ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ สุตตันตปิฎกที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปารายนวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
๑. วัตถุคาถา๑
เรื่องพราหมณ์พาวรีส่งศิษย์ไปทูลถามปัญหา

[๑] พราหมณ์พาวรี ผู้เรียนจบมนตร์
ปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีกังวล
จึงเดินทางออกจากแคว้นโกศล
อันรื่นรมย์ ไปสู่ทักขิณาปถชนบท
[๒] ท่านอาศัยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี
อันเป็นพรมแดนแคว้นอัสสกะกับแคว้นมุฬกะต่อกัน
(เลี้ยงชีพ) อยู่ด้วยการเที่ยวภิกขาและผลไม้
[๓] เพราะอาศัยพราหมณ์นั้นนั่นเอง
หมู่บ้านจึงได้เจริญไพบูลย์
ท่านได้ประกอบพิธีมหายัญขึ้น
ด้วยรายได้ที่เกิดจากหมู่บ้านนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๙๘๓-๑๐๓๘/๕๒๔-๕๓๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๔] ท่านบูชามหายัญเสร็จแล้ว ก็กลับเข้าอาศรม
เมื่อท่านกลับเข้าอาศรมแล้ว
พราหมณ์อีกคนหนึ่ง ก็เดินทางมาถึง
[๕] พราหมณ์ที่มาพบนั้น มีเท้าเดินเสียดสีกัน
ท่าทางน่ากลัวมีฟันเขลอะ
ศีรษะเกลือกกลั้วด้วยสิ่งสกปรก
เข้าไปหาพราหมณ์พาวรีแล้ว
ขอทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะ
[๖] พราหมณ์พาวรีเห็นเขาแล้วก็เชิญให้นั่ง
ไต่ถามถึงความสุขความสบาย จึงกล่าวคำนี้ว่า
[๗] สิ่งของที่ควรให้ซึ่งเป็นของเราทั้งหมด
เราสละไปแล้ว พราหมณ์เอ๋ย
ท่านจงเชื่อเราเถิด เราไม่มีทรัพย์ ๕๐๐ เลย
[๘] (ปังกทันตพราหมณ์กล่าวว่า)
ถ้าเมื่อเราขอ ท่านไม่ให้สิ่งที่มีอยู่
ในวันที่ ๗ ขอให้ศีรษะท่านแตกเป็น ๗ เสี่ยง
[๙] พราหมณ์นั้นเป็นคนโกหก
แสดงท่าทาง(หลอกลวง) กล่าวคำที่น่ากลัว
พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำพูดของเขาแล้วก็เป็นทุกข์
[๑๐] (พราหมณ์พาวรี) ถูกลูกศรคือความเศร้าโศกเสียบแทงแล้ว
ไม่บริโภคอาหาร ซูบผอม
เมื่อท่านมีความคิดอย่างนั้น ใจก็ไม่ยินดีในฌาน
[๑๑] เทวดาผู้ปรารถนาประโยชน์
เห็นพราหมณ์พาวรีหวาดกลัวเป็นทุกข์อยู่
จึงเข้าไปหาท่านแล้วกล่าวคำนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๑๒] พราหมณ์ผู้ต้องการทรัพย์นั้นเป็นคนโกหก
เขาไม่รู้จักศีรษะ ไม่มีความรู้เรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๑๓] (พราหมณ์พาวรีคิดว่า) เทวดาผู้เจริญนี้คงจะรู้
(จึงกล่าวไปว่า) ข้าพเจ้าขอถามเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ขอท่านจงบอกเรื่องนั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ข้าพเจ้าขอฟังคำตอบของท่าน
[๑๔](เทวดากล่าวว่า)
แม้ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้
เรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
เป็นวิสัยของพระชินเจ้าเท่านั้น
[๑๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
เทวดา ก็ใครเล่าในปฐพีมณฑลนี้
รู้จักศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ขอท่านจงบอกผู้นั้นแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
[๑๖] (เทวดากล่าวว่า)
พระโอรสของเจ้าศากยะ
เป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าโอกกากะ
เสด็จออกผนวชจากกรุงกบิลพัสดุ์
ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก เป็นผู้ก่อความสว่างไสว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๑๗] (เทวดากล่าวว่า)
พราหมณ์ เจ้าศากยบุตรพระองค์นั้น
เป็นพระสัมพุทธเจ้า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
บรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งหมดแล้ว
มีพระจักษุในธรรมทั้งปวง
ทรงถึงธรรมเป็นที่สิ้นกรรมทุกอย่าง
ทรงน้อมพระทัยไปในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ
[๑๘] พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระพุทธเจ้าในโลก
มีพระจักษุ ทรงแสดงธรรม
ท่านจงไปทูลถามพระองค์เถิด
พระองค์จักทรงพยากรณ์ปัญหานั้นแก่ท่านได้
[๑๙] พราหมณ์พาวรีได้ฟังคำว่า พระสัมพุทธเจ้า
ก็เบิกบานใจ ความเศร้าโศกก็เบาบางลง
และได้รับปีติเปี่ยมล้น
[๒๐] พราหมณ์พาวรีนั้นดีใจ เบิกบานใจ
เกิดความปลาบปลื้มใจ
จึงไต่ถามเทวดาถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
(และประกาศว่า) พระสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลกประทับอยู่ ณ ที่ไหน
จะเป็นบ้าน นิคม หรือชนบทใดก็ตาม
พวกเราพึงไปเข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๒๑] (เทวดากล่าวว่า)
เจ้าศายกบุตรพระองค์นั้น ผู้ทรงชนะมาร
มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาล้ำเลิศแผ่ไพศาลยิ่ง
ทรงปราศจากธุระ ไม่มีอาสวะ
ทรงเป็นผู้รู้แจ้งเรื่องศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ทรงเป็นผู้องอาจกว่านรชน
ประทับอยู่ ณ มณเฑียรสถานของพระเจ้าโกศลเขตกรุงสาวัตถี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๒๒] ลำดับนั้น พราหมณ์พาวรีได้เรียกพราหมณ์ทั้งหลาย
ผู้เป็นศิษย์ ซึ่งเรียนจบมนตร์มากล่าวว่า มาณพทั้งหลาย
มานี่เถิด เราจักบอก ขอพวกเธอจงฟังคำของเรา
[๒๓] (พราหมณ์พาวรีกล่าวต่อไปว่า)
ความที่พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดปรากฏเนือง ๆ
ในโลกนั่นหาได้ยาก วันนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
เสด็จอุบัติในโลกแล้ว ปรากฏพระนามว่า พระสัมพุทธเจ้า
พวกเธอจงรีบไปกรุงสาวัตถี เข้าเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
ผู้สูงสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๒๔] (มาณพทั้งหลายถามว่า)
ข้าแต่พราหมณ์ ถ้าพวกข้าพเจ้าพบแล้ว
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพระพุทธเจ้า
ขอท่านจงบอกวิธีที่จะรู้จักพระองค์
แก่พวกข้าพเจ้าผู้ไม่รู้ด้วยเถิด
[๒๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ก็มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ
อันมาแล้วในมนตร์ทั้งหลาย
ท่านกล่าวไว้แจ่มแจ้งครบถ้วนโดยลำดับ
[๒๖] บุคคลใดมีมหาปุริสลักษณะเหล่านั้นอยู่ในตัว
บุคคลนั้นมีคติเป็น ๒ อย่างเท่านั้น
มิได้มีคติเป็นที่ ๓ เลย
[๒๗] คือ ถ้าบุคคลนั้นอยู่ครองเรือน
จะพึงครอบครองแผ่นดินนี้
ย่อมปกครองโดยธรรม
โดยไม่ต้องใช้อาญา ไม่ต้องใช้ศัสตรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๒๘] แต่ถ้าบุคคลนั้น ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
จะเป็นพระอรหันตสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม
มีกิเลสดุจเครื่องปิดบัง๑อันเปิดแล้ว
[๒๙] พวกเธอจงทูลถามด้วยใจเท่านั้นถึงชาติ
โคตร ลักษณะ มนตร์ ศิษย์คนอื่น ๆ
ศีรษะและธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๓๐] ถ้าบุคคลนั้นเป็นพระพุทธเจ้า
ผู้มีปกติเห็นธรรมหาเครื่องกางกั้นมิได้
เมื่อพวกเธอถามปัญหาด้วยใจแล้ว
ก็จักทรงวิสัชนาด้วยพระวาจา
[๓๑] ครั้นฟังคำของพราหมณ์พาวรีแล้ว
พราหมณ์ ๑๖ คนผู้เป็นศิษย์ คือ (๑) อชิตะ
(๒) ติสสเมตเตยยะ (๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู
[๓๒] (๕) โธตกะ (๖) อุปสีวะ (๗) นันทะ (๘) เหมกะ
(๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ (๑๑) ชตุกัณณิ ผู้เป็นบัณฑิต
[๓๓] (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย (๑๔) โปสาละ
(๑๕) โมฆราช ผู้มีปัญญา (๑๖) ปิงคิยะ ผู้เป็นมหาฤๅษี
[๓๔] พราหมณ์ผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คนนั้น
แต่ละคนเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ มีชื่อปรากฏแก่ชาวโลกทั่วไป
เป็นผู้บำเพ็ญฌาน ยินดีในฌาน
เป็นผู้มีปัญญาปราดเปรื่อง
เคยอบรมวาสนาแต่ชาติปางก่อนทั้งนั้น

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสดุจเครื่องปิดบัง มี ๕ อย่าง ได้แก่ ตัณหา ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต อวิชชา พระผู้มีพระภาค
ทรงเผากิเลสเหล่านี้ด้วยไฟคือญาณ (ดูรายละเอียดในข้อ ๑๑๘/๓๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๓๕] ทุกคนเกล้าชฎาและครองหนังเสือ
อภิวาทพราหมณ์พาวรีและกระทำประทักษิณแล้ว
ต่างออกเดินทางมุ่งหน้าไปทางทิศอุดร
[๓๖] สู่สถานที่ตั้งแคว้นมุฬกะ กรุงมาหิสสติในกาลนั้น
กรุงอุชเชนี เมืองโคนัทธะ เมืองเวทิสา เมืองวนสวหยา๑
[๓๗] กรุงโกสัมพี เมืองสาเกต กรุงสาวัตถีอันอุดม
เมืองเสตัพยะ กรุงกบิลพัสดุ์ กรุงกุสินารา
[๓๘] กรุงปาวา โภคนคร กรุงเวสาลี แคว้นมคธ
และปาสาณกเจดีย์ อันรื่นรมย์ น่ารื่นเริงใจ
[๓๙] พราหมณ์เหล่านั้นรีบขึ้นสู่ภูเขา
เหมือนคนกระหายน้ำรีบหาน้ำเย็นดื่ม
เหมือนพ่อค้าได้ลาภใหญ่มาครอง
และเหมือนคนถูกความร้อนแผดเผารีบหาร่มเงา
[๔๐] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม
ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอยู่
ประหนึ่งว่าราชสีห์บันลือสีหนาทอยู่ในป่า
[๔๑] อชิตมาณพได้เห็นพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นดุจดวงอาทิตย์อันมีรัศมีเจิดจ้า
และดุจดวงจันทร์เต็มดวงในวันเพ็ญ
[๔๒] ลำดับนั้น อชิตมาณพยืนอยู่ ณ ที่สมควร
รื่นเริงใจ เพราะได้เห็นอนุพยัญชนะ
บริบูรณ์ในพระวรกายของพระผู้มีพระภาค
จึงได้ทูลถามปัญหาด้วยใจว่า

เชิงอรรถ :
๑ วนสวหยา มีชื่ออีก ๒ อย่าง คือ (๑) ปวนนคร (๒) วนสาวัตถี (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๑๓-๘/๔๓๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๔๓] (อชิตมาณพทูลถามปัญหาทางใจว่า)
ขอพระองค์ตรัสระบุให้แน่ชัด
ถึงชาติ โคตร พร้อมด้วยลักษณะ
ขอโปรดตรัสบอกความสำเร็จในมนตร์ทั้งหลายว่า
พราหมณ์สอนมาณพเท่าไร
[๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์นั้นมีอายุ ๑๒๐ ปี ชื่อพาวรีโดยโคตร
มีลักษณะ๑ ๓ อย่างอยู่ในตัว เป็นผู้เรียนจบไตรเพท๒
[๔๕] พราหมณ์นั้นถึงความสำเร็จ
ในลักษณะมนตร์๓และประวัติศาสตร์๔
พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์๕และเกฏุภศาสตร์๖
ชื่อว่าถึงความสำเร็จในหลักธรรมของตน
กล่าวสอนมนตร์แก่ศิษย์ ๕๐๐ คน
[๔๖] (อชิตมาณพทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ผู้ตัดตัณหาเสียได้
ขอพระองค์โปรดประกาศความเด่นชัด
แห่งลักษณะของพราหมณ์พาวรี
อย่าให้พวกข้าพระองค์มีความสงสัยเลย

เชิงอรรถ :
๑ ลักษณะ หมายถึงมหาปุริสลักษณะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๒๖-๗/๑๔๓๒)
๒ ไตรเพท หมายถึงคัมภีร์ ๓ คัมภีร์ คือฤคเวท (อิรุเวท) ยชุรเวท และสามเวท (ส่วนอาถรรพเวท
ปรากฏภายหลังจากการปรากฏของพระสูตรนี้
๓ มนตร์ ในคัมภีร์พระเวท หมายถึงบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า ซึ่งรวบรวมเป็นหมวด ๆ เรียกชื่อว่า ฤคเวท
ยชุรเวท สามเวท และอาถรรพเวท
๔ ประวัติศาสตร์ คือพงศาวดารเล่าเรื่องเก่า ๆ มักจะมีคำว่า สิ่งนี้ได้เป็นมาอย่างนี้
๕ นิฆัณฑุศาสตร์ คัมภีร์ประเภทศัพท์มูลวิทยา (Etymology) คลังศัพท์ (Lexicon) หรืออภิธานศัพท์
(Glossary) ที่รวบรวมคำศัพท์ในพระเวทซึ่งเป็นคำยาก หรือคำที่เลิกใช้แล้ว นำมาอธิบายความหมาย
เป็นส่วนหนึ่งของนิรุกติ ซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า
นิฆัณฏุ (ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๒, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔)
๖ เกฎุภศาสตร์ คัมภีร์ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นส่วน
หนึ่งของกัลปะซึ่งเป็น ๑ ในเวทางคศาสตร์ ๖ ของศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า ไกฏภ
(ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๒, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๔๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์นั้นย่อมใช้ลิ้นปิดหน้าได้
มีอุณาโลมอยู่ระหว่างคิ้ว มีคุยหฐานซ่อนอยู่ในฝัก
มาณพ เธอจงรู้อย่างนี้
[๔๘] ชนทั้งปวงไม่ได้ยินใครถามปัญหาอะไร
ได้ยินแต่ปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์
ก็ปลาบปลื้มใจ ประนมอัญชลีแล้วพากันคิดไปต่าง ๆ ว่า
[๔๙] ใครหนอ เป็นเทพ เป็นพระพรหม
หรือพระอินทร์ผู้สุชัมบดีเมื่อถามปัญหาด้วยใจ
พระผู้มีพระภาคตรัสบอกปัญหานั้นกับใครเล่า
[๕๐] (อชิตมาณพกราบทูลว่า)
พราหมณ์พาวรีถามถึงเรื่องศีรษะ
และธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ขอพระองค์โปรดพยากรณ์ปัญหานั้น
กำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๕๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เธอจงรู้เถิดว่า อวิชชาเป็นศีรษะ
วิชชาที่ประกอบด้วยสัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ
และวิริยะเป็นธรรมที่ทำให้ศีรษะตกไป
[๕๒] ลำดับนั้น อชิตมาณพ มีความปลาบปลื้มใจมากล้น
สนับสนุนแล้ว พาดหนังเสือเฉวียงบ่า
ซบศีรษะลงแทบพระยุคลบาท (แล้วกราบทูลต่อไปว่า)
[๕๓] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ
พราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยเหล่าศิษย์มีจิตเบิกบาน ดีใจ
ขอถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๑. วัตถุคาถา
[๕๔] (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า)
ขอพราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยเหล่าศิษย์
จงมีความสุขและแม้เธอเองก็ขอให้มีความสุข
มีชีวิตอยู่ยืนนานเถิด มาณพ
[๕๕] เราให้โอกาสแก่พราหมณ์พาวรี แก่เธอ
และมาณพทั้งหมดถามข้อสงสัยทั้งปวง
พวกเธอปรารถนาจะถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งก็จงถามเถิด
[๕๖] อชิตมาณพได้รับโอกาสจากพระสัมพุทธเจ้าแล้ว
นั่งประคองอัญชลี ทูลถามปัญหาข้อแรกกับพระตถาคต
ณ ปาสาณกเจดีย์นั้น
วัตถุคาถาจบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑. อชิตมาณวปัญหา
๒. มาณวปัญหา
ว่าด้วยปัญหาของมาณพ ๑๖ คน
๑. อชิตมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของอชิตมาณพ
[๕๗] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้
เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้
อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น (๑)
[๕๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท
เราเรียกความอยากว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้
ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น (๒)
[๕๙] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๔๓-๗๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑. อชิตมาณวปัญหา
[๖๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
กระแสเหล่าใดในโลก
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้ (๔)
[๖๑] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ
นามและรูปนี้ดับที่ไหน ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้น
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๕)
[๖๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
อชิตะ เธอได้ถามปัญหานั้นใด
เราจะกล่าวแก้ปัญหานั้นแก่เธอ
นามและรูปนั้นดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด
นามและรูปนั้นดับไปในที่นั้นเพราะวิญญาณดับ (๖)
[๖๓] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดผู้มีสังขาตธรรม
และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์ผู้มีปัญญา โปรดตรัสบอกการดำนินชีวิต
ของพระอรหันตขีณาสพ และพระเสขะเหล่านั้นเถิด (๗)
[๖๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย
พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง
มีสติดำรงอยู่ (๘)
อชิตมาณวปัญหาที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๒. ติสสเมตเตยยมาณวปัญหา
๒. ติสสเมตเตยยมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยมาณพ
[๖๕] (ท่านติสสเมตเตยยะทูลถาม ดังนี้)
ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้
ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร
ใครรู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
พระองค์ตรัสเรียกใครว่าเป็นมหาบุรุษ
ใครล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ (๑)
[๖๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ)
ภิกษุเป็นผู้มีพรหมจรรย์(เพราะเห็นโทษ)ในกามทั้งหลาย
ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ ผู้คลายตัณหาแล้ว
มีสติทุกเมื่อ รู้ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้
ภิกษุนั้นชื่อว่าไม่มีความหวั่นไหว (๒)
[๖๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
เราเรียกภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ
ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ (๓)
ติสสเมตเตยยมาณวปัญหาที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๗๓-๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๓. ปุณณกมาณวปัญหา
๓. ปุณณกมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของปุณณกมาณพ
[๖๘] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๑)
[๖๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้
จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้
อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ (๒)
[๗๐] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้
จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ
ได้ข้ามชาติและชราได้บ้างไหม
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๓)
[๗๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ
เพราะอาศัยลาภ จึงมุ่งหวังกาม

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๘๓-๑๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๔. เมตตคูมาณวปัญหา
เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ (๔)
[๗๒] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ถ้าชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามชาติและชราได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๕)
[๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ
เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว (๖)
ปุณณกมาณวปัญหาที่ ๓ จบ

๔. เมตตคูมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของเมตตคูมาณพ
[๗๔] (ท่านเมตตคูทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า ทรงเป็นผู้จบเวท
ทรงอบรมพระองค์แล้ว ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากที่ไหนหนอ (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๑๑๐-๑๕๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๔. เมตตคูมาณวปัญหา
[๗๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่เรารู้
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ (๒)
[๗๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ย่อมก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า
มีชาติเป็นแดนเกิด ไม่ควรก่ออุปธิ (๓)
[๗๗] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด
นักปราชญ์ทั้งหลายจะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา
โสกะและปริเทวะได้อย่างไรหนอ
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสแก้ปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๔)
[๗๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
เราจักกล่าวธรรม(นั้น)ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แก่เธอ (๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๔. เมตตคูมาณวปัญหา
[๗๙] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุดนั้นที่บุคคลรู้ชัดแล้ว
มีสติเที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ (๖)
[๘๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความถือมั่น
และวิญญาณ ในธรรมเหล่านี้เสีย ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ (๗)
[๘๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท
รู้แจ้ง ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว
เที่ยวไปอยู่ พึงละชาติ ชรา โสกะและปริเทวะ
อันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน (๘)
[๘๒] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่
เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๙)
[๘๓] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่หยุดหย่อน
ชนแม้เหล่านั้นพึงละทุกข์ได้เป็นแน่
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงมาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ
ขอนมัสการพระองค์ (โดยหวังว่า)พระผู้มีพระภาค
พึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง (๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๕. โธตกมาณวปัญหา
[๘๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท
ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ
ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต หมดความสงสัยแล้ว (๑๑)
[๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
นรชนใดในที่นี้ เป็นผู้มีปัญญา จบเวท
สลัดเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว
นรชนนั้นเป็นผู้คลายตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว (๑๒)
เมตตคูมาณวปัญหาที่ ๔ จบ

๕. โธตกมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโธตกมาณพ
[๘๖] (ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง
บุคคลได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๑๕๕-๑๗๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๕. โธตกมาณวปัญหา
[๘๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน
มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล
บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน (๒)
[๘๘] (ท่านโธตกะทูลถามว่า)
ข้าพระองค์ย่อมเห็นพระองค์ผู้ไม่มีเครื่องกังวล
เป็นพราหมณ์ เสด็จจาริกอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์นั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้อง
ข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายเถิด (๓)
[๘๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใคร ๆ
ผู้มีความสงสัยในโลกได้
แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐ
ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้ (๔)
[๙๐] (ท่านโธตกะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอนวิเวกธรรม
ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ
ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล
เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย เที่ยวไปอยู่ (๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๖. อุปสีวมาณวปัญหา
[๙๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
บุคคลผู้รู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ
เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
เราจักกล่าวความสงบนั้น ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แก่เธอ (๖)
[๙๒] (ท่านโธตกะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจความสงบอันสูงสุดนั้น
ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ (๗)
[๙๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่าเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว
อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย (๘)
โธตกมาณวปัญหาที่ ๕ จบ

๖. อุปสีวมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของอุปสีวมาณพ
[๙๔] (ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว
ไม่ได้อาศัย (ใคร ๆ หรือสิ่งใด ๆ)
จึงไม่สามารถข้ามห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอารมณ์
ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว พึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้ (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๑๗๗-๑๙๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๖. อุปสีวมาณวปัญหา
[๙๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ไม่มีอะไรดังนี้แล้ว
ก็จะข้ามห้วงกิเลสได้ เธอจงละกามทั้งหลาย
เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย
พิจารณาความสิ้นตัณหา ทั้งคืนทั้งวัน (๒)
[๙๖] (ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้)
บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก
ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ (๓)
[๙๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก
ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้ (๔)
[๙๘] (ท่านอุปสีวะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานปีไซร้
บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
มีความสงบเย็นอยู่ในพรหมโลกนั้นนั่นแลหรือ
หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก (๕)
[๙๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป
ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ ฉันใด
มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมดับไป
กำหนดไม่ได้ ฉันนั้น (๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๗. นันทมาณวปัญหา
[๑๐๐] (ท่านอุปสีวะทูลถามว่า)
มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี
หรือว่าไม่แตกทำลายเพราะมีความแน่แท้
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี โปรดพยากรณ์ปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๗)
[๑๐๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
มุนีผู้ถึงความสลายไป ย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ
ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด
กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น
(เพราะ) เมื่อมุนีนั้นถอนธรรมทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว
แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวง
ท่านก็ถอนได้เด็ดขาดแล้ว(เหมือนกัน) (๘)
อุปสีวมาณวปัญหาที่ ๖ จบ

๗. นันทมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของนันทมาณพ
[๑๐๒] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก
คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร
ชนทั้งหลายเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณ
หรือว่าเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ว่า เป็นมุนี (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๑๙๕-๒๑๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๗. นันทมาณวปัญหา
[๑๐๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้
ไม่เรียกบุคคลว่าเป็นมุนี เพราะได้เห็นเพราะได้ฟังและเพราะได้รู้
เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว
ผู้ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี (๒)
[๑๐๔] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ประพฤติตนเคร่งครัด
ในหลักการของตนนั้น ข้ามชาติและชราได้บ้างหรือไม่
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๓)
[๑๐๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
สมณพราหมณ์พวกนั้น
แม้ประพฤติตนเคร่งครัดอยู่ในหลักการของตนนั้น ก็จริง
แต่เรากล่าวว่า พวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้ (๔)
[๑๐๖] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๗. นันทมาณวปัญหา
หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่า
สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๕)
[๑๐๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมด
ถูกชาติและชราโอบล้อม นรชนเหล่าใดในโลกนี้
ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับรู้
หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ
เรากล่าวว่านรชนเหล่านั้นแล
ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว (๖)
[๑๐๘] (ท่านนันทะกราบทูลว่า)
ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
นรชนเหล่าใดในโลกนี้ ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด
ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว
เป็นผู้หมดอาสวะ แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า
นรชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว (๗)
นันทมาณวปัญหาที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๘. เหมกมาณวปัญหา
๘. เหมกมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของเหมกมาณพ
[๑๐๙] (ท่านเหมกะทูลถาม ดังนี้)
ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในคำพยากรณ์นั้น (๑)
[๑๑๐] (ท่านเหมกะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระมุนี บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว
มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม (นั้น)
ที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา แก่ข้าพระองค์เถิด (๒)
[๑๑๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เหมกะ นิพพานบทอันไม่แปรผัน
เป็นเครื่องกำจัดความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ในปิยรูปทั้งหลายที่ได้เห็น ได้ยินได้รับรู้และได้รู้ ในโลกนี้ (๓)
[๑๑๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ชนเหล่าใดผู้มีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้น เป็นผู้สงบทุกเมื่อ
ข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้แล้ว (๔)
เหมกมาณวปัญหาที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๑๗-๒๒๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๙. โตเทยยมาณวปัญหา
๙. โตเทยยมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโตเทยยมาณพ
[๑๑๓] (ท่านโตเทยยะทูลถาม ดังนี้)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์ของบุคคลนั้นเป็นเช่นไร (๑)
[๑๑๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โตเทยยะ)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์อื่นของบุคคลนั้นย่อมไม่มี (๒)
[๑๑๕] (ท่านโตเทยยะทูลถามว่า)
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง หรือว่ายังหวังอยู่
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา หรือว่ายังมีความดำริด้วยปัญญา
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด (๓)
[๑๑๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง ทั้งไม่หวัง
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่มีความดำริด้วยปัญญา
โตเทยยะ เธอจงรู้จักบุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล
ผู้ไม่ข้องในกามและภพว่าเป็นมุนี อย่างนี้ (๔)
โตเทยยมาณวปัญหาที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๒๖-๒๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๐. กัปปมาณวปัญหา
๑๐. กัปปมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของกัปปมาณพ
[๑๑๗] (ท่านกัปปะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่งของเหล่าสัตว์
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย
อนึ่ง ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่ง
โดยวิธีที่ทุกข์นี้จะไม่พึงมีแก่ข้าพระองค์อีก (๑)
[๑๑๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
กัปปะ เราจะบอกที่พึ่งของเหล่าสัตว์
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัยแก่เธอ (๒)
[๑๑๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เราเรียกนิพพาน ซึ่งไม่มีเครื่องกังวล
ไม่มีเครื่องยึดมั่นนี้นั้น ว่าเป็นที่พึ่งอันไม่มีที่พึ่งอื่นยิ่งกว่า
(เพราะ)นิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมัจจุราช
[๑๒๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ชนเหล่าใดมีสติรู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้นจึงไม่ไปตามอำนาจมาร ไม่ไปบำรุงมาร (๓)
กัปปมาณวปัญหาที่ ๑๐ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๓๔-๒๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหา
๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของชตุกัณณิมาณพ
[๑๒๑] (ท่านชตุกัณณิทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่า
พระองค์ไม่มีความใคร่กาม ล่วงพ้นห้วงกิเลส
จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม
ข้าแต่พระสหชเนตร ขอพระองค์โปรดตรัสบอกสันติบท
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม
อันแท้จริงนั้นแก่ข้าพระองค์ (๑)
[๑๒๒] (ท่านชตุกัณณิทูลถามว่า)
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกามทั้งหลาย
ด้วยพระเดช ทรงเคลื่อนไหว(อิริยาบถ)อยู่
เหมือนดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง ส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี
พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจภูริ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติ
และชราในโลกนี้ ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง
แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด (๒)
[๑๒๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชตุกัณณิ)
เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลายเสีย
เธอเห็นเนกขัมมะโดยความเกษมแล้ว
ควรสลัดเครื่องกังวลที่ยึดถือ
หรือว่าเครื่องกังวลอย่าได้มีแก่เธอ (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๔๕-๒๕๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหา
[๑๒๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบ เที่ยวไป (๔)
[๑๒๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์ อาสวะทั้งหลาย
อันเป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่งมัจจุ ไม่มีแก่บุคคลนั้น
ผู้คลายความติดใจในนามรูป โดยประการทั้งปวง (๕)
ชตุกัณณิมาณวปัญหาที่ ๑๑ จบ

๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของภัทราวุธมาณพ
[๑๒๖] (ท่านภัทราวุธทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนาพระองค์
ผู้ทรงละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ตัดตัณหาได้
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
ทรงละความเพลิดเพลินได้ ข้ามห้วงกิเลสได้
หลุดพ้นแล้ว ละการกำหนด มีพระปัญญาดี
ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้ว
จึงจักกลับไปจากที่นี้ (๑)
[๑๒๗] (ท่านภัทราวุธทูลถามว่า)
ข้าแต่พระวีระ ชนต่าง ๆ จากชนบททั้งหลาย
มาชุมนุมกัน(ในที่นี้) หวังเป็นอย่างยิ่ง(ที่จะได้ฟัง)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๕๗-๒๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๓. อุทยมาณวปัญหา
พระดำรัสของพระองค์ ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา)
แก่ชนเหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๒)
[๑๒๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภัทราวุธ)
นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง
ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เพราะสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดถือขันธ์ใด ๆ ในโลก
มารย่อมติดตามสัตว์เพราะสิ่งที่ยึดถือนั้นนั่นแล (๓)
[๑๒๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เพราะฉะนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัดเพ่งพิจารณาหมู่สัตว์นี้
ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราชว่า เป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น
ควรเป็นผู้มีสติ ไม่พึงเข้าไปยึดถือเครื่องกังวลในโลกทั้งปวง (๔)
ภัทราวุธมาณวปัญหาที่ ๑๒ จบ

๑๓. อุทยมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของอุทัยมาณพ
[๑๓๐] (ท่านอุทัยทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงมีฌาน ปราศจากธุลี
ประทับนั่งอยู่ ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะ ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์
อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด (๑)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๖๘-๒๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๓. อุทยมาณวปัญหา
[๑๓๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุทัย)
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์
อันเป็นเครื่องละความพอใจ
ในกามและโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง
เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ
และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง (๒)
[๑๓๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ที่บริสุทธิ์
เพราะมีอุเบกขาและสติ ที่มีธรรมตรรกะเป็นเบื้องต้น
เป็นเครื่องทำลายอวิชชา (๓)
[๑๓๓] (ท่านอุทัยทูลถามว่า)
สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้
อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน (๔)
[๑๓๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
สัตว์โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้
ความตรึกเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละตัณหาได้ เราจึงเรียกว่า นิพพาน (๕)
[๑๓๕] (ท่านอุทัยทูลถามว่า)
ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร วิญญาณจึงดับสนิท
ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์ (๖)
[๑๓๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก
มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ วิญญาณจึงดับสนิท (๗)
อุทยมาณวปัญหาที่ ๑๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๔. โปสาลมาณวปัญหา
๑๔. โปสาลมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโปสาลมาณพ
[๑๓๗] (ท่านโปสาละทูลถาม ดังนี้)
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
ตัดความสงสัยได้แล้ว
ทรงแสดงอดีตธรรม
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง (๑)
[๑๓๘] (ท่านโปสาละทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ
ของบุคคลผู้ไม่มีรูปสัญญา ผู้ละรูปกายได้ทั้งหมด
ผู้พิจารณาทั้งภายในและภายนอกเห็นว่าไม่มีอะไร
บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ควรแนะนำอย่างไร (๒)
[๑๓๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โปสาละ)
ตถาคตรู้ยิ่งซึ่งวิญญาณัฏฐิติทั้งหมด
รู้จักบุคคลนั้นผู้ดำรงอยู่ ผู้น้อมไปแล้ว
ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย (๓)
[๑๔๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลนั้นรู้กัมมาภิสังขารว่าเป็นเหตุเกิด
แห่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ
รู้อรูปราคะว่ามีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๘๓-๒๙๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหา
ครั้นรู้กรรมนั้นอย่างนี้แล้ว ออกจากสมาบัตินั้น
เห็นแจ้งธรรมที่เกิดในสมาบัตินั้น
ญาณนี้ของพราหมณ์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์นั้น
เป็นญาณอันแท้จริง (๔)
โปสาลมาณวปัญหาที่ ๑๔ จบ

๑๕. โมฆราชมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของโมฆราชมาณพ
[๑๔๑] (ท่านโมฆราชทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ ๒ ครั้งแล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์รับทราบมาว่า
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี
(ถ้าผู้ใดถามปัญหา) ถึง ๓ ครั้ง จะทรงพยากรณ์ (๑)
[๑๔๒] (ท่านโมฆราชทูลถามว่า)
โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ย่อมไม่ทราบชัดความเห็นของพระองค์
ผู้โคตมโคตร ผู้มีพระยศ (๒)
[๑๔๓] (ท่านโมฆราชทูลถามว่า)
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ทรงมีปกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงไม่เห็น (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๒๙๘-๓๒๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหา
[๑๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
โมฆราช เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า
มีสติทุกเมื่อ พึงถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย
เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น (๔)
โมฆราชมาณวปัญหาที่ ๑๕ จบ

๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหา๑
ว่าด้วยปัญหาของปิงคิยมาณพ
[๑๔๕] (ท่านปิงคิยะทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์ชราภาพแล้ว ไม่มีกำลัง
ผิวพรรณไม่ผุดผ่อง นัยน์ตาไม่แจ่มใส หูฟังไม่ชัด
ขอข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลงเสียหายในระหว่างนี้เลย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมที่เป็นเครื่องละชาติและชรา
ในโลกนี้ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ (๑)
[๑๔๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ)
ชนทั้งหลายเห็นชนอื่น ๆ เดือดร้อนอยู่
เพราะรูปทั้งหลายแล้ว ยังประมาทเจ็บปวดเพราะรูปทั้งหลาย
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละรูปเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป (๒)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๓๒๔-๓๓๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๒. มาณวปัญหา ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหา
[๑๔๗] (ท่านปิงคิยะทูลถามว่า)
ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ ทิศเบื้องบน ๑
ทิศเบื้องล่าง ๑ เหล่านี้รวมเป็น ๑๐
สิ่งใด ๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงได้ยิน
ไม่ทรงทราบ หรือไม่ทรงรู้แจ้ง มิได้มีเลย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมที่เป็นเครื่องละชาติและชรา
ในโลกนี้ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ (๓)
[๑๔๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ)
เธอจงเพ่งพิจารณาหมู่มนุษย์ ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต
เกิดความเร่าร้อน ถูกชราครอบงำแล้ว
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้นเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป (๔)
ปิงคิยมาณวปัญหาที่ ๑๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๓. ปารายนัตถุติคาถา
๓. ปารายนัตถุติคาถา๑
ว่าด้วยการสดุดีธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
(พระธรรมสังคาหกาจารย์เมื่อจะสรรเสริญพระธรรมเทศนานี้จึงได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า)
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถานี้แล้ว เมื่อประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์
แคว้นมคธ ได้ทรงรับอาราธนากราบทูลหลายครั้งจากพราหมณ์ ๑๖ คน
ผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิด ได้ทรงพยากรณ์ปัญหาแล้ว
ถ้าแม้บุคคลรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งปัญหาแต่ละปัญหาแล้วปฏิบัติธรรม
ถูกต้องตามหลักธรรม ก็จะพึงถึงฝั่งแห่งชราและมรณะได้แน่นอน เพราะธรรม
เหล่านี้เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง เพราะเหตุดังกล่าวมานี้นั้น ธรรมบรรยายนี้ จึงชื่อว่า
ปารายนะ
[๑๔๙] (๑) อชิตะ (๒) ติสสเมตเตยยะ
(๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู (๕) โธตกะ
(๖) อุปสีวะ (๗) นันทะ (๘) เหมกะ (๑)
[๑๕๐] (๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ
(๑๑) ชตุกัณณิ ผู้เป็นบัณฑิต (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย
(๑๔) โปสาละ (๑๕) โมฆราช ผู้มีปัญญา
(๑๖) ปิงคิยะ ผู้เป็นมหาฤๅษี (๒)
[๑๕๑] พราหมณ์ ๑๖ คนนี้ พากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยจรณะ ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เมื่อจะทูลถามปัญหาที่ลุ่มลึก
จึงเข้าไปใกล้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๓๓๓-๓๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๓. ปารายนัตถุติคาถา
[๑๕๒] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
พระพุทธเจ้า (อันพราหมณ์เหล่านั้น)
ทูลสอบถามปัญหาแล้ว
ทรงพยากรณ์แก่พราหมณ์เหล่านั้นตามความเป็นจริง
พระพุทธมุนีทรงทำให้พราหมณ์ทั้งหลายพอใจ
ด้วยการทรงพยากรณ์ปัญหาทั้งหลาย (๔)
[๑๕๓] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
พราหมณ์เหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ทำให้พอใจแล้ว
ได้ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ (๕)
[๑๕๔] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
การพยากรณ์ปัญหาแต่ละปัญหา
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วโดยประการใด
ผู้ใดปฏิบัติตามโดยประการนั้น
ผู้นั้นพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้ (๖)
[๑๕๕] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
บุคคลเมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด
จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้
(เพราะ)มรรคนั้น(เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง
เพราะฉะนั้น มรรคนั้น จึงชื่อว่าปารายนะ (๗)
ปารายนัตถุติคาถา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๔. ปารายนานุคีติคาถา
๔. ปารายนานุคีติคาถา๑
ว่าด้วยเพลงขับตามธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
[๑๕๖] (พระปิงคิยเถระกล่าวแก่พราหมณ์พาวรีท่ามกลางชุมชน ดังนี้)
อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ปราศจากมลทิน
มีพระปัญญาดุจภูริ ปราศจากกาม
ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ
ทรงเห็นอย่างใด ก็ตรัสอย่างนั้น
จะพึงกล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า (๑)
[๑๕๗] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำ
ที่ประกอบด้วยการสรรเสริญพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว
ผู้ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ ณ บัดนี้ (๒)
[๑๕๘] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ท่านพราหมณาจารย์ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ
ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด
ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทรงมีชื่อตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำอธิบายในหน้า ๓๔๖-๓๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๔. ปารายนานุคีติคาถา
[๑๕๙] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ทิชะ(นก)พึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่
ที่มีผลไม้มากฉันใด อาตมภาพก็ฉันนั้น
ละคณาจารย์ผู้มีทรรศนะแคบ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ (๔)
[๑๖๐] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์แก่อาตมภาพว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ (๕)
[๑๖๑] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
พระโคดมทรงเป็นเอกบุรุษ
ประทับนั่งทำลายความมืดอยู่ ทรงรุ่งเรือง ทรงแผ่รัศมี
พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ (๖)
[๑๖๒] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ (๗)
[๑๖๓] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ท่านปิงคิยะ เพราะเหตุไรหนอ
ท่านจึงอยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ สิ้นกาลชั่วครู่ (๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๔. ปารายนานุคีติคาถา
[๑๖๔] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่ท่าน (๙)
[๑๖๕] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพมิได้อยู่ปราศจาก
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ สิ้นกาลชั่วครู่ (๑๐)
[๑๖๖] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ (๑๑)
[๑๖๗] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพไม่ประมาท
ทั้งกลางคืนและกลางวัน ย่อมเห็นพระโคดมพุทธเจ้า
พระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยตา
อาตมภาพนอบน้อมพระองค์อยู่ตลอดราตรี
อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น (๑๒)
[๑๖๘] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธา ปีติ มนะ และสติ
ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริเสด็จไปสู่ทิศใด ๆ
อาตมภาพเป็นผู้น้อมไปทางทิศนั้น ๆ นั่นแล (๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๔. ปารายนานุคีติคาถา
[๑๖๙] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
อาตมภาพชราแล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อย
เพราะเหตุนั้นแล ร่างกายจึงไปในสถานที่
ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ไม่ได้
แต่อาตมภาพไปเฝ้าพระองค์เป็นนิจ
โดยการไปด้วยความดำริ ท่านพราหมณ์
เพราะว่าใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยวอยู่กับสถานที่
ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่นั้น (๑๔)
[๑๗๐] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
อาตมภาพนอนดิ้นรนอยู่ในเปือกตม
ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง
ครั้นต่อมา อาตมภาพได้เฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ (๑๕)
[๑๗๑] (พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสว่า)
วักกลิ ภัทราวุธ และอาฬวิโคดม
เป็นผู้มีศรัทธาอันน้อมไปแล้ว ฉันใด
แม้เธอก็จงเปิดเผยศรัทธา ฉันนั้นเหมือนกัน
ปิงคิยะ เธอจักถึงฝั่งโน้น(ฝั่งตรงข้าม)แห่งบ่วงมัจจุราช (๑๖)
[๑๗๒] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า)
ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้ว
เลื่อมใสอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงมีเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต ทรงมีปฏิภาณ (๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๔. ปารายนานุคีติคาถา
[๑๗๓] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า)
พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดอธิเทพ
ทรงรู้ธรรมของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง
เป็นพระศาสดาผู้กระทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย
เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัย ให้กลับรู้ได้ (๑๘)
[๑๗๔] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า)
สภาวะใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ
ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้
ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล (๑๙)
ปารายนานุคีติคาถา จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
๕. มาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของมาณพ ๑๖ คน
๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยปัญหาของอชิตมาณพ
[๑] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้
เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้
อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น (๑)
คำว่า โลก ในคำว่า โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้ ได้แก่ โลกนรก โลกกำเนิด
เดรัจฉาน โลกในเปตวิสัย มนุษยโลก เทวโลก๑ ขันธโลก ธาตุโลก๒ อายตนโลก๓
โลกนี้ โลกหน้า พรหมโลก เทวโลก นี้ ตรัสเรียกว่า โลก โลกนี้ ถูกอะไรโอบล้อม
หุ้มห่อ คือ ห้อมล้อม ครอบคลุม ปกคลุม บดบังไว้ รวมความว่า โลกถูกอะไร
เล่าหุ้มห่อไว้

เชิงอรรถ :
๑ เทวโลก คือโลกของหมู่เทพในสวรรค์ชั้นกามาวจรทั้ง ๖ เป็นภพที่มีอารมณ์เลิศ โลกที่มีแต่ความสุข
แต่ยังเกี่ยวข้องกับกามอยู่ ได้แก่ (๑) จาตุมหาราชิกา สวรรค์ที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ปกครองอยู่ (ท้าวธตรฐ
จอมคนธรรพ์ครองทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหกจอมกุมภัณฑ์ครองทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์จอมนาคครองทิศ
ตะวันตก ท้าวกุเวรหรือเวสวัณจอมยักษ์ครองทิศเหนือ) (๒) ดาวดึงส์ แดนที่อยู่แห่งเทพ ๓๓ มีท้าวสักกะ
เป็นจอมเทพ (๓) ยามา แดนที่อยู่แห่งเทพผู้ปราศจากทุกข์ มีท้าวสุยามาเป็นจอมเทพ (๔) ดุสิต
แดนที่อยู่แห่งเทพผู้เอิบอิ่มด้วยสิริสมบัติของตน มีท้าวสันดุสิตเป็นจอมเทพ (๕) นิมมานรดี แดนแห่ง
เทพผู้มีความยินดีในการเนรมิต มีท้าวสุนิมมิตเป็นจอมเทพ (๖) ปรนิมมิตวสวัตดี แดนที่อยู่แห่งเทพผู้
ยังอำนาจให้เป็นไปในสมบัติที่ผู้อื่นนิรมิต คือ เสวยสมบัติที่พวกเทพอื่นนิรมิตให้ มีท้าววสวัตดีเป็นจอมเทพ
(สํ.ม. ๑๙/๑๐๘๑/๓๖๙)
๒ ธาตุโลก หมายถึงธาตุ ๑๘ คือสิ่งที่ทรงสภาวะของตนเองอยู่ ตามที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นเป็นไป
ตามธรรมนิยาม คือ กำหนดแห่งธรรมดา ไม่มีผู้สร้าง ผู้บันดาล และมีรูปลักษณะ กิจ อาการเป็นแบบ
จำเพาะตัว อันพึงกำหนดเอาเป็นหลักได้แต่ละอย่าง ๆ ได้แก่ (๑) จักขุธาตุ ธาตุคือจักขุปสาท (๒) รูปธาตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท
เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่ง
พยัญชนะ คำว่า ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า อชิตะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น คือ เป็นการกล่าวถึง การขนานนาม
การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน ชื่อ การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะ
รวมความว่า ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้
คำว่า เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส อธิบายว่า เพราะเหตุไร โลกจึง
ไม่สดใส คือ ไม่ส่องสว่าง ไม่แผดแสง ไม่รุ่งโรจน์ ไม่แจ่มชัด ไม่ปรากฏชัด
รวมความว่า เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่าอะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้
อธิบายว่า อะไรเป็นเครื่องฉาบทา คือ เกี่ยวข้อง ผูกพัน ทำให้โลกนี้เศร้าหมอง
โลกถูกอะไรฉาบ ทา ไล้ ทำให้หมองมัว หมองคล้ำ แปดเปื้อน คละเคล้า เกาะติด
เกี่ยวพัน พัวพันไว้ ขอพระองค์โปรดตรัส คือโปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้

เชิงอรรถ :
ธาตุคือรูปารมณ์ (๓) จักขุวิญญาณธาตุ ธาตุคือจักขุวิญญาณ (๔) โสตธาตุ ธาตุคือโสตปสาท (๕)
สัททธาตุ ธาตุคือสัททารมณ์ (๖) โสตวิญญาณธาตุ ธาตุคือโสตวิญญาณ (๗) ฆานธาตุ ธาตุคือฆานปสาท
(๘) คันธธาตุ ธาตุคือคันธารมณ์ (๙) ฆานวิญญาณธาตุ ธาตุคือฆานวิญญาณ (๑๐) ชิวหาธาตุ
ธาตุคือชิวหาปสาท (๑๑) รสธาตุ ธาตคือรสารมณ์ (๑๒) ชิวหาวิญญาณธาตุ ธาตุคือชิวหาวิญญาณ (๑๓)
กายธาตุ ธาตุคือกายปสาท (๑๔) โผฏฐัพพธาตุ ธาตุคือโผฏฐัพพารมณ์ (๑๕) กายวิญญาณธาตุ
ธาตุคือกายวิญญาณ (๑๖) มโนธาตุ ธาตุคือมโน (๑๗) ธัมมธาตุ ธาตุคือธรรมารมณ์ (๑๘)
มโนวิญญาณธาตุ ธาตุคือมโนวิญญาณ (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๘๓-๑๘๔/๑๔๒-๑๔๖)
๓ อายตนโลก หมายถึงอายนตนะ ๑๒ คือ (สิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้ แดนต่อหรือแดนเกิดแห่งความรู้)
อายตนะภายใน ๖ ได้แก่ (๑) ตา (๒) หู (๓) จมูก (๔) ลิ้น (๕) กาย (๖) ใจ และอายตนะภายนอก
๖ ได้แก่ (๑) รูป (๒) เสียง (๓) กลิ่น (๔) รส (๕) โผฏฐัพพะ (๖) ธรรมารมณ์ ทั้ง ๖ นี้ เรียกทั่วไปว่า
อารมณ์ ๖ คือ เป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๕๔-๑๖๗/๑๑๒-๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น อธิบายว่า อะไรเป็นภัย เป็นภัยใหญ่
คือ เป็นเครื่องบีบคั้น เป็นสิ่งกระทบกระทั่ง เป็นอันตราย เป็นอุปสรรคของโลกนั้น
รวมความว่า อะไรเล่าเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น จึงกล่าวว่า
(ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้
เพราะเหตุไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้
อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
[๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท
เราเรียกความอยากว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้
ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น (๒)
ว่าด้วยอวิชชา
คำว่า โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ อธิบายว่า
คำว่า อวิชชา ได้แก่ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย ความไม่รู้
ในทุกขนิโรธ ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ในส่วนอดีต ความไม่รู้
ในส่วนอนาคต ความไม่รู้ในส่วนอดีตและอนาคต ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปบาทว่า
เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย ธรรมนี้จึงมี ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้
ความไม่รู้โดยสมควร ความไม่รู้ตามเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอา
โดยถูกต้อง ความไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ความไม่พินิจ ความไม่พิจารณา ความ
ไม่ทำให้ประจักษ์ ความทรามปัญญา ความโง่เขลา ความไม่รู้ชัด ความหลง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ความลุ่มหลง ความหลงใหล อวิชชา โอฆะคืออวิชชา โยคะคืออวิชชา อนุสัยคือ
อวิชชา ปริยุฏฐานคืออวิชชา ข่ายคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ นี้ ตรัสเรียกว่า
อวิชชา๑
คำว่า โลก ได้แก่ โลกนรก โลกกำเนิดเดรัจฉาน โลกในเปตวิสัย มนุษยโลก
เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกนี้ โลกหน้า พรหมโลก เทวโลก นี้
ตรัสเรียกว่า โลก
โลกนี้ถูกอวิชชานี้โอบล้อม หุ้มห่อ คือ ห้อมล้อม ครอบคลุม ปกคลุม บดบังไว้
รวมความว่า โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
คำว่า อชิตะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

อธิบายคำว่า ภควา
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโทสะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโมหะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายมานะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายทิฏฐิได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายเสี้ยนหนามได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายกิเลสได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงจำแนก แยกแยะ แจกแจงธรรมรัตนะ
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำที่สุดแห่งภพได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมพระวรกายแล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๑๐๖/๒๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงใช้สอยเสนาสนะ ที่เป็นป่าละเมาะและป่าทึบ
อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควร
เป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งอรรถรส๑ ธรรมรส๒ วิมุตติรส๓
อธิสีล อธิจิต อธิปัญญา จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔
อรูปสมาบัติ ๔ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ๔ ๘
อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๑๐ กสิณ-
สมาบัติ๕ ๑๐ อานาปานัสสติสมาธิ๖ อสุภสมาบัติ๗ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ จึงชื่อว่า
พระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ อรรถรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งผลของเหตุ (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๒ ธรรมรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งเหตุ (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๓ วิมุตติรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งผล (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๔ อภิภายนตะ คือ ฌานที่ครอบงำนิวรณธรรมและอารมณ์ที่เล็กหรือใหญ่ได้ (ม.ม. ๑๓/๒๔๙/๒๒๔)
๕ กสิณสมาบัติหมายถึงภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึงด้วยการกำหนดวัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ
ได้แก่ ฌาน ๑๐ มีปฐวีกสิณฌาน เป็นต้น (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๖ อานาปานัสสติสมาธิ ได้แก่สมาธิเกี่ยวเนื่องด้วยการตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๗ อสุภสมาบัติ หมายถึงภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึงด้วยการพิจารณาร่างกายของตนและผู้อื่นให้เห็นสภาพ
ที่ไม่งาม หมายถึงซากศพในสภาพต่าง ๆ ๑๐ อย่าง คือ (๑) ซากศพที่เน่าพอง (๒) ซากศพที่มีสีเขียว
(๓) ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหล (๔) ซากศพที่ขาดกลางตัว (๕) ซากศพที่สัตว์กัดกินแล้ว (๖) ซากศพ
ที่มีมือเท้าศีรษะขาด (๗) ซากศพที่ถูกสับ ฟัน เป็นท่อน ๆ (๘) ซากศพที่มีโลหิตไหลอยู่ (๙) ซาก
ศพที่มีตัวหนอนคลาคล่ำไปอยู่ (๑๐) ซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก (วิสุทฺธิ. ๑/๑๐๒/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ๑ ๑๐
เวสารัชชญาณ๒ ๔ ปฏิสัมภิทา๓ ๔ อภิญญา๔ ๖ พุทธธรรม๕ ๖ จึงชื่อว่า
พระผู้มีพระภาค
พระนามว่า พระผู้มีพระภาค นี้ มิใช่พระชนนีทรงตั้ง มิใช่พระชนกทรงตั้ง
มิใช่พระภาดาทรงตั้ง มิใช่พระภคินีทรงตั้ง มิใช่มิตรและอำมาตย์ตั้ง มิใช่พระญาติ
และผู้ร่วมสายโลหิตทรงตั้ง มิใช่สมณพราหมณ์ตั้ง มิใช่เทวดาตั้ง
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม (พระนามในลำดับการ
บรรลุอรหัตตผล) เป็นสัจฉิกาบัญญัตติ (บัญญัติที่เกิดเพราะทรงรู้แจ้งอรหัตตผล)
ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมกับการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่
โคนต้นโพธิ์ รวมความว่า พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า อชิตะ

เชิงอรรถ :
๑ ตถาคตพลญาณ หมายถึงพระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต ๑๐ ประการ ที่ทำให้พระองค์บันลือ
สีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง คือ (๑) ฐานาฐานญาณ ปรีชาหยั่งรู้กฎธรรมชาติเกี่ยวกับ
ขอบเขตและขีดขั้นของสิ่งทั้งหลาย (๒) กัมมวิปากญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม (๓) สัพพัตถ-
คามินีปฏิปทาญาณ ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง หรือสู่ประโยชน์ทั้งปวง (๔) นานาธาตุ-
ญาณ ปรีชาหยั่งรู้สภาวะของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ เป็นอเนก (๕) นานาธิมุตติกญาณ
ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัยเป็นต้นของสัตว์ทั้งหลาย (๖) อินทริยปโรปริยัตตญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งหย่อน
แห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย (๗) ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว
เป็นต้น (๘) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปรีชาหยั่งรู้ภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้ (๙) จุตูปปาตญาณ
ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย (๑๐) อาสวักขยญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
(องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๒๑/๔๓-๔๗)
๒ เวสารัชชญาณ ๔ คือพระญาณอันเป็นเหตุให้ทรงแกล้วกล้า ไม่ครั่นคร้าม ได้แก่ (๑) สัมมาสัมพุทธ
ปฏิญญา (๒) ขีณาสวปฏิญญา (๓) อันตรายิกธัมมวาทะ (๔) นิยยานิกธัมมเทสนา (ม.มู. ๑๒/๑๕๐/
๑๑๐-๑๑๑)
๓ ปฏิสัมภิทา ๔ หมายถึงปัญญาแตกฉาน ๔ อย่าง คือ (๑) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ
ปรีชาแจ้งในความหมาย (๒) ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม ปรีชาแจ้งในหลัก (๓) นิรุตติ-
ปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ ปรีชาแจ้งในภาษา ศัพท์ ถ้อยคำบัญญัติ (๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา
ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ มีไหวพริบ(องฺ.จตุกฺก.(แปล) ๒๑/๑๗๒
/๒๔๒-๒๔๓)
๔ อภิญญา ๖ คือ ความรู้ยิ่งยวด (๑) อิทธิวิธิ ความรู้ทำให้แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ (๒) ทิพพโสต
ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์ (๓) เจโตปริยญาณ ญาณที่ทำให้กำหนดใจคนอื่นได้ (๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้ (๕) ทิพพจักขุ ญาณที่ทำให้ตาทิพย์ (๖) อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้
อาสวะสิ้นไป ๕ ข้อแรกเป็นโลกียะ (โลกียอภิญญา) ข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตระ (ที.สี. (แปล) ๙/๒๓๔-๒๔๘/
๗๗-๘๔)
๕ พุทธธรรม ๖ หมายถึงพระปัญญาจักขุของพระพุทธเจ้า ที่ทรงทราบกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
ทั้งหมด เป็นต้น (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖) และดูรายละเอียดข้อ ๘๕/๓๐๑-๓๐๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยความตระหนี่ ๕ อย่าง
คำว่า โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท อธิบายว่า
มัจฉริยะ ๕ อย่าง เรียกว่า ความตระหนี่ คือ

๑. อาวาสมัจฉริยะ (ความตระหนี่ที่อยู่)
๒. กุลมัจฉริยะ (ความตระหนี่ตระกูล)
๓. ลาภมัจฉริยะ (ความตระหนี่ลาภ)
๔. วัณณมัจฉริยะ (ความตระหนี่วรรณะ)
๕. ธัมมมัจฉริยะ (ความตระหนี่ธรรม)

ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ภาวะที่ตระหนี่ ความเห็นแก่ได้ ความถี่เหนียว
ความที่จิตเจ็บร้อน(ในการให้) ความที่จิตหวงแหนเห็นปานนี้ นี้ ตรัสเรียกว่า
ความตระหนี่
อีกนัยหนึ่ง ความตระหนี่ขันธ์ก็ดี ความตระหนี่ธาตุก็ดี ความตระหนี่
อายตนะก็ดี ความมุ่งแต่จะได้ก็ดี นี้ ก็เรียกว่า ความตระหนี่
ขอกล่าวถึงความประมาท ความปล่อยจิตไปหรือการเพิ่มพูนความปล่อยจิต
ไปในกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือในกามคุณ ๕ อย่าง การทำโดย
ไม่เคารพ การทำที่ไม่ให้ติดต่อ การทำที่ไม่มั่นคง ความประพฤติย่อหย่อน
ความทอดทิ้งฉันทะ ความทอดทิ้งธุระ ความไม่เสพ ความไม่เจริญ ความไม่
ทำให้มาก ความตั้งใจไม่จริง ความไม่หมั่นประกอบ ความประมาทในการเจริญ
กุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าความประมาท ความประมาท กิริยาที่ประมาท ภาวะที่
ประมาทมีลักษณะเช่นว่านี้ นี้ ตรัสเรียกว่า ความประมาท
คำว่า โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท อธิบายว่า โลก
ไม่สดใส คือ ไม่ส่องสว่าง ไม่แผดแสง ไม่รุ่งโรจน์ ไม่แจ่มชัด ไม่ปรากฏชัด
เพราะความตระหนี่และความประมาทนี้ รวมความว่า โลกไม่สดใสเพราะความ
ตระหนี่และความประมาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยตัณหา
คำว่า เราเรียกความอยากว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ อธิบายว่า ตัณหา
ตรัสเรียกว่า ความอยาก ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความคล้อย
ตามอารมณ์ ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน
ความกำหนัดนักแห่งจิต ความอยาก ความสยบ ความหมกมุ่น ความหื่น
ความหื่นกระหาย ความข้องอยู่ ความจมอยู่ ธรรมชาติที่ทำให้พลุกพล่าน
ธรรมชาติที่หลอกลวง ธรรมชาติที่ยังสัตว์ให้เกิด ธรรมชาติที่ยังสัตว์ให้เกิดพร้อม
ธรรมชาติที่ร้อยรัด ธรรมชาติที่มีข่าย ธรรมชาติที่กำซาบใจ ธรรมชาติที่ซ่านไป
ธรรมชาติดุจเส้นด้าย ธรรมชาติที่แผ่ไป ธรรมชาติที่ประมวลมา ธรรมชาติที่เป็น
เพื่อน ความคนึงหา ตัณหาที่นำพาไปสู่ภพ ตัณหาดุจป่า ตัณหาดุจป่าทึบ
ความเชยชิด ความเยื่อใย ความห่วงใย ความผูกพัน ความหวัง กิริยาที่หวัง
ภาวะที่หวัง ความหวังในรูป ความหวังในเสียง ความหวังในกลิ่น ความหวังในรส
ความหวังในโผฏฐัพพะ ความหวังในลาภ ความหวังในทรัพย์ ความหวังในบุตร
ความหวังในชีวิต ธรรมชาติที่กระซิบ ธรรมชาติที่กระซิบบ่อย ๆ ธรรมชาติที่
กระซิบยิ่ง ความกระซิบ กิริยาที่กระซิบ ภาวะที่กระซิบ ความละโมบ กิริยาที่ละโมบ
ภาวะที่ละโมบ ธรรมชาติที่ทำให้หวั่นไหว ภาวะที่ใคร่แต่อารมณ์ดี ๆ ความกำหนัด
ในฐานะอันไม่ควร ความโลภเกินพอดี ความติดใจ กิริยาที่ติดใจ ความปรารถนา
ความใฝ่หา ความหมายปอง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพ
ตัณหาในอรูปภพ ตัณหาในนิโรธ๑ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา โอฆะ๒ โยคะ๓ คันถะ๔ อุปาทาน๕ อาวรณ์๖ นิวรณ์
เครื่องปิดบัง เครื่องผูก อุปกิเลส อนุสัย๗ ปริยุฏฐาน (กิเลสที่กลุ้มรุมจิต)

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหาในนิโรธ คือตัณหาที่ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.ม.อ. ๓/๓๙)
๒ โอฆะ คือสภาวะอันเป็นดุจกระแสน้ำหลากท่วมใจสัตว์ ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา
(ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕)
๓ โยคะ คือสภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพ ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕)
๔ คันถะ คือกิเลสเครื่องร้อยรัดมี ๔ อย่าง ได้แก่ (๑) กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา (๒) กิเลส
เครื่องร้อยรัดกายคือพยาบาท (๓) กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือสีลัพพตปรามาส (๔) กิเลสเครื่องร้อยรัด
กายคือความถือมั่นว่านี้เท่านั้นจริง (ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๙๒/๒๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ตัณหาดุจเถาวัลย์ ความปรารถนาวัตถุอย่างต่าง ๆ รากเหง้าแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์
แดนเกิดแห่งทุกข์ บ่วงแห่งมาร เบ็ดแห่งมาร เหยื่อแห่งมาร วิสัยแห่งมาร ที่
อาศัยแห่งมาร โคจรแห่งมาร เครื่องผูกแห่งมาร ตัณหาดุจแม่น้ำ ตัณหาดุจตาข่าย
ตัณหาดุจโซ่ตรวน ตัณหาดุจสมุทร อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ นี้ตรัสเรียกว่า
ความอยาก เป็นเครื่องฉาบทา คือ ข้องเกี่ยว ผูกพัน ทำให้เข้าไปเศร้าหมอง
โลกถูกความอยากนี้ฉาบทา ไล้ ทำให้หมองมัว แปดเปื้อน คละเคล้า เกาะติด
เกี่ยวพัน พัวพันไว้ เราเรียก คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า เราเรียกความอยากว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้

ว่าด้วยทุกข์
คำว่า ทุกข์ ในคำว่า ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น อธิบายว่า ชาติทุกข์ ชราทุกข์
พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสทุกข์ ทุกข์เนื่องจากการเกิด
ในนรก ทุกข์เนื่องจากการเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน ทุกข์เนื่องจากการเกิดในเปตวิสัย
ทุกข์เนื่องจากการเกิดในโลกมนุษย์ ทุกข์เนื่องจากการถือกำเนิดในครรภ์ ทุกข์
เนื่องจากการอยู่ในครรภ์ ทุกข์เนื่องจากการคลอดจากครรภ์ ทุกข์ที่สืบเนื่องมาจากผู้เกิด
ทุกข์ของผู้เกิดที่เนื่องมาจากผู้อื่น ทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของตนเอง ทุกข์ที่
เกิดจากความพยายามของผู้อื่น ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ทุกข์ที่เกิดจากสังขาร
ทุกข์ที่เกิดจากความแปรผัน โรคทางตา โรคทางหู โรคทางจมูก โรคทางลิ้น โรค
ทางกาย โรคศีรษะ โรคหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด ไข้หวัด ไข้พิษ ไข้เชื่อมซึม
โรคท้อง เป็นลมสลบ ลงแดง จุกเสียด อหิวาตกโรค โรคเรื้อน ฝี กลาก

เชิงอรรถ :
๕ อุปาทาน คือความยึดมั่นด้วยอำนาจกิเลสมี ๔ คือ (๑) กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม (๒) ทิฏฐุปาทาน
ความยึดมั่นในทิฏฐิ (๓) สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลวัตร (๔) อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่น
วาทะของตน (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕)
๖ อาวรณ์ คือสภาวะที่ขัดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม (ขุ.ม.อ. ๓/๓๙)
๗ อนุสัย คือกิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ มี ๗ คือ (๑) กามราคะ ความกำหนัดในกาม
(๒) ปฏิฆะ ความหงุดหงิดขัดเคือง (๓) ทิฏฐิ ความเห็นผิด (๔) วิจิกิจฉา ความสงสัย (๕) มานะ
ความถือตัว (๖) ภวราคะ ความกำหนัดในภพ (๗) อวิชชา ความไม่รู้จริง (ที.ปา. ๑๑/๓๒๒/๒๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
มองคร่อ ลมบ้าหมู หิดเปื่อย หิดด้าน หิด หูด โรคละลอก โรคดีซ่าน
โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวงทวาร ความเจ็บป่วยที่เกิดจากดี
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม ไข้สันนิบาต ความ
เจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการผลัดเปลี่ยน
อิริยาบถไม่ได้ส่วนกัน ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความพากเพียรเกินกำลัง ความ
เจ็บป่วยที่เกิดจากผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ทุกข์ที่เกิดจากสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และ
สัตว์เลื้อยคลาน ทุกข์เพราะมารดาตาย ทุกข์เพราะบิดาตาย ทุกข์เพราะพี่ชาย
น้องชายตาย ทุกข์เพราะพี่สาวน้องสาวตาย ทุกข์เพราะบุตรตาย ทุกข์เพราะธิดาตาย
ทุกข์เพราะความพินาศของญาติ ทุกข์เพราะโภคทรัพย์พินาศ ทุกข์เพราะความเสีย
หายที่เกิดจากโรค ทุกข์เพราะสีลวิบัติ ทุกข์เพราะทิฏฐิวิบัติ
ความเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่าใดปรากฏในเบื้องต้น ความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
ย่อมปรากฏในเบื้องปลาย วิบากอาศัยกรรม กรรมอาศัยวิบาก รูปอาศัยนาม
นามอาศัยรูป นามรูปเป็นไปตามชาติ ชราติดตาม พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี
ตกอยู่ในความทุกข์ ไม่มีที่ปกป้อง ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย นี้ตรัส
เรียกว่า ทุกข์ ทุกข์นี้ เป็นภัย เป็นภัยใหญ่ เป็นเครื่องบีบคั้น เป็นสิ่งกระทบกระทั่ง
เป็นอันตราย เป็นอุปสรรคของโลกนี้ รวมความว่า ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่และความประมาท
เราเรียกความอยากว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้
ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
[๓] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ (๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า กระแสทั้งหลาย ในคำว่า กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง
ได้แก่ กระแสตัณหา กระแสทิฏฐิ กระแสกิเลส กระแสทุจริต กระแสอวิชชา
คำว่า ในที่ทั้งปวง ได้แก่ ในอายตนะทั้งปวง
คำว่า ย่อมไหลไป ได้แก่ ย่อมไหลไป คือ ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไป อธิบายว่า
กระแสจากตา ย่อมไหลไป คือ ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไปในรูป กระแสจากหู
ย่อมไหลไป ฯลฯ ในเสียง กระแสจากจมูกย่อมไหลไป ฯลฯ ในกลิ่น กระแส
จากลิ้นย่อมไหลไป ฯลฯ ในรส กระแสจากกายย่อมไหลไป ฯลฯ ในโผฏฐัพพะ
กระแสจากใจ ย่อมไหลไป คือ ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไปในธรรมารมณ์ คือ
รูปตัณหาย่อมไหลไป คือ ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไปทางตา สัททตัณหาย่อมไหลไป คือ
ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไปทางหู คันธตัณหาย่อมไหลไป ฯลฯ ทางจมูก รส
ตัณหาย่อมไหลไป ฯลฯ ทางลิ้น โผฏฐัพพตัณหาย่อมไหลไป ฯลฯ ทางกาย
ธัมมตัณหาย่อมไหลไป คือ ซ่านไป หลั่งไหล เป็นไปทางใจ รวมความว่า
กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท
เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่ง
พยัญชนะ คำว่า ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า อชิตะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น คือ เป็นการกล่าวถึง การขนานนาม
การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน ชื่อ การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะ
รวมความว่า ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้
คำว่า อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย อธิบายว่า อะไรเป็นเครื่องขวาง
เครื่องกั้น คือ เครื่องป้องกัน รักษา คุ้มครองกระแสทั้งหลาย รวมความว่า
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศธรรมเครื่องขวาง เครื่องกั้น เครื่องป้องกัน รักษา
คุ้มครองกระแสทั้งหลาย รวมความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่อง
ป้องกันกระแสทั้งหลาย
คำว่า อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ อธิบายว่า กระแสทั้งหลาย ถูกอะไร
ปิดกั้น คือ ถูกตัดขาด จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป รวมความว่า
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้
[๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
กระแสเหล่าใดในโลก
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้ (๔)
คำว่า กระแสเหล่าใดในโลก อธิบายว่า กระแสเหล่านั้นใดที่เราตอบ ชี้แจง
บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศไว้ คือ
กระแสตัณหา กระแสทิฏฐิ กระแสกิเลส กระแสทุจริต กระแสอวิชชา
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า กระแสเหล่าใดในโลก
คำว่า อชิตะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า สติ ในคำว่า สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้ อธิบายว่า สติ
คือ ความตามระลึกถึง ความระลึกได้เฉพาะหน้า สติ คือ ความระลึกได้ ความจำได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ คือ สตินทรีย์ (สติที่เป็นใหญ่)
สติพละ(สติที่เป็นกำลัง) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) สติสัมโพชฌงค์ (สติที่เป็นองค์
แห่งการตรัสรู้ธรรม) เอกายนมรรค (มรรคที่เป็นทางเอก) นี้ ตรัสเรียกว่า สติ
คำว่า เป็นเครื่องกั้น อธิบายว่า เป็นเครื่องขวาง เป็นเครื่องกั้น คือ เป็น
เครื่องป้องกัน รักษา คุ้มครอง รวมความว่า สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
คำว่า เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย อธิบายว่า เรากล่าว
คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศเครื่องขวาง
เครื่องกั้น เครื่องป้องกัน รักษา คุ้มครองกระแสทั้งหลาย รวมความว่า เรา
กล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
คำว่า ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้ อธิบายว่า
คำว่า ปัญญา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย
ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑
คำว่า ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้ อธิบายว่า กระแสเหล่านั้นปัญญา
ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป กระแส
เหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ปิดกั้นได้ คือ ตัด
ขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป กระแสเหล่านั้นปัญญาของ
ผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป
ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า
“ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่
หลั่งไหล ไม่เป็นไป

ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท
กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขาร
จึงมี” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายระเอียดข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส

กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า
“เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี ฯลฯ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ฯลฯ
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี ฯลฯ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ฯลฯ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ฯลฯ
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ฯลฯ
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ฯลฯ
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ฯลฯ

เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ฯลฯ
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป
ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป

กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า
“เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ฯลฯ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ฯลฯ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ ฯลฯ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ฯลฯ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ ฯลฯ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ ฯลฯ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ฯลฯ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ฯลฯ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ

เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป
ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๖ }


ระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขสมุทัย ฯลฯ
นี้ทุกขนิโรธ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป
ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป
กระแสเหล่านั้น ปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “ธรรมเหล่านี้อาสวะ ฯลฯ นี้
อาสวสมุทัย ฯลฯ นี้อาสวนิโรธ ฯลฯ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา” ปิดกั้นได้
คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป
กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “เหล่านี้คือธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ฯลฯ
เหล่านี้คือธรรมที่ควรกำหนดรู้ ฯลฯ เหล่านี้คือธรรมที่ควรละ ฯลฯ เหล่านี้คือ
ธรรมที่ควรเจริญ ฯลฯ เหล่านี้คือธรรมที่ควรทำให้แจ้ง” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป
จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป
กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นเหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการ
สลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป ไม่ซ่านไป
ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป
กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นเหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการ
สลัดออกจากอุปาทานขันธ์ ๕ ฯลฯ กระแสเหล่านั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นธรรม
คือ เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดออกมหาภูตรูป ๔ ฯลฯ กระแส
เหลานั้นปัญญาของผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่ง
นั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ปิดกั้นได้ คือ ตัดขาดไป จึงไม่ไหลไป
ไม่ซ่านไป ไม่หลั่งไหล ไม่เป็นไป รวมความว่า ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
กระแสเหล่าใดในโลก
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
[๕] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ
นามและรูปนี้ดับที่ไหน ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้น
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๕)

ว่าด้วยปัญญา
คำว่า ปัญญา ในคำว่า ปัญญา สติ อธิบายว่า ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด
ความวิจัย ความเลือกเฟ้น ความสอดส่องธรรม ความกำหนดหมาย ความ
เข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด
ความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ความคิดค้น ความใคร่ครวญ ปัญญาดุจแผ่นดิน ปัญญา
เครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ปัญญาเครื่องเห็นแจ้ง ความรู้ดี ปัญญา
ดุจปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาดุจศัสตรา ปัญญาดุจปราสาท
ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาดุจดวงประทีป ปัญญาดุจดวงแก้ว
ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
คำว่า สติ ได้แก่ สติ คือ ความระลึกถึง ฯลฯ สัมมาสติ รวมความว่า
ปัญญา สติ ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ... นามและรูป อธิบายว่า
คำว่า นาม ได้แก่ ขันธ์ที่มิใช่รูป ๔ อย่าง
คำว่า รูป ได้แก่ มหาภูตรูป๑ ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูปทั้ง๒ ๔

เชิงอรรถ :
๑ มหาภูตรูป คือรูปใหญ่ รูปต้นเดิม คือธาตุ ๔ ได้แก่ (๑) ปฐวีธาตุ สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่
สภาพอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูป เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็งหรือธาตุดิน (๒) อาโปธาตุ
สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม ซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว
หรือธาตุน้ำ (๓) เตโชธาตุ สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ (๔) วาโยธาตุ สภาวะที่ทำให้สั่นไหว
เคลื่อนที่ ค้ำจุน เรียกสามัญว่า ธาตุลม (ที.สี. (แปล) ๙/๔๘๗-๔๙๙/๒๑๖-๒๒๐)
๒ รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ หรือทับศัพท์บาลีว่า อุปาทายรูป มี ๒๔ คือ
ก. ปสาทรูป ๕ (รูปที่เป็นประธานสำหรับรับอารมณ์) (๑) ตา (๒) หู (๓) จมูก (๔) ลิ้น (๕) กาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและ
ความยำเกรง รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ... นามและรูป
คำว่า เนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์ ในคำว่า ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว ขอ
พระองค์โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ได้แก่ เนื้อความที่ข้า
พระองค์ทูลถาม คือ เนื้อความที่ข้าพระองค์ทูลขอ เนื้อความที่ข้าพระองค์ทูลอัญเชิญ
เนื้อความที่ข้าพระองค์ทูลให้ประกาศ
คำว่า ได้ทูลถามแล้ว ได้แก่ ได้ทูลถามแล้ว คือ ทูลขอแล้ว ทูลอัญเชิญ
ทูลให้ประกาศแล้ว
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก ได้แก่ ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก
แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า
ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว ขอพระองค์โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์
ด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
ข. โคจรรูป หรือวิสัยรูป ๕ (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์) (๖) รูป (๗) เสียง (๘) กลิ่น
(๙) รส (๐) โผฏฐัพพะ (ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกับมหาภูตรูป ๓ คือ ปฐวี เตโช วาโย)
ค. ภาวรูป ๒ (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ) (๑๐) อิตถัตตะ อิตถินทรีย์ ความเป็นหญิง (๑๑) ปุริสัตตะ
ปุริสินทรีย์ ความเป็นชาย
ง. หทัยรูป ๑ (รูปคือหทัย) (๑๒) หทัยวัตถุ ที่ตั้งแห่งใจ หัวใจ
จ. ชีวิตรูป ๑ (รูปที่เป็นชีวิต) (๑๓) ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต
ฉ. อาหารรูป ๑ (รูปคืออาหาร) (๑๔) กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว
ช. ปริจเฉทรูป ๑ (รูปที่กำหนดเทศะ) (๑๕) อากาสธาตุ สภาวะคือช่องว่าง
ญ. วิญญัติรูป ๒ (รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย) (๑๖) กายวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้
ความหมายด้วยกาย (๑๗) วจีวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา
ฎ. วิการรูป ๕ (รูปคืออาการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้) (๑๘) (รูปัสส) ลหุตา ความเบา (๑๙)
(รูปัสส) มุทุตา ความอ่อนสลวย (๒๐) (รูปัสส) กัมมัญญตา ความควรแก่การงาน ใช้การได้
(๐) วิญญัติรูป ๒ ข้อนี้ท่านไม่นับเพราะซ้ำกับข้อ ญ
ฏ. ลักขณรูป ๔ (รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด) (๒๒) (รูปัสส) อุปจย ความก่อตัว (รูปัสส)
สันตติ ความสืบต่อ (๒๓) (รูปัสส) ชรตา ความทรุดโทรม (๒๔) (รูปัสส) อนิจจตา ความ
ปรวนแปรแตกสลาย (อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๕๘๔-๙๘๔/๑๖๙-๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า นี้ ดับที่ไหน ได้แก่ (นามและรูป) นี้ ดับ คือ เข้าไปสงบ ถึง
ความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป ณ ที่ไหน รวมความว่า นี้ ดับที่ไหน ด้วยเหตุนั้น
พราหมณ์นั้น จึงกราบทูลว่า
(ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ
นามและรูปนี้ดับที่ไหน ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกเนื้อความนั้น
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
อชิตะ เธอได้ถามปัญหานั้นใด
เราจะกล่าวแก้ปัญหานั้นแก่เธอ
นามและรูปนั้นดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด
นามและรูปนั้นดับไปในที่นั้นเพราะวิญญาณดับ (๖)
คำว่า นั้นใด ในคำว่า เธอได้ถามปัญหานั้นใด ได้แก่ ปัญญา สติ นามและรูป
คำว่า เธอได้ถาม ได้แก่ เธอได้ถามแล้ว คือ ได้ขอ อัญเชิญ ขอให้ประกาศแล้ว
รวมความว่า เธอได้ถามปัญหานั้นใด
คำว่า อชิตะ ในคำว่า อชิตะ... เราจะกล่าวแก้ปัญหานั้นแก่เธอ เป็นคำ
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า นั้น ได้แก่ ปัญญา สติ นามและรูป
คำว่า เราจะกล่าวแก้ ได้แก่ เราจะกล่าว คือ จะบอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศปัญหานั้น รวมความว่า อชิตะ... เราจะ
กล่าวแก้ปัญหานั้นแก่เธอ
คำว่า นาม ในคำว่า นามและรูปนั้นดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด ได้แก่ ขันธ์
ที่มิใช่รูป ๔
คำว่า รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูปทั้ง ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ไม่มีส่วนเหลือ ได้แก่ ทุกสิ่งโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่างไม่มีเหลือ
ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า ไม่มีส่วนเหลือ นี้ เป็นคำกล่าวรวม ๆ
ไว้ทั้งหมด
คำว่า ดับ ได้แก่ ดับ คือ เข้าไปสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป รวมความว่า
นามและรูปนั้นดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด
คำว่า นามและรูปนั้นดับไปในที่นั้นเพราะวิญญาณดับ อธิบายว่า ธรรม คือ
นามและรูป ที่พึงเกิดในสงสารมีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ เว้นภพ ๗ ย่อมดับ
คือ เข้าไปสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไปในที่นั้น เพราะวิญญาณอันประกอบ
ด้วยอภิสังขารธรรมดับไป ด้วยโสดาปัตติมัคคญาณ
ธรรมคือนามและรูปที่พึงเกิดในภพ ๕ เว้นภพ ๒ ย่อมดับ คือ เข้าไปสงบ
ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไปในที่นั้น เพราะวิญญาณอันประกอบด้วยอภิสังขารธรรม
ดับไป ด้วยสกทาคามิมัคคญาณ
ธรรมคือนามและรูปที่พึงเกิดในรูปธาตุ หรืออรูปธาตุ เว้นภพ ๑ ย่อมดับ คือ
เข้าไปสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไปในที่นั้น เพราะวิญญาณอันประกอบด้วย
อภิสังขารธรรมดับไป ด้วยอนาคามิมัคคญาณ
ธรรมคือนามและรูปที่พึงเกิด ย่อมดับ คือ เข้าไปสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
ระงับไปในที่นั้น เพราะวิญญาณอันประกอบด้วยอภิสังขารธรรมดับไป ด้วย
อรหัตตมัคคญาณ
ปัญญา สติ นามและรูป ย่อมดับ คือ เข้าไปสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้
ระงับไปในที่นั้น เพราะจริมวิญญาณ๑ของพระอรหันต์ผู้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสส-
ปรินิพพานธาตุ๒ดับไป รวมความว่า นามและรูปนั้นดับไปในที่นั้นเพราะวิญญาณดับ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า

เชิงอรรถ :
๑ จริมวิญญาณ แปลว่า วิญญาณสุดท้าย หรือจิตสุดท้าย หมายถึงจุติจิต หรือจุติวิญญาณของพระอรหันต์
ขณะปรินิพพาน (ขุ.จู.อ. ๖/๗)
๒ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ หมายถึงนิพพานที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่ (ขุ.จู.อ. ๖/๖-๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
อชิตะ เธอได้ถามปัญหานั้นใด
เราจะกล่าวแก้ปัญหานั้นแก่เธอ
นามและรูปนั้นดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด
นามและรูปนั้นดับไปในที่นั้นเพราะวิญญาณดับ
[๗] (ท่านอชิตะทูลถาม ดังนี้)
พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดผู้มีสังขาตธรรม
และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์ผู้มีปัญญา โปรดตรัสบอกการดำเนินชีวิต
ของพระอรหันตขีณาสพ และพระเสขะเหล่านั้นเถิด (๗)
คำว่า พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดผู้มีสังขาตธรรม อธิบายว่า พระอรหันต-
ขีณาสพตรัสเรียกว่า ท่านผู้มีสังขาตธรรม
เพราะเหตุไร พระอรหันตขีณาสพ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า ผู้มี
สังขาตธรรม พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น ผู้มีสังขาตธรรม คือ ผู้รู้ธรรม ผู้
เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม ผู้เห็นแจ้งธรรม ได้แก่ ผู้มี
สังขาตธรรม คือ ผู้รู้ธรรม ผู้เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม
ผู้เห็นแจ้งธรรมว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ผู้มีสังขาตธรรม ฯลฯ ว่า “สังขาร
ทั้งปวงเป็นทุกข์” ผู้มีสังขาตธรรม ฯลฯ ว่า “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” ผู้มี
สังขาตธรรม ฯลฯ ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี” ฯลฯ ผู้มีสังขาตธรรม
ผู้รู้ธรรม ผู้เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม ผู้เห็นแจ้งธรรม ว่า
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
อีกนัยหนึ่ง พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้นรู้ขันธ์ ธาตุ อายตนะ คติ อุปบัติ
(การถือกำเนิด) ปฏิสนธิ ภพ สงสาร วัฏฏะแล้ว
อีกนัยหนี่ง ท่านเหล่านั้นดำรงอยู่ในที่สุดแห่งขันธ์ ในที่สุดแห่งธาตุ ในที่สุด
แห่งอายตนะ ในที่สุดแห่งคติ ในที่สุดแห่งอุปบัติ ในที่สุดแห่งปฏิสนธิ ในที่สุด
แห่งภพ ในที่สุดแห่งสงสาร ในที่สุดแห่งวัฏฏะ ดำรงอยู่ในภพสุดท้าย อัตภาพ
สุดท้าย เป็นพระอรหันต์ ผู้ทรงร่างกายสุดท้ายไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้นมีภพนี้เป็นภพสุดท้าย
มีการประชุมแห่งขันธ์เป็นครั้งสุดท้าย
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก
เพราะเหตุนั้น พระอรหันตขีณาสพ พระผู้มีพระภาค จึงตรัสเรียกว่า ผู้มี
สังขาตธรรม รวมความว่า พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด ผู้มีสังขาตธรรม

ว่าด้วยสิกขา ๓
คำว่า เสขะ ในคำว่า และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้
อธิบายว่า เพราะเหตุไร จึงเรียกว่าพระเสขะ เพราะท่านยังต้องศึกษา จึงเรียกว่า
พระเสขะ ท่านยังต้องศึกษาอะไร ท่านยังต้องศึกษาอธิสีลสิกขาบ้าง อธิจิตตสิกขา
บ้าง อธิปัญญาสิกขาบ้าง
อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์๑
สมบูรณ์ด้วยอาจาระ๒และโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาใน
สิกขาบททั้งหลายอยู่ คือ สีลขันธ์เล็ก๓ สีลขันธ์ใหญ่๔ ศีลเป็นที่พึ่ง เป็นเบื้องต้น
เป็นความประพฤติ เป็นความสำรวม เป็นความระวัง เป็นหัวหน้า เป็นประธาน
เพื่อความถึงพร้อมแห่งธรรมที่เป็นกุศล นี้ชื่อว่าอธิสีลสิกขา

เชิงอรรถ :
๑ สังวรในปาติโมกข์ มีอรรถาธิบายแต่ละคำดังนี้คือ สังวร หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกายวาจา
ปาติโมกข์ หมายถึงสีลสิกขาบท ที่เป็นเหตุให้ผู้รักษาหลุดพ้นจากทุกข์ (ปาติ=รักษา+โมกขะ=ความ
หลุดพ้น) (วิสุทฺธิ. ๑/๑๔/๑๗)
๒ อาจาระ หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกาย การไม่ล่วงละเมิดทางวาจา การไม่ล่วงละเมิดทางกายและ
ทางวาจา หรือการสำรวมศีลทั้งหมด คือการไม่เลี้ยงชีพด้วยอาชีพที่ผิด ที่พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจ เช่น
ไม่เลี้ยงชีพด้วยการให้ไม้ไผ่ ให้ใบไม้ ผลไม้ เครื่องสนาน ไม้สีฟัน ไม่เลี้ยงชีพด้วยการทำตนต่ำกว่าคฤหัสถ์
ด้วยการพูดเล่นเป็นแกงถั่ว(จริงบ้างไม่จริงบ้าง) ไม่เลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงเด็ก และการรับส่งข่าว (วิสุทฺธิ.
๑/๑๔/๑๘)
๓ สีลขันธ์เล็ก หมายถึงอาบัติที่แก้ไขได้ คือ อาบัติสังฆาทิเสสจนถึงทุกกฏ (ขุ.ม.อ. ๑๐/๑๒๐)
๔ สีลขันธ์ใหญ่ หมายถึงอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ คือ อาบัติปาราชิก (ขุ.ม.อ. ๑๐/๑๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
อธิจิตตสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุข อันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไปแล้ว
บรรลุทุติยฌาน ...บรรลุตติยฌาน... บรรลุจตุตถฌานอยู่... นี้ชื่อว่าอธิจิตตสิกขา๑
อธิปัญญาสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอันประเสริฐ
หยั่งถึงความเกิดและความดับ เพิกถอนกิเลส ให้บรรลุถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ ... นี้ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์) ... นี้ทุกขนิโรธ
(ความดับทุกข์)... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ปฎิปทาเครื่องดำเนินไปสู่ความดับ
ทุกข์) ... เหล่านี้อาสวะ... นี้อาสวสมุทัย... นี้อาสวนิโรธ” เธอรู้ตามเป็นจริงว่า
“นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา” นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
สิกขา ๓ เหล่านี้ เมื่อพระเสขะนึกถึง ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่า
ย่อมศึกษา เมื่อเห็น ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อ
น้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่าย่อมศึกษา
เมื่อตั้งสติ ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อตั้งใจมั่น ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา
ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรม
ที่ควรกำหนดรู้ ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อเจริญ
ธรรมที่ควรเจริญ ชื่อว่าย่อมศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าย่อม
ศึกษา คือ ย่อมประพฤติ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทาน
ประพฤติ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า พระเสขะ
คำว่า เป็นอันมาก ได้แก่ มากมาย พระเสขะเหล่านี้ คือ พระโสดาบัน
และผู้ปฏิบัติเพื่อโสดาปัตติผล พระสกทาคามีและผู้ปฏิบัติเพื่อสกทาคามิผล พระ
อนาคามีและผู้ปฏิบัติเพื่ออนาคามิผล พระอรหันต์และผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล
คำว่า ในที่นี้ ได้แก่ ในความเห็นนี้ ความถูกใจนี้ ความพอใจนี้ ความยึดถือนี้
ธรรมนี้ วินัยนี้ ธรรมวินัยนี้ ปาพจน์นี้ พรหมจรรย์นี้ สัตถุศาสน์นี้ อัตภาพนี้
มนุษยโลกนี้ รวมความว่า และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดจาก ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๐/๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอพระองค์ผู้
มีปัญญา โปรดตรัสบอกการดำเนินชีวิตของพระอรหันตขีณาสพ และพระเสขะ
เหล่านั้นเถิด อธิบายว่า แม้พระองค์ผู้มีปัญญา คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา มี
ปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มกระจ่าง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
(โปรดตรัสบอก) การดำเนินชีวิต คือ จริยา ความประพฤติ ความประพฤติเอื้อเฟื้อ
อาจาระ โคจร วิหารธรรม๑ ปฏิปทาของท่านผู้มีสังขาตธรรม และพระเสขะเหล่า
นั้นเถิด
คำว่า ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ได้แก่ ทูลถามแล้ว คือ ทูลปุจฉา ทูลขอ
ทูลอัญเชิญ ทูลให้ประกาศ
คำว่า โปรดตรัสบอก ได้แก่ โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและ
ความยำเกรง รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอ
พระองค์ผู้มีปัญญา โปรดตรัสบอกการดำเนินชีวิตของพระอรหันตขีณาสพ และ
พระเสขะเหล่านั้นเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงทูลถามว่า
พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดผู้มีสังขาตธรรม
และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์ผู้มีปัญญา โปรดตรัสบอกการดำเนินชีวิต
ของพระอรหันตขีณาสพ และพระเสขะเหล่านั้นเถิด
[๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย
พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง
มีสติดำรงอยู่ (๘)

เชิงอรรถ :
๑ วิหารธรรม ในที่นี้หมายถึงความเป็นไปแห่งอิริยาบถ (ขุ.จู.อ. ๗/๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยกาม ๒
คำว่า ภิกษุไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒)
กิเลสกาม
วัตถุกาม คืออะไร
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม
ทาสหญิงชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงิน ทอง หมู่บ้าน
นิคม ราชธานี แคว้น ชนบท กองพลรบ๑ คลังหลวง๒ และวัตถุที่น่ายินดีอย่าง
ใดอย่างหนึ่ง (เหล่านี้) ชื่อว่าวัตถุกาม
อีกนัยหนึ่ง กามที่เป็นอดีต ที่เป็นอนาคต ที่เป็นปัจจุบัน กามที่เป็นภายใน
ที่เป็นภายนอก ที่เป็นทั้งภายในและภายนอก กามอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่าง
ประณีต กามที่เป็นของสัตว์ในอบาย ที่เป็นของมนุษย์ ที่เป็นของทิพย์ กามที่
ปรากฏเฉพาะหน้า ที่เนรมิตขึ้นเอง ที่ไม่ได้เนรมิตขึ้นเอง ที่ผู้อื่นเนรมิตให้ กามที่
มีผู้ครอบครอง ที่ไม่มีผู้ครอบครอง ที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ที่ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
สภาวธรรมที่เป็นกามาวจร ที่เป็นรูปาวจร ที่เป็นอรูปาวจรแม้ทั้งปวง กามที่เป็น
เหตุเกิดแห่งตัณหา เป็นอารมณ์แห่งตัณหา ที่ชื่อว่ากาม เพราะมีความหมายว่า
น่าปรารถนา น่ายินดี น่าลุ่มหลง น่ารื่นรมย์ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม
กิเลสกาม คืออะไร
คือ ความพอใจ ความกำหนัด ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความดำริ
ความกำหนัด ความกำหนัดด้วยอำนาจความดำริ ชื่อว่ากาม ได้แก่ ความพอใจ
ด้วยอำนาจความใคร่ ความกำหนัดด้วยอำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วย

เชิงอรรถ :
๑ กองพลรบ มี ๔ เหล่า คือ (๑) กองพลช้าง (๒) กองพลม้า (๓) กองพลรถ (๔) กองพลทหารราบ
(ขุ.ม.อ. ๑/๑๔)
๒ คลังหลวง มี ๓ อย่าง คือ (๑) คลังทรัพย์สิน (๒) คลังพืชพันธุ์ธัญญาหาร (๓) คลังผ้า
(ขุ.ม.อ. ๑/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
อำนาจความใคร่ ความทะยานอยากด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจ
ความใคร่ ความกระหายด้วยอำนาจความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่
ความยินดีด้วยอำนาจความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความติดใจด้วย
อำนาจความใคร่ ห้วงน้ำคือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือความใคร่ กิเลส
เครื่องยึดมั่นคือความใคร่ กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ใน
กามทั้งหลาย
(สมจริงดังที่พระเจ้าอัฑฒมาสกเปล่งอุทานว่า)
เจ้ากามเอ๋ย เราเห็นรากเหง้าของเจ้าแล้ว
เจ้าเกิดเพราะความดำริ เราจักไม่ดำริถึงเจ้าอีก
เจ้าจักไม่เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อีกละเจ้ากามเอ๋ย๑
เหล่านี้ เรียกว่า กิเลสกาม
ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความติดใจ คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ
อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๒
คำว่า ไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย อธิบายว่า ไม่พึงปรารถนายิ่ง ๆ
ขึ้นไป คือ ไม่พึงพัวพันในวัตถุกาม เป็นผู้ไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่สยบ ไม่หมกมุ่น
คือ เป็นผู้คลายความยินดีแล้ว ปราศจากความยินดีแล้ว สละความยินดีแล้ว
คลายความยินดีแล้ว ปล่อยความยินดีแล้ว ละความยินดีแล้ว เป็นผู้สลัดทิ้งความ
ยินดีแล้ว คือ เป็นผู้คลายราคะแล้ว ปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คลาย
ราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว เป็นผู้หมดความอยาก
แล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า ไม่พึง
ปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย
คำว่า พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว อธิบายว่า

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ชา. ๒๗/๓๙/๑๘๘, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑/๒
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ใจ ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์
วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ๑ที่เกิดจากผัสสะเป็นต้นนั้น จิตย่อมขุ่นมัว
คือ เศร้าหมอง ยุ่งยาก วุ่นวาย หวั่นไหว หมุนวน ไม่สงบด้วยกายทุจริต ...
จิตขุ่นมัว เศร้าหมอง ยุ่งยาก วุ่นวาย หวั่นไหว หมุนวน ไม่สงบด้วยวจีทุจริต ...
มโนทุจริต ... ราคะ (ความกำหนัด) ... โทสะ (ความขัดเคือง) ... โมหะ
(ความลุ่มหลง) ... โกธะ (ความโกรธ) ... อุปนาหะ (ความผูกโกรธ) ... มักขะ
(ความลบหลู่คุณท่าน) ... ปฬาสะ (ความตีเสมอ) ... อิสสา (ความริษยา) ...
มัจฉริยะ (ความตระหนี่) ... มายา (ความหลอกลวง) ... สาเถยยะ (ความโอ้อวด)
... ถัมภะ (ความหัวดื้อ) ... สารัมภะ (ความแข่งดี) ... มานะ (ความถือตัว) ...
อติมานะ (ความดูหมิ่น ) ... มทะ (ความมัวเมา) ... ปมาทะ (ความประมาท) ...
กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความ
เร่าร้อนทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท
คำว่า พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว อธิบายว่า พึงเป็นผู้มีจิตไม่ขุ่นมัว คือ ไม่
เศร้าหมอง ไม่ยุ่งยาก ไม่วุ่นวาย ไม่หวั่นไหว ไม่หมุนวน สงบ ได้แก่ พึงละ ทิ้ง
บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกิเลสที่ก่อความขุ่นมัว คือ พึง
เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก สงบ หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับกิเลส
ที่ก่อความขุ่นมัว มีใจเป็นอิสระ(จากความขุ่นมัว)อยู่ รวมความว่า พึงเป็นผู้มีใจ
ไม่ขุ่นมัว

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อว่า จิต เพราะเป็นสภาวะวิจิตร
ชื่อว่า มโน เพราะรับรู้อารมณ์
ชื่อว่า มานัส เพราะมีธรรมที่สัมปยุตกับมโน หรือมานัสก็คือใจนั่นเอง
ชื่อว่า หทัย เพราะอยู่ภายใน
ชื่อว่า ปัณฑระ เพราะเป็นธรรมชาติผ่องใส
ชื่อว่า มนายตนะ เพราะเป็นที่อยู่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม เป็นแดนเกิดแห่งใจ
ชื่อว่า มนินทรีย์ เพราะเป็นใหญ่ในการรับรู้อารมณ์
ชื่อว่า วิญญาณ เพราะรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ
ชื่อว่า วิญญาณขันธ์ เพราะเป็นกองแห่งวิญญาณ
ชื่อว่า มโนวิญญาณธาตุ เพราะเป็นสภาวะที่รับรู้และรับทราบอันสมควรแก่ธรรมทั้งหลาย มีผัสสะเป็นต้น
(ขุ.ม.อ. ๑/๒๒-๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ฉลาดในธรรมทั้งปวง อธิบายว่า เป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวงว่า
“สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
ฯลฯ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น
ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ชื่อว่าฉลาดในธรรมทั้งปวง
อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง โดยความเป็นของไม่เที่ยง ... เป็นทุกข์
... เป็นโรค ... เป็นดุจหัวฝี .... เป็นดุจลูกศร ... เป็นของลำบาก .... เป็นอาพาธ
... เป็นอย่างอื่น (บังคับไม่ได้) ... เป็นของทรุดโทรม ... เป็นเสนียด ... เป็น
อุปัททวะ... เป็นของไม่น่ายินดี... เป็นภัย ... เป็นอุปสรรค ... เป็นของไม่น่าชอบใจ
... เป็นของหวั่นไหว ... เป็นของผุพัง ...เป็นของไม่ยั่งยืน ... เป็นของไม่มีที่ต้านทาน
... เป็นของไม่มีที่ซ่อนเร้น ... เป็นของไม่มีที่พึ่ง ... เป็นของไม่มีที่อาศัย... เป็น
ของว่าง... เป็นของเปล่า ... เป็นของสูญ ... เป็นอนัตตา ... เป็นของมีโทษ ...
เป็นของแปรผันไปเป็นธรรมดา ... เป็นของไม่มีแก่นสาร ... เป็นเหตุแห่งความ
ลำบาก ... เป็นดุจเพชฌฆาต ... เป็นของปราศจากความเจริญ ... เป็นของมีอาสวะ
... เป็นของที่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ... เป็นเหยื่อแห่งมาร ... มีชาติเป็นธรรมดา ...
มีชราเป็นธรรมดา... มีพยาธิเป็นธรรมดา... มีมรณะเป็นธรรมดา ... มีโสกะ
(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกขะ(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความ
ทุกข์ใจ) อุปายาส(ความคับแค้นใจ)เป็นธรรมดา ... มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา
... เป็นเหตุเกิดทุกข์ ... ตั้งอยู่ไม่ได้ ... หาความแช่มชื่นไม่ได้... เป็นโทษ ...
เป็นของที่ต้องสลัดออกไป ชื่อว่าฉลาดในธรรมทั้งปวง อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เป็นผู้ฉลาดในขันธ์ ฉลาดในธาตุ ฉลาดในอายตนะ ฉลาดใน
ปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในสติปัฏฐาน ฉลาดในสัมมัปปธาน ฉลาดในอิทธิบาท
ฉลาดในอินทรีย์ ฉลาดในพละ ฉลาดในโพชฌงค์ ฉลาดในมรรค ฉลาดในผล
ฉลาดในนิพพาน ชื่อว่าฉลาดในธรรมทั้งปวง อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง อายตนะ ๑๒ ตรัสเรียกว่า ธรรมทั้งปวง คือ ตาและรูป หูและเสียง
จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและโผฏฐัพพะ ใจและธรรมารมณ์ ความกำหนัด
ด้วยอำนาจความพอใจในอายตนะภายในและภายนอก ภิกษุละความกำหนัดด้วย
อำนาจความพอใจในอายตนะภายในและภายนอกได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อ
ไปไม่ได้ ด้วยเหตุใด ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในธรรมทั้งปวง แม้ด้วยเหตุมีประมาณ
เท่านี้ รวมความว่า ฉลาดในธรรมทั้งปวง

ลักษณะผู้มีสติ ๔
คำว่า มีสติ ในคำว่า ภิกษุ ... มีสติดำรงอยู่ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔
อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย
๒. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
๓. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต
๔. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย
มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะเว้นจากความเป็นผู้ไม่มีสติ
๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้กระทำสิ่งทั้งหลายที่ควรทำด้วยสติ
๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้กำจัดสิ่งทั้งหลายที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับสติ
๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หลงลืมธรรมทั้งหลายที่เป็นมูลเหตุแห่งสติ
มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยสติ
๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ชำนาญในสติ
๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้คล่องแคล่วในสติ
๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หวนกลับจากสติ
มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะมีอยู่ตามปกติ
๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้สงบ
๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ระงับ
๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
(มีสติด้วยเหตุอีก ๑๐ อย่าง คือ)
๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงพุทธคุณ
๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงธรรมคุณ
๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงสังฆคุณ
๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงศีลที่ตนรักษา
๕. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว
๖. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงคุณที่ทำคนให้เป็นเทวดา
๗. ชื่อว่ามีสติ เพราะตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
๘. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงความตายที่จะต้องมีเป็นธรรมดา
๙. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกทั่วไปในกาย(ให้เห็นว่าไม่งาม)
๑๐. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงธรรมที่สงบระงับ (กิเสสและความทุกข์) คือ
นิพพาน สติ ฯลฯ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค ตรัสเรียกว่า สติ๑
ภิกษุเป็นผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม
เพียบพร้อมแล้วด้วยสตินี้ ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ
คำว่า ภิกษุ อธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะทำลายธรรม ๗ ประการได้แล้ว คือ
๑. ทำลายสักกายทิฏฐิได้แล้ว
๒. ทำลายวิจิกิจฉาได้แล้ว
๓. ทำลายสีลัพพตปรามาสได้แล้ว
๔. ทำลายราคะได้แล้ว
๕. ทำลายโทสะได้แล้ว
๖. ทำลายโมหะได้แล้ว
๗. ทำลายมานะได้แล้ว
คือ ภิกษุนั้นทำลายบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพ
ใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะ
ต่อไปได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๔/๕๔-๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑. อชิตมาณวปัญหานิทเทส
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ)
ผู้ใดควรแก่คำชมเชยว่าเป็นผู้ถึงนิพพานด้วยทางที่ตนทำแล้ว
ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ละความเสื่อมและความเจริญแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์ สิ้นภพใหม่แล้ว ผู้นั้นชื่อว่าภิกษุ๑
คำว่า ภิกษุ ... มีสติดำรงอยู่ อธิบายว่า ภิกษุพึงมีสติ ดำรงอยู่ คือ พึง
มีสติเดิน พึงมีสติยืน พึงมีสตินั่ง พึงมีสตินอน พึงมีสติก้าวไปข้างหน้า พึงมีสติ
ถอยกลับ พึงมีสติมองดู พึงมีสติเหลียวดู พึงมีสติคู้เข้า พึงมีสติเหยียดออก
พึงมีสติใช้ผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร พึงมีสติเที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ภิกษุ... มีสติดำรงอยู่
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
ภิกษุไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย
พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง
มีสติดำรงอยู่
พร้อมกับการจบคาถา ธรรมจักษุ๒ไร้ธุลี ปราศจากมลทินว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ได้เกิด
ขึ้นแก่เหล่าเทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะ ความพยายาม ความประสงค์
การอบรมบุญญาบารมีร่วมกันมากับพราหมณ์ จิตของพราหมณ์นั้นก็หลุดพ้นจาก
อาสวะเพราะไม่ถือมั่น หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผมและ
หนวดของอชิตพราหมณ์ก็หายไป พร้อมกับการบรรลุอรหัตตผล ท่านเป็นภิกษุ มี
ศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร เพื่อการปฏิบัติเอื้อประโยชน์
จึงประคองอัญชลี นั่งลงนมัสการพระผู้มีพระภาคโดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้
เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
อชิตมาณวปัญหานิทเทสที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๐/๔๓๕, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๘/๘๔)
๒ ธรรมจักษุ ในที่นี้หมายถึงโสดาปัตติมรรค (ขุ.จู.อ. ๘/๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
๒. ติสสเมตเตยยมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยมาณพ
[๙] (ท่านติสสเมตเตยยะทูลถาม ดังนี้)
ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้
ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร
ใครรู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
พระองค์ตรัสเรียกใครว่าเป็นมหาบุรุษ
ใครล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ (๑)
คำว่า ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้ อธิบายว่า ใครยินดี สันโดษ คือพอใจ
มีความดำริบริบูรณ์แล้วในโลก รวมความว่า ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านติสสเมตเตยยะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ เป็น
คำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความ
สละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า ติสสะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น เป็นการกล่าวถึง การขนานนาม
การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน ชื่อ การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะ
คำว่า เมตเตยยะ เป็นโคตร เป็นการกล่าวถึง การขนานนาม การบัญญัติ
ชื่อที่เรียกกันสำหรับพราหมณ์นั้น รวมความว่า ท่านติสสเมตเตยยะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร อธิบายว่า ความหวั่นไหว
เพราะตัณหา ความหวั่นไหวเพราะทิฏฐิ ความหวั่นไหวเพราะมานะ ความหวั่นไหว
เพราะกิเลส ความหวั่นไหวเพราะกาม ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หามิได้แก่ใคร

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๔๗-๑๐๔๙/๕๓๒-๕๓๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
ความหวั่นไหวทั้งหลาย ใครละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า ความหวั่นไหวทั้ง
หลายย่อมไม่มีแก่ใคร
คำว่า ใครรู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว ได้แก่ ใครรู้ชัด คือ ทราบ
เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งซึ่งที่สุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว รวม
ความว่า ใครรู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
คำว่า ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา อธิบายว่า ย่อมไม่ยึดติด คือ ไม่
ติดแล้ว ไม่เข้าไปติดแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว
ในท่ามกลางด้วยปัญญา มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ไม่ยึดติดใน
ท่ามกลางด้วยมันตา
คำว่า พระองค์ตรัสเรียกใครว่าเป็นมหาบุรุษ อธิบายว่า พระองค์ตรัสเรียก
ใคร คือ ตรัสถึงใคร เข้าพระทัยใคร ทรงกล่าวถึงใคร เห็นใคร แถลงถึงใครว่า
เป็นมหาบุรุษ คือ บุรุษผู้เลิศ บุรุษผู้ประเสริฐ บุรุษผู้วิเศษ บุรุษผู้เป็นหัวหน้า
บุรุษผู้สูงสุด บุรุษผู้เป็นประธาน บุรุษผู้ยอดเยี่ยม รวมความว่า พระองค์ตรัส
เรียกใครว่าเป็นมหาบุรุษ
คำว่า ใครล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ อธิบายว่า ใคร่ล่วงพ้น คือ ล่วง
ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงเลยเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ รวมความว่า ใครล่วงพ้น
เครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านติสสเมตเตยยะทูลถาม ดังนี้)
ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษในโลกนี้
ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร
ใครรู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
พระองค์ตรัสเรียกใครว่าเป็นมหาบุรุษ
ใครล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
[๑๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ)
ภิกษุเป็นผู้มีพรหมจรรย์(เพราะเห็นโทษ)ในกามทั้งหลาย
ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ ผู้คลายตัณหาแล้ว
มีสติทุกเมื่อ รู้ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้
ภิกษุนั้นชื่อว่าไม่มีความหวั่นไหว (๒)
คำว่า ภิกษุเป็นผู้มีพรหมจรรย์ (เพราะเห็นโทษ) ในกามทั้งหลาย อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒)
กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑

ว่าด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่าพรหมจรรย์
คำว่า เป็นผู้มีพรหมจรรย์ อธิบายว่า การงด งดเว้น เว้นขาด เจตนางดเว้น
กิริยาที่ไม่ทำ การไม่ทำ การไม่ละเมิด การไม่ก้าวล่วงแดนแห่งการเข้าถึงอสัทธรรม
ตรัสเรียกว่า พรหมจรรย์
อีกนัยหนึ่ง กล่าวโดยตรง อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ)
๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ)
๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ)
๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) ตรัสเรียกว่า พรหมจรรย์

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๖-๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
ภิกษุใด เป็นผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป
เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ภิกษุนั้น ตรัสเรียกว่า
ผู้มีพรหมจรรย์
บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยทรัพย์เรียกว่า ผู้มีทรัพย์ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วย
โภคะเรียกว่า ผู้มีโภคะ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยยศเรียกว่า ผู้มียศ บุคคลผู้เพียบ
พร้อมด้วยศิลปะ เรียกว่า ผู้มีศิลปะ บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยศีลเรียกว่า ผู้มีศีล
บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยความเพียรเรียกว่า ผู้มีความเพียร บุคคลผู้เพียบพร้อม
ด้วยปัญญาเรียกว่า ผู้มีปัญญา บุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาเรียกว่า ผู้มีวิชชา
ฉันใด ภิกษุใด เป็นผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป
เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ภิกษุนั้น ตรัสเรียกว่า
เป็นผู้มีพรหมจรรย์ ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า เป็นผู้มีพรหมจรรย์ (เพราะ
เห็นโทษ) ในกามทั้งหลาย
คำว่า เมตเตยยะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยโคตร
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ เป็นสัจฉิกา-
บัญญัติ๑ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ
คำว่า ตัณหา ในคำว่า ผู้คลายตัณหาแล้ว มีสติทุกเมื่อ ได้แก่ รูปตัณหา
สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา ตัณหานั้นผู้ใด
ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก
เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น ตรัสเรียกว่า ผู้คลายตัณหาแล้ว คือ ผู้สละตัณหาแล้ว
คลายตัณหาแล้ว ปล่อยตัณหาแล้ว ละตัณหาแล้ว สลัดทิ้งตัณหาแล้ว ได้แก่
คลายราคะแล้ว สละราคะแล้ว คลายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว
สลัดทิ้งราคะแล้ว คือ เป็นผู้หมดความอยากแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว มีตนอัน
ประเสริฐเสวยสุขอยู่

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ทุกเมื่อ อธิบายว่า ทุกเมื่อ คือ ในกาลทั้งปวง ตลอดกาลทั้งปวง
ตลอดกาลเป็นนิจ ตลอดกาลยั่งยืน ตลอดกาลต่อเนื่องกัน ตลอดกาลสืบเนื่องกัน
ตลอดกาลติดต่อกัน ตลอดกาลเป็นลำดับ ตลอดกาลติดต่อกันเหมือนระลอกคลื่น
ตลอดกาลเป็นไปต่อเนื่องไม่ขาดสาย ตลอดกาลสืบต่อกันกระชั้นชิด ตลอดกาล
ก่อนภัต หลังภัต ตลอดปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม ตลอดข้างแรม ข้างขึ้น
ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ตลอดปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติ ด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย
๒. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
๓. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต
๔. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย ฯลฯ
ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ รวมความว่า ผู้คลายตัณหาแล้ว
มีสติทุกเมื่อ
คำว่า ภิกษุ ... รู้ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้ อธิบายว่า ญาณ ท่าน
เรียกว่า สังขา (เครื่องพิจารณา) ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ฯลฯ
ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑
คำว่า รู้ ... แล้ว อธิบายว่า รู้แล้ว คือทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว
พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง”
รู้แล้ว คือทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้
แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมด ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง รู้แล้ว คือทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้
กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นทุกข์ ฯลฯ
เป็นโรค ฯลฯ เป็นดุจหัวฝี ฯลฯ เป็นดุจลูกศร ฯลฯ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป๑
คำว่า ดับกิเลสได้ อธิบายว่า ชื่อว่าดับกิเลสได้ เพราะทำราคะให้ดับไป
ชื่อว่าดับกิเลสได้ เพราะทำโทสะให้ดับไป ชื่อว่าดับกิเลสได้ เพราะทำโมหะให้ดับไป
ชื่อว่าดับกิเลสได้ เพราะทำโกธะ ฯลฯ อุปนาหะ ฯลฯ มักขะ ฯลฯ ปฬาสะ ฯลฯ
อิสสา ฯลฯ มัจฉริยะ ฯลฯ มายา ฯลฯ สาเถยยะ ฯลฯ ถัมภะ ฯลฯ สารัมภะ
ฯลฯ มานะ ฯลฯ อติมานะ ฯลฯ มทะ ฯลฯ ปมาทะ ฯลฯ กิเลสทุกชนิด ฯลฯ
ทุจริตทุกทาง ฯลฯ ความกระวนกระวายทุกอย่าง ฯลฯ ความเร่าร้อนทุกสถาน
ความเดือดร้อนทุกประการ อกุสลาภิสังขารทุกประเภทให้ดับไป
คำว่า ภิกษุ อธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะทำลายธรรม ๗ ประการได้แล้ว ฯลฯ
อยู่จบพรหมจรรย์ สิ้นภพใหม่แล้ว ผู้นั้นชื่อว่าภิกษุ๒ รวมความว่า ภิกษุ ... รู้
ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้
คำว่า ภิกษุนั้น ในคำว่า ภิกษุนั้น ชื่อว่าไม่มีความหวั่นไหว ได้แก่
พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ความหวั่นไหว อธิบายว่า ความหวั่นไหวเพราะตัณหา ความหวั่นไหว
เพราะทิฏฐิ ความหวั่นไหวเพราะมานะ ความหวั่นไหวเพราะกิเลส ความหวั่นไหว
เพราะกาม ความหวั่นไหวเหล่านั้นไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฎ หามิได้แก่ภิกษุนั้น
ความหวั่นไหวทั้งหลาย ภิกษุนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า ภิกษุนั้น ชื่อว่าไม่มี
ความหวั่นไหว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๙
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๗๑-๗๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตเตยยะ)
ภิกษุเป็นผู้มีพรหมจรรย์(เพราะเห็นโทษ)ในกามทั้งหลาย
ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ ผู้คลายตัณหาแล้ว
มีสติทุกเมื่อ รู้ธรรมทั้งหลายแล้วดับกิเลสได้
ภิกษุนั้นชื่อว่าไม่มีความหวั่นไหว
[๑๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบอีกว่า)
ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
เราเรียกภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ
ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ (๓)
คำว่า ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว ไม่ยึดติดในท่ามกลาง
ด้วยมันตา อธิบายว่า
คำว่า ส่วนสุด ได้แก่ ผัสสะเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ผัสสสมุทัยเป็นส่วนสุดอีก
ด้านหนึ่ง ผัสสนิโรธอยู่ท่ามกลาง
อดีตเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อนาคตเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง ปัจจุบันอยู่ท่ามกลาง
สุขเวทนาเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง อทุกขม-
สุขเวทนาอยู่ท่ามกลาง
นามเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง รูปเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง วิญญาณอยู่ท่ามกลาง
อายตนะภายใน ๖ เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อายตนะภายนอก ๖ เป็นส่วน
สุดอีกด้านหนึ่ง วิญญาณอยู่ท่ามกลาง
สักกายะเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง สักกายสมุทัยเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง สักกาย-
นิโรธอยู่ท่ามกลาง
ปัญญา ตรัสเรียกว่า มันตา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความ
ไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยความยึดติด ๒
คำว่า ความยึดติด ได้แก่ ความยึดติด ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดติด
ด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดติดด้วยอำนาจทิฏฐิ
ความยึดติดด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร
คือ วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วน เป็นแผนก กำหนดถือเอา
ยึดถือว่าเป็นของเราด้วยส่วนแห่งตัณหามีประมาณเท่าใด ย่อมยึดถือว่าเป็นของเรา
ซึ่งวัตถุมีประมาณเท่านี้ว่า นี้ของเรา นั่นของเรา เท่านี้ของเรา ของเรามีปริมาณ
เท่านี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสหญิงชาย
แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงิน ทอง บ้าน นิคม
ราชธานี แคว้น ชนบท กองพลรบ คลังหลวง แม้มหาปฐพีทั้งสิ้นย่อมยึดถือว่า
เป็นของเรา ด้วยอำนาจตัณหา ซึ่งจำแนกได้ ๑๐๘ นี้ชื่อว่าความยึดติดด้วย
อำนาจตัณหา
ความยึดติดด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ สักกายทิฏฐิ มีวัตถุ๑ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ๒ ๑๐ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ๓
๑๐ ทิฏฐิ การตกอยู่ในทิฏฐิ ความรกชัฏคือทิฏฐิ ความกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยน

เชิงอรรถ :
๑ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ (๑) ย่อมตามเห็นรูปเป็นอัตตา (๒) เห็นอัตตามีรูป (๓)
เห็นรูปในอัตตา (๔) เห็นอัตตาในรูป (๕) ย่อมตามเห็นเวทนาเป็นอัตตา (๖) เห็นอัตตามีเวทนา (๗)
เห็นเวทนาในอัตตา (๘) เห็นอัตตาในเวทนา (๙) ย่อมตามเห็นสัญญาเป็นอัตตา (๑๐) เห็นอัตตามีสัญญา
(๑๑) เห็นสัญญาในอัตตา (๑๒) เห็นอัตตาในสัญญา (๑๓) ย่อมตามเห็นสังขารเป็นอัตตา (๑๔)
เห็นอัตตามีสังขาร (๑๕) เห็นสังขารในอัตตา (๑๖) เห็นอัตตาในสังขาร (๑๗) ย่อมตามเห็นวิญญาณ
เป็นอัตตา (๑๘) เห็นอัตตามีวิญญาณ (๑๙) เห็นวิญญาณในอัตตา (๒๐) เห็นอัตตาในวิญญาณ (สํ.ข.
๑๗/๑๕๕/๑๔๙, ขุ.ม.อ. ๑๒/๑๕๘)
๒ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ คือ (๑) ทานที่ให้แล้วไม่มีผล (๒) การบูชาไม่มีผล (๓) การบวงสรวงไม่มีผล (๔)
กรรมที่ทำไว้ดีและทำไว้ไม่ดีไม่มีผล (๕) โลกนี้ไม่มี (๖) โลกหน้าไม่มี (๗) มารดาไม่มี (๘) บิดาไม่มี
(๙) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี (๑๐) สมณพรามหณ์ที่ดำเนินอัตตาชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำให้แจ้งใน
โลกนี้และโลกหน้าด้วยอัตตาเอง แล้วประกาศให้(ผู้อื่น)ทราบไม่มี (ดูรายละเอียดข้อ ๑๔๓/๔๕๙
๓ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ หมายถึงความเห็นผิดแล่นไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง มี ๑๐ ประการ คือเห็นว่า
(๑) โลกเที่ยง (๒) โลกไม่เที่ยง (๓) โลกมีที่สุด (๔) โลกไม่มีที่สุด (๕) ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน
(๖) ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่าง (๗) หลังจากตายไปตถาคตเกิดอีก (๘) หลังจากตายไปตถาคตไม่เกิดอีก
(๙) หลังจากตายไปตถาคตเกิดอีกก็ใช่ ไม่เกิดอีกก็ใช่ (๑๐) หลังจากตายไป ตถาคตเกิดอีกก็มิใช่
ไม่เกิดอีกก็มิใช่ (องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๙๓/๒๑๗-๒๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
หนามคือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องผูกพันคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น
ความยึดมั่น ความยึดมั่นถือมั่น ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเดียรถีย์
ความถือขัดแย้ง ความถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือในสิ่งที่
ไม่เป็นความจริงว่าเป็นจริงเห็นปานนี้ จนถึงทิฏฐิ ๖๒ นี้ชื่อว่าความยึดติดด้วย
อำนาจทิฏฐิ
คำว่า ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว ไม่ยึดติดในท่ามกลาง
ด้วยมันตา อธิบายว่า ภิกษุนั้นรู้ชัดแล้ว คือ ทราบแล้ว เทียบเคียง พิจารณา
ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งซึ่งส่วนสุดทั้ง ๒ และท่ามกลางแล้วด้วยปัญญา
ย่อมไม่ยึดติด คือ ไม่เข้าไปยึดติด ได้แก่ ไม่ติดแล้ว ไม่ติดพร้อม ไม่เข้าไปติด
ออกแล้ว สลัดออกแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากความยึดติด) อยู่
รวมความว่า ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว ไม่ยึดติดในท่ามกลาง
ด้วยมันตา
คำว่า เราเรียกภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ อธิบายว่า เราเรียกภิกษุนั้น คือ
กล่าวถึง เข้าใจ พูดถึง แสดงถึง แถลงถึงภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ คือเป็นบุรุษผู้เลิศ
บุรุษผู้ประเสริฐสุด บุรุษผู้วิเศษ บุรุษผู้เป็นประธาน บุรุษผู้เป็นหัวหน้า บุรุษผู้สูงสุด
บุรุษผู้ยอดเยี่ยม
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลคำนี้กับพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ที่พระองค์ตรัสเรียกว่า มหาบุรุษ มหาบุรุษ เพราะเหตุอะไรหนอ บุคคลจึงเป็น
มหาบุรุษ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร เราเรียกว่า ‘มหาบุรุษ’ เพราะเขาเป็นผู้มี
จิตหลุดพ้นแล้ว เราไม่เรียกว่า ‘มหาบุรุษ’ เพราะเขาเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น
บุคคลมีจิตหลุดพ้นแล้ว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียรเผากิเลส มี
สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกาย
อยู่ จิตย่อมคลายกำหนัด หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น ฯลฯ
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิต ฯลฯ
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาโทมนัสในโลกได้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๒. ติสสเมตเตยมาณวปัญหานิทเทส
จิตย่อมคลายกำหนัด หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น ภิกษุเป็นผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วเป็นอย่างนี้แล เราเรียกว่า ‘มหาบุรุษ’ เพราะเขาเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว
เราไม่เรียกว่า ‘มหาบุรุษ’ เพราะเขาเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น๑ รวมความว่า เรา
เรียกภิกษุนั้นว่า เป็นมหาบุรุษ
คำว่า ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ อธิบายว่า ตัณหา
ตรัสเรียกว่า เครื่องร้อยรัด ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ
เครื่องร้อยรัดนี้ ภิกษุใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ
ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ภิกษุนั้นชื่อว่า ล่วงพ้น คือ
ล่วง ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงเลยเครื่องร้อยรัดได้ รวมความว่า ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วง
พ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุนั้นชื่อว่ารู้ชัดส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านแล้ว
ไม่ยึดติดในท่ามกลางด้วยมันตา
เราเรียกภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ
ภิกษุนั้นชื่อว่าล่วงพ้นเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้
พร้อมกับการจบคาถา ธรรมจักษุไร้ธุลี ปราศจากมลทินว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี
ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ได้เกิดขึ้น
แก่เหล่าเทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะ ความพยายาม ความประสงค์
การอบรมบุญญาบารมีร่วมกันกับพราหมณ์ จิตของพราหมณ์นั้นก็หลุดพ้นจาก
อาสวะเพราะไม่ถือมั่น หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผมและ
หนวดของติสสเมตเตยยพราหมณ์ก็หายไป พร้อมกับการบรรลุอรหัตตผล ท่าน
เป็นภิกษุ มีศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร เพื่อการ
ปฏิบัติเอื้อประโยชน์ จึงประคองอัญชลี นั่งลงนมัสการพระผู้มีพระภาคโดยประกาศ
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์
เป็นสาวก”
ติสสเมตเตยยมาณวปัญหานิทเทสที่ ๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ม. ๑๙/๓๗๗/๑๓๗-๑๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของปุณณกมาณพ
[๑๒] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๑)
คำว่า พระองค์ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล อธิบายว่า
ตัณหาตรัสเรียกว่า เหตุให้หวั่นไหว ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ
อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๒
ตัณหาเหตุให้หวั่นไหวนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่าไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
เพราะพระองค์ทรงละตัณหาเหตุให้หวั่นไหวได้แล้ว จึงชื่อว่าผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่น
ไหว พระผู้มีพระภาคไม่ทรงหวั่นไหว คือ ไม่ทรงสะเทือน ไม่เคลื่อนไหว ไม่สะท้าน
ไม่สั่นสะท้าน เพราะได้ลาภ เพราะเสื่อมลาภบ้าง เพราะได้ยศ เพราะเสื่อมยศบ้าง
เพราะสรรเสริญ เพราะนินทาบ้าง เพราะสุข เพราะทุกข์บ้าง รวมความว่า พระ
องค์ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว

ว่าด้วยกุศลมูลและอกุศลมูล ๓
คำว่า ผู้มีปกติเห็นมูล อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีปกติเห็นมูล คือ
ทรงเห็นเหตุ ทรงเห็นต้นเหตุ ทรงเห็นการเกิดขึ้น ทรงเห็นแดนเกิด ทรงเห็นสมุฏฐาน
ทรงเห็นอาหาร ทรงเห็นอารมณ์ ทรงเห็นปัจจัย ทรงเห็นเหตุเกิด

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๕๐-๑๐๕๕/๕๓๓-๕๓๔
๒ ดูรายละเอียดที่ข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
อกุศลมูล ๓ ประการ คือ
๑. อกุศลมูลคือโลภะ
๒. อกุศลมูลคือโทสะ
๓. อกุศลมูลคือโมหะ
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓
ประการ เหล่านี้ ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โลภะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม
๒. โทสะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม
๓. โมหะ เป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม
ภิกษุทั้งหลาย เพราะกรรมที่เกิดจากโลภะ เพราะกรรมที่เกิดจากโทสะ
เพราะกรรมที่เกิดจากโมหะ เทวดามนุษย์ หรือสุคติอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ปรากฏ
ที่แท้แล เพราะกรรมที่เกิดจากโลภะ เพราะกรรมที่เกิดจากโทสะ เพราะกรรมที่
เกิดจากโมหะ นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปตวิสัย หรือทุคติอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง
ก็ปรากฏเพื่อความบังเกิดแห่งอัตภาพในนรก กำเนิดเดรัจฉาน เปตวิสัย อกุศลมูล ๓
ประการนี้” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าผู้มีปกติ
เห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง
กุศลมูล ๓ ประการ คือ
๑. กุศลมูลคืออโลภะ
๒. กุศลมูลคืออโทสะ
๓. กุศลมูลคืออโมหะ
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุให้เกิดกรรม ๓
ประการนี้ ฯลฯ ภิกษุทั้งหลาย เพราะกรรมที่เกิดจากอโลภะ เพราะกรรมที่เกิด
จากอโทสะ เพราะกรรมที่เกิดจากอโมหะ นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปตวิสัย หรือ
ทุคติอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่ปรากฏ ที่แท้แล เพราะกรรมที่เกิดจากอโลภะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
เพราะกรรมที่เกิดจากอโทสะ เพราะกรรมที่เกิดจากอโมหะ เทวดา มนุษย์ หรือ
สุคติอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ปรากฏเพื่อความบังเกิดแห่งอัตภาพในเทวดา มนุษย์
กุศลมูล ๓ ประการนี้”๑ พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาค
ชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นอกุศล เป็นส่วนอกุศล เป็นฝ่ายอกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ล้วนมีอวิชชา
เป็นมูลราก มีอวิชชาเป็นแหล่งรวม ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดมีอวิชชาอันอรหัตตมรรค
กำจัดได้ ล้วนถึงความเพิกถอน”๒ พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาค
ชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง
เป็นกุศล เป็นส่วนกุศล เป็นฝ่ายกุศล ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีความไม่ประมาท
เป็นมูล รวมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาทบัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอด
แห่งธรรมเหล่านั้น” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าผู้
มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็นว่า “อวิชชาเป็นมูลแห่งสังขาร
สังขารเป็นมูลแห่งวิญญาณ วิญญาณเป็นมูลแห่งนามรูป นามรูปเป็นมูลแห่ง
สฬายตนะ สฬายตนะเป็นมูลแห่งผัสสะ ผัสสะเป็นมูลแห่งเวทนา เวทนาเป็นมูล
แห่งตัณหา ตัณหาเป็นมูลแห่งอุปาทาน อุปาทานเป็นมูลแห่งภพ ภพเป็นมูลแห่งชาติ
ชาติเป็นมูลแห่งชราและมรณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น พระผู้มีพระภาค
ชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ฯลฯ ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็นว่า “จักขุประสาทเป็นมูลแห่งโรคตา
โสตประสาทเป็นมูลแห่งโรคหู ฆานประสาทเป็นมูลแห่งโรคจมูก ชิวหาประสาท
เป็นมูลแห่งโรคลิ้น กายประสาทเป็นมูลแห่งโรคกาย” พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรง
เห็นว่า “มโนประสาทเป็นมูลแห่งทุกข์ทางใจ”

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.ติก.(แปล) ๒๐/๓๔/๑๘๖-๑๘๘
๒ สํ.นิ. ๑๖/๒๒๓/๒๕๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าผู้มีปกติเห็นมูล ทรงเห็นเหตุ ทรงเห็นต้นเหตุ ทรง
เห็นการเกิดขึ้น ทรงเห็นแดนเกิด ทรงเห็นสมุฏฐาน ทรงเห็นอาหาร ทรงเห็นอารมณ์
ทรงเห็นปัจจัย ทรงเห็นเหตุเกิด อย่างนี้บ้าง รวมความว่า พระองค์ผู้ไม่มีตัณหา
เหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ๑
รวมความว่า ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้า อธิบายว่า ข้าพระองค์มี
ความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้า คือ ข้าพระองค์ต้องการถามปัญหา จึงมาเฝ้า
ข้าพระองค์ต้องการฟังปัญหา จึงมาเฝ้า รวมความว่า ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม
จึงมาเฝ้า
อีกนัยหนึ่ง ข้าพระองค์ต้องการปัญหา คือ ต้องการถามปัญหา ต้องการ
ฟังปัญหา จึงมาเฝ้า คือ เข้ามา เข้ามาเฝ้า เข้ามานั่งเฝ้า รวมความว่า ข้าพระ
องค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระองค์ทรงมีความต้องการปัญหาจึงเสด็จมา คือ แม้พระองค์
ก็ทรงเป็นผู้องอาจ ทรงสามารถ ทรงสมควรเพื่อตรัส วิสัชนา ชี้แจง ทรงกล่าว
ถึงปัญหาที่ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว อธิบายว่า ขอพระองค์ ทรงภาระนี้ รวมความว่า
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง
คำว่า อาศัยอะไร ในคำว่า ฤๅษี มนุชะ ... อาศัยอะไร อธิบายว่า อาศัย
คือ หวัง เยื่อใย เข้าใกล้ พัวพัน น้อมใจเชื่ออะไร
คำว่า ฤๅษี อธิบายว่า คนพวกใดพวกหนึ่งที่บวชเป็นฤๅษี ได้แก่ อาชีวก
นิครนถ์ ชฎิล ดาบส เรียกชื่อว่าฤๅษี
พวกมนุษย์ตรัสเรียกว่า มนุชะ๒ รวมความว่า ฤๅษี มนุชะ ... อาศัยอะไร

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๙/๗๓
๒ มนุชะ คือผู้ที่เกิดจากพระมนู (ขุ.ม.อ. ๑/๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า กษัตริย์ ในคำว่า กษัตริย์ พราหมณ์ ... แก่เทวดาทั้งหลาย ได้แก่
คนพวกใดพวกหนึ่งที่เกิดในวรรณะกษัตริย์
คำว่า พราหมณ์ ได้แก่ คนพวกใดพวกหนึ่ง ผู้กล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้เจริญ

ว่าด้วยเทวดา
คำว่า แก่เทวดาทั้งหลาย อธิบายว่า พวกอาชีวก เป็นเทวดาของสาวกของ
อาชีวก พวกนิครนถ์ เป็นเทวดาของสาวกของนิครนถ์ พวกชฎิล เป็นเทวดาของ
สาวกของชฎิล พวกปริพาชก เป็นเทวดาของสาวกของปริพาชก พวกดาบส เป็น
เทวดาของสาวกของดาบส ช้าง เป็นเทวดาของพวกประพฤติหัตถีพรต ม้า เป็น
เทวดาของพวกประพฤติอัศวพรต โค เป็นเทวดาของพวกประพฤติโคพรต สุนัข
เป็นเทวดาของพวกประพฤติกุกกุรพรต กา เป็นเทวดาของพวกประพฤติกากพรต
ท้าววาสุเทพ เป็นเทวดาของพวกประพฤติวาสุเทวพรต พลเทพ เป็นเทวดาของ
พวกประพฤติพลเทวพรต ท้าวปุณณภัทร เป็นเทวดาของพวกประพฤติปุณณภัทร-
พรต ท้าวมณีภัทร เป็นเทวดาของพวกประพฤติมณีภัทรพรต ไฟ เป็นเทวดาของ
พวกประพฤติอัคคิพรต นาค เป็นเทวดาของพวกประพฤตินาคพรต ครุฑ เป็น
เทวดาของพวกประพฤติสุปัณณพรต ยักษ์ เป็นเทวดาของพวกประพฤติยักขพรต
อสูร เป็นเทวดาของพวกประพฤติอสุรพรต คนธรรพ์ เป็นเทวดาของพวกประพฤติ
คนธรรพ์พรต ท้าวมหาราช เป็นเทวดาของพวกประพฤติมหาราชพรต พระจันทร์
เป็นเทวดาของพวกประพฤติจันทพรต พระอาทิตย์ เป็นเทวดาของพวกประพฤติ
สุริยพรต พระอินทร์ เป็นเทวดาของพวกประพฤติอินทพรต พรหม เป็นเทวดาของ
พวกประพฤติพรหมพรต ทิศทั้งหลาย เป็นเทวดาของพวกประพฤติทิศาพรต คน
สัตว์และสิ่งเหล่าใด ผู้ควรแก่ทักษิณาของชนเหล่าใด คน สัตว์ และสิ่งเหล่านั้น
เป็นเทวดาของชนเหล่านั้น รวมความว่า กษัตริย์ พราหมณ์ ... แก่เทวดาทั้งหลาย
คำว่า จำนวนมากในโลกนี้ ... จึงพากันบูชายัญ อธิบายว่า ไทยธรรม ได้แก่
จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป เรียกว่า ยัญ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า จึงพากันบูชายัญ อธิบายว่า คนแม้เหล่าใดแสวงหา ค้นหา เสาะหา
ยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน
พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป คนแม้เหล่านั้น
ชื่อว่าบูชายัญ
คนแม้เหล่าใด ให้ สละ บริจาคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก
เครื่องประทีป คนแม้เหล่านั้น ชื่อว่าบูชายัญ
คำว่า จำนวนมาก อธิบายว่า ยัญเหล่านี้มาก ผู้บูชายัญก็มาก ผู้ควรแก่
ทักษิณานั้นก็มาก
ยัญเหล่านั้นมาก อย่างไร
ยัญเหล่านี้ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ
ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป มี
มากแก่ชนจำนวนมาก ยัญเหล่านั้น ชื่อว่ามาก อย่างนี้บ้าง
ผู้บูชายัญนั้นมาก คือ กษัตริย์ก็มาก พราหมณ์ก็มาก แพศย์ก็มาก ศูทรก็มาก
คฤหัสถ์ก็มาก บรรพชิตก็มาก เทวดาและมนุษย์ก็มาก ผู้บูชายัญมาก อย่างนี้บ้าง
บุคคลผู้ควรทักษิณาเหล่านั้นมาก อย่างไร
คือ บุคคลผู้ควรทักษิณาเหล่านั้น มีมากมาย คือ สมณะก็มาก พราหมณ์
ก็มาก คนกำพร้าก็มาก คนเดินทางก็มาก วณิพกก็มาก และยาจกก็มาก บุคคล
ผู้ควรทักษิณาเหล่านั้น ชื่อว่ามาก อย่างนี้บ้าง
คำว่า ในโลกนี้ คือ ในมนุษยโลก รวมความว่า จำนวนมากในโลกนี้ ...
จึงพากันบูชายัญ

ว่าด้วยการถาม ๓
คำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์
โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ขอทูลถาม ได้แก่ การถาม ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
๒. การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
๓. การถามเพื่อตัดความสงสัย
การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติลักษณะใด ตนยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังมิได้เทียบเคียง ยังมิได้
พิจารณา ยังมิได้ทำให้กระจ่าง ยังมิได้ทำให้แจ่มแจ้ง ก็ถามปัญหาเพื่อรู้ เพื่อเห็น
เพื่อเทียบเคียง เพื่อพิจารณา เพื่อทำให้ลักษณะนั้นแจ่มแจ้ง นี้ชื่อว่าการถามเพื่อ
ทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติลักษณะใด ตนรู้ เห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง
ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ก็ถามปัญหา เพื่อเทียบเคียงลักษณะนั้นกับบัณฑิตอื่น นี้ชื่อว่า
การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
การถามเพื่อตัดความสงสัย เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติบุคคลเป็นผู้แล่นไปสู่ความสงสัย แล่นไปสู่ความเคลือบแคลง
เกิดความคิดเป็นสองแง่ว่า “เป็นอย่างนี้หรือไม่หนอ เป็นอะไรหรือ เป็นอย่างไรหนอ”
เขาก็ถามปัญหา เพื่อตัดความสงสัย นี้ชื่อว่าการถามเพื่อตัดความสงสัย เหล่านี้
ชื่อว่าการถาม ๓ อย่าง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามของมนุษย์ ๒. การถามของอมนุษย์
๓. การถามของรูปเนรมิต
การถามของมนุษย์ เป็นอย่างไร
คือ พวกมนุษย์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าแล้วทูลถามปัญหา คือ พวก
ภิกษุก็ทูลถาม ภิกษุณีก็ทูลถาม อุบาสกก็ทูลถาม อุบาสิกาก็ทูลถาม พระราชาก็
ทูลถาม กษัตริย์ก็ทูลถาม พราหมณ์ก็ทูลถาม แพศย์ก็ทูลถาม ศูทรก็ทูลถาม
คฤหัสถ์ก็ทูลถาม บรรพชิตก็ทูลถาม นี้ชื่อว่าการถามของมนุษย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
การถามของอมนุษย์ เป็นอย่างไร
คือ พวกอมนุษย์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าแล้วทูลถามปัญหา คือ
พวกนาคก็ทูลถาม ครุฑก็ทูลถาม ยักษ์ก็ทูลถาม อสูรก็ทูลถาม คนธรรพ์ก็ทูลถาม
ท้าวมหาราชก็ทูลถาม พระอินทร์ก็ทูลถาม พระพรหมก็ทูลถาม เทวดาก็ทูลถาม
นี้ชื่อว่าการถามของอมนุษย์
การถามของรูปเนรมิต เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงเนรมิตพระรูปใด ซึ่งสำเร็จด้วยพระทัย มีอวัยวะ
น้อยใหญ่ครบทุกอย่าง มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง พระรูปเนรมิตนั้น เข้าเฝ้าพระผู้มี-
พระภาคพุทธเจ้าแล้ว ก็ทูลถามปัญหา พระผู้มีพระภาคทรงวิสัชนา นี้ชื่อว่าการ
ถามของรูปเนรมิต เหล่านี้ชื่อว่าการถามอีก ๓ อย่าง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อประโยชน์ตน ๒. การถามเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
๓. การถามเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อประโยชน์ในภพปัจจุบัน ๒. การถามเพื่อประโยชน์ในภพหน้า
๓. การถามเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อประโยชน์ที่ไม่มีโทษ
๒. การถามเพื่อประโยชน์ที่ปราศจากกิเลส
๓. การถามเพื่อประโยชน์ที่ผุดผ่อง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงอดีต ๒. การถามถึงอนาคต
๓. การถามถึงปัจจุบัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงเรื่องภายใน ๒. การถามถึงเรื่องภายนอก
๓. การถามถึงเรื่องทั้งภายในและภายนอก
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงกุศลธรรม ๒. การถามถึงอกุศลธรรม
๓. การถามถึงอัพยากตธรรม
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงขันธ์ ๒. การถามถึงธาตุ
๓. การถามถึงอายตนะ
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงสติปัฏฐาน ๒. การถามถึงสัมมัปปธาน
๓. การถามถึงอิทธิบาท
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงอินทรีย์ ๒. การถามถึงพละ
๓. การถามถึงโพชฌงค์
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงมรรค ๒. การถามถึงผล
๓. การถามถึงนิพพาน
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถาม
พระองค์ คือ ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลขอให้ทรงประกาศว่า “ขอพระองค์โปรดตรัส
บอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์เถิด” รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า
ขอโปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์
นั้นจึงทูลถามว่า
(ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้
จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้
อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ (๒)
คำว่า บางพวกเหล่านี้ ในคำว่า ฤๅษี มนุชะ ... บางพวกเหล่านี้ ได้แก่
ทุกสิ่งโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า
บางพวกเหล่านี้ นี้เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด
คำว่า ฤๅษี อธิบายว่า คนพวกใดพวกหนึ่งที่บวชเป็นฤๅษี ได้แก่ อาชีวก
นิครนถ์ ชฎิล ดาบส เรียกชื่อว่าฤๅษี
พวกมนุษย์ ตรัสเรียกว่า มนุชะ รวมความว่า ฤๅษี มนุชะ ... บางพวกเหล่านี้
คำว่า ปุณณกะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ปุณณกะ
คำว่า กษัตริย์ ในคำว่า กษัตริย์ พราหมณ์ ... แก่เทวดาทั้งหลาย ได้แก่
คนพวกใดพวกหนึ่งที่เกิดในวรรณะกษัตริย์
คำว่า พราหมณ์ ได้แก่ ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้กล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้เจริญ
คำว่า แก่เทวดาทั้งหลาย อธิบายว่า พวกอาชีวกเป็นเทวดาของสาวกของ
อาชีวก ฯลฯ ทิศทั้งหลายเป็นเทวดาของพวกประพฤติทิศาพรต คน สัตว์และสิ่ง
เหล่าใด ผู้ควรแก่ทักษิณาของชนเหล่าใด คน สัตว์และสิ่งเหล่านั้นเป็นเทวดาของ
ชนเหล่านั้น๒รวมความว่า กษัตริย์ พราหมณ์ ... แก่เทวดาทั้งหลาย
คำว่า จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญ อธิบายว่า ไทยธรรม ได้แก่ จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องประทีป เรียกว่า ยัญ
คำว่า พากันบูชายัญ อธิบายว่า ชนแม้เหล่าใดแสวงหา ค้นหา เสาะหายัญ
คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน
พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป ชนแม้เหล่านั้น
ชื่อว่าบูชายัญ
ชนแม้เหล่าใดปรุงแต่งยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-
ปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ฯลฯ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป ชนแม้เหล่านั้น
ชื่อว่าบูชายัญ
ชนแม้เหล่าใด ให้ สละ บริจาคยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ฯลฯ ที่นอน ที่พักอาศัย เครื่องประทีป ชน
แม้เหล่านั้นก็ชื่อว่าบูชายัญ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒/๔๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า จำนวนมาก อธิบายว่า ยัญเหล่านั้น มีมาก ผู้บูชายัญเหล่านี้มีมาก
หรือบุคคลผู้ควรแก่ทักษิณามีมากอย่างนี้
คำว่า ในโลกนี้ ได้แก่ ในมนุษยโลก รวมความว่า จำนวนมากในโลกนี้
พากันบูชายัญ
คำว่า หวัง ในคำว่า ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้ อธิบายว่า
หวัง คือ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังการได้รูป การได้เสียง
การได้กลิ่น การได้รส การได้โผฏฐัพพะ การได้บุตร การได้ทรัพย์ การได้ยศ
การได้ความเป็นใหญ่ การได้อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาล การได้อัตภาพใน
ตระกูลพราหมณ์มหาศาล การได้อัตภาพในตระกูลคหบดีมหาศาล การได้อัตภาพ
ในหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชิกา ... ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ ... ในหมู่เทพชั้นยามา ...
ในหมู่เทพชั้นดุสิต ... ในหมู่เทพชั้นนิมมานรดี ... ในหมู่เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
การได้อัตภาพในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกา รวมความว่า หวัง
คำว่า ปุณณกะ... ความเป็นอย่างนี้ อธิบายว่า หวัง คือ ต้องการ ยินดี
ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังการบังเกิดอัตภาพในสถานเหล่านี้ คือ การบังเกิด
อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาลนี้ การบังเกิดอัตภาพในตระกูลคหบดีมหาศาลนี้
การบังเกิดอัตภาพในหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชิกาเหล่านี้ การบังเกิดอัตภาพในหมู่
เทพชั้นดาวดึงส์เหล่านี้ ... ในหมู่เทพชั้นยามาเหล่านี้ ... ในหมู่เทพชั้นดุสิตเหล่านี้
... ในหมู่เทพชั้นนิมมานรดีเหล่านี้ ... ในหมู่เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีเหล่านี้ ...
ในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกาเหล่านี้ รวมความว่า ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความ
เป็นอย่างนี้
คำว่า อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ อธิบายว่า อาศัยชรา คือ อาศัยพยาธิ
อาศัยมรณะ อาศัยโสกะ ปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส
ชนเหล่านั้นอาศัยชาติจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยชราจึงบูชายัญ
เพราะเหตุนั้น
ชนเหล่านั้นอาศัยชราจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยพยาธิจึงบูชายัญ
เพราะเหตุนั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
ชนเหล่านั้นอาศัยพยาธิจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยมรณะจึง
บูชายัญเพราะเหตุนั้น
ชนเหล่านั้นอาศัยมรณะ จึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยโสกปริเทว-
ทุกขโทมนัสอุปายาสจึงบูชายัญเพราะเหตุนั้น
ชนเหล่านั้นอาศัยโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส จึงบูชายัญเพราะเหตุใด
ชนเหล่านั้นอาศัยคติจึงบูชายัญเพราะเหตุนั้น
ชนเหล่านั้นอาศัยคติจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยอุปบัติจึง
บูชายัญเพราะเหตุนั้น
ชนเหล่านั้นอาศัยอุปบัติจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยปฏิสนธิจึง
บูชายัญเพราะเหตุนั้น
ชนเหล่านั้นอาศัยปฏิสนธิจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยภพจึง
บูชายัญเพราะเหตุนั้น
ชนเหล่านั้นอาศัยภพจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยสงสารจึง
บูชายัญเพราะเหตุนั้น
ชนเหล่านั้นอาศัยสงสารจึงบูชายัญเพราะเหตุใด ชนเหล่านั้นอาศัยวัฏฏะจึง
บูชายัญเพราะเหตุนั้น คือ หวัง เยื่อใย เข้าใกล้ พัวพัน น้อมใจเชื่อ รวมความว่า
อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้
จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้
อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
[๑๔] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้
จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ
ได้ข้ามชาติและชราได้บ้างไหม
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๓)
คำว่า บางพวกเหล่านี้ ในคำว่า ฤๅษี มนุชะ ... บางพวกเหล่านี้ อธิบายว่า
ฯลฯ๑
คำว่า บ้างไหม ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ... ชนเหล่านั้น เป็นผู้ไม่
ประมาทในการบูชายัญ ... บ้างไหม เป็นคำถามด้วยความสงสัย เป็นคำถาม
ด้วยความข้องใจ เป็นคำถาม ๒ แง่ เป็นคำถามมีแง่มุมหลายหลากว่า “อย่างนี้
หรือหนอ มิใช่หรือหนอ เป็นอะไรเล่าหนอ เป็นอย่างไรเล่าหนอ” รวมความว่า
บ้างไหม
คนผู้บูชายัญตรัสเรียกว่า ชนเหล่านั้น
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๒ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ชน
เหล่านั้น ... บ้างไหม
คำว่า ผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ อธิบายว่า ยัญนั้นแหละตรัสเรียกว่า
ทางแห่งยัญ เปรียบเหมือนอริยมัคคชื่อว่าทางแห่งอริยะ เทวมัคคชื่อว่าทางแห่ง
เทวะ พรหมมัคคชื่อว่าทางแห่งพรหม ฉันใด ยัญก็ชื่อว่าทางแห่งยัญ ฉันนั้น
เหมือนกัน

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายลเอียดข้อ ๑๓/๙๒
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ผู้ไม่ประมาท อธิบายว่า ผู้ไม่ประมาท คือ ผู้ทำโดยเอื้อเฟื้อ ทำติดต่อ
ทำไม่หยุด ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ละความพอใจ ไม่ทอดธุระ ในทางแห่งยัญ ได้แก่
เที่ยวไปเพื่อยัญนั้น มากไปด้วยยัญนั้น หนักในยัญนั้น เอนไปทางยัญนั้น โอนไป
ทางยัญนั้น โน้มไปทางยัญนั้น น้อมใจไปทางยัญนั้น มีทางแห่งยัญนั้นเป็นใหญ่
รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ... ชนเหล่านั้น เป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ
ชนแม้เหล่าใดแสวงหา ค้นหา เสาะหายัญคือจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้
ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป เป็นผู้ทำโดยเอื้อเฟื้อ ทำติดต่อ ฯลฯ มีทางแห่ง
ยัญนั้นเป็นใหญ่ ชนแม้เหล่านั้น ชื่อว่าไม่ประมาทในการบูชายัญ
ชนแม้เหล่าใดปรุงแต่งยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-
ปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน
ที่พัก เครื่องประทีป เป็นผู้ทำโดยเอื้อเฟื้อ ฯลฯ มีทางแห่งยัญนั้นเป็นใหญ่
ชนแม้เหล่านั้น ชื่อว่าไม่ประมาทในการบูชายัญ
ชนแม้เหล่าใด ให้ สละ บริจาคยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้
ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป เป็นผู้ทำโดยเอื้อเฟื้อ ฯลฯ มีทางแห่งยัญนั้นเป็นใหญ่
ชนแม้เหล่านั้น ... ชื่อว่าไม่ประมาทในการบูชายัญ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มี-
พระภาค ... ชนเหล่านั้น เป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ ... บ้างไหม
คำว่า ผู้นิรทุกข์... ได้ข้ามชาติและชราได้บ้างไหม อธิบายว่า ได้ข้าม คือ
ข้ามได้แล้ว ข้ามพ้นแล้ว ก้าวล่วง ล่วงเลยชรา และมรณะได้บ้างไหม
คำว่า ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง รวมความว่า ผู้นิรทุกข์
... ได้ข้ามชาติและชราบ้างไหม
คำว่า ข้าพระองค์ทูลถามปัญหานั้น ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์ทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์
ด้วยเถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น คือ ทูลขอปัญหานั้น ทูล
อัญเชิญปัญหานั้น ทูลให้ประกาศปัญหานั้น ขอได้โปรดตรัสบอกปัญหานั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบาย
ว่า ขอโปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์
นั้นจึงทูลถามว่า
(ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ พราหมณ์บางพวกเหล่านี้
จำนวนมากในโลกนี้ พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทในการบูชายัญ
ได้ข้ามชาติและชราได้บ้างไหม ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ
เพราะอาศัยลาภ จึงมุ่งหวังกาม
เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ (๔)
คำว่า หวัง ในคำว่า ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวังจึงพากันบูชายัญ
อธิบายว่า หวัง คือ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมายการได้รูป การได้เสียง
การได้กลิ่น การได้รส การได้โผฏฐัพพะ การได้บุตร การได้ภรรยา การได้ทรัพย์
การได้ยศ การได้ความเป็นใหญ่ การได้อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาล การได้
อัตภาพในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ... ในตระกูลคหบดีมหาศาล การได้อัตภาพ
ในหมู่เทพชั้นจาตุมหาราชิกา ฯลฯ ในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกา รวมความว่า หวัง

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ชื่นชม ได้แก่ ชื่นชมยัญ ชื่นชมผล หรือชื่นชมบุคคลผู้ควรแก่ทักษิณา
ชนทั้งหลายชื่นชมยัญ เป็นอย่างไร
คือ ชนทั้งหลายชื่นชม คือ ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า เราให้ของน่ารัก
เราให้ของน่าพอใจ เราให้ของประณีต เราให้ของตามกาลเวลา เราให้ของสมควร
เราเลือกให้ เราให้ของไม่มีโทษ เราให้เป็นประจำ เราเมื่อกำลังให้จิตก็เลื่อมใส
ชนทั้งหลายชื่นชมยัญ เป็นอย่างนี้
ชนทั้งหลายชื่นชมผล เป็นอย่างไร
คือ ชนทั้งหลายชื่นชม คือ ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า เพราะยัญนี้
เป็นต้นเหตุจักได้รูป ... จักได้เสียง ... จักได้กลิ่น ... จักได้รส ... จักได้โผฏฐัพพะ
... จักได้อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาล ตระกูลพราหมณมหาศาล ฯลฯ ใน
หมู่เทพชั้นพรหมกายิกา ชนทั้งหลายชื่นชมผล เป็นอย่างนี้
ชนทั้งหลายชื่นชมบุคคลผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นอย่างไร
คือ ชนทั้งหลายชื่นชม ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า บุคคลผู้ควรแก่ทักษิณา
คือ บุคคลผู้ควรแก่ทักษิณาถึงพร้อมด้วยชาติ ถึงพร้อมด้วยโคตร ชำนาญมนตร์๑
ทรงจำมนตร์ได้ เรียนจบไตรเพท๒ พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์๓ เกฏุภศาสตร์๔
อักษรศาสตร์๕ และประวัติศาสตร์๖ รู้ตัวบท และไวยากรณ์ ชำนาญในโลกายต-
ศาสตร์๗ และการทำนายลักษณะมหาบุรุษ๘ เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติ

เชิงอรรถ :
๑ มนตร์ ดูเชิงอรรถข้อ ๔๕/๘
๒ ไตรเพท ดูเชิงอรรถข้อ ๔๕/๘
๓ นิฆัณฑุศาสตร์ ดูเชิงอรรถข้อ ๔๕/๘
๔ เกฏุภศาสตร์ ดูเชิงอรรถข้อ ๔๕/๘
๕ อักษรศาสตร์ ดูเชิงอรรถข้อ ๔๕/๘
๖ ประวัติศาสตร์ ดูเชิงอรรถข้อ ๔๕/๘
๗ โลกายตศาสตร์ เป็นคัมภีร์ว่าด้วยเรื่องราวที่เหลือเชื่อ ถ้าบุคคลเชื่อคัมภีร์นี้แล้วจะไม่อยากทำบุญ
(ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๓, ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔)
๘ ศาสตร์ว่าด้วยลักษณะของบุคคลสำคัญมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น อันมีอยู่ในคัมภีร์พราหมณ์ ซึ่งเรียกว่า มนตร์
เฉพาะส่วนที่ว่าด้วยผู้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่าพุทธมนตร์ มีอยู่ ๑๖,๐๐๐ คาถา (ที.สี.อ. ๒๕๖/๒๒๓,
ขุ.จู.อ. ๑๕/๑๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
เพื่อกำจัดราคะ ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ ปราศจากโมหะ หรือ
ปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติ-
ญาณทัสสนะ ชนทั้งหลายผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นอย่างนี้ รวมความว่า หวัง ชื่นชม
คำว่า มุ่งหวัง อธิบายว่า ชนทั้งหลาย มุ่งหวังการได้รูป มุ่งหวังการได้เสียง
การได้กลิ่น การได้รส การได้โผฏฐัพพะ การได้อัตภาพในตระกูลกษัตริย์มหาศาล
ฯลฯ มุ่งหวังการได้อัตภาพในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกา รวมความว่า หวัง ชื่นชม
มุ่งหวัง
คำว่า จึงพากันบูชายัญ อธิบายว่า จึงพากันบูชายัญ คือ จึงพากันให้ สละ
บริจาคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน
พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป รวมความว่า
ชนเหล่านั้น หวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ
คำว่า ปุณณกะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ปุณณกะ
คำว่า เพราะอาศัยลาภ จึงมุ่งหวังกาม อธิบายว่า เพราะอาศัยการได้รูป
จึงมุ่งหวังกาม เพราะอาศัยการได้เสียงจึงมุ่งหวังกาม ฯลฯ เพราะอาศัยการได้
อัตภาพในหมู่เทพชั้นพรหมกายิกา จึงมุ่งหวัง คือ ปรารถนากาม รวมความว่า
เพราะอาศัยลาภ จึงมุ่งหวังกาม
คำว่า เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ เป็นผู้กำหนัด
ยินดีในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ ได้แก่ ผู้บูชายัญตรัสเรียกว่า ชนเหล่านั้น
คำว่า ผู้ประกอบการบูชายัญ ได้แก่ ผู้ประกอบ คือ ผู้ขวนขวาย ฝักใฝ่
ใฝ่ใจในการประกอบการบูชายัญ คือ ประพฤติในการบูชานั้น มากด้วยการบูชานั้น
หนักในการบูชานั้น เอนไปในการบูชานั้น โอนไปในการบูชานั้น โน้มไปในการบูชานั้น
น้อมใจไปในการบูชานั้น มีการบูชานั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า ชนเหล่านั้น ผู้
ประกอบการบูชายัญ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความ
กำหนัดในภพ ได้แก่ ความพอใจในภพ ความกำหนัดในภพ ความเพลิดเพลินในภพ
ตัณหาในภพ ความเยื่อใยในภพ ความกระหายในภพ ความเร่าร้อนในภพ
ความลุ่มหลงในภพ ความหมกมุ่นในภพ ในภพทั้งหลาย ชนเหล่านั้น กำหนัด ติดใจ
คลั่งไคล้ หลงใหล หมกมุ่น ติด ข้อง พัวพันในภพทั้งหลาย ด้วยความกำหนัดในภพ
รวมความว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ
คำว่า เราขอกล่าวว่า ... ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ อธิบายว่า เราขอกล่าว
คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า
ชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ กำหนัดยินดีในภพ ข้ามไม่ได้ คือ ข้ามไปไม่ได้
ข้ามพ้นไม่ได้ ก้าวล่วงไม่ได้ ล่วงเลยชาติชราและมรณะไปไม่ได้ คือ ไม่ออก ไม่
สลัดออก ก้าวไม่พ้น ไม่ก้าวล่วง ไม่ล่วงเลยชาติชราและมรณะ หมุนวนอยู่
ภายในชาติชราและมรณะ ภายในหนทางแห่งสงสาร คือ ไปตามชาติ ชราติดตาม
พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย
รวมความว่า เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ เป็นผู้กำหนัดยินดี
ในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ
เพราะอาศัยลาภ จึงมุ่งหวังกาม
เราขอกล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ ข้ามชาติและชราไปไม่ได้
[๑๖] (ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ถ้าชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ
ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามชาติและชราได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๕)
คำว่า ถ้าชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ ข้าม ... ไปไม่ได้ อธิบาย
ว่า ชนเหล่านั้นผู้บูชายัญ ผู้ประกอบการบูชายัญ เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพข้ามไม่ได้
คือ ข้ามไปไม่ได้ ข้ามพ้นไม่ได้ ก้าวล่วงไม่ได้ ล่วงเลยชาติชราและมรณะไปไม่ได้
ได้แก่ ไม่ออก ไม่สลัดออก ก้าวไม่พ้น ไม่ก้าวล่วง ไม่ล่วงเลยจากชาติชราและมรณะ
คือ หมุนวนอยู่ภายในชาติชราและมรณะ ภายในหนทางแห่งสงสาร คือ ไปตามชาติ
ชราติดตาม พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง
ไม่มีที่อาศัย รวมความว่า ถ้าชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ ข้าม... ไปไม่ได้
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ ท่านปุณณกะ
คำว่า ด้วยยัญทั้งหลาย ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ... ข้ามชาติ
และชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย ได้แก่ ด้วยยัญเป็นอันมาก ด้วยยัญชนิดต่าง ๆ
ด้วยยัญมากมาย
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและ
ความยำเกรง รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ... ข้ามชาติและชราไปไม่ได้
ด้วยยัญทั้งหลาย
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและ
มนุษยโลก ข้ามชาติและชราได้ อธิบายว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในโลก พร้อม
ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ข้ามได้ คือ
ข้ามไปได้ ข้ามพ้นไปได้ ก้าวล่วงไปได้ ล่วงเลยชาติชราและมรณะไปได้
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและ
ความยำเกรง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระ-
องค์ด้วยเถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น คือ ทูลขอปัญหานั้น
ทูลอัญเชิญปัญหานั้น ทูลให้ทรงประกาศปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ปัญหานั้นด้วยเถิด รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด อธิบายว่า ขอพระองค์
โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศด้วยเถิด รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์
นั้นจึงทูลถามว่า
(ท่านปุณณกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ถ้าชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการบูชายัญ
ข้ามชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามชาติและชราได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ
เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว (๖)

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก อธิบายว่า ญาณ ตรัสเรียกว่า
สังขา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม
สัมมาทิฏฐิ๑

ว่าด้วยฝั่งนี้และฝั่งโน้น
คำว่า ฝั่งนี้และฝั่งโน้น อธิบายว่า
อัตภาพของตน ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้
อัตภาพของผู้อื่น ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณของตน ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้
รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณของผู้อื่น ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
อายตนะภายใน ๖ ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ อายตนะภายนอก ๖ ตรัสเรียกว่า
ฝั่งโน้น
มนุษยโลก ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ เทวโลก ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
กามธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ รูปธาตุ อรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
กามธาตุ รูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งนี้ อรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ฝั่งโน้น
คำว่า เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก อธิบายว่า เพราะทราบชัด คือ
เพราะรู้ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งฝั่งนี้และฝั่งโน้น
โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ฯลฯ เป็นโรค ฯลฯ เป็นดุจหัวฝี ฯลฯ
เป็นดุจลูกศร ฯลฯ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป รวมความว่า เพราะทราบชัดฝั่งนี้
และฝั่งโน้นในโลก
คำว่า ปุณณกะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ เป็นคำ
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ ฯลฯ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ
คำว่า บุคคลใด ในคำว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ ได้แก่
พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ความหวั่นไหว ได้แก่ ความหวั่นไหวเพราะตัณหา ความหวั่นไหว
เพราะทิฏฐิ ความหวั่นไหวเพราะมานะ ความหวั่นไหวเพราะกิเลส ความหวั่นไหว
เพราะกาม ความหวั่นไหวเหล่านี้ ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หามิได้แก่บุคคลใด
ได้แก่ ท่านละได้แล้ว ตัดขาดแล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก
เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
คำว่า ไหน ๆ ได้แก่ ไหน ๆ คือ ที่ไหน ๆ ไร ๆ ภายใน ภายนอก
หรือทั้งภายในและภายนอก
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก๑ รวมความว่า บุคคลใด
ไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ

ว่าด้วยผู้สงบ ปราศจากควัน
คำว่า เป็นผู้สงบ ในคำว่า เรากล่าวว่า... บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจาก
ควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว อธิบายว่า
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบราคะ
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโทสะ
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโมหะ
คือ เป็นผู้สงบแล้ว เข้าไปสงบแล้ว สงบเย็นแล้ว ดับแล้ว ระงับแล้ว
เพราะสงบ ระงับ สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับโกธะ ... อุปนาหะ ...
มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ... ถัมภะ ...
สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลสทุกชนิด ...

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๔๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน ...
ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุศลาภิสังขารทุกประเภท รวมความว่า เป็นผู้สงบ
คำว่า ปราศจากควัน อธิบายว่า กายทุจริต พระอรหันตขีณาสพขจัดได้แล้ว
คือ กำจัด ทำให้แห้ง ทำให้เหือดแห้ง ทำให้หมดสิ้นไปได้แล้ว วจีทุจริต มโนทุจริต
พระอรหันตขีณาสพขจัดได้แล้ว คือ กำจัด ทำให้แห้ง ทำให้เหือดแห้ง ทำให้
หมดสิ้นไปได้แล้ว
ราคะ ... โทสะ ... โมหะ พระอรหันตขีณาสพขจัดได้แล้ว กำจัด ทำให้แห้ง
ทำให้เหือดแห้ง ทำให้หมดสิ้นไปได้แล้ว
โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา
... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ
... กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความ
เร่าร้อนทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท
พระอรหันตขีณาสพขจัดได้แล้ว คือ กำจัด ทำให้แห้ง ทำให้เหือดแห้ง ทำให้
หมดสิ้นไปได้แล้ว
อีกนัยหนึ่ง ควัน ตรัสเรียกว่าความโกรธ
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
พราหมณ์ ท่านมีมานะเป็นเครื่องหาบ
มีความโกรธเป็นควัน มีความเป็นคนพูดเท็จเป็นเถ้า
มีลิ้นเป็นทัพพี มีหัวใจเป็นที่บูชาไฟ
ตนที่ฝึกดีแล้วเป็นความรุ่งเรืองของบุรุษ๑

ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งความโกรธ ๑๐
อีกนัยหนึ่ง ความโกรธย่อมเกิดเพราะเหตุ ๑๐ อย่าง คือ
๑. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๑๙๕/๒๐๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
๒. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา
๓. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา
๔. ฯลฯ ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา
๕. ฯลฯ ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา
๖. ฯลฯ ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา
๗. ฯลฯ ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบพอ
ของเรา
๘. ฯลฯ ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบพอ
ของเรา
๙. ฯลฯ ผู้นี้จักทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบพอ
ของเรา
๑๐. ความโกรธเกิดขึ้นในฐานะอันไม่สมควร
ใจปองร้าย มุ่งร้าย ขัดเคือง ขุ่นเคือง เคือง เคืองมาก เคืองตลอด ชัง ชิงชัง
เกลียดชัง ใจพยาบาท ใจแค้นเคือง ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ
ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย ความคิดปองร้าย
กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย ความโกรธ ความแค้น ความดุร้าย
ความเกรี้ยวกราด ความไม่แช่มชื่นแห่งจิตเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความโกรธ
อีกนัยหนึ่ง พึงทราบความโกรธมาก ความโกรธน้อย บางครั้งความโกรธ
เพียงทำให้ใจขุ่นมัว ยังไม่ถึงกับหน้าเง้าหน้างอก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้
หน้าเง้าหน้างอ แต่ยังไม่ถึงกับคางสั่นก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้คางสั่น
แต่ยังไม่ถึงกับพูดคำหยาบก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้พูดคำหยาบ แต่ยังไม่
ถึงกับตาขวางมองทิศมองทางก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้ตาขวางมองทิศ
มองทาง แต่ยังไม่ถึงกับคว้าไม้คว้ามีดก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้คว้าไม้
คว้ามีด แต่ยังไม่ถึงกับเงือดเงื้อไม้และมีด(ที่ถือไว้)ก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่
ทำให้เงือดเงื้อไม้และมีด แต่ยังไม่ถึงกับลงมือฟาดฟันก็มี บางครั้งความโกรธเพียง
แต่ฟาดฟัน แต่ยังไม่ถึงกับทำให้เกิดบาดแผลก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่ทำให้
เกิดบาดแผล แต่ยังไม่ถึงกับทำให้กระดูกหักก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่ทำให้
กระดูกหัก แต่ยังไม่ถึงกับทำให้อวัยวะขาดหลุดไปก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
ทำให้อวัยวะขาดหลุดไป แต่ยังไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิตก็มี บางครั้งความโกรธเพียง
แต่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แต่ยังไม่ถึงกับทำให้ดำรงอยู่เพื่อฆ่าตนเองก็มี เมื่อใด
ความโกรธทำให้ฆ่าบุคคลอื่นแล้วฆ่าตนเองเสียด้วย เมื่อนั้น ความโกรธเป็นไปรุนแรงมาก
ถึงความเป็นสิ่งร้ายแรงอย่างยิ่ง ความโกรธนั้น ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้
นั้นตรัสเรียกว่า ปราศจากควัน
ชื่อว่าปราศจากควัน เพราะเป็นผู้ละความโกรธได้แล้ว ชื่อว่าปราศจากควัน
เพราะเป็นผู้กำหนดรู้ที่ตั้งแห่งความโกรธได้แล้ว ชื่อว่าปราศจากควัน เพราะเป็นผู้
เข้าไปตัดเหตุแห่งความโกรธได้แล้ว
คำว่า ไม่มีทุกข์ อธิบายว่า ราคะเป็นทุกข์ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ ฯลฯ
อกุสลาภิสังขารทุกประเภทเป็นทุกข์ ความทุกข์เหล่านี้ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาด
ได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ไม่มีทุกข์
คำว่า ไม่มีความหวัง อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความหวัง ได้แก่
ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑ ความหวัง คือ
ตัณหาเหล่านี้ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้
เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ไม่มีความหวัง
คำว่า ชาติ ได้แก่ การเกิด คือ การเกิดขึ้น การก้าวลง (สู่ครรภ์) การบังเกิด
การบังเกิดขึ้น ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะในหมู่สัตวนั้น ๆ
ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า ชรา ได้แก่ ความแก่ คือ ความทรุดโทรม ความเป็นผู้มีฟันหัก
ความเป็นผู้มีผมหงอก ความเป็นผู้มีหนังเหี่ยว ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อม
แห่งอินทรีย์๒ทั้งหลายในหมู่สัตวนั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า เรากล่าวว่า ... บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว อธิบายว่า เรากล่าว คือ บอก แสดง

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑
๒ อินทรีย์ ในที่นี้หมายถึงอินทรีย์ ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (ขุ.จู.อ. ๑๗/๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๓. ปุณณกมาณวปัญหานิทเทส
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า เป็นผู้สงบ ปราศจากควัน
ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ข้ามได้ คือ ข้ามไปได้ ข้ามพ้นไปได้ ก้าวล่วงไปได้
ล่วงเลยชาติชรามรณะไปได้ รวมความว่า เรากล่าวว่า ... บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ
ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ
เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่าข้ามชาติและชราได้แล้ว
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ ปุณณกมาณพประคองอัญชลี นั่งลงนมัสการ
พระผู้มีพระภาคโดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดา
ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
ปุณณกมาณวปัญหานิทเทสที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของเมตตคูมาณพ
[๑๘] (ท่านเมตตคูทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า ทรงเป็นผู้จบเวท
ทรงอบรมพระองค์แล้ว ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากที่ไหนหนอ (๑)

ว่าด้วยการถาม ๓
คำว่า ขอทูลถาม ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถาม
ปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ได้แก่
การถาม ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
๒. การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
๓. การถามเพื่อตัดความสงสัย
การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติลักษณะใด ตนยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังมิได้เทียบเคียง ยังมิได้
พิจารณา ยังมิได้ทำให้กระจ่าง ยังมิได้ทำให้แจ่มแจ้ง ก็ถามปัญหาเพื่อรู้ เพื่อเห็น
เพื่อเทียบเคียง เพื่อพิจารณา เพื่อทำให้ลักษณะนั้นแจ่มแจ้ง นี้ชื่อว่าการถามเพื่อ
ทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว เป็นอย่างไร

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๕๖-๑๐๖๗/๕๓๔-๕๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คือ โดยปกติลักษณะใด ตนรู้ เห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง
ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ก็ถามปัญหา เพื่อเทียบเคียงลักษณะนั้นกับบัณฑิตอื่น นี้ชื่อว่า
การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
การถามเพื่อตัดความสงสัย เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติบุคคลเป็นผู้แล่นไปสู่ความสงสัย แล่นไปสู่ความเคลือบแคลง
เกิดความคิดเป็นสองแง่ว่า “เป็นอย่างนี้หรือไม่หนอ เป็นอะไรหรือ เป็นอย่างไรหนอ”
เขาก็ถามปัญหา เพื่อตัดความสงสัย นี้ชื่อว่าการถามเพื่อตัดความสงสัย เหล่านี้
ชื่อว่าการถาม ๓ อย่าง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามของมนุษย์ ๒. การถามของอมนุษย์
๓. การถามของรูปเนรมิต
การถามของมนุษย์ เป็นอย่างไร
คือ พวกมนุษย์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าแล้ว ทูลถามปัญหา คือ
พวกภิกษุก็ทูลถาม ภิกษุณีก็ทูลถาม อุบาสกก็ทูลถาม อุบาสิกาก็ทูลถาม พระ
ราชาก็ทูลถาม กษัตริย์ก็ทูลถาม พราหมณ์ก็ทูลถาม แพศย์ก็ทูลถาม ศูทรก็ทูลถาม
คฤหัสถ์ก็ทูลถาม บรรพชิตก็ทูลถาม นี้ชื่อว่าการถามของมนุษย์
การถามของอมนุษย์ เป็นอย่างไร
คือ พวกอมนุษย์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าแล้ว ทูลถามปัญหา คือ
พวกนาคก็ทูลถาม ครุฑก็ทูลถาม ยักษ์ก็ทูลถาม อสูรก็ทูลถาม คนธรรพ์ก็ทูลถาม
ท้าวมหาราชก็ทูลถาม พระอินทร์ก็ทูลถาม พระพรหมก็ทูลถาม เทวดาก็ทูลถาม
นี้ชื่อว่าการถามของอมนุษย์
การถามของรูปเนรมิต เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงเนรมิตพระรูปใด ซึ่งสำเร็จด้วยพระทัย มีอวัยวะ
น้อยใหญ่ครบทุกอย่าง มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง พระรูปเนรมิตนั้น เข้าเฝ้าพระผู้มี-
พระภาคพุทธเจ้าแล้ว ก็ทูลถามปัญหา พระผู้มีพระภาคทรงวิสัชนา นี้ชื่อว่าการ
ถามของรูปเนรมิต เหล่านี้ชื่อว่าการถามอีก ๓ อย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อประโยชน์ตน ๒. การถามเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
๓. การถามเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อประโยชน์ในภพปัจจุบัน ๒. การถามเพื่อประโยชน์ในภพหน้า
๓. การถามเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อประโยชน์ที่ไม่มีโทษ ๒. การถามเพื่อประโยชน์ที่ปราศ
จากกิเลส
๓. การถามเพื่อประโยชน์ที่ผุดผ่อง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงอดีต ๒. การถามถึงอนาคต
๓. การถามถึงปัจจุบัน
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงเรื่องภายใน ๒. การถามถึงเรื่องภายนอก
๓. การถามถึงเรื่องทั้งภายในและภายนอก
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงกุศลธรรม ๒. การถามถึงอกุศลธรรม
๓. การถามถึงอัพยากตธรรม
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงขันธ์ ๒. การถามถึงธาตุ
๓. การถามถึงอายตนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงสติปัฏฐาน ๒. การถามถึงสัมมัปปธาน
๓. การถามถึงอิทธิบาท
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงอินทรีย์ ๒. การถามถึงพละ
๓. การถามถึงโพชฌงค์
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงมรรค ๒. การถามถึงผล
๓. การถามถึงนิพพาน
คำว่า ขอทูลถามปัญหานั้น อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ คือ
ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด รวมความว่า ขอทูลถามปัญหานั้น
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด อธิบายว่า ขอโปรดตรัส
คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ
รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์
โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านเมตตคูทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ รวม
ความว่า ท่านเมตตคูทูลถาม ดังนี้
คำว่า ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่าทรงเป็นผู้จบเวท ทรงอบรม
พระองค์แล้ว อธิบายว่า ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่าทรงเป็นผู้จบเวท สำคัญ
พระองค์ว่ามีพระองค์อบรมแล้ว คือ เข้าใจอย่างนี้ รู้อย่างนี้ รู้ละเอียดอย่างนี้ รู้
เฉพาะอย่างนี้ แทงตลอดอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยผู้จบเวท
คำว่า ทรงเป็นผู้จบเวท ทรงอบรมพระองค์แล้ว อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นผู้จบเวท อย่างไร
ญาณ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ฯลฯ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิมังสา
วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิในมรรคทั้ง ๔ เรียกว่า เวท
พระผู้มีพระภาคทรงถึงที่สุด ทรงบรรลุที่สุด ทรงถึงส่วนสุด ทรงบรรลุส่วนสุด
ทรงถึงปลายสุด ทรงบรรลุปลายสุด ทรงถึงท้ายสุด ทรงบรรลุท้ายสุด ทรงถึงที่
ปกป้อง ทรงบรรลุที่ปกป้อง ทรงถึงที่หลีกเร้น ทรงบรรลุที่หลีกเร้น ทรงถึงที่พึ่ง
ทรงบรรลุที่พึ่ง ทรงถึงที่ไม่มีภัย ทรงบรรลุที่ไม่มีภัย ทรงถึงที่ไม่จุติ ทรงบรรลุที่ไม่จุติ
ทรงถึงที่ไม่ตาย ทรงบรรลุที่ไม่ตาย ทรงถึงที่ดับ ทรงบรรลุที่ดับแห่งชาติ ชรา
และมรณะ ด้วยเวทเหล่านั้น
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคชื่อว่าทรงเป็นผู้จบเวท เพราะทรงถึงที่สุดแห่ง
เวททั้งหลาย
ชื่อว่าทรงเป็นผู้จบเวท เพราะทรงถึงที่สุดด้วยเวททั้งหลาย
ชื่อว่าทรงเป็นผู้จบเวท เพราะทรงเป็นผู้รู้แจ้งธรรม ๗ ประการ คือ
๑. ทรงรู้แจ้งสักกายทิฏฐิ
๒. ทรงรู้แจ้งวิจิกิจฉา
๓. ทรงรู้แจ้งสีลัพพตปรามาส
๔. ทรงรู้แจ้งราคะ
๕. ทรงรู้แจ้งโทสะ
๖. ทรงรู้แจ้งโมหะ
๗. ทรงรู้แจ้งมานะ
และพระองค์ทรงรู้แจ้งบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติชราและมรณะต่อไป


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สภิยะ)
บุคคลวิจัยเวททั้งหมดของสมณพราหมณ์ที่มีอยู่
เป็นผู้ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง
ก้าวล่วงเวททั้งปวงแล้ว ชื่อว่าผู้จบเวท๑
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นผู้จบเวท อย่างนี้
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงอบรมพระองค์แล้ว เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงอบรมพระวรกายแล้ว อบรมศีล อบรมจิต อบรม
ปัญญา อบรมสติปัฏฐาน อบรมสัมมัปปธาน อบรมอิทธิบาท อบรมอินทรีย์
อบรมพละ อบรมโพชฌงค์ อบรมมรรค ทรงละกิเลสได้แล้ว รู้แจ้งธรรมที่ไม่
กำเริบแล้ว ทำนิโรธให้แจ้งได้แล้ว พระองค์ทรงกำหนดรู้ทุกข์ได้แล้ว ละสมุทัยได้แล้ว
เจริญมรรคได้แล้ว ทำนิโรธให้แจ้งได้แล้ว รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้แล้ว กำหนดรู้ธรรมที่
ควรกำหนดรู้ได้แล้ว ละธรรมที่ควรละได้แล้ว เจริญธรรมที่ควรเจริญได้แล้ว ทำให้
แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้งได้แล้ว พระองค์ทรงมีธรรมไม่น้อย ใหญ่ ลึกซึ้ง ประมาณไม่ได้
หยั่งลงได้ยาก มีพระธรรมรัตนะมาก เปรียบดังทะเลหลวง ประกอบด้วยอุเบกขา
มีองค์ ๖ (คือ)

ว่าด้วยอุเบกขามีองค์ ๖
พระผู้มีพระภาคทรงเห็นรูปทางพระเนตรแล้ว ไม่ดีพระทัย ไม่เสียพระทัย
ทรงวางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ทรงสดับเสียงทางพระโสตแล้ว ฯลฯ ทรงดม
กลิ่นทางพระนาสิกแล้ว ฯลฯ ทรงลิ้มรสทางพระชิวหาแล้ว ฯลฯ ทรงถูกต้อง
โผฏฐัพพะทางพระวรกายแล้ว ฯลฯ ทรงรู้ธรรมารมณ์ทางพระทัยแล้ว ก็ไม่ดีพระทัย
ไม่เสียพระทัย ทรงวางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่
พระผู้มีพระภาคทรงเห็นรูปทางพระเนตรแล้ว ก็ไม่ติดพระทัย ไม่ทรงยินดีรูป
ที่น่าพอพระทัย ไม่ทรงให้เกิดความกำหนัด พระองค์มีพระวรกายตั้งมั่น มีพระทัย
ตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีภายใน หลุดพ้นดีแล้ว ทรงเห็นรูปนั้นที่ไม่น่าพอพระทัยทาง

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๓๕/๔๓๘, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๘๐/๒๔๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
พระเนตรแล้ว ก็ไม่เสียพระทัย ไม่กริ้ว ไม่หดหู่ ไม่พยาบาท พระองค์มีพระวรกาย
ตั้งมั่น มีพระทัยตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีภายใน ทรงหลุดพ้นดีแล้ว สดับเสียงทาง
พระโสตแล้ว ฯลฯ ทรงดมกลิ่นทางพระนาสิกแล้ว ฯลฯ ทรงลิ้มรสทางพระ-
ชิวหาแล้ว ฯลฯ ทรงถูกต้องโผฏฐัพพะทางพระวรกายแล้ว ฯลฯ ทรงรู้ธรรมารมณ์
ทางพระทัยแล้ว ก็ไม่ติดพระทัย ไม่ทรงยินดีธรรมารมณ์ที่น่าพอพระทัย ไม่ทรงให้
เกิดความกำหนัด พระองค์มีพระวรกายตั้งมั่น มีพระทัยตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีภายใน
ทรงหลุดพ้นดีแล้ว ทรงรู้ธรรมารมณ์นั้นที่ไม่น่าพอใจทางพระทัยแล้ว ก็ไม่เสียพระทัย
ไม่กริ้ว ไม่หดหู่ ไม่พยาบาท พระองค์มีพระวรกายตั้งมั่น มีพระทัยตั้งมั่น ดำรง
อยู่ด้วยดีภายใน หลุดพ้นดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงเห็นรูปทางพระเนตรแล้ว ก็มีพระวรกายตั้งมั่นในรูปที่
ชอบพระทัยและไม่ชอบพระทัย มีพระทัยตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีภายใน หลุดพ้นดีแล้ว
สดับเสียงทางพระโสตแล้ว ฯลฯ ทรงดมกลิ่นทางพระนาสิกแล้ว ฯลฯ ทรงลิ้มรส
ทางพระชิวหาแล้ว ฯลฯ ทรงถูกต้องโผฏฐัพพะทางพระวรกายแล้ว ฯลฯ ทรงรู้
ธรรมารมณ์ทางพระทัยแล้ว ก็มีพระวรกายตั้งมั่นในธรรมารมณ์ที่ชอบพระทัยและ
ไม่ชอบพระทัย มีพระทัยตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีภายใน หลุดพ้นดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงเห็นรูปทางพระเนตรแล้ว ก็ไม่ทรงกำหนัดในรูปที่ชวน
กำหนัด ไม่ขัดเคืองในรูปที่ชวนขัดเคือง ไม่หลงในรูปที่ชวนให้หลง ไม่โกรธในรูปที่
ชวนให้โกรธ ไม่เศร้าหมองในรูปที่ชวนให้เศร้าหมอง ไม่มัวเมาในรูปที่ชวนให้มัวเมา
สดับเสียงทางพระโสตแล้ว ฯลฯ ทรงดมกลิ่นทางพระนาสิกแล้ว ฯลฯ ทรงลิ้มรส
ทางพระชิวหาแล้ว ฯลฯ ทรงถูกต้องโผฏฐัพพะทางพระวรกายแล้ว ฯลฯ ทรงรู้
ธรรมารมณ์ทางพระทัยแล้ว ก็ไม่ทรงกำหนัดในธรรมารมณ์ที่ชวนให้กำหนัด ไม่
ทรงขัดเคืองในธรรมารมณ์ที่ชวนให้ขัดเคือง ไม่หลงในธรรมารมณ์ที่ชวนให้หลง
ไม่ทรงมัวเมาในธรรมารมณ์ที่ชวนให้มัวเมา ไม่ทรงเศร้าหมองในธรรมารมณ์ที่ชวน
ให้เศร้าหมอง
พระผู้มีพระภาคเมื่อทอดพระเนตร ก็สักว่าทอดพระเนตร เมื่อสดับก็สักว่า
สดับ เมื่อรับรู้ กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็สักว่ารับรู้ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์ก็สักว่ารู้แจ้ง
ไม่ทรงติดในรูปที่ทรงเห็น ไม่ทรงติดในเสียงที่ได้สดับ ไม่ทรงติดในกลิ่น ไม่ทรงติด
ในรสและไม่ทรงติดในสัมผัสที่รับรู้ ไม่ทรงติดในธรรมารมณ์ที่ทรงรู้แจ้ง ไม่มีตัณหา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ไม่มีใจประทุษร้าย ตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัย ไม่พัวพัน พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องในรูป
ที่ทรงเห็น มีพระทัยเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ ไม่มีตัณหา ไม่มีใจประทุษร้าย
ตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัย ไม่ทรงพัวพัน พ้นขาด ไม่ทรงเกี่ยวข้องในเสียงที่ได้สดับ
ฯลฯ ในกลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ ฯลฯ ในธรรมารมณ์ที่ทรงรู้แจ้ง มีพระทัย
เป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่
พระผู้มีพระภาคมีพระเนตร ทรงเห็นรูปทางพระเนตร แต่พระผู้มีพระภาคไม่
ทรงมีความกำหนัดด้วยความพอพระทัย มีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว พระผู้มีพระภาค
ก็มีพระโสต สดับเสียงทางพระโสต แต่ไม่ทรงมีความกำหนัดด้วยความพอพระทัย
มีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว พระผู้มีพระภาคก็มีพระนาสิก ทรงดมกลิ่นทางพระนาสิก
แต่ไม่ทรงมีความกำหนัดด้วยความพอพระทัย มีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว พระผู้มี-
พระภาคก็มีพระชิวหา ทรงลิ้มรสทางพระชิวหา แต่ไม่ทรงมีความกำหนัดด้วย
ความพอพระทัย มีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว พระผู้มีพระภาคก็มีพระวรกาย ทรงถูก
ต้องโผฏฐัพพะทางพระวรกาย แต่ไม่ทรงมีความกำหนัดด้วยความพอพระทัย มี
พระทัยหลุดพ้นดีแล้ว พระผู้มีพระภาคก็มีพระทัย ทรงรู้ธรรมารมณ์ทางพระทัยแล้ว
แต่ไม่ทรงมีความกำหนัดด้วยความพอพระทัย มีพระทัยหลุดพ้นดีแล้ว
ตาชอบรูป ยินดีในรูป ชื่นชมในรูป พระผู้มีพระภาคทรงฝึก คุ้มครอง รักษา
สำรวมพระเนตร และทรงแสดงธรรมเพื่อสำรวมตานั้น หูชอบเสียง ยินดีในเสียง
ชื่นชมในเสียง ฯลฯ จมูกชอบกลิ่น ยินดีในกลิ่น ฯลฯ ลิ้นชอบรส ยินดีในรส
ชื่นชมในรส พระผู้มีพระภาคทรงฝึก คุ้มครอง รักษา สำรวมลิ้น และทรงแสดง
ธรรมเพื่อสำรวมลิ้นนั้น กายชอบโผฏฐัพพะ ยินดีในโผฏฐัพพะ ชื่นชมในโผฏฐัพพะ
ใจชอบธรรมารมณ์ ยินดีในธรรมารมณ์ ชื่นชมในธรรมารมณ์ พระผู้มีพระภาคทรงฝึก
คุ้มครอง รักษา สำรวม และทรงแสดงธรรมเพื่อสำรวมใจนั้น
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
คนทั้งหลายนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม
พระราชาย่อมทรงราชพาหนะที่ฝึกแล้ว
ในหมู่มนุษย์ คนที่ฝึกแล้ว ซึ่งอดกลั้นต่อคำล่วงเกินได้ ประเสริฐสุด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ม้าอัสดร ม้าอาชาไนย ม้าสินธพ ช้างใหญ่
ที่ได้รับการฝึกหัดแล้ว ประเสริฐ
แต่คนที่ฝึกหัดแล้ว ประเสริฐกว่าสัตว์พาหนะเหล่านั้น
เพราะใครก็ไปถึงนิพพานอันเป็นทิศที่ไม่เคยไป
ด้วยยานพาหนะเหล่านั้นไม่ได้
เหมือนบุคคลผู้ฝึกแล้ว มีตนฝึกหัดแล้วอย่างดี ไปถึงได้๑
พระอรหันต์ทั้งหลาย หลุดพ้นจากภพใหม่แล้ว
บรรลุถึงภูมิที่ฝึกแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวในมานะทั้งหลาย
ท่านเป็นผู้ชนะแล้วในโลก๒
ผู้ใดอบรมอินทรีย์แล้วในโลกทั้งปวง ทั้งภายในและภายนอก
ผู้นั้นเป็นผู้อบรมแล้ว ฝึกดีแล้ว รู้ชัดทั้งโลกนี้และปรโลก
รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น๓
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงอบรมพระองค์แล้ว อย่างนี้ รวมความว่า
ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า ทรงเป็นผู้จบเวท ทรงอบรมพระองค์แล้ว

ว่าด้วยทุกข์
คำว่า จากไหนหนอ ในคำว่า ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากไหนหนอ เป็นคำถาม
ด้วยความสงสัย เป็นคำถามด้วยความข้องใจ เป็นคำถาม ๒ แง่ เป็นคำถามมี
มุมหลายหลากว่า “อย่างนี้หรือหนอ มิใช่หรือหนอ เป็นอะไรเล่าหนอ เป็น
อย่างไรเล่าหนอ” รวมความว่า จากไหนหนอ
คำว่า ทุกข์ ได้แก่ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทว-
ทุกขโทมนัสอุปายาสทุกข์ ทุกข์คือความเสียหาย ทุกข์เนื่องจากการเกิดในนรก
ทุกข์เนื่องจากการเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน ทุกข์เนื่องจากการเกิดในเปตวิสัย ทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ธ. ๒๕/๓๒๑-๓๒๓/๗๒, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๙๐/๒๘๒
๒ สํ.ข. ๑๗/๗๖/๖๘
๓ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๒/๔๓๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
เนื่องจากการเกิดในโลกมนุษย์ ทุกข์เนื่องจากการถือกำเนิดในครรภ์ ทุกข์เนื่องจาก
การอยู่ในครรภ์ ทุกข์เนื่องจากการคลอดจากครรภ์ ทุกข์ที่สืบเนื่องมาจากผู้เกิด
ทุกข์ของผู้เกิดที่เนื่องมาจากผู้อื่น ทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของตนเอง ทุกข์ที่
เกิดจากความพยายามของผู้อื่น ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ทุกข์ในสงสาร
ทุกข์ที่เกิดจากความแปรผัน โรคทางตา โรคทางหู โรคทางจมูก โรคทางลิ้น โรค
ทางกาย โรคศีรษะ โรคหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด ไข้หวัด ไข้พิษ ไข้เชื่อมซึม
โรคท้อง เป็นลมสลบ ลงแดง จุกเสียด อหิวาตกโรค โรคเรื้อน ฝี กลาก
มองคร่อ ลมบ้าหมู หิดเปื่อย หิดด้าน หิด หูด โรคละลอก โรคดีซ่าน
โรคดีกำเริบ โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง ความเจ็บป่วยที่เกิด
จากดี ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม ไข้สันนิบาต
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดู ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการผลัดเปลี่ยน
อิริยาบถไม่ได้ส่วน ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความพากเพียรเกินกำลัง ความเจ็บ
ป่วยที่เกิดจากผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวด
อุจจาระ ปวดปัสสาวะ ทุกข์ที่เกิดจากสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์
เลื้อยคลาน ทุกข์เพราะมารดาตาย ทุกข์เพราะบิดาตาย ทุกข์เพราะพี่ชายน้องชาย
ตาย ทุกข์เพราะพี่สาวน้องสาวตาย ทุกข์เพราะบุตรตาย ทุกข์เพราะธิดาตาย
ทุกข์เพราะความพินาศของญาติ ทุกข์เพราะความเสียหายที่เกิดจากโรค ทุกข์
เพราะโภคทรัพย์พินาศ ทุกข์เพราะสีลวิบัติ ทุกข์เพราะทิฏฐิวิบัติ
ความเกิดขึ้นแห่งธรรมเหล่าใดปรากฏในเบื้องต้น ความดับแห่งธรรมเหล่านั้น
ย่อมปรากฏในเบื้องปลาย วิบากอาศัยกรรม กรรมก็อาศัยวิบาก รูปอาศัยนาม
นามก็อาศัยรูป นามรูปเป็นไปตามชาติ ชราติดตาม พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี
ตกอยู่ในความทุกข์ ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย เหล่า
นี้เรียกว่า ทุกข์
ท่านเมตตคูทูลถามถึงมูล เหตุ ต้นเหตุ การเกิดขึ้น แดนเกิด สมุฏฐาน อาหาร
อารมณ์ ปัจจัย เหตุเกิดแห่งทุกข์เหล่านี้ว่า เกิดมาจากไหนหนอ คือ เกิดจากไหน
เกิดขึ้นจากไหน บังเกิดจากไหน บังเกิดขึ้นจากไหน ปรากฏจากไหน ได้แก่ มี
อะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด คือ
ขอทูลถาม ทูลขอ ทูลอาราธนา ทูลให้ทรงประกาศ รวมความว่า ทุกข์เหล่านี้
เกิดมาจากไหนหนอ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า อะไรก็ตาม ในคำว่า ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตาม ... ในโลก ได้แก่
ทุกสิ่งโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า
อะไรก็ตาม นี้ เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า หลายรูปแบบ ได้แก่ ทุกข์หลายอย่าง ต่างประการ รวมความว่า
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตาม ... ในโลก ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านเมตตคูทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าพระองค์ย่อมสำคัญพระองค์ว่า ทรงเป็นผู้จบเวท
ทรงอบรมพระองค์แล้ว ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ทุกข์เหล่านี้เกิดมาจากไหนหนอ
[๑๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่เรารู้
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ (๒)
คำว่า แห่งทุกข์ ในคำว่า เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
ได้แก่ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทวทุกขโทมนัส
อุปายาสทุกข์
คำว่า เธอได้ถามถึงแดนเกิด อธิบายว่า เธอได้ถามถึงมูล ถามถึงเหตุ
ถามถึงต้นเหตุ ถามถึงการเกิดขึ้น ถามถึงแดนเกิด ถามถึงสมุฏฐาน ถามถึงอาหาร
ถามถึงอารมณ์ ถามถึงปัจจัย ถามถึงเหตุเกิดแห่งทุกข์ คือ ขอ อัญเชิญ ให้ประกาศ
รวมความว่า เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
คำว่า เมตตคู เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
เมตตคู
คำว่า แดนเกิดแห่งทุกข์นั้น ในคำว่า เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่
เธอตามที่เรารู้ อธิบายว่า เราจะบอก คือ จักพูด แสดง บัญญัติ กำหนด เปิด
เผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศมูล บอกเหตุ บอกต้นเหตุ บอกการเกิดขึ้น
บอกแดนเกิด บอกสมุฏฐาน บอกอาหาร บอกอารมณ์ บอกปัจจัย บอกเหตุเกิด
รวมความว่า เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอ
คำว่า ตามที่เรารู้ อธิบายว่า เราจะบอกธรรมที่รู้ด้วยตนเอง ธรรมที่ได้
ประจักษ์แก่ตนเองตามที่เรารู้ คือ ตามที่เราทราบ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ
แทงตลอด มิใช่โดยอาการเชื่อผู้อื่นว่าธรรมนี้เป็นดังนี้ ๆ มิใช่โดยการเล่าลือ มิใช่
โดยการถือสืบ ๆ กันมา มิใช่โดยการอ้างตำรา มิใช่โดยตรรกะ มิใช่โดยการอนุมาน
มิใช่โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล มิใช่เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว รวม
ความว่า เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่เรารู้

ว่าด้วยอุปธิ ๑๐
คำว่า ทุกข์ ... ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ อธิบายว่า
คำว่า อุปธิ ได้แก่ อุปธิ ๑๐ อย่าง คือ

๑. อุปธิคือตัณหา ๒. อุปธิคือทิฏฐิ
๓. อุปธิคือกิเลส ๔. อุปธิคือกรรม
๕. อุปธิคือทุจริต ๖. อุปธิคืออาหาร
๗. อุปธิคือปฏิฆะ ๘. อุปธิคืออุปาทินนธาตุ ๔
๙. อุปธิคืออายตนะภายใน ๖ ๑๐. อุปธิคือหมวดวิญญาณ ๖

ทุกข์แม้ทั้งหมด ก็เป็นอุปธิ เพราะมีความหมายว่า ทนได้ยาก เหล่านี้เรียกว่า
อุปธิ ๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ทุกข์ ได้แก่ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทว-
ทุกขโทมนัสอุปายาสทุกข์ ฯลฯ พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ตกอยู่ในความทุกข์
ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย เหล่านี้เรียกว่า ทุกข์
ทุกข์เหล่านี้ มีอุปธิเป็นต้นเหตุ คือมีอุปธิเป็นเหตุ มีอุปธิเป็นปัจจัย มีอุปธิเป็นการณ์
ชื่อว่าเกิดมา คือ กำเนิดมา เกิดขึ้น บังเกิดแต่อุปธิเป็นต้นเหตุ รวมความว่า ทุกข์
... ล้วนเกิดมาแต่อุปธิเป็นต้นเหตุ
คำว่า อะไรก็ตาม ในคำว่า หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก อธิบายว่า
ทุกสิ่งโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า
อะไรก็ตาม นี้ เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า หลายรูปแบบ ได้แก่ ทุกข์หลายอย่าง ต่างประการ รวมความว่า
หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอได้ถามถึงแดนเกิดแห่งทุกข์กับเราแล้ว
เราจะบอกแดนเกิดแห่งทุกข์นั้นแก่เธอตามที่เรารู้
ทุกข์หลายรูปแบบอะไรก็ตามในโลก
ล้วนเกิดมาจากอุปธิเป็นต้นเหตุ
[๒๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ย่อมก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า
มีชาติเป็นแดนเกิด ไม่ควรก่ออุปธิ (๓)
คำว่า ผู้ใด ในคำว่า ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ย่อมก่ออุปธิ ได้แก่ ผู้ใด คือ
ผู้เช่นใด ผู้ขวนขวายอย่างใด ผู้ตั้งใจอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้ถึงฐานะใด
ผู้ประกอบด้วยธรรมใด จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต
เทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ไม่มีปัญญา ได้แก่ ไปตามอวิชชา คือ ไม่มีความรู้ ไม่มีปัญญาแจ่ม
กระจ่าง มีปัญญาทึบ
คำว่า ย่อมก่ออุปธิ อธิบายว่า ย่อมก่ออุปธิคือตัณหา ก่ออุปธิคือทิฏฐิ ก่อ
อุปธิคือกิเลส ก่ออุปธิคือกรรม ก่ออุปธิคือทุจริต ก่ออุปธิคืออาหาร ก่ออุปธิคือ
ปฏิฆะ ก่ออุปธิคืออุปาทินนธาตุ ๔ ก่ออุปธิคืออายตนะภายใน ๖ ก่ออุปธิคือ
หมวดวิญญาณ ๖ คือ ให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้น รวมความว่า
ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ย่อมก่ออุปธิ
คำว่า ผู้นั้นจัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ อธิบายว่า ถึง เข้าถึง
เข้าไปถึง คือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่น ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์
โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสทุกข์ รวมความว่า ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
คำว่า เป็นคนเขลา ได้แก่ เป็นคนเขลา คือ เป็นคนหลง ไม่มีปัญญา ไป
ตามอวิชชา ไม่มีญาณ ไม่มีปัญญาแจ่มกระจ่าง มีปัญญาทึบ รวมความว่า ผู้นั้น
จัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่ ... ไม่ควรก่ออุปธิ
ได้แก่ เพราะฉะนั้น คือเพราะข้อนั้นเป็นการณ์ เพราะข้อนั้นเป็นเหตุ เพราะข้อนั้น
เป็นปัจจัย เพราะข้อนั้นเป็นต้นเหตุ คือ มองเห็นโทษนี้ในอุปธิทั้งหลาย รวมความว่า
เพราะฉะนั้น
คำว่า รู้อยู่ ได้แก่ รู้อยู่ คือ ทราบอยู่ รู้แจ่มแจ้งอยู่ รู้เฉพาะอยู่ แทงตลอดอยู่
คือ รู้อยู่ ทราบอยู่ รู้แจ่มแจ้งอยู่ รู้เฉพาะอยู่ แทงตลอดอยู่ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
ฯลฯ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา
คำว่า ไม่ควรก่ออุปธิ อธิบายว่า ไม่ควรก่ออุปธิคือตัณหา ไม่ควรก่ออุปธิ
คือทิฏฐิ ไม่ควรก่ออุปธิคือกิเลส ไม่ควรก่ออุปธิคือกรรม ไม่ควรก่ออุปธิคือ
ทุจริต ไม่ควรก่ออุปธิคืออาหาร ไม่ควรก่ออุปธิคือปฏิฆะ ไม่ควรก่ออุปธิคือ
อุปาทินนธาตุ๑ ๔ ไม่ควรก่ออุปธิคืออายตนะภายใน ไม่ควรก่ออุปธิหมวด

เชิงอรรถ :
๑ อุปาทินนธาตุ ๔ ได้แก่ ธาตุ ๔ มีปฐวีธาตุ เป็นต้น (ขุ.จู.อ. ๑๙/๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
วิญญาณ ๖ คือ ไม่ควรให้เกิด ไม่ควรให้เกิดขึ้น ไม่ควรให้บังเกิด ไม่ควรให้บังเกิดขึ้น
รวมความว่า เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่ ... ไม่ควรก่ออุปธิ
คำว่า ทุกข์ ได้แก่ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทว
ทุกขโทมนัสอุปายาสทุกข์
คำว่า เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็น (ทุกข์ว่ามีชาติ)เป็นแดนเกิด อธิบายว่า
พิจารณาเห็นมูล พิจารณาเห็นเหตุ พิจารณาเห็นต้นเหตุ พิจารณาเห็นการเกิดขึ้น
พิจารณาเห็นแดนเกิด พิจารณาเห็นสมุฏฐาน พิจารณาเห็นอาหาร พิจารณาเห็น
อารมณ์ พิจารณาเห็นปัจจัย พิจารณาเห็นเหตุเกิดแห่งทุกข์
ญาณ ตรัสเรียกว่า อนุปัสสนา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ
ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑
ผู้ใดประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม
เพียบพร้อมด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาเห็นนี้ ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้มีปกติพิจารณา
เห็น รวมความว่า เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่ามีชาติเป็นแดนเกิด ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
ผู้ใดแล ไม่มีปัญญา ย่อมก่ออุปธิ
ผู้นั้นจัดว่าเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อย ๆ
เพราะฉะนั้น บุคคลรู้อยู่ เป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นทุกข์ว่า
มีชาติเป็นแดนเกิด ไม่ควรก่ออุปธิ
[๒๑] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
นักปราชญ์ทั้งหลาย จะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา
โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสแก้ปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๔)
คำว่า พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์ พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสบอกปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว อธิบายว่า พวกข้าพระองค์ได้ทูล
ถามปัญหาใดกับพระองค์ คือ ได้ทูลขอ ได้ทูลอัญเชิญ ได้ทูลให้ทรงประกาศ
ปัญหาใด
คำว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบ ชี้แจง บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศแล้ว รวมความว่า พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหา
ใดกับพระองค์ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ปัญหานั้นด้วยเถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่น คือ ทูลขอปัญหาอื่น
ทูลอัญเชิญปัญหาอื่น ทูลให้ทรงประกาศปัญหาอื่น ทูลถามให้ยิ่งขึ้นไป
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด อธิบายว่า ขอพระองค์
โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศเถิด รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป ขอพระองค์
โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด
คำว่า อย่างไรหนอ ในคำว่า นักปราชญ์ทั้งหลาย จะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา
โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ เป็นคำถามด้วยความสงสัย เป็นคำถามด้วย
ความข้องใจ เป็นคำถาม ๒ แง่ เป็นคำถามมีแง่มุมหลายหลากว่า “อย่างนี้
หรือหนอ มิใช่หรือหนอ เป็นอะไรเล่าหนอ เป็นอย่างไรเล่าหนอ” รวมความว่า
อย่างไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า นักปราชญ์ทั้งหลาย ได้แก่ นักปราชญ์ทั้งหลาย คือ บัณฑิต ผู้มีปัญญา
มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า โอฆะ ได้แก่ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ
คำว่า ชาติ ได้แก่ การเกิด คือ เกิดขึ้น การก้าวลง(สู่ครรภ์) การบังเกิด
การบังเกิดขึ้น ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะในหมู่สัตว์นั้น ๆ
ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า ชรา ได้แก่ ความแก่ คือ ความทรุดโทรม ความเป็นผู้มีฟันหัก
ความเป็นผู้มีผมหงอก ความเป็นผู้มีหนังเหี่ยว ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อม
แห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า โสกะ ได้แก่ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก
ความเศร้าโศกภายใน ความเศร้าโศกมากภายใน ความหม่นไหม้ภายใน ความ
เร่าร้อนภายใน ความหม่นไหม้แห่งจิต ความทุกข์ใจ ลูกศรคือความเศร้าโศก ของ
ผู้ที่ถูกความเสียหายของญาติกระทบบ้าง ถูกความเสียหายแห่งโภคทรัพย์กระทบบ้าง
ถูกความเสียหายเพราะโรคกระทบบ้าง ถูกสีลวิบัติกระทบบ้าง ถูกทิฏฐิวิบัติกระทบบ้าง
ประจวบกับความเสียหายอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง ถูกเหตุแห่งทุกข์อื่น
นอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง
คำว่า ปริเทวะ ได้แก่ ความบ่นเพ้อ ความคร่ำครวญ กิริยาที่บ่นเพ้อ
กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะที่บ่นเพ้อ ภาวะที่คร่ำครวญ การพูดพล่าม การพูดเพ้อ
การพูดเพ้อเจ้อ ความพร่ำเพ้อ กิริยาที่พร่ำเพ้อ ภาวะที่พร่ำเพ้อ ของผู้ถูกความ
เสียหายของญาติกระทบบ้าง ถูกทิฏฐิวิบัติกระทบบ้าง ประจวบกับความเสียหาย
อื่นนอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง ถูกเหตุแห่งทุกข์อื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว
กระทบบ้าง
คำว่า นักปราชญ์ทั้งหลาย จะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะ
ได้อย่างไรหนอ อธิบายว่า นักปราชญ์ทั้งหลายจะข้าม คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง
ล่วงเลยโอฆะ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะได้อย่างไร รวมความว่า นักปราชญ์
ทั้งหลาย จะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ปัญหานั้น ในคำว่า พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสแก้ปัญหา
นั้นแก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์ทูลถาม ทูลขอ
ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศปัญหาใด (ขอโปรดตรัสแก้ปัญหานั้น)

ว่าด้วยโมเนยยธรรม ๓ ประการ
คำว่า พระมุนี อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ ได้แก่ ความรู้ทั่ว
กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบด้วยญาณนั้น จึงชื่อว่าพระมุนี คือ ผู้ทรงบรรลุ
โมนญาณแล้ว โมเนยยธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นมุนี) มี ๓ ประการ คือ
๑. โมเนยยธรรมทางกาย ๒. โมเนยยธรรมทางวาจา
๓. โมเนยยธรรมทางใจ
โมเนยยธรรมทางกาย เป็นอย่างไร
คือ การละกายทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย กายสุจริต ๓ อย่าง
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย ญาณมีกายเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย
กายปริญญา (การกำหนดรู้กาย) ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย มรรคที่สหรคตด้วย
ปริญญา ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ในกาย ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย ความดับแห่งกายสังขาร การบรรลุจตุตถฌาน
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย
โมเนยยธรรมทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ การละวจีทุจริต ๔ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา วจีสุจริต ๔ อย่าง
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา ญาณมีวาจาเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา
วาจาปริญญา (การกำหนดรู้วาจา) ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา มรรคที่สหรคต
ด้วยปริญญา ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา การละความกำหนัดด้วยอำนาจความ
พอใจในวาจา ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา ความดับแห่งวจีสังขาร การบรรลุ
ทุติยฌาน ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
โมเนยยธรรมทางใจ เป็นอย่างไร
คือ การละมโนทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ มโนสุจริต ๓ อย่าง
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ ญาณมีใจเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ จิตต-
ปริญญา (การกำหนดรู้จิต) ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ มรรคที่สหรคตด้วยปริญญา
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในจิต ชื่อว่า
โมเนยยธรรมทางใจ ความดับแห่งจิตตสังขาร การบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ ชื่อว่า
โมเนยยธรรมทางใจ นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า)
บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลผู้เป็นมุนีทางกาย
เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ผู้ไม่มีอาสวะ
ว่าเป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยโมเนยยธรรม ละกิเลสทั้งปวงได้
บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลผู้เป็นมุนีทางกาย
เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ผู้ไม่มีอาสวะ
ว่าเป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยโมเนยยธรรม ล้างบาปได้แล้ว๑
มุนีผู้ประกอบด้วยโมเนยยธรรม ๓ ประการเหล่านี้ มี ๖ จำพวก คือ
(๑) อาคารมุนี (๒) อนาคารมุนี (๓) เสขมุนี (๔) อเสขมุนี (๕) ปัจเจกมุนี
(๖) มุนิมุนี
อาคารมุนี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้ครองเรือน เห็นทาง(นิพพาน)แล้ว รู้แจ้งหลักคำสอนแล้ว
เหล่านี้ชื่อว่าอาคารมุนี
อนาคารมุนี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้เป็นบรรพชิต เห็นทาง(นิพพาน)แล้ว รู้แจ้งหลักคำสอนแล้ว
เหล่านี้ชื่อว่าอนาคารมุนี

เชิงอรรถ :
๑ ล้างบาป หมายถึงล้างบาปด้วยมรรคญาณ (ขุ.ม.อ. ๑๔/๑๗๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
พระเสขะ ๗ จำพวก ชื่อว่าเสขมุนี
พระอรหันต์ทั้งหลาย ชื่อว่าอเสขมุนี
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าปัจเจกมุนี
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสเรียกว่ามุนิมุนี
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า)
บุคคลโง่เขลาไม่รู้อะไร เพียงแต่นั่งนิ่ง ๆ หาชื่อว่าเป็นมุนีไม่
ส่วนบุคคลผู้ฉลาดเลือกชั่งเอาแต่สิ่งที่ดี ละทิ้งสิ่งที่ชั่ว
เหมือนบุคคลชั่งสิ่งของ จึงจะชื่อว่าเป็นมุนีแท้
ผู้ที่รู้โลกทั้ง ๒ ก็เรียกว่า เป็นมุนี (เช่นกัน)๑
ผู้รู้ธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ
ทั้งภายในและภายนอกในโลกทั้งปวง
เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง๒
และตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๓
คำว่า แก้ (ปัญหานั้น) ให้แจ่มแจ้ง ได้แก่ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก คือ
โปรดแสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศปัญหานั้นให้
แจ่มแจ้ง รวมความว่า พระองค์ผู้ทรงเป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสแก้ปัญหานั้นแก่
ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
คำว่า เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว อธิบายว่า เพราะ
พระองค์ทรงทราบ คือ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
รวมความว่า เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น
จึงกราบทูลว่า

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ธ. ๒๕/๒๖๘-๒๖๙/๖๓
๒ เครื่องข้อง มี ๗ อย่าง ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และทุจริต (ขุ.ม. (แปล)
๒๙/๑๘๓/๕๒๐)
๓ ขุ.สุ. ๒๕/๕๓๓/๔๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
พวกข้าพระองค์ได้ทูลถามปัญหาใดกับพระองค์
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกปัญหานั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหาอื่นต่อไป
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นด้วยเถิด
นักปราชญ์ทั้งหลาย จะข้ามโอฆะ ชาติ ชรา
โสกะ และปริเทวะได้อย่างไรหนอ
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี ขอโปรดตรัสแก้ปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้น พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว
[๒๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
เราจักกล่าวธรรม(นั้น)ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แก่เธอ (๕)
คำว่า ธรรม ในคำว่า เราจักกล่าวธรรม...แก่เธอ อธิบายว่า เราจักกล่าว
คือ จักบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศพรหมจรรย์
ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด พร้อมทั้ง
อรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน
และปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน รวมความว่า เราจักกล่าวธรรม...แก่เธอ
คำว่า เมตตคู เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว ในคำว่า ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง ในธรรมที่
เราเห็นแล้ว อธิบายว่า ในธรรมที่เราได้เห็นแล้ว คือ ในธรรมที่ได้รู้แล้ว ใน
ธรรมที่ได้เทียบเคียงแล้ว ในธรรมที่ได้พิจารณาแล้ว ในธรรมที่ทำให้แจ้งแล้ว ใน
ธรรมที่ทำให้กระจ่างแล้ว ได้แก่ ในธรรมที่เราได้เห็นแล้ว คือ ในธรรมที่ได้รู้แล้ว
ในธรรมที่ได้เทียบเคียงแล้ว ในธรรมที่ได้พิจารณาแล้ว ในธรรมที่ทำให้แจ้งแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ในธรรมที่ทำให้กระจ่างแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ฯลฯ ได้แก่ ในธรรมที่
เราได้เห็นแล้ว คือ ในธรรมที่ได้รู้แล้ว ในธรรมที่ได้เทียบเคียงแล้ว ในธรรมที่ได้
พิจารณาแล้ว ในธรรมที่ทำให้แจ้งแล้ว ในธรรมที่ทำให้กระจ่างแล้วว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า
เราจักกล่าว ... ในธรรมที่เราเห็นแล้ว อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เราจักกล่าวถึงทุกข์ในทุกข์ที่ได้เห็นแล้ว จักกล่าวถึงสมุทัยในสมุทัย
ที่ได้เห็นแล้ว จักกล่าวถึงมรรคในมรรคที่ได้เห็นแล้ว จักกล่าวถึงนิโรธในนิโรธที่ได้
เห็นแล้ว รวมความว่า เราจักกล่าว ... ในธรรมที่เราเห็นแล้ว อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง (เราจักกล่าวธรรม) ที่เห็นได้เอง ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา เชิญมาดูได้
ควรน้อมเข้ามาในตน วิญญูชนพึงรู้ได้ด้วยตนเอง ในธรรมที่เราเห็นแล้ว รวมความว่า
เราจักกล่าว ... ในธรรมที่เราเห็นแล้ว อย่างนี้บ้าง รวมความว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว
คำว่า ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง อธิบายว่า เราจักกล่าวถึงธรรมที่รู้ด้วยตนเอง
ธรรมที่ประจักษ์แก่ตนเอง มิใช่โดยอาการเชื่อผู้อื่นว่าธรรมนี้เป็นดังนี้ ๆ มิใช่โดย
การเล่าลือ มิใช่โดยถือสืบ ๆ กันมา มิใช่โดยการอ้างตำรา มิใช่โดยตรรก
มิใช่โดยการอนุมาน มิใช่โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล มิใช่เพราะเข้าได้กับ
ทฤษฎีที่พินิจแล้ว รวมความว่า ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง ในธรรมที่เราเห็นแล้ว
คำว่า บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่ อธิบายว่า บุคคลรู้ชัดธรรม
ใดแล้ว คือ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ได้แก่
บุคคลรู้ชัดแล้ว เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่างแจ้ง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า
“สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
คำว่า มีสติ ได้แก่ มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ (๑) ชื่อว่ามีสติ เมื่อ
เจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ บุคคลนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
มีสติ
คำว่า เที่ยวไปอยู่ ได้แก่ เที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่า
วิสัตติกา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑

ว่าด้วยตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา
คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมายอย่างไร
ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะแผ่ไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะซ่านไป ชื่อว่าวิสัตติกา
เพราะขยายไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะไม่สม่ำเสมอ ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะครอบงำ
ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะสะท้อนไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะเป็นตัวการให้พูดผิด
ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีรากเป็นพิษ ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีผลเป็นพิษ ชื่อว่า
วิสัตติกา เพราะเป็นตัวการให้บริโภคสิ่งมีพิษ
อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้นแผ่ไป ซ่านไป ขยายไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ตระกูล หมู่คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ
ปัญจโวการภพ อดีต อนาคต ปัจจุบัน รูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ได้ยินแล้ว กลิ่น รส
โผฏฐัพพะที่รับรู้แล้ว และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสัตติกา
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ผู้มีสติ พึงข้าม
คือ พึงข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ รวม
ความว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
เราจักกล่าวธรรม(นั้น)ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แก่เธอ
[๒๓] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุดนั้นที่บุคคลรู้ชัดแล้ว
มีสติเที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ (๖)
คำว่า นั้น ในคำว่า ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุดนั้น ได้แก่ พระดำรัส
คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำพร่ำสอน
คำว่า ชอบใจ ได้แก่ พอใจ ชอบใจ คือ เบิกบานใจ อนุโมทนา ต้องการ ยินดี
ทูลขอ ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง รวมความว่า ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุด
นั้น

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ (ข้าพระองค์ชอบใจ) ธรรมอันสูงสุด อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่า ทรงแสวงหาคุณยิ่งใหญ่ เพราะมีความหมายว่าอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสีลขันธ์ใหญ่ จึงชื่อว่าทรง
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสมาธิขันธ์ใหญ่
... ปัญญาขันธ์ใหญ่ ... วิมุตติขันธ์ใหญ่ ... วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ใหญ่ จึงชื่อ
ว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องทำลายกองความมืดใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องทำลายความวิปลาสใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องถอนลูกศรคือตัณหาใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องปลดเปลื้องโครงทิฏฐิใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องกำจัดธงคือมานะใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องเข้าไปสงบอภิสังขารใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องปิดกั้นโอฆะใหญ่ จึงชื่อว่า
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องวางภาระใหญ่ จึงชื่อว่า
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องตัดสังสารวัฏใหญ่ จึงชื่อ
ว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องดับความเดือดร้อนใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องระงับความเร่าร้อนใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องยกธงคือธรรมใหญ่ จึง
ชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสติปัฏฐานใหญ่ ฯลฯ
สัมมัปปธานใหญ่ ฯลฯ อิทธิบาทใหญ่ ฯลฯ อินทรีย์ใหญ่ ฯลฯ พละใหญ่ ฯลฯ
โพชฌงค์ใหญ่ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘ ใหญ่ ฯลฯ ปรมัตถอมตนิพพานใหญ่
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่เหล่าสัตว์ผู้มเหศักดิ์แสวงหา ค้นหา
เสาะหาว่า “พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไหน พระ
ผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพประทับอยู่ที่ไหน พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน”
จึงชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
คำว่า ธรรมอันสูงสุด อธิบายว่า อมตนิพพาน ตรัสเรียกว่า ธรรมอันสูงสุด
ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา
เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
คำว่า สูงสุด ได้แก่ ธรรมอันเลิศ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด
ยอดเยี่ยม รวมความว่า ธรรมอันสูงสุด
คำว่า ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่ อธิบายว่า ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว คือ
เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
ฯลฯ ได้แก่ ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว คือเทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่ม
แจ้งแล้วว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับ
ไปเป็นธรรมดา”
คำว่า มีสติ ได้แก่ มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ ในเวทนา
ทั้งหลาย ฯลฯ ในจิต
๔. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย ฯลฯ
บุคคลนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกว่า มีสติ๑
คำว่า เที่ยวไปอยู่ ได้แก่ เที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียก
ว่า วิสัตติกา ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๒

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๗๐-๗๑
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมายอย่างไร
ฯลฯ ซ่านไป ขยายไป จึงชื่อว่าวิสัตติกา
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ตัณหานี้ ที่ชื่อ
ว่าวิสัตติกาในโลก บุคคลเป็นผู้มีสติพึงข้าม คือ พึงข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง
ล่วงเลยตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ รวมความว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกา
ในโลกได้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจธรรมอันสูงสุดนั้นที่บุคคลรู้ชัดแล้ว
มีสติเที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
[๒๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความถือมั่น
และวิญญาณในธรรมเหล่านี้เสีย ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ (๗)
คำว่า เธอรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เธอรู้ คือ ทราบ รู้แจ่มแจ้ง
รู้เฉพาะ แทงตลอดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมความว่า เธอรู้ธรรมอย่างใดอย่าง
หนึ่ง
คำว่า เมตตคู เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
เมตตคู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยธรรมชั้นสูงชั้นต่ำและชั้นกลาง
คำว่า ชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง อธิบายว่า
อนาคต ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง อดีต ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ ปัจจุบัน ตรัสเรียก
ว่า ชั้นกลาง
เทวโลก ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง นิรยโลก ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ มนุษยโลก ตรัสเรียกว่า
ชั้นกลาง
อีกนัยหนึ่ง กุศลธรรม ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง อกุศลธรรม ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ
อัพยากตธรรม ตรัสเรียกว่า ชั้นกลาง
อรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง กามธาตุ ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ รูปธาตุ ตรัส
เรียกว่า ชั้นกลาง
สุขเวทนา ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง ทุกขเวทนา ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ อทุกขมสุข-
เวทนา ตรัสเรียกว่า ชั้นกลาง
เบื้องสูงจากฝ่าเท้าขึ้นไปตรัสเรียกว่า ชั้นสูง เบื้องต่ำจากปลายผมลงมาตรัส
เรียกว่า ชั้นต่ำ ตรงกลางตรัสเรียกว่า ชั้นกลาง รวมความว่า ชั้นสูง ชั้นต่ำและ
ชั้นกลาง
คำว่า ในธรรมเหล่านี้ ในคำว่า เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความถือ
มั่นและวิญญาณ ในธรรมเหล่านี้เสีย ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ อธิบายว่า ในธรรม
ที่เราบอกแล้ว แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว กำหนดแล้ว เปิดเผยแล้ว จำแนกแล้ว
ทำให้ง่ายแล้ว ประกาศแล้ว ตัณหาตรัสเรียกว่า ความเพลิดเพลิน คือ ความกำหนัด
ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑
คำว่า ความถือมั่น ได้แก่ ความถือมั่น ๒ อย่าง คือ
๑. ความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา
๒. ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร
คือ ฯลฯ ด้วยส่วนแห่งตัณหาเท่าใด ฯลฯ นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจ
ตัณหา
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
คำว่า เธอจงบรรเทา... และวิญญาณ อธิบายว่า วิญญาณที่สหรคตด้วย
ปุญญาภิสังขาร วิญญาณที่สหรคตด้วยอปุญญาภิสังขาร วิญญาณที่สหรคตด้วย
อาเนญชาภิสังขาร เธอจงสลัด บรรเทา ถอน ถอนเสีย ละ ละทิ้ง ละให้หมด
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความเพลิดเพลิน ความถือมั่นและ
วิญญาณที่สหรคตด้วยอภิสังขารในธรรมเหล่านี้ รวมความว่า เธอจงบรรเทาความ
เพลิดเพลิน ความถือมั่นและวิญญาณ ในธรรมเหล่านี้เสีย
คำว่า ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ อธิบายว่า
คำว่า ภพ ได้แก่ ภพ ๒ คือ (๑) กรรมภพ (๒) ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ
กรรมภพ เป็นอย่างไร
คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร นี้ชื่อว่ากรรมภพ
ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ เป็นอย่างไร
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีในปฏิสนธิ นี้ชื่อว่า
ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ
คำว่า ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ อธิบายว่า ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งความเพลิดเพลิน ความถือมั่นวิญญาณที่สหรคตด้วยอภิสังขาร
กรรมภพ และภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ ไม่พึงตั้งอยู่ในกรรมภพ ไม่พึงตั้งอยู่ คือ
ไม่พึงดำรงอยู่ในภพใหม่ อันมีในปฏิสนธิ รวมความว่า เธอจงบรรเทา...และ
วิญญาณในธรรมเหล่านี้เสีย ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๑/๘๐-๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า เมตตคู)
เธอรู้ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เธอจงบรรเทาความเพลิดเพลิน ความถือมั่น
และวิญญาณในธรรมเหล่านี้เสีย ไม่พึงตั้งอยู่ในภพ
[๒๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท
รู้แจ้ง ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว
เที่ยวไปอยู่ พึงละชาติ ชรา โสกะและปริเทวะ
อันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน (๘)
คำว่า ผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ ในคำว่า ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ
ไม่ประมาท อธิบายว่า ภิกษุผู้ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก
ซึ่งความเพลิดเพลิน ความยึดมั่นถือมั่น วิญญาณที่สหรคตด้วยอภิสังขาร กรรมภพ
และภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ รวมความว่า ผู้มีปกติอยู่อย่างนี้
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ ภิกษุนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ๑

ว่าด้วยความไม่ประมาท
คำว่า ไม่ประมาท อธิบายว่า ผู้ทำด้วยความเอื้อเฟื้อ ทำติดต่อ ทำไม่หยุด
ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ละความพอใจ ไม่ทอดธุระ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรม
ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๗๐-๗๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คือ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความไม่ถอยกลับ
สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ความเพียรแรงกล้า ความตั้งใจ
ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า “เราพึงทำสีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์โดย
อุบายอย่างไร หรือพึงใช้ปัญญาตามรักษาสีลขันธ์ให้บริบูรณ์ในข้อนั้น ๆ โดยอุบาย
อย่างไร” ดังนี้ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ... ความพอใจ ความ
พยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความไม่ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความ
เพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ความเพียรแรงกล้า ความตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ
ด้วยคิดว่า “เราพึงทำสมาธิขันธ์ ฯลฯ ปัญญาขันธ์ ฯลฯ วิมุตติขันธ์ ฯลฯ
วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ โดยอุบายอย่างไร หรือพึงใช้
ปัญญาตามรักษาวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่บริบูรณ์ในข้อนั้น ๆ โดยอุบายอย่างไร”
ดังนี้ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ความพอใจ ความพยายาม ความ
อุตสาหะ ความขยัน ความไม่ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่อง
เผากิเลส ความเพียรแรงกล้า ความตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า
“เราพึงกำหนดรู้ทุกข์ที่ยังมิได้กำหนดรู้ พึงละกิเลสที่ยังมิได้ละ พึงเจริญมรรคที่ยัง
มิได้เจริญ หรือทำให้แจ้งนิโรธที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง โดยอุบายอย่างไร” ดังนี้ ชื่อว่า
ไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย รวมความว่า (ภิกษุ) ผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ
ไม่ประมาท
คำว่า ภิกษุ ในคำว่า ภิกษุ ... ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว เที่ยวไปอยู่
ได้แก่ ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือภิกษุผู้เป็นพระเสขะ
คำว่า เที่ยวไปอยู่ ได้แก่ เที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง
คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของ
เราด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ
นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ภิกษุละความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งความยึดถือว่า
เป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ คือ ละ สละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีก ซึ่งความยึดถือว่าของเรา รวมความว่า ภิกษุ ... ละความยึดถือว่า
เป็นของเราแล้ว เที่ยวไปอยู่
คำว่า ชาติ ในคำว่า รู้แจ้ง ... พึงละชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะอัน
เป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน ได้แก่ การเกิด คือเกิดขึ้น การก้าวลง(สู่ครรภ์)
การบังเกิด การบังเกิดขึ้น ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะในหมู่
สัตว์นั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า ชรา ได้แก่ ความแก่ คือ ความทรุดโทรม ความเป็นผู้มีฟันหัก
ความเป็นผู้มีผมหงอก ความเป็นผู้มีหนังเหี่ยว ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อม
แห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า โสกะ ได้แก่ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก
ความเศร้าโศกภายใน ความเศร้าโศกมากภายใน ความหม่นไหม้ภายใน ความ
เร่าร้อนภายใน ความหม่นไหม้แห่งจิต ความทุกข์ใจ ลูกศรคือความเศร้าโศก
ของผู้ที่ถูกความเสียหายของญาติกระทบบ้าง ถูกความเสียหายแห่งโภคทรัพย์
กระทบบ้าง ถูกความเสียหายเพราะโรคกระทบบ้าง ถูกสีลวิบัติกระทบบ้าง ถูก
ทิฏฐิวิบัติกระทบบ้าง ประจวบกับความเสียหายอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง ถูก
เหตุแห่งทุกข์อื่นนอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง
คำว่า ปริเทวะ ได้แก่ ความบ่นเพ้อ ความคร่ำครวญ กิริยาที่บ่นเพ้อ
กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะที่บ่นเพ้อ ภาวะที่คร่ำครวญ การพูดพล่าม การพูดเพ้อ
การพูดเพ้อเจ้อ ความพร่ำเพ้อ กิริยาที่พร่ำเพ้อ ภาวะที่พร่ำเพ้อ ของผู้ถูกความ
เสียหายของญาติกระทบบ้าง ... ถูกทิฏฐิวิบัติกระทบบ้าง ประจวบกับความเสีย
หายอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง ถูกเหตุแห่งทุกข์อื่นนอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง
คำว่า นี้ ได้แก่ ในความเห็นนี้ ฯลฯ ในมนุษยโลกนี้
คำว่า รู้แจ้ง ได้แก่ มีความรู้แจ้ง คือ มีวิชชา มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง
มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า อันเป็นทุกข์ ได้แก่ ชาติทุกข์ ฯลฯ โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสทุกข์
คำว่า รู้แจ้ง ... พึงละชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะอันเป็นทุกข์ใน
อัตภาพนี้ได้แน่นอน อธิบายว่า มีความรู้แจ้ง คือ มีวิชชา มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง
มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส พึงละ คือ พึงบรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งชาติ ชรา โสกะ ปริเทวะ และทุกข์ในโลกนี้เอง รวมความว่า รู้แจ้ง
... พึงละชาติ ชรา โสกะ และปริเทวะอันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
ภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท
รู้แจ้ง ละความยึดถือว่าเป็นของเราแล้ว
เที่ยวไปอยู่ พึงละชาติ ชรา โสกะและปริเทวะ
อันเป็นทุกข์ในอัตภาพนี้ได้แน่นอน
[๒๖] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่
เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๙)
คำว่า นี้ ในคำว่า ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระองค์ผู้ทรงแสวง
หาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้แก่ พระวาจา คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน
คำพร่ำสอน
คำว่า ชอบใจ ได้แก่ พอใจ ชอบใจ คือ เบิกบานใจ อนุโมทนา ต้องการ ยินดี
ทูลขอ ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง
คำว่า ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสีลขันธ์ใหญ่ จึงชื่อว่าทรง
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ฯลฯ “พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน” จึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ชื่อว่าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ รวมความว่า ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระ
องค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
คำว่า ตรัสไว้ดีแล้ว ในคำว่า ข้าแต่พระโคดม ธรรมที่ปราศจากอุปธิ
พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว อธิบายว่า ตรัสไว้ดีแล้ว คือ ตรัสบอกไว้ดีแล้ว แสดงไว้
ดีแล้ว บัญญัติไว้ดีแล้ว กำหนดไว้ดีแล้ว เปิดเผยไว้ดีแล้ว จำแนกไว้ดีแล้ว ทำให้
ง่ายไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว รวมความว่า ตรัสไว้ดีแล้ว
คำว่า ข้าแต่พระโคดม ธรรมที่ปราศจากอุปธิ อธิบายว่า กิเลส ขันธ์
และอภิสังขาร ตรัสเรียกว่า อุปธิ การละอุปธิ ความเข้าไปสงบอุปธิ ความสลัด
ทิ้งอุปธิ ความระงับอุปธิ ชื่อว่าอมตนิพพาน รวมความว่า ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
คำว่า เป็นแน่ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่ เป็น
คำกล่าวโดยนัยเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่สงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่เคลือบแคลง
เป็นคำกล่าวโดยไม่เป็น ๒ นัย เป็นคำกล่าวโดยไม่เป็น ๒ อย่าง เป็นคำกล่าว
โดยรัดกุม เป็นคำกล่าวโดยไม่ผิด คำว่า เป็นแน่ นี้ เป็นคำกล่าวที่กำหนดไว้แน่แล้ว
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ
คำว่า ทรงละทุกข์ได้แล้ว อธิบายว่า ทรงละ คือ ทรงละทิ้ง บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทว-
ทุกขโทมนัสอุปายาสทุกข์ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่
คำว่า เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว อธิบายว่า เพราะธรรมนี้
พระองค์ทรงทราบ คือ ทรงรู้ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
รวมความว่า เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงรู้ชัดแล้ว ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น จึง
กราบทูลว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
ข้าพระองค์ชอบใจพระวาจานี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
พระผู้มีพระภาคทรงละทุกข์ได้แล้วเป็นแน่
เพราะธรรมนี้ พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว
[๒๗] (ท่านเมตตคูทูลถามว่า)
พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่หยุดหย่อน
ชนแม้เหล่านั้นพึงละทุกข์ได้เป็นแน่
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงมาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ
ขอนมัสการพระองค์ (โดยหวังว่า)พระผู้มีพระภาค
พึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง (๑๐)
คำว่า ชนแม้เหล่านั้น ในคำว่า ชนแม้เหล่านั้นพึงละทุกข์ได้เป็นแน่ ได้แก่
กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาและมนุษย์
คำว่า พึงละทุกข์ได้ อธิบายว่า พึงละ คือ พึงบรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ โสกปริเทวทุกข-
โทมนัสอุปายาสทุกข์ รวมความว่า ชนแม้เหล่านั้นพึงละทุกข์ได้เป็นแน่
คำว่า ชนเหล่าใด ในคำว่า พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่
หยุดหย่อน ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา
และมนุษย์
คำว่า พระองค์ เป็นคำที่พราหมณ์เรียกพระผู้มีพระภาค
คำว่า พระมุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ ฯลฯ พระองค์ทรง
ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่าพระมุนี๑
คำว่า ตรัสสอนไม่หยุดหย่อน ได้แก่ ตรัสสอนไม่หยุดหย่อน คือ ตรัสสอน
โดยเอื้อเฟื้อ ตรัสสอนเนือง ๆ ตรัสสอนบ่อย ๆ คือ พร่ำสอน รวมความว่า
พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่หยุดหย่อน

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๑/๑๒๗-๑๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระองค์ ในคำว่า เพราะฉะนั้นข้าพระองค์จึงมาพบพระผู้มีพระภาค
ผู้นาคะ ขอนมัสการพระองค์ เป็นคำที่พราหมณ์เรียกพระผู้มีพระภาค
คำว่า ขอนมัสการ อธิบายว่า ขอนมัสการ คือ ขอสักการะ เคารพ นับถือ
บูชาด้วยกาย วาจา ใจ ด้วยการปฏิบัติเอื้อประโยชน์ หรือด้วยการปฏิบัติธรรม
ถูกต้องตามหลักธรรม
คำว่า จึงมาพบ ได้แก่ จึงมาพบ คือ จึงมาประสบ มาหา มาเฝ้าแล้ว ขอ
นมัสการพระองค์เฉพาะพระพักตร์

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่านาคะ
คำว่า ผู้นาคะ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงทำ
ความชั่ว พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงถึง พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้
นาคะ เพราะไม่ทรงกลับมาหา
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงทำความชั่ว เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่ มี
ความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป
ตรัสเรียกว่า ความชั่ว
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สภิยะ)
บุคคลผู้ไม่ทำบาปแม้เล็กน้อยในโลก
สลัดสังโยชน์เครื่องผูกพันได้ทั้งหมด
ไม่ติดข้องอยู่ในธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้น
ดำรงตนมั่นคงเช่นนั้น บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่านาคะ๑
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงทำความชั่ว เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๘/๔๓๗, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๘๐/๒๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงถึง เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงถึงฉันทาคติ(ลำเอียงเพราะชอบ) ไม่ทรงถึงโทสาคติ
(ลำเอียงเพราะชัง) ไม่ทรงถึงโมหาคติ(ลำเอียงเพราะหลง) ไม่ทรงถึงภยาคติ
(ลำเอียงเพราะกลัว) พระองค์ไม่ทรงดำเนินไปด้วยอำนาจราคะ ไม่ดำเนินไปด้วย
อำนาจโทสะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจโมหะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจทิฏฐิ ไม่
ดำเนินไปด้วยอำนาจมานะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจอุทธัจจะ ไม่ดำเนินไปด้วย
อำนาจวิจิกิจฉา ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจอนุสัย ได้แก่ ไม่ทรงดำเนินไป ไม่เสด็จ
ออกไป ไม่ทรงถูกพาไป ไม่ทรงถูกนำไปด้วยธรรมที่ก่อความเป็นฝักเป็นฝ่าย
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะเพราะไม่ทรงถึง เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงกลับมาหา เป็นอย่างไร
คือ กิเลสเหล่าใดพระผู้มีพระภาคทรงละได้แล้ว ด้วยโสดาปัตติมรรค
พระผู้มีพระภาคไม่เสด็จมา ไม่เสด็จกลับมา ไม่ทรงหวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก
กิเลสเหล่าใด พระผู้มีพระภาคทรงละได้แล้วด้วยสกทาคามิมรรค ฯลฯ ด้วย
อนาคามิมรรค ฯลฯ ด้วยอรหัตตมรรค พระองค์ไม่เสด็จมา ไม่เสด็จกลับมา ไม่
ทรงหวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่กลับมา
หา เป็นอย่างนี้ รวมความว่า ข้าพระองค์จึงมาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ ขอ
นมัสการพระองค์
คำว่า พระผู้มีพระภาคพึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง ได้แก่
ขอพระผู้มีพระภาคพึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อน คือ พึงตรัสสอนโดยเอื้อเฟื้อ
ตรัสสอนเนือง ๆ ตรัสสอนบ่อย ๆ คือ พร่ำสอนบ้าง รวมความว่า พระผู้มี-
พระภาคพึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึง
กราบทูลว่า
พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสสอนชนเหล่าใดไม่หยุดหย่อน
ชนแม้เหล่านั้นพึงละทุกข์ได้เป็นแน่
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงมาพบพระผู้มีพระภาคผู้นาคะ
ขอนมัสการพระองค์ (โดยหวังว่า)พระผู้มีพระภาค
พึงตรัสสอนข้าพระองค์ไม่หยุดหย่อนบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
[๒๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท
ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ
ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต หมดความสงสัยแล้ว (๑๑)

ว่าด้วยบุคคลได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์
คำว่า บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท อธิบายว่า
คำว่า พราหมณ์ อธิบายว่า ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗ ประการ
ได้แล้ว คือ
๑. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว
๒. ลอยวิจิกิจฉาได้แล้ว
๓. ลอยสีลัพพตปรามาสได้แล้ว
๔. ลอยราคะได้แล้ว
๕. ลอยโทสะได้แล้ว
๖. ลอยโมหะได้แล้ว
๗. ลอยมานะได้แล้ว
คือ พราหมณ์ลอยบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะ ต่อไปได้แล้ว
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ)
บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากมลทิน
เป็นผู้ประเสริฐ มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง
ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์๑

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๕-๔๓๖, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ผู้จบเวท อธิบายว่า ญาณในมรรค ๔ ตรัสเรียกว่า เวท ฯลฯ
พราหมณ์นั้นก้าวล่วงเวททั้งปวงแล้ว ชื่อว่าผู้จบเวท
คำว่า ที่เธอรู้จัก ได้แก่ที่เธอพึงรู้จัก คือ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอด
รวมความว่า บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท
คำว่า ไม่มีเครื่องกังวล ในคำว่า ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ ได้แก่
เครื่องกังวลคือราคะ เครื่องกังวลคือโทสะ เครื่องกังวลคือโมหะ เครื่องกังวลคือมานะ
เครื่องกังวลคือทิฏฐิ เครื่องกังวลคือกิเลส เครื่องกังวลคือทุจริต เครื่องกังวลเหล่านี้
ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดไม่ได้อีก
เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ไม่มีเครื่องกังวล
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒)
กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑
คำว่า ภพ ได้แก่ ภพ ๒ คือ (๑) กรรมภพ (๒) ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ
ฯลฯ นี้ชื่อว่ากรรมภพ ฯลฯ นี้ชื่อว่าภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ๒
คำว่า ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ อธิบายว่า บุคคลผู้ไม่มีเครื่อง
กังวล ไม่ข้อง คือ ไม่เกาะติด ไม่เกี่ยวพัน ไม่พัวพัน ออก สลัดออก หลุดพ้น
ไม่เกี่ยวข้องในกามภพ มีใจเป็นอิสระ(จากเครื่องกังวล)อยู่ รวมความว่า ไม่มี
เครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ
คำว่า โดยแท้ ในคำว่า ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ เป็นคำกล่าวโดยนัยเดียว
ฯลฯ คำว่า โดยแท้ นี้ เป็นคำกล่าวที่กำหนดไว้แน่แล้ว
คำว่า โอฆะ ได้แก่ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ
คำว่า ข้าม ได้แก่ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลย รวมความว่า ข้าม
โอฆะได้แล้วโดยแท้

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๖-๖๗
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒๔/๑๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าม ในคำว่า เป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต หมด
ความสงสัยแล้ว อธิบายว่า บุคคลข้าม ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วง
พ้นกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ และทางแห่งสงสารได้แล้ว คือ บุคคล
นั้นอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ผ่านทางไกลได้แล้ว ถึง
ทิศ(นิพพาน)แล้ว ถึงจุดจบ(นิพพาน)แล้ว รักษาพรหมจรรย์ได้แล้ว ถึงทิฏฐิอัน
สูงสุด๑แล้ว เจริญมรรคได้แล้ว ละกิเลสได้แล้ว รู้แจ้งธรรมที่ไม่กำเริบแล้ว ทำ
นิโรธให้แจ้งได้แล้ว ท่านกำหนดรู้ทุกข์ได้แล้ว ละสมุทัยได้แล้ว เจริญมรรคได้แล้ว
ทำนิโรธให้แจ้งแล้ว รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่งแล้ว กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ได้แล้ว
ละธรรมที่ควรละได้แล้ว เจริญธรรมที่ควรเจริญได้แล้ว ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้
แจ้งได้แล้ว
บุคคลนั้นถอนลิ่มสลักคืออวิชชาได้แล้ว ถมคูคือกรรมได้แล้ว ถอนเสา
ระเนียดคือตัณหาได้แล้ว ไม่มีบานประตูคือสังโยชน์ เป็นผู้ไกลจากข้าศึกคือกิเลส
ปลดธงคือมานะลงเสียแล้ว ปลงภาระได้แล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับโยคกิเลสแล้ว ละ
องค์ ๕ (แห่งนิวรณ์)ได้แล้ว ประกอบด้วยองค์ ๖ มีธรรมเครื่องรักษาอย่าง
เอก(คือสติ) มีอปัสเสนธรรม๒ ๔ อย่าง มีปัจเจกสัจจะ๓อันบรรเทาได้แล้ว มี
การแสวงหาอันสละได้โดยชอบ ไม่บกพร่อง มีความดำริไม่ขุ่นมัว มีกายสังขารอัน
ระงับได้แล้ว มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว มีปัญญาหลุดพ้นได้ดี เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อยู่
จบพรหมจรรย์ เป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ ถึงการบรรลุปรมัตถธรรมแล้ว
บุคคลนั้น มิต้องก่อผลกรรม มิต้องกำจัด กำจัดได้แล้วดำรงตนอยู่ มิต้องละกิเลส
มิต้องถือมั่น ละได้แล้วดำรงตนอยู่ มิต้องเย็บ(ด้วยตัณหา) มิต้องยก(ตนด้วยมานะ)

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิอันสูงสุด หมายถึงสัมมาทิฏฐิ (ขุ.ม.อ. ๖/๘๒)
๒ อปัสเสนธรรม คือ ธรรมดุจพนักพิง หรือธรรมพึ่งอาศัย มี ๔ อย่างคือ
๑. สงฺขาเยกํ ปฏิเสวติ ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเสพ เช่น ปัจจัย ๔
๒. สงฺขาเยกํ ปริวชฺเชติ ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเว้น เช่น คนพาลหรือสัตว์ร้าย
๓. สงฺขาเยกํ วิโนเทติ ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วบรรเทา เช่นกามวิตก
๔. สงฺขาเยกํ ปชหติ ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วละเสีย (ที.ปา. ๑๑/๓๐๘/๒๐๐, ขุ.ม.อ. ๖/๘๖)
๓ ปัจเจกสัจจะ หมายถึงทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งที่ยึดถือ เช่น ถือว่า ทรรศนะนี้
เท่านั้นจริง ทรรศนะนี้เท่านั้นจริง (ขุ.ม.อ. ๖/๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
เย็บเรียบร้อยแล้วดำรงตนอยู่ มิต้องดับ (ไฟคือกิเลส) มิต้องก่อ ดับได้แล้ว
ดำรงตนอยู่ ชื่อว่าดำรงตนอยู่ได้เพราะประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ... ด้วย
สมาธิขันธ์ ... ด้วยปัญญาขันธ์ ... ด้วยวิมุตติขันธ์ ... ดำรงตนอยู่ด้วยวิมุตติ
ญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ แทงตลอดสัจจะแล้ว ดำรงตนอยู่โดยการก้าวล่วง
ตัณหาอันเป็นเหตุให้หวั่นไหว ดำรงตนอยู่โดยการดับไฟคือกิเลส ดำรงตนอยู่โดย
ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ดำรงตนอยู่โดยการสมาทานธรรมขั้นสุดยอด ดำรงตนอยู่
โดยการเสพวิมุตติ ดำรงตนอยู่ด้วยเมตตาอันบริสุทธิ์ ... ด้วยกรุณา... ด้วย
มุทิตาอันบริสุทธิ์ ... ดำรงตนอยู่ด้วยอุเบกขาอันบริสุทธิ์ ดำรงตนอยู่ด้วยความ
บริสุทธิ์อย่างยิ่ง ดำรงตนอยู่ด้วยความบริสุทธิ์เพราะไม่มีตัณหาทิฏฐิและมานะ
ดำรงตนอยู่โดยความเป็นผู้หลุดพ้น ดำรงตนอยู่โดยความเป็นผู้สันโดษ ดำรงตน
อยู่ในขันธ์สุดท้าย ดำรงตนอยู่ในธาตุสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในอายตนะสุดท้าย
ดำรงตนอยู่ในคติสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในการถือกำเนิดสุดท้าย ดำรงตนอยู่ใน
ปฏิสนธิสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในภพสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในสงสารสุดท้าย ดำรง
ตนอยู่ในวัฏฏะสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในภพสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในประชุมแห่งขันธ์
ขั้นสุดท้าย ทรงไว้ซึ่งร่างกายขั้นสุดท้าย เป็นผู้ไกลจากข้าศึก
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
พระขีณาสพนั้น มีภพนี้เป็นภพสุดท้าย
มีประชุมแห่งขันธ์นี้เป็นครั้งสุดท้าย
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก๑
คำว่า และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง อธิบายว่า อมตนิพพานตรัสเรียกว่า ฝั่ง คือ
ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่
คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
บุคคลนั้นถึงฝั่ง บรรลุฝั่ง ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงปลายสุด บรรลุ
ปลายสุด ถึงท้ายสุด บรรลุท้ายสุด ถึงความสำเร็จ บรรลุความสำเร็จ ถึงที่ปกป้อง
บรรลุที่ปกป้อง ถึงที่หลีกเร้น บรรลุที่หลีกเร้น ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึ่ง ถึงที่ไม่มีภัย

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๖/๒๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
บรรลุที่ไม่มีภัย ถึงที่ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงที่ไม่ตาย บรรลุที่ไม่ตาย ถึงที่ดับ
บรรลุที่ดับ บุคคลนั้นอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ฯลฯ
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า และ
เป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง
คำว่า ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต อธิบายว่า ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ
อุปนาหะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ชื่อว่ากิเลสดุจตะปูตรึงจิต กิเลสดุจ
ตะปูตรึงจิตเหล่านี้ ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่มีกิเลสดุจ
ตะปูตรึงจิต
คำว่า หมดความสงสัย อธิบายว่า ความสงสัยในทุกข์ ความสงสัยในทุกข-
สมุทัย ความสงสัยในทุกขนิโรธ ความสงสัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความ
สงสัยในส่วนเบื้องต้น ความสงสัยในส่วนเบื้องปลาย ความสงสัยทั้งในส่วนเบื้อง
ต้นและส่วนเบื้องปลาย ความสงสัยในปฏิจจสมุปบาทว่าเพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย
ธรรมนี้จึงมี ความสงสัย กิริยาที่สงสัย ภาวะที่สงสัย ความเคลือบแคลง ความลังเล
ความเห็นเป็น ๒ ฝ่าย ๒ ทาง ความไม่แน่ใจ ความยึดถือหลายอย่าง ความ
ไม่ตกลงใจ ความตัดสินใจไม่ได้ ความกำหนดถือไม่ได้ ความหวาดหวั่นแห่งจิต
ความติดขัดในใจเห็นปานนี้
ความสงสัยเหล่านี้ ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้
หมดความสงสัย รวมความว่า และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต หมด
ความสงสัยแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลที่เธอรู้จักว่าเป็นพราหมณ์ผู้จบเวท
ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้องในกามภพ
ข้ามโอฆะได้แล้วโดยแท้ และเป็นผู้ข้ามถึงฝั่ง
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต หมดความสงสัยแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
[๒๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
นรชนใดในที่นี้ เป็นผู้มีปัญญา จบเวท
สลัดเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว
นรชนนั้นเป็นผู้คลายตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว (๑๒)
คำว่า ผู้มีปัญญา ในคำว่า นรชนใดในที่นี้ เป็นผู้มีปัญญา จบเวท ได้แก่
ผู้มีวิชชา มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า ใด ได้แก่ ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ฯลฯ หรือมนุษย์ก็ตาม
คำว่า จบเวท อธิบายว่า ญาณในมรรค ๔ ตรัสเรียกว่า เวท ฯลฯ เขา
ก้าวล่วงเวททั้งปวงแล้ว ชื่อว่าจบเวท
คำว่า นรชน ได้แก่ ผู้ข้องอยู่ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ในที่นี้ ได้แก่ ในความเห็นนี้ ฯลฯ ในมนุษยโลกนี้ รวมความว่า
นรชนใดในที่นี้ เป็นผู้มีปัญญาจบเวท
คำว่า ในภพน้อยภพใหญ่ ในคำว่า สลัดเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้
ได้แล้ว อธิบายว่า ภพน้อยภพใหญ่ คือ ในกรรมวัฏและวิปากวัฏ ในกรรมวัฏ
เป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในกรรมวัฏเป็น
เครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิด
ในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในภพต่อไป ในคติต่อไป ใน
การถือกำเนิดต่อไป ในปฏิสนธิต่อไป ในการบังเกิดของอัตภาพต่อไป

ว่าด้วยเครื่องข้อง ๗
คำว่า เครื่องข้อง ได้แก่ เครื่องข้อง ๗ อย่าง คือ
๑. เครื่องข้องคือราคะ
๒. เครื่องข้องคือโทสะ
๓. เครื่องข้องคือโมหะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
๔. เครื่องข้องคือมานะ
๕. เครื่องข้องคือทิฏฐิ
๖. เครื่องข้องคือกิเลส
๗. เครื่องข้องคือทุจริต
คำว่า สลัด ได้แก่ ปลด หรือสลัดเครื่องข้องทั้งหลายได้แล้ว
อีกนัยหนึ่ง ปลดเปลื้องหรือสลัดเครื่องข้อง คือ เครื่องผูก เครื่องมัด
เครื่องผูกพัน เครื่องเกาะติด เครื่องเกี่ยวพัน เครื่องพัวพัน เครื่องผูกมัดทั้งหลาย
ได้แล้ว เหมือนคนทำการปลดปล่อยยาน คานหาม รถ เกวียน หรือ ล้อเลื่อน
ให้หันเหไป ฉะนั้น
อีกนัยหนึ่ง ปลดเปลื้องหรือสลัดเครื่องข้อง คือ เครื่องผูก เครื่องผูกพัน
เครื่องเกาะติด เครื่องเกี่ยวพัน เครื่องพัวพัน เครื่องผูกมัดทั้งหลายได้แล้ว รวม
ความว่า สลัดเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว
คำว่า นรชนนั้นเป็นผู้คลายตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เรา
กล่าวว่า นรชนนั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา และธัมมตัณหา
ตัณหานี้ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แแล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้คลายตัณหาแล้ว
คือ ปราศจากตัณหาแล้ว เป็นผู้สละตัณหาแล้ว คายตัณหาแล้ว ปล่อยตัณหาแล้ว
ละตัณหาแล้ว สลัดทิ้งตัณหาแล้ว ได้แก่ ผู้คลายราคะแล้ว สละราคะแล้ว คาย
ราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว เป็นผู้หมดความอยาก
แล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุข อยู่ รวมความว่า นรชนนั้น
เป็นผู้คลายตัณหาแล้ว
คำว่า ไม่มีทุกข์ ได้แก่ ทุกข์คือราคะ ทุกข์คือโทสะ ทุกข์คือโมหะ ทุกข์คือ
โกธะ ทุกข์คืออุปนาหะ ฯลฯ ทุกข์คืออกุสลาภิสังขารทุกประเภท ผู้ใดละทุกข์
เหล่านี้ได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้น
ไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ไม่มีทุกข์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๔. เมตตคูมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ไม่มีความหวัง อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความหวัง ได้แก่
ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ความหวัง คือ ตัณหาเหล่านี้ ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้
สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น
ตรัสเรียกว่า ไม่มีความหวัง
คำว่า ชาติ ได้แก่ การเกิด คือ เกิดขึ้น การก้าวลง(สู่ครรภ์) การบังเกิด
การบังเกิดขึ้น ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย การได้อายตนะในหมู่สัตวนั้น ๆ
ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า ชรา ได้แก่ ความแก่ คือ ความทรุดโทรม ความเป็นผู้มีฟันหัก
ความเป็นผู้มีผมหงอก ความเป็นผู้มีหนังเหี่ยว ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อม
แห่งอินทรีย์ทั้งหลายในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของสัตว์เหล่านั้น ๆ
คำว่า นรชนนั้นเป็นผู้คลายตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เรา
กล่าวว่า นรชนนั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว อธิบายว่า เรากล่าว คือ บอก แสดง
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า ผู้ที่ปราศจากตัณหา
ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ข้าม คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยชาติ ชรา
และมรณะได้แล้ว รวมความว่า นรชนนั้นเป็นผู้คลายตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มี
ความหวัง เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสตอบว่า
นรชนใดในที่นี้ เป็นผู้มีปัญญา จบเวท
สลัดเครื่องข้องในภพน้อยภพใหญ่นี้ได้แล้ว
นรชนนั้นเป็นผู้คลายตัณหาแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง
เรากล่าวว่า นรชนนั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ เมตตคูมาณพ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
เมตตคูมาณวปัญหานิทเทสที่ ๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของโธตกมาณพ
[๓๐] (ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง
บุคคลได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน (๑)

ว่าด้วยการถาม ๓
คำว่า ขอทูลถาม ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถาม
พระองค์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ได้แก่
การถาม ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
๒. การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
๓. การถามเพื่อตัดความสงสัย ฯลฯ
การถามอีก ๓ อย่าง ฯลฯ
๓ การถามถึงนิพพาน๒
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระ
องค์ คือ ทูลขอพระองค์ ทูลอัญเชิญให้ตรัส ทูลให้ทรงประกาศว่า ขอพระองค์
โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๖๘-๑๐๗๕/๕๓๗-๕๓๘
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒/๘๔-๙๑,๑๘/๑๑๐-๑๑๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ อธิบายว่า ขอ
พระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ขอ
พระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า โธตกะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ๒ รวมความว่า
ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับ
ฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง อธิบายว่า ข้าพระองค์มุ่งหวัง มุ่งหวังอย่างยิ่ง
คือ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังพระวาจา คือ คำที่เป็นแนวทาง
เทศนา คำสั่งสอน คำพร่ำสอนของพระองค์
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ เพราะมีความหมายว่า
อย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสีลขันธ์ใหญ่ จึงชื่อว่าทรง
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ฯลฯ “พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน” จึงชื่อ
ว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่๓ รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอัน
ยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘
๒ เทียบกับความในข้อ ๙/๗๓
๓ ดูรายละเอียดข้อ ๒๓/๑๓๓-๑๓๕ และ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๐/๔๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว อธิบายว่า ฟัง ได้แก่ สดับ
เรียน ทรงจำ เข้าไปกำหนดซึ่งพระดำรัส คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน
คำพร่ำสอนของพระองค์แล้ว รวมความว่า บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว

ว่าด้วยสิกขา ๓
คำว่า พึงศึกษา ในคำว่า พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน อธิบายว่า
สิกขา ๓ คือ
๑. อธิสีลสิกขา
๒. อธิจิตตสิกขา
๓. อธิปัญญาสิกขา ฯลฯ
นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา๑
คำว่า ธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน อธิบายว่า พึงศึกษาทั้งอธิสีลสิกขา
ทั้งอธิจิตตสิกขา ทั้งอธิปัญญาสิกขา เพื่อให้ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ
ของตนดับไป ฯลฯ เพื่อความสงบ เข้าไปสงบ สงบเย็น เพื่อให้ดับ เพื่อสลัดทิ้ง
เพื่อความระงับอกุสลาภิสังขารทุกประเภท
สิกขา ๓ เหล่านี้ เมื่อบุคคลนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่าพึงศึกษา
เมื่อเห็น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อพิจารณา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าพึง
ศึกษา เมื่อน้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่า
พึงศึกษา เมื่อตั้งสติ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อตั้งใจ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา
ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควร
กำหนดรู้ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเจริญธรรมที่
ควรเจริญ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าพึงศึกษา คือ
พึงประพฤติ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ
รวมความว่า พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น
จึงกราบทูลว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๗/๖๓-๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
(ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง
บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน
[๓๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน
มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล
บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน (๒)
คำว่า ถ้าเช่นนั้น เธอ...จงทำความเพียร อธิบายว่า เธอจงทำความเพียร
คือ จงทำความอุตสาหะ ความหมั่นเพียร ความพยายาม ความทรงจำ ความ
เป็นผู้กล้า ได้แก่ จงให้ฉันทะเกิด คือ จงให้เกิดขึ้น ตั้งขึ้นไว้ ตั้งขึ้นไว้พร้อม ให้บังเกิด
ให้บังเกิดขึ้น รวมความว่า ถ้าเช่นนั้น เธอ...จงทำความเพียร
คำว่า โธตกะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ
คำว่า ในที่นี้ ในคำว่า ผู้มีปัญญารักษาตน มีสติ ... ในที่นี้แล อธิบายว่า
ในความเห็นนี้ คือ ในความถูกใจนี้ ความพอใจนี้ ความยึดถือนี้ ธรรมนี้ วินัยนี้
ธรรมวินัยนี้ ปาพจน์นี้ พรหมจรรย์นี้ สัตถุศาสน์นี้ อัตภาพนี้ มนุษยโลกนี้
คำว่า ผู้มีปัญญารักษาตน ได้แก่ ผู้มีปัญญารักษาตน คือ ผู้เป็นบัณฑิต มี
ปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเป็นเครื่อง
ทำลายกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ
บุคคลนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ๑ รวมความว่า ผู้มีปัญญา
รักษาตน มีสติ ... ในที่นี้แล
คำว่า บุคคลได้ฟังเสียงจากนี้๒แล้ว อธิบายว่า บุคคลได้ฟัง สดับ เรียน
ทรงจำ เข้าไปกำหนดพระวาจา คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำ
พร่ำสอนของเรา จากนี้ รวมความว่า บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว

ว่าด้วยสิกขา ๓
คำว่า พึงศึกษา ในคำว่า พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน อธิบายว่า
สิกขา ๓ คือ
๑. อธิสีลสิกขา ๒. อธิจิตตสิกขา
๓. อธิปัญญาสิกขา ฯลฯ
นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา๓
คำว่า ธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน อธิบายว่า พึงศึกษาทั้งอธิสีลสิกขา
ทั้งอธิจิตตสิกขา ทั้งอธิปัญญาสิกขา เพื่อให้ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ
ของตนดับไป ฯลฯ เพื่อความสงบ เข้าไปสงบ สงบเย็น เพื่อให้ดับ เพื่อสลัดทิ้ง
เพื่อความระงับอกุสลาภิสังขารทุกประเภท
สิกขา ๓ เหล่านี้ เมื่อบุคคลนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่าพึงศึกษา
เมื่อเห็น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อพิจารณา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าพึง
ศึกษา เมื่อน้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่า
พึงศึกษา เมื่อตั้งสติ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อตั้งใจมั่น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๗๐-๗๑
๒ จากนี้ หมายถึงจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า (ขุ.จู.อ. ๓๑/๒๘)
๓ ดูรายละเอียดข้อ ๗/๖๓-๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควร
กำหนดรู้ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเจริญธรรมที่
ควรเจริญ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าพึงศึกษา คือ
พึงประพฤติ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ
รวมความว่า พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระ
ภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โธตกะ)
ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน
มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล
บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน
[๓๒] (ท่านโธตกะทูลถามว่า)
ข้าพระองค์ย่อมเห็นพระองค์ผู้ไม่มีเครื่องกังวล
เป็นพราหมณ์ เสด็จจาริกอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์นั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้อง
ข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายเถิด (๓)

ว่าด้วยเทพ ๓
คำว่า ข้าพระองค์ย่อมเห็น ... ในเทวโลกและมนุษยโลก อธิบายว่า
คำว่า เทวะ ได้แก่ เทพ ๓ จำพวก คือ
๑. สมมุติเทพ
๒. อุบัติเทพ
๓. วิสุทธิเทพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
สมมุติเทพ เป็นอย่างไร
คือ พระราชา พระราชกุมาร พระราชเทวี เรียกว่าสมมุติเทพ
อุบัติเทพ เป็นอย่างไร
คือ เทวดาชั้นจาตุมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์ เทวดาชั้นยามา เทวดาชั้นดุสิต
เทวดาชั้นนิมมานรดี เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหม
และเทวดาชั้นสูงขึ้นไปกว่านั้น เรียกว่าอุบัติเทพ
วิสุทธิเทพ เป็นอย่างไร
คือ พระอรหันตขีณาสพ ผู้เป็นสาวกของพระตถาคต เรียกว่าวิสุทธิเทพ
และพระปัจเจกพุทธเจ้า ก็เรียกว่าวิสุทธิเทพ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นเทพ เป็น
อติเทพ และเป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ยิ่งกว่าสมมุติเทพ อุบัติเทพ และวิสุทธิเทพทั้งหลาย
ทรงเป็นราชสีห์ยิ่งกว่าราชสีห์ เป็นนาคยิ่งกว่านาค เป็นผู้นำหมู่ยิ่งกว่าผู้นำหมู่
เป็นพระมุนียิ่งกว่าพระมุนี เป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา
คำว่า ข้าพระองค์ย่อมเห็น ... ในเทวโลกและมนุษยโลก อธิบายว่า ข้า
พระองค์ย่อมเห็น คือ แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณาเห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นเทพ
ผู้ทรงเป็นอติเทพ ผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพ รวมความว่า ข้าพระองค์ย่อมเห็น...
ในเทวโลกและมนุษยโลก
คำว่า ไม่มีเครื่องกังวล ในคำว่า ไม่มีเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เสด็จ
จาริกอยู่ อธิบายว่า เครื่องกังวลคือราคะ เครื่องกังวลคือโทสะ เครื่องกังวลคือโมหะ
เครื่องกังวลคือมานะ เครื่องกังวลคือทิฏฐิ เครื่องกังวลคือกิเลส เครื่องกังวลคือทุจริต
เครื่องกังวลเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอน
โคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้น
ต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีเครื่องกังวล

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่าเป็นพราหมณ์
คำว่า เป็นพราหมณ์ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าเป็นพราหมณ์
เพราะทรงลอยธรรม ๗ ประการได้แล้ว คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
๑. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว
๒. ลอยวิจิกิจฉาได้แล้ว
๓. ลอยสีลัพพตปรามาสได้แล้ว
๔. ลอยราคะได้แล้ว
๕. ลอยโทสะได้แล้ว
๖. ลอยโมหะได้แล้ว
๗. ลอยมานะได้แล้ว
คือ พระผู้มีพระภาคทรงลอยบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง
ก่อภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และ
มรณะต่อไปได้แล้ว
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ)
บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากมลทิน
เป็นผู้ประเสริฐ มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง
ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์๑
คำว่า เสด็จจาริกอยู่ ได้แก่ เสด็จเที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ไม่มีเครื่องกังวล เป็นพราหมณ์ เสด็จ
จาริกอยู่
คำว่า พระองค์ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ เพราะเหตุนั้น
ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์ เป็นคำที่โธตกพราหมณ์เรียกพระผู้มีพระภาค
คำว่า ขอนมัสการ อธิบายว่า ขอนมัสการ คือ ขอสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา ด้วยกาย วาจา ใจ ด้วยการปฏิบัติเอื้อประโยชน์ หรือด้วยการปฏิบัติธรรม
ถูกต้องตามหลักธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๕/๔๓๖, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๒๕/๑๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ผู้มีสมันตจักขุ อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณตรัสเรียกว่า
สมันตจักขุ พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม
เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วยพระสัพพัญญุตญาณนั้น
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
สิ่งไร ๆ ในไตรโลกธาตุนี้
พระปัญญาจักขุของพระตถาคตนั้น ไม่เห็น ไม่มีเลย
อนึ่ง ธรรมชาติอะไร ๆ ที่ควรรู้
พระพุทธญาณไม่รู้แจ้ง ก็ไม่มี
ธรรมชาติที่ควรแนะนำใดมีอยู่
พระตถาคตได้ทรงทราบธรรมชาติที่ควรแนะนำนั้นทั้งหมด
เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงชื่อว่าผู้มีสมันตจักขุ๑
รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ขอพระองค์
โปรดปลดเปลื้องข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายเถิด อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล จึงชื่อว่าผู้สักกะ
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก ทรงมีทรัพย์ จึงชื่อ
ว่าผู้สักกะ
พระองค์ทรงมีทรัพย์เหล่านี้ คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ
ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา ทรัพย์คือ
สติปัฏฐาน ทรัพย์คือสัมมัปปธาน ทรัพย์คืออิทธิบาท ทรัพย์คืออินทรีย์ ทรัพย์
คือพละ ทรัพย์คือโพชฌงค์ ทรัพย์คือมรรค ทรัพย์คือผล ทรัพย์คือนิพพาน
พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก ทรงมีทรัพย์ด้วยทรัพย์ที่เป็นรัตนะ
หลายอย่างเหล่านี้ จึงชื่อว่าผู้สักกะ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๓๐-๔๓๑, ขุ.ป. ๓๑/๑๒๑/๑๓๖-๑๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสามารถ คือ ทรงองอาจ อาจหาญ มี
ความสามารถ กล้า กล้าหาญ ก้าวหน้า ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี
ทรงละภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้า จึงชื่อว่าผู้สักกะ

ว่าด้วยความสงสัย
วิจิกิจฉา เรียกว่า ความสงสัย ได้แก่ ความสงสัยในทุกข์ ความสงสัยใน
ทุกขสมุทัย ความสงสัยในทุกขนิโรธ ความสงสัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความ
สงสัยในส่วนเบื้องต้น ความสงสัยในส่วนเบื้องปลาย ความสงสัยทั้งในส่วนเบื้อง
ต้นและส่วนเบื้องปลาย ความสงสัยในปฏิจจสมุปบาทว่าเพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย
ธรรมนี้จึงมี ความสงสัย กิริยาที่สงสัย ภาวะที่สงสัย ความเคลือบแคลง ความลังเล
ความเห็นเป็น ๒ ฝ่าย ๒ ทาง ความไม่แน่ใจ ความยึดถือหลายอย่าง ความ
ไม่ตกลงใจ ความตัดสินใจไม่ได้ ความกำหนดถือไม่ได้๑ ความหวาดหวั่นแห่งจิต
ความติดขัดในใจเห็นปานนี้
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้องข้าพระองค์จาก
ความสงสัยทั้งหลายเถิด อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดเปลื้องข้าพระองค์ โปรด
ปลดเปลื้องข้าพระองค์ คือ โปรดปล่อย ปลดปล่อย ถอน ฉุดรั้งข้าพระองค์ ได้แก่
ทรงให้ข้าพระองค์ออกจากลูกศรคือความสงสัยเถิด รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้
สักกะ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้องข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายเถิด ด้วย
เหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
ข้าพระองค์ย่อมเห็นพระองค์ผู้ไม่มีเครื่องกังวล
เป็นพราหมณ์ เสด็จจาริกอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ข้าพระองค์ขอนมัสการพระองค์นั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ขอพระองค์โปรดปลดเปลื้อง
ข้าพระองค์จากความสงสัยทั้งหลายเถิด

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความใน อภิ.สงฺ (แปล) ๓๔/๔๒๕/๑๒๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
[๓๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใคร ๆ
ผู้มีความสงสัยในโลกได้
แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรม๑อันประเสริฐ
ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้ (๔)
คำว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง อธิบายว่า เราไม่อาจเปลื้อง ปลดเปลื้อง
ปล่อย ปลดปล่อย ถอนเธอขึ้น ได้แก่ ให้เธอถอนออก ให้ขึ้นจากลูกศรคือ
ความสงสัยได้ รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เราไม่อาจ คือ ไม่สามารถ ไม่อุตสาหะ ไม่พยายาม ไม่ทำ
ความอุตสาหะ ไม่ทำความหมั่นเพียร ไม่ทำความพยายาม ไม่ทำความทรงจำ
ไม่ทำความเป็นผู้กล้า ได้แก่ ไม่ให้ฉันทะเกิด คือ ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่
ให้บังเกิดขึ้น เพื่อแสดงธรรม(ปลดเปลื้อง) บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ เกียจคร้าน
ละความเพียร ไม่ปฏิบัติ รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ไม่มีใครอื่นที่จะทำให้สัตว์เหล่านั้นหลุดพ้นได้ ถ้าสัตว์เหล่านั้นจะ
พึงหลุดพ้นได้ สัตว์เหล่านั้นเมื่อปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเหมาะสม ปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก
ปฏิบัติเอื้อประโยชน์ ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรมด้วยตนเอง ก็จะพึงหลุดพ้น
ได้เอง ด้วยเรี่ยวแรง ด้วยกำลัง ด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่น ด้วย
เรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่น
ของบุรุษของตนเองเท่านั้น รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง อย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “จุนทะ ข้อที่บุคคลซึ่งตนเองก็จมดิ่งอยู่
จักฉุดผู้อื่นที่จมดิ่งอยู่แล้วขึ้นมาได้ เป็นไปไม่ได้ ข้อที่บุคคลผู้มิได้ฝึกฝน มิได้อบรม
ยังมิได้ดับกิเลสด้วยตนเอง จักฝึกฝน อบรมผู้อื่น ทำผู้อื่นให้ดับกิเลส เป็นไปไม่ได้
เลย”๒รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้องอย่างนี้บ้าง สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๗๑/๕๓๘ เป็น อภิชานมาโน แปลว่ารู้แจ้ง
๒ ม.มู. ๑๒/๘๗/๖๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
ตนทำชั่วเอง ก็เศร้าหมองเอง ไม่ทำชั่ว ก็บริสุทธิ์เอง
ความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน
คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้๑
รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง แม้ด้วยประการฉะนี้
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ฉันนั้นเหมือนกันแหละพราหมณ์
นิพพานมีอยู่ ทางไปนิพพานมีอยู่ เรา(ตถาคต)ผู้ชักชวนมีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้
สาวกที่เราสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกสำเร็จนิพพานอันถึง
ที่สุดโดยส่วนเดียว บางพวกก็ไม่สำเร็จ ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตก็
เป็นแต่ผู้บอกทาง พระพุทธเจ้าก็เพียงบอกทางให้ บุคคลผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง จะ
พึงหลุดพ้นได้ ด้วยประการฉะนี้”๒ รวมความว่า เราไม่สามารถปลดเปลื้อง
อย่างนี้บ้าง
คำว่า โธตกะ ... ใคร ๆ ผู้มีความสงสัยในโลกได้ อธิบายว่า บุคคลผู้มี
ความสงสัย คือ มีความแคลงใจ มีความระแวง มีความเห็นสองจิตสองใจ มี
ความข้องใจ
คำว่า ใคร ๆ ได้แก่ ใคร ๆ คือ เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์
บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก๓ รวมความว่า โธตกะ
... ใคร ๆ ผู้มีความสงสัยในโลกได้
คำว่า แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐ อธิบายว่า อมตนิพพานตรัส
เรียกว่า ธรรมอันประเสริฐ ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้ง
อุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ธ. ๒๕/๑๖๕/๔๖, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๘/๔๑
๒ ม.อุ. ๑๔/๗๗/๕๗-๕๘
๓ ดูรายละเอียดข้อ ๔/๕๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า อันประเสริฐ ได้แก่ ธรรมอันเลิศ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า
สูงสุด ยอดเยี่ยม
คำว่า เมื่อรู้ ได้แก่ เมื่อรู้ คือ เมื่อรู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอด รวมความว่า
แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐ
คำว่า เธอ ... ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้ อธิบายว่า
เธอก็พึงข้าม คือ ก้าวล่วง ล่วงเลยกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะได้
ด้วยประการฉะนี้ รวมความว่า เธอ ... ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ ด้วยประการฉะนี้
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
โธตกะ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใคร ๆ
ผู้มีความสงสัยในโลกได้
แต่เธอเมื่อรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐ
ก็จะพึงข้ามโอฆะนี้ได้เองด้วยประการฉะนี้
[๓๔] (ท่านโธตกะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอนวิเวกธรรม
ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ
ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล
เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย เที่ยวไปอยู่ (๕)
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ ... ตรัสสอน ในคำว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอน อธิบายว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์โปรดตรัสสอน คือ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์โปรดทรงอนุเคราะห์ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์โปรดทรง
เอื้อเฟื้อ รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์... ตรัสสอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ทรงพระกรุณา ได้แก่ ทรงพระกรุณา คือ ทรงเอ็นดู รักษา อนุเคราะห์
เอื้อเฟื้อ รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอน
คำว่า วิเวกธรรม ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ อธิบายว่า อมตนิพพานตรัส
เรียกว่า วิเวกธรรม ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด
เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
คำว่า ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ ได้แก่ ที่ข้าพระองค์พึงรู้ คือ พึงรู้ทั่ว
รู้เฉพาะ แทงตลอด บรรลุ ถูกต้อง ทำให้แจ้ง รวมความว่า วิเวกธรรม ที่
ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
คำว่า และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ อธิบายว่า
อากาศไม่ขัดข้อง คือ จับต้องไม่ได้ ไม่ติด ไม่พัวพัน ฉันใด ข้าพระองค์ไม่ขัดข้อง
คือ ไม่ยึดถือ ไม่ติด ไม่พัวพัน ฉันนั้น รวมความว่า ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ
อย่างนี้บ้าง
อากาศย้อมไม่ได้ด้วยน้ำครั่ง น้ำขมิ้น สีเขียว หรือสีน้ำฝาด ฉันใด ข้าพระองค์
ไม่กำหนัด ไม่ขัดเคือง ไม่ลุ่มหลง ไม่เศร้าหมอง ฉันนั้น รวมความว่า ไม่ขัดข้อง
เหมือนอากาศ อย่างนี้บ้าง
อากาศไม่กำเริบ ไม่พยาบาท ไม่หดหู่ ไม่กระทบกระทั่ง ฉันใด ข้าพระ-
องค์ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่หดหู่ ไม่กระทบ ไม่กระทั่ง ฉันนั้น รวมความว่า
ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ อย่างนี้บ้าง
คำว่า ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล ในคำว่า ข้าพระองค์จะพึงสงบ
อยู่ในที่นี้แล เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย เที่ยวไปอยู่ อธิบายว่า เป็นผู้อยู่ในที่นี้แล คือ
เป็นผู้นั่งอยู่ในที่นี้แล เป็นผู้นั่งอยู่แล้วบนอาสนะนี้แล เป็นผู้นั่งอยู่ในบริษัทนี้แล
รวมความว่า ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง สงบได้แล้ว คือ เข้าไปสงบได้แล้ว สงบเย็นแล้ว ดับได้แล้ว
สงบระงับได้แล้ว ในที่นี้แล รวมความว่า สงบอยู่ในที่นี้แล อย่างนี้บ้าง
คำว่า เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย อธิบายว่า การอาศัย ๒ อย่าง คือ (๑) การ
อาศัยด้วยอำนาจตัณหา (๒) การอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าการอาศัย
ด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าการอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
ผู้ใดละการอาศัยด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ ไม่
อาศัยตา ไม่อาศัยหู ไม่อาศัยจมูก ไม่อาศัยลิ้น ไม่อาศัยกาย ไม่อาศัยใจ ไม่ยึดอาศัย
คือ ไม่อาศัย ไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดใจ ในรูป ฯลฯ เสียง ฯลฯ
กลิ่น ฯลฯ รส ฯลฯ โผฏฐัพพะ ฯลฯ ธรรมารมณ์ ฯลฯ ตระกูล ฯลฯ คณะ
ฯลฯ อาวาส ฯลฯ ลาภ ฯลฯ ยศ ฯลฯ สรรเสริญ ฯลฯ สุข ฯลฯ จีวร ฯลฯ
บิณฑบาต ฯลฯ เสนาสนะ ฯลฯ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ฯลฯ กามธาตุ ฯลฯ
รูปธาตุ ฯลฯ อรูปธาตุ ฯลฯ กามภพ ฯลฯ รูปภพ ฯลฯ อรูปภพ ฯลฯ สัญญาภพ
ฯลฯ อสัญญาภพ ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญาภพ ฯลฯ เอกโวการภพ๑ ฯลฯ
จตุโวการภพ๒ ฯลฯ ปัญจโวการภพ๓ ฯลฯ อดีต ฯลฯ อนาคต ฯลฯ ปัจจุบัน
ฯลฯ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ได้รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง
ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้อง มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่
คำว่า เที่ยวไปอยู่ ได้แก่ เที่ยวไปอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล
เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย เที่ยวไปอยู่ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น จึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ
ขอพระองค์ทรงพระกรุณาตรัสสอนวิเวกธรรม
ที่ข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
และโดยวิธีที่ข้าพระองค์ไม่ขัดข้องเหมือนอากาศ
ข้าพระองค์จะพึงสงบอยู่ในที่นี้แล
เป็นผู้ไม่ยึดอาศัย เที่ยวไปอยู่

เชิงอรรถ :
๑ เอกโวการภพ คือภพที่ประกอบด้วยรูปขันธ์ ๑ หรือภพที่มีขันธ์ ๑ ได้แก่ อสัญญาภพ (ขุ.ม.อ. ๓/๔๒)
๒ จตุโวการภพ คือภพที่ประกอบด้วยอรูปขันธ์ ๔ หรือภพที่มีขันธ์ ๔ ได้แก่ อรูปภพ (ขุ.ม.อ. ๓/๔๒)
๓ ปัญจโวการภพ คือภพที่ประกอบด้วยขันธ์ ๕ หรือภพที่มีขันธ์ ๕ ปัญจโวการภพนี้เป็นกามภพด้วย
เป็นเอกเทศแห่งรูปภพด้วย (ขุ.ม.อ. ๓/๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
[๓๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
บุคคลรู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ
เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
เราจักกล่าวความสงบนั้น ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แก่เธอ (๖)
คำว่า เราจักกล่าวความสงบนั้น ... แก่เธอ อธิบายว่า เราจักกล่าว คือ
ชี้แจง บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ
ความสงบ คือ ความเข้าไปสงบ ความสงบเย็น ความดับ ความสงบระงับราคะ
ความสงบโทสะ ความสงบโมหะ ฯลฯ
เราจักกล่าว ชี้แจง บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศความสงบ คือ ความเข้าไปสงบ ความสงบเย็น ความดับ ความสงบ
ระงับโกธะ ฯลฯ อุปนาหะ ฯลฯ มักขะ ฯลฯ ปฬาสะ ฯลฯ อิสสา ฯลฯ มัจฉริยะ
ฯลฯ มายา ฯลฯ สาเถยยะ ฯลฯ ถัมภะ ฯลฯ สารัมภะ ฯลฯ มานะ ฯลฯ อติมานะ
ฯลฯ มทะ ฯลฯ ปมาทะ ฯลฯ
เราจักกล่าว ชี้แจง บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศความสงบ คือ ความเข้าไปสงบ ความสงบเย็น ความดับ ความสงบ
ระงับกิเลสทุกชนิด ฯลฯ ทุจริตทุกทาง ฯลฯ ความกระวนกระวายทุกอย่าง ฯลฯ
ความเร่าร้อนทุกสถาน ฯลฯ ความเดือดร้อนทุกประการ ฯลฯ อกุสลาภิสังขาร
ทุกประเภท รวมความว่า เราจักกล่าวความสงบนั้น ... แก่เธอ
คำว่า โธตกะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ เป็นคำที่
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ
คำว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว ในคำว่า ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเองในธรรมที่
เราเห็นแล้ว อธิบายว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว คือ ในธรรมที่เรารู้แล้ว ในธรรมที่
เราเทียบเคียงแล้ว ในธรรมที่เราพิจารณาแล้ว ในธรรมที่เราทำให้แจ้งแล้ว ใน
ธรรมที่เราทำให้กระจ่างแล้ว ได้แก่ ในธรรมที่เราเห็นแล้ว ในธรรมที่เรารู้แล้ว ใน
ธรรมที่เราเทียบเคียงแล้ว ในธรรมที่เราพิจารณาแล้ว ในธรรมที่เราทำให้แจ้งแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
ในธรรมที่เราทำให้กระจ่างแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ฯลฯ ได้แก่ ในธรรม
ที่เราเห็นแล้ว ในธรรมที่เรารู้แล้ว ในธรรมที่เราเทียบเคียงแล้ว ในธรรมที่เรา
พิจารณาแล้ว ในธรรมที่เราทำให้แจ้งแล้ว ในธรรมที่เราทำให้กระจ่างแล้วว่า
“สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด ล้วนมีความดับไปเป็น
ธรรมดา” รวมความว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เราจักกล่าวถึงทุกข์ ในทุกข์ที่ได้เห็นแล้ว จักกล่าวถึงสมุทัย ใน
สมุทัยที่ได้เห็นแล้ว จักกล่าวถึงมรรค ในมรรคที่ได้เห็นแล้ว จักกล่าวถึงนิโรธใน
นิโรธที่ได้เห็นแล้ว รวมความว่า ในธรรมที่เราเห็นแล้ว อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง (เราจักกล่าวธรรม) ที่เห็นได้เอง ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา เชิญมาดูได้
ควรน้อมเข้ามาในตน วิญญูชนพึงรู้ด้วยตนเองในธรรมที่เราเห็นแล้ว รวมความว่า
ในธรรมที่เราเห็นแล้ว อย่างนี้บ้าง
คำว่า ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง อธิบายว่า เราจักกล่าวธรรมที่รู้ด้วยตนเอง
ธรรมที่ประจักษ์แก่ตนเอง มิใช่โดยการเชื่อผู้อื่นว่าธรรมนี้เป็นดังนี้ ๆ คือ มิใช่โดย
การเล่าลือ มิใช่โดยการถือสืบ ๆ กันมา มิใช่โดยการอ้างตำรา มิใช่โดยตรรก
มิใช่โดยการอนุมาน มิใช่โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล มิใช่เพราะเข้าได้กับ
ทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว รวมความว่า ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเองในธรรมที่เราเห็นแล้ว
คำว่า บุคคลรู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่ อธิบายว่า บุคคลรู้
ชัดแล้ว คือ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ได้แก่
บุคคลรู้ชัดแล้ว เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า
“สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ฯลฯ ได้แก่ บุคคลรู้แล้ว เทียบเคียง พิจารณา ทำให้
กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
คำว่า มีสติ ได้แก่ มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ (๑) ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญ
สติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ ผู้นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ
คำว่า เที่ยวไปอยู่ ได้แก่ เที่ยวไปอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า บุคคลรู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ
เที่ยวไปอยู่ทุกขณะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ตัณหาตรัส
เรียกว่า วิสัตติกา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูล
คือโลภะ๑
คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมายอย่างไร
ฯลฯ ซ่านไป ขยายไป๒ ฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสัตติกา
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก๓
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า บุคคลผู้มีสติ พึง
ข้าม คือ พึงข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
รวมความว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระ
ภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
บุคคลรู้ชัดความสงบใดแล้ว มีสติ
เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
เราจักกล่าวความสงบนั้น ที่รู้ประจักษ์ด้วยตนเอง
ในธรรมที่เราเห็นแล้ว แก่เธอ
[๓๖] (ท่านโธตกะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจความสงบอันสูงสุดนั้น
ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ (๗)
คำว่า นั้น ในคำว่า ข้าพระองค์ชอบใจ...นั้น อธิบายว่า ข้าพระองค์พอใจ
ชอบใจ คือ เบิกบานใจ อนุโมทนา ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่ง
หวังพระดำรัส คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำพร่ำสอน รวมความว่า
ข้าพระองค์ชอบใจ...นั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒๒/๑๓๒
๓ ดูรายละเอียดข้อ ๔/๕๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหา
คุณอันยิ่งใหญ่ ... ความสงบอันสูงสุด อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อย่างไร
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสีลขันธ์ใหญ่ จึงชื่อว่าทรงแสวง
หาคุณอันยิ่งใหญ่ ฯลฯ “พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน” จึงชื่อว่าผู้
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่๑
คำว่า ความสงบอันสูงสุด อธิบายว่า อมตนิพพานตรัสเรียกว่า ความสงบ
ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา
เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
คำว่า สูงสุด ได้แก่ เลิศ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด ยอดเยี่ยม
รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ... ความสงบอันสูงสุด
คำว่า ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่ อธิบายว่า บุคคลรู้ชัดแล้ว คือ
เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง”
ฯลฯ ได้แก่ บุคคลรู้ชัดแล้ว เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้ง
แล้วว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไป
เป็นธรรมดา”
คำว่า มีสติ ได้แก่ มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ (๑) ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญ
สติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ บุคคลนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ
คำว่า เที่ยวไปอยู่ ได้แก่ เที่ยวไปอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า
วิสัตติกา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๒
คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมายอย่างไร
ฯลฯ ซ่านไป ขยายไป ฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสัตติกา

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๓/๑๓๓-๑๓๕
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ตัณหานี้ที่ชื่อว่า
วิสัตติกาในโลกนี้ บุคคลผู้มีสติพึงข้าม คือ พึงข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วง
เลยตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ รวมความว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกา
ในโลกได้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์ชอบใจความสงบอันสูงสุดนั้น
ที่บุคคลรู้ชัดแล้ว มีสติเที่ยวไปอยู่
พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
[๓๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่าเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว
อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย (๘)
คำว่า เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เธอรู้ชัด คือ รู้ทั่ว รู้เฉพาะ
แทงตลอดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมความว่า เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
คำว่า โธตกะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ เป็นคำที่พระ
ผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โธตกะ

ว่าด้วยธรรมชั้นสูงชั้นต่ำและชั้นกลาง
คำว่า ชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง อธิบายว่า
อนาคต ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง อดีต ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ ปัจจุบัน ตรัสเรียก
ว่า ชั้นกลาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
เทวโลก ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง อบายโลก ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ มนุษยโลก
ตรัสเรียกว่า ชั้นกลาง
อีกนัยหนึ่ง กุศลธรรม ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง อกุศลธรรม ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ
อัพยากตธรรม ตรัสเรียกว่า ชั้นกลาง
อรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง กามธาตุ ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ รูปธาตุ ตรัส
เรียกว่า ชั้นกลาง
สุขเวทนา ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง ทุกขเวทนา ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ อทุกขมสุข-
เวทนา ตรัสเรียกว่า ชั้นกลาง
เบื้องสูงจากฝ่าเท้าขึ้นไป ตรัสเรียกว่า ชั้นสูง เบื้องต่ำจากปลายผมลงมา
ตรัสเรียกว่า ชั้นต่ำ ตรงกลาง ตรัสเรียกว่า ชั้นกลาง รวมความว่า ชั้นสูง ชั้นต่ำ
และชั้นกลาง
คำว่า เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่าเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว อธิบายว่า เธอรู้แล้ว
คือ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า นี้เป็น
เครื่องข้อง นี้เป็นเครื่องติดพัน นี้เป็นเครื่องผูกพัน นี้เป็นเครื่องพัวพัน รวมความว่า
เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่าเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว
คำว่า ตัณหา ในคำว่า อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยภพใหญ่เลย ได้แก่
รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า เพื่อภพน้อยภพใหญ่เลย อธิบายว่า อย่าก่อ คือ อย่าให้เกิด อย่า
ให้เกิดขึ้น อย่าให้บังเกิด อย่าให้บังเกิดขึ้น ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งตัณหา เพื่อภพน้อยภพใหญ่ คือ เพื่อกรรมวัฏและวิปากวัฏ
เพื่อกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ เพื่อวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ เพื่อ
กรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ เพื่อวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ เพื่อกรรมวัฏ
เป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ เพื่อวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ เพื่อภพต่อไป
เพื่อคติต่อไป เพื่อการถือกำเนิดต่อไป เพื่อปฏิสนธิต่อไป เพื่อการบังเกิดขึ้นแห่ง
อัตภาพต่อไป รวมความว่า อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยภพใหญ่เลย ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๕. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
เธอรู้ชัดธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เธอรู้ชัดธรรมนั้นว่าเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว
อย่าได้ก่อตัณหาเพื่อภพน้อยภพใหญ่เลย
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ โธตกมาณพ ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่พระ
องค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
โธตกมาณวปัญหานิทเทสที่ ๕ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของอุปสีวมาณพ
[๓๘] (ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว
ไม่ได้อาศัย (ใคร ๆ หรือสิ่งใด ๆ)
จึงไม่สามารถข้ามห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอารมณ์
ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว พึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้ (๑)
คำว่า ผู้เดียว ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว ... ห้วง
กิเลสอันยิ่งใหญ่ได้ อธิบายว่า ข้าพระองค์อาศัยบุคคลหรือธรรมใดข้าม ข้ามไป
ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยห้วงกิเลสใหญ่ คือ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ
ข้าพระองค์ไม่มีบุคคล หรือธรรมนั้นเป็นเพื่อน

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่าสักกะ
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้สักกะเสด็จออก
ผนวชจากศากยตระกูล จึงชื่อว่าผู้สักกะ
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก มีทรัพย์ จึงชื่อว่าผู้
สักกะ
พระองค์ทรงมีทรัพย์เหล่านี้ คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ
ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา ทรัพย์คือ
สติปัฏฐาน ทรัพย์คือสัมมัปปธาน ทรัพย์คืออิทธิบาท ทรัพย์คืออินทรีย์ ทรัพย์คือ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๗๖-๑๐๘๓/๕๓๘-๕๔๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
พละ ทรัพย์คือโพชฌงค์ ทรัพย์คือมรรค ทรัพย์คือผล ทรัพย์คือนิพพาน
พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก ทรงมีทรัพย์ด้วยทรัพย์ที่เป็นรัตนะหลาย
อย่างเหล่านี้ จึงชื่อว่าผู้สักกะ
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสามารถ คือ ทรงองอาจ อาจหาญ มี
ความสามารถ กล้า กล้าหาญ ก้าวหน้า ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี
ทรงละภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้า จึงชื่อว่าผู้สักกะ
รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว ... ห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ได้
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ
คำว่า อุปสีวะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ รวมความว่า
ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ไม่ได้อาศัย ในคำว่า ไม่ได้อาศัย (ใคร ๆ หรือสิ่งใด ๆ) จึงไม่
สามารถข้าม ได้แก่ ไม่ได้อาศัยบุคคล หรือธรรมเลย
คำว่า จึงไม่สามารถ ได้แก่ ไม่กล้า ไม่อาจ เป็นผู้ไม่สามารถ
คำว่า ข้าม ได้แก่ ข้าม คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยห้วงกิเลส
ใหญ่คือกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ รวมความว่า ไม่ได้อาศัย (ใคร ๆ
หรือสิ่งใด ๆ) จึงไม่สามารถข้าม
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
อารมณ์ อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ อารมณ์เครื่องยึดเหนี่ยว ที่อาศัย
ที่เข้าไปอาศัย
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณ เรียก
ว่า สมันตจักขุ พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนิน
ไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยพระสัพพัญญุตญาณนั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
สิ่งไร ๆ ในไตรโลกธาตุนี้
พระปัญญาจักขุของพระตถาคตนั้นไม่เห็น ไม่มีเลย
อนึ่ง ธรรมชาติอะไร ๆ ที่ควรรู้
พระพุทธญาณไม่รู้แจ้ง ก็ไม่มี
ธรรมชาติที่ควรแนะนำใดมีอยู่
พระตถาคตได้ทรงทราบธรรมชาติที่ควรแนะนำนั้นทั้งหมด
เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงชื่อว่า ผู้มีสมันตจักขุ๑
รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอารมณ์
คำว่า ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว ในคำว่า ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้วพึง
ข้ามห้วงกิเลสนี้ได้ ได้แก่ บุคคล หรือธรรม ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว
คำว่า พึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้ อธิบายว่า พึงข้าม คือ พึงข้ามไป ข้ามพ้น
ก้างล่วง ล่วงเลยห้วงกิเลสใหญ่คือกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ รวมความว่า
ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้วพึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบ
ทูลว่า
(ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ผู้เดียว
ไม่ได้อาศัย (ใคร ๆ หรือสิ่งใด ๆ)
จึงไม่สามารถข้ามห้วงกิเลสอันยิ่งใหญ่ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอารมณ์
ที่ข้าพระองค์ได้อาศัยแล้ว พึงข้ามห้วงกิเลสนี้ได้

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๓๑, ขุ.ป. ๓๑/๑๒๑/๑๓๖-๑๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
[๓๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ไม่มีอะไรดังนี้แล้ว
ก็จะข้ามห้วงกิเลสได้ เธอจงละกามทั้งหลาย
เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย
พิจารณาความสิ้นตัณหา ทั้งคืนทั้งวัน (๒)
คำว่า เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ อธิบายว่า
พราหมณ์นั้นได้อากิญจัญญายตนสมาบัติอยู่โดยปกติ ไม่รู้ที่อาศัยว่า “สมาบัตินี้
เป็นที่อาศัยของเรา” พระผู้มีพระภาคจึงตรัสบอกที่อาศัยและทางออกที่สูงขึ้นไปแก่
พราหมณ์นั้น พระองค์ตรัสบอกว่า เธอจงมีสติเข้าอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นแล้ว เพ่งพิจารณา คือ แลเห็น ตรวจดู
เพ่งพินิจ พิจารณาจิตและเจตสิกธรรมที่เกิดในสมาบัตินั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง
ฯลฯ เป็นทุกข์ ฯลฯ เป็นโรค ฯลฯ เป็นดุจหัวฝี ฯลฯ เป็นดุจลูกศร ฯลฯ
เป็นของลำบาก ฯลฯ เป็นอาพาธ ฯลฯ เป็นอย่างอื่น (บังคับไม่ได้) ฯลฯ
เป็นของทรุดโทรม ฯลฯ เป็นเสนียด ฯลฯ เป็นอุปัททวะ ฯลฯ เป็นภัย ฯลฯ
เป็นอุปสรรค ฯลฯ เป็นของหวั่นไหว ฯลฯ เป็นของผุพัง ฯลฯ เป็นของไม่
ยั่งยืน ฯลฯ เป็นของไม่มีที่ต้านทาน ฯลฯ เป็นของไม่มีที่หลีกเร้น ฯลฯ เป็น
ของไม่มีที่พึ่ง ฯลฯ เป็นของไม่มีที่อาศัย ฯลฯ เป็นของว่าง ฯลฯ เป็นของเปล่า
ฯลฯ เป็นของสูญ ฯลฯ เป็นอนัตตา ฯลฯ เป็นของมีโทษ ฯลฯ เป็นของแปร
ผันไปเป็นธรรมดา ฯลฯ เป็นของไม่มีแก่นสาร ฯลฯ เป็นเหตุแห่งความลำบาก
ฯลฯ เป็นความเจริญ ฯลฯ เป็นของปราศจากความเจริญ ฯลฯ เป็นของมีอาสวะ
ฯลฯ เป็นดุจเพชฌฆาต ฯลฯ เป็นของที่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ฯลฯ เป็นเหยื่อ
แห่งมาร ฯลฯ มีชาติเป็นธรรมดา ฯลฯ มีชราเป็นธรรมดา ฯลฯ มีพยาธิเป็น
ธรรมดา ฯลฯ มีมรณะเป็นธรรมดา ฯลฯ มีโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็น
ธรรมดา ฯลฯ เป็นเหตุเกิดทุกข์ ฯลฯ ตั้งอยู่ไม่ได้ ฯลฯ หาความแช่มชื่นไม่ได้
ฯลฯ เป็นโทษ ฯลฯ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า มีสติ อธิบายว่า สติ ความตามระลึกถึง ความระลึกได้เฉพาะ ฯลฯ
สัมมาสติ๑ นี้ตรัสเรียกว่า มีสติ
พราหมณ์นั้นผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป
เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยสตินี้ พราหมณ์นั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
มีสติ รวมความว่า เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ
คำว่า อุปสีวะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ เป็นคำที่
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
อุปสีวะ
คำว่า ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ไม่มีอะไรดังนี้แล้ว ก็จะข้ามห้วงกิเลสได้
อธิบายว่า อากิญจัญญายตนสมาบัติ เพราะอรรถว่า “อะไรน้อยหนึ่งย่อมไม่มี”
อากิญจัญญายตนสมาบัติ เพราะอรรถว่า “อะไรน้อยหนึ่งย่อมไม่มี” เพราะเหตุไร
พราหมณ์นั้น มีสติ เข้าวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ออกจากสมาบัตินั้นแล้ว ไม่
ให้วิญญาณนั้นมี ไม่ให้มีโดยประการต่าง ๆ ให้อันตรธานไป ย่อมเห็นว่า “อะไร
น้อยหนึ่งย่อมไม่มี” เพราะเหตุนั้น เธออาศัย คือ เข้าไปอาศัยอากิญจัญญายตน-
สมาบัติที่มีความหมายว่า “อะไรน้อยหนึ่งย่อมไม่มี” ทำให้เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง
จงข้าม คือ จงข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยห้วงกิเลสคือกาโมฆะ ภโวฆะ
ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะให้ได้ รวมความว่า ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ไม่มีอะไรดังนี้แล้ว
ก็จะข้ามห้วงกิเลสได้
คำว่า เธอจงละกามทั้งหลาย เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒)
กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๒

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๔/๕๔-๕๕
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๖-๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ละกามทั้งหลาย อธิบายว่า กำหนดรู้วัตถุกาม ละ คือ ละทิ้ง บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกิเลสกาม รวมความว่า ละกามทั้งหลาย
คำว่า เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย อธิบายว่า วิจิกิจฉาตรัสเรียกว่า
ความสงสัย ได้แก่ ความสงสัยในทุกข์ ฯลฯ ความหวาดหวั่นแห่งจิต ความติด
ขัดในใจเห็นปานนี้๑ บุคคลงด งดเว้น คือเว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่
เกี่ยวข้อง มีใจเป็นอิสระจากความสงสัยอยู่ รวมความว่า เป็นผู้งดเว้นจากความ
สงสัยทั้งหลาย อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง บุคคลงด งดเว้น คือเว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง
มีใจเป็นอิสระจากเดรัจฉานกถา๒ ๓๒ ประการอยู่ รวมความว่า เป็นผู้งดเว้น
จากความสงสัยทั้งหลาย อย่างนี้บ้าง รวมความว่า เธอจงละกามทั้งหลาย เป็นผู้
งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย
คำว่า พิจารณาความสิ้นตัณหา ทั้งคืนทั้งวัน อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า ทั้งคืน ได้แก่ ตลอดคืน
คำว่า ทั้งวัน ได้แก่ ตลอดวัน อธิบายว่า เธอจงเห็น เพ่งพิจารณา คือ
แลเห็น มองเห็น เพ่งพินิจ พิจารณาซึ่งความสิ้นตัณหา คือ ความสิ้นราคะ
สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ สิ้นคติ สิ้นการถือกำเนิด สิ้นปฏิสนธิ สิ้นภพ สิ้นสงสาร
สิ้นวัฏฏะ ตลอดกลางคืนและกลางวันเถิด รวมความว่า พิจารณาความสิ้นตัณหา
ทั้งคืนทั้งวัน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓๒/๑๖๔
๒ เดรัจฉานกถา คือถ้อยคำอันขวางทางไปสู่สวรรค์ นิพพาน หมายถึงเรื่องราวที่ภิกษุไม่ควรนำมาเป็นข้อ
ถกเถียงสนทนากัน โดยไม่เกี่ยวกับการพิจารณาสั่งสอนแนะนำทางธรรม อันทำให้คิดฟุ้งเฟ้อและพากัน
หลงเพลินเสียเวลา เสียกิจหน้าที่ที่พึงปฏิบัติตามธรรม (ที.สี.(แปล) ๙/๑๗/๗, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๕๗/๔๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เธอจงมีสติ เพ่งพิจารณาอากิญจัญญายตนสมาบัติ
ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า ไม่มีอะไรดังนี้แล้ว
ก็จะข้ามห้วงกิเลสได้ เธอจงละกามทั้งหลาย
เป็นผู้งดเว้นจากความสงสัยทั้งหลาย
พิจารณาความสิ้นตัณหา ทั้งคืนทั้งวัน
[๔๐] (ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้)
บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก
ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ (๓)
คำว่า ทั้งปวง ในคำว่า บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง ได้แก่
ทุกสิ่ง โดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง
คำว่า ทั้งปวงนี้เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด
คำว่า ในกาม อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒)
กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑
คำว่า บุคคใดคลายราคะในกามทั้งปวง อธิบายว่า บุคคลใดเป็นผู้คลาย
ราคะแล้ว คือปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว
ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะในกามทั้งหลายแล้ว โดยการข่มไว้ รวมความว่า
บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านอุปสีวทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก ฯลฯ
คำว่า อุปสีวะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ รวมความว่า
ท่านอุปสีวทูลถาม ดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๖-๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ อธิบายว่า ละ คือ
สละ เสียสละ ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นสมาบัติ ๖ เบื้องต่ำ ได้แก่ อาศัย ติด ติด
แน่น แนบแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่ออากิญจัญญายตนสมาบัติ รวมความว่า ละ
สมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
คำว่า น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง อธิบายว่า สัญญาสมาบัติ ๗
ตรัสเรียกว่า สัญญาวิโมกข์๑

ว่าด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็นวิโมกข์อันเลิศ
บรรดาสัญญาสมาบัติเหล่านั้น อากิญจัญญายตนสมาบัติ เป็นวิโมกข์อันเลิศ
ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด และยอดเยี่ยม ผู้น้อมใจไปในสัญญา-
วิโมกข์ชั้นสูง เลิศ คือ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด ยอดเยี่ยม
ด้วยอธิมุตติวิโมกข์ ได้แก่ น้อมใจเชื่อในสัญญาวิโมกข์นั้น น้อมใจไปสู่สัญญา-
วิโมกข์นั้น เที่ยวไปด้วยสัญญาวิโมกข์นั้น มากไปด้วยสัญญาวิโมกข์นั้น หนักไปใน
สัญญาวิโมกข์นั้น เอนไปในสัญญาวิโมกข์นั้น โอนไปในสัญญาวิโมกข์นั้น โน้มไป
ในสัญญาวิโมกข์นั้น มีสัญญาวิโมกข์นั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า น้อมใจไปใน
สัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
คำว่า ดำรงอยู่... ได้หรือ ในคำว่า บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ใน
พรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ เป็นคำถามด้วยความสงสัย เป็นคำ
ถามด้วยความข้องใจ เป็นคำถาม ๒ แง่ เป็นคำถามมีแง่มุมหลายหลากว่า
อย่างนี้หรือหนอ มิใช่หรือหนอ เป็นอะไรเล่าหนอ เป็นอย่างไรเล่าหนอ รวมความว่า
ดำรงอยู่... ได้หรือ
คำว่า ในนั้น ได้แก่ ในอากิญจัญญายตนสมาบัติ
คำว่า ไม่หวั่นไหว อธิบายว่า ไม่หวั่นไหว คือ ไม่พรั่นพรึง ไม่หลบหนี
ไม่อันตรธานไป ไม่เสื่อมไป อีกนัยหนึ่ง ไม่กำหนัด ไม่ขัดเคือง ไม่ลุ่มหลง ไม่
เศร้าหมอง รวมความว่า บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้น
อากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น จึงกราบทูลว่า

เชิงอรรถ :
๑ สัญญาวิโมกข์ คือ คุณธรรมชั้นสูงที่บุคคลบรรลุ มี ๗ ได้แก่รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓ (ยกเว้นเนวสัญญา-
นาสัญญายตนสมาบัติ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
(ท่านอุปสีวะทูลถาม ดังนี้)
บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก
ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้หรือ
[๔๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก
ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้ (๔)
คำว่า ทั้งปวง ในคำว่า บุคคใดคลายราคะในกามทั้งปวง ได้แก่ ทุกสิ่ง
โดยอาการทั้งปวง ทุกอย่างโดยทุกประการ ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการ
ทั้งปวง คำว่า ทั้งปวงนี้เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด
คำว่า ในกาม อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒)
กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑
คำว่า บุคคใดคลายราคะในกามทั้งปวง อธิบายว่า บุคคลใดเป็นผู้คายราคะแล้ว
คือปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คลายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว
สลัดทิ้งราคะแล้วในกามทั้งปวง โดยการข่มไว้ รวมความว่า บุคคลใดคลายราคะ
ในกามทั้งปวง
คำว่า อุปสีวะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ เป็นคำที่
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๖-๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระผู้มี-
พระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ
คำว่า ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ อธิบายว่า ละ คือ
สละ เสียสละ ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นสมาบัติ ๖ เบื้องต่ำ ได้แก่ อาศัย ติด
ติดแน่น แนบแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่ออากิญจัญญายตนสมาบัติ รวมความว่า ละ
สมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
คำว่า น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง อธิบายว่า สัญญาสมาบัติ ๗
ตรัสเรียกว่า สัญญาวิโมกข์
บรรดาสัญญาสมาบัติเหล่านั้น อากิญจัญญายตนสมาบัติ เป็นวิโมกข์อันเลิศ
ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด และยอดเยี่ยม ผู้น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์
ชั้นสูง คือ เลิศ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด ยอดเยี่ยม ด้วย
อธิมุตติวิโมกข์ ได้แก่ น้อมใจเชื่อในสัญญาวิโมกข์นั้น น้อมใจไปสู่สัญญาวิโมกข์นั้น
เที่ยวไปด้วยสัญญาวิโมกข์นั้น มากไปด้วยสัญญาวิโมกข์นั้น หนักไปในสัญญาวิโมกข์นั้น
เอนไปในสัญญาวิโมกข์นั้น โอนไปในสัญญาวิโมกข์นั้น โน้มไปในสัญญาวิโมกข์นั้น
มีสัญญาวิโมกข์นั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
คำว่า ดำรงอยู่ ในคำว่า บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้น
อากิญจัญญายตนะนั้นได้ ได้แก่ พึงดำรงอยู่ได้ ๖๐,๐๐๐ กัป
คำว่า ในนั้น ได้แก่ ในอากิญจัญญายตนสมาบัติ
คำว่า ไม่หวั่นไหว อธิบายว่า ไม่หวั่นไหว คือ ไม่พรั่นพรึง ไม่หลบหนี
ไม่อันตรธานไป ไม่เสื่อมไป
อีกนัยหนึ่ง ไม่กำหนัด ไม่ขัดเคือง ไม่ลุ่มหลง ไม่เสื่อมไป รวมความว่า
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้ ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
บุคคลใดคลายราคะในกามทั้งปวง
ละสมาบัติอื่น อาศัยแต่อากิญจัญญายตนสมาบัติ
น้อมใจไปในสัญญาวิโมกข์ชั้นสูง
บุคคลนั้นไม่หวั่นไหว ดำรงอยู่ในพรหมโลก
ชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นได้
[๔๒] (ท่านอุปสีวะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหวดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานปีไซร้
บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
มีความสงบเย็นอยู่ในพรหมโลกนั้นนั่นแลหรือ
หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก (๕)
คำว่า ถ้าบุคคลผู้นั้น... ดำรงอยู่ ในคำว่า ถ้าบุคคนั้นไม่หวั่นไหว ดำรง
อยู่ในพรหมโลกนั้นนานปีไซร้ ได้แก่ ถ้าผู้นั้นพึงดำรงอยู่ได้ถึง ๖๐,๐๐๐ กัปไซร้
คำว่า ในนั้น ได้แก่ ในอากิญจัญญายตนสมาบัติ
คำว่า ไม่หวั่นไหว อธิบายว่า ไม่หวั่นไหว ไม่พรั่นพรึง ไม่หลบหนี ไม่
อันตรธานไป ไม่เสื่อมไป
อีกนัยหนึ่ง ไม่กำหนัด ไม่ขัดเคือง ไม่ลุ่มหลง ไม่เสื่อมไป รวมความว่า
ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหวดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานปีไซร้
คำว่า นานปีไซร้ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ... นานปีไซร้
อธิบายว่า นานนับปีไม่ได้ คือ หลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี
หลายร้อยกัป หลายพันกัป หลายแสนกัป
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณ ตรัส
เรียกว่า สมันตจักขุ ฯลฯ พระตถาคต จึงชื่อว่ามีสมันตจักขุ ด้วยจักษุนั้น รวม
ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ... นานปีไซร้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว มีความสงบเย็นในพรหมโลกนั้นนั่นแล
หรือ หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก อธิบายว่า บุคคลนั้นพึงเป็นผู้ถึง
ความเป็นผู้สงบเย็น คือ เที่ยง มั่นคง แน่แท้ มีความไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา
ในพรหมโลกนั้นนั่นเอง ได้แก่ พึงดำรงอยู่อย่างนั้นเสมอกับสิ่งที่ยึดถือว่าแน่แท้ใน
พรหมโลกนั้นนั่นเอง
อีกนัยหนึ่ง พราหมณ์นั้นทูลถามถึงความแน่แท้ และความขาดสูญของบุคคล
ผู้เข้าอากิญจัญญายตนสมาบัติว่า วิญญาณของเขาพึงจุติ ขาดสูญ หาย พินาศ
ไม่พึงมีหรือ หรือว่าปฏิสนธิวิญญาณในภพใหม่พึงนิพพานในกามธาตุ รูปธาตุ
หรืออรูปธาตุ หรือว่าทูลถามถึงการปรินิพพาน และปฏิสนธิของบุคคลผู้เข้า
อากิญจัญญายตนสมาบัติว่า เขาพึงปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุใน
อากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นนั่นเอง หรือว่าวิญญาณของเขาพึงจุติ ปฏิสนธิวิญญาณ
พึงบังเกิด ในกามธาตุ รูปธาตุหรืออรูปธาตุอีก
คำว่า ของบุคคลนั้น ได้แก่ ของบุคคลนั้น คือ ของบุคคลผู้เช่นนั้น ดำรงอยู่
ดังนั้น มีประการดังนั้น เปรียบเทียบได้ดังนั้น ได้แก่ ผู้เข้าอากิญจัญญายตนสมาบัติ
อยู่แล้ว รวมความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว มีความสงบเย็นในพรหมโลกนั้น
นั่นแลหรือ หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น
จึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ถ้าบุคคลนั้นไม่หวั่นไหวดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นนานปีไซร้
บุคคลนั้นเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
มีความสงบเย็นอยู่ในพรหมโลกนั้นนั่นแลหรือ
หรือว่าวิญญาณของบุคคลนั้นจะพึงจุติอีก
[๔๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป
ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมดับไป
กำหนดไม่ได้ ฉันนั้น (๖)
คำว่า เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป ... ฉันใด อธิบายว่า เปลวแห่งไฟตรัส
เรียกว่า เปลวไฟ

ว่าด้วยลม
คำว่า ลม ได้แก่ ลมตะวันออก ลมตะวันตก ลมเหนือ ลมใต้ ลมมีฝุ่น
ลมไม่มีฝุ่น ลมหนาว ลมร้อน ลมพัดเบา ลมพัดแรง ลมบ้าหมู ลมจากปีกนก
ลมจากปีกครุฑ ลมจากใบตาล ลมจากพัด
คำว่า ถูกกำลังลมพัดไป อธิบายว่า ถูกกำลังลมพัดไป คือ พัดขึ้นไป พาไป
พาไปทั่ว กระโชก กระโชกอย่างแรง รวมความว่า เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป ฉันใด
คำว่า อุปสีวะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ เป็นคำที่พระผู้-
มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
อุปสีวะ
คำว่า ย่อมดับ ในคำว่า ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ อธิบายว่า ย่อมดับ คือ
ย่อมถึงความไม่มี ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ได้แก่ ดับ สงบ ระงับไป
คำว่า กำหนดไม่ได้ อธิบายว่า กำหนดไม่ได้ คือ ยกมาอ้างไม่ได้ นับไม่ได้
บัญญัติไม่ได้ว่า “เปลวไฟนั้นไปทิศชื่อโน้นแล้ว คือ ไปทิศตะวันออกแล้ว ไป
ทิศตะวันตกแล้ว ไปทิศเหนือแล้ว ไปทิศใต้แล้ว ไปข้างบนแล้ว ไปข้างล่างแล้ว
ไปทิศขวางแล้ว ไปทิศเฉียงแล้ว” คือ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีสาเหตุที่จะเป็น
เครื่องกำหนดได้ รวมความว่า ย่อมดับ กำหนดไม่ได้
คำว่า ฉันนั้น ในคำว่า มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ... ฉันนั้น เป็นคำทำการ
เปรียบเทียบให้สมบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ ฯลฯ มุนีก้าวล่วงกิเลส
เครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๑
คำว่า พ้นแล้วจากนามกาย อธิบายว่า มุนีนั้นพ้นแล้วจากรูปกายมาก่อน
แล้วโดยปกติ คือ ก้าวล่วงรูปกายนั้นแล้วละเสียได้ด้วยวิกขัมภนปหาน๒ มุนีนั้น
มาถึงที่สุดภพ ได้อริยมรรค ๔ ประการแล้ว เพราะเป็นผู้ได้อริยมรรค ๔ ประการ
แล้ว ท่านจึงกำหนดรู้นามกาย และรูปกายได้ เพราะเป็นผู้กำหนดรู้นามกายและ
รูปกายได้แล้ว จึงพ้น คือ หลุดพ้น หลุดพ้นด้วยดีจากนามกาย และรูปกาย
ด้วยความหลุดพ้นโดยไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างสิ้นเชิง รวมความว่า มุนีพ้นแล้วจาก
นามกาย ... ฉันนั้น
คำว่า ย่อมดับไป ในคำว่า ย่อมดับไป กำหนดไม่ได้ ได้แก่ ปรินิพพาน
ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
คำว่า กำหนดไม่ได้ อธิบายว่า มุนีนั้นปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสส-
นิพพานธาตุ กำหนดไม่ได้ คือ ยกมาอ้างไม่ได้ นับไม่ได้ บัญญัติไม่ได้ว่า “เป็น
กษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร เป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิต เป็นเทวดา
เป็นมนุษย์ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา เป็นผู้ไม่มีสัญญา เป็นผู้มี
สัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่” ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ไม่มีสาเหตุที่จะเป็นเครื่อง
กำหนด รวมความว่า ย่อมดับไป กำหนดไม่ได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
เปลวไฟถูกกำลังลมพัดไป
ย่อมดับ กำหนดไม่ได้ ฉันใด
มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมดับไป
กำหนดไม่ได้ ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๑/๑๒๗-๑๒๙
๒ วิกขัมภนปหาน หมายถึงการดับกิเลสด้วยการข่มไว้ของท่านผู้บำเพ็ญปฐมฌาน ย่อมข่มนิวรณ์ไว้ได้
ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น เป็นข้อแรกของปหาน ๕ ดูรายละเอียดจาก ขุ.ป. ๓๑/๒๔/๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
[๔๔] (ท่านอุปสีวะทูลถามว่า)
มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี
หรือว่าไม่แตกทำลายเพราะมีความแน่แท้
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี โปรดพยากรณ์ปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๗)
คำว่า มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี อธิบายว่า มุนีนั้นถึงความ
สลายไปแล้ว หรือว่าไม่มี คือ มุนีนั้นดับไปแล้ว สูญไปแล้ว หายไปแล้ว รวมความว่า
มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี
คำว่า หรือว่าไม่แตกทำลาย เพราะมีความแน่แท้ อธิบายว่า หรือว่า เที่ยง
คือ มั่นคง แน่แท้ มีความไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา ได้แก่ พึงดำรงอยู่อย่างนั้น
เสมอกับสิ่งที่ยึดถือว่าแน่แท้ ในพรหมโลกนั้น รวมความว่า หรือว่าไม่แตกทำลาย
เพราะมีความแน่แท้
คำว่า ปัญหานั้น ในคำว่า พระองค์ผู้เป็นพระมุนี โปรดพยากรณ์ปัญหา
นั้นแก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด ได้แก่ ปัญหาที่ข้าพระองค์ทูลถาม ปัญหา
ที่ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศ
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ ฯลฯ มุนีก้าวล่วงกิเลส
เครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๑
คำว่า โปรดพยากรณ์(ปัญหานั้น) ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด ได้แก่ ขอ
พระองค์โปรดตรัสบอก คือ โปรดแสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศปัญหานั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด รวมความว่า พระองค์ผู้เป็น
พระมุนี โปรดพยากรณ์ปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
คำว่า เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว อธิบายว่า เพราะพระองค์
ทรงทราบชัดแล้ว คือ ทรงรู้แล้ว เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๑/๑๒๗-๑๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
แจ่มแจ้งแล้วรวมความว่า เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว ด้วยเหตุนั้น
พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
มุนีนั้นถึงความสลายไป หรือว่าไม่มี
หรือว่าไม่แตกทำลายเพราะมีความแน่แท้
พระองค์ผู้เป็นพระมุนี โปรดพยากรณ์ปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะธรรมนั้นพระองค์ทรงทราบชัดแล้ว
[๔๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ)
มุนีผู้ถึงความสลายไป ย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ
ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด
กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น
(เพราะ) เมื่อมุนีนั้นถอนธรรมทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว
แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวง
ท่านก็ถอนได้เด็ดขาดแล้ว(เหมือนกัน) (๘)
คำว่า มุนีผู้ถึงความสลายไปย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ อธิบายว่า มุนี
ผู้ถึงความสลายไป คือ ปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ย่อมไม่มี
ประมาณ แห่งรูป ไม่มีประมาณแห่งเวทนา ไม่มีประมาณแห่งสัญญา ไม่มี
ประมาณแห่งสังขาร ไม่มีประมาณแห่งวิญญาณ คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้
ได้แก่ ท่านละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิด
ขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า มุนีผู้ถึงความสลายไป ย่อม
ไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ
คำว่า อุปสีวะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุปสีวะ เป็นคำที่
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
อุปสีวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่
มุนีนั้น อธิบายว่า ชนทั้งหลายที่ว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ
อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัยใดว่า “เป็นผู้กำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง เป็นผู้หลง เป็นผู้ยึดติด
เป็นผู้ยึดมั่น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เป็นผู้ลังเล หรือเป็นผู้ตกอยู่ในพลังกิเลส” กิเลส
เครื่องปรุงแต่งเหล่านั้นท่านละได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละกิเลสเครื่องปรุงแต่งได้แล้ว
ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวท่านโดยคติด้วยเหตุใดว่า “เป็นผู้เกิดในนรก เป็นผู้เกิดใน
กำเนิดเดรัจฉาน เป็นผู้เกิดในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป
เป็นผู้มีสัญญา เป็นผู้ไม่มีสัญญา หรือ เป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่”
ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงด้วยกิเลสใด เหตุนั้นไม่มี
ปัจจัยไม่มี สาเหตุไม่มี รวมความว่า ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด
กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น
คำว่า (เพราะ) เมื่อมุนีนั้นถอนธรรมทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว อธิบายว่า
เมื่อธรรมทั้งปวง คือ ขันธ์ทั้งปวง อายตนะทั้งปวง ธาตุทั้งปวง คติทั้งปวง อุปบัติ
(การถือกำเนิด) ทั้งปวง ปฏิสนธิทั้งปวง ภพทั้งปวง สงสารทั้งปวง วัฏฏะทั้งปวง
มุนีนั้นถอนแล้ว ถอนได้เด็ดขาดแล้ว ดึงขึ้น ดึงขึ้นได้เด็ดขาดแล้ว เพิกขึ้น เพิก
ขึ้นได้เด็ดขาดแล้ว ได้แก่ มุนีนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า (เพราะ)
เมื่อมุนีนั้นถอนธรรมทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว
คำว่า แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวง ท่านก็ถอนได้เด็ดขาดแล้ว อธิบายว่า
กิเลส ขันธ์ และอภิสังขารตรัสเรียกว่า ครรลองแห่งวาทะ วาทะ ครรลองแห่งวาทะ
ชื่อ ครรลองแห่งชื่อ ภาษา ครรลองแห่งภาษา บัญญัติและครรลองแห่งบัญญัติ
มุนีนั้นถอนแล้ว ถอนได้เด็ดขาดแล้ว คือ ดึงขึ้น ดึงขึ้นได้เด็ดขาดแล้ว เพิกขึ้น
เพิกขึ้นได้เด็ดขาดแล้ว ได้แก่ มุนีนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า แม้ครรลอง
แห่งวาทะทั้งปวง ท่านก็ถอนได้ได้เด็ดขาดแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๖. อุปสีวมาณวปัญหานิทเทส
มุนีผู้ถึงความสลายไป ย่อมไม่มี(อะไร)เป็นประมาณ
ชนทั้งหลายพึงว่ากล่าวมุนีนั้นด้วยกิเลสใด
กิเลสนั้นย่อมไม่มีแก่มุนีนั้น
(เพราะ) เมื่อมุนีนั้นถอนธรรมทั้งปวงได้เด็ดขาดแล้ว
แม้ครรลองแห่งวาทะทั้งปวง
ท่านก็ถอนได้ได้เด็ดขาดแล้ว(เหมือนกัน)
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ อุปสีวมาณพนั่งประคองอัญชลี นมัสการ
พระผู้มีพระภาคโดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็น
ศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
อุปสีวมาณวปัญหานิทเทสที่ ๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของนันทมาณพ
[๔๖] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก
คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร
ชนทั้งหลายเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณ
หรือว่าเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ว่า เป็นมุนี (๑)
คำว่า มีอยู่ ในคำว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก อธิบายว่า มีอยู่ คือปรากฏ
มี หาได้
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ ในอายตนโลก
คำว่า มุนีทั้งหลาย ได้แก่ อาชีวก นิครนถ์ ชฎิล ดาบส เรียกชื่อว่ามุนี
(ชนทั้งหลายเข้าใจกันว่า มุนีทั้งหลายในโลกเป็นเทพ แต่เทพเหล่านั้นหาใช่มุนีไม่)
รวมความว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก ฯลฯ
คำว่า นันทะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ รวมความว่า
ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ชนทั้งหลาย ในคำว่า ชนทั้งหลายกล่าวว่า ...คำกล่าวนี้นั้นเป็น
อย่างไร ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาและ
มนุษย์
คำว่า ย่อมกล่าว ได้แก่ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจง
คำว่า คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร เป็นคำทูลถามด้วยความสงสัย เป็นคำถาม
ด้วยความข้องใจ เป็นคำถาม ๒ แง่ เป็นคำถามมีแง่มุมหลายหลากว่า “อย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๘๔-๑๐๙๐/๕๔๐-๕๔๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
หรือหนอ มิใช่หรือหนอ เป็นอะไรเล่าหนอ เป็นอย่างไรเล่าหนอ” รวมความว่า
ชนทั้งหลายกล่าวว่า ... คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร
คำว่า ชนทั้งหลายเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณว่าเป็นมุนี อธิบายว่า ชน
ทั้งหลายย่อมเรียก คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงบุคคลผู้ประกอบ คือ
ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อม
ด้วยญาณในสมาบัติ ๘ หรือญาณในอภิญญา ๕ ว่าเป็นมุนี รวมความว่า ชน
ทั้งหลายเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณว่าเป็นมุนี
คำว่า หรือว่าเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ว่า เป็นมุนี อธิบายว่า
ชนทั้งหลาย ย่อมเรียก คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงบุคคลผู้ประกอบ คือ
ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อม
ด้วยความเพียรของบุคคลผู้ดำเนินชีวิตเศร้าหมอง ผู้ทำกิจที่ทำได้ยากยิ่งหลายอย่างว่า
เป็นมุนี รวมความว่า หรือว่า เรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ว่า เป็นมุนี
ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก
คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร
ชนทั้งหลายเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณ
หรือว่าเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ว่า เป็นมุนี
[๔๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้
ไม่เรียกบุคคลว่าเป็นมุนี เพราะได้เห็นเพราะได้ฟังและเพราะได้รู้
เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว
ผู้ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี (๒)
คำว่า ไม่เรียก... เพราะได้เห็น เพราะได้ฟังและเพราะได้รู้ ได้แก่ ไม่เรียก
เพราะความหมดจดแห่งรูปที่ได้เห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ไม่เรียก... เพราะได้ฟัง ได้แก่ ไม่เรียก เพราะความหมดจดแห่ง
เสียงที่ได้ยิน
คำว่า ไม่เรียก... เพราะได้รู้ ได้แก่ ไม่เรียกเพราะญาณในสมาบัติ ๘ บ้าง
ไม่เรียกเพราะญาณในอภิญญา ๕ บ้าง ไม่เรียกเพราะมิจฉาญาณบ้าง รวมความว่า
ไม่เรียก... เพราะได้เห็น เพราะได้ฟัง และเพราะได้รู้
คำว่า ชนทั้งหลายผู้ฉลาด ในคำว่า นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้
ไม่เรียกบุคคลว่าเป็นมุนี อธิบายว่า ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในขันธ์ ฉลาดในธาตุ
ฉลาดในอายตนะ ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในสติปัฏฐาน ฉลาดในสัมมัปปธาน
ฉลาดในอิทธิบาท ฉลาดในอินทรีย์ ฉลาดในพละ ฉลาดในโพชฌงค์ ฉลาดในมรรค
ฉลาดในผล ฉลาดในนิพพาน ย่อมไม่เรียก คือ ย่อมไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง
ไม่ชี้แจงบุคคลผู้ประกอบ คือ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป
เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยความสะอาดแห่งรูปที่ได้เห็น ความหมดจดแห่ง
เสียงที่ได้ยิน ญาณในสมาบัติ ๘ ญาณในอภิญญา๑ ๕ มิจฉาญาณ รูปที่ได้เห็น หรือ
เสียงที่ได้ยินว่าเป็นมุนี รวมความว่า นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่เรียก
บุคคลว่าเป็นมุนี
ว่าด้วยเสนามาร
คำว่า เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว ผู้ไม่มีความทุกข์ ไม่มี
ความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี อธิบายว่า เสนามารตรัสเรียกว่า เสนา
กายทุจริต ชื่อว่าเสนามาร วจีทุจริต ชื่อว่าเสนามาร มโนทุจริต ชื่อว่าเสนามาร ราคะ
ชื่อว่าเสนามาร โทสะ ชื่อว่าเสนามาร โมหะ ชื่อว่าเสนามาร โกธะ ฯลฯ อุปนาหะ
ฯลฯ มักขะ ฯลฯ ปฬาสะ ฯลฯ อิสสา ฯลฯ มัจฉริยะ ฯลฯ มายา ฯลฯ สาเถยยะ
ฯลฯ ถัมภะ ฯลฯ สารัมภะ ฯลฯ มานะ ฯลฯ อติมานะ ฯลฯ มทะ ฯลฯ ปมาทะ
ฯลฯ กิเลสทุกชนิด ฯลฯ ทุจริตทุกทาง ฯลฯ ความกระวนกระวายทุกอย่าง ฯลฯ
ความเร่าร้อนทุกสถาน ฯลฯ ความเดือดร้อนทุกประการ ฯลฯ อกุสลาภิสังขาร
ทุกประเภท ชื่อว่าเสนามาร สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

เชิงอรรถ :
๑ อภิญญา ๕ ได้แก่ (๑) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ (๒) ทิพพโสต หูทิพย์ (๓) เจโตปริยญาณ
กำหนดรู้ใจคนอื่นได้ (๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้ (๕) ทิพพจักขุ ตาทิพย์ (ที.ปา.
๑๑/๔๓๑/๓๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
กิเลสกามเราเรียกว่าเสนากองที่ ๑ ของท่าน
ความไม่ยินดีเราเรียกว่าเสนากองที่ ๒ ของท่าน
ความหิวกระหายเราเรียกว่าเสนากองที่ ๓ ของท่าน
ตัณหาเราเรียกว่าเสนากองที่ ๔ ของท่าน
ถีนมิทธะเราเรียกว่าเสนากองที่ ๕ ของท่าน
ความกลัวเราเรียกว่าเสนากองที่ ๖ ของท่าน
วิจิกิจฉาเราเรียกว่าเสนากองที่ ๗ ของท่าน
มักขะและถัมภะเราเรียกว่าเสนากองที่ ๘ ของท่าน
ลาภ ความสรรเสริญ สักการะและยศที่ได้มาผิด ๆ
เราเรียกว่าเสนากองที่ ๙ ของท่าน
การยกตนและข่มผู้อื่นเราเรียกว่าเสนากองที่ ๑๐ ของท่าน
มารเอ๋ย เสนาของท่านนี้ มีปกติประหารผู้มีธรรมดำ
คนขลาดเอาชนะเสนานั้นไม่ได้
แต่คนกล้า ครั้นชนะได้แล้วย่อมได้ความสุข๑
เมื่อใด เสนามารทั้งหมดและกิเลสที่สร้างเสนาฝ่ายตรงข้ามทั้งปวง ถูกชน
เหล่าใดพิชิตและทำให้ปราชัย ถูกทำลาย กำจัด ทำให้ไม่สู้หน้าแล้วด้วยอริยมรรค ๔
เมื่อนั้น ชนเหล่านั้น เรียกว่า ผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว
คำว่า ผู้ไม่มีความทุกข์ อธิบายว่า ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ
เป็นความทุกข์ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท เป็นทุกข์ ความทุกข์เหล่านี้
ชนเหล่าใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้
เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ชนเหล่านั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่มีความทุกข์
คำว่า ไม่มีความหวัง อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความหวัง ได้แก่
ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ความหวังคือตัณหานี้ ชนเหล่าใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบ
ได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ชนเหล่านั้น
ตรัสเรียกว่า ไม่มีความหวัง ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕ /๔๓๙-๔๔๒ /๔๑๖, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๒๘/๑๑๕-๑๑๖,๖๘/๒๑๐,๑๔๙/๓๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว ผู้ไม่มีความทุกข์ ไม่มี
ความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี อธิบายว่า เราเรียก คือ บอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า ชนเหล่าใดกำจัดเสนามารได้แล้ว
ไม่มีทุกข์และไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป ชนเหล่านั้นจึงเป็นมุนีในโลกได้ รวมความว่า เรา
เรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว ผู้ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริก
อยู่ว่า เป็นมุนี ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้
ไม่เรียกบุคคลว่าเป็นมุนี เพราะได้เห็นเพราะได้ฟังและเพราะได้รู้
เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว
ผู้ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี
[๔๘] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ประพฤติตนเคร่งครัด
ในหลักการของตนนั้น ข้ามชาติและชราได้บ้างหรือไม่
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้น แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๓)
คำว่า บางพวก ในคำว่า สมณพราหมณ์บางพวก ได้แก่ ทุกสิ่ง โดย
อาการทั้งหมด ทุกอย่างไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า บางพวก
นี้ เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า สมณะ ได้แก่ นักบวชพวกใดพวกหนึ่ง ซึ่งเข้าถึงการบวชเป็นปริพาชก
ถึงการบวชเป็นปริพาชกภายนอกจากธรรมวินัยนี้
คำว่า พราหมณ์ ได้แก่ คนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้กล่าวอ้างว่าตนเจริญบางพวก
รวมความว่า สมณพราหมณ์บางพวก
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก ฯลฯ
คำว่า นันทะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ รวมความว่า
ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยิน
บ้าง อธิบายว่า ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ
ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ได้แก่ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ
ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะ
เสียงที่ได้ยินบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ
ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะ
รูปที่ได้เห็นและเสียงที่ได้ยินบ้าง รวมความว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะรูปที่
ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
คำว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง อธิบายว่า ย่อมกล่าว คือ
ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ได้แก่
ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะศีลบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด
บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป
ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะวัตรบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง
ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป
ความหลุดพ้นไปเพราะศีลวัตรบ้าง รวมความว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะ
ศีลวัตรบ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง อธิบายว่า ย่อม
กล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์
ได้แก่ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะพิธีหลายอย่างบ้าง
คำว่า ได้บ้างหรือไม่ ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ... สมณพราหมณ์
พวกนั้นเป็นผู้ประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของตนนั้น... ได้บ้างหรือไม่ เป็น
คำถามด้วยความสงสัย เป็นคำถามด้วยความข้องใจ เป็นคำถาม ๒ แง่ เป็นคำถาม
มีแง่มุมหลายหลากว่า “อย่างนี้หรือหนอ มิใช่หรือหนอ เป็นอะไรเล่าหนอ เป็น
อย่างไรเล่าหนอ” รวมความว่า ได้บ้างหรือไม่
คำว่า พวกนั้น ได้แก่ สมณพราหมณ์ผู้ถือทิฏฐิ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ...
สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของตนนั้น... ได้บ้าง
หรือไม่
คำว่า ใน ... นั้น ในคำว่า เป็นผู้ประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการ
ของตนนั้น อธิบายว่า ในหลักการของตน คือ ในความถูกใจ ความพอใจ ลัทธิ
ของตน
คำว่า เคร่งครัด ได้แก่ ระวัง ระมัดระวัง คุ้มครอง ปกปัก รักษา สังวรแล้ว
คำว่า ประพฤติ ได้แก่ ประพฤติ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ... สมณ-
พราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของตนนั้น ... ได้บ้างหรือไม่
คำว่า ผู้นิรทุกข์...ข้ามชาติและชรา อธิบายว่า ข้าม คือ ข้ามไป ข้ามพ้น
ก้าวล่วง ล่วงเลยชาติชราและมรณะ
คำว่า ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำ
ว่า ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง รวมความว่า ผู้
นิรทุกข์...ข้ามชาติและชรา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระ
องค์ด้วยเถิด ได้แก่ ข้าพระองค์ขอทูลถาม คือ ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรง
ประกาศปัญหานั้นว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกแก่ข้าพระองค์เถิด รวมความว่า
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า
ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์
ด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
สมณพราหมณ์พวกนั้นเป็นผู้ประพฤติตนเคร่งครัด
ในหลักการของตนนั้น ข้ามชาติและชราได้บ้างหรือไม่
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๔๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
สมณพราหมณ์พวกนั้น
แม้ประพฤติตนเคร่งครัดอยู่ในหลักการของตนนั้น ก็จริง
แต่เรากล่าวว่า พวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้ (๔)
คำว่า บางพวก ในคำว่า สมณพราหมณ์บางพวก ได้แก่ ทุกสิ่ง โดย
อาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า บางพวก
นี้ เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด
คำว่า สมณะ ได้แก่ นักบวชพวกใดพวกหนึ่ง ซึ่งเข้าถึงการบวชเป็นปริพาชก
ถึงการบวชเป็นปริพาชกภายนอกจากธรรมวินัยนี้
คำว่า พราหมณ์ ได้แก่ คนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้กล่าวอ้างว่าตนเจริญบางพวก
รวมความว่า สมณพราหมณ์บางพวก
คำว่า นันทะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ เป็นคำที่พระ
ผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
นันทะ
คำว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะรูปที่ได้เห็นบ้างเพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
อธิบายว่า ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ
ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ได้แก่ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดงชี้แจงความหมดจด คือ
ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะ
เสียงที่ได้ยินบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ
ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะ
รูปที่ได้เห็นบ้างและเพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง รวมความว่า ย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้างเพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง อธิบายว่า ย่อมกล่าว คือ
ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ได้แก่
ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง
ชี้แจง ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป
ความหลุดพ้นไปเพราะศีลบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจง
ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป
ความหลุดพ้นไปเพราะวัตรบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจง
ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป
ความหลุดพ้นไปเพราะศีลวัตรบ้าง รวมความว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะ
ศีลวัตรบ้าง
คำว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง อธิบายว่า ย่อม
กล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์
ได้แก่ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะพิธีหลากหลายบ้าง รวม
ความว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
คำว่า แม้...ก็จริง ในคำว่า สมณพราหมณ์พวกนั้นแม้ประพฤติตน
เคร่งครัดอยู่ในหลักการของตนนั้น ก็จริง เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท ทำบท
ให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า
แม้ ... ก็จริง นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า พวกนั้น ได้แก่ สมณพราหมณ์ผู้ถือทิฏฐิอยู่
คำว่า ใน... นั้น ได้แก่ ในหลักการของตน คือ ในความถูกใจ ความพอใจ
ในลัทธิของตน
คำว่า เคร่งครัด ได้แก่ ระวัง ระมัดระวัง คุ้มครอง ปกปัก รักษา สังวรแล้ว
คำว่า ประพฤติ ได้แก่ ประพฤติ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า สมณพราหมณ์พวกนั้นแม้ประพฤติ
ตนเคร่งครัดอยู่ในหลักการของตนนั้น ก็จริง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า แต่เรากล่าวว่าพวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้ อธิบายว่า เรา
กล่าว คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า
สมณพราหมณ์พวกนั้นข้ามไม่ได้ คือ ข้ามไปไม่ได้ ข้ามพ้นไม่ได้ ก้าวล่วงไม่ได้
ล่วงเลยชาติชราและมรณะไปไม่ได้ ได้แก่ ออกจากชาติชราและมรณะไม่ได้ คือ
สลัดออกไม่ได้ ก้าวพ้นไม่ได้ ก้าวล่วงไม่ได้ ล่วงเลยจากชาติชราและมรณะไม่ได้
ได้แก่ หมุนเวียนอยู่ภายในชาติ ชราและมรณะ หมุนเวียนอยู่ภายในทางแห่งสงสาร
ไปตามชาติ ถูกชราติดตาม ถูกพยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ไม่มีที่ปกป้อง ไม่มีที่
หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย รวมความว่า สมณพราหมณ์พวกนั้นแม้
ประพฤติตนเคร่งครัดอยู่ในหลักการของตนนั้น ก็จริง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
สมณพราหมณ์พวกนั้น
แม้ประพฤติตนเคร่งครัดอยู่ในหลักการของตนนั้น ก็จริง
แต่เรากล่าวว่า พวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้
[๕๐] (ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่า
สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด (๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า บางพวก ในคำว่า สมณพราหมณ์บางพวก ได้แก่ ทุกสิ่งโดยอาการ
ทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า บางพวก นี้
เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด รวมความว่า สมณพราหมณ์บางพวก
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก
คำว่า นันทะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ รวมความว่า
ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยิน
บ้าง อธิบายว่า ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ
ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ได้แก่ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจง ความหมดจด
คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง ย่อมกล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจง ความหมดจด
คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง รวมความว่า ย่อมกล่าวความหมด
จดเพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
คำว่า ย่อมกล่าวถึงความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง อธิบายว่า ย่อมกล่าว
คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ได้แก่
ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะศีลบ้าง เพราะวัตรบ้าง ย่อมกล่าว
ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์
ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะศีลวัตรบ้าง รวมความว่า ย่อม
กล่าวถึงความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
คำว่า ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง อธิบายว่า ย่อม
กล่าว คือ ย่อมพูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์
ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะพิธีหลากหลายบ้าง รวมความว่า
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า หาก... สมณพราหมณ์พวกนั้น ในคำว่า หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนี
ตรัสว่า สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้ ได้แก่ สมณพราหมณ์ผู้
ถือทิฏฐิ
คำว่า พระองค์ผู้เป็นพระมุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ ฯลฯ
พระองค์ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่าพระมุนี
คำว่า ตรัสว่าสมณพราหมณ์พวกนั้นว่ายังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้ อธิบายว่า
สมณพราหมณ์พวกนั้น ข้ามไม่ได้ คือ ข้ามขึ้นไม่ได้ ข้ามพ้นไม่ได้ ก้าวล่วงไม่ได้
ก้าวพ้นไม่ได้ ล่วงเลยกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะไม่ได้ ได้แก่ หมุนเวียน
อยู่ภายในชาติ ชรา และมรณะ หมุนเวียนอยู่ภายในทางแห่งสงสาร ไปตามชาติ
ถูกชราติดตาม ถูกพยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ไม่มีที่ปกป้อง ไม่มีที่หลีกเร้น
ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย
คำว่า ตรัส ได้แก่ ตรัส คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า หาก...พระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่าสมณ-
พราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าในเทวโลกและ
มนุษยโลก ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้ อธิบายว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครกันเล่า
ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ จึงข้าม คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยชาติ ชรา
และมรณะไปได้
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและ
ความยำเกรง รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าใน
เทวโลกและมนุษยโลก ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ในคำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่
ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถาม คือ ทูลขอ ทูลอัญเชิญ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
ทูลให้ทรงประกาศปัญหานั้นว่า “ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์
ด้วยเถิด” รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด อธิบายว่า
ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถาม
ปัญหานั้น ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น
พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านนันทะทูลถาม ดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่ได้เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่า
สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๕๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมด
ถูกชาติและชราโอบล้อม นรชนเหล่าใดในโลกนี้
ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับรู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ
เรากล่าวว่านรชนเหล่านั้นแล
ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว (๖)
คำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์
ทั้งหมดถูกชาติและชราโอบล้อม อธิบายว่า นันทะ เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์
ทั้งหมดถูกชาติและชราหุ้มห่อไว้ โอบล้อม คือห้อมล้อม ครอบคลุม ปกคลุม
บดบังไว้แล้ว เรากล่าว คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศว่า สมณพราหมณ์ผู้ละชาติ ชราและมรณะได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อ
ไปไม่ได้ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ เราไม่กล่าวว่า สมณ-
พราหมณ์ทั้งหมดถูกชาติและชราโอบล้อม
คำว่า นรชนเหล่าใดในโลกนี้ ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้
รับรู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด อธิบายว่า นรชนเหล่าใด ละ คือ สละ ละทิ้ง บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความหมดจดแห่งรูปที่ได้เห็นทุกอย่าง ละ
ความหมดจดแห่งเสียงที่ได้ยินทุกอย่าง ฯลฯ ความหมดจดแห่งอารมณ์ที่ได้รับรู้
ทุกอย่าง ฯลฯ ความหมดจดแห่งรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ได้รับรู้
ทุกอย่าง ฯลฯ ความหมดจดแห่งศีลทุกอย่าง ฯลฯ ความหมดจดแห่งวัตรทุกอย่าง
นรชนใด ละ คือ สละ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่ง
ความหมดจดแห่งศีลวัตรทุกอย่าง รวมความว่า นรชนเหล่าใดในโลกนี้ ละรูปที่ได้
เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับรู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด
คำว่า ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง อธิบายว่า ละ คือ สละ ละทิ้ง บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์
ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะมงคลที่เล่าลือกันหลากหลาย
รูปแบบ รวมความว่า ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ตัณหา ในคำว่า นรชนเหล่าใด กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมด
อาสวะ เรากล่าวว่า นรชนเหล่านั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว ได้แก่
รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา

ว่าด้วยปริญญา ๓
คำว่า กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว อธิบายว่า กำหนดรู้ตัณหาด้วยปริญญา ๓ คือ
๑. ญาตปริญญา (การกำหนดรู้ขั้นรู้จัก)
๒. ตีรณปริญญา (การกำหนดรู้ขั้นพิจารณา)
๓. ปหานปริญญา (การกำหนดรู้ขั้นละ)
ญาตปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์กำหนดรู้ตัณหา คือ รู้ เห็นว่า “นี้รูปตัณหา นี้สัททตัณหา
นี้คันธตัณหา นี้รสตัณหา นี้โผฏฐัพพตัณหา นี้ธัมมตัณหา” นี้ชื่อว่าญาตปริญญา
ตีรณปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์ทำสิ่งที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้แล้ว พิจารณาตัณหา คือ
พิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง ... เป็นทุกข์ ... เป็นโรค ... เป็นดุจหัวฝี ...
เป็นของที่ต้องสลัดออกไป นี้ชื่อว่าตีรณปริญญา
ปหานปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์ครั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีตัณหาอีก สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในตัณหาเสีย ตัณหานั้นเธอ
ทั้งหลายละได้เด็ดขาดแล้ว จักถูกตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอน
โคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้” นี้ชื่อว่าปหานปริญญา
คำว่า กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว ได้แก่ กำหนดรู้ตัณหาด้วยปริญญา ๓ อย่าง
เหล่านี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยอาสวะ ๔
คำว่า เป็นผู้หมดอาสวะ ได้แก่ อาสวะ ๔ อย่าง คือ
๑. กามาสวะ (อาสวะคือกาม)
๒. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ)
๓. ทิฏฐาสวะ (อาสวะคือทิฏฐิ)
๔. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา)
อาสวะเหล่านี้นรชนเหล่าใดละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้น
ตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
นรชนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า เป็นผู้หมดอาสวะ ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า นรชนเหล่าใด... กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ เรา
กล่าวว่า นรชนเหล่านั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว อธิบายว่า
นรชนเหล่าใดกำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ เรากล่าว คือ บอก แสดง
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศว่า นรชนเหล่านั้นข้าม คือ
ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้น กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ
ทางแห่งสงสารทุกอย่างได้แล้ว รวมความว่า นรชนเหล่าใดกำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว
เป็นผู้หมดอาสวะ เรากล่าวว่านรชนเหล่านั้นแล ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมด
ถูกชาติและชราโอบล้อม นรชนเหล่าใดในโลกนี้
ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับรู้
หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ
เรากล่าวว่านรชนเหล่านั้นแล
ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
[๕๒] (ท่านนันทะกราบทูลว่า)
ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
นรชนเหล่าใดในโลกนี้ ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด
ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว
เป็นผู้หมดอาสวะ แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า
นรชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว (๗)
คำว่า นี้ ในคำว่า ... ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ ของพระองค์ผู้ทรง
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า ข้าพระองค์พอใจ ชอบใจ คือ เบิกบานใจ
อนุโมทนา ต้องการ ยินดี ทูลขอ ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังพระดำรัส คือ
คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำพร่ำสอนนี้
คำว่า พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค
ชื่อว่าทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อย่างไร
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสีลขันธ์อันยิ่งใหญ่ จึงชื่อว่า
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ฯลฯ “พระผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพประทับอยู่ที่ไหน
พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน” จึงชื่อว่าพระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอัน
ยิ่งใหญ่ รวมความว่า ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอัน
ยิ่งใหญ่
คำว่า ตรัสไว้ดีแล้ว ในคำว่า ข้าแต่พระโคดม ธรรมที่ปราศจากอุปธิ
พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว อธิบายว่า ตรัสไว้ดีแล้ว คือ ตรัสบอกไว้ดีแล้ว แสดงไว้ดีแล้ว
บัญญัติไว้ดีแล้ว กำหนดไว้ดีแล้ว เปิดเผยไว้ดีแล้ว จำแนกไว้ดีแล้ว ทำให้ง่ายดีแล้ว
ประกาศไว้ดีแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าแต่พระโคดม ธรรมที่ปราศจากอุปธิ อธิบายว่า กิเลส ขันธ์ และ
อภิสังขาร๑ ตรัสเรียกว่า อุปธิ
การละอุปธิ ความเข้าไปสงบอุปธิ ความสลัดทิ้งอุปธิ ความสงบระงับอุปธิ
ชื่อว่าอมตนิพพาน รวมความว่า ข้าแต่พระโคดม ธรรมที่ปราศจากอุปธิพระองค์
ตรัสไว้ดีแล้ว
คำว่า นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่ได้รับ
รู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด อธิบายว่า นรชนเหล่าใด ละ คือ สละ ละทิ้ง บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความหมดจดแห่งรูปที่ได้เห็นทุกอย่าง ได้แก่
ละ คือ สละ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความ
หมดจดแห่งเสียงที่ได้ยินทุกอย่าง ฯลฯ ความหมดจดแห่งอารมณ์ที่ได้รับรู้ทุกอย่าง
ฯลฯ ความหมดจดแห่งรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ได้รับรู้ ฯลฯ
ความหมดจดแห่งศีลทุกอย่าง ฯลฯ ความหมดแห่งวัตรทุกอย่าง ฯลฯ ละ คือ สละ
ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความหมดจดแห่งศีลวัตร
ทุกอย่าง รวมความว่า นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด
คำว่า ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง อธิบายว่า ละ คือ สละ ละทิ้ง บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความหมดจด คือ ความสะอาด ความ
บริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะมงคลที่เล่าลือกัน
หลากหลายรูปแบบ รวมความว่า ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
คำว่า นรชนเหล่าใด... กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ แม้ข้า
พระองค์ก็กล่าวว่า นรชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว อธิบายว่า

เชิงอรรถ :
๑ อภิสังขาร หมายถึงสภาพที่ปรุงแต่ง ธรรมมีเจตนาเป็นประธานอันปรุงแต่งผลแห่งการกระทำ มี ๓ อย่าง
คือ (๑) ปุญญาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นกามาวจรและรูปาวจร
(๒) อปุญญาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่ อกุศลเจตนาทั้งหลาย (๓) อาเนญชาภิสังขาร
สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคงไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔ หมายเอาภาวะที่มั่นคง
แน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน (ขุ.ป. ๓๑/๑๑๔/๑๒๘, อภิ.วิ.อ. ๒๒๖/๑๕๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา

ว่าด้วยปริญญา ๓
คำว่า กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว ได้แก่ กำหนดรู้ตัณหาด้วยปริญญา ๓ คือ
๑. ญาตปริญญา
๒. ตีรณปริญญา
๓. ปหานปริญญา
ญาตปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์กำหนดรู้ตัณหา คือ รู้ เห็นว่า “นี้รูปตัณหา นี้สัททตัณหา
นี้คันธตัณหา นี้รสตัณหา นี้โผฏฐัพพตัณหา นี้ธัมมตัณหา” นี้ชื่อว่า
ญาตปริญญา
ตีรณปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์ทำสิ่งที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้แล้ว พิจารณาตัณหา คือ
พิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร
เป็นของลำบาก เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นเสนียด เป็น
อุปัททวะ เป็นภัย เป็นอุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของผุพัง เป็นของไม่ยั่งยืน
เป็นของไม่มีที่ต้านทาน เป็นของไม่มีที่หลีกเร้น เป็นของไม่มีที่พึ่ง เป็นของไม่มีที่
อาศัย เป็นของว่าง เป็นของเปล่า เป็นของสูญ เป็นอนัตตา เป็นของมีโทษ
เป็นของแปรผันไปเป็นธรรมดา เป็นของไม่มีแก่นสาร เป็นเหตุแห่งความลำบาก
เป็นดุจเพชฌฆาต เป็นของปราศจากความเจริญ เป็นของมีอาสวะ เป็นของที่ถูก
เหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็นเหยื่อแห่งมาร มีชาติเป็นธรรมดา มีชราเป็นธรรมดา
มีพยาธิเป็นธรรมดา มีมรณะเป็นธรรมดา มีโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส
อุปายาสเป็นธรรมดา มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา เป็นเหตุเกิดทุกข์ ตั้งอยู่ไม่ได้
หาความ แช่มชื่นไม่ได้ เป็นโทษ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป นี้ชื่อว่าตีรณปริญญา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
ปหานปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์ครั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีตัณหาอีก นี้ชื่อว่าปหานปริญญา
คำว่า กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว ได้แก่ กำหนดรู้ตัณหานั้น ด้วยปริญญา ๓
อย่างเหล่านี้

ว่าด้วยอาสวะ ๔
คำว่า เป็นผู้หมดอาสวะ ได้แก่ อาสวะ ๔ อย่าง คือ
๑. กามาสวะ
๒. ภวาสวะ
๓. ทิฏฐาสวะ
๔. อวิชชาสวะ
อาสวะเหล่านี้นรชนเหล่าใดละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้น
ตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
นรชนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า เป็นผู้หมดอาสวะ ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า นรชนเหล่าใด... กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ แม้
ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า นรชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว อธิบายว่า
นรชนเหล่าใดกำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ เรากล่าว คือ บอกว่า
นรชนเหล่านั้นข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นกาโมฆะ
ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ ทางแห่งสงสารทุกอย่างได้แล้ว รวมความว่า นรชน
เหล่าใดกำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ เรากล่าวว่านรชนเหล่านั้นแล ชื่อ
ว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าแต่พระโคดม
ธรรมที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๗. นันทมาณวปัญหานิทเทส
นรชนเหล่าใดในโลกนี้ ละรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้หรือศีลวัตรได้ทั้งหมด
ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว
เป็นผู้หมดอาสวะ แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า
นรชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ นันทมาณพ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
นันทมาณวปัญหานิทเทสที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๘. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
๘. เหมกมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของเหมกมาณพ
[๕๓] (ท่านเหมกะทูลถาม ดังนี้)
ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในคำพยากรณ์นั้น (๑)
คำว่า อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใด ในคำว่า ก่อน ... อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใด
เคยพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ อธิบายว่า พราหมณ์พาวรี และอาจารย์คนอื่น ๆ
ของพราหมณ์พาวรี เคยพยากรณ์ คือ เคยบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศหลักการของตน ความถูกใจ ความพอใจ ลัทธิ อัธยาศัย
ความประสงค์ของตน รวมความว่า ก่อน ... อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์
แก่ข้าพระองค์
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านเหมกะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า ดังนี้
นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน๒
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า เหมกะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ๓
คำว่า แต่ศาสนาของพระโคดม อธิบายว่า แต่ศาสนาของพระโคดม คือ
อื่นจากศาสนาของพระโคดม ก่อนศาสนาของพระโคดม ก่อนกว่าศาสนาของพระ
โคดม ได้แก่ ก่อนกว่าศาสนาของพระพุทธเจ้า ศาสนาของพระชินเจ้า ศาสนาของ
พระตถาคต ศาสนาของพระอรหันต์ รวมความว่า แต่ศาสนาของพระโคดม

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๙๑-๑๐๙๔/๕๔๒-๕๔๓
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๔๔
๓ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๘. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ อธิบายว่า เล่ากันว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ เหตุนี้จักเป็นอย่างนี้ รวมความว่า เหตุนี้ได้เป็นมาแล้ว
อย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำว่า คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา อธิบายว่า คำ
พยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา คือ อาจารย์เหล่านั้นกล่าวธรรมที่
ตนไม่รู้ด้วยตนเอง ธรรมที่ไม่ได้ประจักษ์แก่ตนเอง โดยการเชื่อผู้อื่นว่า ธรรมนี้เป็น
ดังนี้ ๆ โดยการเล่าลือ โดยการถือสืบ ๆ กันมา โดยการอ้างตำรา โดยตรรก
โดยการอนุมาน โดยการคิดตรอง ตามแนวเหตุผล โดยเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
รวมความว่า คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำว่า คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ อธิบายว่า
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ คือ ทำให้ความวิตกเจริญ ทำให้
ความดำริเจริญ ทำให้กามวิตกเจริญ ทำให้พยาบาทวิตกเจริญ ทำให้วิหิงสาวิตก
เจริญ ทำให้ความวิตกถึงญาติเจริญ ทำให้ความวิตกถึงชนบทเจริญ ทำให้ความ
วิตกถึงความไม่ตายเจริญ ทำให้ความวิตกที่ประกอบด้วยความเอ็นดูเจริญ ทำให้
ความวิตกที่ประกอบด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญเจริญ ทำให้ความวิตกที่
ประกอบด้วยความปรารถนามิให้ใครดูหมิ่นเจริญ รวมความว่า คำพยากรณ์
ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
คำว่า ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในคำพยากรณ์นั้น อธิบายว่า ข้าพระองค์จึง
ไม่ยินดี คือ ไม่พอใจ ไม่ยอมรับ ไม่อยากได้ในคำพยากรณ์นั้น รวมความว่า
ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในคำพยากรณ์นั้น ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านเหมกะทูลถาม ดังนี้)
ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในคำพยากรณ์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๘. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
[๕๔] (ท่านเหมกะทูลถามว่า)
ข้าแต่พระมุนี บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว
มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม(นั้น)
ที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา แก่ข้าพระองค์เถิด (๒)
คำว่า พระองค์ ในคำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม(นั้น) ... แก่ข้า
พระองค์ เป็นคำที่เหมกมาณพเรียกพระผู้มีพระภาค
คำว่า ธรรม ในคำว่า โปรดตรัสบอกธรรม อธิบายว่า ขอพระองค์โปรด
ตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศพรหมจรรย์ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงาม
ในที่สุด พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรค
มีองค์ ๘ นิพพาน และปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน รวมความว่า ขอ
พระองค์โปรดตรัสบอกธรรม(นั้น) ... แก่ข้าพระองค์
คำว่า ข้าแต่พระมุนี ... ธรรมที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา ธรรมที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา คือ ธรรมเป็นเครื่อง
ละตัณหา เข้าไปสงบตัณหา สลัดทิ้งตัณหา ระงับตัณหา คืออมตนิพพาน
คำว่า ข้าแต่พระมุนี อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ ฯลฯ พระองค์
ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี รวมความว่า ข้าแต่
พระมุนี ... ธรรมที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา
คำว่า บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่ อธิบายว่า บุคคลรู้ชัดแล้ว
คือ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ได้แก่ บุคคลรู้ชัดแล้ว
คือ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
ฯลฯ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” ฯลฯ บุคคลรู้ชัดแล้ว
คือ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี
ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๘. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า มีสติ ได้แก่ มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ (๑) ชื่อว่ามีสติ เมื่อ
เจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ บุคคลนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
มีสติ
คำว่า เที่ยวไปอยู่ ได้แก่ เที่ยวไปอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว มีสติ เที่ยวไปอยู่
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่า
วิสัตติกา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑
คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมายว่า
อย่างไร ฯลฯ ซ่านไป ขยายไป ฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสัตติกา๒
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ อธิบายว่า ผู้มีสติพึงข้าม
คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยตัณหานี้ที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกนั่นเอง
รวมความว่า พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น
จึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระมุนี บุคคลรู้ชัดธรรมใดแล้ว
มีสติ เที่ยวไปอยู่ พึงข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม(นั้น)
ที่เป็นเครื่องกำจัดตัณหา แก่ข้าพระองค์เถิด
[๕๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เหมกะ นิพพานบทอันไม่แปรผัน
เป็นเครื่องกำจัดความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ในปิยรูปทั้งหลายที่ได้เห็น ได้ยินได้รับรู้และได้รู้ ในโลกนี้ (๓)

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒๒/๑๓๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๘. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ที่ได้เห็น ในคำว่า ที่ได้เห็น ได้ยินได้รับรู้และได้รู้ในโลกนี้ ได้แก่
ได้เห็นทางตา
คำว่า ได้ยิน ได้แก่ ได้ยินทางหู
คำว่า ได้รับรู้ ได้แก่ ได้รับรู้ คือ ดมกลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น สัมผัส
ทางกาย
คำว่า และได้รู้ ได้แก่ ได้รู้(ธรรมารมณ์)ทางใจ รวมความว่า ที่ได้เห็น ได้ยิน
ได้รับรู้และได้รู้ ในโลกนี้

ว่าด้วยปิยรูปและสาตรูป
คำว่า เหมกะ ... ในปิยรูปทั้งหลาย อธิบายว่า ก็อะไรเป็นปิยรูป๑ เป็น
สาตรูป๒ในโลก จักขุ เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก โสตะ (ประสาทหู) ... ฆานะ
(ประสาทจมูก) ... ชิวหา (ประสาทลิ้น) ... กาย (ประสาทกาย) ... มโน เป็นปิยรูป
เป็นสาตรูปในโลก
รูป เป็นปิยรูป เป็นสาตรูป เสียง ... กลิ่น ... รส ... โผฏฐัพพะ ... ธรรมารมณ์
เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก จักขุวิญญาณ เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก โสต-
วิญญาณ ... ฆานวิญญาณ ... ชิวหาวิญญาณ ... กายวิญญาณ ... มโนวิญญาณ
เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก จักขุสัมผัส เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก โสตสัมผัส
... ฆานสัมผัส ... ชิวหาสัมผัส ... กายสัมผัส ... มโนสัมผัส เป็นปิยรูป เป็นสาตรูป
ในโลก
เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก เวทนาที่เกิดจาก
โสตสัมผัส ... เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัส ... เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัส ...
เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัส ... เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัส เป็นปิยรูป เป็นสาตรูป
ในโลก


เชิงอรรถ :
๑ปิยรูป คือรูปที่น่ารัก น่าปรารถนา
๒สาตรูป คือรูปที่น่ายินดี น่าต้องการ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๘. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
รูปสัญญา เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก สัททสัญญา ... คันธสัญญา ...
รสสัญญา ... โผฏฐัพพสัญญา ... ธัมมสัญญา เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก
รูปสัญเจตนา เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก สัททสัญเจตนา ... คันธสัญเจตนา
... รสสัญเจตนา ... โผฏฐัพพสัญเจตนา ... ธัมมสัญเจตนา เป็นปิยรูป เป็นสาตรูป
ในโลก
รูปตัณหา เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก สัททตัณหา ... คันธตัณหา ...
รสตัณหา ... โผฏฐัพพตัณหา ... ธัมมตัณหา เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก
รูปวิตก เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก สัททวิตก ... คันธวิตก ... รสวิตก
... โผฏฐัพพวิตก ... ธัมมวิตก เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก รูปวิจารเป็นปิยรูป
เป็นสาตรูปในโลก ... สัททวิจาร ... คันธวิจาร ... รสวิจาร ... โผฏฐัพพวิจาร ...
ธัมมวิจาร เป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก รวมความว่า ในปิยรูปทั้งหลาย
คำว่า เหมกะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ในคำว่า เป็นเครื่องกำจัด
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ อธิบายว่า ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่
ความกำหนัดด้วยอำนาจความใคร่ ความทะยานอยากด้วยอำนาจความใคร่ ความ
เยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่ ความสยบด้วย
อำนาจความใคร่ ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่ ห้วงน้ำคือความใคร่ กิเลส
เครื่องประกอบคือความใคร่ กิเลสเครื่องยึดมั่นคือความใคร่ กิเลสเครื่องกั้นจิตคือ
ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย
คำว่า เป็นเครื่องกำจัดความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ได้แก่ เป็น
เครื่องละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ เข้าไปสงบความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความพอใจ สลัดทิ้งความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ระงับความกำหนัดด้วย
อำนาจความพอใจ คือ อมตนิพพาน รวมความว่า เป็นเครื่องกำจัดความกำหนัด
ด้วยอำนาจความพอใจ
คำว่า นิพพานบทอันไม่แปรผัน อธิบายว่า นิพพานบท (ทางนิพพาน) คือ
ตาณบท (ทางปกป้อง) เลณบท (ทางหลีกเร้น) ปรายนบท (ทางไปสู่จุดหมาย)
อภยบท (ทางไม่มีภัย)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๘. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า อันไม่แปรผัน ได้แก่ เที่ยง มั่นคง แน่แท้ มีความไม่แปรผันไป
เป็นธรรมดา รวมความว่า นิพพานบทอันไม่แปรผัน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสตอบว่า
เหมกะ นิพพานบทอันไม่แปรผัน
เป็นเครื่องกำจัดความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ในปิยรูปทั้งหลายที่ได้เห็น ได้ยินได้รับรู้และได้รู้ ในโลกนี้
[๕๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ชนเหล่าใดผู้มีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้น เป็นผู้สงบทุกเมื่อ
ข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้แล้ว (๔)
คำว่า นั้น ในคำว่า ชนเหล่าใดผู้มีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว ได้แก่ อมตนิพพาน
อันเป็นธรรมระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็น
ที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
คำว่า รู้แล้ว ได้แก่ รู้แล้ว คือ ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว
ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ได้แก่ รู้แล้ว คือ ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว
พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” ฯลฯ รู้แล้ว ทราบแล้ว
เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สิ่งใดสิ่ง
หนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
คำว่า เหล่าใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ผู้มีสติ ได้แก่ ผู้มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ (๑) ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญ
สติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น พระผู้มีพระภาค
ตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ รวมความว่า ชนเหล่าใดผู้มีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว
คำว่า เห็นธรรม ในคำว่า เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว อธิบายว่า ผู้เห็นธรรม
คือ ผู้รู้ธรรม ผู้เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม ผู้เห็นแจ้งธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๘. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
ได้แก่ ผู้เห็นธรรม คือ ผู้รู้ธรรม ผู้เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม
ผู้เห็นแจ้งธรรมว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น
ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
คำว่า ดับกิเลสได้แล้ว อธิบายว่า ชื่อว่าดับกิเลสได้แล้ว เพราะเป็นผู้ทำให้
ราคะดับแล้ว ชื่อว่าดับกิเลสได้แล้ว เพราะเป็นผู้ทำให้โทสะดับแล้ว ชื่อว่าดับกิเลส
ได้แล้ว เพราะเป็นผู้ทำให้โมหะดับแล้ว ชื่อว่าดับกิเลสได้แล้ว เพราะเป็นผู้ทำให้โกธะ
ฯลฯ อุปนาหะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภทดับแล้ว รวมความว่า เห็นธรรม
ดับกิเลสได้แล้ว
คำว่า เป็นผู้สงบ ในคำว่า ชนเหล่านั้น เป็นผู้สงบทุกเมื่อ อธิบายว่า
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบราคะ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโทสะ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ
เพราะสงบโมหะ คือ สงบแล้ว เข้าไปสงบแล้ว สงบเย็นแล้ว ดับได้แล้ว ระงับได้แล้ว
เพราะสงบ ระงับ สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับโกธะ อุปนาหะ ฯลฯ
อกุสลาภิสังขารทุกประเภทแล้ว รวมความว่า เป็นผู้สงบ
คำว่า เหล่านั้น ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ทุกเมื่อ อธิบายว่า ทุกเมื่อ คือ ในกาลทุกเมื่อ ตลอดกาลทั้งปวง
ตลอดกาลเป็นนิจ ตลอดกาลยั่งยืน ตลอดกาลต่อเนื่องกัน ตลอดกาลสืบเนื่องกัน
ตลอดกาลติดต่อกัน ตลอดกาลเป็นลำดับ ตลอดกาลติดต่อกันเหมือนระลอกคลื่น
ตลอดกาลเป็นไปต่อเนื่องไม่ขาดสาย ตลอดกาลสืบต่อกันกระชั้นชิด ตลอดกาลก่อนภัต
หลังภัต ตลอดปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม ตลอดข้างแรม ข้างขึ้น ตลอดฤดูฝน
ฤดูหนาว ฤดูร้อน ตลอดปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย รวมความว่า ชนเหล่านั้น
เป็นผู้สงบทุกเมื่อ
คำว่า ข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้แล้ว อธิบายว่า ตัณหา ตรัส
เรียกว่า วิสัตติกา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูล
คือโลภะ
คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมายว่า
อย่างไร ฯลฯ ซ่านไป ขยายไป ฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสัตติกา๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๒/๑๓๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๘. เหมกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก
คำว่า เป็นผู้ข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้แล้ว อธิบายว่า ตัณหาที่
ชื่อว่าวิสัตติกาในโลก พระอรหันตขีณาสพ เป็นผู้ข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง
ก้าวพ้น ล่วงพ้นตัณหาชื่อว่าวิสัตติกาในโลกแล้ว รวมความว่า เป็นผู้ข้ามตัณหาที่
ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
ชนเหล่าใดผู้มีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้น เป็นสงบทุกเมื่อ
ข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้แล้ว
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ เหมกมาณพ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
เหมกมาณวปัญหานิทเทสที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๙. โตเทยยมาณวปัญหานิทเทส
๙. โตเทยยมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของโตเทยยมาณพ
[๕๗] (ท่านโตเทยยะทูลถาม ดังนี้)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์ของบุคคลนั้นเป็นเช่นไร (๑)
คำว่า กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด อธิบายว่า กามทั้งหลายย่อมไม่อยู่ คือ
ไม่อยู่ร่วม ไม่อยู่อาศัย ไม่อยู่ครอง ในบุคคลใด รวมความว่า กามทั้งหลายไม่
อยู่ในบุคคลใด
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านโตเทยยะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า
ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า โตเทยยะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ รวมความว่า
ท่านโตเทยยะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด อธิบายว่า ตัณหาไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ
หาไม่ได้แก่บุคคลใด ได้แก่ ตัณหาอันผู้ใดละได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
คำว่า และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว อธิบายว่า ผู้ใดข้าม คือ ข้าม
ขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นความสงสัยได้แล้ว รวมความว่า และ
บุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๙๕-๑๐๙๘/๕๔๓-๕๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๙. โตเทยยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า วิโมกข์ของบุคคลนั้นเป็นเช่นไร อธิบายว่า พราหมณ์ทูลถามวิโมกข์ว่า
วิโมกข์ของเขาเป็นเช่นไร คือ มีสัณฐานอย่างไร มีประการอย่างไร เปรียบได้กับอะไร
ที่บุคคลพึงปรารถนา รวมความว่า วิโมกข์ของบุคคลนั้นเป็นเช่นไร ด้วยเหตุนั้น
พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านโตเทยยะทูลถาม ดังนี้)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์ของบุคคลนั้นเป็นเช่นไร
[๕๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โตเทยยะ)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์อื่นของบุคคลนั้นย่อมไม่มี (๒)
คำว่า ใด ในคำว่า กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด ได้แก่ ในบุคคลใด คือ
พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม
(๒) กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑
คำว่า ไม่อยู่ อธิบายว่า กามทั้งหลายย่อมไม่อยู่ คือ ไม่อยู่ร่วม ไม่อยู่อาศัย
ไม่อยู่ครองในบุคคลใด รวมความว่า กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
คำว่า โตเทยยะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โตเทยยะ เป็นคำ
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๖-๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๙. โตเทยยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
โตเทยยะ
คำว่า ตัณหา ในคำว่า ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา
คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า บุคคลใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด อธิบายว่า ตัณหาไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ
หาไม่ได้แก่บุคคลใด ได้แก่ ตัณหาอันบุคคลใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้
สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
คำว่า และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว อธิบายว่า วิจิกิจฉา ตรัสเรียกว่า
ความสงสัย ได้แก่ ความสงสัยในทุกข์ ฯลฯ ความหวาดหวั่นแห่งจิต ความ
ติดขัดในใจ๒
คำว่า บุคคลใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว อธิบายว่า บุคคลใดข้าม คือ
ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นความสงสัยได้แล้ว รวมความว่า
และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว
คำว่า วิโมกข์อื่นของบุคคลนั้นย่อมไม่มี อธิบายว่า บุคคลผู้หลุดพ้นแล้วนั้น
พึงหลุดพ้นด้วยวิโมกข์ใด วิโมกข์อื่นจากนั้น ของบุคคลนั้นย่อมไม่มี (เพราะ) บุคคล
นั้นได้ทำกิจที่ควรทำด้วยวิโมกข์เสร็จแล้ว รวมความว่า วิโมกข์อื่นของบุคคลนั้น
ย่อมไม่มี ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๓๒/๑๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๙. โตเทยยมาณวปัญหานิทเทส
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โตเทยยะ)
กามทั้งหลายไม่อยู่ในบุคคลใด
ตัณหาไม่มีแก่บุคคลใด
และบุคคลใดข้ามความสงสัยได้แล้ว
วิโมกข์อื่นของบุคคลนั้นย่อมไม่มี
[๕๙] (ท่านโตเทยยะทูลถามว่า)
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง หรือว่ายังหวังอยู่
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา หรือว่ายังมีความดำริด้วยปัญญา
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด (๓)
คำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง หรือว่ายังหวังอยู่ อธิบายว่า บุคคล
นั้นไม่มีตัณหา หรือว่า ยังมีตัณหาอยู่ คือ หวัง ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย
มุ่งหวังในรูป ฯลฯ เสียง ฯลฯ กลิ่น ฯลฯ รส ฯลฯ โผฏฐัพพะ ฯลฯ ตระกูล
ฯลฯ คณะ ฯลฯ อาวาส ฯลฯ ลาภ ฯลฯ ยศ ฯลฯ สรรเสริญ ฯลฯ สุข ฯลฯ
จีวร ฯลฯ บิณฑบาต ฯลฯ เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ฯลฯ กามธาตุ
ฯลฯ รูปธาตุ ฯลฯ อรูปธาตุ ฯลฯ กามภพ ฯลฯ รูปภพ ฯลฯ อรูปภพ ฯลฯ
สัญญาภพ ฯลฯ อสัญญาภพ ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญาภพ ฯลฯ เอกโวการภพ๑
ฯลฯ จตุโวการภพ๒ ฯลฯ ปัญจโวการภพ๓ ฯลฯ อดีต ฯลฯ อนาคต ฯลฯ ปัจจุบัน
ฯลฯ รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ได้รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้
แจ้ง รวมความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง หรือว่ายังหวังอยู่

เชิงอรรถ :
๑ เอกโวการภพ ดูเชิงอรรถข้อ ๓๔/๑๖๙
๒ จตุโวการภพ ดูเชิงอรรถข้อ ๓๔/๑๖๙
๓ ปัญจโวการภพ ดูเชิงอรรถข้อ ๓๔/๑๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๙. โตเทยยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา ในคำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา หรือว่า
ยังมีความดำริด้วยปัญญา ได้แก่ บัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ
มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า หรือว่ายังมีความดำริด้วยปัญญา อธิบายว่า หรือว่ายังดำริถึงตัณหา
หรือทิฏฐิ คือ ให้ความดำริถึงตัณหาหรือทิฏฐิเกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด ให้
บังเกิดขึ้นด้วยญาณในสมาบัติ ๘ ญาณในอภิญญา ๕ หรือมิจฉาญาณ รวมความว่า
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา หรือว่ายังมีความดำริด้วยปัญญา

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้สักกะ
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์
จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้สักกะเสด็จออกผนวช
จากศากยตระกูล จึงชื่อว่าผู้สักกะ
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก มีทรัพย์ จึงชื่อว่าผู้
สักกะ
พระองค์ทรงมีทรัพย์เหล่านี้ คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ
ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา ทรัพย์คือ
สติปัฏฐาน ทรัพย์คือสัมมัปปธาน ทรัพย์คืออิทธิบาท ทรัพย์คืออินทรีย์ ทรัพย์
คือพละ ทรัพย์คือโพชฌงค์ ทรัพย์คือมรรค ทรัพย์คือผล ทรัพย์คือนิพพาน
พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีทรัพย์ด้วยทรัพย์ที่เป็นรัตนะหลายอย่าง
เหล่านี้ จึงชื่อว่าผู้สักกะ
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสามารถ คือ ทรงองอาจ อาจหาญ มี
ความสามารถ กล้า กล้าหาญ ก้าวหน้า ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี
ทรงละภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้า จึงชื่อว่าผู้สักกะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๙. โตเทยยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร
อธิบายว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์พึงรู้ คือ พึงรู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง
รู้เฉพาะ แทงตลอด พระมุนีได้อย่างไร รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ
ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร
คำว่า นั้น ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ขอพระองค์โปรดตรัส
บอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด อธิบายว่า ปัญหาที่ข้าพระองค์
ทูลถาม ที่ข้าพระองค์ทูลขอ ที่ข้าพระองค์ทูลอัญเชิญ ที่ข้าพระองค์ทูลให้ทรงประกาศ
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก (ปัญหานั้น) ให้แจ่มแจ้ง อธิบายว่า
ขอพระองค์โปรดตรัสบอก คือ แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศ
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณตรัส
เรียกว่า สมันตจักขุ ฯลฯ เพราะเหตุนั้น พระตถาคต ชื่อว่าผู้มีสมันตจักขุ๑
รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่
ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง หรือว่ายังหวังอยู่
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา หรือว่ายังมีความดำริด้วยปัญญา
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพระมุนีได้อย่างไร
ข้าแต่พระองค์ผู้มีสมันตจักขุ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้น
แก่ข้าพระองค์ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
[๖๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง ทั้งไม่หวัง
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่มีความดำริด้วยปัญญา
โตเทยยะ เธอจงรู้จักบุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล
ผู้ไม่ข้องในกามและภพว่าเป็นมุนี อย่างนี้ (๔)

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓๘/๑๗๘-๑๗๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๙. โตเทยยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง ทั้งไม่หวัง อธิบายว่า บุคคลนั้นไม่มี
ตัณหา ทั้งไม่มีตัณหา ไม่หวัง คือ ไม่ต้องการ ไม่ยินดี ไม่ปรารถนา ไม่มุ่งหมาย
ไม่มุ่งหวังในรูป ... ในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส
โผฏฐัพพะที่ได้รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง รวมความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มี
ความหวัง ทั้งไม่หวัง
คำว่า ผู้มีปัญญา ในคำว่า บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่มีความดำริ
ด้วยปัญญา ได้แก่ บัณฑิต มีปัญญา คือ มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มี
ปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า แต่ไม่มีความดำริด้วยปัญญา อธิบายว่า ไม่ดำริถึงตัณหาหรือทิฏฐิ
ด้วยญาณในสมาบัติ ๘ อภิญญา ๕ หรือมิจฉาญาณ คือ ไม่ให้ความดำริถึง
ตัณหาหรือทิฏฐิเกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้น รวมความว่า
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่มีความดำริด้วยปัญญา
คำว่า โตเทยยะ เธอจงรู้จัก ... ว่าเป็นมุนี อย่างนี้ อธิบายว่า
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ ฯลฯ บุคคลก้าวล่วงกิเลส
เครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๑
คำว่า โตเทยยะ เธอจงรู้จัก ... ว่าเป็นมุนี อย่างนี้ อธิบายว่า โตเทยยะ
เธอจงรู้ คือ จงรู้เฉพาะ รู้แจ่มแจ้ง แทงตลอด ว่าเป็นมุนี อย่างนี้ รวมความว่า
โตเทยยะ เธอจงรู้จัก ... ว่าเป็นมุนี อย่างนี้
คำว่า เครื่องกังวล ในคำว่า บุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล ผู้ไม่ข้องในกาม
และภพ ได้แก่ เครื่องกังวลคือราคะ เครื่องกังวลคือโทสะ เครื่องกังวลคือโมหะ
เครื่องกังวลคือมานะ เครื่องกังวลคือทิฏฐิ เครื่องกังวลคือกิเลส เครื่องกังวล
คือทุจริต เครื่องกังวลเหล่านี้ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า
บุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๑/๑๒๗-๑๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๙. โตเทยยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ในกามและภพ อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒)
กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑
คำว่า ภพ ได้แก่ ภพ ๒ คือ (๑) กรรมภพ (๒) ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ
ฯลฯ นี้ชื่อว่าภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ๒
คำว่า บุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล ผู้ไม่ข้องในกามและภพ อธิบายว่า
บุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล ไม่ข้อง คือ ไม่เกาะติด ไม่เกี่ยวพัน ไม่พัวพัน ออก
สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องในกามและภพ มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่
รวมความว่า บุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล ผู้ไม่ข้องในกามและภพ ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความหวัง ทั้งไม่หวัง
บุคคลนั้นเป็นผู้มีปัญญา แต่ไม่มีความดำริด้วยปัญญา
โตเทยยะ เธอจงรู้จักบุคคลผู้ไม่มีเครื่องกังวล
ผู้ไม่ข้องในกามและภพว่าเป็นมุนี อย่างนี้
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ โตเทยยมาณพ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
โตเทยยมาณวปัญหานิทเทสที่ ๙ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๖-๖๗
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒๔/๑๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๐. กัปปมาณวปัญหานิทเทส
๑๐. กัปปมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของกัปปมาณพ
[๖๑] (ท่านกัปปะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่งของเหล่าสัตว์
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย
อนึ่ง ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่ง
โดยวิธีที่ทุกข์นี้จะไม่พึงมีแก่ข้าพระองค์อีก (๑)

ว่าด้วยสังสารวัฏ
คำว่า เหล่าสัตว์ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ อธิบายว่า สงสาร ตรัสเรียกว่า
สระ คือ การมา๒ การไป๓ การไปและการมา ความตาย คติ๔ ภพน้อยภพใหญ่
จุติ อุปบัติ๕ ความเกิด ความดับ ชาติ ชรา มรณะ ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารไม่
ปรากฏ ที่สุดเบื้องปลายก็ไม่ปรากฏ เหล่าสัตว์ผู้ดำรงอยู่แล้ว คือ ดำรงมั่นแล้ว
ติดแล้ว ติดแน่นแล้ว ติดพันแล้ว ติดใจแล้วในสงสารอันเป็นท่ามกลาง
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารไม่ปรากฏ อย่างไร
คือ วัฏฏะเป็นไปแล้วสิ้นชาติเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๙๙-๑๑๐๒/๕๔๔
๒ การมา ในที่นี้หมายถึงการมาจากเบื้องต้นและที่สุด (ขุ.จู.อ. ๖๑/๓๖)
๓ การไป ในที่นี้หมายถึงการไปจากโลกนี้สู่โลกอื่น (ขุ.จู.อ. ๖๑/๓๖)
๔ คติ ในที่นี้หมายถึงการบังเกิด (ขุ.จู.อ. ๖๑/๓๖)
๕ อุปบัติ ในที่นี้หมายถึงการเกิดขึ้นต่อจากการเคลื่อน (ขุ.จู.อ. ๖๑/๓๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๐. กัปปมาณวปัญหานิทเทส
วัฏฏะเป็นไปแล้วร้อยชาติเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วพันชาติเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วแสนชาติเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วโกฏิชาติเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วพันโกฏิชาติเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วแสนโกฏิชาติเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วสิ้นปีเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น ที่สุด
เบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วสิ้นร้อยปีเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วพันปีเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น ที่สุด
เบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วแสนปีเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น ที่สุด
เบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วโกฏิปีเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น ที่สุด
เบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วร้อยโกฏิปีเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๐. กัปปมาณวปัญหานิทเทส
วัฏฏะเป็นไปแล้วพันโกฏิปีเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น ที่สุด
เบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วแสนโกฏิปีเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วสิ้นกัปเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น ที่สุด
เบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วร้อยกัปเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วพันกัปเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น ที่สุด
เบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วแสนกัปเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วโกฏิกัปเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วร้อยโกฏิกัปเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วพันโกฏิกัปเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
วัฏฏะเป็นไปแล้วแสนโกฏิกัปเท่านี้ พ้นจากนั้นย่อมไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้ มีเบื้องต้น
และเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ที่สุดเบื้องต้น ที่สุดเบื้องปลายไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์
ผู้ถูกอวิชชากีดขวาง ถูกตัณหาผูกไว้ วนเวียน ท่องเที่ยวไป ภิกษุทั้งหลาย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๐. กัปปมาณวปัญหานิทเทส
เหล่าสัตว์เสวยทุกข์ เสวยความยากลำบาก เสวยความพินาศ เต็มป่าช้า๑ เป็นเวลา
ยาวนานอย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แหละ จึงควรเบื่อหน่าย ควร
คลายกำหนัด ควรหลุดพ้นจากสังขารทั้งปวง ฉะนั้น๒ ที่สุดเบื้องต้น แห่งสงสาร
จึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
ที่สุดเบื้องปลายแห่งสงสารไม่ปรากฏ อย่างไร
คือ วัฏฏะจักเป็นไปสิ้นชาติเท่านี้ พ้นจากนั้นจักไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น
ที่สุดเบื้องปลายแห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องปลายแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้
บ้าง
วัฏฏะจักเป็นไปสิ้นร้อยชาติเท่านี้ ฯลฯ พันชาติเท่านี้ ฯลฯ แสนชาติเท่านี้
ฯลฯ โกฏิชาติเท่านี้ ฯลฯ ร้อยโกฏิชาติเท่านี้ ฯลฯ พันโกฏิชาติเท่านี้ ฯลฯ
แสนโกฏิชาติเท่านี้ ฯลฯ ปีเท่านี้ ฯลฯ ร้อยปีเท่านี้ ฯลฯ พันปีเท่านี้ ฯลฯ
แสนปีเท่านี้ ฯลฯ โกฏิปีเท่านี้ ฯลฯ ร้อยโกฏิปีเท่านี้ฯลฯ พันโกฏิปีเท่านี้ ฯลฯ
แสนโกฏิปีเท่านี้ ฯลฯ กัปเท่านี้ ฯลฯ ร้อยกัปเท่านี้ ฯลฯ พันกัปเท่านี้ ฯลฯ
แสนกัปเท่านี้ ฯลฯ โกฏิกัปเท่านี้ ฯลฯ ร้อยโกฏิกัปเท่านี้ ฯลฯ พันโกฏิกัปเท่านี้
ฯลฯ แสนโกฏิกัปเท่านี้ พ้นจากนั้นจักไม่เป็นไป เพราะเหตุนั้น ที่สุดเบื้องปลาย
แห่งสงสารจึงไม่มี ที่สุดเบื้องปลายแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
ที่สุดทั้งเบื้องต้นทั้งเบื้องปลายแห่งสงสารไม่ปรากฏแม้อย่างนี้ เหล่าสัตว์ผู้
ดำรงอยู่แล้ว คือ ดำรงมั่นแล้ว ติดแล้ว ติดแน่นแล้ว ติดพันแล้ว ติดใจแล้วใน
สงสารอันเป็นท่ามกลาง รวมความว่า เหล่าสัตว์ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านกัปปะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า ดังนี้
นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง

เชิงอรรถ :
๑ เต็มป่าช้า ในที่นี้หมายถึงซากศพของเหล่าสัตว์ที่ตายแล้ว มีมากมาย ทับถมกันอยู่ในป่าช้า หรือเต็ม
แผ่นดิน (สํ.นิ.อ. ๒/๑๒๔/๑๗๖, ขุ.จู.อ. ๖๑/๓๖)
๒ สํ.นิ. ๑๖/๑๒๔/๑๗๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๐. กัปปมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า กัปปะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ๑ รวมความว่า
ท่านกัปปะทูลถาม ดังนี้
คำว่า ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย อธิบายว่า ในขณะห้วงน้ำคือกาม
ห้วงน้ำคือภพ ห้วงน้ำคือทิฏฐิ ห้วงน้ำคืออวิชชา เกิด คือ เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น
ปรากฏ
คำว่า อันเป็นมหันตภัย ได้แก่ ชาติภัย (ภัยที่เกิดเพราะอาศัยชาติ) ชราภัย
(ภัยที่เกิดเพราะอาศัยชรา) พยาธิภัย (ภัยที่เกิดเพราะความเจ็บป่วย) มรณภัย
(ภัยที่เกิดเพราะมรณะ) รวมความว่า ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย
คำว่า ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ อธิบายว่า ผู้ถูกชราถูกต้อง ครอบงำ
คือ กลุ้มรุม ห้อมล้อม ผู้ถูกมรณะจับต้อง ครอบงำ กลุ้มรุม ห้อมล้อม ได้แก่
ผู้ไปตามชาติ ชราติดตาม พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ไม่มีที่ปกป้อง ไม่มีที่หลีกเร้น
ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย รวมความว่า ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ... ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่ง อธิบายว่า
ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศที่พึ่ง คือ ที่ปกป้อง ที่หลีกเร้น ที่พึ่ง คติ จุดหมาย
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและ
ความยำเกรง รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ... ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ที่พึ่ง
คำว่า พระองค์ ในคำว่า อนึ่ง ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่ง ... แก่
ข้าพระองค์ เป็นคำที่พราหมณ์เรียกพระผู้มีพระภาค
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่ง อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัส คือ
โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศที่พึ่ง คือ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๐. กัปปมาณวปัญหานิทเทส
ที่ปกป้อง ที่หลีกเร้น ที่ระลึก คติ จุดหมาย รวมความว่า อนึ่ง ขอพระองค์
โปรดตรัสบอกที่พึ่ง ... แก่ข้าพระองค์
คำว่า โดยวิธีที่ทุกข์นี้จะไม่พึงมี...อีก อธิบายว่า โดยวิธีที่ทุกข์นี้พึงดับ คือ
พึงเข้าไปสงบ พึงถึงความสิ้นสุด ระงับในชาตินี้เอง คือ ทุกข์อันมีในปฏิสนธิ ไม่พึง
บังเกิดอีก ได้แก่ ไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น ไม่บังเกิด ไม่บังเกิดขึ้น ในกามธาตุ รูปธาตุ
อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ
เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ คติใหม่ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร
หรือวัฏฏะ คือ พึงดับ เข้าไปสงบ ถึงความสิ้นสุด ระงับในชาตินี้แหละ รวมความว่า
โดยวิธีที่ทุกข์นี้จะไม่พึงมี...อีก ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านกัปปะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่งของเหล่าสัตว์
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย
อนึ่ง ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่ง
โดยวิธีที่ทุกข์นี้จะไม่พึงมีแก่ข้าพระองค์อีก
[๖๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า กัปปะ)
กัปปะ เราจะบอกที่พึ่งของเหล่าสัตว์
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัยแก่เธอ (๒)
คำว่า ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ อธิบายว่า สงสาร ตรัสเรียกว่า สระ คือ
การมา การไป การไปและการมา ความตาย คติ ภพน้อยภพใหญ่ จุติ อุปบัติ
ความเกิด ความดับ ชาติ ชรา มรณะ ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารไม่ปรากฏ ที่สุด
เบื้องปลายก็ไม่ปรากฏ เหล่าสัตว์ผู้ดำรงอยู่แล้ว คือ ดำรงมั่นแล้ว ติดแล้ว ติด
แน่นแล้ว ติดพันแล้ว ติดใจแล้วในสงสารอันเป็นท่ามกลาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๐. กัปปมาณวปัญหานิทเทส
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารไม่ปรากฏ อย่างไร ฯลฯ
ที่สุดเบื้องต้นแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง
ที่สุดเบื้องปลายแห่งสงสารไม่ปรากฏ อย่างไร ฯลฯ
ที่สุดเบื้องปลายแห่งสงสารจึงไม่ปรากฏ อย่างนี้บ้าง ที่สุดทั้งเบื้องต้นทั้งเบื้อง
ปลายแห่งสงสารไม่ปรากฏ แม้อย่างนี้
เหล่าสัตว์ผู้ดำรงอยู่แล้ว คือ ดำรงมั่นแล้ว ติดแล้ว ติดแน่นแล้ว ติดพันแล้ว
ติดใจแล้วในสงสารอันเป็นท่ามกลาง รวมความว่า เหล่าสัตว์ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
คำว่า กัปปะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า กัปปะ เป็นคำที่พระผู้มี
พระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
กัปปะ
คำว่า ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย อธิบายว่า ในขณะห้วงน้ำคือ
กาม ห้วงน้ำคือภพ ห้วงน้ำคือทิฏฐิ ห้วงน้ำคืออวิชชา เกิด คือ เกิดขึ้น บังเกิด
บังเกิดขึ้น ปรากฏ
คำว่า อันเป็นมหันตภัย ได้แก่ ชาติภัย ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย
รวมความว่า ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย
คำว่า ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ อธิบายว่า ผู้ถูกชราถูกต้อง ครอบงำ
คือ กลุ้มรุม ห้อมล้อม ผู้ถูกมรณะจับต้อง ครอบงำ กลุ้มรุม ห้อมล้อม ได้แก่
ผู้ไปตามชาติ ชราติดตาม พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ไม่มีที่ปกป้อง ไม่มีที่หลีกเร้น
ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย รวมความว่า ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๐. กัปปมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า เราจะบอกที่พึ่ง... แก่เธอ อธิบายว่า เราจะบอก คือ บอก แสดง
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศที่พึ่ง คือ ที่ปกป้อง ที่หลีกเร้น
ที่พึ่ง คติ จุดหมาย
คำว่า กัปปะ ในคำว่า กัปปะ... แก่เธอ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก
พราหมณ์นั้นโดยชื่อ รวมความว่า เราจะบอกที่พึ่ง... แก่เธอ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสตอบว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า กัปปะ)
กัปปะ เราจะบอกที่พึ่งของเหล่าสัตว์
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัยแก่เธอ
[๖๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เราเรียกนิพพาน ซึ่งไม่มีเครื่องกังวล
ไม่มีเครื่องยึดมั่นนี้นั้น ว่าเป็นที่พึ่งอันไม่มีที่พึ่งอื่นยิ่งกว่า
(เพราะ)นิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมัจจุราช (๓)
คำว่า ซึ่งไม่มีเครื่องกังวล ในคำว่า ซึ่งไม่มีเครื่องกังวล ไม่มีเครื่องยึดมั่น
ได้แก่ เครื่องกังวลคือราคะ เครื่องกังวลคือโทสะ เครื่องกังวลคือโมหะ เครื่องกังวล
คือมานะ เครื่องกังวลคือทิฏฐิ เครื่องกังวลคือกิเลส เครื่องกังวลคือทุจริต การละ
เครื่องกังวล การเข้าไปสงบเครื่องกังวล การสลัดทิ้งเครื่องกังวล การระงับเครื่อง
กังวลได้ เป็นอมตนิพพาน รวมความว่า ซึ่งไม่มีเครื่องกังวล
คำว่า ไม่มีเครื่องยึดมั่น อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า เครื่องยึดมั่น
ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑
การละเครื่องยึดมั่น การเข้าไปสงบเครื่องยึดมั่น การสลัดทิ้งเครื่องยึดมั่น
การระงับเครื่องยึดมั่นได้ เป็นอมตนิพพาน รวมความว่า ซึ่งไม่มีเครื่องกังวล ไม่มี
เครื่องยึดมั่น

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๐. กัปปมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า นั้นว่าเป็นที่พึ่งนั้นอันไม่มีที่พึ่งอื่นยิ่งกว่า อธิบายว่า นี้เป็นที่พึ่ง ที่
ปกป้อง ที่หลีกเร้น ที่พึ่ง เป็นคติ เป็นจุดหมาย
คำว่า อันไม่มีที่พึ่งอื่น อธิบายว่า ที่พึ่งอื่น คือ อย่างอื่นจากนิพพานนั้น ไม่มี
โดยที่แท้ ธรรมนั้น เป็นที่พึ่งอันเลิศ ประเสริฐ วิเศษ ชั้นแนวหน้า สูงสุด ยอดเยี่ยม
อย่างนี้ รวมความว่า นั้นว่าเป็นที่พึ่งอันไม่มีที่พึ่งอื่นยิ่งกว่า
คำว่า เราเรียกนิพพาน ... นั้น อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า วานะ (เครื่อง
เสียบแทง) ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
การละวานะ การเข้าไปสงบวานะ การสลัดทิ้งวานะ การระงับวานะได้ เป็น
อมตนิพพาน
คำว่า ว่า เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า ว่า นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบท
หลังเข้าด้วยกัน
คำว่า เรียก ได้แก่ พูด คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า เราเรียกนิพพาน ... นั้น
คำว่า เป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมัจจุราช อธิบายว่า การละ การเข้าไปสงบ
การสลัดทิ้ง การระงับชราและมรณะได้ เป็นอมตนิพพาน รวมความว่า เป็นที่สิ้น
ไปแห่งชราและมรณะ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
เราเรียกนิพพาน ซึ่งไม่มีเครื่องกังวล
ไม่มีเครื่องยึดมั่นนี้นั้น ว่าเป็นที่พึ่งอันไม่มีที่พึ่งอื่นยิ่งกว่า
(เพราะ)นิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมัจจุราช
[๖๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ชนเหล่าใดมีสติรู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้นจึงไม่ไปตามอำนาจมาร ไม่ไปบำรุงมาร (๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๐. กัปปมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า นั้น ในคำว่า ชนเหล่าใดรู้นิพพานนั้นแล้ว อธิบายว่า อมตนิพพาน
คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา
เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
คำว่า รู้แล้ว ได้แก่ รู้แล้ว คือ ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว
ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ได้แก่ รู้แล้ว คือ ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว
พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
คำว่า เหล่าใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า มีสติ ได้แก่ มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ (๑) ชื่อว่ามีสติ เมื่อ
เจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น พระผู้มี-
พระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ รวมความว่า ชนเหล่าใดมีสติรู้นิพพานนั้นแล้ว
คำว่า เห็นธรรม ในคำว่า เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว อธิบายว่า ผู้เห็นธรรม
คือ ผู้รู้ธรรม ผู้เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม ผู้เห็นแจ้งธรรม
คำว่า ดับกิเลสได้แล้ว อธิบายว่า ชื่อว่าดับกิเลสได้แล้ว เพราะเป็นผู้ทำ
ให้ราคะดับแล้ว ชื่อว่าดับกิเลสได้แล้ว เพราะเป็นผู้ทำให้โทสะดับแล้ว ชื่อว่าดับ
กิเลสได้แล้ว เพราะเป็นผู้ทำให้โมหะดับแล้ว ชื่อว่าดับกิเลสได้แล้ว เพราะเป็นผู้
ทำให้โกธะ ฯลฯ อุปนาหะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภทดับแล้ว รวมความว่า
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
คำว่า ชนเหล่านั้นจึงไม่ไปตามอำนาจมาร อธิบายว่า
คำว่า มาร ได้แก่ มาร ผู้มีกรรมดำ คือ ผู้ยิ่งใหญ่ พาไปสู่ความตาย
ไม่ให้สัตว์หลุดพ้น เป็นเผ่าพันธุ์ของผู้ประมาท
คำว่า ชนเหล่านั้นจึงไม่ไปตามอำนาจมาร อธิบายว่า ชนเหล่านั้นไม่ไป
ตามอำนาจมาร ทั้งมารก็ไม่เป็นไปในอำนาจชนเหล่านั้น ชนเหล่านั้นข่มขี่ ครอบงำ
ท่วมทับ รัดรึง ย่ำยีมาร คือ ฝักฝ่ายแห่งมาร บ่วงมาร เบ็ดมาร เหยื่อมาร วิสัยมาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๐. กัปปมาณวปัญหานิทเทส
ที่อยู่ของมาร โคจรของมาร เครื่องผูกแห่งมาร เที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ชนเหล่านั้นจึงไม่ไปตาม
อำนาจมาร
คำว่า ไม่ไปบำรุงมาร อธิบายว่า ชนเหล่านั้น ไม่บำรุง ไม่เที่ยวบำรุง
ไม่บำเรอ ไม่รับใช้มาร ชนเหล่านั้นบำรุง เที่ยวบำรุง บำเรอ รับใช้แต่พระผู้มี-
พระภาคพุทธเจ้า รวมความว่า ไม่ไปบำรุงมาร ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสตอบว่า
ชนเหล่าใดมีสติรู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้นจึงไม่ไปตามอำนาจมาร ไม่ไปบำรุงมาร
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ กัปปมาณพ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่พระ
องค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
กัปปมาณวปัญหานิทเทสที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส
๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของชตุกัณณิมาณพ
[๖๕] (ท่านชตุกัณณิทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่า
พระองค์ไม่มีความใคร่กาม ล่วงพ้นห้วงกิเลส
จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม
ข้าแต่พระสหชเนตร ขอพระองค์โปรดตรัสบอกสันติบท
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม
อันแท้จริงนั้นแก่ข้าพระองค์ (๑)
คำว่า ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่า พระองค์ไม่มีความใคร่กาม
อธิบายว่า ข้าพระองค์ได้ยิน คือ สดับ เรียน ทรงจำ เข้าไปกำหนดไว้ว่า “แม้
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ฯลฯ เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค” รวมความว่า ข้าพระองค์ได้ยินว่า

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่าวีระ
คำว่า ข้าแต่พระวีระ อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคผู้วีระ มีพระวิริยะ จึงชื่อว่าวีระ
พระผู้มีพระภาคทรงองอาจ จึงชื่อว่าวีระ
พระผู้มีพระภาคทรงให้ผู้อื่นพากเพียร จึงชื่อว่าวีระ
พระผู้มีพระภาคทรงสามารถ จึงชื่อว่าวีระ
พระผู้มีพระภาคทรงกล้าหาญ จึงชื่อว่าวีระ
คือ ทรงก้าวไปข้างหน้า ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี ทรงละ
ภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้า จึงชื่อว่าพระวีระ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๑๐๓-๑๑๐๗/๕๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคทรงเว้นขาดจากบาปธรรมทั้งปวงในโลกนี้
ก้าวล่วงทุกข์ในนรก ทรงอยู่ด้วยความเพียร
ทรงมีความเพียร มีความมุ่งมั่น แกล้วกล้า มั่นคง
เรียกได้ว่า ทรงเป็นอย่างนั้น
คำว่า ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่าพระองค์ไม่มีความใคร่กาม
อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒)
กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้ เรียกว่ากิเลสกาม๑
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงกำหนดรู้วัตถุกาม ทรงละกิเลสกามได้แล้ว เพราะ
เป็นผู้ทรงกำหนดรู้วัตถุกาม เพราะทรงละกิเลสกามได้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงไม่
ทรงใคร่ในกาม คือ ไม่ปรารถนา ไม่มุ่งหมาย ไม่มุ่งหวังในกาม
ชนเหล่าใดใคร่กาม ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังกาม ชนเหล่านั้น ชื่อว่า
ยังใคร่กาม กำหนัดในราคะ มีความสำคัญในสัญญา
พระผู้มีพระภาคไม่ทรงใคร่กาม ไม่ทรงปรารถนา ไม่มุ่งหมาย ไม่มุ่งหวังกาม
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีกาม คือ ทรงปราศจากกาม สละกามแล้ว
คายกามแล้ว ปล่อยกามแล้ว ละกามแล้ว สลัดทิ้งกามแล้ว คลายราคะแล้ว
ปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว
สลัดทิ้งราคะแล้ว เป็นผู้หมดความอยากแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐ
เสวยสุขอยู่ รวมความว่า ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่าพระองค์ไม่มีความ
ใคร่กาม
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านชตุกัณณิทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า
ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก คำว่า ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มี
ความเคารพและความยำเกรง

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๖-๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ชตุกัณณิ เป็นโคตรของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ๑ รวมความ
ว่า ท่านชตุกัณณิทูลถาม ดังนี้
คำว่า ล่วงพ้นห้วงกิเลส ในคำว่า ล่วงพ้นห้วงกิเลส จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถาม
พระองค์ผู้ไม่มีกาม อธิบายว่า ล่วงพ้นห้วงกิเลส คือ ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วง
พ้นห้วงกิเลสแล้ว รวมความว่า ล่วงพ้นห้วงกิเลส
คำว่า เพื่อทูลถาม ได้แก่ เพื่อทูลถาม คือ เพื่อทูลปุจฉา ทูลขอ ทูลอัญเชิญ
ทูลให้ทรงประกาศ
คำว่า จึงมาเฝ้า ... ผู้ไม่มีกาม อธิบายว่า จึงมาเฝ้า คือ เป็นผู้มาเฝ้าแล้ว
มาเข้าเฝ้าแล้ว ถึงพร้อมแล้ว เป็นผู้มาถึงพร้อมกับพระองค์แล้ว เพื่อทูลถามพระ
องค์ผู้ไม่มีกาม คือ ทรงปราศจากกาม สละกามแล้ว คายกามแล้ว ปล่อยกามแล้ว
ละกามแล้ว สลัดทิ้งกามแล้ว ได้แก่ คลายราคะแล้ว ปราศจากราคะแล้ว สละ
ราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว รวม
ความว่า ล่วงพ้นห้วงกิเลส จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม
คำว่า ข้าแต่พระสหชเนตร ขอพระองค์โปรดตรัสบอกสันติบท อธิบายว่า
คำว่า สันติ ได้แก่ ทั้งสันติและสันติบท มีความหมายอย่างเดียวกัน สันติบท
นั้นเอง คือ อมตนิพพาน ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิ
ทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “บทนี้สงบ บทนี้ประณีต คือ ธรรม
เป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่ดับกิเลส
เป็นที่เย็นสนิท”
อีกประการหนึ่ง ธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อบรรลุความสงบ ถูกต้องความสงบ
ทำให้แจ้งความสงบ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕
พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เหล่านี้ก็ตรัสเรียกว่า สันติบท

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส
ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศสันติบท คือ ตาณบท เลณบท สรณบท อภยบท อัจจุตบท
อมตบท นิพพานบท
คำว่า ข้าแต่พระสหชเนตร อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณตรัสเรียกว่า
พระเนตร พระเนตรและความเป็นพระชินเจ้าของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เกิดขึ้น
ในขณะเดียวกัน ไม่ก่อน ไม่หลังกัน ที่โคนต้นโพธิ์ ฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงมี
พระนามว่าพระสหชเนตร รวมความว่า ข้าแต่พระสหชเนตร ขอพระองค์โปรด
ตรัสบอกสันติบท
คำว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมอันแท้จริงนั้น
แก่ข้าพระองค์ อธิบายว่า อมตนิพพานตรัสเรียกว่า ธรรมแท้จริง ได้แก่ ธรรม
เป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลาย
กำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก...นั้นแก่ข้าพระองค์ ได้แก่ ขอพระองค์
โปรดตรัส คือ โปรดบอก ฯลฯ ประกาศ รวมความว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
ขอพระองค์ โปรดตรัสบอกธรรมอันแท้จริงนั้นแก่ข้าพระองค์ ด้วยเหตุนั้น
พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านชตุกัณณิทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่า
พระองค์ไม่มีความใคร่กาม ล่วงพ้นห้วงกิเลส
จึงมาเฝ้าเพื่อจะทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม
ข้าแต่พระสหชเนตร ขอพระองค์โปรดตรัสบอกสันติบท
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม
อันแท้จริงนั้นแก่ข้าพระองค์

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส
[๖๖] (ท่านชตุกัณณิทูลถามว่า)
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกามทั้งหลาย
ด้วยพระเดช ทรงเคลื่อนไหว(อิริยาบถ)อยู่
เหมือนดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง ส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี
พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจภูริ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติ
และชราในโลกนี้ ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง
แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด (๒)
คำว่า พระผู้มีพระภาค ในคำว่า อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกาม
ทั้งหลาย (ด้วยพระเดช) ทรงเคลื่อนไหว (อิริยาบถ) อยู่ เป็นคำกล่าวโดย
ความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒)
กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม
พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดรู้วัตถุกาม ทรงละ ครอบงำ คือ ข่มขี่ ท่วมทับ
ควบคุม ย่ำยีกิเลสกามได้แล้ว เสด็จไป ประทับอยู่ ทรงเคลื่อนไหว ทรงเป็นไป
ทรงเลี้ยงพระชนมชีพ ทรงดำเนินไป ทรงยังพระชนมชีพให้ดำเนินไปอยู่ รวมความว่า
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกามทั้งหลาย (ด้วยพระเดช) ทรงเคลื่อนไหว
(อิริยาบถ)อยู่
คำว่า เหมือนดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง ส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี อธิบายว่า
พระสุรียะเรียกว่า ดวงอาทิตย์ พื้นแผ่นดินเรียกว่า ปฐพี
ดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง คือ ประกอบด้วยแสงสว่าง ครอบงำ ข่มขี่ ท่วมทับ
ปกคลุม แผดเผาแผ่นดิน ขจัดความมืด คือกำจัดความมืดมิดในอากาศทั้งหมดแล้ว
ส่องแสงสว่างโคจรไปในอากาศบนท้องฟ้าอันโปร่งใส ฉันใด พระผู้มีพระภาคมีพระ
เดชคือญาณ คือ ประกอบด้วยพระเดชคือญาณ ทรงกำจัดอภิสังขารสมุทัยทั้งปวง
ฯลฯ ความมืดคือกิเลส ความมืดคืออวิชชา ทรงส่องแสงสว่างคือพระญาณ ทรง
กำหนดรู้วัตถุกาม ทรงละ ครอบงำ ข่มขี่ ท่วมทับ ควบคุม ย่ำยีกิเลสกามได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส
เสด็จไป ประทับอยู่ ทรงเคลื่อนไหว ทรงเป็นไป ทรงเลี้ยงพระชนมชีพ
ทรงดำเนินไป ทรงยังพระชนมชีพให้ดำเนินไป ฉันนั้น รวมความว่า เหมือน
ดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง ส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี
คำว่า พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจภูริ... แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วย
เถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์เป็นผู้มีปัญญาน้อย คือ มีปัญญาต่ำทราม มีปัญญา
น่ารังเกียจ มีปัญญาหยาบ ส่วนพระองค์มีพระปัญญามาก คือ มีพระปัญญา
กว้างขวาง มีพระปัญญาอาจหาญ มีพระปัญญาฉับไว มีพระปัญญาเฉียบคม มี
พระปัญญาเพิกถอนกิเลส
แผ่นดินท่านเรียกว่า ภูริ พระผู้มีพระภาคทรงประกอบด้วยปัญญาอันกว้าง
ขวาง แผ่ไป เสมอด้วยแผ่นดินนั้น รวมความว่า พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจภูริ...
แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม ในคำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ธรรม ... ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก คือ
แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศธรรม คือ พรหมจรรย์
ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด พร้อมทั้ง
อรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ นิพพาน
และปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน
คำว่า ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง ได้แก่ ซึ่งข้าพระองค์พึงรู้ คือ พึงรู้ทั่ว
รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ รู้แจ้งเฉพาะ แทงตลอด บรรลุ ถูกต้อง ทำให้แจ้ง รวมความว่า
โปรดตรัสบอกธรรม... ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง
คำว่า ธรรมเป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้ อธิบายว่า ธรรมเป็นเครื่อง
ละ คือ ธรรมเป็นเครื่องเข้าไปสงบ เป็นเครื่องสลัดทิ้ง เป็นเครื่องระงับชาติชรา
และมรณะในโลกนี้ คืออมตนิพพาน รวมความว่า ธรรมเป็นเครื่องละชาติและชรา
ในโลกนี้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกามทั้งหลาย
ด้วยพระเดช ทรงเคลื่อนไหว(อิริยาบถ)อยู่
เหมือนดวงอาทิตย์มีแสงสว่าง ส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี
พระองค์ผู้มีพระปัญญาดุจภูริ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติ
และชราในโลกนี้ ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง
แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด
[๖๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชตุกัณณิ)
เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลายเสีย
เธอเห็นเนกขัมมะโดยความเกษมแล้ว
ควรสลัดเครื่องกังวลที่ยึดถือ
หรือว่าเครื่องกังวลอย่าได้มีแก่เธอ (๓)
คำว่า ในกามทั้งหลาย ในคำว่า เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลาย
เสีย ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒) กิเลสกาม ฯลฯ
เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑
คำว่า ความติดใจ อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความติดใจ ได้แก่
ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
คำว่า เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลายเสีย อธิบายว่า เธอจงกำจัด
คือ ขจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความกำหนัดใน
กามทั้งหลาย รวมความว่า เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลายเสีย
คำว่า ชตุกัณณิ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยโคตร
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๒ รวมความว่า พระผู้มีพระภาตตรัสตอบว่า
ชตุกัณณิ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๖-๖๗
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยธรรมอันเกษม
คำว่า เนกขัมมะ ในคำว่า เธอเห็นเนกขัมมะโดยความเกษมแล้ว อธิบาย
ว่า เธอเห็นแล้ว คือ แลเห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่ม
แจ้งซึ่งการปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติ
ที่เอื้อประโยชน์ การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม การรักษาศีลให้บริบูรณ์
ความเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ความเป็นผู้รู้จัก
ประมาณ ในการบริโภคอาหาร ความเป็นผู้มีความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ
สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕
โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน และปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน
โดยความเป็นธรรมเกษม คือ เป็นที่ปกป้อง เป็นที่หลีกเร้น เป็นที่พึ่ง ที่อาศัย ที่
ปลอดภัย ที่ไม่จุติ ที่ไม่ตาย ที่ดับเย็น รวมความว่า เธอเห็นเนกขัมมะโดยความ
เกษมแล้ว
คำว่า เครื่องกังวลที่ยึดถือ ในคำว่า ควรสลัดเครื่องกังวลที่ยึดถือ หรือว่า
อธิบายว่า เครื่องกังวลที่ถือแล้ว ยึดมั่นแล้ว ถือมั่นแล้ว ติดใจแล้ว น้อมใจเชื่อแล้ว
ด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ
คำว่า ควรสลัด ... หรือว่า อธิบายว่า ควรสลัด คือ ควรเปลื้อง ละ บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก หรือว่า รวมความว่า ควรสลัดเครื่องกังวล
ที่ยึดถือ หรือว่า
คำว่า เครื่องกังวลอย่าได้มีแก่เธอ อธิบายว่า เครื่องกังวลคือราคะ เครื่อง
กังวลคือโทสะ เครื่องกังวลคือโมหะ เครื่องกังวลคือมานะ เครื่องกังวลคือทิฏฐิ
เครื่องกังวลคือกิเลส เครื่องกังวลคือทุจริต เครื่องกังวลนี้อย่าได้มี คือ อย่าได้
ประสบ อย่าได้ปรากฏแก่เธอเลย ได้แก่ เธอจงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีก รวมความว่า เครื่องกังวลอย่าได้มีแก่เธอ ด้วยเหตุนั้น พระผู้-
มีพระภาคจึงตรัสว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชตุกัณณิ)
เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลายเสีย
เธอเห็นเนกขัมมะโดยความเกษมแล้ว
ควรสลัดเครื่องกังวลที่ยึดถือ
หรือว่าเครื่องกังวลอย่าได้มีแก่เธอ
[๖๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบ เที่ยวไป (๔)
คำว่า เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
อธิบายว่า กิเลสเหล่าใดพึงปรารภสังขารที่เป็นอดีตเกิดขึ้น เธอจงทำกิเลสเหล่านั้น
ให้แห้งไป เหือดแห้งไป คือ แห้งเหือดไป แห้งหายไป ทำให้หมดพืชพันธุ์ จงละ
บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก รวมความว่า เธอจงทำกิเลสที่
ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง กัมมาภิสังขารที่เป็นอดีตซึ่งให้ผลเหล่าใด เธอจงทำกัมมาภิ-
สังขารเหล่านั้นให้แห้งไป เหือดแห้งไป คือ แห้งเหือดไป แห้งหายไป ทำให้
หมดพืชพันธุ์ จงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก รวมความว่า
เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป อย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยอนาคตตรัสเรียกว่าส่วนภายหลัง
คำว่า เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ อธิบายว่า
เครื่องกังวลส่วนอนาคต ตรัสเรียกว่า ภายหลัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส
เครื่องกังวลคือราคะ เครื่องกังวลคือโทสะ เครื่องกังวลคือโมหะ เครื่องกังวล
คือมานะ เครื่องกังวลคือทิฏฐิ เครื่องกังวลคือกิเลส เครื่องกังวลคือทุจริต อัน
ปรารภสังขารที่เป็นส่วนอนาคต เครื่องกังวลนี้อย่าได้มี คือ อย่าได้มีแล้วแก่เธอ
ได้แก่ เธออย่าให้เกิด อย่าให้เกิดขึ้น อย่าให้บังเกิด จงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีก รวมความว่า เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่า
ได้มีแก่เธอ
คำว่า ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้ อธิบายว่า รูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นปัจจุบัน ตรัสเรียกว่า ส่วนท่ามกลาง
เธอจักไม่ถือ คือ ไม่ถือ ไม่ยึดถือ ไม่ใยดี ไม่พูดถึง ไม่ติดใจสังขารที่เป็น
ปัจจุบันด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ คือ จักละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น
ความถือมั่น รวมความว่า ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
คำว่า ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบ เที่ยวไป อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะ
สงบราคะ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโทสะ ฯลฯ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโมหะ
ฯลฯ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เข้าไปสงบ คือ สงบเย็น ดับ ระงับ เพราะสงบ ระงับ สงบเย็น
เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับโกธะ ฯลฯ อุปนาหะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท
เที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
รวมความว่า ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบ เที่ยวไป ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัส
ตอบว่า
เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบ เที่ยวไป
[๖๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
พราหมณ์ อาสวะทั้งหลาย
อันเป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่งมัจจุ ไม่มีแก่บุคคลนั้น
ผู้คลายความติดใจในนามรูป โดยประการทั้งปวง (๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า โดยประการทั้งปวง ในคำว่า พราหมณ์... ผู้คลายความติดใจใน
นามรูปโดยประการทั้งปวง ได้แก่ ทุกสิ่งโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ
ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า โดยประการทั้งปวง นี้ เป็นคำกล่าวรวม ๆ
ไว้ทั้งหมด
คำว่า นาม ได้แก่ อรูปขันธ์ ๔
คำว่า รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔๑ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔๒ ตัณหา
ตรัสเรียกว่า ความติดใจ ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ
คำว่า พราหมณ์ ... ผู้คลายความติดใจในนามรูป โดยประการทั้งปวง
อธิบายว่า พราหมณ์ พระอรหันตขีณาสพ ผู้คลายความติดใจแล้ว คือ ผู้ปราศจาก
ความติดใจแล้ว สละความติดใจแล้ว คายความติดใจแล้ว ปล่อยความติดใจแล้ว
ละความติดใจแล้ว สลัดทิ้งความติดใจได้แล้ว รวมความว่า พราหมณ์ ... ผู้
คลายความติดใจในนามรูป โดยประการทั้งปวง
คำว่า อาสวะทั้งหลาย ในคำว่า อาสวะทั้งหลาย ... ไม่มีแก่บุคคลนั้น ได้แก่
อาสวะ ๔ อย่าง คือ
๑. กามาสวะ
๒. ภวาสวะ
๓. ทิฏฐาสวะ
๔. อวิชชาสวะ
คำว่า แก่บุคคลนั้น ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ไม่มี อธิบายว่า อาสวะเหล่านี้ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่
ได้แก่พระอรหันตขีณาสพนั้น ได้แก่ อาสวะทั้งหลายท่านละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
รวมความว่า อาสวะทั้งหลาย ... ไม่มีแก่บุคคลนั้น

เชิงอรรถ :
๑ มหาภูตรูป ๔ ดูเชิงอรรถข้อ ๕/๕๘
๒ รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ดูเชิงอรรถข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๑. ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า อันเป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่งมัจจุ อธิบายว่า อาสวะทั้งหลาย ที่
เป็นเหตุให้ไปสู่อำนาจแห่งมรณะ หรือ ไปสู่อำนาจของมรณะ หรือ ไปสู่อำนาจ
ของพรรคพวกมาร ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่มีปรากฏ หาไม่ได้แก่พระอรหันตขีณาสพนั้น
ได้แก่ อาสวะทั้งหลายท่านละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า อันเป็นเหตุให้ถึง
อำนาจแห่งมัจจุ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
พราหมณ์ อาสวะทั้งหลาย
อันเป็นเหตุให้ถึงอำนาจแห่งมัจจุ ไม่มีแก่บุคคลนั้น
ผู้คลายความติดใจในนามรูป โดยประการทั้งปวง
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ ชตุกัณณิมาณพ ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
ชตุกัณณิมาณวปัญหานิทเทสที่ ๑๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของภัทราวุธมาณพ
[๗๐] (ท่านภัทราวุธทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนาพระองค์
ผู้ทรงละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ตัดตัณหาได้
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
ทรงละความเพลิดเพลินได้ ข้ามห้วงกิเลสได้
หลุดพ้นแล้ว ละการกำหนด มีพระปัญญาดี
ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้ว
จึงจักกลับไปจากที่นี้ (๑)
คำว่า ผู้ทรงละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ในคำว่า ผู้ทรงละห้วงน้ำคืออาลัยได้
ตัดตัณหาได้ ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว อธิบายว่า ความพอใจ ความกำหนัด
ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบาย๒และความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไป
ตั้งมั่นถือมั่นนอนเนื่องในรูปธาตุ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าผู้ละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ความพอใจ
ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบายและความยึดมั่นอัน
เป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นนอนเนื่องในเวทนาธาตุ ฯลฯ ในสัญญาธาตุ ฯลฯ
ในสังขารธาตุ ฯลฯ ในวิญญาณธาตุ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าผู้ทรงละห้วงน้ำคืออาลัยได้
คำว่า ตัดตัณหาได้ อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา ตัณหานั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงตัดแล้ว คือ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๑๐๘-๑๑๑๑/๕๔๖
๒ อุบาย ในที่นี้หมายถึงตัณหาและทิฎฐิ (ขุ.จู.อ. ๗๐/๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
ตัดขาดแล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก
เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าตัดตัณหาได้
คำว่า ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า เหตุให้
หวั่นไหว ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑
ตัณหาเหตุให้หวั่นไหวนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว คือ
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว เพราะ
เป็นผู้ละตัณหาเหตุให้หวั่นไหวได้แล้ว จึงชื่อว่าไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว พระผู้มี-
พระภาค ไม่ทรงหวั่นไหว คือ ไม่ทรงสะเทือน ไม่เคลื่อนไหว ไม่สะท้าน ไม่สั่นสะท้าน
เพราะได้ลาภ เพราะเสื่อมลาภบ้าง เพราะได้ยศ เพราะเสื่อมยศบ้าง เพราะสรรเสริญ
เพราะนินทาบ้าง เพราะได้สุข เพราะทุกข์บ้าง ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มี
ตัณหาเหตุให้หวั่นไหว รวมความว่า ผู้ทรงละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ตัดตัณหาได้ ไม่
มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านภัทราวุธทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า
ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า ภัทราวุธ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ๒ รวมความว่า
ท่านภัทราวุธทูลถาม ดังนี้
คำว่า ทรงละความเพลิดเพลินได้ ข้ามห้วงกิเลสได้ หลุดพ้นแล้ว อธิบายว่า
ตัณหาตรัสเรียกว่า ความเพลิดเพลิน ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ
อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ ความเพลิดเพลินคือตัณหานั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงละได้เด็ดขาดแล้ว คือ ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไป
แล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่า
ละความเพลิดเพลินได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้ามห้วงกิเลสได้ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงข้าม คือ ข้ามขึ้น
ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นแล้วซึ่งกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ
ทางแห่งสงสารทั้งปวง พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว
ประพฤติจรณธรรมแล้ว ฯลฯ พระองค์ไม่มี การเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนตาย
และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า ทรงละความเพลิดเพลินได้ ข้ามห้วงกิเลสได้
หลุดพ้นแล้ว
คำว่า หลุดพ้นแล้ว อธิบายว่า จิตของพระผู้มีพระภาคพ้นไปแล้ว หลุดพ้นแล้ว
หลุดพ้นไปด้วยดีแล้วจากราคะ จิตของพระผู้พระภาคพ้นไปแล้ว หลุดพ้นแล้ว
หลุดพ้นไปด้วยดีแล้วจากโทสะ จิตของพระผู้มีพระภาคพ้นไปแล้ว หลุดพ้นแล้ว
หลุดพ้นไปด้วยดีแล้วจากโมหะ จิตของพระผู้มีพระภาคพ้นไปแล้ว หลุดพ้นแล้ว
หลุดพ้นไปด้วยดีแล้วจากโกธะ อุปนาหะ ฯลฯ จากอกุสลาภิสังขารทุกประเภท
รวมความว่า ละความเพลิดเพลินได้ ข้ามห้วงกิเลสได้ หลุดพ้นแล้ว
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนา ... ละการกำหนด มีพระปัญญาดี
อธิบายว่า
คำว่า การกำหนด ได้แก่ การกำหนด ๒ อย่าง คือ (๑) การกำหนด
ด้วยอำนาจตัณหา (๒) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าการกำหนด
ด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการ
กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ทรงละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา
สลัดทิ้งการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าละการกำหนด
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนา ได้แก่ ทูลขอ ทูลอาราธนา คือ อัญเชิญ
ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย พอใจ มุ่งหวัง
คำว่า มีพระปัญญาดี อธิบายว่า ปัญญาตรัสเรียกว่า เมธา (ปัญญาเครื่อง
ทำลายกิเลส) ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความ
เลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม
เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วยปัญญาเครื่องทำลายกิเลสนี้ ฉะนั้น
พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่ามีพระปัญญาดี รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนา ...
ละการกำหนด มีพระปัญญญาดี
คำว่า ผู้นาคะ๑ ในคำว่า ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้
นาคะแล้ว จึงจักกลับไปจากที่นี้ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ
เพราะไม่ทรงทำความชั่ว พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงถึง พระผู้มี
พระภาคชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทรงกลับมาหา ฯลฯ พระผู้มีพระภาคชื่อว่าผู้นาคะ
เพราะไม่ทรงกลับมาหา เป็นอย่างนี้
คำว่า ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้วจึงจักกลับ
ไปจากที่นี้๒ อธิบายว่า ชนทั้งหลายครั้นได้ฟัง คือ ครั้นได้สดับ เรียน ทรงจำ
เข้าไปกำหนดแล้วซึ่งพระดำรัส คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำ
พร่ำสอนของพระองค์ จึงจักกลับ คือ ดำเนินไป จากไป ไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่จากที่นี้
รวมความว่า ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้วจึงจักกลับไป
จากที่นี้ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านภัทราวุธทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์ขอทูลอาราธนาพระองค์
ผู้ทรงละห้วงน้ำคืออาลัยได้ ตัดตัณหาได้
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
ทรงละความเพลิดเพลินได้ข้ามห้วงกิเลสได้
หลุดพ้นแล้ว ละการกำหนด มีพระปัญญาดี
ชนทั้งหลายครั้นได้ฟังพระดำรัสของพระองค์ผู้นาคะแล้ว
จึงจักกลับไปจากที่นี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๗/๑๔๕-๑๔๖
๒ จากที่นี้ ในที่นี้หมายถึง จากปาสาณกเจดีย์ (ขุ.จู.อ. ๗๐/๔๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
[๗๑] (ท่านภัทราวุธทูลถามว่า)
ข้าแต่พระวีระ ชนต่าง ๆ จากชนบททั้งหลาย
มาชุมนุมกัน(ในที่นี้) หวังเป็นอย่างยิ่ง(ที่จะได้ฟัง)
พระดำรัสของพระองค์ ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา)
แก่ชนเหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว (๒)
คำว่า ชนต่าง ๆ ในคำว่า ชนต่าง ๆ จากชนบททั้งหลาย มาชุมนุมกัน
(ในที่นี้) ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา
และมนุษย์
คำว่า จากชนบททั้งหลาย มาชุมนุมกัน(ในที่นี้) อธิบายว่า จากแคว้นอังคะ
มคธ กลิงคะ กาสี โกศล วัชชี มัลละ วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ
อวันตี โยนะ(คันธาระ) และกัมโพชะ
คำว่า มาชุมนุมกัน(ในที่นี้) อธิบายว่า มาชุมนุมกัน คือ มาพร้อมกัน
มารวมกัน มาประชุมกัน (ในที่นี้) รวมความว่า ชนต่าง ๆ จากชนบททั้งหลาย
มาชุมนุมกัน (ในที่นี้)

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่าวีระ
คำว่า ข้าแต่พระวีระ ในคำว่า ข้าแต่พระวีระ ... หวังเป็นอย่างยิ่ง(ที่จะ
ได้ฟัง)พระดำรัสของพระองค์ อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคผู้วีระ มีพระวิริยะ จึงชื่อว่าวีระ
พระผู้มีพระภาคทรงองอาจ จึงชื่อว่าวีระ
พระผู้มีภาคทรงให้ผู้อื่นพากเพียร จึงชื่อว่าวีระ
พระผู้มีพระภาคทรงสามารถ จึงชื่อว่าวีระ
พระผู้มีพระภาคทรงหมดความขนพองสยองเกล้า จึงชื่อว่าวีระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคทรงเว้นขาดจากบาปธรรมทั้งปวงในโลกนี้
ก้าวล่วงทุกข์ในนรก ทรงอยู่ด้วยความเพียร
ทรงมีความเพียร มีความมุ่งมั่น แกล้วกล้า มั่นคง
เรียกได้ว่า ทรงเป็นอย่างนั้น
คำว่า ข้าแต่พระวีระ...หวังเป็นอย่างยิ่ง (ที่จะได้ฟัง) พระดำรัสของ
พระองค์ ได้แก่ พระดำรัส คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำพร่ำสอน
คำว่า หวังเป็นอย่างยิ่ง อธิบายว่า หวังเป็นอย่างยิ่ง(ที่จะได้ฟัง) คือ ต้องการ
ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง รวมความว่า ข้าแต่พระวีระ ... หวังเป็นอย่างยิ่ง
(ที่จะได้ฟัง) พระดำรัสของพระองค์
คำว่า แก่ชนเหล่านั้น ในคำว่า ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา)แก่ชน
เหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด อธิบายว่า แก่ชนเหล่านั้น คือ กษัตริย์ พราหมณ์
แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาและมนุษย์
คำว่า พระองค์ เป็นคำที่พราหมณ์เรียกพระผู้มีพระภาค
คำว่า โปรดพยากรณ์(ปัญหา) ... ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด อธิบายว่า ขอ
พระองค์โปรดตรัสบอก คือ แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด รวมความว่า ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา)แก่ชน
เหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
คำว่า เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว อธิบายว่า เพราะว่า
พระองค์ทรงทราบแล้ว คือ ทรงรู้แล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้
กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว รวมความว่า ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา)
แก่ชนเหล่านั้นให้แจ่งแจ้งด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระวีระ ชนต่าง ๆ จากชนบททั้งหลาย
มาชุมนุมกัน(ในที่นี้) หวังเป็นอย่างยิ่ง(ที่จะได้ฟัง)
พระดำรัสของพระองค์ ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา)
แก่ชนเหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
[๗๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภัทราวุธ)
นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง
ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เพราะสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดถือขันธ์ใด ๆ ในโลก
มารย่อมติดตามสัตว์เพราะสิ่งที่ยึดถือนั้นนั่นแล (๓)
คำว่า นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง อธิบายว่า รูปตัณหา ตรัส
เรียกว่า เครื่องยึดมั่น
คำว่า เครื่องยึดมั่น อธิบายว่า รูปตัณหา ท่านเรียกว่าเครื่องยึดมั่น เพราะเหตุไร
เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมยึดถือ เข้าไปยึดถือ คือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูปด้วยตัณหานั้น
ฯลฯ ได้แก่ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมยึดถือ เข้าไปยึดถือ คือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นเวทนา
ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ คติ ฯลฯ อุปบัติ ฯลฯ ปฏิสนธิ
ฯลฯ ภพ ฯลฯ สงสาร ฯลฯ วัฏฏะ เพราะเหตุนั้น รูปตัณหาเป็นต้นนั้น
ท่านจึงเรียกว่า เครื่องยึดมั่น
คำว่า นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง อธิบายว่า นรชนควรทำลาย
คือ พึงขจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งเครื่องยึดมั่นทั้งหมด
รวมความว่า นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง
คำว่า ภัทราวุธ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภัทราวุธ เป็นคำที่
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ภัทราวุธ
คำว่า ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง อธิบายว่า
อนาคต ตรัสเรียกว่าชั้นสูง อดีต ตรัสเรียกว่าชั้นต่ำ ปัจจุบัน ตรัสเรียกว่า
ชั้นกลาง
กุศลธรรม ตรัสเรียกว่าชั้นสูง อกุศลธรรม ตรัสเรียกว่าชั้นต่ำ อัพยากตธรรม
ตรัสเรียกว่าชั้นกลาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
เทวโลก ตรัสเรียกว่าชั้นสูง อบายโลก ตรัสเรียกว่าชั้นต่ำ มนุษยโลก ตรัส
เรียกว่าชั้นกลาง
สุขเวทนา ตรัสเรียกว่าชั้นสูง ทุกขเวทนา ตรัสเรียกว่าชั้นต่ำ อทุกขมสุขเวทนา
ตรัสเรียกว่าชั้นกลาง
อรูปธาตุ ตรัสเรียกว่าชั้นสูง กามธาตุ ตรัสเรียกว่าชั้นต่ำ รูปธาตุ ตรัส
เรียกว่าชั้นกลาง
เบื้องสูงจากฝ่าเท้าขึ้นไป ตรัสเรียกว่าชั้นสูง เบื้องต่ำจากปลายผมลงมา
ตรัสเรียกว่าชั้นต่ำ ตรงกลาง ตรัสเรียกว่าชั้นกลาง รวมความว่า ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำ
และชั้นกลาง
คำว่า เพราะสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดถือขันธ์ใด ๆ ในโลก อธิบายว่า เพราะ
สัตว์ทั้งหลายยึดถือ เข้าไปยึดถือ คือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณใด ๆ
คำว่า ในโลก อธิบายว่า ในอบายโลก ฯลฯ อายตนโลก๑ รวมความว่า
เพราะสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดถือขันธ์ใด ๆ ในโลก
คำว่า มารย่อมติดตามสัตว์เพราะสิ่งที่ยึดถือนั้นนั่นแล อธิบายว่า ขันธมาร
ธาตุมาร อายตนมาร คติมาร อุปบัติมาร ปฏิสนธิมาร ภวมาร สังสารมาร วัฏฏมาร
อันมีในปฏิสนธิ ย่อมติดตาม คือ ไปตาม เป็นผู้ติดตามไปด้วยอำนาจ
กัมมาภิสังขารนั้นนั่นเอง
คำว่า สัตว์ ได้แก่ ผู้ข้อง ชน นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์ รวมความว่า มารย่อมติดตามสัตว์เพราะ
สิ่งที่ยึดถือนั้นนั่นแล ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๔/๕๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภัทราวุธ)
นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง
ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เพราะสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดถือขันธ์ใด ๆ ในโลก
มารย่อมติดตามสัตว์เพราะสิ่งที่ยึดถือนั้นนั่นแล
[๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เพราะฉะนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัดเพ่งพิจารณาหมู่สัตว์นี้
ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราชว่า เป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น
ควรเป็นผู้มีสติ ไม่พึงเข้าไปยึดถือเครื่องกังวลในโลกทั้งปวง (๔)
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัด... ไม่พึงเข้าไป
ยึดถือ อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น ภิกษุเมื่อมองเห็นโทษแห่งตัณหาเครื่องยึดมั่นนี้ รวมความว่า
เพราะฉะนั้น
คำว่า เมื่อรู้ชัด อธิบายว่า รู้อยู่ รู้ชัด รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอดอยู่
ได้แก่ รู้อยู่ รู้ชัด รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอดอยู่ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
คำว่า ไม่พึงเข้าไปยึดถือ อธิบายว่า ไม่พึงยึดถือ ไม่พึงเข้าไปยึดถือ ไม่พึงถือ
ไม่พึงยึดมั่น ไม่พึงถือมั่นรูป ฯลฯ ไม่พึงยึดถือ ไม่พึงเข้าไปยึดถือ ไม่พึงถือ ไม่
พึงยึดมั่น ไม่พึงถือมั่นเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ
คติ ฯลฯ อุปบัติ ฯลฯ ปฏิสนธิ ฯลฯ ภพ ฯลฯ สงสาร ฯลฯ วัฏฏะ รวมความว่า
เพราะฉะนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัด ... ไม่พึงเข้าไปยึดถือ
คำว่า ภิกษุ ในคำว่า ภิกษุ ... ควรเป็นผู้มีสติ ... เครื่องกังวลในโลก
ทั้งปวง ได้แก่ ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือ ภิกษุผู้เป็นเสขะ
คำว่า ควรเป็นผู้มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ (๑) ชื่อว่ามีสติ
เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ ภิกษุนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
ผู้มีสติ รวมความว่า ภิกษุ ... ควรเป็นผู้มีสติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า เครื่องกังวล ได้แก่ ขันธ์ที่เป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร
เป็นวิญญาณไร ๆ
คำว่า ในโลกทั้งปวง ได้แก่ ในอบายโลกทั้งปวง ในมนุษยโลกทั้งปวง
ในเทวโลกทั้งปวง ในขันธโลกทั้งปวง ในธาตุโลกทั้งปวง ในอายตนโลกทั้งปวง
รวมความว่า ภิกษุ ... ควรเป็นผู้มีสติ ... เครื่องกังวล ในโลกทั้งปวง
คำว่า เพ่งพิจารณา ... ว่าเป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น อธิบายว่า
ชนเหล่าใดยึดถือ เข้าไปยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูป ฯลฯ ได้แก่ ย่อมยึดถือ
เข้าไปยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ
ฯลฯ คติ ฯลฯ อุปบัติ ฯลฯ ปฏิสนธิ ฯลฯ ภพ ฯลฯ สงสาร ฯลฯ วัฏฏะ
ชนเหล่านั้นตรัสเรียกว่า ผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น
คำว่า ว่า เป็นคำสนธิ ฯลฯ คำว่า ว่า นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลัง
เข้าด้วยกัน
คำว่า เพ่งพิจารณา ได้แก่ เพ่งพิจารณา แลเห็น มองเห็น เห็น มองดู
เพ่งพินิจ พิจารณา รวมความว่า เพ่งพิจารณา ... ว่าเป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น
คำว่า หมู่สัตว์ ในคำว่า หมู่สัตว์นี้ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราช เป็นชื่อของ
สัตว์
คำว่า บ่วงแห่งมัจจุราช อธิบายว่า กิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร เรียกว่า
บ่วงแห่งมัจจุราช
หมู่สัตว์ ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในบ่วงแห่งมัจจุราช
คือ บ่วงแห่งมาร บ่วงแห่งมรณะ อธิบายว่า สิ่งของที่ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด
เกี่ยวพัน ติดตรึงอยู่ที่ตะปูข้างฝา หรือที่เครื่องแขวนทำด้วยงาช้าง ฉันใด หมู่สัตว์
ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในบ่วงแห่งมัจจุราช คือบ่วงแห่งมาร
บ่วงแห่งมรณะ ฉันนั้น รวมความว่า หมู่สัตว์นี้ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราช ด้วย
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๒. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
เพราะฉะนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัดเพ่งพิจารณาหมู่สัตว์นี้
ผู้ติดอยู่ในบ่วงแห่งมัจจุราชว่า เป็นผู้ข้องอยู่ในเครื่องยึดมั่น
ควรเป็นผู้มีสติ ไม่พึงเข้าไปยึดถือเครื่องกังวลในโลกทั้งปวง
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ ภัทราวุธมาณพ ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทสที่ ๑๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของอุทัยมาณพ
[๗๔] (ท่านอุทัยทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงมีฌาน ปราศจากธุลี
ประทับนั่งอยู่ ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะ ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์
อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด (๑)
คำว่า ผู้ทรงมีฌาน ในคำว่า ผู้ทรงมีฌาน ปราศจากธุลี ประทับนั่งอยู่
อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีฌาน ชื่อว่าทรงมีฌาน ด้วยปฐมฌานบ้าง ด้วย
ทุติยฌานบ้าง ด้วยตติยฌานบ้าง ด้วยจตุตถฌานบ้าง ด้วยฌานที่มีวิตกและวิจาร
เป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจารเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่ไม่มี
วิตกและวิจารเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่มีปีติเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่ไม่มีปีติ
เป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่สหรคตด้วยความแช่มชื่นบ้าง ด้วยฌานที่สหรคตด้วย
อุเบกขาบ้าง ด้วยฌานที่เป็นสุญญตะบ้าง๒ ด้วยฌานที่เป็นอนิมิตตะบ้าง๓ ด้วย
ฌานที่เป็นอัปปณิหิตะบ้าง๔ ด้วยฌานที่เป็นโลกิยะบ้าง ด้วยฌานที่เป็นโลกุตตระบ้าง
คือ ทรงเป็นผู้ยินดีในฌาน ทรงขวนขวายในความเป็นผู้มีจิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว
ทรงหนักในประโยชน์ของพระองค์ รวมความว่า ผู้ทรงมีฌาน

ว่าด้วยธุลี
คำว่า ปราศจากธุลี อธิบายว่า ราคะ ชื่อว่าธุลี โทสะ ชื่อว่าธุลี โมหะ ชื่อว่าธุลี
โกธะ ชื่อว่าธุลี อุปนาหะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ชื่อว่าธุลี

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๑๒-๑๑๑๘/๕๔๖-๕๔๗
๒ ฌานที่เป็นสุญญตะ คือฌานที่ประกอบด้วยสุญญตวิโมกข์ (ขุ.จู.อ. ๗๔/๔๗)
๓ ฌานที่เป็นอนิมิตตะ คือฌานที่ถอนนิมิตว่าเที่ยง ยั่งยืน ตัวตนได้ (ขุ.จู.อ. ๗๔/๔๗)
๔ฌานที่เป็นอัปปณิหิตะ คือฌานอันไม่มีที่ตั้งเพราะผลสมาบัติ เพราะชำระถือเอาความปรารถนาด้วยการ
ถึงมรรค (ขุ.จู.อ. ๗๔/๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
กิเลสที่เรียกว่าธุลีเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่
ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีธุลี ปราศจากธุลี คือ
ไร้ธุลี บำราศธุลี ละธุลีได้ หลุดพ้นธุลีได้ ก้าวล่วงธุลีทั้งปวงเสียแล้ว
ราคะ เราเรียกว่า ธุลี
เราหาเรียกละอองว่า เป็นธุลี ไม่
คำว่า ธุลีนี้ เป็นชื่อของราคะ
ฉะนั้น พระชินเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงละธุลีนั้นแล้ว
จึงเรียกได้ว่า ผู้ปราศจากธุลี
โทสะ เราเรียกว่า ธุลี
เราหาเรียกละอองว่า เป็นธุลี ไม่
คำว่า ธุลีนี้ เป็นชื่อของโทสะ
ฉะนั้น พระชินเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงละธุลีนั้นแล้ว
จึงเรียกได้ว่า ผู้ปราศจากธุลี
โมหะ เราเรียกว่า ธุลี
เราหาเรียกละอองว่า เป็นธุลี ไม่
คำว่า ธุลีนี้ เป็นชื่อของโมหะ
ฉะนั้น พระชินเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงละธุลีนั้นได้แล้ว
จึงเรียกได้ว่า ผู้ปราศจากธุลี๑
รวมความว่า ปราศจากธุลี
คำว่า ประทับนั่งอยู่ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปาสาณกเจดีย์
รวมความว่า ประทับนั่งอยู่
พระสาวกทั้งหลาย ผู้มีวิชชา ๓ ละมัจจุได้
นั่งห้อมล้อมพระมุนีผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์
ประทับอยู่ข้างภูเขา

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๒๐๙/๖๑๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าประทับนั่งอยู่ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าประทับนั่งอยู่ เพราะทรงเป็นผู้สงัดจาก
ความขวนขวายทั้งปวงแล้ว ทรงอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว
ฯลฯ พระองค์ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนตาย (และ)ภพใหม่ก็ไม่มีอีก
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าประทับนั่งอยู่ อย่างนี้บ้าง รวมความว่า ผู้ทรงมีฌาน
ปราศจากธุลี ประทับนั่งอยู่
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านอุทัยทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ
คำว่า อุทัย เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ๑ รวมความว่า
ท่านอุทัยทูลถาม ดังนี้
คำว่า ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ อธิบายว่า กิจน้อยใหญ่ คือ
กิจที่ควรทำและไม่ควรทำ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว
ภิกษุผู้ไม่มีทิฏฐิที่ทำให้ตกไป ตัดกระแสขาดแล้ว
ละกิจน้อยใหญ่ได้แล้ว ย่อมไม่มีความเร่าร้อน๒

ว่าด้วยอาสวะ ๔
คำว่า ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ อธิบายว่า
คำว่า อาสวะ ได้แก่ อาสวะ ๔ อย่าง คือ
๑. กามาสวะ
๒. ภวาสวะ
๓. ทิฏฐาสวะ
๔. อวิชชาสวะ

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑/๔๔
๒ ขุ.สุ. ๒๕/๗๒๑/๔๗๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
อาสวะเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอน
โคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้น
ต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีอาสวะ รวมความว่า ผู้ทรงทำกิจ
สำเร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
คำว่า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงถึงฝั่งได้
ด้วยความรู้ยิ่ง ถึงฝั่งได้ด้วยการกำหนดรู้ ถึงฝั่งได้ด้วยการละ ถึงฝั่งได้ด้วยการ
เจริญภาวนา ถึงฝั่งได้ด้วยการทำให้แจ้ง ถึงฝั่งได้ด้วยการเข้าสมาบัติ ถึงฝั่งได้ด้วย
ความรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ถึงฝั่งได้ด้วยการกำหนดรู้ทุกข์ทั้งปวง ถึงฝั่งได้ด้วยการละ
กิเลสทั้งปวง ถึงฝั่งได้ด้วยการเจริญอริยมรรค ๔ ถึงฝั่งได้ด้วยการทำให้แจ้งนิโรธ
ถึงฝั่งได้ด้วยการเข้าถึงสมาบัติ ๘
พระองค์ทรงถึงความชำนาญ บรรลุบารมีในอริยศีล ทรงถึงความชำนาญ
บรรลุบารมีในอริยสมาธิ ทรงถึงความชำนาญ บรรลุบารมีในอริยปัญญา ทรงถึง
ความชำนาญ บรรลุบารมีในอริยวิมุตติ
พระองค์ทรงถึงฝั่ง บรรลุฝั่ง ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงปลายสุด บรรลุ
ปลายสุด ถึงท้ายสุด บรรลุท้ายสุด ถึงความสำเร็จ บรรลุความสำเร็จ ถึงที่ปกป้อง
บรรลุที่ปกป้อง ถึงที่หลีกเร้น บรรลุที่หลีกเร้น ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึ่ง ถึงที่ไม่มีภัย
บรรลุที่ไม่มีภัย ถึงที่ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงที่ไม่ตาย บรรลุที่ไม่ตาย ถึงที่ดับ
บรรลุที่ดับ พระผู้มีพระภาคนั้นทรงอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรม
แล้ว ฯลฯ พระองค์ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก
รวมความว่า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
คำว่า ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้า อธิบายว่า ข้าพระองค์มี
ความต้องการด้วยปัญหาจึงมาเฝ้าแล้ว คือ ปรารถนาจะทูลถามปัญหาจึงมาเฝ้าแล้ว
มีความปรารถนาจะฟังปัญหาจึงมาเฝ้าแล้ว รวมความว่า ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะ
ทูลถามจึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง การมาเฝ้า การก้าวเดินเข้าเฝ้า การเข้าไปเฝ้า การเข้าไปนั่งใกล้
พึงมีแก่ผู้ต้องการปัญหา คือ ผู้ปรารถนาจะถามปัญหา ผู้ปรารถนาจะฟังปัญหา
รวมความว่า ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระองค์ทรงมีอาคม(แหล่งความรู้)แห่งปัญหา ทั้งพระองค์ทรง
องอาจ ทรงสามารถที่จะตรัสบอก คือ วิสัชนาปัญหา ที่ข้าพระองค์ทูลถาม ข้อ
นี้เป็นภาระของพระองค์ รวมความว่า ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้า
อย่างนี้บ้าง
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์ อธิบายว่า ความหลุดพ้น
ด้วยอรหัตตผล ตรัสเรียกว่า อัญญาวิโมกข์ ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก
แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศความหลุดพ้นด้วย
อรหัตตผลด้วยเถิด รวมความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์
คำว่า อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด อธิบายว่า อันเป็นเครื่องสลาย
เป็นเครื่องทำลาย คือ เป็นการละ การเข้าไปสงบ การสลัดทิ้ง การระงับอวิชชาได้
เป็นอมตนิพพาน รวมความว่า อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด เหตุนั้น
พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านอุทัยทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงมีฌาน ปราศจากธุลี
ประทับนั่งอยู่ ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว
ไม่มีอาสวะ ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์
อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด
[๗๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุทัย)
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์
อันเป็นเครื่องละความพอใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
ในกามและโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง
เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ
และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง (๒)
คำว่า อันเป็นเครื่องละความพอใจในกาม อธิบายว่า
คำว่า ความพอใจ ได้แก่ ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ ความกำหนัด
ด้วยอำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจความใคร่ ความทะยานอยาก
ด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่ ความกระหายด้วยอำนาจ
ความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่
ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย ห้วงน้ำคือความใคร่ กิเลสเป็น
เครื่องประกอบคือความใคร่ กิเลสเครื่องยึดมั่นคือความใคร่ กิเลสเครื่องกั้นจิตคือ
ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย
คำว่า อันเป็นเครื่องละความพอใจในกาม อธิบายว่า อันเป็นเครื่องละ คือ
เป็นเครื่องเข้าไปสงบ สลัดทิ้ง ระงับความพอใจในกามได้ เป็นอมตนิพพาน รวม
ความว่า อันเป็นเครื่องละความพอใจในกาม
คำว่า อุทัย ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุทัย เป็นคำที่พระผู้มี
พระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุทัย
คำว่า โทมนัส ในคำว่า และโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง อธิบายว่า ความไม่
แช่มชื่นทางใจ ความทุกข์ทางใจ ความเสวยอารมณ์เป็นทุกข์อันไม่แช่มชื่นเกิดจาก
สัมผัสทางใจ ทุกขเวทนาอันไม่แช่มชื่นเกิดจากสัมผัสทางใจ
คำว่า และโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง อธิบายว่า การละ การเข้าไปสงบ การสลัดทิ้ง
การระงับความพอใจในกามและโทมนัสทั้ง ๒ อย่างได้ เป็นอมตนิพพาน รวมความว่า
และโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ความย่อท้อ ในคำว่า เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ อธิบายว่า
ความที่จิตไม่คล่องแคล่ว ความที่จิตไม่ควรแก่การงาน ความหดหู่ กิริยาที่หดหู่
ความท้อถอย กิริยาที่ท้อถอย ภาวะที่ท้อถอย ความย่อท้อ กิริยาที่ย่อท้อ
ความเป็นผู้มีจิตย่อท้อ
คำว่า เป็นเครื่องบรรเทา ได้แก่ เป็นเครื่องบรรเทา คือ เป็นเครื่องละ
เป็นเครื่องเข้าไปสงบ สลัดทิ้ง ระงับความย่อท้อได้ เป็นอมตนิพพาน รวมความว่า
เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ

ว่าด้วยความคะนอง
คำว่า ความคะนอง ในคำว่า และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง อธิบายว่า
ความคะนองมือ ชื่อว่าความคะนอง ความคะนองเท้า ชื่อว่าความคะนอง ความ
คะนองมือและเท้า ก็ชื่อว่าความคะนอง ความสำคัญในสิ่งที่ไม่ควรว่าควร ความ
สำคัญในสิ่งที่ควรว่าไม่ควร ฯลฯ ความสำคัญในสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ ความ
สำคัญในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ ความคะนอง กิริยาที่คะนอง ภาวะที่คะนอง
ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่านเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความคะนอง
อีกนัยหนึ่ง ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นเพราะเหตุ ๒
อย่าง คือ (๑) เพราะทำ (๒) เพราะไม่ทำ
ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นเพราะทำและเพราะ
ไม่ทำ เป็นอย่างไร
คือ ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า “เราทำแต่กาย
ทุจริต ไม่ทำกายสุจริต” ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า
“เราทำแต่วจีทุจริต ไม่ทำวจีสุจริต เราทำแต่มโนทุจริต ไม่ทำมโนสุจริต เราทำ
แต่ปาณาติปาต ไม่ทำความงดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ เราทำแต่อทินนาทาน
ไม่ทำความงดเว้นจากอทินนาทาน ฯลฯ เราทำแต่กาเมสุมิจฉาจาร ไม่ทำความ
งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ฯลฯ เราทำแต่มุสาวาท ไม่ทำความงดเว้นจากมุสาวาท


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
ฯลฯ เราทำแต่ปิสุณาวาจา ไม่ทำความงดเว้นจากปิสุณาวาจา ฯลฯ เราทำแต่
ผรุสวาจาไม่ทำความงดเว้นจากผรุสวาจา ฯลฯ เราทำแต่สัมผัปปลาปะ ไม่ทำ
ความงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ ฯลฯ เราทำแต่อภิชฌา ไม่ทำอนภิชฌา ฯลฯ
เราทำแต่พยาบาท ไม่ทำอัพยาบาท ฯลฯ เราทำแต่มิจฉาทิฏฐิ ไม่ทำสัมมาทิฏฐิ”
ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นเพราะทำและเพราะไม่ทำ
เป็นอย่างนี้
อีกนัยหนึ่ง ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า “เรามิ
ได้รักษาศีลให้บริบูรณ์” ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า
“เราไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖ ฯลฯ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ฯลฯ
ไม่ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ ฯลฯ ไม่หมั่นประกอบสติสัมปชัญญะ
ฯลฯ ไม่เจริญสติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ ไม่เจริญสัมมัปปธาน ๔ ฯลฯ ไม่เจริญอิทธิบาท
๔ ฯลฯ ไม่เจริญอินทรีย์ ๕ ฯลฯ ไม่เจริญพละ ๕ ฯลฯ ไม่เจริญโพชฌงค์ ๗ ฯลฯ
ไม่เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ฯลฯ ไม่กำหนดรู้ทุกข์ ไม่ละสมุทัย ไม่เจริญมรรค
เราไม่ทำนิโรธให้ประจักษ์แจ้ง”
คำว่า และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง อธิบายว่า เครื่องปิด เครื่องกั้น คือ
การละ การเข้าไปสงบ การสลัดทิ้ง การระงับความคะนองได้ เป็นอมตนิพพาน
รวมความว่า และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุทัย)
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์
อันเป็นเครื่องละความพอใจ
ในกามและโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง
เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ
และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
[๗๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ที่บริสุทธิ์
เพราะมีอุเบกขาและสติ ที่มีธรรมตรรกเป็นเบื้องต้น
เป็นเครื่องทำลายอวิชชา (๓)
คำว่า อุเบกขา ในคำว่า ที่บริสุทธิ์เพราะมีอุเบกขาและสติ ได้แก่ อุเบกขา
คือ ความเพิกเฉย ความเพิกเฉยอย่างยิ่ง ความที่จิตสงบ ความที่จิตสงัด ความ
ที่จิตเป็นกลางในจตุตถฌาน
คำว่า สติ ได้แก่ สติ คือ ความระลึกถึง ฯลฯ สัมมาสติ ปรารภอุเบกขา
ในจตุตถฌาน
คำว่า ที่บริสุทธิ์เพราะมีอุเบกขาและสติ อธิบายว่า อุเบกขาและสติใน
จตุตถฌาน สะอาด คือ หมดจด บริสุทธิ์ สะอาดพร้อม ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส
เครื่องยั่วยวน ปราศจากอุปกิเลส อ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่
หวั่นไหว รวมความว่า ที่บริสุทธิ์เพราะมีอุเบกขาและสติ
คำว่า ที่มีธรรมตรรกเป็นเบื้องต้น อธิบายว่า สัมมาสังกัปปะ ตรัสเรียกว่า
ธรรมตรรก สัมมาสังกัปปะนั้น เป็นเบื้องต้น คือ เป็นเบื้องหน้า เป็นหัวหน้าแห่ง
อัญญาวิโมกข์ รวมความว่า ที่มีธรรมตรรกเป็นเบื้องต้น อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง สัมมาทิฏฐิตรัสเรียกว่า ธรรมตรรก สัมมาทิฏฐินั้น เป็นเบื้องต้น
คือ เป็นเบื้องหน้า เป็นหัวหน้าแห่งอัญญาวิโมกข์ รวมความว่า ที่มีธรรมตรรก
เป็นเบื้องต้น อย่างนี้บ้าง
คำว่า เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ อธิบายว่า ความหลุดพ้นด้วยอรหัตตผล
ตรัสเรียกว่า อัญญาวิโมกข์ เราจะบอก คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศความหลุดพ้นด้วยอรหัตตผล รวมความว่า เราจะ
บอกอัญญาวิโมกข์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า อวิชชา ในคำว่า เป็นเครื่องลำลายอวิชชา อธิบายว่า ความไม่รู้ในทุกข์
ฯลฯ อวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ๑
คำว่า เป็นเครื่องทำลาย อธิบายว่า เป็นเครื่องสลาย เป็นเครื่องทำลาย คือ
การละ การเข้าไปสงบ การสลัดทิ้ง การระงับอวิชชาได้ เป็นอมตนิพพาน รวม
ความว่า เป็นเครื่องทำลายอวิชชา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ที่บริสุทธิ์
เพราะมีอุเบกขาและสติ ที่มีธรรมตรรกเป็นเบื้องต้น
เป็นเครื่องทำลายอวิชชา
[๗๗] (ท่านอุทัยทูลถามว่า)
สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้
อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน (๔)
คำว่า สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้ อธิบายว่า อะไรเป็นเครื่อง
ประกอบ คือ เครื่องเกี่ยวข้อง เครื่องผูกพัน เครื่องเศร้าหมองของสัตว์โลก โลก
ถูกอะไร ประกอบ ประกอบทั่ว ประกอบทั่วถึง ประกอบพร้อม เกาะติด เกี่ยวข้อง
พัวพันไว้ รวมความว่า สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้
คำว่า อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น อธิบายว่า อะไรเล่าเป็น
เครื่องสัญจร เที่ยวไป คือ ท่องเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น คือ โลกสัญจรไป เที่ยวไป
ท่องเที่ยวไปด้วยอะไร รวมความว่า อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
คำว่า เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน อธิบายว่า เพราะ
ละ คือ เพราะเข้าไปสงบ เพราะสลัดทิ้ง เพราะระงับอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสเรียก
คือ กล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงว่านิพพาน รวมความว่า เพราะละอะไรได้เล่า
พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๕-๔๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้
อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน
[๗๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
สัตว์โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้
ความตรึกเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละตัณหาได้ เราจึงเรียกว่า นิพพาน (๕)
คำว่า สัตว์โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ อธิบายว่า ตัณหา
ตรัสเรียกว่า ความเพลิดเพลิน ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ นี้ตรัสเรียกว่า ความเพลิดเพลิน ได้แก่ ความเพลิดเพลินที่
เป็นเครื่องประกอบ เป็นเครื่องเกี่ยวข้อง เป็นเครื่องผูกพัน เป็นเครื่องเศร้าหมอง
ของสัตว์โลก สัตว์โลกถูกความเพลิดเพลินนี้ประกอบ ประกอบทั่ว ประกอบทั่วถึง
ประกอบพร้อม เกาะติด เกี่ยวข้อง พัวพันไว้ รวมความว่า สัตว์โลกมีความ
เพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้

ว่าด้วยความตรึก ๙ อย่าง
คำว่า ความตรึก ในคำว่า ความตรึกเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น ได้แก่
ความตรึก ๙ อย่าง คือ
๑. ความตรึกในกาม
๒. ความตรึกในความพยาบาท
๓. ความตรึกในความเบียดเบียน
๔. ความตรึกถึงญาติ
๕. ความตรึกถึงชนบท
๖. ความตรึกถึงเทพเจ้า
๗. ความตรึกเกี่ยวเนื่องด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
๘. ความตรึกเกี่ยวเนื่องด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญ
๙. ความตรึกเกี่ยวเนื่องด้วยความไม่ถูกดูหมิ่น
เหล่านี้เรียกว่า ความตรึก ๙ อย่าง ความตรึก ๙ อย่างเหล่านี้ เป็นเหตุสัญจร
เที่ยวไป คือ ท่องเที่ยวไปของสัตว์โลก คือ สัตว์โลกสัญจรไป เที่ยวไป ท่องเที่ยวไป
ด้วยความตรึก ๙ อย่างเหล่านี้ รวมความว่า ความตรึกเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์
โลกนั้น
คำว่า ตัณหา ในคำว่า เพราะละตัณหาได้เราจึงเรียกว่านิพพาน ได้แก่
รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า เพราะละตัณหาได้เราจึงเรียกว่า นิพพาน อธิบายว่า เพราะละ คือ
เพราะเข้าไปสงบ เพราะสลัดทิ้ง เพราะระงับตัณหาได้ เราจึงเรียก คือ กล่าว พูด
บอก แสดง ชี้แจงว่า นิพพาน รวมความว่า เพราะละตัณหาได้เราจึงเรียกว่า นิพพาน
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
สัตว์โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้
ความตรึกเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละตัณหาได้เราจึงเรียกว่า นิพพาน
[๗๙] (ท่านอุทัยทูลถามว่า)
ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร วิญญาณจึงดับสนิท
ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์ (๖)
คำว่า สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร อธิบายว่า สัตว์โลกมีสติสัมปชัญญะ
เที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปอย่างไร
รวมความว่า สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร
คำว่า วิญญาณจึงดับสนิท อธิบายว่า วิญญาณจึงดับ คือ เข้าไปสงบ
ถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป รวมความว่า วิญญาณจึงดับสนิท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค อธิบายว่า พวก
ข้าพระองค์มาเฝ้า คือ เป็นผู้มาเฝ้าแล้ว มาเข้าเฝ้าแล้ว มาถึง ถึงพร้อมแล้ว
เป็นผู้มาถึงพร้อมกับพระองค์แล้ว เพื่อทูลถาม คือ ทูลปุจฉา ทูลขอ ทูลอัญเชิญ
ทูลให้พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประกาศ รวมความว่า ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูล
ถามพระผู้มีพระภาค
คำว่า นั้น ในคำว่า ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์ อธิบายว่า พวกข้า
พระองค์ขอฟัง คือ เรียน ทรงจำ เข้าไปกำหนดพระดำรัส คือ คำที่เป็นแนวทาง
เทศนา คำสั่งสอน คำที่พร่ำสอน รวมความว่า ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์
ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร วิญญาณจึงดับสนิท
ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์
[๘๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก
มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ วิญญาณจึงดับสนิท (๗)

ว่าด้วยเวทนา
คำว่า สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก อธิบายว่า สัตว์โลก
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในอยู่ ไม่ยินดี คือ ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่
ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี คือ การบ่นถึง
ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น
สัตว์โลกพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกอยู่ ไม่ยินดี คือ ไม่บ่นถึง
ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี
คือ การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
สัตว์โลกพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในและภายนอกอยู่ ไม่ยินดี
คือ ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มี
อีกซึ่งความยินดี การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น
สัตว์โลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นภายใน พิจารณาเห็นเวทนาใน
เวทนาอยู่ ฯลฯ สัตว์โลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมไปภายใน พิจารณา
เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ สัตว์โลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นและ
ความเสื่อมไปภายใน พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ สัตว์โลกพิจารณา
เห็นธรรมคือความเกิดขึ้นภายนอก พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ สัตว์
โลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมไปภายนอก พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ
สัตว์โลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปภายนอก พิจารณา
เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ สัตว์โลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นทั้ง
ภายในและภายนอก พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ สัตว์โลกพิจารณา
เห็นธรรมคือความเสื่อมไปทั้งภายในและภายนอก พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่
ฯลฯ สัตว์โลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปทั้งภายในและ
ภายนอก สัตว์โลกพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ไม่ยินดี คือ ไม่บ่นถึง ไม่ติด
ใจเวทนา ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี คือ
การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น
สัตว์โลกพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาด้วยอาการ ๔๒ อย่าง เหล่านี้อยู่ ไม่
ยินดี คือ ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่ ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี คือ
การบ่นถึง ความติดใจ ฯลฯ
อีกนัยหนึ่ง สัตว์โลกเห็นเวทนา โดยความเป็นของไม่เที่ยง ก็ไม่ยินดี คือ
ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่
มีอีกซึ่งความยินดี คือ การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น
สัตว์โลกเห็นเวทนาโดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร
เป็นของลำบาก เป็นอาพาธ ฯลฯ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป ก็ไม่ยินดี คือ ไม่บ่นถึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี
คือ การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น
สัตว์โลกพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาด้วยอาการ ๔๒ อย่างเหล่านี้ อยู่ ไม่
ยินดี คือ ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้
ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี คือ การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น
ความถือมั่น รวมความว่า สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก
คำว่า มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ อธิบายว่า มีสติสัมปชัญญะ เที่ยวไป คือ อยู่
เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปอย่างนี้ รวมความว่า
มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้
คำว่า วิญญาณจึงดับสนิท อธิบายว่า วิญญาณที่สหรคตด้วยปุญญาภิสังขาร
วิญญาณที่สหรคตด้วยอปุญญาภิสังขาร วิญญาณที่สหรคตด้วยอาเนญชาภิสังขาร
จึงดับไป คือ เข้าไปสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป รวมความว่า วิญญาณ
จึงดับสนิท ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก
มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ วิญญาณจึงดับสนิท
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ อุทัยมาณพ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่พระ
องค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
อุทยมาณวปัญหานิทเทสที่ ๑๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๔. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
๑๔. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของโปสาลมาณพ
[๘๑] (ท่านโปสาละทูลถาม ดังนี้)
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
ตัดความสงสัยได้แล้ว
ทรงแสดงอดีตธรรม
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง (๑)
คำว่า พระองค์ใด ในคำว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด ... ทรงแสดงอดีต
ธรรม อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระสยัมภู คือ ไม่มีครูอาจารย์ ได้ตรัสรู้
สัจจะในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน ด้วยพระองค์เอง ทรงบรรลุความเป็น
พระสัพพัญญูในสัจจะนั้น และความเป็นผู้ชำนาญในพละทั้งหลาย

ว่าด้วยการแสดงอดีตธรรม
คำว่า ทรงแสดงอดีตธรรม อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตธรรม
อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ของพระองค์ และชนเหล่าอื่น
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตธรรมของพระองค์ อย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตธรรม คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง
๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง
๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ฯลฯ ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ฯลฯ
๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ฯลฯ หลายสังวัฏฏกัป๒บ้าง ฯลฯ หลายวิวัฏฏกัป๓บ้าง ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๑๑๙-๑๑๒๒/๕๔๗-๕๔๘
๒ สังวัฏฏกัป คือกัปที่กำลังเสื่อม เพราะในกาลนั้นสัตว์ทั้งหลายไปรวมกันอยู่ในพรหมโลก (ขุ.จู.อ. ๘๑/๕๐)
๓ วิวัฏฏกัป คือกัปที่กำลังเจริญ เพราะในกาลนั้นสัตว์ทั้งหลายกลับจากพรหมโลก (ขุ.จู.อ. ๘๑/๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๔. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
หลายสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ของพระองค์เองว่า “ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนี้
มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น
ก็ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร
เสวยสุขทุกข์ มีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้น จึงมาเกิดในภพนี้” ทรงแสดงชาติก่อน
ได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป และชีวประวัติอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงอดีตธรรมของพระองค์อย่างนี้
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตธรรมของชนเหล่าอื่น อย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตธรรม คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ฯลฯ
หลายสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปบ้าง ของชนเหล่าอื่นว่า “ในภพโน้น เขามีชื่ออย่างนี้
มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไป
เกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เขาก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร
เสวยสุขทุกข์ มีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้” พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงชาติก่อน ได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป และชีวประวัติอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตธรรมของชนเหล่าอื่นอย่างนี้๑
พระผู้มีพระภาค เมื่อตรัสชาดก ๕๐๐ ชื่อว่าทรงแสดงอดีตธรรมของพระองค์
และชนเหล่าอื่น เมื่อตรัสมหาปทานิยสูตร๒ ชื่อว่าทรงแสดงอดีตธรรมของพระองค์
และชนเหล่าอื่น เมื่อตรัสมหาสุทัสสนิยสูตร๓ ชื่อว่าทรงแสดงอดีตธรรมของพระองค์
และชนเหล่าอื่น เมื่อตรัสมหาโควินทิยสูตร๔ ชื่อว่าทรงแสดงอดีตธรรมของพระองค์
และชนเหล่าอื่น เมื่อตรัสมาฆเทวิยสูตร๕ ก็ชื่อว่าทรงแสดงอดีตธรรมของพระองค์
และชนเหล่าอื่น

เชิงอรรถ :
๑ ที.สี. (แปล) ๙/๓๑/๑๓-๑๕
๒ มหาปทานสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยประวัติของมหาบุรุษทั้งหลาย (ที.ม. ๑๐/๑-๙๔/๑-๔๘)
๓ มหาสุทัสสนสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยสมบัติของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ (ที.ม. ๑๐/๒๔๑-๒๗๒/๑๔๘-๑๗๓)
๔ มหาโควินทสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องราวของพราหมณ์ชื่อมหาโควินทะ (ที.ม. ๑๐/๒๙๓-๓๓๐/๑๘๙-
๒๑๕)
๕ มาฆเทวสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยประวัติของท้าวมฆเทพ (ม.ม. ๑๓/๓๐๘-๓๑๖/๒๘๘-๒๙๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๔. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “จุนทะ ตถาคตมีญาณอันตามระลึก
ปรารภอดีตกาลยาวนาน ตถาคตมุ่งอดีตกาลยาวนานเท่าใด ก็ระลึกได้เท่านั้น
ตถาคตมีญาณอันตามระลึก ปรารภอนาคตกาลยาวนาน ฯลฯ จุนทะ ญาณอันเกิดที่
ต้นโพธิ์ของตถาคต ปรารภปัจจุบันกาลยาวนาน เกิดขึ้นว่า ‘ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้
ภพใหม่ต่อไป ไม่มี”๑
พระอินทริยปโรปริยัตตญาณ (ญาณอันกำหนดรู้ความยิ่งและหย่อนแห่ง
อินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย) เป็นกำลังของตถาคต พระอาสยานุสยญาณ (ความรู้จัก
ฉันทะที่มานอนและกิเลสที่นอนเนื่อง) ของเหล่าสัตว์ เป็นกำลังของตถาคต พระยมก-
ปาฏิหาริยญาณ (ญาณเป็นเครื่องนำธรรมชาติคู่ตรงข้ามกันกลับมาแสดง) เป็นกำลัง
ของตถาคต พระมหากรุณาสมาปัตติญาณ (ญาณในพระมหากรุณาสมาบัติ) เป็น
กำลังของตถาคต พระสัพพัญญุตญาณ เป็นกำลังของตถาคต พระอนาวรณญาณ
(ญาณที่หาเครื่องกางกั้นไม่ได้) เป็นกำลังของตถาคต พระอนาวรณญาณอันไม่มีอะไร
ข้อง ไม่มีอะไรขัดได้ในทุกแห่งหน เป็นกำลังของตถาคต พระผู้มีพระภาคทรงแสดง
คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศอดีตธรรม
บ้าง อนาคตธรรมบ้าง ปัจจุบันธรรมบ้าง ของพระองค์และชนเหล่าอื่นอย่างนี้ รวม
ความว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด ... ทรงแสดงอดีตธรรม
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านโปสาละทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก ฯลฯ
คำว่า โปสาละ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ รวมความว่า
ท่านโปสาละทูลถาม ดังนี้
คำว่า ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ตัดความสงสัยได้แล้ว อธิบายว่า ตัณหา
ตรัสเรียกว่า เหตุให้หวั่นไหว ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ๒

เชิงอรรถ :
๑ ที.ปา. ๑๑/๑๘๗/๑๑๖
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๔. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
ตัณหานั้นเหตุให้หวั่นไหว พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้
ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่าไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
เพราะเป็นผู้ละความหวั่นไหวได้แล้ว จึงไม่ทรงหวั่นไหว พระผู้มีพระภาคไม่ทรง
หวั่นไหว คือ ไม่สะเทือน ไม่เคลื่อนไหว ไม่สะท้าน ไม่สั่นสะท้าน เพราะได้ลาภ
เพราะเสื่อมลาภบ้าง เพราะได้ยศ เพราะเสื่อมยศบ้าง เพราะสรรเสริญ เพราะ
นินทาบ้าง เพราะสุข เพราะทุกข์บ้าง รวมความว่า ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
คำว่า ตัดความสงสัยได้แล้ว อธิบายว่า ความลังเลตรัสเรียกว่า ความสงสัย
ได้แก่ ความสงสัยในทุกข์ ฯลฯ ความหวาดหวั่นแห่งจิต ความติดขัดในใจ ความ
สงสัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละ คือ ตัด ตัดขาด ตัดขาดพร้อม ให้เข้าไป
สงบ สลัดทิ้ง ระงับ ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ฉะนั้น พระพุทธเจ้า
จึงชื่อว่าทรงตัดความสงสัยได้แล้ว รวมความว่า ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ตัดความ
สงสัยได้แล้ว
คำว่า ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงถึงฝั่งได้
ด้วยความรู้ยิ่ง ถึงฝั่งได้ด้วยการกำหนดรู้ ถึงฝั่งได้ด้วยการละ ถึงฝั่งได้ด้วยการเจริญ
ภาวนา ถึงฝั่งได้ด้วยการทำให้แจ้ง ถึงฝั่งได้ด้วยการเข้าสมาบัติ ถึงฝั่งได้ด้วยความรู้
ยิ่งธรรมทั้งปวง ฯลฯ พระองค์ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนตายและภพใหม่ก็
ไม่มีอีก รวมความว่า ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
คำว่า ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม จึงมาเฝ้า อธิบายว่า ข้าพระองค์
ต้องการถามปัญหาจึงมาเฝ้า ฯลฯ ข้อนี้จึงเป็นภาระของพระองค์ รวมความว่า
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น
จึงกราบทูลว่า
(ท่านโปสาละทูลถาม ดังนี้)
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
ตัดความสงสัยได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๔. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
ทรงแสดงอดีตธรรม
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
[๘๒] (ท่านโปสาละทูลถามว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ
ของบุคคลผู้ไม่มีรูปสัญญา ผู้ละรูปกายได้ทั้งหมด
ผู้พิจารณาทั้งภายในและภายนอกเห็นว่า ไม่มีอะไร
บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ควรแนะนำอย่างไร (๒)
คำว่า ผู้ไม่มีรูปสัญญา อธิบายว่า
รูปสัญญา เป็นอย่างไร
คือ สัญญา ความจำได้ ความเป็นผู้หมายรู้ของบุคคลผู้เข้ารูปาวจรสมาบัติ
หรือถือกำเนิด(ในรูปาวจรภพ) หรือมีธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน นี้ชื่อว่า
รูปสัญญา
คำว่า ผู้ไม่มีรูปสัญญา อธิบายว่า ผู้ได้อรูปสมาบัติ ๔ ไม่มีรูปสัญญา คือ
ไม่ปรากฏ ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นแล้ว รวมความว่า ผู้ไม่มีรูปสัญญา
คำว่า ผู้ละรูปกายได้ทั้งหมด อธิบายว่า รูปกายซึ่งมีในคราวปฏิสนธิทั้งหมด
บุคลลนั้นละได้แล้ว คือ เขาละรูปกาย เพราะก้าวล่วงด้วยตทังคปหาน๑ (และ)
ด้วยวิกขัมภนปหาน๒ รวมความว่า ผู้ละรูปกายได้ทั้งหมด
คำว่า ไม่มีอะไร ในคำว่า ผู้พิจารณาทั้งภายในและภายนอกเห็นว่า ไม่มี
อะไร อธิบายว่า อากิญจัญญายตนสมาบัติ ชื่อว่าอากิญจัญญายตนสมาบัติ เพราะ
อรรถว่า “อะไรน้อยหนึ่ง ย่อมไม่มี” เพราะเหตุไร

เชิงอรรถ :
๑ ตทังคปหาน หมายถึงการละด้วยองค์นั้น ๆ คือ การละรูปกายด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับกัน (ขุ.จู.อ. ๘๒/๕๖)
๒ วิกขัมภนปหาน หมายถึงการละด้วยข่มไว้ คือ การละรูปกายของท่านผู้ได้อรูปฌาน (ขุ.จู.อ. ๘๒/๕๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๔. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
คือ บุคคลผู้มีสติ เข้าวิญญาณัญจายตนสมาบัติใด ออกจากสมาบัตินั้นแล้ว
ไม่ให้วิญญาณนั้นมี ไม่ให้มีโดยประการต่าง ๆ ให้อันตรธานไป ย่อมเห็นว่า “อะไร
น้อยหนึ่ง ย่อมไม่มี” เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอากิญจัญญายตนสมาบัติ เพราะอรรถ
ว่าอะไร น้อยหนึ่ง ย่อมไม่มี รวมความว่า ผู้พิจารณาทั้งภายในและภายนอกเห็นว่า
ไม่มีอะไร
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์
ขอทูลถามถึงญาณ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้สักกะ พระผู้มีพระภาคเสด็จออก
ผนวชจากศากยตระกูล จึงชื่อว่าผู้สักกะ ฯลฯ ทรงละภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว
หมดความขนพองสยองเกล้า จึงชื่อว่าผู้สักกะ
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ อธิบายว่า
ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ คือ ทูลถามถึงปัญญา ทูลถามถึงความรู้ชัดของ
บุคคลนั้นว่า ญาณเป็นอย่างไร มีสัณฐานอย่างไร มีประการอย่างไร เปรียบได้กับ
อะไร บุคคลนั้นพึงปรารถนา รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ขอ
ทูลถามถึงญาณ
คำว่า บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ควรแนะนำอย่างไร อธิบายว่า บุคคลนั้นควร
แนะนำ ควรแนะนำไปโดยวิเศษ ตามแนะนำ แนะนำให้รู้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ให้ผู้อื่นรู้จัก
ประโยชน์ ให้เพ่งพินิจ ให้พิจารณา ให้เลื่อมใสอย่างไร ได้แก่ ควรให้เกิดญาณยิ่ง ๆ
ขึ้นไปแก่เขาอย่างไร
คำว่า บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ได้แก่ บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น คือ ผู้เป็นอย่างนั้น
ผู้ดำรงอยู่อย่างนั้น ผู้เป็นประการนั้น ผู้มีส่วนอย่างนั้น ได้แก่ ผู้ได้อากิญจัญญา-
ยตนสมาบัติ รวมความว่า บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ควรแนะนำอย่างไร ด้วยเหตุนั้น
พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ
ของบุคคลผู้ไม่มีรูปสัญญา ผู้ละรูปกายได้ทั้งหมด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๔. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
ผู้พิจารณาทั้งภายในและภายนอกเห็นว่า ไม่มีอะไร
บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ควรแนะนำอย่างไร
[๘๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โปสาละ)
ตถาคตรู้ยิ่งซึ่งวิญญาณัฏฐิติทั้งหมด
รู้จักบุคคลนั้นผู้ดำรงอยู่ ผู้น้อมไปแล้ว
ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย (๓)

ว่าด้วยวิญญาณัฏฐิติ ๗
คำว่า ซึ่งวิญญาณัฏฐิติทั้งหมด๑ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้
วิญญาณัฏฐิติ ๔ ด้วยอำนาจอภิสังขาร ทรงรู้วิญญาณัฏฐิติ ๗ ด้วยอำนาจปฏิสนธิ
พระผู้มีพระภาคทรงรู้วิญญาณัฏฐิติ ๔ ด้วยอำนาจอภิสังขารอย่างไร สมจริงดังที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ (ความรู้แจ้งอารมณ์) ที่เข้าถึงรูป
เมื่อดำรงอยู่ ก็มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง เข้าไปเสพเสวยความเพลิดเพลินตั้งอยู่
ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้ ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงเวทนา ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เข้าถึงสัญญา ฯลฯ อีกนัยหนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย
วิญญาณที่เข้าถึงสังขาร เมื่อดำรงอยู่ ก็มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง
เข้าไปเสพเสวยความเพลิดเพลินตั้งอยู่ ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้”๒ พระ
ผู้มีพระภาคทรงรู้จักวิญญาณัฏฐิติ ๔ ด้วยอำนาจอภิสังขารอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคทรงรู้วิญญาณัฏฐิติ ๗ ด้วยอำนาจปฏิสนธิอย่างไร สมจริงดัง
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย มีสัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกัน

เชิงอรรถ :
๑ วิญญาณัฏฐิติ คือภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ ขันธ์ที่มีวิญญาณ(ขุ.จู.อ. ๘๓/๕๗)
๒ สํ.ข. ๑๗/๕๔/๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๔. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
มีสัญญาต่างกัน คือ มนุษย์บางพวก เทวดา๑บางพวก วินิปาติกะ๒บางพวก
นี้คือวิญญาณัฏฐิติที่ ๑
สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกัน แต่มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ พวกเทพชั้น
พรหมกายิกา เกิดในปฐมฌาน นี้คือวิญญาณัฏฐิติที่ ๒
สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน คือ พวกเทพชั้น
อาภัสระ นี้คือวิญญาณัฏฐิติที่ ๓
สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน(และ)มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ พวก
เทพชั้นสุภกิณหะ นี้คือวิญญาณัฏฐิติที่ ๔
สัตว์เหล่าหนึ่ง ก้าวล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่มนสิการนานัตตสัญญา
โดยประการทั้งปวง เข้าถึงอากาสานัญจายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า “อากาศไม่มี
ที่สุด” นี้คือวิญญาณัฏฐิติที่ ๕
สัตว์เหล่าหนึ่ง ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการ ทั้งปวง เข้าถึง
วิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า “วิญญาณไม่มีที่สุด” นี้คือวิญญาณัฏฐิติ
ที่ ๖
สัตว์เหล่าหนึ่ง ก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานเสียโดยประการทั้งปวง
เข้าถึงอากิญจัญญายตนฌาน ด้วยมนสิการว่า “ไม่มีอะไรเลย” นี้คือ วิญญาณัฏฐิติ
ที่ ๗๓

เชิงอรรถ :
๑ เทวดา ในที่นี้หมายถึง เทวดาที่อยู่ในสวรรค์ชั้นกามาวจรทั้ง ๖ ชั้น (ขุ.จู.อ. ๘๓/๕๗)
๒ วินิปาติกะ ในที่นี้หมายถึง พวกเวมานิกเปรตคือพวกเปรตที่พ้นจากอบาย ๔ มียักษิณีผู้เป็นมารดาของ
ปุนัพพสุ ยักษิณีผู้เป็นมารดาของปิยังกระ ยักษิณีผู้เป็นมิตรของปุสสะ ร่างกายของเปรตเหล่านี้แตกต่างกัน
คือ มีทั้งอ้วน ผอม เตี้ย สูง มีผิวขาว ผิวดำ ผิวสีทอง และสีนิล มีสัญญาต่างกันด้วยติเหตุกะ ทุเหตุกะ
และอเหตุกะเหมือนของมนุษย์ เวมานิกเปรตเหล่านี้ไม่มีศักดิ์มากเหมือนพวกเทพ บางพวกได้รับทุกข์ใน
ข้างแรม ได้รับสุขในข้างขึ้น แต่เวมานิกเปรตที่เป็นติเหตุกะสามารถบรรลุธรรมได้ ดุจการบรรลุธรรมของ
ยักษิณีผู้เป็นมารดาของปิยังกระ เป็นต้น (ขุ.จู.อ. ๘๓/๕๗)
๓ องฺ. สตฺตก. ๒๓/๔๔/๓๕-๓๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๔. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคทรงรู้วิญญาณัฏฐิติ ๗ ด้วยอำนาจปฏิสนธิอย่างนี้ รวมความ
ว่า ซึ่งวิญญาณัฏฐิติทั้งหมด
คำว่า โปสาละ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โปสาละ เป็นคำที่
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่าพระผู้มี-
พระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โปสาละ

ว่าด้วยพระตถาคต
คำว่า รู้ยิ่ง ในคำว่า ตถาคตรู้ยิ่ง อธิบายว่า พระตถาคตทรงรู้ยิ่ง คือ ทรงรู้
แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “จุนทะ ถ้าแม้เรื่องอดีต
เป็นเรื่องไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์๒เรื่อง
อดีตนั้น ถ้าแม้เรื่องอดีต เป็นเรื่องจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคต
ก็ไม่พยากรณ์เรื่องอดีตนั้น ถ้าแม้เรื่องอดีต เป็นเรื่องจริง แท้ ทั้งประกอบ
ด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น ตถาคตก็รู้จักกาลที่จะพยากรณ์ปัญหานั้น จุนทะ ถ้าแม้
เรื่องอนาคต ฯลฯ จุนทะ ถ้าแม้เรื่องปัจจุบัน เป็นเรื่องไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบ
ด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์เรื่องปัจจุบันนั้น ถึงแม้เรื่องปัจจุบัน
เป็นเรื่องจริง แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตก็ไม่พยากรณ์เรื่องปัจจุบันนั้น
ถึงแม้เรื่องปัจจุบัน เป็นเรื่องจริง แท้ ทั้งประกอบด้วยประโยชน์ ในเรื่องนั้น
ตถาคตก็รู้จักกาลที่จะพยากรณ์ปัญหานั้น จุนทะ ตถาคตเป็นกาลวาที๓

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘
๒ พยากรณ์ ในที่นี้หมายถึงการตอบปัญหา หรือการอธิบายปัญหาให้ชัดเจน
๓ กาลวาที หมายถึงตรัสในเวลาที่เหมาะ (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๔. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
ภูตวาที๑ อัตถวาที๒ ธัมมวาที๓ วินยวาที๔ในธรรม ทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน
ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ตถาคต๕
จุนทะ อายตนะใดแล อันโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก อันหมู่สัตว์
พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ทราบแล้ว รู้แจ้งแล้ว
ถึงแล้ว เสาะหาแล้ว พิจารณาแล้วด้วยใจ อายตนะทั้งหมดนั้น ตถาคตรู้ยิ่งเองแล้ว
เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ตถาคต
ตถาคตย่อมตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในราตรีใด และตถาคตย่อม
ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในราตรีใด ตถาคตย่อมกล่าว เล่า ชี้แจง
เรื่องใดในระหว่างนั้น เรื่องทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องจริงแท้ ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น
จึงเรียกว่า ตถาคต
ตถาคตตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น ตถาคต
ตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น
จึงเรียกว่า ตถาคต
จุนทะ ตถาคตทรงยิ่งใหญ่ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่
สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ อันใคร ๆ ครอบงำไม่ได้ เป็นผู้เห็น
โดยถ่องแท้ เป็นผู้ให้อำนาจเป็นไป เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ตถาคต๖ รวมความว่า
ตถาคตรู้ยิ่ง

เชิงอรรถ :
๑ ภูตวาที หมายถึงตรัสสภาวะที่เป็นจริง (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๔)
๒ อัตถวาที หมายถึงตรัสถึงปรมัตถนิพพาน (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๔)
๓ ธัมมวาที หมายถึงตรัสถึงมรรคธรรมและผลธรรม (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๔)
๔ วินยวาที หมายถึงตรัสถึงวินัยมีการสำรวมเป็นต้น (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๔)
๕ ที.ปา. ๑๑/๑๘๘/๑๑๗
๖ ที.ปา. ๑๑/๑๘๗-๑๘๘/๑๑๖-๑๑๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๔. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า รู้จักบุคคลนั้นผู้ดำรงอยู่ อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักบุคคลผู้กำลังดำรงอยู่ในโลกนี้ ด้วยอำนาจกัมมาภิสังขาร
ว่า “บุคคลนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตาย
จักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”
พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักบุคคลผู้กำลังดำรงอยู่ในโลกนี้ ด้วยอำนาจกัมมาภิ-
สังขาร๑ ว่า “บุคคลนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว
หลังจากตาย จักไปเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน”
พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักบุคคลผู้กำลังดำรงอยู่ในโลกนี้ ด้วยอำนาจกัมมาภิ-
สังขารว่า “บุคคลนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลัง
จากตาย จักไปเกิดในเปตวิสัย”
พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักบุคคลผู้กำลังดำรงอยู่ในโลกนี้ ด้วยอำนาจกัมมาภิ-
สังขารว่า “บุคคลนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว หลัง
จากตาย จักถือกำเนิดในหมู่มนุษย์”
พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักบุคคลผู้กำลังดำรงอยู่ในโลกนี้เอง ด้วยอำนาจกัมมาภิ-
สังขาร๒ว่า “บุคคลนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น และดำเนินทางนั้นแล้ว
หลังจากตาย จักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “สารีบุตร เรากำหนดใจของบุคคลบาง
คนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้นและดำเนิน
ทางนั้นแล้ว หลังจากตาย จักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’
เรากำหนดใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่าง
นั้น เป็นไปอย่างนั้นและดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตาย จักไปเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน’
เรากำหนดใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคล นี้ปฏิบัติอย่างนั้น
เป็นไปอย่างนั้นและดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตาย จักไปเกิดในเปตวิสัย’

เชิงอรรถ :
๑ กัมมาภิสังขาร ในที่นี้หมายถึงอภิสังขารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญคือเป็นบาป สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว
เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๗)
๒ กัมมาภิสังขาร ในที่นี้หมายถึง อภิสังขารที่เป็นบุญ สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่กุศลเจตนาที่เป็น
กามาวจรและรูปาวจร (ขุ.จู.อ. ๘๓/๖๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๔. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
เรากำหนดใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่าง
นั้นเป็นไปอย่างนั้นและดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตาย จักถือกำเนิดในหมู่มนุษย์’
เรากำหนดใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่าง
นั้น เป็นไปอย่างนั้นและดำเนินทางนั้นแล้ว หลังจากตาย จักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’
เรากำหนดใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้ปฏิบัติอย่าง
นั้น เป็นไปอย่างนั้นและดำเนินทางนั้นแล้ว จักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
ไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะหมดสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่ง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”๑ รวม
ความว่า รู้จักบุคคลนั้นผู้ดำรงอยู่
คำว่า ผู้น้อมไปแล้ว ในคำว่า ผู้น้อมไปแล้ว ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น
เป็นที่มุ่งหมาย อธิบายว่า ผู้น้อมไปสู่อากิญจัญญายตนสมาบัติ คือน้อมไปโดย
วิโมกข์ น้อมไปในสมาบัตินั้น น้อมไปสู่สมาบัตินั้น มีสมาบัตินั้นเป็นใหญ่
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “บุคคลนี้น้อมใจไปในรูป น้อมใจ
ไปในเสียง น้อมใจไปในกลิ่น น้อมใจไปในรส น้อมใจไปในโผฏฐัพพะ
น้อมใจไปในตระกูล น้อมใจไปในหมู่คณะ น้อมใจไปในอาวาส น้อมใจไปในลาภ
น้อมใจไปในยศ น้อมใจไปในสรรเสริญ น้อมใจไปในสุข น้อมใจไปในจีวร น้อม
ใจไปในบิณฑบาต น้อมใจไปในเสนาสนะ น้อมใจไปในคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
น้อมใจไปในพระสูตร น้อมใจไปในพระวินัย น้อมใจไปในพระอภิธรรม
น้อมใจไปในบังสุกูลิกังคธุดงค์ (สมาทานการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร)
น้อมใจไปในเตจีวริกังคธุดงค์(สมาทานการทรงไตรจีวรเป็นวัตร) น้อมใจไปใน
ปิณฑปาติกังคธุดงค์(สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร) น้อมใจไปใน
สปทานจาริกังคธุดงค์(สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร) น้อมใจ
ไปในเอกาสนิกังคธุดงค์(สมาทานการนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร) น้อมใจไปใน
ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์(สมาทานการฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร) น้อมใจไปใน
ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์(สมาทานการงดฉันอาหารมื้อหลังเป็นวัตร) น้อมใจไปใน
อารัญญิกังคธุดงค์(สมาทานการอยู่ป่าเป็นวัตร) น้อมใจไปในรุกขมูลิกังคธุดงค์(สมาทาน
การถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร) น้อมใจไปในอัพโภกาสิกังคธุดงค์(สมาทานการถืออยู่
ที่แจ้งเป็นวัตร) น้อมใจไปในโสสานิกังคธุดงค์ (สมาทานการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร)

เชิงอรรถ :
๑ ม.มู. ๑๒/๑๕๔/๑๑๕ - ๑๑๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๔. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
น้อมใจไปในยถาสันถติกังคธุดงค์(สมาทานการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร)
น้อมใจไปในเนสัชชิกังคธุดงค์(สมาทานการนั่งเป็นวัตร) น้อมใจไปในปฐมฌาน น้อม
ใจไปในทุติยฌาน น้อมใจไปในตติยฌาน น้อมใจไปในจตุตถฌาน น้อมใจไปใน
อากาสานัญจายตนสมาบัติ น้อมใจไปในวิญญาณัญจายตนสมาบัติ น้อมใจไปใน
อากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจไปในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ” รวมความ
ว่า ผู้น้อมไปแล้ว
คำว่า ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย อธิบายว่า สำเร็จมา
จากอากิญจัญญายตนสมาบัติ มีสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย มีกรรมเป็นที่มุ่งหมาย
มีวิบากเป็นที่มุ่งหมาย หนักในกรรม หนักในปฏิสนธิ
อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “บุคคลนี้ มีรูปเป็นที่มุ่งหมาย
ฯลฯ มีเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเป็นที่มุ่งหมาย” รวมความว่า ผู้น้อมไปแล้ว
ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โปสาละ)
ตถาคตรู้ยิ่งซึ่งวิญญาณัฏฐิติทั้งหมด
รู้จักบุคคลนั้นผู้ดำรงอยู่ ผู้น้อมไปแล้ว
ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย
[๘๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลนั้นรู้กัมมาภิสังขารว่าเป็นเหตุเกิด
แห่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ
รู้อรูปราคะว่ามีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้
ครั้นรู้กรรมนั้นอย่างนี้แล้ว ออกจากสมาบัตินั้น
เห็นแจ้งธรรมที่เกิดในสมาบัตินั้น
ญาณนี้ของพราหมณ์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์นั้น
เป็นญาณอันแท้จริง (๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๔. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า บุคคลนั้นรู้กัมมาภิสังขาร๑ว่าเป็นเหตุเกิดแห่งอากิญจัญญายตน-
สมาบัติ อธิบายว่า กัมมาภิสังขาร อันให้เป็นไปในอากิญจัญญายตนภพ ตรัสเรียก
ว่า เหตุเกิดแห่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ
บุคคลนั้นรู้กัมมาภิสังขาร อันให้เป็นไปในอากิญจัญญายตนภพ ว่าเป็นเหตุ
เกิดแห่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ คือ รู้ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง
ทำให้แจ่มแจ้งว่า เป็นเหตุเกาะติด เป็นเหตุผูกพัน เป็นเหตุพัวพัน รวมความว่า
บุคคลนั้นรู้กัมมาภิสังขารว่าเป็นเหตุเกิดแห่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ
คำว่า รู้อรูปราคะว่ามีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้ อธิบายว่า อรูป-
ราคะ ตรัสเรียกว่า ความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้
บุคคลนั้นรู้กรรมนั้นว่า เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันด้วยอรูปราคะ คือ รู้ ทราบ
เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งอรูปราคะว่ามีความเพลิดเพลิน
เป็นเครื่องผูกไว้ คือ รู้ว่าเป็นเหตุเกาะติด เป็นเหตุผูกพัน เป็นเหตุพัวพัน
คำว่า ว่า เป็นคำสนธิ ฯลฯ คำว่า ว่า นี้เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้า
ด้วยกัน รวมความว่า รู้อรูปราคะว่ามีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้
คำว่า ครั้นรู้กรรมนั้นอย่างนี้แล้ว อธิบายว่า ครั้นรู้ คือ ครั้นทราบ เทียบ
เคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งกรรมนั้นอย่างนี้แล้ว รวมความว่า
ครั้นรู้กรรมนั้นอย่างนี้แล้ว
คำว่า ออกจากสมาบัตินั้น ในคำว่า ออกจากสมาบัตินั้น เห็นแจ้งธรรมที่
เกิดในสมาบัตินั้น อธิบายว่า บุคคลเข้าอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้ว ออกจาก
อากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น ก็เห็นแจ้ง คือ แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณา
เห็นธรรม คือ จิตและเจตสิก ที่เกิดในอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น โดยความ
เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค ฯลฯ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป รวมความว่า
ออกจากสมาบัตินั้น เห็นแจ้งธรรมที่เกิดในสมาบัตินั้น

เชิงอรรถ :
๑ กัมมาภิสังขาร ในที่นี้หมายถึงอาเนญชาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศล-
เจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔ หมายถึงภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ (ขุ.จู.อ. ๘๔/๖๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๔. โปสาลมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ญาณนี้ ... นั้น เป็นญาณอันแท้จริง อธิบายว่า ญาณนี้ของบุคคลนั้น
จริง แท้ แน่นอน ไม่ผิดเพี้ยน รวมความว่า ญาณนี้ ... นั้น เป็นญาณ
อันแท้จริง
คำว่า ของพราหมณ์ ในคำว่า ของพราหมณ์ ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ อธิบายว่า
ที่ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะเป็นผู้ลอยธรรม ๗ ประการได้แล้ว ฯลฯ ผู้ไม่มีตัณหาและ
ทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์๑
คำว่า ของพราหมณ์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์ อธิบายว่า พระเสขะ ๗ จำพวก
รวมทั้งกัลยาณปุถุชน ย่อมอยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครอง เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง
เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง พระอรหันต์
อยู่จบแล้ว ทำกิจที่ควรทำแล้ว ปลงภาระ บรรลุถึงประโยชน์ตนแล้วโดยลำดับ
หมดสิ้นสังโยชน์ในภพแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้ชอบ พระอรหันต์นั้นอยู่ใน
(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ฯลฯ ท่านไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่
เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า ของพราหมณ์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
บุคคลนั้นรู้กัมมาภิสังขารว่าเป็นเหตุเกิด
แห่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ
รู้อรูปราคะว่ามีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้
ครั้นรู้กรรมนั้นอย่างนี้แล้ว ออกจากสมาบัตินั้น
เห็นแจ้งธรรมที่เกิดในสมาบัตินั้น
ญาณนี้ของพราหมณ์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์นั้น
เป็นญาณอันแท้จริง
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ โปสาลมาณพ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก๒”
โปสาลมาณวปัญหานิทเทสที่ ๑๔ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๘/๑๔๗
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๗๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของโมฆราชมาณพ
[๘๕] (ท่านโมฆราชทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ ๒ ครั้งแล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์รับทราบมาว่า
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี
(ถ้าผู้ใดถามปัญหา) ถึง ๓ ครั้ง จะทรงพยากรณ์ (๑)
คำว่า ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ ๒ ครั้งแล้ว อธิบายว่า
พราหมณ์นั้นได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ๒ ครั้งแล้ว พระผู้มี-
พระภาคผู้อันพราหมณ์นั้นทูลถามปัญหาแล้ว ก็มิได้ทรงพยากรณ์ ด้วยพระดำริว่า
“ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ของพราหมณ์นี้จักมีในลำดับแห่งจักษุ”
คำว่า ผู้สักกะ อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคผู้สักกะเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล จึงชื่อว่าผู้สักกะ
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก ทรงมีทรัพย์ จึงชื่อว่า
ผู้สักกะ
พระองค์ทรงมีทรัพย์เหล่านี้ คือ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือ
หิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา ทรัพย์คือ
สติปัฏฐาน ทรัพย์คือสัมมัปปธาน ทรัพย์คืออิทธิบาท ทรัพย์คืออินทรีย์ ทรัพย์
คือพละ ทรัพย์คือโพชฌงค์ ทรัพย์คือมรรค ทรัพย์คือผล ทรัพย์คือนิพพาน พระผู้มี-
พระภาคทรงมั่งคั่ง ทรงมีทรัพย์มาก ทรงมีทรัพย์ด้วยทรัพย์ที่เป็นรัตนะ หลายอย่าง
เหล่านี้ จึงชื่อว่าผู้สักกะ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๑๒๓-๑๑๒๖/๕๔๘-๕๔๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงสามารถ คือ ทรงองอาจ อาจหาญ มีความ
สามารถ กล้า กล้าหาญ ก้าวหน้า ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี ทรงละ
ภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้าแล้ว จึงชื่อว่าผู้สักกะ
คำว่า ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ ๒ ครั้งแล้ว อธิบายว่า ข้าแต่
พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ได้ทูลถาม คือ ได้ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศ
๒ ครั้งแล้ว รวมความว่า ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ ๒ ครั้งแล้ว
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านโมฆราชทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก ฯลฯ
คำว่า โมฆราช เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ๑ รวมความว่า
ท่านโมฆราชทูลถาม ดังนี้
คำว่า มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคผู้มี
พระจักษุ มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ อธิบายว่า มิได้ทรงพยากรณ์ คือ
มิได้บอก มิได้แสดง มิได้บัญญัติ มิได้กำหนด มิได้เปิดเผย มิได้จำแนก มิได้
ทำให้ง่าย มิได้ทรงประกาศแก่ข้าพระองค์

ว่าด้วยพระจักษุ ๕ ชนิด
คำว่า ผู้มีพระจักษุ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค มีพระจักษุด้วยพระจักษุ
๕ ชนิด คือ
๑. มีพระจักษุด้วยมังสจักขุบ้าง ๒. มีพระจักษุด้วยทิพพจักขุบ้าง
๓. มีพระจักษุด้วยปัญญาจักขุบ้าง ๔. มีพระจักษุด้วยพุทธจักขุบ้าง
๕. มีพระจักษุด้วยสมันตจักขุบ้าง

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๒๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยมังสจักขุ เป็นอย่างไร
คือ ในพระมังสจักขุของพระผู้มีพระภาคมีสีอยู่ ๕ สี คือ (๑) สีเขียว
(๒) สีเหลือง (๓) สีแดง (๔) สีดำ (๕) สีขาว ณ ที่ที่มีขนพระเนตรขึ้น มีสีเขียว
เขียวสนิท น่าชม น่าดู ดุจดอกผักตบ ต่อจากนั้น ก็เป็นสีเหลือง เหลืองสนิท
สีเหมือนทองคำ น่าชม น่าดู ดุจดอกกรรณิการ์ เบ้าพระเนตรทั้งสองข้างของพระ
ผู้มีพระภาคมีสีแดง แดงสนิท น่าชม น่าดู ดุจสีปีกแมลงทับ กลางดวงพระเนตร
มีสีดำ ดำเข้ม ไม่เศร้าหมอง สนิท น่าชม น่าดู ดุจสีสมอดำ ต่อจากนั้น เป็นสีขาว
ขาวสนิท เปล่งปลั่ง ขาวนวล น่าชม น่าดู ดุจสีดาวประกายพฤกษ์ พระผู้มีพระภาค
มีพระมังสจักขุนั้นอยู่โดยปกติ เนื่องในพระอัตภาพ เกิดด้วยสุจริตกรรมที่ทรงสั่งสม
มาในภพก่อน ทรงมองเห็นตลอด ๑ โยชน์โดยรอบ ทั้งกลางวันและกลางคืน แม้ใน
เวลาที่มีความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ คือ (๑) ดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว (๒) เป็นวัน
อุโบสถข้างแรม (๓) ป่าชัฏรกทึบ (๔) มีเมฆก้อนใหญ่ผุดขึ้นมา ในความมืดที่
ประกอบด้วยองค์ ๔ อย่างนี้ พระองค์ก็ทรงมองเห็นได้ตลอด ๑ โยชน์โดยรอบ
ไม่มีหลุม บานประตู กำแพง ภูเขา กอไม้ หรือเถาวัลย์มาปิดกั้นการเห็นรูป
ทั้งหลายได้ หากบุคคลเอางาเมล็ดเดียวทำเครื่องหมายแล้วใส่ลงในเกวียนบรรทุกงา
พระผู้มีพระภาคก็ทรงสามารถหยิบเอางาเมล็ดนั้นขึ้นมาได้ พระมังสจักขุตามปกติ
ของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคชื่อว่ามีพระจักษุด้วยมังสจักขุ
เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยทิพพจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงเห็นหมู่สัตว์ ซึ่งกำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต
ผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม ไปดี ตกยาก ด้วยทิพพจักขุอันหมดจดล่วงจักษุมนุษย์
ทรงทราบหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม๑ ฯลฯ และพระผู้มีพระภาคเมื่อทรงประสงค์
พึงทรงเห็นได้ แม้ ๑ โลกธาตุ... แม้ ๒ โลกธาตุ ... แม้ ๓ โลกธาตุ ... แม้ ๔
โลกธาตุ ... แม้ ๕ โลกธาตุ ... แม้ ๑๐ โลกธาตุ ... แม้ ๒๐ โลกธาตุ ... แม้ ๓๐

เชิงอรรถ :
๑ ดูความเต็มจาก ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
โลกธาตุ ... แม้ ๔๐ โลกธาตุ ... แม้ ๕๐ โลกธาตุ ... แม้ ๑๐๐ โลกธาตุ ... แม้โลก
ธาตุขนาดเล็กประกอบด้วย ๑,๐๐๐ จักรวาล... แม้โลกธาตุขนาดกลางประกอบด้วย
๒,๐๐๐ จักรวาล ... แม้โลกธาตุขนาดใหญ่ประกอบด้วย ๓,๐๐๐ จักรวาล ... แม้โลก
ธาตุที่ประกอบด้วยหลายพันจักรวาล พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์เพียงใดก็พึงทรง
เห็นได้เพียงนั้น ทิพพจักขุของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคชื่อว่า
มีพระจักษุด้วยทิพพจักขุ เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยปัญญาจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญามาก มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญา
ฉับไว มีพระปัญญาอาจหาญ มีพระปัญญาเฉียบคม มีพระปัญญาเพิกถอนกิเลสได้
ทรงฉลาดในประเภทแห่งปัญญา มีพระญาณแตกฉาน ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา ทรง
บรรลุเวสารัชชญาณ ๔ ทรงเป็นผู้ทรงทสพลญาณ ทรงเป็นบุรุษองอาจ ทรงเป็น
บุรุษดุจราชสีห์ ทรงเป็นบุรุษดุจนาค ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย ทรงเป็นบุรุษผู้เอาธุระ
มีพระญาณหาที่สุดมิได้ มีพระเดชหาที่สุดมิได้ มีพระยศหาที่สุดมิได้ ทรงมั่งคั่ง
ทรงมีทรัพย์มาก ทรงมีปัญญาเป็นทรัพย์ ทรงเป็นผู้นำ เป็นผู้นำไปโดยวิเศษ เป็นผู้
ตามแนะนำ ทรงให้รู้จักประโยชน์ ให้พินิจพิจารณา ทรงเพ่งประโยชน์ ทรงทำให้
เลื่อมใสได้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงทำ
มรรคที่ยังไม่เกิดพร้อมให้เกิดพร้อม ตรัสบอกมรรคที่ยังมิได้ตรัสบอก ทรงรู้จักมรรค
ทรงรู้แจ้งมรรค ทรงฉลาดในมรรค และสาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้ดำเนินไปตามมรรคอยู่ในบัดนี้ จะเพียบพร้อมด้วยศีลาทิคุณในภายหลัง
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น
มีพระจักษุ มีพระญาณ มีพระธรรม เป็นดุจพระพรหม ตรัส บอก นำความหมาย
ออกมา ประทานอมตธรรม เป็นพระธรรมสามี เป็นพระตถาคต ไม่มีสิ่งที่พระ
ผู้มีพระภาคพระองค์นั้นยังไม่ทรงทราบ ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงรู้แจ้ง ไม่ทรงทำให้แจ้ง
มิได้ทรงถูกต้องด้วยปัญญา ธรรมทั้งปวง รวมทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบัน ย่อมมาสู่
คลองเฉพาะพระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า โดยอาการทั้งปวง ธรรมดา
ประโยชน์ที่ควรแนะนำอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นธรรมที่ควรรู้มีอยู่ คือ ประโยชน์ตน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
ประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์ในภพปัจจุบัน หรือประโยชน์ใน
ภพหน้า ประโยชน์ตื้นหรือประโยชน์ลึก ประโยชน์ลี้ลับหรือประโยชน์ปิดบัง
ประโยชน์ที่ควรแนะนำหรือประโยชน์ที่แนะนำแล้ว ประโยชน์ที่ไม่มีโทษหรือประโยชน์
ที่ไม่มีกิเลส ประโยชน์ที่ผ่องแผ้วหรือประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์ทั้งหมดนั้นย่อม
เป็นไปภายในพระพุทธญาณ
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทุกอย่าง ย่อมเป็นไปตามพระญาณของ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า พระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ไม่ติดขัดในอดีต
อนาคต ปัจจุบัน บทธรรมที่ควรแนะนำมีอยู่เพียงใด พระญาณก็มีเพียงนั้น พระ
ญาณมีอยู่เพียงใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีเพียงนั้น พระญาณย่อมมีบทธรรมที่
ควรแนะนำเป็นส่วนสุดรอบ บทธรรมที่ควรแนะนำก็ย่อมมีพระญาณเป็นส่วนสุดรอบ
พระญาณย่อมไม่เป็นไปเกินบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มี
อยู่ไม่เกินกว่าพระญาณ ธรรมเหล่านั้นตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน เหมือน
ชั้นแห่งผอบ ๒ ชั้น ทับกันสนิทพอดี ชั้นผอบด้านล่างก็ไม่เกินด้านบน ชั้นผอบ
ด้านบนก็ไม่เกินด้านล่าง ชั้นผอบทั้ง ๒ ย่อมวางประกบกันที่ส่วนสุดโดยรอบของ
กันและกัน ฉันใด บทธรรมที่ควรแนะนำ และพระญาณของพระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าก็ตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกันฉันนั้นเหมือนกัน บทธรรมที่ควร
แนะนำมีอยู่เพียงใด พระญาณก็มีอยู่เพียงนั้น พระญาณมีอยู่เพียงใด บทธรรมที่
ควรแนะนำก็มีเพียงนั้น พระญาณย่อมมีบทธรรมที่ควรแนะนำเป็นส่วนสุดรอบ
บทธรรมที่ควรแนะนำก็ย่อมมีพระญาณเป็นส่วนสุดรอบ พระญาณย่อมไม่เป็นไปเกิน
กว่าบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มีอยู่ไม่เกินกว่าพระญาณ
ธรรมเหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน
พระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ย่อมเป็นไปในธรรมทั้งปวง ธรรม
ทั้งปวงนับเนื่องด้วยความนึก นับเนื่องด้วยความหวัง นับเนื่องด้วยมนสิการ
นับเนื่องด้วยจิตตุปบาทของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า พระญาณของพระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าย่อมเป็นไปในสัตว์ทั้งปวง พระผู้มีพระภาคทรงทราบอัธยาศัย อนุสัย จริต
อธิมุตติของเหล่าสัตว์ทุกจำพวก ทรงรู้จักเหล่าสัตว์ ผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญา-
จักขุ มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักขุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ยาก เป็นภัพพสัตว์(ผู้สมควร
บรรลุธรรม) และอภัพพสัตว์(ผู้ไม่สมควรบรรลุธรรม) โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปภายใน
พระพุทธญาณ
ปลาและเต่าชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งปลาติมิ ปลาติมิงคละและปลาติมิติ-
มิงคละ๑ ย่อมเป็นไปภายในมหาสมุทร ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปภายในพระญาณ
ของพระพุทธเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน นกชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งครุฑนามว่า
เวนไตย ย่อมบินไปในห้วงแห่งอากาศ ฉันใด พระพุทธสาวกทั้งหลาย ผู้เสมอกับ
พระสารีบุตรด้วยปัญญา ย่อมเป็นไปในส่วนแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน
พระพุทธญาณย่อมแผ่ครอบคลุมปัญญาของเทวดาและมนุษย์อยู่
เหล่าบัณฑิตผู้เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นคหบดี เป็นสมณะ ผู้มีปัญญา
ละเอียด รู้วาทะของผู้อื่น เหมือนนายขมังธนูสามารถยิงเนื้อทรายได้ ดุจจะเที่ยว
ทำลายทิฏฐิผู้อื่นด้วยปัญญาตน บัณฑิตเหล่านั้นพากันปรุงแต่งปัญหา ย่อมเข้าไป
เฝ้าพระตถาคต ทูลถามปัญหาที่ลี้ลับและปิดบัง ปัญหาเหล่านั้น ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงซักไซ้และตรัสแก้แล้ว เป็นปัญหามีเหตุให้ทรงแสดง บัณฑิตเหล่านั้นถูกดึงดูด
ด้วยการวิสัชนาปัญหา จึงเลื่อมใสพระผู้มีพระภาค โดยที่แท้พระผู้มีพระภาคย่อม
ทรงรุ่งเรืองด้วยพระปัญญาในหมู่คนเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคชื่อว่ามีพระจักษุด้วย
ปัญญาจักขุ เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยพุทธจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ได้ทรงเห็นสัตว์
ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักขุ ผู้มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักขุ
มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย

เชิงอรรถ :
๑ ปลาทั้ง ๓ ตัวนี้ เป็นปลาขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิงคละสามารถกลืนกินปลาติมิได้และปลาติมิติมิงคละ
มีขนาดลำตัวใหญ่ถึง ๕๐๐ โยชน์ และสมารถกลืนกินปลาติมิงคละได้ (ขุ.ม.อ. ๖๙/๒๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ยาก บางพวกเป็นผู้เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี เหมือนในกอ
บัวเขียว ในกอบัวแดง หรือในกอบัวขาว ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอก
บัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ขึ้นตามน้ำ จมอยู่ในน้ำและน้ำหล่อเลี้ยงไว้
ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ตั้งอยู่
เสมอผิวน้ำ ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำ
เจริญในน้ำ โผล่ขึ้นพ้นระดับน้ำ น้ำไม่ติดเปื้อนอยู่เลย ฉันใด พระผู้มีพระภาค
เมื่อทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อย
ในปัญญาจักขุ ผู้มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักขุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน
มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ยาก บางพวกเป็น
ผู้เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า
“บุคคลนี้มีราคจริต บุคคลนี้มีโทสจริต บุคคลนี้มีโมหจริต บุคคลนี้มีวิตกจริต
บุคคลนี้มีสัทธาจริต บุคคลนี้มีญาณจริต” พระผู้มีพระภาคย่อมตรัสอสุภกถาแก่
บุคคลราคจริต ตรัสการเจริญเมตตาแก่บุคคลโทสจริต ย่อมทรงแนะนำบุคคล
โมหจริตให้ดำรงอยู่ในการเล่าเรียน การไต่ถาม การฟังธรรมตามกาล การสนทนา
ธรรมตามกาล การอยู่ร่วมกับครู ย่อมตรัสอานาปานัสสติแก่บุคคลวิตกจริต
ตรัสบอกนิมิตที่น่าเลื่อมใส ความตรัสรู้ชอบของพระพุทธเจ้า ความเป็นธรรมดี
แห่งพระธรรม การปฏิบัติชอบของพระสงฆ์และศีลของตนที่น่าเลื่อมใสแก่บุคคลสัทธา-
จริต ย่อมตรัสธรรมอันเป็นนิมิตแห่งวิปัสสนา มีอาการไม่เที่ยง มีอาการเป็นทุกข์
มีอาการเป็นอนัตตาแก่บุคคลญาณจริต (สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาดี มีสมันตจักขุ
บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดภูเขาศิลาล้วน
พึงเห็นหมู่ชนโดยรอบ แม้ฉันใด
พระองค์ผู้หมดความโศกแล้ว
โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม
จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก
และถูกชาติชราครอบงำได้ชัดเจน ฉันนั้น๑
พระผู้มีพระภาคชื่อว่ามีพระจักษุด้วยพุทธจักขุ เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ วิ.ม. ๔/๘/๙, ที.ม. ๑๐ /๗๐/๓๔, ม.มู. ๑๒/๒๘๒/๒๔๓, ม.ม. ๑๓/๓๓๘/๓๒๐, สํ.ส. ๑๕/๑๗๒/๑๖๕,
ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๕-๕๔๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยสมันตจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระสัพพัญญุตญาณ ตรัสเรียกว่า สมันตจักขุ พระผู้มีพระภาคทรง
ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม
เพียบพร้อมแล้วด้วยพระสัพพัญญุตญาณ (สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
สิ่งไร ๆ ในไตรโลกธาตุนี้
พระปัญญาจักขุของพระตถาคตนั้นไม่เห็น ไม่มีเลย
อนึ่ง ธรรมชาติอะไร ๆ ที่ควรรู้
พระพุทธญาณไม่รู้แจ้งก็ไม่มี
ธรรมชาติที่ควรแนะนำใดมีอยู่
พระตถาคตได้ทรงทราบธรรมชาติที่ควรแนะนำนั้นทั้งหมด
เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงชื่อว่าผู้มีสมันตจักขุ๑
พระผู้มีพระภาคชื่อว่ามีพระจักษุด้วยสมันตจักขุ เป็นอย่างนี้ รวมความว่า
พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์
คำว่า ข้าพระองค์รับทราบมาว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี (ถ้าผู้
ใดถามปัญหา) ถึง ๓ ครั้ง จะทรงพยากรณ์ อธิบายว่า ข้าพระองค์เรียนรู้มา คือ
ทรงจำมา กำหนดมา อย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้า(ถ้า) ผู้ใดทูลถามปัญหาควรแก่เหตุ
ถึง ๓ ครั้ง จะทรงพยากรณ์ จะไม่ทรงปฏิเสธ

ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคชื่อว่า เทพฤๅษี
คำว่า ผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นทั้งเทพ
เป็นทั้งฤๅษี จึงชื่อว่าทรงเป็นเทพฤๅษี พระราชาผนวชก็เรียกกันว่า ราชฤๅษี
พราหมณ์บวชก็เรียกกันว่า พราหมณ์ฤๅษี ฉันใด พระผู้มีพระภาคก็ฉันนั้น ทรงเป็น
ทั้งเทพเป็นทั้งฤๅษี

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๖,ขุ.ป. ๓๑ /๑๒๑ /๑๓๖-๑๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ผนวชแล้วจึงชื่อว่าพระฤๅษี ทรงแสวงหา คือ
ค้นหา เสาะหาสีลขันธ์ใหญ่ จึงชื่อว่าพระฤๅษี ทรงแสวงหา คือ ค้นหา เสาะหา
สมาธิขันธ์ใหญ่ ฯลฯ ปัญญาขันธ์ใหญ่ ฯลฯ วิมุตติขันธ์ใหญ่ ฯลฯ วิมุตติญาณ-
ทัสสนขันธ์ใหญ่ จึงชื่อว่าพระฤๅษี
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา คือ ค้นหา เสาะหาเครื่องทำลายกองความ
มืดใหญ่ จึงชื่อว่าพระฤๅษี
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องทำลายความวิปลาสใหญ่
จึงชื่อว่าพระฤๅษี
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องถอนลูกศรคือตัณหาใหญ่
จึงชื่อว่าพระฤๅษี
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องปลดเปลื้องโครงทิฏฐิใหญ่
จึงชื่อว่าพระฤๅษี
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องกำจัดธงคือมานะใหญ่
จึงชื่อว่าพระฤๅษี
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องเข้าไปสงบอภิสังขารใหญ่
จึงชื่อว่าพระฤๅษี
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องปิดกั้นโอฆะใหญ่ จึงชื่อว่า
พระฤๅษี
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องวางภาระใหญ่ จึงชื่อว่า
พระฤๅษี
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องตัดสังสารวัฏใหญ่ จึงชื่อว่า
พระฤๅษี
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องดับความเดือดร้อนใหญ่
จึงชื่อว่าพระฤๅษี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องระงับความเร่าร้อนใหญ่จึง
ชื่อว่าพระฤๅษี
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาเครื่องยกธงคือธรรมใหญ่ จึงชื่อ
ว่าพระฤๅษี
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ค้นหา เสาะหาสติปัฏฐานใหญ่... สัมมัปปธานใหญ่...
อิทธิบาทใหญ่... อินทรีย์ใหญ่... พละใหญ่... โพชฌงค์ใหญ่... อริยมรรคมีองค์ ๘ ใหญ่...
ปรมัตถอมตนิพพานใหญ่ จึงชื่อว่าพระฤๅษี
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่เหล่าสัตว์ผู้มเหศักดิ์แสวงหา ค้นหา
เสาะหาว่า “พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน พระผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพประทับอยู่
ที่ไหน พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน” จึงชื่อว่าพระฤๅษี รวมความว่า
ข้าพระองค์รับทราบมาว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี (ถ้าผู้ใดถามปัญหา)
ถึง ๓ ครั้ง จะทรงพยากรณ์ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
(ท่านโมฆราชทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์ได้ทูลถามพระองค์ผู้สักกะ ๒ ครั้งแล้ว
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
มิได้ทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์รับทราบมาว่า
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นเทพฤๅษี
(ถ้าผู้ใดถามปัญหา) ถึง ๓ ครั้งจะทรงพยากรณ์
[๘๖] (ท่านโมฆราชทูลถามว่า)
โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ย่อมไม่ทราบชัดความเห็นของพระองค์
ผู้โคตมโคตร ผู้มีพระยศ (๒)
คำว่า โลกนี้ ในคำว่า โลกนี้ โลกอื่น ได้แก่ มนุษยโลก
คำว่า โลกอื่น ได้แก่ โลกอื่นทั้งหมด เว้นมนุษยโลก รวมความว่า โลกนี้
โลกอื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า พรหมโลกพร้อมทั้งเทวโลก ได้แก่ พรหมโลก พร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ รวมความว่า
พรหมโลกพร้อมทั้งเทวโลก
คำว่า ย่อมไม่ทราบชัดความเห็นของพระองค์ อธิบายว่า ชาวโลกไม่ทราบ
ไม่รู้ คือ ไม่เห็น ไม่แลเห็น ไม่ประสบ ไม่พบ ไม่ได้เฉพาะความเห็น คือ ความถูกใจ
ความพอใจ ลัทธิ อัธยาศัย ความประสงค์ของพระองค์ว่า “พระผู้มีพระภาคนี้
ทรงมีความเห็นอย่างนี้ มีความถูกใจอย่างนี้ มีความพอใจอย่างนี้ มีลัทธิอย่างนี้
มีอัธยาศัยอย่างนี้ มีความประสงค์อย่างนี้” รวมความว่า ย่อมไม่ทราบชัดความ
เห็นของพระองค์
คำว่า ผู้โคตมโคตร ผู้มีพระยศ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ทรงเพียบ
พร้อมด้วยพระยศ จึงชื่อว่าผู้มีพระยศ
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่ชาวโลกสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อม ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงชื่อ
ว่าผู้มีพระยศ รวมความว่า ผู้โคตมโคตร ผู้มีพระยศ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์จึง
กราบทูลว่า
โลกนี้ โลกอื่น พรหมโลกพร้อมทั้งเทวโลก
ย่อมไม่ทราบชัดความเห็นของพระองค์
ผู้โคตมโคตร ผู้มีพระยศ
[๘๗] (ท่านโมฆราชทูลถามว่า)
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ทรงมีปกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงไม่เห็น (๓)
คำว่า ผู้ทรงมีปกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้ อธิบายว่า ผู้ทรงมีปกติเห็น
ธรรมอันงาม คือ เห็นธรรมอันเลิศ เห็นธรรมอันประเสริฐ ธรรมอันวิเศษสุด
เห็นธรรมชั้นแนวหน้า เห็นธรรมสูงสุด เห็นธรรมอันยอดเยี่ยมอย่างนี้ รวมความว่า
ผู้ทรงมีปกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้า อธิบายว่า ข้าพระองค์มี
ความ ต้องการปัญหาจึงมาเฝ้า ฯลฯ ข้อนี้จึงเป็นภาระของพระองค์ รวมความว่า
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง
คำว่า บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร อธิบายว่า บุคคลผู้พิจารณาเห็น คือ
ประจักษ์แจ้ง เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งอย่างไร รวม
ความว่า บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร
คำว่า มัจจุราชจึงไม่เห็น อธิบายว่า มัจจุราชจึงไม่เห็น คือ ไม่แลเห็น ไม่
ประสบ ไม่พบ ไม่ได้เฉพาะ รวมความว่า มัจจุราชจึงไม่เห็น ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์
นั้นจึงกราบทูลว่า
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ทรงมีปกติเห็นธรรมอันงามอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงไม่เห็น
[๘๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
โมฆราช เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า
มีสติทุกเมื่อ พึงถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย
เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น (๔)

ว่าด้วยโลก
คำว่า โลก ในคำว่า เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ได้แก่ โลกนรก
โลกในกำเนิดเดรัจฉาน โลกในเปตวิสัย มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก โลกนี้ โลกหน้า พรหมโลก พร้อมทั้งเทวโลก
ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์
ตรัสว่า ‘โลก โลก’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงตรัสว่า โลก พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุ ที่เราเรียกว่า ‘โลก’ เพราะจะต้องแตกสลาย
ก็อะไรเล่าจะต้องแตกสลาย คือ จักษุแลต้องแตกสลาย รูปต้องแตกสลาย จักขุ
วิญญาณต้องแตกสลาย จักขุสัมผัสต้องแตกสลาย แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรือ
อทุกขมสุขเวทนา(เป็นทุกข์ก็มิใช่เป็นสุขก็มิใช่) ที่เกิดขึ้นเพราะมีจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย
ต้องแตกสลาย โสตะต้องแตกสลาย เสียงต้องแตกสลาย ฆานะต้องแตกสลาย
กลิ่นต้องแตกสลาย ชิวหาต้องแตกสลาย รสต้องแตกสลาย กายต้องแตกสลาย
โผฏฐัพพะต้องแตกสลาย มโนต้องแตกสลาย ธรรมารมณ์ต้องแตกสลาย มโน-
วิญญาณต้องแตกสลาย มโนสัมผัสต้องแตกสลาย แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา
อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ต้องแตกสลาย ภิกษุ
ที่เราเรียกว่า ‘โลก’ เพราะจะต้องแตกสลาย เป็นอย่างนี้”๑
คำว่า เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า อธิบายว่า บุคคลย่อม
พิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่าด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ
๑. ด้วยการกำหนดเห็นสังขารไม่เป็นไปตามอำนาจ
๒. ด้วยการพิจารณาเห็นสังขารเป็นของว่างเปล่า
บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยการกำหนดเห็นสังขารไม่
เป็นไปตามอำนาจ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมไม่ได้อำนาจในรูป อำนาจในเวทนา อำนาจในสัญญา
อำนาจในสังขาร อำนาจในวิญญาณ
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา ถ้ารูป
นี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ รูปนี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในรูปว่า
“รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย” ภิกษุทั้งหลาย ก็
เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูปว่า
“รูปของเราจงเป็นอย่างนี้ รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”

เชิงอรรถ :
๑ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๘๒/๗๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
ภิกษุทั้งหลาย เวทนาเป็นอนัตตา ถ้าเวทนานี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ เวทนานี้ไม่
พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในเวทนาว่า “เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้
เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเวทนาเป็นอนัตตา
ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในเวทนาว่า “เวทนาของ
เราจงเป็นอย่างนี้ เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย สัญญาเป็นอนัตตา ถ้าสัญญานี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้ สัญญา
นี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสัญญาว่า “สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้
สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสัญญาเป็นอนัตตา ฉะนั้น
สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสัญญาว่า “สัญญาของเราจง
เป็นอย่างนี้ สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้าสังขารนี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้
สังขารนี้ ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในสังขารว่า “สังขารของเรา
จงเป็นอย่างนี้ สังขารของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสังขาร
เป็นอนัตตา ฉะนั้น สังขารจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในสังขารว่า
“สังขารของเราจงเป็นอย่างนี้ สังขารของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น”
ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณเป็นอนัตตา ถ้าวิญญาณนี้จักเป็นอัตตาแล้วไซร้
วิญญาณนี้ก็ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่า “วิญญาณของ
เราจงเป็นอย่างนี้ วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้น” ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะ
วิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้
ในวิญญาณว่า “วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้ วิญญาณของเราอย่าได้เป็น
อย่างนั้น”๑

เชิงอรรถ :
๑ วิ.ม. ๔/๒๑/๑๗-๑๘, สํ.ข. ๑๗/๕๙/๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย กายนี้มิใช่ของพวกเธอ
ทั้งมิใช่ของคนอื่น กายนี้กรรมเก่าควบคุมไว้ จิตประมวลไว้ พึงเห็นว่า เป็นที่ตั้งแห่ง
เวทนา อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมมนสิการปฏิจจสมุปบาทอย่างดีโดยแยบคาย
ในกายนั้นว่า
“เพราะเหตุนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี
เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป คือ
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและความ
คับแค้นใจก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
เพราะอวิชชาสำรอก๑ดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ

เชิงอรรถ :
๑ สำรอก ในที่นี้หมายถึง วิราคะคือนิพพาน แปลว่า เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะก็ได้
(วิ.ม.(แปล) ๔/๑-๓/๒-๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ
ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความ
คับแค้นใจก็ดับไป ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้มีได้ด้วยประการฉะนี้”๑
บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยการพิจารณาเห็นสังขาร
เป็นของว่างเปล่า เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมไม่ได้แก่นสารในรูป แก่นสารในเวทนา แก่นสารในสัญญา
แก่นสารในสังขาร แก่นสารในวิญญาณ
รูปไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร โดยสาระแห่งแก่นสารที่
เป็นของเที่ยง โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นสุข โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นตัวตน
โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นของยั่งยืน โดยความเป็นของมั่นคง หรือโดย
ความเป็นของไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา
เวทนาไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร ฯลฯ
สัญญาไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ สํ.นิ. ๑๖/๓๗/๖๒-๖๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
สังขารไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร ฯลฯ
วิญญาณไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร ฯลฯ โดยสาระแห่ง
แก่นสารที่เป็นของเที่ยง โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นสุข โดยสาระแห่งแก่นสารที่
เป็นตัวตน โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นของยั่งยืน โดยความเป็นของมั่นคง
หรือโดยความเป็นของไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา
ไม้อ้อไม่มีแก่น ไร้แก่น ปราศจากแก่น ไม้ละหุ่ง ไม่มีแก่น ไร้แก่น ปราศจาก
แก่น ไม้มะเดื่อ ไม่มีแก่น ไร้แก่น ปราศจากแก่น ไม้ทองหลาง ไม่มีแก่น ไร้แก่น
ปราศจากแก่น ต้นหงอนไก่ (ปาลิภทฺทโก) ไม่มีแก่น ไร้แก่น ปราศจากแก่น
ฟองน้ำ ไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร ต่อมน้ำ ไม่มีแก่นสาร
ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร พยับแดด ไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจาก
แก่นสาร ต้นกล้วย ไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร เงา ไม่มี
แก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร ฉันใด
รูปไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร โดยสาระแห่งแก่นสารที่
เป็นของเที่ยง โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นสุข โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นตัวตน
โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นของยั่งยืน โดยความเป็นของมั่นคง โดยความ
เป็นของไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา เวทนาไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจาก
แก่นสาร ฯลฯ สัญญาไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่สาร ฯลฯ สังขาร
ไม่มีแก่นสาร ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร ฯลฯ วิญญาณไม่มีแก่นสาร
ไร้แก่นสาร โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นของเที่ยง โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นสุข
โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นตัวตน โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นของยั่งยืน
โดยความเป็นของมั่นคง โดยความเป็นของไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา ฉันนั้น
บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยการพิจารณาเห็นสังขาร
เป็นของว่างเปล่าอย่างนี้ บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยเหตุ ๒
อย่างเหล่านี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยอาการ ๖ อย่าง
คือ พิจารณาเห็นรูป๑
๑. โดยความที่ตนมิได้เป็นใหญ่
๒. โดยความที่ตนจัดการตามชอบใจไม่ได้
๓. โดยไม่เป็นที่ตั้งแห่งความสบาย
๔. โดยไม่เป็นไปในอำนาจ
๕. โดยเป็นไปตามเหตุ
๖. โดยความว่างเปล่า
พิจารณาเห็นเวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... พิจารณาเห็นวิญญาณ
๑. โดยความที่ตนมิได้เป็นใหญ่
๒. โดยความที่ตนจัดการตามชอบใจไม่ได้
๓. โดยไม่เป็นที่ตั้งแห่งความสบาย
๔. โดยไม่เป็นไปในอำนาจ
๕. โดยเป็นไปตามเหตุ
๖. โดยความว่างเปล่า
บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยอาการ ๖ อย่าง เป็นอย่างนี้
อีกนัยหนึ่ง บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยอาการ ๑๐ อย่าง
คือ พิจารณาเห็นรูป

เชิงอรรถ :
๑ ความตรงนี้ปรากฏในฉบับฉัฏฐสังคายนาของฉบับพม่า ดังนี้ จักขุว่างจากอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา
เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง หรือไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา โสตะว่าง ... ฆานะว่าง ... ชิวหาว่าง ... กายว่าง ... ใจ
ว่างจากอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง หรือไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา รูปว่าง ... เสียงว่าง
... กลิ่นว่าง ... รสว่าง ... โผฏฐัพพะว่าง ... ธรรมารมณ์ว่างจากอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา เที่ยง ยั่งยืน
มั่นคง หรือไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา จักขุวิญญาณว่าง ... มโนวิญญาณว่าง ... จักขุสัมผัสว่าง ... เวทนาที่
เกิดจากจักขุสัมผัสว่าง ... เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัสว่าง ... รูปสัญญาว่าง ... ธัมมสัญญาว่าง ...
รูปสัญเจตนาว่าง ... ธัมมสัญเจตนาว่าง ... รูปตัณหาว่าง ... รูปวิตกว่าง ... รูปวิจารว่าง ... ธัมมวิจาร
ว่างจากอัตตา หรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง หรือไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส

๑. โดยความเป็นของว่าง ๒. โดยความเป็นของเปล่า
๓. โดยความเป็นของสูญ ๔. โดยความเป็นอนัตตา
๕. โดยความไม่มีแก่นสาร ๖. โดยความเป็นดุจเพชฌฆาต
๗. โดยความเป็นของปราศจากความเจริญ
๘. โดยความเป็นเหตุแห่งความลำบาก ๙. โดยความเป็นของมีอาสวะ
๑๐. โดยความเป็นของที่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง

พิจารณาเห็นเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ จุติ
(ความเคลื่อนจากภพ) ฯลฯ อุปบัติ (การถือกำเนิด) ฯลฯ ปฏิสนธิ ฯลฯ ภพ ฯลฯ
สังสารวัฏ

๑. โดยความเป็นของว่าง ๒. โดยความเป็นของเปล่า
๓. โดยความเป็นของสูญ ๔. โดยความเป็นอนัตตา
๕. โดยความไม่มีแก่นสาร ๖. โดยความเป็นดุจเพชฌฆาต
๗. โดยความเป็นของปราศจากความเจริญ
๘. โดยความเป็นเหตุแห่งความลำบาก ๙. โดยความเป็นของมีอาสวะ
๑๐. โดยความเป็นของที่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง

บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยอาการ ๑๐ อย่าง เป็นอย่างนี้
อีกนัยหนึ่ง บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยอาการ ๑๒ อย่าง
คือ พิจารณาเห็นรูป

๑. มิใช่สัตว์ ๒. มิใช่ชีวะ
๓. มิใช่นระ ๔. มิใช่มาณพ
๕. มิใช่หญิง ๖. มิใช่ชาย
๗. มิใช่อัตตา ๘. มิใช่ของเนื่องด้วยอัตตา
๙. มิใช่เรา ๑๐. มิใช่ของเรา
๑๑. มิใช่ใคร ๆ ๑๒. มิใช่ของใคร ๆ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
พิจารณาเห็นเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ

๑. มิใช่สัตว์ ๒. มิใช่ชีวะ
๓. มิใช่นระ ๔. มิใช่มาณพ
๕. มิใช่หญิง ๖. มิใช่ชาย
๗. มิใช่อัตตา ๘. มิใช่ของเนื่องด้วยอัตตา
๙. มิใช่เรา ๑๐. มิใช่ของเรา
๑๑. มิใช่ใคร ๆ ๑๒. มิใช่ของใคร ๆ

บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า ด้วยอาการ ๑๒ อย่าง เป็นอย่างนี้
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดมิใช่ของเธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละสิ่งนั้น สิ่งที่เธอทั้งหลายละได้แล้วนั้นแล จักมีเพื่อ
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน
ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าที่มิใช่ของเธอทั้งหลาย รูปมิใช่ของเธอทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายจงละรูปนั้น รูปที่เธอทั้งหลายละได้แล้วนั้นแล จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขตลอดกาลนาน
เวทนามิใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละเวทนานั้น เวทนาที่เธอทั้งหลาย
ละได้แล้วนั้น จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน
สัญญามิใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละสัญญานั้น สัญญาที่เธอ
ทั้งหลายละได้แล้วนั้น จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน
สังขารทั้งหลายมิใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละสังขารเหล่านั้น สังขาร
ที่เธอทั้งหลายละได้แล้วนั้น จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอด กาลนาน
วิญญาณมิใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละวิญญาณนั้น วิญญาณที่เธอ
ทั้งหลายละได้แล้วนั้น จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
ภิกษุทั้งหลาย คนพึงเอาหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ที่มีอยู่ในเชตวันวิหารนี้
ไปเผา หรือจัดการไปตามรูปเรื่อง เธอทั้งหลายจะพึงมีความคิดอย่างนี้บ้างไหมว่า
“คนย่อมเอาพวกเราไปเผา หรือจัดการไปตามรูปเรื่อง”
ความดำริเช่นนั้น ไม่มีเลย พระเจ้าข้า
ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุไร
เพราะนั่น มิใช่อัตตา หรือของเนื่องด้วยอัตตาของข้าพระองค์ทั้งหลาย
พระเจ้าข้า
อย่างเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดมิใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจง
ละสิ่งนั้น สิ่งที่เธอทั้งหลายละได้แล้วนั้น จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข
ตลอดกาลนาน
ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่ามิใช่ของเธอทั้งหลาย รูปมิใช่ของเธอทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายจงละรูปนั้น รูปที่เธอทั้งหลายละได้แล้วนั้น จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อ
ความสุขตลอดกาลนาน
เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณมิใช่ของเธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงละวิญญาณนั้น วิญญาณที่เธอทั้งหลายละได้แล้วนั้น จักมีเพื่อ
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน”๑ รวมความว่า บุคคลพิจารณาเห็น
โลกโดยความว่างเปล่าเป็นอย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยโลกว่าง
ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่
พระองค์ตรัสว่า ‘โลกว่าง โลกว่าง’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงตรัสว่า ‘โลกว่าง’

เชิงอรรถ :
๑ ม.มู. ๑๒/๒๔๗/๒๐๘-๒๐๙, สํ.ข. ๑๗/๓๓/๒๘, สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๑๐๒/๑๑๑-๑๑๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
อานนท์ เพราะโลกว่างจากอัตตาหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา ฉะนั้น เราจึง
กล่าวว่า ‘โลกว่าง’ อานนท์ อะไรเล่าที่ว่างจากอัตตา หรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา
อานนท์ จักขุแลว่างจากอัตตา หรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา รูปว่าง ฯลฯ จักขุวิญญาณ
ว่าง ฯลฯ จักขุสัมผัสว่าง แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขเวทนา เป็นทุกขเวทนา
หรืออทุกขมสุขเวทนา(เป็นทุกข์ก็มิใช่เป็นสุขก็มิใช่) ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัส
เป็นปัจจัย ก็ว่างจากอัตตาหรือสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา โสตะว่าง ฯลฯ เสียงว่าง ฯลฯ
ฆานะว่าง ฯลฯ กลิ่นว่าง ฯลฯ ชิวหาว่าง ฯลฯ รสว่าง ฯลฯ กายว่าง ฯลฯ
โผฏฐัพพะว่าง ฯลฯ ใจว่าง ฯลฯ ธรรมารมณ์ว่าง ฯลฯ มโนวิญญาณว่าง ฯลฯ
มโนสัมผัสก็ว่าง แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขเวทนา เป็นทุกขเวทนา หรือ
อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ว่างจากอัตตา หรือสิ่งที่
เนื่องด้วยอัตตา อานนท์ เพราะโลกว่างจากอัตตา หรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา
ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า “โลกว่าง”๑ บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า เป็น
อย่างนี้บ้าง
คามณี๒ ภัยย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พิจารณาเห็น
ความเกิดขึ้นแห่งธรรมล้วน ๆ
และความสืบเนื่องแห่งสังขารล้วน ๆ ตามที่เป็นจริง
เมื่อใด บุคคลพิจารณาเห็นโลกว่า
เสมอด้วยหญ้าและท่อนไม้ ด้วยปัญญา
เมื่อนั้น เขาย่อมไม่ปรารถนาอะไรอื่น
นอกจากความไม่ปฏิสนธิ
บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า เป็นอย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย อย่างนั้นแล ภิกษุค้น
หารูป ตลอดคติแห่งรูปที่มีอยู่ ค้นหาเวทนา ตลอดคติแห่งเวทนาที่มีอยู่ ค้นหา

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบกับ สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๘๕/๗๘, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๘๖/๕๒๘-๕๒๙
๒ คามณี ในที่นี้เป็นชื่อของหัวหน้าโจร ซึ่งพระอธิมุตตเถระใช้เรียกชื่อในขณะแสดงธรรมโปรดหัวหน้าโจร
(ขุ.วิ.(แปล) ๒๖/๑๗๖-๑๗๗/๔๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
สัญญา ตลอดคติแห่งสัญญาที่มีอยู่ ค้นหาสังขาร ตลอดคติแห่งสังขารที่มีอยู่
ค้นหาวิญญาณ ตลอดคติแห่งวิญญาณที่มีอยู่ เมื่อภิกษุนั้นค้นหารูป ตลอดคติ
แห่งรูปที่มีอยู่ ค้นหาเวทนา ตลอดคติแห่งเวทนาที่มีอยู่ ค้นหาสัญญา ตลอดคติ
แห่งสัญญาที่มีอยู่ ค้นหาสังขาร ตลอดคติแห่งสังขารที่มีอยู่ ค้นหาวิญญาณ
ตลอดคติแห่งวิญญาณที่มีอยู่ ความถือว่า “เรา” “ของเรา” หรือ “มีเรา” ของ
ภิกษุนั้นไม่มี๑ บุคคลพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า เป็นอย่างนี้บ้าง
คำว่า เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า อธิบายว่า เธอจงพิจารณา
เห็น คือ ประจักษ์แจ้ง แลเห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้ง
โลกโดยความว่าง รวมความว่า เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า
คำว่า โมฆราช ในคำว่า โมฆราช ...มีสติทุกเมื่อ เป็นคำที่พระผู้มีพระ-
ภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า ทุกเมื่อ อธิบายว่า ตลอดกาลทั้งปวง ฯลฯ ปัจฉิมวัย๒
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ (๑) ชื่อว่ามีสติ
เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย ฯลฯ ผู้นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
มีสติ๓ รวมความว่า โมฆราช ... มีสติทุกเมื่อ
คำว่า พึงถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย อธิบายว่า สักกายทิฏฐิ ๒๐ ตรัสเรียกว่า
อัตตานุทิฏฐิ
ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของ
สัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมองเห็นรูป โดยความเป็น
อัตตา เห็นอัตตาว่ามีรูป เห็นรูปในอัตตา หรือเห็นอัตตาในรูป

เชิงอรรถ :
๑ สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๒๔๖/๒๖๒
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๑๐/๗๗
๓ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๗๐-๗๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๕. โมฆราชมาณวปัญหานิทเทส
ย่อมมองเห็นเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ โดยความ
เป็นอัตตา เห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ เห็นวิญญาณในอัตตา หรือเห็นอัตตาในวิญญาณ
ทิฏฐิ การตกอยู่ในทิฏฐิ ความรกชัฏคือทิฏฐิ ความกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนาม
คือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องผูกพันคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น
ความยึดมั่น ความยึดมั่นถือมั่น ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเดียรถีย์ ความถือ
ขัดแย้ง ความถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือในสิ่งไม่เป็นความ
จริงว่าเป็นจริงเห็นปานนี้ จนถึงทิฏฐิ ๖๒ นี้ชื่อว่าอัตตานุทิฏฐิ
คำว่า พึงถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย อธิบายว่า พึงถอน คือ พึงถอนขึ้น ฉุดขึ้น
ชักขึ้น ลากขึ้น เพิกขึ้น ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงไม่มีอีก รวม
ความว่า พึงถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย
คำว่า เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้ อธิบายว่า พึงข้าม
มัจจุราช คือ พึงข้าม พึงข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยซึ่งชราบ้าง มรณะบ้าง
ด้วยอาการอย่างนี้ รวมความว่า เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้
คำว่า บุคคลพิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ อธิบายว่า พิจารณาเห็น คือ
ประจักษ์แจ้ง เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งโลกอย่างนี้ รวม
ความว่า บุคคลพิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้
คำว่า มัจจุราชจึงไม่เห็น อธิบายว่า มัจจุชื่อว่าพญามัจจุราช มารชื่อว่า
พญามัจจุราช ความตายชื่อว่าพญามัจจุราช
คำว่า จึงไม่เห็น ได้แก่ ไม่เห็น ไม่แลเห็น ไม่ประสบ ไม่พบ ไม่ได้เฉพาะ
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเนื้อป่า
เมื่อเที่ยวไปตามป่าน้อยป่าใหญ่ ย่อมวางใจเดิน ยืน หมอบ นอน ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร
เพราะไม่ได้พบกับนายพรานเนื้อ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น สงัดจากกามและอกุศล-
ธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตกวิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เรา
เรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้ที่มารใจบาปมองไม่เห็น เพราะ
ทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส
อีกนัยหนึ่ง เพราะวิตกและวิจารสงบไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่อง
ใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขที่เกิด
จากสมาธิอยู่ ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ภิกษุทั้งหลาย เรา
เรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้ที่มารใจบาปมองไม่เห็น เพราะ
ทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย
ภิกษุทั้งหลาย เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่มนสิการ
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่ ด้วย
มนสิการว่า “อากาศไม่มีที่สุด” เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้
ที่มารใจบาปมองไม่เห็น เพราะทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย
อีกนัยหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่ ด้วยมนสิการว่า “วิญญาณไม่มีที่สุด” ฯลฯ
อีกนัยหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุ
อากิญจัญญายตนฌานอยู่ ด้วยมนสิการว่า “อะไร น้อยหนึ่งย่อมไม่มี” ฯลฯ
อีกนัยหนึ่ง เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง
ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ฯลฯ เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลาย
ของเธอย่อมสิ้นไป ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด
คือ เป็นผู้ที่มารใจบาปมองไม่เห็น เพราะทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย
เป็นผู้ข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้แล้ว ย่อมวางใจเดิน ยืน นั่ง นอน
ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะไม่ได้พบมารใจบาป๑ รวมความว่า มัจจุราชจึงไม่เห็น
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า

เชิงอรรถ :
๑ ม.มู. ๑๒/๒๘๗/๒๕๐-๒๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส
โมฆราช เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า
มีสติทุกเมื่อ พึงถอนอัตตานุทิฏฐิเสีย
เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้
บุคคลพิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น
พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ โมฆราชมาณพ ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”๑
โมฆราชมาณวปัญหานิทเทสที่ ๑๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๑/๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส
๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส๑
ว่าด้วยปัญหาของปิงคิยมาณพ
[๘๙] (ท่านปิงคิยะทูลถาม ดังนี้)
ข้าพระองค์ชราภาพแล้ว ไม่มีกำลัง
ผิวพรรณไม่ผุดผ่อง นัยน์ตาไม่แจ่มใส หูฟังไม่ชัด
ขอข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลงเสียหายในระหว่างนี้เลย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมที่เป็นเครื่องละชาติและชรา
ในโลกนี้ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ (๑)
คำว่า ข้าพระองค์ชราภาพแล้ว ในคำว่า ข้าพระองค์ชราภาพแล้ว ไม่มี
กำลัง ผิวพรรณไม่ผุดผ่อง อธิบายว่า ข้าพระองค์ชราภาพแล้ว คือ สูงอายุ เป็น
ผู้เฒ่า ล่วงกาลมามาก ผ่านวัยมามาก มีอายุได้ ๑๒๐ ปี นับแต่เกิด
คำว่า ไม่มีกำลัง ได้แก่ อ่อนกำลัง มีกำลังน้อย มีเรี่ยวแรงน้อย
คำว่า ผิวพรรณไม่ผุดผ่อง ได้แก่ ผิวพรรณหมดงาม คือ ผิวพรรณปราศจาก
ความงาม ผิวพรรณที่เคยงามหมดไปแล้ว รัศมีแห่งผิวพรรณอันงดงามแต่ก่อน
หายไปแล้ว ปรากฏอยู่แต่โทษ รวมความว่า ข้าพระองค์ชราภาพแล้ว ไม่มีกำลัง
ผิวพรรณไม่ผุดผ่อง
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านปิงคิยะทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก ฯลฯ
คำว่า ปิงคิยะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ รวมความว่า
ท่านปิงคิยะทูลถาม ดังนี้
คำว่า นัยน์ตาไม่แจ่มใส หูฟังไม่ชัด อธิบายว่า นัยน์ตาไม่แจ่มใส คือ มืดมัว
ฝ้าฟาง ไม่สดใส ข้าพระองค์มองเห็นรูปไม่ชัดด้วยตาเช่นนั้น รวมความว่า นัยน์ตา
ไม่แจ่มใส

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๑๒๗-๑๑๓๐/๕๔๙-๕๕๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า หูฟังไม่ชัด อธิบายว่า โสตประสาทไม่แจ่มใส คือ หูตึง หูหนัก ไม่สดใส
ข้าพระองค์ฟังเสียงไม่ชัด ด้วยโสตประสาทเช่นนั้น รวมความว่า นัยน์ตาไม่แจ่มใส
หูฟังไม่ชัด
คำว่า ขอข้าพระองค์อย่า... เสียหาย ในคำว่า ขอข้าพระองค์อย่าได้เป็นคน
หลงเสียหายในระหว่างนี้เลย อธิบายว่า ข้าพระองค์อย่าสูญเสีย ข้าพระองค์
อย่าเสื่อมเสีย ข้าพระองค์อย่าเสียหาย
คำว่า เป็นคนหลง ได้แก่ เป็นคนหลง คือ ไปตามอวิชชา ไม่มีความรู้ ไม่มี
ปัญญาแจ่มกระจ่าง มีปัญญาทึบ
คำว่า ในระหว่าง อธิบายว่า ข้าพระองค์ไม่รู้ ไม่บรรลุ ไม่ทราบ ไม่ได้
ไม่ได้สัมผัส ไม่ได้ทำให้แจ้งธรรม ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรค ของพระองค์แล้ว พึงทำ
กาลกิริยาเสียในระหว่าง รวมความว่า ขอข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลงเสียหายใน
ระหว่างนี้เลย
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม ในคำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ธรรม... ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก คือ
แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศพรหมจรรย์ ที่มี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ
และพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิ-
บาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน และ
ปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน รวมความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม
คำว่า ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ ได้แก่ ซึ่งข้าพระองค์พึงรู้ คือ พึงรู้ทั่ว
รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอด บรรลุ ถูกต้อง ทำให้แจ้ง รวมความว่า ขอพระองค์
โปรดตรัสบอกธรรม...ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
คำว่า ที่เป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้ อธิบายว่า ที่เป็นเครื่องละ คือ
เป็นเครื่องเข้าไปสงบ เป็นเครื่องสลัดทิ้ง เป็นเครื่องระงับชาติชราและมรณะ คือ
อมตนิพพานในโลกนี้เอง รวมความว่า ที่เป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้ ด้วย
เหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส
ข้าพระองค์ชราภาพแล้ว ไม่มีกำลัง
ผิวพรรณไม่ผุดผ่อง นัยน์ตาไม่แจ่มใส หูฟังไม่ชัด
ขอข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลงเสียหายในระหว่างนี้เลย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมที่เป็นเครื่องละชาติและชรา
ในโลกนี้ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
[๙๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ)
ชนทั้งหลายเห็นชนอื่น ๆ เดือดร้อนอยู่
เพราะรูปทั้งหลายแล้ว ยังประมาทเจ็บปวดเพราะรูปทั้งหลาย
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละรูปเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป (๒)

ว่าด้วยวิธีการลงโทษ
คำว่า เพราะรูปทั้งหลาย ในคำว่า เห็นชนอื่น ๆ เดือดร้อนอยู่เพราะรูป
ทั้งหลาย ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ อธิบายว่า เหล่าสัตว์
พากันลำบากเดือดร้อน คือ ยากลำบาก ถูกเขาฆ่าฟัน เพราะรูปเป็นเหตุ เพราะรูป
เป็นปัจจัย เพราะรูปเป็นการณ์ พระราชาทรงรับสั่งให้ลงอาญาด้วยประการต่าง ๆ
คือ ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ให้เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ให้ตีด้วยไม้พลองบ้าง ตัดมือบ้าง
ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง ตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและจมูกบ้าง
วางก้อนเหล็กแดงบนศีรษะบ้าง ถลกหนังศีรษะแล้วขัดให้ขาวเหมือนสังข์บ้าง เอาไฟ
ยัดปากจนเลือดไหลเหมือนปากราหูบ้าง เอาผ้าพันตัวราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาบ้าง
พันมือแล้วจุดไฟต่างคบบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงข้อเท้าให้ลุกเดินเหยียบหนังจน
ล้มลงบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงบั้นเอว ทำให้มองดูเหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง
สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกและเข่าแล้วเสียบหลาวทั้งห้าทิศเอาไฟเผาบ้าง ใช้เบ็ด
เกี่ยวหนัง เนื้อ เอ็นออกมาบ้าง เฉือนเนื้อออกเป็นแว่น ๆ เหมือนเหรียญ
กษาปณ์บ้าง เฉือนหนังเนื้อเอ็นออก เหลือไว้แต่กระดูกบ้าง ใช้หลาวแทงช่องหูให้
ทะลุถึงกันบ้าง เสียบให้ติดดินแล้วจับเขาหมุนได้รอบบ้าง ทุบกระดูกให้แหลกแล้ว
ถลกหนังออกเหลือไว้แต่กองเนื้อเหมือนตั่งใบไม้บ้าง รดตัวด้วยน้ำมันที่กำลังเดือดพล่าน
บ้าง ให้สุนัขกัดกินจนเหลือแต่กระดูกบ้าง ให้นอนบนหลาวทั้งเป็นบ้าง เอาดาบตัด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส
ศีรษะบ้าง เหล่าสัตว์พากันลำบากเดือดร้อน คือ ยากลำบาก ถูกเขาฆ่าฟัน เพราะ
รูปเป็นเหตุ เพราะรูปเป็นปัจจัย เพราะรูปเป็นการณ์ อย่างนี้ (ชนทั้งหลาย)เห็น
คือ แลเห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งเหล่าสัตว์
ผู้ลำบากเดือดร้อน คือ ยากลำบาก ถูกเขาฆ่าฟัน อย่างนี้ รวมความว่า เห็นชน
อื่น ๆ เดือดร้อนอยู่เพราะรูปทั้งหลาย
คำว่า ปิงคิยะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ เป็นคำที่
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ปิงคิยะ
คำว่า เจ็บปวด ในคำว่า ชนทั้งหลาย...ยังประมาท เจ็บปวดเพราะรูป
ทั้งหลาย อธิบายว่า ย่อมเจ็บปวด คือ ดิ้นรน กระสับกระส่าย เดือดร้อน
เจ็บป่วย(ทุกข์กาย) ทุกข์ใจ คือ ย่อมเจ็บปวด ดิ้นรน กระสับกระส่าย เดือดร้อน
เจ็บป่วย ทุกข์ใจ ด้วยโรคตา ได้แก่ เจ็บปวด ดิ้นรน กระสับกระส่าย เดือดร้อน
เจ็บป่วย ทุกข์ใจ ด้วยโรคหู ฯลฯ ด้วยโรคกาย ฯลฯ ด้วยสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง
ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน รวมความว่า เจ็บปวดเพราะรูปทั้งหลาย
อีกนัยหนึ่ง ชนทั้งหลาย เจ็บปวด ดิ้นรน กระสับกระส่าย เดือดร้อน เจ็บป่วย
ทุกข์ใจ เพราะจักษุเสื่อมไป เสียไป ละไป แปรผันไป หายไป อันตรธานไป ฯลฯ
เพราะโสตะ ฯลฯ เพราะฆานะ ฯลฯ เพราะชิวหา ฯลฯ เพราะกาย ฯลฯ
เพราะรูป ฯลฯ เพราะเสียง ฯลฯ เพราะกลิ่น ฯลฯ เพราะรส ฯลฯ เพราะโผฏฐัพพะ
ฯลฯ เพราะตระกูล ฯลฯ เพราะคณะ ฯลฯ เพราะอาวาส ฯลฯ เพราะลาภ ฯลฯ
เพราะยศ ฯลฯ เพราะสรรเสริญ ฯลฯ เพราะสุข ฯลฯ เพราะจีวร ฯลฯ
เพราะบิณฑบาต ฯลฯ เพราะเสนาสนะ ฯลฯ เพราะคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
เสื่อมไป เสียไป ละไป แปรผันไป หายไป อันตรธานไป
คำว่า ชนทั้งหลาย ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต
เทวดา และมนุษย์

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส
ว่าด้วยความประมาท
คำว่า ยังประมาท อธิบายว่า ขอกล่าวถึงความประมาท ความปล่อยจิตไป
หรือการเพิ่มพูนความปล่อยจิตไปในกามคุณ ๕ ด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
หรือการทำโดยไม่เคารพ การทำที่ไม่ให้ติดต่อ การทำที่ไม่มั่นคง ความประพฤติย่อ
หย่อน ความทอดทิ้งฉันทะ ความทอดทิ้งธุระ ความไม่เสพ ความไม่เจริญ ความไม่
ทำให้มาก ความตั้งใจไม่จริง ความไม่หมั่นประกอบ ความประมาท ในการเจริญ
กุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าความประมาท ความประมาท กิริยาที่ประมาท ภาวะที่
ประมาทมีลักษณะเช่นว่า นี้ตรัสเรียกว่า ความประมาท ชนทั้งหลายผู้ประกอบ
ด้วยความประมาทนี้ ชื่อว่าผู้ประมาท รวมความว่า ชนทั้งหลาย...ยังประมาท
เจ็บปวดเพราะรูปทั้งหลาย
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่
ประมาท อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะ
ปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น เธอเห็นโทษในรูปอย่างนี้อยู่ รวมความว่า ปิงคิยะ
เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
คำว่า จงเป็นผู้ไม่ประมาท อธิบายว่า เธอจงมีปกติทำโดยเคารพ ทำติดต่อ
ฯลฯ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย รวมความว่า ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น
เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
คำว่า รูป ในคำว่า ละรูปเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป ได้แก่ มหา-
ภูตรูป ๔๑ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔๒
คำว่า ละรูปเสียให้ได้ อธิบายว่า ละรูป คือ ละทิ้งรูป ละรูปให้หมด ทำให้
รูปหมดสิ้นไป ให้รูปถึงความไม่มีอีก
คำว่า เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป อธิบายว่า รูปของเธอพึงดับเสียในภพนี้แหละ
ฉันใด ปฏิสนธิไม่พึงบังเกิดในกามธาตุ รูปธาตุ หรืออรูปธาตุ กามภพ รูปภพ
หรืออรูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ หรือเนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ
จตุโวการภพ หรือปัญจโวการภพ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร หรือวัฏฏะต่อไป

เชิงอรรถ :
๑ มหาภูตรูป ๔ ดูเชิงอรรถข้อ ๕/๕๘
๒ รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ดูเชิงอรรถข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส
ได้แก่ ไม่พึงเกิด ไม่พึงเกิดขึ้น ไม่พึงบังเกิด ไม่พึงบังเกิดขึ้น คือ พึงดับ
พึงเข้าไปสงบ พึงถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ พึงระงับไปในภพนี้เอง ฉันนั้น รวมความว่า
ละรูปเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า
ชนทั้งหลายเห็นชนอื่น ๆ เดือดร้อนอยู่
เพราะรูปทั้งหลายแล้ว ยังประมาทเจ็บปวดเพราะรูปทั้งหลาย
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละรูปเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป
[๙๑] (ท่านปิงคิยะทูลถามว่า)
ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ ทิศเบื้องบน ๑
ทิศเบื้องล่าง ๑ เหล่านี้รวมเป็น ๑๐
สิ่งใด ๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงได้ยิน
ไม่ทรงทราบ หรือไม่ทรงรู้แจ้ง มิได้มีเลย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมที่เป็นเครื่องละชาติและชรา
ในโลกนี้ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ (๓)
คำว่า ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ ทิศเบื้องบน ๑ ทิศเบื้องล่าง ๑ เหล่านี้รวม
เป็น ๑๐ ได้แก่ ทิศทั้ง ๑๐
คำว่า สิ่งใด ๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงได้ยิน ไม่ทรงทราบ
หรือไม่ทรงรู้แจ้ง มิได้มีเลย อธิบายว่า สิ่งไร ๆ คือ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น
หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์ในภพปัจจุบัน หรือประโยชน์ในภพหน้า ประโยชน์
ตื้นหรือประโยชน์ลึก ประโยชน์ลี้ลับหรือประโยชน์ปิดบัง ประโยชน์ที่ควรแนะนำ
หรือประโยชน์ที่แนะนำแล้ว ประโยชน์ที่ไม่มีโทษหรือประโยชน์ที่ไม่มีกิเลส ประโยชน์
ที่ผ่องแผ้วหรือประโยชน์อย่างยิ่ง ที่พระองค์ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงได้ยิน ไม่ทรงทราบ
หรือไม่ทรงรู้แจ้ง ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ รวมความว่า สิ่งใด ๆ ในโลก
ที่พระองค์ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงได้ยิน ไม่ทรงทราบ หรือไม่ทรงรู้แจ้ง มิได้มีเลย
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม... ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก คือ แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส
ทำให้ง่าย ประกาศธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น ฯลฯ และปฏิปทาเครื่องดำเนินไป
สู่นิพพาน
คำว่า ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้ ได้แก่ ซึ่งข้าพระองค์พึงรู้ได้ พึงรู้
แจ่มแจ้ง พึงรู้เฉพาะ พึงแทงตลอด พึงบรรลุ พึงถูกต้อง พึงทำให้แจ้งได้ รวมความว่า
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม... ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
คำว่า ที่เป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้ อธิบายว่า ที่อันเป็นเครื่องละ คือ
เป็นเครื่องเข้าไปสงบ เป็นเครื่องสลัดทิ้ง เป็นเครื่องระงับชาติชราและมรณะ คือ
อมตนิพพานในโลกนี้ รวมความว่า ที่เป็นเครื่องละชาติและชราในโลกนี้ ด้วยเหตุนั้น
พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
ทิศใหญ่ ๔ ทิศน้อย ๔ ทิศเบื้องบน ๑
ทิศเบื้องล่าง ๑ เหล่านี้รวมเป็น ๑๐
สิ่งใด ๆ ในโลกที่พระองค์ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงได้ยิน
ไม่ทรงทราบ หรือไม่ทรงรู้แจ้ง มิได้มีเลย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมที่เป็นเครื่องละชาติและชรา
ในโลกนี้ ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้งได้
[๙๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ)
เธอจงเพ่งพิจารณาหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต
เกิดความเร่าร้อน ถูกชราครอบงำแล้ว
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป (๔)
คำว่า เธอจงเพ่งพิจารณาหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพ-
ตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต ได้แก่ ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต คือ ผู้ไปตาม
ตัณหา ผู้ไปตามอำนาจตัณหา ผู้ซ่านไปตามตัณหา ผู้จมอยู่ในตัณหา ผู้ถูกตัณหา
ครอบงำ มีจิตถูกตัณหายึดครอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า หมู่มนุษย์ เป็นชื่อเรียกสัตว์
คำว่า เพ่งพิจารณา ได้แก่ พิจารณา คือ แลเห็น มอง ดู เพ่งพินิจ
พิจารณาดู รวมความว่า เธอจงเพ่งพิจารณาหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต
คำว่า ปิงคิยะ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ เป็นคำที่
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระผู้มี-
พระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปิงคิยะ
คำว่า เกิดความเร่าร้อน ในคำว่า เกิดความเร่าร้อน ถูกชราครอบงำแล้ว
อธิบายว่า เกิดความเร่าร้อนเพราะชาติ เกิดความเร่าร้อนเพราะชรา เกิดความ
เร่าร้อนเพราะพยาธิ เกิดความเร่าร้อนเพราะมรณะ เกิดความเร่าร้อนเพราะโสกะ
ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส เกิดความเร่าร้อนเพราะทุกข์เนื่องจากการเกิดใน
นรก ฯลฯ เกิดความเร่าร้อนเพราะทุกข์คือทิฏฐิวิบัติ คือ เกิดความจัญไร เกิด
อุปัทวะ(อันตราย) เกิดอุปสรรค รวมความว่า เกิดความเร่าร้อน
คำว่า ถูกชราครอบงำแล้ว ได้แก่ ถูกชราถูกต้อง ครอบงำ คือ กลุ้มรุม
ตามประกอบ ไปตามชาติ ชราติดตาม พยาธิครอบงำ มรณะย่ำยี ไม่มีที่ปกป้อง
ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัย รวมความว่า เกิดความเร่าร้อน ถูกชรา
ครอบงำแล้ว
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น เธอมองเห็นโทษแห่งตัณหาอย่างนี้ รวมความว่า ปิงคิยะ เพราะ
ฉะนั้น
คำว่า เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท อธิบายว่า เธอจงมีปกติทำโดยเคารพ ทำ
ติดต่อ ฯลฯ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย๒ รวมความว่า ปิงคิยะ เพราะ
ฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒๕/๑๓๙-๑๔๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๕. มาณวปัญหานิทเทส ๑๖. ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า ละตัณหาเสียให้ได้ อธิบายว่า ละตัณหา คือ ละทิ้งตัณหา ละตัณหา
ให้หมด ทำตัณหาให้หมดสิ้นไป ทำให้ตัณหาถึงความไม่มีอีก
คำว่า เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป อธิบายว่า รูปของเธอพึงดับในภพนี้แหละ ฉันใด
ปฏิสนธิภพไม่พึงบังเกิดอีกในกามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ
ปัญจโวการภพ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ ภพ สงสาร หรือวัฏฏะต่อไป ได้แก่
ไม่พึงเกิด ไม่พึงเกิดขึ้น ไม่พึงบังเกิด ไม่พึงบังเกิดขึ้น คือ ดับ เข้าไปสงบ
ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไปในภพนี้เอง รวมความว่า ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะ
ไม่เกิดอีกต่อไป ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
เธอจงเพ่งพิจารณาหมู่มนุษย์ ผู้ถูกตัณหาครอบงำจิต
เกิดความเร่าร้อน ถูกชราครอบงำแล้ว
ปิงคิยะ เพราะฉะนั้น เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท
ละตัณหาเสียให้ได้ เพื่อจะไม่เกิดอีกต่อไป
พร้อมกับการจบคาถา ธรรมจักษุไร้ธุลี ปราศจากมลทินว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมี
ความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ได้เกิดขึ้น
แก่เหล่าเทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะ ความพยายาม ความประสงค์
การอบรมบุญญาบารมีร่วมกันมากับพราหมณ์และพราหมณ์นั้นก็ได้เกิดธรรมจักษุไร้ธุลี
ปราศจากมลทินว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วน
มีความดับไปเป็นธรรมดา” หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผม
และหนวด ของท่านก็หายไป พร้อมกับการได้ธรรมจักษุ ท่านได้เป็นภิกษุมี
ศีรษะโล้น นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ทรงสังฆาฏิบาตรและจีวร เพื่อการปฏิบัติเอื้อประโยชน์
จึงประคองอัญชลี นั่งลงนมัสการพระผู้มีพระภาคโดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้
เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”
ปิงคิยมาณวปัญหานิทเทสที่ ๑๖ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๖. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส
๖. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส๑
ว่าด้วยการสดุดีธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
[๙๓] (พระธรรมสังคาหกาจารย์เมื่อจะสรรเสริญพระธรรมเทศนานี้ จึงได้
กล่าวไว้ดังนี้ว่า)
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถานี้แล้ว เมื่อประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์
แคว้นมคธ ได้ทรงรับอาราธนากราบทูลหลายครั้งจากพราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็น
ศิษย์ใกล้ชิด ได้ทรงพยากรณ์ปัญหาแล้ว
คำว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถานี้แล้ว ได้แก่ ได้ตรัสปารายนวรรคนี้แล้ว
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถา
นี้แล้ว
คำว่า เมื่อประทับอยู่ ... แคว้นมคธ ได้แก่ ในชนบทที่ชื่อว่ามคธ
คำว่า เมื่อประทับอยู่ ได้แก่ เมื่อประทับอยู่ คือ ทรงเคลื่อนไหว ทรงเป็นไป
ทรงเลี้ยงพระชนมชีพ ทรงดำเนินไป ทรงยังพระชนมชีพให้ดำเนินไป
คำว่า ณ ปาสาณกเจดีย์ ได้แก่ พุทธอาสน์ตรัสเรียกว่า ปาสาณกเจดีย์
รวมความว่า เมื่อประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์ แคว้นมคธ
คำว่า จากพราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิด ได้แก่ ปิงคิยพราหมณ์
เป็นที่ปรารถนา ประพฤติถูกใจ เป็นคนรับใช้ของพราหมณ์พาวรี อธิบายว่า พราหมณ์
เหล่านั้นมี ๑๖ คน รวมทั้งปิงคิยมาณพ รวมความว่า จากพราหมณ์ ๑๖ คน
ผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิด อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พราหมณ์ ๑๖ คนเหล่านั้น พึงเป็นที่ปรารถนา ประพฤติถูก
พระทัย เป็นปริจาริกาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าได้ รวมความว่า จากพราหมณ์
๑๖ คน ผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิด อย่างนี้บ้าง

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๑๓๑-๑๑๓๗/๕๕๐-๕๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๖. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส
คำว่า ได้ทรงรับอาราธนา ในคำว่า ได้ทรงรับอาราธนากราบทูลหลายครั้ง
...ได้ทรงพยากรณ์ปัญหาแล้ว ได้แก่ ได้ทรงรับอาราธนา คือ รับอัญเชิญแล้ว
คำว่า กราบทูลหลายครั้ง ได้แก่ กราบทูลหลายครั้ง คือ ทูลถามแล้วถามอีก
ทูลขอแล้วขออีก ทูลอัญเชิญแล้วอัญเชิญอีก ทูลให้ทรงประกาศแล้วประกาศอีก
คำว่า ได้ทรงพยากรณ์ปัญหาแล้ว อธิบายว่า ได้ทรงพยากรณ์แล้ว คือ บอก
แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศปัญหาแล้ว รวมความว่า
ได้ทรงรับอาราธนากราบทูลหลายครั้ง...ได้ทรงพยากรณ์ปัญหาแล้ว ด้วยเหตุนั้น
พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวไว้ดังนี้ว่า “พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถานี้แล้ว
เมื่อประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์ แคว้นมคธ ได้ทรงรับอาราธนากราบทูลหลาย
ครั้งจากพราหมณ์ ๑๖ คน ผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิด ได้ทรงพยากรณ์ปัญหาแล้ว”
[๙๔] ถ้าแม้บุคคลรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งปัญหาแต่ละปัญหาแล้ว
ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม ก็จะพึงถึงฝั่งแห่งชราและมรณะได้แน่นอน
เพราะธรรมเหล่านี้เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง เพราะเหตุดังกล่าวมานี้นั้น ธรรมบรรยายนี้
จึงชื่อว่าปารายนะ
คำว่า ถ้าแม้ ... แห่งปัญหาแต่ละปัญหา อธิบายว่า ถ้าแม้... แห่งปัญหาของ
ท่านอชิตะแต่ละปัญหา ถ้าแม้... แห่งปัญหาของท่านปุณณกะแต่ละปัญหา ถ้าแม้...
แห่งปัญหาของท่านเมตตคูแต่ละปัญหา ถ้าแม้... แห่งปัญหาของท่านโธตกะแต่ละ
ปัญหา ถ้าแม้... แห่งปัญหาของท่านอุปสีวะแต่ละปัญหา ถ้าแม้... แห่งปัญหา
ของท่านนันทกะแต่ละปัญหา ถ้าแม้... แห่งปัญหาของท่านเหมกะแต่ละปัญหา
ถ้าแม้... แห่งปัญหาของท่านโตเทยยะแต่ละปัญหา ถ้าแม้ ... แห่งปัญหาของท่าน
กัปปะแต่ละปัญหา ถ้าแม้... แห่งปัญหาของท่านชตุกัณณิแต่ละปัญหา ถ้าแม้...
แห่งปัญหาของท่านภัทราวุธแต่ละปัญหา ถ้าแม้... แห่งปัญหาของท่านอุทัยแต่ละ
ปัญหา ถ้าแม้... แห่งปัญหาของท่านโปสาละแต่ละปัญหา ถ้าแม้... แห่งปัญหาของ
ท่านโมฆราชแต่ละปัญหา ถ้าแม้... แห่งปัญหาของท่านปิงคิยะแต่ละปัญหา รวม
ความว่า ถ้าแม้ ... แห่งปัญหาแต่ละปัญหา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๖. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส
คำว่า รู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรม อธิบายว่า ปัญหานั้นนั่นแหละ เป็นธรรม
การวิสัชนา เป็นอรรถ บุคคลรู้ คือ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง
ทำให้แจ่มแจ้งอรรถแล้ว รวมความว่า รู้ทั่วถึงอรรถ
คำว่า รู้ทั่วถึงธรรม ได้แก่ รู้ คือ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง
ทำให้แจ่มแจ้งธรรมแล้ว รวมความว่า รู้ทั่วถึงธรรม
คำว่า ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม อธิบายว่า ปฏิบัติข้อปฏิบัติชอบ
การปฏิบัติเหมาะสม การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ การ
ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม รวมความว่า ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม
คำว่า ก็จะพึงถึงฝั่งแห่งชราและมรณะได้แน่นอน อธิบายว่า อมตนิพพาน
ตรัสเรียกว่า ฝั่งแห่งชราและมรณะ ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่
สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่
เย็นสนิท
คำว่า ก็จะพึงถึงฝั่งแห่งชราและมรณะได้แน่นอน อธิบายว่า พึงถึงฝั่ง คือ
บรรลุฝั่ง ถูกต้องฝั่ง ทำให้แจ้งฝั่งแห่งชราและมรณะได้แน่นอน รวมความว่า ก็จะ
พึงถึงฝั่งแห่งชราและมรณะได้แน่นอน
คำว่า ธรรมเหล่านี้เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง อธิบายว่า ธรรมเหล่านี้เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
คือ ให้บรรลุฝั่ง ให้บรรลุถึงฝั่ง ให้ตามบรรลุถึงฝั่ง ย่อมเป็นไปเพื่อข้ามชราและมรณะ
รวมความว่า ธรรมเหล่านี้เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
คำว่า เพราะเหตุดังกล่าวมานี้นั้น ในคำว่า เพราะเหตุดังกล่าวมานี้นั้น
ธรรมบรรยายนี้ อธิบายว่า เพราะเหตุดังกล่าวมานี้นั้น คือ เพราะการณ์นั้น
เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น รวมความว่า เพราะเหตุดังกล่าว
มานี้นั้น
คำว่า ธรรมบรรยายนี้ ได้แก่ ปารายนวรรคนี้ รวมความว่า เพราะเหตุดัง
กล่าวมานี้นั้น ธรรมบรรยายนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๖. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส
คำว่า จึงชื่อว่า ปารายนะ อธิบายว่า อมตนิพพานเรียกว่า ฝั่งแห่งชรา
และมรณะ ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่
สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท มรรคเรียกว่า
อายนะ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ
คำว่า จึงชื่อว่า ได้แก่ เป็นชื่อ เป็นการนับ การขนานนาม บัญญัติ ฯลฯ
ชื่อเรียกเฉพาะ รวมความว่า จึงชื่อว่าปารายนะ เพราะเหตุนั้น พระธรรม-
สังคาหกาจารย์จึงกล่าวไว้ดังนี้ว่า
ถ้าแม้บุคคลรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งปัญหาแต่ละปัญหาแล้ว ปฏิบัติ
ธรรมถูกต้องตามหลักธรรม ก็จะพึงถึงฝั่งแห่งชราและมรณะได้แน่นอน เพราะ
ธรรมเหล่านี้เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง เพราะเหตุดังกล่าวมานี้นั้น ธรรมบรรยายนี้ จึงชื่อว่า
ปารายนะ
[๙๕] (๑) อชิตะ (๒) ติสสเมตเตยยะ
(๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู (๕) โธตกะ
(๖) อุปสีวะ (๗) นันทะ (๘) เหมกะ (๑)
[๙๖] (๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ
(๑๑) ชตุกัณณิ ผู้เป็นบัณฑิต (๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย
(๑๔) โปสาละ (๑๕) โมฆราช ผู้มีปัญญา
(๑๖) ปิงคิยะ ผู้เป็นมหาฤๅษี (๒)
[๙๗] พราหมณ์ ๑๖ คนนี้ พากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยจรณะ ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เมื่อจะทูลถามปัญหาที่ลุ่มลึก
จึงเข้าไปใกล้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ (๓)
คำว่า นี้ ในคำว่า พราหมณ์ ๑๖ คนนี้ พากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้แก่
พราหมณ์ผู้ดำเนินไปสู่ฝั่งทั้ง ๑๖ คน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๖. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส
ว่าด้วยความหมายแห่งพุทธะ
คำว่า พระพุทธเจ้า ได้แก่ พระผู้มีพระภาค เป็นพระสยัมภู ไม่มีครูอาจารย์
ได้ตรัสรู้สัจจะในธรรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน ด้วยพระองค์เอง ทรงบรรลุความเป็น
พระสัพพัญญูในสัจจะนั้น และความเป็นผู้ทรงชำนาญในพละทั้งหลาย๑
คำว่า พระพุทธเจ้า อธิบายว่า
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะมีความหมายว่าอย่างไร
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะตรัสรู้สัจจะทั้งหลายแล้ว
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงทำหมู่สัตว์ให้ตรัสรู้
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นพระสัพพัญญู
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้เห็นธรรมทั้งปวง
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้รู้ธรรมที่ควรรู้
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้เบิกบาน
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นพระขีณาสพ
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้ปราศจากอุปกิเลส
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้ปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้ปราศจากโทสะโดยสิ้นเชิง
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้ปราศจากโมหะโดยสิ้นเชิง
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะเสด็จถึงทางสายเอก
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณลำพังพระองค์เดียว
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้ขจัดความไม่รู้ได้แล้ว เพราะทรงเป็นผู้ได้
เฉพาะความรู้

เชิงอรรถ :
๑ พละทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงพละ ๑๐ หรือตถาคตพลญาณ ๑๐ คือพระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต
(ขุ.ม.อ. ๑๙๒/๔๔๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๖. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส
พระนามว่า พระพุทธเจ้า นี้ มิใช่พระชนนีทรงตั้ง มิใช่พระชนกทรงตั้ง มิใช่
พระภาดาทรงตั้ง มิใช่พระภคินีทรงตั้ง มิใช่มิตรและอำมาตย์ตั้ง มิใช่พระญาติและ
ผู้ร่วมสายโลหิตทรงตั้ง เหล่าสมณพราหมณ์มิได้ตั้ง เหล่าเทวดามิได้ตั้ง
คำว่า พระพุทธเจ้า นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม เป็นสัจฉิกาบัญญัติ ของพระผู้มี-
พระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย เกิดขึ้นพร้อมกับการทรงได้เฉพาะพระสัพพัญญุตญาณที่
โคนต้นโพธิ์ รวมความว่า พระพุทธเจ้า
คำว่า พราหมณ์ ๑๖ คนนี้ พากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า อธิบายว่า
พราหมณ์เหล่านี้ มาเข้าเฝ้า คือ เข้าไปเฝ้า เข้าไปนั่งใกล้ ทูลถามแล้ว ทูลสอบถาม
พระพุทธเจ้าแล้ว
คำว่า ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยจรณะ ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า
ความสำเร็จแห่งศีลและอาจาระ เรียกว่า จรณะ
สีลสังวร อินทรีย์สังวร ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ความ
เป็นผู้มีความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ สัทธรรม ๗๑ ฌาน ๔ ชื่อว่าจรณะ
คำว่า ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยจรณะ ได้แก่ ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยจรณะ คือ
มีจรณะประเสริฐสุด มีจรณะวิเศษสุด มีจรณะชั้นแนวหน้า มีจรณะสูงสุด มีจรณะ
ยอดเยี่ยม รวมความว่า ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยจรณะ
คำว่า ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาค ทรงแสวงหา คือ ค้นหา เสาะหาสีลขันธ์ใหญ่ จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวง
หาคุณอันยิ่งใหญ่ ฯลฯ
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค อันเหล่าสัตว์ผู้มเหศักดิ์ แสวงหา ค้นหา
เสาะหาว่า “พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไหน พระ
ผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพประทับอยู่ที่ไหน พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่
ที่ไหน” จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ รวมความว่า ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วย
จรณะ ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

เชิงอรรถ :
๑ สัทธรรม ๗ ได้แก่ (๑) สัทธา (๒) หิริ (๓) โอตตัปปะ (๔) พหูสูต (๕) อารัทธวิริยะ (๖) สติ (๗) ปัญญา
(ม.อุ. ๑๔/๙๒/๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๖. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส
คำว่า เมื่อจะทูลถาม ในคำว่า เมื่อจะทูลถามปัญหาที่ลุ่มลึก อธิบายว่า
เมื่อทูลถาม คือ ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศ
คำว่า ปัญหาที่ลุ่มลึก ได้แก่ ปัญหาอันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก
ละเอียด ประณีต เข้าถึงไม่ได้ด้วยตรรกะ(ตรึก) ลุ่มลึก บัณฑิตเท่านั้นที่พึงรู้ได้
รวมความว่า ปัญหาที่ลุ่มลึก
คำว่า จึงเข้าไปใกล้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ อธิบายว่า
คำว่า พระพุทธเจ้า ได้แก่ พระผู้มีพระภาค ฯลฯ คำว่า พระพุทธเจ้า นี้
เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑
คำว่า ผู้ประเสริฐ ได้แก่ ผู้เลิศ ผู้ประเสริฐ คือ วิเศษสุด หัวหน้า สูงสุด
ยอดเยี่ยม รวมความว่า พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
คำว่า จึงเข้าไปใกล้ ได้แก่ จึงมาเข้าเฝ้า คือ เข้าเฝ้า เข้าไปนั่งใกล้ ทูลถาม
ทูลสอบถาม รวมความว่า จึงเข้าไปใกล้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ด้วยเหตุนั้น
พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวไว้ดังนี้ว่า
พราหมณ์ ๑๖ คนนี้ พากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยจรณะ ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
เมื่อจะทูลถามปัญหาที่ลุ่มลึก
จึงเข้าไปใกล้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
[๙๘] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
พระพุทธเจ้า (อันพราหมณ์เหล่านั้น)
ทูลสอบถามปัญหาแล้ว
ทรงพยากรณ์แก่พราหมณ์เหล่านั้นตามความเป็นจริง
พระพุทธมุนีทรงทำให้พราหมณ์ทั้งหลายพอใจ
ด้วยการทรงพยากรณ์ปัญหาทั้งหลาย (๔)

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๖. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส
คำว่า เหล่านั้น ในคำว่า พระพุทธเจ้า ... ทรงพยากรณ์แก่พราหมณ์
เหล่านั้น ได้แก่ พราหมณ์ผู้ดำเนินไปสู่ฝั่ง ๑๖ คน
คำว่า พระพุทธเจ้า ได้แก่ พระผู้มีพระภาค ฯลฯ คำว่า พระพุทธเจ้า นี้
เป็นสัจฉิกาบัญญัติ
คำว่า ทรงพยากรณ์แล้ว อธิบายว่า พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ คือ บอก
แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศแก่พราหมณ์เหล่านั้น
รวมความว่า พระพุทธเจ้า ... ทรงพยากรณ์แก่พราหมณ์เหล่านั้น
คำว่า ทูลสอบถามปัญหาแล้ว ในคำว่า ทูลสอบถามปัญหาแล้ว... ตามความ
เป็นจริง อธิบายว่า ทูลสอบถาม คือ ทูลถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศ
ปัญหาแล้ว
คำว่า ตามความเป็นจริง อธิบายว่า ควรตรัสบอกอย่างไร ก็ตรัสบอก
อย่างนั้น ควรแสดงอย่างไร ก็ทรงแสดงอย่างนั้น ควรบัญญัติอย่างไร ก็ทรง
บัญญัติอย่างนั้น ควรกำหนดอย่างไร ก็ทรงกำหนดอย่างนั้น ควรเปิดเผยอย่างไร ก็
ทรงเปิดเผยอย่างนั้น ควรจำแนกอย่างไร ก็ทรงจำแนกอย่างนั้น ควรทำให้ง่าย
อย่างไร ก็ทรงทำให้ง่ายอย่างนั้น ควรประกาศอย่างไร ก็ทรงประกาศอย่างนั้น
รวมความว่า ทูลสอบถามปัญหาแล้ว ... ตามความเป็นจริง
คำว่า ด้วยการทรงพยากรณ์ปัญหาทั้งหลาย อธิบายว่า ด้วยการทรง
พยากรณ์ คือ ด้วยการบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศปัญหาทั้งหลาย รวมความว่า ด้วยการพยากรณ์ปัญหาทั้งหลาย
คำว่า ทรงทำให้... พอใจ ในคำว่า พระพุทธมุนีทรงทำให้พราหมณ์พอใจ
ได้แก่ ทรงทำให้พอใจ คือ ทำให้ดีใจ ให้เลื่อมใส ให้ยินดี ให้ปลื้มใจ
คำว่า พราหมณ์ ได้แก่ เหล่าพราหมณ์ผู้ดำเนินไปสู่ฝั่ง ๑๖ คน
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยา
ที่รู้ชัด ฯลฯ พระองค์ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี
รวมความว่า พระพุทธมุนีทรงทำให้พราหมณ์ทั้งหลายพอใจ ด้วยเหตุนั้น พระธรรม
สังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๖. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส
พระพุทธเจ้า (อันพราหมณ์เหล่านั้น)
ทูลสอบถามปัญหาแล้ว
ทรงพยากรณ์แก่พราหมณ์เหล่านั้นตามความเป็นจริง
พระพุทธมุนีทรงทำให้พราหมณ์ทั้งหลายพอใจ
ด้วยการทรงพยากรณ์ปัญหาทั้งหลาย
[๙๙] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
พราหมณ์เหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ทำให้พอใจแล้ว
ได้ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ (๕)
คำว่า เหล่านั้น ในคำว่า พราหมณ์เหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ ...
ทำให้พอใจแล้ว ได้แก่ พราหมณ์ผู้ดำเนินไปสู่ฝั่ง ๑๖ คน
คำว่า ทำให้พอใจแล้ว ได้แก่ ทำให้พอใจ คือ ให้ดีใจ ให้เลื่อมใส ให้ยินดี
ให้ปลื้มใจแล้ว รวมความว่า พราหมณ์เหล่านั้นอันพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ ... ทำให้
พอใจแล้ว

ว่าด้วยพระจักษุ ๕ ชนิด
คำว่า ผู้มีพระจักษุ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามีพระจักษุด้วยจักษุ
๕ ชนิด คือ
๑. มีพระจักษุด้วยมังสจักขุบ้าง
๒. มีพระจักษุด้วยทิพพจักขุบ้าง
๓. มีพระจักษุด้วยปัญญาจักขุบ้าง
๔. มีพระจักษุด้วยพุทธจักขุบ้าง
๕. มีพระจักษุด้วยสมันตจักขุบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๖. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยมังสจักขุ เป็นอย่างไร
คือ ฯลฯ พระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามีพระจักษุด้วยสมันตจักขุ เป็นอย่างนี้๑
รวมความว่า พราหมณ์เหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ ... ทำให้พอใจแล้ว
คำว่า พระพุทธเจ้า ในคำว่า อันพระพุทธเจ้า ... ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่ง
พระอาทิตย์ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ฯลฯ คำว่า พระพุทธเจ้า นี้ เป็น
สัจฉิกาบัญญัติ
คำว่า ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ อธิบายว่า พระสุริยะตรัสเรียกว่า พระ
อาทิตย์ พระสุริยะ ชื่อว่าเป็นพระโคดมโดยพระโคตร แม้พระผู้มีพระภาค ก็ทรงเป็น
พระโคดมโดยพระโคตร พระผู้มีพระภาคจึงปรากฏโดยโคตรพระอาทิตย์ คือทรงเป็น
เผ่าพันธุ์โดยโคตรพระอาทิตย์ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่าทรงเป็นเผ่าพันธุ์
แห่งพระอาทิตย์ รวมความว่า อันพระพุทธเจ้า...ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
คำว่า ได้ประพฤติพรหมจรรย์ อธิบายว่า การงด งดเว้น เว้นขาด เจตนา
งดเว้น การงดเว้น กิริยาที่ไม่ทำ การไม่ทำ การไม่ละเมิด การไม่ก้าวล่วงแดนแห่ง
การเข้าถึงอสัทธรรม การทำลายกิเลสด้วยอริยมรรค เรียกว่า พรหมจรรย์
อนึ่ง อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมา-
กัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็เรียกว่า พรหมจรรย์
โดยสิ้นเชิง
คำว่า ได้ประพฤติพรหมจรรย์ ได้แก่ ประพฤติ คือ ได้ประพฤติ สมาทาน
ประพฤติพรหมจรรย์ รวมความว่า ได้ประพฤติพรหมจรรย์
คำว่า ในสำนักพระพุทธเจ้าผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ ได้แก่ พระพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ คือ มีพระปัญญาอันเลิศ มีปัญญาประเสริฐสุด
มีพระปัญญาวิเศษสุด มีพระปัญญาชั้นแนวหน้า มีพระปัญญาสูงสุด มีพระปัญญา
ยอดเยี่ยม
คำว่า ในสำนัก ได้แก่ ในสำนัก คือ ในที่ใกล้ ใกล้เคียง ไม่ไกล ใกล้ชิด
รวมความว่า ในสำนักพระพุทธเจ้าผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ ด้วยเหตุนั้น
พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘๕/๒๙๙-๓๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๖. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส
พราหมณ์เหล่านั้น อันพระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ
ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ทำให้พอใจแล้ว
ได้ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักพระพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาอันประเสริฐ
[๑๐๐] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
การพยากรณ์ปัญหาแต่ละปัญหา
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วโดยประการใด
ผู้ใดปฏิบัติตามโดยประการนั้น
ผู้นั้นพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้ (๖)
คำว่า ปัญหาแต่ละปัญหา อธิบายว่า ปัญหาของท่านอชิตะ แต่ละปัญหา
ปัญหาของท่านติสสเมตเตยยะ แต่ละปัญหา ฯลฯ ปัญหาของท่านปิงคิยะ แต่ละ
ปัญหา รวมความว่า ปัญหาแต่ละปัญหา
คำว่า พระพุทธเจ้า ในคำว่า ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วโดยประการใด
ได้แก่ พระผู้มีพระภาค ฯลฯ คำว่า พระพุทธเจ้า นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑
คำว่า ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วโดยประการใด อธิบายว่า ที่พระพุทธ-
เจ้าทรงบอกแล้ว คือ ทรงแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว กำหนดแล้ว เปิดเผยแล้ว
จำแนกแล้ว ทำให้ง่ายแล้ว ประกาศแล้วโดยประการใด รวมความว่า ที่พระพุทธเจ้า
ทรงแสดงแล้วโดยประการใด
คำว่า ผู้ใดปฏิบัติตามโดยประการนั้น อธิบายว่า พึงปฏิบัติข้อปฏิบัติชอบ
การปฏิบัติเหมาะสม การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ การ
ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม รวมความว่า ผู้ใดปฏิบัติตามโดยประการนั้น
คำว่า พึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้ อธิบายว่า
อมตนิพพาน คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด
เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท เรียกว่า ฝั่ง

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๖. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส
กิเลส ขันธ์ และอภิสังขารเรียกว่า ที่มิใช่ฝั่ง
คำว่า พึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้ อธิบายว่า พึงถึงฝั่ง คือ บรรลุฝั่ง ถูก
ต้องฝั่ง ทำให้แจ้งฝั่ง จากที่มิใช่ฝั่งได้ รวมความว่า พึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้ ด้วย
เหตุนั้น พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า
การพยากรณ์ปัญหาแต่ละปัญหา
ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วโดยประการใด
ผู้ใดปฏิบัติตามโดยประการนั้น
ผู้นั้นพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้
[๑๐๑] (พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
บุคคลเมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด
จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้
(เพราะ) มรรคนั้น (เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง
เพราะฉะนั้น มรรคนั้น จึงชื่อว่าปารายนะ (๗)
คำว่า จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้ อธิบายว่า กิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร
เรียกว่า ที่มิใช่ฝั่ง
อมตนิพพาน คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด
เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท เรียกว่า ฝั่ง
คำว่า จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้ อธิบายว่า พึงถึงฝั่ง คือ บรรลุฝั่ง ถูกต้องฝั่ง
ทำให้แจ้งฝั่ง จากที่มิใช่ฝั่งได้ รวมความว่า จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้
คำว่า มรรค ในคำว่า เมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘
คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ๑ เรียกว่า มรรค
คำว่า อันสูงสุด ได้แก่ เลิศ คือ ประเสริฐ วิเศษสุด ชั้นแนวหน้า สูงสุด
ยอดเยี่ยม รวมความว่า มรรคอันสูงสุด

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๙๙/๓๔๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๖. ปารายนัตถุติคาถานิทเทส
คำว่า เมื่อเจริญ ได้แก่ เมื่อเจริญ คือ เมื่อเสพคุ้น ทำให้มาก รวมความว่า
เมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด
คำว่า (เพราะ) มรรคนั้น(เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง ได้แก่
มรรค ปันถะ ปถะ ปัชชะ อัญชสะ วฏุมายนะ
นาวา อุตตรเสตุ กุลละ ภิสิ และสังกมะ
คำว่า (เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง ได้แก่ (เป็นไป) เพื่อให้ถึงฝั่ง คือ เพื่อบรรลุ
ถึงฝั่ง เพื่อตามบรรลุให้ถึงฝั่ง เพื่อข้ามชราและมรณะ รวมความว่า (เพราะ)มรรคนั้น
(เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น มรรคนั้นจึงชื่อว่าปารายนะ
อธิบายว่า เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น
ได้แก่ อมตนิพพาน อันเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็น
ที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท เรียกว่า ฝั่ง
มรรค เรียกว่า อายนะ
คำว่า ว่า เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า ว่า นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลัง
เข้าด้วยกัน รวมความว่า เพราะฉะนั้น มรรคนั้นจึงชื่อว่าปารายนะ ด้วยเหตุนั้น
พระธรรมสังคาหกาจารย์จึงกล่าวว่า
บุคคลเมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด
จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งถึงฝั่งได้
(เพราะ)มรรคนั้น(เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง
เพราะฉะนั้น มรรคนั้น จึงชื่อว่าปารายนะ
ปารายนัตถุติคาถานิทเทสที่ ๑๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส๑
ว่าด้วยเพลงขับตามธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
[๑๐๒] (พระปิงคิยเถระกล่าวแก่พราหมณ์พาวรีท่ามกลางชุมชน ดังนี้)
อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ปราศจากมลทิน
มีพระปัญญาดุจภูริ ปราศจากกาม
ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ
ทรงเห็นอย่างใด ก็ตรัสอย่างนั้น
จะพึงกล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า (๑)
คำว่า อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง อธิบายว่า อาตมภาพ
จักกล่าวบทขับ จักกล่าวบทขับที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้ว จักกล่าวบทขับที่พระพุทธ-
เจ้าทรงบอกแล้ว จักกล่าวบทขับที่พระพุทธเจ้าทรงภาษิตไว้แล้ว รวมความว่า
อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านปิงคิยะกล่าว... ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า
ดังนี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและความยำเกรง
คำว่า ปิงคิยะ เป็นชื่อ เป็นการนับ การขนานนาม บัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน นาม
การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะของพระเถระนั้น รวมความว่า
ท่านปิงคิยะกล่าว... ดังนี้
คำว่า ทรงเห็นอย่างใด ก็ตรัสอย่างนั้น อธิบายว่า ทรงเห็นอย่างใด ก็ตรัส
คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศอย่างนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๑๓๘-๑๑๕๖/๕๕๑-๕๕๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
ทรงเห็นอย่างใดว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ก็ตรัส คือ บอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศอย่างนั้น ทรงเห็นอย่างใดว่า “สังขาร
ทั้งปวงเป็นทุกข์” ฯลฯ “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” ฯลฯ “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิด
ขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ก็ตรัส คือ บอก
แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศอย่างนั้น รวมความว่า
ทรงเห็นอย่างใด ก็ตรัสอย่างนั้น
คำว่า ปราศจากมลทิน ในคำว่า ทรงปราศจากมลทิน มีพระปัญญาดุจภูริ
อธิบายว่า ราคะ ชื่อว่ามลทิน โทสะ ชื่อว่ามลทิน โมหะ ชื่อว่ามลทิน โกธะ ชื่อว่า
มลทิน อุปนาหะ ชื่อว่ามลทิน ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ชื่อว่ามลทิน
มลทินเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่าไม่มีมลทิน ปราศจากมลทิน คือ
ไร้มลทิน บำราศมลทิน ละมลทินได้แล้ว หลุดพ้นมลทิน ก้าวล่วงมลทินทั้งปวงแล้ว
แผ่นดินตรัสเรียกว่า ภูริ พระผู้มีพระภาคทรงประกอบด้วยปัญญา อันไพบูลย์
กว้างขวาง แผ่ไปเสมอด้วยแผ่นดินนี้
ปัญญาตรัสเรียกว่า เมธา(ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส) ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยา
ที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม
เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยปัญญาชื่อว่าเมธานี้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้า
จึงชื่อว่ามีพระปัญญาดุจภูริ รวมความว่า ทรงปราศจากมลทิน มีพระปัญญาดุจภูริ
คำว่า ทรงปราศจากกาม ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม
(๒) กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้ เรียกว่า กิเลสกาม๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๖-๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงกำหนดรู้วัตถุกาม ทรงละกิเลสกามได้แล้ว เพราะ
เป็นผู้กำหนดรู้วัตถุกาม เพราะทรงละกิเลสกามได้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรง
ใคร่ในกาม คือ ไม่ทรงต้องการ ไม่ปรารถนา ไม่มุ่งหมาย ไม่มุ่งหวังในกาม
ชนเหล่าใดใคร่กาม ต้องการ ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังกาม ชนเหล่านั้น
ชื่อว่ายังใคร่กาม กำหนัดในราคะ มีความสำคัญในสัญญา
พระผู้มีพระภาคไม่ทรงใคร่ในกาม ไม่ทรงต้องการ ไม่ปรารถนา ไม่มุ่งหมาย
ไม่มุ่งหวังในกาม ฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่าไม่มีกาม คือ ปราศจากกาม
เป็นผู้สละกามแล้ว คายกามแล้ว ปล่อยกามแล้ว ละกามแล้ว สลัดทิ้งกามแล้ว
คลายราคะแล้ว ปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว
ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว เป็นผู้หมดความอยาก ดับแล้ว เย็นแล้ว มีตน
อันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า ทรงปราศจากกาม
คำว่า ทรงไร้กิเลสดังป่า อธิบายว่า ราคะ ชื่อว่ากิเลสดังป่า โทสะ ชื่อว่ากิเลส
ดังป่า โมหะ ชื่อว่ากิเลสดังป่า โกธะ ชื่อว่ากิเลสดังป่า อุปนาหะ ชื่อว่ากิเลส
ดังป่า ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ชื่อว่ากิเลสดังป่า
กิเลสดังป่าเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป
ไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีกิเลสดังป่า ปราศจากกิเลสดังป่า ไร้กิเลส
ดังป่า คือ บำราศกิเลสดังป่า ทรงละกิเลสดังป่าได้แล้ว หลุดพ้นกิเลสดังป่าได้แล้ว
ก้าวล่วงกิเลสดังป่าทั้งปวงแล้ว รวมความว่า ทรงไร้กิเลสดังป่า
คำว่า ผู้เป็นนาคะ อธิบายว่า ผู้เป็นนาคะ คือ พระผู้มีพระภาคชื่อว่านาคะ
เพราะไม่ทรงทำความชั่ว พระผู้มีพระภาคชื่อว่านาคะ เพราะไม่ทรงถึง พระผู้มีพระ-
ภาคชื่อว่านาคะ เพราะไม่ทรงกลับมาหา ฯลฯ พระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่านาคะ๑
เพราะไม่ทรงกลับมาหา เป็นอย่างนี้ รวมความว่า ทรงปราศจากกาม ทรงไร้กิเลส
ดังป่า ผู้เป็นนาคะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๗/๑๔๕-๑๔๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า เพราะเหตุแห่งอะไรเล่า ในคำว่า จะพึงกล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่ง
อะไรเล่า อธิบายว่า เพราะเหตุแห่งอะไร คือ เพราะเหตุอะไร เพราะการณ์อะไร
เพราะต้นเหตุอะไร เพราะปัจจัยอะไร รวมความว่า เพราะเหตุแห่งอะไรเล่า
คำว่า จะพึงกล่าวคำเท็จ ได้แก่ จะพึงกล่าว คือ พูด แสดง ชี้แจงคำเท็จ

ว่าด้วยมุสาวาท
คำว่า จะพึงกล่าวคำเท็จ อธิบายว่า บุคคลพูดคำเท็จ คือ พูดมุสาวาท
พูดเรื่องไม่ดี คนบางคนในโลกนี้ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ
อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยานซักถามว่า
“ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น” บุคคลนั้นไม่รู้ก็พูดว่า “รู้” รู้ก็พูดว่า “ไม่รู้” ไม่เห็นก็
พูดว่า “เห็น” หรือเห็นก็พูดว่า “ไม่เห็น” พูดเท็จทั้งที่รู้ เพราะตนเป็นเหตุบ้าง
เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง หรือเพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง ด้วย
ประการฉะนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความเป็นคนพูดเท็จ
อีกนัยหนึ่ง มุสาวาท มีได้ด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ
๑. ก่อนพูดเธอก็รู้ว่า เราจักพูดเท็จ
๒. กำลังพูดก็รู้ว่า เรากำลังพูดเท็จ
๓. พูดแล้วก็รู้ว่า เราพูดเท็จแล้ว
มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ ๓ อย่างเหล่านี้
อีกนัยหนึ่ง มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ ๔ อย่าง คือ
๑. ก่อนพูดเธอก็รู้ว่า เราจักพูดเท็จ ฯลฯ
อีกนัยหนึ่ง มุสาวาท มีได้ด้วยอาการ ๕ อย่าง ฯลฯ ด้วยอาการ ๖ อย่าง ฯลฯ
ด้วยอาการ ๗ อย่าง ฯลฯ
มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ ๘ อย่าง คือ
๑. ก่อนพูดเธอก็รู้ว่า เราจักพูดเท็จ
๒. กำลังพูดก็รู้ว่า เรากำลังพูดเท็จ
๓. พูดแล้วก็รู้ว่า เราพูดเท็จแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
๔. ปิดบังทิฏฐิ
๕. ปิดบังความพอใจ
๖. ปิดบังความชอบใจ
๗. ปิดบังความสำคัญ
๘. ปิดบังความจริง ฯลฯ
มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ ๘ อย่างเหล่านี้ เพราะเหตุอะไร คนจึงกล่าวคำมุสา
คือ พูด แสดง ชี้แจงคำมุสา รวมความว่า จะพึงกล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า
ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า
(พระปิงคิยเถระกล่าวแก่พราหมณ์พาวรีท่ามกลางชุมชน ดังนี้)
อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ปราศจากมลทิน
มีพระปัญญาดุจภูริ ปราศจากกาม
ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ
ทรงเห็นอย่างใด ก็ตรัสอย่างนั้น
จะพึงกล่าวคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า
[๑๐๓] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำ
ที่ประกอบด้วยการสรรเสริญพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว
ผู้ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ ณ บัดนี้ (๒)
คำว่า ผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว อธิบายว่า
คำว่า มลทิน อธิบายว่า ราคะ ชื่อว่ามลทิน โทสะ ชื่อว่ามลทิน โมหะ
ชื่อว่ามลทิน มานะ ชื่อว่ามลทิน ทิฏฐิ ชื่อว่ามลทิน กิเลส ชื่อว่ามลทิน ทุจริต
ทุกอย่างและกรรมที่นำไปสู่ภพทั้งปวง ชื่อว่ามลทิน

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๔/๑๘๕-๑๘๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า โมหะ อธิบายว่า ความไม่รู้ในทุกข์ ฯลฯ อวิชชาเป็นดุจลิ่มสลัก
อกุศลมูลคือโมหะ นี้ท่านเรียกว่า โมหะ
มลทินและโมหะ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่าผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว
รวมความว่า ผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว
คำว่า ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ อธิบายว่า

ว่าด้วยความถือตัวมีนัยต่าง ๆ
คำว่า ความถือตัว อธิบายว่า ความถือตัวนัยเดียว คือ ความที่จิตใฝ่สูง
ความถือตัว ๒ นัย คือ
๑. การยกตน ๒. การข่มผู้อื่น
ความถือตัว ๓ นัย คือ
๑. ความถือตัวว่า เราเลิศกว่าเขา ๒. ความถือตัวว่า เราเสมอเขา
๓. ความถือตัวว่า เราด้อยกว่าเขา
ความถือตัว ๔ นัย คือ
๑. เกิดความถือตัวเพราะลาภ
๒. เกิดความถือตัวเพราะยศ
๓. เกิดความถือตัวเพราะความสรรเสริญ
๔. เกิดความถือตัวเพราะความสุข
ความถือตัว ๕ นัย คือ
๑. เกิดความถือตัวว่าเราได้รูปที่ถูกใจ
๒. ความถือตัวว่าเราได้เสียงที่ถูกใจ
๓. ความถือตัวว่าเราได้กลิ่นที่ถูกใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
๔. ความถือตัวว่าเราได้รสที่ถูกใจ
๕. ความถือตัวว่าเราได้โผฏฐัพพะที่ถูกใจ
ความถือตัว ๖ นัย คือ
๑. เกิดความถือตัวเพราะมีตาสมบูรณ์
๒. เกิดความถือตัวเพราะมีหูสมบูรณ์
๓. เกิดความถือตัวเพราะมีจมูกสมบูรณ์
๔. เกิดความถือตัวเพราะมีลิ้นสมบูรณ์
๕. เกิดความถือตัวเพราะมีกายสมบูรณ์
๖. เกิดความถือตัวเพราะมีใจสมบูรณ์
ความถือตัว ๗ นัย คือ
๑. ความถือตัว
๒. ความดูหมิ่น
๓. ความดูหมิ่นด้วยอำนาจความถือตัว
๔. ความถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
๕. ความถือตัวว่าต่ำกว่าเขา
๖. ความถือเราถือเขา
๗. ความถือตัวผิด ๆ
ความถือตัว ๘ นัย คือ
๑. เกิดความถือตัวเพราะได้ลาภ
๒. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะเสื่อมลาภ
๓. เกิดความถือตัวเพราะมียศ
๔. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะเสื่อมยศ
๕. เกิดความถือตัวเพราะความสรรเสริญ
๖. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะถูกนินทา
๗. เกิดความถือตัวเพราะความสุข
๘. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะความทุกข์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
ความถือตัว ๙ นัย คือ
๑. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่า เลิศกว่าเขา
๒. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่า เสมอเขา
๓. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่า ด้อยกว่าเขา
๔. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่า เลิศกว่าเขา
๕. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่า เสมอเขา
๖. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่า ด้อยกว่าเขา
๗. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่า เลิศกว่าเขา
๘. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่า เสมอเขา
๙. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่า ด้อยกว่าเขา
ความถือตัว ๑๐ นัย คือ คนบางคนในโลกนี้
๑. เกิดความถือตัวเพราะชาติ
๒. เกิดความถือตัวเพราะโคตร
๓. เกิดความถือตัวเพราะเป็นบุตรของผู้มีตระกูล
๔. เกิดความถือตัวเพราะเป็นผู้มีรูปงาม
๕. เกิดความถือตัวเพราะมีทรัพย์
๖. เกิดความถือตัวเพราะการศึกษา
๗. เกิดความถือตัวเพราะหน้าที่การงาน
๘. เกิดความถือตัวเพราะมีหลักแห่งศิลปวิทยา
๙. เกิดความถือตัวเพราะวิทยฐานะ
๑๐. เกิดความถือตัวเพราะความคงแก่เรียน เกิดความถือตัวเพราะ
ปฏิภาณ หรือเกิดความถือตัวเพราะสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว
ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว ภาวะที่ถือตัว ความลำพองตน ความทะนงตน
ความเชิดชูตนเป็นดุจธง ความเห่อเหิม ความที่จิตต้องการเชิดชูตนเป็นดุจธงเห็น
ปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความถือตัว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า ความลบหลู่ ได้แก่ ความลบหลู่ กิริยาที่ลบหลู่ ภาวะที่ลบหลู่
ความแข็งกระด้าง กรรมคือความแข็งกระด้าง นี้เรียกว่า ความลบหลู่
ความถือตัวและความลบหลู่ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้
ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่าทรงละความถือตัวและความ
ลบหลู่ รวมความว่า ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้
คำว่า ณ บัดนี้ ในคำว่า อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำ ที่ประกอบด้วยการ
สรรเสริญ... ณ บัดนี้ เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์
เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ณ บัดนี้
เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ข้าพระองค์จักกล่าวถ้อยคำที่ประกอบด้วยการสรรเสริญ อธิบายว่า
อาตมภาพจักกล่าว คือ แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศถ้อยคำ คือ วาจา คำที่เป็นแนวทาง การเปล่งวาจาที่ประกอบ ประกอบ
พร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยการ
สรรเสริญ รวมความว่า ข้าพระองค์จักกล่าวถ้อยคำที่ประกอบด้วยการสรรเสริญ
ณ บัดนี้ ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า
อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำ
ที่ประกอบด้วยการสรรเสริญพระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว
ผู้ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ ณ บัดนี้
[๑๐๔] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ท่านพราหมณาจารย์ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ
ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด
ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทรงมีชื่อตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว (๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด ในคำว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้กำจัด
ความมืด มีสมันตจักขุ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงกำจัด คือ ทำให้
เบาบาง ลด บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความมืดเพราะราคะ
ความมืดเพราะโทสะ ความมืดเพราะโมหะ ความมืดเพราะมานะ ความมืดเพราะ
ทิฏฐิ ความมืดเพราะกิเลส ความมืดเพราะทุจริต ซึ่งทำให้เป็นคนตาบอด ทำให้
ไม่มีจักษุ ทำให้ไม่มีญาณอันดับปัญญา เป็นไปในฝ่ายแห่งความลำบาก ไม่เป็นไป
เพื่อนิพพาน รวมความว่า ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด
คำว่า พระพุทธเจ้า ได้แก่ พระผู้มีพระภาค ฯลฯ คำว่า พระพุทธเจ้า นี้
เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑
คำว่า มีสมันตจักขุ อธิบายว่า พระสัพพัญญุตญาณ ตรัสเรียกว่า
สมันตจักขุ ฯลฯ พระตถาคต ชื่อว่ามีสมันตจักขุ ด้วยจักษุนั้น รวมความว่า
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ
คำว่า ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด อธิบายว่า
คำว่า โลก อธิบายว่า โลก ๑ คือ ภวโลก๒
โลก ๒ คือ ภวโลกที่เป็นสมบัติและภวโลกที่เป็นวิบัติ
โลก ๓ คือ เวทนา๓ ๓
โลก ๔ คืออาหาร๔ ๔

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘
๒ ภวโลก ได้แก่โลกคือภพ วิบากอันเป็นไปในภูมิทั้ง ๓ (ขุ.จู.อ. ๑๐๔/๘๕)
๓ เวทนา ๓ ได้แก่สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา (ขุ.จู.อ. ๑๐๔/๘๕)
๔ อาหาร ๔ ได้แก่ (๑) กพฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว (๒) ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ (๓) มโนสัญ-
เจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา (๔) วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ หมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ ๑๙
ประเภท (ขุ.จู.อ. ๑๐๔/๘๕)
ผัสสะ เรียกว่าอาหารเพราะนำมาซึ่งเวทนา (ขุ.จู.อ. ๑๐๔/๘๕)
มโนสัญญเจตนา เรียกว่าอาหารเพราะนำมาซึ่งภพ ๓ (ขุ.จู.อ. ๑๐๔/๘๕)
วิญญาณ เรียกว่าอาหารเพราะนำมาซึ่งนามรูป ในขณะปฏิสนธิ (ขุ.จู.อ. ๑๐๔/๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
โลก ๕ คืออุปาทานขันธ์ ๕
โลก ๖ คือ อายตนะภายใน ๖
โลก ๗ คือวิญญาณัฏฐิติ๑ ๗
โลก ๘ คือโลกธรรม๒ ๘
โลก ๙ คือสัตตาวาส๓ ๙
โลก ๑๐ คืออายตนะ๔ ๑๐
โลก ๑๑ คือกามภพ๕ ๑๑
โลก ๑๒ คืออายตนะ๖ ๑๒
โลก ๑๘ คือธาตุ๗ ๑๘
คำว่า ทรงถึงที่สุดโลก อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงถึงที่สุด ทรงบรรลุที่สุด
ทรงถึงส่วนสุด ทรงบรรลุส่วนสุด ฯลฯ ทรงถึงที่ดับ ทรงบรรลุที่ดับแห่งโลก
พระองค์ทรงอยู่ใน (อริยวาสธรรม) แล้ว ทรงประพฤติจรณธรรมแล้ว ฯลฯ พระองค์
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า ทรงถึงที่สุดโลก
คำว่า ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด อธิบายว่า
คำว่า ภพ ได้แก่ ภพ ๒ คือ (๑) กรรมภพ (๒) ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘๓/๒๘๙-๒๙๐
๒ โลกธรรม ๘ ได้แก่ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ (ขุ.จู.อ. ๑๐๔/๘๗)
๓ สัตตาวาส ๙ คือที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลาย ได้แก่วิญญาณัฏฐิติ ๗ อสัญญสัตตภูมิ ๑ และเนวสัญญานา-
สัญญายตนภูมิ ๑ รวมเป็น ๙ (ขุ.จู.อ. ๑๐๔/๘๗)
๔ อายตนะ ๑๐ ได้แก่ตา รูป หู เสียง จมูก กลิ่น ลิ้น รส กาย โผฏฐัพพะ (ขุ.จู.อ. ๑๐๔/๘๗)
๕ กามภพ ๑๑ ได้แก่อบายภูมิ ๔ มนุษยโลก ๑ สวรรค์ ๖ ชั้น (ขุ.ม.อ. ๑/๑๖)
๖ อายตนะ ๑๒ ได้แก่อายตนะ ๑๐ รวมใจและธรรมารมณ์จึงเป็น ๑๒ (ขุ.จู.อ. ๑๐๔/๘๗)
๗ ธาตุ ๑๘ คือการกระจายธาตุแต่ละอย่างให้เป็น ๓ เช่น จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ จนถึงมโนธาตุ
ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ (ขุ.จู.อ. ๑๐๔/๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิททเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
กรรมภพ เป็นอย่างไร
คือ ปุญญาภิสังขาร๑ อปุญญาภิสังขาร๒ อาเนญชาภิสังขาร๓ นี้ชื่อว่ากรรมภพ
ภพใหม่อันมีในปฏิสนธิ เป็นอย่างไร
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีในปฏิสนธิ นี้ชื่อว่าภพใหม่
อันมีในปฏิสนธิ
พระผู้มีพระภาคทรงล่วง คือ ทรงก้าวล่วง ทรงล่วงเลยกรรมภพ และภพ
ใหม่อันมีในปฏิสนธิแล้ว รวมความว่า ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด
คำว่า ไม่มีอาสวะ ในคำว่า ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว ได้แก่
อาสวะ ๔ คือ
๑. กามาสวะ ๒. ภวาสวะ
๓. ทิฏฐาสวะ ๔. อวิชชาสวะ
อาสวะเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอน
โคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้น
ต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่าไม่มีอาสวะ
คำว่า ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว อธิบายว่า ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์
มรณทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสทุกข์ ฯลฯ ทุกข์เพราะทิฏฐิวิบัติ
อันมีในปฏิสนธิทั้งปวง พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ฉะนั้น
พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่าทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว รวมความว่า ไม่มีอาสวะ ทรง
ละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ปุญญาภิสังขาร คืออภิสังขารที่เป็นบุญ สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลเจตนา (ขุ.ม.อ. ๒๕/๒๑๖)
๒ อปุญญาภิสังขาร คือสภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่ อกุศลเจตนาทั้งหลาย (ขุ.ม.อ. ๒๕/๒๑๖)
๓ อาเนญชาภิสังขาร คือสภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคงไม่หวั่นไหว ได้แก่ภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ด้วยสมาธิ
แห่งจตุตถฌาน (ขุ.ม.อ. ๒๕/๒๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า ทรงมีชื่อตามความจริง ในคำว่า ท่านพราหมณาจารย์... ทรงมีชื่อ
ตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว อธิบายว่า ทรงมีชื่อตามความจริง คือ
มีพระนามเช่นเดียวกัน ทรงมีชื่อที่มีความหมายอย่างเดียวกัน มีพระนามเช่นเดียว
กับความจริง อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคพระนามว่าวิปัสสี พระผู้มีพระภาคพระ
นามว่าสิขี พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเวสสภู พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ
พระผู้มีพระภาคพระนามว่าโกนาคมนะ พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ พระผู้-
มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น มีพระนามเช่นเดียวกัน คือ ทรงมีชื่อที่มีความหมาย
อย่างเดียวกัน แม้พระผู้มีพระภาคศากยมุนี ก็มีพระนามเช่นเดียวกัน คือ ทรงมีชื่อ
ที่มีความหมายอย่างเดียวกันกับพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น ฉะนั้น พระพุทธ-
เจ้า จึงชื่อว่าทรงมีชื่อตามความจริง๑
คำว่า ท่านพราหมณาจารย์... อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว อธิบายว่า พระผู้
มีพระภาคพระองค์นั้น อาตมภาพเข้าไปใกล้ ได้เข้าเฝ้ามาแล้ว คือ เข้าไปนั่งใกล้
ได้ทูลถาม ได้ทูลถามปัญหาแล้ว รวมความว่า ท่านพราหมณาจารย์...อาตมภาพ
ได้เข้าเฝ้ามาแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยะเถระจึงกล่าวว่า
ท่านพราหมณาจารย์ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ
ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด
ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทรงมีชื่อตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว
[๑๐๕] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ทิชะ(นก)พึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่
ที่มีผลไม้มากฉันใด อาตมภาพก็ฉันนั้น
ละคณาจารย์ผู้มีทรรศนะแคบ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ (๔)

เชิงอรรถ :
๑ ทรงมีชื่อว่าตามความจริงในที่นี้หมายความว่าพระผู้มีพระภาคมีพระนามไม่วิปริตแสดงพระคุณเป็นเอก
แท้จริง (ขุ.จู.อ. ๑๐๔/๘๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า ทิชะ(นก)พึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่ ที่มีผลไม้มากฉันใด
อธิบายว่า นกเรียกว่า ทิชะ เพราะเหตุไร นกจึงเรียกว่า ทิชะ ทิชะเกิด ๒ ครั้ง
คือ จากท้องแม่ และจากฟองไข่ จึงชื่อว่าทิชะ เพราะเหตุนั้น นกจึงเรียกว่า ทิชะ
ฉะนั้น จึงชื่อว่าทิชะ
คำว่า ละป่าเล็กแล้ว ... ฉันใด อธิบายว่า นกละทิ้ง ล่วง ก้าวล่วง ล่วงเลย
ป่าเล็ก คือ ป่าน้อย ที่มีผลไม้น้อย มีอาหารน้อย มีน้ำน้อย ไปถึง ประสบ ได้ป่า คือ
ป่าทึบใหญ่อื่น ที่มีผลไม้มาก มีอาหารมาก มีน้ำมากอยู่ในป่าทึบนั้น ฉันใด รวม
ความว่า ทิชะ(นก)พึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่ ที่มีผลไม้มาก ฉันใด
คำว่า ฉันนั้น ในคำว่า อาตมภาพก็ฉันนั้น ละคณาจารย์ผู้มีทรรศนะแคบไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาค เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ เป็นคำที่ทำให้การเปรียบเทียบ
สมบูรณ์
คำว่า ละคณาจารย์ผู้มีทรรศนะแคบ อธิบายว่า พราหมณ์พาวรี และ
พราหมณ์เหล่าอื่น ที่เป็นอาจารย์ของพราหมณ์พาวรีนั้น เปรียบเทียบกับพระผู้มี-
พระภาคพุทธเจ้า ชื่อว่ามีทรรศนะแคบ คือ มีทรรศนะต่ำต้อย มีทรรศนะนิดหน่อย
มีทรรศนะต่ำทราม มีทรรศนะน่ารังเกียจ หรือมีทรรศนะหยาบ อาตมภาพ ละ ทิ้ง
ล่วง ก้าวล่วง ล่วงเลยพราหมณ์เหล่านั้น ซึ่งมีทรรศนะแคบ คือ มีทรรศนะต่ำต้อย
มีทรรศนะนิดหน่อย มีทรรศนะต่ำทราม มีทรรศนะน่ารังเกียจ มีทรรศนะหยาบ
มาพบ คือ ประสบ ได้เฉพาะพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผู้มีทรรศนะหาประมาณมิได้
มีทรรศนะเลิศ ทรรศนะประเสริฐสุด ทรรศนะวิเศษสุด ทรรศนะชั้นแนวหน้า
ทรรศนะสูงสุด ทรรศนะยอดเยี่ยม ไม่มีใครเสมอ ไม่มีใครเสมอเหมือน ไม่มีใคร
เปรียบเทียบได้ ไม่มีใครเทียบเทียมได้ ไม่มีบุคคลผู้มีส่วนเปรียบเหมือน ทรงเป็น
เทพยิ่งกว่าเทพ ทรงองอาจกว่านรชน ทรงเป็นบุรุษดุจราชสีห์ ทรงเป็นบุรุษดุจ
พญาช้าง ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย ทรงเป็นบุรุษแกล้วกล้า ทรงเป็นบุรุษรับภาระ มี
พระทศพลญาณ ทรงมั่นคง
พญาหงส์พึงไปถึง ประสบ ได้เฉพาะสระใหญ่ที่มนุษย์สร้างไว้ สระอโนดาต
หรือมหาสมุทร มีน้ำที่ไม่กระเพื่อม มีน้ำนับประมาณมิได้ ฉันใด


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
อาตมภาพ คือปิงคิยพราหมณ์ ก็ฉันนั้น ได้พบพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผู้ไม่
หวั่นไหว มีพระเดชนับไม่ถ้วน มีพระญาณแตกฉาน มีพระจักษุแจ่มแจ้ง ทรงฉลาด
ในประเภทปัญญา ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา ทรงถึงจตุเวสารัชชญาณ ทรงน้อมพระ
ทัยไปด้วยศรัทธา๑ มีพระองค์ขาวผ่อง ตรัสพระวาจาไม่เป็นสอง ทรงมั่นคง ทรง
มีปฏิญญาอย่างนั้น มิใช่คนเล็ก ๆ ทรงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ทรงลึกซึ้ง มีพระคุณอัน
ประมาณมิได้ มีพระธรรมอันหยั่งถึงยาก ทรงมีรัตนะมากมาย มีพระคุณเสมอด้วย
สาคร ทรงประกอบด้วยอุเบกขามีองค์ ๖ มีพระคุณชั่งไม่ได้๒ ไพบูลย์ หาประมาณ
มิได้ ตรัสถึงมรรคแก่ผู้ที่กล่าวถึงพระองค์เช่นนั้น เป็นพระชินเจ้ายอดเยี่ยม เหมือน
เขาพระสุเมรุเลิศกว่าขุนเขา เหมือนครุฑเลิศกว่าพวกนก เหมือนราชสีห์เลิศกว่าหมู่
มฤค เหมือนทะเลเลิศกว่าห้วงน้ำทั้งหลาย คือ พระศาสดาพระองค์นั้น ผู้ทรงเป็น
พระชินเจ้ายอดเยี่ยม ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ รวมความว่า อาตมภาพก็ฉันนั้น
ละคณาจารย์ ผู้มีทรรศนะแคบ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่
ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า
ทิชะ(นก)พึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่
ที่มีผลไม้มากฉันใด อาตมภาพก็ฉันนั้น
ละคณาจารย์ผู้มีทรรศนะแคบ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่
[๑๐๖] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์แก่อาตมภาพว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ (๕)

เชิงอรรถ :
๑ ทรงน้อมพระทัยไปด้วยศรัทธา ในที่นี้หมายถึงทรงน้อมพระทัยไปในผลสมาบัติบริสุทธิ์ (ขุ.จู.อ.๑๐๕/ ๘๙)
๒ มีพระคุณชั่งไม่ได้ คือปราศจากการชั่ง ใคร ๆ ไม่สามารถชั่งได้ (ขุ.จู.อ. ๑๐๕/๘๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า เหล่าใด ในคำว่า ก่อน ... อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์แก่
อาตมภาพ อธิบายว่า พราหมณ์พาวรีใดและอาจารย์ของพราหมณ์พาวรีเหล่าอื่นใด
อาจารย์เหล่านั้นเคยพยากรณ์ คือ เคยบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศหลักการของตน คือ ความถูกใจ ความพอใจ ลัทธิ อัธยาศัย
ความประสงค์ของตน รวมความว่า ก่อน ... อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์
แก่อาตมภาพ
คำว่า แต่ศาสนาของพระโคดม อธิบายว่า แต่ศาสนาของพระโคดม คือ
อื่นจากศาสนาของพระโคดม ก่อนศาสนาของพระโคดม ก่อนกว่าศาสนาของพระ
โคดม ได้แก่ ก่อนกว่าศาสนาของพระพุทธเจ้า ศาสนาของพระชินเจ้า ศาสนาของ
พระตถาคต ศาสนาของพระอรหันต์ รวมความว่า แต่ศาสนาของพระโคดม
คำว่า เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ อธิบายว่า เล่ากันว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ รวมความว่า เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้
จักเป็นอย่างนี้
คำว่า คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา อธิบายว่า คำ
พยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา คือ อาจารย์เหล่านั้นกล่าวธรรมที่ตน
ไม่รู้ด้วยตนเอง ธรรมที่ไม่ได้ประจักษ์แก่ตนเอง โดยการเชื่อผู้อื่นว่า ธรรมนี้เป็น
ดังนี้ ๆ โดยการเล่าลือ โดยการถือสืบ ๆ กันมา โดยการอ้างตำรา โดยตรรก
โดยการอนุมาน โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล โดยเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
รวมความว่า คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำว่า คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ อธิบายว่า
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ คือ ทำให้ความวิตกเจริญ ทำให้
ความดำริเจริญ ทำให้กามวิตกเจริญ ทำให้พยาบาทวิตกเจริญ ทำให้วิหิงสาวิตก
เจริญ ทำให้ความวิตกถึงญาติเจริญ ทำให้ความวิตกถึงชนบทเจริญ ทำให้ความวิตก
ถึงความไม่ตายเจริญ ทำให้ความวิตกที่ประกอบด้วยความเอ็นดูเจริญ ทำให้ความ
วิตกที่ประกอบด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญเจริญ ทำให้ความวิตกที่ประกอบ
ด้วยความปรารถนามิให้ใครดูหมิ่นเจริญ รวมความว่า คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่
จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยพยากรณ์แก่อาตมภาพว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นเป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำพยากรณ์ทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
[๑๐๗] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
พระโคดมทรงเป็นเอกบุรุษ
ประทับนั่งทำลายความมืดอยู่ ทรงรุ่งเรือง ทรงแผ่รัศมี
พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ (๖)

ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงเป็นเอกบุรุษ
คำว่า ทรงเป็นเอกบุรุษ ในคำว่า ทรงเป็นเอกบุรุษประทับนั่งทำลายความ
มืดอยู่ อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะส่วนแห่งการบรรพชา
ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่า ไม่มีเพื่อน
ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่า ทรงละตัณหาได้
ทรงปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ทรงปราศจากโทสะโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ทรงปราศจากโมหะโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ทรงปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
เสด็จถึงทางสายเอกแล้ว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ลำพังพระองค์เดียว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะส่วนแห่งการบรรพชา เป็น
อย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคยังทรงหนุ่มแน่น มีพระเกสาดำสนิทดี เพียบพร้อมด้วย
ความหนุ่มฉกรรจ์ในปฐมวัย เมื่อพระชนกและพระชนนี มีน้ำพระเนตรนอง
พระพักตร์ ทรงกันแสงร่ำไห้ ไม่ปรารถนา (ให้ผนวช) ทรงละหมู่พระญาติ ทรงตัด
ความกังวลในการครองเรือน ความกังวลด้วยพระโอรสและพระมเหสี ความกังวล
ด้วยพระญาติ ความกังวลด้วยพระสหายและอำมาตย์ ความกังวลด้วยการสั่งสม
ทุกอย่าง ทรงปลงพระเกสาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวะ เสด็จออกผนวชจาก
พระราชวังเป็นบรรพชิต ทรงเข้าถึงความเป็นผู้ไม่มีความกังวล ทรงประพฤติอยู่
ประทับอยู่ ทรงเปลี่ยนอิริยาบถ ทรงเป็นไป ทรงรักษาพระชนมชีพ ทรงดำเนินไป
ทรงยังชีวิตให้ดำเนินไปตามลำพังพระองค์เดียว พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
เพราะส่วนแห่งการบรรพชา เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่า ไม่มีเพื่อน
เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผนวชแล้วอย่างนี้ ทรงใช้สอยเสนาสนะที่เป็น
ป่าทึบและป่าละเมาะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไป
มาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้นตามลำพัง
พระองค์เดียว พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสด็จไปพระองค์เดียว ประทับยืน
พระองค์เดียว ประทับนั่งพระองค์เดียว บรรทมพระองค์เดียว เสด็จเข้าสู่หมู่บ้านเพื่อ
บิณฑบาตพระองค์เดียว เสด็จไปพระองค์เดียว เสด็จกลับพระองค์เดียว ประทับนั่ง
ในที่ลับพระองค์เดียว ตั้งพระทัยจงกรมพระองค์เดียว ทรงประพฤติ ประทับอยู่ ทรง
เปลี่ยนอิริยาบถ ทรงเป็นไป ทรงรักษาพระชนมชีพ ทรงดำเนินไป ทรงยังชีวิตให้
ดำเนินไปลำพังพระองค์เดียว พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะ
อธิบายว่า ไม่มีเพื่อนเป็นอย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่าทรงละตัณหาได้
เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ทรงเป็นเอกบุรุษ ไม่ทรงมีเพื่อนสอง
อย่างนี้ ไม่ทรงประมาท ทรงมีความเพียร ตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวอยู่ ทรงตั้งความเพียร
ครั้งใหญ่ ณ โคนต้นโพธิ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงกำจัดมารพร้อมทั้งเสนาผู้
ชั่วร้าย ซึ่งกีดกันมหาชนไม่ให้หลุดพ้น เป็นเผ่าพันธุ์ของผู้ประมาท ทรงละ บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งตัณหาที่เป็นดุจตาข่าย ซ่านไปเกาะเกี่ยวอารมณ์
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
บุรุษมีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่น
ภิกษุรู้โทษนี้แล้ว รู้ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดแห่งทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่๑
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่า ทรงละตัณหาได้
เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคทรงปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละราคะได้แล้ว
จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ทรงปราศจากโทสะโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละโทสะได้แล้ว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ทรงปราศจากโมหะโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละโมหะได้แล้ว จึงชื่อว่าทรงเป็น
เอกบุรุษ
ทรงปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละเหล่ากิเลสได้แล้ว จึงชื่อว่าทรง
เป็นเอกบุรุษ เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก.(แปล) ๒๑/๙/๑๕,๒๕๗/๓๗๔, ขุ.อิติ. ๒๕/๑๐๕/๓๒๔, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๗-๕๕๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงทางสายเอกแล้ว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เป็น
อย่างไร
คือ สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘ ตรัสเรียกว่า ทางสายเอก
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเห็นธรรมอันเป็นส่วนที่สุดสิ้นแห่งชาติ
ทรงอนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูล
ทรงรู้จักมรรคอันเป็นทางสายเอก
ซึ่งเหล่าบัณฑิตได้ข้ามมาก่อนแล้ว
จักข้าม และกำลังข้ามโอฆะได้ด้วยมรรคนี้๑
พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงทางสายเอกแล้ว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณลำพังพระองค์เดียว จึง
ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ ญาณในมรรคทั้ง ๔ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ฯลฯ ธัมมวิจย-
สัมโพชฌงค์ วิมังสา วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิ ตรัสเรียกว่า โพธิ
ด้วยโพธิญาณนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” ฯลฯ ตรัสรู้ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
อีกนัยหนึ่ง ธรรมชาติอย่างใดก็ตามที่ควรตรัสรู้ ควรตรัสรู้ตามลำดับ ควรตรัสรู้
เฉพาะ ควรตรัสรู้ด้วยดี ควรบรรลุ ควรถูกต้อง ควรทำให้แจ้ง พระผู้มีพระภาคก็
ตรัสรู้ ตรัสรู้ตามลำดับ ตรัสรู้เฉพาะ ตรัสรู้ด้วยดี ตรัสรู้โดยชอบ ทรงบรรลุ ทรง
ถูกต้อง ทรงกระทำให้แจ้งธรรมชาตินั้นทั้งหมด ด้วยโพธิญาณนั้น พระผู้มีพระภาค
ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ลำพังพระองค์เดียว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เป็น
อย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ม. ๑๙/๓๘๔/๑๔๖,๔๐๙/๑๖๒, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า ทำลายความมืด อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงทำลาย คือ ลด ละ
กำจัด ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งความมืดเพราะราคะ ความมืดเพราะ
โทสะ ความมืดเพราะโมหะ ความมืดเพราะมานะ ความมืดเพราะทิฏฐิ ความมืด
เพราะกิเลส ความมืดเพราะทุจริต ซึ่งทำให้เป็นคนตาบอด ทำให้ไม่มีจักษุ ทำให้
ไม่มีญาณ อันดับปัญญา เป็นไปในฝ่ายแห่งความลำบาก ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
คำว่า ประทับนั่งอยู่ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ที่ปาสาณกเจดีย์
รวมความว่า ประทับนั่งอยู่
พระสาวกทั้งหลายผู้มีวิชชา ๓ ละมัจจุราชได้
นั่งห้อมล้อมพระมุนีผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์ ประทับนั่งอยู่ที่ข้างภูเขา
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าประทับนั่งอยู่ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าประทับนั่งอยู่ เพราะทรงสงัดจากความ
ขวนขวายทั้งปวงแล้ว พระองค์ทรงอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ทรงประพฤติจรณธรรม
แล้ว ฯลฯ พระองค์ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก๑ พระผู้มีพระภาค
ชื่อว่าประทับนั่งอยู่ อย่างนี้บ้าง รวมความว่า ทรงเป็นเอกบุรุษ ประทับนั่งทำลาย
ความมืดอยู่
คำว่า ทรงรุ่งเรือง ในคำว่า พระโคดมนั้น ... ทรงรุ่งเรือง ทรงแผ่รัศมี
อธิบายว่า รุ่งเรือง คือ ทรงมีความรู้ ทรงเป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้
มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า ทรงแผ่รัศมี ได้แก่ ทรงแผ่รัศมี คือ ทรงแผ่แสงสว่าง แผ่โอภาส แผ่
แสงสว่างดุจประทีป แผ่แสงสว่างดุจโคมไฟ แผ่แสงสว่างรุ่งโรจน์ แผ่แสงโชติช่วง
รวมความว่า พระโคดมนั้น ... ทรงรุ่งเรือง ทรงแผ่รัศมี
คำว่า พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ อธิบายว่า พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
คือ มีพระญาณปรากฏ มีพระปัญญาเป็นธงชัย มีพระปัญญาเป็นยอดธง มีพระปัญญา

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๒๘/๑๔๙-๑๕๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
เป็นใหญ่ มากด้วยการเลือกเฟ้น มากด้วยความตรวจสอบ มากด้วยปัญญา
เพ่งพินิจ มีธรรมเป็นเครื่องพิจารณา อยู่ด้วยธรรมแจ่มแจ้ง เที่ยวไปด้วย
ปัญญานั้น มากด้วยปัญญานั้น หนักในปัญญานั้น เอนไปในปัญญานั้น โอนไปใน
ปัญญานั้น โน้มไปในปัญญานั้น น้อมใจเชื่อปัญญานั้น มีปัญญานั้นเป็นใหญ่
ธงเป็นเครื่องปรากฏแห่งรถ
ควันเป็นเครื่องปรากฏแห่งไฟ
พระราชาเป็นเครื่องปรากฏแห่งรัฐ
ภัสดาเป็นเครื่องปรากฏของหญิง๑
พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ คือ มีพระญาณปรากฏ มีพระปัญญาเป็นธงชัย
มีพระปัญญาเป็นยอดธง มีพระปัญญาเป็นใหญ่ มากด้วยการเลือกเฟ้น มากด้วย
ความตรวจสอบ มากด้วยปัญญาเพ่งพินิจ มีธรรมเป็นเครื่องพิจารณา อยู่ด้วย
ธรรมแจ่มแจ้ง เที่ยวไปด้วยปัญญานั้น มากด้วยปัญญานั้น หนักในปัญญานั้น เอน
ไปในปัญญานั้น โอนไปในปัญญานั้น โน้มไปในปัญญานั้น น้อมใจเชื่อไปในปัญญานั้น
มีปัญญานั้นเป็นใหญ่ ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
คำว่า พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ อธิบายว่า แผ่นดินท่านเรียกว่า ภูริ
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบด้วยปัญญาอันกว้างขวางแผ่ไปเสมอด้วยแผ่นดินนั้น
ปัญญาท่านเรียกว่า เมธา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง
งมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๒
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม
เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยปัญญาเครื่องทำลายกิเลสนั้น ฉะนั้น
พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่าผู้มีพระปัญญาดุจภูริ รวมความว่า พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจ
ภูริ ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๗๒/๔๗, ขุ.ชา. ๒๘/๑๘๔๑ /๓๒๖
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
พระโคดมทรงเป็นเอกบุรุษ
ประทับนั่งทำลายความมืดอยู่ ทรงรุ่งเรือง ทรงแผ่รัศมี
พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมมีพระปัญญาดุจภูริ
[๑๐๘] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ (๗)
คำว่า พระองค์ใด ในคำว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดง
ธรรม...แก่อาตมภาพ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระสยัมภู ไม่มีครูอาจารย์
ได้ตรัสรู้สัจจะในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อนด้วยพระองค์เอง ทรงบรรลุความเป็น
พระสัพพัญญูในสัจจะนั้น และความเป็นผู้ชำนาญในพละทั้งหลาย
คำว่า ธรรม ในคำว่า ทรงแสดงธรรม อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคตรัสบอก
ทรงแสดง คือ บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศพรหม-
จรรย์ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด พร้อมทั้ง
อรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ อริยมรรค
มีองค์ ๘ นิพพาน และปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน รวมความว่า พระผู้มี-
พระภาคพระองค์ใด ทรงแสดงธรรม ... แก่อาตมภาพ
คำว่า ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา อธิบายว่า ที่บุคคลเห็นได้เอง
ไม่ขึ้นกับกาลเวลา เชิญมาดูได้ ควรน้อมเข้ามาในตน วิญญูชนพึงรู้ได้ด้วยตน
รวมความว่า ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา ด้วยประการฉะนี้
อีกนัยหนึ่ง ผู้ใดเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ในภพนี้ ผู้นั้นย่อมบรรลุ ประสบ
ได้รับผลแห่งมรรคนั้น ในกาลทุกครั้ง ไม่มีลำดับอื่นคั่น รวมความว่า ที่บุคคล
เห็นได้เอง อย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า ไม่ขึ้นกับกาลเวลา อธิบายว่า มนุษย์ทั้งหลายลงทุนตามเวลา ยังไม่ได้
รับผลในกาลทุกครั้ง ยังต้องรอเวลาฉันใด ธรรมนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ ผู้ใดเจริญ
อริยมรรคมีองค์ ๘ ในภพนี้ ผู้นั้นย่อมบรรลุ ประสบ ได้รับผลแห่งมรรคนั้นใน
กาลทุกครั้ง ไม่มีลำดับอื่นคั่น มิใช่ในภพหน้า มิใช่ในปรโลก จึงชื่อว่าไม่ขึ้นกับ
กาลเวลา อย่างนี้ รวมความว่า ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
คำว่า เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตราย อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพ-
ตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า เป็นที่สิ้นตัณหา ได้แก่ เป็นที่สิ้นตัณหา คือ เป็นที่สิ้นราคะ สิ้นโทสะ
สิ้นโมหะ สิ้นคติ สิ้นอุปบัติ สิ้นปฏิสนธิ สิ้นภพ สิ้นสงสาร สิ้นวัฏฏะ
คำว่า ไม่มีอันตราย อธิบายว่า กิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร ท่านเรียกว่า
อันตราย อธิบายว่า (ธรรมเป็นเครื่อง) ละอันตราย เข้าไปสงบอันตราย สลัดทิ้ง
อันตราย ระงับอันตราย คืออมตนิพพาน รวมความว่า เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มี
อันตราย
คำว่า ใด ในคำว่า ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้ ได้แก่ นิพพาน
คำว่า ไม่มีอะไร ๆ... เปรียบได้ ได้แก่ ไม่มีสิ่งไร ๆ เปรียบได้ คือ ไม่มีข้อ
เปรียบเทียบ ไม่มีสิ่งเสมอเหมือน ไม่มีส่วนเปรียบเทียบ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้
คำว่า ที่ไหน ได้แก่ ที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก หรือทั้ง
ภายในและภายนอก รวมความว่า ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้ ด้วยเหตุนั้น
พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า
ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
[๑๐๙] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ท่านปิงคิยะ เพราะเหตุไรหนอ
ท่านจึงอยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ สิ้นกาลชั่วครู่ (๘)
คำว่า เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงอยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อธิบายว่า เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงอยู่ปราศจาก คือ ออกไป หลีกไป อยู่เว้น
จากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น รวมความว่า เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงอยู่ปราศจาก
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำว่า ปิงคิยะ ... สิ้นกาลชั่วครู่ อธิบายว่า สิ้นกาลชั่วครู่ คือ ชั่วขณะหนึ่ง
ชั่วระยะหนึ่ง ชั่ววัยหนึ่ง ชั่วช่วงหนึ่ง รวมความว่า สิ้นกาลชั่วครู่
คำว่า ปิงคิยะ เป็นคำที่พราหมณ์พาวรีเรียกพราหมณ์ผู้เป็นหลานโดยชื่อ
คำว่า พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ อธิบายว่า พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจ
ภูริ คือ มีพระญาณปรากฏ มีพระปัญญาเป็นธงชัย มีพระปัญญาเป็นยอดธง มี
พระปัญญาเป็นใหญ่ มากด้วยการเลือกเฟ้น มากด้วยความตรวจสอบ มากด้วย
ปัญญาเพ่งพินิจ มีธรรมเป็นเครื่องพิจารณา อยู่ด้วยธรรมแจ่มแจ้ง เที่ยวไปด้วย
ปัญญานั้น มากด้วยปัญญานั้น หนักในปัญญานั้น เอนไปในปัญญานั้น โอนไปใน
ปัญญานั้น โน้มไปในปัญญานั้น น้อมใจเชื่อในปัญญานั้น มีปัญญานั้นเป็นใหญ่
รวมความว่า พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
คำว่า พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ อธิบายว่า แผ่นดินท่านเรียกว่า ภูริ
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบด้วยปัญญากว้างขวาง แผ่ไปเสมอด้วยแผ่นดินนั้น
ปัญญาท่านเรียกว่า เมธา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง
งมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม
เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยปัญญาเครื่องทำลายกิเลสนั้น เพราะฉะนั้น
พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่ามีพระปัญญาดุจภูริ รวมความว่า พระโคดมผู้มีพระปัญญา
ดุจภูริ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์พาวรีนั้นจึงกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
ท่านปิงคิยะ เพราะเหตุไรหนอ
ท่านจึงอยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ สิ้นกาลชั่วครู่
[๑๑๐] (พราหมณ์พาวรีกล่าวว่า)
ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่ท่าน (๙)
คำว่า พระองค์ใด ในคำว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม...
แก่ท่าน อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ฯลฯ ทรงบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูใน
สัจจะนั้น และความเป็นผู้ชำนาญในพละทั้งหลาย
คำว่า ธรรม ในคำว่า ทรงแสดงธรรม อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคตรัสบอก
คือ ทรงแสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศพรหมจรรย์
ที่มีความงามในเบื้องต้น ฯลฯ และปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน รวมความว่า
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด ทรงแสดงธรรม ... แก่ท่าน
คำว่า ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา อธิบายว่า ที่บุคคลเห็นได้เอง
ไม่ขึ้นกับกาลเวลา เชิญมาดูได้ ควรน้อมเข้ามาในตน วิญญูชนพึงรู้ได้ด้วยตน
รวมความว่า ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา ด้วยประการฉะนี้
อีกนัยหนึ่ง ผู้ใดเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ในภพนี้ ผู้นั้นย่อมบรรลุ ประสบ
ได้รับผลแห่งมรรคนั้น ในกาลทุกครั้ง ไม่มีลำดับอื่นคั่น รวมความว่า ที่บุคคล
เห็นได้เอง อย่างนี้บ้าง
คำว่า ไม่ขึ้นกับกาลเวลา อธิบายว่า มนุษย์ทั้งหลายลงทุนตามเวลา ยังไม่
ได้รับผลในกาลทุกครั้ง ยังต้องรอเวลาฉันใด ธรรมนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ ผู้ใดเจริญ
อริยมรรคมีองค์ ๘ ในภพนี้ ผู้นั้น ย่อมบรรลุ ประสบ ได้รับผลแห่งมรรคนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
ในกาลทุกครั้ง ไม่มีลำดับอื่นคั่น มิใช่ในภพหน้า มิใช่ในปรโลก จึงชื่อว่า ไม่ขึ้น
กับกาลเวลา อย่างนี้ รวมความว่า ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
คำว่า เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตราย อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพ-
ตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า เป็นที่สิ้นตัณหา ได้แก่ เป็นที่สิ้นตัณหา คือ เป็นที่สิ้นราคะ สิ้นโทสะ
สิ้นโมหะ สิ้นคติ สิ้นอุปบัติ สิ้นปฏิสนธิ สิ้นภพ สิ้นสงสาร สิ้นวัฏฏะ
คำว่า ไม่มีอันตราย อธิบายว่า กิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร เรียกว่า อันตราย
อธิบายว่า (ธรรมที่เป็นเครื่อง) ละอันตราย เข้าไปสงบอันตราย สลัดทิ้งอันตราย
ระงับอันตราย คืออมตนิพพาน รวมความว่า เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตราย
คำว่า ใด ในคำว่า ธรรมใด ไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้ ได้แก่ นิพพาน
คำว่า ไม่มีอะไร ๆ ...เปรียบได้ ได้แก่ ไม่มีอะไร ๆ เปรียบได้ คือ ไม่มีข้อ
เปรียบเทียบ ไม่มีสิ่งเสมอเหมือน ไม่มีส่วนเปรียบเทียบ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หา
ไม่ได้เลย
คำว่า ที่ไหน ได้แก่ ที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก หรือทั้ง
ภายในและภายนอก รวมความว่า ธรรมใด ไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้ ด้วยเหตุนั้น
พราหมณ์พาวรีนั้นจึงกล่าวว่า
ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่ท่าน
[๑๑๑] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพมิได้อยู่ปราศจาก
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ สิ้นกาลชั่วครู่ (๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า อาตมภาพมิได้อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น อธิบายว่า
อาตมภาพมิได้อยู่ปราศจาก คือ มิได้ออกไป มิได้หลีกไป มิได้อยู่เว้นจาก
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น รวมความว่า อาตมภาพมิได้อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้า
พระองค์นั้น
คำว่า ท่านพราหมณ์... สิ้นกาลชั่วครู่ อธิบายว่า สิ้นกาลชั่วครู่ คือ
ชั่วขณะหนึ่ง ชั่วระยะหนึ่ง ชั่ววัยหนึ่ง ชั่วช่วงหนึ่ง รวมความว่า สิ้นกาลชั่วครู่
คำว่า ท่านพราหมณ์ เป็นคำที่พระปิงคิยเถระเรียกพราหมณ์พาวรีผู้เป็นลุง
โดยเคารพ
คำว่า พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ อธิบายว่า พระโคดมผู้มีพระญาณดุจ
ภูริ คือ มีพระญาณปรากฏ มีพระปัญญาเป็นธงชัย มีพระปัญญาเป็นยอดธง มี
พระปัญญาเป็นใหญ่ มากด้วยการเลือกเฟ้น มากด้วยความตรวจสอบ มากด้วย
ปัญญาเพ่งพินิจ มีธรรมเป็นเครื่องพิจารณา อยู่ด้วยธรรมแจ่มแจ้ง เที่ยวไปด้วย
ปัญญานั้น มากด้วยปัญญานั้น หนักในปัญญานั้น เอนไปในปัญญานั้น โอนไปใน
ปัญญานั้น โน้มไปในปัญญานั้น น้อมใจเชื่อในปัญญานั้น มีปัญญานั้นเป็นใหญ่
รวมความว่า พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
คำว่า พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ อธิบายว่า แผ่นดินท่านเรียกว่า ภูริ
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบด้วยปัญญากว้างขวาง แผ่ไปเสมอด้วยแผ่นดินนั้น
ปัญญาท่านเรียกว่า เมธา ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย
ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม
เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยปัญญาเครื่องทำลายกิเลสนั้น เพราะฉะนั้น
พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่ามีพระปัญญาดุจภูริ รวมความว่า พระโคดมผู้มีพระปัญญา
ดุจภูริ ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพมิได้อยู่ปราศจาก
พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พระโคดมผู้มีพระญาณดุจภูริ
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ สิ้นกาลชั่วครู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
[๑๑๒] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ (๑๑)
คำว่า พระองค์ใด ในคำว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด ทรงแสดง
ธรรม...แก่อาตมภาพ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระสยัมภู ไม่มีครูอาจารย์
ได้ตรัสรู้สัจจะในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อนด้วยพระองค์เอง ทรงบรรลุความเป็นพระ
สัพพัญญูในสัจจะนั้น และความเป็นผู้ชำนาญในพละทั้งหลาย
คำว่า ธรรม ในคำว่า ทรงแสดงธรรม อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคตรัสบอก
คือ ทรงแสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศพรหมจรรย์
ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด พร้อมทั้ง
อรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน
และปฏิทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน รวมความว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด
ทรงแสดงธรรม ... แก่อาตมภาพ
คำว่า ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา อธิบายว่า ที่บุคคลเห็นได้เอง
ไม่ขึ้นกับกาลเวลา เชิญมาดูได้ ควรน้อมเข้ามาในตน วิญญูชนพึงรู้ได้ด้วยตน
รวมความว่า ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา ด้วยประการฉะนี้
อีกนัยหนึ่ง ผู้ใดเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ในภพนี้ ผู้นั้นย่อมบรรลุ ประสบ
ได้รับผลแห่งมรรคนั้น ในกาลทุกครั้ง ไม่มีลำดับอื่นคั่น รวมความว่า ที่บุคคล
เห็นได้เอง อย่างนี้บ้าง
คำว่า ไม่ขึ้นกับกาลเวลา อธิบายว่า มนุษย์ทั้งหลายลงทุนตามเวลา ยังไม่
ได้รับผลในกาลทุกครั้ง ยังต้องรอเวลาฉันใด ธรรมนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ ผู้ใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ในภพนี้ ผู้นั้น ย่อมบรรลุ ประสบ ได้รับผลแห่งมรรค
นั้นในกาลทุกครั้ง ไม่มีลำดับอื่นคั่น มิใช่ในภพหน้า มิใช่ในปรโลก จึงชื่อว่าไม่
ขึ้นกับกาลเวลา อย่างนี้ รวมความว่า ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
คำว่า เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตราย อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพ-
ตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า เป็นที่สิ้นตัณหา ได้แก่ เป็นที่สิ้นตัณหา คือ สิ้นราคะ สิ้นโทสะ
สิ้นโมหะ สิ้นคติ สิ้นอุปบัติ สิ้นปฏิสนธิ สิ้นภพ สิ้นสงสาร สิ้นวัฏฏะ
คำว่า ไม่มีอันตราย อธิบายว่า กิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร เรียกว่า อันตราย
อธิบายว่า (ธรรมที่เป็นเครื่อง) ละอันตราย เข้าไปสงบอันตราย สลัดทิ้งอันตราย
ระงับอันตราย คืออมตนิพพาน รวมความว่า เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตราย
คำว่า ใด ในคำว่า ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้ ได้แก่ นิพพาน
คำว่า ไม่มีอะไร ๆ ... เปรียบได้ ได้แก่ ไม่มีสิ่งไร ๆ เปรียบได้ คือ ไม่มีข้อ
เปรียบเทียบ ไม่มีสิ่งเสมอเหมือน ไม่มีส่วนเปรียบเทียบ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ
หาไม่ได้
คำว่า ที่ไหน ได้แก่ ที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก หรือทั้ง
ภายในและภายนอก รวมความว่า ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้ ด้วยเหตุนั้น
พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า
ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
[๑๑๓] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพไม่ประมาท
ทั้งกลางคืนและกลางวัน ย่อมเห็นพระโคดมพุทธเจ้า
พระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยตา
อาตมภาพนอบน้อมพระองค์อยู่ตลอดราตรี
อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้า
พระองค์นั้น (๑๒)
คำว่า อาตมภาพ...ย่อมเห็นพระโคดมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยใจ เหมือน
เห็นด้วยตา อธิบายว่า อาตมภาพย่อมเห็น คือ แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณา
เห็นพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า เหมือนคนตาดี พึงมองเห็น คือ แลเห็น มองดู
พิจารณาเห็นรูปทั้งหลายในที่แจ้ง ฉะนั้น รวมความว่า อาตมภาพ...ย่อมเห็น
พระโคดมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยตา
คำว่า ท่านพราหมณ์ ...ไม่ประมาททั้งกลางคืนและกลางวัน อธิบายว่า
อาตมภาพเจริญพุทธานุสสติด้วยใจทั้งกลางคืนและกลางวัน ชื่อว่าไม่ประมาท รวม
ความว่า ท่านพราหมณ์ ...ไม่ประมาททั้งกลางคืนและกลางวัน
คำว่า นอบน้อมอยู่ ในคำว่า นอบน้อมอยู่ตลอดราตรี อธิบายว่า อาตมภาพ
นอบน้อมอยู่ คือ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ ด้วยกาย วาจา ใจ ปฏิบัติเอื้อ
ประโยชน์ ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม ได้แก่ ให้คืนและวันผ่านไป ให้ล่วง
ไป(ด้วยการปฏิบัติ) รวมความว่า นอบน้อมอยู่ตลอดราตรี
คำว่า อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อธิบายว่า อาตมภาพเมื่อเจริญด้วยพุทธานุสสตินั้น ย่อมเข้าใจพระพุทธเจ้าพระองค์
นั้นว่า มิได้อยู่ปราศจาก ย่อมเข้าใจ คือ รู้ ทราบ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทง
ตลอดอย่างนี้ว่า มิได้อยู่ปราศจากแล้ว รวมความว่า อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่
ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพไม่ประมาท
ทั้งกลางคืนและกลางวัน ย่อมเห็นพระโคดมพุทธเจ้า
พระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยตา
อาตมภาพนอบน้อมพระองค์อยู่ตลอดราตรี
อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[๑๑๔] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธา ปีติ มนะ และสติ
ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ เสด็จไปสู่ทิศใด ๆ
อาตมภาพเป็นผู้น้อมไปทางทิศนั้น ๆ นั่นแล (๑๓)
คำว่า สัทธา ในคำว่า สัทธา ปีติ มนะ และสติ อธิบายว่า สัทธา
ความเชื่อ ความกำหนด ความเลื่อมใส สัทธา คือ สัทธินทรีย์ สัทธาพละ ปรารภ
พระผู้มีพระภาค
คำว่า ปีติ ได้แก่ ความอิ่มเอิบ ความปราโมทย์ ความชื่นใจ ความบันเทิง
ความเบิกบาน ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความยินดี ความมีใจสูง
ความมีใจแช่มชื่น ความที่ใจเลื่อมใสยิ่ง
คำว่า มนะ ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์
วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ๑ อันเกิดจากวิญญาณขันธ์นั้นปรารภ
พระผู้มีพระภาค
คำว่า สติ ได้แก่ สติ ความระลึกถึง สัมมาสติปรารภพระผู้มีพระภาค รวม
ความว่า สัทธา ปีติ มนะ และสติ
คำว่า ธรรมเหล่านี้ ... ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดม อธิบายว่า
ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ ย่อมไม่หายไป คือ ไม่ไป ไม่ละไป ไม่สูญหายไป จากศาสนา

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
ของพระโคดม คือ จากศาสนาของพระพุทธเจ้า จากศาสนาของพระชินเจ้า จาก
ศาสนาของพระตถาคต จากศาสนาของพระอรหันต์ รวมความว่า ธรรมเหล่านี้ ...
ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดม
คำว่า สู่ทิศใด ๆ ในคำว่า พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ เสด็จไปสู่ทิศใด ๆ
อธิบายว่า เสด็จไป ดำเนินไป มุ่งไป มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศใต้
หรือทิศเหนือก็ตาม
คำว่า ผู้มีพระปัญญาดุจภูริ อธิบายว่า ผู้มีพระปัญญาดุจภูริ คือ มีพระ
ปัญญามาก มีพระปัญญาเฉียบคม มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาอาจหาญ
มีพระปัญญาฉับไว มีพระปัญญาเพิกถอนกิเลส
แผ่นดิน เรียกว่า ภูริ
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบด้วยปัญญานั้นกว้างขวาง แผ่ไปเสมอด้วย
แผ่นดินนั้น รวมความว่า พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ เสด็จไปสู่ทิศใด ๆ
คำว่า อาตมภาพเป็นผู้น้อมไปทางทิศนั้น ๆ นั่นแล อธิบายว่า พระพุทธ-
เจ้าประทับอยู่ ณ ทิศใด อาตมภาพก็น้อมไปทางทิศนั้น เอนไป โอนไป โน้มไป
น้อมใจไปในทิศนั้น มีทิศนั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า อาตมภาพเป็นผู้น้อมไปทาง
ทิศนั้น ๆ นั่นแล ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า
ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธา ปีติ มนะ และสติ
ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
พระโคดมผู้มีพระปัญญาดุจภูริ เสด็จไปสู่ทิศใด ๆ
อาตมภาพเป็นผู้น้อมไปทางทิศนั้น ๆ นั่นแล
[๑๑๕] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
อาตมภาพชราแล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อย
เพราะเหตุนั้นแล ร่างกายจึงไปในสถานที่
ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
แต่อาตมภาพไปเฝ้าพระองค์เป็นนิจ
โดยการไปด้วยความดำริ ท่านพราหมณ์
เพราะว่าใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยวอยู่กับสถานที่
ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่นั้น (๑๔)
คำว่า ชราแล้ว ในคำว่า อาตมภาพชราแล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อย
ได้แก่ ชราแล้ว คือ เป็นผู้เฒ่า สูงอายุ ล่วงกาลมามาก ผ่านวัยมามาก รวมความว่า
ชราแล้ว
คำว่า มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อย ได้แก่ เป็นผู้เฒ่า คือ มีเรี่ยวแรงน้อยลง
มีเรี่ยวแรงนิดเดียว รวมความว่า อาตมภาพชราแล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อย
คำว่า ร่างกายจึงไปในสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ไม่ได้ อธิบายว่า
ร่างกายไปไม่ได้ คือ มิได้ถึง มิได้เดินทางไป มิได้ก้าวไปทางที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่
รวมความว่า ร่างกายจึงไปในสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ไม่ได้
คำว่า แต่อาตมภาพไปเฝ้าพระองค์เป็นนิจ โดยการไปด้วยความดำริ
อธิบายว่า อาตมภาพไปเฝ้า คือ ถึง เดินทางไป ก้าวไปโดยการไปด้วยความดำริ
คือ โดยการไปด้วยความตรึก ด้วยญาณ ด้วยปัญญา ด้วยความรู้ รวมความว่า
แต่อาตมภาพไปเฝ้าพระองค์เป็นนิจ โดยการไปด้วยความดำริ
คำว่า ใจ ในคำว่า ท่านพราหมณ์ เพราะว่าใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยวอยู่
กับสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่นั้น ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ
มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ และมโนวิญญาณธาตุ ที่เกิดจาก
วิญญาณขันธ์นั้น
คำว่า ท่านพราหมณ์ เพราะว่าใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยวอยู่กับสถานที่ที่
พระพุทธเจ้าประทับอยู่นั้น อธิบายว่า ใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยว คือ เกี่ยวเนื่อง
ผูกพันกับสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่แล้ว รวมความว่า ท่านพราหมณ์ เพราะ
ว่าใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยวอยู่กับสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่นั้น ด้วยเหตุนั้น
พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
อาตมภาพชราแล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อย
เพราะเหตุนั้นแล ร่างกายจึงไปในสถานที่
ที่พุทธเจ้าประทับอยู่ไม่ได้
แต่อาตมภาพไปเฝ้าพระองค์เป็นนิจ
โดยการไปด้วยความดำริ ท่านพราหมณ์
เพราะว่าใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยวอยู่กับสถานที่
ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่นั้น
[๑๑๖] (พระปิงคิยเถระกล่าวว่า)
อาตมภาพนอนดิ้นรนอยู่ในเปือกตม
ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง
ครั้นต่อมา อาตมภาพได้เฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ (๑๕)
คำว่า นอน ... ในเปือกตม ในคำว่า นอนดิ้นรนอยู่ในเปือกตม อธิบายว่า
นอน คือ นอนลง อยู่ อยู่อาศัย อยู่ประจำในเปือกตมคือกาม คือ โคลนตมคือกาม
กิเลสคือกาม เบ็ดคือกาม ความเร่าร้อนคือกาม ความกังวลคือกาม รวมความว่า
นอน ... ในเปือกตม
คำว่า ดิ้นรนอยู่ อธิบายว่า ดิ้นรน ดิ้นรนอยู่ สั่นเทา กระสับกระส่าย
ด้วยความดิ้นรนเพราะตัณหา เพราะทิฏฐิ เพราะกิเลส เพราะการประกอบ เพราะ
วิบาก เพราะมโนทุจริต คือ
ผู้กำหนัดก็ดิ้นรนตามอำนาจราคะ
ผู้ขัดเคืองก็ดิ้นรนตามอำนาจโทสะ
ผู้หลงก็ดิ้นรนตามอำนาจโมหะ
ผู้ยึดติดก็ดิ้นรนตามอำนาจมานะ
ผู้ยึดถือก็ดิ้นรนตามอำนาจทิฏฐิ
ผู้ฟุ้งซ่านก็ดิ้นรนตามอำนาจอุทธัจจะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
ผู้ลังเลก็ดิ้นรนตามอำนาจวิจิกิจฉา
ผู้ตกอยู่ในพลังกิเลสก็ดิ้นรนตามอำนาจอนุสัย
ดิ้นรนเพราะลาภ เพราะเสื่อมลาภ เพราะยศ เพราะเสื่อมยศ เพราะนินทา
เพราะสรรเสริญ เพราะสุข เพราะทุกข์
ดิ้นรนเพราะชาติ เพราะชรา เพราะพยาธิ เพราะมรณะ เพราะโสกะ
ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส
ดิ้นรนเพราะทุกข์เนื่องจากการเกิดในนรก เพราะทุกข์เนื่องจากการเกิดในกำเนิด
เดรัจฉาน เพราะทุกข์เนื่องจากการเกิดในเปตวิสัย เพราะทุกข์เนื่องจากการเกิดใน
โลกมนุษย์ เพราะทุกข์เนื่องจากการถือกำเนิดในครรภ์ เพราะทุกข์เนื่องจากการอยู่
ในครรภ์ เพราะทุกข์เนื่องจากการคลอดจากครรภ์ เพราะทุกข์สืบเนื่องมาจากผู้เกิด
เพราะทุกข์ของผู้เกิดที่เนื่องมาจากผู้อื่น เพราะทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของ
ตนเอง เพราะทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของผู้อื่น เพราะทุกข์กายทุกข์ใจ เพราะ
ทุกข์ที่เกิดจากสังขาร เพราะทุกข์ที่เกิดจากความแปรผัน
ดิ้นรนเพราะทุกข์ที่เกิดจากโรคทางตา เพราะทุกข์ที่เกิดจากโรคทางหู เพราะ
ทุกข์ที่เกิดจากโรคทางจมูก เพราะทุกข์ที่เกิดจากโรคทางลิ้น เพราะทุกข์ที่เกิดจาก
โรคทางกาย เพราะทุกข์ที่เกิดจากโรคศีรษะ ... โรคหู ... โรคปาก ... โรคฟัน ... โรคไอ
... โรคหืด ... ไข้หวัด ... ไข้พิษ ... ไข้เชื่อมซึม ... โรคท้อง ... เป็นลมสลบ ... ลงแดง ...
จุกเสียด ... อหิวาตกโรค ... โรคเรื้อน ... ฝี ... กลาก ... มองคร่อ ... ลมบ้าหมู ...
หิดเปื่อย ... หิดด้าน ... หิด ... หูด ... โรคละลอก ... โรคดีซ่าน... โรคดีกำเริบ ...
โรคเบาหวาน ... โรคเริม ... โรคพุพอง ... โรคริดสีดวงทวาร ... ความเจ็บป่วยที่เกิด
จากดี ... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม ... ไข้สันนิบาต
... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดู .... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการผลัดเปลี่ยน
อิริยาบถไม่ได้ส่วนกัน... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความพากเพียรเกินกำลัง.... ความ
เจ็บป่วยที่เกิดจากผลกรรม... ความหนาว ... ความร้อน ... ความหิว ... ความกระหาย
... ปวดอุจจาระ ... ปวดปัสสาวะ ...


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
ดิ้นรนเพราะทุกข์ที่เกิดจากสัมผัสเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน
ทุกข์เพราะมารดาตาย ...ทุกข์เพราะบิดาตาย ... ทุกข์เพราะพี่ชายน้องชายตาย ...
ทุกข์เพราะพี่สาวน้องสาวตาย ... ทุกข์เพราะบุตรตาย ... ทุกข์เพราะธิดาตาย ...
ทุกข์เพราะความพินาศของญาติ ... ทุกข์เพราะโภคทรัพย์พินาศ... ทุกข์เพราะความ
เสียหายที่เกิดจากโรค ... ทุกข์เพราะสีลวิบัติ... ทุกข์เพราะทิฏฐิวิบัติ... รวมความว่า
นอนดิ้นรนอยู่ในเปือกตม
คำว่า ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง อธิบายว่า ลอย ลอยไป คือ ล่องลอย
ไปจากศาสดา(แรก)ไปหาอีกศาสดา(ต่อมา) จากธรรมที่ศาสดา(แรก)บอก สู่ธรรมที่
ศาสดา(ต่อมา)บอก จากหมู่คณะ(แรก) สู่คณะ(ต่อมา) จากทิฏฐิ(แรก)สู่ทิฏฐิ(ต่อมา)
จากปฏิปทา(แรก)สู่ปฏิปทา(ต่อมา) จากมรรค(แรก) สู่มรรค(ต่อมา) รวมความว่า
ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง
คำว่า ครั้นต่อมา ในคำว่า ครั้นต่อมา อาตมภาพได้เฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
เป็นบทสนธิ ฯลฯ คำว่า ครั้นต่อมา นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน๑
คำว่า ได้เฝ้า ได้แก่ ได้เฝ้า คือ ได้แลเห็น ได้เห็น ได้แทงตลอด
คำว่า พระสัมพุทธเจ้า ได้แก่ พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระสยัมภู ไม่มี
ครูอาจารย์ ฯลฯ คำว่า พระพุทธเจ้า นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๒ รวมความว่า
ครั้นต่อมา อาตมภาพ ได้เฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
คำว่า ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ในคำว่า ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ
อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น
ล่วงพ้นกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ ข้ามทางแห่งสงสารทั้งปวงได้แล้ว
พระองค์ทรงอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ทรงประพฤติจรณธรรมแล้ว ฯลฯ พระองค์
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า ผู้ทรงข้ามโอฆะ
ได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑/๔๔
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๔๖-๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า ไม่มีอาสวะ อธิบายว่า อาสวะ ๔ อย่าง คือ
๑. กามาสวะ ๒. ภวาสวะ
๓. ทิฏฐาสวะ ๔. อวิชชาสวะ
อาสวะเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีอาสวะ รวมความว่า ผู้ทรงข้าม
โอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกล่าวว่า
อาตมภาพนอนดิ้นรนอยู่ในเปือกตม
ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง
ครั้นต่อมา อาตมภาพได้เฝ้าพระสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ
[๑๑๗] (พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสว่า)
วักกลิ ภัทราวุธ และอาฬวิโคดม
เป็นผู้มีศรัทธาอันน้อมไปแล้ว ฉันใด
แม้เธอก็จงเปิดเผยศรัทธา ฉันนั้นเหมือนกัน
ปิงคิยะ เธอจักถึงฝั่งโน้น(ฝั่งตรงข้าม)แห่งบ่วงมัจจุราช (๑๖)
คำว่า วักกลิ ภัทราวุธ และอาฬวิโคดม เป็นผู้มีศรัทธาอันน้อมไปแล้ว
ฉันใด อธิบายว่า พระวักกลิเถระ ได้มีศรัทธาน้อมไปแล้ว คือ หนักในศรัทธา
มีศรัทธานำหน้า น้อมใจไปตามศรัทธา มีศรัทธาเป็นใหญ่ยิ่ง บรรลุอรหัตตผลแล้ว
ฉันใด พระภัทราวุธเถระ มีศรัทธาอันน้อมไปแล้ว... พระอาฬวิโคดม มีศรัทธา
อันน้อมไปแล้ว หนักในศรัทธา มีศรัทธานำหน้า น้อมใจไปตามศรัทธา มีศรัทธา
เป็นใหญ่ บรรลุอรหัตตผล ฉันใด รวมความว่า วักกลิ ภัทราวุธ และอาฬวิโคดม
เป็นผู้มีศรัทธาอันน้อมไปแล้ว ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า แม้เธอก็จงเปิดเผยศรัทธา ฉันนั้นเหมือนกัน อธิบายว่า เธอก็จงเผย
เปิดเผย คือ แสดงออก น้อมใจ กำหนดศรัทธา เผย เปิดเผย แสดงออก น้อมใจ
กำหนดศรัทธาว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ
ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า แม้เธอก็
จงเปิดเผยศรัทธา ฉันนั้นเหมือนกัน
คำว่า ปิงคิยะ เธอจักถึงฝั่งโน้น(ฝั่งตรงข้าม)แห่งบ่วงมัจจุราช อธิบายว่า
กิเลส ขันธ์ และอภิสังขาร เรียกว่า บ่วงมัจจุราช
อมตนิพพาน ธรรมเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด
เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท เรียกว่า
ฝั่งโน้น(ฝั่งตรงข้าม)แห่งบ่วงมัจจุราช
คำว่า ปิงคิยะ เธอจักถึงฝั่งโน้น (ฝั่งตรงข้าม) แห่งบ่วงมัจจุราช อธิบายว่า
เธอจักถึงฝั่ง คือ จักบรรลุฝั่ง ถูกต้องฝั่ง ทำให้แจ้งฝั่ง รวมความว่า ปิงคิยะ เธอจัก
ถึงฝั่งโน้น(ฝั่งตรงข้าม)แห่งบ่วงมัจจุราช ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
วักกลิ ภัทราวุธ และอาฬวิโคดม
เป็นผู้มีศรัทธาน้อมไปแล้ว ฉันใด
แม้เธอก็จงเปิดเผยศรัทธา ฉันนั้นเหมือนกัน
ปิงคิยะ เธอจักถึงฝั่งโน้น(ฝั่งตรงข้าม)แห่งบ่วงมัจจุราช
[๑๑๘] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า)
ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้ว
เลื่อมใสอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงมีเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต ทรงมีปฏิภาณ (๑๗)
คำว่า ข้าพระองค์นี้ ... เลื่อมใสอย่างยิ่ง อธิบายว่า ข้าพระองค์นี้เลื่อมใส
อย่างยิ่ง คือ เชื่อถือยิ่ง ๆ ขึ้นไป กำหนดได้โดยยิ่งขึ้นไป น้อมใจเชื่อโดยยิ่ง ๆ ขึ้นไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
เลื่อมใสอย่างยิ่ง เชื่อถืออย่างยิ่ง ๆ ขึ้นไป กำหนดได้โดยยิ่งขึ้นไป น้อมใจเชื่อโดยยิ่ง ๆ
ขึ้นไปว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวง
เป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมี
ความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า ข้าพระองค์นี้ ... เลื่อมใสอย่างยิ่ง
คำว่า ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้ว อธิบายว่า
คำว่า พระมุนี ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ
พระองค์ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่าพระมุนี
คำว่า ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้ว อธิบายว่า ได้ฟัง คือ ได้สดับ ได้เรียน
ได้ทรงจำ ได้เข้าไปกำหนดพระดำรัส คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน
คำพร่ำสอนของพระองค์ รวมความว่า ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้ว
คำว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว อธิบายว่า
คำว่า เครื่องปิดบัง ได้แก่ เครื่องปิดบัง ๕ อย่าง คือ
๑. เครื่องปิดบังคือตัณหา
๒. เครื่องปิดบังคือทิฏฐิ
๓. เครื่องปิดบังคือกิเลส
๔. เครื่องปิดบังคือทุจริต
๕. เครื่องปิดบังคืออวิชชา
เครื่องปิดบังเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงเปิดแล้ว คือ ทรงรื้อออก
เพิกถอน ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้น
ไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่าทรงมีเครื่องปิดบัง
อันเปิดแล้ว
คำว่า พระพุทธเจ้า อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น ฯลฯ คำว่า
พระพุทธเจ้านี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง ทรงมีเครื่อง
ปิดบังอันเปิดแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต ในคำว่า ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต ทรงมี
ปฏิภาณ อธิบายว่า ราคะ ชื่อว่ากิเลสดุจตะปูตรึงจิต โทสะ ชื่อว่ากิเลสดุจตะปู
ตรึงจิต โมหะ ชื่อว่ากิเลสดุจตะปูตรึงจิต โกธะ ชื่อว่ากิเลสดุจตะปูตรึงจิต อุปนาหะ
ชื่อว่ากิเลสดุจตะปูตรึงจิต ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ชื่อว่ากิเลสดุจตะปู
ตรึงจิต กิเลสดุจตะปูตรึงจิตเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่าไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต

ว่าด้วยบุคคลผู้มีปฏิภาณ ๓ จำพวก
คำว่า ทรงมีปฏิภาณ อธิบายว่า บุคคลผู้มีปฏิภาณมี ๓ จำพวก คือ
๑. บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะปริยัติ
๒. บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะปริปุจฉา
๓. บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะอธิคม
บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะปริยัติ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในศาสนานี้ ได้เล่าเรียนพระพุทธพจน์ คือ สุตตะ เคยยะ
เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ
ญาณ(ความรู้)ของบุคคลนั้นย่อมแจ่มแจ้ง เพราะอาศัยการเล่าเรียน บุคคลนี้ชื่อว่า
ผู้มีปฏิภาณเพราะปริยัติ
บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะปริปุจฉา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในศาสนานี้ เป็นผู้ไต่สวนในเรื่องความหมาย ในเรื่องที่ควรรู้
ในลักษณะ ในเหตุ ในฐานะและอฐานะ(ความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้) ญาณของ
เขาย่อมแจ่มแจ้ง เพราะอาศัยการไต่สวน บุคคลนี้ชื่อว่าผู้มีปฏิภาณเพราะปริปุจฉา
บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะอธิคม เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในศาสนานี้ ได้บรรลุสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ อริยมรรค ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
สามัญญผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ บุคคลนั้นรู้เหตุ รู้ผล รู้นิรุตติ (ภาษา)
เมื่อรู้เหตุ เหตุย่อมแจ่มแจ้ง เมื่อรู้ผล ผลย่อมแจ่มแจ้ง เมื่อรู้นิรุตติ นิรุตติย่อม
แจ่มแจ้ง ญาณในเหตุ ผล และนิรุตติทั้ง ๓ เหล่านี้ ชื่อว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทา
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม
เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยปฏิภาณปฏิสัมภิทานี้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้า
ชื่อว่าทรงมีปฏิภาณ ผู้ใดไม่มีปริยัติ ไม่มีปริปุจฉา ไม่มีอธิคม ญาณอะไรเล่าจัก
แจ่มแจ้งแก่เขาได้ รวมความว่า ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต ทรงมีปฏิภาณ ด้วยเหตุนั้น
พระปิงคิยเถระจึงกราบทูลว่า
ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้ว
เลื่อมใสอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงมีเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว
ไม่มีกิเลสดุจตะปูตรึงจิต ทรงมีปฏิภาณ
[๑๑๙] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า)
พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดอธิเทพ
ทรงรู้ธรรมของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง
เป็นพระศาสดาผู้กระทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย
เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัย ให้กลับรู้ได้ (๑๘)

ว่าด้วยเทพ ๓
คำว่า ทรงรู้ชัดอธิเทพ อธิบายว่า
คำว่า เทพ ได้แก่ เทพ ๓ จำพวก คือ
๑. สมมติเทพ ๒. อุบัติเทพ
๓. วิสุทธิเทพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
สมมุติเทพ เป็นอย่างไร
คือ พระราชา พระราชกุมาร และพระราชเทวี เหล่านี้เรียกว่า สมมุติเทพ
อุบัติเทพ เป็นอย่างไร
คือ เทวดาชั้นจาตุมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ เทวดาผู้นับเนื่องในหมู่
พรหม และเทวดาชั้นสูงกว่านั้น เหล่านี้เรียกว่า อุบัติเทพ
วิสุทธิเทพ เป็นอย่างไร
คือ พระตถาคต สาวกของพระตถาคต พระอรหันตขีณาสพ และพระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้า เหล่านี้เรียกว่า วิสุทธิเทพ
พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดเหล่าสมมุติเทพว่า เป็นอธิเทพ ทรงรู้จักเหล่าอุบัติเทพ
ว่าเป็นอธิเทพ ทรงรู้ชัด คือ ทรงทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง
ทำให้แจ่มแจ้งซึ่งเหล่าวิสุทธิเทพว่า เป็นอธิเทพ รวมความว่า ทรงรู้ชัดอธิเทพ
คำว่า ทรงรู้ชัดธรรมของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาค ทรงรู้ คือ ทรงทราบ ทรงถูกต้อง แทงตลอดธรรมที่ทำพระองค์
และชนเหล่าอื่นให้เป็นอธิเทพ
ธรรมที่ทำพระองค์ให้เป็นอธิเทพ เป็นอย่างไร
คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การ
ปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม การรักษาศีลให้
บริบูรณ์ ความเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
ความเป็นผู้มีความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ
อริยมรรคมีองค์ ๘ เหล่านี้ เรียกว่า ธรรมที่ทำพระองค์ให้เป็นอธิเทพ
ธรรมที่ทำชนเหล่าอื่นให้เป็นอธิเทพ เป็นอย่างไร
คือ การปฏิบัติชอบ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘ เหล่านี้เรียกว่า ธรรมที่ทำชน
เหล่าอื่นให้เป็นอธิเทพ พระผู้มีพระภาค ทรงรู้ คือ ทรงทราบ ทรงถูกต้อง แทงตลอด
ธรรมที่ทำพระองค์และชนเหล่าอื่นให้เป็นอธิเทพ เป็นอย่างนี้ รวมความว่า ทรงรู้ชัด
ธรรมของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า เป็นพระศาสดาผู้กระทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคทรงกระทำส่วนสุด คือ ทรงกระทำที่สุดรอบ ทรงกระทำที่กำหนด
ทรงกระทำความจบแห่งปัญหาของพราหมณ์ ผู้แสวงหาฝั่ง... ได้แก่ ทรงกระทำ
ส่วนสุด กระทำที่สุดรอบ กระทำที่กำหนด กระทำความจบแห่งปัญหาของสภิย-
พราหมณ์... แห่งปัญหาของพระปิงคิยเถระ... แห่งปัญหาของท้าวสักกะ... แห่งปัญหา
ของท้าวสุยาม... แห่งปัญหาของภิกษุ... แห่งปัญหาของภิกษุณี ... แห่งปัญหาของ
อุบาสก ... แห่งปัญหาของอุบาสิกา ... แห่งปัญหาของพระราชา ... แห่งปัญหา
ของกษัตริย์ ... แห่งปัญหาของพราหมณ์ ... แห่งปัญหาของแพศย์ ... แห่งปัญหา
ของศูทร ... แห่งปัญหาของเทวดา ... แห่งปัญหาของพระพรหม
คำว่า เป็นพระศาสดา อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงนำหมู่ ชื่อว่า
พระศาสดา เหมือนบุคคลผู้นำหมู่เกวียน ย่อมนำหมู่เกวียนข้ามที่กันดาร ข้าม คือ
ข้ามขึ้น ข้ามออก ข้ามพ้นที่กันดารเพราะโจร ที่กันดารเพราะสัตว์ร้าย ที่กันดาร
เพราะอดอยาก ที่กันดารเพราะขาดน้ำ ได้แก่ ให้ถึงถิ่นที่ปลอดภัย ฉันใด
พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงนำหมู่ ย่อมทรงนำหมู่ข้ามที่กันดาร ข้าม คือ ข้ามขึ้น
ข้ามออก ข้ามพ้นที่กันดารเพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บป่วย ความตาย
ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ
ที่กันดารเพราะความกำหนัด ที่กันดารเพราะความขัดเคือง ความลุ่มหลง ความ
ถือตัว ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต คือ ความรกชัฏเพราะความกำหนัด ความรกชัฏเพราะ
ความขัดเคือง ความรกชัฏเพราะความลุ่มหลง ความรกชัฏเพราะทิฏฐิ ความรกชัฏ
เพราะกิเลส ความรกชัฏเพราะทุจริต ได้แก่ ให้ถึงอมตนิพพานอันเป็นแดนเกษม
ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงชื่อว่าผู้ทรงนำหมู่ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้นำ เป็นผู้นำไปโดยวิเศษ เป็นผู้ตาม
แนะนำ ทรงให้รู้จักประโยชน์ ให้พินิจพิจารณา ให้เพ่งประโยชน์ ทรงทำให้
เลื่อมใสได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค พระศาสดาจึงชื่อว่าผู้ทรงนำหมู่ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงทำมรรค
ที่ยังไม่เกิดให้เกิดพร้อม ตรัสบอกมรรคที่ยังมิได้ตรัสบอก ทรงรู้จักมรรค ทรงรู้แจ้ง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
มรรค ทรงฉลาดในมรรค และสาวกของพระองค์ผู้ดำเนินไปตามมรรคอยู่ในบัดนี้
จะเพียบพร้อมด้วยศีลาทิคุณในภายหลัง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่า
ผู้ทรงนำหมู่ อย่างนี้บ้าง รวมความว่า เป็นพระศาสดาผู้กระทำส่วนสุดแห่งปัญหา
ทั้งหลาย
คำว่า เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัย ให้กลับรู้ได้ อธิบายว่า เหล่าชนผู้มี
ความสงสัยมาแล้ว ก็หายสงสัยกลับไป ผู้มีความยุ่งยากมาแล้ว ก็หายยุ่งยากกลับไป
ผู้มีความคิดสองจิตสองใจมาแล้ว ก็หายความคิดสองจิตสองใจกลับไป ผู้มีความลังเล
มาแล้ว ก็หายความลังเลกลับไป ผู้มีราคะมาแล้ว ก็หมดราคะกลับไป ผู้มีโทสะ
มาแล้ว ก็หมดโทสะกลับไป ผู้มีโมหะมาแล้ว ก็หมดโมหะกลับไป ผู้มีกิเลสมาแล้ว
ก็หมดกิเลสกลับไป รวมความว่า เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัย ให้กลับรู้ได้ ด้วย
เหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกราบทูลว่า
พระผู้มีพระภาค ทรงรู้ชัดอธิเทพ
ทรงรู้ธรรมของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง
เป็นพระศาสดาผู้กระทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย
เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัย ให้กลับรู้ได้
[๑๒๐] (พระปิงคิยเถระกราบทูลว่า)
สภาวะใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ
ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้
ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล (๑๙)
คำว่า สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ อธิบายว่า อมตนิพพาน
เรียกว่า ธรรมเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้น
ตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท สภาวะนั้นอันอะไรนำ
ไปมิได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ อธิบายว่า นิพพาน อันราคะ โทสะ
โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ
สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ กิเลสทุกชนิด ทุจริตทุกทาง ความ
เร่าร้อนทุกอย่าง อาสวะทุกชนิด ความกระวนกระวายทุกอย่าง ความเดือดร้อน
ทุกประการ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท นำไปไม่ได้ คือ เป็นของเที่ยง มั่นคง แน่แท้
มีการไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา รวมความว่า สภาวะนั้นอันอะไร นำไปมิได้
คำว่า ไม่กำเริบ อธิบายว่า อมตนิพพาน ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง
เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส
เป็นที่เย็นสนิท เรียกว่า (สภาวะ) ไม่กำเริบ
ความเกิดขึ้นแห่งนิพพาน ไม่ปรากฏ ความเสื่อมไม่มี ความเป็นอย่างอื่นของ
นิพพานนั้น ก็ไม่ปรากฏ นิพพานจึงเป็นสภาวะเที่ยง มั่นคง แน่แท้ มีความไม่แปรผัน
ไปเป็นธรรมดา รวมความว่า สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ
คำว่า ใด ในคำว่า สภาวะใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้ ได้แก่ นิพพาน
คำว่า ไม่มีอะไร ๆ... เปรียบได้ ได้แก่ ไม่มีอะไรเปรียบได้ คือ ไม่มีข้อ
เปรียบเทียบ ไม่มีสิ่งเสมอเหมือน ไม่มีส่วนเปรียบเทียบ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้
คำว่า ที่ไหน ได้แก่ ที่ไหน คือ ในที่ไหน ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก หรือ
ทั้งภายในและภายนอก รวมความว่า สภาวะใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
คำว่า แน่แท้ ในคำว่า ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้ ความสงสัยใน
สภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์ อธิบายว่า เป็นคำกล่าวนัยเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่
สงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่เคลือบแคลง เป็นคำกล่าวโดยไม่เป็น ๒ นัย เป็นคำกล่าว
โดยไม่เป็น ๒ อย่าง เป็นคำกล่าวโดยรัดกุม เป็นคำกล่าวโดยไม่ผิด โดยไม่พลาด
คำว่า แน่แท้ นี้ เป็นคำกล่าวที่กำหนดไว้แน่แล้ว
คำว่า ข้าพระองค์จักถึง ได้แก่ จักถึง คือ จักบรรลุ จักถูกต้อง จักทำให้แจ้ง
รวมความว่า ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] ๗. ปารายนานุคีติคาถานิทเทส
คำว่า ในสภาวะนั้น ในคำว่า ความสงสัย ในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์
อธิบายว่า ความสงสัย คือ ความลังเล ความสองจิตสองใจ ความแคลงใจใน
นิพพานไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ได้แก่ ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
รวมความว่า ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้ ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้า
พระองค์
คำว่า ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ไว้ ... ด้วยประการฉะนี้แล
ในคำว่า ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้น
แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล ได้แก่ ขอพระองค์โปรดเข้าไปกำหนดข้าพระองค์
ด้วยประการฉะนี้
คำว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว อธิบายว่า เป็นผู้มีจิตเอนไปใน
นิพพานแล้ว โอนไปในนิพพานแล้ว โน้มไปในนิพพานแล้ว น้อมใจไปในนิพพานแล้ว
รวมความว่า ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะ
นั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล ด้วยเหตุนั้น พระปิงคิยเถระจึงกราบทูลว่า
สภาวะใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ
ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้
ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล
ปารายนานุคีติคาถานิทเทสที่ ๑๘ จบ
ปารายนวรรค จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส๑
ปฐมวรรค
ว่าด้วยการประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๑๒๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น
ไม่ต้องการบุตร(แล้ว)จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๑)
คำว่า ทุกจำพวก ในคำว่า บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก อธิบายว่า ทุกสิ่ง
โดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือ โดยประการทั้งปวง คำว่า
ทุกจำพวก นี้ เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด
คำว่า ในสัตว์ ได้แก่ สัตว์ที่มักสะดุ้งและสัตว์ที่มั่นคง เรียกว่าสัตว์
คำว่า ผู้สะดุ้ง อธิบายว่า เหล่าสัตว์ยังละตัณหาอันทำให้สะดุ้งไม่ได้ ยังละภัย
และความหวาดกลัวไม่ได้ เพราะเหตุไร สัตว์เหล่านั้น จึงเรียกว่าผู้สะดุ้ง
สัตว์เหล่านั้นยังสะดุ้ง คือ ครั่นคร้าม เกรงกลัว หวาดกลัว ถึงความสะดุ้ง เพราะ
เหตุนั้น สัตว์เหล่านั้น จึงเรียกว่า ผู้สะดุ้ง
คำว่า ผู้มั่นคง อธิบายว่า เหล่าสัตว์ที่ละตัณหาอันทำให้สะดุ้งได้แล้ว ละภัย
และความหวาดกลัวได้แล้ว เพราะเหตุไร สัตว์เหล่านั้น จึงเรียกว่าผู้มั่นคง
สัตว์เหล่านั้นไม่สะดุ้ง ไม่ครั่นคร้าม ไม่เกรงกลัว ไม่หวาดกลัว ไม่ถึงความสะดุ้ง
เพราะเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้น จึงเรียกว่า ผู้มั่นคง

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๓๕-๗๕/๓๔๒-๓๔๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า โทษ ได้แก่ โทษ ๓ อย่าง คือ
๑. โทษทางกาย ๒. โทษทางวาจา
๓. โทษทางใจ
กายทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโทษทางกาย
วจีทุจริต ๔ อย่าง ชื่อว่าโทษทางวาจา
มโนทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโทษทางใจ
คำว่า บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก อธิบายว่า ยก คือ ทิ้ง ปลง ปลด
ทอดทิ้ง ระงับโทษในสัตว์ทุกจำพวก รวมความว่า บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
คำว่า ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น อธิบายว่า
ไม่เบียดเบียนสัตว์แม้แต่ผู้เดียว ด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา โซ่ตรวน หรือ
เชือก ไม่เบียดเบียนสัตว์แม้ทุกจำพวก ด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา โซ่ตรวน
หรือเชือก รวมความว่า ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น
คำว่า ไม่ ในคำว่า ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า
เป็นคำปฏิเสธ
คำว่า บุตร ได้แก่ บุตร ๔ จำพวก คือ
๑. บุตรเกิดจากตน ๒. บุตรเกิดในเขต
๓. บุตรที่เขาให้ ๔. บุตรที่อยู่ในสำนัก
คำว่า สหาย อธิบายว่า การมาสบาย การไปสบาย การไปการมาสบาย การ
ยืนสบาย การนั่งสบาย การนอนสบาย การทักทายสบาย การสนทนาสบาย การ
เจรจาสบาย การสนทาปราศรัยสบายกับชนเหล่าใด ชนเหล่านั้น เรียกว่า สหาย
คำว่า ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า อธิบายว่า
ไม่ต้องการ คือ ไม่ยินดี ไม่ปรารถนา ไม่มุ่งหมาย ไม่มุ่งหวังบุตรเลย พึงต้องการ
คือ พึงยินดี พึงปรารถนา พึงมุ่งหมาย พึงมุ่งหวังมิตร เพื่อนเห็น เพื่อนคบหรือ
สหายจากไหนเล่า รวมความว่า ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจาก
ไหนเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ว่าด้วยพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าชื่อว่าผู้เดียว
คำว่า ผู้เดียว ในคำว่า พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด อธิบายว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าชื่อว่าผู้เดียว เพราะส่วนแห่งการบรรพชา
ชื่อว่าผู้เดียว เพราะอธิบายว่า ไม่มีเพื่อน
ชื่อว่าผู้เดียว เพราะอธิบายว่า ละตัณหาได้
ท่านปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าผู้เดียว
ปราศจากโทสะโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าผู้เดียว
ปราศจากโมหะโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าผู้เดียว
ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าผู้เดียว
ไปถึงทางสายเอกแล้ว จึงชื่อว่าผู้เดียว
ตรัสรู้อนุตตรปัจเจกสัมโพธิญาณ ลำพังผู้เดียว จึงชื่อว่าผู้เดียว
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ชื่อว่าผู้เดียว เพราะส่วนแห่งการบรรพชา เป็นอย่างไร
คือ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นตัดความกังวลในการครองเรือนทั้งหมด ตัด
ความกังวลด้วยบุตรและภรรยา ความกังวลด้วยญาติ ความกังวลด้วยการ
สั่งสม ปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสาวะ ออกบวชเป็นบรรพชิต เข้าถึงความเป็น
ผู้ไม่มีกังวล เป็นผู้เดียว ประพฤติ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป
ยังชีวิตให้ดำเนินไป ฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า จึงชื่อว่าผู้เดียว เพราะส่วนแห่ง
การบรรพชา เป็นอย่างนี้
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าชื่อว่าผู้เดียว เพราะอธิบายว่าไม่มีเพื่อน เป็นอย่างไร
คือ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น บวชแล้วอย่างนี้ ใช้สอยเสนาสนะ ที่เป็นป่าทึบ
และป่าละเมาะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของ
ผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้นตามลำพังผู้เดียว


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ท่านไปผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว
เดินหน้าผู้เดียว กลับผู้เดียว นั่งในที่ลับผู้เดียว อธิษฐานจงกรมผู้เดียว ประพฤติ อยู่
เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว ฉะนั้น พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้น จึงชื่อว่าผู้เดียว เพราะอธิบายว่าไม่มีเพื่อน
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าชื่อว่าผู้เดียว เพราะอธิบายว่าละตัณหาได้ เป็นอย่างไร
คือ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นผู้เดียว ไม่มีเพื่อนสองอย่างนี้ ไม่ประมาท
มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว (อุทิศกายและใจ)อยู่ ตั้งความเพียรมาก กำจัดมาร
พร้อมทั้งเสนาผู้ชั่วร้ายซึ่งกีดกันมหาชนไม่ให้หลุดพ้น เป็นเผ่าพันธุ์ของผู้ประมาท ละ
บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก ซึ่งตัณหาที่เป็นดุจตาข่าย ซ่านไป
เกาะเกี่ยวในอารมณ์
บุรุษมีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏที่มีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่น
ภิกษุรู้โทษนี้แล้ว รู้ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดแห่งทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่๑
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ชื่อว่าผู้เดียว เพราะอธิบายว่าละตัณหาได้ เป็นอย่างนี้
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง ชื่อว่าผู้เดียว เป็นอย่างไร
คือ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละราคะ
ได้แล้ว จึงชื่อว่าผู้เดียว ปราศจากโทสะโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละโทสะได้แล้ว จึงชื่อ
ว่าผู้เดียว
ปราศจากโมหะโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละโมหะได้แล้ว จึงชื่อว่าผู้เดียว
ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละเหล่ากิเลสได้แล้ว จึงชื่อว่าผู้เดียว
เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก.(แปล) ๒๑/๙/๑๕,๒๕๗/๓๗๔, ขุ.อิติ. ๒๕/๑๐๕/๓๒๔, ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๗-๕๕๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าไปถึงทางสายเอกแล้ว จึงชื่อว่าผู้เดียว เป็นอย่างไร
คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕
โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ตรัสเรียกว่า ทางสายเอก
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ผู้เห็นธรรมอันเป็นส่วนที่สุดสิ้นแห่งชาติ
อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูล
รู้จักมรรคอันเป็นทางสายเอก
ซึ่งเหล่าบัณฑิตได้ข้ามมาก่อนแล้ว
จักข้าม และกำลังข้ามโอฆะได้ด้วยมรรคนี้๑
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าไปถึงทางสายเอกแล้ว จึงชื่อว่าผู้เดียว เป็นอย่างนี้

ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาท
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรปัจเจกสัมโพธิญาณลำพังผู้เดียว จึง
ชื่อว่าผู้เดียว เป็นอย่างไร
คือ ญาณในมรรคทั้ง ๔ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจย-
สัมโพชฌงค์ วิมังสา วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิ เรียกว่า โพธิ
ด้วยปัจเจกโพธิญาณนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ว่า “สังขารทั้งปวง
ไม่เที่ยง... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”

ตรัสรู้ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี


เชิงอรรถ :
๑ สํ.ม. ๑๙/๓๘๔/๑๔๖,๔๐๙/๑๖๒, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๑/๕๔๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส

เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี”
ตรัสรู้ว่า “เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ”

ตรัสรู้ว่า “นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้
อาสวะ นี้อาสวะสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้คือธรรมที่
ควรรู้ยิ่ง เหล่านี้คือธรรมที่ควรละ เหล่านี้คือธรรมที่ควรกระทำให้แจ้ง เหล่านี้คือ
ธรรมที่ควรเจริญ ตรัสรู้เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดทิ้ง ผัสสายตนะ ๖
ตรัสรู้เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดทิ้งอุปาทานขันธ์ ๕ ตรัสรู้เหตุเกิด
เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดทิ้งมหาภูตรูป ๔”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ตรัสรู้ว่า“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความ
ดับไปเป็นธรรมดา”
อีกนัยหนึ่ง ธรรมชาติอย่างใดก็ตามที่ควรตรัสรู้ ควรตรัสรู้ตามลำดับ ควร
ตรัสรู้เฉพาะ ควรตรัสรู้ด้วยดี ควรบรรลุ ควรถูกต้อง ควรทำให้แจ้ง พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ตรัสรู้ตามลำดับ ตรัสรู้เฉพาะ ตรัสรู้ด้วยดี ตรัสรู้โดยชอบ
บรรลุถูกต้อง ทำให้แจ้งธรรมชาตินั้นทั้งหมดด้วยปัจเจกโพธิญาณนั้น พระ
ปัจเจกสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรปัจเจกสัมโพธิญาณลำพังผู้เดียว จึงชื่อว่าผู้เดียว
เป็นอย่างนี้

ว่าด้วยความประพฤติ ๘ อย่าง
คำว่า พึงประพฤติ อธิบายว่า ความประพฤติ ๘ อย่าง ได้แก่

๑. ความประพฤติในอิริยาบถ ๒. ความประพฤติในอายตนะ
๓. ความประพฤติในสติ ๔. ความประพฤติในสมาธิ
๕. ความประพฤติในญาณ ๖. ความประพฤติในมรรค
๗. ความประพฤติในผล ๘. ความประพฤติเพื่อประโยชน์แก่โลก

คำว่า ความประพฤติในอิริยาบถ ได้แก่ ความประพฤติในอิริยาบถ ๔
คำว่า ความประพฤติในอายตนะ ได้แก่ ความประพฤติในอายตนะภายในและ
อายตนะภายนอกอย่างละ ๖
คำว่า ความประพฤติในสติ ได้แก่ ความประพฤติในสติปัฏฐาน ๔
คำว่า ความประพฤติในสมาธิ ได้แก่ ความประพฤติในฌาน ๔
คำว่า ความประพฤติในญาณ ได้แก่ ความประพฤติในอริยสัจ ๔
คำว่า ความประพฤติในมรรค ได้แก่ ความประพฤติในอริยมรรค ๔
คำว่า ความประพฤติในผล ได้แก่ ความประพฤติในสามัญญผล ๔
คำว่า ความประพฤติเพื่อประโยชน์แก่โลก ได้แก่ ความประพฤติในพระตถาคต
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ความประพฤติในพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าบางส่วน ความ
ประพฤติในพระสาวกบางส่วน ความประพฤติในอิริยาบถมีแก่ผู้ตั้งตนไว้ชอบ ความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๓๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ประพฤติในอายตนะมีแก่ผู้สำรวมอินทรีย์ ความประพฤติในสติมีแก่ผู้ที่อยู่ด้วยความ
ไม่ประมาท ความประพฤติในสมาธิมีแก่ผู้ขวนขวายในอธิจิต ความประพฤติในญาณ
มีแก่ผู้บรรลุปัญญาเครื่องตรัสรู้ ความประพฤติในมรรคมีแก่ผู้ปฏิบัติชอบ ความ
ประพฤติในผลมีแก่ผู้ได้บรรลุผล และความประพฤติเพื่อประโยชน์แก่โลกมีแก่
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าบางส่วน พระสาวกบาง
ส่วนเหล่านี้ คือ ความประพฤติ ๘ อย่าง
อีกนัยหนึ่ง ความประพฤติ ๘ อย่าง คือ
๑. เมื่อน้อมใจเชื่อ ชื่อว่าย่อมประพฤติด้วยศรัทธา
๒. เมื่อประคองใจ ชื่อว่าย่อมประพฤติด้วยวิริยะ
๓. เมื่อตั้งจิตมั่น ชื่อว่าย่อมประพฤติด้วยสติ
๔. เมื่อทำความไม่ฟุ้งซ่าน ชื่อว่าย่อมประพฤติด้วยสมาธิ
๕. เมื่อรู้ชัด ชื่อว่าย่อมประพฤติด้วยปัญญา
๖. เมื่อรู้แจ้ง ชื่อว่าย่อมประพฤติด้วยวิญญาณ
๗. เมื่อมนสิการว่า “กุศลธรรมทั้งหลายย่อมดำเนินไปแก่ผู้ปฏิบัติอย่าง
นี้” ชื่อว่าย่อมประพฤติด้วยความประพฤติในอายตนะ
๘. เมื่อมนสิการว่า “ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ย่อมบรรลุคุณวิเศษ” ชื่อว่าย่อม
ประพฤติในความประพฤติด้วยคุณวิเศษ
เหล่านี้ ชื่อว่าความประพฤติ ๘ อย่าง
อีกนัยหนึ่ง ความประพฤติ ๘ อย่าง คือ
๑. ความประพฤติสัมมาทิฏฐิ ชื่อว่าทัสสนจริยา(ความประพฤติด้วยความเห็น)
๒. ความประพฤติสัมมาสังกัปปะ ชื่อว่าอภินิโรปนจริยา(ความประพฤติด้วย
การปลูกฝังความดำริ)
๓. ความประพฤติสัมมาวาจา ชื่อว่าปริคคหจริยา(ความประพฤติการกำหนด
สำรวมวจี ๔ อย่าง)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
๔. ความประพฤติสัมมากัมมันตะ ชื่อว่าสมุฏฐานจริยา(ความประพฤติด้วย
ความหมั่น)
๕. ความประพฤติสัมมาอาชีวะ ชื่อว่าโวทานจริยา(ความประพฤติด้วยความ
ผ่องแผ้ว)
๖. ความประพฤติสัมมาวายามะ ชื่อว่าปัคคหจริยา(ความประพฤติด้วยการ
ประคองความเพียร)
๗. ความประพฤติสัมมาสติ ชื่อว่าอุปัฏฐานจริยา(ความประพฤติด้วยการ
เข้าไปตั้งสติ)
๘. ความประพฤติสัมมาสมาธิ ชื่อว่าอวิกเขปจริยา(ความประพฤติด้วยความ
ไม่ฟุ้งซ่าน)
เหล่านี้ ชื่อว่าความประพฤติ ๘ อย่าง
คำว่า เหมือนนอแรด อธิบายว่า ธรรมดาแรด ย่อมมีนอเดียว ไม่มีนอที่สอง
ฉันใด พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นก็เหมือนนอแรดนั้น คือ เช่นเดียวกับนอแรดนั้น
เปรียบได้กับนอแรดนั้น
รสเค็มจัด คนพูดกันว่าเหมือนเกลือ รสขมจัด พูดกันว่าเหมือนดี รสหวานจัด
พูดกันว่าเหมือนน้ำผึ้ง ร้อนจัด พูดกันว่าเหมือนไฟ เย็นจัด พูดกันว่าเหมือนน้ำแข็ง
ปริมาณน้ำมีมาก พูดกันว่าเหมือนทะเล พระสาวกผู้บรรลุอภิญญาและพละอันยิ่ง
ใหญ่ พูดกันว่า เหมือนพระศาสดา ฉันใด พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นก็ฉันนั้น เหมือน
นอแรดนั้น เป็นเช่นเดียวกับนอแรดนั้น เปรียบได้กับนอแรดนั้น ในข้อนั้น เป็นผู้เดียว
คือ ไม่มีเพื่อน พ้นจากเครื่องผูกพัน ย่อมประพฤติ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปโดยชอบ ในโลก รวมความว่า จึงประพฤติ
อยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น
ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[๑๒๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
ความรัก ย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง
ทุกข์นี้ ย่อมเป็นไปตามความรัก
เราเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๒)
คำว่า ความรัก ย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง อธิบายว่า
คำว่า ความเกี่ยวข้อง ได้แก่ ความเกี่ยวข้อง ๒ อย่าง คือ
๑. ความเกี่ยวข้องเพราะการเห็น
๒. ความเกี่ยวข้องเพราะการได้ยิน
ความเกี่ยวข้องเพราะการเห็น เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ เห็นสตรีหรือกุมารี ผู้มีรูปงาม น่าดู น่าชม เพียบพร้อม
ด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง ครั้นพบเห็นแล้ว ย่อมแยกถือว่า ผมงาม
หน้างาม นัยน์ตางาม หูงาม จมูกงาม ริมฝีปากงาม ฟันงาม ปากงาม คองาม
นมงาม อกงาม ท้องงาม เอวงาม ขาอ่อนงาม แข้งงาม มืองาม เท้างาม นิ้วงาม
เล็บงาม คือ ครั้นพบเห็นแล้ว ก็พอใจ พร่ำเพ้อถึง ปรารถนา ติดใจ ผูกพัน
ด้วยความกำหนัด นี้ชื่อว่าความเกี่ยวข้องเพราะการเห็น
ความเกี่ยวข้องเพราะการได้ยิน เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ได้ยินว่า “ในหมู่บ้าน หรือนิคมชื่อโน้น มีสตรี หรือ
กุมารี รูปงาม น่าดู น่าชม เพียบพร้อมด้วยความงามแห่งผิวพรรณอย่างยิ่ง” ครั้น
ได้ยิน ได้ฟังแล้ว ก็พอใจ พร่ำเพ้อถึง ปรารถนา ติดใจ ผูกพันด้วยความกำหนัด
นี้ชื่อว่าความเกี่ยวข้องเพราะการได้ยิน
คำว่า ความรัก ได้แก่ ความรัก ๒ อย่าง คือ (๑) ความรักด้วยอำนาจตัณหา
(๒) ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ
ความรักด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร
คือ วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วน เป็นแผนก กำหนดถือเอา ยึดถือ
ว่าเป็นของเราด้วยสัดส่วนแห่งตัณหามีประมาณเท่าใด ย่อมยึดถือว่าเป็นของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๐๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ซึ่งวัตถุมีประมาณเท่านี้ว่า นี้ของเรา นั่นของเรา เท่านี้ของเรา ของเรามีปริมาณเท่านี้
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสหญิงชาย แพะ แกะ
ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี แคว้น ชนบท
กองพลรบ คลังหลวง แม้มหาปฐพีทั้งสิ้นย่อมยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา
ซึ่งจำแนกได้ ๑๐๘ นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจตัณหา
ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐
ทิฏฐิ การตกอยู่ในทิฏฐิ ความรกชัฏคือทิฏฐิ ความกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือ
ทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องผูกพันคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น ความยึดมั่น
ความยึดมั่นถือมั่น ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเดียรถีย์ ความถือขัดแย้ง ความ
ถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงว่าเป็นจริง
เห็นปานนี้จนถึงทิฏฐิ ๖๒ นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ
คำว่า ความรัก ย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง อธิบายว่า เพราะความ
เกี่ยวข้อง เพราะการเห็นเป็นปัจจัย และเพราะความเกี่ยวข้องเพราะการได้ยินเป็น
ปัจจัย ความรักด้วยอำนาจตัณหา และความรักด้วยอำนาจทิฏฐิย่อมมี คือ มีขึ้น
เกิด เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏ รวมความว่า ความรัก ย่อมมีแก่ผู้มี
ความเกี่ยวข้อง
คำว่า ทุกข์นี้ ย่อมเป็นไปตามความรัก อธิบายว่า
คำว่า ความรัก ได้แก่ ความรัก ๒ อย่าง คือ (๑) ความรักด้วยอำนาจตัณหา
(๒) ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่า
ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
คำว่า ทุกข์นี้ ย่อมเป็นไป อธิบายว่า คนบางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริต
ทางกาย ประพฤติทุจริตทางวาจา ประพฤติทุจริตทางใจ ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง


เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๑/๘๐-๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๐๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ตัดช่องย่องเบาบ้าง ขโมยยกเค้าบ้าง ปล้นบ้านบ้าง ดักจี้ในทางเปลี่ยวบ้าง ละเมิด
ภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง พวกราชบุรุษจับบุคคลนั้นได้ จึงทูลแสดงแก่พระ
ราชาว่า “ขอเดชะ ผู้นี้เป็นโจร ประพฤติชั่ว ขอจงทรงลงอาญาตามที่ทรงพระราช
ประสงค์แก่บุคคลนี้เถิด” พระราชาย่อมทรงบริภาษบุคคลนั้น เพราะการบริภาษเป็น
ปัจจัย เขาย่อมเสวยทุกข์โทมนัสบ้าง ความกลัว ทุกข์และโทมนัสนี้ของเขาเกิดจาก
อะไร ความกลัวนี้ เกิดแก่เขา เพราะความรักเป็นปัจจัย เพราะความเพลิดเพลิน
เป็นปัจจัย เพราะราคะเป็นปัจจัย และเพราะความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน
เป็นปัจจัย
พระราชาไม่ทรงพอพระทัยแม้เพียงเท่านั้น ทรงให้จองจำบุคคลนั้นด้วยเครื่อง
จองจำคือขื่อคาบ้าง เครื่องจองจำคือเชือกบ้าง เครื่องจองจำคือโซ่ตรวนบ้าง เครื่อง
จองจำคือหวายบ้าง เครื่องจองจำคือเถาวัลย์บ้าง เครื่องจองจำคือคุกบ้าง เครื่อง
จองจำคือเรือนจำบ้าง เครื่องจองจำคือหมู่บ้านบ้าง เครื่องจองจำคือนิคมบ้าง เครื่อง
จองจำคือเมืองบ้าง เครื่องจองจำคือรัฐบ้าง เครื่องจองจำคือชนบทบ้าง โดยที่สุด
ทรงมีพระราชโองการว่า “พวกมันออกไปจากที่นี่ไม่ได้” บุคคลนั้นย่อมเสวยทุกข์และ
โทมนัส เพราะถูกจองจำเป็นปัจจัยบ้าง ความกลัว ทุกข์และโทมนัสของเขานี้ เกิด
มาจากอะไร ความกลัวนี้ เกิดแก่เขา เพราะความรักเป็นปัจจัย เพราะความ
เพลิดเพลินเป็นปัจจัย เพราะราคะเป็นปัจจัย และเพราะความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความเพลิดเพลินเป็นปัจจัย
พระราชาไม่ทรงพอพระทัยแม้เพียงเท่านั้น ทรงให้ปรับทรัพย์ของเขา ๑๐๐ บ้าง
๑,๐๐๐ บ้าง ๑๐๐,๐๐๐ บ้าง บุคคลนั้นก็เสวยทุกข์และโทมนัส เพราะการหมด
เปลืองทรัพย์เป็นปัจจัย ความกลัว ทุกข์และโทมนัสของเขานี้ เกิดมาจากอะไร
ความกลัวนี้ เกิดแก่เขา เพราะความรักเป็นปัจจัย เพราะความเพลิดเพลินเป็น
ปัจจัย เพราะราคะเป็นปัจจัย และเพราะความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน
เป็นปัจจัย
พระราชาไม่ทรงพอพระทัยเพียงเท่านั้น ทรงรับสั่งให้จับเขาลงอาญาด้วยประการ
ต่าง ๆ คือ ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ให้เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ให้ตีด้วยไม้พลองบ้าง ตัดมือ
บ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง ตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและ
จมูกบ้าง วางก้อนเหล็กแดงบนศีรษะบ้าง ถลกหนังศีรษะแล้วขัดให้ขาวเหมือนสังข์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๐๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
บ้าง เอาไฟยัดปากจนเลือดไหลเหมือนปากราหูบ้าง เอาผ้าพันตัวราดน้ำมันแล้วจุด
ไฟเผาบ้าง พันมือแล้วจุดไฟต่างคบบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงข้อเท้าให้ลุกเดินเหยียบ
หนังจนล้มลงบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงบั้นเอวทำให้มองดูเหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง
สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกและเข่าแล้วเสียบหลาวทั้งห้าทิศเอาไฟเผาบ้าง ใช้เบ็ดเกี่ยว
หนัง เนื้อ เอ็นออกมาบ้าง เฉือนเนื้อออกเป็นแว่น ๆ เหมือนเหรียญกษาปณ์บ้าง
เฉือนหนังเนื้อเอ็นออกเหลือไว้แต่กระดูกบ้าง ใช้หลาวแทงช่องหูให้ทะลุถึงกันบ้าง
เสียบให้ติดดินแล้วจับเขาหมุนได้รอบบ้าง ทุบกระดูกให้แหลกแล้วถลกหนังออกเหลือ
ไว้แต่กองเนื้อเหมือนตั่งใบไม้บ้าง รดตัวด้วยน้ำมันที่กำลังเดือดพล่านบ้าง ให้สุนัขกัด
กินจนเหลือแต่กระดูกบ้าง ให้นอนบนหลาวทั้งเป็นบ้าง เอาดาบตัดศีรษะบ้าง บุคคล
นั้นย่อมเสวยทุกข์และโทมนัส เพราะการลงโทษเป็นปัจจัย ความกลัว ทุกข์และ
โทมนัสของเขานี้ เกิดมาจากอะไร ความกลัวนี้ เกิดแก่เขา เพราะความรักเป็นปัจจัย
เพราะความเพลิดเพลินเป็นปัจจัย เพราะราคะเป็นปัจจัย และเพราะความกำหนัด
ด้วยอำนาจความเพลิดเพลินเป็นปัจจัย
หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรม
ของตน พวกนายนิรยบาล ก็ลงโทษ มีการจองจำ ๕ อย่าง คือ
๑. เอาหลาวเหล็กร้อนตรึงที่มือขวา
๒. เอาหลาวเหล็กร้อนตรึงที่มือซ้าย
๓. เอาหลาวเหล็กร้อนตรึงที่เท้าขวา
๔. เอาหลาวเหล็กร้อนตรึงที่เท้าซ้าย
๕. เอาหลาวเหล็กร้อนตรึงที่กลางอก
เขาเสวยทุกขเวทนาอย่างเผ็ดร้อนในนรกนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาป
กรรมนั้นยังไม่หมดสิ้นไป ความกลัว ทุกข์และโทมนัสของเขานี้ เกิดมาจากอะไร
ความกลัวนี้ เกิดแก่เขา เพราะความรักเป็นปัจจัย เพราะความเพลิดเพลินเป็น
ปัจจัย เพราะราคะเป็นปัจจัย และเพราะความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน
เป็นปัจจัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๐๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
พวกนายนิรยบาลให้เขานอนลงแล้วถากด้วยผึ่ง ฯลฯ พวกนายนิรยบาลจับ
เขาเอาเท้าขึ้น เอาศีรษะลง เอามีดเฉือน พวกนายนิรยบาลจับเขาเทียมรถแล่นกลับ
ไปกลับมาบนพื้นอันร้อนลุกเป็นเปลว โชติช่วง พวกนายนิรยบาล บังคับเขาขึ้นลง
ภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ที่ไฟลุกโชนโชติช่วงบ้าง พวกนายนิรยบาลจับเขาเอาเท้าขึ้น
เอาศีรษะทุ่มลงในโลหกุมภีอันร้อนแดง ลุกเป็นแสงไฟ โชติช่วง เขาถูกต้มเดือดจน
ตัวพองในโลหกุมภีนั้น บางคราวลอยขึ้น บางครั้งจมลง บางครั้งลอยขวาง เขาเสวย
ทุกขเวทนากล้าอย่างหนักเผ็ดร้อนในโลหกุมภีอันร้อนแดงนั้น แต่ยังไม่ตายตราบ
เท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่หมดสิ้นไป ความกลัว ทุกข์และโทมนัสของเขานี้ เกิดมา
จากอะไร ความกลัวนี้ เกิดแก่เขา เพราะความรักเป็นปัจจัย เพราะความเพลิดเพลิน
เป็นปัจจัย เพราะราคะเป็นปัจจัย และเพราะความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน
เป็นปัจจัย

ว่าด้วยนรก
พวกนายนิรยบาลจึงทุ่มเขาลงในมหานรก ก็มหานรกนั้น
มี ๔ มุม ๔ ประตู แบ่งออกเป็นส่วน
มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ ครอบด้วยฝาเหล็ก
มหานรกนั้น มีพื้นเป็นเหล็ก ลุกโชนโชติช่วง
แผ่ไปไกลด้านละ ๑๐๐ โยชน์ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ๑
มหานรกอันน่าสยดสยอง แผดเผาสัตว์ให้มีทุกข์
ร้ายแรง มีเปลวไฟ เข้าใกล้ได้ยาก น่าขนลุก
น่าพรั่นพรึง น่ากลัว น่าเป็นทุกข์
มีกองไฟลุกขึ้นจากผนังด้านตะวันออก
แผดเผาสัตว์ผู้มีบาปกรรม ไปจรดผนังด้านตะวันตก
มีกองไฟลุกขึ้นจากผนังด้านตะวันตก
แผดเผาสัตว์ผู้มีบาปกรรม ไปจรดผนังด้านตะวันออก

เชิงอรรถ :
๑ ม.อุ. ๑๔/๒๕๐/๒๑๗-๒๑๘,๒๖๗/๒๓๖, องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๖/๑๙๔, อภิ.ก. ๓๗/๘๖๘/๔๙๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๐๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
มีกองไฟลุกขึ้นจากผนังด้านใต้
แผดเผาสัตว์ผู้มีบาปกรรม ไปจรดผนังด้านเหนือ
มีกองไฟลุกขึ้นจากผนังด้านเหนือ
แผดเผาสัตว์ผู้มีบาปกรรม ไปจรดผนังด้านใต้
กองไฟที่น่าสะพรึงกลัว ผุดขึ้นมาจากเบื้องล่าง
แผดเผาสัตว์ผู้มีบาปกรรม (ลุกท่วม) ติดหลังคา
กองไฟที่น่าสะพรึงกลัว ลุกขึ้นมาจากหลังคา
แผดเผาสัตว์ผู้มีบาปกรรม (ลามลง) กระทบถึงพื้น
อเวจีมหานรก ทั้งข้างล่าง ข้างบน ด้านข้าง
ก็เหมือนกับแผ่นเหล็กที่ถูกไฟเผาลน เร่าร้อนโชติช่วงอยู่เสมอ
สัตว์ทั้งหลายที่หยาบช้ามาก ทำกรรมร้ายแรงมากเสมอ
เป็นผู้มีบาปกรรมโดยส่วนเดียว
มอดไหม้อยู่ในอเวจีมหานรกนั้น แต่ก็ยังไม่ตาย
ร่างกายของสัตว์ที่อยู่ในนรกเหล่านั้น
เหมือนกับไฟที่ไหม้อยู่ ขอเธอจงดูความมั่นคงของกรรมเถิด
ไม่มีเถ้าและเขม่าเลย
สัตว์นรกทั้งหลายวิ่งไปทางตะวันออก
จากตะวันออกนั้น ก็วิ่งไปทางตะวันตก วิ่งไปทางเหนือ
จากทางเหนือนั้น ก็วิ่งไปทางด้านใต้
วิ่งไปยังทิศใด ๆ ประตูนั้น ๆ ก็ปิดเสีย สัตว์เหล่านั้น
มีความหวังจะออกไป จึงเที่ยวแสวงหาทางออกอยู่เสมอ
สัตว์เหล่านั้นไม่สามารถจะออกไปจากมหานรกนั้น
เพราะกรรมเป็นปัจจัย เพราะสัตว์เหล่านั้นทำกรรมชั่วร้ายไว้มาก
ยังให้ผลไม่หมดสิ้น๑

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๗๐/๔๘๐-๔๘๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๐๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ความกลัว ทุกข์และโทมนัสของเขานี้ เกิดมาจากอะไร ความกลัวนี้ เกิดแก่เขา
เพราะความรักเป็นปัจจัย เพราะความเพลิดเพลินเป็นปัจจัย เพราะราคะเป็นปัจจัย
และเพราะความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลินเป็นปัจจัย
ทุกข์ของสัตว์นรกก็ดี ทุกข์ของสัตว์ที่เกิดในกำเนิดเดรัจฉานก็ดี ทุกข์ของสัตว์
ที่เกิดในเปตวิสัยก็ดี ทุกข์ของมนุษย์ก็ดี เกิดมาจากอะไร คือ เกิดขึ้นมาจากไหน
บังเกิดมาจากไหน บังเกิดขึ้นมาจากไหน ปรากฏมาจากไหน ความกลัวนี้ ย่อมมี
มีขึ้น เกิด เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏแก่เขา เพราะความรักเป็นปัจจัย
เพราะความเพลิดเพลินเป็นปัจจัย เพราะราคะเป็นปัจจัย และเพราะความกำหนัด
ด้วยอำนาจความเพลิดเพลินเป็นปัจจัย รวมความว่า ทุกข์นี้ ย่อมเป็นไปตาม
ความรัก
คำว่า เราเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก อธิบายว่า
คำว่า ความรัก ได้แก่ ความรัก ๒ อย่าง คือ (๑) ความรักด้วยอำนาจตัณหา
(๒) ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่า
ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
คำว่า เราเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก อธิบายว่า เราเมื่อเพ่งเห็น คือ
แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณาเห็นโทษอันเกิดจากความรัก คือ ความรัก
ด้วยอำนาจตัณหา และความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ รวมความว่า เราเมื่อเพ่งเห็นโทษ
อันเกิดจากความรัก จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจก
สัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
ความรัก ย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง
ทุกข์นี้ ย่อมเป็นไปตามความรัก
เราเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในหน้า ๔๐๒-๔๐๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๐๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[๑๒๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี
มีใจผูกพัน ย่อมทำประโยชน์ให้เสื่อมไปได้
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยนั้นในความเชยชิด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๓)
คำว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี มีใจผูกพัน ย่อมทำ
ประโยชน์ให้เสื่อมไปได้ อธิบายว่า
คำว่า มิตร ได้แก่ มิตร ๒ จำพวก คือ
๑. อาคาริกมิตร ๒. อนาคาริกมิตร
อาคาริกมิตร เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ให้สิ่งที่ให้ได้ยาก สละสิ่งที่สละได้ยาก ทำสิ่งที่ทำได้ยาก
ทนสิ่งที่ทนได้ยาก บอกความลับแก่เพื่อน ปกปิดความลับของเพื่อน ไม่ทอดทิ้งใน
คราวมีอันตราย แม้ชีวิตก็สละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ เมื่อเพื่อนสิ้นเนื้อประดาตัว
ก็ไม่ดูหมิ่น นี้ชื่อว่าอาคาริกมิตร
อนาคาริกมิตร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นที่รัก พอใจ เป็นที่เคารพ ควรยกย่อง พูดเป็น
ทนฟังถ้อยคำได้ กล่าวถ้อยคำได้ลึกซึ้ง และไม่ชักนำไปในเรื่องไม่สมควร ชักชวน
(ให้บำเพ็ญ)ในทางอธิสีล ชักชวนให้หมั่นเจริญสติปัฏฐาน ๔ ชักชวนให้หมั่นเจริญ
สัมมัปปธาน ๔ ฯลฯ อิทธิบาท ๔ ฯลฯ อินทรีย์ ๕ ฯลฯ พละ ๕ ฯลฯ
โพชฌงค์ ๗ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ชื่อว่าอนาคาริกมิตร
คำว่า สหายผู้ใจดี อธิบายว่า การมาสบาย การไปสบาย การไปการมา
สบาย การยืนสบาย การนั่งสบาย การนอนสบาย การทักทายสบาย การสนทนา
สบาย การเจรจาสบาย การสนทนาปราศัยสบายกับชนเหล่าใด ชนเหล่านั้น
เรียกว่า สหายผู้ใจดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๐๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี... ย่อมทำประโยชน์ให้เสื่อม
ไปได้ อธิบายว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์ คือ อุดหนุน เกื้อกูลมิตร คนใจดี เพื่อน
ที่เห็นกันมา เพื่อนที่คบกันมาและสหาย ย่อมทำให้ประโยชน์ตนเสื่อมไปบ้าง ย่อม
ทำให้ประโยชน์ผู้อื่นเสื่อมไปบ้าง ย่อมทำให้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเสื่อมไปบ้าง ย่อม
ทำให้ประโยชน์ในปัจจุบันเสื่อมไปบ้าง ย่อมทำให้ประโยชน์ในภพหน้าเสื่อมไปบ้าง
ย่อมทำให้ประโยชน์อย่างยิ่งเสื่อมไปบ้าง คือ ให้เสียไป ให้สิ้นไป ให้เสื่อมเสีย
สูญหาย สูญหายไป รวมความว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี ... ย่อม
ทำประโยชน์ให้เสื่อมไปได้
คำว่า มีใจผูกพัน อธิบายว่า บุคคลมีใจผูกพันด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ
๑. เมื่อวางตนต่ำวางผู้อื่นสูง ชื่อว่ามีใจผูกพัน
๒. เมื่อวางตนสูงวางผู้อื่นต่ำ ชื่อว่ามีใจผูกพัน
บุคคลเมื่อวางตนต่ำ วางผู้อื่นสูง ชื่อว่ามีใจผูกพัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุกล่าวว่า พวกท่านมีอุปการะมากแก่อาตมภาพ อาตมภาพอาศัย
พวกท่านจึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร คนเหล่าอื่น
อาศัยพวกท่าน เห็นกับพวกท่าน จึงเข้าใจที่จะให้ หรือจะทำแก่อาตมภาพ ชื่อและ
สกุลเก่าของมารดาบิดาของอาตมภาพสูญหายไปหมดแล้ว พวกท่านทำให้อาตมภาพ
เป็นที่รู้จักว่า “อาตมภาพ เป็นพระประจำตระกูลของอุบาสกโน้น เป็นพระประจำ
ตระกูลของอุบาสิกาโน้น” ดังนี้ เมื่อวางตนต่ำ วางผู้อื่นสูง ชื่อว่ามีใจผูกพัน เป็น
อย่างนี้
บุคคลเมื่อวางตนสูง วางผู้อื่นต่ำ ชื่อว่ามีใจผูกพัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุกล่าวว่า อาตมภาพมีอุปการะมากแก่พวกท่าน พวกท่านอาศัย
อาตมภาพแล้ว จึงได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง ถึงพระสงฆ์เป็น
ที่พึ่ง เว้นขาดจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท เว้นขาด
จากสุราเมรัยอันเป็นของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อาตมภาพบอก
อุทเทส(บาลี)บ้าง ปริปุจฉา(อรรถกถา)บ้าง ศีลบ้าง อุโบสถบ้าง แก่พวกท่าน
อาตมภาพอธิษฐานนวกรรม(ตั้งใจทำการก่อสร้าง) เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกท่านยังทอด
ทิ้งอาตมภาพไป สักการะ เคารพ นับถือ บูชาผู้อื่น เมื่อวางตนสูง วางผู้อื่นต่ำ
ชื่อว่ามีใจผูกพัน เป็นอย่างนี้ รวมความว่า บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี
มีใจผูกพัน ย่อมทำประโยชน์ให้เสื่อมไปได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๑๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ว่าด้วยภัย
คำว่า ภัย ในคำว่า เมื่อเพ่งเห็นภัยนั้นในความเชยชิด ได้แก่ ชาติภัย ชราภัย
พยาธิภัย มรณภัย ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย อัตตานุวาทภัย(ภัยเกิดจาก
การติเตียนตน) ปรานุวาทภัย(ภัยเกิดจากการติเตียนของผู้อื่น) ทัณฑภัย(ภัยจาก
อาชญา) ทุคติภัย(ภัยในทุคติ) อูมิภัย(ภัยจากคลื่น) กุมภีลภัย(ภัยจากจระเข้)
อาวัฏฏภัย(ภัยจากน้ำวน) สุงสุมารภัย(ภัยจากปลาร้าย) อาชีวิกภัย(ภัยจากการ
หาเลี้ยงชีพ) อสิโลกภัย(ภัยคือความเสื่อมเสียชื่อเสียง) ปริสสารัชชภัย(ภัยจากความ
ครั่นคร้ามในชุมชน) มทนภัย(ภัยจากความมัวเมา) เหตุที่น่ากลัว ความหวาดเสียว
ขนพองสยองเกล้า ใจหวาดเสียว ความสะดุ้ง
คำว่า ความเชยชิด ได้แก่ ความเชยชิด ๒ อย่าง คือ (๑) ความเชยชิดด้วย
อำนาจตัณหา (๒) ความเชยชิดด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความเชยชิดด้วย
อำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความเชยชิดด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
คำว่า เมื่อเพ่งเห็นภัยนั้นในความเชยชิด อธิบายว่า เมื่อเพ่งเห็น คือ แลเห็น
มองดู เพ่งพินิจ พิจารณาภัยในความเชยชิดนี้ รวมความว่า เมื่อเพ่งเห็นภัยนั้นใน
ความเชยชิด จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธ-
เจ้านั้นจึงกล่าวว่า
บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี
มีใจผูกพัน ย่อมทำประโยชน์ให้เสื่อมไปได้
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยนั้นในความเชยชิด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๒๔] (พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า)
กอไผ่กว้างใหญ่ เกาะเกี่ยวกันไว้ ฉันใด
ความห่วงใยในบุตรและทาระ ก็กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวไว้ ฉันนั้น
บุคคลเมื่อไม่เกี่ยวข้องเหมือนหน่อไผ่
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๔)

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๑/๘๐-๘๑, และข้อ ๑๒๒/๔๐๒-๔๐๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๑๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ว่าด้วยตัณหา
คำว่า กอไผ่กว้างใหญ่ เกาะเกี่ยวกันไว้ ฉันใด อธิบายว่า พุ่มต้นไผ่ เรียกว่า
กอไผ่ ในพุ่มต้นไผ่ ย่อมมีหนามจากกอเก่า ยุ่ง คือ รก เกี่ยว ข้อง เกาะติด
เกี่ยวพัน พัวพันกัน ฉันใด ตัณหา เรียกว่า วิสัตติกา ฉันนั้นเหมือนกัน คือ
ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความคล้อยตามอารมณ์ ความยินดี ความ
เพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ความกำหนัดนักแห่งจิต
ความอยาก ความสยบ ความหมกมุ่น ความหื่น ความหื่นกระหาย ความข้องอยู่
ความจมอยู่ ธรรมชาติที่ทำให้พลุกพล่าน ธรรมชาติที่หลอกลวง ธรรมชาติที่ยัง
สัตว์ให้เกิด ธรรมชาติที่ยังสัตว์ให้เกิดพร้อม ธรรมชาติที่ร้อยรัด ธรรมชาติที่มีข่าย
ธรรมชาติที่กำซาบใจ ธรรมชาติที่ซ่านไป ธรรมชาติดุจเส้นด้าย ธรรมชาติที่แผ่ไป
ธรรมชาติที่ประมวลมา ธรรมชาติที่เป็นเพื่อน ความคะนึงหา ตัณหาที่นำพาไปสู่ภพ
ตัณหาดุจป่า ตัณหาดุจป่าทึบ ความเชยชิด ความเยื่อใย ความห่วงใย ความผูกพัน
ความหวัง กิริยาที่หวัง ภาวะที่หวัง ความหวังในรูป ความหวังในเสียง ความหวัง
ในกลิ่น ความหวังในรส ความหวังในโผฏฐัพพะ ความหวังในลาภ ความหวังใน
ทรัพย์ ความหวังในบุตร ความหวังในชีวิต ธรรมชาติที่กระซิบ ธรรมชาติที่กระซิบ
บ่อย ๆ ธรรมชาติที่กระซิบยิ่ง ความกระซิบ กิริยาที่กระซิบ ภาวะที่กระซิบ ความ
ละโมบ กิริยาที่ละโมบ ภาวะที่ละโมบ ธรรมชาติที่ทำให้หวั่นไหว ภาวะที่ใคร่แต่
อารมณ์ดี ๆ ความกำหนัดในฐานะอันไม่ควร ความโลภเกินพอดี ความติดใจ กิริยา
ที่ติดใจ ความปรารถนา ความใฝ่หา ความหมายปอง กามตัณหา ภวตัณหา
วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพ ตัณหาในอรูปภพ ตัณหาในนิโรธ๑ รูปตัณหา
สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา โอฆะ๒ โยคะ๓

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหานิโรธ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐
๒ โอฆะ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐
๓ โยคะ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๑๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คันถะ๑ อุปาทาน๒ อาวรณ์๓ นิวรณ์ เครื่องปิดบัง เครื่องผูก อุปกิเลส อนุสัย๔
ปริยุฏฐาน ตัณหาดุจเถาวัลย์ ความปรารถนาวัตถุอย่างต่าง ๆ รากเหง้าแห่งทุกข์
เหตุแห่งทุกข์ แดนเกิดแห่งทุกข์ บ่วงแห่งมาร เบ็ดแห่งมาร วิสัยแห่งมาร
ที่อาศัยแห่งมาร โคจรแห่งมาร เครื่องผูกแห่งมาร ตัณหาดุจแม่น้ำ ตัณหาดุจข่าย
ตัณหาดุจโซ่ตรวน ตัณหาดุจสมุทร อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมายอย่างไร
ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะซ่านไป
ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะแผ่ไป
ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะขยายไป
ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะไม่สม่ำเสมอ
ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะครอบงำ
ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะสะท้อนไป
ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะเป็นตัวการให้พูดผิด
ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีรากเป็นพิษ
ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีผลเป็นพิษ
ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะเป็นตัวการให้บริโภคสิ่งมีพิษ
อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้น แผ่ไป ซ่านไป ขยายไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ตระกูล หมู่คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ
ปัญจโวการภพ อดีต อนาคต ปัจจุบัน รูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ได้ยินแล้ว กลิ่น รส

เชิงอรรถ :
๑ คันถะ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐
๒ อุปาทาน ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๑
๓ อาวรณ์ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๑
๔ อนุสัย ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๑๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
โผฏฐัพพะที่รับรู้แล้ว และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสัตติกา รวม
ความว่า กอไผ่กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวกันไว้ ฉันใด
คำว่า บุตร ในคำว่า ความห่วงใยในบุตรและทาระก็กว้างใหญ่ เกาะเกี่ยวไว้
ฉันนั้น ได้แก่ บุตร ๔ จำพวก คือ
๑. บุตรเกิดจากตน ๒. บุตรเกิดในเขต
๓. บุตรที่เขาให้ ๔. บุตรที่อยู่ในสำนัก
ภริยา เรียกว่า ทาระ
ตัณหาเรียกว่า ความห่วงใย ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ
อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ รวมความว่า ความห่วงใยในบุตรและทาระก็กว้างใหญ่
เกาะเกี่ยวไว้ ฉันนั้น
คำว่า บุคคลเมื่อไม่เกี่ยวข้อง เหมือนหน่อไผ่ อธิบายว่า พุ่มต้นไผ่เรียกว่า
กอไผ่ เหมือนหน่ออ่อนในกอไผ่ ไม่ข้อง ไม่เกาะติด ไม่ถูกผูกมัด ไม่พัวพัน โผล่ออก
สลัดออก ผุดพ้นขึ้นได้
คำว่า เกี่ยวข้อง ได้แก่ ความเกี่ยวข้อง ๒ อย่าง คือ (๑) ความเกี่ยวข้องด้วย
อำนาจตัณหา (๒) ความเกี่ยวข้องด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความข้องด้วยอำนาจ
ตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความเกี่ยวข้องด้วยอำนาจทิฏฐิ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละความเกี่ยวข้องด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งความ
เกี่ยวข้องด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละความเกี่ยวข้องด้วยอำนาจตัณหา
สลัดทิ้งความเกี่ยวข้องด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงไม่
เกี่ยวข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตระกูล ... หมู่คณะ ... อาวาส ... ลาภ ...
ยศ ... สรรเสริญ ... สุข ... จีวร ... บิณฑบาต ... เสนาสนะ ... คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
... กามธาตุ ... รูปธาตุ ... อรูปธาตุ ... กามภพ ... รูปภพ ... อรูปภพ ... สัญญาภพ
... อสัญญาภพ ... เนวสัญญานาสัญญาภพ ... เอกโวการภพ ... จตุโวการภพ ...
ปัญจโวการภพ ... อดีต อนาคต ปัจจุบัน ... ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส
โผฏฐัพพะที่รับรู้แล้ว และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ได้แก่ ไม่ยึด ไม่ติด ไม่พัวพัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๑๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ไม่สยบ คือ ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง มีใจเป็นอิสระ(จากความ
เกี่ยวข้อง) อยู่ รวมความว่า บุคคลเมื่อไม่เกี่ยวข้อง เหมือนหน่อไผ่ จึงประพฤติอยู่
ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
กอไผ่กว้างใหญ่ เกาะเกี่ยวกันไว้ ฉันใด
ความห่วงใยในบุตรและทาระ ก็กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวไว้ ฉันนั้น
บุคคลเมื่อไม่เกี่ยวข้องเหมือนหน่อไผ่
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๒๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
เนื้อในป่า มิได้ถูกผูกมัดไว้
ย่อมไปหาอาหารได้ตามความพอใจ ฉันใด
วิญญูชนเมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉันนั้น (๕)
คำว่า เนื้อ ในคำว่า เนื้อในป่า มิได้ถูกผูกมัดไว้ ย่อมไปหาอาหารได้
ตามความพอใจ ฉันใด ได้แก่ เนื้อ ๒ ชนิด คือ (๑) เนื้อทราย (๒) เนื้อสมัน
เนื้ออยู่ในป่า เมื่อเที่ยวไปตามป่าน้อยป่าใหญ่ ย่อมวางใจเดิน ยืน หมอบ นอน
ฉันใด
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเนื้อป่า
เมื่อเที่ยวไปตามป่าน้อยป่าใหญ่ ย่อมวางใจเดิน ยืน หมอบ นอน ข้อนั้นเพราะ
เหตุอะไร เพราะไม่ได้พบกับนายพรานเนื้อ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น สงัดจากกามและ
อกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน ที่มีวิตกวิจาร ปีติและสุขอันเกิดจาก
วิเวกอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้ที่มารใจบาปมองไม่เห็น
เพราะทำลายจักษุ(ปัญญาจักษุ)ของมารอย่างไม่มีร่องรอย
อีกนัยหนึ่ง เพราะวิตกและวิจารสงบไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใส
ภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขที่เกิดจาก
สมาธิอยู่ เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด คือเป็นผู้ที่มารใจบาปมองไม่เห็น
เพราะทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๑๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง เพราะปีติหมดสิ้นไป ภิกษุมีแต่อุเบกขา สติและสัมปชัญญะ
และเสวยสุขทางกายอยู่ บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า “เป็นผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข” เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด คือเป็นผู้ที่มารใจบาป
มองไม่เห็น เพราะทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย
อีกนัยหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสและโทมนัสก่อน ๆ ได้
ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เรา
เรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้ที่มารใจบาปมองไม่เห็น เพราะ
ทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย
อีกนัยหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่มนสิการนานัตตสัญญา
โดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่ ด้วยมนสิการว่า
“อากาศไม่มีที่สุด” เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้ที่มารใจ
บาปมองไม่เห็น เพราะทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย
อีกนัยหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่ ด้วยมนสิการว่า “วิญญาณไม่มีที่สุด” ฯลฯ
อีกนัยหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุ
อากิญจัญญายตนฌานอยู่ ด้วยมนสิการว่า “อะไรน้อยหนึ่ง ย่อมไม่มี” ฯลฯ
อีกนัยหนึ่ง เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ด้วยมนสิการว่า “นี้สงบ นี้ประณีต” ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการ
ทั้งปวง ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ฯลฯ เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะ
ทั้งหลายของเธอย่อมสิ้นไป ภิกษุทั้งหลาย เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้ทำให้มารตาบอด
คือ เป็นผู้ที่มารใจบาปมองไม่เห็น เพราะทำลายจักษุของมารอย่างไม่มีร่องรอย
เป็นผู้ข้ามตัณหา ที่ชื่อว่าวิสัตติกาในโลกได้แล้ว ย่อมวางใจเดิน ยืน นั่ง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๑๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
นอน ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะไม่ได้พบมารใจบาป๑” รวมความว่า เนื้อในป่า
มิได้ถูกผูกมัดไว้ ย่อมไปหาอาหารได้ตามความพอใจ ฉันใด
คำว่า วิญญู ในคำว่า วิญญูชน เมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี ได้แก่
วิญญู คือ บัณฑิต ผู้มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาเห็นแจ้ง
มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า ชน ได้แก่ ผู้ข้อง มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์ผู้เกิด
ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ความเสรี ได้แก่ ความเสรี ๒ อย่าง คือ
๑. ธรรมเสรี
๒. บุคคลเสรี
ธรรมเสรี เป็นอย่างไร
คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕
โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เรียกว่าธรรมเสรี
บุคคลเสรี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมเสรี นี้เรียกว่า บุคคลเสรี
คำว่า วิญญูชน เมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี อธิบายว่า วิญญูชน
เมื่อเพ่งเห็น คือ แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณาเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี
รวมความว่า วิญญูชน เมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว
เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงกล่าวว่า
เนื้อในป่า มิได้ถูกผูกมัดไว้
ย่อมไปหาอาหารได้ตามความพอใจ ฉันใด
วิญญูชนเมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ม.มู. ๑๒/๒๘๗/๒๕๐-๒๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๑๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[๑๒๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากันในเรื่องที่อยู่
เรื่องการดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นการบวชอันให้ถึงความเสรี
ที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๖)
คำว่า ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากันในเรื่องที่อยู่ เรื่องการ
ดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก อธิบายว่า การมาสบาย การไปสบาย
การไปการมาสบาย การยืนสบาย การนั่งสบาย การนอนสบาย การทักทายสบาย
การสนทนาสบาย การเจรจาสบาย การสนทนาปราศรัยสบายกับชนเหล่าใด ชน
เหล่านั้น เรียกว่า สหาย
คำว่า ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากันในเรื่องที่อยู่ เรื่องการ
ดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก อธิบายว่า ในท่ามกลางสหาย ย่อมมี
การปรึกษาเพื่อประโยชน์ตน การปรึกษาเพื่อประโยชน์คนอื่น การปรึกษาเพื่อ
ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย การปรึกษาเพื่อประโยชน์ในภพปัจจุบัน การปรึกษาเพื่อ
ประโยชน์ในภพหน้า การปรึกษาเพื่อประโยชน์ชั้นยอดเยี่ยม ในเรื่องที่อยู่บ้าง
เรื่องการดำรงตนบ้าง เรื่องการไปบ้าง เรื่องการเที่ยวจาริกบ้าง รวมความว่า
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากันในเรื่องที่อยู่ เรื่องการดำรงตน เรื่อง
การไป เรื่องการเที่ยวจาริก
คำว่า บุคคลเมื่อเพ่งเห็นการบวชอันให้ถึงความเสรีที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง
อธิบายว่า เรื่องที่พวกคนพาล อสัตบุรุษ พวกเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์
ไม่มุ่งหวัง คือ เรื่องการปลงผม และการนุ่งห่มผ้ากาสาวะ (ส่วน)เรื่องที่บัณฑิต
สัตบุรุษ พุทธสาวก พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า มุ่งหวัง คือ เรื่องการปลงผมและการ
นุ่งห่มผ้ากาสาวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๑๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ความเสรี ได้แก่ ความเสรี ๒ อย่าง คือ
๑. ธรรมเสรี
๒. บุคคลเสรี
ธรรมเสรี เป็นอย่างไร
คือ สติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เรียกว่า ธรรมเสรี๑
บุคคลเสรี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมเสรีนี้ เรียกว่า บุคคลเสรี
คำว่า บุคคลเมื่อเพ่งเห็นการบวชอันให้ถึงความเสรีที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง
อธิบายว่า บุคคลเพ่งเห็น คือ แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณาธรรมอันให้ถึง
ความเสรีอยู่ รวมความว่า บุคคลเมื่อเพ่งเห็นการบวชอันให้ถึงความเสรี ที่พวก
คนพาลไม่มุ่งหวัง จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากันในเรื่องที่อยู่
เรื่องการดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นการบวชอันให้ถึงความเสรี
ที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๒๗] (พระปัจจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการเล่น มีความยินดี
และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์
บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๗)

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒๕/๔๑๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๑๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการเล่น ๒ อย่าง
คำว่า การเล่น ในคำว่า ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการเล่น มีความยินดี
ได้แก่ การเล่น ๒ อย่าง คือ
๑. การเล่นทางกาย
๒. การเล่นทางวาจา
การเล่นทางกาย เป็นอย่างไร
คือ คนย่อมเล่นกีฬาบังคับช้าง เล่นกีฬาบังคับม้า เล่นรถ เล่นธนู เล่น
หมากรุกแถวละ ๘ ตา หรือเล่นหมากแถวละ ๑๐ ตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด
เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นฟาดให้เป็นรูปต่าง ๆ เล่นสะกา เล่นเป่า
ใบไม้ เล่นไถเล็ก ๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถเล็ก ๆ เล่น
ธนูเล็ก ๆ เล่นเขียนทาย เล่นทายใจ เล่นล้อเลียนคนพิการ นี้ชื่อว่าการเล่นทางกาย
การเล่นทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ การทำเสียงกลองด้วยปาก ทำเสียงพิณพาทย์ด้วยปาก เล่นรัวกลองด้วย
ปาก ผิวปาก กะเดาะปาก เป่าปาก ซ้อมเพลง โห่ร้อง ขับร้อง เล่นตลก นี้ชื่อว่าการ
เล่นทางวาจา
คำว่า ความยินดี อธิบายว่า คำว่า ความยินดี เป็นชื่อเรียกความไม่
เบื่อหน่าย
คำว่า ในท่ามกลางสหาย อธิบายว่า การมาสบาย การไปสบาย การไป
การมาสบาย การยืนสบาย การนั่งสบาย การนอนสบาย การทักทายสบาย
การสนทนาสบาย การเจรจาสบาย การสนทนาปราศรัยสบายกับชนเหล่าใด ชน
เหล่านั้น เรียกว่า สหาย
คำว่า ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการเล่น มีความยินดี อธิบายว่า การเล่น
และความยินดี ก็มีอยู่ในท่ามกลางสหาย รวมความว่า ในท่ามกลางสหายย่อมมี
การเล่น มีความยินดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๒๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์ อธิบายว่า
คำว่า บุตร ได้แก่ บุตร ๔ จำพวก คือ
๑. บุตรเกิดจากตน ๒. บุตรเกิดในเขต
๓. บุตรที่เขาให้ ๔. บุตรที่อยู่ในสำนัก
คำว่า และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์ อธิบายว่า ความรักที่น้อม
ไปในบุตรก็มีอยู่ รวมความว่า และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์

ว่าด้วยสิ่งเป็นที่รัก ๒ จำพวก
คำว่า บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก อธิบายว่า สิ่งเป็น
ที่รัก ๒ จำพวก คือ (๑) สัตว์ที่เป็นที่รัก (๒) สังขารที่เป็นที่รัก
สัตว์เหล่าไหนเป็นที่รัก สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เป็นผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่เป็น
ประโยชน์ ปรารถนาแต่สิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาแต่ความผาสุก ปรารถนาแต่ความ
หลุดพ้นจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว บุตร ธิดา
มิตร อำมาตย์ ญาติ หรือผู้ร่วมสายโลหิต สัตว์เหล่านี้ ชื่อว่าสิ่งเป็นที่รัก
สังขารเหล่าไหนเป็นที่รัก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าชอบใจ สังขาร
เหล่านี้ ชื่อว่าสิ่งเป็นที่รัก
คำว่า บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก อธิบายว่า บุคคล
เมื่อรังเกียจ คือ อึดอัด เบื่อหน่ายความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก รวมความว่า
บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือน
นอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการเล่น มีความยินดี
และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์
บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๒๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[๑๒๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง ๔ ทิศ
ไม่ขัดเคือง ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
ครอบงำอันตรายทั้งหลาย และไม่หวาดเสียว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๘)
คำว่า ทั้ง ๔ ทิศ ในคำว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า แผ่เมตตาไปทั้ง ๔ ทิศ
ไม่ขัดเคือง อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง
ทิศ ๒ ฯลฯ ทิศ ๓ ฯลฯ ทิศ ๔ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก
ทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถานด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ามีกรุณาจิต ฯลฯ มีมุทิตาจิต
ฯลฯ มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง ทิศ ๒ ฯลฯ ทิศ ๓ ฯลฯ ทิศ ๔ ทั้งเบื้องบน
เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถานด้วยอุเบกขาจิต
อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่๑
คำว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง ๔ ทิศ ไม่ขัดเคือง อธิบายว่า
เพราะพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เจริญเมตตา เหล่าสัตว์ในทิศตะวันออก ก็ไม่เป็น
ที่เกลียดชัง เหล่าสัตว์ในทิศตะวันตก ทิศใต้ ทิศเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้
(อาคเณย์) ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ(พายัพ) ทิศตะวันตกเฉียงใต้(หรดี) ทิศตะวันออก
เฉียงเหนือ(อีสาน) ทิศเบื้องต่ำ ทิศเบื้องบน เหล่าสัตว์ในทิศใหญ่ ทิศน้อย ก็ไม่เป็น
ที่เกลียดชัง เพราะพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เจริญกรุณา ฯลฯ เพราะพระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้าเป็นผู้เจริญมุทิตา ฯลฯ เพราะพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เจริญอุเบกขา
เหล่าสัตว์ในทิศตะวันออกก็ไม่เป็นที่เกลียดชัง ฯลฯ เหล่าสัตว์ในทิศใหญ่ทิศน้อย
ก็ไม่เป็นที่เกลียดชัง รวมความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง ๔ ทิศ
ไม่ขัดเคือง

เชิงอรรถ :
๑ ที.สี. (แปล) ๙/๕๕๖/๒๔๔-๒๔๕, ที.ปา. ๑๑/๗๑/๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๒๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ว่าด้วยยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
คำว่า ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้๑ อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
เป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ และกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมี
ตามได้๒ ทั้งไม่ประกอบการแสวงหาผิด ที่ไม่สมควรเพราะเหตุแห่งจีวร ไม่ได้จีวรก็
ไม่กระวนกระวาย และได้จีวรแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน มองเห็นโทษ
มีปัญญาเครื่องสลัดออก ใช้สอยอยู่ อนึ่ง เพราะความสันโดษด้วยจีวรตามมีตาม
ได้นั้น ท่านจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าใด ขยัน ไม่เกียจคร้าน
มีความรู้ตัว มีสติกำกับในความสันโดษด้วยจีวรนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านี้เรียก
ได้ว่า ดำรงอยู่ในอริยวงศ์ที่รู้กันว่าดีเลิศ เป็นของเก่า
อีกนัยหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้
และกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ทั้งไม่ประกอบการ
แสวงหาผิด ที่ไม่สมควรเพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่กระวนกระวาย
และได้บิณฑบาตแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน มองเห็นโทษ มีปัญญาเครื่อง
สลัดออก บริโภคอยู่ อนึ่ง เพราะความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น ท่าน
จึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าใด ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้ตัว
มีสติกำกับในความสันโดษด้วยบิณฑบาตนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านี้ เรียกได้ว่า
ดำรงอยู่ในอริยวงศ์ที่รู้กันว่าดีเลิศ เป็นของเก่า
อีกนัยหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้
และกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ทั้งไม่ประกอบการ
แสวงหาผิด ที่ไม่สมควรเพราะเหตุแห่งเสนาสนะ ไม่ได้เสนาสนะก็ไม่กระวนกระวาย
และได้เสนาสนะแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน มองเห็นโทษ มีปัญญาเครื่อง
สลัดออก ใช้สอยอยู่ อนึ่ง เพราะความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้นั้น ท่าน
จึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น

เชิงอรรถ :
๑ ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ หมายถึงยินดีจีวรชนิดใดชนิดหนึ่ง ในบรรดาจีวรเนื้อหยาบ เนื้อละเอียด
เศร้าหมอง ประณีต คงทน และเก่าเป็นต้น (ขุ.จู.อ. ๑๒๘/๑๑๗)
๒ ความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ หมายถึงยินดีจีวรตามที่ได้ (ยถาลาภสันโดษ) ยินดีตามกำลัง (ยถาพล
สันโดษ) ยินดีจีวรตามสมควร (ยถาสารุปปสันโดษ) แม้บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ก็เหมือนกัน (ขุ.จู.อ. ๑๒๘/๑๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๒๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าใด ขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้ตัว มีสติกำกับในความ
สันโดษด้วยเสนาสนะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านี้ เรียกได้ว่า ดำรงอยู่ในอริยวงศ์
ที่รู้กันว่าดีเลิศ เป็นของเก่า
อีกนัยหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็นผู้สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัช-
บริขารตามมีตามได้ และกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ตามมีตามได้ ทั้งไม่ประกอบการแสวงหาผิด ที่ไม่สมควรเพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร ไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารก็ไม่กระวนกระวาย และได้คิลานปัจจัย
เภสัชบริขารแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน มองเห็นโทษ มีปัญญาเครื่อง
สลัดออก บริโภคอยู่ อนึ่ง เพราะความสันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมี
ตามได้นั้น ท่านจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าใดขยัน ไม่เกียจคร้าน
มีความรู้ตัว มีสติกำกับในความสันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้นั้น
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านี้ เรียกได้ว่า ดำรงอยู่ในอริยวงศ์ที่รู้กันว่าดีเลิศ เป็นของเก่า
รวมความว่า ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้

ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง
คำว่า อันตราย ในคำว่า ครอบงำอันตรายทั้งหลาย และไม่หวาดเสียว
ได้แก่ อันตราย ๒ อย่าง คือ (๑) อันตรายที่ปรากฏ (๒) อันตรายที่ไม่ปรากฏ
อันตรายที่ปรากฏ คืออะไร
คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว สุนัขป่า โค กระบือ ช้าง งู
แมงป่อง ตะขาบ โจร คนที่ได้ก่อกรรมไว้ หรือยังมิได้ก่อกรรมไว้ โรคทางตา
โรคทางหู โรคทางจมูก โรคทางลิ้น โรคทางกาย โรคศีรษะ โรคหู โรคปาก โรคฟัน
โรคไอ โรคหืด โรคหวัด โรคไข้พิษ ไข้เชื่อมซึม โรคท้อง เป็นลมสลบ ลงแดง
จุกเสียด อหิวาตกโรค โรคเรื้อน ฝี กลาก มองคร่อ ลมบ้าหมู หิดเปื่อย หิดด้าน
หิด หูด โรคละลอก โรคดีซ่าน โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวงทวาร
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากดี ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ความเจ็บป่วยที่เกิด


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๒๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
จากลม ไข้สันนิบาต ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล ความเจ็บป่วยที่
เกิดจากการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้ส่วนกัน ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความ
พากเพียรเกินกำลัง ความเจ็บป่วยที่เกิดจากผลกรรม ความหนาว ความร้อน
ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ความเจ็บป่วยที่เกิดจาก
สัมผัสเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ปรากฏ
อันตรายที่ไม่ปรากฏ คืออะไร
คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์
ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ
อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ
อติมานะ มทะ ปมาทะ กิเลสทุกชนิด ทุจริตทุกทาง ความกระวนกระวายทุกอย่าง
ความเร่าร้อนทุกสถาน ความเดือดร้อนทุกประการ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท
เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ไม่ปรากฏ
คำว่า อันตราย อธิบายว่า ชื่อว่าอันตราย เพราะมีความหมายอย่างไร
ชื่อว่าอันตราย เพราะครอบงำ ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม ชื่อว่า
อันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะครอบงำ เป็นอย่างไร
คือ อันตรายเหล่านั้นย่อมเข้าครอบครอง ยึดครอง ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง
ย่ำยีบุคคลนั้น ที่ชื่อว่าอันตรายเพราะครอบงำ เป็นอย่างนี้
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม เป็นอย่างไร
คือ อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความสูญ เพื่อความเสื่อมไปแห่ง
กุศลธรรมทั้งหลาย กุศลธรรมอะไรบ้าง อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความสูญ
เพื่อความเสื่อมไปแห่งกุศลธรรมเหล่านี้ คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม
การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติไม่คลาดเคลื่อน การปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์
การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม การรักษาศีลให้บริบูรณ์ ความเป็นผู้สำรวม
อินทรีย์ทั้ง ๖ (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๒๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
อาหาร ความเป็นผู้มีความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะ ความ
หมั่นเจริญสติปัฏฐาน ๔ ความหมั่นเจริญสัมมัปปธาน ๔ ฯลฯ อิทธิบาท ๔ ฯลฯ
อินทรีย์ ๕ ฯลฯ พละ ๕ ฯลฯ โพชฌงค์ ๗ ความหมั่นเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม เป็นอย่างนี้
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลกรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น มีอัตภาพเป็นที่อาศัย
เปรียบเหมือนสัตว์ที่อาศัยรูย่อมอยู่ในรู สัตว์ที่อาศัยน้ำย่อมอยู่ในน้ำ สัตว์ที่อาศัย
ป่าย่อมอยู่ในป่า สัตว์ที่อาศัยต้นไม้ย่อมอยู่บนต้นไม้ ฉันใด บาปอกุศลธรรมเหล่านี้
ย่อมเกิดในอัตภาพนั้น มีอัตภาพเป็นที่อาศัย ฉันนั้นเหมือนกัน ที่ชื่อว่าอันตราย
เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีอันเตวาสิก๑ ผู้
มีอาจารย์๒ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย
ภิกษุผู้มีอันเตวาสิก ผู้มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย มีความดำริซ่านไป เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อม
เกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะเห็นรูปทางตา บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมอยู่
ย่อมซ่านไปภายในของภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มีอันเตวาสิก
บาปอกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อมฟุ้งขึ้นท่วมภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า
“ผู้มีอาจารย์”
อีกนัยหนึ่ง บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย มีความดำริซ่านไป เกื้อกูลแก่สังโยชน์
ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะได้ยินเสียงทางหู ฯลฯ เพราะได้กลิ่นทางจมูก ฯลฯ
เพราะลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ เพราะได้รับสัมผัสทางกาย ฯลฯ เพราะรู้ธรรมารมณ์
ทางใจ บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมอยู่ ย่อมซ่านไปภายในของภิกษุนั้น
เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า “ผู้มีอันเตวาสิก” บาปอกุศลธรรมเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ อันเตวาสิก ในที่นี้หมายถึงกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน (สํ.สฬา.อ. ๓/๑๕๑-๑๕๒/๕๕)
๒ อาจารย์ ในที่นี้หมายถึงกิเลสที่ฟุ้งขึ้น (สํ.สฬา.อ. ๓/๑๕๑-๑๕๒/๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๒๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ย่อมฟุ้งขึ้นท่วมภิกษุนั้น๑ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า ‘ผู้มีอาจารย์’ ภิกษุผู้มี
อันเตวาสิก ผู้มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย อย่างนี้แล ที่ชื่อว่าอันตราย
เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้

ว่าด้วยธรรม ๓ ประการ เป็นมลทินภายใน
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการ
เหล่านี้ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน
เป็นข้าศึกภายใน ธรรม ๓ ประการคืออะไร คือ
๑. โลภะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
๒. โทสะ ฯลฯ
๓. โมหะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน ธรรม ๓ ประการเหล่านี้แล ชื่อว่าเป็น
มลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็น
ข้าศึกภายใน
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้วจึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
โลภะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โลภะทำให้จิตกำเริบ โลภะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน(ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนโลภไม่รู้จักผล คนโลภไม่รู้จักเหตุ
ความโลภครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น

เชิงอรรถ :
๑ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๑๕๑/๑๘๔-๑๘๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๒๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
โทสะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โทสะทำให้จิตกำเริบ โทสะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน(ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนโกรธไม่รู้จักผล คนโกรธไม่รู้จักเหตุ
ความโกรธครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น
โมหะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โมหะทำให้จิตกำเริบ โมหะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน(ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนหลงไม่รู้จักผล คนหลงไม่รู้จักเหตุ
ความหลงครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น๑
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า มหาบพิตร ธรรม ๓ ประการ เมื่อเกิด
ขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อ
ความอยู่ไม่ผาสุก
ธรรม ๓ ประการคืออะไร คือ
๑. โลภธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็น
ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
๒. โทสธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน ฯลฯ
๓. โมหธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็น
ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
มหาบพิตร ธรรม ๓ ประการเหล่านี้แล เมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.อิติ. ๒๕/๘๘/๓๐๕, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๒๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๒๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
โลภะ โทสะ และโมหะ เกิดขึ้นในตน
ย่อมทำร้ายบุรุษผู้มีจิตเลวทราม
เหมือนขุยไผ่กำจัดต้นไผ่ ฉะนั้น๑
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
ราคะ และโทสะ มีอัตภาพนี้เป็นต้นเหตุ
ความไม่ยินดีกุศลธรรม
ความยินดีกามคุณ ซึ่งทำให้ขนลุก เกิดจากอัตภาพนี้
บาปวิตก๒ในใจ เกิดขึ้นจากอัตภาพนี้
ย่อมผูกใจคนไว้ เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น๓
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพนี้ เป็นอย่างนี้บ้าง
คำว่า ครอบงำอันตรายทั้งหลาย อธิบายว่า ครอบงำ คือ ทำให้ยินยอม
ท่วมทับ บีบคั้น กำจัดอันตรายทั้งหลาย รวมความว่า ครอบงำอันตรายทั้งหลาย
คำว่า ไม่หวาดเสียว อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ขลาด คือ ไม่
หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี ละภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพอง
สยองเกล้า อยู่ รวมความว่า ครอบงำอันตรายทั้งหลาย และไม่หวาดเสียว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึง
กล่าวว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง ๔ ทิศ
ไม่ขัดเคือง ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
ครอบงำอันตรายทั้งหลาย และไม่หวาดเสียว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๑๑๓/๘๔-๘๕, ขุ.อิติ. ๒๕/๕๐/๒๗๒, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๒๑
๒ บาปวิตก คือ ความตรึกเกี่ยวกับเรื่องบาป ความคิดในเรื่องบาป
๓ สํ.ส. ๑๕/๒๓๗/๒๕๐, ขุ.สุ. ๒๕/๒๗๔/๓๘๗, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๒๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๒๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[๑๒๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
แม้บรรพชิตพวกหนึ่ง และคฤหัสถ์ที่กำลังครองเรือน
สงเคราะห์ได้ยาก
บุคคลพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยในผู้อื่นและบุตร
พึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๙)
คำว่า แม้บรรพชิตพวกหนึ่ง ... สงเคราะห์ได้ยาก อธิบายว่า แม้
บรรพชิตบางพวกในธรรมวินัยนี้ เมื่ออุปัชฌาย์อาจารย์กำลังให้นิสัย ให้อุทเทส
(บาลี) ให้ปริปุจฉา(อรรถกถา) ให้จีวร ให้บาตร ให้ภาชนะโลหะ ให้ธมกรก๑
ให้ผ้ากรองน้ำ ให้ลูกดาน ให้รองเท้า ให้ประคตเอว ก็ไม่ฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้ง
ใจเพื่อจะรู้ ไม่รับฟัง ไม่ทำตามคำ ประพฤติขัดขืน เบือนหน้าไปทางอื่น รวมความว่า
แม้บรรพชิตพวกหนึ่ง ... สงเคราะห์ได้ยาก
คำว่า และคฤหัสถ์ที่กำลังครองเรือน อธิบายว่า แม้คฤหัสถ์บางพวก
ในโลกนี้ เมื่อเขาให้ช้าง... รถ... นา... ที่ดิน... เงิน... ทอง... บ้าน... นิคม... เมือง...
รัฐ... ชนบท ก็ไม่ฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งใจเพื่อจะรู้ ไม่รับฟัง ไม่ทำตามคำ
ประพฤติขัดขืน เบือนหน้าไปทางอื่น รวมความว่า และคฤหัสถ์ที่กำลังครอง
เรือน
คำว่า บุคคลพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยในผู้อื่นและบุตร อธิบายว่า คนทุก
จำพวก ยกเว้นตนเสีย ชื่อว่าคนอื่นและบุตร ในข้อความนี้ อธิบายว่า บุคคลพึง
เป็นผู้ขวนขวายน้อย คือ ไม่ใฝ่ใจ ไม่ห่วงใยในผู้อื่นและบุตรเหล่านั้น รวมความว่า
บุคคลพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยในผู้อื่นและบุตร พึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
แม้บรรพชิตพวกหนึ่ง และคฤหัสถ์ที่กำลังครองเรือน
สงเคราะห์ได้ยาก
บุคคลพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยในผู้อื่นและบุตร
พึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ ธมกรก คือ กระบอกกรองน้ำของพระสงฆ์ เป็นเครื่องใช้สอยอย่างหนึ่งในอัฐบริขาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๓๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[๑๓๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ผู้กล้าหาญ
ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๑๐)
คำว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า... ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว อธิบายว่า
ผม หนวด ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เครื่องแต่งตัว เครื่องประดับ ผ้า ผ้าห่ม
ผ้าโพก ผ้านุ่ง เครื่องอบ เครื่องอาบน้ำ เครื่องนวด คันฉ่อง(กระจก) ยาหยอดตา
พวงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ แป้งผัดหน้า สีทาปาก กำไลมือ เครื่อง
ผูกมวยผม ไม้เท้า นาฬิกา ดาบ ร่ม รองเท้าสวยงาม กรอบหน้า ตาบเพชร
(เครื่องประดับข้อมือ) พัดขนสัตว์ ผ้าขาว ผ้าชายยาว ดังนี้เป็นตัวอย่าง ท่านเรียกว่า
เครื่องหมายคฤหัสถ์
คำว่า ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว ได้แก่ ปลง คือ ปลด ทอดทิ้ง ระงับ
เครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
คำว่า เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว อธิบายว่า ใบต้นทองหลาง
ขาด ร่วงหล่น คือ ตก ตกกระจายแล้ว ฉันใด เครื่องหมายคฤหัสถ์ของ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ก็ขาด คือ ร่วงหล่น ตก ตกกระจายแล้ว ฉันนั้น รวมความว่า
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
คำว่า ผู้กล้าหาญ ในคำว่า ผู้กล้าหาญ ... ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว
อธิบายว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ามีวิริยะ จึงชื่อว่าผู้กล้าหาญ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองอาจ จึงชื่อว่าผู้กล้าหาญ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าให้ผู้อื่นพากเพียร จึงชื่อว่าผู้กล้าหาญ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าสามารถ จึงชื่อว่าผู้กล้าหาญ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล้าหาญ จึงชื่อว่าผู้กล้าหาญ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๓๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปฐมวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ก้าวไปข้างหน้า ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง
ไม่หนี ละภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว จึงชื่อว่าผู้กล้าหาญ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าหมดความขนพองสยองเกล้า จึงชื่อว่าผู้กล้าหาญ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเว้นขาดจากบาปธรรมทั้งปวงในโลกนี้
ก้าวล่วงทุกข์ในนรก อยู่ด้วยความเพียร มีความเพียร
มีความมุ่งมั่น แกล้วกล้า มั่นคง เรียกได้ว่า เป็นอย่างนั้น
บุตร ภรรยา ทาสหญิง ทาสชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา
ที่สวน เงิน ทอง หมู่บ้าน นิคม ราชธานี แคว้น ชนบท กองพลรบ คลังหลวง
และวัตถุที่น่ายินดีอย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่า เครื่องผูกพันของคฤหัสถ์
คำว่า ผู้กล้าหาญ ... ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว อธิบายว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นผู้กล้าหาญ ตัด คือ ตัดขาด ละ บรรเทา ทำให้
หมดสิ้นไป ให้ถึง ความไม่มีอีกซึ่งเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์ รวมความว่า ผู้กล้าหาญ
... ตัดเครื่อง ผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วย
เหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ผู้กล้าหาญ
ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
ปฐมวรรค จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๓๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ทุติยวรรค
[๑๓๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
ถ้าบุคคลพึงได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว พึงมีใจแช่มชื่น
มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น (๑)
คำว่า ถ้าบุคคลพึงได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน อธิบายว่า ถ้าบุคคลพึงได้
คือ พึงได้รับ สมหวัง ประสบสหายผู้มีปัญญารักษาตน คือ ผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญา
มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลาย กิเลส
รวมความว่า ถ้าบุคคลพึงได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน
คำว่า เที่ยวไปด้วยกันได้ ในคำว่า เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็น
นักปราชญ์ ได้แก่ เที่ยวไปร่วมกันได้
คำว่า เป็นสาธุวิหารี อธิบายว่า ผู้เพียบพร้อมด้วยปฐมฌาน ชื่อว่าสาธุวิหารี
ผู้เพียบพร้อมด้วยทุติยฌาน ฯลฯ ตติยฌาน ฯลฯ จตุตถฌาน ชื่อว่าสาธุวิหารี
ผู้เพียบพร้อมด้วยเมตตาเจโตวิมุตติ ชื่อว่าสาธุวิหารี ผู้เพียบพร้อมด้วย
กรุณาเจโตวิมุตติ ฯลฯ มุทิตาเจโตวิมุตติ ฯลฯ อุเบกขาเจโตวิมุตติ ชื่อว่าสาธุวิหารี
ผู้เพียบพร้อมด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ ชื่อว่าสาธุวิหารี วิญญาณัญจายตน-
สมาบัติ ฯลฯ อากิญจัญญายตนสมาบัติ ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
ชื่อว่าสาธุวิหารี ผู้เพียบพร้อมด้วยนิโรธสมาบัติ ชื่อว่าสาธุวิหารี ผู้เพียบพร้อมด้วย
ผลสมาบัติ ชื่อว่าสาธุวิหารี
คำว่า เป็นนักปราชญ์ ได้แก่ เป็นนักปราชญ์ คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา มี
ปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลาย กิเลส รวม
ความว่า เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๓๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว อธิบายว่า
คำว่า อันตราย ได้แก่ อันตราย ๒ อย่าง คือ (๑) อันตรายที่ปรากฏ
(๒) อันตรายที่ไม่ปรากฏ ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ปรากฏ ฯลฯ เหล่านี้
เรียกว่า อันตรายที่ไม่ปรากฏ ฯลฯ ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่
อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง๑
คำว่า ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว อธิบายว่า ครอบงำ คือ ข่มขี่ ท่วมทับ
รัดรึง ย่ำยีอันตรายทั้งปวงได้แล้ว รวมความว่า ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
คำว่า พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น อธิบายว่า พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้น พึงมีใจแช่มชื่น คือ มีใจยินดี ร่าเริง เบิกบาน มีใจสูง ปลาบปลื้มใจ
ประพฤติ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
กับสหายผู้มีปัญญารักษาตนนั้น คือ ผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้
มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า มีสติ อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมมีสติ คือ ประกอบ
ด้วยสติอันเป็นปัญญารักษาตน ระลึก ตามระลึกถึงกรรมที่ทำ คำที่พูดไว้นานแล้วได้
รวมความว่า พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
ถ้าบุคคลพึงได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว พึงมีใจแช่มชื่น
มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น
[๑๓๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว ฉะนั้น (๒)

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒๘/๔๒๔-๔๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๓๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน อธิบายว่า ถ้าบุคคล
ไม่พึงได้ คือ ไม่พึงได้รับ ไม่พึงสมหวัง ไม่พึงประสบสหายผู้มีปัญญารักษาตน คือ
ผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มี
ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส รวมความว่า ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญา
รักษาตน
คำว่า เที่ยวไปด้วยกันได้ ในคำว่า เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็น
นักปราชญ์ ได้แก่ เที่ยวไปร่วมกันได้
คำว่า เป็นสาธุวิหารี อธิบายว่า เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยปฐมฌาน ฯลฯ ด้วย
นิโรธสมาบัติ ด้วยผลสมาบัติชื่อว่าสาธุวิหารี๑
คำว่า เป็นนักปราชญ์ ได้แก่ เป็นนักปราชญ์ คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา มี
ปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส รวม
ความว่า เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
คำว่า เหมือนพระราชา ทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว ทรงประพฤติอยู่
พระองค์เดียว ฉะนั้น อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าตัดความกังวลในการครอง
เรือนได้ทั้งหมด ความกังวลด้วยบุตรและภรรยา ความกังวลด้วยญาติ ความกังวล
ด้วยมิตรและอำมาตย์แล้ว ปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสาวะ ออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิต เข้าถึงความเป็นผู้ไม่มีความกังวลแล้ว ประพฤติอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว
เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปรูปเดียว เหมือนกษัตริย์ ผู้ได้รับ
มุรธาภิเษกเป็นพระราชา ชนะสงคราม กำราบปัจจามิตร ได้รับอธิปไตย มีพระคลัง
บริบูรณ์แล้ว ทรงสละแคว้น ชนบท กองพลรบ คลังหลวง และพระนครที่มีเงิน
ทองมากมาย ทรงปลงพระเกสาและพระมัสสุแล้ว ทรงครองผ้ากาสาวะ เสด็จ
ออกผนวชจากพระราชวังเป็นบรรพชิต ทรงเข้าถึงความเป็นผู้ไม่มีความกังวล ทรง
ประพฤติอยู่ คือ ประทับอยู่ ทรงเปลี่ยนอิริยาบถ ทรงเป็นไป ทรงรักษาพระชนมชีพ
ทรงดำเนินไป ทรงยังชีวิตให้ดำเนินไปลำพังพระองค์เดียว ฉะนั้น รวมความว่า
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้น ที่ทรงชนะแล้ว ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว ฉะนั้น
ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๓๑/๔๓๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๓๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหาย ผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่ผู้เดียว ฉะนั้น
[๑๓๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
เราสรรเสริญสหายสัมปทาโดยแท้
บุคคลควรคบสหายผู้ประเสริฐสุด (หรือ)ผู้เสมอกัน
ถ้าบุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้
พึงเป็นผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ
ประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๓)
คำว่า โดยแท้ ในคำว่า เราสรรเสริญสหายสัมปทาโดยแท้ นี้เป็นคำกล่าว
นัยเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่สงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่เคลือบแคลง เป็นคำกล่าว
โดยไม่เป็น ๒ นัย เป็นคำกล่าวโดยไม่เป็น ๒ อย่าง เป็นคำกล่าวโดยรัดกุม เป็นคำ
กล่าวโดยไม่ผิด คำว่า โดยแท้นี้ เป็นคำกล่าวที่กำหนดไว้แน่แล้ว
คำว่า สหายสัมปทา อธิบายว่า สหายผู้เพียบพร้อมด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ
ด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นอเสขะ ฯลฯ ด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ ฯลฯ ด้วยวิมุตติ-
ขันธ์อันเป็นอเสขะ ฯลฯ ด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ เรียกว่า
สหายสัมปทา
คำว่า เราสรรเสริญสหายสัมปทาโดยแท้ อธิบายว่า เราสรรเสริญ คือ
ชมเชย ยกย่อง พรรณนาคุณสหายสัมปทา รวมความว่า เราสรรเสริญสหายสัมปทา
โดยแท้
คำว่า บุคคลควรคบสหายผู้ประเสริฐสุด (หรือ)ผู้เสมอกัน อธิบายว่า สหาย
ผู้ประเสริฐด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ สหายผู้เสมอกัน
คือผู้เช่นเดียวกัน จึงควรคบหา คือ ควรคบ ควรนั่งใกล้ ควรไต่ถาม ควรสอบถาม
รวมความว่า บุคคลควรคบสหายผู้ประเสริฐสุด (หรือ)ผู้เสมอกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๓๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ว่าด้วยบุคคลผู้บริโภคปัจจัยที่มีโทษและไม่มีโทษ
คำว่า ถ้าบุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้ พึงเป็นผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษแล้ว
อธิบายว่า บุคคลผู้บริโภคปัจจัยอันมีโทษก็มี ผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษก็มี
บุคคลผู้บริโภคปัจจัยอันมีโทษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ได้แล้ว ได้รับแล้ว ได้เฉพาะแล้ว สมหวังแล้ว
ประสบแล้วซึ่งปัจจัย เลี้ยงชีพด้วยการโกหก ด้วยการพูดเลียบเคียง ด้วยการทำนิมิต
ด้วยการกำจัดคุณเขา ด้วยการต่อลาภด้วยลาภ ด้วยการให้ไม้ ด้วยการให้ไม้ไผ่
ด้วยการให้ใบไม้ ด้วยการให้ดอกไม้ ด้วยการให้ผลไม้ ด้วยการให้น้ำอาบ ด้วยการ
ให้แป้งจุรณ์ ด้วยการให้ดินสอพอง ด้วยการให้ไม้สีฟัน ด้วยการให้น้ำบ้วนปาก
ด้วยคำพูดมุ่งให้เขารู้จักตน ด้วยคำพูดเหลาะแหละเหมือนแกงถั่ว ด้วยกิริยาประจบ
ด้วยการขัดตั่งตีสนิทเขา ด้วยวิชาดูพื้นที่ ด้วยเดรัจฉานวิชา ด้วยวิชาทำนายลักษณะ
อวัยวะ ด้วยวิชาดูฤกษ์ยาม ด้วยการเดินทำหน้าที่ทูต ด้วยการเดินเป็นคนรับใช้
ด้วยการเดินสื่อสาร ด้วยเวชกรรม ด้วยนวกรรม ด้วยการใช้ก้อนข้าวตอบแทน
ก้อนข้าว ด้วยการให้และการเพิ่มให้ โดยมิชอบ ไม่ยุติธรรม นี้เรียกว่า บุคคลผู้
บริโภคปัจจัยอันมีโทษ
บุคคลผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ได้แล้ว ได้รับแล้ว ได้เฉพาะแล้ว สมหวังแล้ว
ประสบแล้วซึ่งปัจจัย เลี้ยงชีพโดยชอบธรรม โดยยุติธรรม มิใช่ด้วยการโกหก มิใช่
ด้วยการพูดเลียบเคียง มิใช่ด้วยการทำนิมิต มิใช่ด้วยการกำจัดคุณเขา มิใช่ด้วยการ
ต่อลาภด้วยลาภ มิใช่ด้วยการให้ไม้ มิใช่ด้วยการให้ไม้ไผ่ มิใช่ด้วยการให้ใบไม้
มิใช่ด้วยการให้ดอกไม้ มิใช่ด้วยการให้ผลไม้ มิใช่ด้วยการให้น้ำอาบ มิใช่ด้วยการให้
แป้งจุรณ์ มิใช่ด้วยการให้ดินสอพอง มิใช่ด้วยการให้ไม้สีฟัน มิใช่ด้วยการให้น้ำ
บ้วนปาก มิใช่ด้วยคำพูดมุ่งให้เขารู้จักตน มิใช่ด้วยคำพูดเหลาะแหละเหมือนแกงถั่ว
มิใช่ด้วยกิริยาประจบ มิใช่ด้วยการขัดตั่งตีสนิทเขา มิใช่ด้วยวิชาดูพื้นที่ มิใช่ด้วย
เดรัจฉานวิชา มิใช่ด้วยวิชาทำนายลักษณะอวัยวะ มิใช่ด้วยวิชาดูฤกษ์ยาม มิใช่ด้วย
การเดินทำหน้าที่ทูต มิใช่ด้วยการเดินเป็นคนรับใช้ มิใช่ด้วยการเดินสื่อสาร มิใช่
ด้วยเวชกรรม มิใช่ด้วยนวกรรม มิใช่ด้วยการใช้ก้อนข้าวตอบแทนก้อนข้าว มิใช่ด้วย
การให้และการเพิ่มให้ นี้เรียกว่า บุคคลผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๓๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ถ้าบุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้ พึงบริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ อธิบายว่า
บุคคลไม่ได้แล้ว คือ ไม่ได้รับแล้ว ไม่ได้สมหวังแล้ว ไม่ได้ประสบแล้ว ไม่ได้เฉพาะ
แล้วซึ่งสหายเหล่านี้ พึงเป็นผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษเถิด รวมความว่า ถ้าบุคคล
ไม่ได้สหายเหล่านี้ พึงบริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ ประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
เราสรรเสริญสหายสัมปทาโดยแท้
บุคคลควรคบสหายผู้ประเสริฐสุด(หรือ)ผู้เสมอกัน
ถ้าบุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้
พึงเป็นผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ
ประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๓๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
บุคคลเห็นกำไลทอง ๒ วง อันสุกปลั่ง
ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี กระทบกันอยู่ที่ข้อมือแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๔)
คำว่า บุคคลเห็นกำไลทอง ... อันสุกปลั่ง อธิบายว่า บุคคลเห็น คือ แลเห็น
เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
คำว่า ทอง ได้แก่ ทองคำ
คำว่า อันสุกปลั่ง ได้แก่ บริสุทธิ์ สะอาด รวมความว่า บุคคลเห็นกำไลทอง ...
อันสุกปลั่ง
คำว่า ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี อธิบายว่า คนทำทอง เรียกว่า ช่างทอง
คำว่า ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี อธิบายว่า ที่ช่างทองทำสำเร็จแล้วอย่างดี
คือ ที่ทำแล้วอย่างดี ที่ขัดเงาดีแล้ว รวมความว่า ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี
คำว่า ๒ วง ...กระทบกันอยู่ที่ข้อมือ อธิบายว่า มือเรียกว่า ข้อมือ
กำไล ๒ วง ย่อมกระทบกันอยู่ที่มือข้างหนึ่ง ฉันใด สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้นย่อม
กระทบกระทั่งกันด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ เบียดเสียดในนรก กำเนิด
เดรัจฉาน เปตวิสัย มนุษยโลก เทวโลก คือ สืบต่อ สืบสานคติด้วยคติ อุปบัติ
ด้วยอุปบัติ ปฏิสนธิด้วยปฏิสนธิ ภพด้วยภพ สงสารด้วยสงสาร วัฏฏะด้วยวัฏฏะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๓๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
เมื่อสืบสาน ก็ย่อมประพฤติ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป
ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ๒ วง ... กระทบกันอยู่ที่ข้อมือ จึงประพฤติอยู่
ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า
บุคคลเห็นกำไลทอง ๒ วง อันสุกปลั่ง
ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี กระทบกันอยู่ที่ข้อมือแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๓๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
ด้วยอาการอย่างนี้ การกล่าววาจา
หรือความเกี่ยวข้องกับเพื่อน พึงมีแก่เรา
เราเมื่อเพ่งเห็นภัยนี้ต่อไป
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๕)
คำว่า ด้วยอาการอย่างนี้ ... กับเพื่อน พึงมีแก่เรา อธิบายว่า ตัณหาเป็น
เพื่อนก็มี บุคคลเป็นเพื่อนก็มี
ตัณหาเป็นเพื่อน เป็นอย่างไร
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพ-
ตัณหา ธัมมตัณหา ผู้ใดยังละตัณหานี้ไม่ได้ ผู้นั้นเรียกว่า ผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
บุรุษมีตัณหาเป็นเพื่อน
ท่องเที่ยวไปตลอดกาลนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏ
ที่มีความเป็นอย่างนี้และความเป็นอย่างอื่น๑
ตัณหาเป็นเพื่อน เป็นอย่างนี้
บุคคลเป็นเพื่อน เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่สงบ มิใช่เพราะเหตุที่เป็นประโยชน์
มิใช่เพราะมีเหตุการณ์ เป็นบุคคลที่ ๒ ของคนผู้เดียว เป็นที่ ๓ ของบุคคล ๒ คน

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก.(แปล) ๒๑/๙/๑๕,๒๕๗/๓๗๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๓๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
หรือเป็นที่ ๔ ของบุคคล ๓ คน พูดเรื่องเพ้อเจ้อมากมายในที่นั้น คือ พูดเรื่อง
พระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว
เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องระเบียบดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่อง
ยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมือง เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคน
กล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก
เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม อย่างนั้นอย่างนี้ บุคคลเป็นเพื่อนที่สอง
เป็นอย่างนี้ รวมความว่า ด้วยอาการอย่างนี้ ... กับเพื่อนพึงมีแก่เรา
คำว่า การกล่าววาจา หรือความเกี่ยวข้องกับเพื่อน อธิบายว่า เดรัจฉาน-
กถา๑ ๓๒ เรียกว่า การกล่าววาจา คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่อง
ความเจริญและความเสื่อมอย่างนั้นอย่างนี้
คำว่า ความเกี่ยวข้อง ได้แก่ ความเกี่ยวข้อง ๒ อย่าง คือ (๑) ความเกี่ยวข้อง
ด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความเกี่ยวข้องด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความเกี่ยวข้อง
ด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความเกี่ยวข้องด้วยอำนาจทิฏฐิ๒ รวมความว่า
การกล่าววาจา หรือความเกี่ยวข้องกับเพื่อน
คำว่า เราเมื่อเพ่งเห็นภัยนี้ต่อไป ได้แก่ ชาติภัย ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย
ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย อัตตานุวาทภัย ปรานุวาทภัย ทัณฑภัย ทุคติภัย
อูมิภัย กุมภีลภัย อาวัฏฏภัย สุงสุมารภัย๓ อาชีวิกภัย อสิโลกภัย ปริสสารัชชภัย
มทนภัย เหตุที่น่ากลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า ใจหวาดเสียว ความ
สะดุ้ง
คำว่า เราเมื่อเพ่งเห็นภัยนี้ต่อไป อธิบายว่า บุคคลเมื่อเพ่งเห็น คือ แลเห็น
มองดู เพ่งพินิจ พิจารณาเห็นภัยนี้ต่อไป รวมความว่า เราเมื่อเพ่งเห็นภัยนี้ต่อไป
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึง
กล่าวว่า

เชิงอรรถ :
๑ เดรัจฉานกถา คือถ้อยคำอันขวางทางไปสู่สวรรค์ นิพพาน หมายถึงเรื่องราวที่ภิกษุไม่ควรนำมาเป็นข้อ
ถกเถียงสนทนากัน (ที.สี.อ. ๑๘/๘๔)
๒ เทียบกับความในข้อ ๑๒๔/๔๑๔
๓ ดูคำแปลจากข้อ ๑๒๓/๔๑๑,องฺ.จตุกฺก.(แปล) ๒๑/๑๑๙-๑๒๒/๑๘๑-๑๘๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๔๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ด้วยอาการอย่างนี้ การกล่าววาจา
หรือความเกี่ยวข้องกับเพื่อน พึงมีแก่เรา
เราเมื่อเพ่งเห็นภัยนี้ต่อไป
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๓๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
เพราะกามทั้งหลายสวยงาม
มีรสอร่อย น่ารื่นเริงใจ
ยั่วยวนจิตด้วยอารมณ์หลายรูปแบบ
เราเห็นโทษในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๖)
คำว่า กาม ในคำว่า เพราะกามทั้งหลายสวยงาม มีรสอร่อย น่ารื่นเริงใจ
ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒) กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้
เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑
คำว่า สวยงาม อธิบายว่า มีรูปชนิดต่าง ๆ มีเสียงชนิดต่าง ๆ มีกลิ่นชนิด
ต่าง ๆ มีรสชนิดต่าง ๆ มีโผฏฐัพพะชนิดต่าง ๆ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
คำว่า มีรสอร่อย อธิบายว่า สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุ
ทั้งหลาย กามคุณมี ๕ อย่างเหล่านี้ ๕ อย่างอะไรบ้าง คือ
๑. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู...
๓. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก...
๔. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น...
๕. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๖-๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๔๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย สุข โสมนัส อันใด
อาศัยกามคุณ ๕ นั้นเกิดขึ้น โสมนัสนี้ เรียกว่า กามคุณอันเป็นสุขที่เกิดแต่การมี
เพศสัมพันธ์ สุขของปุถุชน มิใช่สุขของพระอริยะ เรากล่าวว่า “ไม่ควรเสพ ไม่ควร
คบหา ไม่ควรให้เจริญ ไม่ควรทำให้มาก ควรเกรงกลัวสุขชนิดนี้”๑ รวมความว่า
เพราะกามทั้งหลายสวยงาม มีรสอร่อย
คำว่า น่ารื่นเริงใจ อธิบายว่า
คำว่า ใจ ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์
วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุที่เกิดจากวิญญาณขันธ์นั้น กามย่อมล่อ
ใจให้ยินดี ชื่นชม พอใจ รื่นเริง รวมความว่า เพราะกามทั้งหลายสวยงาม มีรส
อร่อย น่ารื่นเริงใจ
คำว่า ยั่วยวนจิตด้วยอารมณ์หลายรูปแบบ อธิบายว่า ย่อมยั่วยวน คือ
ล่อให้จิตพอใจ ให้ร่าเริง ให้รื่นเริง ด้วยรูปชนิดต่าง ๆ ฯลฯ โผฏฐัพพะชนิดต่าง ๆ
รวมความว่า ยั่วยวนจิตด้วยอารมณ์หลายรูปแบบ

ว่าด้วยโทษแห่งกามคุณ
คำว่า เราเห็นโทษในกามคุณแล้ว อธิบายว่า สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย โทษแห่งกาม เป็นอย่างไร กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีวิตด้วย
การมีศิลปะใด คือ ด้วยการนับคะแนน การคำนวณ การนับจำนวน การไถ
การค้าขาย การเลี้ยงโค การยิงธนู การรับราชการ หรือด้วยศิลปะอย่างใด
อย่างหนึ่ง อดทนต่อความหนาว ตรากตรำต่อความร้อน หวาดกลัวแต่สัมผัสแห่ง
เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน และตายลงด้วยความหิวกระหาย แม้ข้อนี้
ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ
มีกามเป็นเค้า มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล

เชิงอรรถ :
๑ ม.อุ. ๑๔/๓๒๘/๒๙๙-๓๐๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๔๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน พากเพียร พยายามอยู่อย่างนี้ โภคสมบัติเหล่านั้น
ย่อมไม่สัมฤทธิ์ผล เขาเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอกพร่ำเพ้อ ถึงความหลงใหลว่า
“ความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเราไม่มีผลเลย” แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่า
เป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า
มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน พากเพียร พยายามอยู่อย่างนี้ โภคสมบัติเหล่านั้น
ย่อมสัมฤทธิผล เขากลับเสวยทุกข์โทมนัส มีเหตุมาจากการรักษาโภคสมบัติเหล่านั้น
ว่า “ทำอย่างไร พระราชาทั้งหลาย จะไม่พึงริบโภคสมบัติทั้งหลายของเรา พวกโจร
จะไม่พึงลักไป ไฟจะไม่พึงไหม้ น้ำจะไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึง
แย่งไป” เมื่อกุลบุตรนั้นรักษา คุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชาทั้งหลายริบโภคสมบัติ
นั้นไปก็ดี พวกโจรปล้นเอาไปก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดไปก็ดี ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก
แย่งเอาไปก็ดี เขาเศร้าโศก ฯลฯ ถึงความหลงใหลว่า“สิ่งใดเคยเป็นของเรา แม้สิ่งนั้น
ก็ไม่เป็นของเรา” ภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกอง
ทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นเหตุเกิด เกิด
เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
อีกนัยหนึ่ง (โทษแห่งกามทั้งหลาย) มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกาม
เป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นเอง พวกพระราชาทรงวิวาทกับ
พวกพระราชาก็ได้ พวกกษัตริย์วิวาทกับพวกกษัตริย์ก็ได้ พวกพราหมณ์วิวาทกับ
พวกพราหมณ์ก็ได้ พวกคหบดีวิวาทกับพวกคหบดีก็ได้ มารดาวิวาทกับบุตรก็ได้
บุตรวิวาทกับมารดาก็ได้ บิดาวิวาทกับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับบิดาก็ได้ พี่ชายน้อง
ชายวิวาทกับพี่สาวน้องสาวก็ได้ พี่สาวน้องสาววิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ สหาย
วิวาทกับสหายก็ได้ ชนเหล่านั้น ถึงการทะเลาะ แก่งแย่งและวิวาทกันในที่นั้น
ทำร้ายกันและกันด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง
ถึงความตายในที่นั้นบ้าง ได้รับทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกาม
ทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกาม
เป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๔๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง (โทษแห่งกามทั้งหลาย) มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกาม
เป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายถือดาบและโล่ จับธนูพาด
ลูกศรแล้ว วิ่งเข้าสู่สงครามปะทะกันทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อพวกเขายิงลูกศรไปบ้าง พุ่งหอก
ไปบ้าง กวัดแกว่งดาบฟันบ้าง ชนเหล่านั้นถูกลูกศรเสียบเอาบ้าง โดนหอกแทงบ้าง
ถูกดาบตัดศีรษะ พวกเขาตายในที่นั้นบ้าง ได้รับทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่า
เป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกาม
เป็นต้นเค้า มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
อีกนัยหนึ่ง (โทษแห่งกามทั้งหลาย) มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกาม
เป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายถือดาบและโล่ จับธนูพาด
ลูกศรแล้ว วิ่งเข้าสู่เชิงกำแพงที่ฉาบด้วยเปือกตมร้อน เมื่อพวกเขายิงลูกศรไปบ้าง
พุ่งหอกไปบ้าง กวัดแกว่งดาบฟันบ้าง ชนเหล่านั้นถูกลูกศรเสียบเอาบ้าง โดนหอก
แทงบ้าง ถูกรดด้วยมูลโคร้อนบ้าง ถูกสับด้วยคราดบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะบ้าง
พวกเขาตายในที่นั้นบ้าง ได้รับทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกาม
ทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกาม
เป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
อีกนัยหนึ่ง (โทษแห่งกามทั้งหลาย) มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกาม
เป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายตัดช่องย่องเบาบ้าง ขโมย
ยกเค้าบ้าง ปล้นบ้านบ้าง ดักจี้ในทางเปลี่ยวบ้าง ละเมิดภรรยาของผู้อื่นบ้าง พระ
ราชาก็รับสั่งให้จับเขาลงอาญาด้วยประการต่าง ๆ คือ ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ให้เฆี่ยน
ด้วยหวายบ้าง ให้ตีด้วยไม้พลองบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ฯลฯ เอาดาบตัด
ศีรษะบ้าง พวกเขาตายในที่นั้นบ้าง ได้รับทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษ
แห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า
มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล
อีกนัยหนึ่ง (โทษแห่งกามทั้งหลาย) มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกาม
เป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายประพฤติกายทุจริต วจี-
ทุจริต มโนทุจริต ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว หลังจาก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๔๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ตายแล้ว ย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกาม
ทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ในสัมปรายภพ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็น
เหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล๑
คำว่า เราเห็นโทษในกามคุณแล้ว อธิบายว่า เห็น คือ แลเห็น เทียบเคียง
พิจารณาทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งซึ่งโทษในกามคุณ รวมความว่า เราเห็นโทษ
ในกามคุณแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
เพราะกามทั้งหลายสวยงาม
มีรสอร่อย น่ารื่นเริงใจ
ยั่วยวนจิตด้วยอารมณ์หลายรูปแบบ
เราเห็นโทษในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๓๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
คำว่า กาม นี้ เป็นอันตราย เป็นดุจฝี
เป็นอุปัทวะ เป็นโรค เป็นดุจลูกศร และเป็นภัย
เราเห็นภัยนี้ในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๗)
คำว่า คำว่า กาม นี้ เป็นอันตราย เป็นดุจฝี เป็นอุปัทวะ เป็นโรค เป็นดุจ
ลูกศร และเป็นภัย อธิบายว่า สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย คำว่า ภัย เป็นชื่อของกามทั้งหลาย คำว่า ทุกข์ เป็นชื่อของกาม
ทั้งหลาย คำว่า โรค เป็นชื่อของกามทั้งหลาย คำว่า ฝี เป็นชื่อของกามทั้งหลาย
คำว่า ลูกศร เป็นชื่อของกามทั้งหลาย คำว่า ความข้อง เป็นชื่อของกามทั้งหลาย
คำว่า เปือกตม เป็นชื่อของกามทั้งหลาย คำว่า การอยู่ในครรภ์ นี้ เป็นชื่อของ
กามทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ม.มู. ๑๒/๑๖๗-๑๖๙/๑๒๙-๑๓๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๔๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
เพราะเหตุไร คำว่า ภัย จึงเป็นชื่อของกามทั้งหลาย เพราะบุคคลนี้ยินดีใน
กามราคะ ถูกฉันทราคะผูกพันไว้ ย่อมไม่พ้นไปจากภัยแม้ที่เป็นไปในภพปัจจุบัน
และไม่พ้นไปจากภัยแม้ที่เป็นไปในภพหน้า ฉะนั้น คำว่า ภัย นี้ จึงเป็นชื่อของกาม
ทั้งหลาย
เพราะเหตุไร คำว่า ทุกข์ ... คำว่า โรค ... คำว่า ฝี ... คำว่า ลูกศร ... คำว่า
ความข้อง ... คำว่า เปือกตม ... คำว่า การอยู่ในครรภ์ ... นี้ จึงเป็นชื่อของกาม
ทั้งหลาย เพราะบุคคลนี้ยินดีในกามราคะ ถูกฉันทราคะผูกพันไว้ ย่อมไม่พ้นไปจาก
ครรภ์แม้ที่เป็นไปในภพปัจจุบัน และไม่พ้นไปจากครรภ์แม้ที่เป็นไปในภพหน้า ฉะนั้น
คำว่า ทุกข์ คำว่า การอยู่ในครรภ์ นี้ จึงเป็นชื่อของกามทั้งหลาย
ปุถุชนตกต่ำด้วยราคะอันน่ายินดี
ย่อมเข้าถึงความเป็นสัตว์เกิดในครรภ์อีก เพราะกามเหล่าใด
กามเหล่านี้เรียกว่า ภัย ทุกข์ โรค ฝี ลูกศร
ความข้อง เปือกตม และการเกิดในครรภ์
แต่เมื่อใด ภิกษุมีความเพียรเผากิเลส ไม่ละสัมปชัญญะ
เมื่อนั้น ภิกษุผู้เป็นเช่นนั้นก็ล่วงกามเป็นดุจทางลื่น ที่ข้ามได้ยาก
มองเห็นหมู่สัตว์ผู้เข้าถึงชาติและชรา ดิ้นรนอยู่๑
รวมความว่า คำว่า กาม นี้ เป็นอันตราย เป็นดุจฝี เป็นอุปัทวะ เป็นโรค เป็นดุจ
ลูกศร และเป็นภัย
คำว่า เราเห็นภัยนี้ในกามคุณแล้ว อธิบายว่า เห็น คือ แลเห็น เทียบเคียง
พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วซึ่งภัยนี้ในกามคุณ รวมความว่า
เราเห็นภัยนี้ในกามคุณแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า
คำว่า กาม นี้ เป็นอันตราย เป็นดุจฝี
เป็นอุปัทวะ เป็นโรค เป็นดุจลูกศร และเป็นภัย
เราเห็นภัยนี้ในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.อฏฐก. ๒๓ / ๕๖ / ๒๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๔๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[๑๓๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
เราครอบงำภัยทั้งปวงเหล่านี้ คือ
ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
ลม แดด เหลือบ และสัตว์เลื้อยคลานแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๘)
คำว่า ความหนาว ในคำว่า ความหนาว ความร้อน ความหิว ความ
กระหาย อธิบายว่า ความหนาวย่อมมีด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) ความหนาว
ด้วยอำนาจธาตุกำเริบภายใน (๒) ความหนาวด้วยอำนาจฤดูภายนอก
คำว่า ความร้อน อธิบายว่า ความร้อนย่อมมีด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ
(๑) ความร้อนด้วยอำนาจธาตุกำเริบภายใน (๒) ความร้อนด้วยอำนาจฤดูภายนอก
ความหิวโหย เรียกว่า ความหิว ความกระหายน้ำ เรียกว่า ความกระหาย
รวมความว่า ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
คำว่า ลม แดด เหลือบ และสัตว์เลื้อยคลาน อธิบายว่า
คำว่า ลม ได้แก่ ลมตะวันออก ลมตะวันตก ลมเหนือ ลมใต้ ลมมีฝุ่น
ลมไม่มีฝุ่น ลมหนาว ลมร้อน ลมพัดเบา ลมพัดแรง ลมบ้าหมู ลมจากปีกนก
ลมจากปีกครุฑ ลมจากใบตาล ลมจากพัด ความร้อนจากดวงอาทิตย์ เรียกว่า แดด
แมลงวันหัวเหลือง เรียกว่า เหลือบ
งู เรียกว่า สัตว์เลื้อยคลาน รวมความว่า ลม แดด เหลือบ และสัตว์เลื้อยคลาน
คำว่า เราครอบงำภัยทั้งปวงเหล่านี้ อธิบายว่า ครอบงำ คือ ท่วมทับ รัดรึง
ย่ำยีแล้ว รวมความว่า เราครอบงำภัยทั้งปวงเหล่านี้แล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว
เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
เราครอบงำภัยทั้งปวงเหล่านี้ คือ
ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
ลม แดด เหลือบ และสัตว์เลื้อยคลานแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๔๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[๑๓๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละทิ้งหมู่ มีขันธ์เกิดดีแล้ว
มีดอกบัว(คือธรรม)เป็นผู้ยิ่งใหญ่ อยู่ในป่าตามชอบใจได้
เหมือนนาคะ ละทิ้งโขลงแล้วอยู่ป่าได้ตามชอบใจ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๙)
คำว่า ละทิ้งหมู่ ... เหมือนนาคะ อธิบายว่า ช้างตัวประเสริฐเรียกว่า นาคะ
แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ก็ชื่อว่านาคะ เพราะเหตุไร พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึง
ชื่อว่านาคะ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าชื่อว่านาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้าชื่อว่านาคะ เพราะไม่ถึง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าชื่อว่านาคะ เพราะไม่
กลับมาหา
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าชื่อว่านาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรมทั้งหลายเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป
ตรัสเรียกว่า ความชั่ว
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
บุคคลผู้ไม่ทำบาปแม้เล็กน้อยในโลก
สลัดสังโยชน์เครื่องผูกพันได้ทั้งหมด
ไม่ติดข้องอยู่ในธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว
ดำรงตนมั่นคงเช่นนั้น บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า นาคะ๑
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นชื่อว่านาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๘/๔๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๔๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นชื่อว่านาคะ เพราะไม่ถึง เป็นอย่างไร
คือ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ถึงฉันทาคติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึงโมหาคติ
ไม่ถึงภยาคติ๑ พระองค์ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจราคะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจโทสะ
ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจโมหะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจมานะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจ
ทิฏฐิ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจอุทธัจจะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจวิจิกิจฉา ไม่ดำเนินไป
ด้วยอำนาจอนุสัย คือ ไม่ดำเนินไป ไม่ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไป ด้วยธรรม
ที่ก่อความเป็นฝักเป็นฝ่าย พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าชื่อว่านาคะ เพราะไม่ถึง
เป็นอย่างนี้
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าชื่อว่านาคะ เพราะไม่กลับมาหา เป็นอย่างไร
คือ กิเลสเหล่าใดพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละได้แล้ว ด้วยโสดาปัตติมรรค พระ
ปัจเจกสัมพุทธเจ้าไม่มา ไม่กลับมา ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก กิเลสเหล่าใด
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละได้แล้ว ด้วยสกทาคามิมรรค ฯลฯ ด้วยอนาคามิมรรค ฯลฯ
ด้วยอรหัตตมรรค ท่านก็ไม่มา ไม่กลับมา ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก พระ
ปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นชื่อว่านาคะ เพราะไม่กลับมาหา เป็นอย่างนี้
คำว่า เหมือนนาคะละทิ้งโขลงแล้ว อธิบายว่า ช้างตัวประเสริฐนั้น ละทิ้ง คือ
ทอดทิ้ง ปล่อยทิ้งโขลงแล้ว ตัวเดียว เหยียบย่างเข้าไปในท่ามกลางป่าดง คือ อยู่
เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป ฉันใด
แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ก็ละทิ้ง คือ ทอดทิ้ง ปล่อยทิ้งหมู่คณะแล้ว ประพฤติ
อยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด คือ ใช้สอยเสนาสนะ เป็นป่าทึบและป่าละเมาะอันสงัด
มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็น
สถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้นตามลำพังผู้เดียว ท่านไปผู้เดียว
ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว
นั่งในที่ลับผู้เดียว อธิษฐานจงกรมผู้เดียว ประพฤติอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว รวมความว่า เหมือนนาคะ ละทิ้ง
โขลงแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๒๗/๑๔๕-๑๔๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๔๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า มีขันธ์เกิดดีแล้ว มีดอกบัว (คือธรรม) เป็นผู้ยิ่งใหญ่ อธิบายว่า
ช้างตัวประเสริฐนั้น มีขันธ์เกิดดีแล้ว คือ เป็นช้างสูง ๗ ศอกบ้าง สูง ๘
ศอกบ้าง ฉันใด
แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ก็มีขันธ์เกิดดีแล้วด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ สมาธิ-
ขันธ์อันเป็นอเสขะ ปัญญาขันธ์อันเป็นอเสขะ วิมุตติขันธ์อันเป็นอเสขะ วิมุตติญาณ-
ทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ ฉันนั้น
ช้างตัวประเสริฐนั้น ชื่อว่าปทุมี๑ ฉันใด
แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็ชื่อว่าปทุมี ฉันนั้น เพราะมีดอกบัวคือโพชฌงค์ ๗
ประการ ได้แก่ ดอกบัวคือสติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์
ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเปกขาสัมโพชฌงค์
ช้างตัวประเสริฐนั้น ยิ่งใหญ่ด้วยเรี่ยวแรง กำลัง ความเร็ว ความกล้า ฉันใด
แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็เป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ
วิมุตติญาณทัสสนะ ฉันนั้น รวมความว่า มีขันธ์เกิดดีแล้ว มีดอกบัว (คือธรรม)
เป็นผู้ยิ่งใหญ่
คำว่า อยู่ในป่าตามชอบใจได้ อธิบายว่า ช้างตัวประเสริฐนั้น อยู่ในป่าตาม
ชอบใจได้ ฉันใด แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ก็อยู่ในป่าตามชอบใจได้ ฉันนั้น คือ
อยู่ในป่าตามชอบใจได้ด้วยปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ฯลฯ ตติยฌานบ้าง ฯลฯ
จตุตถฌานบ้าง เมตตาเจโตวิมุตติบ้าง กรุณาเจโตวิมุตติบ้าง ฯลฯ มุทิตาเจโตวิมุตติ
บ้าง ฯลฯ อุเปกขาเจโตวิมุตติบ้าง อากาสานัญจายตนสมาบัติบ้าง วิญญาณัญ-
จายตนสมาบัติบ้าง ฯลฯ อากิญจัญญายตนสมาบัติบ้าง ฯลฯ เนวสัญญานา-
สัญญายตนสมาบัติบ้าง ฯลฯ นิโรธสมาบัติบ้าง ฯลฯ อยู่ในป่าตามชอบใจได้ด้วย
ผลสมาบัติบ้าง รวมความว่า อยู่ในป่าตามชอบใจได้ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือน
นอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า

เชิงอรรถ :
๑ ปทุมี ในที่นี้หมายถึง มีร่างกายเช่นดังดอกบัว หรือเพราะเกิดในตระกูลช้างชื่อปทุม (ขุ.จู.อ. ๑๓๙/๑๓๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๕๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละทิ้งหมู่ มีขันธ์เกิดดีแล้ว
มีดอกบัว(คือธรรม)เป็นผู้ยิ่งใหญ่ อยู่ในป่าตามชอบใจได้
เหมือนนาคะ ละทิ้งโขลงแล้วอยู่ป่าได้ตามชอบใจ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๔๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
บุคคลสัมผัสวิมุตติใด ซึ่งเกิดขึ้นตามสมัย
วิมุตตินั้นเป็นไปไม่ได้สำหรับบุคคล
ผู้ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
บุคคลใคร่ครวญถ้อยคำของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๑๐)
คำว่า บุคคลสัมผัสวิมุตติใด ซึ่งเกิดขึ้นตามสมัย วิมุตตินั้นเป็นไปไม่ได้
สำหรับบุคคล ผู้ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ อธิบายว่า สมจริงดังที่พระผู้มี-
พระภาคได้ตรัสไว้ว่า “อานนท์ ข้อที่ภิกษุชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ยินดีการคลุกคลี
ด้วยหมู่คณะ ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีด้วยคณะ ชอบคณะ ยินดีคณะ
บันเทิงอยู่ในคณะ ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีด้วยคณะ จักเป็นผู้ได้
เนกขัมมสุข(สุขจากการหลีกออกบวช) ปวิเวกสุข(สุขจากความสงัด) อุปสมสุข(สุข
จากความเข้าไปสงบ) สัมโพธิสุข(สุขจากการตรัสรู้) ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
โดยไม่ลำบาก เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อานนท์ ข้อที่ภิกษุใดหลีกออกจากคณะ อยู่
ตามลำพังผู้เดียว ภิกษุนั้นพึงหวังเนกขัมมสุข ปวิเวกสุข อุปสมสุข สัมโพธิสุข
จักเป็นผู้ได้สุขนั้นตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบาก ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้
อานนท์ ข้อที่ภิกษุชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ประกอบ
เนือง ๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีด้วยคณะ ชอบคณะ ยินดีคณะ บันเทิงอยู่ในคณะ
ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีด้วยคณะ จักบรรลุเจโตวิมุตติซึ่งเกิดขึ้นตาม
สมัย อันน่ายินดี หรือ โลกุตตรมรรค ซึ่งมิได้เกิดขึ้นตามสมัย อันไม่กำเริบ ย่อมเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๕๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ทุติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ไปไม่ได้ อานนท์ ส่วนภิกษุใด หลีกออกจากคณะ อยู่ตามลำพังผู้เดียว ภิกษุนั้น
พึงหวัง คือ จักบรรลุเจโตวิมุตติ ซึ่งเกิดขึ้นตามสมัย อันน่ายินดี หรือโลกุตตรมรรค
ซึ่งมิได้เกิดขึ้น ตามสมัย อันไม่กำเริบ ย่อมเป็นไปได้”๑ รวมความว่า บุคคลสัมผัส
วิมุตติใด ซึ่งเกิดขึ้นตามสมัย วิมุตตินั้นเป็นไปไม่ได้สำหรับบุคคลผู้ยินดีการคลุกคลี
ด้วยหมู่คณะ
คำว่า บุคคลใคร่ครวญถ้อยคำของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์
แห่งพระอาทิตย์แล้ว อธิบายว่า พระสุริยะเรียกว่า พระอาทิตย์ พระสุริยะนั้น
เป็นพระโคดมโดยพระโคตร แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็เป็นพระโคดมโดยพระโคตร
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงปรากฏโดยโคตรพระอาทิตย์ คือ เป็นเผ่าพันธุ์โดย
โคตรพระอาทิตย์ ฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า จึงชื่อว่าเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระ
อาทิตย์
คำว่า บุคคลใคร่ครวญถ้อยคำของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์
แห่งพระอาทิตย์แล้ว อธิบายว่า ฟัง คือ สดับ เรียน ทรงจำ เข้าไปกำหนดถ้อยคำ
คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน คำพร่ำสอนของพระผู้เป็นเผ่าพันธุ์
แห่งพระอาทิตย์ รวมความว่า บุคคลใคร่ครวญถ้อยคำของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์แล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
บุคคลสัมผัสวิมุตติใด ซึ่งเกิดขึ้นตามสมัย
วิมุตตินั้นเป็นไปไม่ได้สำหรับบุคคล
ผู้ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
บุคคลใคร่ครวญถ้อยคำของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
ทุติยวรรค จบ

เชิงอรรถ :
๑ ม.อุ. ๑๔/๑๘๖/๑๖๐, องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๓๐/๔๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๕๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ตติยวรรค
[๑๔๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า)ประพฤติล่วงทิฏฐิ
อันเป็นเสี้ยนหนาม ถึงนิยาม ได้เฉพาะมรรคแล้ว
เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๑)
คำว่า (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า)ประพฤติล่วงทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม
อธิบายว่า สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ เรียกว่า ทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม ปุถุชนผู้มิได้
สดับ ในโลกนี้ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับการ
แนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้
รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมองเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา เห็นอัตตาว่ามีรูป
เห็นรูปในอัตตา หรือเห็นอัตตาในรูป
ย่อมมองเห็นเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณโดยความ
เป็นอัตตา เห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ เห็นวิญญาณในอัตตา หรือเห็นอัตตาในวิญญาณ
ทิฏฐิ การตกอยู่ในทิฏฐิ ความรกชัฏคือทิฏฐิ ความกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนาม
คือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องผูกพันคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น
ความยึดมั่น ความยึดมั่นถือมั่น ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเดียรถีย์ ความถือ
ขัดแย้ง ความถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือในสิ่งที่เป็นความจริง
ว่าเป็นจริงเห็นปานนี้ จนถึงทิฏฐิ ๖๒ นี้ชื่อว่าทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม
คำว่า (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ประพฤติล่วงทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม ได้แก่
ประพฤติล่วง คือ ก้าวพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม รวมความว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ประพฤติล่วงทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม
คำว่า ถึงนิยาม ได้เฉพาะมรรคแล้ว อธิบายว่า มรรค ๔ เรียกว่า นิยาม
ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๕๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส

๑. สัมมาทิฏฐิ ๒. สัมมาสังกัปปะ
๓. สัมมาวาจา ๔. สัมมากัมมันตะ
๕. สัมมาอาชีวะ ๖. สัมมาวายามะ
๗. สัมมาสติ ๘. สัมมาสมาธิ

พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้เพียบพร้อมด้วยอริยมรรค ๔ ประการ ชื่อว่าถึง
นิยาม คือ ถึง ถึงพร้อม บรรลุ สัมผัส ทำให้แจ้ง รวมความว่า ถึงนิยาม
คำว่า ได้เฉพาะมรรคแล้ว อธิบายว่า ได้มรรคแล้ว ได้เฉพาะมรรคแล้ว คือ
บรรลุ ถูกต้อง ทำมรรคให้แจ้งแล้ว รวมความว่า ถึงนิยาม ได้เฉพาะมรรคแล้ว
คำว่า เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ อธิบายว่า ญาณ
เกิดขึ้น คือ เกิดขึ้นพร้อม บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏแก่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
คือ ญาณเกิดขึ้น เกิดขึ้นพร้อม บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏว่า “สังขารทั้งปวง
ไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใด
สิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
รวมความว่า เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว
คำว่า ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นไม่ให้ใคร
แนะนำ คือ ไม่ต้องมีใครทำให้เชื่อ ไม่ต้องมีใครเป็นปัจจัย ถึงญาณไม่เกี่ยวข้อง
กับผู้อื่น เป็นผู้ไม่หลงลืม รู้ตัว มีสติตั้งมั่น รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ เป็นผู้ไม่หลงลืม
รู้ตัว มีสติตั้งมั่น รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารทั้งปวง
เป็นทุกข์ ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น
ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า เป็นผู้มี
ญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ประพฤติล่วงทิฏฐิ
อันเป็นเสี้ยนหนาม ถึงนิยาม ได้เฉพาะมรรคแล้ว
เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๕๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[๑๔๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) เป็นผู้ไม่โลภ ไม่หลอกลวง
ไม่กระหาย ไม่มีความลบหลู่ กำจัดกสาวะ (กิเลสดุจน้ำย้อม)
และโมหะได้แล้ว ไม่มีความมุ่งหวัง ในโลกทั้งปวงแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๒)
คำว่า เป็นผู้ไม่โลภ ไม่หลอกลวง ไม่กระหาย อธิบายว่า ตัณหาเรียกว่า
ความโลภ ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑
ตัณหา คือความโลภนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิด
ขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่โลภ

ว่าด้วยความหลอกลวง ๓ อย่าง
คำว่า ไม่หลอกลวง อธิบายว่า ความหลอกลวง ๓ อย่าง คืออ
๑. ความหลอกลวงเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัย
๒. ความหลอกลวงเกี่ยวกับอิริยาบถ
๓. ความหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียง
ความหลอกลวงเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัย เป็นอย่างไร
คือ คหบดีทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมนิมนต์ภิกษุ ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุนั้น มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยาก
ครอบงำ มีความต้องการจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
เพราะต้องการได้ให้มากยิ่งขึ้น จึงบอกคืนจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร เธอพูดอย่างนี้ว่า “จีวรที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะ
ควรเที่ยวเลือกเก็บผ้าเก่าจากป่าช้า กองหยากเยื่อ หรือร้านตลาด เอามาทำ
สังฆาฏิใช้ จึงจะเป็นการเหมาะสม บิณฑบาตที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๕๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
สมณะควรสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยก้อนข้าวที่ได้มาด้วยปลีแข้ง โดยการเที่ยวแสวงหา
จึงจะเป็นการเหมาะสม เสนาสนะที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะควร
อยู่ที่โคนไม้ อยู่ที่ป่าช้า หรืออยู่กลางแจ้ง จึงจะเป็นการเหมาะสม คิลานปัจจัย-
เภสัชบริขารที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะควรทำยาด้วยน้ำมูตรเน่า
หรือชิ้นลูกสมอ จึงจะเป็นการเหมาะสม
เพราะต้องการได้ให้มากยิ่งขึ้นนั้น เธอจึงครองจีวรเศร้าหมอง ฉันบิณฑบาต
เศร้าหมอง ใช้สอยเสนาสนะซอมซ่อ ใช้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ คหบดี
ทั้งหลายรู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “สมณะรูปนี้ มีความปรารถนาน้อย สันโดษ สงบสงัด
ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร มีวาทะกำจัดขัดเกลา” ก็ยิ่งนิมนต์เธอให้
รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมากยิ่งขึ้น เธอจึงพูด
อย่างนี้ว่า “เพราะพรั่งพร้อมด้วยเหตุ ๓ ประการ กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมประสบ
บุญมาก คือ เพราะพรั่งพร้อมด้วยศรัทธา ... เพราะพรั่งพร้อมด้วยไทยธรรม ...
เพราะพรั่งพร้อมด้วยพระทักขิไณยบุคคล กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมประสบบุญมาก
ท่านทั้งหลายมีศรัทธานี้อยู่ ไทยธรรมนี้ก็มีอยู่พร้อม ทั้งอาตมภาพก็เป็นปฏิคาหก
ถ้าอาตมภาพไม่รับ พวกท่านก็จักเสื่อมจากบุญไปเสีย อาตมภาพมิได้มีความต้องการ
ด้วยปัจจัยนี้ แต่จักรับเพื่ออนุเคราะห์พวกท่าน” เพราะอาศัยเหตุนั้น เธอจึงรับจีวร
มากมาย รับบิณฑบาตมากมาย รับเสนาสนะมากมาย รับคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
มากมาย การทำหน้านิ่ว การทำคิ้วขมวด การหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ภาวะ
ที่หลอกลวงเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า ความหลอกลวงเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัย
ความหลอกลวงเกี่ยวกับอิริยาบถ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยาก
ครอบงำ ปรารถนาจะให้เขายกย่อง คิดว่า “คนจักยกย่องเราด้วยอุบายอย่างนี้
จึงสำรวมการเดิน สำรวมการยืน สำรวมการนั่ง สำรวมการนอน ตั้งสติเดิน
ตั้งสติยืน ตั้งสตินั่ง ตั้งสตินอน ทำทีเหมือนภิกษุมีสมาธิเดิน เหมือนภิกษุมีสมาธิยืน
เหมือนภิกษุมีสมาธินั่ง เหมือนภิกษุมีสมาธินอน เป็นเหมือนภิกษุเจริญฌานอวด
ต่อหน้า การตั้งท่า การวางท่า การดำรงมั่นอิริยาบถ การทำหน้านิ่ว การทำคิ้ว
ขมวด การหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ภาวะที่หลอกลวงเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า
ความหลอกลวงเกี่ยวกับอิริยาบถ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๕๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ความหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยาก
ครอบงำ ปรารถนาจะให้เขายกย่อง คิดว่า “คนจักยกย่องเราด้วยอุบายอย่างนี้”
จึงกล่าววาจาอิงอริยธรรม คือพูดว่า “ภิกษุผู้ทรงจีวรมีรูปแบบอย่างนี้ เป็นสมณะมี
ศักดิ์ใหญ่ ผู้ใช้บาตร ใช้ภาชนะโลหะ ใช้ธมกรก ใช้ผ้ากรองน้ำ ใช้ลูกกุญแจ ใช้รองเท้า
ใช้ประคดเอว ใช้สายโยกบาตร มีรูปแบบอย่างนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่” พูดว่า
“ภิกษุผู้มีอุปัชฌาย์ระดับนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่ มีอาจารย์ระดับนี้ ฯลฯ มีผู้ร่วม
อุปัชฌาย์ระดับนี้ ฯลฯ มีผู้ร่วมอาจารย์ระดับนี้ ฯลฯ มีมิตร ฯลฯ มีพรรคพวก ฯลฯ
มีคนที่คบหากัน ฯลฯ มีสหายระดับนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่” พูดว่า “ภิกษุผู้อยู่
ในวิหารมีรูปแบบอย่างนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่ ฯลฯ อยู่ในเรือนมีหลังคาด้านเดียว
มีรูปแบบอย่างนี้ ฯลฯ อยู่ในปราสาท ฯลฯ อยู่ในเรือนโล้น ฯลฯ อยู่ในถ้ำ ฯลฯ
อยู่ในที่หลีกเร้น ฯลฯ อยู่ในกุฎี ฯลฯ อยู่ในเรือนยอด ฯลฯ อยู่ที่ป้อม ฯลฯ อยู่ใน
โรงกลม ฯลฯ อยู่ในเรือนพัก ฯลฯ อยู่ในเรือนรับรอง ฯลฯ อยู่ในมณฑป ฯลฯ อยู่
ที่โคนไม้ มีรูปแบบอย่างนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่”
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้วางหน้าเฉยเมย ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด โกหกหลอกลวง
ปลิ้นปล้อน ตลบตะแลง เป็นผู้ได้รับยกย่องด้วยการวางหน้าว่า “สมณะนี้ได้วิหาร-
สมาบัติ อันมีอยู่เห็นปานนี้” ภิกษุนั้น ย่อมกล่าวถ้อยคำเช่นนั้น อันเกี่ยวเนื่องด้วย
โลกุตตรธรรม และสุญญตนิพพาน อันลึกซึ้ง เร้นลับ ละเอียดอ่อน ปิดบัง การทำ
หน้านิ่ว การทำคิ้วขมวด การหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ภาวะที่หลอกลวงเห็น
ปานนี้ นี้เรียกว่า ความหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียง
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละความหลอกลวง ๓ อย่างเหล่านี้ได้แล้ว คือ ตัดขาด
ได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
ฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าไม่หลอกลวง
คำว่า ไม่กระหาย อธิบายว่า ตัณหาเรียกว่า ความกระหาย ได้แก่ ความ
กำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๕๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ตัณหาคือความกระหายนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงชื่อว่าไม่กระหาย รวมความว่า
เป็นผู้ไม่โลภ ไม่หลอกลวง ไม่กระหาย
คำว่า ไม่มีความลบหลู่ กำจัดกสาวะ(กิเลสดุจน้ำย้อม) และโมหะได้แล้ว
อธิบายว่า
คำว่า ความลบหลู่ ได้แก่ ความลบหลู่ คือ กิริยาที่ลบหลู่ ภาวะที่ลบหลู่
ความแข็งกระด้าง กรรมคือความแข็งกระด้าง
คำว่า กสาวะ(กิเลสดุจน้ำย้อม) อธิบายว่า ราคะ ชื่อว่ากสาวะ โทสะ ชื่อว่า
กสาวะ โมหะ ชื่อว่ากสาวะ โกธะ ฯลฯ อุปนาหะ ฯลฯ มักขะ ฯลฯ ปฬาสะ ฯลฯ
อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ชื่อว่ากสาวะ
คำว่า โมหะ ได้แก่ ความไม่รู้ในทุกข์ ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย ความไม่รู้ใน
ทุกขนิโรธ ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ในส่วนอดีต ความไม่รู้ใน
ส่วนอนาคต ความไม่รู้ในส่วนอดีตและอนาคต ความไม่รู้ในปฏิจจสมุปบาทว่า
เพราะธรรมนี้เป็นปัจจัย ธรรมนี้จึงมี ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้ ความ
ไม่รู้โดยสมควร ความไม่รู้ตามเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอาโดย
ถูกต้อง ความไม่หยั่งลงโดยรอบคอบ ความไม่พินิจ ความไม่พิจารณา ความไม่
ทำให้ประจักษ์ ความทรามปัญญา ความโง่เขลา ความไม่รู้ชัด ความหลง ความ
ลุ่มหลง ความหลงใหล อวิชชา โอฆะคืออวิชชา โยคะคืออวิชชา อนุสัยคืออวิชชา
ปริยุฏฐานคืออวิชชา ข่ายคืออวิชชา บ่วงคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ๑
ความลบหลู่ กสาวะ และโมหะ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นคายเสียแล้ว ทิ้ง
กำจัดได้แล้ว ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้น
ไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงชื่อว่า
ไม่มีความลบหลู่ กำจัดกสาวะ(กิเลสดุจน้ำย้อม)และโมหะได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๐๖๗/๒๗๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๕๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่มีความมุ่งหวังในโลกทั้งปวงแล้ว อธิบายว่า ตัณหาเรียกว่า ความ
มุ่งหวัง ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑
คำว่า ในโลกทั้งปวง ได้แก่ ในอบายโลกทั้งปวง ในมนุษยโลกทั้งปวง ในเทวโลก
ทั้งปวง ในขันธโลกทั้งปวง ในธาตุโลกทั้งปวง ในอายตนโลกทั้งปวง
คำว่า ไม่มีความมุ่งหวังในโลกทั้งปวงแล้ว อธิบายว่า เป็นผู้ไม่มีความมุ่งหวัง
คือ ไม่มีตัณหา ไม่มีความกระหายในโลกทั้งปวง รวมความว่า ไม่มีความมุ่งหวังใน
โลกทั้งปวงแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) เป็นผู้ไม่โลภ ไม่หลอกลวง
ไม่กระหาย ไม่มีความลบหลู่ กำจัดกสาวะ(กิเลสดุจน้ำย้อม)
และโมหะได้แล้ว ไม่มีความมุ่งหวัง ในโลกทั้งปวงแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๔๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
บุคคลพึงละเว้นสหายชั่ว ผู้ไม่เห็นประโยชน์
ผู้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมที่ผิด ไม่พึงคบคนผู้ขวนขวาย
และผู้ประมาทด้วยตนเอง
พึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๓)

ว่าด้วยมิจฉาทิฏฐิ ๑๐
คำว่า พึงละเว้นสหายชั่ว อธิบายว่า ที่เรียกว่าสหายชั่ว คือ สหายผู้ประกอบ
ด้วยมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ คือ
๑. ทานที่ให้แล้วไม่มีผล
๒. การบูชาไม่มีผล

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๕๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
๓. การบวงสรวงไม่มีผล
๔. กรรมที่ทำไว้ดีและทำไว้ไม่ดีไม่มี
๕. โลกนี้ไม่มี
๖. โลกหน้าไม่มี
๗. มารดาไม่มี
๘. บิดาไม่มี
๙. สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี
๑๐. สมณพราหมณ์ที่ดำเนินตนชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำให้แจ้งโลกนี้และโลก
หน้าด้วยตนเองแล้วประกาศให้(ผู้อื่น)ทราบไม่มี นี้ชื่อว่าสหายชั่ว
คำว่า พึงละเว้นสหายชั่ว ได้แก่ พึงละ คือ พึงละเว้นสหายชั่ว รวมความว่า
พึงละเว้นสหายชั่ว
คำว่า ผู้ไม่เห็นประโยชน์ ผู้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมที่ผิด อธิบายว่า ที่เรียกว่า
ผู้ไม่เห็นประโยชน์ คือ สหายผู้ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ คือ
๑. ทานที่ให้แล้วไม่มีผล
๒. การบูชาไม่มีผล
ฯลฯ
๑๐. ผู้ทำให้แจ้งในโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเองแล้วประกาศให้(ผู้อื่น)ทราบไม่มี
นี้ชื่อว่าผู้ไม่เห็นประโยชน์
คำว่า ผู้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมที่ผิด อธิบายว่า ผู้ตั้งมั่นอยู่ในกายกรรมที่ผิด
ตั้งมั่นอยู่ในวจีกรรมที่ผิด ตั้งมั่นในมโนกรรมที่ผิด ในปาณาติบาต ในอทินนาทาน ใน
กาเมสุมิจฉาจาร ในมุสาวาท ในปิสุณาวาจา ในผรุสวาจา ในสัมผัปปลาปะ ใน
อภิชฌา ในพยาบาท ในมิจฉาทิฏฐิ ในสังขาร ในกามคุณ ๕ ในนิวรณ์ ๕ คือ ตั้งอยู่
ด้วยดี ข้อง ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจไปในนิวรณ์ รวมความว่า ผู้ไม่เห็นประโยชน์
ผู้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมที่ผิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๖๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้ขวนขวาย ในคำว่า ไม่พึงคบคนผู้ขวนขวายและผู้ประมาทด้วยตนเอง
อธิบายว่า บุคคลใดแสวงหา ค้นหา เสาะหากาม ประพฤติในกามนั้น มากในกามนั้น
หนักในกามนั้น เอนไปในกามนั้น โอนไปในกามนั้น โน้มไปในกามนั้น น้อมใจไป
ในกามนั้น มีกามนั้นเป็นใหญ่ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้ขวนขวายในกาม
บุคคลใดแสวงหารูปด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ แสวงหาเสียงด้วยอำนาจตัณหา
แสวงหากลิ่น ฯลฯ รส ฯลฯ โผฏฐัพพะด้วยอำนาจตัณหา ประพฤติในกามคุณนั้น
มากในกามคุณนั้น หนักในกามคุณนั้น เอนไปในกามคุณนั้น โอนไปในกามคุณนั้น
โน้มไปในกามคุณนั้น น้อมใจไปในกามคุณนั้น มีกามคุณนั้นเป็นใหญ่ บุคคลนั้นชื่อ
ว่าเป็นผู้ขวนขวายในกาม
บุคคลใดได้รูปด้วยอำนาจตัณหา ได้เสียง ฯลฯ กลิ่น ฯลฯ รส ฯลฯ
โผฏฐัพพะด้วยอำนาจตัณหา ประพฤติในกามคุณนั้น มากในกามคุณนั้น หนักใน
กามคุณนั้น เอนไปในกามคุณนั้น โอนไปในกามคุณนั้น โน้มไปในกามคุณนั้น
น้อมใจไปในกามคุณนั้น มีกามคุณนั้นเป็นใหญ่ บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้ขวนขวายในกาม
บุคคลใดบริโภครูปด้วยอำนาจตัณหา บริโภคเสียง ฯลฯ กลิ่น ฯลฯ รส ฯลฯ
โผฏฐัพพะด้วยอำนาจตัณหา ประพฤติในกามคุณนั้น มากในกามคุณนั้น หนักใน
กามคุณนั้น เอนไปในกามคุณนั้น โอนไปในกามคุณนั้น โน้มไปในกามคุณนั้น น้อมใจ
ไปในกามคุณนั้น มีกามคุณนั้นเป็นใหญ่ บุคคลนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้ขวนขวายในกาม
ผู้ก่อการทะเลาะ ชื่อว่าผู้ขวนขวายในการทะเลาะ ผู้ทำงาน ชื่อว่าผู้ขวนขวาย
ในงาน ผู้เที่ยวไปในโคจร ชื่อว่าผู้ขวนขวายในโคจร ผู้มีปกติเพ่ง ก็ชื่อว่าผู้ขวนขวาย
ในฌาน ฉันใด
บุคคลใดแสวงหา ค้นหา เสาะหากาม ประพฤติในกามคุณนั้น มากในกามคุณ
นั้น หนักในกามคุณนั้น เอนไปในกามคุณนั้น โอนไปในกามคุณนั้น โน้มไปในกาม
คุณนั้น น้อมใจไปในกามคุณนั้น มีกามคุณนั้นเป็นใหญ่ บุคคลนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้
ขวนขวายในกาม บุคคลใดแสวงหารูปด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ
บุคคลใดได้รูปด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ บุคคลใดบริโภครูปด้วยอำนาจตัณหา
ฯลฯ เสียง ฯลฯ กลิ่น ฯลฯ รส ฯลฯ โผฏฐัพพะด้วยอำนาจตัณหา ประพฤติใน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๖๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
กามคุณนั้น มากในกามคุณนั้น หนักในกามคุณนั้น เอนไปในกามคุณนั้น โอนไปใน
กามคุณนั้น โน้มไปในกามคุณนั้น น้อมใจไปในกามคุณนั้น มีกามคุณนั้นเป็นใหญ่
บุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้ขวนขวายในกาม ฉันนั้น
คำว่า ประมาท อธิบายว่า ควรกล่าวเรื่องความประมาท ความปล่อยจิตไป
การเพิ่มพูนการปล่อยจิตไปในกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือในกามคุณ ๕
การทำโดยไม่เคารพ การทำไม่ให้ติดต่อ การทำที่ไม่มั่นคง ความประพฤติย่อหย่อน
ความทอดทิ้งฉันทะ การทอดทิ้งธุระ ความไม่เสพ ความไม่เจริญ ความไม่ทำให้มาก
ความตั้งใจไม่จริง ความไม่หมั่นประกอบ ความประมาทในการเจริญกุศลธรรม
ทั้งหลาย ความประมาท กิริยาที่ประมาท ภาวะที่ประมาทมีลักษณะเช่นว่านี้
นี้เรียกว่า ความประมาท
คำว่า ไม่พึงคบคนผู้ขวนขวายและผู้ประมาทด้วยตนเอง อธิบายว่า ไม่พึง
คบคนผู้ขวนขวายและไม่พึงคบคนผู้ประมาทด้วยตนเอง ได้แก่ ไม่พึงคบ ไม่พึงเสพ
เป็นนิจ ไม่พึงซ่องเสพ ไม่ควรเสพรอบ ไม่พึงประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ ไม่พึงประพฤติ
เอื้อเฟื้อโดยชอบ ไม่พึงสมาทานประพฤติด้วยตนเอง รวมความว่า ไม่พึงคบคนผู้
ขวนขวายและผู้ประมาทด้วยตนเอง พึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุ
นั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
บุคคลพึงละเว้นสหายชั่ว ผู้ไม่เห็นประโยชน์
ผู้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมที่ผิด ไม่พึงคบคนผู้ขวนขวาย
และผู้ประมาทด้วยตนเอง
พึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๔๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
บุคคลพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม ผู้ยิ่งใหญ่
มีปฏิภาณ รู้จักประโยชน์แล้ว พึงกำจัดความสงสัย
ประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๔)
คำว่า ผู้เป็นพหูสูต ในคำว่า พึงคบ ... ผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม อธิบายว่า
มิตร ผู้เป็นพหูสูต (ผู้ได้ยินได้ฟังมาก) ทรงจำสิ่งที่เล่าเรียนมาแล้วได้ สั่งสมสิ่งที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๖๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
เล่าเรียนมาแล้วไว้ได้ คือ ธรรมเหล่าใด ที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามใน
ท่ามกลาง มีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ธรรมเห็นปานนั้นเป็นธรรมที่เขาเล่าเรียนมามาก ทรงจำ
ไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดชัดเจนตามทฤษฎี
คำว่า ทรงธรรม ได้แก่ ทรงธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ
คำว่า พึงคบ... ผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม อธิบายว่า พึงคบ คือ พึงคบหา
เสพ เสพเป็นนิจ พึงซ่องเสพ เสพเฉพาะมิตรผู้เป็นพหูสูต และผู้ทรงธรรม
รวมความว่า พึงคบ ... ผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม
คำว่า มิตร... ผู้ยิ่งใหญ่ มีปฏิภาณ อธิบายว่า มิตร ผู้ยิ่งใหญ่ด้วยศีล สมาธิ
ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

ว่าด้วยบุคคลผู้มีปฏิภาณ ๓ จำพวก
คำว่า มีปฏิภาณ ได้แก่ บุคคลผู้มีปฏิภาณ ๓ จำพวก คือ
๑. บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะปริยัติ
๒. บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะปริปุจฉา
๓. บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะอธิคม
บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะปริยัติ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในศาสนานี้ ได้เล่าเรียนพระพุทธพจน์ คือ สุตตะ เคยยะ
เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ญาณ(ความรู้)
ของบุคคลนั้นย่อมแจ่มแจ้ง เพราะอาศัยการเล่าเรียน บุคคลนี้ชื่อว่าผู้มีปฏิภาณ
เพราะปริยัติ
บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะปริปุจฉา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในศาสนานี้ เป็นผู้ไต่สวนในเรื่องความหมาย ในเรื่องที่ควรรู้
ในลักษณะ ในเหตุ ในฐานะและอฐานะ(ความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้) ญาณของ
เขาย่อมแจ่มแจ้ง เพราะอาศัยการไต่สวน บุคคลนี้ชื่อว่าผู้มีปฏิภาณเพราะปริปุจฉา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๖๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะอธิคม เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในศาสนานี้ ได้บรรลุสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ อริยมรรค ๔
สามัญญผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ บุคคลนั้นรู้เหตุ รู้ผล รู้นิรุตติ (ภาษา)
เมื่อรู้เหตุ เหตุย่อมแจ่มแจ้ง เมื่อรู้ผล ผลย่อมแจ่มแจ้ง เมื่อรู้นิรุตติ นิรุตติย่อม
แจ่มแจ้ง ญาณในเหตุ ผล และนิรุตติทั้ง ๓ เหล่านี้ ชื่อว่าปฏิภาณปฏิสัมภิทา
พระปัจเจก สัมพุทธเจ้าประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม
เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยปฏิภาณปฏิสัมภิทานี้ ฉะนั้น พระ
ปัจเจกสัมพุทธเจ้า ชื่อว่า มีปฏิภาณ ผู้ใดไม่มีปริยัติ ไม่มีปริปุจฉา ไม่มีอธิคม
ญาณอะไรเล่าจักแจ่มแจ้งแก่เขาได้ รวมความว่า มิตร ... ยิ่งใหญ่ มีปฏิภาณ
คำว่า รู้จักประโยชน์แล้ว พึงกำจัดความสงสัย อธิบายว่า รู้จัก คือ รู้ยิ่ง
ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ซึ่งประโยชน์ตน
ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์ในภพปัจจุบัน ประโยชน์ในภพหน้า
ประโยชน์อย่างยิ่ง พึงกำจัด ได้แก่ พึงขจัดเฉพาะ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีซึ่งความสงสัยอีก รวมความว่า รู้จักประโยชน์แล้ว พึงกำจัดความ
สงสัย ประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
จึงกล่าวว่า
บุคคลพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม ผู้ยิ่งใหญ่
มีปฏิภาณ รู้จักประโยชน์แล้ว พึงกำจัดความสงสัย
ประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๔๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ชื่นชมการเล่น
ความยินดี และกามสุขในโลก ไม่ใส่ใจ
งดเว้นจากฐานะแห่งการประดับตกแต่ง พูดคำจริง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๖๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า การเล่น ความยินดี และกามสุขในโลก อธิบายว่า
คำว่า การเล่น ได้แก่ การเล่น ๒ อย่าง คือ (๑) การเล่นทางกาย
(๒) การเล่นทางวาจา ฯลฯ นี้ชื่อว่าการเล่นทางกาย ฯลฯ นี้ชื่อว่าการเล่น
ทางวาจา๑
คำว่า ความยินดี อธิบายว่า
คำว่า ความยินดี นี้ เป็นชื่อของความไม่เบื่อหน่าย
คำว่า กามสุข อธิบายว่า สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย
กามคุณมี ๕ อย่างเหล่านี้ ๕ อย่างอะไรบ้าง คือ
๑. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู...
๓. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก...
๔. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น...
๕. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย สุข โสมนัสอันใดแล
อาศัยกามคุณ ๕ นั้นเกิดขึ้น โสมนัสนี้ เรียกว่า กามอันเป็นสุข๒
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในมนุษยโลก รวมความว่า การเล่น ความยินดี และ
กามสุขในโลก
คำว่า ไม่ชื่นชม... ไม่ใส่ใจ อธิบายว่า ไม่ชื่นชม คือ ไม่ใส่ใจ ละ บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งการเล่น ความยินดี และกามสุขในโลก รวม
ความว่า ไม่ชื่นชม... ไม่ใส่ใจ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒๗/๔๒๐
๒ ม.อุ. ๑๔/๓๒๘/๒๙๙ - ๓๐๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๖๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการประดับตกแต่ง ๒ อย่าง
คำว่า การประดับตกแต่ง ในคำว่า งดเว้นจากฐานะแห่งการประดับตกแต่ง
พูดคำจริง ได้แก่ การประดับตกแต่ง ๒ อย่าง คือ
๑. การประดับตกแต่งของคฤหัสถ์
๒. การประดับตกแต่งของบรรพชิต
การประดับตกแต่งของคฤหัสถ์ เป็นอย่างไร
คือ การแต่งผม การแต่งหนวด การทัดดอกไม้ การประพรมเครื่องหอม
การย้อมผิว การใช้เครื่องประดับ การใช้เครื่องแต่งตัว การนุ่งผ้าสวยงาม การ
ประดับข้อมือ การโพกผ้าโพกศีรษะ การอบตัว การนวดตัว การอาบน้ำ การดัดตัว
การส่องกระจก การทาเปลือกตา การสวมพวงดอกไม้ การทาปาก การเจิมหน้า
การผูกข้อมือ การเกล้าผม การใช้ไม้เท้า การใช้ทะนาน การใช้พระขรรค์ การใช้ร่ม
การสวมรองเท้าสวยงาม การติดกรอบหน้า การปักปิ่น การใช้พัด การนุ่งผ้าขาว
การนุ่งผ้าชายยาว นี้ชื่อว่าการประดับตกแต่งของคฤหัสถ์
การประดับตกแต่งของบรรพชิต เป็นอย่างไร
คือ การตกแต่งจีวร การตกแต่งบาตร การตกแต่งเสนาสนะ การตกแต่ง
การประดับประดา การเล่นสนุกในการประดับ ความเพลิดเพลินในการประดับ
ความปรารถนาการประดับ ความเป็นผู้ปรารถนาการประดับ กิริยาที่ประดับ
ความเป็นกิริยาที่ประดับร่างกายอันเน่าเปื่อยนี้ หรือบริขารอันเป็นภายนอก นี้ชื่อว่า
การประดับตกแต่งของบรรพชิต
คำว่า พูดคำจริง อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นผู้พูดจริง ตั้งมั่น
ในความสัตย์ มีถ้อยคำมั่นคง เชื่อถือได้ ไม่กล่าวคำหลอกลวงชาวโลก งด งดเว้น
คือ เว้นขาดจากฐานะแห่งการประดับ ได้แก่ ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง
มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า งดเว้นจากฐานะแห่งการประดับ พูดคำ
จริง จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
จึงกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๖๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ชื่นชมการเล่น
ความยินดี และกามสุขในโลก ไม่ใส่ใจ
งดเว้นจากฐานะแห่งการประดับตกแต่ง พูดคำจริง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๔๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละทิ้ง บุตร ทาระ บิดา มารดา
ทรัพย์ ธัญชาติ พวกพ้อง และกาม ตามส่วนแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๖)
คำว่า บุตร ทาระ บิดา มารดา อธิบายว่า
คำว่า บุตร ได้แก่ บุตร ๔ จำพวก คือ
๑. บุตรเกิดจากตน
๒. บุตรเกิดในเขต
๓. บุตรที่เขาให้
๔. บุตรที่อยู่ในสำนัก
ภริยา เรียกว่า ทาระ
คำว่า บิดา ได้แก่ บุรุษผู้ให้กำเนิด
คำว่า มารดา ได้แก่ สตรีผู้ให้กำเนิด รวมความว่า บุตร ทาระ บิดา มารดา
คำว่า ทรัพย์ ธัญชาติ พวกพ้อง อธิบายว่า เงิน ทอง แก้วมุกดา แก้วมณี
แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง แก้วทับทิม เพชรตาแมว เรียกว่า
ทรัพย์
ปุพพัณณชาติ อปรัณณชาติ เรียกว่า ธัญชาติ
ข้าวสาลี ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ลูกเดือย หญ้ากับแก้ ชื่อว่า
ปุพพัณณชาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๖๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
เครื่องแกง ชื่อว่าอปรัณณชาติ
คำว่า พวกพ้อง ได้แก่ พวกพ้อง ๔ จำพวก คือ
๑. พวกพ้องโดยความเป็นญาติ ชื่อว่าพวกพ้อง
๒. พวกพ้องโดยโคตร ชื่อว่าพวกพ้อง
๓. พวกพ้องโดยความเป็นมิตร ชื่อว่าพวกพ้อง
๔. พวกพ้องโดยศิลปะ ชื่อว่าพวกพ้อง
รวมความว่า ทรัพย์ ธัญชาติ พวกพ้อง
คำว่า กาม ในคำว่า ละทิ้ง... และกาม ตามส่วนแล้ว ได้แก่ กาม ๒ อย่าง
แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒) กิเลสกาม ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ฯลฯ
เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑
คำว่า ละทิ้ง... และกาม ได้แก่ กำหนดรู้วัตถุกาม ละ กำจัด บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีกิเลสกามอีก
คำว่า ละทิ้ง... และกาม ตามส่วนแล้ว อธิบายว่า กิเลสเหล่าใด พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้าละได้แล้ว ด้วยโสดาปัตติมรรค ท่านก็ไม่มา คือ ไม่ย้อนมา ไม่กลับ
มาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก กิเลสเหล่าใด ท่านละได้แล้ว ด้วยสกทาคามิมรรค ฯลฯ
กิเลสเหล่าใด ท่านละได้แล้ว ด้วยอนาคามิมรรค ฯลฯ กิเลสเหล่าใด ท่านละได้
แล้วด้วยอรหัตตมรรค ท่านก็ไม่มา คือ ไม่ย้อนมา ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก
รวมความว่า ละทิ้ง... และกาม ตามส่วนแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงกล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละทิ้ง บุตร ทาระ บิดา มารดา
ทรัพย์ ธัญชาติ พวกพ้อง และกาม ตามส่วนแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘/๖๖-๖๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๖๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[๑๔๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
กามนี้เป็นเครื่องข้อง มีความสุขน้อย
ในกามนี้มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก
ผู้มีปัญญารู้ว่า กามนี้เป็นดุจขอเหล็กแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๗)
คำว่า กามนี้เป็นเครื่องข้อง มีความสุขน้อย อธิบายว่า คำว่า เครื่องข้อง
เบ็ด เหยื่อ ความเกี่ยวข้อง ความพัวพัน นี้ เป็นชื่อของกามคุณ ๕
คำว่า มีความสุขน้อย อธิบายว่า สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุ
ทั้งหลาย กามคุณมี ๕ อย่างเหล่านี้ ๕ อย่างอะไรบ้าง คือ
๑. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู...
๓. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก...
๔. รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น...
๕. โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ อย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย สุข โสมนัส อันใดแล อาศัยกามคุณ ๕ นั้นเกิดขึ้น โสมนัสนี้
เรียกว่า กามคุณอันเป็นสุข๑ สุขนี้น้อย คือ เล็กน้อย หน่อยเดียว เลวทราม ลามก
สกปรก รวมความว่า กามนี้เป็นเครื่องข้อง มีความสุขน้อย
คำว่า ในกามนี้มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก อธิบายว่า กามทั้งหลาย พระผู้-
มีพระภาคตรัสว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มี
โทษอย่างยิ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่ากามทั้งหลายเปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก
เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ เปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า เปรียบเหมือนหลุ่มถ่านเพลิง
เปรียบเหมือนความฝัน เปรียบเหมือนของที่ยืมมา เปรียบเหมือนผลไม้คาต้นเปรียบ

เชิงอรรถ :
๑ ม.อุ. ๑๔/๓๒๘/๒๙๙-๓๐๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๖๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
เหมือนเขียงหั่นเนื้อ เปรียบเหมือนหอกหลาว เปรียบเหมือนหัวงู มีทุกข์มาก ใน
กามนี้มีความคับแค้นมาก มีโทษอย่างยิ่ง๑ รวมความว่า ในกามนี้มีความยินดีน้อย
มีทุกข์มาก
คำว่า ผู้มีปัญญารู้ว่า กามนี้เป็นดุจขอเหล็กแล้ว คำว่า ก้อนเหล็ก เบ็ด
เหยื่อ ความเกี่ยวข้อง ความผูกพัน ความพัวพัน นี้ เป็นชื่อของกามคุณ ๕
คำว่า ว่า เป็นคำสนธิ เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความ
สัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ว่า นี้เป็นคำเชื่อม
บทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ผู้มีปัญญา ได้แก่ ผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ
มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลสได้
คำว่า ผู้มีปัญญารู้ว่า กามนี้เป็นดุจขอเหล็กแล้ว อธิบายว่า ผู้มีปัญญารู้ คือ
ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า เป็นดุจขอเหล็ก
เป็นดุจเบ็ด เป็นดุจเหยื่อ เป็นเครื่องข้อง เป็นเครื่องผูกพัน เป็นเครื่องพัวพัน รวม
ความว่า ผู้มีปัญญารู้ว่า กามนี้เป็นดุจขอเหล็กแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือน
นอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
กามนี้เป็นเครื่องข้อง มีความสุขน้อย
ในกามนี้มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก
ผู้มีปัญญารู้ว่า กามนี้เป็นดุจขอเหล็กแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๔๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ทำลายสังโยชน์แล้ว
เหมือนสัตว์น้ำทำลายข่าย
และเหมือนไฟไหม้เชื้อมอดหมดไปไม่กลับมา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๘)

เชิงอรรถ :
๑ วิ.มหา. (แปล) ๒/๔๑๗/๕๒๖, องฺ.ปญฺจก. (แปล) ๒๒/๗๖/๑๓๔, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๓/๗-๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๗๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ทำลายสังโยชน์แล้ว ได้แก่ สังโยชน์ ๑๐ อย่าง๑ คือ
๑. กามราคสังโยชน์ (สังโยชน์คือความกำหนัดในกาม)
๒. ปฏิฆสังโยชน์ (สังโยชน์คือความกระทบกระทั่งในใจ)
๓. มานสังโยชน์ (สังโยชน์คือความถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่)
๔. ทิฏฐิสังโยชน์ (สังโยชน์คือความเห็นผิด)
๕. วิจิกิจฉาสังโยชน์ (สังโยชน์คือความสงสัย)
๖. สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ (สังโยชน์คือความถือมั่นศีลพรต)
๗. ภวราคสังโยชน์ (สังโยชน์คือความติดใจปรารถนาในภพ)
๘. อิสสาสังโยชน์ (สังโยชน์คือความริษยา)
๙. มัจฉริยสังโยชน์ (สังโยชน์คือความตระหนี่)
๑๐. อวิชชาสังโยชน์ (สังโยชน์คือความไม่รู้)
คำว่า ทำลายสังโยชน์แล้ว อธิบายว่า ทะลาย ทำลาย คือ ละ บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งสังโยชน์ ๑๐ อย่าง รวมความว่า
ทำลายสังโยชน์แล้ว
คำว่า เหมือนสัตว์น้ำทำลายข่าย อธิบายว่า ข่ายที่ทำด้วยด้าย เรียกว่า
ข่าย น้ำท่าเรียกว่า น้ำ ปลาเรียกว่า สัตว์น้ำ อธิบายว่า ปลาทำลาย ทำให้ขาด
ทำให้ฉีก ทำให้พัง ทำให้ข่ายพังทะลายแล้ว แหวกว่าย อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปได้ ฉันใด ข่ายมี ๒ ชนิด คือ (๑) ข่ายตัณหา
(๒) ข่ายทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าข่ายตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าข่ายทิฏฐิ๒
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละข่ายตัณหา สลัดทิ้งข่ายทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้
ละข่ายตัณหา สลัดทิ้งข่ายทิฏฐิได้แล้ว พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงไม่ข้องขัดในรูป
เสียง กลิ่น ฯลฯ รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ได้รับรู้ และใน
ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง คือ ไม่ยึด ไม่ผูก ไม่พัวพัน ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่
เกี่ยวข้อง มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า เหมือนสัตว์น้ำทำลายข่าย

เชิงอรรถ :
๑ สังโยชน์ คือกิเลสอันผูกมัดใจสัตว์ ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ เป็นสังโยชน์ตามแนวอภิธรรม พึงดูรายละเอียดจาก
อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๑๑๘/๒๘๕-๒๘๘
๒ เทียบกับความในข้อ ๑๑/๘๐-๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๗๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า เหมือนไฟไหม้เชื้อมอดหมดไปไม่กลับมา อธิบายว่า ไฟเมื่อไหม้เชื้อ
คือหญ้าและไม้ ไป ไม่กลับมา ฉันใด กิเลสเหล่าใดพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละได้
แล้วด้วยโสดาปัตติมรรค ท่านไม่มา คือ ไม่ย้อนมา ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก
กิเลสเหล่าใดท่านละได้แล้วด้วยสกทาคามิมรรค ฯลฯ กิเลสเหล่าใดท่านละได้แล้ว
ด้วยอนาคามิมรรค กิเลสเหล่าใดท่านละได้แล้วด้วยอรหัตตมรรค ท่านก็ไม่มา คือ
ไม่ย้อนมา ไม่กลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า เหมือนไฟ
ไหม้เชื้อมอดหมดไปไม่กลับมา จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ทำลายสังโยชน์แล้ว
เหมือนสัตว์น้ำทำลายข่าย
และเหมือนไฟไหม้เชื้อมอดหมดไปไม่กลับมา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๔๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
ภิกษุเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข คุ้มครองอินทรีย์
รักษาใจได้แล้ว ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ไฟกิเลสมิได้เผา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๙)

ว่าด้วยผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
คำว่า เป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข อธิบายว่า
ภิกษุเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีตาลอกแลก คือ เป็นผู้ประกอบด้วย
ความเป็นคนมีตาลอกแลกด้วยคิดว่า “รูปที่ยังไม่เคยดู เราควรดู รูปที่เราเคยดูแล้ว
ควรผ่านไปเลย” จึงเป็นผู้ขวนขวายการเที่ยวนาน หรือการเที่ยวไปไม่มีจุดหมาย
แน่นอน จากอารามหนึ่งไปสู่อีกอารามหนึ่ง จากอุทยานหนึ่งไปสู่อีกอุทยานหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๗๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
จากบ้านหนึ่งไปสู่อีกบ้านหนึ่ง จากนิคมหนึ่งไปสู่อีกนิคมหนึ่ง จากนครหนึ่งไปสู่อีก
นครหนึ่ง จากรัฐหนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง จากชนบท(ประเทศ)หนึ่งไปสู่อีกชนบทหนึ่ง
เพื่อดูรูป ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนนไม่สำรวม เดินมองช้าง
มองม้า มองรถ มองพลเดินเท้า มองเด็กชาย มองเด็กหญิง มองสตรี มองบุรุษ มอง
ร้านตลาด มองหน้ามุขเรือน มองข้างบน มองข้างล่าง มองทิศน้อยทิศใหญ่ ภิกษุชื่อ
ว่าเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปทางตาแล้ว เป็นผู้รวบถือ เป็นผู้แยกถือ (อวัยวะส่วน
ต่างๆ) ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาป-
อกุศลธรรม คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมไม่รักษาจักขุนทรีย์ ย่อมไม่ถึง
ความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้
เหมือนสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกบริโภคอาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว
ยังขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง
การประโคมดนตรี การดูมหรสพ การเล่านิทาน การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี
การเล่นตีกลอง การสร้างฉากบ้านเมืองให้สวยงาม การละเล่นของคนจัณฑาล
การเล่นกระดานหก การละเล่นหน้าศพ การแข่งชนช้าง การแข่งม้า การแข่งชนกระบือ
การแข่งชนโค การแข่งชนแพะ การแข่งชนแกะ การแข่งชนไก่ การแข่งชนนกกระทา
การรำกระบี่กระบอง การชกมวย มวยปล้ำ การรบ การตรวจพลสวนสนาม
การจัดกระบวนทัพ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
ภิกษุเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ไม่เป็นผู้มีตาลอกแลก คือ ไม่ประกอบด้วย
ความเป็นผู้มีตาลอกแลกด้วยคิดว่า “รูปที่ยังไม่เคยดู เราควรดู รูปที่เราเคยดูแล้ว
ควรผ่านไปเลย” จึงไม่เป็นผู้ขวนขวายการเที่ยวนาน หรือการเที่ยวไปไม่มีจุดหมาย
แน่นอน จากอารามหนึ่งไปสู่อีกอารามหนึ่ง จากอุทยานหนึ่งไปสู่อีกอุทยานหนึ่ง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๗๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
จากบ้านหนึ่งไปสู่อีกบ้านหนึ่ง จากนิคมหนึ่งไปสู่อีกนิคมหนึ่ง จากนครหนึ่งไปสู่อีก
นครหนึ่ง จากรัฐหนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง จากชนบทหนึ่งไปสู่อีกชนบทหนึ่ง เพื่อดูรูป
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเข้าสู่ระแวกบ้าน เดินทางไปตามถนนก็สำรวม ไม่เดิน
มองช้าง ไม่มองม้า ไม่มองรถ ไม่มองพลเดินเท้า ไม่มองเด็กชาย ไม่มองเด็กหญิง
ไม่มองสตรี ไม่มองบุรุษ ไม่มองร้านตลาด ไม่มองหน้ามุขเรือน ไม่มองสูง
ไม่มองต่ำ ไม่มองทิศน้อยทิศใหญ่ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
สำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุชื่อ
ว่าเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้งดเว้นจากการขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึก
แก่กุศลเห็นปานนี้ เหมือนสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกบริโภคอาหารที่เขาให้
ด้วยศรัทธาแล้ว ก็ไม่ขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้อยู่ คือ
การฟ้อน การขับร้อง การประโคมดนตรี ฯลฯ การจัดกระบวนทัพ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้
ไม่สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง รวมความว่า เป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ

ว่าด้วยผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
คำว่า และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข มีอธิบายว่า
ภิกษุเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข คือ ประกอบด้วยความ
เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข จึงเป็นผู้ขวนขวายในการเที่ยวไปนาน หรือการเที่ยวไปไม่มี
จุดหมายแน่นอน จากอารามหนึ่งไปสู่อีกอารามหนึ่ง จากอุทยานหนึ่งไปสู่อีก
อุทยานหนึ่ง จากนิคมหนึ่งไปสู่อีกนิคมหนึ่ง จากนครหนึ่งไปสู่อีกนครหนึ่ง จากรัฐ
หนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง จากชนบทหนึ่งไปสู่อีกชนบทหนึ่ง ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีเท้าอยู่
ไม่สุข เป็นอย่างนี้บ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๗๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข คือ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีเท้าอยู่
ไม่สุขในสังฆาราม มิใช่เพราะเหตุแห่งประโยชน์ มิใช่เพราะเหตุแห่งการกระทำ แต่
เป็นผู้ฟุ้งซ่าน มีจิตไม่สงบ เดินจากบริเวณหนึ่งไปสู่อีกบริเวณหนึ่ง จากวิหารหนึ่ง
ไปสู่อีกวิหารหนึ่ง จากเรือนหลังคาด้านเดียวแห่งหนึ่ง ไปสู่เรือนหลังด้านเดียวอีก
แห่งหนึ่ง จากปราสาทหนึ่งไปสู่อีกปราสาทหนึ่ง จากเรือนโล้นหลังหนึ่งไปสู่เรือนโล้น
อีกหลังหนึ่ง จากถ้ำหนึ่งไปสู่อีกถ้ำหนึ่ง จากที่หลีกเร้นแห่งหนึ่งไปสู่ที่หลีกเร้นอีก
แห่งหนึ่ง จากกุฏิหนึ่งไปสู่อีกกุฏิหนึ่ง จากเรือนยอดแห่งหนึ่งไปสู่เรือนยอดอีก
แห่งหนึ่ง จากป้อมหนึ่งไปสู่อีกป้อมหนึ่ง จากปะรำหนึ่งไปสู่อีกปะรำหนึ่ง จากเรือน
ที่พักแห่งหนึ่งไปสู่เรือนที่พักอีกแห่งหนึ่ง จากโรงเก็บของแห่งหนึ่งไปสู่โรงเก็บของอีก
แห่งหนึ่ง จากโรงฉันแห่งหนึ่งไปสู่โรงฉันอีกแห่งหนึ่ง จากโรงกลมแห่งหนึ่งไปสู่โรง
กลมอีกแห่งหนึ่ง จากโคนต้นไม้แห่งหนึ่งไปสู่โคนต้นไม้อีกแห่งหนึ่ง เดินไปที่ที่พวก
ภิกษุนั่งกันอยู่ เป็นที่ ๒ ของภิกษุ ๑ รูป เป็นที่ ๓ ของภิกษุ ๒ รูป หรือเป็นที่ ๔
ของภิกษุ ๓ รูป ในที่นั้น พูดเรื่องเพ้อเจ้อมากมายในที่นั้น คือ เรื่องพระราชา
เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อม ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
เป็นอย่างนี้บ้าง
คำว่า และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็น
ผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้มีเท้าอยู่
ไม่สุข มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ ได้แก่ เป็นผู้พอใจในความหลีกเร้น ยินดีใน
ความหลีกเร้น หมั่นประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบ
ด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่ในเรือนว่าง๑ มีฌาน เป็นผู้ยินดีในฌาน ขวนขวายใน
ความเป็นผู้มีจิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว หนักในประโยชน์ของตน รวมความว่า เป็นผู้ไม่
สอดส่ายจักษุ และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
คำว่า คุ้มครองอินทรีย์ ในคำว่า คุ้มครองอินทรีย์ รักษาใจได้แล้ว อธิบายว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อ

เชิงอรรถ :
๑ เพิ่มพูนการอยู่ในเรือนว่าง หมายถึงภิกษุเรียนสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว เข้าไปยัง
เรือนว่างนั่งอยู่ตลอดคืนและวัน แม้บำเพ็ญอยู่ในปราสาทมีพื้นชั้นเดียวเป็นต้น ก็ชื่อว่าเพิ่มพูนเรือนว่างเหมือนกัน
(ขุ.ม.อ. ๑๖๐/๔๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๗๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
สำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำเอาได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียง
ทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะ
ทางกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้วก็ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
สำรวมมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำเอาได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ รวมความว่า
คุ้มครองอินทรีย์
คำว่า รักษาใจได้แล้ว ได้แก่ คุ้มครองใจ ชื่อว่ารักษาจิตได้แล้ว รวมความว่า
คุ้มครองอินทรีย์ รักษาใจได้แล้ว
คำว่า ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ในคำว่า ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ไฟกิเลสมิได้เผา อธิบายว่า
สมจริงดังที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวไว้ว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ผมจักแสดง
อวัสสุตปริยายสูตร๑ และอนวัสสุตปริยายสูตรแก่ท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจง
ฟังเทศนานั้น จงใส่ใจให้ดี ผมจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระมหา-
โมคคัลลานะว่า “อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ” ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวว่า
ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ชุ่มด้วยกิเลส เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว ย่อมยินดีในรูปที่น่ารัก ย่อมยินร้าย
ในรูปที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ไม่ตั้งมั่นกายคตาสติ มีปริตตจิตอยู่ และไม่รู้ชัดเจโตวิมุตติ
และปัญญาวิมุตติตามความเป็นจริง อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศล
เหล่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น
ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ย่อมยินดีในธรรมารมณ์ที่
น่ารัก ย่อมยินร้ายในธรรมารมณ์ที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ไม่ตั้งมั่นกายคตาสติ มีปริตตจิต
อยู่ และไม่รู้ชัดเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติตามความเป็นจริง อันเป็นที่ดับโดยไม่
เหลือแห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุนี้
เรียกว่า เป็นผู้ชุ่มด้วยกิเลสในรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ฯลฯ ในเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ

เชิงอรรถ :
๑ สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๒๔๓/๒๔๗-๒๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๗๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ในธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจ ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าแม้มารเข้ามาหาภิกษุนั้น ผู้มี
ปกติอยู่อย่างนี้ทางตา มารก็พึงได้ช่อง ได้อารมณ์๑ ถ้าแม้มารเข้ามาหาภิกษุนั้นทางหู
ฯลฯ ถ้าแม้มารเข้ามาหาภิกษุนั้นทางใจ มารก็พึงได้ช่อง ได้อารมณ์
เรือนที่สร้างด้วยไม้อ้อ หรือเรือนที่สร้างด้วยหญ้าแห้งกรอบ ฝนรั่วรดได้ ถ้า
แม้คนเอาคบเพลิงที่ติดไฟเข้าไปจุดเรือนนั้นทางทิศตะวันออก ไฟก็พึงได้ช่อง ได้เชื้อ
ถ้าแม้คนเอาคบเพลิงที่ติดไฟเข้าไปจุดเรือนนั้นทางทิศตะวันตก ฯลฯ ทางทิศเหนือ
ฯลฯ ทางทิศใต้ ฯลฯ ทางเบื้องต่ำ ฯลฯ ทางทิศเบื้องบน ฯลฯ ถ้าแม้คนเอาคบเพลิง
ที่ติดไฟเข้าไปจุดเรือนนั้นทางทิศใหน ๆ ก็ตาม ไฟก็พึงได้ช่อง ได้เชื้อ แม้ฉันใด ข้อนี้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าแม้มารเข้าไปหาภิกษุนั้นผู้มีปกติอยู่อย่างนั้นทางตา มารก็พึง
ได้ช่อง ได้อารมณ์ ถ้าแม้เข้าไปหาภิกษุนั้นทางหู ฯลฯ มารเข้าไปหาภิกษุนั้นทางใจ
มารก็พึงได้ช่อง ได้อารมณ์
รูปครอบงำภิกษุผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ได้ ภิกษุหาครอบงำรูปได้ไม่ เสียงครอบงำ
ภิกษุได้ ภิกษุหาครอบงำเสียงได้ไม่ กลิ่นครอบงำภิกษุได้ ภิกษุหาครอบงำกลิ่นได้ไม่
รสครอบงำภิกษุได้ ภิกษุหาครอบงำรสได้ไม่ โผฏฐัพพะครอบงำภิกษุได้ ภิกษุหา
ครอบงำโผฏฐัพพะได้ไม่ ธรรมารมณ์ครอบงำภิกษุได้ ภิกษุหาครอบงำธรรมารมณ์
ได้ไม่
ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้ถูกครอบงำ คือถูกรูปครอบงำ ถูกเสียงครอบงำ ถูกกลิ่น
ครอบงำ ถูกรสครอบงำ ถูกโผฏฐัพพะครอบงำ และถูกธรรมารมณ์ครอบงำ
(ถูกกิเลสเหล่านั้นครอบงำ) ธรรมที่เป็นบาปอกุศลอันเป็นเหตุให้เศร้าหมอง ทำให้
เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งชาติ ชรา และ
มรณะต่อไปครอบงำเธอแล้ว ภิกษุเป็นผู้ชุ่มด้วยกิเลส เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุเป็นผู้ชุ่มด้วยกิเลส เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่ยินดีในรูปที่น่ารัก ไม่ยินร้าย
ในรูปที่ไม่เป็นที่รัก เป็นผู้ตั้งมั่นกายคตาสติ มีอัปปมาณจิตอยู่ และรู้ชัด
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติตามความเป็นจริง อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งธรรมที่
เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ฟังเสียงทางหู ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ทาง

เชิงอรรถ :
๑ อารมณ์ ในที่นี้หมายถึงปัจจัย (สํ.สฬา.อ. ๓/๒๔๓/๑๑๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๗๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ใจแล้ว ไม่ยินดีในธรรมารมณ์อันน่ารัก ไม่ยินร้ายในธรรมารมณ์ที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ตั้ง
มั่นกายคตาสติ และมีอัปปมาณจิตอยู่ และรู้ชัดเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติตามความ
เป็นจริง อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่เกิดขึ้นแก่เธอ
ภิกษุนี้เรียกว่า เป็นผู้ไม่ชุ่มด้วยกิเลสในรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ฯลฯ เป็นผู้ไม่ชุ่มด้วย
กิเลสในเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ เป็นผู้ไม่ชุ่มด้วยกิเลสในธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจ
แม้ถ้ามารเข้ามาหาภิกษุนั้น ผู้มีปกติอยู่อย่างนั้นทางตา มารก็ไม่พึงได้ช่อง ไม่พึง
ได้อารมณ์ ถ้าแม้มารเข้ามาหาภิกษุนั้นทางหู ฯลฯ ถ้าแม้มารเข้ามาหาภิกษุนั้นทางใจ
มารก็ไม่พึงได้ช่อง ไม่พึงได้อารมณ์
กูฏาคาร กูฏาคารศาลา หรือคารศาลา พอกดินหนา มีเครื่องฉาบทาเปียก ถ้า
แม้คนเอาคบเพลิงหญ้าที่ติดไฟ เข้าไปจุดเรือนนั้นทางทิศตะวันออก ไฟก็ไม่พึง
ได้ช่อง ไม่พึงได้เชื้อ ถ้าแม้คนเอาคบเพลิงหญ้าที่ติดไฟ เข้าไปจุดเรือนนั้นทางทิศ
ตะวันตก ฯลฯ ทางทิศเหนือ ฯลฯ ทางทิศใต้ ฯลฯ ทางทิศเบื้องต่ำ ฯลฯ ทางทิศ
เบื้องบน ฯลฯ ถ้าแม้คนเอาคบเพลิงหญ้าที่ติดไฟ เข้าไปจุดเรือนนั้นทางทิศใหน ๆ
ก็ตาม ไฟก็ไม่พึงได้ช่อง ไม่พึงได้เชื้อ แม้ฉันใด
ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าแม้มารเข้ามาหาภิกษุนั้น ผู้มีปกติอยู่อย่างนั้น
ทางตา มารก็ไม่พึงได้ช่อง ไม่พึงได้อารมณ์ ถ้าแม้มารเข้ามาหาภิกษุนั้นทางหู ฯลฯ
ถ้าแม้มารเข้ามาหาภิกษุนั้นทางใจ มารก็ไม่พึงได้ช่อง ไม่พึงได้อารมณ์ ภิกษุผู้มี
ปกติอยู่อย่างนี้ ครอบงำรูปได้ รูปครอบงำภิกษุไม่ได้ ภิกษุครอบงำเสียงได้ เสียง
ครอบงำภิกษุไม่ได้ ฯลฯ ภิกษุครอบงำธรรมารมณ์ได้ ธรรมารมณ์ครอบงำภิกษุไม่ได้
ภิกษุนี้เรียกว่าเป็นผู้ครอบงำ คือ ครอบงำรูปได้ ครอบงำเสียงได้ ครอบงำ
กลิ่นได้ ครอบงำรสได้ ครอบงำโผฏฐัพพะได้ ครอบงำธรรมารมณ์ได้ (ไม่ถูกกิเลส
เหล่านั้นครอบงำ) เธอครอบงำธรรมที่เป็นบาปอกุศลอันเป็นเหตุให้เศร้าหมอง
ทำให้เกิดในภพใหม่อีก มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ
ชรา และมรณะต่อไปได้แล้ว ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ไม่ชุ่มด้วยกิเลส เป็น
อย่างนี้แล รวมความว่า ไม่ชุ่มด้วยกิเลส


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๗๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ไฟกิเลสมิได้เผา อธิบายว่า ไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ
แผดเผาไม่ได้ รวมความว่า ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ไฟกิเลสมิได้เผา จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว
เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
ภิกษุเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข คุ้มครองอินทรีย์
รักษาใจได้แล้ว ไม่ชุ่มด้วย กิเลส ไฟกิเลสมิได้เผา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๕๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
ครองผ้ากาสาวะ ออกบวช เหมือนต้นทองหลางมีใบทึบ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๑๐)
คำว่า ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว อธิบายว่า ผม หนวด ฯลฯ ผ้าชายยาว๑
เรียกว่า เครื่องหมายคฤหัสถ์
คำว่า ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว อธิบายว่า ปลง คือ ปลงลง ทิ้ง ระงับ
เครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว รวมความว่า ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
คำว่า เหมือนต้นทองหลางมีใบทึบ อธิบายว่า ต้นปาริฉัตร คือ ต้น
ทองหลางนั้น มีใบหนาแน่น มีร่มเงาชิด ฉันใด พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นก็ทรง
บาตรและจีวรครบ ฉันนั้น รวมความว่า เหมือนต้นทองหลางมีใบทึบ
คำว่า ครองผ้ากาสาวะ ออกบวช อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นตัด
ความกังวลในการครองเรือน ความกังวลด้วยบุตรภรรยา ความกังวลด้วยญาติ
ความกังวลด้วยมิตรและอำมาตย์ ความกังวลด้วยการสะสม ปลงผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ออกบวชจากเรือนเป็นบรรพชิต เข้าถึงความเป็นผู้ไม่มีความกังวล
ประพฤติ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว
รวมความว่า ครองผ้ากาสาวะ ออกบวช จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๔๕/๔๖๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๗๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
ครองผ้ากาสาวะ ออกบวช เหมือนต้นทองหลางมีใบทึบ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๕๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ทำความยินดีในรส
ไม่โลเล ผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น
เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก
มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่าง ๆ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๑๑)

ว่าด้วยรส
คำว่า ไม่ทำความยินดีในรส ไม่โลเล อธิบายว่า
คำว่า รส ได้แก่ รสจากราก รสจากลำต้น รสจากเปลือก รสจากใบ รสจาก
ดอก รสจากผล รสเปรี้ยว รสหวาน รสขม รสเผ็ด รสเค็ม รสปร่า รสเฝื่อน รสฝาด
รสอร่อย รสไม่อร่อย ของเย็น ของร้อน
สมณพราหมณ์บางพวกยินดีในรส สมณพราหมณ์เหล่านั้นเที่ยวแสวงหารส
เลิศด้วยปลายลิ้น ได้รสเปรี้ยวแล้วก็แสวงหารสไม่เปรี้ยว ได้รสไม่เปรี้ยวแล้วก็แสวง
หารสเปรี้ยว ได้รสหวานแล้วก็แสวงหารสไม่หวาน ได้รสไม่หวานแล้วก็แสวงหารส
หวาน ได้รสขมแล้วก็แสวงหารสไม่ขม ได้รสไม่ขมแล้วก็แสวงหารสขม ได้รสเผ็ดแล้ว
ก็แสวงหารสไม่เผ็ด ได้รสไม่เผ็ดแล้วก็แสวงหารสเผ็ด ได้รสเค็มแล้วก็แสวงหารส
ไม่เค็ม ได้รสไม่เค็มแล้วก็แสวงหารสเค็ม ได้รสปร่าแล้วก็แสวงหารสไม่ปร่า ได้รส
ไม่ปร่าแล้วก็แสวงหารสปร่า ได้รสฝาดแล้วก็แสวงหารสไม่ฝาด ได้รสไม่ฝาดแล้วก็
แสวงหารสฝาด ได้รสเฝื่อนแล้วก็แสวงหารสไม่เฝื่อน ได้รสไม่เฝื่อนแล้วก็แสวงหารส
เฝื่อน ได้รสอร่อยแล้วก็แสวงหารสไม่อร่อย ได้รสไม่อร่อยแล้วก็แสวงหารสอร่อย
ได้ของเย็นแล้วก็แสวงหาของร้อน ได้ของร้อนแล้วก็แสวงหาของเย็น สมณพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๘๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
เหล่านั้นได้รสใด ๆ แล้วก็ไม่ยินดีด้วยรสนั้น ๆ ยังแสวงหารสอื่น ๆ ต่อไปอีก เป็นผู้
กำหนัด ยินดี ติดใจ สยบ หมกมุ่น เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในรสที่ชอบใจ ตัณหา
ในรสนี้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่
ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นพิจารณาแล้วโดยแยบคาย จึงฉันอาหารมิใช่เพื่อเล่น มิใช่
เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อตบแต่ง มิใช่เพื่อประดับ แต่ฉันเพียงเพื่อจะให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่
เพื่อให้ร่างกายนี้ดำเนินไปได้ เพื่อระงับความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์
อย่างเดียวเท่านั้น ด้วยมนสิการว่า เราจักบำบัดเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น
การดำเนินชีวิตของเรา ความไม่มีโทษและอยู่สบายได้ด้วยวิธีการอย่างนี้
คนทาแผลเพียงเพื่อปลูกเนื้อเยื่อ หยอดเพลาเพียงเพื่อจะขนภาระไป หรือกิน
อาหารที่ปรุงจากเนื้อบุตรเพียงเพื่อจะเดินทางออกจากทางกันดารให้พ้นเท่านั้น ฉันใด
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ฉันอาหาร
มิใช่เพื่อเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อตบแต่ง มิใช่เพื่อประดับ แต่ฉันเพียงเพื่อจะให้
ร่างกายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้ร่างกายนี้ดำเนินไปได้ เพื่อระงับความลำบาก เพื่อ
อนุเคราะห์พรหมจรรย์เท่านั้น ด้วยมนสิการว่า เราจักบำบัดเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนา
ใหม่เกิดขึ้น การดำเนินชีวิตของเรา ความไม่มีโทษและอยู่สบายได้ด้วยวิธีการอย่างนี้๑
เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับตัณหาในรส มีใจ
เป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า ไม่ทำความยินดีในรส
คำว่า ไม่โลเล อธิบายว่า ตัณหา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ
อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๒เรียกว่า ความโลเล หรือ ความโลภ
ตัณหาคือความโลเล ความโลภนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละได้เด็ดขาด
แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่
ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงชื่อว่าไม่โลเล
รวมความว่า ไม่ทำความยินดีในรส ไม่โลเล

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๘๙/๒๗๘-๒๗๙
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๘๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น ในคำว่า ผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น เที่ยว
บิณฑบาตตามลำดับตรอก อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเลี้ยงแต่ตนเท่านั้น
ไม่เลี้ยงคนอื่น
เราเรียกบุคคลผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น รู้จักตนฝึกฝนตนได้
ตั้งมั่นอยู่ในสารธรรม สิ้นอาสวะแล้ว
ไร้ข้อบกพร่องนั้นว่าเป็นพราหมณ์๑
รวมความว่า ผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น
คำว่า เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก อธิบายว่า เวลาเช้าพระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้น ครองผ้าแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าหมู่บ้าน หรือนิคม เพื่อบิณฑบาต
รักษากาย รักษาวาจา รักษาจิตแล้ว ตั้งสติ สำรวมอินทรีย์ มีตาทอดลง สมบูรณ์
ด้วยอิริยาบถ เข้าออกจากตระกูลหนึ่งไปสู่ตระกูลหนึ่ง เที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต รวม
ความว่า ผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก
คำว่า มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่าง ๆ อธิบายว่า ภิกษุมีใจผูกพันด้วยเหตุ
๒ อย่าง คือ
๑. เมื่อวางตนต่ำวางผู้อื่นสูง ชื่อว่ามีใจผูกพัน
๒. เมื่อวางตนสูงวางผู้อื่นต่ำ ชื่อว่ามีใจผูกพัน
ภิกษุเมื่อวางตนต่ำวางผู้อื่นสูง เป็นผู้มีใจผูกพัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุกล่าวว่า พวกท่านมีอุปการะมากแก่อาตมภาพ อาตมภาพอาศัย
พวกท่านจึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร คนเหล่าอื่น
อาศัยพวกท่าน เห็นกับพวกท่าน จึงเข้าใจที่จะให้ หรือจะทำแก่อาตมภาพ ชื่อและ
สกุลเก่าของมารดาบิดาของอาตมภาพสูญหายไปหมดแล้ว พวกท่านทำให้อาตมภาพ
เป็นที่รู้จักว่า “อาตมภาพ เป็นพระประจำตระกูลของอุบาสกโน้น เป็นพระประจำ
ตระกูลของอุบาสิกาโน้น” ดังนี้ เมื่อวางตนต่ำ วางผู้อื่นสูง ชื่อว่าเป็นผู้มีใจผูกพัน
เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.อุ. ๒๕/๖/๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๘๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ตติยวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ภิกษุเมื่อวางตนสูงวางผู้อื่นต่ำ เป็นผู้มีใจผูกพัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุกล่าวว่า อาตมภาพมีอุปการะมากแก่พวกท่าน พวกท่านอาศัย
อาตมภาพแล้ว จึงได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง ถึงพระสงฆ์
เป็นที่พึ่ง เว้นขาดจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท เว้นขาด
จากสุราเมรัยอันเป็นของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อาตมภาพบอก
อุทเทสบ้าง ปริปุจฉาบ้าง อุโบสถบ้าง แก่พวกท่าน อาตมภาพอธิษฐานนวกรรม
เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกท่านยังทอดทิ้งอาตมภาพไปสักการะ เคารพ นับถือ บูชาผู้อื่น
เมื่อวางตนสูงวางผู้อื่นต่ำ ชื่อว่าผู้มีใจผูกพัน เป็นอย่างนี้
คำว่า มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่าง ๆ อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
มีใจไม่ผูกพันด้วยกุลปลิโพธ(ความกังวลเกี่ยวกับตระกูล) คณปลิโพธ(ความกังวล
เกี่ยวกับหมู่คณะ) อาวาสปลิโพธ(ความกังวลเกี่ยวกับอาวาส) จีวรปลิโพธ(ความกังวล
เกี่ยวกับจีวร) ปิณฑบาตปลิโพธ(ความกังวลเกี่ยวกับบิณฑบาต) เสนาสนปลิโพธ
(ความกังวลเกี่ยวกับเสนาสนะ) คิลานปัจจัยเภสัชบริขารปลิโพธ(ความกังวลเกี่ยวกับ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร) รวมความว่า มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่าง ๆ จึงประพฤติ
อยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ทำความยินดีในรส
ไม่โลเล ผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น
เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก
มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่าง ๆ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
ตติยวรรคจบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๘๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
จตุตถวรรค
[๑๕๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละนิวรณ์ ๕ อย่าง
ขจัดอุปกิเลสแห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว
ไม่อิงอาศัย ตัดความรักและความชังได้แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๑)

ว่าด้วยนิวรณ์ ๕
คำว่า ละนิวรณ์ ๕ อย่าง อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ละ คือ ละทิ้ง
บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกามฉันทนิวรณ์ (สิ่งกั้นจิตไม่ให้
ก้าวหน้าในคุณธรรมคือความพอใจในกาม) พยาบาทนิวรณ์ (สิ่งกั้นจิตไม่ให้
ก้าวหน้าในคุณธรรมคือความคิดปองร้าย) ... ถีนมิทธนิวรณ์ (สิ่งกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้า
ในคุณธรรมคือความหดหู่และเซื่องซึม)... อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ (สิ่งกั้นจิตไม่ให้
ก้าวหน้าในคุณธรรมคือความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) ... วิจิกิจฉานิวรณ์ (สิ่งกั้นจิตไม่ให้
ก้าวหน้าในคุณธรรมคือความลังเลสงสัย) สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมแล้ว
บรรลุปฐมฌานอันมีวิตก มีวิจาร มีปีติสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ รวมความว่า
ละนิวรณ์ ๕ อย่าง
คำว่า ขจัดอุปกิเลสแห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว อธิบายว่า ราคะเป็นอุปกิเลส
แห่งจิต โทสะเป็นอุปกิเลสแห่งจิต โมหะเป็นอุปกิเลสแห่งจิต โกธะเป็นอุปกิเลสแห่งจิต
ฯลฯ อุปนาหะเป็นอุปกิเลสแห่งจิต ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภทเป็น
อุปกิเลสแห่งจิต
คำว่า ขจัดอุปกิเลสแห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว อธิบายว่า ขจัด คือ กำจัด ละทิ้ง
บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งอุปกิเลสแห่งจิตทั้งหมดได้แล้ว รวม
ความว่า ขจัดอุปกิเลสแห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๘๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่อิงอาศัย ในคำว่า ไม่อิงอาศัย ตัดความรักและความชังได้แล้ว
อธิบายว่า การอาศัย ๒ อย่าง คือ (๑) การอาศัยด้วยอำนาจตัณหา (๒) การอาศัย
ด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าการอาศัยด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าการอาศัย
ด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
คำว่า ความรัก ได้แก่ ความรัก ๒ อย่าง คือ (๑) ความรักด้วยอำนาจตัณหา
(๒) ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่า
ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ๒

ว่าด้วยความชัง
คำว่า ความชัง ได้แก่ ใจปองร้าย มุ่งร้าย ขัดเคือง ขุ่นเคือง เคือง เคืองมาก
เคืองตลอด ชัง ชิงชัง เกลียดชัง ใจพยาบาท ใจแค้นเคือง ความโกรธ กิริยาที่โกรธ
ภาวะที่โกรธ ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย
ความคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย ความโกรธ ความแค้น
ความดุร้าย ความเกรี้ยวกราด ความไม่แช่มชื่นแห่งจิตเห็นปานนี้
คำว่า ไม่อิงอาศัย ตัดความรักและความชังได้แล้ว อธิบายว่า พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้นตัดความรักด้วยอำนาจตัณหา ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ และความชัง
ได้แล้ว คือ ตัดขาด ถอนขึ้น ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก
ก็ไม่อาศัยตา ไม่อาศัยหู ฯลฯ ไม่อาศัยรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส และ
โผฏฐัพพะที่ได้รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง คือ ไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว
ไม่ติดพันแล้ว ไม่ติดใจแล้ว ได้แก่ ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้อง
แล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ไม่อิงอาศัย ตัดความรักและ
ความชังได้แล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๑/๘๐-๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๘๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละนิวรณ์ ๕ อย่าง
ขจัดอุปกิเลสแห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว
ไม่อิงอาศัย ตัดความรักและความชังได้แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๕๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละสุขและทุกข์
โสมนัสและโทมนัสก่อน ๆ ได้แล้ว
ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๒)
คำว่า ละสุขและทุกข์ โสมนัสและโทมนัสก่อน ๆ ได้แล้ว อธิบายว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นบรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละ
ทุกข์และดับโสมนัสและโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาและสติอันบริสุทธิ์อยู่ รวมความว่า
ละสุข และทุกข์ โสมนัสและโทมนัสก่อน ๆ ได้แล้ว
คำว่า ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว อธิบายว่า
คำว่า อุเบกขา ได้แก่ อุเบกขา ความเพิกเฉย ความเพิกเฉยอย่างยิ่ง ความที่
จิตสงบ ความที่จิตสงัด ความที่จิตเป็นกลางในจตุตถฌาน
คำว่า สมถะ ได้แก่ ความตั้งมั่น ความดำรงมั่น ความไม่คลอนแคลน
ความไม่กวัดแกว่ง ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ความที่จิตไม่ซัดส่าย สมถะ สมาธินทรีย์
สมาธิพละ สัมมาสมาธิ อุเบกขาและสมถะในจตุตถฌาน สะอาด คือ บริสุทธิ์
ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ปราศจากอุปกิเลส อ่อนโยน ควรแก่การงาน
ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว
คำว่า ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว อธิบายว่า คือ ได้รับ ประสบ
ได้เฉพาะแล้วซึ่งอุเบกขาในจตุตถฌานและสมถะ รวมความว่า ได้อุเบกขาและสมถะ
อันสะอาดแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้น จึงกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๘๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละสุข และทุกข์
โสมนัส และโทมนัสก่อน ๆ ได้แล้ว
ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๕๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ตั้งความเพียร
เพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง
มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
มีความพากเพียรมั่นคง เข้าถึงเรี่ยวแรงและกำลังแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๓)
คำว่า ตั้งความเพียร เพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง อธิบายว่า อมตนิพพาน
ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา
เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท เรียกว่าประโยชน์อย่างยิ่ง
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นตั้งความเพียรเพื่อบรรลุ คือ เพื่อได้ ได้เฉพาะ ถึง
ถูกต้อง ทำให้แจ้งประโยชน์อย่างยิ่ง อยู่ ได้แก่ ลงแรง มีความบากบั่น มั่นคง
เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
รวมความว่า ตั้งความเพียร เพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง

ว่าด้วยการตั้งความเพียรเพื่อบรรลุธรรม
คำว่า มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน อธิบายว่า พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้น ปลูกฉันทะให้เกิด พยายาม ตั้งความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อป้องกันมิให้เกิดบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ปลูกฉันทะให้เกิด พยายาม
ตั้งความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ปลูกฉันทะ
ให้เกิด พยายาม ตั้งความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศล
ธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ปลูกฉันทะให้เกิด พยายาม ตั้งความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อความดำรงอยู่ ไม่ฟั่นเฟือน เจริญยิ่ง ไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์ แห่งกุศลธรรม
ที่เกิดขึ้นแล้ว รวมความว่า มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๘๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าประคองจิต มุ่งมั่นว่า “เนื้อและเลือดใน
ร่างกายจงเหือดแห้งไป จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามทีเถิด ผลใดพึง
บรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วย
ความบากบั่นของบุรุษ (ถ้า) ไม่บรรลุผลนั้นแล้วก็จักไม่หยุดความเพียร” แม้อย่าง
นี้ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าประคองจิตมุ่งมั่นว่า
“เมื่อเรายังถอนลูกศรคือตัณหาขึ้นไม่ได้
เราจะไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ออกไปจากวิหาร
ทั้งจักไม่เอนกายนอน๑”
แม้อย่างนี้ ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าประคองจิตมุ่งมั่นว่า “ตราบใดที่จิตของเรายังไม่หลุด
พ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น ตราบนั้นเราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เลย”
แม้อย่างนี้ ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าประคองจิตมุ่งมั่นว่า “ตราบใดที่จิตของเรายังไม่หลุด
พ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น ตราบนั้นเราจักไม่ลุกจากที่นั่งนี้” แม้อย่างนี้
ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าประคองจิตมุ่งมั่นว่า “ตราบใดที่จิตของเรายังไม่
หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น ตราบนั้นเราจักไม่ลงจากที่จงกรมนี้
ไม่ออกจากวิหาร ไม่ออกจากเรือนหลังคาด้านเดียว ไม่ออกจากปราสาท ไม่ออก
จากเรือนโล้น ไม่ออกจากถ้ำ ไม่ออกจากที่หลีกเร้น ไม่ออกจากกุฎี ไม่ออกจาก
เรือนยอด ไม่ออกจากป้อม ไม่ออกจากโรงกลม ไม่ออกจากเรือนที่มีเครื่องกั้น
ไม่ออกจากศาลาที่บำรุง ไม่ออกจากมณฑป ไม่ออกจากโคนไม้นี้” แม้อย่างนี้
ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าประคองจิตมุ่งมั่นว่า “เราจักนำมา นำมาด้วยดี บรรลุ
สัมผัส ทำให้แจ้งซึ่งอริยธรรมเช้าวันนี้เอง” แม้อย่างนี้ ก็ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน
ไม่ประพฤติเกียจคร้าน

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๒๒๓/๓๗๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๘๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าประคองจิตมุ่งมั่นว่า “เราจักนำมา นำมาด้วยดี
บรรลุ สัมผัส ทำให้แจ้งซึ่งอริยธรรมในเที่ยงนี้... เย็นนี้... ก่อนภัต... หลังภัต...
ปฐมยาม... มัชฌิมยาม... ปัจฉิมยาม... ข้างแรม... ข้างขึ้น... ฤดูฝน... ฤดูหนาว...
ฤดูร้อน... ปฐมวัย... มัชฌิมวัย... ปัจฉิมวัย นี้” แม้อย่างนี้ ชื่อว่ามีจิตไม่ย่อหย่อน
ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
คำว่า มีความพากเพียรมั่นคง ในคำว่า มีความพากเพียรมั่นคง เข้าถึง
เรี่ยวแรงและกำลังแล้ว อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น สมาทานมั่นคง
สมาทานแน่วแน่ในกุศลธรรม คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต การจำแนกทาน
การสมาทานศีล การรักษาอุโบสถ ความเกื้อกูลมารดา ความเกื้อกูลบิดา ความ
เกื้อกูลสมณะ ความเกื้อกูลพราหมณ์ ความเป็นผู้อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
(และ) ในธรรมอันเป็นกุศลยิ่งอื่น ๆ รวมความว่า มีความพากเพียรมั่นคง
คำว่า เข้าถึงเรี่ยวแรงและกำลังแล้ว อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม
เพียบพร้อมด้วยเรี่ยวแรงกำลัง ความเพียร ความบากบั่นและปัญญา รวมความว่า
มีความพากเพียรมั่นคง เข้าถึงเรี่ยวแรงและกำลังแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือน
นอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ตั้งความเพียร
เพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง
มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
มีความพากเพียรมั่นคง เข้าถึงเรี่ยวแรงและกำลังแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๕๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ละการหลีกเร้นและฌาน
ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิจ
พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๘๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่ละการหลีกเร้นและฌาน อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น
เป็นผู้พอใจในความหลีกเร้น ยินดีในความหลีกเร้น หมั่นประกอบความสงบแห่ง
จิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนการอยู่ในเรือนว่าง มีฌาน
ยินดีในฌาน หมั่นประกอบในความเป็นผู้มีจิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว หนักในประโยชน์
ของตน รวมความว่า การหลีกเร้น
คำว่า ไม่ละ... และฌาน อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ละฌาน
ด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ
๑. ท่านประกอบ ประกอบทั่ว ขวนขวาย มุ่งมั่น มุ่งมั่นเสมอ เพื่อความ
เกิดขึ้นแห่งปฐมฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น... เพื่อความเกิดขึ้นแห่งทุติยฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น...
เพื่อความเกิดขึ้นแห่งตติยฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น ได้แก่ ประกอบ ประกอบทั่ว ขวนขวาย
มุ่งมั่น มุ่งมั่นเสมอ เพื่อความเกิดขึ้นแห่งจตุตถฌานที่ยังไม่เกิดขึ้น รวมความว่า
ไม่ละ... และฌาน อย่างนี้บ้าง
๒. ท่านซ่องเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งปฐมฌานที่เกิดขึ้นแล้ว... ทุติยฌานที่
เกิดขึ้นแล้ว... ตติยฌานที่เกิดขึ้นแล้ว... ท่านซ่องเสพ เจริญทำให้มากซึ่งจตุตถฌาน
ที่เกิดขึ้นแล้ว รวมความว่า ไม่ละ... และฌาน อย่างนี้บ้าง รวมความว่า ไม่ละ
การหลีกเร้นและฌาน
คำว่า ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิจ อธิบายว่า สติปัฏฐาน ๔
ฯลฯ อริยมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่า ธรรม
ธรรมสมควร เป็นอย่างไร
คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติสมควร การปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติ
เอื้อประโยชน์ การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม การรักษาศีลให้บริบูรณ์
การสำรวมอินทรีย์ ความรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ความเป็นผู้มีความ
เพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติและสัมปชัญญะ เหล่านี้เรียกว่า ธรรมสมควร
คำว่า ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิจ อธิบายว่า พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้น ประพฤติอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป
ยังชีวิตให้ดำเนินไปในธรรมตลอดกาลเป็นนิจ คือ ตลอดกาลยั่งยืน ตลอดกาลต่อเนื่องกัน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๙๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ตลอดกาลสืบเนื่องกัน ตลอดกาลติดต่อกัน ตลอดกาลเป็นลำดับ ตลอดกาล
ติดต่อกันเหมือนระลอกคลื่น ตลอดกาลเป็นไปต่อเนื่องไม่ขาดสาย ตลอดกาล
สืบต่อกันกระชั้นชิด ตลอดกาลก่อนภัต หลังภัต ตลอดปุริมยาม มัชฌิมยาม
ปัจฉิมยาม ตลอดข้างแรม ข้างขึ้น ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ตลอดปฐมวัย
มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย รวมความว่า ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิจ
คำว่า พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว อธิบายว่า พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” พิจารณาเห็นโทษในภพแล้วว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึง
กล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ละการหลีกเร้นและฌาน
ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิจ
พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๕๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ปรารถนาความสิ้นตัณหา
ไม่ประมาท ไม่โง่เขลา คงแก่เรียน มีสติ
ผู้มีสังขาตธรรม ผู้แน่นอน มีความมุ่งมั่น
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๕)
คำว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา อธิบายว่า ต้องการ ปรารถนา คือ ยินดี
มุ่งหมาย มุ่งหวังความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ความสิ้นคติ
ความสิ้นอุปบัติ ความสิ้นปฏิสนธิ ความสิ้นภพ ความสิ้นสังขาร ความสิ้นวัฏฏะ
รวมความว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๙๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่ประมาท อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ทำโดยเคารพ
ทำติดต่อ ฯลฯ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย รวมความว่า ปรารถนา
ความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท
คำว่า ไม่โง่เขลา ในคำว่า ไม่โง่เขลา คงแก่เรียน มีสติ อธิบายว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มี
ปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส รวมความว่า ไม่โง่เขลา
คำว่า คงแก่เรียน อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นพหูสูต ทรงจำ
สิ่งที่เล่าเรียนมาแล้วไว้ได้ สั่งสมสิ่งที่เล่าเรียนมาแล้วไว้ได้ คือ ธรรมเหล่าใด ที่มี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด ประกาศ
พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ธรรมเห็น
ปานนั้นเป็นธรรมที่ท่านเล่าเรียนมามาก ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอด
ชัดเจนตามทฤษฎี รวมความว่า คงแก่เรียน
คำว่า มีสติ อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็นผู้มีสติ คือ เพียบพร้อม
ด้วยสติและปัญญารักษาตนอย่างยอดเยี่ยม ระลึกได้ ตามระลึกถึงกรรมที่ทำ คำที่
พูดไว้นานแล้วได้ รวมความว่า ไม่โง่เขลา คงแก่เรียน มีสติ
คำว่า ผู้มีสังขาตธรรม ผู้แน่นอน มีความมุ่งมั่น อธิบายว่า ญาณ ท่าน
เรียกว่า สังขาตธรรม ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย
ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑
คำว่า ผู้มีสังขาตธรรม อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นผู้มีสังขาตธรรม
คือ ผู้รู้ธรรม ผู้เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม ผู้เห็นแจ้งธรรม ได้แก่
ผู้มีสังขาตธรรม ผู้รู้ธรรม ผู้เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม ผู้เห็น
แจ้งธรรมว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๕/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๙๒ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นรู้ขันธ์ ธาตุ อายตนะ คติ อุปบัติ
ปฏิสนธิ ภพ สังขาร วัฏฏะได้แล้ว
อีกนัยหนึ่ง พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นดำรงอยู่ในที่สุดแห่งขันธ์ ในที่สุด
แห่งธาตุ ในที่สุดแห่งอายตนะ ในที่สุดแห่งคติ ในที่สุดแห่งอุปบัติ ในที่สุดแห่ง
ปฏิสนธิ ในที่สุดแห่งภพ ในที่สุดแห่งสงสาร ในที่สุดแห่งวัฏฏะ ในที่สุดแห่งสังขาร
ดำรงอยู่ในภพสุดท้าย ดำรงอยู่ในอัตภาพสุดท้าย พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้ทรง
ร่างกายสุดท้ายไว้
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าใดมีภพนี้เป็นภพสุดท้าย
มีการประชุมแห่งขันธ์นี้เป็นครั้งสุดท้าย
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตาย
และภพใหม่ก็ไม่มีอีก
เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงชื่อว่าผู้มีสังขาตธรรม
คำว่า ผู้แน่นอน อธิบายว่า อริยมรรค ๔ เรียกว่า นิยาม(ความแน่นอน)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วยอริยมรรค ๔ จึงชื่อว่าผู้แน่นอน ได้แก่ บรรลุ
ถึงพร้อม ถึง สัมผัส ทำให้แจ้งความแน่นอน ด้วยอริยมรรค จึงชื่อว่าผู้แน่นอน
คำว่า มีความมุ่งมั่น อธิบายว่า วิริยะเรียกว่า ความมุ่งมั่น ได้แก่ การตั้ง
ความเพียร การก้าวออก การก้าวไปข้างหน้า การย่างขึ้นไป ความพยายาม
ความอุตสาหะ ความขยัน ความมั่นคง ความทรงไว้ ความบากบั่นไม่ย่อหย่อน
ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ ความประคองธุระไว้ วิริยะ วิริยินทรีย์
วิริยพละ สัมมาวายามะอันเป็นไปทางใจ
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม
เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยความมุ่งมั่นนี้ ฉะนั้น พระปัจเจกสัมพุทธ-
เจ้านั้น จึงชื่อว่ามีความมุ่งมั่น รวมความว่า ผู้มีสังขาตธรรม ผู้แน่นอน มีความ
มุ่งมั่น จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
นั้นจึงกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๙๓ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ปรารถนาความสิ้นตัณหา
ไม่ประมาท ไม่โง่เขลา คงแก่เรียน มีสติ
ผู้มีสังขาตธรรม ผู้แน่นอน มีความมุ่งมั่น
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๕๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่สะดุ้งในเพราะเสียง
เหมือนราชสีห์ ไม่ติดข่ายเหมือนลม ไม่เปียกน้ำเหมือนบัว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๖)
คำว่า ไม่สะดุ้งในเพราะเสียง เหมือนราชสีห์ อธิบายว่า สีหะ พญามฤคราช
ไม่สะดุ้ง ไม่หวาดหวั่น ไม่หวาดเสียว ไม่สะทกสะท้าน ไม่ตกใจ ไม่หวาดกลัว ไม่ขลาด
ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนีในเพราะเสียง ฉันใด
แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ก็ไม่สะดุ้ง ไม่หวาดหวั่น ไม่หวาดเสียว ไม่สะทก-
สะท้าน ไม่ตกใจ ไม่หวาดกลัว ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี ละภัย
และความกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้าในเพราะเสียงอยู่ ฉันนั้น รวม
ความว่า ไม่สะดุ้งในเพราะเสียง เหมือนราชสีห์
คำว่า ลม ในคำว่า ไม่ติดข่ายเหมือนลม อธิบายว่า ลมตะวันออก ลม
ตะวันตก ลมเหนือ ลมใต้ ลมมีฝุ่น ลมไม่มีฝุ่น ลมหนาว ลมร้อน ลมพัดเบา
ลมพัดแรง ลมบ้าหมู ลมจากปีกนก ลมจากปีกครุฑ ลมจากใบตาล ลมจากพัด
ข่ายทำด้วยด้ายเรียกว่า ข่าย ลมไม่ข้องขัด คือ ไม่ยึด ไม่ติด ไม่พัวพันอยู่ที่ข่าย
ฉันใด
ข่ายมี ๒ ชนิด คือ
๑. ข่ายตัณหา
๒. ข่ายทิฏฐิ ฯลฯ
นี้ชื่อว่าข่ายตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าข่ายทิฏฐิ๑

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๑/๘๐-๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๙๔ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละข่ายตัณหา สลัดทิ้งข่ายทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้
ละข่ายตัณหา สลัดทิ้งข่ายทิฏฐิได้แล้ว พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น จึงไม่ข้องขัดอยู่
ในรูป เสียง ฯลฯ ในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ได้รับรู้
และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ได้แก่ ไม่ยึด ไม่ผูก ไม่พัวพัน เป็นผู้ออกแล้ว สลัดออก
หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ ฉันนั้น รวมความว่า ไม่ติด
ข่ายเหมือนลม
คำว่า ไม่เปียกน้ำ เหมือนบัว อธิบายว่า
ดอกบัว เรียกว่า บัว
น้ำท่า เรียกว่า น้ำ
ดอกบัวไม่เปียก คือ ไม่เปื้อน ไม่เข้าไปติดด้วยน้ำ น้ำไม่เปียก ไม่เปื้อน
ไม่เข้าไปติดดอกบัว ฉันใด ความยึดติดมี ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดติดด้วย
อำนาจตัณหา (๒) ความยึดติดด้วยอำนาจทิฏฐิ ฯลฯ นี้ชื่อว่าความยึดติดด้วย
อำนาจตัณหา ฯลฯ นี้ชื่อว่าความยึดติดด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นละความยึดติดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งความยึด
ติดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละความยึดติดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้ง
ความยึดติดด้วยอำนาจทิฏฐิแล้ว พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงไม่ติด ไม่ติดพัน
ไม่เข้าไปติดในรูป ฯลฯ เสียง ฯลฯ รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ที่ได้รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง คือ ไม่ติดแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ไม่เข้าไปติดแล้ว
ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่
ฉันนั้น รวมความว่า ไม่เปียกน้ำเหมือนบัว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่สะดุ้งในเพราะเสียง
เหมือนราชสีห์ ไม่ติดข่ายเหมือนลม ไม่เปียกน้ำเหมือนบัว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๑/๘๐-๘๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๙๕ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
[๑๕๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
พญาสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง
ข่มขี่ ครอบงำเนื้อทั้งหลาย เที่ยวไป ฉันใด
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็มีปัญญาเป็นกำลัง
ครอบงำบุคคลทั้งหลายด้วยปัญญา
ใช้สอยเสนาสนะอันสงัด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉันนั้น (๗)
คำว่า พญาสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง ข่มขี่ครอบงำเนื้อทั้งหลาย เที่ยวไป
ฉันใด อธิบายว่า สีหะ พญามฤคราช มีเขี้ยวเป็นกำลัง คือ มีเขี้ยวเป็นอาวุธครอบงำ
คือ ข่มขี่ ท่วมทับ กำจัด ย่ำยีสัตว์เดรัจฉานทุกจำพวก เป็นอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว
เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป ฉันใด
แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็มีปัญญาเป็นกำลัง คือ มีปัญญาเป็นอาวุธ ย่อม
ครอบงำ คือ ข่มขี่ ท่วมทับ กำจัด ย่ำยีบุคคลผู้มีชีวิตทุกจำพวกด้วยปัญญา
ประพฤติอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า พญาสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลังข่มขี่ครอบงำเนื้อ
ทั้งหลาย เที่ยวไป ฉันใด
คำว่า ใช้สอยเสนาสนะอันสงัด อธิบายว่า สีหะ พญามฤคราช เข้าสู่ป่าลึก
เป็นอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป ฉันใด
แม้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็ย่อมใช้สอยเสนาสนะอันเป็นป่าทึบและป่าละเมาะ อันสงัด
มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถาน
ที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เดินไป
ผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับ
ผู้เดียว นั่งในที่ลับผู้เดียว อธิษฐานจงกรมผู้เดียว ประพฤติอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว
เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว ฉันนั้น รวมความว่า ใช้สอย
เสนาสนะอันสงัด จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจก-
สัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๙๖ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
พญาสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง
ข่มขี่ครอบงำเนื้อทั้งหลาย เที่ยวไป ฉันใด
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็มีปัญญาเป็นกำลัง
ครอบงำบุคคลทั้งหลายด้วยปัญญา
ใช้สอยเสนาสนะอันสงัด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉันนั้น
[๑๕๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) เสพอาศัยเมตตา
กรุณา มุทิตาและอุเบกขา อันเป็นวิมุตติตามกาล
สัตว์โลกทั้งปวงมิได้เกลียดชัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๘)
คำว่า เสพอาศัยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา อันเป็นวิมุตติตามกาล
อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นมีเมตตาจิต แผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง ทิศ ๒...
ทิศ ๓... ทิศ ๔...ก็เช่นเดียวกัน ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก
ทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต
ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ามีกรุณาจิต ฯลฯ มีมุทิตาจิต ฯลฯ มีอุเบกขาจิตอัน
ไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ รวมความว่า
เสพอาศัยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา อันเป็นวิมุตติตามกาล
คำว่า สัตว์โลกทั้งปวง มิได้เกลียดชัง อธิบายว่า เพราะเป็นผู้เจริญพรหม-
วิหารมีเมตตาเป็นต้น สัตว์ที่อยู่ทางทิศตะวันออกก็ไม่เกลียดชัง สัตว์ที่อยู่ทางทิศ
ตะวันตกก็ไม่เกลียดชัง ฯลฯ สัตว์ที่อยู่ทางทิศเหนือ ฯลฯ สัตว์ที่อยู่ทางทิศใต้ ฯลฯ
สัตว์ที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้(อาคเณย์) ฯลฯ สัตว์ที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียง
เหนือ(พายัพ) ฯลฯ สัตว์ที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) ฯลฯ สัตว์ที่อยู่
ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้(หรดี) ฯลฯ สัตว์ที่อยู่ทางทิศเบื้องล่าง ฯลฯ สัตว์ที่อยู่ทาง
ทิศเบื้องบน ฯลฯ สัตว์ที่อยู่ทั้งสิบทิศก็ไม่เกลียดชัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๙๗ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า สัตว์โลกทั้งปวง มิได้เกลียดชัง อธิบายว่า สัตว์โลกทั้งปวงไม่เกลียดชัง
คือ ไม่โกรธ ไม่อาฆาต ไม่กระทบกระทั่ง รวมความว่า สัตว์โลกทั้งปวง มิได้
เกลียดชัง จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
นั้นจึงกล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) เสพอาศัยเมตตา
กรุณา มุทิตาและอุเบกขา อันเป็นวิมุตติตามกาล
สัตว์โลกทั้งปวงมิได้เกลียดชัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๖๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละราคะ โทสะ และโมหะ
ทำลายสังโยชน์ได้แล้ว ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (๙)
คำว่า ละราคะ โทสะ และโมหะ อธิบายว่า
คำว่า ราคะ ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ๑
คำว่า โทสะ ได้แก่ ความอาฆาตแห่งจิต ฯลฯ ความดุร้าย ความเกรี้ยวกราด
ความไม่แช่มชื่นจิต
คำว่า โมหะ คือ ความไม่รู้ในทุกข์ ฯลฯ ข่ายคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ
คำว่า ละราคะ โทสะ และโมหะ อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ละ
ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งราคะ โทสะ และโมหะ
รวมความว่า ละราคะ โทสะ และโมหะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒/๕๐-๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๙๘ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ว่าด้วยสังโยชน์ ๑๐
คำว่า ทำลายสังโยชน์ได้แล้ว ได้แก่ สังโยชน์ ๑๐ อย่าง คือ
๑. กามราคสังโยชน์
๒. ปฏิฆสังโยชน์ ฯลฯ
๑๐. อวิชชาสังโยชน์๑
คำว่า ทำลายสังโยชน์ได้แล้ว อธิบายว่า ทำลาย คือ ทะลาย ทำให้พัง
ทำให้พังทลาย ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งสังโยชน์ ๑๐
อย่าง รวมความว่า ทำลายสังโยชน์ได้แล้ว
คำว่า ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ในเวลา
จบชีวิต ก็ไม่สะดุ้ง ไม่หวาดหวั่น ไม่หวาดเสียว ไม่สะทกสะท้าน ไม่ตกใจ ไม่
หวาดกลัว ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี ละภัยและความหวาดกลัว
ได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้า อยู่ รวมความว่า ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึง
กล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละราคะ โทสะ และโมหะ
ทำลายสังโยชน์ได้แล้ว ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[๑๖๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
ทุกวันนี้มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ
จึงคบและเสพด้วย มิตรที่ไม่มุ่งประโยชน์หาได้ยาก
มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่งประโยชน์ตนไม่สะอาด
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
(๑๐)

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๔๘/๔๗๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๔๙๙ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า มีประโยชน์เป็นเหตุจึงคบและเสพด้วย อธิบายว่า มิตรทั้งหลายมี
ประโยชน์ตนเป็นเหตุ มีประโยชน์ผู้อื่นเป็นเหตุ มีประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเป็นเหตุ
มีประโยชน์ในภพปัจจุบันเป็นเหตุ มีประโยชน์ในภพหน้าเป็นเหตุ มีประโยชน์อย่าง
ยิ่งเป็นเหตุ จึงคบ คือ คบหา เสพ เสพเป็นนิจ ซ่องเสพ เสพเฉพาะ รวมความว่า
มีประโยชน์เป็นเหตุจึงคบและเสพด้วย
คำว่า ทุกวันนี้มิตรทั้งหลาย...มิตรที่ไม่มุ่งประโยชน์หาได้ยาก อธิบายว่า
มิตรมี ๒ จำพวก คือ
๑. อาคาริกมิตร(มิตรครองเรือน)
๒. อนาคาริกมิตร (มิตรไม่ครองเรือน)
ฯลฯ นี้ชื่อว่าอาคาริกมิตร ฯลฯ นี้ชื่อว่าอนาคาริกมิตร๑
คำว่า ทุกวันนี้มิตรทั้งหลาย... มิตรที่ไม่มุ่งประโยชน์หาได้ยาก อธิบายว่า
มิตร ๒ จำพวก เหล่านี้ ไม่มีเหตุ ไม่มุ่งประโยชน์ คือ หาเหตุมิได้ ไม่มีปัจจัย
หาได้ยาก ได้ยาก แสนยาก รวมความว่า ทุกวันนี้มิตรทั้งหลาย... มิตรที่ไม่มุ่ง
ประโยชน์หาได้ยาก
คำว่า มีปัญญามุ่งประโยชน์ตน ในคำว่า มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่ง
ประโยชน์ตนไม่สะอาด อธิบายว่า เหล่ามนุษย์คบ คบหา เสพ เสพเป็นนิจ
ซ่องเสพ เสพเฉพาะ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ เข้าไปนั่งใกล้ ไต่ถาม
ถามปัญหา เพื่อประโยชน์ของตน เพราะเหตุแห่งตน เพราะปัจจัยแห่งตน เพราะ
การณ์แห่งตน รวมความว่า มีปัญญามุ่งประโยชน์ตน

ว่าด้วยกรรมไม่สะอาด
คำว่า มนุษย์ทั้งหลาย... ไม่สะอาด อธิบายว่า
เพราะประกอบด้วยกายกรรมอันไม่สะอาด มนุษย์ทั้งหลาย จึงชื่อว่าไม่สะอาด
เพราะประกอบด้วยวจีกรรมอันไม่สะอาด มนุษย์ทั้งหลาย จึงชื่อว่าไม่สะอาด
เพราะประกอบด้วยมโนกรรมอันไม่สะอาด มนุษย์ทั้งหลาย จึงชื่อว่าไม่สะอาด

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒๓/๔๐๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๐๐ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] ๘. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
เพราะประกอบด้วยปาณาติบาตอันไม่สะอาด...
... อทินนาทานอันไม่สะอาด...
... กาเมสุมิจฉาจารอันไม่สะอาด...
... มุสาวาทอันไม่สะอาด...
... ปิสุณาวาจาอันไม่สะอาด...
... ผรุสวาจาอันไม่สะอาด...
... สัมผัปปลาปะอันไม่สะอาด...
... อภิชฌาอันไม่สะอาด...
... พยาบาทอันไม่สะอาด...
เพราะประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิอันไม่สะอาด มนุษย์ทั้งหลาย จึงชื่อว่าไม่สะอาด
เพราะประกอบด้วยเจตนาอันไม่สะอาด มนุษย์ทั้งหลาย จึงชื่อว่าไม่สะอาด
เพราะประกอบด้วยความปรารถนาอันไม่สะอาด มนุษย์ทั้งหลาย จึงชื่อว่าไม่สะอาด
เพราะประกอบด้วยปณิธาน(ความตั้งใจ) อันไม่สะอาด มนุษย์ทั้งหลาย จึงชื่อว่า
ไม่สะอาด คือ เลว ทราม ต่ำทราม ต่ำ น่ารังเกียจ หยาบ เล็กน้อย รวมความว่า
มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่งประโยชน์ตน ไม่สะอาด
คำว่า ผู้เดียว ในคำว่า จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด อธิบายว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่าผู้เดียว เพราะส่วนแห่งการบรรพชา ฯลฯ
คำว่า ประพฤติ ได้แก่ ความประพฤติ ๘ อย่าง๑ ฯลฯ
คำว่า เหมือนนอแรด อธิบายว่า ธรรมดาแรด มีนอเดียว ไม่มีนอที่สอง
ฉันใด ฯลฯ รวมความว่า จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒๑/๓๙๙-๔๐๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๐๑ }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส
ทุกวันนี้มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ
จึงคบและเสพด้วย มิตรที่ไม่มุ่งประโยชน์หาได้ยาก
มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่งประโยชน์ตนไม่สะอาด
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
จตุตถวรรคจบ
ขัคควิสาณสุตตนิทเทสที่ ๑๙ จบ

การอธิบายคำสอนแก่พราหมณ์ ผู้ถึงฝั่ง ๑๖ คนเหล่านี้
คือ (๑) อชิตะ (๒) ติสสเมตเตยยะ
(๓) ปุณณกะ (๔) เมตตคู (๕) โธตกะ
(๖) อุปสีวะ (๗) นันทะ (๘) เหมกะ
(๙) โตเทยยะ (๑๐) กัปปะ (๑๑) ชตุกัณณิผู้เป็นบัณฑิต
(๑๒) ภัทราวุธ (๑๓) อุทัย
(๑๔) โปสาละผู้เป็นพราหมณ์ (๑๕) โมฆราชผู้มีปัญญา
(๑๖) ปิงคิยะผู้เป็นมหาฤๅษี มีประมาณเท่านี้แล
แม้การอธิบายขัคควิสาณสุตรก็มีประมาณเท่านี้
นิทเทสที่ควรรู้ทั้ง ๒ ภาค ท่านกำหนดทำไว้บริบูรณ์ดีแล้ว
จูฬนิทเทส จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๐ หน้า :๕๐๒ }


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ สุตตันตปิฎกที่ ๒๒ ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส จบ





eXTReMe Tracker