสามิกเถระ
(พระยัญญสามิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๗] ข้าพเจ้ามีอายุ ๗ ขวบ เป็นผู้จบมนตร์
ได้ดำรงวงศ์ตระกูล ได้ตระเตรียมพิธีบูชายัญ
[๑๘] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าจะฆ่าสัตว์เลี้ยง ๘๔,๐๐๐ ตัว
จึงให้คนจับผูกไว้ที่หลักไม้แก่น ตระเตรียมเพื่อจะบูชายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] ๔. ยัญญสามิกเถราปทาน
[๑๙] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้มีพระรัศมีเรืองรองดุจถ่านไม้ตะเคียน กระทบที่ปากเบ้า
เหมือนดวงอาทิตย์อุทัย (และ) เหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญ
[๒๐] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ให้สำเร็จประโยชน์ทุกอย่าง
ผู้มีประโยชน์เกื้อกูลอันไตรโลกบูชา
เสด็จเข้ามาหาแล้ว ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๒๑] กุมาร เราพอใจการไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง
การงดเว้นจากการลักขโมย
จากการประพฤตินอกใจ
และจากการดื่มน้ำเมา
[๒๒] คือความยินดีในการประพฤติสม่ำเสมอ
ความเป็นพหูสูต และความเป็นผู้กตัญญู
ธรรมเหล่านี้บัณฑิตก็สรรเสริญทั้งในปัจจุบันและอนาคต
[๒๓] ท่านเจริญธรรมเหล่านี้
ยินดีในความเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าแล้ว
จงเจริญมรรคที่สูงสุดเถิด
[๒๔] พระสัพพัญญูผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน ครั้นตรัสดังนี้
ทรงพร่ำสอนข้าพเจ้าอย่างนี้แล้ว เสด็จเหาะขึ้นสู่อากาศ
[๒๕] ข้าพเจ้าชำระจิตให้บริสุทธิ์ก่อนแล้ว
ทำจิตให้เลื่อมใสในภายหลัง
ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] ๕. นิมิตตสัญญกเถราปทาน
[๒๖] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในพระพุทธเจ้า
[๒๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระยัญญสามิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ยัญญสามิกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. นิมิตตสัญญกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนิมิตตสัญญกเถระ
(พระนิมิตตสัญญกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๘] ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ในอาศรมใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
ได้เห็นกวางทองกำลังเดินอยู่ในป่า
[๒๙] จึงทำจิตให้เลื่อมใส(ชื่นชม)ในกวางทอง
แล้วระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้เจริญที่สุดในโลก
ข้าพเจ้าหวนระลึกถึงพระพุทธเจ้าเหล่าอื่น
[๓๐] คือพระพุทธเจ้าในอดีต
พระพุทธเจ้าในปัจจุบัน และพระพุทธเจ้าในอนาคต
พระพุทธเจ้า ๓ จำพวกนั้น
ย่อมไพโรจน์ดุจพญาเนื้อ
[๓๑] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ความทรงจำไว้ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] ๖. อันนสังสาวกเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความทรงจำในพระพุทธเจ้า
[๓๒] ในกัปที่ ๒๗ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งมีพระนามว่าอรัญญสัตตะ
เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีพลานุภาพมาก
[๓๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนิมิตตสัญญกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นิมิตตสัญญกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. อันนสังสาวกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอันนสังสาวกเถระ
(พระอันนสังสาวกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
ผู้เสด็จไประหว่างร้านตลาด ผู้เช่นกับทองคำมีค่า
มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ
[๓๕] พระนามว่าสิทธัตถะ ผู้ให้ประโยชน์ทุกอย่างสำเร็จ
ผู้ไม่ทรงหวั่นไหว ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
ข้าพเจ้าน้อมนมัสการแล้ว
ทูลนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มหามุนีให้เสวยแล้ว
[๓๖] ครั้งนั้น พระมุนีผู้ประกอบด้วยพระกรุณาในโลก
ได้ทำให้ข้าพเจ้าแจ่มใส
ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าแล้ว
ไปบันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอดหนึ่งกัป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] ๗. นิคคุณฑิปุปผิยเถราปทาน
[๓๗] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายภิกษา
[๓๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอันนสังสาวกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อันนสังสาวกเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. นิคคุณฑิปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนิคคุณฑิปุปผิยเถระ
(พระนิคคุณฑิปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๙] ในกาลใด เทวดาจะจุติจากหมู่เทพเพราะสิ้นอายุ
ในกาลนั้น เทวดาทั้งหลายผู้พลอยยินดี
ย่อมเปล่งเสียง ๓ ประการว่า
[๔๐] ท่านผู้เจริญ ท่านจากที่นี้จงไปสู่สุคติ
สู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับมนุษย์ เป็นมนุษย์แล้ว
จงได้ศรัทธาอย่างยอดเยี่ยมในพระสัทธรรม
[๔๑] ศรัทธาของท่านพึงตั้งมั่นดำรงอยู่ เป็นมูลไว้ เป็นที่พึ่ง
อย่าคลอนแคลนในพระสัทธรรม
ที่พระอริยะประกาศไว้ดีแล้วจนตลอดชีวิต
[๔๒] จงทำกุศลที่ไม่มีความเบียดเบียน
ไม่มีอุปธิทางกาย ทางวาจา ทางใจ ให้มากเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] ๗. นิคคุณฑิปุปผิยเถราปทาน
[๔๓] จงทำบุญให้ยิ่งไปกว่านั้นให้มากด้วยการให้ทาน
จงชักชวนผู้อื่นให้ตั้งมั่นในพรหมจรรย์
ซึ่งเป็นพระสัทธรรมอย่างประเสริฐ
[๔๔] ด้วยความอนุเคราะห์นี้
ในกาลใด เหล่าเทวดาผู้รู้แจ้ง
พลอยยินดีกับท่านผู้ประเสริฐซึ่งกำลังจุติว่า
ท่านเทวดา ขอท่านจงมาบ่อย ๆ นะ
[๔๕] ในกาลนั้น เมื่อหมู่เทวดามาประชุมกัน
ข้าพเจ้าเกิดความสลดใจว่า
เราจุติจากที่นี้แล้วจักไปเกิดยังกำเนิดอะไรหนอ
[๔๖] พระสมณะผู้อบรมอินทรีย์แล้ว
รู้ความสังเวชของข้าพเจ้า
ท่านประสงค์จะช่วยเหลือข้าพเจ้า
จึงมายังสำนักของข้าพเจ้า
[๔๗] ท่านมีนามว่าสุมนะ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
พระนามว่าปทุมุตตระ พร่ำสอนอรรถธรรม
ให้ข้าพเจ้าสลดใจ ในครั้งนั้น
ภาณวารที่ ๑๒ จบ

[๔๘] ข้าพเจ้าได้ฟังคำของท่านแล้ว
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
อภิวาทท่านผู้เป็นนักปราชญ์แล้ว
ก็สิ้นชีวิตลงในที่นั้น
[๔๙] ข้าพเจ้านั้น อันกุศลมูลตักเตือนแล้ว
ได้อุบัติ ณ ที่นั้นเอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] ๗. นิคคุณฑิปุปผิยเถราปทาน
ตนเมื่ออยู่ในครรภ์มารดา
ก็อยู่ในครรภ์ของมารดาคนเดิม
[๕๐] ข้าพเจ้าจุติจากกายนั้นแล้ว
ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในระหว่างนี้
ข้าพเจ้าไม่เห็นความโทมนัสในครั้งนั้นเลย
[๕๑] ข้าพเจ้าจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว
ลงสู่ครรภ์มารดา ออกจากครรภ์มารดา(คลอด)แล้ว
ไม่รู้จักทุกข์อะไร ๆ เลย
[๕๒] ข้าพเจ้ามีอายุ ๗ ขวบ ได้เข้าไปยังอาราม
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดมศากยบุตร ผู้คงที่
[๕๓] ได้เห็นภิกษุทั้งหลายผู้ทำตามคำสอนของพระศาสดา
ในปาพจน์อย่างกว้างขวาง
ในศาสนาที่ชนจำนวนมากนับถือ
[๕๔] กรุงชื่อว่าสาวัตถี พระเจ้าโกศลทรงเป็นใหญ่ในกรุงนั้น
พระองค์เสด็จไปยังต้นโพธิ์ที่ประเสริฐด้วยรถซึ่งเทียมด้วยม้า
[๕๕] ข้าพเจ้าเห็นพาหนะประเสริฐของพระเจ้าโกศลนั้นแล้ว
ระลึกถึงบุพกรรม จึงได้ประนมมือไปยังที่ประชุม
[๕๖] ข้าพเจ้ามีอายุ ๗ ขวบ ก็ได้บวชเป็นบรรพชิต
พระสาวกชื่ออานนท์ เป็นอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า
[๕๗] ท่านมีคติ มีธิติ มีสติ เป็นพหูสูต๑ มีความรุ่งเรืองมาก
ได้ถวายพระธรรมเทศนาทำพระหฤทัยของพระราชาให้ทรงเลื่อมใส

เชิงอรรถ :
๑ มีคติ ในที่นี้หมายถึงมีหลักการทรงจำพุทธพจน์ได้หมดทุกบทที่พระองค์ทรงแสดงให้ฟังในแต่ละครั้งได้หมดทุกข์บท
มีธิติ ในที่นี้หมายถึงเพียรเรียน เพียรสาธยาย เพียรทรงจำ
มีสติ ในที่นี้หมายถึงสามารถจำพระพุทธพจน์ได้เป็นเลิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] ๗. นิคคุณฑิปุปผิยเถราปทาน
[๕๘] ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมของท่านพระอานนท์แล้ว
ระลึกถึงบุพกรรมยืนอยู่ในที่นั้นเอง ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๕๙] ข้าพเจ้าห่มจีวรเฉวียงบ่า
ประคองอัญชลีไว้เหนือเศียรเกล้า
ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้เปล่งวาจานี้
[๖๐] ข้าพเจ้าถือดอกย่านทรายไปวางที่พระแท่นสีหาสน์
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์ ผู้คงที่
[๖๑] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ด้วยผลแห่งกรรมนั้น
ข้าพระองค์ละความชนะและความพ่ายแพ้ได้แล้ว
บรรลุฐานะที่ไม่หวั่นไหว
[๖๒] ในกัปที่ ๒๕,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ชาติ
มีอายุมากมายหลายอัพพุทะและนิรัพพุทะ
[๖๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนิคคุณฑิปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
นิคคุณฑิปุปผิยเถราปทานที่ ๗ จบ

เชิงอรรถ :
เป็นพหูสูต ในที่นี้หมายถึงได้เรียนพุทธพจน์โดยตรงจากพระผู้มีพระภาค ตั้งอยู่ในฐานะ “ขุนคลังปริยัติ”
ในศาสนาของพระทศพล (องฺ.เอกก.อ. ๑/๒๒๓/๒๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] ๘. สุมนาเวฬิยเถราปทาน
๘. สุมนาเวฬิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุมนาเวฬิยเถระ
(พระสุมนาเวฬิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๔] ชนทั้งปวงมาประชุมกันทำการบูชาใหญ่แด่พระผู้มีพระภาค
พระนามว่าเวสสภู ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
[๖๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าใส่ก้อนปูนขาวแล้ววางพวงมาลัยดอกมะลิไว้
บูชาข้างหน้าพระแท่นสีหาสน์
[๖๖] ชนทั้งปวงมามุงดูดอกไม้ชั้นดีเยี่ยมด้วยคิดว่า
ดอกไม้นี้ใครบูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด ผู้คงที่
[๖๗] ข้าพเจ้าได้เข้าถึงสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
เพราะจิตที่เลื่อมใสนั้น
ได้เสวยผลกรรมของตนที่ทำไว้ดีแล้วในครั้งก่อน
[๖๘] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ย่อมเป็นที่รักของปวงชน
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยดอกไม้
[๖๙] ข้าพเจ้าไม่รู้ถึงการด่าทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ
ที่ข้าพเจ้าทำแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายผู้สำรวม ผู้มีตบะ
[๗๐] ด้วยความประพฤติชอบนั้น
และด้วยการตั้งเจตจำนงไว้
ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้ที่ปวงชนบูชา
นี้เป็นผลแห่งการไม่ด่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] ๙. ปุปผฉัตติยเถราปทาน
[๗๑] ในกัปที่ ๑๑ นับจากกัปนี้ไป
ได้เป็นกษัตริย์ผู้จักรพรรดิพระนามว่าสหัสสาระ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๗๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุมนาเวฬิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุมนาเวฬิยเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. ปุปผฉัตติยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุปผฉัตติยเถระ
(พระปุปผฉัตติยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗๓] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
ทรงประกาศสัจจะ ทำสัตว์ทั้งหลายให้สงบเย็นอยู่
[๗๔] ข้าพเจ้าได้นำดอกบัว ๑๐๐ กลีบ ที่รื่นรมย์ใจ
มาทำเป็นฉัตรดอกไม้ยกขึ้นบูชาพระพุทธเจ้า
[๗๕] พระศาสดาพระนามว่าสิทธัตถะ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ประทับยืนอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
[๗๖] ผู้ใดทำจิตให้เลื่อมใส ได้กั้นฉัตรดอกไม้ให้เรา
ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
ผู้นั้นจะไม่ไปเกิดยังทุคติเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] ๑๐. สปริวารฉัตตทายกเถราปทาน
[๗๗] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ครั้นตรัสดังนี้แล้ว
ทรงส่งบริษัทไปแล้วเสด็จเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้าเวหาส
[๗๘] เมื่อพระพุทธเจ้าผู้เป็นนรชนผู้ประเสริฐเสด็จลุกขึ้น
แม้ฉัตรขาวก็ลอยขึ้นด้วย
ฉัตรที่งามเลิศลอยไปข้างหน้าของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๗๙] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยฉัตรดอกไม้
[๘๐] ในกัปที่ ๗๔ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ ชาติ มีพระนามเหมือนกันว่าชลสิขะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
[๘๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุปผฉัตติยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุปผฉัตติยเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. สปริวารฉัตตทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสปริวารฉัตตทายกเถระ
(พระสปริวารฉัตตทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึง
กล่าวว่า)
[๘๒] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ทรงโปรยฝนคือธรรมให้ตกอยู่ เหมือนน้ำฝนในอากาศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] ๑๐. สปริวารฉัตตทายกเถราปทาน
[๘๓] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์นั้นทรงแสดงอมตบทอยู่
จึงทำจิตของตนให้เลื่อมใสแล้วได้กลับไปยังเรือนของตน
[๘๔] ข้าพเจ้าถือฉัตรที่ประดับแล้ว
เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นนรชนผู้สูงสุด
ข้าพเจ้ามีจิตร่าเริงเบิกบาน ได้โยนฉัตรขึ้นไปในอากาศ
[๘๕] สาวกผู้ล้ำเลิศ ฝึกตนดุจยานที่ควบคุมดีแล้ว
เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กั้นฉัตรไว้เหนือเศียรเกล้า
[๘๖] พระพุทธเจ้าผู้อนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา
ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๘๗] ผู้ใดถวายฉัตรที่ประดับแล้วเป็นที่รื่นรมย์ใจนี้
ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น
ผู้นั้นจะไม่ไปเกิดยังทุคติเลย
[๘๘] จักได้ครองเทวสมบัติในหมู่เทวดาตลอด ๗ ชาติ
และจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๒ ชาติ
[๘๙] ต่อจากนี้ไปอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
จักทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๙๐] ผู้นั้นจักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดา
พระองค์เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
จักกำหนดรู้อาสวะทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๙๑] ข้าพเจ้าทราบพระพุทธดำรัสที่ทรงเปล่งออกมา
เป็นอาสภิวาจาแล้วก็มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
จึงเกิดความร่าเริงอย่างยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] ๑๐. สปริวารฉัตตทายกเถราปทาน
[๙๒] ข้าพเจ้าละกำเนิดมนุษย์แล้วได้ไปเกิดในกำเนิดเทวดา
วิมานของข้าพเจ้าสวยงาม สูงตระหง่าน เป็นที่รื่นรมย์ใจ
[๙๓] เมื่อข้าพเจ้าออกจากวิมาน
เทวดาทั้งหลายย่อมกั้นฉัตรขาวให้
ข้าพเจ้ากลับได้ความทรงจำในครั้งนั้น
นี้เป็นผลแห่งบุพกรรม
[๙๔] ข้าพเจ้าจุติจากเทวโลกแล้ว ได้มาเกิดเป็นมนุษย์
ในกัปที่ ๑๐๗ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๖ ชาติ
[๙๕] จุติจากกายนั้นแล้วได้ไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ท่องเที่ยวไปโดยลำดับแล้ว ได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีก
[๙๖] ชนทั้งหลายได้กั้นฉัตรขาวให้ข้าพเจ้า
ผู้ลงมาปฏิสนธิในครรภ์มารดา
ข้าพเจ้ามีอายุ ๗ ขวบ ก็ได้ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๙๗] พราหมณ์มีนามว่าสุนันทะ จบมนตร์
เขาได้ถือฉัตรมีสีดังแก้วผลึกมาถวายพระอัครสาวก
[๙๘] พระสารีบุตรผู้มีความเพียรมาก
ผู้มีวาจาน่าบูชา อนุโมทนาแล้ว
ข้าพเจ้าฟังอนุโมทนาของท่านแล้ว ระลึกถึงบุพกรรมได้
[๙๙] จึงประนมมือ ทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ระลึกถึงกรรมเก่าแล้วได้บรรลุอรหัตตผล
[๑๐๐] ลุกจากอาสนะนั้นแล้วประนมมือไว้เหนือเศียรเกล้า
ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เปล่งวาจานี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] ๑๐. สปริวารฉัตตทายกเถราปทาน
[๑๐๑] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมในโลกพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
[๑๐๒] ข้าพเจ้าถวายไตรจีวรที่สวยงามตกแต่งดีแล้วแด่พระองค์
พระสยัมภูพุทธเจ้า ผู้เป็นบุคคลผู้เลิศ
ทรงรับด้วยพระหัตถ์ทั้ง ๒
[๑๐๓] ช่างน่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้า
ช่างน่าอัศจรรย์ พระธรรม
ช่างน่าอัศจรรย์ การที่ข้าพเจ้าได้มาประจวบกับพระศาสดา
ด้วยผลแห่งการถวายฉัตรคันหนึ่ง
ข้าพเจ้าจึงไม่เข้าถึงทุคติเลย
[๑๐๔] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้ากำหนดรู้อาสวะทั้งปวงได้แล้ว
[๑๐๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสปริวารฉัตตทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วย
ประการฉะนี้
สปริวารฉัตตทายกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
อุมาปุปผิยวรรคที่ ๓๓ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๓. อุมาปุปผิยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อุมาปุปผิยเถราปทาน ๒. ปุฬินปูชกเถราปทาน
๓. หาสชนกเถราปทาน ๔. ยัญญสามิกเถราปทาน
๕. นิมิตตสัญญกเถราปทาน ๖. อันนสังสาวกเถราปทาน
๗. นิคคุณฑิปุปผิยเถราปทาน ๘. สุมนาเวฬิยเถราปทาน
๙. ปุปผฉัตติยเถราปทาน ๑๐. สปริวารฉัตตทายกเถราปทาน

มีคาถา ๑๐๗ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๔๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๑. คันธธูปิยเถราปทาน
๓๔. คันโธทกวรรค
หมวดว่าด้วยพระคันโธทกะเป็นต้น
๑. คันธธูปิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระคันธธูปิยเถระ
(พระคันธธูปิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าได้ถวายธูปหอมซึ่งอบด้วยดอกมะลิ
สมควรแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
[๒] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้เช่นกับทองที่ล้ำค่า
ทรงเป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก รุ่งเรืองดังดอกอุบลเขียว
โชติช่วงเหมือนดวงไฟใหญ่
[๓] ผู้ประเสริฐดุจเสือโคร่งและโคอุสภะ
ดุจพญาไกรสรซึ่งมีชาติสูง
เลิศกว่าสมณะทั้งหลาย
ประทับนั่งมีหมู่ภิกษุแวดล้อม
[๔] ครั้นเห็นแล้วจึงทำจิตให้เลื่อมใส
ประนมมือถวายอภิวาทพระบาทของพระศาสดา
แล้วบ่ายหน้าหลีกไปทางทิศเหนือ
[๕] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายธูปหอมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยธูปหอม
[๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระคันธธูปิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
คันธธูปิยเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๒. อุทกปูชกเถราปทาน
๒. อุทกปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุทกปูชกเถระ
(พระอุทกปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
รุ่งเรืองดังดวงไฟ โชติช่วงดังดวงไฟใหญ่เสด็จเหาะไปในอากาศ
[๘] ข้าพเจ้าจึงใช้ฝ่ามือกอบน้ำแล้วซัดขึ้นไปบนอากาศ
พระพุทธเจ้าผู้มีความเพียรมาก
ทรงประกอบด้วยพระกรุณา เป็นพระฤๅษี ทรงรับแล้ว
[๙] พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ
ประทับยืนอยู่ในอากาศ
ทรงทราบความคิดของข้าพระองค์
จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
[๑๐] ด้วยผลแห่งการถวายน้ำ
และด้วยผลแห่งการทำปีติให้เกิดขึ้นนี้
ท่านจะไม่ไปเกิดในทุคติเลยแม้ตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๑๑] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทวดาและมนุษย์
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
ด้วยกรรมนั้น ข้าพระองค์ละความชนะและความพ่ายแพ้ได้แล้ว
บรรลุถึงฐานะที่ไม่หวั่นไหว
[๑๒] ในกัปที่ ๑๖๕ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓ ชาติ
มีนามว่าสหัสสราช
เป็นใหญ่ในหมู่ชน มีมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๓. ปุนนาคปุปผิยเถราปทาน
[๑๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุทกปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุทกปูชกเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. ปุนนาคปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุนนาคปุปผิยเถระ
(พระปุนนาคปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๔] ข้าพเจ้าเป็นนายพราน เข้าไปอยู่ในป่าใหญ่
ได้พบต้นบุนนาคมีดอกบานสะพรั่ง
จึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๑๕] ข้าพเจ้าได้เลือกเก็บดอกบุนนาคนั้น
เฉพาะที่มีกลิ่นหอม
สวยงามแล้วก่อสถูปบนเนินทราย
ยกขึ้นบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๖] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๗] ในกัปที่ ๙๑ (นับจากกัปนี้ไป)
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิองค์หนึ่งนามว่าตโมนุทะ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๔. เอกทุสสทายกเถราปทาน
[๑๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุนนาคปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุนนาคปุปผิยเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. เอกทุสสทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกทุสสทายกเถระ
(พระเอกทุสสทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๙] ข้าพเจ้าเป็นคนเกี่ยวหญ้าขายอยู่ในกรุงหงสวดี
เลี้ยงชีวิตและเลี้ยงภรรยาด้วยการเกี่ยวหญ้าขายนั้น
[๒๐] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง
เป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จอุบัติขึ้นทำลายความมืดให้พินาศไป
[๒๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้านั่งอยู่ในเรือนของตนคิดอย่างนี้ว่า
พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว
แต่ไทยธรรมของเราไม่มีเลย
[๒๒] เรามีแต่ผ้าสาฎกผืนเดียวนี้ ไม่มีใครให้(อะไร)แก่เรา
การสัมผัสถูกต้องนรก(ตกนรก) เป็นทุกข์
เราจักปลูกฝังทักษิณาทานไว้
[๒๓] ครั้นคิดอย่างนี้แล้ว จึงทำจิตของตนให้เลื่อมใส
ได้ถือผ้าผืนหนึ่งไปถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๔. เอกทุสสทายกเถราปทาน
[๒๔] ครั้นถวายผ้าผืนนั้นแล้วได้ประกาศก้องขึ้นว่า
ข้าแต่พระมหามุนีวีรเจ้า ถ้าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า
ขอได้ทรงโปรดช่วยข้าพระองค์ให้ข้าม(วัฏสงสาร) ด้วยเถิด
[๒๕] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
เมื่อจะทรงสรรเสริญทานของข้าพเจ้า
ได้ทรงทำอนุโมทนาแก่ข้าพเจ้าว่า
[๒๖] ด้วยผลแห่งการถวายผ้าผืนเดียวนี้
และด้วยการตั้งเจตจำนงไว้
ผู้นี้จะไม่ตกวินิบาตนรกเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๒๗] จักเกิดเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๓๖ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๓ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ นับชาติไม่ถ้วน
[๒๘] ท่านเมื่อเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในเทวโลกหรือในมนุษยโลก
จักเป็นผู้มีรูปงาม สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ
มีกายน่าใคร่ยิ่งนัก ผ้านับไม่ได้ ประมาณมิได้
จักเกิดมีตามความปรารถนา
[๒๙] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เป็นนักปราชญ์ ครั้นตรัสดังนี้แล้ว
เสด็จเหาะขึ้นสู่อากาศ ดุจพญาหงส์ในท้องฟ้า
[๓๐] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ความพร่องในโภคสมบัติไม่มีแก่ข้าพเจ้าเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้าผืนหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๔. เอกทุสสทายกเถราปทาน
[๓๑] ผ้าย่อมบังเกิดแก่ข้าพเจ้าทุก ๆ ย่างเท้า
เบื้องล่างข้าพเจ้ายืนอยู่บนผ้า
เบื้องบนข้าพเจ้ามีผ้าเป็นหลังคา
[๓๒] วันนี้ ถ้าข้าพเจ้าปรารถนา ก็จะพึงใช้ผ้าปกปิด
กระทั่งจักรวาลพร้อมทั้งป่า พร้อมทั้งภูเขาได้
[๓๓] ด้วยผลแห่งการถวายผ้าผืนเดียวนั้นนั่นแล
เมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
เป็นผู้มีผิวพรรณดังทองคำ
จะเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่
[๓๔] ผลแห่งการถวายผ้าผืนเดียวไม่ถึงความสิ้นไปในที่ไหน ๆ
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของข้าพเจ้า
ผ้าย่อมให้ผลแก่ข้าพเจ้าแม้ในชาตินี้
[๓๕] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้าผืนเดียว
[๓๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างไม่มีอาสวะ
ดุจช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกทุสสทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
เอกทุสสทายกเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๕. ผุสิตกัมมิยเถราปทาน
๕. ผุสิตกัมมิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระผุสิตกัมมิยเถระ
(พระผุสิตกัมมิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๘] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
พร้อมด้วยพระขีณาสพทั้งหลาย ประทับอยู่ ณ สังฆาราม
[๓๙] พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสีนั้น
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จออกจากประตูอาราม ได้ประทับยืน
พร้อมด้วยพระขีณาสพ ๑๐๐,๐๐๐ องค์
[๔๐] ข้าพเจ้านุ่งหนังสัตว์และห่มผ้าเปลือกไม้
ถือน้ำเจือดอกโกสุม เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๔๑] ทำจิตของตนให้เลื่อมใส เกิดโสมนัส ประคองอัญชลี
ถือน้ำเจือดอกโกสุมไปประพรมพระพุทธเจ้า
[๔๒] ด้วยกรรมนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงสรรเสริญกรรมของข้าพเจ้าแล้ว
ได้เสด็จไปตามพระประสงค์
[๔๓] ข้าพเจ้าได้บูชาพระชินเจ้าด้วยน้ำซึ่งกำหนดได้ ๕,๐๐๐ หยด
ได้ครองเทวสมบัติเพราะน้ำ ๒,๕๐๐ หยด
[๔๔] ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเพราะน้ำ ๒,๕๐๐ หยด
ได้บรรลุอรหัตตผลด้วยกรรมที่เหลือ
[๔๕] ในกาลที่ข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ก็มีนามว่าผุสิตะ ในกาลที่ข้าพเจ้าเป็นท้าวเทวราช
คำว่า ผุสิตะ นั้นแล เป็นชื่อของข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๕. ผุสิตกัมมิยเถราปทาน
[๔๖] เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
หยดน้ำย่อมตกโดยรอบข้าพเจ้าข้างละหนึ่งวา
[๔๗] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าเป็นผู้สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว
นี้เป็นผลแห่งหยดน้ำ
[๔๘] กายของข้าพเจ้ามีกลิ่นหอมฟุ้งไปเหมือนกลิ่นจันทน์
กลิ่นหอมที่ออกจากร่างกายของข้าพเจ้า
ฟุ้งไป ๒๕๐ ชั่วธนู
[๔๙] ชนทั้งหลายสูดกลิ่นหอมอบอวล
ที่ประกอบด้วยบุญกรรมแล้ว
ย่อมรู้ได้ทันทีว่า พระเจ้าผุสิตะ เสด็จมา ณ ที่นี้
[๕๐] กิ่งไม้ ใบไม้ ท่อนไม้ และแม้กระทั่งหญ้า
ทุกชนิด (ดังจะ) รู้ความดำริของข้าพเจ้า
ย่อมสำเร็จเป็นกลิ่นหอมทันที
[๕๑] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ไม้จันทน์บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยหยดน้ำ
[๕๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระผุสิตกัมมิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ผุสิตกัมมิยเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๖. ปภังกรเถราปทาน
๖. ปภังกรเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปภังกรเถระ
(พระปภังกรเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๓] พระเจดีย์ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
มีอยู่ในป่าใหญ่ซึ่งพลุกพล่านด้วยเนื้อร้าย
[๕๔] ใคร ๆ ไม่อาจจะไปกราบไหว้พระเจดีย์ได้
พระเจดีย์ถูกหญ้า ต้นไม้ และเถาวัลย์ปกคลุม จึงหักพังลง
[๕๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นคนทำการงานในป่า พร้อมบิดาและปู่
จึงได้เห็นพระสถูปหักพัง
รกไปด้วยหญ้าและเถาวัลย์ ในป่าใหญ่
[๕๖] ครั้นได้เห็นพระสถูปของพระพุทธเจ้าแล้ว
ตั้งจิตเคารพไว้ว่า
พระสถูปนี้ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด หักพังอยู่ในป่า
[๕๗] พระสถูปไม่มีอะไรบังแดดฝน
ไม่(อยู่ในที่)เหมาะสมแก่คนที่รู้คุณและมิใช่คุณ
เรายังไม่ได้ทำความสะอาดพระสถูปของพระพุทธเจ้า
จะไม่ประกอบการงานอย่างอื่น
[๕๘] ข้าพเจ้าแผ้วถางหญ้า ต้นไม้ และเถาวัลย์ที่พระเจดีย์เสร็จแล้ว
คุกเข่าไหว้ครบ ๘ ครั้งแล้วก็กลับไป
[๕๙] ด้วยกุศลกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้แล้วนั้น
และด้วยการตั้งเจตจำนงไว้
ข้าพเจ้าละร่างกายมนุษย์แล้ว
ได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๖. ปภังกรเถราปทาน
[๖๐] วิมานทองที่บุญกรรมสร้างไว้อย่างดีในภพดาวดึงส์นั้น
สวยงาม สีเลื่อมประภัสสร สูง ๖๐ โยชน์ กว้าง ๓๐ โยชน์
[๖๑] ข้าพเจ้าได้ครองเทวสมบัติ ๓๐๐ ชาติ
และได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๕ ชาติ
[๖๒] เมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ย่อมได้โภคสมบัติมาก
ข้าพเจ้าไม่มีความบกพร่องในโภคสมบัติ
นี้เป็นผลแห่งการแผ้วถาง
[๖๓] เมื่อข้าพเจ้านั่งคานหามหรือขี่คอช้าง
ไปในป่าใหญ่ ไปยังทิศใด ๆ
ในทิศนั้น ๆ ป่าย่อมสำเร็จเป็นที่พึ่งได้
[๖๔] ข้าพเจ้าประกอบด้วยบุญกรรมไม่พบเห็นตอหรือหนามเลย
บุญกรรมนำ(ตอหรือหนาม) ออกไปเอง
[๖๕] โรคเรื้อน ฝี กลาก โรคลมบ้าหมู คุดทะราด
หิดเปื่อย และหิดด้าน ไม่มีแก่ข้าพเจ้า
นี้เป็นผลแห่งการแผ้วถาง
[๖๖] เพราะข้าพเจ้าแผ้วถางพระสถูปของพระพุทธเจ้า
ความอัศจรรย์อย่างอื่นยังมีอีก
ข้าพเจ้าไม่รู้สึกว่าจะมีต่อมฝี
หยาดน้ำเหลือง เกิดที่กายของข้าพเจ้าเลย
[๖๗] เพราะข้าพเจ้าแผ้วถางพระสถูปของพระพุทธเจ้า
ความอัศจรรย์อย่างอื่นยังมีอีก
ข้าพเจ้าได้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ๒ ภพ
คือในภพเทวดาหรือภพมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๖. ปภังกรเถราปทาน
[๖๘] เพราะข้าพเจ้าแผ้วถางพระสถูปของพระพุทธเจ้า
ความอัศจรรย์อย่างอื่นยังมีอีก
ข้าพเจ้าเป็นผู้มีผิวพรรณดังทองคำ
เป็นผู้มีรัศมีในที่ทั้งปวง
[๖๙] เพราะข้าพเจ้าแผ้วถางพระสถูปของพระพุทธเจ้า
ความอัศจรรย์อย่างอื่นยังมีอีก
สิ่งที่ไม่น่าชอบใจย่อมไม่มี
สิ่งที่น่าชอบใจย่อมผุดขึ้นรออยู่
[๗๐] เพราะข้าพเจ้าแผ้วถางพระสถูปของพระพุทธเจ้า
ความอัศจรรย์อย่างอื่นยังมีอีก
จิตของข้าพเจ้าเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์
มีอารมณ์เดียวตั้งมั่นด้วยดี
[๗๑] เพราะข้าพเจ้าแผ้วถางพระสถูปของพระพุทธเจ้า
ความอัศจรรย์อย่างอื่นยังมีอีก
ข้าพเจ้านั่งบนอาสนะเดียวก็ได้บรรลุอรหัตตผล
[๗๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการแผ้วถาง
[๗๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปภังกรเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปภังกรเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๗. ติณกุฏิทายกเถราปทาน
๗. ติณกุฏิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติณกุฏิทายกเถระ
(พระติณกุฏิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗๔] ข้าพเจ้าเป็นคนรับจ้างทำงานของผู้อื่น
ขวนขวายในการงานของผู้อื่น
อาศัยอาหารของผู้อื่นเลี้ยงชีพ อยู่ในกรุงพันธุมดี
[๗๕] ในครั้งนั้น ข้าพเจ้านั่งอยู่ในที่เร้นแล้ว คิดอย่างนี้ว่า
พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว
แต่การสร้างบุญกุศลของเรายังไม่มี
[๗๖] บัดนี้ เป็นเวลาสมควรที่เราจะชำระคติ
ถึงเวลาของเราแล้ว การสัมผัสถูกต้องนรกเป็นทุกข์
แก่สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่มีบุญเป็นแน่แท้
[๗๗] ครั้นข้าพเจ้าคิดอย่างนี้แล้ว
จึงเข้าไปหาเจ้าของงาน
ขอหยุดงาน ๑ วันแล้วเข้าไปยังป่าใหญ่
[๗๘] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าขนหญ้า ไม้ และเถาวัลย์มาแล้ว
ตั้งไม้เป็น ๓ เส้า ได้สร้างเป็นกุฎีหญ้า
[๗๙] ข้าพเจ้าได้มอบถวายกุฎีนั้นเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์
แล้วกลับมาหาเจ้าของงานในวันนั้นนั่นเอง
[๘๐] ด้วยกุศลกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้แล้วนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
วิมานที่บุญกรรมเนรมิตสร้างไว้อย่างดี
เพื่อข้าพเจ้าในภพดาวดึงส์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๗. ติณกุฏิทายกเถราปทาน
[๘๑] ปราสาท ๑๐๐ ชั้น สูง ๑,๐๐๐ ชั่วลูกธนู
สะพรั่งไปด้วยธง พราวไปด้วยแก้วมณีสีเขียว
และป้อม ๑๐๐,๐๐๐ ป้อม
ปรากฏในวิมานของข้าพเจ้า๑
[๘๒] ข้าพเจ้าเกิดในกำเนิดใด ๆ
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ ปราสาท(ดังจะ)
รู้ความดำริของข้าพเจ้าผุดขึ้น
[๘๓] ความกลัว ความครั่นคร้าม หรือขนลุกชูชัน
ย่อมไม่มีแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าไม่รู้สึกสะดุ้งหวาดเสียวเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายกุฎีหญ้า
[๘๔] ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาใน
และเสือดาว ทั้งหมดก็ละเว้นข้าพเจ้า
นี้เป็นผลแห่งการถวายกุฎีหญ้า
[๘๕] สัตว์เลื้อยคลาน ภูตผีปีศาจ งู กุมภัณฑ์
และผีเสื้อน้ำ แม้เหล่านั้น ก็ละเว้นข้าพเจ้า
นี้เป็นผลแห่งการถวายกุฎีหญ้า
[๘๖] ข้าพเจ้าระลึกไม่ได้ว่าจะได้เห็นความฝันอันชั่วช้า
สติของข้าพเจ้าตั้งมั่น
นี้เป็นผลแห่งการถวายกุฎีหญ้า
[๘๗] เพราะการถวายกุฎีหญ้านั้นแล
ข้าพเจ้าจึงได้เสวยสมบัติ
ได้กระทำให้แจ้งซึ่งธรรม
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบ ขุ.เถร.อ. ๑/๑๔๓/๑๖๔, ขุ.ชา.อ. ๔/๔๑/๖๗, มงฺคลตฺถ. ๑/๑๓๙/๑๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๘. อุตตเรยยทายกเถราปทาน
[๘๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายกุฎีหญ้า
[๘๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติณกุฏิทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติณกุฏิทายกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. อุตตเรยยทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุตตเรยยทายกเถระ
(พระอุตตเรยยทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๙๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์ผู้คงแก่เรียน
ทรงจำมนตร์ จบไตรเพท อยู่ในกรุงหงสวดี
[๙๑] เวลานั้น ข้าพเจ้ามีพวกศิษย์ของตนแวดล้อม
เป็นคนมีตระกูล ศึกษาดี
ออกไปจากกรุงเพื่อต้องการจะรดน้ำ
[๙๒] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก
ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง
เสด็จเข้ามายังกรุงพร้อมกับพระขีณาสพหลายพันองค์
[๙๓] ข้าพเจ้าเห็นพระองค์มีพระรูปงามยิ่งนัก
ไม่หวั่นไหวเหมือนรูปที่เขาหล่อไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๘. อุตตเรยยทายกเถราปทาน
มีพระอรหันต์ทั้งหลายแวดล้อม
ครั้นแล้วได้ทำจิตให้เลื่อมใส
[๙๔] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ประนมมือไว้เหนือเศียรเกล้า
นมัสการพระองค์ผู้มีวัตรงามแล้ว ได้ถวายผ้าห่ม
[๙๕] ข้าพเจ้าประคองผ้าสาฎกด้วยมือทั้ง ๒ แล้วยกขึ้น
ผ้าสาฎกปกปิด(บังแดดฝน)ตลอดทั่วพุทธบริษัท
[๙๖] เมื่อหมู่ภิกษุเป็นต้นจำนวนมาก
เที่ยวจาริกไปบิณฑบาตในเวลานั้น
ผ้าสาฎกได้กั้นเป็นหลังคา ยังข้าพเจ้าให้ร่าเริง
[๙๗] เมื่อหมู่ภิกษุเป็นต้นจะออกจากเรือน
พระศาสดาผู้เป็นพระสยัมภู ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศ
ประทับยืนอยู่ที่ถนนได้ทรงทำอนุโมทนาว่า
[๙๘] เราจักพยากรณ์ผู้ที่มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ถวายผ้าสาฎกแก่เรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๙๙] ผู้นั้นจักรื่นรมย์ในเทวโลก ๓๐,๐๐๐ กัป
จักเป็นจอมเทพครองเทวราชสมบัติในเทวโลก ๕๐ ชาติ
[๑๐๐] เมื่อเขาผู้พรั่งพร้อมด้วยบุญกรรมอยู่ในเทวโลก
จักมีผ้าเป็นหลังคาบังแดดฝนตลอด ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ
[๑๐๑] และจักเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๖ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๑๐๒] เมื่อเขาผู้พรั่งพร้อมด้วยบุญกรรม
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ
สิ่งที่เขาปรารถนาด้วยใจทุกอย่างจักบังเกิดขึ้นทันที

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๘. อุตตเรยยทายกเถราปทาน
[๑๐๓] คนผู้นี้จักได้ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าเปลือกไม้
ผ้าฝ้าย และผ้าทั้งหลาย ซึ่งมีค่ามาก
[๑๐๔] คนผู้นี้จักได้สิ่งที่ตนปรารถนาด้วยใจทุกอย่าง
จักเสวยวิบากแห่งผ้าผืนเดียว ในกาลทุกเมื่อ
[๑๐๕] ภายหลังเขาอันกุศลมูลตักเตือนแล้วจักออกบวช
จักกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๑๐๖] น่าปลื้มใจ ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ดีแล้ว
แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
จึงได้บรรลุอมตบทเพราะถวายผ้าสาฎกผืนเดียว
[๑๐๗] ผ้าเป็นหลังคาบังแดดฝนให้แก่ข้าพเจ้าผู้อยู่ในมณฑป
ที่โคนไม้หรือในเรือนว่าง โดยรอบ ข้างละ ๑ วา
[๑๐๘] ข้าพเจ้านุ่งห่มจีวรและใช้สอยปัจจัย
ซึ่งไม่ได้ทำวิญญัติ(ไม่ได้ออกปากขอมา)ได้ข้าวและน้ำ
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้าห่มผืนเดียว
[๑๐๙] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้า
[๑๑๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุตตเรยยทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
อุตตเรยยทายกเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๙. ธัมมัสสวินิยเถราปทาน
๙. ธัมมัสสวนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระธัมมสวนิยเถระ
(พระธัมมัสสวนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๑๑] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง
ทรงประกาศสัจจะ ๔
ทรงช่วยชนจำนวนมากให้ข้ามพ้น(วัฏสงสาร)
[๑๑๒] สมัยนั้น ข้าพเจ้าเป็นชฎิลมีตบะแก่กล้า
สลัดผ้าเปลือกไม้ เหาะไปในท้องฟ้า ในครั้งนั้น
[๑๑๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าไม่อาจจะไปในเบื้องบน
แห่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดได้
เวลานั้นข้าพเจ้าเป็นเหมือนนกชนหน้าผา(หิน)บินไปไม่ได้
[๑๑๔] ความเป็นไปที่ผิดแปลกเช่นนี้ไม่เคยมีแก่ข้าพเจ้าเลย
ข้าพเจ้าเหาะไปในท้องฟ้า เหมือนลืมตาไปในน้ำ
[๑๑๕] (ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีความคิดว่า)ก็มนุษย์ซึ่งเป็นผู้ประเสริฐ
จักมีอยู่ภายใต้นี้กระมังหนอ
ถ้าเช่นนั้นเราจักค้นหาเขา บางทีจะพึงได้ประโยชน์บ้าง
[๑๑๖] เมื่อข้าพเจ้าลงจากอากาศ
ได้ฟังพระสุรเสียงของพระศาสดาซึ่งกำลังตรัสเรื่องอนิจจตาอยู่
ข้าพเจ้าจึงเรียนเรื่องอนิจจตานั้นในขณะนั้น
[๑๑๗] ครั้นเรียนอนิจจสัญญาแล้วได้กลับไปสู่อาศรมของตน
ข้าพเจ้าอยู่จนตลอดกำหนดอายุแล้วได้สิ้นชีวิตลง ณ ที่นั้น
[๑๑๘] เมื่อภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
ข้าพเจ้าระลึกถึงการฟังธรรมนั้นได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๙. ธัมมัสสวินิยเถราปทาน
ด้วยกุศลกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
จึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๑๙] ข้าพเจ้ารื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
ได้ครองเทวสมบัติ ๕๑ ชาติ
[๑๒๐] ได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๑ ชาติ
และเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๑๒๑] พระสมณะผู้อบรมอินทรีย์แล้ว นั่งบนเรือนของบิดา
เปล่งวาจาถึงเรื่องไม่เที่ยง แสดงเป็นคาถา
[๑๒๒] ข้าพเจ้าระลึกถึงสัญญานั้นได้
เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ยังไม่ได้รู้แจ้งที่สุดคือพระนิพพาน ซึ่งเป็นหนทางไม่จุติว่า
[๑๒๓] สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ
มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
ความสงบระงับสังขารเหล่านั้นเป็นเหตุนำความสุขมาให้
[๑๒๔] ข้าพเจ้าระลึกถึงบุพกรรมได้ พร้อมกับได้ฟังคาถา
นั่งอยู่บนอาสนะเดียวนั่นเองก็ได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว
[๑๒๕] ข้าพเจ้ามีอายุ ๗ ขวบ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล
พระพุทธเจ้าผู้มีจักษุ ทรงรู้คุณสมบัติของข้าพเจ้าแล้ว
จึงประทานอุปสมบทให้
[๑๒๖] ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กอยู่ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
วันนี้ ข้าพเจ้าจะทำกิจอะไร
ในศาสนาของพระศากยบุตรอีกเล่า
[๑๒๗] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๑๐. อุกขิตตปทุมิยเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการฟังธรรม
[๑๒๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระธัมมสวนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ธัมมัสสวนิยเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. อุกขิตตปทุมิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุกขิตตปทุมิยเถระ
(พระอุกขิตตปทุมิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๒๙] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นช่างดอกไม้อยู่ในกรุงหงสวดี
ข้าพเจ้าลงสู่สระปทุมเลือกเก็บดอกบัวอยู่
[๑๓๐] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง
พร้อมด้วยพระขีณาสพประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ รูป
ผู้จิตสงบ ผู้คงที่
[๑๓๑] ผู้สิ้นอาสวะ บริสุทธิ์ ได้อภิญญา ๖ ผู้เข้าฌาน
พระองค์ผู้เป็นบุรุษสูงสุด ทรงแสวงหาความเจริญ
แก่ข้าพเจ้า เสด็จมาแล้ว
[๑๓๒] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสยัมภูผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก จึงเด็ดดอกบัวที่ก้าน
แล้วโยนขึ้นไป (บูชา) ในอากาศในกาลนั้น
[๑๓๓] (ด้วยเปล่งวาจาว่า) ข้าแต่พระธีรเจ้า
ถ้าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] ๑๐. อุกขิตตปทุมิยเถราปทาน
องอาจกว่านรชน ขอดอกบัวจงลอยไปเอง
กั้นอยู่เหนือพระเศียรของพระองค์เองเถิด
[๑๓๔] พระมหาวีรเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก
องอาจกว่านรชน ทรงอธิษฐานแล้ว
ดอกบัวเหล่านั้นได้ลอยกั้นอยู่
เหนือพระเศียรด้วยพุทธานุภาพ
[๑๓๕] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
ได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๓๖] ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น
วิมานของข้าพเจ้าที่บุญกรรมสร้างไว้
อย่างสวยงาม เรียกชื่อว่าสัตตปัตตะ
สูง ๖๐ โยชน์ กว้าง ๓๐ โยชน์
[๑๓๗] ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๑,๐๐๐ ชาติ
ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ
[๑๓๘] และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
ข้าพเจ้าเสวยกรรมของตนที่ทำไว้ดีแล้วในปางก่อน
[๑๓๙] ด้วยผลแห่งดอกปทุมดอกเดียวนั้นแล
ข้าพเจ้าได้เสวยสมบัติแล้ว
ได้ทำให้แจ้งธรรมของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๑๔๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างไม่มีอาสวะ
ดุจช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๔. คันโธทกวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๑๔๑] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งดอกปทุมดอกเดียว
[๑๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุกขิตตปทุมิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
อุกขิตตปทุมิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
คันโธทกวรรคที่ ๓๔ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. คันธธูปิยเถราปทาน ๒. อุทกปูชกเถราปทาน
๓. ปุนนาคปุปผิยเถราปทาน ๔. เอกทุสสทายกเถราปทาน
๕. ผุสิตกัมมิยเถราปทาน ๖. ปภังกรเถราปทาน
๗. ติณกุฏิทายกเถราปทาน ๘. อุตตเรยยทายกเถราปทาน
๙. ธัมมสวนิยเถราปทาน ๑๐. อุกขิตตปทุมิยเถราปทาน

ท่านรวบรวมคาถาทั้งหมดได้ ๑๔๔ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๕. เอกปทุมวรรค] ๑. เอกปทุมิยเถราปทาน
๓๕. เอกปทุมวรรค
หมวดว่าด้วยพระเอกปทุมะเป็นต้น
๑. เอกปทุมิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกปทุมิยเถระ
(พระเอกปทุมิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง
ทรงทำให้แจ้งภพน้อยภพใหญ่
ทรงช่วยประชุมชนจำนวนมากให้ข้ามพ้น(วัฏสงสาร)
[๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นพญาหงส์
ประเสริฐกว่านกทั้งหลาย
บินโผลงยังสระน้ำแล้วเล่นอยู่อย่างสำราญใจ
[๓] ขณะนั้น พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
เสด็จเหาะมาเหนือสระน้ำ
[๔] ข้าพเจ้าได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้สยัมภู
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
จึงหักดอกบัวหลวงซึ่งน่ารื่นรมย์ใจที่ก้านแล้ว
[๕] ข้าพเจ้ามีใจผ่องใสใช้จะงอยปากคาบโยนขึ้นไปในท้องฟ้า
ได้บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๖] พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ประทับยืนอยู่ในอากาศ
ได้ทรงทำอนุโมทนาว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๕. เอกปทุมวรรค] ๒. ตีณุปปลมาลิยเถราปทาน
[๗] ด้วยดอกปทุมดอกเดียวนี้
และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
ท่านจะไม่ตกวินิบาตนรกเลยตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
[๘] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ครั้นตรัสอย่างนี้ ทรงสรรเสริญกรรมของข้าพเจ้าแล้ว
ได้เสด็จไปตามพระประสงค์
[๙] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกปทุมิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกปทุมิยเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. ตีณุปปลมาลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระตีณุปปลมาลิยเถระ
(พระตีณุปปลมาลิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๑] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นวานรอาศัยอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
ประทับนั่งอยู่ระหว่างภูเขา
[๑๒] ทรงทำทิศทั้งปวงให้สว่างไสว
ดังต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง
ทรงประกอบด้วยพระลักษณะและอนุพยัญชนะ
ครั้นได้เห็นแล้วก็มีความปลื้มใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๕. เอกปทุมวรรค] ๒. ตีณุปปลมาลิยเถราปทาน
[๑๓] ข้าพเจ้ามีจิตเบิกบาน มีใจยินดีร่าเริงด้วยปีติ
ได้ใช้ดอกอุบล ๓ ดอกขึ้นบูชาเหนือเศียรเกล้า
[๑๔] ครั้นใช้ดอกไม้บูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
เคารพนบนอบแล้วบ่ายหน้าหลีกไปทางทิศเหนือ
[๑๕] เมื่อข้าพเจ้ากำลังเดินกระโหย่งกลับด้วยใจที่ผ่องใส
จึงพลัดตกไปในระหว่างภูเขาหิน
ถึงความสิ้นชีวิตแล้ว
[๑๖] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
ได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๗] ข้าพเจ้าได้ครองเทวสมบัติตลอด ๓๐๐ ชาติ
และได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ชาติ
[๑๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระตีณุปปลมาลิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ตีณุปปลมาลิยเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๕. เอกปทุมวรรค] ๓. ธชทายกเถราปทาน
๓. ธชทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระธชทายกเถราปทาน
(พระธชทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๐] ข้าพเจ้าเห็นความสิ้นไปแห่งอุปธิกิเลสทั้ง ๓
จึงให้ยกธงขึ้นบูชาพระศาสดาพระนามว่าติสสะ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน
[๒๑] ด้วยกุศลกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้นั้น
และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
ข้าพเจ้าละกายมนุษย์แล้ว
ได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๒๒] ข้าพเจ้าได้ครองเทวสมบัติตลอด ๓๐๐ ชาติ
และได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ชาติ
[๒๓] และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
ข้าพเจ้าได้เสวยกรรมของตนที่ทำไว้ดีแล้วในครั้งก่อน
[๒๔] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายธง
[๒๕] วันนี้ ถ้าข้าพเจ้าปรารถนาก็จะพึงใช้ผ้าโขมะ
ปกปิดแผ่นดินพร้อมทั้งป่าและภูเขาได้
นี้เป็นผลแห่งกรรมที่ข้าพเจ้าทำไว้ในครั้งนั้น
[๒๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระธชทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ธชทายกเถราปทานที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๕. เอกปทุมวรรค] ๕. นฬาคาริกเถราปทาน
๔. ตีณิกิงกณิปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระตีณิกิงกณิปูชกเถระ
(พระตีณิกิงกณิปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๗] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อภูตคณะ
ข้าพเจ้าได้เห็นผ้าบังสุกุลคล้องอยู่บนยอดไม้ที่ภูเขานั้น
[๒๘] ขณะนั้น ข้าพเจ้าร่าเริง มีจิตเบิกบาน
ได้เลือกเก็บดอกหงอนไก่ ๓ ดอกมาบูชาผ้าบังสุกุล
[๒๙] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายดอกไม้ ๓ ดอก
[๓๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระตีณิกิงกณิปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ตีณิกิงกณิปูชกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. นฬาคาริกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนฬาคาริกเถระ
(พระนฬาคาริกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๑] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อหาริกะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๕. เอกปทุมวรรค] ๕. นฬาคาริกเถราปทาน
พระสยัมภูปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่านารทะ
ประทับอยู่ที่โคนไม้ ในครั้งนั้น
[๓๒] ข้าพเจ้าได้สร้างเรือนไม้อ้อ มุงด้วยหญ้า
แผ้วถางที่จงกรมแล้ว ได้ถวายแด่พระสยัมภู
[๓๓] ในกัปที่ ๑๔ ข้าพเจ้ารื่นรมย์อยู่ในเทวโลก
ได้ครองเทวสมบัติตลอด ๗๔ ชาติ
[๓๔] ได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๗ ชาติ
และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ นับชาติไม่ถ้วน
[๓๕] วิมานของข้าพเจ้าสูงลอยเด่น เหมือนสายรุ้ง
วิมานของข้าพเจ้ามีเสา ๑,๐๐๐ ต้น
มีสีเลื่อมประภัสสร (ไม่มีวิมานอื่นเสมอเหมือน)
[๓๖] ข้าพเจ้าเสวยสมบัติทั้ง ๒ แล้ว อันกุศลมูลตักเตือน
จึงออกบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๓๗] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเด็ดเดี่ยวเพื่อบำเพ็ญเพียร
สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างไม่มีอาสวะ
ดุจช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนฬาคาริกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นฬาคาริกเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๕. เอกปทุมวรรค] ๖. จัมปกปุปผิยเถราปทาน
๖. จัมปกปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจัมปกปุปผิยเถระ
(พระจัมปกปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๙] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อฉาปละ
พระพุทธเจ้าพระนามว่าสุทัสสนะ
ประทับอยู่ระหว่างภูเขา
[๔๐] ข้าพเจ้าถือดอกจำปาเหาะไปทางอากาศ
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
ผู้ข้ามโอฆกิเลสได้แล้ว ไม่มีอาสวะ
[๔๑] ขณะนั้น ข้าพเจ้าได้ยกดอกจำปา ๗ ดอกขึ้นไว้เหนือศีรษะ
บูชาพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระสยัมภู
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
[๔๒] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๔๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจัมปกปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จัมปกปุปผิยเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๕. เอกปทุมวรรค] ๘. ติณมุฏฐิทายกเถราปทาน
๗. ปทุมปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปทุมปูชกเถระ
(พระปทุมปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๔] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อโรมสะ
ก็เวลานั้นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโสภิตะ
ประทับอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง
[๔๕] ข้าพเจ้าออกจากที่อยู่มากั้นดอกบัวหลวง(บังแดด)ถวาย
ครั้นกั้นอยู่ตลอดหนึ่งวันแล้ว
จึงกลับมายังที่อยู่ตามเดิม
[๔๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๔๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปทุมปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปทุมปูชกเถราปทานที่ ๗ จบ
ภาณวารที่ ๑๓ จบ

๘. ติณมุฏฐิทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติณมุฏฐิทายกเถระ
(พระติณมุฏฐิทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๘] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์
มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อลัมพกะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๕. เอกปทุมวรรค] ๘. ติณมุฏฐิทายกเถราปทาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าอุปติสสะ
เสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง
[๔๙] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นนายพรานเนื้ออยู่ในป่าดงทึบ
ได้เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
ทรงเป็นพระสยัมภู ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
[๕๐] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีจิตผ่องใส
ได้ถวายหญ้ากำมือหนึ่งสำหรับประทับนั่งแด่พระพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พระองค์นั้น
[๕๑] ครั้นถวายแด่พระองค์ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพแล้ว
ก็ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง
ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วบ่ายหน้าหลีกไปทางทิศเหนือ
[๕๒] พอข้าพเจ้าไปได้ไม่นาน
ราชสีห์ได้เบียดเบียนข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าถูกราชสีห์ทำให้ล้มลงได้สิ้นชีวิตลงในที่นั้น
[๕๓] (เพราะ)กรรมที่ข้าพเจ้าทำแล้วในสำนักของพระพุทธเจ้า
ผู้ประเสริฐที่สุดผู้ไม่มีอาสวะ
ข้าพเจ้าจึงได้ไปเกิดยังเทวโลก
ดุจความเร็วแห่งลูกศรที่หลุดแล่นไปดีแล้ว
[๕๔] ในเทวโลกนั้น มีปราสาทงดงาม
ที่บุญกรรมเนรมิตไว้แล้วสูง ๑,๐๐๐ ชั่วธนู มี ๗ ชั้น
สะพรั่งไปด้วยธง พราวไปด้วยแก้วมณีสีเขียว
[๕๕] รัศมีของปราสาทนั้นพวยพุ่งดุจดวงอาทิตย์อุทัย
ปราสาทแออัดด้วยเหล่านางเทพกัญญา
ข้าพเจ้าบันเทิงเริงรมย์ด้วยวัตถุกามและกิเลสกาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๕. เอกปทุมวรรค] ๙. ตินทุกผลทายกเถราปทาน
[๕๖] ข้าพเจ้าอันกุศลมูลตักเตือนแล้ว
จุติจากเทวโลกมาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว
ได้บรรลุความสิ้นอาสวะ
[๕๗] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายที่นั่งไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายหญ้ากำมือหนึ่ง
[๕๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติณมุฏฐิทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ติณมุฏฐิทายกเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. ตินทุกผลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระตินทุกผลทายกเถระ
(พระตินทุกผลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าว
ว่า)
[๕๙] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้โชติช่วง
ดังดอกกรรณิการ์ ปราศจากธุลีคือกิเลส
ข้ามโอฆกิเลสได้แล้ว ไม่มีอาสวะ
ประทับนั่งอยู่ระหว่างภูเขา
[๖๐] ข้าพเจ้าเห็นต้นมะพลับกำลังมีผล
จึงหักมาพร้อมทั้งก้าน มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ถวายแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าเวสสภู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๕. เอกปทุมวรรค] ๑๐. เอกัญชลิยเถราปทาน
[๖๑] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๖๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระตินทุกผลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ตินทุกผลทายกเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. เอกัญชลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกัญชลิยเถระ
(พระเอกัญชลิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖๓] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าเรวตะ
ประทับอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำ
ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
มีพระรัศมีรุ่งเรืองดุจดวงจันทร์
[๖๔] มีพระรัศมีเรืองรองดุจถ่านไม้ตะเคียน
ที่กระทบที่ปากเบ้า
รุ่งโรจน์ดุจดาวประกายพรึก
ข้าพเจ้าได้ประคองอัญชลีไหว้ครั้งหนึ่ง
[๖๕] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ประคองอัญชลีไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๕. เอกปทุมวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการประคองอัญชลี
[๖๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกัญชลิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกัญชลิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
เอกปทุมวรรคที่ ๓๕ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. เอกปทุมิยเถราปทาน ๒. ตีณุปปลมาลิยเถราปทาน
๓. ธชทายกเถราปทาน ๔. ตีณิกิงกณิปูชกเถราปทาน
๕. นฬาคาริกเถราปทาน ๖. จัมปกปุปผิยเถราปทาน
๗. ปทุมปูชกเถราปทาน ๘. ติณมุฏฐิทายกเถราปทาน
๙. ตินทุกผลทายกเถราปทาน ๑๐. เอกัญชลิยเถราปทาน

บัณฑิตทั้งหลายคำนวณคาถาไว้ ๖๖ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๖. สัททสัญญิกวรรค] ๑. สัททสัญญิกเถราปทาน
๓๖. สัททสัญญิกวรรค
หมวดว่าด้วยพระสัททสัญญิกะเป็นต้น
๑. สัททสัญญิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัททสัญญิกเถระ
(พระสัททสัญญิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นนายพรานเนื้อ(เที่ยว)อยู่ในป่าดงทึบ
ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีหมู่เทวดาแวดล้อมในป่านั้น
[๒] ซึ่งกำลังทรงประกาศสัจจะ ๔ ช่วยเหลือมหาชน
ข้าพเจ้าได้ฟังพระดำรัส
ที่ไพเราะเปรียบด้วยเสียงนกการเวก
[๓] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในพระสุรเสียง
ของมหามุนีพระนามว่าสิขี
ผู้มีพระสุรเสียงดังพรหม เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก
ได้บรรลุความสิ้นอาสวะแล้ว
[๔] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งความเลื่อมใส
[๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัททสัญญิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัททสัญญิกเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๖. สัททสัญญิกวรรค] ๒. ยวกลาปิยเถราปทาน
๒. ยวกลาปิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระยวกลาปิยเถระ
(พระยวกลาปิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นคนทำนาข้าวเหนียวอยู่ในกรุงอรุณวดี
ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่หนทาง
จึงลาดฟ่อนข้าวเหนียวถวาย (ให้ประทับ)
[๗] พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี
ผู้ทรงอนุเคราะห์ ทรงมีพระกรุณา
เป็นผู้นำชั้นเลิศของโลก
ทรงทราบความคิดของข้าพเจ้า
จึงประทับนั่งบนเครื่องลาดฟ่อนข้าวเหนียว
[๘] ข้าพเจ้าเห็นพระองค์ผู้ปราศจากมลทิน
ผู้เพ่งพินิจมาก ผู้นำวิเศษ ประทับนั่งแล้ว
จึงเกิดความปราโมทย์ ได้สิ้นชีวิตลง ณ ที่นั้น
[๙] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการลาดฟ่อนข้าวเหนียว
[๑๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระยวกลาปิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ยวกลาปิยเถราปทานที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๖. สัททสัญญิกวรรค] ๔. สโกสกโกรัณฑทายกเถราปทาน
๓. กิงสุกปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกิงสุกปูชกเถระ
(พระกิงสุกปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๑] ข้าพเจ้าได้เห็นต้นทองกวาวมีดอกบานสะพรั่ง
จึงประนมมือ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะ
แล้วบูชาในอากาศ
[๑๒] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกิงสุกปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กิงสุกปูชกเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. สโกสกโกรัณฑทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสโกสกโกรัณฑทายกเถระ
(พระสโกสกโกรัณฑทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึง
กล่าวว่า)
[๑๔] ข้าพเจ้าได้พบรอยพระบาทที่พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลกทรงเหยียบไว้
จึงห่มหนังสัตว์เฉวียงบ่า
ได้ไหว้รอยพระบาทที่ประเสริฐแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๖. สัททสัญญิกวรรค] ๕. ทัณฑทายกเถราปทาน
[๑๕] เห็นต้นหงอนไก่งอกขึ้นอยู่บนแผ่นดินมีดอกบานสะพรั่ง
จึง(เด็ด)ถือมาพร้อมทั้งก้าน
ได้บูชารอยพระบาทที่วิจิตรด้วยลายจักร
[๑๖] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสโกสกโกรัณฑทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วย
ประการฉะนี้
สโกสกโกรัณฑทายกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. ทัณฑทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระทัณฑทายกเถระ
(พระทัณฑทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๘] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเข้าไปยังป่าดงทึบ
ตัดไม้ไผ่ ทำเป็นไม้ขอ(สำหรับแขวนสิ่งของ)นำมาถวายแก่สงฆ์
[๑๙] ข้าพเจ้ากราบไหว้ภิกษุทั้งหลายผู้มีวัตรงาม
ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น ครั้นถวายไม้ขอแล้ว
จึงบ่ายหน้าหลีกไปทางทิศเหนือ
[๒๐] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายไม้ขอไว้ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๖. สัททสัญญิกวรรค] ๖. อัมพยาคุทายกเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายไม้ขอ
[๒๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระทัณฑทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วย
ประการฉะนี้
ทัณฑทายกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. อัมพยาคุทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัมพยาคุทายกเถระ
(พระอัมพยาคุทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๒] พระสัมพุทธเจ้า๑ผู้เป็นพระสยัมภูพระนามว่าสตรังสี
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้ ออกจากสมาธิแล้ว
เสด็จเข้ามาหาข้าพเจ้าเพื่อภิกษา
[๒๓] ข้าพเจ้าเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว มีใจผ่องใส
ได้ถวายมะม่วงและข้าวยาคูแด่ท่านผู้มีใจผ่องใส ไม่มีที่สุด
[๒๔] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายมะม่วงและข้าวยาคู

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า พระสัมพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๖. สัททสัญญิกวรรค] ๗. สุปุฏกปูชกเถราปทาน
[๒๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอัมพยาคุทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
อัมพยาคุทายกเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. สุปุฏกปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุปุฏกปูชกเถระ
(พระสุปุฏกปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๖] พระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จออกจากที่พักกลางวันแล้ว
พระองค์เสด็จเที่ยวภิกษามาถึงที่พำนักของข้าพเจ้า
[๒๗] ลำดับนั้น ข้าพเจ้ามีปีติ มีใจยินดี
ได้ถวายเกลือห่อหนึ่งแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด ผู้คงที่
แล้วบันเทิงอยู่ในสวรรค์ตลอดกัปหนึ่ง
[๒๘] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายห่อเกลือไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเกลือห่อหนึ่ง
[๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุปุฏกปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุปุฏกปูชกเถราปทานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๖. สัททสัญญิกวรรค] ๙. สรณคมนิยเถราปทาน
๘. มัญจทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมัญจทายกเถระ
(พระมัญจทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๐] ข้าพเจ้าเลื่อมใส ได้ถวายเตียง ๑ ตัวด้วยมือของตน
แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่
[๓๑] ข้าพเจ้าได้ยานพาหนะคือช้าง
ยานเทียมด้วยม้า และยานทิพย์บริบูรณ์
เพราะผลแห่งการถวายเตียงนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้บรรลุความสิ้นอาสวะ
[๓๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายเตียงไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเตียง
[๓๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมัญจทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มัญจทายกเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. สรณคมนิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสรณคมนิยเถระ
(พระสรณคมนิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๔] ครั้งนั้น ภิกษุและข้าพเจ้าผู้เป็นอาชีวกลงเรือไปด้วยกัน
เมื่อเรือกำลังจะอับปาง ภิกษุได้ให้สรณะแก่ข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๖. สัททสัญญิกวรรค] ๑๐. ปิณฑปาติกเถราปทาน
[๓๕] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ภิกษุได้ให้สรณะแก่ข้าพเจ้าไว้
ข้าพเจ้าจึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถึงสรณะ
[๓๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสรณคมนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สรณคมนิยเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. ปิณฑปาติกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปิณฑปาติกเถระ
(พระปิณฑปาติกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๗] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าติสสะ
ประทับอยู่ในป่าดงทึบ
ข้าพเจ้าจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมายังมนุษยโลกนี้
ได้ถวายบิณฑบาต
[๓๘] ข้าพเจ้าครั้นถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระนามว่าติสสะ ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
ทำจิตของตนให้เลื่อมใสแล้ว ได้กลับไปยังสวรรค์ชั้นดุสิต
[๓๙] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายบิณฑบาต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๖. สัททสัญญิกวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๔๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปิณฑปาติกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปิณฑปาติกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
สัททสัญญิกวรรคที่ ๓๖ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. สัททสัญญิกเถราปทาน ๒. ยวกลาปิยเถราปทาน
๓. กิงสุกปูชกเถราปทาน ๔. สโกสกโกรัณฑทายกเถราปทาน
๕. ทัณฑทายกเถราปทาน ๖. อัมพยาคุทายกเถราปทาน
๗. สุปุฏกปูชกเถราปทาน ๘. มัญจทายกเถราปทาน
๙. สรณคมนิยเถราปทาน ๑๐. ปิณฑปาติกเถราปทาน

และมีคาถา ๔๐ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๗. มันทารวปุปผิยวรรค] ๑. มันทารวปุปผิยเถราปทาน
๓๗. มันทารวปุปผิยวรรค
หมวดว่าด้วยพระมันทารวปุปผิยะเป็นต้น
๑. มันทารวปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมันทารวปุปผิยเถระ
(พระมันทารวปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้า(แปลงร่าง)เป็นมาณพชื่อว่ามงคล
จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมายังมนุษยโลกนี้ ถือดอกมณฑารพ
[๒] มากั้นไว้เหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า
พระนามว่าวิปัสสี ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ประทับนั่งขัดสมาธิอยู่
ข้าพเจ้ากั้นอยู่ตลอด ๗ วันแล้ว
จึงกลับมายังเทวโลกอีก
[๓] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมันทารวปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
มันทารวปุปผิยเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๗. มันทารวปุปผิยวรรค] ๓. ภิสมุฬาลทายกเถราปทาน
๒. กักการุปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกักการุปุปผิยเถระเป็นต้น
(พระกักการุปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕] ข้าพเจ้าจากสวรรค์ชั้นยามาลงมายังมนุษยโลกนี้
ได้ถือดอกฟักทิพย์มาบูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ผู้มีสิริ
[๖] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกักการุปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กักการุปุปผิยเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. ภิสมุฬาลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระภิสมุฬาลทายกเถระ
(พระภิสมุฬาลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๘] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ
ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง
ทรงประสงค์วิเวก มีพระปัญญา
เสด็จมาที่สำนักของข้าพเจ้า
[๙] ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสในพระชินเจ้า
ผู้ประกอบด้วยพระมหากรุณา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๗. มันทารวปุปผิยวรรค] ๔. เกสรปุปผิยเถราปทาน
ได้ถือเหง้าบัวและรากบัวมาถวาย
แด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๑๐] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายเหง้าบัวและรากบัวไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายเหง้าบัวและรากบัว
[๑๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระภิสมุฬาลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ภิสมุฬาลทายกเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. เกสรปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเกสรปุปผิยเถระ
(พระเกสรปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นวิทยาธรอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
ได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
มีพระยศยิ่งใหญ่ กำลังเสด็จจงกรมอยู่
[๑๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าทูนดอกบุนนาค ๓ ดอกไว้บนศีรษะ
เข้าเฝ้าแล้วบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าเวสสภู
[๑๔] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๗. มันทารวปุปผิยวรรค] ๕. อังโกลปุปผิยเถราปทาน
[๑๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเกสรปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เกสรปุปผิยเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. อังโกลปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอังโกลปุปผิยเถระ
(พระอังโกลปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๖] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมะ
ประทับอยู่ที่ภูเขาจิตรกูฏ
ข้าพเจ้าได้เห็นพระสยัมภูพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล้ว จึงเข้าเฝ้า
[๑๗] ขณะนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นต้นปรูมีดอกบานสะพรั่ง
จึงเลือกเก็บแล้วนำเข้าบูชา
พระชินสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมะ
[๑๘] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอังโกลปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อังโกลปุปผิยเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๗. มันทารวปุปผิยวรรค] ๗. อุททาลกปุปผิยเถราปทาน
๖. กทัมพปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกทัมพปุปผิยเถระ
(พระกทัมพปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๐] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ ผู้เช่นกับทองคำมีค่า
มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ
กำลังเสด็จไประหว่างร้านตลาด
[๒๑] ข้าพเจ้านั่งอยู่ในปราสาทที่ประเสริฐได้เห็นพระองค์
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกจึงประคองดอกกระทุ่มบูชา
[๒๒] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกทัมพปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กทัมพปุปผิยเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. อุททาลกปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุททาลกปุปผิยเถระ
(พระอุททาลกปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๔] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุชาตะ
ประทับอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา
ข้าพเจ้าได้ถือดอกคูนไปบูชาพระองค์ ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๗. มันทารวปุปผิยวรรค] ๘. เอกจัมปกปุปผิยเถราปทาน
[๒๕] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุททาลกปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
อุททาลกปุปผิยเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. เอกจัมปกปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเอกจัมปกปุปผิยเถระ
(พระเอกจัมปกปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๗] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สงบระงับ ประทับอยู่ระหว่างภูเขา
ข้าพเจ้าถือดอกจำปาดอกหนึ่ง
เข้าไปเฝ้าพระองค์ผู้ทรงเป็นนรชนผู้สูงสุด
[๒๘] มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ใช้มือทั้ง ๒ ประคองดอกไม้ขึ้นบูชาพระปัจเจกมุนี
ผู้สูงสุด ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
[๒๙] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๗. มันทารวปุปผิยวรรค] ๙. ติมิรปุปผิยเถราปทาน
[๓๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเอกจัมปกปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เอกจัมปกปุปผิยเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. ติมิรปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติมิรปุปผิยเถระ
(พระติมิรปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๑] ข้าพเจ้าเที่ยวไปตามกระแสน้ำริมฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
เหมือนต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง
[๓๒] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ถือดอกดีหมีมาโปรยลงเหนือพระเศียร
บูชาพระปัจเจกมุนีผู้สูงสุด
[๓๓] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๓๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติมิรปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ติมิรปุปผิยเถราปทานที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๗. มันทารวปุปผิยวรรค] ๑๐. สลฬปุปผิยเถราปทาน
๑๐. สลฬปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสลฬปุปผิยเถระ
(พระสลฬปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นกินนรอาศัยอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
ขณะนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ
ทรงเป็นผู้องอาจกว่านรชน เสด็จจงกรมอยู่
[๓๖] จึงได้เลือกเก็บดอกช้างน้าวมา
ถวายแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
พระมหาวีรเจ้าทรงสูดดมกลิ่นดอกช้างน้าว
ซึ่งมีกลิ่นหอมดังดอกไม้ทิพย์
[๓๗] ขณะที่ข้าพเจ้าดูอยู่นั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ผู้มีความเพียรมาก ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงรับแล้ว สูดดมกลิ่น
[๓๘] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ถวายอภิวาทพระองค์ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์
ประคองอัญชลีแล้ว กลับขึ้นไปยังภูเขาตามเดิม
[๓๙] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๗. มันทารวปุปผิยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๔๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสลฬปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สลฬปุปผิยเถราปทานที่ ๑๐ จบ
มันทารวปุปผิยวรรคที่ ๓๗ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. มันทารวปุปผิยเถราปทาน ๒. กักการุปุปผิยเถราปทาน
๓. ภิสมุฬาลทายกเถราปทาน ๔. เกสรปุปผิยเถราปทาน
๕. อังโกลปุปผิยเถราปทาน ๖. กทัมพปุปผิยเถราปทาน
๗. อุททาลกปุปผิยเถราปทาน ๘. เอกจัมปกปุปผิยเถราปทาน
๙. ติมิรปุปผิยเถราปทาน ๑๐. สลฬปุปผิยเถราปทาน

และมีคาถา ๔๐ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๘. โพธิวันทนวรรค] ๑. โพธิวันทกเถราปทาน
๓๘. โพธิวันทนวรรค
หมวดว่าด้วยพระโพธิวันทกะเป็นต้น
๑. โพธิวันทกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโพธิวันทกเถระ
(พระโพธิวันทกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าได้เห็นต้นแคฝอย
ซึ่งงอกขึ้นบนแผ่นดินงามรุ่งเรือง
จึงห่มผ้าเฉวียงบ่าแล้วประนมมือไหว้ต้นแคฝอย
[๒] ครั้นประคองอัญชลีแล้ว
ตั้งใจเคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้บริสุทธิ์ทั้งภายในทั้งภายนอก
หลุดพ้นดีแล้ว ไม่มีอาสวะ
[๓] ข้าพเจ้าได้ไหว้ต้นแคฝอย
ดุจไหว้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ที่ชาวโลกบูชา มีพระกรุณาญาณดุจสาคร เฉพาะพระพักตร์
[๔] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ไหว้ต้นโพธิ์ไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการไหว้
[๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโพธิวันทกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โพธิวันทกเถราปทานที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๘. โพธิวันทนวรรค] ๒. ปาฏลิปุปผิยเถราปทาน
๒. ปาฏลิปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปาฏลิปุปผิยเถระ
(พระปาฏลิปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๖] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี
ผู้เป็นพระสยัมภู เป็นบุคคลผู้เลิศ
ทรงชนะมาร ห้อมล้อมด้วยพระสาวกของพระองค์
เสด็จเข้าไปยังกรุงพันธุมดี
[๗] ข้าพเจ้าห่อดอกแคฝอย ๓ ดอกไว้ที่ชายพก
ประสงค์จะอาบน้ำดำเกล้า จึงได้ไปยังฝั่งแม่น้ำ
[๘] ข้าพเจ้าออกจากกรุงพันธุมดี
ได้เห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
รุ่งเรืองดังดอกอุบลเขียว
โชติช่วงเหมือนดวงไฟใหญ่
[๙] องอาจดุจพญาเสือโคร่ง
ประเสริฐดุจไกรสรราชสีห์ผู้มีชาติสูง
เลิศกว่าสมณะทั้งหลาย มีหมู่ภิกษุแวดล้อม
กำลังเสด็จดำเนินไป
[๑๐] ข้าพเจ้าเลื่อมใสพระสุคต
ผู้ชำระมลทินคือกิเลสพระองค์นั้น
จึงได้ถือดอกแคฝอย ๓ ดอก
ไปบูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๑๑] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๘. โพธิวันทนวรรค] ๓. ตีณุปปลมาลิยเถราปทาน
[๑๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปาฏลิปุปผิยเถระ ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปาฏลิปุปผิยเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. ตีณุปปลมาลิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระตีณุปปลมาลิยเถระ
(พระตีณุปปลมาลิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นวานร
อาศัยอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
ได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
ประทับนั่งอยู่ระหว่างภูเขา
[๑๔] ทรงทำทิศทั้งปวงให้สว่างไสวอยู่
ดังต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง
ทรงประกอบด้วยพระลักษณะและอนุพยัญชนะ
ครั้นได้เห็นแล้วก็มีความปลื้มใจ
[๑๕] ข้าพเจ้ามีจิตเบิกบาน มีใจยินดีร่าเริงด้วยปีติ
ได้ใช้ดอกอุบล ๓ ดอกบูชาเหนือเศียรเกล้า
[๑๖] ครั้นใช้ดอกไม้บูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
เคารพนบนอบแล้วบ่ายหน้าหลีกไปทางทิศเหนือ
[๑๗] เมื่อข้าพเจ้ากำลังเดินกระโหย่งกลับไป ด้วยใจที่ผ่องใส
จึงพลัดตกไปในระหว่างภูเขาหิน ถึงความสิ้นชีวิตแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๘. โพธิวันทนวรรค] ๔. ปัตติปุปผิยเถราปทาน
[๑๘] ด้วยกรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
ข้าพเจ้าละชาติเดิมแล้ว
ได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๑๙] ข้าพเจ้าได้ครองเทวสมบัติ ๓๐๐ ชาติ
และได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ชาติ
[๒๐] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๒๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระตีณุปปลมาลิยเถระ ได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ตีณุปปลมาลิยเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. ปัตติปุปผิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปัตติปุปผิยเถระ
(พระปัตติปุปผิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๒] ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พระนามว่าปทุมุตตระ
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
ชนทั้งปวงมาประชุมกันแห่พระสรีระไป
[๒๓] เมื่อนำพระสรีระไป เมื่อเขาประโคมกลองเภรีอยู่
ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ได้ใช้ดอกประดู่บูชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๘. โพธิวันทนวรรค] ๕. สัตตปัณณิยเถราปทาน
[๒๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระสรีระ
[๒๕] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๖] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปัตติปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปัตติปุปผิยเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. สัตตปัณณิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัตตปัณณิยเถระ
(พระสัตตปัณณิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๘] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
พระนามว่าสุมนะ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ได้ใช้ต้นตีนเป็ดบูชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๘. โพธิวันทนวรรค] ๖. คันธมุฏฐิยเถราปทาน
[๒๙] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ต้นตีนเป็ดบูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยต้นตีนเป็ด
[๓๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๑] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัตตปัณณิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัตตปัณณิยเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. คันธมุฏฐิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระคันธมุฏฐิยเถระ
(พระคันธมุฏฐิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๓] เมื่อมหาชนกำลังช่วยกันทำจิตกาธานอยู่
ขนของหอมต่าง ๆ มากองรวมกันแล้ว
ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ใช้ของหอมกำมือหนึ่งบูชา(จิตกาธาน)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๘. โพธิวันทนวรรค] ๗. จิตกปูชกเถราปทาน
[๓๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้บูชาจิตกาธานไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาจิตกาธาน
[๓๕] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๖] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระคันธมุฏฐิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
คันธมุฏฐิยเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. จิตกปูชกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระจิตกปูชกเถระ
(พระจิตกปูชกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
เมื่อมหาชนช่วยกันยก(พุทธสรีระ)ขึ้นบนจิตกาธานแล้ว
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกสาละบูชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๘. โพธิวันทนวรรค] ๘. สุมนตาลวัณฏิยเถราปทาน
[๓๙] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้ดอกไม้บูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาจิตกาธาน
[๔๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๑] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระจิตกปูชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
จิตกปูชกเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. สุมนตาลวัณฏิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุมนตาลวัณฏิยเถระ
(พระสุมนตาลวัณฏิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๓] ข้าพเจ้าได้ถวายพัดใบตาลซึ่งอบด้วยดอกมะลิ
แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ
ข้าพเจ้าทรงไว้ซึ่งยศใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๘. โพธิวันทนวรรค] ๙. สุมนทามิยเถราปทาน
[๔๔] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายพัดใบตาลไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายพัดใบตาล
[๔๕] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๕] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุมนตาลวัณฏิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
สุมนตาลวัณฏิยเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. สุมนทามิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสุมนทามิยเถระ
(พระสุมนทามิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๘] ข้าพเจ้าได้ร้อยพวงมาลัยดอกมะลิแล้ว
ยืนทรง(ถือ)ไว้เบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค
พระนามว่าสิทธัตถะ ผู้บริสุทธิ์ (ชำระกิเลส) มีตบะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๘. โพธิวันทนวรรค] ๑๐. กาสุมาริผลทายกเถราปทาน
[๔๙] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ใช้พวงดอกมะลิบูชาไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาด้วยพวงดอกมะลิ
[๕๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๕๑] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๕๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสุมนทามิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สุมนทามิยเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. กาสุมาริผลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกาสุมาริผลทายกเถระ
(พระกาสุมาริผลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๕๓] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
โชติช่วงดังดอกกรรณิการ์ ผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน ประทับนั่งอยู่ระหว่างภูเขา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๘. โพธิวันทนวรรค] ๑๐. กาสุมาริผลทายกเถราปทาน
[๕๔] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
จึงประนมมือไหว้เหนือเศียรเกล้าแล้ว
ได้ถือผลมะรื่นไปถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๕๕] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๕๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๕๗] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๕๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกาสุมาริผลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วย
ประการฉะนี้
กาสุมาริผลทายกเถราปทานที่ ๑๐ จบ
โพธิวันทนวรรคที่ ๓๘ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๘. โพธิวันทนวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. โพธิวันทกเถราปทาน ๒. ปาฏลิปุปผิยเถราปทาน
๓. ตีณุปปลมาลิยเถราปทาน ๔. ปัตติปุปผิยเถราปทาน
๕. สัตตปัณณิยเถราปทาน ๖. คันธมุฏฐิยเถราปทาน
๗. จิตกปูชกเถราปทาน ๘. สุมนตาลวัณฏิยเถราปทาน
๙. สุมนทามิยเถราปทาน ๑๐. กาสุมาริผลทายกเถราปทาน

มีคาถา ๕๙ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๙. อัมพฏผลวรรค] ๑. อัมพฏผลทายกเถราปทาน
๓๙. อัมพฏผลวรรค
หมวดว่าด้วยพระอัมพฏผละเป็นต้น
๑. อัมพฏผลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอัมพฏผลทายกเถระ
(พระอัมพฏผลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] พระผู้มีพระภาคสัมพุทธเจ้า๑ พระนามว่าสตรังสี
ผู้เป็นพระสยัมภู ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
ทรงประสงค์วิเวก ได้เสด็จออกโคจรบิณฑบาต
[๒] ข้าพเจ้าถือผลไม้อยู่ ได้เห็นพระองค์ผู้องอาจกว่านรชน
จึงเข้าเฝ้า มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ถวายผลมะกอก
[๓] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๔] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๕] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า สัมพุทธเจ้า ในที่นี้หมายถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๙. อัมพฏผลวรรค] ๒. ลพุชทายกเถราปทาน
[๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอัมพฏผลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
อัมพฏผลทายกเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. ลพุชทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระลพุชทายกเถระ
(พระลพุชทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นคนเฝ้าสวนอาศัยอยู่ในกรุงพันธุมดี
ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
กำลังเสด็จเหาะไปในอากาศ
[๘] ข้าพเจ้าได้ถือผลขนุนสำปะลอ
ไปถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
ประทับยืนอยู่ในอากาศ ทรงรับ(ผลขนุน)แล้ว
[๙] นั่นเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าเกิดปีติ
นำความสุขมาให้ในปัจจุบัน
เพราะได้ถวายผลไม้แด่พระพุทธเจ้าด้วยใจที่ผ่องใส
[๑๐] ข้าพเจ้าได้ปีติและความสุข
อย่างสูงสุดเหลือล้นในครั้งนั้น
รัตนะย่อมเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าผู้บังเกิดในภพนั้น ๆ
[๑๑] ในกัปที่ ๙๑ นัปจากกัปนี้
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๙. อัมพฏผลวรรค] ๓. อุทุมพรผลทายกเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๑๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๓] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระลพุชทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ลพุชทายกเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. อุทุมพรผลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุทุมพรผลทายกเถระ
(พระอุทุมพรผลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๕] พระพุทธเจ้าผู้เป็นบุรุษผู้สูงสุด
ประทับอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำนินนคา
ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส
เป็นเอกอัครบุคคลมีพระหฤทัยตั้งมั่นด้วยดี
[๑๖] ข้าพเจ้ามีใจเลื่อมใสในพระองค์ผู้ชำระมลทินคือกิเลส
จึงได้ถือผลมะเดื่อไปถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๙. อัมพฏผลวรรค] ๔. ปิลักขผลทายกเถราปทาน
[๑๗] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๑๘] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๙] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุทุมพรผลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุทุมพรผลทายกเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. ปิลักขผลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปิลักขผลทายกเถระ
(พระปิลักขผลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๑] ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี
ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ที่แนวป่า
จึงมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ได้ถวายผลดีปลี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๙. อัมพฏผลวรรค] ๕. ผารุสผลทายกเถราปทาน
[๒๒] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๒๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๔] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปิลักขผลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ปิลักขผลทายกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. ผารุสผลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระผารุสผลทายกเถระ
(พระผารุสผลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๖] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระฉวีวรรณดังทองคำ
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา เสด็จดำเนินอยู่ที่ถนน
จึงได้ถวายผลมะปรางแด่พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๙. อัมพฏผลวรรค] ๖. วัลลิผลทายกเถราปทาน
[๒๗] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๒๘] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๙] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระผารุสผลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ผารุสผลทายกเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. วัลลิผลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระวัลลิผลทายกเถระ
(พระวัลลิผลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๑] ครั้งนั้น ชนทั้งปวงชักชวนกันไปยังป่า
ในครั้งนั้นพวกเขาแสวงหาผลไม้ ได้ผลไม้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๙. อัมพฏผลวรรค] ๖. วัลลิผลทายกเถราปทาน
[๓๒] ในป่านั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นพระสยัมภู ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
จึงมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ถวายผลเครือเถา(แตงโม)
[๓๓] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๓๔] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๕] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๖] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระวัลลิผลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
วัลลิผลทายกเถราปทานที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๙. อัมพฏผลวรรค] ๗. กทลิผลทายกเถราปทาน
๗. กทลิผลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระกทลิผลทายกเถระ
(พระกทลิผลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๗] ข้าพเจ้าได้เห็นพระศาสดาผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงรุ่งเรืองดังดอกกรรณิการ์
โชติช่วงเหมือนดวงจันทร์วันเพ็ญและเหมือนต้นพฤกษาประทีป
[๓๘] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ถือผลกล้วยไปถวายแด่พระศาสดา
ไหว้แล้วก็หลีกไป
[๓๙] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๔๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๑] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระกทลิผลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
กทลิผลทายกเถราปทานที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๙. อัมพฏผลวรรค] ๘. ปนสผลทายกเถราปทาน
๘. ปนสผลทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปนสผลทายกเถระ
(พระปนสผลทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๓] ครั้งนั้น พระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าอัชชุนะ
ทรงเพียบพร้อมด้วยจรณะและเป็นพระมุนี ฉลาดในสมาธิ
ประทับอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
[๔๔] ข้าพเจ้าถือผลขนุนสุกสด ผลขนาดเท่าหม้อ
ได้ถวายพระศาสดาวางไว้ที่ต้นตีนเป็ด
[๔๕] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายผลไม้ไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๔๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๗] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปนสผลทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปนสผลทายกเถราปทานที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๙. อัมพฏผลวรรค] ๙. โสณโกฏิวีสเถราปทาน
๙. โสณโกฏิวีสเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโสณโกฏิวีสเถระ
(พระโสณโกฏิวีสเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๙] ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ข้าพเจ้าได้สร้างถ้ำไว้แห่งหนึ่ง
ถวายแด่สงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ ในพันธุมาราชธานี
[๕๐] ข้าพเจ้าบริจาคผ้าหลายผืนไว้ลาดพื้นถ้ำ
ในครั้งนั้น ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ทำความปรารถนาว่า
[๕๑] ข้าพเจ้าพึงให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงโปรดปราน
พึงได้บรรพชาและพึงสัมผัสพระนิพพาน
ซึ่งเป็นธรรมสูงสุด สงบอย่างยอดเยี่ยม
[๕๒] ด้วยกุศลมูลนั้นนั่นแล
ข้าพเจ้าระลึกชาติได้ถึง ๙๐ กัป
ข้าพเจ้าเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ได้สร้างบุญไว้รุ่งเรืองนัก
[๕๓] ด้วยผลกรรมที่เหลือจากนั้น ในภพสุดท้ายนี้
ข้าพเจ้าเกิดเป็นบุตรคนเดียวของอัครเศรษฐีในกรุงจัมปา
[๕๔] พอฟังข่าวข้าพเจ้าว่าเกิดแล้ว
บิดาก็มีความพอใจดังนี้ว่า
เราจะให้ทรัพย์ ๒๐ โกฏิแก่กุมารไม่ให้ลดหย่อนเลย
[๕๕] ขนยาวประมาณ ๔ นิ้ว เส้นละเอียด
มีสัมผัสอ่อนนุ่มเสมอเหมือนปุยนุ่นงดงาม
เกิดที่ฝ่าเท้าทั้ง ๒ ของข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๙. อัมพฏผลวรรค] ๙. โสณโกฏิวีสเถราปทาน
[๕๖] ข้อนี้เป็นอาการพิเศษประการหนึ่งตลอด ๙๐ กัปที่ล่วงมา
ข้าพเจ้าไม่รู้สึกในเมื่อวางเท้าลง
บนภาคพื้นที่ไม่มีเครื่องลาดเลย
[๕๗] ข้าพเจ้าให้พระพุทธเจ้าโปรดปรานแล้วบวชเป็นบรรพชิต
ได้บรรลุอรหัตตผล และเป็นผู้เย็น ดับแล้ว
[๕๘] พระศาสดาผู้ทรงเห็นเหตุทั้งปวง
ทรงแสดงว่าข้าพเจ้าเป็นผู้เลิศกว่า
บรรดาภิกษุผู้ปรารภความเพียร
เป็นพระอรหันตขีณาสพ ได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก
[๕๙] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายถ้ำ
[๖๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๖๑] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๖๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๙. อัมพฏผลวรรค] ๑๐. พุทธาปทานชื่อปุพพกัมมปิโลติ
[๖๓] พระโสณโกฏิวีสเถระ เป็นหัวหน้าของภิกษุสงฆ์
ถูกถามปัญหาแล้วได้พยากรณ์ที่ใกล้สระใหญ่ชื่ออโนดาต ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโสณโกฏิวีสเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โสณโกฏิวีสเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. พุทธาปทานชื่อปุพพกัมมปิโลติ
ประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าว่าด้วยบุพกรรมเก่า
(พระอานนทเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าว่าด้วย
บุพกรรมเก่า จึงกล่าวว่า)
[๖๔] ณ พื้นศิลาที่น่ารื่นรมย์ ใกล้สระอโนดาต
โชติช่วงด้วยรัตนะต่าง ๆ
ในละแวกป่ามีดอกไม้มีกลิ่นหอมนานาชนิด
[๖๕] พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
มีหมู่ภิกษุหมู่ใหญ่ห้อมล้อม
ประทับนั่งที่ศิลาอาสน์นั้น
ทรงพยากรณ์บุพกรรมของพระองค์ว่า
[๖๖] ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงฟังกรรมของเรา
เราเห็นภิกษุ ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร
จึงได้ถวายผ้าเก่าผืนหนึ่ง
[ก] ในกาลนั้น ข้าพเจ้าปรารถนาการตรัสรู้
เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก
ผลของการถวายผ้าเก่าให้ผลในความเป็นพระพุทธเจ้า
[ข] ในชาติปางก่อน เราเกิดเป็นนายโคบาล ต้อนโคไปเลี้ยง
เห็นแม่โคกำลังดื่มน้ำขุ่น จึงห้ามมันไว้
[ค] ด้วยผลกรรมนั้น ในภพสุดท้ายนี้ เรากระหายน้ำ
ก็ไม่ได้ดื่มน้ำตามความปรารถนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๙. อัมพฏผลวรรค] ๑๐. พุทธาปทานชื่อปุพพกัมมปิโลติ
[๖๗] ในชาติอื่น ๆ ในปางก่อน
เราเกิดเป็นนักเลงชื่อว่าปุนาลิ
ได้กล่าวตู่พระปัจเจกพุทธเจ้ามีนามว่าสุรภี ผู้ไม่ประทุษร้ายใคร
[๖๘] ด้วยผลกรรมนั้น เราจึงได้เวียนว่ายตายเกิด
อยู่ในนรกเป็นเวลานาน เสวยทุกขเวทนาหลายพันปี
[๖๙] ด้วยผลกรรมที่เหลืออยู่นั้น
ในภพสุดท้ายนี้ เราได้รับการกล่าวตู่
เพราะนางสุนทรีเป็นเหตุ
[๗๐] เพราะการกล่าวตู่พระเถระนามว่านันทะ
ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ครอบงำอันตรายทั้งปวง
เราจึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในนรกเป็นเวลานาน
[๗๑] เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในนรกเป็นเวลานานถึง ๑๐๐,๐๐๐ ปี
ครั้นได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็ได้รับการกล่าวตู่มาก
[๗๒] ด้วยผลกรรมที่เหลืออยู่นั้น
นางจิญจมาณวิกาจึงมากล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริงท่ามกลางหมู่ชน
[๗๓] เราเกิดเป็นพราหมณ์
ผู้มีสุตะซึ่งประชาชนสักการบูชา
ได้สอนมนตร์ให้มาณพประมาณ ๕๐๐ คน ในป่าใหญ่
[๗๔] เราได้เห็นฤๅษีผู้น่าเกรงกลัว ผู้ได้อภิญญา ๕
มีฤทธิ์มาก มายังสำนักของเรา
เราจึงกล่าวตู่ฤๅษีผู้ไม่ประทุษร้ายใคร
[๗๕] ครั้งนั้น เราได้บอกพวกศิษย์ว่า
ฤๅษีตนนี้มักบริโภคกามคุณ
เพียงเราบอกเท่านั้น พวกมาณพก็พลอยเชื่อ
[๗๖] ตั้งแต่นั้นมา พวกมาณพทั้งหมด
ไปเที่ยวหาอาหารในตระกูลทั้งหลาย
พากันบอกประชาชนว่า ฤๅษีตนนี้มักบริโภคกามคุณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๙. อัมพฏผลวรรค] ๑๐. พุทธาปทานชื่อปุพพกัมมปิโลติ
[๗๗] ด้วยผลกรรมนั้น ภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้
ได้รับการกล่าวตู่ เพราะนางสุนทรีเป็นเหตุ
[๗๘] ในชาติก่อน เราได้ฆ่าน้องชายต่างมารดา
เพราะเหตุแห่งทรัพย์
จับโยนลงซอกภูเขา แล้วโยนหินทับไว้
[๗๙] ด้วยผลกรรมนั้น พระเทวทัตจึงผลักก้อนหินกลิ้งลงมา
สะเก็ดหินกระทบนิ้วหัวแม่เท้าของเรา (จนห้อเลือด)
[๘๐] ในชาติก่อน เรายังเป็นเด็กเล่นอยู่ที่หนทางใหญ่
ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
จึงหว่านก้อนกรวดไว้ที่หนทาง
[๘๑] ด้วยผลกรรมนั้น ในภพสุดท้ายนี้
พระเทวทัตจึงชักชวนนักแม่นธนู
ผู้เป็นนักฆ่า เพื่อฆ่าเรา
[๘๒] ในชาติก่อน เราเป็นนายควาญช้าง
ได้ไสช้างไล่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นพระมุนีสูงสุด
ซึ่งกำลังเที่ยวบิณฑบาต
[๘๓] ด้วยผลกรรมนั้น ช้างนาฬาคีรีเชือกดุร้าย
จึงวิ่งไล่เราในกรุงราชคฤห์อันประเสริฐ
[๘๔] ในชาติก่อน เราเป็นทหารราบ
ได้ใช้หอกฆ่าคนจำนวนมาก
ด้วยผลกรรมนั้น
เราจึงถูกไฟไหม้อย่างร้อนแรงในนรก
[๘๕] ด้วยผลกรรมที่เหลืออยู่
ในบัดนี้ ไฟนั้นยังตามมา
ไหม้ผิวหนังที่เท้าของเราทุกแห่ง เพราะกรรมยังไม่สิ้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๙. อัมพฏผลวรรค] ๑๐. พุทธาปทานชื่อปุพพกัมมปิโลติ
[๘๖] ในชาติก่อน เราเป็นเด็กเล็กลูกของชาวประมง
อาศัยอยู่ในเกวัฏฏคาม
เห็นชาวประมงฆ่าปลาแล้วเกิดความโสมนัส
[๘๗] ด้วยผลกรรมนั้น เราจึงปวดศีรษะ
ในเมื่อเจ้าศากยะทั้งหลายถูกฆ่า
คราวที่พระเจ้าวิฑูฑภะฆ่า
[๘๘] เราได้ด่าบริภาษเหล่าสาวกในศาสนา
ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะด้วยคำว่า
ท่านทั้งหลายจงขบเคี้ยว
จงฉันแต่ข้าวเหนียว อย่าได้ฉันข้าวสาลีเลย
[๘๙] ด้วยผลกรรมนั้น เรารับนิมนต์พราหมณ์
อยู่จำพรรษาในเมืองเวรัญชา
ได้ฉันแต่ข้าวเหนียว ตลอด ๓ เดือน
[๙๐] ในชาติก่อน เมื่อนักมวยกำลังชกกัน
เราได้กันบุตรชายนักมวยปล้ำไว้
ด้วยผลกรรมนั้น
เราจึงเกิดความทุกข์ที่สันหลัง(ปวดหลัง)
[๙๑] ในชาติก่อน เราเป็นหมอรักษาโรค
ได้ถ่ายยาให้ลูกชายเศรษฐี(ถึงแก่ความตาย)
ด้วยผลกรรมนั้น
เราจึงป่วยเป็นโรคปักขันทิกาพาธ
[๙๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าชื่อว่าโชติปาละ
ได้กล่าวกับพระสุคตพระนามว่ากัสสปะ
ว่า การตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์จักมีมาแต่ที่ไหน
การตรัสรู้หาได้แสนยาก
[๙๓] ด้วยผลกรรมนั้น
เราจึงได้บำเพ็ญทุกรกิริยานานถึง ๖ ปี
ต่อจากนั้น จึงได้บรรลุพระโพธิญาณที่ตำบลอุรุเวลา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๓๙. อัมพฏผลวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
[๙๔] แต่ว่า เราก็มิได้บรรลุพระโพธิญาณที่สูงสุดด้วยทางนี้
เราถูกกรรมในปางก่อนตักเตือนแล้ว
จึงแสวงหา(โพธิญาณ)ผิดทาง
[๙๕] เราสิ้นบาปสิ้นบุญแล้ว
ปราศจากความเร่าร้อนทุกอย่าง
ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีความคับแค้น
ไม่มีอาสวะ จักปรินิพพาน
[๙๖] พระพุทธชินเจ้าได้ทรงบรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งปวงแล้ว
ทรงพยากรณ์โดยมุ่งหวังประโยชน์สำหรับหมู่ภิกษุ
ที่ใกล้สระใหญ่ชื่ออโนดาต ด้วยประการฉะนี้แล
ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงภาษิตธรรมบรรยายพุทธาปทาน ชื่อปุพพ-
กัมมปิโลติ ซึ่งเป็นบุพจริตของพระองค์ ด้วยประการฉะนี้แล
พุทธาปทานชื่อปุพพกัมมปิโลติที่ ๑๐ จบ
อัมพฏผลวรรคที่ ๓๙ จบบริบูรณ์

รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. อัมพฏผลทายกเถราปทาน ๒. ลพุชทายกเถราปทาน
๓. อุทุมพรผลทายกเถราปทาน ๔. ปิลักขผลทายกเถราปทาน
๕. ผารุสผลทายกเถราปทาน ๖. วัลลิผลทายกเถราปทาน
๗. กทลิผลทายกเถราปทาน ๘. ปนสผลทายกเถราปทาน
๙. โสณโกฏิวีสเถราปทาน ๑๐. พุทธาปทานชื่อว่าปุพพกัมมปิโลติ

บัณฑิตทั้งหลายนับได้ ๙๑ คาถา
ภาณวารที่ ๑๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค
หมวดว่าด้วยพระปิลินทวัจฉะเป็นต้น
๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปิลินทวัจฉเถระ
(พระปิลินทวัจฉเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] ข้าพเจ้าเป็นคนเฝ้าประตูอยู่ที่กรุงหงสวดี
ได้รวบรวมโภคสมบัติเก็บไว้ในเรือนมากมายนับไม่ถ้วน
[๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้านั่งอยู่ในสถานที่สงัด
ทำใจให้ร่าเริง นั่งอยู่ในปราสาทที่ประเสริฐ
ได้คิดอย่างนี้ว่า
[๓] โภคสมบัติของเรามีมาก
ภายในบุรีของเราก็มั่งคั่ง
แม้พระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
พระนามว่าอานนท์ ก็ทรงเชื้อเชิญเรา
[๔] พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ เป็นพระมุนี
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้
และโภคสมบัติของเราก็มีอยู่
เราจักถวายทานแด่พระศาสดา
[๕] พระโอรสของพระราชาพระนามว่าปทุมะ
ทรงถวายทานอย่างประเสริฐ
คือช้างเชือกประเสริฐ บัลลังก์และพนักพิง
ประมาณไม่น้อย ในพระชินเจ้า
[๖] แม้เราก็จักถวายทาน
ในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
ทานอย่างประเสริฐที่ยังไม่เคยมีใครถวาย
เราจักเป็น (ผู้ถวาย) คนแรก
[๗] ข้าพเจ้าคิดถึงทานหลายอย่าง
ที่มีผลเป็นสุขในเพราะการบูชา
ก็ได้เห็นการถวายบริขาร
เป็นเหตุทำความคิดของข้าพเจ้าให้เต็มได้
[๘] ข้าพเจ้าจักถวายบริขาร
ในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุด
การถวายบริขารที่คนเหล่าอื่นยังไม่เคยถวาย
ข้าพเจ้าจักเป็นคนแรก
(การถึงพร้อมแห่งทานวัตถุ)
[๙] ขณะนั้น ข้าพเจ้าเข้าไปหาช่างจักสาน จ้างให้ทำร่ม
รวบรวมร่มได้ ๑๐๐,๐๐๐ คัน
[๑๐] รวบรวมผ้าได้ ๑๐๐,๐๐๐ ผืน
รวบรวมบาตรได้ ๑๐๐,๐๐๐ ใบ
[๑๑] จ้างช่างให้ทำมีดโกน มีดเล็ก เข็ม และมีดตัดเล็บ
ที่สมควร(แก่สมณบริโภค) แล้วให้วางไว้ภายใต้ร่ม
[๑๒] จ้างช่างให้ทำพัดใบตาล พัดขนปีกนกยูง แส้จามร
ผ้ากรองน้ำ ภาชนะน้ำมัน ให้สมควร (แก่สมณบริโภค)
[๑๓] จ้างช่างให้ทำกล่องเข็ม ผ้าอังสะ
ประคตเอว และเชิงรองบาตร ซึ่งทำอย่างสวยงาม
ให้สมควร(แก่สมณบริโภค)
[๑๔] ให้บรรจุเภสัชจนเต็มภาชนะสำหรับใส่ของบริโภค
และบรรจุขันสำริดให้วางไว้ภายใต้ร่ม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๑๕] ให้บรรจุว่านน้ำ หญ้าคา ชะเอม ดีปลี พริก ผลสมอ
และขิงสด จนเต็มภาชนะทุกอย่าง
[๑๖] จ้างช่างให้ทำรองเท้า เขียงเท้า
ผ้าสำหรับเช็ดน้ำ และไม้เท้าคนแก่
อย่างสวยงาม ให้สมควร(แก่สมณบริโภค)
[๑๗] จ้างช่างให้ทำยารักษาไข้ ยาหยอดตา
ไม้ป้ายยาตา กระบอกกรองน้ำ
ลูกกุญแจ และกล่องลูกกุญแจ ซึ่งเย็บด้วยด้าย ๕ สี
[๑๘] สายโยค กระบอกเป่าควันไฟ ตะเกียงตั้ง
คนโทน้ำและผอบ ให้สมควร(แก่สมณบริโภค)
[๑๙] จ้างช่างให้ทำแหนบ กรรไกร
วัตถุขัดสนิมและถุงสำหรับใส่เภสัช
ให้สมควร(แก่สมณบริโภค)
[๒๐] จ้างช่างให้ทำเก้าอี้นอน ตั่งและบัลลังก์ ๔ เท้า
ให้สมควร(แก่สมณบริโภค)แล้วให้ตั้งไว้ภายใต้ร่ม
[๒๑] จ้างช่างให้ทำฟูกยัดด้วยขนสัตว์ ฟูกยัดด้วยนุ่น
ฟูกตั่งและหมอนทำอย่างดี
ให้สมควร(แก่สมณบริโภค)
[๒๒] จ้างช่างให้ทำจุรณสำหรับอาบ
ขี้ผึ้ง น้ำมันที่หุงด้วยมือ
และเตียงที่ปูด้วยแผ่นกระดานเล็ก ๆ
อันสะอาดพร้อมด้วยเครื่องลาด
[๒๓] เสนาสนะ ผ้าเช็ดเท้า ที่นอน
ที่นั่ง ไม้เท้า ไม้ชำระฟัน
กระเบื้อง ของหอมสำหรับไล้ทาศีรษะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๒๔] ไม้สีไฟ ตั่งแผ่นกระดาน ฝาบาตร ถุงบาตร
กระบวยตักน้ำ เครื่องอบ (สีผงย้อมผ้า) รางย้อมผ้า
[๒๕] ไม้กวาด ผ้าอาบน้ำ ผ้าอาบน้ำฝน
ผ้านิสีทนะ ผ้าปิดฝี ผ้าอันตรวาสก (ผ้านุ่ง)
[๒๖] ผ้าอุตราสงค์(ผ้าห่ม) ผ้าสังฆาฏิ(ผ้าพาดบ่า)
ยานัตถุ์ น้ำบ้วนปาก น้ำส้ม
น้ำปลา น้ำผึ้ง นมส้ม น้ำปานะ
[๒๗] ขี้ผึ้ง ผ้าเก่า ผ้าเช็ดปาก ด้าย
สิ่งใดชื่อว่าเป็นของควรให้ทานมีอยู่
และสมควรแก่พระศาสดา
[๒๘] ข้าพเจ้ารวบรวมสิ่งนั้นทั้งหมดได้แล้ว
จึงเข้าเฝ้าพระเจ้าอานนท์
ครั้นเข้าเฝ้าพระราชาผู้นำหมู่ชน ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
ถวายบังคมด้วยเศียรเกล้าแล้วได้กราบทูลคำนี้ว่า
(การขอโอกาสถวายทาน)
[๒๙] เราทั้ง ๒ เจริญเติบโตมาด้วยกัน มียศร่วมกัน
ร่วมสุข ร่วมทุกข์ และประพฤติคล้อยตามกัน
[๓๐] ขอเดชะพระองค์ผู้ปราบข้าศึก
ทุกข์ใจที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์ยังมีอยู่
ขอเดชะพระองค์ผู้ขัตติยราช ถ้าพระองค์สามารถ
ก็ขอได้ทรงพระกรุณาบรรเทาทุกข์นั้นด้วยเถิด
[๓๑] พระราชาตรัสว่า
ทุกข์ของท่านก็เป็นทุกข์ของข้าพเจ้าด้วย
เราทั้ง ๒ มีใจตรงกัน
ท่านย่อมรู้ว่าสำเร็จ ถ้าท่านจะพึงเปลื้องทุกข์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๓๒] ขอเดชะพระมหาราช
ขอจงทรงทราบทุกข์ของข้าพระพุทธเจ้า ซึ่งบรรเทาได้ยาก
พระองค์บันลือมากไป
ทรัพย์นี้ พระองค์ยังสละได้ยาก
[๓๓] คือสิ่งที่มีอยู่ในแว่นแคว้นประมาณเท่าใด
ชีวิตของข้าพระพุทธเจ้าประมาณเท่าใด
ถ้าพระองค์ต้องการสิ่งเหล่านี้
ข้าพระพุทธเจ้าก็จักให้อย่างไม่หวั่นไหว
[๓๔] ขอเดชะ พระองค์ทรงบันลือแล้ว
การบันลือมากนั้นผิด
ข้าพระพุทธเจ้าจักทราบพระองค์
วันนี้ ว่าทรงดำรงอยู่ในธรรมทั้งปวง
[๓๕] ท่านบีบคั้นหนักนัก
เมื่อข้าพเจ้าจะให้
ท่านจะได้ประโยชน์อะไรจากการที่ข้าพเจ้าถูกบีบคั้น
ท่านปรารถนาสิ่งใดจงบอกแก่ข้าพเจ้า
[๓๖] ขอเดชะพระมหาราช
ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐยิ่ง
ข้าพระพุทธเจ้าจักนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เสวย
ชีวิตของข้าพระพุทธเจ้าอย่าเป็นโทษเลย
[๓๗] ข้าพเจ้าจะให้พรอย่างอื่นแก่ท่าน
ท่านอย่าขอพระตถาคตเลย
พระพุทธเจ้าไม่มีใครจะให้แก่ใคร ๆ ได้
เปรียบเหมือนแก้วมณีโชติรส
[๓๘] ขอเดชะ พระองค์ทรงบันลือแล้วมิใช่หรือว่า กระทั่งชีวิตที่มีอยู่
เมื่อพระองค์ประทานชีวิตได้
ก็ควรพระราชทานพระตถาคตได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๓๙] พระพุทธชินมหาวีรเจ้าควรงดไว้
ไม่พึงให้แก่ใคร ๆ ได้
เรารับปากให้ไม่ได้
ท่านจงเลือกเอาทรัพย์จนนับไม่ถ้วนเถิด
[๔๐] ข้าพระพุทธเจ้าจะต้องถึงการวินิจฉัย
พวกเราจักถามผู้วินิจฉัย
ผู้วินิจฉัยจักตัดสินละเอียดฉันใด
พวกเราจักสอบถามข้อนั้นฉันนั้น
[๔๑] ข้าพเจ้าจับพระหัตถ์พระราชา
พากันไปยังสถานที่วินิจฉัย
ได้กล่าวคำนี้ต่อหน้าผู้พิพากษาทั้งหลายว่า
[๔๒] ขอผู้พิพากษาจงฟังข้าพเจ้า
พระราชาได้พระราชทานพรแก่ข้าพเจ้า
พระองค์ไม่ยกเว้นอะไร ๆ ยอมให้ได้แม้กระทั่งชีวิต
[๔๓] เมื่อพระองค์พระราชทานพรแก่ข้าพเจ้าแล้ว
ข้าพเจ้าจึงขอพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
พระพุทธเจ้าเป็นอันพระราชาพระราชทาน
แก่ข้าพเจ้าดีแล้วมิใช่หรือ
ท่านทั้งหลายจงตัดความสงสัยของข้าพเจ้าด้วยเถิด
[๔๔] (ผู้พิพากษาทั้งหลายกล่าวว่า)
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
จะฟังคำของท่านและพระดำรัสของพระราชา
ผู้ปกครองแผ่นดิน
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายฟังคำของทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว
จักตัดความสงสัยในข้อนี้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๔๕] ขอเดชะ พระองค์พระราชทานทุกสิ่ง
ท่านผู้นี้ถือเอาทุกสิ่งแล้วหรือ พระเจ้าข้า
พระองค์ไม่ยกเว้นอะไร ๆ ยอมให้ได้แม้กระทั่งชีวิตหรือ
[๔๖] (พระราชาตรัสว่า)
เราได้รับความลำบาก
แสนสาหัสนักจนตลอดชีวิต
รู้ว่าผู้นี้ได้รับความทุกข์อย่างหนัก
จึงได้ให้สิ่งของที่ควรถือเอาไว้ทุกอย่าง
[๔๗] ขอเดชะ พระองค์ทรงเป็นผู้พ่ายแพ้
ควรจะพระราชทานพระตถาคตให้เขาไป
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายตัดความสงสัยของทั้ง ๒ ฝ่ายได้แล้ว
ขอท่านทั้ง ๒ จงตั้งอยู่ในคำมั่นสัญญาเถิด
[๔๘] พระราชาประทับอยู่ ณ ที่นั้นแล
ได้ตรัสกับผู้พิพากษาดังนี้ว่า
ท่านทั้งหลายพึงให้แก่เราโดยชอบบ้าง
เราจะได้พระพุทธเจ้าอีก
[๔๙] (ผู้พิพากษาได้กล่าวกับข้าพเจ้าว่า)
ท่านทำความดำริของท่านให้บริบูรณ์
นิมนต์พระตถาคตให้เสวยแล้ว
พึงถวายคืนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ให้แก่พระเจ้าอานนท์ผู้ทรงยศอีก
(กถาว่าด้วยการทูลนิมนต์)
[๕๐] ข้าพเจ้าไหว้ผู้พิพากษาและถวายบังคม
พระเจ้าอานนท์จอมกษัตริย์แล้ว
มีความยินดีปราโมทย์
ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๕๑] ครั้นเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ข้ามโอฆกิเลสได้แล้ว ไม่มีอาสวะ
ถวายอภิวาทด้วยเศียรเกล้าแล้ว
ได้กราบทูลดังนี้ว่า
[๕๒] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
ขอพระองค์พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑๐๐,๐๐๐ รูป โปรดรับนิมนต์
พระองค์เมื่อจะทำจิตของข้าพระองค์ให้ร่าเริง
ขอจงเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของข้าพระองค์เถิด
[๕๓] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ผู้มีพระจักษุ ทรงรู้ความดำริของข้าพเจ้า
จึงทรงรับนิมนต์(ด้วยดุษณีภาพ)
[๕๔] ข้าพเจ้าทราบว่าพระองค์ทรงรับนิมนต์แล้ว
จึงถวายอภิวาทพระศาสดา
มีจิตร่าเริงเบิกบาน
เข้าไปยังนิเวศน์ของตน
(การตระเตรียมทาน)
[๕๕] ข้าพเจ้าประชุมมิตรและอำมาตย์แล้ว
ได้กล่าวคำนี้ว่า เราได้สิ่งที่ได้แสนยากแล้ว
เปรียบเหมือนได้แก้วมณีโชติรส
[๕๖] เราจักบูชาพระองค์ด้วยอะไร
พระชินเจ้ามีคุณหาประมาณมิได้
หาใครเปรียบมิได้ ไม่มีใครเทียบเท่า
ไม่มีใครเสมอ เป็นนักปราชญ์
ไม่มีบุคคลเปรียบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๕๗] หาผู้เสมอเหมือนเช่นนั้นมิได้
ไม่เป็นที่ ๒ (รองใคร) ทรงองอาจกว่านรชน
อธิการ๑ที่สมควรแก่พระพุทธเจ้า เราทำได้โดยยาก
[๕๘] ขอพวกเราจงช่วยกันรวบรวมดอกไม้ต่าง ๆ
มาทำมณฑปดอกไม้เถิด
นี้ย่อมสมควรแก่พระพุทธเจ้า
ถือเป็นการบูชาด้วยสิ่งทั้งปวง
[๕๙] ข้าพเจ้าใช้ดอกบัวขาบ ดอกบัวหลวง ดอกมะลิ
ดอกลำดวน ดอกจำปา ดอกกากะทิง ทำให้เป็นมณฑป
[๖๐] ปูลาดอาสนะ ๑๐๐,๐๐๐ ไว้ใต้เงาร่ม
อาสนะของข้าพเจ้าอยู่สุดท้าย มีค่าเกินร้อย
[๖๑] ปูลาดอาสนะ ๑๐๐,๐๐๐ ไว้ใต้เงาร่ม
จัดแจงข้าวและน้ำเสร็จแล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาล
(เวลาอันสมควรเพื่อฉันภัตตาหาร)
[๖๒] เมื่อคนไปกราบทูลภัตกาลแล้ว
พระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ
พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑๐๐,๐๐๐ องค์
ได้เสด็จเข้ามายังนิเวศน์ของข้าพเจ้า
[๖๓] ร่มกั้นอยู่เบื้องบน ในมณฑปดอกไม้ที่บานสะพรั่ง
พระพุทธเจ้าผู้เป็นบุรุษผู้สูงสุด
ประทับนั่งพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑๐๐,๐๐๐ องค์
[๖๔] (ข้าพเจ้ากราบทูลว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
ขอพระองค์โปรดทรงรับร่ม ๑๐๐,๐๐๐ คัน

เชิงอรรถ :
๑ อธิการ การกระทำที่ยิ่ง เช่น การบริจาคชีวิตเป็นต้น (ขุ.อป.อ. ๑/๑๖๘, และดูเทียบ ขุ.อป.อ. ๒/๕-๖/๒๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
และอาสนะ ๑๐๐,๐๐๐ ที่
อันสมควรและไม่มีโทษเถิด
[๖๕] พระมหามุนีทรงพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
พระองค์ประสงค์จะช่วยเหลือข้าพเจ้า
ให้ข้ามพ้น(สงสารวัฏ) จึงทรงรับไว้
(ทานกถา)
[๖๖] ข้าพเจ้าได้ถวายบาตรแก่ภิกษุรูปละหนึ่งใบ
ภิกษุทั้งหลายสละบาตรที่ตนใช้สอยแล้ว ใช้บาตรเหล็ก
[๖๗] พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่
ในมณฑปดอกไม้ตลอด ๗ วัน ๗ คืน
เมื่อจะทรงให้สัตว์จำนวนมากตรัสรู้
จึงทรงประกาศพระธรรมจักร
[๖๘] เมื่อทรงประกาศพระธรรมจักรภายใต้มณฑปดอกไม้
เทวดาและมนุษย์ ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรม
[๖๙] เมื่อถึงวันที่ ๗ พระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตตระ
ประทับนั่งอยู่ภายในใต้เงาร่ม
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
(พยากรณ์)
[๗๐] เราจักพยากรณ์มาณพผู้ที่ได้ถวายทานอย่างประเสริฐ
ไม่บกพร่องแก่เรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๗๑] กองทัพ ๔ เหล่า คือ พลช้าง พลม้า พลรถ
และพลเดินเท้าจักห้อมล้อมมาณพนั้นเป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งทานทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๗๒] ยานพาหนะคือช้าง
ยานพาหนะคือม้า คานหาม และวอ
จักบำรุงเขาเป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งทานทั้งปวง
[๗๓] รถ ๖,๐๐๐ คันประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
จักแวดล้อมเขาเป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งทานทั้งปวง
[๗๔] เครื่องดนตรี ๖,๐๐๐ ชิ้น
กลองที่ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม
จักขับกล่อมเขาเป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งทานทั้งปวง
[๗๕] สาวรุ่น ๘๖,๐๐๐ นาง
ผู้ประดับตกแต่งอย่างสวยงาม
สวมใส่ผ้าอาภรณ์อย่างงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี
[๗๖] มีตากลมโต มีปกติร่าเริง รูปงาม เอวเล็กเอวบาง
จักห้อมล้อมเขาเป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งทานทั้งปวง
[๗๗] เขาจักรื่นรมย์ในเทวโลก ๓,๐๐๐ กัป
จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๗๘] และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๗๙] เมื่อเขาอยู่ในเทวโลก
พรั่งพร้อมด้วยบุญกรรม
เทวดาจักกั้นฉัตรแก้วไว้ที่ขอบเทวโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๘๐] เขาจักปรารถนาเมื่อใด
หลังคาผ้าและดอกไม้(ดังจะ)รู้ความคิดของเขา
จักกั้นอยู่เนืองนิตย์เมื่อนั้น
[๘๑] เขาถูกกุศลมูลตักเตือนจุติจากเทวโลก
แล้วประกอบด้วยบุญกรรม
จักเป็นบุตรของพราหมณ์
[๘๒] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๘๓] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ
ทรงทราบความนั้นทั้งหมดแล้ว
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
จักทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะ
[๘๔] เขาจักได้เป็นสาวกมีนามว่าปิลินทวัจฉะ ของพระศาสดา
จักเป็นผู้ที่เทวดา อสูร และคนธรรพ์ สักการะ
[๘๕] เขาจักเป็นที่รักของภิกษุ ภิกษุณี
และคฤหัสถ์ทั้งปวง อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
(ว่าด้วยอานิสงส์ของทาน)
[๘๖] กรรมที่ข้าพเจ้ากระทำแล้วใน ๑๐๐,๐๐๐ กัป
ได้แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพสุดท้ายนี้
ข้าพเจ้าหลุดพ้นดีแล้ว
ดุจความเร็วของลูกศรที่หลุดพ้นไปจากแล่ง
เผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว
[๘๗] น่าปลื้มใจ กรรมข้าพเจ้าได้ทำไว้ดีแล้ว
ในเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
ซึ่งเป็นฐานะที่ข้าพเจ้าทำสักการะแล้ว
ได้บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว๑
[๘๘] ก็มาณพใดได้ให้ทานอย่างประเสริฐไม่บกพร่อง
มาณพนั้นได้เป็นหัวหน้าคนแรก
นี้เป็นผลแห่งทานนั้น
(๑. อานิสงส์ของการถวายร่ม)
[๘๙] ข้าพเจ้าได้ถวายร่มในพระสุคต
และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๘ ประการ
[๙๐] คือข้าพเจ้าไม่รู้สึกหนาว ๑ ไม่รู้สึกร้อน ๑
ละอองและธุลีไม่แปดเปื้อน ๑ เป็นผู้ไม่มีอันตราย ๑
ไม่มีเสนียดจัญไร ๑ ชนทั้งหลายยำเกรงทุกเมื่อ ๑
[๙๑] เป็นผู้มีผิวพรรณละเอียด ๑ เป็นผู้มีใจใสสะอาด ๑
เมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ
ฉัตร ๑๐๐,๐๐๐ คัน
[๙๒] ซึ่งประกอบด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง
กั้นอยู่เหนือศีรษะของข้าพเจ้า ยกเว้นชาตินี้
เพราะอานุภาพแห่งกรรมนั้น
[๙๓] เพราะฉะนั้น ในชาตินี้
การกั้นฉัตรจึงไม่มีแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้ากระทำกรรมทุกอย่าง
ก็เพื่อบรรลุฉัตรคือวิมุตติ

เชิงอรรถ :
๑ บทที่ไม่หวั่นไหว ได้แก่พระนิพพาน (ขุ.อป.อ. ๑/๒๖๖/๒๗๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
(๒. อานิสงส์ของการถวายผ้า)
[๙๔] ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าในพระสุคต
และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๘ ประการ
[๙๕] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีผิวพรรณดังทอง ๑
ปราศจากธุลี(ปราศจากไฝฝ้า) ๑
มีรัศมีผ่องใส ๑ มีตบะ ๑ มีร่างกายมีผิวเกลี้ยงเกลา ๑
เมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ
[๙๖] ก็มีผ้าสีขาว ๑๐๐,๐๐๐ ผืน ๑
มีผ้าสีเหลือง ๑๐๐,๐๐๐ ผืน ๑
มีผ้าสีแดง ๑๐๐,๐๐๐ ผืน ๑
กั้นอยู่เหนือศีรษะของข้าพเจ้า
นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้า
[๙๗] ข้าพเจ้าได้ผ้าไหม ผ้ากัมพล ผ้าป่าน
และผ้าฝ้ายในที่ทุกแห่ง เพราะผลกรรมเหล่านั้น
(๓. อานิสงส์ของการถวายบาตร)
[๙๘] ข้าพเจ้าได้ถวายบาตรในพระสุคต
และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๑๐ ประการ
[๙๙] คือข้าพเจ้าบริโภคโภชนาหารในภาชนะทองคำ
ภาชนะแก้วมณี ภาชนะเงิน
และภาชนะที่ทำด้วยทับทิม ทุกครั้ง ๑
[๑๐๐] ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีอันตราย ๑ ไม่มีเสนียดจัญไร ๑
ชนทั้งหลายยำเกรงทุกเมื่อ ๑
เป็นผู้ได้ข้าว น้ำ ผ้า และที่นอน เป็นปกติ ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๑๐๑] โภคสมบัติของข้าพเจ้าไม่พินาศ ๑
ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตมั่นคง ๑
เป็นผู้ใคร่ธรรมทุกเมื่อ ๑
เป็นผู้มีกิเลสน้อย ๑ ไม่มีอาสวะ ๑
[๑๐๒] คุณเหล่านี้ ติดตามข้าพเจ้าไปทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก
ไม่ละข้าพเจ้าในที่ทุกแห่ง
เปรียบเหมือนเงาต้นไม้
(๔. อานิสงส์ของการถวายมีด)
[๑๐๓] ข้าพเจ้าได้ถวายมีดเล็กที่ทำอย่างสวยงาม
เนื่องด้วยเครื่องผูกอย่างวิจิตรจำนวนมาก
แก่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดและแก่สงฆ์แล้ว
[๑๐๔] ได้รับอานิสงส์ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๘ ประการ
คือข้าพเจ้าเป็นผู้กล้า ๑
เป็นผู้ไม่มีความเดือดร้อน ๑
ถึงความสำเร็จในเวสารัชชธรรม ๑
[๑๐๕] เป็นผู้มีปัญญาเครื่องทรงจำ ๑ มีความเพียร ๑
ประคองใจไว้ได้ทุกเมื่อ ๑
ได้ญาณอันสุขุมเป็นเครื่องตัดกิเลส ๑
ได้ความบริสุทธิ์ไม่มีอะไรเทียมเท่าในที่ทั้งปวง ๑
เพราะผลกรรมของข้าพเจ้านั้น
(๕. อานิสงส์ของการถวายมีดเล็ก)
[๑๐๖] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใสได้ถวายมีดเล็กอันราบเรียบ ไม่หยาบ
ขัดถูดีแล้ว จำนวนมากในพระพุทธเจ้าและในพระสงฆ์แล้ว
[๑๐๗] ได้รับอานิสงส์ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ
คือข้าพเจ้าย่อมได้กัลยาณมิตร ๑ ความเพียร ๑
ขันติ ๑ ศัสตราคือไมตรี ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๑๐๘] เพราะตัดลูกศรคือตัณหา
จึงได้ศัสตราคือปัญญาอันยอดเยี่ยม
และญาณที่เสมอด้วยเพชร ๑
เพราะผลแห่งกรรมเหล่านั้น
(๖. อานิสงส์ของการถวายเข็ม)
[๑๐๙] ข้าพเจ้าได้ถวายเข็มในพระสุคต
และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ
[๑๑๐] คือเมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
เป็นผู้ที่มหาชนนอบน้อม ๑
ตัดความสงสัยได้ ๑
มีรูปร่างงดงาม ๑ มีโภคสมบัติ ๑
มีปัญญาฉลาดหลักแหลม ๑ ทุกเมื่อ
[๑๑๑] ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นอรรถ
ซึ่งเป็นฐานะละเอียดลึกซึ้งด้วยญาณ
ญาณของข้าพเจ้าเสมอด้วยยอดเพชร
เป็นเครื่องกำจัดความมืด
(๗. อานิสงส์ของการถวายมีดตัดเล็บ)
[๑๑๒] ข้าพเจ้าได้ถวายมีดตัดเล็บในพระสุคต
และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ
[๑๑๓] คือข้าพเจ้าย่อมได้ทาสชายหญิง ๑ โคและม้า ๑
ลูกจ้างที่เป็นนางฟ้อนรำ ๑ ช่างตัดผม ๑
พ่อครัวผู้ทำอาหารจำนวนมากในที่ทั้งปวง ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
(๘. อานิสงส์ของการถวายพัดใบตาล)
[๑๑๔] ข้าพเจ้าได้ถวายพัดใบตาลสวยงามในพระสุคตแล้ว
ได้รับอานิสงส์ ๘ ประการ
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า
[๑๑๕] คือข้าพเจ้าไม่รู้สึกหนาวร้อน ๑
ไม่มีความเร่าร้อน ๑
ไม่รู้สึกกระวนกระวาย ที่ทำจิตของข้าพเจ้าให้เร่าร้อน ๑
[๑๑๖] ไฟทั้งหมด คือ ไฟคือราคะ ๑ ไฟคือโทสะ ๑
ไฟคือโมหะ ๑ ไฟคือมานะ ๑
ไฟคือทิฏฐิ ๑ ข้าพเจ้าดับได้แล้ว
เพราะผลกรรมของข้าพเจ้านั้น
(๙. อานิสงส์ของการถวายพัดขนปีกนกยูงและแส้จามร)
[๑๑๗] ข้าพเจ้าได้ถวายพัดขนปีกนกยูงและแส้จามรในหมู่สงฆ์
และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุด
เป็นผู้มีกิเลสสงบระงับแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
(๑๐. อานิสงส์ของการถวายผ้ากรองน้ำคือธมกรก)
[๑๑๘] ข้าพเจ้าได้ถวายผ้ากรองน้ำคือธมกรกในพระสุคตแล้ว
ได้รับอานิสงส์ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ
[๑๑๙] คือข้าพเจ้าล่วงพ้นอันตรายทั้งปวงได้ ๑ ได้อายุทิพย์ ๑
โจรหรือข้าศึกข่มไม่ได้ทุกเมื่อ ๑
[๑๒๐] ศัสตราหรือยาพิษไม่เบียดเบียนข้าพเจ้า ๑
ไม่มีความตายในระหว่าง(ไม่ตายก่อนอายุขัย) ๑
เพราะผลแห่งกรรมเหล่านั้นของข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
(๑๑. อานิสงส์ของการถวายภาชนะน้ำมัน)
[๑๒๑] ข้าพเจ้าได้ถวายภาชนะน้ำมันในพระสุคต
และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ
[๑๒๒] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีรูปร่างงดงาม ๑ มีความเจริญดี ๑
มีใจเบิกบานดี ๑ มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ๑
ได้รับการคุ้มครองโดยการอารักขาทั้งปวง ๑
(๑๒. อานิสงส์ของการถวายกล่องเข็ม)
[๑๒๓] ข้าพเจ้าได้ถวายกล่องเข็มในพระสุคต
และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมข้าพเจ้า ๓ ประการ
[๑๒๔] คือข้าพเจ้าย่อมได้คุณเหล่านี้ คือ ความสุขใจ ๑
ความสุขกาย ๑ ความสุขเกิดแต่อิริยาบถ ๑
เพราะผลแห่งกรรมนั้น
(๑๓. อานิสงส์ของการถวายผ้าอังสะ)
[๑๒๕] ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าอังสะในพระชินเจ้า
และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๓ ประการ
[๑๒๖] คือข้าพเจ้าย่อมได้ความมั่นคงในพระสัทธรรม ๑
ระลึกชาติได้ ๑ เป็นผู้มีผิวพรรณงดงามในที่ทุกแห่ง ๑
เพราะผลแห่งกรรมนั้น
(๑๔. อานิสงส์ของการถวายประคตเอว)
[๑๒๗] ข้าพเจ้าได้ถวายประคตเอวในพระชินเจ้า
และพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๖ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๑๒๘] คือข้าพเจ้าย่อมไม่หวั่นในสมาธิ(มีสมาธิแน่วแน่) ๑
เป็นผู้ชำนาญในสมาธิ ๑
มีบริวารไม่แตกแยกกัน ๑
มีถ้อยคำที่เชื่อถือได้ทุกเมื่อ ๑
[๑๒๙] มีสติตั้งมั่น ๑ ไม่มีความสะดุ้งกลัว ๑
คุณเหล่านี้ติดตามข้าพเจ้าไปทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก
(๑๕. อานิสงส์ของการถวายเชิงรองบาตร)
[๑๓๐] ข้าพเจ้าได้ถวายเชิงรองบาตรในพระชินเจ้า
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุด
เป็นผู้ไม่มีภัยในเพราะวรรณะ ๕
และไม่หวั่นไหวด้วยอะไร ๆ
[๑๓๑] ธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีสติ
และญาณเป็นเครื่องตรัสรู้ ข้าพเจ้าฟังแล้ว
ธรรมที่ข้าพเจ้าทรงจำไว้ย่อมไม่คลาดเคลื่อน
เป็นอันวินิจฉัยดีแล้ว
(๑๖. อานิสงส์ของการถวายภาชนะ)
[๑๓๒] ข้าพเจ้าได้ถวายภาชนะสำหรับใส่ของบริโภคในพระพุทธเจ้า
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่สูงสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๓ ประการ
[๑๓๓] คือข้าพเจ้าย่อมได้ภาชนะทองคำ ภาชนะแก้วมณี
ภาชนะแก้วผลึก และภาชนะแก้วทับทิม ๑
[๑๓๔] ได้ภริยา ได้ทาสชายหญิง พลช้าง
พลม้า พลรถ พลเดินเท้า
และหญิงผู้เคารพนาย ๑
ได้เครื่องบริโภคทุกเวลา ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๑๓๕] วิชาในบทมนตร์ในอาคมต่าง ๆ
จำนวนมากและศิลปะทั้งปวง
ข้าพเจ้าย่อมใคร่ครวญให้เป็นที่ใช้สอยได้ทุกเวลา
(๑๗. อานิสงส์ของการถวายขัน)
[๑๓๖] ข้าพเจ้าได้ถวายขันในพระสุคต
และในหมู่สงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๓ ประการ
[๑๓๗] คือข้าพเจ้าย่อมได้ขันทองคำ ขันแก้วมณี
ขันแก้วผลึก และขันแก้วทับทิม ๑
[๑๓๘] ข้าพเจ้าได้ขันรูปต้นโพธิ์ รูปผลไม้
รูปใบบัว และสังข์สำหรับดื่มน้ำผึ้ง ๑
[๑๓๙] ข้าพเจ้าย่อมได้ข้อปฏิบัติในวัตรอันงาม
ในอาจาระและกิริยา ๑
ข้าพเจ้าได้คุณเหล่านี้
เพราะผลแห่งกรรมนั้น
(๑๘. อานิสงส์ของการถวายเภสัช)
[๑๔๐] ข้าพเจ้าได้ถวายเภสัชในพระสุคต
และในหมู่สงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๑๐ ประการ
[๑๔๑] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีอายุยืน ๑ มีกำลัง ๑
เป็นนักปราชญ์ ๑ มีวรรณะ ๑
มียศ ๑ มีสุข ๑ ไม่มีอันตราย ๑
ไม่มีเสนียดจัญไร ๑ ชนทั้งหลายยำเกรงทุกเมื่อ ๑
ไม่มีความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ๑
เพราะผลแห่งกรรมของข้าพเจ้านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
(๑๙. อานิสงส์ของการถวายรองเท้า)
[๑๔๒] ข้าพเจ้าได้ถวายรองเท้าในพระชินเจ้า
และในหมู่สงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๓ ประการ
[๑๔๓] คือยานคือช้าง ยานคือม้า
วอ และคานหาม ๑
รถ ๖๐,๐๐๐ คันแวดล้อมข้าพเจ้าทุกเมื่อ ๑
[๑๔๔] เมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ รองเท้าแก้วมณี
รองเท้าทองแดง รองเท้าทองคำ
รองเท้าเงิน ผุดขึ้นรองรับทุกย่างเท้า ๑
[๑๔๕] บุญกรรมทั้งหลายย่อมช่วยชำระอาจารคุณให้สะอาดแน่นอน
ข้าพเจ้าได้คุณเหล่านี้เพราะผลแห่งกรรมนั้น
(๒๐. อานิสงส์ของการถวายเขียงเท้า)
[๑๔๖] ข้าพเจ้าได้ถวายเขียงเท้าในพระสุคต
และในหมู่สงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้สวมเขียงเท้า
ซึ่งสำเร็จด้วยฤทธิ์แล้วอยู่ได้ตามปรารถนา
(๒๑. อานิสงส์ของการถวายผ้าเช็ดน้ำ)
[๑๔๗] ข้าพเจ้าได้ถวายผ้าเช็ดน้ำในพระสุคต
และในหมู่สงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ
[๑๔๘] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีผิวพรรณดุจทองคำปราศจากธุลี ๑
มีรัศมีผ่องใส ๑ มีตบะ ๑ ร่างกายมีผิวเกลี้ยงเกลา ๑
ฝุ่นละอองไม่ติดร่างกายข้าพเจ้า ๑
ข้าพเจ้าได้คุณเหล่านี้เพราะผลแห่งกรรมนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๕๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
(๒๒. อานิสงส์ของการถวายไม้เท้าคนแก่)
[๑๔๙] ข้าพเจ้าได้ถวายไม้เท้าคนแก่ในพระสุคต
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ
[๑๕๐] คือข้าพเจ้ามีบุตรมาก ๑ ไม่มีความสะดุ้งกลัว ๑
ได้รับการคุ้มครองโดยการอารักขาทั้งปวง
ใคร ๆ ข่มไม่ได้ทุกเมื่อ ๑
ไม่รู้จักความพลั้งพลาด ๑ มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ๑
(๒๓. อานิสงส์ของการถวายยารักษาไข้และยาหยอดตา)
[๑๕๑] ข้าพเจ้าได้ถวายยารักษาไข้และยาหยอดตา(ในพระสุคต)
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๘ ประการ
[๑๕๒] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีนัยน์ตาโต ๑
มีนัยน์ตาสีขาว ๑ มีนัยน์ตาสีเหลือง ๑
มีนัยน์ตาสีแดง ๑ มีนัยน์ตาแจ่มใสไม่มัว ๑
ปราศจากโรคตาโดยประการทั้งปวง ๑
[๑๕๓] มีตาทิพย์ ๑ มีดวงตาคือปัญญาอย่างสูงสุด ๑
ข้าพเจ้าได้คุณเหล่านี้เพราะผลแห่งกรรมนั้น
(๒๔. อานิสงส์ของการถวายลูกกุญแจ)
[๑๕๔] ข้าพเจ้าได้ถวายลูกกุญแจในพระสุคต
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้ว
ได้ลูกกุญแจคือญาณสำหรับเปิดประตูแห่งธรรม
(๒๕. อานิสงส์ของการถวายแม่กุญแจ)
[๑๕๕] ข้าพเจ้าได้ถวายแม่กุญแจ(ในพระสุคต)
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๒ ประการ
คือเมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ
เป็นคนมีความโกรธน้อย ๑ ไม่มีความคับแค้นใจ ๑
(๒๖. อานิสงส์ของการถวายสายโยก)
[๑๕๖] ข้าพเจ้าได้ถวายสายโยกในพระสุคต
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ
[๑๕๗] คือข้าพเจ้าย่อมไม่หวั่นไหวในสมาธิ ๑
เป็นผู้ชำนาญในสมาธิ ๑
มีบริวารไม่แตกแยกกัน ๑
มีถ้อยคำที่เชื่อถือได้ทุกเมื่อ ๑
โภคสมบัติย่อมเกิดเมื่อข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ ๑
(๒๗. อานิสงส์ของการถวายกระบอกเป่าควันไฟ)
[๑๕๘] ข้าพเจ้าได้ถวายกระบอกเป่าควันไฟในพระชินเจ้า
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๓ ประการ
[๑๕๙] คือข้าพเจ้ามีสติตั้งมั่น ๑
เส้นเอ็นต่อเนื่องกันดี ๑
ได้ที่นอนทิพย์ ๑ เพราะผลแห่งกรรมนั้น
(๒๘. อานิสงส์ของการถวายตะเกียง)
[๑๖๐] ข้าพเจ้าได้ถวายตะเกียงในพระชินเจ้า
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๓ ประการ
[๑๖๑] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีตระกูล ๑ มีอวัยวะสมบูรณ์ ๑
มีปัญญาที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ ๑
ข้าพเจ้าได้คุณเหล่านี้เพราะผลแห่งกรรมของข้าพเจ้านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
(๒๙. อานิสงส์ของการถวายคนโทน้ำและผอบ)
[๑๖๒] ข้าพเจ้าได้ถวายคนโทน้ำและผอบในพระพุทธเจ้า
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๑๐ ประการ
[๑๖๓] คือครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้รับการคุ้มครอง ๑
พรั่งพร้อมด้วยความสุข ๑
มียศยิ่งใหญ่ ๑ มีการดำเนินชีวิตที่ดี ๑
มีร่างกายที่ได้สัดส่วน ๑
เป็นสุขุมาลชาติ ๑ ปราศจากเสนียดจัญไรทั้งปวง ๑
[๑๖๔] ได้คุณอันไพบูลย์ ๑
ได้รับการยกย่องนับถืออย่างมั่นคง
ปราศจากความหวาดเสียว ๑
[๑๖๕] ได้คนโทน้ำและผอบ ๔ สี และช้างแก้ว ม้าแก้ว ๑
คุณของข้าพเจ้าเหล่านั้นไม่พินาศ
นี้เป็นผลในการถวายคนโทน้ำและผอบ
(๓๐. อานิสงส์ของการถวายวัตถุขัดสนิม)
[๑๖๖] ข้าพเจ้าได้ถวายแปรงมือในพระพุทธเจ้า
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ
[๑๖๗] คือข้าพเจ้าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยลักษณะทั้งปวง ๑
มีอายุยืน ๑ มีปัญญา ๑ มีจิตตั้งมั่น ๑
มีร่างกายพ้นจากความยากลำบาก
ทุกอย่างในกาลทุกเมื่อ ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
(๓๑. อานิสงส์ของการถวายกรรไกร)
[๑๖๘] ข้าพเจ้าได้ถวายกรรไกรที่มีคมบางซึ่งลับไว้ดีในพระสงฆ์
แล้วได้ญาณเป็นเครื่องตัดกิเลส
ซึ่งบริสุทธิ์ไม่มีอะไรเปรียบปาน
(๓๒. อานิสงส์ของการถวายแหนบ)
[๑๖๙] ข้าพเจ้าได้ถวายแหนบในพระสุคต
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุด
ย่อมได้ญาณเป็นเครื่องถอนกิเลส
ซึ่งบริสุทธิ์ไม่มีอะไรเทียบเท่า
(๓๓. อานิสงส์ของการถวายยานัตถุ์)
[๑๗๐] ข้าพเจ้าได้ถวายยานัตถุ์ในพระสุคต
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๘ ประการ
[๑๗๑] คือข้าพเจ้ามีศรัทธา ๑ มีศีล ๑ มีหิริ ๑
มีโอตตัปปะ ๑ มีสุตะ ๑
มีจาคะ ๑ มีขันติ ๑ มีปัญญา ๑
(๓๔. อานิสงส์ของการถวายตั่ง)
[๑๗๒] ข้าพเจ้าได้ถวายตั่งในพระสุคต
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ
[๑๗๓] คือข้าพเจ้าย่อมเกิดในตระกูลสูง เป็นผู้มีโภคสมบัติมาก ๑
ชนทั้งปวงยำเกรงข้าพเจ้า ๑
ชื่อเสียงของข้าพเจ้าฟุ้งขจรไป ๑
[๑๗๔] บัลลังก์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมห้อมล้อมข้าพเจ้าเป็นนิตย์
ตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป ๑ ยินดีในการจำแนกทาน ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
(๓๕. อานิสงส์ของการถวายฟูก)
[๑๗๕] ข้าพเจ้าได้ถวายฟูกในพระสุคต
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๖ ประการ
[๑๗๖] คือข้าพเจ้ามีร่างกายสมส่วนที่บุญกรรมก่อให้
เป็นผู้อ่อนโยน มีรูปงาม น่าดู ๑
ข้าพเจ้าย่อมได้ญาณอันประเสริฐ ๑
นี้เป็นผลแห่งการถวายฟูก
[๑๗๗] ข้าพเจ้าย่อมได้ฟูกที่ยัดด้วยนุ่น
อันวิจิตรด้วยรูปสัตว์ต่าง ๆ มีรูปราชสีห์
และเสือโคร่งเป็นต้น ด้วยผ้าไหม
แกมดิ้นที่ปักเพชรพลอย ๑
ผ้าป่านอย่างดี และผ้ากัมพลต่าง ๆ จำนวนมาก ๑
[๑๗๘] ได้ผ้าปาวารที่มีขนอ่อนนุ่ม
ผ้าทำด้วยขนสัตว์อ่อนนุ่มในที่ต่าง ๆ ๑
นี้เป็นผลแห่งการถวายฟูก
[๑๗๙] เมื่อใดข้าพเจ้าระลึกถึงตน
เมื่อใดข้าพเจ้าเป็นผู้รู้เดียงสา
เมื่อนั้นข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่เปล่า มีฌานเป็นเตียงนอน ๑
นี้เป็นผลแห่งการถวายฟูก
(๓๖. อานิสงส์ของการถวายหมอน)
[๑๘๐] ข้าพเจ้าได้ถวายหมอนในพระชินเจ้า
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๖ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๑๘๑] คือข้าพเจ้าใช้หมอนที่ยัดด้วยขนสัตว์
หมอนที่ยัดด้วยเกสรบัวหลวง
และหมอนที่ยัดด้วยจุรณจันทน์แดง
หนุนศีรษะของข้าพเจ้าทุกเมื่อ ๑
[๑๘๒] ข้าพเจ้าทำญาณให้เกิดในอัฏฐังคิกมรรคอย่างประเสริฐ
และในสามัญผล ๔ เหล่านั้น อยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์ ๑
[๑๘๓] ข้าพเจ้าทำญาณให้เกิดในทาน
ทมะ สัญญมะ อัปปมัญญา
และรูปฌานเหล่านั้น อยู่ตลอดกาลทั้งปวง ๑
[๑๘๔] ข้าพเจ้าทำญาณให้เกิดในวัตร คุณ การปฏิบัติ
อาจาระและกิริยา อยู่ตลอดกาลทั้งปวง ๑
[๑๘๕] ข้าพเจ้าทำญาณให้เกิดในการจงกรม
ในความเพียรที่เป็นประธาน
และในโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น อยู่ตามปรารถนา ๑
[๑๘๖] ข้าพเจ้าทำญาณให้เกิดในศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ
และในวิมุตติญาณทัสสนะเหล่านั้นแล้ว อยู่เป็นสุข ๑
(๓๗. อานิสงส์ของการถวายตั่งแผ่นกระดาน)
[๑๘๗] ข้าพเจ้าได้ถวายตั่งแผ่นกระดานในพระชินเจ้า
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๒ ประการ
[๑๘๘] คือข้าพเจ้าได้บัลลังก์อย่างประเสริฐ
ทำด้วยทอง ทำด้วยแก้วมณี ๑
และทำด้วยงาช้างจำนวนมาก ๑
นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแผ่นกระดาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
(๓๘. อานิสงส์ของการถวายตั่งวางเท้า)
[๑๘๙] ข้าพเจ้าได้ถวายตั่งวางเท้าในพระชินเจ้า
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๒ ประการ
คือข้าพเจ้าย่อมได้ยานพาหนะจำนวนมาก ๑
นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งวางเท้า
[๑๙๐] ทาสหญิงชาย ภรรยา และคนผู้อาศัยเหล่าอื่น
บำรุงบำเรอข้าพเจ้าโดยชอบ ๑
นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งวางเท้า
(๓๙. อานิสงส์ของการถวายน้ำมันทาเท้า)
[๑๙๑] ข้าพเจ้าได้ถวายน้ำมันทาเท้า(ในพระชินเจ้า)
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ
[๑๙๒] คือข้าพเจ้าไม่มีความเจ็บไข้ ๑ มีรูปงาม ๑
มีเส้นประสาทรับรสได้เร็ว ๑ ได้ข้าวและน้ำ ๑
มีอายุยืนเป็นคำรบ ๕
(๔๐. อานิสงส์ของการถวายเนยใสและน้ำมัน)
[๑๙๓] ข้าพเจ้าได้ถวายเนยใสและน้ำมัน(ในพระชินเจ้า)
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ
[๑๙๔] คือข้าพเจ้าเป็นคนมีกำลังแข็งแรง ๑
มีร่างกายสมบูรณ์ ๑
เป็นคนร่าเริงทุกเมื่อ ๑ มีบุตรได้ทุกเมื่อ ๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
และเป็นคนไม่เจ็บไข้ทุกเมื่อ ๑
นี้เป็นผลแห่งการถวายเนยใสและน้ำมัน
(๔๑. อานิสงส์ของการถวายน้ำบ้วนปาก)
[๑๙๕] ข้าพเจ้าได้ถวายน้ำบ้วนปาก(ในพระชินเจ้า)
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๕ ประการ
[๑๙๖] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีลำคอบริสุทธิ์ ๑ มีเสียงไพเราะ ๑
ปราศจากโรคไอ ๑ ปราศจากโรคหืด ๑
กลิ่นดอกอุบลฟุ้งออกจากปากของข้าพเจ้าทุกเมื่อ ๑
(๔๒. อานิสงส์ของการถวายนมส้ม)
[๑๙๗] ข้าพเจ้าได้ถวายนมส้มอย่างดีในพระพุทธเจ้า
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุด
ได้บริโภคอมตภัตคือกายคตาสติอันประเสริฐ
(๔๓. อานิสงส์ของการถวายน้ำผึ้ง)
[๑๙๘] ข้าพเจ้าได้ถวายน้ำผึ้งที่มีสีกลิ่นและรสในพระชินเจ้า
และในหมู่สงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว
ได้วิมุตติรสที่ไม่มีรสอื่นเปรียบปานได้ ไม่เป็นอย่างอื่น
(๔๔. อานิสงส์ของการถวายรส)
[๑๙๙] ข้าพเจ้าได้ถวายรสตามเป็นจริงในพระพุทธเจ้า
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับผล ๔ ประการ
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า
(๔๕. อานิสงส์ของการถวายข้าวและน้ำ)
[๒๐๐] ข้าพเจ้าได้ถวายข้าวและน้ำในพระพุทธเจ้า
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๑๐ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
[๒๐๑] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีอายุยืน ๑ มีกำลัง ๑
เป็นนักปราชญ์ ๑ มีวรรณะสวยงาม ๑
มียศ ๑ มีสุข ๑ เป็นผู้ได้ข้าว ๑ เป็นผู้ได้น้ำ ๑
เป็นคนกล้า ๑ เป็นผู้มีปัญญา ๑
ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ ได้คุณเหล่านี้
(๔๖. อานิสงส์ของการถวายธูป)
[๒๐๒] ข้าพเจ้าได้ถวายธูปในพระสุคต
และในพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุดแล้วได้รับอานิสงส์
ซึ่งสมควรแก่กรรมของข้าพเจ้า ๑๐ ประการ
[๒๐๓] คือเป็นผู้มีกลิ่นตัวหอมฟุ้ง ๑ มียศ ๑
มีปัญญาไว ๑ มีชื่อเสียง ๑
มีปัญญาเฉียบแหลม ๑ มีปัญญากว้างขวาง ๑
มีปัญญาร่าเริง ๑ มีปัญญาลึกซึ้ง ๑
[๒๐๔] มีปัญญาไพบูลย์ ๑ มีปัญญาแล่นไปเร็ว ๑
เพราะผลแห่งการถวายธูปนั้น
ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ได้บรรลุนิพพานซึ่งเป็นสันติสุข ในกาลบัดนี้
(อานิสงส์ทั่ว ๆ ไป)
[๒๐๕] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๐๖] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๒. เสลเถราปทาน
[๒๐๗] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปิลินทวัจฉเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปิลินทวัจฉเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. เสลเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเสลเถระ
(พระเสลเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๐๘] ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของถนนอยู่ในกรุงหงสวดี
เรียกประชุมบรรดาญาติของตนแล้ว ได้กล่าวดังนี้ว่า
[๒๐๙] พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก
เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
พระองค์เป็นผู้สมควรรับเครื่องบูชาของชาวโลกทั้งปวง
[๒๑๐] กษัตริย์ก็ดี ชาวนิคมก็ดี พราหมณมหาศาลก็ดี
ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก
[๒๑๑] พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า
ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก
[๒๑๒] นายทหารระดับสูงก็ดี ราชบุตรก็ดี พ่อค้าก็ดี
พราหมณ์ก็ดี ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๒. เสลเถราปทาน
[๒๑๓] คนทำขนมก็ดี พ่อครัวก็ดี
คนจัดแจงเครื่องอาบน้ำก็ดี ช่างดอกไม้ก็ดี
ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก
[๒๑๔] ช่างย้อมก็ดี ช่างหูกก็ดี ช่างเย็บผ้าก็ดี ช่างกัลบกหญิงก็ดี
ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก
[๒๑๕] ช่างศรก็ดี ช่างกลึงก็ดี ช่างหนังก็ดี ช่างถากก็ดี
ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก
[๒๑๖] ช่างเหล็กก็ดี ช่างทองก็ดี ช่างดีบุกก็ดี ช่างทองแดงก็ดี
ล้วนมีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมาก
[๒๑๗] ลูกจ้างก็ดี คนเชิญธงก็ดี
ทาสก็ดี กรรมกรก็ดี จำนวนมาก
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมากตามกำลังของตน ๆ
[๒๑๘] คนตักน้ำขายก็ดี คนหาฟืนขายก็ดี
ชาวนาก็ดี คนขนหญ้าก็ดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมากตามกำลังของตน ๆ
[๒๑๙] คนขายดอกไม้ก็ดี คนขายพวงมาลัยก็ดี
คนขายใบไม้ก็ดี คนขายผลไม้ก็ดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมากตามกำลังของตน ๆ
[๒๒๐] หญิงแพศยาก็ดี นางกุมภทาสีก็ดี
คนขายขนมก็ดี คนขายปลาก็ดี
ได้พากันประพฤติธรรมจำนวนมากตามกำลังของตน ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๒. เสลเถราปทาน
[๒๒๑] พวกเราทั้งหมดนี้มาประชุม
รวมเป็นพวกเดียวกันแล้ว
จักทำบุญกุศลในพระพุทธเจ้าผู้เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
[๒๒๒] ญาติเหล่านั้นฟังคำของข้าพเจ้าแล้ว
รวมกันเป็นคณะในขณะนั้นกล่าวว่า
พวกเราควรให้สร้างโรงฉันที่สร้างอย่างสวยงามถวายแด่ภิกษุสงฆ์
[๒๒๓] ข้าพเจ้าจึงให้สร้างโรงฉันนั้นสำเร็จแล้ว
เป็นผู้เบิกบาน มีใจยินดี
มีญาติทั้งหมดนั้นห้อมล้อม
เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๒๒๔] ครั้นเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลก
ทรงองอาจกว่านรชน
กราบพระยุคลบาทของพระศาสดาแล้วได้กราบทูลคำนี้ว่า
[๒๒๕] ข้าแต่พระมุนีวีรเจ้า บุรุษประมาณ ๓๐๐ คนนี้
รวมกันเป็นคณะ
ขอมอบถวายโรงฉันที่สร้างอย่างสวยงามแด่พระองค์
[๒๒๖] ขอพระองค์ผู้มีพระจักษุ
เป็นประธานหมู่ภิกษุ โปรดทรงรับเถิด
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้
ต่อหน้าบุรุษ ๓๐๐ คนว่า
[๒๒๗] บุรุษทั้ง ๓๐๐ คนและผู้เป็นหัวหน้า
ประพฤติตามเป็นหนึ่งเดียวกัน
ท่านทั้งปวงพากันทำแล้ว จักได้เสวยสมบัติ
[๒๒๘] เมื่อถึงภพสุดท้าย ท่านทั้งหลายจักเห็นนิพพาน
ซึ่งมีภาวะเย็นยอดเยี่ยม ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นแดนเกษม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๒. เสลเถราปทาน
[๒๒๙] พระสัพพัญญูพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมกว่าสมณะ
ทรงพยากรณ์อย่างนี้แล้ว
ข้าพเจ้าได้ฟังพระพุทธดำรัสแล้ว ได้เสวยโสมนัส
[๒๓๐] ข้าพเจ้ารื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
เป็นใหญ่ในหมู่เทวดา ครองเทวสมบัติตลอด ๕๐๐ ชาติ
[๒๓๑] ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๒๓๒] ในรัชสมบัติในมนุษยโลกนี้
มีพวกญาติเป็นบริวาร
ในภพสุดท้ายที่มาถึงนี้ มีพราหมณ์ชื่อวาเสฏฐะ
[๒๓๓] ข้าพเจ้าเป็นบุตรของพราหมณ์นั้น
สะสมสมบัติไว้ ๘๐ โกฏิ
ข้าพเจ้ามีนามว่าเสละถึงความสำเร็จในองค์ ๖๑
[๒๓๔] มีพวกศิษย์ของตนแวดล้อม
เดินเที่ยวพักผ่อนอิริยาบถ ดาบสชื่อเกนิยะ
ผู้เพียบพร้อมด้วยชฎาและบริขาร จัดแจงเครื่องบูชา
[๒๓๕] ข้าพเจ้าได้เห็นท่านแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า
ท่านจักทำอาวาหมงคลและวิวาหมงคล
หรือว่าท่านเชื้อเชิญพระราชา
[๒๓๖] ดาบสชื่อเกนิยะตอบว่า
ข้าพเจ้าใคร่จะใช้เครื่องบูชา

เชิงอรรถ :
๑ องค์ ๖ ในที่นี้หมายถึงมนตร์พรหมจินดา ๖ คือ (๑) กัปปศาสตร์ (๒) พยากรณ์ศาสตร์ (๓) นิรุตติ-
ศาสตร์ (๔) สิกขาศาสตร์ (๕) ฉันโทวิจิติศาสตร์ (๖) โชติสัตถศาสตร์ (ขุ.วิ.อ. ๙๙๖/๓๐๙, ที.สี.อ.
๒๕๖/๒๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๒. เสลเถราปทาน
บูชาพราหมณ์ที่สมมติกันว่าประเสริฐ
ข้าพเจ้าไม่ได้เชื้อเชิญพระราชา ไม่มีการบวงสรวง
[๒๓๗] อาวาหมงคลและวิวาหมงคลของข้าพเจ้าก็ไม่มี
พระพุทธเจ้าผู้ให้เกิดความยินดีแก่ศากยะทั้งหลาย
ประเสริฐที่สุดในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
[๒๓๘] ทรงทำประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกทั้งปวง
นำสุขมาให้แก่สรรพสัตว์
วันนี้ ข้าพเจ้าทูลนิมนต์พระองค์
จึงจัดแจงเครื่องบูชานี้เพื่อพระองค์
[๒๓๙] พระพุทธเจ้ามีพระรัศมีดุจสีมะพลับ
มีพระคุณหาประมาณมิได้
ไม่มีผู้เปรียบปาน ไม่มีใครเหมือนด้วยพระรูป
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้
[๒๔๐] พระองค์มีรัศมีเรืองรองดุจถ่านเพลิงไม้ตะเคียน
กระทบปากเบ้าทองคำ เปรียบด้วยสายฟ้า
ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก เป็นที่พึ่ง
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๔๑] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นดุจไฟบนยอดภูเขา
ดุจดวงจันทร์ในวันเพ็ญ และดุจสีแห่งเปลวไฟไม้อ้อ
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๔๒] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไม่ทรงครั่นคร้าม
ทรงล่วงพ้นภัยแล้ว ทรงทำภพให้สิ้นไป
เป็นพระมุนีดุจราชสีห์ ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๒. เสลเถราปทาน
[๒๔๓] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงฉลาดในพุทธธรรม
ไม่มีใครอื่นข่มได้ ดุจพญาช้างเชือกประเสริฐ
ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๔๔] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงฉลาดในฝั่งคือพระสัทธรรม
เป็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ไม่มีใครเหมือน ดุจโคอุสภราช
ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๔๕] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น มีพระคุณที่พรรณนาไม่สิ้นสุด
มีพระยศนับมิได้ มีพระลักษณะทั้งหมดงดงาม
ดุจท้าวสักกเทวราช
ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๔๖] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีความชำนาญ
เป็นผู้นำหมู่ มีความเพียร มีเดช
หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก ดุจพระพรหม
ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๔๗] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีพระธรรมล้ำเลิศ
น่าบูชา เป็นพระทศพล
ทรงถึงความสำเร็จพลธรรมเหนือพลธรรม(ของคนทั่วไป)
เปรียบด้วยแผ่นดิน ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๔๘] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีศีลและปัญญาแผ่กระจาย
ทรงระบือไปด้วยการรู้แจ้งธรรม เปรียบด้วยท้องทะเล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๒. เสลเถราปทาน
ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๔๙] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
ใคร ๆ ไม่อาจจะข่มได้ ไม่ทรงหวั่นไหว
ทรงเลิศกว่าพรหม เปรียบดังภูเขาเนรุราช
ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๕๐] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีพระญาณไม่มีที่สิ้นสุด
ไม่มีใครเสมอเหมือน ไม่มีใครเทียมเท่า
ทรงบรรลุถึงความเป็นยอด เปรียบดังท้องฟ้า
ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
ภาณวารที่ ๑๕ จบ
[๒๕๑] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทรงเป็นที่พึ่งของบรรดาผู้กลัวภัย
เป็นที่ต้านทานของบรรดาผู้ถึงสรณะ เป็นที่เบาใจ
ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๕๒] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทรงเป็นที่อาศัยแห่งท่านผู้มีความรู้
เป็นเนื้อนาบุญของผู้แสวงหาความสุข เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ
ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๒. เสลเถราปทาน
[๒๕๓] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงเป็นผู้ปลอบโยนให้เบาใจ
เป็นผู้ทำให้เป็นเทพ เป็นผู้ประทานสามัญผล เปรียบดังเมฆ
ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๕๔] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ที่เขายกย่องในโลก ทรงแกล้วกล้า
เป็นผู้บรรเทาความมืดทั้งปวง เปรียบดังดวงอาทิตย์
ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๕๕] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงแสดงสภาวะในอารมณ์
และความหลุดพ้น เป็นพระมุนี เปรียบดังดวงจันทร์
ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๕๖] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสรู้แล้ว
อันบัณฑิตยกย่องในโลก
ทรงประดับด้วยพระลักษณะทั้งหลาย
ใคร ๆ ประมาณมิได้
ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๕๗] พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระญาณหาประมาณมิได้
ทรงมีศีลที่ไม่มีอะไรเปรียบได้
เครื่องทรงจำที่ไม่มีอะไรเหมือน
ทรงมีพลังซึ่งเป็นอจินไตย(ไม่ควรคิด)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๒. เสลเถราปทาน
ทรงมีความบากบั่นอย่างยอดเยี่ยม
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๕๙] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงถอนพิษ
คือราคะ โทสะ โมหะได้หมดแล้ว ทรงเปรียบดังยา
ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๖๐] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทรงบรรเทาพยาธิคือกิเลสและความทุกข์มาก
ดุจดังโอสถ เปรียบดังหมอ
ทรงเป็นผู้มีความเพียรมาก
ข้าพเจ้าทูลนิมนต์แล้ว
[๒๖๑] เกนิยพราหมณ์ประกาศว่าพุทโธ
เสียงประกาศนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังแสนยาก
เพราะได้ฟังเสียงประกาศว่าพุทโธ
ข้าพเจ้าก็เกิดปีติซาบซ่าน
[๒๖๒] ข้าพเจ้ามิได้มีปีติอยู่เฉพาะภายใน
แต่แผ่ซ่านออกมาภายนอก
ข้าพเจ้ามีใจอิ่มเอิบ ได้กล่าวคำนี้ว่า
[๒๖๓] พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ทรงเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน เสด็จประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ
ข้าพเจ้าจักไปนอบน้อมพระองค์
ผู้ทรงประทานสามัญผล ณ ที่นั้น
[๒๖๔] ขอท่านผู้เกิดโสมนัสซึ่งประนมมืออยู่
โปรดยกมือข้างขวาขึ้นชี้บอกพระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๒. เสลเถราปทาน
ผู้ทรงเป็นพระธรรมราชา
ผู้ทรงบรรเทาลูกศรคือความเศร้าโศกให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด
[๒๖๕] (เกนิยพราหมณ์ กล่าวว่า)
ท่านคงเห็นป่าใหญ่ เขียว
ดุจดังก้อนมหาเมฆตั้งขึ้น
เปรียบด้วยดอกอัญชัน ซึ่งปรากฏดุจท้องทะเล
[๒๖๖] พระพุทธเจ้า ผู้ทรงฝึกฝนคนที่ยังมิได้รับการฝึกฝน
ทรงเป็นมุนี ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ให้ตรัสรู้โพธิปักขิยธรรม
พระองค์ทรงประทับอยู่ที่ป่านั้น
[๒๖๗] ข้าพเจ้าเที่ยวค้นหาพระชินเจ้า
เปรียบเหมือนคนกระหายน้ำแสวงหาน้ำดื่ม
เปรียบเหมือนคนหิวข้าวแสวงหาข้าวกิน
เปรียบเหมือนแม่โครักลูกโคเที่ยวค้นหาลูกโค
[๒๖๘] ข้าพเจ้ารู้จักอาจาระและอุปจาระ
สำรวมระวังเหมาะสมแก่เหตุ
ให้บรรดาศิษย์ของตนซึ่งจะไปยังสำนักพระชินเจ้า ศึกษาว่า
[๒๖๙] พระผู้มีพระภาคทั้งหลาย หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
เสด็จเที่ยวไปเพียงพระองค์เดียว ดุจดังราชสีห์
มาณพทั้งหลาย พวกท่านควรเข้าแถวกันมา
[๒๗๐] พระพุทธเจ้าทั้งหลายหาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก
ดุจอสรพิษกล้า
ดุจพญาเนื้อไกรสรราชสีห์
ดุจช้างกุญชรตกมันที่ได้รับการฝึกแล้ว
[๒๗๑] มาณพทั้งหลาย พวกท่านจงอย่าไอ อย่าจาม
เดินเข้าแถวพากันเข้าไปยังสำนักของพระพุทธเจ้าเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๒. เสลเถราปทาน
[๒๗๒] พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงเป็นผู้หนักในการอยู่ในที่เร้น
ชอบสถานที่เงียบเสียง
หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก ยากที่จะเข้าเฝ้า
ทรงเป็นครูในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก
[๒๗๓] ข้าพเจ้าทูลถามปัญหาข้อใด หรือได้ปราศรัยโต้ตอบอยู่
ขณะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายจงเงียบเสียงนิ่งเฉยอยู่
[๒๗๔] พระองค์ทรงแสดงพระสัทธรรมใด
ซึ่งเป็นธรรมปลอดโปร่ง เพื่อบรรลุนิพพาน
ขอท่านทั้งหลายจงพิจารณาเนื้อความแห่งพระสัทธรรมนั้น
เพราะการฟังพระสัทธรรมเป็นเหตุนำสุขมาให้
[๒๗๕] ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ได้สนทนาปราศรัยกับพระมุนี
ให้การสนทนานั้นผ่านไปแล้วจึงตรวจดูพระลักษณะ
[๒๗๖] ข้าพเจ้าสงสัยพระลักษณะ ๒ ประการ
ได้เห็นเพียงพระลักษณะ ๓๐ ประการ
พระมุนีจึงได้ทรงแสดงพระคุยหฐาน
ซึ่งเร้นอยู่ในฝักให้ปรากฏด้วยฤทธิ์
[๒๗๗] อนึ่ง พระชินเจ้าได้ทรงแลบพระชิวหา
สอดเข้าในช่องพระกรรณและเข้าในช่องพระนาสิก
แล้วปกปิดไปถึงสุดพระนลาฏทั้งสิ้น
[๒๗๘] ข้าพเจ้าได้เห็นพระลักษณะของพระองค์
ครบถ้วนบริบูรณ์พร้อมทั้งพระอนุพยัญชนะ
จึงแน่ใจได้ว่าเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว
ได้บวชพร้อมกับบรรดาศิษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๒. เสลเถราปทาน
[๒๗๙] ข้าพเจ้าพร้อมด้วยบรรดาศิษย์ ๓๐๐ คน
ได้บวชเป็นบรรพชิต ยังไม่ทันถึงครึ่งเดือน
พวกเราทั้งหมดก็ได้บรรลุนิพพาน
[๒๘๐] ศิษย์ทั้งหลายร่วมกันทำกรรมในนาบุญที่ยอดเยี่ยม
ท่องเที่ยวไปร่วมกัน คลายกิเลสได้ร่วมกัน
[๒๘๑] ข้าพเจ้าได้ถวายไม้กลอนทั้งหลาย
จึงได้อยู่ในธรรมเป็นอันมาก
ด้วยกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
ข้าพเจ้าย่อมได้เหตุ ๘ ประการ
[๒๘๒] คือข้าพเจ้าเป็นผู้ที่เขาบูชาในทิศทั้งหลาย ๑
มีโภคสมบัตินับไม่ถ้วน ๑
เป็นที่พึ่งของคนทั้งปวง ๑ ไม่มีความสะดุ้งกลัว ๑
[๒๘๓] ข้าพเจ้าไม่มีความเจ็บไข้ ๑ รักษาอายุได้ยืนยาว
มีผิวพรรณละเอียดอ่อน ๑ อยู่ในที่อยู่ที่ปรารถนาได้ ๑
[๒๘๔] เพราะได้ถวายไม้กลอน ๘ อัน
ข้าพเจ้าจึงได้อยู่ในธรรมเป็นอันมาก
ความเป็นพระอรหันต์ถึงพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา
เป็นข้อที่ ๘ อีกข้อหนึ่งของข้าพเจ้า
[๒๘๕] ข้าแต่พระมหามุนี
ข้าพระองค์มีธรรมเครื่องอยู่ทั้งปวงอยู่จบหมดแล้ว
ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ มีชื่อว่าอัฏฐโคปานสี
เป็นบุตรของพระองค์
[๒๘๖] เพราะได้ถวายเสา ๕ ต้น
ข้าพเจ้าจึงได้อยู่ในธรรมเป็นอันมาก
ด้วยกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้เหตุ ๕ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๒. เสลเถราปทาน
[๒๘๗] คือข้าพเจ้าเป็นผู้มีเมตตาไม่หวั่นไหว ๑
มีโภคสมบัติไม่รู้จักพร่อง ๑
มีถ้อยคำที่ควรเชื่อถือได้ โดยที่ข้าพเจ้าไม่พูดกำจัด ๑
[๒๘๘] ข้าพเจ้ามีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ๑
ไม่เป็นเสี้ยนหนามต่อใคร ๆ ๑
ด้วยกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้ปราศจากมลทินในศาสนา
[๒๘๙] ข้าแต่พระมุนีผู้มีความเพียรมาก
ภิกษุสาวกของพระองค์มีความเคารพ
มีความยำเกรง ได้ทำกิจเสร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะ ขอกราบไหว้พระองค์
[๒๙๐] ข้าพเจ้าได้ทำบัลลังก์ที่ทำอย่างสวยงามแล้วจัดตั้งไว้ในศาลา
ด้วยกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้เหตุ ๕ ประการ
[๒๙๑] คือเกิดในตระกูลสูง ๑ มีโภคะมาก ๑
มีสมบัติทุกอย่าง ๑ ไม่มีความตระหนี่ ๑
[๒๙๒] เมื่อข้าพเจ้าปรารถนาจะไป บัลลังก์ก็ตั้งขึ้น
ข้าพเจ้าย่อมไปพร้อมกับบัลลังก์อันประเสริฐ
ตามที่ข้าพเจ้าปรารถนา ๑
[๒๙๓] เพราะการถวายบัลลังก์นั้น
ข้าพเจ้ากำจัดความมืดทั้งหมดได้แล้ว
ข้าแต่พระมหามุนี
พระเถระผู้บรรลุอภิญญาและพลธรรมทั้งปวง
ขอกราบไหว้พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๒. เสลเถราปทาน
[๒๙๔] ข้าพเจ้าทำกิจทั้งปวงทั้งที่เป็นกิจ
ของผู้อื่นและกิจของตนสำเร็จแล้ว
ด้วยกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้เข้าไปยังบุรีที่ไม่มีภัย
[๒๙๕] ข้าพเจ้าได้ถวายเครื่องบริโภคในศาลาที่สร้างสำเร็จแล้ว
ด้วยกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น
ข้าพเจ้าจึงได้บรรลุความเป็นผู้ประเสริฐ
[๒๙๖] ผู้ฝึกเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลก
ผู้ฝึกเหล่านั้นย่อมฝึกช้างและม้า
พวกเขาให้ทำเหตุต่าง ๆ แล้วฝึกอย่างหนัก
[๒๙๗] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
พระองค์หาทรงฝึกเหล่าชายหญิงเช่นนั้นไม่
พระองค์ทรงฝึกในวิธีฝึกอย่างสูงสุด
โดยไม่ต้องใช้อาชญาไม่ต้องใช้ศัสตรา
[๒๙๘] พระมุนีทรงฉลาดในเทศนา ทรงสรรเสริญคุณแห่งทาน
และตรัสปัญหาข้อเดียว
ก็ให้เวไนยสัตว์ ๓๐๐ ตรัสรู้ได้
[๒๙๙] ข้าพระองค์ทั้งหลาย อันพระองค์ผู้เป็นสารถีฝึกแล้ว
จึงพ้นวิเศษด้วยดี ไม่มีอาสวะ
บรรลุอภิญญาและพลธรรมทั้งปวง
ดับแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ
[๓๐๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
ภัยทั้งปวงล่วงพ้นไปแล้ว
นี้เป็นผลแห่งการถวายศาลา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๓. สัพพกิตติกเถราปทาน
[๓๐๑] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าเผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๐๒] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๐๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเสลเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เสลเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. สัพพกิตติกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัพพกิตติกเถระ
(พระสัพพกิตติกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๐๔] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรุ่งเรืองดุจดอกกรรณิการ์
ทรงโชติช่วงดุจต้นพฤกษาประทีป
ทรงรุ่งโรจน์ดุจดาวประกายพรึก
ดุจสายฟ้าในท้องฟ้า
[๓๐๕] ไม่ครั่นคร้าม ไม่สะดุ้งกลัว
ดุจพญาเนื้อ ทรงประกาศแสงสว่างคือญาณ
ทรงย่ำยีหมู่เดียรถีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๓. สัพพกิตติกเถราปทาน
[๓๐๖] ทรงช่วยโลกนี้ คลายความสงสัยทั้งปวงได้ไม่ครั่นคร้าม
ดุจพญาราชสีห์ ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว
[๓๐๗] ข้าพเจ้าทรงชฎาและหนังสัตว์
เป็นใหญ่ ซื่อตรง มีความเพียร
ถือเอาผ้าเปลือกปอไปปูลาดที่แทบพระบาท
[๓๐๘] ข้าพเจ้านำกระลำพักมาชโลมทาพระตถาคต
ครั้นชโลมทาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ได้ชมเชยพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[๓๐๙] ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ทรงข้ามโอฆกิเลสได้แล้ว
ทรงช่วยเหลือสัตว์โลกนี้ ทรงโชติช่วง
ด้วยแสงสว่างแห่งพระญาณ
พระญาณ(ของพระองค์)ประเสริฐสุด
[๓๑๐] พระองค์ทรงประกาศธรรมจักร ย่ำยีเดียรถีย์อื่น
เป็นผู้องอาจ ชนะสงครามแล้ว
ทำแผ่นดินให้หวั่นไหว
[๓๑๑] ทิฏฐิทั้งปวงย่อมแตกทำลายไปเพราะพระญาณของพระองค์
ดุจคลื่นในมหาสมุทรย่อมแตกขจายไปเพราะริมฝั่ง
[๓๑๒] แหตาเล็ก ๆ ที่เขาเหวี่ยงลงไปในสระแล้ว
สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ภายในแห
ย่อมถูกบีบคั้นในขณะนั้นฉันใด
[๓๑๓] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
พวกเดียรถีย์ในโลกเป็นผู้หลงงมงาย
ไม่อิงอาศัยสัจจะ ย่อมเป็นไปภายในพระญาณ
อันประเสริฐของพระองค์ฉันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๓. สัพพกิตติกเถราปทาน
[๓๑๔] พระองค์เท่านั้นเป็นที่พึ่งของผู้ที่ถูกพัดพาไปในห้วงน้ำ
เป็นที่พึ่งของผู้ไม่มีญาติ เป็นสรณะของผู้ที่มีภัย
เป็นจุดมุ่งหมายของผู้ต้องการความหลุดพ้น
[๓๑๕] เสด็จเที่ยวไปผู้เดียว ไม่มีใครเหมือน
ทรงประกอบด้วยพระเมตตากรุณา
ทรงมีปัญญาประกอบด้วยจาคะ
ชำนาญ คงที่ เป็นที่อยู่แห่งคุณ
[๓๑๖] เป็นนักปราชญ์ ปราศจากความหลง
ไม่ทรงหวั่นไหว ไม่มีความสงสัย
เป็นผู้พอพระทัย ทรงคลายโทสะแล้ว
ไม่มีมลทิน ทรงสำรวม มีความบริสุทธิ์
[๓๑๗] ล่วงธรรมเครื่องข้อง ปราศจากความเมา
ได้วิชชา ๓ ถึงที่สุดภพ ทรงล่วงเขตแดน
เป็นผู้หนักในธรรม ถึงจุดมุ่งหมายแล้ว
ทรงหว่านประโยชน์เกื้อกูล
[๓๑๘] ทรงช่วยสัตว์ให้ข้ามพ้นเปรียบเหมือนเรือ(พาคนข้ามฟาก)
ทรงมีขุมทรัพย์ ทรงทำความเบาใจ
ไม่ทรงครั่นคร้ามเหมือนราชสีห์
ทรงฝึกแล้วเหมือนพญาคชสารที่ฝึกแล้ว
[๓๑๙] ครั้งนั้น ครั้นข้าพเจ้าสรรเสริญพระมหามุนี
พระนามว่าปทุมุตตระ ด้วยคาถา ๑๐ คาถา
กราบพระบาทของพระศาสดาแล้วได้ยืนนิ่งอยู่
[๓๒๐] พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ประทับยืนอยู่ในท่ามกลางหมู่ภิกษุ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๓. สัพพกิตติกเถราปทาน
[๓๒๑] เราจักพยากรณ์ผู้ที่สรรเสริญศีล
ปัญญา และธรรมของเรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๓๒๒] ผู้นั้นจักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๖๐,๐๐๐ กัป
จักครองอิสริยยศปกครองเทวดาเหล่าอื่น
[๓๒๓] ภายหลังเขาบวชแล้ว ถูกกุศลมูลตักเตือน
จักบวชในศาสนา
ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๓๒๔] ครั้นบวชแล้ว เว้นบาปกรรมทางกาย
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะ แล้วนิพพาน
[๓๒๕] เมฆคำรนกระหึ่ม ทำแผ่นดินนี้ให้ชุ่มฉันใด
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
พระองค์ทรงให้ข้าพระองค์ชุ่มชื่นด้วยธรรมฉันนั้น
[๓๒๖] ครั้นข้าพเจ้าเชยชมศีล ปัญญา ธรรม
และพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกแล้ว
ได้บรรลุนิพพานซึ่งเป็นธรรมสงบอย่างยิ่ง เป็นบทไม่จุติ
[๓๒๗] โอหนอ พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุพระองค์นั้น
พึงดำรงอยู่นานแน่
ข้าพเจ้าก็พึงรู้แจ้งธรรมที่ยังไม่รู้แจ้ง พึงเห็นอมตบท
[๓๒๘] ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของข้าพเจ้า
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้ากำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๔. มธุทายกเถราปทาน
[๓๒๙] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้สรรเสริญพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการสรรเสริญ
[๓๓๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงเข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๓๓๑] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๓๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัพพกิตติกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัพพกิตติกเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. มธุทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระมธุทายกเถระ
(พระมธุทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๓๓] ข้าพเจ้าได้สร้างอาศรมอย่างสวยงามไว้ใกล้ฝั่งแม่น้ำสินธุ
สอนตำราประวัติศาสตร์พร้อมทั้งตำราทายลักษณะ
แก่พวกศิษย์ที่อาศรมนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๔. มธุทายกเถราปทาน
[๓๓๔] ศิษย์เหล่านั้นผู้ที่ข้าพเจ้าแนะนำแล้วเป็นผู้ใคร่ธรรม
ใคร่ฟังคำสั่งสอนดี
ถึงความสำเร็จในองค์ ๖๑ ประการ อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำสินธุ
[๓๓๕] เป็นผู้ฉลาดในเหตุที่มาแห่งอุปปาทะ(ความเกิด)
และในลักษณะทั้งหลาย
แสวงหาประโยชน์สูงสุดอยู่ในป่าใหญ่ในครั้งนั้น
[๓๓๖] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
เสด็จอุบัติขึ้นในโลก
พระองค์ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ
เมื่อจะทรงอนุเคราะห์พวกข้าพเจ้า จึงเสด็จเข้ามา
[๓๓๗] ข้าพเจ้าได้เห็นพระมหาวีรเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เสด็จเข้ามา
จึงได้ลาดหญ้าถวายแด่พระองค์ผู้เจริญที่สุดในโลก
[๓๓๘] ข้าพเจ้าถือน้ำผึ้งจากป่าใหญ่มาถวาย
แด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยแล้วได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[๓๓๙] เราจักพยากรณ์ผู้ที่มีความเลื่อมใส
ซึ่งได้ถวายน้ำผึ้งแก่เราด้วยมือทั้ง ๒ ของตน
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๓๔๐] ด้วยการถวายน้ำผึ้งและด้วยการลาดหญ้าถวายนี้
ผู้นั้นจักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
[๓๔๑] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก

เชิงอรรถ :
๑ ดู เชิงอรรถ หน้า ๖๑๒ ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๔. มธุทายกเถราปทาน
[๓๔๒] ผู้นั้นจักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๓๔๓] เมื่อข้าพเจ้าจากเทวโลกมาในมนุษยโลกนี้
ปฏิสนธิในครรภ์มารดา
ฝนน้ำผึ้งได้ตกปกปิดแผ่นดินด้วยน้ำผึ้ง
[๓๔๔] แม้ในขณะเมื่อข้าพเจ้าออกจากครรภ์อย่างปลอดภัยนั้น
ฝนน้ำผึ้งก็ตกเพื่อข้าพเจ้าตลอดกาลเป็นนิตย์
[๓๔๕] เมื่อข้าพเจ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว
ย่อมได้ข้าวและน้ำ
นี้เป็นผลแห่งการถวายน้ำผึ้ง
[๓๔๖] ข้าพเจ้าเกิดในหมู่เทวดาและมนุษย์
เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยสิ่งที่พึงปรารถนาทั้งปวง
ได้บรรลุความสิ้นอาสวะ
เพราะการถวายน้ำผึ้งนั้นแล
[๓๔๗] เมื่อฝนตกแล้ว หญ้างอกยาว ๔ นิ้ว
เมื่อต้นไม้ในที่เพาะปลูกมีดอกบานสะพรั่ง
ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่เป็นสุขเนืองนิตย์
ที่เรือนว่าง ที่มณฑปและโคนต้นไม้
[๓๔๘] ภพที่ข้าพเจ้าก้าวล่วงมีในท่ามกลาง
ในวันนี้อาสวะทั้งหลายของข้าพเจ้าสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๓๔๙] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๕. ปทุมกูฏาคาริกเถราปทาน
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายน้ำผึ้ง
[๓๕๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
อาสวะทั้งปวงก็สิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๓๕๑] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๕๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระมธุทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
มธุทายกเถราปทานที่ ๔ จบ

๕. ปทุมกูฏาคาริกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปทุมกูฏาคาริกเถระ
(พระปทุมกูฏาคาริกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๕๓] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปิยทัสสี
ผู้เป็นพระสยัมภู ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ตรัสรู้แล้วด้วยพระองค์เอง
ทรงประสงค์วิเวก ฉลาดในสมาธิ เป็นมุนี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๕. ปทุมกูฏาคาริกเถราปทาน
[๓๕๔] พระมหามุนีพระนามว่าปิยทัสสี ผู้เป็นบุรุษผู้สูงสุด
เสด็จเข้าไปยังไพรสณฑ์
ทรงลาดผ้าบังสุกุลแล้วประทับนั่งอยู่
[๓๕๕] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นพรานเนื้ออยู่ในป่าดงทึบ
เที่ยวแสวงหาเนื้อฟานอยู่ในครั้งนั้น
[๓๕๖] ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ข้ามโอฆกิเลสได้แล้ว
ไม่มีอาสวะเด่นอยู่ดุจต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง
และดุจดวงอาทิตย์อุทัย
[๓๕๗] ครั้นเห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ มีพระยศยิ่งใหญ่แล้ว
จึงลงไปยังชาติสระ นำดอกปทุมมาในขณะนั้น
[๓๕๘] ครั้นนำดอกปทุมร้อยกลีบซึ่งเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจมาแล้ว
จึงสร้างเรือนยอด(ปราสาท)แล้วมุงด้วยดอกปทุม
[๓๕๙] พระพุทธชินเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี ผู้มหามุนี
ผู้ทรงอนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา
ประทับอยู่ในเรือนยอดตลอด ๗ วัน ๗ คืน
[๓๖๐] ข้าพเจ้านำดอกปทุมที่เก่า ๆ ทิ้งแล้ว
มุงด้วยดอกปทุมใหม่
ได้ยืนประคองอัญชลี ในขณะนั้น
[๓๖๑] พระมหามุนีพระนามว่าปิยทัสสี ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จออกจากสมาธิแล้วประทับนั่งเหลียวดูทิศอยู่
[๓๖๒] ครั้งนั้น พระเถระผู้อุปัฏฐากนามว่าสุทัสสนะ มีฤทธิ์มาก
รู้พระดำริของพระพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี ผู้ศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๕. ปทุมกูฏาคาริกเถราปทาน
[๓๖๓] มีภิกษุ ๘๐,๐๐๐ รูปแวดล้อมแล้ว
เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ซึ่งประทับนั่งเป็นสุขอยู่ที่ชายป่า
[๓๖๔] และครั้งนั้น เทวดาที่สิงสถิตอยู่ในไพรสณฑ์
ทราบพระพุทธดำริแล้ว พากันมาประชุมทั้งหมด
[๓๖๕] เมื่อพวกยักษ์ กุมภัณฑ์ พร้อมทั้งผีเสื้อน้ำมาพร้อมกัน
และเมื่อภิกษุสงฆ์มาถึงพร้อมแล้ว
พระชินเจ้าได้ตรัสพระคาถาว่า
[๓๖๖] เราจักพยากรณ์ผู้ที่บูชาเราตลอด ๗ วัน
และได้สร้างอาวาสถวายเรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๓๖๗] เราจักพยากรณ์สิ่งที่เห็นได้ยากนัก ละเอียดนัก
ลึกซึ้งให้ปรากฏชัดด้วยญาณ
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๓๖๘] ผู้นั้นจักได้ครองเทวสมบัติตลอด ๑๔ กัป
เรือนยอดของผู้นั้นใหญ่ มุงด้วยดอกปทุม
[๓๖๙] เทวดาทั้งหลายทรงไว้ในอากาศ
นี้เป็นผลแห่งบุพกรรม
เขาจักเวียนว่ายตายเกิดสับสนใน ๑๑๔ กัป
[๓๗๐] ในกัปที่ ๑๑๔ นั้น
วิมานดอกไม้จักทรงอยู่ในอากาศ
น้ำไม่ติดอยู่บนใบบัวฉันใด
[๓๗๑] กิเลสทั้งหลายก็ไม่ติดอยู่ในญาณของผู้นี้ฉันนั้น
ผู้นี้จักปลดเปลื้องนิวรณ์ ๕ ออกจากใจได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๕. ปทุมกูฏาคาริกเถราปทาน
[๓๗๒] ให้ความคิดเกิดในเนกขัมมะแล้ว
จักออกจากเรือนบวช
ในครั้งนั้น วิมานดอกไม้ที่ยังทรงอยู่ก็จักออกไปด้วย
[๓๗๓] เมื่อผู้นั้นมีปัญญารักษาตน มีสติ อยู่ที่โคนต้นไม้
วิมานดอกไม้จักทรงอยู่เหนือศีรษะของผู้นั้นที่โคนต้นไม้นั้น
[๓๗๔] ผู้นั้นถวายจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจัย
ที่นอนและที่นั่งแก่ภิกษุสงฆ์แล้ว
จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๓๗๕] เมื่อเรือนยอดลอยไป ข้าพเจ้าออกบวชแล้ว
กรรมทรงเรือนยอดไว้เฉพาะข้าพเจ้าแม้อยู่ที่โคนต้นไม้
[๓๗๖] ข้าพเจ้าไม่มีความตั้งใจ(แสวงหา)จีวรและบิณฑบาต
ข้าพเจ้าประกอบด้วยบุญกรรม
จึงได้จีวรและบิณฑบาตที่สำเร็จแล้ว
[๓๗๗] พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ผ่านพ้นข้าพเจ้าไปเปล่า ๆ ตั้งหลายพระองค์
ตลอดโกฏิกัปจำนวนมาก โดยนับประมาณมิได้
[๓๗๘] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี
ผู้ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ จึงมาเกิดยังกำเนิดนี้
[๓๗๙] ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระนามว่าอโนมะ ผู้มีพระจักษุ
ครั้นเข้าเฝ้าพระองค์แล้ว ก็ได้บวชเป็นบรรพชิต
[๓๘๐] พระพุทธชินเจ้าผู้ทรงทำที่สุดทุกข์ได้
ทรงแสดงพระสัทธรรม
ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว
ได้บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๕. ปทุมกูฏาคาริกเถราปทาน
[๓๘๑] ข้าพเจ้าให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐทรงพอพระทัย
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จึงอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๓๘๒] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๓๘๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
อาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๓๘๔] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๘๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปทุมกูฏาคาริกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ปทุมกูฏาคาริกเถราปทานที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๖. พักกุลเถราปทาน
๖. พักกุลเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระพักกุลเถระ
(พระพักกุลเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๘๖] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อโสภิตะ
พวกศิษย์ของข้าพเจ้า
ช่วยกันสร้างอาศรมอย่างสวยงามให้ข้าพเจ้า
[๓๘๗] ที่ใกล้อาศรมนั้น มีมณฑปจำนวนมาก
ต้นย่านทรายมีดอกบานสะพรั่ง
ต้นมะขวิด ต้นจำปา ต้นกากะทิง ต้นเกด มีจำนวนมาก
[๓๘๘] มีต้นคนทีสอ ต้นพุทรา และต้นมะขามป้อม
ต้นมะปราง น้ำเต้า และบัวขาว
มีดอกบานสะพรั่งจำนวนมาก
[๓๘๙] มีต้นรักขาว ต้นมะตูม ต้นกล้วย และต้นมะงั่ว (มะนาว)
ต้นกระท้อน ต้นรกฟ้าขาว และต้นประยงค์ มีอยู่มาก
[๓๙๐] มีต้นคำ ต้นช้างน้าว ต้นกระทุ่ม ต้นไทร และต้นมะขวิด
อาศรมของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้
ข้าพเจ้าพร้อมด้วยศิษย์อยู่ที่อาศรมนั้น
[๓๙๑] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้เป็นพระสยัมภู
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงแสวงหาที่เร้น
เสด็จเข้ามาใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๓๙๒] เมื่อพระมหาวีรเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่เสด็จเข้ามาใกล้แล้ว
โรคลมก็เกิดขึ้นแก่พระองค์
ผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกโดยฉับพลัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๖. พักกุลเถราปทาน
[๓๙๓] ข้าพเจ้าเที่ยวไปในป่า ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก มีพระจักษุ
มีพระยศยิ่งใหญ่ จึงได้เข้าเฝ้า
[๓๙๔] ครั้นได้เห็นพระอิริยาบถก็เข้าใจได้ในทันทีว่า
พระพุทธเจ้าทรงพระประชวรแน่นอน
[๓๙๕] ข้าพเจ้าจึงรีบกลับมายังอาศรม
ในสำนักของศิษย์ทั้งหลายของข้าพเจ้า
ขณะนั้นข้าพเจ้าปรึกษาศิษย์ว่า เราต้องการปรุงยา
[๓๙๖] ศิษย์ทั้งหมดผู้มีความเคารพ
เชื่อฟังข้าพเจ้าแล้วร่วมประชุมกัน
เพราะเคารพข้าพเจ้าผู้เป็นครู
[๓๙๗] ข้าพเจ้ารีบขึ้นภูเขาไปเก็บยาทุกสิ่งมาปรุง
ได้ปรุงให้เป็นยาสำหรับดื่มถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[๓๙๘] เมื่อพระมหาวีรเจ้าผู้สัพพัญญู
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกเสวยแล้ว
โรคลมของพระสุคตผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ก็สงบลงฉับพลัน
[๓๙๙] พระพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
ทรงเห็นข้าพเจ้ามีความกระวนกระวายสงบแล้ว
ประทับนั่งบนอาสนะของพระองค์
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๔๐๐] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายยา
แก่เราและระงับอาพาธของเราได้
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๔๐๑] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป
จักบันเทิงในเทวโลกนั้น ซึ่งมีดนตรีประโคมอยู่ทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๖. พักกุลเถราปทาน
[๔๐๒] อันกุศลมูลตักเตือนมา(เกิด)ยังมนุษยโลกแล้ว
จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๔๐๓] ในกัปที่ ๕๕ (นับจากกัปนี้ไป)
จักได้เป็นกษัตริย์พระนามว่าอโนมิ
ทรงมีชัยชนะมีสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต
เป็นใหญ่ในชมพูทวีป
[๔๐๔] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ มีพลานุภาพมาก
ลือกระฉ่อนไปจนถึงภพดาวดึงส์ ครองความเป็นใหญ่
[๔๐๕] เขา(เกิด)เป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
จักเป็นผู้มีอาพาธน้อย จักเว้นความเร่าร้อนแล้ว
ผ่านพ้นความเจ็บไข้ได้ในโลก
[๔๐๖] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๔๐๗] เขาจักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๔๐๘] เผากิเลสทั้งหลายแล้ว ข้ามพ้นกระแสตัณหาได้
จักมีนามว่าพักกุละเป็นสาวกของพระศาสดา
[๔๐๙] พระโคดมศากยะผู้ประเสริฐ
ทรงทราบความนี้ทั้งหมดแล้ว
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุ
จักทรงตั้งเขาไว้ในเอตทัคคะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๖. พักกุลเถราปทาน
[๔๑๐] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอโนมทัสสี
ผู้เป็นพระสยัมภู ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงตรวจดูอาศรมของข้าพเจ้าว่าเป็นที่วิเวก
จึงเสด็จเข้าไป
[๔๑๑] ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใส ให้พระมหาวีรเจ้า
ผู้สัพพัญญูทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จมาถึง อิ่มเอิบด้วยโอสถทุกอย่างด้วยมือของตน
[๔๑๒] ข้าพเจ้านั้นได้ทำกรรมไว้ดีแล้ว
เพราะความถึงพร้อมด้วยพืชในเขตที่ดี
ข้าพเจ้าจึงไม่อาจจะให้กรรม
ที่ข้าพเจ้าทำแล้วสิ้นไปได้เลยในกาลนั้น
[๔๑๓] การที่ข้าพเจ้าได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเป็นผู้นำนั้น
เป็นลาภที่ข้าพเจ้าได้ดีแล้ว
ด้วยกรรมที่เหลืออยู่นั้น
ข้าพเจ้าจึงได้บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว
[๔๑๔] พระโคดมศากยะผู้ประเสริฐทรงทราบความนั้นทั้งหมดแล้ว
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
[๔๑๕] ในกัปที่นับมิได้ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายยา
[๔๑๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้ามีอาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๗. คิริมานันทเถราปทาน
[๔๑๗] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๑๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระพักกุลเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
พักกุลเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. คิริมานันทเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระคิริมานันทเถระ
(พระคิริมานันทเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๑๙] ภริยาของข้าพเจ้าถึงแก่กรรมแล้ว
บุตรของข้าพเจ้าก็ตกไปอยู่ป่าช้าแล้ว(ตาย)
บิดามารดาและพี่ชายของข้าพเจ้าก็ถูกเผาที่เชิงตะกอนเดียวกัน
[๔๒๐] เพราะความเศร้าโศกนั้น
ข้าพเจ้าจึงเป็นผู้รุ่มร้อน ผอมเหลือง
จิตของข้าพเจ้าฟุ้งซ่าน
คับแค้นใจด้วยความเศร้าโศกนั้น
[๔๒๑] ข้าพเจ้ามากไปด้วยลูกศรคือความเศร้าโศกจึงเข้าไปยังชายป่า
บริโภคผลไม้ที่หล่นเอง อาศัยอยู่ที่โคนต้นไม้
[๔๒๒] พระชินสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ ผู้กระทำที่สุดทุกข์
พระองค์ประสงค์จะช่วยเหลือข้าพเจ้า
จึงเสด็จมาใกล้ข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๗. คิริมานันทเถราปทาน
[๔๒๓] ข้าพเจ้าได้ยินเสียงพระบาทของพระพุทธเจ้า
พระนามว่าสุเมธะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
จึงแหงน(หน้า)มองดูพระมหามุนี
[๔๒๔] พระมหาวีรเจ้าเสด็จเข้ามา ปีติเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า
ในครั้งนั้นข้าพเจ้าได้มีใจเบิกบาน
เพราะเห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๔๒๕] ข้าพเจ้าจึงได้สติ แล้วได้ถวายใบไม้กำมือหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
ประทับนั่งบนใบไม้นั้น ด้วยความอนุเคราะห์
[๔๒๖] พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ครั้นประทับนั่งบนใบไม้นั้นแล้ว
ทรงแสดงธรรมเครื่องบรรเทาลูกศร
คือความเศร้าโศกแก่ข้าพเจ้าว่า
[๔๒๗] ชนเหล่านั้น ไม่มีใครเชิญก็พากันมาจากปรโลกนั้นเอง
ไม่มีใครอนุญาตก็พากันไปจากมนุษยโลกนี้แล้ว
เขาก็พากันไปตามที่เขาจะไป
จะคร่ำครวญไปทำไมในการตายของพวกเขานั้น
[๔๒๘] เมื่อฝนตกลงมาคนเดินทางที่มีสิ่งของ
ก็หลบฝนจนกว่าฝนจะหาย
[๔๒๙] เมื่อฝนหายแล้ว พวกเขาก็ไปตามปรารถนาฉันใด
มารดาบิดาของท่านก็ฉันนั้น
จะคร่ำครวญไปทำไมในการตายของเขานั้น
[๔๓๐] แขกผู้จรมาผู้ทำเจ้าของบ้านให้หวั่นไหวสั่นสะท้านฉันใด
มารดาและบิดาของท่านก็ฉันนั้น
จะคร่ำครวญไปทำไมในการตายของเขานั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๗. คิริมานันทเถราปทาน
[๔๓๑] งูลอกคราบเก่าไปฉันใด
มารดาและบิดาของท่านก็ฉันนั้น
ย่อมละกายของตนในโลกนี้ไป
[๔๓๒] ข้าพเจ้าได้ทราบพระพุทธดำรัสแล้ว
จึงละลูกศรคือความเศร้าโศกได้
เกิดความปราโมทย์แล้ว ได้กราบไหว้
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
[๔๓๓] ครั้นแล้ว ใช้ช่อดอกกล้วยไม้ที่มีกลิ่นหอมทิพย์
บูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้เป็นพระมหานาค ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
[๔๓๔] ครั้นบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ประนมมือขึ้นเหนือศีรษะระลึกถึงคุณอันเลิศแล้ว
ได้สรรเสริญพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[๔๓๕] ข้าแต่พระมหามุนีผู้มีความเพียรมาก
พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญู เป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงข้ามพ้นแล้ว ยังทรงช่วยเหลือสรรพสัตว์ ด้วยพระญาณอีก
[๔๓๖] ข้าแต่พระมหามุนีผู้มีพระจักษุ
พระองค์ตัดความเคลือบแคลงสงสัยของข้าพระองค์
และให้ข้าพระองค์บรรลุมรรคด้วยพระญาณของพระองค์
[๔๓๗] พระอรหันต์ผู้ถึงความสำเร็จ
ได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก
เที่ยวไปในอากาศได้
เป็นนักปราชญ์ แวดล้อมอยู่ในขณะนั้น
[๔๓๘] พระเสขะผู้กำลังปฏิบัติ และผู้ตั้งอยู่ในผล
เป็นสาวกของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๗. คิริมานันทเถราปทาน
สาวกทั้งหลายของพระองค์ย่อมเบ่งบาน
เหมือนดอกปทุมแย้มบานเมื่อดวงอาทิตย์อุทัย
[๔๓๙] มหาสมุทรประมาณมิได้ ไม่มีอะไรเทียมเท่า
ยากที่จะข้ามได้ ฉันใด
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
พระองค์ก็ทรงสมบูรณ์ด้วยพระญาณนับประมาณมิได้ ฉันนั้น
[๔๔๐] ข้าพเจ้าได้คุกเข่าน้อมไหว้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงชนะโลก
ผู้มีพระจักษุ มีพระยศยิ่งใหญ่ทุกทิศแล้วหลีกไป
[๔๔๑] ข้าพเจ้าจุติจากเทวโลกแล้ว
มีสติสัมปชัญญะอยู่เฉพาะหน้า
เร่ร่อนอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
ลงมาปฏิสนธิในครรภ์มารดา
[๔๔๒] ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้มีความเพียร
มีปัญญารักษาตน
มีปกติเข้าฌาน มีการหลีกเร้นเป็นอารมณ์
[๔๔๓] ตั้งความเพียร ให้พระมหามุนีทรงพอพระทัย
พ้นจากกิเลส ดังดวงจันทร์พ้นแล้วจากกลีบเมฆ อยู่ทุกเมื่อ
[๔๔๔] ข้าพเจ้าเป็นผู้ขวนขวายในวิเวก สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๔๔๕] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๔๔๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๘. สลฬมัณฑปิยเถราปทาน
อาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๔๔๗] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๔๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระคิริมานันทเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
คิริมานันทเถราปทานที่ ๗ จบ

๘. สลฬมัณฑปิยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสลฬมัณฑปิยเถระ
(พระสลฬมัณฑปิยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๔๙] เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ
ทรงอยู่จบพรหมจรรย์ ปรินิพพานแล้ว
ข้าพเจ้าได้เก็บดอกช้างน้าวมาทำเป็นมณฑป
[๔๕๐] ข้าพเจ้าไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้วิมานชั้นสูงสุด
รุ่งเรืองเหนือเทวดาเหล่าอื่น
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม
[๔๕๑] ข้าพเจ้าเดินและยืนอยู่ในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม
ย่อมมีดอกช้างน้าวกำบังไว้
นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๙. สัพพทายกเถราปทาน
[๔๕๒] ในกัปนี้เอง ข้าพเจ้าได้บูชาพระพุทธเจ้าไว้
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๔๕๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๕๔] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๕๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสลฬมัณฑปิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สลฬมัณฑปิยเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. สัพพทายกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระสัพพทายกเถระ
(พระสัพพทายกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๕๖] ที่อยู่ของข้าพเจ้าซึ่งบุญกรรมเนรมิตไว้ดีแล้วจดถึงมหาสมุทร
สระโบกขรณีซึ่งบุญกรรมเนรมิตไว้ดีแล้ว
มีนกจักรพากส่งเสียงร้องอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๙. สัพพทายกเถราปทาน
[๔๕๗] ดารดาษด้วยบัวเผื่อนบัวหลวงและบัวขาบ
ในสระนั้นมีน้ำไหล มีท่าน้ำราบเรียบ เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ
[๔๕๘] มีปลาและเต่าชุกชุม ชุกชุมไปด้วยเนื้อต่าง ๆ
มีนกยูง นกกระเรียน และนกดุเหว่า เป็นต้น
ส่งเสียงร้องอย่างไพเราะ
[๔๕๙] นกเขา นกเป็ดน้ำ นกจักรพาก นกกาน้ำ นกต้อยตีวิด
นกสาลิกา นกช้อนหอย นกโพระดก
[๔๖๐] หงส์ นกกระเรียน นกแสก นกขมิ้น
ช่างน่าเพลิดเพลินอยู่มาก
สระโบกขรณีสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ
มีทรายแก้วมณีและแก้วมุกดา
[๔๖๑] ต้นไม้ทั้งหลายเป็นสีทองทั้งหมด
มีกลิ่นหอมต่าง ๆ ฟุ้งขจรไป
ส่องที่อยู่ของข้าพเจ้าให้สว่างไสวตลอดกาลทั้งปวง
ทั้งกลางวันกลางคืน
[๔๖๒] เครื่องดนตรี ๖๐,๐๐๐ ชิ้น
ประโคมอยู่ทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้า
สตรีสาวล้วน ๖๐,๐๐๐ นาง แวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
[๔๖๓] ข้าพเจ้าออกจากที่อยู่แล้ว
ได้เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ไหว้พระองค์ ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่
[๔๖๔] ถวายอภิวาทแล้วได้ทูลนิมนต์พระองค์พร้อมทั้งพระสาวก
พระพุทธเจ้าผู้เป็นนักปราชญ์พระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงรับนิมนต์แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๙. สัพพทายกเถราปทาน
[๔๖๕] พระมหามุนีตรัสธรรมกถาแก่ข้าพเจ้าแล้วทรงส่งข้าพเจ้าไป
ข้าพเจ้าถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
กลับเข้าไปยังที่อยู่ของตน
[๔๖๖] ข้าพเจ้าเรียกบริวารชนมาบอกว่า ท่านทั้งหมดจงประชุมกัน
เวลาเช้าพระพุทธเจ้าจะเสด็จมายังที่อยู่ของเรา
[๔๖๗] การที่พวกเราจะได้อยู่ในสำนักของพระองค์
เป็นลาภที่พวกเราได้ดีแล้วหนอ
แม้พวกเราจักทำการบูชาพระพุทธเจ้า
ผู้ประเสริฐที่สุดผู้เป็นศาสดา
[๔๖๘] ข้าพเจ้าตระเตรียมข้าวและน้ำเสร็จแล้ว จึงกราบทูลภัตกาล
พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จเข้ามาพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๒๐๐,๐๐๐ องค์
[๔๖๙] ข้าพเจ้าได้รับเสด็จด้วยดนตรีเครื่องห้า
พระพุทธเจ้าผู้เป็นบุรุษผู้สูงสุด
ประทับนั่งบนตั่งทองคำล้วน
[๔๗๐] ในครั้งนั้น หลังคาเบื้องบนก็มุงด้วยทองคำล้วน
คนทั้งหลายโบกพัดถวายในระหว่างภิกษุสงฆ์
[๔๗๑] ข้าพเจ้าได้ถวายข้าวน้ำอย่างเพียงพอ
ให้ภิกษุสงฆ์ฉันจนอิ่มหนำแล้ว
ได้ถวายผ้าแก่ภิกษุสงฆ์รูปละ ๑ คู่
[๔๗๒] พระพุทธเจ้าที่ผู้คนเรียกพระนามว่าสุเมธะ
ผู้สมควรรับเครื่องบูชาของโลก
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๙. สัพพทายกเถราปทาน
[๔๗๓] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ถวายข้าวน้ำ
ให้ภิกษุทั้งหมดนี้ฉันจนอิ่มหนำ
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๔๗๔] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๑๑๘ กัป
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๔๗๕] เขาเกิดในกำเนิดใด
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น ๆ หลังคาทองคำล้วนจักกางกั้นให้ตลอดเวลา
[๔๗๖] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๔๗๗] ผู้นั้นจักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๔๗๘] ผู้นั้นจักนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้วบันลือสีหนาท
เขาสิ้นชีวิตแล้วถูกเผาภายใต้ฉัตร
ที่ชนทั้งหลายกั้นไว้ที่เชิงตะกอน
[๔๗๙] สามัญผลข้าพเจ้าบรรลุแล้วตามลำดับ
กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ที่มณฑปหรือที่โคนต้นไม้
ความเร่าร้อนไม่มีแก่ข้าพเจ้า
[๔๘๐] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ถวายทานไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการให้ทุกสิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑๐. อชิตเถราปทาน
[๔๘๑] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๘๒] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๘๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระสัพพทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
สัพพทายกเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. อชิตเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอชิตเถระ
(พระอชิตเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๘๔] พระผู้มีพระภาคชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
เสด็จมายังภูเขาหิมพานต์ แล้วประทับนั่งอยู่
[๔๘๕] ข้าพเจ้าไม่เคยได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แม้พระสุรเสียงข้าพเจ้าก็ไม่เคยได้ฟัง
ข้าพเจ้าเที่ยวไปในป่าแสวงหาอาหารเพื่อตนเอง
[๔๘๖] ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้มีพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ
ในป่านั้น ครั้นเห็นแล้วจึงปลื้มใจด้วยคิดว่า นี้เป็นใครกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑๐. อชิตเถราปทาน
[๔๘๗] ข้าพเจ้าพิจารณาดูลักษณะแล้ว
ระลึกถึงความรู้ของตนเองได้
ข้าพเจ้าฟังคำสุภาษิตของบัณฑิตผู้เจริญ
[๔๘๘] ตามคำของบัณฑิตเหล่านั้น
ท่านผู้นี้คงเป็นพระพุทธเจ้า
ทางที่ดีเราควรสักการะพระองค์
พระองค์จะช่วยชำระคติของเราได้
[๔๘๙] ข้าพเจ้าจึงรีบกลับไปยังอาศรม
หยิบเอาน้ำผึ้งและน้ำมัน
ถือหม้อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ
[๔๙๐] ได้นำไม้ ๓ ท่อนไปวางไว้ในที่กลางแจ้ง
แล้วตามประทีปให้ลุกโพลงเสร็จแล้วกราบ ๘ ครั้ง
[๔๙๑] พระพุทธเจ้าผู้เป็นบุรุษผู้สูงสุด
ประทับนั่งอยู่ตลอด ๗ วัน ๗ คืน
พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกได้เสด็จลุกขึ้นในเวลารุ่งสาง
[๔๙๒] ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้ตามประทีปถวายพระพุทธเจ้า
ด้วยมือของตน ตลอด ๗ วัน ๗ คืน
[๔๙๓] กลิ่นหอมทุกอย่างที่เกิดในป่า ณ ภูเขาคันธมาทน์
โชยมาในสำนักของพระพุทธเจ้า ด้วยพุทธานุภาพ
[๔๙๔] เวลานั้น ต้นไม้ที่มีดอกมีกลิ่นหอมทุกชนิด บานสะพรั่ง
ร่วงหล่นมารวมกันในกาลนั้นด้วยพุทธานุภาพ
[๔๙๕] นาคและครุฑทั้ง ๒ พวกเท่าที่มีอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
ต้องการจะฟังธรรมจึงพากันมายังสำนักของพระพุทธเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑๐. อชิตเถราปทาน
[๔๙๖] พระสมณะนามว่าเทวละ เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้า
พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๒๐๐,๐๐๐ รูป
เข้ามายังสำนักของพระพุทธเจ้า
[๔๙๗] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๔๙๘] เราจักพยากรณ์ผู้ที่มีความเลื่อมใส
ได้ตามประทีปถวายเราด้วยมือของตน
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๔๙๙] เขาจักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๖๐,๐๐๐ กัป
และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
ภาณวารที่ ๑๖ จบ

[๕๐๐] เขาจักได้เป็นจอมเทพครองเทวสมบัติตลอด ๓๖ ชาติ
จักได้ครองรัชสมบัติอันไพบูลย์ในแผ่นดิน ๗๐๐ ชาติ
[๕๐๑] จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
ด้วยผลแห่งการตามประทีปถวายนี้ จักเป็นผู้มีทิพยจักษุ
[๕๐๒] ผู้นี้จักมองเห็นได้ไกล ๒๕๐ ชั่วธนู โดยรอบทุกเมื่อ
เมื่อเขาจุติจากเทวโลกมาบังเกิดเป็นมนุษย์
[๕๐๓] ประทีปจักทรงอยู่ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อผู้นี้
ซึ่งเกิดมาพรั่งพร้อมด้วยบุญกรรม
[๕๐๔] เขาเกิดในกำเนิดใด
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้นจักโชติช่วงตลอดทั่วนคร
[๕๐๕] เพราะผลแห่งการตามประทีปถวาย ๘ ดวงนั้น
ชนทั้งหลายจักบำรุงผู้นี้
นี้เป็นผลแห่งการตามประทีปถวาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑๐. อชิตเถราปทาน
[๕๐๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๕๐๗] ผู้นี้จักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๕๐๘] ข้าพเจ้าให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐทรงพอพระทัยแล้ว
จักมีนามว่าอชิตะ เป็นสาวกของพระศาสดา
[๕๐๙] ข้าพเจ้ารื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๖๐,๐๐๐ กัป
แม้ในเทวโลกนั้น ประทีบ ๑๐๐ ดวง
ก็ส่องสว่างเพื่อข้าพเจ้าตลอดกาลเป็นนิตย์
[๕๑๐] รัศมีของข้าพเจ้าพวยพุ่ง (โพลง)
ไปในเทวโลกและมนุษยโลก
ข้าพเจ้าระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดแล้ว
จึงเกิดความร่าเริงอย่างยิ่ง
[๕๑๑] ข้าพเจ้าจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว
ลงมาปฏิสนธิในครรภ์มารดา
เมื่อข้าพเจ้าเกิดก็ได้มีแสงสว่างเจิดจ้า
[๕๑๒] ข้าพเจ้าออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตแล้ว
ได้เข้าไปหาพราหมณ์พาวรี ยอมตนเข้าเป็นศิษย์
[๕๑๓] เมื่อข้าพเจ้าอยู่ที่ภูเขาหิมพานต์
ได้ทราบข่าวพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ข้าพเจ้าแสวงหาประโยชน์อย่างสูงสุด
จึงเข้าเฝ้าพระองค์ผู้เป็นผู้นำโดยวิเศษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] ๑๐. อชิตเถราปทาน
[๕๑๔] พระพุทธเจ้าผู้ฝึกพระองค์แล้ว ทรงฝึกผู้อื่นด้วย
ทรงข้ามโอฆกิเลสได้แล้ว ไม่มีอุปธิ
ตรัสบอกนิพพานเป็นเหตุพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
[๕๑๕] การมาของข้าพเจ้านั้นให้สำเร็จประโยชน์
ข้าพเจ้าให้พระมหามุนีทรงพอพระทัย
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๕๑๖] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ถวายประทีปไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป
[๕๑๗] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๕๑๘] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๕๑๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอชิตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อชิตเถราปทานที่ ๑๐ จบ
ปิลินทวัจฉวรรคที่ ๔๐ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๐. ปิลินทวัจฉวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค รวมวรรคได้ ๑๐ วรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ปิลินทวัจฉเถราปทาน ๒. เสลเถราปทาน
๓. สัพพกิตติกเถราปทาน ๔. มธุทายกเถราปทาน
๕. ปทุมกูฏาคาริกเถราปทาน ๖. พักกุลเถราปทาน
๗. คิริมานันทเถราปทาน ๘. สลฬมัณฑปิยเถราปทาน
๙. สัพพทายกเถราปทาน ๑๐. อชิตเถราปทาน

ท่านนับคาถาได้ ๕๒๐ คาถา

และรวมวรรคได้ ๑๐ วรรค คือ

๑. ปทุมเกสริยวรรค ๒. อารักขทายกวรรค
๓. อุมาปุปผิยวรรค ๔. คันโธทกวรรค
๕. เอกปทุมวรรค ๖. สัททสัญญิกวรรค
๗. มันทารวปุปผิยวรรค ๘. โพธิวันทนวรรค
๙. อัมพฏผลวรรค ๑๐. ปิลินทวัจฉวรรค

และท่านคำนวณคาถาได้ ๑,๑๗๔ คาถา
หมวด ๑๐ แห่งวรรคมีปทุมเกสริยวรรคเป็นต้น จบ
๑๐๐ เรื่อง หมวดที่ ๔ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑. ติสสเมตเตยยเถราปทาน
๔๑. เมตเตยยวรรค
หมวดว่าด้วยพระเมตเตยยะเป็นต้น
๑. ติสสเมตเตยยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระติสสเมตเตยยเถระ
(พระติสสเมตเตยยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑] (ข้าพเจ้าเป็น)ดาบสชื่อโสภิตะ
บริโภคแต่ผลไม้ที่หล่นเอง
อาศัยยอดเงื้อมอยู่ในระหว่างภูเขา
[๒] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าแสวงหาประโยชน์อย่างสูงสุด
เพื่อเกิดในพรหมโลก
จึงนำฟืนสำหรับก่อไฟมาสุมไฟให้ลุกโพลง
[๓] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
พระองค์ประสงค์จะช่วยเหลือข้าพเจ้า
จึงเสด็จมาในสำนักของข้าพเจ้า
[๔] ตรัสถามว่า ทำอะไรอยู่หรือ ท่านผู้มีบุญมาก
ขอท่านจงให้ฟืนสำหรับก่อไฟแก่เราบ้าง
เราจะบำเรอไฟ
เพราะการบำเรอไฟนั้น
ความบริสุทธิ์จักมีแก่เรา
[๕] ข้าพเจ้าทูลว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นมนุษย์
ท่านเป็นผู้เจริญดี ท่านเข้าใจเทวดาดี
เชิญท่านบำเรอไฟ
เชิญท่านนำฟืนสำหรับก่อไฟไปเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑. ติสสเมตเตยยเถราปทาน
[๖] ลำดับนั้น พระชินเจ้าทรงถือฟืนจากที่นั้นไปก่อไฟ
แต่ไม่ทำฟืนให้ไหม้ในกองไฟนั้น
เพราะพระองค์ผู้แสวงหาคุณ
อันยิ่งใหญ่ทรงทำปาฏิหาริย์
[๗] พระชินเจ้าตรัสว่า ไฟของท่านไม่ลุกโพลง
เครื่องบูชาของท่านไม่มีการบำเรอ
ไฟของท่านไร้ประโยชน์
เชิญท่านบำเรอไฟของเราบ้างซิ
[๘] ข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก
ไฟของท่านเป็นเช่นไร
ขอจงบอกไฟของท่าน
เมื่อบอกแก่ข้าพเจ้าแล้ว
เราทั้ง ๒ จะบูชา(ร่วมกัน)
[๙] พระชินเจ้าตรัสว่า การบูชาของเรามีไว้
(เพื่อประโยชน์) ๓ ประการนี้
คือเพื่อดับธรรมที่เป็นเหตุ ๑ เพื่อเผากิเลส ๑
เพื่อละความริษยาและความตระหนี่ ๑
[๑๐] ข้าพเจ้าทูลถามว่า ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก
ผู้นิรทุกข์ พระองค์เป็นคนเช่นไร มีตระกูลอย่างไร
ข้าพเจ้าชอบใจอาจาระและข้อปฏิบัติของพระองค์นัก
[๑๑] พระชินเจ้าตรัสตอบว่า
เราเกิดในตระกูลกษัตริย์
ถึงความสำเร็จแห่งอภิญญา
สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑. ติสสเมตเตยยเถราปทาน
[๑๒] ข้าพเจ้าทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ส่องแสงสว่าง
ทรงบรรเทาความมืด
ถ้าพระองค์เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า
ข้าพระองค์จักขอนอบน้อมพระองค์
พระองค์เป็นผู้ทำที่สุดทุกข์
[๑๓] ข้าพเจ้าจึงปูหนังสัตว์ถวายให้เป็นที่ประทับนั่ง
พระสัพพัญญูประทับนั่งบนหนังสัตว์นั้น
ข้าพเจ้าอุปัฏฐากพระองค์
[๑๔] พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนหนังสัตว์ที่ข้าพเจ้าปูถวายนั้น
ข้าพเจ้านิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้ไปยังภูเขา
[๑๕] เก็บผลมะพลับใส่หาบจนเต็ม
นำผลมาคลุกเคล้าด้วยน้ำผึ้งแล้ว
ได้ถวายแด่พระพุทธเจ้า
[๑๖] เมื่อข้าพเจ้ามองดูอยู่ พระชินเจ้าทรงเสวยในขณะนั้น
ข้าพเจ้ามองดูพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระองค์
[๑๗] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ประทับนั่งอยู่ในอาศรมของข้าพเจ้า
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๘] เราจักพยากรณ์ผู้ที่เลื่อมใสได้ถวายผลไม้
ให้เราฉันจนอิ่มหนำ ด้วยมือของตน
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๑๙] ผู้นั้นจักครองเทวสมบัติ ๒๕ ชาติ
และจักเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑. ติสสเมตเตยยเถราปทาน
[๒๐] ข้าว น้ำ ผ้า และที่นอน ซึ่งสมควรแก่ค่ามาก
ดังจะรู้ความดำริของเขา ผู้ประกอบด้วยบุญกรรม
[๒๑] ปัจจัยทั้งหลาย ประกอบด้วยบุญกรรมจักบังเกิดขึ้นทันที
ผู้นี้จักบันเทิง และไม่มีโรคตลอดเวลา
[๒๒] เขาเกิดในกำเนิดใด
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น เขาจักได้เป็นมนุษย์ มีสุขในที่ทุกแห่ง
[๒๓] เขาเป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์ จบไตรเพท
เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจักเป็นพระอรหันต์
[๒๔] ตั้งแต่ข้าพเจ้าจำความได้ รู้เดียงสา
ความพร่องในโภคสมบัติไม่มีแก่ข้าพเจ้าเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้
[๒๕] ข้าพเจ้าบรรลุถึงธรรมอย่างประเสริฐแล้ว
ถอนราคะและโทสะขึ้นได้แล้ว
สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๒๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๗] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๒. ปุณณกเถราปทาน
[๒๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระติสสเมตเตยยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการ
ฉะนี้
ติสสเมตเตยยเถราปทานที่ ๑ จบ

๒. ปุณณกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระปุณณกเถระ
(พระปุณณกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๙] พระสยัมภูพุทธเจ้า ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้
ทรงพระประชวร
ทรงอาศัยยอดเงื้อมประทับอยู่ระหว่างภูเขา
[๓๐] ขณะนั้น ได้มีเสียงบันลือลั่นรอบ ๆ อาศรมของข้าพเจ้า
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ได้มีแสงสว่างในขณะนั้น
[๓๑] หมี หมาใน เสือดาว เนื้อร้าย และพญาราชสีห์
เท่าที่มีอยู่ในไพรสณฑ์
ทั้งหมดได้พากันส่งเสียงร้องขึ้นในขณะนั้น
[๓๒] ข้าพเจ้าเห็นความอัศจรรย์นั้นแล้ว ได้ไปยังเงื้อม
ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้ เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
[๓๓] เหมือนต้นพญาไม้สาละมีดอกบานสะพรั่ง
เหมือนดวงอาทิตย์อุทัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๒. ปุณณกเถราปทาน
เหมือนถ่านเพลิงปราศจากเปลวไฟ
พระองค์ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
[๓๔] ข้าพเจ้านำหญ้าและไม้มารวมกันแล้ว
ก่อเป็นเชิงตะกอนขึ้นในที่นั้น
ครั้นทำเชิงตะกอนดีแล้ว
ได้ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
[๓๕] ครั้นถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วได้ใช้น้ำหอมประพรม
ในขณะนั้น เทวดายืนอยู่ในอากาศได้ระบุชื่อว่า
[๓๖] ดูกรท่านผู้เป็นมุนี ในครั้งที่ท่านมีนามว่าปุณณกะ
ท่านก็ได้บำเพ็ญกิจนั้นแก่พระสยัมภูพุทธเจ้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
[๓๗] ข้าพเจ้าเคลื่อนจากกายนั้นแล้ว ได้ไปเกิดยังเทวโลก
ในเทวโลกนั้น กลิ่นทิพย์ย่อมตกลงจากอากาศ
[๓๘] แม้ในภพไหน ๆ ข้าพเจ้าก็มีชื่อว่าปุณณกะ
ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ก็ให้ความดำริบริบูรณ์ได้
[๓๙] นี้เป็นชาติสุดท้ายของข้าพเจ้า
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
แม้ในภพนี้ชื่อของข้าพเจ้าก็ยังปรากฏว่าปุณณกะเหมือนกัน
[๔๐] ข้าพเจ้าให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐ ทรงพอพระทัยแล้ว
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วจึงอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๔๑] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป
ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ในครั้งนั้น
จึงไม่รู้จักทุคติเลย
นี้เป็นผลแห่งการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๓. เมตตคูเถราปทาน
[๔๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๔๓] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๔๔] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระปุณณกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ปุณณกเถราปทานที่ ๒ จบ

๓. เมตตคูเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเมตตคูเถระ
(พระเมตตคูเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๔๕] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์มีภูเขาลูกหนึ่งชื่ออโศก
วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตอาศรม
ให้แก่ข้าพเจ้าที่ภูเขาอโศกนั้น
[๔๖] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ ผู้เลิศ
ทรงประกอบด้วยพระกรุณา เป็นพระมุนี
เวลาเช้าทรงครองผ้าแล้ว
เสด็จเข้ามาบิณฑบาตในสำนักข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๓. เมตตคูเถราปทาน
[๔๗] ข้าพเจ้าได้เห็นพระมหาวีรเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกเสด็จเข้ามา
จึงรับบาตรของพระสุคตแล้ว
บรรจุเนยใสและน้ำมันจนเต็ม
[๔๘] ถวายพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ประคองอัญชลี
เกิดความร่าเริงอย่างยิ่ง
[๔๙] ด้วยผลแห่งการถวายเนยใส(และน้ำมัน)นี้
และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
ข้าพเจ้าจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ย่อมได้สุขอย่างเหลือล้น
[๕๐] ข้าพเจ้าเวียนว่ายตายเกิดอยู่
ในภพน้อยภพใหญ่ เว้นวินิบาตนรก
ตั้งจิตมั่นไว้ในพระพุทธเจ้านั้น
ย่อมได้บทที่ไม่หวั่นไหว
[๕๑] (พระพุทธเจ้าตรัสว่า)
พราหมณ์ การที่ท่านได้เห็นเรานั้น
เป็นลาภที่ท่านได้ดีแล้ว
ด้วยว่า บุคคลอาศัยการเห็นเราแล้วจักได้บรรลุอรหัต
[๕๒] ท่านบรรลุยศใหญ่แล้วเป็นผู้เบาใจ ไม่ต้องกลัว
ถวายเนยใสแก่เราแล้วจักพ้นจากชาติทุกข์ได้
[๕๓] ด้วยการถวายเนยใสนี้และด้วยการตั้งเจตนาไว้มั่น
ข้าพเจ้าจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ย่อมได้สุขอย่างเหลือล้น
[๕๔] ด้วยอธิการนี้และด้วยความเป็นผู้มีจิตเมตตา
ผู้นั้นจักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๑๑๘ กัป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๓. เมตตคูเถราปทาน
[๕๕] จักได้เป็นท้าวเทวราช ๓ ชาติ ตลอด ๑๘ กัป
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๕๖] จักเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๑ ชาติ
ทรงเป็นใหญ่ มีชัยชนะ มีสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต
เป็นใหญ่ในชมพูทวีป
[๕๗] มหาสมุทรใคร ๆ ให้กระเพื่อมไม่ได้
และแผ่นดินใคร ๆ ยกขึ้นได้ยากฉันใด
โภคสมบัติของข้าพเจ้าก็นับประมาณมิได้ฉันนั้น
[๕๘] ข้าพเจ้าบริจาคเงิน ๖๐ โกฏิแล้วออกบวช
แสวงหากุศลบางอย่างอยู่ จึงเข้าไปหาพราหมณ์พาวรี
[๕๙] ข้าพเจ้าเล่าเรียนลักษณะมีองค์ ๖ ในมนตร์นั้นอยู่
ข้าแต่พระมหามุนี
พระองค์เสด็จอุบัติขึ้นกำจัดความมืดนั้นแล้ว
[๖๐] ข้าแต่พระมหามุนี
ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าเฝ้าพระองค์จึงมา
ได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว
ได้บรรลุบทที่ไม่หวั่นไหว
[๖๑] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
ข้าพเจ้าได้ถวายเนยใสแด่พระพุทธเจ้า
ในระหว่างนี้ จึงไม่รู้จักว่า
ข้าพเจ้าจะต้องขอเนยใสเลย
[๖๒] เนยใสดังจะรู้ความดำริของข้าพเจ้า
จึงเกิดขึ้นตามความปรารถนา
รู้ความดำริแล้วจึงบังเกิด
ข้าพเจ้าเลี้ยงดูภิกษุทั้งปวงให้อิ่มหนำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๓. เมตตคูเถราปทาน
[๖๓] ช่างน่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้า
ช่างน่าอัศจรรย์ พระธรรม
ช่างน่าอัศจรรย์ การที่ข้าพเจ้าได้มาประจวบกับพระศาสดา
ข้าพเจ้าถวายเนยใสหน่อยเดียวแต่ได้เนยใสประมาณมิได้
[๖๔] น้ำในมหาสมุทรมีประมาณตั้งแต่เชิงเขาสิเนรุ
เมื่อเทียบกับเนยใสของข้าพเจ้าจักไม่เท่าส่วนเสี้ยวเลย
[๖๕] โอกาสแห่งจักรวาลที่เขาทำให้เป็นกองประมาณเท่าใด
โอกาสประมาณนั้นไม่สมกับกองผ้าที่บังเกิดแก่ข้าพเจ้า
[๖๖] ภูเขาหิมพานต์มีหินล้วนแม้จะสูงสุด
ก็ยังไม่เท่าของหอมที่ข้าพเจ้าลูบไล้
[๖๗] ผ้า ของหอม เนยใส และสิ่งอื่น ที่เกิดในปัจจุบัน
และนิพพานที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง
นี้เป็นผลแห่งการถวายเนยใส
[๖๘] ข้าพเจ้ามีสติปัฏฐานเป็นที่นอน
มีสมาธิและฌานเป็นอารมณ์
วันนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้ให้โพชฌงค์เกิด
นี้เป็นผลแห่งการถวายเนยใส
[๖๙] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๗๐] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๔. โธตกเถราปทาน
[๗๑] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเมตตคูเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เมตตคูเถราปทานที่ ๓ จบ

๔. โธตกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโธตกเถระ
(พระโธตกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๗๒] ครั้งนั้น แม่น้ำภาคีรถี เกิดจากภูเขาหิมพานต์
ไหลผ่านไปทางประตูกรุงหงสวดี
[๗๓] อารามชื่อโสภิตะ มหาชนสร้างไว้อย่างสวยงามใกล้ฝั่งแม่น้ำ
พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ประทับอยู่ในอารามนั้น
[๗๔] พระผู้มีพระภาคมีหมู่มนุษย์ห้อมล้อม
ดังพระอินทร์จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ประทับนั่งในอารามนั้น ไม่ครั่นคร้ามดุจราชสีห์
[๗๕] ข้าพเจ้าเป็นพราหมณ์มีนามว่าฉฬังคะ
อยู่ในกรุงหงสวดี พระมหามุนีก็มีนามอย่างนั้น
[๗๖] ครั้งนั้น ศิษย์ ๑๑๘ คน แวดล้อมข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าพร้อมด้วยศิษย์เหล่านั้นไปยังฝั่งแม่น้ำ
[๗๗] ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าได้เห็นสมณะหลายรูป
ผู้ไม่คดโกง ผู้ชำระบาปแล้ว
ในครั้งนั้น ข้าพเจ้ากำลังข้ามแม่น้ำภาคีรถีคิดอย่างนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๔. โธตกเถราปทาน
[๗๘] บุตรของพระพุทธเจ้าผู้มียศมากเหล่านี้
ข้ามแม่น้ำทั้งในเวลาเย็นและในเวลาเช้า
ย่อมทำตนให้ลำบาก ทำตนให้เดือดร้อน
[๗๙] บัณฑิตย่อมกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้าว่า
เป็นผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก
เครื่องสักการะสำหรับชำระทางคือคติในทักษิณาของเราก็ไม่มี
[๘๐] ทางที่ดี เราพึงให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำ
ถวายแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดเถิด
ครั้นให้สร้างสะพานนี้แล้ว จะข้ามภพนี้ไปได้
[๘๑] ข้าพเจ้าเชื่อว่ากุศลที่ข้าพเจ้าทำแล้วนี้ จักไพบูลย์
จึงได้ให้ทรัพย์ ๑๐๐ (บ้าง) ๑,๐๐๐ (บ้าง)
แล้วให้สร้างสะพาน
[๘๒] ข้าพเจ้าให้สร้างสะพานนั้นเสร็จแล้ว
ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ประนมมือเหนือศีรษะแล้วได้กราบทูลคำนี้ว่า
[๘๓] ข้าพเจ้าได้จ่ายทรัพย์ ๑๐๐ (บ้าง) ๑,๐๐๐ (บ้าง)
แล้วให้สร้างสะพานใหญ่ เพื่อประโยชน์แก่พระองค์
ข้าแต่พระมหามุนี ขอได้โปรดทรงรับเถิด
[๘๔] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๘๕] เราจักพยากรณ์ผู้ที่เลื่อมใส ซึ่งได้ให้สร้างสะพาน
ถวายเราด้วยมือของตน
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๔. โธตกเถราปทาน
[๘๖] ผู้นี้แม้ตกจากซอกเขาก็ดี จากภูเขาก็ดี จากต้นไม้ก็ดี
แม้จุติแล้วก็จักได้ที่ตั้งมั่น (คือที่พึ่ง)
นี้เป็นผลแห่งการถวายสะพาน
[๘๗] ศัตรูทั้งหลายข่มไม่ได้ เปรียบเหมือนลมข่มต้นไทร
ที่มีรากและย่านงอกงามไม่ได้ฉะนั้น
นี้เป็นผลแห่งการถวายสะพาน
[๘๘] พวกโจรข่มเหงไม่ได้ กษัตริย์ทั้งหลายไม่ดูหมิ่น
ผู้นี้จักผ่านศัตรูทั้งปวงไปได้
นี้เป็นผลแห่งการถวายสะพาน
[๘๙] ผู้นี้ประกอบด้วยบุญกรรม
ถึงจะอยู่ในโอกาสกลางแจ้งถูกแดดกล้าจัดแผดเผา
ก็จักไม่มีเวทนา
[๙๐] ในเทวโลกก็ดี ในมนุษยโลกก็ดี ยานพาหนะคือช้าง
ที่บุญกรรมเนรมิตดีแล้ว
ดังจะรู้ความดำริของผู้นั้น จักบังเกิดในทันที
[๙๑] ม้าสินธพ ๑,๐๐๐ ตัวซึ่งเป็นพาหนะวิ่งเร็วปานกำลังลม
จักคอยรับใช้ทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น
นี้เป็นผลแห่งการถวายสะพาน
[๙๒] ผู้นี้มาเกิดเป็นมนุษย์ จักเป็นผู้มีความสุข
แม้ในการเกิดเป็นมนุษย์นี้ ก็จักมียานพาหนะคือช้าง
[๙๓] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๙๔] ผู้นี้จักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น
เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๔. โธตกเถราปทาน
[๙๕] ช่างน่าปลื้มใจ ข้าพเจ้าได้ทำกรรมไว้ดีแล้ว
ในพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ข้าพเจ้ากระทำสักการะไว้ในพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จึงบรรลุความสิ้นอาสวะ
[๙๖] ข้าพเจ้าเป็นผู้มีจิตเด็ดเดี่ยว เพื่อบำเพ็ญเพียร
เป็นผู้สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
ตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๙๗] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๙๘] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๙๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
ได้ทราบว่า ท่านพระโธตกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โธตกเถราปทานที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๕. อุปสีวเถราปทาน
๕. อุปสีวเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุปสีวเถระ
(พระอุปสีวเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๐๐] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่ออโนมะ
เขาได้สร้างอาศรมและสร้างบรรณศาลาไว้อย่างดีเพื่อข้าพเจ้า
[๑๐๑] ในที่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้านั้น
มีแม่น้ำสายหนึ่งไหลอยู่
มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ
มีกอปทุมและกออุบลจำนวนมาก
เกิดอยู่ที่ท่าน้ำซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยน้ำ
[๑๐๒] ในแม่น้ำนั้น ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก
ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า ฝูงปลาตะเพียน
แม่น้ำมีปลาและเต่าชุกชุมไหลอยู่เสมอ
[๑๐๓] มีต้นดีหมี ต้นอโศก ต้นเข็ม
ต้นบุนนาค ต้นบุนนาคเขา มีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วอาศรมของข้าพเจ้า
[๑๐๔] มีต้นอัญชันเขียว ต้นมะลิซ้อน
ต้นสาละ ต้นช้างน้าว ต้นจำปา
ขึ้นอยู่เป็นหมู่ ๆ มากด้วยกัน มีดอกบานสะพรั่ง
[๑๐๕] ต้นรกฟ้าขาว ต้นลำดวน ต้นกระท้อน
ต้นประดู่ และต้นมะซางหอม
มีดอกบานสะพรั่งมีอยู่ในที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๐๖] ต้นราชพฤกษ์ ต้นหงอนไก่
ต้นคัดเค้า ต้นประยงค์ ต้นมะกล่ำหลวง
มีอยู่ดาษดื่นโดยรอบตลอดกึ่งโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๕. อุปสีวเถราปทาน
[๑๐๗] ต้นโพธิ์ ต้นชบาซ้อน ต้นแคฝอย ต้นย่านทราย
ต้นปรู ต้นงิ้ว มีดอกบานสะพรั่ง มีอยู่มาก
ใกล้แม่น้ำนั้น ต้นกำยาน มีดอกบานสะพรั่ง
มีอยู่มากใกล้อาศรมของข้าพเจ้า ณ ใกล้ฝั่งแม่น้ำนั้น
[๑๐๘] เมื่อต้นไม้เหล่านี้มีดอก ต้นไม้จำนวนมากก็งาม
อาศรมของข้าพเจ้าโดยรอบ
หอมตลบไปด้วยกลิ่นดอกไม้นั้น
[๑๐๙] มีต้นสมอไทย ต้นมะขามป้อม ต้นมะม่วง
ต้นหว้า ต้นสมอพิเภก ต้นกระเบา ต้นรกฟ้า
ต้นมะตูม และต้นมะปราง มีผลมาก ในที่นั้น
[๑๑๐] ต้นมะพลับ ต้นมะหาด ต้นมะซาง
ต้นหมากเม่า ต้นขนุนสำปะลอ ต้นขนุน
ต้นกล้วย ต้นจันทน์ มีผลมาก ในที่นั้น
[๑๑๑] ต้นมะกอกและต้นเครือเถา มีผลมากในที่นั้น
และเผล็ดผลมีรสหวานทุกฤดูกาล
อยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๑๒] ถั่วดำ ถั่วเหลือง มีฝักดกมาก
ต้นไทรย้อย และต้นไม้เลียบ
ต้นมะเดื่อ มีผลสุกงอมเต็มต้น
[๑๑๓] ดีปลี พริก ต้นไทร ต้นมะขวิด ต้นมะเดื่อ
มีผลสุกงอมมากเต็มต้นใกล้อาศรมของข้าพเจ้านั้น
[๑๑๔] ต้นไม้เหล่านี้และชนิดอื่นอีกมาก
กำลังมีผลใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
แม้ไม้ดอกก็มีมาก
มีดอกบานสะพรั่งใกล้อาศรมของข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๕. อุปสีวเถราปทาน
[๑๑๕] มันเทศ มันอ้อน มันมือเสือ
หอม กระเทียม และคนทา
อาลกา ต้นตาล มีอยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๑๖] ในที่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้า
มีสระใหญ่ธรรมชาติสระหนึ่ง
มีน้ำใส เย็นสนิท มีท่าน้ำราบเรียบน่ารื่นรมย์ใจ
[๑๑๗] ในสระนั้น มีบัวหลวง บัวขาบ สะพรั่งด้วยบัวขาว
ดารดาษด้วยบัวเผื่อน
ลมพัดพากลิ่นหอมต่าง ๆ โชยมา
[๑๑๘] ปทุมบางกอ มีดอกตูม บางกอมีดอกบาน
บางกอมีเกสรร่วงหล่น คงมีแต่ฝักบัวจำนวนมาก
[๑๑๙] น้ำหวานไหลออกจากก้านบัว
นมสดและเนยใสไหลออกจากเหง้าบัว
อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมต่าง ๆ ด้วยกลิ่นหอมนั้นโดยรอบ
[๑๒๐] ต้นโกมุท ต้นจงกลนี และต้นตาเสือ
ปรากฏมีมากที่ใกล้ขอบสระธรรมชาติ
ต้นการะเกดจำนวนมากก็มีดอกบานสะพรั่ง
[๑๒๑] ต้นชบามีดอกบานสะพรั่ง สาหร่ายมีกลิ่นหอม
จระเข้ ตะโขง นาก เกิดอยู่ในสระนั้น
[๑๒๒] ในสระนั้นมีงูหลาม งูเหลือม ปลาสลาด ปลากระบอก
ปลาสวาย ปลาเค้า ปลาตะเพียน จำนวนมาก
[๑๒๓] มีปลา เต่า และตะพาบน้ำ นกพิราบ นกเป็ดน้ำ
นกกวัก นกกาน้ำ ชุกชุม
[๑๒๔] นกต้อยตีวิด นกจักรพาก นกช้อนหอย นกโพระดก
กระแต นกเขา เหยี่ยว และนาก มีอยู่มาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๕. อุปสีวเถราปทาน
[๑๒๕] สุนัขจิ้งจอก ลูกนกแขกเต้า ไก่ป่า จามรี มีอยู่มาก
กา เหยี่ยว และเสือดาว ก็อาศัยสระนั้นเลี้ยงชีวิต
[๑๒๖] ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาใน เสือดาว
ลิง กินนร ปรากฏอยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๒๗] ข้าพเจ้าสูดกลิ่นหอมเหล่านั้น บริโภคผลไม้
และดื่มน้ำหอม อยู่ในอาศรมของข้าพเจ้า
[๑๒๘] ฝูงเนื้อทราย ฝูงสุกร ฝูงเนื้อฟาน
นกเขาชวา นกเขาไฟ และนกกะปูด
อยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๒๙] หงส์ นกกระเรียน นกยูง นกสาลิกา นกดุเหว่า
นกเค้าแมว นกแสก นกหัวขวาน มีอยู่มากในที่นั้น
[๑๓๐] พวกปีศาจทานพ (อสูร) กุมภัณฑ์ ผีเสื้อน้ำ
ครุฑ งูมีมาก อยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๑๓๑] ฤๅษีทั้งหลาย มีอานุภาพมาก มีจิตสงบ มีใจมั่นคง
ทั้งหมดล้วนถือคนโทน้ำ นุ่งห่มหนังสัตว์
เพียบพร้อมด้วยชฎาและบริขาร
อยู่ในอาศรมของข้าพเจ้า
[๑๓๒] ฤๅษีเหล่านั้น ทอดตาดูประมาณชั่วแอก
มีปัญญารักษาตน มีความประพฤติสงบ
สันโดษตามมีตามได้ อยู่ในอาศรมของข้าพเจ้า
[๑๓๓] ฤๅษีเหล่านั้น สลัดผ้าคากรอง
เคาะหนังสัตว์อาศัยพลังของตน
เหาะไปได้ในอากาศ ในครั้งนั้น
[๑๓๔] ฤๅษีเหล่านั้นไม่ต้องนำน้ำหรือฟืนสำหรับก่อไฟมา
สิ่งเหล่านั้นสมบูรณ์ขึ้นเอง
นี้เป็นผลแห่งปาฏิหาริย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๕. อุปสีวเถราปทาน
[๑๓๕] ฤๅษีเหล่านั้นนำรางเหล็กมา อยู่ท่ามกลางป่า
เปรียบเหมือนช้างกุญชรมหานาค
(และ) พญาราชสีห์ผู้ไม่ครั่นคร้ามฉะนั้น
[๑๓๖] ฤๅษีเหล่านั้นทราบกำลังของตนแล้ว
พวกหนึ่งไปอปรโคยานทวีป
พวกหนึ่งไปปุพพวิเทหทวีป
พวกหนึ่งไปอุตตรกุรุทวีป
[๑๓๗] ฤๅษีเหล่านั้น ต่างนำอาหาร
จากทวีปนั้น ๆ มาบริโภคร่วมกัน
เมื่อฤๅษีเหล่านั้นผู้มีเดชแผ่ไป
ผู้คงที่ ทั้งหมดหลีกไปอยู่
[๑๓๘] เพราะเสียงหนังสัตว์ของพวกฤๅษี
ป่าย่อมมีเสียงดังลั่นในครั้งนั้น
ข้าแต่พระมหาวีระ พวกศิษย์ของข้าพเจ้าเหล่านั้น
มีตบะแก่กล้าเช่นนี้
[๑๓๙] ข้าพเจ้ามีฤๅษีเหล่านั้นแวดล้อม
อยู่ในอาศรมของตน
ฤๅษีเหล่านั้น แม้ถูกแนะนำแล้ว
ก็ยินดีด้วยกรรมของตน มาประชุมพร้อมกันแล้ว
[๑๔๐] ฤๅษีเหล่านั้น เพลิดเพลินในกรรมของตน
เป็นผู้มีศีล มีปัญญารักษาตน
และฉลาดในอัปปมัญญา ให้ข้าพเจ้ายินดี
[๑๔๑] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ผู้ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ
ทรงทราบถึงการประชุมแล้วเสด็จเข้ามาใกล้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๕. อุปสีวเถราปทาน
[๑๔๒] ครั้นแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงตรัสรู้เอง ผู้มีความเพียร
มีปัญญารักษาตน เป็นพระมุนี จึงประคองบาตร
แล้วเสด็จเข้ามาเพื่อภิกษา
[๑๔๓] ข้าพเจ้าได้เห็นพระมหาวีรเจ้า
พระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จเข้ามา
จึงปูลาดเครื่องลาดหญ้าแล้วโปรยด้วยดอกสาละ
[๑๔๔] ทูลนิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งแล้ว
ทั้งดีใจและสลดใจ ได้รีบขึ้นไปบนภูเขา
แล้วนำกฤษณามา
[๑๔๕] ได้เก็บขนุนที่มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นทิพย์
ผลโตประมาณเท่าหม้อ ยกขึ้นคอแบกมา
เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ
[๑๔๖] ได้ถวายผลขนุนแด่พระพุทธเจ้าแล้ว ใช้กฤษณาไล้ทา
ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี
ได้กราบไหว้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด
[๑๔๗] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก
ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ฤๅษี
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๑๔๘] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายผลขนุน
กฤษณา และอาสนะแก่เรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๑๔๙] ในบ้านก็ตาม ในป่าก็ตาม
ที่เงื้อมเขาก็ตาม ในถ้ำก็ตาม
โภชนาหารดังจะรู้จิตของผู้นี้ จักบังเกิดขึ้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๕. อุปสีวเถราปทาน
[๑๕๐] คนผู้นี้บังเกิดในเทวโลกหรือในมนุษยโลกก็ตาม
จักให้บริษัทอิ่มเอิบด้วยโภชนาหารและผ้า
[๑๕๑] ผู้นี้เกิดในกำเนิดใด
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น จักมีโภคะนับไม่ถ้วนเวียนว่ายตายเกิดไป
[๑๕๒] จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๑๕๓] จักครองเทวสมบัติ ๗๑ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ นับชาติไม่ถ้วน
[๑๕๔] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๑๕๕] ผู้นี้จักมีนามว่าอุปสีวะ
เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต
เป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๑๕๖] การที่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ
เป็นลาภที่ข้าพเจ้าได้ดีแล้ว
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๕๗] ในบ้านก็ตาม ในป่าก็ตาม
ที่เงื้อมเขาก็ตาม ในถ้ำก็ตาม
โภชนาหารดังจะรู้ความดำริของข้าพเจ้า
ย่อมมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๖. นันทกเถราปทาน
[๑๕๘] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๕๙] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๖๐] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุปสีวเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุปสีวเถราปทานที่ ๕ จบ

๖. นันทกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระนันทกเถระ
(พระนันทกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๖๑] เมื่อก่อน ข้าพเจ้าเป็นพรานเนื้อ
อยู่ในป่าดงทึบเที่ยวแสวงหาเนื้อฟานอยู่ ได้พบพระสยัมภู
[๑๖๒] ครั้งนั้น พระสยัมภูปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่าอนุรุทธะนั้น
ผู้ไม่ทรงพ่ายแพ้ เป็นนักปราชญ์
ทรงประสงค์วิเวกจึงเสด็จเข้าป่า
[๑๖๓] ข้าพเจ้าถือท่อนไม้ ๔ ท่อน มาปักลงเป็น ๔ เส้า
ทำเป็นมณฑปเรียบร้อยแล้ว มุงด้วยดอกปทุม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๖. นันทกเถราปทาน
[๑๖๔] ครั้นมุงมณฑปแล้ว ได้ถวายอภิวาทพระสยัมภู
ทิ้งธนูไว้ ณ ที่นั้นเอง แล้วบวชเป็นบรรพชิต
[๑๖๕] เมื่อข้าพเจ้าบวชแล้วไม่นาน ก็เกิดเจ็บไข้ขึ้น
ข้าพเจ้าระลึกถึงบุพกรรมแล้ว ก็ได้ตายไปในที่นั้น
[๑๖๖] ข้าพเจ้าประกอบด้วยบุพกรรม
จึงได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดุสิต
ในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้น
วิมานทองบังเกิดแก่ข้าพเจ้าตามปรารถนา
[๑๖๗] ข้าพเจ้าอธิษฐานยานพาหนะทิพย์เทียมด้วยม้าพันตัว
ขึ้นยานพาหนะนั้นแล้ว ไปได้ตามปรารถนา
[๑๖๘] เมื่อข้าพเจ้าอันบุญกรรมนำ
จากมนุษยโลกนั้นไปเกิดเป็นเทวดา
มณฑปย่อมกางกั้นไว้แก่ข้าพเจ้าตลอด ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ
[๑๖๙] ข้าพเจ้านั้นนอนอยู่บนที่นอนที่ไม่มีเครื่องมุง
ลาดด้วยดอกไม้
ดอกปทุมทั้งหลายย่อมตกลงมา
จากอากาศตลอดกาลเป็นนิตย์
[๑๗๐] เมื่อพยับแดดเต้นไหวอยู่ เมื่อแดดแผดเผาอยู่
แดดย่อมไม่แผดเผาข้าพเจ้า
นี้เป็นผลแห่งการทำมณฑปถวาย
[๑๗๑] ข้าพเจ้าล่วงพ้นทุคติแล้ว
อบายทั้งหลายปิดแล้วสำหรับข้าพเจ้า
(เมื่อข้าพเจ้าอยู่) ที่มณฑปหรือที่โคนต้นไม้
ความร้อนย่อมไม่มีแก่ข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๖. นันทกเถราปทาน
[๑๗๒] ข้าพเจ้าอธิษฐานสัญญาว่าเป็นแผ่นดินแล้ว
ข้ามทะเลไปก็ได้ กรรมข้าพเจ้าทำไว้ดีแล้ว
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๗๓] ข้าพเจ้าทำทางในอากาศแล้วเหาะไปในอากาศก็ได้
น่าปลื้มใจจริง กรรมข้าพเจ้าทำไว้ดีแล้ว
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๗๔] ข้าพเจ้าระลึกชาติก่อน ๆ ได้
ทิพยจักษุข้าพเจ้าชำระให้หมดจดแล้ว
อาสวะทั้งหลายของข้าพเจ้าสิ้นแล้ว
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๗๕] ชาติก่อนข้าพเจ้าละได้แล้ว
ข้าพเจ้าเป็นโอรสของพระพุทธเจ้า
และเป็นทายาทในพระสัทธรรม
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๗๖] ข้าพเจ้าให้พระสุคตพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐ ทรงพอพระทัยแล้ว
เป็นธงชัยแห่งธรรม และเป็นธรรมทายาท
นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า
[๑๗๗] ข้าพเจ้าได้บำรุงพระสัมพุทธเจ้าผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ
เป็นผู้นำสัตว์โลกแล้ว
ได้ทูลถามถึงทางที่จะไปนิพพาน
[๑๗๘] พระพุทธเจ้าอันข้าพเจ้าทูลแล้ว
ได้ตรัสบอกบทที่ลึกซึ้งละเอียด
ข้าพเจ้าฟังธรรมของพระองค์แล้ว
ได้บรรลุความสิ้นอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๗. เหมกเถราปทาน
[๑๗๙] น่าปลื้มใจจริง กรรมข้าพเจ้าทำไว้ดีแล้ว
ข้าพเจ้าหลุดพ้นจากชาติแล้ว สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๑๘๐] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๑๘๑] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๑๘๒] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระนันทกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
นันทกเถราปทานที่ ๖ จบ

๗. เหมกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระเหมกเถระ
(พระเหมกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๑๘๓] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นดาบสชื่ออโนมะ
อาศัยยอดเงื้อมเขาสร้างอาศรมไว้อย่างดี
อยู่ในบรรณศาลา
[๑๘๔] การบำเพ็ญตบะของข้าพเจ้านั้นสำเร็จแล้ว
ข้าพเจ้าถึงความสำเร็จในพลังของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๗. เหมกเถราปทาน
กล้าหาญในสามัญคุณของตน มีความเพียร
มีปัญญารักษาตน เป็นมุนี
[๑๘๕] แกล้วกล้าในลัทธิสมัยของตน
ฉลาดในการโต้ตอบ
ไปได้ทั้งบนพื้นดินและในอากาศ
ฉลาดในลางร้ายลางดี
[๑๘๖] ปราศจากความเศร้าโศก ไม่แข่งดี
มีอาหารน้อย(ฉันอาหารน้อย)
ไม่โลภจัด สันโดษตามมีตามได้ (ลาภาลาเภน)
มีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน เป็นมุนี
[๑๘๗] ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี
ผู้เลิศ ประกอบด้วยพระกรุณา เป็นมุนี
พระองค์ทรงประสงค์จะช่วยสัตว์ให้ข้ามพ้น(จากวัฏสงสาร)
จึงทรงแผ่พระกรุณาไป
[๑๘๘] พระมหามุนีทรงพระนามว่าปิยทัสสี
ทรงพิจารณาเห็นคนผู้ควรตรัสรู้แล้ว
ก็เสด็จไปประทานโอวาทในที่ ๑,๐๐๐ จักรวาล
[๑๘๙] พระองค์ทรงประสงค์จะช่วยเหลือข้าพเจ้า
จึงเสด็จเข้ามายังอาศรมของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระชินเจ้ามาก่อน
และไม่เคยได้ฟังมาจากใคร ๆ
[๑๙๐] ลางดีลางร้าย ความฝัน
และลักษณะดีร้าย ข้าพเจ้ารู้ดีแล้ว
ข้าพเจ้าไปได้ทั้งบนพื้นดินและในอากาศ
ฉลาดในบทนักษัตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๗. เหมกเถราปทาน
[๑๙๑] ข้าพเจ้านั้นได้ฟังข่าวพระพุทธเจ้าแล้ว
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธองค์
จะยืนหรือนั่งอยู่ก็ตาม
ย่อมระลึกถึงตลอดกาลเป็นนิตย์
[๑๙๒] เมื่อข้าพเจ้าระลึกถึงอยู่อย่างนี้
แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงระลึกถึง
เมื่อข้าพเจ้าระลึกถึงพระพุทธเจ้า ปีติก็เกิดขึ้นทันที
[๑๙๓] พระมหามุนีทรงรอเวลาอีกหน่อยแล้ว
จึงเสด็จมาหาข้าพเจ้า
แม้เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง
ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักว่าผู้นี้คือพระพุทธมหามุนี
[๑๙๔] พระมหามุนีพระนามว่าปิยทัสสี ผู้อนุเคราะห์
ประกอบด้วยพระกรุณาทรงให้รู้จักพระองค์ว่า
เราเป็นพระพุทธเจ้าในมนุษยโลกพร้อมทั้งเทวโลก
[๑๙๕] ครั้นข้าพเจ้ารู้จักแน่ชัดว่า
พระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี
ผู้เป็นมหามุนีแล้ว
จึงทำจิตของตนให้เลื่อมใส ได้กราบทูลคำนี้ว่า
[๑๙๖] นิมนต์ภิกษุทั้งปวงนั่งบนตั่ง
บนบัลลังก์ และบนพนักพิง
ส่วนพระองค์ผู้มีปกติเห็นเหตุทั้งสิ้น
ขอเชิญประทับบนอาสนะที่รุ่งเรือง
[๑๙๗] ในขณะนั้น ข้าพเจ้าเนรมิตตั่งซึ่งสำเร็จด้วยแก้วล้วน ๆ แล้ว
ถวายอาสนะที่เนรมิตด้วยฤทธิ์แด่พระมุนีพระนามว่าปิยทัสสี
[๑๙๘] เมื่อพระพุทธเจ้าประทับนั่ง
บนตั่งแก้วที่ข้าพเจ้าเนรมิตด้วยฤทธิ์แล้ว
ข้าพเจ้าได้ถวายผลหว้าโตประมาณเท่าหม้อทันที

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๗. เหมกเถราปทาน
[๑๙๙] พระมหามุนีทรงให้ความร่าเริงเกิดแก่ข้าพเจ้าแล้ว ทรงเสวยแล้ว
ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าทำจิตให้เลื่อมใสแล้ว
ถวายอภิวาทพระศาสดา
[๒๐๐] ส่วนพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปิยทัสสี ผู้เจริญที่สุดในโลก
ทรงองอาจกว่านรชน ประทับนั่งอยู่บนอาสนะแก้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๒๐๑] เราจักพยากรณ์ผู้ที่ได้ถวายตั่งแก้วและผลซึ่งเป็นอมตะแก่เรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๒๐๒] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๗๗ กัป
จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ชาติ
[๒๐๓] จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๓๒ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๒๐๔] จักได้บัลลังก์ทองคำ บัลลังก์เงิน บัลลังก์แก้วทับทิม
และบัลลังก์แก้วล้วน จำนวนมาก ที่ทำอย่างสวยงาม
[๒๐๕] บัลลังก์มากมายจักแวดล้อมผู้นี้ซึ่งเกิดเป็นมนุษย์
พรั่งพร้อมด้วยบุญกรรม แม้เดินอยู่ ทุกเมื่อ
[๒๐๖] ปราสาทที่เป็นเรือนยอดและที่นอนอันควรค่ามาก
ดังจะรู้จิตของผู้นี้ บังเกิดขึ้นในขณะนั้นนั่นเอง
[๒๐๗] ช้างพลายชาติมาตังคะ ๖๐,๐๐๐ เชือก
ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
มีสายประโคนพานหน้าและพานหลังทำด้วยทอง
ประกอบด้วยเครื่องประดับศีรษะและข่ายล้วนเป็นทอง
[๒๐๘] มีควาญช้างผู้ถือหอกซัดและขอขึ้นขี่ประจำ
พลช้างเหล่านั้นจักบำเรอผู้นี้
นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๗. เหมกเถราปทาน
[๒๐๙] ม้าสินธพชาติอาชาไนย ๖๐,๐๐๐ ตัว
เป็นพาหนะวิ่งเร็ว ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
[๒๑๐] มีทหารม้าถือธนูสวมเกราะหนังขึ้นขี่ประจำ
พลม้าเหล่านั้นจักบำเรอผู้นี้
นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว
[๒๑๑] รถ ๖๐,๐๐๐ คัน ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
หุ้มด้วยหนังเสือเหลืองบ้าง
หุ้มด้วยหนังเสือโคร่งบ้าง ปักธงหน้ารถ
[๒๑๒] มีนายสารถีถือกริชและธนูขึ้นประจำ
จักแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว
[๒๑๓] แม่โคนม ๖๐,๐๐๐ ตัว จักตกลูกโคผู้ตัวประเสริฐ
นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว
[๒๑๔] สตรี ๖๐,๐๐๐ คน ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
สวมใส่ผ้าอาภรณ์อย่างงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี
[๒๑๕] มีตากลมโต มีปกติร่าเริง รูปร่างงาม เอวเล็กเอวบาง
จักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแก้ว
[๒๑๖] ในกัปที่ ๑๑๘ (นับจากกัปนี้ไป)
พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ผู้มีพระจักษุ
ทรงกำจัดความมืดมนอนธการ จักอุบัติขึ้นในโลก
[๒๑๗] ผู้นี้อาศัยการได้เห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จักตัดความกังวลออกบวช
จักให้พระศาสดาทรงพอพระทัยแล้ว ยินดียิ่งอยู่ในศาสนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๗. เหมกเถราปทาน
[๒๑๘] ได้ฟังธรรมของพระศาสดาพระองค์นั้นแล้ว
จักเผากิเลสทั้งหลาย
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงจักเป็นผู้ไม่มีอาสวะแล้วนิพพาน
[๒๑๙] ข้าพเจ้ามีความเพียรสำหรับนำพาธุระไป
เป็นความเพียรนำมาซึ่งธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ข้าพเจ้าปรารถนาประโยชน์สูงสุด อยู่ในศาสนา
[๒๒๐] นี้เป็นชาติสุดท้ายของข้าพเจ้า
ภพสุดท้ายกำลังเป็นไปอยู่
อาสวะทั้งปวงของข้าพเจ้าสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก
[๒๒๑] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๒๒] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๒๓] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระเหมกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
เหมกเถราปทานที่ ๗ จบ
ภาณวารที่ ๑๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๘. โตเทยยเถราปทาน
๘. โตเทยยเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโตเทยยเถระ
(พระโตเทยยเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๒๔] ครั้งนั้น (ข้าพเจ้าเกิดเป็น)พระราชาพระนามว่าวิชิตชัย
ในกรุงเกตุมดี เป็นเมืองชั้นเลิศ เป็นผู้แกล้วกล้า
เต็มเปี่ยมด้วยความกล้าหาญ
ประทับอยู่ท่ามกลางกรุง
[๒๒๕] เมื่อพระราชาพระองค์นั้น ทรงประมาท
ข้าศึกแห่งแว่นแคว้นก็กำเริบขึ้น
ฝ่ายตรงกันข้ามและพวกยุยงก็ทำลายแว่นแคว้น
[๒๒๖] เมื่อปัจจันตชนบท(ชนบทปลายแดน)กำเริบ
พระราชาจึงรับสั่งให้พลรบและทหารสื่อสารมาประชุมกัน
รับสั่งให้ปราบข้าศึก ในครั้งนั้น
[๒๒๗] พลช้าง พลม้า ทหารสวมเกราะกล้าหาญ
ทหารแม่นธนู และพลรถ มาประชุมกันทั้งหมด
[๒๒๘] พวกพ่อครัว พนักงานเครื่องต้น พนักงานสรงสนาน
ช่างทำดอกไม้ เป็นผู้กล้าหาญ
เคยชนะในสงคราม มาประชุมกันทั้งหมด
[๒๒๙] พวกชายฉกรรจ์ถือดาบ ถือธนู สวมเกราะหนัง
เป็นคนแข็งแรง เคยชนะในสงคราม
มาประชุมกันทั้งหมด
[๒๓๐] ช้างมาตังคะตกมัน ๓ แห่ง
เสื่อมกำลังเมื่ออายุ ๖๐ ปี มีสายประโคน๑

เชิงอรรถ :
๑ สายรัดจากใต้สัปคับคือที่นั่งบนหลังช้าง ใช้รัดสัปคับอกช้าง หลังขาหน้าแล้วลอดมาบรรจบกันโยงใต้
ท้องช้างและหน้าขาหลังไปจากสายชนักที่คอช้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๘. โตเทยยเถราปทาน
พานหน้าพานหลัง และเครื่องประดับทองคำ
มาประชุมกันทั้งหมด
[๒๓๑] นักรบอาชีพ อดทนต่อความหนาวความร้อน
อดทนต่ออุจจาระปัสสาวะ เตรียมการสำเร็จแล้ว
มาประชุมกันทั้งหมด
[๒๓๒] พวกทหารเหล่านั้นร่าเริงด้วยเสียงสังข์ เสียงกลอง
และเสียงแตกตื่นมาประชุมกันทั้งหมด
[๒๓๓] พวกทหารเหล่านั้นตีรันฟันแทงด้วยหลาว หอก
แหลน ธนู และโตมร กลับมาประชุมกันทั้งหมด
[๒๓๔] ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าสวมเกราะแล้ว
สั่งให้จับทหาร ๖๐,๐๐๐ คน พร้อมทั้งพระราชาผู้ชนะ
คนที่ไม่เคยชนะเสียบหลาว(ประจาน)
[๒๓๕] ทหารเหล่านั้นพากันส่งเสียงร้องว่า
โธ่เอ๋ย พระราชาไร้ธรรม เมื่อถูกไฟเผาไหม้อยู่ในนรก
เมื่อไรจักสิ้นสุดกรรม
[๒๓๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้านอนอยู่บนที่นอน เห็นไฟนรก
จึงนอนไม่หลับตลอดทั้งวันทั้งคืน
พวกนายนิรยบาลใช้หลาวขู่ข้าพเจ้า
[๒๓๗] (ข้าพเจ้าคิดว่า) ความมัวเมาราชสมบัติ สัตว์พาหนะ
และพลรบ จะมีประโยชน์อะไร
สิ่งเหล่านั้นไม่สามารถจะต้านทานเราไว้ได้
มีแต่จะทำให้สะดุ้งอยู่ทุกเมื่อ
[๒๓๘] บุตร ภรรยา และราชสมบัติทั้งหมด
จะมีประโยชน์อะไรสำหรับเรา
ทางที่ดีเราควรออกบวช ชำระทางที่จะดำเนินไปให้หมดจด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๘. โตเทยยเถราปทาน
[๒๓๙] ช้างมาตังคะ ๖๐,๐๐๐ เชือก
ตกแต่งด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง
มีสายประโคนพานหน้า พานหลัง
เครื่องประดับศีรษะทองคำ
[๒๔๐] มีนายควาญช้างถือโตมรและขอขึ้นขี่ประจำ
ข้าพเจ้าไม่มีความห่วงใยละทิ้งไว้ในสนามรบ
เดือดร้อนเพราะกรรมของตน
จึงออกบวชเป็นบรรพชิต
[๒๔๑] ม้าสินธพชาติอาชาไนย ๖๐,๐๐๐ ตัว
ตกแต่งด้วยเครื่องประดับทุกอย่างเป็นพาหนะวิ่งเร็ว
[๒๔๒] มีทหารม้าถือธนูสวมเกราะขึ้นขี่ประจำ
ข้าพเจ้าทอดทิ้งม้าเหล่านั้นทั้งหมดแล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๒๔๓] รถ ๖๐,๐๐๐ คัน ตกแต่งด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ
เป็นรถที่หุ้มหนังเสือเหลืองบ้าง
หุ้มหนังเสือโคร่งบ้างบรรทุกอาวุธรบ ปักธงไว้หน้ารถ
ข้าพเจ้าละทิ้งรถนั้นทั้งหมดแล้วออกบวชเป็นบรรพชิต
[๒๔๔] แม่โคนม ๖๐,๐๐๐ ตัว และขันสำริดสำหรับรองน้ำนม
ทั้งหมดข้าพเจ้าละทิ้งแล้ว ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๒๔๕] สตรี ๖๐,๐๐๐ นาง
ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง
สวมใส่ผ้าอาภรณ์อย่างงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี
[๒๔๖] มีตากลมโต มีปกติร่าเริง
รูปร่างงดงาม เอวเล็กเอวบาง
ข้าพเจ้าละสตรีเหล่านั้นผู้พากันคร่ำครวญอยู่แล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๘. โตเทยยเถราปทาน
[๒๔๗] หมู่บ้าน ๖๐,๐๐๐ ตำบล ที่บริบูรณ์ด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง
ข้าพเจ้าละทิ้งราชสมบัตินั้นแล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต
[๒๔๘] ข้าพเจ้าออกจากนครแล้ว เข้าไปยังภูเขาหิมพานต์
ได้สร้างอาศรมไว้ ณ ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำภาคีรถี
[๒๔๙] สร้างบรรณศาลาเสร็จแล้ว สร้างโรงสำหรับบูชาไฟ
บำเพ็ญเพียร มีจิตเด็ดเดี่ยว อยู่ในอาศรม
[๒๕๐] เมื่อข้าพเจ้าเข้าฌานอยู่ในมณฑปก็ดี ที่โคนต้นไม้ก็ดี
ในเรือนว่างก็ดี ความสะดุ้งกลัวย่อมไม่มีแก่ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าไม่เห็นภัยที่น่าหวาดกลัวเลย
[๒๕๑] ในขณะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้เลิศ ประกอบด้วยพระกรุณา เป็นมุนี
มีแสงสว่างแห่งพระญาณโชติช่วง เสด็จอุบัติขึ้นในโลก
[๒๕๒] ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า มียักษ์ตนหนึ่งผู้มีฤทธิ์มาก
เมื่อพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดอุบัติขึ้นแล้ว
ยักษ์บอกกับข้าพเจ้าในครั้งนั้นว่า
[๒๕๓] พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก
พระองค์ทรงพระนามว่าสุเมธะ
ทรงมีจักษุ ทรงช่วยหมู่ชนทั้งปวงให้ข้าม
แม้ท่าน พระองค์ก็จักช่วยให้ข้าม
[๒๕๔] ขณะนั้น ข้าพเจ้าฟังคำของยักษ์แล้วมีความสลดใจ
คิดอยู่ว่า พุทโธ พุทโธ ปิดอาศรม
[๒๕๕] ข้าพเจ้าทิ้งฟืนสำหรับบูชาไฟ และเก็บสันถัต
ไหว้อาศรมแล้วออกจากป่าใหญ่ไป
[๒๕๖] ข้าพเจ้าถือไม้จันทน์จากที่นั้น จากบ้านไปสู่บ้าน
จากเมืองไปสู่เมือง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๘. โตเทยยเถราปทาน
แสวงหาพระพุทธเจ้าผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพอยู่
ได้เข้าเฝ้าพระองค์ ซึ่งเป็นผู้นำโดยวิเศษ
[๒๕๗] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก
ทรงประกาศสัจจะ ๔ ทำหมู่ชนจำนวนมากให้ตรัสรู้
[๒๕๘] ข้าพเจ้าประนมมือไหว้เหนือเศียรเกล้า
ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
[๒๕๙] เมื่อต้นมะลิซ้อนมีดอกบานสะพรั่ง
กลิ่นหอมฟุ้งไปในที่ใกล้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียร
พระองค์มีกลิ่นคือคุณหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ
[๒๖๐] เมื่อต้นจำปา ต้นกระถินพิมาน
ต้นลำดวน ต้นการะเกด และต้นสาละ
กำลังมีดอกบาน กลิ่นหอมฟุ้งไปตามลม
[๒๖๑] ข้าพระองค์สูดกลิ่นของพระองค์
จึงจากภูเขาหิมพานต์มาจนถึงที่นี่
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก
ผู้เจริญที่สุดในโลก มีพระยศยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ขอบูชาพระองค์
[๒๖๒] ข้าพเจ้าใช้จุรณจันทน์อย่างดี
ไล้ทาพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธะ
ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกทำจิตของตนให้เลื่อมใส
แล้วได้ยืนนิ่งอยู่ในขณะนั้น
[๒๖๓] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าสุเมธะ
ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๘. โตเทยยเถราปทาน
ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๒๖๔] เราจักพยากรณ์ผู้ที่สรรเสริญคุณของเรา
และได้ใช้จุรณจันทน์บูชา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๒๖๕] ผู้นี้จักเป็นผู้กล่าวถ้อยคำที่เชื่อถือได้
เป็นพรหม ผู้ซื่อตรง มีตบะ
มีรัศมีสว่างไสวตลอด ๒๕ กัป
[๒๖๖] จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๒,๖๐๐ กัป
จักเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๒๖๗] จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๓๓ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๒๖๘] ผู้นี้จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว จักไปเกิดเป็นมนุษย์
ประกอบด้วยบุญกรรม จักเป็นบุตรของพราหมณ์
[๒๖๙] พราหมณ์ชื่อพาวรี ผู้คงแก่เรียน
ทรงมนตร์ จบไตรเพท ถึงพร้อมด้วยลักษณะ ๓ ประการ
[๒๗๐] เขาเป็นศิษย์ของพราหมณ์นั้นเป็นผู้จบมนตร์
จักได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระนามว่าโคดมศากยะ ผู้ประเสริฐ
[๒๗๑] ข้าพเจ้าได้ทูลถามปัญหาอย่างละเอียด ทำใจให้ร่าเริง
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๒๗๒] ไฟ ๓ กองของข้าพเจ้าดับแล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้ากำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
[๒๗๓] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๒๗๔] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๒๗๕] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระโตเทยยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
โตเทยยเถราปทานที่ ๘ จบ

๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระชตุกัณณิกเถระ
(พระชตุกัณณิกเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๒๗๖] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเป็นบุตรเศรษฐีอยู่ในกรุงหงสวดี
เพียบพร้อมห้อมล้อมอยู่ด้วยกามคุณทั้งหลาย
[๒๗๗] ลำดับนั้น ข้าพเจ้าขึ้นสู่ปราสาท
ใช้สอยโภคสมบัติมากมาย
แวดล้อมด้วยการฟ้อนรำขับร้องอยู่ในปราสาทนั้น ในครั้งนั้น
[๒๗๘] นักดนตรีมีเครื่องประโคมอย่างดีมาประโคมให้ข้าพเจ้า
หญิงทั้งปวงยั่วยวน ทำใจของข้าพเจ้าให้ลุ่มหลง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
[๒๗๙] พวกนางเจลาวกา พวกนางวามนิกา
พวกนางมัชฌิตา พร้อมด้วยนางกุญชวาสี
พวกนางลังฆิกา และพวกนางโสกัชฌายี
ต่างแวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
[๒๘๐] คนตีฉิ่ง คนตีกลอง นักฟ้อน นักรำ
ตัวละครและพวกนาฏศิลป์จำนวนมาก
แวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
[๒๘๑] ช่างกัลบก คนจัดแจงเครื่องอาบน้ำ
พ่อครัว ช่างร้อยดอกไม้
คนทิ้งมูล(คนทิ้งอุจจาระ) นักกายกรรมและนักมวยเหล่านั้น
ทั้งหมดแวดล้อมข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ
[๒๘๒] เมื่อคนเหล่านั้นเล่นอยู่
เมื่อข้าพเจ้าชื่นชมการบำเรอที่คนเหล่านั้นทำ
ข้าพเจ้าย่อมไม่รู้วันและคืน
เปรียบเหมือนพระอินทร์ในเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
[๒๘๓] คนเดินทาง คนกำพร้า
คนขอทาน นักสืบ จำนวนมาก
เข้ามาขอข้าพเจ้าจนถึงเรือนเป็นนิตย์
[๒๘๔] สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายผู้เป็นเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยม
เมื่อจะให้ข้าพเจ้าเจริญบุญ มาจนถึงเรือนข้าพเจ้า
[๒๘๕] พวกนิครนถ์นุ่งผ้า ใช้มูลไถทา ใช้ดอกไม้กรองนุ่ง
ถือไม้ ๓ อัน ไว้ผมหนึ่งปอย มาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๘๖] พวกอาชีวก พวกโจรปล้น
พวกประพฤติวัตรเหมือนโค
พวกประพฤติเทวธรรม
พวกคนทิ้งขยะเหล่านั้นต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
[๒๘๗] พวกนักสวด พวกรักสิทธิ (เสรีภาพ)
พวกโกธปุคคนิกะ พวกบำเพ็ญตบะ
และพวกฤๅษีเที่ยวอยู่ป่าจำนวนมาก
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๘๘] ชาวแคว้นอันธกะ (โอฑฑกะ) ชาวทมิฬ
ชาวสากุฬะ ชาวมะละยาฬกะ ชาวสะวะระ
และชาวโยนก ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๘๙] ชาวแคว้นอันธกะ พวกสมณะโล้นทั้งหมด
ชาวกุฏฐละ ชาวสานุวินทกะ ชาวอาฬวีจีนรัฐ
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๐] ชาวอลสันทกะ ชาวปัลลวกะ ชาวปัพพตะ
ชาวนัคคมารุหะ ชาวพาหิกะ และชาวแคว้นเจตปุตตะ
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๑] ชาวแคว้นมธุระ ชาวแคว้นโกศล ชาวแคว้นกาสี
ชาวหัตถิบุรี ชาวแคว้นอิสินทะ ชาวแคว้นมักกละ
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๒] ชาวเจลาวกะ ชาวอารัมพะ ชาวโอภาสะ
ชาวเมฆละ ชาวขุททกะ ชาวสุททกะ จำนวนมาก
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๓] ชาวโรหกชนบท ชาวลุ่มแม่น้ำสินธุ ชาวจิตกา
ชาวเอกกัณณิกนิคม ชาวสุรัฏฐา และชาวอปรันตชนบท
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๔] ชาวสุปปารกะ ชาวกุมาร (ชาวมะละกา) ชาวมะลัยชนบท
ชาวสุวรรณภูมิ และชาววัชชี เหล่านั้นทั้งหมด
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
[๒๙๕] ช่างสาน ช่างหูก ช่างหนัง
ช่างถาก คนงาน และช่างหม้อ
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๖] ช่างแก้ว ช่างเหล็ก ช่างทอง ช่างเย็บผ้า
และช่างดีบุกเหล่านั้นทั้งหมด
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๗] ช่างศร ช่างกลึง คนส่งของ
ช่างปรุงของหอม ช่างย้อม และช่างชุน
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๘] พวกคนขายน้ำมัน คนหาบฟืน คนหาบน้ำ
คนรับใช้ คนหุงต้ม คนตักน้ำ
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๒๙๙] พวกคนเฝ้าประตู ทหาร
ช่างร้อยดอกไม้ คนทิ้งขยะดอกไม้
ควาญช้าง คนเลี้ยงช้าง
ต่างพากันมาหาข้าพเจ้าจนถึงเรือน
[๓๐๐] ข้าพเจ้าได้ทูลถวายของทุกอย่าง
แก่พระราชาพระนามว่าอานันทะ ผู้พร้อมเพรียง
ข้าพเจ้าทำความพร่องให้เต็มด้วยรัตนะ ๗ สี
[๓๐๑] ข้าพเจ้ารู้จิตของชนจำนวนมากมีวรรณะต่างกัน
ที่ข้าพเจ้ายกย่องทั้งหมดให้พึงพอใจแม้ด้วยรัตนะ
[๓๐๒] เมื่อดนตรีมีเสียงไพเราะบรรเลงอยู่
เมื่อกลองดังก้องอยู่ เมื่อสังข์เขาเป่าอยู่
ข้าพเจ้ารื่นรมย์อยู่ในเรือนของตน
[๓๐๓] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
พร้อมด้วยภิกษุขีณาสพจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ รูป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
[๓๐๔] พระองค์ ผู้มีจักษุพร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย
เสด็จดำเนินไปตามถนน
ทรงทำทิศทั้งปวงให้สว่างโชติช่วง
เหมือนต้นพฤกษาประทีป
[๓๐๕] เมื่อพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกกำลังเสด็จดำเนินไป
กลองทั้งปวงยังดังก้องอยู่
รัศมีของพระองค์พวยพุ่งดุจดวงอาทิตย์อุทัย ฉะนั้น
[๓๐๖] ขณะนั้น แสงสว่างจ้าส่องเข้าไปภายในเรือนของข้าพเจ้า
ด้วยพระรัศมีที่ส่องเข้าไปทางช่องหน้าต่าง
[๓๐๗] ข้าพเจ้าเห็นพระรัศมีของพระพุทธเจ้าแล้ว
ได้กล่าวกับพวกบริวารว่า
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดเสด็จมาถึงถนนนี้แน่แล้ว
[๓๐๘] ข้าพเจ้ารีบลงจากปราสาทแล้ว ได้ไปยังระหว่างทาง
ถวายอภิวาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้กราบทูลคำนี้ว่า
[๓๐๙] ขอพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
โปรดทรงอนุเคราะห์ข้าพระองค์ด้วยเถิด
พระมุนีพระองค์นั้นพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๑๐๐,๐๐๐ องค์
ทรงรับนิมนต์
[๓๑๐] ครั้นข้าพเจ้านิมนต์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ได้นำเสด็จพระองค์มายังเรือนของตน
อังคาสพระมหามุนีให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำในเรือนนั้น
[๓๑๑] ข้าพเจ้ารู้เวลาที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ผู้คงที่ กำลังเสวย
ได้บำรุงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด
ด้วยการขับร้องและดนตรี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
[๓๑๒] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ประทับนั่งอยู่ภายในเรือน
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๑๓] เราจักพยากรณ์ผู้ที่บำรุงเราด้วยดนตรี
และได้ถวายข้าวน้ำแก่เรา
ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๓๑๔] คนผู้นี้จักเป็นผู้มีอาหารมาก มีเงิน มีโภชนะ
ครองเอกราชในทวีปทั้ง ๔
[๓๑๕] จักสมาทานศีล ๕ ยินดีในกรรมบถ ๑๐
ครั้นสมาทานแล้ว ก็ประพฤติ ให้บริวารศึกษาด้วย
[๓๑๖] เครื่องดนตรี ๑๐๐,๐๐๐ ชิ้น
กลองที่ประดับตกแต่งสวยงาม
จักบรรเลงให้ผู้นี้อยู่เป็นนิตย์
นี้เป็นผลแห่งการบำรุง
[๓๑๗] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติตลอด ๖๔ ชาติ
[๓๑๘] จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๔ ชาติ
จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน
[๓๑๙] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป)
พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร
ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก
[๓๒๐] ผู้นี้เกิดในกำเนิดใด
คือจะเกิดเป็นเทวดาหรือมนุษย์ก็ตาม
ในกำเนิดนั้น เขาจักเกิดเป็นมนุษย์มีโภคะไม่บกพร่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน
[๓๒๑] จักเป็นผู้คงแก่เรียน จบไตรเพท
เที่ยวแสวงหาประโยชน์อย่างสูงสุดอยู่ทั่วแผ่นดินนี้
[๓๒๒] และภายหลัง เขาถูกกุศลมูลตักเตือนออกบวชแล้ว
จักยินดียิ่งในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม
[๓๒๓] ผู้นี้จักให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมศากยะ
ผู้ประเสริฐทรงพอพระทัย
เผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว จักเป็นพระอรหันต์
[๓๒๔] วันนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่ครั่นคร้ามอยู่
ในศาสนาของพระศากยะผู้ประเสริฐ
ดุจพญาเสือโคร่งและราชสีห์ พญาเนื้อในป่าใหญ่
[๓๒๕] ข้าพเจ้าไม่เห็นการบังเกิดของข้าพเจ้าในตระกูลที่ขัดสน
หรือยากจนในเทวโลก หรือในมนุษยโลก
นี้เป็นผลแห่งการบำรุง
[๓๒๖] ข้าพเจ้าเป็นผู้ขวนขวายในวิเวก สงบระงับ ไม่มีอุปธิ
ตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๒๗] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๒๘] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑๐. อุเทนเถราปทาน
[๓๒๙] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระชตุกัณณิกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
ชตุกัณณิกเถราปทานที่ ๙ จบ

๑๐. อุเทนเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระอุเทนเถระ
(พระอุเทนเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[๓๓๐] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อปทุม
ข้าพเจ้าสร้างอาศรมสร้างบรรณศาลาอย่างดีไว้
[๓๓๑] ที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้านั้น
แม่น้ำไหลอยู่มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ
แม่น้ำมีน้ำใสสะอาด เย็นสนิท ไหลอยู่เป็นนิตย์
[๓๓๒] ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก
ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า
และฝูงปลาตะเพียน อยู่ประจำในแม่น้ำ
ทำให้แม่น้ำงามทุกเมื่อ
[๓๓๓] ดาษดื่นไปด้วยต้นมะม่วง ต้นหว้า
อนึ่ง ต้นกุ่ม ต้นหมากเม่า
ต้นราชพฤกษ์ ต้นแคฝอย
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๓๔] ต้นปรู ต้นมะกล่ำหลวง
ต้นกาหลง มีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑๐. อุเทนเถราปทาน
[๓๓๕] ต้นลำดวน ต้นชบา ต้นกากะทิง
และต้นสาละ มีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๓๖] ต้นคำ ต้นช้างน้าว ต้นกระทุ่ม ต้นมะเฟือง มีดอกบาน
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๓๗] ต้นสมอ ต้นมะขามป้อม ต้นมะม่วง ต้นหว้า
ต้นสมอพิเภก ต้นพุทรา ต้นรกฟ้า ต้นมะตูม
มีผลดกอยู่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
[๓๓๘] มันอ้อน ต้นมะเขือพวง กำลังผลิดอกออกผล
ใกล้อาศรมของข้าพเจ้านั้น
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๓๙] ต้นอโศก ต้นวารี และต้นสะเดา มีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๔๐] ต้นบุนนาค ต้นบุนนาคเขา
ต้นดีหมี ในที่ใกล้อาศรมนั้น มีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๔๑] ต้นย่านทราย ต้นคนทีเขมา และต้นจำปา
ในที่ใกล้อาศรมของข้าพเจ้านั้น มีดอกบานสะพรั่ง
ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑๐. อุเทนเถราปทาน
[๓๔๒] ในที่ไม่ไกลมีสระโบกขรณี
มีนกจักรพากส่งเสียงร้องอยู่
ดารดาษด้วยบัวเผื่อน บัวหลวง และบัวขาบ
[๓๔๓] มีน้ำใส เย็นสนิท มีท่าน้ำราบเรียบน่ารื่นรมย์ใจ
น้ำใสสะอาด เสมอด้วยแก้วผลึก
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๔๔] ในสระนั้น มีบัวหลวง บัวขาว
บัวขาบ ดารดาษด้วยบัวเผื่อน มีดอกบานสะพรั่ง
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๔๕] ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า
และฝูงปลาตะเพียนว่ายเวียนอยู่ในสระนั้น
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๔๖] จระเข้ ตะโขง เต่า นาก งูหลาม
และงูเหลือมจำนวนมาก
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๔๗] นกพิราบ นกเป็ดน้ำ นกจักรพาก
นกกาน้ำ นกต้อยตีวิด และนกสาลิกา
อยู่ในที่ใกล้อาศรมนั้น
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๔๘] ต้นตาเสือ ต้นจงกลนี
ต้นการะเกด ในที่ใกล้อาศรมนั้น
มีดอกบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๔๙] ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง
หมี หมาป่า หมาใน เสือดาว
เที่ยวสัญจรอยู่ในป่าใหญ่
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๖๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑๐. อุเทนเถราปทาน
[๓๕๐] ฤๅษีทั้งหลาย เพียบพร้อมด้วยชฎา
และบริขาร นุ่งห่มหนังสัตว์
เที่ยวสัญจรอยู่ในป่าใหญ่
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๕๑] บางพวกนุ่งห่มหนังสัตว์ มีปัญญารักษาตน
มีความประพฤติสงบและบริโภคอาหารแต่น้อยเหล่านั้นทั้งหมด
ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม
[๓๕๒] ครั้งนั้น ฤๅษีทั้งหลายหาบบริขารเข้าไปสู่ป่า
กินหัวมันและผลไม้อยู่ในอาศรม
[๓๕๓] ครั้งนั้น ฤๅษีเหล่านั้นไม่ต้องนำฟืนมา
น้ำสำหรับล้างเท้าก็ไม่ต้องนำมา
ด้วยอานุภาพแห่งฤๅษีทั้งปวง ฟืนและน้ำย่อมมาเอง
[๓๕๔] ฤๅษี ๘๔,๐๐๐ ตน
ประชุมกันอยู่ในอาศรมนั้น ทั้งหมดนี้
เป็นผู้เข้าฌาน แสวงหาประโยชน์สูงสุด
[๓๕๕] ฤๅษีเหล่านั้นเป็นผู้มีตบะ ประพฤติพรหมจรรย์
ตักเตือนกันและกัน เป็นผู้แน่นแฟ้น
เหาะไปในอากาศได้ทุกตนอยู่ในอาศรมในครั้งนั้น
[๓๕๖] ประชุมกันทุก ๕ วัน
ไม่ระส่ำระสาย มีความประพฤติสงบ
กราบไหว้กันและกันแล้ว
จึงบ่ายหน้าหลีกไปตามทิศ (ที่ตนอยู่)
[๓๕๗] ครั้งนั้น พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงถึงความสำเร็จแห่งธรรมทั้งปวง
พระองค์เสด็จอุบัติขึ้น กำจัดความมืดมนอนธการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑๐. อุเทนเถราปทาน
[๓๕๘] ใกล้อาศรมของข้าพเจ้า
มียักษ์ตนหนึ่ง ผู้มีฤทธิ์มาก
ยักษ์ตนนั้นได้บอกข่าวพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงพระนามว่าปทุมุตตระ แก่ข้าพเจ้าว่า
[๓๕๙] พระพุทธเจ้าองค์นี้พระนามว่าปทุมุตตระ
เป็นพระมหามุนี เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
ท่านจงรีบไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด ท่านผู้นิรทุกข์
[๓๖๐] ข้าพเจ้าได้ฟังคำของยักษ์แล้วก็มีจิตผ่องใสยิ่งนัก
จึงปิดอาศรมแล้วออกจากป่าในขณะนั้น
[๓๖๑] เมื่อไฟกำลังไหม้ผ้าอยู่
ข้าพเจ้าออกจากอาศรม
พักอยู่กลางทางคืนหนึ่งแล้ว
เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำโดยวิเศษ
[๓๖๒] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา
ทรงประกาศสัจจะ ๔ แสดงอมตบทอยู่
[๓๖๓] ข้าพเจ้าถือดอกปทุมซึ่งบานเต็มที่
เข้าเฝ้าพระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว
มีจิตเลื่อมใส มีใจยินดี ถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า
[๓๖๔] บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงเป็นผู้นำแล้วห่มหนังสัตว์เฉวียงบ่า
สรรเสริญพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า
[๓๖๕] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีอาสวะ
ประทับอยู่ที่นี้ด้วยพระญาณใด
ข้าพระองค์จักสรรเสริญพระญาณนั้น
ขอพระองค์จงสดับข้าพระองค์กราบทูล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑๐. อุเทนเถราปทาน
[๓๖๖] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตัดกระแสวัฏสงสารแล้ว
ทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้น
สรรพสัตว์นั้นฟังธรรมของพระองค์แล้ว
ย่อมข้ามพ้นกระแสตัณหาได้
[๓๖๗] ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดแห่งเทวดา
และมนุษย์ พระองค์เป็นพระศาสดา
เป็นธงชัย เป็นหลัก เป็นจุดมุ่งหมาย เป็นที่พึ่ง
และเป็นประทีปของสัตว์ทั้งหลาย
[๓๖๘] คณาจารย์ผู้นำหมู่ประมาณเท่าใด ที่ถูกกล่าวถึงในโลก
พระองค์เป็นสัพพัญญูผู้เลิศกว่าคณาจารย์เหล่านั้น
คณาจารย์เหล่านั้นนับว่าอยู่ในคำสอนของพระองค์
[๓๖๙] พระองค์ผู้สัพพัญญูทรงช่วยหมู่ชนจำนวนมาก
ให้ข้ามพ้น(จากวัฏสงสาร)
ด้วยพระญาณของพระองค์
หมู่ชนอาศัยการได้เฝ้าพระองค์แล้ว จักทำที่สุดทุกข์ได้
[๓๗๐] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
คันธชาติเหล่าใดเหล่าหนึ่งหอมฟุ้งไปในโลก
ข้าแต่พระมหามุนีผู้เป็นนาบุญ
กลิ่นหอมที่จะเสมอด้วยกลิ่นหอมของพระองค์ไม่มี
[๓๗๑] ข้าแต่พระมหามุนีผู้มีพระจักษุ
ขอพระองค์ทรงเปลื้อง
กำเนิดดิรัจฉานและนรกเถิด
พระองค์ทรงแสดงบทที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ สงบระงับ
[๓๗๒] พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ
ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] ๑๐. อุเทนเถราปทาน
ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว
ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
[๓๗๓] เราจักพยากรณ์ผู้ที่เลื่อมใสได้บูชาญาณของเรา
ด้วยมือของตน เธอทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด
[๓๗๔] ผู้นั้นจักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๓๐,๐๐๐ กัป
และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ
[๓๗๕] ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ลาภอย่างดีแล้ว
ข้าพเจ้าให้พระพุทธเจ้าผู้มีวัตรงามทรงพอพระทัย
กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
[๓๗๖] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าก็เผาได้แล้ว
ภพทั้งปวงข้าพเจ้าก็ถอนได้แล้ว
ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ
ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้แล้วอยู่อย่างอิสระ
[๓๗๗] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้า
เป็นการมาดีแล้วโดยแท้
วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว
[๓๗๘] คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว ดังนี้แล
ได้ทราบว่า ท่านพระอุเทนเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้
อุเทนเถราปทานที่ ๑๐ จบ
เมตเตยยวรรคที่ ๔๑ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [๔๑. เมตเตยยวรรค] รวมอปทานที่มีในวรรค
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. ติสสเมตเตยยเถราปทาน ๒. ปุณณกเถราปทาน
๓. เมตตคูเถราปทาน ๔. โธตกเถราปทาน
๕. อุปสีวเถราปทาน ๖. นันทกเถราปทาน
๗. เหมกเถราปทาน ๘. โตเทยยเถราปทาน
๙. ชตุกัณณิกเถราปทาน ๑๐. อุเทนเถราปทาน

และในวรรคนี้มีคาถา ๓๙๓ คาถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๒ หน้า :๗๐๔ }


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ สุตตันตปิฎกที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ จบ





eXTReMe Tracker