ค้นว่าอยู่เล่มใด แล้วกด [ctrl]+f หรือใช้คำสั่งของเครื่องหาตำแหน่งในเล่มอีกทีนะครับ



จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อความสะดวก และสวยงาม
(เฉพาะหน้าจอใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์)
กรุณาคลิก จัดรูปหน้าใหม่
เพื่อให้กรอบ
ค้นข้อความ ปรากฎที่ด้านซ้ายของหน้า

พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๔๕ เล่ม (ปกสีฟ้า)
ทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ สุตตันตปิฎกที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย มหานิทเทส
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อัฏฐกวรรค
๑. กามสุตตนิทเทส๑
อธิบายกามสูตร
ว่าด้วยกาม ๒ อย่าง

พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายกามสูตร ดังต่อไปนี้
[๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ถ้ากามนั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น ผู้อยากได้กามอยู่
สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่แท้
คำว่า ผู้อยากได้กามอยู่ อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม
(๒) กิเลสกาม
วัตถุกาม คืออะไร
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม
ทาสหญิงชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงิน ทอง หมู่บ้าน
นิคม ราชธานี แคว้น ชนบท๒ กองพลรบ๓ คลังหลวง๔ และวัตถุที่น่ายินดีอย่างใด
อย่างหนึ่ง (เหล่านี้) ชื่อว่าวัตถุกาม

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๗๗๓-๗๗๘/๔๘๖
๒ ชนบท หมายถึง รัฐหลาย ๆ รัฐมารวมกัน มีกาสีชนบทและโกศลชนบท เป็นต้น (ขุ.ม.อ. ๑/๑๔)
๓ กองพลรบ มี ๔ เหล่า คือ (๑) กองพลช้าง (๒) กองพลม้า (๓) กองพลรถ (๔) กองพลทหารราบ (ขุ.ม.อ.
๑/๑๔)
๔ คลังหลวง มี ๓ อย่าง คือ (๑) คลังทรัพย์สิน (๒) คลังพืชพันธุ์ธัญญาหาร (๓) คลังผ้า (ขุ.ม.อ. ๑/๑๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง กามที่เป็นอดีต ที่เป็นอนาคต ที่เป็นปัจจุบัน กามที่เป็นภายใน
ที่เป็นภายนอก ที่เป็นทั้งภายในและภายนอก กามอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่าง
ประณีต กามที่เป็นของสัตว์ในอบาย ที่เป็นของมนุษย์ ที่เป็นของทิพย์ กามที่ปรากฏ
เฉพาะหน้า ที่เนรมิตขึ้นเอง ที่ไม่ได้เนรมิตขึ้นเอง ที่ผู้อื่นเนรมิตให้ กามที่มีผู้
ครอบครอง ที่ไม่มีผู้ครอบครอง ที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ที่ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
สภาวธรรมที่เป็นกามาวจร๑ ที่เป็นรูปาวจร๒ ที่เป็นอรูปาวจร๓แม้ทั้งปวง กามที่เป็นเหตุ
เกิดแห่งตัณหา เป็นอารมณ์แห่งตัณหา ที่ชื่อว่ากาม เพราะมีความหมายว่า
น่าปรารถนา น่ายินดี น่าลุ่มหลง เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม
กิเลสกาม คืออะไร
คือ ความพอใจ ความกำหนัด ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความดำริ
ความกำหนัด ความกำหนัดด้วยอำนาจความดำริชื่อว่ากาม ได้แก่ ความพอใจด้วย
อำนาจความใคร่ ความกำหนัดด้วยอำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจ
ความใคร่ ความทะยานอยากด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่
ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความติดใจด้วย
อำนาจความใคร่ ห้วงน้ำคือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือความใคร่ กิเลสเครื่อง
ยึดมั่นคือความใคร่ กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกาม
ทั้งหลาย
(สมจริงดังที่พระเจ้าอัฑฒมาสกเปล่งอุทานว่า)
เจ้ากามเอ๋ย เราเห็นรากเหง้าของเจ้าแล้ว
เจ้าเกิดเพราะความดำริ เราจักไม่ดำริถึงเจ้าอีก
เจ้าจักไม่เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อีกละเจ้ากามเอ๋ย๔
เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม

เชิงอรรถ :
๑ กามาวจร คือระดับจิตของผู้ที่ยังปรารภกามเป็นอารมณ์ ได้แก่ จิตของสัตว์ในกามภพทั้ง ๑๑ ชั้น คือ
(๑) อบายภูมิ ๔ (๒) มนุษยโลก (๓) สวรรค์ ๖ ชั้น (ขุ.ม.อ. ๑/๑๖)
๒ รูปาวจร คือระดับจิตของผู้ได้รูปฌาน ได้แก่ สัตว์ผู้เกิดในพรหมโลก ๑๖ ชั้น ตั้งแต่ชั้นพรหมปาริสัชชา
จนถึงชั้นอกนิฏฐา (ขุ.ม.อ. ๑/๑๖)
๓ อรูปาวจร คือ ระดับจิตของผู้ได้อรูปฌาน ได้แก่ สัตว์ผู้เกิดในอรูปพรหม ๔ ชั้น (ขุ.ม.อ. ๑/๑๖)
๔ ขุ.ชา. ๒๗/๓๙/๑๘๘, ขุ.จู. ๓๐/๘/๓๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้อยากได้กามอยู่ ได้แก่ ผู้อยากได้กาม คือ ผู้ต้องการ ยินดี
ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังกามอยู่ รวมความว่า ผู้อยากได้กามอยู่
คำว่า ถ้า...แก่สัตว์นั้น ในคำว่า ถ้ากามนั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น
อธิบายว่า สัตว์นั้น คือ ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต
เทวดา หรือมนุษย์
คำว่า กามนั้น ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ เรียกว่า
วัตถุกาม
คำว่า สำเร็จด้วยดี ได้แก่ สำเร็จผล สำเร็จด้วยดี ได้ ได้รับ สมหวัง ประสบ
รวมความว่า ถ้ากามนั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น
คำว่า แน่แท้ ในคำว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่แท้ เป็นคำกล่าวโดยนัยเดียว
เป็นคำกล่าวโดยไม่สงสัย เป็นคำกล่าวโดยไม่เคลือบแคลง เป็นคำกล่าวโดยไม่เป็น
๒ นัย เป็นคำกล่าวโดยไม่เป็น ๒ อย่าง เป็นคำกล่าวโดยรัดกุม เป็นคำกล่าวโดย
ไม่ผิด คำว่า แน่แท้ นี้ เป็นคำกล่าวที่กำหนดไว้แน่แล้ว
คำว่า อิ่ม ได้แก่ ความอิ่มเอิบ ความปราโมทย์ ความบันเทิง ความเบิกบาน
ความร่าเริง ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความยินดี ความมีใจสูง ความมีใจแช่มชื่น
ความเต็มใจ ที่ประกอบด้วยกามคุณ ๕
คำว่า ใจ ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์
วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ๑ ที่เกิดจากผัสสะเป็นต้นนั้น นี้เรียกว่า
ใจ ใจนี้ ไปพร้อมกัน คือ เกิดร่วมกัน ระคนกัน เกี่ยวเนื่องกัน เกิดพร้อมกัน
ดับพร้อมกัน มีวัตถุอย่างเดียวกัน มีอารมณ์อย่างเดียวกันกับความอิ่มเอิบนี้

เชิงอรรถ :
๑ ชื่อว่า จิต เพราะเป็นสภาวะวิจิตร ชื่อว่า มโน เพราะรับรู้อารมณ์
ชื่อว่า มานัส เพราะมีธรรมที่สัมปยุตกับมโน หรือมานัสก็คือใจนั่นเอง
ชื่อว่า หทัย เพราะอยู่ภายใน ชื่อว่า ปัณฑระ เพราะเป็นธรรมชาติผ่องใส
ชื่อว่า มนายตนะ เพราะเป็นที่อยู่อาศัย, เป็นบ่อเกิด, เป็นที่ประชุม, เป็นแดนเกิดแห่งใจ
ชื่อว่า มนินทรีย์ เพราะเป็นใหญ่ในการรับรู้อารมณ์
ชื่อว่า วิญญาณ เพราะรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ชื่อว่า วิญญาณขันธ์ เพราะเป็นกองแห่งวิญญาณ
ชื่อว่า มโนวิญญาณธาตุ เพราะเป็นสภาวะที่รับรู้และรับทราบอันสมควรแก่ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น
(ขุ.ม.อ. ๑/๒๒-๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
คำว่า ย่อมเป็นผู้อิ่มใจ ได้แก่ เป็นผู้อิ่มใจ คือ เป็นผู้มีใจยินดี มีใจร่าเริง
มีใจเบิกบาน มีใจแช่มชื่น มีใจสูง บันเทิงใจ ปลาบปลื้มใจ รวมความว่า ย่อมเป็นผู้
อิ่มใจแน่แท้
คำว่า ได้ ในคำว่า สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว ได้แก่ ได้ คือ ได้แล้ว
ได้รับแล้ว สมหวังแล้ว ประสบแล้ว
คำว่า สัตว์ ได้แก่ สัตว์(ผู้ข้องอยู่) นรชน มานพ๑ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า กามตามที่ต้องการ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตามที่ต้องการ
ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง รวมความว่า สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ถ้ากามนั้นสำเร็จด้วยดีแก่สัตว์นั้น ผู้อยากได้กามอยู่
สัตว์นั้นได้กามตามที่ต้องการแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่แท้
[๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ถ้าเมื่อสัตว์นั้นอยากได้กามอยู่ เกิดความพอใจแล้ว
กามเหล่านั้นเสื่อมไป สัตว์นั้นย่อมเจ็บปวด
เหมือนถูกลูกศรแทง
คำว่า ถ้าเมื่อสัตว์นั้น ในคำว่า ถ้าเมื่อสัตว์นั้นอยากได้กามอยู่ ได้แก่ เมื่อ
สัตว์นั้น คือ ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือ
มนุษย์
คำว่า อยากได้กามอยู่ ได้แก่ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง
กามอยู่
อีกนัยหนึ่ง สัตว์ย่อมไป ออกไป ถูกพาไป ถูกนำไป เพราะกามตัณหา
อธิบายว่า เหมือนมนุษย์ย่อมไป ออกไป ถูกพาไป ถูกนำไป ด้วยยานพาหนะ คือ
ช้าง ม้า โค แพะ แกะ อูฐ หรือลา ฉันใด สัตว์ย่อมไป ออกไป ถูกพาไป ถูกนำไป
เพราะกามตัณหา ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า ถ้าเมื่อสัตว์นั้นอยากได้กามอยู่

เชิงอรรถ :
๑ มานพ มาจากคำว่า มนุ หมายถึง บุตรของพระมนู (ขุ.ม.อ. ๑/๒๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
คำว่า เมื่อสัตว์...เกิดความพอใจแล้ว อธิบายว่า
คำว่า ความพอใจ ได้แก่ ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ ความกำหนัด
ด้วยอำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจความใคร่ ความทะยานอยาก
ด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจ
ความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่ ห้วงน้ำ
คือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือความใคร่ กิเลสเครื่องยึดมั่นคือความใคร่
กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย ความพอใจ
ด้วยอำนาจความใคร่เกิดแล้ว เกิดขึ้นแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดขึ้นแล้ว ปรากฏแล้ว
แก่สัตว์นั้น
คำว่า สัตว์ ได้แก่ สัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด
ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์ รวมความว่า เมื่อสัตว์...เกิดความพอใจแล้ว
คำว่า กามเหล่านั้นเสื่อมไป ได้แก่ กามเหล่านั้นเสื่อมไป หรือสัตว์นั้นเสื่อม
จากกามทั้งหลาย
กามเหล่านั้นเสื่อมไปได้อย่างไร
คือ เมื่อสัตว์นั้นดำรงชีพอยู่นั่นเอง โภคทรัพย์พินาศเพราะเหตุ ๘ ประการ คือ
๑. ถูกพระราชาริบ
๒. ถูกโจรปล้น
๓. ถูกไฟไหม้
๔. ถูกน้ำท่วมพัดพาไป
๕. ถูกทายาทผู้ไม่เป็นที่รักลักขโมยไป
๖. โภคทรัพย์ที่ฝังไว้แล้วหาไม่พบ
๗. กิจการล้มเหลวเพราะจัดการไม่ดี
๘. มีคนล้างผลาญตระกูล ล้างผลาญ รุกราน ทำลายโภคทรัพย์เหล่านั้น
ให้พินาศเกิดขึ้นในตระกูล
กามเหล่านั้น เสียไป เสื่อมไป คือ สิ้นไป หมดไป สูญหายไป สลายไปด้วยอาการ
อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
สัตว์นั้นเสื่อมจากกามทั้งหลายได้อย่างไร
คือ เมื่อโภคทรัพย์เหล่านั้นยังคงอยู่อย่างเดิมนั่นแหละ สัตว์นั้นเคลื่อน ตาย
สูญหายไป สลายไป สัตว์นั้นย่อมเสียไป เสื่อมไป คือ สิ้นไป หมดไป สูญหายไป
สลายไปจากกามทั้งหลาย ด้วยอาการอย่างนี้
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
โภคทรัพย์ถูกโจรปล้น พระราชาริบเอาไป ไฟไหม้ เสียหาย
อนึ่ง บุคคลผู้เป็นเจ้าของย่อมทอดทิ้งสรีระ
พร้อมทั้งทรัพย์สินไปเพราะความตาย
นักปราชญ์ทราบดังนี้แล้วพึงใช้สอยและให้ทาน
ครั้นให้ทานและใช้สอยตามสมควรแล้ว
จึงไม่ถูกนินทา ย่อมเข้าถึงสวรรค์๑
รวมความว่า กามเหล่านั้นเสื่อมไป
คำว่า สัตว์นั้นย่อมเจ็บปวดเหมือนถูกลูกศรแทง อธิบายว่า สัตว์ผู้ถูกลูกศร
เหล็กแทงก็ตาม ถูกลูกศรกระดูก ลูกศรงา ลูกศรเขา หรือลูกศรไม้แทงก็ตาม ย่อม
เจ็บปวด ดิ้นรน กระสับกระส่าย เดือดร้อน เจ็บกาย เจ็บใจ ฉันใด เพราะวัตถุกาม
แปรเป็นอื่นไป ความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความ
คับแค้นใจย่อมเกิดขึ้น ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์นั้นถูกลูกศรคือกาม และลูกศรคือ
ความเศร้าโศกแทงแล้ว ย่อมเจ็บปวด ดิ้นรน กระสับกระส่าย เดือดร้อน เจ็บกาย
เจ็บใจ รวมความว่า สัตว์นั้นย่อมเจ็บปวดเหมือนถูกลูกศรแทง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
ถ้าเมื่อสัตว์นั้นอยากได้กามอยู่ เกิดความพอใจแล้ว
กามเหล่านั้นเสื่อมไป สัตว์นั้นย่อมเจ็บปวด
เหมือนถูกลูกศรแทง

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๔๑/๓๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
[๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ผู้ใดละกามได้ เหมือนคนเดินเลี่ยงหัวงู
ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก

ว่าด้วยการละกามโดยเหตุ ๒ อย่าง
คำว่า ผู้ใด ในคำว่า ผู้ใดละกามได้ ได้แก่ ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ผู้ขวนขวาย
อย่างใด ผู้ตั้งใจอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้ถึงฐานะใด ผู้ประกอบด้วยธรรมใด
จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม
คำว่า ละกามได้ อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้เเก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม
(๒) กิเลสกาม ... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑
คำว่า ละกามได้ ได้แก่ ละกามได้โดยเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) โดยการข่มไว้
(๒) โดยการตัดขาด
บุคคลละกามได้โดยการข่มไว้ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลเมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก
เพราะให้ความยินดีเล็กน้อย จึงละกามได้โดยการข่มไว้
เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ เพราะเป็นของทั่วไป
แก่คนส่วนมาก จึงละกามได้โดยการข่มไว้
เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า เพราะไหม้
ลุกลาม จึงละกามได้โดยการข่มไว้
เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิง เพราะมีความ
ร้อนมาก จึงละกามได้โดยการข่มไว้
เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนความฝัน เพราะปรากฏชั่ว
เวลาอันสั้น จึงละกามได้โดยการข่มไว้

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๑-๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนของที่ยืมมา เพราะเป็นของ
ครอบครองชั่วคราวตามกำหนด จึงละกามได้โดยการข่มไว้
เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนผลไม้คาต้น เพราะเป็นเหตุ
ให้หักและให้ล้ม จึงละกามได้โดยการข่มไว้
เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนเขียงหั่นเนื้อ เพราะเป็นเครื่อง
รองรับการตัดฟัน จึงละกามได้โดยการข่มไว้
เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหอกหลาว เพราะเป็นเครื่อง
ทิ่มแทง จึงละกามได้โดยการข่มไว้
เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนหัวงู เพราะเป็นสิ่งมีภัย
เฉพาะหน้า จึงละกามได้โดยการข่มไว้
เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนกองไฟ เพราะเผาผลาญ จึง
ละกามได้โดยการข่มไว้
ว่าด้วยบุคคลที่ละกามได้โดยการข่มไว้ ๑๐ จำพวก
๑. บุคคลกำลังเจริญพุทธานุสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้
๒. บุคคลกำลังเจริญธัมมานุสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้
๓. บุคคลกำลังเจริญสังฆานุสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้
๔. บุคคลกำลังเจริญสีลานุสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้
๕. บุคคลกำลังเจริญจาคานุสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้
๖. บุคคลกำลังเจริญเทวตานุสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้
๗. บุคคลกำลังเจริญอานาปานัสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้
๘. บุคคลกำลังเจริญมรณานุสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้
๙. บุคคลกำลังเจริญกายคตาสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้
๑๐. บุคคลกำลังเจริญอุปสมานุสสติ ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
ว่าด้วยบุคคลที่ละกามได้โดยการข่มไว้ ๘ จำพวก
๑. บุคคลกำลังเจริญปฐมฌาน ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้
๒. บุคคลกำลังเจริญทุติยฌาน ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้
๓. บุคคลกำลังเจริญตติยฌาน ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้
๔. บุคคลกำลังเจริญจตุตถฌาน ย่อมละกามได้โดยการข่มไว้
๕. บุคคลกำลังเจริญอากาสานัญจายตนสมาบัติ ย่อมละกามได้โดยการ
ข่มไว้
๖. บุคคลกำลังเจริญวิญญานัญจายตนสมาบัติ ย่อมละกามได้โดยการ
ข่มไว้
๗. บุคคลกำลังเจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติ ย่อมละกามได้โดยการ
ข่มไว้
๘. บุคคลกำลังเจริญเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ย่อมละกามได้
โดยการข่มไว้
บุคคลชื่อว่าละกามได้โดยการข่มไว้ เป็นอย่างนี้
ว่าด้วยบุคคลที่ละกามได้โดยการตัดขาด ๔ จำพวก
บุคคลละกามได้โดยการตัดขาด เป็นอย่างไร คือ
๑. บุคคลกำลังเจริญโสดาปัตติมรรค ย่อมละกามอันเป็นเหตุไปสู่อบาย
ได้โดยการตัดขาด
๒. บุคคลกำลังเจริญสกทาคามิมรรค ย่อมละกามอย่างหยาบได้โดยการ
ตัดขาด
๓. บุคคลกำลังเจริญอนาคามิมรรค ย่อมละกามอย่างละเอียดได้โดยการ
ตัดขาด
๔. บุคคลกำลังเจริญอรหัตตมรรค ย่อมละกามได้หมดสิ้น ไม่เหลือทุกสิ่ง
ทุกประการ โดยการตัดขาด
บุคคลชื่อว่าละกามได้โดยการตัดขาด เป็นอย่างนี้ รวมความว่า ผู้ใดละกามได้
คำว่า เหมือนคนเดินเลี่ยงหัวงู อธิบายว่า งู เรียกว่า สัปปะ งูชื่อว่าสัปปะ
เพราะมีความหมายอย่างไร งูชื่อว่าสัปปะ เพราะเลื้อยไป ชื่อว่าภุชคะ เพราะเลื้อยไป
ด้วยขนด ชื่อว่าอุรคะ เพราะไปด้วยอก ชื่อว่าปันนคะ เพราะมุดหัวไป ชื่อว่าสิรีสปะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
เพราะนอนพาดหัวบนขนด ชื่อว่าพิลาสยะ เพราะนอนในรู ชื่อว่าคุหาสยะ เพราะ
นอนในถ้ำ ชื่อว่าทาฐาวุธะ เพราะมีเขี้ยวเป็นอาวุธ ชื่อว่าโฆรวิสะ เพราะมีพิษร้ายแรง
ชื่อว่าทุชิวหา เพราะมีลิ้น ๒ แฉก ชื่อว่าทิรสัญญู เพราะลิ้มรสด้วยลิ้น ๒ แฉก บุรุษ
ผู้ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ พึงเดินหลบ หลีก
เลี่ยง เบี่ยงหนีหัวงู ฉันใด บุคคลผู้รักสุข เกลียดทุกข์ พึงหลบ หลีก เลี่ยง เบี่ยงหนี
กามทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า เหมือนคนเดินเลี่ยงหัวงู
คำว่า ผู้นั้น ในคำว่า ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก ได้แก่
ผู้ละกามได้ ตัณหาตรัสเรียกว่า วิสัตติกา
คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความคล้อยตามอารมณ์ ความยินดี
ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ความกำหนัดนักแห่งจิต
ความอยาก ความสยบ ความหมกมุ่น ความหื่น ความหื่นกระหาย ความข้องอยู่
ความจมอยู่ ธรรมชาติที่ทำให้พลุกพล่าน ธรรมชาติที่หลอกลวง ธรรมชาติที่ยังสัตว์
ให้เกิด ธรรมชาติที่ยังสัตว์ให้เกิดพร้อม ธรรมชาติที่ร้อยรัด ธรรมชาติที่มีข่าย
ธรรมชาติที่กำซาบใจ ธรรมชาติที่ซ่านไป ธรรมชาติดุจเส้นด้าย ธรรมชาติที่แผ่ไป
ธรรมชาติที่ประมวลมา ธรรมชาติที่เป็นเพื่อน ความคนึงหา ตัณหาที่นำพาไปสู่ภพ
ตัณหาดุจป่า ตัณหาดุจป่าทึบ ความเชยชิด ความเยื่อใย ความห่วงใย ความผูกพัน
ความหวัง กิริยาที่หวัง ภาวะที่หวัง ความหวังในรูป ความหวังในเสียง ความหวังในกลิ่น
ความหวังในรส ความหวังในโผฏฐัพพะ ความหวังในลาภ ความหวังในทรัพย์ ความ
หวังในบุตร ความหวังในชีวิต ธรรมชาติที่กระซิบ ธรรมชาติที่กระซิบบ่อย ๆ
ธรรมชาติที่กระซิบยิ่ง ความกระซิบ กิริยาที่กระซิบ ภาวะที่กระซิบ ความละโมบ
กิริยาที่ละโมบ ภาวะที่ละโมบ ธรรมชาติที่ทำให้หวั่นไหว ภาวะที่ใคร่แต่อารมณ์ดี ๆ
ความกำหนัดในฐานะอันไม่ควร ความโลภเกินพอดี ความติดใจ กิริยาที่ติดใจ
ความปรารถนา ความใฝ่หา ความหมายปอง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
ตัณหาในรูปภพ ตัณหาในอรูปภพ ตัณหาในนิโรธ๑ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา

เชิงอรรถ :
๑ ตัณหาในนิโรธ คือตัณหาที่ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ (ขุ.ม.อ. ๓/๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา โอฆะ๑ โยคะ๒ คันถะ๓ อุปาทาน๔ อาวรณ์๕
นิวรณ์๖ เครื่องปิดบัง เครื่องผูก อุปกิเลส๗ อนุสัย๘ ปริยุฏฐาน(กิเลสที่กลุ้มรุมจิต)
ตัณหาดุจเถาวัลย์ ความปรารถนาวัตถุอย่างต่าง ๆ รากเหง้าแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์
แดนเกิดแห่งทุกข์ บ่วงแห่งมาร เบ็ดแห่งมาร วิสัยแห่งมาร ตัณหาดุจแม่น้ำ ตัณหา
ดุจตาข่าย ตัณหาดุจโซ่ตรวน ตัณหาดุจสมุทร อภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา)
อกุศลมูลคือโลภะ
คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมาย
อย่างไร ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะแผ่ไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะซ่านไป ชื่อว่า
วิสัตติกา เพราะขยายไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะครอบงำ ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะ
สะท้อนไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะเป็นตัวการให้พูดผิด ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีราก
เป็นพิษ ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีผลเป็นพิษ ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะเป็นตัวการให้
บริโภคสิ่งมีพิษ
อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้นแผ่ไป คือ ซ่านไป ขยายไปในรูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ ตระกูล หมู่คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต

เชิงอรรถ :
๑ โอฆะ คือสภาวะอันเป็นดุจกระแสน้ำหลากท่วมใจสัตว์ ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕)
๒ โยคะ คือสภาวะอันประกอบสัตว์ไว้ในภพ ได้แก่ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕)
๓ คันถะ ดูรายละเอียดข้อ ๙๒/๒๘๖
๔ อุปาทาน คือ ความยึดมั่นด้วยอำนาจกิเลส มี ๔ คือ (๑) กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม (๒) ทิฏฐุปาทาน
ความยึดมั่นในทิฏฐิ (๓) สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลและพรต (๔) อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่น
วาทะของตน (ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๕)
๕ อาวรณ์ คือสภาวะที่ขัดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม (ขุ.ม.อ. ๓/๓๙)
๖ นิวรณ์ คือสภาวะที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี มี ๕ อย่าง (ดูความหมายข้อ ๕/๑๗)
๗ อุปกิเลส คือสภาวะที่ทำให้จิตเศร้าหมองขุ่นมัว มี ๑๖ อย่าง (ดูรายละเอียดข้อ ๕/๑๗)
๘ อนุสัย คือกิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ มี ๗ คือ (๑) กามราคะ ความกำหนัดในกาม
(๒) ปฏิฆะ ความหงุดหงิดขัดเคือง (๓) ทิฏฐิ ความเห็นผิด (๔) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (๕) มานะ
ความถือตัว (๖) ภวราคะ ความกำหนัดในภพ (๗) อวิชชา ความไม่รู้จริง (ที.ปา. ๑๑/๓๓๒/๒๒๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร กามธาตุ๑ รูปธาตุ๒ อรูปธาตุ๓ กามภพ รูปภพ
อรูปภพ สัญญาภพ อสัญญาภพ เนวสัญญานาสัญญาภพ เอกโวการภพ๔
จตุโวการภพ๕ ปัญจโวการภพ๖ อดีต อนาคต ปัจจุบัน รูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ได้ยินแล้ว
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่รับรู้แล้ว และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ฉะนั้น จึงชื่อว่าวิสัตติกา
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก(โลกคือ
ขันธ์ ๕) ธาตุโลก(โลกคือธาตุ ๑๘) อายตนโลก(โลกคืออายตนะ ๑๒)
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย
๒. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
๓. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต
๔. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย
มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะเว้นจากความเป็นผู้ไม่มีสติ
๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้กระทำสิ่งทั้งหลายที่ควรทำด้วยสติ
๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้กำจัดสิ่งทั้งหลายที่เป็นฝ่ายตรง ข้ามกับสติ
๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หลงลืมธรรมทั้งหลายที่เป็นมูลเหตุแห่งสติ
มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยสติ
๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ชำนาญในสติ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๑/๒
๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๑/๒
๓ ดูเชิงอรรถข้อ ๑/๒
๔ เอกโวการภพ คือภพที่ประกอบด้วยรูปขันธ์ ๑ หรือภพที่มีขันธ์ ๑ ได้แก่ อสัญญาภพ
๕ จตุโวการภพ คือภพที่ประกอบด้วยอรูปขันธ์ ๔ หรือภพที่มีขันธ์ ๔ ได้แก่ อรูปภพ
๖ ปัญจโวการภพ คือภพที่ประกอบด้วยขันธ์ ๕ หรือภพที่มีขันธ์ ๕ ปัญจโวการภพนี้เป็นกามภพด้วย
เป็นเอกเทศแห่งรูปภพด้วย (ขุ.ม.อ. ๓/๔๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้คล่องแคล่วในสติ
๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หวนกลับจากสติ
มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะมีอยู่ตามปกติ
๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้สงบ
๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ระงับ
๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ
(มีสติด้วยเหตุอีก ๑๐ อย่าง คือ)
๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงพุทธคุณ
๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงธรรมคุณ
๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงสังฆคุณ
๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงศีลที่ตนรักษา
๕. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว
๖. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงคุณที่ทำคนให้เป็นเทวดา
๗. ชื่อว่ามีสติ เพราะตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
๘. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงความตายที่จะต้องมีเป็นธรรมดา
๙. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกทั่วไปในกาย(ให้เห็นว่าไม่งาม)
๑๐. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบระงับ(กิเลสและความทุกข์)
คือนิพพาน
สติ คือ ความตามระลึกถึง ความระลึกได้เฉพาะหน้า สติ คือ ความระลึกได้
ความจำได้ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ คือ สตินทรีย์(สติที่เป็นใหญ่)
สติพละ(สติที่เป็นกำลัง) สัมมาสติ(ระลึกชอบ) สติสัมโพชฌงค์(สติที่เป็นองค์แห่งการ
ตรัสรู้ธรรม) เอกายนมรรค(สติที่เป็นทางเอก) นี้แหละ ตรัสเรียกว่าสติ บุคคลผู้ประกอบ
ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้ว
ด้วยสตินี้ ผู้นั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่าผู้มีสติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก อธิบายว่า ผู้มีสติ
ย่อมข้าม ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก รวม
ความว่า ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
ผู้ใดละกามได้ เหมือนคนเดินเลี่ยงหัวงู
ผู้นั้นมีสติ ล่วงพ้นตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ในโลก
[๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
นรชนใดปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งไร่นา ที่ดิน เงิน
โค ม้า ทาส บุรุษ สตรี พวกพ้อง หรือกามเป็นอันมาก
คำว่า ไร่นา ในคำว่า ไร่นา ที่ดิน เงิน ได้แก่ นาข้าวสาลี นาข้าว ไร่ถั่วเขียว
ไร่ถั่วราชมาส นาข้าวเหนียว นาข้าวละมาน ไร่งา
คำว่า ที่ดิน ได้แก่ ที่ปลูกเรือน ที่สร้างยุ้งฉาง ที่หน้าเรือน ที่หลังเรือน ที่สวน
ที่อยู่
คำว่า เงิน ได้แก่ เหรียญกษาปณ์ ตรัสเรียกว่า เงิน รวมความว่า ไร่นา ที่ดิน
เงิน
คำว่า โค ม้า ทาส บุรุษ มีอธิบายดังนี้ โคทั้งหลายตรัสเรียกว่า โค
สัตว์ทั้งหลายมีปศุสัตว์เป็นต้นตรัสเรียกว่า ม้า
คำว่า ทาส ได้แก่ ทาส ๔ จำพวก คือ
๑. ทาสที่เกิดภายใน(ทาสในเรือนเบี้ย)
๒. ทาสที่ซื้อมาด้วยทรัพย์(ทาสสินไถ่)
๓. ผู้สมัครเป็นทาสเอง
๔. เชลยที่ตกเป็นทาส
(สมจริงดังที่วิธูรบัณฑิตโพธิสัตว์กล่าวไว้ว่า)
คนบางพวกเป็นทาสโดยกำเนิด
บางพวกเป็นทาสที่เขาซื้อมาด้วยทรัพย์
บางพวกสมัครเข้าเป็นทาสเอง
บางพวกตกเป็นเชลยจึงยอมเป็นทาส๑

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ชา. ๒๘/๑๔๔๕/๒๗๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
คำว่า บุรุษ ได้แก่ บุรุษ ๓ จำพวก คือ
๑. ลูกจ้าง
๒. กรรมกร
๓. พวกอยู่อาศัย รวมความว่า โค ม้า ทาส บุรุษ
คำว่า สตรี พวกพ้อง หรือกามเป็นอันมาก มีอธิบายดังนี้ หญิงที่มีผู้คุ้มครอง
ตรัสเรียกว่า สตรี
คำว่า พวกพ้อง ได้แก่ พวกพ้อง ๔ จำพวก คือ
๑. พวกพ้องโดยความเป็นญาติ
๒. พวกพ้องโดยสืบตระกูล
๓. พวกพ้องโดยการร่วมเรียนมนต์
๔. พวกพ้องโดยการร่วมเรียนศิลปวิทยา
คำว่า กามเป็นอันมาก อธิบายว่า กามหลายอย่าง กามหลายอย่างเหล่านี้
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าชอบใจ รวมความว่า สตรี พวกพ้อง หรือ
กามเป็นอันมาก
คำว่า ใด ในคำว่า นรชนใดปรารถนาเนือง ๆ อธิบายว่า ผู้ใด ผู้เช่นใด
ผู้ขวนขวายอย่างใด ผู้ตั้งใจอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้เข้าถึงฐานะอย่างใด
ผู้ประกอบด้วยธรรมใด จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต
เทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม
คำว่า นรชน ได้แก่ สัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด
ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ปรารถนาเนือง ๆ ได้แก่ ปรารถนา ปรารถนาเสมอ ๆ ปรารถนาทั่วไป
ปรารถนายิ่ง ๆ ขึ้นไป ในวัตถุกามเพราะกิเลสกาม รวมความว่า นรชนใดปรารถนา
เนือง ๆ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
นรชนใดปรารถนาเนือง ๆ ซึ่งไร่นา ที่ดิน เงิน
โค ม้า ทาส บุรุษ สตรี พวกพ้อง หรือกามเป็นอันมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
[๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
กิเลสทั้งหลายอันไม่มีกำลังครอบงำนรชนนั้น
อันตรายทั้งหลายย่ำยีนรชนนั้น
เพราะอันตรายนั้น ทุกข์จึงติดตามนรชนนั้นไป
เหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว ฉะนั้น
คำว่า อันไม่มีกำลัง ในคำว่า กิเลสทั้งหลายอันไม่มีกำลังครอบงำนรชนนั้น
อธิบายว่า กิเลสอันไม่มีกำลัง คือ อ่อนกำลัง มีกำลังน้อย มีเรี่ยวแรงน้อย เลว
ทราม เสื่อม ต่ำ น่ารังเกียจ หยาบช้า เล็กน้อย กิเลสเหล่านั้นย่อมเข้าครอบครอง
ยึดครอง ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง ย่ำยีบุคคลนั้น รวมความว่า กิเลสทั้งหลายอัน
ไม่มีกำลังครอบงำนรชนนั้น อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง สัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ หิริพละ
โอตตัปปพละ ย่อมไม่มีแก่บุคคลใด กิเลสเหล่านั้นย่อมเข้าครอบครอง ยึดครอง
ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง ย่ำยีบุคคลนั้นผู้ไม่มีกำลัง อ่อนกำลัง มีกำลังน้อย มี
เรี่ยวแรงน้อย เลว ทราม เสื่อม ต่ำ น่ารังเกียจ หยาบช้า เล็กน้อย รวมความว่า
กิเลสทั้งหลายอันไม่มีกำลังครอบงำนรชนนั้น อย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง
คำว่า อันตรายทั้งหลาย ในคำว่า อันตรายทั้งหลายย่ำยีนรชนนั้น ได้แก่
อันตราย ๒ อย่าง คือ (๑) อันตรายที่ปรากฏ (๒) อันตรายที่ไม่ปรากฏ
อันตรายที่ปรากฏ คืออะไร
คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว สุนัขป่า โค กระบือ ช้าง งู
แมงป่อง ตะขาบ โจร คนที่ได้ก่อกรรมไว้ หรือยังมิได้ก่อกรรมไว้ โรคทางตา
โรคทางหู โรคทางจมูก โรคทางลิ้น โรคทางกาย โรคศีรษะ โรคหู โรคปาก โรคฟัน
โรคไอ โรคหืด ไข้หวัด ไข้พิษ ไข้เชื่อมซึม โรคท้อง เป็นลมสลบ ลงแดง จุกเสียด
อหิวาตกโรค โรคเรื้อน ฝี กลาก มองคร่อ๑ ลมบ้าหมู หิดเปื่อย หิดด้าน หิด
หูด โรคละลอก โรคดีซ่าน โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวงทวาร

เชิงอรรถ :
๑ มองคร่อ คือโรคหลอดลมโป่งพองทำให้ผอมแห้ง (ขุ.ม.อ. ๕/๕๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากดี ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ความเจ็บป่วยที่เกิด
จากลม ไข้สันนิบาต ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล ความเจ็บป่วยที่
เกิดจากการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้ส่วนกัน ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความ
พากเพียรเกินกำลัง ความเจ็บป่วยที่เกิดจากผลกรรม ความหนาว ความร้อน
ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากสัมผัส
แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ปรากฏ
อันตรายที่ไม่ปรากฏ คืออะไร
คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์(สิ่งกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้า
ในคุณธรรม คือความพอใจในกาม) พยาบาทนิวรณ์ (สิ่งกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าใน
คุณธรรม คือความคิดปองร้าย) ถีนมิทธนิวรณ์(สิ่งกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม
คือความหดหู่และเซื่องซึม) อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์(สิ่งกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม
คือความฟุ้งซ่านและร้อนใจ) วิจิกิจฉานิวรณ์(สิ่งกั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม
คือความลังเลสงสัย) ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ(ความโกรธ) อุปนาหะ(ความผูกโกรธ)
มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน) ปฬาสะ(ความตีเสมอ) อิสสา(ความริษยา) มัจฉริยะ
(ความตระหนี่) มายา(ความหลอกลวง) สาเถยยะ(ความโอ้อ้วด) ถัมภะ(ความหัวดื้อ)
สารัมภะ(ความแข่งดี) มานะ(ความถือตัว) อติมานะ(ความดูหมิ่น) มทะ(ความ
มัวเมา) ปมาทะ(ความประมาท) กิเลสทุกชนิด ทุจริตทุกทาง ความกระวนกระวาย
ทุกอย่าง ความเร่าร้อนทุกสถาน ความเดือดร้อนทุกประการ อกุสลาภิสังขาร๑
ทุกประเภท เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ไม่ปรากฏ
คำว่า อันตรายทั้งหลาย อธิบายว่า ชื่อว่าอันตราย เพราะมีความหมาย
อย่างไร ชื่อว่าอันตราย เพราะครอบงำ ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม
ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ

เชิงอรรถ :
๑ อกุสลาภิสังขาร คือสภาพที่ปรุงแต่งผลแห่งการกระทำของบุคคลในกรรมที่ชั่ว เป็นอกุศลกรรม ได้แก่
อกุศลเจตนา (ขุ.ม.อ. ๕/๖๒)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะครอบงำ เป็นอย่างไร
คือ อันตรายเหล่านั้นย่อมเข้าครอบครอง ยึดครอง ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง
ย่ำยีบุคคลนั้น ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะครอบงำ เป็นอย่างนี้
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม เป็นอย่างไร
คือ อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความสูญ เพื่อความเสื่อมไปแห่งกุศล
ธรรมทั้งหลาย กุศลธรรมอะไรบ้าง อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความสูญ
เพื่อความเสื่อมไปแห่งกุศลธรรมเหล่านี้ คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม
การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติไม่คลาดเคลื่อน การปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์
การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม การรักษาศีลให้บริบูรณ์ ความเป็นผู้สำรวม
อินทรีย์ทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
อาหาร ความเป็นผู้มีความเพียรเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะ ความหมั่นเจริญ
สติปัฏฐาน ๔ ความหมั่นเจริญสัมมัปปธาน ๔ ความหมั่นเจริญอิทธิบาท ๔
ความหมั่นเจริญอินทรีย์ ๕ ความหมั่นเจริญพละ ๕ ความหมั่นเจริญโพชฌงค์ ๗
ความหมั่นเจริญอริยมรรคมีองค์๑ ๘ ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม
เป็นอย่างนี้
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น มีอัตภาพเป็นที่อาศัย
เปรียบเหมือนสัตว์ที่อาศัยรูย่อมอยู่ในรู สัตว์ที่อาศัยน้ำย่อมอยู่ในน้ำ สัตว์ที่อาศัยป่า
ย่อมอยู่ในป่า สัตว์ที่อาศัยต้นไม้ย่อมอยู่บนต้นไม้ ฉันใด บาปอกุศลธรรมเหล่านี้
ย่อมเกิดในอัตภาพนั้น มีอัตภาพเป็นที่อาศัย ฉันนั้นเหมือนกัน ที่ชื่อว่าอันตราย
เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่
นอนเนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย ภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ (๑) สัมมาทิฏฐิ(เห็นชอบ) (๒) สัมมาสังกัปปะ(ดำริชอบ) (๓) สัมมาวาจา(เจรจา
ชอบ) (๔) สัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ) (๕) สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ) (๖) สัมมาวายามะ(พยายามชอบ)
(๗) สัมมาสติ(ระลึกชอบ) (๘) สัมมาสมาธิ(ตั้งสติมั่นชอบ) (ม.มู. ๑๒/๑๓๕/๙๔-๙๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ไม่สบาย เป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย มีความดำริซ่านไป
เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะตาเห็นรูป บาปอกุศล
ธรรมทั้งหลาย ย่อมอยู่ ย่อมซ่านไปภายในของภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียก
ภิกษุนั้นว่า ‘ผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน’ บาปอกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อม
ฟุ้งขึ้นท่วมภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสเรียกภิกษุนั้นว่า ‘ผู้อยู่กับกิเลส
ที่ฟุ้งขึ้น’
ภิกษุทั้งหลาย อีกนัยหนึ่ง บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย มีความดำริซ่านไป
เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะหูได้ยินเสียง ... เพราะจมูกได้กลิ่น ...
เพราะลิ้นลิ้มรส ... เพราะกายได้รับสัมผัส ... เพราะใจรู้ธรรมารมณ์ บาปอกุศล
ธรรมทั้งหลาย ย่อมอยู่ ย่อมซ่านไปภายในของภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกภิกษุ
นั้นว่า ‘ผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน’ บาปอกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อมฟุ้งขึ้น
ท่วมภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกภิกษุนั้นว่า ‘ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น’ ภิกษุ
ทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น
ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย”๑ ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ใน
อัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยธรรม ๓ ประการ เป็นมลทินภายใน
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเหล่านี้
เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็น
ข้าศึกภายใน ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โลภะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
๒. โทสะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
๓. โมหะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน

เชิงอรรถ :
๑ สํ.สฬา. ๑๘/๑๕๑/๑๒๖-๑๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเหล่านี้แล ชื่อว่าเป็นมลทินภายใน เป็นอมิตร
ภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน”๑
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
โลภะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โลภะทำให้จิตกำเริบ โลภะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน (ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนโลภไม่รู้จักผล คนโลภไม่รู้จักเหตุ
ความโลภครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น
โทสะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โทสะทำให้จิตกำเริบ โทสะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน (ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนโกรธไม่รู้จักผล คนโกรธไม่รู้จักเหตุ
ความโกรธครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น
โมหะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โมหะทำให้จิตกำเริบ โมหะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน (ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนหลงไม่รู้จักผล คนหลงไม่รู้จักเหตุ
ความหลงครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น๒
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๑๑๓/๘๔-๘๕
๒ ขุ.อิติ. ๒๕/๘๘/๓๐๕, ขุ.จู. ๓๐/๑๒๘/๒๖๓-๒๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “มหาบพิตร ธรรม ๓ ประการ
เมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความ
ทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โลภธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่
เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
๒. โทสธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่
เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
๓. โมหธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่
เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
มหาบพิตร ธรรม ๓ ประการเหล่านี้แล เมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อม
เกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก”
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
โลภะ โทสะ และโมหะ เกิดขึ้นในตน
ย่อมทำร้ายบุรุษผู้มีจิตเลวทราม
เหมือนขุยไผ่กำจัดต้นไผ่ ฉะนั้น๑
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
ราคะ และโทสะ มีอัตภาพนี้เป็นต้นเหตุ
ความไม่ยินดีกุศลธรรม
ความยินดีกามคุณซึ่งทำให้ขนลุก เกิดจากอัตภาพนี้
บาปวิตก๒ ในใจ เกิดขึ้นจากอัตภาพนี้
ย่อมผูกใจคนไว้ เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น๓
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๑๑๓/๘๕, ขุ.อิติ. ๒๕/๕๐/๒๗๒, ขุ.จู. ๓๐/๑๒๘/๒๖๔
๒ บาปวิตก คือความตรึกเกี่ยวกับเรื่องบาป ความคิดในเรื่องบาป
๓ สํ.ส. ๑๕/๒๓๗/๒๕๐, ขุ.สุ. ๒๕/๒๗๔/๓๘๗, ขุ.จู. ๓๐/๑๒๘/๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
คำว่า อันตรายทั้งหลายย่ำยีนรชนนั้น ได้แก่ อันตรายเหล่านั้นย่อมเข้า
ครอบครอง ยึดครอง ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง ย่ำยีบุคคลนั้น รวมความว่า อันตราย
ทั้งหลายย่ำยีนรชนนั้น
คำว่า นั้น ในคำว่า เพราะอันตรายนั้น ทุกข์จึงติดตามนรชนนั้นไป อธิบายว่า
เพราะอันตรายนั้น ๆ ทุกข์จึงติดตาม ไปตาม ไล่ตามบุคคลนั้น คือ ชาติทุกข์
จึงติดตาม ไปตาม ไล่ตาม ชราทุกข์... พยาธิทุกข์... มรณทุกข์... ทุกข์คือความเศร้าโศก
ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ... ทุกข์เนื่องจากการ
เกิดในนรก... ทุกข์เนื่องจากการเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน... ทุกข์เนื่องจากการเกิดใน
เปตวิสัย... ทุกข์เนื่องจากการเกิดในโลกมนุษย์... ทุกข์เนื่องจากการถือกำเนิดในครรภ์...
ทุกข์เนื่องจากการอยู่ในครรภ์... ทุกข์เนื่องจากการคลอดจากครรภ์... ทุกข์ที่สืบเนื่อง
มาจากผู้เกิด... ทุกข์ของผู้เกิดที่เนื่องมาจากผู้อื่น... ทุกข์ที่เกิดจากความพยายาม
ของตนเอง... ทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของผู้อื่น... ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ...
ทุกข์ที่เกิดจากสังขาร... ทุกข์ที่เกิดจากความแปรผัน... โรคทางตา โรคทางหู โรค
ทางจมูก โรคทางลิ้น โรคทางกาย โรคศีรษะ โรคหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด
ไข้หวัด ไข้พิษ ไข้เชื่อมซึม โรคท้อง เป็นลมสลบ ลงแดง จุกเสียด อหิวาตกโรค โรค
เรื้อน ฝี กลาก มองคร่อ ลมบ้าหมู หิดเปื่อย หิดด้าน หิด หูด โรคละลอก โรคดีซ่าน
โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวงทวาร ความเจ็บป่วยที่เกิดจากดี
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม ไข้สันนิบาต ความเจ็บ
ป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ
ไม่ได้ส่วนกัน ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความพากเพียรเกินกำลัง ความเจ็บป่วยที่เกิด
จากผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวด
ปัสสาวะ ทุกข์ที่เกิดจากสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน ทุกข์
เพราะมารดาตาย ทุกข์เพราะบิดาตาย ทุกข์เพราะพี่ชายน้องชายตาย ทุกข์เพราะ
พี่สาวน้องสาวตาย ทุกข์เพราะบุตรตาย ทุกข์เพราะธิดาตาย ทุกข์เพราะความพินาศ
ของญาติ ทุกข์เพราะโภคทรัพย์พินาศ ทุกข์เพราะความเสียหายที่เกิดจากโรค ทุกข์
เพราะสีลวิบัติ ทุกข์เพราะทิฏฐิวิบัติจึงติดตาม ไปตาม ไล่ตามบุคคลนั้น รวมความว่า
เพราะอันตรายนั้น ทุกข์จึงติดตามนรชนนั้นไป


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
คำว่า เหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว อธิบายว่า เปรียบเหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว
คือ น้ำไหลเข้า พุ่งเข้า ทะลักเข้าตามรอยรั่วนั้น ๆ ได้แก่ น้ำไหลเข้า พุ่งเข้า ทะลักเข้า
ด้านหัวเรือบ้าง ด้านท้ายเรือบ้าง ด้านท้องเรือบ้าง ด้านข้างเรือบ้าง ฉันใด เพราะ
อันตรายนั้นๆ ทุกข์จึงติดตาม ไปตาม ไล่ตามบุคคลนั้น คือ ชาติทุกข์... ทุกข์เพราะ
ทิฏฐิวิบัติจึงติดตาม ไปตาม ไล่ตามบุคคลนั้น เหมือนกันฉันนั้น รวมความว่า
เหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
กิเลสทั้งหลายอันไม่มีกำลังครอบงำนรชนนั้น
อันตรายทั้งหลายย่ำยีนรชนนั้น
เพราะอันตรายนั้น ทุกข์จึงติดตามนรชนนั้นไป
เหมือนน้ำไหลเข้าเรือรั่ว ฉะนั้น
[๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงมีสติทุกเมื่อ ละกามทั้งหลายได้
ครั้นละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะ๑ ได้
เหมือนคนวิดน้ำเรือแล้วไปถึงฝั่งได้ ฉะนั้น
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงมีสติทุกเมื่อ ได้แก่
เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น
สัตว์เกิดเมื่อเห็นโทษนั้นในกามทั้งหลาย รวมความว่า เพราะฉะนั้น
คำว่า สัตว์เกิด ได้แก่ สัตว์ คือ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ทุกเมื่อ อธิบายว่า ทุกเมื่อ คือ ในกาลทั้งปวง ตลอดกาลทั้งปวง
ตลอดกาลเป็นนิจ ตลอดกาลยั่งยืน ตลอดกาลต่อเนื่องกัน ตลอดกาลสืบเนื่องกัน
ตลอดกาลติดต่อกัน ตลอดกาลเป็นลำดับ ตลอดกาลติดต่อกันเหมือนระลอกคลื่น
ตลอดกาลเป็นไปต่อเนื่องไม่ขาดสาย ตลอดกาลสืบต่อกันกระชั้นชิด ตลอดกาล
ก่อนภัต หลังภัต ตลอดปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม ตลอดข้างแรม ข้างขึ้น
ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ตลอดปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย

เชิงอรรถ :
๑ โอฆะ ดูเชิงอรรถข้อ ๓/๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
ว่าด้วยผู้มีสติทุกเมื่อ
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย
๒. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
๓. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต
๔. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย
ชื่อว่ามีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง ... สัตว์เกิดนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ๑
รวมความว่า เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงมีสติทุกเมื่อ
คำว่า ละกามทั้งหลายได้ อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม
(๒) กิเลสกาม ... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม
คำว่า ละกามทั้งหลายได้ อธิบายว่า พึงละกามได้โดยเหตุ ๒ อย่าง คือ
(๑) โดยการข่มไว้ (๒) โดยการตัดขาด
บุคคลพึงละกามได้โดยการข่มไว้ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลเมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนร่างโครงกระดูก
เพราะให้ความยินดีเล็กน้อย จึงละกามได้โดยการข่มไว้
เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ เพราะเป็นของทั่วไป
แก่คนส่วนมาก จึงละกามได้โดยการข่มไว้
เมื่อพิจารณาเห็นว่า กามทั้งหลายเปรียบเหมือนคบเพลิงหญ้า เพราะไหม้
ลุกลาม จึงละกามได้โดยการข่มไว้ ... บุคคลกำลังเจริญเนวสัญญานาสัญญายตน-
สมาบัติ จึงละกามได้โดยการข่มไว้ บุคคลชื่อว่าพึงละกามได้โดยการข่มไว้
เป็นอย่างนี้๒... บุคคลชื่อว่าพึงละกามได้โดยการตัดขาด เป็นอย่างนี้ รวมความว่า
ละกามทั้งหลายได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๒-๑๓
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๗-๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
คำว่า เหล่านั้น ในคำว่า ครั้นละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะได้
อธิบายว่า สัตว์เกิดกำหนดรู้วัตถุกามแล้ว ละ ละเว้น บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกิเลสกาม ละ ละเว้น บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความ
ไม่มีอีกซึ่งกามฉันทนิวรณ์ ละ ละเว้น บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก
ซึ่งพยาบาทนิวรณ์ ... ถีนมิทธนิวรณ์ ... อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ... วิจิกิจฉานิวรณ์
พึงข้าม ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง ล่วงเลยกาโมฆะ(ห้วงน้ำคือกาม) ภโวฆะ(ห้วงน้ำ
คือภพ) ทิฏโฐฆะ(ห้วงน้ำคือทิฏฐิ) อวิชโชฆะ(ห้วงน้ำคืออวิชชา)ได้ รวมความว่า
ครั้นละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะได้
คำว่า เหมือนคนวิดน้ำเรือแล้วไปถึงฝั่งได้ ฉะนั้น อธิบายว่า เปรียบเหมือน
บุคคลวิด ตัก ทิ้งน้ำในเรือที่ทำให้เรือบรรทุกหนัก แล้วพึงไปถึงฝั่งได้รวดเร็วด้วยเรือ
ที่เบา โดยไม่ยากนัก ฉันใด สัตว์เกิดกำหนดรู้วัตถุกามแล้ว ละ ละเว้น บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกิเลสกาม ละ ละเว้น บรรเทา ทำให้หมด
สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกามฉันทนิวรณ์ ... พยาบาทนิวรณ์ ... ถีนมิทธนิวรณ์ ...
อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ... วิจิกิจฉานิวรณ์ ก็จะพึงไปถึงฝั่งได้รวดเร็ว โดยไม่ยากนัก
ฉันนั้นเหมือนกัน อมตนิพพาน ตรัสเรียกว่า ฝั่ง คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง
เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส
เป็นที่เย็นสนิท
คำว่า พึงไปถึงฝั่ง ได้แก่ พึงถึงฝั่ง พึงถูกต้องฝั่ง พึงทำให้แจ้งฝั่งได้
คำว่า ถึงฝั่งได้ อธิบายว่า ผู้ใดประสงค์จะไปสู่ฝั่ง ผู้นั้นก็ชื่อว่า ผู้ถึงฝั่งได้ ผู้ใด
กำลังไปสู่ฝั่ง ผู้นั้นก็ชื่อว่า ผู้ถึงฝั่งได้ ผู้ใดไปถึงฝั่งแล้ว ผู้นั้นก็ชื่อว่า ผู้ถึงฝั่งได้
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย คำว่า พราหมณ์ ผู้ข้าม
ได้แล้ว ถึงฝั่งแล้ว ยืนอยู่บนบก นี้เป็นชื่อของพระอรหันต์ พระอรหันต์นั้นถึงฝั่งได้
ด้วยความรู้ยิ่ง ถึงฝั่งได้ด้วยการกำหนดรู้ ถึงฝั่งได้ด้วยการละ ถึงฝั่งได้ด้วยการเจริญ
ภาวนา ถึงฝั่งได้ด้วยการทำให้แจ้ง ถึงฝั่งได้ด้วยการเข้าสมาบัติ ถึงฝั่งได้ด้วยความ
รู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ถึงฝั่งได้ด้วยการกำหนดรู้ทุกข์ทั้งปวง ถึงฝั่งได้ด้วยการละกิเลส
ทั้งปวง ถึงฝั่งได้ด้วยการเจริญอริยมรรค ๔ ถึงฝั่งได้ด้วยการทำให้แจ้งนิโรธ ถึงฝั่งได้
ด้วยการเข้าสมาบัติ๑ ๘

เชิงอรรถ :
๑ สมาบัติ ๘ ประกอบด้วย รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
พระอรหันต์นั้นถึงความชำนาญ บรรลุบารมีในอริยศีล ถึงความชำนาญ บรรลุ
บารมีในอริยสมาธิ ถึงความชำนาญ บรรลุบารมีในอริยปัญญา ถึงความชำนาญ
บรรลุบารมีในอริยวิมุตติ
พระอรหันต์นั้นถึงฝั่ง บรรลุฝั่ง ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงปลายสุด บรรลุ
ปลายสุด ถึงท้ายสุด บรรลุท้ายสุด ถึงความสำเร็จ บรรลุความสำเร็จ ถึงที่ปกป้อง
บรรลุที่ปกป้อง ถึงหลีกที่เร้น บรรลุที่หลีกเร้น ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึ่ง ถึงที่ไม่มีภัย
บรรลุที่ไม่มีภัย ถึงที่ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงที่ไม่ตาย บรรลุที่ไม่ตาย ถึงที่ดับ บรรลุ
ที่ดับ
พระอรหันต์นั้นอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ผ่านทางไกล
ได้แล้ว ถึงทิศ(นิพพาน)แล้ว ถึงจุดจบ(นิพพาน)แล้ว รักษาพรหมจรรย์ได้แล้ว ถึง
ทิฏฐิอันสูงสุด๑แล้ว เจริญมรรคได้แล้ว ละกิเลสได้แล้ว รู้แจ้งธรรมที่ไม่กำเริบแล้ว
ทำนิโรธให้แจ้งได้แล้ว ท่านกำหนดรู้ทุกข์ได้แล้ว ละสมุทัยได้แล้ว เจริญมรรคได้แล้ว
ทำนิโรธให้แจ้งแล้ว รู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่งแล้ว กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ได้แล้ว ละ
ธรรมที่ควรละได้แล้ว เจริญธรรมที่ควรเจริญได้แล้ว ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้งได้แล้ว
พระอรหันต์นั้นถอนลิ่มสลักคืออวิชชาได้แล้ว ถมคูคือกรรมได้แล้ว ถอนเสา
ระเนียดคือตัณหาได้แล้ว ไม่มีบานประตูคือสังโยชน์ เป็นผู้ไกลจากข้าศึกคือกิเลส
ปลดธงคือมานะลงเสียแล้ว ปลงภาระได้แล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับโยคกิเลสแล้ว ละองค์ ๕
(แห่งนิวรณ์)ได้แล้ว ประกอบด้วยองค์ ๖ มีธรรมเครื่องรักษาอย่างเอก(คือสติ) มี
อปัสเสนธรรม๒ ๔ อย่าง มีปัจเจกสัจจะ๓อันบรรเทาได้แล้ว มีการแสวงหาอันสละได้
โดยชอบ ไม่บกพร่อง มีความดำริไม่ขุ่นมัว มีกายสังขารอันระงับได้แล้ว มีจิตหลุด
พ้นดีแล้ว มีปัญญาหลุดพ้นได้ดี เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นอุดม

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิอันสูงสุด หมายถึงสัมมาทิฏฐิ (ขุ.ม.อ. ๖/๘๒)
๒ อปัสเสนธรรม คือธรรมดุจพนักพิง หรือธรรมที่พึ่งอาศัย มี ๔ อย่าง คือ (๑) สงฺขาเยกํ ปฏิเสวติ ของ
อย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเสพ เช่น ปัจจัย ๔ (๒) สงฺขาเยกํ ปริวชฺเชติ ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วเว้น เช่น
คนพาลหรือสัตว์ร้าย (๓) สงฺขาเยกํ วิโนเทติ ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วบรรเทา เช่น กามวิตก
(๔) สงฺขาเยกํ ปชหติ ของอย่างหนึ่ง พิจารณาแล้วละเสีย (ที.ปา. ๑๑/๓๐๘/๒๐๐, ที.ปา.อ. ๓๐๘/๒๐๔,
ขุ.ม.อ. ๖/๘๖)
๓ ปัจเจกสัจจะ หมายถึงทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งที่ยังยึดถือ เช่น ถือว่าทรรศนะนี้เท่านั้นจริง ทรรศนะนี้
เท่านั้นจริง (ขุ.ม.อ. ๖/๘๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑. กามสุตตนิทเทส
บุรุษ เป็นบรมบุรุษ ถึงการบรรลุปรมัตถธรรมแล้ว พระอรหันต์นั้น มิต้องก่อผลกรรม
มิต้องกำจัด กำจัดได้แล้วดำรงตนอยู่ มิต้องละกิเลส มิต้องถือมั่น ละได้แล้วดำรง
ตนอยู่ มิต้องเย็บ(ด้วยตัณหา) มิต้องยก(ตนด้วยมานะ) เย็บเรียบร้อยแล้วดำรงตนอยู่
มิต้องดับ(ไฟคือกิเลส) มิต้องก่อ ดับได้แล้วดำรงตนอยู่ ชื่อว่าดำรงตนอยู่ได้เพราะ
ประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอเสขะ ... ด้วยสมาธิขันธ์ ... ด้วยปัญญาขันธ์ ...
ด้วยวิมุตติขันธ์ ... ดำรงตนอยู่ด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ ดำรงตนอยู่
แทงตลอดสัจจะแล้ว ดำรงตนอยู่โดยการก้าวล่วงตัณหาอันเป็นเหตุให้หวั่นไหว ดำรงตน
อยู่โดยการดับไฟคือกิเลส ดำรงตนอยู่โดยไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ดำรงตนอยู่โดย
การสมาทานธรรมขั้นสุดยอด ดำรงตนอยู่โดยการเสพวิมุตติ ดำรงตนอยู่ด้วยเมตตา
อันบริสุทธิ์ ... ด้วยกรุณา ... ด้วยมุทิตาอันบริสุทธิ์ ... ดำรงตนอยู่ด้วยอุเบกขา
อันบริสุทธิ์ ดำรงตนอยู่ด้วยความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ดำรงตนอยู่ด้วยความบริสุทธิ์
เพราะไม่มีตัณหาทิฏฐิและมานะ ดำรงตนอยู่โดยความเป็นผู้หลุดพ้น ดำรงตนอยู่โดย
ความเป็นผู้สันโดษ ดำรงตนอยู่ในขันธ์สุดท้าย ดำรงตนอยู่ในธาตุสุดท้าย ดำรงตน
อยู่ในอายตนะสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในคติสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในการถือกำเนิดสุดท้าย
ดำรงตนอยู่ในปฏิสนธิสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในภพสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในสงสาร
สุดท้าย ดำรงตนอยู่ในวัฏฏะสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในภพสุดท้าย ดำรงตนอยู่ในประชุม
แห่งขันธ์ขั้นสุดท้าย ทรงไว้ซึ่งร่างกายขั้นสุดท้าย เป็นผู้ไกลจากข้าศึก
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
พระขีณาสพนั้น มีภพนี้เป็นภพสุดท้าย
มีประชุมแห่งขันธ์นี้เป็นครั้งสุดท้าย
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก๑
รวมความว่า เหมือนคนวิดน้ำเรือแล้วไปถึงฝั่งได้ ฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงมีสติทุกเมื่อ ละกามทั้งหลายได้
ครั้นละกามเหล่านั้นได้แล้ว พึงข้ามโอฆะได้
เหมือนคนวิดน้ำเรือแล้วไปถึงฝั่งได้ ฉะนั้น
กามสุตตนิทเทสที่ ๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. ๓๐/๒๘/๙๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส๑
อธิบายคุหัฏฐกสูตร
ว่าด้วยนรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำคือกาย
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายคุหัฏฐกสูตร ดังต่อไปนี้
[๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
นรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำ ถูกกิเลสมากหลายปิดบังไว้
เมื่อดำรงตนอยู่(อย่างนี้) ก็จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง
ผู้เป็นเช่นนั้นแล ย่อมอยู่ไกลจากวิเวก
เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่เป็นของที่นรชนละได้ง่ายเลย
คำว่า ผู้ข้องอยู่ ในคำว่า ผู้ข้องอยู่ในถ้ำ ถูกกิเลสมากหลายปิดบังไว้
กล่าวไว้แล้วข้างต้น อนึ่ง คำว่า ถ้ำ ควรกล่าวถึงก่อน กาย ตรัสเรียกว่า ถ้ำ
คำว่า กาย ถ้ำ ร่างกาย ร่างกายตน เรือ รถ ธง จอมปลวก รัง นคร กระท่อม
ฝี หม้อ หรือนาค นี้เป็นชื่อของกาย
คำว่า ผู้ข้องอยู่ในถ้ำ ได้แก่ ผู้ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพัน
อยู่ในถ้ำ อธิบายว่า นรชน ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันอยู่ในถ้ำ
เหมือนสิ่งของที่ข้อง ติด เกี่ยว แขวน เกี่ยวพัน ติดตรึงอยู่ที่ตะปูข้างฝา หรือที่
ไม้แขวน ฉะนั้น
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ราธะ๒ ผู้ข้อง ติดอยู่ในความพอใจ
ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบายและความยึดมั่นอันเป็น
เหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่น ถือมั่น นอนเนื่องในรูป เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า ผู้ข้อง ...
ราธะ ผู้ข้อง ติดอยู่ ในความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก
อุบายและความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่น ถือมั่น นอนเนื่องในเวทนา ... ใน

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๗๗๙-๗๘๖/๔๘๖-๔๘๘
๒ ราธะ เป็นชื่อของภิกษุผู้เป็นสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรซึ่งบวชเมื่อแก่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
สัญญา ...ในสังขาร ... ในวิญญาณ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า ผู้ข้อง”๑ คำว่า
ผู้ข้อง เป็นชื่อของความเกี่ยวข้อง รวมความว่า ผู้ข้องอยู่ในถ้ำ
คำว่า ถูกกิเลสมากหลายปิดบังไว้ อธิบายว่า ถูกกิเลสเป็นอันมากปิดบังไว้
คือ ถูกราคะปิดบังไว้ ถูกโทสะปิดบังไว้ ถูกโมหะปิดบังไว้ ถูกโกธะปิดบังไว้ ถูก
อุปนาหะปิดบังไว้ ถูกมักขะปิดบังไว้ ถูกปฬาสะปิดบังไว้ ถูกอิสสาปิดบังไว้ ถูก
มัจฉริยะปิดบังไว้ ถูกมายาปิดบังไว้ ถูกสาเถยยะปิดบังไว้ ถูกถัมภะปิดบังไว้ ถูก
สารัมภะปิดบังไว้ ถูกมานะปิดบังไว้ ถูกอติมานะปิดบังไว้ ถูกมทะปิดบังไว้ ถูก
ปมาทะปิดบังไว้ ได้แก่ ถูกกิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ...ความกระวนกระวาย
ทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน... ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุสลาภิสังขาร
ทุกประเภท ปิดบัง ปกปิด ปิดล้อม หุ้มห่อ โอบล้อม ห้อมล้อม ครอบคลุม ปกคลุม
บดบังไว้ รวมความว่า ผู้ข้องอยู่ในถ้ำ ถูกกิเลสมากหลายปิดบังไว้
คำว่า นรชน ... เมื่อดำรงตนอยู่ ในคำว่า นรชน ... เมื่อดำรงตนอยู่
ก็จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง อธิบายว่า นรชนเมื่อดำรงตนอยู่ คือ ผู้กำหนัดก็ดำรงตนอยู่
ตามอำนาจราคะ ผู้ขัดเคืองก็ดำรงตนอยู่ตามอำนาจโทสะ ผู้หลงก็ดำรงตนอยู่ตาม
อำนาจโมหะ ผู้ยึดติดก็ดำรงตนอยู่ตามอำนาจมานะ ผู้ยึดถือก็ดำรงตนอยู่ตาม
อำนาจทิฏฐิ๒ ผู้ฟุ้งซ่านก็ดำรงตนอยู่ตามอำนาจอุทธัจจะ(ความฟุ้งซ่าน) ผู้ลังเล

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ข. ๑๗/๑๖๑/๑๕๓
๒ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึง ทิฏฐิ ๖๒ แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ
๑. ปุพพันตกัปปิกวาทะ ความเห็นกำหนดขันธ์ส่วนอดีตมี ๑๘ คือ
(๑) สัสสตวาทะ เห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยงมี ๔ อย่าง (๒) เอกัจจสัสสตวาทะ เห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยง
เป็นบางอย่างมี ๔ อย่าง (๓) อันตานันติกวาทะ เห็นว่าโลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุดมี ๔ อย่าง (๔) อมรา-
วิกเขปวาทะ ความเห็นหลบเลี่ยง ไม่แน่นอนมี ๔ อย่าง (๕) อธิจจสมุปปันนวาทะ เห็นว่าอัตตาและโลก
เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัยมี ๒ อย่าง
๒. อปรันตกัปปิกวาทะ ความเห็นกำหนดขันธ์ส่วนอนาคตมี ๔๔ คือ
(๑) สัญญีวาทะ เห็นว่าอัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญามี ๑๖ อย่าง (๒) อสัญญีวาทะ เห็นว่าอัตตาหลัง
จากตายแล้วไม่มีสัญญามี ๘ อย่าง (๓) เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ เห็นว่าอัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็
มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่มี ๘ อย่าง (๔) อุจเฉทวาทะ เห็นว่าหลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญมี ๗ อย่าง
(๕) ทิฏฐธัมมนิพพานวาทะ เห็นว่ามีสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบันมี ๕ อย่าง (ที.สี.(แปล)
๙/๒๘-๑๐๔/๑๑-๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ก็ดำรงตนอยู่ตามอำนาจวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ผู้ตกอยู่ในพลังกิเลสก็ดำรงตน
อยู่ตามอำนาจอนุสัย(กิเลสที่นอนเนื่อง) รวมความว่า นรชน ... เมื่อดำรงตนอยู่
ย่อมเป็นอย่างนี้
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย รูปที่รู้ได้ทางตา ที่น่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ก็มีอยู่ ถ้าภิกษุ
เพลิดเพลิน เชยชม ยึดติดรูปนั้นอยู่ ภิกษุทั้งหลาย เสียงที่รู้ได้ทางหู ... มีอยู่ ...
กลิ่นที่รู้ได้ทางจมูก ... มีอยู่ ... รสที่รู้ได้ทางลิ้น ... มีอยู่ ... โผฏฐัพพะที่รู้ได้ทางกาย ...
มีอยู่ ... ธรรมารมณ์ที่รู้ได้ทางใจ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ก็มีอยู่ ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน เชยชม ยึดติดธรรมารมณ์นั้น
อยู่”๑ รวมความว่า นรชน ... เมื่อดำรงตนอยู่ ย่อมเป็นอย่างนี้
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ(ความรู้แจ้ง
อารมณ์) ที่เข้าถึงรูป เมื่อดำรงอยู่ ก็มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง เข้าไปเสพเสวย
ความเพลิดเพลิน ตั้งอยู่ ถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ได้ ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ
ที่เข้าถึงเวทนา ... วิญญาณ ที่เข้าถึงสัญญา ... วิญญาณ ที่เข้าถึงสังขาร เมื่อดำรงอยู่
ก็มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้ง เข้าไปเสพเสวยความเพลิดเพลิน ตั้งอยู่
ถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ได้”๒ รวมความว่า นรชน ... เมื่อดำรงตนอยู่ ย่อม
เป็นอย่างนี้
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัด ความ
เพลิดเพลิน ความทะยานอยาก มีอยู่ในกวฬิงการาหาร(อาหารคือคำข้าว) วิญญาณ
ก็ตั้งอยู่ งอกงามในกวฬิงการาหารนั้นได้ วิญญาณ ตั้งอยู่ งอกงามได้ในที่ใด การ
ก้าวลงแห่งนามรูปก็มีได้ในที่นั้น ความก้าวลงแห่งนามรูปมีอยู่ในที่ใด ความเจริญ
แห่งสังขารก็มีได้ในที่นั้น ความเจริญแห่งสังขารมีอยู่ในที่ใด ความเกิดในภพใหม่ก็มี
ได้ในที่นั้น ความเกิดในภพใหม่มีอยู่ในที่ใด ชาติ ชรา มรณะ ต่อไปก็มีได้ในที่นั้น
ชาติ ชรา มรณะ ต่อไป มีอยู่ในที่ใด เราก็กล่าวว่า ที่นั้นมีความเศร้าโศก มีความ
หม่นหมอง มีความคับแค้นใจ” รวมความว่า นรชน ... เมื่อดำรงตนอยู่ ย่อมเป็น
อย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ สํ.สฬา. ๑๘/๑๑๔/๘๖
๒ สํ.ข. ๑๗/๕๓/๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากมีอยู่ใน
ผัสสาหาร(อาหารคือผัสสะ) ... ภิกษุทั้งหลาย ถ้าความกำหนัด ความเพลิดเพลิน
ความทะยานอยากมีอยู่ในมโนสัญเจตนาหาร(อาหารคือมโนสัญเจตนา) ... ภิกษุทั้งหลาย
ถ้าความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยากมีอยู่ในวิญญาณาหาร
(อาหารคือวิญญาณ) วิญญาณก็ตั้งอยู่ งอกงามในวิญญาณาหารนั้นได้ วิญญาณ
ตั้งอยู่งอกงามได้ในที่ใด การก้าวลงแห่งนามรูปก็มีได้ในที่นั้น ความก้าวลงแห่ง
นามรูปมีอยู่ในที่ใด ความเจริญแห่งสังขารก็มีได้ในที่นั้น ความเจริญแห่งสังขารมีอยู่
ในที่ใด ความเกิดในภพใหม่ก็มีได้ในที่นั้น ความเกิดในภพใหม่มีอยู่ในที่ใด ชาติ ชรา
มรณะ ต่อไปก็มีได้ในที่นั้น ชาติ ชรา มรณะ ต่อไป มีอยู่ในที่ใด เราก็กล่าวว่า ที่นั้น
มีความเศร้าโศก มีความหม่นหมอง มีความคับแค้นใจ๑” รวมความว่า นรชน ...
เมื่อดำรงตนอยู่ ย่อมเป็นอย่างนี้
คำว่า จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง อธิบายว่า กามคุณ ๕ ตรัสเรียกว่า เหตุ
ให้ลุ่มหลง
คือ รูปที่รู้ได้ทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
พาใจให้กำหนัด เสียงที่รู้ได้ทางหู ... กลิ่นที่รู้ได้ทางจมูก ... รสที่รู้ได้ทางลิ้น ...
โผฏฐัพพะที่รู้ได้ทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
พาใจให้กำหนัด เพราะเหตุไร กามคุณ ๕ จึงตรัสเรียกว่า เหตุให้ลุ่มหลง เพราะโดย
มากเทวดาและมนุษย์ ย่อมหลง ลุ่มหลง หลงงมงายในกามคุณ ๕ เทวดาและมนุษย์
เหล่านั้น จึงชื่อว่า เป็นผู้หลง ลุ่มหลง หลงงมงาย คือ ถูกอวิชชาทำให้มืดบอด หุ้มห่อ
โอบล้อม ห้อมล้อม ครอบคลุม ปกคลุม บดบังไว้ เพราะเหตุนั้น กามคุณ ๕ จึงตรัส
เรียกว่า เป็นเหตุให้ลุ่มหลง
คำว่า จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง ได้แก่ จมลง หมกมุ่น หยั่งลง ดิ่งลง ในเหตุ
ให้ลุ่มหลง รวมความว่า นรชน ... เมื่อดำรงตนอยู่ ก็จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง

เชิงอรรถ :
๑ สํ.นิ. ๑๖/๖๔/๙๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยวิเวก ๓ อย่าง
คำว่า วิเวก ในคำว่า ผู้เป็นเช่นนั้นแล ย่อมอยู่ไกลจากวิเวก ได้แก่ วิเวก
๓ อย่าง คือ (๑) กายวิเวก(ความสงัดกาย) (๒) จิตตวิเวก(ความสงัดใจ)
(๓) อุปธิวิเวก(ความสงัดอุปธิ)
กายวิเวก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมใช้สอยเสนาสนะที่สงัด คือ ป่า โคนต้นไม้ ภูเขา
ซอกเขา ช่องเขา สุสาน ป่าดงดิบ กลางแจ้ง ลอมฟาง และมีกายสงัดอยู่ คือ
เดินรูปเดียว ยืนรูปเดียว นั่งรูปเดียว นอนรูปเดียว เข้าหมู่บ้านบิณฑบาตรูปเดียว
กลับรูปเดียว นั่งในที่ลับรูปเดียว อธิษฐานจงกรมรูปเดียว เที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว
เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปลำพังรูปเดียว นี้ชื่อว่ากายวิเวก
จิตตวิเวก เป็นอย่างไร
คือ ผู้บรรลุปฐมฌานย่อมมีจิตสงัดจากนิวรณ์๑ ผู้บรรลุทุติยฌานย่อมมีจิตสงัด
จากวิตกและวิจาร ผู้บรรลุตติยฌานย่อมมีจิตสงัดจากปีติ ผู้บรรลุจตุตถฌานย่อมมี
จิตสงัดจากสุขและทุกข์ ผู้บรรลุอากาสานัญจายตนสมาบัติ๒ ย่อมมีจิตสงัดจาก
รูปสัญญา๓ ปฏิฆสัญญา๔ นานัตตสัญญา๕ ผู้บรรลุวิญญาณัญจายตนสมาบัติ๖ย่อมมี
จิตสงัดจากอากาสานัญจายตนสัญญา ผู้บรรลุอากิญจัญญายตนสมาบัติ๗ย่อมมีจิต
สงัดจากวิญญาณัญจายตนสัญญา ผู้บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ๘ ย่อมมี
จิตสงัดจากอากิญจัญญายตนสัญญา

เชิงอรรถ :
๑ นิวรณ์ ดูรายละเอียดข้อ ๕/๑๗
๒ อากาสานัญจายตนสมาบัติ คือสมาบัติที่กำหนดอากาศ คือความว่างอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็น
ขั้นที่ ๑ ของอรูปฌาน (ขุ.ม.อ. ๗/๙๖)
๓ รูปสัญญา คือความจำได้หมายรู้เรื่องรูป หมายถึงสัญญาในรูปฌาน ๑๕ ด้วยสามารถกุศลวิบากและกิริยา
(ขุ.ม.อ. ๗/๙๖)
๔ ปฏิฆสัญญา คือความจำได้หมายรู้ ความกระทบกระทั่งในใจ ที่เกิดจากการกระทบกันแห่งตากับรูป เป็นต้น
(ขุ.ม.อ. ๗/๙๖)
๕ นานัตตสัญญา คือความหมายรู้ไม่ใช่ตนก็มิใช่ หมายถึงกามาวจรสัญญา ๔๔ (ขุ.ม.อ. ๗/๙๗)
๖ วิญญาณัญจายตนสมาบัติ คือสมาบัติที่กำหนดวิญญาณเป็นอารมณ์ (ขุ.ม.อ. ๗/๙๗)
๗ อากิญจัญญายตนสมาบัติ คือสมาบัติที่กำหนดความไม่มีอะไรเหลือเป็นอารมณ์ (ขุ.ม.อ. ๗/๙๗)
๘ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติคือสมาบัติที่เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ (ขุ.ม.อ. ๗/๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ผู้เป็นพระโสดาบันย่อมมีจิตสงัดจากสักกายทิฏฐิ๑ วิจิกิจฉา๒ สีลัพพตปรามาส๓
ทิฏฐานุสัย๔ วิจิกิจฉานุสัย๕ และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับสักกายทิฏฐิ
เป็นต้นนั้น
ผู้เป็นพระสกทาคามี ย่อมมีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์๖ ปฏิฆสังโยชน์อย่าง
หยาบ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างหยาบ และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับ
กามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น
ผู้เป็นพระอนาคามี ย่อมมีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์อย่าง
ละเอียด กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างละเอียด และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียว
กับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น
ผู้เป็นพระอรหันต์ ย่อมมีจิตสงัดจากรูปราคะ๗ อรูปราคะ๘ มานะ อุทธัจจะ
อวิชชา มานานุสัย๙ ภวราคานุสัย๑๐ อวิชชานุสัย๑๑ เหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับ
รูปราคะเป็นต้นนั้น และสังขารนิมิตทั้งปวงในภายนอก นี้ชื่อว่าจิตตวิเวก

เชิงอรรถ :
๑ สักกายทิฏฐิ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๒/๕๙
๒ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในฐานะ ๘ อย่าง คือ (๑) ความสงสัยในทุกข์ (๒) ความสงสัยในทุกขสมุทัย
(๓) ความสงสัยในทุกขนิโรธ (๔) ความสงสัยในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (๕) ความสงสัยในส่วนเบื้องต้น
(๖) ความสงสัยในส่วนเบื้องปลาย (๗) ความสงสัยทั้งในส่วนเบื้องต้นและส่วนเบื้องปลาย (๘) ความสงสัย
ในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น คือ ความที่ปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชานี้เป็นปัจจัย ดูรายละเอียด ข้อ ๑๗๔/๔๙๔
๓ สีลัพพตปรามาส คือความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตาม ๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์ หลุดพ้น
ได้ด้วยศีลพรต (ขุ.ม.อ. ๗/๙๘)
๔ ทิฏฐานุสัย ดูเชิงอรรถข้อ ๓/๑๑
๕ วิจิกิจฉานุสัย ดูเชิงอรรถข้อ ๓/๑๑
๖ กามราคสังโยชน์ กิเลสอันผูกใจสัตว์ ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์หรือผูกกรรมไว้กับผล คือความกำหนัด
ในกาม ความติดใจในกาม (อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๙๖๙/๖๒๐)
๗ รูปราคะ คือความกำหนัดด้วยอำนาจความพอในรูปภพ (ขุ.ม.อ. ๗/๑๐๐)
๘ อรูปราคะ คือความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในอรูปภพ (ขุ.ม.อ. ๗/๑๐๐)
๙ มานานุสัย ดูเชิงอรรถข้อ ๓/๑๑
๑๐ ภวราคานุสัย ดูเชิงอรรถข้อ ๓/๑๑
๑๑ อวิชชานุสัย ดูเชิงอรรถข้อ ๓/๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
อุปธิวิเวก เป็นอย่างไร
คือ กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี ตรัสเรียกว่า อุปธิ อมตนิพพาน ตรัส
เรียกว่า อุปธิวิเวก คือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็น
ที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท นี้ชื่อว่าอุปธิวิเวก
กายวิเวกย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออกแล้ว ยินดีในเนกขัมมะ จิตตวิเวก
ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงความเป็นผู้ผ่องแผ้วยิ่ง และอุปธิวิเวกย่อมมีแก่
บุคคลผู้ปราศจากอุปธิ บรรลุนิพพานอันปราศจากปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
คำว่า ไกลจากวิเวก อธิบายว่า ผู้ข้องอยู่ในถ้ำอย่างนี้ ถูกกิเลสมากหลาย
ปิดบังไว้อย่างนี้ จมลงในเหตุให้ลุ่มหลงอย่างนี้ ย่อมอยู่ไกลจากกายวิเวกบ้าง ไกลจาก
จิตตวิเวกบ้าง ไกลจากอุปธิวิเวกบ้าง คือ ไกล ห่างไกล แสนไกล ไม่ใกล้ ไม่ใกล้เคียง
ไม่ชิด ไม่ใกล้ชิด
คำว่า ผู้เป็นเช่นนั้น ได้แก่ ผู้เป็นเช่นนั้น คือ ผู้เป็นอย่างนั้น ผู้ดำรงอยู่
อย่างนั้น ผู้เป็นประการนั้น ผู้มีส่วนอย่างนั้น จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง รวมความว่า
ผู้เป็นเช่นนั้นย่อมอยู่ไกลจากวิเวก

ว่าด้วยกาม ๒ อย่าง
คำว่า กาม ในคำว่า เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่เป็นของที่นรชนละ
ได้ง่ายเลย ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม (๒) กิเลสกาม
วัตถุกาม คืออะไร
คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาส
หญิงชาย แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงิน ทอง หมู่บ้าน นิคม
ราชธานี แคว้น ชนบท กองพลรบ คลังหลวง และวัตถุที่น่ายินดีอย่างใดอย่างหนึ่ง
(เหล่านี้)ชื่อว่าวัตถุกาม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง กามที่เป็นอดีต ที่เป็นอนาคต ที่เป็นปัจจุบัน กามที่เป็นภายใน
ที่เป็นภายนอก ที่เป็นทั้งภายในและภายนอก กามอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่าง
ประณีต กามที่เป็นของสัตว์ในอบาย ที่เป็นของมนุษย์ ที่เป็นของทิพย์ กามที่ปรากฏ
เฉพาะหน้า ที่เนรมิตขึ้นเอง ที่ไม่ได้เนรมิตขึ้นเอง ที่ผู้อื่นเนรมิตให้ กามที่มีผู้
ครอบครอง ที่ไม่มีผู้ครอบครอง ที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ที่ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
สภาวธรรมที่เป็นกามาวจร ที่เป็นรูปาวจร ที่เป็นอรูปาวจรแม้ทั้งปวง กามที่
เป็นเหตุเกิดแห่งตัณหา เป็นอารมณ์แห่งตัณหา ชื่อว่ากาม เพราะมีความหมายว่า
น่าปรารถนา น่ายินดี น่าลุ่มหลง เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม
กิเลสกาม คืออะไร
คือ ความพอใจ ความกำหนัด ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความดำริ
ความกำหนัด ความกำหนัดด้วยอำนาจความดำริ ชื่อว่ากาม ได้แก่ ความพอใจ
ด้วยอำนาจความใคร่ ความกำหนัดด้วยอำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วย
อำนาจความใคร่ ความทะยานอยากด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจ
ความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่
ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่ ห้วงน้ำคือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือ
ความใคร่ กิเลสเครื่องยึดมั่นคือความใคร่ กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วย
อำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย
(สมจริงดังที่พระเจ้าอัฑฒมาสกเปล่งอุทานว่า)
เจ้ากามเอ๋ย เราเห็นรากเหง้าของเจ้าแล้ว
เจ้าเกิดเพราะความดำริ เราจักไม่ดำริถึงเจ้าอีก
เจ้าจักไม่เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อีกละเจ้ากามเอ๋ย๑
เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ชา. ๒๗/๓๙/๑๘๘, ขุ.จู. ๓๐/๘/๓๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก๑ มนุษยโลก เทวโลก๒ ขันธโลก ธาตุโลก๓
อายตนโลก๔
คำว่า เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่เป็นของที่นรชนละได้ง่ายเลย อธิบาย
ว่า เพราะกามทั้งหลายในโลกเป็นของที่นรชนละได้ยาก คือ สละได้ยาก สละออก
ได้ยาก ย่ำยีได้ยาก แก้ออกได้ยาก แหวกออกได้ยาก ข้ามได้ยาก ข้ามพ้นได้ยาก
ก้าวพ้นได้ยาก กลับตัวหลีกได้ยาก รวมความว่า เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่เป็น
ของที่นรชนละได้ง่ายเลย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ อบายโลก คือโลกที่ปราศจากความเจริญ ได้แก่ (๑) นิรย นรก (๒) ติรัจฉานโยนิ กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน
(๓) ปิตติวิสัย แดนเปรต (๔) อสุรกาย พวกหวาดหวั่นไร้ความเจริญ (ขุ.อิติ. ๒๕/๙๓/๓๑๒)
๒ เทวโลก คือโลกของหมู่เทพในสวรรค์ชั้นกามาวจรทั้ง ๖ เป็นภพที่มีอารมณ์เลิศ โลกที่มีแต่ความสุข แต่ยัง
เกี่ยวข้องกับกามอยู่ ได้แก่ (๑) จาตุมหาราชิกา สวรรค์ที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ปกครองอยู่ (ท้าวธตรฐ จอม-
คนธรรพ์ครองทิศตะวันออก, ท้าววิรุฬหกจอมกุมภัณฑ์ครองทิศใต้, ท้าววิรูปักษ์จอมนาคครองทิศตะวันตก,
ท้าวกุเวรหรือเวสวัณจอมยักษ์ครองทิศเหนือ) (๒) ดาวดึงส์ แดนที่อยู่แห่งเทพ ๓๓ มีท้าวสักกะ เป็น
จอมเทพ (๓) ยามา แดนที่อยู่แห่งเทพผู้ปราศจากทุกข์ มีท้าวสุยามาเป็นจอมเทพ (๔) ดุสิต แดนที่อยู่
แห่งเทพผู้เอิบอิ่มด้วยสิริสมบัติของตน มีท้าวสันดุสิตเป็นจอมเทพ (๕) นิมมานรดี แดนแห่งเทพผู้มี
ความยินดีในการเนรมิต มีท้าวสุนิมมิตเป็นจอมเทพ (๖) ปรนิมมิตวสวัตดี แดนที่อยู่แห่งเทพผู้ยังอำนาจ
ให้เป็นไปในสมบัติที่ผู้อื่นนิรมิต คือเสวยสมบัติที่เทพพวกอื่นนิรมิตให้ มีท้าววสวัตดีเป็นจอมเทพ (สํ.ม.
๑๙/๑๐๘๑/๓๖๙)
๓ ธาตุโลก หมายถึงธาตุ ๑๘ คือสิ่งที่ทรงสภาวะของตนเองอยู่ ตามที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นเป็นไปตาม
ธรรมนิยาม คือ กำหนดแห่งธรรมดา ไม่มีผู้สร้าง ผู้บันดาล และมีรูปลักษณะ กิจ อาการเป็นแบบจำเพาะตัว
อันพึงกำหนดเอาเป็นหลักได้แต่ละอย่าง ๆ ได้แก่ (๑) จักขุธาตุ ธาตุคือจักขุปสาท (๒) รูปธาตุ ธาตุคือ
รูปารมณ์ (๓) จักขุวิญญาณธาตุ ธาตุคือจักขุวิญญาณ (๔) โสตธาตุ ธาตุคือโสตปสาท (๕) สัททธาตุ
ธาตุคือสัททารมณ์ (๖) โสตวิญญาณธาตุ ธาตุคือโสตวิญญาณ (๗) ฆานธาตุ ธาตุคือฆานปสาท (๘) คันธธาตุ
ธาตุคือคันธารมณ์ (๙) ฆานวิญญาณธาตุ ธาตุคือฆานวิญญาณ (๑๐) ชิวหาธาตุ ธาตุคือชิวหาปสาท
(๑๑) รสธาตุ ธาตุคือรสารมณ์ (๑๒) ชิวหาวิญญาณธาตุ ธาตุคือชิวหาวิญญาณ (๑๓) กายธาตุ ธาตุคือ
กายปสาท (๑๔) โผฏฐัพพธาตุ ธาตุคือโผฏฐัพพารมณ์ (๑๕) กายวิญญาณธาตุ ธาตุคือกายวิญญาณ
(๑๖) มโนธาตุ ธาตุคือมโน (๑๗) ธรรมธาตุ ธาตุคือธรรมารมณ์ (๑๘) มโนวิญญาณธาตุ ธาตุคือ
มโนวิญญาณ (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๘๓-๑๘๔/๑๔๒-๑๔๖)
๔ อายตนโลก หมายถึงอายตนะ ๑๒ คือ (สิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้ แดนต่อหรือแดนเกิดแห่งความรู้)
อายตนะภายใน ๖ ได้แก่ (๑) ตา (๒) หู (๓) จมูก (๔) ลิ้น (๕) กาย (๖) ใจ อายตนะภายนอก ๖ ได้แก่
(๑) รูป (๒) เสียง (๓) กลิ่น (๔) รส (๕) โผฏฐัพพะ (๖) ธรรมารมณ์ ทั้ง ๖ นี้ เรียกทั่วไปว่า อารมณ์ ๖ คือ
เป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑๕๔-๑๖๗/๑๑๒-๑๑๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
นรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำ ถูกกิเลสมากหลายปิดบังไว้
เมื่อดำรงตนอยู่(อย่างนี้) ก็จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง
ผู้เป็นเช่นนั้นแล ย่อมอยู่ไกลจากวิเวก
เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่เป็นของที่นรชนละได้ง่ายเลย
[๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สัตว์เหล่านั้น มีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ
ติดพันอยู่กับความพอใจในภพ
มุ่งหวัง(กาม)ในกาลภายหลัง หรือในกาลก่อน
ปรารถนากามเหล่านี้และกามที่มีอยู่ก่อน
ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นได้ยาก (และ)ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นไม่ได้เลย
คำว่า มีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ ติดพันอยู่กับความพอใจในภพ
อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความปรารถนา
คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความคล้อยตามอารมณ์ ความยินดี
ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ความกำหนัดนัก
แห่งจิต ความอยาก ความสยบ ความหมกมุ่น ความหื่น ความหื่นกระหาย ความ
ข้องอยู่ ความจมอยู่ ธรรมชาติที่ทำให้พลุกพล่าน ธรรมชาติที่หลอกลวง ธรรมชาติ
ที่ยังสัตว์ให้เกิด ธรรมชาติที่ยังสัตว์ให้เกิดพร้อม ธรรมชาติที่ร้อยรัด ธรรมชาติที่
มีข่าย ธรรมชาติที่กำซาบใจ ธรรมชาติที่ซ่านไป ธรรมชาติดุจเส้นด้าย ธรรมชาติที่
แผ่ไป ธรรมชาติที่ประมวลมา ธรรมชาติที่เป็นเพื่อน ความคนึงหา ตัณหาที่นำ
พาไปสู่ภพ ตัณหาดุจป่า ตัณหาดุจป่าทึบ ความเชยชิด ความเยื่อใย ความห่วงใย
ความผูกพัน ความหวัง กิริยาที่หวัง ภาวะที่หวัง ความหวังในรูป ความหวังในเสียง
ความหวังในกลิ่น ความหวังในรส ความหวังในโผฏฐัพพะ ความหวังในลาภ ความ
หวังในทรัพย์ ความหวังในบุตร ความหวังในชีวิต ธรรมชาติที่กระซิบ ธรรมชาติที่
กระซิบบ่อยๆ ธรรมชาติที่กระซิบยิ่ง ความกระซิบ กิริยาที่กระซิบ ภาวะที่กระซิบ
ความละโมบ กิริยาที่ละโมบ ภาวะที่ละโมบ ธรรมชาติที่ทำให้หวั่นไหว ภาวะที่ใคร่แต่
อารมณ์ดี ๆ ความกำหนัดในฐานะอันไม่ควร ความโลภเกินพอดี ความติดใจ กิริยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ที่ติดใจ ความปรารถนา ความใฝ่หา ความหมายปอง กามตัณหา ภวตัณหา
วิภวตัณหา ตัณหาในรูปภพ ตัณหาในอรูปภพ ตัณหาในนิโรธ รูปตัณหา สัททตัณหา
คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา โอฆะ โยคะ คันถะ อุปาทาน
อาวรณ์ นิวรณ์ เครื่องปิดบัง เครื่องผูก อุปกิเลส อนุสัย ปริยุฏฐาน ตัณหาดุจเถาวัลย์
ความปรารถนาวัตถุอย่างต่าง ๆ รากเหง้าแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แดนเกิดแห่งทุกข์
บ่วงแห่งมาร เบ็ดแห่งมาร วิสัยแห่งมาร ตัณหาดุจแม่น้ำ ตัณหาดุจตาข่าย ตัณหา
ดุจโซ่ตรวน ตัณหาดุจสมุทร อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
คำว่า มีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ ได้แก่ มีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ คือ
มีความปรารถนาเป็นสาเหตุ มีความปรารถนาเป็นปัจจัย มีความปรารถนาเป็นเหตุ
มีความปรารถนาเป็นแดนเกิด รวมความว่า มีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ
คำว่า ติดพันอยู่กับความพอใจในภพ อธิบายว่า ความพอใจในภพอย่างเดียว
คือ สุขเวทนา
ความพอใจในภพ ๒ อย่าง คือ
๑. สุขเวทนา ๒. วัตถุที่น่าปรารถนา
ความพอใจในภพ ๓ อย่าง คือ
๑. ความเป็นหนุ่มสาว ๒. ความไม่มีโรค
๓. ชีวิต
ความพอใจในภพ ๔ อย่าง คือ
๑. ลาภ ๒. ยศ
๓. สรรเสริญ ๔. สุข
ความพอใจในภพ ๕ อย่าง คือ
๑. รูปที่น่าพอใจ ๒. เสียงที่น่าพอใจ
๓. กลิ่นที่น่าพอใจ ๔. รสที่น่าพอใจ
๕. โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ความพอใจในภพ ๖ อย่าง คือ
๑. ความสมบูรณ์แห่งตา ๒. ความสมบูรณ์แห่งหู
๓. ความสมบูรณ์แห่งจมูก ๔. ความสมบูรณ์แห่งลิ้น
๕. ความสมบูรณ์แห่งกาย ๖. ความสมบูรณ์แห่งใจ
ผู้ติดพันอยู่กับความพอใจในภพ ได้แก่ ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน
พัวพันในสุขเวทนา ... ในวัตถุที่น่าปรารถนา ... ในความเป็นหนุ่มสาว ... ในความ
ไม่มีโรค ... ในชีวิต ... ในลาภ ... ในยศ ... ในสรรเสริญ ... ในสุข ... ในรูป ... เสียง ...
กลิ่น ... รส ... โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ ... ในความสมบูรณ์แห่งตา ... หู ... จมูก ... ลิ้น
... กาย ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในความสมบูรณ์แห่งใจ
รวมความว่า มีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ ติดพันอยู่กับความพอใจในภพ
คำว่า สัตว์เหล่านั้น ... ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นได้ยาก (และ)ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้น
ไม่ได้เลย อธิบายว่า ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความพอใจในภพเหล่านั้น อันสัตว์หลุด
พ้นได้ยาก หรือสัตว์ทั้งหลายปลดเปลื้อง(ตน)ได้ยาก จากธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความ
พอใจในภพนั้น
ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความพอใจในภพเหล่านั้น อันสัตว์หลุดพ้นได้ยาก
เป็นอย่างไร
คือ สุขเวทนา อันสัตว์หลุดพ้นได้ยาก คือ ปลดเปลื้องได้ยาก ทรงตัวได้ยาก
แก้ออกได้ยาก แหวกออกได้ยาก ข้ามได้ยาก ข้ามพ้นได้ยาก ก้าวพ้นได้ยาก กลับ
ตัวหลีกได้ยาก วัตถุที่น่าปรารถนา ... ความเป็นหนุ่มสาว ... ความไม่มีโรค ... ชีวิต ...
ลาภ ... ยศ ... สรรเสริญ ... สุข ... รูปที่น่าพอใจ ... เสียงที่น่าพอใจ ... กลิ่นที่น่าพอใจ
... รสที่น่าพอใจ ... โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ ... ความสมบูรณ์แห่งตา ... ความสมบูรณ์
แห่งหู ... ความสมบูรณ์แห่งจมูก ... ความสมบูรณ์แห่งลิ้น ... ความสมบูรณ์แห่งกาย
... ความสมบูรณ์แห่งใจ อันสัตว์หลุดพ้นได้ยาก คือ ปลดเปลื้องได้ยาก ทรงตัว
ได้ยาก แก้ออกได้ยาก แหวกออกได้ยาก ข้ามได้ยาก ข้ามพ้นได้ยาก ก้าวพ้น
ได้ยาก กลับตัวหลีกได้ยาก ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความพอใจในภพเหล่านั้น อันสัตว์
หลุดพ้นได้ยากเป็นอย่างนี้
สัตว์ทั้งหลายปลดเปลื้อง(ตน)ได้ยาก จากธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความ
พอใจในภพนั้น เป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
คือ สัตว์ทั้งหลายปลดเปลื้อง(ตน)ได้ยาก คือ ปลดเปลื้องขึ้นได้ยาก ทรงตัวได้
ยาก ทรงตัวขึ้นได้ยาก ยกตัวขึ้นได้ยาก ยกตัวขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง แก้ออกได้ยาก
แหวกออกได้ยาก ข้ามได้ยาก ข้ามพ้นได้ยาก ก้าวพ้นได้ยาก กลับตัวหลีกได้ยาก
จากสุขเวทนา ... จากวัตถุที่น่าปรารถนา ... จากความเป็นหนุ่มสาว ... จากความ
ไม่มีโรค ... จากชีวิต ... จากลาภ ... จากยศ ... จากสรรเสริญ ... จากสุข ... จากรูป
ที่น่าพอใจ ... จากเสียงที่น่าพอใจ ... จากกลิ่นที่น่าพอใจ ... จากรสที่น่าพอใจ ... จาก
โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ ... จากความสมบูรณ์แห่งตา ... จากความสมบูรณ์แห่งหู ... จาก
ความสมบูรณ์แห่งจมูก ... จากความสมบูรณ์แห่งลิ้น ... จากความสมบูรณ์แห่งกาย
ปลดเปลื้อง(ตน)ได้ยาก คือ ปลดเปลื้องขึ้นได้ยาก ทรงตัวได้ยาก ทรงตัวขึ้นได้ยาก
ยกตัวขึ้นได้ยาก ยกตัวขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง แก้ออกได้ยาก แหวกออกได้ยาก ข้าม
ได้ยาก ข้ามพ้นได้ยาก ก้าวพ้นได้ยาก กลับตัวหลีกได้ยาก จากความสมบูรณ์แห่งใจ
สัตว์ทั้งหลายปลดเปลื้อง(ตน)ได้ยาก จากธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความพอใจในภพนั้น
เป็นอย่างนี้ รวมความว่า สัตว์เหล่านั้น ... ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นได้ยาก
คำว่า ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นไม่ได้เลย อธิบายว่า สัตว์เหล่านั้น ตนเองก็จมดิ่งอยู่
จึงไม่สามารถฉุดรั้งคนอื่นที่จมดิ่งอยู่แล้วขึ้นมาได้ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัส
ไว้ว่า “จุนทะ ข้อที่บุคคลซึ่งตนเองก็จมดิ่งอยู่จักฉุดรั้งผู้อื่นที่จมดิ่งอยู่แล้วขึ้นมาได้
เป็นไปไม่ได้เลย จุนทะ ข้อที่บุคคลผู้มิได้ฝึกฝน มิได้อบรม ยังมิได้ดับกิเลสด้วย
ตนเอง จักฝึกฝนอบรมผู้อื่น ทำผู้อื่นให้ดับกิเลส เป็นไปไม่ได้เลย”๑ (สัตว์เหล่านั้น) จึง
ชื่อว่าทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นไม่ได้เลย เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ไม่มีใครอื่นที่จะทำให้สัตว์เหล่านั้นหลุดพ้นได้ ถ้าสัตว์เหล่านั้นจะ
พึงหลุดพ้นได้ สัตว์เหล่านั้นเมื่อปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเหมาะสม ปฏิบัติไม่เป็นข้าศึก
ปฏิบัติเอื้อประโยชน์ ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรมด้วยตนเอง ก็จะพึงหลุดพ้น
ได้ด้วยเรี่ยวแรง ด้วยกำลัง ด้วยความพากเพียร ด้วยความบากบั่น ด้วยเรี่ยวแรง
ของบุรุษ ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความพากเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของ
บุรุษของตนเองเท่านั้น (สัตว์เหล่านั้น) จึงชื่อว่าทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นไม่ได้เลย เป็น
อย่างนี้บ้าง

เชิงอรรถ :
๑ ม.มู. ๑๒/๘๗/๖๐, ขุ.จู. ๓๐/๓๓/๙๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
โธตกะ๑ เราไม่สามารถปลดเปลื้องใคร ๆ
ที่มีความสงสัยในโลกได้
แต่เธอเมื่อรู้แจ้งธรรมอันประเสริฐ
ก็จะข้ามโอฆะนี้ได้เอง ด้วยประการฉะนี้๒
(สัตว์เหล่านั้น)จึงชื่อว่า ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นไม่ได้เลย เป็นอย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
ตนทำชั่วเอง ก็เศร้าหมองเอง ไม่ทำชั่ว ก็บริสุทธิ์เอง
ความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน
คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้๓
สัตว์เหล่านั้นจึงชื่อว่า ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นไม่ได้เลย เป็นอย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ฉันนั้นเหมือนกันแหละพราหมณ์
นิพพานมีอยู่ ทางไปนิพพานมีอยู่ เรา(ตถาคต)ผู้ชักชวนก็มีอยู่ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้
สาวกที่เราสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกสำเร็จนิพพานอันถึงที่สุด
โดยส่วนเดียว บางพวกก็ไม่สำเร็จ ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตก็เป็นแต่ผู้
บอกทาง พระพุทธเจ้าก็เพียงบอกทางให้ ผู้ที่ปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้น จึงจะพึง
หลุดพ้นได้”๔ สัตว์เหล่านั้นจึงชื่อว่า ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นไม่ได้เลย อย่างนี้บ้าง รวม
ความว่า สัตว์เหล่านั้น ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นได้ยาก (และ)ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นไม่ได้เลย
คำว่า มุ่งหวัง(กาม)ในกาลภายหลัง หรือในกาลก่อน อธิบายว่า อนาคต
ตรัสเรียกว่า ในกาลภายหลัง อดีต ตรัสเรียกว่า ในกาลก่อน อีกนัยหนึ่ง อนาคตใกล้
อดีตก็ดี ปัจจุบันใกล้อดีตก็ดี ตรัสเรียกว่า ในกาลภายหลัง อดีตใกล้อนาคตก็ดี
ปัจจุบันใกล้อนาคตก็ดี ตรัสเรียกว่า ในกาลก่อน

เชิงอรรถ :
๑ โธตกะ เป็นชื่อของมาณพซึ่งเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี (ขุ.จู. ๓๐/๓๓/๙๘)
๒ ขุ.สุ. ๒๕/๑๐๗๑/๕๓๘, ขุ.จู. ๓๐/๓๓/๙๘, อภิ.ก. ๓๗/๓๒๕/๑๖๘
๓ ขุ.ธ. ๒๕/๑๖๕/๔๖, ขุ.จู. ๓๐/๓๓/๙๙
๔ ม.อุ. ๑๔/๗๗/๕๗-๕๘, ขุ.จู. ๓๐/๓๓/๙๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
บุคคลทำความมุ่งหวัง(กาม)ในกาลก่อนอย่างไร
คือ บุคคลย่อมหวนระลึกถึงความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นว่า ในอดีตอันยาวนาน
เราได้มีรูปอย่างนี้มาแล้ว ... ได้มีเวทนาอย่างนี้มาแล้ว ... ได้มีสัญญาอย่างนี้มาแล้ว ...
ได้มีสังขารอย่างนี้มาแล้ว บุคคลย่อมหวนระลึกถึงความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นว่า
ในอดีตอันยาวนาน เราได้มีวิญญาณอย่างนี้มาแล้ว บุคคลจึงชื่อว่า ทำความมุ่ง
หวัง(กาม)ในกาลก่อน เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง บุคคลมีวิญญาณเกี่ยวเนื่องด้วยฉันทราคะในอารมณ์นั้นว่า ในอดีต
อันยาวนาน เราได้มีตาอย่างนี้ ได้เห็นรูปอย่างนี้ เพราะมีวิญญาณเกี่ยวเนื่องด้วย
ฉันทราคะ เขาจึงเพลิดเพลินกับอารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลินกับอารมณ์นั้น บุคคลจึง
ชื่อว่า ทำความมุ่งหวัง(กาม)ในกาลก่อน อย่างนี้บ้าง ... ได้มีหูอย่างนี้ ได้ยินเสียง
อย่างนี้ ... ได้มีจมูกอย่างนี้ ได้กลิ่นอย่างนี้ ... ได้มีลิ้นอย่างนี้ ได้รู้รสอย่างนี้ ... ได้มี
กายอย่างนี้ รู้สึกผัสสะอย่างนี้ ... มีวิญญาณเกี่ยวเนื่องด้วยฉันทราคะในอารมณ์นั้นว่า
ในอดีตอันยาวนาน เราได้มีใจอย่างนี้ รู้ธรรมารมณ์อย่างนี้ เพราะมีวิญญาณเกี่ยว
เนื่องด้วยฉันทราคะ เขาจึงเพลิดเพลินกับอารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลินกับอารมณ์นั้น
บุคคลจึงชื่อว่า ทำความมุ่งหวัง(กาม)ในกาลก่อน เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง บุคคลยินดี มุ่งหวัง ถึงความปลื้มใจ ด้วยการหัวเราะ พูดจา
เล่นหัว กับมาตุคามในกาลก่อน บุคคลจึงชื่อว่า ทำความมุ่งหวัง(กาม)ในกาลก่อน
เป็นอย่างนี้บ้าง
บุคคลทำความมุ่งหวัง(กาม)ในกาลภายหลังอย่างไร
คือ บุคคลตามระลึกถึงความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นว่า ในอนาคตอันยาว
นาน เราพึงมีรูปอย่างนี้ ... พึงมีเวทนาอย่างนี้ ... พึงมีสัญญาอย่างนี้ ... พึงมีสังขาร
อย่างนี้ บุคคลตามระลึกถึงความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นว่า ในอนาคตอันยาวนาน
เราพึงมีวิญญาณอย่างนี้ บุคคลจึงชื่อว่า ทำความมุ่งหวัง(กาม)ในกาลภายหลัง
เป็นอย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง บุคคลตั้งจิตเพื่อให้ได้อารมณ์ที่ยังไม่ได้ว่า ในอนาคตอันยาวนาน
ขอเราพึงมีตาอย่างนี้ เห็นรูปอย่างนี้ เพราะมีการตั้งจิตเป็นปัจจัย เขาจึงเพลิดเพลิน
กับอารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลินกับอารมณ์นั้น บุคคลจึงชื่อว่า ทำความมุ่งหวัง
(กาม)ในกาลภายหลัง อย่างนี้บ้าง ... พึงมีหูอย่างนี้ ได้ยินเสียงอย่างนี้ ... พึงมีจมูก
อย่างนี้ ได้กลิ่นอย่างนี้ ... พึงมีลิ้นอย่างนี้ รู้รสอย่างนี้ ... พึงมีกายอย่างนี้ รู้สึก
ผัสสะอย่างนี้ ... บุคคลตั้งจิตเพื่อให้ได้อารมณ์ที่ยังไม่ได้ว่า ในอนาคตอันยาวนาน
ขอเราพึงมีใจอย่างนี้ รู้ธรรมารมณ์อย่างนี้ เพราะมีการตั้งจิตเป็นปัจจัย เขาจึง
เพลิดเพลินกับอารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลินกับอารมณ์นั้น บุคคลจึงชื่อว่า ทำความ
มุ่งหวัง(กาม)ในกาลภายหลัง เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง บุคคลตั้งจิตเพื่อให้ได้อารมณ์ที่ยังไม่ได้ว่า ด้วยศีล พรต ตบะ หรือ
พรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทวดา หรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง เพราะการตั้งจิตเป็นปัจจัย
เขาจึงเพลิดเพลินกับอารมณ์นั้น เมื่อเพลิดเพลินกับอารมณ์นั้น บุคคลจึงชื่อว่าทำ
ความมุ่งหวัง(กาม)ในกาลภายหลัง เป็นอย่างนี้บ้าง รวมความว่า มุ่งหวัง(กาม)ในกาล
ภายหลัง หรือในกาลก่อน
คำว่า (ปรารถนา)กามเหล่านี้ ในคำว่า ปรารถนากามเหล่านี้และกามที่มี
อยู่ก่อน ได้แก่ ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง กามคุณ ๕ ที่เป็น
ปัจจุบัน
คำว่า ปรารถนากามที่มีอยู่ก่อน ได้แก่ ปรารถนา คือ ครวญหา พร่ำหา
กามคุณ ๕ ที่เป็นอดีต รวมความว่า ปรารถนากามเหล่านี้และกามที่มีอยู่ก่อน
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สัตว์เหล่านั้น มีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ
ติดพันอยู่กับความพอใจในภพ
มุ่งหวัง(กาม)ในกาลภายหลัง หรือในกาลก่อน
ปรารถนากามเหล่านี้และกามที่มีอยู่ก่อน
ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นได้ยาก (และ)ทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นไม่ได้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
[๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สัตว์เหล่านั้น ยินดี ขวนขวาย ลุ่มหลงในกามทั้งหลาย
เป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่ในกรรมที่ผิด ประสบทุกข์แล้ว
จึงคร่ำครวญอยู่ว่า เราจุติจากภพนี้ จักเป็นอะไรหนอ

ว่าด้วยกาม ๒ อย่าง
คำว่า ยินดี ขวนขวาย ลุ่มหลงในกามทั้งหลาย อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม
(๒) กิเลสกาม ... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑
ตัณหาตรัสเรียกว่า ความยินดี คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ๒ สัตว์ทั้งหลาย กำหนัด ยินดี คือ ติดใจ สยบ หมกมุ่น เกาะติด
เกี่ยวพัน พัวพันในวัตถุกามด้วยกิเลสกาม รวมความว่า ยินดีในกามทั้งหลาย
คำว่า ขวนขวาย อธิบายว่า แม้สัตว์ผู้แสวงหา เสาะหา ค้นหากามทั้งหลาย
เที่ยวไปเพื่อกามนั้น มากไปด้วยกามนั้น หนักในกามนั้น เอนไปในกามนั้น โอนไป
ในกามนั้น โน้มไปในกามนั้น น้อมใจไปในกามนั้น มุ่งกามนั้นเป็นใหญ่ ชื่อว่าผู้
ขวนขวายในกาม
แม้สัตว์ผู้แสวงหา เสาะหา ค้นหารูปด้วยอำนาจตัณหา ... เสียง ... กลิ่น ... รส
... ผู้แสวงหา เสาะหา ค้นหาโผฏฐัพพะด้วยอำนาจตัณหา เที่ยวไปเพื่อกามนั้น
มากไปด้วยกามนั้น หนักในกามนั้น เอนไปในกามนั้น โอนไปในกามนั้น โน้มไปใน
กามนั้น น้อมใจไปในกามนั้น มุ่งกามนั้นเป็นใหญ่ ชื่อว่าผู้ขวนขวายในกาม
แม้สัตว์ผู้ได้เฉพาะรูปด้วยอำนาจตัณหา ... เสียง ... กลิ่น ... รส ... ผู้ได้เฉพาะ
โผฏฐัพพะด้วยอำนาจตัณหา เที่ยวไปเพื่อกามนั้น มากไปด้วยกามนั้น หนักใน
กามนั้น เอนไปในกามนั้น โอนไปในกามนั้น โน้มไปในกามนั้น น้อมใจไปในกามนั้น
มุ่งกามนั้นเป็นใหญ่ ชื่อว่าผู้ขวนขวายในกาม

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๑-๒
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
แม้สัตว์ผู้บริโภครูปด้วยอำนาจตัณหา ... เสียง ... กลิ่น ... รส ... ผู้บริโภค
โผฏฐัพพะด้วยอำนาจตัณหา เที่ยวไปเพื่อกามนั้น มากไปด้วยกามนั้น หนักใน
กามนั้น เอนไปในกามนั้น โอนไปในกามนั้น โน้มไปในกามนั้น น้อมใจไปในกามนั้น
มุ่งกามนั้นเป็นใหญ่ ชื่อว่าผู้ขวนขวายในกาม
เปรียบเหมือนสัตว์ผู้ก่อการทะเลาะ ชื่อว่าผู้ขวนขวายในการทะเลาะ ผู้ทำการ
งาน ชื่อว่าผู้ขวนขวายในการทำงาน ผู้เที่ยวไปในโคจร ชื่อว่าผู้ขวนขวายในโคจร๑
ผู้เจริญฌาน ชื่อว่าผู้ขวนขวายในฌาน ฉันใด แม้สัตว์ผู้แสวงหา เสาะหา ค้นหากาม
ทั้งหลาย เที่ยวไปเพื่อกามนั้น มากไปด้วยกามนั้น หนักในกามนั้น เอนไปในกามนั้น
โอนไปในกามนั้น โน้มไปในกามนั้น น้อมใจไปในกามนั้น มุ่งกามนั้นเป็นใหญ่ ชื่อว่า
ผู้ขวนขวายในกาม
แม้สัตว์ผู้บริโภครูปด้วยอำนาจตัณหา ... เสียง ... กลิ่น ... รส ... ผู้บริโภค
โผฏฐัพพะด้วยอำนาจตัณหา เที่ยวไปเพื่อกามนั้น มากไปด้วยกามนั้น หนักในกามนั้น
เอนไปในกามนั้น โอนไปในกามนั้น โน้มไปในกามนั้น น้อมใจไปในกามนั้น มุ่งกาม
นั้นเป็นใหญ่ ชื่อว่าผู้ขวนขวายในกาม ฉันนั้นเหมือนกัน
คำว่า ลุ่มหลง อธิบายว่า โดยมากเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมหลง
ลุ่มหลง หลงงมงายในกามคุณ ๕ เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้หลง
ลุ่มหลง หลงงมงาย คือถูกอวิชชาทำให้มืดบอด หุ้มห่อ โอบล้อม ห้อมล้อม
ครอบคลุม ปกคลุม บดบังไว้ รวมความว่า ยินดี ขวนขวาย ลุ่มหลงในกาม
ทั้งหลาย
คำว่า ผู้ตกต่ำ ในคำว่า เป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่ในกรรมที่ผิด อธิบายว่า แม้ผู้
ไปต่ำ ก็ชื่อว่าผู้ตกต่ำ แม้ผู้ตระหนี่ก็ตรัสเรียกว่า ผู้ตกต่ำ ผู้ไม่เอื้อเฟื้อคำ คำที่
เป็นแนวทาง เทศนา คำพร่ำสอน ของพระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า
ก็ชื่อว่าผู้ตกต่ำ
ผู้ไปต่ำอย่างไร จึงชื่อว่าผู้ตกต่ำ ผู้ไปต่ำ อธิบายว่า ไปสู่นรก ไปสู่กำเนิด
เดรัจฉาน ไปสู่เปตวิสัย รวมความว่า ผู้ไปต่ำอย่างนี้ ชื่อว่าผู้ตกต่ำ

เชิงอรรถ :
๑ โคจร หมายถึงที่ควรเที่ยวไป อารมณ์หรือหน้าที่ที่จำเป็น มีสติปัฏฐานเป็นต้น (ขุ.ม.อ. ๙/๑๐๗) ดู
รายละเอียดข้อ ๑๙๖/๕๗๖-๕๗๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความตระหนี่ ๕ อย่าง
ผู้ตระหนี่อย่างไร จึงตรัสเรียกว่าผู้ตกต่ำ มัจฉริยะ มี ๕ อย่าง คือ
๑. อาวาสมัจฉริยะ(ความตระหนี่ที่อยู่)
๒. กุลมัจฉริยะ(ความตระหนี่ตระกูล)
๓. ลาภมัจฉริยะ(ความตระหนี่ลาภ)
๔. วัณณมัจฉริยะ(ความตระหนี่วรรณะ)
๕. ธัมมมัจฉริยะ(ความตระหนี่ธรรม)
ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ภาวะที่ตระหนี่ ความเห็นแก่ได้ ความถี่เหนียว
ความที่จิตเจ็บร้อน(ในการให้) ความมีจิตหวงแหนเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า
ความตระหนี่
อีกนัยหนึ่ง ความตระหนี่ขันธ์ก็ดี ความตระหนี่ธาตุก็ดี ความตระหนี่อายตนะ
ก็ดี ความมุ่งแต่จะได้ก็ดี เรียกว่า ความตระหนี่ ชนทั้งหลายผู้ประกอบด้วยความ
ตระหนี่นี้ คือ ความเป็นผู้ไม่รู้จักถ้อยคำของยาจก เป็นผู้ประมาท ผู้ตระหนี่อย่างนี้
ตรัสเรียกว่า ผู้ตกต่ำ
ผู้ไม่เอื้อเฟื้อพระดำรัส คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำพร่ำสอนของพระพุทธเจ้า
และสาวกของพระพุทธเจ้าอย่างไร จึงชื่อว่าผู้ตกต่ำ ผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ไม่ยอมฟัง
ไม่เงี่ยโสต สดับ ไม่ตั้งใจเพื่อให้รู้พระดำรัส คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำพร่ำสอน
ของพระพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามคำ ประพฤติ
ฝ่าฝืน เบือนหน้าไปทางอื่น ผู้ไม่เอื้อเฟื้อพระดำรัส คำที่เป็นแนวทาง เทศนา
คำพร่ำสอนของพระพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้า อย่างนี้ชื่อว่าผู้ตกต่ำ รวม
ความว่า เป็นผู้ตกต่ำ
คำว่า สัตว์เหล่านั้น ... ตั้งอยู่ในกรรมที่ผิด อธิบายว่า ตั้งอยู่ คือตั้งมั่น
ตั้งเฉพาะ ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อ เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในกายกรรม
วจีกรรม มโนกรรมที่ผิด ปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์) อทินนาทาน(การลักทรัพย์)
กาเมสุมิจฉาจาร(การประพฤติผิดในกาม) มุสาวาท(การพูดเท็จ) ปิสุณาวาจา(วาจา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ส่อเสียด) ผรุสวาจา(วาจาหยาบ) สัมผัปปลาปะ(คำพูดเพ้อเจ้อ) อภิชฌา(ความเพ่งเล็ง
อยากได้ของเขา) พยาบาท(ความคิดปองร้าย) มิจฉาทิฏฐิ(ความเห็นผิดจาก
ทำนองคลองธรรม) สังขารทั้งหลาย กามคุณ ๕ นิวรณ์ ๕ (... ในเจตนา ... ในความ
ปรารถนา ... ในความตั้งใจที่ผิด) รวมความว่า สัตว์เหล่านั้น ... เป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่
ในกรรมที่ผิด
คำว่า ประสบทุกข์แล้ว ในคำว่า ประสบทุกข์แล้ว จึงคร่ำครวญอยู่ ได้แก่
ประสบทุกข์แล้ว คือ ถึงทุกข์ ประจวบกับทุกข์ เข้าถึงทุกข์แล้ว ถึงมาร ประจวบกับ
มาร เข้าถึงมารแล้ว ถึงมรณะ ประจวบกับมรณะ เข้าถึงมรณะแล้ว รวมความว่า
ประสบทุกข์แล้ว
คำว่า คร่ำครวญอยู่ ได้แก่ ร่ำไร รำพัน เศร้าโศก ลำบากใจ คร่ำครวญ
ตีอกพร่ำเพ้อ ถึงความหลงใหล รวมความว่า ประสบทุกข์แล้ว จึงคร่ำครวญอยู่
คำว่า เราจุติจากภพนี้ จักเป็นอะไรหนอ อธิบายว่า เราจุติจากภพนี้แล้ว
จักเป็นอะไรหนอ คือ จักเป็นสัตว์นรก เกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน เกิดในเปตวิสัย
เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา มีรูป ไม่มีรูป มีสัญญา ไม่มีสัญญา มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มี
สัญญาก็มิใช่ แล่นไปสู่ความสงสัย แล่นไปหาความเคลือบแคลง เกิดความไม่แน่ใจ
ย่อมร่ำไร รำพัน เศร้าโศก ลำบากใจ คร่ำครวญ ตีอกพร่ำเพ้อ ถึงความหลงใหลว่า
ในอนาคตอันยาวนาน เราจักมีหรือจักไม่มี ในอนาคตอันยาวนาน เราจักเป็นอะไร
หรือจักเป็นอย่างไร หรือในอนาคตอันยาวนาน เราเป็นอะไรแล้ว จักเป็นอะไรอีก
รวมความว่า เราจุติจากภพนี้จักเป็นอะไรหนอ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า
สัตว์เหล่านั้น ยินดี ขวนขวาย ลุ่มหลงในกามทั้งหลาย
เป็นผู้ตกต่ำ ตั้งอยู่ในกรรมที่ผิด ประสบทุกข์แล้ว
จึงคร่ำครวญอยู่ว่า เราจุติจากภพนี้ จักเป็นอะไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
[๑๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้
พึงรู้จักกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกว่า เป็นกรรมที่ผิด
ไม่พึงประพฤติผิด เพราะเหตุแห่งกรรมที่ผิดนั้น
นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย

ว่าด้วยสิกขา ๓
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้ ได้แก่
เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น
เมื่อเห็นโทษนั้นในกามทั้งหลาย รวมความว่า เพราะฉะนั้น
คำว่า พึงศึกษา ได้แก่ สิกขา ๓ คือ
๑. อธิสีลสิกขา ๒. อธิจิตตสิกขา
๓. อธิปัญญาสิกขา
อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์๑
สมบูรณ์ด้วยอาจาระ๒และโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาใน
สิกขาบททั้งหลายอยู่ คือ สีลขันธ์เล็ก๓ สีลขันธ์ใหญ่๔ ศีลเป็นที่พึ่ง เป็นเบื้องต้น
เป็นความประพฤติ เป็นความสำรวม เป็นความระวัง เป็นหัวหน้า เป็นประธานเพื่อ
ความถึงพร้อมแห่งธรรมที่เป็นกุศล นี้ชื่อว่าอธิสีลสิกขา

เชิงอรรถ :
๑ สังวรในปาติโมกข์ มีอรรถาธิบายแต่ละคำ ดังนี้ คือ สังวร หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกายวาจา
ปาติโมกข์ หมายถึงศีลสิกขาบท ที่เป็นเหตุให้ผู้รักษาหลุดพ้นจากทุกข์ (ปาติ = รักษา + โมกขะ = ความ
หลุดพ้น) (วิสุทฺธิ. ๑/๑๔/๑๗)
๒ อาจาระ หมายถึงการไม่ล่วงละเมิดทางกาย การไม่ล่วงละเมิดทางวาจา การไม่ล่วงละเมิดทางกายและ
วาจา หรือการสำรวมศีลทั้งหมด คือการไม่เลี้ยงชีพด้วยอาชีพที่ผิด ที่พระพุทธเจ้ารังเกียจ เช่น ไม่
เลี้ยงชีพด้วยการให้ไม้ไผ่ ให้ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เครื่องสนาน ไม้สีฟัน ไม่เลี้ยงชีพด้วยการทำตนต่ำกว่า
คฤหัสถ์ ด้วยการพูดเล่นเป็นแกงถั่ว(จริงบ้างไม่จริงบ้าง) ไม่เลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงเด็ก และการรับส่งข่าว
(วิสุทฺธิ. ๑/๑๔/๑๘)
๓ สีลขันธ์เล็ก หมายถึงอาบัติที่แก้ไขได้ คืออาบัติตั้งแต่สังฆาทิเสสลงมา (ขุ.ม.อ. ๑๐/๑๒๐)
๔ สีลขันธ์ใหญ่ หมายถึงอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ คือ อาบัติปาราชิกอย่างเดียว (ขุ.ม.อ. ๑๐/๑๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
อธิจิตตสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุข อันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจาร สงบระงับไปแล้ว
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มี
วิจาร มีแต่ปีติและสุขที่เกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไปมีอุเบกขา มีสติ-
สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า
ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เพราะละสุขและทุกข์ได้แล้ว เพราะโสมนัสและโทมนัส
ดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌาน ที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
นี้ชื่อว่าอธิจิตตสิกขา
อธิปัญญาสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอันประเสริฐ
หยั่งถึงความเกิดและความดับ เพิกถอนกิเลส ให้บรรลุถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ เธอ
รู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์” เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกขสมุทัย (เหตุเกิด
ทุกข์)” เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์)” เธอรู้ตามความ
เป็นจริงว่า “นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(ข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินไปสู่ความดับทุกข์)”
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “เหล่านี้อาสวะ” เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้อาสว-
สมุทัย” เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้อาสวนิโรธ” เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า
“นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา” นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
สิกขา ๓ เหล่านี้ เมื่อสัตว์เกิดนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่าพึงศึกษา
เมื่อเห็น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อพิจารณา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่า
พึงศึกษา เมื่อน้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่า
พึงศึกษา เมื่อตั้งสติ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อตั้งใจมั่น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา
ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควร
กำหนดรู้ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเจริญธรรม
ที่ควรเจริญ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าพึงศึกษา คือ
พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ในที่นี้ ได้แก่ ในความเห็นนี้ ความถูกใจนี้ ความพอใจนี้ ความ
ยึดถือนี้ ธรรมนี้ วินัยนี้ ธรรมวินัยนี้ ปาพจน์นี้ พรหมจรรย์นี้ สัตถุศาสน์นี้
อัตภาพนี้ มนุษยโลกนี้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ในที่นี้
คำว่า สัตว์เกิด ได้แก่ สัตว์ คือ นรชน ... มนุษย์๑ รวมความว่า เพราะฉะนั้น
สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้
คำว่า อย่างใดอย่างหนึ่ง ในคำว่า พึงรู้จักกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกว่า
เป็นกรรมที่ผิด ได้แก่ ทุกสิ่งโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือ
โดยประการทั้งปวง คำว่า อย่างใดอย่างหนึ่ง นี้ เป็นคำกล่าวรวม ๆ ไว้ทั้งหมด
คำว่า พึงรู้จัก ... ว่า เป็นกรรมที่ผิด อธิบายว่า พึงรู้ คือ พึงรู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง
รู้เฉพาะ แทงตลอดกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่ผิด ปาณาติบาต อทินนาทาน
กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา
พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ สังขารทั้งหลาย กามคุณ ๕ นิวรณ์ ๕ เจตนา ความ
ปรารถนา ความตั้งใจที่ผิดว่าเป็นกรรมที่ผิด
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ... อายตนโลก รวมความว่า พึงรู้จักกรรม
อย่างใดอย่างหนึ่งในโลกว่า เป็นกรรมที่ผิด
คำว่า ไม่พึงประพฤติผิด เพราะเหตุแห่งกรรมที่ผิดนั้น อธิบายว่า ไม่พึง
ประพฤติ คือ ไม่พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ไม่พึงประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ ไม่พึง
สมาทานประพฤติผิด เพราะเหตุแห่งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ปาณาติบาต
อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ
อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ สังขารทั้งหลาย กามคุณ ๕ นิวรณ์ ๕ เจตนา
ความปรารถนา ความตั้งใจที่ผิด รวมความว่า ไม่พึงประพฤติผิด เพราะเหตุแห่ง
กรรมที่ผิดนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยชีวิตเป็นของน้อยด้วยเหตุ ๒ ประการ
คำว่า ชีวิต ในคำว่า นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย ได้แก่ อายุ
ความดำรงอยู่ ความดำเนินไป ความให้ชีวิตดำเนินไป ความเคลื่อนไหว ความเป็นไป
ความรักษา ความเป็นอยู่ ชีวิตินทรีย์ อนึ่ง ชีวิตเป็นของน้อย ด้วยเหตุ ๒ ประการ
คือ (๑) ชีวิตเป็นของน้อยเพราะดำรงอยู่ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย (๒) ชีวิตเป็นของน้อย
เพราะมีคุณค่าเพียงเล็กน้อย
ชีวิตเป็นของน้อย เพราะดำรงอยู่ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างไร
คือ ในขณะจิตที่เป็นอดีต ชีวิตเป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่จักเป็นอยู่
ในขณะจิตที่เป็นอนาคต ชีวิตจักเป็นอยู่ ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่เป็นอยู่แล้ว ในขณะ
จิตที่เป็นปัจจุบัน ชีวิตกำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่เป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่จักเป็นอยู่
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
ชีวิต อัตภาพ สุขและทุกข์ทั้งปวง
เป็นธรรมที่ประกอบกันขึ้นชั่วขณะจิตเดียว
ขณะย่อมหมุนไปอย่างรวดเร็ว
เทวดาผู้ดำรงอยู่ได้ตั้ง ๘๔,๐๐๐ กัป
ก็มิได้ประกอบด้วยจิต ๒ ดวง(ในขณะจิตเดียว) เป็นอยู่ได้
ขันธ์เหล่าใดของสัตว์ที่ตายไป หรือยังดำรงอยู่ในโลกนี้ ดับไปแล้ว
ขันธ์เหล่านั้นทั้งหมด เป็นอย่างเดียวกัน ดับไปแล้วก็มิได้สืบต่อกัน
ขันธ์ที่แตกไปในอดีตอันหาลำดับมิได้
และขันธ์ที่จะแตกไปในอนาคต มีลักษณะไม่ต่างกับขันธ์ที่ดับในปัจจุบัน
สัตว์ไม่เกิดด้วยอนาคตขันธ์ ย่อมดำรงอยู่ด้วยปัจจุบันขันธ์
เพราะจิตแตกดับไป สัตว์โลกชื่อว่า ตายแล้ว
นี้เป็นปรมัตถบัญญัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
เพราะมีอายตนะ ๖ เป็นปัจจัย
ขันธ์ทั้งหลายที่แปรไปตามฉันทะ ย่อมเป็นไปไม่ขาดสาย
เหมือนน้ำไหลไปตามที่ลุ่ม ฉะนั้น
ขันธ์ทั้งหลายถึงการทรงตัวอยู่ไม่ได้แตกไปแล้ว
กองขันธ์ในอนาคตก็ไม่มี ส่วนขันธ์ที่เกิดแล้วในปัจจุบันก็ดำรงอยู่
เหมือนเมล็ดผักกาดบนปลายเหล็กแหลม ฉะนั้น
ความแตกทำลายแห่งขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเหล่านั้น
ปรากฏอยู่ข้างหน้า ขันธ์ทั้งหลายที่มีการแตกเป็นธรรมดา
ดำรงอยู่ มิได้รวมกับขันธ์เก่า
ขันธ์ทั้งหลายมาโดยสภาวะที่ไม่ปรากฏ แตกทำลายไปแล้ว
ก็ไปสู่สภาวะที่ไม่ปรากฏ ย่อมเกิดขึ้นและดับไป
เหมือนสายฟ้าแลบในอากาศ ฉะนั้น
ชีวิตชื่อว่าเป็นของน้อย เพราะดำรงอยู่ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างนี้
ชีวิตเป็นของน้อยเพราะมีคุณค่าเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างไร
คือ ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยลมหายใจเข้า ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยลมหายใจออก ชีวิต
เกี่ยวเนื่องด้วยลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยมหาภูตรูป๑ ชีวิต
เกี่ยวเนื่องด้วยอาหารที่กลืนกิน ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยไฟธาตุ ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วย
วิญญาณ มูลเหตุ(กรัชกาย) ของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย บุพพเหตุ๒ ของ
สภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย ปัจจัยทั้งหลายมีอารมณ์เป็นต้นมีกำลังน้อย แดน
เกิด(ตัณหา) มีกำลังน้อย ธรรมที่เกิดร่วมกัน ของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย
ธรรมที่ประกอบกัน (อรูปธรรม) ของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย ธรรมที่เกิดพร้อม

เชิงอรรถ :
๑ มหาภูตรูป ๔ (๑) ปฐวีธาตุ (สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่ สภาพอันเป็นหลักที่ตั้ง ที่อาศัยแห่งสหชาตรูป
เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็งหรือธาตุดิน) (๒) อาโปธาตุ (สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม ซ่านไป ขยายขนาด
ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว หรือธาตุน้ำ) (๓) เตโชธาตุ (สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญ
ว่า ธาตุไฟ) (๔) วาโยธาตุ (สภาวะที่ทำให้สั่นไหว เคลื่อนที่ ค้ำจุน เรียกสามัญว่า ธาตุลม) (ที.สี.(แปล)
๙/๔๘๗-๔๙๙/๒๑๖-๒๒๐)
๒ บุพพเหตุ ในที่นี้หมายถึง อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน และภพ (ขุ.ม.อ. ๑๐/๑๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
กันของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย กิเลสเครื่องประกอบ(ตัณหา)มีกำลังน้อย
สภาวธรรมเหล่านี้แต่ละอย่างมีกำลังน้อยตลอดเวลา สภาวธรรมเหล่านี้แต่ละอย่าง
ไม่มั่นคง สภาวธรรมเหล่านี้ต่างก็ทำให้สภาวธรรมอื่นตกล่วงลงไป เพราะสภาวธรรม
เหล่านี้ต่างก็ไม่มีความต้านทาน สภาวธรรมเหล่านี้ต่างก็ไม่ดำรงกันและกันอยู่ได้
แม้สภาวธรรมที่ทำให้ธรรมเหล่านี้เกิดก็ไม่มี
อนึ่ง ธรรมไรๆ ก็มิได้เสื่อมไปเพราะธรรมไรๆ
เพราะขันธ์เหล่านี้ พึงถึงความแตกดับไปโดยประการทั้งปวง
ขันธ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยก่อน
แม้เหตุปัจจัยที่เกิดก่อนก็แตกดับไปแล้วในกาลก่อน
ในกาลไหนๆ ขันธ์ที่เกิดก่อนและที่เกิดในภายหลัง
จึงไม่ได้เห็นกันและกัน
ชีวิตชื่อว่าเป็นของน้อย เพราะมีคุณค่าเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างนี้
อนึ่ง เพราะเทียบกับชีวิตของเทวดาชั้นจาตุมหาราช ชีวิตของมนุษย์จึงน้อย
คือ เล็กน้อย นิดหน่อย ชั่วขณะ เร็วพลัน ประเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่ไม่นาน ดำรงอยู่
ไม่นาน เพราะเทียบกับชีวิตของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ... เทวดาชั้นยามา ... เทวดาชั้น
ดุสิต ... เทวดาชั้นนิมมานรดี ... เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ... เพราะเทียบเคียงกับ
ชีวิตของเทวดาชั้นพรหมกายิกา ชีวิตของมนุษย์จึงน้อย คือ เล็กน้อย นิดหน่อย
ชั่วขณะ เร็วพลัน ประเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่ไม่นาน ดำรงอยู่ไม่นาน สมจริงดังที่พระผู้มี
พระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์น้อย จำต้องไปสู่ปรโลก ต้อง
ประสบกับความตายที่เข้าใจกันอยู่ ควรทำกุศล ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ที่เกิดมาแล้ว
ไม่ตายไม่มี ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีชีวิตยืนนาน ผู้นั้นก็อยู่ได้เพียง ๑๐๐ ปี หรืออยู่ได้
เกินกว่านั้นก็มีน้อย”
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
มนุษย์มีอายุน้อย บุคคลผู้ฉลาดพึงดูหมิ่นชีวิตที่น้อยนั้น
พึงเร่งประพฤติธรรมเหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น
เพราะความตายจะไม่มาถึงไม่มี๑
วันคืนล่วงเลยไป ชีวิตก็ใกล้หมดสิ้นไป
อายุของสัตว์ทั้งหลายก็หมดสิ้นไป
เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อยจะแห้งไป ฉะนั้น๒

ว่าด้วยปัญญาที่เรียกว่า ธี
คำว่า นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย อธิบายว่า ชื่อว่านักปราชญ์
เพราะมีปัญญา ชื่อว่านักปราชญ์เพราะมีปัญญาเครื่องทรงจำ ชื่อว่านักปราชญ์เพราะ
สมบูรณ์ด้วยปัญญาเครื่องทรงจำ ชื่อว่านักปราชญ์เพราะติเตียนบาป
ปัญญาตรัสเรียกว่า ธี ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความ
เลือกเฟ้น ความสอดส่องธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความ
เข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้อย่างแจ่มแจ้ง
ความคิดค้น ความใคร่ครวญ ปัญญาดุจแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญา
เครื่องนำทาง ปัญญาเครื่องเห็นแจ้ง ความรู้ดี ปัญญาดุจปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์
ปัญญาพละ ปัญญาดุจศัสตรา ปัญญาดุจปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่าง
คือปัญญา ปัญญาดุจดวงประทีป ปัญญาดุจดวงแก้ว ความไม่หลงงมงาย ความ
เลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ชื่อว่านักปราชญ์ เพราะประกอบด้วยปัญญานั้น
อีกนัยหนึ่ง เป็นปราชญ์ในขันธ์ ปราชญ์ในธาตุ ปราชญ์ในอายตนะ ปราชญ์ใน
ปฏิจจสมุปบาท ปราชญ์ในสติปัฏฐาน ปราชญ์ในสัมมัปปธาน ปราชญ์ในอิทธิบาท
ปราชญ์ในอินทรีย์ ปราชญ์ในพละ ปราชญ์ในโพชฌงค์ ปราชญ์ในมรรค ปราชญ์ในผล
ปราชญ์ในนิพพาน นักปราชญ์เหล่านั้น กล่าว คือ พูด แสดง ชี้แจง อย่างนี้ว่า
ชีวิตของมนุษย์จึงน้อย เล็กน้อย นิดหน่อย ชั่วขณะ เร็วพลัน ประเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่
ไม่นาน ดำรงอยู่ไม่นาน รวมความว่า นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย ด้วย
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๑๔๕/๑๓๐
๒ สํ.ส. ๑๕/๑๔๖/๑๓๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดพึงศึกษาในที่นี้
พึงรู้จักกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกว่า เป็นกรรมที่ผิด
ไม่พึงประพฤติผิด เพราะเหตุแห่งกรรมที่ผิดนั้น
นักปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย
[๑๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เราเห็นหมู่สัตว์นี้ ผู้ตกไปในอำนาจตัณหาในภพทั้งหลาย
กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก
นรชนที่เลว ผู้ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช

ว่าด้วยหมู่สัตว์ดิ้นรนอยู่ในโลกเพราะตัณหา
คำว่า เราเห็น ในคำว่า เราเห็น ... กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก ได้แก่ เราเห็น
แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดู ด้วยมังสจักขุบ้าง ด้วยทิพพจักขุบ้าง
ด้วยปัญญาจักขุบ้าง ด้วยพุทธจักขุบ้าง ด้วยสมันตจักขุบ้าง
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า กำลังดิ้นรนอยู่ อธิบายว่า เราเห็น แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ
พิจารณาดูหมู่สัตว์นี้ ผู้กำลังดิ้นรน กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว สั่นเทา
กระสับกระส่าย ด้วยความดิ้นรนเพราะตัณหา ดิ้นรนเพราะทิฏฐิ ดิ้นรนเพราะกิเลส
ดิ้นรนเพราะการประกอบ ดิ้นรนเพราะวิบาก ดิ้นรนเพราะทุจริต คือ
ผู้กำหนัดก็ดิ้นรนตามอำนาจราคะ
ผู้ขัดเคืองก็ดิ้นรนตามอำนาจโทสะ
ผู้หลงก็ดิ้นรนตามอำนาจโมหะ
ผู้ยึดติดก็ดิ้นรนตามอำนาจมานะ
ผู้ยึดถือก็ดิ้นรนตามอำนาจทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ผู้ฟุ้งซ่านก็ดิ้นรนตามอำนาจอุทธัจจะ
ผู้ลังเลก็ดิ้นรนตามอำนาจวิจิกิจฉา
ผู้ตกอยู่ในพลังกิเลสก็ดิ้นรนตามอำนาจอนุสัย
ดิ้นรนเพราะลาภ เพราะเสื่อมลาภ เพราะยศ เพราะเสื่อมยศ เพราะสรรเสริญ
เพราะนินทา เพราะสุข เพราะทุกข์
ดิ้นรนเพราะชาติ เพราะชรา เพราะพยาธิ เพราะมรณะ เพราะโสกะ(ความ
เศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกขะ(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ)
และอุปายาส(ความคับแค้นใจ)
ดิ้นรนเพราะทุกข์เนื่องจากการเกิดในนรก เพราะทุกข์เนื่องจากการเกิดใน
กำเนิดเดรัจฉาน เพราะทุกข์เนื่องจากการเกิดในเปตวิสัย เพราะทุกข์เนื่องจากการ
เกิดในโลกมนุษย์ เพราะทุกข์เนื่องจากการถือกำเนิดในครรภ์ เพราะทุกข์เนื่องจาก
การอยู่ในครรภ์ เพราะทุกข์เนื่องจากการคลอดจากครรภ์ เพราะทุกข์ที่สืบเนื่องจาก
ผู้เกิด เพราะทุกข์ของผู้เกิดที่เนื่องมาจากผู้อื่น เพราะทุกข์ที่เกิดจากความพยายาม
ของตนเอง เพราะทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของผู้อื่น เพราะทุกข์ที่เกิดจากความ
ทุกข์กายทุกข์ใจ เพราะทุกข์ที่เกิดจากสังขาร เพราะทุกข์ที่เกิดจากความแปรผัน
ดิ้นรนเพราะทุกข์ที่เกิดจากโรคทางตา เพราะทุกข์ที่เกิดจากโรคทางหู เพราะ
ทุกข์ที่เกิดจากโรคทางจมูก เพราะทุกข์ที่เกิดจากโรคทางลิ้น เพราะทุกข์ที่เกิดจาก
โรคทางกาย เพราะทุกข์ที่เกิดจากโรคศีรษะ ... โรคหู ... โรคปาก ... โรคฟัน ... โรคไอ
... โรคหืด ... ไข้หวัด ... ไข้พิษ ... ไข้เชื่อมซึม ... โรคท้อง ... เป็นลมสลบ ... ลงแดง ...
จุกเสียด ... อหิวาตกโรค ... โรคเรื้อน ... ฝี ... กลาก ... มองคร่อ ... ลมบ้าหมู ...
หิดเปื่อย ... หิดด้าน ... หิด ... หูด ... โรคละลอก ... โรคดีซ่าน ... โรคเบาหวาน ...
โรคเริม ... โรคพุพอง ... โรคริดสีดวงทวาร ... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากดี ... ความ
เจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม ... ไข้สันนิบาต ... ความ
เจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล .... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการผลัดเปลี่ยน
อิริยาบถไม่ได้ส่วนกัน ... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความพากเพียรเกินกำลัง ....
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากผลกรรม ... ความหนาว ... ความร้อน ... ความหิว ...
ความกระหาย ... ปวดอุจจาระ ... ปวดปัสสาวะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ดิ้นรนเพราะทุกข์ที่เกิดจากสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน
ทุกข์เพราะมารดาตาย ...ทุกข์เพราะบิดาตาย ... ทุกข์เพราะพี่ชายน้องชายตาย ...
ทุกข์เพราะพี่สาวน้องสาวตาย ... ทุกข์เพราะบุตรตาย ... ทุกข์เพราะธิดาตาย ...
ความพินาศของญาติ ... โภคทรัพย์พินาศ ... ความเสียหายที่เกิดจากโรค ... สีลวิบัติ
... ทิฏฐิวิบัติ รวมความว่า เราเห็น ... กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก
คำว่า หมู่สัตว์ ในคำว่า หมู่สัตว์นี้ ผู้ตกไปในอำนาจตัณหาในภพทั้งหลาย
เป็นชื่อเรียกสัตว์
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า ผู้ตกไปในอำนาจตัณหา อธิบายว่า ผู้ตกไปในอำนาจตัณหา คือ
ไปตามอำนาจตัณหา ซ่านไปตามตัณหา จมลงในตัณหา ถูกตัณหาผลักให้ตกไป ถูก
ตัณหาครอบงำ มีจิตถูกตัณหายึดครอง
คำว่า ในภพทั้งหลาย ได้แก่ ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ รวมความว่า หมู่
สัตว์นี้ผู้ตกไปในอำนาจตัณหาในภพทั้งหลาย
คำว่า นรชนที่เลว ในคำว่า นรชนที่เลว ... ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช
อธิบายว่า นรชน ที่เลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย เพราะ
ประกอบด้วยกายกรรม ... วจีกรรม ... มโนกรรมที่เลว ... ปาณาติบาต ... อทินนาทาน
... กาเมสุมิจฉาจาร ... มุสาวาท ... ปิสุณาวาจา ... ผรุสวาจา ... สัมผัปปลาปะ ...
อภิชฌา ... พยาบาท ... มิจฉาทิฏฐิ ... สังขารทั้งหลาย .. กามคุณ ๕ ... นิวรณ์ ๕ ...
เจตนา ... ความปรารถนา ... ที่เลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า
ต่ำต้อย เพราะประกอบด้วยความตั้งใจที่เลว รวมความว่า นรชนที่เลว
คำว่า ใกล้ปากมัจจุราช ในคำว่า ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช อธิบายว่า
นรชนผู้ถึงมัจจุราช ประจวบกับมัจจุราช เข้าถึงมัจจุราช ถึงมาร ประจวบกับมาร
เข้าถึงมาร ถึงมรณะ ประจวบกับมรณะ เข้าถึงมรณะ ร่ำไร คือ รำพัน เศร้าโศก
ลำบากใจ คร่ำครวญ ตีอกพร่ำเพ้อ ถึงความหลงใหล ใกล้ปากมาร ใกล้ปากมรณะ
รวมความว่า นรชนที่เลว... ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้ยังไม่คลายจากตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา ... ธัมมตัณหา
คำว่า ในภพน้อยภพใหญ่ อธิบายว่า ในภพน้อยภพใหญ่ คือ ในกรรมวัฏ
และวิปากวัฏ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดใน
กามภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ใน
กรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในภพต่อไป
ในคติต่อไป ในการถือกำเนิดต่อไป ในปฏิสนธิต่อไป ในการบังเกิดของอัตภาพต่อไป
คำว่า ผู้ยังไม่คลายตัณหา ได้แก่ ผู้ยังไม่คลายตัณหา คือ ไม่ปราศจาก
ตัณหา ไม่สละตัณหา ไม่คายตัณหา ไม่เปลื้องตัณหา ไม่ละตัณหา ไม่สลัดทิ้งตัณหา
รวมความว่า ผู้ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
เราเห็นหมู่สัตว์นี้ ผู้ตกไปในอำนาจตัณหาในภพทั้งหลาย
กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก
นรชนที่เลว ผู้ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
ร่ำไรอยู่ใกล้ปากมัจจุราช
[๑๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พวกเธอจงดูหมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่
เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อยสิ้นกระแสแล้ว
นรชนเห็นโทษนี้แล้วก็อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย
พึงประพฤติไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ว่าด้วยความยึดถือ ๒ อย่าง
คำว่า พวกเธอจงดูหมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่ เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็น
ของเรา อธิบายว่า
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง
คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเรา
ด้วยอำนาจทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร
คือ วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วน เป็นแผนก กำหนดถือเอา ยึดถือ
ว่าเป็นของเรา ด้วยส่วนแห่งตัณหามีประมาณเท่าใด ย่อมยึดถือว่าเป็นของเราซึ่ง
วัตถุมีประมาณเท่านี้ว่า นี้ของเรา นั่นของเรา เท่านี้ของเรา ของเรามีปริมาณเท่านี้
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสหญิงชาย แพะ แกะ
ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี แคว้น
ชนบท กองพลรบ คลังหลวง แม้มหาปฐพีทั้งสิ้นย่อมยึดถือว่าเป็นของเราด้วย
อำนาจตัณหา ซึ่งจำแนกได้ ๑๐๘ นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจ
ตัณหา
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ๑ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ๒ ๑๐ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ๓ ๑๐
ทิฏฐิ การตกอยู่ในทิฏฐิ ความรกชัฏคือทิฏฐิ ความกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือ
ทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องผูกพันคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น ความยึดมั่น
ความยึดมั่นถือมั่น ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเดียรถีย์ ความถือขัดแย้ง ความ
ถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงว่าเป็นจริง
เห็นปานนี้จนถึงทิฏฐิ ๖๒ นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ

เชิงอรรถ :
๑ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ คือปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ -
(๑) ย่อมตามเห็นรูปเป็นอัตตา (๒) เห็นอัตตามีรูป (๓) เห็นรูปในอัตตา (๔) เห็นอัตตาในรูป (๕) ย่อมตาม
เห็นเวทนาเป็นอัตตา (๖) เห็นอัตตามีเวทนา (๗) เห็นเวทนาในอัตตา (๘) เห็นอัตตาในเวทนา (๙) ย่อม
ตามเห็นสัญญาเป็นอัตตา (๑๐) เห็นอัตตามีสัญญา (๑๑) เห็นสัญญาในอัตตา (๑๒) เห็นอัตตาในสัญญา
(๑๓) ย่อมตามเห็นสังขารเป็นอัตตา (๑๔) เห็นอัตตามีสังขาร (๑๕) เห็นสังขารในอัตตา (๑๖) เห็นอัตตาใน
สังขาร (๑๗) ย่อมตามเห็นวิญญาณเป็นอัตตา (๑๘) เห็นอัตตามีวิญญาณ (๑๙) เห็นวิญญาณในอัตตา
(๒๐) เห็นอัตตาในวิญญาณ (สํ.ข. ๑๗/๑๕๕/๑๔๙, ขุ.ม.อ. ๑๒/๑๕๘)
๒ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ คือ (๑) ทานที่ให้แล้วไม่มีผล (๒) การบูชาไม่มีผล (๓) การบวงสรวงไม่มีผล
(๔) กรรมที่ทำไว้ดีและทำไว้ไม่ดีไม่มีผล (๕) โลกนี้ไม่มี (๖) โลกหน้าไม่มี (๗) มารดาไม่มี (๘) บิดาไม่มี
(๙) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี (๑๐) สมณพราหมณ์ที่ดำเนินตนชอบ ปฏิบัติชอบ ผู้ทำให้แจ้งในโลกนี้และ
โลกหน้าด้วยตนเอง แล้วประกาศให้(ผู้อื่น)ทราบ ไม่มี (ขุ.จู. ๓๐/๑๔๓/๒๘๘)
๓ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ หมายถึงความเห็นผิดแล่นไปสุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง มี ๑๐ ประการ คือเห็นว่า
(๑) โลกเที่ยง (๒) โลกไม่เที่ยง (๓) โลกมีที่สุด (๔) โลกไม่มีที่สุด (๕) ชีวะกับสรีระ เป็นอย่างเดียวกัน (๖)
ชีวะกับสรีระ เป็นคนละอย่าง (๗) หลังจากตายไปตถาคตเกิดอีก (๘) หลังจากตายไปตถาคตไม่เกิดอีก (๙)
หลังจากตายไปตถาคตเกิดอีกก็ใช่ ไม่เกิดอีกก็ใช่ (๑๐) หลังจากตายไป ตถาคตเกิดอีกก็มิใช่ ไม่เกิดอีก
ก็มิใช่ (องฺ.ทสก. ๒๔/๙๓/๑๔๙-๑๕๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า พวกเธอจงดูหมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่ เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็น
ของเรา อธิบายว่า หมู่สัตว์ผู้หวาดระแวงว่าจะมีผู้แย่งชิงวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังถูกแย่งชิงไป ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นถูก
แย่งชิงไปแล้ว ย่อมดิ้นรนบ้าง หมู่สัตว์ผู้หวาดระแวงว่า จะมีความแปรผันไปแห่ง
วัตถุที่ตนยึดถือว่าเป็นของเรา ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรผันไป ย่อมดิ้นรน
บ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรผันไปแล้ว ย่อมดิ้นรนบ้าง คือ กระวนกระวาย กระเสือกกระสน
ทุรนทุราย หวั่นไหว สั่นเทา กระสับกระส่ายอยู่ พวกเธอจงดู คือ แลดู มองดู
เพ่งพินิจ พิจารณาดูหมู่สัตว์ ผู้กำลังดิ้นรนอยู่ คือ กระวนกระวาย กระเสือกกระสน
ทุรนทุราย หวั่นไหว สั่นเทา กระสับกระส่ายอยู่อย่างนี้ รวมความว่า พวกเธอจงดู
หมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่ เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
คำว่า เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อยสิ้นกระแสแล้ว อธิบายว่า หมู่สัตว์ผู้หวาด
ระแวงว่าจะมีผู้แย่งชิงวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลัง
ถูกแย่งชิงไป ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นถูกแย่งชิงไปแล้ว ย่อมดิ้นรนบ้าง
หมู่สัตว์ผู้หวาดระแวงว่าจะมีความแปรผันไปแห่งวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรผันไป ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรผันไป
แล้ว ย่อมดิ้นรนบ้าง คือกระวนกระวาย กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว
สั่นเทา กระสับกระส่ายอยู่ เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อย คือ น้ำนิดหน่อย น้ำแห้ง
ไป ถูกกา เหยี่ยว หรือนกยางโฉบลากขึ้นมาแทะกินก็ดิ้นรน กระวนกระวาย
กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว สั่นเทา กระสับกระส่ายอยู่ ฉะนั้น รวม
ความว่า เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อยสิ้นกระแสแล้ว
คำว่า นรชนเห็นโทษนี้แล้ว ... พึงประพฤติไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา อธิบาย
ว่า นรชนเห็นแล้ว คือ แลเห็นแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว
ทำให้แจ่มแจ้งแล้วซึ่งโทษนี้เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา รวมความว่า นรชนเห็น
โทษนี้แล้ว
คำว่า พึงประพฤติไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา อธิบายว่า
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง
คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเรา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่า
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ
นรชนละความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความยึด
ถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว ไม่ยึดถือตาว่าเป็นของเรา ไม่ยึดถือหูว่าเป็น
ของเรา ไม่ยึดถือจมูกว่าเป็นของเรา ไม่ยึดถือลิ้นว่าเป็นของเรา ไม่ยึดถือกายว่าเป็น
ของเรา ไม่ยึดถือใจว่าเป็นของเรา ไม่ยึดถือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น รูป ... เสียง ...
กลิ่น ... รส ... โผฏฐัพพะ ... ธรรมารมณ์ ... ตระกูล ... หมู่คณะ ... อาวาส ... ลาภ ...
ยศ ... สรรเสริญ ... สุข ... จีวร ... บิณฑบาต ... เสนาสนะ ... คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
... กามธาตุ ... รูปธาตุ ... อรูปธาตุ ... กามภพ ... รูปภพ ... อรูปภพ ... สัญญาภพ
... อสัญญาภพ ... เนวสัญญานาสัญญาภพ ... เอกโวการภพ๑ ... จตุโวการภพ๒ ...
ปัญจโวการภพ๓ ... อดีต ... อนาคต ... ปัจจุบัน ... รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น
รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งว่าเป็นของเรา พึงประพฤติ คือ
อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า นรชน
เห็นโทษนี้แล้ว ... พึงประพฤติไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
คำว่า ในภพทั้งหลาย ในคำว่า อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพ
ทั้งหลาย ได้แก่ ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ตัณหาตรัสเรียกว่า เครื่องเกี่ยวข้อง
คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๔
คำว่า อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย อธิบายว่า อย่าก่อ
ตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย คือ อย่าก่อ อย่าให้เกิด อย่าให้เกิดขึ้น
อย่าให้บังเกิด อย่าให้บังเกิดขึ้นซึ่งความพอใจ ความรัก ความใคร่ ความชอบใจ
รวมความว่า อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี

เชิงอรรถ :-
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๒
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๒
๓ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๒
๔ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
พวกเธอจงดูหมู่สัตว์ผู้กำลังดิ้นรนอยู่
เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อยสิ้นกระแสแล้ว
นรชนเห็นโทษนี้แล้ว ก็อย่าก่อตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในภพทั้งหลาย
พึงประพฤติไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
[๑๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
นักปราชญ์ พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน
กำหนดรู้ผัสสะแล้ว ก็ไม่ติดใจ
ติเตียนกรรมใดด้วยตน ก็ไม่ทำกรรมนั้น
ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินแล้ว
คำว่า พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน อธิบายว่า
คำว่า ส่วนสุด ได้แก่ ผัสสะ เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดแห่งผัสสะเป็นส่วน
สุดอีกด้านหนึ่ง อดีตเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อนาคตเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง สุขเวทนา
เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง นามเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง
รูปเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง อายตนะภายใน ๖ เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อายตนะภายนอก
๖ เป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง ความถือตัวเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดแห่งความถือ
ตัวเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง
คำว่า ความพอใจ ได้แก่ ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ ความกำหนัด
ด้วยอำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจความใคร่ ความทะยานอยาก
ด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจ
ความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่ ห้วงน้ำ
คือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือความใคร่ ความยึดถือด้วยอำนาจความใคร่
กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย
คำว่า พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน ได้แก่ พึงกำจัด คือ ขจัด
ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความพอใจในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน
รวมความว่า พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยผัสสะต่าง ๆ
คำว่า กำหนดรู้ผัสสะแล้ว ก็ไม่ติดใจ อธิบายว่า
คำว่า ผัสสะ๑ ได้แก่ จักขุสัมผัส(สัมผัสทางตา) โสตสัมผัส(สัมผัสทางหู)
ฆานสัมผัส(สัมผัสทางจมูก) ชิวหาสัมผัส(สัมผัสทางลิ้น) กายสัมผัส(สัมผัสทางกาย)
มโนสัมผัส(สัมผัสทางใจ) อธิวจนสัมผัส(สัมผัสที่เกิดทางมโนทวาร) ปฏิฆสัมผัส
(สัมผัสแห่งการกระทบใจ) สุขเวทนียผัสสะ(ผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา) ทุกข-
เวทนียผัสสะ(ผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา) อทุกขมสุขเวทนียผัสสะ(ผัสสะเป็นที่ตั้ง
แห่งอทุกขมสุขเวทนา) ผัสสะที่เป็นกุศล ผัสสะที่เป็นอกุศล ผัสสะที่เป็นอัพยากฤต
ผัสสะที่เป็นกามาวจร ผัสสะที่เป็นรูปาวจร ผัสสะที่เป็นอรูปาวจร สุญญตผัสสะ
อนิมิตตผัสสะ อัปปณิหิตผัสสะ ผัสสะที่เป็นโลกิยะ ผัสสะที่เป็นโลกุตตระ ผัสสะที่
เป็นอดีต ผัสสะที่เป็นอนาคต ผัสสะที่เป็นปัจจุบัน ผัสสะ ความถูกต้อง กิริยาที่
ถูกต้อง ภาวะที่ถูกต้องเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ผัสสะ

ว่าด้วยปริญญา ๓
คำว่า กำหนดรู้ผัสสะแล้ว อธิบายว่า กำหนดรู้ผัสสะด้วยปริญญา ๓ คือ
(๑) ญาตปริญญา(การกำหนดรู้ขั้นรู้จัก) (๒) ตีรณปริญญา(การกำหนดรู้ขั้นพิจารณา)
(๓) ปหานปริญญา(การกำหนดรู้ขั้นละ)
ญาตปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์รู้จักผัสสะ คือ รู้ เห็นว่า “นี้จักขุสัมผัส นี้โสตสัมผัส นี้ฆานสัมผัส
นี้ชิวหาสัมผัส นี้กายสัมผัส นี้มโนสัมผัส นี้อธิวจนสัมผัส นี้ปฏิฆสัมผัส นี้ผัสสะเป็น
ที่ตั้งแห่งสุขเวทนา นี้ผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา นี้ผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุข-
เวทนา นี้ผัสสะที่เป็นกุศล นี้ผัสสะที่เป็นอกุศล นี้ผัสสะที่เป็นอัพยากฤต นี้ผัสสะที่

เชิงอรรถ :
๑ ผัสสะ หมายถึงความสัมผัสอารมณ์ที่มากระทบ เช่น ตากระทบกับรูป หรือตาเห็นรูป เรียกว่า จักขุสัมผัส
เป็นต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
เป็นกามาวจร นี้ผัสสะที่เป็นรูปาวจร นี้ผัสสะที่เป็นอรูปาวจร นี้สุญญตผัสสะ
นี้อนิมิตตผัสสะ นี้อัปปณิหิตผัสสะ นี้ผัสสะที่เป็นโลกิยะ นี้ผัสสะที่เป็นโลกุตตระ
นี้ผัสสะที่เป็นอดีต นี้ผัสสะที่เป็นอนาคต นี้ผัสสะที่เป็นปัจจุบัน” นี้ชื่อว่าญาตปริญญา
ตีรณปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์ทำสิ่งที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้แล้ว พิจารณาผัสสะ คือ
พิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร
เป็นของลำบาก เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น(บังคับไม่ได้) เป็นของทรุดโทรม เป็นเสนียด
เป็นอุปัททวะ เป็นภัย เป็นอุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของผุพัง เป็นของไม่ยั่งยืน
เป็นของไม่มีที่ต้านทาน เป็นของไม่มีที่ซ่อนเร้น เป็นของไม่มีที่พึ่ง เป็นของว่าง
เป็นของเปล่า เป็นของสูญ เป็นอนัตตา เป็นของมีโทษ เป็นของแปรผันไปเป็น
ธรรมดา เป็นของไม่มีแก่นสาร เป็นเหตุแห่งความลำบาก เป็นดุจเพชฌฆาต เป็น
ของปราศจากความเจริญ เป็นของมีอาสวะ เป็นของที่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็น
เหยื่อแห่งมาร มีชาติ(ความเกิด)เป็นธรรมดา มีชรา(ความแก่)เป็นธรรมดา
มีพยาธิ(ความเจ็บป่วย)เป็นธรรมดา มีมรณะเป็นธรรมดา มีโสกะ(ความเศร้าโศก)
ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกขะ(ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) อุปายาส
(ความคับแค้นใจ)เป็นธรรมดา มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา เป็นเหตุเกิดทุกข์
ตั้งอยู่ไม่ได้ หาความแช่มชื่นไม่ได้ เป็นโทษ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป นี้ชื่อว่า
ตีรณปริญญา
ปหานปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์ครั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในผัสสะ สมจริงดังที่พระ
ผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความพอใจในผัสสะทั้งหลายเสีย ผัสสะนั้น เธอทั้งหลายละได้เด็ดขาดแล้วอย่างนี้
ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้
ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้” นี้ชื่อว่าปหานปริญญา
คำว่า กำหนดรู้ผัสสะแล้ว ได้แก่ กำหนดรู้ผัสสะด้วยปริญญา ๓ อย่าง
เหล่านี้แล้ว


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่ติดใจ อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความติดใจ ได้แก่ ความ
กำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑
ความติดใจนี้ ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นเรียกว่า ผู้ไม่ติดใจ ผู้นั้นไม่ติดใจ
คือ ไม่ยินดี ไม่สยบ ไม่หมกมุ่นในรูป...เสียง ... กลิ่น ... รส ... โผฏฐัพพะ ... ตระกูล ...
หมู่คณะ ... อาวาส ... ลาภ ... ยศ ... สรรเสริญ ... สุข ... จีวร ... บิณฑบาต ... เสนาสนะ
... คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ... กามธาตุ ... รูปธาตุ ... อรูปธาตุ ... กามภพ ... รูปภพ
... อรูปภพ ... สัญญาภพ ... อสัญญาภพ ... เนวสัญญานาสัญญาภพ ... เอกโวการภพ
... จตุโวการภพ ... ปัญจโวการภพ ...อดีต ... อนาคต ... ปัจจุบัน ... รูปที่ได้เห็น
เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ได้แก่ เป็นผู้
คลายความติดใจแล้ว ปราศจากความติดใจแล้ว สละความติดใจแล้ว คายความติดใจ
แล้ว ปล่อยความติดใจแล้ว ละความติดใจแล้ว สลัดทิ้งความติดใจแล้ว คือเป็นผู้
คลายความกำหนัดแล้ว ปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อย
ราคะแล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว เป็นผู้หมดความอยากแล้ว ดับแล้ว
เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า กำหนดรู้ผัสสะแล้วก็ไม่ติดใจ
คำว่า ใด ในคำว่า ติเตียนกรรมใดด้วยตนก็ไม่ทำกรรมนั้น ได้แก่ กรรมใด
คำว่า ติเตียน (กรรม)ใดด้วยตน อธิบายว่า นักปราชญ์ติเตียนตนเพราะเหตุ
๒ อย่าง คือ (๑) เพราะทำ (๒) เพราะไม่ทำ
นักปราชญ์ติเตียนตนเพราะทำและเพราะไม่ทำ เป็นอย่างไร
คือ นักปราชญ์ย่อมติเตียนตนว่า เราทำกายทุจริต ไม่ทำกายสุจริต เราทำวจี
ทุจริต ไม่ทำวจีสุจริต เราทำมโนทุจริต ไม่ทำมโนสุจริต คือ นักปราชญ์ย่อมติเตียน
ตนว่า เราทำปาณาติบาต(การฆ่าสัตว์) ไม่ทำความงดเว้นจากปาณาติบาต เราทำ
อทินนาทาน (การลักทรัพย์) ไม่ทำความงดเว้นจากอทินนาทาน เราทำกาเมสุมิจฉา-
จาร(ประพฤติผิดในกาม) ไม่ทำความงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เราทำมุสาวาท


เชิงอรรถ :
๑ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
(การพูดเท็จ) ไม่ทำความงดเว้นจากมุสาวาท เราทำปิสุณาวาจา(การพูดส่อเสียด)
ไม่ทำความงดเว้น จากปิสุณาวาจา เราทำผรุสวาจา (การพูดหยาบคาย) ไม่ทำ
ความงดเว้นจากผรุสวาจา เราทำสัมผัปปลาปะ(การพูดเพ้อเจ้อ) ไม่ทำความงดเว้น
จากสัมผัปปลาปะ เราทำอภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้ของเขา) ไม่ทำอนภิชฌา เรา
ทำพยาบาท(ความคิดปองร้าย) ไม่ทำอัพยาบาท เราทำมิจฉาทิฏฐิ(ความเห็นผิด)
ไม่ทำสัมมาทิฏฐิ นักปราชญ์ชื่อว่าติเตียนตนเพราะทำและเพราะไม่ทำ เป็นอย่างนี้
อีกนัยหนึ่ง นักปราชญ์ย่อมติเตียนตนว่า เราไม่รักษาศีลให้บริบูรณ์ ไม่สำรวม
ในอินทรีย์ทั้ง ๖ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ไม่ประกอบความเพียรเครื่อง
ตื่นอยู่เสมอ ไม่หมั่นประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่เจริญสติปัฏฐาน ๔ ไม่เจริญ
สัมมัปปธาน ๔ ไม่เจริญอิทธิบาท ๔ ไม่เจริญอินทรีย์ ๕ ไม่เจริญพละ ๕ ไม่เจริญ
โพชฌงค์ ๗ ไม่เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่กำหนดรู้ทุกข์ ไม่ละสมุทัย ไม่เจริญ
มรรค ไม่ทำให้แจ้งนิโรธ นักปราชญ์ชื่อว่าติเตียนตนเพราะทำและเพราะไม่ทำ เป็นอย่างนี้
นักปราชญ์ไม่ทำ คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นซึ่ง
กรรมที่ติเตียนตน ด้วยอาการอย่างนี้ รวมความว่า นักปราชญ์ติเตียนกรรมใดด้วย
ตนก็ไม่ทำกรรมนั้น
คำว่า นักปราชญ์ ... ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินแล้ว อธิบายว่า
คำว่า ความติด ได้แก่ ความติด ๒ อย่าง คือ (๑) ความติดด้วยอำนาจตัณหา
(๒) ความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความติดด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าความ
ติดด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
คำว่า นักปราชญ์ ได้แก่ นักปราชญ์ คือ ผู้เป็นบัณฑิต ผู้มีปัญญา ผู้มีปัญญา
เครื่องตรัสรู้ ผู้มีญาณ ผู้มีปัญญาแจ่มแจ้ง ผู้มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
นักปราชญ์ละความติดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ
ได้แล้ว ไม่ติด คือ ไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติดในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส
โผฏฐัพพะที่รับรู้และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง คือ เป็นผู้ไม่ติดแล้ว ไม่ติดพันแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
ไม่เข้าไปติดแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว มีใจเป็น
อิสระ(จากความติด)อยู่ รวมความว่า นักปราชญ์ ... ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและ
ได้ยินแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
นักปราชญ์ พึงกำจัดความพอใจในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน
กำหนดรู้ผัสสะแล้ว ก็ไม่ติดใจ
ติเตียนกรรมใดด้วยตน ก็ไม่ทำกรรมนั้น
ไม่ติดในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินแล้ว
[๑๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีกำหนดรู้สัญญาแล้ว ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย
พึงข้ามโอฆะได้ ถอนลูกศรได้แล้ว ไม่ประมาท
ประพฤติอยู่ ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า
คำว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว ... พึงข้ามโอฆะได้ อธิบายว่า
คำว่า สัญญา ได้แก่ กามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา เนกขัมม-
สัญญา อัพยาบาทสัญญา อวิหิงสาสัญญา รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา
รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธัมมสัญญา ความจำได้ กิริยาที่จำได้ ภาวะที่จำได้
เห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่าสัญญา
คำว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว ได้แก่ กำหนดรู้สัญญา ด้วยปริญญา ๓ อย่าง
คือ (๑) ญาตปริญญา (๒) ตีรณปริญญา (๓) ปหานปริญญา
ญาตปริญญา เป็นอย่างไร
คือ มุนีรู้จักสัญญา คือรู้ เห็นว่า “นี้กามสัญญา นี้พยาบาทสัญญา นี้วิหิงสา-
สัญญา นี้เนกขัมมสัญญา นี้อัพยาบาทสัญญา นี้อวิหิงสาสัญญา นี้รูปสัญญา
นี้สัททสัญญา นี้คันธสัญญา นี้รสสัญญา นี้โผฏฐัพพสัญญา นี้ธัมมสัญญา”
นี้ชื่อว่าญาตปริญญา
ตีรณปริญญา เป็นอย่างไร
คือ มุนีทำสิ่งที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้แล้ว พิจารณาสัญญา คือ พิจารณาโดย
ความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นเสนียด เป็นอุปัททวะ เป็นภัย
เป็นอุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของผุพัง ... เป็นเหตุเกิดทุกข์ ตั้งอยู่ไม่ได้ หาความ
แช่มชื่นไม่ได้ เป็นโทษ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป นี้ชื่อว่าตีรณปริญญา
ปหานปริญญา เป็นอย่างไร
คือ มุนีครั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้ ก็ย่อมละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีก ซึ่งความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในสัญญา สมจริงดังที่พระ
ผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละความกำหนัดด้วยอำนาจ
ความพอใจในสัญญา สัญญานั้น เธอทั้งหลายละได้เด็ดขาดแล้วอย่างนี้ ตัดราก
ถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ นี้ชื่อว่าปหานปริญญา
คำว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว ได้แก่ กำหนดรู้สัญญาด้วยปริญญา ๓ อย่าง
เหล่านี้แล้ว
คำว่า พึงข้ามโอฆะได้ อธิบายว่า พึงข้าม คือ ข้ามไป ข้ามพ้น ก้าวล่วง
ล่วงเลย กาโมฆะ(ห้วงน้ำคือกาม) ภโวฆะ(ห้วงน้ำคือภพ) ทิฏโฐฆะ(ห้วงน้ำคือทิฏฐิ)
อวิชโชฆะ(ห้วงน้ำคืออวิชชา) รวมความว่า กำหนดรู้สัญญาแล้ว ... พึงข้ามโอฆะได้
คำว่า มุนี ... ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย อธิบายว่า
คำว่า ความยึดถือ ได้แก่ ความยึดถือ ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดถือด้วย
อำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยอำนาจ
ตัณหา ... นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ...
ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ผู้ที่ประกอบด้วยญาณนั้น
ชื่อว่า มุนี คือ ผู้บรรลุโมนญาณแล้ว โมเนยยธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นมุนี) ๓ ประการ
คือ (๑) โมเนยยธรรมทางกาย (๒) โมเนยยธรรมทางวาจา (๓) โมเนยยธรรมทางใจ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
โมเนยยธรรมทางกาย เป็นอย่างไร
คือ การละกายทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย กายสุจริต ๓ อย่าง
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย ญาณมีกายเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย
กายปริญญา(การกำหนดรู้กาย) ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย มรรคที่สหรคตด้วย
ปริญญา ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ในกาย ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย ความดับแห่งกายสังขาร การบรรลุจตุตถฌาน
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย
โมเนยยธรรมทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ การละวจีทุจริต ๔ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา วจีสุจริต ๔ อย่าง
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา ญาณมีวาจาเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา
วาจาปริญญา(การกำหนดรู้วาจา) ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา มรรคที่สหรคตด้วย
ปริญญา ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจใน
วาจา ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา ความดับแห่งวจีสังขาร การบรรลุทุติยฌาน
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา
โมเนยยธรรมทางใจ เป็นอย่างไร
คือ การละมโนทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ มโนสุจริต ๓ อย่าง
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ ญาณมีใจเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ จิตต-
ปริญญา(การกำหนดรู้จิต) ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ มรรคที่สหรคตด้วยปริญญา
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในจิต ชื่อว่า
โมเนยยธรรมทางใจ ความดับแห่งจิตตสังขาร การบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ ชื่อว่า
โมเนยยธรรมทางใจ นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลผู้เป็นมุนีทางกาย
เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ผู้ไม่มีอาสวะ
ว่าเป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยโมเนยยธรรม ละกิเลสทั้งปวงได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลผู้เป็นมุนีทางกาย
เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ผู้ไม่มีอาสวะ
ว่าเป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยโมเนยยธรรม ล้างบาป๑ ได้แล้ว๒
มุนีผู้ประกอบด้วยโมเนยยธรรม ๓ ประการเหล่านี้ มี ๖ จำพวก คือ (๑) อาคาร
มุนี (๒) อนาคารมุนี (๓) เสขมุนี (๔) อเสขมุนี (๕) ปัจเจกมุนี (๖) มุนิมุนี๓
อาคารมุนี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้ครองเรือน เห็นทาง(นิพพาน)แล้ว รู้แจ้งหลักคำสอนแล้ว เหล่านี้
ชื่อว่าอาคารมุนี
อนาคารมุนี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้เป็นบรรพชิต เห็นทาง(นิพพาน)แล้ว รู้แจ้งหลักคำสอนแล้ว
เหล่านี้ชื่อว่าอนาคารมุนี
พระเสขะ ๗ จำพวก ชื่อว่าเสขมุนี
พระอรหันต์ทั้งหลาย ชื่อว่าอเสขมุนี
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าปัจเจกมุนี

เชิงอรรถ :
๑ ล้างบาป หมายถึงล้างบาปด้วยมัคคญาณ (ขุ.ม.อ. ๑๔/๑๗๓)
๒ ขุ.อิติ. ๒๕/๖๗/๒๘๒, ขุ.จู. ๓๐/๒๑/๗๗
๓ มุนิมุนี พระอรรถกถาจารย์แก้ว่า มุนิมุนโย วุจฺจนฺติ ตถาคตาติ พระตถาคตท่านเรียกว่า มุนิมุนี
เพราะมีความหมาย ๘ อย่าง คือ
(๑) พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือเสด็จมาทรงบำเพ็ญพุทธจริยา
(๒) พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น คือทรงทำลายอวิชชา สละปวงกิเลสเสด็จไปเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าองค์
ก่อน ๆ
(๓) พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ คือทรงมีญาณหยั่งรู้เข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย
(๔) พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มันเป็น คือ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ หรือปฏิจจสมุปบาท
(๕) พระผู้ทรงเห็นอย่างนั้น คือทรงรู้เท่าทันสรรพอารมณ์ที่ปรากฏแก่หมู่สัตว์ทั้งเทพและมนุษย์ ทั้งสัตว์โลก
เทพและพรหมได้ประสบและพากันแสวงหา
(๖) พระผู้ตรัสอย่างนั้น หรือมีพระวาจาแท้จริงถูกต้องไม่เป็นอย่างอื่น
(๗) พระผู้ทำอย่างนั้น คือตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น
(๘) พระผู้เป็นยิ่ง คือทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือกว่าสรรพสัตว์ตลอดถึงพระพรหมที่สูงสูด เป็นผู้เห็นถ่องแท้
ทรงอำนาจเป็นราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นเทพแห่งเทพ เป็นอินทร์เหนือพระอินทร์ เป็นพรหมเหนือ
พรหม ไม่มีใครอาจจะวัดหรือจะทัดเทียมพระองค์ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ
(ขุ.ม.อ. ๑๔/๑๗๓-๑๘๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสเรียกว่ามุนิมุนี
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
บุคคลโง่เขลาไม่รู้อะไร เพียงแต่นั่งนิ่ง ๆ หาชื่อว่าเป็นมุนีไม่
ส่วนบุคคลผู้ฉลาด เลือกชั่งเอาแต่สิ่งที่ดี ละทิ้งสิ่งที่ชั่ว
เหมือนบุคคลชั่งสิ่งของ จึงจะชื่อว่าเป็นมุนีแท้
ผู้ที่รู้โลกทั้ง ๒ ก็เรียกว่า เป็นมุนี (เช่นกัน)๑
ผู้รู้ธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ
ทั้งภายในและภายนอก ในโลกทั้งปวง
เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง๒
และตัณหาดุจตาข่าย๓ได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๔
คำว่า ความติด ได้แก่ ความติด ๒ อย่าง คือ (๑) ความติดด้วยอำนาจตัณหา
(๒) ความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความติดด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าความ
ติดด้วยอำนาจทิฏฐิ
มุนีละความติดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ
ได้แล้ว ไม่ติด คือ ไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย คือ เป็นผู้ไม่ติดแล้ว
ไม่ติดพันแล้ว ไม่เข้าไปติดแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้อง
แล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากความติด)อยู่ รวมความว่า มุนีไม่เข้าไปติดในความยึดถือ
ทั้งหลาย
คำว่า ถอนลูกศรได้แล้ว ไม่ประมาท ประพฤติอยู่ อธิบายว่า

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ธ. ๒๕/๒๖๘-๒๖๙/๖๓, ขุ.จู. ๓๐/๒๑/๗๘
๒ เครื่องข้อง ๗ อย่าง คือโลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และทุจริต
๓ ตาข่าย มี ๒ อย่างคือตัณหาและทิฏฐิ
๔ ขุ.สุ. ๒๕/๕๓๓/๔๓๘, ขุ.จู. ๓๐/๒๑/๗๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ลูกศร ได้แก่ ลูกศร ๗ ชนิด คือ (๑) ลูกศรคือราคะ (๒) ลูกศรคือโทสะ
(๓) ลูกศรคือโมหะ (๔) ลูกศรคือมานะ (๕) ลูกศรคือทิฏฐิ (๖) ลูกศรคือโสกะ
(๗) ลูกศรคือความสงสัย
ลูกศรเหล่านั้นผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า
ผู้ถอนลูกศรได้แล้ว คือ ถอนลูกศรออกแล้ว ดึงลูกศรขึ้นแล้ว ดึงลูกศรออกแล้ว
ฉุดลูกศรออกแล้ว กระชากลูกศรออกแล้ว สละลูกศรแล้ว คายลูกศรแล้ว ปล่อย
ลูกศรแล้ว ละลูกศรแล้ว สลัดทิ้งลูกศรแล้ว เป็นผู้หมดความอยาก ดับแล้ว เย็นแล้ว
มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า ถอนลูกศรได้แล้ว
คำว่า ประพฤติอยู่ ได้แก่ ประพฤติอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป

ว่าด้วยความไม่ประมาท
คำว่า ไม่ประมาท อธิบายว่า ผู้ทำด้วยความเอื้อเฟื้อ ทำติดต่อ ทำไม่หยุด
ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ละความพอใจ ไม่ทอดธุระ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรม
ทั้งหลาย
คือ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความไม่
ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ความเพียรแรงกล้า ความ
ตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า “เราพึงทำสีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์
โดยอุบายอย่างไร หรือพึงใช้ปัญญาตามรักษาสีลขันธ์ที่บริบูรณ์ในข้อนั้น ๆ โดย
อุบายอย่างไร” ดังนี้ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย ... ว่าเราพึงทำสมาธิขันธ์
ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์โดยอุบายอย่างไร หรือพึงใช้ปัญญาตามรักษาสมาธิขันธ์ที่
บริบูรณ์ในข้อนั้นๆ โดยอุบายอย่างไรดังนี้ ... ว่าเราพึงทำปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์
ให้บริบูรณ์โดยอุบายอย่างไร หรือพึงใช้ปัญญาตามรักษาปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์ในข้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
นั้น ๆ โดยอุบายอย่างไร ดังนี้ ... ว่าเราพึงทำวิมุตติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์
โดยอุบายอย่างไร หรือพึงใช้ปัญญาตามรักษาวิมุตติขันธ์ในข้อนั้น ๆ โดยอุบาย
อย่างไร ดังนี้ ... คือ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน
ความไม่ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ความเพียร
แรงกล้า ความตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า เราพึงทำวิมุตติญาณทัสสน-
ขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ ให้บริบูรณ์โดยอุบายอย่างไร หรือพึงใช้ปัญญาตามรักษาวิมุตติ-
ญาณทัสสนขันธ์ที่บริบูรณ์ในข้อนั้น ๆ โดยอุบายอย่างไร ดังนี้ ชื่อว่าไม่ประมาทใน
กุศลธรรมทั้งหลาย คือ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน
ความไม่ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ความเพียร
แรงกล้า ความตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า “เราพึงกำหนดรู้ทุกข์ที่ยังมิได้
กำหนดรู้ พึงละกิเลสที่ยังมิได้ละ พึงเจริญมรรคที่ยังมิได้เจริญ หรือพึงทำให้แจ้ง
นิโรธที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง โดยอุบายอย่างไร”ดังนี้ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรม
ทั้งหลาย รวมความว่า ถอนลูกศรได้แล้ว ไม่ประมาท ประพฤติอยู่
คำว่า ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า อธิบายว่า ไม่หวังโลกนี้ คืออัตภาพ
ของตน ไม่หวังโลกหน้า คืออัตภาพของผู้อื่น ไม่หวังโลกนี้ คือรูป เวทนา สัญญา
สังขาร และวิญญาณของตน ไม่หวังโลกหน้า คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร และ
วิญญาณของผู้อื่น ไม่หวังโลกนี้ คืออายตนะภายใน ๖ ไม่หวังโลกหน้า คืออายตนะ
ภายนอก ๖ ไม่หวังโลกนี้ คือมนุษยโลก ไม่หวังโลกหน้า คือเทวโลก ไม่หวังโลกนี้
คือ กามธาตุ ไม่หวังโลกหน้า คือรูปธาตุ อรูปธาตุ ไม่หวังโลกนี้ คือกามธาตุ
รูปธาตุ ไม่หวังโลกหน้า คืออรูปธาตุ ไม่หวัง คือ ไม่ต้องการ ไม่ยินดี ไม่ปรารถนา
ไม่มุ่งหมาย ไม่มุ่งหวังคติ การถือกำเนิด ปฏิสนธิ ภพ สงสาร หรือ วัฏฏะต่อไป
รวมความว่า ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีกำหนดรู้สัญญาแล้ว ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย
พึงข้ามโอฆะได้ ถอนลูกศรได้แล้ว ไม่ประมาท
ประพฤติอยู่ ย่อมไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า
คุหัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๒ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส๑
อธิบายทุฏฐัฏฐกสูตร
ว่าด้วยเดียรถีย์ประทุษร้ายมุนี
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายทุฏฐัฏฐกสูตร ดังต่อไปนี้
[๑๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย
บุคคลเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริง ก็กล่าวร้ายด้วย
แต่มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิตในที่ไหนๆ
คำว่า เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย อธิบายว่า เดียรถีย์เหล่านั้น
มีใจชั่ว คือมีใจร้าย มีใจเห็นผิด มีใจหลงผิด มีใจขุ่น มีใจขุ่นเคือง มีใจอาฆาต
มีใจอาฆาตแค้น กล่าวร้าย คือ กล่าวติเตียนพระผู้มีพระภาค และภิกษุสงฆ์ด้วย
เรื่องไม่จริง รวมความว่า เดียรถีย์บางพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย
คำว่า บุคคลเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริง ก็กล่าวร้ายด้วย อธิบายว่า พวกคนที่
เชื่อถือเดียรถีย์เหล่านั้น กำหนด น้อมใจเชื่อ เข้าใจว่าจริง สำคัญว่าจริง เข้าใจว่า
เป็นจริง สำคัญว่าเป็นจริง เข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น สำคัญว่าเป็นเช่นนั้น เข้าใจว่า
จริงแท้ สำคัญว่าจริงแท้ เข้าใจว่าไม่ผิด สำคัญว่าไม่ผิด จึงกล่าวร้าย คือ กล่าว
ติเตียนพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ด้วยเรื่องไม่จริง รวมความว่า บุคคลเหล่าอื่น
เข้าใจว่าจริง ก็กล่าวร้ายด้วย
คำว่า แต่มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น อธิบายว่า คำกล่าวร้ายนั้น
เกิดแล้ว คือ เกิดขึ้นแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดขึ้นแล้ว ปรากฏแล้ว ได้แก่ เสียง
ประกาศจากบุคคลอื่น คำด่า คำติเตียนพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ด้วยเรื่อง
ไม่จริง รวมความว่า คำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๗๘๗-๗๙๔/๔๘๘-๔๙๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า มุนี ในคำว่า มุนีไม่ใส่ใจ อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ คือ
ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ... ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
ผู้ที่ประกอบด้วยญาณนั้น ชื่อว่ามุนี คือ ผู้บรรลุโมนญาณ ... ก้าวล่วงกิเลสเครื่อง
ข้องและตัณหาดุจตาข่ายแล้ว ผู้นั้นชื่อว่ามุนี๑ ผู้ใดใส่ใจคำกล่าวร้าย ผู้นั้นก็ใส่ใจคำ
กล่าวร้าย ด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ
๑. ผู้กล่าวร้าย ย่อมใส่ใจคำกล่าวร้าย เพราะตนเองเป็นผู้กล่าวร้าย
๒. ผู้ถูกเขากล่าวร้าย ถูกเขากล่าวติเตียน ย่อมโกรธ พยาบาท ตอบโต้
ทำความโกรธ ความเคือง ความชิงชังให้ปรากฏว่า เราไม่ใช่ผู้พูด ผู้ใด
ใส่ใจคำกล่าวร้าย ผู้นั้นก็ย่อมใส่ใจคำกล่าวร้าย ด้วยเหตุ ๒ อย่างเหล่านี้
มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้าย ด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ
๑. มุนีผู้ไม่กล่าวร้าย ย่อมไม่ใส่ใจคำกล่าวร้าย เพราะตนเองมิใช่เป็นผู้กล่าว
ร้าย
๒. มุนีผู้ถูกเขากล่าวร้าย ถูกเขาติเตียน ก็ย่อมไม่โกรธ ไม่พยาบาท
ไม่ตอบโต้ ไม่ทำความโกรธ ความเคือง ความชิงชังให้ปรากฏว่า เราไม่
ใช่ผู้พูด มุนีไม่ใส่ใจ คือ ไม่สนใจ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นคำกล่าวร้าย
ด้วยเหตุ ๒ อย่างเหล่านี้
รวมความว่า แต่มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น

ว่าด้วยกิเลสเครื่องตรึงจิต ๓ ประการ
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิตใน
ที่ไหน ๆ ได้แก่ เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น ภาวะที่มีจิตถูกโทสะกระทบก็ดี มีกิเลสเครื่องตรึงจิตเกิดขึ้นก็ดี
ไม่มีแก่มุนี กิเลสเครื่องตรึงจิต ๕ อย่างก็ดี กิเลสเครื่องตรึงจิต ๓ อย่าง คือ (๑) ราคะ
(๒) โทสะ (๓) โมหะ ก็ดี จึงไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ คือ กิเลสเครื่อง
ตรึงจิตนั้น มุนีละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้น
ไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ มุนี ดูรายละเอียดข้อ ๑๔/๖๘-๗๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ในที่ไหน ๆ ได้แก่ ในที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก
หรือทั้งภายในและภายนอก รวมความว่า เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิต
ในที่ไหน ๆ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีภาคจึงตรัสว่า
เดียรถีย์บางจำพวกมีใจชั่วกล่าวร้าย
บุคคลเหล่าอื่นเข้าใจว่าจริง ก็กล่าวร้ายด้วย
แต่มุนีไม่ใส่ใจคำกล่าวร้ายที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น มุนีจึงไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิตในที่ไหน ๆ
[๑๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ผู้ไปตามความพอใจ ตั้งอยู่ในความชอบใจ
พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า
แต่เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น

ว่าด้วยทิฏฐิ
คำว่า พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า อธิบายว่า เดียรถีย์ มีทิฏฐิ
อย่างนี้ มีความพอใจ มีความชอบใจ มีลัทธิ มีอัธยาศัย มีความประสงค์อย่างนี้ว่า
“พวกเราฆ่านางสุนทรีปริพาชิกาแล้ว ประกาศโทษพวกสมณศากยบุตร ก็จักเอา
ลาภ ยศ สักการะและสัมมานะกลับคืนมาได้ด้วยวิธีการอย่างนี้” พวกเดียรถีย์
เหล่านั้นไม่สามารถก้าวล่วงทิฏฐิ ความถูกใจ ความพอใจ ลัทธิ อัธยาศัย ความ
ประสงค์ของตนได้ โดยที่แท้ความเสื่อมยศนั้นนั่นแหละก็กลับย้อนมาถึงเดียรถีย์
เหล่านั้น รวมความว่า พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ผู้ที่มีวาทะอย่างนี้ว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ”
พึงล่วง ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นทิฏฐิ ความถูกใจ ความพอใจ ลัทธิ อัธยาศัย
ความประสงค์ของตนได้อย่างไร ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะเขาสมาทาน ถือ ยึดมั่น
ถือมั่น ติดใจ น้อมใจเชื่อทิฏฐินั้น ให้เพียบพร้อมอย่างนั้น รวมความว่า พึงก้าวล่วง
ทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า อย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง ผู้มีวาทะอย่างนี้ว่า “โลกไม่เที่ยง ... โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ...
ชีวะ๑กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ... ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ... หลังจากตาย
แล้วตถาคต๒เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้ว
ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่จะว่าไม่
เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ”๓ พึงล่วง ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้น
ทิฏฐิ ความถูกใจ ความพอใจ ลัทธิ อัธยาศัย ความประสงค์ของตนได้อย่างไรเล่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาสมาทาน ถือ ยึดมั่น ถือมั่น ติดใจ น้อมใจเชื่อทิฏฐินั้น
ให้เพียบพร้อมอย่างนั้น รวมความว่า พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า
อย่างนี้บ้าง
คำว่า ผู้ไปตามความพอใจ ในคำว่า ผู้ไปตามความพอใจ ตั้งอยู่ในความ
ชอบใจ อธิบายว่า ผู้นั้นย่อมไป ออกไป ถูกพาไป ถูกนำไป ด้วยทิฏฐิของตน ความ
ถูกใจของตน ความพอใจของตน ลัทธิของตน ได้แก่ ผู้นั้นย่อมไป ออกไป ถูกพาไป
ถูกนำไปด้วยทิฏฐิของตน ความถูกใจของตน ความพอใจของตน ลัทธิของตน
เหมือนมนุษย์ย่อมไป ออกไป ถูกพาไป ถูกนำไป ด้วยยานพาหนะ คือ ช้าง รถ ม้า
โค แพะ แกะ อูฐ หรือลา ฉะนั้น รวมความว่า ผู้ไปตามความพอใจ
คำว่า ตั้งอยู่ในความชอบใจ ได้แก่ ตั้งอยู่ คือ ตั้งมั่น ติด ติดแน่น ติดใจ
น้อมใจเชื่อในทิฏฐิของตน ความถูกใจของตน ความพอใจของตน ลัทธิของตน
รวมความว่า ผู้ไปตามความพอใจ ตั้งอยู่ในความชอบใจ
คำว่า เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม ได้แก่ ทำตนให้เพียบพร้อม คือ ทำให้บริบูรณ์
ไม่ให้พร่อง ให้เลิศ ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด อธิบายว่า
ทำตนให้เพียบพร้อม บริบูรณ์ ไม่ให้พร่อง ให้เลิศ ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด
ประเสริฐสุด คือ ทำทัศนะนั้นให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้นว่า
พระศาสดาพระองค์นี้เป็นสัพพัญญู พระธรรมนี้พระผู้มีพระภาคตรัสสอนไว้ดีแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ชีวะ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณอมตะหรืออาตมัน (The Soul) (ตามนัย อภิ. ปญฺจ.อ. ๑/๑/๑๒๙)
๒ ตถาคต ในที่นี้ เป็นคำที่ลัทธิอื่น ๆ ใช้กันมาก่อนพุทธกาล หมายถึง อัตตา ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า
อนึ่ง อรรถกถาหมายถึง สัตตะ (Being) (ที.สี.อ. ๖๕/๑๐๘, ขุ.ม.อ. ๑๖/๑๙๐)
๓ ดูรายละเอียดจาก ที.สี. (แปล) ๙/๔๒๐/๑๘๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
หมู่คณะ(สงฆ์)นี้ปฏิบัติดีแล้ว ทิฏฐินี้เป็นสิ่งที่เจริญ ปฏิปทานี้ทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว มรรค
นี้เป็นทางนำออกจากทุกข์ รวมความว่า เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม
คำว่า รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น อธิบายว่า รู้อย่างไรก็พึงพูด คือ กล่าว
บอก แสดง ชี้แจงอย่างนั้นว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ ... โลกไม่
เที่ยง” ... รู้อย่างไรก็พึงพูด คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจงอย่างนั้นว่า “หลังจากตาย
แล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
เป็นโมฆะ” รวมความว่า รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
ผู้ไปตามความพอใจ ตั้งอยู่ในความชอบใจ
พึงก้าวล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไรเล่า
แต่เมื่อทำตนให้เพียบพร้อม รู้อย่างไรก็พึงพูดอย่างนั้น
[๑๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สัตว์เกิดใดไม่มีใครถาม
ก็บอกศีลวัตรของตนแก่บุคคลเหล่าอื่น
สัตว์เกิดใดกล่าวถึงตัวเองเท่านั้น
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกสัตว์เกิดนั้นว่า ผู้ไม่มีอริยธรรม
คำว่า ใด ในคำว่า สัตว์เกิดใด ... ศีลวัตรของตน ได้แก่ ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด
ผู้ขวนขวายอย่างใด ผู้ตั้งใจอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด ผู้ถึงฐานะใด ผู้ประกอบด้วย
ธรรมใด จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือ
มนุษย์ก็ตาม
ว่าด้วยศีลและวัตร
คำว่า ศีลวัตร ได้แก่ ศีลและวัตรก็มี วัตรไม่ใช่ศีลก็มี
ศีลและวัตร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์
เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย ความสำรวม ความสังวร การไม่ล่วงละเมิดในสิกขาบทเหล่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ชื่อว่าศีล การสมาทาน ชื่อว่าวัตร ชื่อว่าศีลเพราะมีความหมายว่า สังวร ชื่อว่าวัตร
เพราะมีความหมายว่าสมาทาน นี้ตรัสเรียกว่าศีลและวัตร
วัตร ไม่ใช่ศีล เป็นอย่างไร
คือ ธุดงค์ ๘ ข้อ ได้แก่
๑. อารัญญิกังคธุดงค์(สมาทานการอยู่ป่าเป็นวัตร)
๒. ปิณฑปาติกังคธุดงค์(สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร)
๓. ปังสุกูลิกังคธุดงค์(สมาทานการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร)
๔. เตจีวริกังคธุดงค์(สมาทานการทรงไตรจีวรเป็นวัตร)
๕. สปทานจาริกังคธุดงค์(สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็น
วัตร)
๖. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์(สมาทานการงดฉันอาหารมื้อหลังเป็นวัตร)
๗. เนสัชชิกังคธุดงค์(สมาทานการนั่งเป็นวัตร)
๘. ยถาสันถติกังคธุดงค์(สมาทานการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร)
นี้เรียกว่าวัตร ไม่ใช่ศีล แม้การสมาทานความเพียรก็เรียกว่า วัตร ไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า เนื้อและเลือดในร่างกายจงเหือดแห้งไป จะเหลือ
อยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามทีเถิด ผลใดพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ
ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ (ถ้า)ไม่
บรรลุผลนั้นแล้วก็จักไม่หยุดความเพียร แม้การสมาทานความเพียรอย่างนี้ก็เรียกว่า
วัตร ไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า
เมื่อเรายังถอนลูกศรคือตัณหาขึ้นไม่ได้
เราจะไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ออกไปจากวิหาร
ทั้งจะไม่เอนกายนอน๑
การสมาทานความเพียรอย่างนี้ก็เรียกว่า วัตร ไม่ใช่ศีล

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร.(แปล) ๒๖/๒๒๓/๓๗๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๗๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า ตราบใดที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะ ทั้งหลาย
เพราะไม่ยึดมั่น ตราบนั้นเราก็จักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เลย แม้การสมาทานความเพียร
อย่างนี้ก็เรียกว่า วัตร ไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า ตราบใดที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย
เพราะไม่ยึดมั่น ตราบนั้นเราก็จักไม่ลุกจากที่นั่งนี้ ไม่ลงจากลานจงกรม ไม่ออกจาก
วิหาร ไม่ออกจากเรือนหลังคาด้านเดียว ไม่ออกจากปราสาท ไม่ออกจากเรือนโล้น
ไม่ออกจากถ้ำ ไม่ออกจากที่หลีกเร้น ไม่ออกจากกุฎี ไม่ออกจากเรือนยอด ไม่ออก
จากป้อม ไม่ออกจากโรงกลม ไม่ออกจากเรือนที่มีเครื่องกั้น ไม่ออกจากศาลาที่บำรุง
ไม่ออกจากมณฑป ไม่ออกจากโคนไม้เลย แม้การสมาทานความเพียรอย่างนี้ก็
เรียกว่า วัตร ไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า เราจักนำมา นำมาด้วยดี บรรลุ สัมผัส ทำให้แจ้ง
ซึ่งอริยธรรมเช้าวันนี้เอง แม้การสมาทานความเพียรอย่างนี้ก็เรียกว่า วัตร ไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า เราจักนำมา นำมาด้วยดี บรรลุ สัมผัส ทำให้แจ้งซึ่ง
อริยธรรม ในเที่ยงนี้ ... เย็นนี้ ... ก่อนภัต ... หลังภัต ... ปฐมยาม... มัชฌิมยาม ...
ปัจฉิมยาม ... ข้างแรม ... ข้างขึ้น ... ฤดูฝน ... ฤดูหนาว ... ฤดูร้อน ... ปฐมวัย ...
มัชฌิมวัย ... ปัจฉิมวัย แม้การสมาทานความเพียรอย่างนี้ก็เรียกว่า วัตร ไม่ใช่ศีล
คำว่า สัตว์เกิด ได้แก่ สัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์ รวมความว่า สัตว์เกิดใด ... ศีลวัตรของตน
คำว่า แก่บุคคลเหล่าอื่น ในคำว่า ไม่มีใครถาม ก็บอก ... แก่บุคคลเหล่าอื่น
ได้แก่ บุคคลเหล่าอื่น คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต
เทวดา มนุษย์
คำว่า ไม่มีใครถาม ได้แก่ ไม่มีใครถาม คือ ไม่มีใครไต่ถาม ไม่มีใครขอร้อง
ไม่มีใครเชื้อเชิญ ไม่มีใครเลื่อมใส
คำว่า บอก ได้แก่ บอก ศีล วัตร หรือศีลวัตรของตน อธิบายว่า ย่อมบอก คือ
พูด กล่าว แสดง ชี้แจง ศีล วัตร หรือศีลวัตรของตนว่า เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลบ้าง
สมบูรณ์ด้วยวัตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยศีลวัตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยชาติบ้าง สมบูรณ์ด้วย
โคตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นบุตรของผู้มีตระกูลบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้มี


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
รูปงามบ้าง สมบูรณ์ด้วยทรัพย์บ้าง สมบูรณ์ด้วยการศึกษาบ้าง สมบูรณ์ด้วยหน้าที่
การงานบ้าง สมบูรณ์ด้วยหลักแห่งศิลปวิทยาบ้าง สมบูรณ์ด้วยวิทยฐานะบ้าง
สมบูรณ์ด้วยความคงแก่เรียนบ้าง สมบูรณ์ด้วยปฏิภาณบ้าง สมบูรณ์ด้วยสิ่งอื่น
นอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง ออกบวชจากตระกูลสูงบ้าง ออกบวชจากตระกูลใหญ่บ้าง
ออกบวชจากตระกูลมีทรัพย์มากบ้าง ออกบวชจากตระกูลมีโภคะมากบ้าง เป็น
ผู้มีชื่อเสียงมียศกว่าคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายบ้าง เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารบ้าง เป็นผู้ทรงจำพระสูตรบ้าง เป็นผู้ทรงจำ
พระวินัยบ้าง เป็นพระธรรมกถึกบ้าง เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือบิณฑบาต
เป็นวัตรบ้าง เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตรบ้าง เป็น
ผู้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้งดอาหารมื้อหลังเป็นวัตรบ้าง
เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตรบ้าง
เป็นผู้ได้ปฐมฌานบ้าง เป็นผู้ได้ทุติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้ตติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้
จตุตถฌานบ้าง เป็นผู้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตน-
สมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้เนวสัญญานา-
สัญญายตนสมาบัติบ้าง รวมความว่า ไม่มีใครถาม ก็บอก ... แก่บุคคลเหล่าอื่น
คำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลาย ในคำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกสัตว์เกิดนั้นว่า ผู้ไม่มี
อริยธรรม อธิบายว่า ผู้ฉลาดในขันธ์๑ ผู้ฉลาดในธาตุ๒ ผู้ฉลาดในอายตนะ๓
ผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท๔ ผู้ฉลาดในสติปัฏฐาน๕ ผู้ฉลาดในสัมมัปปธาน๖ ผู้ฉลาด

เชิงอรรถ :
๑ ขันธ์ หมายถึงขันธ์ ๕ คือ (๑) รูปขันธ์ (๒) เวทนาขันธ์ (๓) สัญญาขันธ์ (๔) สังขารขันธ์ (๕) วิญญาณขันธ์
(ขุ.ม.อ. ๑๗/๑๙๖)
๒ ธาตุ หมายถึงธาตุ ๔ คือ (๑) ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) (๒) อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) (๓) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ)
(๔) วาโยธาตุ (ธาตุลม) (ขุ.ม.อ. ๑๗/๑๙๖)
๓ อายตนะ หมายถึงอายตนะ ๑๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๗/๓๖
๔ ปฏิจจสมุปบาท ดูรายละเอียดข้อ ๒๗/๑๑๓
๕ สติปัฏฐาน หมายถึงสติปัฏฐาน ๔ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๒ และ ที.ม. ๑๐/๒๘๙/๑๘๕-๑๘๖
๖ สัมมัปปธาน หมายถึงสัมมัปปธาน ๔ คือ (๑) สังวรปธาน เพียรระวังบาปอกุศลธรรมไม่ให้เกิดขึ้น
(๒) ปหานปธาน เพียรกำจัดบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว (๓) ภาวนาปธาน เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่
เกิดให้เกิดขึ้น (๔) อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น และเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป (ที.ปา.
๑๑/๓๐๖/๑๙๘)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ในอิทธิบาท๑ ผู้ฉลาดในอินทรีย์๒ ผู้ฉลาดในพละ๓ ผู้ฉลาดในโพชฌงค์๔ ผู้ฉลาด
ในมรรค๕ ผู้ฉลาดในผล๖ ผู้ฉลาดในนิพพาน๗ ผู้ฉลาดเหล่านั้นเรียกอย่างนี้ คือ พูด
บอก แสดง ชี้แจงอย่างนี้ว่า นี้เป็นธรรมของผู้มิใช่อริยะ นี้มิใช่ธรรมของผู้เป็นอริยะ
นี้เป็นธรรมของพวกคนพาล นี้มิใช่ธรรมของบัณฑิต นี้เป็นธรรมของอสัตบุรุษ นี้มิใช่
ธรรมของสัตบุรุษ รวมความว่า ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกสัตว์เกิดนั้นว่า ผู้ไม่มีอริยธรรม
คำว่า สัตว์เกิดใดกล่าวถึงตัวเองเท่านั้น อธิบายว่า ตนเอง ตรัสเรียกว่า
ตัวเอง
คำว่า กล่าวถึงตัวเองเท่านั้น อธิบายว่า ย่อมกล่าวถึง คือ พูด บอก แสดง
ชี้แจงถึงตนเองเท่านั้นว่า เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลบ้าง สมบูรณ์ด้วยวัตรบ้าง
สมบูรณ์ด้วยศีลวัตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยชาติบ้าง สมบูรณ์ด้วยโคตรบ้าง สมบูรณ์ด้วย
ความเป็นบุตรของผู้มีตระกูลบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้มีรูปงามบ้าง สมบูรณ์ด้วย
ทรัพย์บ้าง สมบูรณ์ด้วยการศึกษาบ้าง สมบูรณ์ด้วยหน้าที่การงานบ้าง สมบูรณ์ด้วย
หลักแห่งศิลปวิทยาบ้าง สมบูรณ์ด้วยวิทยฐานะบ้าง สมบูรณ์ด้วยความคงแก่เรียนบ้าง

เชิงอรรถ :
๑ อิทธิบาท หมายถึงอิทธิบาท ๔ คือ (๑) ฉันทะ (๒) วิริยะ (๓) จิตตะ (๔) วิมังสา (ที.ปา. ๑๑/๓๐๖/๑๙๘)
๒ อินทรีย์ หมายถึงอินทรีย์ ๕ คือ (๑) สัทธินทรีย์ อินทรีย์คือความเชื่อ (๒) วิริยินทรีย์ อินทรีย์คือความเพียร
(๓) สตินทรีย์ อินทรีย์คือความระลึกได้ (๔) สมาธินทรีย์ อินทรีย์คือความตั้งจิตมั่น (๕) ปัญญินทรีย์
อินทรีย์คือความรู้ทั่วชัด (ที.ปา. ๑๑/๓๒๐/๒๑๒)
๓ พละ หมายถึงพละ ๕ (ธรรมอันเป็นกำลัง) คือ (๑) สัทธา (๒) วิริยะ (๓) สติ (๔) สมาธิ (๕) ปัญญา
(องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๓/๙)
๔ โพชฌงค์ หมายถึงโพชฌงค์ ๗ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้) คือ (๑) สติ ความระลึกได้ (๒) ธัมมวิจยะ
ความเลือกเฟ้น (๓) วิริยะ ความเพียร (๔) ปีติ ความอิ่มใจ (๕) ปัสสัทธิ ความสงบกายสงบใจ (๖) สมาธิ
ความตั้งจิตมั่น (๗) อุเบกขา ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง (ที.ปา. ๑๑/๓๓๐/๒๒๑)
๕ มรรค หมายถึงมรรค ๔ (ทางเข้าถึงความเป็นอริยบุคคล) คือ (๑) โสตาปัตติมรรค (๒) สกทาคามิมรรค
(๓) อนาคามิมรรค (๔) อรหัตตมรรค (อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๘๐๗/๕๑๙)
๖ ผล หมายถึงผล ๔ (ผลที่เกิดสืบเนื่องจากการละกิเลสได้ด้วยมรรค) คือ (๑) โสตาปัตติผล (๒) สกทาคามิ-
ผล (๓) อนาคามิผล (๔) อรหัตตผล (อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๘๐๗/๕๑๙)
๗ นิพพาน หมายถึงสภาวะที่ดับกิเลสและกองทุกข์แล้ว ดูเทียบนิพพานในข้อ ๑๙/๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
สมบูรณ์ด้วยปฏิภาณบ้าง สมบูรณ์ด้วยสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง ออกบวชจาก
ตระกูลสูงบ้าง ออกบวชจากตระกูลใหญ่บ้าง ออกบวชจากตระกูลมีทรัพย์มากบ้าง
ออกบวชจากตระกูลมีโภคะมากบ้าง เป็นผู้มีชื่อเสียงมียศกว่าคฤหัสถ์และบรรพชิต
ทั้งหลายบ้าง เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารบ้าง
เป็นผู้ทรงจำพระสูตรบ้าง เป็นผู้ทรงจำพระวินัยบ้าง เป็นพระธรรมกถึกบ้าง เป็นผู้
อยู่ป่าเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
บ้าง เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร
บ้าง เป็นผู้งดอาหารมื้อหลังเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการ
อยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ได้ปฐมฌานบ้าง เป็นผู้ได้ทุติยฌาน
บ้าง เป็นผู้ได้ตติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้จตุตถฌานบ้าง เป็นผู้ได้อากาสานัญจายตน-
สมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตน-
สมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติบ้าง รวมความว่า สัตว์เกิดใด
กล่าวถึงตัวเองเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สัตว์เกิดใดไม่มีใครถาม
ก็บอกศีลวัตรของตนแก่บุคคลเหล่าอื่น
สัตว์เกิดใดกล่าวถึงตัวเองเท่านั้น
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ผู้ไม่มีอริยธรรม
[๑๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว
ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็นดังนี้
อนึ่ง ภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูในที่ไหน ๆ ในโลก
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มีอริยธรรม

ว่าด้วยผู้ได้ชื่อว่าภิกษุ
คำว่า ผู้สงบ ในคำว่า ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว อธิบายว่า ชื่อว่าผู้สงบ
เพราะสงบราคะ ชื่อว่าผู้สงบ เพราะสงบโทสะ ชื่อว่าผู้สงบ เพราะสงบโมหะ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ชื่อว่าผู้สงบ สงบเย็น ดับ ระงับได้แล้ว เพราะสงบ ระงับ สงบเย็น เผา ดับ
ปราศจาก สงบระงับโกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ...
มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ...
กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อน
ทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท รวมความว่า
ผู้สงบ
คำว่า ภิกษุ อธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะทำลายธรรม ๗ ประการได้แล้ว คือ
๑. ทำลายสักกายทิฏฐิ(ความเห็นว่าเป็นตัวของตน)ได้แล้ว
๒. ทำลายวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย)ได้แล้ว
๓. ทำลายสีลัพพตปรามาส(ความยึดมั่นในศีลพรต)ได้แล้ว
๔. ทำลายราคะ(ความกำหนัด)ได้แล้ว
๕. ทำลายโทสะ(ความคิดประทุษร้าย)ได้แล้ว
๖. ทำลายโมหะ(ความลุ่มหลง)ได้แล้ว
๗. ทำลายมานะ(ความถือตัว)ได้แล้ว
ภิกษุนั้นทำลายบาปอกุศลธรรม ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะ ต่อไปได้แล้ว
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ)
ผู้ใดควรแก่คำชมเชยว่า เป็นผู้ถึงนิพพานด้วยทางที่ตนทำแล้ว
ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ละความเสื่อมและความเจริญแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์ สิ้นภพใหม่แล้ว ผู้นั้นชื่อว่า ภิกษุ๑
คำว่า ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว อธิบายว่า
ชื่อว่าดับกิเลสแล้ว เพราะทำให้ราคะดับแล้ว
ชื่อว่าดับกิเลสแล้ว เพราะทำให้โทสะดับแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๐/๔๓๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ชื่อว่าดับกิเลสแล้ว เพราะทำให้โมหะดับแล้ว
ชื่อว่าดับกิเลสแล้ว เพราะทำให้โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ... อิสสา
... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ
... ปมาทะ ... กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ...
ความเร่าร้อนทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท
ดับแล้ว รวมความว่า ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว
คำว่า เราเป็นดังนี้ ในคำว่า ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็นดังนี้
เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร
เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า เราเป็นดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับ
บทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลาย อธิบายว่า ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็น
ผู้อวด เป็นผู้โอ้อวด คือ ย่อมอวด ย่อมโอ้อวดว่า เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลบ้าง
สมบูรณ์ด้วยวัตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยศีลวัตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยชาติบ้าง สมบูรณ์ด้วย
โคตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นบุตรของผู้มีตระกูลบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้มี
รูปงามบ้าง ... เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติบ้าง ภิกษุนี้ย่อมไม่อวด ไม่
โอ้อวด คือ เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว
กับความโอ้อวด มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลายว่า
เราเป็นดังนี้
ว่าด้วยผู้มีอริยธรรม
คำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลาย ในคำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มี
อริยธรรม อธิบายว่า ผู้ฉลาดในขันธ์ ฉลาดในธาตุ ฉลาดในอายตนะ ฉลาดใน
ปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในสติปัฏฐาน ฉลาดในสัมมัปปธาน ฉลาดในอิทธิบาท ฉลาด
ในอินทรีย์ ฉลาดในพละ ฉลาดในโพชฌงค์ ฉลาดในมรรค ฉลาดในผล ฉลาดใน
นิพพาน ผู้ฉลาดเหล่านั้น ย่อมเรียก คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจง อย่างนี้ว่า
“นี้เป็นธรรมของอริยชน นี้มิใช่ธรรมของอนริยชน นี้เป็นธรรมของบัณฑิต นี้มิใช่
ธรรมของคนพาล นี้เป็นธรรมของสัตบุรุษ นี้มิใช่ธรรมของอสัตบุรุษ” รวมความว่า
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มีอริยธรรม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ภิกษุใด ในคำว่า อนึ่งภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูในที่ไหนๆ ในโลก
ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า กิเลสเครื่องฟู อธิบายว่า กิเลสเครื่องฟู ๗ อย่าง คือ

๑. กิเลสเครื่องฟูคือราคะ ๒. กิเลสเครื่องฟูคือโทสะ
๓. กิเลสเครื่องฟูคือโมหะ ๔. กิเลสเครื่องฟูคือมานะ
๕. กิเลสเครื่องฟูคือทิฏฐิ ๖. กิเลสเครื่องฟูคือกิเลส
๗. กิเลสเครื่องฟูคือกรรม

ภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟู คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ คือ กิเลสเครื่องฟู
ภิกษุนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก
เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
คำว่า ในที่ไหนๆ ได้แก่ ในที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก หรือ
ทั้งภายในและภายนอก
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า อนึ่งภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูในที่ไหน ๆ ในโลก ด้วย
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ส่วนภิกษุผู้สงบ ดับกิเลสแล้ว
ไม่โอ้อวดในศีลทั้งหลายว่า เราเป็นดังนี้
อนึ่ง ภิกษุใดไม่มีกิเลสเครื่องฟูในที่ไหน ๆ ในโลก
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกภิกษุนั้นว่า ผู้มีอริยธรรม
[๑๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เจ้าลัทธิใด มีธรรมที่กำหนดไว้ อันปัจจัยปรุงแต่ง เชิดชูไว้
(แต่)ไม่ขาวสะอาด เจ้าลัทธินั้นเห็นอานิสงส์ใดในตน
อาศัยอานิสงส์นั้น และสันติที่กำเริบซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น
คำว่า เจ้าลัทธิใด มีธรรมที่กำหนดไว้ อันปัจจัยปรุงแต่ง อธิบายว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า กำหนด ได้แก่ การกำหนด ๒ อย่าง คือ (๑) การกำหนดด้วยอำนาจ
ตัณหา (๒) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
คำว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ อันปัจจัยปรุงแต่ง คือ ปรุงแต่งขึ้น ปรุงแต่ง
เฉพาะ ตั้งไว้ดีแล้ว รวมความว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง
อีกนัยหนึ่ง ธรรมทั้งหลาย ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น
มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา
มีความดับไปเป็นธรรมดา รวมความว่า อันปัจจัยปรุงแต่ง
คำว่า เจ้าลัทธิใด ได้แก่ เจ้าลัทธิผู้เป็นเจ้าของทิฏฐิ ทิฏฐิ ๖๒ ตรัสเรียกว่า
ธรรม รวมความว่า เจ้าลัทธิใด มีธรรมที่กำหนดไว้ อันปัจจัยปรุงแต่ง

ว่าด้วยการเชิดชู ๒ อย่าง
คำว่า เชิดชูไว้ ในคำว่า มี ... เชิดชูไว้ (แต่) ไม่ขาวสะอาด ได้แก่ การเชิดชู
๒ อย่าง คือ (๑) การเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา (๒) การเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่า
การเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าการเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ
เจ้าลัทธินั้นยังไม่ละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ยังไม่สลัดทิ้งการเชิดชูด้วย
อำนาจทิฏฐิ เพราะเป็นผู้ยังไม่สลัดทิ้งการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ยังไม่สลัดทิ้งการ
เชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ เจ้าลัทธินั้นเที่ยวเชิดชูตัณหาหรือทิฏฐิไว้ คือ มีตัณหาเป็น
ธงชัย มีตัณหาเป็นยอดธง มีตัณหาเป็นใหญ่ มีทิฏฐิเป็นธงชัย มีทิฏฐิเป็นยอดธง
มีทิฏฐิเป็นใหญ่ คือ ถูกตัณหาหรือทิฏฐิครอบงำเที่ยวไป รวมความว่า เชิดชูไว้
คำว่า มี ได้แก่ มี คือ ปรากฏ หาได้
คำว่า ไม่ขาวสะอาด ได้แก่ ไม่ขาวสะอาด คือ ไม่ขาว ไม่บริสุทธิ์ เศร้าหมอง
แปดเปื้อน รวมความว่า มี ... เชิดชูไว้(แต่)ไม่ขาวสะอาด

เชิงอรรถ :
๑ ดูเทียบความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า (อานิสงส์) ใดในตน ในคำว่า เห็นอานิสงส์ใดในตน ได้แก่ อานิสงส์ใด
ในตน ทิฏฐิ ตรัสเรียกว่า ตน เจ้าลัทธินั้นเห็นอานิสงส์ ๒ อย่างแห่งทิฏฐิของตน
คือ (๑) อานิสงส์ที่มีในชาตินี้ (๒) อานิสงส์ที่มีในชาติหน้า
อานิสงส์แห่งทิฏฐิที่มีในชาตินี้ เป็นอย่างไร
คือ ศาสดามีทิฏฐิอย่างใด สาวกก็มีทิฏฐิอย่างนั้น คือ สาวก ย่อมสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา ทำความยำเกรงศาสดาผู้มีทิฏฐิอย่างนั้น และได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารซึ่งมีศาสดานั้นเป็นต้นเหตุ นี้ชื่อว่าอานิสงส์แห่ง
ทิฏฐิที่มีในชาตินี้
อานิสงส์แห่งทิฏฐิที่มีในชาติหน้า เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมหวังผลต่อไปว่า ทิฏฐินี้ ควรเพื่อความเป็นนาค เป็นครุฑ
เป็นยักษ์ เป็นอสูร เป็นคนธรรพ์ เป็นท้าวมหาราช เป็นพระอินทร์ เป็นพระพรหม
หรือเป็นเทวดา ทิฏฐินี้ ควรเพื่อความหมดจด ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความ
หลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป สัตว์ทั้งหลายย่อมหมดจด สะอาด บริสุทธิ์
หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไปด้วยทิฏฐินี้ เราจักหมดจด สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป
พ้นไป หลุดพ้นไปด้วยทิฏฐินี้ นี้ชื่อว่าอานิสงส์แห่งทิฏฐิที่มีในชาติหน้า เจ้าลัทธิ
นั้นเห็น คือ แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดูอานิสงส์ ๒ อย่างนี้แห่งทิฏฐิ
ของตน รวมความว่า เห็นอานิสงส์ใดในตน

ว่าด้วยสันติ ๓ อย่าง
คำว่า อาศัยอานิสงส์นั้น และสันติที่กำเริบซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น อธิบายว่า
สันติ ๓ อย่าง คือ (๑) อัจจันตสันติ(ความสงบโดยส่วนเดียว) (๒) ตทังคสันติ(ความ
สงบด้วยองค์นั้น ๆ) (๓) สมมติสันติ(ความสงบโดยสมมติ)
อัจจันตสันติ เป็นอย่างไร
คือ อมตนิพพาน เรียกว่า อัจจันตสันติ คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง
เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็น
ที่เย็นสนิท นี้ชื่อว่าอัจจันตสันติ
ตทังคสันติ เป็นอย่างไร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คือ ผู้บรรลุปฐมฌานก็มีนิวรณ์สงบไป ผู้บรรลุทุติยฌานก็มีวิตกวิจารสงบไป
ผู้บรรลุตติยฌานก็มีปีติสงบไป ผู้บรรลุจตุตถฌานก็มีสุขและทุกข์สงบไป ผู้บรรลุ
อากาสานัญจายตนสมาบัติก็มีรูปสัญญา๑ ปฏิฆสัญญา๒ นานัตตสัญญา๓สงบไป
ผู้บรรลุวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ก็มีอากาสานัญจายตนสัญญาสงบไป ผู้บรรลุ
อากิญจัญญายตนสมาบัติ ก็มีวิญญาณัญจายตนสัญญาสงบไป ผู้บรรลุเนวสัญญานา-
สัญญายตนสมาบัติ ก็มีอากิญจัญญายตนสัญญาสงบไป นี้ชื่อว่าตทังคสันติ
สมมติสันติ เป็นอย่างไร
คือ ความสงบแห่งทิฏฐิ ๖๒ เรียกว่า สมมติสันติ อนึ่ง สมมติสันติพระผู้มี-
พระภาคทรงประสงค์ว่า สันติ ในคาถานี้
คำว่า อาศัยอานิสงส์นั้น และสันติที่กำเริบซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น อธิบายว่า
อาศัย คือ อิงอาศัย ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อสันติที่กำเริบ คือ สันติที่
กำเริบทั่ว สะเทือน สั่นไหว หวั่นไหว กระทบกระทั่ง กำหนดแล้ว กำหนดทั่วแล้ว
ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อม
ไปเป็นธรรมดา มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา รวมความว่า
อาศัยอานิสงส์นั้น และสันติที่กำเริบซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
เจ้าลัทธิใด มีธรรมที่กำหนดไว้ อันปัจจัยปรุงแต่ง เชิดชูไว้
(แต่)ไม่ขาวสะอาด เจ้าลัทธินั้นเห็นอานิสงส์ใดในตน
อาศัยอานิสงส์นั้น และสันติที่กำเริบซึ่งอาศัยกันเกิดขึ้น
[๒๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย ๆ
การปลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น
ก็มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น
นรชนย่อมสลัดทิ้งธรรมบ้าง ยึดถือธรรมไว้บ้าง

เชิงอรรถ :
๑ รูปสัญญา ดูเชิงอรรถข้อ ๗/๓๒
๒ ปฏิฆสัญญา ดูเชิงอรรถข้อ ๗/๓๒
๓ นานัตตสัญญา ดูเชิงอรรถข้อ ๗/๓๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๘๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความถือมั่น
คำว่า ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ ในคำว่า ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ
มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย ๆ อธิบายว่า ความยึดมั่นถือมั่นว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นเป็นโมฆะ” ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ ความยึดมั่นถือมั่นว่า
“โลกไม่เที่ยง ... โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ... ชีวะ
กับสรีระ เป็นคนละอย่างกัน ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก ... หลังจากตายแล้ว
ตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก และไม่เกิดอีก ... หลังจากตาย
แล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็น
โมฆะ๑” ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ
คำว่า ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย ๆ อธิบายว่า
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ ไม่ใช่ก้าวล่วงได้โดยง่าย คือ ก้าวล่วงได้โดยยาก
ข้ามได้ยาก ข้ามพ้นได้ยาก ก้าวล่วงพ้นได้ยาก กลับตัวหลีกได้ยาก รวมความว่า
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย ๆ
คำว่า ในธรรมทั้งหลาย ในคำว่า การปลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น
ได้แก่ ในทิฏฐิ ๖๒
คำว่า ปลงใจแล้ว ได้แก่ ตกลงใจแล้ว วินิจฉัยแล้ว ตัดสินแล้ว ชี้ขาดแล้ว
เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
คำว่า ถือมั่น ได้แก่ จับมั่น ยึดมั่น ถือมั่น รวบถือ รวมถือ รวบรวมถือ
ในความยึดมั่นทั้งหลาย คือความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความติดใจ ความ
น้อมใจเชื่อว่า ข้อนี้จริง แท้ แน่ แท้จริง ตามเป็นจริง ไม่วิปริต รวมความว่า
การปลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น
นรชน ได้แก่ เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๖/๗๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า นรชน ได้แก่ สัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ในความถือมั่นเหล่านั้น ได้แก่ ในความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิเหล่านั้น
รวมความว่า เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น นรชน

ว่าด้วยการสลัดทิ้ง ๒ อย่าง
คำว่า ย่อมสลัดทิ้ง ในคำว่า ย่อมสลัดทิ้งธรรมบ้าง ยึดถือธรรมไว้บ้าง
ได้แก่ ย่อมสลัดทิ้ง เพราะเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) สลัดทิ้งด้วยการตัดสินของผู้อื่น
(๒) เมื่อไม่สำเร็จประโยชน์เองก็สลัดทิ้งเสีย
นรชนสลัดทิ้งด้วยการตัดสินของผู้อื่น เป็นอย่างไร
คือ ผู้อื่นตัดสินว่า ศาสดานั้น ไม่ใช่สัพพัญญู ธรรมมิใช่ธรรมที่ศาสดากล่าว
สอนไว้ดีแล้ว หมู่คณะมิใช่ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ทิฏฐิมิใช่สิ่งที่เจริญ ปฏิปทามิใช่ศาสดา
บัญญัติไว้ดีแล้ว มรรคมิใช่ทางนำออกไปจากทุกข์ ความหมดจด ความสะอาด
ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป ในทิฏฐินี้ไม่มี ในทิฏฐินี้
สัตว์ทั้งหลายย่อมหมดจด สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หรือหลุดพ้นไป ไม่มี
ทิฏฐินี้ เลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า เล็กน้อย ผู้อื่นย่อมตัดสินอย่างนี้
นรชนที่ถูกตัดสินอย่างนี้ ก็สลัดทิ้งศาสดา สลัดทิ้งธรรมที่ศาสดากล่าวสอน สลัด
ทิ้งหมู่คณะ สลัดทิ้งทิฏฐิ สลัดทิ้งปฏิปทา สลัดทิ้งมรรค นรชนชื่อว่าสลัดทิ้งด้วย
การตัดสินของผู้อื่นเป็นอย่างนี้
นรชนเมื่อไม่สำเร็จประโยชน์เองก็สลัดทิ้ง เป็นอย่างไร
คือ นรชนเมื่อไม่ทำศีลให้สำเร็จประโยชน์ก็สลัดทิ้งศีล เมื่อไม่ทำวัตรให้สำเร็จ
ประโยชน์ก็สลัดทิ้งวัตร เมื่อไม่ทำศีลวัตรให้สำเร็จประโยชน์ก็สลัดทิ้งศีลวัตร นรชน
ชื่อว่า เมื่อไม่สำเร็จประโยชน์เองก็สลัดทิ้ง เป็นอย่างนี้
คำว่า ยึดถือธรรมไว้บ้าง อธิบายว่า นรชนถือ ยึดมั่น ถือมั่น
ศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา และมรรคไว้บ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
รวมความว่า นรชนย่อมสลัดทิ้งธรรมบ้าง ยึดถือธรรมไว้บ้าง ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ มิใช่ก้าวล่วงได้ง่ายๆ
การปลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น
ก็มิใช่ก้าวล่วงได้ง่าย เพราะฉะนั้น ในความถือมั่นเหล่านั้น
นรชนย่อมสลัดทิ้งธรรมบ้าง ยึดถือธรรมไว้บ้าง
[๒๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพน้อยภพใหญ่
ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ไม่มีในที่ไหน ๆ ในโลก
เพราะผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้น ละความหลอกลวง
และความถือตัวได้แล้ว ไม่มีความถือมั่น
จะพึงไปด้วยเหตุอะไรเล่า

ว่าด้วยปัญญาเครื่องกำจัด
คำว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ในคำว่า ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพน้อย
ภพใหญ่ ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ไม่มีในที่ไหน ๆ ในโลก อธิบายว่า ปัญญา
ตรัสเรียกว่า เครื่องกำจัด คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกเฟ้น
ความสอดส่องธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนด
เฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ความค้นคิด
ความใคร่ครวญ ปัญญาดุจแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง
ปัญญาเครื่องเห็นแจ้ง ความรู้ดี ปัญญาดุจปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ
ปัญญาดุจศัสตรา ปัญญาดุจปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา
ปัญญาดุจดวงประทีป ปัญญาดุจดวงแก้ว ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม
สัมมาทิฏฐิ
เพราะเหตุไร ปัญญาจึงตรัสเรียกว่า เครื่องกำจัด เพราะปัญญานั้นเป็นเครื่อง
กำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอกกายทุจริต ... วจีทุจริต ... มโนทุจริต ... เพราะ
ปัญญานั้นเป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้างและซักฟอกราคะ ... โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ
... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง
... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุก
ประการ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท เพราะเหตุนั้น ปัญญาจึงตรัสเรียกว่า
เครื่องกำจัด
อีกนัยหนึ่ง สัมมาทิฏฐิเป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอกมิจฉาทิฏฐิได้
สัมมาสังกัปปะเป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอกมิจฉาสังกัปปะได้ สัมมาวาจา
เป็นเครื่องกำจัด... มิจฉาวาจาได้ สัมมากัมมันตะเป็นเครื่องกำจัด... มิจฉากัมมันตะ
ได้ สัมมาอาชีวะ เป็นเครื่องกำจัด... มิจฉาอาชีวะได้ สัมมาวายามะ เป็นเครื่องกำจัด...
มิจฉาวายามะได้ สัมมาสติเป็นเครื่องกำจัด... มิจฉาสติได้ สัมมาสมาธิ เป็นเครื่อง
กำจัด... มิจฉาสมาธิได้ สัมมาญาณเป็นเครื่องกำจัด... มิจฉาญาณได้ สัมมาวิมุตติ
เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอกมิจฉาวิมุตติได้
อีกนัยหนึ่ง อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอกกิเลส
ทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน
... ความเดือดร้อนทุกประการ อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และ
ซักฟอกอกุสลาภิสังขารทุกประเภท
พระอรหันต์ ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็น
ไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยธรรมเป็นเครื่องชำระล้างเหล่านี้ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์
จึงชื่อว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด พระอรหันต์นั้น เป็นผู้กำจัดความกำหนัดได้แล้ว
กำจัดบาปได้แล้ว กำจัดกิเลสได้แล้ว กำจัดความเร่าร้อนได้แล้ว รวมความว่า ผู้มี
ปัญญาเครื่องกำจัด
คำว่า ในที่ไหน ๆ ได้แก่ ในที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก
หรือทั้งภายในและภายนอก
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ... อายตนโลก๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ที่กำหนด ได้แก่ การกำหนด ๒ อย่าง คือ (๑) การกำหนดด้วย
อำนาจตัณหา (๒) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจ
ตัณหา... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
คำว่า ในภพน้อยภพใหญ่ อธิบายว่า ในภพน้อยภพใหญ่ คือในกรรมวัฏและ
วิปากวัฏ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ
ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในกรรมวัฏ
เป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในภพต่อไป ในคติ
ต่อไป ในการถือกำเนิดต่อไป ในปฏิสนธิต่อไป ในการบังเกิดของอัตภาพต่อไป
คำว่า ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพน้อยภพใหญ่ ของผู้มีปัญญาเครื่อง
กำจัด ไม่มีในที่ไหน ๆ ในโลก อธิบายว่า ทิฏฐิที่กำหนด คือ กำหนดทั่ว ปรุงแต่ง
เฉพาะ ตั้งมั่นไว้ดีแล้ว(เพื่อเกิด)ในภพน้อยภพใหญ่ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ไม่มี
คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ในที่ไหน ๆ ในโลก ได้แก่ ทิฏฐิที่กำหนดนั้นผู้มี
ปัญญาเครื่องกำจัดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้
เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพ
น้อยภพใหญ่ ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ไม่มีในที่ไหน ๆ ในโลก

ว่าด้วยความหลอกลวงและความถือตัว
คำว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ละความหลอกลวงและความถือตัวได้แล้ว
อธิบายว่า ความประพฤติหลอกลวง ตรัสเรียกว่า ความหลอกลวง คนบางคนใน
โลกนี้ ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ แล้วตั้งความปรารถนาชั่วทราม เพราะ
การปกปิดทุจริตนั้นเป็นเหตุ คือปรารถนาว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย” ดำริว่า “ใคร
อย่ารู้ทันเราเลย” กล่าววาจาด้วยคิดว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย” พยายามทางกาย
ด้วยคิดว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย”

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ความหลอกลวง ความเป็นผู้มีความหลอกลวง ความเสแสร้ง ความล่อลวง
การปิดบัง การหลบเลี่ยง การหลีกเลี่ยง การซ่อน การซ่อนเร้น การปิด การปกปิด
การไม่เปิดเผย การไม่ทำให้แจ่มแจ้ง การปิดสนิท การทำความชั่วเห็นปานนี้ นี้ตรัส
เรียกว่า ความหลอกลวง
คำว่า ความถือตัว อธิบายว่า ความถือตัวนัยเดียว คือ ความที่จิตใฝ่สูง
ความถือตัว ๒ นัย คือ
๑. การยกตน ๒. การข่มผู้อื่น
ความถือตัว ๓ นัย คือ
๑. ความถือตัวว่าเราเลิศกว่าเขา ๒. ความถือตัวว่าเราเสมอเขา
๓. ความถือตัวว่าเราด้อยกว่าเขา
ความถือตัว ๔ นัย คือ
๑. เกิดความถือตัวเพราะลาภ
๒. เกิดความถือตัวเพราะยศ
๓. เกิดความถือตัวเพราะความสรรเสริญ
๔. เกิดความถือตัวเพราะความสุข
ความถือตัว ๕ นัย คือ
๑. เกิดความถือตัวว่าเราได้รูปที่ถูกใจ
๒. เกิดความถือตัวว่าเราได้เสียงที่ถูกใจ
๓. เกิดความถือตัวว่าเราได้กลิ่นที่ถูกใจ
๔. เกิดความถือตัวว่าเราได้รสที่ถูกใจ
๕. เกิดความถือตัวว่าเราได้โผฏฐัพพะที่ถูกใจ
ความถือตัว ๖ นัย คือ
๑. เกิดความถือตัวเพราะมีตาสมบูรณ์
๒. เกิดความถือตัวเพราะมีหูสมบูรณ์
๓. เกิดความถือตัวเพราะมีจมูกสมบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
๔. เกิดความถือตัวเพราะมีลิ้นสมบูรณ์
๕. เกิดความถือตัวเพราะมีกายสมบูรณ์
๖. เกิดความถือตัวเพราะมีใจสมบูรณ์
ความถือตัว ๗ นัย คือ
๑. ความถือตัว
๒. ความดูหมิ่น
๓. ความดูหมิ่นด้วยอำนาจความถือตัว
๔. ความถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
๕. ความถือตัวว่าเลิศกว่าเขา
๖. ความถือเราถือเขา
๗. ความถือตัวผิด ๆ
ความถือตัว ๘ นัย คือ
๑. เกิดความถือตัวเพราะได้ลาภ
๒. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะเสื่อมลาภ
๓. เกิดความถือตัวเพราะมียศ
๔. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะเสื่อมยศ
๕. เกิดความถือตัวเพราะความสรรเสริญ
๖. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะถูกนินทา
๗. เกิดความถือตัวเพราะความสุข
๘. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะความทุกข์
ความถือตัว ๙ นัย คือ
๑. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา
๒. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าเสมอเขา
๓. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
๔. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา
๕. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าเสมอเขา
๖. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
๗. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
๘. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าเสมอเขา
๙. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
ความถือตัว ๑๐ นัย คือ คนบางคนในโลกนี้
๑. เกิดความถือตัวเพราะชาติ
๒. เกิดความถือตัวเพราะโคตร
๓. เกิดความถือตัวเพราะเป็นบุตรของผู้มีตระกูล
๔. เกิดความถือตัวเพราะเป็นผู้มีรูปงาม
๕. เกิดความถือตัวเพราะมีทรัพย์
๖. เกิดความถือตัวเพราะการศึกษา
๗. เกิดความถือตัวเพราะหน้าที่การงาน
๘. เกิดความถือตัวเพราะมีหลักแห่งศิลปวิทยา
๙. เกิดความถือตัวเพราะวิทยฐานะ
๑๐. เกิดความถือตัวเพราะความคงแก่เรียน เกิดความถือตัวเพราะปฏิภาณ
หรือเกิดความถือตัว เพราะสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว
ความถือตัว กริยาที่ถือตัว ภาวะที่ถือตัว ความลำพองตน ความทะนงตน
ความเชิดชูตนเป็นดุจธง ความเห่อเหิม ความที่จิตต้องการเชิดชูตนเป็นดุจธงเห็น
ปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความถือตัว
คำว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ละความหลอกลวงและความถือตัวได้แล้ว
อธิบายว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ละ คือ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งความหลอกลวงและความถือตัว รวมความว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด
ละความหลอกลวงและความถือตัวได้แล้ว

ว่าด้วยความถือมั่น ๒ อย่าง
คำว่า ความถือมั่น ในคำว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้น ... ไม่มีความถือมั่น
จะพึงไปด้วยเหตุอะไรเล่า ได้แก่ ความถือมั่น ๒ อย่าง คือ (๑) ความถือมั่นด้วย
อำนาจตัณหา (๒) ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจ
ตัณหา ... นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้นละความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้ง
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้น ชื่อว่าผู้ไม่มีความ
ถือมั่น เพราะเป็นผู้ละความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งความถือมั่นด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว จะพึงไปด้วยอำนาจราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ
วิจิกิจฉา อนุสัย อะไรเล่าว่า “เป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง หลง ยึดติด ยึดถือ ฟุ้งซ่าน
ลังเล หรือตกอยู่ในพลังกิเลส”
ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้นละอภิสังขารได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละอภิสังขารได้แล้ว
จะพึงไปสู่คติด้วยเหตุอะไรเล่าว่า “เป็นผู้เกิดในนรก เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เกิดใน
เปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา เป็นผู้ไม่มี
สัญญา หรือเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่” ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้นจะพึง
ไปด้วยเหตุ ปัจจัยและการณ์ใด เหตุ ปัจจัยและการณ์นั้นไม่มี รวมความว่า ผู้มี
ปัญญาเครื่องกำจัดนั้น ... ไม่มีความถือมั่น จะพึงไปด้วยเหตุอะไรเล่า ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ทิฏฐิที่กำหนด(เพื่อเกิด)ในภพน้อยภพใหญ่
ของผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ไม่มีในที่ไหน ๆ ในโลก
เพราะผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดนั้น ละความหลอกลวง
และความถือตัวได้แล้ว ไม่มีความถือมั่น
จะพึงไปด้วยเหตุอะไรเล่า
[๒๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เพราะว่าผู้มีความถือมั่นย่อมเข้าถึงวาทะในธรรมทั้งหลาย
จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่นด้วยเหตุอะไรเล่า
เพราะความเห็นว่ามีตน ความเห็นว่าไม่มีตน
ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น
ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัดแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ
คำว่า ผู้มีความถือมั่น ในคำว่า เพราะว่าผู้มีความถือมั่นย่อมเข้าถึงวาทะ
ในธรรมทั้งหลาย ได้แก่ ความถือมั่น ๒ อย่าง คือ (๑) ความถือมั่นด้วย
อำนาจตัณหา (๒) ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจ
ตัณหา ... นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ผู้มีความถือมั่นนั้น ยังละความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหาไม่ได้ ยังสลัดทิ้งความ
ถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิไม่ได้ เพราะเป็นผู้ละความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้ง
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิไม่ได้ ผู้มีความถือมั่นจึงเข้าถึงวาทะในธรรมทั้งหลายว่า
“เป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง หลง ยึดติด ยึดถือ ฟุ้งซ่าน ลังเล หรือตกอยู่ในพลังกิเลส”
ผู้มีความถือมั่นยังละอภิสังขารเหล่านั้นไม่ได้ เพราะยังเป็นผู้ละอภิสังขาร
ทั้งหลายไม่ได้ ย่อมเข้าถึง คือ เข้าไปถึง ถือ ยึดมั่น ถือมั่นวาทะด้วยคติว่า “เป็น
ผู้เกิดในนรก เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เกิดในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็น
ผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา เป็นผู้ไม่มีสัญญา หรือเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่
ไม่มีสัญญาก็มิใช่” รวมความว่า เพราะว่าผู้มีความถือมั่นย่อมเข้าถึงวาทะในธรรม
ทั้งหลาย
คำว่า จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่นด้วยเหตุอะไรเล่า อธิบายว่า
คำว่า ความถือมั่น ได้แก่ ความถือมั่น ๒ อย่าง คือ (๑) ความถือมั่น
ด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วย
อำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิ
ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น ละความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความ
ถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้ง
ความถือมั่นด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่น ด้วย
อำนาจราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย อะไรเล่าว่า “เป็น
ผู้กำหนัด ขัดเคือง หลง ยึดติด ยึดมั่น ฟุ้งซ่าน ลังเล หรือตกอยู่ในพลังกิเลส”
ผู้ไม่มีความถือมั่นละอภิสังขารเหล่านั้นได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละอภิสังขาร
ทั้งหลายได้แล้ว จะพึงกล่าวถึงคติด้วยเหตุอะไรเล่าว่า “เป็นผู้เกิดในนรก ... เป็นผู้มี
สัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่” ผู้มีความถือมั่นนั้นจะพึงกล่าว คือ พูด บอก
แสดง ชี้แจงด้วยเหตุ ปัจจัยและการณ์ใด เหตุ ปัจจัย และการณ์นั้นไม่มี รวมความว่า
จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่นด้วยเหตุอะไรเล่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๙๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความเห็นว่ามีตนและไม่มีตน
คำว่า ความเห็นว่ามีตน ในคำว่า เพราะความเห็นว่ามีตน ความเห็นว่า
ไม่มีตน ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น ได้แก่ ความตามเห็นว่ามีตัวตน ไม่มี
คำว่า ความเห็นว่าไม่มีตน ได้แก่ ความเห็นว่าขาดสูญ ไม่มี
คำว่า ความเห็นว่ามีตน ได้แก่ สิ่งที่ถือไม่มี
คำว่า ความเห็นว่าไม่มีตน อธิบายว่า สิ่งที่ควรปล่อย ไม่มี ผู้ใดมีสิ่งที่ถือไว้
ผู้นั้นก็มีสิ่งที่ควรปล่อย ผู้ใดมีสิ่งที่ควรปล่อย ผู้นั้นก็มีสิ่งที่ถือไว้ พระอรหันต์ก้าวพ้น
การถือ และการปล่อย ล่วงพ้นความเจริญและความเสื่อมได้แล้ว พระอรหันต์นั้นอยู่
ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ผ่านทางไกลได้แล้ว ถึงทิศ(นิพพาน)แล้ว
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า เพราะความเห็นว่ามีตน
ความเห็นว่าไม่มีตน ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น
คำว่า ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัดแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ
อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒ ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบ
ได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้ไม่มีความถือ
มั่นนั้นชื่อว่า สลัด คือ กำจัด ขจัด ขจัดออก ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้ รวมความว่า ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัด
แล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เพราะว่าผู้มีความถือมั่นย่อมเข้าถึงวาทะในธรรมทั้งหลาย
จะพึงกล่าวคำติเตียนผู้ไม่มีความถือมั่น ด้วยเหตุอะไรเล่า
เพราะความเห็นว่ามีตน ความเห็นว่าไม่มีตน
ไม่มีแก่ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น
ผู้ไม่มีความถือมั่นนั้น สลัดแล้วซึ่งทิฏฐิทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละ
ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๐๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส๑
อธิบายสุทธัฏฐกสูตร
ว่าด้วยผู้พิจารณาเห็นความหมดจด
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายสุทธัฏฐกสูตร ดังต่อไปนี้
[๒๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง
ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น
บุคคลเมื่อรู้จริงอย่างนี้ ก็รู้แล้วว่าความเห็นนี้ยอดเยี่ยม
จึงเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความหมดจด
เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่าความเห็นนั้นเป็นญาณ
คำว่า เราเห็นนรชนผู้หมดจด ในคำว่า เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้
ไม่มีโรคอย่างยิ่ง อธิบายว่า เราเห็น คือ แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดู
นรชนผู้หมดจด
คำว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง ได้แก่ ถึงความปลอดโรค ถึงธรรมอันเกษม
ถึงธรรมเครื่องป้องกัน ถึงธรรมเป็นที่ปกป้อง ถึงธรรมเป็นที่พึ่ง ถึงธรรมเป็นที่ไปใน
เบื้องหน้า ถึงความปลอดภัย ถึงธรรมที่ไม่จุติ ถึงธรรมที่ไม่ตาย ถึงธรรมเป็นที่ดับ
เย็นอันยอดเยี่ยม รวมความว่า เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง
คำว่า ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น อธิบายว่า ความ
หมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
ย่อมมีแก่นรชนเพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ นรชนย่อมหมดจด คือ สะอาด
บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไป เพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ รวมความว่า
ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๗๙๕-๘๐๒/๔๙๐-๔๙๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๐๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า เมื่อรู้จริงอย่างนี้ ก็รู้แล้วว่าความเห็นนี้ยอดเยี่ยม อธิบายว่า เมื่อ
รู้จริง คือ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอดอย่างนี้ ก็รู้แล้ว คือ ทราบแล้ว เทียบ
เคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “ความเห็นนี้ เยี่ยม
คือ ยอด ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด” รวมความว่า เมื่อรู้จริงอย่างนี้
ก็รู้แล้วว่า ความเห็นนี้ยอดเยี่ยม
คำว่า จึงเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความหมดจด เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่า
ความเห็นนั้นเป็นญาณ อธิบายว่า ผู้ใดเห็นนรชนผู้หมดจด ผู้นั้น ชื่อว่าเป็นผู้ตาม
พิจารณาเห็นความหมดจด
คำว่า ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นญาณ อธิบายว่า ย่อมเชื่อการเห็นรูปด้วย
จักขุวิญญาณว่า เป็นญาณ เป็นมรรค เป็นทาง เป็นทางนำออกจากทุกข์ รวมความว่า
จึงเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความหมดจด เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็น
ญาณ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เราเห็นนรชนผู้หมดจดว่า เป็นผู้ไม่มีโรคอย่างยิ่ง
ความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น
บุคคลเมื่อรู้จริงอย่างนี้ ก็รู้แล้วว่าความเห็นนี้ยอดเยี่ยม
จึงเป็นผู้ตามพิจารณาเห็นความหมดจด
เพราะฉะนั้น ย่อมเชื่อว่าความเห็นนั้นเป็นญาณ
[๒๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ถ้าความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น
หรือถ้านรชนนั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ
นรชนผู้ยังมีอุปธินั้น ย่อมหมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้)
เพราะว่าทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้นผู้พูดอย่างนั้น

ว่าด้วยความหมดจดเป็นต้น
คำว่า ถ้าความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น อธิบายว่า ถ้า
ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความ
หลุดพ้นไป ย่อมมีแก่นรชนเพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ นรชนย่อมหมดจด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๐๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
คือ สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไปเพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ
รวมความว่า ถ้าความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น
คำว่า หรือถ้านรชนนั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ อธิบายว่า ถ้านรชนนั้น
ละชาติทุกข์(ทุกข์เพราะความเกิด) ชราทุกข์(ทุกข์เพราะความแก่) พยาธิทุกข์(ทุกข์
เพราะความเจ็บป่วย) มรณทุกข์(ทุกข์เพราะความตาย) ทุกข์คือโสกะ(ความเศร้าโศก)
ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกขะ(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) อุปายาส
(ความคับแค้นใจ) เพราะการเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ รวมความว่า หรือถ้านรชน
นั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ
คำว่า นรชนผู้ยังมีอุปธินั้น ย่อมหมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้) อธิบายว่า
นรชนย่อมหมดจด คือ สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไปเพราะมรรคอื่น
คือมรรคที่ไม่หมดจด ปฏิปทาที่ผิด ทางที่มิใช่นำออกจากทุกข์ นอกจากสติปัฏฐาน
สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรคมีองค์ ๘
คำว่า ผู้ยังมีอุปธิ ได้แก่ ผู้ยังมีราคะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ ยังมีมานะ ยังมี
ตัณหา ยังมีทิฏฐิ ยังมีกิเลส ยังมีอุปาทาน รวมความว่า นรชนผู้ยังมีอุปธินั้น ย่อม
หมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้)
คำว่า เพราะว่าทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้นผู้พูดอย่างนั้น อธิบายว่า
ทิฏฐินั้นแหละบ่งบอกถึงบุคคลนั้นว่า บุคคลนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตด้วย
ประการอย่างนี้
คำว่า ผู้พูดอย่างนั้น ได้แก่ ผู้พูด คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจงอย่างนั้นว่า
“โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” ... ผู้พูด คือ กล่าว บอก แสดง
ชี้แจงอย่างนั้นว่า “โลกไม่เที่ยง ... โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีวะ๑กับสรีระเป็น
อย่างเดียวกัน ... ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ... หลังจากตายแล้วตถาคต๒
เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก
และไม่เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า เพราะว่าทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ชีวะ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๖/๗๗
๒ ตถาคต ดูเชิงอรรถข้อ ๑๖/๗๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๐๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
ผู้พูดอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ถ้าความหมดจดย่อมมีแก่นรชนเพราะความเห็น
หรือถ้านรชนนั้นละทุกข์ได้เพราะญาณ
นรชนผู้ยังมีอุปธินั้น ย่อมหมดจดเพราะมรรคอื่น(ก็ได้)
เพราะว่าทิฏฐิย่อมบ่งบอกถึงนรชนนั้นผู้พูดอย่างนั้น
[๒๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน ศีลวัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้โดยมรรคอื่น
พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป ละตนได้
เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมในโลกนี้
คำว่า ไม่ ในคำว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น เสียงที่
ได้ยิน ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้โดยมรรคอื่น เป็นคำปฏิเสธ
คำว่า พราหมณ์ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗ ประการ
ได้แล้ว คือ
๑. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว
๒. ลอยวิจิกิจฉาได้แล้ว
๓. ลอยสีลัพพตปรามาสได้แล้ว
๔. ลอยราคะได้แล้ว
๕. ลอยโทสะได้แล้ว
๖. ลอยโมหะได้แล้ว
๗. ลอยมานะได้แล้ว
คือ พราหมณ์ลอยบาปอกุศลธรรมซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะ ต่อไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๐๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สภิยะ)
บุคคลผู้ลอยบาปทั้งปวงได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากมลทิน เป็นผู้ประเสริฐ
มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิ ดำรงตนมั่นคง
ข้ามพ้นสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์
ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์๑

ว่าด้วยความเชื่อถือว่า เป็นมงคล ไม่เป็นมงคล
คำว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจด ... โดยมรรคอื่น อธิบายว่า
พราหมณ์ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความ
สะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป โดยมรรคอื่น
คือ มรรคที่ไม่หมดจด ปฏิปทาที่ผิด ทางที่มิใช่นำออกจากทุกข์ นอกจากสติปัฏฐาน
สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรคมีองค์ ๘ รวมความว่า
พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจด ... โดยมรรคอื่น
คำว่า ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้ อธิบายว่า
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งถือความหมดจดด้วยการเห็น สมณพราหมณ์เหล่านั้นถือ
การเห็นรูปบางอย่างว่า เป็นมงคล ถือการเห็นรูปบางอย่างว่า ไม่เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นถือการเห็นรูปชนิดไหนว่า เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ เห็นรูปที่สมมติว่า เป็นมงคลยิ่ง คือ
เห็นนกแอ่นลม ผลมะตูมอ่อนเกิดในบุษยฤกษ์๒ หญิงมีครรภ์ เด็กเล็กที่ขี่คอคนไป
หม้อมีน้ำเต็ม ปลาตะเพียนแดง ม้าอาชาไนย รถเทียมม้าอาชาไนย โคผู้ โคแดง
ก็พากันถือการเห็นรูปเห็นปานนี้ว่า เป็นมงคล

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๕/๔๓๖
๒ บุษยฤกษ์ คือชื่อของดาวฤกษ์บุษยะ มี ๕ ดวง (๑) ดาวปุยฝ้าย (๒) ดาวพวงดอกไม้ (๓) ดาวดอกบัว
(๔) ดาวโลง (๕) ดาวสมอสำเภา หรือดาวสิธยะ (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๒๕, หน้า ๔๘๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๐๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือการเห็นรูปชนิดไหนว่า ไม่เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้น เห็นลอมฟาง หม้อเปรียง หม้อเปล่า นักฟ้อน
สมณะเปลือย ลา ยานเทียมด้วยลา ยานเทียมด้วยสัตว์พาหนะตัวเดียว คนตาบอด
คนง่อย คนแคระ คนเปลี้ย คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ก็พากันถือการเห็นรูปเห็นปานนี้ว่า
ไม่เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านี้นั้น ชื่อว่าถือความหมดจดด้วยการเห็น สมณพราหมณ์
เหล่านั้นถือความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป
ความหลุดพ้นไป ด้วยรูปที่เห็นแล้ว
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถือความหมดจดด้วยเสียงที่ได้ยิน สมณพราหมณ์
เหล่านั้น ถือการได้ยินเสียงบางอย่างว่า เป็นมงคล ถือการได้ยินเสียงบางอย่างว่า
ไม่เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือการได้ยินเสียงอย่างไหนว่า เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ได้ยินเสียงที่สมมติว่าเป็นมงคลยิ่งว่า
เจริญแล้ว กำลังเจริญ เต็ม ขาว ไม่เศร้าโศก ใจดี ฤกษ์ดี มงคลดี มีสิริ หรือว่าเจริญศรี
ก็พากันถือการได้ยินเสียงเห็นปานนี้ว่า เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือการได้ยินเสียงอย่างไหนว่า ไม่เป็นมงคล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ได้ยินเสียงว่าคนตาบอด คนง่อย
คนแคระ คนเปลี้ย คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ถูกตัด ถูกทุบ ถูกไฟไหม้ ของหาย หรือ
ว่าไม่มี ก็พากันถือการได้ยินเสียงเห็นปานนั้นว่า ไม่เป็นมงคล สมณพราหมณ์เหล่า
นี้นั้น ชื่อว่าถือความหมดจดด้วยการได้ยินเสียง สมณพราหมณ์เหล่านั้นถือความ
หมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
ด้วยการได้ยินเสียง
ว่าด้วยความหมดจดด้วยศีลและวัตร
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถือความหมดจดด้วยศีล สมณพราหมณ์เหล่านั้น
ถือความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความ
หลุดพ้นไป ด้วยเหตุเพียงศีล คือ ด้วยเหตุเพียงความสำรวม ด้วยเหตุเพียงความ
สังวร ด้วยเหตุเพียงความไม่ละเมิด


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๐๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
ปริพาชกผู้เป็นบุตรแห่งนางปริพาชิกาชื่อสมณมุณฑิกา กล่าวอย่างนี้ว่า
“ช่างไม้เอ๋ย เราบัญญัติบุรุษบุคคล ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า เป็นผู้มีกุศล
เพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม บรรลุถึงอรหัตตผลอันอุดมที่ควรบรรลุ เป็นสมณะ
ไม่มีใครสู้ได้ ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ช่างไม้เอ๋ย บุคคลเช่นนั้นในโลกนี้
๑. ย่อมไม่ทำกรรมชั่วช้าทางกาย ๒. ไม่กล่าววาจาชั่วช้า
๓. ไม่ดำริความดำริชั่วช้า ๔. ไม่ประกอบอาชีพชั่วช้า
ช่างไม้เอ๋ย เราบัญญัติบุรุษบุคคล ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้แลว่า
เป็นผู้มีกุศลเพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม ผู้บรรลุถึงอรหัตตผลอันอุดมที่ควรบรรลุ
เป็นสมณะ ไม่มีใครสู้ได้๑
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถือความหมดจดด้วยศีลอย่างนี้แหละ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นถือความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป
ความหลุดพ้นไปด้วยเหตุเพียงศีล ด้วยเหตุเพียงความสำรวม ด้วยเหตุเพียงความ
สังวร ด้วยเหตุเพียงความไม่ล่วงละเมิด
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถือความหมดจดด้วยวัตร สมณพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นผู้ประพฤติวัตรเยี่ยงช้างบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงม้าบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงโคบ้าง
ประพฤติวัตรเยี่ยงสุนัขบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงกาบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงท้าววาสุเทพ
บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงพลเทพบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงปุณณภัทรบ้าง ประพฤติวัตร
เยี่ยงมณีภัทรบ้าง ประพฤติวัตรคือการบูชาไฟบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงนาคบ้าง
ประพฤติวัตรเยี่ยงครุฑบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงยักษ์บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงอสูรบ้าง
ประพฤติวัตรเยี่ยงคนธรรพ์บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงท้าวมหาราชบ้าง ประพฤติวัตร
เยี่ยงพระจันทร์บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงพระอาทิตย์บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงพระอินทร์
บ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงพระพรหมบ้าง ประพฤติวัตรเยี่ยงเทพบ้าง ประพฤติวัตรคือ
การไหว้ทิศบ้าง สมณพราหมณ์เหล่านี้นั้น ชื่อว่าผู้ถือความหมดจดด้วยวัตร สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นถือความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป
ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปด้วยวัตร

เชิงอรรถ :
๑ ม.ม. ๑๓/๒๖๑/๒๓๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๐๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ถือความหมดจดด้วยอารมณ์ที่รับรู้ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ จับต้องแผ่นดิน จับต้องพืชสีเขียว จับต้องมูลโค จับต้องเต่า
เหยียบผาล จับต้องเกวียนบรรทุกงา เคี้ยวกินงาขาว ทาน้ำมันสีขาว เคี้ยวไม้สีฟัน
ขาว อาบน้ำชะโลมด้วยดินสอพอง นุ่งผ้าขาว โพกผ้าขาว สมณพราหมณ์เหล่านี้นั้น
ชื่อว่าถือความหมดจดด้วยอารมณ์ที่รับรู้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถือความหมดจด
คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปด้วย
อารมณ์ที่รับรู้แล้ว รวมความว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจด ... โดยมรรคอื่น
คำว่า ในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีลวัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้ อธิบายว่า
พราหมณ์ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด โดยถือความ
หมดจดด้วยรูปที่เห็นบ้าง โดยถือความหมดจดด้วยเสียงที่ได้ยินบ้าง โดยถือความ
หมดจดด้วยศีลบ้าง โดยถือความหมดจดด้วยวัตรบ้าง โดยถือความหมดจดด้วย
อารมณ์ที่รับรู้บ้าง รวมความว่า พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น เสียง
ที่ได้ยิน ศีลวัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้ โดยมรรคอื่น

ว่าด้วยการละบุญและบาป
คำว่า ผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป อธิบายว่า กุสลาภิสังขาร เป็นเหตุให้
เกิดในโลกธาตุ๑ ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง ตรัสเรียกว่าบุญ อกุศลทุกชนิด ตรัสเรียกว่า
สิ่งที่ไม่ใช่บุญ
ปุญญาภิสังขาร๒ อปุญญาภิสังขาร๓ และอาเนญชาภิสังขาร๔ เป็นสิ่งที่พราหมณ์
นั้นละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ โลกธาตุ ๓ ได้แก่กามธาตุ รูปธาตุ และอรูปธาตุ
๒ ปุญญาภิสังขาร คืออภิสังขารที่เป็นบุญ สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นกามาวจร
และรูปาวจร (ขุ.ม.อ. ๒๕/๒๑๖)
๓ อปุญญาภิสังขาร คืออภิสังขารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญคือเป็นบาป สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่
อกุศลเจตนาทั้งหลาย (ขุ.ม.อ. ๒๕/๒๑๖)
๔ อาเนญชาภิสังขาร คืออภิสังขารที่เป็นอาเนญชา สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่
กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔ หมายเอาภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน (ขุ.ม.อ. ๒๕/
๒๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๐๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ในกาลใด ในกาลนั้น พราหมณ์นั้น
ย่อมไม่ติด ไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป ได้แก่ เป็นผู้ไม่ติดแล้ว ไม่ติดพัน
แล้ว ไม่เข้าไปติดแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว
มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป

ว่าด้วยการละตน
คำว่า ละตนได้ ในคำว่า ละตนได้ เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมในโลกนี้ ได้แก่
ละความเห็นว่า เป็นตน
คำว่า ละตนได้ ได้แก่ ละความยึดมั่นถือมั่น
อีกนัยหนึ่ง คำว่า ละตนได้ อธิบายว่า ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น
ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อ ด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิทั้งปวง เป็นสิ่งที่
พราหมณ์นั้นสละแล้ว คายแล้ว ปล่อยแล้ว ละแล้ว สลัดทิ้งแล้ว
คำว่า เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมในโลกนี้ อธิบายว่า เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติม
คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้น ซึ่งปุญญาภิสังขาร
อปุญญาภิสังขาร หรืออาเนญชาภิสังขาร รวมความว่า ละตนได้ เรียกว่าผู้ไม่ทำ
เพิ่มเติมในโลกนี้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
พราหมณ์ไม่กล่าวความหมดจดในรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน ศีลวัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้โดยมรรคอื่น
พราหมณ์นั้นผู้ไม่เข้าไปติดในบุญและบาป ละตนได้
เรียกว่า ผู้ไม่ทำเพิ่มเติมในโลกนี้
[๒๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สมณพราหมณ์เหล่านั้นละสิ่งแรก อาศัยสิ่งหลัง
ไปตามความพลุ่งพล่าน ย่อมข้ามกิเลสเครื่องข้องไม่ได้
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมยึดถือ ย่อมสลัดทิ้ง
เหมือนลิงจับกิ่งไม้แล้วก็ปล่อยฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๐๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการจับๆ ปล่อย ๆ พ้นกิเลสไม่ได้
คำว่า ละสิ่งแรก อาศัยสิ่งหลัง อธิบายว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นละ
ศาสดาองค์ก่อน อาศัย คือ อิงอาศัย ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อศาสดาองค์
ต่อมา ละธรรมที่ศาสดากล่าวสอนครั้งแรก อาศัย... ธรรมที่ศาสดากล่าวสอนครั้ง
ต่อมา ละหมู่คณะแรก อาศัย... หมู่คณะต่อมา ละทิฏฐิแรก อาศัย... ทิฏฐิต่อมา
ละปฏิปทาแรก อาศัย... ปฏิปทาต่อมา ละมรรคแรก อาศัย คือ อิงอาศัย ติด
ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อมรรคต่อมา รวมความว่า ละสิ่งแรก อาศัยสิ่งหลัง
คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ... ไปตามความพลุ่งพล่าน ย่อมข้ามกิเลส
เครื่องข้องไม่ได้ อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความพลุ่งพล่าน คือ ความ
กำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑
คำว่า ไปตามความพลุ่งพล่าน อธิบายว่า ไปตามความพลุ่งพล่าน คือ
ตกไปตามความพลุ่งพล่าน ซ่านไปตามความพลุ่งพล่าน จมลงในความพลุ่งพล่าน
ได้แก่ ถูกความพลุ่งพล่านผลักให้ตกไป ถูกความพลุ่งพล่านครอบงำ มีจิตถูกความ
พลุ่งพล่านยึดครอง
คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ... ย่อมข้ามกิเลสเครื่องข้องไม่ได้ ได้แก่
ย่อมข้ามไม่ได้ คือ ข้ามไปไม่ได้ ข้ามพ้นไม่ได้ ก้าวล่วงไม่ได้ ล่วงเลยไม่ได้ ซึ่งกิเลส
เครื่องข้องคือราคะ กิเลสเครื่องข้องคือโทสะ กิเลสเครื่องข้องคือโมหะ กิเลสเครื่อง
ข้องคือมานะ กิเลสเครื่องข้องคือทิฏฐิ กิเลสอันเป็นเครื่องเกี่ยวข้อง กิเลสเครื่องข้อง
คือทุจริต รวมความว่า สมณพรหมณ์เหล่านั้น ... ไปตามความพลุ่งพล่าน ย่อมข้าม
กิเลสเครื่องข้องไม่ได้
คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมยึดถือ ย่อมสลัดทิ้ง อธิบายว่า
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือศาสดา ปล่อยศาสดานั้นแล้วก็ถือศาสดาองค์อื่น
ถือธรรมที่ศาสดากล่าวสอน ปล่อยธรรมนั้นแล้วก็ถือธรรมที่ศาสดากล่าวสอน
อื่น ถือหมู่คณะ ปล่อยหมู่คณะนั้นแล้วก็ถือหมู่คณะอื่น ถือทิฏฐิ ปล่อยทิฏฐินั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๑๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
แล้วก็ถือทิฏฐิอื่น ถือปฏิปทา ปล่อยปฏิปทานั้นแล้วก็ถือปฏิปทาอื่น ถือมรรค
ปล่อยมรรคนั้นแล้วก็ถือมรรคอื่น คือ ย่อมถือและย่อมปล่อย ชื่อว่าย่อมยึดถือ
และย่อมสลัดทิ้ง รวมความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมยึดถือ ย่อมสลัดทิ้ง
คำว่า เหมือนลิงจับกิ่งไม้แล้วก็ปล่อยฉะนั้น อธิบายว่า ลิงเที่ยวไปใน
ป่าดงใหญ่ จับกิ่งไม้แล้ว ปล่อยกิ่งนั้นก็จับกิ่งอื่น ปล่อยกิ่งนั้นแล้วก็จับกิ่งอื่น ฉันใด
สมณพราหมณ์เป็นอันมากย่อมถือ และย่อมปล่อยทิฏฐิมากมาย ชื่อว่าย่อมยึดถือ
และย่อมสลัดทิ้งทิฏฐิมากมาย ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า เหมือนลิงจับกิ่งไม้
แล้วก็ปล่อยฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สมณพราหมณ์เหล่านั้นละสิ่งแรก อาศัยสิ่งหลัง
ไปตามความพลุ่งพล่าน ย่อมข้ามกิเลสเครื่องข้องไม่ได้
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมยึดถือ ย่อมสลัดทิ้ง
เหมือนลิงจับกิ่งไม้แล้วก็ปล่อยฉะนั้น
[๒๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สัตว์เกิดสมาทานวัตรทั้งหลายเอง
ข้องอยู่ในสัญญา ย่อมดำเนินไปลุ่ม ๆ ดอน ๆ
ส่วนผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลายแล้ว
เป็นผู้มีปัญญากว้างขวางดุจภูริ (แผ่นดิน)
ย่อมไม่ดำเนินไปลุ่ม ๆ ดอน ๆ

ว่าด้วยการดำเนินไปลุ่มๆ ดอน ๆ
คำว่า สมาทาน...เอง ในคำว่า สัตว์เกิดสมาทานวัตรทั้งหลายเอง ได้แก่
สมาทานด้วยตนเอง
คำว่า วัตรทั้งหลาย อธิบายว่า ถือเอา สมาทาน คือ ยึดถือ รับเอา ถือ
ยึดมั่น ถือมั่นวัตรเยี่ยงช้างบ้าง วัตรเยี่ยงม้าบ้าง วัตรเยี่ยงโคบ้างวัตรเยี่ยงสุนัขบ้าง
วัตรเยี่ยงกาบ้าง วัตรเยี่ยงท้าววาสุเทพบ้าง วัตรเยี่ยงพลเทพบ้าง วัตรเยี่ยง
ปุณณภัทรบ้าง วัตรเยี่ยงมณีภัทรบ้างวัตรคือการบูชาไฟบ้าง วัตรเยี่ยงนาคบ้าง
วัตรเยี่ยงครุฑบ้าง วัตรเยี่ยงยักษ์บ้าง วัตรเยี่ยงอสูรบ้าง ... วัตรคือการไหว้ทิศบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๑๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า สัตว์เกิด ได้แก่ สัตว์ นรชน ... มนุษย์๑ รวมความว่า สัตว์เกิดสมาทาน
วัตรทั้งหลายเอง
คำว่า ข้องอยู่ในสัญญา ย่อมดำเนินไปลุ่ม ๆ ดอน ๆ ได้แก่ จากศาสดา(แรก)
ไปหาศาสดา(ต่อมา) จากธรรมที่ศาสดากล่าวสอน(ครั้งแรก) ไปหาธรรมที่ศาสดา
กล่าวสอน(ครั้งต่อมา) จากหมู่คณะ(แรก) ไปหาหมู่คณะ(ต่อมา) จากทิฏฐิ(แรก) ไป
หาทิฏฐิ(ต่อมา) จากปฏิปทา(แรก) ไปหาปฏิปทา(ต่อมา) จากมรรค(แรก) ไปหา
มรรค(ต่อมา)
คำว่า ผู้ข้องอยู่ในสัญญา อธิบายว่า ผู้ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน
พัวพันในกามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา ทิฏฐิสัญญา เปรียบเหมือน
สิ่งของ ข้อง คือ ติด เกี่ยว แขวน เกี่ยวพัน ติดตรึงอยู่ที่ตะปูข้างฝา หรือ ที่ไม้แขวน
ฉันใด สัตว์เกิดนั้นก็ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในกามสัญญา
พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา ทิฏฐิสัญญา ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า
ผู้ข้องอยู่ในสัญญา ย่อมดำเนินไปลุ่ม ๆ ดอน ๆ

ว่าด้วยผู้รู้ธรรม ๗ ประการ
คำว่า ผู้มีความรู้ ในคำว่า ส่วนผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลายแล้ว
ได้แก่ ผู้มีความรู้ คือ มีวิชชา มีญาณ มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีปัญญาแจ่มแจ้ง
มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า ด้วยเวททั้งหลาย ได้แก่ ญาณในมรรค ๔ ตรัสเรียกว่า เวท คือ ปัญญา
ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญาเครื่องพิจารณา ปัญญา
เครื่องเห็นแจ้ง สัมมาทิฏฐิ
ผู้มีความรู้นั้น ถึงที่สุด บรรลุที่สุด ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงปลายสุด
บรรลุปลายสุด ถึงความสำเร็จ บรรลุความสำเร็จ ถึงที่ปกป้อง บรรลุที่ปกป้อง ถึงที่
หลีกเร้น บรรลุที่หลีกเร้น ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึ่ง ถึงที่ไม่มีภัย บรรลุที่ไม่มีภัย ถึงที่

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๑๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงที่ไม่ตาย บรรลุที่ไม่ตาย ถึงที่ดับ บรรลุที่ดับแห่งชาติ ชรา
มรณะ ด้วยเวทเหล่านั้น
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าเวทคู เพราะถึงที่สุดแห่งความรู้ทั้งหลาย ชื่อว่าเวทคู เพราะ
ถึงที่สุดด้วยความรู้ทั้งหลาย ชื่อว่าเวทคู เพราะรู้แจ้งธรรม ๗ ประการ คือ

๑. เป็นผู้รู้แจ้งสักกายทิฏฐิ ๒. เป็นผู้รู้แจ้งวิจิกิจฉา
๓. เป็นผู้รู้แจ้งสีลัพพตปรามาส ๔. เป็นผู้รู้แจ้งราคะ
๕. เป็นผู้รู้แจ้งโทสะ ๖. เป็นผู้รู้แจ้งโมหะ
๗. เป็นผู้รู้แจ้งมานะ

ผู้มีความรู้นั้นเป็นผู้รู้แจ้งบาปอกุศลธรรม ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง
ก่อภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะ
ต่อไป
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สภิยะ)
บุคคลเลือกเฟ้นเวททั้งสิ้น ของพวกสมณพราหมณ์ที่มีอยู่
เป็นผู้ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง
ก้าวล่วงเวททั้งปวงแล้ว ชื่อว่าเวทคู๑
คำว่า ส่วนผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยความรู้ทั้งหลายแล้ว อธิบายว่า รู้ คือ
รู้ยิ่งธรรมว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ... ธรรมทั้งปวงเป็น
อนัตตา ... เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ... เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
... เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี ... เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี ...
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี ... เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี ...
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี ... เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี ...
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ... เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี ... เพราะชาติ
เป็นปัจจัย ชรา มรณะจึงมี”
รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมว่า “เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ... เพราะสังขารดับ
วิญญาณจึงดับ ... เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ... เพราะนามรูปดับ สฬายตนะ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๓๕/๔๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๑๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
จึงดับ ... เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ ... เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ ...
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ ... เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ... เพราะอุปาทาน
ดับ ภพจึงดับ ... เพราะภพดับ ชาติจึงดับ ... เพราะชาติดับ ชรา มรณะ จึงดับ”
รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมว่า “นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา”
รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมว่า “เหล่านี้อาสวะ ... นี้อาสวสมุทัย ... นี้อาสวนิโรธ ...
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา”
รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมว่า “เหล่านี้ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ... เหล่านี้ธรรมที่ควรกำหนดรู้
... เหล่านี้ธรรมที่ควรละ ... เหล่านี้ธรรมที่ควรเจริญ ... เหล่านี้ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง”
รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมคือเหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดออกแห่ง
ผัสสายตนะ ๖
รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมคือเหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดออกแห่ง
อุปาทานขันธ์ ๕
รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมคือเหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดออกแห่ง
มหาภูตรูป ๔
รู้ คือ รู้ยิ่งธรรมว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด
ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า ส่วนผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยเวท
ทั้งหลายแล้ว
คำว่า เป็นผู้มีปัญญากว้างขวางดุจภูริ(แผ่นดิน) ย่อมไม่ดำเนินไปลุ่ม ๆ
ดอน ๆ ได้แก่ ไม่จากศาสดา(แรก)ไปหาศาสดา(ต่อมา) ไม่จากธรรมที่ศาสดากล่าว
สอน(แรก)ไปหาธรรมที่ศาสดากล่าวสอน(ต่อมา) ไม่จากหมู่คณะ(แรก)ไปหาหมู่
คณะ(ต่อมา) ไม่จากทิฏฐิ(แรก)ไปหาทิฏฐิ(ต่อมา) ไม่จากปฏิปทา(แรก)ไปหา
ปฏิปทา(ต่อมา) ไม่จากมรรค(แรก)ไปหามรรค(ต่อมา)
คำว่า เป็นผู้มีปัญญากว้างขวางดุจภูริ(แผ่นดิน) ได้แก่ เป็นผู้มีปัญญาดุจ
ภูริ คือมีปัญญายิ่งใหญ่ มีปัญญามาก มีปัญญาอาจหาญ มีปัญญาฉับไว มีปัญญา
เฉียบคม มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส แผ่นดิน ตรัสเรียกว่า ภูริ บุคคลนั้นประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๑๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
ด้วยปัญญา อันกว้างขวาง แผ่ไป เสมอด้วยแผ่นดินนั้น รวมความว่า เป็นผู้มีปัญญา
กว้างขวางดุจภูริ(แผ่นดิน) ย่อมไม่ดำเนินไปลุ่ม ๆ ดอน ๆ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
สัตว์เกิดสมาทานวัตรทั้งหลายเอง
ข้องอยู่ในสัญญา ย่อมดำเนินไปลุ่ม ๆ ดอน ๆ
ส่วนผู้มีความรู้ รู้ธรรมด้วยเวททั้งหลายแล้ว
เป็นผู้มีปัญญากว้างขวางดุจภูริ(แผ่นดิน)
ย่อมไม่ดำเนินไปลุ่ม ๆ ดอน ๆ
[๒๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง
คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนดผู้มีปัญญานั้น
ผู้เห็น ผู้ประพฤติเปิดเผย ด้วยเหตุอะไรเล่า

ว่าด้วยเสนามาร
คำว่า ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง คือรูปที่เห็น เสียง
ที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เสนามาร ตรัสเรียกว่า
เสนา กายทุจริต ชื่อว่าเสนามาร วจีทุจริต ชื่อว่าเสนามาร มโนทุจริต ชื่อว่า
เสนามาร ราคะ ชื่อว่าเสนามาร โทสะ ชื่อว่าเสนามาร โมหะ ชื่อว่าเสนามาร
โกธะ ... อุปนาหะ ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ชื่อว่าเสนามาร สมจริงดังที่พระผู้มี-
พระภาคตรัสไว้ว่า
กิเลสกามเราเรียกว่าเสนากองที่ ๑ ของท่าน
ความไม่ยินดีเราเรียกว่าเสนากองที่ ๒ ของท่าน
ความหิวกระหายเราเรียกว่าเสนากองที่ ๓ ของท่าน
ตัณหาเราเรียกว่าเสนากองที่ ๔ ของท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๑๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
ถีนมิทธะเราเรียกว่าเสนากองที่ ๕ ของท่าน
ความกลัวเราเรียกว่าเสนากองที่ ๖ ของท่าน
วิจิกิจฉาเราเรียกว่าเสนากองที่ ๗ ของท่าน
มักขะและถัมภะเราเรียกว่าเสนากองที่ ๘ ของท่าน
ลาภ ความสรรเสริญ สักการะและยศที่ได้มาผิด ๆ
เราเรียกว่าเสนากองที่ ๙ ของท่าน
การยกตนและข่มผู้อื่นเราเรียกว่าเสนากองที่ ๑๐ ของท่าน
มารเอ๋ย เสนาของท่านนี้ มีปกติประหารผู้มีธรรมดำ
คนขลาดเอาชนะเสนานั้นไม่ได้
แต่คนกล้า ครั้นชนะได้แล้วย่อมได้ความสุข๑
เมื่อใด เสนามารทั้งหมดและกิเลสที่สร้างเสนาฝ่ายตรงข้ามทั้งปวง ถูกผู้มี
ปัญญาพิชิต และทำให้ปราชัย ถูกทำลาย กำจัด ทำให้ไม่สู้หน้าแล้วด้วยอริยมรรค ๔
เมื่อนั้น ผู้มีปัญญานั้นตรัสเรียกว่า เป็นผู้กำจัดเสนา คือ เป็นผู้กำจัดเสนาในรูป
ที่เห็น กำจัดเสนาในเสียงที่ได้ยิน กำจัดเสนาในอารมณ์ที่รับรู้ และกำจัดเสนาใน
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว รวมความว่า ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง
คือรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
คำว่า ผู้มีปัญญานั้น ผู้เห็น ผู้ประพฤติเปิดเผย อธิบายว่า ผู้มีปัญญานั้น
ผู้เห็นธรรมหมดจด เห็นธรรมสะอาด เห็นธรรมบริสุทธิ์ เห็นธรรมผ่องแผ้ว เห็น
ธรรมผ่องใส อีกนัยหนึ่ง ความเห็นหมดจด ความเห็นสะอาด ความเห็นบริสุทธิ์
ความเห็นผ่องแผ้ว ความเห็นผ่องใส
คำว่า เปิดเผย อธิบายว่า เครื่องปิดบังคือตัณหา เครื่องปิดบังคือทิฏฐิ เครื่อง
ปิดบังคือกิเลส เครื่องปิดบังคือทุจริต เครื่องปิดบังคืออวิชชา เครื่องปิดบังเหล่านั้น
ถูกเปิดเผยแล้ว คือ รื้อออกแล้ว เพิกขึ้นแล้ว เพิกถอนแล้ว ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๔๓๙-๔๔๒/๔๑๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๑๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้ประพฤติ ได้แก่ ผู้ประพฤติ คือ เที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า ผู้มีปัญญานั้น ผู้เห็น
ผู้ประพฤติเปิดเผย
คำว่า ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนด ... ด้วยเหตุอะไรเล่า อธิบายว่า
คำว่า กำหนด ได้แก่ การกำหนด ๒ อย่าง คือ (๑) การกำหนดด้วยอำนาจ
ตัณหา (๒) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ
ผู้มีปัญญานั้นละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการกำหนด
ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว ใคร ๆ จะพึงกำหนดผู้มีปัญญานั้นด้วยราคะ โทสะ โมหะ
มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย อะไรเล่าว่า “เป็นผู้กำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง
เป็นผู้หลง เป็นผู้ยึดติด เป็นผู้ยึดมั่น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เป็นผู้ลังเล หรือเป็นผู้ตกอยู่ใน
พลังกิเลส”
ผู้มีปัญญานั้นละอภิสังขารเหล่านั้นได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละอภิสังขารได้แล้ว
ใคร ๆ จะพึงกำหนดคติด้วยเหตุอะไรเล่าว่า “เป็นผู้เกิดในนรก เป็นผู้เกิดในกำเนิด
เดรัจฉาน เป็นผู้เกิดในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป
เป็นผู้มีสัญญา เป็นผู้ไม่มีสัญญา หรือว่าเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่”
ใคร ๆ จะพึงกำหนด คือ กำหนดรู้ ถึงการกำหนดรู้ด้วยเหตุ ปัจจัย และการณ์ใด
เหตุ ปัจจัย และการณ์นั้นไม่มี
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนด ... ด้วยเหตุอะไรได้เล่า ด้วย
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ผู้มีปัญญานั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง
คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนดผู้มีปัญญานั้น
ผู้เห็น ผู้ประพฤติเปิดเผย ด้วยเหตุอะไรเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๑๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
[๒๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู
สัตบุรุษเหล่านั้น ไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดสุดโต่ง
สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว
ไม่ก่อความหวังในที่ไหน ๆ ในโลก

ว่าด้วยคุณลักษณะของสัตบุรุษ
คำว่า ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู อธิบายว่า
คำว่า กำหนด ได้แก่ การกำหนด ๒ อย่าง คือ (๑) การกำหนดด้วยอำนาจ
ตัณหา (๒) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ
สัตบุรุษเหล่านั้นละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการกำหนด
ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการ
กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว สัตบุรุษ จึงไม่กำหนด คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้น ซึ่งการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา หรือการกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิ รวมความว่า ย่อมไม่กำหนด
คำว่า ไม่เชิดชู อธิบายว่า
คำว่า เชิดชู ได้แก่ การเชิดชู ๒ อย่าง คือ (๑) การเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา
(๒) การเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าการ
เชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ
สัตบุรุษเหล่านั้นละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการเชิดชูด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการเชิดชูด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว สัตบุรุษก็ไม่เที่ยวเชิดชูตัณหาหรือทิฏฐิไว้ คือ ไม่มีตัณหาเป็น
ธงชัย ไม่มีตัณหาเป็นยอดธง ไม่มีตัณหาเป็นใหญ่ ไม่มีทิฏฐิเป็นธงชัย ไม่มีทิฏฐิเป็น
ยอดธง ไม่มีทิฏฐิเป็นใหญ่ คือไม่ได้ถูกตัณหาหรือทิฏฐิครอบงำเที่ยวไปอยู่ รวม
ความว่า ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๑๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า สัตบุรุษเหล่านั้นไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดสุดโต่ง อธิบายว่า
สัตบุรุษ ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจง ความหมดจดสุดโต่ง คือ
ความหมดจดโดยการเวียนว่าย ความเห็นว่าการกระทำไม่มีผล มีวาทะว่าเที่ยง
รวมความว่า สัตบุรุษเหล่านั้นไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดสุดโต่ง
คำว่า สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว อธิบายว่า
คำว่า กิเลสเครื่องร้อยรัด ได้แก่ กิเลสเครื่องร้อยรัด ๔ อย่าง คือ
๑. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา
๒. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือพยาบาท
๓. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือสีลัพพตปรามาส
๔. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือความถือมั่นว่านี้เท่านั้นจริง
ความกำหนัดในทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา
ความอาฆาต ความไม่พอใจในวาทะของผู้อื่น ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือ
พยาบาท
ความยึดมั่นศีล วัตรหรือศีลวัตรของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือ
สีลัพพตปรามาส
ทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออิทังสัจจาภินิเวส
เพราะเหตุไร จึงเรียกว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น เพราะสัตว์
ทั้งหลาย ย่อมยึดถือ เข้าไปยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร
... วิญญาณ ... คติ ... การถือกำเนิด ... ปฏิสนธิ ... ภพ เพราะสัตว์ทั้งหลาย ย่อมยึดถือ
เข้าไปยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่น สังสารวัฏ ด้วยกิเลสเครื่องร้อยรัดเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น
จึงเรียกว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น
คำว่า สลัด ได้แก่ สละ หรือสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด อีกนัยหนึ่ง สัตบุรุษแก้
หรือ สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด คือกิเลสเครื่องผูกพัน ที่ร้อยรัด รัดรึง ข้อง ติด
เกี่ยว เกี่ยวพัน เกาะติด ติดแน่นแล้ว อธิบายว่า สัตบุรุษ สละ หรือสลัดกิเลส
เครื่องร้อยรัด เหมือนคนทำการปลดปล่อยวอ รถ เกวียน หรือ รถมีเครื่องประดับ
ให้เคลื่อนที่ไปได้ ฉะนั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๑๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง สัตบุรุษ แก้ หรือสลัดกิเลสเครื่องรัอยรัด คือกิเลสเครื่องผูกพัน
ที่ร้อยรัด รัดรึง ข้อง ติด เกี่ยว เกี่ยวพัน เกาะติด ติดแน่นแล้ว รวมความว่า สลัด
กิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว
คำว่า ไม่ก่อความหวังในที่ไหน ๆ ในโลก อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า
ความหวัง คือ ความกำหนัด กำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑
คำว่า ไม่ก่อความหวัง ได้แก่ ไม่ก่อ คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด
ไม่ให้บังเกิดขึ้นซึ่งความหวัง
คำว่า ในที่ไหน ๆ ได้แก่ ในที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก
หรือทั้งภายในและภายนอก
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ... อายตนโลก รวมความว่า ไม่ก่อ
ความหวังในที่ไหน ๆ ในโลก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู
สัตบุรุษเหล่านั้น ไม่กล่าวว่า เป็นความหมดจดสุดโต่ง
สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเป็นเหตุยึดมั่น ที่ร้อยรัดไว้แล้ว
ไม่ก่อความหวังในที่ไหน ๆ ในโลก
[๓๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พระอรหันต์เป็นผู้ไปพ้นเขตแดนแล้ว เป็นพราหมณ์
เพราะรู้และเห็น พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีความถือมั่น
พระอรหันต์ไม่มีความกำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด
ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด
พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีความถือมั่นว่า ยอดเยี่ยมในโลกนี้

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๒๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยพระอรหันต์
คำว่า พระอรหันต์เป็นผู้ไปพ้นเขตแดนแล้ว เป็นพราหมณ์ เพราะรู้และ
เห็น พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีความถือมั่น อธิบายว่า
คำว่า เขตแดน ได้แก่ เขตแดน ๔ อย่าง คือ
๑. สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และ
เหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกันนั้น นี้เป็นเขตแดนที่ ๑
๒. กามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์อย่างหยาบ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย
อย่างหยาบ และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกันนั้น นี้เป็นเขตแดนที่ ๒
๓. กามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์อย่างละเอียด กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย
อย่างละเอียด และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกันนั้น นี้เป็นเขตแดนที่ ๓
๔. รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานานุสัย ภวราคานุสัย
อวิชชานุสัย และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกันนั้น นี้เป็นเขตแดนที่ ๔
เพราะพระอรหันต์ เป็นผู้ก้าวล่วง คือ ก้าวพ้น ล่วงพ้น เขตแดนทั้ง ๔ เหล่านี้
ด้วยอริยมรรค ๔ พระอรหันต์นั้น จึงตรัสเรียกว่า ผู้ไปพ้นเขตแดนแล้ว
คำว่า เป็นพราหมณ์ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗ ประการ
ได้แล้ว คือ
๑. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว
๒. ลอยวิจิกิจฉาได้แล้ว
๓. ลอยสีลัพพตปรามาสได้แล้ว ... ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์๑
คำว่า นั้น ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า เพราะรู้ ได้แก่ เพราะรู้ด้วยปรจิตตญาณ(ญาณเป็นเครื่องรู้จิตของผู้อื่น)
หรือ รู้ด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณ(ญาณเป็นเครื่องระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ก่อน)
คำว่า เพราะเห็น ได้แก่ เพราะเห็นด้วยมังสจักขุ หรือ เห็นด้วยทิพพจักขุ
คำว่า พระอรหันต์เป็นผู้ไปพ้นเขตแดนแล้ว เป็นพราหมณ์ เพราะรู้และ
เห็น พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีความถือมั่น อธิบายว่า พระอรหันต์นั้น ไม่มี คือ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๕/๑๐๔-๑๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๒๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๔. สุทธัฏฐกสุตตนิทเทส
ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ซึ่งความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความติดใจ
ความน้อมใจเชื่อว่า สิ่งนี้ เยี่ยม ยอด ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด
คือ ความถือมั่นนั้นพระอรหันต์ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ
ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า พระอรหันต์
เป็นผู้ไปพ้นเขตแดนแล้ว เป็นพราหมณ์ เพราะรู้และเห็น พระอรหันต์นั้น จึงไม่มี
ความถือมั่น
คำว่า ไม่เป็นผู้กำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็น
ที่คลายกำหนัด อธิบายว่า ชนเหล่าใดกำหนัด คือ ยินดี ติดใจ สยบ หมกมุ่น
เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในกามคุณ ๕ ชนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า ผู้กำหนัดใน
กามคุณเป็นที่กำหนัด ชนเหล่าใดกำหนัด คือ ยินดี ติดใจ สยบ หมกมุ่น เกาะติด
เกี่ยวพัน พัวพันในรูปาวจรสมาบัติ และอรูปาวจรสมาบัติ ชนเหล่านั้นตรัสเรียกว่า
ผู้กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด
คำว่า ไม่เป็นผู้กำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็นที่
คลายกำหนัด อธิบายว่า เมื่อใด พระอรหันต์ละกามราคะ รูปราคะ และอรูปราคะ
ได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่
พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ เมื่อนั้น พระอรหันต์ จึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่
กำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด
คำว่า นั้น ในคำว่า พระอรหันต์นั้น ไม่มีความถือมั่นว่ายอดเยี่ยมในโลกนี้
ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ พระอรหันต์นั้นไม่มีความถือ ความยึดมั่น ความ
ถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อว่า สิ่งนี้ เยี่ยม ยอด ประเสริฐ วิเศษ
นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด
คำว่า ไม่มี ได้แก่ ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ได้แก่ ความถือมั่นนั้น
พระอรหันต์ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่
ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีความถือมั่น
ว่ายอดเยี่ยมในโลกนี้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๒๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
พระอรหันต์เป็นผู้ไปพ้นเขตแดนแล้ว เป็นพราหมณ์
เพราะรู้และเห็น พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีความถือมั่น
พระอรหันต์ไม่มีความกำหนัดในกามคุณเป็นที่กำหนัด
ไม่กำหนัดในสมาบัติเป็นที่คลายกำหนัด
พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีความถือมั่นว่า ยอดเยี่ยมในโลกนี้
สุทธัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๔ จบ

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส๑
อธิบายปรมัฏฐกสูตร
ว่าด้วยผู้ยึดถืออยู่ในทิฏฐิ
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายปรมัฏฐกสูตร ดังต่อไปนี้
[๓๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สัตว์เกิดผู้ยึดถือในทิฏฐิทั้งหลายว่า ยอดเยี่ยม
ย่อมทำทิฏฐิใดให้ยิ่งใหญ่ในโลก
กล่าวทิฏฐิอื่นทุกอย่าง นอกจากทิฏฐินั้นว่า เลว
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดนั้นจึงไม่ล่วงพ้นการวิวาทไปได้
คำว่า ยึดถือในทิฏฐิทั้งหลายว่า ยอดเยี่ยม อธิบายว่า มีสมณพราหมณ์
พวกหนึ่ง เป็นเจ้าลัทธิ สมณพราหมณ์เหล่านั้น จับ ยึด ถือ ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิ
อย่างใดอย่างหนึ่งในทิฏฐิ ๖๒ ว่า “ทิฏฐินี้ เยี่ยม ยอด ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า
สูงสุด ประเสริฐสุด” ย่อมอยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองด้วยทิฏฐิของตน ๆ อธิบาย
ว่า พวกคนครองเรือนก็อยู่ในเรือน บรรพชิตที่มีอาบัติก็อยู่ในอาบัติ ผู้มีกิเลสก็อยู่ใน
กิเลสทั้งหลาย ฉันใด มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งเป็นเจ้าลัทธิ สมณพราหมณ์เหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๘๐๓-๘๑๐/๔๙๒-๔๙๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๒๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
จับ ยึด ถือ ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งในทิฏฐิ ๖๒ ว่า “ทิฏฐินี้เยี่ยม
ยอด ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด” ย่อมอยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย
อยู่ครองด้วยทิฏฐิของตน ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า ผู้ยึดถือในทิฏฐิทั้งหลายว่า
ยอดเยี่ยม
คำว่า ทิฏฐิใด ในคำว่า สัตว์เกิด ...ย่อมทำทิฏฐิใดให้ยิ่งใหญ่ในโลก ได้แก่
ลัทธิใด
คำว่า ย่อมทำให้ยิ่งใหญ่ ได้แก่ ย่อมทำให้ยิ่งใหญ่ คือ ย่อมทำให้ยอดเยี่ยม
ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด อธิบายว่า ย่อมทำให้ยิ่งใหญ่ คือ ทำให้
ยอดเยี่ยม ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด คือให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้นว่า
“ศาสดานี้เป็นสัพพัญญู ธรรมนี้ศาสดากล่าวสอนไว้ดีแล้ว หมู่คณะนี้ปฏิบัติดีแล้ว
ทิฏฐินี้เป็นสิ่งที่เจริญ ปฏิปทานี้ศาสดาบัญญัติไว้ดีแล้ว มรรคนี้เป็นทางนำออก
จากทุกข์”
คำว่า สัตว์เกิด ได้แก่ สัตว์ นรชน ... มนุษย์๑
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ... อายตนโลก๒ รวมความว่า สัตว์เกิด ...
ย่อมทำทิฏฐิใดให้ยิ่งใหญ่ในโลก
คำว่า กล่าวทิฏฐิอื่นทุกอย่างนอกจากทิฏฐินั้นว่า เลว อธิบายว่า สัตว์เกิดนั้น
ย่อมทิ้ง ละทิ้ง ทอดทิ้งลัทธิอื่นทุกอย่าง นอกจากศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน
หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรค ของตน กล่าวคือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอย่างนี้ว่า
“ศาสดานั้น มิใช่สัพพัญญู ธรรมมิใช่ศาสดากล่าวสอนไว้ดีแล้ว หมู่คณะมิใช่ผู้ปฏิบัติ
ดีแล้ว ทิฏฐิมิใช่สิ่งที่เจริญ ปฏิปทามิใช่ศาสดาบัญญัติไว้ดีแล้ว มรรคมิใช่ทางนำออก
จากทุกข์ ในลัทธินั้นไม่มีความหมดจด ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป
ความพ้นไป หรือความหลุดพ้นไป คือ ในลัทธินั้น สัตว์ทั้งหลายย่อมหมดจด
สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หรือหลุดพ้นไปไม่ได้ สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้เลว คือ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๔
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๒๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย” รวมความว่า กล่าวทิฏฐิอื่น
ทุกอย่างนอกจาก ทิฏฐินั้นว่าเลว
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดนั้นจึงไม่ล่วงพ้นการ
วิวาทไปได้ ได้แก่ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะ
ต้นเหตุนั้น
คำว่า การวิวาท ได้แก่ การทะเลาะเพราะทิฏฐิ การบาดหมางเพราะทิฏฐิ การ
แก่งแย่งเพราะทิฏฐิ การวิวาทเพราะทิฏฐิ การมุ่งร้ายกันเพราะทิฏฐิ
คำว่า ไม่ล่วงพ้นไปได้ ได้แก่ ไม่ก้าวล่วง ไม่ก้าวพ้น ไม่ล่วงพ้น รวมความว่า
เพราะฉะนั้น จึงไม่ล่วงพ้นการวิวาทไปได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สัตว์เกิดผู้ยึดถือในทิฏฐิทั้งหลายว่า ยอดเยี่ยม
ย่อมทำทิฏฐิใดให้ยิ่งใหญ่ในโลก
กล่าวทิฏฐิอื่นทุกอย่าง นอกจากทิฏฐินั้นว่า เลว
เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดนั้น จึงไม่ล่วงพ้นการวิวาทไปได้
[๓๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เจ้าลัทธิเห็นอานิสงส์ใดในตน ในรูปที่เห็น
ในเสียงที่ได้ยิน ในศีลวัตร หรือในอารมณ์ที่รับรู้
เจ้าลัทธินั้นยึดมั่นทิฏฐินั้นในลัทธิของตนนั้น
เห็นทิฏฐิอื่นทั้งปวงโดยความเป็นของเลว

ว่าด้วยอานิสงส์ในทิฏฐิ
คำว่า (อานิสงส์)ใดในตน ในคำว่า เห็นอานิสงส์ใดในตน ในรูปที่เห็น
ในเสียงที่ได้ยิน ในศีลวัตร หรือในอารมณ์ที่รับรู้ ได้แก่ อานิสงส์ใดในตน
ทิฏฐิ ตรัสเรียกว่า ตน เจ้าลัทธินั้นเห็นอานิสงส์ ๒ อย่าง แห่งทิฏฐิของตน คือ
(๑) อานิสงส์ที่มีในชาตินี้ (๒) อานิสงส์ที่มีในชาติหน้า
อานิสงส์แห่งทิฏฐิที่มีในชาตินี้ เป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๒๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
คือ ศาสดามีทิฏฐิอย่างใด สาวกก็มีทิฏฐิอย่างนั้น คือ สาวกย่อมสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา ทำความยำเกรงศาสดาผู้มีทิฏฐิอย่างนั้น และได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารซึ่งมีศาสดานั้นเป็นต้นเหตุ นี้ชื่อว่าอานิสงส์แห่ง
ทิฏฐิที่มีในชาตินี้
อานิสงส์แห่งทิฏฐิที่มีในชาติหน้า เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมหวังผลต่อไปว่า ทิฏฐินี้ ควรเพื่อความเป็นนาค เป็นครุฑ
เป็นยักษ์ เป็นอสูร เป็นคนธรรพ์ เป็นท้าวมหาราช เป็นพระอินทร์ เป็นพระพรหม
หรือเป็นเทวดา ทิฏฐินี้ ควรเพื่อความหมดจด ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความ
หลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป สัตวทั้งหลายย่อมหมดจด สะอาด บริสุทธิ์
หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไปด้วยทิฏฐินี้ เราจักหมดจด สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป
หลุดพ้นไปด้วยทิฏฐินี้ นี้ชื่อว่าอานิสงส์แห่งทิฏฐิที่มีในชาติหน้า
เจ้าลัทธิเห็นอานิสงส์ ๒ อย่างแห่งทิฏฐิของตน คือ เห็นอานิสงส์ ๒ อย่าง
เพราะความหมดจดแห่งรูปที่เห็น เห็นอานิสงส์ ๒ อย่าง เพราะความหมดจดแห่ง
เสียงที่ได้ยิน เห็นอานิสงส์ ๒ อย่าง เพราะความหมดจดแห่งศีล เห็นอานิสงส์
๒ อย่าง เพราะความหมดจดแห่งวัตร เห็นอานิสงส์ ๒ อย่าง เพราะความหมดจด
แห่งอารมณ์ที่รับรู้ คือ (๑) อานิสงส์ที่มีในชาตินี้ (๒) อานิสงส์ที่มีในชาติหน้า
อานิสงส์เพราะความหมดจดแห่งอารมณ์ที่รับรู้ในชาตินี้ เป็นอย่างไร
คือ ศาสดามีทิฏฐิอย่างใด สาวกก็มีทิฏฐิอย่างนั้น ... นี้ชื่อว่าอานิสงส์เพราะ
ความหมดจดแห่งอารมณ์ที่รับรู้ ในชาตินี้
อานิสงส์เพราะความหมดจดแห่งอารมณ์ที่รับรู้ในชาติหน้า เป็นอย่างไร
คือ ทิฏฐินี้ควรเพื่อความเป็นนาค ... นี้ชื่อว่าอานิสงส์เพราะความหมดจดแห่ง
อารมณ์ที่รับรู้ ในชาติหน้า
เจ้าลัทธิเห็น คือ แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดูอานิสงส์เพราะความ
หมดจดด้วยอารมณ์ที่รู้แล้ว ๒ อย่าง เหล่านี้ รวมความว่า มองเห็นอานิสงส์ใดในตน
ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน ในศีลวัตร หรือในอารมณ์ที่รับรู้
คำว่า นั้น ในคำว่า เจ้าลัทธินั้นยึดมั่นทิฏฐิของตนนั้น ได้แก่ ทิฏฐินั้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๒๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ในลัทธิของตนนั้น ได้แก่ ในทิฏฐิของตน คือ ในความถูกใจของตน
ความพอใจของตน ลัทธิของตน
คำว่า ยึดมั่น ได้แก่ จับ ยึด ถือ ยึดมั่น ถือมั่นว่า ทิฏฐินี้ เยี่ยม ยอด ประเสริฐ
วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด รวมความว่า เจ้าลัทธินั้นยึดมั่นทิฏฐินั้นในลัทธิ
ของตนนั้น
คำว่า เห็นทิฏฐิอื่นทั้งปวง โดยความเป็นของเลว อธิบายว่า เห็น คือ แลเห็น
ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดู ศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ
ปฏิปทา มรรคอื่น โดยความเป็นของเลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า
ต่ำต้อย รวมความว่า เห็นทิฏฐิอื่นทั้งปวงโดยความเป็นของเลว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
เจ้าลัทธิเห็นอานิสงส์ใดในตน ในรูปที่เห็น
ในเสียงที่ได้ยิน ในศีลวัตร หรือในอารมณ์ที่รับรู้
เจ้าลัทธินั้นยึดมั่นทิฏฐินั้นในลัทธิของตนนั้น
เห็นทิฏฐิอื่นทั้งปวงโดยความเป็นของเลว
[๓๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลอาศัยศาสดาใด เห็นศาสดาอื่นว่าเลว
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกศาสดานั้นว่า เป็นเครื่องร้อยรัด
เพราะฉะนั้นแล ภิกษุจึงไม่ควรอาศัยรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้ หรือศีลวัตร

ว่าด้วยความเห็นของผู้ฉลาด
คำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลาย ในคำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกศาสดานั้นว่า เป็น
เครื่องร้อยรัด อธิบายว่า ผู้ฉลาดในขันธ์ ผู้ฉลาดในธาตุ ผู้ฉลาดในอายตนะ ผู้ฉลาด
ในปฏิจจสมุปบาท ผู้ฉลาดในสติปัฏฐาน ผู้ฉลาดในสัมมัปปธาน ผู้ฉลาดในอิทธิบาท
ผู้ฉลาดในอินทรีย์ ผู้ฉลาดในพละ ผู้ฉลาดในโพชฌงค์ ผู้ฉลาดในมรรค ผู้ฉลาดในผล
ผู้ฉลาดในนิพพาน ผู้ฉลาดเหล่านั้นเรียกอย่างนี้ คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๒๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
อย่างนี้ว่า “นี้เป็นเครื่องร้อยรัด นี้เป็นเครื่องข้อง นี้เป็นเครื่องผูกพัน นี้เป็นเครื่อง
กังวล” รวมความว่า ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกศาสดานั้นว่า เป็นเครื่องร้อยรัด
คำว่า บุคคลอาศัยศาสดาใด ในคำว่า บุคคลอาศัยศาสดาใด เห็นศาสดา
อื่นว่าเลว อธิบายว่า อาศัย คือ อิงอาศัย ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อศาสดา
ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคใด
คำว่า เห็นศาสดาอื่นว่าเลว อธิบายว่า เห็น คือ แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ
พิจารณาดูศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคอื่น โดย
ความเป็นของเลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย รวมความว่า
บุคคลอาศัยศาสดาใดเห็นศาสดาอื่นว่าเลว
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้นแล ภิกษุจึงไม่ควรอาศัยรูปที่
เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้ หรือศีลวัตร อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะ
การณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น ภิกษุจึงไม่พึงอาศัย คือ
ไม่พึงถือ ไม่พึงยึดมั่น ไม่พึงถือมั่นรูปที่เห็น หรือความหมดจดแห่งรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน หรือความหมดจดแห่งเสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้ หรือความหมดจด
แห่งอารมณ์ที่รับรู้ ศีล หรือความหมดจดแห่งศีล วัตร หรือความหมดจดแห่งวัตร
รวมความว่า เพราะฉะนั้นแล ภิกษุจึงไม่ควรอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์
ที่รับรู้ หรือศีลวัตร ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลอาศัยศาสดาใด เห็นศาสดาอื่นว่าเลว
ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกศาสดานั้นว่า เป็นเครื่องร้อยรัด๑
เพราะฉะนั้นแล ภิกษุจึงไม่ควรอาศัยรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้ หรือศีลวัตร

เชิงอรรถ :
๑ เครื่องร้อยรัด คือทรรศนะที่อาศัยศาสดาของตนผู้เห็นอยู่เป็นต้น และทรรศนะอื่นมีศาสดาอื่นเป็นต้น โดย
ความเป็นของเลว นี้เป็นกิเลสเครื่องร้อยรัด คือผูกพัน (ขุ.ม.อ. ๓๓/๒๓๘) และดูประกอบในข้อ ๙๒/๒๘๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๒๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
[๓๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุไม่พึงกำหนดทิฏฐิในโลกด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลวัตร
ไม่พึงเอาตนเข้าไปเทียบว่าเสมอเขา
ไม่พึงสำคัญตนว่า ด้อยกว่าเขา หรือแม้เลิศกว่าเขา

ว่าด้วยภิกษุไม่พึงมีทิฏฐิมานะ
คำว่า ไม่พึงกำหนดทิฏฐิในโลกด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลวัตร อธิบายว่า
ไม่พึงกำหนด คือ ไม่พึงให้เกิด ไม่พึงให้เกิดขึ้น ไม่พึงให้บังเกิด ไม่พึงให้บังเกิดขึ้น
ซึ่งทิฏฐิด้วยญาณในสมาบัติ๑ ๘ ญาณในอภิญญา๒ ๕ มิจฉาญาณ ศีล วัตร หรือ
ทั้งศีลและวัตร
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า ไม่พึงกำหนดทิฏฐิในโลกด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลวัตร
คำว่า ไม่พึงเอาตนเข้าไปเทียบว่า เสมอเขา อธิบายว่า ไม่พึงเอาตนเข้าไป
เทียบว่า “เราเป็นเช่นเดียวกับเขา” ด้วยชาติ โคตร ความเป็นบุตรของตระกูล ความ
เป็นผู้มีรูปงาม ทรัพย์ การศึกษา หน้าที่การงาน หลักแห่งศิลปวิทยา วิทยฐานะ
ความคงแก่เรียน ปฏิภาณ หรือสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว รวมความว่า ไม่พึงเอา
ตนเข้าไปเทียบว่า เสมอเขา
คำว่า ไม่พึงสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา หรือแม้เลิศกว่าเขา อธิบายว่า ไม่พึง
เอาตนเข้าไปเทียบว่า “เราด้อยกว่าเขา” ด้วยชาติ โคตร ... หรือสิ่งอื่นนอกจากที่
กล่าวแล้ว ไม่พึงเอาตนเข้าไปเทียบว่า “เราเลิศกว่าเขา” ด้วยชาติ โคตร ... หรือ
สิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว รวมความว่า ไม่พึงสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา หรือ
แม้เลิศกว่าเขา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๖/๒๕
๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๓๘/๑๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๒๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
ภิกษุไม่พึงกำหนดทิฏฐิในโลกด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลวัตร
ไม่พึงเอาตนเข้าไปเทียบว่าเสมอเขา
ไม่พึงสำคัญตนว่า ด้อยกว่าเขา หรือแม้เลิศกว่าเขา
[๓๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุนั้นละตนแล้วไม่ยึดถือ ไม่สร้างนิสัยแม้ด้วยญาณ
เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน ภิกษุนั้นก็ไม่เข้าเป็นฝักเป็นฝ่าย
ภิกษุนั้นไม่ถือแม้ทิฏฐิอะไร ๆ
คำว่า ละตนแล้ว ในคำว่า ละตนแล้วไม่ยึดถือ ได้แก่ ละความเห็นว่าเป็นตน
อีกนัยหนึ่ง คำว่า ละตนแล้ว ได้แก่ ละความถือ
อีกนัยหนึ่ง คำว่า ละตนแล้ว ได้แก่ ละ คือ ละเว้น บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจ
เชื่อ ด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ ชื่อว่าละตนแล้ว
คำว่า ไม่ยึดถือ ได้แก่ ไม่ยึดถือ คือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ด้วย
อุปาทาน ๔ รวมความว่า ละตนแล้วไม่ยึดถือ
คำว่า ภิกษุนั้น ... ไม่สร้างนิสัยด้วยญาณ อธิบายว่า ไม่สร้าง คือ ไม่ให้เกิด
ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้น ซึ่งนิสัยด้วยอำนาจตัณหา หรือนิสัยด้วย
อำนาจทิฏฐิ ด้วยญาณในสมาบัติ ๘ ด้วยญาณในอภิญญา ๕ หรือด้วยมิจฉาญาณ
รวมความว่า ภิกษุนั้น ... ไม่สร้างนิสัยแม้ด้วยญาณ
คำว่า เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน ภิกษุนั้นก็ไม่เข้าเป็นฝักเป็นฝ่าย อธิบายว่า
เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน คือแยกกัน ถึงความเป็น ๒ ฝ่าย กลายเป็นคน ๒ พวก มี
ความเห็นต่างกัน มีความพอใจต่างกัน มีความชอบใจต่างกัน มีลัทธิต่างกัน อาศัย
นิสัยด้วยอำนาจทิฏฐิต่างกัน ถึงฉันทาคติ(ลำเอียงเพราะชอบ) ถึงโทสาคติ(ลำเอียง
เพราะชัง) ถึงโมหาคติ(ลำเอียงเพราะหลง) ถึงภยาคติ(ลำเอียงเพราะกลัว) ภิกษุนั้นก็
ไม่ถึงฉันทาคติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึงโมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ คือ ไม่ดำเนินไปด้วย
อำนาจราคะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจโทสะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจโมหะ ไม่ดำเนิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๓๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
ไปด้วยอำนาจมานะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจทิฏฐิ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจอุทธัจจะ ไม่
ดำเนินไปด้วยอำนาจวิจิกิจฉา ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจอนุสัย ได้แก่ ไม่ไป คือ ไม่
ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไปด้วยธรรมที่ก่อความเป็นฝักเป็นฝ่าย รวมความว่า
เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน ภิกษุนั้นก็ไม่เข้าเป็นฝักเป็นฝ่าย
คำว่า ภิกษุนั้นไม่ถือแม้ทิฏฐิอะไร ๆ อธิบายว่า ทิฏฐิทั้ง ๖๒ ภิกษุนั้นละ
ได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผา
ด้วยไฟคือญาณแล้ว ภิกษุนั้นจึงไม่ถือ คือไม่หวนกลับมาหาทิฏฐิอะไร ๆ อีก รวม
ความว่า ภิกษุนั้นไม่ถือแม้ทิฏฐิอะไร ๆ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุนั้นละตนแล้วไม่ยึดถือ ไม่สร้างนิสัยแม้ด้วยญาณ
เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน ภิกษุนั้นก็ไม่เข้าเป็นฝักเป็นฝ่าย
ภิกษุนั้นไม่ถือแม้ทิฏฐิอะไร ๆ
[๓๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พระอรหันต์ใด ผู้ไม่มีความคนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน
ในโลกนี้ ในภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือในโลกหน้า
พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีเครื่องอยู่อะไร ๆ
ความตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นก็ไม่มี

ว่าด้วยภูมิธรรมของพระอรหันต์
คำว่า ใด ในคำว่า พระอรหันต์ใด ผู้ไม่มีความคนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน
ในโลกนี้ ในภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือในโลกหน้า ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ส่วนสุด อธิบายว่า
ผัสสะเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดแห่งผัสสะเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง
อดีตเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อนาคตเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง
สุขเวทนาเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๓๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
นามเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง รูปเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง
อายตนะภายใน ๖ เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อายตนะภายนอก ๖ เป็นส่วนสุด
อีกด้านหนึ่ง
ความถือตัวเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดแห่งความถือตัวเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง
ตัณหาตรัสเรียกว่า ความคนึงหา ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ...
อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑
คำว่า ในภพน้อยภพใหญ่ อธิบายว่า ในภพน้อยภพใหญ่ คือ ในกรรมวัฏและ
วิปากวัฏ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ
ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในกรรมวัฏ
เป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในภพต่อไป ในคติ
ต่อไป ในการถือกำเนิดต่อไป ในปฏิสนธิต่อไป ในความบังเกิดแห่งอัตภาพต่อไป
คำว่า โลกนี้ ได้แก่ อัตภาพของตน
คำว่า โลกหน้า ได้แก่ อัตภาพของผู้อื่น
อีกนัยหนึ่ง คำว่า โลกนี้ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของตน
คำว่า โลกหน้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของผู้อื่น
อีกนัยหนึ่ง คำว่า โลกนี้ ได้แก่ อายตนะภายใน ๖
คำว่า โลกหน้า ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖
คำว่า โลกนี้ ได้แก่ มนุษยโลก
คำว่า โลกหน้า ได้แก่ เทวโลก
คำว่า โลกนี้ ได้แก่ กามธาตุ
คำว่า โลกหน้า ได้แก่ รูปธาตุ อรูปธาตุ
คำว่า โลกนี้ ได้แก่ กามธาตุ รูปธาตุ
คำว่า โลกหน้า ได้แก่ อรูปธาตุ
คำว่า พระอรหันต์ใด ผู้ไม่มีความคนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน ในโลกนี้
ในภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือในโลกหน้า อธิบายว่า พระอรหันต์ใด ย่อมไม่มี
คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ซึ่งตัณหา เป็นที่คนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านในภพน้อยภพใหญ่

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๓๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
ในโลกนี้ หรือในโลกหน้า คือ ตัณหา พระอรหันต์ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้
สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า
พระอรหันต์ใด ผู้ไม่มีความคนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน ในโลกนี้ ในภพน้อยภพใหญ่
ในโลกนี้หรือในโลกหน้า
คำว่า เครื่องอยู่ ในคำว่า พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีเครื่องอยู่อะไร ๆ ได้แก่
เครื่องอยู่ ๒ อย่าง คือ (๑) เครื่องอยู่ด้วยอำนาจตัณหา (๒) เครื่องอยู่ด้วยอำนาจทิฏฐิ
... นี้ชื่อว่าเครื่องอยู่ด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าเครื่องอยู่ด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
คำว่า นั้น ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีเครื่องอยู่อะไร ๆ อธิบายว่า พระอรหันต์นั้นไม่มี
คือ ย่อมไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ซึ่งเครื่องอยู่อะไรๆ ได้แก่ เครื่องอยู่
อะไร ๆ พระอรหันต์นั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า พระอรหันต์นั้น จึงไม่มี
เครื่องอยู่อะไร ๆ
คำว่า ในธรรมทั้งหลาย ในคำว่า ความตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น
ได้แก่ ในทิฏฐิ ๖๒
คำว่า ตกลงใจแล้ว ได้แก่ ตกลงใจแล้ว คือ วินิจฉัยแล้ว ตัดสินแล้ว
ชี้ขาดแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
คำว่า ถือมั่น ได้แก่ จับมั่น ยึดมั่น ถือมั่น รวบถือ รวมถือ รวบรวมถือ คือ
ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อว่า สิ่งนี้จริง แท้
แน่ แท้จริง ตามเป็นจริง ไม่วิปริต ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้แก่พระอรหันต์นั้น
ได้แก่ ความตกลงใจแล้วถือมั่นนั้น พระอรหันต์นั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้
สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า
ความตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๓๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
พระอรหันต์ใด ผู้ไม่มีความคนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน
ในโลกนี้ ในภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือในโลกหน้า
พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีเครื่องอยู่อะไร ๆ
ความตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นก็ไม่มี
[๓๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พระอรหันต์นั้น ไม่มีทิฏฐิอันสัญญากำหนดไว้แม้นิดเดียว
ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือในอารมณ์ที่รับรู้ในโลกนี้
ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนดพระอรหันต์นั้น
ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิอยู่ ด้วยเหตุอะไรเล่า

ว่าด้วยพระอรหันต์ได้ชื่อว่าพราหมณ์
คำว่า นั้น ในคำว่า พระอรหันต์นั้น ไม่มีทิฏฐิอันสัญญากำหนดไว้แม้
นิดเดียว ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือในอารมณ์ที่รับรู้ในโลกนี้ อธิบายว่า
พระอรหันตขีณาสพนั้นไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ซึ่งทิฏฐิ อันสัญญาให้เกิด
ให้เกิดขึ้น กำหนด กำหนดไว้ ปรุงแต่ง ปรุงแต่งขึ้น ตั้งไว้ดีแล้ว เพราะมีสัญญาเป็น
หัวหน้า มีสัญญากำหนดไว้ และเพราะการแยกสัญญาในรูปที่เห็น หรือในความ
หมดจดเพราะรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือในความหมดจดเพราะเสียงที่ได้ยิน ใน
อารมณ์ที่รับรู้ หรือในความหมดจดเพราะอารมณ์ที่รับรู้ คือ ทิฏฐินั้นพระอรหันต์ละ
ได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วย
ไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า พระอรหันต์นั้น ไม่มีทิฏฐิอันสัญญากำหนดไว้แม้นิด
เดียวในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือในอารมณ์ที่รับรู้ในโลกนี้
คำว่า พราหมณ์ ในคำว่า พระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิอยู่
อธิบายว่า ที่ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗ ประการได้แล้ว คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๓๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
๑. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว ... ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์๑
คำว่า พระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิอยู่ อธิบายว่า พระ
อรหันต์นั้นผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือ คือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิอยู่ รวม
ความว่า พระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิอยู่
คำว่า ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนด ... ด้วยเหตุอะไรเล่า อธิบายว่า
คำว่า การกำหนด ได้แก่ การกำหนด ๒ อย่าง คือ
๑. การกำหนดด้วยอำนาจตัณหา
๒. การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ๒
พระอรหันต์นั้นละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการกำหนด
ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการ
กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว ใคร ๆ จะพึงกำหนดพระอรหันต์นั้นด้วยราคะ โทสะ
โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย อะไรเล่าว่า “เป็นผู้กำหนัด เป็นผู้
ขัดเคือง เป็นผู้หลง เป็นผู้ยึดติด เป็นผู้ยึดมั่น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เป็นผู้ลังเล หรือเป็น
ผู้ตกอยู่ในพลังกิเลส”
พระอรหันต์ละอภิสังขารเหล่านั้นได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละอภิสังขารได้แล้ว ใคร ๆ
จะพึงกำหนดคติด้วยเหตุอะไรเล่าว่า “เป็นผู้เกิดในนรก เป็นผู้เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน
เป็นผู้เกิดในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา
เป็นผู้ไม่มีสัญญา หรือว่าเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่” ใคร ๆ จะพึงกำหนด
คือ กำหนดรู้ ถึงการกำหนดรู้ด้วยเหตุ ปัจจัย และการณ์ใด เหตุ ปัจจัย และการณ์
นั้นไม่มี

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๕/๑๐๔-๑๐๕
๑ เทียบกับความในข้อ ๒๘/๑๑๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๓๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนด... ด้วยเหตุอะไรเล่า ด้วย
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
พระอรหันต์นั้น ไม่มีทิฏฐิอันสัญญากำหนดไว้แม้นิดเดียว
ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือในอารมณ์ที่รับรู้ในโลกนี้
ใคร ๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนดพระอรหันต์นั้น
ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิอยู่ ด้วยเหตุอะไรเล่า
[๓๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย
ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู
แม้ธรรมทั้งหลาย พระอรหันต์เหล่านั้นก็ไม่ปรารถนาแล้ว
พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์นั้น ใคร ๆ จึงนำไปด้วยศีลวัตรไม่ได้
เป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ไม่กลับมา เป็นผู้มั่นคง

ว่าด้วยการกำหนด ๒
คำว่า ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู อธิบายว่า
คำว่า กำหนด ได้แก่ การกำหนด ๒ อย่าง คือ (๑) การกำหนดด้วยอำนาจ
ตัณหา (๒) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ...นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
การกำหนดด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร
คือ วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วน เป็นแผนก กำหนดถือเอา ยึดถือ
ว่าเป็นของเรา ด้วยส่วนแห่งตัณหามีประมาณเท่าใด ย่อมยึดถือว่าเป็นของเรา ซึ่ง
วัตถุมีประมาณเท่านั้นว่า นี้ของเรา นั่นของเรา เท่านี้ของเรา ของเรามีประมาณเท่านี้

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๓๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสชายหญิง แพะ แกะ
ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงินทอง หมู่บ้าน นิคม ราชธานี แคว้น ชนบท
กองพลรบ คลังหลวง แม้มหาปฐพีทั้งสิ้นย่อมยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา
ซึ่งจำแนกได้ ๑๐๘ นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา
การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐
ทิฏฐิ การตกอยู่ในทิฏฐิ ความรกชัฏคือทิฏฐิ ความกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนาม
คือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องผูกพันคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น ความ
ยึดมั่น ความยึดมั่นถือมั่น ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเดียรถีย์ ความถือ
ขัดแย้ง ความถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือในสิ่งที่ไม่เป็น
ความจริงว่าเป็นจริงเห็นปานนี้ จนถึงทิฏฐิ ๖๒ นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ
พระอรหันต์เหล่านั้น ละการกำหนดด้วยตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการกำหนด
ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการ
กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว พระอรหันต์จึงไม่กำหนด คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้น ซึ่งการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา หรือการกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิ รวมความว่า ย่อมไม่กำหนด
คำว่า ไม่เชิดชู อธิบายว่า
คำว่า เชิดชู ได้แก่ การเชิดชู ๒ อย่าง คือ (๑) การเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา
(๒) การเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าการ
เชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ
พระอรหันต์เหล่านั้นละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการเชิดชู
ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการเชิดชู
ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว พระอรหันต์ก็ไม่เที่ยวเชิดชูตัณหาหรือทิฏฐิไว้ คือ ไม่มี
ตัณหาเป็นธงชัย ไม่มีตัณหาเป็นยอดธง ไม่มีตัณหาเป็นใหญ่ ไม่มีทิฏฐิเป็นธงชัย
ไม่มีทิฏฐิเป็นยอดธง ไม่มีทิฏฐิเป็นใหญ่ คือไม่ได้ถูกตัณหาหรือทิฏฐิครอบงำเที่ยวไป
อยู่ รวมความว่า ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๓๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
คำว่า แม้ธรรมทั้งหลายพระอรหันต์เหล่านั้น ก็ไม่ปรารถนาแล้ว อธิบายว่า
ทิฏฐิ ๖๒ ตรัสเรียกว่า ธรรม
คำว่า เหล่านั้น ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น
คำว่า ไม่ปรารถนาแล้ว อธิบายว่า ไม่ปรารถนาแล้วว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้น
จริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” ไม่ปรารถนาแล้วว่า “โลกไม่เที่ยง ... หลังจากตายแล้ว
ตถาคต๑ จะว่าเกิดอีกก็มิใช่ ไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวม
ความว่า แม้ธรรมทั้งหลายพระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น ก็ไม่ปรารถนาแล้ว
คำว่า ไม่ ในคำว่า พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์ ใคร ๆ จึงนำไปด้วยศีลวัตร
ไม่ได้ เป็นคำปฏิเสธ
คำว่า ผู้เป็นพราหมณ์ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าพราหมณ์เพราะลอยธรรม ๗
ประการได้แล้ว คือ
๑. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว ... ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง
บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์๒
คำว่า ผู้เป็นพราหมณ์ ใคร ๆ ก็นำไปด้วยศีลวัตรไม่ได้ อธิบายว่า ผู้เป็น
พราหมณ์ ย่อมไม่ดำเนินไป ไม่ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไปด้วยศีล วัตรหรือศีลวัตร
รวมความว่า ผู้เป็นพราหมณ์ ใคร ๆ จึงนำไปด้วยศีลวัตรไม่ได้
คำว่า เป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ไม่กลับมา เป็นผู้มั่นคง อธิบายว่า อมตนิพพาน
ตรัสเรียกว่า ฝั่ง คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่
สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท พระอรหันต์นั้น ถึงฝั่ง
บรรลุฝั่ง ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงปลายสุด บรรลุปลายสุด พระอรหันต์นั้นไม่มี
การเวียนเกิด เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า เป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว
คำว่า ไม่กลับมา อธิบายว่า กิเลสเหล่าใดอริยบุคคลละได้แล้วด้วย
โสดาปัตติมรรค อริยบุคคลก็ไม่มา ไม่กลับมา คือ ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก
กิเลสเหล่าใด อริยบุคคลละได้แล้วด้วยสกทาคามิมรรค อริยบุคคลก็ไม่มา ไม่กลับมา

เชิงอรรถ :
๑ ตถาคต ดูเชิงอรรถข้อ ๑๖/๗๗
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒๕/๑๐๔-๑๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๓๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
คือ ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก กิเลสเหล่าใด อริยบุคคลละได้แล้วด้วย
อนาคามิมรรค อริยบุคคลก็ไม่มา ไม่กลับมา คือ ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก
กิเลสเหล่าใด อริยบุคคลละได้แล้วด้วยอรหัตตมรรค อริยบุคคลก็ไม่มา ไม่กลับมา
คือ ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก รวมความว่า เป็นผู้ถึงฝั่ง ไม่กลับมา

ว่าด้วยพระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง
คำว่า เป็นผู้มั่นคง อธิบายว่า พระอรหันต์ เป็นผู้มั่นคงด้วยอาการ ๕ อย่าง
คือ
๑. เป็นผู้มั่นคงในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
๒. เป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้สละแล้ว
๓. เป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้ข้ามได้แล้ว
๔. เป็นผู้มั่งคง เพราะเป็นผู้พ้นแล้ว
๕. เป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้น ๆ
พระอรหันต์เป็นผู้มั่นคงในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ เป็นอย่างไร
คือ พระอรหันต์เป็นผู้มั่นคงทั้งในลาภและในความเสื่อมลาภ เป็นผู้มั่นคงทั้ง
ในยศและในความเสื่อมยศ เป็นผู้มั่งคงทั้งในสรรเสริญและนินทา เป็นผู้มั่นคงทั้งใน
สุขและทุกข์ คนบางพวกเอาของหอมชะโลมแขนข้างหนึ่ง อีกพวกหนึ่งใช้มีดถากแขน
อีกข้างหนึ่ง พระอรหันต์ก็ไม่มีความยินดีในการชะโลมด้วยของหอมโน้น ไม่มีความ
ยินร้ายในการถากแขนโน้น พระอรหันต์ละความยินดีและความยินร้ายได้แล้ว ล่วง
พ้นความดีใจและความเสียใจได้แล้ว ก้าวล่วงความยินดีและความยินร้ายได้แล้ว
พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ เป็นอย่างนี้
พระอรหันต์เป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้สละแล้ว เป็นอย่างไร
คือ พระอรหันต์สละ คลาย ปล่อย ละ สลัดทิ้ง ราคะ ... โทสะ ... โมหะ ...
โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ
... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลสทุกชนิด ...
ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน ... ความ
เดือดร้อนทุกประการ พระอรหันต์สละ คลาย ปล่อย ละ สลัดทิ้งอกุสลาภิสังขารทุก
ประเภทได้แล้ว พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้สละแล้ว เป็นอย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๓๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
พระอรหันต์เป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้ข้ามได้แล้ว เป็นอย่างไร
คือ พระอรหันต์ข้าม ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นกาโมฆะ
ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ ทางแห่งสงสารทั้งปวงได้แล้ว พระอรหันต์นั้นอยู่(ใน
อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว พระอรหันต์นั้นไม่มีการเวียนเกิด เวียน
ตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้ข้ามได้แล้ว
เป็นอย่างนี้
พระอรหันต์เป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้พ้นแล้ว เป็นอย่างไร
คือ พระอรหันต์มีจิตพ้น หลุดพ้น หลุดพ้นดีแล้วจากราคะ ... โทสะ ...
โมหะ ... โกธะ ...อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ...
สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลส
ทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน
... ความเดือดร้อนทุกประการ ... พระอรหันต์มีจิตพ้น หลุดพ้น หลุดพ้นดีแล้ว
จากอกุสลาภิสังขารทุกประเภท พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้พ้นแล้ว
เป็นอย่างนี้
พระอรหันต์เป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้น ๆ เป็นอย่างไร
คือ เมื่อศีลมีอยู่ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีศีล
เมื่อศรัทธามีอยู่ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มี
ศรัทธา
เมื่อความเพียรมีอยู่ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มี
ความเพียร
เมื่อสติมีอยู่ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีสติ
เมื่อสมาธิมีอยู่ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้ตั้งมั่น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๔๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส
เมื่อปัญญามีอยู่ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มี
ปัญญา
เมื่อวิชชามีอยู่ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มี
วิชชา ๓๑
เมื่ออภิญญามีอยู่ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มี
อภิญญา ๖๒
พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้น ๆ เป็นอย่างนี้
รวมความว่า เป็นผู้ถึงฝั่ง ไม่กลับมา เป็นผู้มั่นคง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย
ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู
แม้ธรรมทั้งหลายพระอรหันต์เหล่านั้นก็ไม่ปรารถนาแล้ว
พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์นั้น ใคร ๆ จึงนำไปด้วยศีลวัตรไม่ได้
เป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ไม่กลับมา เป็นผู้มั่นคง
ปรมัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ วิชชา ๓ คือ ความรู้แจ้ง ความรู้แจ้งวิเศษ (๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัย
อยู่ในก่อน ระลึกชาติได้) (๒) จุตูปปาตญาณ (ญาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปตาม
กรรม เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย) (๓) อาสวักขยญาณ (ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่ง
อาสวะทั้งหลาย ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ ความตรัสรู้) (ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๗)
๒ อภิญญา ๖ คือความรู้ยิ่งยวด (๑) อิทธิวิธี ความรู้ทำให้แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ (๒) ทิพพโสต ญาณที่
ทำให้มีหูทิพย์ (๓) เจโตปริยญาณ ญาณที่ทำให้กำหนดใจคนอื่นได้ (๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณ
ที่ทำให้ระลึกชาติได้ (๕) ทิพพจักขุ ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์ (๖) อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป ๕
ข้อแรกเป็นโลกียะ (โลกียอภิญญา) ข้อท้ายเป็นโลกุตตระ (ที.สี.(แปล) ๙/๒๓๔-๒๔๘/๗๗-๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๔๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
๖. ชราสุตตนิทเทส๑
อธิบายชราสูตร
ว่าด้วยชรา
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายชราสูตร ดังต่อไปนี้
[๓๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ชีวิตนี้น้อยนัก มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี
แม้หากผู้ใดจะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น
ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้

ว่าด้วยชีวิตเป็นของน้อยด้วยเหตุ ๒ ประการ
คำว่า ชีวิต ในคำว่า ชีวิตนี้น้อยนัก อธิบายว่า อายุ ความดำรงอยู่ ความ
ดำเนินไป ความให้ชีวิตดำเนินไป ความเคลื่อนไหว ความเป็นไป ความรักษา ความ
เป็นอยู่ ชีวิตินทรีย์
อนึ่ง ชีวิตเป็นของน้อยด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ
๑. ชีวิตเป็นของน้อย เพราะดำรงอยู่ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย
๒. ชีวิตเป็นของน้อย เพราะมีคุณค่าเพียงเล็กน้อย
ชีวิตเป็นของน้อย เพราะดำรงอยู่ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างไร
คือ ในขณะจิตที่เป็นอดีต ชีวิตเป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่จักเป็นอยู่
ในขณะจิตที่เป็นอนาคต ชีวิตจักเป็นอยู่ ไม่ใช่กำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่เป็นอยู่แล้วในขณะ
จิตที่เป็นปัจจุบัน ชีวิตกำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่เป็นอยู่แล้ว ไม่ใช่จักเป็นอยู่
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๘๑๑-๘๒๐/๔๙๓-๔๙๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๔๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
ชีวิต อัตภาพ สุขและทุกข์ทั้งปวง
เป็นธรรมที่ประกอบกันขึ้นชั่วขณะจิตเดียว
ขณะย่อมหมุนไปอย่างรวดเร็ว
เทวดาผู้ดำรงอยู่ได้ตั้ง ๘๔,๐๐๐ กัป
ก็มิได้ประกอบด้วยจิต ๒ ดวง(ในขณะจิตเดียว) เป็นอยู่ได้
ขันธ์เหล่าใดของสัตว์ที่ตายไป หรือยังดำรงอยู่ในโลกนี้ดับไปแล้ว
ขันธ์เหล่านั้นทั้งหมด เป็นอย่างเดียวกัน ดับไปแล้วก็มิได้สืบต่อกัน
ขันธ์ที่แตกไปในอดีตอันหาลำดับมิได้
และขันธ์ที่จะแตกไปในอนาคต มีลักษณะไม่ต่างกับขันธ์ที่ดับในปัจจุบัน
สัตว์ไม่เกิดด้วยอนาคตขันธ์ ย่อมดำรงอยู่ด้วยปัจจุบันขันธ์
เพราะจิตแตกดับไป สัตว์โลกชื่อว่า ตายแล้ว
นี้เป็นปรมัตถบัญญัติ
เพราะมีอายตนะ ๖ เป็นปัจจัย
ขันธ์ทั้งหลายที่แปรไปตามฉันทะ ย่อมเป็นไปไม่ขาดสาย
เหมือนน้ำไหลไปตามที่ลุ่ม ฉะนั้น
ขันธ์ทั้งหลายถึงการทรงตัวอยู่ไม่ได้แตกไปแล้ว
กองขันธ์ในอนาคตก็ไม่มี ส่วนขันธ์ที่เกิดแล้วในปัจจุบันก็ดำรงอยู่
เหมือนเมล็ดผักกาดบนปลายเหล็กแหลม ฉะนั้น
ความแตกทำลายแห่งขันธ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นเหล่านั้น
ปรากฏอยู่ข้างหน้า ขันธ์ทั้งหลายที่มีการแตกเป็นธรรมดา
ดำรงอยู่ มิได้รวมกับขันธ์เก่า
ขันธ์ทั้งหลายมาโดยสภาวะที่ไม่ปรากฏ แตกทำลายไปแล้ว
ก็ไปสู่สภาวะที่ไม่ปรากฏ ย่อมเกิดขึ้นและดับไป
เหมือนสายฟ้าแลบในอากาศ ฉะนั้น
ชีวิตชื่อว่าเป็นของน้อย เพราะดำรงอยู่ชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๔๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
ชีวิตเป็นของน้อย เพราะมีคุณค่าเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างไร
คือ ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยลมหายใจเข้า ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยลมหายใจออก ชีวิต
เกี่ยวเนื่องด้วยลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยมหาภูตรูป ชีวิต
เกี่ยวเนื่องด้วยอาหารที่กลืนกิน ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วยไฟธาตุ ชีวิตเกี่ยวเนื่องด้วย
วิญญาณ มูลเหตุ(กรัชกาย) ของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย บุพพเหตุของ
สภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย ปัจจัยทั้งหลายมีอารมณ์เป็นต้นมีกำลังน้อย
แดนเกิด(ตัณหา) มีกำลังน้อย ธรรมที่เกิดร่วมกันของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย
ธรรมที่ประกอบกัน (อรูปธรรม)ของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย ธรรมที่เกิด
พร้อมกันของสภาวธรรมเหล่านี้มีกำลังน้อย กิเลสเครื่องประกอบ(ตัณหา) มีกำลังน้อย
สภาวธรรมเหล่านี้แต่ละอย่างมีกำลังน้อยตลอดเวลา สภาวธรรมเหล่านี้แต่ละอย่าง
ไม่มั่นคง สภาวธรรมเหล่านี้ต่างก็ทำให้สภาวธรรมอื่นตกล่วงลงไป เพราะสภาว
ธรรมเหล่านี้ต่างก็ไม่มีความต้านทาน สภาวธรรมเหล่านี้ต่างก็ไม่ดำรงกันและกันอยู่ได้
แม้สภาวธรรมที่ทำให้ธรรมเหล่านี้เกิดก็ไม่มี
อนึ่ง ธรรมไร ๆ ก็มิได้เสื่อมไปเพราะธรรมไร ๆ
เพราะขันธ์เหล่านี้ พึงถึงความแตกดับไปโดยประการทั้งปวง
ขันธ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยก่อน
แม้เหตุปัจจัยที่เกิดก่อนก็แตกดับไปแล้วในก่อน
ในกาลไหน ๆ ขันธ์ที่เกิดก่อนและที่เกิดภายหลัง
จึงไม่ได้เห็นกันและกัน
ชีวิตชื่อว่าเป็นของน้อย เพราะมีคุณค่าเพียงเล็กน้อย เป็นอย่างนี้
อนึ่ง เพราะเทียบกับชีวิตของเทวดาชั้นจาตุมหาราช ชีวิตของมนุษย์จึงน้อย คือ
เล็กน้อย นิดหน่อย ชั่วขณะ เร็วพลัน ประเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่ไม่นาน ดำรงอยู่ไม่นาน
เพราะเทียบกับชีวิตของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ... เทวดาชั้นยามา ... เทวดาชั้นดุสิต ...
เทวดาชั้นนิมมานรดี ... เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ... เพราะเทียบเคียงกับชีวิตของ
เทวดาชั้นพรหมกายิกา(ผู้นับเนื่องอยู่ในหมู่พรหม) ชีวิตของมนุษย์จึงน้อย คือ เล็ก
น้อย นิดหน่อย ชั่วขณะ เร็วพลัน ประเดี๋ยวเดียว ตั้งอยู่ไม่นาน ดำรงอยู่ไม่นาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๔๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์น้อย
จำต้องไปสู่ปรโลก ต้องประสบกับความตายที่เข้าใจกันอยู่ ควรทำกุศล ประพฤติ
พรหมจรรย์ ผู้ที่เกิดมาแล้วไม่ตายไม่มี ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีชีวิตยืนนาน ผู้นั้นก็อยู่
ได้เพียง ๑๐๐ ปี หรืออยู่ได้เกินกว่านั้นก็มีน้อย”
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
มนุษย์มีอายุน้อย บุคคลผู้ฉลาดพึงดูหมิ่นชีวิตที่น้อยนั้น
พึงเร่งประพฤติธรรมเหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น
เพราะความตายจะไม่มาถึงไม่มี๑
วันคืนล่วงเลยไป ชีวิตก็ใกล้หมดสิ้นไป
อายุของสัตว์ทั้งหลายก็หมดสิ้นไป
เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อยจะแห้งไป ฉะนั้น๒
รวมความว่า ชีวิตนี้น้อยนัก
คำว่า มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี อธิบายว่า มนุษย์ย่อมเคลื่อน ตาย
สูญหาย สลายไป ในขณะที่เป็นกลละ(น้ำใส)บ้าง ... ในขณะที่เป็นอัพพุทะ(น้ำล้าง
เนื้อ)บ้าง ... ในขณะที่เป็นเปสิ(ชิ้นเนื้อ)บ้าง ... ในขณะที่เป็นฆนะ(ก้อนเนื้อ)บ้าง ...
ในขณะที่เป็นปัญจสาขา(๕ ปุ่ม คือมือ ๒ เท้า ๒ ศีรษะ ๑)บ้าง ขณะคลอด
ย่อมเคลื่อน ตาย สูญหาย สลายไปบ้าง ย่อมเคลื่อน ตาย สูญหาย สลายไป
ในเรือนคลอดบ้าง มีอายุเพียงครึ่งเดือน ย่อมเคลื่อน ตาย สูญหาย สลายไปบ้าง
มีอายุ ๑ เดือน ... มีอายุ ๒ เดือน ... มีอายุ ๓ เดือน ... มีอายุ ๔ เดือน ...
มีอายุ ๕ เดือน ... มีอายุ ๖ เดือน ... มีอายุ ๗ เดือน ... มีอายุ ๘ เดือน ...
มีอายุ ๙ เดือน ... มีอายุ ๑๐ เดือน ... มีอายุ ๑ ปี ... มีอายุ ๒ ปี ... มีอายุ ๓ ปี ...
มีอายุ ๔ ปี ... มีอายุ ๕ ปี ... มีอายุ ๖ ปี ... มีอายุ ๗ ปี ... มีอายุ ๘ ปี ... มีอายุ ๙
ปี ... มีอายุ ๑๐ ปี ... มีอายุ ๒๐ ปี ... มีอายุ ๓๐ ปี ... มีอายุ ๔๐ ปี ... มีอายุ ๕๐ ปี
... มีอายุ ๖๐ ปี ... มีอายุ ๗๐ ปี ... มีอายุ ๘๐ ปี ... มีอายุ ๙๐ ปี ย่อมเคลื่อน
ตาย สูญหาย สลายไปบ้าง รวมความว่า มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๑๔๕/๑๓๐
๒ สํ.ส. ๑๕/๑๔๖/๑๓๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๔๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
คำว่า แม้หากผู้ใดจะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น อธิบายว่า ผู้ใดอยู่ได้เกิน
๑๐๐ ปี ผู้นั้นก็อยู่ได้อีก ๑ ปีบ้าง ... ๒ ปีบ้าง ... ๓ ปีบ้าง ... ๔ ปีบ้าง ... ๕ ปีบ้าง ...
๒๐ ปีบ้าง ... ๓๐ ปีบ้าง ... ผู้นั้นก็อยู่ได้อีก ๔๐ ปีบ้าง รวมความว่า แม้หากผู้ใด
จะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น
คำว่า ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้ อธิบายว่า เมื่อผู้ใดชรา คือ สูงอายุ
เป็นผู้เฒ่า ล่วงกาลมามาก ผ่านวัยมามาก มีฟันหัก ผมหงอก ผมบาง ศีรษะล้าน
หนังย่น ตัวตกกระ หลังโกง หลังค่อม ถือไม้เท้ายันกาย ผู้นั้นก็ย่อมเคลื่อน ตาย
สูญหาย สลายไปเพราะชรา ไม่มีความหลุดพ้นจากความตายไปได้
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
สัตว์ที่เกิดมาแล้ว มีภัยจากความตายเป็นนิจ
เหมือนผลไม้สุกแล้ว มีภัยจากการหล่นไปในเวลาเช้า ฉะนั้น
ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำไว้ทั้งหมดมีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น
มนุษย์ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โง่ และฉลาดทั้งหมด
ย่อมไปสู่อำนาจของความตาย มีความตายรออยู่ข้างหน้า
เมื่อมนุษย์เหล่านั้นผู้ถูกความตายครอบงำอยู่
กำลังจะไปจากโลกนี้สู่ปรโลก บิดาก็ปกป้องบุตรไม่ได้
หรือหมู่ญาติก็ปกป้องหมู่ญาติไม่ได้
เมื่อพวกญาติกำลังเพ่งมองดูอยู่
รำพันกันเป็นอันมากอยู่นั่นแหละว่า จงดูสัตว์แต่ละตน ๆ
ถูกความตายนำไป เหมือนโคถูกนำไปฆ่าฉะนั้น
สัตว์โลกถูกความแก่และความตายครอบงำอยู่อย่างนี้๑

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๘๒-๕๘๗/๔๕๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๔๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
รวมความว่า ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า
ชีวิตนี้น้อยนัก มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี
แม้หากผู้ใดจะมีชีวิตอยู่เกินไปกว่านั้น
ผู้นั้นก็จะตายเพราะชราแน่แท้
[๔๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกเพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
เพราะความยึดถือที่เที่ยงแท้ไม่มีอยู่
ความพลัดพรากจากกันนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ก็ไม่พึงครองเรือน

ว่าด้วยคนเศร้าโศกเพราะการยึดถือ
คำว่า ชนทั้งหลาย ในคำว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกเพราะวัตถุที่ยึดถือ
ว่าเป็นของเรา ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร บรรพชิต เทวดา และมนุษย์
ทั้งหลาย
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง
คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเรา
ด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่า
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา จักถูกแย่งชิงไป ย่อม
เศร้าโศกบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังถูกแย่งชิงไป ย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อวัตถุนั้นถูก
แย่งชิงไปแล้ว ย่อมเศร้าโศกบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่า วัตถุที่ตนยึดถือว่า
เป็นของเราจักแปรผันไป ย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรผันไป ย่อมเศร้าโศก
บ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรผันไปแล้ว ย่อมเศร้าโศกบ้าง คือ ลำบากใจ คร่ำครวญ
ตีอกพร่ำเพ้อ ถึงความหลงใหล รวมความว่า ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกเพราะวัตถุ
ที่ยึดถือว่าเป็นของเรา

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๔๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
คำว่า ความยึดถือ ในคำว่า เพราะความยึดถือที่เที่ยงแท้ไม่มีอยู่ ได้แก่
ความยึดถือ ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดถือด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือด้วย
อำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยอำนาจ
ทิฏฐิ๑
ความยึดถือด้วยอำนาจตัณหา เป็นภาวะไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัย
กันและกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความ
คลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา
แม้ความยึดถือด้วยอำนาจทิฏฐิ ก็เป็นภาวะไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น
อาศัยกันและกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็น
ธรรมดา สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นความยึดถือ ที่เป็นของเที่ยง มั่นคง แน่แท้ มีความ
ไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่อย่างนั้นเสมอกับสิ่งที่ยึดถือว่าแน่แท้หรือไม่
ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า
ดีละภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้พิจารณาเห็นความยึดถือ ที่เป็นของเที่ยง มั่นคง
แน่แท้ มีความไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่อย่างนั้นเสมอกับสิ่งที่ยึดถือว่า
แน่แท้”๒
ความยึดถือ ที่เป็นของเที่ยง มั่นคง แน่แท้ มีความไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา
ย่อมไม่มี ไม่มีอยู่ คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ รวมความว่า เพราะความยึดถือที่
เที่ยงแท้ไม่มีอยู่
คำว่า ความพลัดพรากจากกันนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง อธิบายว่า ความเป็น
ต่าง ๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น มีอยู่ ปรากฏ หาได้ สมจริงดังที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
“พอเถอะอานนท์ เธออย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญเลย เราพูดไว้ก่อนแล้วมิใช่
หรือว่า ความเป็นต่าง ๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่นจากสิ่งที่รักใคร่ พอใจ
ทั้งหมด มีอยู่ อานนท์ สิ่งที่เกิดแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้นแล้ว จะต้องแตกสลายไป

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙
๒ ม.มู. ๑๒/๒๔๓/๒๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๔๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
เป็นธรรมดา ขออย่าได้แตกสลายไปเลย จะพึงหาได้จากที่ไหนในโลกนี้เล่า ข้อนั้น
ไม่ใช่ฐานะจะมีได้ ขันธ์ ธาตุ อายตนะก่อน ๆ แปรผันเป็นอื่นไป ขันธ์ ธาตุ
อายตนะที่เกิดหลัง ๆ ก็ย่อมเป็นไป๑]” รวมความว่า ความพลัดพรากจากกันนี้
เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า กุลบุตรเห็นดังนี้แล้วก็ไม่พึงครองเรือน เป็นบทสนธิ
เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความ
สละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ดังนี้ นี้เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า เห็นดังนี้แล้ว ได้แก่ เห็นแล้ว คือ มองเห็นแล้ว เทียบเคียงแล้ว
พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็น
ของเรา ดังนี้ รวมความว่า เห็นดังนี้แล้ว
คำว่า ก็ไม่พึงครองเรือน อธิบายว่า พึงตัดความกังวลเรื่องการครองเรือน
ตัดความกังวลเรื่องบุตรภรรยา ตัดความกังวลเรื่องญาติ ตัดความกังวลเรื่องมิตร
อำมาตย์ ตัดความกังวลเรื่องการสะสมทั้งหมด โกนผมและหนวดแล้ว นุ่งห่มผ้า
กาสาวะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เข้าถึงความไม่กังวลแล้ว เที่ยวไป อยู่
เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว รวมความว่า
กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ก็ไม่พึงครองเรือน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศกเพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
เพราะความยึดถือที่เที่ยงแท้ไม่มีอยู่
ความพลัดพรากจากกันนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
กุลบุตรเห็นดังนี้แล้ว ก็ไม่พึงครองเรือน
[๔๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา
เบญจขันธ์นั้นบุรุษนั้นย่อมละไปเพราะความตาย
บัณฑิตผู้เป็นพุทธมามกะ รู้ชัดโทษนี้แล้ว
ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าเป็นของเรา

เชิงอรรถ :
๑ ที.ม. ๑๐/๒๐๗/๑๒๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๔๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการยึดถือเบญจขันธ์
คำว่า เบญจขันธ์นั้นบุรุษนั้นย่อมละไปเพราะความตาย อธิบายว่า
คำว่า ความตาย ได้แก่ การจุติ การเคลื่อนจากหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่า
สัตว์นั้น ๆ ความทำลาย ความหายไป มัจจุ ความตาย กาลกิริยา การทำลายขันธ์
การทอดทิ้งซากศพไว้ การตัดขาดชีวิตินทรีย์
คำว่า เบญจขันธ์นั้น ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
คำว่า ย่อมละไป ได้แก่ เบญจขันธ์นั้นบุรุษนั้นย่อมละไป คือ ละทิ้ง ละขาด
สูญหาย สลายไป สมจริงดังภาษิตนี้ว่า
โภคทรัพย์ย่อมละบุคคลไปก่อนบ้าง
บุคคลย่อมละโภคทรัพย์ไปก่อนบ้าง
โจรราชผู้ใคร่กาม๑ หมู่ชนผู้มีโภคทรัพย์ เป็นผู้ไม่เที่ยง
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศกในเวลาเศร้าโศก
ดวงจันทร์ขึ้นเต็มดวงแล้วก็ลับไป
ดวงอาทิตย์กำจัดความมืดแล้วก็ลับไป
ศัตรูเอ๋ย เรารู้จักโลกธรรมแล้ว
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศกในเวลาเศร้าโศก๒
คำว่า เบญจขันธ์ใด ในคำว่า บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา
เบญจขันธ์นั้น บุรุษนั้นย่อมละไปเพราะความตาย ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ
คำว่า บุรุษ ได้แก่ การกล่าวถึง การขนานนาม การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน
ชื่อ การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะ
คำว่า ย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา อธิบายว่า ย่อมสำคัญเพราะ
ความสำคัญด้วยอำนาจตัณหา ย่อมสำคัญเพราะความสำคัญด้วยอำนาจทิฏฐิ ย่อม

เชิงอรรถ :
๑ โจรราชผู้ใคร่กาม เป็นชื่อของพระราชาองค์หนึ่ง ในมณิกุณฑลชาดก (ขุ.ชา.อ. ๔/๒-๓/๓๖๖-๓๖๗,
ขุ.ม.อ. ๔๑/๒๔๙)
๒ ขุ.ชา. ๒๗/๒-๓/๑๒๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๕๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
สำคัญเพราะความสำคัญด้วยอำนาจมานะ ย่อมสำคัญเพราะความสำคัญด้วยอำนาจ
กิเลส ย่อมสำคัญเพราะความสำคัญด้วยอำนาจทุจริต ย่อมสำคัญเพราะความสำคัญ
ด้วยอำนาจกิเลสเครื่องประกอบ ย่อมสำคัญเพราะความสำคัญด้วยอำนาจวิบาก
รวมความว่า บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา
คำว่า บัณฑิต ... รู้ชัดโทษนี้แล้ว ได้แก่ รู้แล้ว คือ ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว
พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วซึ่งโทษนี้ ในเบญจขันธ์ที่ยึดถือ
ว่าเป็นของเรา รวมความว่า รู้ชัดโทษนี้แล้ว
คำว่า บัณฑิต ได้แก่ นักปราชญ์ บัณฑิต ผู้มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้
มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส รวมความว่า บัณฑิต ...
รู้ชัดโทษนี้แล้ว
คำว่า ผู้เป็นพุทธมามกะ ... ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าเป็นของเรา
อธิบายว่า
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง
คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเรา
ด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่า
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
คำว่า ผู้เป็นพุทธมามกะ ได้แก่ ผู้นับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
ผู้นั้นย่อมนับถือพระผู้มีพระภาคว่าเป็นของเรา พระผู้มีพระภาคก็ทรงรับรอง
บุคคลนั้น
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดเป็นคน
คดโกง แข็งกระด้าง พูดพล่อย กรีดกราย มีมานะจัด มีจิตไม่มั่นคง ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้น มิใช่ผู้นับถือเรา เป็นผู้ไปจากธรรมวินัยนี้แล้ว และภิกษุเหล่านั้นจะไม่
ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ส่วนภิกษุเหล่าใด ไม่คดโกง ไม่พูด
พล่อย เป็นนักปราชญ์ ไม่แข็งกระด้าง มีจิตมั่นคง ภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้นับถือเรา
เป็นผู้ไม่ไปจากธรรมวินัยนี้ และภิกษุเหล่านั้นจะถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ใน
ธรรมวินัยนี้”๒

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒/๕๘-๕๙
๒ องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๖/๓๑, ขุ.อิติ. ๒๕/๑๐๘/๓๒๖-๓๒๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๕๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
ภิกษุทั้งหลาย ผู้คดโกง แข็งกระด้าง
พูดพล่อย กรีดกราย มีมานะจัด มีจิตไม่มั่นคง
ย่อมไม่งอกงามในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงแล้ว
(ส่วน)ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่คดโกง ไม่พูดพล่อย
เป็นนักปราชญ์ ไม่แข็งกระด้าง มีจิตมั่นคง
ย่อมงอกงามในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงแล้ว๑
คำว่า ผู้เป็นพุทธมามกะ ... ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าเป็นของเรา
อธิบายว่า ผู้เป็นพุทธมามกะละความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว
สลัดทิ้งความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว ไม่พึงน้อมไป คือ ไม่พึง
โน้มไปเพื่อความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ไม่พึงเป็นผู้เอนไปในความยึดถือว่าเป็น
ของเรานั้น ไม่พึงเป็นผู้โอนไปในความยึดถือว่าเป็นของเรานั้น ไม่พึงเป็นผู้โน้ม
ไปในความยึดถือว่าเป็นของเรานั้น ไม่พึงเป็นผู้น้อมใจไปในความยึดถือว่าเป็นของ
เรานั้น ไม่พึงเป็นผู้มีความยึดถือว่าเป็นของเรานั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า ผู้เป็น
พุทธมามกะ ... ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าเป็นของเรา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
บุรุษย่อมสำคัญเบญจขันธ์ใดว่า นี้ของเรา
เบญจขันธ์นั้นบุรุษนั้นย่อมละไปเพราะความตาย
บัณฑิตผู้เป็นพุทธมามกะ รู้ชัดโทษนี้แล้ว
ไม่พึงน้อมไปเพื่อความยึดถือว่าเป็นของเรา
[๔๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุรุษผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยความฝัน ฉันใด
ใคร ๆ ย่อมไม่เห็นชนผู้เป็นที่รัก ซึ่งตายจากไปแล้ว ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๖/๓๑, ขุ.อิติ. ๒๕/๑๐๘/๓๒๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๕๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
ว่าด้วยสิ่งที่เกี่ยวข้องอุปมาเหมือนความฝัน
คำว่า สิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยความฝัน ฉันใด ได้แก่ ที่เกี่ยวข้อง คือ ที่มาปรากฏ
ที่มารวมกัน ที่มาประชุมกัน รวมความว่า สิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยความฝัน ฉันใด
คำว่า บุรุษผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็น อธิบายว่า บุรุษผู้ฝันเห็นดวงจันทร์
เห็นดวงอาทิตย์ เห็นมหาสมุทร เห็นขุนเขาสุเมรุ เห็นช้าง เห็นม้า เห็นรถ เห็น
ทหารราบ เห็นขบวนทัพ เห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ เห็นป่าที่น่ารื่นรมย์ เห็นภูมิภาค
ที่น่ารื่นรมย์ เห็นสระที่น่ารื่นรมย์ เมื่อตื่นขึ้นแล้วก็ย่อมไม่เห็นอะไรเลย ฉันใด รวม
ความว่า บุรุษผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็น
คำว่า ฉันนั้น ในคำว่า ชนผู้เป็นที่รัก ... ฉันนั้น เป็นคำอุปไมยทำอุปมาให้
สมบูรณ์
คำว่า ชนผู้เป็นที่รัก ได้แก่ ชนผู้เป็นที่รัก คือ ผู้นับถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ มารดา
บิดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว บุตร ธิดา มิตร อำมาตย์ หรือญาติสายโลหิต
รวมความว่า ชนผู้เป็นที่รัก ... ฉันนั้น
คำว่า ย่อมไม่เห็น ... ซึ่งตายจากไปแล้ว อธิบายว่า ผู้ที่ตายไปแล้ว ตรัส
เรียกว่า ผู้จากไปแล้ว ใคร ๆ ย่อมไม่เห็น คือ ย่อมไม่แลเห็น ไม่ประสบ ไม่พบ
ไม่ได้คืน ชนผู้เป็นที่รักซึ่งตายไปแล้ว รวมความว่า ย่อมไม่เห็น ... ซึ่งตายจากไปแล้ว
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุรุษผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยความฝัน ฉันใด
ใคร ๆ ย่อมไม่เห็นชนผู้เป็นที่รัก ซึ่งตายจากไปแล้ว ฉันนั้น
[๔๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ชื่อของชนเหล่าใดที่กล่าวกันอยู่นี้
ชนเหล่านั้นยังเห็นกันอยู่บ้าง ยังได้ยินกันอยู่บ้าง
สัตว์เกิดจากไปแล้วเหลือไว้แต่ชื่อเท่านั้น เพื่อกล่าวขานกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๕๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
ว่าด้วยสิ่งต่าง ๆ สลายไปเหลือแต่ชื่อ
คำว่า ยังเห็นกันอยู่ ในคำว่า ชนเหล่านั้นยังเห็นกันอยู่บ้าง ยังได้ยินกันอยู่
บ้าง ได้แก่ ผู้มีรูปที่รู้กันได้ด้วยจักขุวิญญาณ
คำว่า ยังได้ยินกันอยู่ ได้แก่ ผู้มีชื่อเสียงที่รู้กันได้ด้วยโสตวิญญาณ
คำว่า ชนเหล่านั้น ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต
เทวดา และมนุษย์ รวมความว่า ชนเหล่านั้นยังเห็นกันอยู่บ้าง ยังได้ยินกันอยู่บ้าง
คำว่า ของชนเหล่าใด ในคำว่า ชื่อของชนเหล่าใดที่กล่าวกันอยู่นี้ ได้แก่
ของกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาและมนุษย์เหล่าใด
คำว่า ชื่อ ได้แก่ การกล่าวถึง การขนานนาม การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน
ชื่อ การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะ
คำว่า ที่กล่าวกันอยู่ ได้แก่ ที่เรียก ที่กล่าวกันอยู่ คือ ที่พูด ที่บอก ที่แสดง
ที่ชี้แจงกันอยู่ รวมความว่า ชื่อของชนเหล่าใดที่กล่าวกันอยู่นี้
คำว่า เหลือไว้แต่ชื่อเท่านั้น เพื่อกล่าวขานกัน อธิบายว่า ขันธ์ที่เป็นรูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ บุคคลย่อมละ ละเว้น ละขาด สูญหาย สลายไป
ก็ยังเหลือไว้แต่ชื่อเท่านั้น
คำว่า เพื่อกล่าวขานกัน ได้แก่ เพื่อกล่าวขานกัน คือ เพื่อพูด บอก แสดง
ชี้แจง รวมความว่า เหลือไว้แต่ชื่อเท่านั้น เพื่อกล่าวขานกัน
คำว่า จากไปแล้ว ในคำว่า สัตว์เกิดจากไปแล้ว ได้แก่ ตายแล้ว ทำกาละแล้ว
คำว่า สัตว์เกิด ได้แก่ สัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด
ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์ รวมความว่า สัตว์เกิดจากไปแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
ชื่อของชนเหล่าใดที่กล่าวกันอยู่นี้
ชนเหล่านั้นยังเห็นกันอยู่บ้าง ยังได้ยินกันอยู่บ้าง
สัตว์เกิดจากไปแล้วเหลือไว้แต่ชื่อเท่านั้น เพื่อกล่าวขานกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๕๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
[๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ชนทั้งหลาย ผู้ติดใจในวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ย่อมละทิ้งความเศร้าโศก ความคร่ำครวญและความตระหนี่ไม่ได้
เพราะฉะนั้น มุนีผู้เห็นแดนเกษม ละความยึดถือได้แล้ว เที่ยวไป
คำว่า ชนทั้งหลาย ผู้ติดใจในวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ย่อมละทิ้งความ
เศร้าโศก ความคร่ำครวญและความตระหนี่ไม่ได้ อธิบายว่า
คำว่า ความเศร้าโศก ได้แก่ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก
ความเศร้าโศกภายใน ความเศร้าโศกมากภายใน ความหม่นไหม้ภายใน ความเร่า
ร้อนภายใน ความหม่นไหม้แห่งจิต ความทุกข์ใจ ลูกศรคือความเศร้าโศกของผู้ถูก
ความเสียหายของญาติกระทบบ้าง ถูกความเสียหายแห่งโภคทรัพย์กระทบบ้าง ถูก
ความเสียหายเพราะโรคกระทบบ้าง ถูกสีลวิบัติกระทบบ้าง ถูกทิฏฐิวิบัติกระทบบ้าง
ประจวบกับความเสียหายอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง ถูกเหตุแห่งทุกข์อื่น
นอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง
คำว่า ความคร่ำครวญ ได้แก่ ความบ่นเพ้อ ความคร่ำครวญ กิริยาที่
บ่นเพ้อ กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะที่บ่นเพ้อ ภาวะที่คร่ำครวญ การพูดพล่าม
การพูดเพ้อ การพูดเพ้อเจ้อ ความพร่ำเพ้อ กิริยาที่พร่ำเพ้อ ภาวะที่พร่ำเพ้อ
ของผู้ถูกความเสียหายของญาติกระทบบ้าง ... ถูกทิฏฐิวิบัติกระทบบ้าง ประจวบ
กับความเสียหายอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง ถูกเหตุแห่งทุกข์อื่นนอกจากที่
กล่าวแล้วกระทบบ้าง

ว่าด้วยความตระหนี่ ๕ อย่าง
คำว่า ความตระหนี่ ได้แก่ มัจฉริยะ ๕ อย่าง คือ
๑. อาวาสมัจฉริยะ ๒. กุลมัจฉริยะ
๓. ลาภมัจฉริยะ ๔. วัณณมัจฉริยะ
๕. ธัมมมัจฉริยะ
ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ภาวะที่ตระหนี่ ความเห็นแก่ได้ ความถี่เหนียว
ความที่จิตเจ็บร้อน(ในการให้) ความที่จิตหวงแหนเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความ
ตระหนี่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๕๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง ความตระหนี่ขันธ์ก็ดี ความตระหนี่ธาตุก็ดี ความตระหนี่อายตนะ
ก็ดี ความมุ่งแต่จะได้ก็ดี นี้ตรัสเรียกว่า ความตระหนี่
ตัณหา ตรัสเรียกว่าความติดใจ คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ๑
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง
คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเรา
ด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่า
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ๒
ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเราจะถูกแย่งชิงไปย่อมเศร้า
โศกบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังถูกแย่งชิงไปย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อวัตถุนั้นถูกแย่งชิงไป
แล้วย่อมเศร้าโศกบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเราจะ
แปรผันไปย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังแปรผันไปย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อวัตถุ
นั้นแปรผันไปแล้วย่อมเศร้าโศกบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าวัตถุที่ยึดถือว่า
เป็นของเราจะถูกแย่งชิงไปย่อมคร่ำครวญบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังถูกแย่งชิงไปย่อม
คร่ำครวญบ้าง เมื่อวัตถุนั้นถูกแย่งชิงไปแล้วย่อมคร่ำครวญบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาด
ระแวงว่าวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเราจะแปรผันไปย่อมคร่ำครวญบ้าง เมื่อวัตถุนั้น
กำลังแปรผันไป ย่อมคร่ำครวญบ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรผันไปแล้วก็ย่อมคร่ำครวญบ้าง
ชนทั้งหลายย่อมรักษา ปกป้อง ถือครอง ยึดถือ สิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ประพฤติตระหนี่ว่า เป็นของเรา ย่อมเศร้าโศก เพราะวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
จึงละความเศร้าโศกไม่ได้ ละความคร่ำครวญไม่ได้ ละความตระหนี่ไม่ได้ ละความ
ติดใจไม่ได้ ละไม่ได้ คือ ละเว้นไม่ได้ บรรเทาไม่ได้ ทำให้หมดสิ้นไปไม่ได้ ให้ถึง
ความไม่มีอีกไม่ได้ รวมความว่า ชนทั้งหลาย ผู้ติดใจในวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ย่อมละทิ้งความเศร้าโศก ความคร่ำครวญและความตระหนี่ไม่ได้

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๕๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น มุนีผู้เห็นแดนเกษม ละความ
ยึดถือได้แล้วเที่ยวไป ได้แก่ เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น
เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น เมื่อเห็นโทษนี้ในการยึดถือว่าเป็นของเรา รวม
ความว่า เพราะฉะนั้น

ว่าด้วยโมเนยยธรรม ๓ ประการ
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ...
ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑ ผู้ประกอบด้วยญาณนั้น
ชื่อว่ามุนี คือ ผู้บรรลุโมนญาณแล้ว โมเนยยธรรม(ธรรมที่ทำให้เป็นมุนี) มี ๓ ประการ
คือ
๑. โมเนยยธรรมทางกาย ๒. โมเนยธรรมทางวาจา
๓. โมเนยยธรรมทางใจ ...
ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๒
คำว่า ความยึดถือ ได้แก่ ความยึดถือ ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดถือด้วย
อำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยอำนาจ
ตัณหา ... นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยอำนาจทิฏฐิ๓
มุนีละความยึดถือด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความยึดถือด้วยอำนาจ
ทิฏฐิได้แล้ว ละ คือ ละเว้น บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก เที่ยวไป
ได้แก่ ประพฤติ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
คำว่า ผู้เห็นแดนเกษม อธิบายว่า อมตนิพพาน ตรัสเรียกว่า แดนเกษม คือ
ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่
คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๑/๙๒
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๑๔/๖๘-๖๙
๓ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๕๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้เห็นแดนเกษม ได้แก่ ผู้เห็นแดนเกษม คือ เห็นที่ปกป้อง เห็นที่
หลีกเร้น เห็นที่พึ่ง เห็นที่ไม่มีภัย เห็นที่ไม่จุติ เห็นอมตธรรม เห็นนิพพาน รวม
ความว่า เพราะฉะนั้น มุนีผู้เห็นแดนเกษม ละความยึดถือได้แล้ว เที่ยวไป ด้วย
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ชนทั้งหลาย ผู้ติดใจในวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ย่อมละทิ้งความเศร้าโศก ความคร่ำครวญและความตระหนี่ไม่ได้
เพราะฉะนั้น มุนีผู้เห็นแดนเกษม ละความยึดถือได้แล้ว เที่ยวไป
[๔๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพ
ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น ใช้ที่นั่งอันสงัดนั้นว่า
เป็นความสามัคคี

ว่าด้วยผู้ประพฤติหลีกเร้น
คำว่า ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น อธิบายว่า พระเสขะ ๗ จำพวก ตรัส
เรียกว่าผู้ประพฤติหลีกเร้น (ส่วน)พระอรหันต์ ชื่อว่าผู้หลีกเร้นแล้ว
เพราะเหตุไร พระเสขะ ๗ จำพวก จึงตรัสเรียกว่า ผู้ประพฤติหลีกเร้น
พระเสขะเหล่านั้น ให้จิตหลีกเร้น ถอยกลับ หมุนกลับ ปิดกั้น ข่ม ห้าม รักษา
คุ้มครองจิตจากอารมณ์นั้น เที่ยวไป ประพฤติ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป คือให้จิตหลีกเร้น ถอยกลับ หมุนกลับ ปิดกั้น ข่ม
ห้าม รักษา คุ้มครองจิต ในจักขุทวาร เที่ยวไป ประพฤติ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป คือให้จิตหลีกเร้น ถอยกลับ ปิดกั้น ข่ม
ห้าม รักษา คุ้มครองจิต ในโสตทวาร ... ในฆานทวาร ... ในชิวหาทวาร ... ใน
กายทวาร ... ในมโนทวาร ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๕๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
พระเสขะเหล่านั้น ให้จิตหลีกเร้น ถอยกลับ หมุนกลับ ปิดกั้น ข่ม ห้าม รักษา
คุ้มครองจิตจากอารมณ์นั้น ๆ เที่ยวไป ประพฤติ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป คือ ให้จิตหลีกเร้น ถอยกลับ หมุนกลับ ปิดกั้น
ข่ม ห้าม รักษา คุ้มครองจิตในจักขุทวาร ... ในโสตทวาร .. ในฆานทวาร ... ใน
ชิวหาทวาร ... ในกายทวาร ... ในมโนทวาร เที่ยวไป ประพฤติ อยู่ เคลื่อนไหว
เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป เปรียบเหมือนขนไก่ หรือเส้นเอ็นที่
ใส่เข้าไปในไฟแล้ว ย่อมหัก งอ ม้วน ไม่คลี่ออก ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระเสขะ
๗ จำพวก จึงตรัสเรียกว่า ผู้ประพฤติหลีกเร้น
คำว่า ของภิกษุ ได้แก่ ของภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือของภิกษุผู้เป็น
พระเสขะ รวมความว่า ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น
คำว่า ใช้ที่นั่งอันสงัด อธิบายว่า ที่สำหรับนั่งของภิกษุ ตรัสเรียกว่า ที่นั่ง
ได้แก่ เตียง ตั่ง เบาะ เสื่อ แผ่นหนัง เครื่องปูลาดทำด้วยหญ้า เครื่องปูลาดทำ
ด้วยใบไม้ เครื่องปูลาดทำด้วยฟาง ที่นั่งนั้นว่าง สงัด เงียบจากการได้เห็นรูปไม่เป็น
ที่สบาย ... จากการได้ยินเสียงไม่เป็นที่สบาย ... จากการได้กลิ่นไม่เป็นที่สบาย ... จาก
การได้ลิ้มรสไม่เป็นที่สบาย ... จากการถูกต้องโผฏฐัพพะไม่เป็นที่สบาย ... ที่นั่งนั้นว่าง
สงัด เงียบจากกามคุณ ๕ ไม่เป็นที่สบาย ผู้ใช้ คือ ใช้สอย เสพ เสพเป็นนิจ ซ่องเสพ
เสพเฉพาะที่นั่งอันสงัดนั้น รวมความว่า ใช้ที่นั่งอันสงัด
คำว่า ความสามัคคี ในคำว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตน
ในภพของภิกษุ ... นั้นว่า เป็นความสามัคคี ได้แก่ สามัคคี ๓ อย่าง คือ
๑. คณสามัคคี
๒. ธัมมสามัคคี
๓. อนภินิพพัตติสามัคคี
คณสามัคคี เป็นอย่างไร
คือ แม้หากภิกษุทั้งหลายเป็นอันมาก พร้อมเพรียงกัน ชื่นชม ไม่วิวาทกัน
เป็นเหมือนน้ำกลมกลืนกับน้ำนม มองดูกันและกันด้วยสายตาที่รักกันอยู่ นี้ชื่อว่า
คณสามัคคี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๕๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
ธัมมสามัคคี เป็นอย่างไร
คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗
อริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมเหล่านั้นย่อมดำเนินไป ผ่องใส ตั้งมั่น หลุดพ้นไป โดยความ
เป็นอันเดียวกัน ธรรมเหล่านั้นไม่มีความวิวาทขัดแย้งกัน นี้ชื่อว่าธัมมสามัคคี
อนภินิพพัตติสามัคคี เป็นอย่างไร
คือ แม้หากภิกษุเป็นอันมาก ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ความ
พร่อง หรือความเต็มแห่งนิพพานธาตุของภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่ปรากฏ นี้ชื่อว่า
อนภินิพพัตติสามัคคี
คำว่า ในภพ อธิบายว่า นรกเป็นภพของสัตว์นรก กำเนิดเดรัจฉาน
เป็นภพของสัตว์ผู้เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เปตวิสัยเป็นภพของสัตว์ผู้เกิดในเปตวิสัย
มนุษยโลกเป็นภพของมนุษย์ เทวโลกเป็นภพของหมู่เทวดา
คำว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพของภิกษุ... นั้นว่า เป็น
ความสามัคคี อธิบายว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง
อย่างนี้ว่า ภิกษุใด ไม่แสดงตนในนรกอันปกปิด ไม่แสดงตนในกำเนิดเดรัจฉาน ไม่
แสดงตนในเปตวิสัย ไม่แสดงตนในมนุษยโลก ไม่แสดงตนในเทวโลกอย่างนี้ การไม่
แสดงตนของภิกษุนั้นเป็นความสามัคคี คือ ข้อนี้ เป็นการปกปิด เป็นการเหมาะสม
เป็นการสมควร เป็นการอนุโลม รวมความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตน
ในภพของภิกษุ ... นั้นว่า เป็นความสามัคคี ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการไม่แสดงตนในภพ
ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้น ใช้ที่นั่งอันสงัดนั้นว่า
เป็นความสามัคคี
[๔๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีไม่อาศัยในสิ่งทั้งปวง ไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้เป็นที่รัก
และไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้ไม่เป็นที่รัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๖๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
ความคร่ำครวญและความตระหนี่ ไม่ติดอยู่ในมุนีนั้น
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น
คำว่า มุนีไม่อาศัยในสิ่งทั้งปวง อธิบายว่า อายตนะ ๑๒ ตรัสเรียกว่า
สิ่งทั้งปวง คือ ตาและรูป หูและเสียง จมูกและกลิ่น ลิ้นและรส กายและโผฏฐัพพะ
ใจและธรรมารมณ์
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ...
ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๑
คำว่า ไม่อาศัย ได้แก่ ความอาศัย ๒ อย่าง คือ (๑) ความอาศัยด้วยอำนาจ
ตัณหา (๒) ความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ๒
มุนีละความอาศัยด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความอาศัยด้วยอำนาจ
ทิฏฐิได้แล้ว ไม่อาศัยตา ... หู ... จมูก ... ลิ้น ... กาย ... ใจ ... รูป ... เสียง ... กลิ่น ...
รส ... โผฏฐัพพะ ... ธรรมารมณ์ ... ตระกูล ... หมู่คณะ ... อาวาส ... ลาภ ... ยศ ...
สรรเสริญ ... สุข ... จีวร ... บิณฑบาต ... เสนาสนะ ... คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ...
กามธาตุ ... รูปธาตุ ... อรูปธาตุ ... กามภพ ... รูปภพ ... อรูปภพ ... สัญญาภพ ...
อสัญญาภพ ... เนวสัญญานาสัญญายตนภพ ... เอกโวการภพ๓ ... จตุโวการภพ๔ ...
ปัญจโวการภพ๕ ... ภพอดีต ... ภพอนาคต ... ภพปัจจุบัน ไม่อาศัยรูปที่เห็น ... เสียง
ที่ได้ยิน ... กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว มุนีไม่อาศัย คือ
ไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ไม่ติดใจแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว
หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับธรรมทั้งปวงแล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากความอาศัย)อยู่
รวมความว่า มุนีไม่อาศัยในสิ่งทั้งปวง

เชิงอรรถ :
๑ มุนี ดูรายละเอียดข้อ ๑๔/๖๘-๗๑
๒ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙
๓ เอกโวการภพ ดูเชิงอรรถข้อ ๓/๑๒
๔ จตุโวการภพ ดูเชิงอรรถข้อ ๓/๑๒
๕ ปัญจโวการภพ ดูเชิงอรรถข้อ ๓/๑๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๖๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
ว่าด้วยสิ่งเป็นที่รัก ๒ จำพวก
คำว่า ไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้เป็นที่รัก และไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้ไม่เป็น
ที่รัก อธิบายว่า
คำว่า เป็นที่รัก ได้แก่ สิ่งเป็นที่รัก ๒ จำพวก คือ (๑) สัตว์ (๒) สังขาร
สัตว์เหล่าไหนเป็นที่รัก สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เป็นผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่เป็น
ประโยชน์ ปรารถนาแต่สิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาแต่ความผาสุก ปรารถนาแต่ความ
หลุดพ้นจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว บุตร ธิดา มิตร
อำมาตย์ ญาติ หรือผู้ร่วมสายโลหิตของผู้นั้น สัตว์เหล่านี้ ชื่อว่าสิ่งเป็นที่รัก
สังขารเหล่าไหนเป็นที่รัก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าชอบใจ สังขาร
เหล่านี้ ชื่อว่าสิ่งเป็นที่รัก
คำว่า ไม่เป็นที่รัก ได้แก่ สิ่งไม่เป็นที่รัก ๒ จำพวก คือ (๑) สัตว์ (๒) สังขาร
สัตว์เหล่าไหนไม่เป็นที่รัก สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้เป็นผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่มิใช่
ประโยชน์ ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาแต่ความไม่ผาสุก ไม่ปรารถนา
ความหลุดพ้นจากโยคะ ปรารถนาจะปลงชีวิตของผู้นั้น สัตว์เหล่านี้ ชื่อว่าไม่เป็นที่รัก
สังขารเหล่าไหนไม่เป็นที่รัก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันไม่น่าชอบใจ
สังขารเหล่านี้ ชื่อว่าไม่เป็นที่รัก
คำว่า ไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้เป็นที่รัก และไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้ไม่เป็น
ที่รัก อธิบายว่า ไม่ทำให้เป็นที่รักด้วยอำนาจราคะว่า “สัตว์นี้เป็นที่รักของเรา สังขาร
เหล่านี้ เป็นที่ชอบใจของเรา” ไม่ทำให้ไม่เป็นที่รักด้วยอำนาจปฏิฆะ คือไม่ให้เกิด
ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นว่า “สัตว์นี้ไม่เป็นที่รักของเรา สังขาร
เหล่านี้ไม่เป็นที่ชอบใจของเรา” รวมความว่า ไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้เป็นที่รัก และ
ไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้ไม่เป็นที่รัก
คำว่า ในมุนีนั้น ในคำว่า ความคร่ำครวญและความตระหนี่ไม่ติดอยู่ใน
มุนีนั้น เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น ได้แก่ ในบุคคลผู้เป็นพระ
อรหันตขีณาสพ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๖๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
คำว่า ความคร่ำครวญ ได้แก่ ความบ่นเพ้อ ความคร่ำครวญ กิริยาที่บ่นเพ้อ
กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะที่บ่นเพ้อ ภาวะที่คร่ำครวญ การพูดพล่าม การพูดเพ้อ
การพูดเพ้อเจ้อ ความพร่ำเพ้อ กิริยาที่พร่ำเพ้อ ภาวะที่พร่ำเพ้อ ของผู้ถูกความเสีย
หายของญาติกระทบบ้าง ถูกความเสียหายแห่งโภคทรัพย์กระทบบ้าง ถูกความเสีย
หายเพราะโรคกระทบบ้าง ถูกสีลวิบัติกระทบบ้าง ถูกทิฏฐิวิบัติกระทบบ้าง ประจวบ
กับความเสียหายอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง ถูกเหตุแห่งทุกข์อื่นนอกจากที่กล่าว
แล้วกระทบบ้าง
คำว่า ความตระหนี่ ได้แก่ มัจฉริยะ ๕ อย่าง คือ
๑. อาวาสมัจฉริยะ ๒. กุลมัจฉริยะ
๓. ลาภมัจฉริยะ ๔. วัณณมัจฉริยะ
๕. ธัมมมัจฉริยะ
คือ ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ภาวะที่ตระหนี่ ความเห็นแก่ได้ ความ
ถี่เหนี่ยว ความที่จิตเจ็บร้อน(ในการให้) ความที่จิตหวงแหนเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า
ความตระหนี่
อีกนัยหนึ่ง ความตระหนี่ขันธ์ก็ดี ความตระหนี่ธาตุก็ดี ความตระหนี่อายตนะ
ก็ดี ความมุ่งแต่จะได้ก็ดี นี้ตรัสเรียกว่า ความตระหนี่
คำว่า ไม่ติดอยู่ ... เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น อธิบายว่า
ใบของบัวตรัสเรียกว่า ใบบัว น้ำตรัสเรียกว่า หยาดน้ำ ความคร่ำครวญและความ
ตระหนี่ ไม่ติด คือ ไม่ติดแน่น ไม่ติดพัน ได้แก่ เป็นสภาพไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว
ไม่ติดพันแล้ว ในบุคคลผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพนั้น เหมือนหยาดน้ำ ไม่ติด คือ
ไม่ติดแน่น ไม่ติดพัน ได้แก่ เป็นของไม่ติดแล้ว เป็นของไม่ติดแน่นแล้ว เป็นของ
ไม่ติดพันแล้วบนใบบัว ฉะนั้น
อนึ่ง บุคคลผู้เป็นพระอรหันต์นั้น ไม่ติด คือ ไม่ติดแน่น ไม่ติดพัน ได้แก่ เป็น
ผู้ไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว
ไม่เกี่ยวข้องแล้วกับกิเลสเหล่านั้น มีใจเป็นอิสระอยู่ รวมความว่า ความคร่ำครวญ
และความตระหนี่ ไม่ติดอยู่ในมุนีนั้น เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว ฉะนั้น ด้วยเหตุ
นั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๖๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
มุนีไม่อาศัยในสิ่งทั้งปวง ไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้เป็นที่รัก
และไม่ทำสัตว์สังขารไหนให้ไม่เป็นที่รัก
ความคร่ำครวญและความตระหนี่ ไม่ติดอยู่ในมุนีนั้น
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น
[๔๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนดอกบัว ฉะนั้น
คำว่า เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว อธิบายว่า เม็ดน้ำ ตรัสเรียกว่า
หยาดน้ำ ใบของบัว ตรัสเรียกว่า ใบบัว เปรียบเหมือนหยาดน้ำ ไม่ติด คือ ไม่ติดแน่น
ไม่ติดพัน ได้แก่ เป็นของไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้ว บนใบบัว ฉะนั้น
รวมความว่า เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว
คำว่า เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนดอกบัว ฉะนั้น อธิบายว่า ดอกของบัว
ตรัสเรียกว่า ดอกบัว น้ำตรัสเรียกว่า หยาดน้ำ เปรียบเหมือนหยาดน้ำไม่ติด คือ ไม่
ติดแน่น ไม่ติดพัน ได้แก่ เป็นของไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้วบนดอกบัว
ฉะนั้น รวมความว่า เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนดอกบัว ฉะนั้น
คำว่า เหมือน ... ฉะนั้น ในคำว่า มุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
และอารมณ์ที่รับรู้เหมือน... ฉะนั้น เป็นคำอุปไมยทำอุปมาให้สมบูรณ์
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ...
ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๑
คำว่า ความติด ได้แก่ ความติด ๒ อย่าง คือ (๑) ความติดด้วยอำนาจ
ตัณหา (๒) ความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความติดด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่า
ความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ๒

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๔/๖๘-๗๑
๒ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๖๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
มุนีละความติดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ
ได้แล้ว ไม่ติดในรูปที่เห็น ไม่ติดในเสียงที่ได้ยิน ไม่ติดในอารมณ์ที่รับรู้ ไม่ติดใน
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว คือ ไม่ติดแน่น ไม่ติดพัน ได้แก่ เป็นผู้ไม่ติดแล้ว ไม่ติด
แน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้ว มีใจ
เป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า มุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินและ
อารมณ์ที่รับรู้เหมือน ... ฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว
เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนดอกบัว ฉะนั้น
[๔๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด
ย่อมไม่สำคัญหมายรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้
พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการความหมดจดด้วยมรรคอื่น
ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้องคลายกำหนัด
คำว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ในคำว่า พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด
ย่อมไม่สำคัญหมายรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้ อธิบายว่า ปัญญา
ตรัสเรียกว่า เครื่องกำจัด คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ... ความไม่หลงงมงาย ความ
เลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑
เพราะเหตุไร ปัญญาจึงตรัสเรียกว่า เครื่องกำจัด เพราะปัญญานั้นเป็นเครื่อง
กำจัด ชำระ ล้าง ซักฟอกกายทุจริต ... วจีทุจริต ... มโนทุจริต ... ราคะ ... โทสะ ... โมหะ ...
โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ ...
ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลสทุกชนิด ...
ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน ... ความ
เดือดร้อนทุกประการ ... เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอก อกุสลาภิสังขาร
ทุกประเภท๒ เพราะเหตุนั้น ปัญญาจึงตรัสเรียกว่า เครื่องกำจัด

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๑/๙๒
๒ ดูคำแปลจากข้อ ๕/๑๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๖๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง สัมมาทิฏฐิ เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้างและซักฟอกมิจฉาทิฏฐิได้

สัมมาสังกัปปะ เป็นเครื่องกำจัด ... มิจฉาสังกัปปะได้
สัมมาวาจา เป็นเครื่องกำจัด ... มิจฉาวาจาได้
สัมมากัมมันตะ เป็นเครื่องกำจัด ... มิจฉากัมมันตะได้
สัมมาอาชีวะ เป็นเครื่องกำจัด ... มิจฉาอาชีวะได้
สัมมาวายามะ เป็นเครื่องกำจัด ... มิจฉาวายามะได้
สัมมาสติ เป็นเครื่องกำจัด ... มิจฉาสติได้
สัมมาสมาธิ เป็นเครื่องกำจัด ... มิจฉาสมาธิได้
สัมมาญาณ เป็นเครื่องกำจัด ... มิจฉาญาณได้


สัมมาวิมุตติ เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอกมิจฉาวิมุตติได้

อีกนัยหนึ่ง อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง และซักฟอกกิเลส
ทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน
... ความเดือดร้อนทุกประการ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท พระอรหันต์ประกอบ
ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วย
ธรรมเป็นเครื่องกำจัดเหล่านี้ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงชื่อว่าผู้มีปัญญาเครื่อง
กำจัด พระอรหันต์นั้น เป็นผู้กำจัดความกำหนัดได้แล้ว กำจัดบาปได้แล้ว กำจัด
กิเลสได้แล้ว กำจัดความเร่าร้อนได้แล้ว รวมความว่า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด
คำว่า พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ย่อมไม่สำคัญหมายรูปที่เห็น เสียง
ที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้ อธิบายว่า พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ย่อมไม่
สำคัญหมายรูปที่เห็น ไม่สำคัญหมายในรูปที่เห็น ไม่สำคัญหมายโดยรูปที่เห็น
คือไม่สำคัญหมายว่า “เราเห็นรูปแล้ว” ไม่สำคัญหมายเสียงที่ได้ยิน ไม่สำคัญหมาย
ในเสียงที่ได้ยิน ไม่สำคัญหมายโดยเสียงที่ได้ยิน คือ ไม่สำคัญหมายว่า “เราได้ยิน
เสียงแล้ว” ไม่สำคัญหมายอารมณ์ที่รับรู้ ไม่สำคัญหมายในอารมณ์ที่รับรู้ ไม่สำคัญ
หมายโดยอารมณ์ที่รับรู้ คือ ไม่สำคัญหมายว่า “เรารับรู้อารมณ์แล้ว” ไม่สำคัญ
หมายธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ไม่สำคัญหมายในธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง ไม่สำคัญหมายโดย
ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง คือ ไม่สำคัญหมายว่า “เรารู้แจ้งธรรมารมณ์แล้ว” สมจริงดังที่
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๖๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๖. ชราสุตตนิทเทส
“ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนสำคัญหมายกันว่า เรามีอยู่ ... เรานี้มีอยู่ ... เราจักมี ...
เราจักไม่มี ... เราจักเป็นผู้มีรูป ... เราจักเป็นผู้ไม่มีรูป ... เราจักเป็นผู้มีสัญญา ... เรา
จักเป็นผู้ไม่มีสัญญา ... เราจักเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ... ภิกษุทั้งหลาย
ความสำคัญหมายเป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นอุปัทวะ ภิกษุทั้งหลาย
เพราะฉะนั้นแล พวกเธอพึงศึกษาในธรรมวินัยอย่างนี้ว่า พวกเราจักมีจิตไม่สำคัญ
หมายอยู่”๑ รวมความว่า พระอรหันต์ ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ย่อมไม่สำคัญ
หมายรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้
คำว่า พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการความหมดจดด้วยมรรคอื่น อธิบายว่า
พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด ย่อมไม่ต้องการ คือ ย่อมไม่ยินดี ไม่ปรารถนา
ไม่มุ่งหมาย ไม่มุ่งหวังความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป
ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปด้วยมรรคอื่น คือ ด้วยมรรคที่ไม่หมดจด ปฏิปทาที่ผิด
ทางที่ไม่นำออกจากทุกข์ นอกจากสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์
พละ โพชฌงค์ และอริยมรรคมีองค์ ๘ รวมความว่า พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการ
ความหมดจดด้วยมรรคอื่น
คำว่า พระอรหันต์นั้นย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้องคลายกำหนัด อธิบายว่า
พาลปุถุชนทั้งปวงย่อมกำหนัด พระเสขะ๒ ๗ จำพวกรวมทั้งกัลยาณปุถุชน๓ ย่อม
คลายกำหนัด พระอรหันต์ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่คลายกำหนัด พระอรหันต์นั้น
คลายกำหนัดแล้ว เพราะเป็นผู้ปราศจากราคะ เหตุสิ้นราคะ เพราะเป็นผู้ปราศจาก
โทสะ เหตุสิ้นโทสะ เพราะเป็นผู้ปราศจากโมหะ เหตุสิ้นโมหะ ท่านอยู่ใน(อริยวาส-
ธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ... พระอรหันต์ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียน
ตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า พระอรหันต์นั้นย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้อง
คลายกำหนัด ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ สํ.สฬา. ๑๘/๒๔๘/๑๘๖
๒ พระเสขะ หมายถึงท่านผู้ยังต้องศึกษาหรือพระอริยบุคคล ๗ จำพวกเบื้องต้นในจำนวนพระอริยบุคคล ๘
คือ (๑) พระโสดาปัตติมรรค (๒) พระโสดาปัตติผล (๓) พระสกทาคามิมรรค (๔) พระสกทาคามิผล
(๕) พระอนาคามิมรรค (๖) พระอนาคามิผล (๗) พระอรหัตตมรรค (๘) พระอรหัตตผล (พระอเสขะ)
(ที.ปา. ๑๑/๓๓๓/๒๒๔)
๓ กัลยาณปุถุชน คือปุถุชนผู้มีคุณธรรมสูง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๖๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
พระอรหันต์ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด
ย่อมไม่สำคัญหมายรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้
พระอรหันต์นั้นไม่ต้องการความหมดจดด้วยมรรคอื่น
ย่อมไม่กำหนัด ย่อมไม่ต้องคลายกำหนัด
ชราสุตตนิทเทสที่ ๖ จบ

๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส๑
อธิบายติสสเมตเตยยสูตร
ว่าด้วยปัญหาของติสสเมตเตยยะ
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายติสสเมตเตยยสูตร ดังต่อไปนี้
[๔๙] (ท่านพระติสสเมตเตยยะกราบทูลดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ความคับแค้นของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
พวกข้าพระองค์ฟังคำสอนของพระองค์แล้วจักศึกษาวิเวก

ว่าด้วยเมถุนธรรม
คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ อธิบายว่า ธรรมเนียมของ
อสัตบุรุษ คือ ธรรมเนียมของชาวบ้าน ธรรมเนียมชั้นต่ำ ธรรมเนียมที่เลวทราม
ธรรมเนียมที่มีน้ำเป็นที่สุด ธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันในที่ลับ ธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติ
กันเป็นคู่ ๆ ชื่อว่าเมถุนธรรม
เพราะเหตุไร จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม เพราะธรรมนั้นเป็นธรรมเนียมของ
คนคู่ ผู้กำหนัด กำหนัดนัก เปียกชุ่ม กลัดกลุ้มด้วยราคะ ถูกราคะครอบงำจิตเสมอ
กันทั้ง ๒ คน เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๘๒๑-๘๓๐/๔๙๕-๔๙๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๖๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คน ๒ คนก่อการทะเลาะกัน เรียกว่าคู่ทะเลาะ
คน ๒ คนก่อการบาดหมางกัน เรียกว่าคู่บาดหมาง
คน ๒ คนก่อการอื้อฉาวกัน เรียกว่าคู่อื้อฉาว
คน ๒ คนก่อการวิวาทกัน เรียกว่าคู่วิวาท
คน ๒ คนก่ออธิกรณ์กัน เรียกว่าคู่อธิกรณ์
คน ๒ คนสนทนากัน เรียกว่าคู่สนทนา
คน ๒ คนเจรจากัน เรียกว่าคู่เจรจา ฉันใด
ธรรมนั้นเป็นธรรมเนียมของคนคู่ ผู้กำหนัด กำหนัดนัก เปียกชุ่ม กลัดกลุ้ม
ด้วยราคะ ถูกราคะครอบงำจิตเสมอกันทั้ง ๒ คน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น
จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม
คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ ได้แก่ ของบุคคลผู้ประกอบ
ประกอบทั่ว ประกอบทั่วถึง ประกอบพร้อมในเมถุนธรรม คือ ผู้ประพฤติเรื่องนั้น
มากไปด้วยเรื่องนั้น หนักในเรื่องนั้น เอนไปในเรื่องนั้น โอนไปในเรื่องนั้น โน้มไป
ในเรื่องนั้น น้อมใจไปในเรื่องนั้น มุ่งเรื่องนั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า ของบุคคลผู้
ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านพระติสสเมตเตยยะกราบทูลดังนี้ เป็นบทสนธิ
เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความ
สละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ เป็นคำ
กล่าวที่มีความเคารพ คำว่า ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวแสดงความยำเกรง
คำว่า ติสสะ เป็นชื่อของพระเถระนั้น คือ เป็นการกล่าวถึง การขนานนาม
การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน ชื่อ การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ ชื่อเรียกเฉพาะ
คำว่า เมตเตยยะ เป็นโคตรของพระเถระนั้น คือ เป็นการกล่าวถึง การ
ขนานนาม การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน รวมความว่า ท่านพระติสสเมตเตยยะ
กราบทูลดังนี้
คำว่า ความคับแค้น ในคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์โปรด
ตรัสบอกความคับแค้น อธิบายว่า ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศความคับแค้น คือ ความ
เคียดแค้น ความบีบคั้น ความอึดอัด ความเบียดเบียน ความขัดข้อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๖๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าว
โดยความเคารพ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพ คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ นี้
เป็นคำกล่าวแสดงความยำเกรง รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์
โปรดตรัสบอกความคับแค้น
คำว่า ฟังคำสั่งสอนของพระองค์แล้ว อธิบายว่า ฟังแล้ว คือ สดับแล้ว
เรียนแล้ว ทรงจำแล้ว กำหนดแล้วซึ่งพระดำรัส คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน
คำพร่ำสอนของพระองค์ รวมความว่า ฟังคำสั่งสอนของพระองค์แล้ว

ว่าด้วยวิเวก ๓
คำว่า พวกข้าพระองค์ ... จักศึกษาวิเวก อธิบายว่า
คำว่า วิเวก ได้แก่ วิเวก ๓ อย่าง คือ (๑) กายวิเวก (ความสงัดกาย)
(๒) จิตตวิเวก (ความสงัดใจ) (๓) อุปธิวิเวก (ความสงัดอุปธิ)
กายวิเวก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมใช้สอยเสนาสนะที่สงัด คือ ป่า โคนต้นไม้ ภูเขา
ซอกเขา ช่องเขา สุสาน ป่าดงดิบ กลางแจ้ง ลอมฟาง และมีกายสงัดอยู่ คือ เดินรูป
เดียว ยืนรูปเดียว นั่งรูปเดียว นอนรูปเดียว เข้าหมู่บ้านบิณฑบาตรูปเดียว กลับรูป
เดียว นั่งในที่ลับรูปเดียว อธิษฐานจงกรมรูปเดียว เที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปลำพังรูปเดียว นี้ชื่อว่ากายวิเวก
จิตตวิเวก เป็นอย่างไร
คือ ผู้บรรลุปฐมฌานย่อมมีจิตสงัดจากนิวรณ์ ผู้บรรลุทุติยฌานย่อมมีจิตสงัด
จากวิตกและวิจาร ผู้บรรลุตติยฌานย่อมมีจิตสงัดจากปีติ ผู้บรรลุจตุตถฌานย่อมมี
จิตสงัดจากสุขและทุกข์ ผู้บรรลุอากาสานัญจายตนสมาบัติ ย่อมมีจิตสงัดจาก
รูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา ผู้บรรลุวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ย่อมมีจิต
สงัดจากอากาสนัญจายตนสัญญา ผู้บรรลุอากิญจัญญายตนสมาบัติ ย่อมมีจิตสงัด
จากวิญญาณัญจายตนสัญญา ผู้บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ย่อมมีจิต
สงัดจากอากิญจัญญายตนสัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๗๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
ผู้เป็นพระโสดาบัน ย่อมมีจิตสงัดจากสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับสักกายทิฏฐิเป็นต้นนั้น
ผู้เป็นพระสกทาคามี ย่อมมีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์อย่าง
หยาบ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างหยาบ และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับ
กามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น
ผู้เป็นพระอนาคามี ย่อมมีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์อย่าง
ละเอียด กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างละเอียด และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวก
เดียวกับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น
ผู้เป็นพระอรหันต์ ย่อมมีจิตสงัดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ
อวิชชา มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย เหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับรูป
ราคะเป็นต้นนั้น และสังขารนิมิตทั้งปวงในภายนอก นี้ชื่อว่าจิตตวิเวก
อุปธิวิเวก เป็นอย่างไร
คือ กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี ตรัสเรียกว่า อุปธิ อมตนิพพาน ตรัส
เรียกว่า อุปธิวิเวก คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด
เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท นี้ชื่อว่า
อุปธิวิเวก
กายวิเวกย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออกแล้ว ยินดีในเนกขัมมะ จิตตวิเวก
ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงความเป็นผู้ผ่องแผ้วยิ่ง และอุปธิเวกย่อมมีแก่
บุคคลผู้ปราศจากอุปธิ บรรลุนิพพานอันปราศจากปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
คำว่า พวกข้าพระองค์ ... จักศึกษาวิเวก อธิบายว่า พระเถระนั้นศึกษาสิกขา
แล้วโดยปกติ อีกนัยหนึ่ง มุ่งหมายพระธรรมเทศนา ทูลขอพระธรรมเทศนา จึงกราบ
ทูลอย่างนี้ว่า พวกข้าพระองค์ ... จักศึกษาวิเวก ด้วยเหตุนั้น พระติสสเมตเตยยเถระ
จึงกราบทูลว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๗๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
ความคับแค้นของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
พวกข้าพระองค์ฟังคำสอนของพระองค์แล้วจักศึกษาวิเวก
[๕๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตเตยยะ)
คำสั่งสอนของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
ย่อมเลอะเลือน และบุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด
การปฏิบัตินี้ เป็นธรรมไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น
คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ อธิบายว่า ธรรมเนียมของ
อสัตบุรุษ คือ ธรรมเนียมของชาวบ้าน ธรรมเนียมชั้นต่ำ ธรรมเนียมที่เลวทราม
ธรรมเนียมที่มีน้ำเป็นที่สุด ธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันในที่ลับ ธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติ
กันเป็นคู่ ๆ ชื่อว่าเมถุนธรรม
เพราะเหตุไร จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม เพราะธรรมนั้นเป็นธรรมเนียมของ
คนคู่ ผู้กำหนัด กำหนัดนัก เปียกชุ่ม กลัดกลุ้มด้วยราคะ ถูกราคะครอบงำจิตเสมอ
กันทั้ง ๒ คน เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม
คน ๒ คนก่อการทะเลาะกัน เรียกว่าคู่ทะเลาะ
คน ๒ คนก่อการบาดหมางกัน เรียกว่าคู่บาดหมาง
คน ๒ คนก่อการอื้อฉาวกัน เรียกว่าคู่อื้อฉาว
คน ๒ คนก่อการวิวาทกัน เรียกว่าคู่วิวาท
คน ๒ คนก่ออธิกรณ์กัน เรียกว่าคู่อธิกรณ์
คน ๒ คนสนทนากัน เรียกว่าคู่สนทนา
คน ๒ คนเจรจากัน เรียกว่าคู่เจรจา ฉันใด
ธรรมนั้นเป็นธรรมเนียมของคนคู่ ผู้กำหนัด กำหนัดนัก เปียกชุ่ม กลัดกลุ้ม
ด้วยราคะ ถูกราคะครอบงำจิตเสมอกันทั้ง ๒ คน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น
จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๗๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ ได้แก่ ของบุคคลผู้ประกอบ
ประกอบทั่ว ประกอบทั่วถึง ประกอบพร้อมในเมถุนธรรม คือ ผู้ประพฤติเรื่องนั้น
มากไปด้วยเรื่องนั้น หนักในเรื่องนั้น เอนไปในเรื่องนั้น โอนไปในเรื่องนั้น โน้มไปใน
เรื่องนั้น น้อมใจไปในเรื่องนั้น มุ่งเรื่องนั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า ของบุคคลผู้
ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ

อธิบายคำว่า ภควา
คำว่า เมตเตยยะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพระเถระนั้นโดยโคตร
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโทสะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโมหะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายมานะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายทิฏฐิได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายเสี้ยนหนามได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายกิเลสได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงจำแนก แยกแยะ แจกแจงธรรมรัตนะ
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำที่สุดแห่งภพได้
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมพระวรกายแล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงใช้สอยเสนาสนะที่เป็นป่าละเมาะและป่าทึบ
อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็น
สถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๗๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งอรรถรส๑ ธรรมรส๒ วิมุตติรส๓
อธิสีล อธิจิต อธิปัญญา จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔
อรูปสมาบัติ ๔ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ๔ ๘
อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๑๐
กสิณสมาบัติ๕ ๑๐ อานาปานสติสมาธิ๖ อสุภสมาบัติ๗ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ จึงชื่อว่า
พระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ อรรถรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งผลของเหตุ (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๒ ธรรมรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งเหตุ (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๓ วิมุตติรส หมายถึงความถึงพร้อมแห่งผล (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๔ อภิภายตนะ คือฌานที่ครอบงำนิวรณธรรมและอารมณ์ที่เล็กหรือใหญ่ได้ (ม.ม. ๑๓/๒๔๙/๒๒๔)
๕ กสิณสมาบัติ หมายถึงภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึงด้วยการกำหนดวัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ
ได้แก่ ฌาน ๑๐ มีปฐวีกสิณฌานเป็นต้น (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๖ อานาปานสติสมาธิ ได้แก่สมาธิเกี่ยวเนื่องด้วยการตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖)
๗ อสุภสมาบัติ หมายถึงภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึงด้วยการพิจารณาร่างกายของตนและผู้อื่นให้
เห็นสภาพที่ไม่งาม หมายถึงซากศพในสภาพต่าง ๆ ๑๐ อย่าง คือ (๑) ซากศพที่เน่าพอง (๒) ซากศพ
ที่มีสีเขียว (๓) ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหล (๔) ซากศพที่ขาดกลางตัว (๕) ซากศพที่สัตว์กัดกินแล้ว (๖) ซาก
ศพที่มีมือเท้าศีรษะขาด (๗) ซากศพที่ถูกสับ ฟัน เป็นท่อน ๆ (๘) ซากศพที่มีโลหิตไหลอยู่ (๙) ซากศพ
ที่มีตัวหนอนคลาคล่ำไปอยู่ (๑๐) ซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก (วิสุทฺธิ. ๑/๑๐๒/๑๙๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๗๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ๑ ๑๐
เวสารัชชญาณ๒ ๔ ปฏิสัมภิทา๓ ๔ อภิญญา๔ ๖ พุทธธรรม๕ ๖ จึงชื่อว่า
พระผู้มีพระภาค
พระนามว่า พระผู้มีพระภาค นี้ มิใช่พระชนนีทรงตั้ง มิใช่พระชนกทรงตั้ง
มิใช่พระภาดาทรงตั้ง มิใช่พระภคินีทรงตั้ง มิใช่มิตรและอำมาตย์ตั้ง มิใช่พระญาติและ
ผู้ร่วมสายโลหิตทรงตั้ง มิใช่สมณพราหมณ์ตั้ง มิใช่เทวดาตั้ง
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม(พระนามในลำดับการบรรลุ
อรหัตตผล)เป็นสัจฉิกาบัญญัติ(บัญญัติที่เกิดเพราะทรงรู้แจ้งอรหัตตผล) ของพระผู้-
มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมกับการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่โคนต้นโพธิ์
รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมตเตยยะ

เชิงอรรถ :
๑ ตถาคตพลญาณ หมายถึงพระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต ๑๐ ประการ ที่ทำให้พระองค์บันลือ
สีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง คือ (๑) ฐานาฐานญาณ ปรีชาหยั่งรู้กฎธรรมชาติเกี่ยวกับขอบเขต
และขีดขั้นของสิ่งทั้งหลาย (๒) กัมมวิปากญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม (๓) สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ
ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง หรือสู่ประโยชน์ทั้งปวง (๔) นานาธาตุญาณ ปรีชาหยั่งรู้สภาวะ
ของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่าง ๆ เป็นอเนก (๕) นานาธิมุตติกญาณ ปรีชาหยั่งรู้อัธยาศัยเป็นต้น ของ
สัตว์ทั้งหลาย (๖) อินทริยปโรปริยัตตญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย (๗)
ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว เป็นต้น (๘) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ปรีชาหยั่งรู้ภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้ (๙) จุตูปปาตญาณ ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย (๑๐)
อาสวักขยญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย (องฺ.ทสก. ๒๔/๒๑/๒๖-๒๙)
๒ เวสารัชชญาณ ๔ คือพระญาณอันเป็นเหตุให้ทรงแกล้วกล้า ไม่ครั่นคร้าม
๑. สัมมาสัมพุทธปฏิญญา ๒. ขีณาสวปฏิญญา
๓. อันตรายิกธัมมวาทะ ๔. นิยยานิกธัมมเทสนา (ม.มู. ๑๒/๑๕๐/๑๑๐-๑๑๑)
๓ ปฏิสัมภิทา ๔ หมายถึงปัญญาแตกฉาน ๔ อย่างคือ
(๑) อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ ปรีชาแจ้งในความหมาย
(๒) ธัมมปฏิสัมปทา ปัญญาแตกฉานในธรรม ปรีชาแจ้งในหลัก
(๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ ปรีชาแจ้งในภาษา ศัพท์ ถ้อยคำบัญญัติ
(๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ มีไหวพริบ
(องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๗๒/๑๘๓-๑๘๔)
๔ อภิญญา ๖ ดูเชิงอรรถข้อ ๓๘/๑๔๑
๕ พุทธธรรม ๖ หมายถึงพระปัญญาจักขุของพระพุทธเจ้า ที่ทรงทราบกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทั้งหมด
เป็นต้น (ขุ.ม.อ. ๕๐/๒๖๖) และดูรายละเอียดข้อ ๑๙๑/๕๔๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๗๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
ว่าด้วยคำสอน ๒ ส่วน
คำว่า คำสั่งสอน ... ย่อมเลอะเลือน ได้แก่ คำสั่งสอนเลอะเลือนโดยส่วน
ทั้ง ๒ คือ (๑) คำสั่งสอนส่วนปริยัติเลอะเลือน (๒) คำสั่งสอนส่วนปฏิบัติเลอะเลือน
คำสั่งสอนส่วนปริยัติ เป็นอย่างไร
คือ คำสั่งสอนที่เล่าเรียนของเขา คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ นี้ชื่อว่าคำสั่งสอนส่วนปริยัติ
คำสั่งสอนนั้น ย่อมเลอะเลือน คือ ย่อมฟั่นเฟือน หลงลืม เลือนหาย ห่างหาย
รวมความว่า คำสั่งสอน ... ย่อมเลอะเลือน อย่างนี้บ้าง
คำสั่งสอนส่วนปฏิบัติ เป็นอย่างไร
คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติ
ที่เอื้อประโยชน์ การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม การรักษาศีลให้บริบูรณ์
ความเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ความเป็นผู้รู้จักประมาณ
ในการบริโภคอาหาร ความเป็นผู้มีความเพียรเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะ
สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗
อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ชื่อว่าคำสั่งสอนส่วนปฏิบัติ คำสั่งสอนนั้น ย่อมเลอะเลือน คือ
ย่อมฟั่นเฟือน หลงลืม เลือนหาย ห่างหาย รวมความว่า คำสั่งสอน ... ย่อม
เลอะเลือน อย่างนี้บ้าง
คำว่า บุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด อธิบายว่า บุคคลนั้นฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์
บ้าง ตัดช่องย่องเบาบ้าง ขโมยยกเค้าบ้าง ปล้นบ้านบ้าง ดักจี้ในทางเปลี่ยวบ้าง
ละเมิดภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง รวมความว่า บุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด
คำว่า การปฏิบัตินี้ เป็นธรรมไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น อธิบายว่า การ
ปฏิบัติผิด เป็นธรรมไม่ประเสริฐ เป็นธรรมของคนโง่ เป็นธรรมของคนหลง เป็น
ธรรมของคนไม่รู้ เป็นธรรมของคนมีวาทะหลบเลี่ยงไม่แน่นอน ในบุคคลนั้น รวม
ความว่า การปฏิบัตินี้เป็นธรรมไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า เมตเตยยะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๗๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำสั่งสอนของบุคคลผู้ประกอบเมถุนธรรมเนือง ๆ
ย่อมเลอะเลือน และบุคคลนั้นย่อมปฏิบัติผิด
การปฏิบัตินี้ เป็นธรรมไม่ประเสริฐในบุคคลนั้น
[๕๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ผู้ใดในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวแล้ว
(ต่อมา)เข้าไปเสพเมถุนธรรม ผู้รู้ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า
เป็นปุถุชนเลวในโลก เหมือนยานที่แล่นไป ฉะนั้น

ว่าด้วยผู้บวชแล้วสึก
คำว่า ในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียว อธิบายว่า ในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวด้วย
เหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) ด้วยการบวช (๒) ด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวด้วยการบวช เป็นอย่างไร
คือ ผู้นั้นตัดความกังวลเรื่องการครองเรือน ตัดความกังวลเรื่องบุตรภรรยา
ตัดความกังวลเรื่องญาติ ตัดความกังวลเรื่องมิตรและอำมาตย์ ตัดความกังวลเรื่อง
การสะสมทั้งหมด โกนผมและหนวดแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต เข้าถึงความไม่กังวลแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว ชื่อว่าในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวด้วยการบวช
เป็นอย่างนี้
ในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นอย่างไร
คือ เธอเมื่อเป็นนักบวชแล้วอย่างนี้ผู้เดียว ก็ใช้สอยเสนาสนะที่เป็นป่าละเมาะ
และป่าทึบ อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน
ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น เธอเดินรูปเดียว ยืนรูป
เดียว นั่งรูปเดียว นอนรูปเดียว เข้าหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาตรูปเดียว กลับมารูปเดียว
นั่งในที่ลับรูปเดียว อธิษฐานจงกรมรูปเดียว เที่ยวไปผู้เดียว คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว ชื่อว่าในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวด้วย
การละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๗๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้ใด ... เข้าไปเสพเมถุนธรรม อธิบายว่า ธรรมเนียมของอสัตบุรุษ ...
ชื่อว่าเมถุนธรรม เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม๑
คำว่า ผู้ใด ... เข้าไปเสพเมถุนธรรม อธิบายว่า ต่อมา ผู้ใดบอกลา
พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา กลับมาเป็นคฤหัสถ์ แล้วเสพ เสพเป็นนิจ
คือ ซ่องเสพ เสพเฉพาะ ซึ่งเมถุนธรรม รวมความว่า ผู้ใด ... เข้าไปเสพเมถุนธรรม
คำว่า ยาน ในคำว่า ผู้นั้น ... ในโลก เหมือนยานที่แล่นไป ฉะนั้น อธิบาย
ว่า ยานคือช้าง ยานคือม้า ยานคือโค ยานคือแพะ ยานคือแกะ ยานคืออูฐ ยาน
คือลาที่แล่นไป คือ ยังไม่ได้ฝึกหัด ยังไม่ได้ฝึกฝน ยังไม่ได้อบรม ย่อมแล่นไป
ผิดทาง คือ ปีนตอไม้บ้าง ก้อนหินบ้าง ซึ่งไม่ราบเรียบ ทำร้ายยานเองบ้าง ผู้ขับขี่บ้าง
ตกลงไปในเหวบ้าง ผู้นั้นสึกแล้ว เปรียบได้กับยานที่แล่นไป ย่อมแล่นไปสู่ทางผิด คือ
ถือทิฏฐิผิด ... ถือสมาธิผิด เหมือนยานที่แล่นไปนั้น คือที่ยังไม่ได้ฝึกหัด ยังไม่ได้
ฝึกฝน ยังไม่ได้อบรม ย่อมแล่นไปผิดทาง ฉะนั้น
ผู้นั้นสึกแล้วเปรียบได้กับยานที่แล่นไป ย่อมแล่นไปสู่กายกรรม วจีกรรม
มโนกรรมที่ผิด ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา
ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ สังขารทั้งหลาย กามคุณ ๕
นิวรณ์ ๕ เหมือนยานที่แล่นไปนั้น คือ ที่ยังไม่ได้ฝึกหัด ยังไม่ได้ฝึกฝน ยังไม่ได้
อบรม ย่อมปีนตอไม้บ้าง ก้อนหินบ้าง ซึ่งไม่ราบเรียบ ฉะนั้น
ผู้นั้นสึกแล้วเปรียบได้กับยานที่แล่นไป ย่อมทำลายตนในนรก ย่อมทำลายตน
ในกำเนิดเดรัจฉาน ย่อมทำลายตนในเปตวิสัย ย่อมทำลายตนในมนุษยโลก ย่อม
ทำลายตนในเทวโลก เหมือนยานที่แล่นไปนั้น คือ ที่ยังไม่ได้ฝึกหัด ยังไม่ได้ฝึกฝน
ยังไม่ได้อบรม ย่อมทำลายยานเองบ้าง ผู้ขับขี่บ้าง ฉะนั้น
ผู้นั้นสึกแล้วเปรียบได้กับยานที่แล่นไป ย่อมตกไปในเหวคือชาติบ้าง เหวคือ
ชราบ้าง เหวคือพยาธิ(ความเจ็บป่วย)บ้าง เหวคือมรณะบ้าง เหวคือโสกะ(ความ
เศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกขะ(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ)
และอุปายาส(ความคับแค้นใจ)บ้าง เหมือนยานที่แล่นไปนั้น คือ ที่ยังไม่ได้ฝึกหัด
ยังไม่ได้ฝึกฝน ยังไม่ได้อบรม ย่อมตกลงไปในเหวบ้าง ฉะนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๔๙/๑๖๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๗๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ... มนุษยโลก๑ รวมความว่า ผู้นั้น ... ในโลก
เหมือนยานที่แล่นไป ฉะนั้น
คำว่า ปุถุชน ในคำว่า ผู้รู้ทั้งหลายเรียก ... ว่า เป็นปุถุชนเลว อธิบายว่า
ชื่อว่าปุถุชน เพราะมีความหมายว่าอย่างไร ชื่อว่าปุถุชน เพราะให้กิเลสหยาบเกิดขึ้น
ชื่อว่าปุถุชน เพราะมีสักกายทิฏฐิอันหนาแน่นยังละไม่ได้ ชื่อว่าปุถุชน เพราะ
ปฏิญญาต่อหน้าศาสดาหลายองค์ ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกคติทุกอย่างร้อยรัดไว้มาก
ชื่อว่าปุถุชน เพราะปรุงแต่งอภิสังขารต่าง ๆ เป็นอันมาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูก
โอฆะกิเลสต่าง ๆ เป็นอันมากพัดพาไป ชื่อว่าปุถุชน เพราะเดือดร้อนด้วยความ
เดือดร้อนต่าง ๆ เป็นอันมาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกความเร่าร้อนต่าง ๆ เป็นอันมาก
แผดเผา ชื่อว่าปุถุชน เพราะกำหนัด ยินดี ติดใจ หมกมุ่น เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพัน
ในกามคุณ ๕ เป็นอันมาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกนิวรณ์ ๕ อย่างเป็นอันมาก หุ้มห่อ
โอบล้อม ห้อมล้อม ครอบคลุม ปกคลุม บดบัง
คำว่า ผู้รู้ทั้งหลายเรียก ... ว่า เป็นปุถุชนเลว อธิบายว่า ผู้รู้ทั้งหลายเรียก
คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง อย่างนี้ว่า เป็นปุถุชนเลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ
หยาบช้า ต่ำต้อย รวมความว่า ผู้รู้ทั้งหลายเรียก ... ว่า เป็นปุถุชนเลว ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ผู้ใดในเบื้องต้นเที่ยวไปผู้เดียวแล้ว
(ต่อมา)เข้าไปเสพเมถุนธรรม ผู้รู้ทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า
เป็นปุถุชนเลวในโลก เหมือนยานที่แล่นไป ฉะนั้น
[๕๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ยศและเกียรติในเบื้องต้นของภิกษุนั้นเสื่อมไป
ภิกษุเห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๗๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
ว่าด้วยยศและเกียรติ
คำว่า ยศและเกียรติในเบื้องต้นของภิกษุนั้นเสื่อมไป อธิบายว่า
ยศ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
นอบน้อม ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ในเบื้องต้น
คือ ในคราวที่เป็นสมณะ นี้ชื่อว่ายศ
เกียรติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้รับการสรรเสริญเกียรติคุณว่า เป็น
บัณฑิต เป็นผู้ฉลาด มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำไพเราะ มีปฏิภาณดี เป็นผู้ทรง
จำพระสูตรบ้าง เป็นผู้ทรงจำพระวินัยบ้าง เป็นพระธรรมกถึกบ้าง เป็นผู้อยู่ป่า
เป็นวัตรบ้าง เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตรบ้าง
เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้
งดฉันอาหารมื้อหลังเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการอยู่ใน
เสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ได้ปฐมฌานบ้าง เป็นผู้ได้ทุติยฌานบ้าง
เป็นผู้ได้ตติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้จตุตถฌานบ้าง เป็นผู้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติ
บ้าง เป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติบ้าง
เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติบ้าง ในเบื้องต้น คือ ในคราวที่เป็นสมณะ
นี้ชื่อว่าเกียรติ รวมความว่า ยศและเกียรติในเบื้องต้น
คำว่า ... ของภิกษุนั้นเสื่อมไป อธิบายว่า ต่อมา ภิกษุบอกลาพระพุทธเจ้า
พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา กลับมาเป็นคฤหัสถ์ ยศและเกียรตินั้นของเธอ ย่อมเสื่อมไป
คือ เสียไป สิ้นไป หมดไป สูญหาย สลายไป รวมความว่า ยศและเกียรติในเบื้องต้น
ของภิกษุนั้นเสื่อมไป
คำว่า นี้ ในคำว่า ภิกษุเห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม
อธิบายว่า ยศและเกียรติในเบื้องต้น คือ ในคราวที่เป็นสมณะ ความเสื่อมยศ ความ
เสื่อมเกียรติของเธอ ผู้บอกลาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา กลับมาเป็น
คฤหัสถ์ในเวลาต่อมา คือ (เห็น)สมบัติและวิบัตินี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๘๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า เห็นแล้ว ได้แก่ แลเห็นแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้
กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว รวมความว่า เห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว

ว่าด้วยสิกขา ๓
คำว่า พึงศึกษา ได้แก่ สิกขา ๓ คือ (๑) อธิสีลสิกขา (๒) อธิจิตตสิกขา
(๓) อธิปัญญาสิกขา
อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ สมบูรณ์
ด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบท
ทั้งหลายอยู่ คือ สีลขันธ์เล็ก๑ สีลขันธ์ใหญ่๒ ศีลเป็นที่พึ่ง เป็นเบื้องต้น เป็นความ
ประพฤติ เป็นความสำรวม เป็นความระวัง เป็นหัวหน้า เป็นประธานเพื่อความถึง
พร้อมแห่งธรรมที่เป็นกุศล นี้ชื่อว่าอธิสีลสิกขา
อธิจิตตสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุข อันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจาร สงบระงับไปแล้ว
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มี
วิจาร มีแต่ปีติและสุขที่เกิดจากสมาธิอยู่ ... บรรลุตติยฌาน ... บรรลุจตุตถฌานที่ไม่
มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ นี้ชื่อว่าอธิจิตตสิกขา
อธิปัญญาสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอันประเสริฐ
หยั่งถึงความเกิดและความดับ เพิกถอนกิเลส ให้บรรลุถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์” เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกขสมุทัย” เธอรู้

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๐/๔๘
๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๐/๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๘๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
ตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกขนิโรธ” เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทา” เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “เหล่านี้อาสวะ” เธอรู้ตามความเป็น
จริงว่า “นี้อาสวสมุทัย” เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้อาสวนิโรธ” เธอรู้ตามความ
เป็นจริงว่า “นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา” นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
คำว่า เมถุนธรรม อธิบายว่า ธรรมเนียมของอสัตบุรุษ ... ชื่อว่าเมถุนธรรม
เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า เมถุนธรรม๑
คำว่า ภิกษุเห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม อธิบาย
ว่า ภิกษุพึงศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เพื่อละ คือ เพื่อสงบ
สลัดทิ้ง ระงับเมถุนธรรม
สิกขา ๓ เหล่านี้ เมื่อภิกษุนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่าพึงศึกษา
เมื่อเห็น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อพิจารณา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าพึงศึกษา
เมื่อน้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่าพึงศึกษา
เมื่อตั้งสติ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อตั้งใจมั่น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา ชื่อว่า
พึงศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้
ชื่อว่า พึงศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเจริญธรรมที่ควรเจริญ
ชื่อว่า พึงศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าพึงศึกษา คือ พึงประพฤติ
เอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ รวมความว่า ภิกษุเห็นสมบัติ
และวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ยศและเกียรติในเบื้องต้นของภิกษุนั้นเสื่อมไป
ภิกษุเห็นสมบัติและวิบัตินี้แล้ว พึงศึกษาเพื่อละเมถุนธรรม
[๕๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุนั้น ถูกความดำริครอบงำ
ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้า
ครั้นได้ยินคำตำหนิของคนอื่นแล้ว
ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๔๙/๑๖๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๘๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
ว่าด้วยข้อเสียของภิกษุ
คำว่า ภิกษุนั้นถูกความดำริครอบงำ ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้า อธิบาย
ว่า ภิกษุนั้น ถูกความดำริในกาม ความดำริในพยาบาท ความดำริในความ
เบียดเบียนกัน ความดำริตามทิฏฐิ กระทบ ครอบงำ คือ กลุ้มรุม ประกอบ ตบแต่ง
ย่อมซบเซา คือ หงอยเหงา เซื่องซึม ซึมเศร้า เหมือนคนกำพร้า คนโง่ คนลุ่มหลง
นกฮูกจ้องจับหนูอยู่ที่กิ่งไม้ ย่อมซบเซา หงอยเหงา เซื่องซึม ซึมเศร้า ฉันใด สุนัข
จิ้งจอกคอยจ้องจับปลาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ย่อมซบเซา หงอยเหงา เซื่องซึม ซึมเศร้า
ฉันใด แมวคอยจ้องจับหนูอยู่ตามรอยต่อ ที่ท่อน้ำ และที่ฝั่งน้ำมีเปือกตม ย่อม
ซบเซา หงอยเหงา เซื่องซึม ซึมเศร้า ฉันใด ลาหลังเป็นแผล ย่อมซบเซา หงอยเหงา
เซื่องซึม ซึมเศร้า อยู่ตามรอยต่อ ที่ท่อน้ำ และที่ฝั่งมีเปือกตม ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉัน
นั้นเหมือนกัน เมื่อสึกแล้วถูกความดำริในกาม ความดำริในพยาบาท ความดำริใน
ความเบียดเบียนกัน ความดำริตามทิฏฐิ กระทบ ครอบงำ คือ กลุ้มรุม ประกอบ
ตบแต่ง ย่อมซบเซา คือ หงอยเหงา เซื่องซึม ซึมเศร้า เหมือนคนกำพร้า คนโง่
คนลุ่มหลง รวมความว่า ภิกษุนั้นถูกความดำริครอบงำ ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้า
คำว่า ของคนอื่น ในคำว่า ครั้นได้ยินเสียงตำหนิของคนอื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้
เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น อธิบายว่า อุปัชฌาย์ อาจารย์ ผู้ร่วมอุปัชฌาย์ ผู้ร่วม
อาจารย์ มิตร เพื่อนเห็น เพื่อนคบ หรือสหาย ตำหนิว่า “ผู้มีอายุ ไม่ใช่ลาภของ
ท่านเลย ท่านเอาดีได้ยาก ที่ได้ศาสดาสูงส่งเห็นปานนี้ บวชในธรรมวินัยที่พระ
ศาสดาตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้ ได้หมู่คณะที่ประเสริฐอย่างนี้ เพราะเหตุแห่งเมถุนธรรม
อันเลว ก็บอกลาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา กลับมาเป็นคฤหัสถ์ ท่าน
ไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริในกุศลธรรม ไม่มีโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่มีวิริยะ
ในกุศลธรรม ไม่มีสติในกุศลธรรม ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม” เธอ ครั้นได้ยิน คือ
ได้ฟัง สำเหนียก พิจารณา กำหนดซึ่งคำ คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน
คำพร่ำสอน ของคนเหล่านั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน คือ ขวยเขิน อึดอัด กระดากใจ
เสียใจ
คำว่า เป็นผู้เช่นนั้น ได้แก่ ภิกษุนั้น เมื่อสึกแล้วเป็นผู้เช่นนั้น คือเป็นผู้อย่างนั้น
ผู้ดำรงอย่างนั้น ผู้เป็นประการนั้น ผู้มีส่วนอย่างนั้น รวมความว่า ครั้นได้ยินคำ
ตำหนิของคนอื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๘๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
ภิกษุนั้น ถูกความดำริครอบงำ
ย่อมซบเซาเหมือนคนกำพร้า
ครั้นได้ยินคำตำหนิของคนอื่นแล้ว
ย่อมเป็นผู้เก้อเขิน เป็นผู้เช่นนั้น
[๕๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของคนอื่นตักเตือนแล้ว
ย่อมสร้างศัสตรา เธอย่อมก้าวลงสู่ความเป็นคนพูดเท็จ
นี้แหละเป็นเครื่องทำให้ติดใหญ่ของเธอ
คำว่า ลำดับนั้น ในคำว่า ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของคนอื่นตักเตือน
แล้ว ย่อมสร้างศัสตรา เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์
เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ลำดับนั้น นี้
เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน

ว่าด้วยศัสตรา ๓ อย่าง
คำว่า ศัสตรา ได้แก่ ศัสตรา ๓ อย่าง คือ (๑) ศัสตราทางกาย (๒) ศัสตรา
ทางวาจา (๓) ศัสตราทางใจ กายทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าศัสตราทางกาย
วจีทุจริต ๔ อย่าง ชื่อว่าศัสตราทางวาจา มโนทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าศัสตราทางใจ
คำว่า ถูกถ้อยคำของคนอื่นตักเตือนแล้ว อธิบายว่า ถูกอุปัชฌาย์ อาจารย์
ผู้ร่วมอุปัชฌาย์ ผู้ร่วมอาจารย์ มิตร เพื่อนเห็น เพื่อนคบ หรือสหายตักเตือน ก็พูด
เท็จทั้งรู้อยู่ คือ พูดว่า “ท่านผู้เจริญ กระผมยินดีในการบวชอยู่แล้ว แต่กระผมต้อง
เลี้ยงดูมารดา เพราะเหตุนั้น กระผมจึงสึก” พูดว่า “กระผมต้องเลี้ยงดูบิดา ... ต้อง
เลี้ยงดูพี่ชายน้องชาย ... ต้องเลี้ยงดูพี่สาวน้องสาว ... ต้องเลี้ยงดูบุตร ... ต้องเลี้ยงดู
ธิดา ... ต้องเลี้ยงดูมิตร ... ต้องเลี้ยงดูอำมาตย์ ... ต้องเลี้ยงดูญาติ” พูดว่า “กระผม
ต้องเลี้ยงดูผู้ร่วมสายโลหิต ด้วยเหตุนั้น กระผมจึงสึก” ย่อมสร้าง คือ สร้างขึ้น
ให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้นซึ่งศัสตราทางวาจาดังว่ามานี้ รวมความว่า
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของคนอื่นตักเตือนแล้ว ย่อมสร้างศัสตรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๘๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า นี้แหละเป็นเครื่องทำให้ติดใหญ่ของเธอ อธิบายว่า การกล่าวเท็จ
ทั้งที่รู้อยู่เป็นเครื่องทำให้ติดใหญ่ คือ เป็นป่าใหญ่ เป็นดงใหญ่ เป็นทางกันดารใหญ่
เป็นดุจทางขรุขระมาก เป็นทางคดมาก เป็นดุจหล่มใหญ่ เป็นดุจบ่อใหญ่ เป็นความ
กังวลมากมาย เป็นเครื่องผูกพันใหญ่ของเธอ รวมความว่า นี้แหละเป็นเครื่องทำให้
ติดใหญ่ของเธอ

ว่าด้วยมุสาวาท
คำว่า ย่อมก้าวลงสู่ความเป็นคนพูดเท็จ อธิบายว่า มุสาวาท ตรัสเรียกว่า
ความเป็นคนพูดเท็จ คนบางคนในโลกนี้ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลาง
หมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยาน
ซักถามว่า “ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น” บุคคลนั้นไม่รู้ก็พูดว่า “รู้” หรือรู้ก็พูดว่า
“ไม่รู้” ไม่เห็นก็พูดว่า “เห็น” หรือเห็นก็พูดว่า “ไม่เห็น” เขาพูดเท็จทั้งที่รู้เพราะตน
เป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง
ด้วยประการฉะนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความเป็นคนพูดเท็จ
อีกนัยหนึ่ง มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ
๑. ก่อนพูดเธอก็รู้ว่า เราจักพูดเท็จ
๒. กำลังพูดก็รู้ว่า เรากำลังพูดเท็จ
๓. พูดแล้วก็รู้ว่า เราพูดเท็จแล้ว
มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ ๓ อย่างเหล่านี้
อีกนัยหนึ่ง มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ ๔ อย่าง ... ด้วยอาการ ๕ อย่าง ...
ด้วยอาการ ๖ อย่าง ... ด้วยอาการ ๗ อย่าง ...
มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ ๘ อย่าง คือ
๑. ก่อนพูดเธอก็รู้อยู่ว่า เราจักพูดเท็จ
๒. กำลังพูดก็รู้ว่า เรากำลังพูดเท็จ
๓. พูดแล้วก็รู้ว่า เราพูดเท็จแล้ว
๔. ปิดบังทิฏฐิ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๘๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
๕. ปิดบังความพอใจ
๖. ปิดบังความชอบใจ
๗. ปิดบังความสำคัญ
๘. ปิดบังความจริง
มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ ๘ อย่างเหล่านี้
คำว่า ย่อมก้าวลงสู่ความเป็นคนพูดเท็จ ได้แก่ ย่อมก้าวลง คือ ย่อมหยั่งลง
หยั่งลงเฉพาะ เข้าถึงความเป็นคนพูดเท็จ รวมความว่า ย่อมก้าวลงสู่ความเป็นคน
พูดเท็จ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นถูกถ้อยคำของคนอื่นตักเตือนแล้ว
ย่อมสร้างศัสตรา เธอย่อมก้าวลงสู่ความเป็นคนพูดเท็จ
นี้แหละเป็นเครื่องทำให้ติดใหญ่ของเธอ
[๕๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุ (ในเบื้องต้น) ได้สมญานามว่า เป็นบัณฑิต
อธิษฐานการเที่ยวไปผู้เดียว
ต่อมา เธอประกอบในเมถุนธรรม
ก็จักมัวหมอง เหมือนกับคนโง่ ฉะนั้น

ว่าด้วยต้นตรงปลายคด
คำว่า ภิกษุ(ในเบื้องต้น)ได้สมญานามว่า เป็นบัณฑิต อธิบายว่า ภิกษุ
บางรูปในธรรมวินัยนี้ ได้รับการสรรเสริญเกียรติคุณว่า เป็นบัณฑิต คือ เป็นผู้ฉลาด
มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำไพเราะ มีปฏิภาณดี เป็นผู้ทรงจำพระสูตรบ้าง เป็นผู้
ทรงจำพระวินัยบ้าง เป็นพระธรรมกถึกบ้าง ... เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตน-
สมาบัติบ้าง ในเบื้องต้น คือ ในคราวที่เป็นสมณะ ซึ่งผู้คนรู้จักกัน รู้จักกันทั่ว ชื่อว่า
ได้สมญานามอย่างนี้ รวมความว่า ภิกษุ(ในเบื้องต้น)ได้สมญานามว่า เป็นบัณฑิต
คำว่า อธิษฐานการเที่ยวไปผู้เดียว อธิบายว่า ได้อธิษฐานการเที่ยวไปผู้เดียว
ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๘๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
๑. ด้วยการบวช ๒. ด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ภิกษุอธิษฐานการเที่ยวไปผู้เดียวด้วยการบวช เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุตัดความกังวลเรื่องการครองเรือนทั้งหมด ... ภิกษุอธิษฐานการเที่ยว
ไปผู้เดียวด้วยการบวช เป็นอย่างนี้๑
ภิกษุอธิษฐานการเที่ยวไปผู้เดียวด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็น
อย่างไร
คือ ภิกษุนั้น เมื่อเป็นนักบวชแล้วอย่างนี้ผู้เดียว ก็ใช้สอยเสนาสนะที่เป็นป่า
ละเมาะและป่าทึบ อันสงัด ... ภิกษุอธิษฐานการเที่ยวไปผู้เดียวด้วยการละความคลุกคลี
ด้วยหมู่คณะ เป็นอย่างนี้ รวมความว่า อธิษฐานการเที่ยวไปผู้เดียว๒
คำว่า ต่อมา เธอประกอบในเมถุนธรรม อธิบายว่า ธรรมเนียมของอสัตบุรุษ
คือ ธรรมเนียมของชาวบ้าน ... ชื่อว่าเมถุนธรรม เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า
เมถุนธรรม๓
คำว่า ต่อมา เธอประกอบในเมถุนธรรม อธิบายว่า ต่อมา เธอก็บอกลา
พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา กลับมาเป็นคฤหัสถ์ ประกอบ คือ ประกอบทั่ว
ประกอบทั่วถึง ประกอบพร้อมในเมถุนธรรม รวมความว่า ต่อมา เธอประกอบใน
เมถุนธรรม

ว่าด้วยการลงโทษ
คำว่า ก็จักมัวหมอง เหมือนกับคนโง่ ฉะนั้น อธิบายว่า จักลำบาก จัก
มัวหมอง คือ เศร้าหมอง เหมือนคนกำพร้า คนโง่ คนลุ่มหลง คือ ฆ่าสัตว์บ้าง
ลักทรัพย์บ้าง ตัดช่องย่องเบาบ้าง ขโมยยกเค้าบ้าง ปล้นบ้านบ้าง ดักจี้ในทางเปลี่ยว
บ้าง ละเมิดภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง จักลำบาก จักมัวหมอง คือ เศร้าหมอง
แม้อย่างนี้ พระราชาก็รับสั่งให้จับเขาลงอาญาด้วยประการต่าง ๆ คือ ให้เฆี่ยนด้วยแส้

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๕๑/๑๗๗
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๕๑/๑๗๗
๓ ดูรายละเอียดข้อ ๔๙/๑๖๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๘๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
บ้าง ให้เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ให้ตีด้วยไม้พลองบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือ
และเท้าบ้าง ตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและจมูกบ้าง วางก้อนเหล็กแดงบน
ศีรษะบ้าง ถลกหนังศีรษะแล้วขัดให้ขาวเหมือนสังข์บ้าง เอาไฟยัดปากจนเลือดไหล
เหมือนปากราหูบ้าง เอาผ้าพันตัวราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาบ้าง พันมือแล้วจุดไฟต่าง
คบบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงข้อเท้าให้ลุกเดินเหยียบหนังจนล้มลงบ้าง ถลกหนังตั้ง
แต่คอถึงบั้นเอว ทำให้มองดูเหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอก
และเข่าแล้วเสียบหลาวทั้งห้าทิศเอาไฟเผาบ้าง ใช้เบ็ดเกี่ยวหนัง เนื้อ เอ็นออกมาบ้าง
เฉือนเนื้อออกเป็นแว่น ๆ เหมือนเหรียญกษาปณ์บ้าง เฉือนหนัง เนื้อ เอ็น ออก
เหลือไว้แต่กระดูกบ้าง ใช้หลาวแทงช่องหูให้ทะลุถึงกันบ้าง เสียบให้ติดดินแล้วจับเขา
หมุนได้รอบบ้าง ทุบกระดูกให้แหลกแล้วถลกหนังออกเหลือไว้แต่กองเนื้อเหมือน
ตั่งใบไม้บ้าง รดตัวด้วยน้ำมันที่กำลังเดือดพล่านบ้าง ให้สุนัขกัดกินจนเหลือแต่
กระดูกบ้าง ให้นอนบนหลาวทั้งเป็นบ้าง ตัดศีรษะออกด้วยดาบบ้าง เธอจักลำบาก
จักมัวหมอง คือ เศร้าหมอง อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เธอถูกกามตัณหาครอบงำ ถูกกามตัณหาตรึงใจไว้แล้ว เมื่อจะ
แสวงหาโภคทรัพย์ ก็ต้องแล่นเรือออกไปสู่มหาสมุทร ฝ่าหนาว ฝ่าร้อน ถูกสัมผัส
แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานเบียดเบียนเอาบ้าง ถูกความหิว
กระหายกดดันอยู่ ก็ต้องเดินทางไปคุมพรัฐ ตักโกลรัฐ(ตะกั่วป่า) ตักกสิลรัฐ
กาลมุขรัฐ ปุรรัฐ เวสุงครัฐ เวราปถรัฐ ชวารัฐ ตามลิงรัฐ(นครศรีธรรมราช) วังครัฐ
เอฬพันธนรัฐ สุวรรณกูฏรัฐ สุวรรณภูมิรัฐ ตัมพปาณิรัฐ สุปปาทกรัฐ เภรุกัจฉรัฐ
สุรัฏฐรัฐ ภังคโลกรัฐ ภังคณรัฐ ปรมภังคณรัฐ โยนรัฐ ปินรัฐ วินกรัฐ มูลปทรัฐ เดิน
ทางไปยังทะเลทรายที่ต้องหมายด้วยดาว คลานไปด้วยเข่า เดินทางด้วยแพะ เดิน
ทางด้วยแกะ ไปด้วยการตอกหลักผูกเชือกโหนไป ไปด้วยร่ม เดินทางด้วยการตัดไม้
ไผ่ทำพะองสำหรับปีน เดินทางอย่างนก เดินทางอย่างหนู ไปตามซอกเขา ไต่ไปตาม
ลำหวาย เธอก็จักลำบาก จักมัวหมอง คือ เศร้าหมอง อย่างนี้บ้าง
เมื่อแสวงหาไม่ได้ก็ต้องเสวยทุกข์และโทมนัสที่มีการไม่ได้เป็นต้นเหตุ เธอก็จัก
ลำบาก จักมัวหมอง คือ เศร้าหมอง อย่างนี้บ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๘๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
เธอ เมื่อแสวงหาได้มา และครั้นได้แล้ว ก็ยังต้องเสวยทุกข์และโทมนัส ที่มีการ
ต้องรักษาเป็นมูลเหตุบ้าง ด้วยความหวาดหวั่นว่า “อย่างไรหนอ พระราชาจะไม่พึง
ริบโภคทรัพย์ของเรา โจรจะไม่พึงปล้น ไฟจะไม่พึงไหม้ น้ำจะไม่พึงพัดพาไป ทายาท
ที่ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักเอาไป” เมื่อรักษาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ โภคทรัพย์ ย่อมเสื่อม
ค่าลง เธอต้องเสวยทุกข์และโทมนัส ที่มีความพลัดพรากเป็นมูล ก็จักลำบาก จัก
มัวหมอง คือ เศร้าหมอง อย่างนี้บ้าง รวมความว่า ต่อมา เธอประกอบในเมถุนธรรม
ก็จักมัวหมอง เหมือนกับคนโง่ ฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุ(ในเบื้องต้น) ได้สมญานามว่า เป็นบัณฑิต
อธิษฐานการเที่ยวไปผู้เดียว
ต่อมา เธอประกอบในเมถุนธรรม
ก็จักมัวหมอง เหมือนกับคนโง่ ฉะนั้น
[๕๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีรู้โทษนี้แล้ว ในคราวเป็นคฤหัสถ์ก่อนบวชในธรรมวินัยนี้
พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม

ว่าด้วยปฏิปทาของมุนี
คำว่า นี้ ในคำว่า มุนีรู้โทษนี้แล้ว ในคราวเป็นคฤหัสถ์ก่อนบวชในธรรมวินัย
นี้ อธิบายว่า ยศ และเกียรติ ในเบื้องต้น คือ ในคราวที่เป็นสมณะ ความเสื่อมยศ
ความเสื่อมเกียรติ ของเธอผู้บอกลาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา กลับมา
เป็นคฤหัสถ์ในเวลาต่อมา คือ(รู้)วิบัติแห่งสมบัตินี้
คำว่า รู้แล้ว ได้แก่ รู้แล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว
ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ...
ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๔/๖๘-๗๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๘๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ในธรรมวินัยนี้ ได้แก่ ในทิฏฐินี้ ในความถูกใจนี้ ความพอใจนี้ ความ
ยึดถือนี้ ธรรมนี้ วินัยนี้ ธรรมวินัยนี้ ปาพจน์นี้ พรหมจรรย์นี้ สัตถุศาสน์นี้
อัตภาพนี้ มนุษยโลกนี้ รวมความว่า มุนีรู้โทษนี้แล้ว ในคราวเป็นคฤหัสถ์ก่อนบวช
ในธรรมวินัยนี้
คำว่า พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง อธิบายว่า พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียว
ให้มั่นคงด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ
๑. ด้วยการบวช ๒. ด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
มุนีพึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคงด้วยการบวช เป็นอย่างไร
คือ มุนีตัดความกังวลเรื่องการครองเรือน ตัดความกังวลเรื่องบุตรภรรยา
ตัดความกังวลเรื่องญาติ ตัดความกังวลเรื่องมิตรและอำมาตย์ ตัดความกังวลเรื่อง
การสะสมทั้งหมด โกนผมและหนวดแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสาวะ ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิต เข้าถึงความไม่กังวลแล้ว พึงเที่ยวไปผู้เดียว คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว มุนี ชื่อว่าพึงทำการเที่ยวไปผู้เดียว
ให้มั่นคงด้วยการบวช เป็นอย่างนี้
มุนีพึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคงด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
เป็นอย่างไร
คือ มุนีนั้น เมื่อเป็นนักบวชแล้วอย่างนี้ผู้เดียว พึงใช้สอยเสนาสนะที่เป็น
ป่าละเมาะและป่าทึบอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจร
ไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น เธอเดิน
รูปเดียว ยืนรูปเดียว นั่งรูปเดียว นอนรูปเดียว เข้าหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาตรูปเดียว
กลับมารูปเดียว นั่งในที่ลับรูปเดียว อธิษฐานจงกรมรูปเดียว พึงเที่ยวไปผู้เดียว คือ อยู่
เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปผู้เดียว มุนี ชื่อว่าพึง
ทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคงด้วยการละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นอย่างนี้
คำว่า พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง ได้แก่ พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้
มั่นคง คือ พึงทำให้ยั่งยืน มีการสมาทานมั่นคง มีการสมาทานไม่คลอนแคลนใน
กุศลธรรมทั้งหลาย รวมความว่า พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๙๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม อธิบายว่า ธรรมเนียมของอสัตบุรุษ คือ
ธรรมเนียมของชาวบ้าน ... ชื่อว่าเมถุนธรรม เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า
เมถุนธรรม๑ มุนี ไม่พึงเสพ คือ ไม่พึงเสพเป็นนิจ ไม่พึงซ่องเสพ ไม่พึงเสพเฉพาะ
ไม่พึงประพฤติ ไม่พึงประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ ไม่พึงสมาทานประพฤติซึ่งเมถุนธรรม
รวมความว่า ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีรู้โทษนี้แล้ว ในคราวเป็นคฤหัสถ์ก่อนบวชในธรรมวินัยนี้
พึงทำการเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นคง ไม่พึงเข้าไปเสพเมถุนธรรม
[๕๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั่นแหละ เพราะการประพฤติวิเวกนี้
เป็นกิจสูงสุดของพระอริยะทั้งหลาย
ไม่พึงสำคัญตนว่า เราเป็นผู้ประเสริฐสุดด้วยการประพฤติวิเวกนั้น
ผู้นั้นแล ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพาน
คำว่า วิเวก ในคำว่า พึงศึกษาวิเวกนั่นแหละ ได้แก่ วิเวก ๓ อย่าง คือ
๑. กายวิเวก ๒. จิตตวิเวก
๓. อุปธิวิเวก
กายวิเวก เป็นอย่างไร ... นี้ชื่อว่าอุปธิวิเวก๒
กายวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออกแล้ว ยินดียิ่งในเนกขัมมะ จิตตวิเวก
ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงความเป็นผู้ผ่องแผ้วยิ่ง และอุปธิวิเวกย่อมมีแก่
บุคคลผู้ปราศจากอุปธิ บรรลุนิพพานอันปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง
คำว่า ศึกษา ได้แก่ สิกขา ๓ คือ
๑. อธิสีลสิกขา ๒. อธิจิตตสิกขา
๓. อธิปัญญาสิกขา ... นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๕๐/๑๗๒
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๗/๓๒-๓๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๙๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า พึงศึกษาวิเวกนั่นแหละ ได้แก่ พึงศึกษา คือ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ
ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติวิเวกนั่นแหละ รวมความว่า พึงศึกษา
วิเวกนั่นแหละ
คำว่า เพราะการประพฤติวิเวกนี้ เป็นกิจสูงสุดของพระอริยะทั้งหลาย
อธิบายว่า พระพุทธเจ้า พระพุทธสาวก และพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสเรียก
ว่า พระอริยะ
การประพฤติวิเวก เป็นกิจยอดเยี่ยม ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด
ประเสริฐสุด ของพระอริยะทั้งหลาย รวมความว่า เพราะการประพฤติวิเวกนี้
เป็นกิจสูงสุดของพระอริยะทั้งหลาย
คำว่า ไม่พึงสำคัญตนว่า เราเป็นผู้ประเสริฐสุดด้วยการประพฤติวิเวกนั้น
อธิบายว่า ไม่พึงทำการยกตน ไม่พึงทำการอวดตน ไม่พึงทำการถือตัว ไม่พึงทำ
ความแข็งกร้าว ไม่พึงทำความกระด้าง ด้วยการประพฤติวิเวกนั้น คือ ไม่พึงให้เกิด
ความถือตัว ไม่พึงทำความผูกพัน ด้วยการประพฤติวิเวกนั้น ได้แก่ ไม่ควรเป็นคน
แข็งกระด้าง เป็นคนเย่อหยิ่ง เป็นคนหัวสูง ด้วยการประพฤติวิเวกนั้น รวมความว่า
ไม่พึงสำคัญตนว่า เราเป็นผู้ประเสริฐสุดด้วยการประพฤติวิเวกนั้น
คำว่า ผู้นั้นแล ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพาน อธิบายว่า ผู้นั้น อยู่ใกล้ คือ อยู่ใกล้ชิด
อยู่ใกล้เคียง อยู่ไม่ไกล เข้าไปใกล้นิพพาน รวมความว่า ผู้นั้นแล ชื่อว่าอยู่ใกล้
นิพพาน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลพึงศึกษาวิเวกนั่นแหละ เพราะการประพฤติวิเวกนี้
เป็นกิจสูงสุดของพระอริยะทั้งหลาย
ไม่พึงสำคัญตนว่า เราเป็นผู้ประเสริฐสุดด้วยการประพฤติวิเวกนั้น
ผู้นั้นแล ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพาน
[๕๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
หมู่สัตว์ผู้ติดใจในกามทั้งหลาย ย่อมยินดีมุนีผู้ว่าง
ประพฤติอยู่ ไม่มุ่งหวังกามทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๙๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้ว่าง ในคำว่า มุนีผู้ว่าง ประพฤติอยู่ อธิบายว่า ผู้ว่าง คือ สงัด
เงียบ ได้แก่ ผู้ว่าง คือ สงัด เงียบจากกายทุจริต ... วจีทุจริต ... มโนทุจริต ... ราคะ ..
โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ...
มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ...มทะ ... ปมาทะ ...
กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อน
ทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ ผู้ว่าง คือ สงัด เงียบจากอกุสลาภิสังขาร
ทุกประเภท๑
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ...
ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๒
คำว่า ประพฤติอยู่ ได้แก่ ประพฤติอยู่ คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า มุนีผู้ว่าง ประพฤติอยู่
คำว่า ไม่มุ่งหวังกามทั้งหลาย อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม
(๒) กิเลสกาม ... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๓
มุนีกำหนดรู้วัตถุกาม ละ คือ ละเว้น บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่
มีอีกซึ่งกิเลสกาม ไม่มุ่งหวังในกามทั้งหลาย คือ เป็นผู้สละกามแล้ว คายกามแล้ว
ปล่อยกามแล้ว ละกามแล้ว สลัดทิ้งกามแล้ว ได้แก่ เป็นผู้คลายความกำหนัดแล้ว
สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว เป็นผู้
หมดความอยากแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า
ไม่มุ่งหวังกามทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำแปลจากข้อ ๕/๑๗
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๑๔/๖๘-๗๑
๓ดูรายละเอียดข้อ ๑/๑-๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๙๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๗. ติสสเมตเตยยสุตตนิทเสท
คำว่า หมู่สัตว์ ในคำว่า หมู่สัตว์ผู้ติดใจในกามทั้งหลาย ย่อมยินดี ...
ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว เป็นชื่อเรียกสัตว์ หมู่สัตว์ผู้กำหนัด ยินดี ติดใจ คือ สยบ
หมกมุ่น เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในกามทั้งหลาย สัตว์เหล่านั้น ย่อมต้องการ
ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง มุนีผู้ข้าม คือ ผู้ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง
ก้าวพ้น ล่วงพ้นซึ่งกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ ทางแห่งสงสารทั้งปวง
ได้แล้ว ถึงฝั่ง บรรลุฝั่ง ถึงที่สุด บรรลุที่สุด ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงท้ายสุด
บรรลุท้ายสุด ถึงที่ปกป้อง บรรลุที่ปกป้อง ถึงที่ป้องกัน บรรลุที่ป้องกัน ถึงที่
หลีกเร้น บรรลุที่หลีกเร้น ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึ่ง ถึงที่ไม่มีภัย บรรลุที่ไม่มีภัย
ถึงที่ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงอมตธรรม บรรลุอมตธรรม ถึงนิพพาน บรรลุนิพพาน
เปรียบเหมือนพวกลูกหนี้ ย่อมปรารถนา ยินดี ความเป็นผู้หมดหนี้ ฉันใด พวกที่
ป่วยไข้ ย่อมปรารถนา ยินดี ความเป็นผู้หายโรค ฉันใด พวกที่ติดอยู่ในเรือนจำ
ย่อมปรารถนา ยินดี ความพ้นจากเรือนจำ ฉันใด พวกทาส ย่อมปรารถนา ยินดี
ความเป็นไท ฉันใด พวกคนเดินทางกันดาร ย่อมปรารถนา ยินดี ภาคพื้นที่เกษม
ฉันใด หมู่สัตว์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้กำหนัด ยินดี ติดใจ คือ สยบ หมกมุ่น
เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในกามทั้งหลาย หมู่สัตว์เหล่านั้น ย่อมต้องการ ยินดี
ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง มุนีผู้ข้าม คือ ผู้ข้ามขึ้น ข้ามพ้นกาโมฆะ ... ภโวฆะ
... ถึงนิพพาน บรรลุนิพพาน รวมความว่า หมู่สัตว์ผู้ติดใจในกามทั้งหลาย
ย่อมยินดี ... ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
หมู่สัตว์ผู้ติดใจในกามทั้งหลาย ย่อมยินดีมุนีผู้ว่าง
ประพฤติอยู่ ไม่มุ่งหวังกามทั้งหลาย ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว
ติสสเมตเตยยสุตตนิทเทสที่ ๗ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๙๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
๘. ปสูรสุตตนิทเทส๑
อธิบายปสูรสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อว่าปสูระ
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายปสูรสูตร ดังต่อไปนี้
[๕๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สมณพราหมณ์เป็นอันมาก
ย่อมกล่าวความหมดจดในธรรมนี้เท่านั้น
ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
บุคคลอาศัยศาสดาใด ก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม
ในเพราะทิฏฐิของตนนั้น เป็นผู้ตั้งอยู่ในปัจเจกสัจจะ
คำว่า ย่อมกล่าวความหมดจดในธรรมนี้เท่านั้น อธิบายว่า ย่อมกล่าว คือ
พูด บอก แสดง ชี้แจง ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป
ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปในธรรมนี้เท่านั้น ได้แก่ กล่าว คือ พูด บอก แสดง
ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป
ความหลุดพ้นไปว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ ... โลกไม่เที่ยง ...
โลกมีที่สุด ... โลกไม่มีที่สุด ... ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ... ชีวะ๒กับสรีระเป็น
คนละอย่างกัน ... หลังจากตายแล้วตถาคต๓เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตไม่
เกิดอีก ... หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก และไม่เกิดอีก” ... ย่อมกล่าว คือ
พูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป
ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปว่า “หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่
จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้น จริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า ย่อมกล่าว
ความหมดจดในธรรมนี้เท่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๘๓๑-๘๔๑/๔๙๖-๔๙๘
๒ ชีวะ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๖/๗๗
๓ ตถาคต ดูเชิงอรรถข้อ ๑๖/๗๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๙๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น อธิบายว่า ย่อมทิ้ง ละทิ้ง
ทอดทิ้ง วาทะอื่นทุกอย่าง นอกจากศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะ
ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคของตน กล่าวอย่างนี้ คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอย่างนี้ว่า
“ศาสดานั้นมิใช่สัพพัญญู ธรรมมิใช่ศาสดากล่าวสอนไว้ดีแล้ว หมู่คณะมิใช่ผู้ปฏิบัติดี
แล้ว ทิฏฐิมิใช่สิ่งที่เจริญ ปฏิปทามิใช่ศาสดาบัญญัติไว้ดีแล้ว มรรคมิใช่ทางนำออก
จากทุกข์ ในธรรมนั้นไม่มีความหมดจด ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป
ความพ้นไป หรือความหลุดพ้นไป คือ ในธรรมนั้น สัตว์ทั้งหลาย ย่อมหมดจด
สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หรือหลุดพ้นไปไม่ได้ สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้เลว คือ
ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย” รวมความว่า ไม่กล่าวความ
หมดจดในธรรมเหล่าอื่น
คำว่า บุคคลอาศัยศาสดาใด ในคำว่า บุคคลอาศัยศาสดาใด ก็กล่าวศาสดา
นั้นว่าดีงาม ในเพราะทิฏฐิของตนนั้น อธิบายว่า อาศัย คือ อิงอาศัย ติด ติดแน่น
ติดใจ น้อมใจเชื่อศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะ ปฏิปทา มรรคใด
คำว่า ในเพราะทิฏฐิของตนนั้น ได้แก่ ในเพราะทิฏฐิของตน คือ ในความถูก
ใจของตน ความพอใจของตน ลัทธิของตน
คำว่า กล่าวว่าดีงาม ได้แก่ กล่าวว่างาม คือ กล่าวว่าดี กล่าวว่าฉลาด
กล่าวว่าเป็นนักปราชญ์ กล่าวว่ามีญาณ กล่าวว่ามีเหตุผล กล่าวว่ามีคุณลักษณะ
กล่าวว่าเหมาะแก่เหตุ กล่าวว่าสมฐานะ ในเพราะลัทธิของตน รวมความว่า บุคคล
อาศัยศาสดาใด ก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม ในเพราะทิฏฐิของตนนั้น
คำว่า สมณพราหมณ์เป็นอันมาก ... เป็นผู้ตั้งอยู่ในปัจเจกสัจจะ อธิบายว่า
สมณพราหมณ์เป็นอันมาก เป็นผู้ตั้งอยู่ คือ เป็นผู้ตั้งมั่น ติด ติดแน่น ติดใจ
น้อมใจเชื่อในปัจเจกสัจจะ ได้แก่ ตั้งอยู่ คือ ตั้งมั่น ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจ
เชื่อว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ ... โลกไม่เที่ยง” ... ตั้งอยู่
คือ ตั้งมั่น ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อว่า “หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่า
เกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า
สมณพราหมณ์เป็นอันมาก ... เป็นผู้ตั้งอยู่ในปัจเจกสัจจะ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๙๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
สมณพราหมณ์เป็นอันมาก
ย่อมกล่าวความหมดจดในธรรมนี้เท่านั้น
ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
บุคคลอาศัยศาสดาใด ก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม
ในเพราะทิฏฐิของตนนั้น เป็นผู้ตั้งอยู่ในปัจเจกสัจจะ
[๖๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด
เข้าไปสู่บริษัทแล้ว จับคู่ กล่าวหากันและกันว่า เป็นคนพาล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว
ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด

ว่าด้วยการยกวาทะ
คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด ในคำว่า สมณพราหมณ์
เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด เข้าไปสู่บริษัทแล้ว อธิบายว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นคนอยากพูด คือ เป็นคนต้องการพูด ประสงค์จะพูด มุ่งหมายจะพูด เที่ยวแสวงหา
การพูด
คำว่า เข้าไปสู่บริษัทแล้ว ได้แก่ เข้าไปแล้ว คือ ก้าวลงแล้ว แทรกเข้าไปแล้ว
เข้าถึงแล้ว ซึ่งขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัท สมณบริษัท รวมความว่า
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด เข้าไปสู่บริษัทแล้ว
คำว่า จับคู่ ในคำว่า จับคู่ กล่าวหากันและกันว่า เป็นคนพาล อธิบายว่า
คน ๒ พวก คนก่อการทะเลาะกัน ๒ ฝ่าย คนก่อการบาดหมางกัน ๒ ฝ่าย
คนก่อการอื้อฉาวกัน ๒ ฝ่าย คนก่อการวิวาทกัน ๒ ฝ่าย คนก่ออธิกรณ์กัน ๒ ฝ่าย
คนว่ากล่าวกัน ๒ ฝ่าย คนโต้เถียงกัน ๒ ฝ่าย คนเหล่านั้น กล่าวหา คือ เห็น
แลเห็น เพ่งพินิจ พิจารณาดูกันและกัน โดยความเป็นคนพาล คือ โดยความเป็น
คนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย รวมความว่า จับคู่ กล่าวหา
กันและกันว่า เป็นคนพาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๙๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
อธิบายว่า อาศัย คือ อิงอาศัย ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อศาสดา ธรรมที่ศาสดา
กล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคอื่น
ความทะเลาะกัน ความบาดหมางกัน ความแก่งแย่งกัน ความวิวาทกัน
การมุ่งร้ายกัน ตรัสเรียกว่า ถ้อยคำที่ขัดแย้งกัน
อีกนัยหนึ่ง คำว่า ถ้อยคำขัดแยังกัน ได้แก่ ถ้อยคำที่ไม่นุ่มนวล อธิบายว่า
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงถ้อยคำขัดแย้งกัน
คือ คำทะเลาะกัน คำบาดหมางกัน คำแก่งแย่งกัน คำวิวาทกัน คำมุ่งร้ายกัน
รวมความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
คำว่า อยากได้ความสรรเสริญ ในคำว่า อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าว
ยกตนว่าเป็นผู้ฉลาด อธิบายว่า อยากได้ความสรรเสริญ คือ ต้องการความสรรเสริญ
ประสงค์ความสรรเสริญ มุ่งหมายความสรรเสริญ เที่ยวแสวงหาความสรรเสริญ
คำว่า ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด ได้แก่ กล่าวยกตนว่าเป็นผู้ฉลาด คือ
กล่าวว่าเป็นบัณฑิต กล่าวว่าเป็นนักปราชญ์ กล่าวว่ามีญาณ กล่าวว่าสมเหตุผล
กล่าวว่ามีคุณลักษณะ กล่าวว่าเหมาะแก่เหตุ กล่าวว่าสมฐานะตามลัทธิของตน
รวมความว่า อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด
เข้าไปสู่บริษัทแล้ว จับคู่ กล่าวหากันและกันว่า เป็นคนพาล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว
ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๙๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
[๖๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว)ในท่ามกลางบริษัท
เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ
เป็นผู้เก้อเขิน ในเมื่อถูกค้านตกไป ย่อมโกรธเคือง
เพราะคำนินทา แสวงหาข้อแก้ตัว

ว่าด้วยแพ้วาทะแล้วขัดเคือง
คำว่า คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว)ในท่ามกลางบริษัท อธิบายว่า
คนผู้ประกอบ คือ เตรียมตัว ตระเตรียม รวบรวม เรียบเรียง ถ้อยคำของตนเพื่อ
กล่าวในท่ามกลางขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท
รวมความว่า คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว)ในท่ามกลางบริษัท
คำว่า เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ในคำว่า เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ
ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ อธิบายว่า เมื่ออยากได้ คือ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง
ความสรรเสริญ คือ ความชมเชย ความมีเกียรติ ความยกย่องคุณความดี
คำว่า ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ อธิบายว่า ก่อนตอบโต้ ย่อมสงสัย ลังเลใจ คือ
ก่อนตอบโต้ ย่อมสงสัย ลังเลใจ อย่างนี้ว่า “เราจักมีชัย หรือปราชัยหนอ จักข่มเขา
อย่างไร จักทำลัทธิของเราให้เลิศลอยได้อย่างไร จักทำให้พิเศษได้อย่างไร จักทำให้
พิเศษยิ่งขึ้นไปได้อย่างไร จักทำการผูกมัดได้อย่างไร จักทำความผ่อนคลายได้อย่างไร
จักทำความตัดรอนได้อย่างไร จักตีขนาบวาทะเขาได้อย่างไร” รวมความว่า เมื่อ
อยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ
คำว่า เป็นผู้เก้อเขิน ในเมื่อถูกค้านตกไป อธิบายว่า บริษัท สมาชิกของ
บริษัท ผู้พิจารณาปัญหา เป็นผู้มีเหตุผล ย่อมคัดค้านให้ตกไป คือ คัดค้านให้ตกไป
โดยอรรถว่า “คำที่ท่านพูดไร้ความหมาย” คัดค้านให้ตกไปโดยพยัญชนะว่า “สิ่งที่
ท่านพูดแล้วไม่ถูกต้องโดยพยัญชนะ” คัดค้านให้ตกไปทั้งโดยอรรถและพยัญชนะว่า
“สิ่งที่ท่านพูดแล้วไม่ถูกต้องทั้งโดยอรรถและพยัญชนะ” คัดค้านให้ตกไปว่า “อรรถที่
ท่านนำมาไม่ถูกต้อง พยัญชนะที่ท่านยกขึ้นมาไม่ถูกต้อง ทั้งอรรถและพยัญชนะที่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๑๙๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
ท่านนำมาและยกขึ้นมาไม่ถูกต้อง ความข่มผู้อื่นท่านยังมิได้ทำ การทำลัทธิให้เลิศ
ลอยท่านยังทำไม่ดี ความพิเศษท่านยังมิได้ทำ การทำให้พิเศษยิ่งขึ้นท่านยังทำไม่ดี
ความผูกมัด ท่านยังมิได้ทำ ความผ่อนคลายท่านยังทำไม่ถูกต้อง ความตัดรอนท่าน
ยังมิได้ทำ การขนาบวาทะท่านทำไม่ถูกต้อง ท่านพูดไม่ถูกต้อง กล่าวไม่ถูกต้อง
เจรจาไม่ถูกต้อง เปล่งวาจาผิด กล่าวให้คลาดเคลื่อน พูดชั่ว”
คำว่า เป็นผู้เก้อเขิน ในเมื่อถูกค้านตกไป อธิบายว่า เมื่อถูกคัดค้านให้ตกไป
เป็นผู้เก้อเขิน คือ ถูกบีบคั้น ถูกทำให้ละอาย ถูกทำให้กระวนกระวาย ถึงความ
ทุกข์ใจ รวมความว่า เป็นผู้เก้อเขิน ในเมื่อถูกค้านตกไป
คำว่า เพราะคำนินทา ในคำว่า ย่อมโกรธเคือง เพราะคำนินทา แสวงหา
ข้อแก้ตัว อธิบายว่า เพราะคำนินทา คือ คำครหา คำไม่ชมเชย คำไม่สรรเสริญคุณ
ความดี
คำว่า ย่อมโกรธเคือง ได้แก่ ย่อมโกรธเคือง คือ แค้นเคือง ขุ่นเคือง ได้แก่
ทำความโกรธเคือง ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏ รวมความว่า
ย่อมโกรธเคือง เพราะคำนินทา
คำว่า แสวงหาข้อแก้ตัว ได้แก่ แสวงหาข้อแก้ตัว คือ แสวงหาข้อผิด
แสวงหาข้อพลั้งผิด แสวงหาข้อผิดพลาด แสวงหาข้อพลั้งเผลอ แสวงหาช่องทาง
รวมความว่า ย่อมโกรธเคือง เพราะคำนินทา แสวงหาข้อแก้ตัว ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว)ในท่ามกลางบริษัท
เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ
เป็นผู้เก้อเขิน ในเมื่อถูกค้านตกไป ย่อมโกรธเคือง
เพราะคำนินทา แสวงหาข้อแก้ตัว
[๖๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บริษัทผู้พิจารณาปัญหากล่าววาทะของเขาว่า เลว
ถูกคัดค้านตกไปแล้ว เขาเสื่อมวาทะไปแล้ว
ย่อมคร่ำครวญ เศร้าโศก ทอดถอนใจว่า เขานำ(หน้า) เราไปแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๐๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
ว่าด้วยถูกข่มด้วยวาทะแล้วเสียใจ
คำว่า กล่าววาทะของเขาว่า เลว อธิบายว่า ชุมชนผู้พิจารณาปัญหา
ได้กล่าวอย่างนี้ คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงวาทะของเขาว่า เลว คือ ทราม ต่ำทราม
เสื่อมเสีย ไม่บริบูรณ์ อย่างนี้ รวมความว่า กล่าววาทะของเขาว่า เลว
คำว่า บริษัทผู้พิจารณาปัญหา ... ถูกคัดค้านตกไปแล้ว อธิบายว่า บริษัท
สมาชิกของบริษัท ผู้พิจารณาปัญหา เป็นผู้มีเหตุผล ย่อมคัดค้านให้ตกไป คือ
คัดค้านให้ตกไปโดยอรรถว่า “คำที่ท่านพูดไร้ความหมาย” คัดค้านให้ตกไปโดย
พยัญชนะว่า “สิ่งที่ท่านพูดแล้วไม่ถูกต้องโดยพยัญชนะ” คัดค้านให้ตกไปทั้งโดย
อรรถและพยัญชนะว่า “สิ่งที่ท่านพูดแล้วไม่ถูกต้องทั้งโดยอรรถและพยัญชนะ”
คัดค้านให้ตกไปว่า “อรรถที่ท่านนำมาไม่ถูกต้อง พยัญชนะที่ท่านยกขึ้นมาไม่ถูกต้อง
ทั้งอรรถและพยัญชนะที่ท่านนำมาและยกขึ้นมาไม่ถูกต้อง ความข่มผู้อื่นท่านยัง
มิได้ทำ การทำลัทธิให้เลิศลอยท่านยังทำไม่ดี ความพิเศษท่านยังมิได้ทำ การทำให้
พิเศษยิ่งขึ้นท่านยังทำไม่ดี ความผูกมัดท่านยังมิได้ทำ ความผ่อนคลายท่านทำไว้
ไม่ถูกต้อง ความตัดรอนท่านยังมิได้ทำ การขนาบวาทะท่านทำไม่ถูกต้อง ท่านพูด
ไม่ถูกต้อง กล่าวไม่ถูกต้อง เจรจาไม่ถูกต้อง เปล่งวาจาผิด กล่าวให้คลาดเคลื่อน
พูดชั่ว” รวมความว่า บริษัทผู้พิจารณาปัญหา ... ถูกคัดค้านตกไปแล้ว
คำว่า ย่อมคร่ำครวญ ในคำว่า เขาเสื่อมวาทะไปแล้ว ย่อมคร่ำครวญ
เศร้าโศก อธิบายว่า การพูดพล่าม การพูดเพ้อ การพูดเพ้อเจ้อ ความพร่ำเพ้อ
กิริยาที่พร่ำเพ้อ ภาวะที่พร่ำเพ้อเห็นปานนี้ว่า เรานึก คิด พิจารณา กำหนดไว้เป็น
อย่างอื่น เขามีพวกมาก มีบริษัทมาก มีบริวารมาก และบริษัทนี้เป็นพวกแต่
หาพร้อมเพรียงกันไม่ ขอให้มีการพูดจาปราศรัยเพื่อให้บริษัทพร้อมเพรียงกันเถิด
เราจักทำลายเขาอีก รวมความว่า ย่อมคร่ำครวญ
คำว่า เศร้าโศก ได้แก่ เศร้าโศก คือ ลำบากใจ คร่ำครวญ ตีอกพร่ำเพ้อ
ถึงความหลงใหลว่า “เขามีชัยชนะ เราปราชัย เขาได้ลาภ เราไม่ได้ลาภ เขามียศ
เราไม่มียศ เขาได้ความสรรเสริญ เราได้แต่การนินทา เขามีสุข เรามีทุกข์ เขา
ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๐๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เราไม่ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ไม่ได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร” รวมความว่า ย่อมคร่ำครวญ
เศร้าโศก
คำว่า เสื่อมวาทะไปแล้ว ได้แก่ เสื่อมวาทะไปแล้ว คือ มีวาทะเลว ทราม
ต่ำทราม เสื่อมเสีย ไม่บริบูรณ์ รวมความว่า เสื่อมวาทะไปแล้ว ย่อมคร่ำครวญ
เศร้าโศก
คำว่า ทอดถอนใจว่า เขานำ(หน้า)เราไปแล้ว อธิบายว่า ทอดถอนใจว่า
เขานำ คือ ล่วงเลย ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นเรา คือวาทะเรา ด้วยวาทะเขาแล้ว
รวมความว่า เขานำ(หน้า)เราไปแล้ว อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ทอดถอนใจว่า เขาเที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง ย่ำยีเรา คือวาทะเรา ด้วย
วาทะเขา รวมความว่า เขานำ(หน้า)เราไปแล้ว อย่างนี้บ้าง
การพูดพล่าม การพูดเพ้อ การพูดเพ้อเจ้อ ความพร่ำเพ้อ กิริยาที่พร่ำเพ้อ
ภาวะที่พร่ำเพ้อ ตรัสเรียกว่า การทอดถอนใจ รวมความว่า ทอดถอนใจว่า เขา
นำ(หน้า)เราไปแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บริษัทผู้พิจารณาปัญหากล่าววาทะของเขาว่า เลว
ถูกคัดค้านตกไปแล้ว เขาเสื่อมวาทะไปแล้ว
ย่อมคร่ำครวญ เศร้าโศก ทอดถอนใจว่า เขานำ(หน้า)เราไปแล้ว
[๖๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
การวิวาทเหล่านี้เกิดแล้วในหมู่สมณะ
ความยินดีและความยินร้าย มีอยู่ในการวิวาทเหล่านี้
บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว พึงงดเว้นถ้อยคำขัดแย้งกัน
เพราะว่าไม่มีประโยชน์อื่นนอกจากการได้ความสรรเสริญ

ว่าด้วยโทษของการวิวาท
คำว่า การวิวาทเหล่านี้เกิดแล้วในหมู่สมณะ อธิบายว่า
คำว่า สมณะ ได้แก่ นักบวชพวกใดพวกหนึ่ง ซึ่งเข้าถึงการบวชเป็นปริพาชก
ถึงการบวชเป็นปริพาชก ภายนอกจากธรรมวินัยนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๐๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
การทะเลาะกันเพราะทิฏฐิ การบาดหมางกันเพราะทิฏฐิ การแก่งแย่ง
กันเพราะทิฏฐิ การวิวาทกันเพราะทิฏฐิ การมุ่งร้ายกันเพราะทิฏฐิเหล่านี้ เกิดแล้ว คือ
เกิดขึ้นแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดขึ้นแล้ว ปรากฏแล้วในหมู่สมณะ รวมความว่า การ
วิวาทเหล่านี้เกิดแล้วในหมู่สมณะ
คำว่า ความยินดีและความยินร้าย มีอยู่ในการวิวาทเหล่านี้ อธิบายว่า
มีชนะมีแพ้ มีลาภมีเสื่อมลาภ มียศมีเสื่อมยศ มีนินทามีสรรเสริญ มีสุขมีทุกข์
มีโสมนัสมีโทมนัส มีอิฏฐารมณ์มีอนิฏฐารมณ์ มีปลอดโปร่งมีกระทบกระทั่ง
มีความยินดีมีความยินร้าย ใจยินดีเพราะชนะ ใจยินร้ายเพราะพ่ายแพ้ ใจยินดีเพราะ
ได้ลาภ ใจยินร้ายเพราะเสื่อมลาภ ใจยินดีเพราะได้ยศ ใจยินร้ายเพราะเสื่อมยศ
ใจยินดีเพราะสรรเสริญ ใจยินร้ายเพราะนินทา ใจยินดีเพราะความสุข ใจยินร้าย
เพราะความทุกข์ ใจยินดีเพราะโสมนัส ใจยินร้ายเพราะโทมนัส ใจยินดีเพราะเฟื่องฟู
ใจยินร้ายเพราะตกอับ รวมความว่า ความยินดีและความยินร้าย มีอยู่ในการวิวาท
เหล่านี้
คำว่า เห็นโทษนี้แล้ว ในคำว่า บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว พึงงดเว้นถ้อยคำ
ขัดแย้งกัน อธิบายว่า เห็นแล้ว คือ แลเห็นแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว
ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วซึ่งโทษนี้ ในการทะเลาะกันเพราะทิฏฐิ การ
บาดหมางกันเพราะทิฏฐิ การแก่งแย่งกันเพราะทิฏฐิ การวิวาทกันเพราะทิฏฐิ การ
มุ่งร้ายกันเพราะทิฏฐิ
คำว่า บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว พึงงดเว้นถ้อยคำขัดแย้งกัน อธิบายว่า การ
ทะเลาะกัน การบาดหมางกัน การแก่งแย่งกัน การวิวาทกัน การมุ่งร้ายกัน
ตรัสเรียกว่า ถ้อยคำขัดแย้งกัน
อีกนัยหนึ่ง ถ้อยคำที่ขัดแย้งกัน ได้แก่ ถ้อยคำที่ไม่นุ่มนวล อธิบายว่า
บุคคลนั้น ไม่พึงก่อถ้อยคำขัดแย้งกัน คือ ไม่พึงก่อการทะเลาะกัน ไม่พึงก่อการ
บาดหมางกัน ไม่พึงก่อการแก่งแย่งกัน ไม่พึงก่อการวิวาทกัน ไม่พึงก่อการมุ่ง
ร้ายกัน ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งการทะเลาะ
การบาดหมาง การแก่งแย่ง การวิวาท การมุ่งร้าย คือ พึงเป็นผู้งด งดเว้น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๐๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับการทะเลาะ การบาดหมาง การ
แก่งแย่ง การวิวาท การมุ่งร้าย มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า บุคคล
เห็นโทษนี้แล้ว พึงงดเว้นถ้อยคำขัดแย้งกัน
คำว่า เพราะว่าไม่มีประโยชน์อื่นนอกจากการได้ความสรรเสริญ อธิบาย
ว่า ไม่มีประโยชน์อื่นนอกจากการได้ความสรรเสริญ คือ ไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ
หาไม่ได้ซึ่งประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นหรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์ในภพ
ปัจจุบันหรือประโยชน์ในภพหน้า ประโยชน์ตื้นหรือประโยชน์ลึก ประโยชน์ลี้ลับ
หรือประโยชน์ปิดบัง ประโยชน์ที่ควรแนะนำหรือประโยชน์ที่แนะนำแล้ว ประโยชน์ที่
ไม่มีโทษหรือประโยชน์ที่ไม่มีกิเลส ประโยชน์ที่ผ่องแผ้วหรือประโยชน์อย่างยิ่ง
รวมความว่า เพราะไม่มีประโยชน์อื่นนอกจากการได้ความสรรเสริญ ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
การวิวาทเหล่านี้เกิดแล้วในหมู่สมณะ
ความยินดีและความยินร้าย มีอยู่ในการวิวาทเหล่านี้
บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว พึงงดเว้นถ้อยคำขัดแย้งกัน
เพราะว่าไม่มีประโยชน์อื่นนอกจากการได้ความสรรเสริญ
[๖๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ก็หรือว่า บุคคลกล่าววาทะในท่ามกลางบริษัท
ได้รับความสรรเสริญ เพราะทิฏฐิของตนนั้น
เขาย่อมหัวเราะ และฟูใจด้วยประโยชน์แห่งความชนะนั้น
เพราะได้บรรลุถึงประโยชน์ตามที่ใจคิดไว้แล้ว
คำว่า เพราะทิฏฐิของตนนั้น ในคำว่า ก็หรือว่า ... ได้รับความสรรเสริญ
เพราะทิฏฐิของตนนั้น ได้แก่ ได้รับความสรรเสริญ คือ ชมเชย ยกย่อง พรรณนา
เพราะทิฏฐิของตน คือ ความถูกใจของตน ความพอใจของตน ลัทธิของตน รวมความว่า
ก็หรือว่า ... ได้รับความสรรเสริญ เพราะทิฏฐิของตนนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๐๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
คำว่า กล่าววาทะในท่ามกลางบริษัท อธิบายว่า กล่าว คือ บอกวาทะของตน
ได้แก่ กล่าว พูด ชื่นชม พูดถึง แสดง เชิดชู ชี้แจง ยกย่องวาทะที่เอื้อต่อวาทะ
ตนในท่ามกลางขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท รวม
ความว่า กล่าววาทะในท่ามกลางบริษัท
คำว่า เขาย่อมหัวเราะ และฟูใจด้วยประโยชน์แห่งความชนะนั้น อธิบายว่า
เขาย่อมเป็นผู้ยินดี ร่าเริง เบิกบาน มีใจแช่มชื่น มีความดำริบริบูรณ์ด้วยประโยชน์
แห่งความชนะนั้น อีกนัยหนึ่ง เป็นผู้หัวเราะจนมองเห็นฟัน
คำว่า เขาย่อมหัวเราะ และฟูใจด้วยประโยชน์แห่งความชนะนั้น ได้แก่ เขา
ย่อมเป็นผู้ลำพองตน คือ ทะนงตน เชิดชูตนเป็นดุจธง เห่อเหิม ต้องการเชิดชูตน
เป็นดุจธง ด้วยประโยชน์แห่งความชนะนั้น รวมความว่า เขาย่อมหัวเราะ และฟูใจ
ด้วยประโยชน์แห่งความชนะนั้น
คำว่า เพราะได้บรรลุถึงประโยชน์ตามที่ใจคิดไว้แล้ว ได้แก่ เพราะได้บรรลุ
คือ ถึง ถึงเฉพาะ ประสบ ได้รับประโยชน์แห่งความชนะนั้น
คำว่า ตามที่ใจคิดไว้แล้ว ได้แก่ ตามที่ใจคิดไว้แล้ว คือ ได้เป็นอย่างที่คิด
ได้เป็นอย่างที่ดำริ ได้เป็นอย่างที่รู้แจ้ง รวมความว่า เพราะได้บรรลุถึงประโยชน์ตาม
ที่ใจคิดไว้แล้ว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ก็หรือว่า บุคคลกล่าววาทะในท่ามกลางบริษัท
ได้รับความสรรเสริญ เพราะทิฏฐิของตนนั้น
เขาย่อมหัวเราะ และฟูใจด้วยประโยชน์แห่งความชนะนั้น
เพราะได้บรรลุถึงประโยชน์ตามที่ใจคิดไว้แล้ว
[๖๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ความลำพองตน ย่อมเป็นภูมิสำหรับย่ำยีของเขา
เขาจึงกล่าวคำถือตัวและคำดูหมิ่นกัน
บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว ไม่ควรวิวาทกัน
เพราะผู้ฉลาดทั้งหลาย ไม่กล่าวความหมดจด
ด้วยการวิวาทกันนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๐๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
คำว่า ความลำพองตน ย่อมเป็นภูมิสำหรับย่ำยีของเขา อธิบายว่า ความ
ลำพองตน คือ ความทะนงตน ความเชิดชูตนเป็นดุจธง ความเห่อเหิม ความที่จิต
ต้องการเชิดชูตนเป็นดุจธง รวมความว่า ความลำพองตน
คำว่า ย่อมเป็นภูมิสำหรับย่ำยีของเขา อธิบายว่า ความลำพองตน เป็นภูมิ
สำหรับย่ำยี คือ สำหรับตัดรอน สำหรับเบียดเบียน สำหรับบีบคั้น สำหรับก่อ
อันตราย สำหรับก่ออุปสรรคของเขา รวมความว่า ความลำพองตน ย่อมเป็นภูมิ
สำหรับย่ำยีของเขา
คำว่า เขาจึงกล่าวคำถือตัวและคำดูหมิ่นกัน ได้แก่ บุคคลนั้นจึงกล่าวคำ
ถือตัวและกล่าวคำดูหมิ่น รวมความว่า เขาจึงกล่าวคำถือตัวและคำดูหมิ่นกัน
คำว่า บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว ไม่ควรวิวาทกัน อธิบายว่า เห็นแล้ว คือ แลเห็น
แล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วซึ่งโทษนี้
ในการทะเลาะกันเพราะทิฏฐิ การบาดหมางกันเพราะทิฏฐิ การแก่งแย่งกันเพราะ
ทิฏฐิ การวิวาทกันเพราะทิฏฐิ การมุ่งร้ายกันเพราะทิฏฐิ รวมความว่า บุคคลเห็น
โทษนี้แล้ว
คำว่า ไม่ควรวิวาทกัน อธิบายว่า ไม่พึงก่อการทะเลาะกัน ไม่พึงก่อการ
บาดหมางกัน ไม่พึงก่อการแก่งแย่งกัน ไม่พึงก่อการวิวาทกัน ไม่พึงก่อการมุ่ง
ร้ายกัน ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งการทะเลาะกัน
การบาดหมางกัน การแก่งแย่งกัน การวิวาทกัน การมุ่งร้ายกัน คือ พึงเป็นผู้งด
งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับการทะเลาะกัน การ
บาดหมางกัน การแก่งแย่งกัน การวิวาทกัน การมุ่งร้ายกันแล้ว มีใจเป็นอิสระ
(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว ไม่ควรวิวาทกัน
คำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลาย ในคำว่า เพราะผู้ฉลาดทั้งหลาย ไม่กล่าวความ
หมดจดด้วยการวิวาทกันนั้น อธิบายว่า ผู้ฉลาดในขันธ์ ฉลาดในธาตุ ฉลาดใน
อายตนะ ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในสติปัฏฐาน ฉลาดในสัมมัปปธาน ฉลาด
ในอิทธิบาท ฉลาดในอินทรีย์ ฉลาดในพละ ฉลาดในโพชฌงค์ ฉลาดในมรรค ฉลาด
ในผล ฉลาดในนิพพาน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๐๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
ผู้ฉลาดเหล่านั้น ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความ
สะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป ด้วยการทะเลาะ
กันเพราะทิฏฐิ การบาดหมางกันเพราะทิฏฐิ การแก่งแย่งกันเพราะทิฏฐิ การวิวาท
กันเพราะทิฏฐิ การมุ่งร้ายกันเพราะทิฏฐิ รวมความว่า เพราะผู้ฉลาดทั้งหลาย
ไม่กล่าวความหมดจดด้วยการวิวาทกันนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ความลำพองตน ย่อมเป็นภูมิสำหรับย่ำยีของเขา
เขาจึงกล่าวคำถือตัวและคำดูหมิ่นกัน
บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว ไม่ควรวิวาทกัน
เพราะผู้ฉลาดทั้งหลาย ไม่กล่าวความหมดจด
ด้วยการวิวาทกันนั้น
[๖๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
คนกล้าที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยของเสวยของพระราชา
เขาคึกคะนอง อยากพบคนกล้าฝ่ายตรงข้าม ย่อมได้พบ ฉันใด
(เจ้าลัทธิ ย่อมได้พบเจ้าลัทธิ ฉันนั้น)
ผู้กล้าเอ๋ย เจ้าลัทธิอยู่ที่ใด เธอจงไปเสียจากที่นั้นเถิด
เพราะกิเลสที่เคยมีแต่ก่อนของตถาคต มิได้มีเพื่อการรบ
คำว่า คนกล้า ในคำว่า คนกล้าที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยของเสวยของ
พระราชา ได้แก่ คนกล้า คือ ผู้กล้าหาญ นักสู้ ผู้ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่
สะดุ้งกลัว ไม่หนี
คำว่า ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยของเสวยของพระราชา ได้แก่ ได้รับการเลี้ยงดู
คือ ชุบเลี้ยง ทำให้เจริญ ทำให้เติบโต ด้วยเครื่องขบเคี้ยวของพระราชา ด้วยเครื่อง
เสวยของพระราชา รวมความว่า คนกล้าที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยของเสวยของ
พระราชา
คำว่า เขาคึกคะนอง อยากพบคนกล้าฝ่ายตรงข้าม ย่อมได้พบ ฉันใด
อธิบายว่า เขาคึกคะนอง ร้องท้าทาย ตะโกนกึกก้อง อยากพบ คือ ยินดี ปรารถนา
มุ่งหมาย มุ่งหวัง ผู้กล้าฝ่ายตรงข้าม คือ คนฝ่ายตรงข้าม ศัตรูฝ่ายตรงข้าม นักปล้ำ
ฝ่ายตรงข้าม ย่อมได้พบ คือ เข้าพบ เข้าไปพบ รวมความว่า เขาคึกคะนอง
อยากพบคนกล้าฝ่ายตรงข้าม ย่อมได้พบ ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๐๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้กล้าเอ๋ย เจ้าลัทธิอยู่ที่ใด เธอจงไปเสียจากที่นั้นเถิด อธิบายว่า
เจ้าลัทธินั้นอยู่ที่ใด เธอจงไปเสียจากที่นั้น คือ จงเว้น จงไป จงก้าวหลีกจากที่นั้น
เพราะเขาเป็นผู้กล้าฝ่ายตรงข้าม เป็นคนฝ่ายตรงข้าม เป็นศัตรูฝ่ายตรงข้าม เป็น
นักปล้ำฝ่ายตรงข้ามของเธอ รวมความว่า ผู้กล้าเอ๋ย เจ้าลัทธิอยู่ที่ใด เธอจงไปเสีย
จากที่นั้นเถิด
คำว่า เพราะกิเลสที่เคยมีแต่ก่อนของตถาคต มิได้มีเพื่อการรบ อธิบายว่า
กิเลสเหล่าใด ซึ่งทำความเป็นข้าศึก ทำความขัดขวาง ทำความเป็นเสี้ยนหนาม
ทำความเป็นปฏิปักษ์ เมื่อก่อน คือ ที่โคนต้นโพธิ์ กิเลสเหล่านั้น ไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่
ปรากฏ หาไม่ได้แก่ตถาคต คือ กิเลสเหล่านั้นตถาคตละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
คำว่า เพื่อการรบ ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การรบ คือ เพื่อประโยชน์แก่การ
ทะเลาะกัน เพื่อประโยชน์แก่การบาดหมางกัน เพื่อประโยชน์แก่การแก่งแย่งกัน
เพื่อประโยชน์แก่การวิวาทกัน เพื่อประโยชน์แก่การมุ่งร้ายกัน รวมความว่า เพราะ
กิเลสที่เคยมีแต่ก่อนของตถาคต มิได้มีเพื่อการรบ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
คนกล้าที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยของเสวยของพระราชา
เขาคึกคะนอง อยากพบคนกล้าฝ่ายตรงข้าม ย่อมได้พบ ฉันใด
(เจ้าลัทธิ ย่อมได้พบเจ้าลัทธิ ฉันนั้น)
ผู้กล้าเอ๋ย เจ้าลัทธิอยู่ที่ใด เธอจงไปเสียจากที่นั้นเถิด
เพราะกิเลสที่เคยมีแต่ก่อนของตถาคต มิได้มีเพื่อการรบ
[๖๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ชนเหล่าใดถือทิฏฐิแล้ววิวาทกัน
และกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
เธอจงพูดกับชนเหล่านั้นว่า กิเลสที่เป็นข้าศึกกัน
เมื่อวาทะเกิด ไม่มีในธรรมวินัยนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๐๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
ว่าด้วยวิวาทกันเพราะทิฏฐิ
คำว่า ชนเหล่าใดถือทิฏฐิแล้ววิวาทกัน อธิบายว่า ชนเหล่าใด จับ ยึด ถือ
ยึดมั่น ถือมั่น ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งในทิฏฐิ ๖๒ แล้ว ย่อมวิวาทกัน คือ ย่อมก่อ
การทะเลาะกัน ก่อการบาดหมางกัน ก่อการแก่งแย่งกัน ก่อการวิวาทกัน ก่อการ
มุ่งร้ายกัน โดยพูดว่า “ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้ เรารู้ธรรมวินัยนี้ ท่านจักรู้ธรรมวินัยนี้ได้
อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด เราปฏิบัติถูกต้อง คำของเรามีประโยชน์ คำของท่านไม่มี
ประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อนท่านก็พูดทีหลัง คำที่ควรพูดทีหลังท่านกลับพูดก่อน
คำที่ท่านใช้เสมอกลับติดขัด วาทะของท่านเราหักล้างได้แล้ว เราปราบปรามท่าน
ได้แล้ว ท่านจงเที่ยวไปเพื่อเปลื้องวาทะ หรือหากท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด”
รวมความว่า ชนเหล่าใด ถือทิฏฐิแล้ววิวาทกัน
คำว่า และกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง อธิบายว่า กล่าวอ้าง คือ พูด บอก
แสดง ชี้แจงว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ ... โลกไม่เที่ยง” ...
กล่าวอ้าง คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงว่า “หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่
จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า และกล่าว
อ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
คำว่า เธอจงพูดกับชนเหล่านั้นว่า กิเลสที่เป็นข้าศึกกัน เมื่อวาทะเกิด ไม่มี
ในธรรมวินัยนี้ อธิบายว่า เธอจงพูดกับเจ้าลัทธิเหล่านั้น คือ ตอบโต้วาทะด้วยวาทะ
ตอบโต้การข่มด้วยการข่ม ตอบโต้การเชิดชูด้วยการเชิดชู ตอบโต้ความพิเศษด้วย
ความพิเศษ ตอบโต้ความพิเศษให้ยิ่งขึ้นไปด้วยความพิเศษให้ยิ่งขึ้นไป ตอบโต้ความ
ผูกมัดด้วยความผูกมัด ตอบโต้ความผ่อนคลายด้วยความผ่อนคลาย ตอบโต้การตัด
รอนด้วยการตัดรอน ตอบโต้การขนาบวาทะด้วยการขนาบวาทะ เพราะคนเหล่านั้น
เป็นผู้กล้าฝ่ายตรงข้าม เป็นคนฝ่ายตรงข้าม เป็นศัตรูฝ่ายตรงข้าม เป็นนักปล้ำฝ่าย
ตรงข้ามของเธอ รวมความว่า เธอจงพูดกับชนเหล่านั้นว่า ... ไม่มีในธรรมวินัยนี้
คำว่า กิเลสที่เป็นข้าศึกกัน เมื่อวาทะเกิด อธิบายว่า เมื่อวาทะเกิด คือ
เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏแล้ว กิเลสที่เป็นข้าศึก คือ ที่ขัดแย้งกัน ที่เป็น
เสี้ยนหนามกัน ที่เป็นปฏิปักษ์กันเหล่าใด พึงก่อการทะเลาะกัน ก่อการบาดหมางกัน
ก่อการแก่งแย่งกัน ก่อการวิวาทกัน ก่อการมุ่งร้ายกัน กิเลสเหล่านั้น ไม่มี คือ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๐๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ แก่พระอรหันต์ ได้แก่ กิเลสเหล่านั้นพระอรหันต์
ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผา
ด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า เธอจงพูดกับชนเหล่านั้นว่า กิเลสที่เป็นข้าศึกกัน
เมื่อวาทะเกิด ไม่มีในธรรมวินัยนี้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ชนเหล่าใดถือทิฏฐิแล้ววิวาทกัน
และกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
เธอจงพูดกับชนเหล่านั้นว่า กิเลสที่เป็นข้าศึกกัน
เมื่อวาทะเกิด ไม่มีในธรรมวินัยนี้
[๖๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พระอรหันต์เหล่าใด กำจัดเสนาได้แล้ว
ไม่เอาทิฏฐิไปกระทบทิฏฐิ เที่ยวไป
พระอรหันต์เหล่าใดในธรรมวินัยนี้
ไม่มีความถือมั่นสิ่งนี้ว่า ยอดเยี่ยม
ปสูระเอ๋ย เธอจะพึงได้อะไร ในพระอรหันต์เหล่านั้น

ว่าด้วยเสนามาร
คำว่า พระอรหันต์เหล่าใด กำจัดเสนาได้แล้ว ... เที่ยวไป อธิบายว่า
เสนามาร ตรัสเรียกว่า เสนา กายทุจริต ชื่อว่าเสนามาร วจีทุจริต ... มโนทุจริต ...
ราคะ ... โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ...
มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ...
มทะ ... ปมาทะ ...กิเลสทุกชนิด... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ...
ความเร่าร้อนทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท
ชื่อว่าเสนามาร
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
กิเลสกามเราเรียกว่าเสนากองที่ ๑ ของท่าน
ความไม่ยินดีเราเรียกว่าเสนากองที่ ๒ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๑๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
คนขลาดเอาชนะเสนานั้นไม่ได้
แต่คนกล้า ครั้นชนะได้แล้วย่อมได้ความสุข๑
เมื่อใดเสนามารทั้งหมด และกิเลสที่สร้างเสนาฝ่ายตรงข้ามทั้งปวง ถูกผู้มี
ปัญญาพิชิตและทำให้ปราชัย ทำลาย กำจัด ทำให้ไม่สู้หน้าแล้ว ด้วยอริยมรรค ๔
เมื่อนั้น ผู้นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า เป็นผู้กำจัดเสนาได้แล้ว
คำว่า เหล่าใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า เที่ยวไป ได้แก่ เที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า พระอรหันต์เหล่าใด กำจัดเสนา
ได้แล้ว ... เที่ยวไป
คำว่า ไม่เอาทิฏฐิไปกระทบทิฏฐิ อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒ พระอรหันต์เหล่าใด
ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผา
ด้วยไฟคือญาณแล้ว พระอรหันต์เหล่านั้นไม่กระทบ คือ ไม่กระแทก ไม่บั่นทอน ไม่
ทำลายทิฏฐิด้วยทิฏฐิ รวมความว่า ไม่เอาทิฏฐิไปกระทบทิฏฐิ
คำว่า ปสูระเอ๋ย เธอจะพึงได้อะไร ในพระอรหันต์เหล่านั้น อธิบายว่า
ปสูระ ผู้เป็นคนฝ่ายตรงข้าม ผู้เป็นศัตรูฝ่ายตรงข้าม ผู้เป็นนักปล้ำฝ่ายตรงข้าม
เธอจะได้อะไร ในพระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น รวมความว่า ปสูระเอ๋ย เธอจะพึงได้
อะไร ในพระอรหันต์เหล่านั้น
คำว่า พระอรหันต์เหล่าใดในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความถือมั่นสิ่งนี้ว่า ยอด
เยี่ยม อธิบายว่า พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ซึ่ง
ความถือ คือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อว่า “สิ่งนี้
เยี่ยม คือ ยอด ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสูด ประเสริฐสุด” ได้แก่ ความ
ถือมั่นนั้น พระอรหันต์เหล่าใด ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ
ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า พระอรหันต์
เหล่าใดในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความถือมั่นสิ่งนี้ว่า ยอดเยี่ยม ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๘/๑๑๕-๑๑๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๑๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
พระอรหันต์เหล่าใด กำจัดเสนาได้แล้ว
ไม่เอาทิฏฐิไปกระทบทิฏฐิ เที่ยวไป
พระอรหันต์เหล่าใดในธรรมวินัยนี้
ไม่มีความถือมั่นสิ่งนี้ว่า ยอดเยี่ยม
ปสูระเอ๋ย เธอจะพึงได้อะไร ในพระอรหันต์เหล่านั้น
[๖๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
อนึ่ง เธอตรึกอยู่มาแล้ว เธอคิดทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ
มาถึงการแข่งคู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว
ย่อมไม่สามารถเทียมทันได้เลย

ว่าด้วยพระปัญญาของพระพุทธเจ้า
คำว่า อนึ่ง ในคำว่า อนึ่ง เธอตรึกอยู่มาแล้ว เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท
เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่ง
พยัญชนะ คำว่า อนึ่ง นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า เธอตรึกอยู่มาแล้ว ได้แก่ เธอตรึก ตรอง ดำริอยู่ คือ ตรึก ตรอง
ดำริอยู่อย่างนี้ว่า เราจักมีชัยไหมหนอ จักปราชัยไหมหนอ จักทำการข่มอย่างไร
จักทำการเชิดชูอย่างไร จักทำลัทธิของเราให้เลิศลอยอย่างไร จักทำให้พิเศษอย่างไร
จักทำให้พิเศษยิ่งขึ้นไปอย่างไร จักทำการผูกมัดอย่างไร จักทำการผ่อนคลายอย่างไร
จักทำการตัดรอนอย่างไร จักทำการขนาบวาทะได้อย่างไร มาแล้ว คือ เข้ามาแล้ว
ถึงพร้อมแล้ว มาประจวบกับเราแล้ว รวมความว่า อนึ่ง เธอตรึกอยู่มาแล้ว
คำว่า เธอคิดถึงทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ อธิบายว่า
คำว่า ใจ ได้แก่ จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์
วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ ที่เกิดขึ้นจากผัสสะเป็นต้นนั้น เธอเฝ้า
แต่คิด คิดถึงแต่ทิฏฐิด้วยใจว่า “โลกเที่ยง ... โลกไม่เที่ยง ... หรือว่า หลังจาก
ตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่” รวมความว่า เธอคิดถึง
ทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๑๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
คำว่า เธอ ... มาถึงการแข่งคู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว ย่อมไม่
สามารถเทียมทันได้เลย อธิบายว่า ปัญญา ตรัสเรียกว่า เครื่องกำจัด คือ ความ
รู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ... ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑
เพราะเหตุไร ปัญญาจึงตรัสเรียกว่า เครื่องกำจัด เพราะปัญญานั้นเป็นเครื่อง
กำจัด ชำระ ล้างและซักฟอกกายทุจริต ... วจีทุจริต ... เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้าง
และซักฟอกอกุสลาภิสังขารทุกประเภท
อีกนัยหนึ่ง สัมมาทิฏฐิ เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้างและซักฟอกมิจฉาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะเป็นเครื่องกำจัดมิจฉาสังกัปปะ ... สัมมาวิมุตติ เป็นเครื่องกำจัด
ชำระ ล้างและซักฟอกมิจฉาวิมุตติ
อีกนัยหนึ่ง อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้างและซักฟอก
กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อน
ทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ เป็นเครื่องกำจัด ชำระ ล้างและซักฟอก
อกุสลาภิสังขารทุกประเภท
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม
เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยธรรมเครื่องชำระล้างเหล่านี้ เพราะฉะนั้น
พระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่าผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด พระองค์ทรงกำจัดความกำหนัด
ได้แล้ว กำจัดบาปได้แล้ว กำจัดกิเลสได้แล้ว กำจัดความเร่าร้อนได้แล้ว รวมความว่า
ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัด
คำว่า เธอมาถึงการแข่งคู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว ย่อมไม่
สามารถเทียมทันได้เลย อธิบายว่า ปสูรปริพาชก ไม่สามารถแข่งคู่ คือ จับคู่
แข่งขัน สนทนา ปราศรัย ถึงการสนทนากับพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผู้มีปัญญา
เครื่องกำจัดได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะปสูรปริพาชก เลว ทราม ต่ำทราม
น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย ส่วนพระผู้มีพระภาค ทรงล้ำเลิศ ประเสริฐ วิเศษ
นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด
ปสูรปริพาชก ไม่สามารถมาแข่งคู่ คือ จับคู่ แข่งขัน สนทนา ปราศรัย
ถึงการสนทนากับพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดได้ เปรียบเหมือน

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๑/๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๑๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
กระต่ายไม่อาจมาแข่งคู่ คือ จับคู่แข่งขันกับช้างใหญ่กำลังตกมันได้ สุนัขจิ้งจอกแก่ ๆ
ไม่อาจมาแข่งคู่ คือ จับคู่ต่อยุทธกับราชสีห์ ผู้เป็นเจ้าแห่งมฤคได้ ลูกโคเล็ก ๆ ยังไม่
อดนม ไม่อาจมาแข่งคู่ คือ จับคู่แข่งขันกับโคผู้ซึ่งมีกำลังมากได้ กาไม่อาจมาแข่งคู่
คือ จับคู่แข่งขันกับพญาครุฑนามว่าเวนไตยได้ คนจัณฑาลไม่สามารถมาแข่งคู่ คือ
จับคู่ต่อยุทธกับพระเจ้าจักรพรรดิ์ได้ ปีศาจเล่นฝุ่นไม่อาจมาแข่งคู่ คือ จับคู่ต่อกร
กับพระอินทร์ผู้ทรงเป็นเทวราชได้
ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุไร เพราะปสูรปริพาชก มีปัญญาเลว มีปัญญาทราม
มีปัญญาต่ำทราม มีปัญญาน่ารังเกียจ มีปัญญาหยาบช้า มีปัญญาต่ำต้อย
ส่วนพระผู้มีพระภาคมีพระปัญญามาก มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญา
อาจหาญ มีพระปัญญาฉับไว มีพระปัญญาเฉียบคม มีพระปัญญาเพิกถอนกิเลส
ทรงความฉลาดในประเภทแห่งปัญญา มีพระญาณแตกฉาน ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา
บรรลุเวสารัชชญาณ ๔ เป็นผู้ทรงทสพลญาณ ทรงเป็นบุรุษองอาจ ทรงเป็นบุรุษ
ดุจราชสีห์ ทรงเป็นบุรุษดุจนาค ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย ทรงเป็นบุรุษผู้นำธุระ
มีพระญาณหาที่สุดมิได้ มีพระเดชหาที่สุดมิได้ มีพระยศหาที่สุดมิได้ ทรงมั่งคั่ง
มีทรัพย์มาก มีปัญญาเป็นทรัพย์ ทรงเป็นผู้นำ เป็นผู้นำไปโดยวิเศษ เป็นผู้
ตามแนะนำ ทรงให้รู้จักประโยชน์ ให้พินิจพิจารณา ทรงเพ่งประโยชน์ ทรงทำให้
เลื่อมใสได้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงทำ
มรรคที่ยังไม่เกิดพร้อมให้เกิดพร้อม ตรัสบอกมรรคที่ยังมิได้ตรัสบอก ทรงรู้จักมรรค
ทรงรู้แจ้งมรรค ทรงฉลาดในมรรค และสาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้ดำเนินไปตามมรรค อยู่ในบัดนี้ จะเพียบพร้อมด้วยศีลาทิคุณ ในภายหลัง
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น มี
พระจักษุ มีพระญาณ มีพระธรรม เป็นดุจพระพรหม ตรัส บอก นำความหมาย
ออกมา ประทานอมตธรรม เป็นพระธรรมสามี เป็นพระตถาคต ไม่มีสิ่งที่พระผู้มี-
พระภาคพระองค์นั้นยังไม่ทรงทราบ ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงรู้แจ้ง ไม่ทรงทำให้แจ้ง มิได้
ทรงถูกต้องด้วยพระปัญญา ธรรมทั้งปวงรวมทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบัน ย่อมมา
สู่คลองเฉพาะพระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า โดยอาการทั้งปวง ธรรมดา
ประโยชน์ที่ควรแนะนำอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นธรรมที่ควรรู้มีอยู่ คือ ประโยชน์ตน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๑๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
ประโยชน์ผู้อื่นหรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์ในภพปัจจุบันหรือประโยชน์ในภพ
หน้า ประโยชน์ตื้นหรือประโยชน์ลึก ประโยชน์ลี้ลับหรือประโยชน์ปิดบัง ประโยชน์
ที่ควรแนะนำหรือประโยชน์ที่แนะนำแล้ว ประโยชน์ที่ไม่มีโทษหรือประโยชน์ที่ไม่มี
กิเลส ประโยชน์ที่ผ่องแผ้วหรือประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์ทั้งหมดนั้นย่อมเป็นไป
ภายในพระพุทธญาณ
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทุกอย่าง ย่อมเป็นไปตามพระญาณของพระผู้มี-
พระภาคพุทธเจ้า พระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ไม่ติดขัดในอดีต อนาคต
ปัจจุบัน บทธรรมที่ควรแนะนำมีอยู่เพียงใด พระญาณก็มีเพียงนั้น พระญาณมีอยู่
เพียงใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีเพียงนั้น พระญาณย่อมมีบทธรรมที่ควรแนะนำ
เป็นส่วนสุดรอบ บทธรรมที่ควรแนะนำก็ย่อมมีพระญาณเป็นส่วนสุดรอบ พระญาณ
ย่อมไม่เป็นไปเกินบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มีอยู่ไม่เกิน
กว่าพระญาณ ธรรมเหล่านั้น ตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน เหมือนเมื่อชั้น
แห่งผอบ ๒ ชั้นทับกันสนิทพอดี ชั้นผอบด้านล่างก็ไม่เกินด้านบน ชั้นผอบด้านบน
ก็ไม่เกินด้านล่าง ชั้นผอบทั้ง ๒ ชั้นย่อมวางประกบกันที่ส่วนสุดโดยรอบของกัน
และกัน ฉันใด บทธรรมที่ควรแนะนำ และพระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ก็ตั้งอยู่ในส่วนสุดโดยรอบของกันและกัน ฉันนั้นเหมือนกัน บทธรรมที่ควรแนะนำ
มีอยู่เพียงใด พระญาณก็มีอยู่เพียงนั้น พระญาณมีอยู่เพียงใด บทธรรมที่ควรแนะนำ
ก็มีเพียงนั้น พระญาณย่อมมีบทธรรมที่ควรแนะนำเป็นส่วนสุดรอบ บทธรรมที่ควร
แนะนำก็ย่อมมีพระญาณเป็นส่วนสุดรอบ พระญาณย่อมไม่เป็นไปเกินกว่าบทธรรม
ที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มีอยู่ ไม่เกินกว่าพระญาณ ธรรม
เหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน พระญาณของพระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้า ย่อมเป็นไปในธรรมทั้งปวง
ธรรมทั้งปวงนับเนื่องด้วยความนึก นับเนื่องด้วยความหวัง นับเนื่องด้วย
มนสิการ นับเนื่องด้วยจิตตุปบาทของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า พระญาณของ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าย่อมเป็นไปในสัตว์ทั้งปวง พระผู้มีพระภาคทรงทราบ
อัธยาศัย อนุสัย จริต อธิมุตติ ของเหล่าสัตว์ทุกจำพวก ทรงรู้จักเหล่าสัตว์ ผู้มี
กิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักษุ มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักษุ มีอินทรีย์แก่กล้า
มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้ที่แนะนำให้รู้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๑๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๘. ปสูรสุตตนิทเทส
ได้ยาก เป็นภัพพสัตว์ เป็นอภัพพสัตว์ โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปภายในพระพุทธญาณ
ปลาและเต่าชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งปลาติมิ ปลาติมิงคละและปลาติ-
มิติมิงคละ๑ ย่อมเป็นไปอยู่ภายในมหาสมุทร ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปภายใน
พระญาณของพระพุทธเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน นกชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งครุฑนาม
ว่าเวนไตย ย่อมบินไปในห้วงแห่งอากาศ ฉันใด พระพุทธสาวกทั้งหลาย ผู้เสมอกับ
พระสารีบุตรด้วยปัญญา ย่อมเป็นไปในส่วนแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน
พระพุทธญาณย่อมแผ่ครอบคลุมปัญญาของเทวดาและมนุษย์อยู่
เหล่าบัณฑิตผู้เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นคหบดี เป็นสมณะ ผู้มีปัญญา
ละเอียด รู้วาทะของผู้อื่น เหมือนนายขมังธนูสามารถยิงเนื้อทรายได้ ดุจจะเที่ยวทำ
ลายทิฏฐิผู้อื่นด้วยปัญญาตน บัณฑิตเหล่านั้นพากันปรุงแต่งปัญหา ย่อมเข้าไปหา
พระตถาคตแล้ว ทูลถามปัญหาที่ลี้ลับและปิดบัง ปัญหาเหล่านั้น ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงซักไซ้และตรัสแก้แล้ว เป็นปัญหามีเหตุให้ทรงแสดง บัณฑิตเหล่านั้นถูกดึงดูด
ด้วยการวิสัชนาปัญหา จึงเลื่อมใสพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคย่อมทรงรุ่งเรือง
ยิ่งด้วยพระปัญญาในหมู่คนเหล่านั้นโดยแท้แล รวมความว่า เธอ...มาถึงการแข่ง
คู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว ย่อมไม่สามารถเทียมทันได้เลย ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
อนึ่ง เธอตรึกอยู่มาแล้ว เธอคิดทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ
มาถึงการแข่งคู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว
ย่อมไม่สามารถเทียมทันได้เลย
ปสูรสุตตนิทเทสที่ ๘ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ปลาทั้ง ๓ ตัวนี้เป็นปลาขนาดใหญ่ คือปลาติมิงคละสามารถกลืนกินปลาติมิได้ และปลาติมิติมิงคละ
มีขนาดลำตัวใหญ่ถึง ๕๐๐ โยชน์ และสามารถกลืนกินปลาติมิงคละได้ (ขุ.ม.อ. ๖๙/๒๙๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๑๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส๑
อธิบายมาคันทิยสูตร
ว่าด้วยเมถุนธรรม
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายมาคันทิยสูตร ดังต่อไปนี้
[๗๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา
ก็ไม่ได้มีความพอใจในเมถุนธรรม
จักมีความพอใจ เพราะเห็นเรือนร่าง
ที่เต็มไปด้วยปัสสาวะและอุจจาระนี้อย่างไรได้เล่า
เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องเรือนร่างนางแม้ด้วยเท้า
คำว่า เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา ก็ไม่ได้มีความ
พอใจในเมถุนธรรม อธิบายว่า เพราะเห็น คือ แลเห็นเหล่าธิดามาร ได้แก่
นางตัณหา นางอรดีและนางราคา ก็ไม่ได้มีความพอใจ ความกำหนัด หรือความรัก
ในเมถุนธรรม รวมความว่า เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดีและนางราคา ก็ไม่ได้มี
ความพอใจในเมถุนธรรม
คำว่า จักมีความพอใจ เพราะเห็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยปัสสาวะและ
อุจจาระนี้อย่างไรได้เล่า เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องเรือนร่างนางแม้ด้วยเท้า
อธิบายว่า จักมีความพอใจ เพราะเห็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยปัสสาวะ อุจจาระ
เสมหะ เลือด มีกระดูกเป็นโครง มีเอ็นเป็นเครื่องผูกพัน มีเลือดและเนื้อเป็นเครื่อง
ฉาบทา ห่อหุ้มด้วยหนัง ปิดบังด้วยผิวหนัง มีช่องเล็กช่องใหญ่ ไหลเข้าออกอยู่เสมอ
มีหมู่หนอนแฝงตัวอยู่ เต็มไปด้วยมลทินโทษต่าง ๆ นี้ อย่างไรได้เล่า เราไม่ปรารถนา
จะเหยียบด้วยเท้า การสังวาส หรือการสมาคม จักมีมาจากไหนได้ รวมความว่า
จักมีความพอใจ เพราะเห็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยปัสสาวะและอุจจาระนี้อย่างไรได้เล่า
เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องเรือนร่างนางแม้ด้วยเท้า ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึง
ตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๘๔๒-๘๕๔/๔๙๘-๕๐๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๑๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา
ก็ไม่ได้มีความพอใจในเมถุนธรรม
จักมีความพอใจ เพราะเห็นเรือนร่าง
ที่เต็มไปด้วยปัสสาวะและอุจจาระนี้อย่างไรได้เล่า
เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องเรือนร่างนางแม้ด้วยเท้า
[๗๑] (มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามว่า)
หากท่านไม่ปรารถนานารีผู้เป็นอิตถีรัตนะเช่นนี้
ที่พระราชาผู้เป็นจอมคนจำนวนมากพากันปรารถนา
ท่านจะกล่าวทิฏฐิ ศีล วัตร ชีวิต
และการอุบัติขึ้นในภพ ว่าเป็นเช่นไร
[๗๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มาคันทิยะ)
การตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นว่า
เรากล่าวสิ่งนี้ ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เรานั้น
เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น
เมื่อเลือกเฟ้น จึงได้เห็นความสงบภายใน
คำว่า เรากล่าวสิ่งนี้ ในคำว่า ... เรากล่าวสิ่งนี้ ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เรานั้น
อธิบายว่า เรากล่าวสิ่งนี้ คือ เรากล่าวสิ่งนั้น กล่าวเท่านี้ กล่าวเพียงเท่านี้ กล่าว
ทิฏฐินี้ว่า “โลกเที่ยง ... หรือว่าหลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่า
ไม่เกิดอีกก็มิใช่”
คำว่า ... ย่อมไม่มีแก่เรานั้น ได้แก่ ย่อมไม่มีแก่เรา คือ คำกล่าวว่า เรากล่าว
เพียงเท่านี้ ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เรานั้น รวมความว่า ... ว่าเรากล่าวสิ่งนี้ ดังนี้
ย่อมไม่มีแก่เรานั้น
คำว่า มาคันทิยะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ... คำว่า พระผู้มี-
พระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ๑ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
มาคันทิยะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๕๐/๑๗๓-๑๗๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๑๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
ว่าด้วยทิฏฐิ ๖๒
คำว่า ในธรรมทั้งหลาย ในคำว่า การตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น
ได้แก่ ในทิฏฐิ ๖๒
คำว่า ตกลงใจ ... แล้ว อธิบายว่า ตกลงใจแล้ว คือ วินิจฉัยแล้ว ตัดสินแล้ว
ชี้ขาดแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
จับมั่น ยึดมั่น ถือมั่น รวบถือ รวมถือ รวบรวมถือ คือ ความถือ ความยึดมั่น
ความถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อว่า “ข้อนี้จริง แท้ แน่ แท้จริง ตามเป็นจริง
ไม่วิปริต” ไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้แก่พระตถาคตพระองค์นั้น คือการ
ตกลงใจแล้วถือมั่น อันพระตถาคต ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ
ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า การตกลงใจใน
ธรรมทั้งหลายแล้วยึดมั่น
คำว่า เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น อธิบายว่า เราเห็นโทษใน
ทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิทั้งหลาย
อีกนัยหนึ่ง ทิฏฐิทั้งหลาย บุคคลไม่ควรถือ ไม่ควรยึดมั่น ไม่ควรถือมั่น
รวมความว่า เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลายว่า ทิฏฐินี้ว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นเป็นโมฆะ” เป็นทิฏฐิรกชัฏ เป็นทิฏฐิกันดาร เป็นทิฏฐิที่เป็นข้าศึก เป็นการ
ดิ้นรนด้วยทิฏฐิ เป็นเครื่องประกอบคือทิฏฐิ(ทิฏฐิสังโยชน์) มีทุกข์ มีความลำบาก
มีความคับแค้น มีความเร่าร้อน ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลาย
กำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อ
ตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิทั้งหลาย อนึ่ง ทิฏฐิ
ทั้งหลาย บุคคลไม่ควรถือ ไม่ควรยึดมั่น ไม่ควรถือมั่น รวมความว่า เราเห็นโทษใน
ทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลายว่า ทิฏฐินี้ว่า “โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด
โลกไม่มีที่สุด ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน
หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก หรือหลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก หลังจาก


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๑๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
ตายแล้วตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก หรือหลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีก
ก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” เป็นทิฏฐิรกชัฏ
เป็นทิฏฐิกันดาร เป็นทิฏฐิที่เป็นข้าศึก เป็นการดิ้นรนด้วยทิฏฐิ เป็นเครื่องประกอบ
คือทิฏฐิ มีทุกข์ มีความลำบาก มีความคับแค้น มีความเร่าร้อน ไม่เป็นไปเพื่อ
ความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบ
ระงับ ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น
ไม่ถือมั่นทิฏฐิทั้งหลาย อนึ่ง ทิฏฐิทั้งหลาย บุคคลไม่ควรถือ ไม่ควรยึดมั่น ไม่ควร
ถือมั่น รวมความว่า เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลายว่า ทิฏฐิเหล่านี้ ที่บุคคลยึดถืออย่างนี้
แล้ว ย่อมมีคติและมีภพหน้าอย่างนั้น ๆ จึงไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิทั้งหลาย
อนึ่ง ทิฏฐิทั้งหลาย บุคคลไม่ควรถือ ไม่ควรยึดมั่น ไม่ควรถือมั่น รวมความว่า
เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลายว่า ทิฏฐิเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเกิด
ในนรก เป็นไปเพื่อเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไปเพื่อเกิดในเปตวิสัย จึงไม่ถือ
ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิทั้งหลาย อนึ่ง ทิฏฐิทั้งหลาย บุคคลไม่ควรถือ ไม่ควรยึดมั่น
ไม่ควรถือมั่น รวมความว่า เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลายว่า ทิฏฐิเหล่านี้ ไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง
ขึ้น อาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
มีความคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา จึงไม่ถือ ไม่ยึดมั่น
ไม่ถือมั่นทิฏฐิทั้งหลาย อนึ่ง ทิฏฐิทั้งหลาย บุคคลไม่ควรถือ ไม่ควรยึดมั่น ไม่ควร
ถือมั่น รวมความว่า เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง
คำว่า เมื่อเลือกเฟ้น จึงได้เห็นความสงบภายใน อธิบายว่า ความสงบภายใน
คือ ความสงบ ความเข้าไปสงบ ความสงบเย็น ความดับ ความสงบระงับราคะ ...
โทสะ ...โมหะ ...โกธะ ...อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ...
มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ...
กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อน
ทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภทภายใน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๒๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
คำว่า เมื่อเลือกเฟ้น ได้แก่ เมื่อเลือกเฟ้น คือ เลือกสรร ชี้ขาด เทียบเคียง
พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” เมื่อเลือกเฟ้น
คือ เลือกสรร ชี้ขาด เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งว่า
“สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ... สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น
เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
คำว่า จึงได้เห็น ได้แก่ จึงได้เห็น คือ ได้ดู ได้มองเห็น ได้แทงตลอด
รวมความว่า เมื่อเลือกเฟ้น จึงได้เห็นความสงบภายใน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสตอบว่า มาคันทิยะ
การตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นว่า
เรากล่าวสิ่งนี้ ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เรานั้น
เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น
เมื่อเลือกเฟ้น จึงได้เห็นความสงบภายใน
[๗๓] (มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามดังนี้)
ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว
มุนีไม่ยึดมั่นทิฏฐิเหล่านั้นแล
กล่าวเนื้อความใดว่า ความสงบภายใน
เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ
คำว่า ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว ได้แก่ ทิฏฐิ ๖๒ พราหมณ์
เรียกว่า ความตกลงใจ
คำว่า กำหนดไว้แล้ว ได้แก่ กำหนดแล้ว กำหนดไว้แล้ว คือ ปรุงแต่งไว้แล้ว
ตั้งไว้ดีแล้ว รวมความว่า กำหนดไว้แล้ว
อีกนัยหนึ่ง ทิฏฐิทั้งหลายที่กำหนด ไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยกัน
เกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความคลายไป
เป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา รวมความว่า
ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๒๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามดังนี้ เป็นบทสนธิ ... คำว่า
ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า มาคันทิยะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น คือเป็นการกล่าวถึง การ
ขนานนาม การบัญญัติ เป็นชื่อที่เรียกกัน รวมความว่า มาคันทิยพราหมณ์ทูลถาม
ดังนี้
คำว่า เหล่านั้นแล ในคำว่า มุนีไม่ยึดมั่นทิฏฐิเหล่านั้นแล กล่าวเนื้อความใด
ว่า ความสงบภายใน ได้แก่ ทิฏฐิ ๖๒
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ ... ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง
และตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี
คำว่า ไม่ยึดมั่น อธิบายว่า ท่านกล่าวว่า เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย
จึงไม่ถือ คือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิทั้งหลาย และกล่าวว่า มีความสงบภายใน
คำว่า เนื้อความใด ได้แก่ เนื้อความที่ดีเยี่ยมใด รวมความว่า มุนีไม่ยึดมั่น
ทิฏฐิเหล่านั้นแล กล่าวเนื้อความใดว่า ความสงบภายใน
คำว่า อย่างไรหนอ ในคำว่า เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้
อย่างไรหนอ เป็นคำถามด้วยความสงสัย เป็นคำถามด้วยความข้องใจ เป็น
คำถาม ๒ แง่ เป็นคำถามมีแง่มุมหลายหลากว่า อย่างนี้หรือหนอ มิใช่หรือหนอ
เป็นอะไรเล่าหนอ เป็นอย่างไรเล่าหนอ รวมความว่า อย่างไรหนอ
คำว่า นักปราชญ์ทั้งหลาย ได้แก่ นักปราชญ์ทั้งหลาย คือ บัณฑิต ผู้มีปัญญา
มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
คำว่า ประกาศไว้ ได้แก่ ประกาศไว้ คือ ประกาศให้ทราบ บอก แสดง
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศไว้แล้ว รวมความว่า
เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น
จึงกล่าวว่า
ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว
มุนีไม่ยึดมั่นทิฏฐิเหล่านั้นแล
กล่าวเนื้อความใดว่า ความสงบภายใน
เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๒๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
[๗๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มาคันทิยะ)
นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร
บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน
เพราะความไม่มีทิฏฐิ เพราะความไม่มีสุตะ
เพราะความไม่มีญาณ เพราะความไม่มีศีล
เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็หามิได้
นักปราชญ์สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว
ไม่ยึดมั่น เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยแล้ว ไม่พึงหวังภพ
คำว่า นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ ไม่กล่าวความหมดจด
เพราะสุตะ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ อธิบายว่า นักปราชญ์ไม่กล่าว คือ
ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์
ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะทิฏฐิ ... เพราะสุตะ ... เพราะ
ทิฏฐิและสุตะ นักปราชญ์ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด
คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะ
ญาณ รวมความว่า นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ ไม่กล่าวความหมด
จดเพราะสุตะ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ
คำว่า มาคันทิยะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ... คำว่า พระผู้มี
พระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
มาคันทิยะ
คำว่า นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร อธิบายว่า
นักปราชญ์ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ
ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะศีล ...
เพราะวัตร นักปราชญ์ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๒๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะ
ศีลวัตร รวมความว่า นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร
คำว่า บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ เพราะความ
ไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็
หามิได้ อธิบายว่า ทิฏฐิ ประสงค์เอาสัมมาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ คือ

๑. ทานที่ให้แล้วมีผล ๒. ยัญที่บูชาแล้วมีผล
๓. การเซ่นสรวงมีผล ๔. ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วมีอยู่
๕. โลกนี้มี ๖. โลกหน้ามี
๗. มารดามีคุณ ๘. บิดามีคุณ
๙. สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ๑มีอยู่

๑๐. สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รู้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตน
เองแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้แจ้งมีอยู่ในโลก
สุตะ ประสงค์เอาเสียงจากผู้อื่น คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ
ญาณ ประสงค์เอากัมมัสสกตาญาณ๒ สัจจานุโลมิกญาณ๓ อภิญญาญาณ๔
สมาปัตติญาณ๕
ศีล ประสงค์เอาปาติโมกขสังวร
วัตร ประสงค์เอาธุดงค์๖ ๘ ข้อ คือ
๑. อารัญญิกังคธุดงค์ ๒. ปิณฑปาติกังคธุดงค์
๓. ปังสุกูลิกังคธุดงค์ ๔. เตจีวริกังคธุดงค์

เชิงอรรถ :
๑ โอปปาติกะ หมายถึง สัตว์เกิดผุดขึ้น คือสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ(ตาย)ก็หายวับไป
ไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น เทวดาและสัตว์นรก เป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙)
๒ กัมมัสสกตาญาณ ญาณที่เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน, เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิด
เสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน หมายถึงสัมมาทิฏฐิ ๑๐ (อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๗๙๓/๕๐๙)
๓ สัจจานุโลมิกญาณ ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ
ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ (อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๗๙๓/๕๐๙)
๔ อภิญญาญาณ ญาณคือความรู้อย่างยิ่งยวดมี ๖ (๑) อิทธิวิธิ (๒) ทิพพโสต (๓) เจโตปริยญาณ
(๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (๕) ทิพพจักขุ (๖) อาสวักขยญาณ (ที.สี.(แปล) ๙/๒๓๔-๒๔๘/๗๗-๘๔)
๕ สมาปัตติญาณ ญาณในสมาบัติ ๘ (ดูเชิงอรรถข้อ ๖/๒๕)
๖ ดูคำแปลจากข้อ ๑๗/๗๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๒๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
๕. สปทานจาริกังคธุดงค์ ๖. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์
๗. เนสัชชิกังคธุดงค์ ๘. ยถาสันถติกังคธุดงค์
คำว่า บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ เพราะความ
ไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็
หามิได้ อธิบายว่า บุคคลเป็นผู้บรรลุถึงความสงบภายใน เพียงเพราะสัมมาทิฏฐิ
ก็หามิได้ เพียงเพราะการได้ฟังก็หามิได้ เพียงเพราะญาณก็หามิได้ เพียงเพราะศีลก็
หามิได้ เพียงเพราะวัตรก็หามิได้ คือ บรรลุถึงความสงบภายใน โดยเว้นจากธรรม
เหล่านี้ก็หามิได้ เพราะธรรมเหล่านี้ เป็นเครื่องประกอบเพื่อบรรลุ เพื่อถึง เพื่อ
ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งความสงบภายใน รวมความว่า บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน
เพราะความไม่มีทิฏฐิ เพราะความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ เพราะความ
ไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็หามิได้
คำว่า เหล่านี้ ในคำว่า สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว ไม่ยึดมั่น อธิบายว่า
บุคคลหวังการละธรรมฝ่ายดำโดยกำจัดได้เด็ดขาด หวังการไม่ก่อตัณหาในกุศลธรรม
ทั้งหลายในไตรธาตุ บุคคลละธรรมฝ่ายดำ โดยการละได้อย่างเด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ และไม่ก่อตัณหาในกุศลธรรมทั้งหลายในไตรธาตุเพราะเหตุใด
นักปราชญ์ย่อมไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น เพราะเหตุเท่านี้
อีกนัยหนึ่ง ธรรมฝ่ายดำ นักปราชญ์ไม่ควรถือ ไม่ควรยึดมั่น ไม่ควรถือมั่น
รวมความว่า สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว ไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง
บุคคลละตัณหา ทิฏฐิ และมานะได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือน
ต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้
เพราะเหตุใด นักปราชญ์ย่อมไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น เพราะเหตุเท่านี้ รวมความว่า
สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว ไม่ยึดมั่น อย่างนี้บ้าง
บุคคลละปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขารได้เด็ดขาด
แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่
ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ เพราะเหตุใด นักปราชญ์ย่อมไม่ถือ ไม่ยึดมั่น
ไม่ถือมั่น เพราะเหตุเท่านี้ รวมความว่า สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว ไม่ยึดมั่น
อย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๒๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
คำว่า เป็นผู้สงบ ในคำว่า นักปราชญ์ ... เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยแล้ว ไม่พึง
หวังภพ อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นผู้สงบ คือ เข้าไปสงบแล้ว สงบเย็นแล้ว ดับได้แล้ว
สงบระงับได้แล้ว เพราะสงบ ระงับ สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับราคะ ...
โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ...
มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ...
กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อน
ทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท รวมความว่า
เป็นผู้สงบ
คำว่า ไม่อาศัยแล้ว ได้แก่ ความอาศัย ๒ อย่าง คือ (๑) ความอาศัยด้วย
อำนาจตัณหา (๒) ความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจ
ตัณหา ... นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
นักปราชญ์ละการอาศัยด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการอาศัยด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว ไม่อาศัย คือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ตา ... หู ... จมูก ... ลิ้น ...
กาย ... รูป ... เสียง ... กลิ่น ... รส ... โผฏฐัพพะ ... ตระกูล ... หมู่คณะ ... อาวาส ...
ลาภ ... ยศ ... สรรเสริญ ... สุข ... จีวร ... บิณฑบาต ... เสนาสนะ ... คิลานปัจจัย-
เภสัชบริขาร ... กามธาตุ ... รูปธาตุ ... อรูปธาตุ ... กามภพ ... รูปภพ ... อรูปภพ ...
สัญญาภพ ... อสัญญาภพ ... เนวสัญญานาสัญญาภพ ... เอกโวการภพ ...
จตุโวการภพ ... ปัญจโวการภพ ... อดีต ... อนาคต ... ปัจจุบัน ไม่อาศัย คือ ไม่ถือ
ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และ
ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง รวมความว่า เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยแล้ว
คำว่า ไม่พึงหวังภพ ได้แก่ ไม่พึงหวัง คือ ไม่พึงมุ่งหวัง ไม่พึงคาดหวัง
กามภพ รูปภพ อรูปภพ รวมความว่า นักปราชญ์ ... เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยแล้ว
ไม่พึงหวังภพ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า มาคันทิยะ
นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๒๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร
บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน
เพราะความไม่มีทิฏฐิ เพราะความไม่มีสุตะ
เพราะความไม่มีญาณ เพราะความไม่มีศีล
เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็หามิได้
นักปราชญ์สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว
ไม่ยึดมั่น เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยแล้ว ไม่พึงหวังภพ
[๗๕] (มาคันทิยพราหมณ์กราบทูล ดังนี้)
หากนักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร
บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ
เพราะความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ
เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็หามิได้
ข้าพเจ้าจึงเข้าใจธรรมของท่านว่า เป็นเรื่องงมงายแน่นอน
เพราะสมณพราหมณ์บางพวกถึงความหมดจดได้เพราะทิฏฐิ
คำว่า หากนักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ ไม่กล่าวความ
หมดจดเพราะสุตะ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ อธิบายว่า นักปราชญ์
ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด
ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะทิฏฐิ ... เพราะสุตะ
... เพราะทิฏฐิและสุตะ ... นักปราชญ์ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจง
ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความ
หลุดพ้นไป เพราะญาณ รวมความว่า หากนักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะ
ทิฏฐิ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๒๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า มาคันทิยพราหมณ์กราบทูล ดังนี้ เป็นบทสนธิ ... คำว่า
ดังนี้ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า มาคันทิยะ เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ... รวมความว่า มาคันทิยพราหมณ์
กราบทูล ดังนี้
คำว่า ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร อธิบายว่า ไม่กล่าว คือ
ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์
ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะศีล ... เพราะวัตร ... ไม่กล่าว คือ
ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์
ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะศีลและวัตร รวมความว่า ไม่กล่าว
ความหมดจดเพราะศีลและวัตร
คำว่า บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ เพราะ
ความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มี
วัตรนั้นก็หามิได้ อธิบายว่า ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า ทิฏฐิก็พึงปรารถนา ... การฟัง
ก็พึงปรารถนา ... ญาณก็พึงปรารถนา ... ศีลก็พึงปรารถนา ... ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า
วัตรก็พึงปรารถนา ท่านไม่สามารถยอมรับโดยส่วนเดียวได้ ทั้งไม่สามารถปฏิเสธ
โดยส่วนเดียวได้ รวมความว่า บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ
เพราะความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มี
วัตรนั้น ก็หามิได้
คำว่า ข้าพเจ้าจึงเข้าใจธรรมของท่านว่า เป็นเรื่องงมงายแน่นอน อธิบายว่า
ข้าพเจ้าจึงเข้าใจอย่างนี้ คือ รู้ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอดอย่างนี้ว่า ธรรม
ของท่านนี้ เป็นธรรมงมงาย คือ เป็นธรรมของคนเขลา ธรรมของคนหลง ธรรมของ
คนไม่รู้ ธรรมของคนมีลัทธิที่หลบเลี่ยงไม่แน่นอน รวมความว่า ข้าพเจ้าจึงเข้าใจ
ธรรมของท่านว่า เป็นเรื่องงมงายแน่นอน
คำว่า เพราะสมณพราหมณ์บางพวกถึงความหมดจดได้เพราะทิฏฐิ อธิบาย
ว่า สมณพราหมณ์บางพวก ถึงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์
ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปเพราะทิฏฐิว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นเป็นโมฆะ” สมณพราหมณ์บางพวก ถึงความหมดจด คือ ความสะอาด


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๒๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะทิฏฐิว่า “โลก
ไม่เที่ยง ... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้น
จริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า เพราะสมณพราหมณ์บางพวกถึงความ
หมดจดได้เพราะทิฏฐิ ด้วยเหตุนั้น มาคันทิยพราหมณ์จึงกราบทูลดังนี้
หากนักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร
บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ
เพราะความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ
เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็หามิได้
ข้าพเจ้าจึงเข้าใจธรรมของท่านว่า เป็นเรื่องงมงายแน่นอน
เพราะสมณพราหมณ์บางพวกถึงความหมดจดได้เพราะทิฏฐิ
[๗๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาคันทิยะ)
เพราะอาศัยทิฏฐิทั้งหลาย ท่านจึงถามเนือง ๆ
ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลาย ที่ท่านถือมั่นไว้แล้ว
และท่านก็มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้
เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบแต่ความงมงาย
คำว่า เพราะอาศัยทิฏฐิทั้งหลาย ท่านจึงถามเนือง ๆ อธิบายว่า มาคันทิย-
พราหมณ์อาศัยทิฏฐิถามถึงทิฏฐิ อาศัยความเกี่ยวข้องถามถึงความเกี่ยวข้อง อาศัย
ความผูกพันถามถึงความผูกพัน อาศัยความกังวลถามถึงความกังวล
คำว่า จึงถามเนือง ๆ ได้แก่ จึงถามอยู่บ่อย ๆ รวมความว่า เพราะอาศัยทิฏฐิ
ทั้งหลายท่านจึงถามเนือง ๆ
คำว่า มาคันทิยะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ... คำว่า พระผู้มี
พระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาคันทิยะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๒๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
คำว่า ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลาย ที่ท่านถือมั่นไว้แล้ว อธิบายว่า
ทิฏฐิใด ท่านถือ คือ ยึดมั่น ถือมั่น ติดใจ น้อมใจเชื่อแล้ว ท่านหลง คือ ลุ่มหลง
หลงงมงาย ถึงความหลง ถึงความลุ่มหลง ถึงความหลงงมงาย แล่นไปสู่ความ
มืดมนแล้ว ในทิฏฐินั้น รวมความว่า ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลาย ที่ท่าน
ถือมั่นไว้แล้ว
คำว่า และท่านก็มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้ อธิบายว่า ท่าน
ไม่ได้พบสัญญาอันสมควร สัญญาที่ถึงแล้ว สัญญาในลักษณะ สัญญาในเหตุ หรือ
สัญญาในฐานะ จากธรรมนี้ คือ จากความสงบภายใน จากข้อปฏิบัติ หรือจาก
ธรรมเทศนาเลย ท่านจักได้ญาณจากที่ไหนเล่า รวมความว่า และท่านก็มิได้เห็น
สัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ท่านไม่ได้พบเบญจขันธ์ซึ่งไม่เที่ยง หรือญาณซึ่งอนุโลม
อนิจจสัญญา เบญจขันธ์ซึ่งเป็นทุกข์ หรือญาณซึ่งอนุโลมทุกขสัญญา ธรรมซึ่งเป็น
อนัตตา หรือ ญาณซึ่งอนุโลมอนัตตสัญญา ธรรมเพียงแต่ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา
หรือธรรมเป็นนิมิตแห่งสัญญาเลย ท่านจักได้ญาณจากที่ไหน รวมความว่า และท่าน
มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้ อย่างนี้บ้าง
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบแต่ความงมงาย
อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น ท่านจึงประสบ คือ เห็น แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณา
ดูแต่ธรรมคือความงมงาย ธรรมของคนเขลา ธรรมของคนหลง ธรรมของคนไม่รู้
ธรรมของคนที่มีลัทธิหลบเลี่ยงไม่แน่นอน รวมความว่า เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบ
แต่ความงมงาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า มาคันทิยะ
เพราะอาศัยทิฏฐิทั้งหลาย ท่านจึงถามเนือง ๆ
ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลาย ที่ท่านถือมั่นไว้แล้ว
และท่านก็มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้
เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบแต่ความงมงาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๓๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
[๗๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา
ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น
บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว ๓ อย่าง
ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา
(หรือด้อยกว่าเขา) จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น
คำว่า ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา ผู้นั้น
พึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น อธิบายว่า ผู้ใดสำคัญว่า “เราเสมอเขา
เราเลิศกว่าเขา หรือ เราด้อยกว่าเขา” ผู้นั้น พึงต้องก่อการทะเลาะ ก่อการบาดหมาง
ก่อการแก่งแย่ง ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้าย ด้วยความถือตัวนั้น คือ ด้วยทิฏฐินั้น
หรือกับบุคคลนั้นว่า “ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้ เรารู้ธรรมวินัยนี้ ท่านจักรู้ธรรมวินัย
นี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด เราปฏิบัติถูกต้อง คำของเรามีประโยชน์ คำของท่าน
ไม่มีประโยชน์ คำที่ควรพูดก่อนท่านกลับพูดทีหลัง คำที่ควรพูดทีหลังท่าน
กลับพูดก่อน คำที่ท่านใช้เสมอกลับติดขัด วาทะของท่านเราหักล้างได้แล้ว
เราปราบปรามท่านได้แล้ว ท่านจงเที่ยวไปเพื่อเปลื้องวาทะ หรือหากท่านสามารถ
ก็จงแก้ไขเถิด” รวมความว่า ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา
ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น
คำว่า บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว ๓ อย่าง ความสำคัญว่า
เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา(หรือด้อยกว่าเขา) จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น อธิบายว่า
ความถือตัว ๓ อย่างเหล่านี้ ผู้ใด ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นย่อมไม่หวั่นไหว คือ
ไม่เอนเอียง ในความถือตัว ๓ อย่างเหล่านั้น ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เราเลิศ
กว่าเขา หรือเราด้อยกว่าเขา ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่หวั่นไหว
คำว่า ไม่มีแก่บุคคลนั้น ได้แก่ ไม่มีแก่เรา รวมความว่า บุคคลไม่หวั่นไหวใน
เพราะความถือตัว ๓ อย่าง ความสำคัญว่า “เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อย
กว่าเขา จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น” ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๓๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา
ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น
บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว ๓ อย่าง
ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา
(หรือด้อยกว่าเขา) จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น
[๗๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงกล่าวอะไรว่า จริง
หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงโต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร
ความสำคัญว่าเราเสมอเขา เราเลิศกว่าเขา
(หรือเราด้อยกว่าเขา) ย่อมไม่มีในพระอรหันต์ใด
พระอรหันต์นั้น พึงตอบโต้วาทะ ด้วยเหตุอะไรเล่า
คำว่า พราหมณ์ ในคำว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงกล่าวอะไรว่า จริง
อธิบายว่า บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗ ประการได้แล้ว ... บุคคล
นั้นไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์๑
คำว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงกล่าวอะไรว่า จริง อธิบายว่า บุคคล
ผู้เป็นพราหมณ์ พึงกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอะไรว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นเป็นโมฆะ” พึงกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอะไรว่า “โลกไม่เที่ยง ...
หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงกล่าวอะไรว่า จริง
คำว่า หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงโต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร
อธิบายว่า บุคคลผู้เป็นพราหมณ์พึงก่อการทะเลาะ ก่อการบาดหมาง ก่อการ
แก่งแย่ง ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้าย ด้วยมานะอะไร ด้วยทิฏฐิอะไร หรือกับ
บุคคลใดว่า “คำของเราจริง คำของท่านเท็จ ... ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้ ... หรือหาก
ท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด” รวมความว่า หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึง
โต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๕/๑๐๔-๑๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๓๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
คำว่า ในพระอรหันต์ใด ในคำว่า ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เราเลิศ
กว่าเขา (หรือเราด้อยกว่าเขา) ย่อมไม่มีในพระอรหันต์ใด อธิบายว่า ในพระ
อรหันต์คือ พระขีณาสพใด ไม่มีความถือตัวว่า “เราเสมอเขา” ไม่มีความถือดีว่า
“เราเลิศกว่าเขา” ไม่มีความดูหมิ่นว่า “เราด้อยกว่าเขา” คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้
ได้แก่ ความถือตัวนั้นพระอรหันต์ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ
ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า ความสำคัญว่า
เราเสมอเขา เราเลิศกว่าเขา(หรือเราด้อยกว่าเขา) ย่อมไม่มีในพระอรหันต์ใด
คำว่า พระอรหันต์นั้น พึงตอบโต้วาทะ ด้วยเหตุอะไรเล่า อธิบายว่า
พระอรหันต์นั้น พึงตอบโต้วาทะ คือ พึงโต้เถียง พึงก่อการทะเลาะ ก่อการ
บาดหมาง ก่อการแก่งแย่ง ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้าย ด้วยเหตุอะไร ด้วยทิฏฐิ
อะไร หรือกับบุคคลใดว่า “ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้ ... หรือหากท่านสามารถ ก็จง
แก้ไขเถิด” รวมความว่า พระอรหันต์นั้น พึงตอบโต้วาทะ ด้วยเหตุอะไรเล่า
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงกล่าวอะไรว่า จริง
หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงโต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร
ความสำคัญว่าเราเสมอเขา เราเลิศกว่าเขา
(หรือเราด้อยกว่าเขา) ย่อมไม่มีในพระอรหันต์ใด
พระอรหันต์นั้น พึงตอบโต้วาทะ ด้วยเหตุอะไรเล่า
[๗๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย
มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย
ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
ครั้งนั้นแล หาลินทกานิคหบดี เข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ กราบ
ท่านพระมหากัจจายนะแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ครั้นแล้วได้ถามท่านพระมหา-
กัจจายนะว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้ ในมาคันทิยปัญหา อันมาใน
อัฏฐกวรรคว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๓๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย
มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย
ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
ข้าแต่ท่านมหากัจจายนะผู้เจริญ เนื้อความแห่งภาษิตที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสแล้วโดยย่อนี้ พึงทราบโดยพิสดารอย่างไร
ท่านพระมหากัจจายนะตอบว่า ท่านคหบดี รูปธาตุเป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ
วิญญาณที่ผูกพันไว้ด้วยราคะในรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า การเที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย
เวทนาธาตุ ... สัญญาธาตุ ... สังขารธาตุ เป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ วิญญาณที่ผูก
พันไว้ด้วยราคะในสังขารธาตุ ตรัสเรียกว่า การเที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย ท่านคหบดี
บุคคลผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลผู้ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างไร
คือ ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบาย
และความยึดมั่น อันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องแห่งรูปธาตุ พระ
ตถาคต ทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอน
โคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียก
พระตถาคตว่า “ผู้ไม่ทรงเที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย” ความพอใจ ความกำหนัด
ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบายและความยึดมั่น อันเป็นเหตุที่ใจเข้าไป
ตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องแห่งเวทนาธาตุ ... สัญญาธาตุ ... สังขารธาตุ ... วิญญาณธาตุ
พระตถาคต ทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอน
โคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียก
พระตถาคตว่า “ผู้ไม่ทรงเที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย” ท่านคหบดี บุคคลผู้ไม่เที่ยวซ่าน
ไปหาที่อาศัย เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างไร
คือ ความเที่ยวซ่านไปหาและความผูกพันกับที่อาศัย คือ รูปนิมิต ... สัททนิมิต
... คันธนิมิต ... รสนิมิต ... โผฏฐัพพนิมิต ... ธัมมนิมิต ตรัสเรียกว่า “ผู้เที่ยวซ่าน
ไปหาที่อาศัย” ท่านคหบดี บุคคลผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๓๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
ท่านคหบดี บุคคลผู้ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างไร
คือ ความซ่านไปหา และความผูกพันกับที่อาศัย คือ รูปนิมิต ... สัททนิมิต ...
คันธนิมิต ... รสนิมิต ... โผฏฐัพพนิมิต ... ธัมมนิมิต พระตถาคตทรงละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้
ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียกพระตถาคตว่า “ผู้ไม่ทรงเที่ยวซ่านไป
หาที่อาศัย” ท่านคหบดี บุคคลผู้ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลเกิดความเยื่อใยในกาม เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เกี่ยวข้องอยู่กับคฤหัสถ์ เพลิดเพลินร่วมกัน
เศร้าโศกร่วมกัน เมื่อพวกเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อพวกเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย เมื่อพวกเขา
มีกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ลงมือช่วยเหลือด้วยตนเอง ท่านคหบดี บุคคลเกิดความเยื่อ
ใยในกาม เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลไม่เกิดความเยื่อใยในกาม เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ไม่เกี่ยวข้องอยู่กับคฤหัสถ์ ไม่เพลิดเพลิน
ร่วมกัน ไม่เศร้าโศกร่วมกัน เมื่อพวกเขาสุขก็มิได้สุขด้วย เมื่อพวกเขาทุกข์ก็มิได้
ทุกข์ด้วย เมื่อพวกเขามีกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ไม่ลงมือช่วยเหลือด้วยตนเอง ท่าน
คหบดี บุคคลไม่เกิดความเยื่อใยในกาม เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลไม่ว่างจากกามทั้งหลาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ไม่ปราศจากความกำหนัด ไม่ปราศจาก
ความพอใจ ไม่ปราศจากความรัก ไม่ปราศจากความกระหาย ไม่ปราศจากความ
เร่าร้อน ไม่ปราศจากตัณหาในกามทั้งหลาย ท่านคหบดี บุคคลไม่ว่างจากกาม
ทั้งหลาย เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลว่างจากกามทั้งหลาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ
ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจาก
ตัณหาในกามทั้งหลาย ท่านคหบดี บุคคลว่างจากกามทั้งหลาย เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลมุ่งหวังอัตภาพต่อไป เป็นอย่างไร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๓๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความมุ่งหวังอย่างนี้ว่า “ในอนาคตกาล
เราพึงมีรูปอย่างนี้” เธอก็ประสบความเพลิดเพลินในความปรารถนานั้น มีความ
มุ่งหวังอย่างนี้ว่า ในอนาคตกาล “เราพึงมีเวทนาอย่างนี้ ... พึงมีสัญญาอย่างนี้ ...
พึงมีสังขารอย่างนี้ ... พึงมีวิญญาณอย่างนี้” เธอก็ประสบความเพลิดเพลินในความ
ปรารถนานั้น ท่านคหบดี บุคคลมุ่งหวังอัตภาพต่อไป เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลไม่มุ่งหวังอัตภาพต่อไป เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความมุ่งหวังอย่างนี้ว่า “ในอนาคตกาล
เราพึงมีรูปอย่างนี้” ไม่มีความมุ่งหวังอย่างนี้ว่า “ในอนาคตกาล เราพึงมีเวทนา
อย่างนี้ ... พึงมีสัญญาอย่างนี้ ... พึงมีสังขารอย่างนี้ ... พึงมีวิญญาณอย่างนี้” เธอก็
ไม่ประสบความเพลิดเพลินในความปรารถนานั้น ท่านคหบดี บุคคลไม่มุ่งหวัง
อัตภาพต่อไป เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า “ท่านไม่รู้
ธรรมวินัยนี้ ... หรือหากท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด” ท่านคหบดี บุคคลกล่าว
ถ้อยคำขัดแย้งกัน เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี บุคคลไม่กล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่กล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า “ท่านไม่รู้
ธรรมวินัยนี้ ... หรือหากท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด” ท่านคหบดี บุคคลไม่กล่าว
ถ้อยคำขัดแย้งกัน เป็นอย่างนี้แล
ท่านคหบดี ภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในมาคันทิยปัญหา อันมาใน
อัฏฐกวรรคว่า
บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย
มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย
ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน ดังนี้แล
ท่านคหบดี เนื่อความแห่งภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ พึงทราบโดย
พิสดารอย่างนี้แล ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๓๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย
มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย
ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
[๘๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลผู้นาคะสงัดจากทิฏฐิเหล่าใด
พึงเที่ยวไปในโลก ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น
ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ
ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม ฉันใด
มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี
ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก ฉันนั้น
คำว่า เหล่าใด ในคำว่า บุคคลผู้นาคะสงัดจากทิฏฐิเหล่าใด พึงเที่ยวไปในโลก
ได้แก่ ทิฏฐิทั้งหลาย
คำว่า สงัด ได้แก่ ว่าง สงัด เงียบ จากกายทุจริต ... จากวจีทุจริต ... จาก
มโนทุจริต ... จากราคะ ... ว่าง สงัด เงียบจากอกุสลาภิสังขารทุกประเภท
คำว่า พึงเที่ยวไป ได้แก่ พึงเที่ยวไป คือ พึงอยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในมนุษยโลก รวมความว่า บุคคลผู้นาคะสงัดจากทิฏฐิ
เหล่าใด พึงเที่ยวไปในโลก
คำว่า ผู้นาคะ ในคำว่า ผู้นาคะ ... ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น อธิบายว่า
ชื่อว่าบุคคลผู้นาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว ชื่อว่าบุคคลผู้นาคะ เพราะไม่ถึง ชื่อว่า
บุคคลผู้นาคะ เพราะไม่กลับมาหา
บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป
ตรัสเรียกว่า ความชั่ว (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สภิยะ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๓๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
บุคคลผู้ไม่ทำบาปแม้เล็กน้อยในโลก
สลัดสังโยชน์เครื่องผูกพันได้ทั้งหมด
ไม่ติดข้องอยู่ในธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้น
ดำรงตนมั่นคงเช่นนั้น บัณฑิตทั้งหลายเรียกว่า ผู้นาคะ๑
บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ทำความชั่ว เป็นอย่างนี้
บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ถึง เป็นอย่างไร
คือ บุคคลไม่ถึงฉันทาคติ(ลำเอียงเพราะชอบ) ไม่ถึงโทสาคติ(ลำเอียงเพราะชัง)
ไม่ถึงโมหาคติ(ลำเอียงเพราะหลง) ไม่ถึงภยาคติ(ลำเอียงเพราะกลัว) ไม่ดำเนินไป
ด้วยอำนาจราคะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจโทสะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจโมหะ ไม่
ดำเนินไปด้วยอำนาจมานะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจทิฏฐิ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจ
อุทธัจจะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจวิจิกิจฉา ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจอนุสัย ได้แก่
ไม่ไป ไม่ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไป ด้วยธรรมที่ก่อความเป็นฝักเป็นฝ่าย
บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่ถึง เป็นอย่างนี้
บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ เพราะไม่กลับมาหา เป็นอย่างไร
คือ กิเลสเหล่าใดอริยบุคคลละได้แล้ว ด้วยโสดาปัตติมรรค อริยบุคคลนั้นก็
ย่อมไม่มา ไม่กลับมา ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก กิเลสเหล่าใด อริยบุคคลละ
ได้แล้วด้วยสกทาคามิมรรค ... ด้วยอนาคามิมรรค ... ด้วยอรหัตตมรรค อริยบุคคล
นั้นก็ย่อมไม่มา ไม่กลับมา ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก บุคคลชื่อว่าผู้นาคะ
เพราะไม่กลับมาหา เป็นอย่างนี้
คำว่า บุคคลผู้นาคะ ... ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น อธิบายว่า บุคคลผู้
นาคะ ไม่พึงพูดจา คือ ไม่พึงพูด กล่าว แสดง ชี้แจง ยึด จับ ถือ ยึดมั่น
ถือมั่นทิฏฐิเหล่านั้น ได้แก่ ไม่พึงพูดจา คือ ไม่พึงพูด กล่าว แสดง ชี้แจงว่า “โลกเที่ยง
... โลกไม่เที่ยง ... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า บุคคลผู้นาคะ ... ไม่พึงพูดจา
ยึดถือทิฏฐิเหล่านั้น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๘/๔๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๓๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
คำว่า ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม
ฉันใด อธิบายว่า น้ำ ตรัสเรียกว่า เอละ น้ำ ตรัสเรียกว่า อัมพุ ดอกบัว ตรัส
เรียกว่า อัมพุชะ ก้านขรุขระ ตรัสเรียกว่ามีหนาม น้ำ ตรัสเรียกว่า วารี ดอกบัว
เกิดในน้ำ ตรัสเรียกว่า วาริชะ น้ำ ตรัสเรียกว่า ชละ เปือกตมตรัสเรียกว่า โคลนตม
ดอกบัวเกิดในน้ำ อยู่ในน้ำ (แต่) ไม่ติด ไม่ติดแน่น ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม
คือ ไม่ถูกน้ำและโคลนตมติดแล้ว ติดแน่นแล้ว แปดเปื้อนแล้ว ฉันใด รวมความว่า
ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม ฉันใด
คำว่า ฉันนั้น ในคำว่า มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี ไม่แปดเปื้อน
ในกามและโลก ฉันนั้น เป็นคำอุปไมยที่ทำอุปมาให้สมบูรณ์
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ ... ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง
และตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี
คำว่า ผู้กล่าวเรื่องความสงบ อธิบายว่า มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ คือ
กล่าวเรื่องที่ป้องกัน กล่าวเรื่องที่หลีกเร้น กล่าวเรื่องที่พึ่ง กล่าวเรื่องที่ไม่มีภัย
กล่าวเรื่องที่ไม่คลาดเคลื่อน กล่าวเรื่องอมตธรรม กล่าวเรื่องนิพพาน รวมความว่า
มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ... ฉันนั้น
คำว่า ไม่ยินดี อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความยินดี คือ ความกำหนัด
ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑
ตัณหาที่ตรัสเรียกว่าความยินดีนั้น มุนีใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้
สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว มุนีนั้น
ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่ยินดี คือ ผู้ไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่สยบ ไม่หมกมุ่นในรูป ... เสียง ...
กลิ่น ... รส... โผฏฐัพพะ ... ตระกูล ... หมู่คณะ ... อาวาส ... ลาภ ... ยศ ... สรรเสริญ
... สุข ... จีวร ... บิณฑบาต ... เสนาสนะ ... คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ... กามธาตุ ...
รูปธาตุ ... อรูปธาตุ ... กามภพ ... รูปภพ ... อรูปภพ ... สัญญาภพ ... อสัญญาภพ
... เนวสัญญานาสัญญาภพ ... เอกโวการภพ ... จตุโวการภพ ... ปัญจโวการภพ ...
อดีต ... อนาคต ... ปัจจุบัน คือผู้ไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่สยบ ไม่หมกมุ่นในรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ได้แก่ เป็นผู้คลาย
ความยินดีแล้ว ปราศจากความยินดีแล้ว สละความยินดีแล้ว คายความยินดีแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๓๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
ปล่อยความยินดีแล้ว ละความยินดีแล้ว สลัดทิ้งความยินดีแล้ว คือ เป็นผู้คลาย
ความกำหนัดแล้ว ปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว
ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว เป็นผู้หมดความอยากแล้ว เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้เย็น
แล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี
อย่างนี้
คำว่า ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม
(๒) กิเลสกาม ... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม ... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า แปดเปื้อน ได้แก่ ความแปดเปื้อน ๒ อย่าง คือ (๑) ความแปดเปื้อน
ด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความแปดเปื้อนด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความแปดเปื้อน
ด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าความแปดเปื้อนด้วยอำนาจทิฏฐิ๒
มุนีละความแปดเปื้อนด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความแปดเปื้อนด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว ย่อมไม่ติด ไม่ติดแน่น ไม่แปดเปื้อนในกามและในโลก คือ เป็นผู้
ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิติด ติดแน่น แปดเปื้อน ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว
ไม่เกี่ยวข้อง(ในกามและในโลก)แล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า มุนีผู้
กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก ฉันนั้น ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลผู้นาคะสงัดจากทิฏฐิเหล่าใด
พึงเที่ยวไปในโลก ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น
ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ
ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม ฉันใด
มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี
ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๑-๒
๒ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๔๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
[๘๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ
ไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้
มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป
มุนีนั้นไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไปในที่อาศัยทั้งหลาย
คำว่า ไม่ ในคำว่า มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ ไม่ถึงความถือตัว
ด้วยอารมณ์ที่รับรู้ เป็นคำปฏิเสธ
คำว่า ผู้จบเวท อธิบายว่า ญาณในมรรค ๔ ตรัสเรียกว่า เวท คือ ปัญญา
ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญาเครื่องพิจารณา ปัญญาเครื่อง
เห็นแจ้ง สัมมาทิฏฐิ
มุนีนั้น ถึงที่สุด บรรลุที่สุด ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงปลายสุด บรรลุปลายสุด
ถึงท้ายสุด บรรลุท้ายสุด ถึงที่ปกป้อง บรรลุที่ปกป้อง ถึงที่หลีกเร้น บรรลุที่หลีกเร้น
ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึง ถึงที่ไม่มีภัย บรรลุที่ไม่มีภัย ถึงที่ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงที่ไม่ตาย
บรรลุที่ไม่ตาย ถึงที่ดับ บรรลุที่ดับแห่งชาติ ชราและมรณะ ด้วยเวทเหล่านั้น
อีกนัยหนึ่ง มุนีนั้น ชื่อว่าผู้จบเวท เพราะถึงที่สุดแห่งเวททั้งหลายแล้ว
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าผู้จบเวท เพราะถึงที่สุดด้วยเวททั้งหลายแล้ว
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าผู้จบเวท เพราะรู้แจ้งธรรม ๗ ประการแล้ว คือ

๑. รู้แจ้งสักกายทิฏฐิ ๒. รู้แจ้งวิจิกิจฉา
๓. รู้แจ้งสีลัพพตปรามาส ๔. รู้แจ้งราคะ
๕. รู้แจ้งโทสะ ๖. รู้แจ้งโมหะ
๗. รู้แจ้งมานะแล้ว

มุนีนั้นเป็นผู้รู้แจ้งบาปอกุศลธรรม ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๔๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สภิยะ)
บุคคลวิจัยเวททั้งหมดของสมณพราหมณ์ที่มีอยู่
เป็นผู้ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง
ก้าวล่วงเวททั้งปวงแล้ว ชื่อว่าผู้จบเวท๑
คำว่า ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒ มุนีนั้น ละได้แล้ว คือ
ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือ
ญาณแล้ว มุนีนั้น ไม่ไป ไม่ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไป ด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่กลับมา
ไม่หวนกลับมาหาทิฏฐินั้น โดยเห็นเป็นสาระอีก รวมความว่า มุนีผู้จบเวทนั้น
ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ
คำว่า มุนีนั้นย่อมไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้ อธิบายว่า มุนีนั้น
ย่อมไม่ถึง คือ ไม่เข้าถึง ไม่เข้าไปหา ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ความถือตัว ด้วย
รูปที่รู้แล้ว ด้วยเสียงบอกเล่าของผู้อื่น หรือด้วยสมมติของมหาชน รวมความว่า
มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ ไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้
คำว่า มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น อธิบายว่า มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและ
ทิฏฐินั้น คือ ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้นเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้นเป็นที่ไปใน
เบื้องหน้า ด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ ตัณหา ทิฏฐิ และมานะ มุนีนั้นละ
ได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่
พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ด้วยเหตุใด มุนีนั้น ก็ชื่อว่าไม่มีตัณหาและ
ทิฏฐินั้น คือ ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้นเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้นเป็นที่ไปใน
เบื้องหน้า ด้วยเหตุนั้น รวมความว่า มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น
คำว่า ไม่ถูกกรรม ในคำว่า ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป อธิบายว่า มุนี ไม่ไป
คือ ไม่ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไป ด้วยปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร หรือ
อาเนญชาภิสังขาร รวมความว่า ไม่ถูกกรรม

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๕๓๕/๔๓๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๔๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่ถูก ... และสุตะนำไป อธิบายว่า มุนี ไม่ไป คือ ไม่ออกไป ไม่ถูก
พาไป ไม่ถูกนำไป ด้วยความหมดจดด้วยสุตะ ด้วยเสียงบอกเล่าของผู้อื่น หรือด้วย
การสมมติของมหาชน รวมความว่า ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป
คำว่า มุนีนั้นไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไปในที่อาศัยทั้งหลาย อธิบายว่า
คำว่า การนำเข้าไป ได้แก่ การนำเข้าไป ๒ อย่าง คือ (๑) การนำเข้าไปด้วย
อำนาจตัณหา (๒) การนำเข้าไปด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการนำเข้าไปด้วยอำนาจ
ตัณหา ... นี้ชื่อว่าการนำเข้าไปด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
มุนีนั้นละการนำเข้าไปด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการนำเข้าไปด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการนำเข้าไปด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการนำ
เข้าไปด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว มุนีนั้น ชื่อว่าไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไป คือ ไม่เข้า
ไปติด ไม่เข้าไปถึง ไม่ติดใจ ไม่น้อมใจเชื่อ ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว
ไม่เกี่ยวข้องในที่อาศัยทั้งหลายแล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า
มุนีนั้น ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไปในที่อาศัยทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี
พระภาคจึงตรัสว่า
มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ
ไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้
มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป
มุนีนั้นไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไปในที่อาศัยทั้งหลาย
[๘๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีผู้เว้นจากสัญญาแล้ว ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
มุนีผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีความลุ่มหลง
ชนเหล่าใดยังถือสัญญาและทิฏฐิ
ชนเหล่านั้น ย่อมเที่ยวกระทบกระทั่งกันในโลก

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๔๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
คำว่า มุนีเว้นจากสัญญาแล้ว ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด อธิบายว่า
ผู้ใดเจริญอริยมรรค ที่มีสมถะเป็นเบื้องต้น ผู้นั้น ย่อมข่มกิเลสเครื่องร้อยรัดแล้ว
ตั้งแต่ต้น เมื่อบรรลุอรหัตตผลแล้ว พระอรหันต์ย่อมละได้เด็ดขาดทั้งกิเลสเครื่อง
ร้อยรัด โมหะ นิวรณ์ กามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญาและทิฏฐิสัญญา
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ รวมความว่า มุนีผู้เว้นจากสัญญาแล้ว ย่อมไม่มีกิเลสเครื่อง
ร้อยรัด
คำว่า มุนีผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีความลุ่มหลง อธิบายว่า ผู้ใด
เจริญอริยมรรค ที่มีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น ผู้นั้น ย่อมข่มความลุ่มหลงได้ตั้งแต่ต้น
เมื่อบรรลุอรหัตตผลแล้ว พระอรหันต์ย่อมละได้เด็ดขาดทั้งโมหะ กิเลสเครื่องร้อยรัด
นิวรณ์ กามสัญญา พยาบาทสัญญา วิหิงสาสัญญา และทิฏฐิสัญญา ตัดรากถอน
โคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้น
ต่อไปไม่ได้ รวมความว่า มุนีผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีความลุ่มหลง
คำว่า ชนเหล่าใดยังถือสัญญาและทิฏฐิ ชนเหล่านั้นย่อมเที่ยวกระทบ
กระทั่งกันในโลก อธิบายว่า ชนเหล่าใด ถือสัญญา คือ กามสัญญา พยาบาท-
สัญญา วิหิงสาสัญญา ชนเหล่านั้น ย่อมกระทบกระทั่งกัน คือ ทำร้ายกัน ด้วย
อำนาจสัญญา กล่าวคือ พระราชาทรงวิวาทกับพระราชาก็ได้ กษัตริย์วิวาทกับ
กษัตริย์ก็ได้ พราหมณ์วิวาทกับพราหมณ์ก็ได้ คหบดีวิวาทกับคหบดีก็ได้ มารดา
วิวาทกับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับมารดาก็ได้ บิดาวิวาทกับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับ
บิดาก็ได้ พี่ชายน้องชายวิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ พี่สาวน้องสาววิวาทกับพี่สาว
น้องสาวก็ได้ พี่ชายน้องชายวิวาทกับพี่สาวน้องสาวก็ได้ พี่สาวน้องสาววิวาทกับพี่
ชายน้องชายก็ได้ สหายวิวาทกับสหายก็ได้ ชนเหล่านั้น ก่อการทะเลาะ ก่อการ
บาดหมาง ก่อการแก่งแย่ง และก่อการวิวาทกัน ก่อการมุ่งร้ายเพราะสัญญานั้น
ก็ทำร้ายกันด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง
เพราะทำร้ายกันนั้น ชนเหล่านั้นก็เข้าถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง ชนเหล่าใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๔๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๙. มาคันทิยสุตตนิทเทส
ถือทิฏฐิว่า “โลกเที่ยง ... หรือ หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่
เกิดอีกก็มิใช่” ชนเหล่านั้น ย่อมกระทบกระทั่งกัน คือ ทำร้ายกัน ด้วยอำนาจทิฏฐิ
ได้แก่กระทบกระทั่ง คือ ทำร้ายศาสดาโดยศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอนโดย
ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะโดยหมู่คณะ ทิฏฐิโดยทิฏฐิ ปฏิปทาโดยปฏิปทา
มรรคโดยมรรค
อีกนัยหนึ่ง ชนเหล่านั้น ย่อมวิวาทกัน คือ ก่อการทะเลาะ ก่อการบาดหมาง
ก่อการแก่งแย่ง ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้ายกันว่า “ท่านไม่รู้จักธรรมวินัยนี้ ... หรือ
หากท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด” ชนเหล่านั้น ยังละอภิสังขารไม่ได้ เพราะยังละ
อภิสังขารไม่ได้ จึงกระทบกระทั่งกันในคติ กระทบกระทั่งกันในนรก กระทบกระทั่ง
กันในกำเนิดเดรัจฉาน กระทบกระทั่งกันในเปตวิสัย กระทบกระทั่งกันในมนุษยโลก
กระทบกระทั่งกันในเทวโลก กระทบกระทั่งกัน คือ ทำร้ายคติด้วยคติ ... การถือ
กำเนิดด้วยการถือกำเนิด ... ปฏิสนธิด้วยปฏิสนธิ ... ภพด้วยภพ ... สงสารด้วยสงสาร
... วัฏฏะด้วยวัฏฏะ ได้แก่ เที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป
ยังชีวิตให้ดำเนินไป กระทบกระทั่งกัน
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า ชนเหล่าใดยังถือสัญญาและทิฏฐิ ชนเหล่านั้นย่อมเที่ยว
กระทบกระทั่งกันในโลก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีผู้เว้นจากสัญญาแล้ว ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
มุนีผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีความลุ่มหลง
ชนเหล่าใดยังถือสัญญาและทิฏฐิ
ชนเหล่านั้นย่อมเที่ยวกระทบกระทั่งกันในโลก
มาคันทิยสุตตนิทเทสที่ ๙ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๔๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส๑
อธิบายปุราเภทสูตร
ว่าด้วยก่อนการดับขันธปรินิพพาน
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายปุราเภทสูตร ดังต่อไปนี้
[๘๓] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
บุคคลมีทัสสนะ๒อย่างไร มีศีลอย่างไร
จึงเรียกว่า เป็นผู้สงบแล้ว
ข้าแต่พระโคตมะ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกนรชนผู้สูงสุดนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด

ว่าด้วยคำถามของพระพุทธเนรมิต
คำว่า มีทัสสนะอย่างไร ในคำว่า บุคคลมีทัสสนะอย่างไร มีศีลอย่างไร
จึงเรียกว่า เป็นผู้สงบแล้ว อธิบายว่า บุคคลประกอบด้วยทัสสนะอย่างไร คือ มี
จุดยืนอย่างไร มีท่าทีอย่างไร มีแนวเทียบอย่างไร รวมความว่า มีทัสสนะอย่างไร
คำว่า มีศีลอย่างไร อธิบายว่า บุคคลประกอบด้วยศีลอย่างไร คือ มีจุดยืน
อย่างไร มีท่าทีอย่างไร มีแนวเทียบอย่างไร รวมความว่า มีทัสสนะอย่างไร มีศีล
อย่างไร
คำว่า จึงเรียกว่า เป็นผู้สงบแล้ว อธิบายว่า จึงตรัสเรียก คือ กล่าว พูด
บอก แสดง ชี้แจงว่า เป็นผู้สงบแล้ว ระงับแล้ว เย็นแล้ว สงัดแล้ว พระพุทธเนรมิต
ทูลถามถึงอธิปัญญาด้วยคำว่า มีทัสสนะอย่างไร ทูลถามถึงอธิสีลด้วยคำว่า
มี�ศีลอย่างไร ทูลถามถึงอธิจิตด้วยคำว่า เป็นผู้สงบแล้ว รวมความว่า บุคคลมี
ทัสสนะอย่างไร มีศีลอย่างไร จึงเรียกว่า เป็นผู้สงบแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๘๕๕-๘๖๘/๕๐๑-๕๐๓
๒ ทัสสนะ ในที่นี้หมายถึง อธิปัญญา
ศีล ในที่นี้หมายถึง อธิสีล
สงบ ในที่นี้หมายถึง อธิจิต (ขุ.สุ.อ. ๘๕๕/๓๘๘, ขุ.ม.อ. ๘๓/๓๑๕) และดู ขุ.สุ. ๒๕/๓๖๒/๔๐๒,
ขุ.สุ.อ. ๓๖๒/๑๗๐ ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๔๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
คำว่า นรชนนั้น ในคำว่า ข้าแต่พระโคตมะ ขอพระองค์โปรดตรัสบอก
นรชน ... นั้น แก่ข้าพระองค์เถิด อธิบายว่า ข้าพระองค์ทูลถาม ทูลขอ
ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศ นรชนใด พระพุทธเนรมิตเรียกพระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าโดยพระโคตรว่า พระโคตมะ
คำว่า โปรดตรัสบอก อธิบายว่า โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ทรงประกาศ รวมความว่า ข้าแต่พระโคตมะ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกนรชน ... นั้น แก่ข้าพระองค์เถิด
คำว่า ทูลถามแล้ว ในคำว่า ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ... นรชนผู้สูงสุด
อธิบายว่า ข้าพระองค์ทูลสอบถาม ทูลถามแล้ว ทูลขอแล้ว ทูลอัญเชิญแล้ว ทูลให้
ทรงประกาศแล้ว
คำว่า นรชนผู้สูงสุด อธิบายว่า นรชนผู้ยอดเยี่ยม ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า
สูงสุด ประเสริฐสุด รวมความว่า ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ... นรชนผู้สูงสุด ด้วย
เหตุนั้น พระพุทธเนรมิตนั้นจึงทูลถามว่า
บุคคลมีทัสสนะอย่างไร มีศีลอย่างไร
จึงเรียกว่า เป็นผู้สงบแล้ว
ข้าแต่พระโคตมะ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกนรชนผู้สูงสุดนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด
[๘๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ก่อนดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์เป็นผู้คลายตัณหา
ไม่ติดอยู่กับความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น
ใคร ๆ กำหนดไม่ได้ในส่วนท่ามกลาง
พระอรหันต์นั้นมิได้มุ่งหวังถึงตัณหาและทิฏฐิ(ในส่วนเบื้องปลาย)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๔๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
อธิบายคำว่า ภควา
คำว่า ก่อนดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์เป็นผู้คลายตัณหา อธิบายว่า
ก่อนกายแตก ก่อนอัตภาพแตก ก่อนการทิ้งซากศพ ก่อนการขาดชีวิตินทรีย์
พระอรหันต์เป็นผู้คลายตัณหาแล้ว คือ ปราศจากตัณหาแล้ว สละตัณหาได้แล้ว
คายตัณหาได้แล้ว ปล่อยตัณหาได้แล้ว ละตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งตัณหาได้แล้ว คือ
เป็นผู้คลายความกำหนัดแล้ว ปราศจากราคะแล้ว สละราคะได้แล้ว คายราคะ
ได้แล้ว ปล่อยราคะได้แล้ว ละราคะได้แล้ว สลัดทิ้งราคะได้แล้ว เป็นผู้หมดความ
อยากแล้ว เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโทสะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโมหะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายมานะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายทิฏฐิได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายเสี้ยนหนามได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายกิเลสได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงจำแนก แยกแยะ แจกแจงธรรมรัตนะ
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำที่สุดแห่งภพได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมพระวรกายแล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงใช้สอยเสนาสนะที่เป็นป่าละเมาะและป่าทึบ
อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็น
สถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส
อธิสีล อธิจิต อธิปัญญา จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๔๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔
อรูปสมาบัติ ๔ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ ๘
อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๑๐ กสิณ-
สมาบัติ ๑๐ อานาปานสติสมาธิ อสุภสมาบัติ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ จึงชื่อว่าพระ
ผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ ๑๐ เวสารัชช-
ญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
พระนามว่า พระผู้มีพระภาค นี้ มิใช่พระชนนีทรงตั้ง มิใช่พระชนกทรงตั้ง
มิใช่พระภาดาทรงตั้ง มิใช่พระภคินีทรงตั้ง มิใช่มิตรและอำมาตย์ตั้ง มิใช่พระญาติ
และผู้ร่วมสายโลหิตทรงตั้ง มิใช่สมณพราหมณ์ตั้ง มิใช่เทวดาตั้ง
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม เป็นสัจฉิกาบัญญัติ ของ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมกับการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่โคน
ต้นโพธิ์ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้ ก่อนดับขันธปรินิพพาน
พระอรหันต์เป็นผู้คลายตัณหา
คำว่า ไม่ติดอยู่กับความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น อธิบายว่า
อดีตกาล ตรัสเรียกว่า ส่วนเบื้องต้น พระอรหันต์ปรารภอดีตกาล ละตัณหาได้แล้ว
สลัดทิ้งทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละตัณหา สลัดทิ้งทิฏฐิได้แล้ว พระอรหันต์จึงชื่อว่า
ไม่ติดอยู่กับความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระอรหันต์ย่อมไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า
“ในอดีตกาล เราได้มีรูปอย่างนี้ ... มีเวทนาอย่างนี้ ... มีสัญญาอย่างนี้ ... มีสังขาร
อย่างนี้” ... พระอรหันต์ย่อมไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า
“ในอดีตกาล เราได้มีวิญญาณอย่างนี้” พระอรหันต์จึงชื่อว่าไม่ติดอยู่กับความ
เพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้นอย่างนี้บ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๔๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระอรหันต์ย่อมไม่มีวิญญาณเกี่ยวเนื่องด้วยฉันทราคะที่มีอยู่ก่อน
นั้นว่า ในอดีตกาล เราได้มีตาเช่นนี้ เห็นรูปเช่นนี้ จึงไม่เพลิดเพลินตาและรูปนั้น
เพราะเป็นผู้ไม่มีวิญญาณเกี่ยวเนื่องด้วยฉันทราคะ พระอรหันต์ จึงชื่อว่าไม่ติดอยู่กับ
ความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น เพราะไม่ใยดีในตาและรูปนั้น อย่างนี้บ้าง
พระอรหันต์ไม่มีวิญญาณเกี่ยวเนื่องด้วยฉันทราคะที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า ในอดีตกาล
เราได้มีหูเช่นนี้ ได้ยินเสียงเช่นนี้ ... เราได้มีจมูกเช่นนี้ ได้กลิ่นเช่นนี้ ... เราได้มีลิ้นเช่นนี้
รู้รสเช่นนี้ ... เราได้มีกายเช่นนี้ สัมผัสกับโผฏฐัพพะเช่นนี้ ... พระอรหันต์ย่อมไม่มี
วิญญาณเกี่ยวเนื่องด้วยฉันทราคะที่มีอยู่ก่อนนั้นว่า ในอดีตกาลเราได้มีใจเช่นนี้
รู้ธรรมารมณ์เช่นนี้ จึงไม่เพลิดเพลินอายตนะภายในและอายตนะภายนอกนั้น เพราะ
ไม่มีวิญญาณเกี่ยวเนื่องด้วยฉันทราคะ พระอรหันต์ จึงชื่อว่าไม่ติดอยู่กับความ
เพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น เพราะไม่ใยดีในใจและธรรมารมณ์นั้น อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระอรหันต์ย่อมไม่ชื่นใจ ไม่ใยดี ไม่ถึงความปลาบปลื้มใจ ด้วย
การหัวเราะ การพูดจา การปราศรัย และการเล่นหัวกับมาตุคาม ในครั้งก่อน แม้
ด้วยประการอย่างนี้ พระอรหันต์จึงชื่อว่าไม่ติดอยู่กับความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วน
เบื้องต้น
คำว่า ใคร ๆ กำหนดไม่ได้ในส่วนท่ามกลาง อธิบายว่า ปัจจุบันกาล ตรัส
เรียกว่า ส่วนท่ามกลาง พระอรหันต์ปรารภปัจจุบันกาล ละตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้ง
ทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละตัณหา สลัดทิ้งทิฏฐิได้แล้ว ใคร ๆ จึงกำหนดไม่ได้ว่า
เป็นผู้กำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง เป็นผู้หลง เป็นผู้ยึดติด เป็นผู้ยึดมั่น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน
เป็นผู้ลังเล เป็นผู้ตกอยู่ในพลังกิเลส
พระอรหันต์ละอภิสังขารเหล่านั้นได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละอภิสังขารได้แล้ว ใคร ๆ
จึงกำหนดไม่ได้โดยคติว่า “เป็นผู้เกิดในนรก เป็นผู้เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เป็นผู้เกิด
ในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา เป็นผู้ไม่มี
สัญญา หรือเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่” พระอรหันต์นั้นจะพึงกำหนด
ด้วยเหตุ ปัจจัย และการณ์ใด เหตุ ปัจจัย และการณ์นั้นไม่มี รวมความว่า ใคร ๆ
กำหนดไม่ได้ในส่วนท่ามกลาง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๕๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความมุ่งหวัง ๒ อย่าง
คำว่า นั้น ในคำว่า พระอรหันต์นั้นมิได้มุ่งหวังตัณหาและทิฏฐิ(ในส่วน
เบื้องปลาย) ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ความมุ่งหวังตัณหาและทิฏฐิ(ในส่วนเบื้องปลาย) ได้แก่ ความมุ่ง
หวังในส่วนเบื้องปลาย ๒ อย่าง คือ (๑) ความมุ่งหวังด้วยอำนาจตัณหาในส่วน
เบื้องปลาย (๒) ความมุ่งหวังด้วยอำนาจทิฏฐิในส่วนเบื้องปลาย ... นี้ชื่อว่าความมุ่ง
หวังด้วยอำนาจตัณหาในส่วนเบื้องปลาย ... นี้ชื่อว่าความมุ่งหวังด้วยอำนาจทิฏฐิใน
ส่วนเบื้องปลาย
พระอรหันต์นั้นละความมุ่งหวังด้วยอำนาจตัณหาในส่วนเบื้องปลายได้แล้ว
สลัดทิ้งความมุ่งหวังด้วยอำนาจทิฏฐิในส่วนเบื้องปลายได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละความ
มุ่งหวังด้วยอำนาจตัณหาในส่วนเบื้องปลาย สลัดทิ้งความมุ่งหวังด้วยอำนาจทิฏฐิใน
ส่วนเบื้องปลายได้แล้ว พระอรหันต์จึงไม่เที่ยวมุ่งหวังตัณหาหรือทิฏฐิ คือไม่มีตัณหา
เป็นธงชัย ไม่มีตัณหาเป็นยอดธง ไม่มีตัณหาเป็นใหญ่ ไม่มีทิฏฐิเป็นธงชัย ไม่มีทิฏฐิ
เป็นยอดธง ไม่มีทิฏฐิเป็นใหญ่ ไม่ถูกตัณหาหรือทิฏฐิครอบงำเที่ยวไป รวมความว่า
พระอรหันต์นั้นมิได้มุ่งหวังตัณหาและทิฏฐิ(ในส่วนเบื้องปลาย)
อีกนัยหนึ่ง พระอรหันต์ย่อมไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินในเบญจขันธ์ว่า
“ในอนาคตกาล เราพึงมีรูปอย่างนี้ ... มีเวทนาอย่างนี้ ... มีสัญญาอย่างนี้ ...
มีสังขารอย่างนี้” ... พระอรหันต์ย่อมไม่ดำเนินไปตามความเพลิดเพลินในเบญจขันธ์ว่า
“ในอนาคตกาล เราพึงมีวิญญาณอย่างนี้” พระอรหันต์นั้นจึงชื่อว่าไม่มีความมุ่งหวัง
เบญจขันธ์ในอนาคตกาล อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระอรหันต์ย่อมไม่ตั้งใจเพื่อให้ได้ตาและรูปที่ยังไม่ได้ว่า “ใน
อนาคตกาล เราพึงมีตาเช่นนี้ เห็นรูปเช่นนี้” เพราะไม่มีความตั้งใจเช่นนั้นเป็นปัจจัย
พระอรหันต์จึงไม่เพลิดเพลินตาและรูปนั้น เมื่อไม่เพลิดเพลินตาและรูปนั้น พระ
อรหันต์นั้นจึงไม่มีความมุ่งหวังในอนาคตกาล อย่างนี้บ้าง
พระอรหันต์ย่อมไม่ตั้งใจเพื่อให้ได้หูและเสียงที่ยังไม่ได้ว่า “ในอนาคตกาล เรา
พึงมีหูเช่นนี้ ได้ยินเสียงเช่นนี้ ... ในอนาคตกาล เราพึงมีจมูกเช่นนี้ ได้กลิ่นเช่นนี้...
ในอนาคตกาล เราพึงมีลิ้นเช่นนี้ รู้รสเช่นนี้ ... ในอนาคตกาล เราพึงมีกายเช่นนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๕๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
สัมผัสโผฏฐัพพะเช่นนี้” ... ไม่ตั้งใจเพื่อให้ได้ใจและธรรมารมณ์ที่ยังไม่ได้ว่า “ใน
อนาคตกาล เราพึงมีใจเช่นนี้ รู้ธรรมารมณ์เช่นนี้” เพราะไม่มีความตั้งใจเช่นนั้นเป็น
ปัจจัย พระอรหันต์จึงไม่เพลิดเพลินใจและธรรมารมณ์นั้น เมื่อไม่เพลิดเพลินใจและ
ธรรมารมณ์นั้น พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีความมุ่งหวังในอนาคตกาล อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระอรหันต์ย่อมไม่ตั้งใจเพื่อให้ได้ภพที่ยังไม่ได้ว่า “เราจักเป็น
เทพเจ้า หรือเทวดาตนใดตนหนึ่งด้วยศีล วัตร ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้” เพราะการ
ไม่ตั้งใจเช่นนั้นเป็นปัจจัย พระอรหันต์จึงไม่เพลิดเพลินภพนั้น เมื่อไม่เพลิดเพลิน
ภพนั้น พระอรหันต์จึงไม่มีความมุ่งหวังในอนาคตกาล อย่างนี้บ้าง
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ก่อนดับขันธปรินิพพาน พระอรหันต์เป็นผู้คลายตัณหา
ไม่ติดอยู่กับความเพลิดเพลินที่มีอยู่ในส่วนเบื้องต้น
ใคร ๆ กำหนดไม่ได้ในส่วนท่ามกลาง
พระอรหันต์นั้นมิได้มุ่งหวังถึงตัณหาและทิฏฐิ(ในส่วนเบื้องปลาย)
[๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง ไม่โอ้อวด
ไม่คะนอง พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
เป็นผู้สำรวมวาจา นั้นแล ชื่อว่าเป็นมุนี

ว่าด้วยเหตุเกิดความโกรธ ๑๐ อย่าง
คำว่า ผู้ไม่โกรธ ในคำว่า ผู้ไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง กล่าวไว้แล้วข้างต้น อนึ่ง
ควรกล่าวถึงความโกรธก่อน ความโกรธ ย่อมเกิดได้เพราะเหตุ ๑๐ อย่าง คือ
๑. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา
๒. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา
๓. เพราะสำคัญว่า ผู้นี้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา
๔. ... ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา
๕. ... ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา
๖. ... ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๕๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
๗. ... ผู้นี้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรา
๘. ... ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของ
เรา
๙. ... ผู้นี้จักทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบพอของเรา
๑๐. ความโกรธเกิดขึ้นในฐานะอันไม่สมควร
ใจปองร้าย มุ่งร้าย ขัดเคือง ขุ่นเคือง เคือง เคืองมาก เคืองตลอด ชัง ชิงชัง
เกลียดชัง ใจพยาบาท ใจแค้นเคือง ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ ความคิด
ประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย ความคิดปองร้าย กิริยา
ที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย ความโกรธ ความแค้น ความดุร้าย ความ
เกรี้ยวกราด ความไม่แช่มชื่นแห่งจิตเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความโกรธ
อีกนัยหนึ่ง พึงทราบความโกรธมาก ความโกรธน้อย บางครั้งความโกรธ
เพียงทำให้ใจขุ่นมัว ยังไม่ถึงกับหน้าเง้าหน้างอก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้
หน้าเง้าหน้างอ แต่ยังไม่ถึงกับคางสั่นก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้คางสั่น แต่
ยังไม่ถึงกับพูดคำหยาบก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้พูดคำหยาบ แต่ยังไม่ถึง
กับตาขวางมองทิศมองทางก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้ตาขวางมองทิศ
มองทาง แต่ยังไม่ถึงกับคว้าไม้คว้ามีดก็มี บางครั้งความโกรธเพียงทำให้คว้าไม้
คว้ามีด แต่ยังไม่ถึงกับเงือดเงื้อไม้และมีด(ที่ถือไว้)ก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแค่
ทำให้เงือดเงื้อไม้และมีด แต่ยังไม่ถึงกับลงมือฟาดฟันก็มี บางครั้งความโกรธเพียง
แต่ฟาดฟัน แต่ยังไม่ถึงกับทำให้เกิดบาดแผลก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่ทำให้
เกิดบาดแผล แต่ยังไม่ถึงกับทำให้กระดูกหักก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่ทำให้
กระดูกหัก แต่ยังไม่ถึงกับทำให้อวัยวะขาดหลุดไปก็มี บางครั้งความโกรธเพียงแต่
ทำให้อวัยวะขาดหลุดไป แต่ยังไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิตก็มี บางครั้งความโกรธเพียง
แต่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แต่ยังไม่ถึงกับทำให้ดำรงอยู่เพื่อฆ่าตนเองก็มี เมื่อใด ความ
โกรธทำให้ฆ่าบุคคลอื่นแล้วฆ่าตนเองเสียด้วย เมื่อนั้น ความโกรธเป็นไปรุนแรงมาก
ถึงความเป็นสิ่งร้ายแรงอย่างยิ่ง ความโกรธนั้น ผู้ใด ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น
ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่โกรธ บุคคลชื่อว่าผู้ไม่โกรธ เพราะละความโกรธได้แล้ว บุคคล
ชื่อว่าผู้ไม่โกรธ เพราะกำหนดรู้วัตถุแห่งความโกรธได้แล้ว บุคคลชื่อว่าผู้ไม่โกรธ
เพราะตัดเหตุแห่งความโกรธได้แล้ว รวมความว่า ผู้ไม่โกรธ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๕๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยผู้ไม่สะดุ้ง
คำว่า ไม่สะดุ้ง อธิบายว่า ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สะดุ้ง หวาดเสียว
หวั่นหวาด เธอย่อมสะดุ้ง หวาดเสียว หวั่นหวาด กลัว ถึงความสะดุ้งว่า เราไม่ได้
ตระกูล ไม่ได้หมู่คณะ ไม่ได้อาวาส ไม่ได้ลาภ ไม่ได้ยศ ไม่ได้สรรเสริญ ไม่ได้สุข
ไม่ได้จีวร ไม่ได้บิณฑบาต ไม่ได้เสนาสนะ ไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือไม่ได้
ผู้พยาบาลเวลาเจ็บป่วย ย่อมสะดุ้ง หวาดเสียว หวั่นหวาด กลัว ถึงความสะดุ้งว่า
“เราเป็นผู้ไม่มีชื่อเสียงปรากฏ”
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่สะดุ้ง ไม่หวาดเสียว ไม่หวั่นหวาด เธอย่อมไม่
สะดุ้ง ไม่หวาดเสียว ไม่หวั่นหวาด ไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งว่า เราไม่ได้ตระกูล
ไม่ได้หมู่คณะ ไม่ได้อาวาส ไม่ได้ลาภ ไม่ได้ยศ ไม่ได้สรรเสริญ ไม่ได้สุข ไม่ได้จีวร
ไม่ได้บิณฑบาต ไม่ได้เสนาสนะ ไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือไม่ได้ผู้พยาบาล
เวลาเจ็บป่วย ย่อมไม่สะดุ้ง ไม่หวาดเสียว ไม่หวั่นหวาด ไม่กลัว ไม่ถึงความ
สะดุ้งว่า “เราเป็นผู้ไม่มีชื่อเสียงปรากฏ” รวมความว่า ผู้ไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง

ว่าด้วยผู้ไม่โอ้อวด
คำว่า ไม่โอ้อวด ไม่คะนอง อธิบายว่า ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อวด
เป็นผู้โอ้อวด เธอย่อมอวด โอ้อวดว่า “เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลบ้าง สมบูรณ์ด้วย
วัตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยศีลวัตรบ้าง สมบูรณ์ด้วยชาติบ้าง สมบูรณ์ด้วยโคตรบ้าง
สมบูรณ์ด้วยความเป็นบุตรของผู้มีตระกูลบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้มีรูปงามบ้าง
สมบูรณ์ด้วยทรัพย์บ้าง สมบูรณ์ด้วยการศึกษาบ้าง สมบูรณ์ด้วยหน้าที่การงานบ้าง
สมบูรณ์ด้วยหลักแห่งศิลปวิทยาบ้าง สมบูรณ์ด้วยวิทยฐานะบ้าง สมบูรณ์ด้วยความ
เป็นผู้คงแก่เรียนบ้าง สมบูรณ์ด้วยปฏิภาณบ้าง สมบูรณ์ด้วยสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าว
มาแล้วบ้าง ออกบวชจากตระกูลสูงบ้าง ออกบวชจากตระกูลใหญ่บ้าง ออกบวชจาก
ตระกูลมีทรัพย์มากบ้าง ออกบวชจากตระกูลมีโภคสมบัติมากบ้าง เป็นผู้มีชื่อเสียง
มียศกว่าคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายบ้าง เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขารบ้าง เป็นผู้ทรงจำพระสูตรบ้าง ทรงจำพระวินัยบ้าง เป็น
พระธรรมกถึกบ้าง เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรบ้าง
เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้เที่ยว


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๕๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
บิณฑบาตไปตามลำดับตรอกเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้งดอาหารมื้อหลังเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้
ถือการนั่งเป็นวัตรบ้าง เป็นผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตรบ้าง เป็น
ผู้ได้ปฐมฌานบ้าง เป็นผู้ได้ทุติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้ตติยฌานบ้าง เป็นผู้ได้
จตุตถฌานบ้าง เป็นผู้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้วิญญาณัญจายตน-
สมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติบ้าง เป็นผู้ได้เนวสัญญานา-
สัญญายตนสมาบัติบ้าง” ภิกษุนี้ย่อมไม่อวด ไม่โอ้อวด อย่างนี้ คือ เป็นผู้งด
งดเว้น เว้นขาด ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้วกับความอวด
ความโอ้อวด มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า ผู้ไม่โอ้อวด

ว่าด้วยผู้ไม่คะนอง
คำว่า ความคะนอง ในคำว่า ผู้ไม่คะนอง อธิบายว่า ความคะนองมือ
ชื่อว่าความคะนอง ความคะนองเท้า ชื่อว่าความคะนอง ความคะนองมือและเท้า
ก็ชื่อว่าความคะนอง ความสำคัญในสิ่งไม่ควรว่าควร ความสำคัญในสิ่งที่ควรว่า
ไม่ควร ความสำคัญในวิกาลว่าเป็นกาล ความสำคัญในกาลว่าเป็นวิกาล ความ
สำคัญในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ ความสำคัญในสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ ความคะนอง
กิริยาที่คะนอง ภาวะที่คะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่านเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า
ความคะนอง
อีกนัยหนึ่ง ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นเพราะเหตุ
๒ อย่าง คือ (๑) เพราะทำ (๒) เพราะไม่ทำ
ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นเพราะทำและเพราะไม่ทำ
เป็นอย่างไร
คือ ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า “เราทำแต่
กายทุจริต ไม่ทำกายสุจริต ... เราทำแต่วจีทุจริต ไม่ทำวจีสุจริต ... เราทำแต่มโนทุจริต
ไม่ทำมโนสุจริต ... เราทำแต่ปาณาติบาต ไม่ทำความงดเว้นจากปาณาติปาต ... เรา
ทำแต่อทินนาทาน ไม่ทำความงดเว้นจากอทินนาทาน ... เราทำแต่กาเมสุมิจฉาจาร
ไม่ทำความงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ... เราทำแต่มุสาวาท ไม่ทำความงดเว้นจาก
มุสาวาท ... เราทำแต่ปิสุณาวาจา ไม่ทำความงดเว้นจากปิสุณาวาจา ... เราทำแต่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๕๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ผรุสวาจา ไม่ทำความงดเว้นจากผรุสวาจา ... เราทำแต่สัมผัปปลาปะ ไม่ทำความ
งดเว้นจากสัมผัปปลาปะ ... เราทำแต่อภิชฌา ไม่ทำอนภิชฌา ... เราทำแต่พยาบาท
ไม่ทำอัพยาบาท” ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า “เราทำแต่
มิจฉาทิฏฐิ ไม่ทำสัมมาทิฏฐิ” ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้น
เพราะทำและเพราะไม่ทำ เป็นอย่างนี้
อีกนัยหนึ่ง ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า “เรามิได้
รักษาศีลให้บริบูรณ์” ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า “เรา
ไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖ ... ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ... ไม่ประกอบ
ความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ ... ไม่หมั่นประกอบสติสัมปชัญญะ ... ไม่เจริญ
สติปัฏฐาน ๔ ... ไม่เจริญสัมมัปปธาน ๔ ... ไม่เจริญอิทธิบาท ๔ ... ไม่เจริญ
อินทรีย์ ๕ ... ไม่เจริญพละ ๕ ... ไม่เจริญโพชฌงค์ ๗ ... ไม่เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ...
ไม่กำหนดรู้ทุกข์ ... ไม่ละสมุทัย ... ไม่เจริญมรรค เราไม่ทำนิโรธให้ประจักษ์แจ้ง”
ความคะนองนี้ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่คะนอง
รวมความว่า ผู้ไม่โอ้อวด ไม่คะนอง

ว่าด้วยปัญญาเรียกว่า มันตา
คำว่า ผู้พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน อธิบายว่า ปัญญาตรัสเรียกว่า มันตา
คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ... ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
มีวิเคราะห์ว่า ผู้ใดกำหนดกล่าววาจาด้วยปัญญา แม้พูดมาก แม้กล่าวมาก
แม้แสดงมาก แม้ชี้แจงมาก ก็ไม่กล่าวถ้อยคำที่เป็นเรื่องพูดชั่ว กล่าวชั่ว เจรจาชั่ว
ปราศรัยชั่ว เล่าเรื่องชั่ว ฉะนั้น ผู้นั้น จึงชื่อว่าผู้พูดด้วยปัญญา
ความฟุ้งซ่าน ในคำว่า ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นอย่างไร
คือ ความฟุ้งซ่าน ความไม่สงบแห่งจิต ใจกวัดแกว่ง ความคิดวกวน นี้ตรัส
เรียกว่า ความฟุ้งซ่าน
ความฟุ้งซ่านนี้ ผู้ใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ
ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่
ฟุ้งซ่าน รวมความว่า ผู้พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๕๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการสำรวมวาจา
คำว่า บุคคล... เป็นผู้สำรวมวาจานั้นแล ชื่อว่าเป็นมุนี อธิบายว่า ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้ละการกล่าวเท็จ เว้นขาดจากการกล่าวเท็จได้แล้ว คือเป็นคนพูดจริง
ตั้งมั่นในความสัตย์ มีถ้อยคำมั่นคง เชื่อถือได้ ไม่กล่าวคำหลอกลวงชาวโลก
ละวาจาส่อเสียด เว้นขาดจากวาจาส่อเสียดได้แล้ว ฟังจากข้างนี้แล้ว ไม่ไปบอกข้าง
โน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ ฟังจากข้างโน้นแล้ว ไม่ไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลายคนหมู่โน้น
เป็นผู้สมานคนที่แตกแยกกัน หรือส่งเสริมคนที่มีประโยชน์ร่วมกัน มีความสามัคคี
เป็นที่ชื่นชม ยินดีในความสามัคคี รื่นเริงในสามัคคีธรรม เป็นผู้กล่าววาจาก่อให้เกิด
ความสามัคคี ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบได้แล้ว วาจาใด ไร้โทษ
สบายหู น่ารัก จับใจ แบบชาวเมือง คนส่วนใหญ่ชอบใจ พอใจ ก็กล่าววาจาเช่นนั้น
ละการพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อได้แล้ว พูดถูกเวลา พูดจริง
พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย กล่าววาจาเป็นหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีต้น
มีปลาย ประกอบด้วยประโยชน์ตามกาลอันสมควร ประกอบด้วยวจีสุจริต ๔
กล่าววาจาปราศจากโทษ ๔ สถาน เป็นผู้งดแล้ว งดเว้นแล้ว เว้นขาดแล้ว ออกแล้ว
สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้วกับเดรัจฉานกถา๑ ๓๒ ประการ มีใจ
เป็นอิสระ (จากกิเลส) อยู่
ภิกษุย่อมกล่าวกถาวัตถุ ๑๐ ประการ คือ
๑. ย่อมกล่าวอัปปิจฉกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย)
๒. สันตุฏฐิกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสันโดษ)
๓. ปวิเวกกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสงัดกายใจ)
๔. อสังสัคคกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่)
๕. วิริยารัมภกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้มุ่งมั่นทำความเพียร)
๖. สีลกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล)
๗. สมาธิกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำจิตมั่น)
๘. ปัญญากถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา)
๙. วิมุตติกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลสและความทุกข์)

เชิงอรรถ :
๑ เดรัจฉานกถา ดูรายละเอียดข้อ ๑๕๗/๔๓๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๕๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
๑๐. วิมุตติญาณทัสสนกถา (ถ้อยคำที่ชักนำให้สนใจและเข้าใจเรื่องความรู้
ความเห็นในภาวะที่หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์)
ย่อมกล่าวสติปัฏฐานกถา สัมมัปปธานกถา อิทธิบาทกถา อินทริยกถา
พลกถา โพชฌงคกถา มัคคกถา ผลกถา นิพพานกถา
คำว่า ผู้สำรวมวาจา ได้แก่ ผู้สำรวม เคร่งครัด คุ้มครอง ปกปัก รักษา
สังวร สงบ
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ...
ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ... ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง
และตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี รวมความว่า บุคคล ... เป็นผู้สำรวมวาจา
นั้นแล ชื่อว่าเป็นมุนี ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่สะดุ้ง ไม่โอ้อวด
ไม่คะนอง พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
เป็นผู้สำรวมวาจา นั้นแล ชื่อว่าเป็นมุนี
[๘๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต
ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย
ย่อมไม่ถูกนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย

ว่าด้วยผู้ไม่มีตัณหา
คำว่า บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต อธิบายว่า ตัณหา
ตรัสเรียกว่า เครื่องเหนี่ยวรั้ง คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ ตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งนั้น ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้
สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า
บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง บุคคลไม่ดำเนินตามความเพลิดเพลินในรูปว่า “ในอนาคตกาล
เราพึงมีรูปอย่างนี้ ... พึงมีเวทนาอย่างนี้ ... พึงมีสัญญาอย่างนี้ ... พึงมีสังขารอย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๕๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ย่อมไม่ดำเนินตามความเพลิดเพลินในวิญญาณว่า “ในอนาคตกาล เราพึงมี
วิญญาณอย่างนี้” จึงชื่อว่า ผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อให้ได้ตาและรูปที่ยังไม่ได้ว่า “ในอนาคตกาล
เราพึงมีตาเช่นนี้ เห็นรูปเช่นนี้” เพราะมีการไม่ตั้งจิตเป็นปัจจัย เขาจึงไม่เพลิดเพลิน
ตาและรูปนั้น เมื่อไม่เพลิดเพลินตาและรูปนั้น จึงชื่อว่าไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้ง
ในอนาคต อย่างนี้บ้าง ... “ในอนาคตกาล ขอเราพึงมีหูเช่นนี้ ได้ยินเสียงเช่นนี้”
บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อให้ได้ใจและธรรมารมณ์ที่ยังไม่ได้ว่า “ในอนาคตกาล เราพึงมีใจ
เช่นนี้ รู้ธรรมารมณ์เช่นนี้” เพราะไม่มีความตั้งจิตเป็นปัจจัย เขาจึงไม่เพลิดเพลินใจ
และธรรมารมณ์นั้น เมื่อไม่เพลิดเพลินใจและธรรมารมณ์นั้น จึงชื่อว่า ไม่มีตัณหา
เครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อให้ได้ภพที่ยังไม่ได้ว่า เราจักเป็นเทพ หรือ
เทวดาตนใดตนหนึ่งด้วยศีล วัตร ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ เพราะมีการไม่ตั้งจิตเป็น
ปัจจัย เขาจึงไม่เพลิดเพลินภพนั้น เมื่อไม่เพลิดเพลินภพนั้น จึงชื่อว่า ไม่มีตัณหา
เครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต อย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยผู้ไม่เศร้าโศก
คำว่า ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว อธิบายว่า ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่แปรผัน
ไป หรือเมื่อสิ่งนั้นแปรผันไปแล้วก็ไม่เศร้าโศก คือ ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก
ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า “ตาของเราแปรผันไป”
ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า
“หูของเรา ... จมูกของเรา .... ลิ้นของเรา ... กายของเรา ... รูปของเรา ... เสียงของเรา
... กลิ่นของเรา ... รสของเรา ... โผฏฐัพพะของเรา ... ตระกูลของเรา ... จีวรของเรา ...
หมู่คณะของเรา ... อาวาสของเรา ... ลาภของเรา ... ยศของเรา ... สรรเสริญของเรา ...
สุขของเรา ... บิณฑบาตของเรา ... เสนาสนะของเรา ... คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ของเรา ... มารดาของเรา ... บิดาของเรา ... พี่ชายน้องชายของเรา ... พี่สาวน้อง
สาวของเรา ... บุตรของเรา ... ธิดาของเรา ... มิตรและอำมาตย์ของเรา ... ญาติของเรา
ผู้ร่วมสายโลหิตของเราแปรผันไป” ดังนี้ รวมความว่า ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วง
ไปแล้ว


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๕๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยผัสสะ
คำว่า ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย อธิบายว่า
คำว่า ผัสสะ ได้แก่ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส
กายสัมผัส มโนสัมผัส อธิวจนสัมผัส ปฏิฆสัมผัส สุขเวทนียสัมผัส ทุกขเวทนียสัมผัส
อทุกขมสุขเวทนียสัมผัส ผัสสะที่เป็นกุศล ผัสสะที่เป็นอกุศล ผัสสะที่เป็นอัพยากฤต
ผัสสะที่เป็นกามาวจร ผัสสะที่เป็นรูปาวจร ผัสสะที่เป็นอรูปาวจร สุญญตผัสสะ
อนิมิตตผัสสะ อัปปณิหิตผัสสะ ผัสสะที่เป็นโลกิยะ ผัสสะที่เป็นโลกุตตระ ผัสสะ
ที่เป็นอดีต ผัสสะที่เป็นอนาคต ผัสสะที่เป็นปัจจุบัน ผัสสะ ความถูกต้อง กิริยาที่ถูก
ต้อง ภาวะที่ถูกต้องเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ผัสสะ
คำว่า ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย อธิบายว่า บุคคลเห็นจักขุสัมผัสว่า
ว่างจากตน จากธรรมที่เนื่องในตน จากความเที่ยง จากความยั่งยืน จากความ
สืบต่อ หรือจากธรรมที่ไม่แปรผัน เห็นโสตสัมผัส ... ฆานสัมผัส ... ชิวหาสัมผัส ...
กายสัมผัส ... มโนสัมผัส ... อธิวจนสัมผัส ... ปฏิฆสัมผัส ... สุขเวทนียผัสสะ ...
ทุกขเวทนียผัสสะ ... อทุกขมสุขเวทนียผัสสะ ... ผัสสะที่เป็นกุศล ... ผัสสะที่เป็นอกุศล
... ผัสสะที่เป็นอัพยากฤต ... ผัสสะที่เป็นกามาวจร ... ผัสสะที่เป็นรูปาวจร ... ผัสสะ
ที่เป็นอรูปาวจร ... ผัสสะที่เป็นโลกิยะ ... เห็นผัสสะที่เป็นโลกุตตระว่า ว่างจากตน
จากธรรมที่เนื่องในตน จากความเที่ยง จากความยั่งยืน จากความสืบต่อ หรือจาก
ธรรมที่ไม่แปรผัน
อีกนัยหนึ่ง บุคคลเห็นผัสสะที่เป็นอดีตว่า ว่างจากผัสสะที่เป็นอนาคตและ
ผัสสะที่เป็นปัจจุบัน เห็นผัสสะที่เป็นอนาคตว่า ว่างจากผัสสะที่เป็นอดีตและผัสสะที่
เป็นปัจจุบัน เห็นผัสสะที่เป็นปัจจุบันว่า ว่างจากผัสสะที่เป็นอดีตและผัสสะที่เป็น
อนาคต
อีกนัยหนึ่ง บุคคลเห็นผัสสะที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ ปฏิสังยุต
ด้วยสุญญตธรรมว่า ว่างจากราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ
อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ
กิเลสทุกชนิด ทุจริตทุกทาง ความกระวนกระวายทุกอย่าง ความเร่าร้อนทุกสถาน
ความเดือดร้อนทุกประการ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ด้วยประการอย่างนี้ รวม
ความว่า ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๖๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
คำว่า ย่อมไม่ถูกนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒ บุคคลนั้น
ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก
เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว บุคคลนั้นย่อมไม่ไป ไม่ออก ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไปด้วย
ทิฏฐิ บุคคลนั้นจึงไม่กลับถือ ไม่หวนกลับมาสู่ทิฏฐินั้นว่าเป็นสาระอีก รวมความว่า
ย่อมไม่ถูกนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเหนี่ยวรั้งในอนาคต
ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย
ย่อมไม่ถูกนำไปในทิฏฐิทั้งหลาย
[๘๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลเป็นผู้หลีกเร้น ไม่หลอกลวง ไม่ทะเยอทะยาน
ไม่ตระหนี่ ไม่คะนอง ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ
และไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด

ว่าด้วยผู้หลีกเร้น
คำว่า บุคคลเป็นผู้หลีกเร้น ในคำว่า บุคคลเป็นผู้หลีกเร้น ไม่หลอกลวง
อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นผู้หลีกเร้น เพราะละราคะได้แล้ว ... เพราะละโทสะได้แล้ว ...
เพราะละโมหะได้แล้ว ... เพราะละโกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ...
มัจฉริยะ ... ชื่อว่าเป็นผู้หลีกเร้น เพราะละอกุสลาภิสังขารทุกประเภทได้แล้ว
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้หลีกเร้น เป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละอัสมิมานะได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาล
ที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้หลีกเร้น เป็นอย่างนี้”๑ รวมความว่า เป็นผู้หลีกเร้น

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๓๘/๔๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๖๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความหลอกลวง ๓ อย่าง
คำว่า ไม่หลอกลวง ได้แก่ ความหลอกลวง ๓ อย่าง คือ
๑. ความหลอกลวงเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัย
๒. ความหลอกลวงเกี่ยวกับอิริยาบถ
๓. ความหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียง
ความหลอกลวงเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัย เป็นอย่างไร
คือ คหบดีในโลกนี้ ย่อมนิมนต์ภิกษุ ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุนั้น มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยาก
ครอบงำ มีความต้องการจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
เพราะต้องการได้ให้มากยิ่งขึ้น จึงบอกคืนจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร เธอพูดอย่างนี้ว่า “จีวรที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะ
ควรเที่ยวเลือกเก็บผ้าเก่าจากป่าช้า กองหยากเยื่อ หรือร้านตลาด เอามาทำ
สังฆาฏิใช้ จึงจะเป็นการเหมาะสม บิณฑบาตที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ
สมณะควรสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยก้อนข้าวที่ได้มาด้วยปลีแข้ง โดยการเที่ยวแสวงหา
จึงจะเป็นการเหมาะสม เสนาสนะที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะควร
อยู่ที่โคนไม้ อยู่ที่ป่าช้า หรืออยู่กลางแจ้ง จึงจะเป็นการเหมาะสม คิลานปัจจัย-
เภสัชบริขารที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะควรทำยาด้วยน้ำมูตรเน่า
หรือชิ้นลูกสมอ จึงจะเป็นการเหมาะสม”
เพราะต้องการได้ให้มากยิ่งขึ้นนั้น เธอจึงครองจีวรเศร้าหมอง ฉันบิณฑบาต
เศร้าหมอง ใช้สอยเสนาสนะซอมซ่อ ใช้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ คหบดี
ทั้งหลายรู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “สมณะรูปนี้ มีความปรารถนาน้อย สันโดษ
สงบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร มีวาทะกำจัดขัดเกลา” ก็ยิ่ง
นิมนต์เธอให้รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมากยิ่งขึ้น
เธอจึงพูดอย่างนี้ว่า “เพราะพรั่งพร้อมด้วยเหตุ ๓ ประการ กุลบุตรผู้มีศรัทธา
ย่อมประสบบุญมาก คือ เพราะพรั่งพร้อมด้วยศรัทธา ... เพราะพรั่งพร้อมด้วย
ไทยธรรม ... เพราะพรั่งพร้อมด้วยพระทักขิไณยบุคคล กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อม
ประสบบุญมาก ท่านทั้งหลายมีศรัทธานี้อยู่ ไทยธรรมนี้ก็มีอยู่พร้อม ทั้งอาตมภาพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๖๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ก็เป็นปฏิคาหก ถ้าอาตมภาพไม่รับ พวกท่านก็จักเสื่อมจากบุญไปเสีย อาตมภาพ
มิได้มีความต้องการด้วยปัจจัยนี้ แต่จักรับเพื่ออนุเคราะห์พวกท่าน” เพราะอาศัย
เหตุนั้น เธอจึงรับจีวรมากมาย รับบิณฑบาตมากมาย รับเสนาสนะมากมาย
รับคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมากมาย การทำหน้านิ่ว การทำคิ้วขมวด การหลอกลวง
กิริยาที่หลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง เห็นปานนี้ นี้ชื่อว่าความหลอกลวงเกี่ยวกับ
การใช้สอยปัจจัย
ความหลอกลวงเกี่ยวกับอริยาบถ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยาก
ครอบงำ ปรารถนาจะให้เขายกย่อง คิดว่า “คนจักยกย่องเราด้วยอุบายอย่างนี้”
จึงสำรวมการเดิน สำรวมการยืน สำรวมการนั่ง สำรวมการนอน ตั้งสติเดิน
ตั้งสติยืน ตั้งสตินั่ง ตั้งสตินอน ทำทีเหมือนภิกษุมีสมาธิเดิน เหมือนภิกษุมี
สมาธิยืน เหมือนภิกษุมีสมาธินั่ง เหมือนภิกษุมีสมาธินอน เป็นเหมือนภิกษุ
เจริญฌานอวดต่อหน้า การตั้งท่า การวางท่า การดำรงมั่นอิริยาบถ การทำหน้านิ่ว
การทำคิ้วขมวด การหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง เห็นปานนี้
นี้เรียกว่า ความหลอกลวงเกี่ยวกับอิริยาบถ
ความหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยาก
ครอบงำ ปรารถนาจะให้เขายกย่อง คิดว่า “คนจักยกย่องเราด้วยอุบายอย่างนี้”
จึงกล่าววาจาอิงอริยธรรม คือพูดว่า “ภิกษุผู้ทรงจีวร มีรูปแบบอย่างนี้ เป็นสมณะ
มีศักดิ์ใหญ่ ผู้ใช้บาตร ... ใช้ภาชนะโลหะ ... ใช้ธมกรก๑ ... ใช้ผ้ากรองน้ำ ... ใช้ลูกกุญแจ
... ใช้รองเท้า ... ใช้ประคดเอว ... ใช้สายโยกบาตร มีรูปแบบอย่างนี้ เป็นสมณะ
มีศักดิ์ใหญ่” พูดว่า “ภิกษุผู้มีอุปัชฌาย์ระดับนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่ มีอาจารย์
ระดับนี้ ... มีผู้ร่วมอุปัชฌาย์ระดับนี้ ... มีผู้ร่วมอาจารย์ระดับนี้ ... มีมิตร ...
มีพรรคพวก ... มีคนที่คบหากัน ... มีสหายระดับนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่” พูดว่า

เชิงอรรถ :
๑ ธมกรก คือ กระบอกกรองน้ำของพระสงฆ์ เป็นเครื่องใช้สอยอย่าง ๑ ในอัฐบริขาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๖๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
“ภิกษุผู้อยู่ในวิหารมีรูปแบบอย่างนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่ ... อยู่ในเรือนมีหลังคา
ด้านเดียวมีรูปแบบอย่างนี้ ... อยู่ในปราสาท ... อยู่ในเรือนโล้น ... อยู่ในถ้ำ ...
อยู่ในที่หลีกเร้น ... อยู่ในกุฎี ... อยู่ในเรือนยอด ... อยู่ที่ป้อม ... อยู่ในโรงกลม ...
อยู่ในเรือนพัก ... อยู่ในเรือนรับรอง ... อยู่ในมณฑป ... อยู่ที่โคนไม้ มีรูปแบบ
อย่างนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่”
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้วางหน้าเฉยเมย ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด โกหกหลอกลวง
ปลิ้นปล้อน ตลบตะแลง เป็นผู้ได้รับยกย่องด้วยการวางหน้าว่า “สมณะนี้ได้วิหาร-
สมาบัติ อันมีอยู่เห็นปานนี้” ภิกษุนั้น ย่อมกล่าวถ้อยคำเช่นนั้น อันเกี่ยวเนื่อง
ด้วยโลกุตตรธรรมและสุญญตนิพพาน อันลึกซึ้ง เร้นลับ ละเอียดอ่อน ปิดบัง
การทำหน้านิ่ว การทำคิ้วขมวด การหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง
เห็นปานนี้ นี้เรียกว่า ความหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียง
ความหลอกลวง ๓ อย่าง ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่
หลอกลวง รวมความว่า เป็นผู้หลีกเร้น ไม่หลอกลวง
คำว่า ไม่ทะเยอทะยาน ไม่ตระหนี่ อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความ
ทะเยอทะยาน คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ตัณหาคือความทะเยอทะยานนั้น ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบ
ได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า
ผู้ไม่ทะเยอทะยาน ผู้นั้นไม่มุ่งหมาย ไม่ต้องการได้ ไม่ยินดี ไม่ปรารถนา ไม่มุ่งหวัง
รูป ... เสียง ... กลิ่น ... รส ... โผฏฐัพพะ ... ตระกูล ... หมู่คณะ ... อาวาส ... ลาภ ...
ยศ ... สรรเสริญ ... สุข ... จีวร ... บิณฑบาต ... เสนาสนะ ... คิลานปัจจัยเภสัช-
บริขาร ... กามธาตุ ... รูปธาตุ ... อรูปธาตุ ... กามภพ ... รูปภพ ... อรูปภพ ...
สัญญาภพ ... อสัญญาภพ ... เนวสัญญานาสัญญาภพ ... เอกโวการภพ ...
จตุโวการภพ ... ปัญจโวการภพ... อดีต ... อนาคต ... ปัจจุบัน ... ไม่มุ่งหมาย
ไม่ต้องการได้ ไม่ยินดี ไม่ปรารถนา ไม่มุ่งหวังรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้
และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง รวมความว่า ผู้ไม่ทะเยอทะยาน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๖๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความตระหนี่ ๕ อย่าง
คำว่า ไม่ตระหนี่ ได้แก่ มัจฉริยะ ๕ อย่าง คือ

๑. อาวาสมัจฉริยะ ๒. กุลมัจฉริยะ
๓. ลาภมัจฉริยะ ๔. วัณณมัจฉริยะ
๕. ธัมมมัจฉริยะ

ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ภาวะที่ตระหนี่ ความเห็นแก่ได้ ความถี่เหนี่ยว
ความที่จิตเจ็บร้อน(ในการให้) ความที่จิตหวงแหนเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความ
ตระหนี่
อีกนัยหนึ่ง ความตระหนี่ขันธ์ก็ดี ความตระหนี่ธาตุก็ดี ความตระหนี่อายตนะ
ก็ดี ความมุ่งแต่จะได้ก็ดี นี้ตรัสเรียกว่า ความตระหนี่ ความตระหนี่นี้บุคคลใดละ
ได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วย
ไฟคือญาณแล้ว บุคคลนั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่ตระหนี่ รวมความว่า ไม่ทะเยอทะยาน
ไม่ตระหนี่

ว่าด้วยความคะนอง ๓ อย่าง
คำว่า ไม่คะนอง ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ อธิบายว่า
คำว่า ความคะนอง ได้แก่ ความคะนอง ๓ อย่าง คือ
๑. ความคะนองทางกาย ๒. ความคะนองทางวาจา
๓. ความคะนองทางใจ
ความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่สงฆ์ก็แสดงความคะนองทางกาย
อยู่ในหมู่คณะ ... อยู่ในศาลาโรงฉัน ... อยู่ในเรือนไฟ ... อยู่ที่ท่าน้ำ ... กำลังเข้าสู่
ละแวกบ้าน ... เข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว ก็แสดงความคะนองทางกาย
ภิกษุอยู่ในหมู่สงฆ์แสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่สงฆ์ก็ไม่ทำความยำเกรง ยืนเบียด
เสียดภิกษุเถระบ้าง นั่งเบียดเสียดบ้าง ยืนบังหน้าบ้าง นั่งบังหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๖๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
สูงบ้าง นั่งคลุมศีรษะบ้าง ยืนพูดบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในหมู่สงฆ์แสดง
ความคะนองทางกาย เป็นอย่างนี้
ภิกษุอยู่ในหมู่คณะแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่คณะก็ไม่ทำความยำเกรง เมื่อภิกษุ
เถระไม่สวมรองเท้าเดินจงกรมอยู่ ก็สวมรองเท้าเดินจงกรม เมื่อภิกษุเถระเดิน
จงกรมบนลานจงกรมต่ำ ก็เดินจงกรมบนลานจงกรมสูง เมื่อภิกษุเถระเดินจงกรมบน
พื้นดิน ก็เดินจงกรมบนลานจงกรม ยืนเบียดเสียดบ้าง นั่งเบียดเสียดบ้าง ยืนบัง
หน้าบ้าง นั่งบังหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะสูงบ้าง นั่งคลุมศีรษะบ้าง ยืนพูดบ้าง แกว่งแขน
พูดบ้าง ภิกษุอยู่ในหมู่คณะแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างนี้
ภิกษุอยู่ในศาลาโรงฉันแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในศาลาโรงฉัน ก็ไม่ทำความยำเกรง
นั่งแทรกภิกษุเถระบ้าง นั่งกีดกันอาสนะภิกษุนวกะบ้าง ยืนเบียดเสียดบ้าง นั่งเบียด
เสียดบ้าง ยืนบังหน้าบ้าง นั่งบังหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะสูงบ้าง นั่งคลุมศีรษะบ้าง
ยืนพูดบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในศาลาโรงฉันแสดงความคะนองทางกาย
เป็นอย่างนี้
ภิกษุอยู่ในเรือนไฟแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในเรือนไฟไม่ทำความยำเกรง ยืนเบียด
เสียดภิกษุเถระบ้าง นั่งเบียดเสียดบ้าง ยืนบังหน้าบ้าง นั่งบังหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะ
สูงบ้าง ไม่บอกก่อนแล้วใส่ฟืนบ้าง ไม่บอกก่อนแล้วปิดประตูบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง
ภิกษุอยู่ในเรือนไฟแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างนี้
ภิกษุอยู่ที่ท่าน้ำแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ที่ท่าน้ำไม่ทำความยำเกรง ลงเบียดเสียด
ภิกษุเถระบ้าง ลงข้างหน้าบ้าง อาบเบียดเสียดบ้าง อาบข้างหน้าบ้าง อาบเหนือ
น้ำบ้าง ขึ้นเบียดเสียดบ้าง ขึ้นข้างหน้าบ้าง ขึ้นเหนือน้ำบ้าง ภิกษุอยู่ที่ท่าน้ำแสดง
ความคะนองทางกาย เป็นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๖๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ภิกษุกำลังเข้าสู่ละแวกบ้านแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ กำลังเข้าสู่ละแวกบ้าน ไม่ทำความยำเกรง
เดินเบียดเสียดภิกษุเถระบ้าง เดินข้างหน้าบ้าง เดินแซงขึ้นหน้าภิกษุเถระบ้าง ภิกษุ
กำลังเข้าสู่ละแวกบ้านแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างนี้
ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้านแล้วแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว เมื่อเขาบอกว่า
“ขออย่าเข้าไปครับท่าน” ก็ยังเข้าไป เมื่อเขาบอกว่า “อย่ายืนครับท่าน” ก็ยังยืนขึ้น
เมื่อเขาบอกว่า “ขออย่านั่งครับท่าน” ก็ยังนั่งลง เข้าไปสู่ที่เป็นโอกาสไม่สมควรบ้าง
ยืนในที่เป็นโอกาสไม่สมควรบ้าง นั่งในที่เป็นโอกาสไม่สมควรบ้าง ผลุนผลันเข้าไป
ในห้องเล็กที่ซ่อนเร้นปกปิดของตระกูลบ้าง ในห้องที่กุลสตรี กุลธิดา สะใภ้ของ
ตระกูล กุมารีของตระกูลนั่งอยู่บ้าง ลูบศีรษะเด็กเล่นบ้าง ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว
แสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างนี้ นี้ชื่อว่าความคะนองทางกาย
ความคะนองทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่สงฆ์แสดงความคะนองทางวาจาบ้าง
อยู่ในหมู่คณะแสดงความคะนองทางวาจาบ้าง เข้าสู่ละแวกบ้านแล้วแสดงความ
คะนองทางวาจาบ้าง
ภิกษุอยู่ในหมู่สงฆ์แสดงความคะนองทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่สงฆ์ไม่ทำความยำเกรง ไม่เรียนแจ้ง
ภิกษุเถระหรือไม่ได้รับอาราธนา ก็แสดงธรรม วิสัชนาปัญหา สวดปาติโมกข์แก่
ภิกษุที่อยู่ในอาราม ยืนพูดบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในหมู่สงฆ์แสดงความ
คะนองทางวาจา เป็นอย่างนี้
ภิกษุอยู่ในหมู่คณะแสดงความคะนองทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่คณะไม่ทำความยำเกรง ไม่เรียนแจ้ง
ภิกษุเถระหรือไม่ได้รับอาราธนา ก็แสดงธรรม วิสัชนาปัญหาแก่ภิกษุทั้งหลายที่อยู่
ในอาราม ยืนพูดบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง แสดงธรรม วิสัชนาปัญหา แก่ภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก อุบาสิกาที่อยู่ในอาราม ยืนพูดบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในหมู่คณะ
แสดงความคะนองทางวาจา เป็นอย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๖๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว แสดงความคะนองทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว พูดกับสตรีหรือเด็กหญิง
อย่างนี้ว่า “แม่หนูชื่อนี้ นามสกุลนี้ มีอะไรบ้างล่ะ ข้าวต้มมีไหม ข้าวสวยมีไหม
ของขบเคี้ยวมีบ้างไหม พวกอาตมาจักดื่มอะไร จักฉันอะไร จักเคี้ยวอะไร มีอะไร
บ้าง หรือพวกเธอจักถวายอะไรแก่อาตมาบ้างล่ะ” พูดพร่ำเพ้อไป การพูดพล่าม
การพูดเพ้อ การพูดเพ้อเจ้อ การพูดพร่ำเพ้อ กิริยาที่พูดพร่ำเพ้อ ภาวะที่พูดพร่ำเพ้อ
เห็นปานนี้ ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว แสดงความคะนองทางวาจา เป็นอย่างนี้
นี้ชื่อว่าความคะนองทางวาจา
ความคะนองทางใจ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษบางรูปในธรรมวินัยนี้ มิใช่ออกบวชจากตระกูลสูง ก็มีจิตวางตัวเช่น
เดียวกับภิกษุผู้ออกบวชจากตระกูลสูง มิใช่ออกบวชจากตระกูลใหญ่ ก็มีจิตวางตัว
เช่นเดียวกับภิกษุผู้ออกบวชจากตระกูลใหญ่ มิใช่ออกบวชจากตระกูลที่มีโภคสมบัติ
มาก ... มิใช่ออกบวชจากตระกูลที่มีโภคสมบัติยิ่งใหญ่ ... มิใช่เป็นผู้ทรงจำพระสูตร ...
มิใช่เป็นผู้ทรงจำพระวินัย ... มิใช่เป็นพระธรรมกถึก ... มิใช่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ...
มิใช่เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... มิใช่เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... มิใช่เป็น
ผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... มิใช่เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร ... มิใช่
เป็นผู้งดอาหารมื้อหลังเป็นวัตร ... มิใช่เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร ... มิใช่เป็นผู้ถือการ
อยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร ... มิใช่เป็นผู้ได้ปฐมฌานก็มีจิตวางตัวเช่น
เดียวกับภิกษุผู้ได้ปฐมฌาน ... มิใช่เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
ก็มีจิตวางตัวเช่นเดียวกับภิกษุผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ นี้ชื่อว่าความ
คะนองทางใจ
ความคะนอง ๓ อย่างนี้ ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น ตรัสเรียกว่า
ผู้ไม่คะนอง รวมความว่า ผู้ไม่คะนอง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๖๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยผู้น่ารังเกียจและไม่น่ารังเกียจ
คำว่า ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ ได้แก่ บุคคลผู้น่ารังเกียจก็มี บุคคลผู้ไม่น่า
รังเกียจก็มี
บุคคลผู้น่ารังเกียจ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทุศีล ถือความชั่วเป็นเรื่องธรรมดา มีความ
ประพฤติไม่สะอาดที่นึกถึงได้ด้วยความน่ารังเกียจ มีการงานที่ปกปิด มิได้เป็นสมณะ
ก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ มิได้ประพฤติพรหมจรรย์ก็ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์
เป็นคนเน่าภายใน มีใจชุ่มโชกด้วยความกำหนัด เป็นดุจขยะ นี้ตรัสเรียกว่า บุคคล
ผู้น่ารังเกียจ
อีกนัยหนึ่ง เขาเป็นคนมักโกรธ มากไปด้วยความแค้นเคือง ถูกใครว่าหน่อยก็
ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มุ่งร้าย ทำความโกรธ ความแค้นเคือง และความ
ไม่ยินดีให้ปรากฏเสมอ นี้ตรัสเรียกว่า บุคคลผู้น่ารังเกียจ
อีกนัยหนึ่ง เขาเป็นคนมักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่
โอ้อวด หลอกลวง กระด้าง ถือตัว มีความอยากที่เลวทราม มีความเห็นผิด
ถือความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ ถือรั้น เปลี่ยนความคิดเห็นยาก นี้ตรัสเรียกว่า
บุคคลผู้น่ารังเกียจ
บุคคลผู้ไม่น่ารังเกียจ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ สมบูรณ์
ด้วยอาจาระและโคจร มองเห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย นี้ตรัสเรียกว่า บุคคลผู้ไม่น่ารังเกียจ
อีกนัยหนึ่ง เธอเป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากไปด้วยความแค้นเคือง แม้ถูกใครว่า
กล่าวมากมาย ก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มุ่งร้าย ไม่ทำความโกรธ
ความแค้นเคือง และความไม่ยินดีให้ปรากฏ นี้ตรัสเรียกว่า บุคคลผู้ไม่น่ารังเกียจ
อีกนัยหนึ่ง เธอเป็นคนไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่ลบหลู่ ไม่ตีเสมอ ไม่ริษยา
ไม่ตระหนี่ ไม่โอ้อวด ไม่หลอกลวง ไม่แข็งกระด้าง ไม่ถือตัว ไม่มีความอยากที่เลว


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๖๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ทราม ไม่มีความเห็นผิด ไม่ถือความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ ไม่ถือรั้น เปลี่ยน
ความคิดเห็นง่าย นี้ตรัสเรียกว่า บุคคลผู้ไม่น่ารังเกียจ พระอริยบุคคลทุกประเภท
รวมทั้งกัลยาณปุถุชน เป็นบุคคลผู้ไม่น่ารังเกียจ รวมความว่า ผู้ไม่คะนอง ไม่เป็นที่
น่ารังเกียจ

ว่าด้วยผู้มีวาจาส่อเสียด
คำว่า และไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด อธิบายว่า
คำว่า ความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด อธิบายว่า คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มี
วาจาส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไปบอกคนข้างโน้นเพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจาก
ข้างโน้นแล้วไปบอกคนข้างนี้เพื่อทำลายคนหมู่โน้น ด้วยวิธีนี้ ก็ทำคนที่สามัคคีให้
แตกแยก หรือสนับสนุนผู้ที่แตกแยกกันแล้ว ชอบการแบ่งพวกแบ่งเหล่า ยินดีการ
แบ่งพวกแบ่งเหล่า สนุกกับการแบ่งพวกแบ่งเหล่า พูดแต่เรื่องก่อให้เกิดการแบ่ง
พวกแบ่งเหล่า นี้ตรัสเรียกว่า ความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด
อีกนัยหนึ่ง บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ
๑. ด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก ๒. ด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน
บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยความประสงค์ให้ตนเป็นที่รักด้วย
คิดว่า “เราจักเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่คุ้นเคย เป็นที่สนิทสนม เป็นที่ดีใจ
ของผู้นี้” บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก เป็นอย่างนี้
บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์จะทำให้เขาแตกกัน
เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยคิดว่า “ทำอย่างไร ชนเหล่านี้พึงเป็น
คนแปลกแยก แตกต่าง เป็นพรรคเป็นเหล่า เป็น ๒ พวก เป็น ๒ ฝัก ๒ ฝ่าย
แตกแยก ไม่ปรองดองกัน อยู่ลำบาก ไม่สบาย” บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไป
ด้วยประสงค์จะให้เขาแตกกัน เป็นอย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๗๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
วาจาส่อเสียดนี้ ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ
ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น ชื่อว่าไม่ประกอบ คือ
ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ขวนขวาย ไม่พัวพันในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด รวมความว่า และ
ไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลเป็นผู้หลีกเร้น ไม่หลอกลวง ไม่ทะเยอทะยาน
ไม่ตระหนี่ ไม่คะนอง ไม่เป็นที่น่ารังเกียจ
และไม่ประกอบในความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด
[๘๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลผู้ไม่ยินดีในสิ่งน่ายินดี
ไม่ประกอบในความดูหมิ่น ละเอียดอ่อน มีปฏิภาณ
ไม่ต้องเชื่อใคร และไม่ต้องคลายกำหนัด

ว่าด้วยกามคุณ ๕
คำว่า ไม่ยินดีในสิ่งน่ายินดี อธิบายว่า กามคุณ ๕ ตรัสเรียกว่า สิ่งน่ายินดี
เพราะเหตุไร กามคุณ ๕ จึงตรัสเรียกว่า สิ่งน่ายินดี เพราะโดยส่วนมาก
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง
กามคุณ ๕ เพราะเหตุนั้น กามคุณ ๕ จึงตรัสเรียกว่า สิ่งน่ายินดี
สิ่งที่น่ายินดีคือตัณหานี้ชนเหล่าใดยังละไม่ได้ รูปตัณหาก็ย่อมไหล หลั่งไหล
ซ่านไป เป็นไปทางตาของชนเหล่านั้น สัททตัณหาย่อมไหล... ทางหู ... คันธตัณหา
ย่อมไหล... ทางจมูก ... รสตัณหาย่อมไหล... ทางลิ้น ... โผฏฐัพพตัณหาย่อมไหล...
ทางกาย ... ธัมมตัณหาก็ย่อมไหล หลั่งไหล ซ่านไป เป็นไป ทางมโนวิญญาณของ
ชนเหล่านั้น สิ่งน่ายินดีคือตัณหานี้ชนเหล่าใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบ
ได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รูปตัณหา
ย่อมไม่ไหล ไม่หลั่งไหล ไม่ซ่านไป ไม่เป็นไปทางตาของชนเหล่านั้น สัททตัณหา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๗๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ย่อมไม่ไหล... ทางหู ... คันธตัณหาย่อมไม่ไหล... ทางจมูก ... รสตัณหาย่อมไม่ไหล...
ทางลิ้น ... โผฏฐัพพตัณหาย่อมไม่ไหล... ทางกาย ... ธัมมตัณหาย่อมไม่ไหล
ไม่หลั่งไหล ไม่ซ่านไป ไม่เป็นไป ทางมโนวิญญาณของชนเหล่านั้น รวมความว่า
ไม่ยินดีในสิ่งน่ายินดี

ว่าด้วยความดูหมิ่น
คำว่า ไม่ประกอบในความดูหมิ่น อธิบายว่า
ความดูหมิ่น เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ดูหมิ่นผู้อื่นเพราะชาติบ้าง เพราะโคตรบ้าง ... เพราะ
เรื่องอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว ภาวะที่ถือตัว ความ
ลำพองตน ความทะนงตน ความเชิดชูตนเป็นดุจธง ความเห่อเหิม ความที่ต้องการ
เชิดชูตนเป็นดุจธงเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความดูหมิ่น ความดูหมิ่นนั้น ผู้ใด
ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก
เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า ไม่ประกอบ คือ ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ขวนขวาย
ไม่พัวพันในความดูหมิ่น รวมความว่า ไม่ประกอบในความดูหมิ่น
คำว่า ละเอียดอ่อน มีปฏิภาณ อธิบายว่า ชื่อว่าละเอียดอ่อน เพราะ
ประกอบด้วยกายกรรมอันละเอียดอ่อน ... วจีกรรมอันละเอียดอ่อน ... มโนกรรม
อันละเอียดอ่อน ... สติปัฏฐานอันละเอียดอ่อน ... สัมมัปปธานอันละเอียดอ่อน ...
อิทธิบาทอันละเอียดอ่อน ... อินทรีย์อันละเอียดอ่อน ... พละอันละเอียดอ่อน ...
โพชฌงค์อันละเอียดอ่อน ชื่อว่าละเอียดอ่อน เพราะประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘
อันละเอียดอ่อน

ว่าด้วยผู้มีปฏิภาณ ๓ จำพวก
คำว่า มีปฏิภาณ อธิบายว่า บุคคลผู้มีปฏิภาณ ๓ จำพวก คือ
๑. บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะปริยัติ
๒. บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะปริปุจฉา
๓. บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะอธิคม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๗๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะปริยัติ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในศาสนานี้ ได้เล่าเรียนพระพุทธพจน์ คือ สุตตะ เคยยะ
เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ญาณ(ความรู้)
ของบุคคลนั้นย่อมแจ่มแจ้ง เพราะอาศัยการเล่าเรียน บุคคลนี้ชื่อว่าผู้มีปฏิภาณ
เพราะปริยัติ
บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะปริปุจฉา เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในศาสนานี้ เป็นผู้ไต่สวนในประโยชน์ของตน ในความหมาย
ที่ควรรู้ ในลักษณะ ในเหตุ ในฐานะและอฐานะ ญาณของเขาย่อมแจ่มแจ้งเพราะ
การไต่สวนนั้น บุคคลนี้ชื่อว่าผู้มีปฏิภาณเพราะปริปุจฉา
บุคคลผู้มีปฏิภาณเพราะอธิคม เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในศาสนานี้ ได้บรรลุสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔
อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ อริยมรรค ๔ สามัญญผล ๔
ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ บุคคลนั้นรู้เหตุ รู้ผล รู้นิรุตติ เมื่อรู้เหตุ เหตุก็แจ่มแจ้ง
เมื่อรู้ผล ผลก็แจ่มแจ้ง เมื่อรู้นิรุตติ๑ นิรุตติก็แจ่มแจ้ง ญาณในเหตุ ผล และนิรุตติ
ทั้ง ๓ เหล่านี้ ชื่อว่า ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไป
พร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมด้วยปฏิภาณปฏิสัมภิทานี้
บุคคลนั้นตรัสเรียกว่าผู้มีปฏิภาณ
ผู้ใดไม่มีปริยัติ ไม่มีปริปุจฉา ไม่มีอธิคม ญาณอะไรเล่าจักแจ่มแจ้งแก่เขาได้
รวมความว่า ละเอียดอ่อน มีปฏิภาณ

เชิงอรรถ :
๑ รู้นิรุตติ คือรู้ภาษาแจ่มแจ้ง บางทีท่านเรียกว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ ปรีชาแจ้งใน
ภาษา รู้ศัพท์ ถ้อยคำบัญญัติ และภาษาต่าง ๆ เข้าใจใช้คำพูดชี้แจงให้ผู้อื่นเข้าใจและเห็นตามได้ (องฺ.จตุกฺก.
๒๑/๑๗๒/๑๘๓-๑๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๗๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยรู้ธรรมแล้วไม่ต้องเชื่อใครอีก
คำว่า ไม่ต้องเชื่อใคร ในคำว่า ไม่ต้องเชื่อใคร ไม่ต้องคลายกำหนัด
อธิบายว่า ธรรมที่ตนรู้ยิ่ง เห็นจริงด้วยตนเองแล้ว บุคคลไม่ต้องเชื่อใคร ๆ อื่น ไม่ว่า
จะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร หรือพรหมก็ตาม คือ ธรรมที่ตนรู้ยิ่ง เห็นจริง
ด้วยตนเองแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” บุคคลนั้นไม่ต้องเชื่อใคร ๆ อื่น ไม่ว่าจะ
เป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร หรือพรหมก็ตาม คือธรรมที่ตนรู้ยิ่ง เห็น
จริงด้วยตนเองแล้วว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ...
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยสังขารจึงมี ... เพราะชาติเป็นปัจจัยชรามรณะจึงมี ... เพราะ
อวิชชาดับ สังขารจึงดับ ... เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ ... นี้ทุกข์ ... นี้ทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทา ... เหล่านี้อาสวะ ... นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา ... ธรรมเหล่านี้ควรรู้
แจ้ง ... ธรรมเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง ... เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษและการสลัดออก
แห่งผัสสายตนะ ๖ ... เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดออกแห่งอุปาทาน-
ขันธ์ ๕ ... เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดออกแห่งมหาภูตรูป ๔ ...
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
บุคคลนั้นไม่ต้องเชื่อใคร ๆ อื่น ไม่ว่าจะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร หรือ
พรหมก็ตาม
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “สารีบุตร เธอเชื่อไหมว่า สัทธินทรีย์
ที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตธรรม มีอมตธรรมเป็นที่ไปใน
เบื้องหน้า มีอมตธรรมเป็นที่สุด ... วิริยินทรีย์ ... สตินทรีย์ ... สมาธินทรีย์ ...
ปัญญินทรีย์ ที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตธรรม มีอมตธรรม
เป็นที่ไปในเบื้องหน้า มีอมตธรรมเป็นที่สุด”
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในข้อนี้ข้าพระองค์ไม่
จำต้องดำเนินไปด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคเลยว่า สัทธินทรีย์ ... วิริยินทรีย์ ...
สตินทรีย์ ... สมาธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ ที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อม
หยั่งลงสู่อมตธรรม มีอมตธรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้า มีอมตธรรมเป็นที่สุด ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้ ชนเหล่าใด ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เข้าใจ มิได้ทำให้แจ้ง มิได้สัมผัส
ด้วยปัญญาแล้ว ชนเหล่านั้น พึงต้องถึงความเชื่อต่อผู้อื่นในข้อนั้นว่า สัทธินทรีย์ ...


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๗๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ปัญญินทรีย์ ที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตธรรม มีอมตธรรม
เป็นที่ไปในเบื้องหน้า มีอมตธรรมเป็นที่สุด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้ ชนเหล่าใด
รู้ เห็น เข้าใจ ทำให้แจ้ง สัมผัสด้วยปัญญาแล้ว ชนเหล่านั้น ย่อมไม่มีความ
สงสัย ไม่มีความแคลงใจในข้อนั้นเลยว่า สัทธินทรีย์ ... วิริยินทรีย์ ... สตินทรีย์ ...
สมาธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ ที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่
อมตธรรม มีอมตธรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้า มีอมตธรรมเป็นที่สุด”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้ข้าพระองค์รู้ เห็น เข้าใจ ทำให้แจ้ง สัมผัส
ด้วยปัญญาแล้ว ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัย ไม่มีความแคลงใจในข้อนั้นเลยว่า
สัทธินทรีย์ ... วิริยินทรีย์ ... สตินทรีย์ ... สมาธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ที่บุคคล
เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตธรรม มีอมตธรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
มีอมตธรรมเป็นที่สุด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ สารีบุตร ข้อนี้ ชนเหล่าใด ไม่รู้ ไม่เห็น
ไม่เข้าใจ มิได้ทำให้แจ้ง มิได้สัมผัสด้วยปัญญาแล้ว ชนเหล่านั้น พึงต้องดำเนินไป
ด้วยความเชื่อต่อผู้อื่นในข้อนั้นว่า สัทธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ ที่บุคคลเจริญแล้ว
ทำให้มากแล้ว ย่อมหยั่งลงสู่อมตธรรม มีอมตธรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้า มีอมตธรรม
เป็นที่สุด”๑
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปว่า)
นรชนใดผู้ไม่ต้องเชื่อใคร
รู้จักนิพพานที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้
ตัดรอยต่อแห่งการเกิดใหม่
ทำลายโอกาสแห่งการท่องเที่ยวไปในสงสาร
คลายความหวังแล้ว นรชนนั้นแล เป็นบุรุษสูงสุด๒

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ม. ๑๙/๕๒๗/๒๐๔
๒ ขุ.ธ. ๒๕/๙๗/๓๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๗๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยผู้ไม่คลายกำหนัด
คำว่า ไม่ต้องเชื่อใคร และไม่ต้องคลายกำหนัด อธิบายว่า พาลปุถุชน
ทั้งหมดย่อมกำหนัด พระเสขะ ๗ จำพวก รวมทั้งกัลยาณปุถุชน ย่อมคลายกำหนัด
พระอรหันต์ย่อมไม่กำหนัด จึงไม่ต้องคลายกำหนัด พระอรหันต์ชื่อว่าผู้งดเว้น
เพราะหมดสิ้นราคะแล้ว เพราะหมดสิ้นโทสะแล้ว เพราะหมดสิ้นโมหะแล้ว ท่านอยู่
ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ... พระอรหันต์ไม่มีการเวียนเกิด
เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า ไม่ต้องเชื่อใคร และไม่ต้องคลาย
กำหนัด ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลผู้ไม่ยินดีในสิ่งน่ายินดี
ไม่ประกอบในความดูหมิ่น ละเอียดอ่อน มีปฏิภาณ
ไม่ต้องเชื่อใคร และไม่ต้องคลายกำหนัด
[๘๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ
ไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ ไม่เดือดดาล
และไม่ยินดีในรสเพราะตัณหา

ว่าด้วยศึกษาเพราะอยากได้ลาภ
คำว่า บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ ไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ
อธิบายว่า
บุคคลศึกษาเพราะอยากได้ลาภ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นภิกษุได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เธอคิดอย่างนี้ว่า “เพราะเหตุไรหนอ ท่านผู้มีอายุนี้
จึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร” เธอคิดต่อไปว่า
“ท่านผู้มีอายุนี้เป็นผู้ทรงจำพระสูตร เพราะเหตุนั้น ท่านจึงได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร” เธอหวังลาภ จึงเล่าเรียนพระสูตร เพราะ
ลาภเป็นเหตุ เพราะลาภเป็นปัจจัย เพราะลาภเป็นต้นเหตุ เพราะมุ่งหวังการเกิดลาภ
โดยเฉพาะ บุคคลชื่อว่าศึกษาเพราะอยากได้ลาภ เป็นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๗๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นภิกษุได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย-
เภสัชบริขาร เธอคิดอย่างนี้ว่า “เพราะเหตุไรหนอ ท่านผู้มีอายุนี้ จึงได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร” เธอมีความคิดต่อไปว่า “ท่านผู้มีอายุนี้
เป็นผู้ทรงจำพระวินัย ... ผู้ทรงจำพระอภิธรรม เพราะเหตุนั้น ท่านจึงได้จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร” เธอมุ่งหวังลาภ จึงเล่าเรียน ... พระอภิธรรม
เพราะลาภเป็นเหตุ เพราะลาภเป็นปัจจัย เพราะลาภเป็นต้นเหตุ เพราะมุ่งหวังการ
เกิดลาภโดยเฉพาะ บุคคลชื่อว่าศึกษาเพราะอยากได้ลาภ เป็นอย่างนี้
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นภิกษุได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย-
เภสัชบริขาร เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะเหตุไรหนอ ท่านผู้มีอายุนี้จึงได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร” เธอมีความคิดต่อไปว่า “ท่าน
ผู้มีอายุนี้ เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ... เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... เป็นผู้
นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ... เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตตาม
ลำดับตรอกเป็นวัตร ... เป็นผู้งดฉันอาหารมื้อหลังเป็นวัตร ... เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร
... เป็นผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร เพราะเหตุนั้น ท่านจึงได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร” เธอมุ่งหวังลาภ จึงเป็น
ผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ... เป็นผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร เพราะ
ลาภเป็นเหตุ เพราะลาภเป็นปัจจัย เพราะลาภเป็นต้นเหตุ เพราะมุ่งหวังการเกิดลาภ
โดยเฉพาะ บุคคลชื่อว่าศึกษาเพราะอยากได้ลาภ เป็นอย่างนี้
บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มิได้มุ่งหวังลาภ เล่าเรียนพระสูตร เล่าเรียนพระวินัย
เล่าเรียนพระอภิธรรม เพื่อประโยชน์ในการฝึกตน เพื่อประโยชน์แก่ความสงบของตน
เพื่อประโยชน์ในการทำตนให้ดับเย็น (ปรินิพพาน) มิใช่เพราะลาภเป็นเหตุ มิใช่
เพราะลาภเป็นปัจจัย มิใช่เพราะลาภเป็นต้นเหตุ มิใช่เพราะมุ่งหวังการเกิดลาภโดย
เฉพาะ บุคคลชื่อว่าไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ เป็นอย่างนี้
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุไม่มุ่งหวังลาภ เพียงอาศัยความปรารถนาน้อย ความสันโดษ
ความขัดเกลากิเลส ความสงัด ความเป็นผู้ต้องการกุศลนี้อย่างเดียวเท่านั้น จึงเป็น
ผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ... เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ... เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุล


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๗๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
เป็นวัตร ... เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็นวัตร ... เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็น
วัตร ... เป็นผู้งดอาหารมื้อหลังเป็นวัตร ... เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร ... เป็นผู้ถือการ
อยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร มิใช่เพราะลาภเป็นเหตุ มิใช่เพราะลาภเป็น
ปัจจัย มิใช่เพราะลาภเป็นต้นเหตุ มิใช่เพราะมุ่งหวังการเกิดลาภโดยเฉพาะ บุคคล
ชื่อว่าไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ เป็นอย่างนี้ รวมความว่า บุคคลไม่ศึกษาเพราะ
อยากได้ลาภ

ว่าด้วยโกรธเพราะการไม่ได้
คำว่า ไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ อธิบายว่า
ภิกษุโกรธเพราะไม่ได้ลาภ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ยังโกรธ คือ แค้น เคือง ทำความโกรธ
ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏว่า “เราไม่ได้ตระกูล หมู่คณะ อาวาส
ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือ
ผู้พยาบาลยามอาพาธ เราไม่มีชื่อเสียงที่คนรู้จัก” บุคคลชื่อว่าโกรธเพราะไม่ได้ลาภ
เป็นอย่างนี้
ภิกษุไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่โกรธ คือ ไม่แค้น ไม่เคือง ไม่ทำความโกรธ
ความขัดเคือง และความไม่พอใจให้ปรากฏว่า “เราไม่ได้ตระกูล หมู่คณะ อาวาส
ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือ
ผู้พยาบาลยามอาพาธ เราไม่มีชื่อเสียงที่คนรู้จัก” บุคคลชื่อว่าไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ
เป็นอย่างนี้ รวมความว่า บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ ไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ
คำว่า เดือดดาล ในคำว่า ไม่เดือดดาล และไม่ยินดีในรสเพราะตัณหา
ได้แก่ ใจปองร้าย มุ่งร้าย ขัดเคือง ขุ่นเคือง แค้นเคือง เคือง เคืองมาก เคืองตลอด
ชัง ชิงชัง เกลียดชัง ใจพยาบาท ใจแค้นเคือง ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะ
ที่โกรธ ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย ความ
คิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย ความโกรธ ความแค้น ความ
ดุร้าย ความเกรี้ยวกราด ความไม่แช่มชื่นแห่งจิตเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า ความ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๗๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
เดือดดาล ความเดือดดาลนั้น ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่
เดือดดาล
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า รส ได้แก่ รสจากราก รสจากลำต้น รสจากเปลือก รสจากใบ รส
จากดอก รสจากผล รสเปรี้ยว รสหวาน รสขม รสเผ็ด รสเค็ม รสปร่า รสเฝื่อน
รสฝาด รสอร่อย รสไม่อร่อย รสเย็น รสร้อน สมณพราหมณ์บางพวก ยินดีในรส
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเที่ยวแสวงหารสเลิศด้วยปลายลิ้น ได้รสเปรี้ยวแล้วก็แสวง
หารสไม่เปรี้ยว ได้รสไม่เปรี้ยวแล้วก็แสวงหารสเปรี้ยว ได้รสหวานแล้วก็แสวงหารส
ไม่หวาน ได้รสไม่หวานแล้วก็แสวงหารสหวาน ได้รสขมแล้วก็แสวงหารสไม่ขม ได้
รสไม่ขมแล้วก็แสวงหารสขม ได้รสเผ็ดแล้วก็แสวงหารสไม่เผ็ด ได้รสไม่เผ็ดแล้วก็
แสวงหารสเผ็ด ได้รสเค็มแล้วก็แสวงหารสไม่เค็ม ได้รสไม่เค็มแล้วก็แสวงหารสเค็ม
ได้รสปร่าแล้วก็แสวงหารสไม่ปร่า ได้รสไม่ปร่าแล้วก็แสวงหารสปร่า ได้รสเปรี้ยว
แล้วก็แสวงหารสฝาด ได้รสฝาดแล้วก็แสวงหารสเปรี้ยว ได้รสอร่อยแล้วก็แสวงหา
รสไม่อร่อย ได้รสไม่อร่อยแล้วก็แสวงหารสอร่อย ได้ของเย็นแล้วก็แสวงหาของร้อน
ได้ของร้อนแล้วก็แสวงหาของเย็น สมณพราหมณ์เหล่านั้นได้รสใด ๆ แล้วก็ไม่ยินดี
ด้วยรสนั้น ๆ ยังแสวงหารสอื่น ๆ ต่อไปอีก เป็นผู้กำหนัด ยินดี ติดใจ สยบ หมกมุ่น
เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในรสที่ชอบใจ ตัณหาในรสนี้ภิกษุใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ภิกษุ
นั้นพิจารณาแล้วโดยแยบคาย จึงฉันอาหาร มิใช่เพื่อเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อ
ตบแต่ง มิใช่เพื่อประดับ แต่ฉันเพียงเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้ร่างกายนี้
ดำเนินไปได้ เพื่อระงับความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์อย่างเดียวเท่านั้น
ด้วยมนสิการว่า เราจักบำบัดเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น การดำเนินชีวิต
ของเรา ความไม่มีโทษและอยู่สบายได้ด้วยวิธีการอย่างนี้
คนทาแผลเพียงเพื่อปลูกเนื้อเยื่อ หยอดเพลาเพียงเพื่อจะขนภาระไป หรือกิน
อาหารที่ปรุงจากเนื้อบุตรเพียงเพื่อจะเดินทางออกจากทางกันดารให้พ้นเท่านั้น
ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ฉันอาหาร มิใช่เพื่อเล่น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๗๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อตบแต่ง มิใช่เพื่อประดับ แต่ฉันเพียงเพื่อจะให้ร่างกายนี้
ดำรงอยู่ เพื่อให้ร่างกายนี้ดำเนินไปได้ เพื่อระงับความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์
พรหมจรรย์เท่านั้น ด้วยมนสิการว่า เราจักบำบัดเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น
การดำเนินชีวิตของเรา ความไม่มีโทษและอยู่สบายได้ด้วยวิธีการอย่างนี้ ย่อมละ
บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งตัณหาในรส เป็นผู้งดแล้ว งดเว้นแล้ว
เว้นขาดแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับตัณหาในรสแล้ว
มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ไม่เดือดดาล และไม่ยินดีในรสเพราะ
ตัณหา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลไม่ศึกษาเพราะอยากได้ลาภ
ไม่โกรธเพราะไม่ได้ลาภ ไม่เดือดดาล
และไม่ยินดีในรสเพราะตัณหา
[๙๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลเป็นผู้วางเฉย มีสติทุกเมื่อ
ไม่สำคัญว่าเสมอเขา ไม่สำคัญว่าเลิศกว่าเขา
ไม่สำคัญว่าด้อยกว่าเขา ในโลก
กิเลสหนาย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น

ว่าด้วยอุเบกขามีองค์ ๖
คำว่า บุคคลเป็นผู้วางเฉย ในคำว่า บุคคลเป็นผู้วางเฉย มีสติทุกเมื่อ
อธิบายว่า บุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยอุเบกขามีองค์ ๖ เห็นรูปทางตาแล้ว ก็ไม่ดีใจ
ไม่เสียใจ เป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ฟังเสียงทางหู ... ดมกลิ่นทางจมูก ...
ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ก็ไม่ดีใจ
ไม่เสียใจ เป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่ติดใจ ไม่ยินดีรูป
ที่น่าพอใจ ไม่ให้เกิดความกำหนัด กายของเขาตั้งมั่น จิตก็ตั้งมั่น ดำรงดีอยู่ภายใน
หลุดพ้นดีแล้ว ทั้งเห็นรูปที่ไม่ชอบใจทางตาแล้วก็ไม่เสียใจ ไม่โกรธ ไม่หดหู่ ไม่
พยาบาท กายของเขาตั้งมั่น จิตก็ตั้งมั่น ดำรงดีอยู่ภายใน หลุดพ้นดีแล้ว ได้ยินเสียง
ทางหูแล้ว ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...
รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ก็ไม่ติดใจ ไม่ยินดีอารมณ์ที่น่าพอใจ ไม่ให้เกิดความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๘๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
กำหนัดขึ้น กายของเขาตั้งมั่น จิตก็ตั้งมั่น ดำรงดีอยู่ภายใน หลุดพ้นดีแล้ว ทั้งรู้
ธรรมารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจทางใจแล้ว ก็ไม่เสียใจ ไม่โกรธ ไม่หดหู่ ไม่พยาบาท
กายของเขาตั้งมั่น จิตก็ตั้งมั่น ดำรงดีอยู่ภายใน หลุดพ้นดีแล้ว
เห็นรูปทางตาแล้ว กายของเขาก็ตั้งมั่นในรูปที่ชอบใจและไม่ชอบใจ จิตก็ตั้งมั่น
ดำรงดีอยู่ภายใน หลุดพ้นดีแล้ว ฟังเสียงทางหูแล้ว ... ดมกลิ่นทางจมูก ... ลิ้มรส
ทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ก็มีกายตั้งมั่นใน
ธรรมารมณ์ทั้งที่ชอบใจและไม่ชอบใจ จิตก็ตั้งมั่น ดำรงดีอยู่ภายใน หลุดพ้นดีแล้ว
เห็นรูปทางตาแล้ว ก็ไม่กำหนัดในรูปที่ชวนให้กำหนัด ไม่ขัดเคืองในรูปที่ชวน
ให้ขัดเคือง ไม่หลงในรูปที่ชวนให้หลง ไม่โกรธในรูปที่ชวนให้โกรธ ไม่เศร้าหมองใน
รูปที่ชวนให้เศร้าหมอง ไม่มัวเมาในรูปที่ชวนให้มัวเมา ได้ยินเสียงทางหู ... ดมกลิ่น
ทางจมูก ... ลิ้มรสทางลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ... รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว
ก็ไม่กำหนัดในธรรมารมณ์ที่ชวนให้กำหนัด ไม่ขัดเคืองในธรรมารมณ์ที่ชวนให้
ขัดเคือง ไม่หลงในธรรมารมณ์ที่ชวนให้หลง ไม่โกรธในธรรมารมณ์ที่ชวนให้โกรธ
ไม่เศร้าหมองในธรรมารมณ์ที่ชวนให้เศร้าหมอง ไม่มัวเมาในธรรมารมณ์ที่ชวนให้
มัวเมา เมื่อเห็น ก็เป็นเพียงเห็น เมื่อได้ยิน ก็เป็นเพียงได้ยิน เมื่อรับรู้ กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ ก็เป็นเพียงรับรู้ เมื่อรู้แจ้งธรรมารมณ์ ก็เป็นเพียงรู้แจ้ง ไม่ติดในรูป
ที่เห็น ไม่ติดในเสียงที่ได้ยิน ไม่ติดในกลิ่น ไม่ติดในรส ไม่ติดในสัมผัสที่รับรู้ ไม่ติด
ในธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ไม่มีตัณหา ไม่มีใจประทุษร้าย ตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัย
ไม่พัวพัน พ้นขาด ไม่เกี่ยวข้องในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้
และธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่
พระอรหันต์ก็มีตา เห็นรูปทางตา แต่พระอรหันต์ไม่มีความกำหนัดเพราะพอใจ
พระอรหันต์จึงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พระอรหันต์ก็มีหู ได้ยินเสียงทางหู แต่พระอรหันต์
ไม่มีความกำหนัดเพราะพอใจ พระอรหันต์จึงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พระอรหันต์ก็มีจมูก
ได้กลิ่นทางจมูก แต่พระอรหันต์ไม่มีความกำหนัดเพราะพอใจ พระอรหันต์จึงมีจิต
หลุดพ้นดีแล้ว พระอรหันต์ก็มีลิ้น ลิ้มรสทางลิ้น แต่พระอรหันต์ไม่มีความกำหนัด
เพราะพอใจ พระอรหันต์จึงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว พระอรหันต์ก็มีกายถูกต้องโผฏฐัพพะ
ทางกาย แต่พระอรหันต์ไม่มีความกำหนัดเพราะพอใจ พระอรหันต์จึงมีจิตหลุดพ้นดี
แล้ว พระอรหันต์ก็มีใจ รู้ธรรมารมณ์ทางใจ แต่พระอรหันต์ไม่มีความกำหนัด
เพราะพอใจ พระอรหันต์จึงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๘๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ตาชอบรูป ยินดีในรูป ชื่นชมในรูป พระอรหันต์ฝึก คุ้มครอง รักษา
สำรวมตา และแสดงธรรมเพื่อสำรวมตานั้น หูชอบเสียง ... จมูกชอบกลิ่น ...
ลิ้นชอบรส ... กายชอบโผฏฐัพพะ ... ใจชอบธรรมารมณ์ ยินดีในธรรมารมณ์
ชื่นชมในธรรมารมณ์ พระอรหันต์ฝึก คุ้มครอง รักษา สำรวมใจ และแสดงธรรม
เพื่อสำรวมใจนั้น
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
คนทั้งหลายนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม
พระราชาย่อมทรงราชพาหนะที่ฝึกแล้ว
ในหมู่มนุษย์ คนที่ฝึกแล้ว ซึ่งอดกลั้นต่อคำล่วงเกินได้ ประเสริฐสุด
ม้าอัสดร ม้าอาชาไนย ม้าสินธพ ช้างใหญ่
ที่ได้รับการฝึกหัดแล้ว ประเสริฐ
แต่คนที่ฝึกหัดแล้ว ประเสริฐกว่าสัตว์พาหนะเหล่านั้น
เพราะใครก็ไปถึงนิพพานอันเป็นทิศที่ไม่เคยไป
ด้วยยานพาหนะเหล่านั้นไม่ได้ เหมือนบุคคลผู้ฝึกแล้ว
มีตนฝึกหัดแล้วอย่างดี ไปถึงได้๑
พระอรหันต์ทั้งหลาย หลุดพ้นจากภพใหม่แล้ว
บรรลุถึงภูมิที่ฝึกแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวในมานะทั้งหลาย
ท่านเป็นผู้ชนะแล้วในโลก๒
ผู้ใดอบรมอินทรีย์แล้วในโลกทั้งปวง ทั้งภายในและภายนอก
ผู้นั้นเป็นผู้อบรมแล้ว ฝึกดีแล้ว รู้ชัดทั้งโลกนี้และปรโลก
รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น๓

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ธ. ๒๕/๓๒๑-๓๒๓/๗๒
๒ สํ.ข. ๑๗/๗๖/๖๘
๓ ขุ.สุ. ๒๕/๕๒๒/๔๓๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๘๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
คำว่า บุคคลเป็นผู้วางเฉย ... ทุกเมื่อ อธิบายว่า ทุกเมื่อ คือ ในกาลทั้งปวง
ตลอดกาลทั้งปวง ตลอดกาลเป็นนิจ ตลอดกาลยั่งยืน ... ปัจฉิมวัย
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย
๒. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
๓. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต
๔. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย
ผู้นั้นพระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า มีสติ รวมความว่า บุคคลเป็นผู้วางเฉย
มีสติทุกเมื่อ
คำว่า ไม่สำคัญว่าเสมอเขา ... ในโลก อธิบายว่า ไม่ให้เกิดความถือตัวเพราะ
ชาติ เพราะโคตร ... หรือเพราะสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วว่า “เราเป็นผู้เสมอเขา”
รวมความว่า ไม่สำคัญว่าเสมอเขา ... ในโลก
คำว่า ไม่สำคัญว่าเลิศกว่าเขา ไม่สำคัญว่าด้อยกว่าเขา อธิบายว่า ไม่ให้เกิด
ความดูหมิ่น เพราะชาติ เพราะโคตร ... หรือเพราะสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วว่า
“เราเลิศกว่าเขา” ไม่ให้เกิดความถือตัว เพราะชาติ เพราะโคตร ... หรือเพราะสิ่งอื่น
นอกจากที่กล่าวแล้วว่า “เราด้อยกว่าเขา” รวมความว่า ไม่สำคัญว่าเลิศกว่าเขา
ไม่สำคัญว่าด้อยกว่าเขา

ว่าด้วยกิเลสหนา ๗ อย่าง
คำว่า บุคคลนั้น ในคำว่า กิเลสหนาย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น ได้แก่
พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า กิเลสหนา ได้แก่ กิเลสหนา ๗ อย่าง คือ

๑. กิเลสหนาคือราคะ ๒. กิเลสหนาคือโทสะ
๓. กิเลสหนาคือโมหะ ๔. กิเลสหนาคือมานะ
๕. กิเลสหนาคือทิฏฐิ ๖. กิเลสหนาคือกิเลส
๗. กิเลสหนาคือกรรม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๘๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
กิเลสหนาเหล่านั้นไม่มี ไม่มีอยู่ คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้แก่พระอรหันต์นั้น
คือ กิเลสหนาเหล่านั้นพระอรหันต์ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ
ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า กิเลสหนาย่อม
ไม่มีแก่บุคคลนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลเป็นผู้วางเฉย มีสติทุกเมื่อ
ไม่สำคัญว่าเสมอเขา ไม่สำคัญว่าเลิศกว่าเขา
ไม่สำคัญว่าด้อยกว่าเขา ในโลก
กิเลสหนาย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น
[๙๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลใดไม่มีที่อาศัย
ไม่มีตัณหาในภพหรือในวิภพ
บุคคลนั้นรู้ธรรมแล้วไม่อาศัย

ว่าด้วยที่อาศัย
คำว่า บุคคลใด ในคำว่า บุคคลใดไม่มีที่อาศัย ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ที่อาศัย ได้แก่ ความอาศัย ๒ อย่าง คือ (๑) ความอาศัยด้วยอำนาจ
ตัณหา (๒) ความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ
บุคคลนั้นละความอาศัยด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความอาศัยด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละความอาศัยด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งความอาศัย
ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว บุคคลใด ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ซึ่งที่อาศัย
คือ ที่อาศัยนั้น บุคคลนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า บุคคลใดไม่มีที่อาศัย
คำว่า รู้แล้ว ในคำว่า รู้ธรรมแล้วไม่อาศัย อธิบายว่า รู้แล้ว คือ ทราบแล้ว
เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขาร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๘๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ทั้งปวงไม่เที่ยง ... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” ... รู้แล้ว คือ
ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้ง
แล้วว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไป
เป็นธรรมดา”
คำว่า ไม่อาศัย ได้แก่ ความอาศัย ๒ อย่าง คือ (๑) ความอาศัยด้วยอำนาจ
ตัณหา (๒) ความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ
บุคคลนั้นละความอาศัยด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความอาศัยด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว ไม่อาศัยตา ... ไม่อาศัยหู ... ไม่อาศัยจมูก ... ไม่อาศัยลิ้น ... ไม่
อาศัยกาย ... ไม่อาศัยใจ ... คือ ไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ไม่ติดใจแล้ว
ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับรูป ... เสียง ... กลิ่น ... รส ...
โผฏฐัพพะ ... ธรรมารมณ์ ... ตระกูล ... หมู่คณะ ... อาวาส ... รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่
รวมความว่า รู้ธรรมแล้วไม่อาศัย

ว่าด้วยตัณหา
คำว่า ตัณหา ในคำว่า ไม่มีตัณหาในภพหรือในวิภพ ได้แก่ รูปตัณหา
สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า บุคคลใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ในภพ ได้แก่ ในภวทิฏฐิ
คำว่า ในวิภพ ได้แก่ ในวิภวทิฏฐิ
คำว่า ในภพ ได้แก่ ในสัสสตทิฏฐิ
คำว่า ในวิภพ ได้แก่ ในอุจเฉททิฏฐิ
คำว่า ในภพ อธิบายว่า ในภพต่อไป ในคติต่อไป ในการถือกำเนิดต่อไป
ในปฏิสนธิต่อไป ในความบังเกิดของอัตภาพต่อไป


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๘๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ตัณหาไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้แก่บุคคลใด คือ ตัณหานั้น บุคคล
นั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก
เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า ไม่มีตัณหาในภพหรือในวิภพ ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลใดไม่มีที่อาศัย
ไม่มีตัณหาในภพหรือในวิภพ
บุคคลนั้นรู้ธรรมแล้วไม่อาศัย
[๙๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เราเรียกบุคคลนั้น ผู้ไม่มุ่งหวังในกามทั้งหลายว่า
เป็นผู้เข้าไปสงบ บุคคลนั้นไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
ข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาได้แล้ว
คำว่า เราเรียกบุคคลนั้น... เป็นผู้เข้าไปสงบ อธิบายว่า เราเรียกบุคคลนั้น
คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง บุคคลนั้นว่า เป็นผู้สงบ เข้าไปสงบ สงบเย็น คือ
ดับแล้ว ระงับแล้ว รวมความว่า เราเรียกบุคคลนั้น... เป็นผู้เข้าไปสงบ
คำว่า ผู้ไม่มุ่งหวังในกามทั้งหลาย อธิบายว่า
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม
(๒) กิเลสกาม ... เหล่านี้ เรียกว่าวัตถุกาม ... เหล่านี้ เรียกว่ากิเลสกาม๑
บุคคลกำหนดรู้วัตถุกามแล้ว ละ คือ ละเว้น บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกิเลสกาม ชื่อว่าไม่มุ่งหวังในกามทั้งหลาย ได้แก่ เป็นผู้
คลายกามแล้ว สละกามแล้ว คายกามแล้ว ปล่อยกามแล้ว ละกามแล้ว สลัดทิ้งกาม
แล้ว คือ เป็นผู้คลายความกำหนัดแล้ว สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยราคะแล้ว
ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะแล้ว ในกามทั้งหลาย เป็นผู้หมดความอยากแล้ว เป็นผู้
ดับแล้ว เป็นผู้เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า ผู้ไม่มุ่งหวัง
ในกามทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๑-๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๘๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยกิเลสเครื่องร้อยรัด ๔ อย่าง
คำว่า กิเลศเครื่องร้อยรัด ในคำว่า บุคคลนั้นไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
อธิบายว่า กิเลสเครื่องร้อยรัด ๔ อย่าง คือ
๑. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา
๒. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือพยาบาท
๓. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือสีลัพพตปรามาส
๔. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือความถือมั่นว่านี้เท่านั้นจริง
ความกำหนัดในทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา
ความอาฆาต ความไม่พอใจในวาทะของผู้อื่น ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือ
พยาบาท
ความยึดมั่นศีล วัตร หรือศีลวัตรของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือ
สีลัพพตปรามาส
ทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออิทังสัจจาภินิเวส
คำว่า บุคคลนั้น ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า บุคคลนั้นไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด อธิบายว่า บุคคลนั้นไม่มี ไม่มีอยู่
ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ซึ่งกิเลสเครื่องร้อยรัด คือ กิเลสเครื่องร้อยรัดบุคคลนั้นละ
ได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วย
ไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า บุคคลนั้นไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด

ว่าด้วยตัณหามีชื่อต่าง ๆ
คำว่า บุคคลนั้น... ข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาได้แล้ว อธิบายว่า ตัณหา
ตรัสเรียกว่า วิสัตติกา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูล
คือโลภะ๑

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๘๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
คำว่า วิสัตติกา อธิบายว่า ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีความหมายอย่างไร
ตัณหาชื่อว่าวิสัตติกา เพราะซ่านไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะแผ่ไป ชื่อว่าวิสัตติกา
เพราะกระจายไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะไม่สม่ำเสมอ ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะครอบงำ
ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะสะท้อนไป ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะเป็นตัวการให้พูดผิด ชื่อว่า
วิสัตติกา เพราะมีรากเป็นพิษ ชื่อว่าวิสัตติกา เพราะมีผลเป็นพิษ ชื่อว่าวิสัตติกา
เพราะเป็นตัวการให้บริโภคสิ่งมีพิษ
อีกนัยหนึ่ง ตัณหานั้นซ่านไป แผ่ไป ขยายไปในรูป ... เสียง ... กลิ่น ... รส ...
โผฏฐัพพะ ... ตระกูล ... หมู่คณะ ... อาวาส ... ซ่านไป แผ่ไป ขยายไปในรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง รวมความว่า
ตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกา
คำว่า บุคคลนั้นข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาได้แล้ว อธิบายว่า บุคคลนั้น
ข้ามได้แล้ว คือ ข้ามไปได้แล้ว ข้ามพ้นแล้ว ก้าวล่วงแล้ว ล่วงเลยแล้วซึ่งตัณหา
ที่ชื่อว่าวิสัตติกานี้ รวมความว่า บุคคลนั้นข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาได้แล้ว ด้วย
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เราเรียกบุคคลนั้น ผู้ไม่มุ่งหวังในกามทั้งหลายว่า
เป็นผู้เข้าไปสงบ บุคคลนั้นไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
ข้ามตัณหาที่ชื่อว่าวิสัตติกาได้แล้ว
[๙๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลนั้นไม่มีบุตร สัตว์เลี้ยง นาไร่และที่ดิน
ทิฏฐิว่ามีอัตตา หรือทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา หาไม่ได้ในบุคคลนั้น

ว่าด้วยบุตรเป็นต้น
คำว่า ไม่ ในคำว่า บุคคลนั้น ไม่มีบุตร สัตว์เลี้ยง นาไร่และที่ดิน เป็นคำ
ปฏิเสธ
คำว่า บุคคลนั้น ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า บุตร ได้แก่ บุตร ๔ จำพวก คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๘๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
๑. บุตรเกิดจากตน ๒. บุตรเกิดในเขต
๓. บุตรที่เขาให้ ๔. บุตรที่อยู่ในสำนัก
คำว่า สัตว์เลี้ยง ได้แก่ แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า และลา
คำว่า นาไร่ ได้แก่ นาข้าวสาลี นาข้าวเจ้า ไร่ถั่วเขียว ไร่ถั่วราชมาศ
นาข้าวเหนียว นาข้าวละมาน ไร่งา
คำว่า ที่ดิน ได้แก่ ที่ปลูกเรือน ที่สร้างยุ้งฉาง ที่หน้าเรือน ที่หลังเรือน ที่สวน
ที่อยู่
คำว่า บุคคลนั้น ไม่มีบุตร สัตว์เลี้ยง นาไร่และที่ดิน อธิบายว่า บุคคลนั้น
ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ซึ่งความยึดถือว่ามีบุตร ความยึดถือว่า
มีสัตว์เลี้ยง ความยึดถือว่ามีนาไร่ ความยึดถือว่ามีที่ดิน คือ ความยึดถือว่า
มีบุตรเป็นต้น เขาละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า บุคคลนั้น ไม่มีบุตร สัตว์เลี้ยง
นาไร่และที่ดิน

ว่าด้วยทิฏฐิ
คำว่า ทิฏฐิว่ามีอัตตา ในคำว่า ทิฏฐิว่ามีอัตตา หรือทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา
หาไม่ได้ในบุคคลนั้น ได้แก่ ไม่มีสัสสตทิฏฐิ
คำว่า ทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา ได้แก่ ไม่มีอุจเฉททิฏฐิ
คำว่า ทิฏฐิว่ามีอัตตา ได้แก่ ไม่มีสิ่งที่ยึดถือ
คำว่า ทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา ได้แก่ ไม่มีสิ่งที่พึงปล่อยวาง อธิบายว่า สิ่งที่ยึดถือ
ไม่มีแก่บุคคลใด สิ่งที่พึงปล่อยวางก็ไม่มีแก่บุคคลนั้น สิ่งที่พึงปล่อยวางไม่มีแก่
บุคคลใด สิ่งที่ยึดถือก็ไม่มีแก่บุคคลนั้น บุคคลนั้นผู้เป็นพระอรหันต์ ก้าวพ้นการ
ยึดถือ และการปล่อยวางแล้ว ล่วงพ้นความเจริญและความเสื่อมแล้ว บุคคลนั้น
อยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ... บุคคลนั้น ไม่มีการเวียนเกิด
เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า ทิฏฐิว่ามีอัตตา หรือทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา
หาไม่ได้ในบุคคลนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลนั้น ไม่มีบุตร สัตว์เลี้ยง นาไร่และที่ดิน
ทิฏฐิว่ามีอัตตา หรือทิฏฐิว่าไม่มีอัตตา หาไม่ได้ในบุคคลนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๘๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
[๙๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เหล่าปุถุชนหรือสมณพราหมณ์
พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยโทษใด
โทษนั้นไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย
เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงไม่หวั่นไหวในเพราะวาทะทั้งหลาย
คำว่า เหล่าปุถุชน ในคำว่า เหล่าปุถุชนหรือสมณพราหมณ์พึงกล่าวหา
บุคคลนั้นด้วยโทษใด อธิบายว่า ชื่อว่าปุถุชน เพราะมีความหมายว่าอย่างไร
ชื่อว่าปุถุชน เพราะให้กิเลสหยาบเกิดขึ้น ชื่อว่าปุถุชน เพราะมีสักกายทิฏฐิ
อันหนาแน่นยังละไม่ได้ ชื่อว่าปุถุชน เพราะปฏิญญาต่อหน้าศาสดาหลายองค์
ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกคติทุกอย่างร้อยรัดไว้มาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะปรุงแต่ง
อภิสังขารต่าง ๆ เป็นอันมาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกโอฆะกิเลสต่าง ๆ เป็นอันมาก
พัดพาไป ชื่อว่าปุถุชน เพราะเดือดร้อนด้วยความเดือดร้อนต่าง ๆ เป็นอันมาก
ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกความเร่าร้อนต่าง ๆ เป็นอันมากแผดเผา ชื่อว่าปุถุชน เพราะ
กำหนัด ยินดี ติดใจ สยบ หมกมุ่น เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในกามคุณ ๕ เป็น
อันมาก ชื่อว่าปุถุชน เพราะถูกนิวรณ์ ๕ เป็นอันมาก หุ้มห่อ โอบล้อม ห้อมล้อม
ครอบคลุม ปกคลุม บดบัง
คำว่า สมณะ ได้แก่ คนพวกหนึ่ง เป็นผู้เข้าถึง สมบูรณ์ด้วยการบวชภายนอก
ศาสนานี้
คำว่า พราหมณ์ ได้แก่ คนพวกหนึ่ง ผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้เจริญ
คำว่า เหล่าปุถุชน หรือสมณพราหมณ์พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยโทษใด
อธิบายว่า เหล่าปุถุชน พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ
อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย ใด ๆ ว่า “เป็นผู้กำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง เป็นผู้หลง เป็นผู้
ยึดติด เป็นผู้ยึดมั่น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เป็นผู้ลังเล หรือเป็นผู้ตกอยู่ในพลังกิเลส”
บุคคลนั้นละอภิสังขารเหล่านั้นได้แล้ว เพราะละอภิสังขารได้แล้ว เหล่าปุถุชน
พึงกล่าวหาบุคคลนั้นโดยคติใดว่า “เป็นผู้เกิดในนรก เป็นผู้เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน
เป็นผู้เกิดในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๙๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
เป็นผู้ไม่มีสัญญา หรือเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่” บุคคลนั้นไม่มีเหตุ
ไม่มีปัจจัย ไม่มีการณ์ ที่จะให้ปุถุชนเป็นต้นกล่าวหา พูดถึง เอ่ยถึง แสดงถึง ชี้แจง
ถึงได้เลย รวมความว่า เหล่าปุถุชนหรือสมณพราหมณ์พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วย
โทษใด

ว่าด้วยการเชิดชู ๒ อย่าง
คำว่า บุคคลนั้น ในคำว่า โทษนั้นไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย ได้แก่
พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า เชิดชู อธิบายว่า การเชิดชู ๒ อย่าง คือ
๑. การเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ๒. การเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ ...
นี้ชื่อว่าการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าการเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ๑
บุคคลนั้นละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการเชิดชูด้วยอำนาจ
ทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการเชิดชูด้วยอำนาจ
ทิฏฐิได้แล้ว บุคคลนั้นจึงไม่เที่ยวเชิดชูตัณหาหรือทิฏฐิไว้ คือ ไม่มีตัณหาเป็นธงชัย
ไม่มีตัณหาเป็นยอดธง ไม่มีตัณหาเป็นใหญ่ ไม่มีทิฏฐิเป็นธงชัย ไม่มีทิฏฐิเป็นยอดธง
ไม่มีทิฏฐิเป็นใหญ่ ไม่ได้ถูกตัณหาหรือทิฏฐิครอบงำเที่ยวไป รวมความว่า โทษนั้น
ไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่หวั่นไหวในเพราะ
วาทะทั้งหลาย อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น
เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น บุคคลนั้นย่อมไม่หวั่นไหว คือ ไม่โยก ไม่โคลง
ไม่กระเพื่อม ไม่สั่น ไม่สะท้าน ไม่สะเทือน ในเพราะวาทะ คือ ในเพราะการว่าร้าย
นินทา ติเตียน ไม่สรรเสริญ ไม่ยกย่องความดี รวมความว่า เพราะฉะนั้น บุคคลนั้น
จึงไม่หวั่นไหวในเพราะวาทะทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เหล่าปุถุชนหรือสมณพราหมณ์
พึงกล่าวหาบุคคลนั้นด้วยโทษใด
โทษนั้นไม่เชิดชูบุคคลนั้นเลย
เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นจึงไม่หวั่นไหวในเพราะวาทะทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๙๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
[๙๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลผู้เป็นมุนี เป็นผู้คลายความยินดี
ไม่ตระหนี่ ย่อมไม่กล่าวในเรื่องเลิศกว่าเขา
ไม่กล่าวในเรื่องเสมอเขา ไม่กล่าวในเรื่องด้อยกว่าเขา
เป็นผู้ไม่มีความกำหนด ย่อมไม่ถึงความกำหนด
คำว่า เป็นผู้คลายความยินดี ไม่ตระหนี่ อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า
ความยินดี คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ความยินดีนั้น บุคคลใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว บุคคลนั้นตรัสเรียกว่า ผู้คลายความ
ยินดี คือ ผู้นั้นไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่สยบ ไม่หมกมุ่นในรูป ... ในรูปที่เห็น เสียงที่
ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ได้แก่ เป็นผู้คลาย
ความยินดีแล้ว คือ ปราศจากความยินดีแล้ว สละความยินดีแล้ว คายความ
ยินดีแล้ว ปล่อยความยินดี ละความยินดีแล้ว สลัดทิ้งความยินดีแล้ว เป็นผู้หมด
ความอยากแล้ว เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้เย็นแล้ว มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวม
ความว่า เป็นผู้คลายความยินดี
คำว่า ไม่ตระหนี่ อธิบายว่า
คำว่า ความตระหนี่ ได้แก่ มัจฉริยะ ๕ อย่าง คือ
๑. อาวาสมัจฉริยะ ๒. กุลมัจฉริยะ
๓. ลาภมัจฉริยะ ๔. วัณณมัจฉริยะ
๕. ธัมมมัจฉริยะ
ความตระหนี่ ... ความมุ่งแต่จะได้เห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความตระหนี่
ความตระหนี่นั้นบุคคลใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว บุคคลนั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่ตระหนี่
รวมความว่า เป็นผู้คลายความยินดี ไม่ตระหนี่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๙๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
คำว่า มุนี ในคำว่า บุคคลผู้เป็นมุนี ... ย่อมไม่กล่าวในเรื่องเลิศกว่าเขา
ไม่กล่าวในเรื่องเสมอเขา ไม่กล่าวในเรื่องด้อยกว่าเขา อธิบายว่า ญาณ
ท่าน เรียกว่า โมนะ ... ผู้ก้าวล่วงกิเลสเป็นเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว
ชื่อว่ามุนี๑
บุคคลผู้เป็นมุนีย่อมไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงว่า “เราเลิศ
กว่าเขา เราเสมอเขา หรือเราด้อยกว่าเขา” รวมความว่า บุคคลผู้เป็นมุนี ... ย่อมไม่
กล่าวในเรื่องเลิศกว่าเขา ไม่กล่าวในเรื่องเสมอเขา ไม่กล่าวในเรื่องด้อยกว่าเขา

ว่าด้วยการกำหนด ๒ อย่าง
คำว่า เป็นผู้ไม่มีความกำหนด ย่อมไม่ถึงความกำหนด อธิบายว่า
คำว่า ความกำหนด ได้แก่ ความกำหนด ๒ อย่าง คือ
๑. ความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ๒. ความกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ...
นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยอำนาจ
ทิฏฐิ๒
บุคคลนั้นละความกำหนดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความกำหนัดด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งความ
กำหนัดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว จึงไม่ถึง คือ ไม่เข้าถึง ไม่เข้าไปถึง ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น
ไม่ถือมั่นความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา หรือความกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ รวม
ความว่า ย่อมไม่ถึงความกำหนด
คำว่า เป็นผู้ไม่มีความกำหนด อธิบายว่า
คำว่า ความกำหนด ได้แก่ ความกำหนด ๒ อย่าง คือ
๑. ความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ๒. ความกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ...
นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา...นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ๓

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๔/๖๘-๗๑
๒ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙
๓ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๙๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
บุคคลนั้นละความกำหนดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งความ
กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว จึงไม่กำหนด คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้
บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นซึ่งความกำหนดด้วยอำนาจตัณหาหรือความกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิ รวมความว่า เป็นผู้ไม่มีความกำหนด ย่อมไม่ถึงความกำหนด ด้วย
เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลผู้เป็นมุนี เป็นผู้คลายความยินดี
ไม่ตระหนี่ ย่อมไม่กล่าวในเรื่องเลิศกว่าเขา
ไม่กล่าวในเรื่องเสมอเขา ไม่กล่าวในเรื่องด้อยกว่าเขา
เป็นผู้ไม่มีความกำหนด ย่อมไม่ถึงความกำหนด
[๙๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลใดไม่มีความถือว่าเป็นของตนในโลก
เมื่อไม่มีความถือว่าเป็นของตน ย่อมไม่เศร้าโศก
ไม่ถึงความลำเอียงในธรรมทั้งหลาย
บุคคลนั้นแล เรียกว่า ผู้สงบ

ว่าด้วยผู้ไม่มีความถือว่าเป็นของตน
คำว่า บุคคลใด ในคำว่า บุคคลใด ไม่มีความถือว่าเป็นของตน ได้แก่
พระอรหันตขีณาสพ
คำว่า ไม่มีความถือว่าเป็นของตนในโลก อธิบายว่า บุคคลใดไม่มีความถือ
ความยึดมั่น ความถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณไร ๆ ว่า นี้ของเรา หรือ สิ่งนี้ของผู้อื่น ความถือว่าเป็นของตน บุคคลนั้นละ
ได้แล้ว ... เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า บุคคลใด ไม่มีความถือว่าเป็นของ
ตนในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๙๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยผู้ไม่เศร้าโศก
คำว่า เมื่อไม่มีความถือว่าเป็นของตน ย่อมไม่เศร้าโศก อธิบายว่า ไม่เศร้า
โศกถึงวัตถุที่แปรผันไป หรือเมื่อวัตถุแปรผันไปแล้วก็ไม่เศร้าโศก ย่อมไม่เศร้าโศก
คือ ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า
“ตาของเราแปรผันไป ... หูของเรา ... จมูกของเรา .... ลิ้นของเรา ... กายของเรา ...
ใจของเรา ... รูปของเรา ... เสียงของเรา ... กลิ่นของเรา ... รสของเรา ... โผฏฐัพพะ
ของเรา ... ตระกูลของเรา ... หมู่คณะของเรา ... อาวาสของเรา ... ลาภของเรา ...
ยศของเรา ... สรรเสริญของเรา ... สุขของเรา ... จีวรของเรา ... บิณฑบาตของเรา ...
เสนาสนะของเรา ...คิลานปัจจัยเภสัชบริขารของเรา ... มารดาของเรา ... บิดาของเรา
... พี่ชายน้องชายของเรา ... พี่สาวน้องสาวของเรา ... บุตรของเรา ... ธิดาของเรา ...
มิตรและอำมาตย์ของเรา ... ญาติของเรา ... ย่อมไม่เศร้าโศก คือ ไม่ลำบากใจ
ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า “ผู้ร่วมสายโลหิตของเรา
แปรผันไป” รวมความว่า เมื่อไม่มีความถือว่าเป็นของตน ย่อมไม่เศร้าโศก
อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง บุคคลใดถูกความไม่ยินดี คือ ทุกขเวทนากระทบ ครอบงำ
กลุ้มรุม ประกอบ ย่อมไม่เศร้าโศก คือ ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ
ไม่ถึงความหลงใหล ได้แก่ ถูกโรคทางตากระทบ ครอบงำ กลุ้มรุม ประกอบ ย่อม
ไม่เศร้าโศก คือ ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหล
ถูกโรคทางหู .... โรคทางจมูก ... โรคทางลิ้น ... โรคทางกาย ... โรคศีรษะ ... โรคหู ...
โรคปาก ... โรคฟัน ... โรคไอ ... โรคหืด ... ไข้หวัด ... ไข้พิษ ... ไข้เชื่อมซึม ... โรคท้อง
... เป็นลมสลบ ... ลงแดง ... จุกเสียด ... อหิวาตกโรค ... โรคเรื้อน ... ฝี ... กลาก ...
มองคร่อ ... ลมบ้าหมู ... หิดเปื่อย ... หิดด้าน ... หิด ... หูด ... โรคละลอก ... โรค
ดีซ่าน ... โรคเบาหวาน ... โรคเริม ... โรคพุพอง ... โรคริดสีดวงทวาร ... ความเจ็บป่วย
ที่เกิดจากดี ... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม ... ไข้
สันนิบาต ... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล ... ความเจ็บป่วยที่เกิดจาก
การผลัดเปลี่ยนอริยาบถไม่ได้ส่วนกัน ... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความพากเพียร
เกินกำลัง ... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากผลกรรม ... ความหนาว ... ความร้อน ...
ความหิว ... ความกระหาย ... ปวดอุจจาระ ... ปวดปัสสาวะ ... ทุกข์ที่เกิดจาก
สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานกระทบ ครอบงำ กลุ้มรุม ประกอบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๙๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๐. ปุราเภทสุตตนิทเทส
ย่อมไม่เศร้าโศก คือ ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหล
รวมความว่า เมื่อไม่มีความถือว่าเป็นของตน ย่อมไม่เศร้าโศก อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เมื่อความถือว่าเป็นของตนไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ย่อมไม่
เศร้าโศก คือ ไม่ลำบากใจ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า “โอ เราไม่มีสิ่ง
นั้นหนอ เราพึงมีสิ่งนั้นหนอ และเราไม่ได้สิ่งนั้นหนอ” รวมความว่า เมื่อไม่มีความ
ถือว่าเป็นของตน ก็ย่อมไม่เศร้าโศก อย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยผู้ไม่ลำเอียง
คำว่า ไม่ถึงความลำเอียงในธรรมทั้งหลาย อธิบายว่า ไม่ถึงฉันทาคติ
ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึงโมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ คือ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจราคะ
ไม่ดำเนินไปตามอำนาจโทสะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจโมหะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจ
มานะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจทิฏฐิ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจอุทธัจจะ ไม่ดำเนินไป
ตามอำนาจวิจิกิจฉา ไม่ดำเนินไปตามอำนาจอนุสัย ได้แก่ ไม่ไป ไม่ออกไป ไม่ถูก
พาไป ไม่ถูกนำไป ด้วยธรรมที่ก่อความเป็นฝักเป็นฝ่าย รวมความว่า ไม่ถึงความ
ลำเอียงในธรรมทั้งหลาย

ว่าด้วยผู้สงบ
คำว่า บุคคลนั้นแล เรียกว่า ผู้สงบ อธิบายว่า บุคคลนั้น เรียก คือ กล่าว
พูด บอก แสดง ชี้แจงว่าผู้สงบ คือ เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ สงัด รวมความว่า
ผู้นั้นแล เรียกว่า ผู้สงบ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลใดไม่มีความถือว่าเป็นของตนในโลก
เมื่อไม่มีความถือว่าเป็นของตน ย่อมไม่เศร้าโศก
ไม่ถึงความลำเอียงในธรรมทั้งหลาย
บุคคลนั้นแล เรียกว่า ผู้สงบ
ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๙๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส๑
อธิบายกลหวิวาทสูตร
ว่าด้วยการทะเลาะวิวาท
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายกลหวิวาทสูตร ดังต่อไปนี้
[๙๗] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว
ความดูหมิ่นและวาจาส่อเสียด มีมาจากไหน
กิเลสเหล่านั้นมีมาจากไหน
ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกเหตุนั้น
คำว่า การทะเลาะ ในคำว่า การทะเลาะ การวิวาท ... มีมาจากไหน
อธิบายว่า การทะเลาะมีอาการอย่างเดียวกันกับการวิวาท ได้แก่ การทะเลาะ ก็คือ
การวิวาท การวิวาท ก็คือการทะเลาะ
อีกนัยหนึ่ง ว่าโดยการทะเลาะที่มีอาการต่างจากการวิวาท การวิวาทที่เป็น
ส่วนเบื้องต้นแห่งการทะเลาะ เรียกว่า การวิวาท กล่าวคือ พระราชาทรงวิวาทกับ
พระราชาก็ได้ กษัตริย์วิวาทกับกษัตริย์ก็ได้ พราหมณ์วิวาทกับพราหมณ์ก็ได้ คหบดี
วิวาทกับคหบดีก็ได้ มารดาวิวาทกับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับมารดาก็ได้ บิดาวิวาท
กับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับบิดาก็ได้ พี่ชายน้องชายวิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ พี่สาว
น้องสาววิวาทกับพี่สาวน้องสาวก็ได้ พี่ชายน้องชายวิวาทกับพี่สาวน้องสาวก็ได้ พี่สาว
น้องสาววิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ สหายวิวาทกับสหายก็ได้ นี้ชื่อว่าการวิวาท
การทะเลาะ เป็นอย่างไร
คือ คนครองเรือนใฝ่หาเรื่องกัน ก็ทำการทะเลาะกันด้วยกายวาจา บรรพชิต
ต้องอาบัติก็ทำการทะเลาะกันด้วยกายวาจา นี้ชื่อว่าการทะเลาะ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๘๖๙-๘๘๔/๕๐๓-๕๐๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๙๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า การทะเลาะ การวิวาท... มีมาจากไหน อธิบายว่า พระพุทธเนรมิต
ทูลถาม ทูลสอบถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศมูล เหตุ ต้นเหตุ การ
เกิดขึ้น แดนเกิด สมุฏฐาน อาหาร อารมณ์ ปัจจัย เหตุเกิดว่า การทะเลาะ และการ
วิวาท มีมาจากไหน คือ เกิดจากไหน เกิดขึ้นจากไหน บังเกิดจากไหน บังเกิดขึ้น
จากไหน ปรากฏจากไหน มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด รวมความว่า การทะเลาะ การวิวาท... มีมาจากไหน

ว่าด้วยความคร่ำครวญ
คำว่า ความคร่ำครวญ ในคำว่า ความคร่ำครวญ ความเศร้าโศก ความตระหนี่
อธิบายว่า ความบ่นเพ้อ ความคร่ำครวญ กิริยาที่บ่นเพ้อ กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะที่
บ่นเพ้อ ภาวะที่คร่ำครวญ การพูดพล่าม การพูดเพ้อ การพูดเพ้อเจ้อ ความพร่ำเพ้อ
กิริยาที่พร่ำเพ้อ ภาวะที่พร่ำเพ้อ ของผู้ถูกความเสียหายของญาติกระทบบ้าง ถูก
ความเสียหายแห่งโภคทรัพย์กระทบบ้าง ถูกความเสียหายเพราะโรคกระทบบ้าง
ถูกสีลวิบัติกระทบบ้าง ถูกทิฏฐิวิบัติกระทบบ้าง ประจวบกับความเสียหายนอกจากที่
กล่าวแล้วกระทบบ้าง ถูกเหตุแห่งทุกข์อื่นนอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง

ว่าด้วยความเศร้าโศก
คำว่า ความเศร้าโศก ได้แก่ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก
ความเศร้าโศกภายใน ความเศร้าโศกมากภายใน ความเร่าร้อนภายใน ความ
เร่าร้อนมากภายใน ความหม่นไหม้แห่งจิต ความทุกข์ใจ ลูกศรคือความเศร้าโศก
ของผู้ถูกความเสียหายของญาติกระทบบ้าง ถูกความเสียหายแห่งโภคทรัพย์กระทบ
บ้าง ถูกความเสียหายเพราะโรคกระทบบ้าง ถูกสีลวิบัติกระทบบ้าง ถูกทิฏฐิวิบัติ
กระทบบ้าง ประจวบกับความเสียหายอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง ถูกเหตุ
แห่งทุกข์อื่นนอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง
คำว่า ความตระหนี่ ได้แก่ มัจฉริยะ ๕ อย่าง คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๙๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
๑. อาวาสมัจฉริยะ ๒. กุลมัจฉริยะ
๓. ลาภมัจฉริยะ ๔. วัณณมัจฉริยะ
๕. ธัมมมัจฉริยะ
ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ภาวะที่ตระหนี่ ความเห็นแก่ได้ ความถี่เหนียว
ความที่จิตเจ็บร้อน (ในการให้) ความที่จิตหวงแหนเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า
ความตระหนี่
อีกนัยหนึ่ง ความตระหนี่ขันธ์ก็ดี ความตระหนี่ธาตุก็ดี ความตระหนี่อายตนะก็ดี
ความมุ่งแต่จะได้ก็ดี นี้ตรัสเรียกว่า ความตระหนี่ รวมความว่า ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่
คำว่า ความถือตัว ในคำว่า ความถือตัว ความดูหมิ่นและวาจาส่อเสียด
อธิบายว่า คนบางคนในโลกนี้ เกิดความถือตัว เพราะชาติบ้าง เพราะโคตรบ้าง
เพราะเป็นบุตรของผู้มีตระกูลบ้าง เพราะเป็นผู้มีรูปงามบ้าง เพราะมีทรัพย์บ้าง
เพราะการศึกษาบ้าง เพราะหน้าที่การงานบ้าง เพราะมีหลักแห่งศิลปวิทยาบ้าง
เพราะวิทยฐานะบ้าง เพราะความคงแก่เรียนบ้าง เพราะปฏิภาณบ้าง เพราะสิ่งอื่น
นอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง
คำว่า ความดูหมิ่น ได้แก่ คนบางคนในโลกนี้ ดูหมิ่นผู้อื่น เพราะชาติบ้าง
เพราะโคตรบ้าง... เพราะสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง

ว่าด้วยผู้มีวาจาส่อเสียด
คำว่า และวาจาส่อเสียด อธิบายว่า คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีวาจาส่อเสียด
ฟังจากข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไปบอก
คนข้างนี้เพื่อทำลายคนหมู่โน้น ด้วยวิธีนี้ ก็ทำคนที่สามัคคีให้แตกแยก หรือ
สนับสนุนผู้ที่แตกแยกกันแล้ว ชอบการแบ่งพวกแบ่งเหล่า ยินดีการแบ่งพวกแบ่ง
เหล่า สนุกกับการแบ่งพวกแบ่งเหล่า พูดแต่เรื่องก่อให้เกิดการแบ่งพวกแบ่งเหล่า
นี้ตรัสเรียกว่า ความเป็นผู้มีวาจาส่อเสียด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๒๙๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ
๑. ด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก ๒. ด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน
บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รักด้วยคิดว่า
“เราจักเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่คุ้นเคย เป็นที่สนิทสนม เป็นที่ดีใจของผู้นี้” บุคคล
ย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก เป็นอย่างนี้
บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยคิดว่า “ทำอย่างไร ชนเหล่านี้
พึงเป็นคนแปลกแยก แตกต่าง เป็นพรรคเป็นเหล่า เป็น ๒ พวก เป็น ๒ ฝัก ๒ ฝ่าย
แตกแยก ไม่ปรองดองกัน อยู่ลำบาก ไม่สบาย” บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไป
ด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน เป็นอย่างนี้ รวมความว่า ความถือตัว ความดูหมิ่น
และวาจาส่อเสียด
คำว่า กิเลสเหล่านั้นมีมาจากไหน ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกเหตุนั้น
อธิบายว่า พระพุทธเนรมิต ทูลถาม ทูลสอบถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรง
ประกาศมูล เหตุ ต้นเหตุ การเกิดขึ้น แดนเกิด สมุฏฐาน อาหาร อารมณ์ ปัจจัย
เหตุเกิดแห่งกิเลส ๘ จำพวกเหล่านี้ว่า กิเลส ๘ จำพวกเหล่านี้ คือ

๑. การทะเลาะ ๒. การวิวาท
๓. ความคร่ำครวญ ๔. ความเศร้าโศก
๕. ความตระหนี่ ๖. ความถือตัว
๗. ความดูหมิ่น ๘. วาจาส่อเสียด

มีมาจากไหน คือ เกิดจากไหน เกิดขึ้นจากไหน บังเกิดจากไหน บังเกิดขึ้น
จากไหน ปรากฏจากไหน มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด รวมความว่า กิเลสเหล่านั้นมีมาจากไหน
คำว่า ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกเหตุนั้น อธิบายว่า ขอเชิญพระองค์
โปรดตรัส คือ ขอโปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๐๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ประกาศ รวมความว่า กิเลสเหล่านั้นมีมาจากไหน ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอก
เหตุนั้น ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว
ความดูหมิ่นและวาจาส่อเสียด มีมาจากไหน
กิเลสเหล่านั้นมีมาจากไหน
ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกเหตุนั้น
[๙๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว
ความดูหมิ่นและวาจาส่อเสียด มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก
การทะเลาะ การวิวาท ประกอบในความตระหนี่
มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก เมื่อการวิวาทเกิดขึ้นแล้ว
ก็มีวาจาส่อเสียดเกิดขึ้น

ว่าด้วยการทะเลาะเป็นต้น มาจากสิ่งเป็นที่รัก
คำว่า สิ่งเป็นที่รัก ในคำว่า การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่... มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก ได้แก่ สิ่งเป็นที่รัก ๒ จำพวก
คือ (๑) สัตว์ (๒) สังขาร
สัตว์เหล่าไหนเป็นที่รัก สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เป็นผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่เป็น
ประโยชน์ ปรารถนาแต่สิ่งที่เกื้อกูล ปราถนาแต่ความผาสุก ปรารถนาแต่ความ
หลุดพ้นจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว บุตร ธิดา มิตร
อำมาตย์ ญาติ หรือผู้ร่วมสายโลหิตของผู้นั้น สัตว์เหล่านี้ชื่อว่าสิ่งเป็นที่รัก
สังขารเหล่าไหนเป็นที่รัก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ สังขารเหล่านี้
ชื่อว่าสิ่งเป็นที่รัก
ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าสิ่งเป็นที่รักจะถูกแย่งชิงไป ย่อมก่อการทะเลาะกัน
บ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักกำลังถูกแย่งชิงไปย่อมก่อการทะเลาะกันบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักถูก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๐๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
แย่งชิงไปแล้วย่อมก่อการทะเลาะกันบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าสิ่งเป็นที่รักจะ
แปรผันไป ย่อมก่อการทะเลาะกันบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักกำลังแปรผันไป ย่อมก่อการ
ทะเลาะกันบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักแปรผันไปแล้ว ย่อมก่อการทะเลาะกันบ้าง
ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าสิ่งเป็นที่รักจะถูกแย่งชิงไป ย่อมวิวาทกันบ้าง
เมื่อสิ่งเป็นที่รักกำลังถูกแย่งชิงไป ย่อมวิวาทกันบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักถูกแย่งชิงไปแล้ว
ย่อมวิวาทกันบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าสิ่งเป็นที่รักจะแปรผันไป ย่อมวิวาท
กันบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักกำลังแปรผันไป ย่อมวิวาทกันบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รัก
แปรผันไปแล้ว ย่อมวิวาทกันบ้าง
ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าสิ่งเป็นที่รักจะถูกแย่งชิงไป ย่อมคร่ำครวญบ้าง
เมื่อสิ่งเป็นที่รักกำลังถูกแย่งชิงไป ย่อมคร่ำครวญบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักถูกแย่งชิงไปแล้ว
ย่อมคร่ำครวญบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าสิ่งเป็นที่รักจะแปรผันไป ย่อม
คร่ำครวญบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักกำลังแปรผันไป ย่อมคร่ำครวญบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รัก
แปรผันไปแล้ว ย่อมคร่ำครวญบ้าง
ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าสิ่งเป็นที่รักจะถูกแย่งชิงไป ย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อ
สิ่งเป็นที่รักกำลังถูกแย่งชิงไป ย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักถูกแย่งชิงไปแล้ว
ย่อมเศร้าโศกบ้าง ชนทั้งหลายผู้หวาดระแวงว่าสิ่งเป็นที่รักจะแปรผันไป ย่อม
เศร้าโศกบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รักกำลังแปรผันไป ย่อมเศร้าโศกบ้าง เมื่อสิ่งเป็นที่รัก
แปรผันไปแล้ว ย่อมเศร้าโศกบ้าง
ชนทั้งหลาย ย่อมรักษา ปกป้อง ถือครอง ยึดถือว่าเป็นของเรา ประพฤติ
ตระหนี่อยู่ซึ่งสิ่งเป็นที่รัก
คำว่า ความถือตัว ความดูหมิ่นและวาจาส่อเสียด อธิบายว่า ชนทั้งหลาย
เกิดความถือตัวเพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รัก เกิดความดูหมิ่นเพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รัก
ชนทั้งหลายเกิดความถือตัวเพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รัก เป็นอย่างไร
คือ ชนทั้งหลายเกิดความถือตัวเพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รักว่า “เราเป็นผู้มีปกติได้
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ถูกใจ” ชนทั้งหลายเกิดความถือตัวเพราะอาศัยสิ่ง
เป็นที่รัก เป็นอย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๐๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ชนทั้งหลายเกิดความดูหมิ่นเพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รัก เป็นอย่างไร
คือ ชนทั้งหลายเกิดความดูหมิ่นเพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รักว่า “เราเป็นผู้มีปกติ
ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ถูกใจ” ส่วนชนอื่นเหล่านี้ หามีปกติได้รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ถูกใจไม่ ชนทั้งหลายเกิดความดูหมิ่นเพราะอาศัยสิ่งเป็นที่รัก
เป็นอย่างนี้
คำว่า วาจาส่อเสียด อธิบายว่า คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กล่าววาจาส่อเสียด
ฟังจากข้างนี้แล้ว ไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายคนหมู่นี้...อย่างนี้ ชื่อว่านำวาจา
ส่อเสียดเข้าไป โดยมุ่งหวังให้เขาแตกกัน รวมความว่า ความถือตัว ความดูหมิ่น
และวาจาส่อเสียด
คำว่า การทะเลาะ การวิวาท ประกอบในความตระหนี่ ได้แก่ กิเลส ๗ ชนิด
เหล่านี้ คือ

๑. การทะเลาะ ๒. การวิวาท
๓. ความคร่ำครวญ ๔. ความเศร้าโศก
๕. ความถือตัว ๖. ความดูหมิ่น
๗. วาจาส่อเสียด

ประกอบ คือ เกี่ยวเนื่อง ต่อเนื่อง สืบเนื่องในความตระหนี่ รวมความว่า
การทะเลาะ การวิวาท ประกอบในความตระหนี่
คำว่า เมื่อการวิวาทเกิดขึ้นแล้ว ก็มีวาจาส่อเสียดเกิดขึ้น อธิบายว่า เมื่อ
การวิวาท เกิด คือ เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏแล้ว ชนทั้งหลายย่อมนำ
วาจาส่อเสียดเข้าไป คือฟังจากข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟัง
จากข้างโน้นแล้วไปบอกข้างนี้เพื่อทำลายคนหมู่โน้น ด้วยวิธีนี้ ก็ทำคนที่สามัคคีให้
แตกแยก หรือสนับสนุนผู้ที่แตกแยกกันแล้ว ชอบการแบ่งพวกแบ่งเหล่า ยินดีการ
แบ่งพวกแบ่งเหล่า สนุกกับการแบ่งพวกแบ่งเหล่า พูดแต่เรื่องก่อให้เกิดการแบ่ง
พวกแบ่งเหล่า นี้ตรัสเรียกว่า วาจาส่อเสียด
อีกนัยหนึ่ง บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ (๑)
ด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก (๒) ด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๐๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รักว่า “เราจัก
เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่คุ้นเคย เป็นที่สนิทสนม เป็นที่ดีใจของผู้นี้” บุคคลย่อม
นำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก เป็นอย่างนี้
บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้เขาแตกกันว่า “ทำอย่างไร
ชนเหล่านี้ พึงเป็นคนแปลกแยก แตกต่าง เป็นพรรคเป็นเหล่า เป็น ๒ พวก
เป็น ๒ ฝัก ๒ ฝ่าย แตกแยก ไม่ปรองดองกัน อยู่ลำบากไม่สบาย” บุคคลย่อมนำ
วาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน เป็นอย่างนี้ รวมความว่า เมื่อการ
วิวาทเกิดขึ้นแล้ว ก็มีวาจาส่อเสียดเกิดขึ้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัส
ตอบว่า
การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว
ความดูหมิ่น และวาจาส่อเสียด มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก
การทะเลาะ การวิวาท ประกอบในความตระหนี่
มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก เมื่อการวิวาทเกิดขึ้นแล้ว
ก็มีวาจาส่อเสียดเกิดขึ้น
[๙๙] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
สิ่งเป็นที่รักในโลกมีอะไรเป็นต้นเหตุ
และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ
ความโลภของชนเหล่านั้นมีอะไรเป็นต้นเหตุ
ความหวังและความสำเร็จหวังใดจะมีแก่นรชนในภพหน้า
ความหวังและความสำเร็จหวังนั้นมีอะไรเป็นต้นเหตุ

ว่าด้วยอะไรเป็นต้นเหตุแห่งสิ่งเป็นที่รัก
คำว่า สิ่งเป็นที่รักในโลกมีอะไรเป็นต้นเหตุ อธิบายว่า พระพุทธเนรมิต
ทูลถาม ทูลสอบถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศถึงมูล...เหตุเกิดแห่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๐๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
สิ่งเป็นที่รักว่า สิ่งเป็นที่รัก มีอะไรเป็นต้นเหตุ คือ เกิดจากอะไร เกิดขึ้นจากไหน
บังเกิดจากอะไร บังเกิดขึ้นจากไหน ปรากฏจากอะไร มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็น
เหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด รวมความว่า สิ่งเป็นที่รักในโลก
มีอะไรเป็นต้นเหตุ
คำว่า และชนเหล่าใด ในคำว่า และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะ
ความโลภ ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา
และมนุษย์
คำว่า เพราะความโลภ ได้แก่ ความโลภ กิริยาที่โลภ ภาวะที่โลภ ความ
กำหนัดนัก กิริยาที่กำหนัดนัก ภาวะที่กำหนัดนัก อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
คำว่า ท่องเที่ยวไป ได้แก่ ท่องเที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ
คำว่า ความหวังและความสำเร็จหวังนั้นมีอะไรเป็นต้นเหตุ อธิบายว่า
พระพุทธเนรมิตทูลถาม ทูลสอบถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศถึง
มูล...เหตุเกิดแห่งความหวังและความสำเร็จหวังว่า ความหวังและความสำเร็จหวังมี
อะไรเป็นต้นเหตุ คือ เกิดจากอะไร เกิดขึ้นจากไหน บังเกิดจากอะไร บังเกิดขึ้นจากไหน
ปรากฏจากอะไร มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไร
เป็นแดนเกิด รวมความว่า ความหวังและความสำเร็จหวังนั้นมีอะไรเป็นต้นเหตุ
คำว่า ความหวังและความสำเร็จหวังใดจะมีแก่นรชนในภพหน้า อธิบายว่า
ความหวังและความสำเร็จหวังใด เป็นที่ไปในเบื้องหน้า คือ เป็นเกาะ เป็นที่
ต้านทาน เป็นที่หลีกเร้น เป็นที่พึ่งของนรชน คือ นรชนเป็นผู้มีความสำเร็จหวัง
เป็นที่ไปในเบื้องหน้า รวมความว่า ความหวังและความสำเร็จหวังใดจะมีแก่นรชนใน
ภพหน้า ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิต จึงทูลถามว่า
สิ่งเป็นที่รักในโลกมีอะไรเป็นต้นเหตุ
และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ
ความโลภของชนเหล่านั้นมีอะไรเป็นต้นเหตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๐๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ความหวังและความสำเร็จหวังใดจะมีแก่นรชนในภพหน้า
ความหวังและความสำเร็จหวังนั้นมีอะไรเป็นต้นเหตุ
[๑๐๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
สิ่งเป็นที่รักในโลกมีความพอใจเป็นต้นเหตุ
และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ
ความโลภของชนเหล่านั้นมีความพอใจเป็นต้นเหตุ
ความหวังและความสำเร็จหวังใดจะมีแก่นรชนในภพหน้า
ความหวังและความสำเร็จหวังของนรชนนั้น
มีความพอใจนี้เป็นต้นเหตุ
คำว่า ความพอใจ ในคำว่า สิ่งเป็นที่รักในโลกมีความพอใจเป็นต้นเหตุ
ได้แก่ ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ ความกำหนัดด้วยอำนาจความใคร่ ความ
เพลิดเพลินด้วยอำนาจความใคร่ ความทะยานอยากด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อ
ใยด้วยอำนาจความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจ
ความใคร่ ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่ ห้วงน้ำคือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบ
คือความใคร่ กิเลสเครื่องยึดมั่นคือความใคร่ กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วย
อำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย
อีกนัยหนึ่ง ความพอใจ ๕ อย่าง คือ
๑. ความพอใจในการแสวงหา ๒. ความพอใจในการได้
๓. ความพอใจในการบริโภค ๔. ความพอใจในการสะสม
๕. ความพอใจในการสละ
ความพอใจในการแสวงหา เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ชอบใจ มีความต้องการ เกิดความพอใจ ก็แสวงหารูป...
เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ นี้ชื่อว่าความพอใจในการแสวงหา
ความพอใจในการได้ เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ชอบใจ มีความต้องการ เกิดความพอใจ ย่อมได้รูป...
เสียง... กลิ่น... รส...โผฏฐัพพะ นี้ชื่อว่าความพอใจในการได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๐๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ความพอใจในการบริโภค เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ชอบใจ มีความต้องการ เกิดความพอใจ ย่อมบริโภค
รูป...เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ นี้ชื่อว่าความพอใจในการบริโภค
ความพอใจในการสะสม เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ชอบใจ มีความต้องการ เกิดความพอใจ ย่อมทำการ
สะสมทรัพย์ ด้วยหวังว่า “จักมีประโยชน์ในคราวเกิดอันตราย” นี้ชื่อว่าความพอใจ
ในการสะสม
ความพอใจในการสละ เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ชอบใจ มีความต้องการ เกิดความพอใจ ย่อมสละ
ทรัพย์ให้แก่พลช้าง พลม้า พลรถ พลธนู พลเดินเท้า ด้วยคิดว่า “คนเหล่านี้
จักรักษา ปกป้อง ห้อมล้อมเรา” นี้ชื่อว่าความพอใจในการสละ

ว่าด้วยสิ่งเป็นที่รัก ๒ จำพวก
คำว่า สิ่งเป็นที่รัก ได้แก่ สิ่งเป็นที่รัก ๒ จำพวก คือ (๑) สัตว์ (๒) สังขาร ...
สัตว์เหล่านี้ ชื่อว่าสิ่งเป็นที่รัก... สังขารเหล่านี้ชื่อว่าสิ่งเป็นที่รัก๑
คำว่า สิ่งเป็นที่รักในโลกมีความพอใจเป็นต้นเหตุ อธิบายว่า สิ่งเป็นที่รัก
มีความพอใจเป็นต้นเหตุ คือ มีความพอใจเป็นเหตุเกิด มีความพอใจเป็นกำเนิด
มีความพอใจเป็นแดนเกิด รวมความว่า สิ่งเป็นที่รักในโลกมีความพอใจเป็นต้นเหตุ
คำว่า ชนเหล่าใด ในคำว่า และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะ
ความโลภ ได้แก่ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา
และมนุษย์
คำว่า เพราะความโลภ ได้แก่ ความโลภ กิริยาที่โลภ ภาวะที่โลภ ความ
กำหนัดนัก กิริยาที่กำหนัดนัก ภาวะที่กำหนัดนัก อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ



เชิงอรรถ :
๑ดูรายละเอียดข้อ ๙๘/๓๐๑


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๐๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า ท่องเที่ยวไป ได้แก่ ท่องเที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก...ในอายตนโลก๑ รวมความว่า และชนเหล่า
ใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ

ว่าด้วยความหวัง
คำว่า ความหวังและความสำเร็จหวังของนรชนนั้นมีความพอใจนี้เป็น
ต้นเหตุ อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความหวัง คือ ความกำหนัด ความกำหนัด
นัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๒
คำว่า ความสำเร็จหวัง อธิบายว่า คนบางคนในโลกนี้ เมื่อแสวงหารูปก็ได้รูป
เป็นผู้สมหวังในรูป เมื่อแสวงหาเสียง...กลิ่น...รส... โผฏฐัพพะ ... ตระกูล ... หมู่คณะ
... อาวาส ... ลาภ ... ยศ ... สรรเสริญ ... สุข ... จีวร ... บิณฑบาต ... เสนาสนะ ...
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ... พระสูตร ... พระวินัย ... พระอภิธรรม ... อารัญญิกังค-
ธุดงค์ ... ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ... ปังสุกูลิกังคธุดงค์ ... เตจีวริกังคธุดงค์ ... สปทาน-
จาริกังคธุดงค์ ... ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ... เนสัชชิกังคธุดงค์ ... ยถาสันถติกังคธุดงค์
... ปฐมฌาน ... ทุติยฌาน ... ตติยฌาน ... จตุตถฌาน ... อากาสานัญจายตนสมาบัติ
... วิญญาณัญจายตนสมาบัติ ... อากิญจัญญายตนสมาบัติ ... เมื่อแสวงหา
เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ก็ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เป็นผู้
สมหวังในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ (สมจริงดังที่พระกาฬุทายีกราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคว่า)
ชาวนาไถนาก็ด้วยหวังผล หว่านพืชก็ด้วยหวังผล
พวกพ่อค้าเที่ยวหาทรัพย์เดินเรือไปสู่สมุทรก็ด้วยหวังผล
ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้ด้วยความหวังอันใด
ขอความหวังอันนั้นของข้าพระองค์จงสำเร็จเถิด๓

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๒
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑
๓ ขุ.เถร.(แปล) ๒๖/๕๓๐/๔๓๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๐๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ความสำเร็จตามความหวัง ตรัสเรียกว่า ความสำเร็จหวัง
คำว่า ความหวังและความสำเร็จหวังของนรชนนั้น มีความพอใจนี้เป็น
ต้นเหตุ อธิบายว่า ความหวังและความสำเร็จหวัง มีความพอใจนี้เป็นต้นเหตุ มีความ
พอใจเป็นเหตุเกิด มีความพอใจเป็นกำเนิด มีความพอใจเป็นแดนเกิด รวมความว่า
ความหวังและความสำเร็จหวัง มีความพอใจนี้เป็นต้นเหตุ
คำว่า ความหวังและความสำเร็จหวังใดจะมีแก่นรชนในภพหน้า อธิบาย
ว่า ความหวังและความสำเร็จหวังใด เป็นที่ไปในเบื้องหน้า เป็นเกาะ เป็นที่ต้านทาน
เป็นที่หลีกเร้น เป็นที่พึ่งของนรชน คือ นรชนเป็นผู้มีความสำเร็จหวังเป็นที่ไปใน
เบื้องหน้า รวมความว่า ความหวังและความสำเร็จหวังใดจะมีแก่นรชนในภพหน้า
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
สิ่งเป็นที่รักในโลกมีความพอใจเป็นต้นเหตุ
และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ
ความโลภของชนเหล่านั้นมีความพอใจเป็นต้นเหตุ
ความหวังและความสำเร็จหวังใดจะมีแก่นรชนในภพหน้า
ความหวังและความสำเร็จหวังของนรชนนั้น
มีความพอใจนี้เป็นต้นเหตุ
[๑๐๑] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
ฉันทะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
และการตัดสินใจมีมาจากไหน
อนึ่ง ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ
และความสงสัยมีมาจากอะไร
และธรรมเหล่าใดพระสมณะตรัสไว้แล้ว
ธรรมเหล่านั้นมีมาจากอะไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๐๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยฉันทะเป็นต้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ
คำว่า ฉันทะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน อธิบายว่า พระพุทธเนรมิตทูลถาม
ทูลสอบถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศถึงมูล...เหตุเกิดแห่งฉันทะว่า
ฉันทะมีต้นเหตุมาจากไหน คือ เกิดจากไหน เกิดขึ้นจากไหน บังเกิดจากไหน บังเกิด
ขึ้นจากไหน ปรากฏจากไหน มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด รวมความว่า ฉันทะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
คำว่า และการตัดสินใจมีมาจากไหน อธิบายว่า พระพุทธเนรมิตทูลถาม ทูล
สอบถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศถึงมูล...เหตุเกิดแห่งการตัดสิน
ใจว่า การตัดสินใจมีมาจากไหน คือ เกิดจากไหน เกิดขึ้นจากไหน บังเกิดจากไหน
บังเกิดขึ้นจากไหน ปรากฏจากไหน มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไร
เป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด รวมความว่า และการตัดสินใจมีมาจากไหน
คำว่า ความโกรธ ในคำว่า ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ และความ
สงสัย อธิบายว่า ใจปองร้าย มุ่งร้าย ขัดเคือง ขุ่นเคือง เคือง เคืองมาก เคืองตลอด
ชัง ชิงชัง เกลียดชัง ใจพยาบาท ใจแค้นเคือง ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ
ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย ความคิด
ปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย ความโกรธ ความแค้น ความดุร้าย
ความเกรี้ยวกราด ความไม่แช่มชื่นแห่งจิตเห็นปานนี้
มุสาวาท ตรัสเรียกว่า ความเป็นคนพูดเท็จ
ความลังเล ตรัสเรียกว่า ความสงสัย รวมความว่า ความโกรธ ความเป็นคน
พูดเท็จ และความสงสัย
คำว่า และธรรมเหล่าใด ในคำว่า และธรรมเหล่าใดพระสมณะตรัสไว้แล้ว
อธิบายว่า ธรรมเหล่าใด ดำเนินไปพร้อมกัน คือ เกิดพร้อมกัน เกี่ยวข้องกัน
ประกอบกัน เกิดคราวเดียวกัน ดับคราวเดียวกัน มีวัตถุอย่างเดียวกัน มีอารมณ์
อย่างเดียวกันกับความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ และความสงสัย ธรรมเหล่านี้ตรัส
เรียกว่า ธรรมเหล่าใด
อีกนัยหนึ่ง กิเลสเหล่าใดมีชาติเป็นอย่างอื่น ตั้งอยู่แล้วโดยอาการอื่น กิเลส
เหล่านี้ ตรัสเรียกว่า ธรรมเหล่าใด


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า พระสมณะตรัสไว้แล้ว ได้แก่ พระสมณะ คือ ผู้มีบาปสงบแล้ว เป็น
พราหมณ์ ผู้ลอยบาปธรรมแล้ว เป็นภิกษุผู้ตัดมูลแห่งกิเลสแล้ว ผู้พ้นแล้วจาก
เครื่องผูกคืออกุศลมูลทุกอย่าง ตรัสไว้แล้ว คือ ทรงพูด บอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศไว้แล้ว รวมความว่า และธรรมเหล่าใดพระสมณะ
ตรัสไว้แล้ว ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
ฉันทะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
และการตัดสินใจมีมาจากไหน
อนึ่ง ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ
และความสงสัยมีมาจากอะไร
และธรรมเหล่าใดพระสมณะตรัสไว้แล้ว
ธรรมเหล่านั้นมีมาจากอะไร
[๑๐๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใดว่า น่าดีใจ น่าเสียใจ
ฉันทะก็จะมีขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนั้น
ชนในโลกมองเห็นความเสื่อม
และความเจริญในรูปทั้งหลายแล้ว ย่อมทำการตัดสินใจ
คำว่า น่าดีใจ ในคำว่า ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใดว่า น่าดีใจ น่าเสียใจ
ได้แก่ สุขเวทนา และสิ่งที่น่าปรารถนา
คำว่า น่าเสียใจ ได้แก่ ทุกขเวทนา และสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา
คำว่า ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใด ได้แก่ พูดถึงสิ่งใด คือ กล่าวถึง
บอกถึง แสดงถึง ชี้แจงถึงสิ่งใด รวมความว่า ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใดว่า
น่าดีใจ น่าเสียใจ
คำว่า ฉันทะก็จะมีขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนั้น อธิบายว่า ฉันทะ ย่อมมี มีขึ้น คือ
เกิด เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น เพราะอาศัยความน่าดีใจและน่าเสียใจ คือ อาศัยสุข
และทุกข์ โสมนัสและโทมนัส สิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ความยินดีและ
ความยินร้าย รวมความว่า ฉันทะก็จะมีขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความเกิดแห่งรูป
คำว่า ในรูปทั้งหลาย ในคำว่า มองเห็นความเสื่อมและความเจริญในรูป
ทั้งหลายแล้ว ได้แก่ มหาภูตรูป๑ ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป๒ ๔
ความเจริญแห่งรูปทั้งหลาย เป็นอย่างไร
คือ ความเจริญ ความเกิด ความเกิดขึ้น ความบังเกิด ความบังเกิดขึ้น
ความปรากฏแห่งรูปทั้งหลาย นี้ชื่อว่าความเจริญแห่งรูปทั้งหลาย
ความเสื่อมแห่งรูปทั้งหลาย เป็นอย่างไร
คือ ความสิ้นไป ความเสื่อมไป ความแตกไป ความทำลายไป ความเป็น
ธรรมชาติไม่เที่ยง ความสูญหายไปแห่งรูปทั้งหลาย นี้ชื่อว่า ความเสื่อมแห่งรูปทั้งหลาย
คำว่า มองเห็นความเสื่อมและความเจริญในรูปทั้งหลายแล้ว ได้แก่ เห็นแล้ว
คือ แลเห็นแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
ซึ่งความเจริญและความเสื่อมในรูปทั้งหลาย รวมความว่า มองเห็นความเสื่อมและ
ความเจริญในรูปทั้งหลายแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ มหาภูตรูป ๔ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๐/๕๒
๒ รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ หรือทับศัพท์บาลีว่า อุปาทายรูป มี ๒๔ คือ
ก. ปสาทรูป ๕ รูปที่เป็นประสาทสำหรับรับอารมณ์ (๑) ตา (๒) หู (๓) จมูก (๔) ลิ้น (๕) กาย
ข. โคจรรูป หรือวิสัยรูป ๕ รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์ (๖) รูป (๗) เสียง (๘) กลิ่น
(๙) รส (๐) โผฏฐัพพะ (ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกับมหาภูตรูป ๓ คือ ปฐวี เตโช วาโย)
ค. ภาวรูป ๒ รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ (๑๐) อิตถิตตะ อิตถินทรีย์ ความเป็นหญิง (๑๑) ปุริสัตตะ ปุริสินทรีย์
ความเป็นชาย
ง. หทัยรูป รูปคือหทัย (๑๒) หทัยวัตถุ ที่ตั้งแห่งใจ หัวใจ
จ. ชีวิตรูป ๑ รูปที่เป็นชีวิต (๑๓) ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต
ฉ. อาหารรูป ๑ รูปคืออาหาร (๑๔) กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว
ช. ปริจเฉทรูป ๑ รูปที่กำหนดเทศะ (๑๕) อากาสธาตุ สภาวะคือช่องว่าง
ญ. วิญญัติรูป ๒ รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย (๑๖) กายวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย
ด้วยกาย (๑๗) วจีวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา
ฎ. วิการรูป ๕ รูปคืออาการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้ (๑๘) (รูปัสส) ลหุตา ความเบา (๑๙) (รูปัสส)
มุทุตา ความอ่อนสลวย (๒๐) (รูปัสส) กัมมัญญตา ความควรแก่การงาน ใช้การได้ (และวิญญัติรูป ๒
แต่ท่านไม่นับเพราะซ้ำกับข้อ ญ)
ฏ. ลักขณรูป ๔ รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด (๒๑) (รูปัสส) อุปจย ความก่อตัวหรือเติบโตขึ้น
(๒๒) (รูปัสส) สันตติ ความสืบต่อ (๒๓) (รูปัสส) ชรตา ความทรุดโทรม (๒๔) (รูปัสส) อนิจจตา
ความปรวนแปรแตกสลาย (อภิ.สํ. (แปล) ๓๔/๕๘๔-๙๘๔/๑๖๙-๒๕๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการตัดสินใจ
คำว่า ชนในโลก ... ย่อมทำการตัดสินใจ อธิบายว่า
คำว่า การตัดสินใจ ได้แก่ การตัดสินใจ ๒ อย่าง คือ (๑) การตัดสินใจด้วย
อำนาจตัณหา (๒) การตัดสินใจด้วยอำนาจทิฏฐิ
ชนย่อมทำการตัดสินใจด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร
คือ สำหรับคนบางคนในโลกนี้ โภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และ
โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมถึงความหมดสิ้นไป เขามีความคิดอย่างนี้ว่า “เพราะ
อุบายอะไรหนอ โภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา จึงไม่เกิดขึ้น และโภคทรัพย์ที่เกิดขึ้น
แล้ว จึงถึงความสิ้นไป” เขาก็มีความคิดต่อไปอย่างนี้ว่า “เมื่อเรามัวแต่ดื่มน้ำเมาคือ
สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท โภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น และ
โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถึงความหมดสิ้นไป เมื่อเรามัวแต่เที่ยวกลางคืน... เมื่อเรา
มัวแต่เที่ยวดูมหรสพ... เมื่อเรามัวแต่อยู่ในความประมาทด้วยการเล่นการพนัน...
เมื่อเรามัวแต่คบคนชั่วเป็นมิตร... เมื่อเรามัวแต่เกียจคร้าน โภคทรัพย์ที่ยังไม่เกิดก็
ไม่เกิดขึ้น โภคทรัพย์ที่เกิดขึ้นแล้วก็ถึงความหมดสิ้นไป” ครั้นรู้อย่างนี้แล้ว จึงไม่
ประพฤติสิ่งที่เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ ๖ ประการ ประพฤติแต่สิ่งที่เป็นทาง
เจริญแห่งโภคทรัพย์๑ ๖ ประการ ชนย่อมทำการตัดสินใจด้วยอำนาจตัณหาเป็น
อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง บุคคลย่อมดำเนินชีวิตด้วยกสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม
(เลี้ยงปศุสัตว์) ศาสตร์แห่งการยิงธนู การรับราชการ หรือด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง
ชนย่อมทำการตัดสินใจด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างนี้บ้าง
ชนย่อมทำการตัดสินใจด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ เมื่อตาเกิดขึ้น ก็เข้าใจว่า “ตัวของเราเกิดขึ้นแล้ว”

เชิงอรรถ :
๑ ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์ ๖ ประการ (๑) ไม่เป็นนักเลงหญิง (๒) ไม่เป็นนักเลงสุรา (๓) ไม่เป็นนักเลง
การพนัน (๔) มีมิตรดี (๕) มีสหายดี (๖) ใฝ่ใจในกัลยาณมิตร (องฺ.อฏฺฐก. ๒๓/๕๕/๒๓๗-๒๓๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
เมื่อตาหายไปก็เข้าใจว่า “ตัวของเราหายไปแล้ว ตัวของเราไม่มีเสียแล้ว”
ชนย่อมทำการตัดสินใจด้วยอำนาจทิฏฐิเป็นอย่างนี้บ้าง
เมื่อหู... จมูก... ลิ้น... กาย... รูป... เสียง... กลิ่น... รส... เมื่อโผฏฐัพพะเกิดขึ้น
ก็เข้าใจว่า “ตัวของเราเกิดขึ้นแล้ว”
เมื่อโผฏฐัพพะหายไปก็เข้าใจว่า “ตัวของเราหายไปแล้ว ตัวของเราไม่มีเสียแล้ว”
ชนย่อมทำ คือให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้นซึ่งการตัดสินใจด้วย
อำนาจทิฏฐิเป็นอย่างนี้บ้าง
คำว่า ชน ได้แก่ สัตว์ นรชน มานพ... มนุษย์
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ... ในอายตนโลก รวมความว่า ชนในโลก
ย่อมทำการตัดสินใจ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใดว่า น่าดีใจ น่าเสียใจ
ฉันทะก็จะมีขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนั้น
ชนในโลกมองเห็นความเสื่อม
และความเจริญในรูปทั้งหลายแล้ว ย่อมทำการตัดสินใจ
[๑๐๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ธรรมแม้เหล่านี้ คือ ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ
และความสงสัย เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ ก็มี
บุคคลผู้มีความสงสัย พึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ
และธรรมเหล่าใดพระสมณะทรงทราบแล้วตรัสไว้
ธรรมเหล่านั้น เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ ก็มี
คำว่า ความโกรธ ในคำว่า ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จและความสงสัย
ได้แก่ ใจปองร้าย มุ่งร้าย ... เห็นปานนี้
มุสาวาท ตรัสเรียกว่า ความเป็นคนพูดเท็จ
ความลังเล ตรัสเรียกว่า ความสงสัย
ความโกรธย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนาบ้าง เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่า
ปรารถนาบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
มุสาวาทย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนาบ้าง เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่า
ปรารถนาบ้าง
ความสงสัยย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนาบ้าง เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่า
ปรารถนาบ้าง

ว่าด้วยเหตุให้เกิดความโกรธ
ความโกรธย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เป็นอย่างไร
คือ ความโกรธย่อมเกิดเพราะสำคัญว่า “ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา”
ความโกรธย่อมเกิดเพราะสำคัญว่า “ผู้นี้กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา” ความ
โกรธย่อมเกิดเพราะสำคัญว่า “ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา” ความโกรธ
ย่อมเกิดเพราะสำคัญว่า “ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ กำลังทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่คนผู้เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา” ความโกรธย่อมเกิด
เพราะสำคัญว่า “ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ กำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ จักทำสิ่งที่
เป็นประโยชน์แก่คนผู้ไม่เป็นที่รักที่ชอบพอของเรา” ความโกรธย่อมเกิด เพราะอาศัย
สิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เป็นอย่างนี้
ความโกรธย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนา เป็นอย่างไร
คือ เมื่อบุคคลหวาดระแวงว่าสิ่งที่น่าปรารถนาจะถูกแย่งชิงไป ก็เกิดความโกรธ
เมื่อสิ่งที่น่าปรารถนากำลังถูกแย่งชิงไปก็เกิดความโกรธ เมื่อสิ่งที่น่าปรารถนาถูก
แย่งชิงไปแล้ว ก็เกิดความโกรธ เมื่อบุคคลหวาดระแวงว่า สิ่งที่น่าปรารถนาจะแปรผันไป
ก็เกิดความโกรธ เมื่อสิ่งที่น่าปรารถนากำลังแปรผันไป ก็เกิดความโกรธ เมื่อสิ่งที่น่า
ปรารถนาแปรผันไปแล้ว ก็เกิดความโกรธ ความโกรธย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่า
ปรารถนา เป็นอย่างนี้

ว่าด้วยเหตุให้เกิดการกล่าวเท็จ
มุสาวาทย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำคือขื่อคา ก็พูดเท็จทั้งที่รู้
เพื่อให้พ้นการจองจำนั้น ถูกมัดด้วยเครื่องจองจำคือเชือก... ถูกจองจำด้วยเครื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
จองจำคือโซ่ตรวน... ถูกมัดด้วยเครื่องจองจำคือหวาย... ถูกมัดด้วยเครื่องจองจำคือ
เถาวัลย์ ... ถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำคือคุก ... ถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำคือ
การล้อมรั้ว... ถูกจองจำไว้ภายในบ้าน นิคม เมือง หรือรัฐ... หรือถูกจองจำไว้ภายใน
ชนบท ก็พูดเท็จทั้งที่รู้ เพื่อให้พ้นการจองจำนั้น มุสาวาทย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่ง
ที่ไม่น่าปรารถนา เป็นอย่างนี้
มุสาวาทย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนา เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ พูดเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุแห่งรูปที่น่าพอใจ พูดเท็จทั้งที่รู้
เพราะเหตุแห่งเสียง ... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะที่พอใจ... เพราะเหตุแห่งจีวร...
เพราะเหุตแห่งบิณฑบาต ... เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ พูดเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุ
แห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร มุสาวาทย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนา
เป็นอย่างนี้

ว่าด้วยเหตุให้เกิดความสงสัย
ความสงสัยย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เป็นอย่างไร
คือ ความสงสัยย่อมเกิดเพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ด้วยคิดว่า “เราจัก
พ้นจากโรคตา หรือไม่พ้นจากโรคตาหนอ เราจักพ้นจากโรคหู... จากโรคจมูก... จาก
โรคลิ้น... จากโรคกาย... จากโรคเกี่ยวกับศีรษะ... จากโรคเกี่ยวกับหู... จากโรคเกี่ยว
กับปาก... จากโรคเกี่ยวกับฟัน หรือไม่พ้นจากโรคเกี่ยวกับฟันหนอ” ความสงสัยย่อม
เกิด เพราะอาศัยสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา เป็นอย่างนี้
ความสงสัยย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนา เป็นอย่างไร
คือ ความสงสัยย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนาด้วยคิดว่า “เราจักได้
รูปที่น่าพอใจ หรือไม่ได้รูปที่น่าพอใจหนอ เราจักได้เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ...
ตระกูล... หมู่คณะ... อาวาส... ลาภ... ยศ... สรรเสริญ... สุข... จีวร... บิณฑบาต...
เสนาสนะ...คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารหนอ” ความ
สงสัยย่อมเกิด เพราะอาศัยสิ่งที่น่าปรารถนา เป็นอย่างนี้ รวมความว่า ความโกรธ
ความเป็นคนพูดเท็จและความสงสัย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า ธรรมแม้เหล่านี้... เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ก็มี
อธิบายว่า เมื่อความดีใจและความเสียใจมีอยู่ คือเมื่อความสุขและความทุกข์ โสมนัส
และโทมนัส อารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ความยินดีและความยินร้าย
มีอยู่ คือ ปรากฏอยู่ อันตนเข้าไปได้อยู่ ธรรมเหล่านี้ก็มีได้ รวมความว่า ธรรมแม้
เหล่านี้... เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ก็มี
คำว่า บุคคลผู้มีความสงสัย พึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ อธิบายว่า ญาณ๑
ชื่อว่า ทางแห่งญาณ อารมณ์แห่งญาณ ชื่อว่าทางแห่งญาณ ธรรมที่เกิดมีพร้อมกับญาณ

เชิงอรรถ :
๑ ญาณ ในที่นี้ หมายถึง ญาณ ๑๖ หรือ โสฬสญาณ ความหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ ตั้ง
แต่ต้นจนถึงที่สุด
๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดรู้นามและรูป
๒. ปัจจยปริคคหญาณ ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป
๓. สัมมสนญาณ ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์
๔. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ
๕. ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณอันตามเห็นความสลายเห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปหมด
๖. ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไป
ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น
๗. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ
๘. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย
๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนา
ที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น
๑๐. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออก
๑๑. สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย
๑๒. สัจจานุโลมิกญาณ หรืออนุโลมญาณ ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลม ได้แก่ การหยั่งรู้อริยสัจจ์
๑๓. โคตรภูญาณ ญาณหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู่ภาวะอริยบุคคล
๑๔. มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น
๑๕. ผลญาณ ญาณในอริยผล ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลชั้นนั้น ๆ
๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน สำรวจรู้มรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่
เหลืออยู่ และนิพพาน (ขุ.ป. ๓๑/๑-๖๕/๕-๗๘, วิสุทฺธิ. ๒/๖๖๒-๘๐๔/๒๕๐-๓๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ก็ชื่อว่าทางแห่งญาณ เปรียบเหมือนอริยมรรค๑ ชื่อว่าทางแห่งอริยะ เทว-
มรรค๒ ชื่อว่าทางแห่งเทวะ พรหมมรรค๓ ชื่อว่าทางแห่งพรหม ฉันใด ญาณ ชื่อว่า
ทางแห่งญาณ อารมณ์แห่งญาณ ชื่อว่าทางแห่งญาณ ธรรมที่เกิดมีพร้อมกับญาณ
ก็ชื่อว่าทางแห่งญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน

ว่าด้วยสิกขา ๓
คำว่า พึงศึกษา ได้แก่ สิกขา ๓ อย่าง คือ
๑. อธิสีลสิกขา ๒. อธิจิตตสิกขา
๓. อธิปัญญาสิกขา
อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ สมบูรณ์
ด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบทอยู่
คือ สีลขันธ์เล็ก สีลขันธ์ใหญ่ ศีลเป็นที่พึ่ง เป็นเบื้องต้น เป็นความประพฤติ เป็น
ความสำรวม เป็นความระวัง เป็นหัวหน้า เป็นประธานเพื่อความถึงพร้อมแห่งธรรม
ที่เป็นกุศล นี้ชื่อว่าอธิสีลสิกขา
อธิจิตตสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม... บรรลุจตุตถฌานอยู่ นี้ชื่อว่าอธิจิตต-
สิกขา

เชิงอรรถ :
๑ มรรคมีองค์ ๘ ดูเชิงอรรถข้อ ๕/๑๘
๒ เทวมรรค คือเทวธรรมนั่นเอง หมายถึงธรรมของเทวดา ได้แก่ (๑) หิริ (๒) โอตตัปปะ (๓) สุกกธรรม
แปลว่าธรรมฝ่ายขาว เป็นชื่อแห่ง หิริ และโอตัปปะ สุกกธรรมได้แก่ สุจริตในไตรทวาร (๑. กายสุจริต ๓
ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ๒. วจีสุจริต ๔ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ
ไม่พูดเพ้อเจ้อ ๓. มโนสุจริต ๓ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น ไม่มีจิตคิดพยาบาท มีความเห็นชอบ) (ม.มู. ๑๒/
๔๔๑/๓๙๐-๓๙๑, องฺ.ทุก. ๒๐/๘-๙/๕๑-๕๒, องฺ.ทสก. ๒๔/๑๗๖/๒๑๖-๒๒๑)
๓ พรหมมรรค คือพรหมจรรย์นั่นเอง พรหมจรรย์คือจริยธรรมที่ประเสริฐ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ดูเชิงอรรถ
ข้อ ๕/๑๘ และ ขุ.จู. ๓๐/๑๐/๔๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
อธิปัญญาสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอันประเสริฐ
หยั่งถึงความเกิดและความดับ เพิกถอนกิเลส ให้บรรลุถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ ... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ... เหล่านี้อาสวะ”
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา” นี้ชื่อว่าอธิปัญญา-
สิกขา
คำว่า บุคคลผู้มีความสงสัย พึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ อธิบายว่า บุคคล
ผู้มีความสงสัย คือ เคลือบแคลง ลังเล มีความเข้าใจ ๒ ทิศ ๒ ทาง ไม่แน่ใจ
พึงศึกษาอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เพื่อบรรลุถึงญาณ เพื่อถูกต้อง
ญาณ เพื่อทำญาณให้แจ้ง คือ
สิกขา ๓ เหล่านี้ เมื่อบุคคลนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่าพึงศึกษา
เมื่อเห็น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อพิจารณา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าพึง
ศึกษา เมื่อน้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่าพึง
ศึกษา เมื่อตั้งสติ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อตั้งใจมั่น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา
ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควร
กำหนดรู้ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเจริญธรรมที่ควร
เจริญ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ก็ชื่อว่าพึงศึกษา คือพึง
ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ รวมความว่า บุคคล
ผู้มีความสงสัย พึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ

ว่าด้วยธรรมที่พระสมณะทรงทราบ
คำว่า ทรงทราบแล้ว ในคำว่า และธรรมเหล่าใดพระสมณะทรงทราบแล้ว
ตรัสไว้ ได้แก่ รู้แล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้ง
แล้ว ตรัสสอน ตรัสไว้ คือ ทรงบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศไว้แล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... ธรรมทั้งปวง
เป็นอนัตตา... เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี... เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะ
จึงมี... เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ... เพราะชาติดับ ชรามรณะจึงดับ ... นี้ทุกข์...


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๑๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ... เหล่านี้อาสวะ ... นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา... ธรรม
เหล่านี้ควรรู้ยิ่ง... ธรรมเหล่านี้ควรกำหนดรู้... ธรรมเหล่านี้ควรละ... ธรรมเหล่านี้
ควรเจริญ... ธรรมเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัด
ออกแห่งผัสสายตนะ๑ ๖ ... แห่งอุปาทานขันธ์๒ ๕ ... แห่งมหาภูตรูป ๔
รู้แล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
ตรัสสอน ตรัสไว้ คือ ทรงบอก ทรงแสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศไว้แล้วว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เราแสดงธรรมเพื่อความ
รู้ยิ่ง มิใช่แสดงเพื่อความไม่รู้ยิ่ง แสดงธรรมมีเหตุผล มิใช่แสดงธรรมไม่มีเหตุผล
แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ มิใช่แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ พวกเธอควรทำตามโอวาท
ทำตามคำสั่งสอนของเรานั้น ผู้แสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง มิใช่แสดงเพื่อความไม่รู้ยิ่ง
ผู้แสดงธรรมมีเหตุผล มิใช่แสดงธรรมไม่มีเหตุผล ผู้แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ มิใช่
แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ ก็เป็นการเพียงพอเพื่อความยินดี เพื่อความปราโมทย์
เพื่อโสมนัสว่า “พระผู้มีพระภาคตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง พระธรรมอันพระ
องค์ตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว”... ก็แล เมื่อตรัสเวยยากรณภาษิตนี้
ทั้ง ๑๐,๐๐๐ โลกธาตุ ก็ได้สั่นไหวแล้ว๓ รวมความว่า และธรรมเหล่าใดพระสมณะ
ทรงทราบแล้วตรัสไว้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ธรรมแม้เหล่านี้ คือ ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ
และความสงสัย เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ ก็มี
บุคคลผู้มีความสงสัย พึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ
และธรรมเหล่าใดพระสมณะทรงทราบแล้วตรัสไว้
ธรรมเหล่านั้น เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ ก็มี

เชิงอรรถ :
๑ ผัสสายตนะ ๖ หมายถึงแดนเกิดผัสสะ ได้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๗๓/๓๙๖)
๒ อุปาทานขันธ์ ๕ คือความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ได้แก่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (สํ.ข. ๑๗/
๔๘/๓๙)
๓ องฺ.ติก. ๒๐/๑๒๖/๒๖๙-๒๗๐, อภิ.ก. ๓๗/๘๐๖/๔๖๕-๔๖๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
[๑๐๔] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกเรื่องความไม่มีและความมีว่า
มีต้นเหตุมาจากสิ่งใดแก่ข้าพระองค์

ว่าด้วยต้นเหตุความดีใจและความเสียใจ
คำว่า ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน อธิบายว่า พระพุทธ
เนรมิตทูลถาม ทูลสอบถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศถึงมูล...เหตุเกิด
แห่งความดีใจและความเสียใจว่า ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน
เกิดจากไหน เกิดขึ้นจากไหน บังเกิดจากไหน บังเกิดขึ้นจากไหน ปรากฏขึ้นจากไหน
มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด รวม
ความว่า ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน
คำว่า เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี อธิบายว่า
เมื่ออะไรไม่มี คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ความดีใจและความเสียใจจึงไม่มี คือ ไม่มีอยู่
ไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น ไม่บังเกิด ไม่บังเกิดขึ้น รวมความว่า เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและ
ความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
คำว่า ... เรื่องความไม่มีและความมีว่า มีต้นเหตุมาจากสิ่งใด อธิบายว่า
ความมีแห่งความดีใจและความเสียใจ เป็นอย่างไร
คือ ความมี ความเป็น ความเกิด ความเกิดขึ้น ความบังเกิด ความบังเกิดขึ้น
ความปรากฏแห่งความดีใจและความเสียใจ นี้ชื่อว่าความมีแห่งความดีใจและความ
เสียใจ
ความไม่มีแห่งความดีใจและความเสียใจ เป็นอย่างไร
คือ ความสิ้นไป ความเสื่อมไป ความแตกไป ความทำลายไป ความเป็นของ
ไม่เที่ยง ความอันตรธานไปแห่งความดีใจและความเสียใจ นี้ชื่อว่า ความไม่มีแห่ง
ความดีใจและความเสียใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า เรื่อง ได้แก่ เรื่องสำคัญยิ่ง รวมความว่า เรื่องความไม่มีและความมี
คำว่า นี้ ในคำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก...นี้ว่า มีต้นเหตุมาจากสิ่งใด
แก่ข้าพระองค์ ได้แก่ ข้อที่ข้าพระองค์ทูลถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศ
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก... ว่า มีต้นเหตุมาจากสิ่งใด ได้แก่ สิ่งที่
เป็นต้นเหตุ สิ่งที่เป็นเหตุเกิด สิ่งที่เป็นกำเนิด สิ่งที่เป็นแดนเกิด รวมความว่า
ขอพระองค์โปรดตรัสบอก...ว่ามีต้นเหตุมาจากสิ่งใด แก่ข้าพระองค์ ด้วยเหตุนั้น
พระพุทธเนรมิต จึงทูลถามว่า
ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกเรื่องความไม่มีและความมีว่า
มีต้นเหตุมาจากสิ่งใดแก่ข้าพระองค์
[๑๐๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากผัสสะ
เมื่อผัสสะไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
เราขอบอกเรื่องความไม่มีและความมีนี้ว่า
มีต้นเหตุมาจากผัสสะนี้แก่เธอ
คำว่า ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากผัสสะ อธิบายว่า
สุขเวทนา(ความรู้สึกสบาย) เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา
เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นนั่นแหละดับไป สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะ
อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ที่เสวยอยู่ อันเกิดจากผัสสะนั้น ก็ดับไป คือ
สงบไป
ทุกขเวทนา(ความรู้สึกไม่สบาย) เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่ง
ทุกขเวทนา เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นนั่นแหละดับไป ทุกขเวทนาที่
เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ที่เสวยอยู่ อันเกิดจากผัสสะนั้น
ก็ดับไป คือ สงบไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
อทุกขมสุขเวทนา(ความรู้สึกไม่ทุกข์ไม่สุข) เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะอันเป็นที่
ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา เพราะผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นนั่นแหละ
ดับไป อทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา
ที่กำลังเสวยอยู่ อันเกิดจากผัสสะนั้น ก็ดับไป คือ สงบไป
คำว่า ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากผัสสะ อธิบายว่า ความดี
ใจและความเสียใจ มีต้นเหตุมาจากผัสสะ คือ มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีผัสสะเป็นกำเนิด
มีผัสสะเป็นแดนเกิด รวมความว่า ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากผัสสะ
คำว่า เมื่อผัสสะไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี อธิบายว่า
เมื่อผัสสะไม่มี คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ความดีใจและความเสียใจ ย่อมไม่มี คือ ไม่มีอยู่
ไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น ไม่บังเกิด ไม่บังเกิดขึ้น ไม่ปรากฏ รวมความว่า เมื่อผัสสะไม่มี
ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
คำว่า ...เรื่องความไม่มีและความมี อธิบายว่า ภวทิฏฐิ (ความเห็นว่ามี) ก็ดี
วิภวทิฏฐิ (ความเห็นว่าไม่มี) ก็ดี มีต้นเหตุมาจากผัสสะ
คำว่า เรื่อง ได้แก่ เรื่องสำคัญยิ่ง รวมความว่า เรื่องความไม่มีและความมี
คำว่า นี้ ในคำว่า เราขอบอก ... นี้ว่า มีต้นเหตุมาจากผัสสะนี้แก่เธอ
อธิบายว่า ข้อที่เธอทูลถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ประกาศ
คำว่า เราขอบอก ได้แก่ เราขอบอก คือ ขอกล่าว แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า เราขอบอก... นี้แก่เธอ
คำว่า มีต้นเหตุมาจากผัสสะนี้ ได้แก่ มีต้นเหตุมาจากผัสสะนี้ คือ มีผัสสะ
เป็นเหตุเกิด มีผัสสะเป็นกำเนิด มีผัสสะเป็นแดนเกิด รวมความว่า เราขอบอก... นี้ว่า
มีต้นเหตุมาจากผัสสะนี้แก่เธอ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากผัสสะ
เมื่อผัสสะไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
เราขอบอกเรื่องความไม่มีและความมีนี้ว่า
มีต้นเหตุมาจากผัสสะนี้แก่เธอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
[๑๐๖] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
ผัสสะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
และความยึดถือมีมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง

ว่าด้วยต้นเหตุแห่งผัสสะ
คำว่า ผัสสะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน อธิบายว่า พระพุทธเนรมิตทูลถาม
ทูลสอบถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศถึงมูล...เหตุเกิดแห่งผัสสะว่า
ผัสสะมีต้นเหตุมาจากไหน เกิดจากไหน เกิดขึ้นจากไหน บังเกิดจากไหน บังเกิดขึ้น
จากไหน ปรากฏจากไหน มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด
มีอะไรเป็นแดนเกิด รวมความว่า ผัสสะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
คำว่า และความยึดถือมีมาจากไหน อธิบายว่า พระพุทธเนรมิตทูลถาม
ทูลสอบถาม ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศถึงมูล...เหตุเกิดแห่งความ
ยึดถือว่า ความยึดถือมีมาจากไหน เกิดจากไหน เกิดขึ้นจากไหน บังเกิดจากไหน
บังเกิดขึ้นจากไหน ปรากฏจากไหน มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไร
เป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด รวมความว่า และความยึดถือมีมาจากไหน
คำว่า เมื่ออะไรไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี อธิบายว่า เมื่ออะไร
ไม่มี คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ
หาไม่ได้ ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา บุคคลนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้
สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า
เมื่ออะไรไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
คำว่า เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง อธิบายว่า เมื่ออะไรไม่มี คือ ไม่เป็น
ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นแล้ว ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง รวมความว่า เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะ
จึงไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ผัสสะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
และความยึดถือมีมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
[๑๐๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
เพราะอาศัยนามและรูป ผัสสะจึงเกิด
ความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา
เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
คำว่า เพราะอาศัยนามและรูป ผัสสะจึงเกิด อธิบายว่า
จักขุวิญญาณ เกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูป ประชุมแห่งธรรม ๓ ประการ คือ
(๑) ตา (๒) รูป (๓) จักขุวิญญาณ ผัสสะจึงเกิด ตาและรูปอยู่ในส่วนรูป สัมปยุตธรรม
ทั้งหลายเว้นจักขุสัมผัสอยู่ในส่วนนาม ผัสสะเกิดขึ้นเพราะอาศัยนามและรูป ด้วย
ประการอย่างนี้
โสตวิญญาณ เกิดขึ้นเพราะอาศัยหูและเสียง ประชุมแห่งธรรม ๓ ประการ
คือ (๑) หู (๒) เสียง (๓) โสตวิญญาณ ผัสสะจึงเกิด หูและเสียงอยู่ในส่วนรูป
สัมปยุตธรรมทั้งหลายเว้นโสตสัมผัสอยู่ในส่วนนาม ผัสสะเกิดขึ้นเพราะอาศัยนาม
และรูป ด้วยประการอย่างนี้
ฆานวิญญาณ เกิดขึ้นเพราะอาศัยจมูกและกลิ่น ประชุมแห่งธรรม ๓ ประการ คือ
(๑) จมูก (๒) กลิ่น (๓) ฆานวิญญาณ ผัสสะจึงเกิด จมูกและกลิ่นอยู่ในส่วนรูป
สัมปยุตธรรมทั้งหลายเว้นฆานสัมผัสอยู่ในส่วนนาม ผัสสะเกิดขึ้นเพราะอาศัยนาม
และรูป ด้วยประการอย่างนี้
ชิวหาวิญญาณ เกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้นและรส ประชุมแห่งธรรม ๓ ประการ
คือ (๑) ลิ้น (๒) รส (๓) ชิวหาวิญญาณ ผัสสะจึงเกิด ลิ้นและรสอยู่ในส่วนรูป
สัมปยุตธรรมทั้งหลายเว้นชิวหาสัมผัสอยู่ในส่วนนาม ผัสสะเกิดขึ้นเพราะอาศัยนาม
และรูป ด้วยประการอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
กายวิญญาณ เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ ประชุมแห่งธรรม ๓ ประการ
คือ (๑) กาย (๒) โผฏฐัพพะ (๓) กายวิญญาณ ผัสสะจึงเกิด กายและโผฏฐัพพะอยู่ใน
ส่วนรูป สัมปยุตธรรมทั้งหลายเว้นกายสัมผัสอยู่ในส่วนนาม ผัสสะเกิดขึ้นเพราะ
อาศัยนามและรูป ด้วยประการอย่างนี้
มโนวิญญาณ เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งหลาย ประชุมแห่งธรรม
๓ ประการ คือ (๑) หทัยวัตถุ (๒) ธรรมารมณ์ (๓) มโนวิญญาณ ผัสสะจึงเกิด
หทัยวัตถุและธรรมารมณ์ที่มีรูปทั้งหลายอยู่ในส่วนรูป สัมปยุตธรรมทั้งหลายเว้น
มโนสัมผัสอยู่ในส่วนนาม ผัสสะเกิดขึ้นเพราะอาศัยนามและรูป ด้วยประการอย่างนี้

ว่าด้วยความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา
คำว่า ความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา อธิบายว่า ตัณหาตรัส
เรียกว่า ความปรารถนา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูล
คือโลภะ๑
คำว่า ความยึดถือ ได้แก่ ความยึดถือ ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดถือด้วย
อำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือด้วยอำนาจทิฏฐิ...นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยอำนาจ
ตัณหา... นี้ชื่อว่าความยึดถือด้วยอำนาจทิฏฐิ๒
คำว่า ความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา อธิบายว่า ความยึดถือ
มีต้นเหตุมาจากความปรารถนา คือ มีความปรารถนาเป็นต้นเหตุ มีความปรารถนา
เป็นปัจจัย มีความปรารถนาเป็นสาเหตุ มีความปรารถนาเป็นแดนเกิด รวมความว่า
ความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา
คำว่า เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี อธิบายว่า
ตัณหาตรัสเรียกว่า ความปรารถนา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๑๒/๕๘-๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง
คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเรา
ด้วยอำนาจทิฏฐิ... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา... นี้ชื่อว่า
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ
คำว่า เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี อธิบายว่า
เมื่อความปรารถนาไม่มี คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี คือ
ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ได้แก่ ความปรารถนา บุคคลนั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า
เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี

ว่าด้วยมหาภูตรูป ๔
คำว่า รูป ในคำว่า เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ และ
รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔
คำว่า เมื่อรูปไม่มี ได้แก่ รูปไม่มีเพราะเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. เพราะการรู้ ๒. เพราะการพิจารณา
๓. เพราะการละ ๔. เพราะการก้าวพ้น
รูปไม่มีเพราะการรู้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุรู้รูป คือ รู้จัก มองเห็นว่า “รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง รูปทั้งหมด คือ
มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔” รูปไม่มีเพราะการรู้ เป็นอย่างนี้
รูปไม่มีเพราะการพิจารณา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุทำรูปที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้ พิจารณารูป คือ พิจารณาโดยความ
เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก เป็น
อาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นของทรุดโทรม เป็นเสนียด เป็นอุปัททวะ เป็นภัย เป็น
อุปสรรค เป็นของหวั่นไหว เป็นของผุพัง เป็นของไม่ยั่งยืน เป็นของไม่มีที่ต้านทาน
เป็นของไม่มีที่ซ่อนเร้น เป็นของไม่มีที่พึ่ง เป็นของว่าง เป็นของเปล่า เป็นของสูญ
เป็นอนัตตา เป็นของมีโทษ เป็นของแปรผันไปเป็นธรรมดา เป็นของไม่มีแก่นสาร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
เป็นเหตุแห่งความลำบาก เป็นดุจเพชฌฆาต เป็นของปราศจากความเจริญ เป็นของมี
อาสวะ เป็นของที่ถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็นเหยื่อแห่งมาร มีชาติเป็นธรรมดา
มีชราเป็นธรรมดา มีพยาธิเป็นธรรมดา มีมรณะเป็นธรรมดา มีโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส อุปายาสเป็นธรรมดา มีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา เป็นเหตุเกิดทุกข์
ตั้งอยู่ไม่ได้ หาความแช่มชื่นไม่ได้ เป็นโทษ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป รูปไม่มีเพราะ
การพิจารณา เป็นอย่างนี้
รูปไม่มีเพราะการละ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุครั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ก็ย่อมละ คือ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความกำหนัดเพราะความพอใจในรูป
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงละความ
กำหนัด เพราะความพอใจในรูป เธอละรูปนั้นได้เด็ดขาดแล้วอย่างนี้ ตัดรากถอน
โคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อ
ไปไม่ได้ รูปไม่มีเพราะการละ เป็นอย่างนี้
รูปไม่มีเพราะการก้าวพ้น เป็นอย่างไร
คือ ผู้ได้อรูปสมาบัติ๑ ๔ คือ ไม่มีรูป คือ ไม่ปรากฏ ก้าวล่วง ก้าวพ้น
ล่วงพ้นแล้ว รูปไม่มีเพราะการก้าวพ้น เป็นอย่างนี้
รูปชื่อว่าไม่มีเพราะเหตุ ๔ อย่างเหล่านี้
คำว่า เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง อธิบายว่า เมื่อรูปไม่มี คือ ไม่เป็น
ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้น ผัสสะ ๕ อย่าง คือ
๑. จักขุสัมผัส ๒. โสตสัมผัส
๓. ฆานสัมผัส ๔. ชิวหาสัมผัส
๕. กายสัมผัส ย่อมไม่ถูกต้อง รวมความว่า เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า

เชิงอรรถ :
๑ อรูปสมาบัติ ๔ ดูเชิงอรรถข้อ ๖/๒๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
เพราะอาศัยนามและรูป ผัสสะจึงเกิด
ความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา
เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
[๑๐๘] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
เมื่อบุคคลดำเนินอย่างไร รูปจึงไม่มี
สุขและทุกข์จะไม่มีได้อย่างไร
สุขและทุกข์ย่อมไม่มีโดยวิธีการใด
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกวิธีการนั้นแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์มีความตั้งใจว่า จะรู้วิธีการนั้น
คำว่า ดำเนินอย่างไร ในคำว่า เมื่อบุคคลดำเนินอย่างไร รูปจึงไม่มี อธิบาย
ว่า ดำเนินอย่างไร คือ ปฏิบัติอย่างไร เคลื่อนไหวอย่างไร เป็นไปอย่างไร เลี้ยงชีวิต
อย่างไร ดำเนินไปอย่างไร ยังชีวิตให้ดำเนินไปอย่างไร รูปจึงไม่มี คือ ไม่เป็น ก้าวล่วง
ก้าวพ้น ล่วงพ้น รวมความว่า เมื่อบุคคลดำเนินอย่างไร รูปจึงไม่มี
คำว่า สุขและทุกข์จะไม่มีได้อย่างไร อธิบายว่า สุขและทุกข์จะไม่มี คือ
ไม่เป็น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นได้อย่างไร รวมความว่า สุขและทุกข์จะไม่มีได้
อย่างไร
คำว่า วิธีการนั้น ในคำว่า สุขและทุกข์ย่อมไม่มีโดยวิธีการใด ขอพระองค์
โปรดตรัสบอกวิธีการนั้นแก่ข้าพระองค์ ได้แก่ วิธีการที่ข้าพระองค์ทูลถาม ทูลขอ
ทูลอัญเชิญ ทูลให้ทรงประกาศ รวมความว่า วิธีการนั้น
คำว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก... นั้นแก่ข้าพระองค์ ได้แก่ ขอพระองค์
โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศ รวมความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอก... นั้นแก่ข้าพระองค์
คำว่า สุขและทุกข์ย่อมไม่มีโดยวิธีการใด ได้แก่ สุขและทุกข์ย่อมไม่มี คือ
ไม่เป็น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้น โดยวิธีการใด รวมความว่า สุขและทุกข์ย่อม
ไม่มีโดยวิธีการใด ขอพระองค์โปรดตรัสบอกวิธีการนั้นแก่ข้าพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๒๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า จะรู้วิธีการนั้น ในคำว่า ข้าพระองค์มีความตั้งใจว่า จะรู้วิธีการนั้น
ได้แก่ พวกข้าพระองค์พึงรู้ คือ พึงรู้ทั่วถึง รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอดวิธีการนั้น
รวมความว่า จะรู้วิธีการนั้น
คำว่า ข้าพระองค์มีความตั้งใจว่า ได้แก่ ข้าพระองค์มีความตั้งใจ คือ
ข้าพระองค์มีความคิด ข้าพระองค์มีความดำริ ข้าพระองค์มีความรู้แจ้ง ดังนี้ รวม
ความว่า ข้าพระองค์มีความตั้งใจว่า จะรู้วิธีการนั้น ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิต
จึงทูลถามว่า
เมื่อบุคคลดำเนินอย่างไร รูปจึงไม่มี
สุขและทุกข์จะไม่มีได้อย่างไร
สุขและทุกข์ย่อมไม่มีโดยวิธีการใด
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกวิธีการนั้นแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์มีความตั้งใจว่า จะรู้วิธีการนั้น
[๑๐๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
บุคคลไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาปกติ
ไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาผิดปกติ
เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ปราศจากสัญญาก็มิใช่
เมื่อบุคคลดำเนินอย่างนี้ รูปจึงไม่มี
เพราะว่าส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้ามีต้นเหตุมาจากสัญญา
คำว่า บุคคลไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาปกติ ไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญา
ผิดปกติ อธิบายว่า คนเหล่าใด ดำรงอยู่ในสัญญาปกติ คนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า
ผู้มีสัญญาโดยสัญญาปกติ บุคคลนั้นมิได้ดำรงอยู่ในสัญญาปกติ
คนเหล่าใด เป็นบ้าและมีจิตฟุ้งซ่าน คนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า ผู้มีสัญญาโดย
สัญญาผิดปกติ บุคคลนั้น มิได้เป็นบ้า มิได้มีจิตฟุ้งซ่าน รวมความว่า บุคคลไม่เป็นผู้
มีสัญญาโดยสัญญาปกติ ไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาผิดปกติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ปราศจากสัญญาก็มิใช่ อธิบายว่า คนเหล่าใด
เข้านิโรธสมาบัติได้แล้ว และเป็นอสัญญีสัตว์ คนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่มีสัญญา
บุคคลนั้นมิใช่ผู้เข้านิโรธสมาบัติได้แล้ว มิได้เป็นอสัญญีสัตว์
คนเหล่าใด ได้อรูปสมาบัติ ๔ คนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ปราศจากสัญญา
บุคคลนั้นมิใช่ผู้ได้อรูปสมาบัติ ๔ รวมความว่า เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ปราศจาก
สัญญาก็มิใช่
คำว่า เมื่อบุคคลดำเนินอย่างนี้ รูปจึงไม่มี อธิบายว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เพราะละสุขได้...บรรลุจตุตถฌานอยู่ เธอเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส
เพียงดังเนิน ปราศจากอุปกิเลส อ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่น
ไหวอย่างนี้ ย่อมโน้ม น้อมจิตไปเพื่อให้ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติ เป็นผู้พร้อม
เพรียงด้วยธรรมเป็นทางแห่งอรูปสมาบัติ เมื่อบุคคลดำเนินอย่างนี้ คือ ปฏิบัติอย่างนี้
เคลื่อนไหวอย่างนี้ เป็นไปอย่างนี้ เลี้ยงชีวิตอย่างนี้ ดำเนินไปอย่างนี้ ยังชีวิตให้
ดำเนินไปอย่างนี้ รูปก็ย่อมไม่มี คือ ไม่เป็น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้น รวมความว่า
เมื่อบุคคลดำเนินอย่างนี้ รูปจึงไม่มี

ว่าด้วยธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า
คำว่า เพราะว่าส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้ามีต้นเหตุมาจากสัญญา
อธิบายว่า ธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้านั่นเอง คือ ส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้าคือ
ตัณหา ส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้าคือทิฏฐิ ส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้าคือ
มานะ มีต้นเหตุมาจากสัญญา คือ มีสัญญาเป็นเหตุเกิด มีสัญญาเป็นกำเนิด มี
สัญญาเป็นแดนเกิด รวมความว่า เพราะว่าส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้ามีต้นเหตุ
มาจากสัญญา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
บุคคลไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาปกติ
ไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาผิดปกติ
เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ปราศจากสัญญาก็มิใช่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
เมื่อบุคคลดำเนินอย่างนี้ รูปจึงไม่มี
เพราะว่าส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้ามีต้นเหตุมาจากสัญญา
[๑๑๐] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
ข้าพระองค์ได้ทูลถามธรรมใดแล้ว
พระองค์ก็ได้ตรัสตอบธรรมนั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามธรรมอื่นอีก
ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมนั้นด้วยเถิด
สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้
พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์ด้วยอรูปสมาบัติ
เท่านั้นหรือหนอว่า เป็นธรรมอันเลิศ
หรือว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวถึงความหมดจด
อย่างอื่นว่า เยี่ยมกว่าอรูปสมาบัตินี้
คำว่า ข้าพระองค์ได้ทูลถามธรรมใดแล้ว พระองค์ก็ได้ตรัสตอบธรรมนั้น
แก่พวกข้าพระองค์แล้ว ได้แก่ ข้าพระองค์ได้ทูลถาม คือ ได้ทูลขอ ได้ทูลอัญเชิญ
ได้ทูลให้ประกาศธรรมใดแล้ว
คำว่า พระองค์ก็ได้ตรัสตอบธรรมนั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว ได้แก่ ได้ตรัส
ตอบ คือ ได้ทรงชี้แจงแล้ว ตรัสบอกแล้ว ทรงแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว กำหนดแล้ว
เปิดเผยแล้ว จำแนกแล้ว ทำให้ง่ายแล้ว ประกาศแล้ว รวมความว่า ข้าพระองค์ได้
ทูลถามธรรมใดแล้ว พระองค์ก็ได้ตรัสตอบธรรมนั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามธรรมอื่นอีก ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอก
ธรรมนั้นด้วยเถิด ได้แก่ ข้าพระองค์ขอทูลถาม คือ ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้
ประกาศธรรมอื่นอีก ได้แก่ ขอทูลถามพระองค์ถึงธรรมที่ยิ่งขึ้นไป
คำว่า ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมนั้นด้วยเถิด ได้แก่ ขอเชิญ
พระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามธรรมอื่นอีก ขอเชิญพระองค์
โปรดตรัสบอกธรรมนั้นด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความหมดจดแห่งอรูปสมาบัติ
คำว่า สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้ พากันกล่าว
ความหมดจดของยักษ์ด้วยอรูปสมาบัติเท่านั้นหรือหนอว่า เป็นธรรมอันเลิศ
อธิบายว่า สมณพราหมณ์บางพวก ย่อมกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง
อรูปสมาบัติเหล่านี้ว่า เป็นธรรมอันเลิศ คือ ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด
ประเสริฐสุด
คำว่า ของยักษ์ ได้แก่ ของสัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ความหมดจด ได้แก่ ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์
ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
คำว่า อ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้ ได้แก่ กล่าวอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตใน
โลกนี้ คือ อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีญาณ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามีคุณลักษณะ
อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า สมณพราหมณ์
บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้ พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์ด้วย
อรูปสมาบัติเท่านั้นว่า เป็นธรรมอันเลิศ
คำว่า หรือว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวถึงความหมดจดอย่างอื่นว่า
เยี่ยมกว่าอรูปสมาบัตินี้ อธิบายว่า หรือว่า สมณพราหมณ์บางพวก ก้าวล่วง
ก้าวพ้น ล่วงพ้นอรูปสมาบัติเหล่านี้ ย่อมกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง ความ
หมดจด ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
ของยักษ์อย่างอื่น คือ ยอดเยี่ยมกว่าอรูปสมาบัตินี้ รวมความว่า หรือว่า
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวถึงความหมดจดอย่างอื่นว่าเยี่ยมกว่าอรูปสมาบัตินี้
ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
ข้าพระองค์ได้ทูลถามธรรมใดแล้ว
พระองค์ก็ได้ตรัสตอบธรรมนั้นแก่พวกข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามธรรมอื่นอีก
ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมนั้นด้วยเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้
พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์ด้วยอรูปสมาบัติ
เท่านั้นหรือหนอว่า เป็นธรรมอันเลิศ
หรือว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวถึงความหมดจด
อย่างอื่นว่า เยี่ยมกว่าอรูปสมาบัตินี้
[๑๑๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้
พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์ด้วยอรูปสมาบัติ
เท่านั้นว่า เป็นธรรมอันเลิศ บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็อ้างตนว่าเป็นผู้ฉลาด
พากันกล่าวความสงบในความไม่มีอะไรเหลือ
คำว่า สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้ พากันกล่าว
ความหมดจดของยักษ์ด้วยอรูปสมาบัติเท่านั้นว่า เป็นธรรมอันเลิศ อธิบายว่า
มีสมณพราหมณ์บางพวก ผู้มีวาทะว่าเที่ยง พากันกล่าว คือ พูด บอก แสดง
ชี้แจงอรูปสมาบัติเหล่านี้ว่า เป็นธรรมอันเลิศ คือ ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด
ประเสริฐสุด
คำว่า ยักษ์ ได้แก่ สัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด สัตว์เกิด
ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ความหมดจด ได้แก่ ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์
ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป
คำว่า อ้างตนว่าเป็นบัณฑิตในโลกนี้ ได้แก่ กล่าวอ้างตนว่าเป็นบัณฑิต
ในโลกนี้ คือ อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีญาณ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามี
คุณลักษณะ อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า
สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่าเป็นบัณฑิตในโลกนี้ พากันกล่าวความหมดจดของ
ยักษ์ด้วยอรูปสมาบัติเท่านั้นว่า เป็นธรรมอันเลิศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
คำว่า บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็อ้าง
ตนว่าเป็นผู้ฉลาด พากันกล่าวความสงบในความไม่มีอะไรเหลือ อธิบายว่า
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งผู้มีวาทะว่าขาดสูญ
ขยาดต่อภพ ชื่นชอบความปราศจากภพ สมณพราหมณ์พวกนั้นกล่าวความสงบ
คือ ความเข้าไปสงบ ความสงบเย็น ความดับ ความสงัดแห่งสัตว์ว่า ท่านผู้เจริญ
หลังจากตายแล้ว อัตตานี้ ย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่มีอยู่ โดยเหตุใด ความไม่มี
อะไรเหลือ ก็มีโดยเหตุเท่านั้น
คำว่า อ้างตนว่าเป็นผู้ฉลาด ได้แก่ กล่าวอ้างตนว่าเป็นผู้ฉลาด คือ อ้างว่า
เป็นบัณฑิต อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีญาณ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามี
คุณลักษณะ อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็อ้างตนว่าเป็นผู้ฉลาด
พากันกล่าวความสงบในความไม่มีอะไรเหลือ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัส
ตอบว่า
สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้
พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์ด้วยอรูปสมาบัติ
เท่านั้นว่า เป็นธรรมอันเลิศ บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็อ้างตนว่าเป็นผู้ฉลาด
พากันกล่าวความสงบในความไม่มีอะไรเหลือ
[๑๑๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
มุนีผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น รู้จักสมณพราหมณ์
ผู้เป็นเจ้าลัทธิเหล่านี้ว่า เป็นผู้เข้าไปอาศัยทิฏฐิ
และรู้จักทิฏฐิเป็นที่อาศัย นักปราชญ์ครั้นรู้จักแล้วก็หลุดพ้น
ไม่ถึงการวิวาท ไม่กลับมาในภพน้อยภพใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ว่าด้วยปัญญาเครื่องพิจารณา
คำว่า เหล่านี้ ในคำว่า รู้จักสมณพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิเหล่านี้ว่า เป็นผู้
เข้าไปอาศัยทิฏฐิ ได้แก่ ผู้เป็นเจ้าลัทธิ
คำว่า เข้าไปอาศัยทิฏฐิ ได้แก่ รู้จัก คือ ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณา
แล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “เป็นผู้อาศัยสัสสตทิฏฐิ(ความเห็นว่า
เที่ยง) เป็นผู้อาศัยอุจเฉททิฏฐิ(ความเห็นว่าขาดสูญ) เป็นผู้อาศัยทั้งสัสสตทิฏฐิและ
อุจเฉททิฏฐิ” รวมความว่า รู้จักสมณพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิเหล่านี้ว่า เป็นผู้เข้าไป
อาศัยทิฏฐิ
คำว่า มุนี ในคำว่า มุนีผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น... และรู้จักทิฏฐิเป็น
ที่อาศัย อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ...ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหา
ดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๑
มุนี รู้จัก คือ ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว
ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “เป็นผู้อาศัยสัสสตทิฏฐิ เป็นผู้อาศัยอุจเฉททิฏฐิ เป็นผู้อาศัย
ทั้งสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ”
คำว่า ... ผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น ได้แก่ ผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญา
มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
รวมความว่า มุนีผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น ... และรู้จักทิฏฐิเป็นที่อาศัย
คำว่า ครั้นรู้จักแล้วก็หลุดพ้นไม่ถึงการวิวาท ได้แก่ ครั้นรู้จักแล้ว คือ ทราบแล้ว
เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
คำว่า หลุดพ้น ได้แก่ หลุดไปแล้ว พ้นไปแล้ว หลุดพ้นไปแล้ว หลุดพ้นไปด้วย
ดีแล้ว โดยความหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่นโดยส่วนเดียว คือ ครั้นรู้จักแล้ว ทราบแล้ว
เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขาร
ทั้งปวงไม่เที่ยง ... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”...คือ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๔/๖๘-๗๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๑. กลหวิวาทสุตตนิทเทส
ครั้นรู้จักแล้ว ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว
ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมี
ความดับไปเป็นธรรมดา” ก็หลุดไปแล้ว พ้นไปแล้ว หลุดพ้นไปแล้ว หลุดพ้นไปด้วย
ดีแล้ว โดยความหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่นโดยส่วนเดียว รวมความว่า ครั้นรู้จักแล้วก็
หลุดพ้น
คำว่า ไม่ถึงการวิวาท ได้แก่ ไม่ก่อการทะเลาะ ไม่ก่อการบาดหมาง ไม่ก่อการ
แก่งแย่ง ไม่ก่อการวิวาท ไม่ก่อการมุ่งร้าย
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า อัคคิเวสสนะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว
อย่างนี้แล ย่อมไม่โต้เถียงกับใคร ไม่วิวาทกับใคร เรื่องใดที่พูดกันในโลก เธอก็ไม่
ยึดมั่น ชี้แจงด้วยเรื่องนั้น๑ รวมความว่า ครั้นรู้จักแล้วก็หลุดพ้น ไม่ถึงการวิวาท
คำว่า ในภพน้อยภพใหญ่ ในคำว่า นักปราชญ์... ไม่กลับมาในภพน้อยภพ
ใหญ่ อธิบายว่า ไม่กลับมา คือ ไม่มาถึง ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ในภพน้อยภพใหญ่
คือ ในกรรมวัฏและวิปากวัฏ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในวิปากวัฏเป็น
เครื่องเกิดในกามภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่อง
เกิดในรูปภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดใน
อรูปภพ ในภพต่อไป ในคติต่อไป ในการถือกำเนิดต่อไป ในปฏิสนธิต่อไป ในอัตภาพ
ต่อไป ในการบังเกิดของอัตภาพต่อไป
คำว่า นักปราชญ์ ได้แก่ นักปราชญ์ คือ บัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้
มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส รวมความว่า นักปราชญ์...
ไม่กลับมาในภพน้อยภพใหญ่ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น รู้จักสมณพราหมณ์
ผู้เป็นเจัาลัทธิเหล่านี้ว่า เป็นผู้เข้าไปอาศัยทิฏฐิ
และรู้จักทิฏฐิเป็นที่อาศัย นักปราชญ์ครั้นรู้จักแล้วก็หลุดพ้น
ไม่ถึงการวิวาท ไม่กลับมาในภพน้อยภพใหญ่
กลหวิวาทสุตตนิทเทสที่ ๑๑ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ม.ม. ๑๓/๒๐๕/๑๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส๑
อธิบายจูฬวิยูหสูตร
ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรเล็ก
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายจูฬวิยูหสูตร ดังต่อไปนี้
[๑๑๓] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก
ยึดถืออยู่เฉพาะทิฏฐิของตน ๆ
ถือแล้วก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด พูดกันไปต่าง ๆ ว่า
บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ารู้ธรรมแล้ว
บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ายังไม่สำเร็จกิจ
คำว่า ยึดถืออยู่เฉพาะทิฏฐิของตน ๆ อธิบายว่า สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิ
บางพวก สมณพราหมณ์เหล่านั้น ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่น ทิฏฐิอย่างใด
อย่างหนึ่ง บรรดาทิฏฐิ๒ ๖๒ แล้ว อยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองในทิฏฐิของตน ๆ
เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็อยู่ในเรือน หมู่ภิกษุผู้มีอาบัติก็อยู่ในอาบัติ หรือ
พวกปุถุชนผู้มีกิเลสก็อยู่ในกิเลส ฉันใด มีสมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งบรรดา
ทิฏฐิ ๖๒ แล้ว อยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองในทิฏฐิของตน ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน
รวมความว่า ยึดถืออยู่เฉพาะทิฏฐิของตน ๆ
คำว่า ถือแล้ว ในคำว่า ถือแล้วก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด พูดกันไปต่าง ๆ
ได้แก่ ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๘๘๕-๙๐๑/๕๐๖-๕๑๐
๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๗/๒๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า พูดกันไปต่าง ๆ ได้แก่ พูดกันไปต่าง ๆ คือ พูดมากอย่าง พูดอย่างโน้น
อย่างนี้ พูดไปมากมาย คือ ไม่กล่าว ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงเป็นอย่าง
เดียวกัน
คำว่า อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด ได้แก่ อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด คือ อ้างว่าเป็น
บัณฑิต อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีความรู้ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามีคุณลักษณะ
อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า ถือแล้วก็อ้างตัว
ว่าเป็นคนฉลาด พูดกันไปต่าง ๆ
คำว่า บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นก็ชื่อว่า รู้ธรรมแล้ว อธิบายว่า บุคคลใด
รู้ธรรม คือ ทิฏฐิ๑ ปฏิปทา๒ มรรค๓ นี้ บุคคลนั้นชื่อว่ารู้ คือ ได้รู้ ได้เห็น ได้แทง
ตลอดธรรมแล้ว รวมความว่า บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ารู้ธรรมแล้ว
คำว่า บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ายังไม่สำเร็จกิจ อธิบายว่า บุคคลใด
คัดค้านธรรม คือ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรค นี้ บุคคลนั้น ชื่อว่ายังไม่สำเร็จกิจ
คือ ไม่สมบูรณ์ ไม่บริบูรณ์ ได้แก่ บุคคลนั้นเป็นคนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ
หยาบช้า ต่ำต้อย รวมความว่า บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ายังไม่
สำเร็จกิจ ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก
ยึดถืออยู่เฉพาะทิฏฐิของตน ๆ
ถือแล้วก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด พูดกันไปต่าง ๆ ว่า
บุคคลใดรู้อย่างนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ารู้ธรรมแล้ว
บุคคลใดคัดค้านธรรมนี้ บุคคลนั้นชื่อว่ายังไม่สำเร็จกิจ

เชิงอรรถ :
๑ ทิฏฐิ ดูเชิงอรรถข้อ ๗/๒๙
๒ ปฏิปทา แนวปฏิบัติที่เป็นทางดำเนินให้ถึงจุดมุ่งหมาย คือความหลุดพ้นหรือสิ้นอาสวะ (องฺ.จตุกฺก. ๒๑/
๑๖๗-๑๖๘/๑๗๖-๑๗๗)
๓ มรรค ดูรายละเอียดข้อ ๑๑๙/๓๔๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๓๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
[๑๑๔] (พระพุทธเนรมิตทูลถามอีกว่า)
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถืออย่างนี้แล้วก็พากันวิวาท
และกล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้
วาทะไหนเป็นเรื่องจริงกันหนอ
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมด
ต่างก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด

ว่าด้วยวิวาทกันเพราะถือทิฏฐิ
คำว่า ถืออย่างนี้แล้วก็พากันวิวาท อธิบายว่า ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่น
อย่างนี้แล้วก็พากันวิวาท คือ ก่อการทะเลาะ ก่อการบาดหมาง ก่อการแก่งแย่ง
ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้ายว่า “ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้... หรือ หากท่านสามารถ
ก็จงแก้ไขเถิด” รวมความว่า ถืออย่างนี้แล้วก็พากันวิวาท
คำว่า และกล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด อธิบายว่า กล่าวอย่างนี้
คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอย่างนี้ว่า คนอื่น เป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว ทราม
ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย ไม่ฉลาด คือ ไม่มีความรู้ ไปตามอวิชชา
ไม่มีญาณ ไม่มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาทึบ รวมความว่า และกล่าวว่า คนอื่นเป็น
คนพาล ไม่ฉลาด
คำว่า วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนเป็นเรื่องจริงกันหนอ
อธิบายว่า วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนเป็นเรื่องจริง คือ แท้ แน่
เป็นจริง แน่นอน ไม่วิปริต รวมความว่า วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหน
เป็นเรื่องจริงกันหนอ
คำว่า เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดต่างก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด
อธิบายว่า สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดต่างก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด คือ อ้างว่า
เป็นบัณฑิต อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีความรู้ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามี
คุณลักษณะ อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดต่างก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด ด้วยเหตุนั้น พระ-
พุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถืออย่างนี้แล้วก็พากันวิวาท
และกล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้
วาทะไหนเป็นเรื่องจริงกันหนอ
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมด
ต่างก็อ้างตัวว่าเป็นคนฉลาด
[๑๑๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
คนพาลไม่ยอมรับธรรมของผู้อื่นเลย
เป็นคนต่ำทราม มีปัญญาทราม
สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั่นแหละเป็นคนพาล มีปัญญาทราม
สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแหละ ยึดถือทิฏฐิอยู่
คำว่า ไม่ยอมรับธรรมของผู้อื่นเลย อธิบายว่า ไม่ยอมรับ คือ ไม่เห็นตาม
ไม่คล้อยตาม ไม่ยินดีตามธรรม คือ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรค ของผู้อื่น รวมความว่า
ไม่ยอมรับธรรมของผู้อื่นเลย
คำว่า คนพาล... เป็นคนต่ำทราม มีปัญญาทราม อธิบายว่า คนอื่นเป็นพาล
เป็นคนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย มีปัญญาเลว มีปัญญา
ทราม มีปัญญาต่ำทราม มีปัญญาน่ารังเกียจ มีปัญญาหยาบช้า มีปัญญาต่ำต้อย
รวมความว่า คนพาล... เป็นคนต่ำทราม มีปัญญาทราม
คำว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั่นแหละ เป็นคนพาล มีปัญญาทราม อธิบาย
ว่า สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแหละ เป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว ทราม
ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั่นแหละ มีปัญญา
เลว คือ มีปัญญาทราม มีปัญญาต่ำทราม มีปัญญาน่ารังเกียจ มีปัญญาหยาบช้า
มีปัญญาต่ำต้อย รวมความว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั่นแหละ เป็นคนพาล
มีปัญญาทราม
คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแหละ ยึดถือทิฏฐิอยู่ อธิบายว่า
สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแหละ เป็นเจ้าลัทธิ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ยึด
ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งบรรดาทิฏฐิ ๖๒ แล้ว อยู่ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองตามทิฏฐิของตน ๆ เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็อยู่
ในเรือน หมู่ภิกษุผู้มีอาบัติก็อยู่ในอาบัติ หรือพวกปุถุชนผู้มีกิเลสก็อยู่ในกิเลส ฉันใด
สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแหละ เป็นเจ้าลัทธิ สมณพราหมณ์เหล่านั้น ยึด
ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่น ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาทิฏฐิ ๖๒ แล้ว อยู่ คือ
อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองตามทิฏฐิของตน ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า
สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแหละ ยึดถือทิฏฐิอยู่ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสตอบว่า
คนพาลไม่ยอมรับธรรมของผู้อื่นเลย
เป็นคนต่ำทราม มีปัญญาทราม
สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั่นแหละเป็นคนพาล มีปัญญาทราม
สมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแหละ ยึดถือทิฏฐิอยู่
[๑๑๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ถ้าพวกสมณพราหมณ์ ไม่ผ่องแผ้วเพราะทิฏฐิของตน
เป็นผู้มีปัญญาหมดจดดี ฉลาด มีความรู้แล้วไซร้
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็ไม่มีใครเสื่อมปัญญา
เพราะทิฏฐิของสมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น ถือกันมาอย่างนั้น
คำว่า ถ้าพวกสมณพราหมณ์ ไม่ผ่องแผ้วเพราะทิฏฐิของตน อธิบายว่า
พวกสมณพราหมณ์ไม่ผ่องแผ้ว คือ ไม่ผ่องใส ไม่แจ่มใส เศร้าหมอง หม่นหมอง
เพราะทิฏฐิของตน คือ เพราะความถูกใจของตน ความพอใจของตน ลัทธิของตน
รวมความว่า ถ้าพวกสมณพราหมณ์ ไม่ผ่องแผ้วเพราะทิฏฐิของตน
คำว่า เป็นผู้มีปัญญาหมดจดดี ฉลาด มีความรู้แล้วไซร้ อธิบายว่า เป็นผู้มี
ปัญญาหมดจด คือ มีปัญญาสะอาด มีปัญญาบริสุทธิ์ มีปัญญาผ่องใส มีปัญญา
แจ่มใส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง เป็นผู้มีความเห็นหมดจด มีความเห็นสะอาด มีความเห็นบริสุทธิ์
มีความเห็นผ่องใส มีความเห็นแจ่มใส รวมความว่า เป็นผู้มีปัญญาหมดจดดี
คำว่า ฉลาด ได้แก่ ฉลาด คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้
มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส รวมความว่า เป็นผู้มีปัญญา
หมดจดดี ฉลาด
คำว่า มีความรู้ ได้แก่ มีความรู้ คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่อง
ตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส รวมความว่า เป็น
ผู้มีปัญญาหมดจดดี ฉลาด มีความรู้แล้วไซร้
คำว่า บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็ไม่มีใครเสื่อมปัญญา อธิบายว่า
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็ไม่มีใครมีปัญญาเลว มีปัญญาทราม มีปัญญาต่ำ
ทราม มีปัญญาน่ารังเกียจ มีปัญญาหยาบช้า มีปัญญาต่ำต้อย
อีกนัยหนึ่ง สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั่นแหละ เป็นผู้มีปัญญาเลิศ มีปัญญา
ประเสริฐ มีปัญญาวิเศษ มีปัญญานำหน้า มีปัญญาสูงสุด มีปัญญาประเสริฐสุด
รวมความว่า บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็ไม่มีใครเสื่อมปัญญา
คำว่า เพราะทิฏฐิของสมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น ถือกันมาอย่างนั้น อธิบายว่า
ทิฏฐิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถือกันมา คือ สมาทาน ถือ ยึดมั่น ถือมั่น
ติดใจ น้อมใจเชื่อกันมาอย่างนั้น รวมความว่า เพราะทิฏฐิของสมณพราหมณ์แม้
เหล่านั้น ถือกันมาอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ถ้าพวกสมณพราหมณ์ ไม่ผ่องแผ้วเพราะทิฏฐิของตน
เป็นผู้มีปัญญาหมดจดดี ฉลาด มีความรู้แล้วไซร้
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น ก็ไม่มีใครเสื่อมปัญญา
เพราะทิฏฐิของสมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น ถือกันมาอย่างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
[๑๑๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
คน ๒ พวกกล่าวทิฏฐิใดกะกันและกันว่า เป็นคนพาล
เราไม่กล่าวทิฏฐินั้นว่าจริง
พวกสมณพราหมณ์พากันประกาศทิฏฐิของตน ๆ ว่าจริง
เพราะฉะนั้น จึงพากันใส่ไฟผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
คำว่า ไม่ ในคำว่า เราไม่กล่าวทิฏฐินั้นว่าจริง เป็นคำปฏิเสธ
คำว่า นั้น ได้แก่ ทิฏฐิ ๖๒ อธิบายว่า เราไม่กล่าว คือ ไม่บอก ไม่แสดง
ไม่บัญญัติ ไม่กำหนด ไม่เปิดเผย ไม่จำแนก ไม่ทำให้ง่าย ไม่ประกาศทิฏฐินั้น
ว่าจริง คือ แท้ เป็นจริง แน่นอน ไม่วิปริต รวมความว่า เราไม่กล่าวทิฏฐินั้นว่าจริง
คำว่า คน ๒ พวก ในคำว่า คน ๒ พวกกล่าวทิฏฐิใดกะกันและกันว่า
เป็นคนพาล อธิบายว่า คน ๒ พวก คือ คนก่อการทะเลาะกัน ๒ พวก คนก่อ
การบาดหมางกัน ๒ พวก คนก่อการอื้อฉาวกัน ๒ พวก คนก่อการวิวาทกัน
๒ พวก คนก่ออธิกรณ์กัน ๒ พวก คนว่าร้ายกัน ๒ พวก คนโต้เถียงกัน ๒ พวก
คนเหล่านั้นกล่าวหากันและกันอย่างนี้ คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอย่างนี้ว่า
“เป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย”
รวมความว่า คน ๒ พวกกล่าวทิฏฐิใดกะกันและกันว่า เป็นคนพาล
คำว่า พวกสมณพราหมณ์พากันประกาศทิฏฐิของตน ๆ ว่าจริง อธิบายว่า
พากันประกาศทิฏฐิของตน ๆ ว่า จริงว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็น
โมฆะ... โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” พากันประกาศทิฏฐิ
ของตน ๆ ว่าจริง ว่า “หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีก
ก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า พวกสมณพราหมณ์พากัน
ประกาศทิฏฐิของตน ๆ ว่าจริง
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น จึงพากันใส่ไฟผู้อื่นว่า เป็น
คนพาล ได้แก่ เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น จึงพากันใส่ไฟผู้อื่น คือ เห็น มองเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
ดูว่า “เป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย”
รวมความว่า เพราะฉะนั้น จึงพากันใส่ไฟผู้อื่นว่า เป็นคนพาล ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
คน ๒ พวกกล่าวทิฏฐิใดกะกันและกันว่า เป็นคนพาล
เราไม่กล่าวทิฏฐินั้นว่าจริง
พวกสมณพราหมณ์พากันประกาศทิฏฐิของตน ๆ ว่าจริง
เพราะฉะนั้น จึงพากันใส่ไฟผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
[๑๑๘] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่าจริง ว่าแท้
สมณพราหมณ์พวกอื่นก็พากันกล่าวธรรมนั้นว่าเปล่า ว่าเท็จ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นต่างพากันถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ววิวาทกัน
เพราะเหตุไร พวกสมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
คำว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่าจริง ว่าแท้ อธิบายว่า
สมณพราหมณ์บางพวก กล่าวอย่างนี้ คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง ซึ่งธรรม คือ
ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคใดอย่างนี้ว่า “ธรรมนี้ จริง แท้ เป็นจริง แน่นอน ไม่วิปริต”
รวมความว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่าจริง ว่าแท้
คำว่า สมณพราหมณ์พวกอื่นก็พากันกล่าวธรรมนั้นว่าเปล่า ว่าเท็จ อธิบาย
ว่า สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง ก็พากันกล่าวอย่างนี้ คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงซึ่ง
ธรรม คือ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคนั้นนั่นแหละอย่างนี้ว่า “ธรรมนั่นเปล่า ธรรมนั่นเท็จ
ธรรมนั่นไม่เป็นจริง ธรรมนั่นเหลาะแหละ ธรรมนั่นไม่แน่นอน” รวมความว่า
สมณพราหมณ์พวกอื่นก็พากันกล่าวธรรมนั้นว่าเปล่า ว่าเท็จ
คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นต่างพากันถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ววิวาทกัน
อธิบายว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นต่างพากันยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นอย่างนี้
แล้ววิวาทกัน คือ ก่อการทะเลาะ ก่อการบาดหมาง ก่อการแก่งแย่ง ก่อการวิวาท
ก่อการมุ่งร้ายกันว่า “ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้... หรือหากท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด”
รวมความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นต่างพากันถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ววิวาทกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า เพราะเหตุไร ในคำว่า เพราะเหตุไร พวกสมณพราหมณ์ จึงไม่พูด
อย่างเดียวกัน อธิบายว่า เพราะเหตุไร คือ เพราะการณ์ไร เพราะอะไรเป็นเหตุ
เพราะอะไรเป็นปัจจัย เพราะอะไรเป็นต้นเหตุ เพราะอะไรเป็นเหตุเกิด เพราะอะไร
เป็นกำเนิด เพราะอะไรเป็นแดนเกิด สมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน คือ
พูดไปต่าง ๆ หลายอย่าง พูดอย่างโน้นอย่างนี้ คือ กล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจง
หลายอย่าง รวมความว่า เพราะเหตุไร พวกสมณพราหมณ์ จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่าจริง ว่าแท้
สมณพราหมณ์พวกอื่นก็พากันกล่าวธรรมนั้นว่าเปล่า ว่าเท็จ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นต่างพากันถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ววิวาทกัน
เพราะเหตุไร พวกสมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
[๑๑๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
หมู่ชนรู้ชัดสัจจะใดไม่พึงวิวาทกัน
สัจจะนั้นมีอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอย่างที่ ๒
สมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันอวดสัจจะต่าง ๆ กันไปเอง
เพราะฉะนั้น พวกสมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน

ว่าด้วยสัจจะมีอย่างเดียว
คำว่า สัจจะนั้นมีอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอย่างที่ ๒ อธิบายว่า นิพพาน
คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด
ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับกิเลส ความเย็นสนิท ตรัสเรียกว่า
สัจจะอย่างเดียว
อีกนัยหนึ่ง มรรคสัจจะ เป็นสัจจะที่เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ คือ ทุกข-
นิโรธคามินีปฏิปทา ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส

๑. สัมมาทิฏฐิ(เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ(ดำริชอบ)
๓. สัมมาวาจา(เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ(กระทำชอบ)
๕. สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ(พยายามชอบ)
๗. สัมมาสติ(ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

ตรัสเรียกว่า สัจจะอย่างเดียว รวมความว่า
เพราะสัจจะนั้นมีอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอย่างที่ ๒
คำว่า ใด ในคำว่า หมู่ชนรู้ชัดสัจจะใดไม่พึงวิวาทกัน ได้แก่ ในสัจจะใด
คำว่า หมู่สัตว์ เป็นชื่อเรียกสัตว์
คำว่า รู้ชัด อธิบายว่า รู้ชัด คือ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ แทงตลอดสัจจะใด
ไม่พึงก่อการทะเลาะ ไม่พึงก่อการบาดหมาง ไม่พึงก่อการแก่งแย่ง ไม่พึงก่อการ
วิวาท ไม่พึงก่อการมุ่งร้าย ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มี
อีกซึ่งการทะเลาะ การบาดหมาง การแก่งแย่ง การวิวาท การมุ่งร้าย รวม
ความว่า หมู่ชนรู้ชัดสัจจะใดไม่พึงวิวาทกัน
คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันอวดสัจจะต่าง ๆ กันไปเอง อธิบายว่า
สมณพราหมณ์เหล่านั้น พากันอวด คือ กล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงสัจจะต่าง ๆ
กันไปเองว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ”
สมณพราหมณ์เหล่านั้น พากันอวด คือ กล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงสัจจะ
ต่าง ๆ กันไปเองว่า “โลกไม่เที่ยง ... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่า
ไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า สมณพราหมณ์
เหล่านั้นพากันอวดสัจจะต่าง ๆ กันไปเอง
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น พวกสมณพราหมณ์จึงไม่พูด
อย่างเดียวกัน อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะ
ปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น พวกสมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน คือ พูดไป
ต่าง ๆ พูดหลายอย่าง พูดอย่างโน้นอย่างนี้ พูด คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจง
มากมาย รวมความว่า เพราะฉะนั้น พวกสมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
หมู่ชนรู้ชัดสัจจะใดไม่พึงวิวาทกัน
สัจจะนั้นมีอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีอย่างที่ ๒
สมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันอวดสัจจะต่าง ๆ กันไปเอง
เพราะฉะนั้น พวกสมณพราหมณ์จึงไม่พูดอย่างเดียวกัน
[๑๒๐] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
เพราะเหตุไรหนอ พวกสมณพราหมณ์จึงพูดสัจจะไปต่าง ๆ
อ้างตนว่าเป็นคนฉลาด พูดพร่ำกันไป
สัจจะที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่าเรียนมา
มีหลายอย่างต่าง ๆ กันหรือ
หรือว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันนึกตรึกเอาเอง
คำว่า เพราะเหตุไร ในคำว่า เพราะเหตุไรหนอ พวกสมณพราหมณ์
จึงพูดสัจจะไปต่าง ๆ อธิบายว่า เพราะเหตุไร คือ เพราะการณ์ไร เพราะอะไร
เป็นเหตุ เพราะอะไรเป็นปัจจัย เพราะอะไรเป็นต้นเหตุ พวกสมณพราหมณ์จึงพูด
สัจจะไปต่าง ๆ คือ พูดหลายอย่าง พูดอย่างโน้นอย่างนี้ พูด คือ กล่าว บอก แสดง
ชี้แจงมากมาย รวมความว่า เพราะเหตุไรหนอ พวกสมณพราหมณ์จึงพูดสัจจะ
ไปต่าง ๆ
คำว่า พูดพร่ำกันไป ในคำว่า อ้างตนว่าเป็นคนฉลาด พูดพร่ำกันไป อธิบาย
ว่า เพราะพูดพร่ำเพ้อไป จึงชื่อว่าพูดพร่ำกันไป
อีกนัยหนึ่ง พวกสมณพราหมณ์พูดพร่ำ คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจงทิฏฐิ
ของตน ๆ ว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” พวกสมณพราหมณ์
พูดพร่ำ คือ กล่าว บอก แสดง ชี้แจงทิฏฐิของตน ๆ ว่า “โลกไม่เที่ยง... หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่น
เป็นโมฆะ”
คำว่า อ้างตนว่าเป็นคนฉลาด ได้แก่ อ้างตนว่าเป็นคนฉลาด คือ กล่าวอ้างว่า
เป็นบัณฑิต อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีความรู้ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามีคุณลักษณะ
อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า อ้างตนว่าเป็น
คนฉลาด พูดพร่ำกันไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า สัจจะที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่าเรียนมา มีหลายอย่างต่าง ๆ กัน
หรือ อธิบายว่า สัจจะที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่าเรียนมา มีหลายอย่างต่าง ๆ กัน
คือ มีหลายอย่าง เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ มากมาย รวมความว่า สัจจะที่
สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่าเรียนมา มีหลายอย่างต่าง ๆ กันหรือ
คำว่า หรือว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันนึกตรึกเอาเอง อธิบายว่า
หรือว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ดำเนินไป ออกไป ถูกพาไป ถูกนำไป ด้วยความตรึก
คือ ด้วยความวิตก ความดำริ รวมความว่า หรือว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นพากัน
นึกตรึกเอาเอง อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันกล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงสัจจะที่
ตนประมวลมาด้วยความตรึก ที่ตนประพฤติตามด้วยการพิจารณาใคร่ครวญ ที่รู้เอง
รวมความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันนึกตรึกเอาเอง อย่างนี้บ้าง ด้วยเหตุนั้น
พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
เพราะเหตุไรหนอ พวกสมณพราหมณ์จึงพูดสัจจะไปต่าง ๆ
อ้างตนว่าเป็นคนฉลาด พูดพร่ำกันไป
สัจจะที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่าเรียนมา
มีหลายอย่างต่าง ๆ กันหรือ
หรือว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้นพากันนึกตรึกเอาเอง
[๑๒๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย
เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วยสัญญาในโลก
แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
พากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลายไปเอง
แล้วกล่าวธรรมเป็น ๒ อย่างว่า
คำของเราจริง คำของท่านเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๔๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความจริงไม่ต่างกัน
คำว่า มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย อธิบายว่า มิได้มีสัจจะ
หลายอย่างต่าง ๆ กัน คือ มิได้มีหลายอย่าง เป็นอย่างโน้นอย่างนี้มากมายเลย
รวมความว่า มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย
คำว่า เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วยสัญญาในโลก อธิบายว่า เว้นแต่สัจจะที่ถือ
ว่าแน่นอนด้วยสัญญา สัจจะอย่างเดียวเท่านั้นที่บัณฑิตกล่าว บอก แสดง ชี้แจงไว้ใน
โลก ได้แก่ นิพพาน คือ ความดับทุกข์ ความระงับสังขารทั้งปวง ความสลัดทิ้ง
อุปธิทั้งหมด ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับกิเลส ความเย็นสนิท
อีกนัยหนึ่ง มรรคสัจจะ คือ สัจจะที่เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ ทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทา อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ... ๘. สัมมาสมาธิ
ตรัสเรียกว่า สัจจะอย่างเดียว รวมความว่า เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วย
สัญญาในโลก
คำว่า แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลายพากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลาย
ไปเองแล้วกล่าวธรรมเป็น ๒ อย่างว่า คำของเราจริง คำของท่านเท็จ อธิบายว่า
พวกสมณพราหมณ์พากันตรึก ตรอง ดำริ แล้วทำทิฏฐิให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด
ให้บังเกิดขึ้น ครั้นทำทิฏฐิให้เกิด ให้เกิดขึ้น ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้นแล้วก็กล่าวอย่างนี้
คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอย่างนี้ว่า “คำของเราจริง คำของท่านเท็จ” รวมความว่า
แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลายพากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลายไปเอง แล้วกล่าว
ธรรมเป็น ๒ อย่างว่า คำของเราจริง คำของท่านเท็จ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสตอบว่า
มิได้มีสัจจะหลายอย่างต่าง ๆ กันเลย
เว้นแต่สัจจะที่แน่นอนด้วยสัญญาในโลก
แต่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
พากันกำหนดความตรึกในทิฏฐิทั้งหลายไปเอง
แล้วกล่าวธรรมเป็น ๒ อย่างว่า
คำของเราจริง คำของท่านเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
[๑๒๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้แล้ว แสดงอาการดูหมิ่น
และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้วก็ร่าเริง
กล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด

เจ้าลัทธิแสดงความดูหมิ่นผู้อื่น
คำว่า เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร
หรืออารมณ์ที่รับรู้แล้ว แสดงอาการดูหมิ่น อธิบายว่า เจ้าลัทธิอาศัย คือ เข้าไป
อาศัย ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูปที่เห็น หรือความหมดจดเพราะรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
หรือความหมดจดเพราะเสียงที่ได้ยิน ศีล หรือความหมดจดเพราะศีล วัตร หรือ
ความหมดจดเพราะวัตร อารมณ์ที่รับรู้ หรือความหมดจดเพราะอารมณ์ที่รับรู้ รวม
ความว่า เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร หรือ
อารมณ์ที่รับรู้แล้ว
คำว่า เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้... แล้ว แสดงอาการดูหมิ่น อธิบายว่า
เจ้าลัทธิไม่นับถือ จึงชื่อว่าแสดงอาการดูหมิ่นบ้าง อีกนัยหนึ่ง เจ้าลัทธิทำโทมนัส
ให้เกิด ก็ชื่อว่าแสดงอาการดูหมิ่นบ้าง รวมความว่า เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้
คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้แล้ว แสดงอาการดูหมิ่น
คำว่า และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้วก็ร่าเริง อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒
ตรัสเรียกว่า ทิฏฐิที่ตกลงใจแล้ว
เจ้าลัทธิ ดำรงอยู่ คือ ยืนยันอยู่ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้ว
รวมความว่า ดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้ว
คำว่า ก็ร่าเริง ได้แก่ ยินดี หัวเราะ ร่าเริง ชอบใจ มีความดำริบริบูรณ์แล้ว
อีกนัยหนึ่ง หัวเราะจนมองเห็นฟัน รวมความว่า และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้ว
ก็ร่าเริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า กล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด อธิบายว่า กล่าว คือ พูด บอก
แสดง ชี้แจงอย่างนี้ว่า “คนอื่นเป็นคนพาล คือ เลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ
หยาบช้า ต่ำต้อย ไม่ฉลาด ไม่มีความรู้ ตกอยู่ในอวิชชา ไม่มีญาณ ไม่มีปัญญา
แจ่มแจ้ง ไม่มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส มีปัญญาทึบ” รวมความว่า กล่าวว่า
คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เจ้าลัทธิอาศัยธรรมเหล่านี้ คือ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
ศีล วัตร หรืออารมณ์ที่รับรู้แล้ว แสดงอาการดูหมิ่น
และดำรงอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจแล้วก็ร่าเริง
กล่าวว่า คนอื่นเป็นคนพาล ไม่ฉลาด
[๑๒๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด
ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น
เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่าเป็นคนฉลาด
ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน

เจ้าลัทธิเห็นคนอื่นเป็นพาล
คำว่า เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด อธิบายว่า
เจ้าลัทธิใส่ไฟ คือ เห็น มองเห็น แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดูบุคคลอื่น
โดยความเป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย
เพราะเหตุใด คือ เพราะปัจจัยใด เพราะการณ์ใด เพราะแดนเกิดใด รวมความว่า
เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด
คำว่า ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น อธิบายว่า ตน
ตรัสเรียกว่า ตนเอง
เจ้าลัทธิแม้นั้นกล่าวถึงตนเองว่า “เราเป็นคนฉลาด คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา
มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
เพราะเหตุนั้น คือ เพราะปัจจัยนั้น เพราะการณ์นั้น เพราะแดนเกิดนั้น รวมความว่า
ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น
คำว่า เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่าเป็นคนฉลาด อธิบายว่า เจ้าลัทธินั้น
อวดอ้างตนเองว่า เป็นคนฉลาด คือ กล่าวอ้างว่าเป็นบัณฑิต อ้างว่าเป็นนักปราชญ์
อ้างว่ามีความรู้ อ้างว่ามีเหตุผล อ้างว่ามีคุณลักษณะ อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่า
สมฐานะ ตามลัทธิของตน รวมความว่า เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่าเป็นคนฉลาด
คำว่า ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน อธิบายว่า เจ้าลัทธิไม่นับถือ
จึงชื่อว่า ดูหมิ่นผู้อื่นบ้าง อีกนัยหนึ่ง เจ้าลัทธิทำโทมนัสให้เกิดจึงชื่อว่า
ดูหมิ่นผู้อื่นบ้าง
คำว่า และกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน ได้แก่ กล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน คือ
ทิฏฐินั้นว่า “บุคคลนี้ มีความเห็นผิด มีความเห็นวิปริต แม้ด้วยประการอย่างนี้”
รวมความว่า ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี
พระภาคจึงตรัสว่า
เจ้าลัทธิใส่ไฟบุคคลอื่นว่า เป็นคนพาล เพราะเหตุใด
ก็กล่าวถึงตนเองว่า เป็นคนฉลาด เพราะเหตุนั้น
เจ้าลัทธินั้นอวดอ้างตนเองว่าเป็นคนฉลาด
ย่อมดูหมิ่นบุคคลอื่นและกล่าวเช่นนั้นเหมือนกัน
[๑๒๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ
เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด อภิเษกตนเองด้วยใจ
เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
ทิฏฐิ ๖๒ ตรัสเรียกว่าอติสารทิฏฐิ
คำว่า เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒
ตรัสเรียกว่า อติสารทิฏฐิ
เพราะเหตุไร ทิฏฐิ ๖๒ จึงตรัสเรียกว่า อติสารทิฏฐิ เพราะทิฏฐิเหล่านั้นทั้งหมด
ก้าวล่วงเหตุ ก้าวล่วงลักษณะ ก้าวล่วงฐานะ เพราะเหตุนั้น ทิฏฐิ ๖๒ จึงตรัสเรียกว่า
อติสารทิฏฐิ เดียรถีย์ทุกจำพวก เป็นผู้มีอติสารทิฏฐิ
เพราะเหตุไร เดียรถีย์ทุกจำพวก จึงชื่อว่าเป็นผู้มีอติสารทิฏฐิ เพราะเดียรถีย์
เหล่านั้น ก้าวล่วง คือ ก้าวพ้น ล่วงพ้นกันและกัน ทำทิฏฐิทั้งหลายให้เกิด ให้เกิดขึ้น
ให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้น เพราะเหตุนั้น เดียรถีย์ทุกจำพวก จึงชื่อว่าเป็นผู้มีอติสารทิฏฐิ
คำว่า เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ อธิบายว่า เจ้าลัทธิ
เป็นผู้เพียบพร้อม คือ บริบูรณ์ ไม่บกพร่องด้วยอติสารทิฏฐิ รวมความว่า เจ้าลัทธิ
นั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ
คำว่า เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด อธิบายว่า เมา คือ ประมาท
คลั่ง คลั่งไคล้ด้วยทิฏฐิของตน คือ ด้วยความถือตัวเพราะทิฏฐิ รวมความว่า
เมาด้วยความถือตัว
คำว่า มีความถือตัวจัด ได้แก่ มีความถือตัวจัด คือ มีความถือตัวมาก
มีความถือตัวไม่บกพร่อง รวมความว่า เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด
คำว่า อภิเษกตนเองด้วยใจ อธิบายว่า อภิเษกตนเองนั่นแหละด้วยความ
คิดว่า “เราเป็นผู้ฉลาด เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ
มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส” รวมความว่า อภิเษกตนเองด้วยใจ
คำว่า เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น อธิบายว่า ทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิ
ถือกันมาแล้ว คือ สมาทานแล้ว ถือแล้ว ยึดมั่นแล้ว ถือมั่นแล้ว ติดใจแล้ว
น้อมใจเชื่อแล้วอย่างนั้น รวมความว่า เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
เจ้าลัทธินั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอติสารทิฏฐิ
เมาด้วยความถือตัว มีความถือตัวจัด อภิเษกตนเองด้วยใจ
เพราะทิฏฐินั้นเจ้าลัทธิถือกันมาอย่างนั้น
[๑๒๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
อนึ่ง หากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจาของผู้อื่นไซร้
เขาก็เป็นผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น
และถ้าผู้เรียนจบพระเวท๑เองเป็นนักปราชญ์ได้ไซร้
บรรดาสมณะก็ไม่มีใครเป็นคนพาล
คำว่า อนึ่ง หากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจาของผู้อื่นไซร้ อธิบายว่า
หากบุคคลอื่นเป็นคนพาล เลว เลวทราม คือ ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย
เพราะวาจา คือ เพราะถ้อยคำของผู้อื่น เพราะเหตุที่ถูกนินทา เพราะเหตุที่ถูกติเตียน
เพราะเหตุที่ถูกว่าร้ายไซร้ รวมความว่า อนึ่งหากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจา
ของผู้อื่นไซร้
คำว่า เขาก็เป็นผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น อธิบายว่า แม้เขาก็เป็นผู้มี
ปัญญาเลว คือ เป็นผู้มีปัญญาทราม มีปัญญาต่ำทราม มีปัญญาน่ารังเกียจ
มีปัญญาหยาบช้า มีปัญญาต่ำต้อย พร้อมกับผู้นั้นนั่นเอง รวมความว่า เขาก็เป็น
ผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น
คำว่า และถ้าผู้เรียนจบพระเวทเองเป็นนักปราชญ์ได้ไซร้ อธิบายว่า และ
ถ้าผู้เรียนจบพระเวทเอง เป็นนักปราชญ์ คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่อง
ตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลสไซร้ รวมความว่า
และถ้าผู้เรียนจบพระเวทเองเป็นนักปราชญ์ได้ไซร้

เชิงอรรถ :
๑ จบพระเวท หมายถึงจบไตรเพท อันเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ มี ๓ คือ (๑) ฤคเวท
(อิรุเวท) ประมวลบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า (๒) ยชุรเวท บทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญต่าง ๆ (๓) สามเวท
ประมวลบทเพลงขับสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ ต่อมาเพิ่ม (๔) อถรรพเวทหรืออาถรรพณเวท
ว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๓)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า บรรดาสมณะก็ไม่มีใครเป็นคนพาล อธิบายว่า บรรดาสมณะก็ไม่มีใคร
เป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว เลวทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อยเลย
ทุกคนก็มีปัญญาเลิศ มีปัญญาประเสริฐ มีปัญญาวิเศษ มีปัญญานำหน้า มีปัญญา
สูงสุด มีปัญญาประเสริฐสุดไปหมด รวมความว่า บรรดาสมณะก็ไม่มีใครเป็นคนพาล
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
อนึ่ง หากบุคคลเป็นผู้เลวทรามเพราะวาจาของผู้อื่นไซร้
เขาก็เป็นผู้มีปัญญาทรามพร้อมกับผู้นั้น
และถ้าผู้เรียนจบพระเวทเองเป็นนักปราชญ์ได้ไซร้
บรรดาสมณะก็ไม่มีใครเป็นคนพาล
[๑๒๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ชนเหล่าใดกล่าวสรรเสริญธรรมอื่นนอกจากธรรมนี้
ชนเหล่านั้นก็พลาดทางแห่งความหมดจด เป็นผู้ไม่บริบูรณ์
เดียรถีย์พากันกล่าวทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
เพราะพวกเขาเป็นผู้ยินดียิ่ง ด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน
คำว่า ชนเหล่าใดกล่าวสรรเสริญธรรมอื่นนอกจากธรรมนี้ ชนเหล่านั้นก็
พลาดทางแห่งความหมดจด เป็นผู้ไม่บริบูรณ์ อธิบายว่า ชนเหล่าใด กล่าว
สรรเสริญธรรม คือ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรค อื่นนอกจากธรรมนี้ ชนเหล่านั้นก็พลาด
คือ ผิด พลั้ง คลาดทางแห่งความหมดจด คือ ทางแห่งความสะอาด ทางแห่งความ
บริสุทธิ์ ทางแห่งความผุดผ่อง ทางแห่งความผ่องแผ้ว คือ พลาดจากอรหัตตผล
เป็นผู้ไม่บริบูรณ์ คือ ชนเหล่านั้นไม่เพียบพร้อม ไม่บริบูรณ์ ได้แก่ เป็นคนเลว
ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย รวมความว่า ชนเหล่าใดกล่าว
สรรเสริญธรรมอื่นนอกจากธรรมนี้ ชนเหล่านั้นก็พลาดทางแห่งความหมดจด เป็นผู้
ไม่บริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
ทิฏฐิเรียกว่าติตถะ
คำว่า เดียรถีย์พากันกล่าวทิฏฐิมากแม้อย่างนี้ อธิบายว่า ทิฏฐิ ตรัสเรียกว่า
ติตถะ(ท่า) เจ้าทิฏฐิ ตรัสเรียกว่า เดียรถีย์ พวกเดียรถีย์พากันกล่าว คือ พูด บอก
แสดง ชี้แจง ทิฏฐิมากมาย รวมความว่า เดียรถีย์พากันกล่าวทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
คำว่า เพราะพวกเขาเป็นผู้ยินดียิ่ง ด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน อธิบาย
ว่า เพราะพวกเขายินดี ยินดียิ่ง ด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน รวมความว่า เพราะ
พวกเขาเป็นผู้ยินดียิ่ง ด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
ชนเหล่าใดกล่าวสรรเสริญธรรมอื่นนอกจากธรรมนี้
ชนเหล่านั้นก็พลาดทางแห่งความหมดจด เป็นผู้ไม่บริบูรณ์
เดียรถีย์พากันกล่าวทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
เพราะพวกเขาเป็นผู้ยินดียิ่ง ด้วยความยินดีในทิฏฐิของตน
[๑๒๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พวกเดียรถีย์พากันกล่าวความหมดจดว่า
มีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
พวกเดียรถีย์ตั้งอยู่ในทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
ต่างกล่าวยืนยันในธรรมอันเป็นแนวทางของตนนั้น

ว่าด้วยทิฏฐิของพวกเดียรถีย์
คำว่า พวกเดียรถีย์พากันกล่าวความหมดจดว่ามีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น
อธิบายว่า พวกเดียรถีย์พากันกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ
ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปในธรรมนี้ว่า
“โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ”
พวกเดียรถีย์พากันกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความ
สะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไปในธรรมนี้ว่า “โลก
ไม่เที่ยง... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า พวกเดียรถีย์พากันกล่าวความ
หมดจดว่ามีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น
คำว่า ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น อธิบายว่า พวกเดียรถีย์
เหล่านั้น ย่อมทิ้ง ละทิ้ง ทอดทิ้งวาทะอื่นทุกอย่าง นอกจากศาสดา ธรรมที่ศาสดา
กล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคของตน กล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง
อย่างนี้ว่า ศาสดานั้นมิใช่สัพพัญญู ธรรมมิใช่ศาสดากล่าวสอนไว้ดีแล้ว หมู่คณะ
มิใช่ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ทิฏฐิมิใช่สิ่งที่เจริญ ปฏิปทามิใช่ศาสดาบัญญัติไว้ดีแล้ว มรรคมิใช่
ทางนำสัตว์ออกจากทุกข์ ในธรรมนั้นไม่มีความหมดจด ความสะอาด ความบริสุทธิ์
ความหลุดไป ความพ้นไป หรือความหลุดพ้นไป คือ ในธรรมนั้น สัตว์ทั้งหลายย่อม
หมดจด สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หรือหลุดพ้นไปไม่ได้ สัตว์ทั้งหลายเป็น
ผู้เลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย รวมความว่า ไม่กล่าว
ความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
คำว่า พวกเดียรถีย์ตั้งอยู่ในทิฏฐิมากแม้อย่างนี้ อธิบายว่า ทิฏฐิตรัส
เรียกว่า ติตถะ เจ้าทิฏฐิตรัสเรียกว่า เดียรถีย์ พวกเดียรถีย์ตั้งอยู่ คือ ตั้งมั่น ติด
ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อในทิฏฐิมาก ด้วยทิฏฐิมาก รวมความว่า พวกเดียรถีย์
ตั้งอยู่ในทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
คำว่า ต่างกล่าวยืนยันในธรรมอันเป็นแนวทางของตนนั้น อธิบายว่า ธรรม
ชื่อว่าแนวทางของตน ทิฏฐิ ชื่อว่าแนวทางของตน ปฏิปทา ชื่อว่าแนวทางของตน
มรรคก็ชื่อว่าแนวทางของตน พวกเดียรถีย์กล่าวยืนยัน คือ กล่าวมั่นคง กล่าวแข็งขัน
กล่าวหนักแน่นในแนวทางของตน รวมความว่า ต่างกล่าวยืนยันในธรรมอันเป็นแนว
ทางของตนนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
พวกเดียรถีย์พากันกล่าวความหมดจดว่า
มีอยู่ในธรรมนี้เท่านั้น ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
พวกเดียรถีย์ตั้งอยู่ในทิฏฐิมากแม้อย่างนี้
ต่างกล่าวยืนยันในธรรมอันเป็นแนวทางของตนนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
[๑๒๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
อนึ่ง เจ้าลัทธิกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
ใส่ไฟใครอื่นว่า เป็นคนพาล ในเพราะทิฏฐินี้
เจ้าลัทธินั้นกล่าวถึงผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
มีความไม่หมดจดเป็นธรรมดา
พึงนำความมุ่งร้ายมาเองทีเดียว
คำว่า อนึ่ง เจ้าลัทธิกล่าวยืนยันในแนวทางของตน อธิบายว่า ธรรม ชื่อว่า
แนวทางของตน ทิฏฐิ ชื่อว่าแนวทางของตน ปฏิปทา ชื่อว่าแนวทางของตน มรรค
ก็ชื่อว่าแนวทางของตน เจ้าลัทธิ กล่าวยืนยัน คือ กล่าวมั่นคง กล่าวแข็งขัน
กล่าวหนักแน่นในแนวทางของตน รวมความว่า อนึ่ง เจ้าลัทธิกล่าวยืนยันในแนวทาง
ของตน
คำว่า ในเพราะทิฏฐินี้ ในคำว่า ใส่ไฟใครอื่นว่า เป็นคนพาล ในเพราะทิฏฐิ
นี้ อธิบายว่า พึงใส่ไฟ คือ เห็น แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดูบุคคลอื่น
โดยความเป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย
ในเพราะทิฏฐิของตน คือ ความถูกใจของตน ความพอใจของตน ลัทธิของตน
รวมความว่า ใส่ไฟใครอื่นว่า เป็นคนพาล ในเพราะทิฏฐินี้
คำว่า เจ้าลัทธินั้นกล่าวถึงผู้อื่นว่า เป็นคนพาล มีความไม่หมดจดเป็นธรรมดา
พึงนำความมุ่งร้ายมาเองทีเดียว อธิบายว่า เจ้าลัทธินั้น กล่าว คือ พูด บอก แสดง
ชี้แจง อย่างนี้ว่า ผู้อื่น เป็นคนพาล คือ เป็นคนเลว ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า
ต่ำต้อย มีความไม่หมดจดเป็นธรรมดา คือ มีความไม่สะอาดเป็นธรรมดา มีความไม่
บริสุทธิ์เป็นธรรมดา มีความไม่ผ่องแผ้วเป็นธรรมดา พึงนำ คือ นำมาพร้อม ถือมา
ถือมาพร้อม ชักมา ชักมาพร้อม ถือ ยึดมั่น ถือมั่นการทะเลาะ การบาดหมาง
การแก่งแย่ง การวิวาท การมุ่งร้ายมาเองทีเดียว รวมความว่า เจ้าลัทธินั้นกล่าว
ถึงผู้อื่นว่า เป็นคนพาล มีความไม่หมดจดเป็นธรรมดา พึงนำความมุ่งร้ายมาเอง
ทีเดียว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๕๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
อนึ่ง เจ้าลัทธิกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
ใส่ไฟใครอื่นว่า เป็นคนพาล ในเพราะทิฏฐินี้
เจ้าลัทธินั้นกล่าวถึงผู้อื่นว่า เป็นคนพาล
มีความไม่หมดจดเป็นธรรมดา
พึงนำความมุ่งร้ายมาเองทีเดียว
[๑๒๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เจ้าลัทธินั้นตั้งอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจและนับถือเองแล้ว
ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก
คนที่เกิดมาละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้
ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก
คำว่า เจ้าลัทธินั้นตั้งอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจและนับถือเองแล้ว อธิบายว่า
ทิฏฐิ ๖๒ ตรัสเรียกว่า ทิฏฐิที่ตกลงใจ เจ้าลัทธิตั้งอยู่ คือ ตั้งมั่น ถือ ยึดมั่น
ถือมั่นในทิฏฐิที่ตกลงใจ รวมความว่า เจ้าลัทธินั้นตั้งอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจ
คำว่า นับถือเอง อธิบายว่า นับถือ คือ นอบน้อมเองว่า “ศาสดานี้ เป็น
สัพพัญญู” ได้แก่ นับถือ คือ นอบน้อมเองว่า “ธรรมนี้ศาสดากล่าวสอนไว้ดีแล้ว...
หมู่คณะนี้เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว... ทิฏฐินี้เป็นสิ่งที่เจริญ... ปฏิปทานี้ศาสดาบัญญัติไว้ดีแล้ว...
มรรคนี้เป็นทางนำสัตว์ออกจากทุกข์” รวมความว่า เจ้าลัทธินั้นดำรงอยู่ในทิฏฐิที่
ตกลงใจและนับถือเองแล้ว
คำว่า ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก อธิบายว่า อนาคต ตรัสเรียกว่า
กาลข้างหน้า เจ้าลัทธินั้นวางวาทะของตนไว้ข้างหน้า ก็ถึง คือ เข้าถึง เข้าไปถึงถือ
ยึดมั่น ถือมั่นการทะเลาะ การบาดหมาง การแก่งแย่ง การวิวาท การมุ่งร้าย
เองทีเดียว รวมความว่า ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เจ้าลัทธินั้นย่อมก่อการทะเลาะ ก่อการบาดหมาง ก่อการแก่งแย่ง
ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้ายกับวาทะอื่นข้างหน้าว่า “ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้... หรือ
หากท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด” รวมความว่า ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก
อย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๖๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๒. จูฬวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า ละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้ อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒ ตรัสเรียกว่า
ทิฏฐิที่ตกลงใจ เจ้าลัทธิ ละ คือ สละ สละขาด เว้น ละเว้น บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งทิฏฐิที่ตกลงใจทุกอย่าง จากความตกลงใจด้วยอำนาจทิฏฐิ
รวมความว่า ละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้
คำว่า คนที่เกิดมา... ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก อธิบายว่า ไม่ก่อการ
ทะเลาะ ไม่ก่อการบาดหมาง ไม่ก่อการแก่งแย่ง ไม่ก่อการวิวาท ไม่ก่อการมุ่งร้าย
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า อัคคิเวสสนะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว
อย่างนี้แล ย่อมไม่โต้เถียงกับใคร ไม่วิวาทกับใคร ย่อมชี้แจง ไม่ถือมั่นสิ่งที่กล่าวกัน
ในโลก เรื่องใด ที่พูดกันในโลก เธอก็ไม่ยึดมั่นชี้แจงด้วยเรื่องนั้น๑
คำว่า คนที่เกิดมา ได้แก่สัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด
สัตว์เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า คนที่เกิดมา... ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เจ้าลัทธินั้นตั้งอยู่ในทิฏฐิที่ตกลงใจและนับถือเองแล้ว
ก็ถึงการวิวาทในกาลข้างหน้าในโลก
คนที่เกิดมาละทิฏฐิที่ตกลงใจทั้งมวลได้
ย่อมไม่ก่อการมุ่งร้ายในโลก
จูฬวิยูหสุตตนิทเทสที่ ๑๒ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ม.ม. ๑๓/๒๐๕/๑๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๖๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส๑
อธิบายมหาวิยูหสูตร
ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรใหญ่
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายมหาวิยูหสูตร ดังต่อไปนี้
[๑๓๐] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งเหล่านี้
ยึดถือทิฏฐิอยู่ พากันกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกพวกนั่นแหละจะถูกนินทา
หรือว่า จะได้ความสรรเสริญในเพราะทิฏฐินั้น
คำว่า พวกใดพวกหนึ่ง ในคำว่า สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งเหล่านี้
ยึดถือทิฏฐิอยู่ ได้แก่ ทุกพวกโดยอาการทั้งหมด ทุกพวกไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือ
โดยประการทั้งปวง คำว่า พวกใดพวกหนึ่ง นี้ เป็นคำกล่าวรวมไว้ทั้งหมด
คำว่า ยึดถือทิฏฐิอยู่ อธิบายว่า สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้น ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งบรรดา
ทิฏฐิ ๖๒ แล้ว อยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองในทิฏฐิของตน ๆ เหมือนพวก
คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็อยู่ในเรือน หมู่ภิกษุผู้มีอาบัติก็อยู่ในอาบัติ หรือพวกปุถุชนผู้มี
กิเลสก็อยู่ในกิเลส ฉันใด สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิบางพวก สมณพราหมณ์เจ้าลัทธิ
เหล่านั้น ยึด ยึดถือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งบรรดาทิฏฐิ๒ ๖๒ แล้ว
อยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองในทิฏฐิของตน ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า
สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งเหล่านี้ ยึดถือทิฏฐิอยู่
คำว่า พากันกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง อธิบายว่า กล่าว คือ พูด บอก แสดง
ชี้แจงว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ”

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๙๐๒-๙๒๑/๕๑๐-๕๑๔
๒ ทิฏฐิ ๖๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๒/๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๖๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
กล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงว่า “โลกไม่เที่ยง... หลังจากตายแล้วตถาคต
จะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความ
ว่า พากันกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
คำว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกพวกนั่นแหละจะถูกนินทา อธิบายว่า
สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกพวกนั่นแหละจะได้รับการนินทา คือ ได้รับการติเตียน
ได้รับความเสื่อมเกียรติ ได้แก่ ทุกพวกจะถูกนินทา จะถูกติเตียน จะถูกทำให้เสื่อม
เกียรติ รวมความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกพวกนั่นแหละจะถูกนินทา
คำว่า หรือว่า จะได้ความสรรเสริญในเพราะทิฏฐินั้น อธิบายว่า จะได้ คือ
จะได้รับ สมหวัง ประสบความสรรเสริญ คือ ความชื่นชม เกียรติคุณ ความยกย่อง
ในเพราะทิฏฐิของตน คือ ในความถูกใจของตน ความพอใจของตน ลัทธิของตนนั้น
รวมความว่า หรือว่า จะได้ความสรรเสริญในเพราะทิฏฐินั้น ด้วยเหตุนั้น พระพุทธ
เนรมิตจึงทูลถามว่า
สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งเหล่านี้
ยึดถือทิฏฐิอยู่ พากันกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกพวกนั่นแหละจะถูกนินทา
หรือว่า จะได้ความสรรเสริญในเพราะทิฏฐินั้น
[๑๓๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ผลแห่งวาทะนี้น้อยนัก ไม่พอเพื่อความสงบ
เรากล่าวผลแห่งการวิวาทเป็น ๒ อย่าง
บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว
มองเห็นภูมิ(เหตุ)แห่งการไม่วิวาทว่า เกษม ไม่พึงวิวาทกัน
คำว่า ผลแห่งวาทะนี้น้อยนัก ในคำว่า ผลแห่งวาทะนี้น้อยนัก ไม่พอเพื่อ
ความสงบ ได้แก่ ผลนี้น้อย คือ ผลนี้ต่ำทราม หน่อยเดียว น่ารังเกียจ หยาบช้า
ต่ำต้อย รวมความว่า ผลแห่งวาทะนี้น้อยนัก
คำว่า ไม่พอเพื่อความสงบ อธิบายว่า ไม่พอเพื่อความสงบราคะ เพื่อความ
สงบโทสะ เพื่อความสงบโมหะ ไม่พอเพื่อความสงบ คือเพื่อเข้าไปสงบ เพื่อสงบเย็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๖๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
เพื่อความดับ เพื่อความสลัดทิ้ง เพื่อความสงบระงับโกธะ ... อุปาหนะ ... มักขะ ...
ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ
... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง... ความ
กระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน... ความเดือดร้อนทุกประการ
ไม่พอเพื่อความสงบ คือ เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อสงบเย็น เพื่อความดับ เพื่อความ
สลัดทิ้ง เพื่อความสงบระงับอกุสลาภิสังขารทุกประเภท๑ รวมความว่า ผลแห่ง
วาทะนี้น้อยนัก ไม่พอเพื่อความสงบ

ว่าด้วยผลแห่งการวิวาท ๒ อย่าง
คำว่า เรากล่าวผลแห่งการวิวาทเป็น ๒ อย่าง อธิบายว่า ผลแห่งการ
ทะเลาะเพราะทิฏฐิ การบาดหมางเพราะทิฏฐิ การแก่งแย่งเพราะทิฏฐิ การวิวาท
เพราะทิฏฐิ การมุ่งร้ายเพราะทิฏฐิ มี ๒ อย่าง คือ ชนะกับพ่ายแพ้ มีลาภกับ
เสื่อมลาภ มียศกับเสื่อมยศ นินทากับสรรเสริญ สุขกับทุกข์ โสมนัสกับโทมนัส
อารมณ์ที่พึงปรารถนากับไม่พึงปรารถนา ความชอบกับความชัง ความเฟื่องฟูกับ
ความแฟบฟุบ ความยินดีกับความยินร้าย
อีกนัยหนึ่ง เรากล่าว คือ พูด บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศว่า กรรมนั้นเป็นไปเพื่อนรก เป็นไปเพื่อกำเนิดเดรัจฉาน เป็นไป
เพื่อเปตวิสัย รวมความว่า เรากล่าวผลแห่งการวิวาทเป็น ๒ อย่าง
คำว่า เห็นโทษแม้นี้แล้ว ในคำว่า บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว... ไม่พึงวิวาทกัน
อธิบายว่า เห็นแล้ว คือ แลเห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้ง
แล้วซึ่งโทษนี้ ในเพราะเหตุแห่งการทะเลาะกันด้วยอำนาจทิฏฐิ การบาดหมางกัน
ด้วยอำนาจทิฏฐิ การแก่งแย่งกันด้วยอำนาจทิฏฐิ การวิวาทกันด้วยอำนาจทิฏฐิ
การมุ่งร้ายกันด้วยอำนาจทิฏฐิ รวมความว่า เห็นโทษแม้นี้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำแปลจากข้อ ๕/๑๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๖๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่พึงวิวาทกัน อธิบายว่า ไม่พึงก่อการทะเลาะ ไม่พึงก่อการบาดหมาง
ไม่พึงก่อการแก่งแย่ง ไม่พึงก่อการวิวาท ไม่พึงก่อการมุ่งร้าย คือ พึงละ บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งการทะเลาะ การบาดหมาง การแก่งแย่ง
การวิวาท การมุ่งร้าย ได้แก่ พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก
หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับการทะเลาะ การบาดหมาง การแก่งแย่ง การวิวาท
และการมุ่งร้าย มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว
... ไม่พึงวิวาทกัน
คำว่า มองเห็นภูมิ(เหตุ)แห่งการไม่วิวาทว่า เกษม อธิบายว่า อมตนิพพาน
ตรัสเรียกว่า ภูมิแห่งการไม่วิวาท ได้แก่ ธรรมเป็นที่สงบสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้ง
อุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
บุคคลมองเห็น คือ แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาเห็นภูมิแห่งการ
ไม่วิวาทนี้ โดยความเป็นธรรมอันเกษม คือ โดยความเป็นธรรมเครื่องป้องกัน
เป็นที่หลีกเร้น เป็นที่พึ่ง เป็นที่ไม่มีภัย เป็นที่ไม่จุติ เป็นอมตธรรม เป็นนิพพาน
รวมความว่า มองเห็นภูมิ(เหตุ)แห่งการไม่วิวาทว่า เกษม ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสตอบว่า
ผลแห่งวาทะนี้น้อยนัก ไม่พอเพื่อความสงบ
เรากล่าวผลแห่งการวิวาทเป็น ๒ อย่าง
บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว
มองเห็นภูมิ(เหตุ)แห่งการไม่วิวาทว่า เกษม ไม่พึงวิวาทกัน
[๑๓๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ทิฏฐิสมมติเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดจากปุถุชน
บุคคลผู้มีความรู้ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง
บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น ไม่ทำความพอใจในรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๖๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า อย่างใดอย่างหนึ่ง ในคำว่า ทิฏฐิสมมติเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิด
จากปุถุชน ได้แก่ ทุกอย่างโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือ
โดยประการทั้งปวง คำว่า อย่างใดอย่างหนึ่ง นี้เป็นคำกล่าวรวมไว้ทั้งหมด
คำว่า ทิฏฐิสมมติ อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒ ตรัสเรียกว่า สมมติ จึงชื่อว่า
ทิฏฐิสมมติ
คำว่า เกิดจากปุถุชน อธิบายว่า ทิฏฐิสมมติเหล่านั้น เกิดจากปุถุชน จึงชื่อว่า
เกิดจากปุถุชน หรือ ทิฏฐิสมมติเหล่านี้เกิดจากชนต่าง ๆ มากมาย จึงชื่อว่าเกิดจาก
ปุถุชน รวมความว่า ทิฏฐิสมมติเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดจากปุถุชน
คำว่า บุคคลผู้มีความรู้ ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง อธิบายว่า
บุคคลผู้มีความรู้ คือ มีวิชชา มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
ย่อมไม่ถึง ไม่เข้าถึง คือ ไม่เข้าไปถึง ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ทิฏฐิสมมติเหล่านี้
ทุกอย่าง รวมความว่า บุคคลผู้มีความรู้ ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง

ว่าด้วยกิเลสเป็นเหตุเข้าถึง ๒ อย่าง
คำว่า กิเลสเป็นเหตุเข้าถึง ในคำว่า บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น...
พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า อธิบายว่า กิเลสเป็นเหตุเข้าถึง ๒ อย่าง คือ
(๑) กิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจตัณหา (๒) กิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจทิฏฐิ
... นี้ชื่อว่ากิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่ากิเลสเป็นเหตุเข้าถึง
ด้วยอำนาจทิฏฐิ
บุคคลนั้นละกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งกิเลสเป็น
เหตุเข้าถึงด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจ
ตัณหา สลัดทิ้งกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว บุคคลจึงชื่อว่าไม่มีกิเลส
เป็นเหตุเข้าถึง พึงเข้าถึง คือ เข้าไปถึง ถือ ยึดมั่น ถือมั่น รูปอะไรเล่าว่า “อัตตา
ของเรา”... เวทนาอะไรเล่า... สัญญาอะไรเล่า... สังขารอะไรเล่า... คติอะไรเล่า...
การเข้าถึงกำเนิดอะไรเล่า... ปฏิสนธิอะไรเล่า... ภพอะไรเล่า... สงสารอะไรเล่า” พึง
เข้าถึง คือ เข้าไปถึง ถือ ยึดมั่น ถือมั่น วัฏฏะอะไรเล่าว่า “วัฏฏะของเรา”
รวมความว่า ผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น... พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๖๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่ทำความพอใจในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อธิบายว่า ไม่ทำความ
พอใจ คือ ไม่ทำฉันทะ ไม่ทำความรัก ไม่ทำความกำหนัด ได้แก่ ไม่ให้ความ
พอใจเกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นในรูปที่เห็น หรือความหมดจด
เพราะรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือความหมดจดเพราะเสียงที่ได้ยิน ในอารมณ์
ที่รับรู้ หรือความหมดจดเพราะอารมณ์ที่รับรู้ รวมความว่า ไม่ทำความพอใจในรูป
ที่เห็น เสียงที่ได้ยิน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ทิฏฐิสมมติเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดจากปุถุชน
บุคคลผู้มีความรู้ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง
บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น ไม่ทำความพอใจในรูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า
[๑๓๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สมณพราหมณ์ผู้กล่าวอ้างศีลว่าสูงสุด
สมาทานวัตรแล้ว ดำรงอยู่
ได้กล่าวความหมดจดด้วยความสำรวมว่า
พวกเราศึกษาในทิฏฐินี้แหละและศึกษาความหมดจดแห่งวัตรนั้น
สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวอ้างตนว่าเป็นคนฉลาด
ย่อมเป็นผู้ถูกนำเข้าสู่ภพ

ว่าด้วยผู้มีกุศลถึงพร้อมประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ
คำว่า สมณพราหมณ์ผู้กล่าวอ้างศีลว่าสูงสุด... ได้กล่าวความหมดจดด้วย
ความสำรวม อธิบายว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวอ้างศีลว่าสูงสุด สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าว คือ ย่อมกล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ
ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพียงด้วยศีล
เพียงด้วยความสำรวม เพียงด้วยความสังวร เพียงด้วยความไม่ล่วงละเมิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๖๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
เปรียบเหมือนปริพาชกผู้เป็นบุตรแห่งนางปริพาชิกาชื่อสมณมุณฑิกา กล่าวไว้
อย่างนี้ว่า “ช่างไม้เอ๋ย เราบัญญัติบุรุษบุคคล ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า
เป็นผู้มีกุศลเพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม บรรลุถึงอรหัตตผลอันอุดมที่ควรบรรลุ
เป็นสมณะไม่มีใครสู้ได้ ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ช่างไม้เอ๋ย บุคคลเช่นนั้นในโลกนี้
๑. ย่อมไม่ทำกรรมชั่วช้าทางกาย
๒. ไม่กล่าววาจาชั่วช้า
๓. ไม่ดำริความดำริชั่วช้า
๔. ไม่ประกอบอาชีพชั่วช้า
ช่างไม้เอ๋ย เราบัญญัติบุรุษบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้แลว่า
เป็นผู้มีกุศลเพียบพร้อม มีกุศลยอดเยี่ยม บรรลุถึงอรหัตตผลอันอุดมที่ควรบรรลุ
เป็นสมณะไม่มีใครสู้ได้๑ ฉันใด มีสมณพราหมณ์บางพวกกล่าวอ้างศีลว่าสูงสุด
สมณพราหมณ์เหล่านั้นได้กล่าว คือ ย่อมกล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด
คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป ด้วยเหตุ
เพียงศีล ด้วยเหตุเพียงความสำรวม ด้วยเหตุเพียงความสังวร ด้วยเหตุเพียงความ
ไม่ล่วงละเมิด ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า สมณพราหมณ์ผู้กล่าวอ้างศีลว่า
สูงสุด ... ได้กล่าวความหมดจดด้วยความสำรวม

ว่าด้วยการสมาทานวัตรต่าง ๆ
คำว่า วัตร ในคำว่า สมาทานวัตรแล้วดำรงอยู่ อธิบายว่า ถือเอา สมาทาน
คือ ยึดถือ รับเอา ถือ ยึดมั่น ถือมั่น วัตรเยี่ยงช้างบ้าง วัตรเยี่ยงม้าบ้าง วัตร
เยี่ยงโคบ้าง วัตรเยี่ยงแพะบ้าง วัตรเยี่ยงสุนัขบ้าง วัตรเยี่ยงกาบ้าง วัตรเยี่ยง
ท้าววาสุเทพบ้าง วัตรเยี่ยงท้าวปุณณภัทรบ้าง วัตรเยี่ยงท้าวมณีภัทรบ้าง วัตรคือ
การบูชาไฟบ้าง วัตรเยี่ยงนาคบ้าง วัตรเยี่ยงครุฑบ้าง วัตรเยี่ยงยักษ์บ้าง วัตรเยี่ยง
อสูรบ้าง วัตรเยี่ยงคนธรรพ์บ้าง วัตรเยี่ยงท้าวมหาราชบ้าง วัตรเยี่ยงพระจันทร์บ้าง

เชิงอรรถ :
๑ ม.ม. ๑๓/๒๖๐/๒๓๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๖๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
วัตรเยี่ยงพระอาทิตย์บ้าง วัตรเยี่ยงพระอินทร์บ้าง วัตรเยี่ยงพระพรหมบ้าง วัตรเยี่ยง
เทวดาบ้าง วัตรคือการไหว้ทิศบ้างแล้วดำรงอยู่ คือ ดำรงมั่น ติด ติดแน่น ติดใจ
น้อมใจเชื่อ รวมความว่า สมาทานวัตรแล้วดำรงอยู่
คำว่า ในทิฏฐินี้ ในคำว่า พวกเราศึกษาในทิฏฐินี้แหละและศึกษาความ
หมดจดแห่งวัตรนั้น ได้แก่ ในทิฏฐิของตน คือ ในความถูกใจของตน ความพอใจ
ของตน ลัทธิของตน
คำว่า ศึกษา ได้แก่ ศึกษา คือ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ
สมาทานประพฤติ รวมความว่า พวกเราศึกษาในทิฏฐินี้แหละ
คำว่า และศึกษาความหมดจดแห่งวัตรนั้น อธิบายว่า และศึกษาความ
หมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้น
ไปแห่งวัตรนั้น รวมความว่า พวกเราศึกษาในทิฏฐินี้แหละและศึกษาความหมดจด
แห่งวัตรนั้น
คำว่า ย่อมเป็นผู้ถูกนำเข้าสู่ภพ ในคำว่า กล่าวอ้างตนว่าเป็นคนฉลาด
ย่อมเป็นผู้ถูกนำเข้าสู่ภพ ได้แก่ ย่อมเป็นผู้ถูกนำเข้าสู่ภพ คือ ย่อมเป็นผู้เข้าถึงภพ
ติดใจในภพ น้อมใจเชื่อในภพ รวมความว่า ย่อมเป็นผู้ถูกนำเข้าสู่ภพ
คำว่า กล่าวอ้างตนว่าเป็นคนฉลาด ได้แก่ กล่าวอ้างตนว่าเป็นคนฉลาด คือ
กล่าวอ้างว่าเป็นบัณฑิต อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีญาณ อ้างว่ามีเหตุผล
อ้างว่ามีคุณลักษณะ อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน
รวมความว่า กล่าวอ้างตนว่าเป็นคนฉลาด ย่อมเป็นผู้ถูกนำเข้าสู่ภพ ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สมณพราหมณ์ผู้กล่าวอ้างศีลว่าสูงสุด
สมาทานวัตรแล้ว ดำรงอยู่
ได้กล่าวความหมดจดด้วยความสำรวมว่า
พวกเราศึกษาในทิฏฐินี้แหละและศึกษาความหมดจดแห่งวัตรนั้น
สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวอ้างตนว่าเป็นคนฉลาด
ย่อมเป็นผู้ถูกนำเข้าสู่ภพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๖๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
[๑๓๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ถ้าบุคคลเคลื่อนจากศีลวัตร พลาดกรรมแล้วก็หวั่นไหว
เขาย่อมเฝ้าแต่พร่ำเพ้อ และปรารถนาความหมดจด
เหมือนคนออกจากเรือน อยู่ร่วมกับพวกเดินทาง
พลัดจากพวกฉะนั้น

ว่าด้วยเหตุให้เคลื่อนจากศีลวัตร
คำว่า ถ้าบุคคลเคลื่อนจากศีลวัตร อธิบายว่า บุคคลเคลื่อนจากศีลวัตร
ด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) เคลื่อนเพราะผู้อื่นชี้ขาด (๒) เคลื่อนเพราะไม่บรรลุ
บุคคลเคลื่อนเพราะผู้อื่นชี้ขาด เป็นอย่างไร
คือ ผู้อื่นชี้ขาดว่า “ศาสดานั้นมิใช่สัพพัญญู ธรรมมิใช่ศาสดากล่าวสอนไว้
ดีแล้ว หมู่คณะมิใช่ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ทิฏฐิมิใช่สิ่งที่เจริญ ปฏิปทามิใช่ศาสดาบัญญัติ
ไว้ดีแล้ว มรรคมิใช่ทางนำสัตว์ออกจากทุกข์ ในลัทธินั้นไม่มีความหมดจด ความ
สะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป หรือความหลุดพ้นไป คือ
ในลัทธินั้น สัตว์ทั้งหลาย ย่อมหมดจด สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หรือ
หลุดพ้นไปไม่ได้
สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้เลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย
ชื่อว่าผู้อื่นชี้ขาด ด้วยอาการอย่างนี้ ผู้ที่ถูกชี้ขาดอย่างนี้ ย่อมเคลื่อนจากศาสดา
เคลื่อนจากธรรมที่ศาสดากล่าวสอน เคลื่อนจากหมู่คณะ เคลื่อนจากทิฏฐิ เคลื่อน
จากปฏิปทา เคลื่อนจากมรรค บุคคลชื่อว่าเคลื่อนเพราะผู้อื่นชี้ขาดเป็นอย่างนี้
บุคคลเคลื่อนเพราะไม่บรรลุ เป็นอย่างไร
คือ บุคคลไม่บรรลุศีล จึงเคลื่อนจากศีล ไม่บรรลุวัตร จึงเคลื่อนจากวัตร ไม่
บรรลุศีลวัตร จึงเคลื่อนจากศีลวัตร บุคคลชื่อว่าเคลื่อนเพราะไม่บรรลุ เป็นอย่างนี้
รวมความว่า ถ้าบุคคลเคลื่อนจากศีลวัตร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๗๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า หวั่นไหว ในคำว่า พลาดกรรมแล้วก็หวั่นไหว อธิบายว่า หวั่น
หวั่นไหว คือ หวาดหวั่นเรื่องศีล วัตร หรือ ศีลวัตรว่า เราผิด พลั้ง พลาด
คลาดไปเสียแล้ว เราผิดพลาดจากอรหัตตผลเสียแล้ว รวมความว่า หวั่นไหว
คำว่า พลาดกรรมแล้ว อธิบายว่า หวั่น หวั่นไหว คือ หวาดหวั่นเรื่อง
ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร หรืออาเนญชาภิสังขารว่า “เราผิด พลั้ง พลาด
คลาดไปเสียแล้ว เราผิดพลาดจากอรหัตตผลเสียแล้ว” รวมความว่า พลาดกรรม
แล้วก็หวั่นไหว
คำว่า พร่ำเพ้อ ในคำว่า เขาย่อมเฝ้าแต่พร่ำเพ้อและปรารถนาความ
หมดจด ได้แก่ เพ้อ พร่ำเพ้อ คือ เพ้อพกเรื่องศีล วัตร หรือศีลวัตร รวมความว่า
พร่ำเพ้อ
คำว่า และปรารถนาความหมดจด ได้แก่ ปรารถนา คือ ชอบใจ ใฝ่ฝัน
ความหมดจดเพราะศีล ความหมดจดเพราะวัตร หรือความหมดจดเพราะศีลวัตร
รวมความว่า เขาย่อมเฝ้าแต่พร่ำเพ้อและปรารถนาความหมดจด
คำว่า เหมือนคนออกจากเรือน อยู่ร่วมกับพวกเดินทาง พลัดจากพวก
ฉะนั้น อธิบายว่า บุรุษออกจากเรือน อยู่ร่วม คือ เป็นอยู่กับพวกเดินทาง
พลัดจากพวก คือ ติดตามพวกเดินทางไป หรือกลับมาสู่เรือนของตนเอง ฉันใด
เจ้าลัทธินั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถือ คือ ยึดมั่น ถือมั่นศาสดานั้นหรือศาสดาอื่น
ธรรมที่ศาสดากล่าวสอนนั้น หรือธรรมที่ศาสดากล่าวสอนอื่น หมู่คณะนั้นหรือหมู่
คณะอื่น ทิฏฐินั้นหรือทิฏฐิอื่น ปฏิปทานั้นหรือปฏิปทาอื่น มรรคนั้นหรือมรรคอื่น
รวมความว่า เหมือนคนออกจากเรือน อยู่ร่วมกับพวกเดินทาง พลัดจากพวก
ฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ถ้าบุคคลเคลื่อนจากศีลวัตร พลาดกรรมแล้วก็หวั่นไหว
เขาย่อมเฝ้าแต่พร่ำเพ้อ และปรารถนาความหมดจด
เหมือนคนออกจากเรือน อยู่ร่วมกับพวกเดินทาง
พลัดจากพวกฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๗๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
[๑๓๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
อริยสาวกละศีลวัตรได้ทั้งหมด
ละกรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษนั้นเสียได้
ไม่ปรารถนาความหมดจดและความไม่หมดจด
งดเว้นแล้ว ไม่ยึดมั่นทิฏฐิที่มีอยู่เที่ยวไป
คำว่า ละศีลวัตรได้ทั้งหมด อธิบายว่า ละ คือ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมด
สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความหมดจดเพราะศีลได้ทั้งหมด... ความหมดจดเพราะ
วัตรได้ทั้งหมด... ละ คือ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่ง
ความหมดจดเพราะศีลวัตรได้ทั้งหมด รวมความว่า ละศีลวัตรได้ทั้งหมด

ว่าด้วยกรรมมีโทษและกรรมไม่มีโทษ
คำว่า ละกรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษนั้นเสียได้ อธิบายว่า กรรมดำ๑
มีวิบากดำ ตรัสเรียกว่า กรรมที่มีโทษ กรรมขาว๒ มีวิบากขาว ตรัสเรียกว่า กรรม
ที่ไม่มีโทษ พระอริยสาวก ละ คือ ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มี
อีกซึ่งกรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษได้แล้ว รวมความว่า ละกรรมที่มีโทษและ
กรรมที่ไม่มีโทษนั้นเสียได้
คำว่า ความไม่หมดจด ในคำว่า ไม่ปรารถนาความหมดจดและความไม่
หมดจด ได้แก่ พวกปุถุชนปรารถนาความไม่หมดจด คือ ปรารถนาอกุศลธรรม
คำว่า ความหมดจด อธิบายว่า พวกปุถุชนปรารถนาความหมดจด คือ
ปรารถนากามคุณ ๕ ปรารถนาความไม่หมดจด คือ ปรารถนาอกุศลธรรมและกาม-
คุณ ๕ ปรารถนาความหมดจด คือ ปรารถนาทิฏฐิ ๖๒ ปรารถนาความไม่หมดจด

เชิงอรรถ :
๑ กรรมดำ มีวิบากดำ หมายถึงอกุศลกรรมบถ ๑๐ ย่อมมีผลให้บุคคลผู้ทำเกิดในอบาย
๒ กรรมขาว มีวิบากขาว หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ย่อมมีผลให้บุคคลผู้ทำเกิดในสวรรค์ (ที.ปา.อ. ๓/๓๑๒/
๒๒๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๗๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คือ ปรารถนาอกุศลธรรม กามคุณ ๕ และทิฏฐิ ๖๒ ปรารถนาความหมดจด คือ
ปรารถนากุศลธรรมอันมีในไตรธาตุ ปรารถนาความไม่หมดจด คือ ปรารถนา
อกุศลธรรม กามคุณ ๕ ทิฏฐิ ๖๒ และกุศลธรรมอันมีในไตรธาตุ พวกกัลยาณ-
ปุถุชน ปรารถนาความสะอาด คือ ปรารถนาความก้าวย่างสู่อริยมรรค พระเสขะ
ปรารถนาอรหัตตผล ซึ่งเป็นธรรมอันเลิศ เมื่อบรรลุอรหัตตผล พระอรหันต์ไม่
ปรารถนาอกุศลธรรม ไม่ปรารถนากามคุณ ๕ ไม่ปรารถนาทิฏฐิ ๖๒ ไม่ปรารถนา
กุศลธรรมอันมีในไตรธาตุ๑ ไม่ปรารถนาความก้าวย่างสู่อริยมรรค ไม่ปรารถนา
อรหัตตผลซึ่งเป็นธรรมอันเลิศ พระอรหันต์ก้าวล่วงความปรารถนา ล่วงพ้นความ
เจริญและความเสื่อมเสียแล้ว พระอรหันต์นั้นอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติ
จรณธรรมแล้ว... และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า ไม่ปรารถนาความหมดจดและ
ความไม่หมดจด
คำว่า งดเว้นแล้ว ในคำว่า งดเว้นแล้ว ไม่ยึดมั่นทิฏฐิที่มีอยู่เที่ยวไป
อธิบายว่า งด งดเว้น คือ เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับ
ความหมดจดและความไม่หมดจด มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า
งดเว้นแล้ว
คำว่า เที่ยวไป ได้แก่ เที่ยวไป คือ ท่องเที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า งดเว้นแล้ว เที่ยวไป

เชิงอรรถ :
๑ ไตรธาตุ คือ (๑) กามธาตุ(กามภพ) (๒) รูปธาตุ(รูปภพ) (๓) อรูปธาตุ(อรูปภพ)
๑. ธาตุอย่างหยาบ ชื่อกามธาตุ ๒. ธาตุอย่างกลาง ชื่อรูปธาตุ ๓. ธาตุอย่างประณีต ชื่ออรูปธาตุ
กรรมอำนวยผลให้ในกามธาตุ กามภพจึงปรากฏมีขึ้น กรรมจึงเป็นไร่นา วิญญาณเป็นพืช ตัณหาเป็น
ยางเหนียว วิญญาณดำรงมั่นอยู่ได้เพราะธาตุอย่างหยาบ ธาตุอย่างหยาบ(กามธาตุ)ของสัตว์มีอวิชชาเป็น
เครื่องปิดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ การเกิดในภพใหม่จึงมีต่อไป
กรรมอำนวยผลให้ในรูปธาตุ รูปภพจึงปรากฏมีขึ้น กรรมจึงเป็นไร่นา วิญญาณเป็นพืช ตัณหาเป็นยาง
เหนียว วิญญาณดำรงมั่นอยู่ได้เพราะธาตุอย่างกลาง ธาตุอย่างกลาง(รูปธาตุ)ของสัตว์มีอวิชชาเป็นเครื่อง
ปิดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ การเกิดในภพใหม่จึงมีต่อไป
กรรมอำนวยผลให้ในอรูปธาตุ อรูปภพจึงปรากฏมีขึ้น กรรมจึงเป็นไร่นา วิญญาณเป็นพืช ตัณหาเป็น
ยางเหนียว วิญญาณดำรงมั่นอยู่ได้เพราะธาตุอย่างประณีต ธาตุอย่างประณีต(อรูปธาตุ)ของสัตว์มีอวิชชา
เป็นเครื่องปิดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ การเกิดในภพใหม่จึงมีต่อไป (องฺ.ติก.(แปล) ๒๐/๗๗/๒๑๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๗๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่ยึดมั่นทิฏฐิที่มีอยู่ อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒ ตรัสเรียกว่า ทิฏฐิที่มีอยู่
พระอรหันต์ไม่ยึด คือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิที่มีอยู่ รวมความว่า งดเว้นแล้ว
ไม่ยึดมั่นทิฏฐิที่มีอยู่เที่ยวไป ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
อริยสาวกละศีลวัตรได้ทั้งหมด
ละกรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษนั้นเสียได้
ไม่ปรารถนาความหมดจดและความไม่หมดจด
งดเว้นแล้ว ไม่ยึดมั่นทิฏฐิที่มีอยู่เที่ยวไป
[๑๓๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สมณพราหมณ์เข้าไปอาศัยตบะที่ตนเกลียดชังนั้น
เข้าไปอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินหรืออารมณ์ที่รับรู้
เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า
ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
จึงยังพร่ำพูดถึงความหมดจดอยู่
คำว่า สมณพราหมณ์เข้าไปอาศัยตบะที่ตนเกลียดชังนั้น อธิบายว่า
สมณพราหมณ์บางพวก มีวาทะเกลียดชังตบะ ถือการเกลียดชังตบะเป็นสรณะ
อาศัย คือ อิงอาศัย ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อความเกลียดชังตบะ รวมความว่า
สมณพราหมณ์เข้าไปอาศัยตบะที่ตนเกลียดชังนั้น
คำว่า เข้าไปอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินหรืออารมณ์ที่รับรู้ อธิบายว่า
อาศัย เข้าไปอาศัย คือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูปที่เห็น หรือความหมดจดเพราะรูป
ที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรือความหมดจดเพราะเสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้ หรือความ
หมดจดเพราะอารมณ์ที่รับรู้ รวมความว่า เข้าไปอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินหรือ
อารมณ์ที่รับรู้
คำว่า เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า... จึงยังพร่ำพูดถึงความ
หมดจดอยู่ อธิบายว่า สมณพราหมณ์บางพวก เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสาร
ข้างหน้า สมณพราหมณ์พวกไหน เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า สมณ-
พราหมณ์เหล่าใด เป็นผู้ถือความหมดจดโดยส่วนเดียว ถือความหมดจดโดยการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๗๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
เวียนว่ายตายเกิด ผู้มีความเห็นว่าทำแล้วไม่เป็นอันทำ๑ มีวาทะว่าเที่ยง๒
สมณพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า สมณ-
พราหมณ์เหล่านั้นก็พร่ำพูด คือ กล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ
ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป โดยสงสาร
รวมความว่า เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า ... จึงยังพร่ำพูดถึงความ
หมดจดอยู่
คำว่า ตัณหา ในคำว่า ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่ ได้แก่
รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า ในภพน้อยภพใหญ่ อธิบายว่า ผู้ยังไม่คลายตัณหา คือ ไม่ปราศจาก
ตัณหา ไม่สละตัณหา ไม่คายตัณหา ไม่เปลื้องตัณหา ไม่ละตัณหา ไม่สลัดทิ้งตัณหา
ในภพน้อยภพใหญ่ คือ ในกรรมวัฏและวิปากวัฏ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ
ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปาก-
วัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็น
เครื่องเกิดในอรูปภพ ในภพต่อไป ในคติต่อไป ในการถือกำเนิดต่อไป ในปฏิสนธิ
ต่อไป ในการบังเกิดของอัตภาพต่อไป รวมความว่า ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อย
ภพใหญ่ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สมณพราหมณ์เข้าไปอาศัยตบะที่ตนเกลียดชังนั้น
เข้าไปอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินหรืออารมณ์ที่รับรู้
เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า
ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
จึงยังพร่ำพูดถึงความหมดจดอยู่
[๑๓๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ความชอบใจวัตถุย่อมมีแก่ผู้กำลังปรารถนา
อนึ่ง ความหวั่นไหวย่อมมีในเพราะวัตถุที่กำหนดแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ทำแล้วไม่เป็นอันทำ หมายถึง อกิริยทิฏฐิ คือลัทธิที่ถือว่าการกระทำทุกอย่างไม่มีผล ทำดีก็ไม่ได้ดี ทำชั่ว
ก็ไม่ได้ชั่ว เป็นความเห็นที่ปฏิเสธกฎแห่งกรรม (ที.สี.อ. ๑๖๖/๑๔๕)
๒ มีวาทะว่าเที่ยง หมายถึง สัสสตทิฏฐิ คือลัทธิที่ถือว่า โลกและอัตตาเที่ยง (ที.สี. (แปล) ๙/๓๐-๓๗/๑๑-๑๖)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๗๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
ความตายและความเกิดมิได้มีแก่ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้
ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยเหตุอะไร หรือพึงชอบใจในอะไร
คำว่า ความชอบใจวัตถุย่อมมีแก่ผู้กำลังปรารถนา อธิบายว่า ตัณหา
ตรัสเรียกว่า ความปรารถนา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ
คำว่า ผู้กำลังปรารถนา ได้แก่ ผู้กำลังปรารถนา คือ ผู้กำลังต้องการ ยินดี
มุ่งหมาย มุ่งหวัง รวมความว่า ผู้กำลังปรารถนา
คำว่า ชอบใจ อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความชอบใจ คือ ความ
กำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ รวมความว่า
ความชอบใจวัตถุย่อมมีแก่ผู้กำลังปรารถนา
คำว่า ความกำหนด ในคำว่า อนึ่ง ความหวั่นไหวย่อมมีในเพราะวัตถุที่
กำหนดแล้ว ได้แก่ ความกำหนด ๒ อย่าง คือ (๑) ความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา
(๒) ความกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ...
นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ
คำว่า อนึ่ง ความหวั่นไหวย่อมมีในเพราะวัตถุที่กำหนดแล้ว อธิบายว่า
ผู้หวาดระแวงว่า วัตถุที่กำหนดไว้แล้วจะถูกแย่งชิงไป ย่อมหวั่นไหวบ้าง เมื่อวัตถุนั้น
กำลังถูกแย่งชิงไป ย่อมหวั่นไหวบ้าง เมื่อวัตถุนั้นถูกแย่งชิงไปแล้ว ย่อมหวั่นไหวบ้าง
ผู้หวาดระแวงว่า วัตถุที่กำหนดไว้แล้วจะแปรผันไป ย่อมหวั่นไหวบ้าง เมื่อวัตถุนั้น
กำลังแปรผันไป ย่อมหวั่นไหวบ้าง เมื่อวัตถุนั้นแปรผันไปแล้ว ย่อมหวั่นไหว คือ
สั่นเทา กระสับกระส่ายอยู่บ้าง รวมความว่า อนึ่ง ความหวั่นไหวย่อมมีในเพราะ
วัตถุที่กำหนดแล้ว
คำว่า ภิกษุใด ในคำว่า ความตายและความเกิดมิได้มีแก่ภิกษุใดใน
ธรรมวินัยนี้ ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ อธิบายว่า การไป การมา การไปและ
การมา ความตาย คติ ภพน้อยภพใหญ่ จุติ การถือกำเนิด ความเกิด ความดับ
ชาติ ชรา มรณะ ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ แก่พระอรหันตขีณาสพใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๗๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
ได้แก่ ความตายและความเกิดนั้น พระอรหันตขีณาสพ ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
รวมความว่า ความตายและความเกิดมิได้มีแก่ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้
คำว่า ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยเหตุอะไร หรือพึงชอบใจในอะไร อธิบายว่า
ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย
อะไรว่า “เป็นผู้กำหนัด เป็นผู้ขัดเคือง เป็นผู้หลง เป็นผู้ยึดติด เป็นผู้ยึดมั่น
เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เป็นผู้ลังเล หรือว่า เป็นผู้ตกอยู่ในพลังกิเลส”
ภิกษุนั้นละอภิสังขารเหล่านั้นได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละอภิสังขารได้แล้ว ภิกษุพึง
หวั่นไหวด้วยเหตุอะไรตามคติเล่าว่า “เป็นผู้เกิดในนรก เป็นผู้เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน
เป็นผู้เกิดในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา
เป็นผู้ไม่มีสัญญา หรือว่าเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่” ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหว
คือ สั่นเทา กระสับกระส่ายด้วยเหตุ ปัจจัย และการณ์ใด เหตุ ปัจจัย และการณ์นั้น
ไม่มี รวมความว่า ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยเหตุอะไร
คำว่า หรือพึงชอบใจในอะไร อธิบายว่า หรือว่า พึงชอบใจในอะไร คือ
พึงชอบใจในวัตถุอะไร ได้แก่ พึงชอบใจ รักใคร่ พอใจในวัตถุนั้นอย่างไร รวมความว่า
ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยเหตุอะไร หรือพึงชอบใจในอะไร ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระ-
ภาคจึงตรัสว่า
ความชอบใจวัตถุย่อมมีแก่ผู้กำลังปรารถนา
อนึ่ง ความหวั่นไหวย่อมมีในเพราะวัตถุที่กำหนดแล้ว
ความตายและความเกิดมิได้มีแก่ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้
ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยเหตุอะไร หรือพึงชอบใจในอะไร
[๑๓๘] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่า เยี่ยม
แต่สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับกล่าวธรรมนั้นนั่นเองว่า เลว
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนจริงกันหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๗๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
เพราะสมณะพราหมณ์เหล่านี้ทุกพวก
ต่างกล่าวอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด
คำว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่า เยี่ยม อธิบายว่า สมณ-
พราหมณ์บางพวก กล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงธรรม คือ ทิฏฐิ ปฏิปทา
มรรคใด อย่างนี้ว่า “ธรรมนี้ เยี่ยม คือ ยอด ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด
ประเสริฐสุด” รวมความว่า สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่า เยี่ยม
คำว่า แต่สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับกล่าวธรรมนั้นนั่นเองว่า เลว อธิบาย
ว่า สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งกลับกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงธรรม คือ ทิฏฐิ
ปฏิปทา มรรคนั้นนั่นเอง อย่างนี้ว่า “ธรรมนี้เลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ
หยาบช้า ต่ำต้อย” รวมความว่า แต่สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับกล่าวธรรมนั้น
นั่นเองว่า เลว
คำว่า วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนจริงกันหนอ อธิบายว่า
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหน จริง คือ แท้ แท้จริง เป็นจริง แน่นอน
ไม่วิปริต รวมความว่า วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนจริงกันหนอ
คำว่า เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทุกพวกต่างกล่าวอ้างตนว่า เป็นคน
ฉลาด อธิบายว่า สมณพราหมณ์เหล่านี้ทุกพวก ต่างกล่าวอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด
คือ กล่าวอ้างว่าเป็นบัณฑิต อ้างว่าเป็นนักปราชญ์ อ้างว่ามีญาณ อ้างว่ามีเหตุผล
อ้างว่ามีคุณลักษณะ อ้างว่าเหมาะแก่เหตุ อ้างว่าสมฐานะ ตามลัทธิของตน รวม
ความว่า เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทุกพวกต่างกล่าวอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด
ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่า เยี่ยม
แต่สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับกล่าวธรรมนั้นนั่นเองว่า เลว
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนจริงกันหนอ
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทุกพวก
ต่างกล่าวอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๗๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
[๑๓๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
อนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวก
กล่าวธรรมของตนว่า บริบูรณ์ แต่กล่าวธรรมของผู้อื่นว่า เลว
พวกสมณพราหมณ์ถือมั่นแม้อย่างนี้แล้วย่อมวิวาทกัน
เพราะต่างกล่าวทิฏฐิสมมติของตน ๆ ว่า จริง
คำว่า อนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมของตนว่า บริบูรณ์
อธิบายว่า อนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวกกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงธรรม คือ
ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคของตน อย่างนี้ว่า “ธรรมนี้เพียบพร้อม บริบูรณ์ ไม่บกพร่อง”
รวมความว่า อนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมของตนว่า บริบูรณ์
คำว่า แต่กล่าวธรรมของผู้อื่นว่า เลว อธิบายว่า สมณพราหมณ์พวก
เดียวกันนั้น กล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงธรรม คือ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรค
ของผู้อื่น อย่างนี้ว่า “ธรรมนี้เลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย”
รวมความว่า แต่กล่าวธรรมของผู้อื่นว่า เลว
คำว่า พวกสมณพราหมณ์ถือมั่นแม้อย่างนี้แล้วย่อมวิวาทกัน อธิบายว่า
พวกสมณพราหมณ์ จับ ยึด ถือ ยึดมั่น ถือมั่นอย่างนี้ ย่อมวิวาทกัน คือ ย่อมก่อ
การทะเลาะ ก่อการบาดหมาง ก่อการแก่งแย่ง ก่อการวิวาท ก่อการมุ่งร้ายกันโดย
พูดว่า “ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้... หรือหากท่านสามารถ ก็จงแก้ไขเถิด” รวมความว่า
พวกสมณพราหมณ์ถือมั่นแม้อย่างนี้แล้วย่อมวิวาทกัน
คำว่า เพราะต่างกล่าวทิฏฐิสมมติของตน ๆ ว่า จริง อธิบายว่า ต่างกล่าวว่า
“โลกเที่ยง... หลังจากตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่
นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า เพราะต่างกล่าวทิฏฐิสมมติ
ของตน ๆ ว่า จริง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
อนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวก
กล่าวธรรมของตนว่า บริบูรณ์ แต่กล่าวธรรมของผู้อื่นว่า เลว
พวกสมณพราหมณ์ถือมั่นแม้อย่างนี้แล้วย่อมวิวาทกัน
เพราะต่างกล่าวทิฏฐิสมมติของตน ๆ ว่า จริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๗๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
[๑๔๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
หากบุคคลเป็นคนเลวเพราะเหตุที่ผู้อื่นพูดติเตียนไซร้
ก็จะไม่พึงมีใครวิเศษในธรรมทั้งหลายได้เลย
เพราะคนส่วนมากต่างกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
พากันกล่าวธรรมของผู้อื่นโดยความเป็นสิ่งเลวทราม
คำว่า หากบุคคลเป็นคนเลวเพราะเหตุที่ผู้อื่นพูดติเตียนไซร้ อธิบายว่า
หากบุคคลอื่นเป็นคนพาล เลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย
เพราะเหตุที่ผู้อื่นติเตียน คือ เพราะเหตุที่ผู้อื่นนินทา ตำหนิ ว่าร้ายไซร้ รวมความว่า
หากบุคคลเป็นคนเลวเพราะเหตุที่ผู้อื่นพูดติเตียนไซร้
คำว่า ก็จะไม่พึงมีใครวิเศษในธรรมทั้งหลายได้เลย อธิบายว่า ก็จะไม่พึงมี
ใครเลิศ ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุดในธรรมทั้งหลายได้เลย
รวมความว่า ก็จะไม่พึงมีใครวิเศษในธรรมทั้งหลายได้เลย
คำว่า เพราะคนส่วนมาก... พากันกล่าวธรรมของผู้อื่นโดยความเป็นสิ่งเลว
ทราม อธิบายว่า คนส่วนมากพากันกล่าว คือ ว่าร้าย นินทา ติเตียนธรรมของคน
ส่วนมาก โดยความเป็นสิ่งเลว ทราม คือ ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อยบ้าง
คนส่วนมากพากันกล่าว คือ ว่าร้าย นินทา ติเตียนธรรมของคนผู้หนึ่ง โดยความ
เป็นสิ่งเลว ทราม คือ ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อยบ้าง คนผู้หนึ่ง
กล่าว คือ ว่าร้าย นินทา ติเตียนธรรมของคนส่วนมาก โดยความเป็นสิ่งเลว ทราม
คือ ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อยบ้าง คนผู้หนึ่งกล่าว คือ ว่าร้าย นินทา
ติเตียนธรรมของคนผู้หนึ่ง โดยความเป็นสิ่งเลว ทราม คือ ต่ำทราม น่ารังเกียจ
หยาบช้า ต่ำต้อยบ้าง รวมความว่า เพราะคนส่วนมาก... พากันกล่าวธรรมของผู้อื่น
โดยความเป็นสิ่งเลวทราม
คำว่า ต่างกล่าวยืนยันในแนวทางของตน... โดยความเป็นสิ่งเลวทราม
อธิบายว่า ธรรม ชื่อว่าแนวทางของตน ทิฏฐิ ชื่อว่าแนวทางของตน ปฏิปทา ชื่อว่า
แนวทางของตน มรรค ก็ชื่อว่าแนวทางของตน คนส่วนมากต่างกล่าวยืนยัน คือ
กล่าวมั่นคง กล่าวแข็งขัน กล่าวหนักแน่นในแนวทางของตน รวมความว่า ต่างกล่าว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๘๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
ยืนยันในแนวทางของตน... โดยความเป็นสิ่งเลวทราม ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
หากบุคคลเป็นคนเลวเพราะเหตุที่ผู้อื่นพูดติเตียนไซร้
ก็จะไม่พึงมีใครวิเศษในธรรมทั้งหลายได้เลย
เพราะคนส่วนมากต่างกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
พากันกล่าวธรรมของผู้อื่นโดยความเป็นสิ่งเลวทราม
[๑๔๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
การบูชาหลักการของตน เป็นเรื่องแท้จริง
เหมือนพวกสมณพราหมณ์พากันสรรเสริญแนวทางของตน ฉะนั้น
การว่าร้ายทุกอย่างก็พึงมีอยู่แท้จริง
เพราะความหมดจดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นเรื่องเฉพาะตนเท่านั้น
คำว่า การบูชาหลักการของตน เป็นเรื่องแท้จริง อธิบายว่า
การบูชาหลักการของตน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลสักการะ เคารพ นับถือ บูชาศาสดาของตนว่า “ศาสดานี้ เป็น
สัพพัญญู” นี้ชื่อว่าการบูชาหลักการของตน บุคคลย่อมสักการะ เคารพ นับถือ
บูชาธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคของตนว่า “มรรคนี้
เป็นทางนำสัตว์ออกจากทุกข์” นี้ชื่อว่าการบูชาหลักการของตน
คำว่า การบูชาหลักการของตน เป็นเรื่องแท้จริง อธิบายว่า การบูชาหลัก
การของตน เป็นเรื่องแท้จริง คือ แท้ เป็นจริง แน่นอน ไม่วิปริต รวมความว่า
การบูชาหลักการของตน เป็นเรื่องแท้จริง
คำว่า เหมือนพวกสมณพราหมณ์พากันสรรเสริญแนวทางของตน ฉะนั้น
อธิบายว่า ธรรม ชื่อว่าแนวทางของตน ทิฏฐิ ชื่อว่าแนวทางของตน ปฏิปทา ชื่อว่า
แนวทางของตน มรรค ก็ชื่อว่าแนวทางของตน พวกสมณพราหมณ์พากันสรรเสริญ
คือ ชมเชย ยกย่อง พรรณนาแนวทางของตน รวมความว่า เหมือนพวกสมณ-
พราหมณ์พากันสรรเสริญแนวทางของตน ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๘๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า การว่าร้ายทุกอย่างก็พึงมีอยู่แท้จริง อธิบายว่า การว่าร้ายทุกอย่างก็
พึงมีอยู่แท้จริง คือ แท้ เป็นจริง แน่นอน ไม่วิปริต รวมความว่า การว่าร้ายทุกอย่าง
ก็พึงมีอยู่แท้จริง
คำว่า เพราะความหมดจดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นเรื่องเฉพาะตน
เท่านั้น อธิบายว่า ความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป
ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป ของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นเรื่องเฉพาะตนเท่านั้น
รวมความว่า เพราะความหมดจดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นเรื่องเฉพาะตน
เท่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
การบูชาหลักการของตน เป็นเรื่องแท้จริง
เหมือนพวกสมณพราหมณ์พากันสรรเสริญแนวทางของตน ฉะนั้น
การว่าร้ายทุกอย่างก็พึงมีอยู่แท้จริง
เพราะความหมดจดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นเรื่องเฉพาะตนเท่านั้น
[๑๔๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ญาณที่ผู้อื่นพึงแนะนำไม่มีแก่พราหมณ์
ความตกลงใจแล้วยึดมั่นในธรรมทั้งหลายก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงล่วงเลยการวิวาททั้งหลายได้แล้ว
แท้จริง พราหมณ์ย่อมไม่เห็นธรรมอื่นโดยความเป็นของประเสริฐ
คำว่า ไม่ ในคำว่า ญาณที่ผู้อื่นพึงแนะนำไม่มีแก่พราหมณ์ เป็นคำปฏิเสธ
คำว่า พราหมณ์ อธิบายว่า ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗ ประการ
ได้แล้ว ... ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็น
พราหมณ์๑
คำว่า ญาณที่ผู้อื่นพึงแนะนำไม่มีแก่พราหมณ์ อธิบายว่า ความเป็นผู้มี
ญาณอันบุคคลอื่นพึงแนะนำ ไม่มีแก่พราหมณ์ คือ พราหมณ์ ไม่เป็นผู้ที่ผู้อื่นพึง

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๕/๑๐๔-๑๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๘๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
แนะนำ ไม่ดำเนินตามผู้อื่น ไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัย ไม่ถึงความเกี่ยวเนื่องกับผู้อื่น รู้ เห็น
ไม่หลง รู้ตัว มีสติ ย่อมรู้ ย่อมเห็น คือ ความเป็นผู้มีญาณอันบุคคลอื่นพึงแนะนำ
ไม่มีแก่พราหมณ์ คือ พราหมณ์ ไม่เป็นผู้ที่ผู้อื่นพึงแนะนำ ไม่ดำเนินตามผู้อื่น ไม่มีผู้
อื่นเป็นปัจจัย ไม่ถึงความเกี่ยวเนื่องกับผู้อื่น รู้ เห็น ไม่หลง รู้ตัว มีสติ ย่อมรู้ ย่อม
เห็นว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์”...
ความเป็นผู้มีญาณอันบุคคลอื่นพึงแนะนำ ไม่มีแก่พราหมณ์ คือ พราหมณ์
ไม่เป็นผู้ที่ผู้อื่นพึงแนะนำ ไม่ดำเนินตามผู้อื่น ไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัย ไม่ถึงความเกี่ยว
เนื่องกับผู้อื่น รู้ เห็น ไม่หลง รู้ตัว มีสติ ย่อมรู้ ย่อมเห็นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความ
เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า
ญาณที่ผู้อื่นพึงแนะนำไม่มีแก่พราหมณ์
คำว่า ในธรรมทั้งหลาย ในคำว่า ความตกลงใจแล้วยึดมั่นในธรรมทั้งหลาย
ก็ไม่มี ได้แก่ ทิฏฐิ ๖๒
คำว่า ตกลงใจ ได้แก่ ตกลงใจ คือ วินิจฉัย ตัดสิน ชี้ขาด เทียบเคียง
พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้ง
คำว่า ยึดมั่น ได้แก่ จับมั่น ยึดมั่น ถือมั่น รวบถือ รวมถือ รวบรวมถือ คือ
ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อว่า “สิ่งนี้ จริง
แท้จริง แท้ เป็นจริง แน่นอน ไม่วิปริต” ไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ได้แก่
ความตกลงใจแล้วยึดมั่น พราหมณ์นั้น ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า ความตกลง
ใจแล้วยึดมั่นในธรรมทั้งหลายก็ไม่มี
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงล่วงเลยการวิวาท
ทั้งหลายได้แล้ว อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะ
ปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น พราหมณ์จึงล่วงเลย คือ ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นการ
ทะเลาะเพราะทิฏฐิ การบาดหมางเพราะทิฏฐิ การแก่งแย่งเพราะทิฏฐิ การวิวาท
เพราะทิฏฐิ การมุ่งร้ายเพราะทิฏฐิ รวมความว่า เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงล่วงเลย
การวิวาททั้งหลายได้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๘๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า แท้จริง พราหมณ์ย่อมไม่เห็นธรรมอื่นโดยความเป็นของประเสริฐ
อธิบายว่า พราหมณ์ย่อมไม่เห็น คือ ไม่แลเห็น ไม่ตรวจดู ไม่เพ่งพินิจ ไม่พิจารณา
เห็นศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคอื่น คือ
อื่นจากสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรค
มีองค์ ๘ ว่า เป็นธรรมเลิศ ประเสริฐ คือ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด
รวมความว่า แท้จริง พราหมณ์ย่อมไม่เห็นธรรมอื่นโดยความเป็นของประเสริฐ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ญาณที่ผู้อื่นพึงแนะนำไม่มีแก่พราหมณ์
ความตกลงใจแล้วยึดมั่นในธรรมทั้งหลายก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงล่วงเลยการวิวาททั้งหลายได้แล้ว
แท้จริง พราหมณ์ย่อมไม่เห็นธรรมอื่นโดยความเป็นของประเสริฐ
[๑๔๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สมณพราหมณ์บางพวกเชื่อความหมดจด
เพราะทิฏฐิว่า เรารู้ เราเห็นความหมดจดนี้ว่ามีจริง
ถ้าสมณพราหมณ์ผู้หนึ่งได้เห็นแล้ว จะมีประโยชน์อะไร
ด้วยการเห็นนั้นแก่สมณพราหมณ์นั้นเล่า
พวกสมณพราหมณ์แล่นเลย(ทางแห่งความหมดจด)แล้ว
ย่อมกล่าวความหมดจดด้วยการเห็นอื่น
คำว่า เรารู้ ในคำว่า เรารู้ เราเห็นความหมดจดนี้ว่ามีจริง ได้แก่ เรารู้ด้วย
ปรจิตตญาณ(ญาณเป็นเครื่องรู้ใจผู้อื่น)บ้าง รู้ด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณ(ญาณ
เป็นเครื่องระลึกถึงขันธ์ที่อยู่อาศัยในกาลก่อน)บ้าง
คำว่า เราเห็น ได้แก่ เราเห็นด้วยมังสจักขุบ้าง ด้วยทิพพจักขุบ้าง
คำว่า ความหมดจดนี้ว่ามีจริง ได้แก่ ความหมดจดนี้มีแท้จริง แท้ เป็นจริง
แน่นอน ไม่วิปริต รวมความว่า เรารู้ เราเห็นความหมดจดนี้ว่ามีจริง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๘๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า สมณพราหมณ์บางพวกเชื่อความหมดจดเพราะทิฏฐิ อธิบายว่า
สมณพราหมณ์บางพวกเชื่อความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความ
หลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะทิฏฐิ คือ สมณพราหมณ์บางพวก
เชื่อความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป
ความหลุดพ้นไป เพราะทิฏฐิว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ”
สมณพราหมณ์บางพวก เชื่อความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธ์
ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะทิฏฐิว่า “โลกไม่เที่ยง... หลังจาก
ตายแล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็น
โมฆะ” รวมความว่า สมณพราหมณ์บางพวกเชื่อความหมดจดเพราะทิฏฐิ
คำว่า ได้เห็นแล้ว ในคำว่า ถ้าสมณพราหมณ์ผู้หนึ่งได้เห็นแล้ว จะมี
ประโยชน์อะไรด้วยการเห็นนั้นแก่สมณพราหมณ์นั้นเล่า อธิบายว่า ได้เห็นแล้ว
ด้วยปรจิตตญาณบ้าง ได้เห็นแล้วด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณบ้าง ได้เห็นแล้วด้วย
มังสจักขุบ้าง ได้เห็นแล้วด้วยทิพพจักขุบ้าง รวมความว่า ถ้าสมณพราหมณ์ผู้หนึ่งได้
เห็นแล้ว
คำว่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นนั้นแก่สมณพราหมณ์นั้นเล่า อธิบาย
ว่า สมณพราหมณ์นั้นทำอะไรได้เพราะการเห็นนั้น คือ ไม่มีการกำหนดรู้ทุกข์
ไม่มีการละสมุทัย ไม่มีการเจริญมรรค ไม่มีการทำให้แจ้งผล ไม่มีการละราคะได้
โดยตัดขาด ไม่มีการละโทสะได้โดยตัดขาด ไม่มีการละโมหะได้โดยตัดขาด ไม่มีการ
ละกิเลสทั้งหลายได้โดยตัดขาด ไม่มีการตัดขาดสังสารวัฏเลย รวมความว่า ถ้า
สมณพราหมณ์ผู้หนึ่งได้เห็นแล้ว จะมีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นนั้นแก่สมณพราหมณ์
นั้นเล่า
คำว่า พวกสมณพราหมณ์แล่นเลย(ทางแห่งความหมดจด)แล้ว ย่อมกล่าว
ความหมดจดด้วยการเห็นอื่น อธิบายว่า เดียรถีย์เหล่านั้นก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วง
พ้นทางแห่งความหมดจด ทางแห่งความสะอาด ทางแห่งความบริสุทธิ์ ทางแห่ง
ความผ่องแผ้ว ทางแห่งความผ่องใส ย่อมกล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง ความ
หมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๘๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
นอกจากสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗
อริยมรรคมีองค์ ๘ รวมความว่า พวกสมณพราหมณ์แล่นเลย(ทางแห่งความหมด
จด)แล้ว ย่อมกล่าวความหมดจดด้วยการเห็นอื่น
อีกนัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า พระพุทธสาวกและพระปัจเจกพุทธเจ้า ก้าวล่วง
ก้าวพ้น ล่วงพ้นทางแห่งความไม่หมดจด ทางแห่งความไม่สะอาด ทางแห่งความไม่
บริสุทธิ์ ทางแห่งความไม่ผ่องแผ้ว ทางแห่งความไม่ผ่องใสของเดียรถีย์เหล่านั้นย่อม
กล่าว คือ พูด บอก แสดง ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์
ความหลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป ด้วยสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ รวมความว่า
พวกสมณพราหมณ์แล่นเลย(ทางแห่งความหมดจด)แล้ว ย่อมกล่าวความหมดจด
ด้วยการเห็นอื่น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สมณพราหมณ์บางพวกเชื่อความหมดจด
เพราะทิฏฐิว่า เรารู้ เราเห็นความหมดจดนี้ว่ามีจริง
ถ้าสมณพราหมณ์ผู้หนึ่งได้เห็นแล้ว จะมีประโยชน์อะไร
ด้วยการเห็นนั้นแก่สมณพราหมณ์นั้นเล่า
พวกสมณพราหมณ์แล่นเลย (ทางแห่งความหมดจด)แล้ว
ย่อมกล่าวความหมดจดด้วยการเห็นอื่น
[๑๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
นรชนเมื่อเห็นย่อมเห็นนามรูป
หรือครั้นเห็นแล้ว ก็รู้จักเฉพาะนามรูปเหล่านั้นเท่านั้น
นรชนเห็นนามรูปมากบ้างน้อยบ้างโดยแท้
ถึงอย่างนั้น ผู้ฉลาดทั้งหลายก็ไม่กล่าวความหมดจด
เพราะการเห็นนามรูปนั้น
คำว่า นรชนเมื่อเห็น ในคำว่า นรชนเมื่อเห็นย่อมเห็นนามรูป อธิบายว่า
นรชนเมื่อเห็นด้วยปรจิตตญาณบ้าง เมื่อเห็นด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณบ้าง เมื่อ
เห็นด้วยมังสจักขุบ้าง เมื่อเห็นด้วยทิพพจักขุบ้าง ก็เห็นนามรูปนั่นเอง โดยความเป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๘๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
ของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตน มิได้เห็นความเกิด ความดับ คุณ
โทษ หรือการสลัดออกแห่งธรรมเหล่านั้นเลย รวมความว่า นรชนเมื่อเห็นย่อมเห็น
นามรูป
คำว่า ครั้นเห็นแล้ว ในคำว่า หรือครั้นเห็นแล้ว ก็รู้จักเฉพาะนามรูป
เหล่านั้นเท่านั้น อธิบายว่า ครั้นเห็นแล้วด้วยปรจิตตญาณบ้าง เห็นแล้วด้วย
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณบ้าง เห็นแล้วด้วยมังสจักขุบ้าง เห็นแล้วด้วยทิพพจักขุบ้าง
ครั้นเห็นเพียงนามรูปนั่นเองแล้ว ก็รู้จักโดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข
โดยความเป็นตัวตน มิได้รู้จักความเกิด ความดับ คุณ โทษ หรือการสลัดออกแห่ง
ธรรมเหล่านั้นเลย รวมความว่า หรือครั้นเห็นแล้ว ก็รู้จักเฉพาะนามรูปเหล่านั้น
เท่านั้น
คำว่า นรชนเห็นนามรูปมากบ้างน้อยบ้างโดยแท้ ได้แก่ เห็นนามรูปมาก
บ้างน้อยบ้าง โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตนโดยแท้
รวมความว่า นรชนเห็นนามรูปมากบ้างน้อยบ้างโดยแท้
คำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลาย ในคำว่า ถึงอย่างนั้น ผู้ฉลาดทั้งหลายก็ไม่กล่าว
ความหมดจดเพราะการเห็นนามรูปนั้น อธิบายว่า ผู้ฉลาดในขันธ์ ผู้ฉลาดในธาตุ
ผู้ฉลาดในอายตนะ ผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท ผู้ฉลาดในสติปัฏฐาน ผู้ฉลาดใน
สัมมัปปธาน ผู้ฉลาดในอิทธิบาท ผู้ฉลาดในอินทรีย์ ผู้ฉลาดในพละ ผู้ฉลาดในโพชฌงค์
ผู้ฉลาดในมรรค ผู้ฉลาดในผล ผู้ฉลาดในนิพพาน ผู้ฉลาดเหล่านั้น ไม่กล่าว ไม่พูด
ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงความหมดจด คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป
ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป เพราะการเห็นนามรูป ด้วยปรจิตตญาณบ้าง ด้วย
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณบ้าง ด้วยมังสจักขุบ้าง ด้วยทิพพจักขุบ้าง รวมความว่า
ถึงอย่างนั้น ผู้ฉลาดทั้งหลายก็ไม่กล่าวความหมดจดเพราะการเห็นนามรูปนั้น
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
นรชนเมื่อเห็นย่อมเห็นนามรูป
หรือครั้นเห็นแล้ว ก็รู้จักเฉพาะนามรูปเหล่านั้นเท่านั้น
นรชนเห็นนามรูปมากบ้างน้อยบ้างโดยแท้
ถึงอย่างนั้น ผู้ฉลาดทั้งหลายก็ไม่กล่าวความหมดจด
เพราะการเห็นนามรูปนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๘๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
[๑๔๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำได้ง่าย เป็นผู้เชิดชูทิฏฐิที่กำหนดไว้แล้ว
อาศัยศาสดาใด ก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงามในเพราะทิฏฐินั้น
นรชนนั้นผู้กล่าวความหมดจดได้เห็นว่าแท้จริงในทิฏฐินั้น
คำว่า นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำ
ได้ง่าย อธิบายว่า นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง
อย่างอื่นเป็นโมฆะ” มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า “โลกไม่เที่ยง ... หลังจากตาย
แล้วตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ”
คำว่า ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำได้ง่าย อธิบายว่า นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วย
ความเชื่อมั่น เป็นคนที่พึงแนะนำได้ยาก ทำให้เข้าใจได้ยาก ทำให้เพ่งพินิจได้ยาก
ทำให้พิจารณาได้ยาก ทำให้เลื่อมใสได้ยาก รวมความว่า นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วย
ความเชื่อมั่น ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำได้ง่าย
คำว่า เป็นผู้เชิดชูทิฏฐิที่กำหนดไว้แล้ว อธิบายว่า เป็นผู้เชิดชู คือ เที่ยว
ยกย่องทิฏฐิที่กำหนดแล้ว กำหนดไว้แล้ว คือ ปรุงแต่งไว้แล้ว ตั้งไว้ดีแล้ว มีทิฏฐิ
เป็นธงชัย มีทิฏฐิเป็นยอดธง มีทิฏฐิเป็นใหญ่ ถูกทิฏฐิครอบงำเที่ยวไป รวมความว่า
เป็นผู้เชิดชูทิฏฐิที่กำหนดไว้แล้ว
คำว่า อาศัยศาสดาใด ในคำว่า อาศัยศาสดาใด ก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม
ในเพราะทิฏฐินั้น อธิบายว่า อาศัย คือ อิงอาศัย ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อ
ศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคใด รวมความว่า
อาศัยศาสดาใด
คำว่า ในเพราะทิฏฐินั้น ได้แก่ ในเพราะทิฏฐิของตน คือ ความถูกใจของตน
ความพอใจของตน ลัทธิของตน
คำว่า ก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม ได้แก่ กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม คือ
กล่าวว่าดี กล่าวว่าเป็นบัณฑิต กล่าวว่าเป็นนักปราชญ์ กล่าวว่ามีญาณ กล่าวว่า
มีเหตุผล กล่าวว่ามีคุณลักษณะ กล่าวว่าเหมาะแก่เหตุ กล่าวว่าสมฐานะ ตามลัทธิ
ของตน รวมความว่า อาศัยศาสดาใด ก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงามในเพราะทิฏฐินั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๘๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้กล่าวความหมดจด ในคำว่า นรชนนั้นผู้กล่าวความหมดจดได้เห็น
ว่าแท้จริงในทิฏฐินั้น อธิบายว่า กล่าวความหมดจด คือ กล่าวความสะอาด กล่าว
ความบริสุทธิ์ กล่าวความผ่องแผ้ว กล่าวความผ่องใส อีกนัยหนึ่ง เป็นผู้มีความเห็น
หมดจด คือ เป็นผู้มีความเห็นสะอาด เป็นผู้มีความเห็นบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความเห็น
ผ่องแผ้ว เป็นผู้มีความเห็นผ่องใส รวมความว่า ผู้กล่าวความหมดจด
คำว่า ในทิฏฐินั้น ได้แก่ ในทิฏฐิของตน คือ ความถูกใจของตน ความพอใจ
ของตน ลัทธิของตน
คำว่า นรชนนั้น... ได้เห็นว่าแท้จริง อธิบายว่า ได้เห็น คือ ได้แลเห็น
มองเห็น แทงตลอดแล้วว่า แท้จริง คือแท้ เป็นจริง แน่นอน ไม่วิปริต รวมความว่า
นรชนนั้นผู้กล่าวความหมดจดได้เห็นว่าแท้จริงในทิฏฐินั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำได้ง่าย เป็นผู้เชิดชูทิฏฐิที่กำหนดไว้แล้ว
อาศัยศาสดาใด ก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงามในเพราะทิฏฐินั้น
นรชนนั้นผู้กล่าวความหมดจดได้เห็นว่าแท้จริงในทิฏฐินั้น
[๑๔๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
พราหมณ์พิจารณาแล้วย่อมไม่เข้าถึงความกำหนด
ไม่แล่นไปด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่ผูกพันด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเพราะญาณ
พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้วก็วางเฉยทิฏฐิสมมติที่เกิดจากปุถุชน
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น
คำว่า ไม่ ในคำว่า พราหมณ์ทราบแล้วย่อมไม่เข้าถึงความกำหนด เป็น
คำปฏิเสธ
คำว่า พราหมณ์ อธิบายว่า ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗ ประการ
ได้แล้ว... ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๘๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า ความกำหนด ได้แก่ ความกำหนด ๒ อย่าง คือ (๑) ความกำหนด
ด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ... นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วย
อำนาจตัณหา... นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ
ญาณ ตรัสเรียกว่า เครื่องพิจารณา คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด... ความไม่หลง
งมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ๑
คำว่า พราหมณ์พิจารณาแล้วย่อมไม่เข้าถึงความกำหนด อธิบายว่า
พราหมณ์พิจารณาแล้ว คือ รู้แล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว
ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง”
พราหมณ์พิจารณาแล้ว คือ รู้แล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่าง
แล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น
เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” ย่อมไม่ถึง ไม่เข้าถึง คือ
ไม่สนใจ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา หรือความ
กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ รวมความว่า พราหมณ์พิจารณาแล้วย่อมไม่เข้าถึงความ
กำหนด
คำว่า ไม่แล่นไปด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่ผูกพันด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเพราะญาณ
อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒ พราหมณ์นั้นละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว พราหมณ์นั้น ไม่ไป ไม่
ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไปด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่กลับไป ไม่หวนกลับไปหาทิฏฐินั้น
โดยความเป็นสาระ รวมความว่า ไม่แล่นไปด้วยทิฏฐิ
คำว่า ทั้งไม่ผูกพันด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเพราะญาณ อธิบายว่า ไม่ก่อ คือ ไม่
ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นซึ่งความผูกพันด้วยอำนาจตัณหา
หรือ ความผูกพันด้วยอำนาจทิฏฐิ เพราะญาณในสมาบัติ ๘ ญาณในอภิญญา ๕
หรือมิจฉาญาณ รวมความว่า ไม่แล่นไปด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่ผูกพันด้วยตัณหาหรือทิฏฐิ
เพราะญาณ

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๑/๙๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๙๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า ครั้นรู้แล้ว ในคำว่า พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้ว... ทิฏฐิสมมติที่เกิดจาก
ปุถุชน อธิบายว่า ครั้นรู้แล้ว คือ ครั้นทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว
ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” ครั้นรู้แล้ว คือ
ครั้นทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า
“สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด
ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้ว
ทิฏฐิ ๖๒ ตรัสเรียกว่า ทิฏฐิสมมติ
คำว่า ที่เกิดจากปุถุชน อธิบายว่า ทิฏฐิสมมติเหล่านั้น เกิดจากปุถุชน
จึงชื่อว่า ที่เกิดจากปุถุชน หรือทิฏฐิสมมติเหล่านั้น เกิดจากชนต่าง ๆ มากมาย
จึงชื่อว่า ที่เกิดจากปุถุชน รวมความว่า พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้ว... ทิฏฐิสมมติที่เกิด
จากปุถุชน
คำว่า ก็วางเฉย... แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น อธิบายว่า
สมณพราหมณ์เหล่าอื่น ถือ ยึดมั่น ถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ
ส่วนพระอรหันต์วางเฉย ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น รวมความว่า ก็วางเฉย...
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
พราหมณ์พิจารณาแล้วย่อมไม่เข้าถึงความกำหนด
ไม่แล่นไปด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่ผูกพันด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเพราะญาณ
พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้วก็วางเฉยทิฏฐิสมมติที่เกิดจากปุถุชน
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น
[๑๔๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดในโลกนี้แล้ว
เมื่อคนเกิดวิวาทกันแล้ว ก็ไม่เข้าไปเป็นฝักเป็นฝ่าย
เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ มุนีนั้นเป็นผู้สงบ วางเฉย ไม่ถือมั่น
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๙๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า กิเลสเครื่องร้อยรัด ในคำว่า มุนีสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดในโลกนี้แล้ว
ได้แก่ กิเลสเครื่องร้อยรัด ๔ อย่าง คือ
๑. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา
๒. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือพยาบาท
๓. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือสีลัพพตปรามาส
๔. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือความถือมั่นว่านี้เท่านั้นจริง
ความกำหนัดในทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา
ความอาฆาต ความไม่พอใจในวาทะของผู้อื่น ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือ
พยาบาท
ความยึดมั่นศีล วัตร หรือศีลวัตรของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือ
สีลัพพตปรามาส
ทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออิทังสัจจาภินิเวส
คำว่า สลัด ได้แก่ สละ หรือสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด อีกนัยหนึ่ง มุนีแก้ หรือ
สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด คือ กิเลสเครื่องผูกพัน ที่ร้อยรัด รัดรึง ข้อง ติด เกี่ยว เกี่ยวพัน
เกาะติด ติดแน่นแล้ว อธิบายว่า มุนีสละ หรือ สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด เหมือนคน
ทำการปลด ปล่อยวอ รถ เกวียน หรือรถมีเครื่องประดับ คือ ให้เคลื่อนที่ไปได้ ฉะนั้น
อีกนัยหนึ่ง มุนีแก้ หรือสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด คือ กิเลสเครื่องผูกพัน
ที่ร้อยรัด รัดรึง ข้อง ติด เกี่ยว เกี่ยวพัน เกาะติด ติดแน่นแล้ว
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด...
ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๑
คำว่า ในโลกนี้ ได้แก่ ในทิฏฐินี้... มนุษยโลกนี้ รวมความว่า มุนีสลัดกิเลส
เครื่องร้อยรัดในโลกนี้แล้ว
คำว่า เมื่อคนเกิดวิวาทกันแล้ว ก็ไม่เข้าไปเป็นฝักเป็นฝ่าย อธิบายว่า
เมื่อคนเกิดวิวาทกันแล้ว คือ เกิดขึ้นแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดขึ้นแล้ว ปรากฏแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๔/๖๘-๗๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๙๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
ได้แก่ เมื่อคนทั้งหลาย ถึงฉันทาคติ ถึงโทสาคติ ถึงโมหาคติ ถึงภยาคติ มุนีนั้น
ย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึงโมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ คือ ไม่ดำเนินไป
ตามอำนาจราคะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจโทสะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจโมหะ
ไม่ดำเนินไปตามอำนาจมานะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจทิฏฐิ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจ
อุทธัจจะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจวิจิกิจฉา ไม่ดำเนินไปตามอำนาจอนุสัย ได้แก่
ไม่ไป คือ ไม่ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไป ด้วยธรรมที่ก่อความเป็นฝักเป็นฝ่าย
รวมความว่า เมื่อคนเกิดวิวาทกันแล้วก็ไม่เข้าไปเป็นฝักเป็นฝ่าย
คำว่า เป็นผู้สงบ ในคำว่า เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ มุนีนั้น เป็นผู้สงบ
วางเฉย อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบราคะ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะ
สงบโทสะ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโมหะ... ชื่อว่าเป็นผู้สงบ คือ เข้าไปสงบ
สงบเย็น ดับ ระงับได้แล้ว เพราะสงบ ระงับ สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับ
อกุสลาภิสังขารทุกประเภทได้แล้ว รวมความว่า เป็นผู้สงบ
คำว่า เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ อธิบายว่า เมื่อคนทั้งหลาย ไม่สงบ คือ ไม่
เข้าไปสงบ ไม่สงบเย็น ไม่ดับ ไม่ระงับ รวมความว่า เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ มุนีนั้น
เป็นผู้สงบ
คำว่า มุนีนั้น... วางเฉย อธิบายว่า มุนีผู้เป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยอุเบกขา
มีองค์๑ ๖ เห็นรูปทางตาแล้ว ก็ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่
ฟังเสียงทางหู... เป็นผู้อบรมแล้ว เป็นผู้สงบ รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น รวมความว่า
เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ มุนีนั้น เป็นผู้สงบ... วางเฉย

เชิงอรรถ :
๑ อุเบกขามีองค์ ๖ คือภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ในพระธรรมวินัยนี้
(๑) เห็นรูปทางตาแล้ว (๒) ฟังเสียงทางหูแล้ว (๓) ดมกลิ่นทางจมูกแล้ว (๔) ลิ้มรสทางลิ้นแล้ว
(๕) ถูกต้องสัมผัสทางกายแล้ว (๖) รับรู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ก็ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เป็นผู้วางเฉย มี
สติสัมปชัญญะอยู่
อุเบกขาองค์มี ๑๐ คือ
(๑) ฉฬงฺคุเปกฺขา อุเบกขาประกอบด้วยองค์ ๖ (๒) พฺรหฺมวิหารุเปกฺขา อุเบกขาในพรหมวิหาร (๓)
โพชฺฌงฺคุเปกฺขา อุเบกขาในโพชฌงค์ (๔) วิริยุเปกฺขา อุเบกขาคือวิริยะ (๕) สงฺขารุเปกฺขา อุเบกขา
ในสังขาร (๖) เวทนูเปกฺขา อุเบกขาในเวทนา (๗) วิปสฺสนูเปกฺขา อุเบกขาในวิปัสสนา
(๘) ตตฺรมชฺฌตฺตุเปกฺขา อุเบกขาในเจตสิก หรือ อุเบกขาที่ยังธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกันให้เป็นไปเสมอกัน
(๙) ฌานุเปกฺขา อุเบกขาในฌาน (๑๐) ปาริสุทฺธุเปกฺขา อุเบกขาบริสุทธิ์จากข้าศึก (วิสุทฺธิ. ๑/๘๔-๘๙/
๑๗๓-๑๗๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๙๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่ถือมั่น แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น อธิบายว่า
สมณพราหมณ์เหล่าอื่น ถือ ยึดมั่น ถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ
มุนีผู้เป็นพระอรหันต์วางเฉย ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น รวมความว่า ไม่ถือมั่น
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดในโลกนี้แล้ว
เมื่อคนเกิดวิวาทกันแล้ว ก็ไม่เข้าไปเป็นฝักเป็นฝ่าย
เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ มุนีนั้นเป็นผู้สงบ วางเฉย ไม่ถือมั่น
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น
[๑๔๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีละอาสวะเก่า ไม่ก่ออาสวะใหม่
ไม่ดำเนินไปตามความพอใจ
ทั้งไม่มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
มุนีนั้นเป็นนักปราชญ์ พ้นขาดแล้วจากทิฏฐิทั้งหลาย
ติเตียนตนเองไม่ได้ ไม่ติดอยู่ในโลก
คำว่า มุนีละอาสวะเก่า ไม่ก่ออาสวะใหม่ อธิบายว่า รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ ที่เป็นอดีต ตรัสเรียกว่า อาสวะเก่า กิเลสเหล่าใด พึงเกิดขึ้นเพราะ
ปรารภสังขารที่เป็นอดีต มุนีละ คือ สละ สลัด ละทิ้ง บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกิเลสเหล่านั้นแล้ว รวมความว่า ละอาสวะเก่า
คำว่า ไม่ก่ออาสวะใหม่ อธิบายว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่
เป็นปัจจุบัน ตรัสเรียกว่า อาสวะใหม่ มุนีไม่ก่อความพอใจ ไม่ก่อความรัก ไม่ก่อ
ความกำหนัด เพราะปรารภสังขารที่เป็นปัจจุบัน คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้
บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้น รวมความว่า มุนีละอาสวะเก่า ไม่ก่ออาสวะใหม่
คำว่า ไม่ดำเนินไปตามความพอใจ ในคำว่า ไม่ดำเนินไปตามความพอใจ
ทั้งไม่มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น อธิบายว่า ไม่ถึงฉันทาคติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึง
โมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ คือ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจราคะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจ
โทสะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจโมหะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจมานะ ไม่ดำเนินไปตาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๙๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
อำนาจทิฏฐิ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจอุทธัจจะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจวิจิกิจฉา ไม่
ดำเนินไปตามอำนาจอนุสัย ได้แก่ ไม่ไป คือ ไม่ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไป
ด้วยธรรมที่ก่อความเป็นฝักเป็นฝ่าย รวมความว่า ไม่ดำเนินไปตามความพอใจ
คำว่า ทั้งไม่มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น อธิบายว่า ไม่มีปกติกล่าวด้วย
ความเชื่อมั่นว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” ไม่มีปกติกล่าวด้วย
ความเชื่อมั่นว่า “โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ... หลังจากตายแล้ว
ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ”
รวมความว่า ไม่ดำเนินไปตามความพอใจ ทั้งไม่มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
คำว่า มุนีนั้นเป็นนักปราชญ์ พ้นขาดแล้วจากทิฏฐิทั้งหลาย อธิบายว่า
ทิฏฐิ ๖๒ มุนีนั้นละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้
เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว มุนีนั้นพ้นขาดแล้ว คือ ไม่เกี่ยวข้องกับทิฏฐิ
ทั้งหลาย มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่
คำว่า เป็นนักปราชญ์ ได้แก่ เป็นนักปราชญ์ คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา
มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส
รวมความว่า มุนีนั้นเป็นนักปราชญ์ พ้นขาดแล้วจากทิฏฐิทั้งหลาย

ว่าด้วยเหตุที่ติเตียนมี ๒ อย่าง
คำว่า ติเตียนตนเองไม่ได้ ไม่ติดอยู่ในโลก อธิบายว่า
คำว่า ความติด ได้แก่ ความติด ๒ อย่าง คือ (๑) ความติดด้วยอำนาจตัณหา
(๒) ความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ... นี้ชื่อว่าความติดด้วยอำนาจตัณหา... นี้ชื่อว่าความ
ติดด้วยอำนาจทิฏฐิ
มุนีนั้นละความติดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ
ได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละความติดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ
ได้แล้ว เป็นผู้ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิเข้าไปติด จึงไม่ติด ไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติด ใน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๙๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
อบายโลก ... มนุษยโลก ... เทวโลก ... ขันธโลก ... ธาตุโลก ... อายตนโลก คือ
เป็นผู้ไม่ติดแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ไม่เข้าไปติดแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว
ไม่เกี่ยวข้องแล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า ไม่ติดอยู่ในโลก
คำว่า ติเตียนตนเองไม่ได้ อธิบายว่า มุนีย่อมติเตียนตนเพราะเหตุ ๒ อย่าง
คือ (๑) เพราะทำ (๒) เพราะไม่ทำ
มุนีย่อมติเตียนตนเพราะทำและเพราะไม่ทำ เป็นอย่างไร
คือ มุนีย่อมติเตียนตนว่า “เราทำกายทุจริต ไม่ทำกายสุจริต... เราทำวจีทุจริต...
เราทำมโนทุจริต... เราทำปาณาติบาต... เราทำมิจฉาทิฏฐิ ไม่ทำสัมมาทิฏฐิ” มุนีชื่อว่า
ย่อมติเตียนตนเพราะทำและเพราะไม่ทำ เป็นอย่างนี้
อีกนัยหนึ่ง มุนีย่อมติเตียนตนว่า “เราไม่รักษาศีลให้บริบูรณ์ ไม่สำรวมในอินทรีย์
ทั้ง ๖ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ไม่ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เสมอ
ไม่หมั่นประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่เจริญสติปัฏฐาน ๔ ไม่เจริญสัมมัปปธาน ๔
ไม่เจริญอิทธิบาท ๔ ไม่เจริญอินทรีย์ ๕ ไม่เจริญพละ ๕ ไม่เจริญโพชฌงค์ ๗ ไม่
เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่กำหนดรู้ทุกข์ ไม่ละทุกขสมุทัย ไม่เจริญมรรค ไม่ทำให้
แจ้งนิโรธ” มุนีชื่อว่าย่อมติเตียนตนเพราะทำและเพราะไม่ทำ เป็นอย่างนี้
มุนีไม่ทำ คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นซึ่งกรรมที่
ติเตียนตน จึงชื่อว่าติเตียนตนเองไม่ได้ ด้วยอาการอย่างนี้ รวมความว่า ติเตียนตน
เองไม่ได้ ไม่ติดอยู่ในโลก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีละอาสวะเก่า ไม่ก่ออาสวะใหม่
ไม่ดำเนินไปตามความพอใจ
ทั้งไม่มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
มุนีนั้นเป็นนักปราชญ์ พ้นขาดแล้วจากทิฏฐิทั้งหลาย
ติเตียนตนเองไม่ได้ ไม่ติดอยู่ในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๙๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
[๑๔๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้ว่า)
มุนีนั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง
คือรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
มุนีนั้นเป็นผู้ปลงภาระลงแล้ว พ้นขาดแล้ว
ไม่มีความกำหนด ไม่เข้าไปยินดี ไม่มีความปรารถนา
คำว่า มุนีนั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง คือ รูปที่เห็น เสียงที่
ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เสนามาร ตรัสเรียกว่า
เสนา กายทุจริต ชื่อว่าเสนามาร วจีทุจริต ชื่อว่าเสนามาร มโนทุจริต ชื่อว่า
เสนามาร ราคะ... โทสะ... โมหะ... โกธะ... อุปนาหะ... มักขะ... ปฬาสะ... อิสสา...
มัจฉริยะ... มายา... สาเถยยะ... ถัมภะ... สารัมภะ... มานะ... อติมานะ... มทะ...
ปมาทะ... กิเลสทุกชนิด... ทุจริตทุกทาง... ความกระวนกระวายทุกอย่าง... ความ
เร่าร้อนทุกสถาน... ความเดือดร้อนทุกประการ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ชื่อว่า
เสนามาร สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
กิเลสกามเราเรียกว่าเสนากองที่ ๑ ของท่าน
ความไม่ยินดีเราเรียกว่าเสนากองที่ ๒ ของท่าน
ความหิวกระหายเราเรียกว่าเสนากองที่ ๓ ของท่าน
ตัณหาเราเรียกว่าเสนากองที่ ๔ ของท่าน
ถีนมิทธะเราเรียกว่าเสนากองที่ ๕ ของท่าน
ความกลัวเราเรียกว่าเสนากองที่ ๖ ของท่าน
วิจิกิจฉาเราเรียกว่าเสนากองที่ ๗ ของท่าน
มักขะและถัมภะเราเรียกว่าเสนากองที่ ๘ ของท่าน
ลาภ ความสรรเสริญ สักการะและยศที่ได้มาผิด ๆ
เราเรียกว่าเสนากองที่ ๙ ของท่าน
การยกตนและข่มผู้อื่นเราเรียกว่าเสนากองที่ ๑๐ ของท่าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๙๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
มารเอ๋ย เสนาของท่านนี้ มีปกติประหารผู้มีธรรมดำ
คนขลาดเอาชนะเสนานั้นไม่ได้
แต่คนกล้า ครั้นชนะได้แล้วย่อมได้ความสุข๑
เมื่อใด เสนามารทั้งหมด และกิเลสที่สร้างเสนาฝ่ายตรงข้ามทั้งปวง ถูกมุนี
พิชิตและทำให้ปราชัย ถูกทำลาย กำจัด ทำให้ไม่สู้หน้าแล้วด้วยอริยมรรค ๔
เมื่อนั้น มุนีนั้นตรัสเรียกว่า เป็นผู้กำจัดเสนา คือ เป็นผู้กำจัดเสนาในรูปที่เห็น
กำจัดเสนาในเสียงที่ได้ยิน กำจัดเสนาในอารมณ์ที่รับรู้ และกำจัดเสนาในธรรมารมณ์
ที่รู้แจ้งแล้ว รวมความว่า มุนีนั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง คือ รูปที่เห็น
เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง

ว่าด้วยภาระ ๓ อย่าง
คำว่า มุนีนั้น เป็นผู้ปลงภาระลงแล้ว พ้นขาดแล้ว อธิบายว่า
คำว่า ภาระ ได้แก่ ภาระ ๓ อย่าง คือ (๑) ขันธภาระ (๒) กิเลสภาระ
(๓) อภิสังขารภาระ
ขันธภาระ เป็นอย่างไร
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในปฏิสนธิ นี้ชื่อว่าขันธภาระ
กิเลสภาระ เป็นอย่างไร
คือ ราคะ โทสะ โมหะ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท นี้ชื่อว่ากิเลสภาระ
อภิสังขารภาระ เป็นอย่างไร
คือ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร นี้ชื่อว่าอภิสังขารภาระ
เมื่อใดขันธภาระ กิเลสภาระ และอภิสังขารภาระ มุนีละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ เมื่อนั้น มุนีนั้นตรัสเรียกว่า เป็นผู้ปลงภาระลงแล้ว คือ ผู้มีภาระ
ตกไปแล้ว มีภาระอันปลดแล้ว มีภาระอันปล่อยแล้ว มีภาระอันวางแล้ว มีภาระ
อันระงับแล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๔๓๙-๔๔๒/๔๑๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๙๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
ว่าด้วยโมเนยยธรรม ๓ ประการ
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด
ความวิจัย ความเลือกเฟ้น ความสอดส่องธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไป
กำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้
อย่างแจ่มแจ้ง ความคิดค้น ความใคร่ครวญ ปัญญาดุจแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลาย
กิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ปัญญาเครื่องเห็นแจ้ง ความรู้ดี ปัญญาดุจปฏัก ปัญญา
ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาดุจศัสตรา ปัญญาดุจปราสาท ความสว่างคือปัญญา
แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาดุจดวงประทีป ปัญญาดุจดวงแก้ว ความไม่หลงงมงาย
ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ผู้ที่ประกอบด้วยญาณนั้น ชื่อว่ามุนี คือ ผู้บรรลุ
โมนญาณแล้ว โมเนยยธรรม ๓ ประการ คือ (๑) โมเนยยธรรมทางกาย (๒) โมเนยย
ธรรมทางวาจา (๓) โมเนยยธรรมทางใจ
โมเนยยธรรมทางกาย เป็นอย่างไร
คือ การละกายทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย กายสุจริต ๓ อย่าง
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย ญาณมีกายเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย
กายปริญญา(การกำหนดรู้กาย) ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย มรรคที่สหรคตด้วย
ปริญญา ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ในกาย ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย ความดับแห่งกายสังขาร การบรรลุจตุตถฌาน
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางกาย
โมเนยยธรรมทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ การละวจีทุจริต ๔ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา วจีสุจริต ๔ อย่าง
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา ญาณมีวาจาเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา
วาจาปริญญา(การกำหนดรู้วาจา) ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา มรรคที่สหรคตด้วย
ปริญญา ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ในวาจา ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา ความดับแห่งวจีสังขาร การบรรลุทุติยฌาน
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๓๙๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
โมเนยยธรรมทางใจ เป็นอย่างไร
คือ การละมโนทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ มโนสุจริต ๓ อย่าง
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ ญาณมีใจเป็นอารมณ์ ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ จิตต-
ปริญญา(การกำหนดรู้จิต) ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ มรรคที่สหรคตด้วยปริญญา
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในจิต ชื่อว่า
โมเนยยธรรมทางใจ ความดับแห่งจิตตสังขาร การบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ
ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ นี้ชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลผู้เป็นมุนีทางกาย
เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ผู้ไม่มีอาสวะ
ว่าเป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยโมเนยยธรรม ละกิเลสทั้งปวงได้
บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลผู้เป็นมุนีทางกาย
เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ผู้ไม่มีอาสวะ
ว่าเป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยโมเนยยธรรม ล้างบาปได้แล้ว๑
มุนีผู้ประกอบด้วยโมเนยยธรรม ๓ ประการเหล่านี้ มี ๖ จำพวก คือ

๑. อาคารมุนี ๒. อนาคารมุนี
๓. เสขมุนี ๔. อเสขมุนี
๕. ปัจเจกมุนี ๖. มุนิมุนี

อาคารมุนี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้ครองเรือน เห็นทาง(นิพพาน)แล้ว รู้แจ้งหลักคำสอนแล้ว เหล่านี้
ชื่อว่าอาคารมุนี
อนาคารมุนี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้เป็นบรรพชิต เห็นทาง(นิพพาน)แล้ว รู้แจ้งหลักคำสอนแล้ว เหล่านี้
ชื่อว่าอนาคารมุนี

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.อิติ. ๒๕/๖๗/๒๘๒, ขุ.จู. ๓๐/๒๑/๗๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๐๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
พระเสขะ ๗ จำพวก ชื่อว่าเสขมุนี
พระอรหันต์ทั้งหลาย ชื่อว่าอเสขมุนี
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าปัจเจกมุนี
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่ามุนิมุนี
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
บุคคลโง่เขลาไม่รู้อะไร เพียงแต่นั่งนิ่ง ๆ หาชื่อว่าเป็นมุนีไม่
ส่วนบุคคลผู้ฉลาด เลือกชั่งเอาแต่สิ่งที่ดี ละทิ้งสิ่งที่ชั่ว
เหมือนบุคคลชั่งสิ่งของ จึงจะชื่อว่า เป็นมุนีแท้
ผู้ที่รู้โลกทั้ง ๒ ก็เรียกว่า เป็นมุนี๑(เช่นกัน)
ผู้รู้ธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ
ทั้งภายในและภายนอก ในโลกทั้งปวง
เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง
และตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๒
คำว่า พ้นขาดแล้ว อธิบายว่า จิตของมุนีหลุด พ้น หลุดพ้นดีแล้วจากราคะ...
จิตของมุนีหลุด พ้น หลุดพ้นดีแล้วจากโทสะ... จากโมหะ... จากอกุสลาภิสังขาร
ทุกประเภท รวมความว่า มุนีนั้นเป็นผู้ปลงภาระลงแล้ว พ้นขาดแล้ว
คำว่า ความกำหนด ในคำว่า ไม่มีความกำหนด ไม่เข้าไปยินดี ไม่มีความ
ปรารถนา ได้แก่ ความกำหนด ๒ อย่าง คือ (๑) ความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา
(๒) ความกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ... นี้ชื่อว่าความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา... นี้ชื่อ
ว่าความกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ๓

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ธ. ๒๕/๒๖๘-๒๖๙/๖๓
๒ ขุ.สุ. ๒๕/๕๓๓/๔๓๘
๓ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙, ขุ.จู. ๓๐/๒๑/๗๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๐๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
มุนีนั้นละความกำหนดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งความ
กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว มุนีจึงไม่กำหนด คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้
บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นซึ่งความกำหนดด้วยอำนาจตัณหา หรือความกำหนดด้วย
อำนาจทิฏฐิ รวมความว่า ไม่มีความกำหนด
คำว่า ไม่เข้าไปยินดี อธิบายว่า พาลปุถุชนทุกจำพวกย่อมกำหนัด
พระเสขะ ๗ จำพวก รวมทั้งกัลยาณปุถุชนย่อมยินดี ยินดียิ่ง ยินดีเฉพาะเพื่อถึง
ธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังมิได้ทำให้แจ้ง
พระอรหันต์เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง พึงมีใจ
เป็นอิสระ (จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า ไม่มีความกำหนด ไม่เข้าไปยินดี
คำว่า ไม่มีความปรารถนา อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความปรารถนา
คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑
ตัณหาที่เรียกว่าความปรารถนานี้ มุนีใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้
สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว มุนีนั้น
ตรัสเรียกว่า ไม่มีความปรารถนา

อธิบายคำว่า ภควา
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโทสะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโมหะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายมานะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายทิฏฐิได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๐๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายเสี้ยนหนามได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายกิเลสได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงจำแนก แยกแยะ แจกแจงธรรมรัตนะ
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำที่สุดแห่งภพได้
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมพระวรกายแล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงใช้สอยเสนาสนะที่เป็นป่าละเมาะและป่าทึบ
อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็น
สถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส
อธิสีล อธิจิต อธิปัญญา จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา๑ ๔
อรูปสมาบัติ๒ ๔ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งวิโมกข์๓ ๘ อภิภายตนะ ๘
อนุปุพพวิหารสมาบัติ๔ ๙ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
๑ อัปปมัญญา ๔ คือธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐและปฏิบัติต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบไม่มีขอบเขต
ได้แก่ (๑) เมตตา (๒) กรุณา (๓) มุทิตา (๔) อุเบกขา (ที.ปา. ๑๑/๓๐๘/๒๐๐)
๒ อรูปสมาบัติ ๔ ดูเชิงอรรถข้อ ๖/๒๖
๓ วิโมกข์ ๘ ได้แก่ภาวะที่จิตปลอดพ้นจากสิ่งรบกวนและน้อมดิ่งเข้าไปในอารมณ์นั้น ๆ อย่างปล่อยตัวเต็มที่
ซึ่งเป็นไปในขั้นตอนต่าง ๆ เช่น ผู้มีรูป มองเห็นรูปทั้งหลาย (ได้แก่ รูปฌาน ๔ ของผู้ได้ฌานโดยเจริญ
กสิณที่กำหนดวัตถุในกายของตน เช่น สีผม) เป็นต้น (ที.ปา. ๑๑/๓๓๙/๒๓๑)
๔ อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ คือธรรมเครื่องอยู่ที่ประณีตต่อกันขึ้นไปโดยลำดับ ได้แก่ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔
และสัญญาเวทยิตนิโรธ ๑ (ที.ปา. ๑๑/๓๔๓/๒๓๔-๒๓๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๐๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสัญญาภาวนา๑ ๑๐
กสิณสมาบัติ ๑๐ อานาปานสติสมาธิ อสุภสมาบัติ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ จึงชื่อว่า
พระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ ๑๐
เวสารัชชญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
พระนามว่า พระผู้มีพระภาค นี้ มิใช่พระชนนีทรงตั้ง มิใช่พระชนกทรงตั้ง
มิใช่พระภาดาทรงตั้ง มิใช่พระภคินีทรงตั้ง มิใช่มิตรและอำมาตย์ตั้ง มิใช่พระญาติ
และผู้ร่วมสายโลหิตทรงตั้ง มิใช่สมณพราหมณ์ตั้ง มิใช่เทวดาตั้ง
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม(พระนามในลำดับการบรรลุ
อรหัตตผล) เป็นสัจฉิกาบัญญัติ(บัญญัติที่เกิดเพราะทรงรู้แจ้งอรหัตตผล) ของพระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมกับการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่โคนต้นโพธิ์
รวมความว่า ไม่มีความกำหนด ไม่เข้าไปยินดี ไม่มีความปรารถนา ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีนั้น เป็นผู้กำจัดเสนาในธรรมทั้งปวง
คือรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
มุนีนั้นเป็นผู้ปลงภาระลงแล้ว พ้นขาดแล้ว
ไม่มีความกำหนด ไม่เข้าไปยินดี ไม่มีความปรารถนา
มหาวิยูหสุตตนิทเทสที่ ๑๓ จบ

เชิงอรรถ :
๑ สัญญาภาวนา ๑๐ แนวความคิดความเข้าใจ สำหรับใช้กำหนดพิจารณาในการเจริญกัมมัฏฐาน ได้แก่
(๑) อนิจจสัญญา (๒) อนัตตสัญญา (๓) อสุภสัญญา
(๔) อาทีนวสัญญา (๕) ปหานสัญญา (๖) วิราคสัญญา
(๗) นิโรธสัญญา (๘) สัพพโลเก อนภิรตสัญญา
(๙) สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา (๑๐) อานาปานสติ (องฺ.ทสก. ๒๔/๖๐/๘๖-๘๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๐๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส๑
อธิบายตุวฏกสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้กำจัดบาปธรรมอย่างเร็วพลัน
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายตุวฏกสูตร ดังต่อไปนี้
[๑๕๐] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ผู้มีวิเวก มีสันติบท
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ว่า ภิกษุเห็นอย่างไร
จึงไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ดับไป

ว่าด้วยการถาม ๓ อย่าง
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์
อธิบายว่า
คำว่า ทูลถาม ได้แก่ การถาม ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น
๒. การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
๓. การถามเพื่อตัดความสงสัย
การถามเพื่อทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติลักษณะใด ตนยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังมิได้เทียบเคียง ยังมิได้
พิจารณา ยังมิได้ทำให้กระจ่าง ยังมิได้ทำให้แจ่มแจ้ง ก็ถามปัญหาเพื่อรู้ เพื่อเห็น
เพื่อเทียบเคียง เพื่อพิจารณา เพื่อทำให้ลักษณะนั้นแจ่มแจ้ง นี้ชื่อว่าการถามเพื่อ
ทำให้ชัดเจนในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๙๒๒-๙๔๑/๕๑๔-๕๑๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๐๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติลักษณะใด ตนรู้ เห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง
ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว ก็ถามปัญหา เพื่อเทียบเคียงลักษณะนั้นกับบัณฑิตอื่น นี้ชื่อว่า
การถามเพื่อเทียบเคียงในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
การถามเพื่อตัดความสงสัย เป็นอย่างไร
คือ โดยปกติบุคคลเป็นผู้แล่นไปสู่ความสงสัย แล่นไปสู่ความเคลือบแคลง
เกิดความคิดเป็น ๒ แง่ว่า “เป็นอย่างนี้หรือไม่หนอ เป็นอะไรหรือ เป็นอย่างไรหนอ”
เขาก็ถามปัญหา เพื่อตัดความสงสัย นี้ชื่อว่าการถามเพื่อตัดความสงสัย เหล่านี้
ชื่อว่าการถาม ๓ อย่าง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามของมนุษย์ ๒. การถามของอมนุษย์
๓. การถามของรูปเนรมิต
การถามของมนุษย์ เป็นอย่างไร
คือ พวกมนุษย์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าแล้ว ทูลถามปัญหา คือ พวก
ภิกษุก็ทูลถาม ภิกษุณีก็ทูลถาม อุบาสกก็ทูลถาม อุบาสิกาก็ทูลถาม พระราชาก็ทูล
ถาม กษัตริย์ก็ทูลถาม พราหมณ์ก็ทูลถาม แพศย์ก็ทูลถาม ศูทรก็ทูลถาม คฤหัสถ์ก็
ทูลถาม บรรพชิตก็ทูลถาม นี้ชื่อว่าการถามของมนุษย์
การถามของอมนุษย์ เป็นอย่างไร
คือ พวกอมนุษย์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าแล้ว ทูลถามปัญหา คือ พวก
นาคก็ทูลถาม ครุฑก็ทูลถาม ยักษ์ก็ทูลถาม อสูรก็ทูลถาม คนธรรพ์ก็ทูลถาม
ท้าวมหาราชก็ทูลถาม พระอินทร์ก็ทูลถาม พระพรหมก็ทูลถาม เทวดาก็ทูลถาม
นี้ชื่อว่าการถามของอมนุษย์
การถามของรูปเนรมิต เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงเนรมิตพระรูปใด ซึ่งสำเร็จด้วยพระทัย มีอวัยวะน้อย
ใหญ่ครบทุกอย่าง มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง พระรูปเนรมิตนั้น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
พุทธเจ้าแล้ว ก็ทูลถามปัญหา พระผู้มีพระภาคทรงวิสัชนา นี้ชื่อว่าการถามของรูป
เนรมิต เหล่านี้ชื่อว่าการถามอีก ๓ อย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๐๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อประโยชน์ตน
๒. การถามเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
๓. การถามเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อประโยชน์ในภพปัจจุบัน
๒. การถามเพื่อประโยชน์ในภพหน้า
๓. การถามเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามเพื่อประโยชน์ที่ไม่มีโทษ
๒. การถามเพื่อประโยชน์ที่ปราศจากกิเลส
๓. การถามเพื่อประโยชน์ที่ผุดผ่อง
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงอดีต ๒. การถามถึงอนาคต
๓. การถามถึงปัจจุบัน
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงเรื่องภายใน ๒. การถามถึงเรื่องภายนอก
๓. การถามถึงเรื่องทั้งภายในและภายนอก
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงกุศลธรรม ๒. การถามถึงอกุศลธรรม
๓. การถามถึงอัพยากตธรรม
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงขันธ์ ๒. การถามถึงธาตุ
๓. การถามถึงอายตนะ
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงสติปัฏฐาน ๒. การถามถึงสัมมัปปธาน
๓. การถามถึงอิทธิบาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๐๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงอินทรีย์ ๒. การถามถึงพละ
๓. การถามถึงโพชฌงค์
การถามอีก ๓ อย่าง คือ
๑. การถามถึงมรรค ๒. การถามถึงผล
๓. การถามถึงนิพพาน
คำว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ อธิบายว่า ข้าพระองค์ขอทูลถาม
พระองค์ คือ ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้ประกาศว่า “ขอโปรดตรัสบอกข้อนั้นแก่
ข้าพระองค์เถิด” รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
คำว่า ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ อธิบายว่า พระสุริยะ ตรัสเรียกว่า
พระอาทิตย์ พระสุริยะชื่อว่าเป็นพระโคดมโดยพระโคตร แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรง
เป็นพระโคดมโดยพระโคตร พระผู้มีพระภาคจึงทรงปรากฏโดยโคตรพระอาทิตย์ คือ
ทรงเป็นเผ่าพันธุ์โดยโคตรพระอาทิตย์ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงชื่อว่าผู้ทรงเป็น
เผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ รวมความว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์ ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์
พระอาทิตย์

ว่าด้วยวิเวก ๓ อย่าง
คำว่า ผู้มีวิเวก มีสันติบท ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า
คำว่า วิเวก ได้แก่ วิเวก ๓ อย่าง คือ
๑. กายวิเวก ๒. จิตตวิเวก
๓. อุปธิวิเวก
กายวิเวก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมใช้สอยเสนาสนะที่สงัด คือ ป่า โคนต้นไม้ ภูเขา
ซอกเขา ช่องเขา สุสาน ป่าดงดิบ กลางแจ้ง ลอมฟาง และมีกายสงัดอยู่ คือ เดิน
รูปเดียว ยืนรูปเดียว นั่งรูปเดียว นอนรูปเดียว เข้าหมู่บ้านบิณฑบาตรูปเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๐๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
กลับรูปเดียว นั่งในที่ลับรูปเดียว อธิษฐานจงกรมรูปเดียว เที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว
เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปรูปเดียว นี้ชื่อว่ากายวิเวก
จิตตวิเวก เป็นอย่างไร
คือ ผู้บรรลุปฐมฌานย่อมมีจิตสงัดจากนิวรณ์ ผู้บรรลุทุติยฌานย่อมมีจิตสงัด
จากวิตกและวิจาร ผู้บรรลุตติยฌานย่อมมีจิตสงัดจากปีติ ผู้บรรลุจตุตถฌานย่อมมี
จิตสงัดจากสุขและทุกข์ ผู้บรรลุอากาสานัญจายตนสมาบัติ ย่อมมีจิตสงัดจาก
รูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา ผู้บรรลุวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ย่อมมีจิต
สงัดจากอากาสานัญจายตนสัญญา ผู้บรรลุอากิญจัญญายตนสมาบัติ ย่อมมีจิตสงัด
จากวิญญาณัญจายตนสัญญา ผู้บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ย่อมมีจิต
สงัดจากอากิญจัญญายตนสัญญา
ผู้เป็นพระโสดาบัน ย่อมมีจิตสงัดจากสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส
ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับสักกายทิฏฐิเป็นต้นนั้น
ผู้เป็นพระสกทาคามี ย่อมมีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ อย่าง
หยาบ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างหยาบ และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับ
กามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น
ผู้เป็นพระอนาคามี ย่อมมีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ อย่าง
ละเอียด กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างละเอียด และเหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียว
กับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น
ผู้เป็นพระอรหันต์ ย่อมมีจิตสงัดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ
อวิชชา มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย เหล่ากิเลสที่อยู่ในพวกเดียวกับ
รูปราคะเป็นต้นนั้น และสังขารนิมิตทั้งปวงในภายนอก นี้ชื่อว่าจิตตวิเวก
อุปธิวิเวก เป็นอย่างไร
คือ กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี ตรัสเรียกว่า อุปธิ อมตนิพพาน ตรัส
เรียกว่า อุปธิวิเวก คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด
เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท นี้ชื่อว่า
อุปธิวิเวก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๐๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
กายวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออกแล้ว ยินดีในเนกขัมมะ จิตตวิเวก
ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงความเป็นผู้ผ่องแผ้วยิ่ง และอุปธิวิเวก ย่อมมีแก่
บุคคลผู้ปราศจากอุปธิ บรรลุนิพพานอันปราศจากปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
คำว่า สันติ อธิบายว่า ทั้งสันติ และสันติบท มีความหมายอย่างเดียวกัน
สันติบทนั้นนั่นเองคือ อมตนิพพาน ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัด
ทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่
สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็น
สนิท นี้เป็นบทสงบ เป็นบทประณีต
อีกนัยหนึ่ง โดยความหมายต่างกัน ธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อบรรลุความสงบ
ถูกต้องความสงบ ทำให้แจ้งความสงบ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ธรรมเหล่านี้
ตรัสเรียกว่า สันติบท(ทางสงบ) ตาณบท(ทางปกป้อง) เลณบท(ทางหลีกเร้น)
สรณบท(ทางเป็นที่พึ่ง) อภยบท(ทางไม่มีภัย) อัจจุตบท(ทางที่ไม่จุติ) อมตบท(ทาง
อมตธรรม) นิพพานบท(ทางนิพพาน)
คำว่า ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้แก่ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงแสวงหาคุณ
อันยิ่งใหญ่ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา คือ ค้นหา เสาะหา สีลขันธ์ใหญ่
จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา คือ ค้นหา เสาะหา สมาธิขันธ์ใหญ่... ปัญญา-
ขันธ์ใหญ่... วิมุตติขันธ์ใหญ่... วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ใหญ่ จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวงหา
คุณอันยิ่งใหญ่
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา คือ ค้นหา เสาะหาเครื่องทำลายกองความ
มืดใหญ่ เครื่องทำลายความวิปลาสใหญ่ เครื่องถอนลูกศรคือตัณหาใหญ่ เครื่อง
ปลดเปลื้องโครงทิฏฐิใหญ่ เครื่องกำจัดธงคือมานะใหญ่ เครื่องเข้าไปสงบอภิสังขาร
ใหญ่ เครื่องปิดกั้นโอฆะใหญ่ เครื่องวางภาระใหญ่ เครื่องตัดสังสารวัฏใหญ่ เครื่อง
ดับความเดือดร้อนใหญ่ เครื่องระงับความเร่าร้อนใหญ่ เครื่องยกธงคือธรรมใหญ่
จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๑๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา คือ ค้นหา เสาะหาสติปัฏฐานใหญ่ สัมมัปปธาน
ใหญ่ อิทธิบาทใหญ่ อินทรีย์ใหญ่ พละใหญ่ โพชฌงค์ใหญ่ อริยมรรคมีองค์ ๘ ใหญ่
ปรมัตถอมตนิพพานใหญ่ จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่เหล่าสัตว์มเหศักดิ์แสวงหา คือ ค้นหา
เสาะหาว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ไหน พระผู้
ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพประทับอยู่ที่ไหน พระผู้ทรงองอาจกว่านรชนประทับอยู่ที่ไหน
จึงชื่อว่าผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ รวมความว่า ผู้มีวิเวก มีสันติบท ทรงแสวงหา
คุณอันยิ่งใหญ่
คำว่า ภิกษุเห็นอย่างไร... ดับไป อธิบายว่า ภิกษุเห็น คือ แลเห็น เทียบเคียง
พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้ง อย่างไร จึงทำให้ราคะของตนดับไป ทำให้
โทสะของตนดับไป ทำให้โมหะของตนดับไป ทำให้โกธะ... อุปนาหะ... มักขะ... ปฬาสะ...
อิสสา... มัจฉริยะ... มายา... สาเถยยะ... ถัมภะ... สารัมภะ... มานะ... อติมานะ...
มทะ... ปมาทะ... กิเลสทุกชนิด... ทุจริตทุกทาง... ความกระวนกระวายทุกอย่าง...
ความเร่าร้อนทุกสถาน... ความเดือดร้อนทุกประการ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท
ดับไป คือ ทำให้สงบ ให้เข้าไปสงบ ให้สงบเย็น ระงับเสียได้
คำว่า ภิกษุ ได้แก่ ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือ ภิกษุผู้เป็นพระเสขะ รวม
ความว่า ภิกษุเห็นอย่างไร... ดับไป
คำว่า จึงไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ได้แก่ ไม่ถือมั่น คือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น
ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ๔
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า อะไร ๆ ได้แก่ อะไร ๆ ที่เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
รวมความว่า จึงไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ด้วยเหตุนั้น พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ผู้มีวิเวก มีสันติบท
ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ว่า ภิกษุเห็นอย่างไร
จึงไม่ถือมั่นอะไร ๆ ในโลก ดับไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๑๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
[๑๕๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบ ดังนี้)
ภิกษุพึงขจัดบาปธรรมทั้งปวง ที่เป็นรากเหง้า
ของส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้าและอัสมิมานะด้วยมันตา
ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดในภายใน
ภิกษุมีสติทุกเมื่อ พึงศึกษาเพื่อกำจัดตัณหาเหล่านั้น

ว่าด้วยธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า
คำว่า ภิกษุพึงขจัดบาปธรรมทั้งปวง ที่เป็นรากเหง้าของส่วนแห่งธรรมเป็น
เครื่องเนิ่นช้าและอัสมิมานะด้วยมันตา อธิบายว่า ธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า
นั่นแหละ ชื่อว่าส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า คือ ส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า
คือตัณหา ส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้าคือทิฏฐิ
รากเหง้าแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้าคือตัณหา คืออะไร
คือ อวิชชา(ความไม่รู้) อโยนิโสมนสิการ(ความไม่ทำไว้ในใจโดยแยบคาย)
อัสมิมานะ(ความถือตัว) อหิริกะ(ความไม่ละอาย) อโนตตัปปะ(ความไม่เกรงกลัว)
อุทธัจจะ(ความฟุ้งซ่าน) นี้ชื่อว่ารากเหง้าแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้าคือตัณหา
รากเหง้าแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้าคือทิฏฐิ คืออะไร
คือ อวิชชา อโยนิโสมนสิการ อัสมิมานะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ
นี้ชื่อว่ารากเหง้าแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้าคือทิฏฐิ
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโทสะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโมหะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายมานะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายทิฏฐิได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายเสี้ยนหนามได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายกิเลสได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๑๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงจำแนก แยกแยะ แจกแจงธรรมรัตนะ
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำที่สุดแห่งภพได้
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมพระวรกายแล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงใช้สอยเสนาสนะ ที่เป็นป่าละเมาะและป่าทึบ
อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็น
สถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส
อธิสีล อธิจิต อธิปัญญา จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔
อรูปสมาบัติ ๔ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ ๘
อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๑๐
กสิณสมาบัติ ๑๐ อานาปานสติสมาธิ อสุภสมาบัติ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ จึงชื่อว่า
พระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ ๑๐
เวสารัชชญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
พระนามว่า พระผู้มีพระภาคนี้ มิใช่พระชนนีทรงตั้ง มิใช่พระชนกทรงตั้ง มิใช่
พระภาดาทรงตั้ง มิใช่พระภคินีทรงตั้ง มิใช่มิตรและอำมาตย์ตั้ง มิใช่พระญาติและ
ผู้ร่วมสายโลหิตทรงตั้ง มิใช่สมณพราหมณ์ตั้ง มิใช่เทวดาตั้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๑๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า พระผู้มีพระภาคนี้ เป็นวิโมกขันติกนาม เป็นสัจฉิกาบัญญัติ ของพระ-
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมกับการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่โคนต้นโพธิ์
รวมความว่า ภิกษุพึงขจัดบาปธรรมทั้งปวง ที่เป็นรากเหง้าของส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่อง
เนิ่นช้า
คำว่า พึงขจัดบาปธรรมทั้งปวง... อัสมิมานะด้วยมันตา อธิบายว่า ปัญญา
ตรัสเรียกว่า มันตา คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด... ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้น
ธรรม สัมมาทิฏฐิ
คำว่า อัสมิมานะ ได้แก่ มานะว่า “มีเรา” ฉันทะว่า “มีเรา” อนุสัยว่า “มีเรา”
ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
คำว่า ภิกษุพึงขจัดบาปธรรมทั้งปวง ที่เป็นรากเหง้าของส่วนแห่งธรรม
เป็นเครื่องเนิ่นช้าและอัสมิมานะด้วยมันตา อธิบายว่า ภิกษุพึงขจัด คือ เข้าไป
ขจัด ให้ดับ ให้เข้าไปสงบ ให้ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับบาปธรรมทั้งปวง ที่เป็นราก
เหง้าของส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า และอัสมิมานะ ด้วยมันตา รวมความว่า
ภิกษุพึงขจัดบาปธรรมทั้งปวง ที่เป็นรากเหง้าของส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า
และอัสมิมานะด้วยมันตา
คำว่า อย่างใดอย่างหนึ่ง ในคำว่า ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกิดใน
ภายใน ได้แก่ ทุกสิ่งโดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดย
ประการทั้งปวง คำว่า อย่างใดอย่างหนึ่ง นี้เป็นคำกล่าวรวมไว้ทั้งหมด
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา... ธัมมตัณหา
คำว่า ที่เกิดในภายใน ได้แก่ ตัณหาที่เกิดในภายใน จึงชื่อว่าที่เกิดในภายใน
อีกนัยหนึ่ง จิต ตรัสเรียกว่า ที่เกิดในภายใน คือ จิต มโน มานัส หทัย
ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ ที่เกิด
จากผัสสะเป็นต้นนั้น ตัณหานั้นไปพร้อมกัน คือ เกิดร่วมกัน ระคนกัน เกี่ยวเนื่องกัน
เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีวัตถุอย่างเดียวกัน มีอารมณ์อย่างเดียวกันกับจิต
จึงชื่อว่าที่เกิดในภายใน รวมความว่า ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกิดในภายใน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๑๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยผู้มีสติด้วยเหตุ ๔
คำว่า ทุกเมื่อ ในคำว่า ภิกษุมีสติทุกเมื่อ พึงศึกษาเพื่อกำจัดตัณหาเหล่านั้น
ได้แก่ ทุกเมื่อ คือ ในกาลทั้งปวง ตลอดกาลทั้งปวง ตลอดกาลเป็นนิจ ตลอดกาล
ยั่งยืน ตลอดกาลต่อเนื่องกัน ตลอดกาลสืบเนื่องกัน ตลอดกาลติดต่อกัน ตลอดกาล
เป็นลำดับ ตลอดกาลติดต่อกันเหมือนระลอกคลื่น ตลอดกาลเป็นไปต่อเนื่องไม่
ขาดสาย ตลอดกาลสืบต่อกันกระชั้นชิด ตลอดกาลก่อนภัต หลังภัต ตลอดปฐมยาม
มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม ตลอดข้างแรม ข้างขึ้น ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน
ตลอดปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย
๒. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
๓. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต
๔. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย
มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะเว้นจากความเป็นผู้ไม่มีสติ
๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้กระทำสิ่งทั้งหลายที่ควรทำด้วยสติ
๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้กำจัดสิ่งทั้งหลายที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับสติ
๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หลงลืมธรรมทั้งหลายที่เป็นมูลเหตุแห่งสติ
มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยสติ
๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ชำนาญในสติ
๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้คล่องแคล่วในสติ
๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ไม่หวนกลับจากสติ
มีสติด้วยเหตุอีก ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะมีอยู่ตามปกติ
๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้สงบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๑๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ระงับ
๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ
มีสติด้วยเหตุอีก ๑๐ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงพุทธคุณ
๒. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงธรรมคุณ
๓. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงสังฆคุณ
๔. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงศีลที่ตนรักษา
๕. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว
๖. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงคุณธรรมที่ทำคนให้เป็นเทวดา
๗. ชื่อว่ามีสติ เพราะตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
๘. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงความตายที่จะต้องมีเป็นธรรมดา
๙. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกทั่วไปในกาย(ให้เห็นว่าไม่งาม)
๑๐. ชื่อว่ามีสติ เพราะระลึกถึงธรรมที่สงบระงับ(กิเลสและความทุกข์)คือนิพพาน
สติ คือ ความตามระลึกถึง ความระลึกได้เฉพาะหน้า สติ คือ ความระลึกได้
ความจำได้ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ คือ สตินทรีย์(สติที่เป็นใหญ่)
สติพละ(สติที่เป็นกำลัง) สัมมาสติ(ระลึกชอบ) สติสัมโพชฌงค์(สติเป็นองค์แห่งการ
ตรัสรู้ธรรม) เอกายนมรรค(สติที่เป็นทางเอก) นี้แหละ ตรัสเรียกว่าสติ บุคคลนั้น
ผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม
เพียบพร้อมแล้วด้วยสตินี้ ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ
คำว่า พึงศึกษา อธิบายว่า สิกขา ๓ คือ
๑. อธิสีลสิกขา ๒. อธิจิตตสิกขา
๓. อธิปัญญาสิกขา
อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์๑
สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขา

เชิงอรรถ :-
๑ ปาติโมกข์ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๐/๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๑๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
บททั้งหลายอยู่ คือ สีลขันธ์เล็ก สีลขันธ์ใหญ่ ศีลเป็นที่พึ่ง เป็นเบื้องต้น เป็นความ
ประพฤติ เป็นความสำรวม เป็นความระวัง เป็นหัวหน้า เป็นประธานเพื่อความ
ถึงพร้อมแห่งธรรมที่เป็นกุศล นี้ชื่อว่าอธิสีลสิกขา
อธิจิตตสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุข อันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจาร สงบระงับไปแล้ว
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มี
วิจาร มีแต่ปีติและสุขที่เกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไปมีอุเบกขา มีสติ-
สัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า
“ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข” เพราะละสุขและทุกข์ได้แล้ว เพราะโสมนัสและโทมนัส
ดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌาน ที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
นี้ชื่อว่าอธิจิตตสิกขา
อธิปัญญาสิกขา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอันประเสริฐ
หยั่งถึงความเกิดและความดับ เพิกถอนกิเลส ให้บรรลุถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์”
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกขสมุทัย”
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกขนิโรธ”
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “เหล่านี้อาสวะ”
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้อาสวสมุทัย”
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้อาสวนิโรธ”
เธอรู้ตามความเป็นจริงว่า “นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา”
นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
คำว่า ภิกษุมีสติทุกเมื่อ พึงศึกษาเพื่อกำจัดตัณหาเหล่านั้น อธิบายว่า
ภิกษุพึงศึกษาทั้งอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา คือ สิกขา ๓ เหล่านี้
เมื่อภิกษุนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเห็น ชื่อว่าพึงศึกษา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๑๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๓. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
เมื่อพิจารณา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อน้อมใจเชื่อด้วย
ศรัทธา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อตั้งสติ ชื่อว่า
พึงศึกษา เมื่อตั้งใจมั่น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัด
ธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ชื่อว่าพึงศึกษา
เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเจริญธรรมที่ควรเจริญ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อ
ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ก็ชื่อว่าพึงศึกษา คือ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติ
เอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ เพื่อกำจัด คือ บรรเทา ละ สงบ สลัดทิ้ง ระงับ
ตัณหาเหล่านั้น รวมความว่า ภิกษุมีสติทุกเมื่อ พึงศึกษาเพื่อกำจัดตัณหาเหล่านั้น
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
ภิกษุพึงขจัดบาปธรรมทั้งปวง ที่เป็นรากเหง้า
ของส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้าและอัสมิมานะด้วยมันตา
ตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดในภายใน
ภิกษุมีสติทุกเมื่อ พึงศึกษาเพื่อกำจัดตัณหาเหล่านั้น
[๑๕๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ภิกษุพึงรู้คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในภายใน
หรือในภายนอก แต่ไม่ควรทำความดื้อรั้นเพราะคุณธรรมนั้น
เพราะการทำความดื้อรั้นนั้น
ผู้สงบทั้งหลายไม่กล่าวว่า เป็นความดับกิเลส
คำว่า ภิกษุพึงรู้คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในภายใน อธิบายว่า ภิกษุพึง
รู้คุณธรรมของตนอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ คุณธรรมฝ่ายกุศล หรือคุณธรรมฝ่าย
อัพยากฤต๑
คุณธรรมของตน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุเป็นผู้มีความเห็นว่า เราเป็นผู้ออกบวชจากตระกูลสูง ออกบวชจาก
ตระกูลใหญ่ ออกบวชจากตระกูลมีโภคทรัพย์มาก หรือออกบวชจากตระกูลมี

เชิงอรรถ :
๑ อัพยากฤต หมายถึงธรรมที่เป็นกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ หรือไม่ชี้ชัดลงไปว่า
ดีหรือชั่ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๑๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
โภคทรัพย์ยิ่งใหญ่ เป็นผู้มีชื่อเสียงปรากฏ มียศกว่าคฤหัสถ์และบรรพชิต เป็นผู้มี
ปกติได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เป็นผู้ทรงจำ
พระสูตร เป็นผู้ทรงจำพระวินัย เป็นพระธรรมกถึก เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้เที่ยว
บิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับ
ตรอกเป็นวัตร เป็นผู้งดฉันอาหารมื้อหลังเป็นวัตร เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร เป็นผู้
ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร เป็นผู้ได้ปฐมฌาน ได้ทุติยฌาน
ได้ตติยฌาน ได้จตุตถฌาน ได้อากาสานัญจายตนสมาบัติ ... ได้วิญญานัญจายตน-
สมาบัติ... ได้อากิญจัญญายตนสมาบัติ ... หรือ เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตน-
สมาบัติ เหล่านี้ ตรัสเรียกว่า คุณธรรมของตน ภิกษุพึงรู้ คือ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง
รู้เฉพาะ แทงตลอดคุณธรรมของตนอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมความว่า ภิกษุพึงรู้คุณ
ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในภายใน
คำว่า หรือในภายนอก อธิบายว่า คุณธรรมเหล่านั้น เป็นของอุปัชฌาย์ หรือ
อาจารย์ รวมความว่า ในภายในหรือในภายนอก
คำว่า แต่ไม่ควรทำความดื้อรั้นเพราะคุณธรรมนั้น อธิบายว่า ภิกษุไม่ควรทำ
ความดื้อรั้น คือ ไม่พึงทำความดื้อดึง ไม่พึงทำความถือตัว ไม่พึงทำความเย่อหยิ่ง
ไม่พึงทำความจองหอง เพราะคุณธรรมของตน หรือคุณธรรมของผู้อื่น ได้แก่ ไม่พึง
ให้มานะเกิด เพราะคุณธรรมนั้น ไม่พึงเป็นคนกระด้าง จองหอง หัวสูง เพราะคุณ
ธรรมนั้น รวมความว่า แต่ไม่ควรทำความดื้อรั้นเพราะคุณธรรมนั้น
คำว่า เพราะการทำความดื้อรั้นนั้น ผู้สงบทั้งหลายไม่กล่าวว่า เป็นความดับ
กิเลส อธิบายว่า การทำความดื้อรั้นนั้น ผู้สงบทั้งหลาย คือ ผู้สงบเย็น สัตบุรุษ
พระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่กล่าว คือ ไม่พูด ไม่บอก
ไม่แสดง ไม่บัญญัติ ไม่กำหนด ไม่เปิดเผย ไม่จำแนก ไม่ทำให้ง่าย ไม่ประกาศว่า
เป็นความดับกิเลส รวมความว่า เพราะการทำความดื้อรั้นนั้น ผู้สงบทั้งหลายไม่กล่าวว่า
เป็นความดับกิเลส ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุพึงรู้คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในภายใน
หรือในภายนอก แต่ไม่ควรทำความดื้อรั้นเพราะคุณธรรมนั้น
เพราะการทำความดื้อรั้นนั้น
ผู้สงบทั้งหลายไม่กล่าวว่า เป็นความดับกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๑๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
[๑๕๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุไม่พึงสำคัญตนว่าเราเลิศกว่าเขา
เราด้อยกว่าเขา หรือว่าเราเสมอเขาเพราะคุณธรรมนั้น
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมเป็นอเนกแล้ว
ไม่พึงกำหนดตน ดำรงอยู่

ว่าด้วยมานะ
คำว่า ภิกษุไม่พึงสำคัญตนว่าเราเลิศกว่าเขา... เพราะคุณธรรมนั้น อธิบาย
ว่า ภิกษุไม่พึงให้ความดูหมิ่นเกิด เพราะชาติ โคตร ความเป็นบุตรของผู้มีตระกูล
ความเป็นผู้มีรูปงาม ทรัพย์ การศึกษา หน้าที่การงาน หลักแห่งศิลปวิทยา วิทยฐานะ
ความคงแก่เรียน ปฏิภาณ หรือสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วว่า เราเลิศกว่าเขา รวม
ความว่า ภิกษุไม่พึงสำคัญตนว่าเราเลิศกว่าเขา ... เพราะคุณธรรมนั้น
คำว่า เราด้อยกว่าเขา หรือว่าเราเสมอเขา อธิบายว่า ภิกษุไม่พึงให้ความถือ
ตัวต่ำเกิดเพราะชาติ โคตร... หรือสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วว่า “เราด้อยกว่าเขา”
ไม่พึงให้ความถือตัวเกิดเพราะชาติ โคตร ความเป็นบุตรของผู้มีตระกูล ความเป็น
ผู้มีรูปงาม ทรัพย์ การศึกษา หน้าที่การงาน หลักแห่งศิลปวิทยา วิทยฐานะ
ความคงแก่เรียน ปฏิภาณ หรือสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วว่า “เราเสมอเขา”
รวมความว่า เราด้อยกว่าเขา หรือว่าเราเสมอเขา
คำว่า เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมเป็นอเนกแล้ว อธิบายว่า เป็นผู้
เพียบพร้อม คือ ห้อมล้อม พรั่งพร้อม ประกอบพร้อมแล้วด้วยอาการหลายอย่าง
รวมความว่า เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมเป็นอเนกแล้ว
คำว่า ไม่พึงกำหนดตน ดำรงอยู่ อธิบายว่า อัตตา ตรัสเรียกว่า ตน ไม่พึง
กำหนด คือ กำหนดวิเศษ ถึงความกำหนดตน ดำรงอยู่ รวมความว่า ก็ไม่พึง
กำหนดตน ดำรงอยู่ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๒๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ภิกษุไม่พึงสำคัญตนว่าเราเลิศกว่าเขา
เราด้อยกว่าเขา หรือว่าเราเสมอเขาเพราะคุณธรรมนั้น
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมเป็นอเนกแล้ว
ไม่พึงกำหนดตน ดำรงอยู่
[๑๕๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุพึงสงบกิเลสภายในนั่นเอง
ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยทางอื่น
เมื่อภิกษุสงบกิเลสภายในได้แล้ว
ความเห็นว่ามีตน หรือความเห็นว่าไม่มีตน ก็ไม่มีแต่ที่ไหน ๆ
คำว่า พึงสงบกิเลสภายในนั่นเอง อธิบายว่า ภิกษุพึงสงบราคะ พึงสงบโทสะ
พึงสงบโมหะภายใน... พึงสงบ คือ เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ ระงับโกธะ... อุปนาหะ...
มักขะ... ปฬาสะ... อิสสา... มัจฉริยะ... มายา... สาเถยยะ... ถัมภะ... สารัมภะ..
มานะ... อติมานะ... มทะ... ปมาทะ... กิเลสทุกชนิด... ทุจริตทุกทาง... ความ
กระวนกระวายทุกอย่าง... ความเร่าร้อนทุกสถาน... ความเดือนร้อนทุกประการ...
อกุสลาภิสังขารทุกประเภทภายใน รวมความว่า พึงสงบกิเลสภายในนั่นเอง
คำว่า ภิกษุ... ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยทางอื่น อธิบายว่า ไม่พึง
แสวงหา คือ ไม่พึงค้นหา ไม่พึงเสาะหาความสงบ คือ ความเข้าไปสงบ ความ
สงบเย็น ความดับ ความระงับไปโดยทางอื่น คือ โดยมรรคที่ไม่หมดจด ปฏิปทา
ที่ผิด หนทางที่มิใช่ทางออกจากทุกข์ นอกจากสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท
อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรคมีองค์ ๘ รวมความว่า ภิกษุ...ไม่พึงแสวงหา
ความสงบโดยทางอื่น
คำว่า เมื่อภิกษุสงบกิเลสภายในได้แล้ว อธิบายว่า เมื่อภิกษุสงบราคะ
สงบโทสะ สงบโมหะภายใน... เมื่อภิกษุสงบ คือ เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ ระงับ
อกุสลาภิสังขารทุกประเภทภายในได้แล้ว รวมความว่า เมื่อภิกษุสงบกิเลสภายใน
ได้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๒๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่มี ในคำว่า ความเห็นว่ามีตน หรือความเห็นว่าไม่มีตน ก็ไม่มี
แต่ที่ไหน ๆ เป็นคำปฏิเสธ
คำว่า ความเห็นว่ามีตน (ไม่มี) ได้แก่ ความเห็นว่าเที่ยงไม่มี
คำว่า ความเห็นว่าไม่มีตน (ไม่มี) ได้แก่ ความเห็นว่าขาดสูญไม่มี
คำว่า ความเห็นว่ามีตน (ไม่มี) ได้แก่ สิ่งที่ถือไม่มี
คำว่า ความเห็นว่าไม่มีตน (ไม่มี) ได้แก่ สิ่งที่ควรปล่อยไม่มี
ผู้ใด ไม่มีสิ่งที่ถือไว้ ผู้นั้นก็ไม่มีสิ่งที่ควรปล่อย ผู้ใดมีสิ่งที่ควรปล่อย ผู้นั้นก็
มีสิ่งที่ถือไว้ พระอรหันต์ก้าวพ้นการถือและการปล่อย ล่วงพ้นความเจริญและความ
เสื่อมได้แล้ว พระอรหันต์นั้น อยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว๑ ...
และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า ความเห็นว่ามีตน หรือความเห็นว่าไม่มีตน ก็ไม่
มีแต่ที่ไหน ๆ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุพึงสงบกิเลสภายในนั่นเอง
ไม่พึงแสวงหาความสงบโดยทางอื่น
เมื่อภิกษุสงบกิเลสภายในได้แล้ว
ความเห็นว่ามีตน หรือความเห็นว่าไม่มีตน ก็ไม่มีแต่ที่ไหน ๆ
[๑๕๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
คลื่นไม่เกิดในส่วนกลางทะเล ทะเลเรียบอยู่ ฉันใด
ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหว ฉันนั้น
ภิกษุไม่พึงก่อกิเลสเครื่องฟูใจในที่ไหน ๆ
คำว่า คลื่นไม่เกิดในส่วนกลางทะเล ทะเลเรียบอยู่ ฉันใด อธิบายว่า โดย
ส่วนลึก ทะเลลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ น้ำส่วนล่าง ๔๐,๐๐๐ โยชน์ ย่อมกระเพื่อม
ด้วยฝูงปลาและเต่า น้ำส่วนบน ๔๐,๐๐๐ โยชน์ ก็กระเพื่อมด้วยลม น้ำส่วนกลาง
๔๐,๐๐๐ โยชน์ ไม่กระเพื่อม ไม่สั่นสะเทือน ไม่เคลื่อนไหว ไม่หวั่นไหว ไม่สั่นไหว
ไม่ปั่นป่วนเลย คือ เป็นทะเล ไม่หวั่นไหว ไม่กระฉอก ไม่เคลื่อนไหว ไม่กระเพื่อม
ไม่หมุนวน สงบ คลื่นไม่เกิดกลางทะเลนั้น ทะเลก็เรียบอยู่ รวมความว่า คลื่นไม่เกิด
ในส่วนกลางทะเล ทะเลเรียบอยู่ ฉันใด อย่างนี้บ้าง

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๖/๒๖-๒๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๒๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง ทะเลสีทันดรอยู่ระหว่างภูเขา ๗ ลูก น้ำในทะเลสีทันดรนั้น ไม่
กระเพื่อม ไม่สั่นสะเทือน ไม่เคลื่อนไหว ไม่หวั่นไหว ไม่สั่นไหว ไม่ปั่นป่วนเลย คือ
เป็นทะเล ไม่หวั่นไหว ไม่กระฉอก ไม่เคลื่อนไหว ไม่กระเพื่อม ไม่หมุนวน สงบ
คลื่นไม่เกิดในทะเลสีทันดรนั้น ทะเลก็เรียบอยู่ รวมความว่า คลื่นไม่เกิดในส่วนกลางทะเล
ทะเลเรียบอยู่ ฉันใด อย่างนี้บ้าง
คำว่า ฉันนั้น ในคำว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหว ฉันนั้น เป็น
คำอุปไมยทำอุปมาให้สมบูรณ์
คำว่า พึงเป็นผู้มั่นคง อธิบายว่า ภิกษุนั้นไม่หวั่นไหว คือ ไม่สะเทือน ไม่
เคลื่อนไหว ไม่สะท้าน ไม่สั่นสะท้าน ไม่สะทกสะท้าน เพราะได้ลาภ เพราะเสื่อมลาภ
บ้าง เพราะได้ยศ เพราะเสื่อมยศบ้าง เพราะสรรเสริญ เพราะนินทาบ้าง เพราะสุข
เพราะทุกข์บ้าง รวมความว่า พึงเป็นผู้มั่นคง... ฉันนั้น
คำว่า ไม่หวั่นไหว อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความหวั่นไหว คือ ความ
กำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ตัณหาที่ตรัสเรียกว่า ความหวั่นไหวนี้ ภิกษุใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว
ถอนได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณ
แล้ว ภิกษุนั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่มีตัณหาเป็นเหตุหวั่นไหว
เพราะเป็นผู้ละความหวั่นไหวได้แล้ว จึงชื่อว่าไม่หวั่นไหว ภิกษุนั้นย่อมไม่
หวั่นไหว คือ ไม่สะเทือน ไม่เคลื่อนไหว ไม่สะท้าน ไม่สั่นสะท้าน ไม่สะทกสะท้าน
เพราะได้ลาภ เพราะเสื่อมลาภบ้าง เพราะได้ยศ เพราะเสื่อมยศบ้าง เพราะสรรเสริญ
เพราะนินทาบ้าง เพราะสุข เพราะทุกข์บ้าง รวมความว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง ไม่
หวั่นไหว ฉันนั้น

ว่าด้วยกิเลสเครื่องฟูใจ ๗ อย่าง
คำว่า กิเลสเครื่องฟูใจ ในคำว่า ภิกษุไม่พึงก่อกิเลสเครื่องฟูใจ ในที่
ไหน ๆ ได้แก่ กิเลสเครื่องฟูใจ ๗ อย่าง คือ
๑. กิเลสเครื่องฟูใจคือราคะ ๒. กิเลสเครื่องฟูใจคือโทสะ
๓. กิเลสเครื่องฟูใจคือโมหะ ๔. กิเลสเครื่องฟูใจคือมานะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๒๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
๕. กิเลสเครื่องฟูใจคือทิฏฐิ ๖. กิเลสเครื่องฟูใจคือกิเลส
๗. กิเลสเครื่องฟูใจคือกรรม
ภิกษุไม่พึงก่อกิเลสเครื่องฟูใจนั้น คือ ไม่พึงให้เกิด ไม่พึงให้เกิดขึ้น ไม่พึงให้
บังเกิด ไม่พึงให้บังเกิดขึ้น
คำว่า ในที่ไหน ๆ ได้แก่ ในที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก
หรือทั้งภายในและภายนอก รวมความว่า ภิกษุไม่พึงก่อกิเลสเครื่องฟูใจ ในที่ไหน ๆ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
คลื่นไม่เกิดในส่วนกลางทะเล ทะเลเรียบอยู่ ฉันใด
ภิกษุพึงเป็นผู้มั่นคง ไม่หวั่นไหว ฉันนั้น
ภิกษุไม่พึงก่อกิเลสเครื่องฟูใจในที่ไหน ๆ
[๑๕๖] (พระพุทธเนรมิตทูลถามว่า)
พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุแจ่มแจ้ง
ได้ทรงแสดงธรรมที่เป็นพยาน อันเป็นเครื่องกำจัดอันตราย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปฏิปทา
คือปาติโมกข์ หรือแม้สมาธิ
คำว่า ได้ทรงแสดง ในคำว่า พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุแจ่มแจ้ง
ได้ทรงแสดง ได้แก่ ได้ทรงแสดง คือ ได้ทรงชี้แจง ตรัสบอก แสดง บัญญัติ
กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า ได้ทรงแสดง

ว่าด้วยพระจักษุ ๕ ชนิด
คำว่า ผู้มีพระจักษุแจ่มแจ้ง อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแจ่มแจ้ง
ด้วยพระจักษุ ๕ ชนิด คือ
๑. มีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยมังสจักขุบ้าง
๒. มีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยทิพพจักขุบ้าง
๓. มีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยปัญญาจักขุบ้าง
๔. มีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยพุทธจักขุบ้าง
๕. มีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยสมันตจักขุบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๒๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยมังสจักขุ เป็นอย่างไร
คือ ในพระมังสจักขุของพระผู้มีพระภาค มีสีอยู่ ๕ สี คือ (๑) สีเขียว
(๒) สีเหลือง (๓) สีแดง (๔) สีดำ (๕) สีขาว ณ ที่ที่มีขนพระเนตรขึ้น มีสีเขียว
เขียวสนิท น่าชม น่าดู ดุจดอกผักตบ ต่อจากนั้น ก็เป็นสีเหลือง เหลืองสนิท
สีเหมือนทองคำ น่าชม น่าดู ดุจดอกกรรณิการ์ เบ้าพระเนตรทั้งสองข้างของ
พระผู้มีพระภาคมีสีแดง แดงสนิท น่าชม น่าดู ดุจสีปีกแมลงทับ กลางดวงพระเนตร
มีสีดำ ดำเข้ม ไม่เศร้าหมอง สนิท น่าชม น่าดู ดุจสีสมอดำ ต่อจากนั้น เป็นสีขาว
ขาวสนิท เปล่งปลั่ง ขาวนวล น่าชม น่าดู ดุจสีดาวประกายพฤกษ์ พระผู้มีพระภาค
มีพระมังสจักขุนั้นอยู่โดยปกติ เนื่องในพระอัตภาพ เกิดด้วยสุจริตกรรมที่ทรง
สั่งสมมาในภพก่อน ทรงมองเห็นตลอด ๑ โยชน์โดยรอบ ทั้งกลางวันและกลางคืน
แม้ในเวลาที่มีความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ คือ (๑) ดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว (๒) เป็น
วันอุโบสถข้างแรม (๓) ป่าชัฏรกทึบ (๔) มีเมฆก้อนใหญ่ผุดขึ้นมา ในความมืดที่
ประกอบด้วยองค์ ๔ อย่างนี้ พระองค์ก็ทรงมองเห็นได้ตลอด ๑ โยชน์โดยรอบ ไม่
มีหลุม บานประตู กำแพง ภูเขา กอไม้ หรือเถาวัลย์มาปิดกั้นการเห็นรูปทั้งหลายได้
หากบุคคลเอางาเมล็ดเดียวทำเครื่องหมาย แล้วใส่ลงในเกวียนบรรทุกงา พระผู้มี-
พระภาคก็ทรงสามารถหยิบเอาเมล็ดงานั้นขึ้นมาได้ พระมังสจักขุตามปกติของพระผู้
มีพระภาค บริสุทธิ์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยมังสจักขุ
เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยทิพพจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงเห็นหมู่สัตว์ ซึ่งกำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต
ผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม ไปดี ตกยาก ด้วยทิพพจักขุอันหมดจดล่วงจักษุมนุษย์
ทรงทราบหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า “สัตว์เหล่านี้แหละหนอ ประกอบด้วยกาย-
ทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วย
อำนาจมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว สัตว์เหล่านั้นก็เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
แต่สัตว์เหล่านี้ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็น
สัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว สัตว์เหล่านั้น
ก็เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์” พระผู้มีพระภาคทรงเห็นหมู่สัตว์ ซึ่งกำลังจุติ กำลังอุบัติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๒๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
เลว ประณีต ผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม ไปดี ตกยาก ด้วยทิพพจักขุ อันหมดจด
ล่วงจักษุมนุษย์ ทรงทราบหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม และพระผู้มีพระภาคเมื่อทรง
ประสงค์ พึงทรงเห็นได้แม้ ๑ โลกธาตุ... แม้ ๒ โลกธาตุ... แม้ ๓ โลกธาตุ... แม้ ๔
โลกธาตุ... แม้ ๕ โลกธาตุ... แม้ ๑๐ โลกธาตุ... แม้ ๒๐ โลกธาตุ... แม้ ๓๐ โลกธาตุ...
แม้ ๔๐ โลกธาตุ... แม้ ๕๐ โลกธาตุ... แม้ ๑๐๐ โลกธาตุ... โลกธาตุขนาดเล็ก
ประกอบด้วย ๑,๐๐๐ จักรวาล... โลกธาตุขนาดกลางประกอบด้วย ๒,๐๐๐ จักรวาล...
โลกธาตุขนาดใหญ่ประกอบด้วย ๓,๐๐๐ จักรวาล... แม้โลกธาตุที่ประกอบด้วยหลาย
พันจักรวาล พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์เพียงใด ก็พึงทรงเห็นได้เพียงนั้น ทิพพจักขุ
ของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วย
ทิพพจักขุ เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยปัญญาจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญามาก มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระ
ปัญญาอาจหาญ มีพระปัญญาฉับไว มีพระปัญญาเฉียบคม มีพระปัญญาเพิกถอน
กิเลสได้ ทรงฉลาดในประเภทแห่งปัญญา มีพระญาณแตกฉาน ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา
ทรงบรรลุเวสารัชชญาณ ๔ เป็นผู้ทรงทสพลญาณ ทรงเป็นบุรุษองอาจ ทรงเป็น
บุรุษดุจราชสีห์ ทรงเป็นบุรุษดุจนาค ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย ทรงเป็นบุรุษผู้เอาธุระ
มีพระญาณหาที่สุดมิได้ มีพระเดชหาที่สุดมิได้ มีพระยศหาที่สุดมิได้ ทรงมั่งคั่ง
มีทรัพย์มาก ทรงมีปัญญาเป็นทรัพย์ ทรงเป็นผู้นำ เป็นผู้นำไปโดยวิเศษ เป็นผู้ตาม
แนะนำ ทรงให้รู้จักประโยชน์ ให้พินิจพิจารณา ทรงเพ่งประโยชน์ ทรงทำให้เลื่อมใสได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงทำมรรคที่ยังไม่
เกิดพร้อมให้เกิดพร้อม ตรัสบอกมรรคที่ยังมิได้ตรัสบอก ทรงรู้จักมรรค ทรงรู้แจ้ง
มรรค ทรงฉลาดในมรรค และสาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ดำเนินไปตาม
มรรคอยู่ในบัดนี้ จะเพียบพร้อมด้วยศีลาทิคุณในภายหลัง
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น
มีพระจักษุ มีพระธรรม มีพระญาณ เป็นดุจพระพรหม ตรัส บอก นำความหมาย
ออกมา ประทานอมตธรรม เป็นพระธรรมสามี เป็นพระตถาคต ไม่มีสิ่งที่พระผู้มี-
พระภาคพระองค์นั้นยังไม่ทรงทราบ ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงรู้แจ้ง ไม่ทรงทำให้แจ้ง มิได้
ทรงถูกต้องด้วยปัญญา ธรรมทั้งปวงรวมทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ย่อมมาสู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๒๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คลองเฉพาะพระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า โดยอาการทั้งปวง ธรรมดา
ประโยชน์ที่ควรแนะนำอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นธรรมที่ควรรู้มีอยู่ คือ ประโยชน์ตน
ประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์ในภพปัจจุบันหรือประโยชน์
ในภพหน้า ประโยชน์ตื้นหรือประโยชน์ลึก ประโยชน์ลี้ลับหรือประโยชน์ปิดบัง
ประโยชน์ที่ควรแนะนำหรือประโยชน์ที่แนะนำแล้ว ประโยชน์ที่ไม่มีโทษหรือประโยชน์
ที่ไม่มีกิเลส ประโยชน์ที่ผ่องแผ้วหรือประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์ทั้งหมดนั้นย่อม
เป็นไปภายในพระพุทธญาณ
พระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ไม่ติดขัดในอดีต อนาคต ปัจจุบัน
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทุกอย่าง ย่อมเป็นไปตามพระญาณของพระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้า บทธรรมที่ควรแนะนำมีอยู่เพียงใด พระญาณก็มีเพียงนั้น
พระญาณมีอยู่เพียงใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีเพียงนั้น พระญาณย่อมมีบทธรรม
ที่ควรแนะนำเป็นส่วนสุดรอบ บทธรรมที่ควรแนะนำก็ย่อมมีพระญาณเป็นส่วน
สุดรอบ พระญาณย่อมไม่เป็นไปเกินบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควร
แนะนำก็มีอยู่ไม่เกินกว่าพระญาณ ธรรมเหล่านั้น ตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกัน
และกัน เหมือนชั้นแห่งผอบ ๒ ชั้นทับกันสนิทพอดี ชั้นผอบด้านล่างก็ไม่เกิน
ด้านบน ชั้นผอบด้านบนก็ไม่เกินด้านล่าง ชั้นผอบทั้ง ๒ ชั้นย่อมวางประกบกันที่
ส่วนสุดโดยรอบของกันและกันฉันใด บทธรรมที่ควรแนะนำ และพระญาณของพระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ก็ตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกันฉันนั้นเหมือนกัน บท
ธรรมที่ควรแนะนำมีอยู่เพียงใด พระญาณก็มีเพียงนั้น พระญาณมีอยู่เพียงใด
บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีเพียงนั้น พระญาณย่อมมีบทธรรมที่ควรแนะนำเป็นส่วน
สุดรอบ บทธรรมที่ควรแนะนำก็ย่อมมีพระญาณเป็นส่วนสุดรอบ พระญาณย่อมไม่
เป็นไปเกินกว่าบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มีอยู่ไม่เกิน
กว่าพระญาณ ธรรมเหล่านั้น ย่อมตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน พระญาณ
ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ย่อมเป็นไปในธรรมทั้งปวง
ธรรมทั้งปวงนับเนื่องด้วยความนึก นับเนื่องด้วยความหวัง นับเนื่องด้วย
มนสิการ นับเนื่องด้วยจิตตุปบาทของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า พระญาณของ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าย่อมเป็นไปในสัตว์ทั้งปวง พระผู้มีพระภาคทรงทราบอัธยาศัย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๒๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
อนุสัย จริต อธิมุตติของเหล่าสัตว์ทุกจำพวก ทรงรู้จักเหล่าสัตว์ผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อย
ในปัญญาจักขุ มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักขุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน
มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ยาก เป็นภัพพสัตว์
(ผู้สมควรบรรลุธรรม) เป็นอภัพพสัตว์ (ผู้ไม่สมควรบรรลุธรรม) โลกพร้อมทั้ง
เทวโลก๑ มารโลก๒ พรหมโลก๓ หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
ย่อมเป็นไปภายในพระพุทธญาณ

เชิงอรรถ :
๑ เทวโลก ดูเชิงอรรถข้อ ๗/๓๖
๒ มารโลก โลกคือมาร สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากที่หมายอันประเสริฐ สิ่งที่ล้างผลาญ
คุณความดีในโลกมี ๕ ได้แก่
(๑) กิเลสมาร มารคือกิเลส กิเลสเป็นมาร เพราะเป็นตัวกำจัดขัดขวางความดี ทำให้สัตว์ประสบความ
พินาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต
(๒) ขันธมาร มารคือเบญจขันธ์ หรือขันธ์ ๕ เป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่ง มีความขัดแย้ง
กันเองอยู่ภายใน ไม่มั่นคง เป็นภาระในการบริหาร ทั้งแปรปรวนเสื่อมโทรมไปเพราะชราพยาธิเป็นต้น
(๓) อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร อภิสังขารเป็นมาร เพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม นำให้เกิดชาติ ชรา
เป็นต้น ขัดขวางมิให้หลุดพ้นไปจากสังสารทุกข์
(๔) เทวปุตตมาร มารคือเทพบุตร เทพยิ่งใหญ่ระดับสูงสุดชั้นกามาวจรตนหนึ่ง คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้ง
บุคคลไว้มิให้ล่วงพ้นจากอำนาจครอบงำของตน โดยชักให้พะวงในกามสุขไม่หาญเสียสละออกไป
(๕) มัจจุมาร มารคือความตาย ความตายเป็นมาร เพราะเป็นตัวตัดโอกาสที่จะก้าวหน้าต่อไปในคุณ
ความดีทั้งหลาย (วิสุทธิ.มหาฏีกา ๑/๑๔๔/๓๐๒)
๓ พรหมโลก โลกคือหมู่พรหม สวรรค์ชั้นพรหม ชั้นรูปพรหม ๑๖ ชั้น
ก. ปฐมฌานภูมิ ๓ (ระดับปฐมฌาน) ได้แก่ (๑) พรหมปาริสัชชา พวกบริษัทบริวารมหาพรหม
(๒) พรหมปุโรหิตา พวกปุโรหิตมหาพรหม (๓) มหาพรหมา พวกท้าวมหาพรหม
ข. ทุติยฌานภูมิ ๓ (ระดับทุติยฌาน) (๔) ปริตตาภา พวกมีรัศมีน้อย (๕) อัปปมาณาภา พวกมีรัศมี
ประมาณไม่ได้ (๖) อาภัสสรา พวกมีรัศมีสุกปลั่งซ่านไป
ค. ตติยฌานภูมิ ๓ (ระดับตติยฌาน) (๗) ปริตตสุภา พวกมีลำรัศมีงามน้อย (๘) อัปปมาณสุภา พวกมี
ลำรัศมีงามประมาณมิได้ (๙) สุภกิณหา พวกมีลำรัศมีงามกระจ่างจ้า
ง. จตุตถฌานภูมิ ๓-๗ (ระดับจตุตถฌาน) (๑๐) เวหัปผลา พวกมีผลไพบูลย์ (๑๑) อสัญญีสัตว์
พวกสัตว์ไม่มีสัญญา
สุทธาวาส ๕ (พวกมีที่อยู่อันบริสุทธิ์ หรือ ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์ คือที่เกิดของพระอนาคามี)
(๑๒) อวิหา เหล่าท่านผู้ไม่เสื่อมจากสมบัติของตน ผู้คงอยู่นาน
(๑๓) อตัปปา เหล่าท่านผู้ไม่ทำความเดือดร้อนแก่ใคร หรือผู้ไม่เดือดร้อนกับใคร
(๑๔) สุทัสสา เหล่าท่านผู้งดงามน่าทัศนา
(๑๕) สุทัสสี เหล่าท่านผู้มองเห็นชัดเจนดี หรือผู้มีทัศนาแจ่มชัด
(๑๖) อกนิฏฐา เหล่าท่านผู้ไม่มีความด้อยหรือเล็กน้อยกว่าใคร ผู้สูงสุด (อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๑๐๒๔-๑๐๒๖/
๖๗๑-๖๗๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๒๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ปลาและเต่าชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งปลาติมิ ปลาติมิงคละและปลาติมิติ-
มิงคละ๑ ย่อมเป็นไปอยู่ภายในมหาสมุทร ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปภายใน
พระญาณของพระพุทธเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน นกชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งครุฑนาม
ว่าเวนไตย ย่อมบินไปในห้วงแห่งอากาศ ฉันใด พระพุทธสาวกทั้งหลาย ผู้เสมอกับ
พระสารีบุตรด้วยปัญญา ย่อมเป็นไปในส่วนแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน
พระพุทธญาณย่อมแผ่ครอบคลุมปัญญาของเทวดาและมนุษย์อยู่
เหล่าบัณฑิตผู้เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นคหบดี เป็นสมณะ ผู้มีปัญญา
ละเอียด รู้วาทะของผู้อื่น เหมือนนายขมังธนูสามารถยิงเนื้อทรายได้ ดุจจะเที่ยวทำ
ลายทิฏฐิของผู้อื่นด้วยปัญญาตน บัณฑิตเหล่านั้นพากันปรุงแต่งปัญหา ย่อมเข้าไป
เฝ้าพระตถาคต ทูลถามปัญหาที่ลี้ลับและปิดบัง ปัญหาเหล่านั้น ที่พระผู้มีพระภาค
ทรงซักไซ้และตรัสแก้แล้ว เป็นปัญหามีเหตุให้ทรงแสดง บัณฑิตเหล่านั้นถูกดึงดูด
ด้วยการวิสัชนาปัญหา จึงเลื่อมใสพระผู้มีพระภาค โดยที่แท้พระผู้มีพระภาคย่อม
ทรงรุ่งเรืองยิ่งด้วยพระปัญญาในหมู่คนเหล่านั้น พระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามีพระจักษุ
แจ่มแจ้งด้วยปัญญาจักขุ เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยพุทธจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ได้ทรงเห็นสัตว์
ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักขุ ผู้มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักขุ
มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย
ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ยาก บางพวกเป็นผู้เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี บางพวกเป็น
ผู้ไม่เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี เหมือนในกอบัวเขียว ในกอบัวแดง หรือในกอ
บัวขาว ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ
ขึ้นตามน้ำ จมอยู่ในน้ำและน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอก
บัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำ เจริญในน้ำตั้งอยู่เสมอผิวน้ำ ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง
หรือดอกบัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ โผล่ขึ้นพ้นระดับน้ำ น้ำไม่ติดเปื้อน

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๖๙/๒๑๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๒๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
อยู่เลย ฉันใด พระผู้มีพระภาค เมื่อทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ได้ทรงเห็นสัตว์
ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักขุ ผู้มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักขุ
มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย
ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ยาก บางพวกเป็นผู้เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี บางพวกเป็นผู้
ไม่เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า
“บุคคลนี้มีราคจริต บุคคลนี้มีโทสจริต บุคคลนี้มีโมหจริต บุคคลนี้มีวิตกจริต
บุคคลนี้มีสัทธาจริต บุคคลนี้มีญาณจริต” พระผู้มีพระภาคย่อมตรัสอสุภกถาแก่
บุคคลราคจริต ตรัสการเจริญเมตตาแก่บุคคลโทสจริต ย่อมทรงแนะนำบุคคล
โมหจริตให้ดำรงอยู่ในการเล่าเรียน การไต่ถาม การฟังธรรมตามกาล การสนทนา
ธรรมตามกาล การอยู่ร่วมกับครู ย่อมตรัสอานาปานสติแก่บุคคลวิตกจริต ตรัสบอก
นิมิตที่น่าเลื่อมใส ความตรัสรู้ชอบของพระพุทธเจ้า ความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม
การปฏิบัติชอบของพระสงฆ์ และศีลของตนแก่บุคคลสัทธาจริต ย่อมตรัสนิมิตแห่ง
วิปัสสนา มีอาการไม่เที่ยง มีอาการเป็นทุกข์ มีอาการเป็นอนัตตาแก่บุคคลญาณจริต
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญาดี มีสมันตจักขุ
บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดภูเขาศิลาล้วน
พึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ แม้ฉันใด
พระองค์ผู้หมดความโศกแล้ว
โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม
จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก
และถูกชาติชราครอบงำได้ชัดเจน ฉันนั้น๑
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยพุทธจักขุ เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยสมันตจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระสัพพัญญุตญาณ ตรัสเรียกว่า สมันตจักขุ พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ
ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้ว
ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ (สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)

เชิงอรรถ :
๑ วิ.ม. ๔/๘/๘, ที.ม. ๑๐/๗๐/๓๔, ม.มู. ๑๒/๒๘๒/๒๔๓, ม.ม. ๑๓/๓๓๘/๓๒๐, สํ.ส. ๑๕/๑๗๒/๑๖๕-๑๖๖,
ขุ.จู. ๓๐/๘๕/๑๘๒-๑๘๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๓๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
สิ่งไร ๆ ในไตรโลกธาตุนี้
พระปัญญาจักขุของพระตถาคตนั้น ไม่เห็น ไม่มีเลย
อนึ่ง ธรรมชาติอะไร ๆ ที่ควรรู้
พระพุทธญาณไม่รู้แจ้งก็ไม่มี
ธรรมชาติที่ควรแนะนำใดมีอยู่
พระตถาคตได้ทรงทราบธรรมชาติที่ควรแนะนำนั้นทั้งหมด
เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงชื่อว่ามีสมันตจักขุ๑
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยสมันตจักขุ เป็นอย่างนี้ รวมความว่า
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุแจ่มแจ้ง ได้ทรงแสดง
คำว่า ธรรมที่เป็นพยาน ในคำว่า ธรรมที่เป็นพยาน อันเป็นเครื่องกำจัด
อันตราย อธิบายว่า ธรรมที่พระองค์ทรงทราบเอง ธรรมที่ประจักษ์แก่พระองค์เอง
มิใช่โดยการเชื่อผู้อื่นว่า ธรรมนี้เป็นดังนี้ ธรรมนี้เป็นดังนี้ มิใช่โดยการเล่าลือ มิใช่
โดยการถือสืบ ๆ กันมา มิใช่โดยการอ้างตำรา มิใช่โดยตรรก มิใช่โดยการอนุมาน
มิใช่โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล มิใช่เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
รวมความว่า ธรรมที่เป็นพยาน

ว่าด้วยอันตราย ๒ อย่าง
คำว่า อันตราย ในคำว่า อันเป็นเครื่องกำจัดอันตราย ได้แก่ อันตราย
๒ อย่าง คือ (๑) อันตรายที่ปรากฏ (๒) อันตรายที่ไม่ปรากฏ
อันตรายที่ปรากฏ คืออะไร
คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว สุนัขป่า โค กระบือ ช้าง งู
แมงป่อง ตะขาบ โจร คนที่ได้ก่อกรรมไว้ หรือยังมิได้ก่อกรรมไว้ โรคทางตา
โรคทางหู โรคทางจมูก โรคทางลิ้น โรคทางกาย โรคศรีษะ โรคหู โรคปาก โรคฟัน
โรคไอ โรคหืด ไข้หวัด ไข้พิษ ไข้เชื่อมซึม โรคท้อง เป็นลมสลบ ลงแดง จุกเสียด

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. ๓๐/๘๕/๑๙๖, ขุ.ป. ๓๑/๑๒๑/๑๓๖-๑๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๓๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
อหิวาตกโรค โรคเรื้อน ฝี กลาก มองคร่อ ลมบ้าหมู หิดเปื่อย หิดด้าน หิด หูด
โรคละลอก โรคดีซ่าน โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวงทวาร ความเจ็บ
ป่วยที่เกิดจากดี ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม
ไข้สันนิบาต ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการ
ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้ส่วนกัน ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความพากเพียรเกินกำลัง
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด
และสัตว์เลื้อยคลาน เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ปรากฏ
อันตรายที่ไม่ปรากฏ คืออะไร
คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์
ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ
อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ
อติมานะ มทะ ปมาทะ๑ กิเลสทุกชนิด ทุจริตทุกทาง ความกระวนกระวายทุกอย่าง
ความเร่าร้อนทุกสถาน ความเดือดร้อนทุกประการ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท
เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ไม่ปรากฏ
คำว่า อันตรายทั้งหลาย อธิบายว่า ชื่อว่าอันตราย เพราะมีความหมาย
อย่างไร
ชื่อว่าอันตราย เพราะครอบงำ
ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม
ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะครอบงำ เป็นอย่างไร
คือ อันตรายเหล่านั้นย่อมเข้าครอบครอง ยึดครอง ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง
ย่ำยีบุคคลนั้น ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะครอบงำ เป็นอย่างนี้
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม เป็นอย่างไร
คือ อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม คือ ความสูญไปแห่งกุศล-
ธรรมทั้งหลาย กุศลธรรมอะไรบ้าง อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม คือ

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำแปลในข้อ ๕/๑๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๓๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
เพื่อความสูญไปแห่งกุศลธรรมเหล่านี้ คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม การ
ปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติไม่คลาดเคลื่อน การปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์
การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม การรักษาศีลให้บริบูรณ์ ความเป็นผู้สำรวม
อินทรีย์ทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
ความเป็นผู้มีความเพียรเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะ ความหมั่นเจริญ
สติปัฏฐาน ๔ ความหมั่นเจริญสัมมัปปธาน ๔ ความหมั่นเจริญอิทธิบาท ๔ ความ
หมั่นเจริญอินทรีย์ ๕ ความหมั่นเจริญพละ ๕ ความหมั่นเจริญโพชฌงค์ ๗ ความ
หมั่นเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม เป็น
อย่างนี้
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น มีอัตภาพเป็นที่อาศัย
เปรียบเหมือนสัตว์ที่อาศัยรูย่อมอยู่ในรู สัตว์ที่อาศัยน้ำย่อมอยู่ในน้ำ สัตว์ที่อาศัยป่า
ย่อมอยู่ในป่า สัตว์ที่อาศัยต้นไม้ย่อมอยู่บนต้นไม้ ฉันใด บาปอกุศลธรรมเหล่านี้
ย่อมเกิดในอัตภาพนั้น มีอัตภาพเป็นที่อาศัย ฉันนั้นเหมือนกัน ที่ชื่อว่าอันตราย
เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่
นอนเนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ไม่สบาย เป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย มีความดำริซ่านไป
เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะตาเห็นรูป บาปอกุศล-
ธรรมทั้งหลาย ย่อมอยู่ ย่อมซ่านไปภายในของภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียก
ภิกษุนั้นว่า ‘ผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน’ บาปอกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อมฟุ้ง
ขึ้นท่วมภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกภิกษุนั้นว่า ‘ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น’
ภิกษุทั้งหลาย อีกนัยหนึ่ง บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย มีความดำริซ่านไป
เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะหูได้ยินเสียง... เพราะจมูกได้กลิ่น...
เพราะลิ้นได้ลิ้มรส... เพราะกายได้รับสัมผัส... เพราะใจรู้ธรรมารมณ์ บาปอกุศล-
ธรรมทั้งหลาย ย่อมอยู่ ย่อมซ่านไปภายในของภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียก
ภิกษุนั้นว่า ‘ผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน’ บาปอกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๓๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ฟุ้งขึ้นท่วมภิกษุนั้น๑ เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกภิกษุนั้นว่า ‘ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น’
ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลส
ที่ฟุ้งขึ้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย”๒ ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่
อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยธรรม ๓ ประการ เป็นมลทินภายใน
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเหล่านี้
เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็น
ข้าศึกภายใน ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โลภะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาต
ภายใน เป็นข้าศึกภายใน
๒. โทสะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาต
ภายใน เป็นข้าศึกภายใน
๓. โมหะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเหล่านี้แล ชื่อว่าเป็นมลทินภายใน เป็นอมิตร
ภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน”
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
โลภะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โลภะทำให้จิตกำเริบ โลภะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน(ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนโลภไม่รู้จักผล คนโลภไม่รู้จักเหตุ
ความโลภครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น

เชิงอรรถ :
๑ สํ. สฬา. ๑๘/๑๕๑/๑๒๗
๒ สํ.สฬา. ๑๘/๑๕๑/๑๒๖-๑๒๗, ขุ.จู. ๓๐/๑๒๘/๒๖๒-๒๖๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๓๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
โทสะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โทสะทำให้จิตกำเริบ โทสะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน (ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนโกรธไม่รู้จักผล คนโกรธไม่รู้จักเหตุ
ความโกรธครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น
โมหะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โมหะทำให้จิตกำเริบ โมหะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน (ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนหลงไม่รู้จักผล คนหลงไม่รู้จักเหตุ
ความหลงครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น๑
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “มหาบพิตร ธรรม ๓ ประการ เมื่อเกิดขึ้น
ภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อ
ความอยู่ไม่ผาสุก
ธรรม ๓ ประการอะไรบ้าง คือ
๑. โลภธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็น
ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
๒. โทสธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็น
ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
๓. โมหธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็น
ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
มหาบพิตร ธรรม ๓ ประการเหล่านี้แล เมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อม
เกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก”

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.อิติ. ๒๕/๘๘/๓๐๕, ขุ.จู. ๓๐/๑๒๘/๒๖๓-๒๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๓๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
โลภะ โทสะ และโมหะ เกิดขึ้นในตน
ย่อมทำร้ายบุรุษผู้มีจิตเลวทราม
เหมือนขุยไผ่กำจัดต้นไผ่ ฉะนั้น๑
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
ราคะและโทสะ มีอัตภาพนี้เป็นต้นเหตุ
ความไม่ยินดีกุศลธรรม
ความยินดีกามคุณซึ่งทำให้ขนลุก เกิดจากอัตภาพนี้
บาปวิตกในใจ เกิดขึ้นจากอัตภาพนี้
ย่อมผูกใจคนไว้ เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น๒
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง
คำว่า อันเป็นเครื่องกำจัดอันตราย ได้แก่ เป็นเครื่องกำจัดอันตราย คือ
เป็นเครื่องละอันตราย สงบอันตราย สลัดทิ้งอันตราย ระงับอันตราย เป็นอมต-
นิพพาน รวมความว่า ธรรมที่เป็นพยาน อันเป็นเครื่องกำจัดอันตราย
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปฏิปทา อธิบายว่า
ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่าย ประกาศปฏิปทา ได้แก่ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม การปฏิบัติ
ที่ไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม
การรักษาศีลให้บริบูรณ์ ความเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ความเป็นผู้รู้จักประมาณ
ในการบริโภคอาหาร ความเป็นผู้มีความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะ
สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๑๑๓/๘๕, ขุ.อิติ. ๒๕/๕๐/๒๗๒, ขุ.จู. ๓๐/๑๒๘/๒๖๔
๒ สํ.ส. ๑๕/๒๓๗/๒๕๐, ขุ.สุ. ๒๕/๒๗๔/๓๘๗, ขุ.จู. ๓๐/๑๒๘/๒๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๓๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน และปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน รวมความว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปฏิปทา
คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นคำที่พระพุทธเนรมิตตรัสเรียกพระผู้มี-
พระภาคพุทธเจ้า อีกนัยหนึ่ง พระองค์ตรัสบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศธรรมใด ธรรมนั้นทั้งหมด เป็นธรรมดี เจริญ งาม
ไม่มีโทษ ควรซ่องเสพ รวมความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดตรัส
บอกปฏิปทา
คำว่า ปาติโมกข์๑ ในคำว่า คือปาติโมกข์ หรือแม้สมาธิ ได้แก่ ศีลอันเป็น
ที่พึ่ง เป็นเบื้องต้น เป็นความประพฤติ เป็นความสำรวม เป็นความระวัง เป็นหัวหน้า
เป็นประธานเพื่อความถึงพร้อมแห่งธรรมที่เป็นกุศล
คำว่า หรือแม้สมาธิ ได้แก่ ความตั้งมั่น ความดำรงมั่น ความไม่คลอนแคลน
ความไม่กวัดแกว่ง ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ความที่จิตไม่ซัดส่าย สมถะ สมาธินทรีย์
สมาธิพละ สัมมาสมาธิ รวมความว่า คือปาติโมกข์ หรือแม้สมาธิ ด้วยเหตุนั้น
พระพุทธเนรมิตจึงทูลถามว่า
พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุแจ่มแจ้ง
ได้ทรงแสดงธรรมที่เป็นพยาน อันเป็นเครื่องกำจัดอันตราย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปฏิปทา
คือปาติโมกข์ หรือแม้สมาธิ
[๑๕๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)
ภิกษุไม่พึงเป็นผู้มีตาลอกแลก
พึงป้องกันหู มิให้ได้ยินคามกถา ไม่พึงติดใจในรส
และไม่พึงยึดถืออะไร ๆ ในโลกว่าเป็นของเรา

เชิงอรรถ :
๑ ปาติโมกข์ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๐/๔๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๓๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยเรื่องผู้มีตาลอกแลก
คำว่า ภิกษุไม่พึงเป็นผู้มีตาลอกแลก อธิบายว่า ภิกษุเป็นผู้มีตาลอกแลก
เป็นอย่างไร ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีตาลอกแลก คือ เป็นผู้ประกอบด้วย
ความเป็นคนมีตาลอกแลกด้วยคิดว่า “รูปที่ยังไม่เคยดู เราควรดู รูปที่เราเคยดูแล้ว
ควรผ่านไปเลย” จึงเป็นผู้ขวนขวายการเที่ยวนาน และการเที่ยวไปไม่แน่นอน จาก
อารามหนึ่งไปสู่อีกอารามหนึ่ง จากอุทยานหนึ่งไปสู่อีกอุทยานหนึ่ง จากบ้านหนึ่งไป
สู่อีกบ้านหนึ่ง จากนิคมหนึ่งไปสู่อีกนิคมหนึ่ง จากนครหนึ่งไปสู่อีกนครหนึ่ง จากรัฐ
หนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง จากชนบท(ประเทศ)หนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่ง เพื่อดูรูป ภิกษุชื่อ
ว่าเป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนนไม่สำรวม เดินมองช้าง มองม้า
มองรถ มองพลเดินเท้า มองสตรี มองบุรุษ มองเด็กชาย มองเด็กหญิง มองร้านตลาด
มองหน้ามุขเรือน มองข้างบน มองข้างล่าง มองทิศน้อยทิศใหญ่ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มี
ตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปทางตาแล้ว เป็นผู้รวบถือ เป็นผู้แยกถือ(อวัยวะส่วน
ต่าง ๆ) ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาป
อกุศลธรรม คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมไม่รักษาจักขุนทรีย์ ย่อมไม่ถึง
ความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้
เหมือนสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกบริโภคอาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยัง
ขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้อยู่ คือ การฟ้อน การขับร้อง
การประโคมดนตรี การดูมหรสพ การเล่านิทาน การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี
การเล่นตีกลอง การสร้างฉากบ้านเมืองให้สวยงาม การละเล่นของคนจัณฑาล การ
เล่นกระดานหก การละเล่นหน้าศพ การแข่งชนช้าง การแข่งม้า การแข่งชนกระบือ
การแข่งชนโค การแข่งชนแพะ การแข่งชนแกะ การแข่งชนไก่ การแข่งชนนกกระทา
การรำกระบี่กระบอง การชกมวย มวยปล้ำ การรบ การตรวจพลสวนสนาม การจัด
กระบวนทัพ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๓๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ภิกษุไม่เป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าสู่ละแวกบ้าน เดินทางไปตามถนน ก็เดินอย่าง
สำรวม ไม่มองช้าง ไม่มองม้า ไม่มองรถ ไม่มองพลเดินเท้า ไม่มองสตรี ไม่มอง
บุรุษ ไม่มองเด็กชาย ไม่มองเด็กหญิง ไม่มองร้านตลาด ไม่มองหน้ามุขเรือน
ไม่มองสูง ไม่มองต่ำ ไม่มองทิศน้อยทิศใหญ่ ภิกษุชื่อว่าไม่เป็นผู้มีตาลอกแลก
เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อ
สำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุชื่อว่า
ไม่เป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้งดเว้นจากความขวนขวายในการดูการละเล่นอันเป็น
ข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ เหมือนอย่างสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกบริโภคอาหาร
ที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ก็ไม่พากันขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล
เห็นปานนี้อยู่ คือ การฟ้อน การขับร้อง การประโคมดนตรี การดูมหรสพ การเล่า
นิทาน... ภิกษุชื่อว่าไม่เป็นผู้มีตาลอกแลก เป็นอย่างนี้บ้าง
คำว่า ภิกษุไม่พึงเป็นผู้มีตาลอกแลก อธิบายว่า พึงละ บรรเทา ทำให้หมด
สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความเป็นผู้มีตาลอกแลก คือ พึงเป็นผู้งด งดเว้น
เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้มีตาลอกแลก มีใจเป็น
อิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า ภิกษุไม่พึงเป็นผู้มีตาลอกแลก
คำว่า พึงป้องกันหูมิให้ได้ยินคามกถา อธิบายว่า เดรัจฉานกถา๑ ๓๒ อย่าง
ตรัสเรียกว่า คามกถา คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ
เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องยาน เรื่องที่นอน เรื่องระเบียบ
ดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมือง เรื่องชนบท เรื่อง

เชิงอรรถ :
๑ เดรัจฉานกถา คือถ้อยคำอันขวางทางไปสู่สวรรค์ นิพพาน หมายถึงเรื่องราวที่ภิกษุไม่ควรนำมาเป็นข้อ
ถกเถียงสนทนากัน โดยไม่เกี่ยวกับการพิจารณาสั่งสอนแนะนำทางธรรม อันทำให้คิดฟุ้งเฟ้อและพากัน
หลงเพลินเสียเวลา เสียกิจหน้าที่ที่พึงปฏิบัติตามธรรม (ที.สี.อ. ๑๗/๘๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๓๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
สตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว
เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม
คำว่า พึงป้องกันหูมิให้ได้ยินคามกถา อธิบายว่า พึงป้องกัน คือ ห้าม กั้น
รักษา คุ้มครอง ปิด ตัดขาดหูมิให้ได้ยินคามกถา รวมความว่า พึงป้องกันหูมิให้ได้
ยินคามกถา
คำว่า รส ในคำว่า ไม่พึงติดใจในรส ได้แก่ รสจากราก รสจากลำต้น รสจาก
เปลือก รสจากใบ รสจากดอก รสจากผล รสเปรี้ยว รสหวาน รสขม รสเผ็ด รสเค็ม
รสปร่า รสเฝื่อน รสฝาด รสอร่อย รสไม่อร่อย รสเย็น รสร้อน สมณพราหมณ์
บางพวก ยินดีในรส สมณพราหมณ์เหล่านั้นเที่ยวแสวงหารสเลิศด้วยปลายลิ้น ได้
รสเปรี้ยวแล้วก็แสวงหารสไม่เปรี้ยว ได้รสไม่เปรี้ยวแล้วก็แสวงหารสเปรี้ยว... ได้ของ
เย็นแล้วก็แสวงหาของร้อน ได้ของร้อนแล้วก็แสวงหาของเย็น สมณพราหมณ์เหล่า
นั้นได้รสใด ๆ แล้วก็ไม่ยินดีด้วยรสนั้น ๆ ยังแสวงหารสอื่น ๆ ต่อไปอีก เป็นผู้กำหนัด
ยินดี ติดใจ สยบ หมกหมุ่น เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันในรสที่ชอบใจ ตัณหาในรสนี้
ภิกษุใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว... เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ภิกษุนั้นพิจารณาแล้ว
โดยแยบคาย จึงฉันอาหาร มิใช่เพื่อเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อตบแต่ง มิใช่เพื่อ
ประดับ แต่ฉันเพียงเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้ร่างกายนี้ดำเนินไปได้ เพื่อขจัด
ความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์อย่างเดียวเท่านั้น ด้วยตั้งใจว่า... และ
อยู่สบายได้ด้วยวิธีการอย่างนี้
คนทาแผลเพียงเพื่อปลูกเนื้อเยื่อ หยอดเพลาเพียงเพื่อจะขนภาระไป หรือ
กินอาหารที่ปรุงจากเนื้อบุตรเพียงเพื่อจะเดินทางออกจากทางกันดารให้พ้นเท่านั้น
ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ฉันอาหาร มิใช่เพื่อเล่น...
ความไม่มีโทษ และอยู่สบายได้ด้วยวิธีการอย่างนี้ ย่อมละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งตัณหาในรส เป็นผู้งดแล้ว งดเว้นแล้ว เว้นขาดแล้ว ออกแล้ว
สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้วกับตัณหาในรส มีใจเป็นอิสระ(จาก
กิเลส) อยู่ รวมความว่า ไม่พึงติดใจในรส
คำว่า และไม่พึงยึดถืออะไร ๆ ในโลกว่าเป็นของเรา อธิบายว่า
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง
คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๔๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ด้วยอำนาจทิฏฐิ... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา... นี้ชื่อว่า
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ
ภิกษุละความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความยึดถือ
ว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฎฐิได้แล้ว ไม่พึงยึดถือ คือ ไม่ยึด ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น
ตาว่าเป็นของเรา... ไม่ถือมั่นหู... จมูก... ลิ้น... กาย... รูป... เสียง... กลิ่น... รส...
โผฏฐัพพะ... ตระกูล... หมู่คณะ... อาวาส... ลาภ... ยศ... สรรเสริญ... สุข... จีวร...
บิณฑบาต... เสนาสนะ... คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร... กามธาตุ... รูปธาตุ... อรูปธาตุ...
กามภพ... รูปภพ... อรูปภพ... สัญญาภพ... อสัญญาภพ... เนวสัญญานาสัญญาภพ...
เอกโวการภพ๑... จตุโวการภพ๒... ปัญจโวการภพ๓... อดีต... อนาคต... ปัจจุบันว่า
เป็นของเรา ไม่พึงยึดถือ คือ ไม่ยึด ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส
โผฏฐัพพะที่รับรู้ ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งว่าเป็นของเรา
คำว่า อะไร ๆ ได้แก่ อะไรที่เป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร
เป็นวิญญาณ
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก... อายตนโลก รวมความว่า และไม่พึงยึดถือ
อะไร ๆ ในโลกว่า เป็นของเรา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า
ภิกษุไม่พึงเป็นผู้มีตาลอกแลก
พึงป้องกันหูมิให้ได้ยินคามกถา ไม่พึงติดใจในรส
และไม่พึงยึดถืออะไร ๆ ในโลกว่าเป็นของเรา
[๑๕๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
เมื่อใด ภิกษุถูกผัสสะกระทบ
เมื่อนั้นเธอก็ไม่พึงทำความคร่ำครวญในที่ไหน ๆ
ไม่พึงคาดหวังภพ และไม่พึงกระสับกระส่าย
ในเพราะอารมณ์ที่น่ากลัว

เชิงอรรถ :
๑ เอกโวการภพ ดูเชิงอรรถข้อ ๓/๑๒
๒ จตุโวการภพ ดูเชิงอรรถข้อ ๓/๑๒
๓ ปัญจโวการภพ ดูเชิงอรรถข้อ ๓/๑๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๔๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยโรคต่าง ๆ
คำว่า เมื่อใด ภิกษุถูกผัสสะกระทบ อธิบายว่า ภิกษุถูกผัสสะกระทบ คือถูก
โรคกระทบ ครอบงำ กลุ้มรุม ประกอบเข้า ได้แก่ ถูกโรคทางตากระทบ ครอบงำ
กลุ้มรุม ประกอบเข้า โรคทางหู... โรคทางจมูก... โรคทางลิ้น... โรคทางกาย...
โรคศีรษะ... โรคหู... โรคปาก... โรคฟัน... โรคไอ... โรคหืด... ไข้หวัด... ไข้พิษ...
ไข้เชื่อมซึม... โรคท้อง... เป็นลมสลบ... ลงแดง... จุกเสียด... อหิวาตกโรค...
โรคเรื้อน... ฝี... กลาก... มองคร่อ... ลมบ้าหมู... หิดเปื่อย... หิดด้าน... หิด... หูด...
โรคละลอก... โรคดีซ่าน... โรคเบาหวาน... โรคเริม... โรคพุพอง... โรคริดสีดวงทวาร...
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากดี... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ... ความเจ็บป่วยที่เกิด
จากลม... ไข้สันนิบาต... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดู... ความเจ็บป่วยที่
เกิดจากการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้ส่วนกัน... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความ
พากเพียรเกินกำลัง... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากผลกรรม... ความหนาว... ความร้อน...
ความหิว... ความกระหาย... ปวดอุจจาระ... ปวดปัสสาวะ... ความเจ็บป่วยที่เกิดจาก
สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน กระทบ ครอบงำ กลุ้มรุม
ประกอบเข้า รวมความว่า เมื่อใด ภิกษุถูกผัสสะกระทบ
คำว่า เมื่อนั้นเธอก็ไม่พึงทำความคร่ำครวญในที่ไหน ๆ อธิบายว่า
ไม่พึงทำ คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นซึ่งความบ่นเพ้อ
ความคร่ำครวญ คือ กิริยาที่บ่นเพ้อ กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะที่บ่นเพ้อ ภาวะที่
คร่ำครวญ การพูดพล่าม การพูดเพ้อ การพูดเพ้อเจ้อ ความพร่ำเพ้อ กิริยาที่
พร่ำเพ้อ ภาวะที่พร่ำเพ้อ
คำว่า ในที่ไหน ๆ ได้แก่ ในที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก
หรือทั้งภายในและภายนอก รวมความว่า เมื่อนั้นเธอก็ไม่พึงทำความคร่ำครวญ
ในที่ไหน ๆ
คำว่า ไม่พึงคาดหวังภพ ได้แก่ ไม่พึงหวัง ไม่พึงมุ่งหวัง ไม่พึงคาดหวัง
กามภพ รูปภพ อรูปภพ รวมความว่า ไม่พึงคาดหวังภพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๔๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยภัยและความขลาดกลัว
คำว่า และไม่พึงกระสับกระส่ายในเพราะอารมณ์ที่น่ากลัว อธิบายว่า
คำว่า ความน่ากลัว ได้แก่ ทั้งภัยและความขลาดกลัว มีความหมายอย่าง
เดียวกันนั่นเอง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภัย ความขลาดกลัวนั้น คือ สิ่งนี้เป็นแน่
บุคคลไม่พึงละเสีย มันก็จะมาหา ภัยนั้นเรียกว่า มีวัตถุภายนอกเป็นอารมณ์ คือ
ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว สุนัขป่า โค กระบือ ม้า ช้าง งู แมงป่อง
ตะขาบ โจร หรือ คนที่ได้ก่อกรรมไว้ หรือยังมิได้ก่อกรรมไว้
อีกนัยหนึ่ง โดยความหมายต่างกัน ความกลัว อาการกลัว ความหวาดหวั่น
ขนพองสยองเกล้า ความหวาดเสียว ความสะดุ้งแห่งจิต ที่เกิดขึ้นภายใน มีจิตเป็น
สมุฏฐาน เรียกว่า ภัย คือ ชาติภัย ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย
อุทกภัย อัตตานุวาทภัย(ภัยเกิดจากการติเตียนตน) ปรานุวาทภัย(ภัยเกิดจากการ
ติเตียนของผู้อื่น) ทัณฑภัย(ภัยจากอาญา) ทุคติภัย(ภัยในทุคติ) อูมิภัย(ภัยจากคลื่น)
กุมภีลภัย(ภัยจากจระเข้) อาวัฏฏภัย(ภัยจากน้ำวน) สุงสุการภัย(ภัยจากปลาร้าย)
อาชีวิกภัย(ภัยจากการหาเลี้ยงชีพ) อสิโลกภัย(ภัยคือความเสื่อมเสียชื่อเสียง)
ปริสสายสารัชชภัย(ภัยจากความครั่นคร้ามในชุมชน) ทุคติภัย เหตุที่น่ากลัว ความ
หวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า ใจหวาดเสียว ความสะดุ้ง
คำว่า และไม่พึงกระสับกระส่ายในเพราะอารมณ์ที่น่ากลัว อธิบายว่า ภิกษุ
เห็น หรือได้ยินสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว ก็ไม่พึงหวั่นไหว ไม่พึงสั่นเทา ไม่พึงกระสับกระส่าย
คือ ไม่หวาดเสียว ไม่ครั่นคร้าม ไม่เกรงกลัว ไม่หวาดกลัว ไม่ถึงความสะดุ้ง ได้แก่
พึงเป็นผู้ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี พึงเป็นผู้ละภัยและความขลาดกลัว
ได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้า ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เมื่อใด ภิกษุถูกผัสสะกระทบ
เมื่อนั้นเธอก็ไม่พึงทำความคร่ำครวญในที่ไหน ๆ
ไม่พึงคาดหวังภพ และไม่พึงกระสับกระส่าย
ในเพราะอารมณ์ที่น่ากลัว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๔๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
[๑๕๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุได้ข้าวก็ดี น้ำก็ดี ของขบเคี้ยวก็ดี ผ้าก็ดีแล้ว
ไม่ควรทำการสะสม เมื่อไม่ได้ข้าวเป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่พึงสะดุ้ง

ว่าด้วยข้าวน้ำและของขบเคี้ยว
คำว่า ข้าว ในคำว่า... ข้าวก็ดี น้ำก็ดี ของขบเคี้ยวก็ดี ผ้าก็ดี ได้แก่ ข้าวสุก
ขนมกุมมาส (ขนมสด) ข้าวผง (สัตตุ) ปลา เนื้อ
คำว่า น้ำ ได้แก่ น้ำปานะ ๘ อย่าง คือ

๑. น้ำมะม่วง ๒. น้ำหว้า
๓. น้ำกล้วยมีเมล็ด ๔. น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด
๕. น้ำมะซาง ๖. น้ำลูกจันทน์หรือน้ำองุ่น
๗. น้ำเหง้าบัว ๘. น้ำมะปรางหรือน้ำลิ้นจี่

น้ำปานะอีก ๘ อย่าง คือ

๑. น้ำสะคร้อ ๒. น้ำผลเล็บเหยี่ยว
๓. น้ำพุทรา ๔. น้ำเปรียง
๕. น้ำผสมน้ำมัน ๖. น้ำข้าวยาคู
๗. น้ำนม ๘. น้ำรส

คำว่า ของขบเคี้ยว ได้แก่ ของขบเคี้ยวทำด้วยแป้ง ของขบเคี้ยวทำเป็นขนม
ของขบเคี้ยวทำด้วยหัว (ราก) ของขบเคี้ยวทำด้วยเปลือกไม้ ของขบเคี้ยวทำด้วยใบไม้
ของขบเคี้ยวทำด้วยดอกไม้ ของขบเคี้ยวทำด้วยผลไม้
คำว่า ผ้า ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด คือ

๑. โขมะ (ผ้าเปลือกไม้) ๒. กัปปาสิกะ (ผ้าฝ้าย)
๓. โกเสยยะ (ผ้าไหม) ๔. กัมพละ (ผ้าขนสัตว์)
๕. สาณะ (ผ้าป่าน) ๖. ภังคะ (ผ้าที่ทำด้วยวัสดุผสมกัน)

รวมความว่า ... ข้าวก็ดี น้ำก็ดี ของขบเคี้ยวก็ดี ผ้าก็ดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๔๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า ได้แล้ว ในคำว่า ได้... แล้ว ไม่ควรทำการสะสม ได้แก่ ได้แล้ว คือ
ได้รับแล้ว สมหวังแล้ว ประสบแล้ว ได้เฉพาะแล้ว มิใช่ด้วยการโกหก มิใช่ด้วยการ
พูดเลียบเคียง มิใช่ด้วยการทำนิมิต มิใช่ด้วยการกำจัดคุณเขา มิใช่ด้วยการต่อลาภ
ด้วยลาภ มิใช่ด้วยการให้ไม้ มิใช่ด้วยการให้ไม้ไผ่ มิใช่ด้วยการให้ใบไม้ มิใช่ด้วยการ
ให้ดอกไม้ มิใช่ด้วยการให้ผลไม้ มิใช่ด้วยการให้น้ำอาบ มิใช่ด้วยการให้แป้งจุรณ์
มิใช่ด้วยการให้ดินสอพอง มิใช่ด้วยการให้ไม้สีฟัน มิใช่ด้วยการให้น้ำบ้วนปาก มิใช่
ด้วยคำพูดมุ่งให้เขารู้จักตน มิใช่ด้วยคำพูดเหลาะแหละเหมือนแกงถั่ว มิใช่ด้วยกิริยา
ประจบ มิใช่ด้วยการขัดตั่งตีสนิทเขา มิใช่ด้วยวิชาดูพื้นที่ มิใช่ด้วยเดรัจฉานวิชา
มิใช่ด้วยวิชาทำนายลักษณะอวัยวะ มิใช่ด้วยวิชาดูฤกษ์ยาม มิใช่ด้วยการเดินทำ
หน้าที่ทูต มิใช่ด้วยการเดินเป็นคนรับใช้ มิใช่ด้วยการเดินสื่อสาร มิใช่ด้วยเวชกรรม
มิใช่ด้วยนวกรรม มิใช่ด้วยการใช้ก้อนข้าวตอบแทนก้อนข้าว มิใช่ด้วยการให้และ
การเพิ่มให้ แต่ได้แล้ว คือ ได้รับแล้ว สมหวังแล้ว ประสบแล้ว ได้เฉพาะแล้ว โดย
ชอบธรรม โดยยุติธรรม รวมความว่า ได้แล้ว
คำว่า ไม่ควรทำการสะสม ได้แก่ ไม่ควรทำ คือ ไม่ควรให้เกิด ไม่ควรให้
เกิดขึ้น ไม่ควรให้บังเกิด ไม่ควรให้บังเกิดขึ้น ซึ่งการสะสมข้าวสุก การสะสมน้ำดื่ม
การสะสมผ้า การสะสมยาน การสะสมที่นอน การสะสมของหอม การสะสมอามิส
รวมความว่า ได้...แล้ว ไม่ควรทำการสะสม
คำว่า เมื่อไม่ได้ข้าวเป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่พึงสะดุ้ง อธิบายว่า ภิกษุไม่พึง
หวาดเสียว ไม่พึงครั่นคร้าม ไม่พึงเกรงกลัว ไม่พึงหวาดกลัว ไม่พึงถึงความสะดุ้ง
กลัวว่า เราไม่ได้ข้าวสุก ไม่ได้น้ำดื่ม ไม่ได้ผ้า ไม่ได้ตระกูล ไม่ได้หมู่คณะ ไม่ได้อาวาส
ไม่ได้ลาภ ไม่ได้ยศ ไม่ได้สรรเสริญ ไม่ได้สุข ไม่ได้จีวร ไม่ได้บิณฑบาต ไม่ได้เสนาสนะ
ไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ไม่ได้ผู้พยาบาลเวลาเจ็บป่วย ไม่เป็นผู้มีชื่อเสียง
ปรากฏ คือ พึงเป็นผู้ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี พึงเป็นผู้ละภัยและ
ความขลาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้าอยู่ รวมความว่า เมื่อไม่ได้ข้าว
เป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่พึงสะดุ้ง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๔๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ภิกษุได้ข้าวก็ดี น้ำก็ดี ของขบเคี้ยวก็ดี ผ้าก็ดีแล้ว
ไม่ควรทำการสะสม เมื่อไม่ได้ข้าวเป็นต้นเหล่านั้นก็ไม่พึงสะดุ้ง
[๑๖๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุพึงเป็นผู้มีฌาน ไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
พึงเว้นจากความคะนอง ไม่พึงประมาท
และพึงอยู่ในที่นั่งที่นอนที่มีเสียงน้อย

ว่าด้วยผู้มีฌาน
คำว่า พึงเป็นผู้มีฌาน ในคำว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีฌาน ไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่
ไม่สุข อธิบายว่า เป็นผู้มีฌาน ด้วยปฐมฌานบ้าง ด้วยทุติยฌานบ้าง ด้วยตติยฌาน
บ้าง ด้วยจตุตถฌานบ้าง ด้วยฌานที่มีวิตกและวิจารเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่ไม่มี
วิตกมีเพียงวิจารเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่ไม่มีวิตกและวิจารเป็นอารมณ์บ้าง
ด้วยฌานที่มีปีติเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่ไม่มีปีติเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่
สหรคตด้วยปีติบ้าง ด้วยฌานที่สหรคตด้วยความแช่มชื่นบ้าง ด้วยฌานที่สหรคต
ด้วยสุขบ้าง ด้วยฌานที่สหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง ด้วยฌานที่เป็นสุญญตะบ้าง ด้วย
ฌานที่เป็นอนิมิตตะบ้าง ด้วยฌานที่เป็นอัปปณิหิตะบ้าง ด้วยฌานที่เป็นโลกิยะบ้าง
ด้วยฌานที่เป็นโลกุตตระบ้าง คือ เป็นผู้ยินดีในฌาน ขวนขวายในความเป็นผู้มีจิตมี
อารมณ์หนึ่งเดียว หนักในประโยชน์ของตน รวมความว่า พึงเป็นผู้มีฌาน
คำว่า ไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข อธิบายว่า
ภิกษุเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข คือ ประกอบด้วยความ
เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข จึงเป็นผู้ขวนขวายในการเที่ยวไปนาน การเที่ยวไปไม่มีจุดหมาย
แน่นอน จากอารามหนึ่งไปสู่อีกอารามหนึ่ง จากอุทยานหนึ่งไปสู่อีกอุทยานหนึ่ง
จากบ้านหนึ่งไปสู่อีกบ้านหนึ่ง จากนิคมหนึ่งไปสู่อีกนิคมหนึ่ง จากนครหนึ่งไปสู่อีก
นครหนึ่ง จากรัฐหนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง จากชนบทหนึ่งไปสู่อีกชนบทหนึ่ง ภิกษุชื่อว่า
เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข เป็นอย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๔๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุประกอบด้วยความเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุขภายในสังฆาราม มิใช่
เพราะเหตุแห่งประโยชน์ มิใช่เพราะเหตุแห่งการกระทำ แต่เป็นผู้ฟุ้งซ่าน มีจิตใจ
ไม่สงบ เดินจากบริเวณหนึ่งไปสู่อีกบริเวณหนึ่ง จากวิหารหนึ่งไปสู่อีกวิหารหนึ่ง จาก
เรือนหลังคาด้านเดียวไปสู่เรือนหลังคาด้านเดียวอีกแห่งหนึ่ง จากปราสาทหนึ่งไปสู่อีก
ปราสาทหนึ่ง จากเรือนโล้นหลังหนึ่งไปสู่เรือนโล้นอีกหลังหนึ่ง จากถ้ำหนึ่งไปสู่อีกถ้ำ
หนึ่ง จากที่หลีกเร้นแห่งหนึ่งไปสู่ที่หลีกเร้นอีกแห่งหนึ่ง จากกุฎีหนึ่งไปสู่อีกกุฎีหนึ่ง
จากเรือนยอดแห่งหนึ่งไปสู่เรือนยอดอีกแห่งหนึ่ง จากป้อมหนึ่งไปสู่อีกป้อมหนึ่ง
จากปะรำหนึ่งไปสู่อีกปะรำหนึ่ง จากเรือนที่พักแห่งหนึ่งไปสู่เรือนที่พักอีกแห่งหนึ่ง
จากโรงเก็บของแห่งหนึ่งไปสู่โรงเก็บของอีกแห่งหนึ่ง จากโรงฉันแห่งหนึ่งไปสู่โรงฉัน
อีกแห่งหนึ่ง จากมณฑลแห่งหนึ่งไปสู่มณฑลอีกแห่งหนึ่ง จากโคนต้นไม้แห่งหนึ่งไป
สู่โคนต้นไม้อีกแห่งหนึ่ง เดินไปที่ที่พวกภิกษุนั่งกันอยู่ เป็นที่ ๒ ของภิกษุ ๑ รูป เป็นที่
๓ ของภิกษุ ๒ รูป หรือเป็นที่ ๔ ของภิกษุ ๓ รูป ในที่นั้น ๆ พูดเรื่องเพ้อเจ้อมาก
มายในที่นั้น คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย
เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องยาน เรื่องที่นอน เรื่องระเบียบดอกไม้
เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องเมือง เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่อง
บุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด
เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
เป็นอย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยเรื่องผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
คำว่า ไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข อธิบายว่า พึงละ บรรเทา ทำให้หมด
สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข คือ พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด
ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข มีใจเป็น
อิสระ(จากกิเลส) อยู่ คือ ประพฤติ ประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังมีชีวิตให้ดำเนินไป พึงเป็นผู้พอใจในความหลีกเร้น ยินดีในความหลีกเร้น
หมั่นประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๔๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
เพิ่มพูนการอยู่ในเรือนว่าง๑ มีฌาน เป็นผู้ยินดีในฌาน ขวนขวายในความเป็นผู้มีจิต
มีอารมณ์หนึ่งเดียว หนักในประโยชน์ของตน รวมความว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีฌาน
ไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
คำว่า ความคะนอง ในคำว่า พึงเว้นจากความคะนอง ไม่พึงประมาท
อธิบายว่า ความคะนองมือ ชื่อว่าความคะนอง ความคะนองเท้า ชื่อว่าความคะนอง
ความคะนองมือและเท้า ก็ชื่อว่าความคะนอง ความสำคัญในสิ่งที่ควรว่าไม่ควร
ความสำคัญในสิ่งที่ไม่ควรว่าควร ความสำคัญในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ ความสำคัญ
ในสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ ความคะนอง กิริยาที่คะนอง ภาวะที่คะนอง ความ
เดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่านเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความคะนอง
อีกนัยหนึ่ง ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นเพราะเหตุ ๒
อย่าง คือ (๑) เพราะทำ (๒) เพราะไม่ทำ
ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นเพราะทำและเพราะ
ไม่ทำ เป็นอย่างไร
คือ ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า “เราทำแต่กาย
ทุจริต ไม่ทำกายสุจริต... เราทำแต่วจีทุจริต ไม่ทำวจีสุจริต... เราทำแต่มโนทุจริต ไม่
ทำมโนสุจริต... เราทำแต่ปาณาติบาต ไม่ทำความงดเว้นจากปาณาติบาต... เราทำ
แต่อทินนาทาน ไม่ทำความงดเว้นจากอทินนาทาน... เราทำแต่กาเมสุมิจฉาจาร ไม่
ทำความงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร... เราทำแต่มุสาวาท ไม่ทำความงดเว้นจาก
มุสาวาท... เราทำแต่ปิสุณาวาจา ไม่ทำความงดเว้นจากปิสุณาวาจา... เราทำแต่
ผรุสวาจา ไม่ทำความงดเว้นจากผรุสวาจา... เราทำแต่สัมผัปปลาปะ ไม่ทำความงด
เว้นจากสัมผัปปลาปะ... เราทำแต่อภิชฌา ไม่ทำอนภิชฌา ... เราทำแต่พยาบาท
ไม่ทำอัพยาบาท... เราทำแต่มิจฉาทิฏฐิ ไม่ทำสัมมาทิฏฐิ” ความคะนอง ความเดือด
ร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นเพราะทำและเพราะไม่ทำ เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ เพิ่มพูนการอยู่ในเรือนว่าง ในที่นี้หมายถึง ภิกษุเรียนสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วเข้าไป
ยังเรือนว่าง นั่งอยู่ตลอดคืนและวัน (ขุ.ม.อ. ๑๖๐/๔๑๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๔๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า “เรามิได้
รักษาศีลให้บริบูรณ์... ไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖... ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
อาหาร... ไม่ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ... ไม่หมั่นประกอบ
สติสัมปชัญญะ... ไม่เจริญสติปัฏฐาน ๔... ไม่เจริญสัมมัปปธาน ๔... ไม่เจริญ
อิทธิบาท ๔... ไม่เจริญอินทรีย์ ๕... ไม่เจริญพละ ๕... ไม่เจริญโพชฌงค์ ๗... ไม่
เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘... ไม่กำหนดรู้ทุกข์... ไม่ละสมุทัย... ไม่เจริญมรรค” ความ
คะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า “เราไม่ทำนิโรธให้ประจักษ์แจ้ง”
คำว่า พึงเว้นจากความคะนอง อธิบายว่า พึงงดเว้น เว้นขาดจากความ
คะนอง คือ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความคะนอง ได้แก่
พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความคะนอง
มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า พึงเว้นจากความคะนอง

ว่าด้วยความไม่ประมาท
คำว่า ไม่พึงประมาท อธิบายว่า พึงเป็นผู้ทำโดยเอื้อเฟื้อ ทำติดต่อ
ทำไม่หยุด ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ละความพอใจ ไม่ทอดธุระ ชื่อว่าไม่ประมาทใน
กุศลธรรมทั้งหลาย คือ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน
ความมีเรี่ยวแรง ความไม่ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส
ความเพียรแรงกล้า ความตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า “เราพึงทำ
สีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์โดยอุบายอย่างไร หรือพึงใช้ปัญญาตามรักษาสีลขันธ์
ที่บริบูรณ์ในข้อนั้น ๆ โดยอุบายอย่างไร” ดังนี้ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรม
ทั้งหลาย... ว่า “เราพึงทำสมาธิขันธ์... ปัญญาขันธ์... วิมุตติขันธ์... วิมุตติ-
ญาณทัสสนขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ โดยอุบายอย่างไร”... คือ ความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความมีเรี่ยวแรง ความไม่ถอยกลับ
สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ความเพียรแรงกล้า ความตั้งใจ
ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า “เราพึงกำหนดรู้ทุกข์ที่ยังมิได้กำหนดรู้ พึงละ
กิเลสที่ยังมิได้ละ พึงเจริญมรรคที่ยังมิได้เจริญ หรือพึงทำให้แจ้งนิโรธที่ยังมิได้ทำ
ให้แจ้ง โดยอุบายอย่างไร” ดังนี้ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย รวมความ
ว่า พึงเว้นจากความคะนอง ไม่พึงประมาท

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๔๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า และ ในคำว่า และ...พึงอยู่ในที่นั่ง ที่นอนที่มีเสียงน้อย เป็นคำ
เชื่อมบท... ที่เป็นที่นั่งของภิกษุ ตรัสเรียกว่า ที่นั่ง ได้แก่ เตียง ตั่ง เบาะ เสื่อ
แผ่นหนัง เครื่องปูลาดทำด้วยหญ้า เครื่องปูลาดทำด้วยใบไม้ เครื่องปูลาดทำด้วยฟาง
เสนาสนะ ตรัสเรียกว่า ที่นอน ได้แก่ วิหาร เรือนหลังคาด้านเดียว ปราสาท
เรือนโล้น ถ้ำ รวมความว่า ในที่นั่ง ที่นอน
คำว่า ภิกษุ... พึงอยู่... ที่มีเสียงน้อย อธิบายว่า ภิกษุพึงเที่ยวไป พึงอยู่ คือ
เคลื่อนไหว เป็นไป รักษาชีวิต เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปในเสนาสนะ
ที่มีเสียงน้อย คือ มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็น
สถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น รวมความว่า ภิกษุ... และพึงอยู่
ในที่นั่ง ที่นอนที่มีเสียงน้อย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุพึงเป็นผู้มีฌาน ไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
พึงเว้นจากความคะนอง ไม่พึงประมาท
และพึงอยู่ในที่นั่งที่นอนที่มีเสียงน้อย
[๑๖๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุไม่พึงหลับมาก มีความเพียรเครื่องเผากิเลส
พึงประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความหลอกลวง เรื่องชวนหัว
การเล่น เมถุนธรรม พร้อมทั้งการประดับตกแต่ง

ว่าด้วยเรื่องการแบ่งเวลา
คำว่า ภิกษุไม่พึงหลับมาก อธิบายว่า พึงแบ่งกลางคืนและกลางวันออก
เป็น ๖ ส่วน ตื่นเสีย ๕ ส่วน นอนหลับเสีย ๑ ส่วน รวมความว่า ภิกษุไม่พึง
หลับมาก
คำว่า มีความเพียรเครื่องเผากิเลส พึงประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
อธิบายว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกางกั้นด้วย
การเดินจงกรมและการนั่งตลอดวัน คือ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกางกั้น
ด้วยการจงกรมและการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี สำเร็จการนอนอย่างราชสีห์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๕๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
(สีหไสยาสน์) โดยตะแคงด้านขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กำหนด
เวลาตื่นไว้ในใจ ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นแล้วชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรม
เครื่องกางกั้นด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี
คำว่า พึงประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ ได้แก่ พึงประกอบ คือ ประกอบ
ด้วยดี เสพ เสพเป็นนิจ ซ่องเสพ เสพเฉพาะความเพียรเครื่องตื่นอยู่ รวมความว่า
พึงประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
คำว่า มีความเพียรเครื่องเผากิเลส อธิบายว่า ความเพียร ตรัสเรียกว่า
ความเพียรเครื่องเผากิเลส คือ การปรารภความเพียร การก้าวออก การก้าวไป
ข้างหน้า การย่างขึ้นไป ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความมั่นคง
ความทรงไว้ ความบากบั่นไม่ย่อหย่อน ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ
ความประคองธุระไว้ วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ สัมมาวายามะ อันเป็นไปทางใจ
ภิกษุผู้ประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม
เพียบพร้อมด้วยความเพียรเครื่องเผากิเลส นี้ตรัสเรียกว่า ผู้มีความเพียรเครื่อง
เผากิเลส รวมความว่า มีความเพียรเครื่องเผากิเลส พึงประกอบความเพียรเครื่อง
ตื่นอยู่

ว่าด้วยความเกียจคร้าน
คำว่า ความเกียจคร้าน ในคำว่า พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความ
หลอกลวง เรื่องชวนหัว การเล่น เมถุนธรรม พร้อมทั้งการประดับตกแต่ง ได้แก่
ความเกียจคร้าน กิริยาที่เกียจคร้าน ภาวะที่เกียจคร้าน ความเป็นผู้มีใจเกียจคร้าน
ความขี้เกียจ กิริยาที่ขี้เกียจ ภาวะที่ขี้เกียจ นี้ตรัสเรียกว่า ความเกียจคร้าน
คำว่า ความหลอกลวง อธิบายว่า ความประพฤติหลอกลวง ตรัสเรียกว่า
ความหลอกลวง
คนบางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ แล้วตั้งความปรารถนา
ชั่วทราม เพราะการปกปิดทุจริตนั้นเป็นเหตุ คือปรารถนาว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย”
ดำริว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย” กล่าววาจาด้วยคิดว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย”
พยายามทางกายด้วยคิดว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๕๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ความหลอกลวง ความเป็นผู้มีความหลอกลวง ความเสแสร้ง ความลวง
ความล่อลวง การปิดบัง การหลบเลี่ยง การหลีกเลี่ยง การซ่อน การซ่อนเร้น
การปิด การปกปิด การไม่เปิดเผย การไม่ทำให้แจ่มแจ้ง การปิดสนิท การทำ
ความชั่วเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความหลอกลวง
คำว่า เรื่องชวนหัว อธิบายว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ หัวเราะเกินประมาณ
หัวเราะจนเห็นฟัน สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ในวินัยของพระอริยะ การ
หัวเราะเกินประมาณ หัวเราะจนเห็นฟัน นี้เป็นกิริยาของเด็ก”

ว่าด้วยการเล่น ๒ อย่าง
คำว่า การเล่น ได้แก่ การเล่น ๒ อย่าง คือ
๑. การเล่นทางกาย ๒. การเล่นทางวาจา
การเล่นทางกาย เป็นอย่างไร
คือ คนย่อมเล่นกีฬาบังคับช้างบ้าง เล่นกีฬาบังคับม้าบ้าง เล่นรถ เล่นธนู เล่น
หมากรุกแถวละ ๘ ตา หรือเล่นหมากแถวละ ๑๐ ตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่น
หมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นฟาดให้เป็นรูปต่าง ๆ เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้
เล่นไถเล็ก ๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถเล็ก ๆ เล่นธนูเล็ก ๆ
เล่นเขียนทราย เล่นทายใจ เล่นล้อเลียนคนพิการ นี้ชื่อว่าการเล่นทางกาย
การเล่นทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ การทำเสียงกลองด้วยปาก ทำเสียงพิณพาทย์ด้วยปาก เล่นรัวกลองด้วย
ปาก ผิวปาก กะเดาะปาก เป่าปาก ซ้อมเพลง โห่ร้อง ขับร้อง เล่นตลก นี้ชื่อว่าการ
เล่นทางวาจา
ธรรมเนียมของอสัตบุรุษ คือ ธรรมเนียมของชาวบ้าน ธรรมเนียมชั้นต่ำ
ธรรมเนียมที่เลวทราม ธรรมเนียมที่มีน้ำเป็นที่สุด ธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันในที่ลับ
ธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติกันเป็นคู่ ๆ ชื่อว่าเมถุนธรรม เพราะเหตุไร จึงตรัสเรียกว่า
เมถุนธรรม เพราะธรรมนั้นเป็นธรรมเนียมของคนคู่ ผู้กำหนัด กำหนัดนัก เปียกชุ่ม
กลัดกลุ้มด้วยราคะ ถูกราคะครอบงำจิตเสมอกันทั้ง ๒ คน เพราะเหตุนั้น จึงตรัส
เรียกว่า เมถุนธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๕๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คน ๒ คนก่อการทะเลาะกัน... คน ๒ คนก่อการบาดหมางกัน... คน ๒ คนก่อ
เรื่องอื้อฉาวกัน... คน ๒ คนก่อการวิวาทกัน... คน ๒ คนก่ออธิกรณ์กัน... คน ๒
คนสนทนากัน... คน ๒ คนเจรจากัน เรียกว่า คู่เจรจา ฉันใด ธรรมนั้นเป็น
ธรรมเนียมของคนคู่ ผู้กำหนัด กำหนัดนัก เปียกชุ่ม กลัดกลุ้มด้วยราคะ
ถูกราคะครอบงำจิตเสมอกันทั้ง ๒ คน ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า
เมถุนธรรม

ว่าด้วยการประดับตกแต่ง ๒ อย่าง
คำว่า การประดับตกแต่ง ได้แก่ การประดับตกแต่ง ๒ อย่าง คือ
๑. การประดับตกแต่งของคฤหัสถ์ ๒. การประดับตกแต่งของบรรพชิต
การประดับตกแต่งของคฤหัสถ์ เป็นอย่างไร
คือ การแต่งผม การแต่งหนวด การทัดดอกไม้ การประพรมเครื่องหอม การย้อมผิว การ
ใช้เครื่องประดับ การใช้เครื่องแต่งตัว การนุ่งผ้าสวยงาม การประดับข้อมือ
การโพกผ้าโพกศีรษะ การอบตัว การนวดตัว การอาบน้ำ การดัดตัว การส่องกระจก
การทาเปลือกตา การสวมพวงดอกไม้ การทาปาก การเจิมหน้า การผูกข้อมือ การ
เกล้าผม การใช้ไม้เท้า การใช้ทะนาน การใช้พระขรรค์ การใช้ร่ม การสวมรองเท้า
สวยงาม การติดกรอบหน้า การปักปิ่น การใช้พัด การนุ่งผ้าขาว การนุ่งผ้าชายยาว
นี้ชื่อว่าการประดับตกแต่งของคฤหัสถ์
การประดับตกแต่งของบรรพชิต เป็นอย่างไร
คือ การตกแต่งจีวร การตกแต่งบาตร การตกแต่งเสนาสนะ การตกแต่ง การ
ประดับประดา การเล่นสนุกในการประดับ ความเพลิดเพลินในการประดับ ความ
ปรารถนาการประดับ ความเป็นผู้ปรารถนาการประดับ กิริยาที่ประดับ ความเป็น
กิริยาที่ประดับร่างกายอันเน่าเปื่อยนี้ หรือบริขารอันเป็นภายนอก นี้ชื่อว่าการ
ประดับตกแต่งของบรรพชิต
คำว่า พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความหลอกลวง เรื่องชวนหัว การเล่น
เมถุนธรรม พร้อมทั้งการประดับตกแต่ง อธิบายว่า พึงละเว้น คือ บรรเทา ทำให้
หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความเกียจคร้าน ความหลอกลวง เรื่องชวนหัว
การเล่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๕๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
และเมถุนธรรม พร้อมทั้งการประดับตกแต่ง คือ พร้อมทั้งบริวาร
พร้อมทั้งบริภัณฑ์ พร้อมทั้งบริขาร รวมความว่า พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความ
หลอกลวง เรื่องชวนหัว การเล่น เมถุนธรรม พร้อมทั้งการประดับตกแต่ง
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุไม่พึงหลับมาก มีความเพียรเครื่องเผากิเลส
พึงประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่
พึงละเว้นความเกียจคร้าน ความหลอกลวง เรื่องชวนหัว
การเล่น เมถุนธรรม พร้อมทั้งการประดับตกแต่ง
[๑๖๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ผู้นับถือพระรัตนตรัย ไม่พึงประกอบการทำอาถรรพณ์
การทำนายฝัน การทำนายลักษณะ หรือแม้การดูฤกษ์ยาม
ไม่พึงเรียนการทำนายเสียงสัตว์ร้อง
การปรุงยาให้ตั้งครรภ์ และการบำบัดรักษาโรค

ว่าด้วยการทำอาถรรพณ์
คำว่า ไม่พึงประกอบการทำอาถรรพณ์๑ การทำนายฝัน การทำนายลักษณะ
หรือแม้การดูฤกษ์ยาม อธิบายว่า นักทำอาถรรพณ์ย่อมพากันประกอบอาถรรพณ์
เมื่อนครถูกล้อม หรือเมื่อสงครามตั้งประชิดกัน ก็ทำให้เสนียดจัญไรเกิดขึ้น ทำให้
อันตรายเกิดขึ้น ทำให้โรคเกิดขึ้น ทำให้มีอาการจุกเสียด ทำให้มีอาการลงราก
ทำให้มีอาการเซื่องซึม ทำให้เกิดโรคบิดในหมู่คนที่เป็นข้าศึก เป็นศัตรูกัน นักทำ
อาถรรพณ์พากันประกอบอาถรรพณ์อย่างนี้

ว่าด้วยการทำนายฝัน
พวกนักทำนายฝัน ย่อมทำนายฝันว่า “คนฝันเวลาเช้าจะมีผลอย่างนี้ คนฝัน
เวลาเที่ยงจะมีผลอย่างนี้ คนฝันเวลาเย็นจะมีผลอย่างนี้ คนฝันเวลาปฐมยาม... ฝัน
เวลามัชฌิมยาม... ฝันเวลาปัจฉิมยาม... คนนอนตะแคงขวาฝัน... คนนอนตะแคง

เชิงอรรถ :
๑ อาถรรพณ์ หมายถึงคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ หรือเวทมนตร์ที่ใช้เพื่อให้ดีหรือร้าย เป็นคัมภีร์อีกเล่ม
หนึ่งในคัมภีร์พระเวท (ขุ.ม.อ. ๑๒๖/๔๑๗) ดูเชิงอรรถข้อ ๑๒๕/๓๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๕๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ซ้ายฝัน... คนนอนหงายฝัน... คนนอนคว่ำฝัน... คนฝันเห็นดวงจันทร์... คนฝันเห็น
ดวงอาทิตย์... คนฝันเห็นมหาสมุทร... คนฝันเห็นขุนเขาสิเนรุ... คนฝันเห็นช้าง...
คนฝันเห็นม้า... คนฝันเห็นรถ... คนฝันเห็นพลเดินเท้า... คนฝันเห็นกระบวนทัพ...
คนฝันเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์... คนฝันเห็นป่าที่น่ารื่นรมย์... คนฝันเห็นพื้นที่ที่น่ารื่นรมย์...
คนฝันเห็นสระน้ำที่น่ารื่นรมย์ จะมีผลอย่างนี้” พวกนักทำนายฝันย่อมทำนายฝัน
อย่างนี้

ว่าด้วยการทำนายลักษณะ
พวกนักทำนายลักษณะ ย่อมทำนายลักษณะ คือ ลักษณะแก้วมณี ลักษณะ
ไม้พลอง ลักษณะผ้า ลักษณะดาบ ลักษณะศร ลักษณะธนู ลักษณะอาวุธ ลักษณะ
สตรี ลักษณะบุรุษ ลักษณะเด็กหญิง ลักษณะเด็กชาย ลักษณะทาสหญิง ลักษณะ
ทาสชาย ลักษณะช้าง ลักษณะม้า ลักษณะกระบือ ลักษณะโคอุสภะ ลักษณะโคสามัญ
ลักษณะแพะ ลักษณะแกะ ลักษณะไก่ ลักษณะนกกระทา ลักษณะเหี้ย ลักษณะตุ้มหู
ลักษณะเต่า ลักษณะมฤค พวกนักทำนายลักษณะย่อมทำนายลักษณะอย่างนี้

ว่าด้วยการดูฤกษ์ยาม
พวกนักทำนายฤกษ์ยาม ย่อมทำนายฤกษ์ยามว่า ฤกษ์มี ๒๘ ฤกษ์๑ ควรทำ
งานมงคลขึ้นบ้านใหม่โดยฤกษ์นี้ ควรทำงานมงคลผูกเครื่องประดับโดยฤกษ์นี้ ควร
ทำงานมงคลแต่งงานโดยฤกษ์นี้ ควรทำงานมงคลปลูกพืชโดยฤกษ์นี้ ควรทำงาน
มงคลครองเรือนโดยฤกษ์นี้ พวกนักทำนายฤกษ์ยาม ย่อมทำนายฤกษ์ยามอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ ฤกษ์ ๒๘ เป็นชื่อฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์ ซึ่งเป็นความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ จะประกอบอะไรก็ตาม
จะต้องมีเรื่องฤกษ์ยามเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ทุกอย่างจะขาดเรื่องฤกษ์ยามไปมิได้ แม้ฤกษ์
ยามตามที่ปรากฏนี้ ก็เกี่ยวข้องกับฤกษ์ยามการเกิดจนถึงตาย และพิธีกรรมทุกอย่าง อันเป็นความเชื่อ
ในทางศาสนาพราหมณ์ เช่น หญิงชายใดเกิดมาในขณะพระจันทร์เสวยอัสวนีฤกษ์ จะเป็นคนมีปัญญารู้
ศิลปศาสตร์มาก เป็นต้น ฤกษ์ ๒๘ ได้แก่
(๑) อัสวนี ดาวม้า มี ๗ ดวง รูปเหมือนม้า
(๒) ภรณี ดาวแม่ไก่ รูปสามเส้า
(๓) กัตติกา ดาวลูกไก่ มี ๘ ดวง มีรูปเหมือนฝูงไก่
(๔) โรหิณี ดาวจมูกม้า มี ๗ ดวง รูปเหมือนไม้ค้ำเกวียน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๕๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่พึงประกอบการทำอาถรรพณ์ การทำนายฝัน การทำนายลักษณะ
หรือแม้การดูฤกษ์ยาม อธิบายว่า ไม่พึงประกอบ คือ ไม่พึงประพฤติ ไม่พึง
ประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ ไม่พึงสมาทานประพฤติ การทำอาถรรพณ์ การทำนายฝัน
การทำนายลักษณะ หรือแม้การดูฤกษ์ยาม
อีกนัยหนึ่ง ไม่ควรเรียน ไม่ควรท่อง ไม่ควรทรงจำ ไม่ควรเข้าไปทรงจำ
ไม่ควรเข้าไปกำหนด ไม่ควรประกอบการทำอาถรรพณ์ เป็นต้น รวมความว่า
ไม่พึงประกอบการทำอาถรรพณ์ การทำนายฝัน การทำนายลักษณะ หรือแม้การดู
ฤกษ์ยาม

เชิงอรรถ :
(๕) มิคสิระ ดาวหัวเนื้อ มี ๓ ดวง รูปเหมือนหัวเนื้อ
(๖) อัททา ดาวฉัตร รูปเหมือนแก้วปัทมราช
(๗) ปุนัพสุ ดาวสำเภา มี ๓ ดวง รูปเหมือนสำเภา
(๘) ปุสยะ ดาวปุยฝ้าย มี ๕ ดวง รูปเหมือนรูปหีบ
(๙) อิสิเลสะ ดาวพ้อม มี ๕ ดวง รูปเหมือนคู้ข้อศอก
(๑๐) มาฆะ ดาววานร-ไถ มีรูปเหมือนงอนไถ
(๑๑) ปุพพผัคคุณี ดาวเพดานหน้า มีรูปเหมือนเพดาน
(๑๒) อุตตผัคคุณี ดาวเพดานหลัง มีรูปเหมือนดาวเพดานเรียงกัน
(๑๓) หัตถะ ดาวฝ่ามือ มี ๕ ดวง มีรูปเหมือนเหนียงสัตว์และฝ่ามือ
(๑๔) จิตตะ ดาวตาจระเข้ มีรูป มีวรรณเหมือนแก้วไพฑูรย์
(๑๕) สาติ ดาวช้างพัง มีรูปเหมือนเหนียงผูกคอสุนัข
(๑๖) วิสาขา ดาวเขากระบือ-แขนนาง มีรูปเหมือนแขนนาง
(๑๗) อนุราธะ ดาวหมี-หน้าไม้ มี ๔ ดวง มีรูปเป็นเหมือนหน้าไม้
(๑๘) เชฏฐา ดาวแพะ-ช้างใหญ่ มีรูปคด ๆ
(๑๙) มูละ ดาวช้างน้อย มี ๙ ดวง มีรูปเหมือนช้างน้อย
(๒๐) ปุพพาสาฬหะ ดาวแรดตัวผู้ มี ๓ ดวง เป็นเหมือนปากนก
(๒๑) อุตตราสาฬหะ ดาวแรดตัวเมีย มี ๕ ดวง เป็นเหมือนรูปครุฑ
(๒๒) สาวนะ ดาวคนจำศีล มี ๓ ดวง เป็นเหมือนหลักชัย
(๒๓) ธนิฏฐะ ดาวกา มี ๔ ดวง เป็นเหมือนรูปไซ
(๒๔) สตภิสกะ ดาวมังกร มี ๔ ดวง เป็นเหมือนรูปหางพิมพ์ทอง
(๒๕) ปุพพาภัททะ ดาวราชสีห์ตัวผู้ มี ๒ ดวง มีรูปเหมือนเพดาน
(๒๖) อุตตราภัททะ ดาวราชสีห์ตัวเมีย มี ๒ ดวง มีรูปเหมือนเพดาน
(๒๗) เรวตี ดาวปลาตะเพียน มี ๓๖ ดวง มีรูปเหมือนรูปไซและปลาตะเพียน
(๒๘) ฤกษ์พานาที ระยะเวลาที่เป็นฤกษ์ (เทพ สาริกบุตร. พระคัมภีร์ฤกษ์, โรงพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร,
กรุงเทพฯ, พ.ศ.๒๐๕๓, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๕๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า ผู้นับถือพระรัตนตรัย... ไม่พึงเรียนการทำนายเสียงสัตว์ร้อง การ
ปรุงยาให้ตั้งครรภ์ และการบำบัดรักษาโรค อธิบายว่า เสียงเนื้อ(มฤค) และเสียง
นกร้อง ตรัสเรียกว่า เสียงสัตว์ร้อง พวกนักทำนายเสียงเนื้อและเสียงนกร้องย่อม
ทำนายเสียงเนื้อและเสียงนกร้อง คือ รู้จักเสียงร้อง เสียงเจรจากันของพวกนก หรือ
พวกสัตว์ ๔ เท้า พวกนักทำนายเสียงเนื้อและเสียงนกร้องย่อมทำนายเสียงเนื้อและ
เสียงนกร้องอย่างนี้ พวกคนปรุงยาให้ตั้งครรภ์ได้ ก็ทำให้ตั้งครรภ์ขึ้น ครรภ์ย่อมตั้ง
อยู่ไม่ได้ เพราะเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) เพราะเชื้อโรค (๒) เพราะลมกำเริบ พวกคน
ปรุงยาให้ตั้งครรภ์ย่อมให้ยาเพื่อกำจัดเชื้อโรค หรือบำบัดลมกำเริบ พวกคนปรุงยา
ให้ตั้งครรภ์ได้ ก็ทำให้ตั้งครรภ์ขึ้นอย่างนี้

ว่าด้วยการบำบัดรักษาโรค
คำว่า การบำบัดรักษาโรค ได้แก่ การบำบัดรักษาโรค ๕ อย่าง คือ
๑. การรักษาด้วยการเสกเป่า ๒. การรักษาด้วยการผ่าตัด
๓. การรักษาทางยา ๔. การรักษาทางภูติผี
๕. การรักษาโรคเด็ก (กุมารเวช)
คำว่า ผู้นับถือพระรัตนตรัย ได้แก่ ผู้นับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
ผู้นั้นนับถือพระผู้มีพระภาคว่าของเรา พระผู้มีพระภาคก็ทรงรับรองบุคคลนั้น
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้คดโกง
แข็งกระด้าง พูดพล่อย กรีดกราย มีมานะจัด มีจิตไม่มั่นคง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ
เหล่านั้น มิใช่ผู้นับถือเรา เป็นผู้ไปจากธรรมวินัยนี้แล้ว และภิกษุเหล่านั้นจะไม่ถึง
ความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ส่วนภิกษุเหล่าใด ไม่คดโกง ไม่พูด
พล่อย เป็นนักปราชญ์ ไม่แข็งกระด้าง มีจิตมั่นคง ภิกษุเหล่านั้น เป็นผู้นับถือเรา
เป็นผู้ไม่ไปจากธรรมวินัยนี้ และภิกษุเหล่านั้นจะถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์
ในธรรมวินัยนี้”
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๕๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ภิกษุทั้งหลาย ผู้คดโกง แข็งกระด้าง
พูดพล่อย กรีดกราย มีมานะจัด มีจิตไม่มั่นคง
ย่อมไม่งอกงามในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงแล้ว
(ส่วน)ภิกษุทั้งหลาย ผู้ไม่คดโกง ไม่พูดพล่อย
เป็นนักปราชญ์ ไม่แข็งกระด้าง มีจิตมั่นคง
ย่อมงอกงามในธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงแล้ว๑
คำว่า ผู้นับถือพระรัตนตรัย... ไม่พึงเรียนการทำนายเสียงสัตว์ร้อง การ
ปรุงยาให้ตั้งครรภ์ และการบำบัดรักษาโรค อธิบายว่า ผู้นับถือพระรัตนตรัย ไม่พึง
เรียน คือ ไม่พึงเล่าเรียน ไม่พึงเสพพร้อม ไม่พึงเสพเฉพาะ ไม่พึงประพฤติ ไม่พึง
ประพฤติเอื้อเฟื้อ ไม่พึงสมาทานประพฤติการทำนายเสียงสัตว์ร้อง การปรุงยาให้ตั้ง
ครรภ์ และการบำบัดรักษาโรค
อีกนัยหนึ่ง ไม่ควรเรียน ไม่ควรท่อง ไม่ควรทรงจำ ไม่ควรเข้าไปทรงจำ ไม่ควร
เข้าไปกำหนด ไม่ควรประกอบการทำนายเสียงสัตว์ร้องเป็นต้น รวมความว่า
ผู้นับถือพระรัตนตรัย... ไม่พึงเรียนการทำนายเสียงสัตว์ร้อง การปรุงยาให้ตั้งครรภ์
และการบำบัดรักษาโรค ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ผู้นับถือพระรัตนตรัย ไม่พึงประกอบการทำอาถรรพณ์
การทำนายฝัน การทำนายลักษณะ หรือแม้การดูฤกษ์ยาม
ไม่พึงเรียนการทำนายเสียงสัตว์ร้อง
การปรุงยาให้ตั้งครรภ์ และการบำบัดรักษาโรค
[๑๖๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุไม่พึงหวั่นไหวเพราะการนินทา
ได้รับการสรรเสริญแล้วก็ไม่พึงลำพองตน
พึงบรรเทาความโลภพร้อมทั้งความตระหนี่
ความโกรธและวาจาส่อเสียด

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๒๖/๓๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๕๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญ
คำว่า ไม่พึงหวั่นไหวเพราะการนินทา อธิบายว่า คนบางพวกในโลกนี้
พากันนินทา คือ ติเตียน ว่าร้ายภิกษุ ด้วยชาติบ้าง ด้วยโคตรบ้าง ด้วยความเป็น
บุตรของผู้มีตระกูลบ้าง ด้วยความเป็นคนมีรูปงามบ้าง ด้วยทรัพย์บ้าง ด้วยการ
ศึกษาบ้าง ด้วยหน้าที่การงานบ้าง ด้วยหลักแห่งศิลปวิทยาบ้าง ด้วยวิทยฐานะบ้าง
ด้วยความคงแก่เรียนบ้าง ด้วยปฏิภาณบ้าง ด้วยสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง
ภิกษุผู้ถูกนินทา ติเตียน ว่าร้ายแล้ว ก็ไม่พึงหวั่นไหว ไม่พึงสั่นเทา ไม่พึงกระสับ
กระส่าย ไม่พึงหวาดเสียว ไม่พึงครั่นคร้าม ไม่พึงเกรงกลัว ไม่พึงหวาดกลัว ไม่พึง
ถึงความสะดุ้งกลัว คือ ไม่พึงขลาด ไม่พึงหวาดเสียว ไม่พึงสะดุ้ง ไม่พึงหนีไป
เพราะการนินทา เพราะการติเตียน เพราะการว่าร้าย เพราะความเสื่อมเสียเกียรติ
เพราะถูกกล่าวโทษ พึงเป็นผู้ละภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพอง
สยองเกล้าอยู่ รวมความว่า ไม่พึงหวั่นไหวเพราะการนินทา
คำว่า ภิกษุ... ได้รับการสรรเสริญแล้วก็ไม่พึงลำพองตน อธิบายว่า คนบาง
พวกในโลกนี้พากันสรรเสริญ คือ ชมเชย ยกย่อง พรรณนาคุณภิกษุ ด้วยชาติบ้าง...
ด้วยสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง
ภิกษุได้รับการสรรเสริญ คือ ชมเชย ยกย่อง พรรณนาคุณแล้วก็ไม่พึงทำความ
ลำพองตน คือ ไม่พึงทำความเย่อหยิ่ง ไม่พึงทำความถือตัว ไม่พึงทำความหัวดื้อ ไม่
พึงให้เกิดความถือตัว ไม่พึงเป็นคนจองหอง ปั้นปึ่ง หัวสูง เพราะการสรรเสริญ การ
ชมเชย การยกย่อง การพรรณนาคุณนั้น รวมความว่า ภิกษุ... ได้รับการสรรเสริญ
แล้วก็ไม่พึงลำพองตน
คำว่า ความโลภ ในคำว่า พึงบรรเทาความโลภพร้อมทั้งความตระหนี่
ความโกรธและวาจาส่อเสียด ได้แก่ ความโลภ กิริยาที่โลภ ภาวะที่โลภ ความ
กำหนัดนัก กิริยาที่กำหนัดนัก ภาวะที่กำหนัดนัก อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
คำว่า ความตระหนี่ ได้แก่ มัจฉริยะ ๕ อย่าง คือ (๑) อาวาสมัจฉริยะ...
ความยึดถือ ตรัสเรียกว่า ความตระหนี่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๕๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า ความโกรธ ได้แก่ ใจปองร้าย มุ่งร้าย ขัดเคือง ขุ่นเคือง เคือง เคืองมาก
เคืองตลอด ชัง ชิงชัง เกลียดชัง ใจพยาบาท ใจแค้นเคือง ความโกรธ กิริยาที่โกรธ
ภาวะที่โกรธ ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย
ความคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย ความโกรธ ความแค้น
ความดุร้าย ความเกรี้ยวกราด ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต
คำว่า วาจาส่อเสียด ได้แก่ คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีวาจาส่อเสียด ฟังจาก
ข้างนี้แล้วไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายคนหมู่นี้ หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไปบอกข้างนี้
เพื่อทำลายคนหมู่โน้น ด้วยวิธีนี้ ก็ทำคนที่สามัคคีให้แตกแยก หรือ สนับสนุนผู้ที่
แตกแยกกันแล้ว ชอบการแบ่งพวกแบ่งเหล่า ยินดีการแบ่งพวกแบ่งเหล่า สนุกกับ
การแบ่งพวกแบ่งเหล่า พูดแต่เรื่องก่อให้เกิดการแบ่งพวกแบ่งเหล่า นี้ตรัสเรียกว่า
วาจาส่อเสียด
อีกนัยหนึ่ง บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) ด้วย
ประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก (๒) ด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน
บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รักด้วยคิดว่า
“เราจักเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่คุ้นเคย เป็นที่สนิทสนม เป็นที่ดีใจของผู้นี้”
บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้ตนเป็นที่รัก เป็นอย่างนี้
บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยคิดว่า “ทำอย่างไร ชนเหล่านี้ พึง
เป็นคนแปลกแยก แตกต่าง เป็นพรรคเป็นเหล่า เป็น ๒ พวก เป็น ๒ ฝัก ๒ ฝ่าย
แตกแยก ไม่ปรองดองกัน อยู่ลำบาก ไม่สบาย” บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไป
ด้วยประสงค์ให้เขาแตกกัน เป็นอย่างนี้
คำว่า พึงบรรเทาความโลภพร้อมทั้งความตระหนี่ ความโกรธและวาจา
ส่อเสียด อธิบายว่า พึงทุเลา พึงบรรเทา คือ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งความโลภ ความตระหนี่ ความโกรธ และวาจาส่อเสียด รวมความว่า
พึงบรรเทาความโลภพร้อมทั้งความตระหนี่ ความโกรธและวาจาส่อเสียด ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๖๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ภิกษุไม่พึงหวั่นไหวเพราะการนินทา
ได้รับการสรรเสริญแล้วก็ไม่พึงลำพองตน
พึงบรรเทาความโลภพร้อมทั้งความตระหนี่
ความโกรธและวาจาส่อเสียด
[๑๖๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุไม่พึงดำรงชีวิตในการซื้อขาย
ไม่พึงก่อกิเลสเป็นเหตุว่าร้ายในที่ไหน ๆ
ไม่พึงเกี่ยวข้องในบ้าน และไม่พึงพูดเลียบเคียงกับคน
เพราะอยากได้ลาภ
คำว่า ไม่พึงดำรงชีวิตในการซื้อขาย อธิบายว่า การซื้อขายที่ทรงห้ามไว้
ในวินัย ไม่ทรงประสงค์เอาในเนื้อความนี้
ภิกษุดำรงชีวิตในการซื้อขาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุเมื่อทำความล่อลวง หรือปรารถนากำไร แลกเปลี่ยนบาตร จีวร
หรือบริขารอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งกับสหธรรมิก ๑ จำพวก ภิกษุชื่อว่าดำรงชีวิตในการ
ซื้อขาย เป็นอย่างนี้
ภิกษุไม่ดำรงชีวิตในการซื้อขาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุเมื่อไม่ทำความล่อลวง หรือ ไม่ปรารถนากำไร ไม่แลกเปลี่ยนบาตร จีวร
หรือบริขารอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งกับสหธรรมิก ๕ จำพวก๑ ภิกษุชื่อว่าไม่ดำรงชีวิตใน
การซื้อขาย เป็นอย่างนี้
คำว่า ไม่พึงดำรงชีวิตในการซื้อขาย อธิบายว่า ไม่พึงดำรงชีวิต คือ ไม่พึง
ดำรงตนในการซื้อขาย ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก
ซึ่งการซื้อขาย พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้นไม่เกี่ยวข้อง
กับการซื้อขาย มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ไม่พึงดำรงชีวิตในการ
ซื้อขาย

เชิงอรรถ :
๑ สหธรรมิก ๕ ได้แก่ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี (ขุ.ม.อ. ๑๖๔/๔๒๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๖๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยกิเลส
คำว่า ภิกษุ... ไม่พึงก่อกิเลสเป็นเหตุว่าร้ายในที่ไหน ๆ อธิบายว่า กิเลส
เป็นเหตุก่อการว่าร้าย เป็นอย่างไร
สมณพราหมณ์บางพวก มีฤทธิ์ มีทิพพจักขุ รู้ใจคนอื่น สมณพราหมณ์เหล่านั้น
เห็น (รูป) ได้แต่ไกลบ้าง อยู่ใกล้ก็ไม่ปรากฏ (แก่ผู้อื่น) บ้าง รู้ใจ(ผู้อื่น) ด้วยใจ(ตน) บ้าง
เทวดา ผู้มีฤทธิ์ มีทิพพจักขุ รู้ใจคนอื่น เทวดาเหล่านั้น เห็น (รูป) ได้แต่ไกลบ้าง
อยู่ใกล้ก็ไม่ปรากฏ(แก่ผู้อื่น)บ้าง รู้ใจ(ผู้อื่น)ด้วยใจ(ตน)บ้าง ชนทั้งหลาย พึงว่าร้าย
สมณพราหมณ์ และเทวดาทั้งหลายนั้นด้วยกิเลสอย่างหยาบบ้าง ด้วยกิเลสอย่าง
กลางบ้าง ด้วยกิเลสอย่างละเอียดบ้าง
กิเลสอย่างหยาบ เป็นอย่างไร
คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เหล่านี้เรียกว่า กิเลสอย่างหยาบ
กิเลสอย่างกลาง เป็นอย่างไร
คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก เหล่านี้เรียกว่า กิเลสอย่างกลาง
กิเลสอย่างละเอียด เป็นอย่างไร
คือ ความตรึกถึงญาติ ความตรึกถึงชนบท ความตรึกเพื่อความเป็นผู้ไม่ตาย
ความตรึกที่ประกอบด้วยความเอ็นดูผู้อื่น ความตรึกที่ประกอบด้วยลาภ สักการะ
และความสรรเสริญ ความตรึกที่ประกอบด้วยความไม่ดูหมิ่น เหล่านี้ เรียกว่า
กิเลสอย่างละเอียด
ภิกษุ ไม่พึงว่าร้ายสมณพราหมณ์และเทวดาเหล่านั้นด้วยกิเลสอย่างหยาบบ้าง
ด้วยกิเลสอย่างกลางบ้าง ด้วยกิเลสอย่างละเอียดบ้าง ไม่พึงก่อกิเลสเป็นเหตุว่าร้าย
คือ ไม่พึงก่อ ไม่พึงให้เกิด ไม่พึงให้เกิดขึ้น ไม่พึงให้บังเกิด ไม่พึงให้บังเกิดขึ้น ซึ่งกิเลส
เป็นเหตุว่าร้าย ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกิเลส
เป็นเหตุว่าร้าย พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง
กับกิเลสเป็นเหตุว่าร้าย มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่
คำว่า ในที่ไหนๆ ได้แก่ ในที่ไหน คือ ที่ไหน ๆ ที่ไร ๆ ภายใน ภายนอก
หรือทั้งภายในและภายนอก รวมความว่า ภิกษุ... ไม่พึงก่อกิเลสเป็นเหตุว่าร้ายในที่
ไหน ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๖๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่พึงเกี่ยวข้องในบ้าน อธิบายว่า
ภิกษุเกี่ยวข้องในบ้าน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกี่ยวข้องอยู่กับพวกคฤหัสถ์ในบ้าน เพลิดเพลิน
ร่วมกัน เศร้าโศกร่วมกัน เมื่อพวกเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อพวกเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย เมื่อ
พวกเขามีกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ลงมือช่วยเหลือด้วยตนเอง ภิกษุชื่อว่าเกี่ยวข้อง
ในบ้าน เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เวลาเช้า ภิกษุนุ่งห่มแล้วถือบาตรจีวรเข้าหมู่บ้าน หรือนิคมเพื่อ
บิณฑบาต ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา ไม่รักษาจิต ไม่ตั้งสติ ไม่สำรวมอินทรีย์
เธอเกี่ยวข้องในที่นั้น ๆ รับในที่นั้น ๆ ติดอยู่ในที่นั้น ๆ ถึงความเสื่อมเสียในที่นั้น ๆ ภิกษุ
ชื่อว่าเกี่ยวข้องในบ้าน เป็นอย่างนี้บ้าง
ภิกษุไม่เกี่ยวข้องในบ้าน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เกี่ยวข้องอยู่กับพวกคฤหัสถ์ในบ้าน ไม่เพลิดเพลิน
ร่วมกัน ไม่เศร้าโศกร่วมกัน เมื่อพวกเขาสุข ก็มิได้สุขด้วย เมื่อพวกเขาทุกข์ ก็มิได้
ทุกข์ด้วย เมื่อพวกเขามีกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็มิได้ลงมือช่วยเหลือด้วยตนเอง ภิกษุ
ชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องในบ้าน เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เวลาเช้า ภิกษุนุ่งห่มแล้วถือบาตรจีวรเข้าหมู่บ้าน หรือนิคมเพื่อ
บิณฑบาต รักษากาย รักษาวาจา รักษาจิต ตั้งสติ สำรวมอินทรีย์ เธอไม่เกี่ยวข้อง
ในที่นั้น ๆ ไม่รับในที่นั้น ๆ ไม่ติดอยู่ในที่นั้น ๆ ไม่ถึงความเสื่อมเสียในที่นั้น ๆ ภิกษุ
ชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องในบ้าน เป็นอย่างนี้บ้าง
คำว่า ไม่พึงเกี่ยวข้องในบ้าน อธิบายว่า ไม่พึงเกี่ยวข้อง คือ ไม่พึงรับ ไม่พึง
ติดอยู่ ไม่พึงพัวพันในบ้าน ได้แก่ พึงเป็นผู้ไม่ยินดี ไม่ติดใจ ไม่สยบ ไม่หมกมุ่น
พึงเป็นผู้คลายความยินดี ปราศจากความยินดี สลัดทิ้งความยินดีในบ้านเสียได้...
มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า ไม่พึงเกี่ยวข้องในบ้าน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๖๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการพูดเลียบเคียง
คำว่า ไม่พึงพูดเลียบเคียงกับคนเพราะอยากได้ลาภ อธิบายว่า
การพูดเลียบเคียง เป็นอย่างไร
คือ การพูดหว่านล้อม พูดเลียบเคียง พูดเลียบเคียงอย่างดี การพูดยกย่อง
พูดยกย่องอย่างดี การพูดผูกพัน พูดผูกพันอย่างดี การพูดอวดอ้าง พูดอวดอ้าง
อย่างดี การพูดคำเป็นที่รัก ความเป็นผู้พูดมุ่งให้คนรัก ความเป็นผู้พูดเหลวไหล
ความเป็นผู้พูดประจบ ความเป็นผู้พูดแคะไค้ (กัดกินเนื้อหลังของผู้อื่น) ความเป็นผู้
พูดอ่อนหวาน พูดไพเราะ พูดปลูกไมตรี เป็นผู้ไม่พูดคำหยาบแก่คนอื่น ของภิกษุ
ผู้มั่นหมายลาภ สักการะ และความสรรเสริญ มีความปรารถนาชั่ว ถูกความอยาก
ครอบงำ เห็นแก่อามิส หนักในโลกธรรม นี้ตรัสเรียกว่า การพูดเลียบเคียง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุพูดเลียบเคียงกับคนด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) เมื่อวางตนต่ำ
ยกผู้อื่นสูง พูดเลียบเคียงกับคน (๒) เมื่อยกตนสูง วางผู้อื่นต่ำ พูดเลียบเคียงกับคน
ภิกษุเมื่อวางตนต่ำยกผู้อื่นสูง พูดเลียบเคียงกับคน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุกล่าวว่า พวกท่านมีอุปการะมากแก่ฉัน ฉันอาศัยพวกท่านแล้ว ได้จีวร
บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพราะอาศัยพวกท่าน เห็น
แก่ท่าน คนเหล่าอื่นจึงสำคัญเพื่อให้ หรือเพื่อทำแก่ฉัน ชื่อเก่า ที่บิดามารดาตั้งให้
ฉันก็เลือนหายไปแล้ว ฉันมีคนรู้จักก็เพราะพวกท่านว่า เป็นพระประจำตระกูล
ของอุบาสกโน้น เป็นพระประจำตระกูลของอุบาสิกาโน้น ภิกษุชื่อว่าวางตนต่ำ
ยกผู้อื่นสูง พูดเลียบเคียงกับคน เป็นอย่างนี้บ้าง
ภิกษุเมื่อยกตนสูงวางผู้อื่นต่ำ พูดเลียบเคียงกับคน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุกล่าวว่า ฉันมีอุปการะมากแก่พวกท่าน พวกท่านอาศัยฉันแล้วก็ถึง
พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาด
จากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจาก
สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน ฉันให้อุทเทส ให้ปริปุจฉาแก่พวกท่าน บอกอุโบสถ
อำนวยการนวกรรมแก่พวกท่าน ก็แต่พวกท่านทอดทิ้งฉันแล้วไปสักการะ ทำความ
เคารพ นับถือ บูชาผู้อื่น ภิกษุชื่อว่ายกตนสูงวางผู้อื่นต่ำ พูดเลียบเคียงกับคน เป็น
อย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๖๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่พึงพูดเลียบเคียงกับคนเพราะอยากได้ลาภ อธิบายว่า ภิกษุมุ่ง
หวังลาภ ไม่พึงพูดเลียบเคียงกับคน เพราะลาภเป็นเหตุ เพราะลาภเป็นปัจจัย
เพราะลาภเป็นต้นเหตุ เพราะมุ่งการเกิดแห่งลาภโดยเฉพาะ คือ พึงละ บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งการพูดเลียบเคียง ได้แก่ พึงเป็นผู้งด งดเว้น
เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับการพูดเลียบเคียง มีใจเป็น
อิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ไม่พึงพูดเลียบเคียงกับคนเพราะอยากได้ลาภ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุไม่พึงดำรงชีวิตในการซื้อขาย
ไม่พึงก่อกิเลสเป็นเหตุว่าร้ายในที่ไหน ๆ
ไม่พึงเกี่ยวข้องในบ้าน และไม่พึงพูดเลียบเคียงกับคน
เพราะอยากได้ลาภ
[๑๖๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุไม่พึงเป็นคนมักอวด ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้
ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง

ว่าด้วยผู้ไม่โอ้อวด
คำว่า ภิกษุไม่พึงเป็นคนมักอวด อธิบายว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อวด
เป็นผู้โอ้อวด เธอย่อมอวด โอ้อวดว่า “เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลบ้าง สมบูรณ์ด้วยวัตร
บ้าง สมบูรณ์ด้วยศีลพรตบ้าง สมบูรณ์ด้วยชาติบ้าง สมบูรณ์ด้วยโคตรบ้าง สมบูรณ์
ด้วยความเป็นบุตรของผู้มีตระกูลบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้มีรูปงามบ้าง สมบูรณ์
ด้วยทรัพย์บ้าง สมบูรณ์ด้วยการศึกษาบ้าง สมบูรณ์ด้วยหน้าที่การงานบ้าง สมบูรณ์
ด้วยหลักแห่งศิลปวิทยาบ้าง สมบูรณ์ด้วยวิทยฐานะบ้าง สมบูรณ์ด้วยความเป็นผู้คง
แก่เรียนบ้าง สมบูรณ์ด้วยปฏิภาณบ้าง สมบูรณ์ด้วยสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง
ออกบวชจากตระกูลสูงบ้าง ออกบวชจากตระกูลมีทรัพย์มากบ้าง ออกบวช
จากตระกูลมีโภคสมบัติมากบ้าง เป็นผู้ทรงจำพระสูตรบ้าง เป็นผู้ทรงจำพระวินัยบ้าง
เป็นพระธรรมกถึกบ้าง เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรบ้าง... เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตน-
สมาบัติบ้าง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๖๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ภิกษุนี้ไม่พึงอวด ไม่โอ้อวดอย่างนี้ คือ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งความโอ้อวด ได้แก่ เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น
ไม่เกี่ยวข้องแล้วกับความโอ้อวด มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ภิกษุไม่
พึงเป็นคนมักอวด

ว่าด้วยการกล่าววาจามุ่งได้
คำว่า ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้ อธิบายว่า
วาจามุ่งได้ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ กล่าววาจามุ่งได้จีวร กล่าววาจามุ่งได้บิณฑบาต
กล่าววาจามุ่งได้เสนาสนะ กล่าววาจามุ่งได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร นี้ตรัสเรียกว่า
วาจามุ่งได้
อีกนัยหนึ่ง เพราะเหตุแห่งจีวร เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต เพราะเหตุแห่ง
เสนาสนะ เพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุก็พูดจริงบ้าง พูดเท็จบ้าง
พูดส่อเสียดบ้าง พูดไม่ส่อเสียดบ้าง พูดหยาบบ้าง พูดไม่หยาบบ้าง พูดเพ้อเจ้อบ้าง
พูดไม่เพ้อเจ้อบ้าง พูดด้วยปัญญาบ้าง แม้นี้ก็ตรัสเรียกว่า วาจามุ่งได้
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุมีจิตเลื่อมใสแสดงธรรมแก่คนพวกอื่น ด้วยคิดว่า “โอหนอ
ขอคนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้วพึงเลื่อมใสในธรรม และผู้ที่เลื่อมใสแล้ว
ก็พึงแสดงอาการเลื่อมใสเรา” นี้ก็ตรัสเรียกว่า วาจามุ่งได้
คำว่า ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้ อธิบายว่า ภิกษุไม่พึงกล่าว คือ ไม่พึงพูด
ไม่พึงบอก ไม่พึงแสดง ไม่พึงชี้แจงวาจามุ่งได้ โดยที่สุดจนถึงวาจาแสดงธรรม ได้แก่
พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งวาจามุ่งได้ ได้แก่ เป็นผู้งด
งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับวาจามุ่งได้ มีใจเป็น
อิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๖๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความคะนอง ๓ อย่าง
คำว่า ความเป็นผู้คะนอง ในคำว่า ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง ได้แก่
ความคะนอง ๓ อย่าง คือ
๑. ความคะนองทางกาย ๒. ความคะนองทางวาจา
๓. ความคะนองทางใจ
ความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่สงฆ์ก็แสดงความคะนองทางกาย
อยู่ในหมู่คณะ... อยู่ในศาลาโรงฉัน ... อยู่ในเรือนไฟ ... อยู่ที่ท่าน้ำ... กำลังเข้าสู่
ละแวกบ้าน... เข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว ก็แสดงความคะนองทางกาย
ภิกษุอยู่ในหมู่สงฆ์แสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่สงฆ์ก็ไม่ทำความยำเกรง ยืนเบียด
เสียดภิกษุเถระบ้าง นั่งเบียดเสียดบ้าง ยืนบังหน้าบ้าง นั่งบังหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะ
สูงบ้าง นั่งคลุมศีรษะบ้าง ยืนพูดบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในหมู่สงฆ์แสดง
ความคะนองทางกาย เป็นอย่างนี้
ภิกษุอยู่ในหมู่คณะแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่คณะก็ไม่ทำความยำเกรง เมื่อภิกษุ
เถระไม่สวมรองเท้าเดินจงกรมอยู่ ก็สวมรองเท้าเดินจงกรม เมื่อภิกษุเถระเดิน
จงกรมบนลานจงกรมต่ำ ก็เดินจงกรมบนลานจงกรมสูง เมื่อภิกษุเถระเดินจงกรม
บนพื้นดินก็เดินจงกรมบนลานจงกรม ยืนเบียดเสียดบ้าง นั่งเบียดเสียดบ้าง
ยืนบังหน้าบ้าง นั่งบังหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะสูงบ้าง นั่งคลุมศีรษะบ้าง ยืนพูดบ้าง
แกว่งแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในหมู่คณะแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างนี้
ภิกษุอยู่ในศาลาโรงฉันแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในศาลาโรงฉันก็ไม่ทำความยำเกรง
นั่งแทรกภิกษุเถระบ้าง นั่งกีดกันอาสนะภิกษุนวกะบ้าง ยืนเบียดเสียดบ้าง
นั่งเบียดเสียดบ้าง ยืนบังหน้าบ้าง นั่งบังหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะสูงบ้าง นั่งคลุม
ศีรษะบ้าง ยืนพูดบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในศาลาโรงฉัน แสดงความคะนอง
ทางกาย เป็นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๖๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ภิกษุอยู่ในเรือนไฟแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในเรือนไฟไม่ทำความยำเกรง ยืนเบียด
เสียดภิกษุเถระบ้าง นั่งเบียดเสียดบ้าง ยืนบังหน้าบ้าง นั่งบังหน้าบ้าง นั่งบนอาสนะ
สูงบ้าง ไม่บอกก่อนแล้วใส่ฟืนบ้าง ไม่บอกก่อนแล้วปิดประตูบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง
ภิกษุอยู่ในเรือนไฟแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างนี้
ภิกษุอยู่ที่ท่าน้ำแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ที่ท่าน้ำไม่ทำความยำเกรง ลงเบียดเสียด
ภิกษุเถระบ้าง ลงข้างหน้าบ้าง อาบเบียดเสียดบ้าง อาบข้างหน้าบ้าง อาบเหนือน้ำ
บ้าง ขึ้นเบียดเสียดบ้าง ขึ้นข้างหน้าบ้าง ขึ้นเหนือน้ำบ้าง ภิกษุอยู่ที่ท่าน้ำแสดง
ความคะนองทางกาย เป็นอย่างนี้
ภิกษุกำลังเข้าสู่ละแวกบ้านแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ กำลังเข้าสู่ละแวกบ้าน ไม่ทำความยำเกรง
เดินเบียดเสียดภิกษุเถระบ้าง เดินข้างหน้าบ้าง เดินแซงขึ้นหน้าภิกษุเถระบ้าง
ภิกษุกำลังเข้าสู่ละแวกบ้านแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างนี้
ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้านแล้วแสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว เมื่อเขาบอกว่า
“ขออย่าเข้าไปครับท่าน” ก็ยังเข้าไป เมื่อเขาบอกว่า “อย่ายืนครับท่าน” ก็ยังยืนขึ้น
เมื่อเขาบอกว่า “ขออย่านั่งครับท่าน” ก็ยังนั่งลง เข้าไปสู่ที่เป็นโอกาสไม่สมควรบ้าง
ยืนในที่เป็นโอกาสไม่สมควรบ้าง นั่งในที่เป็นโอกาสไม่สมควรบ้าง ผลุนผลันเข้าไป
ในห้องเล็กที่ซ่อนเร้นปกปิดของตระกูลบ้าง ในห้องที่กุลสตรี กุลธิดา สะใภ้ของ
ตระกูล กุมารีของตระกูลนั่งอยู่บ้าง ลูบศีรษะเด็กเล่นบ้าง ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว
แสดงความคะนองทางกาย เป็นอย่างนี้ นี้ชื่อว่าความคะนองทางกาย
ความคะนองทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่สงฆ์ แสดงความคะนองทางวาจาบ้าง
อยู่ในหมู่คณะแสดงความคะนองทางวาจาบ้าง เข้าสู่ละแวกบ้านแล้วแสดงความคะนอง
ทางวาจาบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๖๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ภิกษุอยู่ในหมู่สงฆ์แสดงความคะนองทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่สงฆ์ไม่ทำความยำเกรง ไม่เรียนแจ้ง
ภิกษุเถระหรือไม่ได้รับอาราธนา ก็แสดงธรรม วิสัชนาปัญหา สวดปาติโมกข์แก่ภิกษุ
ที่อยู่ในอาราม ยืนพูดบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในหมู่สงฆ์แสดงความคะนอง
ทางวาจา เป็นอย่างนี้
ภิกษุอยู่ในหมู่คณะแสดงความคะนองทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ อยู่ในหมู่คณะไม่ทำความยำเกรง ไม่เรียนแจ้ง
ภิกษุเถระหรือไม่ได้รับอาราธนา ก็แสดงธรรม วิสัชนาปัญหา แก่ภิกษุที่อยู่ในอาราม
ยืนพูดบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง แสดงธรรม วิสัชนาปัญหาแก่ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ที่อยู่ในอาราม ยืนพูดบ้าง แกว่งแขนพูดบ้าง ภิกษุอยู่ในหมู่คณะแสดงความคะนอง
ทางวาจา เป็นอย่างนี้
ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้านแล้วแสดงความคะนองทางวาจา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว พูดกับสตรีหรือเด็กหญิง
อย่างนี้ว่า “แม่หนูชื่อนี้ นามสกุลนี้ มีอะไรบ้างล่ะ ข้าวต้มมีไหม ข้าวสวยมีไหม
ของขบเคี้ยวมีบ้างไหม พวกอาตมาจักดื่มอะไร จักฉันอะไร จักเคี้ยวอะไร มีอะไรบ้าง
หรือพวกเธอจักถวายอะไรแก่อาตมาบ้างล่ะ” พูดพร่ำเพ้อไป ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้านแล้ว
แสดงความคะนองทางวาจา เป็นอย่างนี้ นี้ชื่อว่าความคะนองทางวาจา
ความคะนองทางใจ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มิใช่ออกบวชจากตระกูลสูง ก็มีจิตวางตัวเช่น
เดียวกับภิกษุผู้ออกบวชจากตระกูลสูง มิใช่ออกบวชจากตระกูลที่มีโภคสมบัติมาก ...
มิใช่ออกบวชจากตระกูลที่มีโภคสมบัติยิ่งใหญ่... มิใช่เป็นผู้ทรงจำพระสูตร... มิใช่
เป็นผู้ทรงจำพระวินัย... มิใช่เป็นพระธรรมกถึก... มิใช่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ... มิใช่
เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร... มิใช่เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร... มิใช่เป็นผู้ทรง
ไตรจีวรเป็นวัตร... มิใช่เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร... มิใช่เป็นผู้
งดอาหารมื้อหลังเป็นวัตร... มิใช่เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร... มิใช่เป็นผู้ถือการอยู่ใน
เสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร... มิใช่เป็นผู้ได้ปฐมฌาน... มิใช่เป็นผู้ได้ทุติยฌาน...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๖๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
มิใช่เป็นผู้ได้ตติยฌาน... มิใช่เป็นผู้ได้จตุตถฌาน... มิใช่เป็นผู้ได้อากาสานัญจายตน-
สมาบัติ... มิใช่เป็นผู้ได้วิญญานัญจายตนสมาบัติ... มิใช่เป็นผู้ได้อากิญจัญญายตน-
สมาบัติ... มิใช่เป็นผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ก็มีจิตวางตัวเช่นเดียวกับ
ภิกษุผู้ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ นี้ชื่อว่าความคะนองทางใจ
คำว่า ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง อธิบายว่า ภิกษุไม่พึงศึกษา คือ ไม่พึงประพฤติ
ไม่พึงประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ ไม่พึงสมาทานประพฤติความเป็นผู้คะนอง
ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความเป็นผู้คะนอง คือ
เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้คะนอง
มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง
คำว่า ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง อธิบายว่า ถ้อยคำแก่งแย่ง เป็นอย่างไร
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้กระทำถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า “ท่านไม่รู้ธรรมวินัยนี้...
หรือหากท่านสามารถก็จงแก้ไขเถิด”
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “โมคคัลลานะ เมื่อมีถ้อยคำแก่งแย่ง
ก็พึงหวังการต้องพูดกันมาก เมื่อมีการพูดกันมาก ก็พึงหวังความฟุ้งซ่าน คนฟุ้งซ่าน
ก็มีความไม่สำรวม จิตของผู้ไม่สำรวมก็ห่างไกลจากสมาธิ”๑
คำว่า ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง อธิบายว่า ไม่พึงกล่าว คือ ไม่พึงพูด
ไม่พึงบอก ไม่พึงแสดง ไม่พึงชี้แจงถ้อยคำแก่งแย่ง ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมด
สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งถ้อยคำแก่งแย่ง คือ เป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก
สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับถ้อยคำแก่งแย่ง มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่
รวมความว่า ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุไม่พึงเป็นคนมักอวด ไม่พึงกล่าววาจามุ่งได้
ไม่พึงศึกษาความเป็นผู้คะนอง ไม่พึงกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง
[๑๖๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ
เมื่อรู้ตัวก็ไม่พึงทำความโอ้อวด และไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่น
ด้วยความเป็นอยู่ ด้วยปัญญา ด้วยศีลและวัตร

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.สตฺตก. ๒๓/๖๑/๗๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๗๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทสออ
ว่าด้วยมุสาวาท
คำว่า ภิกษุไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ อธิบายว่า มุสาวาท ตรัส
เรียกว่า ความเป็นคนพูดเท็จ
คนบางคนในโลกนี้ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท... พูดเท็จทั้งที่รู้... เพราะเหตุคือ
เห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง นี้ตรัสเรียกว่า ความเป็นคนพูดเท็จ
อีกนัยหนึ่ง มุสาวาท มีได้ด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ
๑. ก่อนพูดเธอก็รู้ว่า เราจักพูดเท็จ
๒. กำลังพูดก็รู้ว่า เรากำลังพูดเท็จ
๓. พูดแล้วก็รู้ว่า เราพูดเท็จแล้ว มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ ๓ อย่างเหล่านี้
อีกนัยหนึ่ง มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ ๔ อย่าง... ด้วยอาการ ๕ อย่าง...
ด้วยอาการ ๖ อย่าง... ด้วยอาการ ๗ อย่าง ...
มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ ๘ อย่าง คือ
๑. ก่อนพูดเธอก็รู้ว่า เราจักพูดเท็จ
๒. กำลังพูดก็รู้ว่า เรากำลังพูดเท็จ
๓. พูดแล้วก็รู้ว่า เราพูดเท็จแล้ว
๔. ปิดบังทิฏฐิ
๕. ปิดบังความพอใจ
๖. ปิดบังความชอบใจ
๗. ปิดบังความสำคัญ
๘. ปิดบังความจริง
มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ ๘ อย่างเหล่านี้
คำว่า ภิกษุไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ ได้แก่ ไม่พึงดำเนินไป ไม่พึง
มุ่งมั่น คือ ไม่พึงพาไป ไม่พึงนำ(ตน) เข้าไปในความเป็นคนพูดเท็จ ได้แก่ พึงละ
บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความเป็นคนพูดเท็จ คือ พึงเป็นผู้งด
งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นคนพูดเท็จ มีใจ
เป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่ รวมความว่า ภิกษุไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๗๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า เมื่อรู้ตัวก็ไม่พึงทำความโอ้อวด อธิบายว่า
ความโอ้อวด เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนโอ้อวด มักอวดอ้าง ความโอ้อวด กิริยาที่โอ้อวด
ภาวะที่โอ้อวด กิริยาที่ฟุ้งเฟ้อ ความเป็นคนฟุ้งเฟ้อ กิริยาที่เห่อ ความเป็นคนเห่อ
นี้ตรัสเรียกว่า ความโอ้อวด
คำว่า เมื่อรู้ตัวก็ไม่พึงทำความโอ้อวด อธิบายว่า เมื่อรู้ตัวก็ไม่พึงทำความ
โอ้อวด คือ ไม่พึงให้เกิด ไม่พึงให้เกิดขึ้น ไม่พึงให้บังเกิด ไม่พึงให้ความโอ้อวด
บังเกิดขึ้น ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความโอ้อวด
คือ พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความ
โอ้อวด มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า เมื่อรู้ตัวก็ไม่พึงทำความโอ้อวด
คำว่า และ ในคำว่า และไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่ ด้วยปัญญา
ด้วยศีลและวัตร เป็นคำเชื่อมบท... คำว่า และ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลัง
เข้าด้วยกัน อธิบายว่า ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อยู่เศร้าหมอง ก็ดูหมิ่นภิกษุ
อื่น ซึ่งเป็นอยู่ประณีตว่า “ทำไมภิกษุนี้จึงเป็นอยู่ฟุ่มเฟือย ฉันไปหมดทุกอย่าง คือ
หัวพืช ต้นพืช ผลพืช ยอดพืช เมล็ดพืชเป็นที่ ๕ เพราะมีความเพียรของสมณะแบบ
สายฟ้าแลบและพะเนินเหล็ก” ภิกษุนั้นชื่อว่าดูหมิ่นภิกษุอื่น ผู้เป็นอยู่ประณีตด้วย
ความเป็นอยู่เศร้าหมองนั้น
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นอยู่ประณีต ก็ดูหมิ่นภิกษุอื่น ผู้เป็นอยู่เศร้าหมองว่า
“ทำไมภิกษุนี้จึงมีบุญน้อย มีศักดิ์น้อย ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-
ปัจจัยเภสัชบริขารเลย” ภิกษุนั้นชื่อว่าดูหมิ่นภิกษุอื่น ผู้เป็นอยู่เศร้าหมองด้วย
ความเป็นอยู่ประณีตนั้น
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ สมบูรณ์ด้วยปัญญา ถูกถามก็ตอบปัญหาได้ ภิกษุ
นั้นก็มีความคิดอย่างนี้ว่า “เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ มิใช่ผู้
สมบูรณ์ด้วยปัญญา” ภิกษุนั้นชื่อว่าดูหมิ่นภิกษุอื่นด้วยความสมบูรณ์ด้วยปัญญานั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๗๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สำรวมด้วยการสังวรใน
ปาติโมกข์ สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร มองเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย ย่อม
สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายอยู่ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า “เราเป็นผู้สมบูรณ์
ด้วยศีล ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ เป็นผู้ทุศีล เป็นผู้เลวทราม” ภิกษุนั้นชื่อว่าดูหมิ่นภิกษุ
อื่นด้วยความสมบูรณ์ด้วยศีลนั้น
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวัตร คือ เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร
เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ทรงไตรจีวรเป็น
วัตร เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร เป็นผู้งดฉันอาหารมื้อหลังเป็นวัตร
เป็นผู้ถือการนั่งเป็นวัตร เป็นผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร เธอมี
ความคิดอย่างนี้ว่า “เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้มิใช่ผู้สมบูรณ์
ด้วยวัตร” ภิกษุนั้นชื่อว่าดูหมิ่นภิกษุอื่นด้วยความสมบูรณ์ด้วยวัตรนั้น
คำว่า และไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่ ด้วยปัญญา ด้วยศีลและวัตร
อธิบายว่า ไม่พึงดูหมิ่น คือ ไม่พึงดูแคลนผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่เศร้าหมอง ความ
เป็นอยู่ประณีต ความสมบูรณ์ด้วยปัญญา ความสมบูรณ์ด้วยศีล หรือด้วยความ
สมบูรณ์ด้วยวัตร ได้แก่ ไม่พึงให้ความถือตัวเกิดด้วยเหตุนั้น ไม่พึงเป็นคนแข็ง
กระด้าง หัวสูง ด้วยเหตุนั้น รวมความว่า และไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยความเป็นอยู่
ด้วยปัญญา ด้วยศีลและวัตร ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ
เมื่อรู้ตัวก็ไม่พึงทำความโอ้อวด และไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่น
ด้วยความเป็นอยู่ ด้วยปัญญา ด้วยศีลและวัตร
[๑๖๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุถูกประทุษร้าย ได้ยินคำพูดมากของพวกสมณะ
หรือพวกคนพูดมาก ไม่พึงโต้ตอบคนเหล่านั้นด้วยคำหยาบ
เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๗๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า ถูกประทุษร้าย ในคำว่า ภิกษุถูกประทุษร้ายได้ยินคำพูดมากของพวก
สมณะหรือพวกคนพูดมาก อธิบายว่า ถูกประทุษร้าย คือ ถูกด่า ถูกเสียดสี
ถูกเหยียดหยาม ถูกติเตียน ถูกว่าร้าย
คำว่า ของพวกสมณะ ได้แก่ นักบวชพวกใดพวกหนึ่ง ผู้เข้าถึงการบวช
ยินยอมบวชในภายนอกจากศาสนานี้
คำว่า พวกคนพูดมาก ได้แก่ พวกกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์
บรรพชิต เทวดา และมนุษย์
คนเหล่านั้น พึงด่า บริภาษ ติเตียน สาปแช่ง เบียดเบียน ย่ำยี ทำร้าย รุกราน
สั่งฆ่า เข่นฆ่า ทำการเข่นฆ่า ด้วยวาจาที่ไม่พึงปรารถนา ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ
มากมาย ได้ยิน คือ ได้สดับ เรียน ทรงจำ เข้าไปกำหนดวาจาที่ไม่พึงปรารถนา
ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจมากมาย ของคนพวกนั้น รวมความว่า ภิกษุถูกประทุษร้าย
ได้ยินคำพูดมากของพวกสมณะหรือพวกคนพูดมาก
คำว่า ด้วยคำหยาบ ในคำว่า ไม่พึงโต้ตอบคนเหล่านั้นด้วยคำหยาบ
อธิบายว่า ไม่พึงโต้ตอบ คือ ไม่พึงกล่าวตอบด้วยคำหยาบ ได้แก่ คำกักขฬะ คือ ไม่
พึงด่าตอบผู้ด่า ไม่พึงสาปแช่งตอบผู้สาปแช่ง ไม่พึงขัดเคืองตอบผู้ขัดเคือง ไม่พึงก่อ
การทะเลาะกัน ไม่พึงก่อการบาดหมางกัน ไม่พึงก่อการแก่งแย่งกัน ไม่พึงก่อการ
วิวาทกัน ไม่พึงก่อการมุ่งร้ายกัน ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความ
ไม่มีอีกซึ่งการทะเลาะ ความขัดเคือง การแก่งแย่ง การวิวาท การมุ่งร้าย พึงเป็น
ผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับการทะเลาะ การ
บาดหมาง การแก่งแย่ง การวิวาทและการมุ่งร้าย มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส) อยู่
รวมความว่า ไม่พึงโต้ตอบคนเหล่านั้นด้วยคำหยาบ
คำว่า ผู้สงบ ในคำว่า เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู อธิบายว่า
ชื่อว่าผู้สงบ เพราะเป็นผู้สงบราคะ
ชื่อว่าผู้สงบ เพราะสงบโทสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๗๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ชื่อว่าผู้สงบ เพราะสงบโมหะ
ชื่อว่าผู้สงบ คือ เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ ระงับได้แล้วเพราะสงบ ระงับ
สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับโกธะ... อุปนาหะ... อกุสลาภิสังขารทุก
ประเภท รวมความว่า ผู้สงบ
คำว่า เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู อธิบายว่า ผู้สงบย่อมไม่สร้าง คือ ไม่ให้
เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้นซึ่งศัตรู คือ ข้าศึก เสี้ยนหนาม
ฝ่ายตรงข้าม รวมความว่า เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุถูกประทุษร้าย ได้ยินคำพูดมากของพวกสมณะ
หรือพวกคนพูดมาก ไม่พึงโต้ตอบคนเหล่านั้นด้วยคำหยาบ
เพราะผู้สงบย่อมไม่สร้างศัตรู
[๑๖๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุรู้ธรรมนี้แล้วเลือกสรรอยู่ พึงเป็นผู้มีสติ
ศึกษาทุกเมื่อ รู้ความดับกิเลสว่า เป็นความสงบแล้ว
ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม
คำว่า นี้ ในคำว่า รู้ธรรมนี้แล้ว ได้แก่ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสบอก ทรงแสดง
บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศไว้แล้ว อธิบายว่า รู้ คือ ทราบ
เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้วซึ่งธรรม รวมความว่า รู้ธรรม
นี้แล้ว อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง รู้ คือ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้ง
แล้วซึ่งธรรมทั้งที่เสมอและไม่เสมอ ทั้งที่เป็นทางและมิใช่ทาง ทั้งที่มีโทษและไม่มีโทษ
ทั้งทรามและประณีต ทั้งดำและขาว ทั้งที่วิญญูชนติเตียนและที่วิญญูชนสรรเสริญ
รวมความว่า รู้ธรรมนี้แล้ว อย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๗๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง รู้ คือ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว
ซึ่งธรรม คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การ
ปฏิบัติไม่คลาดเคลื่อน การปฏิบัติเอื้อประโยชน์ การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม
การรักษาศีลให้บริบูรณ์ ความเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ความเป็นผู้รู้จักประมาณ
ในการบริโภคอาหาร ความเป็นผู้มีความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะ
สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕
โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพานและปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน
รวมความว่า รู้ธรรมนี้แล้ว อย่างนี้บ้าง
คำว่า เลือกสรรอยู่ ในคำว่า ภิกษุ... เลือกสรรอยู่ พึงเป็นผู้มีสติศึกษา
ทุกเมื่อ อธิบายว่า เลือกสรรอยู่ คือ เลือกเฟ้น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง
ทำให้แจ่มแจ้งอยู่ ได้แก่ เลือกสรรอยู่ คือ เลือกเฟ้น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้
กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งอยู่ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง... สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้น
เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า ภิกษุ...
เลือกสรรอยู่
คำว่า ทุกเมื่อ ได้แก่ ทุกเมื่อ คือ ในกาลทั้งปวง ตลอดกาลทั้งปวง... ปัจฉิมวัย
คำว่า เป็นผู้มีสติ ได้แก่ มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ (๑) ชื่อว่ามีสติ เมื่อ
เจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย... ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า เป็น
ผู้มีสติ
คำว่า ศึกษา ได้แก่ สิกขา ๓ คือ
๑. อธิสีลสิกขา ๒. อธิจิตตสิกขา
๓. อธิปัญญาสิกขา... นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
สิกขา ๓ เหล่านี้ เมื่อภิกษุนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา... ชื่อว่าพึงศึกษา คือพึง
ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ รวมความว่า ภิกษุ...
เลือกสรรอยู่ พึงเป็นผู้มีสติศึกษาทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๗๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
คำว่า รู้ความดับกิเลสว่า เป็นความสงบแล้ว อธิบายว่า รู้ คือ ทราบ
เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งความดับราคะว่า เป็นความสงบ...
ความดับโทสะ ... ความดับโมหะ ... ความดับอกุสลาภิสังขารทุกประเภทว่า เป็น
ความสงบแล้ว รวมความว่า รู้ความดับว่า เป็นความสงบแล้ว
คำว่า ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม ได้แก่ ในศาสนาของ
พระโคดม คือ ในศาสนาของพระพุทธเจ้า ในศาสนาของพระชินเจ้า ในศาสนาของ
พระตถาคต ในศาสนาของพระผู้เป็นดุจเทพ ในศาสนาของพระอรหันต์
คำว่า ไม่พึงประมาท อธิบายว่า พึงเป็นผู้ทำโดยเอื้อเฟื้อ ทำติดต่อ ทำไม่หยุด
ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ละความพอใจ ไม่ทอดธุระ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรม
ทั้งหลาย คือ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความมี
เรี่ยวแรง ความไม่ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส
ความเพียรแรงกล้า ความตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า “เราพึงทำสีลขันธ์
ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์โดยอุบายอย่างไร”... ว่า “เราพึงทำสมาธิขันธ์... ปัญญาขันธ์...
วิมุตติขันธ์... วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์โดยอุบายอย่างไร”
คือ ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขยัน ความมีเรี่ยวแรง
ความไม่ถอยกลับ สติสัมปชัญญะ ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส ความเพียร
แรงกล้า ความตั้งใจ ความประกอบเนือง ๆ ด้วยคิดว่า “เราพึงกำหนดรู้ทุกข์ที่
ยังมิได้กำหนดรู้ พึงละกิเลสที่ยังมิได้ละ พึงเจริญมรรคที่ยังมิได้เจริญ หรือพึงทำให้
แจ้งนิโรธที่ยังมิได้ทำให้แจ้งโดยอุบายอย่างไร” ดังนี้ ชื่อว่าความไม่ประมาทในกุศล
ธรรมทั้งหลาย รวมความว่า ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุรู้ธรรมนี้แล้วเลือกสรรอยู่ พึงเป็นผู้มีสติ
ศึกษาทุกเมื่อ รู้ความดับกิเลสว่า เป็นความสงบแล้ว
ไม่พึงประมาทในศาสนาของพระโคดม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๗๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
[๑๖๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้)
ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำ ไม่ถูกครอบงำ
ได้เห็นธรรมที่เป็นพยาน ซึ่งไม่ต้องเชื่อใคร
เพราะฉะนั้น เธอพึงเป็นผู้ไม่ประมาทในศาสนา
ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น นอบน้อมอยู่
พึงหมั่นศึกษาทุกเมื่อ
คำว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำ ไม่ถูกครอบงำ อธิบายว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้
ครอบงำรูป ครอบงำเสียง ครอบงำกลิ่น ครอบงำรส ครอบงำโผฏฐัพพะ ครอบงำ
ธรรมารมณ์ ไม่ถูกกิเลสไร ๆ ครอบงำเลย ภิกษุพึงเป็นผู้ครอบงำบาปอกุศลธรรม
เหล่านั้น ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าหมอง ก่อภพใหม่ มีความกระวนกระวาย
มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะต่อไป รวมความว่า ภิกษุนั้นเป็น
ผู้ครอบงำ ไม่ถูกครอบงำ
คำว่า ธรรมที่เป็นพยาน ในคำว่า ได้เห็นธรรมที่เป็นพยาน ซึ่งไม่ต้อง
เชื่อใคร อธิบายว่า ได้เห็น คือ ได้แลเห็น ได้ ได้แทงตลอดธรรมที่ประจักษ์แก่ตน
ธรรมที่รู้ด้วยตนเอง มิใช่โดยอาการเชื่อผู้อื่นว่า ธรรมนี้เป็นดังนี้ ธรรมนี้เป็นดังนี้
มิใช่โดยการเล่าลือ มิใช่โดยการถือสืบ ๆ กันมา มิใช่โดยการอ้างตำรา มิใช่โดยตรรก
มิใช่โดยการอนุมาน มิใช่โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล มิใช่เพราะเข้าได้กับ
ทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว รวมความว่า ได้เห็นธรรมที่เป็นพยาน ซึ่งไม่ต้องเชื่อใคร
คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น... ในศาสนาของพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น ได้แก่ เพราะฉะนั้น คือ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น
เพราะต้นเหตุนั้น
คำว่า ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น อธิบายว่า ในศาสนาของ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น คือ ในศาสนาของพระโคดม ในศาสนาของพระพุทธเจ้า
ในศาสนาของพระชินเจ้า ในศาสนาของพระตถาคต ในศาสนาของพระผู้เป็นดุจเทพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๗๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
ในศาสนาของพระอรหันต์ รวมความว่า เพราะฉะนั้น... ในศาสนาของพระผู้มีพระ-
ภาคพระองค์นั้น
คำว่า เธอพึงเป็นผู้ไม่ประมาท ในคำว่า พึงเป็นผู้ไม่ประมาท... นอบน้อม
อยู่ พึงหมั่นศึกษาทุกเมื่อ ได้แก่ พึงเป็นผู้กระทำต่อเนื่อง... ชื่อว่าไม่ประมาทใน
กุศลธรรมทั้งหลาย
คำว่า ทุกเมื่อ ได้แก่ ทุกเมื่อ คือ ในกาลทั้งปวง... ปัจฉิมวัย
คำว่า นอบน้อมอยู่ ได้แก่ นอบน้อมอยู่ คือ สักการะ เคารพ นับถือ บูชา
ยำเกรง ด้วยกาย วาจา ใจ ปฏิบัติเอื้อประโยชน์ ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม
คำว่า พึงหมั่นศึกษา ได้แก่ สิกขา ๓ คือ
๑. อธิสีลสิกขา ๒. อธิจิตตสิกขา
๓. อธิปัญญาสิกขา... นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
สิกขา ๓ เหล่านั้นเมื่อภิกษุนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา... เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควร
ทำให้แจ้ง ชื่อว่าพึงศึกษา คือ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ
สมาทานประพฤติ
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ... คำว่า พระผู้มี-
พระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า เธอพึงเป็นผู้ไม่ประมาท... นอบน้อมอยู่
พึงหมั่นศึกษาทุกเมื่อ (พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดังนี้) เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำ ไม่ถูกครอบงำ
ได้เห็นธรรมที่เป็นพยาน ซึ่งไม่ต้องเชื่อใคร
เพราะฉะนั้น เธอพึงเป็นผู้ไม่ประมาทในศาสนา
ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น นอบน้อมอยู่
พึงหมั่นศึกษาทุกเมื่อ
ตุวฏกสุตตนิทเทสที่ ๑๔ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๗๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส๑
อธิบายอัตตทัณฑสูตร
ว่าด้วยความกลัวเกิดจากโทษของตน
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายอัตตทัณฑสูตร ดังต่อไปนี้
[๑๗๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ความกลัวเกิดจากโทษของตน
เธอทั้งหลายจงมองดูคนที่มุ่งร้ายกัน
เราจักกล่าวความสังเวชตามที่เราเคยสังเวชมาแล้ว
คำว่า โทษ ในคำว่า ความกลัวเกิดจากโทษของตน ได้แก่ โทษ ๓ อย่าง คือ
๑. โทษทางกาย ๒. โทษทางวาจา
๓. โทษทางใจ
กายทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโทษทางกาย
วจีทุจริต ๔ อย่าง ชื่อว่าโทษทางวาจา
มโนทุจริต ๓ อย่าง ชื่อว่าโทษทางใจ
คำว่า ความกลัว ได้แก่ ความกลัว ๒ อย่าง คือ (๑) ความกลัวในปัจจุบัน
(๒) ความกลัวในสัมปรายิกภพ
ความกลัวในปัจจุบัน เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริตทางกาย ประพฤติทุจริตทางวาจา
ประพฤติทุจริตทางใจ ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ตัดช่องย่องเบาบ้าง ขโมย
ยกเค้าบ้าง ปล้นบ้านบ้าง ดักจี้ในทางเปลี่ยวบ้าง ละเมิดภรรยาของผู้อื่นบ้าง
พูดเท็จบ้าง พวกราชบุรุษจับบุคคลนั้นได้ จึงทูลแสดงแด่พระราชาว่า “ขอเดชะ
ผู้นี้เป็นโจร ประพฤติชั่ว ขอจงทรงลงอาญาตามที่ทรงพระราชประสงค์แก่บุคคล
นี้เถิด” พระราชาย่อมทรงบริภาษบุคคลนั้น เพราะการบริภาษเป็นปัจจัย เขาย่อม
เกิดความกลัวแล้วเสวยทุกข์และโทมนัสบ้าง ความกลัว ทุกข์และโทมนัสของเขานี้
เกิดจากอะไร ความกลัว เกิด คือ เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏจากโทษของตน

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๙๔๒-๙๖๑/๕๑๘-๕๒๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๘๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
พระราชาไม่ทรงพอพระทัยแม้เพียงเท่านั้น ทรงให้จองจำบุคคลนั้นด้วยเครื่อง
จองจำคือขื่อคาบ้าง เครื่องจองจำคือเชือกบ้าง เครื่องจองจำคือโซ่ตรวนบ้าง
เครื่องจองจำคือหวายบ้าง เครื่องจองจำคือเถาวัลย์บ้าง เครื่องจองจำคือคุกบ้าง
เครื่องจองจำคือเรือนจำบ้าง เครื่องจองจำคือหมู่บ้านบ้าง เครื่องจองจำคือนิคมบ้าง
เครื่องจองจำคือเมืองบ้าง เครื่องจองจำคือรัฐบ้าง เครื่องจองจำคือชนบทบ้าง โดย
ที่สุด ทรงมีพระราชโองการว่า “พวกมันออกไปจากที่นี่ไม่ได้” บุคคลนั้นย่อมเสวย
ทุกข์และโทมนัส เพราะถูกจองจำเป็นปัจจัยบ้าง ความกลัว ทุกข์และโทมนัสของ
เขานี้ เกิดจากอะไร ความกลัว เกิด คือ เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏ
จากโทษของตน
พระราชาไม่ทรงพอพระทัยแม้เพียงเท่านี้ ทรงให้ปรับทรัพย์ของเขา ๑๐๐ บ้าง
๑,๐๐๐ บ้าง ๑๐๐,๐๐๐ บ้าง บุคคลนั้นก็เสวยทุกข์และโทมนัส เพราะการหมด
เปลืองทรัพย์เป็นปัจจัย ความกลัว ทุกข์และโทมนัสของเขานี้ เกิดมาจากอะไร
ความกลัว เกิด คือ เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏจากโทษของตน
พระราชาไม่ทรงพอพระทัยเพียงเท่านี้ ทรงรับสั่งให้จับเขาลงอาญาด้วยประการ
ต่าง ๆ คือ ให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ให้เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ให้ตีด้วยไม้พลองบ้าง
ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง ตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหู
และจมูกบ้าง วางก้อนเหล็กแดงบนศีรษะบ้าง ถลกหนังศีรษะแล้วขัดให้ขาวเหมือน
สังข์บ้าง เอาไฟยัดปากจนเลือดไหลเหมือนปากราหูบ้าง เอาผ้าพันตัวราดน้ำมันแล้ว
จุดไฟเผาบ้าง พันมือแล้วจุดไฟต่างคบบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงข้อเท้าให้ลุกเดิน
เหยียบหนังจนล้มลงบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงบั้นเอว ทำให้มองดูเหมือนนุ่งผ้า
คากรองบ้าง สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกและเข่าแล้วเสียบหลาวทั้งห้าทิศเอาไฟเผาบ้าง
ใช้เบ็ดเกี่ยวหนัง เนื้อ เอ็นออกมาบ้าง เฉือนเนื้อออกเป็นแว่น ๆ เหมือนเหรียญกษาปณ์
บ้าง เฉือนหนังเนื้อเอ็นออก เหลือไว้แต่กระดูกบ้าง ใช้หลาวแทงช่องหูให้ทะลุถึงกัน
บ้าง เสียบให้ติดดินแล้วจับเขาหมุนได้รอบบ้าง ทุบกระดูกให้แหลกแล้วถลกหนัง
ออกเหลือไว้แต่กองเนื้อเหมือนตั่งใบไม้บ้าง รดตัวด้วยน้ำมันที่กำลังเดือดพล่านบ้าง
ให้สุนัขกัดกินจนเหลือแต่กระดูกบ้าง ให้นอนบนหลาวทั้งเป็นบ้าง เอาดาบตัดศีรษะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๘๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
บ้าง บุคคลนั้นย่อมเสวยทุกข์และโทมนัส เพราะการลงโทษเป็นปัจจัย ความกลัว
ทุกข์และโทมนัสของเขานี้ เกิดมาจากอะไร ความกลัว เกิด คือ เกิดขึ้น บังเกิด
บังเกิดขึ้น ปรากฏจากโทษของตน พระราชาทรงเป็นใหญ่ในโทษ ๔ ชนิดเหล่านี้
หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรม
ของตน พวกนายนิรยบาล ก็ลงโทษ มีการจองจำ ๕ อย่าง คือ (จับเขานอนหงายแล้ว)
(๑) เอาหลาวเหล็กตรึงที่มือขวา (๒) ตรึงที่มือซ้าย (๓) ตรึงที่เท้าขวา (๔) ตรึงที่เท้าซ้าย
(๕) ตรึงที่กลางอก เขาเสวยทุกขเวทนาอย่างเผ็ดร้อนในนรกนั้น แต่ยังไม่ตายตราบ
เท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่หมดสิ้นไป ความกลัว ทุกข์และโทมนัสของเขานี้ เกิดมา
จากอะไร ความกลัว เกิด คือ เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏจากโทษของตน
พวกนายนิรยบาลให้เขานอนลงแล้วถากด้วยผึ่ง เขาเสวยทุกขเวทนากล้าอย่าง
หนักเผ็ดร้อน แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่หมดสิ้นไป พวกนาย
นิรยบาลจับเขาเอาเท้าขึ้น เอาศีรษะลง เอามีดเฉือน จับเขาเทียมรถแล่นกลับไป
กลับมาบนพื้นอันร้อนลุกเป็นเปลว โชติช่วง... บังคับเขาขึ้นลงภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่
ที่ไฟลุกโชน โชติช่วงบ้าง... จับเขาเอาเท้าขึ้นเอาศีรษะทุ่มลงในโลหกุมภีอันร้อนแดง
ลุกเป็นแสงไฟ เขาถูกต้มเดือดจนตัวพองในโลหกุมภีนั้น บางคราวลอยขึ้น บางครั้ง
จมลง บางครั้งลอยขวาง เขาเสวยทุกขเวทนากล้าอย่างหนักเผ็ดร้อนในโลหกุมภีอัน
ร้อนแดงนั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่หมดสิ้นไป ความกลัว ทุกข์
และโทมนัสของเขานี้ เกิดมาจากอะไร ความกลัว เกิด คือ เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น
ปรากฏจากโทษของตน พวกนายนิรยบาลจึงทุ่มเขาลงในมหานรก ก็มหานรกนั้น
มี ๔ มุม ๔ ประตู แบ่งออกเป็นส่วน
มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ ครอบด้วยฝาเหล็ก
มหานรกนั้น มีพื้นเป็นเหล็ก ลุกโชนโชติช่วง
แผ่ไปไกลด้านละ ๑๐๐ โยชน์ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ๑
มหานรกอันน่าสยดสยอง แผดเผาสัตว์ให้มีทุกข์
ร้ายแรง มีเปลวไฟ เข้าใกล้ได้ยาก น่าขนลุก
น่าพรั่นพรึง น่ากลัว น่าเป็นทุกข์

เชิงอรรถ :
๑ ม.อุ. ๑๔/๒๕๐,๒๖๗/๒๑๗-๒๑๘,๒๓๖, องฺ.ติก. ๒๐/๓๖/๑๓๖, อภิ.ก. ๓๗/๘๖๘/๔๙๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๘๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
มีกองไฟลุกขึ้นจากผนังด้านตะวันออก
แผดเผาสัตว์ผู้มีบาปกรรม ไปจรดผนังด้านตะวันตก
มีกองไฟลุกขึ้นจากผนังด้านตะวันตก
แผดเผาสัตว์ผู้มีบาปกรรม ไปจรดผนังด้านตะวันออก
มีกองไฟลุกขึ้นจากด้านเหนือ
แผดเผาสัตว์ผู้มีบาปกรรม ไปจรดผนังด้านใต้
มีกองไฟลุกขึ้นจากด้านใต้
แผดเผาสัตว์ผู้มีบาปกรรม ไปจรดผนังด้านเหนือ
กองไฟที่น่าสะพึงกลัว ผุดขึ้นมาจากเบื้องล่าง
แผดเผาสัตว์ผู้มีบาปกรรม (ลุกท่วม) ติดหลังคา
กองไฟน่าสะพึงกลัว ลุกขึ้นมาจากหลังคา
แผดเผาสัตว์ผู้มีบาปกรรม (ลามลง) กระทบถึงพื้น
อเวจีมหานรก ทั้งข้างล่างข้างบน ด้านข้าง
ก็เหมือนกับแผ่นเหล็กที่ถูกไฟเผาลน เร่าร้อนโชติช่วงอยู่เสมอ
สัตว์ทั้งหลายที่หยาบช้ามาก ทำกรรมร้ายแรงมากเสมอ
เป็นผู้มีบาปกรรมโดยส่วนเดียว
มอดไหม้อยู่ในอเวจีมหานรกนั้น แต่ก็ยังไม่ตาย
ร่างกายของสัตว์ที่อยู่ในนรกเหล่านั้น
เหมือนกับไฟที่ไหม้อยู่ ขอเธอจงดูความมั่นคงของกรรมเถิด
ไม่มีเถ้าและเขม่าเลย
สัตว์นรกทั้งหลายวิ่งไปทางตะวันออก
จากตะวันออกนั้น ก็วิ่งไปทางตะวันตก วิ่งไปทางเหนือ
จากทางเหนือนั้น ก็วิ่งไปทางด้านใต้
วิ่งไปยังทิศใด ๆ ประตูนั้น ๆ ก็ปิดเสีย สัตว์เหล่านั้น
มีความหวังจะออกไป จึงเที่ยวแสวงหา ทางออกอยู่เสมอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๘๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
สัตว์เหล่านั้นไม่สามารถจะออกไปจากมหานรกนั้น
เพราะกรรมเป็นปัจจัย เพราะสัตว์เหล่านั้นทำกรรมชั่วร้ายไว้มาก
ยังให้ผลไม่หมดสิ้น๑
ความกลัว ทุกข์และโทมนัสของเขานี้ เกิดมาจากอะไร ความกลัว เกิด คือ
เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏจากโทษของตน ทุกข์ของสัตว์นรกก็ดี ทุกข์ของ
สัตว์ที่เกิดในกำเนิดเดรัจฉานก็ดี ทุกข์ของสัตว์ที่เกิดในเปตวิสัยก็ดี ทุกข์ของมนุษย์ก็ดี
เกิดมาจากอะไร คือ เกิดขึ้นมาจากไหน บังเกิดมาจากไหน บังเกิดขึ้นมาจากไหน
ปรากฏมาจากไหน
ทุกข์เหล่านั้น เกิด คือ เกิดขึ้น บังเกิด บังเกิดขึ้น ปรากฏจากโทษของตน
รวมความว่า ความกลัวเกิดจากโทษของตน
คำว่า คน ในคำว่า เธอทั้งหลายจงมองดูคนที่มุ่งร้ายกัน ได้แก่ กษัตริย์
พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาและมนุษย์ อธิบายว่า เธอทั้งหลาย
จงมองดู คือ จงแลดู ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดูคนที่มุ่งร้ายกัน คือ คนที่ทะเลาะกัน
คนที่ทำร้ายกัน คนที่ทำร้ายตอบกัน คนที่ขุ่นเคืองกัน คนที่ขุ่นเคืองตอบกัน คนที่
อาฆาตกัน คนที่อาฆาตตอบกัน รวมความว่า เธอทั้งหลายจงมองดูคนที่มุ่งร้ายกัน
คำว่า เราจักกล่าวความสังเวช อธิบายว่า ความสังเวช คือ ความสะดุ้ง
ความหวาดเสียว ความกลัว ความบีบคั้น ความกระทบ ความเบียดเบียน ความ
ขัดข้อง
คำว่า จักกล่าว ได้แก่ จักกล่าว คือ จักบอก แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ รวมความว่า เราจักกล่าวความสังเวช
คำว่า ตามที่เราเคยสังเวชมาแล้ว อธิบายว่า ตามที่เราสังเวช คือ สะดุ้ง
ถึงความสังเวชมาแล้ว ด้วยตนเองแล รวมความว่า ตามที่เราเคยสังเวชมาแล้ว
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. ๓๐/๑๒๒/๒๔๗-๒๔๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๘๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ความกลัวเกิดจากโทษของตน
เธอทั้งหลายจงมองดูคนที่มุ่งร้ายกัน
เราจักกล่าวความสังเวชตามที่เราเคยสังเวชมาแล้ว
[๑๗๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เพราะเห็นหมู่สัตว์ผู้ดิ้นรนอยู่
เหมือนฝูงปลาในบ่อที่มีน้ำน้อย
เพราะเห็นสัตว์ที่ทำร้ายกันและกัน ภัยจึงปรากฏแก่เรา

ว่าด้วยทุกข์ต่าง ๆ
คำว่า หมู่สัตว์ ในคำว่า เพราะเห็นหมู่สัตว์ผู้ดิ้นรนอยู่ เป็นคำตรัสเรียกสัตว์
อธิบายว่า หมู่สัตว์ผู้ดิ้นรนอยู่ คือ กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว สั่นเทา
กระสับกระส่าย ด้วยความดิ้นรนเพราะตัณหา ดิ้นรนเพราะทิฏฐิ ดิ้นรนเพราะกิเลส
ดิ้นรนเพราะทุจริต ดิ้นรนเพราะการประกอบ ดิ้นรนเพราะวิบาก คือ
ผู้กำหนัดก็ดิ้นรนตามอำนาจราคะ
ผู้ขัดเคืองก็ดิ้นรนตามอำนาจโทสะ
ผู้หลงก็ดิ้นรนตามอำนาจโมหะ
ผู้ยึดติดก็ดิ้นรนตามอำนาจมานะ
ผู้ยึดถือก็ดิ้นรนตามอำนาจทิฏฐิ
ผู้ฟุ้งซ่านก็ดิ้นรนตามอำนาจอุทธัจจะ
ผู้ลังเลก็ดิ้นรนตามอำนาจวิจิกิจฉา
ผู้ตกอยู่ในพลังกิเลสก็ดิ้นรนตามอำนาจอนุสัย
ดิ้นรนเพราะลาภ เพราะเสื่อมลาภ เพราะยศ เพราะเสื่อมยศ เพราะสรรเสริญ
เพราะนินทา เพราะสุข เพราะทุกข์
ดิ้นรนเพราะชาติ เพราะชรา เพราะพยาธิ เพราะมรณะ เพราะโสกะ
ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๘๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ดิ้นรนเพราะทุกข์เนื่องจากการเกิดในนรก เพราะทุกข์เนื่องจากการเกิดใน
กำเนิดเดรัจฉาน เพราะทุกข์เนื่องจากการเกิดในเปตวิสัย เพราะทุกข์เนื่องจากการ
เกิดในโลกมนุษย์ เพราะทุกข์เนื่องจากการถือกำเนิดในครรภ์ เพราะทุกข์เนื่องจาก
การอยู่ในครรภ์ เพราะทุกข์เนื่องจากการคลอดจากครรภ์ เพราะทุกข์ที่สืบเนื่องจาก
ผู้เกิด เพราะทุกข์ของผู้เกิดที่เนื่องจากผู้อื่น เพราะทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของ
ตนเอง เพราะทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของผู้อื่น เพราะทุกข์ที่เกิดความทุกข์กาย
ทุกข์ใจ เพราะทุกข์ที่เกิดจากสังขาร เพราะทุกข์ที่เกิดจากความแปรผัน
ดิ้นรนเพราะทุกข์ที่เกิดจากโรคทางตา เพราะทุกข์ที่เกิดจากโรคทางหู เพราะ
ทุกข์ที่เกิดจากโรคทางจมูก เพราะทุกข์ที่เกิดจากโรคทางลิ้น เพราะทุกข์ที่เกิดจาก
โรคทางกาย เพราะทุกข์ที่เกิดจากโรคศีรษะ... โรคหู... โรคปาก...โรคฟัน... โรคไอ...
โรคหืด... ไข้หวัด... ไข้พิษ... ไข้เชื่อมซึม... โรคท้อง... เป็นลมสลบ... ลงแดง...
จุกเสียด... อหิวาตกโรค... โรคเรื้อน... ฝี... กลาก... มองคร่อ... ลมบ้าหมู... หิดเปื่อย...
หิดด้าน... หิด... หูด... โรคละลอก... โรคดีซ่าน ... โรคเบาหวาน... โรคเริม...
โรคพุพอง... โรคริดสีดวงทวาร... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากดี... ความเจ็บป่วยที่เกิด
จากเสมหะ... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม...ไข้สันนิบาต... ความเจ็บป่วยที่เกิด
จากการเปลี่ยนฤดูกาล... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้
ส่วนกัน... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความพากเพียรเกินกำลัง... ความเจ็บป่วยที่เกิด
จากผลกรรม... ความหนาว... ความร้อน... ความหิว... ความกระหาย... ปวด
อุจจาระ... ปวดปัสสาวะ ...
ดิ้นรนเพราะทุกข์ที่เกิดจากสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน
ทุกข์เพราะมารดาตาย... ทุกข์เพราะบิดาตาย... ทุกข์เพราะพี่ชายน้องชายตาย...
ทุกข์เพราะพี่สาวน้องสาวตาย... ทุกข์เพราะบุตรตาย... ทุกข์เพราะธิดาตาย... ความ
พินาศของญาติ... โภคทรัพย์พินาศ... ความเสียหายที่เกิดจากโรค... สีลวิบัติ...
ทิฏฐิวิบัติ
คำว่า เพราะเห็น ได้แก่ เพราะเห็น คือ เพราะมองเห็น เทียบเคียง พิจารณา
ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้ง รวมความว่า เพราะเห็นหมู่สัตว์ผู้ดิ้นรนอยู่
คำว่า เหมือนฝูงปลาในบ่อที่มีน้ำน้อย อธิบายว่า หมู่สัตว์ดิ้นรน คือ
กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว สั่นเทา กระสับกระส่าย ด้วยความดิ้นรนเพราะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๘๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ตัณหา ฯลฯ ทิฏฐิวิบัติ เหมือนฝูงปลาอยู่ในน้ำน้อย คือ มีน้ำนิดหน่อย น้ำ
แห้งไปถูกกา นกตระกรุม หรือนกยางโฉบลากขึ้นมาแทะกิน ก็ดิ้นรน คือ กระเสือก
กระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว สั่นเทา กระสับกระส่ายอยู่ ฉะนั้น รวมความว่า
เหมือนฝูงปลาในบ่อที่มีน้ำน้อย
คำว่า สัตว์ที่ทำร้ายกันและกัน อธิบายว่า สัตว์ทั้งหลายทำร้าย ทำร้ายตอบ
เคือง เคืองตอบ ปองร้าย ปองร้ายตอบกันและกัน คือ พระราชาทรงวิวาทกับ
พระราชาก็ได้ กษัตริย์วิวาทกับกษัตริย์ก็ได้ พราหมณ์วิวาทกับพราหมณ์ก็ได้ คหบดี
วิวาทกับคหบดีก็ได้ มารดาวิวาทกับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับมารดาก็ได้ บิดาวิวาท
กับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับบิดาก็ได้ พี่ชายน้องชายวิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ พี่สาว
น้องสาววิวาทกับพี่สาวน้องสาวก็ได้ พี่ชายน้องชายวิวาทกับพี่สาวน้องสาวก็ได้
พี่สาวน้องสาววิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ สหายวิวาทกับสหายก็ได้ ชนเหล่านั้นถึง
การทะเลาะ แก่งแย่ง และวิวาทกัน ในการทำร้ายกันและกันนั้น ก็ทำร้ายกันและกัน
ด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง เพราะ
ทำร้ายกันนั้น ชนเหล่านั้นก็เข้าถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง รวมความว่า
สัตว์ที่ทำร้ายกันและกัน
คำว่า เพราะเห็น ในคำว่า เพราะเห็น... ภัยจึงปรากฏแก่เรา อธิบายว่า
เพราะเห็น คือ เพราะมองเห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้ง
ภัย คือ ความบีบคั้น ความกระทบกระทั่ง อันตราย อุปสรรค จึงปรากฏ รวมความว่า
เพราะเห็น...ภัยจึงปรากฏแก่เรา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เพราะเห็นหมู่สัตว์ผู้ดิ้นรนอยู่
เหมือนฝูงปลาในบ่อที่มีน้ำน้อย
เพราะเห็นสัตว์ที่ทำร้ายกันและกัน ภัยจึงปรากฏแก่เรา
[๑๗๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
โลกทั้งหมดไม่มีแก่นสาร
สังขารทั้งหลายทุกทิศก็หวั่นไหว
เราเมื่อต้องการภพสำหรับตน
ก็มองไม่เห็นฐานะอะไรที่ไม่ถูกครอบงำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๘๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ว่าด้วยโลก
คำว่า โลกทั้งหมดไม่มีแก่นสาร อธิบายว่า โลกนรก โลกในกำเนิดเดรัจฉาน
โลกในเปตวิสัย มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก โลกนี้ โลกหน้า
พรหมโลก เทวโลก นี้ตรัสเรียกว่า โลก
โลกนรกไม่มีแก่นสาร คือ ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร โดยสาระแห่งแก่น
สารที่เป็นของเที่ยง โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นสุข โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นตัวตน
โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นของยั่งยืน โดยความเป็นของมั่นคง หรือโดย
ความเป็นของไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา
โลกในกำเนิดเดรัจฉาน... โลกในเปตวิสัย... มนุษยโลก... เทวโลก... ขันธโลก...
ธาตุโลก... อายตนโลก... โลกนี้... โลกหน้า... พรหมโลก... เทวโลก... ไม่มีแก่นสาร คือ
ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นของเที่ยง โดยสาระ
แห่งแก่นสารที่เป็นสุข โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นตัวตน โดยความเป็นของเที่ยง
โดยความเป็นของยั่งยืน โดยความเป็นของมั่นคง หรือโดยความเป็นของไม่แปรผัน
ไปเป็นธรรมดา
โลกในกำเนิดเดรัจฉาน ... โลกในเปตวิสัย ... มนุษยโลก ... เทวโลก ... ขันธโลก
.... ธาตุโลก ... อายตนโลก ... โลกนี้ ... โลกหน้า ... พรหมโลก ... เทวโลก ไม่มีแก่นสาร
คือ ไร้แก่นสาร ปราศจากแก่นสาร โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นของเที่ยง โดยสาระ
แห่งแก่นสารที่เป็นสุข โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นตัวตน โดยความเป็นของเที่ยง
โดยความเป็นของยั่งยืน โดยความเป็นของมั่นคง หรือโดยความเป็นของไม่แปรผัน
ไปเป็นธรรมดา
ไม้อ้อไม่มีแก่น ไร้แก่น ปราศจากแก่น ไม้ละหุ่ง ไม่มีแก่น ไร้แก่น ปราศจากแก่น
ไม้มะเดื่อ... ไม้ทองหลาง... ต้นหงอนไก่... ฟองน้ำ... ต่อมน้ำ... พยับแดด... ต้นกล้วย...
เงา ไม่มีแก่น ไร้แก่น ปราศจากแก่น ฉันใด โลกนรก ไม่มีแก่นสาร คือ ไร้แก่นสาร
ปราศจากแก่นสาร โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นของเที่ยง โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นสุข
โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นตัวตน โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นของยั่งยืน
โดยความเป็นของมั่นคง หรือโดยความเป็นของไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๘๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
โลกในกำเนิดเดรัจฉาน... โลกในเปตวิสัย... มนุษยโลก... เทวโลก ไม่มีแก่นสาร
คือ ปราศจากแก่นสาร โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นของเที่ยง โดยสาระแห่งแก่นสาร
ที่เป็นสุข โดยสาระแห่งแก่นสารที่เป็นตัวตน โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็น
ของยั่งยืน โดยความเป็นของมั่นคง หรือโดยความเป็นของไม่แปรผันไปเป็นธรรมดา
รวมความว่า โลกทั้งหมดไม่มีแก่นสาร

ว่าด้วยสังขารไม่เที่ยง
คำว่า สังขารทั้งหลายทุกทิศก็หวั่นไหว อธิบายว่า สังขารทางทิศตะวันออก
คลอนแคลน หวั่นไหว คือ สะเทือน สะท้าน เพราะเป็นธรรมชาติไม่เที่ยง จึงถูกชาติ
ติดตาม ถูกชราแผ่คลุม ถูกพยาธิครอบงำ ถูกมรณะกำจัด ตั้งอยู่ในกองทุกข์ ไม่มีที่
ต้านทาน ไม่มีที่ปกป้อง ไม่มีที่พึ่ง เป็นสิ่งหาที่พึ่งไม่ได้
สังขารทางทิศตะวันตก... สังขารทางทิศเหนือ... สังขารทางทิศใต้... สังขาร
ทางทิศอาคเนย์... สังขารทางทิศพายัพ... สังขารทางทิศอีสาน... สังขารทางทิศหรดี...
สังขารทางทิศเบื้องต่ำ... สังขารทางทิศเบื้องสูง... สังขารในทั้ง ๑๐ ทิศ ก็คลอนแคลน
หวั่นไหว คือ สะเทือน สะท้าน เพราะเป็นธรรมชาติไม่เที่ยง จึงถูกชาติติดตาม
ถูกชราแผ่คลุม ถูกพยาธิครอบงำ ถูกมรณะกำจัด ตั้งอยู่ในกองทุกข์ ไม่มีที่ต้านทาน
ไม่มีที่ปกป้อง ไม่มีที่พึ่ง เป็นสิ่งหาที่พึ่งไม่ได้ สมจริงดังภาษิตนี้ว่า
ถึงวิมานนี้ สว่างรุ่งเรือง อยู่ในทิศอุดรก็จริง
แต่บัณฑิตก็ยังมองเห็นโทษในรูป แล้วหวั่นไหวทุกเมื่อ
ฉะนั้น ผู้มีปัญญา จึงหายินดีในรูปไม่๑
โลกถูกมรณะกำจัด ถูกชราห้อมล้อม ถูกลูกศร
คือตัณหาแทงติด คุเป็นควันเพราะความปรารถนาอยู่ทุกเมื่อ๒
โลกทั้งปวงถูกไฟไหม้ ลุกโพลง โชติช่วง หวั่นไหวแล้ว๓
รวมความว่า สังขารทั้งหลายทุกทิศก็หวั่นไหว

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๑๗๗/๑๗๘
๒ สํ.ส. ๑๕/๖๖/๔๕
๓ ขุ.เถรี.(แปล) ๒๖/๒๐๐/๕๘๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๘๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า เราเมื่อต้องการภพสำหรับตน อธิบายว่า เมื่อต้องการ คือ ยินดี
ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังภพ คือ ที่ต้านทาน ที่ปกป้อง ที่พึ่ง ที่ดำเนินไป ที่ไปสู่
จุดหมายสำหรับตน รวมความว่า เราเมื่อต้องการภพสำหรับตน
คำว่า ก็มองไม่เห็นฐานะอะไรที่ไม่ถูกครอบงำ อธิบายว่า มองเห็นแต่ฐานะที่
ถูกครอบงำเท่านั้น ได้เห็นแต่ฐานะที่ถูกครอบงำ คือ ความเป็นหนุ่มสาวทั้งปวง
ถูกชราครอบงำ ความไม่มีโรคทั้งปวงถูกพยาธิครอบงำ ชีวิตทั้งปวงถูกมรณะครอบงำ
ลาภทั้งปวงถูกความเสื่อมลาภครอบงำ ยศทั้งปวงถูกความเสื่อมยศครอบงำ ความ
สรรเสริญทั้งปวงถูกการนินทาครอบงำ ความสุขทั้งปวงถูกความทุกข์ครอบงำ
ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข
และทุกข์ ธรรมเหล่านี้ ในหมู่มนุษย์ล้วนไม่เที่ยง ไม่มั่นคง
มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา๑
รวมความว่า ก็มองไม่เห็นฐานะอะไรที่ไม่ถูกครอบงำ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
โลกทั้งหมดไม่มีแก่นสาร
สังขารทั้งหลายทุกทิศก็หวั่นไหว
เราเมื่อต้องการภพสำหรับตน
ก็มองไม่เห็นฐานะอะไรที่ไม่ถูกครอบงำ
[๑๗๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เพราะเห็นสัตว์มีที่สิ้นสุดและถูกสกัดกั้น
ความไม่ยินดีจึงมีแก่เรา
อนึ่ง เราได้เห็นลูกศรที่เห็นได้ยาก
อันอาศัยหทัยในสัตว์เหล่านี้แล้ว
คำว่า มีที่สิ้นสุด ในคำว่า สัตว์มีที่สิ้นสุดและถูกสกัดกั้น อธิบายว่า ชราทำให้
ความเป็นหนุ่มสาวทั้งปวงหมดสิ้นไป พยาธิทำให้ความไม่มีโรคทั้งปวงหมดสิ้นไป

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ชา. ๒๗/๑๑๔/๑๑๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๙๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
มรณะทำให้ชีวิตทั้งปวงหมดสิ้นไป ความเสื่อมลาภทำให้ลาภทั้งปวงหมดสิ้นไป ความ
เสื่อมยศทำให้ยศทั้งปวงหมดสิ้นไป การนินทาทำให้ความสรรเสริญทั้งปวงหมดสิ้นไป
ความทุกข์ทำให้ความสุขทั้งปวงหมดสิ้นไป รวมความว่า มีที่สิ้นสุด
คำว่า และถูกสกัดกั้น อธิบายว่า สัตว์ทั้งหลายผู้ปรารถนาความเป็นหนุ่มสาว
ถูกชราขัดขวาง ผู้ต้องการความไม่มีโรคถูกพยาธิขัดขวาง ผู้ปรารถนาเพื่อมีชีวิตอยู่
ถูกมรณะขัดขวาง ผู้ปรารถนาลาภถูกความเสื่อมลาภขัดขวาง ผู้ปรารถนายศถูก
ความเสื่อมยศขัดขวาง ผู้ปรารถนาความสรรเสริญถูกการนินทาขัดขวาง ผู้ปรารถนา
ความสุขถูกความทุกข์สกัดกั้น คือ ขัดขวาง กระทบ กระทบกระทั่ง ทำลายล้างผลาญ
รวมความว่า สัตว์มีที่สิ้นสุดและถูกสกัดกั้น
คำว่า เพราะเห็น ในคำว่า เพราะเห็น... ความไม่ยินดีจึงมีแก่เรา ได้แก่
เพราะเห็น คือ เพราะมองเห็น เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้ง
รวมความว่า เพราะเห็น
คำว่า ความไม่ยินดีจึงมีแก่เรา ได้แก่ ความไม่ยินดี คือ ความไม่ใยดี
ความระอา ความเบื่อ ความหน่าย ได้มีแล้ว รวมความว่า เพราะเห็น... ความไม่
ยินดีจึงมีแก่เรา
คำว่า อนึ่ง ในคำว่า อนึ่ง เราได้เห็นลูกศร... ในสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้แล้ว
เป็นคำเชื่อมบท... คำว่า อนึ่ง นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ใน... เหล่านี้ ได้แก่ ในสัตว์ทั้งหลาย
คำว่า ลูกศร ได้แก่ ลูกศร ๗ ชนิด คือ

๑. ลูกศรคือราคะ ๒. ลูกศรคือโทสะ
๓. ลูกศรคือโมหะ ๔. ลูกศรคือมานะ
๕. ลูกศรคือทิฏฐิ ๖. ลูกศรคือโสกะ
๗. ลูกศรคือความสงสัย

คำว่า ได้เห็น ได้แก่ ได้เห็น คือ ได้มองเห็น ได้แลเห็น ได้แทงตลอด
รวมความว่า อนึ่ง เราได้เห็นลูกศร... ในสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้แล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๙๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า ที่เห็นได้ยาก ในคำว่า ที่เห็นได้ยากอันอาศัยหทัย ได้แก่ เห็นได้ยาก
คือ มองเห็นได้ยาก แลเห็นได้ยาก รู้ได้ยาก ตามรู้ได้ยาก แทงตลอดได้ยาก
รวมความว่า ที่เห็นได้ยาก
คำว่า อันอาศัยหทัย อธิบายว่า จิตตรัสเรียกว่า หทัย ได้แก่ จิต มโน
มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์
มโนวิญญาณธาตุ๑ที่เกิดจากวิญญาณขันธ์นั้น
คำว่า อันอาศัยหทัย อธิบายว่า อันอาศัยหทัย คือ อันอาศัยจิต อาศัยอยู่
ในจิต ไปร่วมกัน เกิดร่วมกัน เกี่ยวข้องกัน ประกอบร่วมกัน เกิดพร้อมกัน
ดับพร้อมกัน มีวัตถุเดียวกัน มีอารมณ์เดียวกับจิต รวมความว่า ที่เห็นได้ยากอัน
อาศัยหทัย ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เพราะเห็นสัตว์มีที่สิ้นสุดและถูกสกัดกั้น
ความไม่ยินดีจึงมีแก่เรา
อนึ่ง เราได้เห็นลูกศร ที่เห็นได้ยาก
อันอาศัยหทัยในสัตว์เหล่านี้แล้ว
[๑๗๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
สัตว์ถูกลูกศรใดปักติดแล้ว วิ่งพล่านไปทุกทิศทาง
เพราะถอนลูกศรนั้นได้แล้ว จึงไม่ต้องวิ่งพล่าน ไม่ต้องล่มจม

ว่าด้วยลูกศร ๗ ชนิด
คำว่า สัตว์ถูกลูกศรใดปักติดแล้ว วิ่งพล่านไปทุกทิศทาง อธิบายว่า
คำว่า ลูกศร ได้แก่ ลูกศร ๗ ชนิด คือ

๑. ลูกศรคือราคะ ๒. ลูกศรคือโทสะ
๓. ลูกศรคือโมหะ ๔. ลูกศรคือมานะ
๕. ลูกศรคือทิฏฐิ ๖. ลูกศรคือโสกะ
๗. ลูกศรคือความสงสัย


เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๑/๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๙๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ลูกศรคือราคะ เป็นอย่างไร
คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความคล้อยตามอารมณ์ ความยินดี
ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยความเพลิดเพลิน ความกำหนัดนักแห่งจิต...
อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ นี้ชื่อว่าลูกศรคือราคะ
ลูกศรคือโทสะ เป็นอย่างไร
คือ ความอาฆาตเกิดขึ้นว่า “ผู้นี้ได้ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา... ผู้นี้กำลัง
ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา... ผู้นี้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา”... ความดุร้าย
ความปลูกน้ำตา (ความเพาะวาจาชั่ว) ความไม่เบิกบานแห่งจิต นี้ชื่อว่าลูกศรคือโทสะ
ลูกศรคือโมหะ เป็นอย่างไร
คือ ความไม่รู้ในทุกข์... ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ในส่วน
เบื้องต้น ความไม่รู้ในส่วนเบื้องปลาย ความไม่รู้ทั้งในส่วนเบื้องต้นและส่วนเบื้องปลาย
ความไม่รู้ในธรรมทั้งหลายที่อาศัยกันเกิดขึ้น คือ ความที่ปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชานี้
เป็นปัจจัย ความไม่เห็น ไม่ตรัสรู้ ไม่ตรัสรู้ตาม ไม่ตรัสรู้ชอบ ไม่แทงตลอด ไม่ถือ
เหตุด้วยดี ไม่หยั่งลงถึงเหตุ ไม่เพ่งพินิจ ไม่พิจารณา ไม่ทำให้ประจักษ์ ไม่ผ่องแผ้ว
ความเป็นคนโง่ ความหลง ลุ่มหลง หลงใหล อวิชชา โอฆะคืออวิชชา โยคะคืออวิชชา
อนุสัยคืออวิชชา ปริยุฏฐานคืออวิชชา ลิ่มคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะเห็นปานนี้
นี้ชื่อว่าลูกศรคือโมหะ
ลูกศรคือมานะ เป็นอย่างไร
คือ ความถือตัวว่าเราเลิศกว่าเขา ความถือตัวว่าเราเสมอเขา ความถือตัวว่า
เราด้อยกว่าเขา ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว ภาวะที่ถือตัว ความลำพองตน ความ
ทะนงตน ความเชิดชูตนเป็นดุจธง ความเห่อเหิม ความที่จิตต้องการเชิดชูตนเป็นดุจ
ธงเห็นปานนี้ นี้ชื่อว่าลูกศรคือมานะ
ลูกศรคือทิฏฐิ เป็นอย่างไร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๙๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คือ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ๑ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ๒ ๑๐ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ๓ ๑๐
ทิฏฐิ การตกอยู่ในทิฏฐิ ความรกชัฏคือทิฏฐิ ความกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือ
ทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องผูกพันคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น ความ
ยึดมั่น ความยึดมั่นถือมั่น ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเดียรถีย์ ความถือขัดแย้ง
ความถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงว่า
เป็นจริงเห็นปานนี้จนถึงทิฏฐิ ๖๒ นี้ชื่อว่าลูกศรคือทิฏฐิ
ลูกศรคือโสกะ เป็นอย่างไร
คือ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก ความเศร้าโศกภายใน
ความเศร้าโศกมากภายใน ความเร่าร้อนภายใน ความเร่าร้อนมากภายใน ความ
หม่นไหม้แห่งจิต ความทุกข์ใจ ของผู้ถูกความเสียหายของญาติกระทบบ้าง
ถูกความเสียหายแห่งโภคทรัพย์กระทบบ้าง ถูกความเสียหายแห่งโรคกระทบบ้าง
ถูกสีลวิบัติกระทบบ้าง ถูกทิฏฐิวิบัติกระทบบ้าง ประจวบกับความเสียหายอื่นนอก
จากที่กล่าวแล้วบ้าง ถูกเหตุแห่งทุกข์อื่นนอกจากที่กล่าวแล้วกระทบบ้าง นี้ชื่อว่า
ลูกศรคือโสกะ
ลูกศรคือความสงสัย เป็นอย่างไร
คือ ความสงสัยในทุกข์ ความสงสัยในเหตุเกิดแห่งทุกข์ ความสงสัยในความ
ดับทุกข์ ความสงสัยในปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่ความดับทุกข์ ความสงสัยในส่วน
เบื้องต้น ความสงสัยในส่วนเบื้องปลาย ความสงสัยทั้งในส่วนเบื้องต้นและส่วนเบื้อง
ปลาย ความสงสัยในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น คือ ความที่ปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชานี้
เป็นปัจจัย ความสงสัย กิริยาที่สงสัย ภาวะที่สงสัย ความเคลือบแคลง ความลังเล
ความเห็นเป็น ๒ ฝ่าย ๒ ทาง ความไม่แน่ใจ ความยึดถือหลายอย่าง ความไม่ตกลงใจ
ความตัดสินใจไม่ได้ ความกำหนดถือไม่ได้ ความหวาดหวั่นแห่งจิต ความติดขัดใน
ใจเห็นปานนี้ นี้ชื่อว่าลูกศรคือความสงสัย

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๒/๕๙
๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๒/๕๙
๓ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๒/๕๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๙๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ว่าด้วยภาวะของสัตว์ที่ถูกลูกศรแทง
คำว่า สัตว์ถูกลูกศรใดปักติดแล้ว วิ่งพล่านไปทุกทิศทาง อธิบายว่า สัตว์ถูก
ลูกศรคือราคะปักติด คือ เสียบแทง ถูกต้อง เสียบ ติดแน่น คาค้างอยู่ ก็ประพฤติ
ทุจริตทางกาย ประพฤติทุจริตทางวาจา ประพฤติทุจริตทางใจ ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์
บ้าง ตัดช่องย่องเบาบ้าง ขโมยยกเค้าบ้าง ปล้นบ้านบ้าง ดักจี้ในทางเปลี่ยวบ้าง
ละเมิดภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง สัตว์ถูกลูกศรคือราคะปักติด คือ เสียบแทง
ถูกต้อง เสียบ ติดแน่น คาค้างอยู่ ก็แล่นไป วิ่งพล่าน คือ ลนลาน ท่องเที่ยวไป
อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง สัตว์ถูกลูกศรคือราคะปักติด คือ เสียบแทง ถูกต้อง เสียบ ติดแน่น
คาค้างอยู่ เมื่อจะแสวงหาโภคทรัพย์ ก็แล่นเรือออกไปสู่มหาสมุทร ฝ่าหนาว ฝ่าร้อน
ถูกสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานเบียดเบียนเอาบ้าง ถูกความ
หิวกระหายกดดันอยู่ ก็ต้องเดินทางไปคุมพรัฐ ตักโกลรัฐ ตักกสิลรัฐ กาลมุขรัฐ ปุรรัฐ
เวสุงครัฐ เวราปถรัฐ ชวารัฐ ตามลิรัฐ วังครัฐ เอฬพันธนรัฐ สุวรรณกูฏรัฐ สุวรรณภูมิรัฐ
ตัมพปาณิรัฐ สุปปาทกรัฐ เภรุกัจฉรัฐ สุรัฏฐรัฐ ภังคโลกรัฐ ภังคณรัฐ ปรมภังคณรัฐ
โยนรัฐ ปินรัฐ วินกรัฐ มูลปทรัฐ เดินทางไปยังทะเลทรายที่ต้องหมายด้วยดาว คลาน
ไปด้วยเข่า เดินทางด้วยแพะ เดินทางด้วยแกะ ไปด้วยการตอกหลักผูกเชือกโหนไป
ไปด้วยร่ม เดินทางด้วยการตัดไม้ไผ่ทำพะองสำหรับปีน เดินทางอย่างนก เดินทาง
อย่างหนู ไปตามซอกเขา ไต่ไปตามลำหวาย เมื่อแสวงหาไม่ได้ก็ต้องเสวยทุกข์และ
โทมนัสที่มีการไม่ได้เป็นต้นเหตุ เขาเมื่อแสวงหาได้มา และครั้นได้แล้ว ก็ยังต้อง
เสวยทุกข์และโทมนัสที่มีการต้องรักษาเป็นมูลเหตุบ้าง ด้วยความหวาดหวั่นว่า
“อย่างไรหนอ พระราชาจะไม่พึงริบโภคทรัพย์ของเรา โจรจะไม่พึงปล้น ไฟจะไม่พึง
ไหม้ น้ำจะไม่พึงพัดพาไป ทายาทที่ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักเอาไป” เมื่อรักษา
คุ้มครองอยู่อย่างนี้ โภคทรัพย์ ย่อมเสื่อมค่าลง เขาก็ต้องเสวยทุกข์และโทมนัส
ที่มีความพลัดพรากเป็นมูล สัตว์ถูกลูกศรคือราคะปักติด คือ เสียบแทง ถูกต้อง
เสียบ ติดแน่น คาค้างอยู่ ก็แล่นไป วิ่งพล่าน คือ ลนลาน ท่องเที่ยวไป อย่างนี้บ้าง
สัตว์ถูกลูกศรคือโทสะ... ลูกศรคือโมหะ... ลูกศรคือมานะปักติด คือ เสียบแทง
ถูกต้อง เสียบ ติดแน่น คาค้างอยู่ ก็ประพฤติทุจริตทางกาย ประพฤติทุจริตทางวาจา
ประพฤติทุจริตทางใจ ฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง ตัดช่องย่องเบาบ้าง ขโมยยกเค้าบ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๙๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ปล้นบ้านบ้าง ดักจี้ในทางเปลี่ยวบ้าง ละเมิดภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง สัตว์
ถูกลูกศรคือมานะปักติด คือ เสียบแทง ถูกต้อง เสียบ ติดแน่น คาค้างอยู่ ก็แล่นไป
วิ่งพล่าน คือ ลนลาน ท่องเที่ยวไป อย่างนี้บ้าง
สัตว์ถูกลูกศรคือทิฏฐิปักติด คือ เสียบแทง ถูกต้อง เสียบ ติดแน่น คาค้างอยู่
ก็ประพฤติเปลือยกาย ไม่มีมารยาท เลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป เขาเชิญ
ให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุดรับอาหาร ไม่รับอาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำ
เจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับอาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปาก
ภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อม
สาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลังบริโภค ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับ
อาหารของหญิงผู้กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับอาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับ
อาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวัน
ไต่ตอมอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง
รับอาหารในเรือนหลังเดียว ยังชีพด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน ๒ หลัง
ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ... รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗ คำ ยังชีพ
ด้วยอาหารในถาดน้อย ๑ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๒ ใบ ยังชีพด้วย
อาหารในถาดน้อย ๗ ใบ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน... กินอาหารที่เก็บไว้
ค้างคืน ๗ วัน ถือ๑ การบริโภคอาหาร ๑๕ วันต่อ ๑ มื้อ สัตว์ถูกลูกศรคือทิฏฐิ
ปักติด คือ เสียบแทง ถูกต้อง เสียบ ติดแน่น คาค้างอยู่ ก็แล่นไป วิ่งพล่าน คือ
ลนลาน ท่องเที่ยวไป อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง สัตว์ถูกลูกศรคือทิฏฐิปักติด คือ เสียบแทง ถูกต้อง เสียบ ติดแน่น
คาค้างอยู่ ก็กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือยเป็นอาหาร
กินกากข้าวเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กินรำเป็นอาหาร กินข้าวตังเป็นอาหาร
กินกำยานเป็นอาหาร กินงาเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กินโคมัย(มูลโค)เป็น
อาหาร กินเหง้าและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพ เขานุ่งห่ม
ผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้
นุ่งห่มหนังเสือ นุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ นุ่งห่มผ้าคากรอง๒ นุ่งห่มผ้าเปลือกปอกรอง

เชิงอรรถ :
๑ คำว่า ถือ ในที่นี้ แปลจากบาลีว่า อนุโยคมนุยุตฺต ซึ่งหมายถึงการยึดมั่นในวัตรปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง
๒ ผ้าคากรอง หมายถึงผ้าที่ถักทอด้วยหญ้าคา เป็นผ้าที่พวกฤๅษีใช้นุ่งห่ม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๙๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
นุ่งห่มผ้าผลไม้กรอง นุ่งห่มผ้ากัมพลผมมนุษย์ นุ่งห่มผ้ากัมพลขนปีกนกเค้า ถอนผม
และหนวด คือถือการถอนผมและหนวด ยืนอย่างเดียว ไม่ยอมนั่ง เดินกระหย่ง คือ
ถือการเดินกระหย่ง นอนบนหนาม สำเร็จการนอนบนหนาม นอนบนแผ่น
กระดาน นอนบนเนินดิน นอนตะแคงข้างเดียว เอาฝุ่นคลุกตัว อยู่กลางแจ้ง
นั่งบนอาสนะตามที่ปูไว้ บริโภคคูถ คือถือการบริโภคคูถ ไม่ดื่มน้ำเย็น คือถือการ
ไม่ดื่มน้ำเย็น อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง คือถือการลงอาบน้ำ ถือการทำให้กาย
เดือดร้อน เร่าร้อน หลากหลายชนิด เห็นปานนี้ ด้วยประการอย่างนี้บ้าง สัตว์ผู้ถูก
ลูกศรคือทิฏฐิปักติด คือ เสียบแทง ถูกต้อง เสียบ ติดแน่น คาค้างอยู่ ก็แล่นไป
วิ่งพล่าน คือ ลนลาน ท่องเที่ยวไป อย่างนี้บ้าง
สัตว์ผู้ถูกลูกศรคือโสกะปักติด คือ เสียบแทง ถูกต้อง เสียบ ติดแน่น
คาค้างอยู่ ก็ย่อมโศก เหนื่อยหน่าย คร่ำครวญ ตีอกพร่ำเพ้อ ถึงความหลงใหล
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “พราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ในเมือง
สาวัตถีนี้เอง มารดาของหญิงบางคนตาย หญิงนั้น เพราะมารดาตาย จึงเป็นบ้า
มีใจฟุ้งซ่าน จากถนนนี้เข้าไปสู่ถนนโน้น จากตรอกนี้เข้าไปสู่ตรอกโน้น พูดอย่างนี้ว่า
‘พวกท่านเห็นมารดาของฉันบ้างไหม พวกท่านเห็นมารดาของฉันบ้างไหม’
พราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ในเมืองสาวัตถีนี้เอง บิดาของหญิงบางคนตาย
แล้ว... พี่ชายน้องชายตายแล้ว... พี่สาวน้องสาวตายแล้ว... บุตรตายแล้ว... ธิดาตาย
แล้ว... สามีตายแล้ว หญิงนั้น เพราะสามีนั้นตายแล้ว จึงเป็นบ้า มีใจฟุ้งซ่าน
จากถนนนี้เข้าไปสู่ถนนโน้น จากตรอกนี้เข้าไปสู่ตรอกโน้น พูดอย่างนี้ว่า ‘พวกท่าน
เห็นสามีของฉันบ้างไหม พวกท่านเห็นสามีของฉันบ้างไหม’
พราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ในเมืองสาวัตถีนี้เอง มารดาของชายบางคน
ตายแล้ว ชายผู้นั้น เพราะมารดานั้นตายแล้ว จึงเป็นบ้า มีใจฟุ้งซ่าน จากถนนนี้
เข้าไปสู่ถนนโน้น จากตรอกนี้เข้าไปสู่ตรอกโน้น พูดอย่างนี้ว่า ‘พวกท่านเห็นมารดา
ของฉันบ้างไหม พวกท่านเห็นมารดาของฉันบ้างไหม’
พราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ในเมืองสาวัตถีนี้เอง บิดาของชายบางคน
ตายแล้ว... พี่ชายน้องชายตายแล้ว... พี่สาวน้องสาวตายแล้ว... บุตรตายแล้ว...
ธิดาตายแล้ว... ภรรยาตายแล้ว... ชายผู้นั้น เพราะภรรยานั้นตายแล้ว จึงเป็นบ้า
มีใจฟุ้งซ่าน จากถนนนี้เข้าไปสู่ถนนโน้น จากตรอกนี้เข้าไปสู่ตรอกโน้น พูดอย่างนี้ว่า
‘พวกท่านเห็นภรรยาของฉันบ้างไหม พวกท่านเห็นภรรยาของฉันบ้างไหม’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๙๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
พราหมณ์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ในเมืองสาวัตถีนี้เอง หญิงบางคนไปสู่ตระกูล
ของญาติ พวกญาติของนางต้องการพรากสามีเสียแล้วยกหญิงนั้นให้แก่บุรุษอื่น แต่
นางไม่อยากได้บุรุษนั้น ลำดับนั้น หญิงนั้นจึงได้พูดกับสามีดังนี้ว่า ‘นายจ๋า พวก
ญาติเหล่านี้ ต้องการจะพรากฉันจากท่านแล้วยกให้แก่ชายอื่น เราทั้งสองจักตาย
ด้วยกัน’ ทันใดนั้น ชายผู้นั้นจึงฟันหญิงนั้นขาดเป็น ๒ ท่อนแล้วฆ่าตนเองด้วย
หวังว่า เราทั้ง ๒ ละ (โลกนี้) แล้วจักไปอยู่ร่วมกัน”๑ สัตว์ผู้ถูกลูกศรคือโสกะปักติด
คือ เสียบแทง ถูกต้อง เสียบ ติดแน่น คาค้างอยู่ ก็แล่นไป วิ่งพล่าน คือ ลนลาน
ท่องเที่ยวไป อย่างนี้บ้าง
สัตว์ผู้ถูกลูกศรคือความสงสัยปักติด คือ เสียบแทง ถูกต้อง เสียบ ติดแน่น
คาค้างอยู่ ก็แล่นไปสู่ความสงสัย แล่นไปสู่ความแคลงใจ สองจิตสองใจว่า
“ในอดีตกาลยาวนานเราได้มีแล้ว หรือมิได้มีแล้วหนอ เราได้เป็นอะไรมาหนอ เราได้
เป็นอย่างไรมาหนอ เราได้เป็นอะไรแล้วมาเป็นอะไรหนอ ในอนาคตกาลยาวนาน
เราจักมีหรือจักไม่มีหนอ เราจักเป็นอะไรหนอ จักเป็นอย่างไรหนอ จักเป็นอะไรแล้ว
ไปเป็นอะไรหนอ หรือในปัจจุบัน ในบัดนี้ ก็มีความสงสัยอยู่ภายในว่า ‘เราเป็นอยู่
หรือไม่หนอ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอ สัตว์นี้มาจากไหนหนอ เขาจักไป
ไหนกันหนอ” สัตว์ผู้ถูกลูกศรคือความสงสัยปักติด คือ เสียบแทง ถูกต้อง เสียบ
ติดแน่น คาค้างอยู่ ก็แล่นไป วิ่งพล่าน คือ ลนลาน ท่องเที่ยวไป อย่างนี้บ้าง
สัตว์ปรุงแต่งลูกศรเหล่านั้นให้เกิดขึ้น เมื่อปรุงแต่งลูกศรเหล่านั้นให้เกิดขึ้น
ก็วิ่งพล่านไปทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ด้วยอำนาจการปรุง
แต่งลูกศรให้เกิดขึ้น การปรุงแต่งลูกศรเหล่านั้นยังละไม่ได้ เพราะยังละการปรุงแต่ง
ลูกศรไม่ได้ จึงวิ่งพล่านไปในคติ นรก กำเนิดเดรัจฉาน เปตวิสัย มนุษยโลก
เทวโลก แล่นไป วิ่งพล่าน คือ ลนลาน ท่องเที่ยวไป จากคตินี้ไปสู่คติโน้น
จากการถือกำเนิดนี้ไปสู่การถือกำเนิดโน้น จากปฏิสนธินี้ไปสู่ปฏิสนธิโน้น จากภพนี้
ไปสู่ภพโน้น จากสงสาร๒นี้ไปสู่สงสารโน้น จากวัฏฏะนี้ไปสู่วัฏฏะโน้น รวมความว่า
สัตว์ถูกลูกศรใดปักติดแล้ว วิ่งพล่านไปทุกทิศทาง

เชิงอรรถ :
๑ ม.ม. ๑๓/๓๕๖/๓๔๑-๓๔๒
๒ สงสาร หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลก ภพที่เวียนเกิดเวียนตาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๙๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า เพราะถอนลูกศรนั้นได้แล้ว จึงไม่ต้องวิ่งพล่าน ไม่ต้องล่มจม อธิบาย
ว่า เพราะถอน คือ เพราะถอด ชัก ดึง ฉุด กระชาก ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งลูกศรคือราคะ ลูกศรคือโทสะ ลูกศรคือโมหะ ลูกศรคือมานะ
ลูกศรคือทิฏฐิ ลูกศรคือโสกะ ลูกศรคือความสงสัยได้แล้ว จึงไม่ต้องวิ่งพล่านไปทาง
ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ละการปรุงแต่งลูกศรให้เกิดขึ้นเหล่านั้น
เพราะละการปรุงแต่งลูกศรให้เกิดขึ้นได้แล้ว จึงไม่ต้องวิ่งพล่านไปในคติ นรก กำเนิด
เดรัจฉาน เปตวิสัย มนุษยโลก เทวโลก ไม่ต้องแล่นไป วิ่งพล่าน คือ ลนลาน
ท่องเที่ยวไปจากคตินี้ไปสู่คติโน้น จากการถือกำเนิดนี้ไปสู่การถือกำเนิดโน้น จาก
ปฏิสนธินี้ไปสู่ปฏิสนธิโน้น จากภพนี้ไปสู่ภพโน้น จากสงสารนี้ไปสู่สงสารโน้น จาก
วัฏฏะนี้ไปสู่วัฏฏะโน้น รวมความว่า เพราะถอนลูกศรนั้นได้แล้ว จึงไม่ต้องวิ่งพล่าน
คำว่า ไม่ต้องล่มจม ได้แก่ ไม่ต้องล่มจมในโอฆะคือกาม ไม่ต้องล่มจมในโอฆะ
คือภพ ไม่ต้องล่มจมในโอฆะคือทิฏฐิ ไม่ต้องล่มจมในโอฆะคืออวิชชา คือ ไม่ต้องจม
ไม่ต้องจมลง ไม่ต้องล่มจมลง ไม่ไป ไม่ตกไป รวมความว่า เพราะถอนลูกศรนั้นได้แล้ว
จึงไม่ต้องวิ่งพล่าน ไม่ต้องล่มจม ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
สัตว์ถูกลูกศรใดปักติดแล้ว วิ่งพล่านไปทุกทิศทาง
เพราะถอนลูกศรนั้นได้แล้ว จึงไม่ต้องวิ่งพล่าน ไม่ต้องล่มจม
[๑๗๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
คนทั้งหลายกล่าวถึงการศึกษา
เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
บุคคลไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษา
หรือกามคุณเหล่านั้น รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว
พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๔๙๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการศึกษาเพื่อได้กามคุณ
คำว่า คนทั้งหลายกล่าวถึงการศึกษา เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
อธิบายว่า
คำว่า การศึกษา ได้แก่ การศึกษาเรื่องช้าง การศึกษาเรื่องม้า การศึกษาเรื่องรถ
การศึกษาเรื่องธนู การเสกเป่า วิชาผ่าตัด การบำบัดรักษาทางยา วิชาหมอผี วิชา
หมอเด็ก(กุมารเวช)
คำว่า กล่าวถึง ได้แก่ กล่าวถึง คือ เล่าถึง พูดถึง บอกถึง แสดงถึง ชี้แจงถึง
อีกนัยหนึ่ง คำว่า กล่าวถึง ได้แก่ เรียน เล่าเรียน ทรงจำ เข้าไปทรงจำ เพื่อได้
กามคุณที่พัวพันอยู่ กามคุณ ๕ คือ
๑. รูปที่รู้ได้ทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่รู้ได้ทางหู...
๕. โผฏฐัพพะที่รู้ได้ทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ตรัสเรียกว่า กามคุณที่พัวพันอยู่
เพราะเหตุไร กามคุณ ๕ จึงตรัสเรียกว่า กามคุณที่พัวพันอยู่ เทวดา
และมนุษย์โดยมาก ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังกามคุณ ๕ เพราะ
เหตุนั้นกามคุณ ๕ จึงตรัสเรียกว่า กามคุณที่พัวพันอยู่
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในมนุษยโลก รวมความว่า คนทั้งหลายกล่าวถึง
การศึกษา เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
คำว่า บุคคลไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษาหรือกามคุณเหล่านั้น อธิบาย
ว่า บุคคลไม่พึงขวนขวาย คือ ไม่พึงเอนไป ไม่โอนไป ไม่โน้มไป ไม่น้อมใจไป
ไม่พึงเป็นผู้มีการศึกษา หรือกามคุณ ๕ นั้น ๆ เป็นใหญ่ รวมความว่า บุคคล
ไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษาหรือกามคุณเหล่านั้น
คำว่า รู้แจ้ง...แล้ว ในคำว่า รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว ได้แก่
แทงตลอดแล้ว คือ แทงตลอดแล้วว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง... สังขารทั้งปวงเป็น
ทุกข์...สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็น
ธรรมดา”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๐๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า โดยประการทั้งปวง ได้แก่ ทุกสิ่งโดยประการทั้งหมด ทุกอย่าง
ไม่เหลือ ไม่มีส่วนเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า โดยประการทั้งปวง นี้เป็นคำกล่าว
รวมไว้ทั้งหมด
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม
(๒) กิเลสกาม... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม๑ รวมความว่า
รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว
คำว่า ศึกษา ในคำว่า พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน ได้แก่ สิกขา ๓ อย่าง
คือ
๑. อธิสีลสิกขา ๒. อธิจิตตสิกขา
๓. อธิปัญญาสิกขา... นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
คำว่า เพื่อความดับกิเลสของตน อธิบายว่า พึงศึกษาทั้งอธิสีลสิกขา
อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาเพื่อดับราคะ ดับโทสะ ดับโมหะ ฯลฯ เพื่อสงบ
เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ สลัดทิ้ง สงบระงับอกุสลาภิสังขารทุกประเภทของตนเสียได้
สิกขา ๓ เหล่านี้ เมื่อบุคคลนึกถึงชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบชื่อว่าพึงศึกษา...
เมื่อทำให้แจ้งสิ่งที่ควรทำให้แจ้งชื่อว่าพึงศึกษา คือ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติ
เอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ รวมความว่า พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
คนทั้งหลายกล่าวถึงการศึกษา
เพราะกามคุณที่พัวพันอยู่ในโลก
บุคคลไม่พึงเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษา
หรือกามคุณเหล่านั้น รู้แจ้งกามโดยประการทั้งปวงแล้ว
พึงศึกษาเพื่อความดับกิเลสของตน
[๑๗๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง ไม่มีความหลอกลวง
ปราศจากวาจาส่อเสียด ไม่โกรธ ข้ามพ้นความโลภอันชั่ว
และความหวงแหนได้แล้ว

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๑-๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๐๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า พึงเป็นผู้มีสัจจะ ในคำว่า มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง อธิบายว่า
พึงประกอบด้วยวาจาสัจ คือ ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์
๘ รวมความว่า พึงเป็นผู้มีสัจจะ
คำว่า ไม่คะนอง ได้แก่ ความคะนอง ๓ อย่าง คือ
๑. ความคะนองทางกาย ๒. ความคะนองทางวาจา
๓. ความคะนองทางใจ... นี้ชื่อว่าความคะนองทางใจ๑
ความคะนอง ๓ อย่างเหล่านี้ ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่
คะนอง รวมความว่า มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง

ว่าด้วยความเป็นผู้หลอกลวง
คำว่า ไม่มีความหลอกลวง ปราศจากวาจาส่อเสียด อธิบายว่า ความ
ประพฤติหลอกลวง ตรัสเรียกว่า ความหลอกลวง
คนบางคนในโลกนี้ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจแล้ว ตั้งความปรารถนา
ชั่วทราม เพราะการปกปิดทุจริตนั้นเป็นเหตุ คือ ปรารถนาว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย”
ดำริว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย” กล่าววาจาด้วยคิดว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย”
พยายามทางกายด้วยคิดว่า “ใครอย่ารู้ทันเราเลย”
ความหลอกลวง ความเป็นผู้มีความหลอกลวง ความเสแสร้ง ความลวง
ความล่อลวง การปิดบัง การหลบเลี่ยง การหลีกเลี่ยง การซ่อน การซ่อนเร้น
การปิด การปกปิด การไม่เปิดเผย การไม่ทำให้แจ่มแจ้ง การปิดสนิท การทำความ
ชั่วเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความหลอกลวง
ความหลอกลวงนี้ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่มีความ
หลอกลวง

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘๕/๒๕๔-๒๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๐๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า วาจาส่อเสียด ในคำว่า ปราศจากวาจาส่อเสียด อธิบายว่า คนบางคน
ในโลกนี้เป็นผู้มีวาจาส่อเสียด... บุคคลย่อมนำวาจาส่อเสียดเข้าไปด้วยความประสงค์
ให้เขาแตกกัน วาจาส่อเสียดนี้ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับ
ได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ปราศจาก
วาจาส่อเสียด คือ หมดวาจาส่อเสียดแล้ว รวมความว่า ไม่มีความหลอกลวง
ปราศจากวาจาส่อเสียด
คำว่า ไม่โกรธ ในคำว่า มุนี...ไม่โกรธ ข้ามพ้นความโลภอันชั่วและความ
หวงแหนได้แล้ว อธิบายว่า กล่าวไว้แล้วแล อนึ่ง ควรกล่าวถึงความโกรธก่อน
ความโกรธย่อมเกิดได้เพราะเหตุ ๑๐ อย่าง๑... ความโกรธนั้นผู้ใดละได้แล้ว
ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือ
ญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่โกรธ
บุคคลชื่อว่าผู้ไม่โกรธ เพราะละความโกรธได้แล้ว
บุคคลชื่อว่าผู้ไม่โกรธ เพราะกำหนดรู้วัตถุแห่งความโกรธได้แล้ว
บุคคลชื่อว่าผู้ไม่โกรธ เพราะตัดเหตุแห่งความโกรธได้แล้ว
คำว่า ความโลภ ได้แก่ ความโลภ กิริยาที่โลภ ภาวะที่โลภ... อภิชฌา
อกุศลมูลคือโลภะ
มัจฉริยะ ๕ อย่าง คือ (๑) อาวาสมัจฉริยะ... ความมุ่งแต่จะได้ ตรัสเรียกว่า
ความตระหนี่๒
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด...
ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี
คำว่า มุนี...ไม่โกรธ ข้ามพ้นความโลภอันชั่วและความหวงแหนได้แล้ว
อธิบายว่า มุนี ข้ามได้แล้ว คือ ข้ามไปได้แล้ว ข้ามพ้นแล้ว ก้าวล่วงแล้ว ก้าวล่วง
ด้วยดี ล่วงเลยแล้วซึ่งความโลภอันชั่วและความหวงแหนได้แล้ว รวมความว่า

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘๕/๒๕๒
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๔๔/๑๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๐๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
มุนี...ไม่โกรธ ข้ามพ้นความโลภอันชั่วและความหวงแหนได้แล้ว ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนอง ไม่มีความหลอกลวง
ปราศจากวาจาส่อเสียด ไม่โกรธ ข้ามพ้นความโลภอันชั่ว
และความหวงแหนได้แล้ว
[๑๗๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
นรชนพึงควบคุมความหลับ ความเกียจคร้าน
ความย่อท้อ ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท
ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น พึงน้อมใจไปในนิพพาน

ว่าด้วยความเกียจคร้าน
คำว่า พึงควบคุมความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ อธิบายว่า
คำว่า ความหลับ ได้แก่ ความที่กายไม่คล่องแคล่ว ความที่กายไม่ควรแก่การ
งาน อาการหยุด อาการพัก อาการพักผ่อนภายใน ความง่วง ภาวะที่หลับ อาการ
สัปหงก ความหลับ กิริยาที่หลับ ภาวะที่หลับ
คำว่า ความเกียจคร้าน ได้แก่ ความเกียจคร้าน กิริยาที่เกียจคร้าน ภาวะที่
เกียจคร้าน ความเป็นผู้มีใจเกียจคร้าน ความขี้เกียจ กิริยาที่ขี้เกียจ ภาวะที่ขี้เกียจ
คำว่า ความย่อท้อ ได้แก่ ความที่จิตไม่คล่องแคล่ว ความที่จิตไม่ควรแก่การงาน
ความหดหู่ กิริยาที่หดหู่ ความท้อถอย กิริยาที่ท้อถอย ภาวะที่ท้อถอย ความย่อท้อ
กิริยาที่ย่อท้อ ความเป็นผู้มีจิตย่อท้อ
คำว่า พึงควบคุมความหลับ ความเกียจคร้าน ความย่อท้อ อธิบายว่า
พึงควบคุม คือ ครอบครอง ยึดครอง ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง ย่ำยีความหลับ
ความเกียจคร้านและความย่อท้อ รวมความว่า พึงควบคุมความหลับ ความ
เกียจคร้าน ความย่อท้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๐๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท อธิบายว่า ขอกล่าวถึงความประมาท
ความปล่อยจิตไป หรือการเพิ่มพูนความปล่อยจิตไปในกามคุณ ๕ ด้วยกายทุจริต
วจีทุจริต มโนทุจริต หรือ การทำโดยไม่เคารพ การทำที่ไม่ให้ติดต่อ การทำที่
ไม่มั่นคง ความประพฤติย่อหย่อน ความทอดทิ้งฉันทะ ความทอดทิ้งธุระ
ความไม่เสพ ความไม่เจริญ ความไม่ทำให้มาก ความตั้งใจไม่จริง ความไม่หมั่น
ประกอบ ความประมาทในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าความประมาท
ความประมาท กิริยาที่ประมาท ภาวะที่ประมาทมีลักษณะเช่นว่านี้ นี้ตรัสเรียกว่า
ความประมาท
คำว่า ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท อธิบายว่า ไม่พึงอยู่ คือ ไม่พึงอยู่ร่วม
ไม่พึงอยู่อาศัย ไม่พึงอยู่ครองกับความประมาท ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมด
สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความประมาท คือ พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก
สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความประมาท มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่
รวมความว่า ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท
คำว่า ความดูหมิ่น ในคำว่า ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น อธิบายว่า
คนบางคนในโลกนี้ ดูหมิ่นผู้อื่นเพราะชาติบ้าง เพราะโคตรบ้าง... เพราะเรื่องอื่น
นอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว ภาวะที่ถือตัว ความลำพองตน
ความทะนงตน ความเชิดชูตนเป็นดุจธง ความเห่อเหิม ความที่จิตต้องการเชิดชูตน
เป็นดุจธงเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความดูหมิ่น
คำว่า ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น อธิบายว่า ไม่พึงตั้งอยู่ คือ ไม่พึงดำรงอยู่
ในความดูหมิ่น ได้แก่ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่ง
ความดูหมิ่น คือ พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้อง
กับความดูหมิ่น มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า ไม่พึงตั้งอยู่ในความ
ดูหมิ่น


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๐๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการทำบุญมุ่งนิพพาน
คำว่า นรชน...พึงน้อมใจไปในนิพพาน อธิบายว่า คนบางคนในโลกนี้
เมื่อให้ทาน สมาทานศีล ทำอุโบสถกรรม ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ กวาดบริเวณวัด ไหว้เจดีย์
วางของหอมและมาลาที่เจดีย์ ทำประทักษิณเจดีย์ บำเพ็ญกุสลาภิสังขารอย่างใด
อย่างหนึ่ง อันเป็นไปในไตรธาตุ๑ ก็มิใช่เพราะเหตุแห่งคติ มิใช่เพราะเหตุแห่งการถือ
กำเนิด มิใช่เพราะเหตุแห่งปฏิสนธิ มิใช่เพราะเหตุแห่งภพ มิใช่เพราะเหตุแห่งสงสาร
มิใช่เพราะเหตุแห่งวัฏฏะ เป็นผู้ประสงค์จะพรากจากทุกข์ เอนไปในนิพพาน โอนไป
ในนิพพาน โน้มไปในนิพพาน บำเพ็ญกุศลทั้งปวงนั้น รวมความว่า นรชน... พึงน้อม
ใจไปในนิพพาน อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง นรชนบังคับจิตให้กลับจากสังขารธาตุทั้งปวง น้อมจิตเข้าไปใน
อมตธาตุว่า “ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้น
ตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท เป็นธรรมชาติสงบ
ประณีต” รวมความว่า นรชน... พึงน้อมใจไปในนิพพาน อย่างนี้บ้าง
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ให้ทาน
เพราะเหตุแห่งสุขอันก่ออุปธิเพื่อภพใหม่
แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมให้ทานเพื่อความหมดสิ้นอุปธิ
เพื่อนิพพานอันไม่มีภพใหม่
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่เจริญฌาน
เพราะเหตุแห่งสุขอันก่ออุปธิเพื่อภพใหม่
แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมเจริญฌานเพื่อความหมดสิ้นอุปธิ
เพื่อนิพพานอันไม่มีภพใหม่
บัณฑิตเหล่านั้น มีใจมุ่งนิพพาน
มีจิตโน้มไปในนิพพานนั้น
มีจิตน้อมไปในนิพพานนั้นให้ทาน

เชิงอรรถ :
๑ ไตรธาตุ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๓๕/๓๗๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๐๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
บัณฑิตเหล่านั้นย่อมเป็นผู้มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า
เหมือนแม่น้ำไหลลงสู่ทะเล ฉะนั้น
รวมความว่า นรชน... พึงน้อมใจไปในนิพพาน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
นรชนพึงควบคุมความหลับ ความเกียจคร้าน
ความย่อท้อ ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท
ไม่พึงตั้งอยู่ในความดูหมิ่น พึงน้อมใจไปในนิพพาน
[๑๗๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
นรชนไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ
ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป พึงกำหนดรู้ความถือตัว
และพึงประพฤติละเว้นจากความผลุนผลัน
คำว่า นรชนไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ อธิบายว่า มุสาวาทตรัส
เรียกว่า ความเป็นคนพูดเท็จ คนบางคนในโลกนี้ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลาง
ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหาร หรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยาน
ซักถามว่า “ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าวสิ่งนั้น” บุคคลนั้นไม่รู้ก็พูดว่า “รู้” หรือรู้ก็พูดว่า
“ไม่รู้” ไม่เห็นก็พูดว่า “เห็น” หรือเห็นก็พูดว่า “ไม่เห็น” พูดเท็จทั้งที่รู้ เพราะตน
เป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง
นี้ตรัสเรียกว่า ความเป็นคนพูดเท็จ
อีกนัยหนึ่ง มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ ๓ อย่าง... ด้วยอาการ ๔ อย่าง...
ด้วยอาการ ๕ อย่าง... ด้วยอาการ ๖ อย่าง... ด้วยอาการ ๗ อย่าง... ด้วยอาการ
๘ อย่าง... มุสาวาทมีได้ด้วยอาการ ๘ อย่างเหล่านี้
คำว่า นรชนไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ อธิบายว่า ไม่พึงดำเนินไป
ไม่พึงมุ่งมั่น ไม่พึงนำไป ไม่พึงพา(ตน) ไปในความเป็นคนพูดเท็จ คือ พึงละ บรรเทา
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความเป็นคนพูดเท็จ ได้แก่ พึงเป็นผู้งด งดเว้น
เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นคนพูดเท็จ มีใจเป็น
อิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า นรชนไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๐๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป อธิบายว่า
คำว่า รูป ได้แก่ มหาภูตรูป๑ ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔
คำว่า ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป อธิบายว่า ไม่พึงทำความเสน่หา คือ
ไม่พึงทำความพอใจ ไม่พึงทำความรัก ไม่พึงทำ ได้แก่ ไม่พึงให้เกิด ไม่พึงให้เกิดขึ้น
ไม่พึงให้บังเกิด ไม่พึงให้บังเกิดขึ้นซึ่งความกำหนัดในรูป รวมความว่า ไม่พึงทำ
ความเสน่หาในรูป

ว่าด้วยความถือตัวมีนัยต่าง ๆ
คำว่า ความถือตัว ในคำว่า พึงกำหนดรู้ความถือตัว อธิบายว่า ความถือตัว
นัยเดียว คือ ความที่จิตใฝ่สูง
ความถือตัว ๒ นัย คือ
๑. การยกตน ๒. การข่มผู้อื่น
ความถือตัว ๓ นัย คือ
๑. ความถือตัวว่า เราเลิศกว่าเขา ๒. ความถือตัวว่า เราเสมอเขา
๓. ความถือตัวว่า เราด้อยกว่าเขา
ความถือตัว ๔ นัย คือ
๑. เกิดความถือตัวเพราะลาภ ๒. เกิดความถือตัวเพราะยศ
๓. เกิดความถือตัวเพราะสรรเสริญ ๔. เกิดความถือตัวเพราะความสุข
ความถือตัว ๕ นัย คือ
๑. เกิดความถือตัวว่าเราได้รูปที่ถูกใจ
๒. เกิดความถือตัวว่าเราได้เสียงที่ถูกใจ
๓. เกิดความถือตัวว่าเราได้กลิ่นที่ถูกใจ
๔. เกิดความถือตัวว่าเราได้รสที่ถูกใจ
๕. เกิดความถือตัวว่าเราได้โผฏฐัพพะที่ถูกใจ

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๑๐/๕๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๐๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ความถือตัว ๖ นัย คือ
๑. เกิดความถือตัวเพราะมีตาสมบูรณ์
๒. เกิดความถือตัวเพราะมีหูสมบูรณ์
๓. เกิดความถือตัวเพราะมีจมูกสมบูรณ์
๔. เกิดความถือตัวเพราะมีลิ้นสมบูรณ์
๕. เกิดความถือตัวเพราะมีกายสมบูรณ์
๖. เกิดความถือตัวเพราะมีใจสมบูรณ์
ความถือตัว ๗ นัย คือ
๑. ความดูหมิ่น
๒. ความดูหมิ่นด้วยอำนาจความถือตัว
๓. ความถือตัวว่าเราด้อยกว่าเขา
๔. ความถือตัวว่าเราเสมอเขา
๕. ความถือตัวว่าเราเลิศกว่าเขา
๖. ความถือเราถือเขา
๗. ความถือตัวผิด ๆ
ความถือตัว ๘ นัย คือ
๑. เกิดความถือตัวเพราะได้ลาภ
๒. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะเสื่อมลาภ
๓. เกิดความถือตัวเพราะมียศ
๔. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะเสื่อมยศ
๕. เกิดความถือตัวเพราะสรรเสริญ
๖. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะถูกนินทา
๗. เกิดความถือตัวเพราะความสุข
๘. เกิดความถือตัวว่าตกต่ำเพราะความทุกข์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๐๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ความถือตัว ๙ นัย คือ
๑. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา
๒. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าเสมอเขา
๓. เป็นผู้เลิศกว่าเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
๔. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา
๕. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าเสมอเขา
๖. เป็นผู้เสมอเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
๗. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าเลิศกว่าเขา
๘. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าเสมอเขา
๙. เป็นผู้ด้อยกว่าเขาถือตัวว่าด้อยกว่าเขา
ความถือตัว ๑๐ นัย คือ คนบางคนในโลกนี้
๑. เกิดความถือตัวเพราะชาติ ๒. เกิดความถือตัวเพราะโคตร...
(๑๐) ... หรือเกิดความถือตัว เพราะสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว๑
ความถือตัว กริยาที่ถือตัว ภาวะที่ถือตัว ความลำพองตน ความทะนงตน
ความเชิดชูตนเป็นดุจธง ความเห่อเหิม ความที่จิตต้องการเชิดชูตนเป็นดุจธงเห็น
ปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความถือตัว
คำว่า พึงกำหนดรู้ความถือตัว อธิบายว่า พึงกำหนดรู้ความถือตัวด้วย
ปริญญา ๓ คือ
๑. ญาตปริญญา
๒. ตีรณปริญญา
๓. ปหานปริญญา
ญาตปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นรชนรู้จักความถือตัว คือ รู้เห็นว่า นี้ความถือตัวนัยเดียว คือ ความที่จิต
ใฝ่สูง นี้ความถือตัว ๒ นัย คือ (๑) การยกตน (๒) การข่มผู้อื่น ... นี้ ความถือตัว
๑๐ นัย คนบางคนในโลกนี้ (๑) เกิดความถือตัวเพราะชาติ (๒) เกิดความถือตัว

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๒๑/๙๔-๙๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๑๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
เพราะโคตร... (๑๐) ... หรือเกิดความถือตัวเพราะสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว นี้ชื่อว่า
ญาตปริญญา
ตีรณปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นรชนทำความถือตัวที่รู้แล้วให้ปรากฏอย่างนี้แล้วพิจารณาความถือตัวโดย
ความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์... เป็นของที่ต้องสลัดออกไป นี้ชื่อว่าตีรณปริญญา
ปหานปริญญา เป็นอย่างไร
คือ นรชนครั้นพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความถือตัว นี้ชื่อว่าปหานปริญญา
คำว่า พึงกำหนดรู้ความถือตัว ได้แก่ พึงกำหนดรู้ความถือตัวด้วยปริญญา ๓
เหล่านี้ รวมความว่า พึงกำหนดรู้ความถือตัว
คำว่า และพึงประพฤติละเว้นจากความผลุนผลัน อธิบายว่า
ความประพฤติผลุนผลัน เป็นอย่างไร
คือ ความประพฤติด้วยอำนาจราคะของบุคคลผู้กำหนัด ชื่อว่าความประพฤติ
ผลุนผลัน
ความประพฤติด้วยอำนาจโทสะของบุคคลผู้ขัดเคือง ชื่อว่าความประพฤติ
ผลุนผลัน
ความประพฤติด้วยอำนาจโมหะของบุคคลผู้หลง ชื่อว่าความประพฤติ
ผลุนผลัน
ความประพฤติด้วยอำนาจความถือตัวของบุคคลผู้ยึดติด ชื่อว่าความประพฤติ
ผลุนผลัน
ความประพฤติด้วยอำนาจทิฏฐิของบุคคลผู้ยึดมั่นทิฏฐิ ชื่อว่าความประพฤติ
ผลุนผลัน
ความประพฤติด้วยอำนาจอุทธัจจะของบุคคลผู้ฟุ้งซ่าน ชื่อว่าความประพฤติ
ผลุนผลัน
ความประพฤติด้วยอำนาจวิจิกิจฉาของบุคคลผู้ลังเล ชื่อว่าความประพฤติ
ผลุนผลัน
ความประพฤติด้วยอำนาจอนุสัยของบุคคลผู้ตกไปในพลังกิเลส ชื่อว่าความ
ประพฤติผลุนผลัน นี้ชื่อว่าความประพฤติผลุนผลัน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๑๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า และพึงประพฤติละเว้นจากความผลุนผลัน อธิบายว่า พึงเป็นผู้งด
งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความประพฤติผลุนผลัน
มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ คือ ประพฤติ เที่ยวไป เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต
ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า และพึงประพฤติละเว้นจากความ
ผลุนผลัน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
นรชนไม่พึงมุ่งมั่นในความเป็นคนพูดเท็จ
ไม่พึงทำความเสน่หาในรูป พึงกำหนดรู้ความถือตัว
และพึงประพฤติละเว้นจากความผลุนผลัน
[๑๗๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
นรชนไม่พึงยินดีสังขารเก่า
ไม่พึงทำความพอใจสังขารใหม่
เมื่อสังขารเสื่อมไปก็ไม่พึงเศร้าโศก
ไม่พึงติดอยู่กับกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง
คำว่า ไม่พึงยินดีสังขารเก่า อธิบายว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ที่เป็นอดีต ตรัสเรียกว่า สังขารเก่า
นรชนไม่พึงยินดี คือไม่พึงบ่นถึง ไม่พึงติดใจสังขารที่เป็นอดีต ด้วยอำนาจ
ตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ คือ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก
ซึ่งความยินดี ความบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น
รวมความว่า ไม่พึงยินดีสังขารเก่า
คำว่า ไม่พึงทำความพอใจสังขารใหม่ อธิบายว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณที่เป็นปัจจุบัน ตรัสเรียกว่า สังขารใหม่
นรชนไม่พึงทำความพอใจ คือ ไม่พึงทำความชอบใจ ไม่พึงทำความรัก ไม่พึงทำ
ได้แก่ ไม่พึงให้เกิด ไม่พึงให้เกิดขึ้น ไม่พึงให้บังเกิด ไม่พึงให้บังเกิดขึ้นซึ่งความกำหนัด
ในสังขารที่เป็นปัจจุบันด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ รวมความว่า ไม่พึงทำ
ความพอใจสังขารใหม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๑๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า เมื่อสังขารเสื่อมไปก็ไม่พึงเศร้าโศก อธิบายว่า เมื่อสังขารเสื่อมไป
คือ เสียไป ละไป แปรไป หายไป อันตรธานไป ไม่พึงเศร้าโศก คือ ไม่พึงลำบาก
ไม่พึงยึดมั่น ไม่พึงคร่ำครวญ ไม่พึงตีอกพร่ำเพ้อ ไม่พึงถึงความหลงใหล ได้แก่
เมื่อตาเสื่อมไป คือ เสียไป ละไป แปรไป หายไป อันตรธานไป
เมื่อหูเสื่อมไป คือ เสียไป ละไป แปรไป หายไป อันตรธานไป
เมื่อจมูก... ลิ้น... กาย... รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ... ตระกูล...
หมู่คณะ... อาวาส... ลาภ... ยศ... สรรเสริญ... สุข... จีวร... บิณฑบาต... เสนาสนะ...
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร... ก็ไม่พึงเศร้าโศก คือ ไม่พึงลำบาก ไม่พึงยึดมั่น ไม่พึง
คร่ำครวญ ไม่พึงตีอกพร่ำเพ้อ ไม่พึงถึงความหลงใหล รวมความว่า เมื่อสังขารเสื่อม
ไปก็ไม่พึงเศร้าโศก

ว่าด้วยกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง
คำว่า ไม่พึงติดอยู่กับกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า
กิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือ
โลภะ
เพราะเหตุไร ตัณหา จึงตรัสเรียกว่า กิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง บุคคลย่อม
เกี่ยวข้อง คือ เกี่ยวเกาะ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูป ย่อมเกี่ยวข้อง คือ เกี่ยวเกาะ ถือ
ยึดมั่น ถือมั่นเวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ... คติ... การถือกำเนิด... ปฏิสนธิ...
ภพ... สงสาร... วัฏฏะ ด้วยตัณหาใด เพราะเหตุนั้น ตัณหานั้น จึงตรัสเรียกว่า
กิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง
คำว่า ไม่พึงติดอยู่กับกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง อธิบายว่า ไม่พึงติดอยู่กับตัณหา
คือ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งตัณหา ได้แก่ พึงเป็นผู้งด
งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับตัณหา มีใจเป็นอิสระ(จาก
กิเลส)อยู่ รวมความว่า ไม่พึงติดอยู่กับกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
นรชนไม่พึงยินดีสังขารเก่า
ไม่พึงทำความพอใจสังขารใหม่
เมื่อสังขารเสื่อมไปก็ไม่พึงเศร้าโศก
ไม่พึงติดอยู่กับกิเลสเครื่องเกี่ยวข้อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๑๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
[๑๘๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เราเรียกความติดใจว่า ห้วงน้ำใหญ่
เรียกความโลดแล่นว่า ความปรารถนา
เรียกอารมณ์ว่า ความหวั่นไหว
เปือกตมคือกามเป็นสภาวะที่ลุล่วงไปได้ยาก

ว่าด้วยตัณหาตรัสเรียกว่าห้วงน้ำใหญ่
คำว่า เราเรียกความติดใจว่า ห้วงน้ำใหญ่ อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า
ความติดใจ คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ตัณหาตรัสเรียกว่า ห้วงน้ำใหญ่ คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก...
อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
คำว่า เราเรียกความติดใจว่า ห้วงน้ำใหญ่ อธิบายว่า เราเรียก คือ บอก
แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศความติดใจว่า
“เป็นห้วงน้ำใหญ่” รวมความว่า เราเรียกความติดใจว่า ห้วงน้ำใหญ่
คำว่า เรียกความโลดแล่นว่า ความปรารถนา อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า
ความโลดแล่น คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ตัณหาตรัสเรียกว่า ความปรารถนา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก...
อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
คำว่า เรียกความโลดแล่นว่า ความปรารถนา อธิบายว่า เรียก คือ บอก
แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศความโลดแล่นว่า
“เป็นความปรารถนา” รวมความว่า เรียกความโลดแล่นว่า ความปรารถนา
คำว่า เรียกอารมณ์ว่า ความหวั่นไหว อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า
อารมณ์ คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ตัณหาตรัสเรียกว่า ความหวั่นไหว คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก...
อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ รวมความว่า เรียกอารมณ์ว่า ความหวั่นไหว
คำว่า เปือกตมคือกามเป็นสภาวะที่ลุล่วงไปได้ยาก อธิบายว่า เปือกตมคือ
กาม ได้แก่ หล่มคือกาม กิเลสคือกาม โคลนคือกาม ความกังวลคือกาม เป็นสภาวะ
ที่ลุล่วงไปได้ยาก คือ ก้าวพ้นไปได้ยาก ข้ามไปได้ยาก ข้ามพ้นไปได้ยาก ก้าวล่วงไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๑๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ได้ยาก ล่วงเลยไปได้ยาก รวมความว่า เปือกตมคือกามเป็นสภาวะที่ลุล่วงไปได้ยาก
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เราเรียกความติดใจว่า ห้วงน้ำใหญ่
เรียกความโลดแล่นว่า ความปรารถนา
เรียกอารมณ์ว่า ความหวั่นไหว
เปือกตมคือกามเป็นสภาวะที่ลุล่วงไปได้ยาก
[๑๘๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีไม่ก้าวล่วงสัจจะ เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก
มุนีสลัดทิ้งสิ่งทั้งปวงได้แล้ว มุนีนั้นแล เราเรียกว่า ผู้สงบ
คำว่า มุนีไม่ก้าวล่วงสัจจะ อธิบายว่า ไม่ก้าวล่วงวาจาสัจ ไม่ก้าวล่วง
สัมมาทิฏฐิ ไม่ก้าวล่วงอริยมรรคมีองค์ ๘
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด...
ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี๑ รวมความว่า มุนีไม่
ก้าวล่วงสัจจะ

ว่าด้วยอมตนิพพานตรัสเรียกว่าบก
คำว่า เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก อธิบายว่า อมตนิพพานตรัสเรียกว่า บก
ได้แก่ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา
เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท
คำว่า เป็นพราหมณ์ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗
ประการได้แล้ว ... ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า
เป็นพราหมณ์๒
คำว่า เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก อธิบายว่า เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก
คือดำรงอยู่บนเกาะ ดำรงอยู่ในที่ป้องกัน ดำรงอยู่ในที่หลีกเร้น ดำรงอยู่ในที่พึ่ง

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๑๔/๖๘-๗๑
๒ ดูรายละเอียดข้อ ๒๕/๑๐๔-๑๐๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๑๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ดำรงอยู่ในที่ไม่มีภัย ดำรงอยู่ในที่ไม่จุติ ดำรงอยู่ในที่ไม่ตาย ดำรงอยู่ในนิพพาน รวม
ความว่า เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก
คำว่า มุนีสลัดทิ้งสิ่งทั้งปวงได้แล้ว อธิบายว่า อายตนะ ๑๒ ตรัสเรียกว่า
สิ่งทั้งปวง คือ ตาและรูป... ใจและธรรมารมณ์
ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในอายตนะทั้งภายในและภายนอก มุนี
นั้นละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว
เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่มุนีนั้นสละ คาย ปล่อย ละ สลัดทิ้งได้แล้ว ตัณหา ทิฏฐิ และ
มานะ มุนีนั้นละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน
ไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเพียง
เท่านี้ สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่มุนีนั้นสละ คาย ปล่อย ละ สลัดทิ้งได้แล้ว ปุญญาภิสังขาร
อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร มุนีนั้นละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป
ไม่ได้ ด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่มุนีนั้นสละ คาย ปล่อย
ละ สลัดทิ้งได้แล้ว รวมความว่า มุนีสลัดทิ้งสิ่งทั้งปวงได้แล้ว
คำว่า มุนีนั้นแล เราเรียกว่า ผู้สงบ อธิบายว่า มุนีนั้น เราเรียก คือ กล่าว
บอก แสดง ชี้แจงว่าผู้สงบ คือ เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ สงัด รวมความว่า มุนีนั้นแล
เราเรียกว่า ผู้สงบ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีไม่ก้าวล่วงสัจจะ เป็นพราหมณ์ดำรงอยู่บนบก
มุนีสลัดทิ้งสิ่งทั้งปวงได้แล้ว มุนีนั้นแล เราเรียกว่า ผู้สงบ
[๑๘๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีนั้นแลมีความรู้ จบเวท
รู้ธรรมแล้วก็ไม่อาศัย
มุนีนั้นอยู่ในโลกโดยชอบ
ย่อมไม่ใฝ่หาใคร ๆ ในโลกนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๑๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า มีความรู้ ในคำว่า มุนีนั้นแลมีความรู้ จบเวท อธิบายว่า มีความรู้
คือ ถึงวิชชา มีญาณ มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่อง
ทำลายกิเลส
คำว่า จบเวท อธิบายว่า ญาณในมรรค ๔ ตรัสเรียกว่า เวท... เป็นผู้
ปราศจากราคะในเวทนาทั้งปวง ก้าวล่วงเวทนาทั้งปวงแล้ว ชื่อว่าผู้จบเวท๑ รวม
ความว่า มุนีนั้นแลมีความรู้ จบเวท
คำว่า รู้แล้ว ในคำว่า รู้ธรรมแล้วก็ไม่อาศัย ได้แก่ รู้แล้ว คือ ทราบแล้ว
เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว คือ รู้แล้ว คือ
ทราบแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า
“สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็น
ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”
คำว่า ไม่อาศัย ได้แก่ ความอาศัย ๒ อย่าง คือ (๑) ความอาศัยด้วยอำนาจ
ตัณหา (๒) ความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ... นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจตัณหา...
นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ
มุนีละความอาศัยด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความอาศัยด้วยอำนาจ
ทิฏฐิได้แล้ว ไม่อาศัยตา ไม่อาศัยหู... ไม่อาศัยจมูก... ไม่อาศัย คือ ไม่ติดแล้ว
ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ไม่ติดใจแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว
ไม่เกี่ยวข้องกับรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้และธรรมารมณ์
ที่พึงรู้แจ้ง มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า รู้ธรรมแล้วก็ไม่อาศัย
คำว่า มุนีนั้นอยู่ในโลกโดยชอบ อธิบายว่า ความกำหนัดด้วยอำนาจความ
พอใจในอายตนะทั้งภายในและภายนอก มุนีละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป
ไม่ได้ ด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ มุนีชื่อว่าเที่ยวไป อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป
เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปในโลกโดยชอบ...

เชิงอรรถ :
๑ ดูรายละเอียดข้อ ๘๑/๒๔๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๑๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร มุนีละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ด้วยเหตุใด แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ มุนีชื่อว่าเที่ยวไป อยู่
เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปในโลกโดยชอบ รวม
ความว่า มุนีนั้นอยู่ในโลกโดยชอบ
คำว่า ย่อมไม่ใฝ่หาใคร ๆ ในโลกนี้ อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความ
ใฝ่หา คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก...อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ตัณหาที่ตรัสเรียกว่า ความใฝ่หานี้ มุนีใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบ
ได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว มุนีนั้นย่อมไม่
ใฝ่หาใคร ๆ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์
รวมความว่า ย่อมไม่ใฝ่หาใคร ๆ ในโลกนี้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
มุนีนั้นแลมีความรู้ จบเวท
รู้ธรรมแล้วก็ไม่อาศัย
มุนีนั้นอยู่ในโลกโดยชอบ
ย่อมไม่ใฝ่หาใคร ๆ ในโลกนี้
[๑๘๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ผู้ใดข้ามกามและเครื่องข้องที่ล่วงได้ยากในโลกได้แล้ว
ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละโมบ
เป็นผู้ตัดกระแสได้แล้ว ไม่มีเครื่องผูก

ว่าด้วยกาม ๒ อย่าง
คำว่า ผู้ใด ในคำว่า ผู้ใดข้ามกามและเครื่องข้องที่ล่วงได้ยากในโลกได้แล้ว
ได้แก่ ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ผู้ขวนขวายอย่างใด ผู้ตั้งใจอย่างใด ผู้มีประการอย่างใด
ผู้ถึงฐานะใด ผู้ประกอบด้วยธรรมใด จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์
บรรพชิต เทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๑๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง แบ่งตามหมวด คือ (๑) วัตถุกาม
(๒) กิเลสกาม... เหล่านี้เรียกว่า วัตถุกาม... เหล่านี้เรียกว่า กิเลสกาม
คำว่า เครื่องข้อง ได้แก่ เครื่องข้อง ๗ อย่าง คือ

๑. เครื่องข้องคือราคะ ๒. เครื่องข้องคือโทสะ
๓. เครื่องข้องคือโมหะ ๔. เครื่องข้องคือมานะ
๕. เครื่องข้องคือทิฏฐิ ๖. เครื่องข้องคือกิเลส
๗. เครื่องข้องคือทุจริต

คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก
คำว่า และเครื่องข้องที่ล่วงได้ยากในโลก อธิบายว่า ผู้ใด ข้ามได้แล้ว คือ
ข้ามไปได้แล้ว ข้ามพ้นได้แล้ว ก้าวล่วงแล้ว ล่วงเลยแล้วซึ่งกามและเครื่องข้องที่ละได้
ยาก คือ ประพฤติล่วงได้ยาก ก้าวข้ามได้ยาก ก้าวพ้นได้ยาก ก้าวล่วงได้ยาก
ประพฤติล่วงได้ยากในโลกแล้ว รวมความว่า ผู้ใดข้ามกามและเครื่องข้องที่ล่วงได้
ยากในโลกได้แล้ว
คำว่า ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละโมบ อธิบายว่า ย่อมไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่
แปรผันไป หรือเมื่อสิ่งนั้นแปรผันไป ย่อมไม่เศร้าโศก คือ ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก
ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า “ตาของเราแปรผันไป”
ไม่เศร้าโศก คือ ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า
“หูของเรา... จมูกของเรา... ลิ้นของเรา... กายของเรา... รูปของเรา... เสียงของเรา...
กลิ่นของเรา... รสของเรา... โผฏฐัพพะของเรา... ตระกูลของเรา... หมู่คณะของเรา...
อาวาสของเรา... ลาภของเรา... ยศของเรา... สรรเสริญของเรา... ความสุขของเรา...
จีวรของเรา... บิณฑบาตของเรา... เสนาสนะของเรา... คิลานปัจจัยเภสัชบริขารของ
เรา... มารดาของเรา... บิดาของเรา... พี่ชายน้องชายของเรา... พี่สาวน้องสาวของเรา...
บุตรของเรา... ธิดาของเรา... มิตรของเรา... อำมาตย์ของเรา... ญาติและผู้ร่วมสาย
โลหิตของเราแปรผันไป” รวมความว่า ไม่เศร้าโศก
คำว่า ไม่ละโมบ ได้แก่ ไม่ละโมบ คือ ไม่มุ่งหวัง ไม่เข้าไปเพ่ง ไม่เพ่งถึง
ไม่เพ่งเล็งถึง อีกนัยหนึ่ง ผู้นั้น ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่ต้องเข้าถึงกำเนิด
จึงชื่อว่าไม่ละโมบ รวมความว่า ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละโมบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๑๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ว่าด้วยตัณหาตรัสเรียกว่ากระแส
คำว่า เป็นผู้ตัดกระแสได้แล้ว ไม่มีเครื่องผูก อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า
กระแส คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ตัณหาที่ตรัสเรียกว่า กระแสนี้ ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว
ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า เป็นผู้
ตัดกระแสได้แล้ว
คำว่า ไม่มีเครื่องผูก ได้แก่ เครื่องผูก ๗ อย่าง คือ

๑. เครื่องผูกคือราคะ ๒. เครื่องผูกคือโทสะ
๓. เครื่องผูกคือโมหะ ๔. เครื่องผูกคือมานะ
๕. เครื่องผูกคือทิฏฐิ ๖. เครื่องผูกคือกิเลส
๗. เครื่องผูกคือทุจริต

เครื่องผูกเหล่านี้ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ไม่มีเครื่องผูก
รวมความว่า เป็นผู้ตัดกระแสได้แล้ว ไม่มีเครื่องผูก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค
จึงตรัสว่า
ผู้ใดข้ามกามและเครื่องข้องที่ล่วงได้ยากในโลกได้แล้ว
ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ละโมบ
เป็นผู้ตัดกระแสได้แล้ว ไม่มีเครื่องผูก
[๑๘๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๒๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป อธิบาย
ว่ากิเลสเหล่าใดพึงปรารภสังขารที่เป็นอดีตเกิดขึ้น เธอจงให้กิเลสเหล่านั้นแห้งไป
เหือดแห้งไป คือ แห้งเหือดไป แห้งหายไป ทำให้หมดพืชพันธุ์ ละ บรรเทา ทำให้
หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก รวมความว่า เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วน
เบื้องต้นให้เหือดแห้งไป อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง กรรมาภิสังขารที่เป็นอดีตซึ่งยังไม่ให้ผลเหล่าใด เธอจงทำ
กรรมาภิสังขารเหล่านั้นให้แห้งไป เหือดแห้งไป คือ แห้งเหือดไป แห้งหายไป ทำให้
หมดพืชพันธุ์ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก รวมความว่า
เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป อย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยอนาคตตรัสเรียกว่าส่วนภายหลัง
คำว่า เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ อธิบาย
ว่า อนาคต ตรัสเรียกว่า ส่วนภายหลัง
เครื่องกังวลเหล่าใดพึงปรารภสังขารในอนาคตเกิดขึ้น ได้แก่ เครื่องกังวลคือ
ราคะ เครื่องกังวลคือโทสะ เครื่องกังวลคือโมหะ เครื่องกังวลคือมานะ เครื่องกังวล
คือทิฏฐิ เครื่องกังวลคือกิเลส เครื่องกังวลคือทุจริต
เครื่องกังวลเหล่านี้อย่าได้มีแก่เธอ คือ เธออย่าทำให้ปรากฏ อย่าให้เกิด
อย่าให้เกิดขึ้น อย่าให้บังเกิด อย่าให้บังเกิดขึ้น ได้แก่ จงละ บรรเทา ทำให้หมด
สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีก รวมความว่า เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลัง
อย่าได้มีแก่เธอ
คำว่า ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้ อธิบายว่า รูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณที่เป็นปัจจุบัน ตรัสเรียกว่า ส่วนท่ามกลาง
เธอจักไม่ถือ คือ ไม่ยึด ไม่ถือ ไม่ยึดถือ ไม่ใยดี ไม่พูดถึง ไม่ชอบใจสังขารที่
เป็นปัจจุบันด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ คือ จักละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น
ความถือมั่น รวมความว่า ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๒๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป อธิบายว่า
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบราคะ...
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโทสะ...
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ คือ เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ ระงับได้แล้ว เพราะสงบ ระงับ
เข้าไประงับ สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับอกุสลาภิสังขารทุกประเภทได้แล้ว
จักเที่ยวไป คือ จักอยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป
รวมความว่า ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เธอจงทำกิเลสที่ปรารภสังขารในส่วนเบื้องต้นให้เหือดแห้งไป
เครื่องกังวลที่ปรารภสังขารในส่วนภายหลังอย่าได้มีแก่เธอ
ถ้าเธอจักไม่ถือสังขารในส่วนท่ามกลางไว้
ก็จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป
[๑๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูป
ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง
และผู้ใดไม่เศร้าโศก เพราะไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา
ผู้นั้นแลย่อมไม่เสื่อมในโลก

ว่าด้วยนามรูป
คำว่า โดยประการทั้งปวง ในคำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูป
ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง ได้แก่ ทุกสิ่ง โดยอาการทั้งหมด ทุกอย่าง
ไม่เหลือ ไม่มีเหลือโดยประการทั้งปวง คำว่า โดยประการทั้งปวง นี้ เป็นคำกล่าว
รวม ๆ ไว้ทั้งหมด
อรูปขันธ์ ๔ ชื่อว่านาม
มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ชื่อว่ารูป
คำว่า ผู้ใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๒๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง
คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของ
เราด้วยอำนาจทิฏฐิ... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา... นี้ชื่อว่า
ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูปย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการ
ทั้งปวง อธิบายว่า ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูป ไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ
หาไม่ได้แก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง คือ ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูป ผู้ใดละ
ได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วย
ไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูป ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด
โดยประการทั้งปวง

ว่าด้วยผู้ไม่เศร้าโศก
คำว่า และผู้ใดไม่เศร้าโศกเพราะไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา อธิบายว่า
ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่แปรผันไป หรือเมื่อสิ่งนั้นแปรผันไปแล้วก็ไม่เศร้าโศก คือ ไม่เศร้า
โศก ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า “ตาของเรา
แปรผันไป”
ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า
“หูของเรา... จมูกของเรา... ลิ้นของเรา... กายของเรา... รูปของเรา... เสียงของเรา...
กลิ่นของเรา... รสของเรา... โผฏฐัพพะของเรา... ตระกูลของเรา... หมู่คณะของเรา...
อาวาสของเรา... ลาภของเรา... ญาติและผู้ร่วมสายโลหิตของเราแปรผันไป”
รวมความว่า และผู้ใดไม่เศร้าโศกเพราะไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ผู้ถูกทุกขเวทนาอันไม่สำราญกระทบ ครอบงำ ย่ำยี มาถึงแล้วก็ไม่
เศร้าโศก คือ ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหล
รวมความว่า และผู้ใดไม่เศร้าโศกเพราะไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ผู้ถูกโรคตากระทบ ครอบงำ... ถูกสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด
กระทบ ครอบงำ ย่ำยี มาถึงแล้ว ก็ไม่เศร้าโศก คือ ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอก
พร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหล รวมความว่า และผู้ใดไม่เศร้าโศกเพราะไม่มีความยึด
ถือว่าเป็นของเรา อย่างนี้บ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๒๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง เมื่อนามรูปไม่มี ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ ก็ไม่เศร้าโศก คือ ไม่ลำบาก
ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า “นามรูปได้มีแก่เราแล้วหนอ
นามรูปนั้นไม่มีแก่เราหนอ นามรูปพึงมีแก่เราหนอ เราไม่ได้นามรูปนั้นหนอ” รวม
ความว่า และผู้ใดไม่เศร้าโศกเพราะไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา อย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยความเสื่อมมีแก่ผู้ยึดถือ
คำว่า ผู้นั้นแลย่อมไม่เสื่อมในโลก อธิบายว่า ผู้ใดมีความถือ ความยึดมั่น
ความถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไร ๆ ว่า
“สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น” ผู้นั้นย่อมมีความเสื่อม สมจริงดังภาษิตนี้ว่า
เธอเสื่อมแล้วจากรถ ม้า แก้วมณี และตุ้มหู
เสื่อมแล้วจากบุตรภรรยา และโภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้ใช้สอยทั้งปวง
เหตุไร เธอจึงไม่เดือดร้อน ในเวลาเศร้าโศก
โภคทรัพย์ย่อมละบุคคลไปก่อนบ้าง
บุคคลย่อมละโภคทรัพย์ไปก่อนบ้าง
โจรราชผู้ใคร่กาม หมู่ชนผู้มีโภคทรัพย์ เป็นผู้ไม่เที่ยง
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศกในเวลาเศร้าโศก
ดวงจันทร์ขึ้นเต็มดวงแล้วก็ลับไป
ดวงอาทิตย์กำจัดความมืดแล้วก็ลับไป
ศัตรูเอ๋ยเรารู้จักโลกธรรมแล้ว
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศก ในเวลาเศร้าโศก๑
ผู้ใดไม่มีความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความชอบใจ ความน้อมใจเชื่อ
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไร ๆ ว่า “สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น”
ผู้นั้นย่อมไม่มีความเสื่อม
สมจริงดังภาษิตนี้ว่า สมณะ ท่านยินดีหรือ เราได้อะไรมาจึงยินดีเล่า ผู้มีอายุ
ถ้าอย่างนั้น ท่านเศร้าโศกหรือ สมณะ เราเสียอะไรไปเล่า ผู้มีอายุ ถ้าอย่างนั้น
ท่านทั้งไม่ยินดี และไม่เศร้าโศกหรือ สมณะ อย่างนั้น ผู้มีอายุ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.ชา. ๒๗/๒-๓/๑๒๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๒๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
เป็นเวลานานหนอ
พวกเราจึงได้พบภิกษุผู้เป็นพราหมณ์
ผู้ดับกิเลส ไม่ยินดี ไม่มีทุกข์
ข้ามตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในโลก๑
รวมความว่า ผู้นั้นแลย่อมไม่เสื่อมในโลก ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ความยึดถือว่าเป็นของเราในนามรูป
ย่อมไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง
และผู้ใดไม่เศร้าโศก เพราะไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา
ผู้นั้นแลย่อมไม่เสื่อมในโลก
[๑๘๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา
หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด
ผู้นั้นเมื่อไม่ได้ความยึดถือว่าเป็นของเรา
ย่อมไม่เศร้าโศกว่าของ ๆ เราไม่มี
คำว่า ผู้ใด ในคำว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น
ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ อธิบายว่า ความถือ ความยึดมั่น
ความถือมั่น ความชอบใจ ความน้อมใจเชื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไร ๆ ว่า
“สิ่งนี้ของเรา หรือ สิ่งนี้ของคนอื่น” ย่อมไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้แก่
พระอรหันตขีณาสพใด ได้แก่ กิเลสเครื่องกังวลนั้นพระอรหันตขีณาสพใดละได้แล้ว
ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด
อย่างนี้บ้าง

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๙๙/๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๒๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ว่าด้วยอิทัปปัจจยตา
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย กายนี้ มิใช่ของพวกเธอ
ทั้งมิใช่ของคนอื่น ภิกษุทั้งหลาย กายนี้กรรมเก่าควบคุมไว้ จิตประมวลไว้ พึงเห็นว่า
เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา ภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวก ผู้ได้เรียนรู้แล้ว ย่อมมนสิการ
ปฏิจจสมุปบาทอย่างดี โดยแยบคายในกายนั้นว่า “เพราะเหตุนี้ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป
สิ่งนี้จึงดับไป คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย
วิญญาณจึงมี... ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั้นมีได้ด้วยประการอย่างนี้
เพราะอวิชชาสำรอกดับไปไม่เหลือ สังขารจึงดับ... ความดับแห่งกองทุกข์
ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการอย่างนี้” รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา
หรือสิ่งนี้ของคนอื่นย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
โมฆราช เธอจงพิจารณาเห็นโลกโดยความว่างเปล่า
เป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงถอนความตามเห็นว่ามีตัวตนเสีย
เป็นผู้ข้ามมัจจุราชเสียได้ ด้วยอาการอย่างนี้
บุคคลพิจารณาโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น๑
รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด
อย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สิ่งใดมิใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละ
สิ่งนั้นเสียเถิด สิ่งที่พวกเธอละได้แล้วนั้นแลจักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข
ตลอดกาลนาน ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่ามิใช่ของพวกเธอ ภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ของ
พวกเธอ เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสียเถิด รูปที่พวกเธอละได้แล้วนั้นแลจักมีเพื่อ
ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน เวทนา... สัญญา... สังขาร...
วิญญาณมิใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละวิญญาณนั้นเสียเถิด วิญญาณที่พวกเธอ
ละได้แล้วนั้นแล จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน ภิกษุทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๑๑๒๖/๕๔๙, ขุ.จู. ๓๐/๘๘/๑๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๒๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
พวกเธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คนพึงเอาหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ที่มีอยู่ในเชตวัน
วิหารนี้ไปเผา หรือจัดการไปตามรูปเรื่อง พวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้บ้างไหมว่า
“คนย่อมเอาพวกเราไปเผาหรือจัดการไปตามรูปเรื่อง”
ความดำริเช่นนั้นไม่มีเลย พระเจ้าข้า
ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุไร
เพราะนั่นมิใช่ตน หรือของเนื่องด้วยตนของพวกข้าพระองค์เลย พระเจ้าข้า
อย่างเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละ
สิ่งนั้นเสีย สิ่งที่พวกเธอละได้แล้วนั้นจักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอด
กาลนาน ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่ามิใช่ของพวกเธอ ภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ของพวกเธอ
เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสียเถิด รูปที่พวกเธอละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ มิใช่ของพวกเธอ
เธอทั้งหลายจงละวิญญาณนั้นเสียเถิด วิญญาณที่พวกเธอละได้แล้วจักมีเพื่อประโยชน์
เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้
ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง สมจริงดังภาษิตนี้ว่า
คามณี ภัยย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้มองเห็น
ความเกิดขึ้นแห่งธรรมล้วน ๆ
และความสืบต่อแห่งสังขารล้วน ๆ ตามเป็นจริง
เมื่อใดบุคคลมองเห็นขันธโลกว่า
เสมอด้วยหญ้าและท่อนไม้ ด้วยปัญญา
เมื่อนั้น เขาย่อมไม่ปรารถนาอะไรอื่น
นอกจากความไม่ปฏิสนธิ
รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด
อย่างนี้บ้าง
นางวชิราภิกษุณีได้กล่าวคำนี้กับมารผู้ชั่วช้าว่า
มารเอ๋ย ทิฏฐิของเจ้าเชื่อใครหนอว่าเป็นสัตว์
ร่างกายที่เป็นกองแห่งสังขารล้วน ๆ นี้บัณฑิตจะเรียกว่า
สัตว์ไม่ได้เลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๒๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สมมติว่าสัตว์ก็มีได้
เหมือนเสียงพูดว่ารถย่อมมีได้ เพราะการคุมกันแห่งส่วนประกอบ
อนึ่งทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นดำรงอยู่และ
แปรผันไป นอกจากทุกข์ไม่มีสิ่งอื่นเกิดขึ้น
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรอื่นดับไปเลย๑
รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด
อย่างนี้บ้าง
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า) ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้เองแล ภิกษุค้น
หารูปตลอดคติแห่งรูปที่มีอยู่ ค้นหาเวทนา... สัญญา... สังขาร... ค้นหาวิญญาณ
ตลอดคติแห่งวิญญาณที่มีอยู่ เมื่อภิกษุนั้นค้นหารูปตลอดคติแห่งรูป ค้นหาเวทนา...
สัญญา... สังขาร... ค้นหาวิญญาณตลอดคติแห่งวิญญาณที่มีอยู่ ความถือว่า “เรา
ของเรา หรือมีเรา” ของภิกษุนั้นไม่มีเลย๒ รวมความว่า กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้
ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยโลกว่าง
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลคำนี้กับพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ที่ตรัสว่าโลกว่าง โลกว่าง” ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุแค่ไหนหนอแล จึงตรัสว่า
“โลกว่าง”
อานนท์ เพราะโลกว่างจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า
“โลกว่าง” อานนท์ อะไรเล่าที่ว่างจากตน หรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน อานนท์ ตาว่างจาก
ตน หรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน รูปว่าง... จักขุวิญญาณว่าง... จักขุสัมผัสว่าง คือ ความ
เสวยอารมณ์ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นสุขก็มิใช่ เป็นทุกข์ก็มิใช่ ที่เกิดขึ้นเพราะ
จักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็ว่าง... หู... เสียง... จมูก... กลิ่น... ลิ้น... รส... กาย...
โผฏฐัพพะ... ใจ... ธรรมารมณ์... มโนวิญญาณ... มโนสัมผัส ก็ว่าง คือ ความเสวย
อารมณ์ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นสุขก็มิใช่ เป็นทุกข์ก็มิใช่ ที่เกิดขึ้นเพราะ

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๑๗๑/๑๖๓
๒ สํ.สฬา. ๑๘/๒๔๖/๑๘๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๒๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
มโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็ว่างจากตน หรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน อานนท์ เพราะโลกว่าง
จากตน หรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า “โลกว่าง” รวมความว่า กิเลส
เครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด อย่างนี้บ้าง
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ในคำว่า ผู้นั้นเมื่อไม่ได้ความยึดถือ
ว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดถือว่า
เป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้
ชื่อว่า ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา... นี้ชื่อว่าความยึดถือว่าเป็นของ
เราด้วยอำนาจทิฏฐิ
ผู้นั้นละความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความยึดถือ
ว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว จึงไม่พบ ไม่ได้ คือ ไม่สมหวัง ไม่ได้เฉพาะ
ความยึดถือว่าเป็นของเรา รวมความว่า ผู้นั้นเมื่อไม่ได้ความยึดถือว่าเป็นของเรา
คำว่า ย่อมไม่เศร้าโศกว่าของ ๆ เราไม่มี อธิบายว่า ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่
แปรผันไปแล้ว หรือ เมื่อสิ่งนั้นแปรผันไปแล้วย่อมไม่เศร้าโศก คือ ไม่เศร้าโศก
ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ ไม่ถึงความหลงใหลว่า “ตาของเรา
แปรผันไป”... หูของเรา... ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอกพร่ำเพ้อ
ไม่ถึงความหลงใหลว่า... “ผู้ร่วมสายโลหิตของเราแปรผันไป” รวมความว่า ย่อมไม่
เศร้าโศกว่าของ ๆ เราไม่มี ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
กิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา
หรือสิ่งนี้ของคนอื่น ย่อมไม่มีแก่ผู้ใด
ผู้นั้นเมื่อไม่ได้ความถือว่าเป็นของเรา
ย่อมไม่เศร้าโศกว่าของ ๆ เราไม่มี
[๑๘๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
บุคคลเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ติดใจ
ไม่หวั่นไหว สม่ำเสมอในอายตนะทั้งปวง
เราถูกถามถึงบุคคลผู้ไม่หวั่นไหว จึงบอกอานิสงส์นั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๒๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ว่าด้วยผู้ไม่ริษยา
คำว่า บุคคลเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ติดใจ อธิบายว่า
ความไม่ริษยา เป็นอย่างไร
คือ คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ริษยา คือ ย่อมอิจฉา ชิงชัง ผูกริษยาในลาภ
สักการะ การทำความเคารพ การนับถือ การกราบไหว้ และการบูชาของผู้อื่น ความ
ริษยา การทำความริษยา ความอิจฉา กิริยาที่อิจฉา ภาวะที่อิจฉา ความเกลียดชัง
กิริยาที่เกลียดชัง ภาวะที่เกลียดชัง เห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความริษยา
ความริษยานี้ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่ริษยา
คำว่า ไม่ติดใจ อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความติดใจ ได้แก่ ความกำหนัด
ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ
ความติดใจนี้ผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว ผู้นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่ติดใจ
เขาไม่ติดในรูป... ไม่ติดใจ คือ ไม่กำหนัด ไม่สยบ ไม่หมกมุ่นในรูปที่เห็น เสียง
ที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง ได้แก่ เป็นผู้คลาย
ความติดใจแล้ว ปราศจากความติดใจแล้ว สละความติดใจแล้ว คายความติดใจแล้ว
ปล่อยวางความติดใจแล้ว ละความติดใจแล้ว สลัดทิ้งความติดใจแล้ว เป็นผู้คลาย
ความกำหนัดแล้ว ปราศจากราคะแล้ว สละราคะแล้ว คายราคะแล้ว ปล่อยวางราคะ
แล้ว ละราคะแล้ว สลัดทิ้งราคะได้แล้ว เป็นผู้หมดความอยากแล้ว ดับแล้ว เย็นแล้ว
มีตนอันประเสริฐเสวยสุขอยู่ รวมความว่า บุคคลเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ติดใจ

ว่าด้วยผู้ไม่หวั่นไหว
คำว่า ไม่หวั่นไหว สม่ำเสมอในอายตนะทั้งปวง อธิบายว่า ตัณหาตรัส
เรียกว่า ความหวั่นไหว คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูล
คือโลภะ
ตัณหาที่ตรัสเรียกว่าความหวั่นไหวนี้ บุคคลใดละได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว บุคคล
นั้นตรัสเรียกว่า ไม่หวั่นไหว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๓๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
เพราะเป็นผู้ละความหวั่นไหวได้แล้ว จึงชื่อว่าไม่หวั่นไหว บุคคลนั้นย่อมไม่
หวั่นไหว ไม่สะเทือน ไม่เคลื่อนไหว ไม่สะท้าน ไม่สั่นสะท้าน เพราะได้ลาภ เพราะ
เสื่อมลาภบ้าง เพราะได้ยศ เพราะเสื่อมยศบ้าง เพราะสรรเสริญ เพราะนินทาบ้าง
เพราะสุข เพราะทุกข์บ้าง จึงชื่อว่าไม่หวั่นไหว
คำว่า สม่ำเสมอในอายตนะทั้งปวง อธิบายว่า อายตนะ ๑๒ ตรัสเรียกว่า
สิ่งทั้งปวง คือ ตาและรูป... ใจและธรรมารมณ์
เมื่อใด ความกำหนัดด้วยความพอใจในอายตนะทั้งภายในและภายนอก บุคคลใด
ละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว
เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ บุคคลนั้นตรัสเรียกว่า สม่ำเสมอใน
อายตนะทั้งปวง เขาเป็นผู้มั่นคงในอายตนะทั้งปวง มีตนเป็นกลางในอายตนะทั้งปวง
วางเฉยในอายตนะทั้งปวง รวมความว่า ไม่หวั่นไหว สม่ำเสมอในอายตนะทั้งปวง
คำว่า เราถูกถามถึงบุคคลผู้ไม่หวั่นไหว จึงบอกอานิสงส์นั้น อธิบายว่า
เราถูกถามถึง คือ ถูกขอ ถูกเชื้อเชิญ ถูกขอให้แสดงบุคคลผู้ไม่หวั่นไหว จึงบอก
อานิสงส์ ๔ เหล่านี้ คือ กล่าว บอก... ประกาศว่า บุคคลผู้ไม่ริษยา ไม่ติดใจ
ไม่หวั่นไหว สม่ำเสมอในอายตนะทั้งปวง รวมความว่า เราถูกถามถึงบุคคลผู้ไม่
หวั่นไหว จึงบอกอานิสงส์นั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุคคลเป็นผู้ไม่ริษยา ไม่ติดใจ
ไม่หวั่นไหว สม่ำเสมอในอายตนะทั้งปวง
เราถูกถามถึงบุคคลผู้ไม่หวั่นไหว จึงบอกอานิสงส์นั้น
[๑๘๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
อภิสังขารไร ๆ ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่หวั่นไหว รู้แจ่มแจ้ง
เขางดเว้นแล้วจากการปรารภอภิสังขาร
ย่อมมองเห็นความปลอดโปร่งในที่ทั้งปวง
คำว่า ผู้ไม่หวั่นไหว รู้แจ่มแจ้ง อธิบายว่า ตัณหาตรัสเรียกว่า ความหวั่นไหว
คือ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๓๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ตัณหาที่ตรัสเรียกว่า ความหวั่นไหว นี้ บุคคลใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว บุคคล
นั้นตรัสเรียกว่า ผู้ไม่หวั่นไหว
เพราะเป็นผู้ละความหวั่นไหวได้แล้ว จึงชื่อว่าผู้ไม่หวั่นไหว บุคคลย่อมไม่หวั่นไหว
คือ ไม่สะเทือน ไม่เคลื่อนไหว ไม่สะท้าน ไม่สั่นสะท้าน เพราะได้ลาภ เพราะเสื่อม
ลาภบ้าง เพราะได้ยศ เพราะเสื่อมยศบ้าง เพราะสรรเสริญ เพราะนินทาบ้าง เพราะสุข
เพราะทุกข์บ้าง รวมความว่า ผู้ไม่หวั่นไหว
คำว่า รู้แจ่มแจ้ง ได้แก่ รู้ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง คือ รู้เฉพาะ แทงตลอดว่า “สังขาร
ทั้งปวงไม่เที่ยง... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์”...
รู้ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง คือ รู้เฉพาะ แทงตลอดว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็น
ธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า ผู้ไม่หวั่นไหว
รู้แจ่มแจ้ง
คำว่า อภิสังขารไร ๆ ย่อมไม่มี อธิบายว่า ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร
อาเนญชาภิสังขาร ตรัสเรียกว่า อภิสังขาร
ปุญญาภิสังขาร๑ อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร เขาละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้
ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ด้วยเหตุใด ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อภิสังขารทั้งหลาย
ย่อมไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ คือ อภิสังขารเขาละได้แล้ว ตัดขาด
ได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
รวมความว่า อภิสังขารไร ๆ ย่อมไม่มี
คำว่า เขางดเว้นแล้วจากการปรารภอภิสังขาร อธิบายว่า ปุญญาภิสังขาร
อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร ตรัสเรียกว่า อภิสังขาร ปุญญาภิสังขาร
อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร เขาละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไป
ไม่ได้ด้วยเหตุใด ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เขาเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก สลัดออก

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๒๕/๑๐๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๓๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับการปรารภอภิสังขาร มีใจเป็นอิสระ(จากอภิสังขาร)อยู่ รวม
ความว่า เขางดเว้นแล้วจากการปรารภอภิสังขาร
คำว่า ย่อมมองเห็นความปลอดโปร่งในที่ทั้งปวง อธิบายว่า ราคะ โทสะ
โมหะ... กิเลสทั้งหลาย เป็นเหตุก่อภัย เพราะเป็นผู้ละราคะซึ่งเป็นเหตุก่อภัยเสียได้...
เพราะเป็นผู้ละกิเลสทั้งหลายซึ่งเป็นเหตุก่อภัย เขาจึงมองเห็นความปลอดโปร่งในที่
ทั้งปวง คือ มองเห็นความปลอดภัยในที่ทั้งปวง มองเห็นความไม่มีเสนียดจัญไรในที่
ทั้งปวง มองเห็นความไม่มีอุปัทวะในที่ทั้งปวง มองเห็นความไม่มีอุปสรรคในที่ทั้งปวง
มองเห็นความไม่ติดขัดในที่ทั้งปวง รวมความว่า ย่อมมองเห็นความปลอดโปร่งในที่
ทั้งปวง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
อภิสังขารไร ๆ ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่หวั่นไหว รู้แจ่มแจ้ง
เขางดเว้นแล้วจากการปรารภอภิสังขาร
ย่อมมองเห็นความปลอดโปร่งในที่ทั้งปวง
[๑๘๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
มุนีย่อมไม่กล่าวถึงตนในหมู่คนที่เสมอกัน
ด้อยกว่า (หรือ) เลิศกว่าเลย
มุนีนั้น เป็นผู้สงบ คลายความตระหนี่ ไม่ยึดถือ ไม่สลัดทิ้ง

ว่าด้วยคุณสมบัติของมุนี
คำว่า มุนีย่อมไม่กล่าวถึงตนในหมู่คนที่เสมอกัน ด้อยกว่า (หรือ) เลิศกว่า
เลย อธิบายว่า ญาณท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด... ผู้ก้าวล่วง
กิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี
มุนีย่อมไม่กล่าวถึง คือ ไม่พูด ไม่บอก ไม่แสดง ไม่ชี้แจงว่า “เราเลิศกว่าเขา
เราเสมอเขา หรือเราด้อยกว่าเขา” รวมความว่า มุนีย่อมไม่กล่าวถึงตนในหมู่คนที่
เสมอกัน ด้อยกว่า (หรือ) เลิศกว่าเลย
คำว่า เป็นผู้สงบ ในคำว่า มุนีนั้น เป็นผู้สงบ คลายความตระหนี่ อธิบายว่า
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบราคะ
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโทสะ
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโมหะ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๓๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๕. อัตตทัณฑสุตตนิทเทส
ชื่อว่าเป็นผู้สงบ คือ เข้าไปสงบ สงบเย็น ดับ ระงับได้แล้ว เพราะสงบ ระงับ
สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท รวมความว่า
มุนีนั้น เป็นผู้สงบ
คำว่า คลายความตระหนี่ อธิบายว่า มัจฉริยะ ๕ อย่าง คือ (๑) อาวาส-
มัจฉริยะ... ความมุ่งแต่จะได้ ตรัสเรียกว่า ความตระหนี่
ความตระหนี่นี้ มุนีใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว
ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว มุนีนั้น ตรัสเรียกว่า คลายความตระหนี่
คือ ปราศจากความตระหนี่ สละความตระหนี่ คายความตระหนี่ ปล่อยความตระหนี่
ละความตระหนี่ สลัดทิ้งความตระหนี่ รวมความว่า มุนีนั้น เป็นผู้สงบ คลายความตระหนี่
คำว่า ไม่ยึดถือ ในคำว่า ไม่ยึดถือ ไม่สลัดทิ้ง อธิบายว่า ไม่ยึดถือ คือ
ไม่ถือเอา ไม่เข้าไปยึดถือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นรูป... เวทนา... สัญญา... สังขาร...
วิญญาณ... คติ... การถือกำเนิด... ปฏิสนธิ... ภพ... สงสาร ไม่ยึดถือ คือ ไม่ถือเอา
ไม่เข้าไปยึดถือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้หมดสิ้นไป
ไม่ทำให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งวัฏฏะ รวมความว่า ไม่ยึดถือ
คำว่า ไม่สลัดทิ้ง อธิบายว่า ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้หมดสิ้นไป ไม่ทำให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งรูป คือ ไม่ละ ไม่บรรเทา ไม่ทำให้หมดสิ้นไป ไม่ทำให้ถึงความ
ไม่มีอีก ซึ่งเวทนา... สัญญา...สังขาร... วิญญาณ... คติ... การถือกำเนิด... ปฏิสนธิ...
ภพ... สงสาร... วัฏฏะ รวมความว่า ไม่สลัดทิ้ง
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ... คำว่า พระผู้มี-
พระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า
มุนีย่อมไม่กล่าวถึงตนในหมู่คนที่เสมอกัน
ด้อยกว่า (หรือ) เลิศกว่าเลย
มุนีนั้น เป็นผู้สงบ คลายความตระหนี่ ไม่ยึดถือ ไม่สลัดทิ้ง๑
อัตตทัณฑสุตตนิทเทสที่ ๑๕ จบ

เชิงอรรถ :
๑ ขุ. สุ. ๒๕/๙๖๑/๕๒๐

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๓๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส๑
อธิบายสารีปุตตสูตร
ว่าด้วยพระสารีบุตรกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายสารีปุตตสูตร ดังต่อไปนี้
[๑๙๐] (ท่านพระสารีบุตรกล่าวดังนี้)
พระศาสดา ผู้มีพระสุรเสียงไพเราะอย่างนี้
ได้เสด็จจากภพดุสิตมาเป็นพระคณาจารย์
ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็น
ทั้งไม่เคยได้ยินจากใคร ๆ มาเลย
คำว่า ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็น อธิบายว่า ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้า
ไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นด้วยตานี้ ด้วยอัตภาพนี้เลย คือ ในกาลใด
พระผู้มีพระภาคเสด็จออกพรรษาที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ โคนไม้ปาริฉัตตกะ
ในภพดาวดึงส์ อันหมู่เทวดาแวดล้อมเสด็จลงสู่สังกัสสนครทางบันไดแก้วมณี
ตรงกลาง ในกาลนั้น เว้นการเห็นครั้งนี้ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นในกาลก่อนเลย
รวมความว่า ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็น
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านพระสารีบุตรกล่าว ดังนี้ เป็นบทสนธิ เป็นคำ
เชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความ
สละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ดังนี้ นี้เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ คำว่า
ท่าน นี้ เป็นคำกล่าวที่มีความเคารพและยำเกรง
คำว่า พระสารีบุตร เป็นชื่อของพระเถระนั้น คือ เป็นการกล่าวถึง การ
ขนานนาม การบัญญัติ ชื่อที่เรียกกัน ชื่อ การตั้งชื่อ ชื่อที่ตั้งให้ ภาษา พยัญชนะ
ชื่อเรียกเฉพาะ รวมความว่า ท่านพระสารีบุตรกล่าวดังนี้

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.สุ. ๒๕/๙๖๒-๙๘๒/๕๒๐-๕๒๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๓๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่ ในคำว่า ทั้งไม่เคยได้ยินจากใคร ๆ มาเลย เป็นคำปฏิเสธ
คำว่า ทั้ง เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความ
สัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ทั้ง นี้ เป็นคำเชื่อมบท
หน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า ใคร ๆ ได้แก่ ใคร ๆ คือ ผู้เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์
บรรพชิต เทวดาหรือมนุษย์ รวมความว่า ทั้งไม่เคยได้ยินจากใคร ๆ มาเลย

ว่าด้วยพระสุรเสียงของพระพุทธเจ้าประกอบด้วยองค์ ๘
คำว่า พระศาสดาผู้มีพระสุรเสียงไพเราะอย่างนี้ อธิบายว่า พระศาสดา
ผู้มีพระสุรเสียงไพเราะ คือ เป็นผู้มีพระสุรเสียงอ่อนหวาน มีพระสุรเสียงเป็นที่ตั้ง
แห่งความรัก มีพระสุรเสียงดูดดื่มหทัย มีพระสุรเสียงเสนาะดุจเสียงนกการเวก
ก็พระสุรเสียงที่ประกอบด้วยองค์ ๘ เปล่งออกจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น คือ

๑. สละสลวย ๒. เข้าใจง่าย
๓. ไพเราะ ๔. น่าฟัง
๕. กลมกล่อม ๖. ไม่แปร่ง
๗. ลึกล้ำ ๘. ก้องกังวาน

เมื่อใด พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงประกาศให้บริษัททราบด้วยพระ
สุรเสียง เมื่อนั้น พระสุรเสียงของพระองค์ไม่ออกไปนอกบริษัท พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น มีพระสุรเสียงดุจเสียงพรหม มีปกติตรัสไพเราะดุจเสียงนกการเวก
รวมความว่า พระศาสดาผู้มีพระสุรเสียงไพเราะอย่างนี้
คำว่า พระศาสดา อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงนำหมู่ ชื่อว่าพระศาสดา
เหมือนบุคคลผู้นำหมู่เกวียน ย่อมนำหมู่เกวียนข้ามที่กันดาร ข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้าม
ออก ข้ามพ้นที่กันดารเพราะโจร ที่กันดารเพราะสัตว์ร้าย ที่กันดารเพราะอดอยาก
ที่กันดารเพราะขาดน้ำ ได้แก่ ให้ถึงถิ่นที่ปลอดภัย ฉันใด พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงนำหมู่
ย่อมทรงนำหมู่ข้ามที่กันดาร ข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามออก ข้ามพ้นที่กันดารเพราะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๓๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ความเกิด ที่กันดารเพราะความแก่ ที่กันดารเพราะความเจ็บป่วย ที่กันดารเพราะ
ความตาย ที่กันดารเพราะความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความ
ทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ที่กันดารเพราะความกำหนัด ที่กันดารเพราะความขัดเคือง
ที่กันดารเพราะความลุ่มหลง ที่กันดารเพราะความถือตัว ที่กันดารเพราะทิฏฐิ
ที่กันดารเพราะกิเลส ที่กันดารเพราะทุจริต คือ ความรกชัฏเพราะความกำหนัด
ความรกชัฏเพราะความขัดเคือง ความรกชัฏเพราะความลุ่มหลง ความรกชัฏเพราะ
ความถือตัว ความรกชัฏเพราะทิฏฐิ ความรกชัฏเพราะกิเลส ความรกชัฏเพราะ
ทุจริต ได้แก่ ให้ถึงอมตนิพพานอันเป็นแดนเกษม ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น
พระศาสดาจึงชื่อว่าผู้ทรงนำหมู่ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้นำ เป็นผู้นำไปโดยวิเศษ เป็นผู้ตาม
แนะนำ ทรงให้รู้จักประโยชน์ ให้พินิจพิจารณา ให้เพ่งประโยชน์ ทรงทำให้เลื่อมใสได้
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่าผู้ทรงนำหมู่ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงทำมรรคที่ยัง
ไม่เกิดให้เกิดพร้อม ตรัสบอกมรรคที่ยังมิได้ตรัสบอก ทรงรู้จักมรรค ทรงรู้แจ้งมรรค
ทรงฉลาดในมรรค และสาวกของพระองค์ผู้ดำเนินไปตามมรรคอยู่ในบัดนี้ จะเพียบ
พร้อมด้วยศีลาทิคุณในภายหลัง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่าผู้ทรงนำหมู่
อย่างนี้บ้าง รวมความว่า พระศาสดาผู้มีพระสุรเสียงไพเราะอย่างนี้

ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระคณาจารย์
คำว่า ได้เสด็จจากภพดุสิตมาเป็นพระคณาจารย์ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค
ทรงจุติจากหมู่เทพชั้นดุสิต ทรงมีสติสัมปชัญญะ เสด็จลงสู่ครรภ์พระมารดา
รวมความว่า ได้เสด็จจากภพดุสิตมาเป็นพระคณาจารย์ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง เหล่าเทพตรัสเรียกว่า ชาวดุสิต เทพเหล่านั้น ยินดี พอใจ ชอบใจ
เบิกบานใจ เกิดปีติโสมนัสว่า พระศาสดาเสด็จจากเทวโลกชั้นดุสิตมาเป็นพระคณาจารย์
รวมความว่า ได้เสด็จจากภพดุสิตมาเป็นพระคณาจารย์ อย่างนี้บ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๓๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระอรหันต์ตรัสเรียกว่า ชาวดุสิต พระอรหันต์เหล่านั้น ยินดี พอใจ
ชอบใจ มีความดำริบริบูรณ์ว่า พระศาสดาเสด็จมาสู่ความเป็นพระคณาจารย์ของ
พระอรหันต์ทั้งหลาย รวมความว่า ได้เสด็จจากภพดุสิตมาเป็นพระคณาจารย์
อย่างนี้บ้าง
คำว่า พระคณาจารย์ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระคณาจารย์
ทรงเป็นอาจารย์แห่งหมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
ทรงเป็นศาสดาแห่งหมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
ทรงบริหารหมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
ทรงสั่งสอนหมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
ทรงตามสอนหมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
ทรงแกล้วกล้าเสด็จเข้าสู่หมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
หมู่คณะย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยโสตลงฟังพระองค์ ตั้งจิตเพื่อความรู้ จึงชื่อว่า
พระคณาจารย์
พระศาสดาทรงทำหมู่คณะให้ออกจากอกุศลแล้วให้ดำรงอยู่ในกุศล จึงชื่อว่า
พระคณาจารย์
ทรงเป็นพระคณาจารย์ของหมู่ภิกษุ... หมู่ภิกษุณี... หมู่อุบาสก... หมู่อุบาสิกา
... หมู่พระราชา... หมู่กษัตริย์... หมู่พราหมณ์... หมู่แพศย์... หมู่ศูทร... หมู่เทพ...
หมู่พรหม จึงชื่อว่าพระคณาจารย์ พระศาสดาทรงเป็นผู้นำหมู่ เป็นพระคณาจารย์
เป็นอาจารย์แห่งหมู่คณะ
คำว่า เสด็จมาแล้ว ได้แก่ ทรงเข้าไป ทรงเข้าไปถึง ทรงถึงพร้อมซึ่ง
สังกัสสนครแล้ว รวมความว่า เสด็จจากภพดุสิตมาเป็นพระคณาจารย์ ด้วยเหตุนั้น
พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า
พระศาสดา ผู้มีพระสุรเสียงไพเราะอย่างนี้
ได้เสด็จจากภพดุสิตมาเป็นพระคณาจารย์
ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็น
ทั้งไม่เคยได้ยินจากใคร ๆ มาเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๓๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
[๑๙๑] (พระสารีบุตรกล่าวว่า)
พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ
ย่อมปรากฏแก่ชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลก
ทรงกำจัดความมืดทั้งปวง
ทรงเป็นเอกบุรุษ บรรลุความยินดีแล้ว
คำว่า แก่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก อธิบายว่า แก่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก
มารโลก พรหมโลก แก่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ รวมความ
ว่า แก่ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก

ว่าด้วยพระพุทธเจ้าปรากฏแก่เทวดาและมนุษย์
คำว่า พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ ย่อมปรากฏ อธิบายว่า พวกเทวดามอง
เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้ประทับนั่งเหนือพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ โคนต้น
ปาริฉัตตกะ(ต้นทองหลาง) ในภพดาวดึงส์ ทรงแสดงธรรมอยู่อย่างใด พวกมุนษย์ก็
เห็นอย่างนั้น พวกมนุษย์เห็นอย่างใด พวกเทวดาก็เห็นอย่างนั้น ทรงปรากฏแก่พวก
เทพอย่างใด ก็ทรงปรากฏแก่พวกมนุษย์อย่างนั้น ทรงปรากฏแก่พวกมนุษย์อย่างใด
ก็ทรงปรากฏแก่พวกเทพอย่างนั้น รวมความว่า พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ
ย่อมปรากฏ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง สมณพราหมณ์ ผู้เจริญเหล่านี้ ยังมิได้ฝึกตน ก็ปรากฏโดยเพศ
แห่งบุคคลผู้ฝึกแล้ว ยังมิได้สงบ ก็ปรากฏโดยเพศแห่งบุคคลผู้สงบแล้ว ยังมิได้
เข้าไปสงบก็ปรากฏโดยเพศแห่งบุคคลผู้เข้าไปสงบแล้ว ยังมิได้ดับ ก็ปรากฏโดยเพศ
แห่งบุคคลผู้ดับแล้ว (สมจริงดังภาษิตว่า)
สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ไม่บริสุทธิ์ภายใน
งามแต่ภายนอก มีบริวารห้อมล้อม เที่ยวไปในโลก
เหมือนคนโทดินหุ้มทองคำ และเหรียญโลหะครึ่งมาสก
ชุบทองคำ ฉะนั้น๑
พระผู้มีพระภาคย่อมไม่ทรงปรากฏอย่างนี้บ้าง

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๑๒๒/๙๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๓๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
พระผู้มีพระภาคทรงฝึกพระองค์แล้ว ย่อมทรงปรากฏโดยเพศแห่งผู้ฝึกแล้ว
ทรงสงบแล้ว ย่อมทรงปรากฏโดยเพศแห่งผู้สงบแล้ว ทรงเข้าไปสงบแล้ว ย่อมทรง
ปรากฏโดยเพศแห่งผู้เข้าไปสงบแล้ว ทรงดับแล้ว ย่อมทรงปรากฏโดยเพศแห่งผู้ดับ
แล้ว โดยความจริงแท้ ถ่องแท้ แน่นอน ไม่วิปริต ตามสภาพ พระผู้มีพระภาค
ทั้งหลายผู้ทรงเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงมีอิริยาบถตามปกติ ทรงสมบูรณ์ด้วยปณิธิ
(การตั้งความปรารถนา) รวมความว่า พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุย่อมปรากฏ
อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคมีพระเกียรติอันบริสุทธิ์ ทรงเพียบพร้อมด้วยพระ
กิตติศัพท์และความสรรเสริญ ทรงเป็นเช่นนี้ เป็นเช่นนั้น และทรงเป็นยิ่งกว่านั้นในภพนาค
ภพครุฑ ภพยักษ์ ภพอสูร ภพคนธรรพ์ ภพท้าวมหาราช ภพพระอินทร์ ภพพระพรหม
และภพเทพ รวมความว่า พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุย่อมปรากฏ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเพียบพร้อมด้วยพละ๑ ๑๐ เวสารัชชญาณ๒ ๔
ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ ย่อมทรงปรากฏ คือ คนรู้จัก คนเข้าใจได้
ด้วยพระเตชธรรม พระพลธรรม พระคุณธรรม พระวิริยะ และพระปัญญา
(สมจริงดังภาษิตว่า)
สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล
เหมือนภูเขาหิมพานต์ ฉะนั้น
อสัตบุรุษทั้งหลาย ณ ที่นี้ ย่อมไม่ปรากฏ
เหมือนลูกศรที่ยิงไปเวลากลางคืน ฉะนั้น๓
รวมความว่า พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุย่อมปรากฏ อย่างนี้บ้าง

เชิงอรรถ :
๑ พละ ๑๐ หมายถึงตถาคตพลญาณ ดูเชิงอรรถข้อ ๕๐/๑๗๕
๒ ดูเชิงอรรถข้อ ๕๐/๑๗๕
๓ ขุ.ธ. ๒๕/๓๐๔/๖๙

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๔๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ว่าด้วยพระจักษุ ๕ ชนิด
คำว่า ผู้มีพระจักษุ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุ ด้วยพระจักษุ
๕ ชนิด คือ
๑. มีพระจักษุด้วยมังสจักขุบ้าง ๒. มีพระจักษุด้วยทิพพจักขุบ้าง
๓. มีพระจักษุด้วยปัญญาจักขุบ้าง ๔. มีพระจักษุด้วยพุทธจักขุบ้าง
๕. มีพระจักษุด้วยสมันตจักขุบ้าง
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยมังสจักขุ เป็นอย่างไร
คือ ในพระมังสจักขุของพระผู้มีพระภาค มีสีอยู่ ๕ สี คือ (๑) สีเขียว
(๒) สีเหลือง (๓) สีแดง (๔) สีดำ (๕) สีขาว ณ ที่ที่มีขนพระเนตรขึ้น มีสีเขียว
เขียวสนิท น่าชม น่าดู ดุจดอกผักตบ ต่อจากนั้น ก็เป็นสีเหลือง เหลืองสนิท
สีเหมือนทองคำ น่าชม น่าดู ดุจดอกกรรณิการ์ เบ้าพระเนตรทั้งสองข้างของพระ
ผู้มีพระภาค มีสีแดง แดงสนิท น่าชม น่าดู ดุจสีปีกแมลงทับ กลางดวงพระเนตร
สีดำ ดำเข้ม ไม่เศร้าหมอง สนิท น่าชม น่าดู ดุจสีสมอดำ ต่อจากนั้น เป็นสีขาว
ขาวสนิท เปล่งปลั่ง ขาวนวล น่าชม น่าดู ดุจสีดาวประกายพฤกษ์ พระผู้มี-
พระภาคมีพระมังสจักขุนั้นอยู่โดยปกติ เนื่องในพระอัตภาพ เกิดด้วยสุจริตกรรมที่
ทรงสั่งสมมาในภพก่อน ทรงมองเห็นตลอด ๑ โยชน์โดยรอบ ทั้งกลางวันและ
กลางคืน แม้ในเวลาที่มีความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ คือ (๑) ดวงอาทิตย์
ตกไปแล้ว (๒) เป็นวันอุโบสถข้างแรม (๓) ป่าชัฏรกทึบ (๔) มีเมฆก้อนใหญ่ผุดขึ้นมา
ในความมืดที่ประกอบด้วยองค์ ๔ อย่างนี้ พระองค์ก็ทรงมองเห็นได้ตลอด ๑ โยชน์
โดยรอบ ไม่มีหลุม บานประตู กำแพง ภูเขา กอไม้ หรือเถาวัลย์มาปิดกั้นการ
เห็นรูปทั้งหลายได้ หากบุคคลเอางาเมล็ดเดียวทำเครื่องหมายแล้วใส่ลงในเกวียน
บรรทุกงา พระผู้มีพระภาคก็ทรงสามารถหยิบเอางาเมล็ดนั้นขึ้นมาได้ พระ
มังสจักขุตามปกติของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามี
พระจักษุด้วยมังสจักขุ เป็นอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๔๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยทิพพจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงเห็นหมู่สัตว์ ซึ่งกำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต
ผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม ไปดี ตกยาก ด้วยทิพพจักขุอันหมดจดล่วงจักษุมนุษย์
ทรงทราบหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า “สัตว์เหล่านี้แหละหนอ ประกอบด้วย
กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำ
ด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ หลังจากตายแล้ว สัตว์เหล่านั้นก็เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต
นรก แต่สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ
เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ หลังจากตายแล้วสัตว์เหล่า
นั้นก็เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์” พระผู้มีพระภาคทรงเห็นหมู่สัตว์ ซึ่งกำลังจุติ กำลัง
อุบัติ เลว ประณีต ผิวพรรณดี ผิวพรรณทราม ไปดี ตกยาก ด้วยทิพพจักขุอันหมดจด
ล่วงจักษุมนุษย์ ทรงทราบหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม และพระผู้มีพระภาคเมื่อทรง
ประสงค์ พึงทรงเห็นได้แม้ ๑ โลกธาตุ... แม้ ๒ โลกธาตุ... แม้ ๓ โลกธาตุ... แม้ ๔
โลกธาตุ... แม้ ๕ โลกธาตุ... แม้ ๑๐ โลกธาตุ... แม้ ๒๐ โลกธาตุ... แม้ ๓๐
โลกธาตุ... แม้ ๔๐ โลกธาตุ... แม้ ๕๐ โลกธาตุ... แม้ ๑๐๐ โลกธาตุ... แม้โลกธาตุ
ขนาดเล็กประกอบด้วย ๑,๐๐๐ จักรวาล... แม้โลกธาตุขนาดกลางประกอบด้วย
๒,๐๐๐ จักรวาล... แม้โลกธาตุขนาดใหญ่ประกอบด้วย ๓,๐๐๐ จักรวาล... แม้โลก
ธาตุที่ประกอบด้วยหลายพันจักรวาล พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์เพียงใดก็พึงทรง
เห็นได้เพียงนั้น ทิพพจักขุของพระผู้มีพระภาคบริสุทธิ์อย่างนี้ พระผู้มีพระภาค
ชื่อว่ามีพระจักษุด้วยทิพพจักขุ เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยปัญญาจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญามาก มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระ
ปัญญาอาจหาญ มีพระปัญญาฉับไว มีพระปัญญาเฉียบคม มีพระปัญญาเพิกถอน
กิเลสได้ ทรงฉลาดในประเภทแห่งปัญญา มีพระญาณแตกฉาน ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา
ทรงบรรลุเวสารัชชญาณ ๔ ทรงเป็นผู้ทรงทสพลญาณ ทรงเป็นบุรุษองอาจ ทรงเป็น
บุรุษดุจราชสีห์ ทรงเป็นบุรุษดุจนาค ทรงเป็นบุรุษอาชาไนย ทรงเป็นบุรุษผู้เอาธุระ
มีพระญาณหาที่สุดมิได้ มีพระเดชหาที่สุดมิได้ มีพระยศหาที่สุดมิได้ ทรงมั่งคั่ง
มีทรัพย์มาก ทรงมีปัญญาเป็นทรัพย์ ทรงเป็นผู้นำ เป็นผู้นำไปโดยวิเศษ เป็นผู้ตาม


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๔๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
แนะนำ ทรงให้รู้จักประโยชน์ ให้พินิจพิจารณา ทรงเพ่งประโยชน์ ทรงทำให้เลื่อมใสได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ทรงทำมรรคที่ยังไม่
เกิดพร้อมให้เกิดพร้อม ตรัสบอกมรรคที่ยังมิได้ตรัสบอก ทรงรู้จักมรรค ทรงรู้แจ้ง
มรรค ทรงฉลาดในมรรค และสาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ดำเนินไปตาม
มรรคอยู่ในบัดนี้ จะเพียบพร้อมด้วยศีลาทิคุณในภายหลัง
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงรู้ธรรมที่ควรรู้ ทรงเห็นธรรมที่ควรเห็น
มีพระจักษุ มีพระธรรม มีพระญาณ เป็นดุจพระพรหม ตรัส บอก นำความหมาย
ออกมา ประทานอมตธรรม เป็นพระธรรมสามี เป็นพระตถาคต ไม่มีสิ่งที่พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นยังไม่ทรงทราบ ไม่ทรงเห็น ไม่ทรงรู้แจ้ง ไม่ทรงทำให้แจ้ง
มิได้ทรงถูกต้องด้วยปัญญา ธรรมทั้งปวง รวมทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบัน ย่อมมา
สู่คลองเฉพาะพระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า โดยอาการทั้งปวง ธรรมดา
ประโยชน์ที่ควรแนะนำอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นธรรมที่ควรรู้มีอยู่ คือ ประโยชน์ตน
ประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ประโยชน์ในภพปัจจุบัน หรือประโยชน์ใน
ภพหน้า ประโยชน์ตื้นหรือประโยชน์ลึก ประโยชน์ลี้ลับหรือประโยชน์ปิดบัง
ประโยชน์ที่ควรแนะนำหรือประโยชน์ที่แนะนำแล้ว ประโยชน์ที่ไม่มีโทษหรือประโยชน์
ที่ไม่มีกิเลส ประโยชน์ที่ผ่องแผ้วหรือประโยชน์อย่างยิ่ง ประโยชน์ทั้งหมดนั้นย่อมเป็น
ไปภายในพระพุทธญาณ
พระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ไม่ติดขัดในอดีต อนาคต ปัจจุบัน
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทุกอย่าง ย่อมเป็นไปตามพระญาณของพระผู้มีพระ
ภาคพุทธเจ้า บทธรรมที่ควรแนะนำมีอยู่เพียงใด พระญาณก็มีเพียงนั้น พระญาณ
มีอยู่เพียงใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็มีเพียงนั้น พระญาณย่อมมีบทธรรมที่ควร
แนะนำเป็นส่วนสุดรอบ บทธรรมที่ควรแนะนำก็ย่อมมีพระญาณเป็นส่วนสุดรอบ
พระญาณย่อมไม่เป็นไปเกินบทธรรมที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มี
อยู่ไม่เกินกว่าพระญาณ ธรรมเหล่านั้น ตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน เหมือน
ชั้นแห่งผอบ ๒ ชั้น ทับกันสนิทพอดี ชั้นผอบด้านล่างก็ไม่เกินด้านบน ชั้นผอบ
ด้านบนก็ไม่เกินด้านล่าง ชั้นผอบทั้ง ๒ ย่อมวางประกบกันที่ส่วนสุดโดยรอบของกัน
และกันฉันใด บทธรรมที่ควรแนะนำ และพระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าก็
ตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกันฉันนั้นเหมือนกัน บทธรรมที่ควรแนะนำมีอยู่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๔๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
เพียงใด พระญาณก็มีอยู่เพียงนั้น พระญาณมีอยู่เพียงใด บทธรรมที่ควรแนะนำก็
มีเพียงนั้น พระญาณย่อมมีบทธรรมที่ควรแนะนำเป็นส่วนสุดรอบ บทธรรมที่ควร
แนะนำก็ย่อมมีพระญาณเป็นส่วนสุดรอบ พระญาณย่อมไม่เป็นไปเกินกว่าบทธรรม
ที่ควรแนะนำ ทางแห่งบทธรรมที่ควรแนะนำก็มีอยู่ไม่เกินกว่าพระญาณ ธรรมเหล่า
นั้น ย่อมตั้งอยู่ในส่วนสุดรอบของกันและกัน พระญาณของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ย่อมเป็นไปในธรรมทั้งปวง
ธรรมทั้งปวงนับเนื่องด้วยความนึก นับเนื่องด้วยความหวัง นับเนื่องด้วย
มนสิการ นับเนื่องด้วยจิตตุปบาทของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า พระญาณของพระ
ผู้มีพระภาคพุทธเจ้าย่อมเป็นไปในสัตว์ทั้งปวง พระผู้มีพระภาคทรงทราบอัธยาศัย
อนุสัย จริต อธิมุตติ ของเหล่าสัตว์ทุกจำพวก ทรงรู้จักเหล่าสัตว์ผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อย
ในปัญญาจักขุ มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักขุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน
มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ยาก เป็นภัพพสัตว์
เป็นอภัพพสัตว์ โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณ-
พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปภายในพระพุทธญาณ
ปลาและเต่าชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งปลาติมิ ปลาติมิงคละและปลาติมิติ-
มิงคละ๑ ย่อมเป็นไปอยู่ภายในมหาสมุทร ฉันใด โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ย่อมเป็นไปภายใน
พระญาณของพระพุทธเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน นกชนิดใดชนิดหนึ่ง รวมทั้งครุฑนามว่า
เวนไตย ย่อมบินไปในห้วงแห่งอากาศ ฉันใด พระพุทธสาวกทั้งหลาย ผู้เสมอกับ
พระสารีบุตรด้วยปัญญา ย่อมเป็นไปในส่วนแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน
พระพุทธญาณย่อมแผ่ครอบคลุมปัญญาของเทวดาและมนุษย์อยู่
เหล่าบัณฑิตผู้เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นคหบดี เป็นสมณะ ผู้มีปัญญา
ละเอียด รู้วาทะของผู้อื่น เหมือนนายขมังธนูสามารถยิงเนื้อทรายได้ ดุจจะเที่ยว
ทำลายทิฏฐิของผู้อื่นด้วยปัญญาตน บัณฑิตเหล่านั้นพากันปรุงแต่งปัญหา ย่อม
เข้าไปเฝ้าพระตถาคต ทูลถามปัญหาที่ลี้ลับและปิดบัง ปัญหาเหล่านั้น ที่พระผู้มี-
พระภาคทรงซักไซ้และตรัสแก้แล้ว เป็นปัญหามีเหตุให้ทรงแสดง บัณฑิตเหล่านั้นถูก

เชิงอรรถ :
๑ ดูเชิงอรรถข้อ ๖๙/๒๑๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๔๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ดึงดูดด้วยการวิสัชนาปัญหา จึงเลื่อมใสพระผู้มีพระภาค โดยที่แท้พระผู้มีพระภาค
ย่อมทรงรุ่งเรืองยิ่งด้วยพระปัญญาในหมู่คนเหล่านั้น พระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามี
พระจักษุด้วยปัญญาจักขุ เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยพุทธจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ได้ทรงเห็นสัตว์
ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักขุ ผู้มีกิเลสดุจธุลี๑มากในปัญญาจักขุ มี
อินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้ที่
แนะนำให้รู้ได้ยาก บางพวกเป็นผู้เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี บางพวกเป็นผู้ไม่
เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี เหมือนในกอบัวเขียว ในกอบัวแดง หรือในกอบัวขาว
ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอกบัวขาว บางเหล่าเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ขึ้นตามน้ำ
จมอยู่ในน้ำและน้ำหล่อเลี้ยงไว้ ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอกบัวขาว บาง
เหล่าเกิดในน้ำ เจริญในน้ำตั้งอยู่เสมอผิวน้ำ ดอกบัวเขียว ดอกบัวแดง หรือดอกบัวขาว
บางเหล่าเกิดในน้ำ เจริญในน้ำ โผล่ขึ้นพ้นระดับน้ำ น้ำไม่ติดเปื้อนอยู่เลย ฉันใด
พระผู้มีพระภาค เมื่อทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มี
กิเลสดุจธุลีน้อยในปัญญาจักขุ ผู้มีกิเลสดุจธุลีมากในปัญญาจักขุ มีอินทรีย์แก่กล้า
มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม ผู้ที่แนะนำให้รู้ได้ง่าย ผู้ที่แนะนำให้รู้
ได้ยาก บางพวกเป็นผู้เห็นโทษและภัยในปรโลกอยู่ก็มี บางพวกเป็นผู้ที่ไม่เห็นโทษ
และภัยในปรโลกอยู่ก็มี ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า “บุคคลนี้
มีราคจริต บุคคลนี้มีโทสจริต บุคคลนี้มีโมหจริต บุคคลนี้มีวิตกจริต บุคคลนี้มี
สัทธาจริต บุคคลนี้มีญาณจริต” พระผู้มีพระภาคย่อมตรัสอสุภกถาแก่บุคคลราคจริต
ตรัสการเจริญเมตตาแก่บุคคลโทสจริต ย่อมทรงแนะนำบุคคลโมหจริต ให้ดำรงอยู่
ในการเล่าเรียน การไต่ถาม การฟังธรรมตามกาล การสนทนาธรรมตามกาล
การอยู่ร่วมกับครู ย่อมตรัสอานาปานัสสติแก่บุคคลวิตกจริต ตรัสบอกนิมิตที่น่า
เลื่อมใส ความตรัสรู้ชอบของพระพุทธเจ้า ความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม การ

เชิงอรรถ :
๑ กิเลสดุจธุลี หมายถึงธุลี คือ ราคะ โทสะ และโมหะ (องฺ.ติก.อ. ๒/๕๘/๑๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๔๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ปฏิบัติชอบของพระสงฆ์ และศีลของตนที่น่าเลื่อมใสแก่บุคคลสัทธาจริต ย่อมตรัส
ธรรมอันเป็นนิมิตแห่งวิปัสสนา มีอาการไม่เที่ยง มีอาการเป็นทุกข์ มีอาการเป็น
อนัตตาแก่บุคคลญาณจริต (สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญาดี มีสมันตจักขุ
บุรุษผู้ยืนอยู่บนยอดภูเขาศิลาล้วน
พึงเห็นหมู่ชนโดยรอบ แม้ฉันใด
พระองค์ผู้หมดความโศกแล้ว
โปรดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม
จักได้เห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก
และถูกชาติชราครอบงำได้ชัดเจน ฉันนั้น๑
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามีพระจักษุด้วยพุทธจักขุ เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคมีพระจักษุด้วยสมันตจักขุ เป็นอย่างไร
คือ พระสัพพัญญุตญาณ ตรัสเรียกว่า สมันตจักขุ พระผู้มีพระภาคทรงประกอบ
ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม เพียบพร้อมแล้วด้วย
พระสัพพัญญุตญาณ(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
สิ่งไร ๆ ในไตรโลกธาตุนี้
พระปัญญาจักขุของพระตถาคตนั้น ไม่เห็น ไม่มีเลย
อนึ่ง ธรรมชาติอะไรๆ ที่ควรรู้
พระพุทธญาณไม่รู้แจ้งก็ไม่มี
ธรรมชาติที่ควรแนะนำใดมีอยู่
พระตถาคตได้ทรงทราบธรรมชาติที่ควรแนะนำนั้นทั้งหมด
เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงชื่อว่าผู้มีสมันตจักขุ๒

เชิงอรรถ :
๑ วิ.ม. ๔/๘/๙, ที.ม. ๑๐/๗๐/๓๔, ม.มู. ๑๒/๒๘๒/๒๔๓, ม.ม. ๑๓/๓๓๘/๓๒๐, สํ.ส. ๑๕/๑๗๒/๑๖๕-๑๖๖,
ขุ.จู. ๓๐/๘๕/๑๘๒-๑๘๖
๒ ขุ.จู. ๓๐/๘๕/๑๙๖, ขุ.ป. ๓๑/๑๒๑/๑๓๖-๑๓๗

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๔๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
พระผู้มีพระภาคชื่อว่ามีพระจักษุด้วยสมันตจักขุ เป็นอย่างนี้ รวมความว่า
พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ ย่อมปรากฏ
คำว่า ทรงกำจัดความมืดทั้งปวง อธิบายว่า ทรงบรรเทา ทำให้เบาบาง ลด
ละ กำจัด คือ ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความมืดเพราะราคะ ความมืด
เพราะโทสะ ความมืดเพราะโมหะ ความมืดเพราะมานะ ความมืดเพราะทิฏฐิ ความ
มืดเพราะกิเลส ความมืดเพราะทุจริตทั้งปวง ซึ่งทำให้เป็นคนตาบอด ทำให้ไม่มีจักษุ
ทำให้ไม่มีญาณ อันดับปัญญา เป็นไปในฝ่ายแห่งความลำบาก ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
รวมความว่า ทรงกำจัดความมืดทั้งปวง

ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงเป็นเอกบุรุษ
คำว่า ทรงเป็นเอกบุรุษ บรรลุความยินดีแล้ว อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะส่วนแห่งการบรรพชา
ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่า ไม่มีเพื่อน
ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรษ เพราะอธิบายว่า ทรงละตัณหาได้
ทรงปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรษ
ทรงปราศจากโทสะโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ทรงปราศจากโมหะโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ทรงปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
เสด็จถึงทางสายเอกแล้ว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะส่วนแห่งการบรรพชา เป็น
อย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาค ยังทรงหนุ่มแน่น มีพระเกศาดำสนิทดี เพียบพร้อมด้วย
ความหนุ่มฉกรรจ์ ในปฐมวัย เมื่อพระชนกและพระชนนี มีน้ำพระเนตรนอง
พระพักตร์ กรรแสงร่ำไห้ ไม่ปรารถนา(ให้ทรงผนวช) ทรงละหมู่พระญาติ ทรงตัด
ความกังวลด้วยพระยศ ความกังวลด้วยพระโอรสและพระมเหสี ความกังวลด้วย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๔๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
พระญาติ ความกังวลด้วยพระสหายและอำมาตย์(และ)ความกังวลด้วยการสั่งสม
ทุกอย่าง ทรงปลงพระเกศาและพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวะ เสด็จออกผนวชจาก
พระราชวังเป็นบรรพชิต ทรงเข้าถึงความเป็นผู้ไม่มีกังวล เสด็จเที่ยวไป ประทับอยู่
ทรงเปลี่ยนอิริยาบถ ทรงเป็นไป ทรงรักษาพระชนมชีพ ทรงดำเนินไป ทรงยังชีวิตให้
ดำเนินไป ตามลำพังพระองค์เดียว พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะ
ส่วนแห่งการบรรพชา เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่า ไม่มีเพื่อน
เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงผนวชแล้วอย่างนี้ ทรงใช้สอยเสนาสนะที่
เป็นป่าทึบและป่าละเมาะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการ
สัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น
ตามลำพังพระองค์เดียว พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเสด็จไปพระองค์เดียว ประทับ
ยืนพระองค์เดียว ประทับนั่งพระองค์เดียว บรรทมพระองค์เดียว เสด็จเข้าสู่หมู่บ้าน
เพื่อบิณฑบาตพระองค์เดียว เสด็จกลับพระองค์เดียว ประทับนั่งในที่ลับพระองค์
เดียว ตั้งพระทัยจงกรมพระองค์เดียว เสด็จเที่ยวไป ประทับอยู่ ทรงเปลี่ยนอิริยาบถ
ทรงเป็นไป ทรงรักษาพระชนมชีพ ทรงดำเนินไป ทรงยังชีวิตให้ดำเนินไปตามลำพัง
พระองค์เดียว พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่า ไม่มีเพื่อน
เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่า ทรงละตัณหาได้
เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นผู้ทรงเป็นเอกบุรุษ ไม่มีเพื่อนที่สองอย่างนี้
ไม่ทรงประมาท ทรงมีความเพียร ตั้งพระทัยเด็ดเดี่ยวอยู่ ทรงตั้งความเพียรครั้งใหญ่
ณ โคนต้นโพธิ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงกำจัดมารพร้อมทั้งเสนาผู้ชั่วร้าย กีดกัน
ไม่ให้มหาชนหลุดพ้น เป็นเผ่าพันธุ์ผู้ประมาท ทรงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้
ถึงความไม่มีอีกซึ่งตัณหาที่เป็นดุจตาข่าย ซ่านไปเกาะเกี่ยวอารมณ์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๔๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
บุคคลมีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนาน
ย่อมไม่ล่วงพ้นสังสารวัฏฏ์ที่มีสภาวะอย่างนี้ และสภาวะอย่างอื่น
ภิกษุรู้โทษนี้ รู้ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดแห่งทุกข์
พึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น มีสติสัมปชัญญะอยู่๑
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เพราะอธิบายว่า ทรงละตัณหาได้ เป็น
อย่างนี้
พระผู้มีพระภาคทรงปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละราคะได้แล้ว
จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ทรงปราศจากโทสะโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละโทสะได้แล้ว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ทรงปราศจากโมหะโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละโมหะได้แล้ว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
ทรงปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ละเหล่ากิเลสได้แล้ว จึงชื่อว่าทรง
เป็นเอกบุรุษ เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงทางสายเอกแล้ว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ
เป็นอย่างไร
คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕
โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ตรัสเรียกว่า ทางสายเอก
(สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)
พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงเห็นธรรมอันเป็นส่วนที่สุดสิ้นแห่งชาติ
ทรงอนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูล
ทรงรู้จักมรรค อันเป็นทางสายเอก
ซึ่งเหล่าบัณฑิตได้ข้ามมาก่อนแล้ว
จักข้าม และกำลังข้ามโอฆะได้ด้วยมรรคนี้๒
พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงทางสายเอกแล้ว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เป็นอย่างนี้

เชิงอรรถ :
๑ องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๙/๑๑: ขุ.อิติ. ๒๕/๑๐๕/๓๒๔
๒ สํ.ม. ๑๙/๓๘๔/๑๔๖, ๔๐๙/๑๖๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๔๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
พระผู้มีพระภาคตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณลำพังพระองค์เดียว จึง
ชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เป็นอย่างไร
คือ ญาณในมรรคทั้ง ๔ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
ปัญญาเครื่องพิจารณา ปัญญาเครื่องเห็นแจ้ง สัมมาทิฏฐิ ตรัสเรียกว่า โพธิ
ด้วยโพธิญาณนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง... สังขาร
ทั้งปวงเป็นทุกข์... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”...
ตรัสรู้ว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี”...
ตรัสรู้ว่า “เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมี... เพราะอวิชชาดับสังขาร
จึงดับ... เพราะชาติดับ ชราและมรณะจึงดับ”...
ตรัสรู้ว่า “นี้ทุกข์... นี้ทุกขสมุทัย... นี้ทุกขนิโรธ... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”...
ตรัสรู้ว่า “เหล่านี้อาสวะ... นี้อาสวสมุทัย... นี้อาสวนิโรธ... นี้อาสวนิโรธ-
คามินีปฏิปทา”...
ตรัสรู้ว่า “เหล่านี้ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง... เหล่านี้ธรรมที่ควรกำหนดรู้... เหล่านี้ธรรม
ที่ควรละ... เหล่านี้ธรรมที่ควรเจริญ... เหล่านี้ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง”...
ตรัสรู้เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดทิ้งผัสสายตนะ ๖ ตรัสรู้เหตุเกิด
เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดทิ้งอุปาทานขันธ์ ๕ ตรัสรู้เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ
และการสลัดทิ้งมหาภูตรูป ๔”
ตรัสรู้ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความ
ดับไปเป็นธรรมดา”
อีกนัยหนึ่ง ธรรมชาติอย่างใดก็ตามที่ควรตรัสรู้ ควรตรัสรู้ตามลำดับ ควร
ตรัสรู้เฉพาะ ควรตรัสรู้ด้วยดี ควรบรรลุ ควรถูกต้อง ควรทำให้แจ้ง พระผู้มีพระภาค
ก็ตรัสรู้ ตรัสรู้ตามลำดับ ตรัสรู้เฉพาะ ตรัสรู้ด้วยดี ตรัสรู้โดยชอบ ทรงบรรลุ ทรง
ถูกต้อง ทรงกระทำให้แจ้งธรรมชาตินั้นทั้งหมด ด้วยโพธิญาณนั้น พระผู้มีพระภาค
ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ลำพังพระองค์เดียว จึงชื่อว่าทรงเป็นเอกบุรุษ เป็น
อย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๕๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ความยินดี ในคำว่า บรรลุความยินดีแล้ว ได้แก่ บรรลุ คือ บรรลุ
พร้อม ถึง ถูกต้อง ทำให้แจ้งความยินดีในเนกขัมมะ ความยินดีในวิเวก ความยินดี
ในอุปสมะ (สภาวะอันเป็นที่สงบ คือนิพพาน) ความยินดีในสัมโพธิญาณแล้ว รวม
ความว่า ทรงเป็นเอกบุรุษ บรรลุความยินดีแล้ว ด้วยเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึง
กล่าวว่า
พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ
ย่อมทรงปรากฏแก่ชาวโลก พร้อมทั้งเทวโลก
ทรงกำจัดความมืดทั้งปวง
ทรงเป็นเอกบุรุษ บรรลุความยินดีแล้ว
[๑๙๒] (พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า)
ข้าพระองค์มีความต้องการ(ถาม)ปัญหา
จึงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ไม่ทรงถูกกิเลสอาศัย เป็นผู้มั่นคง ไม่หลอกลวง
เสด็จมาเป็นพระคณาจารย์ของคนเป็นอันมาก
ผู้ยังผูกพันอยู่ในศาสนานี้

ว่าด้วยพระนามของพระพุทธเจ้า
คำว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไม่ทรงถูกกิเลสอาศัย เป็นผู้มั่นคง
อธิบายว่า
คำว่า พระพุทธเจ้า ได้แก่ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นพระสยัมภู ไม่มีครูอาจารย์
ได้ตรัสรู้สัจจะในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน ด้วยพระองค์เอง ทรงบรรลุความเป็น
พระสัพพัญญูในสัจจะนั้น และความเป็นผู้ทรงชำนาญในพลญาณทั้งหลาย
คำว่า พระพุทธเจ้า อธิบายว่า ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะมีความหมายว่า
อย่างไร
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะตรัสรู้สัจจะทั้งหลายแล้ว
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงทำหมู่สัตว์ให้ตรัสรู้
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นพระสัพพัญญู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๕๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะเป็นผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวง
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะไม่มีคนอื่นแนะนำ
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้เบิกบาน
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นพระขีณาสพ
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้ปราศจากอุปกิเลส
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะปราศจากราคะโดยสิ้นเชิง
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะปราศจากโทสะโดยสิ้นเชิง
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะปราศจากโมหะโดยสิ้นเชิง
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะเสด็จถึงทางสายเอก
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณลำพังพระองค์เดียว
ชื่อว่าพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้ขจัดความไม่รู้ได้แล้ว เพราะทรงเป็นผู้ได้
เฉพาะความรู้
คำว่า พระพุทธเจ้า นี้ มิใช่พระชนนีทรงตั้ง มิใช่พระชนกทรงตั้ง มิใช่พระภาดา
ทรงตั้ง มิใช่พระภคินีทรงตั้ง มิใช่มิตรและอำมาตย์ตั้ง มิใช่พระญาติและผู้ร่วมสาย-
โลหิตทรงตั้ง มิใช่สมณพราหมณ์ตั้ง มิใช่เทวดาตั้ง
คำว่า พระพุทธเจ้า นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม เป็นสัจฉิกาบัญญัติของพระผู้มี
พระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย เกิดขึ้นพร้อมกับการทรงได้เฉพาะพระสัพพัญญุตญาณที่
โคนต้นโพธิ์ รวมความว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำว่า ผู้ไม่ทรงถูกกิเลสอาศัย ได้แก่ ความอาศัย ๒ อย่าง คือ (๑) ความ
อาศัยด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ

ว่าด้วยตัณหาทิฏฐิ
ความอาศัยด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร
คือ วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วน เป็นแผนก กำหนดถือเอา ยึดถือ
ว่าเป็นของเรา ด้วยส่วนแห่งตัณหามีประมาณเท่าใด ย่อมยึดถือว่าเป็นของเราซึ่ง
วัตถุประมาณเท่านี้ว่า นี้ของเรา นั่นของเรา เท่านี้ของเรา ของเรามีปริมาณเท่านี้
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสหญิงชาย แพะ แกะ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๕๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงิน ทอง บ้าน นิคม ราชธานี แคว้น ชนบท
กองพลรบ คลังหลวง แม้มหาปฐพีทั้งสิ้นย่อมยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา
ซึ่งจำแนกได้ ๑๐๘ นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจตัณหา
ความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ สักกายทิกฐิมีวัตถุ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐
ทิฏฐิ การตกอยู่ในทิฏฐิ ความรกชัฏคือทิฏฐิ ความกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนาม
คือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องผูกพันคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น ความ
ยึดมั่น ความยึดมั่นถือมั่น ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเดียรถีย์ ความถือขัดแย้ง
ความถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงว่า
เป็นจริงเห็นปานนี้จนถึงทิฏฐิ ๖๒ นี้ชื่อว่าความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละความอาศัยด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้ง
ความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ทรงละความอาศัยด้วยอำนาจตัณหา
สลัดทิ้งความอาศัยด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว พระผู้มีพระภาค จึงชื่อว่าไม่ทรงอาศัย คือ
ไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ไม่ติดใจแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุด
พ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้วกับตา... หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ... รูป... เสียง... กลิ่น...
รส... โผฏฐัพพะ... ตระกูล... หมู่คณะ... อาวาส... ลาภ... ยศ... สรรเสริญ... สุข... จีวร...
บิณฑบาต... เสนาสนะ... คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร... กามธาตุ... รูปธาตุ... อรูปธาตุ...
กามภพ... รูปภพ... อรูปภพ... สัญญาภพ... อสัญญาภพ... เนวสัญญานาสัญญาภพ...
เอกโวการภพ... จตุโวการภพ... ปัญจโวการภพ... อดีต... อนาคต... ปัจจุบัน...
รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้ง มีใจ
เป็นอิสระ(จากความอาศัย)อยู่ รวมความว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไม่ทรงถูก
กิเลสอาศัย

ว่าด้วยผู้มั่นคงด้วยอาการ ๕ อย่าง
คำว่า เป็นผู้มั่นคง อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มั่นคงด้วยอาการ ๕ อย่าง
คือ
๑. เป็นผู้มั่นคงในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
๒. เป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้สละแล้ว


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๕๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
๓. เป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้ข้ามได้แล้ว
๔. เป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้พ้นแล้ว
๕. เป็นผู้มั่นคง เพราะทรงแสดงออกซึ่งธรรมนั้น ๆ
พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มั่นคงในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มั่นคงทั้งในลาภและความเสื่อมลาภ เป็นผู้มั่นคง
ทั้งในยศและความเสื่อมยศ เป็นผู้มั่นคงทั้งในสรรเสริญและนินทา เป็นผู้มั่นคงทั้งใน
สุขและทุกข์ คนบางพวกเอาของหอมชะโลมพระพาหาข้างหนึ่ง อีกพวกหนึ่งใช้มีด
ถากพระพาหาอีกข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคก็ไม่ทรงมีความยินดีในการชะโลมด้วย
ของหอมที่พระพาหาข้างโน้น และไม่ทรงมีความยินร้ายในการถากพระพาหาข้างโน้น
พระผู้มีพระภาคทรงละความยินดีและความยินร้ายได้แล้ว ทรงล่วงพ้นความดีใจและ
ความเสียใจแล้ว ทรงก้าวล่วงความยินดีและความยินร้ายได้แล้ว พระผู้มีพระภาค
ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้สละแล้ว เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงสละ คลาย ปล่อย ละ สลัดทิ้งราคะได้แล้ว ... โทสะ ...
โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ .. ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ...
สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลส
ทุกชนิด... ทุจริตทุกทาง... ความกระวนกระวายทุกอย่าง... ความเร่าร้อนทุกสถาน...
ความเดือดร้อนทุกประการ... พระผู้มีพระภาคทรงสละ คลาย ปล่อย ละ สลัดทิ้ง
อกุสลาภิสังขารทุกประเภทได้แล้ว พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้
สละแล้ว เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้ข้ามได้แล้ว เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาค ทรงข้าม คือ ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้น
กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ ทางแห่งสงสารทั้งปวงได้แล้ว พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น ทรงอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ทรงประพฤติจรณธรรมแล้ว ทรงผ่าน
ทางไกลแล้ว ทรงถึงทิศ(นิพพาน)แล้ว ทรงถึงจุดจบ(นิพพาน)แล้ว ทรงรักษา
พรหมจรรย์แล้ว ทรงบรรลุทิฏฐิสูงสุดแล้ว ทรงเจริญมรรคแล้ว ทรงละกิเลสได้แล้ว
ทรงรู้แจ้งธรรมที่ไม่กำเริบแล้ว ทรงทำนิโรธให้แจ้งแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๕๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงกำหนดรู้ทุกข์แล้ว ทรงละสมุทัยได้แล้ว
ทรงเจริญมรรคได้แล้ว ทรงทำนิโรธให้แจ้งได้แล้ว ทรงรู้ยิ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่งแล้ว
ทรงกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ได้แล้ว ทรงละธรรมที่ควรละได้แล้ว ทรงเจริญ
ธรรมที่ควรเจริญได้แล้ว ทรงทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้งได้แล้ว
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงถอนลิ่มสลักคืออวิชชาได้แล้ว ทรงถมคูคือ
กรรมได้แล้ว ทรงถอนเสาระเนียดคือตัณหาได้แล้ว ไม่มีบานประตูคือสังโยชน์ ทรง
ไกลจากข้าศึกคือกิเลส ทรงปลดธงคือมานะลงเสียแล้ว ทรงปลงภาระได้แล้ว มิได้
ทรงเกี่ยวข้องกับโยคกิเลสแล้ว ทรงละองค์ ๕ (นิวรณ์)ได้แล้ว ทรงประกอบด้วยองค์ ๖
ทรงมีธรรมเครื่องรักษาอย่างเอก(คือสติ) มีอปัสเสนธรรม ๔ อย่าง มีปัจเจกสัจจะ
อันบรรเทาได้แล้ว ทรงมีการแสวงหาอันสละได้โดยชอบไม่บกพร่อง ทรงมีพระดำริ
ไม่ขุ่นมัว ทรงมีกายสังขารอันระงับได้แล้ว ทรงมีจิตหลุดพ้นดีแล้ว ทรงมีปัญญาหลุด
พ้นได้ดี ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ทรงอยู่จบพรหมจรรย์ ทรงเป็นอุดมบุรุษ ทรงเป็น
บรมบุรุษ ทรงถึงการบรรลุปรมัตถธรรมแล้ว
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น มิได้ทรงก่อผลกรรม มิได้ทรงกำจัด ทรงกำจัดได้
แล้วดำรงอยู่ มิได้ทรงละกิเลส มิได้ทรงถือมั่น ทรงละได้แล้วดำรงอยู่ มิได้ทรงเย็บ
มิได้ทรงยก ทรงเย็บได้แล้วดำรงอยู่ มิได้ทรงดับ มิได้ทรงก่อ ทรงดับได้แล้วดำรงอยู่
ชื่อว่าดำรงตนอยู่ได้ เพราะทรงเพียบพร้อมด้วยสีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์
วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันเป็นอเสขะ ทรงดำรงอยู่ ทรงแทงตลอดสัจจะ
แล้ว ทรงดำรงอยู่โดยการก้าวล่วงตัณหาอันเป็นเหตุให้หวั่นไหว ทรงดำรงอยู่โดยการ
ดับไฟกิเลส ทรงดำรงอยู่โดยไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ทรงดำรงอยู่โดยการสมาทาน
ธรรมขั้นสุดยอด ทรงดำรงอยู่โดยการเสพวิมุตติ ทรงดำรงอยู่ด้วยเมตตาอันบริสุทธิ์
กรุณาอันบริสุทธิ์ มุทิตาอันบริสุทธิ์ อุเบกขาอันบริสุทธิ์ ทรงดำรงอยู่ด้วยความบริสุทธิ์
อย่างยิ่ง ทรงดำรงอยู่ด้วยความบริสุทธิ์เพราะไม่มีตัณหา ทิฏฐิ มานะ ทรงดำรงอยู่
โดยความเป็นผู้หลุดพ้น ทรงดำรงอยู่โดยความเป็นผู้สันโดษ ทรงดำรงอยู่ในขันธ์สุดท้าย
ทรงดำรงอยู่ในธาตุสุดท้าย ทรงดำรงอยู่ในอายตนะสุดท้าย ทรงดำรงอยู่ในคติสุดท้าย
ทรงดำรงอยู่ในอุปบัติสุดท้าย ทรงดำรงอยู่ในปฏิสนธิสุดท้าย ทรงดำรงอยู่ในภพสุดท้าย
ทรงดำรงอยู่ในสงสารสุดท้าย ทรงดำรงอยู่ในวัฏฏะสุดท้าย ทรงดำรงอยู่ในภพสุดท้าย
ทรงดำรงอยู่ในประชุมแห่งขันธ์สุดท้าย ทรงไว้ซึ่งร่างกายขั้นสุดท้าย ทรงเป็นผู้ไกล
จากข้าศึก (สมจริงดังคาถาประพันธ์ว่า)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๕๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ทรงมีภพนี้เป็นภพสุดท้าย
ทรงมีประชุมแห่งขันธ์นี้เป็นครั้งสุดท้าย
ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตายและภพใหม่ก็ไม่มีอีก
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้ข้ามได้แล้ว เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้พ้นแล้ว เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาคทรงมีพระทัยพ้น หลุดพ้น หลุดพ้นดีแล้วจากราคะ ... โทสะ...
โมหะ... โกธะ... อุปนาหะ... มักขะ... ปฬาสะ... อิสสา... มัจฉริยะ... มายา... สาเถยยะ...
ถัมภะ... สารัมภะ... มานะ... อติมานะ... มทะ... ปมาทะ... กิเลสทุกชนิด... ทุจริต
ทุกทาง... ความกระวนกระวายทุกอย่าง... ความเร่าร้อนทุกสถาน... ความเดือดร้อน
ทุกประการ ทรงมีพระทัยพ้น หลุดพ้น หลุดพ้นดีแล้ว จากอกุสลาภิสังขาร
ทุกประเภท พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้พ้นแล้ว เป็นอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคเป็นผู้มั่นคง เพราะทรงแสดงออกซึ่งธรรมนั้น ๆ เป็นอย่างไร
คือ พระผู้มีพระภาค เมื่อศีลมีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะทรงแสดงออกว่า
ทรงเป็นผู้มีศีล
เมื่อศรัทธามีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะทรงแสดงออกว่า ทรงเป็นผู้มีศรัทธา
เมื่อความเพียรมีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะทรงแสดงออกว่า ทรงเป็นผู้มี
ความเพียร
เมื่อสติมีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะทรงแสดงออกว่า ทรงเป็นผู้มีสติ
เมื่อสมาธิมีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะทรงแสดงออกว่า ทรงเป็นผู้มีสมาธิ
เมื่อปัญญามีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะทรงแสดงออกว่า ทรงเป็นผู้มีปัญญา
เมื่อวิชชามีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะทรงแสดงออกว่า ทรงเป็นผู้มีวิชชา ๓
เมื่อพละมีอยู่ ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะทรงแสดงออกว่า ทรงเป็นผู้มีพละ ๑๐
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้น ๆ เป็นอย่างนี้
รวมความว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไม่ทรงถูกกิเลสอาศัย เป็นผู้มั่นคง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๕๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ว่าด้วยเรื่องหลอกลวง ๓ อย่าง
คำว่า ไม่หลอกลวง ในคำว่า ไม่หลอกลวง เสด็จมาเป็นพระคณาจารย์
ได้แก่ เรื่องหลอกลวง ๓ อย่าง คือ
๑. เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัย
๒. เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับอิริยาบถ
๓. เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียง
เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัย เป็นอย่างไร
คือ คหบดีในโลกนี้ ย่อมนิมนต์ภิกษุ ถวายจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุนั้น มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยาก
ครอบงำ มีความต้องการจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
เพราะต้องการได้มากยิ่งขึ้น จึงบอกคืนจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
เภสัชบริขาร เธอพูดอย่างนี้ว่า “จีวรที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะ
ควรเที่ยวเลือกเก็บผ้าเก่าจากป่าช้า กองหยากเยื่อ หรือร้านตลาด เอามาทำสังฆาฏิใช้
จึงจะเป็นการเหมาะสม บิณฑบาตที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะ
ควรสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยก้อนข้าวที่ได้มาด้วยปลีแข้ง โดยการเที่ยวแสวงหา จึงจะ
เป็นการเหมาะสม เสนาสนะที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะควรอยู่
โคนไม้ อยู่ที่ป่าช้า หรืออยู่ที่กลางแจ้ง จึงจะเป็นการเหมาะสม คิลานปัจจัยเภสัช-
บริขารที่มีค่ามากจะมีประโยชน์อะไรแก่สมณะ สมณะควรทำยาด้วยน้ำมูตรเน่า หรือ
ชิ้นลูกสมอ จึงจะเป็นการเหมาะสม”
เพราะต้องการได้ให้มากยิ่งขึ้นนั้น เธอจึงครองจีวรเศร้าหมอง ฉันบิณฑบาต
เศร้าหมอง ใช้สอยเสนาสนะซอมซ่อ ใช้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ คหบดี
ทั้งหลายรู้จักภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า “สมณะรูปนี้ มีความปรารถนาน้อย สันโดษ สงบสงัด
ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารภความเพียร มีวาทะกำจัดขัดเกลา” ก็ยิ่งนิมนต์เธอให้
รับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมากยิ่งขึ้น เธอก็พูดอย่าง
นี้ว่า “เพราะพรั่งพร้อมด้วยเหตุ ๓ ประการ กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมประสบบุญมาก
คือ เพราะพรั่งพร้อมด้วยศรัทธา... เพราะพรั่งพร้อมด้วยไทยธรรม... เพราะพรั่งพร้อม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๕๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ด้วยพระทักขิไณยบุคคล กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมประสบบุญมาก ท่านทั้งหลาย
มีศรัทธานี้อยู่ ไทยธรรมนี้ก็มีอยู่พร้อม ทั้งอาตมภาพก็เป็นปฏิคาหก ถ้าอาตมภาพไม่
รับ พวกท่านก็จักเสื่อมจากบุญไปเสีย อาตมภาพมิได้มีความต้องการด้วยปัจจัยนี้
แต่จักรับเพื่ออนุเคราะห์พวกท่าน” เพราะอาศัยเหตุนั้น เธอจึงรับจีวรมากมาย
รับบิณฑบาตมากมาย รับเสนาสนะมากมาย รับคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมากมาย
การทำหน้านิ่ว การทำคิ้วขมวด การหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง
เห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า เรื่องหลองลวงเกี่ยวกับการใช้สอยปัจจัย
เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับอิริยาบถ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยาก
ครอบงำ ปรารถนาจะให้เขายกย่อง คิดว่า “คนจักยกย่องเราด้วยอุบายอย่างนี้
จึงสำรวมการเดิน สำรวมการยืน สำรวมการนั่ง สำรวมการนอน ตั้งสติเดิน
ตั้งสติยืน ตั้งสตินั่ง ตั้งสตินอน ทำทีเหมือนภิกษุมีสมาธิเดิน เหมือนภิกษุมี
สมาธิยืน เหมือนภิกษุมีสมาธินั่ง เหมือนภิกษุมีสมาธินอน เป็นเหมือนภิกษุเจริญ
ฌานอวดต่อหน้า การตั้งท่า การวางท่า การดำรงมั่นอิริยาบถ การทำหน้านิ่ว
การทำคิ้วขมวด การหลอกลวง กิริยาที่หลอกลวง ภาวะที่หลอกลวง เห็นปานนี้
นี้ตรัสเรียกว่า เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับอิริยาบถ
เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียง เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ มีความปรารถนาเลวทราม ถูกความอยาก
ครอบงำ ปรารถนาจะให้เขายกย่อง คิดว่า “คนจักยกย่องเราด้วยอุบายอย่างนี้”
จึงกล่าววาจาอิงอริยธรรม คือพูดว่า “ภิกษุผู้ทรงจีวรมีรูปแบบอย่างนี้ เป็นสมณะมี
ศักดิ์ใหญ่ ผู้ใช้บาตร... ใช้ภาชนะโลหะ... ใช้ธมกรก... ใช้ผ้ากรองน้ำ... ใช้ลูกกุญแจ...
ใช้รองเท้า... ใช้ประคตเอว... ใช้สายโยกบาตร มีรูปแบบอย่างนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่”
พูดว่า “ภิกษุผู้มีอุปัชฌาย์ระดับนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่ มีอาจารย์ระดับนี้... มีผู้ร่วม
อุปัชฌาย์ระดับนี้... มีผู้ร่วมอาจารย์ระดับนี้... มีมิตร... มีพรรคพวก... มีคนที่คบหา
กัน... มีสหายระดับนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่” พูดว่า “ภิกษุผู้อยู่ในวิหารมีรูปแบบ
อย่างนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่... อยู่ในเรือนมีหลังคาด้านเดียว มีรูปแบบอย่างนี้...


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๕๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
อยู่ในปราสาท... อยู่ในเรือนโล้น... อยู่ในถ้ำ... อยู่ในที่หลีกเร้น... อยู่ในกุฎี... อยู่ใน
เรือนยอด... อยู่ที่ป้อม... อยู่ในโรงกลม...อยู่ในเรือนพัก... อยู่ในเรือนรับรอง... อยู่ใน
มณฑป... อยู่ที่โคนไม้ มีรูปแบบอย่างนี้ เป็นสมณะมีศักดิ์ใหญ่”
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้วางหน้าเฉยเมย ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด โกหกหลอกลวง
ปลิ้นปล้อน ตลบตะแลง เป็นผู้ได้รับยกย่องด้วยการวางหน้าว่า “สมณะนี้ได้วิหาร-
สมาบัติ อันมีอยู่เห็นปานนี้” ภิกษุนั้น ย่อมกล่าวถ้อยคำเช่นนั้น อันเกี่ยวเนื่องด้วย
โลกุตตรธรรมและสุญญตนิพพาน ซึ่งลึกซึ้ง เร้นลับ ละเอียดอ่อน ปิดบัง การทำ
หน้านิ่ว การทำคิ้วขมวด การหลอกลวง กิริยาที่หลองลวง ภาวะที่หลอกลวง เห็น
ปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า เรื่องหลอกลวงเกี่ยวกับการพูดเลียบเคียง
เรื่องหลอกลวง ๓ อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว
ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าผู้ไม่หลอกลวง รวมความว่า ไม่หลอกลวง

ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระคณาจารย์
คำว่า พระคณาจารย์ ในคำว่า เสด็จมาเป็นพระคณาจารย์ อธิบายว่า
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระคณาจารย์
ทรงเป็นอาจารย์แห่งหมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
ทรงเป็นศาสดาแห่งหมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
ทรงบริหารหมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
ทรงสั่งสอนหมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
ทรงตามสอนหมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
ทรงแกล้วกล้าเสด็จเข้าสู่หมู่คณะ จึงชื่อว่าพระคณาจารย์
หมู่คณะย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยโสตลงฟังพระองค์ ตั้งจิตเพื่อความรู้ จึงชื่อว่า
พระคณาจารย์
พระศาสดาทรงทำหมู่คณะให้ออกจากอกุศลแล้วให้ดำรงอยู่ในกุศล จึงชื่อว่า
พระคณาจารย์


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๕๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ทรงเป็นพระคณาจารย์ของหมู่ภิกษุ... หมู่ภิกษุณี... หมู่อุบาสก... หมู่อุบาสิกา...
หมู่พระราชา... หมู่กษัตริย์... หมู่พราหมณ์... หมู่แพศย์... หมู่ศูทร... หมู่เทพ...
หมู่พรหม จึงชื่อว่าพระคณาจารย์ พระศาสดาทรงเป็นผู้นำหมู่ เป็นพระคณาจารย์
เป็นอาจารย์แห่งหมู่คณะ
คำว่า เสด็จมาแล้ว ได้แก่ ทรงเข้าไป ทรงเข้าไปถึง ทรงถึงพร้อมซึ่งสังกัสสนคร
แล้ว รวมความว่า ไม่หลอกลวง เสด็จมาเป็นพระคณาจารย์
คำว่า ของคนเป็นอันมาก ในคำว่า ของคนเป็นอันมาก ผู้ยังผูกพันอยู่ใน
ศาสนานี้ ได้แก่ คนเป็นอันมาก คือ ที่เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์
บรรพชิต เทวดา มนุษย์
คำว่า ผู้ยังผูกพันอยู่ ได้แก่ ผู้ยังผูกพันอยู่ คือ มีความประพฤติผูกพัน
เป็นผู้บำรุง เป็นศิษย์ รวมความว่า ของคนเป็นอันมาก ผู้ยังผูกพันอยู่ในศาสนานี้
คำว่า ข้าพระองค์มีความต้องการ(ถาม)ปัญหา จึงมาเฝ้า อธิบายว่า
ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหาจึงมาเฝ้าแล้ว คือ ปรารถนาจะทูลถามปัญหา
จึงมาเฝ้าแล้ว มีความปรารถนาจะฟังปัญหา จึงมาเฝ้าแล้ว รวมความว่า ข้าพระองค์
มีความต้องการ(ถาม)ปัญหา จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง การมาเฝ้า การก้าวเดินเข้าเฝ้า การเข้าไปเฝ้า การเข้าไปนั่งใกล้
พึงมีแก่ผู้ต้องการด้วยปัญหา คือ ผู้ปรารถนาจะถามปัญหา ผู้ปรารถนาจะฟังปัญหา
รวมความว่า ข้าพระองค์มีความต้องการ(ถาม)ปัญหา จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระองค์ทรงมีอาคม(แหล่งความรู้)แห่งปัญหา พระองค์ทรงมี
ความสามารถที่จะตรัสบอก คือ วิสัชนาปัญหาข้อที่ข้าพระองค์ทูลถาม ปัญหาข้อนี้
จึงเป็นภาระของพระองค์ รวมความว่า ข้าพระองค์มีความต้องการ(ถาม)ปัญหา
จึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง ด้วยเหตุนั้น พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า
ข้าพระองค์มีความต้องการ(ถาม)ปัญหา
จึงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้ไม่ทรงถูกกิเลสอาศัย เป็นผู้มั่นคง ไม่หลอกลวง
เสด็จมาเป็นพระคณาจารย์ของคนเป็นอันมาก
ผู้ยังผูกพันอยู่ในศาสนานี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๖๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
[๑๙๓] (พระสารีบุตรกล่าวว่า)
เมื่อภิกษุเบื่อหน่าย ใช้สอยที่นั่งอันว่างเปล่า
ในถ้ำแห่งภูเขา ที่โคนต้นไม้ หรือที่ป่าช้า
คำว่า เมื่อภิกษุ ในคำว่า เมื่อภิกษุเบื่อหน่าย ได้แก่ เมื่อภิกษุผู้เป็นกัลยาณ-
ปุถุชน หรือ ภิกษุผู้เป็นพระเสขะ
คำว่า เบื่อหน่าย ได้แก่ เบื่อหน่าย คือ อึดอัด ระอา รังเกียจด้วยชาติ... ชรา...
พยาธิ... มรณะ... โสกะ... ปริเทวะ... ทุกข์... โทมนัส... อุปายาส...
เบื่อหน่าย อึดอัด ระอา รังเกียจด้วยทุกข์เนื่องจากการเกิดในนรก... ทุกข์
เนื่องจากการเกิดในกำเนิดเดรัจฉาน... ทุกข์เนื่องจากการเกิดในเปตวิสัย... ทุกข์
เนื่องจากการเกิดในโลกมนุษย์... ทุกข์เนื่องจากการถือกำเนิดในครรภ์... ทุกข์
เนื่องจากการอยู่ในครรภ์... ทุกข์เนื่องจากการคลอดจากครรถ์... ทุกข์ที่สืบเนื่องจาก
ผู้เกิด... ทุกข์ของผู้เกิดที่เนื่องมาจากผู้อื่น... ทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของตน...
ทุกข์ที่เกิดจากความพยายามของคนอื่น... ทุกข์ที่เกิดจากทุกขเวทนา... ทุกข์ที่เกิด
จากสังขาร... ทุกข์ที่เกิดจากความแปรผัน...
เบื่อหน่ายด้วยทุกข์เพราะโรคทางตา... ทุกข์เพราะโรคทางหู... ทุกข์เพราะโรค
ทางจมูก... ทุกข์เพราะโรคทางลิ้น... ทุกข์เพราะโรคทางกาย... ทุกข์เพราะโรคศีรษะ...
ทุกข์เพราะโรคหู... ทุกข์เพราะโรคปาก... ทุกข์เพราะโรคฟัน... โรคไอ... โรคหืด...
ไข้หวัด... ไข้พิษ... ไข้เชื่อมซึม... โรคท้อง... เป็นลมสลบ... ลงแดง... จุกเสียด...
อหิวาตกโรค... โรคเรื้อน... ฝี... กลาก... มองคร่อ... ลมบ้าหมู... หิดเปื่อย... หิดด้าน...
หิด... หูด... โรคละลอก... โรคดีซ่าน... โรคเบาหวาน... โรคเริม... โรคพุพอง...
โรคริดสีดวงทวาร... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากดี... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ...
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม... ไข้สันนิบาต...
เบื่อหน่ายด้วยความเจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล... ความเจ็บป่วยที่
เกิดจากการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้ส่วนกัน... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความ
พากเพียรเกินกำลัง... ความเจ็บป่วยที่เกิดจากผลกรรม... ความหนาว... ความร้อน...
ความหิว... ความกระหาย... ปวดอุจจาระ... ปวดปัสสาวะ... ทุกข์ที่เกิดจากสัมผัส
แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๖๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
เบื่อหน่าย คือ อึดอัด ระอา รังเกียจด้วยทุกข์เพราะมารดาตาย... ทุกข์เพราะ
บิดาตาย... ทุกข์เพราะพี่ชายน้องชายตาย... ทุกข์เพราะพี่สาวน้องสาวตาย... ทุกข์
เพราะบุตรตาย... ทุกข์เพราะธิดาตาย... ทุกข์เพราะความพินาศของญาติ... ทุกข์
เพราะโภคทรัพย์พินาศ... ทุกข์เพราะความเสียหายที่เกิดจากโรค... ทุกข์เพราะ
สีลวิบัติ... ทุกข์เพราะทิฏฐิวิบัติ รวมความว่า เมื่อภิกษุเบื่อหน่าย
คำว่า ใช้สอยที่นั่งอันว่างเปล่า อธิบายว่า ที่เป็นที่นั่งของภิกษุ ตรัสเรียกว่า
ที่นั่ง ได้แก่ เตียง ตั่ง เบาะ เสื่อ แผ่นหนัง เครื่องปูลาดทำด้วยหญ้า เครื่องปูลาด
ทำด้วยใบไม้ เครื่องปูลาดทำด้วยฟาง ที่นั่งนั้น ว่าง คือ สงัด เงียบจากการเห็นรูปไม่
เป็นที่สบาย... จากการได้ยินเสียงไม่เป็นที่สบาย... จากกามคุณ ๕ ไม่เป็นที่สบาย
เมื่อภิกษุ ใช้ คือ ใช้สอย เสพ เสพเป็นนิจ ซ่องเสพ เสพเฉพาะที่นั่งอันว่างเปล่านั้น
รวมความว่า ใช้สอยที่นั่งอันว่างเปล่า
คำว่า ที่โคนต้นไม้ หรือที่ป่าช้า อธิบายว่า รุกขมูลนั่นเอง ชื่อว่าโคนต้นไม้
สุสานนั่นเอง ชื่อว่าป่าช้า รวมความว่า ที่โคนต้นไม้ หรือที่ป่าช้า
คำว่า ในถ้ำแห่งภูเขา อธิบายว่า บรรพตนั่นเอง เรียกว่าภูเขา กันทระนั่นเอง
เรียกว่าซอกเขา คิริคุหานั่นเอง เรียกว่าถ้ำแห่งภูเขา ซอกระหว่างเขา เรียกว่า ซอก
เขาแห่งภูเขาทั้งหลาย รวมความว่า ในถ้ำแห่งภูเขา ด้วยเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระ
จึงกล่าวว่า
เมื่อภิกษุเบื่อหน่าย ใช้สอยที่นั่งอันว่างเปล่า
ที่โคนต้นไม้ ที่ป่าช้า หรือในถ้ำแห่งภูเขา
[๑๙๔] (พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า)
ภิกษุอยู่บนที่นอนที่นั่งอันไม่มีเสียงอื้ออึง
เห็นอารมณ์ที่น่าหวาดเสียวเหล่าใดแล้ว ไม่พึงหวั่นไหว
ภิกษุ(อื่น)พึงหวั่นไหวร้องอยู่บนที่นอนสูงและใหญ่
ซึ่งเป็นที่มีอารมณ์ที่น่าหวาดเสียว
คำว่า สูงและใหญ่ ในคำว่า บนที่นอนสูงและใหญ่ ได้แก่ สูงและใหญ่ คือ
เลวและประณีต ดีและชั่ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๖๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า บนที่นอน อธิบายว่า เสนาสนะ ตรัสเรียกว่า ที่นอน ได้แก่ วิหาร เรือน
หลังคาด้านเดียว ปราสาท เรือนโล้น ถ้ำ รวมความว่า บนที่นอนสูงและใหญ่
คำว่า ร้องอยู่ ในคำว่า ร้องอยู่... ซึ่งเป็นที่มีอารมณ์ที่น่าหวาดเสียว ได้แก่
ร้องอยู่ คือ ร้องลั่น ส่งเสียง ส่งเสียงดัง
อีกนัยหนึ่ง คำว่า ร้องอยู่ อธิบายว่า อารมณ์น่าหวาดเสียวมีเท่าไร มีประมาณ
เท่าไร มีขนาดไหน มีมากแค่ไหน ก็ร้องแค่นั้น
คำว่า อารมณ์ที่น่าหวาดเสียว ได้แก่ สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว
สุนัขป่า โค กระบือ ช้าง งู แมงป่อง ตะขาบ โจร คนที่ได้ก่อกรรมไว้ หรือยังมิได้
ก่อกรรมไว้ รวมความว่า ร้องอยู่... ซึ่งเป็นที่มีอารมณ์ที่น่าหวาดเสียว
คำว่า อารมณ์ที่น่าหวาดเสียวเหล่าใด ในคำว่า ภิกษุ... เห็นอารมณ์ที่น่า
หวาดเสียวเหล่าใดแล้ว ไม่พึงหวั่นไหว ได้แก่ ภิกษุเห็นหรือได้ยินอารมณ์ที่น่า
หวาดเสียวเหล่าใดแล้วไม่พึงหวั่นไหว คือ ไม่พึงสั่นเทา ไม่พึงกระสับกระส่าย ไม่พึง
หวาดเสียว ไม่พึงครั่นคร้าม ไม่พึงเกรงกลัว ไม่พึงหวาดกลัว ไม่พึงถึงความสะดุ้ง
ได้แก่ พึงเป็นผู้ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี พึงเป็นผู้ละภัยและความ
หวาดกลัว หมดความขนพองสยองเกล้าอยู่ รวมความว่า ภิกษุ... เห็นอารมณ์ที่น่า
หวาดเสียวเหล่าใดแล้ว ไม่พึงหวั่นไหว
คำว่า บนที่นั่งที่นอนอันไม่มีเสียงอื้ออึง ได้แก่ บนเสนาสนะที่มีเสียงน้อย
มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นสถานที่ทำการลับ
ของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น รวมความว่า บนที่นั่งที่นอนอันไม่มีเสียงอื้ออึง
ด้วยเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า
ภิกษุอยู่บนที่นอนที่นั่งอันไม่มีเสียงอื้ออึง
เห็นอารมณ์ที่น่าหวาดเสียวเหล่าใดแล้ว ไม่พึงหวั่นไหว
ภิกษุ (อื่น) พึงหวั่นไหวร้องอยู่บนที่นอนสูงและใหญ่
ซึ่งเป็นที่มีอารมณ์ที่น่าหวาดเสียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๖๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
[๑๙๕] (พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า)
ภิกษุเมื่อจะไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป
พึงปราบปรามอันตรายเท่าที่มีอยู่ในโลก
บนที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด
คำว่า เท่าที่มีอยู่ ในคำว่า อันตรายเท่าที่มีอยู่ในโลก ได้แก่ เท่าที่มีอยู่ คือ
มีประมาณเท่าไร มีขนาดไหน มีมากแค่ไหน
คำว่า อันตราย ได้แก่ อันตราย ๒ อย่าง คือ (๑) อันตรายที่ปรากฏ (๒)
อันตรายที่ไม่ปรากฏ
อันตรายที่ปรากฏ คืออะไร
คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว สุนัขป่า โค กระบือ ช้าง งู
แมงป่อง ตะขาบ โจร คนที่ได้ก่อกรรมไว้ หรือยังมิได้ก่อกรรมไว้ โรคทางตา
โรคทางหู โรคทางจมูก โรคทางลิ้น โรคทางกาย โรคศีรษะ โรคหู โรคปาก โรคฟัน
โรคไอ โรคหืด ไข้หวัด ไข้พิษ ไข้เชื่อมซึม โรคท้อง เป็นลมสลบ ลงแดง จุกเสียด
อหิวาตกโรค โรคเรื้อน ฝี กลาก มองคร่อ ลมบ้าหมู หิดเปื่อย หิดด้าน หิด หูด
โรคละลอก โรคดีซ่าน โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวงทวาร ความ
เจ็บป่วยที่เกิดจากดี ความเจ็บป่วยที่เกิดจากเสมหะ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากลม
ไข้สันนิบาต ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการเปลี่ยนฤดูกาล ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการ
ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้ส่วนกัน ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความพากเพียรเกินกำลัง
ความเจ็บป่วยที่เกิดจากผลกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ความเจ็บป่วยที่เกิดจากสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด
และสัตว์เลื้อยคลาน เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ปรากฏ
อันตรายที่ไม่ปรากฏ คืออะไร
คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์
ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ
อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ
อติมานะ มทะ ปมาทะ กิเลสทุกชนิด ทุจริตทุกทาง ความกระวนกระวายทุกอย่าง
ความเร่าร้อนทุกสถาน ความเดือดร้อนทุกประการ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท
เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ไม่ปรากฏ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๖๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า อันตราย อธิบายว่า ชื่อว่าอันตราย เพราะมีความหมายอย่างไร
ชื่อว่าอันตราย เพราะครอบงำ
ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม
ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะครอบงำ เป็นอย่างไร
คือ อันตรายเหล่านั้นย่อมเข้าครอบครอง ยึดครอง ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง
ย่ำยีบุคคลนั้น ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะครอบงำ เป็นอย่างนี้
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม เป็นอย่างไร
คือ อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม คือ เพื่อความสูญไปแห่ง
กุศลธรรมทั้งหลาย กุศลธรรมอะไรบ้าง อันตรายเหล่านั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความ
เสื่อม คือ เพื่อความสูญไปแห่งกุศลธรรมเหล่านี้ คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติ
เหมาะสม การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติไม่คลาดเคลื่อน การปฏิบัติที่เอื้อ
ประโยชน์ การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม การรักษาศีลให้บริบูรณ์ ความเป็น
ผู้สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการ
บริโภคอาหาร ความเป็นผู้มีความเพียรเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะ ความ
หมั่นเจริญสติปัฏฐาน ๔ ความหมั่นเจริญสัมมัปปธาน ๔ ความหมั่นเจริญอิทธิบาท ๔
ความหมั่นเจริญอินทรีย์ ๕ ความหมั่นเจริญพละ ๕ ความหมั่นเจริญโพชฌงค์ ๗
ความหมั่นเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นไปเพื่อความเสื่อม
เป็นอย่างนี้
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างไร
คือ บาปอกุศลธรรมเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นในอัตภาพนั้น มีอัตภาพเป็นที่อาศัย
เปรียบเหมือนสัตว์ที่อาศัยรูย่อมอยู่ในรู สัตว์ที่อาศัยน้ำย่อมอยู่ในน้ำ สัตว์ที่อาศัยป่า
ย่อมอยู่ในป่า สัตว์ที่อาศัยต้นไม้ย่อมอยู่บนต้นไม้ ฉันใด บาปอกุศลธรรมเหล่านี้
ย่อมเกิดในอัตภาพนั้น มีอัตภาพเป็นที่อาศัย ฉันนั้นเหมือนกัน ที่ชื่อว่าอันตราย
เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๖๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่นอน
เนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่
สบาย เป็นอย่างไร ภิกษุทั้งหลาย บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย มีความดำริซ่านไป
เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะตาเห็นรูป บาปอกุศล-
ธรรมทั้งหลาย ย่อมอยู่ ย่อมซ่านไปภายในของภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียก
ภิกษุนั้นว่า ‘ผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน’ บาปอกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อม
ฟุ้งขึ้นท่วมภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกภิกษุนั้นว่า ‘ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น’
ภิกษุทั้งหลาย อีกนัยหนึ่ง บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย มีความดำริซ่านไป
เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะหูได้ยินเสียง... เพราะจมูกได้กลิ่น...
เพราะลิ้นได้ลิ้มรส... เพราะกายได้รับสัมผัส... เพราะใจรู้ธรรมารมณ์ บาปอกุศล-
ธรรมทั้งหลาย ย่อมอยู่ ย่อมซ่านไปภายในของภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียก
ภิกษุนั้นว่า ‘ผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน’ บาปอกุศลธรรมเหล่านั้น ย่อม
ฟุ้งขึ้นท่วมภิกษุนั้น๑เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกภิกษุนั้นว่า ‘ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น’
ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ภายใน ผู้อยู่กับกิเลสที่
ฟุ้งขึ้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย” ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัย
อยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง

ว่าด้วยธรรม ๓ ประการ เป็นมลทินภายใน
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเหล่านี้
เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็น
ข้าศึกภายใน ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โลภะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
๒. โทสะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน

เชิงอรรถ :
๑ สํ.สฬา. ๑๘/๑๕๑/๑๒๖-๑๒๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๖๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
๓. โมหะ เป็นมลทินภายใน เป็นอมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็น
เพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการเหล่านี้แล ชื่อว่าเป็นมลทินภายใน เป็น
อมิตรภายใน เป็นศัตรูภายใน เป็นเพชฌฆาตภายใน เป็นข้าศึกภายใน”
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
โลภะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โลภะทำให้จิตกำเริบ โลภะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน (ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนโลภไม่รู้จักผล คนโลภไม่รู้จักเหตุ
ความโลภครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น
โทสะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โทสะทำให้จิตกำเริบ โทสะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน (ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนโกรธไม่รู้จักผล คนโกรธไม่รู้จักเหตุ
ความโกรธครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น
โมหะก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
โมหะทำให้จิตกำเริบ โมหะเป็นภัยที่เกิดภายใน
คน (ส่วนมาก)ไม่รู้จักภัยนั้น
คนหลงไม่รู้จักผล คนหลงไม่รู้จักเหตุ
ความหลงครอบงำนรชนเมื่อใด
ความมืดบอดย่อมมีเมื่อนั้น๑
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.อิติ. ๒๕/๘๘/๓๐๕, ขุ.จู. ๓๐/๑๒๘/๒๖๓-๒๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๖๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “มหาบพิตร ธรรม ๓ ประการ เมื่อ
เกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์
เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
ธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. โลภธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็น
ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
๒. โทสธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็น
ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
๓. โมหธรรมเมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็น
ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก
มหาบพิตร ธรรม ๓ ประการเหล่านี้แล เมื่อเกิดขึ้นภายใน(จิต)ของบุรุษ
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก”
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณ์ภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
โลภะ โทสะ และโมหะ เกิดขึ้นในตน
ย่อมทำร้ายบุรุษผู้มีจิตเลวทราม
เหมือนขุยไผ่กำจัดต้นไผ่ ฉะนั้น๑
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
ราคะและโทสะ มีอัตภาพนี้เป็นต้นเหตุ
ความไม่ยินดีกุศลธรรม
ความยินดีกามคุณ ซึ่งทำให้ขนลุก เกิดจากอัตภาพนี้
บาปวิตกในใจ เกิดขึ้นจากอัตภาพนี้
ย่อมผูกใจคนไว้ เหมือนพวกเด็กผูกตีนกาไว้ ฉะนั้น๒
ที่ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในอัตภาพ เป็นอย่างนี้บ้าง
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในมนุษยโลก รวมความว่า อันตรายเท่าที่มีอยู่ในโลก

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๑๑๓/๘๕, ขุ.อิติ. ๒๕/๕๐/๒๗๒, ขุ.จู. ๓๐/๑๒๘/๒๖๔
๒ สํ.ส. ๑๕/๒๓๗/๒๕๐, ขุ.สุ. ๒๕/๒๗๔/๓๘๗, ขุ.จู. ๓๐/๑๒๔/๒๖๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๖๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ว่าด้วยทิศที่ไม่เคยไป
คำว่า เมื่อจะไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป อธิบายว่า อมตนิพพาน ตรัสเรียกว่า
ทิศที่ไม่เคยไป คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่
สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท ทิศนั้นชื่อว่า
ทิศที่ไม่เคยไป ทิศนั้น มิใช่ทิศที่เคยไป โดยกาลยาวนานนี้
บุคคลพึงประคองภาชนะน้ำมัน เต็มเสมอขอบปาก
ไม่มีส่วนเหลือ ฉันใด
พระโยคาวจรเมื่อปรารถนา (จะไป)สู่ทิศที่ยังไม่เคยไป
พึงรักษาจิตของตนไว้เสมอ ฉันนั้น
เมื่อภิกษุดำเนินไป เมื่อจะไป คือ เมื่อก้าวไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป รวมความว่า
เมื่อจะไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป
คำว่า อันตราย ในคำว่า ภิกษุ...พึงปราบปรามอันตราย อธิบายว่า พึงปราบปราม
คือ ครอบงำ กำจัด ขับไล่ ย่ำยีอันตราย รวมความว่า ภิกษุ...พึงปราบปราม
อันตราย
คำว่า บนที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด อธิบายว่า บนที่นั่งที่นอนที่อยู่ปลายแดน
อันสงัด คือ เป็นที่สุดรอบ มีภูเขาเป็นที่สุด มีป่าเป็นที่สุด มีแม่น้ำเป็นที่สุด หรือมี
แหล่งน้ำเป็นที่สุด เป็นสถานที่พวกมนุษย์ไม่ไถ ไม่หว่าน ไม่เป็นที่ท่องเที่ยวของ
มนุษย์ เพราะเลยเขตชุมชน รวมความว่า บนที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด ด้วยเหตุนั้น
พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า
ภิกษุเมื่อจะไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป
พึงปราบปรามอันตรายเท่าที่มีอยู่ในโลก
บนที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด
[๑๙๖] (พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า)
ภิกษุอบรมตนอยู่ พึงมีแนวทางแห่งถ้อยคำอย่างไร
พึงมีโคจรในศาสนานี้อย่างไร พึงมีศีลและวัตรอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๖๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า พึงมีแนวทางแห่งถ้อยคำอย่างไร อธิบายว่า พระเถระถามถึงความ
บริสุทธิ์แห่งวาจาว่า ภิกษุนั้นพึงประกอบด้วยวิธีการพูดเช่นไร คือ ตั้งไว้อย่างไร
มีประการอย่างไร เปรียบได้กับอะไร

ว่าด้วยความบริสุทธิ์แห่งวาจา
ความบริสุทธิ์แห่งวาจา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละการกล่าวเท็จ เว้นขาดจากการกล่าวเท็จได้แล้ว คือ
เป็นคนพูดจริง ตั้งมั่นในความสัตย์ มีถ้อยคำมั่นคง เชื่อถือได้ ไม่กล่าวคำหลอกลวง
ชาวโลก ละวาจาส่อเสียด เว้นขาดจากวาจาส่อเสียดได้แล้ว ฟังจากข้างนี้แล้ว ไม่ไป
บอกข้างโน้น เพื่อทำลายคนหมู่นี้ ฟังจากข้างโน้นแล้ว ไม่ไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลาย
คนหมู่โน้น เป็นผู้สมานคนที่แตกแยกกัน หรือส่งเสริมคนที่มีประโยชน์ร่วมกัน
มีความสามัคคีเป็นที่ชื่นชม ยินดีในความสามัคคี รื่นเริงในสามัคคีธรรม เป็นผู้กล่าว
วาจาก่อให้เกิดความสามัคคี ละวาจาหยาบ เว้นขาดจากวาจาหยาบได้แล้ว วาจาใด
ไร้โทษ สบายหู น่ารัก จับใจ แบบชาวเมือง คนส่วนใหญ่ชอบใจ พอใจ ก็กล่าววาจา
เช่นนั้น ละการพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อได้แล้ว พูดถูกเวลา พูดจริง
พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย กล่าววาจาเป็นหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีต้นมีปลาย
ประกอบด้วยประโยชน์ตามกาลอันสมควร ประกอบด้วยวจีสุจริต ๔ กล่าววาจา
ปราศจากโทษ ๔ สถาน เป็นผู้งดแล้ว งดเว้นแล้ว เว้นขาดแล้ว ออกแล้ว สลัดออก
แล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้องแล้วกับเดรัจฉานกถา ๓๒ ประการ มีใจเป็นอิสระ
(จากกิเลส)อยู่
เธอย่อมกล่าวกถาวัตถุ ๑๐ ประการ คือ
๑. อัปปิจฉกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย)
๒. สันตุฏฐิกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสันโดษ)
๓. ปวิเวกกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสงัดกายใจ)
๔. อสังสัคคกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่)
๕. วิริยารัมภกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้มุ่งมั่นทำความเพียร)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๗๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
๖. สีลกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล)
๗. สมาธิกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำจิตมั่น)
๘. ปัญญากถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา)
๙. วิมุตติกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลสและความทุกข์)
๑๐. วิมุตติญาณทัสสนกถา(ถ้อยคำที่ชักนำให้สนใจและเข้าใจเรื่องความรู้
ความเห็นในภาวะที่หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์)
ย่อมกล่าว สติปัฏฐานกถา สัมมัปปธานกถา อิทธิบาทกถา อินทริยกถา พลกถา
โพชฌงคกถา มัคคกถา ผลกถา นิพพานกถา ภิกษุเป็นผู้สำรวมระวัง ระมัดระวัง
คุ้มครอง ปกปัก รักษา สังวรด้วยวาจา นี้ชื่อว่าความบริสุทธิ์แห่งวาจา ภิกษุพึงเป็น
ผู้ประกอบด้วยความบริสุทธิ์แห่งวาจาเช่นนี้ รวมความว่า พึงมีแนวทางแห่งถ้อยคำ
อย่างไร
คำว่า พึงมีโคจรในศาสนานี้อย่างไร อธิบายว่า พระเถระถามถึงโคจรว่า
ภิกษุพึงประกอบด้วยโคจรเช่นไร คือ ตั้งไว้อย่างไร มีประการอย่างไร เปรียบได้กับ
อะไร โคจรก็มี อโคจรก็มี

ว่าด้วยอโคจรและโคจร
อโคจร๑ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นโคจร มีหญิงหม้าย
เป็นโคจร มีสาวเทื้อเป็นโคจร มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร มีภิกษุณีเป็นโคจร หรือมีร้าน
สุราเป็นโคจร เป็นผู้อยู่คลุกคลีกับพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์
สาวกเดียรถีย์ ด้วยการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ที่ไม่สมควร หรือเสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้
ตระกูลที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ไม่เป็นดุจบ่อน้ำ มักด่าและบริภาษ ปรารถนาแต่สิ่ง
ที่มิใช่ประโยชน์ ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่ผาสุก ไม่ปรารถนา
ความหลุดพ้นจากโยคะแก่พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกาเช่นนั้น นี้เรียกว่า
อโคจร

เชิงอรรถ :
๑ อภิ.วิ.(แปล) ๓๕/๕๑๔/๓๘๘

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๗๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนนไม่สำรวม เดินมองช้าง
มองม้า มองรถ มองพลเดินเท้า มองสตรี มองบุรุษ มองเด็กชาย มองเด็กหญิง มอง
ร้านตลาด มองหน้ามุขเรือน มองข้างบน มองข้างล่าง มองทิศน้อยทิศใหญ่ แม้นี้ก็
ตรัสเรียกว่า อโคจร
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปทางตาแล้ว รวบถือ แยกถือ ... ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อ
สำรวมมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและ
โทมนัสครอบงำได้ ไม่รักษามนินทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ แม้นี้ก็ตรัส
เรียกว่า อโคจร
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลธรรมเห็น
ปานนี้อยู่ เหมือนสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกบริโภคอาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว
ยังขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง
การประโคมดนตรี การดูมหรสพ การเล่านิทาน การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี
การเล่นตีกลอง การสร้างฉากบ้านเมืองให้สวยงาม การละเล่นของคนจัณฑาล การ
เล่นกระดานหก การละเล่นหน้าศพ การแข่งชนช้าง การแข่งม้า การแข่งชนกระบือ
การแข่งชนโค การแข่งชนแพะ การแข่งชนแกะ การแข่งชนไก่ การแข่งชนนกกระทา
การรำกระบี่กระบอง การชกมวย มวยปล้ำ การตรวจพลสวนสนาม การจัดกระบวน-
ทัพ แม้นี้ก็ตรัสเรียกว่า อโคจร
แม้กามคุณ ๕ ก็ชื่อว่าอโคจร สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย พวกเธออย่าเที่ยวไปในแดนอื่นที่เป็นอโคจร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธอ
เที่ยวไปในแดนอื่นที่เป็นอโคจร มารก็จักได้ช่อง จักได้อารมณ์ ภิกษุทั้งหลาย แดน
อื่นที่เป็นอโคจรของภิกษุ เป็นอย่างไร คือ กามคุณ ๕ กามคุณ ๕ อะไรบ้าง คือ
๑. รูปที่รู้ได้ทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
พาใจให้กำหนัด
๒. เสียงที่รู้ได้ทางหู ...
๓. กลิ่นที่รู้ได้ทางจมูก...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๗๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
๔. รสที่รู้ได้ทางลิ้น...
๕. โผฏฐัพพะที่รู้ได้ทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
ภิกษุทั้งหลาย นี้ตถาคตเรียกว่า แดนอื่นอันเป็นอโคจรของภิกษุ แม้นี้ก็ตรัส
เรียกว่า อโคจร
โคจร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้มีหญิงแพศยาเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีหญิงหม้าย
เป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีสาวเทื้อเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีบัณเฑาะก์เป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีนาง
ภิกษุณีเป็นโคจร ไม่เป็นผู้มีร้านสุราเป็นโคจร ไม่อยู่คลุกคลีกับพระราชา มหาอำมาตย์
ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกเดียรถีย์ ด้วยการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ที่ไม่สมควร หรือ
เสพ คบ เข้าไปนั่งใกล้ตระกูลที่มีศรัทธาเลื่อมใส เป็นดุจบ่อน้ำ รุ่งเรืองไปด้วยผ้า
กาสาวะ อบอวลไปด้วยกลิ่นของฤษี ปรารถนาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ปรารถนาแต่สิ่ง
ที่เกื้อกูล ปรารถนาแต่สิ่งที่ผาสุก ปรารถนาแต่ความหลุดพ้นจากโยคะแก่พวกภิกษุ
ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกาเช่นนั้น แม้นี้ก็ตรัสเรียกว่า โคจร
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนนก็สำรวม ไม่เดินมองช้าง
มองม้า มองรถ มองพลเดินเท้า... มองทิศน้อยทิศใหญ่ แม้นี้ก็ตรัสเรียกว่า โคจร
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ... ถึงความสำรวมในมนินทรีย์
แม้นี้ก็ตรัสเรียกว่า โคจร
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุงดเว้นจากความขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล
เห็นปานนี้อยู่ เหมือนสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกบริโภคอาหารที่เขาให้ด้วย
ศรัทธาแล้ว ไม่พากันขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือ
การฟ้อน การขับร้อง การประโคมดนตรี ... แม้นี้ก็ตรัสเรียกว่า โคจร
แม้สติปัฏฐาน ๔ ก็ชื่อว่า โคจร สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไปในแดนบิดาของตนอันเป็นโคจรเถิด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อ
พวกเธอเที่ยวไปในแดนบิดาของตนอันเป็นโคจร มารก็จักไม่ได้ช่อง ไม่ได้อารมณ์
ภิกษุทั้งหลาย แดนบิดาของตนอันเป็นโคจร เป็นอย่างไร คือสติปัฏฐาน ๔
สติปัฏฐาน ๔ คือ อะไรบ้าง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๗๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
๑. พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัด
อภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย...
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิต...
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า แดนบิดาของตนอันเป็นโคจร” แม้นี้ก็ตรัสเรียกว่า
โคจร ภิกษุพึงเป็นผู้ประกอบด้วยโคจรเช่นนี้ รวมความว่า พึงมีโคจรในศาสนานี้
อย่างไร

ว่าด้วยศีลและวัตร
คำว่า พึงมีศีลและวัตรอย่างไร อธิบายว่า พระสารีบุตรเถระถามถึงความ
บริสุทธิ์แห่งศีลและวัตรว่า ภิกษุพึงประกอบด้วยศีลและวัตรเช่นไร คือตั้งไว้อย่างไร
มีประการอย่างไร เปรียบเทียบได้กับอะไร ความบริสุทธิ์แห่งศีลและวัตรเป็นอย่างไร
เป็นศีลและวัตรก็มี เป็นวัตรแต่ไม่ใช่ศีลก็มี
เป็นศีลและวัตร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์
สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย ความสำรวม ความสังวร การไม่ล่วงละเมิดในสิกขาบทเหล่านั้น
นี้ชื่อว่าศีล การสมาทาน ชื่อว่าวัตร ชื่อว่าศีล เพราะมีความหมายว่า สังวร
ชื่อว่าวัตร เพราะมีความหมายว่าสมาทาน นี้เรียกว่า ศีลและวัตร
เป็นวัตรแต่ไม่ใช่ศีล เป็นอย่างไร
คือ ธุดงค์ ๘ ข้อ ได้แก่
๑. อารัญญิกังคธุดงค์ ๒. ปิณฑปาติกังคธุดงค์
๓. ปังสุกูลิกังคธุดงค์ ๔. เตจีวริกังคธุดงค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๗๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
๕. สปทานจาริกังคธุดงค์ ๖. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์
๗. เนสัชชิกังคธุดงค์
๘. ยถาสันถติกังคธุดงค์๑ นี้เรียกว่า วัตรไม่ใช่ศีล
แม้การสมาทานความเพียร ก็เรียกว่า วัตรไม่ใช่ศีล ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า
เนื้อและเลือดในร่างกายจงเหือดแห้งไป จะเหลืออยู่แต่หนังเอ็นกระดูกก็ตามทีเถิด
ผลใดพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยกำลังของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ
ด้วยความบากบั่นของบุรุษ (ถ้า) ไม่บรรลุผลนั้นแล้วก็จักไม่หยุด ความเพียร แม้การ
สมาทานความเพียรอย่างนี้เรียกว่า วัตรไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า
“เมื่อเรายังถอนลูกศรคือตัณหาขึ้นไม่ได้
เราจะไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ออกไปจากวิหาร
ทั้งจะไม่เอนกายนอน๒”
การสมาทานความเพียรอย่างนี้เรียกว่า วัตรไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า ตราบใดที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะ
ทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น ตราบนั้นเราจักไม่ทำลายบัลลังก์นี้เลย แม้การสมาทาน
ความเพียรอย่างนี้เรียกว่า วัตรไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า ตราบใดที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะ
ทั้งหลาย เพราะไม่ยึดมั่น ตราบนั้นเราก็จักไม่ลุกจากที่นั่ง... ไม่ลงจากลานจงกรม...
ไม่ออกจากวิหาร... ไม่ออกจากเรือนหลังคาด้านเดียว... ไม่ออกจากปราสาท...
ไม่ออกจากเรือนโล้น... ไม่ออกจากถ้ำ... ไม่ออกจากที่หลีกเร้น... ไม่ออกจากกุฎี...
ไม่ออกจากเรือนยอด... ไม่ออกจากป้อม... ไม่ออกจากโรงกลม... ไม่ออกจากเรือนที่
มีเครื่องกั้น... ไม่ออกจากศาลาที่บำรุง... ไม่ออกจากมณฑป... ไม่ออกจากโคนไม้นี้
แม้การสมาทานความเพียรอย่างนี้เรียกว่า วัตรไม่ใช่ศีล

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำแปลจากข้อ ๑๗/๗๙
๒ ขุ.เถร.(แปล) ๒๖/๒๒๓/๓๗๔

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๗๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า เราจักนำมา นำมาด้วยดี บรรลุ สัมผัส ทำ
ให้แจ้งซึ่งอริยธรรม เช้าวันนี้เอง แม้การสมาทานความเพียรอย่างนี้เรียกว่า วัตร
ไม่ใช่ศีล
ภิกษุประคองจิตมุ่งมั่นว่า เราจักนำมา นำมาด้วยดี บรรลุ สัมผัส ทำให้แจ้งซึ่ง
อริยธรรมในเที่ยงนี้... เย็นนี้... ก่อนภัต... หลังภัต... ปฐมยาม... มัชฌิมยาม...
ปัจฉิมยาม... ข้างแรม... ข้างขึ้น... ฤดูฝน... ฤดูหนาว... ฤดูร้อน... ปฐมวัย...
มัชฌิมวัย... ปัจฉิมวัย แม้การสมาทานความเพียรอย่างนี้เรียกว่า วัตรไม่ใช่ศีล
นี้ชื่อว่าความบริสุทธิ์แห่งศีลและวัตร ภิกษุพึงเป็นผู้ประกอบด้วยความบริสุทธิ์แห่ง
ศีลและวัตรเช่นนี้ รวมความว่า พึงมีศีลและวัตรอย่างไร

ว่าด้วยการอบรมตน
คำว่า อบรมตนอยู่ ในคำว่า ภิกษุอบรมตนอยู่ อธิบายว่า ภิกษุปรารภความ
เพียร มีเรี่ยวแรง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งฉันทะ ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม
ทั้งหลาย อีกนัยหนึ่ง ภิกษุส่งตนไป คือ ส่งตนไปในประโยชน์ตน๑ ในญายะ๒
ในลักษณะ๓ ในเหตุ ในฐานะและอฐานะ คือ ส่งตนไปว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง...
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”...
ส่งตนไปว่า “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี... เพราะชาติเป็นปัจจัย
ชราและมรณะจึงมี... เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ... เพราะชาติดับ ชราและ
มรณะจึงดับ”...
ส่งตนไปว่า “นี้ทุกข์... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา... เหล่านี้อาสวะ...
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา”...
ส่งตนไปว่า “เหล่านี้ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง... เหล่านี้ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง”

เชิงอรรถ :
๑ ประโยชน์ ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล (ขุ.ม.อ. ๑๙๖/๔๖๑)
๒ ญายะ ในที่นี้หมายถึงอริยมรรค (ขุ.ม.อ. ๑๙๖/๔๖๑)
๓ ลักษณะ ในที่นี้หมายถึงไตรลักษณ์ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น (ขุ.ม.อ. ๑๙๖/๔๖๑)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๗๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ส่งตนไปสู่เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖...
อุปาทานขันธ์ ๕ ... ส่งตนไปสู่เหตุเกิด เหตุดับ คุณ โทษ และการสลัดออกแห่ง
มหาภูตรูป ๔
ส่งตนไปว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมี
ความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า อบรมตนอยู่
คำว่า ภิกษุ ได้แก่ ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือภิกษุผู้เป็นพระเสขะ รวม
ความว่า ภิกษุอบรมตนอยู่ ด้วยเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า
ภิกษุอบรมตนอยู่ พึงมีแนวทางแห่งถ้อยคำอย่างไร
พึงมีโคจรในศาสนานี้อย่างไร พึงมีศีลและวัตรอย่างไร
[๑๙๗] (พระสารีบุตรเถระทูลถามว่า)
ภิกษุนั้นพึงสมาทานสิกขาอะไร
จึงมีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
มีปัญญารักษาตน มีสติกำจัดมลทินของตนได้
เหมือนช่างทองกำจัดมลทินทอง ฉะนั้น

ว่าด้วยการสมาทานสิกขา ๓
คำว่า ภิกษุนั้นพึงสมาทานสิกขาอะไร อธิบายว่า ภิกษุนั้นถือเอา สมาทาน
คือ ยึดถือ รับเอา ถือ ยึดมั่น ถือมั่นสิกขาอะไร รวมความว่า ภิกษุนั้นพึง
สมาทานสิกขาอะไร
คำว่า มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ในคำว่า จึงมีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
มีปัญญารักษาตน มีสติ ได้แก่ มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีใจ
ไม่ซัดส่าย สมถะ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ
คำว่า มีปัญญารักษาตน ได้แก่ มีปัญญารักษาตน คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา
มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๗๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า มีสติ อธิบายว่า มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย
๒. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
๓. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต
๔. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย
ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ รวมความว่า มีสติ
พระสารีบุตรเถระทูลถามถึงอธิสีลสิกขาว่า ภิกษุนั้นพึงสมาทานสิกขาอะไร
ทูลถามถึงอธิจิตตสิกขาว่า มีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ทูลถามถึงอธิปัญญาสิกขาว่า
มีปัญญารักษาตน ทูลถามถึงความบริสุทธิ์แห่งสติว่า ผู้มีสติ รวมความว่า ภิกษุนั้น
พึงสมาทานสิกขาอะไร จึงมีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น มีปัญญารักษาตน มีสติ

ว่าด้วยการกำจัดมลทิน
คำว่า กำจัดมลทินของตนได้ เหมือนช่างทองกำจัดมลทินทอง ฉะนั้น
อธิบายว่า คนทำทอง ตรัสเรียกว่า ช่างทอง ทองคำ ตรัสเรียกว่า ทอง ช่างทอง
ย่อมเป่า ไล่ กำจัดมลทินทองทั้งหยาบ ปานกลาง และละเอียด ฉันใด ภิกษุย่อมเป่า
ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งกิเลสทั้งหยาบ
ปานกลาง และละเอียด ฉันนั้นเหมือนกัน
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความ
ไม่มีอีกซึ่งมลทินคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต ซึ่งทำให้เป็น
คนตาบอด ทำให้ไม่มีจักษุ ทำให้ไม่มีญาณ อันดับปัญญา เป็นไปในฝักฝ่ายแห่ง
ความลำบาก ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความ
ไม่มีอีกซึ่งมิจฉาทิฏฐิ ด้วยสัมมาทิฏฐิ
ย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่ง
มิจฉาสังกัปปะ ด้วยสัมมาสังกัปปะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๗๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
...มิจฉาวาจา ด้วยสัมมาวาจา
...มิจฉากัมมันตะ ด้วยสัมมากัมมันตะ
...มิจฉาอาชีวะ ด้วยสัมมาอาชีวะ
...มิจฉาวายามะ ด้วยสัมมาวายามะ
...มิจฉาสติ ด้วยสัมมาสติ
...มิจฉาสมาธิ ด้วยสัมมาสมาธิ
...มิจฉาญาณ ด้วยสัมมาญาณ
ย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่ง
มิจฉาวิมุตติ ด้วยสัมมาวิมุตติ
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุย่อมเป่า ไล่ กำจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความ
ไม่มีอีกซึ่งกิเลสทุกชนิด ทุจริตทุกทาง ความกระวนกระวายทุกอย่าง ความเร่าร้อน
ทุกสถาน ความเดือดร้อนทุกประการ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ด้วยอริยมรรค
มีองค์ ๘ รวมความว่า กำจัดมลทินของตนได้ เหมือนช่างทองกำจัดมลทินทอง ฉะนั้น
ด้วยเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระจึงทูลถามว่า
ภิกษุนั้นพึงสมาทานสิกขาอะไร
จึงมีสมาธิเป็นธรรมเอกผุดขึ้น
มีปัญญารักษาตน มีสติกำจัดมลทินของตนได้
เหมือนช่างทองกำจัดมลทินทอง ฉะนั้น
[๑๙๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สารีบุตร)
เราจักบอกความผาสุก และธรรมอันสมควรนั้น
ของผู้เบื่อหน่าย ใช้สอยที่นั่งที่นอนอันสงัด
ผู้ปรารถนาสัมโพธิญาณ แก่เธอ ตามที่รู้
คำว่า ของผู้เบื่อหน่าย ในคำว่า ความผาสุก... ของผู้เบื่อหน่าย อธิบายว่า
ผู้เบื่อหน่าย คือ อึดอัด ระอาด้วยชาติ ... ชรา ... พยาธิ ... มรณะ ... โสกะ ... ปริเทวะ
... ทุกขะ ... โทมนัส ... อุปายาส ... ด้วยความทุกข์เพราะทิฏฐิวิบัติ รวมความว่า
ของผู้เบื่อหน่าย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๗๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ความผาสุก อธิบายว่า เราจักบอกความผาสุก คือ ความอยู่ผาสุก
ความอยู่ผาสุก เป็นอย่างไร คือการปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม การ
ปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติไม่คลาดเคลื่อน การปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ การ
ปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม การรักษาศีลให้บริบูรณ์ ความเป็นผู้สำรวม
อินทรีย์ทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
ความเป็นผู้มีความเพียรเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะ สติปัฏฐาน ๔
สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
นิพพานและปฏิปทาเครื่องดำเนินไปสู่นิพพาน นี้ชื่อว่าความอยู่ผาสุก รวมความว่า
ความผาสุก... ของผู้เบื่อหน่าย

อธิบายคำว่า ภควา
คำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก
พระเถระนั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโทสะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโมหะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายมานะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายทิฏฐิได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายเสี้ยนหนามได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายกิเลสได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงจำแนก แยกแยะ แจกแจงธรรมรัตนะ
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำที่สุดแห่งภพได้
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมพระวรกายแล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๘๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงใช้สอยเสนาสนะที่เป็นป่าละเมาะและป่าทึบ
อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็น
สถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส
อธิสีล อธิจิต อธิปัญญา จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔
อรูปสมาบัติ ๔ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ ๘
อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๑๐ กสิณ-
สมาบัติ ๑๐ อานาปานสติสมาธิ อสุภสมาบัติ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ จึงชื่อว่าพระผู้มี
พระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ ๑๐
เวสารัชชญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
พระนามว่า พระผู้มีพระภาค นี้ มิใช่พระชนนีทรงตั้ง มิใช่พระชนกทรงตั้ง
มิใช่พระภาดาทรงตั้ง มิใช่พระภคินีทรงตั้ง มิใช่มิตรและอำมาตย์ตั้ง มิใช่พระญาติ
และผู้ร่วมสายโลหิตทรงตั้ง มิใช่สมณพราหมณ์ตั้ง มิใช่เทวดาตั้ง
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม เป็นสัจฉิกาบัญญัติของ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมกับการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่โคน
ต้นโพธิ์ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร
คำว่า ใช้สอยที่นั่งที่นอนอันสงัด อธิบายว่า ที่สำหรับนั่ง ตรัสเรียกว่า ที่นั่ง
ได้แก่ เตียง ตั่ง เบาะ เสื่อ แผ่นหนัง เครื่องปูลาดทำด้วยหญ้า เครื่องปูลาด
ทำด้วยใบไม้ เครื่องปูลาดทำด้วยฟาง


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๘๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
เสนาสนะ ตรัสเรียกว่า ที่นอน ได้แก่ วิหาร เรือนหลังคาด้านเดียว ปราสาท
เรือนโล้น ถ้ำ ที่นอนและที่นั่งนั้น สงัด คือ ว่าง เงียบ จากการได้เห็นรูปไม่เป็นที่สบาย
... จากการได้ยินเสียงไม่เป็นที่สบาย สงัด คือ ว่าง เงียบ จากกามคุณ ๕ ไม่เป็นที่
สบาย ผู้ใช้สอย คือ เสพเป็นนิจ ซ่องเสพ เสพเฉพาะที่นอนที่นั่งนั้น รวมความว่า
ใช้สอยที่นั่งที่นอนอันสงัด
คำว่า ธรรมอันสมควร... ผู้ปรารถนาสัมโพธิญาณ อธิบายว่า ญาณในมรรค
ทั้ง ๔ ตรัสเรียกว่า สัมโพธิญาณ คือ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ...
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญาเครื่องพิจารณา ปัญญาเครื่องเห็นแจ้ง สัมมาทิฏฐิ
ผู้ปรารถนาจะรู้ ปรารถนาจะรู้ตาม ปรารถนาจะรู้เฉพาะ ปรารถนาจะรู้พร้อม
ปรารถนาจะบรรลุ ปรารถนาจะสัมผัส ปรารถนาจะทำให้แจ้งสัมโพธิญาณนั้น
รวมความว่า ผู้ปรารถนาสัมโพธิญาณ
คำว่า ธรรมอันสมควร อธิบายว่า
ธรรมอันสมควรแก่โพธิญาณ เป็นอย่างไร
คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติ
ไม่คลาดเคลื่อน การปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ การปฏิบัติธรรมถูกต้องตามหลักธรรม
การรักษาศีลให้บริบูรณ์ ความเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ความเป็นผู้รู้จักประมาณ
ในการบริโภคอาหาร ความเป็นผู้มีความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ สติสัมปชัญญะ
เหล่านี้ ตรัสเรียกว่า ธรรมอันสมควรแก่โพธิญาณ
อีกนัยหนึ่ง วิปัสสนาในส่วนเบื้องต้นแห่งมรรคทั้ง ๔ เหล่านี้ ตรัสเรียกว่า
ธรรมอันสมควรแก่โพธิญาณ รวมความว่า ธรรมอันสมควร... ผู้ปรารถนา
สัมโพธิญาณ
คำว่า นั้น ในคำว่า เราจักบอก... นั้น แก่เธอ ตามที่รู้ ได้แก่ ธรรมอัน
สมควรแก่โพธิญาณ
คำว่า เราจักบอก ได้แก่ จักพูด บอก คือ กล่าว แสดง บัญญัติ กำหนด
เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๘๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ตามที่รู้ ได้แก่ ตามที่รู้ คือ ตามที่ทราบ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ
แทงตลอด ได้แก่ เราจักบอกธรรมที่รู้ด้วยตนเอง ธรรมที่ประจักษ์แก่ตนเอง
มิใช่โดยอาการเชื่อผู้อื่นว่า ธรรมนี้เป็นดังนี้ ธรรมนี้เป็นดังนี้ มิใช่โดยการเล่าลือ
มิใช่โดยการถือสืบ ๆ กันมา มิใช่โดยการอ้างตำรา มิใช่โดยตรรกะ มิใช่โดยการ
อนุมาน มิใช่โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล มิใช่เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจ
ไว้แล้ว จักบอกธรรมที่รู้เฉพาะตนเอง ธรรมที่ประจักษ์แก่ตนเอง รวมความว่า เราจัก
บอก... นั้น แก่เธอ ตามที่รู้ ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า สารีบุตร)
เราจักบอกความผาสุก และธรรมอันสมควรนั้น
ของผู้เบื่อหน่าย ใช้สอยที่นั่งที่นอนอันสงัด
ผู้ปรารถนาสัมโพธิญาณ แก่เธอ ตามที่รู้
[๑๙๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า)
ภิกษุผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ
ประพฤติธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบ
ไม่พึงกลัวภัย ๕ อย่าง คือ
เหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน
สัมผัสจากมนุษย์และสัตว์ ๔ เท้า

ว่าด้วยภิกษุผู้เป็นนักปราชญ์
คำว่า ผู้เป็นนักปราชญ์ ในคำว่า ผู้เป็นนักปราชญ์... ไม่พึงกลัวภัย ๕ อย่าง
ได้แก่ เป็นนักปราชญ์ คือ เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ
มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส เฉลียวฉลาด ไม่พึงกลัว คือ ไม่พึง
หวาดเสียว ไม่พึงครั่นคร้าม ไม่พึงเกรงกลัว ไม่พึงหวาดกลัว ไม่พึงถึงความสะดุ้ง
ต่อภัย ๕ อย่าง ได้แก่ ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี พึงเป็นผู้ละภัยและ
ความหวาดกลัวได้แล้ว หมดความขนพองสยองเกล้า อยู่ รวมความว่า ผู้เป็นนักปราชญ์...
ไม่พึงกลัวภัย ๕ อย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๘๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ภิกษุ ในคำว่า ภิกษุ... มีสติ ประพฤติธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบ ได้แก่
ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือภิกษุผู้เป็นพระเสขะ
คำว่า มีสติ ได้แก่ มีสติด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณากายในกาย
๒. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
๓. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาจิตในจิต
๔. ชื่อว่ามีสติ เมื่อเจริญสติปัฏฐานพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย
ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ รวมความว่า มีสติ
คำว่า ประพฤติธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบ ได้แก่ ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบ ๔
ประการ คือ
๑. ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคือสีลสังวร
๒. ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคืออินทรียสังวร
๓. ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตา
๔. ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคือชาคริยานุโยค
ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคือสีลสังวร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์
สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ใน
สิกขาบททั้งหลาย พิจารณาเห็นความเน่าเสียภายใน ประพฤติธรรมอันเป็นส่วน
สุดรอบ คือสีลสังวรภายใน ไม่ทำลายกฎเกณฑ์ นี้ชื่อว่าธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคือ
สีลสังวร
ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคืออินทรียสังวร เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติ
เพื่อความสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อสำรวมอยู่ด้วยดีแล้ว จะเป็นเหตุให้บาปอกุศล-
ธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำไม่ได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมใน
จักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู... ดมกลิ่นทางจมูก... ลิ้มรสทางลิ้น... ถูกต้องโผฏฐัพพะ
ทางกาย... รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ก็ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความ
สำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อสำรวมอยู่ด้วยดีแล้ว จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๘๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำไม่ได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์
พิจารณาอาทิตตปริยายเทศนาอยู่ ประพฤติธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคืออินทรีย-
สังวรภายใน ไม่ทำลายเขตแดน นี้ ชื่อว่าธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคืออินทรียสังวร
ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงฉันอาหาร มิใช่เพื่อเล่น
มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อตบแต่ง มิใช่เพื่อประดับ แต่ฉันเพียงเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่
เพื่อให้ร่างกายนี้ดำเนินไปได้ เพื่อระงับความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์
อย่างเดียวเท่านั้น ด้วยมนสิการว่า เราจักบำบัดเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น
การดำเนินชีวิตของเรา ความไม่มีโทษและความอยู่สบายจักมีได้ด้วยวิธีการอย่างนี้
พิจารณาอาหารเปรียบกับน้ำมันสำหรับหยอดเพลา ผ้าปิดแผล และเนื้อของบุตร
ประพฤติธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตาภายใน ไม่ทำลายเขตแดน นี้
ชื่อว่าธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคือโภชเนมัตตัญญุตา
ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคือชาคริยานุโยค เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกางกั้นด้วยการเดิน
จงกรม และการนั่งตลอดวัน คือชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกางกั้นด้วยการ
เดินจงกรม และการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี สำเร็จการนอนอย่างราชสีห์ โดย
ตะแคงด้านขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กำหนดเวลาตื่นไว้ในใจ ตลอด
มัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้น ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกางกั้นด้วยการเดิน
จงกรม และการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี พิจารณาถึงความเป็นอยู่ของผู้มีราตรี
เดียวเจริญ ประพฤติธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือชาคริยานุโยคภายใน ไม่ทำลายเขตแดน
นี้ชื่อว่าธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบคือชาคริยานุโยค รวมความว่า ภิกษุ ... มีสติ ประพฤติ
ธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบ
คำว่า เหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน อธิบายว่า แมลงตาเหลือง
ตรัสเรียกว่าเหลือบ แมลงวันทุกชนิด ตรัสเรียกว่า สัตว์ไต่ตอม เพราะเหตุไร แมลงวัน
ทุกชนิด จึงตรัสเรียกว่า สัตว์ไต่ตอม แมลงวันเหล่านั้น บินชอนไชเรื่อยไป เพราะ
เหตุนั้น แมลงวันทุกชนิด จึงตรัสเรียกว่า สัตว์ไต่ตอม งูตรัสเรียกว่า สัตว์เลื้อยคลาน
รวมความว่า เหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๘๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า สัมผัสจากมนุษย์และสัตว์ ๔ เท้า อธิบายว่า โจร คนที่ก่อกรรมไว้
หรือยังมิได้ก่อกรรมไว้ ตรัสเรียกว่า สัมผัสจากมนุษย์
ชนเหล่านั้นพึงถามปัญหากับภิกษุบ้าง ยกเรื่องขึ้นด่า บริภาษ แช่ง เสียดสี
เบียดเบียน รังแก กดขี่ ข่มเหง ฆ่า เข่นฆ่า หรือทำการเข่นฆ่าบ้าง ความเข้าไป
เบียดเบียนจากมนุษย์ชนิดใดก็ตาม ชื่อว่า สัมผัสจากมนุษย์
คำว่า สัตว์ ๔ เท้า ได้แก่ สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว สุนัขป่า
โค กระบือ ช้าง สัตว์เหล่านั้น พึงย่ำยีบ้าง กัดกิน เบียดเบียน รังแก กดขี่ ข่มเหง
ฆ่า เข้าไปฆ่า หรือ ทำการเข้าไปฆ่าภิกษุบ้าง ภัยจากสัตว์ ๔ เท้าชนิดใดก็ตาม ชื่อว่า
การเข้าไปฆ่าจากสัตว์ ๔ เท้า รวมความว่า สัมผัสจากมนุษย์และสัตว์ ๔ เท้า
ด้วยเหตุนั้น พระผู้นี้พระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ
ประพฤติธรรมอันเป็นส่วนสุดรอบ
ไม่พึงกลัวภัย ๕ อย่าง คือ
เหลือบ สัตว์ไต่ตอม สัตว์เลื้อยคลาน
สัมผัสจากมนุษย์และสัตว์ ๔ เท้า
[๒๐๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุไม่พึงหวาดกลัวผู้ถือธรรมอื่น
แม้เห็นอารมณ์น่าหวาดเสียวเป็นอันมาก
ของผู้ถือธรรมอื่นเหล่านั้น ก็ไม่พึงหวาดกลัว
อนึ่ง ภิกษุผู้หมั่นแสวงหากุศล พึงปราบปรามอันตรายอื่น ๆ

ว่าด้วยสหธรรมิก
คำว่า ภิกษุไม่พึงหวาดกลัวผู้ถือธรรมอื่น แม้เห็นอารมณ์น่าหวาดเสียวเป็น
อันมากของผู้ถือธรรมอื่นเหล่านั้น อธิบายว่า เว้นสหธรรมมิก๑ ๗ จำพวก ชนเหล่า

เชิงอรรถ :
๑ สหธรรมิก ๗ ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา (ขุ.ม.อ. ๒๐๐/๔๖๔)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๘๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ใดก็ตามที่มิได้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ตรัสเรียกว่า ผู้ถือธรรมอื่น
ชนเหล่านั้นพึงถามปัญหากับภิกษุบ้าง พึงยกเรื่องขึ้นด่า บริภาษ แช่ง เสียดสี
เบียดเบียน รังแก กดขี่ ข่มเหง ฆ่า เข่นฆ่า หรือทำการเข่นฆ่า ภิกษุได้เห็น หรือได้
ยินอารมณ์อันน่าหวาดเสียวเป็นอันมากของชนผู้ถือธรรมอื่นเหล่านั้นแล้ว ไม่พึง
หวั่นไหว ไม่พึงสั่นเทา ไม่พึงกระสับกระส่าย ไม่พึงหวาดเสียว ไม่พึงสะดุ้ง ไม่พึง
ครั่นคร้าม ไม่พึงเกรงกลัว ไม่พึงหวาดกลัว ไม่พึงถึงความสะดุ้ง ได้แก่ พึงเป็นผู้ไม่
ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี พึงเป็นผู้ละภัยและความหวาดกลัวได้แล้ว
หมดความขนพองสยองเกล้าอยู่ รวมความว่า ภิกษุไม่พึงหวาดกลัวผู้ถือธรรมอื่น
แม้เห็นอารมณ์น่าหวาดเสียวเป็นอันมากของผู้ถือธรรมอื่นเหล่านั้น
คำว่า อนึ่ง ภิกษุผู้หมั่นแสวงหากุศล พึงปราบปรามอันตรายอื่น ๆ
อธิบายว่า อนึ่ง ยังมีอันตรายอื่น ๆ ที่ภิกษุพึงปราบปราม ครอบงำ กำจัด ขับไล่
ย่ำยีอยู่อีก
คำว่า อันตราย๑ ได้แก่ อันตราย ๒ อย่าง คือ (๑) อันตรายที่ปรากฏ
(๒) อันตรายที่ไม่ปรากฏ ... ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศลธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ
อย่างนี้บ้าง
คำว่า ภิกษุผู้หมั่นแสวงหากุศล อธิบายว่า ภิกษุผู้แสวงหา คือ เสาะหา ค้นหา
การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติเหมาะสม การปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก การปฏิบัติไม่ผิด
การปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ ... อริยมรรคมีองค์ ๘ นิพพาน และปฏิปทาเครื่อง
ดำเนินไปสู่นิพพาน พึงปราบปราม ครอบงำ กำจัด ขับไล่ ย่ำยีอันตราย รวมความว่า
อนึ่ง ภิกษุผู้หมั่นแสวงหากุศล พึงปราบปรามอันตรายอื่น ๆ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุไม่พึงหวาดกลัวผู้ถือธรรมอื่น
แม้เห็นอารมณ์น่าหวาดเสียวเป็นอันมาก
ของผู้ถือธรรมอื่นเหล่านั้น ก็ไม่พึงหวาดกลัว
อนึ่ง ภิกษุผู้หมั่นแสวงหากุศล พึงปราบปรามอันตรายอื่น ๆ

เชิงอรรถ :
๑ อันตราย ดูรายละเอียดข้อ ๕/๑๖-๒๑

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๘๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
[๒๐๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุถูกผัสสะแห่งความเจ็บป่วยและความหิวกระทบแล้ว
พึงอดกลั้นความหนาว หรือความร้อน
ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้ว โดยอาการมากอย่าง
ก็ไม่ให้โอกาส พึงทำความเพียรและความบากบั่นให้มั่นคง
คำว่า ภิกษุถูกผัสสะแห่งความเจ็บป่วยและความหิวกระทบแล้ว อธิบายว่า
ผัสสะแห่งโรค ตรัสเรียกว่า ผัสสะแห่งความเจ็บป่วย ภิกษุถูกผัสสะแห่งโรคกระทบแล้ว
คือ ครอบงำ กลุ้มรุม ประกอบแล้ว ได้แก่ ถูกโรคทางตา ... โรคทางหู ... โรคทางจมูก
... โรคทางลิ้น ... โรคทางกาย ... ถูกสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อย
คลานกระทบแล้ว คือ ครอบงำ กลุ้มรุม ประกอบแล้ว ความอยากกิน ตรัสเรียกว่า
ความหิว ภิกษุนั้นเป็นผู้ถูกความหิวกระทบแล้ว คือ ครอบงำ กลุ้มรุม ประกอบแล้ว
รวมความว่า ภิกษุถูกผัสสะแห่งความเจ็บป่วยและความหิวกระทบแล้ว

ว่าด้วยความหนาวมีด้วยเหตุ ๒ อย่าง
คำว่า ความหนาว ในคำว่า พึงอดกลั้นความหนาว หรือความร้อน อธิบายว่า
ความหนาวย่อมมีด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) ความหนาวด้วยอำนาจธาตุกำเริบภายใน
(๒) ความหนาวด้วยอำนาจฤดูภายนอก
คำว่า ความร้อน อธิบายว่า ความร้อนย่อมมีด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) ความ
ร้อนด้วยอำนาจธาตุกำเริบภายใน (๒) ความร้อนด้วยอำนาจฤดูภายนอก รวมความ
ว่า ความหนาว ความร้อน
คำว่า พึงอดกลั้น อธิบายว่า ภิกษุพึงเป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน
ความหิว ความกระหาย สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน พึง
เป็นผู้อดกลั้นต่อถ้อยคำชั่วร้าย มุ่งร้าย ทุกขเวทนาทางกาย ที่เกิดขึ้น กล้า แข็ง เผ็ด
ร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ พรากชีวิตไปได้ รวมความว่า พึงอดกลั้นความหนาว
หรือความร้อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๘๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้น ในคำว่า ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้น
กระทบแล้ว โดยอาการมากอย่าง ก็ไม่ให้โอกาส อธิบายว่า ถูกผัสสะแห่งความ
เจ็บป่วย ความหิว ความหนาว และความร้อนกระทบแล้ว คือ ครอบงำ กลุ้มรุม
ประกอบแล้ว รวมความว่า ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้ว
คำว่า โดยอาการมากอย่าง ได้แก่ ถูกกระทบแล้ว คือ ครอบงำ กลุ้มรุม
ประกอบแล้ว โดยอเนกประการ รวมความว่า ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้ว
โดยอาการมากอย่าง
คำว่า ก็ไม่ให้โอกาส ได้แก่ ไม่เปิดโอกาสให้วิญญาณที่เกิดพร้อมกับอภิสังขาร
จึงชื่อว่า ไม่ให้โอกาส อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ไม่เปิดโอกาสให้กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต จึงชื่อว่าไม่ให้โอกาส
อย่างนี้บ้าง รวมความว่า ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้ว โดยอาการมากอย่าง
ก็ไม่ให้โอกาส
คำว่า พึงทำความเพียรและความบากบั่นให้มั่นคง อธิบายว่า การปรารภ
ความเพียร การก้าวออก การก้าวไปข้างหน้า การย่างขึ้นไป ความพยายาม
ความอุตสาหะ ความขยัน ความไม่ถอยกลับ ความมั่นคง ความทรงไว้ ความบาก
บั่นไม่ย่อหย่อน ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ ความประคองธุระไว้
วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ สัมมาวายามะ ตรัสเรียกว่า ความเพียรและความบากบั่น
คำว่า พึงทำความเพียรและความบากบั่นให้มั่นคง อธิบายว่า พึงทำ
ความเพียร และความบากบั่นให้มั่นคง คือ พึงทำให้หนักแน่น ได้แก่ พึงเป็นผู้มี
การถือปฏิบัติมั่นคง มีการถือปฏิบัติแน่วแน่ รวมความว่า พึงทำความเพียรและ
ความบากบั่นให้มั่นคง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุถูกผัสสะแห่งความเจ็บป่วยและความหิวกระทบแล้ว
พึงอดกลั้นความหนาว หรือความร้อน
ภิกษุนั้นถูกผัสสะเหล่านั้นกระทบแล้ว โดยอาการมากอย่าง
ก็ไม่ให้โอกาส พึงทำความเพียรและความบากบั่นให้มั่นคง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๘๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
[๒๐๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุไม่พึงขโมย ไม่พึงพูดเท็จ
พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งผู้สะดุ้งและผู้มั่นคง
เมื่อใด ภิกษุรู้แจ้งความขุ่นมัวแห่งใจ
เมื่อนั้น เธอพึงบรรเทาเสียด้วยมนสิการว่า
นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ
คำว่า ไม่พึงขโมย ในคำว่า ไม่พึงขโมย ไม่พึงพูดเท็จ อธิบายว่า ภิกษุ
ในธรรมวินัยนี้ พึงเป็นผู้ละอทินนาทาน เว้นขาดจากอทินนาทาน รับเอาแต่ของที่
เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ดำรงตนอยู่อย่างสะอาด ไม่ขโมย รวมความว่า ไม่พึง
ขโมย
คำว่า ไม่พึงพูดเท็จ อธิบายว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พึงเป็นผู้ละการกล่าวเท็จ
เว้นขาดจากการกล่าวเท็จได้แล้ว คือ เป็นคนพูดจริง ตั้งมั่นในความสัตย์ มีถ้อยคำ
มั่นคง เชื่อถือได้ ไม่กล่าวคำหลอกลวงชาวโลก รวมความว่า ไม่พึงขโมย ไม่พึงพูดเท็จ

ว่าด้วยการแผ่เมตตา
คำว่า พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งผู้สะดุ้งและผู้มั่นคง อธิบายว่า
คำว่า เมตตา ได้แก่ ความรัก กิริยาที่รัก ภาวะที่รัก ความเอ็นดู กิริยาที่เอ็นดู
ภาวะที่เอ็นดู ความปรารถนาเกื้อกูลกัน ความอนุเคราะห์ ความไม่พยาบาท ความ
ไม่ปองร้าย กุศลมูลคืออโทสะในหมู่สัตว์
คำว่า ผู้สะดุ้ง อธิบายว่า เหล่าสัตว์ยังละตัณหาอันทำให้สะดุ้งไม่ได้ ยังละภัย
และความหวาดกลัวไม่ได้ เพราะเหตุไร สัตว์เหล่านั้น จึงตรัสเรียกว่า ผู้สะดุ้ง
สัตว์เหล่านั้น ยังสะดุ้ง คือ ครั่นคร้าม เกรงกลัว หวาดกลัว ถึงความสะดุ้ง
เพราะเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้น จึงตรัสเรียกว่า ผู้สะดุ้ง
คำว่า ผู้มั่นคง อธิบายว่า เหล่าสัตว์ที่ละตัณหาอันทำให้สะดุ้งได้แล้ว ละภัย
และความหวาดกลัวได้แล้ว เพราะเหตุไร สัตว์เหล่านั้นจึงตรัสเรียกว่า ผู้มั่นคง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๙๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
สัตว์เหล่านั้น ไม่สะดุ้ง คือ ไม่ครั่นคร้าม ไม่เกรงกลัว ไม่หวาดกลัว ไม่ถึงความ
สะดุ้ง เพราะเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้น จึงตรัสเรียกว่า ผู้มั่นคง
คำว่า พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งผู้สะดุ้งและผู้มั่นคง อธิบายว่า พึงแผ่ คือ
ขยายเมตตา ได้แก่ พึงเป็นผู้มีจิตประกอบด้วยเมตตา อันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มี
ขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปยังสัตว์ทั้งผู้สะดุ้งและผู้มั่นคงอยู่
รวมความว่า พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งผู้สะดุ้งและผู้มั่นคง
คำว่า เมื่อใด ในคำว่า เมื่อใด ภิกษุรู้แจ้งความขุ่นมัวแห่งใจ ได้แก่ ในกาลใด
คำว่า แห่งใจ อธิบายว่า จิต มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์
วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ อันเกิดจากผัสสะเป็นต้นนั้น จิตขุ่นมัว
เศร้าหมอง ยุ่งยาก วุ่นวาย หวั่นไหว หมุนวน ไม่สงบด้วยกายทุจริต จิตขุ่นมัว
เศร้าหมอง ยุ่งยาก วุ่นวาย หวั่นไหว หมุนวน ไม่สงบด้วยวจีทุจริต ... มโนทุจริต ...
ราคะ... โทสะ... โมหะ... โกธะ... อุปนาหะ... มักขะ... ปฬาสะ... อิสสา... มัจฉริยะ...
มายา... สาเถยยะ... ถัมภะ... สารัมภะ... มานะ... อติมานะ... มทะ... ปมาทะ...
กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อน
ทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ... อกุสลาภิสังขารทุกประเภท
คำว่า เมื่อใด ภิกษุรู้แจ้งความขุ่นมัวแห่งใจ อธิบายว่า รู้ คือ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง
รู้เฉพาะ แทงตลอดความที่จิตขุ่นมัว รวมความว่า เมื่อใด ภิกษุรู้แจ้งความขุ่นมัว
แห่งใจ
คำว่า เมื่อนั้น เธอพึงบรรเทาเสียด้วยมนสิการว่า นี้ เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้
มีกรรมดำ อธิบายว่า
คำว่า ผู้มีกรรมดำ ได้แก่ มารผู้มีกรรมดำ คือ ผู้ยิ่งใหญ่ พาไปสู่ความตาย ไม่
ให้สัตว์หลุดพ้น เป็นเผ่าพันธุ์ของผู้ประมาท ภิกษุพึงละ บรรเทา คือ ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีก ด้วยมนสิการว่า นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ คือ เป็นฝัก
ฝ่ายแห่งมาร เป็นบ่วงแห่งมาร เป็นเบ็ดแห่งมาร เป็นเหยื่อแห่งมาร เป็นวิสัยแห่งมาร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๙๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
เป็นที่อยู่ของมาร เป็นโคจรของมาร เป็นเครื่องผูกของมาร รวมความว่า เมื่อนั้น
เธอพึงบรรเทาเสียด้วยมนสิการว่า นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พึงละ บรรเทา คือ ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกด้วย
มนสิการว่า นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ เป็นฝักฝ่ายแห่งมาร เป็นฝักฝ่าย
แห่งอกุศล เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นเหตุให้เป็นไปในนรก เป็นเหตุ
ให้เป็นไปในกำเนิดเดรัจฉาน เป็นเหตุให้เป็นไปในเปตวิสัย รวมความว่า เมื่อนั้น
เธอพึงบรรเทาเสียด้วยมนสิการว่า นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ อย่างนี้บ้าง
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุไม่พึงขโมย ไม่พึงพูดเท็จ
พึงแผ่เมตตาไปยังสัตว์ทั้งผู้สะดุ้งและผู้มั่นคง
เมื่อใด ภิกษุรู้แจ้งความขุ่นมัวแห่งใจ
เมื่อนั้น เธอพึงบรรเทาเสียด้วยมนสิการว่า
นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งมารผู้มีกรรมดำ
[๒๐๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุไม่พึงลุอำนาจความโกรธและความดูหมิ่น
ทั้งพึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นเหล่านั้น ดำรงอยู่
แต่เมื่อจะกำราบ ก็พึงครอบงำสัตว์หรือสังขาร
ที่เป็นที่รักหรือไม่เป็นที่รัก โดยแท้

ว่าด้วยความโกรธและความดูหมิ่น
คำว่า ความโกรธ ในคำว่า ภิกษุไม่พึงลุอำนาจความโกรธและความดูหมิ่น
ได้แก่ ใจปองร้าย มุ่งร้าย ... ความดุร้าย ความเกรี้ยวกราด ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต
คำว่า ความดูหมิ่น อธิบายว่า คนบางคนในโลกนี้ดูหมิ่นผู้อื่น เพราะชาติบ้าง
เพราะโคตรบ้าง ... หรือเพราะเรื่องอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วบ้าง
คำว่า ภิกษุไม่พึงลุอำนาจความโกรธและความดูหมิ่น อธิบายว่า ไม่พึง
ลุอำนาจแห่งความโกรธและความดูหมิ่น คือ พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๙๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ความไม่มีอีกซึ่งความโกรธและความดูหมิ่น รวมความว่า ภิกษุไม่พึงลุอำนาจความ
โกรธและความดูหมิ่น
คำว่า ทั้งพึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นเหล่านั้น ดำรงอยู่ อธิบายว่า
รากแห่งความโกรธ เป็นอย่างไร
คือ อวิชชา(ความไม่รู้) อโยนิโสมนสิการ(ความไม่ทำไว้ในใจโดยแยบคาย)
อัสมิมานะ(ความถือตัว) อหิริกะ(ความไม่ละอาย) อโนตตัปปะ(ความไม่เกรงกลัว)
อุทธัจจะ(ความฟุ้งซ่าน) แต่ละอย่างล้วนเป็นราก นี้ชื่อว่ารากแห่งความโกรธ
รากแห่งความดูหมิ่น เป็นอย่างไร
คือ อวิชชา อโยนิโสมนสิการ อัสมิมานะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ แต่ละ
อย่างล้วนเป็นราก นี้ชื่อว่ารากแห่งความดูหมิ่น
คำว่า ทั้งพึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นเหล่านั้น ดำรงอยู่ อธิบาย
ว่า พึงขุด คือ ถอน ดึง ฉุด กระชาก ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความ
ไม่มีอีกซึ่งรากแห่งความโกรธและความดูหมิ่น ดำรงอยู่ คือ ดำรงมั่น รวมความว่า
ทั้งพึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นเหล่านั้น ดำรงอยู่
คำว่า แต่ ในคำว่า แต่เมื่อจะกำราบ ก็พึงครอบงำสัตว์หรือสังขารที่เป็น
ที่รักหรือไม่เป็นที่รัก โดยแท้ เป็นบทสนธิ เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์
เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความสละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า แต่ นี้ เป็นคำ
เชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า เป็นที่รัก ได้แก่ สิ่งเป็นที่รัก ๒ จำพวก คือ (๑) สัตว์ (๒) สังขาร
สัตว์เหล่าไหนเป็นที่รัก สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เป็นผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่เป็น
ประโยชน์ ปรารถนาแต่สิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาแต่ความผาสุก ปรารถนาแต่ความ
หลุดพ้นจากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว บุตร ธิดา มิตร
อำมาตย์ ญาติ หรือผู้ร่วมสายโลหิตของผู้นั้น สัตว์เหล่านี้ ชื่อว่าสิ่งเป็นที่รัก
สังขารเหล่าไหนเป็นที่รัก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าพอใจ สังขาร
เหล่านี้ ชื่อว่าสิ่งเป็นที่รัก
คำว่า ไม่เป็นที่รัก ได้แก่ สิ่งไม่เป็นที่รัก ๒ จำพวก คือ (๑) สัตว์ (๒) สังขาร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๙๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
สัตว์เหล่าไหนไม่เป็นที่รัก สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้เป็นผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่มิใช่
ประโยชน์ ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาแต่ความไม่ผาสุก ไม่ปรารถนา
ความหลุดพ้นจากโยคะ ปรารถนาจะปลงชีวิตของผู้นั้น สัตว์เหล่านี้ ชื่อว่าไม่เป็น
ที่รัก
สังขารเหล่าไหนไม่เป็นที่รัก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ไม่น่าพอใจ
สังขารเหล่านี้ ชื่อว่าไม่เป็นที่รัก
คำว่า โดยแท้ เป็นคำกล่าวโดยนัยเดียว เป็นคำกล่าวโดยไม่สงสัย เป็นคำ
กล่าวโดยไม่เคลือบแคลง เป็นคำกล่าวโดยไม่เป็น ๒ นัย เป็นคำกล่าวโดยไม่เป็น
๒ อย่าง เป็นคำกล่าวโดยรัดกุม เป็นคำกล่าวโดยไม่ผิด คำว่า โดยแท้ นี้ เป็นคำ
กล่าวที่กำหนดไว้แน่แล้ว
คำว่า แต่เมื่อจะกำราบ ก็พึงครอบงำสัตว์หรือสังขารที่เป็นที่รักหรือ
ไม่เป็นที่รัก โดยแท้ อธิบายว่า เมื่อจะครอบงำก็พึงกำราบ หรือ เมื่อจะกำราบ
ก็พึงครอบงำสัตว์และสังขารทั้งที่เป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก ทั้งที่เป็นสุขและเป็นทุกข์
ทั้งที่น่ายินดีและไม่น่ายินดี ทั้งที่เป็นโสมนัสและโทมนัส ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และ
อนิฏฐารมณ์ รวมความว่า แต่เมื่อจะกำราบ ก็พึงครอบงำสัตว์หรือสังขารที่เป็น
ที่รักหรือไม่เป็นที่รัก โดยแท้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุไม่พึงลุอำนาจความโกรธและความดูหมิ่น
ทั้งพึงขุดรากความโกรธและความดูหมิ่นเหล่านั้น ดำรงอยู่
แต่เมื่อจะกำราบ ก็พึงครอบงำสัตว์หรือสังขาร
ที่เป็นที่รักหรือไม่เป็นที่รักโดยแท้
[๒๐๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุผู้มีปีติในเรื่องดีงาม
พึงเชิดชูปัญญา พึงข่มอันตรายเหล่านั้น
พึงปราบความไม่ยินดีในที่นอนอันสงัด
ทั้งปราบธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญ ๔ ประการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๙๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการมีปีติและการเชิดชูปัญญา
คำว่า ปัญญา ในคำว่า ภิกษุผู้มีปีติในเรื่องดีงาม พึงเชิดชูปัญญา ได้แก่
ความรู้ทั่ว คือ กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกเฟ้น ... ความไม่หลงงมงาย
ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
คำว่า พึงเชิดชูปัญญา อธิบายว่า ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เที่ยวเชิดชู
ปัญญา มีปัญญาเป็นธงชัย มีปัญญาเป็นยอดธง มีปัญญาเป็นใหญ่ มากด้วยการ
เลือกเฟ้น มากด้วยการตรวจสอบ มากด้วยปัญญาเพ่งพินิจ มากด้วยปัญญาเพ่ง
พิจารณา อยู่ด้วยปัญญาแจ่มแจ้ง เที่ยวไปด้วยปัญญานั้น มากด้วยปัญญานั้น หนัก
ในปัญญานั้น เอนไปในปัญญานั้น โอนไปในปัญญานั้น โน้มไปในปัญญานั้น น้อมใจ
เชื่อปัญญานั้น มีปัญญานั้นเป็นใหญ่ รวมความว่า พึงเชิดชูปัญญา อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเดินอยู่ก็รู้ว่า “กำลังเดิน” ยืนอยู่ก็รู้ว่า “กำลังยืน” นั่งอยู่ก็รู้ว่า
“กำลังนั่ง” นอนอยู่ก็รู้ว่า “กำลังนอน” หรือเธอดำรงกายไว้ด้วยอิริยาบถอย่างใด ๆ ก็รู้
อิริยาบถอย่างนั้น ๆ รวมความว่า พึงเชิดชูปัญญา อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ ... ในการแลดู
การเหลียวดู ... ในการคู้เข้า การเหยียดออก ... ในการครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร ...
ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้มรส การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ทำความ
รู้สึกตัวในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง รวมความว่า
พึงเชิดชูปัญญา อย่างนี้บ้าง
คำว่า ผู้มีปีติในเรื่องดีงาม ได้แก่ ปีติ คือ ปราโมทย์ เกิดด้วยอำนาจพุทธานุสติ
คำว่า ผู้มีปีติในเรื่องดีงาม อธิบายว่า ปีติ คือ ปราโมทย์ เกิดด้วยอำนาจ
ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ อานาปานัสสติ
มรณสติ กายคตาสติ อุปสมานุสสติ ชื่อว่ามีปีติในเรื่องดีงาม รวมความว่า ภิกษุผู้มี
ปีติในเรื่องดีงามพึงเชิดชูปัญญา
คำว่า อันตราย ในคำว่า พึงข่มอันตรายเหล่านั้น ได้แก่ อันตราย ๒ อย่าง
คือ (๑) อันตรายที่ปรากฏ (๒) อันตรายที่ไม่ปรากฏ ... เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๙๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ปรากฏ ... เหล่านี้เรียกว่า อันตรายที่ไม่ปรากฏ ... ชื่อว่าอันตราย เพราะเป็นอกุศล
ธรรมที่อาศัยอยู่ในอัตภาพ อย่างนี้บ้าง
คำว่า พึงข่มอันตรายเหล่านั้น อธิบายว่า พึงข่ม คือ ครอบงำ ท่วมทับ
รัดรึง ย่ำยีอันตรายเหล่านั้นให้ได้ รวมความว่า พึงข่มอันตรายเหล่านั้น
คำว่า ความไม่ยินดี ในคำว่า พึงปราบความไม่ยินดีในที่นอนอันสงัด ได้แก่
ความไม่ยินดี คือความไม่ใยดี ความไม่ยินดียิ่ง ความไม่ชอบใจ ความเบื่อหน่าย
ความระอา
คำว่า ในที่นอนอันสงัด อธิบายว่า พึงปราบ คือ พึงครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง
ย่ำยีความไม่ยินดีในเสนาสนะอันสงัด หรือในธรรมอันเป็นกุศลยิ่งอย่างใดอย่างหนึ่ง
รวมความว่า พึงปราบความไม่ยินดีในที่นอนอันสงัด
คำว่า ทั้งปราบธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญ ๔ ประการ อธิบาย
ว่า พึงปราบ คือข่ม ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง ย่ำยีธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความ
คร่ำครวญ ๔ ประการ รวมความว่า ทั้งปราบธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญ
๔ ประการ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุผู้มีปีติในเรื่องดีงาม
พึงเชิดชูปัญญา พึงข่มอันตรายเหล่านั้น
พึงปราบความไม่ยินดีในที่นอนอันสงัด
ทั้งปราบธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญ ๔ ประการ
[๒๐๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
เราจักฉันอะไรเล่า หรือจักฉันที่ไหน
คืนนี้ เรานอนลำบากแล้วหนอ เราจักนอนที่ไหนเล่า
ภิกษุผู้เป็นเสขะ พึงกำจัดวิตกอันเป็นที่ตั้ง
แห่งความคร่ำครวญเหล่านี้ เป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๙๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ว่าด้วยความวิตกเป็นเหตุรำพัน
คำว่า เราจักฉันอะไรเล่า ในคำว่า เราจักฉันอะไรเล่า หรือจักฉันที่ไหน
อธิบายว่า เราจักฉันอะไร คือ ข้าว ขนมกุมมาส ข้าวผง ปลา หรือเนื้อ รวมความว่า
เราจักฉันอะไรเล่า
คำว่า หรือจักฉันที่ไหน อธิบายว่า เราจักฉันที่ไหน คือ ที่ตระกูลกษัตริย์
ตระกูลพราหมณ์ ตระกูลแพศย์ หรือตระกูลศูทร รวมความว่า เราจักฉันอะไรเล่า
หรือจักฉันที่ไหน
คำว่า คืนนี้ เรานอนลำบากแล้วหนอ เราจักนอนที่ไหนเล่า อธิบายว่า คืนนี้
เรานอนลำบากบนแผ่นกระดาน เสื่อ แผ่นหนัง เครื่องปูลาดทำด้วยหญ้า เครื่องปู
ลาดทำด้วยใบไม้ หรือเครื่องปูลาดทำด้วยฟาง คืนต่อมา เราจักนอนให้สบาย ที่ไหน
คือ บนเตียง ตั่ง ฟูก หมอน ในวิหาร เรือนหลังคาด้านเดียว ปราสาท เรือนโล้น
หรือถ้ำ รวมความว่า คืนนี้ เรานอนลำบากแล้วหนอ เราจักนอนที่ไหนเล่า
คำว่า วิตกเหล่านี้ ในคำว่า วิตกอันเป็นที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญเหล่านี้
ได้แก่ วิตกเกี่ยวกับบิณฑบาต๑ ๒ อย่าง วิตกเกี่ยวกับเสนาสนะ๒ ๒ อย่าง
คำว่า อันเป็นที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญ ได้แก่ เป็นที่ตั้งแห่งการปรับทุกข์ เป็น
ที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญ รวมความว่า วิตกอันเป็นที่ตั้งแห่งความคร่ำครวญเหล่านี้

เชิงอรรถ :
๑ บิณฑบาต ๒ อย่าง เกี่ยวกับฉันบิณฑบาตแล้ว กุศลเกิดขึ้นหรืออกุศลเกิดขึ้น ภิกษุควรพิจารณาว่า
จะเลือกอย่างใดใน ๒ อย่าง
(๑) เมื่อภิกษุฉันบิณฑบาตเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญ กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อม บิณฑบาตเช่นนั้น
ภิกษุไม่ควรฉัน
(๒) เมื่อภิกษุฉันบิณฑบาตเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อม กุศลธรรมทั้งหลายเจริญ บิณฑบาตเช่นนั้น
ภิกษุควรฉัน (ม.อุ. ๑๔/๑๒๒/๑๐๙)
๒ เสนาสนะ ๒ อย่าง เกี่ยวกับการใช้สอยเสนาสนะแล้ว กุศลเกิดขึ้นหรืออกุศลเกิดขึ้น ภิกษุควรพิจารณา
ว่าจะเลือกอย่างใดใน ๒ อย่าง
(๑) เมื่อภิกษุใช้สอยเสนาสนะเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญ กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อม เสนาสนะ
เช่นนั้นภิกษุไม่ควรใช้สอย
(๒) เมื่อภิกษุใช้สอยเสนาสนะเช่นใด อกุศลธรรมทั้งหลายเสื่อม กุศลธรรมทั้งหลายเจริญ เสนาสนะ
เช่นนั้นภิกษุควรใช้สอย (ม.อุ. ๑๔/๑๒๒/๑๐๙)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๙๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ภิกษุผู้เป็นเสขะ ในคำว่า ภิกษุผู้เป็นเสขะ พึงกำจัด ... เป็นผู้ไม่มี
กังวลท่องเที่ยวไป อธิบายว่า เพราะเหตุไร จึงตรัสเรียกว่าเสขะ เพราะกำลังศึกษา
จึงชื่อว่าเสขะ กำลังศึกษาอะไร กำลังศึกษาอธิสีลสิกขาบ้าง อธิจิตตสิกขาบ้าง
อธิปัญญาสิกขาบ้าง อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไร ... นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
สิกขา ๓ เหล่านี้ เมื่อพระเสขะนึกถึง ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่ากำลัง
ศึกษา เมื่อเห็น ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อพิจารณา ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต
ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อน้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อประคองความเพียร
ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อตั้งสติ ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อตั้งใจมั่น ชื่อว่ากำลังศึกษา
เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่ากำลังศึกษา
เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่า
กำลังศึกษา เมื่อเจริญธรรมที่ควรเจริญ ชื่อว่ากำลังศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควร
ทำให้แจ้ง ชื่อว่ากำลังศึกษา คือ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ
สมาทานศึกษา เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า เสขะ
พระเสขะพึงศึกษาอธิสีลสิกขาบ้าง อธิจิตตสิกขาบ้าง อธิปัญญาสิกขาบ้าง เพื่อ
กำจัด บรรเทา ละ สงบ สลัดทิ้ง ระงับ
สิกขา ๓ เหล่านี้ เมื่อพระเสขะนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ... เมื่อทำให้
แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าพึงศึกษา คือ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อ
โดยชอบ สมาทานประพฤติ รวมความว่า ภิกษุผู้เป็นเสขะ พึงกำจัด
คำว่า เป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป อธิบายว่า
ภิกษุเป็นผู้มีความกังวลท่องเที่ยวไป เป็นอย่างไร
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความกังวลเรื่องตระกูล ... ความ
กังวลเรื่องหมู่คณะ ... ความกังวลเรื่องอาวาส ... ความกังวลเรื่องจีวร ... ความกังวล
เรื่องบิณฑบาต ... ความกังวลเรื่องเสนาสนะ เป็นผู้ประกอบด้วยความกังวลเรื่อง
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีความกังวลท่องเที่ยวไป เป็นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป เป็นอย่างไร
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยความกังวลเรื่องตระกูล ไม่ประกอบ
ด้วยความกังวลเรื่องหมู่คณะ อาวาส จีวร บิณฑบาตและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป เป็นอย่างนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๙๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
(สมจริงดังภาษิตว่า)
เหล่าภิกษุไปแคว้นมคธ ไปแคว้นโกศล
แต่บางพวกเที่ยวไปไม่พร้อมกับหมู่ จากแคว้นวัชชี
เหมือนเหล่ามฤค เป็นผู้ไม่มีกังวล อยู่๑
การประพฤติตนเป็นคนมักน้อย เป็นความดี
การประพฤติสุจริต เป็นความดี
การปฏิบัติเพื่อละกามคุณ ๕ ทุกเมื่อ เป็นความดี
การถามสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นความดี
การปฏิบัติตามโอวาทโดยเคารพ เป็นความดี
กิจมีการฟังเป็นต้น เป็นเครื่องหมายความเป็นสมณะ
ของผู้หมดความกังวล๒
รวมความว่า ภิกษุผู้เป็นเสขะพึงกำจัด ... เป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป ด้วยเหตุนั้น
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
เราจักฉันอะไรเล่า หรือจักฉันที่ไหน
คืนนี้ เรานอนลำบากแล้วหนอ เราจักนอนที่ไหนเล่า
ภิกษุผู้เป็นเสขะ พึงกำจัดวิตกอันเป็นที่ตั้ง
แห่งความคร่ำครวญเหล่านี้ เป็นผู้ไม่มีกังวลท่องเที่ยวไป
[๒๐๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้
ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาลแล้ว
พึงรู้จักประมาณเพื่อสันโดษ
ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น
เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน
แม้ถูกด่าก็ไม่พึงกล่าววาจาหยาบ

เชิงอรรถ :
๑ สํ.ส. ๑๕/๒๒๔/๒๔๐
๒ ขุ.เถร.(แปล) ๒๖/๓๖/๓๑๖

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๕๙๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ว่าด้วยการได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มโดยชอบธรรม
คำว่า อาหาร ในคำว่า ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาลแล้ว ได้แก่ ข้าวสุก
ขนมกุมมาส ข้าวผง ปลา เนื้อ
คำว่า เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ จีวร ๖ ชนิด คือ
๑. โขมะ ๒. กัปปาสิกะ
๓. โกเสยยะ ๔. กัมพล
๕. สาณะ ๖. ภังคะ
คำว่า ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาลแล้ว อธิบายว่า ได้แล้ว คือ ได้รับแล้ว
สมหวังแล้ว ประสบแล้ว ได้เฉพาะแล้วซึ่งจีวร บิณฑบาต มิใช่ด้วยการโกหก มิใช่
ด้วยการพูดเลียบเคียง มิใช่ด้วยการทำนิมิต มิใช่ด้วยการกำจัดคุณเขา มิใช่ด้วยการ
ต่อลาภด้วยลาภ มิใช่ด้วยการให้ไม้ มิใช่ด้วยการให้ไม้ไผ่ มิใช่ด้วยการให้ใบไม้ มิใช่
ด้วยการให้ดอกไม้ มิใช่ด้วยการให้ผลไม้ มิใช่ด้วยการให้น้ำอาบ มิใช่ด้วยการให้แป้งจุรณ์
มิใช่ด้วยการให้ดินสอพอง มิใช่ด้วยการให้ไม้สีฟัน มิใช่ด้วยการให้น้ำบ้วนปาก มิใช่
ด้วยคำพูดมุ่งให้เขารักตน มิใช่ด้วยคำพูดเหลาะแหละเหมือนแกงถั่ว มิใช่ด้วยกิริยา
ประจบ มิใช่ด้วยการขัดตั่งตีสนิทเขา มิใช่ด้วยวิชาดูพื้นที่ มิใช่ด้วยเดรัจฉานวิชา มิใช่
ด้วยวิชาทำนายลักษณะอวัยวะ มิใช่ด้วยวิชาดูฤกษ์ยาม มิใช่ด้วยการเดินทำหน้าที่ทูต
มิใช่ด้วยการเดินเป็นคนรับใช้ มิใช่ด้วยการเดินสื่อสาร มิใช่ด้วยเวชกรรม มิใช่ด้วย
นวกรรม มิใช่ด้วยการใช้ก้อนข้าวตอบแทนก้อนข้าว มิใช่ด้วยการให้และการเพิ่มให้
แต่ได้แล้ว คือ ได้รับแล้ว สมหวังแล้ว ประสบแล้ว ได้เฉพาะแล้ว โดยชอบธรรม
โดยยุติธรรม รวมความว่า ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาลแล้ว

ว่าด้วยความรู้จักประมาณ ๒ อย่าง
คำว่า ภิกษุนั้น ... พึงรู้จักประมาณ ในคำว่า ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้ ...
พึงรู้จักประมาณเพื่อสันโดษ อธิบายว่า พึงรู้จักประมาณโดยเหตุ ๒ อย่าง คือ
(๑) โดยการรับ (๒) โดยการบริโภค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๐๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ภิกษุรู้จักประมาณโดยการรับ เป็นอย่างไร
คือ แม้เมื่อทายกถวายน้อย ภิกษุก็รับเพื่อความเอ็นดูตระกูล เพื่อการรักษา
ตระกูล เพื่อการอนุเคราะห์ตระกูล แม้เมื่อทายกถวายมาก ภิกษุก็รับจีวรพอคุ้มครอง
กาย รับบิณฑบาตพอบริหารท้อง ภิกษุชื่อว่ารู้จักประมาณโดยการรับ เป็นอย่างนี้
ภิกษุรู้จักประมาณโดยการบริโภค เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงใช้สอยจีวร เพียงเพื่อป้องกันความหนาว
ป้องกันความร้อน ป้องกันสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน
เพียงเพื่อปกปิดอวัยวะที่ก่อให้เกิดความละอาย
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงฉันบิณฑบาต มิใช่เพื่อเล่น มิใช่เพื่อ
มัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตบแต่ง แต่ฉันเพียงเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ เพื่อ
ให้ร่างกายนี้ดำเนินไปได้ เพื่อระงับความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วย
มนสิการว่า เราจักบำบัดเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น การดำเนินชีวิตของเรา
ความไม่มีโทษ และอยู่สบาย จักมีได้ด้วยวิธีการอย่างนี้
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงใช้สอยเสนาสนะ เพียงเพื่อป้องกันความ
หนาว ป้องกันความร้อน ป้องกันสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน
เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายจากฤดู และความยินดีในการหลีกเร้น
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงใช้สอยคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เพียงเพื่อ
บำบัดเวทนาอันเนื่องมาจากอาพาธที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความไม่ลำบากเป็นอย่างยิ่ง
ภิกษุชื่อว่ารู้จักประมาณโดยการบริโภค เป็นอย่างนี้
คำว่า ภิกษุนั้น ... พึงรู้จักประมาณ ได้แก่ พึงรู้ คือ รู้ทั่ว รู้แจ่มแจ้ง รู้เฉพาะ
แทงตลอดโดยเหตุ ๒ อย่างเหล่านี้ รวมความว่า ภิกษุนั้น ... พึงรู้จักประมาณ
คำว่า ในธรรมวินัยนี้ ... เพื่อสันโดษ อธิบายว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้
สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ และกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้
ทั้งไม่ประกอบการแสวงหาผิดที่ไม่สมควร เพราะเหตุแห่งจีวร ไม่ได้จีวรก็ไม่
กระวนกระวาย และได้จีวรแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน มองเห็นโทษ มีปัญญา
เครื่องสลัดออก ใช้สอยอยู่ อนึ่ง เพราะความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น ท่าน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๐๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
จึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้ตัว มีสติกำกับใน
ความสันโดษด้วยจีวรนั้น ภิกษุนี้ตรัสเรียกว่า ดำรงอยู่ในอริยวงศ์ ที่รู้กันว่าดีเลิศ
เป็นของเก่า
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และกล่าวสรรเสริญ
ความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ทั้งไม่ประกอบการแสวงหาผิดที่ไม่สมควร
เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่กระวนกระวาย และได้บิณฑบาตแล้วก็
ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน มองเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก บริโภคอยู่ อนึ่ง
เพราะความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น ท่านจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
เพราะภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้ตัว มีสติกำกับในความสันโดษด้วย
บิณฑบาตนั้น ภิกษุนี้ตรัสเรียกว่า ดำรงอยู่ในอริยวงศ์ที่รู้กันว่า ดีเลิศ เป็นของเก่า
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และกล่าวสรรเสริญ
ความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ทั้งไม่ประกอบการแสวงหาผิดที่ไม่สมควร
เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ ไม่ได้เสนาสนะก็ไม่กระวนกระวาย และได้เสนาสนะแล้วก็
ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน มองเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก ใช้สอย อนึ่ง
เพราะความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้นั้น ท่านจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
เพราะภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้ตัว มีสติกำกับในความสันโดษ ด้วย
เสนาสนะนั้น ภิกษุนี้ตรัสเรียกว่า ดำรงอยู่ในอริยวงศ์ที่รู้กันว่าดีเลิศ เป็นของเก่า
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ และ
กล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้ ทั้งไม่
ประกอบการแสวงหาผิดที่ไม่สมควร เพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ไม่ได้
คิลานปัจจัยเภสัชบริขารก็ไม่กระวนกระวาย และได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารแล้วก็ไม่
ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน มองเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก บริโภคอยู่ อนึ่ง
เพราะความสันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้นั้น ท่านจึงไม่ยกตน
ไม่ข่มผู้อื่น เพราะภิกษุใดขยัน ไม่เกียจคร้าน มีความรู้ตัว มีสติกำกับในความสันโดษ
ด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้นั้น ภิกษุนี้ตรัสเรียกว่า ดำรงอยู่ในอริยวงศ์
ที่รู้กันว่าดีเลิศ เป็นของเก่า รวมความว่า ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้ ... พึงรู้จักประมาณ
เพื่อสันโดษ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๐๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น ในคำว่า ภิกษุนั้นคุ้มครองใน
ปัจจัยเหล่านั้น เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน อธิบายว่า ภิกษุนั้น คุ้มครอง
คือ ปกปัก รักษา สังวรในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
รวมความว่า ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุนั้นคุ้มครอง คือ ปกปัก รักษา สังวรในอายตนะทั้งหลาย
รวมความว่า ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น อย่างนี้บ้าง
คำว่า เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน อธิบายว่า เป็นผู้สำรวม คือ ระวัง
ระมัดระวัง คุ้มครอง ปกปัก รักษา สังวร เที่ยวไปในหมู่บ้าน รวมความว่า ภิกษุนั้น
คุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน
คำว่า แม้ถูกด่าก็ไม่พึงกล่าววาจาหยาบ อธิบายว่า ถูกประทุษร้าย ถูกด่า
คือ ถูกเสียดสี ถูกเหยียดหยาม ถูกติเตียน ถูกว่าร้าย ก็ไม่พึงว่ากล่าวตอบผู้ที่
ว่ากล่าว ไม่พึงด่าตอบผู้ที่ด่า ไม่พึงโกรธตอบผู้ที่โกรธ ไม่พึงบาดหมางตอบผู้ที่
บาดหมาง ด้วยถ้อยคำหยาบ ถ้อยคำกระด้าง ได้แก่ ไม่พึงก่อการทะเลาะ ไม่พึงก่อ
การบาดหมาง ไม่พึงก่อการแก่งแย่ง ไม่พึงก่อการวิวาท ไม่พึงก่อการมุ่งร้าย คือ
พึงละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งการทะเลาะ การบาดหมาง
การแก่งแย่ง การวิวาท การมุ่งร้าย ได้แก่ พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด ออก
สลัดออก ไม่เกี่ยวข้อง หลุดพ้นจากการทะเลาะ การบาดหมาง การแก่งแย่ง
การวิวาท การมุ่งร้าย มีใจเป็นอิสระ(จากกิเลส)อยู่ รวมความว่า แม้ถูกด่าก็ไม่พึง
กล่าววาจาหยาบ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุนั้นในธรรมวินัยนี้
ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มในกาลแล้ว
พึงรู้จักประมาณเพื่อสันโดษ
ภิกษุนั้นคุ้มครองในปัจจัยเหล่านั้น
เป็นผู้สำรวมเที่ยวไปในหมู่บ้าน
แม้ถูกด่าก็ไม่พึงกล่าววาจาหยาบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๐๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
[๒๐๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน ตื่นอยู่โดยมาก
ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่น พึงเข้าไปตัดความตรึกธรรม
ที่อาศัยความตรึกและความคะนอง
คำว่า ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ และไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
อธิบายว่า
ภิกษุเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีตาลอกแลก คือ เป็นผู้ประกอบด้วย
ความเป็นคนมีตาลอกแลกด้วยคิดว่า “รูปที่ยังไม่เคยดู เราควรดู รูปที่เราเคยดูแล้ว
ควรผ่านไปเลย” จึงเป็นผู้ขวนขวายการเที่ยวนาน และการเที่ยวไปไม่แน่นอน จาก
อารามหนึ่งไปสู่อีกอารามหนึ่ง จากอุทยานหนึ่งไปสู่อีกอุทยานหนึ่ง จากบ้านหนึ่งไป
สู่อีกบ้านหนึ่ง จากนิคมหนึ่งไปสู่อีกนิคมหนึ่ง จากนครหนึ่งไปสู่อีกนครหนึ่ง จากรัฐ
หนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง จากชนบท(ประเทศ)หนึ่งไปสู่อีกชนบทหนึ่ง เพื่อดูรูป ภิกษุชื่อ
ว่าเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนนไม่สำรวม เดินมองช้าง
มองม้า มองรถ มองพลเดินเท้า มองสตรี มองบุรุษ มองเด็กชาย มองเด็กหญิง
มองร้านตลาด มองหน้ามุขเรือน มองข้างบน มองข้างล่าง มองทิศน้อยทิศใหญ่
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปทางตาแล้ว เป็นผู้รวบถือ เป็นผู้แยกถือ(อวัยวะส่วน
ต่าง ๆ) ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาป
อกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมไม่รักษาจักขุนทรีย์ ย่อมไม่ถึง
ความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๐๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้
เหมือนสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกบริโภคอาหารที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยัง
ขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับร้อง การ
ประโคมดนตรี การดูมหรสพ การเล่านิทาน การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การ
เล่นตีกลอง การสร้างฉากบ้านเมืองให้สวยงาม การละเล่นของคนจัณฑาล การเล่น
กระดานหก การละเล่นหน้าศพ การแข่งชนช้าง การแข่งม้า การแข่งชนกระบือ การ
แข่งชนโค การแข่งชนแพะ การแข่งชนแกะ การแข่งชนไก่ การแข่งชนนกกระทา การ
รำกระบี่กระบอง การชกมวยมวยปล้ำ การรบ การตรวจพลสวนสนาม การจัด
กระบวนทัพ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
ภิกษุไม่เป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ไม่เป็นผู้มีตาลอกแลก คือ ไม่เป็นผู้ประกอบ
ด้วยความเป็นคนมีตาลอกแลกด้วยคิดว่า “รูปที่ยังไม่เคยดู เราควรดู รูปที่เราเคยดู
แล้ว ควรผ่านไปเลย” จึงไม่เป็นผู้ขวนขวายการเที่ยวนาน และการเที่ยวไปไม่แน่นอน
จากอารามหนึ่งไปสู่อีกอารามหนึ่ง จากอุทยานหนึ่งไปสู่อีกอุทยานหนึ่ง จากบ้าน
หนึ่งไปสู่อีกบ้านหนึ่ง จากนิคมหนึ่งไปสู่อีกนิคมหนึ่ง จากนครหนึ่งไปสู่อีกนครหนึ่ง
จากรัฐหนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง จากชนบท(ประเทศ)หนึ่งไปสู่อีกชนบทหนึ่ง เพื่อดูรูป
ภิกษุชื่อว่าไม่เป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเข้าสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนนก็สำรวม ไม่เดินมองช้าง ...
ไม่มองทิศน้อยทิศใหญ่ ภิกษุชื่อว่าไม่เป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ... ย่อมถึงความสำรวมใน
จักขุนทรีย์ ภิกษุชื่อว่าไม่เป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้งดเว้นจากการขวนขวายในการดูการละเล่นอันเป็น
ข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ เหมือนสมณพราหมณ์ผู้เจริญบางพวกบริโภคอาหารที่เขา
ให้ด้วยศรัทธาแล้ว ก็ไม่ขวนขวายดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือ
... การจัดกระบวนทัพ ภิกษุชื่อว่าไม่เป็นผู้สอดส่ายจักษุ เป็นอย่างนี้บ้าง รวมความว่า
ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
คำว่า และไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข อธิบายว่า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๐๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ภิกษุเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข คือ ประกอบด้วยความ
เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข จึงเป็นผู้ขวนขวายในการเที่ยวไปนาน การเที่ยวไปไม่มีจุดหมาย
แน่นอน จากอารามหนึ่งไปสู่อีกอารามหนึ่ง ... เพื่อดูรูป ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีเท้าอยู่
ไม่สุข เป็นอย่าง นี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข คือ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่
สุขภายในสังฆาราม มิใช่เพราะเหตุแห่งประโยชน์ มิใช่เพราะเหตุแห่งการกระทำ แต่
เป็นผู้ฟุ้งซ่าน มีจิตใจไม่สงบ เดินจากบริเวณหนึ่งไปสู่อีกบริเวณหนึ่ง จากวิหารหนึ่ง
ไปสู่อีกวิหารหนึ่ง ... พูดเรื่องความเจริญและความเสื่อม ดังนี้ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีเท้า
อยู่ไม่สุข เป็นอย่างนี้บ้าง
คำว่า และไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข อธิบายว่า พึงละ บรรเทา ทำให้หมด
สิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข คือ พึงเป็นผู้งด งดเว้น เว้นขาด
ออก สลัดออก หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข มีใจเป็น
อิสระ(จากกิเลส)อยู่ ได้แก่ พึงเป็นผู้พอใจในความหลีกเร้น ยินดีในความหลีกเร้น
หมั่นประกอบความสงบแห่งจิตภายใน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา
เพิ่มพูนการอยู่ในเรือนว่าง มีฌาน เป็นผู้ยินดีในฌาน ขวนขวายในความเป็นผู้มีจิต
มีอารมณ์หนึ่งเดียว หนักในประโยชน์ของตน รวมความว่า ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่สอดส่าย
จักษุ และไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
คำว่า พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน ในคำว่า พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน
ตื่นอยู่โดยมาก อธิบายว่า พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน ด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ
๑. ภิกษุเป็นผู้ประกอบ คือ ขวนขวาย มุ่งมั่น มุ่งมั่นเสมอเพื่อทำปฐมฌาน
ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เป็นผู้ประกอบ ขวนขวาย มุ่งมั่น มุ่งมั่นเสมอ
เพื่อทำทุติยฌานที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ... เพื่อทำตติยฌานที่ยังไม่เกิดให้
เกิดขึ้น... เพื่อทำจตุตถฌานที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น รวมความว่า พึงเป็น
ผู้ขวนขวายในฌาน เป็นอย่างนี้บ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๐๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
๒. ภิกษุซ่องเสพ เจริญ ทำให้มาก ซึ่งปฐมฌานที่เกิดขึ้นแล้ว ซ่องเสพ
เจริญ ทำให้มาก ซึ่งทุติยฌานที่เกิดขึ้นแล้ว ... ตติยฌานที่เกิดขึ้นแล้ว ...
จตุตถฌานที่เกิดขึ้นแล้ว รวมความว่า พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน เป็น
อย่างนี้บ้าง
คำว่า ตื่นอยู่โดยมาก อธิบายว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
ธรรมเครื่องกางกั้นด้วยการเดินจงกรม และการนั่งตลอดวัน คือ ชำระจิตให้บริสุทธิ์
จากธรรมเครื่องกางกั้นด้วยการเดินจงกรม และการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี
สำเร็จการนอนอย่างราชสีห์ โดยตะแคงด้านขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ
กำหนดเวลาตื่นไว้ในใจ ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้น แล้วชำระจิตให้บริสุทธิ์
จากธรรมเครื่องกางกั้นด้วยการเดินจงกรม และการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี
รวมความว่า พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน ตื่นอยู่โดยมาก
คำว่า ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่น อธิบายว่า
คำว่า อุเบกขา ได้แก่ อุเบกขา คือ ความเพิกเฉย ความเพิกเฉยอย่างยิ่ง
ความที่จิตสงบ ความที่จิตสงัด ความที่จิตเป็นกลางในจตุตถฌาน
คำว่า มีจิตตั้งมั่น ได้แก่ ความตั้งมั่น ความดำรงมั่น ความไม่คลอนแคลน
ความไม่กวัดแกว่ง ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ความที่จิตไม่ซัดส่าย สมถะ สมาธินทรีย์
สมาธิพละ สัมมาสมาธิ
คำว่า ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่น อธิบายว่า ปรารภอุเบกขาในจตุตถฌาน
มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีใจไม่ซัดส่าย รวมความว่า ปรารภ
อุเบกขา มีจิตตั้งมั่น

ว่าด้วยความตรึก ๙ อย่าง
คำว่า ความตรึก ในคำว่า พึงเข้าไปตัดความตรึกธรรมที่อาศัยความตรึก
และความคะนอง ได้แก่ ความตรึก ๙ อย่าง คือ
๑. ความตรึกในกาม
๒. ความตรึกในความพยาบาท
๓. ความตรึกในความเบียดเบียน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๐๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
๔. ความตรึกถึงญาติ
๕. ความตรึกถึงชนบท
๖. ความตรึกถึงเทพเจ้า
๗. ความตรึกเกี่ยวเนื่องด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น
๘. ความตรึกเกี่ยวเนื่องด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญ
๙. ความตรึกเกี่ยวเนื่องด้วยความไม่ถูกดูหมิ่น
เหล่านี้เรียกว่า ความตรึก ๙ อย่าง
กามสัญญาเป็นที่อาศัยแห่งกามวิตก พยาบาทสัญญาเป็นที่อาศัยแห่งพยาบาท-
วิตก วิหิงสาสัญญาเป็นที่อาศัยแห่งวิหิงสาวิตก
อีกนัยหนึ่ง อวิชชา อโยนิโสมนสิการ อัสมิมานะ อโนตตัปปะ และอุทธัจจะ
เป็นที่อาศัยแห่งวิตก คือ ความตรึก ความดำริทั้งหลาย
คำว่า ความคะนอง อธิบายว่า ความคะนองมือ ชื่อว่าความคะนอง ความ
คะนองเท้า ชื่อว่าความคะนอง ความคะนองมือและเท้า ก็ชื่อว่าความคะนอง ความ
สำคัญในสิ่งที่ไม่ควรว่าควร ความสำคัญในสิ่งที่ควรว่าไม่ควร ความสำคัญในสิ่งที่ไม่
มีโทษว่ามีโทษ ความสำคัญในสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ ความคะนอง กิริยาที่คะนอง
ภาวะที่คะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่านเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความคะนอง
อีกนัยหนึ่ง ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นเพราะเหตุ ๒
อย่าง คือ (๑) เพราะทำ (๒) เพราะไม่ทำ
ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นเพราะทำและเพราะไม่ทำ
เป็นอย่างไร
คือ ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า “เราทำแต่
กายทุจริต ไม่ทำกายสุจริต ... เราทำแต่วจีทุจริต ไม่ทำวจีสุจริต ... เราทำแต่มโนทุจริต
ไม่ทำมโนสุจริต ... เราทำแต่ปาณาติบาต ไม่ทำความงดเว้นจากปาณาติบาต ... เรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๐๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ทำแต่อทินนาทาน ไม่ทำความงดเว้นจากอทินนาทาน ... เราทำแต่กาเมสุมิจฉาจาร
ไม่ทำความงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ... เราทำแต่มุสาวาท ไม่ทำความงดเว้นจาก
มุสาวาท ... เราทำแต่ปิสุณาวาจา ไม่ทำความงดเว้นจากปิสุณาวาจา ... เราทำแต่
ผรุสวาจา ไม่ทำความงดเว้นจากผรุสวาจา ... เราทำแต่สัมผัปปลาปะ ไม่ทำความ
งดเว้นจากสัมผัปปลาปะ ... เราทำแต่อภิชฌา ไม่ทำอนภิชฌา ... เราทำแต่พยายาท
ไม่ทำอัพยาบาท ... เราทำแต่มิจฉาทิฏฐิ ไม่ทำสัมมาทิฏฐิ” ความคะนอง ความ
เดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้น เพราะทำและเพราะไม่ทำ เป็นอย่างนี้๑
อีกนัยหนึ่ง ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า “เรามิได้
รักษาศีลให้บริบูรณ์ ... เราไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖ ... ไม่รู้จักประมาณในการ
บริโภคอาหาร ... ไม่ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ ... ไม่หมั่นประกอบ
ด้วยสติสัมปชัญญะ ... ไม่เจริญสติปัฏฐาน ๔ ... ไม่เจริญสัมมัปปธาน ๔ ... ไม่
เจริญอิทธิบาท ๔ ... ไม่เจริญอินทรีย์ ๕ ... ไม่เจริญพละ ๕ ... ไม่เจริญโพชฌงค์ ๗ ...
ไม่เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ... ไม่กำหนดรู้ทุกข์ ... ไม่ละทุกขสมุทัย ... ไม่เจริญมรรค
... เราไม่ทำนิโรธ ให้ประจักษ์แจ้ง”
คำว่า พึงเข้าไปตัดความตรึกธรรมที่อาศัยความตรึกและความคะนอง
อธิบายว่า พึงเข้าไปตัด คือ ตัด ถอน เพิกถอน ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึง
ความไม่มีอีกซึ่งความตรึกธรรมที่อาศัยความตรึกและความคะนอง รวมความว่า พึง
เข้าไปตัดความตรึกธรรมที่อาศัยความตรึกและความคะนอง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี-
พระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่พึงเป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน ตื่นอยู่โดยมาก
ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่น พึงเข้าไปตัดความตรึกธรรม
ที่อาศัยความตรึกและความคะนอง

เชิงอรรถ :
๑ ดูคำแปลจากข้อ ๘๕/๒๕๕

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๐๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
[๒๐๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ภิกษุผู้ถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงมีสติชื่นชม
ทำลายความกระด้างในเพื่อนพรหมจารี
พึงเปล่งวาจาเป็นกุศล ไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต
ไม่พึงคิดหาเรื่องที่จะว่ากล่าวคน
คำว่า ผู้ถูกตักเตือน ในคำว่า ภิกษุผู้ถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงมีสติชื่นชม
อธิบายว่า อุปัชฌาย์ อาจารย์ ผู้ร่วมอุปัชฌาย์ ผู้ร่วมอาจารย์ มิตร เพื่อนเห็น
เพื่อนคบ หรือสหายตักเตือนว่า “ผู้มีอายุ การกระทำของท่านนี้ไม่ควร การกระทำนี้
ยังไม่ถึงแก่ท่าน การกระทำของท่านนี้ ไม่สมควร การกระทำของท่านนี้ ไม่
เหมาะสม” ก็พึงมีสติ พอใจ ชอบใจ เบิกบานใจ อนุโมทนา ต้องการ ยินดี ปรารถนา
มุ่งหมาย มุ่งหวังคำตักเตือนนั้น เปรียบเหมือน สตรีหรือบุรุษที่ยังหนุ่ม ยังสาว
ชอบแต่งตัว อาบน้ำดำหัวแล้ว ได้มาลัยดอกบัว มาลัยดอกมะลิ หรือมาลัยดอก
ลำดวน ก็ใช้ ๒ มือรับไว้ เอาขึ้นวางไว้บนศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะสูงสุด พึงพอใจ
ชอบใจ เบิกบานใจ อนุโมทนา ต้องการ ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง ฉันใด
ภิกษุผู้ถูกตักเตือนนั้นก็พึงมีสติ พอใจ ชอบใจ เบิกบานใจ อนุโมทนา ต้องการ
ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวังคำตักเตือนนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญามักชี้โทษ
มักพูดปรามไว้ เหมือนผู้ชี้บอกขุมทรัพย์
(และ)พึงคบผู้ที่เป็นบัณฑิตเช่นนั้น เพราะเมื่อคบคนเช่นนั้น
ย่อมมีแต่ความเจริญไม่มีความเสื่อมเลย
ผู้ใดพึงกล่าวสอน พร่ำสอน และห้ามจากความชั่ว
ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักของสัตบุรุษทั้งหลาย
แต่ไม่เป็นที่รักของอสัตบุรุษทั้งหลาย๑

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.เถร.(แปล) ๒๖/๙๙๓-๙๙๔/๕๐๒

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๑๐ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ภิกษุผู้ถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงมีสติชื่นชม ทำลายความกระด้างใน
เพื่อนพรหมจารี อธิบายว่า
คำว่า เพื่อนพรหมจารี ได้แก่ คนที่มีกรรม(ทางวินัย) อย่างเดียวกัน มีอุทเทส
อย่างเดียวกัน มีสิกขาเสมอกัน
คำว่า ทำลายความกระด้างในเพื่อนพรหมจารี อธิบายว่า พึงทำลายความ
เป็นผู้มีจิตถูกโทสะกระทบ ความเป็นผู้มีจิตกระด้างในเพื่อนพรหมจารี คือ พึงทำลาย
ความกระด้างแห่งจิต ๕ ประการบ้าง ทำลายความกระด้างแห่งจิต ๓ ประการบ้าง
ได้แก่ พึงทุบ ทำลาย กำจัดความกระด้างด้วยอำนาจราคะ ความกระด้างด้วยอำนาจ
โทสะ ความกระด้างด้วยอำนาจโมหะ รวมความว่า ทำลายความกระด้างในเพื่อน
พรหมจารี
คำว่า พึงเปล่งวาจาเป็นกุศล ไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต อธิบายว่า พึง
เปล่งวาจาที่เกิดจากญาณอันประกอบด้วยเหตุ ประกอบด้วยผล คือ พึงเปล่ง เปล่ง
ออก เปล่งออกด้วยดีซึ่งวาจา มีที่อ้างอิง มีจุดจบสิ้น ตามกาลอันควร รวมความว่า
พึงเปล่งวาจาเป็นกุศล
คำว่า ไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต อธิบายว่า ขอบเขต ได้แก่ ขอบเขต ๒
อย่าง คือ (๑) ขอบเขตแห่งกาล (๒) ขอบเขตแห่งศีล
ขอบเขตแห่งกาล เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุไม่พึงกล่าววาจาเกินกาล ไม่พึงกล่าววาจาเกินขอบเขต ไม่พึงกล่าว
วาจาเกินขอบเขตแห่งกาล ไม่พึงกล่าววาจาที่ยังไม่ถึงกาล ไม่พึงกล่าววาจาที่ยังไม่
ถึงขอบเขต ไม่พึงกล่าววาจาที่ยังไม่ถึงขอบเขตแห่งกาล (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้ว่า)
ผู้ใด เมื่อยังไม่ถึงกาลอันควร พูดเกินเวลา
ผู้นั้นย่อมจะถูกฆ่า นอนตายอยู่
เหมือนลูกนกดุเหว่าที่ถูกกาเลี้ยงไว้ ฉะนั้น
นี้ชื่อว่าขอบเขตแห่งกาล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๑๑ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ขอบเขตแห่งศีล เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้กำหนัด ไม่ควรกล่าววาจา ผู้ขัดเคือง ไม่ควรกล่าววาจา ผู้หลง ไม่
ควรกล่าววาจา ไม่ควรกล่าว คือ ไม่ควรพูด ไม่ควรบอก ไม่ควรแสดง ไม่ควรชี้แจง
การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อ นี้ชื่อว่าขอบเขตแห่งศีล
รวมความว่า พึงเปล่งวาจาเป็นกุศล ไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต
คำว่า คน ในคำว่า ไม่พึงคิดหาเรื่องที่จะว่ากล่าวคน ได้แก่ กษัตริย์
พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา และมนุษย์
ภิกษุไม่พึงคิด คือ ไม่พึงให้เกิดเจตนา ไม่พึงให้เกิดความคิด ไม่พึงให้เกิดความดำริ
ไม่พึงให้เกิดมนสิการ เพื่อว่ากล่าว คือ เพื่อว่าร้าย เพื่อนินทา เพื่อติเตียน
เพื่อความไม่สรรเสริญ เพื่อความไม่ยกย่องคน ด้วยสีลวิบัติ อาจารวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ
หรืออาชีววิบัติ รวมความว่า ไม่พึงคิดหาเรื่องที่จะว่ากล่าวคน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี
พระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุผู้ถูกตักเตือนด้วยวาจา พึงมีสติชื่นชม
ทำลายความกระด้างในเพื่อนพรหมจารี
พึงเปล่งวาจาเป็นกุศล ไม่พึงเปล่งวาจาเกินขอบเขต
ไม่พึงคิดหาเรื่องที่จะว่ากล่าวคน
[๒๐๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
ลำดับต่อไป ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ
ศึกษาเพื่อกำจัดราคะเหล่าใด
ราคะเหล่านั้น คือธุลี ๕ อย่างในโลก
พึงปราบปรามราคะในรูป เสียง กลิ่น รสและผัสสะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๑๒ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
ว่าด้วยธุลี ๕ อย่าง
คำว่า ลำดับ ในคำว่า ลำดับต่อไป ... คือธุลี ๕ อย่างในโลก เป็นบทสนธิ
เป็นคำเชื่อมบท เป็นคำที่ทำบทให้บริบูรณ์ เป็นความสัมพันธ์แห่งอักษร เป็นความ
สละสลวยแห่งพยัญชนะ คำว่า ลำดับ นี้ เป็นคำเชื่อมบทหน้ากับบทหลังเข้าด้วยกัน
คำว่า คือธุลี ๕ อย่าง ได้แก่
๑. ธุลีที่เกิดจากรูป ๒. ธุลีที่เกิดจากเสียง
๓. ธุลีที่เกิดจากกลิ่น ๔. ธุลีที่เกิดจากรส
๕. ธุลีที่เกิดจากโผฏฐัพพะ
อีกนัยหนึ่ง (ได้แก่ธุลีที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
ราคะ เราเรียกว่า ธุลี
เราหาเรียกละอองว่า เป็นธุลีไม่
คำว่า ธุลีนี้ เป็นชื่อของราคะ
บัณฑิตเหล่านั้นละธุลีนี้แล้ว
ย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีได้
โทสะ เราเรียกว่า ธุลี
เราหาเรียกละอองว่า เป็นธุลีไม่
คำว่า ธุลีนี้ เป็นชื่อของโทสะ
บัณฑิตเหล่านั้นละธุลีนี้แล้ว
ย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีได้
โมหะ เราเรียกว่า ธุลี
เราหาเรียกละอองว่า เป็นธุลีไม่
คำว่า ธุลีนี้ เป็นชื่อของโมหะ
บัณฑิตเหล่านั้นละธุลีนี้แล้ว
ย่อมอยู่ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลีได้๑

เชิงอรรถ :
๑ ขุ.จู. ๓๐/๗๔/๑๖๒-๑๖๓

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๑๓ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก
อายตนโลก รวมความว่า ลำดับต่อไป ... คือธุลี ๕ อย่างในโลก
คำว่า ราคะเหล่าใด ในคำว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อกำจัดราคะเหล่าใด
ได้แก่ ราคะในรูป ราคะในเสียง ราคะในกลิ่น ราคะในรส ราคะในโผฏฐัพพะ
คำว่า มีสติ ได้แก่ สติ คือ ความตามระลึกถึง ความระลึกได้เฉพาะหน้า สติ คือ
ความระลึกได้ ความจำได้ ความไม่เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ คือ สตินทรีย์
สติพละ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ เอกายนมรรค๑ นี้ตรัสเรียกว่า สติ
ภิกษุประกอบ ประกอบพร้อม ดำเนินไป ดำเนินไปพร้อม เป็นไป เป็นไปพร้อม
เพียบพร้อมแล้วด้วยสตินี้ ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า ผู้มีสติ
คำว่า พึงศึกษา ได้แก่ สิกขา ๓ คือ
๑. อธิสีลสิกขา ๒. อธิจิตตสิกขา
๓. อธิปัญญาสิกขา
อธิสีลสิกขา เป็นอย่างไร ... นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา
คำว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อกำจัดราคะเหล่าใด อธิบายว่า บุคคลผู้มี
สติพึงศึกษาทั้งอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เพื่อกำจัด คือ
บรรเทา ละ สงบ สลัดทิ้ง ระงับราคะ คือ ราคะในรูป ราคะในเสียง ราคะในกลิ่น
ราคะในรส ราคะในโผฏฐัพพะ
สิกขา ๓ นี้ เมื่อภิกษุนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่าพึงศึกษา ... เมื่อ
ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ก็ชื่อว่าพึงศึกษา คือ พึงประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติ
เอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ รวมความว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อ
กำจัดราคะเหล่าใด

เชิงอรรถ :
๑ เอกายนมรรค หมายถึงทางเอกที่ต้องละความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ต้องอยู่คนเดียว จากสังสารวัฏ
ไปสู่นิพพาน เหล่าสัตว์ต้องไปด้วยความสงัดที่เรียกว่าวิเวกเท่านั้น อีกอย่างหนึ่ง อริยมรรคมีองค์ ๘
อันประเสริฐ ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งปวง ทรงดำเนินไปและชี้บอกทางให้สัตว์ทั้งหลายดำเนิน
ไปตามทางนี้ (ขุ.ม.อ. ๓/๕๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๑๔ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า พึงปราบปรามราคะในรูป เสียง กลิ่น รสและผัสสะ อธิบายว่า
พึงปราบปราม คือ ยึดครอง ครอบงำ ท่วมทับ รัดรึง ย่ำยีราคะในรูป เสียง กลิ่น
รส โผฏฐัพพะ รวมความว่า พึงปราบปรามราคะในรูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะ
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ลำดับต่อไป ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ
ศึกษาเพื่อกำจัดราคะเหล่าใด
ราคะเหล่านั้น คือธุลี ๕ อย่างในโลก
พึงปราบปรามราคะในรูป เสียง กลิ่น รสและผัสสะ
[๒๑๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้)
ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว
พึงกำจัดความพอใจในธรรมเหล่านี้
ภิกษุนั้นเมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล
เป็นผู้มีธรรมเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืด
คำว่า เหล่านี้ ในคำว่า พึงกำจัดความพอใจในธรรมเหล่านี้ ได้แก่ ในรูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
คำว่า ความพอใจ ได้แก่ ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ ความกำหนัดด้วย
อำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจความใคร่ ความทะยานอยากด้วย
อำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจ
ความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่ ห้วงน้ำ
คือความใคร่ กิเลสเครื่องประกอบคือความใคร่ กิเลสเครื่องยึดมั่นคือความใคร่
กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย
คำว่า พึงกำจัดความพอใจในธรรมเหล่านี้ ได้แก่ พึงกำจัด คือ ขจัด ละ
บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความพอใจในธรรมเหล่านี้ รวม
ความว่า พึงกำจัดความพอใจในธรรมเหล่านี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๑๕ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
คำว่า ภิกษุ ในคำว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว ได้แก่
ภิกษุผู้เป็นกัลยาณปุถุชน หรือ ภิกษุผู้เป็นพระเสขะ
คำว่า เป็นผู้มีสติ ได้แก่ สติ ความตามระลึกถึง ... สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์
เอกายนมรรค นี้ ตรัสเรียกว่า สติ ภิกษุประกอบพร้อมด้วยสตินี้ ... ภิกษุนั้นพระผู้มี
พระภาคตรัสเรียกว่า เป็นผู้มีสติ

ว่าด้วยจิตหลุดพ้น ๑๒ ขั้น
คำว่า ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว อธิบายว่า
๑. จิตของภิกษุผู้บรรลุปฐมฌาน ก็พ้น หลุดพ้น หลุดพ้นด้วยดีจากนิวรณ์
ทั้งหลาย
๒. จิตของภิกษุผู้บรรลุทุติยฌาน ก็พ้น หลุดพ้น หลุดพ้นด้วยดีจากวิตก
และวิจาร
๓. จิตของภิกษุผู้บรรลุตติยฌาน ก็พ้น หลุดพ้น หลุดพ้นด้วยดีจากปีติ
๔. จิตของภิกษุผู้บรรลุจตุตถฌาน ก็พ้น หลุดพ้น หลุดพ้นด้วยดีจากสุข
และทุกข์
๕. จิตของภิกษุผู้บรรลุอากาสานัญจายตนสมาบัติ ก็พ้น หลุดพ้น หลุดพ้น
ด้วยดีจากรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา
๖. จิตของภิกษุผู้บรรลุวิญญาณัญจายตนสมาบัติ... จากอากาสานัญจายตน-
สัญญา
๗. จิตของภิกษุผู้บรรลุอากิญจัญญายตนสมาบัติ ... จากวิญญาณัญจายตน-
สัญญา
๘. จิตของภิกษุผู้บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ก็พ้น หลุดพ้น
หลุดพ้นด้วยดีจากอากิญจัญญายตนสัญญา
๙. จิตของภิกษุผู้เป็นพระโสดาบัน ก็พ้น หลุดพ้น หลุดพ้นด้วยดีจาก
สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และ
กิเลสที่ตั้งอยู่ฝ่ายเดียวกับวิจิกิจฉาเป็นต้นนั้น
๑๐. จิตของภิกษุผู้เป็นพระสกทาคามี ก็พ้น หลุดพ้น หลุดพ้นด้วยดีจาก
กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างหยาบ และกิเลสที่ตั้งอยู่ในฝ่ายเดียว
กับกามราคานุสัยเป็นต้นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๑๖ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
๑๑. จิตของภิกษุผู้เป็นพระอนาคามี ก็พ้น หลุดพ้น หลุดพ้นด้วยดีจาก
กามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ อย่างละเอียด กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย
อย่างละเอียด และกิเลสที่ตั้งอยู่ในฝ่ายเดียวกับกามราคสังโยชน์เป็นต้นนั้น
๑๒. จิตของภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ ก็พ้น หลุดพ้น หลุดพ้นด้วยดีจากรูปราคะ
อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย
เหล่ากิเลสที่ตั้งอยู่ในฝ่ายเดียวกับรูปราคะเป็นต้นนั้น และนิมิตทั้งปวง
ในภายนอก รวมความว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว

ว่าด้วยกาลแห่งสมถะและวิปัสสนา
คำว่า ตามกาล ในคำว่า ภิกษุนั้นเมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบ
ตามกาล อธิบายว่า เมื่อจิตฟุ้งซ่าน ก็เป็นกาลแห่งสมถะ เมื่อจิตตั้งมั่น ก็เป็นกาล
แห่งวิปัสสนา (สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
โยคี๑ใด ยกจิตไว้ในกาล(หนึ่ง)
ข่มจิตในอีกกาลหนึ่ง ทำจิตให้รื่นเริงตามกาล
ตั้งจิตให้มั่นในกาลเพ่งดูจิตตามกาล
โยคีนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในกาล
การยกจิต ควรมีในกาลไหน
การข่มจิตควรมีในกาลไหน

เชิงอรรถ :
๑ โยคี หมายถึงผู้ประกอบความเพียรในกัมมัฏฐาน เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลมในการประคองจิต ข่มจิต ทำจิต
ให้ร่าเริง จิตตั้งมั่น และวางเฉย
ประคองจิตให้ตั้งอยู่ด้วย ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์
ข่มจิต เมื่อจิตฟุ้งซ่านก็ข่มด้วยปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์
ทำจิตให้ร่าเริง ด้วยการพิจารณาสังเวควัตถุ ๘ ประการ (ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ทุกข์ในอบาย ทุกข์มี
วัฏฏเป็นมูลในอดีต ทุกข์มีวัฏเป็นมูลในอนาคต ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลในปัจจุบัน) หรือด้วย
การระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย
จิตตั้งมั่น ทำจิตให้เว้นจากความหดหู่และฟุ้งซ่าน ด้วยผูกใจไว้กับวิริยะและสมาธิหรืออุปจารสมาธิและ
อัปปนาสมาธิ
วางเฉย พระโยคีรู้ความหดหู่ ฟุ้งซ่านแห่งจิต จิตอภิรมย์ในอารมณ์กสิณเป็นต้น หรือจิตสัมปยุตด้วยฌาน
แล้ว ไม่พึงขวนขวายในการประคองจิต ข่มจิต ทำจิตให้ร่าเริง ควรกระทำการวางเฉยอย่างเดียว (ขุ.ม.อ.
๒๑๐/๔๗๙-๔๘๐)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๑๗ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
กาลสำหรับทำจิตให้รื่นเริงควรมีในกาลไหน
และกาลแห่งสมถะเป็นเช่นไร
บัณฑิตย่อมแสดงกาลสำหรับเพ่งดูจิตของโยคีไว้อย่างไร
การยกจิตควรมีในเมื่อจิตย่อหย่อน
การข่มจิตควรมีในเมื่อจิตฟุ้งซ่าน
โยคีควรทำจิตที่ถึงความไม่แช่มชื่นให้รื่นเริงทุกเมื่อ
จิตรื่นเริง ไม่ย่อหย่อน ไม่ฟุ้งซ่านย่อมมีในกาลใด
ในกาลนั้นก็เป็นกาลแห่งสมถะ
ใจพึงยินดีอยู่ภายในโดยอุบายนี้เอง
เมื่อใดจิตตั้งมั่น เมื่อนั้นโยคีพึงรู้จิตที่ตั้งมั่น แล้วพึงเพ่งดูจิต
นักปราชญ์รู้จักกาล ทราบกาล ฉลาดในกาล
พึงกำหนดอารมณ์อันเป็นนิมิตของจิต โดยควรแก่กาล อย่างนี้
คำว่า ภิกษุนั้นเมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล อธิบายว่า
ภิกษุนั้นเมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง”
เมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ... ธรรม
ทั้งปวงเป็นอนัตตา สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมี
ความดับไปเป็นธรรมดา”
คำว่า ธรรมเอกผุดขึ้น ในคำว่า ภิกษุนั้น ... เป็นผู้มีธรรมเอกผุดขึ้น
พึงกำจัดความมืด อธิบายว่า ผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีใจ
ไม่ซัดส่าย คือ สมถะ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ รวมความว่า เป็นผู้มี
ธรรมเอกผุดขึ้น
คำว่า ภิกษุนั้น ... พึงกำจัดความมืด อธิบายว่า ภิกษุพึงขจัด พึงกำจัด คือ ละ
บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความมืดเพราะราคะ ความมืดเพราะ
โทสะ ความมืดเพราะโมหะ ความมืดเพราะมานะ ความมืดเพราะทิฏฐิ ความมืด
เพราะกิเลส ความมืดเพราะทุจริต อันทำให้เป็นคนตาบอด ทำให้ไม่มีจักษุ ทำให้ไม่
มีญาณ อันดับปัญญา เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความลำบาก ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๑๘ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
อธิบายคำว่า ภควา
คำว่า พระผู้มีพระภาค เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ
อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายราคะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโทสะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายโมหะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายมานะได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายทิฏฐิได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายเสี้ยนหนามได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำลายกิเลสได้แล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงจำแนก แยกแยะ แจกแจงธรรมรัตนะ
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงทำที่สุดแห่งภพได้
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมพระวรกายแล้ว
ชื่อว่าพระผู้มีพระภาค เพราะทรงอบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงใช้สอยเสนาสนะที่เป็นป่าละเมาะและป่าทึบ
อันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็น
สถานที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้น จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงมีส่วนแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส
อธิสีล อธิจิต อธิปัญญา จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔
อรูปสมาบัติ ๔ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งวิโมกข์ ๘ อภิภายตนะ ๘
อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๑๙ }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] ๑๖. สารีปุตตสุตตนิทเทส
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสัญญาภาวนา ๑๐ กสิณ-
สมาบัติ ๑๐ อานาปานสติสมาธิ อสุภสมาบัติ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ จึงชื่อว่า
พระผู้มีพระภาค
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีส่วนแห่งตถาคตพลญาณ ๑๐
เวสารัชชญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ พุทธธรรม ๖ จึงชื่อว่าพระผู้มีพระภาค
พระนามว่า พระผู้มีพระภาค นี้ มิใช่พระชนนีทรงตั้ง มิใช่พระชนกทรงตั้ง มิใช่
พระภาดาทรงตั้ง มิใช่พระภคินีทรงตั้ง มิใช่มิตรและอำมาตย์ตั้ง มิใช่พระญาติและผู้
ร่วมสายโลหิตทรงตั้ง มิใช่สมณพราหมณ์ตั้ง มิใช่เทวดาตั้ง
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นวิโมกขันติกนาม เป็นสัจฉิกาบัญญัติของ
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย พร้อมกับการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ที่โคน
ต้นโพธิ์ รวมความว่า ภิกษุนั้น ... เป็นผู้มีธรรมอันเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืด
ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ภิกษุเป็นผู้มีสติ มีจิตหลุดพ้นด้วยดีแล้ว
พึงกำจัดความพอใจในธรรมเหล่านี้
ภิกษุนั้นเมื่อกำหนดพิจารณาธรรมโดยชอบตามกาล
เป็นผู้มีธรรมเอกผุดขึ้น พึงกำจัดความมืด
สารีปุตตสุตตนิทเทสที่ ๑๖ จบ
นิทเทสแห่งพระสูตร ๑๖ นิทเทส ในอัฏฐกวรรค จบบริบูรณ์

มหานิทเทส จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า :๖๒๐ }


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ สุตตันตปิฎกที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส จบ





eXTReMe Tracker